Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

$
0
0

"ให้ความเป็นธรรมทุกเรื่องถ้ายังไม่มีการตัดสินก็ต้องถือว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์หมด นี่เรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เขามีโอกาสแก้ตัว มีโอกาสชี้แจง"

กล่าวถึงปมอุทยานราชภักดิ์ 24 พ.ย. 2558

ผู้ต้องขังเผาศาลากลางมหาสารคามเสียชีวิต! ติดเชื้อในกระแสเลือด เดือนหน้าได้ออกคุก

$
0
0

24 พ.ย. 2558 รายงานข่าวจากพื้นที่จังหวัดมหาสารคามแจ้งว่า นาย อุทัย คงหา หนึ่งในผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม เมื่อ 19 พ.ค.2553 เสียชีวิตขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ผู้สื่อข่าวสอบถามจากเจ้าหน้าที่เรือนจำในช่วงเย็นวันนี้ได้รับการยืนยันว่านายอุทัยเสียชีวิตแล้วจริงและญาติได้รับศพไปบำเพ็ญกุศลแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ระบุสาเหตุที่แน่ชัด

วิจิตร ดวงพรม ภรรยาของอุทัยผู้ต้องขังที่เสียชีวิตกล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอุทัยเกิดอาการช็อคในเรือนจำ โดยก่อนหน้านี้ไม่นานมีอาการความดันต่ำ เหนื่อย หายใจไม่ทั่วท้อง เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งตัวมารักษาที่รพ.มหาสารคาตั้งแต่เย็นวันที่ 23 พ.ย. และได้เรียกตนเองมาดูอาการเมื่อ 22.00 น.ในคืนนั้น ต่อมาแพทย์ผู้ทำการรักษาได้แจ้งกับตนเองว่าอุทัยมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ในคืนนั้นเขามีอาการดิ้นทุรนทุรายต้องมัดตัวไว้กับเตียง จนกระทั่งเช้าจึงอยู่ในสภาพไม่ได้สติ ร่างกายไม่ตอบสนอง จนกระทั่งเวลาประมาณเที่ยงของวันนี้ (24 พ.ย.) แพทย์จึงยุติการยื้อชีวิตโดยการเห็นชอบของญาติและภรรยา

ทั้งนี้ อุทัยอายุ 40 ปี เป็น 1 ใน 9   ผู้ต้องหาคดีเตรียมการเผาศาลากลางจังหวัด (ที่ว่าการอำเภอเมือง) มหาสารคาม ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ย.2553 ซึ่งตัวอาคารของทางจังหวัดไม่ได้ถูกเผาแต่อย่างใด ปรากฏเพียงการเผายาง ตู้โทรศัพท์และต้นมะขาม 1 ต้น  เขาถูกจับกุมหลังเหตุการณ์ไม่นานและถูกจำคุกเรื่อยมาจนศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 5 ปี 8 เดือน จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2555 เขาได้รับการประกันตัวโดยความช่วยเหลือของกรมคุ้มครองสิทธิฯ ก่อนที่จะติดคุกอีกครั้งเมื่อศาลฎีกาพิพากษายืน จำคุก 5 ปี 8 เดือน เมื่อเดือนกันยายน 2557

ภรรยาของอุทัย กล่าวอีกว่า ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2558 นี้ อุทัยก็ได้รับการพักโทษทำให้ได้รับอิสรภาพออกมาอยู่กับครอบครัว ทั้งนี้ ครอบครัวนี้มีลูก 3 คน ลูกสาวคนโตเรียนชั้น ม.6   ลูกชายคนกลางเรียนชั้น ป.6 และลูกสาวคนเล็กเรียนชั้น ป.4 ที่ผ่านมาอุทัยเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำอาชีพรับจ้างฆ่าและชำแหละหมูให้กับเขียงหมูในตลาดจังหวัดมหาสารคาม โดยระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอัยเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยมีโรคประจำตัวใดๆ  การสูญเสียอุทัยทำให้เธอต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง และความหวังที่จะได้อยู่ร่วมกันในเดือนหน้าก็พังทลาย

ผู้ใกล้ชิดกับครอบครัวของอุทัยแจ้งว่า ครอบครัวนี้มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างลำบาก ผู้สนใจสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่บัญชีของลูกสาวคนโต้ ชื่อ ปาริฉัตร คงหา (ลูกสาว) ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาสารคาม เลขที่บัญชี 298 504 0688

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำของผู้ต้องขังจากกรณีเหตุการณ์ ปี 2553 นั้น อุทัยนับเป็นรายที่สอง ส่วนรายแรกคือ วันชัย รักสงวนศิลป์ ชาวอุดรธานีเสียชีวิตในเรือนจำพิเศษหลักสี่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไบโอไทยกังวลหนัก ร่างพ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านความเห็นชอบ ครม.แล้ว

$
0
0

 

24 พ.ย.2558 เพจ Biothaiของมูลนิธิชีววิถี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วในวันนี้ โดยไบโอไทยเห็นว่าร่างกฎมายฉบับนี้เป็นฉบับตัดต่อพันธุกรรมระหว่างบรรษัทกับคสช. โดยที่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน เนื่องจากเปิดช่องให้เจ้าของจีเอ็มโอที่ที่ได้รับอนุญาตให้ "สามารถปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้" โดยไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ทั้งที่ประสบการณ์จากทั่วโลกพบว่าความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ และการเกษตรทั่วไปที่เป็น non-GMO นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากจีเอ็มโอที่ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว

ไบโอไทยระบุว่า หลังจากผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าพ.ร.บ.จีเอ็มโอฉบับนี้จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากทั้งครม.และสนช. มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. อีกทั้งกระบวนการออกกฎหมายที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองประเทศกลุ่มนี้หาได้รับฟังเสียงของประชาชนแต่อย่างใดไม่ อย่างไรก็ดี ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประเทศไทยเปิดให้บริษัทมอนซานโต้ปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอเมื่อปี 2538 ยังไม่เคยมีรัฐบาลใด เปิดกว้างให้กับการปลูกพืชเจ้าปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกประกาศแบน มากเท่ากับรัฐบาลชุดนี้

“นี่คือการก้าวแรกของการนำพาสยามประเทศไปเป็นเมืองขึ้นทางการเกษตรและอาหารให้กับบรรษัทข้ามชาติ ในนามของกลุ่มบุคคลที่ประกาศว่าต้องการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ” ไบโอไทยระบุ  

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เล็งแก้กฎหมายเพื่อดำเนินการผู้ที่กู้เงิน กยศ.ไปแล้วไม่ชำระคืน

$
0
0

24 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเงินกู้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่าขณะนี้เป็นปัญหาที่คนรุ่นเก่ากู้เงินไปแล้วไม่ยอมนำเงินมาใช้คืน ทำให้ไม่มีเงินให้คนรุ่นใหม่กู้ และรัฐบาลไม่อยากนำเงินไปอุดหนุนทั้งที่กองทุนมีปัญหา และยังไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการต่อ หลังจากนี้ต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการใช้หนี้ดังกล่าว

“ปัญหาคือคนไม่เคารพกติกา ผลกระทบเกิดกับคนรุ่นหลัง หากจะเอาเงินใส่เข้าไปเหมือนรัฐบาลก่อน ๆ อุดหนุนเข้าไปก็ต้องอุดหนุนไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังผิดอยู่ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้คนที่จบการศึกษาและไม่มีงานทำสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ หรือหากมีงานทำแล้วไม่ชำระก็จะต้องถูกดำเนินการ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลจังหวัดปัตตานีเลื่อนการพิจารณาคดียิงรถกระบะที่ปุโละปุโย 30 พ.ย.

$
0
0

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งวา เมื่อวันที่  26 ต.ค.2558  ศาลจังหวัดปัตตานีนัดพร้อมคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 519/2558 ในคดีระหว่าง นายยา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน  ( โจทก์ ) ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงรถกระบะ เหตุเกิดที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี  และกองทัพบกที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรีที่ 2 (จำเลย) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลได้แจ้งการโอนคดีมาจากศาลปกครองให้คู่ความทราบแล้ว ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งต่อไป  ศาลตรวจคำฟ้องและคำให้การต่อสู้ของจำเลยทั้งสองแล้ว  เห็นว่า  รายการคำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนคำให้การฟุ่มเฟือยเกินสมควร  อีกทั้งโจทก์ทั้งห้า เมื่อคดีโอนมาพิจารณาที่ศาลจึงต้องมีต้องชำระค่าขึ้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย อาศัยอำนาจตามประมวลประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสอง ทำคำฟ้องและคำให้การใหม่ตามหลักและรูปแบบของกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พร้อมกับการยื่นบัญชีพยาน รวมทั้งค่าขึ้นศาลตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เสนอต่อศาลภายใน 20 วันนับแต่วันที่  26 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยศาลเลื่อนนัดพร้อมเพื่อตรวจความพร้อมของคำฟ้องและคำให้การที่จะยื่นมาใหม่ตามคำสั่งศาลในวันที่ 30 พ.ย.2558 เวลา 09.00 น. จากนั้นจะนำคดีสู่กระบวนการชี้สองสถานและกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไปทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้โจทก์ทั้งห้าจะได้ดำเนินการตามคำสั่งของศาลดังกล่าวข้างต้น โดยมีทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความช่วยเหลือคดี ซึ่งในส่วนค่าธรรมเนียมหรือค่าขึ้นศาลที่จะต้องคิดตามอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ ร้อยละ 2 ของจำนวนทุนทรัพย์หรือค่าเสียหายที่ฟ้องร้อง( แต่ชำระสูงสุดไม่เกินสองแสนบาทต่อคน )นั้น โจทก์ทั้งห้าจะได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวต่อศาลจังหวัดปัตตานี เฉกเช่นที่เคยยื่นต่อศาลปกครองสงขลาและได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลมาแล้ว 

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 เวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของกองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่รถ ขณะที่ชาวบ้าน 9 คน กำลังเดินเพื่อที่จะไปละหมาดศพ (ละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด โดยโจทก์ทั้งห้าเคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลาเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2556  คดีดำเนินการตามขั้นตอนของศาลปกครองเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2558 ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542   และศาลปกครองสงขลาได้โอนคดีไปยังศาลปัตตานี  โดยศาลปัตตานีได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ 519/2558 และนัดพร้อมครั้งแรกในวันที่ 26 ต.ค.ดังกล่าว

ในส่วนโจทก์ทั้งห้าพร้อมครอบครัวและญาติได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาของศาลปัตตานี แม้ว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องเขตอำนาจศาลในการรับฟ้องคดี  แต่ก็ยังทำให้การพิจารณาคดีมีการหยุดชะงักและมีความล่าช้าตามไปด้วย  โดยทางโจทก์ทั้งห้าและญาติซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องความเป็นธรรมมาตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ปี  ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมเพียงพอ  และยังคงต้องต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไปในกระบวนการยุติธรรมซึ่งศาลปัตตานีจะได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมต่อไป

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายคืออะไร #2 เกษียร เตชะพีระ: ฐานคิดกฎหมายสมัยใหม่ยอมรับว่า “ชีวิตคุณเป็นของคุณ”

$
0
0

เกษียร เตชะพีระ อธิบายเรื่องฐานคิดความชอบธรรมของกฎหมายในโลกสมัยใหม่ที่ (1) ยอมรับกรรมสิทธิส่วนบุคคล หรือยอมรับว่า “ชีวิตคุณเป็นของคุณ” และ (2) มีความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมาย ต่างจากยุคก่อนหน้าคือรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ที่อำนาจอาญาสิทธิ์เป็นไปตามอำเภอน้ำใจหรืออารมณ์วูบไหวของผู้ทรงอำนาจสมบูรณ์นั้น พร้อมเทียบ ม.17 ยุคสฤษดิ์ กับ ม.44 ยุคหัวหน้า คสช. ว่าเป็นการทำให้อำนาจแบบอาญาสิทธิ์ถูกรับรองด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ ม.44 ยุค คสช. เขียนขยายเงื่อนไขให้กว้างขึ้นกว่า ม.17 ยุคสฤษดิ์ แถมเขียนให้ชัดว่าอำนาจนี้เป็นที่สุด มีผลครอบอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งไม่สามารถไปด้วยกันได้กับฐานคิดของกฎหมายในโลกสมัยใหม่

คลิปการอภิปราย "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" โดยเกษียร เตชะพีระ

22 พ.ย. 2558 - ในการเสวนา "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" จัดโดย โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ - เกษียร เตชะพีระ - สมภาร พรมทา - วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินรายการโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

โดยหลังจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ อภิปรายรอบแรกนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)ต่อมาเป็นการอภิปรายของ เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายละเอียดดังนี้

000

 

หัวข้อนี้กว้างครอบจักรวาลซึ่งอาจจะทำให้ปลอดภัยได้ด้วย คือหัวข้อแบบนี้กว้างพอจะพูดอะไรก็ได้ ลองดูนะครับ คือมันกว้างดีว่ะ ยังไม่ต้องพูดถึงหัวข้อที่ขึ้นแผ่นใสนี้นะ "กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา" มันจืด เข้าท่ามากเลย ดูไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งก็สร้างความลำบากให้ผมตามสมควรว่าผมจะมาพูดอะไรดีวะ หัวข้ออันนี้เป็นแบบอย่างอันดี คือเราสามารถจินตนาการต่อได้ว่าถ้าเราจะอภิปรายเรื่องน่าสนใจในทางสาธารณะเราจะตั้งชื่อว่า “อุทยานคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” คณะเศรษฐศาสตร์อาจจะอยากจัดเรื่อง “คอมมิชชั่นคืออะไร” ฯลฯ คือมันดีจริงๆ เลยหัวข้อแบบนี้ อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ลำบากถึงขนาดที่ว่าเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้วยังคิดว่าจะต้องปรับปรุงเนื้อหาอะไร และพอจะคิดออกเมื่อ 1 ชั่วโมงที่แล้วนี้เอง

ผมอยากเริ่มต้นโดยเรียนให้ทราบก่อนว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ตัดสินใจมาพูดคือ มาจากข้อความที่คุณธนาพล อิ๋วสกุล ซึ่งเป็น บก. นิตยสารฟ้าเดียวกัน และก็ถูกเรียกไปปรับทัศนคติหลายรอบ แกเขียนเอาไว้ทำนองนี้ว่า “ความตายปริศนาในคุกในค่ายทหาร ยิ่งยืนยันความผิดพลาดในการกวาดล้างความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม” เออผมปิ๊งเลย ผมรู้แล้วว่าผมจะพูดอะไร

ผมจะพูดสองส่วน ส่วนที่หนึ่งจะพูดในแนวคิดทฤษฎีคือ มองจากมุมรัฐศาสตร์ เราจะถึงคิดกฎหมายว่าคืออะไร อย่างไรบ้าง และส่วนที่สองก็จะพยายามประยุกต์กับเมืองไทยเรา ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ จนมาถึงปัจจุบัน

000

ผมอยากเริ่มว่า กรอบการคิดในเรื่องกฎหมายคืออะไร คืออย่างนี้นะครับ การเมืองการปกครอง หรือการใช้อำนาจรัฐสมัยใหม่ มีวิธีการหลักโดยพื้นฐานคือ 1. การใช้กำลังบังคับ (coercion) หรือ 2. สร้างความยินยอมพร้อมใจ (consent) มีสองอย่างเท่านั้นในระบบสมัยใหม่ คุณจะปกครองในทางรัฐศาสตร์ มีสองวิธีการหลัก ไม่ใช่อำนาจบังคับ ก็ต้องทำให้ราษฎรยินยอมพร้อมใจ

คำถามคือ กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังบังคับ และการยินยอมพร้อมใจ ผมคิดว่ากฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าในสังคมสมัยใหม่ กฎหมายเป็นตัวที่ให้ความชอบธรรม (legitimized) กับการบังคับของรัฐ กล่าวคือ รัฐสมัยใหม่เวลาจะใช้กำลังอำนาจไปบังคับใครต่อใคร จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายเป็นข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรม ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้อย่างมีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อตัวกฎหมายนั้นต้องอยู่บนฐานของ “Popular consent” หรือ ตัวกฎหมายนั้นเองต้องได้รับการยินยอมพร้อมใจจากประชาราษฎรทั้งหลาย

ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเครื่องมือในการปกครองสมัยใหม่ทั้งสองคือ การใช้กำลังบังคับ และการยินยอมพร้อมใจ มันอิงกับกฎหมายมาก กฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับ ขณะเดียวตัวกฎหมายจะมีประสิทธิภาพที่จะให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังของรัฐได้ จะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจของมหาชน คำถามก็คือว่า ถ้าที่ตั้งของกฎหมายอยู่ตรงนี้ อะไรคือฐานความชอบธรรมที่มาให้ความชอบธรรมกับกฎหมายอีกทีหนึ่ง ชอบธรรมพอที่ผู้คนพลเมืองทั้งหลาย จะยินยอมพร้อมใจ พูดอีกอย่างก็คือว่า ถ้ากฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจกำลังบังคับ ปัญหาคือตัวกฎหมายนั้นเองต้องถูกให้ความชอบธรรมด้วย หากไม่ได้รับความชอบธรรมจากมหาชน ในที่มันจะไปให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับมันจะไม่เกิดผลจริง

ทีนี้มาถึงคำถามว่า อะไรเป็นตัวที่ให้ความชอบธรรมกับกฎหมาย ผมคิดว่ามีอยู่สองปัจจัยหลักคือ หลัก Individual self-ownership (กรรมสิทธิของปัจเจกชน) ของปรัชญาเสรีนิยม คือปรัชญาเสรีนิยมยอมรับความชอบธรรมของกฎหมายสมัยใหม่ก็ต่อเมื่อตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง Individual self-ownershipแปลง่ายๆ คือ ชีวิตคุณเป็นของคุณเองในฐานะปัจเจกบุคคล ส่วนหลักที่สองคือ หลัก Instrumental rationality of law ซึ่งมาจากสังคมวิทยาของแม็กซ์ เวเบอร์ หรือพูดง่ายๆ คือ ความสมเหตุสมผล ของระบบกฎหมายในฐานะเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายจะชิงใจผู้คนในสังคมสมัยใหม่ได้ ต้องอยู่บนสองฐานนี้

สำหรับหลัก Individual self-ownership ผมคิดว่าเป็นฐานรากของกฎหมายสมัยใหม่ หลักนี้คือชีวิตคุณเป็นของคุณเองในฐานะปัจเจกบุคคล มันมองว่าชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณ ล้วนเป็นทรัพย์สมบัติของคุณ ชีวิตเป็นสมบัติของคุณ ร่างกายเป็นสมบัติของคุณ ทรัพย์สินเป็นสมบัติของคุณ บนฐานนี้จึงรองรับและทำให้งอกเงยขึ้นมาซึ่งสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ที่คุณ ผมและคนอื่นทุกคนล้วนมีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทำไมเราจึงมีสิทธิเสรีภาพ เรามีเพราะเราเป็นเจ้าของชีวิตเราเอง เราเป็นเจ้าของร่างกายเราเอง เราเป็นเจ้าของทรัพย์สินเราเอง บนฐานนั้นสิทธิเสรีภาพจึงงอกออกมา ถ้าจะทำลายสิทธิเสรีภาพใสมัยใหม่ให้ถึงที่สุด ต้องยกเลิกสิ่งนี้ ต้องบอกกับเราซื่อๆ เลยว่าชีวิตเราไม่ใช่ของเราเป็นของคนอื่น ตราบใดที่ชีวิตเราเป็นของเราสิทธิเสรีภาพเป็นของเรา

นอกจากนี้กฎหมายสมัยใหม่ยังบังคับลงไปตรงบุคคลผู้ทรงสิทธิ เพราะถือว่าบุคคลมีเหตุผลสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองในฐานะบุคคล กฎหมายอาญาก็ดี กฎหมายแพ่งก็ดี กฎหมายความมั่นคงก็ดี จะเล่นงานมาที่ตัวบุคคล เพราะถือว่าบุคคลมีเหตุผล มีสำนึกรับผิดชอบ จะเป็นบุคคลสมมติ เช่นนิติบุคคลก็ได้ หมายความว่าความผิดถ้าทำอยู่ที่บุคคลไม่เกี่ยวกับหน่วยรวมหมู่ที่ใหญ่กว่านั้น ไม่เกี่ยวกับครอบครัว ไม่เกี่ยวกับญาติพี่น้อง ไม่เกี่ยวกับเพื่อนฝูง ไม่เกี่ยวกับชุมชน ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่สังกัด นั่นแปลว่าไม่หลักตัดหัว 7 ชั่วโคตร ใครทำผิดก็เล่นงานคนนั้นคนเดียว

นอกจากนี้ กฎหมายยังมีขึ้นเพื่อตรอกตรึง ควบคุม จำกัดอำนาจอาญาสิทธิ์ให้คงที่ แน่นอนในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี ทรัพย์สินก็ดี ไม่ได้เป็นของคุณเอง ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของคุณเป็นของ “ท่าน” เป็นของเจ้าชีวิต พระเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่มีหลัก Individual self-ownership

ปัญหาสำคัญในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ ผู้ใช้อำนาจเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะมันเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์จึงไม่มีหลักเกณฑ์กำกับ ควบคุมแน่ชัด มันคาดเดาไม่ได้ จะใช้อำนาจแค่ไหนเพียงใด อย่างไร ในเรื่องใด มันก็เป็นไปตาม อำเภอน้ำใจ หรืออารมณ์วูบไหวของผู้ทรงอำนาจสมบูรณ์นั้น จะเก็บภาษีในอัตราเท่าไหร่ จะยึดทรัพย์สินใครมาเป็นของหลวง จะจับกุมคุมขังใคร หรือทรมาน ลงทัณฑ์ใครบ้าง จนกระทั่งจะเอาชีวิตคนที่ไหน เมื่อไหร่อย่างไร เพราะทั้งหมดนั้นร่างกายคุณ ทรัพย์สินคุณ เป็นสมบัติโดยชอบของผู้กุมอำนาจสมบูรณ์

เนื่องจากอำนาจในระบอบสมบูรณ์ไม่มีความแน่นอน จึงเป็นที่มาของกฎหมายลายลักษณ์อักษรทั้งหมด ตั้งแต่แมคนาคาร์ตา (Magna Carta) หรือมหากฎบัตรของอังกฤษตั้ง ค.ศ. 1215 ตั้งแต่แมคนาคาร์ตา มาถึงรัฐธรรมนูญในฉบับหลังๆ หัวใจของมันคือ เป็นมาตราการ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อจับ จำกัด กำกับ ควบคุมอำนาจตามอำเภอน้ำใจของผู้คุมอาจอาญาสิทธิ์ให้นิ่ง ไม่ให้มันพลิกไหวขึ้นลงตามใจชอบ แต่ให้มันอยู่ในกรอบ ในระบบระเบียบกระบวนการที่แน่นอน และคาดเดาได้ ถ้าไม่มีเครื่องมือที่เขียนด้วยตัวอักษร ผู้ทรงอำนาจจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ฉะนั้นกฎหมายสมัยใหม่จึงเป็นเครื่องมือลายลักษณ์อักษรของเสรีนิยม เพื่อจำกัดอำนาจรัฐไว้ ไม่ให้ล่วงล้ำเกินเสรีภาพของปัจเจกบุคคลผู้เป็นเจ้าของชีวิตตนเอง

จากกฎหมายขยับไปสู่ เรื่องที่เราพูดกันมาคือ หลักนิติธรรม หรือ The rule of law ในความเข้าใจของผมสิ่งที่เรียกว่าหลักนิติธรรม คือ การจะมีหลักนิติธรรมได้ ไม่ใช่เพียงแค่มีกฎหมาย ไม่ใช่แค่มีการปกครองด้วยกฎหมายแล้วบังคับใช้ อย่างเมตตาผ่อนปรนหรือเข้มงวด พูดกันตรงๆ นี่เป็นความเข้าใจของคนอย่างทักษิณ ชินวัตร แกบ่นถึงเอ็นจีโอว่ามีปัญหามาก และแกก็บอกว่าแกปกครองตามกฎหมาย การปกครองตามกฎหมายในความเข้าใจแกก็คือ มีกฎหมายแล้วก็บังคบใช้กฎหมาย ในห้วงหนึ่งอาจจะเมตตาปราณี ในอีกห้วงหนึ่งอาจจะเคร่งครัด แค่นี้จบ ซึ่งคิดว่าไม่ใช่ว่ะ แล้วผมพูดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยนู้นแล้ว ไม่ได้เพิ่งมาพูดตอนนี้ ผมคิดว่าหัวใจของหลักนิติธรรมคือ “Limited government” หรือรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด คือรัฐบาลที่ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ แน่นอนรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดยอมตรงกันข้ามกับรัฐบาลที่มีอำนาจไม่จำกัด หรือ “Unlimited government” หรือ “Absolute government” ซึ่งคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เราจำกัดอำนาจรัฐไว้ด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยเฉพาะบุคคลและเสียงข้างน้อย สิทธิเสรีภาพของพวกเขา มีเหนือร่างกายชีวิต และทรัพย์สินของตัวเอง ซึ่งเส้นแย่งจำกัดอำนาจรัฐสำคัญมาก มันต้องมีเส้น เวลาที่เราพูดว่าจะมีหลักนิติธรรมในบ้านเมืองมันต้องมีเส้น ไม่ใช่เส้นสายในระบบอุปถัมถ์ จะมีหลักนิติธรรมในบ้านเมืองมันต้องมีเส้นที่รัฐห้ามข้าม หลังเส้นคือที่ตั้งของสิทธิเสรีภาพของบุคคล อยู่ดีๆ รัฐนึกจะข้ามเมื่อไหร่ตามใจชอบทำไม่ได้

มันต้องมีเส้นแบ่งจำกัดอำนาจรัฐไว้ไม่ให้ล่วงละเมิดสิทธิพลเมือง เส้นดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยชอบของผู้คนพลเมืองเจ้าของสิทธิ ไม่ใช่กฎหมายที่ใครออกก็ได้

สิทธิของกู ถ้ากูจะจำกัด ต้องให้กูจำกัดเอง สิทธิของกู ถ้ากูจะจำกัดสิทธิของกูด้วยกฎหมาย ต้องให้กูจำกัดเอง หรือตัวแทนโดยชอบของกูจำกัดเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะมันใช่ของคุณ

เมื่อมีเส้น มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายที่เราออกโดยตัวแทนโดยชอบของเรา มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของเราแล้ว ต้องมีคนคุมเส้นให้มันเป็นไปตามเส้นนั้น ได้แก่ศาลตุลาการที่อิสระ คือว่าอิสระสำคัญมาก คือต้องไม่ขึ้นกับอำนาจใด ต้องไม่มีอคติใดๆ ต้องไม่เห็นแก่อำนาจใด ถ้าไม่อิสระ ฉิบหายเลย

ต้องมีรัฐบาลที่อำนาจจำกัด ต้องมีกฎหมายหรือตัวเส้นแบ่งที่ออกโดยผู้แทนโดยชอบ ต้องมีศาล ตุลาการที่อิสระ ต้องมีทั้งหมดนี้จึงมีหลักนิติธรรม ไม่ใช่มีแค่กฎหมายที่ออกโดยใครก็ได้

โอเค นั่นคือ ในส่วนแรก ที่นี้อันที่สอง อะไรคือ หลัก Instrumental rationality of law อะไรคือหลักความสมเหตุสมผลของกฎหมายในฐานะเครืองมือการบริหารแผ่นดิน ประเด็นนี้กี่ยวข้องกับหลักสิทธิอำนาจทางการเมืองนะครับ หรือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Authority (อำนาจ) ทางการเมือง อันนี้ต้องย้อนกลับไปที่ความคิดของ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ซึ่งเขาเขียนบทความไว้เมื่อปี 1922 ซึ่งถูกแปลมาเป็นภาษาอังกฤษชื่อบทความว่า “The Three Types of Legitimate Rule” ในบทความนี้เวเบอร์อธิบายว่า สิทธิอำนาจ หมายถึง การที่ผู้คนโน้มเอียงที่จะเชื่อฟังคำบัญชาหนึ่งๆ ใครจะมีอำนาจให้ดูว่าผู้คนโน้มเอียงที่จะเชื่อฟังคำบัญชาของเขาหรือไม่

สิทธิอำนาจที่ชอบธรรม หรือ Legitimate authorityหมายถึงการที่ผู้คนเชื่อฟังผู้ทรงสิทธิอำนาจ เพราะเห็นว่ามันเป็นไปโดยชอบ มี 3 ประเภทคือ อันที่หนึ่ง Traditional authority สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี สอง Legal authorityที่อาจารย์นิธิพูดถึง คือสิทธิอำนาจเกิดจากกฎหมายและเหตุผล และสาม Charismatic authority สิทธิอำนาจอันเกิดจากบารมี

จะค่อยๆ ไล่ไปทีละอันนะครับ เริ่มที่สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี มันหมายถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรม เพราะมันดำรงอยู่มาแต่ไหนแต่ไร ปกติแล้วผู้กุมอำนาจมีสิทธิอำนาจประเภทนี้ เพราะได้รับการสืบทอดมา บรรดาขุนนาง อมาตย์ ประกอบไปด้วยบริวารส่วนพระองค์ ในระบอบราชูปถัมภ์ หรือพันมิตรผู้จงรักภักดีส่วนพระองค์ อาทิ เจ้าเมืองผู้ถือศักดินาลงหลั่นกันลงไป หรือเจ้าประเทศราชในระบอบศักดินา อำนาจพิเศษของขุนนางในระบอบเหล่านี้ คล้ายคลึงกับพระราชอำนาจ เพียงแต่มีขอบเขตลงหลั่นลงมา และพวกเขาก็มักได้รับคัดเลือกเข้าสู่ตำแหน่ง โดยการสืบมรดกต่อกันมา อันนี้คือคำนิยามหลักๆ พูดง่ายๆ คือว่า สิทธิอำนาจอันเกิดจากประเพณี มันเกิดในยุคสมัยก่อนสมัยใหม่ โดยอ้างอิงฐานประเพณี และรองรับด้วยชุมชน ลักษณะของมันคือเป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องพูดออกมา เป็นประเพณีที่ไม่ต้องตรวจสอบ เป็นธรรมเนียมที่วิวัฒนาการมาอย่างเชื่องช้า พูดง่ายๆ มันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

ประเพณีที่สำคัญที่ให้ความชอบธรรมกับการปกครองสมัยก่อนคือ ศาสนา เราจึงมีหลักเทวราช ซึ่งอิงศาสนาฮินดู หรือหลักธรรมราชา อิงหลักพุทธศาสนา ในวิธีคิดแบบนี้ ตามประเพณีนี้ ชีวิตคุณไม่ใช่ของคุณ ชีวิตคุณเป็นของชุมชนตามประเพณี เป็นของชุมชนตามศาสนาที่คุณสังกัด

ในส่วนที่สอง สิทธิอำนาจอันเกิดจากกฎหมายหมายและเหตุผล หมายถึงสิทธิอำนาจอันชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนระบบกฎเกณฑ์กติกา ซึ่งประยุกต์ใช้ในทางบริหาร และตุลาการ ตามหลักการที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป บรรดาบุคคลผู้บริหารจัดการให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์เหล่านี้นั้น ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งมาตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ผู้บังคับบัญชาชั้นบนก็ต้องขึ้นกับกฎเกณฑ์ส่วนจำกัดอำนาจของตนด้วย มันแยกชีวิตส่วนตัวของผู้มีอำนาจออกจากหน้าที่ทางราชการ และต้องใช้เอกสารลายลักษณะอักษร ในการทำงาน นี้คือสิทธิอำนาจที่เกิดขึ้นสมัยใหม่ สิ่งที่มันอ้างอิงก็คือ กฎหมาย และหลักเหตุผล บนฐานรองรับไม่ใช่ชุมชน แต่เป็นบุคคล ลักษณะของมันจึงเป็นคล้ายกับสัญญาประชาคม ซึ่งถือจุดหนึ่งก็กลายร่างเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

สิทธิอำนาจอันเกิดจากกฎหมายหมายและเหตุผล ไปกันได้กับหลักชีวิตคุณเป็นของคุณ ในฐานะปัจเจกบุคคล และเป็นที่ตั้งของหลักความสมเหตุสมผลของระบบกฎหมาย ในฐานะเครื่องมือการบริหารราชการแผ่นดิน

แบบที่สามคือ สิทธิอำนาจโดยชอบธรรมโดยอาศัยบารมีของผู้นำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตนทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะนำได้ เนื่องจาก กฤษดาภินิหารมีบุญญาธิการ รับรองโดยโหรวารินทร์ อย่างนั้นแหละครับ ล่วงรู้คำพยากรณ์ชะตาบ้านเมือง กล้าหาญชาญชัย แต่งเพลงได้ในเวลาอันสั้น บรรดาสาวกหรือผู้ที่นับถือ ก็จะเคารพนับถือสิทธิที่จะนำของเขา เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขานั้นเอง ซึ่งคือบารมี หาใช่เพราะธรรมเนียม ประเพณี หรือกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆ ไม่ บรรดาเจ้าหน้าที่ข้าราชการจะประกอบไปด้วย ผู้ที่แสดงให้เห็นว่า อุทิศตนเพื่อผู้ปกครอง

หลักการนี้มันพูดถืออะไร มันพูดถึงว่า บ้านเมืองเกิดวิกฤต มีความวุนวาย อภิมหาโกลาหล คล้ายๆ ตอน กปปส. ยึดเมือง ผลของมันคือชุมชนเดิมแตกสลาย คนทะเลาะกันแหลกลาญ ปัจเจกบุคคลตกอยู่ในสภาพมีปัญหาทางจิตใจ ขาดที่พึ่ง ว้าเหว่ เหมือนเป็นอณู ในยามวิกฤติ เช่นนี้ ปรากฏผู้นำบารมี แสดงกฤษดาภินิหาร ทำการยากๆ สำเร็จเสมอ ชุมชนจึงก่อตัวขึ้นแวดล้อมผู้นำบารมี

ปัญหาของสิทธิอำนาจแบบนี้คือ บารมี หรือผู้นำบารมี เป็นเรื่องชั่วคราว อยู่ตราบเท่าที่ผู้นำยังมีชีวิตอยู่ เพราะบารมีเป็นของเฉพาะตัว มิอาจสืบทอดได้ หมดผู้นำบารมีแล้วก็จบเลย ในวิธีคิดแบบนี้ชีวิตคุณเป็นของผู้นำบารมี หรือเป็นของชุมชนที่ล้อมผู้นำบารมี ไม่ใช่ของคุณเอง

เรื่องทั้งนี้เกี่ยวกับหลักความสมเหตุสมผลของกฎหมาย ในฐานะเครื่องมือบริหารราชการแผ่นดินตรงไหน คือ เวเบอร์ชี้ว่า ระบบกฎหมายที่ชอบด้วยเหตุผลในระดับสูงสุด ย่อมมีคุณลักษณะดังนี้คือ มีการบูรณาการข้อเสนอเชิงกฎหมายทั้งหลาย ที่มาจากการคิดวิเคราะห์ในลักษณาการที่ข้อเสนอเหล่านี้ ประกอบสร้างกันขึ้นเป็นระบบกฎเกณฑ์ที่กระจ้างชัดในทางตรรกะ สอดคล้องคงเส้นคงวากันภายใน และไร้ช่องโหว่อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี และมีนัยสืบไปด้วยว่าภายใต้ระบบดังกล่าว กรณีข้อเท็จจริงที่อาจนึกคิดไปได้ทั้งหมด จะต้องถูกครอบคุมไว้โดยชอบด้วยตรรกภายใต้ระบบกฎหมายนี้ ทั้งหมดนี้จึงจะเป็นระบบกฎหมายที่ชอบธรรม

สรุปอีกทีนะครับ เป็นระบบกฎเกณฑ์ กระจ่างชัดทางตรรกะ สอดคล้องคงเส้นคงวากันภายใน ไร้ช่องโหว่ ครอบคุมกรณีทั้งมวล มีความแน่นอน คาดเดาผลล่วงหน้าได้ เป็นกลางไม่ลำเอียง ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ทำหน้าที่โดยเสน่หา ทำเพราะชอบ หรือกระเหี้ยนกระหือรือ คือ กระดี๊กระด๊าอยากทำฉิบหายเลย คือต้องเยือกเย็นเหมือนเป็นข้าราชการทำตามกฎหมาย ไม่ยึดติดบุคคลเชิงรูปแบบ ไม่ใช่ว่าเป็นหน้านี้ตระกูลนี้ เล่นมันหนักหน่อย หน้าอื่นตระกูลอื่นไม่เป็นไร ทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมาไม่คำนึงเรื่องส่วนตัว

ทั้งหมดนี้คือภาคทฤษฎี ผมเสนอว่ากรอบคิดเรื่องนี้มันเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ในความหมายที่ว่า ในสมัยใหม่วิธีการปกครองบริหารบ้านเมืองการใช้อำนาจรัฐ มันอาศัยเครื่องมือสองอย่าง การบังคับด้วยกำลัง กับการยินยอมพร้อมใจของผู้คน กฎหมายเข้าไปเกี่ยวตรงไหน ข้อเสนอของผมคือ กฎหมายให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังบังคับโดยรัฐ โดยขณะเดียวกันกฎหมายต้องอยู่บนฐานการยอมรับ ผู้คนพลเมืองยินยอมพร้อมใจ มันถึงจะมีประสิทธิภาพ คุณไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว คนต้องเห็นว่ามันดีและยอมทำตาม และมันจะถูกต้องเป็นที่ชอบธรรมเป็นที่ยอมรับของผู้คนพลเมือง ต้องอิงสองหลักนี้ คือ Individual self-ownership และสอง Instrumental rationality of law ถ้าบกพร่องสองอันนี้ กฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน

000

ทีนี้มาเมืองไทย ผมนึกถึง ท่านผู้นำแต่ก่อน ก็คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แน่นอนปรากฎการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย คือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับ 28 มกราคม 2502 มาตรา17 นั่นแหละครับ ซึ่งผู้ร่างคือหลวงวิจิตรวาทการ และจอมพลสฤษดิ์ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หลังจากยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2500

ว่ากันว่า จอมพลสฤษดิ์ บอกหลวงวิจิตรว่า คือบอกเหมือนเป็นกันเองมาก ฟังดูแล้วเหมือนสั่งของ “คุณหลวงต้องเติมอีกมาตราหนึ่งให้ผมมีอำนาจเด็ดขาดด้วย” ดูมันง่ายดี อันนี้มีอยู่ในหนังสือที่ตีพิมพ์แต่ผมจำแหล่งยืนยันไม่ได้ อันนี้คือที่มาของ ม.17

มาตรา17 คืออะไร ก็คือ “Constitutionalization of absolutism” คือการเอาอำนาจอาญาสิทธิ์ไปทำให้เป็นรัฐธรรมนูญ มันไม่ควรจะอยู่ด้วยกันนึกออกไหมครับ ตามหลักที่ผมพูดมา Constitution มันอยู่ทางหนึ่ง Absolutism,มันอยู่ทางหนึ่ง มันเข้ากันไม่ได้ มันอยู่กันคนละหลักตลอด แต่ด้วยฝีมือของหลวงวิจิตร มันเป็นปรากฎการณ์ที่เป็นของไทยจริงๆ อันนี้เอาไปจดทะเบียนก็ได้ เราทำให้อำนาจเด็ดขาด กลายเป็น Constitution

มาตรา 17 เขียนว่า

“ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ”

ก็คือนายกเห็นว่าอันนี้มันใช่ คนอื่นเห็นอย่างไรไม่รู้ แต่นายกรัฐมนตรีซึ่งคือจอมพลสฤษดิ์ เห็นว่ามันใช่ ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ตั้งมาทั้งนั้น มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ สั่งก็ได้ ทำเองก็ได้ และให้ถือว่าคำสั่ง หรือการกระทำเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย คือให้ความชอบด้วยไว้ล่วงหน้า โดยไม่มีขอบเขตเลย คุณสั่งอะไร คุณทำอะไร ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นขอแค่คุณอ้าง และเมื่อนายกได้กระทำการใดๆ หรือสั่งการใดไปตามวรรคก่อนหน้านั้น ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ เช่นสั่งยิงเป้าครูรวม วงษ์พันธ์ ไปแล้ว สั่งยิงเป้าครูครอง จันดาวงศ์ไปแล้ว ก็ไปบอกสภาว่า แจ้งให้ทราบ ยิงไปเสร็จแล้ว

ผมคิดว่าผลทางปฏิบัติคือ ม.17 รวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไว้ในมือนายกคนเดียว พูดอีกอย่างคือมันเป็น อำนาจอาญาสิทธิ์ที่ให้ความชอบธรรมโดยรัฐที่ให้ความชอบธรรมยอมรับโดยรัฐธรรมนูญ แล้วมันคล้ายกันไหม คล้ายนะครับ กับมาตรา 44

“มาตรา 44 ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่ง หรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดําเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

ก็คือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ. ประยุทธ์ รายงานให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ทราบ

เนื้อความโครงสร้างของการเขียนคล้ายกันมาก ขยายเงื่อนไขให้กว้างขึ้น และที่น่าสนใจคือ มันชัด ขณะที่ ม.17 ไม่ได้บอกว่ามีผลทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อันนี้ระบุเลย และแถมบอกด้วยว่าเป็นที่สุดนะจ๊ะ จุ๊บจุ๊บ

คือผมต้องยอมรับ เขียนยอดจริงๆ มันเคลียร์กว่า ม.17 เยอะเลย

ภาพทั้งสองอย่างที่เราได้เห็นคือ Constitutionalization of absolutism มันเกิดการบิดผันเปลี่ยนแปลง Legal rational Authorityแทนที่จะใช้กฎหมายมาเป็นเครืองมือจำกัดอำนาจโดยพลการของรัฐเพื่อปกป้องรองรับหลัก กลับใช้กฎหมายป็นเครื่องมืออำนวยการใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ โดยพลการของรัฐเพื่อลิดรอนหลัก Individual self-ownershipภายใต้หลักนี้มันไม่มีเส้น มันไม่มีชีวิตคุณเป็นของคุณ และในกระบวนการนั้นก็บั่นทอนหลัก Instrumental rationality of law จนเสื่อมเสียไปด้วย พูดก็คือว่ามัน Legal irrational Authorityเหลื่อแต่กฎหมายที่ไม่ได้กำกับด้วยเหตุผล และหลักนิติธรรมดั่งเดิมของมัน แต่กับขึ้นกับระดับเหตุผล สติปัญญา อารมณ์วูบไหวขึ้นลงของตัวผู้ใช้อำนาจอาญาสิทธิ์ ถ้าผู้ใช้อำนาจสติดีมั่นคงก็อาจจะ โอเค ถ้าผู้ใช้อำนาจเป็นอย่างอื่น การใช้อำนาจก็เป็นอย่างอื่น

ทีนี้ยกตัวอย่างรูปธรรมผมคิดว่า มันมีตัวอย่างให้น่าวิตก และคิดว่าก็ควรที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะคิดหาทางแก้ไข

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37 ปี 2558 เรื่องการกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งออกมาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ในข้อ 3 ให้นายนัฑ ผาสุข พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย นิติกรผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือเอาคนเก่าออกแล้วตั้งคุณนัฑ ผาสุข อันนี้เป็นฉบับที่ 37 ปรากฎว่าสามวันต่อมา มีการออกประกาศฉบับที่ 38 ซึ่งฉบับนี้ข้อ 1 ให้ยกเลิกข้อ 3 ของประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37 โดยให้ถือว่า นายนัฑ ผาสุข มิเคยพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และมิเคยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภผู้แทนราษฎรมาก่อน

คุณนัฑ ผาสุข อาจจะเข้าใจว่าได้เคยเป็นมา 3 วัน ไม่ใช่นะครับ เพราะเอาเข้าจริงคือไม่เคยเป็น อิ้บอั้บ อิ้บอั้บ เท่ากับว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้แหละ

กฎหมายมันต้องมีความแน่นอนไม่ใช่หรือ คาดเดาผลล่วงหน้าได้ไม่ใช่หรือ อันนี้มันไม่ใช่

หรือนายกใช้ ม.44 คุ้มครองเจ้าหน้าที่คดีข้าว จะได้มีความกล้าหาญในการทำ คือทำถ้าทำเรื่องนี้เอาผิดไม่ได้ ไม่ถือว่าเป็นความผิด ปรากฎว่าอดีตรองประธานศาลฎีกา คุณอุดม เฟื่องฟุ้ง คัดค้าน มันไม่เหมาะที่จะใช้ ม.44 ในเรื่องนี้ มันเป็นปัญหาจริงๆ ถ้าคุณคุ้มครองผู้ใช้อำนาจ ให้ใช้อำนาจโดยไม่ต้องกลัวผิด ก็เสร็จสิพี่ เขาถึงไม่คุ้มครองอาจารย์ในการให้เกรดนักศึกษาไง หรือทำอย่างไรกับนักศึกษาก็ได้ มันต้องมีจรรยาบรรณกำกับ มีกฎหมายกำกับ ไม่งั้นอาจารย์อย่างผมก็เป็นเผด็จการน้อยที่น่ารัก นึกจะทำอย่างไรกับนักศึกษาชายที่น่าแชลมคนนี้ หรือนักศึกษาหญิงคนนั้นผมก็ทำได้ตามใจชอบ ไม่ได้นะครับ แบบนี้มันกลายเป็นการขัดกับหลักจำกัดอำนาจรัฐแบบเสรีนิยม และดูจะมีปัญหากับหลักไม่ยึดติดกับบุคคลเชิงรู้แบบด้วย

หรือล่าสุด เฮ้อ … (ถอนหายใจ) พิมพ์เขียว 10 ข้อของ คสช. ส่งถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ในข้อ 7 ท่านก็ขอไว้ วรรคสอง ขอให้เติมไปในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ ว่าให้การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงรัฐจากภัยที่มาจากภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา คืออันนี้ไม่ไปไม่ได้กับ Individual self-ownership เพราะถ้าถืออันนี้ ชีวิตคุณก็ไม่ใช่ของคุณ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประวิตร โรจนพฤกษ์' เข้าชิงรางวัลเสรีภาพสื่อระดับโลก

$
0
0
'ประวิตร โรจนพฤกษ์' ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเสรีภาพสื่อระดับโลก จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนของฝรั่งเศส ด้านรางวัลตกเป็นของผู้สื่อข่าวชาวซีเรีย

    
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา Voice TVรายงานว่าผู้สื่อข่าวชื่อดังของไทย นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลด้านเสรีภาพสื่อ จากองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนของฝรั่งเศส โดยเป็นนักข่าวคนเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการเสนอชื่อ อย่างไรก็ตาม นายประวิตรไม่ได้รับรางวัล แต่รางวัลดังกล่าว พร้อมกับเงินรางวัล 2,500 ยูโร ตกเป็นของผู้สื่อข่าวชาวซีเรีย
 
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า นายประวิตรเป็นผู้สื่อข่าวไทยเพียงคนเดียวที่ถูกควบคุมตัวไป "ปรับทัศนคติ" ถึง 2 ครั้ง แต่เขาก็ไม่ยอมถูกปิดปาก และยังคงยืนหยัดทำหน้าที่สื่อ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไทย และยังเป็นหนึ่งในนักข่าวไทยเพียงไม่กี่คนที่กล้าตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาลทหาร
 
นอกจากนายประวิตร สื่อมวลชนไทยอีกคนที่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ ออฟ ทักษิณ ชื่อของเขาเป็นที่กล่าวถึงอยู่เสมอในฐานะนักโทษการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายอาญามาตรา 112
 
ล่าสุด อ้ายเหว่ยเหว่ย ศิลปินนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวจีน ได้ทำโครงการศิลปะต่อบล็อคเลโก้เป็นภาพนักโทษการเมืองทั่วโลก หนึ่งในนั้นมีภาพเลโก้ของสมยศด้วย โดยภาพนี้เป็นภาพที่อ้ายเหว่ยเหว่ยโพสต์ในอินสตาแกรม @aiww พร้อมคำบรรยายว่า สมยศคือนักโทษการเมืองชาวไทย ที่ถูกพิพากษาจำคุก 11 ปี ด้วยข้อหาวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ค่ายสานสัมพันธ์สู่ชุมชน ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

$
0
0
ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ค่ายสานสัมพันธ์สู่ชุมชน ของชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอ.ปัตตานี ณ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

 
 
ตำบลปากบาง อันเป็นว่าที่สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทั้งทางบกที่เป็นพื้นที่เษตรกรรมและทางทะเลที่เปรียบเสมือนเป็นตู้กับข้าวของคนในพืนที่ และคนบริเวณใกล้เคียงคือ ปาตานี เช่น การทำประมงพื้นบ้าน(ประมงชายฝั่ง) การปลูกยางพารา ทำนา ฯลฯ ส่วนรายละเอียดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 2200 เมกาวัตต์ กินเนื้อที่ทั้งหมด 2960 ไร่ พร้อมท่าเรือข่นส่งถ่านหินที่ยื่นออกไปในทะเลมีความยาว 3 กิโลเมตร และจะมีการเผ่าถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม พื้นที่รัศมีความร้อนจากโรงไฟฟ้าไกลถึง 5 กิโลเมตร และตัวโรงไฟฟ้าห่างจากเขตแดนปัตตานี 2-3 กิโลเมตร
 
การลงพื้นที่ของนักศึกในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการลงพื้นที่สำรวจ คือ 1.ให้นักศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้านของคนในพื้นที่ 2.เรียนรู้และรับฟังปัญหาผลกระทบของการเข้ามาของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือข่นส่งถ่านหินจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้ตอบโจทย์การเรียนรู้และรับฟังปัญหาได้ทั่วถึงซึ่งได้แบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
 
1.กลุ่มศึกษาป่าชายเลน ได้ไปงมหอยนางรม
2.กลุ่มศึกษาประมงชายฝั่ง ไปศึกษาการหาหอยเสียบ วางอวนลอยดักปลากระบอก
3.กลุ่มศึกษาชุมชนชาวประมงปากบาง แม่น้ำเทพา
4.กลุ่มศึกษาชุมชนชาวปากบางพระพุทธ ม.7 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ได้ศึกษาการแปรรูปปลาแห้ง
5.กลุ่มศึกษาประมงทะเล โดยได้ออกเรือกับชาวประมงไปสำรวจทะเลที่ตั้งโครงการท่าเรือสำหรับโรงไฟฟ้า และที่เรือขุดเจาะดินของ กฟผ.ที่ไม่ได้รับอนุญาต ได้ขุดเจาะทำลายปะการัง และแหล่งทำมาหากินของชาวประมง
 
ผลจากการลงพื้นที่สำรวจสอบถามของกลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชาวบ้านส่วนใหญไม่เห็นด้วยกับการมาของโรงไฟฟ้าแต่มีส่วนน้อยที่จะออกมาแสดงพลังคัดค้าน และมีชาวบ้านบางส่วนที่เห็นด้วยกับการมาของโรงไฟฟ้าโดยหลงเชื่อคำโฆษณาว่าถ่านหินสะอาด และชาวบ้านส่วนใหญ่กังวลกับปัญหามลพิษที่ตามมากับโรงไฟฟ้า เพราะเล็งเห็นกรณีตัวอย่าง เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดระยอง ที่ชาวบ้านส่วนใหญป่วยด้วยโรคมะเร็ง บทสรุปนักศึกษาทั้งหมดที่ไปลงพื้นที่สำรวจโหวตเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือข่นส่งถ่านหิน
 
การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เราไม่ได้จะขัดขวางการพัฒนาแต่เราอยากอยู่บนวัฒนธรรมและสิ่งดีงามที่มีมาแต่บรรพบุรุษ จะเป็นอย่างไรถ้าอนาคตข้างหน้า สงขลา เทพา จะนะ ปาตานี แผ่นดินที่มีจิตรวิญญานถูกทับถมด้วยปูนซีเมน ปล่องท่อ และหมอกควัน ทำไม!แผ่นดินที่เราร่วมกันรักษาจะต้องมีคนมาเอาไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย? แล้วทำไมต้องให้คนยากคนจนต้องเป็นคนเสียสละ?
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจขอหมายจับคดี ม.112 อีกไม่ต่ำ 4 คน

$
0
0
'ศรีวราห์' ระบุตำรวจขอศาลทหารและศาลอาญาออกหมายจับทั้งทหาร,ตำรวจ และพลเรือน ร่วมกันหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอีกไม่ต่ำกว่า 4 คน แต่ไม่ถึง 10 คน กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ

 
25 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ พนักงานสอบสวนได้ขอศาลอาญารัชดาฯ และศาลทหารกรุงเทพ ออกหมายจับ พ.ต.ท.ไพโรจน์ โรจนขจร อดีต ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม, พ.ต.ต.ธรรมวัฒน์ หิรัญเลขา อดีตรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม และนายตำรวจที่มียศสูงกว่าพันตำรวจเอก รวมถึงข้าราชการทหารและพลเรือนไม่ต่ำกว่า 4 คน แต่ไม่ถึง 10 คน กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งพนักงานสอบสวนมีพยานเอกสาร วัตถุพยาน และพยานบุคคล จึงมั่นใจว่า ศาลจะอนุมัติหมายจับตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยสั่งเจ้าหน้าที่ตามประกบและติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ที่ถูกเสนอศาลออกหมายจับแล้ว นอกจากนี้ เมื่อวานที่ผ่านมา (24 พ.ย.) ศาลทหารได้ออกหมายจับนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาหมอหยอง ในความผิดฐษน หมิ่นสถาบันเบื้องสูงอีก 1 หมายจึงเป็นสำนวนที่ 17 ส่วนจะมีนายตำรวจยศพลตำรวจเอกที่ลาออกไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ขอพิจารณาพยานหลักฐานอีกครั้ง
 
พลตำรวจเอกศรีวราห์ กล่าวต่อว่า พยานหลักฐานในขณะนี้ยังไม่ถึงนายตำรวจยศพลตำรวจโทที่ถูกย้ายไปช่วยราชการที่ ศปก.ตร.(ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) รวมถึงพลตำรวจตรีอัคราเดช พิมลศรี ผบก.ป. (ผู้บังคับการปราบปราม) ก็ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงถึง สำหรับ สำนวนคดี 112 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน 7สำนวน และอาจเสนอศาลออกหมายจับเพิ่มเติมได้อีก ยืนยันว่า ไม่มีการวิ่งเต้นให้ช่วยเหลือคดีจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ มีแต่คำสั่งให้สืบสวนสอบสวนให้สิ้นสุดขบวนการ กรณีมีผู้กล่าวโทษทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามนั้น เป็นเพียงการกล่าวโทษตามหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องสอบสวนหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ๆ ว่าได้ข่าวมาอย่างไรหากไม่มีมูล จะถือว่าจะยุติการสอบสวน
 
คุม 'อาร์ท จิรวงศ์' เลขาหมอหยอง ฝากขังผัด 4
 
สำนักข่าวไทยยังรายงานว่าศาลทหารกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตำรวจ และทหาร คุมตัวนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาร์ท คนสนิทของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง หมอดูชื่อดัง จากเรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 มายังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อขออำนาจศาลทหารฝากขังผัดที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน-7 ธันวาคม 58 นายจิรวงศ์ถูกแจ้งข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แอบอ้างมีความใกล้ชิดกับสถาบันเบื้องสูง และเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชน รวม 13 คดี  โดยถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คลื่น 1800 MHz ประมูลแรง 4G จะแพงขึ้นไหม

$
0
0

ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่แข่งขันประมูลกันอย่างเข้มข้น หลายคนสงสัยว่าราคาชนะประมูลในระดับแปดหมื่นล้านบาทนั้น จะทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นหรือไม่ และทำไมก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz บางค่ายก็โฆษณาบริการ 4G แล้ว สิ่งที่โฆษณานั้น ตกลงเป็น 4G แท้หรือ 4G เทียม

แรกสุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลักการประมูลของ กสทช. ในครั้งนี้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "การประมูล 4G" เป็นเรื่องของการประมูลสิทธิในคลื่นความถี่ 1800 MHz มิใช่การประมูลสิทธิในเทคโนโลยี 4G เพียงแต่ กสทช. มุ่งหมายที่จะให้ผู้ชนะประมูลให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ 4G และเมื่อไรที่ยุค 5G มาถึง ผู้ชนะประมูลก็สามารถปรับปรุงบริการเป็น 5G ได้บนสิทธิในคลื่นความถี่ของตน โดยไม่ต้องประมูลกันใหม่แต่อย่างใด

หลักการเดียวกันนี้ใช้มาตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "การประมูล 3G" ดังนั้นแม้ผู้ชนะการประมูลครั้งนั้นเริ่มเปิดให้บริการในระบบ 3G แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้ ผู้ประกอบการบางรายจึงปรับปรุงบริการบนคลื่นความถี่ย่านนี้ให้เป็น 4G สิ่งที่โฆษณาจึงมิใช่บริการ 4G เทียมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผู้ให้บริการบางรายซึ่งยังคงเหลือสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับให้บริการ 2G ก็ได้ขอปรับปรุงบริการเป็น  4G เช่นกัน แต่เป็นชุดคลื่นความถี่ 1800 MHz คนละชุดกับที่เพิ่งประมูลเสร็จสิ้นไป ประเทศไทยจึงมี 4G บนคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด “การประมูล 4G”

ด้วยเหตุที่มีการให้บริการ 4G ในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดแพ็กเกจ 4G หลายแพ็กเกจซึ่งมีสิทธิประโยชน์และอัตราค่าบริการต่างๆ กันไป และด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 4G ซึ่งรับส่งข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ดีกว่า 3G ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง เราจึงพบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการ 4G ถูกกว่าบริการ 3G อยู่แล้ว ดังนั้น หากผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะกำหนดอัตราค่าบริการที่แพงกว่า 4G ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาด ผู้บริโภคก็ย่อมจะไม่เลือกใช้บริการราคาแพงนั้น ในขณะนี้เราจึงมีกลไกตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการคุมมิให้อัตราค่าบริการแพงขึ้น ยิ่งถ้าบริการ 4G เดิมในท้องตลาดลดราคา ยิ่งจะเป็นการกดดันให้บริการ 4G ใหม่ไม่สามารถตั้งราคาแพงได้ตามอำเภอใจ

หลายคนอาจยังเชื่อว่า ผู้ชนะการประมูลน่าจะต้องผลักภาระต้นทุนค่าคลื่นความถี่มาให้ผู้บริโภคแบกรับ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ แต่ในทางเศรษฐศาสตร์จะพบว่า ต้นทุนแต่ละประเภทมีความยากง่ายในการผลักภาระให้ผู้บริโภคแบกรับได้แตกต่างกัน ต้นทุนที่ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ยากคือต้นทุนจม ยกตัวอย่างเช่น ค่าเซ้งอาคาร หากมีร้านขายผลไม้ร้านที่หนึ่งเซ้งอาคารมาเจ็ดแสนบาท และร้านขายผลไม้ติดๆ กันเซ้งอาคารมาหนึ่งล้านบาท เราจะพบว่าราคาผลไม้เกรดเดียวกันของทั้งสองร้านจะไม่แตกต่างกันตามค่าเซ้งที่แพงหรือถูก เพราะหากร้านที่สองขายผลไม้เกรดเดียวกันในราคาแพงกว่า ผู้บริโภคย่อมจะพากันไปซื้อผลไม้จากร้านที่หนึ่ง การผลักภาระค่าเซ้งอาคารมาให้ผู้บริโภคจึงทำไม่ได้ง่ายๆ และเนื่องจากต้นทุนจมเป็นรายจ่ายที่จ่ายขาดไปแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปลดต้นทุนนั้นลงได้ กลยุทธ์ที่ร้านที่สองจะอยู่รอดคือการขายผลไม้ในราคาที่แข่งขันได้กับร้านที่หนึ่ง เพื่อให้มีรายรับเข้าร้าน ในขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้ ซึ่งก็คือรายจ่ายในการดำเนินการในแต่ละวัน มิใช่ใช้กลยุทธ์ขายผลไม้เกรดเดียวกันแพงกว่าร้านคู่แข่งด้วยเหตุว่าเซ้งอาคารมาแพงกว่าแต่อย่างใด

เงินชนะประมูลคลื่นความถี่ก็เปรียบได้กับค่าเซ้งสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายรู้ดีว่า เมื่อจ่ายไปแล้วก็เป็นการจ่ายขาด ไม่สามารถขอคืนหรือขอลดได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ และรู้อยู่ก่อนแล้วว่า หากตนเองกำหนดอัตราค่าบริการ 4G แพง ผู้บริโภคก็จะเลือกซื้อบริการ 4G ของรายอื่น ผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายจึงได้คำนวณเพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ตนจะประมูลไว้ก่อนวันประมูลแล้ว และต่างก็ตระหนักดีว่า ถ้าตนเองชนะประมูลในราคาที่สูงกว่าเพดานราคาที่คำนวณล่วงหน้า กิจการก็จะไม่สามารถทำกำไรได้

ยิ่งไปกว่านั้น เพดานราคาของคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายคำนวณขึ้นมาย่อมแตกต่างกันตามศักยภาพทางธุรกิจของแต่ละราย เช่น ปริมาณทรัพย์สิน-หนี้สิน จำนวนผู้ใช้บริการและโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม โมเดลทางธุรกิจที่จะให้บริการ และความสามารถในการสร้างรายได้หรือทำกำไรจากโมเดลธุรกิจนั้นๆ เป็นต้น และเนื่องจากเทคโนโลยีและบริการ 4G เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ตัวเทคโนโลยีมีความเสถียร มีอุปกรณ์โครงข่ายและตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมวางจำหน่าย อีกทั้งมีโมเดลธุรกิจ 4G ในต่างประเทศให้ศึกษา การคำนวณเพดานราคาประมูลคลื่นความถี่ในปัจจุบันจึงมีความแม่นยำค่อนข้างสูง ราคาชนะประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นไปตามการคำนวณในครั้งนี้ จึงไม่อาจทำให้อัตราค่าบริการ 4G แพงขึ้นตามที่หลายคนกังวล

แต่ที่สำคัญที่สุด คือการที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยในประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่ กสทช. จะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล คือทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และให้กำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ซึ่งทาง กสทช. เองได้รับข้อห่วงใยนี้มากำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การประมูลครั้งนี้แล้ว โดยกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องให้บริการที่มีคุณภาพ และต้องกำหนดอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีแพ็กเกจราคาถูกอย่างน้อย 1 รายการ ที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ และต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย

สรุปง่ายๆ คือ ต้องมีแพ็กเกจที่คุณภาพไม่ต่ำกว่าเดิมในราคาที่ถูกลง โดยห้ามบังคับซื้อเหมา โทรเท่าใด ใช้เน็ตเท่าใด ก็จ่ายเท่านั้น ไม่ใช่ถูกบังคับให้ซื้อค่าโทรเดือนละร้อยนาที หรือค่าเน็ตเดือนละหนึ่งกิกะไบต์ ทั้งที่ผู้บริโภคหลายคนใช้นาทีหรือใช้เน็ตไม่หมดในแต่ละรอบบิล กลายเป็นการซื้อแบบเสียของไป แต่ยิ่งทำกำไรให้กับผู้ให้บริการ

และหากในอนาคตมีผู้ให้บริการรายใหม่แจ้งเกิดในตลาด 4G ได้จริง เราอาจจะเห็นอัตราค่าบริการที่ถูกลงอย่างชัดเจน เหมือนกับตอนที่ทีโอทีเปิดบริการ 3G เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเดิมอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของแต่ละค่ายตกอยู่ที่ 12 สตางค์ต่อกิโลไบต์หรือประมาณ 122 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ทีโอที 3G กำหนดอัตราค่าบริการเพียง 2 บาทต่อเมกะไบต์ ลดลงจากเดิมกว่า 60 เท่า ทำให้ค่ายอื่นๆ ต้องลดราคาลงมาสู้ในระดับเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเพิ่มการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นกลไกกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ได้ผลดีที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมรมแพทย์ชนบทเรียกร้องจุดยืน สธ. ปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

$
0
0
ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ

 
27 พ.ย. 2558 ชมรมแพทย์ชนบทส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
 
จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558
เรื่อง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนเพื่อปกป้องประชาชนจาก พ.ร.บ.จีเอ็มโอ
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร
 
ด้วยพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... หรือ พรบ.จีเอ็มโอ ได้ผ่าน ครม.แล้วในวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2558 นี้ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักเพราะมีความพยายามของทุนการเกษตรยักษ์ใหญ่ในการผลักดันมายาวนานนับสิบปี แต่ที่น่าแปลกใจคือ  กระทรวงสาธารณสุขซึ่งดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่มีการให้ความเห็นใดๆในขั้นตอนปกติก่อนออกมาเป็นกฏหมายที่ต้องมีการถามความเห็นของแต่ละกระทรวง ทั้งๆที่เป็นที่รับรู้ในสังคมและวงวิชาการว่า พืชและสัตว์ตัดแต่งพันธุกรรมไม่น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว แต่กระทรวงสาธารณสุขกลับเพิกเฉยไม่มีแม้ความเห็นบรรทัดเดียว เพื่อทักท้วง หรือให้ข้อสังเกต หรือขอแก้ไขสาระให้รัดกุม
 
ทั้งนี้ข่าวจากที่ประชุม ครม.ระบุชัดว่า “คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป” นี่คือหลักฐานว่า สธ.หายไปการทำหน้าที่การปกป้องสุขภาพประชาชน
 
การตัดแต่งดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ยีนที่ตัดแต่งโดยมนุษย์ ที่มีการนำส่วนของยีนของไวรัสหรือแบคทีเรียมาใส่เข้าไปในพืชหรือสัตว์ อาจสร้างหายนะได้ในระยะยาว และที่สำคัญเมื่อมีการผสมพันธุ์ของพืชหรือสัตว์จีเอ็มโอกับพืชหรือสัตว์พื้นถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ก็ย่อมจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมที่ไม่ต่างจากการเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ยีนปนเปื้อนนี้จะคงอยู่ในสายธารพันธุกรรมอีกนับพันนับหมื่นปี
 
ในปี 2550 สมัยที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความพยายามผลักดัน พรบ.จีเอ็มโอนี้เข้า ครม.แล้ว แต่ในสมัยนั้น รัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา มีจุดยืนที่ชัดเจนมากว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องปกป้องสุขภาพประชาชนเหนือผลประโยชน์ทางการค้า จึงคัดค้านอย่างเต็มด้วยหลักวิชาการ จน พรบ.ไม่สามารถผ่าน ครม.ได้ ในครั้งนั้น ครม.เพียงอนุญาตให้กระทรวงเกษตรฯ “เตรียมความพร้อมในการขยายการทดลองวิจัยพืชดัดแปลงพันธุกรรมออกไปในระดับการทดลองของทางราชการได้ โดยให้ระบุพื้นที่และชนิดของพืชให้ชัดเจนรวมทั้งมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ที่จะทำการทดลอง ตลอดจนจัดทำให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฯลฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 67 ก่อน ทั้งนี้ในการศึกษาควรมีการศึกษาโดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ข้อยุติเป็นความเห็นร่วมกันแล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติในแต่ละพื้นที่ต่อไป”
 
ซึ่งหมายความว่าในครั้งนั้น ครม.อนุญาตเพียงให้กระทรวงเกษตรเปิดแปลงวิจัยรายพื้นที่เท่านั้น อีกทั้งยังต้องมีการศึกษา EHIA หรือศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และจัดการรับฟังความเห็นประชาชน ประดุจเป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 หากศึกษาแล้วเป็นรายพื้นที่แล้วพบว่าไม่มีผลกระทบก็ให้ทำได้ ซึ่งเป็นจุดยืนที่ถูกต้องที่สุด
 
แต่ในปี 2558 ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรี กลับไม่มีจุดยืน ไม่มีความเห็น ไม่ออกมายืนนำเพื่อปกป้องผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจาก พรบ.จีเอ็มโอ  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าผิดหวัง
 
ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอเรียกร้องต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้ทบทวนจุดยืนต่อ พรบ.จีเอ็มโอนี้ และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และเปิดให้มีกระบวนการในการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น แห่งชาติ  เฉกเช่นข้อเสนอในสมัยรัฐมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา ก่อนที่ ร่าง พรบ.ดังกล่าวจะเข้าหรือไม่เข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติต่อไป
 
ประชาชนคนไทยคาดหวังบทบาทของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องสุขภาพประชาชน
 
ด้วยความเคารพนับถือ
 
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
ประธานชมรมแพทย์ชนบท
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอระบุมีการละเมิดสิทธิคนงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่ของไทย

$
0
0
27 พ.ย. 2558 บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า Swedwatch และ Finnwatch ของสวีเดน ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เจาะปัญหาการใช้แรงงานในโรงงานผลิตเนื้อไก่เพื่อส่งออกของไทย ชี้มีการละเมิดสิทธิคนงานซึ่งเป็นคนต่างชาติ กัมพูชาและเมียนมาอย่างหนักไม่ว่าจะตามกฎหมายไทยหรือตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะที่ปลายทาง ธุรกิจนำเข้าในสวีเดนก็ไม่กระตือรือร้นในการทำตามคำแนะนำให้วางเงื่อนไขในการดูแลสิทธิคนงานไว้ในการทำธุรกิจ ด้านผู้ส่งออกไทยยืนยันทำตามกฎหมาย หากจะมีปัญหาก็อยู่ในส่วนของนายหน้า
 
รายงานเรื่อง Trapped in the kitchen of the world: the situation for migrant workers in Thailand’s poultry industry. จัดทำโดย Swedwatch ที่เป็นกลุ่มตรวจสอบการทำงานของภาคธุรกิจสวีเดนในต่างประเทศ และ Finnwatch ซึ่งจับตาการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจ รายงานเป็นผลจากการสัมภาษณ์แรงงาน 98 คนมีทั้งหญิงและชายจาก 6 โรงงานของ 4 กิจการส่งออกเนื้อไก่ของไทย
 
รายงานระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้สวีเดนซึ่งเป็นผู้นำเข้าเนื้อไก่รายใหญ่จากไทย ได้เริ่มประกาศใช้ “แผนปฏิบัติการระดับชาติสำหรับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” หรือ National Action Plan for Business and Human Rights แผนนี้คาดหวังให้กิจการของสวีเดนทำธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนและทำตามคำแนะนำของสหประชาชาติในเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) ซึ่งเป็นที่มาของการที่ Swedwatch เข้าตรวจสอบการทำงานของธุรกิจสวีเดนในการค้าขายกับคู่ค้าคือไทยที่ป้อนสินค้าให้ว่าเป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่
 
แรงงานทั้งหมดที่ถูกสัมภาษณ์บอกว่า หนังสือเดินทางของพวกเขาและใบอนุญาตทำงานล้วนถูกนายจ้างหรือนายหน้ายึดไว้ แต่ละคนมีหนี้สินผูกพันในระดับต่างๆกันไปอันเนื่องมาจากการเรียกเก็บค่านายหน้าซึ่งถือว่าผิดกฎหมายรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่มีใครได้ประกันสุขภาพแม้ว่าจะมีการหักเงินจากเงินเดือนของคนงานก็ตาม นอกจากนี้ยังมีคนงานในโรงงานบางแห่งบอกว่ามีการใช้แรงงานเด็ก บางคนอายุ 14 ปีก็มี ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายแรงงานของไทยเอง การเก็บเอกสารของพวกเขาเอาไว้ก็ทำให้คนงานเหล่านี้ขาดอิสระ เดินทางได้ยาก หากทำก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินเพราะไม่มีเอกสารสำคัญ รายงานบอกว่า โรงงานทุกแห่งที่ศึกษามีการละเมิดแรงงานในระดับต่างๆกันไป และมีการใช้ความรุนแรงโดยผู้คุมคนงานและนายหน้า ซึ่งขัดทั้งต่อกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ การเอารัดเอาเปรียบและทำร้ายคนงานทั้งหมดนี้ทำให้คนงานแต่ละคนอยู่ในสภาพอับจนและไม่มีทางไป
 
รายงานบอกว่าวิธีการละเมิดหลายอย่างเมื่อตรวจสอบกับข้อบัญญัติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศแล้วพบว่าทำให้พฤติกรรมการนำคนมาจ้างงานนี้เข้าข่ายการลักลอบขนคนเข้าเมืองเพื่อนำมาฉวยประโยชน์ใช้แรงงาน
 
อีกด้านรายงานของ Swedwatch และ Finnwatch บอกว่า ธุรกิจนำเข้าไก่ของสวีเดนเองก็ละเลยไม่ดูแลสิทธิคนงาน นำเข้าโดยไม่ตั้งเงื่อนไขกับผู้ผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของรัฐบาลและยูเอ็น มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ทำตามคือ บริษัท Axfood ที่บรรจุข้อแนะนำในการปฏิบัติ UNGP เข้าไว้ในแผนการจัดหาสินค้าซึ่งก็เพิ่งทำเมื่อปีที่แล้วนี้เอง 
 
ในเนื้อหาของรายงานส่วนที่อาจกล่าวได้ว่าจะมีผลให้มีการสนับสนุนการเข้มงวดแก่ผลิตภัณฑ์ต่างชาติมากขึ้น คือส่วนที่ระบุว่า การแยกผลิตภัณฑ์จากภายนอกอียูออกจากผลิตภัณฑ์ภายในทำได้ยากมาก โดยรายงานบอกว่า ผลของการสำรวจโดย Swedwatch ที่สำรวจเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุด 5 ราย มีรายหนึ่งบอกว่า ได้ใช้เนื้อไก่จากไทยแต่ไปบรรจุหีบห่อใหม่ในชื่อของตัวเอง ผู้ค้าปลีกอีกหลายรายก็มีเนื้อไก่จากไทยผสมผสานในผลิตภัณฑ์ไก่ในชื่อที่ไม่ใช่ของตนเอง รายงานระบุว่าผลการสำรวจทำให้เห็นชัดว่า แม้แต่สินค้าที่เขียนว่ามาจากอียูก็ยังอาจจะมาจากประเทศที่สามเช่นไทยก็ได้ ทำให้ยากจะบอกได้ว่าสินค้าจากไทยเข้าไปยังตลาดเช่นสวีเดนปีละเท่าไหร่แน่ 
 
รายงานดังกล่าวนี้ได้รวมเอาคำชี้แจงจากบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่ของไทย 4 รายเข้าไว้ด้วย โดยมีการสอบถามหลายเรื่อง ประเด็นใหญ่ๆคือเรื่องของการเก็บเงินค่านายหน้า การยึดเอกสาร การข่มขู่ทำร้ายคนงานโดยซูเปอร์ไวเซอร์ในโรงงาน ในเรื่องของการเก็บค่านายหน้า เจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีตอบว่าขณะนี้บริษัทแก้ปัญหาด้วยการจ้างตรงเพื่อไม่ให้คนงานถูกเอาเปรียบ แต่เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ อาจมีคนที่ยังไม่รู้ ส่วนเรื่องว่ามีการข่มขู่คนงานนั้น บริษัทจะเฝ้าระวังไม่ให้มีปัญหานี้เกิดขึ้น สำหรับเรื่องที่คนงานบ่นว่าไม่ได้รับการประกันภัย บริษัทบอกว่าต้องจ่ายเงินเข้าระบบ 90 วันก่อนจึงจะได้รับบัตร แต่ในระหว่างนั้นก็ยังถือว่าได้รับการคุ้มครอง
 
ซีพีและสหฟาร์มต่างระบุว่า การเก็บเอกสารคนงานนั้นทำเฉพาะเวลาที่จะนำไปต่อใบอนุญาตให้กับคนงานซึ่งสหฟาร์มระบุว่า ต้องใช้เวลาถึง 105 วัน ขณะที่ซีพีบอกว่า 90 วัน แต่ต้องบวกเวลาในการรวบรวมและส่งเรื่องซึ่งกินเวลาเกือบ 20 วัน พวกเขาปฏิเสธว่าไม่เคยเรียกเก็บเงินจากคนงาน 
 
ผู้ทำรายงานมีคำถามถึงเซนทาโก้/สกายฟูดอ้างที่คนงานบอกว่าต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้นายหน้า 1,000 บาท ซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นเงินที่ผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเรียกเก็บเป็นค่าขยายพื้นที่การทำงาน นอกจากนั้นอีกหลายเรื่องบริษัทต่างๆเช่นเซ็นทาโก้ และสหฟาร์มต่างชี้แจงว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของบริษัทแต่เป็นเรื่องระหว่างซับคอนแทรคเตอร์หรือผู้เช่าเหมาช่วงกับคนงาน เช่นการยึดสมุดบัญชีคนงาน การเรียกเก็บเงินพิเศษ กับคำถามเรื่องมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 สหฟาร์มและแหลมทองต่างปฎิเสธ ในเรื่องของการทำร้ายหรือใช้ถ้อยคำรุนแรงกับคนงาน ผู้ผลิตรายใหญ่ๆต่างบอกว่า มีการอบรมซูเปอร์ไวเซอร์และตรวจสอบเสมอหากมีการกระทำดังกล่าวจะถูกลงโทษ
 
ผู้ทำรายงานได้ตั้งคำถามเรื่องคนงานบอกว่าไม่มีสัญญาจ้าง บริษัทแหลมทองระบุว่าบริษัทเป็นผู้เก็บไว้เพราะตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องให้กับลูกจ้าง พร้อมกับปฎิเสธเรื่องอื่นๆที่คนงานกล่าว ไม่ว่าเรื่องบังคับทำงานล่วงเวลา หรือไม่ให้หยุดในบางวัน มีคำถามถึงแหลมทองด้วยว่า คนงานระบุเงื่อนไขการทำงานเช่นห้ามพักเข้าห้องน้ำนานเกินวันละ 15 นาที นานเกินนั้นจะถูกหักเงิน โดยบอกว่าในทุกโรงงานมีห้องน้ำ และคนงานสามารถไปใช้ได้ในระหว่างที่ทำงาน ส่วนเรื่องไม่มีน้ำดื่มที่สะอาดไว้ให้นั้น แหลมทองปฏิเสธว่าไม่จริงแต่ก็บอกว่า พนักงานที่ทำความสะอาดอุปกรณ์ประกอบไม่ค่อยใส่ใจกับเรื่องนี้ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้ได้ตัดสินใจจ้างคนนอกเข้าไปจัดการแทน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.ระบุ 2 ผู้ต้องหาซัดทอดผู้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันที่อยู่ต่างประเทศ เร่งตามจับอีก 7 คน

$
0
0
ตำรวจเร่งสืบสวนติดตามตัวผู้ต้องหาอีก 7 คนในเครือข่ายขอนแก่นโมเดล ส่วนของผู้ต้องหาที่ถูกจับ 2 คน เริ่มให้การซัดทอดไปยังกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความกล่าวอ้างหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทางโซเซียลมีเดีย ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ

 
27 พ.ย. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการแผนงานอาญกรรมสำนักงานยุทธศาสตร์ เปิดเผยความคืบหน้าคดีขอนแก่นโมเดลว่า นอกจากการจับกุมผู้ต้องหา 2 คนแล้ว ยังมีผู้ต้องหาอีก 7 คน ที่ถูกออกหมายจับและยังหลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งส่งเอกสารไปตามด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฏหมาย ในส่วนของผู้ต้องหาที่ถูกจับ 2 คน เริ่มให้การชัดทอดไปยังกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความกล่าวอ้างหมิ่นสถาบันเบื้องสูงทางโซเซียลมีเดีย ที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ หากพบหลักฐานว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 9 คนนี้ จะยื่นขอศาลออกหมายจับทันที
 
พล.ต.ต.ชยพล ยังกล่าวถึงสำนวนคดีหมิ่นเบื้องสูงจำนวน 5 สำนวนว่า ได้ส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบสำนวนที่มี พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา ที่ปรึกษา สบ.10 เป็นหัวหน้าชุดตรวจสอบแล้ว อยู่ระหว่างรอ พล.ต.อ.สุเทพ ประชุมสรุปสำนวน คาด วันนี้ (27 พ.ย.) จะมีการสรุปสำนวนพร้อมเสนอให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาลงนามในสำนวน เพื่อส่งต่อให้อัยการศาลทหารต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนวนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เหลืออีก 7 สำนวน คาดว่า จะสรุปสำนวนส่งกองคดีได้ภายในสิ้นเดือนนี้ (ธ.ค.) แต่หากมีพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะขอออกหมายจับเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : สิทธิอันพึงมี 'ทำไมต้องให้อั้นฉี่?' 'ล็อคส้วม' ความรุนแรงต่อแรงงานหญิง

$
0
0

ทุกๆวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีในระดับสากล ที่คนทั่วโลกยอมรับร่วมกันว่า “จะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ”

ที่มาของวันนี้จากเหตุการณ์สังหารผู้หญิงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวโดมินิกัน 3 คน คือ Patria, Maria และ Minerva Mirable ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงนั้น คล้อยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมาโดยตลอด

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้มีมติให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล และในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลไทยก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

 29 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 (UNGA70) ในหัวข้อ “The United Nations at 70 – the road ahead to peace, security and human rights” ตอนหนึ่งว่า 

“ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) เมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่วางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก และยังได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระหว่างปี ค.ศ. 2010-2013 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2011 ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

“สิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากล” จึงเป็นคำสำคัญยิ่งที่บ่งบอกถึงสิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลทุกผู้ทุกนามตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในชนชั้นใดก็ตาม ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา การเมือง หรือศาสนา และมีใครมาแย่งชิงเอาสิทธิมนุษยชนไปจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ และแม้ว่ากฎหมายของประเทศนั้นๆจะไม่ยอมรับรองสิทธิมนุษยชน หรือแม้ว่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม ประชาชนของประเทศนั้นก็ยังมีสิทธิมนุษยชนอยู่ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ มีความมั่นคง และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์

แต่นั้นเอง ณ มุมเล็กๆมุมหนึ่งของประเทศไทย 1 ใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กลับกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการ “ล็อคส้วม” ไม่ให้แรงงานหญิงและแรงงานทุกคนในโรงงานแห่งนั้นได้เข้าใช้

23 พฤศจิกายน 2558 ได้มีการประกาศฉบับหนึ่งเลขที่ Memo HR.016/2015 เรื่องการทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของพนักงาน ลงชื่อโดยนายชินอิชิ นากาโอะ ประธานบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 100 % ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก ได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า,
มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ ส่งถึงพนักงานทุกคนในบริษัท

โดยระบุว่าห้องน้ำของบริษัททั้งในส่วนสำนักงานและในส่วนโรงงานสกปรกและไม่น่าใช้ เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่างๆ เนื่องจากมีผู้ใช้บริการบางส่วนใช้ห้องน้ำผิดวิธี เช่น เป็นสถานที่สูบบุหรี่ หรือใช้ห้องน้ำเป็นที่ทิ้งขยะ ดังนั้นบริษัทฯจึงแจ้งให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามหมายกำหนดการหรือตารางการทำความสะอาดของแต่ละแผนกที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป สำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ บริษัทจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558

อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯได้มีมาตรการในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

- วันที่ 20 ตุลาคม 2558 บริษัทฯได้ล็อคห้องน้ำไม่ไห้พนักงานได้ใช้ โดยอ้างว่าพนักงานที่จะใช้ได้ต้องเป็นคนทำความสะอาดห้องน้ำเท่านั้น ทั้งนี้พนักงานคนใดจะใช้ห้องน้ำต้องไปขออนุญาตจากผู้รับผิดชอบในการถือกุญแจไขห้องน้ำตามที่บริษัทฯมอบหมายก่อน

- วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานมาปรึกษาหารือร่วมกับนายจ้างและสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องที่ยังไม่เป็นที่ยุติระหว่างบริษัทฯกับสหภาพแรงงาน (พิพาทแรงงาน) ทางสหภาพแรงงานฯจึงได้แจ้งปัญหาเรื่องดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ทราบ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้หารือกับบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าจะไม่มีการล็อคห้องน้ำแต่อย่างใด

- วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558  สหภาพแรงงานฯได้ขออนุญาตประธานบริษัทฯเพื่อขอใช้ห้องน้ำที่แผนกจัดส่ง ระหว่างชี้แจงสถานการณ์พิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงเย็น โดยบริษัทฯได้อนุญาต แต่พอถึงเวลาดำเนินการจริง พนักงานไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริษัทฯแจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าให้ใช้ได้เฉพาะพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์เพียงเท่านั้น ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯต้องไปขออนุญาตบริษัทฯฝั่งตรงข้ามเข้าห้องน้ำแทน

- วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ได้มีผู้บริหารบางแผนกได้มีการเรียกพนักงานไปพบเพื่อสอบถามกรณีไม่ล้างห้องน้ำตามคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 และได้แจ้งต่อว่า ถ้าพนักงานคนไหนไม่ล้างห้องน้ำ จะส่งชื่อให้ผู้จัดการฝ่ายบุคคลลงโทษด้วยใบเตือนที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวนี้

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรคุ้มครองลูกจ้างที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวนสมาชิกทั้งหมด 653 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 278 คน และยังตั้งครรภ์ร่วมด้วยอีก 16 คน

ปัจจุบันมีนายอมรเดช ศรีเมือง เป็นประธาน และนายคำพันธ์ จูมนอก เป็นเลขาธิการ เป็นองค์กรสมาชิกโดยตรงของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก , สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ตามลำดับ รวมถึงยังเป็นองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองให้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เพียงแค่การ “ล็อคส้วม” ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ดูราวกับไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในเชิงสุขภาพแล้ว นี้คือความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกายและระบบอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอย่างร้ายกาจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเรือนร่างความเป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ

ท่อปัสสาวะของผู้หญิงนั้นสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์มีกลไกธรรมชาติที่สำคัญในการที่จะขับเอาเชื้อโรคที่อาจจะหลุดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะออกไป คือ การปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆครั้งที่มีการปัสสาวะก็คือ การล้างเอาเชื้อโรคที่พลัดหลงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะทิ้งสู่ภายนอกนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อมีการ “ล็อคห้องน้ำ” หรือ “ต้องขออนุญาตให้เปิดห้องน้ำให้เข้าใช้” จึงคือ “การกลั้นปัสสาวะหรืออั้นฉี่ไว้นั้นเอง”

ไม่แตกต่างกับการที่ปล่อยให้เกิดน้ำขังนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียนไว้ในบ่อเป็นเวลานานๆ เชื้อโรคต่างๆก็จะเจริญเติบโต มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน้ำในบ่อเน่าเสีย ดังนั้นเชื้อโรคก็จะวิ่งเข้าเล่นงานอวัยวะที่ใกล้ที่สุด นั่นก็คือ กระเพาะปัสสาวะ จนทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา บางคนติดเชื้อแทรกซ้อนกลายเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้เสียชีวิตได้

ไม่เพียงในเชิงสุขภาพที่เป็นปัญหา อีกทั้งถ้าพิจารณาในเชิงกฎหมาย ประกาศฉบับนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นลูกจ้างที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ กฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย และมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่

(1)   ในระเบียบข้อบังคับการทำงานของพนักงานซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด ไม่มีระเบียบข้อใดหรือในหมวดใดๆเลยที่ได้ระบุเรื่องการที่พนักงานต้องเป็นผู้ทำความสะอาดห้องน้ำจึงจะสามารถใช้ห้องน้ำในโรงงานได้ อีกทั้งเมื่อมาพิจารณาที่กฎหมายด้านแรงงาน รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ระบุชัดเจนเรื่อง “สวัสดิภาพในการทำงานของลูกจ้างที่จักต้องได้รับความคุ้มครองในระหว่างการจ้างงาน”ดังนี้

- กฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งออกโดยกระทรวงมหาดไทย , กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และ กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ได้มีการกำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสำหรับลูกจ้างไว้ว่า “บังคับให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องมีการจัดสวัสดิการประเภทสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับลูกจ้าง เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ให้นายจ้างจัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ห้องน้ำ และห้องส้วมอันถูกต้องตามสุขลักษณะและมีปริมาณเพียงพอแก่ลูกจ้าง”

- พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 14/1 ระบุว่า “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรม”และในหมวด 8 เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็ได้ระบุชัดเจนอีกว่า “นายจ้างต้องดำเนินการด้านการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน”

- พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 4 ระบุว่า “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมายความว่า การกระทำหรือสภาพการทำงานซึ่งปลอดจากเหตุ อันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยอันเนื่องจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน”  และมาตรา 6 ระบุว่า “ให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย”

- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ระบุไว้ในมาตรา 86 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม”

- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุไว้ในมาตรา 44 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน”  และมาตรา 84 วงเล็บ (7) ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

- รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

- มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2549 โดยอนุสัญญาฉบับนี้ได้ระบุเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ “รัฐต้องส่งเสริมนายจ้างให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีต่อสุขภาพอนามัยและมีความปลอดภัย ซึ่ง กำหนดให้หลักการแห่งการป้องกันมีลำดับความสำคัญสูงสุดมากกว่าหลักการเยียวยาและแก้ไข”

 (2)      การที่บริษัทฯอ้างว่า “การกำหนดกิจกรรมการทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน ถือเป็นการปลุกจิตสำนึกในการรักความสะอาดให้กับพนักงาน และเป็นการสร้างวินัยขั้นพื้นฐานให้กับพนักงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปนั้น สำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืน จะลงโทษตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานต่อไป”

ถ้าพิจารณาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) เรื่องจ้างแรงงาน ในมาตรา 583 ได้ระบุไว้ว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”

และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2548 ที่ได้วางแนวปฏิบัติไว้ว่า “ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้”

ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาที่ประกาศฉบับนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งกับบทบัญญัติในกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้แล้วในข้อ (1) ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นบริษัทฯจึงมิสามารถสั่งลงโทษพนักงานในเรื่องดังกล่าวนี้ได้

อีกทั้งถ้าบริษัทฯจะเปลี่ยนข้อบังคับในการทำงานที่บริษัทฯได้กำหนดขึ้นมาใหม่นี้ แน่นอนนี้ย่อมเป็นสิทธิที่นายจ้างจะกระทำได้ตามหลักการบริหารงานภายในบริษัทฯ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ได้ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน กล่าวได้ว่าจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง การที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จึงถือเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9017/2550 วางบรรทัดฐานเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนแล้ว

(3)       เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด กับสหภาพแรงงานซันโคโกเซประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนายจ้างกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน”ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯไม่เคยมีประกาศใดๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ห้องน้ำ

 แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่าบริษัทฯกับสหภาพแรงงานมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 พบว่า บริษัทฯได้มีการกดดันพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการล็อคห้องน้ำเป็นมาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้

 เช่น บริษัทฯได้ออกหนังสือให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯสละสิทธิ์ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ถ้าสมาชิกสหภาพคนใดลงนามแล้วให้มาทำงานและสามารถทำ(OT) ได้ตามปกติ หรือการที่บริษัทฯประกาศเปิดโครงการสมัครใจลาออกโดยอ้างได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มีการเปิดสมัครพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายเข้ามาทำงานในโรงงาน เพื่อกดค่าแรงให้ต่ำลงและไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายสวัสดิการ เป็นต้น

เหล่านี้คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในมุมเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศไทย ประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ประกาศต่อคนทั้งโลกว่า “ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงแรงงานในฐานะองค์กรใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีกลับมิสามารถจัดการใดๆได้เลย อีกทั้งยังปล่อยให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดำเนินมาจนถึง ณ วันนี้ วันที่ “ส้วมยังคงถูกล็อคอยู่” และการ “อั้นฉี่” ก็กลายเป็นเรื่องปกติในโรงงานแห่งนี้ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยวอลมาร์ท'ใช้อำนาจเกินเหตุ'-ให้เอฟบีไอและบรรษัทค้าอาวุธสอดแนมแรงงานในสหรัฐ

$
0
0

สำนักข่าวนอกกระแสคอมมอนดรีมส์รายงานว่าบรรษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่วอลมาร์ททำการลิดรอนสิทธิของแรงงานมาเป็นเวลาหลายปีแล้วด้วยการขอความช่วยเหลือจากเอฟบีไอให้คอยสอดแนมกลุ่มคนงานที่รณรงค์ขึ้นค่าแรงเป็น 15 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง-กับคนงานที่จัดตั้งการประท้วงแบล็กฟรายเดย์ในปี 2555-2556

การประท้วงของพนักงานวอลมาร์ท เมื่อเดือนตุลาคมปี 2555 (ที่มาของภาพประกอบ: Matt Hamilton/Flickr.com/CC BY-SA 2.0)

26 พ.ย. 2558 แมรี แพต ทีฟฟ์ พนักงานวอลมาร์ทอายุ 27 ปีในวิสคอนซิลกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพวกเขาเป็นคนงานที่พยายามต่อสู้เพื่อให้คนงานได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีเวลาว่างสังสรรค์กับครอบครัวแต่วอลมาร์ทกลับมองพวกเขาเป็นภัยและใช้วิธีจ้างบรรษัทด้านกลาโหมและเอฟบีไอมาเพื่อรับมือกับพวกเขาถือเป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดได้ในระดับที่น่าประหลาดใจ

ข้อมูลเรื่องสอดแนมดังกล่าวมีระบุในเอกสารที่เปิดเผยในวันอังคารที่ผ่านมา โดยในเอกสารระบุถึงคำให้การของบริษัทต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้ว่าทางวอลมาร์ทได้ขอความช่วยเหลือจากผู้ค้าอาวุธอย่างล็อกฮีด มาร์ติน กับหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจต่อต้านการก่อการร้ายองเอฟบีไอ เพื่อให้คอยสอดแนมคนงานที่เป็นผู้นำการเรียกร้องค่าแรงและสิทธิในการตั้งสหภาพ ซึ่งองค์กรแรงงานของพนักงานวอลมาร์ทที่ชื่อ OUR Walmart เปิดเผยว่าพวกเขาโดนสั่งเลิกจ่างอย่างผิดกฎหมายและถูกลงโทษทางวินัยจากการที่พวกเขาเคยนัดหยุดงานประท้วงในช่วงที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2556

อย่างไรก็ตามวอลมาร์ทมีการสอดแนมพนักงานของตนเองมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่ปี 2555 โดยผู้บริหารของวอลมาร์ททำการตอบโต้แผนการประท้วงของคนงานทั่วประเทศสหรัฐฯ ในช่วงแบล็กฟรายเดยปี 2555 ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนในประเด็นนี้ว่าทางวอลมาร์ทมีการระบุถึงกรณีรับมือกับการประท้วงโดยมีรายละเอียดยาวกว่า 1,000 หน้าเนื่องจากพวกเขามองว่าการพยายามจัดตั้งคนงาน 1 ล้านคนจากร้านค้า 4,000 สาขาทั่วสหรัฐฯ ถือเป็นสิ่งที่ "เป็นภัยสำหรับพวกเขา"

รายงานของนักข่าวบลูมเบิร์กระบุต่อไปว่าทางวอลมาร์ทไม่เพียงแค่จัดตามองกลุ่มผู้นำแรงงาน OUR Walmart ที่มีอยู่ราว 100 คนเท่านั้น พวกเขายังพยายามจับตามองคนงานที่มีท่าทีสนับสนุน OUR Walmart เพื่อหวังจะข่มขู่คุกคามพวกเขาด้วย

วอลมาร์ทได้จัดตังทีมโต้ตอบฉุกเฉินของตัวเองขึ้นในชื่อทีม "เดลตา" ซึ่งต่อมาทีมนี้ได้ขอให้หน่วยงานของเอฟบีไอเข้าร่วมจับตามองการประท้วงในช่วงที่มีการประชุมผู้ถือหุ้นในปี 2556 เนื่องจากทีมเดลตาเล็งเห็นว่ากลุ่มขบวนการอ็อคคิวพาย (Occupy movement) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านทุนนิยมบรรษัทจะเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกับบรรษัทล็อกฮีต มาร์ติน เพื่อสร้างแผนที่ติดตามการเดินขบวนของกลุ่มแรงงานรวมถึงประเมินจำนวนผู้ร่วมชุมนุม

ทิฟฟ์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ควรหันมาสืบสวนกรณีที่วอลมาร์ทเลิกจ้างคนงานเกือบ 20 คน และลงโทษทางวินัยคนงาน 70 คนเพียงเพราะพวกเขาเข้าร่วมเดินขบวน แทนที่จะสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์ไปกับความพยายามใช้ยุทธศาสตร์แบบปลอมๆ เพื่อติดตามกลุ่มคนงานแรงงานขั้นต่ำผู้หิวโหยซึ่งสมควรได้รับค่าจ้างมากขึ้นละได้รับความเคารพในฐานะมนุษย์

อย่างไรก็ตามคอมมอนดรีมส์รายงานว่าขบวนการเคลื่อนไหวทั่วสหรัฐฯ เพื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเริ่มได้รับชัยชนะมากขึ้นเรื่อยๆ และคนงานก็จะไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจในการประท้วงเรียกร้องสิทธิของตนเองไปง่ายๆ

เรียบเรียงจาก

'Mind-Blowing Abuse of Power': Walmart Spied on Workers With FBI, Lockheed Martin's Help, Common Dreams, 25-11-2015 http://www.commondreams.org/news/2015/11/25/mind-blowing-abuse-power-walmart-spied-workers-fbi-lockheed-martins-help

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พุทธะอิสระนำโวย ‘ไทยมิใช่ทาส’ หน้าสถานทูตสหรัฐฯ หลังทูตออกมากังวล กฎหมายหมิ่นเบื้องสูง

$
0
0

27 พ.ย. 2558 มติชนออนไลน์รายงานว่า พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นำประชาชน มาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่หน้า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศไทย

โดย พระพุทธะอิสระ ได้เผยแพร่จดหมายจากใจประชาชนคนไทย ถึงเอกอัครราชทูตอเมริกา ประจำประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)’ โดยระบุว่า จากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่สถานทูต ตลอดจนเอกอัครราชทูตแต่ละคนที่เข้ามาทำหน้าที่ในแผ่นดินไทย พยายามเข้ามามีบทบาท แทรกแซง ชี้นำ วิพากษ์วิจารณ์ ต่อกิจการภายในของประเทศไทยในทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการออกกฎหมายที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

“หนำซ้ำยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ไร้มารยาท ผิดปกติวิสัยมิตรที่ดีจะพึงมีต่อกัน ขาดการให้เกียรติ ไม่ยอมรับในความต่าง ดูถูกศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และเหยียบย่ำอารยะธรรมของบรรพบุรุษไทย” พระพุทธะอิสระ  ระบุในจดหมาย

นอกจากนี้จดหมายยังระบุด้วยว่า พวกตนคนไทยมีความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมของมหามิตรที่ดีที่กระทำต่อกัน แต่กลับทำประหนึ่งว่าประเทศไทยเป็นทาส เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐ จะจิกหัวตำหนิติด่าตามความพอใจ โดยไม่เกรงใจ ไม่ให้เกียรติ ไม่ยอมรับในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มีของชนชาติไทย

ประเทศสหรัฐโดยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ทูตประจำประเทศไทยพยายามจะใช้มาตรฐานของตนเองมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย และมีเจตนาที่จะกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่สหรัฐมุ่งหวัง ทั้งที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจ ไม่สมควร

“ท่านทูตสหรัฐต้องไม่ลืมว่าแผ่นดินไทย คนไทย มิได้เป็นทาสหรือเมืองขึ้นของสหรัฐ ประเทศสหรัฐไม่มีอำนาจมาบงการ แทรกแซง ชี้นำ หรือล้มล้างกฎหมายของแผ่นดินไทย โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองสถาบันหลักของชาติ ซึ่งพวกเราถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมแรงรวมใจและความมั่นคงของชาติ” พระพุทธะอิสระ  ระบุในจดหมาย

สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ที่คนไทยทุกคนพร้อมที่จะอุทิศชีวิตเพื่อปกป้อง หากประเทศสหรัฐโดยสถานทูตมีความจริงใจที่จะดำรงรักษาเอาไว้ซึ่งความสงบสุขของชาติไทยและรักษาบรรยากาศของมิตรประเทศที่ดี ก็ควรจะเรียนรู้แล้วทำความเข้าใจว่า ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์คือจิตวิญญาณของคนไทย จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้

การที่นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงทั้งที่เหยียบยืนอยู่ในแผ่นดินไทย ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติมิตรประเทศ ผิดมารยาทของทูตที่ดีอันควรกระทำ อีกทั้งยังมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ปกป้องพระมหากษัตริย์ ผู้ซึ่งทรงเป็นประมุขของประเทศ ยิ่งเป็นการมิบังควร เป็นการเหยียดหยามทำลายจิตใจและศักดิ์ศรีของประเทศไทย

พระพุทธะอิสระ  ระบุในจดหมายอีกว่า พวกตนจึงต้องพากันมาร้องตะโกนบอกกับท่านทูตว่า อย่าเสียมารยาท ประเทศไทยมิใช่ทาสหรือเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐที่คิดจะทำอะไรก็ได้ อย่ามาทำลายความเป็นมิตรประเทศด้วยการเข้าจุ้นจ้านแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยอีกเลย อย่าพยายามใช้มาตรฐานของตนมาครอบงำข่มขู่บังคับให้ประเทศไทย คนไทย ต้องเปลี่ยนไปตามประเทศสหรัฐ ถ้าคุณทำก็เท่ากับคุณกำลังทำลายจิตวิญญาณของคนไทย พวกตนไม่ยินยอมแน่นอน

“หากคิดจะเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกันก็ควรจะยอมรับความต่างและให้เกียรติซึ่งกันและกัน และช่วยกันสร้างบรรยากาศของความร่วมมือ เพื่อให้มิตรประเทศอยู่ร่วมกันได้อย่างจริงใจ สันติ เจริญรุ่งเรือง” พระพุทธะอิสระ  ระบุตอนท้ายของจดหมาย

ทูตสหรัฐฯ กังวลกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงไทย ชี้ไม่ควรถูกจำคุกฐานแสดงความเห็นอย่างสันติ

โดยเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์  ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ขณะที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร โดยนายกลิน ที. เดวีส์  เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ราวๆ 9 สัปดาห์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็อ้างถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสรเสรี “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)

พัฒนาการการเพิ่มโทษของ ม.112

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากนั้นมีการรัฐประหารและต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเพื่อเพิ่มโทษและมีการกำหนดโทษขั้นต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่า “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

โดยที่ก่อนหน้านั้นมีโทษที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) และล่าสุดที่มีการแก้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จนกระทั่งมีการกำหนดโทษขั้นต่ำและเพิ่มโทษดังที่เป็นอยู่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สตง. ยืนยัน 'อุทยานราชภักดิ์' มีการใช้งบกลาง 'ประวิตร' ตั้ง 'พล.อ.ชาญชัย' เป็น ปธ.สอบ

$
0
0
ผู้ว่า สตง. ยืนยันว่า การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีการใช้งบกลางราว 63 ล้านบาท พร้อมย้ำว่า สตง. มีอำนาจสอบสวน ด้าน 'ประวิตร' ลงนามตั้ง 'พล.อ.ชาญชัย' รองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานตรวจสอบบุคคลเกี่ยวข้อง ระบุหากผิดจริงส่ง ปปช. 'พรรคเพื่อไทย' ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 'อุดมเดช-ประยุทธ์' รับผิดชอบ

 
27 พ.ย. 2558 Nation TVรายงานว่านายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยืนยันว่า เงินจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เป็นการใช้งบกลางของรัฐบาลประจำปีงบประมาณปี 2558 จำนวนราว 63 ล้านบาท และกำลังตรวจสอบว่า การใช้เงินนี้ซ้ำซ้อนกับเงินส่วนอื่นหรือไม่ พร้อมย้ำว่า เงินที่ใช้ในหน่วยงานราชการ หรือทรัพย์สินของส่วนราชการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินสามารถเข้าตรวจสอบได้ทั้งหมด ไม่ยกเว้นเงินค่าบริจาคก่อนหน้านี้ มีความเห็นมาจากประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ที่บอกว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายงบกลางจำนวนนี้ คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก โดยสั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบก เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และพบด้วยว่า มีการเบิกจ่ายเงินจากงบกลางไปแล้วกว่า 80% ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วไปความเห็นจาก หน่วยงานตรวจสอบทั้งสองหน่วยงาน แตกต่างไปจาก คำยืนยันของฝ่ายกองทัพ ที่ย้ำว่า โครงการอุทยานราชภักดิ์ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ทั้งหมดมาจากเงินบริจาค จึงไม่จำเป็นต้องให้ ป.ป.ช. หรือ สตง. มาร่วมตรวจสอบ
 
'ประวิตร' ลงนามตั้ง 'พล.อ.ชาญชัย' รองปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นประธานตรวจสอบ
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ได้ลงนามเซ็นแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยมอบให้พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งไม่ได้ตั้งกรอบเวลาในการทำงาน ให้คณะกรรมการดำเนินการไป ตรงไหนเป็นประเด็น ก็ตรวจสอบ ความจริงเรื่องอุทยานราชภักดิ์ มีการตรวจสอบสวนอยู่แล้ว ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)คณะกรรมก่รป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช. )ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
 
"คณะกรรมการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ที่กระทรวงกลาโหมตั้งขึ้นมา เพื่อไปดำเนินการ ดูว่า ตรงไหนมีปัญหาและ สืบหาข้อเท็จจริง และอะไรที่ทางคณะกรรมการตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ของกองทัพบก ตรวจสอบแล้วมีประเด็น ก็จะดำเนินการสืบต่อ แต่เน้นเป็นบุคคล เพราะโครงการราชภักดิ์เคลียร์แล้ว ไม่มีอะไรแล้ว แต่ ตรงไหนเกี่ยวกับบุคคลจะไปดู"พล.อ.ประวิตร กล่าว 
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ สตง.ออกมาระบุว่า การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีการใช้งบกลาง 63 ล้านบาท พล.อ.ประวิตร กล่าวว่างบกลางมีไว้สนับสนุนทุกหน่วยงาน ตรงไหนมีปัญหาก็เอางบกลางไปใช้ได้ แต่งบกลางตรงนี้ไม่ได้เข้าอยู่ในโครงการอุทยานราชภักดิ์ หรืออาจเกี่ยวกับพื้นที่ที่จัดสร้างซึ่งเป็นพื้นที่ของกองทัพบก ทางกองทัพบกก็ดำเนินการไป ยืนยันว่าทางรัฐบาลให้งบกลางกับทุกหน่วยงาน ไม่ว่าใครจะขออะไร ไม่ใช่เฉพาะโครงการราชภักดิ์ 
 
เมื่อถามว่า จะตรวจสอบบุคคลถึงระดับใด พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตรงไหนที่ปัญหายังไม่รู้ ซึ่งคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้นมา ไม่ได้มาตรวจสอบเพื่อจะลงโทษใคร เพราะมีคณะกรรมการข้างนอกตรวจสอบอยู่แล้ว แต่คณะกรรมการชุดของกระทรวงกลาโหม ตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงในการดำเนินการในโครงการนี้ของแต่ละบุคคล หากพบมีความผิดก็ส่งให้เจ้าหน้าที่ ปปช สตง. ดำเนินการต่อไป ส่วนจะตรวจสอบถึงใครบ้างยังไม่รู้ รอให้คณะกรรมการตรวจสอบได้ทำงานก่อน ขอให้ใจเย็นๆ ไม่ต้องเร่งรีบ และตนคิดว่าโครงการอุทธยานราชภักดิ์ ควรจะจบได้แล้ว และตนจะตอบวันนี้เป็นวันสุดท้าย ต่อไปจะไม่ตอบแล้ว 
 
เมื่อถามว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ต้องมาให้ข้อมูลหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ทราบ เดี๋ยวให้เค้าว่าไป ซึ่งยืนยันคณะกรรมการชุดของกระทรวงกลาโหม ไม่เกี่ยวกับชุดที่กองทัพบกตั้งขึ้น เป็นการตรวจสอบคนละเรื่องกัน
 
'พรรคเพื่อไทย' ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 'อุดมเดช-ประยุทธ์' รับผิดชอบ
 
ด้านพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง โครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยเรียกร้องให้ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ควรพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อพลตรีสุชาติ พรมใหม่ และพันเอกคชาชาติ บุญดี  ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และ 113 ตลอดจนความผิดทางอาญาอื่นๆ พลเอกอุดมเดช จึงมีความมัวหมองอย่างยิ่งที่อาจจะถูกมองว่าเกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ ที่กำลังถูกกล่าวหาอยู่
 
พลเอกอุดมเดช ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ร.21 และ ผบ.ทบ. และการเป็นราชองครักษ์ จึงย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเพื่อความสง่างาม เพื่อดำรงศักดิ์ศรีของกองทัพบกและเพื่อรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ พลเอกอุดมเดช ไม่อาจดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้อีกต่อไปแม้แต่น้อย
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีต ผบ.ทบ., พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่า
 
การกระทรวงกลาโหม และอดีต ผบ.ทบ.และพลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และอดีต ผบ.ทบ. จะต้องร่วมกันตัดสินใจ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความจงรักภักดีของกองทัพบกที่มีต่อสถาบันอย่างหาที่สุดมิได้ให้จนได้
 
2) เมื่อปรากฏว่ามีการใช้งบกลางของรัฐบาล และรัฐบาลมีมติ ครม.มอบหมายให้กองทัพบกเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ จึงมีความชัดเจนว่าโครงการอุทยานฯ อยู่ในความรับรู้เห็นชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังมีข่าวภาพทางสื่อบ่งบอกว่านายกรัฐมนตรีมีความสนิทสนมกับเซียนพระผู้รับจ้าง ถึงขนาดไปแสดงความยินดีเมื่อบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.ในขณะที่ตนเองดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแสดงออกมาโดยตลอดเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ จึงสวนทางกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีพฤติกรรมปกปิด ปฏิเสธความรับผิดชอบ ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติของ คสช.เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม
 
พรรคเพื่อไทยจึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบกับกรณีดังกล่าว ในฐานะที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่แถลงต่อสาธารณะว่าจะปกป้องสถาบันฯ และจะป้องกันปราบปรามการทุจริต นอกจากนั้น รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งปวง จะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดขึ้น
 
3) เมื่อมีพฤติการณ์ว่ามีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น มีการแสวงหาประโยชน์จากโครงการ ย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช., ส.ต.ง., ส.ต.ช., กรมสอบสวนคดีพิเศษ, ป.ป.ง.ที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบโดยพลัน ทั้งนี้การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงกลาโหม(พลเอกปรีชา จันทร์โอชา) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ย่อมมีปัญหาในทางหลักการว่าจะเป็นการสอบสวนด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการแทรกแซงใดๆ และจะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ที่ถูกต้องควรมอบหมายหน่วยงานที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงให้เข้ามาตรวจสอบ จึงจะมีความถูกต้องและเป็นที่ยอมรับได้มากกว่า
 
นอกจากนี้ ทางพรรคเพื่อไทยจึงเห็นเป็นความจำเป็นที่จะต้องแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ รวมทั้งเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้รับผิดชอบดังกล่าว คือ
 
1. ปรากฏข้อเท็จจริงกรณีนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) เปิดเผยว่า เงินที่ใช้ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลาง จำนวน 63.57 ล้านบาท โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินคือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก จึงเห็นได้ว่าโครงการอุทยานฯ ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งขัดแย้งกับคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าโครงการอุทยานฯ ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด
 
2. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรและดำเนินการก่อสร้างมีราคาสูงผิดปกติ เช่น งานสร้างป้ายทางเข้า (ป้ายชื่อ) ใช้งบประมาณถึง 5,031,700 บาท งบประมาณสร้างอาคารรักษาความปลอดภัย 2,254,300 บาท งานก่อสร้างรั้วรอบบริเวณภายในอุทยานราชภักดิ์ ใช้งบประมาณถึง 9,343,500 บาท เป็นต้น
 
3. ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศาลทหารได้ออกหมายจับที่ 33/2558 และ 35/2558 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 และที่ 47/2558 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ให้จับกุมดำเนินคดีกับพันเอกคชาชาติ บุญดี และพลตรีสุชาติ พรมใหม่ สำหรับพลตรีสุชาตินั้นเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิราชภักดิ์ ซึ่งมีพลเอกอุดมเดช สีตบุตร เป็นประธานมูลนิธิฯ อีกทั้งเคยทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการของพลเอกอุดมเดช มาตั้งแต่ครั้งเป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ร.11 รอ.พล1 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทหารคุมหน่วยรบที่สำคัญยิ่งของกองทัพบก และครั้นเมื่อพลเอกอุดมเดช กำลังจะเกษียณอายุ ก็ได้เลื่อนตำแหน่งให้กับพันเอกสุชาติ พรมใหม่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ อัตราพลตรี
 
สำหรับพันเอกคชาชาติ บุญดีนั้น พลเอกอุดมเดชได้แต่งตั้งให้เป็น ผบ.กรมทหารพรานที่ 36 ทภ.3 และจากนั้นได้ย้ายให้มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ป.11 รอ.ทภ.1 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการทหารที่มีความสำคัญในกองทัพบกเช่นกัน และสุดท้ายเมื่อพลเอกอุดมเดชใกล้เกษียณอายุ ก็ได้ออกคำสั่งเลื่อนพันเอกคชาชาติ เป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 แต่เมื่อพลเอกธีรชัย นาควานิช มาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้ยกเลิกคำสั่งพร้อมส่งตัวพันเอกคชาชาติ บุญดี กลับกองทัพภาคที่ 3 โดยเหตุนี้ทั้งพลตรีสุชาติ พรมใหม่และพันเอกคชาชาติ บุญดี จึงเป็นนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับพลเอกอุดมเดช ทำหน้าที่ประหนึ่งนายทหารคนสนิท และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิเศษต่างๆ มากมาย นอกเหนือจากตำแหน่งทางทหารที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เช่น โครงการอุทยานราชภักดิ์ที่พลตรีสุชาติ ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิราชภักดิ์
 
"พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะเพิ่มเติมดังที่กล่าวมาในข้อ 1 ถึงข้อ 3 ชี้ให้เห็นว่าโครงการอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของทางราชการ มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างชัดเจน การปฏิเสธความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในระดับชั้นต่างๆ โดยลำดับมา จึงเป็นความบกพร่องและไม่รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: อันเหลือเชื่อ!

$
0
0


 

อุทัยดิ้นทุรนทุรายก่อนตาย
เขาตายเพราะเลือดติดเชื้อ
ถูกตัดสินคดีความอันเหลื่อเชื่อ
เรื่องที่คุณเบื่อเผาศาลากลาง

ก่อนหน้านี้วันชัยก็ตาย
เขาตายช่วงติดคุกยามรุ่งสาง
เรื่องราวชุลมุนปี 53 ยังไม่จาง
"เขาถูกจ้างมาชุมนุม" นั่นข้อหา

ไม่นานนี้ก็มีกลุ่มหมอหยอง
มีครรลองคล้ายคลึงคล้ายกับว่า
อ้างเบื้องสูงหาประโยชน์เลือดเข้าตา
สิ้นใจตายคาคุกที่ถูกขัง

คนเล็กคนน้อยตายลงทุกวัน
จบสิ้นพลันกับความจริงที่ถูกฝัง
คนที่อยู่ก็อยู่ไปในรวงรัง
ระแวงระวังสังคมไทยอะไรกัน?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใหม่ใหม่ ใหม่มั้ย (2) ดาว โรงน้ำชา (ประชาธิปไตย-ความหลากหลายทางเพศ)

$
0
0

คุยกับ ดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลายทางเพศ ในนามกลุ่มโรงน้ำชา ย้ำสิ่งที่ต้องการคือ การยอมรับคนทุกคนในฐานะ มนุษย์ พร้อมแสดงจุดยืน ความหลายทางเพศไปกันไม่ได้กับระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ใหม่ใหม่ ใหม่มั้ย ตอนที่สอง ชวนรับฟัง ขบคิด และทบทวน ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศ กับคุณดาว ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากกลุ่มโรงน้ำชา และเป็นหนึ่งในผู้นำเยาวชนไทย ที่เข้าร่วมโครงการผู้นำเยาวชนอาเชียน YSEALI Summit 2015 ที่สำคัญเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมที่ยกมือถามคำถามต่อ ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถึงประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของกลุ่มคนที่มีตัวตนที่แตกต่าง

สำหรับในรายการ เธออธิบายถึงแนวทางในการเคลื่อนไหวในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เป็นการก่อรูปก่อร่างจากฐานล่าง ทว่าเป็นการดำเนินการทางนโยบายกับรัฐโดยตรง ผ่านการเสนอกฎหมาย และการล๊อบบี้ ซึ่งนั้นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ขบวนการความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังไม่เข้มแข็งเท่ากับประเทศอื่นๆ  ขณะเดียวกันเธอเห็นว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องความหลากหลายทางเพศจะมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จะต้องยึดที่หลักการประชาธิปไตย กฎหมายที่จะออกมาเพื่อที่จะยอมรับความหลากหลายทางเพศเองก็ควรจะมีกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่กระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วม และนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอ ไม่เข้าร่วมกับกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่า เลิกคบหาสมาคม หรือเลิกเคลื่อนไหวเชิงประเด็น กับกลุ่มเพื่อนที่เห็นดี เห็นชอบ การกระทำในทางตรงกันข้ามกับความเชื่อของเธอ

พักกลับมามองที่สังคมไทยในช่วงระยะหลังๆ ที่ผ่านมา เรามองเห็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่มากเพิ่มขึ้น จนคล้ายกับว่า สังคมไทย ยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในฐานะมนุษย์ อย่างสมบูรณ์เต็มที่แล้ว แต่ไม่เลย เธอกลับเห็นว่า แม้สังคมไทยส่วนหนึ่งจะยอมรับ แต่ในแง่ของกฎหมายยังมีหลายเรื่องที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศยังเป็นส่วนที่ไม่ถูกนับโดยรัฐ และสังคมอยู่ดี ปัญหาที่เป็นเช่นนี้ เกิดจากอะไร ดาว อาจจะมีคำตอบให้ภายใต้กรอบมุมมองของเธอ จะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ถูกใจ ไม่ถูกใจ เราเชื่อว่าเธอมีพื้นที่อีกมากให้กับการถกเถียง แลกเปลี่ยน เพราะพื้นที่นั้นเป็นพื้นฐานที่สุดของหลักการประชาธิปไตย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘เขื่อนป้องกันน้ำท่วม กทม.-บ้านมั่นคง’ ใครหนุน-ใครคัดค้าน และเสียงจากคนริมคลอง

$
0
0

 

ความเป็นมา

หลังมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัว และจะต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลงไปในคลอง แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจเสียก่อน ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ

โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9-รามคำแหงไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลต่อไป โดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาทเศษ หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานครทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะบุกรุกปลูกบ้านเรือนบนที่ดินของราชพัสดุ (กรมธนารักษ์ดูแล) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และบางส่วนปลูกรุกล้ำลงไปในคลองมายาวนานหลายสิบปี แต่รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา รวมทั้ง กทม. ไม่มีฝ่ายใดกล้าเข้ามาจัดระเบียบชุมชนริมคลองต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นปัญหาด้านมวลชนหรือกระทบต่อฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ แต่เมื่ออยู่ในยุคของ คสช.ที่ไม่ต้องกังวลต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช.จึงสั่งให้เดินหน้าโครงการนี้เต็มที่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะขึ้นมา โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน ฯลฯ มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง เพื่อให้การพัฒนาชุมชนรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำดำเนินไปอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ

ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เปิดประมูลงานก่อสร้างเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และต่อมาในเดือนตุลาคมจึงได้บริษัทที่รับเหมางานในวงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับทาง กทม. เนื่องจากต้องรอให้ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง รวมทั้งยังต้องรอให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองหรือแนวเขื่อนรื้อย้ายออกมาก่อน เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้าไปก่อสร้างเขื่อนได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงนามในสัญญาจ้างจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

โครงการบ้านมั่นคงกับการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน ซึ่งจำนวนบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองนี้ สำนักการระบายน้ำระบุว่าทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นจึงต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบทในรูปแบบ “บ้านมั่นคง” มาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว บางบัว ฯลฯ มาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ โดยพอช.ได้จัดทำแผน 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) มีเป้าหมาย 66 ชุมชนริมคลอง จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน เพื่อรองรับชาวบ้านจำนวน 58,838 คน

โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัยคือ 1.กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้ 2.กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง และ 3.จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก พอช. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ชุมชนเดิม ดังนั้นในกรณีนี้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัย ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่าๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน ส่วนในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิม หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และเงินอุดหนุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค

“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา หน่วยงานภายนอก เช่น พอช.มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง” สยามกล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง

ใครคัดค้าน ?

โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ในช่วงแรกซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในช่วงต้นปี 2560 ในคลองสายหลักคือ คลองลาดพร้าว เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อระหว่างคลองแสนแสบ-คลองลาดพร้าว บริเวณย่านถนนพระราม 9 ลอดใต้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรามายังคลองลาดพร้าว-บางซื่อ-วังหิน-บางบัว-คลองถนน-คลองสอง เขตสายไหม ขณะที่เขื่อนอีกแนวหนึ่งจะเชื่อมจากคลองบางซื่อ (เขตห้วยขวาง) มายังคลองลาดพร้าว บริเวณวัดลาดพร้าว และแนวเขื่อนในคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่และดอนเมือง ซึ่งแนวเขื่อนเหล่านี้จะมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ประมาณ 66 ชุมชนจำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน ชาวบ้านจำนวน 58,838 คน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชาวบ้านในชุมชนริมคลองส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ปลูกสร้างอยู่อาศัยในที่ดินของกรมธนารักษ์มานาน โดยกรมธนารักษ์ไม่ได้เข้ามาจัดการหรือจัดเก็บค่าเช่าแต่อย่างใด บางครอบครัวอยู่อาศัยมาก่อนปี 2500 ซึ่งเมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด ชาวบ้านใช้เรือพายไปมา มีเรือค้าขายอยู่ในคลอง ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองอาบหรือซักเสื้อผ้าได้ บ้างก็มีอาชีพในการจับปลาในคลอง อย่างไรก็ดี น้ำในคลองต่างๆ เริ่มเน่าเสียภายหลังปี 2520 หลังจากที่เมืองเจริญขึ้น และระบบท่อน้ำทิ้งของ กทม.ก็ไม่ได้มีการบำบัดก่อนปล่อยลงคลอง

ขณะเดียวกัน ในชุมชนริมคลองต่างๆ ก็มีผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า หรืออยู่อาศัยมาก่อน ทำการปลูกสร้างบ้านเช่า ห้องเช่า ให้แก่ผู้ที่มาอยู่ที่หลัง โดยเฉพาะในชุมชนที่อยู่ใกล้กับสถาบันการศึกษา ย่านศูนย์ราชการ และย่านการค้า หรือมีการซื้อขายที่ดินมือเปล่า (ที่ดินกรมธนารักษ์) ให้แก่ผู้ที่ต้องการ เพื่อสร้างร้านอาหาร บ้านเช่า ฯลฯ ซึ่งตามหลักการบ้านมั่นคงนั้น หากมีการรื้อบ้านออกจากคลอง ชาวบ้านที่อยู่บนตลิ่งก็จะต้องแบ่งปันที่อยู่อาศัยให้แก่เพื่อนบ้านรายอื่น โดยการจัดทำผังชุมชนใหม่ แบ่งเนื้อที่ให้เท่าๆ กัน และ 1 ครอบครัวจะมี 1 สิทธิ์ หรือมีบ้าน 1 หลังเท่ากัน ยกเว้นครอบครัวใดมีสมาชิกมากเกินกว่า 8 คน บางชุมชนก็จะอนุญาตให้ครอบครัวลักษณะนี้มีสิทธิ์เพิ่มอีก 1 สิทธิ์

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของบ้านเช่า เจ้าของร้านอาหาร หรือเจ้าของบ้านหลังใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่มาก จึงไม่อยากจะเข้าร่วมบ้านมั่นคง เนื่องจากจะกระทบต่อการครอบครองบ้านของตน (บนที่ดินกรมธนารักษ์) ขณะที่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนจริงๆ ก็ไม่อยากจะเข้าร่วมโครงการ เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระเรื่องการผ่อนส่งบ้าน เนื่องจากกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงนั้น รัฐบาลไม่ได้สร้างบ้านให้ฟรีๆ แต่ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.สนับสนุนสินเชื่อในระยะยาว ระยะเวลาผ่อนส่งประมาณ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี และ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ทางเดิน ศูนย์พัฒนาเด็ก สวนหย่อม บ่อบำบัดน้ำเสีย ระบบประปา ไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ก็จะสนับสนุนงบช่วยสร้างบ้านจำนวนหนึ่งให้แก่ชาวบ้านด้วย

ตัวอย่างการสร้างบ้านใหม่นั้น ในชุมชนที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 เช่น ชุมชนบางบัว ชาวบ้านจะได้ที่อยู่อาศัยต่อ 1 ครอบครัวประมาณ 4 X8 ตารางเมตร ราคาประมาณไม่เกิน 200,000 บาท และผ่อนชำระเงินกู้ประมาณเดือนละ 1,500-2,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่มีการประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของชาวบ้านแล้ว ขณะที่กรมธนารักษ์ก็จะให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในราคาถูกไม่เกิน 2 บาทต่อตารางเมตร/เดือน ระยะเวลา 30 ปี หลังจากนั้นจึงทำสัญญาต่อได้อีก

ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่กลัวจะสูญเสียผลประโยชน์จึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านที่ไม่อยากจะรื้อย้ายบ้านเรือนไปพบกับนักการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางในย่านหลักสี่ และร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางสังคมหยิบยกประเด็นเรื่องบ้านมั่นคงมาโจมตีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช. เพื่อจะเยื้อการรื้อย้ายบ้านเรือนออกไป โดยตั้งเป้าหมายว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นรัฐบาลได้ไม่เกินปี 2560

ดังนั้นเมื่อ คสช.หมดอำนาจไปแล้ว โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมและการรื้อย้ายชาวบ้านก็จะระงับไป เช่น มีการไปยื่นหนังสือต่อ ปปช.เพื่อให้เอาผิดต่อผู้อำนวยการเขตหลักสี่และ ผอ.พอช.ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ ในกรณีบ้านมั่นคง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมทั้งมีแผนที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วย หากโครงการสร้างเขื่อนจะเริ่มขึ้น โดยก่อนหน้านี้แกนนำกลุ่มคัดค้านก็ได้มีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้มาก่อนแล้ว รวมทั้งการให้ข่าวตามสื่อต่างๆ โจมตีโครงบ้านมั่นคง ทั้งที่โครงการบ้านมั่นคงเป็นเพียงโครงการที่รองรับประชาชนที่ดีรับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเท่านั้น

จึงเป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ว่า เหตุใดกลุ่มแกนนำเหล่านี้จึงไม่กล้าคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยตรง หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากจะเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวก็จะเป็นการเดินหน้าชนกับ คสช.โดยตรง จึงเลือกโจมตีเป้าหมายที่อ่อนแอกว่า นอกจากนี้แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวบางคนที่กล้าหาญขนาดจะยื่นฟ้องผู้นำรัฐบาลไปเมื่อเร็วนี้ๆ และโดน คสช.เชิญไปพูดคุยปรับทัศนะคติมาแล้ว จึงต้องผ่อนท่าทีของตัวเองลง

ใครสนับสนุน?

ชาวบ้านในชุมชนริมคลองต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เริ่มมีการรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2543 หลังจากที่ชุมชนป้อมมหากาฬริมคลองโอ่งอ่าง ใกล้สะพานผ่านฟ้าฯ ได้พยายามต่อสู้กับการไล่รื้อของ กทม.เพื่อสร้างเกาะรัตนโกสินทร์ จนเป็นที่มาของ “เครือข่ายพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อมคูคลอง” ซึ่งมีสมาชิกในปัจจุบันมากกว่า 40 ชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาชุมชนและบ้านเรือน หากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกับชาวบ้านในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การไล่รื้อเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าร่วมกระบวนการสร้างบ้านมั่นคง จะทำให้ชาวบ้านได้เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมายและมีศักดิ์ศรี ในฐานะของผู้เช่า ไม่ใช่ผู้บุกรุก และพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนและดูแลรักษาคลองให้สะอาด

ดังเช่นโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมของ กทม.ที่จะเริ่มดำเนินการนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาชุมชนจัดทำแผนงานรองรับหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตามที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยชาวบ้านมีส่วนร่วม เช่น การสำรวจชุมชน การออกแบบผังชุมชน การออกแบบบ้าน การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อระดมเงินเป็นทุนในการสร้างบ้าน ฯลฯ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบโครงการ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น สำนักการระบายน้ำยังไม่สามารถชี้ชัดระบุตรงๆ ได้ว่าแนวเขื่อนที่จะสร้างผ่านในแต่ละชุมชนนั้น มีความกว้างกี่เมตร เนื่องจากแต่เดิมสำนักการระบายน้ำต้องการแนวเขื่อนที่ 38 เมตรตลอดลำคลอง แต่เสียงจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะลำคลองในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะกว้างไม่ถึง 38 เมตร หากจะเอาขนาด 38 เมตร เกือบทุกชุมชนจะต้องโดนกวาดออกไปจากแนวคลองทั้งหมด ขณะที่ทีมงานของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่รับผิดชอบการจัดการสิ่งรุกล้ำลำคลอง และได้ลงมาสำรวจแนวคลองเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีความเห็นว่า แนวเขื่อนไม่จำเป็นต้องกว้าง 38 เมตร ให้ดูตามสภาพและลักษณะคลองในแต่ละชุมชน “เพื่อให้คนอยู่ได้ เขื่อนสร้างได้”

ความล่าช้าในการดำเนินงานของสำนักการระบายน้ำทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากบางชุมชนได้รื้อถอนบ้านเรือนพ้นแนวคลองไปแล้วเพื่อเตรียมที่จะก่อสร้างบ้าน เช่น แจ้งวัฒนะ 5 และชุมชนคนรักถิ่น ริมคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ รวมประมาณ 20 หลังได้ตอกเสาเข็มไปแล้ว แต่เมื่อสำนักการระบายน้ำยังไม่ชี้ชัดเรื่องแนวคลองว่าจะกว้างกี่เมตร ชุมชนจะเหลือพื้นที่เพื่อสร้างบ้านกี่เมตร กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินจึงยังไม่ทำเรื่องให้ชาวบ้านเช่าที่ดิน และแม้ชาวบ้านจะไปขออนุญาตจากทางสำนักงานเขตหลักสี่เพื่อสร้างบ้าน แต่กลุ่มคัดค้านก็มาร้องเรียนและกดดันต่อทางสำนักงานเขตฯ ทั้งที่ไม่ใช้เป็นผู้เสียหาย แต่ก็กลัวว่าถ้าชาวบ้านรื้อบ้านออกจากคลองและสร้างบ้านได้ เขื่อนก็จะเริ่มสร้างได้ ชุมชนอื่นๆ รวมทั้งพวกคัดค้านก็จะต้องรื้อย้ายบ้านด้วย

นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่กลุ่มคัดค้านออกมาโจมตีบ้านมั่นคง และทำให้ชาวบ้านที่เตรียมจะสร้างบ้านต้องถูกคำสั่งจากสำนักเขตหลักสี่ให้ระงับการก่อสร้าง โดยอ้างเหตุผลว่าก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต จนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า 4 เดือนแล้วที่ชาวบ้านยังเคว้งคว้าง ไม่มีที่อยู่อาศัย ทั้งๆ ที่พวกเขายอมรื้อบ้านเรือนเพื่อสนองนโยบายการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลแล้ว

“เราทำตามนโยบายของทางรัฐบาล เพื่อให้สร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ และชาวบ้านก็ยอมรื้อบ้านออกจากคลองแล้ว ชาวบ้านก็หวังว่าเมื่อรื้อบ้านแล้วจะได้สร้างบ้านใหม่เร็วๆ แต่ตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะนานกว่า 4 เดือนที่ชาวบ้านต้องไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ เด็กๆ และคนแก่ก็ลำบาก บางครอบครัวมีคนพิการก็ไม่สะดวกที่จะไปอาศัยคนอื่นอยู่ต้องหาบ้านเช่าทั้งๆ ที่มีรายได้ไม่มากนัก จึงอยากให้รัฐบาลลงมาดูแลมาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย” นี่คือเสียงสะท้อนจากคนริมคลอง.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images