Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

อ่านสันติภาพที่ชายแดนใต้ (จบ): ค้นรากปัญหารัฐไทย-ปาตานี สันติภาพในมือประชาชน

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 ที่ห้องศรีตานี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)  สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ เครือข่ายนักศึกษาอิสระเพื่อสังคม (TUPAT) กลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) และสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) จัดเสวนา "การอ่าน การศึกษาที่ชายแดนใต้ ส่งเสริมวิถีชีวิตคนชายแดนใต้อย่างไร"  โดยมีนักศึกษา เยาวชน และผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 70 คน

โดยนายฟาเดล หะยียามานักอ่าน/เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชียซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ส่วนวิทยากรนำเสวนาประกอบด้วย นายดันย้าล อับดุลเลาะ เลขาธิการกลุ่มเยาวชนความฝันชายแดนใต้ (DreamSouth) นายอารีฟินโสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) นายโกศล เตบจิตรตัวแทนสหพันธ์นักเรียนนักศึกษาเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (สสชต.) และนายปรัชญเกียรติว่าโร๊ะนักอ่าน/นักเขียน/ผู้สื่อข่าวอิสระ

ค้นรากปัญหารัฐไทย หาเหง้าวิกฤติปาตานี ชี้สันติภาพจริงอยู่ที่มือประชาชน

ฟาเดล หะยียามา ตั้งคำถามว่าหากเราจำเป็นต้องอ่านสันติภาพให้เกิดขึ้น เราจำเป็นต้องอ่านอย่างไร เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง?

ปรัชญเกียรติ เริ่มต้นตอบคำถามโดยหยิบยกคำพูดของเหมาเจ๋อตุงที่ว่า การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด ดังนั้นการเมืองจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาต่อรองกับรัฐ “บนดิน” ตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด การจับอาวุธใช้ความรุนแรง หรือตัดสินใจทำสงครามคือปฏิกิริยาโต้กลับหลังจากที่รัฐปิดพื้นที่การต่อรองบนดิน ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นธรรมชาติของคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม พอโดนปิดพื้นที่ก็เท่ากับบังคับให้ต้องใช้ความรุนแรงในการต่อรอง

ปรัชญเกียรติ ชวนย้อนกลับไปดูการศึกษาบริบทประวัติศาสตร์การเมืองผ่านวิทยานิพนธ์ 'การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)' ของณัฐพล ใจจริง โดยระบุว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้ให้บริบทความขัดแย้งทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ชัดมาก ขณะเดียวกันเขาก็เชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในปาตานีผ่านวิทยานิพนธ์ 'การต่อต้านนโยบายรัฐบาลในสี่จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยโดยการนำของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ พ.ศ. 2482-2497' ของเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร และหนังสือวิชาการ 'นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516)' ของปิยนาถ บุนนาค

"พื้นที่รอยต่อปี 2489-2490 ปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถสืบสวนหาข้อเท็จจริงคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ ปรีดีจึงจำใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้หลวงถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งค่อนข้างใกล้ชิดกับปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ในสมัยหลวงถวัลย์เป็นนายกรัฐมนตรีนี่เองที่หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ยื่นข้อเสนอ 7 ประการ โดยมี 'แช่ม พรมยงค์' จุฬาราชมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎรเป็นผู้ประสานสัมพันธ์ และมีแนวโน้มว่าจะประสานกันได้ระดับหนึ่ง”

"กระทั่งปลายปี 2490 เครือข่ายนิยมกษัตริย์ เครือข่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์นิยม เครือข่ายจอมพลป.พิบูลสงครามก็ร่วมมือกันยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลหลวงถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลังจากนั้นปี 2492 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ก็ถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 8 เดือน ฐานกล่าวร้ายรัฐบาล ต่อมาปี 2496 เกิดเหตุการณ์ดุซงญอ ปี 2497 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ปี 2502 BNPP ก็เกิดขึ้น ตามมาด้วยการเกิดขึ้นของ BRN ในปี 2503 และการเกิดขึ้นของ PULO ในปี 2511ซึ่งล้วนอยู่ในบริบทภายหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งการเมืองบนดินถูกปิดทั้งนั้น"

ปรัชญเกียรติ อธิบายต่อว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ถูกสถาปนาโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2501 หลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป . พิบูลย์สงคราม ส่วนในบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐไทยมีการปรับตัวในช่วง 2501 -25106 โดยจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นมีนโยบายเปิดกว้างขึ้นด้วยการสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัด ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล

"ทว่าในทางตรงกันข้ามจอมพลสฤษดิ์กลับมีนโยบายอพยพนำคนภาคอีสานและภาคอื่นๆ กว่า 15,000 คน เข้าสู่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการจัดตั้งนิคมพึ่งตนเอง ที่สตูลคือนิคมควนกาหลง ที่สงขลาคือนิคมเทพา ที่ปัตตานีคือนิคมโคกโพธิ์ ขณะที่ยะลาและนราธิวาสก็มีการจัดตั้งนิคมลักษณะนี้เช่นกัน ตัวอย่างรูปธรรม คือ เมื่อปี 2509 รัฐไทยนำคนภูพาน สกลนคร คนภูสระดอกบัว  มุกดาหาร และอำนาจเจริญที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์มายังอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล” เขากล่าว

"ผมมองว่าสถานกาณณ์ดังกล่าวมีปัญหาถึง 3 ชั้น คือ หนึ่ง การขืนใจพรากคนอีสานจากแผ่นดินเกิดมาสู่แผ่นดินอื่นอย่างสตูล ลองค้นหา 'เพลงปฏิวัติควนกาหลง' ในยูทูบดูจะพบการคร่ำครวญจากบาดแผลครั้งนั้นจนทำให้คนอีสานที่ถูกอพยพมาควนกาหลงลุกมาจับปืนสู้กับรัฐไทยอีกครั้งใน 2516-2523 ปัญหาชั้นที่2 คือ การนำคนอีสานมาแย่งชิงทรัพยากรที่ดินของคนสตูลทั้งที่คนสตูลในพื้นที่เองก็ไม่ได้มีที่ดินอะไร ปัญหาชั้นที่ 3 คือ นโยบายการกลืนกินชาติพันธุ์มลายู และความเป็นมุสลิมของคนจังหวัดสตูล” เขากล่าว

ปรัชญาเกียรติอธิบายการกลืนกินความเป็นชาติพันธุ์มลายูของสตูลผ่านวิทยานิพนธ์ 'การเมืองของการนิยมความเป็นสตูล: ศึกษาเน้นมุมมองของรัฐไทยระหว่างพ.ศ. 2475 – 2480' ของสุภาลักษณ์ ตั้งจิตต์ศีล ซึ่งพบว่า การที่สตูลมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างจากปาตานี คือ ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่เชื้อสายมลายู และนับถือศาสนาอิสลาม แต่พูดภาษาไทย เป็นผลจากประวัติศาสตร์ร่วมของสตูลและรัฐไทยตั้งแต่ภายหลังการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอังกฤษใน พ.ศ. 2452โดยรัฐไทยมีมาตรการผสานสตูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยอย่างเร่งรีบ การเร่งปักปันเขตแดน ปฏิรูปทางการเมือง ให้การศึกษาภาษาไทยพร้อมกับการขยายอำนาจการปกครอง โดยส่งข้าราชการจากส่วนกลางเข้าไปดูแลกิจการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด

“การอ่านสันติภาพนั้นต้องเชื่อมโยงหลายบริบททั้งบริบทประวัติศาสตร์ บริบทการเมือง บริบทประวัติศาสตร์การเมือง สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริงต้องอยู่ที่มือประชาชน สมมุติว่ารัฐไทยพูดคุยกับมาราปาตานี แล้วรัฐไทยให้ปาตานีเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือสมมติว่ารัฐไทยให้เอกราชปาตานี  คนในขบวนการฯ ก็สถาปนาอำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนขึ้นมาใหม่แทนรัฐไทย ฉะนั้นสันติภาพในทัศนะของผมเกิดขึ้นได้จริงต่อเมื่อประชาชนตื่นรู้และตื่นตัวพร้อมต่อรองกับผู้มีอำนาจ ถ้าไม่ตื่นตัว ไม่ปรับตัว ไม่เรียนรู้ ประชาชนก็ถูกกดขี่อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ไหนจะปกครองปาตานี" ปรัชญเกียรติกล่าว

ชวนก้าวข้ามประวัติศาสตร์บาดแผล แต่ต้องเคลียร์เหตุการณ์ 'ดุซงญอ-กรือเซะ-ตากใบ' 

ในมุมมองการอ่านอะไรเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง ดันย้าล อับดุลเลาะ เห็นว่า อย่างแรกควรอ่านให้มีความรู้ แล้วสันติภาพก็จะตามมา เมื่อสังคมจะเข้าไปสู่การจัดการความขัดแย้งก็ต้องอาศัยความรู้  

"โดยส่วนตัววิธีคิดของตัวเองไม่ใช่จะบอกว่าประวัติศาสตร์มันไม่ดีซะเลย  แต่บอกว่าน่าจะอ่านอนาคตข้างหน้ามากกว่า จะไปข้างหน้าไปอย่างไร อันนี้สำคัญ เราอ่านให้มีความรู้และเสียสละความเจ็บปวดในอดีตเพื่อไปข้างหน้า ผมคิดไม่ออกว่าไม่ว่าจะเป็นปาเลสไตน์ อิสราเอล อูกันดา การจัดการความขัดแย้งอย่างนี้ แต่ทุกๆ ที่การจัดการความขัดแย้งไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อคนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ต้องมองเห็นจุดหมายด้วยกัน” ดันย้าลกล่าว

ดันย้าล มองว่า สันติภาพจะมั่นคงได้ ปัจจัยสำคัญคือการสื่อสารของคู่ขัดแย้งหลักต่อประชาชน เพื่อดูว่าเสียงของประชาชนจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา การพูดคุยสันติภาพระหว่างอิสลาเอลกับปาเลสไตน์ตัวหลักที่จะทำให้สนธิสัญญาสันติภาพสำเร็จหรือไม่ อเมริกาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ปาเลสไตน์จะตกลงก็ต่อเมื่อเพื่อชาวเวสต์แบงค์ และชาวกาซ่ายอมรับ สนธิสัญญาใดก็ตามที่ประชาชนไม่ยอมรับ สนธิสัญญานั้นจะล่มไป ลองดูปี 2535 ปี 2533 หรือ 2461 หรือสนธิสัญญาออสโล่ ล้มหมดเลยเพราะประชาชนไม่เห็นด้วย ไม่ยอมรับ

"เราอ่านให้มีความรู้เพื่อปลายทางจะทำให้ทุกคนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร โดยใช้ความรู้ เหตุผล หลักเกณฑ์ เพราะถ้าใช้อารมณ์ความรู้สึกแต่ละส่วนอาจรู้สึกไม่เท่ากัน เรื่องความเจ็บปวด เราจะก้าวข้ามความเจ็บปวดได้ไปไม่ได้ ถ้าไม่เคลียร์ความเจ็บปวดข้างหลังด้วย ดุซงญอ กรือเซะ ตากใบ ต้องเคลียร์ด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ต้องเปลี่ยนทางข้างหน้าเพื่อนำไปสู่สิ่งสำคัญ ปาตี้เอ (รัฐไทย) ปาตี้บี (ผู้คิดต่างจากรัฐไทย) ควรจะต้องสื่อสารกับประชาชนด้วยว่าคุณลงนามอะไรกันบ้าง เราจะได้รู้บ้าง" ดันย้าล แสดงทัศนะ

จากนั้น 'ฟาเดลหะยียามานักอ่าน/เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันเอเชียซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการก็เปิดให้ผู้ร่วมรับฟังเสวนาร่วมและเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น

แนะอ่านภูมิศาสตร์-วิทยาศาสตร์-จิตวิทยาร่วมกับประวัติศาสตร์ ดาบ 2 คมหากไม่แยกแยะ

นางสาวนูไรมา นิแหมะ  นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แสดงความเห็นว่า  ตอนเด็กเริ่มอ่านหนังสือการ์ตูนแนวสืบสวนสอบสวน เราจะทำอย่างไรให้เยาวชนสนใจการอ่านเพื่อส่งเสริมการเกิดสันติภาพ จากที่ฟังเสวนาการอ่านเพื่อสันติภาพทุกคนแนะนำให้อ่านเรื่องประวัติศาสตร์ ตีความประวัติศาสตร์ ตนเองคิดว่าหากเราจะสร้างสันติภาพเราต้องรู้จักตัวเองก่อน หนังสือแนวจิตวิทยาก็สำคัญในการรู้จักตัวเอง รู้จักฉัน รู้จักเธอ เมื่อรู้จักตัวเองก็จะทำให้เรารู้จักเบื้องหลังของแต่ละคนว่า คนนั้นมีจุดละเอียดอ่อนอย่างไร

"เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีจิตใจ มีความคิด มีประวัติศาสตร์  เราแค่ศึกษาประวัติศาสตร์คงไม่เพียงพอ เราต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ความเป็นศาสตร์และศิลป์ในการรวมตัวกัน หากเราแค่ตีความเรื่องประวัติศาสตร์ก็มีคู่ขัดแย้งหลักเป็นผู้แพ้และผู้ชนะ เช่น ไทยสู้กับพม่า คนไทยก็เชื่อว่าพม่าร้ายกาจมากเลย  แต่พม่าก็อาจเขียนไม่เหมือนกัน”

"คนแต่งหนังสือเขาต้องมีวัตถุประสงค์ในการแต่ง หนึ่ง แต่งเพื่อให้หนังสือขายออก แต่งเพื่อโน้นน้าวใจคน สอง แต่งเพื่อปลุกระดมสารพัด แต่เบื้องต้นเลยคือเราจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้บ้านเราอย่างไร ดังนั้นโจทย์ข้อแรกหากจะสร้างสันติภาพก็คือ ทำอย่างไรให้คนบ้านเรารักการอ่าน และรู้จักแยกแยะ เพราะความรู้เหมือนดาบสองคม และอันตรายเช่นกันถ้าแยกแยะไม่เป็น" นูไรมาแลกเปลี่ยน

มองอ่านวรรณกรรม-นิยายก็สร้างสันติภาพได้

นายสะรอนี ดือเระ บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ถามว่า ถ้าให้อ่านประวัติศาสตร์ควรอ่านประวัติศาสตร์เล่มไหน เรื่องไหน ตกลงว่าเราจะส่งเสริมการอ่าน การตีความ หรือเรื่องประวัติศาสตร์และอ่านอย่างไรให้ตอบโจทย์ชายแดนใต้ อ่านอะไรให้เกิดสันติภาพ

"ผมอยากจะแชร์ว่า อ่านนิยายปรัมปรา อ่านพวกนี้ก็เกิดสันติภาพได้ ส่วนน้องที่บอกว่าอยากจะอ่านความคิดของขบวนการฯ มันมีหนังสือแปลของอินโดนีเซียซซึ่งเคยเป็นหนังสือต้องห้ามของอินโดนีเซีย และตอนนี้ก็มีการแปลแล้ว มี 4 เล่มเป็นนิยายปฎิวัติ แนวละครช่อง 7 ช่อง 3 แต่ออกจะปลุกระดมสร้างขวัญกำลังใจ แต่ผมก็นึกว่าไม่ออกว่าต้องอ่านเล่มไหนที่จะสันติภาพ" สะรอนี ร่วมแลกเปลี่ยน

สะสมฐานคิดวิเคราะห์ชุดอุดมการณ์เบื้องหลังหนังสือ

ปรัชเกียรติ ว่าโร๊ะ ตอบคำถามของสะรอนี ดือเระ ว่า ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์หลากหลายอย่างไม่จำกัดสำนักคิด ไม่ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างโดยรัฐไทยใส่แนวคิดชาตินิยมไทย หรือประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยคนปาตานีที่มีแนวคิดชาตินิยมมลายู เรายิ่งอ่านก็ยิ่งสะสมฐานคิดในการวิเคราะห์ว่าประวัติศาสตร์ชุดนั้นถูกเขียนขึ้นด้วยอุดมการณ์อะไร แนวคิดแบบไหนเป็นแรงผลัก ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์แค่เล่มเดียวเราก็จะโดนครอบงำทางความคิดไปโดยอัตโนมัติ

วรรณกรรมเบิกจินตนาการ เชิญชวนติดตามหนังสือ 'มลายูที่รู้สึก'

นายปรัชญา โต๊ะอิแต ผู้จัดการปาตานีฟอรั่ม แสดงความเห็นว่า การนำเสนอของวิทยากรแต่ละคนก็มาจากหนังสือที่เขาเลือกอ่านและมีอิทธิพลต่อความคิดของคนนั้น ส่วนการอ่านที่จะเกิดแรงบันดาลใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นบางทีหนังสือประเภทบรรโลงใจ ส่งเสริมจินตนาการก็น่าจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเช่นกัน

"ผมว่าคนคนหนึ่งที่อ่านหนังสือแนวมาร์กซิสต์ แล้ววันหนึ่งเขาตื่นขึ้นแล้วอ่านแฮรี่พอตเตอร์ กลายเป็นส่วนผสมที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ ไม่แน่ทิศทางการขับเคลื่อนของเขาจะเปลี่ยนทิศทางกว้างขึ้นมาก็ได้ โจทย์ที่ผมเสนอบางทีการทำงานภาคประชาสังคมวันนี้ นอกจากหนังสือหนักๆ ที่เราอ่านแล้ว จินตนาการก็ต้องไปด้วยกันด้วย เพราะบางคนก็ไม่สามารถเข้าถึงงานวิชาการแข็งๆ ได้ หนังสือพวกวรรณกรรม นวนิยาย มีความรู้สึกของคน มีวิถีชีวิตปกติของคนก็เป็นสิ่งน่าสนใจ" ปรัชญา ร่วมแลกเปลี่ยน

ปรัชญา แนะนำหนังสือ 'มลายูที่รู้สึก'  เขียนโดยอาจารย์ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ สาขาวิชาสื่อ ศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์ปาตานีฟอรั่ม  เป็นหนังสือแนวสังคมวิทยาจากการที่อาจารย์ศรยุทธทำงานวิจัยและคลุกคลีกับคนมลายูในพื้นที่ ตอนนี้มีการวางขายแล้วแถวภาคเหนือ กรุงเทพฯ ก็สงสัยว่าเขาเขียนได้อย่างไร เขาไม่ใช่คนที่นี่ เขาเป็นคนภาคเหนือ มุมมองของเขาอยู่กับกลิ่นอายท้องทุ่ง อยู่กับชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย

ชื่นชมดึงกลุ่มนักศึกษา 3 ปีก มาพูดคุยผ่านเวทีการอ่าน ลุ้นให้จัดต่อ

นายมูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แสดงความเห็นว่า พูดถึงเรื่องการอ่านไม่มีใครผิดหรือถูก การอ่านไม่มีใครบังคับกันได้

"ที่ประเด็นดีมากคือ นักศึกษา 3 กลุ่ม ถูกมองว่า 3 ปี ปกติไม่ค่อยคุยกัน ตอนนี้ 3 กลุ่มนักศึกษาเรียนอยู่คนละปีมานั่งคุยกันถือเป็นประสบการณ์ที่ดี มีการแลกกัน อันนี้น่าสนใจ ที่นี้เวลาอ่าน เอาสิ่งที่อ่านไปสนทนากับใครบ้าง ถ้าไม่สนทนากับใคร สนทนากันแค่ 2 คนก็ไม่สำเร็จ หรือสิ่งที่อ่านสนทนาเฉพาะคนที่อยากจะสนทนามันก็ได้เพียงเท่านั้น หลักการอ่านต้องสนทนากับคนอื่นด้วย”

"ที่จริงการอ่านมันจัดระเบียบความคิดการอ่าน เรื่องเล่ามันจะครบอย่างไร ในสถานการณ์แบบนี้ต้องอ่านอะไรเพื่อจัดระเบียบทางความคิดไปสู่สิ่งนั้น ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่จะไปข้างหน้าแล้วมาอ่านของข้างหลังอันนี้ไม่น่าจะไปได้หรือเปล่า" มูฮัมหมัดอายุบ ร่วมแลกเปลี่ยน

"เราอ่านสิ่งที่พระผู้สร้างให้อ่านก็ต้องอ่าน สมัยบังอ่านอัลกุรอ่าน หลังละหมาดซุบฮิ์10 อายะห์และต้องทำอย่างต่อเนื่อง การอ่านผลิตซ้ำ อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อ่านตามเทรนด์  การอ่านทั้งหมดมันไปบรรจบแค่เรื่องเดียว อ่านแล้วมันไปตอบโจทย์สิ่งที่คิดหรือเปล่า มันจะไปเชื่อมเองไม่ต้องกังวล”

มูฮัมหมัดอายุบ ชื่นชมที่สามารถดึงกลุ่มนักศึกษา 3 ปีก มาพูดคุยผ่านเวทีการอ่าน และลุ้นให้มีการจัดเวทีการอ่านดึงนักศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนกันอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.สนช. เผยโยกย้ายตำแหน่งในสภาฯ ยังไม่นิ่ง มีวิ่งเต้นเป็นธรรมดา

$
0
0

23 พ.ย. 2558 ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงกรณีที่นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่ามีการวิ่งเต้นแต่งตั้งโยกย้ายภายในสภาผู้แทนราษฎรว่า ที่ผ่านมายังไม่นิ่ง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงผู้รักษาการ จึงมีการวิ่งเต้นเป็นธรรมดา แต่หลังจากที่มีการแต่งตั้งนางสายทิพย์ เชาวลิตถวิล เป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของเลขาฯที่จะทำทุกอย่างให้เรียบร้อยตามวิธีปฏิบัติ และระเบียบขั้นตอนของรัฐสภา ส่วนที่มองว่าการแก้ปัญหาการทุจริตของสภาล่าช้านั้น ตนไม่มีหน้าที่สั่งการ ทำได้เพียงแค่สั่งการให้เลขาธิการสภาฯ ดำเนินการได้เท่านั้น ไม่สามารถล้วงลูกได้

ส่วนการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ที่มีการพาดพิงตนว่าไปพูดเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น ขอยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจบงการหรือสั่งการใดๆ และไม่เคยพูดเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา แต่เป็นการพูดตามหลักการที่ถูกต้อง และรักษาผลประโยชน์ประเทศ รวมถึงมีหน้าที่เพียงแค่ควบคุมดูแลเท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องค่าโง่นั้น ตนไม่ใช่คนโง่ ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่เป็นผู้พิพากษา ตนทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และไม่เคยถูกร้องเรียน อยากขอให้นายวิลาศเข้าใจ สำหรับการก่อสร้างรัฐสภาที่ล่าช้า จนต้องมีการต่อสัญญาขยายเวลาการก่อสร้างออกไปนั้น ส่วนตัวไม่ทราบรายละเอียด โดยไม่มีใครมาปรึกษาตนในเรื่องนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของเลขาธิการสภาฯ ตนไม่สามารถพูดอะไรได้เดี๋ยวจะกลายเป็นชี้นำ ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้เลขาธิการสภาฯ ว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ส่วนบทลงโทษปรากฎในเอกสารรายงานลับ ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

เมื่อถามว่า ต้องมีผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้หรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า เป็นการรับผิดทางวินัย โดยการละเว้นหน้าที่บางประการ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรัฐสภาก็ได้ ส่วนการต่อสัญญาก่อสร้างตนไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน โดยบริษัทที่ปรึกษาที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจ้าง ต้องเป็นผู้คำนวณว่าต้องต่อสัญญาเพิ่มอีกกี่วัน ตนไม่สามารถมโนได้ และไม่มีการมาปรึกษาเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตน ทราบข่าวเท่าที่สื่อมวลชนรายงานเท่านั้น ส่วนการต่อสัญญาก็เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกัน ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อสองฝ่ายยินยอมให้มีการต่อสัญญาก็คงไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ อย่างไรก็ตาม ตนคาดหวังให้การก่อสร้างรัฐสภาเสร็จให้ทันสมัยที่ตนยังอยู่ แต่ก็อยู่ที่กระบวนการเจรจา ถ้าเจรจาไม่สำเร็จแล้วจะมีการเรียกร้องค่าเสียหาย ตนก็มีสิ่งที่จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

ส่วนที่มีการพูดเรื่องการก่อสร้างโรงเรียนซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอำนาจของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่นั้น นายพรเพชรกล่าวว่า จากข้อมูลทราบว่าการก่อสร้างโรงเรียนเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นไปตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งรัฐสภาได้รับงบประมาณการก่อสร้าง และมอบหมายให้ 3 หน่วยงาน คือ การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินตามปกติ ส่วนความผิดปกติต้องสอบถามไปยัง 3 หน่วยงานดังกล่าว

ที่มา : MGR Online, วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภาและกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธิคม คุณาวุฒิ: ประมวลสถานการณ์ 1 เดือน กับ 10 ข้อที่จำเป็นต้องส่งเสียง

$
0
0


ไม่มีอะไรใหม่ แต่อยากชวนทบทวนหลักคิดพื้นฐาน โดยหวังว่าจะยังสามารถพูดคุยกันได้ และสู้กันทางความคิดด้วยเหตุด้วยผล

1.หมอหยอง เป็นผู้ต้องหาคดี 112 เราไม่รู้รายละเอียดว่าดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสถาบันอย่างไร ที่รู้จากข่าวคือหมอหยองกับพรรคพวกอ้างสถาบันเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัว พูดง่ายๆ เป็นการคอร์รัปชั่นโดยเอาสถาบันไปทำมาหากิน

สิ่งที่ควรยอมรับกันก็คือ ประเทศนี้มีคนโหนหากินกับสถาบันอีกมาก ไม่ใช่แค่กลุ่มก๊วนหมอหยอง

2.สารวัตรเอี๊ยด เดิมมีหน้าที่เป็นมือปราบคดี 112 แต่ถูกจับกุมตั้งข้อหา เนื่องจากมีพฤติกรรมแบบเดียวกับหมอหยอง กล่าวคือแอบอ้างสถาบันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

เราไม่ต้องไปวิเคราะห์ “เกมการเมืองบนก้อนเมฆ” ก็ได้ แต่กรณีนี้ก็ย้ำอีกครั้งว่ามาตรา 112 เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือของคนประเภทใดบ้าง

3.ทั้งหมอหยองและสารวัตรเอี๊ยด เสียชีวิตขณะถูกดำเนินคดี นี่คือเรื่องใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม (ถ้าเราจะเรียกศาลทหารว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม) คำว่า “ติดเชื้อในกระแสโลหิต” หรือ “ผูกเนคไท” ไม่ใช่เรื่องตลก การปกครองระบอบก็อดฟาเธอร์ไม่เพียงแต่ทำลายหลักนิติรัฐ แต่ยังลากประเทศถอยหลังลงคลอง ห่างไกลจากการยอมรับของประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

4.ข้อสงสัยเคลือบแคลงกรณีโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจทุกสาขาอาชีพล้วนมีโอกาสที่จะทุจริตกันได้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่านักการเมืองจะโกงเป็นอยู่อาชีพเดียว

5.เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการคือระบบกลไกตรวจสอบ ไม่ใช่แขวนความเชื่อความไว้วางใจไว้กับผู้ที่อ้างตนเป็นคนเสียสละ หรืออ้างตัวเป็นผู้รักสถาบันมากกว่าคนอื่น

6.กระบวนการที่กองทัพใช้ในการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ ไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบที่คนสติดีๆ ควรยอมรับ

7.ท่าทีระหว่าง ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน กับอดีต ผบ.ทบ.คนก่อน ซึ่งเป็นตัวละครที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพก็ไม่ต่างจากพรรคการเมือง กล่าวคือมีความขัดแย้งไม่ลงรอย เฉกเช่นองค์กรที่กุมอำนาจทั่วไป หาได้เป็นเนื้อเดียวดังที่พยายามทำให้ผู้คนเข้าใจ ดังนั้นความคาดหวังใดๆ ต่อพระเอกขี่ม้าขาวผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงนี้

8.มีโครงการขนาดใหญ่อีกจำนวนมากที่ทั้งอนุมัติไปแล้วและกำลังจ่อพิจารณา แต่หากใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา โดยเฉพาะจุดขายเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่เป็นจริง สิ่งที่สังคมต้องการคือการตรวจสอบและร่วมส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันไปถึงลูกหลาน

9.สถานศึกษาเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพทางปัญญา เพื่อรักษาบรรยากาศการต่อสู้ทางวิชาการ สู้ด้วยความรู้ และด้วยเหตุด้วยผล ‪#‎มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร‬

10.น่าเศร้ามากที่เรายังต้องมานั่งทบทวนหลักการพื้นๆ เหล่านี้

 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบโดย นิวัต พุทธประสาท

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ยันมุ่งสู่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง การเมืองไม่เป็นอุปสรรคการค้า-ลงทุน

$
0
0

23 พ.ย. 2558 เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “อนาคตไทย ก้าวไกลด้วยคลัสเตอร์” โดยมี รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย สื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนและการแบ่งกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐได้วางไว้ ในการขยายการลงทุนและให้เกิดชุมชนเมืองในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น

“เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้คาดหวังและพร้อมดำเนินการระหว่างที่บริหารประเทศจนถึงปี 2560 วางพื้นฐานด้านต่างๆทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบและ สิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับการทำธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ขอร้องให้เอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 ล้านราย มาลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเติบโตและเข้ามาอยู่ในคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ให้ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติการลงทุนไปแล้วถึง 1,923 โครงการ ในทุกคลัสเตอร์ วงเงินลงทุนกว่า 690,000 ล้านบาท หากการดำเนินแต่ละโครงการเป็นไปตามที่ขอไว้จะทำให้การส่งออกมีมูลค่าถึง 1,033,000 ล้านบาท และจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 7.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระจายลงไปใน 20 จังหวัดทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลงทุน ขณะที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรัฐบาลตั้งเป้าไว้จะต้องที่เกิดขึ้นใน 10 พื้นที่ภายในระยะเวลา 2 ปี โดยปีแรกจะต้องเกิดขึ้นใน 6 พื้นที่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้และใช้วัตถุดิบในพื้นที่ และเป็นการกระจายความเจริญสร้างชุมชนเมืองที่เกิดขึ้น

“การจำแนกคลัสเตอร์แบ่งออกเป็น 77 กลุ่ม โดยซุปเปอร์คลัสเตอร์จะอยู่ในพื้นที่ชั้นใน ส่วนคลัสเตอร์ธุรกิจที่ใช้แรงงานจะอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ต้องเฝ้าระวังด้านความมั่นคงด้วย แต่ขอผู้ประกอบการอย่าตื่นตระหนกโดยต้องร่วมมือกัน ยืนยันว่าการเมืองไทยต้องนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และจะไม่ทำให้การเมืองมาเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุน  ต้องไม่เรียกร้องประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในระยะแรกรัฐบาลได้กำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายประกอบด้วย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) Super Cluster สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล) และ 2) คลัสเตอร์เป้าหมายอื่น ๆ (คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมเป็นพิเศษในแต่ละคลัสเตอร์ 2 กลุ่ม คือ โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคลัสเตอร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสำคัญสูง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย และช่วยยกระดับคลัสเตอร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การให้สิทธิประโยชน์ การพัฒนาคนและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการสนับสนุนเงินทุน เป็นต้น

สำหรับการกำหนดคลัสเตอร์ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาจากศักยภาพและพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งจะเน้นบริเวณพื้นที่ตอนใน โดยมุ่งส่งเสริมธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและใช้แรงงานน้อย พร้อมกันนี้ได้มุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผ่านโครงการของภาครัฐ เช่น โครงการ Talent Mobility ซึ่งจะสนับสนุนให้บุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐเข้าไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการของภาคเอกชน และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs มีการวิจัยและพัฒนามากขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ฝากให้ผู้ประกอบการ SMEs เรียนรู้และจัดทำระบบบัญชีเดียวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนั้นเพื่อเป็นการช่วยให้ภาครัฐได้รับภาษีเงินได้เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ และยังส่งผลให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือของภาครัฐได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทยและศูนย์สื่อทำเนียบ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภายุโรปเชิญ 'ยิ่งลักษณ์' เยือนถกสถานการณ์ไทย

$
0
0

23 พ.ย. 2558 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์เดลินิวส์และ MGR Onlineรายงานตรงกันว่า รัฐสภายุโรปได้ส่งหนังสือเชิญถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อขอให้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ หรือเมืองสตราสบูร์ก ตามที่ ยิ่งลักษณ์ สะดวก โดยตัวหนังสือ ลงนาม โดย นายเอลมาร์ บรอก, ประธานคณะกรรมการด้านการต่างประเทศของสภายุโรป Elmar Brok, Chairman of the European Parliament Committee on Foreign Affairs และ นายเวินเนอร์ แลงเกิน ประธานคณะผู้แทนความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Werner Langen, Chair of Delegation for relations with the countries of Southeast Asia and the Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)

โดยจดหมายเชิญดังกล่าวมีใจความสรุปได้ว่า รัฐสภายุโรประลึกถึงการเยือนสหภาพยุโรปที่ประสบความสำเร็จของท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2556 ในระหว่างการเยือน ประเทศไทยและสหภาพยุโรปสามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างประเทศไทยกับประชาคมยุโรป (EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement) นอกจากนี้ เรายังรู้สึกประทับใจที่ท่านให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์กับรัฐสภายุโรปในการพบปะกับ มาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป ในวันที่ 6 มีนาคม 2556

รัฐสภายุโรปได้มีการติดตามพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยด้วยความกังวลอย่างใกล้ชิด เหตุการณ์ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมาน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ประเทศของท่านในขณะนี้ก็ยังคงไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง และ คงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปจนถึงกลางปี 2560 เป็นอย่างน้อย ดังนั้น เราเห็นว่าช่วงเวลาของความขาดเสถียรภาพก็คงมีจะอยู่ต่อไป แผนการดำเนินงานของรัฐบาลปัจจุบันในการร่างรัฐธรรมนูญก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นสภาที่ทหารได้เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมาเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีการเริ่มกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ เราเห็นว่ากระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกๆ ภาคส่วนจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ เรายังมีความกังวลต่อกรณีที่ท่านได้ถูกถอดถอนออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีย้อนหลัง และการที่ท่านถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาด้วย

ทางรัฐสภายุโรปยืนหยัดอย่างหนักแน่นในระบอบประชาธิปไตยและการส่งเสริมคุณค่าของประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ เรามีความยินดีหากท่านจะรับคำเชิญของเราเพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ หรือเมืองสตราสบูร์ก ตามที่ท่านสะดวก หากเป็นเช่นนั้น ทางเรามั่นใจว่าผู้ดำเนินการของทั้งสองฝ่ายจะสามารถร่วมมือกันจัดการให้การพบปะหารือดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป

ด้านแหล่งข่าวจากคนใกล้ชิด ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า รัฐสภายุโรปได้ส่งหนังสือเชิญมาจริง และขณะนี้กำลังรอการตอบรับจาก ยิ่งลักษณ์ อยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าทางคสช.จะอนุญาตให้ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปหรือไม่ ซึ่งหากคสช.อนุญาตก็คงจะมีการตอบรับเพื่อนัดวันเวลาที่ชัดเจนกันอีกครั้ง และ ยิ่งลักษณ์ก็คงจะเดินทางไปที่กรุงบรัสเซลส์ตามคำเชิญ

โดย ข่าวสดออนไลน์รายงานด้วยว่า ตัวแทนจากรัฐสภายุโรปโทรศัพท์ถึง ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอคำยืนยันถึงการตัดสินใจเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังจากการรัฐประหาร ที่กรุงบรัสเซลส์  ประเทศเบลเยียม หรือเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่ทางรัฐสภายุโรปได้ส่งหนังสือเชิญมาถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2558 ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ให้คำตอบต่อคำเชิญดังกล่าว เนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าว่าทางคสช.จะอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปพูดคุยหรือไม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวะทาสในเรือนเบี้ยของนักศึกษาเงินกู้ กยศ.

$
0
0


“เด็กกู้ต้องอ่าน! มหากาพย์ชักดาบเงินกู้กยศ. หมดเวลาสนุกแล้วสิ”

4 ก.ย. 56

"กยศ.ชวนชำระหนี้ภายใน มี.ค. จ่อฟ้องผู้ค้างหนี้ 4 ปีขึ้นไป"

19 มี.ค.57

“กยศ.ขู่ยึดทรัพย์ผู้ค้างชำระ ประเดิมแล้วเกือบ800ราย”

16 ก.ย. 58

“เผยกลุ่ม"แพทย์-พยาบาล"ตั้งใจชักดาบ ไม่ชำระหนี้กยศ.มากสุด”

8 พ.ย. 58

 น้ำหนักของข่าวสารเกี่ยวกับกยศ.ส่วนใหญ่ เป็นเสียงที่ดังมาจากฝั่งเจ้าหนี้ในหลายปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากหวาดหวั่นถึงวินัยทางการเงินจะล่มสลายเพราะการเบี้ยวหนี้ของนักศึกษาผู้ยากจนและเจ้าเล่ห์ พึ่งมาปีนี้เองที่มีข่าวว่านักศึกษาสายแพทย์เองก็มีแนวโน้มว่าไม่ยอมจ่ายหนี้ง่ายๆและยังมากที่สุดอีกด้วย ยิ่งทำให้สถานภาพของผู้กู้ยืมที่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นชนชั้นหัวกะทิยัง "ตั้งใจชักดาบ"
 

รู้จักเจ้าของหนี้

กยศ. ย่อมาจาก “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีนับเวลาได้ 20 ปีมาแล้ว กยศ. เริ่มดำเนินการในปี 2539 จนอีก2 ปีต่อมาได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 กยศ. มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

เงินกู้ดังกล่าวสนับสนุนนักเรียนและนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่ระดับสามัญศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยแบ่งเป็นค่าเล่าเรียน, ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ (มีลักษณะคล้ายกับเงินเดือนเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน) ซึ่งผู้กู้จะเริ่มชำระหนี้เมื่อสำเร็จหรือหลังเลิกการศึกษา 2 ปี และต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ในบทความนี้จะเน้นนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก

ตารางแสดงการเปรียบเทียบระหว่างกยศ.และ กรอ.

รู้จักเงินหนี้

ส่วนเงินกู้อีกแบบหนึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักเรียกว่า กรอ. ย่อมาจาก “กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต” ได้รับการจัดตั้งตามมติครม.ปี 2547 แต่เงินกู้กยศ.เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าตามหน้าสื่อต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่าทั้งสองกองทุนมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร นั่นคือ กองทุนกรอ.ไม่ค่อยเน้นว่าครอบครัวจะขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือ "จน" หรือไม่ ทั้งกรอ.ยังไม่รวมนักเรียนและนักศึกษาระดับปวช.


แล้วเงินที่นักศึกษากู้ยืมมันมากน้อยแค่ไหน?

ประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง กำหนดขอบเขตการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาประจำปีการศึกษา 2558 ได้แสดงไว้ดังนี้ 

สาขาวิชา
ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
(บาท/ราย/ปี)
ค่าครองชีพ   
(บาท/ราย/ปี)
รวม
(บาท/ราย/ปี)
ประมาณการตลอดหลักสูตร
(บาท/ราย/ปี) 
1.  สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์    
1.1 สาขาที่ขาดแคลนและ/หรือเป็นความต้องการ
ของตลาดแรงงาน ได้แก่ บัญชี เศรษฐศาสตร์ สารสนเทศ
นิติศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมบริการ ธุรกิจอุตสาหกรรม และธุรกิจการบิน
60,000      26,400  86,400345,600 (4ปี)
432,000 (5ปี)
1.2 สาขาอื่นๆ นอกจาก 1.150,00026,40076,400305,600 (4ปี)
482,000 (5ปี)
2. ศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์70,00026,40096,400385,600 (4ปี)
3. วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี70,00026,40096,400385,600 (4ปี)
4. เกษตรศาสตร์70,00026,40096,400 
5. สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์90,00026,400116,400N/A
6. แพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์200,00026,400226,400N/A
 
จะเห็นได้ว่าเม็ดเงินของแต่ละสาขาก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ เงินทั้งหมด ไม่ใช่ทุนการศึกษา ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็นเงินที่พวกเขาใช้หลักประกันเพื่อกู้เงินในระบบมาเพื่อใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ทุกวันนี้การขอกู้ยืมเงินการศึกษาทางผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกยศ. หรือหน่วยงานที่กยศ.มอบอำนาจไปให้ปฏิบัติและควบคุม ทำราวกับว่านักศึกษาที่กู้เงินนั้นถูกพันธนาการราวกับภาระอันไม่มีที่สิ้นสุด


จุดเริ่มต้นของหนี้ การคัดกรองผู้มีสิทธิ์ในการกู้

จากหลักเกณฑ์ปีการศึกษา 2559 พบว่าการคัดกรองผู้ที่จะมาเป็นลูกหนี้นั้นมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การคัดกรองระดับสถานศึกษา และอีกระดับคือที่ตัวนักศึกษาเอง ในส่วนสถานศึกษา หลักเกณฑ์คัดกรองมีขึ้นก็น่าจะเพื่อค้ำประกันว่าสถานศึกษาดังกล่าวไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถวไก่กา ไม่ว่าจะกล่าวถึงการต้องเปิดการเรียนการสอนอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา และต้องได้รับรู้จากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ว่าหลักสูตรดังกล่าวเปิดสอนแล้ว อย่างไรก็ตามในสังคมอำนาจนิยมที่ไม่ใคร่จะเท่าทันโลกนัก ก็มักจะสร้างเกณฑ์ชี้วัดต่างๆอย่างซับซ้อนเพื่อสถาปนาอำนาจของตนซ้อนชั้นขึ้นไปเรื่อยๆ พบว่า สถานศึกษาที่ให้นักศึกษากู้เงินได้ จะต้องผ่านด่านอรหันต์อีกสองแห่ง คือ การผ่านการรับรองคุณภาพของ สมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา) และผ่านการประเมินของ สกอ. หรือ "ต้นสังกัด"

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หากสถานศึกษาไม่ผ่านการรับรองคุณภาพของ สมศ. นั้น "จะสามารถให้กู้ยืมได้เฉพาะผู้กู้รายเก่าเลื่อนชั้นปีเท่านั้น" นั่นหมายถึง ผู้กู้หน้าใหม่ก็หมดสิทธิ์ไปด้วย การสร้างเส้นสายของอำนาจโยงใยให้ผู้กู้ไม่เป็นอิสระจากระบบประเมินของมหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ์ของผู้กู้ไปด้วย ตบท้ายด้วยการบังคับให้สถาบันจัดโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ ซึ่งเงื่อนไขนี้ก็สร้างบ่วงอีกประการที่จะกล่าวต่อไปในการคัดกรองว่าที่ลูกหนี้

ส่วนการคัดกรองผู้กู้ยืม การสร้างเงื่อนไขของเกรดไม่ต่ำกว่า 2.00 ก็พอเข้าใจได้ว่าสัมพันธ์กับความเป็นไปได้ที่จะกลับมาใช้หนี้ เนื่องจากสามารถเรียนจบตามกำหนด อย่างไรก็ตามปัญหาของผู้เขียนก็คือ เงื่อนไขต่อไปที่กล่าวถึง "การเข้าร่วมโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ" ที่พบว่ากำหนดไว้ 36 ชั่วโมง ในปีการศึกษาก่อนที่จะขอกู้ยืม โดยไอ้งานที่ว่าต้องไม่ใช่ส่วนหนึ่งของผลการเรียนและต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนในเข้าร่วมโครงการฯ อีกด้วย

ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า นักศึกษาที่กู้ยืมส่วนหนึ่งมีความขาดแคลนทางทุนทรัพย์ ในเวลาว่างพวกเขาจำนวนไม่น้อยต้องไปทำงานพิเศษตามร้านอาหาร, ร้านสะดวกซื้อ หรือกิจกรรมหารายได้พิเศษอื่นๆ เพียงแค่นี้ก็เบียดบังเวลาในชีวิตประจำวันพวกเขามากแล้ว การกำหนดการร่วมโครงการ 36 ชั่วโมงในหนึ่งปีนั้นกลายเป็นภาระอย่างไม่จำเป็น ยังไม่ต้องนับนโยบายสิ้นคิดที่ทุกวันนี้มีการเสนอ "ทรานสคริปต์กิจกรรม" เพื่อบังคับให้นักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อประกอบการจบการศึกษา ขณะเดียวกันก็เป็นนโยบายควบคุมกำลังคนราวกับเป็นไพร่ในยุคจารีตที่ต้องดำเนินการตามสังกัดไม่ว่าจะระดับสาขาวิชา ระดับคณะ และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งก็แยกไม่ออกด้วยการกิจกรรมรับน้อง-ว้ากน้องที่ให้อำนาจอย่างไม่เป็นทางการแทรกซึมเข้าไปเพื่อสร้างประสบการณ์เชิงอำนาจระหว่างและหลังจบการศึกษาออกไป
 


สมุดบันทึกกิจกรรมที่ผูกมัดนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้กู้เงิน กยศ.

ผู้เขียนเข้าใจว่า ภายใต้กรงขังตัวอักษรที่เขียนระเบียบไว้นี้ในระบบราชการไทยนั้นทำได้ง่าย เพียงซอกแซกซิกแซก มโนภาพกิจกรรมสาธารณประโยชน์ขึ้นมา หรือจับโน่นผสมนี่กับกิจกรรมของมหาวิทยาลัย แต่หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เรามองย้อนกลับเข้าไปยังนักศึกษาหรือไม่ ว่าเขาตกอยู่ในสภาวะเช่นใด พวกเขาตกอยู่ในฐานะผู้ที่ต้องถูกตีตรวนและปฏิบัติตามคำสั่งภายใต้ระบอบอำนาจนิยมการประเมินที่เป็นอยู่

 ทั้งเงินกู้ กยศ. ไม่ได้เป็นการให้เปล่า แต่เป็นเงินกู้ที่ต้องจ่าย และชำระดอกเบี้ย การกู้ยืม คือ บริการทางการเงินที่ไม่ควรเป็นภาระผูกพัน นอกจากภาระดังกล่าวที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว การข่มขู่ทางอ้อมผ่านทางองค์ประกอบต่างๆ ยังกดดันผ่านอาจารย์และสถาบันอีกด้วย ดังเช่นที่ผู้เขียนได้รับฟังมาจากมิตรสหายว่า การประเมินระดับคณะที่แต่ละสาขาวิชา ถูกสั่งให้ทำการเปลี่ยนข้อมูลออฟไลน์ในกระดาษมาสู่ระบบออนไลน์ที่เรียกว่า CHE QA 3D หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ไม่กรอกข้อมูลจะทำให้ไม่ผ่านการประเมินแล้วจะทำให้นักศึกษาไม่มีสิทธิได้เงินกู้ กระนั้นก็ยังไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรมายืนยัน เพียงแต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า นี่คือ ภาวะคุกคามที่รังแต่จะสร้างปัญหาให้มันสุมทุมมากขึ้นไปอีก



ตารางกิจกรรมจิตอาสาฯ เพิ่มเติม ครั้งที่ 13 ของ กองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ประณามลูกหนี้

ดังที่เห็นมาจากพาดหัวข่าวแล้วว่า คือ เสียงจากเจ้าหนี้ที่ไล่บี้ลูกหนี้ ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนให้เบี้ยวนี้ แบบเดียวกับชนชั้นกลาง หรือผู้มีเงินที่มีคติพจน์ว่า "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" หรือแบบเดียวกับพวกเศรษฐีล้มบนฟูกเมื่อทศวรรษ 2540 ตามข้อมูลอันน่าตื่นตระหนกจากการพาดหัวข่าวอันหวือหวาเมื่อพบว่าในปี 2556 มีการค้างจ่ายหนี้กยศ.สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นผู้กู้ 1.485 ล้านราย เป็นวงเงินกู้ 136,237 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ทั้งหมด 2.15 ล้านราย วงเงินกู้ 194,711 ล้านบาท

ในที่นี้ต้องการประมวลให้เห็นน้ำเสียงที่มีต่อลูกหนี้ โดยคนภายนอกและผู้ให้กู้มักจะคิดว่านักศึกษาใช้เงินฟุ้งเฟ้อ ไม่คุ้มค่ากับเงินกู้ที่ให้พวกเขาไป และมุ่งเน้นไปประณามที่ "นิสัย" ที่ไม่มี "คุณธรรม" แถมยัง "ไม่นึกถึงบุญคุณ" เสียอีก

ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพรฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ทุกวันนี้จะเห็นโพลต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ เกี่ยวกับการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แม้จะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่คนในสังคมไทยกลับรู้สึกว่า มันปกติ รู้สึกเฉยๆ ไม่มีใครเดือดร้อน จึงไม่แปลกที่เด็กกู้เงินเรียนแล้วมีความรู้สึกว่า คืนหรือไม่คืนก็ไม่เป็นอะไร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมของการยอมรับได้ในสังคม" ทั้งยังย้ำว่ารัฐบาลต้องทบทวนนโยบาย ในขณะที่มหาวิทยาลัยต้องทบทวนหลักสูตร และผลิตบัณฑิตไม่ให้มีเชื้อโกงและอยากเห็นมหาวิทยาลัยมีความพยายามที่จะสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในระบบการเรียนการสอนให้มากขึ้น เช่นเดียวกับรองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่เห็นว่า "สถาบันต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ควรผลิตคนประเภทนี้ออกไปสู่สังคม"

ขณะที่เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป กรมสอบสวนคดีพิเศษผู้หนึ่ง ขึ้นชื่อว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่เคยเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืมเรียนชี้ว่า มหาวิทยาลัยมีการแจ้งรายละเอียดทั้งหมดอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการชำระหนี้ที่จะมีการปลอดหนี้ 2 ปี หลังจากจบการศึกษา และจะเริ่มชำระหนี้ในปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี แต่ถ้ายังไม่มีรายได้สามารถขอผ่อนผันชำระหนี้ได้ ย้ำว่าปัญหาเกิดจากบุคคลมากกว่าระบบ "คนที่พูดว่า ไม่ได้แจ้งรายละเอียดการชำระหนี้ แสดงว่าไม่ได้ใส่ใจฟังตั้งแต่ต้น เพราะตอนกู้ใหม่ๆ ก็จะมีการชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร พอจบมาแล้วก็จะมีจดหมายส่งมาถึงบ้านว่าจะต้องจ่ายปีละเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร เป็นเวลานานกี่ปี ซึ่งบางทีก็ต้องมีสำนึกด้วยตัวเอง ติดตามข่าวสารอยู่ตลอด โตๆ กันแล้ว บรรลุนิติภาวะกันแล้ว อยากให้มีสำนึกกันค่ะ เพราะจบและมีงานทำได้ก็เพราะบุญคุณจากเงินกู้ยืมเรียน"

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของคนดิ้นรนและเดือดร้อนชี้มุมที่ต่างออกไปว่า "ลำพังชีวิตทุกวันนี้มีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเจียดเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนตัวไม่ได้คิดจะเบี้ยว หรือชักดาบหนี แต่มีปัญหาเรื่องเงินจริงๆ หลังจากนี้จะพยายามเก็บเงิน และค่อยๆ ทยอยชำระหนี้ให้ครบ เพื่อน้องๆ รุ่นต่อไปจะได้มีกองทุนให้กู้ยืมเรียน" ดังนั้นในมุมนี้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งก็ลำบากที่จะชำระหนี้เนื่องจาก ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน

ในทางตรงกันข้ามก็มีผู้ที่มีเงิน มีงานทำ แต่ตั้งใจไม่มาชำระหนี้อยู่ด้วย ซึ่งสถิติสาขาที่มีผู้ค้างชำระมากที่สุดคือ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ อยู่ที่ประมาณ 72% โดยกลุ่มสาธารณสุข พยาบาล 57% และกลุ่มแพทย์ 51% ก็ถือว่ามีสัดส่วนที่ไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มหลังที่ถือเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ตัวเลขนี้ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่พาดหัวว่ากลุ่มแพทย์-พยาบาล ตั้งใจชักดาบมากที่สุดแต่อย่างใด

 
 


จากเพจ กยศ.มหาวิทยาลัยพะเยา


หนี้เสียมากจริงหรือ

เมื่อมองจากข่าวไม่นานมานี้พบว่า ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2557 แล้ว ผู้กู้ กยศ. 597,746 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 489,422 ราย และผู้กู้ใหม่ 108,324 ราย โดยในส่วนของ กยศ.มีผู้ที่ครบกำหนด (จบมา 2 ปี) และอยู่ระหว่างชำระหนี้ 2,185,133 ราย ค้างชำระหนี้ 1,205,626 ราย

ผู้กู้ กรอ. 90,131 ราย แบ่งเป็น ผู้กู้เก่า 54,625 ราย และผู้กู้ใหม่ 35,506 ราย เมื่อดูจากจำนวนผู้กู้ กรอ.ตั้งแต่ปี 2549 มีทั้งหมด 345,100 ราย ใช้งบประมาณรวม 18,074 ล้านบาท ครบกำหนดชำระ (จบมา 2 ปี)  267,184 ราย เป็นเงิน 10,318 ล้านบาท ค้างชำระ 190,700 ราย เป็นเงิน 7,243 ล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ได้น่าเกลียดนักเมื่อเทียบกับปี 2556

หลังจากนี้พบว่า กยศ.เสนอคณะรัฐมนตรีให้ควบรวมกองทุนกยศ.กับ กรอ.เข้าด้วยกันและปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติให้กรมสรรพากรเข้ามาจัดเก็บหนี้แทนกยศ. เพื่อลดจำนวน NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) และที่ดูไม่น่าจะเข้าท่าก็คือ จะกำหนดเงื่อนไขการปล่อยกู้ต่อสาขาวิชาที่ดูแล้ว "มีงานทำ" มากขึ้น ในด้านหนึ่งแล้วมันก็ตอบโจทย์ของการที่มหาวิทยาลัยต้องรับใช้ตลาด แต่ในอีกด้านหนึ่งแล้ว มหาวิทยาลัยไม่น้อยที่เปิดรับนักศึกษาเข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ไม่ได้รับประกันอาชีพโดยตรง เช่นทางศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ทำให้สาขาวิชาดังกล่าวปกติก็ได้รับการสนับสนุนน้อยอยู่แล้ว ต้องตกที่นั่งลำบากมากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นในบทความนี้


ไม้นวมและการขู่

ที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่า ก่อนจะเป็นข่าวใหญ่โต นับว่ารัฐยังใช้ไม้นวมจัดการกับหนี้และลูกหนี้ มิตรสหายศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยใกล้ดอยสุเทพแห่งหนึ่งเล่าอย่างน้อยใจว่า เขาเองผู้ที่จ่ายเงินตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ เป็นลูกหนี้ชั้นดี แต่ก็ไม่มีโปรโมชั่นพิเศษจูงใจอะไร ผิดกับผู้ที่ไม่จ่ายตามเวลาที่มักมีโปรโมชั่นมาเสริมแรงจูงใจให้ชำระหนี้ตามกำหนด เช่น การลดดอกเบี้ย หรือการประนอมหนี้ บทบาทช่วงหลังจึงออกแนวขู่เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้น อย่างไรก็ตามมันจะไม่เป็นคำขู่ต่อไป เมื่อรัฐปรับระบบการชำระหนี้ใหม่ที่จะเสนอให้หักจากบัญชีเงินเดือน โดยเป็นการทำงานร่วมกันกับบริษัทเอกชน กระทั่งนโยบายนำบัญชีผู้กู้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

การเปิดประเด็นเงินกู้ กยศ. ในบทความนี้เป็นเพียงความพยายามนำเสนอมุมมองอีกด้านที่พอจะทำให้เห็นภาพลางๆ ของสภาวะที่เรียกว่า "ทาสในเรือนเบี้ย" ที่เหล่านักศึกษาจำนวนมากต้องเผชิญ การเข้าใจสภาวะนี้ให้ชัดเจนขึ้นยังต้องการการศึกษาอีกมากไม่ว่าจะในฐานะลูกหนี้ที่ยังอยู่ในสถานะนักศึกษาและลูกหนี้ที่จบการศึกษาไปแล้วรวมไปอำนาจการควบคุมของฝ่ายเจ้าหนี้เองที่พยายามออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อควบคุมร่างกายและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ปรับตัวไปตามโครงสร้างอำนาจที่บิดเบี้ยวไปตามระบบประเมินที่เรียกร้องต่อสถาบันการศึกษาและนักศึกษาอย่างไร้สาระ.

 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายคืออะไร #1 นิธิ เอียวศรีวงศ์: จะอยู่อย่างไร ใต้ระบอบที่ไม่เคารพกฎหมาย

$
0
0

22 พ.ย. 2558 - ในการเสวนา "กฏหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เกษียร เตชะพีระ - สมภาร พรมทา - วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยอภิปรายรอบแรกของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวถึงสำนักคิดทางปรัชญากฎหมายต่างๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้คำสั่งของรัฐเป็นกฎหมาย 4 ประการแล้ว นิธิยังเสนอว่าภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมาย เราจะอยู่กันได้อย่างไร 2 ประการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติ ผมเข้าใจว่าผู้จัดงานเตรียมโทรโข่งแล้วใช่ไหมครับ

ผมอยากเริ่มต้นในสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้วว่ากฎหมายในทุกสังคมโบราณทั้งหลาย จะอ้างถึงอะไรบ่างอย่างที่เหนือกว่าพระเจ้าแผ่นดิน หรือเหนือกว่ารัฐเสมอ เช่น ธรรมะบ้าง เทวดาบ้าง ศีลธรรรมบ้างนะครับ คงจำได้พระเจ้าฮัมมูราบี (Hammurabi - ปกครองอาณาจักรบาบิโลนเมื่อ 1792 ปีก่อนคริสตกาล) ก็เอากฎหมายมาจากเทวดา

ต่อมาในระยะหลังที่คนศรัทธาต่อกฎธรรมชาติมากขึ้น ก็อ้างกฎธรรมชาติ ประหนึ่งว่ากฎธรรมชาติระบุว่าอะไรถูกต้องดีงามไว้เสร็จแล้ว สรุปว่าในรัฐโบราณ กฎหมายไม่เคยออกมาจากคน ซึ่งจริงๆ มาจากคนแน่นอน แต่วิธีอ้าง ต้องอ้างอะไรที่เหนือกว่าคน ของไทยก็ต้องพระมนูธรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีใครเขียนขึ้น พระมนูต้องเหาะไปกำแพงจักรวาลแล้วไปลอกที่ปรากฏบนกำแพงจักรวาล ซึ่งเทวดาหรือผีที่ไหนเขียนไว้ผมไม่ทราบ เอามาเป็นฐานของกฎหมายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลักการข้อนี้ในเวลาต่อมาดูเหมือนประหนึ่งว่าถูกปฏิเสธโดยนักศึกษาทางกฎหมายที่เรียกว่า สำนักปฏิฐานนิยม หรือ Positivism และอ้างอย่างนั้นเสมอในเมืองไทยว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ซึ่งต้องมีบทลงโทษด้วย

คงทราบอยู่ว่า เนื่องจากเหตุผลข้อแรกว่า กฎหมายมาจากศีลธรรม มาจากกฎธรรมชาติ บางทีเวลานักวิชาการพูดถึงกฎหมาย ชอบพูดเรื่องของ Norms (บรรทัดฐาน) ว่าเป็นแบบแผนปฏิบัติทั่วๆ ไป แต่เมื่อไหร่เป็นกฎหมาย ก็เป็น Norms ที่รัฐรับรองไว้และตั้งกำหนดบทลงโทษ

ความคิดเรื่องกฎหมายคือคำสั่งของรัฐ ผมรู้สึกว่ามีพลังในสังคมไทยค่อนข้างสูงมาก ย้อนกลับไปดูนักคิด Positivism มันพูดถึงขนาดนี้เชียวหรือ ไม่ถึงนะครับ

เท่าที่ผมพอจะมีความรู้ติดตามดูได้ จริงๆ แล้ว คนที่ดังมากๆ เลย ของนักคิดสำนักนี้คือ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) ซึ่งพูดถึงกฎหมายว่าเป็นคำสั่งของรัฐก็จริง แต่ต้องตั้งบนประโยชน์ของคนหมู่มาก คือมีหลักการ ที่ผมขอเรียกว่าหลักการทางศีลธรรมนะครับที่กำกับกฎหมายไว้ด้วย

คือแม้แต่สำนักปฏิฐานนิยม ก็ไม่ได้ปฏิเสธ 100% ว่าฐานในทางศีลธรรมต้องมีในกฎหมายด้วยเหมือนกัน ซึ่งวิธีคิดแบบเบนแธมว่า กฎหมายต้องมีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก คือฐานและวิธีคิดของนิติเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษากันในปัจจุบัน คือดูว่ากฎหมายจะมีผลดีต่อคนหมู่มากอย่างไร

มีสำนักคิดอีกอันหนึ่งที่แพร่หลายในอเมริกาและแสกนดิเนเวียที่เรียกว่า สัจจะนิยมทางกฎหมาย หรือ Legal realism คือเขาบอกว่ากฎหมายนี้ ไม่ใช่ไปดูที่ตัวหนังสือที่เขียนเอาไว้ แต่ไปดูว่าศาลมีคำพิพากษาว่าอย่างไร มีวิธีพิจารณาความอย่างไร ไปดูว่าอัยการมีวิธีคิดอย่างไรเวลาสั่งฟ้อง ไปดูตำรวจว่าจับใคร

เพราะฉะนั้น กฎหมายในสหรัฐอเมริกา ตัวอักษรอาจจะบอกว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่อย่าดำมากนะ ถ้าดำมากก็ไม่ค่อยเท่าเทียมเท่าไหร่ เป็นต้น แล้วพอคนดำไปเคาะประตูบ้านคน แล้วคนตกใจว่ามึงเอากูแน่ กูยิงก่อน พอไปขึ้นศาล ศาลบอกใช่ ดำแบบนี้มันน่ากลัว ต้องยิงก่อน กฎหมายของสหรัฐอเมริกา จึงต้องไปดูตรงคำพิพากษา ดูว่าอัยการ ตำรวจ ทำอย่างไร

นี่เป็นสัจจะนิยมฝ่ายรัฐ ผมอยากเตือนไว้ด้วยว่า พวกนี้ไม่ได้เหี้ยมโหดเท่าไหร่ ใครที่ยึดอำนาจบ้านเมือง แล้วจะมาอ้าง Legal Realism ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะมีสัจจะนิยมอีกฝั่งคือฝั่งประชาชน

พอศาลบอกว่ามึงดำเกินไป สมควรถูกยิงแล้ว ปรากฏว่ามีคนทั้งดำและขาวจำนวนมาก ออกมาในท้องถนน เผารถยนต์ เผาตึก เผาอะไรร้อยแปด แล้วในม็อบทุกแห่งมีอาชญากรเสมอ เป็นเราก็อาจจะทำ ถ้าเราหิวมากๆ เมื่อตำรวจไม่สามารถป้องกันร้านค้าได้ เราก็ควรทุบกระจก เอาแฮมเบอร์เกอร์มากินฟรีๆ นี่ของปกติธรรมดาเกิดขึ้นทุกแห่ง

นี่คือสัจจะนิยมฝ่ายประชาชน หมายความว่าถ้าคุณเชื่อเรื่องสัจจะนิยม คุณต้องเชื่อด้วยนะว่าถ้ารัฐสัจจะนิยมด้วย ประชาชนก็จะสัจจะนิยมด้วยได้ สรุปว่าถึงแม้ในสำนักสัจจะนิยม คุณต้องยอมรับว่ามันมีการสร้างดุลยภาพของกฎหมายของ 2 ฝ่าย ไม่ใช่เรื่องฝ่ายเดียว

อีกอันคือสำนักคิดเกี่ยวกับการตีความ กฎหมายจะเป็นกฎหมายได้ต่อเมื่อมีคำอธิบายของสังคมนั้น คำอธิบาย หรือ Justification คำสนับสนุนที่ดีที่สุดที่สังคมยอมรับ เช่น ถ้ามีกฎหมายว่า ถ้าคุณพูดอะไรผิดหูผม ผมจะเรียกคุณไปปรับทัศนคติ เป็นกฎหมายได้นะครับ แต่ต้องมีคำอธิบายหรือการตีความ ที่สังคมเห็นว่าดีที่สุด

โดยสรุปแล้วที่ผมอยากย้ำในที่นี้โดยสังเขป สำนักคิดทางนิติปรัชญาทั้งหลาย ที่สุดถึงที่สุดไม่ได้คิดว่ากฎหมายคือคำสั่งของรัฐโดดๆ มันจะมีเงื่อนไขอื่นเสมอ จะเป็นเงื่อนไขทางศีลธรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้รัฐไม่สามารถออกคำสั่ง ให้เป็นกฎหมายได้โดดๆ

หันมาดูอีกอันหนึ่งคือ สังคมวิทยาทางกฎหมาย นักสังคมวิทยาทางกฎหมายรุ่นแรกๆ คือ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เอมิลล์ เดอไคม์ (Émile Durkheim) ซึ่งเป็นผู้วางพื้นฐานการศึกษาสังคมวิทยาทางกฎหมาย ทั้งสองคิดว่าคำสั่งที่จะเป็นกฎหมายมีปัจจัยจากภายนอก เช่น แม็กซ์ เวเบอร์ บอกว่า เพราะคุณไปเป็นทุนนิยม เสือกไปสร้างรัฐแบบใหม่ ทำให้คำสั่งของรัฐทั้งหลายหลังจากนั้นกลายเป็นคำสั่งที่ต้องการ ซึ่งเวเบอร์เรียกว่า “Legal Rational” หรือต้องการกฎหมายที่มีลักษณะเป็นเหตุเป็นผล โดยก่อนหน้าที่จะมีรัฐแบบนั้น กฎหมายอาจไม่มีลักษณะ “Legal Rational” ก็ได้

เช่นเดียวกับ เดอไคม์ บอกว่า เพราะคุณไปปฏิวัติอุตสาหกรรม ระบบการผลิตเปลี่ยนไปแล้ว ขอให้สังเกตว่ากฎหมายอาญาลดความสำคัญลง เพราะพอคุณผลิตเชิงอุตสาหกรรมแล้ว มนุษย์ติดต่อกันในฐานะปัจเจกต่อปัจเจก กฎหมายแพ่ง ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟู ชดเชย จะออกมามากขึ้นๆ คือมนุษย์เริ่มสัมพันธ์กันเอง มีรัฐควบคุมน้อยลง นี่ก็เป็นปัจจัยภายนอกเหมือนกัน

สรุปคือถ้าดูทางด้านสังคมวิทยาทางกฎหมายแล้ว ก็เช่นเดียวกับเรื่องนิติปรัชญา ก็คือ กฎหมายไม่ใช่คำสั่งของรัฐ แต่เกิดจากปัจจัยสลับซับซ้อนทำให้คำสั่งของรัฐกลายเป็นกฎหมายได้

ผมควรพูดไว้ด้วยว่า สำหรับเดอไคม์ เชื่อว่าถ้ากฎหมายออกมาแล้วสอดคล้องความเปลี่ยนแปลงของสังคม กฎหมายจะเป็นตัว Integrated คือ จะผนวกคนเข้าหากันในสังคม แต่ถ้ากฎหมายไม่ยอมเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มันจะผลักคนออกจากกันเป็นอย่างมาก อันนี้คงไม่ต้องเข้าสู่รายละเอียดเพื่อให้เราใช้ไมโครโฟนกันต่อไปได้

000

เพราะฉะนั้น อะไรคือกฎหมาย หลังจากสำรวจสำนักคิดทางนิติปรัชญา สำรวจเรื่องสังคมวิทยาทางกฎหมายแล้ว ผมคิดว่าคำสั่งที่จะเป็นกฎหมายต้องประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 4 อย่าง

1. ต้องมีการยินยอมพร้อมใจ ของผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้ พูดง่ายๆ คือความยินยอมของประชาชน ซึ่งทั้งหมดที่ผมพูดมาแล้วนั้น ไม่มีใครปฏิเสธความยิมยอมพร้อมใจ แต่อาจจะออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน และด้วยเหตุดังนั้น กฎหมายจะเป็นกฎหมายได้ ต้องสอดคล้องกับค่านิยมที่คนในสังคมนั้นยึดถือ แต่ในขณะเดียวกันค่านิยมที่คนยึดถือเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตัวกฎหมายจะได้รับการยินยอมพร้อมใจ จะต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

2. ต้องกระชับและชัดเจน ชัดเจนในความหมายว่า ทำอะไรแล้วผิด กฎหมายจะอาศัยวิจารณญาณส่วนตัวของผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ไม่ถึงขนาดศูนย์นะครับ คือทุกคนต้องรู้ว่า “ทำแบบนี้ผิด” ถ้าไม่ชัดเจนว่า “พูดแบบนี้แล้วจะทำให้คนแตกแยกหรือเปล่าวะ” ถ้าแบบนี้ทำให้คนไม่กล้าพูด เพราะฉะนั้นกฎหมายกับเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณทำให้กฎหมายไม่ชัด คุณก็ไปลิดรอนเสรีภาพของคนที่ไม่เข้าใจว่าทำอะไรแล้วผิด ไปพร้อมๆ กัน

3. ต้องถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างยิ่ง เท่าที่ผมทราบ ในสหรัฐอเมริกา ถ้าคุณสามารถนำสืบเอกสารได้ว่า ข้อกล่าวหาที่คุณได้รับ เกิดขึ้นทั่วไปหมด จนศาลรับฟังได้ว่าใช่ว่ะ แล้วไม่มีใครโดนจับนอกจากคุณคนเดียว เขายกฟ้องทันที เพราะเหตุผลที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค เท่ากับคุณให้อำนาจการใช้กฎหมายแก่คนบางคนเท่านั้น ซึ่งทำให้คำสั่งเหล่านั้นเป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะเท่ากับใครกำปั้นใหญ่ คนนั้นก็สามารถชี้ได้ว่าใครผิดใครถูกตลอดเวลา

4. แน่นอน คำสั่งจะเป็นกฎหมายได้ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม

000

คำถามที่อยากทิ้งไว้คือ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่ได้ให้ความเคารพต่อกฎหมาย คือเคารพต่อคำสั่ง แล้วใช้คำสั่งในทางที่ไม่เป็นในทางกฎหมายแบบ 4 คุณลักษณะนี้ตลอดเวลา เราจะทำอย่างไร เราจะอยู่กันได้อย่างไร ผมเสนอว่ามีวิธีสองอย่างเท่าที่ผมนึกออก

1. เราหวังว่า สภาวะเช่นนี้จะเป็นสภาวะชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องหมดไป ซึ่งแหง เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง จะอยู่ได้อย่างไรตลอดไป วันหนึ่งก็ต้องหมดไป

2. ในความเป็นจริงผมคิดว่าเราควรกลับไปดูว่า ความพังสลายของระบบกฎหมายในประเทศไทย มันไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้คณะรัฐประหารชุดนี้ ผมคิดว่าจริงๆ มันเกิดสืบเนื่องมาเป็นเวลานานมากทีเดียว จนกระทั่งว่าถ้าเรามีโอกาสคุณต้องปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปปฏิรูปตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือประมวลทั้งหลาย แต่หมายถึงปฏิรูปตัวระบบกฎหมายทั้งหมด ศาล อัยการ ตำรวจ เรือนจำ คุณต้องปฏิรูปสิ่งเหล่านี้แน่นอน

ผมอยากพูดถึงคำพิพากษาที่เกี่ยวกับการรัฐประหารที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าตัวระบบกฎหมายมัน corrupt อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาในปี พ.ศ. 2490 เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว ก็มีพวกนายทหารที่ถูกปลด ถูกไล่ออกจากอำนาจก็ไปฟ้องศาลทหารบอกว่าทหารที่ไล่เขาออกไป ท่านคงทราบว่าในการรัฐประหารครั้งนั้น ผบ.ทบ. คือหลวงอดุลเดชจรัส ก็ออกมากลางถนนไปบอกรถถังว่า “กลับไปๆ” แต่รถถังจะยิงเอา จะเหยียบเอาด้วยซ้ำไป ก็เท่ากับว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาใช้ไม่ได้ พวกนี้ล้วนแต่ฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก็มีการไปฟ้องศาลทหาร

ศาลบอก “เฮ้ยไม่เป็นไร ก็มันชนะนี่หว่า” และคดีนี้ไปสู่ศาลฎีกา แล้วศาลฎีกาไม่ได้พิพากษาว่าเพราะคณะรัฐประหารได้ยึดรัฏฐาธิปัตย์ไปแล้ว อำนาจอธิปัตย์เป็นของเขา ศาลฎีกาไม่ได้พิพากษาเช่นนั้น แต่พิพากษาว่ามันสามารถยึดอำนาจได้ สามารถปราบศัตรูได้ เพราะฉะนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองก็เลยยกฟ้อง

ซึ่งผมไม่รู้ว่านักกฎหมายคิดอย่างไร สำหรับผมพอฟังขึ้นสำหรับหูผม คือไอ้คนฟ้องเป็นทหาร ถ้าคุณบอกว่า พวกนี้ไม่ฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา “ผิด” ก็เท่ากับเปิดทางให้สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพด้วยกันได้ง่ายๆ คำพิพากษาที่จะทำให้เกิดสงครามกลางเมืองสำหรับผมมันก็เกินไป แต่ถ้าคุณพิพากษาว่ามันเป็นภาวะจำยอม ไม่รู้จะทำอย่างไร ในเมื่อมันยึดไปแล้ว และปราบศัตรูของมันได้ สำหรับผม ผมฟังขึ้น

แต่สิ่งที่คุณต้องยึดไว้สองอย่าง อย่างน้อยที่สุดคือ ในทัศนะของศาลต้องมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ว่าภาวะความจำยอม ไม่รู้จะทำอย่างไรมันยึดไปแล้ว ก็ต้องยอมมัน แต่อย่าได้ปฏิเสธอำนาจอธิปไตยของปวงชนเป็นอันขาด

อันที่สอง สิทธิเสรีภาพซึ่งกฎหมายได้รับรองไว้แล้วทั้งหมดต้องยังอยู่ คือคุณอาจจะตั้งรัฐบาลได้ อะไรของคุณก็ทำไปเถิด แต่คุณจะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนที่ตราไว้ในกฎหมายแล้วไม่ได้ คุณละเมิดอำนาจอธิปไตย สิทธิของปวงชนไม่ได้

สรุปง่ายๆ คือ รัฐประหาร การบริหารการปกครองทำได้ยากขนาดที่คุณไม่สามารถ หรือไม่อยากที่จะสืบทอดอำนาจด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น

และผมคิดว่าถ้าบางองค์กรของระบอบประชาธิปไตยมีหลักบางอย่างที่ยึดไว้ได้โดยปลอดภัยและน่าจะยึด ถ้าเป็นอย่างนั้นผมว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศไทย

ฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยสรุป ผมว่า มีปัญหาที่แยะกว่าเรื่องการยึดอำนาจ ก็คือปัญหาของระบบกฎหมายในประเทศไทยนั้นเยอะกว่าเพียงแค่บอกว่า "มีใครเป็นคนบอกว่าคำสั่งของฉันคือกฎหมาย" ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาแน่นอน แต่ว่ามีอะไรที่ลึกไปกว่านั้นอีก ผมขอจบด้วยการบอกว่าถ้าคุณมีโอกาสเมื่อไหร่ คุณต้องผลักดันการปฏิรูปกฎหมาย ขอบคุณครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 ปีคดีคืบ ศาลปกครองนัดคดีแบนหนัง ‘Insects in the Backyard’

$
0
0

23 พ.ย.2558 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ออกจดหมายแจ้งสื่อมวลชน ระบุว่า วันนี้ (23 พ.ย.58) ครบรอบ 5 ปีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ออกคำสั่ง "ไม่อนุญาตให้ฉาย" ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เนื่องจากมีเนื้อหา "ขัดต่อศีลธรรมอันดี" ซึ่งต่อมาผู้กำกับคือ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2554 ขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย เพราะคำสั่งออกโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย และกรรมการพิจารณาโดยมีอคติ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด คือ ศาลปกครองเพิ่งส่งหมายนัดมา ให้คู่กรณีไปศาลวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เวลา 10.30 น. ซึ่งเป็นนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมายจากไอลอว์กล่าวว่า คำว่า "นัดพิจารณาคดีครั้งแรก" เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่คู่กรณีจัดส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้ศาลแล้ว ศาลจะเรียกไปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้แถลงสรุปอีกครั้งด้วยวาจา และหากมีข้อเท็จจริงใดต้องการนำเสนออีก ในวันนัดครั้งนี้ก็เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะนำเสนอได้ ขณะที่ "ตุลาการผู้แถลงคดี" ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนนอกที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินคดีนี้ แต่มีหน้าทีตรวจสอบถ่วงดุล จะแถลงความเห็นส่วนตัวของเขาว่าคดีนี้เขาเห็นว่าควรตัดสินอย่างไร เพื่อให้องค์คณะที่ทำหน้าที่ตัดสินจริงๆ นำกลับไปพิจารณา และศาลจะนัดฟังคำพิพากษาจริงๆ อีกครั้งประมาณ 1-2 เดือนหลังจากนี้

เขาระบุอีกว่า คดี Insects in the Backyard เป็นคดีแรกที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ตรวจสอบคำสั่งแบนหนัง ตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คดีนี้อาจวางบรรทัดฐานการตีความคำว่า "ศีลธรรมอันดี" การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ และขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง ซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อมาตรฐานการพิจารณาภาพยนตร์ และวงการภาพยนตร์ของไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

1 ปีที่รีเทิร์น 'สศจ' ปล่อยคลิปตามรอยปรีดีในปารีส

$
0
0

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ได้โพสต์วิดีโอคลิปผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Somsak Jeamteerasakul’ ในลักษณะสาธารณะ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่สมศักดิ์กลับมาเขียนเฟซบุ๊ก หลังจากหยุดไประยะหนึ่งจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. โดยในครั้งนั้นเพื่อยืนยันตัวตนสมศักดิ์ได้ทำวิดีโอสั้นเพื่อทักทายด้วย (ดู)

สำหรับวิดีโอล่าสุดนั้น สมศักดิ์ ได้ไปตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับ ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่สถานที่นัดพบหารือเรื่องกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงสถานที่ฌาปนกิจศพของปรีดี

 

 

 

Posted by Somsak Jeamteerasakul on 21 พฤศจิกายน 2015

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมควบคุมโรคเผยปีนี้ ทั่วประเทศป่วยไข้เลือดออกกว่าแสนราย เสียชีวิต 108 ราย

$
0
0

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา รายงานข่าวจากกรมควบคุมโรคแจ้งว่า ที่ชุมชนในซอยรามอินทรา 69 กรุงเทพฯ  นพ.อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการการสาธารณสุข สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร อุดมพร พัฒนโกวิท ผู้อำนวยการเขตคันนายาว และ ร.อ.สมภพ พงษ์คีรี ร.12 พัน 3 รอ. โรงเรียน อสส. ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งดารานักแสดงและสื่อมวลชน ร่วมรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยจัดกิจกรรมเคาะประตูตามบ้านให้ความรู้กับประชาชน

นพ.อำนวย  กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีการระบาดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจากข้อมูลเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 17 พ.ย. 2558 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 111,826 ราย เสียชีวิต 108 ราย เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 14,961 ราย ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่ม จำนวน 1,287 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ10-14 ปี รองลงมา คือกลุ่มอายุ 20-24 ปี

วันนี้กรมควบคุมโรคและกรุงเทพมหานคร ได้มีการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยจัดกิจกรรมเคาะประตูตามบ้าน ให้ความรู้กับประชาชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ณ บริเวณชุมชน ซอยรามอินทรา 69  กรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบที่มีความร่วมมือในการดำเนินงานป้องกันไข้เลือดออกจากทุกภาค เช่น สคร.13 กรุงเทพฯ สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตคันนายาว ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ร.12 พัน 3 รอ. โรงเรียน อสส. ข้าราชการและประชาชน ทำให้มีอัตราป่วยน้อยที่สุดในกรุงเทพฯ เพียง 130 ต่อประชากรแสนคน และใน 4 เดือนที่ผ่านมาพบผู้ป่วยเพียง 22 ราย ทั้งนี้ ในกิจกรรมรณรงค์ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมอาสา ร่วมทีมแจกเอกสารความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก  เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงการป้องกันโรค แนะการมีส่วนร่วมในการควบคุมลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งมีทีมเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติพ่นฆ่ายุงตามบ้านที่มีผู้ป่วยและรอบบ้านในรัศมี 100 เมตร

พร้อมแนะหลัก 3 เก็บเป็นแนวทางในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก  ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด 2. เก็บน้ำและปิดฝาให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ และ 3.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้านและในชุมชน เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง 

โรคไข้เลือดออกนั้น พบได้ทุกกลุ่มวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งอาการคือ มีไข้สูงและมักสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตัว เบื่ออาหาร ปวดจุกแน่นท้อง อาจมีเลือดกำเดา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น ขอความร่วมมือประชาชนอย่าได้วางใจ หากมีไข้สูงตั้งแต่ 2 วันหรือมีอาการข้างต้น ต้องรีบไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาแก้ไข้กินเอง เพราะยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น แอสไพริน และไอบูโพรเฟน หรือหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ผู้ป่วยต้องทายากันยุง ป้องกันยุงกัดและไปแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง ซึ่งช่วงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับผู้ป่วยคือช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ถ้าผู้ป่วยซึมลงกินดื่มไม่ได้ มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้อง คือสัญญาณอันตรายของโรคนี้ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422./อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในตอนท้าย 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธ.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แนะอาเซียนควรตระหนักผลกระทบสังคม-สุขภาพควบคู่กับการลงทุน

$
0
0

23 พ.ย.2558 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่า สช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และ 23 หน่วยงาน สนับสนุนงบประมาณและบุคลากรจัดประชุมวิชาการนานาชาติระดับอาเซียน การประเมินผลกระทบและมาตรการเยียวยาลดผลกระทบครั้งที่ 1  ภายใต้หัวข้อความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (The 1st ASEAN Conference on “Impact Assessment and Mitigation under the theme of  Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development”) ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเนรศวร จ.พิษณุโลก โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศครอบคลุมภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้ารวมกว่า 500 คน

พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 หรือ 2015 เครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจะถูกประยุกต์ใช้กับยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกนโยบายใส่ใจสุขภาวะ และถึงแม้ว่าอาเซียนจะมีการสนับสนุนการค้าการลงทุนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสังคมและสุขภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย ข้อมูลหลักฐานระหว่างนักวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างนโยบายสาธารณะที่ใส่ใจสุขภาพ การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ และการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วน อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะในภูมิภาคอาเซียน โดยผลลัพธ์ของการประชุมในครั้งนี้ คือการจัดทำแผนปฏิบัติการของผู้ประสานงานเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมอาวุโสด้านการสาธารณสุขระดับอาเซียนครั้งที่ 11 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศบรูไน

ด้าน นพ. วิพุธ พูลเจริญ ประธานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ประธานการจัดประชุมฯ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน (SOMHD) ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2557 ที่จังหวัดเชียงราย มอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับอาเซียน จัดทำแผนปฏิบัติและกรอบดำเนินการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment : IA) ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้การรวมตัวของประเทศอาเซียนเป็นสังคมหนึ่งเดียวที่มีความเอื้ออาทรควบคู่ไปกับการพัฒนา โดยการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ถือเป็นหัวใจของการประเมินผลกระทบ เนื่องจากเรื่องของ “สุขภาพ” เกี่ยวข้องกับทุกนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินผลกระทบ มักเกิดข้อขัดแย้งเรื่องรับการรับรู้และการมีส่วนร่วม ระหว่างฝ่ายผู้ลงทุน ผู้สนับสนุนนโยบาย และชุมชน ดังนั้น ภาควิชาการจึงเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่จะช่วยสื่อประสานข้อมูลข่าวสารให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ และความขัดแย้งในสังคม และก่อให้เกิดความร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการจัดทำระบบประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่จะเป็นรากฐานของการดูแลสุขภาวะของสังคม

ศ.ดร.สุจิน จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานวิชาการเรื่องการประเมินผลกระทบทั้งภายในประเทศและข้ามพรมแดน นอกจากนี้ จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย และมีแยกอินโดจีนเป็นเส้นทางสำคัญทางการค้าของกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง ซึ่งสร้างโอกาสทางการค้าของประเทศไทย และในทางกลับกันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบจากการพัฒนานี้ได้ด้วย ดังนั้นเครื่องมือการประเมินผลกระทบจึงควรทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบให้กับภูมิภาคของเรา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักวิชาการเผยบรรษัทสหรัฐฯ ค้าอาวุธกับชาติตะวันออกกลาง หนุนความขัดแย้ง

$
0
0

นักวิชาการด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ เขียนบทความกรณีบรรษัทในสหรัฐฯ ค้าอาวุธสงครามให้กับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งและก่อความเสียหายต่อพลเรือน เกิดเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม ที่แม้แต่นักการเมืองในสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้ตรวจสอบตัวเอง เนื่องจากการส่งเสริมด้านอาวุธต่อกลุ่มที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายสหรัฐฯ

23 พ.ย. 2558 บทความในเว็บไซต์ศูนย์ศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคละตินอเมริกา (CIP Americas) ระบุถึงกรณีที่สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้นในช่วงรัฐบาลโอบามาซึ่งพวกเขาชี้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

วิลเลียม ดี ฮาร์ตตุง ผู้อำนวยการโครงการศึกษาด้านอาวุธและความมั่นคงจากศูนย์ศึกษานโยบายต่างประเทศและที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กรช่วยเหลือจับตาความมั่นคงเขียนบทความใน CIP ระบุว่าในยุคของรัฐบาลโอบามามีการค้าอาวุธโดยส่วนใหญ่ให้กับตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งประเทศที่ตกลงค้าอาวุธด้วยมากที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย เรื่องนี้ส่งผลต่อความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมากโดยยกตัวอย่างเรื่องการที่ทางการซาอุฯ ใช้อาวุธของสหรัฐฯ ในปฏิบัติการแทรกแซงเยเมนด้วยกำลังอาวุธ

ฮาร์ตตุงระบุอีกว่ารัฐบาลโอบามาใช้การค้าอาวุธเป็นเครื่องมือหลักๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งทำให้พวกเขาสามารถใช้อิทธิพลทางการทหารได้โดยไม่จำเป็นต้องลงมือส่งกองกำลังของตัวเองเข้าไปในพื้นที่แบบเดียวกับที่รัฐบาลบุชเคยส่งกองทัพสหรัฐฯ ไปในสงครามอิรักแล้วก็ทำให้เกิดผลลัพธ์เสียหายตามมา

เรื่องนี้ยังกลายเป็นผลประโยชน์มหาศาลสำหรับบรรษัทค้าอาวุธในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขาส่งออกอาวุธได้มากขึ้นแต่ทำให้กระบวนการผลิตของบรรษัทพวกเขายังคงดำเนินต่อไปได้เนื่องจากทางกลาโหมสหรัฐฯ มีการสั่งซื้ออาวุธจากบรรษัทเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเว็บไซต์ CIP ยกตัวอย่างเรื่องการขายเครื่องบิน F-18 ของบริษัทโบอิ้งให้กับคูเวต การขายรถถัง M-1 ของบริษัทเจเนอรัลไดนามิกส์และแผนการพัฒนายุทโธปกรณ์รถถังให้กับซาอุดิอาระเบีย

แต่ฮาร์ตตุงก็ระบุว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในตะวันออกกลางเพราะอาวุธที่พวกเขาขายให้ซาอุฯ ถูกใช้ไปในการแทรกแซงด้วยกำลังทหารต่อเยเมนสร้างหายนะทางมนุษยธรรมในประเทศนั้น โดยยกตัวอย่างกรณีการทิ้งระเบิดใส่พลเรือนในงานแต่งงานทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วมากกว่า 130 ราย ถือเป็นตัวอย่างของการใช้กำลังแบบไม่มีการแยกแยะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามที่ส่วนมากเป็นพลเรือนมีมากกว่า 2,300 รายแล้ว

นอกจากเรื่องการโจมตีแบบที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนทั่วไปแล้ว การใช้กำลังอาวุธยังส่งผลให้เกิดการปิดกั้นความช่วยเหลือทางน้ำต่อประชาชนในเยเมน จากข้อมูลของโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติระบุว่าประชากร 12.9 ล้านคนในเยเมนกำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหารและเด็ก 1.2 ล้านคนในเยเมนกำลังประสบปัญหาทุพโภชนาการ นอกจากนี้ถ้าหากความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธยังคงดำเนินต่อไปในเยเมนก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอดอยากของประชาชนจำนวนมากได้

กลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยังเก็บรวบรวมหลักฐานความขัดแย้งในเยเมนพบว่าอาวุธที่มีการใช้โจมตีแบบที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนนั้นมีระเบิดดาวกระจาย (cluster bomb) ที่ซื้อมาจากสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งระเบิดดาวกระจายนี้เป็นอาวุธโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายที่มีสนธิสัญญาสากลสั่งห้ามใช้อาวุธชนิดนี้ แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีสหรัฐฯ และซาอุฯ ร่วมลงนามด้วย

ฮาร์ตตุงระบุอีกว่าไม่เพียงแค่ซาอุฯ เท่านั้นที่ใช้อาวุธของสหรัฐฯ แต่อาวุธบางส่วนก็อาจจะตกไปอยู่ในมือกลุ่มกบฏฮูตีหรือแม้กระทั่งกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับด้วย ทั้งนี้ กองทัพเยเมนยังมีการแบ่งแยกฝักฝ่ายระหว่างกลุ่มที่อยู่ข้างอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกับกลุ่มกบฏฮูตีกับอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝ่ายซาอุฯ และอดีตประธานาธิบดีฮาดิ แต่ทั้งสองกลุ่มต่างก็เคยได้รับการฝึกฝนและได้รับอาวุธจากสหรัฐฯ มาก่อน

องค์การอ็อกแฟมสาขาอเมริกา เคยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือต่อซาอุฯ ในการทิ้งระเบิดโจมตีเยเมน เรียกร้องให้มีการแลกเปลี่ยนและขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคตามท่าเรือเยเมนได้อย่างเสรี และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการให้เกิดสนธิสัญญาหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางการเมืองอันจะสามารถยุติสงครามได้

นอกจากนี้ นักการเมืองบางส่วนของสหรัฐฯ ก็ยังตั้งคำถามและเรียกร้องให้รัฐบาลโอบามากลับมาพิจารณาเรื่องการสนับสนุนปฏิบัติซาอุฯ อีกครั้ง เช่น วุฒิสมาชิกแพทริค ลีฮีย์ ผู้สนับสนุนให้เกิดกฎหมายลีฮีย์กล่าวว่าการที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ซาอุฯ อาจจะถือว่าสหรัฐฯ มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นด้วย จากที่กฎหมายลีฮีย์ระบุห้ามไม่ให้สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังหรือตำรวจต่างชาติที่มีประวัติชัดเจนว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงโดยยังคงลอยนวลไม่ได้รับผิด

นอกจากนี้ยังมีจดหมายจากนักการเมืองคนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ส่งถึงบารัค โอบามาเรียกร้องให้มีการยับยั้งการกระทำที่จะเกิดความเสียหายต่อพลเรือนในเยเมนและขอให้ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการทูตเพื่อยุติความขัดแย้ง ทางด้านฮาร์ตตุงมองว่าการที่สหรัฐฯ เลิกให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ซาอุฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยับยั้งความเสียหายต่อพลเรือน

 

เรียบเรียงจาก

U.S. Arms Sales Are Fueling Mideast Wars, CIP Americas, 17-11-2015
http://www.cipamericas.org/archives/17463

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวเน็ตเบลเยียมแห่โพสต์รูปแมว #BrusselsLockdown หลังทางการเตือนเรื่องปฏิบัติการจับผู้ก่อการร้าย

$
0
0

กลายเป็นเรื่องชวนหัวในเบลเยียมที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงดูเป็นมิตรกับประชาชนชาติเดียวกัน หลังจากที่พวกเขาประกาศเตือนให้ชาวเน็ตระวังอย่าโพสต์ข้อมูลรายละเอียดปฏิบัติติดตามตัวผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย ประชาชนก็พากันตอบรับให้ความร่วมมือด้วยการแห่โพสต์รูปแมวพร้อมแฮชแท็ก #BrusselsLockdown

24 พ.ย. 2558 หลังจากเมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมาทางการเบลเยียมประกาศเตือนประชาชนไม่ให้โพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดียซึ่งจะเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ก่อการร้าย ทำให้ชาวเน็ตพากันตอบรับด้วยการโพสต์แต่รูปแมวในเชิงขบขันหรือเชิงล้อเลียนเสียดสี

หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในปารีสของฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหน่วยงานตำรวจของเบลเยียมดำเนินปฏิบัติการค้นหาตัวผู้ต้องสงสัย และได้ประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านและไม่ออกใกล้ที่หน้าต่างเพื่อความปลอดภัย รวมถึงไม่ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์เกี่ยวกับปฏิบัติการดังกล่าวเพื่อไม่ให้คนร้ายทราบข้อมูล

แต่ในช่วงเวลาที่ตึงเครียดและชวนให้ตื่นตระหนกเช่นนี้ชาวเน็ตในเบลเยียมกลับแสดงอารมณ์ขันตอบรับกับประกาศของทางการด้วยการพากันโพสต์รูปแมว สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่าแทนที่ชาวเบลเยียมจะพากันคาดเดาไปเองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังปฏิบัติการอะไร หลายคนกลับพากันโพสต์รูปสัตว์เลี้ยงพร้อมกับแฮชแท็ก #BrusselsLockdown ที่หมายถึงการปิดล้อมจับผู้ก่อการร้ายในเบลเยียม

มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ Seimen Burum ระบุย้ำถึงเจตนาของทางการว่าอย่าเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายและให้โพสต์รูปแมวเพื่อทำให้พวกเขาสับสนแทน

ซึ่งไม่เพียงแค่ชาวเบลเยียมเท่านั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประเทศอื่นๆ อย่างฝรั่งเศส หรือแม้แต่ผู้ที่ระบุว่าตนเป็นชนพื้นเมืองอเมริกันก็ร่วมกันโพสต์รูปแมวพร้อมแสดงข้อความอย่าง "เราเพื่อนกัน" หรือข้อความชื่นชมความเบลเยียมในเรื่องวิธีการต่อกรกับผู้ก่อการร้าย

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ระบุว่าการแสดงออกโดยใช้รูปตลกๆ ของแมวเช่นนี้ทำให้ทั่วโลกมองว่ากเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจากชาวเน็ตทั่วโลก

ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการในวันนั้นแล้วทางการเบลเยียมออกมาประกาศขอบคุณที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการไม่เผยแพร่ข้อมูลการปฏิบัติการ และในวันจันทร์ หน่วยงานตำรวจของบรัสเซลล์ก็ตอบรับกับเรื่องตลกล้อกันเล่นด้วยรูปภาพของถาดใส่อาหารแมว พร้อมข้อความว่า "สำหรับพวกแมวที่ช่วยเหลือเราเมื่อคืนนี้ ...กินกันตามสบายนะ"

 


เรียบเรียงจาก

National emergency? Belgians respond to terror raids with cats, The Guardian, 23-11-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/nov/22/national-emergency-belgians-respond-with-cats

Twitter Cats to the Rescue in Brussels Lockdown, New York Times, 24-11-2015
http://www.nytimes.com/2015/11/24/world/europe/twitter-cats-to-the-rescue-in-brussels-lockdown.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย

$
0
0



บทนำ

รัฐธรรมนูญที่พึงเป็นเครื่องมือเชิงกติกาของสังคมที่สูงสุด อันมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างสรรค์และดำรงไว้ซึ่งสังคมที่ยกระดับความเป็นอารยะแห่งการปกครองตนเองของประชาชนอยู่เสมอนั้น สำหรับประเทศไทยของเราในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ความล้มเหลวของร่างรัฐธรรมนูญยกแรก (นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานยกร่าง) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 และการกำลังยกร่างกันใหม่ในยกที่สองขณะนี้ (นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่าง) แม้จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ก็ยังดูน่ากังวลใจอย่างยิ่งว่าในที่สุดการผลิตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลังรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. 2557 ก็จะไม่สามารถเป็นเครื่องมือนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้ไกลกว่าที่รัฐธรรมนูญในอดีต อาทิ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ 2550 ให้ไว้ โดยสาเหตุสำคัญหนึ่งก็คือความอ่อนด้อยในทางวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ทั้งในทางกระบวนการจัดทำและสาระของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญจะมีคุณประโยชน์หรือคุณค่าต่อสังคมไทยมากน้อยเพียงใดในอนาคตนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นวิทยาศาสตร์และไม่เป็นเป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยกล่าวคือ “หากการจัดทำรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์เท่าใดแล้ว รัฐธรรมนูญไทยที่ได้ก็จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยในอนาคตมากขึ้นเท่านั้น”


วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

ข้อควรพิจารณาที่สำคัญในการนำประเด็นวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็คือคำถามที่ว่า “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยในประเทศใดๆและโดยการรองรับของรัฐธรรมนูญนั้น จะสามารถได้มาโดยอาศัยหลักการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่?” และ “ความเป็นวิทยาศาสตร์ของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญจะให้หลักประกันว่ารัฐธรรมนูญที่สร้างใหม่นั้น จะมีคุณประโยชน์ต่อสังคมยิ่งกว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่?” รวมทั้ง “ข้อเสนอที่อาศัยวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยคืออะไรบ้าง?” ที่ควรให้ความสนใจ

ในการนำเสนอเพื่อตอบคำถามโดยรวม ข้าพเจ้าจะอธิบายภายใต้คำศัพท์สำคัญ คือ “วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” (หรือวิทยาศาสตร์เพื่อประชาธิปไตย) เป็นคำที่ผู้เขียนลองบัญญัติขึ้นเอง (หากมีผู้อื่นเคยใช้เช่นนี้มาก่อนแล้วก็ขออนุโมทนาด้วย!) อันหมายถึง “การเมืองแบบประชาธิปไตยที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์ให้เกิดและรักษาสภาวะที่ยั่งยืนของการเมืองแบบประชาธิปไตยดังกล่าว” และข้อเสนอต่อไปนี้อาจถือเป็นบททวนหนึ่งต่อบรรดานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา (การเมือง) เศรษฐศาสตร์ (การเมือง) และศาสตร์อื่นๆ ที่กำลังถูกใช้ในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันนี้ก็ได้

ความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมโลกให้แตกต่างจากเดิมอย่างยิ่งในรอบสี่ – ห้าร้อยปีที่ผ่านมานั้น ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ได้ให้โอกาสแก่ความสามารถของมนุษย์ที่จะสร้างสรรค์สังคมทั่วโลกอย่างเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมากกว่าความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังที่จะพบอย่างสำคัญว่าการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในประเทศทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมหาวิทยาลัย (= สถานที่ที่วิทยาการอันยิ่งใหญ่ตั้งอยู่) จำนวนมาก (แต่ต้องมีคุณภาพด้วย) จะช่วยแก้ปัญหาการด้อยพัฒนาประเทศได้มาก เพราะมหาวิทยาลัยล้วนให้ความสำคัญแก่ความรู้อันสุดยอดทั้งในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สังคม (หรือสังคมศาสตร์) ที่ถูกค้นพบหรือวิจัยแล้วนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศ

ในทางเปรียบเปรยมากขึ้น ก็คือ ในฐานะที่นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยก็กำลังใช้วิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา(การเมือง)เศรษฐศาสตร์(การเมือง)และศาสตร์อื่นๆ อันเป็นผลผลิตจากสถาบันการศึกษาชั้นสูง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตก) เพื่อทำความเข้าใจปัญหาการเมืองไทยและเสนอทางออกต่างๆ รวมทั้งการจัดสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ ด้วยการอาศัยทฤษฎีการเมืองและการจัดการความขัดแย้งในสังคมของนักปรัชญาและนักคิดอันหลากหลายแนว อาทิ เพลโต, โทมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, ชาร์ลส เดอ มองเตสกิเออ, ฌอง-ฌาคส์ รูสโซ, คาร์ล มาร์กซ์, อับราฮัม ลินคอล์น, วูดโรว์ วิลสัน และ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ เป็นต้น นั้น การใช้หลักวิชาเหล่านี้ รวมทั้งการดูตัวอย่างจากหลายๆประเทศ ก็ล้วนตั้งอยู่บนฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์และช่วยให้เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการเมืองไทยได้อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามการอธิบายวิกฤตและทางออกทั้งหลาย และประสบการณ์ของประเทศต่างๆเหล่านั้น ดูเหมือนจะมีมุมมองที่ยังมิได้อาศัยความเป็นวิทยาศาสตร์อันเป็นรากฐานของศาสตร์แห่งวิทยาการต่างๆมาพิจารณาการเมืองไทยหรือใช้มันเพื่อเติมเต็มคุณภาพประชาธิปไตยอย่างเพียงพอ

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงว่ามีแต่เพียงวิทยาศาสตร์หรือความเป็นวิทยาศาสตร์ (ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทฤษฎีของตนถูกต้องอยู่เสมอด้วย) เท่านั้น ที่นำพาชาวโลกในสังคมต่างๆไปพบกับความเจริญรุ่งเรือง สิ่งที่มิใช่วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งของมันก็คือ หลักคำสอนทางศาสนาที่วิทยาศาสตร์ยังอธิบายไม่ได้หรือไม่ได้ดีเท่า แต่ทำให้มนุษย์และโลกธรรมชาติดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าร่วมกันก็จะยังเป็นที่พึ่งต่อไปได้อยู่ เพราะว่าวิทยาศาสตร์มักเน้นให้สิ่งที่เป็นความเจริญทางวัตถุ ในขณะที่ศาสนาให้สิ่งที่เป็นความเจริญทางจิตใจและจิตวิญญาณที่วิทยาศาสตร์ยังเข้าถึงได้ไม่หมด และ การยึดหลักวิทยาศาสตร์เท่านั้นโดยไม่ใส่ใจศาสนาจึงเหมือนคนเป็นง่อย แต่หากใช้หลักศาสนาอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีพก็จะเป็นเหมือนคนตาบอด (ดังประโยคทองที่ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ เคยกล่าวว่า “Science without religion is lame, religion without science is blind.”) ความเป็นวิทยาศาสตร์กับศาสนาจึงสมควรเกื้อกูลต่อกันเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนและสันติภาพโลกในทุกมิติ รวมทั้งการแนบแน่นอยู่ในการเมืองแบบประชาธิปไตย

ในฐานะที่การเมืองและนิติรัฐย่อมไม่สมควรปราศจากการมีหลักศาสนารองรับหรือย่อมไม่แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเพื่อความเป็นอริยรัฐนั้น และการเมืองในฐานะบริบทแห่งการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมโลกิยะที่ชาวโลกไม่สามารถปฏิเสธโลกดังกล่าวนี้ได้นั้น การเมืองก็ต้องมีความกระจ่างชัดในทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งในตัวมันเองด้วย และเช่นเดียวกันที่เราจะพบว่าประเทศส่วนใหญ่ที่มีความก้าวหน้าในทางอารยธรรมในสมัยปัจจุบันที่เคยอยู่ในยุคมืดหรือด้อยพัฒนามาก่อน ต่างล้วนอาศัยหลักวิชาหรือกฎหรือทฤษฎีที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับในการรังสรรค์การเมืองของประเทศ ฉะนั้น หากการจัดทำรัฐธรรมนูญไทยจะเคร่งครัดต่อหลักการและวิธีการหรือกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว ประชาชนก็จะได้สาระของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันจะมีคุณค่าต่อสังคมและประชาชนอย่างยิ่งตามไปด้วย


วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ

คำถามสำคัญตามมาคือ อะไรคือ “วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ” ในการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าขออิงกับปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้อย่างน้อยสามสายธารที่สำคัญ คือ

  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ว่าด้วยกระบวนการ (และวิธีการ) และเนื้อหาสาระที่มีความเป็นเหตุเป็นผล แต่ต้องสามารถพิสูจน์และสัมผัสได้จริง ปลอดจากค่านิยม และนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นสากล หลักการดังกล่าวนี้เรียกกันโดยรวมว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Empiricism) หรือ อีกชื่อหนึ่งที่ใกล้เคียงกันคือ ลัทธิปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์ (Scientific-Logical Positivism)
     
  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ (Interpretative Science) ที่ไม่ปลอดจากค่านิยม ความรู้จะนำไปสู่การเห็นความจริงได้เพียงใด ก็เมื่อมีการตีความว่าหลักการและวิธีการแห่งความรู้นั้นมีความหมายเช่นไรและมีประโยชน์เพียงใดในทางวิชาการและการปฏิบัติในสังคมที่มีบริบทแตกต่างกัน
     
  • ปรัชญาที่ว่าวิทยาศาสตร์คือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Science) มิใช่ต้องเชื่อตามทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้าเสนอไป แต่ต้องวิจารณ์ให้เห็นคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าของวิธีการและสาระในความรู้ และจุดอ่อนจุดแข็งของความรู้เหล่านั้นเพื่อปรับปรุงทฤษฎีก่อนหน้าให้ถูกต้องที่สุด
     

ปรัชญาในทางวิทยาศาสตร์ความรู้ทั้งสามสายธารข้างต้นนั้น เราทราบกันดีว่าสนับสนุนอยู่ด้วยวิธีการและกระบวนการที่เป็นวิทยาศาสตร์ อาทิ การตั้งคำถาม การกำหนดสมมติฐาน แนวทางการวิจัย การเก็บข้อมูล (การสังเกต การทดลอง การสำรวจ การวิจัยปฏิบัติการการสัมภาษณ์ การแสวงหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น) การแปลผล การวิเคราะห์ การตีความ การอภิปรายอย่างเป็นเหตุเป็นผล การพิสูจน์สมมติฐาน การวิพากษ์วิจารณ์ การสังเคราะห์ การประเมินคุณค่า และการสรุปผล อันมีไปถึงการสนับสนุนทฤษฎีหรือการล้มทฤษฎีเดิม หรือการสร้างทฤษฎีใหม่ และการนำผลวิจัยคือข้อมูลและความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์อยู่มาก และทำให้สังคมโลกในยุคมืดเปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป และทวีปอื่นๆที่เดินตามหลักวิทยาศาสตร์ปฏิฐานนิยม

อย่างไรก็ตามในยุคที่เรียกกันว่ายุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modernity)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง  50-60 ปีที่ผ่านมา คือในช่วงทศวรรษ 1950s – 1960s นั้น ปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์ถูกโจมตีอย่างมากในความเคร่งครัดต่อวิธีการและข้อจำกัดในการเข้าถึงความจริงเชิงประจักษ์ในสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ แต่เชื่อกันโดยสายธารอื่นๆว่ามีความเป็นจริงตั้งอยู่ รวมทั้งการถูกโจมตีเรื่องการเน้นให้ต้องปลอดจากค่านิยมของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

กระนั้นก็ตาม ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่าปรัชญาประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ แม้จะถูกวิจารณ์ในทางข้อจำกัดดังที่กล่าวมาแล้ว แต่สาระสำคัญที่ให้กติกาวิทยาศาสตร์ก็ยังคงอยู่และเป็นพี่ใหญ่ที่ครองความเหนือกว่า (Scientific Superiority) ในแวดวงปรัชญาแห่งศาสตร์ (Philosophy of Sciences) ในขณะที่แนวทางศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องอาศัยการตีความ และศาสตร์หรือองค์ความรู้ที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์นั้นมิใช่ปรัชญาหลักที่เกิดขึ้นโดยตัวมันเอง แต่เป็นส่วนเสริมและถูกเสนอเพื่อใช้ขัดเกลาความก้าวหน้าอันควรของโลกวิทยาศาสตร์และสรรพศาสตร์ทั้งหลายในโลก จนในสมัยปัจจุบัน ปรัชญาหรือลัทธิประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์เองก็ได้ถูกปรับให้น่าเชื่อถือมากขึ้นว่าเป็นลัทธิประจักษ์นิยมในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสมเหตุสมผล (Critical-Rational Empiricism/Positivism) ด้วยแล้ว ความรู้นั้นจึงมีความน่าเชื่อถือในการบ่งชี้ความจริงหรือความจริงแท้ (ดูหมายเหตุท้ายบทความประกอบ)

ในฐานะที่ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมในทางวิทยาศาสตร์เชื่อในเรื่องที่ว่าความรู้ต้องมาจากเจตจำนงเสรี (Free will) มิใช่การกำหนดมุ่งหมายอย่างตายตัวหรือแน่นอน (อาทิ แบบพวก Determinism) และยึดแต่หลักเหตุผลเท่านั้น แต่สมควรสัมผัสได้ พิสูจน์ให้เห็นจริงได้ และมาจากประสบการณ์จริง รวมทั้งทฤษฎีต้องรับใช้การปฏิบัติหรือปฏิบัติได้อย่างเห็นผลจริง (Praxis) ซึ่งจะว่าไปแล้วพุทธศาสนาของเราก็สอดคล้องกับความเชื่อในลัทธิความรู้นี้อยู่ไม่น้อยเลย

ดังนั้น วิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ (เพื่อประชาธิปไตย) ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก ก็คือการใช้หลักการและวิธีการ หรือมุมมองทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นสากลอยู่ในตัวโดยนัยสำคัญ มาช่วยจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยมีความถูกต้องมากที่สุด และสามารถสร้างผลคือคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เป็นจริงเชิงประจักษ์ได้อย่างยิ่งนั่นเอง


ความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย

การจัดทำรัฐธรรมนูญไทยที่มีคุณภาพในทางประชาธิปไตยสูง จึงสมควรให้คุณค่าต่อปรัชญาประจักษ์นิยมวิทยาศาสตร์ที่เกื้อกูลจากศาสตร์แห่งการตีความและศาสตร์แห่งการวิพากษ์ประกอบด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ทว่าจากปรากฏการณ์ที่พบในเมืองไทยขณะนี้ พอจะสะท้อนได้ว่าเรากำลังอยู่ทั้งภายใต้และไม่อยู่ภายใต้การกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ของการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่เสร็จสิ้น การวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ของข้าพเจ้าจึงทำได้ในระดับหนึ่งกับสิ่งที่ชัดเจนอยู่บ้าง แต่หลายเรื่องก็ยังไหลลื่นไม่แน่นอนเสียทีเดียวภายใต้สถานการณ์ของการบังคับสังคมที่ดูค่อนข้างแน่นอน ข้อวิตกกังวลของข้าพเจ้าจึงมีความจำกัดในระดับหนึ่ง ดังจะนำเสนอต่อไปนี้


ประการแรก– สังคมไทยเคยประสบความสำเร็จในการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยประสบการณ์ของสังคมไทยเอง ในเชิงหลักการและการปฏิบัติทางการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากทุกจังหวัดๆละหนึ่งคน และมีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การกำกับของสภาร่างรัฐธรรมนูญจากฉันทามติของประชาชน ประสบการณ์เช่นนี้ ในทางศาสตร์ปฏิฐานนิยมแล้ว ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญตามหลักการสากลอันมีความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติได้ และส่งผลต่อมาให้วิทยาศาสตร์การเมืองไทยก้าวไปข้างหน้ากว่าอดีตอย่างมาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงนับเป็นนวัตกรรมแรกในรอบ 65 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2575 ที่ได้โยนทิ้งสิ่งที่เป็นประเพณีและกติกาอันล้าหลังที่ถ่วงรั้งการปกครองตนเองของประชาชนในเมืองไทยมาอย่างยาวนานได้จริง (แต่บางประการก็ได้แรงหนุนมาจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 และ 2534 ก่อนหน้า)

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะมิได้สมบูรณ์แบบคือมีจุดอ่อนอยู่บ้างในทางสาระ อาทิ เชิงการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม ทว่าก็มีความเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างคับแก้ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ภายใต้วิกฤตการเมืองไทยที่สะสมมาในรอบ 10 ปี คสช. ในฐานะองค์กรนำของแม่น้ำทั้งห้าสายและพลพรรคกลับปฏิเสธกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ต่อยอดแบบแผนดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ช่วงแรกของการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นต้นมา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะกลัวและมีอคติต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนมากเกินไป และต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ


ประการที่สอง– การมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลากหลายวิชาชีพที่มีนักนิติศาสตร์เป็นหัวเรือใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในทางอุดมคติ เพราะความหลากหลายที่ลงตัวจะช่วยให้รัฐธรรมนูญมีครบทุกแง่มุมของความสัมพันธ์ในสังคม อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบดังกล่าวหนักไปทางผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชาการ แต่ขาดการมีส่วนร่วมของนักปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีประสบการณ์ และอาจมีประสบการณ์ถึงระดับสามารถพัฒนาเป็นแนวทางเชิงปฏิบัติ หรืออาจถึงระดับแนวคิดทฤษฎีทางการเมืองขึ้นได้ด้วย (Ground Theory) สภาพที่เน้นผู้เชี่ยวชาญและวิชาชีพหรือกึ่งวิชาชีพ แต่ไม่มีประสบการณ์ตรงเข้ามาประกอบการจัดทำอย่างใจกว้างเช่นนี้ ไม่ต่างกับความเป็นนักเทคโนแครทการเมืองของคณะผู้ยกร่างที่เป็นมาตลอดสำหรับบางคนหรือชั่วคราวสำหรับบางคน แต่ก็ในกำกับของทหารและผู้ไม่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตยแท้จริง ท่านเหล่านี้อาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆโดยอำเภอใจไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้ อันจะทำให้สาระของรัฐธรรมนูญมีความเป็นวิชาการที่อาจจะล่องลอยและเป็นอุดมคติ หรือไม่เช่นนั้นก็ใส่เนื้อหาอันเป็นคุณค่าเทียมที่ผู้นั่งอยู่ส่วนบนของสังคมชื่นชอบ แต่ไม่สื่อถึงการมุ่งประกันคุณสัมฤทธิ์ของประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญจะให้ได้ต่อประชาชนส่วนใหญ่เท่าที่ควรจะเป็น

ไม่ต่างอะไรกับการแทนที่คำว่า “ประชานิยม” ด้วยคำว่า “ประชารัฐ” คำเก่าแก่ในเพลงชาติที่ฟังดูดี แต่ในทางที่เป็นจริงโดยทั่วไปก็คือ “ประชาล่าง” คือ ประชาชนอยู่ข้างล่างให้ผู้มีอำนาจรัฐข้างบนสั่งกำชับลงมาแบบเดิม จึงมิใช่ประชาธิปไตยที่เป็นวิทยาศาสตร์อันสัมผัสในคุณค่าแท้ของหลักการประชาธิปไตยได้ และแม้ว่าจะมีกระบวนการทำประชามติเสมือนให้คุณค่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนในตอนท้ายสุดว่าจะรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ในภายหลัง กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อันทำให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยทั้งมวลอาจกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้างก็ตาม แต่บทเรียนสำคัญสองประการของสังคมไทยในระยะหลัง คือการมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างงดงามแต่ไม่มีประชามติแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กับ การมีรัฐธรรมนูญที่กระบวนการยกร่างไม่งดงามเท่าและก็มีประชามติที่ไม่งดงามนักแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (เพราะทำประชามติในภาวะกฎอัยการศึกถึง 35 จังหวัดของประเทศ) อันมิใช่รัฐธรรมนูญสมบูรณ์แบบทั้งคู่ และมีแนวให้เห็นแล้วว่าการทำประชามติในคราวใหม่นี้ ประชาชนทั้งประเทศยิ่งจะถูกจำกัดการแสดงความเห็นยิ่งกว่าสมัยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เสียอีก ประชามติที่จะมีขึ้นจึงดูท่าจะเป็นไปอย่างวังเวง

จากประการแรกและประการที่สอง ข้าพเจ้าขอเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่สองฉบับสำคัญที่ผ่านมาและฉบับที่กำลังยกร่างขณะนี้ ผ่านการพิจารณาเชิงวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่พิจารณาเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น ด้วยเกณฑ์เชิงปริมาณในห้าตัวชี้วัดและโดยองค์รวม (โดยประมาณการ) คือ

  • การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  • ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (10 คะแนน)
  • เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ (30 คะแนน)
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)
  • การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน)

รวม 100 คะแนน ดังนี้

ตารางเปรียบเทียบคุณภาพของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ตัวแบบ
ในอุดมคติของรัฐธรรมนูญ
การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกตั้งจากทั่วประเทศและประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน) 
ที่มาและองค์ประกอบ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (10 คะแนน)เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
(30 คะแนน) 
สมาชิก
สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับรองรัฐธรรมนูญ (20 คะแนน) 
การทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ
(20 คะแนน) 
รวมคุณภาพประชาธิป
ไตยของรัฐธรรมนูญ (100 คะแนน)
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 20 10 25 (จุดอ่อนของการถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามที่เหมาะสม) 20 0 75   
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550  5 (ที่มาไม่เป็นประชาธิป
ไตย) 
20 (ให้คุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้ง เป็นต้น)15 (เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึก 35 จังหวัด ในระหว่างการทำประชามติ) 40   
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 หรือ 2560 ที่กำลังจัดทำ0 5 (ที่มาไม่เป็นประชาธิป
ไตย และองค์ประกอบขาดผู้มีประสบการณ์ทางการเมืองจริง)
 20 (บทบัญญัติยังไม่ลงตัว แต่มีแนวโน้มการรักษาคุณค่าอำนาจเผด็จการและลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชน อาทิ อาจยกเลิกหรือลดทอนคุณค่าของระบบการเลือกพรรค(ระบบปาร์ตีลิสต์) และยังเปิดช่องให้มีนายกที่มิใช่ ส.ส. ก็ได้)  010 (จัดทำประชามติภายใต้อำนาจรัฐประหาร และมาตรา 44 ของรธน.ชั่วคราว พ.ศ. 2557)    35

 
หมายเหตุ: หากในประเทศเราจะได้มีการถกเถียงกันก่อนว่า การออกแบบการจัดทำรัฐธรรมนูญเช่นไรจึงเหมาะสมที่สุดและเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดก็จะทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูกดังที่กำลังทำกันอยู่ขณะนี้ อันเสี่ยงต่อการใช้ไม่ได้ผล และเสียงเงินชาวบ้านมหาศาลโดยผู้รับผิดชอบไม่มีความผิด!? 


สรุป - รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีคุณภาพประชาธิปไตยมากที่สุด (ร้อยละ 75) รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รองลงมา (ร้อยละ 40)  และรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง (พ.ศ. 2559 หรือ 2560?!) มีคุณภาพประชาธิปไตยต่ำที่สุด (ร้อยละ 35 แต่อาจขยับเพิ่มหรือลดตามเนื้อหาที่ยุติจริง จนคะแนนสาระเพิ่มขึ้นและโดยรวมอาจได้คะแนนมากกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่ย่อมไม่เกินฉบับ พ.ศ. 2540)  จึงพอจะประเมินได้ว่าองค์รวมของการจัดทำและแนวโน้มสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีคุณภาพพอที่จะเป็นความหวังใหม่ในการส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการเมืองไทยได้ เพราะกระบวนการสร้างสรรค์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่เพียงพอนั่นเอง และแม้จะใส่เนื้อหาให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากที่เท่าจะทำได้ในสายตาคณะผู้ยกร่าง ก็ยังมีข้อจำกัดให้ทำได้ไม่เต็มที่ตามบรรยากาศของสังคมเผด็จการและอำนาจสั่งการของคณะผู้ปกครอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นต้น (ดังตัวอย่างข้อเสนอหรือที่เรียกกันว่าใบสั่ง 10 ข้อ ของ คสช. ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรธน. ที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งเป็นสมาชิก คสช. อยู่ด้วย พยายามปลอบใจประชานว่าไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็ตาม) จึงย่อมส่งผลต่อการยอมรับและปรับใช้ในอนาคต

บทเรียนการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 นั้น มีประโยชน์ (แม้จะไม่สมบูรณ์ทุกด้าน) ประชาสังคมไทยเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยในอนาคตจึงควรเรียนรู้และกลับไปใช้ภูมิปัญญาและประสบการณ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราทั้งสองคราวนั้น ให้เป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดยวิพากษ์จุดอ่อน-จุดแข็งในอดีตในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย (อย่างน้อยที่พอเป็นตัวอย่างให้ใช้และวิพากษ์ได้บ้างก็คือ ตามเกณฑ์ชี้วัดทั้งห้าที่ข้าพเจ้านำเสนอนั้น) เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เป็นจริงในทางคุณภาพประชาธิปไตยยิ่งกว่าฉบับภายใต้ คสช.


ประการที่สาม (สืบเนื่องจากประการที่สอง) – การที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองชุดมิใช่ได้มาโดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่สะท้อนเจตจำนงร่วมอันเสรีของประชาชนแต่อย่างใด และตามที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยแห่งการใช้ความรู้เพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญในสังคมเสรีที่เปิดเผยและกว้างขวางมาแล้วในการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมีน้อยลงสำหรับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ดังที่กล่าวแล้วนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ การทำรัฐธรรมนูญได้จำกัดและคับแคบอย่างโจ่งแจ้งภายใต้อำนาจรัฐประหาร และแม้ว่าผู้จัดทำรัฐธรรมนูญจะมีการกระทำที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง เช่น เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ในระยะเวลาอันสั้น ทั่วถึง และขาดการรับฟังและถกเถียงกันโดยเสรีและอย่างกว้างขวางในที่สาธารณะ และประชาชนได้รับการคุ้มครองในการแสดงออกและเผยแพร่ความเห็นที่อาจไม่ตรงกับ คสช. แต่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าหรืออย่างเต็มที่ อันจะทำให้ข้อเสนอและความรู้ประกอบข้อเสนอไม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นถึงพริกถึงขิง (Severe Criticism) ทั้งคณะผู้ยกร่างอาจจะเลือกเอาความเห็นใดๆใส่ในรัฐธรรมนูญโดยอำเภอใจดังที่กล่าวแล้ว รัฐธรรมนูญที่จะได้มาจึงขึ้นอยู่กับความเป็นตัวแทนประชาชนแบบสมมติของคณะผู้ยกร่างผู้เจียมตัวต่อคสช. และเป็นของ คสช. มิใช่ของประชาชน เพราะมิได้ตั้งอยู่บนความผูกพันและความเป็นจริงของอำนาจประชาชน ลักษณะเช่นนี้เป็นวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง แต่เป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเผด็จการที่น่ากลัวเพราะไม่ให้หรือมีความจำกัดในคุณค่าของการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน และจะทำให้บทบัญญัติออกห่างจากประชาชนในส่วนที่มีนัยสำคัญๆแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน

ด้วยเหตุผลเสริมที่ว่า เผด็จการมักเป็นมิตรกับฝ่ายวิชาชีพ และนักวิชาชีพก็มักเน้นหลักวิชาการที่เรียนและฝึกมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็เพื่อความสำเร็จของงานในส่วนของตน และเพื่อความก้าวหน้าแห่งตนเฉพาะวิชาชีพนั้นๆเป็นที่ตั้ง มากกว่าการทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวมอันยิ่งใหญ่ในพหุมิติแก่คนจำนวนมากที่สุดในสังคมอันเป็นอุดมคติสูงสุด ซึ่งฝ่ายการเมืองประชาธิปไตยจะมีประการหลังนี้ให้ได้มากกว่า และแม้การเมืองจะเป็นเรื่องการประนีประนอมที่อาจทำให้ความแม่นตรงของวิทยาศาสตร์หดหายไปได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะเราสามารถสร้างการประนีประนอมทางการเมืองบนฐานวิทยาศาสตร์ได้ นั่นก็คือ การยึดผลประโยชน์สูงสุดของสังคมในการเป็นสังคมแห่งการประนีประนอมโดยธรรมชาติให้เป็นเป้าหมายสำคัญ (เช่น ความยุติธรรม สันติภาพ สังคมแห่งความมั่งคั่ง และความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น) มิใช่การปรองดอง (ศัพท์แสลงหนึ่งของการประนีประนอม) เฉพาะกิจแบบที่กำลังปวดหัวกันอยู่ปัจจุบัน (ว่าจะเอาอย่างไรดี) และต้องทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่จะให้หลักประกันต่อเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งธรรมาธิปไตยอันเป็นมิตรกับวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยมวลรวมประชาชาติ (ขออนุญาตใช้ศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่ง) อันหมายถึงมูลค่าโดยรวมที่สังคมโดยรวมจะได้รับจากการทำงานของระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยรองรับ


ประการที่สี่– บทบัญญัติในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 กำหนดความจำกัดในทิศทางบทบัญญัติหรือล็อกสเป็คของรัฐธรรมนูญใหม่โดยปริยาย ให้ตอบสนองสาระทั้งสิบประการที่บัญญัติไว้ ซึ่งหลายประการเป็นประโยชน์ต่อธรรมาภิบาลของระบบการเมืองไทยในอนาคต แต่กลับไม่พบหลักการประชาธิปไตยสำคัญๆที่จะต้องยึดมั่นในการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดตามข้อ  9 และ 10 และ วรรคสุดท้ายของมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) นี้ ที่บัญญัติให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทําร่างรัฐธรรมนูญที่ครอบคลุมในเรื่อง“(9) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้”(10) กลไกที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป” ทั้งยังกำหนดตบท้ายด้วยว่า“ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาถึงความจําเป็นและความคุ้มค่าที่ต้องมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอํานาจตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่จําเป็นต้องมี ให้พิจารณามาตรการที่จะให้การดําเนินงานขององค์กรดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วย”

บทบัญญัติดังกล่าวเหล่านั้น อาจถูกนำไปใช้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์สากล และมีอคติต่อระบบพรรคการเมือง ทำให้มีการติดขัดในการใช้อำนาจโดยชอบธรรมของรัฐบาล และอาจมีการจัดตั้งกลไกใหม่ๆที่แปลกประหลาดหรือนอกระบบสากลมาทำให้ไม่เกิดเสถียรภาพของประชาธิปไตยของประชาชนไทย (เช่น การออกแบบให้ประชาธิปไตยตัวแทนกับประชาธิปไตยทางตรงเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน) หรือ การออกแบบกระบวนการที่ไม่เคารพอธิปไตยโดยทั่วไปของประชาชน  โดยอาศัยอำนาจขององค์การเผด็จการจัดตั้งกึ่งราชการที่เรียกว่าองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาอิสระ ทั้งในแนววิชาชีพหรือไม่ใช่วิชาชีพและสภาการปกครองหรือปฏิรูปพิเศษที่มองโลกแบบคับแคบหรือตายตัว และบังคับประชาธิปไตยให้เป็นไปในแนวอำนาจนิยมดั้งเดิม สมัยก่อนยุคประชาธิปไตยและในยุคกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ

นอกจากนี้ ความจำกัดของแนวรัฐธรรมนูญยังมีเพิ่มขึ้น เมื่อล่าสุด คสช. ได้แสดงเจตนาต่อรัฐธรรมนูญใหม่ ดังข้อมูลจากสื่อมวลชนที่ว่า (http://www.prachatai.com/journal/2015/11/62522) “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พ.ย. เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้
           
1. ตามที่คณะ กรธ.ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักการที่สมควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อที่คณะกรธ. จะได้นำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
           
2. คสช.พิจารณาแล้วเห็นดังนี้

2.1 ต้องมีบทบัญญัติที่สำคัญอย่างครบถ้วน มีข้อความชัดเจนแน่นอน เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจในทุกเนื้อหาสาระได้ง่าย ไม่ใช้ถ้อยคำที่กำกวม ซึ่งล่อแหลมต่อการตีความผิดๆ จะต้องใช้ถ้อยคำที่เลือกสรรมาแล้วว่ามีความหมายที่แน่นอนและชัดเจนที่สุด คำหรือข้อความที่มีความหมายหลากหลายแง่มุม หรือกำกวม ซึ่งอาจทำให้เข้าใจไปได้หลายกรณีไม่ควรนำมาใช้

2.2 รัฐธรรมนูญไม่ควรยาวเกินไป ควรบัญญัติเฉพาะหลักการจัดรูปแบบการปกครองของรัฐที่สำคัญ และจำเป็นเท่านั้น หากยาวมีรายละเอียดมาก จะทำให้การตีความยุ่งยากมากขึ้น และจะไม่ได้รับความเคารพเท่าที่ควร สำหรับรายละเอียดปลีกย่อยของการปกครองประเทศ หรือกฎหมายย่อยในส่วนอื่นๆ นั้น ควรเป็นหน้าที่ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายที่มิใช่เรื่องที่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่สั้นเกินไปจนขาดสาระสำคัญ

2.3 ควรมีกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายขึ้นไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ดีต้องมีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับกาลสมัย ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป การที่มีวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนั้น เพื่อป้องกันการล้มล้าง หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้กำลัง โดยเฉพาะการปฏิวัติ และรัฐประหาร

2.4 บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องครอบคลุมในหลักการที่สำคัญของกระบวนการการเมือง การปกครอง เช่น บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติรัฐ บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เหมาะสม สอดคล้องกับหลักการปกครองของระบอบประชาธิปไตย และวัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ ความสามารถ ทางการเมืองของประชาชนเป็นสำคัญ บัญญัติถึงสถาบันทางการเมือง ที่มาของสถาบันเหล่านั้น อำนาจหน้าที่ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง กระบวนการสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันการเมือง รวมถึงกระบวนการใช้อำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการเมืองของสถาบันต่างๆ อย่างรัดกุม ป้องกันมิให้มีการบิดเบือนหลักการและกฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมือง และอาจเป็นหนทางนำไปสู่การแก้วิกฤตการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ

2.5 การมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประชาชน จะต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง ในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือรัฐบาลที่ปฏิเสธหรือ เป็นปฏิปักษ์ต่อมวลมหาประชาชน โดยไม่ทำให้ประชาชนมีความสำคัญแต่เฉพาะก่อน หรือขณะเลือกตั้งเท่านั้น ภายหลังการเลือกตั้งไปแล้วประชาชนยังคงต้องมีบทบาทที่สำคัญกว่านักการเมืองผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา โดยรัฐมีหน้าที่สนับสนุนในการสร้างและพัฒนาพลเมืองให้มีความรู้ และความรับผิดชอบทางการเมือง

2.6 เนื่องจากปัญหาวิกฤต หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และรัฐธรรมนูญอาจเกิดภาวะทางตัน ดังนั้น ควรบัญญัติช่องทางเผื่อกาลในอนาคตในการผ่าทางตัน เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ด้วย โดยเฉพาะการเกิดปัญหาสุญญากาศทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

2.7 แนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐยังคงต้องบัญญัติให้รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย และบูรณภพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็น และเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อการพัฒนาประเทศ การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

2.8 ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทหาร จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไปไม่ควรถูกจำกัด หรือริดรอนสิทธิเสรีภาพแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ด้วยเหตุแห่งอาชีพในการเป็นข้าราชการทหาร

2.9 ควรกำหนดให้การดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีวาระ 4 ปี และจะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพื่อป้องกันการผูกขาดหรือ เผด็จการทางการเมือง

2.10 ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องได้รับการต่อต้านและขจัดไปจากชาติ โดยผู้กระทำความผิดจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักเฉียบขาดและรุนแรง เป็นค่านิยมที่จะต้องถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนและข้าราชการเกิดความสำนึกที่ดีต่อประเทศชาติ”

ข้อเสนอของ คสช. ในข้อ 2.4 – 2.8 ล้วนมีความเป็นไปได้ที่สาระแห่งรัฐธรรมนูญ (หากคณะกรรมาธิการยกร่างได้ตอบสนองตามความเห็นเหล่านี้อย่างเต็มที่ หรือเมื่อเวลาถึงจุดสำคัญปลายทางจะให้ความสำคัญพอๆกับความเห็นจากฝ่ายอื่นๆได้จริง ดังที่ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแถลง เมื่อไม่นานมานี้) จะถูกประดิษฐ์ให้สอดรับหรือเบี่ยงเบนไปจากหลักการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากลก็ได้อยู่ไม่น้อย อาทิ ข้อ 2.5 นั้น น่ากลัวว่าเหตุการณ์ประชาธิปไตยนอกระบบแบบมวลมหาประชาชนของ กปปส. จะมีขึ้นได้อีก เพราะได้รับการสนับสนุนจากการอ้างอำนาจประชาธิปไตยของพลเมืองที่ “มีความรู้และความรับผิดชอบทางการเมือง” แต่เป็นปฏิปักษ์กับการเมืองในระบบผู้แทนต่อไป (ทั้งๆที่ประชาชนเองก็เป็นเจ้าของและต้องใช้อำนาจทั้งสองทางให้เป็นประโยชน์แก่ตนทั้งมวล) และในข้อ 2.8 นั้น เป็นการเสนอให้ทหารออกห่างจากทหารอาชีพแต่เล่นการเมืองได้ อันขัดกันอย่างชัดแจ้งกับเจตนารมณ์จะสร้างประชาธิปไตยของ คสช. ที่ทหารต้องประกาศปฏิรูปตนเองให้เป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงและตลอดกาลมากกว่า (โปรดเทียบเคียงกับข้อความที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 (ในhttp://www.thairath.co.th/content/540660) ว่า“พล.อ. ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการได้พบกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ตนได้นั่งประชุมติดกัน จึงได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำประเทศไทย ซึ่งนายโอบามาบอกว่ายินดี เพราะไทยและสหรัฐฯ มีความเป็นพันธมิตรมายาวนาน ทอดทิ้งกันไม่ได้ ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งตนได้ยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน”แต่ถ้าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ทราบว่าหัวหน้า คสช. ได้ส่งความเห็นนี้ไปยังประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ก่อนได้พบกันที่ฟิลิปปินส์ตาม ข้อ 2.8 ด้วยนั้น เขาก็คงหัวร่อมิออก ร่ำไห้มิได้ เป็นแน่! แต่ฉะนั้น จึงไม่เลวเลยที่นายบารัก โอบามา ได้กล่าวไว้ด้วยว่า “ยินดีที่จะสนับสนุนไทยเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย”


ประการที่ห้า– หัวหน้า คสช. (ตัวบุคคล - มิใช่ คสช. ทั้งคณะที่สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยในตนเอง!) แสดงวิสัยทัศน์ในหลายวาระในเรื่องประชาธิปไตย ตั้งแต่วันแรกของการยึดอำนาจและเป็นระยะๆต่อมาๆ ว่าอยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยสากลบ้าง ประชาธิปไตยสมบูรณ์บ้าง และ ประชาธิปไตยเฉพาะแบบไทยหรือแบบที่ปรับให้เหมาะกับสังคมไทยบ้าง รวมถึงการออกสารถึงประชาชนไทยที่ให้นายทหารมาอ่านแทนเมื่อเดือนตุลาคม ซึ่งดูมีความเป็นทางการมากอย่างยิ่งด้วยนั้น แต่แม้จะพูดหลายครั้งก็ยังดูคลุมเครืออยู่ดี ทั้งคำกล่าวระยะหลังๆ ก็คือเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่กล่าวกับประชาชนชาวบ้านยางกระเดา ต. ท่าเมือง อ. ดอนมดแดง จ. อุบลราชธานี ก็เช่นกัน ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทยด้วย เหมือนการตัดเสื้อที่วัดตัวคนอื่น แล้วเอามาใส่กับตัวเรามันก็ไม่พอดี เสื้อตัวเดียวจะใส่กันทุกคนไม่ได้..” ซึ่งมีสาระที่ชัดเจนกว่าคำยืนยันแบบคลุมๆกับประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างประชุมที่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เขาว่า “จะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน” เพราะคำกล่าวเช่นนี้ (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558) มีปัญหาความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ

หัวหน้า คสช. เข้าใจผิดว่าประชาธิปไตยสากลกับประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยเปรียบเสมือนการเอาเสื้อที่ตัดไว้ (แบบเดียว) สำหรับชาวต่างชาติที่เป็นสากลทั้งหลายมาให้คนไทยใส่ซึ่งย่อมเข้ากันไม่ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่า “ประชาธิปไตยต้องเป็นสากล แต่ก็ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย” แต่อันที่จริงหลักคิดเรื่องประชาธิปไตยสากลนั้น หมายถึงว่าเมื่อการปกครองแบบประชาธิปไตยค่อยๆพัฒนาขึ้นในโลกนับพันปีมาแล้วเพื่อแทนการปกครองแบบไม่ใช่ประชาธิปไตยนั้น ประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยดังกล่าวอันหลากหลายของประเทศต่างๆในโลกในเวลาต่างๆ ได้ถูกสรุป (Inductive) อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นทฤษฎี คือ หลักการและวิธีการที่เป็นสากลของการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสำคัญอยู่ชุดหนึ่ง (โดยประมาณ) และประเทศต่างๆเหล่านั้นก็พยายามทำให้หลักการสากลมันดีขึ้นๆอีกจากการประสบการณ์ในทางปฏิบัติที่ป้อนกลับเข้าไป

ส่วนประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากก่อนก็พยายามนำมันไปบ้างใช้ เพื่อสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของตนแทนของเก่าที่ไม่เหมาะสม คือ ทำการตัดเสื้อเอาเองเท่าที่จะสามารถทำได้ในบริบทของประเทศใดๆโดยอาศัยทฤษฎี (หลักการและวิธีการ) สากลนั้น ไม่ใช่ไปเอาเสื้อคนอื่นที่ตัดไว้เสร็จแล้วจากยุโรปหรืออเมริกามาใส่ให้กับตัวคนไทยแต่อย่างใด ทั้งที่ประเทศเหล่านี้เขาก็สร้างประชาธิปไตยแนวสากลจากความไม่มีประชาธิปไตยมาก่อน (แต่ก็เถอะ หากยังยึดเรื่องเสื้อคนละแบบกัน มนุษย์เราก็ไม่ได้มีเสื้อขนาดเดียว แต่มีเบอร์ S, M และ L ที่ใช้กันทั่วโลกมิใช่หรือ?) เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่มีประชาธิปไตยสากลที่เหมาะสมกับไทยหรือแบบไทยๆแต่อย่างใด สิ่งที่จะมีก็คือ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย” หรือจะพูดก็ได้ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากลของประเทศไทย” เพราะความเป็นเฉพาะย่อมมีได้ในแง่ที่ว่าระบบการปกครองนั้น มันอยู่ต่างสถานที่และคนละวัฒนธรรมกันทั้งนั้น ประเทศใดๆจึงอาจจะมีระบบเฉพาะของตนที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยหรือไม่เป็นไปตามสาระสำคัญแห่งหลักประชาธิปไตยสากล เช่น มีการปฏิบัติบางประการที่ในระบบประชาธิปไตยเขาไม่ทำกันแต่ตกทอดหรือติดตัวมาจากอดีต แต่เมื่อสังคมโลกเชื่อมโยงกันและเรียนรู้ร่วมกันและใช้วัฒนธรรมใหม่ร่วมกันมากขึ้นๆ ตัวมาตรฐานกลางก็ย่อมถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยึดถือร่วมกันในสังคมโลกในภายหลัง ดังที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันได้รับการระบุและรักษามาตรฐานสากลไว้โดยสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (International Parliamentary Union, IPU) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นสมาชิก [หรือดังตัวอย่างนอกประเด็นประชาธิปไตย คือเรื่อง “มวยไทยไฟต์” (Thai Fight) ที่พัฒนาขึ้นเป็นสากลในขณะนี้จากต้นแบบมวยไทยของประเทศไทย โดยประเทศทั้งหลายในเอเชียและยุโรปที่เข้าร่วมเวทีมวยเช่นนี้ได้เอาวิถีมวยไทยที่ถูกยกขึ้นเป็นสากลนั้น ไปสอนนักมวยของเขาหรือมาเรียนในประเทศไทย ไม่มีใครชกมวยไทยสากลหรือไทยไฟต์โดยไม่มีเตะ เข่า และ ศอก และไม่มีประเทศไหนตะแบงว่าขอฝึกและชกมวยไทยแบบเฉพาะของตน แต่กลับไปขึ้นชกบนเวทีมวยไทยไฟต์ที่มีกติกา (หลักการและวิธีการ) ที่เป็นสากลร่วมกันในบรรดาประเทศทั้งหลายไปแล้วนั้น (ค่ายนักชกในยุโรปและประเทศจีนบางแห่งเคยเป็นตัวอย่างที่ขอยกเว้น แต่ในที่สุดก็ยกเลิกเพราะมันไม่ใช่มวยไทยไฟต์)}


ประการที่หก– การจัดวางให้ประเด็น (หรือข้อยกเว้น) เฉพาะสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าดังที่พบข้อเสนอของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองคณะดังนี้

การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. หรือไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนก็ได้นั้น ขอวิพากษ์ยาวพอสมควรก็คือ แม้จะกำหนดให้มีเสียง ส.ส. ยกมือสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ก็ตาม เป็นการใช้ตรรกะพิลึกหรือตรรกะวิบัติ เพื่อเบี่ยงเบนว่าปัญหาการเมืองไทยคือนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. อาจไม่ใช่คนดีและเก่งจริงหรือบริหารประเทศไม่ได้ดีเท่าคนนอก และจะไม่สามารถบริหารประเทศหากเกิดวิกฤตการเมือง รวมถึงว่าอย่างไรเสีย ส.ส. ก็ยังเป็นคนเลือกนายกรัฐมนตรีดังเช่นที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ซ่อนเร้นไว้คือ อำนาจอธิปไตยของประชาชนไม่ได้รับการยอมรับโดยชนชั้นนำต่างหาก การจะแก้วิฤตการเมืองไทยในระยะยาวได้ก็คือการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน ที่ต้องใช้อย่างมีธรรมาภิบาลทั้งในสามอำนาจสำคัญ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ

การกำหนดกติกานอกหลักการประชาธิปไตยดังกล่าว อนุมานได้ว่าเป็นการทุจริตต่ออธิปไตยของประชาชน คือ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะทำให้สิ่งที่ผิด “ธรรม” ให้ถูกต้องโดยบัญญัติไว้ในกฎหมายแม่บทไปโดยปริยายจึงขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง ทั้งที่ประเทศไทยภายใต้โลกาภิวัตน์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่านายกที่ผ่านการมีส่วนให้ประชาชนได้เลือกสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของประชาชนและสำเร็จผลมากกว่านายกที่มาจากการยึดอำนาจหรือการแต่งตั้ง ทั้งประเทศของเราก็เคยมีประสบการณ์ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. รักษาการนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเมื่อบ้านเมืองมีวิกฤตมาแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการทำรัฐประหาร บ้านเมืองก็เดินไปได้ เพียงแต่ปัญหาที่ผ่านมารักษาการนายกก็ถูกปฏิเสธเสียอีกเพราะฝ่ายต่อต้านไม่ปฏิบัติตามกติกาประชาธิปไตยกันจริงๆ

การจะให้โอกาสบุคคลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรียังเป็นการฝืนวิวัฒนาการของสังคมที่มุ่งไปสู่การเป็นสังคมที่ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ตามแนวทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อย่างสูง แต่การยึดแบบแผนนายกคนนอกแบบไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ทฤษฎีรัฐศาสตร์รับใช้เผด็จการแบบสังคมเก่าสนับสนุนนั้น ยังเข้าข่ายเป็นข้อกำหนดเชิงโครงสร้างของอำนาจตามลัทธิเจตจำนงตายตัว (Determinism) อันเป็นวิทยาศาสตร์เผด็จการ ที่มักจะกำหนดจากเบื้องบนหรืออำนาจพิเศษและไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยนิยมกันในสังคมปิด เช่น ในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ หรือ สมบูรณาญาสิทธิราช จึงมิได้เคารพต่อเจตจำนงอันเสรีของประชาชนในสังคมเปิดที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าเช่นประเทศไทยในปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีนอกกติกาประชาธิปไตยสากล มีแนวโน้มที่จะมาโดยกระบวนการครอบงำทางอุดมการณ์แบบสังคมเก่าและการชี้นำพิเศษ และอาจประกอบการสร้างสถานการณ์ให้ประเทศเกิดวิกฤตเพื่อเข้าทางข้อกำหนดอัปลักษณ์ดังกล่าวเพื่อใช้แทนนายกแบบมาตรา 7 (การปฏิบัติตามประเพณีการปกครองหากไม่มีมาตราใดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนำมาใช้ได้) หากเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริง เราก็อาจต้องเรียกการปกครองของไทยเสียใหม่ให้เต็มที่ไปเสียเลย (เถิด) ว่า ”การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและนายกรัฐมนตรีจะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้” นายกรัฐมนตรีเช่นนี้ ย่อมไม่จำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนหรือถึงคราวอาจจะข่มขู่ ส.ส. ก็ได้ หรือนั่งอยู่บนหัวประชาชนมากกว่าฟังเสียงชาวบ้านด้วยซ้ำไป แถมอาจทำให้ฝ่ายค้านเป็นเบื้อ ด้วยนึกถึงตนเองมากกว่าประชาชน เพราะหวาดกลัวอำนาจนอกประชาธิปไตยของประชาชน

ความน่าวิตกมากขึ้น สำหรับนายกรัฐมนตรีที่มีสถานภาพคนนอกอธิปไตยของประชาชนเช่นนี้ ก็คือความเป็นลักษณะด้อยในทางสากล ซึ่งในทางพันธุกรรมเขาต้องกำจัดทิ้งเพราะจะนำพาให้สังคมอยู่รอดและสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศอย่างมีคุณภาพไม่ได้ มิใช่ลักษณะเด่นที่จะสงวนหรือผ่าตัดพันธุกรรมเพื่อเอามาใช้โดยทึกทักเอาว่าเหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน หรืออ้างว่าจะรองรับวิกฤตใดๆ ทั้งๆที่สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้ปัญญาวิปลาสแต่โดยสติปัญญาปกติ และไม่ต้องใช้การตีความที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยไม่ลืมหูลืมตาหรือราวกับว่าเรายังอยู่ในยุคคณะราษฎร

มีช่องทางเดียวที่ข้าพเจ้าผู้มีส่วนกำหนดนายกรัฐมนตรีเช่นประชาชนอื่นๆยอมได้ก็คือ เมื่อเกิดสภาวะคับขันของประเทศที่นายกรัฐมนตรีคนเดิมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว บุคคลที่มิใช่ ส.ส. จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากเกิดวิกฤตนายกหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะบริหารงานไม่ได้จริง ในระหว่างนั้นก็สามารถเขียนกฎหมายให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกจาก ส.ส.ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน แต่หากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีหรือทำหน้าที่ไม่ได้ นายกเช่นนั้นก็ต้องมาโดยประชามติของประชาชนทั้งประเทศ! (ในสังคมสารสนเทศและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ข้าพเจ้าเชื่อว่าประชามติสามารถจัดทำได้ภายในไม่เกินหนึ่งเดือน)   เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นนายกรัฐมนตรีนอกระบบดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 อีกด้วย เพราะกำหนดให้รัฐธรรมนูญใหม่มี “กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทําให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”


การมีแนวโน้มว่าอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของและมอบแก่รัฐประชาธิปไตยอย่างสมัครใจอันสอดคล้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเสรี จะถูกจำกัดและไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปด้วยการอาศัยอำนาจอื่นที่ด้อยกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือด้วยหลักวิชาชีพอื่นที่อาจอ้างกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปฏิปักษ์หรือมิได้เกื้อกูลต่อความเป็นวิทยาศาสตร์ของการเมืองประชาธิปไตยดังที่จะพบเห็นปัญหาจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภา และองค์การอิสระบางแห่ง และ การเมืองภาคประชาชนแบบอนาธิปไตยที่ผ่านมา (เช่น โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กปปส.) เป็นต้น จะได้รับการให้อำนาจพิเศษหรือสนับสนุนจากอำนาจของเครือข่ายอำนาจรัฐเดิมไปในทางล้มล้างมากกว่าขัดเกลาและเคารพต่อองค์การการเมืองประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของประชาชน อันจะทำให้กลไกประชาธิปไตยขัดแย้งกันมีผลให้องค์รวมแห่งระบอบติดขัด ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ได้ดี


ประการที่เจ็ด– การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นเสากลไม่ได้เลย ทั้งนี้เพราะความเป็นวิทยาศาสตร์ของทหารที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการเป็นทหารอาชีพ แต่เมื่อทหารยกเลิกความเป็นทหารอาชีพมาทำงานการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ตนไม่ถนัด เราก็จะไม่ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ดังคำกล่าวที่ดูไม่เกินเลยที่ว่า “ต้นกล้วยย่อมไม่ออกลูกเป็นแอปเปิ้ล” ฉันนั้น (ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะใช้คำว่า “งาช้างย่อมไม่งอกออกมาจากปากสุนัข” ซึ่งดูแรงเกินไป) แต่ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญไทยควรจะสำเร็จได้อย่างสำคัญ ก็โดยการสนับสนุนของทหารอาชีพเพื่อร่วมมือกับรัฐบาลประชาธิปไตยในการส่งเสริมการปฏิบัติตามและปกป้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยมากกว่า ดังที่พบเห็นกันในประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย

แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทหารไทยเคร่งครัดต่อการเป็นทหารอาชีพที่เคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชนอย่างน่ายกย่องสรรเสริญเล่า? สิ่งจูงใจเหล่านั้นคืออะไร (การเน้นทหารพัฒนา หรือ การให้กองทัพเป็นรัฐวิสาหกิจหรือองค์การอิสระหาเลี้ยงตนเองแทนการใช้งบประมาณแผ่นดิน หรือการผลิตอาวุธที่ทันสมัย หรือการรบอยู่เสมอกับศัตรูนอกประเทศหรือกระทั่งนอกโลก  - มนุษย์ต่างดาว!?) และจะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับวิชาชีพทหาร ภารกิจของทหาร การใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจของทหารเพื่อพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและเคารพรักประชาชนอย่างแท้จริง (ในฐานะประชาชนคือผู้ให้เงินเดือนและเป็นนายที่เป็นรูปธรรมของทหาร) นี่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการปฏิรูปทหารและกองทัพอย่างถึงรากฐาน พร้อมๆกับการปฏิรูปในด้านต่างๆที่กำลังพัฒนาข้อเสนอกันอย่างขะมักเขม้นในขณะนี้


ประการที่แปด– การสนับสนุนให้หลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์) จะสามารถนำมาใช้ได้จริงสำหรับการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยนั้น หลักการและวิธีการสากลดังกล่าวที่ต้องนำมาใช้คืออะไรบ้างนั้น ท่านผู้รู้จำนวนมากย่อมทราบดีแล้ว ในที่นี้ข้าพเจ้าใคร่ขอสรุปยืนยันประเด็นสำคัญๆดังนี้

  • รัฐหรือประเทศสังคมประชาธิปไตยย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยการปกครองตนเองของ ประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
     
  • อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในแผ่นดินเป็นของประชาชนอำนาจอื่นใดจะอยู่เหนือกว่าและล้มล้างการปกครองตนเองของประชาชนมิได้
     
  • รัฐย่อมอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความงอกงามและการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมประชาธิปไตย
     
  • ระบอบประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยต่อไปนี้
     
  •  การให้หลักประกันแก่ประชาชนในทางสิทธิเสรีภาพภารดรภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม
     
  • รัฐเป็นทั้งนิติรัฐและนิติธรรมที่ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและกฎหมายได้มาโดยกระบวนการตรากฎหมายที่ชอบธรรม
     
  • การปกครองโดยเสียงข้างมากและมีการจัดการธรรมรัฐอย่างมีคุณธรรมในความเห็นข้างน้อยอันเป็นประโยชน์สุขของมหาชน
  • รัฐบาลมีอำนาจบริหารประเทศตามสัญญาประชาคมที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

  • การถ่วงดุลและส่งเสริมกันในภารกิจเพื่อส่วนรวมของอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการที่มีเป้าหมายเพื่อการบรรลุประโยชน์สุขของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองส่วนรวม
     
  • การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของประชาธิปไตย ความรักและความสามัคคีของคนในชาติ

ประการที่เก้า– วัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยย่อมจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยด้วย แต่วัฒนธรรมการเชื่อคนข้างบน การไม่กล้าแสดงออกอย่างเปิดเผย การยอมรับความไม่เสมอภาค วัฒนธรรมอุปถัมภ์ พฤติกรรมการขายเสียง ความหลงใหลในการเลือกพรรคการเมืองแบบภูมิภาคนิยมมากกว่าการพิจารณาที่อุดมการณ์เพื่อสาธารณะ นโยบาย และสมรรถนะในการบริหารประเทศของพรรคการเมือง เป็นต้น ล้วนขัดต่อการวิถีวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และจะไม่ช่วยให้ประเทศของเราได้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นจริง


ประการที่สิบ– การปรับตัวรัฐบาลของ คสช. หรือในกำกับของ คสช. (เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว) ให้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง (Pure Provisional Government) เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่สังคมที่กำลังแตกแยกอย่างมหันต์ เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ทำงานบนการเคารพความเป็นจริงของพลวัตประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยสมควรดำเนินการต่อไปนี้ (แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริงจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ตาม)

  • จัดประชุมตัวแทนคู่ขัดแย้งสำคัญในทางการเมืองในรอบ 10 ปี คือ พรรคประชาธิปัตย์ และ กปปส. ฝ่ายหนึ่ง กับ พรรคเพื่อไทย และ นปช. อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อลงนามอย่างสันติวิธีในสัญญายุติศึกการเมืองนอกระบบเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างถาวร โดยมีสักขีพยานจาก คสช. องค์การหรือองค์คณะ คณะกรรมการสำคัญระดับชาติของประเทศ ผู้แทนสหประชาชาติและผู้แทนประชาคมอาเซียน (จะเสียหน้าประชาคมโลกในเรื่องนี้บ้างก็ยอมไปเถอะครับ) แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยภายใต้กระบอกปืน
  • เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากจังหวัดต่างๆ แนวเดียวกับที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 อย่างเป็นอิสระ เพื่อรับภาระการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มภาคภูมิ และโดยปราศจากการแทรกแซงของ คสช. อย่างสิ้นเชิง และในทางที่สนับสนุนให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นมากก็คือ เปิดทางให้ประชาชนกลุ่มและพรรคการเมืองๆ ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน และ สสร.ได้พิจารณา
  • จัดทำประชามติหลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น และดำเนินการต่อไปตามกติกาที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือทบทวนใหม่ให้ประชาชนยอมรับอย่างชัดเจนว่าหากรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อเปิดประตูประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) โดยเร็ว


สรุป

ความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ควรถูกมองข้าม แต่สามารถนำมาใช้ประกอบการจัดทำรัฐธรรมนูญได้ในหลายแง่หลายมุม แต่ขณะนี้กลับมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะแม้เราจะมีประสบการณ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยเอง แต่ก็ไม่มีการสืบทอดและพัฒนาประสบการณ์วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของเราให้เป็นหลักการที่มีความแม่ยำยิ่งขึ้น ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ ความจำกัดของกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญรับผิดชอบภายใต้บรรยากาศการปกครองของคณะรัฐประหาร การกำหนดสเป็ครัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 การไม่เป็นประชาธิปไตยของ คสช. และท่าทีของหัวหน้า คสช. ต่ออนาคตประชาธิปไตยวิสัยทัศน์อันมิใช่ประชาธิปไตยสากลแท้ของหัวหน้า คสช. การจัดวางให้ประเด็นเฉพาะของสังคมไทยที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์น้อยกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยสากลที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า การสร้างประชาธิปไตยโดยทหารไทยจะทำให้ประชาธิปไตยมีลักษณะเป็นสากลไม่ได้จึงจำเป็นต้องยืนยันหลักการและวิธีการสากลของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ได้มาตรฐานสากล แต่ก็จำเป็นต้องรองรับด้วยวัฒนธรรมและพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งเสริมประชาธิปไตยจะส่งเสริมการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นวิทยาศาสตร์ และประการสุดท้าย หากเป็นไปได้ก็คือ การปรับตัวให้รัฐบาล คสช. หรือในกำกับของ คสช. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างแท้จริง เพื่อสนับสนุนให้กระบวนการวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในการจัดทำรัฐธรรมนูญ การฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทย และการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องกว่าที่ผ่านมามีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญที่สมควรเกิดขึ้น อันเป็นการปรองดองในเบื้องแรกเสียก่อนก็คือการลงนามในสัญญาสงบศึกร่วมกันอย่างสันติวิธีของคู่ขัดแย้งโดยมีสักขีพยานระดับชาติ แทนการถูกบังคับให้ต้องยอมรับการสร้างประชาธิปไตยใต้กระบอกปืน หากเป็นรัฐบาลเช่นนั้นได้จริงก็จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ และ ความเป็นจริงของการเลือกตั้งที่ทุกคนยอมรับและรอคอย

ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากเราตระหนักรู้ในเรื่องเหล่านี้และแสดงออกร่วมกันอย่างแข็งขัน เครื่องมือของระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และกลไกต่างๆที่รองรับโดยหลักการและวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยสากล ก็จะถูกสร้างอย่างมีความชอบธรรม ได้คุณภาพและถูกใช้ได้อย่างมีพลานุภาพต่อการยกระดับอารยธรรมของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืน

 

 

หมายเหตุผู้เขียน: ปรัชญาประจักษ์นิยมหรือปฏิฐานนิยมทางวิทยาศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นหนึ่งร้อยกว่าปีมาแล้ว ในสมัยต้นคริสตศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1907) โดยเหล่าสมาชิกผู้บุกเบิกของสำนักคิดเวียนนา (Vienna Circleหรือ Wiener Kreis) แห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย (มีบุคคลภายนอกมาสมทบบ้าง อาทิ คาร์ล ป็อปเปอร์) ต่อมามีการแตกตัวไปยังหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี (ที่เบอร์ลิน มี อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เข้าร่วม) ฝรั่งเศส และ โปแลนด์และต่อมาขยายไปยังสหรัฐอเมริกา (หลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำเยอรมันจะขยายอำนาจไปทั่วยุโรปในช่วงทศวรรษ 1930s)

ข้าพเจ้าเองได้มีโอกาสสัมผัสการดำเนินงานในแวดวงชาวปรัชญาประจักษ์นิยมทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และพบว่าสำนักคิดเวียนนาต้นกำเนิดได้กลับมามีชีวิตชีวาอยู่ในปัจจุบันในรูปสถาบัน “Institut Wiener Kreis” แต่ก็ปรับตัวไม่น้อยท่ามกลางโลกแห่งความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง (อาทิ การตรวจสอบตนเองในเรื่องจุดยืนทางการเมืองและปรัชญาของสำนักคิดเวียนนา (Der Wiener Kreis Politische und Philosophishe Postionen) ที่กำลังดำเนินการกันในขณะนี้) เมื่อคราวที่ข้าพเจ้าเยือนกรุงเวียนนาประเทศออสเตรียเมื่อวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนง.คุ้มครองแรงงาน ระบุ บ.จอร์จี้ เลิกกิจการแล้ว หลังสหภาพฯ ขอให้ตรวจสอบ

$
0
0
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ เผยผลตรวจสอบสถานะของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด หลังสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ขอให้ตรวจสอบ ระบุเลิกกิจการแล้ว ครบกำหนดปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจให้จ่ายค่าชดเชยพนักงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา

 
24 พ.ย. 2558 ตามหนังสือที่อ้างถึงสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ ขอให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบสถานะของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด (อ่านเพิ่มเติม: สหภาพแรงงานหวั่น บ.จอร์จี้ ปิดหนีหลังรื้อถอนป้าย ร้องสวัสดิการแรงงานตรวจสอบ)ซึ่งทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบส่งให้ทางสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องตัดเย็บสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปดังนี้ 
 
1. เรื่องสถานะของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ว่ายังดำเนินการอยู่หรือไม่
 
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ และนายเซบาสเตียน ซิรอยส์ ผู้มีอำนาจสั่งการและบริหารจัดการกิจการทั้งหมดของบริษัทฯ แจ้งว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้เลิกกิจการแล้ว โดยบริษัทฯ ได้ขายกิจการให้แก่บริษัท น่ารัก โฮลดิง จำกัด เมื่อประมาณเดือนกรกฎกาคม 2558 และบริษัท น่ารัก โฮลดิง จำกัด ได้ตกลงให้บริษัทสนุก การ์เม้นท์ จำกัด เช่าโรงงานบางส่วน
 
2. การเลิกกิจการของ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จะส่งผลกระทบด้านกฎหมายและสวัสดิการต่อพนักงานของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด หรือไม่ และบริษัทใหม่จะต้องดำเนินการในเรื่องข้อกฎหมายอย่างไร
 
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้รับมอบอำนาจกระทำการแทนบริษัทฯ แจ้งว่าบริษัทใหม่คือบริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด ได้รับพนักงานบางส่วนของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด เข้าทำงานต่อเนื่องกับบริษัทบางส่วนประมาณ 100 คน โดยพนักงานที่บริษัทฯ รับไว้ทำงานจะยังคงได้รับสวัสดิการ สภาพการจ้างและสภาพการทำงานเช่นเดียวกับที่เคยทำงานให้กับบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ส่วนพนักงานของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ที่บริษัทฯ ได้หยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2558 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2558 จำนวน 78 คน บริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และ บริษัท สนุก การ์เม้นท์ จำกัด ไม่ประสงค์ที่จะรับเข้าทำงานเนื่องจากพนักงานที่รับไว้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานแล้ว ดังนั้น บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยขณะนี้มีลูกจ้างจำนวน 40 คน ที่ถูกเลิกจ้าง ได้เข้ายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และมีเงินระหว่างหยุดกิจการจ่ายค้าง ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้สอบสวนข้อเท็จจริง และได้มีคำสั่งที่ 49/2558 ลงวันที่ 7 ตุลาคม สั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และเงินระหว่างหยุดกิจการจ่ายค้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,669,226.20 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง โดยพนักงานตรวจแรงงานได้ปิดคำสั่งฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ครบกำหนดปฏิบัติตามคำสั่ง (45 วัน) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สลัม 4 ภาค’ ขอ คสช. ยกเลิกคดีคณาจารย์ที่รณรงค์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

$
0
0

<--break- />24 พ.ย. 2558 จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด เครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยเรียกร้องถึงคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) หยุดข่มขู่คุกคามและยกเลิกข้อหากับคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ  หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และหยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่ คสช. ต้องการ

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด  และหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคส่วนต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

แถลงการณ์
หยุดลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นองค์กรภาคประชาชนที่ดำเนินงานการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยกับคนจนเมือง และเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างสิทธิ  เสรีภาพ ทางสังคม เพื่อสังคมที่เป็นธรรม มาอย่างยาวนาน   มีความกังวลกับกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร และยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่าการตั้งข้อหาจำคุกกับคณาจารย์กลุ่มดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นการคุกคามให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของคณาจารย์เหล่านั้นเป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจ ปรารถนาดี และเปิดเผย และถือเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของคณาจารย์ที่ต้องแบ่งปันความคิดและความรู้กับสังคม ขณะเดียวกันคณาจารย์ที่เรียกร้องการปล่อยตัวนักศึกษาและแสดงความเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาที่ยังถูกข่มขู่คุกคามอย่างต่อเนื่อง นิสิตนักศึกษายังคงถูกสั่งห้ามและตามกดดันในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้สั่งให้บรรจุวิชายกย่องเชิดชูทหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพในการศึกษาอย่างสิ้นเชิง

เครือข่ายสลัม 4 ภาค เห็นว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม   และประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง การปฏิบัติต่อประชาชนไทยประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม และสันติสุขได้

ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงขอเรียกร้องไปยังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ดังนี้

1.     หยุดข่มขู่คุกคามและยกเลิกข้อหากับคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ

2.     หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษารวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง

3.     หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติต้องการ

ทั้งนี้เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด  และหากยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จะมีการหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคส่วนต่างๆ เพื่อเคลื่อนไหวร่วมกันต่อไป

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค
เครือข่ายสลัม 4 ภาค

24 พฤศจิกายน 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์อัดคณาจารย์ถูกหมายเรียก กฎหมายห้ามพูดก็อย่าพูด ย้อนรัฐบาลที่แล้วอยู่ไหนหรือเพิ่งบรรจุ

$
0
0

กรณีเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ถูกดำเนินคดีฝืนคำสั่ง คสช. หลังแถลง ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’ ประยุทธ์อัดกลับกฎหมายห้ามพูดก็อย่าพูด ย้อนรัฐบาลที่แล้วอยู่ไหนหรือเพิ่งบรรจุ

<--break- />24 พ.ย. 2558 จากกรณีที่ “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย” ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ยืนยันในเสรีภาพที่จะแสวงหาความรู้ในการเรียนการสอน แต่คณาจารย์ที่ร่วมกันแถลงกลับถูกออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  (รายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุด(24 พ.ย.58) มติชนออนไลน์ และ matichon tv รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า "ก็อาจารย์ชุดเดิมใช่ไหม ผมก็ทำขนาดว่าให้ทหารให้ คสช. เขาไปเดินคุยแล้ว แล้วก็นั่งคุยกับไอ้จารคนนี้ นั่งคุยด้วยกัน ร่วมมือทุกอย่าง ใช่ไหม บรรยายบรรเยยในกรอบของกฎหมายอะไรต่างๆ ของเขานะ ไม่พูดเรื่องนี้เรื่องนั้น พออนุญาตไปเสร็จเรียบร้อย เอ้าเริ่มพูดเลย ไอ้คนแบบนี้ใช่ได้หรอ มันต้องรักษากติกาให้ผมสิ

"ผมไม่ได้เดือดร้อนที่เขาจะพูดนะ แต่ผมถามว่ากฎหมายมันว่าไง เขาห้ามพูดก็อย่าไปพูดตอนนี้ เรื่องไหนมันควรจะพูดเยอะแยะไป สอนเด็กให้เป็นคนดี สอนไหม สอนให้เด็กไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง สอนบ้างเปล่า สอนหรอ สอนไปได้เด็ออย่างนี้มาหรอ โธ่ แล้วรัฐบาลที่แล้วอยู่ที่ไหนกันพวกนี้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ไหน เขาพึ่งมาหรือไง พึ่งบรรจุเป็นอาจารย์กันหรือไง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"ก็เคลื่อนมาสิ ไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ผมไม่รู้อะ ก็ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อนไปก็ตามใจ ผมไม่รู้ แล้วเดี๋ยวใครหาปืนมายิง ระเบิดใส่ก็ตามใจ ก็ตายกันไปแล้วกัน ไม่กลัวกันก็ ไม่ใช่ผมหรอก ผมไม่ทำอยู่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ต่อกรณีคำถามที่ว่าจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

6 อาจารย์ปฏิเสธข้อกล่าวหาขัดคำสั่งคสช.-ยันทำถูกต้องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

$
0
0

<--break- />


แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย 
เผยแพร่ในเพจมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 24 พ.ย.2558 เวลา 18.00 น.

 

24 พ.ย.2558  เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. คณะอาจารย์ 6 คนได้เดินทางเข้ามอบตัวที่ สภ.ช้างเผือกตามหมายเรียก “ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และพวก” ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 ชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยมีผู้มาให้กำลังใจที่สภ.ช้างเผือกประมาณ 30-40 คน

อรรถจักร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า อาจารย์ทั้งหมดได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางตำรวจภายใน 30 วัน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 2 คนที่โดนหมายเรียกในชุดนี้ด้วยซึ่งจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในภายหลัง หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจได้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่ต้องประกันตัว

“ตำรวจเขาชี้แจงว่าเขาได้รับแจ้งความจากทหารก็ต้องทำไปตามหน้าที่ ทางนั้นเขารู้สึกว่าเราล้ำเส้นข้อตกลง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยตกลงว่าเราจะไม่ได้พูด และเรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำ หนึ่ง ไม่ผิดกฎหมาย สอง เป็นความจำเป็นของสังคมไทยที่ต้องมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ในบรรยากาศที่เราจะปรองดองหรือจะปรับโครงสร้างการเมืองต่างๆ” อรรจักร์กล่าว

“หลังจากเราทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ตำรวจก็คงจะต้องไปสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ แล้วแจ้งเราอีกทีว่าจะส่งฟ้องเมื่อไร ซึ่งคดีนี้จะขึ้นสู่ศาลทหาร” อรรถจักร์กล่าว

ด้านทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้ร่วมเข้าสังเกตการณ์กระบวนการในวันนี้ด้วยให้ข้อมูลว่า ในการสอบปากคำไม่มีทหารเข้าร่วมด้วย แต่มีทหารนอกเครื่องแบบถ่ายวีดิโอบรรยากาศโดยรวมอยู่ด้านนอกอาคารสถานีตำรวจ ส่วนหมายเรียกอาจารย์จำนวน 8 คนนั้นเป็นการออกหมายตามภาพข่าวที่ปรากฏในวันแถลงข่าว โดย ผบ.มทบ.33 ค่ายกาวิละ ได้มอบอำนาจให้ พ.ท.อภิชาติ กัณทะวงศ์ เป็นผู้มาแจ้งความ นอกจากนี้ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการตำรวจยังร้องขอไม่ให้อาจารย์แถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวที่หน้าสถานีตำรวจด้วย ทางคณาจารย์จึงทำการแถลงข่าวที่บริเวณริมถนนแทน

อาจารย์ทั้ง 6 คน ได้แก่  1.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 2.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มช. 3.จรูญ หยูทอง นักวิชาการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ 4.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 5.มานะ นาคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 6.บุญเชิด หนูอิ่ม อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ทั้งนี้ สำหรับรายที่ 6 บุญเชิด หนูอิ่ม ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ไม่ได้อยู่ในหมายเรียกแต่เดินทางไปยัง สภ.ช้างเผือกและเข้าพบพนักงานสอบสวนร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ว่าอาจารย์ควรบรรยายสอนนักศึกษาในกรอบของกฎหมาย และไม่ควรพูดเรื่องที่กฎหมายห้าม

"การเคลื่อนไหวถ้าไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อน ตามใจ และใครหาปืนมายิงระเบิดใส่ตามใจก็ตายกันไปแล้วกัน ผมไม่ทำอยู่แล้ว ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

 

แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

เรื่อง ยืนยัน “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

ภายหลังจากการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยในประเด็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ได้มีนายทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อกล่าวหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังเป็นที่รับทราบกันแล้วนั้น ทางเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยใคร่ขอชี้แจงถึงความจำเป็นและความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นอีกครั้ง ดังนี้

ประการแรก เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่มิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของการจัดการศึกษาอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของบุคลากรมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการใช้เหตุผลในการชี้แจงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเหตุผลและการถกเถียงระหว่างฝ่ายต่างๆ มิใช่การยัดเยียดความรู้แบบไร้การวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน

แถลงการณ์ดังกล่าวก็เป็นการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย การกล่าวหาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองย่อมถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่ามีการประชุมทางวิชาการและการชี้แจงถึงความเห็นของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทางฝ่ายทหารควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้นเพื่อเข้าใจถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทุกสังคมย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปในประเด็นปัญหาต่างๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นแนวทางของการทำให้เกิดการถกเถียง การแลกเปลี่ยนและการตรวจสอบถึงความเข้าใจของแต่ละฝ่าย ความคิดเห็นไม่ว่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถที่จะถูกตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการชี้แจงถึงข้อมูลและเหตุผลของแนวความคิดที่ตนเองยึดถือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการทำความเข้าใจบนฐานของความรู้ที่รอบด้านและด้วยการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นสำคัญ มิใช่เพียงการปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

นอกจากนี้แล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มิใช่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น พลเมืองทุกคนในสังคมก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในห้วงเวลาปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายของรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมทุกคนจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้น การคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยของยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและมิใช่เพียงสำหรับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์เท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่สังคมไทยก็ไม่ใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน

24  พฤศจิกายน 2558 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นเรียกร้องไทยปิดเรือนจำชั่วคราวภายใน มทบ.11

$
0
0

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร หลังมีผู้เสียชีวิตที่เรือนจำพิเศษภายใน มทบ.11 แล้ว 2 ราย ชี้สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับการคุ้มครอง และทนายความไม่สามารถขอพบลูกความได้อย่างเป็นส่วนตัว

ใบแถลงข่าวของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และยุติการควบคุมตัวพลเรือนในค่ายทหาร (ที่มา: OHCHR)

แผนที่ตั้งของ มทบ.11 ถนนพระราม 5 ซึ่งคำสั่งกระทรวงยุติธรรมกำหนดให้ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ภายใน มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (ที่มา: Google Maps)

24 พ.ย. 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าววันนี้ (24 พ.ย.) (อ่านใบแถลงข่าว) เรียกร้องให้ปิดสถานที่ควบคุมตัวของทหารในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิตแล้ว 2 รายในเดือนที่ผ่านมาโดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเชิญผู้เชี่ยวชาญอิสระเข้าร่วมกระบวนการสอบสวนในกรณีดังกล่าว

นอกจากนี้ OHCHR เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้พื้นที่ในเขตของทหารเพื่อควบคุมตัวพลเรือน

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า "สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 กันยายน ศกนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกำหนดให้ใช้พื้นที่ในเขต มทบ.11 เป็นเรือนจำชั่วคราวเพื่อใช้ควบคุมและปฏิบัติต่อบุคคลในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องนั้น"

"ผู้ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการระเบิดอันก่อให้เกิดการเสียชีวิตเมื่อ 17 สิงหาคม 2558 จำนวน 2 ราย และผู้ถูกจับกุมตัวในฐานความผิดฉ้อโกงและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีก 3 ราย ได้ถูกส่งตัวมาควบคุมไว้ในเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ ต่อมาทางการไทยแถลงว่า พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียชีวิตลงในเรือนจำเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม โดยระบุว่าพบ พ.ต.ต.ปรากรม แขวนคอตนเองด้วยเสื้อเสียชีวิตภายในห้องคุมขัง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ ผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกรายหนึ่งถูกพบในสภาพเสียชีวิตแล้วภายในห้องคุมขัง ซึ่งทางการไทยแถลงว่านายสุริยันเสียชีวิตเนื่องจากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด"

"สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ได้ร้องขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการไต่สวนกรณีการเสียชีวิตในสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นกลาง อย่างละเอียด และโดยพลัน ทั้งนี้ นางมาทิลด้า บอคเนอร์ ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ระบุว่า การตรวจสอบอย่างเป็นอิสระและเป็นกลางจะทำให้เกิดความกระจ่างในเหตุการณ์การเสียชีวิต อีกทั้งจะนำไปสู่การรับประกันความพร้อมรับผิด (accountability) รวมทั้งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตด้วย นอกจากนี้ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เสริมว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยควรเข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวด้วย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ เน้นย้ำว่าควรเผยแพร่ผลการตรวจสอบการเสียชีวิตต่อสาธารณชนด้วย"

"การใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมีแนวโน้มว่าอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงการซ้อมทรมานด้วย" นางมาทิลด้ากล่าว

"ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 คณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวตามอำเภอใจและผู้รายงานพิเศษเรื่องการซ้อมทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอย่างไร้มนุษยธรรม ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลใจต่อข้อกล่าวหาว่าด้วยการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมต่อบุคคล 5 คนโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ในจดหมายฉบับดังลก่าว ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติได้ระบุว่าพวกเขามีความกังวลใจจากรายงานที่ระบุว่าผู้ถูกควบคุมตัว 5 คนนี้ในเขตพื้นที่ทหารในกรุงเทพฯ และโดยรอบกรุงเทพฯ ถูกทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ว่าจะถูกสังหาร การทำร้ายด้วยกระแสไฟฟ้า และการแยกขังเดี่ยว เป็นต้น"

"ในประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวพลเรือนในสถานที่ควบคุมตัวของทหารนั้น นางมาทิลด้ากล่าวว่า ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสมสำหรับดูแลสถานที่ควบคุมตัวเช่นนี้ และสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวก็ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างครบถ้วน นางมาทิลด้าระบุว่า "มีรายงานเผยแพร่คำสัมภาษณ์ของทนายความของผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งในคดีระเบิดกลางกรุงเทพฯ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทนายความไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับลูกความของเขาเป็นส่วนตัว รวมทั้งคำถามของทนายความต้องถูกตรวจสอบก่อนเข้าพบลูกความ" นอกจากนี้ "กฎหมายระหว่างประเทศยังได้รับประกันสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวตามหลักกระบวนการอันควรทางกฎหมาย (Due process) อันครอบคลุมถึงสิทธิในการได้พบทนายความโดยทันที การที่ผู้ถูกควบคุมตัวสามารถพบกับทนายอย่างเป็นความลับ และสิทธิในการพบทนายความอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การละเมิดสิทธิเหล่านี้ย่อมเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ถูกควบคุมตัวอีกด้วย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ขออย่าขยาย ‘ปมราชภักดิ์’ ชี้จะเป็นเครื่องมือให้แก่อีกพวกหนึ่ง

$
0
0

แนะให้มองเป็นเคสธรรมดา ที่มันเริ่มจากคนที่ใกล้ชิดสถาบันฯ มาหลอกลวงคนข้างนอกในโครงการราชภักดิ์ ชี้เกี่ยว ม.112 แต่ต้องระวังคนเลวๆ ที่พยายามหาโอกาสอยู่กับมาตราสำคัญนี้ที่มีไว้ปกป้องพระองค์ ระบุให้ความเป็นธรรม ถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมด

 

24 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้า คสช.  กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีอุทยานราชภักดิ์ ว่า

“เรื่องราชภักดิ์ ผมก็ขอร้องเถอะวันนี้อย่าไปขยายกันมากนักเลย ก็ไปเป็นเครื่องมือให้แก่อีกคนหนึ่งอีกพวกหนึ่ง มันก็สู่กันไปกันมา ผมยืนยันว่าผมไม่ได้เข้าข้างใคร ไม่ได้ปกปิดใคร ทำไมผมต้องปกปิด ตัวผมเองผมยังไม่ปิดแล้วจะปิดให้ใครทำไม

เพราะฉะนั้นขอให้มองประเด็นนี้เป็นประเด็นเคสธรรมดาอันหนึ่งก็คือ หนึ่งมันเริ่มจากที่มีคนที่ใกล้ชิดสถาบันมาหลอกลวงคนข้างนอกในโครงการราชภักดิ์ ผมถามว่าทุกคนหรือเปล่า ก็ไม่ใช่นะ มันก็มีคนที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษเท่านั้นล่ะที่ทำ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้ปิดกั้นจะสอบคนเหล่านั้นก็สอบไปสิ แต่ไม่ใช่รื้อทั้งกองทัพบก มันไม่ใช่มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นเครื่องมือให้เขา ทุกอย่างที่ทำมามันก็ยังเป็นขั้นตอนตามกฎหมายอยู่ แต่อีกฝ่ายก็พยายามดึงไปเทียบเคียงอีกคดีหนึ่งไง ซึ่งมันคนละเรื่องคนละประเด็นกันทั้งหมดเลยนะ โดยสิ้นเชิง

วันนี้ท่านรัฐมนตรีกลาโหมก็กำลังสั่งคณะกรรมการสอบสวนอีกระดับ กองทัพไปแล้ว กลาโหมก็ไปแล้ว ก็จบแล้วในขั้นตอนนี้ถ้าใช่ไม่ใช่ยังไง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ต้องสอบกันต่ออยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวหรอก แต่ก็ต้องสอบในสิ่งที่มันเกี่ยวข้องไม่ใช่เละไปทั้งหมดเพื่อเป็นการแก้แค้นมันไม่ใช่ เพราะว่าผมไม่ได้แก้แค้นใคร นะ พอได้แล้ว เพราะว่ามันเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วยอะไรด้วย เดี๋ยวต่างชาติไม่เข้าใจจะไปกันใหญ่ ไอ้ผมไม่ได้ห่วงตรงนี้ ผมห่วงกฎหมายเราด้วย ก็รู้อยู่ไอ้คนเลวๆ มันพยายามจะหาโอกาสอยู่เรื่องมาตราสำคัญของเรานะ ถ้าไม่มีล่ะก็สถาบันปกป้องพระองค์เองไม่ได้เลย ท่านมาฟ้องศาลเองก็ไม่ได้อะไรก็ไม่ได้ นี่เขามีไว้สำหรับปกป้องท่าน พระองค์ท่าน แต่ไอ้คนจะเอามาใช้ประโยชน์มันก็เรื่องของมนุษย์เรื่องของคนท่านก็ทรงรับสั่งมาแล้วนะว่าไม่ว่าคนใกล้ชิดคนอะไรต่างๆ ถ้าทำความผิดก็ต้องถูกลงโทษ นี่ล่ะคือสิ่งที่ทรงรับสั่งมาโดยตลอด ให้ความเป็นธรรมกับเขา ถ้าไม่ดีก็ต้องลงโทษ ยิ่งใกล้ก็ต้องลงโทษ เพราะว่าถ้าผิดนะ ไม่ผิดก็แล้วไป

อย่าทำทุกอย่างพัวพันกันไปเสียทั้งหมดเลย ถามรายวันรายวันจนกระทั่งทำงานไม่ได้ ข้าราชการเขาก็ลำบาก ก็ผิดก็คือผิด ผิดวันนี้สอบวันนี้มันก็ผิด แล้วคดีความมันมีเท่าไหร่ ถ้าคดีมันน้อยมันก็ต้องเร่งให้เร็ว นั่นก็เรื่องของกระบวนการยุติธรรมเขา อย่ามาเปรียบเทียบกันว่าอันนี้ทำไมเร็ว อันนี้ทำไมช้า ไม่ใช่ เพราะคดีของทางโน้นมันเป็นมากี่ปีแล้วเล่า มีการแจ้งเตือนมากี่ปีแล้ว แล้วทำไม ไม่ทำ ไอ้นี้พึ่งเกิดมาเร็วๆ นี้ เขากำลังเดินหน้าสอบไปเรื่อยๆ อยู่ ก็จบแค่นั้น มันคนละเรื่อง เข้าใจหน่อย ผมไม่ปกปิดใครอยู่แล้ว

แล้วก็มันเป็นโครงการหนึ่งในหลายร้อยหลายพันโครงการของกองทัพบกก่อน และเป็นอีกหนึ่งในหลายๆ พันโครงการของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีทุกเหล่าทัพ ไม่ใช่ว่าเอออันนี้มันเป็นอย่างนี้ อันนี้ส่วนหนึ่งของโครงการเดียวก็กลายเป็นทั้งกลาโหมหมด ทั้งทหารหมด มันไม่ใช่นะ ผมว่าไม่ใช่ ถ้างั้นกฎหมายต้องเขียนใหม่ว่าถ้ามีอะไรขึ้นมาปุ๊บตรงนี้มันต้อสอบทั้งหมดทั้งกระทรวงทุกหน่วยงาน มันต้องเขียนแบบนั้นเนอะ กฎหมายเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น ให้ความเป็นธรรมทุกเรื่องถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมดล่ะ นี่เรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เขามีโอกาสแก้ตัว มีโอกาสชี้แจง กองทัพบกชี้แจงยังไงก็ฟังเขา เดี๋ยวกระทรวงกลาโหมเขาก็มีวิจารณาญาณเขาเพียงพอต้องทำอะไรต่อ ยุติธรรมเขาก็คุยกันว่าเดียวจะทำอะไรต่อ ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ มันก็ต้องทำหมดมันเว้นได้ที่ไหน

พอแล้ว ผมขี้เกียจพูดเรื่องนี้นะ มันเสียหายอะไรบ้าง คงเข้าใจ”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images