Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : “ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีกว่า”

$
0
0

ชำแหละให้ถึงราก ‘มีชัย’ ซ่อนอะไรไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ วรเจตน์ ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญถูกยกระดับเป็นซูเปอร์องค์กร ระบุหลังยึดอำนาจศาล Transform เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร ร่างใหม่ส่งดาบเชือดรัฐบาลง่ายๆ ด้วย 'มาตรฐานจริยธรรม

“จากรากเหง้าของธรรมนูญการปกครองเผด็จการ พ.ศ. 2502 ถูกส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าค่อนข้างก้าวหน้า จากนั้นถูกส่งมาในรัฐธรรมนูญ 2550 เที่ยวนี้ถูกส่งต่อมาอีกในปี 2559 แล้วคนร่างก็เปลี่ยนตำแหน่งของมัน แทนที่จะเป็นเรื่องนิติวิธีซึ่งเป็นหลักทั่วไป กลับไปเป็นเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียว... จากเรื่องอ้างกันผิด ๆ เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 กลายเป็นกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจการอ้างเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญอาจอ้างผิด ๆ ต่อไปอีกก็ได้”

“เขาต้องการให้มีองค์กร ๆ องค์กรหนึ่งเป็นองค์กรตัดสินทุกอย่างให้จบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้ากดให้ยอมรับ ชัดเจนว่าเขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าดูมาตราอื่นประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญที่โดยสภาพมีอำนาจมากอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นซูเปอร์องค์กรในรัฐธรรมนูญ”

“รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่าอยู่ได้อย่างไร..... คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร”

จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ล่มปากทาง มาถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ จาก คปป.กลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญยึดครองมาตรา 7 และขยายอำนาจถอดถอนนักการเมืองด้วย “มาตรฐานจริยธรรม”

10 ปีของวิกฤติการเมือง 10 ปีที่ต่อสู้กับการใช้และตีความกฎหมายอย่างบิดเบือน ถ้าจำกันได้ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นต่างแยกทางกับนักกฎหมายที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในกรณี “มาตรา 7”นี่เอง จากนั้นจึงตามมาด้วยอำนาจตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2550 ครั้งนี้ทั้งสองเรื่องถูกมัดโยงเข้าด้วยกันจนอยู่เหนืออำนาจอื่นในอำนาจอธิปไตย

แล้วยังจะมีอะไรตามมา

“เมื่อดูจากการให้น้ำหนักอย่างมากแก่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เกรงว่าจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างโดยกรรมการร่างชุดนี้ อาจจะเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำราบพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ประท้วงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้เรายังไม่รู้ จะรู้แน่ก็คือตอนที่เขาเขียนนั่นแหละ แต่ที่แน่ ๆ การเขียนทิ้งไว้แบบนี้ จะหนักหน่วงรุนแรงมาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะร่าง พรบ. ประกอบ อย่างเต็มที่ โดยจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว ตัวเองมีความชอบธรรมที่จะร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามต้องการได้แล้ว ใครก็ขวางไม่ได้”

บทสัมภาษณ์ครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ว่าด้วยอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ส่วนที่สอง ว่าด้วยบทเฉพาะกาลและหมวดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งประชาไทจะนำเสนอต่อไป

ยึด ม.7 เป็นซูเปอร์องค์กร

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยกเลิกมาตรา 7 เดิมแล้วยึดไปให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้แต่ผู้เดียวกลายเป็นมาตรา 207

มาตรา 7 เดิม ที่ระบุว่าในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญใช้บังคับแก่กรณีใดแล้วให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แรกเริ่มเดิมทีมันอยู่ในรัฐธรรมนูญเผด็จการ คือธรรมนูญการปกครองปี 2502 ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เหตุที่มีการเขียนไว้อย่างนี้ เพราะตอนสฤษดิ์ยึดอำนาจครั้งแรกในปี 2500 ยังไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 เพียงงดใช้บางมาตรา ปี 2501 สฤษดิ์ยึดอำนาจอีกทีหนึ่ง แล้วทำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2502 ธรรมนูญนี้มันสั้น ไม่ยาว มี 20 กว่ามาตรา มีมาตรา 17 ด้วย ความที่มันสั้นก็กลัวจะมีปัญหาว่าพอใช้ไปแล้วจะเจอโจทย์แบบไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยมีบทบัญญัติสำรองเอาไว้ว่า อะไรที่ไม่ได้เขียน ให้ทำไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ตอนนั้นยังไม่คำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ต่อท้าย ดังนั้น โดยที่มาของมัน การให้ปฏิบัติไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมันกำเนิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการ ในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับต่อ ๆ มาไม่มีการเขียนเลย มีเขียนแต่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหารเท่านั้น คือ ใช้ธรรมนูญการปกครองฯ 2502 เป็นต้นแบบ จวบจนปี 2540 จึงใส่ลงไป มันเป็นเรื่องย้อนแย้งอยู่เหมือนกันที่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่หลายคนยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งให้ใช้ถาวรฉบับแรกที่รับเอาบทบัญญัติแบบมาตรา 7 ซึ่งถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญเผด็จการมาบรรจุไว้

ทีนี้พอใส่แล้ว จะต้องอธิบาย เราก็ต้องพยายามอธิบายให้รับกับระบบกฎหมายว่า กรณีนี้เป็นการเขียนให้วินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยกฎหมายประเพณีหรือกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญได้ คือ เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นเพื่ออุดช่องว่างกรณีไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรใช้บังคับ และไม่ได้หมายความว่าเฉพาะแต่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะใช้บทบัญญัตินี้ได้ ในระดับรัฐธรรมนูญที่องค์กรทางรัฐธรรมนูญของรัฐมีชีวิตร่วมกันทางรัฐธรรมนูญ ทุกองค์กรมีอำนาจใช้บทบัญญัติดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นและข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ  ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นวินิจฉัยเป็นองค์กรสุดท้าย แต่ถ้าข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องขององค์กรทางรัฐธรรมนูญหรือองค์กรทางการเมืองจะต้องหาข้อยุติเอง

ทีนี้มันมีปัญหาว่าประเพณีการปกครองฯ คืออะไร บางคนตีความว่ามันคือประเพณีที่ทำๆ กันมา ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง ประเพณีที่ทำ ๆ กันมานั้น ต้องยกระดับขึ้นเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสองประการ คือ ต้องมีการกระทำหรือการประพฤติปฏิบัติที่สม่ำเสมอ นมนาน และบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องรู้สึกสำนึกว่าสิ่งที่ประพฤติปฏิบัตินั้นผูกพันตนให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นกฎหมาย อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปของการที่จะบอกว่าประเพณีหรือการปฏิบัติอันใดอันหนึ่งมีฐานะเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้วหรือไม่ ไม่ใช่หยิบยกอะไรก็ได้ขึ้นอ้างมั่ว ๆ ลอย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของตน ผมมีความเห็นของผมเองเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวมานี้ซึ่งเป็นหลักทั่วไปด้วยว่า บรรดากฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญที่ยกขึ้นกล่าวอ้างกันนั้นต้องไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์พื้นฐานทางประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นประเพณีการปกครองใดที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเพณีการปกครองนั้นย่อมใช้ไม่ได้

อันที่จริง บทบัญญัติทำนองนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับถาวร ในส่วนที่เกี่ยวกับนิติวิธี เรื่องดังกล่าวเป็นหลักการใช้กฎหมายที่ต้องเรียนกันในมหาวิทยาลัย ยิ่งในบริบทของการเมืองไทยแล้ว ยิ่งไม่ควรจะต้องเขียนเลย เนื่องจากถ้าเขียนลงไป บทบัญญัติทำนองนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่ไม่สามารถต่อสู้ในวิถีทางประชาธิปไตยได้ ก็จะใช้กำลังต่าง ๆ สร้างสภาวการณ์ให้เกิดการติดขัดในการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างว่าตอนนี้ถึงทางตัน ต้องใช้ประเพณีการปกครองแก้ปัญหา แต่ถ้าจะเขียนก็จะต้องมีคำอธิบายในลักษณะที่ผมได้ชี้ให้เห็นนี้กำกับไว้ในชั้นของการยกร่าง ในเอกสารการอภิปรายต่าง ๆ ซึ่งไม่ปรากฏให้เห็นเลย

ปัญหาการเขียนบทบัญญัติทำนองนี้ ครั้งนี้ก็ยิ่งผิดเพี้ยนไปจากเดิม จากรากเหง้าของธรรมนูญการปกครองเผด็จการ พ.ศ. 2502 ถูกส่งต่อมาในรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าค่อนข้างก้าวหน้า จากนั้นถูกส่งมาในรัฐธรรมนูญ 2550 เที่ยวนี้ถูกส่งต่อมาอีกในปี 2559 แล้วคนร่างก็เปลี่ยนตำแหน่งของมัน แทนที่จะเป็นเรื่องนิติวิธีซึ่งเป็นหลักทั่วไป กลับไปเป็นเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญองค์กรเดียว เพราะมันอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ผลของการเขียนแบบนี้ก็คือ เปิดโอกาสให้คนที่จะใช้คือศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะอ้างว่าเรื่องนี้ไม่มีในรัฐธรรมนูญ และอ้างว่าเรื่องนี้เป็นประเพณีการปกครองเพื่อวินิจฉัย ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ จากเรื่องการอ้างกันผิด ๆ เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 กลายมาเป็นการกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดอำนาจการอ้างเรื่องดังกล่าว ซึ่งในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญอาจอ้างผิด ๆ ต่อไปอีกก็ได้

ในแง่ของเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับองค์กรที่มีอำนาจใช้บทบัญญัติแบบมาตรา 7 เดิม ให้ยุติลง เช่น กรณีนายกฯพระราชทาน เราจะเห็นการเคลื่อนของอำนาจอย่างมีนัยสำคัญไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ผมพูดเท่านี้แล้วกัน

แต่ความจริงวิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในสิบปีที่ผ่านมา มันมีทางออกในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

ใช่ แต่ไม่ยอมทำตามรัฐธรรมนูญ แล้วไปอ้างประเพณีการปกครองหรือไปหาประเพณีการปกครองแบบข้าง ๆ คู ๆ มาไง บ้านเรามันเลยพลิกผัน เป็นแบบนั้น

ผลในทางปฏิบัติของมาตรา 7 เดิม เมื่อไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญได้เอง

ในบริบททางการเมืองแบบไทย ใช่ ศาลรัฐธรรมนูญมีความสามารถที่จะสร้างรัฐธรรมนูญผ่านความหมายที่ว่ามันคือประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ในบริบทของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่ต้องการผลักสังคมไทยไปข้างหน้ากับฝ่ายเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้กับที่หรือย้อนไปข้างหลัง แนวโน้มที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเอื้อประโยชน์กับฝ่ายที่ต้องการเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้มีสูง อันที่จริงในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าไปดูของประเทศที่เขามีพัฒนาการเรื่องนี้มานานกว่าเรา ก็ไม่ถึงขนาดว่าห้ามศาลรัฐธรรมนูญใช้กฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ แต่ในทางปฏิบัติแทบไม่มีกรณีที่ศาลจะต้องใช้ เพราะเขาตีความตัวบทรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาท ทีนี้ของเราพอไปเขียนแบบนี้ ก็ต้องอ่านวัตถุประสงค์ของผู้เขียนจากบริบทของการต่อสู้ทางการเมืองไทยให้ห้วงเวลาสิบปีมานี้ ก็พอจะเห็นได้ว่าเขาต้องการให้มีองค์กร ๆ องค์กรหนึ่งเป็นองค์กรตัดสินทุกอย่างให้จบ โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้ากดให้ยอมรับ อันนี้ชัดเจนว่าเขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าดูมาตราอื่นประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญที่โดยสภาพมีอำนาจมากอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นซูเปอร์องค์กรในรัฐธรรมนูญ

ช่วงหนึ่งเคยมีการเรียกร้องกันว่ามาตรา 7 คือนายกพระราชทาน

ใช่ แล้วถ้ามีคนอ้างว่าเกิดวิกฤตขึ้นมาอีก แล้วบอกว่าต้องมีนายกฯ คนนอก เที่ยวนี้คนที่จะมาชี้คือศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมันจะกลายเป็นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นทันทีเลยว่าจะชี้ออกมาในรูปแบบไหน มันทำให้กฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญซึ่งต้องมีความมั่นคงแน่นอนในระดับหนึ่งขาดความมั่นคงแน่นอนไป แล้วอย่างนี้องค์กรอื่นที่ต้องวินิจฉัยอะไรต่าง ๆ จะใช้กฎหมายประเพณีได้หรือเปล่าในสภาพแบบนี้ที่เถียงกันแล้วต้องวินิจฉัย เขาจะอ้างประเพณีที่ยกสภาพเป็นกฎหมายประเพณีได้ไหม เพราะมันเปลี่ยนไปอยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่เดิมมันอยู่ในบททั่วไป ทุกองค์กรก็ใช้ได้แต่องค์กรที่จะชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ภายใต้เงื่อนไขว่าข้อพิพาทนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ประเด็นคือ ต้องเป็นกรณีที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้วนะ หลายปีก่อนผมเคยเสนอแนวทางตีความเรื่องนี้ แต่มีบางท่านก็ไม่เห็นด้วยกับที่ผมเสนอ คือผมเสนอให้ปรับลำดับการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เขาเขียนลำดับการใช้กฎหมายไว้ว่า เวลามีปัญหาต้องวินิจฉัยให้เริ่มที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรเสียก่อน ถ้าไม่มีก็ให้ไปหาจารีตประเพณีท้องถิ่น ถ้าไม่มีอีกก็ให้ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยเทียบเคียง ถ้าไม่มีอีกก็ให้ตัดสินโดยหลักกฎหมายทั่วไป ผมเสนอว่าในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นแบบนั้น ควรใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรให้สุดทาง โดยถือว่ารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากสปิริตระบอบประชาธิปไตย ประเพณีการปกครองที่ตกทอดมามันไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรอก ดังนั้นถ้ามีปัญหาต้องวินิจฉัย คุณต้องใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรให้สิ้นกระแสความไปทั้งการใช้โดยตรงและโดยเทียบเคียง ถ้าเทียบเคียงก็ไม่ได้อีก คราวนี้ค่อยไปหากฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญมาเพื่ออุดช่องว่าง ลำดับมันควรเป็นแบบนี้ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าจารีตประเพณีควรจะมาก่อนการใช้กฎหมายโดยเทียบเคียง นี่เป็นประเด็นดีเบตทางวิชาการเฉยๆ ถ้ารัฐธรรมนูญเราพัฒนาไปอนาคตข้างหน้ายาว ๆ ตรงนี้จะเป็นประเด็นว่าควรใช้แบบไหน ผมเสนอว่าสปิริตของระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นผ่านตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นต้องใช้ให้หมดแล้วต้องตีความให้สอดคล้องกับสปิริตของระบอบประชาธิปไตย ประเด็นของผมคือ เมื่อไรก็ตามที่คุณอ้างว่ามีจารีตประเพณีแต่จารีตประเพณีนั้นมันขัดกับตัวระบอบ จารีตประเพณีนั้นก็ใช้ไม่ได้

ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเกิดปัญหาว่าไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะปี 49 ปี 57 แต่เป็นความพยายามให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปเป็นอีกอย่าง

ใช่ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ การล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ. อันนี้ชัดเจนว่าในทางกฎหมายมันไปได้หมด ถ้าย้อนไปดูประเด็นที่ผมเคยเขียนบทความ ที่สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป.เคยออกแถลงการณ์ จะเห็นว่าในการคลี่คลายปัญหาทางกฎหมายมีช่องทางกฎหมายที่จะใช้โดยตลอด แต่ไม่ยอมใช้ เพราะอะไร เพราะในที่สุด พอไม่ตีความกฎหมายไปตาม step มันก็จะเกิดวิกฤตซึ่งเป็นความต้องการของกลุ่มผลประโยชนืทางการเมืองบางกลุ่มอยู่

มันคือปัญหาของคนที่มีอำนาจสุดท้ายในการตีความ ว่าคุณตีความโดยมี ideology อุดมการณ์แบบไหน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความยึดโยงกับประชาชน เราย่อมคาดหมายได้ว่าการใช้กฎหมายและการตีความของเขาย่อมตีความไปในทิศทางซึ่งสนับสนุนนิติรัฐและประชาธิปไตย

25 เม.ย.49 ที่พยายามตีความมาตรา 7 ว่าโดยประเพณีการปกครองแล้วเป็นพระราชอำนาจ ปีนี้เอาอำนาจนั้นมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ มาตรา 7 ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นพระราชอำนาจ เวลาทำรัฐธรรมนูญ ตัวบทที่มีลักษณะ abstract (นามธรรม) และมีความไม่แน่นอน จะเป็นปัญหามาก ๆ เพราะแต่ละฝ่ายต่างช่วงชิงอำนาจการตีความไปไว้กับตัว แต่ประเด็นสำคัญคือมันไม่ได้เกิดปัญหาแบบนั้น ไม่ได้มีปัญหาว่าไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือคุณต้องการบางสิ่งบางอย่างที่รัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ให้ แล้วคุณไม่ใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญ นี่ต่างหากคือประเด็น ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราอ้างประเพณีกันมากมาย เราจะจินตนาการอะไรขึ้นมาก็ได้แล้วบอกว่าอยากได้แบบนั้น อ้างได้เรื่อยเปื่อย

กรณีปี 2516, 2535 ที่เรียกว่านายกพระราชทาน ถ้าอธิบายโดยหลักทั่วไปคือ เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่มีใครแก้ไขได้ ก็อาศัยพระบารมีส่วนพระองค์ของในหลวง ใช่ไหม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ถ้าเกิดวิกฤตแบบนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญมาชี้แทนหรือ

เมื่อทุกอย่างมันไม่ฟังก์ชั่นหมดแล้ว สมมติสภาวะสงคราม สภาโดนบอมบ์ ไม่เหลือองค์กรใด ก็ต้องมีคนคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้รัฐดำรงอยู่ต่อไป นั่นคือประมุขของรัฐ Head of State ต้องจัดการสักอย่างเมื่อถึงจุดนั้น ตรงนี้ไม่ใช่มาตรา 7 อะไรเลย เป็นหลักทั่วไปในสภาวะจำเป็น

ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมามันเกิดสภาวะจำเป็นในระดับนั้นไหม อันที่จริงตอนที่มีการตั้งนายกฯ ปี 2516 ถ้าจะว่าไปก็เป็นการตั้งตามธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2515 นะ ก็มีรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ที่สำคัญก็คือเราถือได้หรือเปล่าว่าธรรมนูญการปกครอง 2515 เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อันจะก่อให้เกิดประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้นมาได้ อันนี้คนสัมภาษณ์ คนอ่าน คงตอบเองได้ ส่วน ปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด อันนี้พิเคราะห์ทางกฎหมายก็เป็นกรณีที่ประธานสภาผู้แทนนำชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2534 ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ใช้ตอนนั้นนะ นี่พูดในทางกฎหมาย ไม่ได้พูดในทางการเมือง จากเหตุการณ์นั้นต่อมาจึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือกนายกรัฐมนตรีในสภาไง ไม่ให้อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป แล้วก็กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

เพราะฉะนั้นตอนที่อ้างเรื่องนายกฯ มาตรา 7 ผมถึงบอกว่าทำไมได้เลยไงตามกฎเกณฑ์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ องค์พระมหากษัตริย์ก็มีพระราชกระแสเรื่องนี้ว่าไม่ใช่อำนาจที่พระองค์จะทำได้ แต่ในวันหน้า ถ้าเกิดข้อเรียกร้องแบบนี้อีก ผมก็ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะว่ายังไง ผมไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้อีก แต่เรื่องที่คล้ายคลึงกันในลักษณะอื่น อันนี้เราไม่อาจแน่ใจได้เลย

พิพากษาจริยธรรม

นอกจากมาตรา 7 รัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาก

รัฐธรรมนูญนี้เน้นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากในหลายมิติ เดิมทีศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดศาล แต่ตอนนี้แยกออกจากหมวดศาล เป็นการเขียนที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 รวมถึงร่างของกรรมาธิการชุดบวรศักดิ์ สรุปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลหรือ ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยเขียนขัดกันเองหลายจุดในทางลอจิก (logic) ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการ แยกออกมาทำไม แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลแล้วหรือไงตอนนี้ เพราะในร่างรัฐธรรมนูญมีชัย หมวด 10 หัวหมวด เขียนว่า ศาล แล้วก็มีบททั่วไป ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร พอหมวด 11 หัวหมวดเขียนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาล คือเป็นองค์กรซึ่งใช้อำนาจตุลาการประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่แม้จะเขียนแยกออกมาก็ปฏิเสธลักษณะการใช้อำนาจตุลาการไม่ได้ ก็เลยต้องเอาบทบัญญัติเกือบทั้งหมดในบททั่วไปของศาลมาใช้บังคับโดยอนุโลมอยู่ดี (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 205 วรรคสอง)

ในแง่ขององค์ประกอบ มีการเปลี่ยนไปจากเดิม เที่ยวนี้ใช้ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3 คน ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน แล้วก็ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ 1 คน ต้องเป็นศาสตราจารย์มาไม่น้อยกว่า 5 ปีด้วย อันนี้เพิ่มเข้ามา แล้วก็ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์รัฐประศาสนศาสตร์ อีก 1 คน แล้วก็เอาข้าราชการประจำขึ้นมา พวกที่เป็นอดีตอธิบดีหัวหน้าส่วนราชการและรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นมาไม่น้อยกว่า 5 ปี อีก 2 คน ลองดูองค์ประกอบนี้ จะหนักไปในฝ่ายระบบราชการมาก ของเดิมคือ 3 ศาลฎีกา 2 ศาลปกครองสูงสุด 2 นิติศาสตร์ 2 รัฐศาสตร์สังคมศาสตร์ แต่เที่ยวนี้ผู้ทรงคุณวุฒิเหลือแค่อย่างละ 1 และเอาอดีตข้าราชการเข้าไป

ในแง่ความยึดโยงทางประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากๆ ของศาลรัฐธรรมนูญทุกประเทศในโลกนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญในร่างนี้แทบไม่มีความยึดโยงทางประชาธิปไตยเลย เพราะคนที่มาจากศาลเป็นคนที่ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดส่งมา พวกที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิและเคยรับราชการก็เป็นอำนาจของกรรมการสรรหาที่จะเลือกมา ซึ่งเอาประธานศาลฎีกาเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน และบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระแต่งตั้ง 6 องค์กรๆ ละ 1 คน

ก็คือวนกันไปมา คนที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝั่งที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีเอี่ยวในการสรรหาด้วย คือตั้งคนสรรหา อันนี้มองได้เลยว่า ระบบไทยๆ จะแต่งตั้งใครเป็นกรรมการสรรหา ก็ต้องเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถามว่าคนพวกนี้เวลาเลือก เขาเลือกได้ดีกว่าตัวแทนประชาชนเลือกหรือ อันนี้คือปัญหา

ทั้งหมดนี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย พอสรรหาแล้วไปที่วุฒิสภา แต่เที่ยวนี้วุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นการเลือกกันเอง ดังนั้น ความยึดโยงในทางประชาธิปไตยเกือบจะเป็นศูนย์ พูดง่ายๆ ว่า องค์กรซึ่งมีอำนาจมากที่สุด ต้องการความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยมากที่สุด กลับแทบจะไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเลย แล้วมาชี้ขาดสภาพความขัดแย้งในทางรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความขัดแย้งในทางการเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เที่ยวนี้เป็นระบบวน loop ต่างจากปี 2550 คือถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหาไม่มีอำนาจยืนยัน ต้องสรรหาใหม่ ในรธน 2550 ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบ กรรมการสรรหายืนยันได้

เที่ยวนี้ยังมีการเขียนล็อคไม่ให้วนตำแหน่ง ที่เคยมีปัญหาว่าคุณชัช ชลวร ลาออกจากประธานศาลมาเป็นตุลาการศาลได้ไหม มาตรา 203 วรรค 2 เขียนไว้ชัดว่าถ้าลาออกจากประธานศาลให้ถือว่าออกจากตุลาการด้วย อันนี้เป็นการล็อคการสลับเก้าอี้ นี่อาจเป็นอันเดียวที่เหมือนจะดี (หัวเราะ)

ที่ดีอีกอัน มาตรา 197 วรรค 1 ห้ามเป็นองค์กรอิสระอื่นมาก่อน เขาห้ามวนเก้าอี้

อันนี้โอเค คือ อย่าเป็นคนเดียว แบ่งคนอื่นเขาบ้าง (หัวเราะ)

มีข้อสังเกตว่า มีชัยเน้นคุณสมบัติตุลาการสูงกว่าเดิม อายุสูงกว่าเดิม อยู่ได้ถึง 75 ปี โดยเพิ่มคุณสมบัติ กกต.และ ปปช.ด้วย ตามมาตรา 218,228 เขาคงอยากให้เป็นองค์กรผู้วิเศษ

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามร่างนี้อยู่ได้ถึง 75 ปี อยู่ได้จนชราทีเดียว  ขณะที่องค์กรอิสระอื่นอยู่ได้ถึง 70 ปี มองในแง่นี้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้สิทธิพิเศษกว่าคนอื่นในการดำรงตำแหน่ง

ประเด็นสำคัญก็คือ นอกจากการเข้าสู่ตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทบไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนเจ้าของอำนาจแล้ว ยังให้ดำรงตำแหน่งได้ถึง 75 ปีอีก แม้ว่าจะมีการกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 45 แต่ถ้าดูจากที่มาแล้ว โอกาสที่จะได้คนซึ่งเกือบจะเกษียณอายุจากศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุด ที่เกษียณอายุที่ 70 ปี มานั่งดำรงตำแหน่งต่อที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 ปี เป็นไปได้สูง สำหรับพวกที่มาจากการสรรหาก็คงจะไม่ต่างกันมากนัก ถ้าเป็นคนที่มีอายุมากแต่มีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชน อาจจะพอคาดหมายอุดมการณ์ ทัศนคติในการตัดสินคดีว่าคงจะคำนึงถึงประชาชนเจ้าของอำนาจ แต่คนที่อายุมาก แล้วมีที่มาที่ไม่เชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจเลย คงยากที่จะปรับอุดมการณ์ให้คิดว่าอำนาจที่ตนกำลังใช้อยู่เป็นของใครในระบอบประชาธิปไตย และใช้รัฐธรรมนูญไปในทางก้าวหน้าสร้างสรรค์ได้

โดยลักษณะการออกแบบเช่นนี้ แนวโน้มที่ว่าทำให้องค์เหล่านี้เป็นองค์กรผู้วิเศษมีสูงมากทีเดียว แต่นั่นอาจเป็นความต้องการของผู้ร่างก็ได้

มาตรา 195 เขียนต่างจากเดิมว่า “ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง” ของเดิมเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” น่าแปลกใจว่าทำไมตัดออกไป ขณะที่องค์กรอิสระยังใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” แต่ทั้งหมดวุฒิสภาถอดถอนไม่ได้

อันนี้ตอนอ่านครั้งแรกเดิมทีผมเข้าใจว่าผู้ร่างต้องการให้กลุ่มผู้พิพากษาตุลาการที่มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดผ่านวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าดูบทบัญญัติตามร่างมาตรา 199 แล้ว จะเห็นว่าวุฒิสภามีอำนาจให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งส่วนที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด และส่วนที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยผู้ที่จะได้เลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มิฉะนั้นจะต้องสรรหาหรือคัดเลือกใหม่ ซึ่งเท่ากับว่าตามร่างนี้ วุฒิสภามีอำนาจมากทีเดียวในส่วนนี้ มากกว่าวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 อีก หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบดังกล่าวของวุฒิสภาก็ใช้กับการเข้าสู่ตำแหน่งของผุ้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระด้วยโดยอนุโลม (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 213) ผมก็ยังแปลกใจว่าทำไมใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับคำแนะนำของวุฒิสภาต่างกัน

เรื่องอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ เขียนรวบไว้ที่มาตรา 205 แต่ไปซ่อนไว้ในเรื่อง ป.ป.ช. มาตรา 230 (1),231 (1) ให้มีอำนาจถอดถอนและตัดสิทธิผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระ ในกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ยกเว้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเอง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย สรุปคือ อำนาจถอดถอนที่เคยเป็นของวุฒิสภาจากเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และของวุฒิสภาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่งสรรหาครึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 กลายเป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหมดเลย รวมถอดถอนองค์กรอิสระด้วย

ถูกต้อง คือ ยกอำนาจถอดถอนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เหตุแห่งการถอดถอนก็คือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และให้ดุลพินิจแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้อีกมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี จะเห็นว่าการถอดถอนออกจากตำแหน่งซึ่งโดยหลักการมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางการเมืองโหวตเอาบุคคลออกจากตำแหน่ง ได้กลายมาเป็นการให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจดังกล่าวนี้ และทำเสมือนหนึ่งว่าอันนี้เป็นการใช้อำนาจทางกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่เกณฑ์ในการถอดถอน ก็คือ มาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดขึ้นมาเอง (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 215)

พูดง่าย ๆ ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมในการออกกฎเกณฑ์เองและวินิจฉัยชี้ขาดเองด้วย ถ้าจะถือว่ากฎเกณฑ์นี้เป็นกฎหมาย ก็เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีส่วนในการออกกฎหมายเองและชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากกฎหมายที่ตนมีส่วนร่วมออกเอง ถ้าถือว่ามาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่กฎหมาย ก็ประหลาดมากที่คนฝ่าฝืนมาตรฐานนี้ถึงขนาดถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และอาจถูกตัดสินเลือกตั้งอีกด้วย อันนี้ไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ขัดกับหลักนิติธรรมที่เขียนเอาไว้เองด้วยในร่างฯ มาตรา 3 วรรคสอง

สำหรับเหตุถอดถอนเดิมที่เคยอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 คือ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อว่าทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อว่าจงใช้ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  มีการปรับแก้ถ้อยคำโดยตัดคำว่า “ส่อ” ออก และกำหนดให้กลายเป็นการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน และให้อำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งและมีดุลพินิจในการตัดสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี เช่นกัน

องค์กรที่จะมีบทบาทเริ่มต้นในกรณียื่นถอดถอนต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือดำเนินคดีในศาลฎีกาตามที่กล่าวมา คือ ปปช. โดยกรณีถอดถอน ปปช. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีฟ้องคดีต่อศาลฎีกา ให้ ปปช. ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้อง แต่ถ้าเป็นกรณีที ปปช. จะถูกถอดถอนหรือดำเนินคดีเอง จะให้ สส. สว. หรือประชาชนไม่น้อยกว่าสองหมื่นชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลฎีกา

ถ้าดูภาพรวมระบบถอดถอนทั้งหมด จะเห็นว่าอำนาจถอดถอนจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยองค์กรที่ชงเรื่อง คือ ปปช.แนวโน้มที่จะใช้การถอดถอนเป็นเครื่องมือขจัดนักการเมืองที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของชนชั้นนำให้พ้นไปวงการการเมืองจะสูงขึ้น และทำได้ง่ายขึ้นผ่านกลไกการถอดถอนโดยการอ้างอิงมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้จัดทำขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจมหาศาลชี้เป็นชี้ตายอนาคตทางการเมืองของนักการเมืองทั้งหลายผ่านการวินิจฉัยตีความเกี่ยวกับมาตรฐานทางจริยธรรม โดยที่คนที่ถูกถอดถอนไม่อาจอุทธรณ์ต่อผู้ใดได้อีก

มีข้อสังเกตเรื่องการถอดถอนนิดหนึ่งในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร้องถอดถอนเพราะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย (ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 วรรคหนึ่ง) แต่ถ้าเป็นกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีมติให้ตุลาการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งได้ แต่ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 203 (4))

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรี มาตรา 155 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มาตรา 155 (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยมาตรา 165 วรรคท้าย บอกว่า “ให้นำมาตรา 77 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย” คือให้ ส.ส. ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือให้ กกต.มายื่นวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรีได้ด้วย ถ้าเป็นนายกฯ ก็ไปทั้งคณะ

ในแง่นี้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจปลดนายกรัฐมนตรีได้หมูๆ เลยล่ะ แค่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ปลดได้ เอานายกรัฐมนตรีออกได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กว่าร่างของบวรศักดิ์ คือนายกรัฐมนตรีต้องพวกเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นบุคคลที่องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญยอมรับได้ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ห้าหกเดือนก็ไปแล้ว จะพิสูจน์อย่างไรเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ การยื่นให้สาลรัฐธรรมนูญปลดรัฐมนตรีนี่ ไม่ใช่แต่ ส.ส. ส.ว. เท่านั้นที่ยื่นได้ เพื่อให้การชงเรื่องทำนองนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญไม่อยู่ในมือของ ส.ส. หรือ ส.ว. เท่านั้น ร่างนี้ให้อำนาจ กกต. ยื่นได้ด้วย

มาตรา 215 ให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม แล้วใช้กับนักการเมืองด้วย

เขาให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมา แล้วนำมาใช้ร่วมกัน และใช้กับรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประเด็นก็คือ มาตรฐานทางจริยธรรม จริง ๆ ไม่ใช่กฎหมาย แต่แบบนี้มันเหมือนทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นกฎหมายอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดฝ่าฝืนต้องพ้นตำแหน่ง เพราะฉะนั้นมาตรฐานทางจริยธรรมมันเหมือนกับเป็นกฎหมายในทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งฯ ทีนี้ เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระออกกฎหมายเอง เท่ากับรัฐมนตรี ส.ส.ต้องมาตกอยู่ภายใต้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ในส่วนที่เป็นจริยธรรม เพราะมันเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง

คำถามคือสถานะของมาตรฐานทางจริยธรรมมันมีสถานะอย่างไร เพราะว่ามันมีผลเสมือนกับเป็นกฎหมาย เป็นเหมือนกับลักษณะในทางตำแหน่งของ ส.ส. แล้วเขาไม่ได้เป็นคนออก เป็นคนกำหนด

ซึ่งจริงๆ แล้ว จริยธรรมศาลกับของนักการเมือง เป็นคนละฉบับกัน เช่นเราดูจริยธรรมศาล เขาก็จะมีข้อห้าม เรื่องความประพฤติ ต้องประพฤติตนให้เหมาะสม สมถะ

จริยธรรมศาล โดยสภาพมีลักษณะเป็นเหมือนวินัยผู้พิพากษา องค์กรบริหารงานบุคคล คือ กต.กำหนดขึ้นมา แต่อันนี้คือการกำหนดวินัยให้กับ ส.ส. แต่เป็นการกำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แล้วเราไม่รู้ว่าเขาจะกำหนดอย่างไร เพราะลักษณะการครองตำแหน่งไม่เหมือนกัน คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ต้องไปเจอกับประชาชน พบปะผู้คน จะกำหนดอย่างไร จะกำหนดให้เป็นระนาบแบบเดียวกันหรือ

ศาลต้องควบคุมตัวเองเรื่องมาตรฐานการข้องแวะกับสังคม แต่ ส.ส.ต้องพบปะประชาชน

โดยธรรมชาติของเรื่องมันต่างกัน แต่นี่พยายามจะให้กำหนดแล้วไปบังคับกับนักการเมือง พูดง่ายๆ คือให้ ศาล องค์กรอิสระ ขี่นักการเมือง ทีนี้สมมตินักการเมืองโวยวาย เขาก็จะไปกำหนดมาตรฐานจริยธรรมให้หย่อนลง แปลว่าตัวเองก็หย่อนด้วย เท่ากับได้ประโยชน์ด้วย แล้วอย่างนี้ไม่เรียกประโยชน์ทับซ้อน?

บทเฉพาะกาลมาตรา 265 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมภายใน 1 ปี  ซึ่ง 1 ปีก็ยังไม่มีเลือกตั้ง ฉะนั้นที่มาตรา 215 เขียนให้รับฟังความคิดเห็น ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี เอาเข้าจริงก็คือ สนช.และรัฐบาลนี้

ดูแล้วก็คงเป็นอย่างนั้น เพราะ สนช.จะทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสมาชิก สนช. ก็จะเป็น สส. หรือ สว. แล้วแต่กรณีตามบทเฉพาะกาล มาตรา 255  ส่วนรัฐบาลนี้ก็จะเป็นคณะรัฐมนตรีต่อไปตามบทเฉพาะกาล มาตรา 256

บทเฉพาะกาล 1 ใน 10 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่กรรมการร่างต้องร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือน มาตรา 259 (5) คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มีที่น่าสังเกตไหม

อันนี้คือการเขียนให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อไปอีกถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อดูจากการให้น้ำหนักอย่างมากแก่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เกรงว่าจะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างโดยกรรมการร่างชุดนี้ อาจจะเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญกำราบพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ประท้วงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อันนี้เรายังไม่รู้ จะรู้แน่ก็คือตอนที่เขาเขียนนั่นแหละ แต่ที่แน่ ๆ การเขียนทิ้งไว้แบบนี้ จะหนักหน่วงรุนแรงมาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ กรรมการร่างจะร่าง พรบ. ประกอบ อย่างเต็มที่ โดยจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านการออกเสียงประชามติแล้ว ตัวเองมีความชอบธรรมที่จะร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญตามต้องการได้แล้ว ใครก็ขวางไม่ได้

มาตรา 261 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ อยู่ในตำแหน่งต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีพ.ร.บ.ประกอบที่จัดทำขึ้น การพ้นตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อันนี้ตลก รัฐธรรมนูญต้องชี้ไปเลยว่าให้อยู่ต่อ หรือให้พ้น อันนี้มันกั๊กนี่

ผมถึงบอกว่าประชามติครั้งนี้จะแย่กว่า สาหัสกว่ากว่าตอนปี 2550 เพราะกั๊กอำนาจส่วนหนึ่งให้กับตัวเอง และมีประโยชน์ทับซ้อนด้วย เพราะเป็นคนร่างเอง ประชามติคือเช็คเปล่า ตีเช็คเปล่าให้กรรมการร่างในการไปออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับต่อไป แล้วถึงจะเลือกตั้ง เพราะตามบทเฉพาะกาลมาตรา 260 จะเลือกตั้ง สส. ได้ก็ต่อเมื่อบรรดากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมดรวมทั้งกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐมีผลใช้บังคับแล้ว ทั้ง ๆ ที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่วินัยการเงินการคลังนี่ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการจัดการเลือกตั้งโดยตรงเลย

น่าสังเกตว่าเมื่อกำหนดคุณสมบัติศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ปปช.ใหม่ บางคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่อาจคุณสมบัติไม่ถึง แล้วเขาจะเขียน พ.ร.บ.ประกอบยังไง หรือจะมีบทเฉพาะกาลให้อีก

ในบทเฉพาะกาล มาตรา 261 เขากำหนดให้บุคคลพวกนี้อยู่ในตำแหน่งต่อไป ในช่วงที่ยังทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จให้การพ้นจากตำแหน่งของบุคคลพวกนี้ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอะไรเหล่านี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ความตลกของเรื่องนี้ก็คือ เอารัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว (เว้นแต่หมวดพระมหากษัตริย์) กลับมาใช้ใหม่ จริง ๆ หลักแล้วน่าจะใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะองค์กรอื่นมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญของตัวอยู่ แต่นี่คือความประหลาด อธิบายให้เหตุผลอะไรไม่ได้ในทางกฎหมาย เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกแล้ว ต้องหมดสภาพไป เนื่องจากตัวเองถูกก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเราอยู่ได้ แล้วยังเนรมิตเอารัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปแล้ว กลับมาใช้ได้อีกในส่วนที่อยากให้ใช้

ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีไหม

เวลาที่คนชอบอ้างกันว่า ศาลต้องเป็นอำนาจสูงสุด บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ แล้วเราจะยังอยู่ในหลักแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายได้อย่างไร แน่นอน ศาลตีความทุกคนต้องยอมรับ แต่ไม่ใช่บอกว่าศาลมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ

ไม่ใช่ จริง ๆ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่อยู่สุดท้ายเลยของระบบ ศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน แต่กรณีของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างยุ่งยากหน่อยเพราะเกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมือง เป็นศาลที่มีลักษณะพิเศษกว่าศาลอื่น คือ เป็นทั้งศาล และเป็นทั้งองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วย เขาถึงมีหลักอันหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจจำกัดเฉพาะเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด เราเรียกว่ามีเขตอำนาจแบบ limited หรือ specific jurisdiction รัฐธรรมนูญจะเขียนอำนาจเฉพาะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นแต่ละเรื่องๆ ไป แต่กรรมการร่างชุดมีชัยไม่ทำแบบนั้น มีบางมาตราที่อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายแดนการใช้อำนาจรับคดีออกไปได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งผิดระบบ โดยระบบทั่วไป ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ขาดปัญหาทางรัฐธรรมนูญ หรือข้อพิพาททางรัฐธรรมนูญ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกกำหนดไว้เฉพาะเป็นเรื่องๆ เรื่องไหนไม่มีก็เป็นเรื่องทางการเมือง คุณต้องไปตัดสินกันทางการเมือง มันไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายที่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนชี้ เหมือนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เมื่อไม่เขียนอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญคุณมาชี้ไม่ได้ แต่คราวนี้เขียนไว้ชัดเจน เขาเขียนแก้จากคราวที่แล้วหลายเรื่องรวมทั้งเรื่องยื่นคำร้องกรณีเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองด้วย

อย่างนี้เวลาอำนาจตุลาการมาชี้ขาดเรื่องทางการเมือง มันก็เหมือนการขยายอำนาจของศาล ไม่เป็นไปตามหลักแบ่งแยกอำนาจ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะเมืองไทยแต่เกิดหลายประเทศ

ถูก นี่เป็นปัญหาใหม่ในยุคปัจจุบัน เป็นประเด็นที่ดีเบตกันว่าอำนาจของศาลควรอยู่แค่ไหน และกระทั่งประเด็นว่าตกลงศาลรัฐธรรมนูญควรมีหรือเปล่า ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียไม่มีศาลรัฐธรรมนูญนะ เยอรมันประสบความสำเร็จเพราะประสบการณ์เฉพาะของชาติเขา แต่ศาลรัฐธรรมนูญเขาก็มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเพราะสภาผู้แทนราษฎรสหพันธ์ กับสภาผู้แทนมลรัฐระดับสหพันธ์ เป็นคนเลือก ซึ่งทั้งสองส่วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งคู่ ในเชิงความชอบธรรมนั้นมี และในทางวิชาการเขามีความเข้มแข็งในการอธิบายกฎหมาย ดังนั้นถึงถูกล็อคหรือถูกคุมโดยหลักการอยู่ แม้จะมีคำวิจารณ์อยู่บ้างว่าอำนาจขยายออกไป แต่ก็ไม่ absurd เหมือนบางประเทศ

แต่ของเรามันไม่เหลือสปิริตแบบการคุ้มครองรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เพราะแม้แต่มีการทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยตรรกะทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ในรัฐธรรมนูญไทยทั้งฉบับ 2540 และ 2550 ชัดมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมายังไงก็เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญ มีอำนาจอะไรบ้างก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญถูกฉีก ก็แปลว่ากฎหมายที่ให้กำเนิดตัวคุณโดยตรงไม่มีแล้ว อำนาจที่ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญก็ไม่มีแล้ว ไม่มีรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองแล้ว แล้วจะอยู่ได้ยังไง   เพราะคุณมีหน้าที่พิทักษ์ตัวรัฐธรรมนูญที่ก่อกำเนิดอำนาจของคุณขึ้นมา พอเขารัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญปัง แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่ามันอยู่ได้ยังไง แล้วอยู่แบบไม่มีงานหลักอะไรทำ กินเงินเดือนแต่ละเดือนแต่ไม่มีงานหลักๆตามที่ถูกกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญให้ทำ มีแต่งานเล็กๆ น้อยๆ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องตั้งเป็นองค์กรถาวรในระบบ แล้วทำไมเป็นแบบนี้

คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร อันนี้ไม่ได้หมายถึงตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอ้างว่าเขาไม่ได้ยุบ ก็อยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่หมายถึงในเชิงโครงสร้าง ในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมันเป็นเรื่อง consciousness ซึ่งผมไม่ก้าวล่วงไปตัดสินหรือพิพากษา หากในทางโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร รัฐประหารเสร็จต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญ  จะเห็นว่าตอนรัฐประหารปี 49 ยังยุบ แล้วตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ แต่รับเอาคดีที่เดิมอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกยุบไปมาทำต่อ ซึ่งจริง ๆ ก็คือ คดียุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะไทยรักไทยเป็นสำคัญ อันนั้นก็เพี้ยนแล้ว เพราะฉีกรัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้คดีความต่าง ๆ อยู่ต่อ ครั้งนี้ในทางกฎหมาย ในระบบรัฐธรรมนูญไทยมันเพี้ยนยกกำลังสอง ยกกำลังสาม รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ต่อได้เหมือนไม่เคยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ เหลือเชื่อมาก คือมันเหลือแต่ชื่อว่าคือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในทางสาระของมันไม่เป็นศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่คุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแล้ว มีศาลรัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกดำรงอยู่ต่อไปได้ในรัฐธรรมนูญที่ถือกำเนิดขึ้นโดยตรงจากการรัฐประหาร หลังจากล้มเลิกรัฐธรรมนูญที่ก่อกำเนิดตัวเองขึ้นมาแล้ว เท่าที่ผมทราบ ไม่เห็นมีนะ คือถ้าพูดจากหลักนิติรัฐ ประชาธิปไตย หรือจากตรรกะทางนิติศาสตร์ นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็เป็นไปแล้วในบ้านเรา

การปล่อยให้มีศาลรัฐธรรมนูญที่สถาปนาอำนาจตัวเองจนคุมรัฐธรรมนูญได้มันผิด

ผิดสิ โดยไอเดียผม พัฒนาการทางกฎหมายของไทย ผมคิดว่าเราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ คือ อันนี้พูดจริง ๆ แม้ว่าผมจะเรียนจบจากเยอรมันซึ่งมีศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ถ้าจำเป็นต้องมี หรือถ้ามติมหาชนเห็นว่าควรจะต้องมี  ก็ต้องมีเงื่อนไขนี้ ไม่อย่างนั้นอย่ามี คือ 1. คุณต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีความเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจ 2.การเขียนอำนาจต้องเฉพาะ ชัดเจนเป็นเรื่องๆ ไป แล้วก็รัฐสภาที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยต้องเป็นคนทำกฎหมายวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ

นอกจากการให้สภาทำกฎหมายวิธีพิจารณาเพื่อถ่วงดุลศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีวิธีอื่นไหม เพราะตอนนี้การทำกฎหมายอะไรก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าใครแก้รัฐธรรมนูญลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คงตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

ต้องดูอย่างนี้ว่า ในระบบการเมืองหนึ่ง จะให้ฟังก์ชั่นหรือให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในระดับไหน สปิริตของมันคืออะไร อย่างในเยอรมันอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเยอะเพราะสปิริตของเขาคือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของเราเอาแบบเขามาเขียนตอนปี 2540 แต่กลับถูกแปลงเป็นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ สิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญมันถูกแปลงไปเป็นการทำอะไรก็ได้ให้กลไกเสียงข้างมากใช้ไม่ได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนจัดการ ฉะนั้น โดยสภาวะในทางการเมือง ศาลและองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้นโดยเจตนาที่ดีของรัฐธรรมนูญปี 2540 มันจึงถูกแปลงสภาพไปหมด แน่นอนว่ามันมีข้อวิจารณ์ในเชิงโครงสร้าง ตำแหน่งแห่งที่ ระบบการได้มาขององค์กรอิสระ ซึ่งผมก็เคยวิพากษ์วิจารณ์อยู่ ตั้งแต่ก่อนขบวนการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณจะก่อตัวในราวปลายปี 2548 ถ้าเราบอกว่าตอนใช้ 2540 รัฐบาลทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ ในทางข้อเท็จจริงเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีคนที่มีสายสัมพันธ์กันอยู่ แต่ตั้งแต่ปี 2549 มามันยิ่งหนักมากเลยแต่มันกลับด้านกัน

การกลับไปสู่ระบบถ่วงดุลคือ ต้องลดอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ

ผมว่าอำนาจในทางตุลาการต้องแยกชั้น หมายความว่า เป็นอำนาจระดับบน อำนาจอธิปไตยเสมอกับอำนาจนิติบัญญัติและบริหารหรือไม่ ถ้าเราพูดถึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบบของเราที่ควรจะเป็นตอนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้นโดยสภาพที่เป็นศาล ต้องมีระบบพิจารณาที่ดี ต้องมีระบบการทำคำพิพากษาที่ดี ตัวศาลมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย อำนาจต้องจำกัด หลัก ๆ ก็คือ การควบคุมตรวจสอบกฎหมายมิให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คุณต้องออกแบบแบบนี้ แต่ที่เราออกแบบศาลรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นต้นมา เป็นการออกแบบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการที่จะคัดง้างกับอำนาจจากการเลือกตั้ง

ความพยายามทอนอำนาจจากการเลือกตั้งไม่สำเร็จตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2549 เรื่อยมา เที่ยวนี้ถึงมาจัดการระบบเลือกตั้ง ขณะเดียวกันด้วยความกังวลว่ามันอาจจะไม่สำเร็จอีกถึงต้องเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญขึ้นไปอีก แล้วใช้ความเป็นศาลในการกดทับโดยเชื่อว่าสังคมไทยฟังศาล ไม่กล้าหือกับศาล ไม่กล้าตั้งคำถามกับศาล ใช้ทางจารีตกด ทำให้ภาพทางการเมืองเลวร้ายลง เพื่อขับเน้นให้ภาพศาลรัฐธรรมนูญสูงเด่นขึ้น

เวลาพูดว่าศาลมีอำนาจจำกัดหมายความว่าอย่างไร เวลาพูดในสังคมไทยแล้วมันตีความไปอีกอย่าง

คืออย่างนี้ ศาลต่าง ๆ จะเริ่มการเองไม่ได้ ไม่มีผู้พิพากษาถ้าไม่มีการฟ้องคดี ทีนี้ในการพิเคราะห์อำนาจศาล เราต้องดูว่าศาล ๆ นั้น ควรจะมีเขตอำนาจทั่วไป หรือเขตอำนาจเฉพาะเรื่อง ใครบ้างควรจะเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล เหล่านี้คือตัวจำกัดอำนาจของศาลไม่ให้เข้ามาวุ่นวายในทุก ๆ เรื่อง อย่างศาลยุติธรรมเขามีเขตอำนาจเป็นการทั่วไป แต่คนที่จะฟ้องคดีในศาลยุติธรรมได้ ต้องเป็นผู้ถูกกระทบสิทธิ แต่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่อำนาจเยอะ ในทางการเมืองเราให้ศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเป็นการทั่วไปไม่ได้ เพราะถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีเขตอำนาจเป็นการทั่วไปในข้อพิพาททั้งหมดในทางรัฐธรรมนูญ เขาจะเป็นซูเปอร์องค์กรเลย ช่องทางในการเข้าสู่ศาล ประตูต้องไม่กว้าง ต้องแคบและเป็นประตูเล็ก ๆ คนที่จะยื่นคำร้องหรือคำฟ้องได้ ก็ต้องกำหนดให้ชัด และต้องมีเหตุผลว่าทำไมเรื่องนั้นต้ององค์กรนั้นเป็นผู้ยื่นคำร้อง เขาเกี่ยวพันกับเรื่องอย่างไร ระบบกฎหมายจะคุ้มครองสิทธิอะไรของเขา และต้องขัดเจนด้วยว่าโดยหลักแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญพึงมีอำนาจอะไร เช่น มีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนะ โอเค ก็ต้องคิดต่อไปอีกว่าเอาก่อนหรือหลังประกาศใช้ เงื่อนไขในการยื่นเรื่องคืออะไรบ้าง เมื่อล็อคตรงนี้ไว้ก็เท่ากับจำกัดอำนาจ

ผมว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจาก 2540 นะ เพราะเปิดไว้เหมือนกัน

ตอนที่เราทำรัฐธรรมนูญ 2540 มันอาจก้าวกระโดดไป มีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้พัฒนาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านั้นเพื่อให้มีสภาพระบบวิธีพิจารณาที่ดี เราจะสังเกตได้ว่า พัฒนาการของระบบกฎหมายมหาชนไทยมีช่องว่างขนาดใหญ่มากๆ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงปี 2540 มันไม่มี infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) แต่พอถึงปี 2540 เราไปตั้งองค์กรเต็มไปหมดซึ่งมันต้องใช้ความรู้ในทางกฎหมายมหาชนสมัยใหม่เยอะแยะไปหมด มันก็ช็อต ใช้แบบกลายเป็นเครื่องมือ แล้วเรามาเจอปัญหาการต่อสู้ระหว่างกลุ่มทุนใหม่กลุ่มทุนเก่า อำนาจทางจารีตต่อสู้กับอำนาจจากการเลือกตั้งเข้ามาพอดี

ยังมีอีกอันที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ เที่ยวนี้มีอำนาจอันหนึ่ง มาตรา 209 บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดรัฐธรรมนูญ โอเค เขาล็อคเอาไว้ว่าเงื่อนไขเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบซึ่งเราไม่รู้ว่าคืออะไร สมมติว่ามีคนร้องว่า ศาลฎีกาละเมิดสิทธิ หรือศาลปกครองชั้นต้นละเมิดสิทธิ หรือคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ละเมิดสิทธิ ก็ไปศาลรัฐธรรมนูญได้ใช่ไหม ถ้าไม่มีเงื่อนไขล็อคไว้จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หมดในนามของการคุ้มครองสิทธิ แต่การคุ้มครองสิทธิจะถูกเล่นการเมืองตลอดเวลา โดยมาตรานี้ทำให้ประตูศาลรัฐธรรมนูญไทยกว้างมาก

ที่อื่นเขามีการคุ้มครองสิทธิแต่ไม่ได้เขียนแบบนี้ เขาเขียนเงื่อนไขจำกัดมากๆ เช่น คุณได้ใช้หนทางเยียวยาทางกฎหมายหมดทุกทางจนสิ้นหนทางแล้ว เขาถึงไปได้ แล้วประสบความสำเร็จน้อยมากในศาลรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเราผมเกรงว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน ข้ออ้างเรื่องการคุ้มครองสิทธินี้จะถูกอ้างกันเละเทะเปรอะไปหมด และจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตัดสินคดีแบบนี้ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเวลาศาลรัฐธรรมนูญทำคำพิพากษา คุณจะทำคำพิพากษาอะไรที่จะบอกว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ คุณจะสั่งอะไรได้มั่ง มันง่ายนะที่จะบอกว่ากระทบสิทธิละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่คอนเซ็ปท์เรื่องสิทธิในทางมหาชนยังไม่เป็นที่รู้จัก อันตรายเลยตรงนี้ อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ของเดิมไม่มีเรื่องนี้

ของเดิมก็มีแต่มันถูกล็อคว่าเมื่อไม่สามารถใช้สิทธิในหนทางอื่นได้แล้ว มันอยู่ในมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ 2550 จริงๆ รากเหง้าของเรื่องนี้เขาเรียกว่า การร้องทุกข์ในทางรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 เดิมเขียนไว้ไม่ค่อยถูกหลัก แต่เป็นประเด็นในทางเทคนิคกฎหมายมาก ๆ ที่ผมต้องใช้พื้นที่อธิบายมาก คนที่สนใจไปหาอ่านงานวิจัยที่ผมเคยวิเคราะห์ไว้แล้วกัน แต่เที่ยวนี้ มาตรา 209 ยิ่งทำให้เพี้ยนไปอีกโดยการตัดเงื่อนไขออก

ถ้าเขตอำนาจขัดกันจะมีการพิจารณาไหม

ศาลรัฐธรรมนูญเขาไม่สนใจ ถือว่าคำวินิจฉัยของเขาผูกพันทุกองค์กร ประเด็นมันอยู่ตรงที่ หลักเกณฑ์เงื่อนไขบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณา กั๊กไว้อีก

องค์กรอิสระ : มาเฟียอำนาจที่ 4

ร่างครั้งนี้นอกจากแยกหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ยังเขียนหมวดองค์กรอิสระ เอามารวมกันชัดเจน 5 องค์กร ยกเว้นองค์กรอัยการไปอยู่หมวด 13 ถ้าเราย้อนไปดู 2540 ไม่ได้เขียนหมวดองค์กรอิสระ มันแสดงความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจน

ปี 2540 เขียนไว้แบบกระจัดกระจาย ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่หมวดรัฐสภา กกต.อยู่ในส่วนเรื่องการเลือกตั้ง กระจายไปอย่างนี้

ปัญหาเป็นอย่างนี้และผมวิจารณ์มาเป็นสิบปีตั้งแต่ช่วงปลายของรัฐบาลทักษิณ คือ การเกิดขึ้นขององค์กรอิสระในกฎหมายไทยมันเกิดขึ้นโดยไม่มีคอนเซ็ปท์ที่ชัดเจนในระดับรัฐธรรมนูญ ในโลกนี้หลายประเทศตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นองค์กรอิสระในทางปกครอง รัฐธรรมนูญอาจเขียนรองรับไว้ แต่มันตั้งขึ้นได้เมื่อมีพ.ร.บ.ที่สภาตราขึ้น เป็นการดึงเอาอำนาจบริหารส่วนหนึ่งที่เดิมอยู่ครม.ไปให้กับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญบางอย่างเป็นคนทำ เช่น กสทช. เป็นองค์กรอิสระทางปกครอง เวลาใช้อำนาจก็เหมือนกระทรวงหรือกรมที่แยกขาดจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งการจะตั้งองค์กรลักษณะนี้ต้องคิดอยู่ 2 ประเด็น คือ 1. ที่มาจะมาจากไหนและ 2.มี accountability หรือความรับผิดชอบ ความพร้อมรับผิดกับใคร อย่างระดับกรม อธิบดีรับผิดชอบต่อปลัด ปลัดรับผิดชอบต่อรัฐมนตรี รัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภา สภารับผิดชอบต่อประชาชน มันมีโครงสร้างความรับผิดชอบในระบบเชื่อมกันอยู่ แต่เวลาตั้งองค์กรอิสระโดยเหตุที่มันหลุดออกมาจากครม. ผมจึงนิยามองค์กรอิสระไว้ว่า องค์ที่ใช้อำนาจบริหารที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง และในแง่นี้ต้องเขียนว่าจะสัมพันธ์กับสภาอย่างไร คุณทำอำนาจทางนโยบายได้ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา กสทช.คุณบังคับใช้กฎหมายเฉยๆ หรือคุณกำหนดนโยบายเกี่ยวกับโทรคมนาคมด้วย จริงๆ แล้วนโยบายโทรคมนาคมควรเป็นของ ครม.เพราะเขามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง ตรงนี้ต้องเคลียร์ นี่คือปัญหาขององค์กรอิสระในทางปกครอง แต่ที่ยุติตรงกันคือเมื่อองค์กรนี้ใช้อำนาจอะไรไปแล้วละเมิดสิทธิ คนที่ถูกละเมิดสิทธิก็สามารถฟ้องศาลได้

ทีนี้ตอนปี 2540 เราทำองค์กรอิสระขึ้นมาแต่เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่แบบที่พูดไป เช่น ปปช. กกต. คตง. โดยไม่มีคอนเซ็ปท์ว่า องค์กรเหล่านี้ใช้อำนาจในทางปกครอง หรือใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ ถ้าใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญ อำนาจคุณอยู่ในระนาบเดียวกันกับอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในระดับบนสุดหรือไม่ แล้วทำไมมาตรา 3 ไม่พูดถึงในวรรคแรก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ศาล ไม่มีทางองค์กรอิสระ เพราะอะไร เพราะคอนเซ็ปท์มันไม่เคลียร์ เพราะโดยคอนเซ็ปท์แต่ดั้งเดิมอำนาจแบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ พอมีองค์กรอิสระในปี 2540 บางคนอธิบายว่ามี 3 อำนาจในองค์กรเดียว กึ่งนิติบัญญัติ กึ่งบริหาร กึ่งตุลาการ

ผมคิดว่าถ้าองค์กรใดก็ตามมี 3 อำนาจในองค์กรเดียว คุณคือองค์กรมาเฟีย เท่ากับระบบแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงด้วยการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาในรัฐธรรมนูญใช่ไหม ฉะนั้น ปัญหาองค์กรอิสระในระบบกฎหมายไทยคือปัญหาในเชิงคอนเซ็ปท์ซึ่งมันไม่เคลียร์เลยว่าคุณตั้งองค์กรพวกนี้ขึ้นมาแล้วใช้อำนาจแบบไหน ถูกถ่วงดุลอำนาจยังไง แล้วรับผิดชอบต่อใคร ที่สำคัญคือ ไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอีก ตอนปี 2540 ยังผ่านวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่หลังจากนั้นก็ผ่านวุฒิสภากึ่งเลือกตั้งกึ่งแต่งตั้ง เที่ยวนี้จะมีวุฒิสภาที่จะไม่เกี่ยวข้องอะไรโดยตรงกับประชาชนอีกต่อไป เป็นเรื่องกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เลือกกันเอง แล้วพวกนี้แหละจะมาใหั้ความเห็นชอบคนเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระ

การที่องค์กรอิสระมีแนวโน้มที่จะไม่มีลักษณะเป็นประชาธิปไตย มันเป็นปัญหาเฉพาะของรัฐธรรมนูญไทย ในแง่ที่ว่า อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ถูกมองว่าเป็นอำนาจทางการเมือง แล้วอำนาจตุลาการถูกแยกออกมา แล้วตั้งแต่เดิมมา มันไม่เคยมีการพูดกันถึงการเกาะเกี่ยวระหว่างอำนาจตุลาการกับประชาชน องค์กรอิสระจึงมีสภาพคล้ายๆ กับองค์กรตุลาการ ในลักษณะซึ่งพัฒนาตัวมันเองไปอีกขั้นหนึ่ง ในแง่นั้น elite หรือข้าราชการระดับสูงจะมีที่ทางในการเมืองระดับบน ปะทะกับนักการเมือง อันนี้คือที่มา เพราะฉะนั้น ไปๆ มาๆ เราจะเห็นว่าผุ้พิพากษาศาลจำนวนหนึ่งก็จะค่อยๆ ออกมาเป็นองค์กรอิสระ เขาไม่ไปลงเลือกตั้ง ไม่ไปเป็นรัฐมนตรี แต่เขาก็มาอยู่ในอำนาจแบบนี้ เพราะมันมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการขาดฐานความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

แล้วอำนาจพวกนี้ใช้ได้มากกว่าศาลอีก

ในหลายกรณี ใช่ เพราะว่ามันเป็นอำนาจในเชิงบริหารด้วยส่วนหนึ่ง เช่น อำนาจปราบทุจริต

ตอนนี้ยิ่งรวมชัด ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น

ถูกต้อง เหมือนกับว่าสถาปนาเป็นอำนาจที่สี่ขึ้นมา แต่ว่าความไม่ชัดเจนของอำนาจที่สี่ในรอบนี้ก็คือองค์กรอิสระ คนร่างก็คิดไม่ออกว่าจะวางสถานะมันไว้อย่างไร เพราะคอนเซ็ปท์มันไม่เคลียร์ ดูมาตรา 3 "พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล" ไม่มีองค์กรอิสระ

แต่พอวรรคสอง มีการพูดถึง "องค์กรอิสระ"

ใช่ เดิมทีรัฐธรรมนูญ2540 ไม่เขียนเลย แต่ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้ว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ผมเคยวิจารณ์องค์กรตามรัฐธรรมนูญเอาไว้หนักหน่วงว่า ถ้าเขียนถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐสภาไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือ ครม. ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือ เพราะว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่เคลียร์คอนเซ็ปท์เรื่องนี้ ครั้งนี้เขามาเขียนเป็นองค์กรอิสระ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเขียนอย่างไร ปัญหาที่ทุกคนแก้ไม่ตกตั้งแต่ปี 2540 คือแล้วมันมีสถานะในทางอำนาจแบบไหน

มีชัยให้สัมภาษณ์ว่า ศาล องค์กรอิสระไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน บอกว่ามีแต่คอมมิวนิสต์ที่มีศาลประชาชน

ถามต่อว่า ถ้าไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วมาตรา 3 เขียนทำไมว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" แล้วพวกนี้ไม่ได้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยหรือ แล้วศาลไม่ยึดโยงอย่างไรเพราะศาลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของเจ้าของคือปวงชนชาวไทยนะ

อันนี้อธิบายได้อย่างเดียวว่ามันเป็นประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบไทย คือสุดท้ายพอมาถึงจุดนี้ ก็จะอธิบายในลักษณะที่ว่าอ้างไปแบบทุบโต๊ะ เพราะอธิบายโดยตรรกะไม่ได้ สุดท้ายเวลาคุณเขียน คุณก็ต้องถูกบังคับให้ต้องเขียนแบบนี้ จริงๆ มันไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก แต่คุณก็ต้องเขียนว่าเป็นประชาธิปไตย เวลาสู้กัน ผมก็พยายามจะ defend ว่าก็ให้มันเป็นตามนี้สิ  ก็เขียนมาเอง ไม่งั้นก็เลิกเขียนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ถ้าเขียนวางหลักไว้แบบนี้ เราก็ต้องใช้หลักอันนี้เป็นฐานในการวิจารณ์ได้สิว่าตกลงคุณเขียนรัฐธรรมนูญสม่ำเสมอสอดคล้องกันหรือไม่

หมวด 12 เป็นครั้งแรกที่มีบททั่วไปขององค์กรอิสระ ในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มี

ประวัติศาสตร์การพัฒนาเป็นอำนาจที่สี่ เริ่มปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ จาก 2540 ที่กระจัดกระจาย 2550 ถูกทำให้เรียกว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังแบ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีตรรกะและคอนเซ็ปท์ทางกฎหมายมหาชน พอเที่ยวนี้พัฒนาไปอีกชั้นหนึ่ง พยายามสร้างบททั่วไปขององค์กรอิสระขึ้นมาอีก นี่ก็คือการพยายามสร้างคอนเซ็ปท์อำนาจที่สี่ขึ้นมา อำนาจที่ “อประชาธิปไตย” คือไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ เดิมทีอยู่กับศาลส่วนหนึ่ง บัดนี้ ก็มีองค์กรอิสระขึ้นมา

แล้วการเขียนของมาตรา 211 นี้เขียนแล้วไม่มีความหมายอะไรเลย  "องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความเป็นอิสระ" เป็นการเขียนที่ไม่ได้บอกอะไรเรา

นอกจากนี้ยังบอกว่า "การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม กล้าหาญ..." ผมว่ามันยังไม่ครบนะ มันต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หิริโอตตัปปะ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม อดทน อดกลั้น อดออม อะไรอย่างนี้ ทำไมไม่ใส่ไปให้หมด ถ้าเขียนอย่างนี้ แล้วคำว่ากล้าหาญนี่คืออย่างไร จะไปรบกับใครหรือ คำว่า "กล้าหาญ" ในทางกฎหมาย ผมก็ไม่เคยเจอ "เที่ยงธรรม" นี่โอเค มันก็เป็นคุณค่าหนึ่งที่สัมพันธ์กับการปรับใช้กฎหมาย แต่ "กล้าหาญ" นี่แปลกดี ถ้าเขียนคุณสมบัตินี้ไว้ให้องค์กรอิสระ ทำไมไม่เขียนให้ข้าราชการ หรือศาล ฯลฯ ด้วยล่ะ แล้วจะวัดกันยังไง

กกต.ครั้งนี้เพิ่มจาก 5 เป็น 7 คนแต่สัดส่วนจากศาลฎีกายังมีแค่ 2 คน แล้วเพิ่มคุณสมบัติ

กกต. เพิ่มจาก 5 เป็น 7 คน คุณสมบัติที่กำหนดค่อนข้างกว้างขวาง "มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ... ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา" อันนี้คืออยู่ที่ กรรมการสรรหาเลย มี "ประสบการณ์ด้านกฎหมาย" ก็คือเอาผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์กับอธิบดีอัยการ

มีข้อสังเกตว่า ร่างของกรรมการร่างชุดมีชัย เหมือนไม่ค่อย refer ถึงศาลปกครองในบางเรื่อง เช่น คนดำรงตำแหน่ง กกต. "เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ หรือตำแหน่งไม่ต่ำหว่าอธิบดีอัยการ" แล้วศาลปกครองล่ะ? ถ้าว่าโดยหลักการ เรื่องกฎหมายเลือกตั้งมันมีลักษณะเป็นกฎหมายมหาชน ถ้าจะอาผู้พิพากษาตุลาการ ควรคำนึงถึงศาลปกครองด้วย

ของเดิมก็ไม่มี

ของเดิมก็ไม่มี แต่ว่าอันนี้เขาเอาอธิบดีอัยการมาด้วย คือถ้าจะพูดถึง กกต. โดยลักษณะของการใช้กฎหมาย ถ้าจะว่าโดยระบบ ศาลปกครองก็ต้องเกี่ยวพันด้วยในด้านหนึ่ง คือ การวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีเลือกตั้ง ความจริงก็อย่างที่บอก เป็นเรื่องในทางกฎหมายมหาชนอยู่

อำนาจ กกต. ยังออกใบแดงได้ แต่ว่าเป็นใบแดงชั่วคราว 1 ปี ในมาตรา 220 (4)

เขาใช้คำว่า "ระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง" แต่คำสั่งระงับสิทธิเลือกตั้งแบบนี้ มันเป็นคำสั่งที่เป็นที่สุด (มาตรา 221) เข้าใจว่าฟ้องศาลไม่ได้ ซึ่งมีปัญหาอยู่ว่าให้ กกต. มีอำนาจเสมือนกับอำนาจตุลาการ คือตัดสิทธิคนโดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาในทางศาล อันนี้ก็คือปัญหาเดิม

พอมาตรา 222 ให้ไปร้องศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอน

อันนี้ก็คือไอเดียเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือ ก่อนเลือกตั้งเป็นอำนาจ กกต. หลังเลือกตั้งเป็นอำนาจศาลฎีกา

แต่ประเด็นมันก็คือมันไม่ใช้คำตัดสิน มันก็คือให้ศาลฎีกาแจกใบแดงเหมือนกัน เท่ากับกลับมาใช้ระบบใบแดง

ใช่ อันนี้มันไม่ได้เปลี่ยน แต่เพิ่มโทษ และก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เปลี่ยนจากเพิกถอน เป็นระงับสิทธิเอาไว้หนึ่งปี ประเด็นคือว่า ถึงที่สุด อำนาจของ กกต.มันมีมาก ในแง่ของการตัดสิทธิ และปัญหาใหญ่คือ การที่ กกต.เป็นกำแพงขวางกั้นการแสดงเจตจำนงของประชาชน เพราะว่าโดยระบบทั่วไป จากหลักการ ประชาชนที่ไปเลือกตั้งคือคนที่แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะสังเกตว่า ตำแหน่ง ส.ส.ไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่มีการเสด็จมาเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรก ครม. ศาล มีถวายสัตย์ แต่ ส.ส. ไม่มี เพราะโดยตรรกะคือประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแล้วเขาตั้งผู้แทน เพราะการไปเลือกตั้งคือการไปแสดงเจตนาแต่งตั้ง พูดง่ายๆ คือ ประชาชนไปออกคำสั่งแต่งตั้งให้คนนี้เป็น ส.ส.

ทีนี้คำสั่งที่ประชาชนออกไปแต่งตั้งมันถูกเบรกโดย กกต. ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ คือ ประชาชนสั่งมาแล้วว่าตั้งคนนี้ แต่ กกต.บอกว่ายังไม่ประกาศนะ ไปตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน ทั้งๆ ที่ความจริง ถ้า กกต.จะไม่ประกาศมันควรมีแค่กรณีเดียวคือ คะแนนนั้นเป็นโมฆะ ถ้าเป็นกรณีอื่นทั้งหมด ต้องประกาศ แล้วถ้าทุจริตต้องไปดำเนินคดีตามกฎหมาย เมื่อปี 2543 ราว ๆ นั้น ผมก็เคยออกแถลงการณ์กับอาจารย์หลายท่านในคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์  ตอนที่ กกต.ใช้อำนาจเบรกตอนเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรก ว่าเบรกแบบนี้ไม่ได้ เมื่อประชาชนตั้งคนมาแล้ว คุณต้องประกาศ พวกนั้นเขาบอกว่ามันต้องตรวจสอบก่อนว่าไม่มีทุจริตการเลือกตั้ง มันจะตรวจอย่างไรเพราะร้องเรียนกันเละเทะไปหมด เราก็เลยแก้ปัญหาแบบผิดทิศผิดทาง แบบว่าบอกว่าต้องได้กี่เปอร์เซ็นต์แล้วรอเปิดสภาได้ ซึ่งมันไม่เป็นเหตุเป็นผล สมมติบอกว่า ตรวจสอบแล้วทุจริต 40% แล้วเปิดสภาไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญก็บังคับว่าต้องเปิดภายในเวลาเท่าไหร่ คือที่สุดก็ต้องประกาศก่อนอยู่ดี

ตรรกะผมก็คือว่า ถ้ามีการนับคะแนนแล้ว หน้าที่ของ กกต.คือยืนยันผลคะแนน เจตจำนงของประชาชนแสดงออกผ่านคะแนน ถ้าเขาซื้อเสียงหรือทำผิดกฎหมายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ประเด็นคือไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อเสียงแต่ประชาชนเลือกเขา ก็ต้องประกาศว่าเขาเป็น ส.ส. แล้วถ้ามีหลักฐานก็ดำเนินคดี ก็ติดคุกไป คือผมไม่มีปัญหานะ ถ้ามีหลักฐานก็ให้เขาติดคุกไปเลย แต่ที่ผ่านมา ก็คือไม่เห็นมีใครติดคุก มีแต่เพียง "เชื่อได้ว่าทุจริต"  เรื่องนี้เป็นประเด็นในทางหลักการ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่ามันไม่เคยเคารพอำนาจของเจ้าของอำนาจ คือไม่รู้สึกว่าคะแนนของเจ้าของอำนาจมีความหมาย จะตั้งองค์กรอะไรขึ้นเบรกก็ได้ โดยรู้สึกว่าต้องจัดการนักการเมือง แล้วทำได้ไหม ซึ่งมันก็ทำไม่ได้

แล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 กับปีนี้ก็เอาไปให้ศาล แล้วศาลออกใบแดง ไม่ใช่การตัดสินว่าทุจริต ติดคุก ตามมาตรา 222

ใช่ เรื่องนี้จะชอบอ้างสโลแกนที่อธิบายให้คนทั่วไปฟังยากว่าเขาทุจริตการเลือกตั้งแล้วจะปล่อยเป็น ส.ส.ได้อย่างไร ผมถามว่าแล้วใครตัดสินว่าทุจริต มันก็เป็นการกล่าวหาว่าทุจริตหรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ประเด็นอยู่ที่ว่าคะแนนต่างหากคือตัวเลขที่เขาได้เป็นรูปธรรมและมันเป็นภววิสัย ในแง่ที่ว่ามันไม่เอาอัตวิสัยอะไรเข้าไปจับในชั้นนี้ ก็คือว่าเมื่อได้คะแนนมา และไม่เป็นคะแนนเสีย ก็ต้องประกาศผลการเลือกตั้ง จากนั้นก็เปิดประชุมสภา แล้วดำเนินคดี

กรณีการกำหนดให้หลังประกาศผล กกต.ต้องยื่นคำร้องต่อศาล เมื่อปี 2550 เป็นผลจากการที่วิจารณ์ตอน 2540 ที่ กกต.ให้ใบแดง ที่วิจารณ์ว่าทำไมให้ กกต.ที่มีอำนาจบริหาร จัดการเลือกตั้ง มีอำนาจมาให้ใบแดงตัดสิทธิคนได้อย่างไร วิจารณ์หลายปี พอตอนเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ผ่อนตรงนี้ลง เป็นว่าพบกันครึ่งทาง ก่อนการเลือกตั้งให้เป็นอำนาจ กกต. พอประกาศไปแล้วให้ กกต.รวบรวมหลักฐานยื่นศาลฎีกา

แต่ศาลก็ไม่ได้ตัดสินทุจริต ก็เป็นศาลออกใบแดงเหมือนกัน

ก็เป็นคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะว่าจริงๆ โดยทั่วไปหรือโดยหลักแล้ว การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งควรเป็นโทษประกอบ หมายความว่า ควรที่จะมีการกระทำผิดอาญาเป็นความผิดหลัก ความผิดอาญานั้นอาจจะเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง เช่น ทุจริตการเลือกตั้งที่เป็นความผิดอาญา แล้วได้ความว่าเขาผิดจริง พูดง่ายๆ คือใช้มาตรฐานในทางกฎหมายอาญา เมื่อเขาติดคุก ก็ระงับสิทธิเลือกตั้งตามมา แต่ของเรา เอาการเพิกถอนแยกออกมา ไม่ได้ใช้มาตรฐานทางกฎหมายอาญา และปล่อยเป็นแค่เชื่อได้ว่าทุจริต หรือมีหลักฐาน แต่ไม่ถึงขั้นว่าผิด

คตง.มีการเพิ่มอำนาจ มาตรา 241 วรรคสอง "ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องด้วยกับผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมร่วมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้นให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย"

ก็แปลว่าแทนที่จะให้การคุมนโยบายเป็นเรื่องของพรรคการเมือง เป็นเรื่องของประชาชนทั่วไป ก็ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คตง. กกต. ป.ป.ช. มาคุมแทน ปัญหาคือเวลาที่เขาเสนอนโยบาย มันจะยังไง

"การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง"

ในทางกฎหมาย มันเป็นการพยากรณ์ ซึ่งไม่มีใครพยากรณ์ได้แน่นอนเด็ดขาด มันจะมีการเถียงกัน รัฐบาลก็ต้องบอกว่ามันไม่เสียหาย เขาคำนึงแล้ว นี่เป็นงบลงทุนนู่นนี่นั่น อีกพวกหนึ่งบอกว่าเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง ฝั่งหนึ่งบอกว่ารอให้ถนนลูกรังหมดก่อนไม่อย่างนั้นจะเสียหายทางการเงินการคลัง ไปกู้เงินมาเป็นหนี้สาธารณะ นี่เป็นเรื่องของการพยากรณ์การประเมิน คำถามคือทำไมต้องเอาเรื่องการประเมินขององค์กรนี้เป็นเด็ดขาด เพราะว่าเวลาประเมินมันพูดยาก อย่างเช่นเรื่องค่าเงินบาท คุณถูกโจมตีเรื่องค่าเงินบาท คุณจะสู้หรือไม่ แล้วใครจะรู้ว่าสู้แล้วเป็นอย่างไร ไม่สู้แล้วเป็นอย่างไร ในชีวิตของรัฐหรือแม้ชีวิตของมนุษย์มันมีความเสี่ยงอยู่ แล้วถ้าเกิดเขาตัดสินใจในบริบทที่เขาดูทุกอย่างรอบด้านแล้วเขาตัดสินใจแบบนั้น คือปัญหาในทางกลับกัน สมมติว่าการระงับยับยั้งมันก่อให้เกิดความเสียหายล่ะ สามองค์กรนี้จะรับผิดชอบอย่างไร เรามองในแง่ที่ว่า ระงับยับยั้งเป็นการป้องกันความเสียหาย แต่ถ้าเขาระงับยับยั้งแล้วผลของมันกลับก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อการเงินการคลังล่ะ

เขาน่าจะเขียนเพิ่มเพราะมีกรณีจำนำข้าว เที่ยวนี้ในด้านหนึ่ง เขาก็คงดูว่าฝ่ายนักการเมืองที่มีฐานคะแนนเสียงจากประชาชนใช้การมัดใจประชาชนโดยวิธีการทางนโยบาย เพราะฉะนั้น เขาจะล็อคตัวนี้ลงไป ให้ฝ่ายการเมืองขยับได้น้อยลง คิดนโยบายใหม่ๆ อาจจะลำบากหน่อย

มาตรา 236 ของเดิมไม่ละเอียดขนาดนี้ เช่น ข้อ 5 สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

อันนี้มีร่องรอยมาในร่างของกรรมาธิการชุดที่แล้วที่ถูก สปช. คว่ำไปอยู่แล้ว ผมไม่รู้ว่าสั่งลงโทษทางปกครองมันคือโทษแบบไหนบ้าง เข้าใจว่าคงเป็นการปรับเป็นเงิน แต่อย่างน้อยเฉพาะประเด็นนี้ร่างนี้ในทางหลักการยังดี เพราะให้ คตง. เป็นผู้สั่ง ไม่ใช่ให้ศาลปกครองสั่งเอง

คล้าย พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดแล้วไปฟ้องศาลปกครองไหม

ประมาณนั้น จริงๆ เขาไม่เรียกว่าฟ้อง มันเขียนประหลาดเหมือนกัน มันคืออุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คืออะไรที่ คตง.สั่ง มันไปศาลปกครองสูงสุดเลย เหมือน คตง.เป็นศาลชั้นต้นไปด้วย เป็นคนที่ใช้อำนาจทางบริหารด้วย เริ่มกระบวนการเองได้ และสั่งลงโทษได้ แล้วก็ให้อุทธรณ์ไปศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปกติถ้าเป็น พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดมันไปที่ศาลปกครองชั้นต้น คือพอถูกลงโทษ คนที่ถูกลงโทษจะฟ้องคดี แต่ในมาตรา 236 เขียนให้ "อุทธรณ์" ภายใน 90 วันต่อศาลปกครองสูงสุด ใช้คำว่า "อุทธรณ์" ทั้งที่ปกติเริ่มการที่ศาลมันต้องเป็นการฟ้องคดี

ข้าราชการโดนได้หมด

โดนได้หมด ทีนี้ต้องไปดูว่ากฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังมันคืออะไรบ้าง ยังไง คตง.ก็จะมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น

ก็จะไปอยู่ในสิบข้อที่มีชัยจะร่าง

เพราะฉะนั้นเวลาเราดูรัฐธรรมนูญ มันดูไม่หมด เพราะอำนาจมันจะถูกกั๊กไปเขียน ในทางปฏิบัติมันจะไปหนักที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหมด

กสม.ถูก ICC ลดเกรดแต่ยกระดับกลายเป็นองค์กรอิสระ

ใช่ เดิม กสม.เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ จะอยู่กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ กับอัยการ จะไม่อยู่ระดับเดียวกับ กกต. ป.ป.ช. คตง.  แต่ที่นี้ปัญหามันอยู่ตรงที่ มาตรา 244 (4) คือให้อำนาจหน้าที่ ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในกรณีที่มีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

อันนี้ชัดเจนมาก เท่ากับ กสม.จะเป็นคู่ปรปักษ์กับองค์กรระหว่างประเทศเช่น ฮิวแมนไรท์วอชท์ ยูเอ็น แอมเนสตี้

ศาลฎีกานักการเมืองอุทธรณ์ได้แต่....

หมวดศาลมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

มาตรา 190 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่มให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายในสามสิบวัน เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายหรือในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เขาพยายามแก้เรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาที่ถูกวิจารณ์ว่าศาลชั้นเดียวไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ  ICCPR ด้วย คือเดิมการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งฐานเริ่มมาจาก ป.ป.ช.ฟ้อง เดิมทีตอนรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีกรณีให้อุทธรณ์ก็มีการวิจารณ์กันว่าทำไมศาลฎีกาตัดสินแล้วจบ พอปี 2550 คนทำรัฐธรรมนูญ ก็เลยแก้ให้มีการอุทธรณ์ แต่ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาประมาณร้อยคน ก็เป็นปัญหา แต่ปัญหาสำคัญคือการอุทธรณ์ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ภายในสามสิบวัน คือพอตัดสินแล้ว ต้องไปหาพยานหลักฐานใหม่ภายในสามสิบวันเพื่ออุทธรณ์ ซึ่งผิดหลักการอุทธรณ์ การอุทธรณ์โดยคอนเซ็ปท์ตามกฎหมายมันคือการที่จำเลยที่ถูกศาลชั้นล่างพิพากษาแล้ว เขาเห็นแย้งกับคำพิพากษานั้นว่าไม่ถูก จะประเด็นอะไรก็ได้ ก็อุทธรณ์ให้ศาลสูง ทบทวนคำพิพากษาของศาลล่าง ทีนี้ พอรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เขียนว่าต้องมีพยานหลักฐานใหม่ เท่ากับอุทธรณ์ไม่ได้

ซึ่งความจริงถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ ก็แสดงว่าอีกยี่สิบปีก็อุทธรณ์ได้ มันเป็นการพิจารณาใหม่

มันเป็นการขอให้พิจารณาใหม่ ที่ผมเคยวิจารณ์อันนี้หลายปีแล้วว่าจริง ๆ มันคือการขอให้พิจารณาใหม่ แต่ตามหลักแล้วการพิจารณาใหม่มันจะไม่ถูกล็อคโดยสามสิบวัน เช่น ตัดสินถึงที่สุดไปแล้ว คดีอาญาจับแพะติดคุก แพะติดคุกอยู่สามปี เจอพยานหลักฐานใหม่ว่าแพะไม่ได้กระทำความผิด เขาก็รื้อคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ มันไม่ใช่การอุทธรณ์ แต่ 2550 เอาสองเรื่องนี้มาปนกันแล้วก็เกิดเป็นอะไรบางอย่างที่มันประหลาดในระบบกฎหมาย คือมันจะเป็นการอุทธรณ์ก็ไม่ใช่ จะเป็นการพิจารณาใหม่ก็ไม่ใช่อีก มันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่มีคอนเซ็ปท์ ทีนี้ มันก็ผิดหลักการใน ICCPR ที่บอกว่ากรณีบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดี ต้องมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลระดับสูงได้ อันนี้เป็นสิทธิที่ถูกประกันและประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกใน ICCPR ทีนี้ถามว่ารัฐธรรมนูญเราได้มาตรฐาน ICCPR ไหม ก็ไม่ได้ เขาอาจจะไปบอกว่านี่ไงผมเขียนให้สิทธิอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์นี้ไม่ใช่การอุทธรณ์ในความหมายที่แท้จริง เพราะมันล็อคเรื่องข้อกฎหมายกับเรื่องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งมันผิดหลัก

อุทธรณ์มันต้องไม่ล็อคเลย?

ไม่ล็อคเลย คืออุทธรณ์มันอาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ถ้ามันผ่านสองชั้นมาแล้ว อาจจะห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่ว่าเที่ยวนี้มันไปที่ประชุมใหญ่ โดยสภาพมันต้องอุทธรณ์ได้ ในบ้านเรา ผู้พิพากษาดูทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหมดในคดีอาญา ในสหรัฐฯ เป็นลูกขุนและอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ เพราะถือว่านี่คือการเอาคนติดคุก แต่ของเราไปสร้างระบบพิเศษ แบบว่าเป็นนักการเมืองก็ต้องเล่นเป็นพิเศษ ก็ผิดมาตรฐาน คือผิดมาตั้งแต่การมีไอเดียว่าจะต้องมีศาลเฉพาะสำหรับพวกนักการเมืองแล้ว มันแปลว่าในระบบศาลปกติเราเชื่อถือไม่ได้หรือ ในศาลปกติไม่มีมาตรฐานเพียงพอ ถ้าบอกว่ามันช้า มันก็เป็นเรื่องกระบวนพิจารณา แต่ประเด็นคือสุดท้ายคุณจะตัดสินลงโทษจำคุกใครสักคนหนึ่งในทางอาญา มันต้องได้เกณฑ์มาตรฐาน

แล้วทีนี้พอมันอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ คนมันเยอะ มีการเพิ่มขึ้นมาใหม่ในหมวดศาล ว่า พออุทธรณ์จะมีองค์คณะขึ้นมาอีกเก้าคนในชั้นอุทธรณ์ แต่ต้องไม่เป็นองค์คณะเดิม มาทำสำนวนแล้วส่งเข้าที่ประชุมใหญ่ เพราะผมเคยวิจารณ์ว่าถ้าเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ แล้วไม่มีคนรับผิดชอบแล้วจะทำงานกันอย่างไร

เปลี่ยนอย่างนี้ดีขึ้นหน่อยหนึ่งไหม

โดยหลักการมันไม่ได้

หลักการมันต้องอุทธรณ์กว้าง?

ใช่ แต่ทีนี้มันให้ศาลฎีกาไปแล้วไง จะอุทธรณ์ไปไหน มันพันกันเอง ตั้งแต่ว่าพอเป็นนักการเมืองก็ต้องเป็นศาลพิเศษคือศาลฎีกา พอศาลฎีกาก็สูงสุดแล้ว เพราะฉะนั้นจะอุทธรณ์ไปไหนได้อีก ก็บอกว่า งั้นอุทธรณ์ไปที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคน

จริงๆ ปกติที่ประชุมใหญ่ จะเอาไว้ใช้ในกรณีที่มีปัญหาขัดแย้งกันในทางกฎหมาย แล้วมันต้องตัดสินทางใดทางหนึ่ง เพื่อวางแนวให้เป็นแนวเดียวกัน คืออำนาจจะอยู่ที่องค์คณะ แต่บางประเด็นถึงจะเข้าที่ประชุมใหญ่

เขาจะไม่พิจารณาเป็นตัวคดี

ไม่มี เท่าที่ผมทราบ มันไม่มีคดีที่อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่หรอก คดีมันต้องเป็นขององค์คณะ

 ตามร่างนี้ชั้นแรกสุด คือองค์คณะพิจารณาเอาจาก 9 คนในศาลฎีกา ซึ่งที่ประชุมเป็นคนเลือก โดยให้เลือกเป็นรายคดี พออุทธรณ์ ที่ว่าจะต้องมีหลักฐานใหม่ เขาบอกให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายในสามสิบวัน การวินิจฉัยอุทธรณ์เขาบอกให้ทำโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน แล้วที่ประชุมใหญ่เลือกอีกเก้าคน

มันก็คือศาลเดียวกัน โดยระบบการอุทธรณ์มันต้องเหลื่อมกัน คือศาลสูงตรวจสอบศาลล่าง แต่นี่คือศาลในระดับเดียวกัน เพียงแต่ว่าอาจจะเหลื่อมนิดนึง คือเขาใช้ตำแหน่ง ในชั้นแรกเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่พออุทธรณ์เข้าที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ตั้งองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์เป็นหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แต่มันคือศาลเดียวกัน

ตอนพิจารณา เก้าคนนี้คงเป็นคนเขียนแล้วให้โหวต แล้วอันนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาการวินิจฉัย เขาให้ กรธ.ไปเขียน ออกเป็น พ.ร.บ.วิธีพิจารณาทางอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แล้วเปลี่ยน กต.ไหม

เขาไม่เขียน กต.กับ กศป.ไว้นะ เที่ยวนี้เขาเขียน refer ให้มันเป็นไปตามกฎหมายที่เป็นอยู่ มันอยู่ใน พ.ร.บ.แล้ว (มาตรา 191) ของ 2550 เขียนละเอียดกว่า มันจะบอกว่าชั้นศาลละกี่คนด้วย  ส่วน กศป.ก็เหมือนกัน อยู่ในมาตรา 193  

แต่อันนี้เขาก็เขียนอำนาจศาลปกครองกระชับดี คือมีอำนาจพิจารณาคดีปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งผมว่าก็โอเค เพียงแต่ขาดการให้นิยามคดีปกครองในทางเนื้อหา จริงๆ ควรจะต้องเขียนไว้สักนิดว่า หมายถึงข้อพิพาททางกฎหมายมหาชนที่ไม่มีลักษณะเป็นข้อพิพาทในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลอื่น ส่วนเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในฉบับบวรศักดิ์ เรื่องชี้ขาดหน้าที่ระหว่างศาล เที่ยวนี้เขาไม่แตะนะ ในมาตรา 187 ก็คือเอาแบบเดิม "อำนาจศาลปกครองตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้ขาดขององค์กรอิสระซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ..." (มาตรา192) อันนี้ก็เหมือนเดิม ซึ่งก็จะเถียงกันอีกว่า แบบไหนเป็นใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ แบบไหนไม่ใช่ ปัญหาเดิม คือรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ปัญหาพวกนี้ด้วยในทางปฏิบัติ

เรื่องศาลในบททั่วไป มาตรา 183 มีการแก้ถ้อยคำ ของ 2550 เขียนว่า การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ เที่ยวนี้ตัดคำว่า “ยุติธรรม” กับ “ตามรัฐธรรมนูญ” ออก

แล้วถูกไหม

มันขึ้นอยู่กับการมอง คือการเขียนแบบนี้มันก็โอเค ถ้าต้องการความชัดเจนแน่นอน ไม่งั้นเดี๋ยวอ้างความยุติธรรมเรื่อยเปื่อย เพื่อปฏิเสธกฎหมาย และสำหรับคนที่ต้องการให้ผู้พิพากษาเป็นหุ่นยนต์กลไกของผู้ทรงอำนาจออกกฎหมาย คงจะชอบกฎเกณฑ์แบบนี้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้ากฎเกณฑ์นั้นมันอยุติธรรมอย่างรุนแรง เกินกว่าที่จะทนทานรับได้ เรายังจะนับว่าเป็นกฎหมายที่ผูกพันผู้พิพากษาให้ต้องใช้บังคับอยู่หรือไม่ ตรงนี้เป็นปัญหานิติปรัชญา โดยส่วนตัวผมเห็นว่าจะบัญญัติคำว่า ความยุติธรรม เที่ยงธรรมอะไรเหล่านี้ก็ได้ อาจจะช่วยกระตุ้นมโนสำนึกของผู้พิพากษาตุลาการในกรณีที่เกิดความอยุติธรรมอย่างรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีถ้อยคำแบบนี้ ระบบกฎหมายก็จะต้องกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษาตุลาการ ตลอดจนความพร้อมรับผิดของผู้พิพากษาตุลาการเอาไว้ด้วย เพื่อคุมไม่ให้ผุ้พิพากษาตุลาการใช้เจตจำนงส่วนตัวของตนบิดเบือนกฎหมายในนามความยุติธรรม การเขียนเรื่องนี้จึงต้องดูกลไกในระบบกฎหมาย ตลอดจนการกำหนดฐานความผิดอาญา การกำหนดความรับผิดชอบ ความพร้อมรับผิด ตลอดจนที่มาของผู้พิพากษาตุลาการที่จะต้องเชื่อมโยงกับเจ้าของอำนาจด้วย การอภิปรายเรื่องนี้ทั้งหมดอย่างรอบด้าน ไม่มีเพดานเท่านั้นที่จะทำให้เราให้คำตอบอย่างถูกต้อง สมเหตุสมผลต่อคำถามข้างต้นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจงส่ง 'รด.จิตอาสา-ทหาร' ลงพื้นที่แค่สร้างความรับรู้รธน. กับประชาชน ปัดชี้นำ

$
0
0

ผบ.ทบ.โต้ จตุพร หยุดใส่ร้าย นศท. คสช. แจง รด.จิตอาสา แค่สร้างความรับรู้ ไม่ชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ  ประวิตร ยันส่งทหารลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รธน.กับประชาชน ไม่ใช่การชี้นำ

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยเดลินิวส์และผู้จัดการออนไลน์รายงานตรงกันถึง โครงการ “รด.จิตอาสา” ที่ พล.ท.วีระชัย อินทุโสภณ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ได้ประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งข้อมูลและประเด็นสำคัญเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับนักศึกษาวิชาทหาร(นศท.)ที่จะนำไปขยายความต่อ โดยเฉพาะช่วงทำประชามติจะมีการให้นักศึกษาวิชาทหารช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตามหน่วยที่จัดลงประชามติ 

“การจัดตั้งรด.จิตอาสา เป็นองค์กรที่มั่นคง มีรายชื่อ มีการรับสมัคร ได้รับการรับรองจากผู้ ปกครอง  ต่อไปจะให้เด็กเหล่านี้เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ ช่วยแจกใบปลิว ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงเวลาลงประชามติ เด็ก ๆ จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ตามหน่วยที่จัดลงประชามติ จะได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งการสื่อสารในวัยเดียวกันก็จะทำให้เข้าใจกันง่ายตามดำริของพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารก” พล.ท.วีระชัย กล่าว

ผบ.ทบ.โต้ จตุพร หยุดใส่ร้าย นศท.

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.พ.59) สำนักข่าวไทยรายงานถึงความเห็นของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่ถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ระบุ กองทัพบกใช้ นศท. ชี้นำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผ่านการทำประชามติ นั้น โดย ผบ.ทบ. กล่าวว่า นักศึกษาวิชาทหาร เป็นจิตอาสา ทำประโยชน์ให้กับสังคม การพูดจาแบบนั้นทำให้เยาวชนเสียใจ เป็นการทำลายกำลังใจเพราะพวกเขาตั้งใจมากในการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นด้วยกัน ว่ามีจุดประสงค์อะไรบ้าง ซึ่งก็มุ่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถ้าใครไม่เดือดร้อนก็ไม่ควรมาใส่ร้ายนักศึกษาวิชาทหารซึ่งเป็นจิตอาสาจริง ๆ

เมื่อถามว่า จะยืนยันให้แกนนำเสื้อแดงเข้าใจใช่ไหมว่านศท.เป็นเพียงการทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการชี้นำประชามติ ผบ.ทบ.กล่าวว่า พูดไป 10 ครั้งแล้ว
 
คสช. แจง รด.จิตอาสา แค่สร้างความรับรู้ ไม่ชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ 
 
ขณะที่ พ.อ.ปิยพงค์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ส่วนงานรักษาความสงบสำนักงานเลขาธิการ คสช. ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงกรณีกองทัพบกให้ นศท. ร่วมทำความเข้าใจและชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนและกลุ่มวัยรุ่นในวัยเดียวกันว่า เป็น 1 ในภารกิจของ นศท. ภายใต้โครงการ “รด.จิตอาสา” ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ช่วยเหลือประชาชน 3.การบรรเทาสาธารณภัย 4.การสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในเรื่องของโรดแม็พ คสช. ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลและคสช. ทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ และ 5.เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์

พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของนศท.เป็นเพียงการสร้างการรับรู้ไม่ใช่เป็นการชี้นำเพื่อนำไปสู่การลงมติ ขณะนี้นักศึกษาวิชาทหารสมัครเป็นรด.จิตอาสา ประมาณ 80,000 – 100,000 คน โดยรด.จิตอาสาจะได้รับการอบรมความรู้จาก กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เข้าใจแนวทางระบอบประชาธิปไตย และไม่ให้ทำผิดกรอบกฏหมายเลือกตั้ง

ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า โครงการรด.จิตอาสาได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ตุลาคม 2558 ซึ่งนศท.ที่ร่วมโครงการจะมีเครื่องหมายและเครื่องแบบแสดงสัญลักษณ์ชัดเจน ทั้งนี้การทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีการลงลึกในรายละเอียดถึงมาตราต่าง ๆ นศท.จะนำความคิดเห็นที่ได้มานำเสนอหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยในอดีต ไม่ได้มุ่งหวังที่จะทำร้ายใคร

ประวิตร ยันส่งทหารลงพื้นที่ทำความเข้าใจ รธน.กับประชาชน ไม่ใช่การชี้นำ

วันเดียวกัน มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ให้ทหารชี้แจงลงพื้นที่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและรณรงค์ให้ประชาชนออกมาทำประชามติ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราจะให้ทหารชักชวนประชาชนออกมาให้มากที่เราไม่ได้บอกให้ประชาชนออกมารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการสร้างความเข้าใจมีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ซึ่งนำโดยกระทรวงมหาดไทย
 
เมื่อถามว่า การให้ทหารออกมาเชิญชวนจะถูกมองว่า กองทัพเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองหรือไม่เพราะน่าจะเป็นหน้าที่ของกกต.และพลเรือนมากกว่าในการรณรงค์ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ให้เขาออกมาจะการเมืองอะไร กกต.ยังมีอำนาจอยู่หรือไม่ ขณะนี้ คสช. มีอำนาจอยู่ คงไม่เสียหายเพราะให้ประชาชนออกมาลงประชามติไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่การชี้นำ

 

กระทรวงต่างประเทศเสียใจเกาหลีเหนือยิงจรวด-เรียกร้องกลับโต๊ะเจรจา 6 ฝ่าย

$
0
0

หลังเกาหลีเหนือประกาศว่าได้ปล่อยจรวดส่งดาวเทียมสำรวจ "กวางเมียงซอง-4" ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์เสียใจที่เกาหลีเหนือ "ปล่อยจรวดพิสัยไกล" ละเมิดมติสหประชาชาติ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่าย

ภาพนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่แสดงความยินดีห้อมล้อม คิม จองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ภายหลังปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ภาพดังกล่าวเผยแพร่โดยสำนักข่าวกลางเกาหลี (KCNA) ลงในหนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน เมื่อ 8 ก.พ. 2559 ภายหลังจากที่เกาหลีเหนือประกาศว่าได้ปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 เมื่อ 7 ก.พ. 2559 (ที่มา: Rodong Sinmun

8 ก.พ. 2559 - ภายหลังเกาหลีเหนือปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 โดยระบุว่าเป็นการใช้สิทธิสำรวจอวกาศอย่างสันติ ขณะที่ทางการเกาหลีใต้ประณามว่าเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ต่อการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ โดยในแถลงการณ์เลือกใช้คำว่า "ปล่อยจรวดพิสัยไกล" มีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับการปล่อยจรวดพิสัยไกล โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559

1. ประเทศไทยขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งจากการที่ได้รับทราบเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ถึงการปล่อยจรวดพิสัยไกลโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี โดยประกาศไว้ว่าเป็นดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

2. การดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นการแสดงออกถึงการไม่นำพาต่อข้อกังวลของประชาคมโลกในโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่เป็นภัยอย่างยิ่งต่อสันติภาพและความปลอดภัยของนานาประเทศ  

3. ประเทศไทยขอย้ำท่าทีเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 ที่เรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลียุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นการเจรจา 6 ฝ่ายโดยเร็ว

4. ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพและความปลอดภัยของคาบสมุทรเกาหลี และพร้อมที่จะสนับสนุนและยังคงปฏิบัติตามข้อมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่อไปอย่างเต็มที่

000

อนึ่งทางการเกาหลีเหนือ ระบุเมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) ว่า ดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 มีเครื่องมือและอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่จำเป็นในการใช้สำรวจโลก และความสำเร็จในการส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 เป็นความภาคภูมิใจต่อผลสำเร็จของนโยบายพรรคแรงงานเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของชาติ รวมทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ความสามารถในการป้องกันประเทศ ด้วยการใช้สิทธิในการใช้พื้นที่อวกาศอย่างเป็นอิสระและสันติ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เป็นการปล่อยดาวเทียมก่อนในช่วงของวันดาวจรัสแสง (Day of the Shining Star) ซึ่งเป็นวันหยุดของเกาหลีเหนือเพื่อรำลึกถึงวันเกิดของ คิม จองอิล ผู้นำรุ่น 2 ของเกาหลีเหนือ ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. โดยในแถลงการณ์ระบุว่าการปล่อยดาวเทียมนี้เป็นของขวัญโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อผู้นำปัจจุบัน คิม จองอึน

ก่อนหน้านี้ เกาหลีเหนือเคยปล่อยจรวด โดยระบุว่าเพื่อปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 (ดาวจรัสแสง-3) เมื่อเดือนเมษายนปี 2555 อย่างไรก็ตามการปล่อยจรวดในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเกาหลีเหนือได้ส่งจรวดอีกครั้งเมื่อ 12 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียก1ล้าน ศาลปกครองสั่งจ่าย 1หมื่น คดีเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ชี้ หน.อุทยานฯไม่ผิด

$
0
0

8 ก.พ.2559 สำนักข่าวไทยและเดลินิวส์รายงานตรงกันว่า ตุลาการศาลปกครองกลางออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีที่นายน่อแอะ หรือหน่อแอะ มีมิ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีเป็นชาวเชื้อสายกะเหรี่ยง อยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานร่วมกับพนักงานของอุทยานฯ เข้าไปรื้อทำลายบ้านเรือน และจุดไฟเผาบ้านและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีและกะเหรี่ยงในชุมชนดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับความเสียหานจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ

ศาลได้พิจารณาในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เผาทำลายบ้านของผู้ฟ้องคดี ตามแผนโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น ซึ่งจากการไต่สวนพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในป่าลึกและมีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปิดป่าดงดิบ ไม่ใช่ที่ดินทำกินในอุทยานที่มีการจัดสรรให้ทำกิน จึงถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.อุทยาน และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจา ได้จัดล่ามและชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ร่วมเจรจา รวมทั้งกำหนดเวลาให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่ถือเป็นการละเมิด แต่เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมายในกรณีผู้บุกรุกพื้นที่ป่า ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
 
ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องไม่สามารถอ้างมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ได้ เพราะมติดังกล่าวจะคุ้มครองเฉพาะชาวกะเหรี่ยงในชุมชนดั้งเดิม ไม่รวมการบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยาน ในลักษณะการเปิดป่าใหม่ ไม่ใช่พื้นที่ที่ทางราชการจัดสรร หรือยกเว้นให้ ส่วนกรณีการเรียกค่าเสียหาย ศาลได้วินิจฉัยและกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าสินไหม 5,000 บาท ค่าเครื่องใช้ 5,000 บาท รวม 10,000 บาท ให้แก้ผู้ฟ้องคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันคดีสิ้นสุด ส่วนคำขออื่นให้ยกฟ้อง
 
นายธนู เอกโชติ ทนายความของผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า ต้องหารือกับคณะทำงานว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ ซึ่งทีมทนายของสภาทนายความยังเห็นแย้งในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีเรื่องพื้นที่พิพาทที่ศาลเห็นว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ซึ่งในส่วนของทีมทนายเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้อยู่อาศัย และนายน่อแอะไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ รวมทั้งกรณีค่าเสียหายซึ่งจากเดิมได้ฟ้องจำนวนกว่า 1,000,000 บาท ที่ในจำนวนนี้เป็นเรื่องของวิถีชีวิต ทรัพย์สิน บ้าน และการละเมิดสิทธิความเป็นคน
 
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า คำพิพากษาที่ออกมาจะเห็นว่านายน่อแอะมีที่ทำกินชัดเจน ที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นการกล่าวอ้างที่ผู้ฟ้องคดีไม่เคยเห็นพื้นที่จริง  ซึ่งที่ผ่านมาเราถูกกล่าวหาและในวันนี้ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยชอบตามกฎหมาย มีการเจรจาและไม่มีพื้นที่เดิมที่อาศัยในป่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าสินไหมที่ศาลสั่งให้จ่ายแก่ผู้ฟ้องคดี ทางผู้ถูกฟ้องจะขอใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์การจ่ายค่าสินไหมดังกล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

$
0
0

“รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ นักกฎหมายมหาชนในโลกนี้งงหมดว่าอยู่ได้อย่างไร..... คำตอบที่อาจอธิบายได้ในทางวิชาการก็คือ เพราะโดยโครงสร้างทางกฎหมายปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหารไปเสียแล้ว สปิริตมันผิดจากการกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญทั้งหลายในโลกที่ต้องคุ้มครองนิติรัฐ ประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย transform ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐประหาร”

ในบทสัมภาษณ์ ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีกว่า

รายงานเสวนา: #อวสานโลกสวย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

$
0
0

8 ก.พ. 2559  ในการเสวนา หัวข้อ "อวสานโลกสวย: วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559"  จัดโดยโครงการรัฐศาสตร์เสวนา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมชั้น 13 ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  มีนักวิชาการ นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากที่สนใจเข้าร่วม รวมถึงวรัญชัย โชคชนะ นักกิจกรรมทางการเมืองอาวุโสที่นำพานรัฐธรรมนูญและ ม.44 ไปด้วยทุกงานเสวนา

ยกที่1: กรธ.ชี้แจง รัฐธรรมนูญแก้ง่ายตามยุคสมัย โจทย์ใหญ่ ปราบ(เฉพาะ) นักการเมืองโกง

อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เริ่มต้นด้วยการชี้แจงว่า ตนเองเข้าไปเป็น กรธ. โดยไม่ได้รู้ล่วงหน้า ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่ได้คิดว่าจะได้กลับไปเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือเปล่า การเมืองไม่ได้มีอะไรแน่นอน

ในที่ประชุมของ กรธ. มี 21 คน ความเห็นก็ไม่ได้เห็นสอดคล้องกันหมด เรื่องที่มา ส.ว.มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ หลายคนบอกว่าจะบล็อคโหวตได้ เช่นเดียวกับตอนสมัยการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตนเองได้เอาประสบการณ์ที่เป็น สมช. ซึ่งมี 2,000 กว่าคนทั่วประเทศ มาเล่าให้ฟัง ถัดจากสมช. เป็นสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คนมาจากหลากหลาย คนที่ได้รับความนิยมมีแน่ แต่ก็มีกลุ่มหลายกลุ่มที่อาศัยการจับมือกัน จึงมีการโต้เถียงกรณีระบบ ส.ส. แต่ก็ยอมรับได้ในท้ายที่สุดกับระบบ ส.ว.ที่ออกมา มีการโต้แย้งและรับไป เช่น เรื่องการเอาผิดกับคนที่ไม่มาประชุม ตนเองยืนยันว่า เอาผิดไม่ได้ การเขียนเช่นนั้นทำไม่ได้จริงและจะถูกหัวเราะเยาะ ที่ประชุมก็ยอมรับความเห็นตรงนี้ของตนเอง

“เรายืนยันว่าไม่มีธง สิ่งที่ทำมากลั่นกรองมากจากเจตนาดี สติปัญญาที่ดี ไม่ได้ตั้งใจส่งเสริมระบอบอะไรที่มุ่งร้าย” 

อมร กล่าวว่า สำหรับบรรยากาศการทำงาน ผมไม่ได้มีประสบการณ์เรื่องการเมือง อดีตที่ผ่านมาก็รับงานทุกรัฐบาล มีโอกาสเข้าเป็นกรรมาธิการหลายชุด สิ่งที่หล่อหลอมมาไม่ได้ช่วยอะไร เพราะงานที่ทำในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นงานวิชาการมากกว่างานการเมือง มันต้องนำองค์ความรู้ ศึกษา รัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ก่อนจะร่างแต่ละมาตรา ทุกคนทำการบ้านอย่างหนัก มีความระมัดระวังมาก และเตรียมตอบคำถามต่างๆ ต่อสังคม

“เรื่องรัฐธรรมนูญ เราภูมิใจที่ได้ทำงานที่คนให้ความสนใจ มีความสำคัญ” อมรกล่าว

พิชญ์ ถามว่า ในภาพรวมการร่าง อะไรคือโจทย์ใหญ่ที่ 21 คนคิด คือโจทย์ต้านโกงจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่เอานักการเมือง

อมรตอบว่า วันแรกที่เข้าไปก็ได้คุยกันว่ารัฐธรรมนูญมีทิศทางอย่างไร บวรศักดิ์บอกว่า พลเมืองเป็นใหญ่ นั่นเป็นฉายา ผมมีส่วนร่วมในการคว่ำร่างที่แล้ว เราคุยกันไปคุยกันมา เราคิดกันว่าประเทศเราทำไมยังอยู่กันตรงนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่เจริญ แต่สภาพมันเปลี่ยน การทุจริตคอร์รัปชันมันมากจริงๆ เป็นที่มาของฉบับปราบโกง แต่อันที่จริงเราก็คุยกันทุกเรื่อง

พิชญ์ตั้งคำถามว่า ความเปลี่ยนแปลงของระบบราชการจะเป็นอย่างไร เป็นรัฐราชการดังที่หลายคนกังวลหรือไม่

ศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะ กรธ. ตอบว่า ก่อนอื่นอยากเล่าให้ฟังว่า นี่เป็นการเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกของตนเอง ในวันแรกๆ มีการคุยหลักการในการร่างว่า 1.ตัวรัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเฉพาะตัวหลักการ และต้องการให้อยู่นาน อะไรก็ตามที่จะเปลี่ยนตามเวลาและยุคสมัยจะให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหารแต่ละช่วงก็ให้เปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัย 2.อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบกติกาแล้วสามารถเอาไปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เขียนแล้วทำไม่ได้

“ข้อสาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาใช่ไหม จริงๆ ที่เราคุยกันคือ ไม่ต้องการให้นักการเมืองที่ได้ชื่อว่าขี้โกงเข้ามามากกว่า เพราะจริงๆ แล้วยังไงประเทศก็ต้องมีนักการเมือง”

ภาพใหญ่ตอนร่างกันนั้นมีการแยกอนุกรรมการหลายเรื่อง แต่อนุกรรมการจะไม่ได้เป็นคนคิดเสร็จสรรพว่าอยากเห็นอะไร แต่เป็นคนหาข้อมูล เช่น เลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.มีกี่วิธี อะไรบ้างแล้วนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ทำงานสักพักก็เริ่มมองว่า รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะร่างอย่างไรก็ตามมันมี Key Success Factors (ปัจจัยแห่งความสำเร็จ) ที่ถ้าไม่ทำก็คงเอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ คือ การปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งปรากฏในบทเฉพาะกาล อันไหนที่เราไม่แน่ใจก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญไปกำหนดกฎหมายลูก

“รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมามีคำว่าบัตรเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้จะไม่เขียนว่าบัตรเลือกตั้ง เพราะโลกเปลี่ยนอาจไม่ลงคะแนนกับบัตร มันจะทำให้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อนอีก การร่างรัฐธรรมนูญคงทำอะไรครบถ้วนลำบาก พยายามคิดหลักใหญ่ ทำให้ต้องมีหลายเรื่องเอาไปไว้ในกฎหมายลูก” 

ช่วงต้นของการร่างรัฐธรรมนูญยังมีการเชิญองค์กรอิสระมาคุยด้วยว่า อยากเห็นอะไร ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเสนอความเห็น แต่ กรธ.คิดว่า หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ ส่งมาทางไหนก็ได้ แต่ข้อกังวลคือ กรธ.จะย่อยได้หมดหรือไม่

แนวคิดที่ว่าอยากให้หลักการปฏิบัติได้ มาสู่คำถามว่าจะกลายเป็นรัฐราชการหรือเปล่า ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่ให้ประชาชนขอข้อมูลข่าวสารจากราชการได้ ขั้นตอนเยอะทำให้ใช้ไม่ได้จริง หน่วยงานของรัฐถ้าไม่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ให้ชัดจะทำให้ขอทรัพยากรมาทำสิ่งต่างๆ ที่ประชาชนต้องการได้ยาก หากเขียนว่าเป็นสิทธิ หน่วยงานของรัฐอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ และแม้อยากทำ เขาก็ไม่รู้จะเอาทรัพยากรที่ไหนมาจัดทำให้

“ในช่วงที่รับฟังความคิดเห็นมีเสียงสะท้อนค่อนข้างเยอะในเรื่องการเขียนเป็น “หน้าที่รัฐ” แทน “สิทธิของประชาชน” เราก็เงี่ยหูฟัง ดีไม่ดีเราต้องเขียนสองที่หรือเปล่า เป็นความข้องใจอันเนื่องจากความไม่ไว้ใจหน่วยงานของรัฐหรือเปล่า”

เรื่องไม่อยากให้ได้นักการเมืองทุจริต ถ้าเขาเข้ามาแล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้คนทุจริตพวกนี้ต้องออกไป จึงมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กกต. ยกตัวอย่าง กกต. สมัยก่อน กรธ.ท่านหนึ่งเป็นกกต.บอกว่าเวลาไปตรวจหน่วยเลือกตั้ง เวลานับคะแนน เวลาชูเป็นเบอร์ 5 แต่คนอ่านอ่านเบอร์ 2 ไปเรื่อย กกต.ไปเห็นจะสั่งให้หยุดนับหรือยกเลิกการเลือกตั้งก็ต้องประชุมก่อน 5 คน คราวนี้เราเลยคิดใหม่ว่าจะต้องให้อำนาจกับ กกต.แต่ละคน ถ้าใครเห็นว่าการนับคะแนนนั้นบิดเบี้ยวก็สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งตรงนั้นได้เลย เพื่อให้คนขี้โกงเข้ามาไม่ได้ และเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระในบางเรื่องอีก เหตุผลก็เพราะให้ได้นักการเมืองที่ไม่คดโกงเข้ามาในสภา

 


ยกที่ 2: สิริพรรณ นกสวน คำตอบระบบใหม่อยู่ที่พรรคขนาดกลาง ดุลยภาพคว่ำ เทไป ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’

สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ แบ่ง 4 ประเด็น  ได้แก่

หนึ่ง ลดการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลอ่อนแอ แต่รัฐเข้มแข็งขึ้น

นี่เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่ต่างไป ไม่ใช่รองรับสิทธิ แต่ถอดสิทธิหลายอย่าง เช่น สิทธิในการถอดถอนหายไป สิทธิในการทำประชามติเป็นอำนาจ กกต. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไป

รัฐธรรมนูญนี้จะมีผลต่อการทำให้สถาบันพรรคการเมือง รัฐสภาอ่อนแอลงจนแทบไม่มีความเป็นสถาบันเลย อย่าลืมว่า พรรคการเมืองจะดีหรือเลวอย่างไร เราขาดไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ ทำให้เขาเป็นสถาบันการเมืองที่ประชาชนตรวจสอบได้มากที่สุด และมีส่วนร่วมในกระบวนการขององค์กรพรรคการเมืองมากที่สุด แต่ในทางกลับกัน ตัวระบบเลือกตั้งทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป

เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่ เห็นด้วยเพราะที่ผ่านมาเอื้อพรรคใหญ่อย่างมาก ทำให้ที่นั่งเกินกว่าที่สมควรจะได้ แต่การลดอิทธิพลพรรคใหญ่ไม่ใช่ทำให้การจัดสรรคะแนนไม่เป็นธรรมแบบนี้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว เป็นคะแนน ส.ส.เขต ถูกรวมทั้งประเทศดูว่าพรรคการเมืองควรมีที่นั่งในสภาเท่าไร ทั้งที่ในทางปฏิบัติ คนแบ่งเป็น เลือกคน และ เลือกพรรค ที่ผ่านมาก็แยกเลือกไม่น้อย ประมาณ 37 เขต จาก 375 เขต หรือ 17-18% ถ้าต้องการลดอิทธิพลแบบพรรคใหญ่ ระบบในร่างของบวรศักดิ์จะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า

“การจัดสรรแบบที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดจะทำให้พรรคใหญ่เสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์อย่างมาก พรรคขนาดเล็กยิ่งไม่สามารถแข่งได้เลย เพราะบังคับให้พรรคเล็กต้องส่ง ส.ส.เขต ผลที่ตามมาแน่ๆ คือ จะทำให้การซื้อเสียงสูงขึ้น เพราะทุกคนแข่งในสนาม ส.ส.เขต พรรคจะกว้านซื้อตัวบุคคล ที่สำคัญ พรรคจะมีแรงจูงใจในการนำเสนอนโยบายลดลงเพราะการแข่งขันเปลี่ยนจากบัญชีรายชื่อมาเป็น ส.ส.เขต

"ระบบเลือกตั้งนี้น่ากลัวอีกประการคือ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ พรรคละ 3 ชื่อ เป็นใครก็ได้ แน่นอน พรรคใหญ่ก็คงเสนอชื่อคนเป็น ส.ส. แต่ในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า พรรคที่มีสิทธิโหวตชื่อผู้จะเป็นนายกฯได้ ต้องมีที่นั่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5  ในสภา ที่ผ่านมา เรามีแค่สามพรรค เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ถูกกุมโดยพรรคใหญ่พอดี พรรคที่สามอาจไม่ได้ชนะ ส.ส.เขตมากนัก เมื่อไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมากในสภา โดยกลไกมันยากมาก เมื่อเป็นอย่างนั้นพรรคอันดับสามจะเป็นพรรคตัวแปรหลัก ร่วมกับใครพรรคนั้นก็เป็นรัฐบาล พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองเยอะเหลือเกิน เสียงประชาชนอาจถูกบิดเบือนคือ กรธ.โฆษณาว่าระบบนี้กันอีแอบ เห็นว่าพรรคเสนอชื่อใคร แต่ในทางปฏิบัติ เมื่อโหวตในสภา พรรค ก.อาจเลือกคนอื่นที่ตัวเองไม่ได้เสนอก็ได้ เสียงของประชาชนจะมีน้ำหนักตรงไหน”

อีกประเด็นเล็กๆ คือ ระบบเลือกตั้งนี้ ทำให้จำนวน ส.ส.ในสภาแกว่งเป็นปี เพราะคะแนนบัญชีรายชื่อกำหนดโดย ส.ส.เขต ซึ่งมีระบบใบเหลืองใบแดง ในทางสากลแล้วระบบแบบนี้มีจุดอ่อนมากเกินไปที่จะนำมาใช้

ประเด็น ส.ว. ความกังวลอยู่ที่ 200 คนเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มโดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นใคร จำนวนเท่าไร เป็นการกลับไปสู่ระบบราชการ จำนวน 6 กลุ่มใน 20 กลุ่มน่าจะเป็นราชการเก่า เช่น ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ สัดส่วนของแต่ละกลุ่มเป็นเท่าไรน่าจะกำหนดแต่ต้น สัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกร แรงงาน เป็นสัดส่วนที่สูงถ้าได้สัดส่วนเท่ากลุ่มอื่นก็ไม่เป็นธรรม การไม่กำหนดแต่แรก เหมือนยังคิดไม่เสร็จทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ประชาชนตื่นตัวแน่นอนว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน นอกจากนี้ มี 20 กลุ่มไม่ได้เลือกกันเองในกลุ่ม แต่กลุ่มอื่นเลือก คำถามคือ กลุ่มที่จะมาเลือกจะรู้จักคนในกลุ่มได้อย่างไร เป็นการป้องกันการฮั้ว แต่ขณะเดียวกันจะทำให้คนมีชื่อเสียงอยู่แล้วได้รับเลือกแทนที่จะเป็นคนที่เป็นประโยชน์จริงๆ และโดยเฉพาะประเด็นเดิมที่ถูกวิจารณ์ ไม่อนุญาตให้หาเสียง ไม่หาเสียงใครจะรู้จัก

ดุลยภาพเอียงจนอาจคว่ำ มีความพยายามให้มาตรการคัดง้างเสียงข้างมากเข้ามาคุมเสียงประชาชน เลือกตั้งได้แต่การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่องค์กรอิสระ มันเหมือนระบบ “คุณหลอกดาว”

ที่สำคัญมากๆ มาตรา 207 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ได้ อำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือ 1. ประเพณีการปกครองฯ คืออะไร สมมติ ศาลรัฐธรรมนูญหยิบรัฐธรรมนูญสมัยสฤษดิ์ทำอย่างไร 2. ฐานความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญมาจากไหน เชื่อได้อย่างไรว่าสังคมจะทำตาม ถ้าไม่ทำตามจะเกิดอะไรขึ้น วิกฤตรอบใหม่อาจมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และยากจะแก้ไข

ประเด็นปราบคอร์รัปชัน เห็นเจตนาดีของผู้ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งป้องกันไม่ให้นักการเมืองคอรัปต์เข้าสู่ระบบการเมือง แต่เราทราบดีว่าการคอรัปชันไม่ได้มาจากนักการเมืองอย่างเดียว สามเหลี่ยมเหล็กของการคอร์รัปชันคือ นักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุน ทางที่ดีที่สุดต้องทำให้การตรวจสอบเข้มแข็ง ข้อมูลเปิดเผยโปร่งใส ที่ผ่านมาการคอร์รัปชันที่พบบ่อยคือ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ใช้ช่องโหว่กฎหมาย สิ่งที่ทำให้คอร์รัปชันเกิดมากคือไม่เปิดข้อมูลและกลัวที่จะพูดเปิดเผยข้อมูล

เสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 มีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สงสัยมากว่า กรณีที่ กรธ.บอกว่า รัฐธรรมนูญตั้งใจให้แก้ได้ง่าย เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ถ้าอ่านแล้วมันแก้ยากมาก

บทเฉพาะกาลให้อำนาจ คสช.และอำนาจต่างๆ อยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ 15 เดือนหลังจากประชามติผ่าน สภาพที่เราจะเผชิญหลังรับร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการทำประชามติ คือ มีกฎหมายสูงสุดคู่กันไป

ประเด็นสุดท้าย คสช. สนช.อยู่ตรงไหนหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะชวนดูมาตรา 255 ซึ่งมิให้นำมาตรา 107 มาบังคับใช้ แสดงว่า ส.ว.ไม่ต้องเว้นวรรคแล้ว กลับมาได้เร็วอย่างที่ต้องการ สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ใกล้คลอดแล้วและมีอายุ 20 ปี แผนนี้มีมาเพื่อกำกับรัฐบาลใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่ตามที่ คสช.วางแผนไว้ นั่นคือ limited government รัฐบาลใหม่จะมีอำนาจน้อยมาก 

 

ยกที่ 3 พรสันต์ ชี้ปัญหาของ “ระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นหลัก”

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ธรรมชาติของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายพิเศษชนิดหนึ่ง มีความเชื่อมโยงกับสังคมมาก หน้าที่ของรัฐธรรมนูญคือ ใช้เป็นกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตในสังคม กระนั้นไม่ได้ประกันว่าเมื่อมีเจตจำนงว่าจะแก้ไขปัญหาประเทศแล้วจะแก้ไขได้เลย ต้องดูเนื้อหาสาระว่าร่างบนหลักการรัฐธรรมนูญหรือเปล่า รัฐธรรมนูญที่ร่างบนหลักการเท่านั้นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือวิกฤตของสังคมได้

การจะปราบโกงไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้วิธีการใดก็ได้ หากเราบอกจะแก้ปัญหาโจรเต็มประเทศ เราไม่สามารถใช้ศาลเตี้ยได้ฉันใด การปราบการทุจริตหรือปราบโกงก็ไม่สามารถใช้หลักตามอำเภอใจได้ฉันนั้น

ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกรอบให้ กรธ.นำไปร่างด้วยซ้ำ อะไรแย้งกับหลักการนี้มีปัญหา

อ่านคร่าวๆ เห็นว่าร่างนี้ค่อนข้างมีปัญหา 1. ปัญหาในทางหลักการและส่งผลในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2.สถาบันการเมืองจะมีปัญหาดุลยภาพ 3.Counter Majoritarian 4. เรื่องสิทธิเสรีภาพ และ 5.กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ 1 มาตราที่อ่านแล้วตกใจคือ มาตรา 5 จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ บัญญัติให้การรับรองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด หมายถึงกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอื่นใดจะมาขัดกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ “การกระทำ” จะขัดรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติในร่างนี้ ในทางหลักวิชาการ การใส่คำนี้อธิบายไม่ได้ในทางหลักวิชา

ส่วนที่ผมใช้คำว่า constitutionality หรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกอันหนึ่งคือ legality หรือความชอบด้วยกฎหมาย ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายใดๆ ขัดแย้งกับตัวรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่การกระทำสามารถขัดกฎหมายได้ น่าจะเป็นความสับสนของคนร่าง

เขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองจะควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้เขตอำนาจศาลทั้งสองศาลปนกันมั่วซั่วและเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

ประเด็นที่ 2 สถาบันการเมือง ร่างนี้ออกแบบมาไม่ได้ดุลยภาพทางการเมืองซึ่งควรต้องได้สัดส่วน สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ แต่ร่างนี้อำนาจจะเทให้องค์กรตุลาการ ในเชิงหลักวิชาเรียกว่า การร่างรัฐธรรมนูญนี้สร้างระบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยมีองค์กรตุลาการเป็นองค์กรหลักในการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็น ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหลายตัวที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ร่างนี้ยืนยันหลักแบบนั้นซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการเข้าไปในดินแดนการเมือง ทั้งที่ไม่ควรเข้า เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบทางการเมือง เช่น 1. การออกพระราชกำหนด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีระบบนี้ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะพระราชกำหนดแตกต่างจากพระราชบัญญัติ เป็นความจำเป็นเร่งด่วนไม่ว่าด้านไหน รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจประกาศใช้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจำเป็นหรือไม่ รัฐธรรมนูญบอกว่าถ้าสงสัยเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

คำถามคือ ความจำเป็นตรงนี้ใครควรเป็นคนตัดสิน โดยหลักการความจำเป็นเร่งด่วนต้องเป็นดุลยพินิจของฝ่ายการเมืองในฐานะบริหารราชการแผ่นดิน เขาย่อมรู้ ร่างมีชัยรับตรงนี้ต่อไม่ได้แก้ไข ขณะที่ร่างของบวรศักดิ์ตัดประเด็นนี้ออก เพราะถือว่านี่คือดุลยพินิจทางการเมืองโดยแท้

นอกจากนี้ยังมีหลักการใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปใช้อำนาจนิติบัญญัติได้ คือ การวินิจฉัยแล้วสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่ง พูดง่ายๆ คือ impeachment ในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 เราใส่อำนาจนี้ให้วุฒิสภา ตรงนี้มีผลอย่างไร ถูกต้องไหม คำตอบคือ 1.การที่ร่างนี้เปลี่ยนอำนาจถอดถอนมาให้ศาลรัฐธรรมนูญขัดกับหลักการตรวจสอบและความรับผิดชอบในทางรัฐธรรมนูญ หลักนี้กำหนดว่าคนที่จะใช้อำนาจต้องมีคนอนุญาตให้ใช้ และคนอนุญาตจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ถูกอนุญาต พูดง่ายๆ ใครตั้ง คนนั้นถอดถอน เราจึงเห็นว่ารัฐสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนนายกฯ ได้ เพราะรัฐสภาเป็นคนตั้งนายกฯ 2.ความชอบธรรม อำนาจในการถอดถอนมันเกิดในรัฐสมัยใหม่ที่อังกฤษก่อน แต่ใช้แล้วเกิดปัญหามากกลายเป็นอาวุธในทางการเมือง จากนั้นสหรัฐอเมริกาแยกประเทศออกมาแล้วนำกลไกนี้ไปใช้และโด่งดังกับสหรัฐฯ ไทยก็เอามาใช้บ้าง พัฒนาการของ impeachment เป็นกระบวนการในทางการเมืองที่ House of Commons (สภาล่าง) ของอังกฤษ และ Congress (รัฐสภา) ของอเมริกาใช้ในการถอดถอนประธานาธิบดี เป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งนั้น แต่ร่างนี้เอากระบวนการทางการเมืองมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่าแปลกไหม ไม่แปลก เพราะเทรนด์ในการให้อำนาจทางการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สิ่งที่เขาไม่เหมือนกับเราคือ ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญของเขามีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม นี่คือความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

Counter Majoritarian แปลไทยว่า องค์กรในการถ่วงดุลองค์กรเสียงข้างมาก เราก็จะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญถูกจัดตั้งมาตรวจสอบนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีใครพูดว่า องค์กรที่จะคัดง้างเสียงข้างมากคือ เสียงข้างน้อย คุณก็ต้องยึดโยงจากเสียงข้างน้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นองค์กรอะไรก็ได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มอบอำนาจตรงนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนักการเมืองจึงต้องมีความยึดโยงกับประชาชนไม่ว่าทางตรงหรออ้อม

สุดท้ายการดีไซน์อำนาจ impeachment ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหามาก ถ้าระบบนี้ถูกเอาไปใช้จริงๆ นั่นคือการดึงเอาศาลเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งในทางการเมืองเต็มตัว ที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองเยอะมาก แต่ยังไม่ถูกวิจารณ์ตรงๆ เพราะมันอ้อม แต่นี่เป็นการดึงให้ศาลเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว ผ่านรัฐธรรมนูญที่รับรองความเป็นทางการ ต่อไปองค์กรตุลาการจะมีปัญหาทันที มีคำวินิจฉัยก็จะถูกต่อต้านจากคู่ขัดแย้ง และประเทศใดอำนาจตุลาการใช้ไม่ได้ประเทศนั้นเสี่ยงต่อการล่มสลาย สิ่งเหล่านี้เห็นอยู่ในประเทศแถบละตินอเมริกา

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเข้าไปคุมกฎความประพฤติในทางการเมือง กำหนดมาตรฐานในทางจริยธรรมคู่กับองค์กรอิสระ ใช้กับตัวเองและใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย จึงฟังฝ่ายการเมืองเสียหน่อย กำหนดไว้ว่าให้การยกร่างกฎหมายนั้นรับฟังฝ่ายการเมืองด้วย ถ้าทำขัดกับมาตรฐานและถูกตัดสินว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่งและอาจลงเล่นการเมืองไม่ได้ตลอดชีวิต ข้อสังเกตคือ เวลาจะใช้กฎเกณฑ์กับฝ่ายการเมือง ฟังเขามากน้อยขนาดไหน อ่านตรงนี้แล้วรู้สึกเหมือนเวลาที่รัฐจะเวนคืนที่ดินแล้วกำหนดเรื่องผังเมือง เปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน คำถามคือฟังจริงไหม ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนให้เปิดรับฟัง ถ้าฝ่ายการเมืองเสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ ผลคืออะไร นี่คือประเด็นที่ต้องดีเบต

อีกประเด็นหนึ่งที่กังวล คือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญในการตีความประเพณีการปกครอง ต้องถามเจตนารมณ์ผู้ยกร่าง เปลี่ยนจากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ที่เขียนมาตรา 7 กรณีไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็ให้พิจารณาตามประเพณีการปกครองฯ ของเดิมอยู่หมวด 1  หมวดทั่วไป แต่ร่างนี้เปลี่ยนมาอยู่หมวดศาลรัฐธรรมนูญ นัยทางหลักวิชาคือ หมวดทั่วไป หมายถึงกฎเกณฑ์นี้ใช้กับทุกองค์กร ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ สามารถตีความได้ ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจ ไม่ใช่ผูกขาดให้ตุลาการตีความอย่างเดียว พอย้ายหมวดแปลว่าให้ศาลรัฐธรรมนูญผูกขาดการตีความ ต้องถาม กรธ.ว่าเห็นอย่างไร

ที่กังวลมาก เพราะสายกฎหมายรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึงมาตรา 7 ทุกคนจะขนหัวลุกเพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก มาตรา 7 ต้องหาตัวอย่าง ต้องเปรียบเทียบ สร้างหลักขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในกรณีที่เกิดขึ้น

ด้วยความเคารพ ผมตั้งคำถามว่าท่านเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในการตีความไหม เรื่องนี้เป็นดีเบตในทางรัฐธรรมนูญทั่วโลก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศจึงนำผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญเข้าไปนั่งเป็นตุลาการ โครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญก็มีการเปลี่ยนด้วย จากเดิมให้โควตานักวิชาการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อย่างละ 2 คนร่างนี้ ให้โควตาอย่างละ 1 ที่ แล้วเอาส่วนที่หายไป ไปเพิ่มให้กับข้าราชการ

ยกที่ 4 ประภาส ปิ่นตบแต่ง รธน.ฉบับไร้จินตนาการ 'การเมืองภาคประชาชน' หายทั้งหลักการ-ภาคปฏิบัติ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ฐานคิด หลักการมันหายไป สิ่งที่ควรทำให้ปฏิบัติได้ก็หายไปด้วย นี่เป็นปัญหาใหญ่

ถ้ามองจากการเมืองภาคประชาชน จะเห็นความถดถอยอย่างชัดเจน  ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 นั้นชัดว่า เป็นการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันไร้จินตนาการเรื่องการเมืองภาคประชาชนโดยสิ้นเชิง

เรานิยามการเมืองภาคประชาชนได้ง่ายๆ ว่ามันเกิดขึ้นจาก ปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งขอย้ำว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่มันไม่พอ การเมืองภาคประชาชนจึงเป็นการขยายประชาธิปไตย ให้เพิ่มการมีส่วนร่วมหรือเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น เกิดปฏิบัติการเรื่องสิทธิ เรื่องการมีส่วนร่วมใช้อำนาจโดยตรง

อ่านร่างนี้แล้ว พยายามหาคำว่า การเมืองภาคพลเมือง ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน ไม่มีเลย ไม่มีโดยสิ้นเชิง หลายเรื่องน่าสนใจในร่างของ อ.บวรศักดิ์ เช่น เรื่องสิทธิการรวมกลุ่ม องค์กรภาคประชาสังคม แต่ร่างนี้ถูกตัดออกเกลี้ยงเลย ไม่มีเหลือ ยกตัวอย่าง สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญ 40 ประชาชนผลักให้สิ่งนี้เป็นสิทธิที่ใช้อ้างอิงได้ หลักการนี้ก็หายไป กลไกในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญเก่าๆ ก็ได้เขียนพ่วงให้มีองค์กรอิสระคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ และกำหนดให้ออกฎหมายลูกให้เสร็จภายในกำหนด แต่ร่างนี้ไม่มีเลย เป็นต้น

ที่พูดว่ามันย้อนยุค มันจึงมีข้อเท็จจริงอยู่ในเชิงรายละเอียด เวลาพูดถึงการเมืองภาคประชาชน มันคือการถ่ายโอนอำนาจไปให้ประชาชนใช้ในการจัดการชีวิตสาธารณะของพลเมืองโดยตรง สิทธิแบบหลังต้องการการรับรองให้การเมืองเห็นหัวชาวบ้าน จะไปเขียนไว้ในหน้าที่ของรัฐไม่ได้

สำหรับประเด็นย่อย สิทธิของเกษตรกร สิ่งซึ่งหายไป คือ บทบัญญัติเรื่องรัฐต้องกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม โดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีการอื่นๆ ถ้าดูรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เขียนไว้อย่างกว้างขวาง หรือสิทธิในการรวมกลุ่มในลักษณะสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรื่องเหล่านี้ก็หายหมด และยังมีรายละเอียดอีกมากที่หายไป แล้วไปรวมในมาตราหนึ่งในหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสั้นมาก

เรื่องการถอดถอนโดยประชาชนเข้าชื่อสองหมื่นชื่อ ก็หายไปเลย

การเข้าชื่อหมื่นชื่อเสนอกฎหมาย แม้ยังมี แต่ก็หลบๆ ซ่อน ไม่ระบุหลักการที่สำคัญ

เรื่องประชามติ เขียนให้อำนาจไว้เบาบางมาก ในลักษณะเป็นการให้คำปรึกษา ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ออกแบบโดยหวังให้ผูกโยงกับนโยบายสาธารณะสำคัญๆ

ในเรื่องการกระจายอำนาจ มีเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เราสู้กันเรื่องเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง แต่ฉบับนี้ผู้บริหารท้องถิ่นอาจจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง หรือการยินยอมพร้อมใจของสมาชิกสภาท้องถิ่นก็ได้ หมายความว่า คนนอกก็มาได้ในระดับท้องถิ่น เรื่องนี้เถียงมานานมากจนเราได้เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ชาวบ้านเขาอยากจะให้การเลือกตั้งโดยตรงไปถึงเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันแล้ว แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับย้อนหลังไปไกล

“(ร่างรัฐธรรมนูญ) มันห่างไกลเหลือเกินกับผู้คนข้างล่าง สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยอยู่ในจินตนาการของคณะร่างรัฐธรรมนูญเลย” ประภาส กล่าว

คำถามจากวง #อวสานโลกสวย ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และ คำเตือนจาก สุรชาติ บำรุงสุข

วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายสมัย ถามตัวแทน กรธ. ว่า การร่างรัฐธรรมนูญ มีใบสั่ง จาก คสช.หรือไม่, รัฐธรรมนูญไม่ใช่มีแค่คุณสมบัติปราบโกง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยด้วยใช่หรือไม่, หากไม่ผ่าน ท่านจะทำอย่างไร ขณะที่รองนายกฯ บอกว่าจะใช้มาตรา 44 ถามถึงอาจารย์ทั้ง 3 ท่านที่ร่วมเสวนาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และอาจารย์พิชญ์คิดว่าจากนี้ไป บทบาทของนักศึกษา นักวิชาการ ที่จะแสดงออกเรื่องประชามติ ควรจะเคลื่อนไหวกันอย่างไร ซึ่งพิชญ์ตอบว่า บทบาทนักศึกษาให้ไปดูที่บอลประเพณีอาทิตย์หน้าเลยว่าจะเป็นอย่างไร

ผู้ร่วมฟังเสวนาคนหนึ่งถาม กรธ. ทั้ง 2 คน ว่า เหตุใด มาตรา 4 จึงตัดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมได้รับความคุ้มครอง ออกไป ขณะที่ผู้ร่วมฟังเสวนาองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้มีหลายจุดที่ดี การกำหนดหน้าที่ทำให้รัฐบาลต้องทำ เป็นจุดเด่น แต่ต้องเพิ่มเติมเรื่องสิทธิเข้าไปด้วย ที่สำคัญ กรธ.อย่าดึงดันไปเลยว่าจะเอาบัตรใบเดียว เพราะมันไม่ตอบความต้องการของผู้เลือกตั้งได้ครบถ้วน บัตรสองใบไม่ยากและไม่เบี่ยงเบนคะแนนเสียงมาก ถ้า กรธ.ทำได้แม้จะขยายเวลาออกไปก็เป็นเรื่องดี

อมร ตอบคำถามว่า เราหารือกันใน กรธ.คิดว่า คน 40 ล้านที่มีสิทธิเลือกตั้งจะมีสักกี่คนอ่านทั้งฉบับ เราเชื่อว่าแม้แต่คนใน สปท. สปช.ก็ไม่ได้อ่าน คงมีคนอ่านจริงๆ ไม่เกิน 1,000 คน เรื่องใบสั่ง คสช. ใบสั่งปรากฏในรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 มีอยู่ 10 ข้อ และข้อเสนอแนะของ คสช. 5 ข้อซึ่งเป็นเรื่องประกาศอยู่แล้ว เป็นเรื่องดีๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ได้มีใบสั่งเป็นพิเศษให้มาตรา 44 อยู่เป็นรัฐซ้อนรัฐอย่างที่พูดๆ กัน

อมร กล่าวต่อว่า เรื่องอำนาจการตีความพระราชกำหนดที่ยกให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่อาจารย์พรสันต์ท้วงติงไว้ อันที่จริงในร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าไว้แล้วว่า การใดที่เร่งด่วนรัฐบาลทำได้อยู่แล้ว ทำไปก่อนเลย แต่ทำไปแล้วในที่สุด พระราชกำหนดต้องผ่านสภาในภายหลังจึงต้องให้ศาลวินิจฉัยว่าเร่งด่วนจริงหรือเปล่าซึ่งก็ต้องไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่เร่งด่วนก็จะมีกลไกของมัน ยืนยันว่าไม่ได้ไปก้าวก่ายหรือทำลายการแบ่งแยกอำนาจ

นอกจากนี้ เราอาจจะวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกแผนพัฒนาก็ยังเป็นแผนระยะสั้น ไม่มีความเป็นบูรณาการ เราอย่าไปกลัวยุทธศาสตร์ชาติ มันเป็นวิสัยทัศน์ของชาติในอนาคต มาเลเซียก็ทำแล้ว ปี 2020 (พ.ศ.2563) มาเลเซียตั้งใจจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราอาจจะบอกว่าจะเป็นประเทศที่ปราบคอร์รัปชันได้มากขึ้น อาชญากรรมน้อยลง ก็เป็นไปได้
 
กรณีที่แปลงสิทธิให้เป็นหน้าที่รัฐนั้นมีหลายเรื่อง แต่หมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพก็ไม่ได้ทิ้งไป การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เรายึดคำประกาศอิสรภาพและสิทธิพลเมืองของฝรั่งเศสปี 1789 (พ.ศ.2332) เป็นตัวตั้งในการร่าง อะไรก็ตามที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนห้ามไว้ทุกคนมีสิทธิที่จะทำได้ มันจึงไม่ใช่การละเลย หลงๆ ลืมๆ ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อะไรต่างๆ ตามที่พูดกัน

อมรกล่าวต่อว่า แม้แต่มาตรา 7 ผมเป็นคนหนึ่งที่คัดค้านการมีมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ผมเสนอตัดออกในที่ประชุม แต่ กรธ. หลายคนมองว่าการตัดทิ้งไม่มีประโยชน์ มันจะวนไปคำถามว่าจะเชื่อได้อย่างไรที่ 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญจะมีความสามารถเพียงพอในเรื่องราชประเพณี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรามองกันรอบด้าน ยืนยันว่า ก่อนถึงการใช้โบราณราชประเพณีต้องตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน หากไม่มีกำหนดจึงไปดูเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากยังไม่มี จึงไปถึงเรื่องประเพณี เราก็ไม่ก้าวก่ายศาลรัฐธรรนูญแต่จะมีกรอบการพิจารณาอยู่ ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายวิธีพิจารณาความของศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดการถกเถียงกันมาก เราตระหนักถึงปัญหานี้จึงจะเร่งร่งให้เสร็จภายในกำหนด และในอนาคตหากเผชิญสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับการใช้มาตรานี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ หรือตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอย่างไรก็แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ

เรื่องประมวลจริยธรรม องค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องทำให้เสร็จในกำหนด และเป็นบททดสอบว่าเขากล้าพอจะเขียนอะไรที่ลิดรอนสิทธิของตนเองไหม ประชาชนจะพิจารณาเอง และมันจะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำไปบังคับใช้กับฝ่ายการเมืองด้วย

ด้าน สิริพรรณ ท้วงติงว่าอมรใช้คำผิด ไม่ใช่ “โบราณราชประเพณี” แต่เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น หากจะย้อนไปได้อย่างมากก็แค่ปี 2475

ผู้ฟังเสวนารายหนึ่งถาม กรธ.ว่า 1.ถ้าสุดท้ายแล้วร่างนี้ไม่ผ่านประชามติ คสช.ในฐานะเป็นต้นทางร่างรัฐธรรมนูญสองฉบับแล้ว ควรต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ 2.ที่ผ่านมามีการขู่การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่รัฐรณรงค์ให้รับไปแล้ว กระบวนการมันแฟร์หรือไม่ 3.ประชามติ จะมีแค่รับกับไม่รับ โดยไม่ระบุว่าหากไม่ผ่าน จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับไหน การที่เราต้องลงคะแนนโดยไม่รู้อนาคตเป็นกระบวนการที่แฟร์แล้วหรือไม่

ด้าน พิชญ์ กล่าวว่า เห็น อ.สุรชาติ มาด้วย อาจารย์มีความเห็นอย่างไรกับคำว่า ความมั่นคงของรัฐ ที่ปรากฏอยู่จำนวนมากในรัฐธรรมนูญ

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ถ้ามองในทางรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญคือการออกแบบโครงสร้างของระบบการเมือง เป็นการจัดระเบียบทางการเมือง กรณีของไทยจะเห็นโจทย์ 4 ส่วนที่กำลังเกิด โดยร่างใหม่นี้กำลังกำหนดรูปแบบของระบอบการปกครอง, กำหนดความสัมพันธ์ของอำนาจในระบอบ กำหนดความสัมพันธ์ของกลุ่มต่างๆ ในอำนาจ และกำหนดการแก้ปัญหา

เขากล่าวว่า เราวิจารณ์เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่การร่างรัฐธรรมนูญในไทย ไม่เคยเกิดจากชัยชนะของประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2517 ของคนยุคผมเกิดหลังเหตุการณ์ตุลาคม 2516 อีกรอบหนึ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยสนใจการร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น นี่ไม่ใช่กิจกรรมของชนชั้นนำอีกต่อไป วันนี้ รัฐธรรมนูญกำลังถูกทำให้เหมือนปี 2521 หลังการรัฐประหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ถอยสังคมไทยกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มีพรรคการเมืองก็ได้ แต่โอกาสเป็นนายกฯ ไม่มี นายกฯ มาจากคนกลาง ซึ่งมาจากการเลือกของผู้นำทหาร แต่วันนี้มีความกังวลของหลายคนว่ามันจะมากกว่าทหาร วันนี้ อ.สิริพรรณให้สัมภาษณ์ว่า ระบอบอำมาตยาธิปไตย หรือระบอบราชการกำลังฟื้น แต่ผมคิดว่ามันเป็นระบอบ MBA ระบอบเสนา+อำมาตย์+ความเป็นอำนาจนิยม ที่สำคัญมันเป็น MBA-C คือ บวก Capital หรือทุนเข้าไปด้วย เสนา+วาณิชย์+ราชการ สามส่วนนี้กำลังถูกผนวกเข้าด้วยกัน คนชั้นล่างหรือรากหญ้านั้นไม่ต้องฝันเลย เพราะตอนนี้เอ็นจีโอก็อยู่ในสภาพถดถอย

ความมั่นคงของระบอบยุคนี้ ภัยคุกคามส่วนหนึ่งมาจากความเคลื่อนไหวของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย อุดมการณ์ที่ถูกสร้างในสังคมไทยหลายปีมานี้สามารถย้อนดูตัวแบบในละตินอเมริกานั่นคือ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” ไม่เอาประชาธิปไตย ไม่เอาการเลือกตั้ง มองนักการเมืองเป็นผู้ร้าย มองว่าอนาคตของชาติฝากไว้กับคนส่วนเดียว คือ ผู้นำทหาร เรื่องนี้จบไปนานแล้วในละตินอเมริกา แต่มันกำลังย้อนกลับสู่บ้านเรา

นอกจากนี้นักรัฐศาสตร์มองอาหรับสปริงแล้วคิดคำว่า “มีการเลือกตั้งแต่ไม่มีประชาธิปไตย” นี่จะเป็นหัวใจที่น่ากังวล ในมุมนี้วาทกรรมของภาษาที่เกิดในต่างภูมิภาค สภาพอย่างนั้นจะเกิดกับบ้านเรา

อมร กล่าวตอบคำถามว่า ถ้าประชามติไม่ผ่านจะเป็นอย่างไรว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจ กรธ. มันเป็นไปได้ทุกกรณี ไม่ว่ากรณีไหนเราไม่สามารถคาดได้ แต่ ณ เวลานี้ตามที่เรามี รัฐธรรมนูญเราไม่ได้บอกว่าดีที่สุดในโลก แต่เรายืนยันว่าทำงานด้วยความทุ่มเทเสียสละและอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ถ้าท่านพอใจจะไม่ให้มันผ่าน ก็ต้องยอมรับว่าโรดแมปมันอาจต้องยืดไป ท่านต้องพิจารณาเอง อนาคตของประเทศอยู่ในกำมือของท่าน

ผู้ร่วมฟังเสวนาอีกคนอภิปรายว่า ท่านบอกว่าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้ใช้ได้นานๆ ผมจะบอกว่า เรามีรัฐธรรมนูญมาเยอะแล้ว ที่อยู่ได้ไม่นาน ประชาชนไม่ใช่คนฉีก แต่เป็นเพราะอำนาจนอกระบบ ถ้าอยากให้รัฐธรรมนูญนี้อยู่นาน น่าจะเขียนทำโครงสร้างให้อำนาจนอกระบบไม่สามารถเข้ามาได้อีกครั้ง

ศุภชัย กล่าวว่า ที่ตั้งใจมาเพราะเป็นรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอยากฟังเพื่อนนักวิชาการ ประเด็นที่ถาม โดยส่วนตัวไม่ได้มานั่งดีเฟนต์อะไร เพราะคิดว่าร่างนี้ยังร่างไม่เสร็จ เสร็จแล้วคงไม่มารับฟังความเห็น มาฟังเพราะอยากรู้ว่าจุดไหนมองข้าม จุดไหนต้องปรับปรุง ข้อคิดหลายอย่างที่ได้จากเพื่อนๆ โดยส่วนตัวได้เก็บประเด็นไปเยอะ และคิดว่าเดือนครึ่งที่เหลือจะได้นำไปปรับปรุงเท่าที่สติปัญญาจะพอทำได้ แต่ต้องเรียนว่า มาที่นี่ได้ความเห็นอย่างหนึ่ง ไปเวทีอื่นความเห็นก็อีกแบบ ทำออกมาถูกใจคนทุกคนคงจะยากเหมือนกัน แต่รับฟังและจะลองดู

สิริพรรณ กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณอาจารย์ศุภชัย ที่ใจกว้างและมีหลักการ ตอบคำถามอย่างจริงใจ ขอเรียนฝากที่ กรธ. ทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญมีต้นทุน ต้นทุนแพงมาก งบประมาณ ความศรัทธาที่ประชาชน มีต่อประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นของประชาคมโลก ถ้าจะถามว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีต้นทุนต่ำลงอย่างไร คำตอบคือ ต้องใช้จินตนาการที่จะใส่ประชาชนเข้าไปในนี้มากขึ้น ให้อำนาจตรวจสอบถ่วงดุลที่เป็นดุลยภาพจริงๆ และลดอำนาจพิเศษของคนจำนวนหนึ่ง 

พรสันต์ เสนอว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญมีเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญซึ่งยังไม่เห็น คือ บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะบอกว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างร่างมาตรานี้เพื่ออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร มีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง การสื่อสารกับประชาชนทำให้ศึกษาตัวรัฐธรรมนูญได้ง่าย และตัดสินใจทำประชามติได้ดีขึ้น สอง ถ้าผ่านการทำประชามติ ตัวบันทึกนี้จะสำคัญอย่างยิ่งในการตีความและบังคับใช้

 


วรัญชัย โชคชนะ 

 
 
หลังการเสวนาและตอบคำถาม พิชญ์ถามผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาว่า จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
 


นานาความเห็นจากผู้ร่วมงานเสวนา #อวสานโลกสวย วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระดมทุนมุ่งลดน้ำมันทอดซ้ำเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลใช้ใน รพ.อุ้มผาง

$
0
0

ฝ่ายเภสัชกรรม รพ.อุ้มผาง ซึ่งอยู่ชายแดนไทย-พม่า ห่างจาก จ.ตาก 247 กม. จัดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ "เทใจ" หวังหยุดวงจรมะเร็งจากน้ำมันทอดซ้ำในพื้นที่ โดยเปลี่ยนเป็นไบโอดีเซลใช้ในงานบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาล รวมทั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่

ที่มาของภาพ: เว็บไซต์เทใจ

8 ก.พ. 2559 - ใน เว็บไซต์เทใจซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดมทุนสำหรับทำกิจกรรมทางสังคม รวมไปถึงกิจการเพื่อสังคม มีการประกาศระดมทุนสำหรับโครงการ "เปลี่ยนน้ำมันทอดซ้ำเป็นไบโอดีเซลรถพยาบาล" ดำเนินโครงการโดย ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเป็นอำเภอที่อยู่ห่างไกลของ จ.ตาก ใช้เวลาเดินทางถึง 6 ชั่วโมง ทั้งนี้งบประมาณที่ต้องการคือ 50,000 บาท และยอดบริจาคขณะนี้คือ 22,085 บาท โดยนับจากวันนี้ (8 ก.พ.) เหลือเวลาระดมทุนอีก 53 วัน

ทั้งนี้โครงการตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายน้ำมันโรงพยาบาลอุ้มผาง พร้อมหยุดวงจรมะเร็งจากน้ำมันทอดซ้ำในพื้นที่ จ.ตาก โดยระบุถึงที่มาของโครงการว่า

"โรงพยาบาลอุ้มผางดูแลรักษาสุขภาพประชาชนในเขตอำเภออุ้มผาง ซึ่งเป็นอำเภอที่ไกลที่สุดจากอำเภอเมือง ด้วยระยะทาง 247 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง และชุมชนไกลที่สุดเดินทางมายังตัวอำเภอใช้เวลาเกือบ 1 วัน พาหนะส่วนใหญ่ที่ใช้ในการส่งต่อผู้ป่วย ใช้ “น้ำมันดีเซล” เป็นหลัก

แต่ละปีโรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลราวปีละกว่า 2 ล้านบาท เพื่อเติม รถพยาบาล รถกระบะ เครื่องปั่นไฟเพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เผาขยะ เผาศพ ตลอดจนเติมรถอีต๊อก เพื่อส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสาธารณสุขชุมชน สุขศาลาพระราชทาน และสุขศาลาหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดาร  ให้กับโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

เราจึงจำเป็นต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล  นั่นก็คือ “น้ำมันไบโอดีเซล” ที่ทำมาจาก”น้ำมันพืชและสัตว์ใช้แล้ว”

ทีมงานลงพื้นที่ตลาดพบร้านอาหารที่ใช้น้ำมันเยอะๆ  เช่น ปาท่องโก๋ หมู ไก่ ปลา กล้วยแขก ลูกชิ้น ฯลฯ ทอดอาหารซ้ำจนมีสีดำ ข้นเหนียว มีฟอง และอาหารที่ซื้อมามีคราบน้ำมันดำปนเปื้อนและมีกลิ่นหืน สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรงทั้งคุณค่าทางโภชนาการที่ลดลง  และยังพบสารก่อมะเร็ง (อะครีลาไมด์/Acrylamide) ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน

แถมที่น่ากลัวกว่านั้น คือ มีผู้รับซื้อน้ำมันพืชและสัตว์ทอดซ้ำ เพื่อไปแปรรูปและนำกลับเข้ามาสู่วงจรผู้บริโภคใหม่อีกครั้งดังนั้นเพื่อตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำหยุดมะเร็งร้ายในพื้นที่แล้ว เรายังต้องการเกิดพลังงานสะอาดอย่างไบโอดีเซลเพื่อใช้รับส่งคนไข้ในพื้นที่อีกด้วย

ประโยชน์ของโครงการ :

1. ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงอันตรายที่ได้รับจากอาหารที่มาจากน้ำมันพืชและสัตว์ที่ใช้แล้ว

2.ป้องกันและลดการเจ็บป่วยตลอดจนค่ารักษาพยาบาลทุกๆด้านจากโรคมะเร็ง และโรคร้ายแรงอย่างอื่น คาดว่าเป็นเงินหลายล้านบาทต่อปี

3.สามารถผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ตลอดโครงการได้ไม่น้อยกว่า 8,200 ลิตร คิดเป็นเงิน  270,000 บาท (ราคาต้นทุนน้ำมันไบโอดีเซล ลิตรละ 17.30 บาท  ทำให้ลดค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันดีเซลรวมต่อปีจากเดิมได้ถึง 12 %  นั่นหมายถึงการลดปริมาณน้ำมันพืชและสัตว์ที่ใช้แล้วในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและเป็นรูปธรรม

4.ผลิตน้ำยาล้างห้องน้ำจากกรีเซอลีน ซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมันไบโอดีเซล ไม่น้อยกว่า 1,200 ลิตร

5. ลดมลภาวะทางอากาศ ควันพิษ เพราะน้ำมันไบโอดีเซลเป็นพลังงานสะอาด

6.เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้แก่โรงพยาบาลอื่นและผู้ที่สนใจทั่วไป

7. ก่อให้เกิดความยั่งยืนในด้านพลังงานกับโรงพยาบาล เพราะน้ำมันไบโอดีเซลสามารถทดแทนน้ำมันดีเซลได้ 100% และเป็นพลังงานสะอาด ที่สำคัญมนุษย์สามารถผลิตได้

กิจกรรมที่จะดำเนินโครงการ :

1.จัดทำโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล

2.ประชุมชี้แจงฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

3.รับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วในราคา ลิตรละ 5  บาท โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ

3.1 ร้านอาหาร บ้านพัก รีสอร์ตในอำเภออุ้มผาง ไม่ให้ใช้น้ำมันทอดอาหารนานเกิน1-8 ชั่วโมง ซ้ำเกิน 3 ครั้ง

3.2 ร้านอาหารในโรงเรียน อำเภออุ้มผางไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารนาน 1-8 ชั่วโมง ซ้ำเกิน 3 ครั้ง

3.3 โรงพยาบาลอุ้มผางใน จ.ตาก ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเกิน 3 ครั้ง

4.เชิญชวนให้นำน้ำมันพืชและสัตว์ใช้แล้ว  มาแลกกับน้ำมันพืชดี โดยรับน้ำมันที่ใช้แล้ว 8 ลิตร แลกน้ำมันดี 1 ขวดลิตร

5.ทำการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลครั้งละ 120 ลิตร ต่อการผลิต 4 วัน ผลิตเดือนละอย่างน้อย 6 ครั้ง

6.ให้ความรู้ด้านสุขศึกษาให้กับ นักเรียน อสม และผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้มารับ

7.บริการตามคลินิกต่างๆ

8.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ตเข้าร่วมโครงการ “ไบโอดีเซล ตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำเพื่อหยุดมะเร็งร้าย”

9.จัดทำป้ายโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ ติดตามสถานที่ราชการ

10.ประเมินผลครั้งที่ 1 และสรุปปัญหา วางแผนพัฒนาระบบงานต่อไป

สมาชิกภายในทีม :ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลอุ้มผาง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ลั่นไม่กลัว หลังมีชัยขู่เอาผิด อ้างบิดเบือนร่างรธน.

$
0
0

ประธาน กรธ. เผยเตรียมหารือที่ประชุมเพื่อจัดการ เพจโซเชียลมีเดีย บิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ยันไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และไม่ถึงขั้นต้องใช้กฎหมายใดมาควบคุม ด้านเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ยันไม่กลัว ด้านพท.แนะ กรธ. ฟังให้มาก ตอบโต้คนเห็นต่างให้น้อย

8 ก.พ.2559 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ในโซเชียลมีเดีย สร้างข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นการกระทำของพรรคการเมืองบางพรรค ตนจะนำเอาเรื่องนี้เข้าหารือกับที่ประชุม กรธ.ว่าต้องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มที่พยายามบิดเบือนให้สังคมเข้าใจผิด แต่คงจะไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น และไม่ถึงขั้นต้องใช้กฎหมายใดมาควบคุม

ประธาน กรธ. ยังกล่าวถึงข้อเสนอ ของคณะรัฐมนตรีต่อร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ว่า ขณะนี้ยังส่งมาไม่ถึง กรธ. แต่ระหว่างนี้ก็ยังรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนการแสดงความคิดเห็น ของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในวันนี้นั้น  มีความเห็นหลากหลาย บางคนก็ดี เข้าใจเจตนารมณ์ ของ กรธ. และยังมีบางคนที่เข้าใจผิด ส่วนที่มีนักการเมืองผู้ใหญ่แสดงความเห็นว่า ร่างบทเฉพาะกาลยาวเกินไปนั้น ยืนยันว่า ไม่ยาวจนเกินไป เพราะมี 17 มาตราเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และยังสั้นกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีถึง 20 มาตราด้วย ขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า กรธ.จะคงเนื้อหาใดในร่างรัฐธรรมนูญบ้าง
 
เพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ยันไม่กลัว
 
ขณะที่เมื่อเวลา 17.50 น. ที่่ผ่านมาเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” โพสต์ข้อความฝากถึงนายมีชัย ด้วยว่า ลุงมีชัย ตอนนี้ก็อายุใกล้ 80 ปีแล้ว ภาษาไทยเขาเรียกว่า "ไม้ใกล้ฝั่ง" แต่ยังมีคนไปหยิบขึ้นมาเอามานั่งเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีตำแหน่งอยู่แม้จะชรามากแล้ว เจอแค่อินโฟกราฟฟิค 30 แผ่น ดิ้นทำไม ถ้ามันทำให้เจ็บช้ำก็ขอโทษด้วย คงประเมินพวกท่านสูงไป พร้อมระบุด้วยว่า ตนเองไม่กลัว
 
พท.แนะ กรธ. ฟังให้มาก ตอบโต้คนเห็นต่างให้น้อย
 
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ทำให้ประเทศชาติถอยหลังลงคลอง ไปเกือบ 20 ปี ว่า รัฐบาลหรือ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตื่นเต้น ตกใจ จากการออกมา วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญของดร.ทักษิณ ชอบไม่ชอบ เห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิ์ที่ผู้คนสามารถแสดงความเห็นต่างกันได้ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากการออกมาแสดงความเห็นของ นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ นายแก้วสรร อติโพธิ นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ แทนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาตอบโต้ผู้เห็นต่างรายวัน เหมือนตีโต้ลูกปิงปองไม่รู้จักจบจักสิ้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ทำงานกัน 21 คน แต่คนค้านต้องมีมากกว่า 21 คนแน่นอน ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้ในการรับฟังให้มาก วิเคราะห์ให้ละเอียด ทำงานใหญ่ ใจต้องนิ่ง ต้องไม่ลืมว่าพวกท่านกำลังทำหน้าที่ร่างกติกาให้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ร่างข้อบังคับใช้กันเองในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของท่าน ดังนั้น อย่าตั้งกำแพง หรือตั้งธงกล่าวโทษ ว่าคนไทย อ่านร่างรัฐธรรมนูญไม่จบ ไม่ฉลาดเท่าพวกท่าน รู้ไม่เท่าพวกท่าน แต่สิ่งที่พวกท่านต้องทำคือ ฟังให้มาก ตอบโต้คนเห็นต่างให้น้อย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ให้เกิดการมีส่วนร่วมและยอมรับจากประชาชนในวงกว้าง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

14 องค์กร ร่วมลงนามดูแลสุขภาพแรงงานนอกระบบ ตั้งเป้า 2.1 ล้านคนภายในปี 2564

$
0
0

ก.แรงงาน สธ. มหาดไทย กทม. สปสช. และ สสส. ฯลฯ ร่วมลงนาม “ส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” ยกระดับคุณภาพแรงงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งเป้า 2.1 ล้านคนภายในปี 2564 เริ่ม 5 กลุ่มเสี่ยง

8 ก.พ. 2559 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า นายสุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายรักษ์ศักดิ์  โชติชัยสถิตย์ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพสำนักงานประกันสังคม ร่วมกับเครือข่ายรวม 14 องค์กร นอกจากกระทรวงแรงงานแล้ว ยังมี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย  กรุงเทพมหานคร สปสช. และ สสส. เป็นต้น ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)“ในการส่งเสริมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ” ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ทั้งนี้กลุ่มแรงงานนอกระบบในประเทศไทยมีจำนวน 22.1 ล้านคน เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพจากระบบประกันสังคม ซึ่งพบว่าแรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ เช่น สภาพแวดล้อมการทำงานที่มีฝุ่น ควัน และเสี่ยงต่อสารเคมีและเครื่องจักรที่เป็นอันตราย รวมทั้งการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัย

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวทั้งภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายแรงงานต่างๆ ได้ร่วมจัดทำโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาระบบและองค์ความรู้การดูแลสุขภาพจากการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ ทั้งในระดับกระทรวง และเขตสุขภาพ/เขต สปสช. และเป็นการเชื่อมโยงการจัดบริการอาชีวอนามัยในระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ รวมทั้งสามารถนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาและขยายระบบการจัดบริการอาชีวอนามัยให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ

โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการใน 5 กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1) กลุ่มเกษตรประเภทเพาะปลูก กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งปัญหาโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ 2) กลุ่มแกะสลักหินที่เสี่ยงต่อโรคปอดฝุ่นหิน 3) กลุ่มคนเก็บและคัดแยกขยะ ทั้งขยะทั่วไปที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง ของมีคมบาดทิ่มแทง และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีโอกาสสัมผัสโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว 4) กลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่ เฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคและไข้หวัดใหญ่ และ 5) กลุ่มตัดเย็บผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้า ที่เสี่ยงโรคปอดฝุ่นฝ้าย ภูมิแพ้/ระคายเคือง ของมีคมบาดทิ่มแทง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะแรกนี้ จำนวน 6.2 แสนราย และขยายให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ จำนวนประมาณ 10.5 ล้านคน ภายในปี 2563 และครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคน (ประมาณ 22.1 ล้านคน) ภายในปี 2564 เป็นต้นไป

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ประสานและสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติและระดับปฏิบัติการ ผ่านคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติ คณะอนุกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบจังหวัด และศูนย์ประสานงานและสนับสนุนเครือข่ายแรงงานนอกระบบจังหวัด ด้านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการและดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ และสำนักงานประกันสังคม สนับสนุนการเสริมสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ควบคู่กับการส่งเสริมการมีหลักประกันทางสังคม ตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวแทน EU เยี่ยมศูนย์ทนายสิทธิฯ-ตร.เรียก 'ทนาย' รับทราบข้อกล่าวหาพรุ่งนี้

$
0
0

8 ก.พ. 2559  เพจเฟซบุ๊กของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย รายงานว่า วันนี้ ตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถานทูตประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศ สถานทูตออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสำนักงานผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ (UNRC) ได้เข้าเยี่ยมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อแสดงความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องกับการทำงานของศูนย์ทนายฯ พร้อมระบุว่า ในการพูดคุย ทางศูนย์ทนายฯ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อาทิ กรณีของ น.ส.ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของศูนย์ทนายฯ เอง

โดยในวันพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) จะเป็นวันที่ น.ส.ศิริกาญจน์ ต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจชนะสงคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอาญา ได้แก่ ข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โดยในหมายเรียกระบุชื่อผู้กล่าวหา คือ พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนกรณี  14 นักกิจกรรมนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทั้งนี้ ข้อหาดังกล่าวอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกนานถึงสองปี 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า กรณีดังกล่าวเกิดจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ซึ่งนำมาสู่การจับกุมทั้ง 14 คนในวันถัดมาที่สวนเงินมีมา ถนนเจริญกรุง โดย ศิริกาญจน์ อยู่ร่วมสังเกตการณ์ขณะที่ทั้ง 14 คนถูกจับกุมและได้ติดตามไปยัง สน.พระราชวังและศาลทหารเพื่อทำหน้าที่ทนายความ กระบวนการฝากขังในศาลทหารเริ่มต้นเมื่อประมาณ 22.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 00.30 น.โดยไม่มีบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปในศาลทหารได้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 รายจึงจำเป็นต้องฝากสิ่งของไว้กับทนายความเนื่องจากทั้งหมดถูกส่งเข้าเรือนจำในคืนนั้น ทีมทนายความจึงได้นำสิ่งของทั้งหมดของผู้ต้องหาไปเก็บรักษาไว้ภายในรถของศิริกาญจน์

ภายหลังการฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 ได้ขอเข้าตรวจค้นรถของศิริกาญจน์ เพื่อขอตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย แต่เนื่องจากทีมทนายความเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหามาตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึง 00.30 น.โดยมิได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจากผู้ต้องหาและพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ไม่สามารถตอบได้ว่าต้องการสิ่งใดในโทรศัพท์มือถือ จึงไม่อนุญาตให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการยึดรถและผนึกรถด้วยกระดาษ A4 ทำให้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ต้องนอนเฝ้ารถคันดังกล่าวบริเวณหน้าศาลทหารตลอดทั้งคืน

ต่อมาในวันที่ 27 มิ.ย.58 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นมาแสดง ศิริกาญจน์ จึงยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือไปทั้งหมด 5 เครื่อง โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลางจะได้ทำการปิดผนึกโทรศัพท์มือถือเพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้นำมือถือเครื่องดังกล่าวไปจากสถานที่เกิดเหตุและเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลาง โดยไม่มีผู้ใดรู้เห็นเป็นพยานกว่าสิบนาที เมื่อมีการทักท้วงว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอน เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจึงนำโทรศัพท์มือถือกลับมาเพื่อปิดผนึก

ในวันเดียวกันหลังจากการทำบันทึกตรวจยึดสิ่งของที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแล้ว ศิริกาญจน์ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามว่า พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกกระทำความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากเหตุการณ์ยึดรถข้ามคืน ซึ่งนำมาสู่เหตุการออกหมายเรียกผู้ต้องหาดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.เกษตรฯลงโทษนศ.กุข่าวเลาะกระดูกแมวส่งอาจารย์ กกอ.ติงภาพสวมมงกุฎรับปริญญาไม่เหมาะ

$
0
0

จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ภาพอำว่าฆ่าแมวของยายข้าวบ้าน แล้วนำกระดูกแมวเพื่อส่งอาจารย์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จนได้ถูกนำไปจัดแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณาถึงความเหมาะสมในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น

ล่าสุดวันนี้ (8 ก.พ.59) สำนักข่าวไทย รายงานว่า นางสุภา หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นพบว่า นิสิตคนดังกล่าวไม่ได้ฆ่าแมว เพื่อนำโครงกระดูกมาส่งอาจารย์ แต่เป็นการนำซากแมวที่ตายที่บ้านมาส่ง ใช้ประกอบในวิชามิวเซียม คอนเลคชั่น ซึ่งเป็นวิชาอิสระที่นิสิตเลือกลงเรียนตั้งแต่ปี 1 โดยวิชานี้จะสอนเรื่องจริยธรรมในการใช้สัตว์ทดลอง และการเก็บโครงสร้างสัตว์ เพื่อการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งการทำโครงสร้างกระดูกด้วย ซึ่งปกตินิสิตแต่ละกลุ่มจะได้รับหนู 1 ตัว ในการฝึกทำโครงกระดูกหนู แต่กลุ่มของนิสิตคนนี้ ได้ทำโครงกระดูกหนูเสียหายจึงนำซากแมวที่บ้านมาทดแทน ซึ่งถือว่าไม่ผิด พ.ร.บ.การใช้สัตว์เพื่อทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ยอมรับว่า การกระทำที่โพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว เป็นความคึกคะนอง ขาดความยั้งคิด จากการเรียกนิสิตพูดคุยก็สำนึกกับความผิดที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยก็จะดำเนินคดีทางวินัย เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่าง

กกอ.ติงภาพบัณฑิตสวมมงกุฎขณะรับปริญญาไม่เหมาะสม

วันเดียวกัน สำนักข่าวไทย ยังรายงานด้วยว่า นายสรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวถึงกรณีการเเต่งกายของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา จังหวัดศรีสะเกษ สวมมงกุฎบนศีรษะเข้ารับปริญญาบัตรว่า ตามระเบียบการเเต่งกายเข้ารับปริญญาของเเต่ละมหาวิทยาลัย ยึดตามกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องปริญญาเเละเครื่องหมายวิทยฐานะ กำหนดให้สวมชุดครุยวิทยฐานะตามรูปเเบบของเเต่ละสถาบันศึกษา เเละเป็นระเบียบเรียบร้อย หากมีเครื่องเเบบที่สวมบนศีรษะ ต้องเป็นหมวกที่กำหนดรูปเเบบชัดเจน การสวมมงกุฎไม่มีในกฎของการเเต่งกายเข้ารับปริญญาบัตร จึงมองว่าไม่เหมาะสม ทั้งนี้ให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวบรวมหลักฐานและรายละเอียดส่งมาให้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง

ขณะที่นายเทอดศักดิ์ อุตส่าห์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา ยอมรับว่าภาพที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์บัณฑิตสวมมงกุฎเป็นภาพในงานรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนาจริง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยตั้งใจมอบให้บัณฑิตเป็นที่ระลึก เพราะเป็นสัญลักษณ์ประจำของมหาวิทยาลัย และทำเป็นประจำทุกปี แต่เป็นการมอบให้ขณะมีการซ้อมรับปริญญาเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข่มขืนหรือไม่ก็ไม่มีใครควรถูกประหารชีวิต

$
0
0


 

ผมมีสถานการณ์สมมติมาให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณากัน ขอให้ผู้อ่านแต่ละท่านลองคิดดูว่าตัวท่านเองคิดว่าทางเลือกใดเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

สมมติว่ามีอัยการคนหนึ่งกำลังดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม หลักฐานวัตถุและประจักษ์พยานนั้นยืนยันชัดเจนว่าผู้ต้องสงสัยกระทำผิดจริง และศาลก็พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจริง

ทว่าศาลกลับไม่ได้ตัดสินว่าผู้ต้องหาต้องรับโทษอย่างไร แต่ยื่นข้อเสนอให้อัยการคนนั้นเลือก โดยข้อเสนอมีอยู่ว่าอัยการสามารถเลือกได้ข้อใดข้อหนึ่งในสองข้อต่อไปนี้เท่านั้น

1. ศาลจะลงโทษประหารชีวิตจำเลยทันที แต่ไม่ใช่แค่นั้นศาลจะสุ่มเอาคนทั่วไปมาอีกหนึ่งคน แล้วประหารชีวิตคนนั้นด้วย

2. ศาลจะปล่อยตัวจำเลยไปโดยไม่มีการลงโทษใดๆ

ขอให้ลองใช้เวลาคิดสักนิด ถ้ามีทางเลือกแค่สองอย่างนี้เท่านั้น ท่านคิดว่าอัยการคนนั้นควรจะเลือกข้อใด?

________________________________________

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบข้อสอง ตัวผมเองก็ตอบข้อสองเช่นกัน

ก่อนที่จะเริ่มเขียนบทความนี้ผมได้นำคำถามนี้ไปถามคนจากหลายๆกลุ่ม และแทบทุกคนก็ตอบว่าข้อสองเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เท่าที่ผมเจอมามีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ตอบข้อหนึ่ง และเหตุผลของคนนั้นก็ไม่ใช่เพราะว่ามันยุติธรรมกว่าแต่อย่างใด เขาเลือกข้อหนึ่งเพราะว่ามันคงจะเป็นพล็อตที่น่าสนุกของนิยายหรือเรื่องสั้น

ดังนั้นโดยรวมๆแล้วคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเห็นตรงกันว่าข้อสองเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วคำตอบนี้มันบอกอะไรกับเรา?

มันบอกเราว่าโดยทั่วไปแล้วคนเรานั้นมีกฎในใจเกี่ยวกับความยุติธรรมอยู่ข้อหนึ่งที่ล่วงเกินไม่ได้ นั่นคือผู้บริสุทธิ์ไม่สมควรถูกลงโทษ และกฎข้อนี้ศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะทำให้เรายอมปล่อยผู้กระทำผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษผู้บริสุทธิ์

และกฎข้อนี้แหละที่เป็นพื้นฐานของการแนวคิดต่างๆมากมายในระบบยุติธรรมสมัยใหม่

________________________________________

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 นายทรงกลด ทรัพย์มี ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ ที่เขาถูกปล่อยตัวไม่ใช่เพราะว่าเขาใช้โทษครบแล้วแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเขาไม่ใช่คนร้ายตั้งแต่ต้น ทรงกลดเป็นผู้ต้องหาในคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุ 12 ปี และต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต เขาถูกกักขังอยู่เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีกว่าความจริงจะเปิดเผยว่าจริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด

ผู้เสียหายใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่บางบัวทองและถูกข่มขืนโดยนายทรงกลด ไม่ทราบนามสกุล เมื่อบิดาของผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความเจ้าหน้าที่จึงออกเสาะหาข้อมูลของบุคคลที่มีชื่อว่าทรงกลด และแม้ว่าทรงกลด ทรัพย์มีจะไม่ได้อาศัยอยู่ที่บางบัวทองแต่เขาก็มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านแม่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจพบชื่อของทรงกลดในทะเบียนบ้านจึงออกหมายจับ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นทั้งตัวผู้เสียหายและบิดาเองก็ชี้ตัวว่าทรงกลดเป็นผู้ก่อเหตุทั้งคู่  ทรงกลดพยายามสู้คดีอย่างเต็มที่ว่าไม่ได้กระทำผิดแต่ก็ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์

ภายหลังจากมีการปล่อยตัวแล้ว พ.ต.อ.ดุษฎี อารยะวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ทำการตรวจสอบรูปคดีและสรุปว่าการดำเนินคดีผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น บิดาของผู้เสียหายยืนยันตัวทรงกลดไปด้วยอารมรณ์โกรธแค้น และเจ้าหน้าที่ก็สรุปคดีตามคำยืนยันของผู้เสียหายและบิดาทั้งที่ไม่มีหลักฐานอื่น  ศาลทั้งสองระดับก็ตัดสินว่าทรงกลดมีความผิดทั้งที่มีพยานมากมายยืนยันว่าทรงกลดไม่ได้กระทำ

คนส่วนใหญ่จะมองว่านี่เป็นความหละหลวมและเลินเล่ออย่างรุนแรงจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการและแทบไม่อยากจะเชื่อว่าความผิดพลาดแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ พวกเขาไม่ได้คิดผิด แต่ก็คิดถูกเพียงครึ่งเดียว ความหละหลวมและเลินเล่อมีส่วนในเรื่องนี้จริง ทว่าการจะคาดหวังให้เหตุการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นเลยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

________________________________________

ก่อนที่จะไปต่อเรื่องระบบยุติธรรม เราลองมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่าเครื่องมือวินิจฉัยกันก่อน เครื่องมือวินิจฉัยก็คืออุปกรณ์หรือวิธีอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอะไร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ การซักประวัติและตรวจร่างกายก็เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเพราะใช้บอกว่าคนไข้ป่วยหรือไม่ ป่วยเป็นโรคอะไร การตรวจเลือดหรือการอัลตราซาวนด์ก็เป็นเครื่องมือวินิจฉัยเช่นกัน เรื่องนี้เห็นและเข้าใจได้ชัดเจน

แต่สิ่งที่อาจจะไม่ชัดเจนสำหรับบุคคลทั่วไปก็คือไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือวินิจฉัยใดๆก็ล้วนแต่มีโอกาสเกิดผลลวงได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลบวกลวง(บอกว่าเป็นทั้งที่จริงๆไม่ได้เป็น) หรือผลลบลวง(บอกว่าไม่ได้เป็นทั้งที่จริงๆเป็น) อัตราการเกิดผลลวงอาจจะมากน้อยต่างกันไปตามแต่ประเภทเครื่องมือและผู้ใช้งาน เครื่องมือวินิจฉัยที่ดีบางประเภทก็อาจมีอัตราการเกิดผลลวงต่ำจนไม่มีนัยสำคัญในแง่การใช้งานทั่วไป

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่มีบุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพคนใดในโลกนี้กล้าพูดก็คือการบอกว่าเครื่องมือวินิจฉัยใดๆจะถูกต้องเสมอ 100% โดยไม่มีผลลวงเลย

________________________________________

กลับมาที่ระบบยุติธรรมอีกครั้ง เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการพิจารณาคดีก็คือเครื่องมือวินิจฉัยอย่างหนึ่ง คือใช้วินิจฉัยว่าใครคือผู้กระทำผิดและใครคือผู้บริสุทธิ์ แน่นอนว่าเมื่อเป็นเครื่องมือวินิจฉัยแล้วก็ย่อมมีผลลวงเกิดขึ้นได้ทั้งสองแบบ ผลลบลวงก็เหมือนกับการที่ผู้กระทำผิดถูกตัดสินว่าบริสุทธิ์ และผลบวกลวงก็เหมือนกับการที่ผู้บริสุทธิ์ถูกตัดสินว่ากระทำผิด

คงจะเป็นเรื่องไร้เดียงสาเกินไปหากเราจะเชื่อว่ากระบวนการพิจารณาคดีจะไม่มีผลลวงเลย ถึงแม้ว่าวิทยาการในสาขานิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนโอกาสเกิดผลลวงน้อยลงเรื่อยๆ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่เป็นสิ่งที่ยังต้องถูกตีความตามบริบทของคดี และยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกมากในกระบวนการที่ทำให้เกิดผลลวงได้

ความสามารถและวาทศิลป์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี, ลักษณะโดยธรรมชาติของคดี บุคลิกและวิธีการพูดของโจทก์ จำเลย และพยานต่างๆ, การฟ้องร้องเท็จเพื่อหาเรื่องกัน, สถานะการเงินและสังคมของบุคคลต่างๆในคดี, วัฒนธรรมความเชื่อ, หรือแม้กระทั่งอัตวิสัยของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีโอกาสนำไปสู่คำพิพากษาที่ผิดพลาดได้ทั้งสิ้นดังที่เห็นเป็นตัวอย่างได้จากกรณีของทรงกลด

ธรรมชาติที่ไม่ 100% ของการพิจารณาคดีนี่แหละที่ทำให้การลงโทษผู้บริสุทธิ์ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โทษประหารไม่ควรเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเป็นความผิดแบบใดก็ตาม

________________________________________

ในวีดีโอข่าวแสดงให้เห็นพ่อและแม่ของทรงกลดที่ไปรับลูกหน้าเรือนจำทั้งน้ำตา ผมเชื่อว่านั่นเป็นน้ำตาแห่งความปลื้มปิติที่ลูกชายรอดพ้นจากตราบาปและได้กลับมาบ้าน

แต่ถ้าหากเรามีโทษประหารชีวิตทุกรายสำหรับคดีข่มขืน น้ำตาในวันนั้นคงจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความทุกข์โทมนัสที่ลูกชายสุดที่รักต้องตายทั้งที่ไม่ได้กระทำผิด

หากคนเหล่านั้นยังมีชีวิตมันก็ยังมีความเป็นไปได้ที่คดีเหล่านั้นจะถูกรื้อฟื้นใหม่และบุคคลเหล่านั้นจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ทว่าหากเขาเหล่านั้นถูกประหารไปแล้วเราคงไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าจุดธูปขอขมาต่อหน้าหยาดน้ำตาที่ไหลรินจากญาติพี่น้อง

คดีที่อุกอาจและสะเทือนขวัญมักจะสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้คนทั่วไป และพายุอารมณ์ที่รุนแรงนั้นก็มักจะทำให้เกิดการเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง กรณีข่มขืนและพยายามฆ่าที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน ผู้คนในสังคมจำนวนมากออกมาเรียกร้องโทษที่รุนแรงแก่ผู้กระทำผิดจนกลายเป็นวาทกรรม "ข่มขืนประหารทุกราย"

แต่ความโกรธแค้นนั้นมักจะบังตาจนทำให้เราลืมไปว่าอีกหนึ่งคมของดาบเล่มเดียวกันที่เรากวัดแกว่งใส่ผู้กระทำผิดอยู่นั้นก็กำลังเชือดเฉือนผู้บริสุทธิ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ความโกรธจนลืมตัวทำให้พวกเรากำลังทำร้ายกลุ่มคนที่เราควรปกป้อง กลุ่มคนที่ความรู้สึกอันสัตย์จริงจากก้นบึ้งในใจบอกเราว่าควรถูกปกป้องแม้ว่าจะต้องปล่อยผู้กระทำผิดไป

ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีโทษประหารสำหรับคดีข่มขืน

ไม่ควรจะมีโทษประหารสำหรับคดีใดๆทั้งนั้น

ถ้าท่านคิดว่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่สังคมต้องยอมเสียสละเพื่อจะลงโทษผู้กระทำผิดให้ได้ล่ะก็ ขอให้ถามตัวเองดูเถอะครับว่าท่านเองจะยอมเป็นผู้บริสุทธิ์คนนั้นไหม


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ลี้ภัยคือใคร? ทำไมจึงส่งกลับผู้ลี้ภัยไม่ได้ ?

$
0
0


ปรากฎการณ์เรื่อง”ผู้ลี้ภัย” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย  เริ่มจากในช่วงสงครามอินโดจีน มีการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยอินโดจีน ได้แก่ ชาวลาว กัมพูชา เวียดนาม ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต่อมา มีการเดินทางเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวพม่า จากทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ให้การปกป้องคุ้มครองคนกลุ่มนี้และอนุญาตให้ตั้งที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้อพยพได้ ในขณะที่การรับรู้และความเข้าใจในทางสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีอยู่เพียงน้อยนิด

จนกระทั่งสถานการณ์วิกฤตผู้ลี้ภัยของโลกที่กระทบถึงประเทศไทย ทำให้เริ่มเกิดคำถามถึงสิ่งที่รัฐควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติในเรื่องผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงข้อถกเถียงเรื่องสถานะของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผู้อพยพกลุ่มใหม่ที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยของชาวไทย เช่น ชาวอุยกูร์ที่เดินทางมาจากประเทศจีน ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาทางเรือจากประเทศพม่า/บังคลาเทศ กลุ่มผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เช่น ชาวปากีสถาน ปาเลสไตน์ ที่หนีภัยสงครามและเดินทางเข้ามาผ่านประเทศไทยซึ่งมีตัวเลขว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่านสำหรับการเดินทางต่อไปยังประเทศจุดหมายปลายทางและยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติซึ่งทำงานในการออกเอกสารรับรองให้แก่ผู้ที่ขอสถานะผู้ลี้ภัยในเบื้องต้นด้วย จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการขอสถานะผู้ลี้ภัย เดินทางผ่านเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น


สถานะผู้ลี้ภัยกับ การปกป้องคุ้มครอง

ผู้ลี้ภัย มีการคำนิยามเฉพาะในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย 1951 ได้แก่ ผู้ที่เดินทางข้ามแดนและอยู่ในอีกรัฐหนึ่งนอกจากรัฐแห่งสัญชาติตน และตกอยู่ในความหวาดกลัวอันมีมูลเหตุว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุแห่งเชื้อชาติ สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือความเห็นทางการเมือง และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติ รวมถึงบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่นอกรัฐตนด้วย  แนวคิดเรื่องผู้ลี้ภัยพัฒนามาจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือกฎหมายที่ใช้ในยามสงคราม และการคุ้มครองผู้คนที่หนีภัยสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คนกลุ่มนี้จึงได้รับการปกป้องคุ้มครองระหว่างประเทศ (international protection) จากรัฐที่เดินทางเข้าไปและมีหลักห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศประเภทสนธิสัญญา และไม่มีกฎหมายภายในเกี่ยวกับการให้สถานะผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง แต่ประเทศไทย เปิดให้ UNHCR และองค์กรเอกชน (NGOs) เข้ามาทำงานในการกำหนดสถานะผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัย หรือ ผู้ที่อยู่ระหว่างการขอลี้ภัย อาจตกเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายคนเข้าเมืองได้หากเอกสารการเข้าเมืองไม่ถูกต้อง และอาจถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้

ปัญหาจึงเกิดขึ้นเนื่องจากการส่งกลับบุคคลดังกว่า อาจขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า การห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement Principle) ซึ่งครอบคลุมกลุ่มคนที่เป็นผู้ลี้ภัย ผู้มีสถานะเหมือนผู้ลี้ภัย รวมทั้งผู้ที่อาจตกอยู่ในอันตรายจากถูกส่งกลับไปประเทศต้นทาง


หลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement Principle) สำคัญอย่างไร?

1.หลักดังกล่าวเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ มีผลคือประเทศไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนานาชาติต้องปฏิบัติตาม เนื่องจากเป็นหลักการที่นานาประเทศให้การยอมรับและปฏิบัติตาม โดยไม่จำเป็นว่าประเทศไทยจะต้องเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาเฉพาะที่กำหนดในเรื่องดังกล่าว เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 14 “บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆเพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหง”(Right to seek and to enjoy in other countries asylum from persecution)

2.หลักดังกล่าว ยังปรากฎในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดราย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ที่รัฐไทยเป็นภาคี กำหนดว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน

โดยผลจากการเป็นสมาชิกของอนุสัญญาดังกล่าวทำให้ไทยต้องปฏิบัติตามในฐานะรัฐสมาชิก และต้องรายงานต่อคณะกรรมการอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการจะได้รับการตีพิมพ์แก่สาธารณะ โดยจากการส่งรายงานครั้งแรก คณะกรรมการดังกล่าว มีข้อเสนอแนะให้รัฐไทยพิจารณาเรื่องกรอบกฎหมายภายในสำหรับกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัย แนวปฏิบัติเรื่องการกักขัง และข้อกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาที่อพยพมาทางเรือ

3.กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอีกฉบับที่รัฐไทยเป็นภาคี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ในเรื่องการห้ามทรมาน (ข้อ 7) และการส่งคนต่างด้าวกลับประเทศต้องมีคำวินิจฉัยและมีช่องทางการขอให้ทบทวนเรื่องของตนได้ (ข้อ 13) 

โดยคณะกรรมการตรวจสอบรายงานประเทศไทยต่อสนธิสัญญาดังกล่าว มีคำแนะนำให้รัฐไทยจัดตั้งระบบกลไกเกี่ยวกับหลักการห้ามส่งกลับ และการเปิดให้คนต่างด้าวสิทธิที่จะได้รับการทบทวนการผลักดันกลับโดยกระบวนการทางศาลด้วย

4.กรณีที่ทับซ้อนกับปัญหาการค้ามนุษย์  เช่น กลุ่มโรฮิงญา หากเป็นเข้าข่ายค้ามนุษย์ จะมีกฎหมายภายในเรื่องการค้ามนุษย์ โดยเหยื่อของการค้ามนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครองและแยกออกจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ในบางกรณี หากชาวโรฮิงญาตกอยู่ภายใต้นิยามของผู้ลี้ภัยด้วย จะมีกระบวนการคุ้มครองและขอสถานะผู้ลี้ภัยเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย


การผลักดันกลับคนต่างด้าว ทำได้ในกรณีไหนบ้าง?

1.กรณีเป็นผู้ลักลอบเดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมายตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยผ่านการตัดแยกโดยทีมสหวิชาชีพแล้ว เมื่อดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองแล้ว สามารถส่งกลับตามกฎหมายคนเข้าเมืองได้

2.ในบางประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เมื่อผู้อพยพได้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศดังกล่าวและถูกปฏิเสธไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ผู้อพยพอาจถูกส่งกลับได้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้กระบวนการดังกล่าว มักมีช่องทางการให้อุทธรณ์ในคำสั่งการส่งกลับ ไม่ว่าผ่านการอุทธรณ์ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่นในประเทศฮ่องกง หรือ ผ่านกระบวนการศาล เช่น ในประเทศเยอรมนีก็ตาม

3.กรณีที่เข้าข้อยกเว้น เช่น เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย หรือ กระทำความผิดอาญาร้ายแรง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละประเทศ ดังนั้น ผู้อพยพที่เข้าข้อยกเว้นดังกล่าวอาจถูกส่งกลับได้

ในเมื่อประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนานาชาติแล้ว ประเทศไทยควรเดินหน้าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์สากลที่สังคมนานาชาติให้การยอมรับ เช่น การห้ามส่งกลับผู้ที่อาจได้รับอันตรายจากประเทศต้นทาง และอาจพิจารณาการพัฒนาระบบกลไกเพื่อให้แน่ใจว่าการคุ้มครองที่จำเป็นนั่นได้ไปถึงกลุ่มบุคคลที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวตนอันดำมืดของวลาดิมีร์ เลนิน

$
0
0


      

บทความต่อไปนี้แปลและดัดแปลงในหลายส่วนจากเว็บไซต์ของนิตยสารไทม์ ที่เขียนถึงบุคคล 100 คน ที่ทรงอิทธิพลต่อโลกในรอบ 100 ปี เขียนโดยเดวิด เรมนิก กองบรรณาธิการของนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ เจ้าของหนังสือ Lenin's Tomb: The Last Days of the Soviet Empire    ซึ่งได้รับรางวัลพูลิเซอร์ ในปี 1994 การที่เลนิน (มีชีวิตช่วง ปี 1870-1924) ถูกจัดให้เป็นคนที่สำคัญเช่นนี้ เพราะเขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลก โดยการเป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้ให้กำเนิดรัฐโซเวียต อันนำไปสู่การเกิดสงครามเย็น ซึ่งเป็นสงครามหรือชุดของความขัดแย้งทางการเมืองและการทหาร ที่กินเวลายาวนานและซับซ้อนที่สุดในโลก เป็นที่น่าสนใจว่า แม้ปัจจุบันสงครามเย็นจะสิ้นสุดลงไปกว่า 2 ทศวรรษแล้ว แต่อนุสาวรีย์ของเขายังคงหลงเหลืออยู่ตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับกับการที่หลายคนยังให้การชื่นชอบเลนิน  มากกว่าสตาลิน ในฐานะเป็นวีรบุรุษผู้ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกัน และฝ่ายตะวันตก ซึ่งชั่วร้าย อันสะท้อนให้เห็นว่า เลนิน     ก็เหมือนกับผู้นำทางการเมือง เช่น ฮิตเลอร์ หรือสตาลิน คือ มีอุดมการณ์และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งสามารถถูกนักการเมืองหัวทั้งขวาและซ้ายสุดขั้วนำมาลอกเลียนแบบในด้านความรุนแรง และความเป็นเผด็จการได้ในปัจจุบันและอนาคต  บทความนี้ไม่ใช่ชีวประวัติ แต่เป็นการนำเสนอบางด้าน โดยเฉพาะตัวตนอันดำมืดของ  เลนินที่เราอาจไม่รู้จักดีพอ
         
ไม่นานนัก ภายหลังจากที่พวกบอลเชวิกได้ยึดอำนาจในปี 1917 วลาดีมีร์ อิลวิช เลนิน (Vladimir Ilyich Lenin)  กรอกข้อมูลลงในแบบสอบถามของทางราชการ ในส่วนของอาชีพนั้นเขาได้เขียนว่า "ปัญญาชน"  ดังนั้น เขาจึงเป็นผลผลิตของปัญญาชนชาวรัสเซีย หรือพวกหัวรุนแรงที่ตรงมาจากหนังสือ The Possessed ของฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี เลนินคนนี้เองที่กลายเป็นสถาปนิกแห่งการเข่นฆ่ามวลชน และค่ายกักกันแห่งแรกที่เคยถูกสร้างในภาคพื้นยุโรป
     
เลนิน เป็นผู้เริ่มต้นโศกนาฏกรรมในยุคสมัยของเรา นั่นคือ รัฐเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ ในบทบาทของหนอนหนังสือ พร้อมนิสัยของนักปราชญ์ และมีสัญชาติญาณของความเป็นนายพล เลนินได้ทำให้คนในศตวรรษที่ 20 ได้รู้จักกับวิธีการนำอุดมการณ์อันสูงส่งมาปฏิบัติ และนำมันมาบังคับใช้กับสังคมทุกที่อย่างรวดเร็ว และไร้ความปราณี เขาได้สร้างยุคสมัยที่ลบล้างการเมือง ลบล้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์  ลบล้างฝ่ายตรงข้ามออกไป ในช่วงเวลาอันแสนสั้นที่เขาอยู่ในอำนาจ เลนินได้สร้างรูปแบบ โดยมีผู้สืบทอดไม่ใช่เฉพาะสตาลิน แต่รวมไปถึง ฮิตเลอร์ เหมา และพอล พต
      
และด้วยเหตุนี้ เลนินอาจเป็นนักแสดงเอกผู้เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 เขามีลักษณะท่าทางที่ผู้คนรู้จักกันน้อยที่สุด  ครั้งใช้ชีวิตในวัยเด็กที่เติบโตในเมืองซิมเบิร์ก  เลนินได้เรียนรู้ภาษาละตินและกรีก เหตุการณ์สำคัญในวัยเยาว์ ซึ่งจะทำให้เขากลายเป็นพวกหัวรุนแรง เกิดขึ้นในปี 1887 เมื่อพี่ชายคนโตของเขา คือ อาเล็กซานเดอร์ ผู้เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ถูกจับแขวนคอในข้อหาสมรู้ร่วมคิดที่จะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3  เมื่อมาเป็นนักกฎหมาย เลนินได้เข้าเกี่ยวข้องกับพวกหัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และภายหลังจากถูกเนรเทศไปยังไซบีเรียครบ 3 ปี เขาก็เริ่มต้นเป็นนักทฤษฎีคอมมิวนิสต์ชั้นนำ นักกลยุทธ์ และนักจัดตั้งพรรคการเมือง
     
ในความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และเพื่อน ๆ เลนินนั้นค่อนข้างเป็นคนเปิดเผยและเอื้อเฟื้อ ไม่เหมือนกับทรราชจำนวนมาก เขาไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเผด็จการเลย แม้ว่าเราจะรื้อถอนเอาลัทธิบูชาเลนินที่แพร่ไปทั่วโลก ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิต เช่นเดียวกับการดึงมายาคติของ "ความเมตตาอย่างเหนือมนุษย์" ออกจากตัวเขา เขายังคงเป็นคนสำคัญที่ถ่อมตนอย่างน่าประหลาด ผู้สวมเสื้อโค้ทอันซอมซ่อ ทำงานวันละ 16 ชั่วโมง และโหมอ่านหนังสืออย่างหนัก (ในทางกลับกัน เลนินไม่รู้ว่าเนเธอร์แลนด์กับฮอลแลนด์เป็นประเทศเดียวกัน และไม่มีใครในบรรดาลูกน้อง กล้าพอที่จะบอกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างตรง ๆ) ก่อนที่จะกลายมาเป็นนายพลแห่งการปฏิวัติ เลนินเป็นนักทฤษฎี เขาเป็นนักปราชญ์ นักเขียน ผู้นำเอาทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ์มาผสมกับการวิเคราะห์อันแม่นยำของกลยุทธ์การต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐ ทฤษฎีของเขาที่ว่า สังคมควรจะเป็นอย่างไร และความคิดนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้อย่างไร คือ ผลผลิตของการอ่านเป็นเวลาหลายพันชั่วโมง อังเดรย์ ซินยาสกี  ผู้เป็นปรปักษ์ต่อรัฐโซเวียตในทศวรรษที่ 60 เขียนไว้ว่า
   
“ความไม่เข้าใจในตัวเลนิน เกิดจากความเป็นนักปราชญ์ผู้รู้รอบ หรือความจริงที่ว่า การคาดคำนวณของเขา และจากปากกาด้ามงามของเขา ทำให้เกิดการหลั่งเลือดขึ้นมาอย่างมากมาย แต่ในทางกลับกัน โดยธรรมชาตินั้น เขาไม่ใช่บุคคลชั่วร้ายเลย”
      
ในทางตรงกันข้าม วลาดีมีร์ อิลวิช  (เลนิน) เป็นคนอ่อนโยน ผู้ซึ่งความโหดร้ายถูกจุดประกายโดยวิทยาศาสตร์และกฎทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกับความรักในอำนาจและความไร้ความอดทนทางการเมือง
    
จากการเรียนรู้ของเขาทั้งหมด เลนินเริ่มต้นประเพณีของพรรคบอลเชวิกในการทำสงครามกับฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นปัญญาชน ไม่ว่าการเนรเทศ การคุมขัง และการประหารนักคิด และศิลปิน ผู้หาญกล้าในการต่อต้านรัฐบาล เขาเป็น “นักปราชญ์” ของเรื่องบางเรื่อง หลายปีก่อนและหลังการปฏิวัติในเดือนตุลาคม ปี 1917 เลนิน คือ ภาพอันสมบูรณ์แบบของปัญญาชนหัวรุนแรง ผู้ต้องการการปฏิวัติ ไม่เฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้ระบบซาร์ ในทางกลับกัน เลนินตีความสวนทางกับแนวคิดยุคแห่งการรู้แจ้ง โดยเห็นว่ามนุษย์เป็นแค่ดินเหนียวสำหรับไว้ปั้น และพยายามหารูปแบบใหม่ของพฤติกรรมและธรรมชาติของมนุษย์ ผ่านการจัดระเบียบทางสังคมแบบพวกหัวรุนแรงที่สุด ริชาร์ด ไปป์ส เขียนไว้ในตอนท้ายของหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2 เล่มใหญ่ ของเขาว่า
   
“ลัทธิบอลเชวิก คือ ความพยายามอย่างอาจหาญที่สุดในประวัติศาสตร์ ในการนำทุกอณูของประเทศ ไปสู่แผนการอันยิ่งใหญ่ มันต้องการลดภูมิปัญญาซึ่งมนุษยชาติสะสมมาหลายพันปี ให้กลายเป็นแค่ขยะอันไร้ค่า ดังนั้น มันเป็นความพยายามอันโดดเด่นที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์มาสู่กิจกรรมของมนุษย์ และมันนำไปสู่เผ่าพันธุ์ของปัญญาชน ผู้พิจารณาว่าการต่อต้านความคิดของพวกเขาเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า ความคิดของพวกเขานั้นสมเหตุสมผล"
   
อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะคำนวณว่า มีการฆาตกรรมกี่สิบล้านครั้ง “หลั่งไหล” มาจากลัทธิเลนิน แต่เป็นที่แน่นอนว่า สตาลินแตกต่างจากเลนินในช่วงเวลาของการเป็นเผด็จการ นั่นคือ เขามีเวลาถึง 25 ปี ในขณะที่เลนินมีเพียง 6 ปี และสตาลินยังเหนือกว่าในเรื่องของเทคโนโลยีอันก้าวหน้ากว่ามาก ดังนั้น สถิติการฆาตกรรมของสตาลินจึงเหนือกว่าเลนิน แต่เลนินก็มีส่วนร่วมด้วยอย่างมากมาย
   
ในวงการปัญญาชนของตะวันตก สตาลินถูกมองว่าเป็น “ผู้หลงทาง” ทรราชผู้เบี่ยงเบนความตั้งใจของเลนินในช่วงปลายชีวิตของเขา แต่เมื่อหลักฐานเกี่ยวกับความโหดร้ายของเลนินโผล่ออกมาจากหอจดหมายเหตุมากขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดที่ว่ามี “เลนินคนดี” และ “เลนินคนไม่ดี” กลายเป็นเรื่องตลกทางวิชาการ มีนโยบายของสตาลินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่มีรากมาจากลัทธิ  เลนิน เป็นเลนินผู้สร้างค่ายกักกันขึ้นคนแรก เลนินเป็นผู้เริ่มต้นความอดอยากแบบเทียม ๆ (ความอดอยากที่เกิดจากรัฐเป็นผู้ริเริ่มและวางแผนเพื่อสังหารหรือกำราบประชาชนที่เห็นต่าง ดังเช่น กรณียูเครนในช่วงปี 1932-1935 ที่มีชาวยูเครนเสียชีวิตไปหลายล้านคน–ผู้แปล) ให้เป็นอาวุธทางการเมือง เลนินเป็นผู้ยกเลิกรัฐบาลตามแบบประชาธิปไตยและรัฐสภา และยังสร้างพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะสุดยอดของโครงสร้างเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เลนินเป็นคนแรกที่ทำสงครามกับปัญญาชนและผู้ศรัทธาในศาสนา และยังทำลายเสรีภาพของประชาชน รวมไปถึงเสรีภาพของสื่อ
   
ตั้งแต่ข้อมูลในหอจดหมายของโซเวียตถูกนำออกมาเผยแพร่ เราสามารถเข้าใจขอบเขตของความโหดร้ายของเลนิน หรือความลึกซึ้งของความรุนแรงเมื่อปี 1918 จากจดหมายของเลนินในการสั่งบรรดาผู้นำของพรรคบอลเชวิกเพื่อโจมตีชาวนาผู้ไม่ยอมจำนนต่อการปฏิวัติ ดังนี้
  
“สหาย! แขวนคอ (แขวนคออย่าได้พลาด เพื่อที่ผู้คนจะได้เห็น) ต้องไม่น้อยกว่าร้อยคน ที่รู้จักกันว่าเป็นพวกกูลัก (ชาวนาผู้มั่งคั่ง) คนรวย ไอ้พวกสูบเลือดเนื้อประชาชน และในหลายร้อยกิโลเมตรรอบ ๆ ประชาชนจะเห็น สั่นเทิ้ม รู้ซึ้ง และตะโกน ‘พวกเขากำลังแขวนคอและจะแขวนคอพวกชาวนารวย ๆ ผู้ละโมบจนตาย’. ด้วยความนับถือ เลนิน”
    
ท่ามกลางศิลปินและนักเขียนผู้ซึ่งรอดชีวิตมาจากการปฏิวัติและผลพวงของมัน หลายคนเขียนบทเพลงสดุดีสติปัญญาของเลนิน ที่ฟังดูเหมือนกับเพลงสรรเสริญพระเจ้า กวีนามว่า มายาคอฟสกีเขียนว่า “แล้วศีรษะอันใหญ่โตของเลนินจะปกคลุมเหนือโลกทั้งมวล”
      
และต่อมานักเขียนบทร้อยแก้วนามว่า ยูริ โอเลชา กล่าวว่า
     
“บัดนี้ ผมได้อาศัยอยู่ในโลกที่สามารถเข้าใจได้ ผมเข้าใจสาเหตุแล้ว ผมเต็มไปด้วยความรู้สึกกตัญญูอย่างมากมาย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาเฉพาะในดนตรี เมื่อผมคิดถึงบุคคลผู้ซึ่งตายเพื่อทำให้โลกเป็นที่เข้าใจได้ (นั่นคือเลนิน -ผู้แปล)”
   
ในยุคของลีโอนิด เบรซเนฟ รัฐในฝันของเลนินได้กลายเป็นรัฐเผด็จการที่ล้มเหลวและฉ้อฉล มีเพียงลัทธิบูชาเลนินที่ยังคงอยู่ ภาพเลนินที่มีอยู่ทั่วไป คือ สัญลักษณ์ของสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่  โจเซฟ บรอดสกี กวีชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20  เริ่มต้นที่จะเกลียดชังเลนินเมื่อเขาเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 1 
   
“ไม่ใช่เพราะปรัชญาการเมืองหรือการปฏิบัติของเขา แต่เพราะภาพซึ่งมีอยู่ทั่วไปอันแทรกเข้ามาในหนังสือเรียนทุกเล่ม ผนังของชั้นเรียนทุกชั้น แสตมป์ทุกดวง เงินทุกเหรียญ และอื่น ๆ ซึ่งบรรยายให้เห็นเขาในทุกช่วงอายุ ใบหน้านี้ที่หลอกหลอนชาวรัสเซียทุกคน และทำให้เกิดมาตรฐานบางประการสำหรับหน้าของมนุษย์ เพราะมันดูขาดเสน่ห์อย่างยิ่ง การเมินเฉยต่อใบหน้าเหล่านั่นคือบทเรียนประการแรกในการกันตัวเองออกห่าง นั่นคือ ความพยายามครั้งแรกของผมในการทำตัวให้เกิดความแปลกแยก”
   
เมื่อ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ได้วางนโยบายกลาสนอสต์ (glasnost) ของเขาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 พรรคคอมมิวนิสต์ พยายามปฏิบัติตามนโยบายของการเปิดกว้าง การวิพากษ์วิจารณ์ เป้าหมาย คือ การทำลายอิทธิพลของสตาลินในโซเวียต (de-Stalinization) นั่นคือ ปัดฝุ่นแผนการทำประเทศให้เป็นเสรีของนิกิตา ครูสชอฟ ในช่วงทศวรรษที่ 50  แต่ในที่สุดแล้ว นโยบายกลาสนอสต์ได้นำไปสู่ภาพอีกด้านของเลนิน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดมาพร้อมกับการตีพิมพ์ของหนังสือของ วาสซิลี กรอสแมน ที่ชื่อ Forever Flowing  อันเป็นนวนิยายซึ่งบังอาจเปรียบเทียบความโหดร้ายของเลนินกับฮิตเลอร์ เมื่อกอร์บาชอฟขึ้นมามีอำนาจ เขาเรียกตัวเองว่า “ชาวลัทธิเลนินผู้มุ่งมั่น” แต่ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เป็นเขาเองในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายที่กลับยอมรับว่า “ผมสามารถกล่าวได้เพียงอย่างเดียวว่า ความโหดร้ายเป็นปัญหาสำคัญของเลนิน”
    
ภายหลังความล้มเหลวของการทำรัฐประหารในเดือนสิงหาคม ปี 1991 ประชาชนชาวเมือง  เลนินการ์ด ต่างร่วมกันออกเสียง ให้นำชื่อเมืองของพวกเขากลับมาเป็นเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหมือนเดิม เมื่อบรอดสกี ผู้ซึ่งลี้ภัยออกจากเมืองนี้ในปี 1964 ได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับข่าวนี้ เขายิ้มและบอกว่า “เป็นการดีกว่าที่จะตั้งชื่อเมืองตามแบบนักบุญ ไม่ใช่ตามแบบปีศาจ”

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

17 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์

$
0
0

ผมสงสัยมาตลอดชีวิตว่า คนเราจะรักกันได้อย่างไรหากเราไม่เคยเจอหน้ากันเลย เราจะรักกับคนที่รู้จักกันบนเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่ออวตารคุยกันได้อย่างไร อย่างมากมันก็อาจเป็นได้แค่การคุยกันเพื่อฆ่าเวลาในวันเหงาๆไปเท่านั้น

ผมชื่อเอฟ อายุ 26 ปี อาชีพรับจ้างทำงานในโรงงาน เมื่อตอนผมเรียนจบชั้น ม.3 ผมต้องออกจากโรงเรียนเพื่อให้น้องสาวคนเดียวของผมได้เรียนต่อ ผมมักได้รับคำชมเชยจากหัวหน้างานเสมอ เพราะในปีๆนึง ผมทำงานไม่เคยขาดงานแม้แต่วันเดียว จากที่เคยได้ค่าแรงวันละสองสามร้อยบาท เมื่อปลายปีที่แล้วผมก็ได้ค่าแรงเป็นสี่ร้อยบาทแล้ว แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการส่งน้องและรักษาพ่อที่ป่วยออดๆแอดๆ แม่ผมเลยต้องออกมาทำงานอีกแรงเพื่อประคับประคองครอบครัวให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายนี้ไปให้ได้

17 เมษายน 2558 ผมรู้จักกับปัดทางเฟซบุ๊ก ในช่วงแรกๆ เราทั้งสองต่างใช้ร่างอวตารพูดคุยกัน ในช่วงต้นผมก็ไม่ได้คิดจะคุยกับเธอมากขนาดนั้นเพราะกว่าผมจะเลิกจากงานมันก็ดึกมากแล้ว ก็ชีวิตไอ้หนุ่มโรงงานที่ใช้แรงแลกเงิน มันจะมีเวลาที่ไหนมาเพ้อเจ้อเรื่องความรักกับเขาได้ แค่มีเวลาได้หลับและได้ตื่นไปทำงานก็ดีมากแล้ว แต่นั่นแหละคือสิ่งที่ผมประทับใจในตัวเธอ เธอไม่เคยเซ้าซี้คุยหรือวุ่นวายกับเวลาของผมแม้แต่ครั้งเดียว ทุกวันเธอจะคอยให้กำลังใจ ปลอบโยน ต่อเติมแรงใจของผมให้มีแรงตื่นขึ้นไปสู้งานหนักในวันรุ่งขึ้น

ผมมาทราบทีหลังเมื่อเรารู้จักกันได้สักสองสามเดือน ว่าจริงๆแล้วเธอเป็นนักศึกษากำลังเรียนอยู่มหาลัยของรัฐแห่งหนึ่งในคณะบริหารการเงินการธนาคาร ผมรู้สึกเจียมใจและไม่อยากให้เธอต้องมาทิ้งความฝันกับคนอย่างผมที่อนาคตแทบจะไม่มี

ความสัมพันธ์ของเราเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จากที่พิมพ์คุยกันทางเฟซบุ๊กก็เปลี่ยนมาเป็นการโทรศัพท์ถึงกัน เธอไม่เคยเห็นหน้าผมและผมก็ไม่เคยเห็นหน้าเธอ เราร่วมกันถักทอสายใยบางๆเชื่อมใจทั้งสองของเรา ในช่วงบ่ายที่แดดร้อนผมยิ้มและคิดถึงเธอ ในยามเย็นที่เหนื่อยจนสายตัวแทบขาดผมคิดถึงเธอ และพอมารู้ตัวอีกที ผมก็ตกหลุมรักเธอเสียแล้ว...

เราพบกันครั้งแรกภายหลังจาก 7 วันที่ผมโดนจับที่โรงงานด้วยข้อหาโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงและแชร์ผังทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ ความกลัวกระโดดขย้ำผมตั้งแต่วินาทีแรกที่ผมโดนจับ ผมปฏิเสธว่าผมไม่ได้ทำผังราชภักดิ์ สำหรับภาพสุนัขทรงเลี้ยงผมเอามาจากทวิตเตอร์และไม่ได้มีเจตนาอะไรแบบที่เขากล่าวหา ในค่ายทหารมันเป็น 7 วัน ที่เต็มไปด้วยความมืดและเสียงอันสับสนในห้วงสำนึกของผม ผมไม่มีโอกาสได้ติดต่อกับครอบครัวและไม่รู้ว่าครอบครัวผมจะเป็นอย่างไร สำหรับปัด การขาดการติดต่อกันไปเจ็ดวันมันคงเพียงพอที่จะทำให้เธอมีคนใหม่เข้ามาในชีวิตและคงลืมผมไปแล้วก็ได้

แต่ก็เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกกับผม เมื่อสองคนแรกที่ตีเยี่ยมผมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในบ่ายวันนั้นหลังจากถูกขังที่ค่ายทหารคือปัดกับแม่ของผม

ปัดไม่ใช่คนหน้าตาสวยมากมาย แต่มีรอยยิ้มที่งดงามและท่าทางใจดี แม่เล่าให้ผมฟังว่า จากวันแรกที่ผมโดนจับ ปัดเป็นคนแรกที่เทียวโทรมาถามไถ่ และช่วยแม่ในการออกตามหาตามค่ายทหาร ผมนึกภาพผู้หญิงสองคนที่เทียวเดินถามพี่ๆทหารตามค่ายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยไม่ออกหรอก อย่างมากผมก็ทำได้แค่นิ่งเงียบ ทุกข้อความมันจุกในอกของผม ถ้อยคำที่พอจะเค้นออกมาได้มันก็ถูกกลบด้วยหยดน้ำตาของไอ้ขี้คุกคนนึงอย่างผมเท่านั้น

ทุกวันนี้ผมได้แต่สวดมนต์เพื่อทำจิตใจให้สงบ ผู้คุมที่นี่ใจดี ผมได้กำลังใจจากพี่ๆที่ติดคุกด้วยคดีการเมืองเช่นผมคอยให้กำลังใจรวมทั้งเพื่อนๆที่คอยมาเยี่ยมเยือนส่งข้าวส่งน้ำโดยตลอด กิจวัตรของผมทุกวันนี้นอกจากสวดมนต์ ทำงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว ช่วงเช้าของทุกวันยังเป็นช่วงเวลาที่ผมได้ต่อเติมแรงใจ ปัดจะแวะมาเยี่ยมผมก่อนไปมหา'ลัยเกือบทุกวัน ยกเว้นช่วงที่มีสอบ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของแม่ผมมาแทน จากที่เคยคุยกันทุกคืนก่อนนอนก่อนหน้าที่ผมจะเข้ามาที่นี่ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาคุยกันทุกเช้าแทน แม่เล่าให้ฟังว่าช่วงหลังปัดจะไปนอนเป็นเพื่อนที่บ้านในวันที่พ่อไม่สบาย แล้วรีบตื่นมาเยี่ยมผมและไปเรียนในช่วงสาย ผมได้รับการอบรมจากนายในแดนว่าหากได้ออกไปควรบวชเพื่อเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิต มีบางคืนผมก็ฝันเห็นปัดเป็นคนถือหมอนในงานบวชของผม

โอกาสที่จะได้รับการประกันตัวออกไปมีอยู่ริบหรี่

17 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ จึงเป็นวันครบรอบ 10 เดือนที่ผมกับปัดได้รู้จักกันและเป็นวันวาเลนไทม์ของเรา แต่เสียดายที่วันแห่งความรักปีแรกของเรา เราอาจจะต้องส่งของขวัญให้กันผ่านทางช่องเยี่ยมญาติที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผมยังเฝ้ารอวันที่เราจะได้กลับไปอยู่กันอย่างพร้อมหน้าอีกครั้ง พ่อ แม่ น้องสาวของผม และปัด อยู่กันอย่างเงียบๆที่นิคมอุตสาหกรรมชานเมื่อง ที่ที่ผมจากมา...

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ทนายจูน' เข้ารับทราบข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน-แจ้งความเท็จ แล้ว

$
0
0

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ เข้ารับทราบข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานแล้ว หลังปฏิเสธไม่ให้ ตร. ที่ไม่มีหมายค้นรถตนเองเพื่อยึดโทรศัพท์ขบวนประชาธิปไตยใหม่ ส่วนคดีแจ้งความเท็จ ไม่ได้ว่าแจ้งความเท็จตรงไหน รอสอบผู้กล่าวหาเพิ่ม

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน (ที่มาภาพ เพจขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM)

9 ก.พ.2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมา ที่สน.ชนะสงคราม ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือทนายจูน ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในคณะทำงานคดี 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก 2 ฉบับ จากพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม เพื่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหมายแรกเป็นข้อหา ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ทีมีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และหมายที่สองแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน

สำหรับความคืบหน้า ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา โดย ศิริกาญจน์ ได้ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งให้การในรายละเอียดด้วยวาจาและหนังสือ โดยตำรวจแจ้งว่าจะไม่มีการส่งตัวไปศาล หรือควบคุมตัว เนื่องจากมาตามหมายเรียก สำหรับคดีนั้นมี 2 คดี โดยคดีหนึ่งเป็นศาลแขวง เนื่องจากเป็นลหุโทษ โดยพนักงานสอบสวนจะไปยื่นที่ศาลเพื่อขอผัดฟ้อง ประมาณ 1 เดือน เพื่อนัดมายื่นฟ้องอีกที และอีกคดีเป็นศาลอาญา

ภาวิณี กล่าวถึงสาเหตุของคดีนี้ว่า เเป็นตอนที่ทนายไม่ให้ค้นรถ การที่เจ้าพนักงานตำรวจมาเอาหลักฐานในภายหลังทั้งๆ ที่ตอนจับกลุ่มตัวขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ก็สามารถยึดโทรศัพท์ได้อยู่แล้ว ถ้าหากจะยึดในตอนที่อยู่ สน.พระราชวัง ก่อนที่จะไปศาลทหารก็สามารถเรียกที่จะเอาโทรศัพท์ได้อยู่แล้ว ถ้าหากจะเอา แต่ตันนั้นเข้าไม่เอา กลับมาเอาตอนที่จะส่งตัวขบวนการประชาธิปไตยใหม่เข้าไปในเรือนจำ ซึ่งเรามองแล้วว่าตอนนั้นไม่ปกติ อาจจะมีการไม่สุจริตอะไรบางอย่างในการที่จะยึดโทรศัพท์ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ไป โดยหน้าที่เราก็ต้องป้องกัน รวมทั้งในการเข้ายึดขณะนั้นก็ไม่มีหมายค้นด้วย เราเห็นว่ามันไม่เป็นไปตามสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยจึงต้องคัดค้าน มันมีเหตุอันสมควรในการที่เราจะปกป้องตรงนี้
 
สำหรับคดีที่สอง ที่ พ.ต.อ.สุริยา จำนงโชค กล่าวหาว่าศิริกาญจน์แจ้งความเท็จนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหาว่า ศิริกาญจน์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.172 และ 174 ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวน เพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษนั้น ทนายความของศิริกาญจน์ได้ถามพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของพฤติการณ์การกระทำความผิดตามที่แจ้งจับ แต่พนักงานสอบสวนไม่อาจชี้แจงได้ว่าข้อความใดที่ศิริกาญจน์ได้แจ้งความไปแล้วเป็นเท็จ เธอจึงไม่อาจรับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อสู้คดีในชั้นนี้ได้ ศิริกาญจน์จึงขอให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำ พ.ต.อ.สุริยา ผู้กล่าวหาในประเด็นนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนัดหมายให้ศิริกาญจน์มารับทราบข้อกล่าวหาและให้การในคดีนี้ภายหลัง
 
สำหรับคดีดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่าเกิดจากเหตุการณ์การชุมนุมของ 14 ขบวนประชาธิปไตยใหม่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ซึ่งนำมาสู่การจับกุมทั้ง 14 คนในวันถัดมาที่สวนเงินมีมา ถนนเจริญกรุง โดย ศิริกาญจน์ อยู่ร่วมสังเกตการณ์ขณะที่ทั้ง 14 คนถูกจับกุมและได้ติดตามไปยังสน.พระราชวังและศาลทหารเพื่อทำหน้าที่ทนายความ กระบวนการฝากขังในศาลทหารเริ่มต้นเมื่อประมาณ 22.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 00.30 น.โดยไม่มีบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปในศาลทหารได้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 รายจึงจำเป็นต้องฝากสิ่งของไว้กับทนายความเนื่องจากทั้งหมดถูกส่งเข้าเรือนจำในคืนนั้น ทีมทนายความจึงได้นำสิ่งของทั้งหมดของผู้ต้องหาไปเก็บรักษาไว้ภายในรถของ ศิริกาญจน์

ภายหลังการฝากขังเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดยพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.น.6 ได้ขอเข้าตรวจค้นรถของ ศิริกาญจน์ เพื่อขอตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย แต่เนื่องจากทีมทนายความเห็นว่าพนักงานสอบสวนได้อยู่ร่วมกับผู้ต้องหามาตั้งแต่เวลา 17.00 น.จนถึง 00.30 น.โดยมิได้ขอตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจากผู้ต้องหาและพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ไม่สามารถตอบได้ว่าต้องการสิ่งใดในโทรศัพท์มือถือ จึงไม่อนุญาตให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการยึดรถและผนึกรถด้วยกระดาษ A 4 ทำให้ทนายความจากจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ต้องนอนเฝ้ารถคันดังกล่าวบริเวณหน้าศาลทหารตลอดทั้งคืน

 
สภาพของรถยนต์ทีมทนายความผู้ต้องหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จอดอยู่ที่ศาลทหาร เช้า 27 มิ.ย.58 โดยเมื่อคืน 26 มิ.ย.58 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำแผงกั้นมาล้อมรถ และใช้กระดาษติดเทปกาวแปะรอบประตูรถ อ้างว่าจะค้นรถยนต์หาหลักฐานของผู้ต้องหาเพิ่มเติม และจะค้นรถเมื่อไปขอหมายค้นจากศาลมาแล้ว ล่าสุดทีมทนายความไปแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่าตำรวจไม่มีอำนาจยึดรถ (ที่มาของภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ต่อมาในวันที่ 27 มิ.ย.58 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นมาแสดง ศิริกาญจน์  จึงยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือไปทั้งหมด 5 เครื่อง โดยก่อนที่เจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลางจะได้ทำการปิดผนึกโทรศัพท์มือถือเพื่อส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ได้นำมือถือเครื่องดังกล่าวไปจากสถานที่เกิดเหตุและเจ้าหน้าที่จากกองพิสูจน์พยานหลักฐานกลาง โดยไม่มีผู้ใดรู้เห็นเป็นพยานกว่าสิบนาที่ เมื่อมีการทักท้วงว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอนเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจึงนำโทรศัพท์มือถือกลับมาเพื่อปิดผนึก

ในวันเดียวกันหลังจากการทำบันทึกตรวจยึดสิ่งของที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามแล้ว ศิริกาญจน์ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามว่าพล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดชและพวกกระทำความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากเหตุการณ์ยึดรถข้ามคืน ซึ่งนำมาสู่เหตุการออกหมายเรียกผู้ต้องหาในวันนี้

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นอยู่ในรัฐยะไข่: บทเรียนการทำงานพัฒนาในพื้นที่ขัดแย้งทางสังคม

$
0
0

การเรียนการสอนในชั้นเรียน ภายในค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ซึ่งผู้อาศัยในค่ายมาจากชุมชนชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ

ค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวยะไข่ที่นับถือพุทธ ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐบาลความตั้งใจของรัฐคือเพือมาตรฐานความเป็นอยู่ที่มีความแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยชาวพุทธและชาวมุสลิม ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชุมชนมุสลิมที่ถูกเผาไปในเหตุกาณณ์จลาจลปี ค.ศ. 2012

รอบๆ ชุมชนผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวยะไข่ที่นับถือพุทธ

ค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ซึ่งสมาชิกค่ายเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งแทบไม่มีการพัฒนาเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ภายในค่าย

เด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นอยู่นี้ อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยภายในประเทศ (IDPs) ของชาวโรฮิงยา อย่างไรก็ตาม ในค่ายแห่งนี้ไม่มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก

บทความนี้เขียนขึ้นจากส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ประสบการณ์ทำงานของชาวไทยใหญ่ (สัญชาติพม่า) อดีตเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศที่ทำงานให้ความช่วยเหลือด้าน Technical Support แก่ชุมชนท้องถิ่นในเขตเมืองเมาง์ดอ(Maungdaw) และ เมืองบูติเดาง์ (Buthidaung) รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ระหว่างปี ค.ศ. 2001-2004 และปัจจุบันยังทำงานกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่โครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและโครงการพัฒนาในประเทศพม่า

ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ให้ข้อมูลทำงานในรัฐยะไข่ พื้นที่แห่งนี้ถือเป็นเขตที่ประชากรประสบปัญหาความยากจนมากสุดแห่งในประเทศพม่า และเมืองโมงดอว์ซึ่งประชากรกว่าร้อยเก้าสิบเป็นชาวมุสลิม เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดของรัฐยะไข่ อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนตกหนาแน่นที่มักทำให้การเกษตรได้รับความเสียหาย การถูกกีดกันทางกฎหมาย ผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้ง และการถูกควบคุมด้วยนโยบายความมั่นคงที่เข้มงวด เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดนที่เคยมีการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาวมุสลิม

ประชากรในรัฐยะไข่ประกอบด้วยคนสองกลุ่มหลัก คือ ชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของพื้นที่ และชาวมุสลิม-โรฮิงญา อาศัยหนาแน่นในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ถึงแม้ว่าความแตกแยกทางสังคมและความขัดแย้งที่มีความรุนแรงดังที่ปรากฏในปัจจุบัน แต่มิติทางศาสนาและชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนของพื้นที่นี้ตลอดมา และประเด็นด้านอัตลักษณ์เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมากในกลุ่มคนมุสลิม-โรฮิงญา เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายพม่า แม้ว่าในขณะนั้นชาวพุทธและเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเรียกชาวมุสลิมส่วนมากว่า ‘โรฮิงญา’ แต่เพื่อหลีกเหลี่ยงความขัดแย้งและการเผชิญหน้า คนโรฮิงญามักปิดซ่อนอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และแสดงตัวตนผ่านความเชื่อทางศาสนาในฐานะชาวมุสลิม และหากต้องกล่าวถึงคำว่าโรฮิงญาในที่สาธารณะ พวกเขามักจะกระซิบกระซาบด้วยซุ่มเสียงที่แผ่วเบา เพื่อไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นได้ยินคำนี้

องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งในขณะนั้นมีเพียงองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้นที่ทำงานในรัฐยะไข่ ตระหนักดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นศาสนาและชาติพันธุ์ ในการทำงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขแหล่งทุนจากกลุ่มประเทศผู้นำด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ที่ทำงานรัฐยะไข่ขณะนั้น กำหนดให้ผู้รับทุนต้องค้นหาและทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปาะบางมากที่สุด ชาวมุสลิม-โรฮิงญาจึงถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการพัฒนาจำนวนมากที่ขับเคลื่อนภายใต้แหล่งเงินทุนดังกล่าว และในเวลาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งและภาวะด้อยพัฒนาของรัฐยะไข่

ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินโครงการด้านพัฒนาศักยภาพและสิทธิผู้หญิงในรัฐยะไข่ ที่แม้ว่าผู้หญิงชาวพุทธจะประสบปัญหาความยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ด้วยปัจจัยประกอบหลายด้าน ทำให้ปัญหาที่เกิดกับกลุ่มชาวมุสลิมถูกมองจากองค์กรพัฒนาว่ามีความรุนแรงมากกว่าชาวพุทธ โดยเฉพาะการถูกกีดกันทางกฎหมายจากการไม่รับสัญชาติ เช่น ถูกจำกัดสิทธิในด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ จำกัดสิทธิในการเดินทาง ฯลฯ ทำให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งรายได้และไม่มีความมั่นคงในดำรงชีวิต ปัญหาเหล่านี้มีความเลวร้ายมากในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ที่ผู้หญิงในสังคมอิสลามมีหน้าที่ทำงานบ้าน เลี้ยงลูก ดูแลสามี และแทบไม่มีโอกาสออกไปทำงานนอกบ้าน

เงื่อนไขทางวัฒนธรรมและความยากจนทำให้ผู้หญิงมุสลิมที่ส่วนมากมีอายุ 10 กว่าปี ต้องแต่งงานกับชายมีอายุสูงมากเพื่อหาคนอุปการะ ในหลายกรณีพบว่า เมื่อสามีซึ่งมีอายุมากกว่ามักเสียชีวิตลงก่อน ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากการเลี้ยงดูลูกซึ่งมักมีจำนวนมาก เนื่องจากข้อกำหนดทางศาสนาที่ห้ามคุมกำเนิด และการแต่งงานใหม่ที่หมายถึงการเพิ่มจำนวนบุตรเป็นแนวปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดของหลายคน ผู้หญิงซึ่งรวมถึงเด็กที่เกิดขึ้นมาต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ และปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนตามมาอีกหลายด้าน ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาจำนวนมากจึงมุ่งความสนใจไปที่ตอบสนองต่อปัญหาของผู้หญิงในสังคมอิสลามเป็นสำคัญ

การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาจากแหล่งทุน โดยขาดความรู้ความเข้าใจถึงเงื่อนไขภายในสังคมของพื้นที่ทำงาน และดำเนินโครงการพัฒนาของผู้รับทุน ที่มุ่งตอบสนองต่อโจทย์ของแหล่งทุน โดยไม่ทันได้ฉุดคิดถึงกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ได้ทำให้ชาวยะไข่ที่นับถือพุทธเกิดความรู้สึกไม่ได้รับการเหลียวแลจากองค์กรระหว่างประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ ได้กลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ทำให้อคติหวาดระแวงของชาวพุทธที่มีต่อชาวมุสลิมร้าวลึกมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การทำงานในพื้นที่เน้นประเด็นด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาคุณภาพ โดยแทบไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นศาสนาและชาติพันธุ์ แต่เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มสัมผัสได้ว่า การทำงานเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพื้นที่โดยรวมและความเปราะบางทางสังคม ได้ทำให้ชาวพุทธที่มองว่าตัวเองเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตไม่แตกต่างไปจากชาวมุสลิม เกิดความไม่พอใจต่อดำเนินทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ความตึงเครียดทางสังคมระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม คำครหาของชาวพุทธต่อองค์กรพัฒนาเอกชน และท่าทีต่อต้านเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศเริ่มเผยตัวขึ้นในหลายพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการพัฒนา

เพื่อรับมือปัญหาที่อาจเกิดจากความไม่พึงพอใจของชาวพุทธในอนาคต องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรแหล่งทุนได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงาน จากเดิมที่มุ่งตอบสนองต่อปัญหาของกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางมากที่สุด ไปสู่การตอบสนองต่อประเด็นปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม แต่ไม่สามารถสลายความคลางแคลงใจของชาวพุทธที่มีต่อองค์กรระหว่างประเทศซึ่งสั่งสมมานานลงได้ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนด้วยอื่นด้วย เช่น การปรับเปลี่ยนท่าที่การทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่อาจทยอยเกิดขึ้นล่าช้าเกินไป ในที่ปัญหานี้ได้ถูกตอกย้ำจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ฉกฉวยโอกาสนี้ สร้างฐานสนับสนุนจากชุมชนชาวพุทธในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น

รัฐบาลพม่า ภายใต้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้พัฒนาชุมชนผู้ลี้ภัยชาวพุทธให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีแตกต่างจากชาวมุสลิมอย่างชัดเจน รวมถึงการออกกฎหมาย การละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ที่ทำให้ชาวพุทธรู้สึกว่าได้รับมีสิทธิพิเศษเหนือชาวมุสลิม เพื่อสร้างฐานสนับสนุนให้แก่รัฐบาลในการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายต่อกลุ่มชาวมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มโรฮิงญา และเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของชาวยะไข่ที่มีต่อรัฐบาลพม่า ด้วยการแสดงออกว่า รัฐบาลใส่ใจในความทุกข์ร้อนของชาวยะไข่ ทั้งที่ในความเป็นจริง รัฐบาลพม่าแทบไม่เคยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่นี้ ดังที่เห็นได้จาก รัฐยะไข่ประสบปัญหาความยากจนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งในพม่า

“สมาคมปกป้องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา” หรือ “มะบะต๊ะ” ซึ่งนำโดยพระสงฆ์หัวรุนแรง ใช้โอกาสนี้ปลุกกระแสต่อต้านชาวต่างชาติ และทำให้ศาสนาพุทธมีบทบาทในสังคมการเมืองพม่ามากยิ่งขึ้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ได้ปลุกระดมให้กระแสต่อต้านองค์กรระหว่างประเทศในรัฐยะไข่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเหตุจลาจล และมีบทบาทในการฉุดรั้งการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนในมิติทางศาสนาและการแก้ไขปัญหาชาวมุสลิม-โรฮิงญา อาทิเช่น การผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิทางศาสนาและลิดรอนสิทธิชาวมุสลิม-โรฮิงญา การสร้างเงื่อนให้ประเด็นทางศาสนาและชาวมุสลิม-โรฮิงญามีความอ่อนไหวในระดับที่สามารถยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรงได้ตลอดเวลา

การต่อต้านองค์กรระหว่างประเทศในรัฐยะไข่ ซึ่งเกิดจากกระตุ้นของหลายปัจจัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากการสั่งสมความไม่พึงพอใจของชาวพุทธต่อการทำงานองค์กรเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนในเหตุจลาจลเมื่อปี ค.ศ. 2012 สำนักงานและเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติขององค์กรองค์กรระหว่างประเทศกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการใช้รุนแรงในเหตุจลาจล ด้านเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นบางส่วนถูกทำร้ายร่างกาย และส่วนมากถูกกดดันให้ลาออกจากการทำงาน

ผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอันเกิดจากการผสมโรงจากหลายปัจจัย และยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงได้ในระยะเวลาสั้นนี้ คือ รัฐยะไข่ โดยเฉพาะในชุมชนมุสลิม และกลุ่มคนมุสลิม-โรฮิงญา กลายเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนาท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางบวกของสังคมพม่าในภาพรวม ปัญหาความอยากจน ความอดอยาก และปัญหาทางสังคมหลายด้านยังคงดำรงอยู่ ปัญหาแตกแยกและความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมมีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่ง ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งที่ยุติบทบาทลงในช่วงเหตุจลาจล ไม่สามารถกลับเข้าตั้งสำนักงานและดำเนินโครงการในรัฐยะไข่ได้อีก โครงการพัฒนาที่ดำเนินงานโดยองค์ระหว่างประเทศในรัฐยะไข่มีปริมาณน้อยลง และมีความยากลำบากในการดำเนินงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎเกณฑ์ของรัฐ และวิกฤตความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของชาวพุทธ ที่มองว่าองค์กรเหล่านี้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกับชาวมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลจากการประเมินความปลอดภัยในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อการตัดสินใจลดหรือยุติบทบาทองค์กรในรัฐยะไข่

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนในของการดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง บทบาทของภาคประชาชนสังคมพม่าภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.2010 : กรณีโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย ภายใต้การสนับสนุนด้านงบประมาณจากโครงการ ASEAN Expert ปีงบประมาณ 2558 ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บทวิเคราะห์ในบทความเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หญิงบริการทางเพศในเปรูลงสมัคร ส.ส. หวังใช้เวทีการเมืองดันประเด็นสตรี

$
0
0

ในเปรู หญิงอายุ 51 คนหนึ่งที่เป็นทั้งคนทำงานบริการทางเพศและนักกิจกรรมสิทธิแรงงาน ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. หวังใช้การเมืองผลักดันในประเด็นต่างๆ ที่เธอต่อสู้ โดยไม่หวั่นว่าจะถูกเหยียดหยาม

9 ก.พ. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่องราวของ อังเกลา วิลลอง คนทำงานบริการทางเพศคนแรกที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้ง ส.ส. ของเปรู เธอบอกว่าในเปรูไม่เคยมีคนที่มาจากกลุ่มประชากรด้อยโอกาสอย่างเธอได้ลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเข้าเป็นตัวแทนในสภามาก่อน

วิลลอง เป็นหญิงอายุ 51 ปีที่ทำงานบริการทางเพศและเป็นนักกิจกรรมเรียกร้องสิทธิให้กับคนทำงานบริการทางเพศมากว่า 20 ปีแล้ว เธอลงสมัครเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้โดยเป็นตัวแทนจากกลุ่มแนวร่วมพรรคการเมืองและนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายของเปรูชื่อกลุ่ม 'เอล เฟรนเต อัมปริโอ' (El Frente Amplio) ซึ่งเธอต้องขับเคี่ยวกับผู้ลงสมัครรายอื่นๆ อีกกว่า 2,600 คน เพื่อจะได้เข้าไปเป็นหนึ่งในผู้แทนในสภาเปรู 130 ที่นั่ง

วิลลองมีห้องทำงานอยู่ในเอล บอเตซิโต สถานบริการทางเพศที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในเปรู มีผู้หญิงทำงานบริการอยู่ในสถานที่ดังกล่าวมากกว่า 100 คน วิลลองติดป้ายหน้าห้องของเธอเองว่า "อังเกลา วิลลอง บุสตามานเต : ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซ็กส์" เธอให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่าเธอไม่มีความกังวลว่าเธอจะถูกเหยียดหยามจากการที่เธอเป็นหญิงบริการที่ออกหาเสียงเลือกตั้งเพราะสำหรับเธอแล้วการเป็นหญิงบริการเป็นสิ่งที่มีเสรีภาพและทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจ

"ผู้คนมักจะบอกว่าถ้าคุณไปกับผู้ชายมากกว่าหนึ่งคน คุณจะเป็นกระหรี่ คุณสวมชุดไม่ปกปิดมากพอพวกเขาก็ว่าคุณเป็นกระหรี่ ถ้าหากคุณเซ็กซี่หรือหยาบคายพวกเขาก็ว่าคุณเป็นกระหรี่...ดังนั้นแล้วไม่ว่าฉันจะเป็นหญิงค้าบริการทางเพศหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าฉันจะทำให้ฟรีๆ หรือไม่ก็ตาม ฉันก็จะยังคงถูกหาว่าเป็นกระหรี่ ดังนั้นก็จะเป็นสุดยอดกระหรี่แล้วฉันก็จะมีความสุขสุดๆ" วิลลองกล่าว

วิลลองหยุดพักงานบริการไปนาน 20 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานนี้อีกครั้ง ในช่วง 20 ปีนั้นเธอไปเป็นผู้นำองค์กร 'มีลุชกา วิดา อี ดิกนิแดด' (Miluska Vida y Dignidad) ก่อตั้งในปี 2542 ซึ่งเป็นองค์กรแรกของเปรูที่เรียกร้องสิทธิแรงงานและการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ทำงานบริการทางเพศ โดยในเปรู การทำงานบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่การเร่ขายบริการบนท้องถนนและการเป็นตัวแทนจัดหาบริการทางเพศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งวิลลองจัดตั้งองค์กรนี้ขึ้นหลังจากที่เธอถูกตำรวจทุบตีอย่างหนักเพราะปฏิเสธไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครอง

วิลลองเล่าต่อไปว่า ในตอนนั้นเธอต้องการฟ้องร้องแต่เพื่อนร่วมงานของเธอพูดในทำนองว่าคนที่เป็น "กระหรี่" ผู้ไม่ได้รับความเคารพในความเป็นมนุษย์แบบพวกเธอคงฟ้องร้องใครไม่ได้ แต่วิลลองก็ตอบไปว่า "ถ้าอย่างนั้น ฉันจะเป็นกระหรี่ที่ได้รับความเคารพในความเป็นมนุษย์" โดยในคดีที่เธอถูกทุบตีนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษจำคุก กลายเป็นต้นแบบให้เธอเชื่อว่าคนทำงานบริการทางเพศไม่จำเป็นต้องยอมรับต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับพวกเธอ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าองค์กรของวิลลองจะเรียกร้องสิทธิให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเรียกร้องให้มีกฎหมายยอมรับผู้ทำงานบริการทางเพศ แต่เธอก็ถูกปิดกั้นจากการเข้าถึงการเมืองในระดับรัฐสภาซึ่งวิลลองกล่าวว่า เป็นเพราะผู้คนส่วนมากเชื่อว่าคนทำงานบริการทางเพศไม่มีสติปัญญา แต่เธอมองว่าคนทำงานบริการทางเพศก็รู้จักวิธีการแสดงออกและมีแนวคิดที่ชัดเจน โดยที่วิลลองวางแผนว่าเธอจะใช้ช่องทางรัฐสภาทำให้มีการจัดการที่ดีในสถานบริการทางเพศ

วิลลองยังเปิดเผยถึงแผนการของเธออีกว่าเธอต้องการให้มีกฎหมายที่พัฒนาด้านสิทธิสตรี ทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายในกรณีที่มีการข่มขืน สนับสนุนกฎหมายรับรองคู่ชีวิตและการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงต่อสู้กับการค้ามนุษย์และการล่อลวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานทางเพศในเด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์

ในแง่มุมประวัติชีวิตของวิลลอง เธอเล่าว่าเธอตั้งครรภ์เมื่ออายุ 16 ปี และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เธอทำงานบริการทางเพศเพื่อแลกเงินมาจ่ายค่ายาให้กับลูกของเธอที่ป่วย โดยที่ก่อนหน้านี้เธอก็เคยทำงานอื่นๆ อย่างการรับจ้างในครัวเรือน การเร่ขายของตามถนน และงานพี่เลี้ยงเด็ก ถึงแม้ว่าเธอจะตัดสินใจเข้าสู่วงการค้าบริการทางเพศในช่วงที่ชีวิตเธอกำลังวิกฤต แต่พอเมื่อวิกฤตผ่านไปแล้ววิลลองก็ยังรู้สึกสบายใจกับการทำงานบริการทางเพศโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ในทุกวันนี้เพื่อนร่วมงานของเธอต่างก็รู้สึกว่าตัวเองมีพลังมากขึ้นโดยที่เธอจะต่อสู้เพื่อให้มีการยอมรับและคุ้มครองคนทำงานบริการทางเพศต่อไป รวมถึงมีการต่อสู้กับการค้ามนุษย์

"สังคมนี้มันโหดร้ายต่อผู้หญิง" วิลลองกล่าว "พวกเราถูกสอนตั้งแต่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ให้ต้องรู้สึกผิดและอับอาย เราถูกทำให้ถ้าไม่เป็นนักบุญก็เป็นกระหรี่"

วิลลองกล่าวอีกว่า ถึงแม้เธอจะไม่ได้เรียนสูง แต่สิ่งที่เธอเรียนรู้มาจากประสบการณ์ ทำให้เธอเข้าใจมากพอถึงคนที่ยากจน คนที่หิวโหยและคนที่ขาดแคลน


เรียบเรียงจาก

Peru sex worker's campaign trail: 'I'll put order in the big brothel that is congress', The Guardian, 08-02-2016
http://www.theguardian.com/global-development/2016/feb/08/peru-sex-worker-angela-villon-campaign-trail-ill-put-order-in-the-big-brothel-that-is-congress

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงาน: คนพิการไม่ได้มีแต่เรื่องป่วยไข้ มีเรื่อง 'ใคร่ๆ' ด้วย

$
0
0

ความพิการล้วนก่อให้เกิดการปรับตัวในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเรียนรู้ รวมทั้งมักจะเกิดความแตกต่างในทุกๆ เรื่องอยู่เสมอ ถึงแม้คนอเมริกันที่พิการกว่า 56 ล้านคน มีการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม และต้องการแสดงความเป็นตัวตนให้มากขึ้น แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กส์ ก็ดูเหมือนจะเป็นจุดบอดที่ไม่มีการกล่าวถึง

เมื่อพูดถึง ‘เซ็กส์’ มักนำไปสู่ความขัดเขิน และยิ่งกับคนพิการแล้ว การพูดเรื่องเหล่านี้ยิ่งยากเข้าไปอีก โดยปกติเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการพูดถึงเรื่องเพศ ผู้ปกครองส่วนมากมักรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ หากมีคำถามเช่น ‘ร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อถึงวัยหนุ่มสาว?’ หรือ ‘ทำอย่างไรถึงจะมีแฟน?’ หากยิ่งในกรณีที่ร่างกายนั้นๆ ผิดแปลกจากปกติ แม้แต่หมอและพยาบาลก็มักรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นๆ เช่น เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรือ ‘ฉันจะถึงจุดสุดยอดได้อย่างไร?’ และด้วยผลของความล้าหลังของข้อมูล คนพิการหลายๆ คนถูกทิ้งให้ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเอง จนบางคนอาจมองว่า เรื่องเซ็กส์ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้

จากการศึกษาพบว่า คนพิการมีโอกาสน้อยกว่าที่จะมีความสัมพันธ์ยาวนาน หรือแต่งงาน เมื่อเทียบกับคนไม่พิการ อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของความบกพร่องทางร่างกาย เมื่อปี 2557 หนังสือพิมพ์อังกฤษได้จัดทำโพลล์เพื่อสอบถามชาวอังกฤษว่า เคยมีเซ็กส์กับคนพิการหรือไม่ และพบว่าคำตอบร้อยละ 44 คือ “ไม่ และไม่คิดที่จะมี”


แมท เฟรเซอร์ 
(ภาพจาก
Wellcome images, (CC BY-NC-ND 2.0)

แมท เฟรเซอร์ นักแสดงพิการชาวอเมริกันผู้โด่งดังจากซีรีย์ชุด American Horror Story กล่าวในบทสัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า ถ้าคุณเป็นคนพิการ มีสองเรื่องที่คนอื่นๆ คิดว่าคุณทำไม่ได้ คือ ‘ต่อสู้และมีเซ็กส์’

สิบปีที่แล้ว คริสติน เซลลิงเกอร์ ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่หน่วยกู้ภัยเคลื่อนย้ายเธอออกจากหุบเขา และพบว่าเธอได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ทำให้ระบบประสาทบางส่วนไม่ทำงาน ส่งผลให้เหลือความรู้สึกและสามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย (อาการบาดเจ็บไขสันหลังชนิดไม่สมบูรณ์) เธอเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ที่หลัง และต้องพักฟื้นนานถึงสามเดือนครึ่ง ซึ่งระหว่างการพักฟื้น เธอได้เรียนรู้การเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่มีเรื่องการเดทและเซ็กส์

“เราพูดถึงเรื่องปัสสาวะ เรื่องอุจจาระ เรื่องการดูแลผิวพรรณ เรื่องขั้นตอนการใช้วีลแชร์ เรื่องการแต่งตัว แต่ทำไมถึงไม่มีเรื่องเซ็กส์ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกๆ คนทำ แต่ทำไมเราถึงเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน? ฉันจึงคิดว่า คงไม่สามารถออกเดทกับใครได้อีกแล้ว เพราะไม่มีใครอยากเดทกับคนพิการ” เธอกล่าว

สิบปีหลังจากนั้น เธอทำงานให้คำปรึกษาในศูนย์บาดเจ็บไขสันหลัง ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตคนพิการ เธอออกแบบการเรียนรู้เรื่องเซ็กส์ และสุขภาพทางเพศ ผ่านทั้งแผ่นพับ อินเทอร์เน็ต วิดีโอออนไลน์ และมีทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาอย่างเป็นกันเอง โดยการให้คำปรึกษาจะมีความเป็นส่วนตัว และคำนึงถึงความแตกต่างในความพิการแต่ละประเภท

ในศูนย์บาดเจ็บไขสันหลังแคนาดาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นชาย มักสอบถามถึงเรื่องเพศแทบจะทันทีหลังได้รับการบาดเจ็บ แต่ในผู้หญิง คำถามเหล่านี้มักมาหลังจากกระบวนการพักฟื้น และเป็นคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ รวมถึงการเดทมากกว่า

เนื้อหาเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องลับๆ ล่อๆ แม้แต่ในโรงเรียน ในปี 2553 สภาเพื่อการศึกษาเรียนรู้แคนาดาได้สำรวจความรู้เรื่องเซ็กส์สำหรับหนุ่มสาวที่พิการทางร่างกาย และพบว่าร้อยละ 100 ของผู้เข้าร่วมรู้สึกว่า การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นไม่พอ รวมทั้งผู้สอนก็ไม่ได้มีความรู้เพียงพอ ทั้งนี้ในปี 2518 สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายรองรับการศึกษาของเด็กพิการในโรงเรียนรัฐบาลโดยกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนในแต่พื้นที่ให้การศึกษาแก่เด็กพิการเทียบเท่าเพื่อนร่วมชั้นของพวกเขา รวมถึงอำนวยความสะดวกในเรื่องอุปกรณ์เฉพาะที่ช่วยเหลือในด้านการดำเนินชีวิตและการเรียนสำหรับเด็กพิการแต่ละคน อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ว่ายังคงหละหลวม

ทิม โรส ซึ่งพิการด้วยโรค Cerebral palsy ชนิดเกร็ง (อาการทางสมอง ซึ่งส่งผลให้การขยับแขนขา ลำตัว ใบหน้า ลิ้นและการทรงตัวผิดปกติ และอาจมีปัญหาในการควบคุมลมหายใจเพื่อเปล่งเสียง – ประชาไท) กล่าวว่าโรงเรียนมัธยมปลายของเขาค่อนข้างปิดกั้นเขาจากการเรียนเรื่องเซ็กส์ และเมื่อถึงเวลาเรียน อาจารย์มักจะขอให้เขาออกจากห้องเรียน

“การสอนเรื่องเซ็กส์ มักจะสอนในคาบวิชาพลศึกษาซึ่งเป็นวิชาที่ผมไม่เคยได้เรียนในทุกปี และถึงแม้นักเรียนจะหาช่องทางที่จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับเซ็กส์ เนื้อหาที่สอนก็ไม่ใช่สำหรับคนพิการอย่างพวกเรา ความรู้เรื่องเซ็กส์ส่วนมากมาจากการลองผิดลองถูกจากข้อมูลที่ได้มาจากเพื่อน และจากโทรทัศน์” โรสกล่าว
 


เว็บศูนย์โรสเพื่อความรัก เซ็กส์ และผู้พิการ ซึ่งมีรูปทิม โรส และภรรยา เป็นปก

ในปี 2554 โรสและภรรยาได้ก่อตั้งศูนย์โรสเพื่อความรัก เซ็กส์ และผู้พิการ ซึ่งให้คำปรึกษาเชิงบวกกับคนพิการ จนทำให้เขาได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียนและบริษัทต่างๆ มากมาย ศูนย์ของเขาโฟกัสในการเสริมสร้างประสบการณ์ในด้านการศึกษาและการทำธุรกิจ ทั้งยังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความพิการในเชิงบวกและการศึกษาเรื่องเซ็กส์

“ผมมักใช้เวลาในคืนวันศุกร์กับหนังผู้ใหญ่ในโทรทัศน์ พ่อแม่ของผมก็เข้าใจดี แต่ผมจะไม่ไปถามพวกเขาเกี่ยวกับการช่วยตัวเองแน่นอน” เขากล่าวและเล่าว่าเขาค้นพบวิธีช่วยตัวเอง ด้วยตนเอง

“การช่วยตัวเองของผมแตกต่างจากคนอื่นเพราะผมสามารถใช้งานนิ้วมือได้เพียงสองนิ้ว มันค่อนข้างจะนุ่มนวลและแผ่วเบา อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกดีที่หัวนมและติ่งหูยังไวต่อสัมผัส ดังนั้น การสัมผัสสิ่งเหล่านี้ช่วยผมได้มาก” เขากล่าว

ในบทบาทของผู้ให้ความรู้ โรสกล่าวว่าเขาพยายามเปิดรับฟังการถกเถียงในทุกเรื่องรวมถึงเรื่องการช่วยตัวเอง การพูดคุยอย่างเป็นกันเองของเขาช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่มากขึ้น เขาพบว่า ภาพจำที่ไม่ดีต่อความพิการทำให้การปฏิบัติตัวของผู้อื่นแตกต่างออกไป และเกิดความคิดที่ว่า คนพิการไม่มีเสน่ห์ทางเพศ เพราะร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ปกติ

“คนมักเห็นว่า ความพิการเป็นสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายคุณ นั่นทำให้หมดความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งผมไม่เชื่อ เพราะถึงแม้ร่างกายจะเปลี่ยนไป หรือมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้น ถ้าคุณมัวแต่ไปโฟกัสในเรื่องนั้นๆ มันก็ยากที่จะเห็นว่าตัวเองเซ็กซี่ หรือเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัว” เขากล่าว

“คนพิการจะมีเซ็กส์และประสบการณ์ทางเพศที่แตกต่างออกไป ดังนั้น การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงไม่ตอบโจทย์ตามที่พวกเขาต้องการ สมัยนี้ วัยรุ่นดูเหมือนจะหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตหรือพูดคุยกับที่ปรึกษากันมากขึ้น นั่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังมีวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อลดช่องว่างในการสอนเรื่องเซ็กส์ระหว่างเด็กพิการและไม่พิการในโรงเรียน” เขากล่าวเสริม

เขากล่าวว่า คนพิการต่างต้องการความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดี เฉกเช่นเดียวกับคนไม่พิการ การทำให้สังคมตระหนักว่า คนพิการต้องการข้อมูลที่แตกต่างจากคนไม่พิการนั้นจะช่วยให้เกิดประสบการณ์ทางเพศใหม่ๆ และเป็นก้าวแรกในระบบการศึกษาเพื่อคนทุกคน โดยเน้นว่า เรื่องเซ็กส์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับการร่วมเพศเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการเรียนรู้ร่างกายตัวเอง ร่างกายผู้อื่น ความสัมพันธ์ อีกทั้งต้องทำให้รู้ว่าเรื่องเหล่านี้สามารถยืดหยุ่นได้ ในแต่ละตัวบุคคล

ด้านเซลลิงเกอร์ และคนรัก ที่คบหากันกว่า 4 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเดทกันเขาทั้งสองเป็นเพื่อนกันมากว่า 1 ปี ซึ่งหมายความว่า พวกเขาต้องเข้าใจดีเกี่ยวกับความพิการของเซลลิงเกอร์ และความยากลำบากที่จะต้องพบในความสัมพันธ์

“พวกเราคุยกันเรื่องเซ็กส์ เขารู้ว่าฉันมีปัญหาในเรื่องปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งอาจจะเกิดอุบัติเหตุเหล่านี้ได้ตลอดเวลา การเตรียมพร้อมแบบนี้ ช่วยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น” เธอกล่าว

เขาทั้งสองมีความสุขกับชีวิตเซ็กส์ แต่เพราะขาทั้งสองข้างของเธอไม่สามารถใช้งานได้ จึงทำให้การจัดท่าทางนั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่พวกเขาทั้งสองก็ได้เจอท่าที่เหมาะสม และพบว่ามันสนุกมาก

เซลลิงเกอร์กล่าวว่า การขบคิดเรื่องเซ็กส์หลังจากได้รับอุบัติเหตุนั้นไม่ง่าย แต่คุ้มค่า

“ใครบางคนอาจพูดว่า มันจำเป็นจริงๆ เหรอ [ที่จะต้องมีเซ็กส์] หากคุณสูญเสียความรู้สึกเหล่านั้นไปแล้ว ฉันตอบได้เลยว่า มันคุ้มค่ามาก ทั้งกับตัวคุณเองและคนรักของคุณ มันจะช่วยประคับประคองความสัมพันธ์ คล้ายๆกับครั้งแรกที่คุณมีเซ็กส์ คุณจะต้องคิดว่าจะจัดการกับมันอย่างไร อะไรทำให้รู้สึกดี คุณจะต้องเรียนรู้มันใหม่ทั้งหมด แต่นั่นแหละ มันคือความตื่นเต้น ไม่ใช่ปัญหาหรืออุปสรรค” เธอกล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก
How People with Disabilities Have Sex
https://broadly.vice.com/en_us/article/how-people-with-disabilities-have-sex
Sex, lives and disability
http://mosaicscience.com/story/sex-disability
Disabled and Fighting for a Sex Life
http://www.theatlantic.com/health/archive/2015/03/sex-and-disability/386866/

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจารณ์ กสท.มีมติล่าช้ากรณียุติช่อง Z PAY TV ทำกำกับตามกฎหมายไม่เป็นจริง

$
0
0

สุภิญญา ชี้มติ กสท. กรณียุติช่อง Z Pay TV ในกล่อง GMMZ ล่าช้ากว่าเหตุ ทำให้การกำกับตามกฎหมายไม่เป็นจริง

9 ก.พ. 2559 สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (8 ก.พ. 2559) กสท.มีมติกรณีช่อง Z Pay TV ในกล่อง GMMZ ล่าช้าเนื่องจากมีการยุติไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2559 แต่ กสท. เพิ่งมีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำคำสั่งทางปกครองไปยังบริษัท GMMZ จำกัด และบริษัท GMMB จำกัด เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559 ให้ระงับการกระทำที่มิได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ข้อ 15 วรรคแรก ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการที่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ได้ตกลงไว้กับผู้ใช้บริการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร อันเป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ตามข้อ 5 (7) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ประกอบกับมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553

หากบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสท. จะใช้มาตรการปรับทางปกครองจำนวน 2 ล้านบาท และปรับอีกวันละ 1 แสนบาท และต้องให้ทั้งสองบริษัทส่งแผนการเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ภายใน 7 วัน เนื่องจากขณะนี้มีผู้บริโภคที่ตกสำรวจ และไม่ได้รับการเยียวใดๆ เช่น กลุ่มที่ไม่สามารถเติมเงินได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2559 หรือผู้ที่เติมเงินบ้าง และไม่เติมบ้าง รวมถึงผู้ที่ติดตั้งด้วยจานระบบ C-band ที่ไม่รองรับกล่องของ CTH ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินซื้อจานใหม่

“กรณีนี้อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ส่งเรื่องให้ กสท. มีมติตั้งแต่เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อให้มีมติก่อนที่จะยุติ Z Pay TV แต่ก็ล่าช้าไปจนเกิดการกระทำไปแล้ว ซึ่งทำให้ไม่มีผลในการกำกับทางกฎหมายแต่อย่างใด  และขณะนี้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับกล่อง ทำให้เสียโอกาสในการรับชม ดังนั้นหากผู้บริโภครายใดที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ขอให้ติดต่อร้องเรียนเข้ามาที่ Call Center กสทช. 1200 หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่กำลังรวบรวมผู้ใช้บริการที่เสียประโยชน์จากกรณีดังกล่าวถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้” สุภิญญากล่าว

นอกจากนี้ในวันนี้คณะอนุกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะพิจารณาเสนอ กสท. เพื่อให้มีมติที่เป็นผลในการบังคับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ เป็นจริงด้วย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live




Latest Images