Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live

พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพ 4 คนใหม่รับมอบหน้าที่

0
0

กอ.รมน.ภาค 4 จัดพิธีรับ-ส่งหน้าที่แม่ทัพภาค 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 คนใหม่ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ขณะที่ พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ไปเป็นรองเสนาธิการทหาร โดยรับราชการในภาคใต้กว่า 30 ปี มีประวัติด้านการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่เขาพระศรีศากยมุนีพุทธโคดม และศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.อ.ปราการ ชลยุทธ รองเสนาธิการทหาร อดีตแม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค4)และ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ.รมน.ภาค4คนใหม่ได้ร่วมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในค่ายสิรินธร

จากนั้น พล.อ.ปราการ ชลยุทธและ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ได้ขึ้นไปห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4สน.) เพื่อลงนามในเอกสารรับ – ส่งหน้าที่

ต่อจากนั้นได้เดินทางมายังศาลาพินประเสริฐ ค่ายสิรินธร เพื่อทำพิธีรับ - ส่งหน้าที่ โดยมีนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้แทนจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, คณะข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน, กำลังพลจากหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่, ผู้นำศาสนา และกลุ่มพลังมวลชนเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

หลังเสร็จสิ้นพิธีรับ - ส่งหน้าที่แล้ว พล.อ.ปราการ และ พล.ท.วิวรรธน์ ได้เดินพบปะกับกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดี พร้อมทั้งรับมอบกระเช้าดอกไม้จากกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ที่นำมามอบให้

ประวัติโชกโชน เคยปะทะกลุ่มติดอาวุธ 54 ครั้ง

กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่า สำหรับประวัติของ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาค 4 คนใหม่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 16 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 27 เกิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2499 เป็นบุตรของนายเปล่ง และนางจันทร์ฉาย ปฐมภาคย์ สมรสกับนางศรีกฤษ ปฐมภาคย์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน

เมื่อสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2523 ได้เลือกรับราชการในเหล่าทหารราบ ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 จังหวัดปัตตานี

กอ.รมน.ภาค 4 สน. อ้างว่า พล.ท.วิวรรธน์ รับราชการในพื้นที่มา 30 ปี มีบทบาทปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (CPM) และกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ ซึ่งมีฐานที่มั่นใหญ่ในพื้นที่ป่าเขา มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่ดำรงยศเพียงแค่ร้อยตรีเมื่อปี 2524

เฉพาะปี 2546 โดยได้ปะทะกับกลุ่มติดอาวุธ 54 ครั้ง โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน. อ้างว่า ทำให้สมาชิกกลุ่มติดอาวุธเสียชีวิต 29 คน ยึดอาวุธสงครามได้ 30 กระบอก ยึดค่ายพัก 2 แห่ง และสามารถชักชวนผู้หลงผิดเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ที่สำคัญ อาทิ ผู้บังคับกองร้อยทหารราบดีเด่น เมื่อปี 2529 ข้าราชการดีเด่นสาขาความมั่นคงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับพระราชทาน เกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2541

นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานดีเด่นเมื่อปี 2543 และได้รับรางวัลบุคคลตัวอย่างแห่งปี สาขาส่งเสริมพัฒนาความมั่นคง ประจำปี 2548

ในขณะที่เส้นทางรับราชการก็มีความเจริญก้าวหน้ามาตามลำดับโดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ อาทิ ผู้บังคับกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อปี 2538, ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 43 เมื่อปี 2540, ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือนกองทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2546, ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกปัตตานี เมื่อปี 2547 และขึ้นครองยศเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 เมื่อปี 2555

จากนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อปี 2557 โดยในขณะปฏิบัติหน้าที่ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจที่สำคัญ ทั้งในเรื่องการถวายความปลอดภัย งานพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้วางรากฐานการจัดตั้งกองกำลังทหารพรานให้มีความเข้มแข็งภายใต้แนวคิด “คุณธรรม อุดมการณ์ คือหัวใจทหารพรานเพื่อประชาชน”

นอกจากนี้ยังได้เสริมสร้างความพร้อมกำลังรบให้กับกองพลทหารราบที่ 15 ให้มีศักยภาพในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบันตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เซีย ไทยรัฐ' เข้ารายงานตัวที่ บก.ทบ. แล้ว

0
0

'ศักดา แซ่เอียว' หรือ 'เซีย ไทยรัฐ'  นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ประจำหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เข้ารายงานตัวที่ บก.ทบ. แล้ว เจ้าตัวเผยผลการปรับทัศนคติ คสช. ให้ระมัดระวังการนำเสนอมากขึ้น ระบุ “ไม่กังวล เราเป็นสื่อมวลชน สิ่งที่เราเสนอไปเราก็อยู่บนข้อเท็จจริง เราหวังดี เราไม่ได้คิดร้าย ไม่ได้เป็นผู้นำการต่อต้านอะไร” 

4 ต.ค. 2558 จากที่มีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกตัว นายศักดา แซ่เอียว หรือเซีย นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ประจำหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปพูดคุย เพื่อทำความเข้าใจ เรื่องการนำเสนอข่าวและภาพการ์ตูน ที่มีลักษณะคล้ายกับการล้อเลียนการทำงานของรัฐบาลและ คสช.ในช่วงที่ผ่านมา โดยขอความร่วมมือให้นำเสนออย่างสร้างสรรค์ ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน ในวันที่ 4 ต.ค. เวลา 10.00 น. นั้น
       
ล่าสุดวันนี้ (4 ต.ค.) เพจ Voice TV รายงานว่านายศักดา ได้เข้าไปรายงานตัวที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) แล้วเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา
 
 
 
 
 

"เซีย ไทยรัฐ" เข้า บก.ทบ.รายงานตัวปรับทัศนคติแล้ว หลังเมื่อวานเจ้าหน้าที่ไป 'เชิญ' ถึงสำนักพิมพ์ via @anuthee #เซียไทยรัฐ #ปรับทัศนคติ #VoiceTV21

Posted by Voice TV on 3 ตุลาคม 2015

 

เผยผลการปรับทัศนคติ คสช. ให้ระมัดระวังการนำเสนอมากขึ้น
 
ด้าน บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่านายศักดา แซ่เอียว หรือ ‘เซีย ไทยรัฐ’ นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง ประจำหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวกับบีบีซีไทยถึงการเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน โดยระบุว่า เดินทางเข้าไปพบเจ้าหน้าที่พร้อมกับบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นายสุนทร ทาซ้าย แต่ไม่ทราบชื่อเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเจรจาด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยชื่อ 
 
“คสช. เห็นว่าการ์ตูนที่เราเขียนผิดข้อเท็จจริงไปบ้าง เพราะเราไม่ข้อมูล เลยเรียกมาเพื่อปรับความเข้าใจและบอกจุดยืนของทาง คสช. ว่าทุกคนทำเพื่อประเทศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ข้อมูลหรือข่าวสารรูปภาพที่กระทบกระเทือนความเรียบร้อย ก็ให้คุยกัน ให้หาข้อเท็จจริง ผมก็บอกว่าการ์ตูนที่ผมเขียนส่วนใหญ่ก็เอามาจากหนังสือพิมพ์นั่นแหละ แต่ถ้าไม่ถูกใจก็น้อมรับ”
 
นายศักดากล่าวว่า ปกติแล้วการ์ตูนของเขาจะผ่านการตรวจโดยบรรณาธิการข่าวก่อนทุกรูป ซึ่งทำให้เขาค่อนข้างสบายใจว่ามีการตรวจสอบแล้ว แต่จากนี้ก็คงจะต้องระมัดระวังในการเสนอมากขึ้น ต้องหาข้อมูลระมัดระวังไมให้กระทบกระเทือน ในส่วนความปลอดภัยนั้น นายศักดากล่าวว่าไม่กังวล เพราะไม่มีเจตนาร้ายและหลังจากการปรับทัศนคติแล้ว ทาง คสช. ก็ยังไม่มีการวางมาตรการในการทำงาน หรือการทำสัญญาบังคับใดๆ เพียงแต่แจ้งว่าทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคณะกรรมการที่คอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารอยู่
 
“ไม่กังวล เราเป็นสื่อมวลชน สิ่งที่เราเสนอไปเราก็อยู่บนข้อเท็จจริง เราหวังดี เราไม่ได้คิดร้าย ไม่ได้เป็นผู้นำการต่อต้านอะไร” 
 
นายศักดาระบุว่า การเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อปรับทัศนคติเป็นการเฉพาะเจาะจงรายบุคคลครั้งนี้ถือเป็นแรก ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับเชิญไปร่วมกิจกรรมปรองดอง หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 สองสัปดาห์ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการตักเตือนให้ร่วมกิจกรรมปรองดอง อย่าเขียนการ์ตูนต่อต้าน 
 
“นี่เป็นครั้งแรกที่ตรงไปที่งานว่าเราบิดเบือน ผิดไปจากข้อเท็จจริงแต่ผมยืนยันว่าที่เขียนไปนี้เป็นไปตามข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หวังว่าคณะกรรมการตรวจสอบจะไปตรวจสอบข้อมูลดูว่าผมเขียนตามข่าวที่ปรากฏชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนก็อาจจะมีการฟ้องร้อง ถ้าเมตตาก็อาจจะไม่” นายศักดากล่าวทิ้งท้าย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ออกหมายจับชายต่างชาติบุกศาลทหาร

0
0
ศาลออกหมายจับชายต่างชาติ สะพายเป้บุกเข้าศาลทหารวันฝากขัง 2 มือระเบิดราชประสงค์แล้ว

 
 
 
สำนักข่าวไทยรายงานเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมาว่าศาลแขวงดุสิต ออกหมายจับ  ชายไม่ทราบชื่อ ตามภาพจากกล้องวงรปิด ในข้อหา เข้าไปสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติเมื่อแล้ว
 
 
อนึ่ง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า มีชายต้องสงสัยเป็นชาวต่างชาติ สวมเสื้อยืดคอกลมสีดำ กางเกงยีนส์ขายาวสีน้ำเงิน สวมแว่นกันแดด สะพานเป้สีดำ สวมรองเท้าผ้าใบ เดินเข้ามาภายในศาลทหารกรุงเทพ ก่อนจะเดินตรงไปที่ลิฟต์และกดขึ้นไปที่ชั้น 4 หลังจากนั้น ชายต้องสงสัยคนดังกล่าวได้เดินขึ้นไปบนดาดฟ้า ประมาณ 1-2 นาที ก่อนกลับมาที่ชั้น 4 อีกครั้ง และเดินกลับมากดลิฟต์ลงมาที่ชั้น 1 แล้วรีบเดินออกนอกบริเวณศาลทหารกรุงเทพไปทันที โดยใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 8-10 นาที 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองสลากเตรียมปรับการจองซื้อเหลือไม่เกินคนละ 15 เล่ม เริ่มงวด 1 พ.ย. นี้

0
0
หลังพบมีคนซื้อ 1,425 ราย จำนวน 18,900 เล่ม ใช้เวลา 13 นาที 65% ซื้อสลากจำนวน 5-20 เล่ม 40% ซื้อ 25-50 เล่ม งวดวันที่ 1 พ.ย. 2558 นี้จึงจะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 18-22 ต.ค. ปรับกลยุทธ์การซื้อและจองสูงสุด 15 เล่มจากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 50 เล่ม เพราะผู้ที่ซื้อสลากดังกล่าวไปจะเป็นรายย่อย

 
4 ต.ค. 2558 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยถึงการเปิดจองซื้อสลากล่วงหน้าของงวดวันที่ 16 ต.ค. 58 ว่า เป็นครั้งแรกที่มีการเปิดจองและซื้อขายสลากในรอบ 30 ปี โดยยอมรับว่ามีปัญหาบ้างเรื่องการสื่อสารแต่ยืนยันว่ามีความโปร่งใส 100% โดยพบว่าหลังจากปิดทำการ มีคนซื้อได้จำนวน 1,425 ราย จำนวน 18,900 เล่ม โดยใช้เวลาทำการ 13 นาที โดยประมาณร้อยละ 65 ได้ทำการซื้อสลากจำนวน 5-20 เล่ม ส่วนอีกประมาณร้อยละ 40 เป็นการซื้อ 25-50 เล่ม ดังนั้นในงวด วันที่ 1 พ.ย. 2558 ที่จะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 18-22 ต.ค. จะมีการปรับกลยุทธ์การซื้อและจองสูงสุด 15 เล่มจากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 50 เล่ม เพราะผู้ที่ซื้อสลากดังกล่าวไปจะเป็นรายย่อย ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของกองสลากที่ต้องการกระจายสลากไปให้ผู้ค้ารายย่อย โดยเชื่อว่าจากการกำหนดจำนวนการจองซื้อดังกล่าว จะทำให้มีผู้ซื้อจองสลากรายย่อยเพิ่มขึ้น 8,000 ราย อย่างไรก็ตามการเป็นความเสี่ยงของผู้ขายที่ต้องวางแผนการขายสลากให้ดี เพราะในงวดดังกล่าวจะมีสลากเพิ่มมากขึ้นในระบบถึง 26% หรือ 13 ล้านฉบับคู่
 
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเรียก 1 ใน 5 เสือกองสลาก หรือผู้ที่ได้โควต้ารายใหญ่ มาตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังกับกรมสรรพากร เพื่อความโปร่งใส หลังจากนี้พร้อมจับตาผู้ที่ซื้อสลากทุกราย เพื่อป้องกันไม่ตกเป็นเหยื่อหนี้นอกระบบ และต้องการให้สลากถึงมือผู้มีรายได้น้อยหรือผู้จำหน่ายรายย่อย และแนะนำผู้มีรายได้น้อยแต่อยากได้สลากไปจำหน่ายให้รวมตัวกันเพื่อซื้อสลากแทนการไปยืมหนี้นอกระบบมาเพื่อซื้อสลากเพราะได้ไม่คุ้มเสียเนื่องจากสลากผลิตมาจำนวนมากกว่าเดิมและมีอายุสั้นหากขายไม่หมดก็จะขาดทุนเพราะต้องนำเงินไปจ่ายให้เจ้าหนี้นอกระบบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลขอความร่วมมือปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว ชี้ช่วยเหลือทุกกลุ่มแม้มีงบน้อย

0
0
รัฐบาลขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นแทนข้าว เพื่อลดความเสี่ยง แต่ไม่ได้ห้ามปลูกข้าว วอนพี่น้องเกษตรกรเข้าใจ ชี้รัฐช่วยเหลือคนทุกกลุ่มเต็มที่แม้มีงบน้อย  แต่จะไม่ยอมให้เหตุซ้ำรอยที่ผ่านมาเพราะประเทศขาดทุนมาก

 
 
4 ต.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเกษตรกร จ.กาญจนบุรี แสดงความไม่พอใจรัฐบาลที่ขอให้งดทำนาปรังเนื่องจากน้ำมีปริมาณไม่เพียงพอนั้น ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาประเทศไทยและอีกหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ธรรมชาติทำให้ฝนตกน้อยกว่าทุกปี หลายพื้นที่เกิดความแห้งแล้ง และคาดว่าจะแล้งหนักในปีหน้า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชโดยเฉพาะข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง รัฐบาลจึงขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรทุกจังหวัดที่ปลูกข้าวไม่เฉพาะแต่ จ.กาญจนบุรี หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทนโดยความสมัครใจ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรเอง เนื่องจากใช้น้ำน้อยกว่า ได้ราคาที่คุ้มค่าและรัฐบาลเองก็จะช่วยหาตลาดรองรับ ไม่ใช่สั่งให้งดการปลูกข้าวแต่อย่างใด
 
พลตรีสรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรชาวนาทุกพื้นที่ เพราะหากฝืนธรรมชาติที่จะทำนาปรัง ในที่สุดก็จะไม่มีน้ำเพียงพอ ข้าวที่ปลูกจะได้รับความเสียหาย หากรัฐคอยแต่จะชดเชยเงินเพื่อช่วยเหลือข้าวที่ยืนต้นตายก็จะเป็นการช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับปัญหา หรือหากมุ่งแต่จะส่งน้ำในเขื่อนที่มีอยู่อย่างจำกัดมาช่วยก็ส่งผลกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในภาคกลางทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าในการดำรงชีวิต  ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรมาโดยตลอดไม่เคยทอดทิ้ง โดยได้อนุมัติงบประมาณหลายแสนล้านบาท เพื่อขุดบ่อบาดาลทั่วประเทศ จ้างงานเกษตรกรที่ประสบปัญหา ซื้อถังน้ำช่วยเหลือภาคการเกษตร ทำฝนหลวง และจ่ายเงินชดเชยกรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหาย ซึ่งถือเป็นการเบิกจ่ายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยอยากให้ประชาชนเข้าใจในความตั้งใจจริงของรัฐบาล และอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือนจากคนบางกลุ่มที่ต้องการให้ร้ายรัฐบาล
 
พลตรีสรรเสริญ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีภาระด้านงบประมาณหลายเรื่องต้องส่งเสริมสนับสนุนพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ให้มีความเข้มแข็งสามารถสร้างงานสร้างรายได้ วางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพราะที่ผ่านมาประเทศเสียหายไปมาก มีหนี้สาธารณะที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก งบประมาณถูกนำไปใช้จ่ายเงินค่าข้าวล่วงหน้าและเกิดภาวะขาดทุน เกษตรกรหลายกลุ่ม ประชาชนหลายอาชีพเดือดร้อน ราคาข้าวในตลาดโลกขณะนี้ยังต่ำอยู่ตามสภาวะเศรษฐกิจ และมีการแข่งขันสูง ส่วนข้าวจากการรับจำนำของรัฐบาลที่แล้วยังอยู่ในสต็อกอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีคุณภาพต่ำและขายไม่ได้ราคา รัฐเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการแก้ไข
 
“นายกรัฐมนตรี ไม่ได้หวังผลทางการเมือง และทำงานทุกอย่างเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยเฉลี่ยแบ่งปันกัน มิฉะนั้นประเทศจะเดินหน้าไม่ได้ ประชาชนต้องเข้าใจว่าการจะหลุดพ้นจากความยากจนและปัญหาหนี้สิน จะต้องไม่นำเงินในอนาคตมาใช้ แต่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้คนมีรายได้เพิ่มก่อน จากนั้นจึงใช้เงินอย่างรู้คุณค่า รัฐบาลและ คสช.เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อน และขอให้ประชาชนที่เข้าใจช่วยอธิบายกันต่อๆว่า ที่ผ่านมาเราแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด หากยังยึดแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆระบบการเงินการคลังของประเทศจะเสียหายและล่มสลายในที่สุด จึงขอให้คนไทยอดทน เชื่อมั่นในคำแนะนำของรัฐบาล และมีความหวังที่จะก้าวผ่านปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สุริยะใส' ห่วงไม่มีประชามติรับ รธน. ด้าน 'เพื่อไทย' เตือนสมาชิกอย่าแอบอ้างพรรคร่วม สปท.

0
0
'สุริยะใส' ห่วงแก้ รธน. ตัดประเด็นลงประชามติออก อาจจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโรดแมป แนะ คสช. เตรียมตอบคำถามสังคม ด้านพรรคเพื่อไทยเตือนสมาชิกพรรคแหกกฎดอดนั่ง สปท. ระวังอนาคตจะลำบาก

 
 
 
สุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต (ที่มาภาพ: th.wikipedia.org)
 
 
4 ต.ค. 2558 สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ในการหารือเป็นส่วนตัวเมื่อวันที่ 2 ต.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจมีเงื่อนไขที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่กล้าตัดสินใจคนเดียวจึงต้องนำเข้าที่ประชุม คสช. วันที่ 5 ต.ค. นี้ ซึ่งอาจเป็นไปได้จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโรดแมป จนอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เป็นครั้งที่ 2 โดยเฉพาะประเด็นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวตนคิดว่า ต้องไม่ถูกตัดออก เพราะความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาและที่มาอย่างเดียว แต่อยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายด้วยว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่
 
นอกจากนี้ นายสุริยะใส ยังกล่าวว่า หาก นายมีชัย รับตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จริง ก็อาจมีคำถามว่า กรธ. จะมีความเป็นอิสระมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงมือกฎหมาย คสช. เท่านั้น เพราะ นายมีชัย ดำรงตำแหน่งกรรมการ คสช. อยู่อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย แม้จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ คสช. ก็ต้องเตรียมคำอธิบาย เพราะจะถูกคนบางกลุ่มนำไปเป็นประเด็นโจมตีได้เช่นกัน แต่ถ้าคิดอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องดีที่ คสช. กับ กรธ. แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน และจะไม่ได้มีปัญหาในภายหลัง
 
รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทยเตือนสมาชิกพรรคแหกกฎ ดอดนั่งสปท. ระวังอนาคตจะลำบาก
 
ด้าน  Voice TVรายงานว่านายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช.จะมาเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า วันนี้ประชาชนจับตาและสนใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าใส่ใจในตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธาน หรือตัวกรรมการ เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ร่าง ก็ต้องร่างตามแนวทางที่มีการวางหมากกันไว้นายมีชัยจะเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก และหน้าตาคงไม่ต่างจากพิมพ์เขียวที่มีอยู่ในชุดความคิดหลักของผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนเส้นทางของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่เดินมาก่อน สิ่งที่ยากของคนที่จะเข้ามาคือต้องพร้อมสละชื่อเสียงต้นทุนของตัวเอง เพราะชะตากรรมของนายบวรศักดิ์ ก็มีให้เห็นอยู่แล้วว่าวันนี้ตกอยู่ในสภาพเช่นไร ดังนั้นสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนอยากเห็นคือเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เป็นสากล เป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่มีวาระซ่อนเร้น หมกเม็ด หรือวางกับดักสืบทอดอำนาจ
 
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวกรณีที่ คสช.ทาบทามสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วน ให้ไปร่วมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า วันนี้ประชาชนรับรู้ถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศจุดยืนชัดเจนตลอดมาว่าจะไม่ส่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปเป็น สปท.ผ่านทั้งแถลงการณ์ ทั้งคำยืนยันจากแกนนำพรรค ถือว่าเป็นจุดยืนที่แข็งแกร่งมาก แต่หากยังจะมีสมาชิกคนใดจะไปเป็น สปท. นอกเหนือจากการต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ต้องพร้อมรับผิดชอบต่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง วันนี้ประชาชนทั้งประเทศมองดูอยู่ อย่าใจเร็วด่วนได้ เดินออกไปจากพรรคในวันนี้ด้วยการไปเป็น สปท.อนาคตน่าจะกลับเข้ามาลำบาก รวมถึงหากมีการประกาศรายชื่อออกมาแล้วมีการอ้างว่ามาจากพรรคเพื่อไทย ก็ขอให้สังคมช่วยให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะหลายคนที่มีชื่อในข่าวและอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย บางคนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และไม่เคยเป็น ส.ส.ของพรรค ดังนั้นไม่ควรมาฉวยโอกาสแอบอ้าง
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 28 ก.ย.-4 ต.ค. 2558

0
0

พระ-ชาวบ้าน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ฯ สุดทนรวมตัวประท้วง ตร.จับโจรไม่ได้
 
(28 ก.ย.) ที่วัดเสริมนิมิต บ้านยาง ม.2 ต.บ้านยาง อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี พระปลัดถาวร ถาวโร รักษาการเจ้าอาวาสวัดเสริมนิมิต พร้อมชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกว่า 100 คนได้รวมตัวกันภายในบริเวณวัด พร้อมถือป้ายเขียนข้อความประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คีรีรัฐนิคม ที่ไม่สามารถติดตามจับกุมคนร้ายที่เข้าไปก่อเหตุลักทรัพย์ภายในวัดมาดำเนินคดีได้ 
 
พระปลัดถาวร ถาวโร เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้มีแก๊งตีนแมวบุกเข้ามาโจรกรรมทรัพย์สิน ที่เป็นเงินสดในตู้บริจาคต่างๆ ภายในวัดมามากกว่า 10 ครั้ง รวมแล้วเป็นเงินกว่า 300,000 บาท ทางวัดได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.คีรีรัฐนิคม ไว้ทุกครั้ง แต่คดีไม่มีความคืบหน้า ล่าสุด ทางคณะกรรมวัดได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ 8 ตัว เพื่อป้องกันการก่อเหตุ และเมื่อเวลา 08.00 น.ของวันที่ 28 กันยายน ได้เกิดเหตุอีกครั้งในขณะที่พระ และชาวบ้านกำลังทำพิธีทางศาสนาในวันพระบนศาลาการเปรียญ 
 
มีคนร้าย จำนวน 3 คน ลักลอบปีนเข้าทางห้องน้ำกุฏิเจ้าอาวาส โดยมีกล้องวงปิดได้จับภาพได้อย่างชัดเจน ทั้งใบหน้า และรูปพรรณสัณฐาน จำนวน 1 คน ซึ่งถือปืนเข้าไปในห้องที่เก็บของของวัด นอกจากนั้น ภาพจากกล่องวงจรปิดยังสมารถจับภาพคนร้ายได้อีก 1 คน ซึ่งใช้ใช้ถุงน่องคลุมศีรษะปิดปังใบหน้าเดินตามเข้ามา เมื่อเข้ามาคนร้ายได้ทำลายกล้องวงจรปิดเสียหายไป 3 ตัว หลังเข้าก่อเหตุได้หลบหนีไปอย่างลอยนวล โดยกลุ่มคนร้ายได้เงินสดที่เป็นกองทุนฌาปกิจศพไร้ญาติไป จำนวน 50,000 บาท โทรศัพท์มือถือ มูลค่า 5,000 บาท 1 เครื่อง 
 
หลังเกิดเหตุทางวัดได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน พร้อมนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้รับความสนใจปล่อยให้เรื่องเงียบจึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก จึงรวมตัวประท้วง และเดินทางมาติดตามคดีที่ สภ.คีรีรัฐนิคม แต่ไม่มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่จึงไม่มีใครชี้แจงต่อชาวบ้าน จนชาวบ้านเกิดความไม่พอใจเตรียมเดินทางไปร้องต่อผู้บังคับการจังหวัดให้เร่งดำเนินการต่อไป 
 
 
ชาวธัญบุรี ประท้วงรื้อสะพานลอยทำสะพานกลับรถ วอนทบทวนก่อน
 
(29 ก.ย.58) ที่บริเวณสะพานลอยคนข้าม หน้าหมู่บ้านอยู่เจริญ และสะพานลอยคนข้ามหน้าชุมชนศรีประจักษ์ ถนนรังสิต-นครนายก ช่วงกม.ที่ 3-700 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ได้มีชาวบ้านของชุมชนอยู่เจริญ นำเอาป้ายผ้าสีแดงขนาดใหญ่มีใจความว่า ชาวชุมชนอยู่เจริญ ขอคัดค้านการรื้อถอนสะพานลอยและการก่อสร้างสะพานกลับรถตรงจุดนี้ มาติดที่สะพานแห่งนี้ ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่ชุมชนอยู่เจริญเพื่อสอบถามถึงเรื่องราวดังกล่าว
 
นายกรพันธ์ ตรีเวช ประธานชุมชนอยู่เจริญ เปิดเผยว่าชาวชุมชนอยู่เจริญกว่า 600 หลังคาเรือนต่างแสดงออกถึงการคัดค้านการรื้อถอนสะพานลอยแห่งนี้และเตรียมก่อสร้างสะพานกลับรถแทนที่สะพานลอยโดยเหตุที่ชาวบ้านคัดค้านนั้นเนื่องมาจากว่า หากไม่มีสะพานลอยแห่งนี้แล้วชาวบ้านหมู่บ้านอยู่เจริญจะต้องมีความลำบากในการเดินทางข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นเรื่องอันตรายเป็นอย่างมาก อีกทั้งหากสะพานลอยตรงจุดนี้ถูกรื้อไปแล้ว ชาวบ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างจักรยานยนต์รับจ้างไปอีกสะพานที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ 1 กิโลเมตร
 
นายกรพันธ์กล่าวว่า จากเรื่องดังกล่าวนี้เอง ตนไม่เข้าใจว่าทำไมกรมทางหลวงถึงได้มีความคิดที่จะรื้อสะพานลอยแห่งนี้ เนื่องจากชาวบ้านในบริเวณที่มีหลายชุมชนรวมแล้วหลายพันหลังคาเรือนที่ต่อสู้เรียกร้องไปยัง เทศบาลนครรังสิต เพื่อขอให้มีการก่อสร้างสะพานลอยแห่งนี้ขึ้น เพราะเมื่อก่อนที่ยังไม่มีสะพานลอยคนข้ามแห่งนี้ ชาวบ้านในหลายชุมชนได้ข้ามถนนเพื่อไปอีกฝั่งหนึ่งแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตมาแล้วหลายสิบราย หากจะมีการรื้อถอนจริงๆชาวบ้านคงไม่ยอมอย่างแน่นอน
 
นายกรพันธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการร้องขอให้มีการทบทวนเรื่องโครงการนี้ โดยตนเองพร้อมชาวบ้านในชุมชนอยู่เจริญต่างได้มีการทำหนังสือคัดค้านและลงรายมือชื่อทั้งชุมชน เพื่อยื่นต่อ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปทุมธานี และ เทศบาลนครรังสิต  เพื่อขอให้มีการทบทวนโครงการดังกล่าวนี้
 
เช่นเดียวกับ นายอุดม แสนทวี ประธานชุมชนศรีประจักษ์ เปิดเผยว่าชุมชนศรีประจักษ์ที่มีชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรื้อสะพานลอยคนข้ามแล้วดำเนินการก่อสร้างสะพานกลับรถทดแทนขึ้นมานั้นกล่าวว่า ตนเองและชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการรื้อสะพานลอยเพราะมันจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่มีสะพานข้ามฝั่งหากจะข้ามต้องเดินไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรจึงจะข้ามได้เนื่องตรงจุดนี้ชาวบ้านใช้เวลาเรียกร้องขอให้มีสะพานลอยคนข้ามมานานนับปีแต่อยู่ดีๆ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับจะรื้อสะพานทิ้งลงเพราะเห็นว่ามันเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ อีกทั้งสะพานลอยแห่งนี้ยังใช้งานไม่ถึงสิบปีเลยด้วยซ้ำ
 
ทั้งนี้นายอุดมกล่าวว่า ชาวบ้านจากหลายชุมชนยังตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงไม่มีการแจ้งชาวบ้านในเรื่องโครงการดังกล่าวนี้หรือว่าทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนก็ไม่มี มาบอกชาวบ้านอีกทีก็มีการทำสัญญาว่าจ้างกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งโครงการสะพานกลับรถที่มาทดแทนสะพานลอยคนข้ามแห่งนี้นั้น ชาวบ้านหลายชุมชนในบริเวณนี้ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง สารอินทรีย์ระเหย และ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากรถเล็กและรถใหญ่ที่มากลับรถตรงจุดนี้ อีกทั้ง สะพานกลับรถแห่งนี้หากก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีประโยชน์ต่อเส้นถนนคลองสามเพียงแห่งเดียว เนื่องจากเป็นทางกลับรถทางเดียวมุ่งหน้าขาออกเพียงเท่านั้น โดยตนและชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านโครงการนี้ไม่ใช่ว่าจะมาขัดขวางความเจริญ ทุกคนอยากเห็นความเจริญแต่ว่าโครงการดังกล่าวนี้ชาวบ้านทุกคนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนอีกครั้งโดยชาวบ้านขอให้นำสะพานกลับรถไปก่อสร้างที่บริเวณสะพานแดงคลองหนึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าเนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่คลองสามลงอีกด้วย 
 
 
ชาวบ้านกว่า 200 คน บุกศาลากลางนครนายก ประท้วงสร้างสะพานพังไม่เสร็จสักที
 
วันที่ 28 ก.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก ได้มีชาวบ้านกลุ่มรักนครนายกได้ร่วมตัวประมาณ 200 คน ถือป้ายประท้วงถึงความเดือดร้อนที่ได้รับจากสะพานทางเบี่ยงถูกน้ำพัดสะพานพังทั้งสองเส้นทาง จึงได้มาเข้าพบนายสราวุธ วงศ์วิวัฒนา โยธาธิการและผังเมือง  และนายบุญมา โรจนาปิยาวงศ์ ผู้รับเหมา พร้อมตัวแทนชาวบ้านประมาณ 10 คนเข้าห้องประชุมได้ข้อตกลงว่าทางผู้รับเหมาได้รับปากว่าจะเร่งสร้างสะพานทางเบี่ยงให้ใหม่ทั้งสองสายให้เสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2558  และพานข้ามแม่น้ำนครนายกจะเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และชาวบ้านที่ร่วมประชุมต่างพอใจที่ผู้รับเหมารับปากไว้จึงได้แยกย้ายกันกลับดังกล่าว
   
ทั้งนี้ สะพานข้ามแม่น้ำนครนายกหน้าธนาคารกรุงไทยได้มีการทุบทิ้งเพื่อสร้างสะพานใหม่และผู้รับเหมาได้สร้างสะพานทางเบี่ยงข้ามแม่น้ำจำนวน2 สะพาน 1. สะพานทางเบี่ยงซอยธนาคารกรุงไทย 2. สะพานทางเบี่ยงซอยร้านเท่งฮง ข้ามโรงเรียนนครนายกวิทยาคมได้ถูกน้ำพัดเสียหายทั้ง 2 สะพาน  เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน  ซึ่งเกิดจากพายุหวามก๋อทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการสัญจรไปมา  ไม่สะดวกต้องอ้อมไปข้ามสะพานบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ซึ่งมีปริมาณรถเยอะมากและเป็นอันตราย  
 
ส่วนแม่ค้าต้องจ้างรถจักยานยนต์รับจ้างลากรถเข็นอ้อมไปทางหน้าจวนผู้ว่าฯ เช่นกัน  ทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น และทางแม่ค้าฝั่งวังกระโจมก็ขายของไม่ได้ เพราะผู้ซื้อจะต้องขับรถอ้อมไปไกลสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก  ชาวบ้านจึงร่วมตัวกันดังกล่าว
 
 
โวย รง.พลาสติกเหม็น-ส่งเสียงดัง
 
อ่างทอง * วันที่ 30 ก.ย. ชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวร้องเรียนเรื่องโรงงานพลาสติกปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้รวมตัวกันที่ศาลาการเปรียญวัดท่าโขลง หมู่ 4 ต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง เพื่อให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง ช่วยนำเรื่องไปแก้ไข เนื่องจากทางโรงงานไม่ได้มีการป้องกันหรือการแก้ไขแต่อย่างได หลังจากที่ได้มีการร้องเรียนไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา และชาวบ้านในพื้นที่ ต.อ่างแก้ว ต.บ่อแร่ ต.คำหยาด และตำบลใกล้เคียง ได้รับผลกระทบจากมลพิษจากทางโรงงานนี้กันอยู่ประจำ
 
นายอภิวัฒน์ อันทมหันต์ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ 6 ต.อ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้มีการรวมตัวกันไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลอ่างแก้ว อ.โพธิ์ทอง และวันนี้ก็มาติดตามความคืบหน้ากับทาง อบต.อ่างแก้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของโรงงานพลาสติกปล่อยควันมลพิษส่งกลิ่นเหม็น จนชาวบ้านทนกันไม่ไหวจึงต้องออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ เพื่อจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีอำนาจสั่งการช่วยเหลือ แก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องทุกข์กับการสูดดมกลิ่นเหม็นมานาน.
 
 
ชาวบ้านชุมนุมถามสิทธิ์ทำกิน “น้ำตกนางรอง”
 
วันที่ 30 ก.ย. 2558 ชาวบ้าน ต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก ประมาณ 50 คน รวมตัวชุมนุมบริเวณน้ำตกนางรอง โดยชาวบ้านที่มีอาชีพหาเห็ดป่า หน่อไม้ป่า และบางส่วนที่ต่อท่อน้ำมาจากน้ำตกนางรอง อยากได้คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่ายังสามารถใช้ได้เหมือนเดิมหรือไม่ หลังจากป่าไม้ได้เข้ามาดูแลพื้นที่แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนครนายก
 
นายกิตติชัย รุ่งไพบูรณ์วงศ์ เจ้าหน้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ชี้แจ้งว่าชาวบ้านยังทำมาหากินได้เหมือนเดิม อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ในการพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดิน แต่ขอให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมและพื้นที่ป่าร่วมกัน
 
ส่วนช่วงบ่ายตัวแทน อบจ.นครนายก จะเข้าแจ้งความตำรวจภูธรเมืองนครนายก โดยยืนยันว่าที่ผ่านมา อบจ.บริหาร น้ำตกนางรองตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาปี 2501 ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ปี 2504
 
 
แท็กซี่เชียงใหม่ประท้วงหยุดบริการ ขณะท่องเที่ยวเดือดร้อนหนักไม่มีรถออกจากสนามบิน 
 
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.นายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จำกัด นำสมาชิกคนขับรถแท็กซี่มิเตอร์ จำนวน 140 คัน รวมตัวกันที่ประตูเข้าออกท่าอากาศยานพร้อมประกาศให้สมาชิกหยุดวิ่งรถเข้าท่าอากาศยานสนามบินเชียงใหม่ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1-7 ต.ค.อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังจากบริษัท คาร์เรนทัล เชียงใหม่ จำกัด ชนะประมูลที่จอดรถรับ-ส่งในบริเวณท่าอากาศยานเชียงใหม่ภายใต้การดูแลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด
นายสิงห์คำ กล่าวอีกว่า  ทางคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ ได้ประชุมสมาชิกที่มีรถแท็กซี่มิเตอร์ที่บริการในท่าอากาศยานเชียงใหม่ เมื่อ วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติว่า ไม่ให้นำรถแท็กซี่มิเตอร์ของสหกรณ์เข้าไปร่วมกับบริษัท คาร์เรนทัล เชียงใหม่ ถ้ารถแท็กซี่มิเตอร์คันไหนไม่ทำตามมติของสหกรณ์ ให้ทางสหกรณ์ดำเนินการถอดถอนออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ตามข้อบังคับสหกรณ์ทันที
 
ด้านนายนำพล จุลพันธุ์ ทนายความ บริษัทคาร์เรนทัลเชียงใหม่  กล่าวว่า บริษัทได้เข้ามาบริหารที่จอดรถรับ-ส่งที่บริการท่าอากาศยานเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป แม้ว่าสหกรณ์นครเดินรถล้านนาประท้วงหยุดวิ่ง แต่บริษัทมีสมาชิกผู้ขับขี่รถแท็กซี่กว่า 160 ราย สามารถให้บริการลูกค้าเพียงพอ ส่วนกรณีคณะกรรมการของสหกรณ์นครล้านนาเดินรถ จะถอดป้ายทะเบียนของรถแท็กซี่ออกไป ตามหลักกฎหมายไม่สามารถทำได้ เพราะผิด พระราชบัญญัติกรมขนส่งทางบก และจะมาตั้งด่านก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงตามอำนาจของ คสช. โดยในเรื่องนี้จะได้มีการพูดคุยตกลงทำความเข้าใจกันต่อไป
 
ขณะที่บรรยากาศนอกจากนี้มีรายงานอีกว่า หลังจากสหกรณ์นครล้านนาเดินรถประท้วงหยุดวิ่งเมื่อเช้าที่ผ่านมาทำให้นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากไม่มีรถแท็กซี่บริการออกจากสนามบินไปยังที่พัก ส่วนโรงแรมต้องนำรถไปนักท่องเที่ยวออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่
 
 
หนุ่มราดน้ำมันขู่เผาตัว บุกทำเนียบ-ร้องแก้หนี้ หวิดซ้ำรอยยายสังเวียน
 
เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 1 ตุลาคม ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกขึ้นที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อนายเฉลิม สอนนนทฐี อายุ 43 ปี ชาวบ้านต.หมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ได้น้ำมันเบนซินราดตัวเอง พร้อมถือไฟแช็ค บุกเข้ามาทำเนียบรัฐบาล วิ่งฝ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยบริเวณประตู 4 จำนวน 2 นาย ไปยืนที่หน้าธนาคารออมสิน และอยู่ติดกับที่ทำการไปรณีย์และธนาคารกรุงไทย
 
จากนั้นนายเฉลิม ได้ตะโกนขู่ที่จะจุดไฟเผาตัวเอง โดยมือข้างหนึ่งถือถังน้ำมันขนาด 5 ลิตรและมืออีกข้างถือไฟแช็ค และส่งผลให้กลิ่นน้ำมันลอยคุ้งไปทั่วบริเวณ โดยเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้ช่วยเหลือจากการเป็นหนี้นอกระบบ
 
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวนนับ 10 นาย พยายามเกลี้ยกล่อม และกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้สื่อข่าวออกห่าง จนกระทั่ง เวลาผ่านไปกว่า 30 นาที นายเฉลิมจึงยอม ส่งถังน้ำมันและไฟแช็คให้เจ้าหน้าที่ จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายเฉลิมไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ห้องน้ำ และนำตัวไปพูดคุยที่ชั้น 2 ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) ขณะที่นายเฉลิมได้ยกมือไหว้ขอโทษทุกคน พร้อมกับกล่าวว่าที่ทำไปเพราะต้องการเรียกร้องความถูกต้อง และความเป็นธรรม
 
โดยนายเฉลิม กล่าวกับเจ้าหน้าที่ว่า มาขอให้นายกฯช่วยติดติดตามความคืบหน้า ที่เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเคยขอให้ช่วยเหลือหนี้นอกระบบที่มีอยู่กว่า 7 แสนบาท แต่ไม่มีความคืบหน้า รวมถึงเรื่องที่ขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างระบบประปาบาดาลขององค์การบริหารส่วนตำบลหมอเมือง อ.แม่จริม จ.น่าน เนื่องจากถูกกลั้นแกล้งจากการรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่เจ้าหน้าที่รับปากติดตามเรื่องให้ และส่งนายเฉลิมขึ้นรถเดินทางกลับจ.น่าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา นายเฉลิมได้ปีนต้นไม้ข้างรั้วทำเนียบรัฐบาล ฝั่งถนนราชดำเนินขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก กองรักษาการณ์ตำรวจ ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับชูป้ายข้อความว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากตำรวจสันติบาลเกลี้ยกล่อมเป็นเวลา 1 ชั่วโมงจึงยอมลงมา
 
ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่นางสังเวียน รักษาเพ็ชร์ อายุ 52 ปี ชาว จ.ลพบุรี ใช้น้ำมันราดใส่ตัวเองก่อนจุดไฟเผาบาดเจ็บสาหัส ภายในศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2557 หลังมายื่นหนังสือร้องทุกข์ปัญหานี้สิน 1.5 ล้านบาท และถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ด้วยสภาพแผลไฟไหม้ตามร่างกาย ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา
 
 
ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. ให้ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับจากใบสั่งจราจรและยกเลิกการตั้งด่านลอย
 
2 ต.ค. 2558 ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยื่นหนังสือผ่านโฆษก สตช. ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ให้ยกเลิกเปอร์เซ็นต์นำจับจากใบสั่งจราจรที่ให้ตำรวจถึงร้อยละ 47.5 และยกเลิกการตั้งด่านลอย โดยนำรายชื่อประชาชน 35,000 รายชื่อ พร้อมเอกสารร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบมามอบให้ด้วย ชี้จะเกิดผลดีกับประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ขณะเดียวกันตำรวจก็จะได้รับความรักจากประชาชนมากขึ้น โดยให้เวลา 30 วัน
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอซีทีบล็อคเว็บ refreshthis.com หลังถูกใช้เป็นเครื่องมือ 'ถล่ม' เว็บหน่วยงานรัฐ

0
0

4 ต.ค. 2558 กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ refreshthis.com โดย redirect ไปที่หน้า http://203.113.26.210/ ซึ่งแจ้งว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
 

เว็บ refreshthis.com เป็นเว็บที่จะเรียกหน้าเว็บให้อัตโนมัติโดยสามารถตั้งเวลาได้ เช่น ให้เรียกซ้ำๆ ทุก 30 วินาที ก่อนหน้านี้ เว็บนี้เป็นเว็บที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแนะนำต่อๆ กันในค่ำวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งมีปฏิบัติการชวนกัน DDoS หรือ 'ถล่ม' เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง เริ่มจากเว็บกระทรวงไอซีที เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการต่อต้าน Single gateway โดยวันนั้นดังกล่าว มีเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐกว่า 6 แห่ง ที่ไม่สามารถเข้าใช้งานได้ อาทิ เว็บกระทรวงไอซีที http://www.mict.go.th/, เว็บกสท www.cattelecom.com, เว็บกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) http://center.isocthai.go.th/, เว็บทำเนียบรัฐบาล http://www.thaigov.go.th/, เว็บสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม http://opsd.mod.go.th/Home.aspx และเว็บทีโอที http://www.tot.co.th  เป็นต้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอนุรักษ์นามูล ตั้งข้อสงสัย เหตุใดนายทุนทำงานง่ายในช่วงรัฐประหาร

0
0

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จ.ขอนแก่น เข้ากรุงฯ อ่านแถลงการณ์ ตั้งข้อสงสัย ทำไมนายทุนปิโตรเลียม จึงได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการละเมิด EIA ของ ‘อพิโก้’

13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. บริเวณหน้าสถานฑูตสหรัฐอเมริกา ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือต่อสถานฑูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ต่อกรณีการดำเนินการขุดเจาะปิโตรเลียม ของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งสร้างผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ และมีกระบวนการบางประการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่ทหาร จะได้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทจนทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วผิดปกติ และไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงาน EIA พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ เร่งดำเนินการเอาผิดต่อบริษัทข้ามชาติด้วย

แถลงการณ์

การใช้อำนาจรัฐประหารเพื่อเร่งรัดและเอื้อประโยชน์ ต่อการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด พื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่ง ผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ปัจจุบันมีบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด บริษัทลูกของบริษัท อพิโก้ แอลแอลซี เป็นเจ้าของสัมปทานแต่เพียงผู้เดียว

นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา การเอื้อประโยชน์ของหน่วยงานราชการไทยให้บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด เข้าไปดำเนินการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่หลุมดงมูล 5 มีความรวดเร็วผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายของไทยหลายประการ เช่น ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงาน EIA ซึ่งเป็นข้อบังคับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่ง แวดล้อม พ.ศ. 2535 มีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการติดสินบนว่าจ้างทหาร คสช. ในพื้นที่ให้ช่วยอำนวยความสะดวกขนเครื่องจักรอุปกรณ์ในการขุดเจาะสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียมเข้าไปในพื้นที่ โดยเฉพาะสองเหตุการณ์สำคัญ

เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 13 - 19 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทหารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดขอนแก่น (กอ.รมน.ขอนแก่น) นำทัพบัญชาการโดยพันเอกจตุรพงษ์ บกบน รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น พร้อมกำลังผสมตำรวจ อาสาสมัครและพลเรือน ประมาณ 200 คน คุ้มกันรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 100 กว่าคัน ของบริษัทอพิโก้ฯผ่ากลางหมู่บ้านนามูล-ดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าไปในพื้นที่หลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดงมูล 5 (DM-5) ที่อยู่ห่างออกไปราวหนึ่งกิโลเมตร ท่ามกลางและรายรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหลุมขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลุมหนึ่งของโครงการพัฒนาแหล่ง ผลิตปิโตรเลียมดงมูลที่อยู่ในแปลง L27/43 ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ที่บริษัทอพิโก้ฯได้มาจากการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 18 โดยกองกำลังนำโดยรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.ขอนแก่น ทำการสกัด บังคับ ข่มขู่ ชาวบ้านไม่ให้ประท้วงต่อต้านขัดขวางใด ๆ เป็นภาพข่าวในสื่อประเภทต่าง ๆ หลายสำนัก รวมทั้งสื่ออิสระทั่วไปด้วยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นการใช้อำนาจทหารทำการกดขี่ข่มเหงจิตใจประชาชนอย่างรุนแรง

เหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นในกลางดึกของ วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ในระหว่างที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังนอนหลับพักผ่อน ส่วนหนึ่งเตรียมออกไปกรีดยาง ขบวนรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนอุปกรณ์เผาก๊าซกว่า 20 คัน วิ่งผ่านหมู่บ้านเข้าไปยังหลุมเจาะ โดยไม่มีการประกาศแจ้งเตือนประชาชน การขนอุปกรณ์กลางดึกโดยไม่บอกเจ้าของบ้าน เป็นพฤติกรรมราวกับกลุ่มผู้ไม่หวังดี ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยอำนวยความสะดวก ไม่ว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะใด ปรกติหรือไม่ปรกติสิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็เพียงแค่การมีส่วนร่วมในการพัฒนา บ้านเมือง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกและการชุมนุม รวมทั้งต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงของทางราชการและบริษัทเอกชน อย่างเปิดเผยและเป็นจริง แต่ในสถานการณ์รัฐประหาร แทนที่บริษัท อพิโก้ฯจะเปิดกว้างและเข้าใจประชาชนไทยว่ากำลังประสบวิกฤตทางสังคมและการ เมืองอย่างหนัก กลับอาศัยสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปรกติ ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉวยโอกาสเพื่อผลักดันการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมให้ได้รับความสะดวก และรวดเร็วโดยสงสัยว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ในพื้นที่มาข่มขู่ กดขี่ บังคับ ให้ชาวบ้านกลัวจนไม่สามารถออกมาต่อต้านหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายและ ความวิตกกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าบริษัทอพิโก้ฯดำเนินธุรกิจสวนทางกับความรับผิดชอบต่อสังคมและ หลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่คำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศตัวเองที่ถือเป็นต้นแบบประชาธิปไตยให้แก่ ประเทศอื่น ๆ ทั่วทุกมุมโลก มีท่าทีสนับสนุนรัฐประหารอย่างเปิดเผยด้วยข้อสงสัยว่าอาจจะมีการว่าจ้างทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมารังแกชาวบ้านเพียงเพื่อปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ ธุรกิจของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการและวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชนคนเล็กคน น้อยในสังคมไทยที่เดือดร้อนและวิตกกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการ ขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ดังนั้น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาด จึงได้เดินทางไกลมาเพื่อเรียกร้องต่อสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย รวมทั้งให้ส่งต่อจดหมายฉบับนี้ถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสหรัฐ อเมริกา เช่น รัฐบาล สภานิติบัญญัติ คณะกรรมาธิการในสภานิติบัญญัติ หรือองค์กรอื่น ๆ ที่ตรวจสอบความโปร่งใสหรือธรรมาภิบาลของการลงทุนข้ามชาติของบริษัทสัญชาติ อเมริกา ให้ดำเนินการเอาผิดต่อบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท อพิโก้ จำกัดด้วยโทษที่รุนแรงและถึงที่สุด จากเหตุการณ์ที่สงสัยว่าอาจจะมีการว่าจ้างติดสินบนเจ้าหน้าที่ทหาร คสช. ให้ใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารกดขี่ข่มเหงและรังแกชาวบ้าน นอกจากนี้ จะได้จัดส่งจดหมายฉบับที่ยื่นแก่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในวันนี้ ให้แก่หน่วยงาน/องค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทำหน้าที่กำกับดูแลความรับผิด ชอบและธรรมาภิบาลของบริษัทสัญชาติอเมริกาที่เข้ามาลงทุนในประเทศอื่น เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิดแก่การกระทำของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ต่อชาวบ้านและชุมชนนามูล-ดูนสาด

ด้วยความเคารพ

13 ตุลาคม 2558

ณ หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 10.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกระทรวงพลังงาน โดยขอให้มีคำสั่งยุติการเผาทดสอบการรอบที่ 2  ของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด พร้อมทั้งให้ตรวจสอบการขออนุญาตการเผาทดสอบก๊าซดังกล่าวด้วย เนื่องจากบริษัทฯ แจ้งว่าจะเผาทดสอบก๊าซตลอด 24 ชั่วโมง นานติดต่อกัน 15 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เช่นล้มตายของต้นยางพาราจำนวนมาก เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถทำการเกษตรต่อไปได้ รวมทั้งระหว่างการเผาก๊าซมีกลิ่นเหม็นส่งผลให้ชาวบ้านเจ็บป่วยหลายราย

ด้าน วิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ วิศวกรปิโตรเลียมชำนาญการพิเศษ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตัวแทนรับมอบหนังสือ ระบุว่า จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตามกรณีของบริษัทอพิโก้ฯ นั้นมีรายงาน EIA ที่ได้รับอนุมัติโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งมีการตรวจสอบทุกขั้นตอน และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามรายงาน และตอนนี้ไม่สามรถสั่งยุติการเผาก๊าซได้เนื่องจาก ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนที่ระบุไว้ใน EIA ขั้นตอนต่อไปจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ และบริษัทที่จัดทำรายงาน EIA ที่จะต้องไปตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่

ต่อมาในเวลา 13.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางมายัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้มียุติการเผาทดสอบก๊าชครั้งที่ 2 และขอให้มีการตรวจการอนุญาติการเผาทดสอบดังกล่าว

ทั้งนี้ สุโข อุบลทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์เข้าไปพูดคุย ทำความเข้าใจในห้องประชุม โดยมี ดำรงค์ เครือไพบูลย์กุล ผู้อำนวยการกลุ่มพลังงาน และ สิทธิชัย ปิติสินชูชัย นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ เข้าร่วมชี้แจงต่อกลุ่มอนุรักษ์ฯ ด้วย

ในการพูดคุยกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ถามถึงความชอบธรรมในการเผาทดสอบก๊าชครั้งที่ 2 ของบริษัทอพิโก้ เนื่องจากมีการประกาศปิดหลุ่มไปแล้ว เหตุใดจึงสามารถมีการเผาทดสอบก๊าซได้อีก ทั้งที่นี้ EIA ไม่ได้ระบุว่าจะมีการเผาทดสอบครั้งที่ 2 ด้านดำรงค์ได้ชี้แจงว่า การเผาทดสอบก๊าซนั้นบริษัทสามารถจะทำกี่ครั้งก็ได้ ถือเป็นสิทธิของบริษัท ทั้งนี้กระบวนการที่บริษัทจะต้องทำคือ การแจ้งให้สารถล่วงหน้าว่า จะมีการเผาทดสอบก๊าซภายนีระยะเวลา 15 วัน ก่อนที่จะทำการเผาก๊าซ พร้อมทั้งระบุด้วยว่าการเผาก๊าซนั้น จะส่งเผากระทบน้อยกว่าการปล่อยก๊าซดิบ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงก๊าซที่เป็นพิษให้มีปริมาณน้อยลง คือการเปลี่ยนก๊าซต่างๆให้เป็น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบน้อยกว่า

“โครงการพัฒนาต่างๆ แล้วไม่มีผลกระทบเลย เป็นไปไม่ได้ ไม่มีทาง ต้องอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร การทำโครงการมันต้องมีผลกระทบอยู่แล้ว แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้” ดำรงค์กล่าว

ทั้งนี้ด้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไปว่า เคยได้กลิ่นก๊าซกระจายเข้ามาในชุมชน ทั้งที่ไม่ได้มีการเผาก๊าซด้วย ซึ่งขณะนั้นทางกลุ่มไม่ทราบว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักมาตราการตามรายงาน EIA

ด้านสุโข ได้ชี้แจงต่อไปว่า สผ. มีหน้าที่เพียงเห็นชอบ EIA ไม่ได้มีอำนาจการสั่งระงับยุติการดำเนินการของบริษัท อย่างไรก็ตามหากมีผลกระทบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไม่ทำตาม EIA หรือทำตาม EIA แล้วแต่มีผลกระทำที่เกิดไปกว่าการประเมิน ชาวบ้านสามารถที่จะศึกษา EIA และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ ซึ่งคือ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำหรับผลกระทบที่ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ให้ข้อมูลชี้แจงมานั้น จะนำเข้าไปประกอบการพิจารณาให้การให้ความเห็นชอบโครงการต่อไปในอนาคต และจะส่งเรื่องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ถามกรอบในการพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบ EIA ของ สผ. ว่าเหตุใดจึงมีการเห็นชอบ EIA ทั้งที่ชุมชนยอยุ่ห่างจากเพียง 1.3 กิโลเมตร ซึ่งหากเห็นว่าจะส่งผลกระทบ สผ.สามารถระบุให้มีการย้ายที่ขุดเจาะออกไปได้อีก ด้านสิทธิชัย ตอบว่า การเห็นชอบ EIA ไม่จำเป็นที่จะต้องดูว่าอยู่ห่างจากชุมชนเท่าไหร่ หลุ่มขุดเจาะอาจจะอยู่ใกล้กับบ้านเรือนเพียง 60 เมตร ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือการพิจารณาว่าโครงการจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง และจะมีมาตราการควบคุมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่เกินไปกว่ามาตราฐาน

ด้านตัวแทนชาวบ้าน ได้แสดงความคิดเห็นว่า การพิจารณาในลักษณะนี้เป็นการพิจารณาที่ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานของสิทธิชุมชน เพียงแต่เพียงการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ด้านดำรงค์ได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี จึงไม่สามารถขยับหลุ่มขุดเจาะออกไปได้ ซึ่งเทคโนโลยีในการขุดเจาะลักษณะพิเศษจะมีในประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  บริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด  เป็นกลุ่มทุนเดียวกันกับ บริษัท อพิโก้ แอลแอลซี ซึ่งเป็นบริษัท ในรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อผลิตก๊าซที่มีคุณภาพสูงในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน โดยยึดหลักการในการดำเนินการที่ได้ประสิทธิภาพสูง แต่ใช้ต้นทุนต่ำ โดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ ให้ข้อมูลว่า มีต้นยางพาราล้มตายจำนวนมาก เกษตรกรไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ เนื่องจากทนกลิ่มเหม็นไม่ไหว และบางคนเกิดผื่นคันตามร่างกาย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านละเอียด มติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย

0
0


24 พ.ค. 2557 สนามเป้า กรุงเทพฯ
แฟ้มภาพ: ประชาไท

P8_TA-PROV(2015)0343
สถานการณ์ในประเทศไทย
มติรัฐสภายุโรป ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2558 เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย
(2015/2875(RSP))

รัฐสภายุโรป
– อ้างถึงการลงมติก่อนหน้านี้เกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2553, 6 กุมภาพันธ์ 2557 และ 21 พฤษภาคม 2558
– อ้างถึงคำแถลงการณ์โดยโฆษกของ Federica Mogherini รองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 เกี่ยวกับความเป็นไปในประเทศไทย
– อ้างถึงคำแถลงการณ์ของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับคณะเอกอัครราชทูตของสมาชิกประเทศสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557, 30 มิถุนายน 2558 และ 24 กันยายน 2558
– อ้างถึงมติสภายุโรปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2557 เกี่ยวกับประเทศไทย
– อ้างถึงคำตอบของ Catherine Ashton รองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงในขณะนั้น ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมาธิการ เกี่ยวกับสถานการณ์ของกรณีนายแอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall)
– อ้างถึงการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ของผู้รายงานพิเศษประจำสหประชาชาติเกี่ยวกับการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
– อ้างถึงการนำเสนอรายงานและคำชี้แนะของกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะ Universal Periodic Review ประจำประเทศไทยต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554
– อ้างถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948
– อ้างถึงปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1998 อ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ค.ศ. 1966 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้
– อ้างถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984
– อ้างถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
– อ้างถึงข้อบังคับ 135(5) และ 123(4) ของข้อบังคับการประชุมของรัฐสภายุโรป

A. อันเนื่องจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่กองทัพทำรัฐประหารถอดถอนรัฐบาลของประเทศไทยและดำเนินการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ พร้อมทั้งประกาศยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

B. อันเนื่องจากกองทัพไทยดำเนินการก่อตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีผู้นำคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บริหารอำนาจทั้งหมดและมีอำนาจไม่จำกัดในการออกคำสั่งและจัดการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

C. อันเนื่องจากองค์กรร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. ตั้งขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของนายทหารจากกองทัพ รวมทั้งการที่สมาชิก คสช. ได้รับการคุ้มครองจากการรับโทษใดๆ อันเกิดจากการกระทำความผิด ความรับผิดชอบหรือภาระรับผิดขณะปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 44 และ 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

D. อันเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 6 กันยายน 2558 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน และการไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดนี้อาจยืดเวลาการปกครองของรัฐบาลทหารในประเทศนี้ออกไป

E. อันเนื่องจากเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมหลายเว็บไซต์ที่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถูก คสช. กล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว รวมทั้งมีการเซ็นเซอร์ช่องโทรทัศน์และสถานีวิทยุชุมชนที่เชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองภายในประเทศทุกกลุ่มอย่างเข้มงวดเกินกว่าเหตุ

F. อันเนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้มีการผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างมากและมีบทลงโทษรุนแรงด้วยการจำคุกไม่เกิน 10 ปีสำหรับการฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น การขัดขวางระบบการบริการสาธารณะ

G. อันเนื่องจากนายทหารกองทัพที่ได้รับแต่งตั้งเป็น “พนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” มีอำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยวประชาชนตามอำเภอใจ สามารถเรียกประชาชนไปสอบปากคำและตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายศาล

H. อันเนื่องจากผู้เข้าร่วมการประท้วงโดยสันติถูกตั้งข้อหาปลุกระดมและข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรณีนักกิจกรรม 14 คนจากขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ถูกจับกุมตัว

I. อันเนื่องจากประเทศไทยยังคงใช้โทษประหารชีวิต และตัวบทกฎหมายใหม่ได้ขยายเงื่อนไขในการบังคับใช้โทษประหารชีวิต

J. อันเนื่องจากการจับกุมคุมขังภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

K. อันเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไม่ได้รับอนุญาตให้พบบุคคลที่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องระหว่างการถูกกักขังคุมตัวอย่างถาวรโดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือได้รับการพิจารณาคดีในศาลภายใต้อำนาจของศาลทหาร

L. อันเนื่องจากความเสื่อมถอยในด้านสวัสดิภาพของชุมชนท้องถิ่นและนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดินนับตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

M. อันเนื่องจากประเทศไทยมิได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 และไม่มีกรอบกำหนดการให้ที่ลี้ภัยอย่างเป็นทางการในระดับชาติ รวมทั้งหน่วยงานรัฐไทยยังคงส่งตัวผู้อพยพและผู้ขอลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ซึ่งพวกเขามีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับการข่มเหงทำร้าย

N. อันเนื่องจากประเทศไทยมีข้อผูกมัดภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกในด้านการไต่สวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมต่อการทรมาน การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ

O. อันเนื่องจากคดีฟ้องร้องหมิ่นประมาททางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิแรงงาน นายแอนดี้ ฮอลล์ ซึ่งเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป ได้รับการยกฟ้องก็จริง แต่เขายังถูกฟ้องร้องตั้งข้อหาในคดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และคดีหมิ่นประมาท รวมทั้งคดีหมิ่นประมาททางแพ่งอีกสองคดี ซึ่งอาจส่งผลให้ถูกลงโทษจำคุกถึงเจ็ดปีและปรับอีกหลายล้านบาท หลังจากฮอลล์ทำรายงานให้องค์กร Finnwatch ว่ามีการกดขี่แรงงานโดยบริษัทค้าส่งสับปะรดของไทย ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าบริษัทนี้ละเมิดสิทธิของแรงงานจริงทั้งจากกระทรวงแรงงานของไทยและจากลูกจ้างบริษัทคนหนึ่งในคำให้การต่อศาลก่อนหน้านี้ ทั้งนี้คดีของฮอลล์จะมีการไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 ตุลาคม 2558

P. อันเนื่องจากถึงแม้ประเทศไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 29 แต่คนงานข้ามชาติก็ยังได้รับการคุ้มครองน้อยมาก การค้าแรงงานมนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ สถานการณ์ในภาคการประมงยังน่าวิตกอย่างยิ่ง

Q. อันเนื่องจากสหภาพยุโรปยับยั้งการเจรจากับประเทศไทยเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2013 และสหภาพยุโรปปฏิเสธการลงนามในความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement—PCA) ที่บรรลุความตกลงในเดือนพฤศจิกายน 2556 จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยที่สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศไทย

1. ขอยืนยันในพันธะอันเข้มแข็งที่สหภาพยุโรปมีต่อประชาชนชาวไทย ซึ่งสหภาพยุโรปมีความผูกพันอย่างเข้มแข็งและยาวนาน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขอย้ำว่าสหภาพยุโรปในฐานะมิตรและหุ้นส่วนของประเทศไทย ได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการฟื้นคืนกระบวนการประชาธิปไตยกลับมาสู่ประเทศนี้

2. อย่างไรก็ตาม รัฐสภายุโรปมีความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เสื่อมถอยลงตั้งแต่การรัฐประหารที่ผิดกฎหมายในเดือนพฤษภาคม 2557

3. กระตุ้นให้หน่วยงานรัฐไทยยกเลิกการจำกัดกดขี่ต่อสิทธิเสรีภาพและการใช้สิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ อย่างสันติ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอย่างสันติ

4. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยล้มล้างคำตัดสินและการลงโทษ ถอนข้อหาและปล่อยตัวบุคคลและสื่อมวลชนที่ถูกจำคุกหรือถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุมอย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวและบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยทันที เนื่องจากข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นข้ออ้างให้หน่วยงานรัฐไทยมีอำนาจในการกดปราบเสรีภาพขั้นพื้นฐานและกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องรับผิด

5. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยช่วยป้องกันภัยคุกคามด้านสวัสดิภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวไทยทั้งปวง และควรตอบสนองต่อความกังวลของสมาชิกชุมชนท้องถิ่นและนักกิจกรรมด้านสิทธิในที่ดิน

6. เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐไทยเริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากกองทัพมาสู่หน่วยงานพลเรือนให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ กำหนดแผนการชัดเจนที่จะจัดการเลือกตั้งเสรีและบริสุทธิ์ยุติธรรมและมีการปฏิบัติตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัด

7. ส่งเสริมการถ่ายโอนอำนาจตัดสินทางตุลาการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพลเรือนจากกองทัพมาสู่ศาลพลเรือน ยุติการกักขังหน่วงเหนี่ยวตามอำเภอใจภายใต้กฎอัยการศึก และมีมาตรการจำกัดอำนาจของกองทัพในการกักขังหน่วงเหนี่ยวพลเรือน มิใช่ส่งเสริม

8. ส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐไทยทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อป้องกันมิให้กฎหมายนี้ลงโทษการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ และยับยั้งการใช้กฎหมายนี้อย่างเกินเลยในส่วนของประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง

9. ขอให้เคารพและคุ้มครองสิทธิในการมีสวัสดิภาพ รวมทั้งสวัสดิภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งดำเนินการไต่สวนการละเมิดสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหมดในทันที ด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและอิสระจากการแทรกแซง

10. จับตาดูคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่รัฐบาลไทยแต่งตั้ง เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เรียกร้องให้รัฐธรรมนูญวางพื้นฐานบนหลักการประชาธิปไตย เช่น ความเท่าเทียม อิสรภาพ การเลือกผู้แทนอย่างเป็นธรรม ความโปร่งใส ความรับผิด สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และการเข้าถึงทรัพยากรอย่างถ้วนหน้า

11. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีตามรัฐธรรมนูญของตนเองและพันธกรณีระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอิสระของกระบวนการยุติธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การสมาคมและการชุมนุมอย่างสันติ รวมทั้งความเป็นพหุนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย “ต่อต้านการหมิ่นประมาท” ที่เข้มงวดรุนแรงมากขึ้น

12. จับตาดูมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลไทยรับว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดในการขจัดการค้ามนุษย์และยุติระบบทาสยุคใหม่ที่แพร่ระบาดในห่วงโซ่ด้านอุปทานของอุตสาหกรรมประมง ส่งเสริมให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ให้ดีขึ้น

13. เรียกร้องให้ประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1967 

14. กระตุ้นให้ประเทศไทยมีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

15. แสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อการเห็นชอบพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศของประเทศไทย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกอนาคตที่เปิดกว้างมากขึ้นของประเทศนี้ในการปฏิบัติต่อบุคคลภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวลและคนข้ามเพศ (LGBT)

16. แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจยกฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อแอนดี้ ฮอลล์และการปล่อยตัวเขา เรียกร้องให้คดีอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และการหมิ่นประมาททางอาญาที่ฟ้องร้องเขาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้รับการยกฟ้องด้วย เนื่องจากการกระทำของเขาในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมีเป้าหมายเพื่อเปิดโปงการค้ามนุษย์และปรับปรุงสถานะทางกฎหมายของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งยืนยันสิทธิของเขาในการทำวิจัยและการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง รัฐสภายุโรปมีความกังวลต่อคดีหมิ่นประมาทในแง่ที่การพิจารณาคดีอาจไม่เป็นกลางอย่างแท้จริง เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับสายสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่ฟ้องร้องกับกลุ่มนักการเมืองไทยระดับสูง  รัฐสภายุโรปขอให้คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยติดตามสถานการณ์ทางกฎหมายของเขาต่อไปอย่างใกล้ชิดและเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี

17. แสดงความยินดีต่อการยกฟ้องนักหนังสือพิมพ์สองคนคือ ชุติมา “อ้อย” สีดาเสถียรและอลัน มอริสันที่ศาลจังหวัดภูเก็ต

18. กระตุ้นให้ชุมชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ทุ่มเทความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและการบังคับย้ายถิ่นฐาน โดยส่งเสริมการร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามตรวจสอบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาแรงงาน

19. กระตุ้นให้สหภาพยุโรปและรัฐบาลไทยมีการสนทนาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยและในภูมิภาคนี้ เน้นย้ำการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย

20. สนับสนุนคณะกรรมาธิการและกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (Commission and the European External Action Service-EEAS) ในการรักษาแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อสร้างหลักประกันว่าประเทศไทยจะหวนคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย้ำเตือนรัฐบาลไทยในแง่นี้ว่าไม่ควรคาดหวังความก้าวหน้าในด้านความตกลง FTA และ PCA ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยตราบที่รัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจ

21. แสดงความยินดีต่อบทบาทใหม่ของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปประจำปี 2558-2561 ชี้ให้เห็นผลประโยชน์ร่วมกันที่อาเซียนกับสหภาพยุโรปจะได้จากความร่วมมือกัน

22. ขอให้ EEAS และคณะผู้แทนสหภาพยุโรป รวมทั้งคณะผู้แทนของประเทศสมาชิก ใช้เครื่องมือทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติรัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะการเข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่องในการไต่สวนและการพิจารณาคดีผู้นำฝ่ายค้าน

23. เสนอแนะให้ประธานส่งต่อมตินี้ไปยังรองประธานคณะกรรมการ/ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง คณะกรรมาธิการ รัฐบาลและรัฐสภาแห่งประเทศไทย รัฐสภาและรัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน
 

 

ที่มา: http://www.europarl.europa.eu/sides/getDoc.do?pubRef=-%2F%2FEP%2F%2FNONSGML+TA+P8-TA-2015-0343+0+DOC+PDF+V0%2F%2FEN

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.พม่าเสนอพรรคการเมืองขอเลื่อนเลือกตั้ง-อ้างเหตุภัยธรรมชาติ

0
0

เลือกตั้งพม่า 8 พ.ย. อาจมีเลื่อน เมื่อ กกต.พม่า เรียก 7 พรรคมาสอบถามว่าขอเลื่อนเลือกตั้งได้หรือไม่โดยอ้างเหตุน้ำท่วมเมื่อสิงหาคม ด้าน 3 พรรครวมทั้งพรรครัฐบาลเสนอให้เลื่อน ส่วนพรรคเอ็นแอลดีไม่เห็นด้วย ที่เหลือ 3 พรรคแล้วแต่ประธาน กกต. โดยจะเลื่อนหรือไม่ กกต. จะมีคำตอบในอีกไม่กี่วันนี้

ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งซ่อมของพม่า เมื่อเดือนเมษายนปี 2555 (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

13 ต.ค. 2558 สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ผู้แทนพรรคการเมืองในพม่า 7 พรรค จาก 10 พรรคการเมือง ได้รับเชิญให้ประชุมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพ (UEC) หรือ กกต.พม่า โดยจัดขึ้นวันนี้ (13 ต.ค.) ที่เนปิดอว์ โดยผู้แทนพรรคการเมืองประกอบด้วยพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDF) พรรคการพัฒนาแห่งชาติ (NDP) พรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) และพรรคพัฒนาชาวนาเมียนมาร์ (MFDP)

เน มิน จ่อ เลขาธิการพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDF) กล่าวว่า ในระหว่างประชุม ทิน เอ ประธาน กกต.พม่า ได้ถามว่าเราควรเลื่อนจัดการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะประชาชนอาจประสบความยากลำบากในการลงคะแนนเนื่องจากภัยธรรมชาติ"

โดยภัยธรรมชาติที่ ทิน เอ อ้างถึงคือเหตุน้ำท่วมช่วงฤดูมรสุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)โดยที่ระดับน้ำในแม่น้ำ 5 สายของพม่าได้แก่ อิระวดี ชินด์วิน สาละวิน สะโตง งาหวุ่น อยู่ในระดับวิกฤต เอ่อล้นตลิ่งหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังเกิดดินถล่มในรัฐชิน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย ขณะที่รัฐบาลพม่าประกาศให้รัฐชิน ยะไข่ ภาคสะกาย มะกเว เป็นพื้นที่ประสบภัย

ด้าน วิน เถ่ง คณะกรรมการบริหารศูนย์กลางพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวว่า ประธาน กกต.พม่า กล่าวว่าต้องการเลื่อนการเลือกตั้ง และ กกต.พม่า คาดว่าจะสามารถประกาศผลการตัดสินใจได้ในอีกไม่กี่วันนี้

ทั้งนี้พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) ซึ่งตั้งโดยอดีตสมาชิกพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) แกนนำรัฐบาลเผด็จการเนวิน และพรรคพัฒนาชาวนาเมียนมาร์ (MFDP) สนับสนุนให้เลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง ส่วนพรรคอื่นๆ อีก 3 พรรคยกให้เป็นการตัดสินใจของ กกต.พม่า

"ตอนที่ทิน เอ (ประธาน กกต.พม่า) สอบถาม พวกเขาก็ตอบว่า "แล้วแต่ท่านประธานเลย"," วิน เถ่ง กล่าวถึงคำตอบของ 3 พรรคการเมืองที่เหลือ

ทั้งนี้ตามมาตรา 10(f) ของกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ให้อำนาจ กกต.พม่า ในการเลื่อนและยกเลิกการเลือกตั้ง ถ้าเขตการเลือกตั้งได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

วิน เถ่ง กล่าวว่าที่พรรค NLD ค้านข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้ง เพราะในสมัยรัฐบาลทหารเคยจัดการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคมปี 2551 โดยการลงประชามติเกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ หลังพายุไซโคลนนาร์กีสพัดถล่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 1.4 แสนคน

ทั้งนี้มีประชาชนเสียชีวิต 100 คน และมีผู้อพยพ 1.6 ล้านคน จากเหตุน้ำท่วมในปีนี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ

แกนนำพรรค NLD กล่าวว่า ที่ปฏิเสธ กกต. ไปเพราะข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องใช้ไม่ได้ "เพราะแม้แต่ในปี 2551 ที่มีการลงประชามติหลังไซโคลนนาร์กีสก็ไม่ได้เลื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ยังไม่ถึงหนึ่งในพันส่วนของที่ได้รับผลกระทบเมื่อคราวก่อน" วิน เถ่ง กล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กกต.พม่า ประกาศว่าจะไม่มีการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ 211 หมู่บ้านใน 11 อำเภอของรัฐคะฉิ่น, 94 หมู่บ้านใน 7 อำเภอของรัฐกะเหรี่ยง, 41 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอของภาคพะโค, 1 หมู่บ้านในอำเภอบิลิน ของรัฐมอญ และ 56 หมู่บ้าน ใน 8 อำเภอของรัฐฉาน

โดยเหตุผลที่จะไม่จัดการเลือกตั้งในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย โดยไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างเสรีและยุติธรรม

ข้อมูลจากสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่าระบุว่า ตามกฎหมาย การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายใน 30 หรือ 90 วันของสมัยประชุมสภาครั้งถัดไป ซึ่งตามกำหนดแล้วจะต้องเปิดสภาในวันที่ 30 มกราคม 2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานซันโคโกเซ : กลฉ้อฉลแบบ “ไพร่ฟ้า-ข้าไทย” ในระบบแรงงานสัมพันธ์

0
0

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 คือ กฎหมายฉบับสำคัญที่ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และกระทรวงแรงงาน ต่างใช้เป็นกรอบในการกำกับระบบแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทย

“แรงงานสัมพันธ์” คือ อะไร

“สัมพันธ์” เป็นคำกิริยา มีความหมายว่า “ผูกพัน-เกี่ยวข้อง”

“แรงงานสัมพันธ์” จึงหมายถึง ความเกี่ยวข้องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และภาครัฐในการจ้างงาน  ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนออกจากงาน เช่น การทำสัญญาจ้างแรงงาน ,การมอบหมายงาน ,การควบคุมการทำงาน ,การทดลองงาน , การปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ,ความปลอดภัยในการทำงาน , สวัสดิการแรงงาน , การเลื่อนขั้นเงินเดือน ,การลงโทษ , การพิจารณาความดีความชอบ , การโยกย้าย, การยื่นข้อเรียกร้อง , การเจรจาข้อเรียกร้อง , การนัดหยุดงาน , การปิดงาน ,การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง , การเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นต้น หรือเรียกว่า“แรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคี”

อย่างไรก็ตามหากนายจ้างและลูกจ้างมีความขัดแย้งกัน ซึ่งเรียกว่า “มีข้อพิพาทแรงงาน”[1]และต้องการให้ภาครัฐ ซึ่งเป็น “บุคคลที่ 3” เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี้ เช่น การเจรจาแก้ไขข้อขัดแย้ง, การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ตลอดจนการเข้าไปส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ให้ดีขึ้น จะเรียกว่า “แรงงานสัมพันธ์ระบบทวิภาคี”

โดยทั่วไปแล้วนายจ้างและลูกจ้างได้ถูกกำหนดความสัมพันธ์ในการจ้างงานไว้แล้วตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องกำหนดเวลาทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง, ต้องจัดให้มีวันหยุด, ต้องจ่ายค่าจ้าง, ต้องจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัย, ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อจะเลิกจ้าง เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง นายจ้างและลูกจ้างยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น นายจ้างจัดสวัสดิการแรงงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังที่จะเห็นได้จากกรณีการจ่ายโบนัสประจำปีของบริษัทต่างๆในช่วงปลายปีใกล้เทศกาลปีใหม่ หรือช่วงเทศกาลสงกรานต์ , การจัดนำเที่ยวประจำปี, การรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว เป็นต้น เหล่านี้เกิดจากเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรียกว่า “แรงงานสัมพันธ์ขั้นสูง” หรือ “แรงงานสัมพันธ์ที่เป็นผลมาจากการรวมตัวและเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง”

สำหรับคำว่า “กลฉ้อฉล” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Fraud” หมายถึง การจงใจปิดบังซ่อนเร้นความจริงบางประการ เพื่อให้ผู้อื่นหลงผิดแสดงเจตนากระทำนิติกรรมต่างๆ กล่าวโดยง่ายก็คือ "โกหก หลอกลวง" นั้นเอง

นานกว่า  40 ปีแล้ว ที่สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองประเทศไทยได้พัฒนาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและมากมาย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่จัดทำมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 ย่อมมีความล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้ และทำให้เกิดการละเมิดสิทธิและข้อพิพาทแรงงานมากมาย ซึ่งส่งผลร้ายต่อผู้ใช้แรงงาน ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

นี้ไม่นับว่าประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและเจรจาร่วมต่อรอง ซึ่งเป็นกลไกเชิงสันติวิธีที่จะช่วยลดทอนปัญหาการเผชิญหน้าอันรุนแรงลงได้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยส่งเสริมการพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล

แม้ระบบทุนนิยมและอุตสาหกรรมจะมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการอันยาวนานในประเทศไทย แต่วัฒนธรรมและค่านิยมแบบดั้งเดิมของสังคมศักดินาไทยที่เป็นระบบอุปถัมภ์ เชื่อในความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมที่เป็นแบบ “ไพร่ฟ้า-ข้าไทย” ก็ยังคงตกค้างและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วัฒนธรรมและค่านิยมดังกล่าวได้มีอิทธิพลอย่างสูงมากต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ประเทศไทย ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ที่อำนาจในการตัดสินใจตกอยู่กับฝ่ายนายจ้าง แต่ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของฝ่ายแรงงาน

กรอบคิดแบบนี้ได้ฝังรากลึกในสังคมไทย เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและสันติ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานระดับปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำ สภาพการจ้างเลวร้าย ค่าจ้างในการทำงานมาจากการทำงานล่วงเวลาวันละหลาย ๆ ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

ความสำเร็จของการประกอบการ แทนที่จะเป็นการนำกำไรที่ได้มาอย่างยุติธรรมจากหยาดเหงื่อและสองมือเล็กๆของแรงงาน อันจะนำไปสู่การกระจายผลประโยชน์จากการประกอบการที่เป็นธรรมแก่แรงงาน กลับกลายเป็นเรื่องของ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”

ความรับผิดชอบของสถานประกอบการและรับใช้ผลประโยชน์ของสังคมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี จึงกลายเป็น "CSR แบบปลอมๆเพื่อกลบเกลื่อนภาพร้ายๆ"

เหล่านี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงสุดในเอเชีย

ปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้กำลังเกิดขึ้นที่บริษัทซันโค โกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด

(1) รู้จักบริษัทและสหภาพแรงงาน

บริษัทแห่งนี้ตั้งอยู่เลขที่ 64/20 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง
จ.ระยอง เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติกได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ

ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 100 %

คณะกรรมการบริษัท รวม 10 คน ได้แก่ (1) นายอะกิโนริ เทราโมโตะ (2) นายทาคายูกิ มาสึดะ (3) นายชินอิชิ นากาโอะ (4) นายทัสซึโอะ ชิบาตะ (5) นายมาซายะ อิเคโมโตะ (6) นายยูคิโนบุ ซาโต้ (7) นายคะซึฮิโตะ โอคุมุระ (8) นายนัฐพล ตัณฑดิลก (9) นางสาวเกษร วิจิตรวัฒนานนท์ (10) นายเทสซึยะ โฮริตะ

พบว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน เป็น 406,000,000.00 บาท จากเดิมเมื่อกันยายน 2553 ได้แจ้งกับกรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เพียง 400,000,000.00 บาท

สำหรับสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2550 ตั้งอยู่เลขที่ 249  หมู่ 2 ต.ปลวกแดง  อ.ปลวกแดง จ.ระยอง  จำนวนสมาชิกทั้งหมด 652 คน ปัจจุบันมีนายอมรเดช ศรีเมือง เป็นประธาน

สหภาพแรงงานแห่งนี้เป็นสมาชิกโดยตรงของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก และสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (สยท. หรือ TAW) ซึ่ง สยท. เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) ที่ TEAM เป็นสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

 

(2) เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

(2.1)      เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 สหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานต่อบริษัทฯรวมทั้งหมด 25 ข้อ เนื่องจากเห็นว่า

§   ผลประกอบการของบริษัทฯดีขึ้น ทั้งนี้เมื่ออ้างอิงตามงบดุลปี 2558 ถึงแม้ผลประกอบการจะจำนวน 45,521,074 บาท แต่บริษัทฯกลับมีสินทรัพย์หมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 46,238,538 บาท และยังสามารถชำระหนี้สินจนลดลงจากปี 2557 ได้เป็นจำนวนเงินสูงถึง 100,552,883 บาท

§   สภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้พนักงานมีภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่มากขึ้น

§   ข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลงในกลางเดือนธันวาคม 2558

            ทั้งนี้ในวันเดียวกันบริษัทฯได้แต่งตั้งตัวแทนเจรจาและกำหนดวันเจรจาที่ 4 กันยายน 2558 ที่บริษัทฯ

(2.2)    วันที่ 4 กันยายน 2558 มีการเจรจาครั้งแรก โดยบริษัทฯแจ้งว่าไม่รับพิจารณาทุกข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ เพราะบริษัทฯขาดทุนต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่มีการนัดเจรจากันครั้งต่อไป ทำให้ต้องยุติการเจรจาและกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานแทน

(2.3)    วันที่ 5 กันยายน 2558 สหภาพฯได้ไปยื่นหนังสือพิพาทแรงงานที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สวัสดิการฯได้นัดเจรจาในวันที่ 9 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง

(2.4)    วันที่ 9 กันยายน 2558 มีการเจรจาแต่ยังไม่สามารถตกลงได้ จึงนัดครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 กันยายน 2558

(2.5)    ก่อนวันนัดเจรจาครั้งที่ 2 คือ ในวันที่ 21 กันยายน 2558 บริษัทฯได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพฯรวม 6 ข้อ ทั้งนี้พบว่า ในข้อสุดท้ายได้ระบุไว้ว่า “ผลประโยชน์และสภาพการจ้างอื่นใดที่พนักงานได้รับอยู่แล้วในปัจจุบันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องนี้ บริษัทฯขอสงวนสิทธิในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า”

            อย่างไรก็ตามตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ สหภาพแรงงานฯจึงได้ทำหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเจรจาพร้อมที่ปรึกษายื่นให้กับบริษัทฯ และนัดเจรจาครั้งที่ 1 วันที่ 23 กันยายน 2558 ที่สำนักงานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ สาขาบ่อวิน ตั้งอยู่เลขที่ 120/46 หมู่ 3 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

(2.6)    วันที่ 22 กันยายน 2558 บริษัทฯได้แจ้งเป็นหนังสือต่อสหภาพฯขอเลื่อนเวลาและสถานที่การเจรจาเป็นวันที่ 24 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองแทน

(2.7)    วันที่ 24 กันยายน 2558 แม้มีการเจรจา แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ จึงนัดหมายครั้งที่ 3  ในวันที่ 12 ตุลาคม 2558

(2.8)    วันที่ 25 กันยายน 2558 บริษัทฯได้ประกาศปิดงาน[2]เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯเท่านั้น สำหรับพนักงานที่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพฯ และพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯระดับบริหารนั้น ถือว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปิดงานในครั้งนี้ ให้มาทำงานปกติ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2558 เป็นต้นไป

            นอกจากนั้นแล้วในวันเดียวกันนี้ ยังพบว่า

§  บริษัทฯได้มีประกาศแจ้งพนักงานว่า “พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯที่มีความประสงค์จะลาออกจากงาน บริษัทฯได้เตรียมโครงการเกษียณอายุการทำงานไว้ โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ โดยสมาชิกสหภาพฯต้องส่งใบลาออกภายในวันที่ 25 กันยายน 2558”

§  บริษัทฯยังมีหนังสืออีกหนึ่งฉบับ เป็นหนังสือแสดงความยินยอมต่อข้อเรียกร้องของบริษัทฯโดยมีใจความว่า “ขอยอมรับข้อเรียกของบริษัทฯปี 2558 และขอสละสิทธิข้อเรียกร้องของสหภาพฯ”สำหรับพนักงานที่ลงนามแล้ว ให้มาทำงานได้ตามปกติ และสามารถทำ (OT) ได้ด้วยเช่นเดียวกัน

            อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ทางสหภาพแรงงานฯ ได้ดำเนินการดังนี้

§  ได้แจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองว่า บริษัทได้ปิดงานโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เนื่องจากข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมยังไม่หมดอายุ

§  ในเย็นวันเดียวกันนั้นประมาณเวลา 18.30 น. ได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สมาชิกไม่ตกหลุมพรางบริษัทฯ และให้ไปทำงานปกติในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 เพื่อยืนยันเจตนาของสมาชิกที่จะเข้าทำงาน

ต่อมาประมาณเวลา 19.30 น. ทางฝ่ายบริษัทฯโดยผู้จัดการฝ่ายบุคคลและผู้จัดการใหญ่ฝ่ายผลิต และพนักงานแปลภาษา ได้นำหนังสือมาให้ประธานสหภาพฯ ระหว่างที่สหภาพฯได้ชี้แจงสมาชิกอยู่ ว่า บริษัทฯขอยกเลิกแจ้งการปิดงาน โดยขอให้พนักงานกลับเข้าทำงานปกติเหมือนเดิม

(2.9)    วันที่ 12 ตุลาคม 2558 มีการเจรจาครั้งที่ 3 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ นัดเจรจาครั้งที่ 4 ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558

(2.10)  แม้การยื่นข้อเรียกร้องจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังที่ได้แสดงในหัวข้อด้านล่างนี้ เรื่องข้อสังเกตที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการพิพาทแรงงานส่งผลให้สมาชิกสหภาพแรงงานเกิดความหวาดหวั่น โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในการจ้างงานในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งบริษัทฯสามารถใช้มาตรการต่างๆมากดดันเพื่อทำลายอำนาจการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองของพนักงานในรูปธรรมต่างๆ และอาจนำไปสู่การเลิกจ้างในที่สุด

           

(3) ข้อสังเกตที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการพิพาทแรงงาน

(3.1)      ก่อนเกิดการพิพาทแรงงาน

            บริษัทได้มีมาตรการต่างๆเพื่อแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย เช่น การนำมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้[3]แต่ในขณะเดียวกันบริษัทฯก็กลับเปิดให้พนักงานทำงานล่วงเวลา (OT) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขัดแย้งกลับที่บริษัทกล่าวอ้างเรื่องสถานการณ์ทางการเงินที่ย่ำแย่ สามารถแสดงรูปธรรมที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

มาตรการที่เกิดขึ้น

ระยะเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT)

§  วันที่ 8 เมษายน 2558 มีประกาศ 2 เรื่อง เกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทฯและแนวทางการดำเนินการ และยกเลิกการทำงานกะ โดยมีมาตรการเป็นข้อๆ เช่น ลดค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ, งดงานเลี้ยงและงานกีฬาสี, ให้พนักงานสลับกันหยุดพักร้อน, ให้พนักงานหยุดงานตามมาตรา 75 ในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 เป็นต้น

§  21 มีนาคม - 20 เมษายน 2558 บริษัทได้เปิดการผลิตและมีการเปิด OT ให้กับพนักงานทำอย่างต่อเนื่องในวันจันทร์ถึงวันศุกร์และรวมวันเสาร์-อาทิตย์

บริษัทฯเริ่มประกาศใช้มาตรา 75 ในบริษัท รวมทั้งหมด 6 ครั้ง ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 60 วัน

§  ครั้งที่ 1เริ่มวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน และวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

§  ครั้งที่ 2เริ่มวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วันและวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

§  ครั้งที่ 3เริ่มวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วันและวันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

§  ครั้งที่ 4เริ่มวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วันและวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

§  ครั้งที่ 5เริ่มวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วันและวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

§  ครั้งที่ 6เริ่มวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วันและวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 5 วัน

บริษัทฯได้เปิดให้มีการทำ OT ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์และรวมวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2558 รวมทั้งหมด 5 ครั้ง ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 150 วัน  จึงเห็นได้ว่าบริษัทมียอดการผลิตสูงขึ้น และมีเงินจ่ายสำหรับเป็นค่าทำงานล่วงเวลาให้พนักงานได้นอกเหนือจากค่าจ้างโดยปกติ

§  ครั้งที่ 1ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน ถึง 20 พฤษภาคม 2558 รวม 30 วัน

§  ครั้งที่ 2ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 20 มิถุนายน 2558 รวม 30 วัน

§  ครั้งที่ 3ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ถึง 20 กรกฎาคม 2558 รวม 30 วัน

§  ครั้งที่ 4ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 20 สิงหาคม 2558 รวม 30 วัน

§  ครั้งที่ 5ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม ถึง 20 กันยายน 2558 รวม 30 วัน

 

 

§  วันที่ 25 สิงหาคม 2558 บริษัทฯได้ประกาศเปิดโครงการสมัครใจลาออก จำนวน 450 คน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26-28 สิงหาคม 2558 โดยต้องทำงานถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออกจำนวน 176 คน โดยบริษัทฯชี้แจ้งว่าขาดทุนต่อเนื่องและไม่มีการบังคับให้เข้าร่วมโครง การฯ

§  วันที่ 27 สิงหาคม 2558 สหภาพฯได้ทำหนังสือถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง โดยแจ้งว่า บริษัทฯไม่เคยปรึกษาหารือกับสหภาพฯในเรื่องดังกล่าวมาก่อนแต่อย่างใด ทางสหภาพฯจึงขอให้บริษัทฯ เลื่อนโครงการฯออกไปก่อน และให้มีการกำหนดสัดส่วนและรูปแบบที่ชัดเจน

§  ผลจากการทำงานล่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เดือนเมษายน–สิงหาคม 2558 พบว่า สินค้าที่ผลิตออกมามีจำนวนมาก จนทำให้บริษัทฯต้องนำสินค้าเหล่านี้ไปเก็บไว้ที่สาขานิคมอุตสาหกรรมเหมราช จ.ระยอง แทน

(3.2)      หลังเกิดการพิพาทแรงงานพบว่า

§  วันที่ 26 กันยายน 2558 บริษัทฯได้ว่าจ้างพนักงานเหมาค่าแรงของบริษัทสารัช อินเตอร์ ซัพพลาย จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ก่อตั้งเมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานป้อนให้กับบริษัทฯต่างๆ จำนวน 180 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงกว่า 90 % เข้ามาทำงานควบคู่ไปกับพนักงานประจำในทุกแผนกในบริษัทฯ ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น. ส่งผลให้พนักงานเกิดความสับสนและข้อสงสัยว่า “บริษัทฯแจ้งขาดทุนแต่กลับสามารถรับพนักงานเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิมได้”

§  วันที่ 29 กันยายน 2558 ผู้จัดการโรงงานบริษัทฯได้แจ้งต่อประธานสหภาพฯและกรรมการ 3 คน ว่า บริษัทฯจะเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานของพนักงานเหมาค่าแรง เป็นเวลา14.00-23.00 น. แทน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ในประเด็นนี้มีข้อสังเกตจากทางสหภาพแรงงานฯว่า “ปกติแล้วการทำงานช่วงเวลา 17.40 – 22.30 น. เป็นช่วงเวลาทำงานล่วงเวลา (OT) ของพนักงานประจำอยู่แล้ว แปลว่าพนักงานเหมาค่าแรงจะเข้ามาทำงานทดแทนในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไร”แต่บริษัทฯก็ไม่มีคำตอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด

§  วันที่ 5 ตุลาคม 2558 เวลา 14.00 น. บริษัทโตโยต้าฯได้ส่งพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย เข้ามาตรวจสอบบริษัทเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ทำงานและเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พบว่า บริษัทฯได้ให้พนักงานเหมาค่าแรงที่ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ไปอยู่ที่โรงอาหารและศาลาสูบบุหรี่ โดยไม่ให้เข้ามาในพื้นที่การทำงานและปรากฏตัวในช่วงเวลาการตรวจสอบของบริษัทโตโยต้าฯ

            ทั้งนี้มีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มขึ้นด้วยว่า “พนักงานเหมาค่าแรงที่เข้ามาทำงานนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชาที่ไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจน อีกทั้งไม่พบบัตรประจำตัวที่เป็นผลมาจากการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่เพิ่งสิ้นสุดไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา”ซึ่งในกรณีนี้ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง หรือกระทรวงแรงงานโดยตรงเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพื่อสร้างความกระจ่างแจ้ง เพราะอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการที่บริษัทอาจละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติไม่ให้ได้รับการคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

§  บริษัทฯมีการขนย้ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต คือ แม่พิมพ์ นำออกไปไว้ที่บริษัทฯอื่น

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ หากปล่อยให้สหภาพแรงงานเจรจากับบริษัทฯโดยตรง ยิ่งจักทำให้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ย่ำแย่ขึ้น และส่งผลต่อความไม่มั่นคงในการทำงานในอนาคต

ทั้งๆที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่นำมาซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้างกับแรงงานให้สามารถอยู่และทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุข และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการทำงานร่วมกันอย่างเป็นธรรม

แต่วันนี้ก็เห็นชัดแล้วว่า กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เองก็ไม่สามารถวางกรอบกติกาให้นายจ้างยอมรับในสถานะที่เสมอภาคเท่าเทียมกันของแรงงาน ให้เป็นเสมือนหุ้นส่วนที่มาทำงานร่วมกัน โดยฝ่ายหนึ่งลงทุน กับอีกฝ่ายหนึ่งลงแรง เป็นความขัดแย้งที่มองความแตกต่างหลากหลายให้กลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยกระบวนการเจรจาต่อรองร่วม (Collective bargaining)

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ต้องไม่ปล่อยให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ดำเนินการเพียงโดดเดี่ยว เพราะยิ่งจักทำให้สถานการณ์เลวร้ายและสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มากขึ้นไปอีก

จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาวิธีการไกล่เกลี่ยรูปแบบใหม่ มีการตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัท อีกทั้งต้องยอมรับการดำรงอยู่และบทบาทการทำงานของสหภาพแรงงาน ว่าเป็นองค์กรที่มีความชอบธรรมในฐานะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของฝ่ายผู้ใช้แรงงาน เพื่อไม่นำไปสู่การทำลายการรวมตัวของสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศในการเจรจาต่อรอง ที่นำหลักการเรื่องสุจริตใจมาเป็นเครื่องมือ ตามที่กระทรวงแรงงานได้วางบรรทัดฐานแนวปฏิบัตินี้ไว้อย่างชัดเจน




[1]พิพาทแรงงาน หมายถึง ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้าง ระหว่างบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปในระบบแรงงานสัมพันธ์ ในที่นี้ คือ ระหว่างนายจ้างหรือองค์กรของฝ่ายนายจ้าง กับลูกจ้างหรือองค์กรของฝ่ายลูกจ้าง ทั้งนี้ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ (1) กรณีที่มีการยื่นข้อเรียกร้องและไม่มีการเจรจากันภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง (2) กรณีที่มีการยื่น ข้อเรียกร้องและมีการเจรจากันแล้วแต่ไม่อาจตกลงกันได้ (โดยส่วนใหญ่มักเป็นลักษณะนี้)

[2]หมายถึง การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ยามเมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงาน ทั้งนี้เป็นผลตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หมวด 3 ที่ให้สิทธิสถานประกอบการสามารถกระทำได้

[3]มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติที่ต้องการคุ้มครองนายจ้างที่ประสบปัญหาในการดำเนินกิจการมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยนายจ้างยังคงมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไปอีก เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้างจึงกำหนดให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดงานไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้าง ขณะเดียวกันก็เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองประโยชน์ลูกจ้างด้วย เพราะหากนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่มีงานทำได้รับความเดือดร้อนติดตามมา

การหยุดกิจการชั่วคราวที่นายจ้างต้องจ่ายเงินตามมาตรานี้ ต้องมาจากสาเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย  คำว่า “เหตุสุดวิสัย” (Force majeure)   ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ให้ความหมายว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี  เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้  แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

ตัวอย่างที่ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น นายจ้างประสบปัญหาการเงินเพราะบริหารกิจการผิดพลาด ทำให้ไม่มีเงินมาซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิต จึงไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ หรือนายจ้างประมาทเลินเล่อไม่จัดการป้องกันอัคคีภัยให้ดี ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดไฟไหม้สถานประกอบการต้องปิดซ่อม เป็นต้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิการมธ. ยันไม่รับเคทเป็นอาจารย์เหตุโพสต์ภาพลิปสติกไม่เหมาะสม

0
0

จากกรณีที่วานนี้(12 ต.ค.58) เคท ครั้งพิบูลย์ ยื่นฟ้อง มธ. และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) ต่อศาลปกครอง หลัง มธ. ไม่รับเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียน (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดวันนี้(13 ต.ค.58) มติชนออนไลน์รายงานว่า สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกรณีว่า เป็นสิทธิของ เคท ที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ มธ.ขอยืนยันว่าเหตุผลที่ไม่รับ เคทเข้าเป็นอาจารย์ ไม่ใช่เพราะ เคทเป็นเพศที่สาม แต่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อการเป็นอาจารย์ที่ดี เนื่องจากมีการโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งคนที่จะมาเป็นอาจารย์ไม่ควรกระทำแบบนี้ แม้ เคทจะกล่าวอ้างว่า ภาพที่โพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์นั้น เป็นเพียงแค่ภาพลิปสติกที่เป็นของฝาก แต่อยากให้ดูว่าภาพลิปสติกที่โพสต์นั้นเป็นรูปที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคนที่เป็นอาจารย์ไม่ควรทำ  อย่างไรก็ตามหลังจากนี้หากศาลเรียกไปชี้แจง ก็จะนำหลักฐานที่มีทั้งหมดไปชี้แจงต่อศาลต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลายส่วนห่วง ไทยร่วม TPP คนจนอ่วมหนัก ผูกขาดตลาดยา-เมล็ดพันธุ์

0
0

13 ต.ค. สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มูลนิธิชีววิถี  คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จัดเวทีวิชาการ เรื่อง ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิก ‘ทีพีพี’ หรือไม่ ? ณ ห้อง กรกมล ชั้น 2  โรงแรมเดอะสุโกศล ถนน ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยาในประเทศไทย จากการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ว่า

“ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งงานวิจัยในประเทศไทยซึ่ง โดยคำนวณจากปี พ.ศ. 2550 ที่เป็นปีที่ทำการศึกษา พบว่าในปีที่ห้า (พ.ศ. 2556) ถ้ามีการผูกขาดข้อมูลยา ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นอีก 81,356 ล้านบาท/ปี ซึ่งข้อเรียกร้องลักษณะนี้จะมีผลกระทบรุนแรงเสียยิ่งกว่าการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นอีกเป็น 27,883 ล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามในกรณีการเข้า TPP นั้นผลกระทบจะรุนแรงกว่ามาก เพราะต้องให้ความคุ้มครองกับยาชีววัตถุซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาราคาแพง อาทิ ยารักษาโรคมะเร็งยาวนานถึง 8 ปี ซึ่งการศึกษาของสมาคมสาธารณสุขแห่งออสเตรเลียพบว่า จะทำให้ค่ายาของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 205 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปีจากการคำนวณเพียงแค่มูลค่ายาชีววัตถุเพียง10 รายการที่มีการใช้สูงสุดเท่านั้น” รศ.ด.จิราพรกล่าว

จิราพรกล่าวเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากการยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent) ว่า จากรายงานการวิจัย เรื่อง สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น  Evergreening patent  ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า ในประเทศไทยมีคำขอสิทธิบัตรประเภทนี้มาถึงร้อยละ 84 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการผูกขาดตลาดยาโดยเจ้าของสิทธิบัตรเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่ควรจะส่งผลต่อการเข้าถึงยาของประชาชน รวมทั้งเป็นการขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ  โดยคำขอแบบ evergreening เช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศ   

“เฉพาะแค่รายการยาจำนวน 59 รายการที่มียอดการใช้สูงสุดที่นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย ด้านยา พบว่าเป็นคำขอรับสิทธิบัตรแบบ evergreening ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดตลาด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 - 2571    คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 – 2553  พบว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณไปแล้วถึง 1,177.6 ล้านบาท  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง หากกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องให้สิทธิบัตรกับคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านี้ จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายด้านยาได้ถึง 8,500 ล้านบาทโดยประมาณ” จิราพรกล่าว

อนึ่งเนื้อหาการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership: TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีที่มีการเปิดเสรีครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง (comprehensive) และมีมาตรฐานสูง (high standard) มีการเจรจาครอบคลุมประเด็นหลักมากมาย รวมถึงประเด็นที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประเทศภาคีสมาชิก ประกอบด้วยนั่นคือ

1. ประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) พบว่ามีข้อเรียกร้องให้ขยายความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยา อาทิ

1.1 ให้ยกเลิกกระบวนการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร (Pre-grant Opposition)

1.2 มีการบังคับใช้กลไกทางกฎหมาย เช่น ให้มีการประเมินค่าเสียหายของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากราคาขายปลีก (Retail Price) และให้ถือว่าสิทธิบัตรยังไม่หมดอายุจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์

1.3 ให้มีการผูกขาดข้อมูล (Data Exclusivity) ที่ใช้ในการขออนุญาตทางการตลาดเป็นเวลา 8 ปี สำหรับผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุ และ 10 ปี สำหรับสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 

1.4 ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของการจดสิทธิบัตร

1.5 ให้มีระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage)

1.6 ระบุสถานการณ์ ที่ ใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิ (CL) เฉพาะในกรณีโรคติดเชื้อ HIV/AIDS วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ หรือสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉินระดับประเทศเท่านั้น

1.7 ให้การนำเข้าซ้อนถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อเรียกร้องที่เพิ่มเติมที่ไม่ปรากฏในข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าฉบับอื่นๆ เช่น

1.8 การให้จดสิทธิบัตรในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Forms) หรือวิธีการใช้ (Uses) เพียงเล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ (Efficacy) 

1.9 โดยยอมให้มีการจดสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์เก่าที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการจดสิทธิบัตรแบบไม่มีที่สิ้นสุด (Evergreening patent)

1.10 การจดสิทธิบัตรในแนวทางการวินิจฉัยโรค (Diagnostic) และวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยยาหรือ การผ่าตัด (Therapeutic and Surgical methods)ซึ่งขัดกับมาตรา 9(4) ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร

แม้ว่าจากเอกสารที่หลุดออกมาผ่าน wikileaks จะพบว่า มีหลายประเด็นผ่อนคลายลง อาทิ การใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองด้านสาธารณสุขสามารถทำได้ แต่แทคติคในการยืดอายุการผูกขาดยาต้นแบบยังมีอยู่ครบ แม้จะมีการชะลอการบังคับใช้สำหรับบางประเทศก็ตาม

2. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการแข่งขันและการจัดซื้อจัด หาโดยรัฐ (Government Procurement and Competition Policy) พบว่าในการเจรจา TPP มีบทที่ว่าด้วย Transparency and Procedural Fairness for Healthcare Technologies ซึ่งได้จำกัดบทบาทของภาครัฐในการเจรจาต่อรองราคายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ที่จะใช้ในระบบสุขภาพของประเทศ เพราะในข้อบทดังกล่าวจะบังคับให้ประเทศภาคีต้องมีระบบบริหารจัดการและระบบอุทธรณ์ให้กับบริษัทยาที่ไม่พอใจการกำหนดราคาจัดซื้อยาเข้ามาในระบบสุขภาพโดยยกข้ออ้างมูลค่าของยาที่ติดสิทธิบัตร และหากบริษัทยาไม่พอใจยังสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนได้ อย่างไรก็ตามบทนี้ยังไม่มีเอกสารหลุดออกมาจึงต้องติดตามเนื้อหา

ด้านนายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐฯ นั่นคือ การเปิดตลาด  “การสร้างบรรทัดฐานทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง  (set high-standard trade rules) และนำเสนอประเด็นทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” ซึ่งในทางปฏิบัติวัตถุประสงค์ดังกล่าวคือการบรรจุความตกลงที่เกี่ยวกับการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร และการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สหรัฐฯเป็นผู้นำเช่น จีเอ็มโอ และผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ที่หลายประเทศไม่ยอมรับ

“การเข้าร่วม TPP จะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทยในประเด็นที่เกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมและทรัพยากรชีวภาพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ  1) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิต (patent on life) และการยอมรับระบบกฎหมายพันธุ์พืช UPOV1991  ประเทศไทยจะต้องแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542  ซึ่งจะส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านจะกลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จะขยายจาก 12 ปี เป็น 20 ปี เมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้นตั้งแต่ 2-6 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย  จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโดย BIOTHAI และเครือข่ายวิชาการด้านทรัพยากรชีวภาพพบว่า ผลกระทบของระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานของสหรัฐฯจะทำให้

-  เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงเพิ่มขึ้น จาก 28,542 ล้านบาท/ปี เป็น  80,721-142,932 หรือเพิ่มขึ้น 52,179-114,390 ล้านบาท/ปี

- การสูญเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10,740 – 48,928  ล้านบาท/ปี

- ผลกระทบระยะยาวจากการถูกกีดกันการพัฒนายาสมัยใหม่สมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพรซึ่งมี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี รวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 122,717-223,116 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการสูญเสียอธิปไตยเหนือทรัพยากรซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้

2) การถูกบีบบังคับให้ยอมรับพืช จีเอ็มโอและมาตรการปกป้องผู้บริโภคเกี่ยวกับฉลากอาหารดัดแปรพันธุกรรม
การเข้าร่วมเป็นภาคีใน TPP อาจทำให้ไทยต้องถูกบีบบังคับให้มีการปลูกพืช จีเอ็มโอ และอาจต้องยกเลิกการติดฉลากหรือมาตรการอื่นๆที่เป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคเกี่ยวกับอาหารดัดแปรพันธุกรรม ทั้งๆที่กระแสผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มต่อต้านพืชและผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ดังที่เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สกอตแลนด์ เวลส์ และประเทศต่างๆในอียูรวมกัน 16 ประเทศประกาศแบนพืชจีเอ็มโอเมื่อเร็วๆนี้  เช่นเดียวกับรัสเซีย นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น” 

นอกจากนี้วิฑูรย์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าการอนุญาตให้ปลูกพืช จีเอ็มโอ จะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศไทยต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติสหรัฐ เกิดปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับทรัพยากรชีวภาพซึ่งเป็นรากฐานของระบบเกษตรกรรมและอาหารในอนาคต 

“การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารจะยิ่งเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์ดัดแปลงพันธุกรรมกำลังหดแคบลง ไม่เฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดสหรัฐเองด้วย เนื่องจากผู้บริโภคอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม” วิฑูรย์กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวจึงไม่ควรเข้าไปเจรจาผูกมัดประเทศชาติ แต่ควรทำหน้าที่สนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการ เจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ดี  และเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีบรรยากาศประชาธิปไตยเต็มที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์นำเสนอข้อมูลต่อสังคม ไม่ใช่เป็นดังเช่นในปัจจุบันที่มีแต่นักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศคอยให้ ข้อมูลแก่รัฐบาลเท่านั้น

กรรณิการ์กล่าวอีกว่า ที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานนั้น ขอให้ร่างมาตราที่เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่แย่ไปกว่ามาตรา 190ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และไม่ควรเดินตามรอยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ตกไป ที่นิยามหนังสือสัญญาไม่นับรวมสัญญาเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่สัญญาเหล่านี้มีเงื่อนไขบังคับประเทศ, ไม่นับรวมการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ และไปอ้างอิงแค่ความตกลงใน WTO ซึ่งมีความตกลงน้อยลงทุกที

"กรอบการเจรจาผ่านการพิจารณาแค่ระดับคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ไม่ใช่รัฐสภาดังที่เคยเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2550 และยังไม่มีการรับฟังเสียงของประชาชนก่อนลงนามผูกพัน หากเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะพิจารณาให้เกิดความรอบคอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้" กรรณิการ์กล่าว

https://ssl.gstatic.com/ui/v1/icons/mail/images/cleardot.gif

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ชุมนุมนับแสนในเยอรมนี ต้านสัญญาการค้า TTIP อียู-สหรัฐฯ

0
0

มวลชนนับแสนคนชุมนุมครั้งใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ประท้วงข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติกกับสหภาพยุโรป (TTIP) หวั่นเอื้อประโยชน์บรรษัทยักษ์ใหญ่และเป็นภัยต่อประชาชนทั่วไป


ภาพโดย campact (CC BY-NC 2.0)

13 ต.ค. 2558 เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนนับแสนเดินขบวนในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ประท้วงข้อตกลงหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติกกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnership หรือ TTIP) ซึ่งเป็นการเจรจาความร่วมมือทางการค้าระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นข้อตกลงที่ให้ผลประโยชน์กับบรรษัทยักษ์ใหญ่แลกกับความสูญเสียของชาวยุโรปทั่วไป

ในขณะที่ผู้จัดการประท้วงบอกว่ามีประชาชน 250,000 คนเข้าร่วมการประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีประชาชนเข้าร่วมราว 100,000 คน ผู้จัดการประท้วงในครั้งนี้ประกอบด้วยนักสหภาพแรงงาน กลุ่มด้านสิ่งแวดล้อม เอ็นจีโอ และองค์กรต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีจำนวนคนเข้าร่วมเป็นแถวยาวตั้งแต่สถานีรถไฟสายหลักที่ใจกลางกรุงเบอร์ลินไปจนถึงหน้าอาคารรัฐสภา ซึ่งบีบีซีรายงานว่าพวกเขาต่อต้าน TTIP เพราะมันเป็นสัญญาที่เป็นภัยต่อผู้บริโภคและต่อสิทธิแรงงาน

"เราไม่เคยเห็นคนออกมาบนท้องถนนในประเด็นนี้มากเท่านี้มาก่อน" สหภาพแรงงานเยอรมนี 'ดีจีบี' (DGB) ที่ร่วมจัดการประท้วงกล่าว

"พวกเรามาที่นี่เพราะพวกเราไม่ต้องการทิ้งอนาคตไว้กับระบบตลาด และในทางตรงกันข้ามคือพวกเรามาเพื่อปกป้องประชาธิปไตย" ไมเคิล มูลเลอร์ ประธานองค์กรอนุรักษ์ระบบนิเวศชื่อ 'องค์กรเพื่อนธรรมชาติเยอรมัน' กล่าว

เว็บไซต์ข่าวนอกกระแสคอมมอนดรีมส์รายงานบรรยากาศของการชุมนุมว่าผู้ประท้วงพากันตีกลองและชูป้ายประท้วงที่เขียนว่า "หยุด TTIP" ,"TTIP เป็นสัญญาณของการจบลงด้วยหายนะ" และ "ใช่ เราทำได้ มาหยุด TTIP กัน" มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งสร้างม้าไม้โทรจันและนำมาในที่ชุมนุมเพื่อเป็นการอ้างอิงถึงตำนานของกรีซที่มีฉากใช้ม้าไม้ขนาดยักษ์เป็นอุบายในการลักลอบขนกำลังพลบุกเข้าโจมตีเมืองทรอย โดยในการประท้วงนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อว่าการเจรจาตกลง TTIP ถูกลักลอบทำให้กลายเป็นกฎหมายโดยเหล่านักล็อบบี้ของบรรษัทและเจ้าหน้าที่อียูผ่านเล่ห์กลต่างๆ

ฝ่ายผู้สนับสนุนโต้แย้งว่าการเจรจาข้อตกลงการค้าดังกล่าวจะเป็นการลดกำแพงการค้าลงทำให้เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างงานมากขึ้น ขณะที่ ซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีการคลังของรัฐบาลเยอรมนีที่สนับสนุนข้อตกลงการค้านี้ประกาศเตือนผ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่ามี "ผู้สร้างความตื่นกลัว" ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามมีประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนแล้วที่ลงนามในการรณรงค์ทางอินเทอร์เน็ตเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปยกเลิกข้อตกลงการค้านี้ ซึ่งนิค เดียร์เดน ผู้อำนวยการกลุ่มโกลบอลจัสติสนาวกล่าวว่า การลงนามรณรงค์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอียูไม่ได้รับการอนุมัติจากประชาชนในการทำข้อตกลงครั้งนี้


เรียบเรียงจาก

Hundreds of Thousands March in Berlin Against TTIP Trade Deal, Common Dreams, 13-10-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/10/10/hundreds-thousands-march-berlin-against-ttip-trade-deal

Berlin protest against TTIP trade deal draws thousands, ฺBBC, 11-10-2015
http://www.bbc.com/news/world-europe-34498451

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ. จ่อเสนอครม. ให้สิทธินักเรียนมีปัญหาสถานะรักษาพยาบาลฟรี คาดราว 7 หมื่นคน

0
0

13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิบางกลุ่ม จำนวนปัจจุบัน 465,992 คน และต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 เมษายน 2558 อนุมัติเพิ่มอีกบางกลุ่ม จำนวนปัจจุบัน 160,035 คน  ซึ่งทั้งหมดสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี โดยแสดงบัตรประจำตัวที่มีเลขประจำตัว 13 หลักต่อสถานพยาบาลในพื้นที่

ส่วนกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษา จำนวน 76,540 คน คณะรัฐมนตรีวันที่ 20 เม.ย. 2558 มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนก่อน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป  กลุ่มดังกล่าวเป็นเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก เนื่องจากตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎร  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำระบบเลขนักเรียน 13 หลักเพื่อเป็นทะเบียนรองรับตัวบุคคลและตรวจสอบตัวตนได้  โดยนักเรียนในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะกำหนดตัว G เป็นตัวแรกของเลข  ส่วนนักเรียนในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)จะกำหนดตัว P เป็นตัวแรกของเลข

นายสุรพงษ์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมีนักเรียนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ในฐานข้อมูลเป็นกลุ่ม G 66,983 คน และกลุ่ม P 568 คน และกำลังรอตัวเลขของนักเรียนในสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมีการสำรวจและจัดทำข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว ซึ่งคาดว่ามีจำนวนประมาณ 1,000 คน จากนั้นจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเสนอคณะรัฐมนตรี  ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรีสุวรรณร้องผู้ตรวจการฯสอบจริยธรรม ‘ประยุทธ์-วิษณุ’ ปมตั้งพี่น้อง-เครือข่ายเป็นสปท.

0
0

13 ต.ค. 2558 เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมฯ พร้อมคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่านนายธาวิน อินทรจำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งเครือญาติและบุคคลที่เคยร่วมอาชีพเดียวกันเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติ มีผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดกันแห่งผลประโยชน์  

ทั้งนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รายชื่อสมาชิกสปท.จำนวน 200 คน ที่นายกฯ ได้ประกาศแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่ามีบุคคลที่เป็นเครือญาติของนายวิษณุ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกฎหมายและการยุติธรรม คือ พล.อ.ต.เฉลิมพล เครืองาม และนายดุสิต เครืองาม ทั้งสองคนเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกับนายวิษณุ ขณะเดียวกัน พบว่า นายกฯ มีการแต่งตั้งบุคคลที่มีอาชีพหรือเคยมีอาชีพเดียวกับตนเองคือนายทหาร หรือตำรวจในและนอกราชการมาเป็นสมาชิกจำนวนถึง 77 คน หรือมากกว่า 38.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งที่ในข้อเท็จจริงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ควรประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความหลากหลายอาชีพ มากกว่าจะเป็นพี่น้อง หรือคนกันเอง จึงถือว่าพฤติกรรมดังกล่าวของรองนายกฯและนายกฯในฐานะผู้ใช้อำนาจแต่งตั้ง ไม่ได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลตามระบบคุณธรรม จริยธรรมที่กฎหมายกำหนด

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า เข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยใช้อำนาจทางกฎหมายเสนอ แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดตนขึ้นมารับตำแหน่งกินเงินเดือน และรับผลประโยชน์ตอบแทนอื่นจากรัฐ ส่อขัดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 13 (2) พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการเมือง 2551 จึงขอให้ผู้ตรวจฯดำเนินการตรวจสอบหากพบว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงขอให้ดำเนินการส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการตามกฎหมายป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมเพื่อนำไปสู่การถอดถอนต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์และ ASTVผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เพื่อไทย’ แนะ คสช. ควรแก้ไขมากกว่าแก้ตัว หลังมติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับไทย

0
0

เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่มีต่อกรณีที่รัฐสภายุโรปมีข้อมติในวันที่ 8 ต.ค. 2558 โดยมีเนื้อหาสำคัญว่า รัฐสภายุโรปมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเสื่อมถอยของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยภายหลัง “การรัฐประหารที่ผิดกฎหมาย”  ในปี 2557, ให้ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพและการใช้สิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ, เรียกร้องให้ทางการไทยเริ่มถ่ายโอนอำนาจจากรัฐบาลทหารไปให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็ว, เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ,  สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (อ่านรายละเอียด : อ่านละเอียด มติรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย)

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยขอแถลงในประเด็นที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

1. พรรคเพื่อไทยขอให้รัฐบาลและ คสช. ตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาที่รัฐสภายุโรปได้ หยิบยกในข้อมติดังกล่าวและควรแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง มากกว่าที่จะใช้วิธีออกแถลงการณ์ว่าทางรัฐสภายุโรปมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในสถานการณ์ในประเทศไทย  เพราะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปรวมทั้งสหภาพยุโรปได้ติดตามปัญหาต่างๆ ในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่มี การรัฐประหารในปี 2557 ดังนั้นรัฐบาลควรตระหนักว่า ข้อมติดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ จึงควรใช้วิธีการแก้ไข มากกว่าการ แก้ตัว

2. การค้าและการลงทุนจากประเทศในสหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและความกินดีอยู่ดีของคนไทย  เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าใหญ่เป็นลำดับ 3 ของไทย การที่สหภาพยุโรปชะลอการเจรจาสัญญาการค้าเสรีและปฏิเสธที่จะลงนามสัญญาหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทยตราบเท่าที่รัฐบาลทหารยังอยู่ในอำนาจ  จะส่งผลเสียต่อการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปในไทย  ซึ่งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการชาวไทยย่อมจะเสียโอกาสในการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป  เกษตรกรและผู้ผลิตจะขายสินค้าได้น้อยลงและได้ราคาต่ำลง  ดังนั้นถ้าความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเสื่อมทรามลง ก็จะกระทบตลาดการส่งออกในสหภาพยุโรปซึ่งมีมูลค่าปีละประมาณ 750,000 ล้านบาท

3. พรรคเพื่อไทยหวังว่ารัฐบาลและ คสช. จะตระหนักในข้อมติของรัฐสภายุโรปดังกล่าวและจะดำเนินการที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสรีภาพทางการเมือง การคุ้มครองหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมโดยเร็ว เพื่อให้คนไทยตัดสินอนาคตของตนเองต่อไปโดยเร็ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นรากฐานของการปรองดอง ยังจะเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศไทยต้องสุ่มเสี่ยงที่จะถูกคว่ำบาตรในทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง ซึ่งจะมีผลเสียต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์โนเบลปีล่าสุดพูดถึง 'ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้' เป็นภัยต่อ 'ประชาธิปไตย'

0
0

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมามีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์แก่ แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษ-อเมริกัน ผู้วิจัยเรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ ซึ่งเขาเคยเขียนถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์และประชาธิปไตยในหนังสือเขาว่า ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย

แองกัส ดีตัน (ที่มา: nber.org)

14 ต.ค. 2558 แองกัส ดีตัน นักเศรษฐศาสตร์เพิ่งชนะรางวัลโนเบลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในสาขาเศรษฐศาสตร์ เว็บไซต์ vox.com รายงานเกี่ยวกับผลงานทางความคิดของเขาซึ่งมีชื่อเสียงในประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคและความยากจน และในหนังสือที่ชื่อ "The Great Escape: Health, Wealth, and the Origins of Inequality" มีเนื้อหาสั้นๆ ส่วนหนึ่งที่ดีตันระบุเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคมได้อย่างคมคาย โดยระบุว่าความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ในสังคมถือเป็นภัยต่อประชาธิปไตย

"ความเสมอภาคทางการเมืองที่จำเป็นต่อประชาธิปไตยนั้นกำลังอยู่ในอันตรายจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และยิ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าหากประชาธิปไตยถูกทำลายก็จะส่งผลเสียโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดี เพราะจากที่ผู้คนเคยมีเหตุผลที่ดีในการเห็นคุณค่าตัวเองที่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ผู้คนก็จะสูญเสียการเห็นคุณค่าในจุดนี้ซึ่งเป็นปัจจัยที่เสี่ยงจะเกิดภัยอื่นๆ ตามมา" ดีตันระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว

"คนที่ร่ำรวยมากจะไม่ต้องการการศึกษาจากภาครัฐหรือประกันสังคมจากรัฐเท่าไหร่ ... พวกเขายิ่งมีเหตุผลน้อยมากที่จะสนับสนุนการประกันสุขภาพให้กับทุกคนหรือกังวลเรื่องโรงเรียนของรัฐมีมาตรฐานต่ำที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ พวกเขาจะต่อต้านการควบคุมจัดการธนาคารที่จะเป็นการจำกัดผลกำไรของพวกเขา แม้ว่าการควบคุมจัดการนั้นจะสามารถช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถชดใช้หนี้สินจำนองหรือคุ้มครองประชาชนจากการกู้ยืมแบบเขี้ยวลากดิน การโฆษณาหลอกลวง หรือแม้กระทั่งการประสบความล้มเหลวทางการเงินแบบซ้ำๆ ได้ ความกังวลในเรื่องผกระทบจากความไม่เสมอภาคอย่างรุนแรงนี้ไม่ใช่เพราะว่ามาจากความอิจฉาคนรวยเลยแม้แต่น้อย แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเกรงว่าการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนรายได้ระดับสูงกำลังเป็นภัยต่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกๆ คน" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุดระบุไว้ในหนังสือของเขา

แองกัส ดีตัน เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีทั้งสัญชาติอังกฤษและอเมริกัน เขาเรียนมาในสายเศรษฐศาสตร์มาโดยตลอด มีวิทยานิพนธ์ชิ้นสำคัญเกี่ยวกับรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคและการปรับใช้ในประเทศอังกฤษออกมาในปี 2518 ปัจจุบันเขาเป็นศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปรินสตันและเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ (National Bureau of Economic Research หรือ NBER) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ

ในเว็บไซต์ของ NBER ระบุว่าในตอนนี้ดีตันกำลังเน้นศึกษาวิจัยเรื่องปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน การศึกษาชี้วัดเรื่องความยากจนในอินเดียและที่อื่นๆ ของโลก โดยดีตันมีความสนใจในแง่การวิเคราะห์ผลการสำรวจจากระดับครัวเรือนมาเป็นเวลานานแล้ว

ดีคันเปิดเผยว่าตัวเขาเองเป็น "ผู้ที่เป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาความยากจนของโลกและสนใจว่าผู้คนมีพฤติกรรมอย่างไร และอะไรที่ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดี" เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีล่าสุดเนื่องจากผลงานการวิเคราะห์เรื่องการบริโภค ความยากจน และสวัสดิการ โดยในเว็บไซต์ของรางวัลโนเบลระบุว่าดีตันเป็นผู้ที่ส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องการเลือกบริโภคด้วยการศึกษาวิจัยที่เปลี่ยนโฉมหน้าของวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ซึ่งผลงานเมื่อไม่นานมานี้ของดีตันยังมีการสำรวจความสัมพันธ์เรื่องรายได้เข้ากับเรื่องข้อมูลโภชนาการและการเหยียดเพศในครอบครัวอีกด้วย

เรียบเรียงจาก

Read 2015 Nobel Economics Prize winner Angus Deaton's amazing take on inequality, Vox, 12-10-2015 http://www.vox.com/2015/10/12/9508423/angus-deaton-income-inequality

ประวัติของแองกัส ดีตัน ในเว็บไซต์ของสำนักวิจัยเศรษฐศาสตร์แห่งชาติ http://www.nber.org/aginghealth/summer07/deaton.html

เว็บไซต์รางวัลโนเบล http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/economic-sciences/laureates/2015/press.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Angus_Deaton

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: เรามาใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรกันดีไหม

0
0

 

จากการที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ร่างมา “ใช้แล้วก็ทิ้งๆๆๆ”นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนถึง 19 ฉบับ และขณะนี้ก็กำลังร่างฉบับที่ 2๐/2 อยู่อย่างขะมักเขม้นหลังจากที่ฉบับที่ 2๐/1 ถูกคว่ำอย่างไม่เป็นท่าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการยกประเด็นขึ้นมาว่าอย่ากระนั้นเลยเรามาใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรกันดีไหม จะได้ไม่ต้องมีการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกันอีก เพราะไม่มีฉบับลายลักษณ์อักษรให้ฉีก

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่ารัฐธรรมนูญนั้นสามารถแบ่งตามวิธีการบัญญัติไว้ได้ 2 ประเภท คือ


1)รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร(written constitution)

มีขึ้นในสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรก ส่วนใหญ่ประเทศต่างๆในโลกจะใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชหรือเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยรัฐธรรมนูญประเภทนี้จะเป็นเอกสารฉบับเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์การปกครองประเทศขึ้นไว้และจัดทำด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการจัดทำกฎหมายธรรมดา ปัจจุบันนี้ประเทศต่างๆได้บัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเกือบทั้งสิ้น ยกเว้นอังกฤษที่ยังคงใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่

ข้อดีและข้อเสียของการมีรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อดี คือ มีข้อความที่แน่นอน เพราะปรากฏเป็นตัวหนังสือและมีความมั่นคงเพราะจะสามารถใช้จนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม(ถ้าไม่ถูกฉีกเสียก่อนแบบบ้านเรา)

ข้อเสียคือ การกำหนดบทบัญญัติต่างๆเป็นเพียงการคาดการณ์ อาจจะไม่เหมาะสมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตและไม่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของบ้านเมืองเพราะมีบทบัญญัติที่ตายตัวการแก้ไขทำได้ค่อนข้างยากและล่าช้า


2) รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร(unwritten constitution)

อาจเรียกอีกอย่างได้ว่ารัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณี(customary constitution)เพราะเป็นจารีตประเพณีที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมีที่มาจากอังกฤษ ซึ่งถือว่าเก่าแก่กว่ารัฐธรรมนูญแบบที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญประเภทนี้จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ก็มิได้หมายจะไม่มีลายลักษณ์อักษรเลย เพราะรัฐธรรมนูญประเภทนี้ยังประกอบด้วยกฎหมายต่างๆที่ตราออกมา หรือคำพิพากษาของศาลที่ได้รับการยอมรับจนกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นต้น


ตัวอย่างจารีตประเพณีที่เป็นรัฐธรรมนูญ เช่น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ต้องลงพระปรมาภิไธยเมื่อกฎหมายผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยรัฐสภาจะนำไปประกาศใช้ทันทีโดยไม่มีพระปรมาภิไธยไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ หลักความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสภาขุนนาง(House of Lords) มีแต่สภาสามัญ(House of Commons)เท่านั้นที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล เป็นต้น


ตัวอย่างที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น

Magna Carta (1215)เกิดขึ้นในสมัย พระเจ้าจอห์น พระองค์ต้องการเงินทำสงคราม จึงบังคับให้ประชาชนเสียภาษีมากขึ้น และทำการปกครองโดยการกดขี่ประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จนก่อให้เกิดการรวมกำลังต่อต้านพระมหากษัตริย์ และบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระนามในเอกสารสำคัญที่มีผลทำให้กษัตริย์อังกฤษไม่อาจจะอยู่เหนือกฎหมายได้อีกเลย ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215โดย พระเจ้าแผ่นดินจะเรียกเก็บภาษี หรือ ขอให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือ ไม่ได้ นอกจากจะได้รับความยินยอมจากที่ประชุมหัวหน้าราษฎร (Great Council) ก่อน , การงดใช้กฎหมาย หรือ การยกเว้นไม่ใช้กฎหมาย บังคับแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะกระทำไม่ได้ และ บุคคลใดๆ จะถูกจับกุม คุมขัง หน่วงเหนี่ยว หรือ ขับไล่ เนรเทศ มิได้ นอกจากการนั้น จะเป็นไปโดยคำพิพากษาที่ชอบ และตามกฎหมายของบ้านเมือง และจะต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาจากบุคคลชั้นเดียวกัน

Petition of Rights (1628)เป็นเอกสารที่วางพื้นฐานให้ประชาชนสามารถประท้วงพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งในเรื่องของการเก็บภาษี โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ และการกระทำอื่นที่อาจส่งผลกระทบถึงเสรีภาพของประชาชน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงจำยอมต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ทุกข้อ

Bill of Rights (1689)เป็นกฎหมายมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี การดำเนินคดีโดยไม่ล่าช้า การห้ามกำหนดหลักประกันที่ใช้ในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมากเกินไป และการห้ามลงโทษโดยวิธีการโหดร้ายและผิดปกติธรรมดา ต่อต้านการเรียกค่าปรับที่เกินเลย การเรียกค่าปรับหรือการริบทรัพย์สินของบุคคลก่อนมีคำตัดสินความผิดถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ฯลฯ

Parliament Act (1911)ซึ่งออกโดยรัฐสภาซึ่งบัญญัติว่ารัฐสภาประกอบด้วย 2 สภาคือ สภาสามัญและสภาขุนนาง พร้อมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภา ตลอดจนกระบวนการที่แต่ละสภาจะต้องปฏิบัติ/Regency Act(1937)เป็นกฎหมายเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์และยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นต้น

สำหรับคำพิพากษาของศาลที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นคำพิพากษาที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เช่น คำพิพากษาในเรื่องของกฎข้อบังคับต่างๆหรือการตีความกฎหมายอันยึดถือเป็นกฎหมายที่ศาลสร้างขึ้นมาใหม่

ข้อดีและข้อเสียของการมีรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อดีคือ มีลักษณะยืดหยุ่น ไม่ตายตัว สามารถปรับใช้ตามสถานการณ์บ้านเมืองได้และเนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดโดยวิวัฒนาการจึงไม่มีช่องว่างแห่งรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญที่สุดก็คือสามารถป้องกันการรัฐประหารได้ เพราะความไม่ตายตัวของรัฐธรรมนูญและไม่มีตัวรัฐธรรมนูญให้ฉีกนั่นเอง

ข้อเสีย คือ ไม่เปิดโอกาสให้ทดลองวิธีใหม่ๆ เพราะต้องใช้ตามวิวัฒนาการที่มีมาแต่เดิมแล้วจึงค่อยๆพัฒนาไป

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ประเภท แต่ประเทศต่างๆในโลกนี้ต่างก็มีลักษณะของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีผสมผสานกันอยู่  แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยเราก็เช่นกันที่ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่าจะถูกยกเลิกไปแต่วิวัฒนาการของการเมืองการปกครองไทยเรามีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ เช่น การปกครองท้องถิ่นที่มีวิวัฒนาการเกินกว่าที่ถอยหลังกลับไปสู่ยุคดั้งเดิม หรือการตื่นรู้ในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั่วไปที่ได้มีโอกาสลิ้มลองมาแล้วก็ยากที่จะไปปิดกั้นได้อีก เป็นต้น

ฉะนั้น แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีแบบของอังกฤษแทนรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรที่กำลังร่างๆกันอยู่ก็ตาม แต่ด้วยการที่เราได้เลือกใช้รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรภายหลังที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 มาตั้งแต่ต้น จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะเปลี่ยนไปใช้รัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีเหมือนอังกฤษ เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลักต่อไปโดยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นจารีตประเพณีเป็นส่วนผสมให้มากขึ้น

สิ่งที่จะทำได้ในปัจจุบันสมัยก็คือ ไม่ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ จะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาอย่างไรก็ตาม เราจะต้องเรียกร้องหรือสร้างเสริมให้มีรัฐธรรมนูญเป็นจารีตประเพณีแบบนานาอารยประเทศ เช่น การไม่ยอมรับว่าคณะบุคคลที่เข้าใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยการฉีกรัฐธรรมนูญว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความของศาล ดังเช่น เกาหลีใต้,ตุรกี,กรีซ ฯลฯ หรือส่งเสริมจารีตประเพณีของสิทธิเสรีภาพของการแสดงออกหรือการชุมนุมโดยสงบและสันติว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำต้องไปขออนุญาตจากใคร ฯลฯ ครับ


 

หมายเหตุปรับปรุงจากการเผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันวันพุธที่ 14 ตุลาคม 2558

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live