Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

อธิการมธ.ขู่ หากนศ.ทำขบวนล้อการเมือง นอกข้อตกลงร่วมทหาร ปีหน้าอาจเปลี่ยนคณะทำงาน

$
0
0

หลังจากเมื่อปีที่ผ่านมา การจัดงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 โดยมีขบวนพาเหรดล้อการเมือง ที่มีการเสียดสี คสช.และรัฐบาล ซึ่งการควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด (อ่านรายละเอียด) ส่งผลต่อขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ที่จะจัดในวันที่ 13 ก.พ. นี้ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายงานว่า เมื่อเวลา 17.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าขอหารือกับนักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมือง โดยไม่อนุญาตให้สื่อได้บันทึกภาพ

17.40 น. 3 ก.พ.59 เจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเข้าขอหารือกับนักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมือง โดยไม่อนุญาตให้สื่อได้บันทึกภาพ (ที่มาภาพ เพจ กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

วันนี้ (5 ก.พ.59) มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขบวนล้อการเมืองเป็นงานของสมาคมธรรมศาสตร์และองค์การนักศึกษา ไม่ได้เป็นงานของมหาวิทยาลัย แต่เท่าที่ทราบมาได้มีการหารือกันระหว่างนักศึกษาและ คสช.แล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังรู้สึกเป็นห่วง เพราะถึงแม้จะมีข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่วันงานอาจจะมีการทำนอกเหนือข้อตกลงได้ และถ้าเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ปีหน้าต้องเปลี่ยนแปลงทีมงานทำขบวนล้อการเมือง ไม่ให้คนทำงานชุดเก่าเข้าไปทำอีกก็ได้
 
“ถึงแม้จะมีการคุยกันแล้ว แต่ขบวนก็ยังมีการเสียดสีกันเหมือนเดิม เพราะเป็นรูปแบบของขบวนล้อการเมืองอยู่แล้ว แต่ก็มีข้อตกลงที่คุยกันแล้วว่าห้ามใช้คำหยาบ ห้ามเอ่ยชื่อคน และหลายข้อที่ได้คุยกันไว้” นายสมคิดกล่าว
 
ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่นักศึกษาจะมีการล้อการเมืองเพราะทำมาทุกรัฐบาล และ คสช. ควรใจกว้าง โดยพื้นฐานเป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่คนหนุ่มสาวคิดอย่างไรเขาก็จะแสดงออกมา โดยเฉพาะการเรียกร้องประชาธิปไตย ทุกประเทศ จะเห็นคนหนุ่มสาวเป็นแนวหน้า ประเทศไทยก็เช่นกัน หากไม่มีเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำ ประเทศไทยก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง การแสดงออกทางการเมืองคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพียงแต่การแสดงออกต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้ กรธ.มั่นใจหากปชช.ออกมา80% ร่างรธน.ผ่าน

$
0
0

'มีชัย' ระบุกำลังเอาหูแนบดินฟังข้อเสนอแก้ร่างรธน.อยู่ เผยแม้ยังไม่พิจารณาลดกรอบเวลาทำกม.ประกอบรธน. แต่ก็ต้องสอดคล้องกับโรดแมป โฆษก.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้

5 ก.พ. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานสัมมนาสร้างความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงประชามติให้แก่สภาองค์กรชุมชนว่า ขณะนี้มีองค์กรต่าง ๆ  เข้ามาเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มมาตราก็เพิ่มได้ เพราะยังมีเวลาถึงวันที่  15 ก.พ.นี้

“ถ้าคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดตกบกพร่องก็บอกมา เราพร้อมรับฟัง ตอนนี้กำลังเอาหูแนบดินอยู่ ใครมีอะไรก็ส่งมาได้ ถ้าเรื่องไหนที่เข้าใจผิดเราจะได้ชี้แจง แต่เรื่องไหนเห็นควรแก้ไข หรือเพิ่มมาตรา ถ้าเราทำได้ก็จะทำ” นายมีชัย กล่าว และว่า การลดกรอบเวลาการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะต้องรอให้ผ่านการทำประชามติก่อน แต่จะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับโรดแมปด้วย

วิษณุ ชี้ใช้ม.44 ออกกติกาคุม ‘ประชามติ’ ได้

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำประชามติในสัปดาห์หน้าว่า กกต.มีหน้าที่ออกกฏระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดโทษ เพราะเรื่องดังกล่าวต้องออกเป็นกฏหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อกำหนดโทษ เช่น การฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงประชามติซึ่งต่างจากการเลือกตั้งส.ส. ที่มีพ.ร.บ.การเลือกตั้งรองรับ ซึ่งการกำหนดโทษนั้น หากจะใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็สามารถใช้ได้ แต่ไม่ใช่การใช้เพื่อไปหักล้างรัฐธรรมนูญมาตราใดมาตราหนึ่งแต่ใช้แทนสิ่งที่จะออกแทนพ.ร.บ. เหมือนที่คสช. เคยทำมาแล้ว
 
นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะกำหนดกติกาเกี่ยวกับการทำประชามติก็สามารถใช้มาตรา 44 นี้ได้ แต่หากว่าไม่สมควรก็สามารถออกพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ.ได้เช่นกันทั้งสามส่วนมีศักดิ์ศรีและสถานะเท่ากัน  ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 นั้น ไม่ได้รองรับการทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวข้องเช่น ถามความเห็นประชาชน เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เตรียมการสำหรับกรณีการขัดขวางการทำประชามติ  จึงไม่สามารถใช้แทนกันได้ เนื่องจากยังไม่มีความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการประชามติ จะมีการหารือในรายละเอียดในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการพูดคุยกันอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันออกเสียงประชามติ
 
โฆษก กรธ.มั่นใจ หากปชช.ออกมาประชามติ 80% รธน.ผ่าน พลังเงียบบริสุทธิ์ศึกษาร่างอย่างแท้จริง
 
โพสต์ทูเดย์รายงานด้วยว่า นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. แถลงว่า เรื่องใหญ่ของกรธ. ขณะนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับความยุ่งยาก ซับซ้อนของการชี้แจง แต่มีผู้ที่ไม่มีความเข้าใจหรือเข้าใจแต่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่มาของการผลิตรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวัน
 
"ส่วนกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า ไม่ต้องทำประชามติเพราะเปลืองงบประมาณ เปลืองเวลา นั้น ผมกลับมั่นใจว่าหากผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติได้ เพราะมั่นใจในพลังเงียบและพลังบริสุทธิ์ที่ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์ที่บิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ" นายอมรกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เล็งปัดฝุ่นร่างประกาศให้สื่อกำกับกันเอง ชวนองค์กรสื่อผลักดัน ก่อนถูกคุมเบ็ดเสร็จ

$
0
0

สุภิญญา เผยเตรียมปัดฝุ่นร่างประกาศรวมกลุ่มสื่อกำกับกันเอง พร้อมชวนองค์กรสื่อร่วมผลักดัน หวั่นไม่เร่งดำเนินการ อาจมีการเขียนรธน.-แก้กฎหมายให้รัฐคุมสื่อหนักกว่าเดิมได้

5 ก.พ. 2559 สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งตนเองเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเพื่อทราบแผนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการกำกับกันเองตลอดปี 2559 นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอให้สำนักงานนำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... เข้ามาทบทวนในคณะอนุกรรมการอีกครั้ง รวมทั้งเสนอให้มีการนำร่างประกาศฯ มาหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ และหารือไปยังกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทั้ง 5 คน เพื่อให้แนวนโยบายที่ตรงกันเพื่อนำไปสู่การทำให้ร่างฯ ฉบับนี้มีผลออกมาจริง เพราะจะมีผลต่อการส่งเสริมการกำกับดูแลวิชาชีพตามจรรยาบรรณ

“กสทช. มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 – 2559)  ที่จะต้องส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเป็นองค์กรรูปแบบต่างๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมกำกับดูแลกันเอง ซึ่งขณะนี้รูปธรรมการส่งเสริมยังไม่ชัดเจน ที่ผ่านมา ร่างประกาศฯฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นวงใหญ่ และโฟกัสกรุ๊ปมาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากองค์กรวิชาชีพบางส่วน อาจเกิดช่องว่างหรือสุญญากาศ เพราะมีร่างฯ หรือแนวทางอื่นๆ ที่กำลังมีการพูดคุยอยู่

"ขณะนี้ ที่มีแนวโน้มในการควบคุมหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ส่วนตัวมองว่า ร่างประกาศฯฉบับ กสทช. ค่อนข้างเบาบางสุดในการควบคุมสื่อและเน้นที่การส่งเสริมสื่อจริงๆ  แต่หากเราไม่ได้ทำอะไรสังคมก็อาจจะเรียกร้องว่าแล้วเมื่อไหร่การกำกับดูแลของสื่อจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ส่วนตัวอยากจะให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนำร่างประกาศฉบับนี้ไปทบทวนอีกที และหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใดๆ ขอให้แจ้งมา เพราะถ้าหากไม่เร่งดำเนินการ ใครจะรู้ว่าในอนาคตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่อาจจะเปิดช่องทำให้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมสื่อหนักกว่าเดิมก็ได้ โดยอ้างว่าสื่อขาดจรรยาบรรณและกำกับดูแลกันเองไม่ได้ ซึ่งส่วนตัวไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น” สุภิญญา กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิชาชี้คอร์รัปชันฝังรากมาตั้งแต่หลัง 2475 เหตุให้สิทธินักการเมืองเข้ารับสัมปทานกิจการต่างๆ

$
0
0

5 ก.พ.2559 รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) แจ้งว่า ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวระหว่างการประชุมโครงการ “ศึกษาสถานภาพความรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สกว. เรื่องขอบเขตและผลกระทบของการฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย ว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตมากขึ้น เพราะมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งตัวเงินและที่ประเมินค่าไม่ได้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนต้องมีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวยและเกื้อหนุนทั้งความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบัน และการลงทุนในบริการต่าง ๆ ของรัฐ การทุจริตในระดับสูงจะเป็นตัวบ่อนทำลายปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ทรัพยากรที่จะนำไปใช้ในโครงการด้านสังคมที่มีผลต่อประชาชนโดยตรงลดน้อยลง ซึ่งการแก้ปัญหาจึงต้องมีระบบการเงิน การบริหารและการควบคุมดูแลที่เข้มแข็ง แต่การทุจริตทำลายระบบและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การช่วยเหลือคนจนจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณไปให้แผนงานโครงการที่มีผลต่อการเจริญเติบโต เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การสาธารณสุขมูลฐาน แต่การรับสินบนขนาดใหญ่ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ทำให้โครงการที่ควรจะได้รับประโยชน์ถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นรูปแบบที่เลวร้ายอย่างหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ เพราะจุดมุ่งหมายของการให้สินบน คือ การได้รับอภิสิทธิ์หรือการปฏิบัติที่เอื้ออำนวยจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันคงจะไม่มีการให้สินบนหรือทุจริตเพื่อให้ได้รับการบริการที่ดีกว่าหรือเร็วกว่าผู้รับบริการทั่วไป

ปัญหาคอร์รัปชันฝังรากมานานตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการให้สิทธินักการเมืองเข้าไปรับสัมปทานกิจการต่างๆ และสืบทอดไปจนถึงรุ่นลูกหลาน ทำให้ความยากจนฝังรากอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน  คนระดับล่างที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือจึงลดลง คนที่ได้รับผลประโยชน์ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีส่วนได้ส่วนเสีย กลายเป็นที่มาของ “กับดักทางเศรษฐกิจ” แต่ถ้าไม่เข้าร่วมกลุ่มก็จะไม่มีโอกาสได้รับงาน อย่างไรก็ตามเรายังพอเห็นภาพการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ แต่การทุจริตประจำหน่วยงานต่าง ๆ เป็น “เห็บเหา” ที่เกาะกินจนถึงรากลึก ปัจจุบันหน่วยงานที่มีอำนาจในมือค่อนข้างเด็ดขาดได้เข้าไปจัดสรรโครงการใหญ่ ๆ เช่น สร้างถนน เตาเผาศพ เตาเผาขยะ แม้ผู้บริหารระดับสูงจะหลุดพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังมีพวกพ้องบริหารงานอยู่ ทำให้เป็นช่องโหว่ของการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์”

ศ.(พิเศษ) วิชา ระบุว่า คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในผลประโยชน์ร่วมกันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเป็นเงาแห่งการทุจริตทาบทับหน่วยงานต่าง ๆ คนเหล่านี้มักไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของมหาชน มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงต้องช่วยกันสังคายนาปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบมหาศาล เพื่อให้สังคมดีขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อต่อต้านการทุจริต การให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ซึ่งควรระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนโยบายแห่งรัฐ และนโยบายสาธารณะที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณีฆ่าข่มขืน ประธานกก.สิทธิฯ แนะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ-เน้นเยียวยาผู้เสียหาย

$
0
0

5 ก.พ. 2559 สืบเนื่องจากกรณีที่กลุ่มบุคคลรวม 5 คน ซึ่งมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมอยู่ด้วย ร่วมกันวางแผนฆ่าผู้อื่น และฝังศพอำพรางคดี อีกทั้งยังข่มขืนคนรักของผู้เสียชีวิต ในพื้นที่อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง และในเขตอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม บางส่วนเรียกร้องให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่ปรากฏในข่าว ถือเป็นความรุนแรงที่ฝังลึกมานาน และโหดร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชัดเจน

วัส กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความห่วงใยและวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแก้ปัญหาในลักษณะเช่นนี้ หากจะให้ความคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้อย่างแท้จริง ตนมีความเห็นว่า ควรวางยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเป็นองค์รวม โดยเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ให้ตระหนักร่วมกันว่า พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเยาวชน มาจากสาเหตุใด แล้วแก้ไขที่สาเหตุนั้น ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ลงโทษประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิตแก่ผู้กระทำความผิดที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสองและสาม) ก็ต้องใช้วิธีการลงโทษที่เหมาะสม และฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหายโดยมีขั้นตอนที่เข้าถึงง่าย นอกจากนี้ ขอขอบคุณและชื่นชมองค์กร ที่ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูแก่ผู้เสียหาย รวมถึงการเยียวยา อย่างใกล้ชิดและทันท่วงที
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชามติ ชวนปล่อยของ ‘เพะชะคุชะ’ แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ

$
0
0

เว็บไซต์ประชามติ ชวนผู้สนใจร่วมประกวด ‘เพะชะคุชะ’ หัวข้อรัฐธรรมนูญ นำเสนอผ่านพาวเวอร์ 20 สไลด์ ไม่จำกัดสไตส์การนำเสนอ จะร้อง เล่น เต้น พูด ตามถนัด ลุ้นรับเงินรางวัล 5,000 บาท

เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) เชิญชวนผู้สนใจร่วมประกวด ‘เพะชะคุชะ’ หัวข้อรัฐธรรมนูญ ร่วมลุ้นเงินรางวัล 5,000 บาท โดยมีกติกาในการร่วมประกวดดังนี้

++ กติกา ++

ส่งพาวเวอร์พอยท์ 20 สไลด์ที่ทำขึ้นในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ" มาที่ editor@prachamati.org ภายใน 15 กุมภาพันธ์ 2559

พร้อมเขียนบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับแรงบันดาลใจ บอกเล่าวิธีการนำเสนอคร่าวๆ และแนะนำตัวผู้ส่งประกวด จะทำเดี่ยวหรือทำเป็นทีมก็ได้

ทีมงานเว็บประชามติจะคัดเลือกรอบแรกและประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบ 9 คน/ทีม วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ผู้ได้รับคัดเลือกจะได้มานำเสนอผลงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559

การนำเสนอสไลด์ทำได้ไม่จำกัดรูปแบบ จะพูด เต้น เล่นละคร แสดงดนตรี ร้องเพลง หรืออะไรก็ได้ตามถนัด แต่จำกัดเวลานำเสนอสไลด์ละ 20 วินาที

การตัดสินรอบสุดท้าย คะแนน 30% มาจากคณะกรรมการ อีก 70% มาจากการโหวตของผู้ชมในงาน

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook: Prachamati-ประชามติ
หรือ E-mail: editor@prachamati.org
หรือ โทร. 02 615 4797

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โกวิท-หทัยรัตน์ : ยัน ThaiPBS ให้พื้นที่-นำเสนอข่าวฝ่ายประชาธิปไตย

$
0
0

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา Thaisvoicemediaได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายโกวิท โพธิสาร และ น.ส.หทัยรัตน์ พหลทัพ พนักงานสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส เกี่ยวกับภารกิจของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ในฐานะสื่อสาธารณะแห่่งแรกของประเทศไทย โดยเขามองว่า ไทยพีบีเอสถูกมองว่าเป็น ทีวี.เอ็นจีโอ ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่ง ทีวีช่องนี้ตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กั­บคนชายขอบที่ไม่เคยมีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักมาก่อน ทำให้เสียงของเขามีความหมาย และต่อรองกับอำนาจรัฐได้มากขึ้น ส่วนจะบอกว่า ผลสำเร็จของการมีทีวีสาธารณะในประเทศไทย มีอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่จะต้องประเมิน ผลที่ชัดเจนอาจต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยเชือ่ว่า สามารถสร้างให้พลเมืองมีความเข้มแข็งขึ้น ส่วนบทบาทการสร้างประชาธิปไตยทำได้แค่ไหนน­ั้น เป็นเรื่องที่คนดูต้องประเมิน และเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับไทยพีบีเอส แต่ด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไทยพีบีเอสก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะให้พล­ังประชาธิปไตยมีพื้นที่และนำเสนอได้ อีกทั้งความคิดก้าวหน้าที่จะท้าทายกรอบคิด­แบบจารีต หรืออนุรักษ์นิยมก็มีอยู่บ้าง แต่เนื่่องด้วยภารกิจของไทยพีบีเอสมีมาก จึงขึ้นอยู่กั้บผู้บริหารว่าจะจัดสรรเวลา และรายการอย่างไรถึงจะสามารถตอบสนองทุกกลุ­่มได้อย่างดีที่สุด และเป็นธรรมที่สุด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยสื่อทั่วโลกถูกฆ่ากว่าสองพันรายในรอบ 25 ปี-ตายในสถานการณ์ปกติมากกว่าในสงคราม

$
0
0

5 ก.พ. 2559 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. สมาพันธ์นักข่าวสากล (The International Federation of Journalists: IFJ) เผยแพร่รายงานการสังหารผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อในรอบ 25 ปี พบมีอย่างน้อย 2,297 คนเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่สื่อ เฉพาะปี 2558 ปีเดียว มีถึง 112 ราย และมีถึง 11 ปีที่จำนวนสูงไปถึงหลักร้อย ส่วนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์คือปี 2549 ซึ่งมีสื่อมวลชนถูกฆ่าถึง 155 คน

จิม บูร์เมลาห์ (Jim Bourmelha) ประธานของ IFJ กล่าวด้วยว่า “รายงานประจำปีฉบับนี้เป็นมากกว่าการบันทึกจำนวนเพื่อนร่วมงานสื่อที่ถูกฆ่า แต่ยังเป็นการให้เกียรติต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ และความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ ของสื่อที่สูญเสียชีวิตจากการทำหน้าที่รายงานและเสริมพลังให้แก่สาธารณชน”

รายงานระบุว่า การสังหารสื่อมวลชนเกิดขึ้นแพร่ขยายไปทั่วโลก ทั้งในพื้นที่สงคราม และในพื้นที่ขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หลายกรณีสาเหตุการเสียชีวิตเกิดขึ้นทั้งจากการถูกเล็งเป้ายิง, ระเบิดโจมตี, กระสุนลูกหลงจากการยิงต่อสู้, และการลักพาตัวโดยใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น รายงานนี้จึงไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่ตัวเลขที่น่าสะพรึงเท่านั้น

“ยังมีเหตุผลอื่นๆ (ที่ทำให้สื่อถูกฆ่า) อีกด้วย ไม่ได้เพียงแค่ฉากสงคราม มีปรากฏการณ์การมุ่งสังหารสื่อมวลชน จำนวนมากเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต” แอนโทนี่ เบลลังเกอร์ (Anthony Bellanger) เลขาธิการ IFJ กล่าวถึงนัยสำคัญของรายงาน ซึ่งถือว่าเป็นรายงานฉบับแรกของเขา หลังจากที่เพิ่งได้รับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว “จากรายงานของเราพบว่ามีสื่อมวลชนถูกฆ่าในสถานการณ์ปกติมากกว่าในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม”

10 ประเทศอันตราย มีทั้งประเทศที่มีความรุนแรงจากสงคราม, การละเมิดกฎหมาย, และประเทศที่มีอาชญกรรมและคอร์รัปชันสูง ประกอบด้วย อิรัก (309), ฟิลิบปินส์ (146), เม็กซิโก (120), ปากีสถาน (115), รัสเซีย (109), แอลจีเรีย (106), อินเดีย (95), โซมาเลีย (75), ซีเรีย (67) และบราซิล (62) เฉพาะปีที่แล้ว ฝรั่งเศสเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ทีมงานชาร์ลี เอ็บโด สถิติจึงเพิ่มขึ้นมาเท่ากับ อิรัก และ เยเมน คือมีสื่อมวลชนถูกฆ่าประเทศละ 10 ราย

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครองสถิติสูงสุดคือ 571 ราย ตามมาด้วยอาหรับและตะวันออกกลางคือ 473 ราย มากกว่าอันดับสาม คือภูมิภาคอเมริกาเพียงหนึ่งราย (472 ราย) แอฟริกาตามมาเป็นอันดับสี่คือ 424 รายและยุโรป 357 ราย เฉพาะปี 2558 ภูมิภาคอเมริกาเสียชีวิตสูงสุดคือ 27 ราย ตามด้วยตะวันออกกลาง 25 ราย

รายงานยังระบุด้วยว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสื่อมวลชนทั่วโลก มีเพียงหนึ่งในสิบของกรณีการสังหารที่มีการสอบสวนดำเนินคดี และเมื่อคนผิดไม่ต้องรับโทษ ความรุนแรงที่กระทำต่อสื่อมวลชนก็จะยังคงดำเนินต่อไป

IFJ ย้ำว่ารายงานนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสื่อและส่งเสริมการปกป้องสื่อมวลชนให้ปรับลดความเสี่ยงให้ทำงานได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งถือว่าเป็นภาระความรับผิดชอบร่วมกัน โดยทั้งตัวสื่อมวลชนและนายจ้างจะต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยง หลีกเลี่ยงสถานการณ์งานที่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามข้อควรระวังที่จำเป็นเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่อันตราย

เลขาธิการ IFJ กล่าวด้วยว่า “สิ่งเหล่านี้เริ่มได้ด้วยการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ, ฝ่ายความมั่นคง, ทหาร และใครอื่นก็ตาม ให้ปฏิบัติต่อสื่อมวลชนโดยเคารพต่อความอิสระของสื่อ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสากล โดยดำเนินสืบสวนสอบสวนคดีการสังหารสื่อมวลชน เพื่อให้ผู้กระทำการต้องรับผลตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันความรุนแรงในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของสหประชาชาติ และหน่วยงานต่างๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในระดับนานาชาติที่จะคุ้มครองสิทธิในความปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้แก่ผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานสื่อ”

อนึ่ง รายงานดังกล่าวออกมาในช่วงเวลาเดียวกับที่จะมีการประชุมเรื่องความปลอดภัยของสื่อมวลชน “News organizations standing up for the safety of media professionals” ที่จัดให้มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559

 

เรียบเรียงจาก: At least 2,297 journalists and media staff have been killed since 1990: IFJ report
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม 25th report on journalists and media staff killed since 1990
สามารถติดตามรายละเอียดการประชุมที่ยูเนสโก: News organizations standing up for the safety of media professionals

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'โรม ประชาธิปไตยใหม่' เผยเตรียมสู้ทุกทางไม่ให้ร่างรธน.มีชัย ผ่านประชามติ-บังคับใช้

$
0
0

รังสิมันต์ โรม ระบุร่างรธน.มีชัย จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวา­ง บั่นทอนอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้­ง  ให้อำนาจกับองค์กรอิสระ ให้ คสช. มีอำนาจต่ออีกยาวนาน เผยขบวนการประชาธิปไตยจะรณรงค์ทุกทางเพื่อไม่ให้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้หรือผ่านการประชามติ

5 ก.พ.2559 นายรังสิมันต์ โรม ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ให้สัมภาษณ์ Thaisvoicemediaกรณีการออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญข­องนายมีชัย ฤชุพันธ์ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวา­ง บั่นทอนอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้­ง และให้อำนาจกับองค์กรอิสระอีกทั้งยังให้ คสช. มีอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ขบวนการประชาธิปไตยจะรณรงค์ทุกวิถีทางที่จ­ะไม่ให้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หรือผ่านการประชามติ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไกล่เกลี่ยโทรคมนาคมเหลว!? ยุติเรื่องได้แค่ปีละ 20 กรณี

$
0
0

เปิดรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม พบช่วงเวลา 2 ปี 2 เดือน ไกล่เกลี่ยสำเร็จแค่ 43 กรณี จากจำนวนเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมปีละหลายพันเรื่อง แต่กลับมีการเสนอขึ้นทะเบียนผู้ไกล่เกลี่ยเพิ่มอีก 29 คน

5 ก.พ. 2559 แหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่าน สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมให้ที่ประชุมรับทราบ และในวันเดียวกันก็มีการเสนอรายชื่อผู้ประสงค์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพิ่มเติมอีกจำนวน 29 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลางในการดำเนินกระบวนไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ทั้งนี้ สถิติที่ปรากฏในรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฉบับดังกล่าวระบุว่า นับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้บริการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 จนถึงธันวาคม 2558 ระยะเวลา 2 ปี 2 เดือน พบว่า มีเรื่องร้องเรียนที่ผู้ให้บริการประสงค์จะไกล่เกลี่ยจำนวน 42 เรื่อง ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคประสงค์จะไกล่เกลี่ยมีจำนวน 521 เรื่อง ยอดรวมทั้งสิ้น 563 เรื่อง แต่ท้ายที่สุดมีเรื่องร้องเรียนที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจริงเพียง 47 เรื่อง และสามารถไกล่เกลี่ยจนได้ข้อยุติจำนวน 43 เรื่องเท่านั้น

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคนกลางทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อให้คู่กรณีสามารถตกลงกันได้นี้ เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นประกาศที่เกิดขึ้นในยุค กสทช. โดยแต่เดิมนั้นการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนจะดำเนินการตามประกาศว่าด้วยเรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ซึ่งถือเป็นช่องทางปกติทั่วไป แต่ถึงกระนั้นวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก็ไม่ได้มาแทนที่การระงับข้อพิพาทตามช่องทางปกติ เพราะถ้าหากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทไม่ประสบความสำเร็จ หรือหากคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายไม่สมัครใจที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนตามช่องทางปกติต่อไป

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือจากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผลการดำเนินการขาดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะถ้าหารเฉลี่ยแล้ว เท่ากับในแต่ละเดือนสามารถไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนได้สำเร็จน้อยกว่า 2 เรื่อง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณเรื่องร้องเรียนที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ในแต่ละปีที่มีจำนวนหลายพันเรื่อง อีกทั้งมูลค่าของเรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่ในหลักพันบาท ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่คุ้มค่าทั้งในแง่งบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่ต้องใช้ดำเนินการ

ต่อกรณีนี้ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้ความเห็นว่า โดยธรรมชาติของเรื่องร้องเรียนนั้น ส่วนมากคู่กรณีมักมีการเจรจาไกล่เกลี่ยกันมาก่อนแล้ว เมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ถึงร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่า เมื่อสอบถามความประสงค์ในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ส่วนใหญ่จึงถูกปฏิเสธจากคู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ มา มีเรื่องร้องเรียนเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยเพียง 47 เรื่องเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดการแยกกระบวนการไกล่เกลี่ยออกมาจากขั้นตอนการจัดการเรื่องร้องเรียนตามกระบวนการปกติ ก็เท่ากับทำให้การจัดการเรื่องร้องเรียนต้องใช้ระยะเวลานานขึ้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาและงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ นอกจากการรายงานผลการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมให้ที่ประชุมรับทราบแล้ว แหล่งข่าวระบุต่อว่า สำนักงาน กสทช. ยังได้เสนอรายชื่อผู้ประสงค์ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพิ่มเติมจากเดิมอีกจำนวน 29 คน เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานเสนอ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แก้ปัญหาไทยพลัดถิ่นที่ตราด 'เตือนใจ' เสนอเร่งให้กลุ่มไต๋ก๋งเรือ-คนพิการ-ผู้สูงอายุ-นักเรียน ยื่นขอรับรองสถานะก่อน

$
0
0

กสม.ลงพื้นที่ตราด เตือนใจเสนอเร่งดำเนินการให้กลุ่มไต๋ก๋งเรือ-คนพิการ-ผู้สูงอายุ-นักเรียน ยื่นคำร้องขอคำรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นก่อน

5 ก.พ. 2559 เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองพร้อมคณะ เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีการกำหนดสถานะบุคคลของคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2559 โดยร่วมเวทีสาธารณะกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจำนวน 500 คน และประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากองค์กรส่วนท้องถิ่น ตัวแทนหอการค้าจังหวัดตราด และเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นอำเภอคลองใหญ่และอำเภอเมือง จังหวัดตราด เพื่อรับฟังถึงประเด็นปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่จังหวัดตราด ซึ่งปัญหาที่พบของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดตราดในประเด็นสถานะบุคคลสามารถแยกออกเป็นกลุ่มได้ 5 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พบปัญหานายทะเบียนอำเภอไม่ออกใบรับคำขอให้กับผู้ยื่นคำขอ การรอเรียกพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบหรือบันทึกเอกสารประวัติทางทะเบียน เจ้าหน้าที่ไม่รับยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นรายใหม่ เนื่องจากต้อง พิจารณาคำขอเดิมให้แล้วเสร็จก่อน

2) กลุ่มที่ไม่มีสิทธิยื่นคำขอ ได้แก่ กลุ่มที่มีการขึ้นทะเบียนผิดพลาด กลุ่มที่ถูกระงับการดำเนินการทางทะเบียนไม่สามารถขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนราษฎรใดๆ ได้ หรือถูกจำหน่ายทางทะเบียนราษฎร และกลุ่มที่รอการบันทึกประวัติทางทะเบียนราษฎร

3) กลุ่มที่ได้สัญชาติตามบิดาหรือมารดา เช่น เด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่ได้รับการพิจารณากำหนดสถานะบุคคลที่ควรจะเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

4) กลุ่มที่ขอแก้ไขรายการสถานะทางทะเบียนราษฎร เช่น กลุ่มที่ได้สัญชาติไทยแต่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตและระบุว่ามีสัญชาติกัมพูชาในช่องสัญชาติของบิดาหรือมารดา

5) กลุ่มที่ตกสำรวจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มที่บิดาหรือมารดาได้รับการขึ้นทะเบียนสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว หรือบิดาหรือมารดาผ่านการรับรองความเป็นไทยพลัดถิ่นและทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว แต่บุตรยังขอสถานะไม่ได้เพราะตกสำรวจ

ทั้งนี้ ในเรื่องของสิทธิในสถานะคนไทยพลัดถิ่นที่ขาดสิทธิด้านต่างๆ ได้แก่ สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการ เช่น ทุนการศึกษาและกองทุนอื่นๆ ของรัฐ ที่กำหนดว่าผู้มีสัญชาติไทยจึงจะได้รับสิทธินั้น สิทธิในการประกอบอาชีพทางการประมง ซึ่งผู้ไม่มีสถานะไม่สามารถเป็นไต๋กงเรือได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพไต๋เรือ และสิทธิในการทำใบขับขี่ ซึ่งขณะนี้กรมขนส่งทางบกมีหนังสือซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางทะเบียนสำหรับคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนโดยได้ผ่อนผันให้มีบุคคลบางประเภทสามารถขอใบอนุญาตขับขี่ได้

ที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบตามคำร้องที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยจะแบ่งการทำงานเป็นระดับตำบล และให้คนไทยพลัดถิ่นมาช่วยพิจารณาจัดการข้อมูลเพื่อติดตามคำขอพิสูจน์และรับรองคนไทยพลัดถิ่นมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมให้เกิดความครบถ้วนเพื่อความรวดเร็ว เนื่องจากอำเภอคลองใหญ่และอำเภอเมืองที่มีปริมาณคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากจึงเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับอำเภอขึ้น ส่วนในระดับจังหวัดขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับจังหวัดโดยให้มีผู้แทนจากอำเภอที่มีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนมากเข้าร่วมเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ได้ตกลงกันว่าจะประสานความร่วมมือกับชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการพิสูจน์และการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 ซึ่งมีหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (สปพส.) และมูลนิธิชุมชนไท (มชท.) ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดวันที่หน่วยงานดังกล่าวจะมาร่วมกันดำเนินการตรวจสอบคำร้องของอำเภอคลองใหญ่ที่ยังค้างอยู่ในวันที่ 11-13 มีนาคม 2559

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิสถานะบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดตราด โดยจะเป็นแนวทางไปสู่การแก้ปัญหาในระดับนโยบายต่อไป ทั้งนี้ได้เสนอให้เร่งดำเนินการในกรณีของกลุ่มไต๋ก๋งเรือ กลุ่มคนพิการกับผู้สูงอายุ และกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาให้สามารถยื่นคำร้องขอคำรับรองการเป็นคนไทยพลัดถิ่นก่อน ส่วนในเรื่องการขอยื่นคำขอพิสูจน์และรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นนั้น ขอให้ผู้จะยื่นคำร้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความซื่อสัตย์สุจริต โดยจะต้องให้ข้อมูล พยานบุคคล พยานหลักฐานที่ถูกต้องและเป็นความจริง เพื่อปัญหาจะได้รับการแก้ไขได้โดยเร็ว

ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด รับทราบถึงปัญหาต่างๆ ของคนไทยพลัดที่ถิ่น ที่เกิดขึ้นและกล่าวว่า เป็นการริเริ่มที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันดูแลและประสานร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เสียสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งหากเป็นคนไทยเจ้าหน้าที่ต้องให้สิทธิ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต้องโปร่งใส ไม่มีการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภัควดีเผยหลังตั้งคำถาม #ทหารมีไว้ทำไม ทหารก็มาถ่ายภาพบ้านที่เชียงใหม่

$
0
0

5 ก.พ. 2559 ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล/นักเขียนและผู้เสนอให้มีการปฎิรูปกองทัพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ (5 ก.พ.59) มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 1 นาย ไม่เปิดเผยสังกัด ไปที่บ้านตน ที่สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พร้อมกับถามหาตนกับเพื่อนบ้าน และถ่ายรูปบริเวณบ้านแล้วก็กลับ ซึ่งในขณะนั้นตนไม่ได้อยู่บ้าน

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ภัควดี ระบุว่ารู้สึกกังวลใจแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการใช้นอกเครื่องแบบ เพราะกลัวว่าจะมีมิจฉาชีพมาแอบอ้างได้

"คาดว่าเป็นผลมาจากการเสนอเรื่องปฏิรูปกองทัพและการให้สัมภาษณ์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารในรายการของคุณจอม เพชรประดับ แน่นอน (อ่านรายละเอียดที่ภัควดีให้สัมภาษณ์) เพราะช่วงนี้รัฐบาลทหารเปราะบางอ่อนไหว สืบเนื่องจากการไม่มีผลงานและรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาก็ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แม้แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารมาก่อน" ภัควดี กล่าว

ภัควดี ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยถูกทหารเรียกไปพูดคุยสองครั้ง ครั้งแรกคือหลังรัฐประหารใหม่ ๆ กับครั้งที่สองคือต้นปีที่แล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ได้ถูกคุกคามอะไร เพิ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้งก็คราวนี้

สำหรับ ภัควดี ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพต่อสังคมมาโดยตลอด โดยเฉพาะในงานที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมรำลึก 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 58 ภัควดี ได้เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพที่บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบกประกอบด้วยการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ให้ทหารออกไปคลุกคลีกับประชาชนเพื่อทราบความเป็นไปของโลก กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน รวมทั้งค่ายทหารควรไปอยู่ชายแดนไม่ใช่ใจกลางเมือง เสนอลดจำนวนนายพล อีกทั้งกองทัพไม่ควรมีหน่วยข่าวกรองของกองทัพ สร้างความโปร่งใสโดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธและใช้งบประมาณ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กองทัพคำนึงถึงสิทธิในการแสดงออกของประชาชน ความเสมอภาคและการให้เกียรติระหว่างพลทหารกับนายทหาร การคำนึงถึงสันติภาพ เป็นต้น (อ่านรายละเอียด)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.นักนิติศาสตร์สากล เรียกร้องยกเลิกดำเนินคดีอาญาทนายกลุ่ม NDM

$
0
0

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เรียกร้องยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับทนายกลุ่ม NDM หลังตำรวจส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา แจ้งความเท็จ-ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจพนง. โดยก่อนหน้านี้ ทนายปฏิเสธไม่ให้ตำรวจค้นรถ-แจ้งความกรณีตำรวจยึดรถเอาไว้


จนท.ตร.นำแผงกั้นล้อม-ใช้กระดาษติดเทปกาวแปะรอบประตูรถทนาย
(ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

5 ก.พ. 2559 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (The International Commission of Jurists - ICJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการดำเนินคดีอาญากับศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ทันที

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้รับหมายเรียกสองหมายให้เข้ามารายงานตัวกับสถานีตำรวจชนะสงครามในวันที่  9  กุมภาพันธ์ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยข้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกนานถึงสองปี

“เป็นที่ชัดเจนว่าข้อหาต่อนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นั้นเชื่อมโยงมาจากความพยายามของเธอที่จะคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนของลูกความซึ่งเป็นนักศึกษา ทั้งนี้ นักศึกษาไม่ควรที่จะถูกจับกุมหรือดำเนินคดีอาญาด้วยเหตุที่มาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบมาแต่แรกแล้ว”  แมทท์ พอลลาร์ด (Matt Pollard) หัวหน้าศูนย์ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และทนายความของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าว

“การดำเนินคดีกับนางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ ที่เกี่ยวโยงมาจากความพยายามของเธอในการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่รับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และจะยังผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศมากขึ้นไปอีก” เขากล่าวเสริม

แถลงการณ์ระบุว่า ถึงแม้ว่าในหมายเรียกจะมิได้ระบุโดยละเอียดถึงเหตุผลที่ให้มารายงานตัว แต่เนื่องจากในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนกรณี  14 นักศึกษา ข้อหาดังกล่าวน่าจะเกี่ยวเนื่องมาจากการพฤติการณ์แวดล้อมที่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ นักศึกษา 14 รายที่ถูกจับกุมในวันที่ 26  มิถุนายน 2558 ภายหลังการชุมนุมโดยสงบเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และขอให้ยุติการปกครองโดยทหาร

สำหรับ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เป็นทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่บุคคลจำนวนมาก รวมถึงนักกิจกรรม และนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ภายหลังการปกครองโดยทหารซึ่งได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2557

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลเคยได้แสดงความกังวลกับกรณีที่รัฐบาลไทยมุ่งจัดการ ศิริกาญจน์ เจริญศิริเป็นกรณีเฉพาะ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2  กรกฎาคม 2558 ภายหลังที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับเธอ โดยได้ประกาศให้สาธารณะรับทราบว่า ทางสำนักตำรวจแห่งชาติอยู่ในระหว่างการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาในคดีอาญา โดยได้มีการเดินทางไปที่บ้านของศิริกาญจน์ เพื่อสอบถามสมาชิกในครอบครัว จะเห็นได้ว่า ภัยและการคุกคามดังกล่าวเป็นการตอบโต้กับเหตุการณ์ที่ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาค้นรถยนต์ของตน ภายหลังจากที่นักศึกษาขึ้นศาล อีกประการหนึ่งคือเหตุที่ศิริกาญจน์ แจ้งความกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการยึดรถยนต์ของตนเอาไว้

ทั้งนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลได้นำแจ้งกรณีของศิริกาญจน์ ให้ผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และผู้แทนรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในเดือนพฤษภาคม 2559 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้กลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของทุกประเทศสมาชิก

"ก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะได้ทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ และเพื่อที่รัฐบาลไทยจะไม่ดำเนินการขัดแย้งกับ ‘โรดแมป’ ที่วางไว้เพื่อนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งเพิ่มขึ้นในทุกวัน” แมทท์ได้กล่าวเสริม

 

ที่มา: 
Thailand: immediately drop criminal proceedings against human rights lawyer Sirikan Charoensiri 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดี ม.112 แอบอ้างพระเทพฯ ศาลกำแพงเพชรนัดสืบพยาน 14 นัด ช่วง ก.ค.-ก.ย. นี้

$
0
0

5 ก.พ. 2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร กับนางอัษฎาภรณ์ และพวก รวม 4 คน ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ความผิดในการร่วมกันปลอมเอกสารราชการ และความผิดในการสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงานโดยไม่มีสิทธิ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุต่อว่า ในคดีนี้ ทางฝ่ายโจทก์ระบุว่าจำเลยทั้งสี่ ได้แก่ นางอัษฎากรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการทั้งฉบับ โดยปลอมเอกสารหนังสือราชการของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้นำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการกล่าวอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย

ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี จำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกควบคุมตัวในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 และถูกคุมขังในเรือนจำมานับแต่นั้น โดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และในชั้นสอบสวนและการสอบคำให้การในชั้นศาล จำเลยทั้งสี่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา (ดูรายงานก่อนหน้านี้)

ในนัดนี้ ศาลได้สอบข้อเท็จจริงที่คู่ความสามารถรับกันได้ แต่ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่คู่ความรับกันได้ จากนั้นทางฝ่ายโจทก์ได้แถลงจะนำพยานเข้าสืบจำนวน 23 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2559 และวันที่ 16-18 สิงหาคม 2559 รวม 6 นัด

ขณะที่จำเลยที่ 1 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 20 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 30-31 สิงหาคม 2559 และวันที่ 1-2 และ 6 กันยายน 2559 รวม 5 นัด

ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความ 2 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 7 กันยายน 2559 รวม 1 นัด

ส่วนจำเลยที่ 4 แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความจำนวน 5 ปาก ศาลจึงกำหนดวันนัดสืบพยานวันที่ 8-9 กันยายน 2559 รวม 2 นัด รวมแล้วนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งหมดจำนวน 14 นัด

สำหรับคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุด้วยว่า ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างทนายความส่วนตัว ขณะที่จำเลยที่ 2 และ 3 ได้ให้ทนายความขอแรงจากศาลช่วยเหลือทางกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ในนัดสอบคำให้การ จำเลยที่ 4 ได้เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นสถานะของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่าเป็นบุคคลตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร แต่ศาลได้ให้ยกคำร้องฉบับนี้ โดยระบุว่าชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองประกอบด้วยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภูมิธรรมถามหาความรับผิดชอบ 'ปชป.-ตลก.รธน.' มีส่วนยุบพรรค 'ไทยรักไทย' ฟรี

$
0
0

5 ก.พ. 2559  ภูมิธรรม เวชยชัย  อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และจำเลย 1 ใน 111 กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ปัจจุบันเป็น  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อคำตัดสินของศาลฎีกาชี้ชัด "พรรคไทยรักไทย" บริสุทธิ์ไม่ได้จัดจ้างพรรคเล็กตามข้อกล่าวหา พรรคประชาธิปปัตย์ ผู้กล่าวหา และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินยุบพรรคไทยรักไทย จะชี้แจงความผิดพลาดครั้งนี้อย่างไร

"พรรคไทยรักไทยถูกยุบฟรี และอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตทางการเมืองโดยถูกเพิกถอนสิทธิโดยไม่ยุติธรรมไปฟรีๆ 5 ปี จะถามหาความยุติธรรมได้จากใคร ขอส่งเสียงถามดังๆ “องค์กรอิสระที่มีอำนาจเต็มในกระบวนการยุติธรรม” ช่วยตอบที แล้วยังจะเชื่อใจ มอบอำนาจมากมายให้องค์กรเหล่านี้ได้หรือครับ" ภูมิธรรม กล่าว

สำหรับคดีอาญากรณีจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีต รมว.กลาโหมและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จนเป็นส่วนหนึ่งในเหตผลที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อ 30 พ.ค.50 พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง กรรมการพรรค 111 คน นั้น ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ไปเมื่อ 7 ม.ค. 57 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) และอัยการไม่ยื่นฎีกาคดีดังกล่าวแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรณียุบพรรคไทยรักไทย: ความอยุติธรรมกับวิกฤตที่ยังไม่สิ้นสุด

$
0
0



...สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอัน ‘อยุติธรรม’ ภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมา เช่น ในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 พรรคไทยรักไทยถูกยุบและกรรมการบริหารพรรค 111 คนถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยคนใดกระทำผิดกฎหมายแม้แต่คนเดียว

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยซึ่งตกเป็นจำเลยข้อหาว่าจ้างพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีมูลความจริง และอัยการไม่ฎีกา คดีจึงเป็นที่สุด

เรื่องนี้แสดงให้เราเห็นอะไร

เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549 คดีมาสู่ศาลเอาเมื่อหลังการรัฐประหาร 22 กันยายน 2549 ในขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบไปโดยคณะรัฐประหาร และคมช.ได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ได้อาศัยพยานหลักฐานที่ชัดเจนใดๆ มีเพียงพยานแวดล้อมที่จินตนาการเอาเอง และเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา น่าจะจ้างพรรคเล็กลงสมัครเพื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย จะได้ไม่ต้องพบเงื่อนไขที่ต้องได้เสียงเกินร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์ในเขตที่ไม่มีผู้สมัครอื่นลงเลือกตั้ง

เมื่อเชื่อว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ น่าจะจ้างผู้สมัครพรรคเล็ก ก็ใช้ตรรกะโดยไม่มีพยานหลักฐานใดๆทึกทักต่อไปว่า พล.อ.ธรรมรักษ์เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคและประธานภาคอีสานของพรรค ทั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย จึงเชื่อว่าหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคต้องรู้เห็นเป็นใจกับการจ้างพรรคเล็กในครั้งนี้คือร่วมกันทั้งพรรค จากนั้นก็โยงต่อไปว่าการจ้างพรรคเล็กนี้เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงสมควรต้องยุบพรรคไทยรักไทยเสีย

ตามระบบกฎหมายปรกติในขณะนั้น เมื่อพรรคการเมืองถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกห้ามไม่ให้ไปก่อตั้งพรรคหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ ไม่มีบทลงโทษให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่คมช.ได้ออกประกาศกำหนดว่าเมื่อพรรคการเมืองใดถูกยุบ ให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ประกาศของคณะรัฐประหารนี้ออกหลังจากวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2549 เป็นเวลาหลายเดือน

แต่คณะตุลาการเสียงข้างมากมีมติวินิจฉัยให้ใช้ประกาศนี้ย้อนหลังไปลงโทษกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยได้ ด้วยเหตุผลว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่การลงโทษทางอาญา กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้งหมด 111 คนจึงถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาว่า การยุบพรรคที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปโดยปราศจากพยานหลักฐาน และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 111 คนนั้นขัดต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากเป็นการใช้คำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นกฎหมายอันมีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และเป็นการใช้ให้มีผลย้อนหลังไปเป็นโทษอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นการลงโทษบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องถูกลงโทษเนื่องจากความเกี่ยวพันกับองค์กร

แต่ขณะเดียวกัน พรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เคยมีสมาชิกพรรคมากที่สุด ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นติดต่อกัน มีสส.ในสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และตั้งรัฐบาลที่บริหารงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างกว้างขวาง นอกจากถูกทำลายไปแล้วก็ยังต้องถูกประณามว่าเป็นพรรคการเมืองที่ทุจริตในการเลือกตั้งจนถูกยุบไป นักการเมือง 111 คนต้องอยู่ในสภาพเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามของประเทศ ทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ที่สมควรแล้วที่ต้องถูกลงโทษให้สาสม

เมื่อศาลฎีกาตัดสินเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยกระทำผิดกฎหมาย เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปก็เท่ากับว่า ไม่มีเหตุอะไรที่จะยุบพรรคไทยรักไทย และก็ยิ่งไม่มีเหตุผลความชอบธรรมใดๆที่จะไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 111 คน

ประวัติศาสตร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนักการเมือง 111 คนที่เกิดขึ้นนั้น คือ ‘ความอยุติธรรม’

ความอยุติธรรมที่ไม่อาจรื้อฟื้นให้ความถูกต้องกลับคืนมาได้ง่ายๆเสียแล้ว ด้วยระบบกฎหมายของประเทศนี้ยังถือว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุด แม้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผลมาจากการรัฐประหาร และแม้ว่าคำวินิจฉัยจะได้รับการพิสูจน์ต่อมาว่าไม่ถูกต้องชอบธรรมก็ตาม เรื่องนี้คงต้องเป็นเรื่องของผู้รักและใฝ่หาความยุติธรรมทั้งหลายจะขบคิดกันต่อไป

แต่ความเสียหายที่เกิดจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยนั้นใหญ่หลวงลึกซึ้งกว่าการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และการตัดสิทธิ์นักการเมืองจำนวนหนึ่งมากนัก

การยุบพรรคไทยรักไทยและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของแผนบันได 4 ขั้นของคมช.ที่ต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย และสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองพรรคไทยรักไทยกลับมาสู่อำนาจอีก เพื่อการนี้คณะรัฐประหารได้ใช้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือด้วยการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งบุคลากรฝ่ายตุลาการขึ้นเป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่แทน คล้ายกับการตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งเป็นการเฉพาะ เท่ากับเป็นการประสานร่วมมือกันระหว่างคณะรัฐประหารกับตุลาการภิวัฒน์ ซึ่งถูกผลักดันให้มีบทบาทหาทางออกของวิกฤตการเมืองไทยในขณะนั้นด้วยความเชื่อว่า ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระและเป็นกลางกว่าฝ่ายอื่นใด แต่เอาเข้าจริงกลับจัดการกับการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมแต่อย่างใด

หลังจากกรณียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เดินหน้าต่อด้วยการทำให้การยุบพรรคการเมืองทำได้ง่ายขึ้น เช่น หากกกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งทุจริตก็ให้ใบแดงได้ง่ายๆ และก็เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้แล้ว นอกจากนั้นการลงโทษทั้งหมู่คณะหรือทั้งองค์กร ทั้งๆที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กระทำผิดก็ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างเป็นทางการ ทำลายความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมากยิ่งขึ้น

แล้วระบบที่อ้างว่ามีไว้จัดการกับนักการเมืองเลวๆให้อยู่หมัดนี้ก็แสดงพิษสงของมันออกมา

รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ถูกล้มก็ด้วยระบบนี้

กรณีคล้ายกับการยุบพรรคไทยรักไทยยังเกิดขึ้นอีก ในการเลือกตั้งปี 2550 ผู้สมัครของพรรคชาติไทยถูกกกต.ให้ใบแดง เนื่องจากกกต.เชื่อว่าจ่ายเงินให้แก่ผู้สนับสนุนเป็นจำนวน 2 หมื่นบาท ต่อมาพรรคชาติไทยก็ถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 5 ปี ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีและไม่อาจเป็นอะไรอีกได้

ต่อมามีการดำเนินคดีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้ใบแดง ได้ข้อยุติว่าทางการสั่งไม่ฟ้องและให้คืนเงิน 2 หมื่นบาทแก่ผู้สมัครรายนั้นไป เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินที่ใช้ในการชำระหนี้และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

สิ่งที่เกิดกับพรรคชาติไทยก็เป็น ‘ความอยุติธรรม’ เช่นกัน

ระบบที่ให้อำนาจองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองและขจัดนักการเมืองได้ง่ายๆโดยไม่คำนึงถึงหลักประชาธิปไตยและนิติธรรมนี้ ได้ทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลงอย่างมาก รัฐบาลอ่อนแอไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารงานได้ เกิดการหักล้างมติของประชาชนและเกิด ‘ความอยุติธรรม’ ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า มีผลกระทบทางสังคมอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

การใช้ ‘ตุลาการภิวัฒน์’ เป็นเครื่องมือจัดการกับการเมืองได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าไม่ได้ผล ซ้ำร้ายยังทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องเสื่อมลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การจัดการที่ไม่ชอบธรรมนี้นอกจากไม่ช่วยแก้ความขัดแย้งแล้ว ยังทำให้ประเทศต้องจมปลักอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นได้ในเร็วๆนี้เลย

วันนี้กำลังมีความพยายามทำให้องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากขึ้น และมีบทบาทแทรกแซงจัดการกับการเมืองได้มากขึ้นกว่าที่แล้วมา ทั้งยังจะเอาระบบผิดคนเดียวลงโทษทั้งคณะมาใช้เพิ่มขึ้นอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทยและผลกระทบต่อเนื่องมาน่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้หวังดีห่วงใยต่อชาติบ้านเมืองทั้งหลายต้องหันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปัจจุบันกันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้สังคมไทยต้องวนเวียนอยู่ในวิกฤตที่เกิดจากการทำลายล้างและการกระทำอันอยุติธรรมภายใต้ข้ออ้างของการจัดการกับคนโกงคนเลวให้สิ้นซาก ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำไปอย่างผิดฝาผิดตัวและไม่รับผิดชอบใดๆต่อความเสียหายที่ตามมาเช่นในกรณีพรรคไทยรักไทยนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สองปราชญ์พุทธศาสนากับปัญหาประชาธิปไตยไทย

$
0
0


 

พุทธศาสนาไทยที่เรารับรู้ในปัจจุบัน จัดเป็น “พุทธศาสนาของรัฐ” ทั้งในแง่โครงสร้างและอุดมการณ์ โดยพุทธศาสนาหน้าตาแบบนี้ได้ถูกสถาปนาขึ้น ตั้งแต่การแยกนิกายเป็น “ธรรมยุติกนิกาย” และ “มหานิกาย” ในสมัย ร.4 ผ่านการสถาปนาองค์กรสงฆ์แบบระบบราชการในสมัย ร.5 และการผนึกรวมพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ในสมัย ร.6

หลังการปฏิบัติสยาม 2475 ไม่มีการเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาให้สอดคล้องกับความเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตย คือไม่ได้เปลี่ยนองค์กรสงฆ์ของรัฐให้เป็นองค์กรเอกชน ให้รัฐมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น ไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซงกิจการภายในขององค์กรศาสนา และองค์กรศาสนาต่างๆก็ไม่มีสิทธิ์เข้ามาแชร์อำนาจรัฐ หรือให้รัฐออกกฎหมายเฉพาะใดๆ เพื่อรักษาสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของตน แต่ละศาสนา นิกายศาสนา หรือพระสงฆ์กลุ่มต่างๆ มีอิสระในการศึกษาตีความและปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างเสรี ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

เหตุที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะอ้างเหตุผลเรื่องรักษาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงต้องให้รัฐประชาธิปไตยทำหน้าที่ทางศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตยและรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เหตุผลดังกล่าว ได้ถูกเน้นให้หนักแน่นขึ้นในการเสนอความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม เช่น “ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ” และ “รัฐกับพระพุทธศาสนาถึงเวลาชำระล้างหรือยัง?.” เป็นต้น

ความคิดสำคัญของพระพรหมคุณาภรณ์คือ รัฐไทยสมัยใหม่ควรทำหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐสมัยเก่า เช่นรัฐสมัยพระเจ้าอโศก, สุโขทัย เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ นั่นคือรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความความเจริญและความเสื่อมของพุทธศาสนา โดยรัฐต้องออกกฎหมายวางระบบการปกครองและการศึกษาสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการนำพุทธธรรมไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชน ให้จัดการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ควรยอมรับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และรัฐควรมีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของพระธรรมวินัย มีกฎหมายเอาผิดพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยเหมือนรัฐสมัยเก่าได้

จะเห็นได้ว่า รัฐตามความคิดของพระพรหมคุณาภรณ์คือ “รัฐกึ่งศาสนา” (semi-religious state) ได้แก่ รัฐที่ปกครองด้วยหลักการทางโลกแต่มีหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐโบราณด้วยเหตุผลเรื่องรักษาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ

ปัญหาของความเป็นรัฐกึ่งศาสนาคือ ทำให้รัฐไทยไม่สามารถเป็นรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือเสรีประชาธิปไตยได้ เพราะรัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ได้มีหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐโบราณ แต่ต้องเป็นกลางทางศาสนา และมีหน้าที่รักษาเสรีภาพทางศาสนาเท่านั้น จึงต้องแยกศาสนาจากรัฐ ให้องค์กรศาสนาเป็นเอกชน พระสงฆ์มีอิสระปกครองกันตามหลักธรรมวินัยและข้อตกลงของพระสงฆ์ตามสายครูอาจารย์ต่างๆ เท่านั้น ศาสนาอื่นๆก็ต้องเป็นองค์กรเอกชนเช่นเดียวกัน

เมื่อเปลี่ยนจากรัฐกึ่งศาสนาเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตย รัฐไทยก็จะไม่ตกเป็นเวทีการเมืองภายในคณะสงฆ์ในเรื่องสมณศักดิ์ ตำแหน่ง อำนาจ ดังที่เกิดขึ้นมาตลอดในประวัติศาสตร์ หรือที่เห็นได้ในกรณีธรรมกายและการแต่งตั้งพระสังฆราชในปัจจุบัน ปัญหาการที่รัฐละเมิดเสรีภาพทางศาสนา เช่นกรณีห้ามบวชภิกษุณี กรณีห้ามกลุ่มสันติอโศกไม่ให้มีสถานภาพเป็นพระสงฆ์เป็นต้นก็จะหมดไป อีกทั้งการปฏิรูปศาสนาก็จะไม่ตกอยู่ในเกมอำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไป

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พุทธศาสนาไทยได้เป็นฐานของการ “ผลิตซ้ำ” ความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ถ้าเป็นสมัยเก่าก็คือความคิดเรื่องการจัดระดับชั้นทางสังคมตามระดับสูง-ต่ำของบุญบารมีที่บำเพ็ญมาไม่เท่ากัน ชนชั้นปกครองสมควรเป็นผู้ปกครองเพราะทำบุญมามาก ไพร่ ทาสสมควรถูกปกครองก็เพราะทำบุญมาน้อยกว่า จึงจำต้องพึ่งบุญญาธิการของผู้ปกครอง เพื่อมีชีวิตที่ดีตามควรแก่ฐานะสูง-ต่ำทางสังคม

ถ้าเป็นสมัยใหม่ก็คือ ความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมของพุทธทาสภิกขุ คือ “ธรรมิกสังคมนิยม” หรือ “เผด็จการโดยธรรม” ที่ถือว่าการปกครองที่ดีต้องถือ “ประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่” และต้องใช้วิธีเผด็จการโดยธรรมคือ ต้องหาคนดีมีคุณธรรมผู้ปกครองเช่นทศพิธราชธรรมเป็นต้นมาเป็นผู้ปกครอง ระบบประชาธิปไตยหรือระบบปกครองใดๆไม่สามารถดีด้วยตัวมันเองได้ หากไม่มีธรรมะหรือศีลธรรมเป็นรากฐาน ซึ่งการมีธรรมะหรือศีลธรรมเป็นรากฐานก็ปรากฏเป็นจริงได้ด้วยการมี “คนดี” เป็นผู้ปกครองเท่านั้น

ความคิดดังกล่าวถูกนำมาตีความ ผลิตซ้ำอย่างแพร่หลายจนเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ชนชั้นกลาง โดยมีผู้นำทางความคิดสำคัญ เช่น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์,นายแพทย์ประเวศ วะสี นักวิชาการในมหาวิทยาลัย กวี ศิลปิน เอ็นจีโอสายนิยมความโปร่งใส คุณธรรมจริยธรรม การกระจายอำนาจ เป็นปากเป็นเสียงแทนคนเล็กคนน้อยในสังคม แต่ให้ความสำคัญน้อยกว่ากับเสรีภาพทางการเมืองและไม่ยืนหยัดในกระบวนการหรือหลักการและกติกาประชาธิปไตยอย่างมั่นคง

ผลที่ตามมาคือ ในทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสการอ้างความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมสนับสนุนการต่อสู้ทางการเมืองที่ยึดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น จนนำมาสู่รัฐประหาร 2549 และ 2557 และให้กำเนิดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 อันเป็นการสถาปนา “ระบบอภิชนาธิปไตย” ที่ทำให้อำนาจการปกครองโดยกลุ่มอภิชนคนดีเข้มแข็งขึ้น อย่างท้าทายต่อกระแสการตื่นขึ้นของประชาชนฝ่ายข้างมากที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย

แน่นอนว่า กระบวนการบริหารจัดการอำนาจรัฐของเครือข่ายอภิชน ที่นำมาสู่การสถาปนาระบบอภิชนาธิปไตยผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันมากขณะนี้ ย่อมมีปัจจัยเชิงความคิด กลุ่มอำนาจ ผลประโยชน์และเงื่อนไขอื่นๆ ทางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยที่สลับซับซ้อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐที่ตกทอดมาจากยุคเก่า และความคิดของปราชญ์ทางพุทธศาสนาทั้งสองท่านที่กล่าวมาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาประชาธิปไตยไทย

แม้เราจะยอมรับคุณูปการด้านอื่นๆของปราชญ์พุทธศาสนาทั้งสองท่าน และศรัทธาในวัตรปฏิบัติในฐานะพระภิกษุที่น่าเคารพของทั้งสองท่านเพียงใด แต่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของทั้งสองท่านอย่างตรงไปตรงมา ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งไม่ใช่หรือ ตราบที่เรายังหวังความก้าวหน้าทางปัญญาและอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ยุติธรรมมากขึ้น

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แผ่นดินไหวไต้หวัน ก.แรงงานให้ดูแลแรงงานไทยใกล้ชิด

$
0
0

เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ภาคใต้ของไต้หวัน ขนาด 6.4 ศูนย์การสั่นสะเทือนอยู่ที่เกาสง-ไถหนาน ตึกถล่มและและทรุดเอียงนับ 10 หลัง เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยผู้ติดอยู่ใต้ซากอาคารเหวยก้วนได้แล้ว 230 คน จากผู้พักอาศัยกว่า 500 คน ด้านกระทรวงแรงงานให้ดูแลใกล้ชิดช่วยเหลือแรงงานไทยหากได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

สภาพอาคารเสียหายที่เมืองไถหนาน หลังเหตุแผ่นดินไหวเช้ามืดวันที่ 6 ก.พ. 2559 (ที่มาของภาพ: สถานีโทรทัศน์ช่อง 51 ไต้หวัน/YouTube)

ที่มาของภาพ: สถานีวิทยุ Radio Taiwan International (RTI)

 

6 ก.พ. 2559 สถานีวิทยุ RTIของสาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน รายงานว่ารุ่งเช้าวันนี้ (6 ก.พ.) เวลา 03.57 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงที่ภาคใต้ของไต้หวัน ขนาด 6.4 ศูนย์การสั่นสะเทือนอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 16.7 ก.ม. บริเวณภูเขาเขตเหม่ยหน่ง นครเกาสง (高雄市美濃區) พลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาเทียบเท่าระเบิดปรมาณู 2 ลูก ส่งผลให้เมืองใกล้เคียงได้รับความเสียหาย นครไถหนานเสียหายหนักสุด มีตึกสูงล้มถล่มและทรุดเอียงนับ 10 แห่ง ในจำนวนนี้ อาคารเหวยก้วน ที่ถนนหย่งต้าในเขตหย่งคัง ซึ่งเป็นอาคารที่พักสูง 17 ชั้น ถล่มลงมากองขวางอยู่กลางถนน  จนกระทั่ง 07.30 น. ผู้อยู่อาศัย 150 ครัวเรือน ประมาณ 500 คน ได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้ว 130 คน ยังมีชาวบ้านติดอยู่ในซากปรักหักพังจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีตึกสูงหลายแห่งทรุดและเอียง

จนถึงเวลา 07.30 น. มีชาวไต้หวันเสียชีวิตแล้ว 2 ราย มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะถูกของหล่นทับ ขณะที่นอนหลับ ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ รถไฟความเร็วสูงหยุดวิ่งที่ภาคใต้ หน่วยกู้ภัยจากเมืองต่างๆ และหน่วยกู้ภัยจากกองทัพได้รุดไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว

สำหรับภาคเหนือและเขตพื้นที่อื่นๆ วัดแรงสั่นสะเทือนได้เพียง 1-2 ริกเตอร์ ไม่รู้สึกถึงแผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

ล่าสุดข่าวใน สถานีวิทยุ RTI ปรับตัวเลขผู้ได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้วจาก 130 คน เป็น 230 คน

ต่อมาในเวลา 13.00 น. สถานีวิทยุ RTI รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ผู้บาดเจ็บ 400 คนแล้ว ตัวเลขกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้เสียชีวิต 7 คน ในจำนวนนี้ 5 คนเกิดจากเหตุการณ์ตึกเหวยก้วนถล่ม อีก 1 คนถูกทับตายเนื่องจากแทงค์น้ำร่วงที่ถนนหมินเซิงหนัน และอีก 1 บาดเจ็บที่โรงแรมวังหลิน เสียชีวิตหลังจากส่งถึงโรงพยาบาลเพราะอาการสาหัส

 

ก.แรงงานให้ดูแลใกล้ชิดช่วยเหลือแรงงานไทยหากได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

ด้านกระทรวงแรงงานของไทย โดยนายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานแรงงานไทย กรุงไทเปว่าวันเสาร์ที่ 6 ก.พ.59  เวลา 03.57 น. เกิดเหตุแผ่นดินรุนแรงที่ภาคใต้ของไต้หวัน ขนาด 6.4 ศูนย์ จากการติดตามสถานการณ์ยังไม่มีรายงานว่าแรงงานไทย ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานแรงงานไทย นครเกาสง และสำนักงานแรงงานไทย กรุงไทเป ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือโดยเร็วหากพบแรงงานไทยได้รับผลกระทบ จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว

ส่วน กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยที่ไทเปได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วยังไม่พบคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขณะที่ สำนักงานแรงงานไทย ไทเป ออกประกาศเตือนทางเฟสบุ๊ค ขอความร่วมมือพี่น้องแรงงานไทยทั่วไต้หวันส่งข่าวสารถึงกัน หากทราบหรือพบเห็นผู้ใดต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ช่วยแจ้งมาที่สำนักงานแรงงานไทย ไทเปได้ทันที สำหรับเมืองไถหนานอยู่ทางภาคใต้ของไต้หวันห่างจากไทเป 317 กิโลเมตร และคนไทยในไต้หวันทีทั้งหมด 65,785 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในไถหนาน 5,080 คน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถิติพบตรุษจีนผู้ป่วยปวดท้องมากกว่า 8 พันคน

$
0
0
สพฉ.เปิดข้อมูลผู้ป่วยปวดท้องในช่วงเทศกาลตรุษจีนเดือนกุมภาพันธ์มากกว่า 8 พันคน แนะควรปรุงอาหารไหว้เจ้าให้สุกสะอาดก่อนนำมาบริโภค  พร้อมเตือนประชาชนระมัดระวัง ไม่จุดประทัดในบ้านและไม่ควรจุดครั้งละมากๆ เพราะแรงระเบิดจากประทัดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

 
6 ก.พ. 2559 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดเก็บสถิติการเจ็บป่วยฉุกเฉินของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอาการ ไฟไหม้  ไฟลวก เหตุความร้อนจากสารเคมี และไฟฟ้าช๊อตจำนวนมากถึง 185 คน และนอกจากนั้นแล้วแล้วเรายังพบสถิติของผู้ป่วยฉุกเฉินจากอาการปวดท้องเฉียบพลันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้มากกว่า 8,595 คนด้วย ดังนั้นในช่วงตรุษจีนปีนี้ประชาชนจึงควรระมัดระวังตนเองให้มากๆ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่เสร็จสิ้นจากการไหว้เจ้า ซึ่งอาหารบางอย่างเมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีภาชนะที่ปิดไว้ให้มิดชิดอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคได้  โดยผู้ป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษมีดังนี้  ท้องเสีย อาจเป็นน้ำ มูก หรือ มูกเลือด ปวดท้องอาจจะปวดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค มักเป็นการปวดบิดสลับกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายยังมีอาการไข้สูงด้วย ทั้งนี้ในขณะที่เราปวดท้อง หรือ คลื่นไส้อาเจียน ไม่ควรกินอาหาร หรือ ดื่มน้ำเพราะอาการจะรุนแรงขึ้น ที่สำคัญคือไม่ควรกินยาหยุดถ่ายท้อง เพราะการท้องเสียจะช่วยขับเชื้อและสารพิษออกจากร่างกาย ควรจิบน้ำ  หรือ  ดื่มเกลือแร่ บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และควรรีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาตนเองต่อไป
 
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีของมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอาการ ไฟไหม้  ไฟลวก เหตุความร้อนจากสารเคมีซึ่งหนึ่งในนั้นคือสารเคมีจากการจุดประทัดว่า  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเคยออกคำเตือนในทุกๆ ปีว่า การจุดประทัดสำหรับการไหว้เจ้านั้นเราไม่ควรจุดครั้งละจำนวนมาก เพราะแรงระเบิดจากประทัดอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย  โดยเฉพาะการจุดประทัดที่มีสายชนวนสั้น เมื่อจุดไม่ติดก็ไม่ควรจุดซ้ำ และที่สำคัญที่สุดคือห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคน ทั้งนี้ประทัด พลุ และดอกไม้ไฟ เป็นวัตถุอันตรายที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย 3 ทาง คือ  1.ทางผิวหนัง คือเกิดแผลไหม้จากแรงระเบิด  2.ทางนิ้วมือ คืออาจทำให้นิ้วมือ หรืออวัยวะขาด เนื่องจากแรงระเบิด และ 3.ทางตา ซึ่งเป็นอวัยวะที่บอบบางที่สุด คืออาจทำให้ตาดำไหม้ ขุ่นมัว เลือดออกช่องหน้าม่านตา และอาจทำให้ตาบอดถาวรได้
 
สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่นิ้วหรืออวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาดนั้น ให้รีบห้ามเลือดบริเวณที่อวัยวะขาด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือกหรือสายรัดเพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้  นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม. ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12 – 18 ชม. ส่วนการบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที  และหาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือกรณีฉุกเฉิน  ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดย ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดือนธันวาคม 2558 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้าง 2,897 คน

$
0
0

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานเผยสถิติจ้างงาน 5 อุตสาหกรรมหลักเดือนธันวาคม 2558 พบอิเล็กทรอนิกส์ว่างงาน 6,398 คน ถูกเลิกจ้าง 2,897 คน ด้านการจ้างงานมีอัตราการชะลอตามยอดส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคงหดตัว

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน[1] การเลิกจ้าง [2] และการว่างงาน [3]ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้

1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ -3.51 , การว่างงานชะลอตัวร้อยละ -13.74, การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ -33.11

2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ -0.62 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 69.71 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 155.92

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 5.61 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 50.40 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 75.11

4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ -3.30 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 20.97 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 121.27

5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2.93 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 15.27 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 52.55

_______

[1] การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม

[2] การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม

[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

 

ข้อมูลการจ้างงาน การเลิกจ้าง และการว่างงาน ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนธันวาคม 2558

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการจ้างงานจำนวน 156,295 คนมีผู้ว่างงานจำนวน 1,884 คนมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 713 คน จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2558) พบว่าการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.40 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -3.51 เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 13.35 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -33.11 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 5.02 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -13.74

อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานจำนวน 408,779 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 6,398 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 2,897 คน จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2558) พบว่าการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -1.16 และเมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -0.62 เนื่องจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยังคง หดตัวสูงและมีแนวโน้มชะลอลงอีกตามแนวโน้มความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่ลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 8.02 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 155.92 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.79 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2558) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 69.71

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการจ้างงานจำนวน 118,942 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,313 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 408 คน จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.52 และเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 5.61 เนื่องจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 3.29 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 75.11 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 มีผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ -1.72 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 50.40 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

อุตสาหกรรมยานยนต์มีการจ้างงานจำนวน 236,154 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,561 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 489 คน จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวจากเดือนก่อน (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.16 และเมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -3.30 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนียแอฟริกา ยุโรป รวมทั้งอมิรกากลางและอเมริกาใต้

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 3.38 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 121.27 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ -5.91 แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 20.97

อุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการจ้างงานจำนวน 72,915 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,155 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 479 คน จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (พฤศจิกายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 2.60 เช่นเดียวกันและเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 2.93 เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภาคผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าทดแทนการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะขยายตัวโดยมีผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้ในปีนี้เป็นผลจากการส่งออก พลอย ไข่มุก และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะ มีค่าอื่นๆ

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -4.20 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 52.55 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -7.53 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 15.27

สรุปภาวะเศรษฐกิจแรงงานเดือนธันวาคม 2558

อัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานจากสาเหตุ เลิกจ้าง และลาออก ของกรมการจัดหางาน ณ เดือนธันวาคม 2558

ทั้งนี้ในภาพรวมภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนธันวาคม 2558 อยู่ในภาวะปกติ การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตน จำนวน 10,391,761 คน มีอัตราการขยายตัว 3.61% (YoY) ซึ่งชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3.78% (YoY) สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนธันวาคม 2558 มีจำนวน 123,536 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 15.67% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายตัวอยู่ที่ 0.24% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่มีจำนวน 123,238 คน อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้าง จากตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ 7,034 คน มีอัตราขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 56.17% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่มีอัตราการชะลอตัวที่ -15.43% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 8,317 คน

ด้านสถานการณ์จ้างงานจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2558 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,391,761 คน มีอัตราการขยายตัว 3.61% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนธันวาคม 2557) ซึ่งมีจำนวน 10,029,777 คน แต่หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยในเดือนธันวาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ 3.61% ชะลอตัวจากเดือนพฤศจิกายน 2558 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 3.78% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ด้านสถานการณ์ว่างงานจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2558 มีผู้ว่างงานจำนวน 123,536 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนธันวาคม 2557) มีจำนวน 106,798 คน แสดงว่าผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 15.67% ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 21.35% แม้นว่าหากเทียบระหว่างเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 (%MoM) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ -2.88% มาอยู่ที่ 0.24%

และในด้านสถานการณ์เลิกจ้างจากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2558 มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 7,034 คน (มีอัตราขยายตัว อยู่ที่ 56.17%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ธันวาคม 2557) มีจำนวน 8,317 คน ดังนั้น ณ เดือนธันวาคม 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตัวเลขการเลิกจ้างเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านชะลอตัว (MoM) อยู่ที่ -15.43 อย่างไรก็ตามถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากการเลิกจ้างมีอัตราการเติบโตถึง 56.17% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01% (ใช้ฐานข้อมูลปี 2548–2551) ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้ส่วนราชการในพื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้มีการรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน โดยจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันปัญหาและสามารถให้คำแนะนำช่วยเหลือแก้ไขได้ทันท่วงที

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images