Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สิริพรรณ นกสวน: มุมคิดในการประเมินระบบเลือกตั้ง

$
0
0

 

เคยกล่าวไว้ว่า ระบบเลือกตั้งตาม รธน 40 และ 50 เอื้อพรรคการเมืองอันดับหนึ่ง มากเกินไป จึงเห็นสมควรทบทวนระบบเลือกตั้งเพื่อแก้จุดอ่อนที่เรียกว่า “ความไม่สมดุลระหว่างคะแนนที่ประชาชนเลือกกับที่นั่งในสภา” (Disproportionality) ดูตารางประกอบ


ระบบจัดสรรปันส่วนผสมที่กรรมการยกร่างเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า MMA (Mixed Member Apportionment) ดูผิวเผินเหมือนจะช่วยลดจุดอ่อนเรื่องความไม่สมดุลระหว่างคะแนนที่ประชาชนเลือกกับที่นั่งในสภา แต่ เป้าหมายของระบบเลือกตั้งไม่ได้มีเพียงเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างคะแนนและจำนวนที่นั่งของพรรค (หากไม่ถึงกับพลิกทำให้พรรคที่ได้คะแนนโหวตน้อยกว่ามีที่นั่งในสภามากกว่าอย่างนิวซีแลนด์) แต่ต้องพิจารณาตรรกะหรือความสมเหตุสมผล ดูเจตนารมณ์และผลกระทบที่ตามมาประกอบด้วย ประเด็นที่พึงพิจารณามีดังนี้

การให้มีเพียงบัตรเดียวกา ส.ส.เขต แล้วเอาคะแนน ส.ส.เขตไปคิดเป็นที่นั่งบัญชีรายชื่อของพรรค เป็นกลไกที่เบี่ยงเบน ส.ส. เขตได้รับเลือกตั้งมาโดยตัวบุคคล คุณสมบัติ และฐานเสียงของตน (+ครอบครัว) หรือหากจะมีนโยบายก็เป็นนโยบายของตนในพื้นที่ ขณะที่ บัญชีรายชื่อ พรรคหาเสียงด้วยนโยบายภาพรวมของพรรค ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเลือกพรรคของประชาชนนอกจากเพราะเลือกนโยบายแล้ว ยังเสมือนการเลือกคนมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

เมื่อไม่ให้เลือกพรรค แต่ให้เอาคะแนนผู้สมัครระบบเขตไปนับเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อ และให้พรรคเสนอชื่อผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึง 3 คน ยุทธศาสตร์ที่พรรคจะใช้คือโฆษณา ส.ส. เพื่อให้ได้คะแนน ส.ส.เขตมาแปลงเป็นที่นั่งบัญชีรายชื่อ

ฉะนั้น จึงทำนายได้ว่า การซื้อเสียงจะสูงขึ้น การกว้านซื้อตัวผู้สมัครจะเข้มข้น นโยบายพรรคจะลดความสำคัญลง กลุ่มอิทธิพลในท้องที่ เจ้าพ่อ เจ้าแม่จะกลับมา พรรคขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะไม่มี ส.ส. เขตมากพอ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชนและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ดีกว่า

ขอเรียนว่า การนำระบบบัญชีรายชื่อใช้ร่วมกับระบบเขต ที่เรียกว่าระบบเลือกตั้งแบบผสม ไม่ว่าจะผสมแบบคู่ขนาน (Parallel) หรือผสมแบบคิดคะแนนร่วมกัน (MMP--Mixed Member Proportional) ไม่ได้มีที่มาจากความต้องการสร้างสมดุลของคะแนนกับที่นั่งในสภาเป็นเบื้องต้น แต่เป็นการผสมเพื่อให้ได้ **The Best of Two Worlds** กล่าวคือดุลยภาพระหว่าง ส.ส.เขตที่ยังทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เน้นนโยบายและส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง จึงให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เยอรมันเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันขื่นข่มและฉลาดที่จะจัดการไม่ให้ประวัติศาสตร์อันเลวร้ายกลับมาซ้ำรอย จึงประยุกต์ (Hybrid) ระบบเลือกตั้งแบบ MMP ขึ้น เพื่อให้ที่นั่งของพรรคกับคะแนนที่ประชาชนเลือกสอดคล้องกัน ป้องกันปัญหาพรรคใหญ่ได้เปรียบ

ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้จะ Hybrid มากจากระบบ MMP แต่ได้ละทิ้งหลักการสำคัญที่สุดของระบบเลือกตั้งคือ การเคารพเจตนารมณ์หรือความต้องการของประชาชน โดยการนำคะแนนที่คนเลือก ส.ส. ไปนับเป็นคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรค ดังนี้ จึงเห็นว่าตรรกะในการจัดสรรที่นั่งผิดเพี้ยนบิดเบือน เพราะคนเลือก ส.ส. อาจไม่ได้ชอบพรรค-- คนจะเลือกพรรค ไม่มีโอกาสเลือก --คนไม่ได้เลือกนายก แต่อ้างว่านายกผ่านความเห็นชอบจากประชาชนแล้วจากการขายพ่วง ส.ส.เขต

ลองนึกภาพว่า ส.ส.ที่เราชอบ สังกัดพรรคที่เราไม่ชอบ และพรรคเสนอรายชื่อผู้จะเป็นนายกที่เรารังเกียจ หรือ เราไม่ชอบ ส.ส. แต่ชอบพรรค และชอบคนที่พรรคเสนอเพียง 1 คน อีก 2 คน รับไม่ได้เลย เราจะตัดสินใจอย่างไร

ในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) คือ การที่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทนตน จะใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน (ที่ทุกฝ่ายยอมรับในกติกา) ก็ได้ตัวแทนเหมือนกัน ระบบเลือกตั้งไม่สามารถบอกได้ว่าเลือกจากระบบนี้เป็นตัวแทนมากกว่าระบบโน้น ตราบเท่าที่ระบบเลือกตั้งเป็นอิสระและเปิดให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วม

แนวคิดเรื่อง "สัดส่วนของตัวแทน" (Degree of Proportionality) ไม่ได้มองเพียงว่าคะแนนเสียงถูกกระจายให้พรรคต่าง ๆ มากน้อยแค่ไหน แต่หัวใจสำคัญกว่านั้น คือ ดูว่าระบบทำให้ได้ตัวแทนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมหรือไม่ เช่น อาชีพ เพศ ชนกลุ่มน้อย เป็นต้น

โดยหลักการแล้ว ระบบบัญชีรายชื่อ (PR--Proportional Representation) จะเอื้อให้เกิดสัดส่วนของตัวแทน (กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม) มากกว่าระบบเขต ดังนั้น การกระจายคะแนนเสียงให้พรรคขนาดกลางของระบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วยการให้เลือก ส.ส. เขต จึงไม่อาจเรียกได้ว่าทำให้เกิดสัดส่วนของตัวแทนที่พึงประสงค์ แต่ส่งผลโดยตรงทำให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น

สรุปอย่างซื่อ ๆ ว่า การให้กาบัตรใบเดียว และให้พรรคส่งสามชื่อเพื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้พรรคขนาดกลางผงาด สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เรียกกันติดปากว่า "คนนอก"

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (ขยายความ): ความเป็นสัดส่วนไม่ได้เท่ากับความเป็นประชาธิปไตย

$
0
0

จากบทความที่ตีพิมพ์ไปชิ้นแรกของผู้เขียนเรื่อง “ระบบเลือกตั้ง ‘จัดสรรปันส่วนผสม’: ปัญหาและทางออก”[1]มีประเด็นถกเถียงต่อเนื่องที่ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นต้องอธิบายเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดไขว้เขวและเพื่อประโยชน์ต่อการอภิปรายสาธารณะดังนี้ (ขออภัยที่บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาวและมีศัพท์เทคนิคในบางจุด)

1. ในบทความดังกล่าวผู้เขียนมีเจตนาชัดเจนว่าต้องการจำกัดประเด็นอภิปรายเฉพาะปัญหาข้อบกพร่องของระบบเลือกตั้งที่เสนอโดยกรธ.ชุดมีชัย โดยไม่ได้แตะไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านอภิปรายไว้ครอบคลุมดีแล้ว เช่น ประเด็นสิทธิที่ตกหล่นไป การเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญอย่างครอบจักรวาล บทเฉพาะกาลที่คงอำนาจของคสช. ไว้เหนือรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ประกอบกับผู้เขียนศึกษาและสอนเกี่ยวกับเรื่องระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง จึงตั้งใจเขียนเฉพาะในประเด็นที่ตนพอจะมีความรู้อยู่บ้าง

2. ในบทความดังกล่าวไม่มีที่ใดที่ผู้เขียนอภิปรายเรื่องรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญย่อมต้องมองเนื้อหารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มิอาจพิจารณาลำพังแค่ระบบเลือกตั้งต่อให้ระบบเลือกตั้งดีเพียงใด แต่องค์ประกอบส่วนอื่นของรัฐธรรมนูญมีปัญหา มันย่อมไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดี 

3. อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการทำความเข้าใจระบบเลือกตั้งในร่างฉบับนี้ให้ถ่องแท้ก็เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เนื่องจากเราไม่ควรปล่อยให้ระบบเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องเทคนิคที่กำหนดโดยผู้ร่างรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนดังที่ผ่านมา สังคมไทยควรถกเถียงหาความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ (และประเด็นเกี่ยวกับสถาบันการเมืองและกลไกอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญด้วย) เพื่อที่จะรู้เท่าทันระบบที่จะถูกนำมาใช้

4. ผู้เขียนเสนอในบทความที่แล้วว่าระบบเลือกตั้งแบบมีชัยมีข้อบกพร่องหลายประการ ต่อให้เรายังไม่นำประเด็นเรื่องอำนาจครอบจักรวาลขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญและกลไกอื่นๆ ที่จะจำกัดอำนาจอธิปไตยของปวงชนมาพิจารณาระบบเลือกตั้งดังกล่าวก็มีปัญหาในตัวเอง คือทำให้อำนาจนิติบัญญัติและบริหารอ่อนแอและทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนไม่ถูกสะท้อนออกอย่างชัดเจน ยิ่งถ้านำประเด็นอำนาจองค์กรเหนือรัฐมาพิจารณาประกอบจะเห็นว่าระบบเลือกตั้งนี้จะยิ่งทำให้เรามีระบบการเมืองที่ไม่ว่าพรรคใดชนะเลือกตั้งขึ้นมาก็จะบริหารประเทศและผลักดันนโยบายได้ลำบาก ตกอยู่ภายใต้การครอบงำขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน

5. ระบบนี้ กรธ.ชุดมีชัยตั้งชื่อเองว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในหมู่นักข่าวและนักวิชาการต่างประเทศที่ติดตามเรื่องนี้ (เช่น Bangkok Pundit and Allen Hicken) ว่า mixed member apportionment system- MMA[2] ) จนกลายเป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันทั่วไป

6. การเข้าใจว่าระบบนี้คือระบบเดียวกับระบบเยอรมันหรือแทบไม่ต่างจากระบบเยอรมันนั้นไม่ถูกต้องนัก ข้อต่างที่สำคัญและเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของระบบเลือกตั้งของมีชัยคือ การที่ยังคงให้มีผู้แทนสองประเภทแบบระบบผสมทั่วไป (ทั้งแบบเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์) แต่ให้มีบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียว (เรียกว่าระบบ mixed system with fused ballots) ในขณะที่ระบบผสมแบบเยอรมันที่กรธ.บวรศักดิ์จะนำมาใช้ (รวมทั้งระบบผสมที่เราเคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550) ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งนี่เป็นข้อแตกต่างที่มีนัยสำคัญและส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่ง

7. ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าระบบเลือกตั้งแบบผสมนั้นไม่ได้มีจุดเด่นที่การสร้างความเป็นสัดส่วนระบบที่ตอบโจทย์เรื่องความเป็นสัดส่วนได้ดีที่สุดคือระบบสัดส่วนแบบระบบบัญชีรายชื่อ (List Proportional Representation- List PR) ที่มีแต่ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และไม่มีส.ส. เขต (ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นข้ออ่อน คือไม่มีผู้แทนที่รับผิดชอบต่อประชาชนในเขตพื้นที่ชัดเจน) โดยพรรคจัดทำบัญชีรายชื่อให้ผู้เลือกตั้งเท่ากับจำนวน ส.ส. ที่มีได้ สัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคได้รับเป็นตัวกำหนดจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคในสภา ยิ่งถ้าใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งและไม่กำหนดเพดานขั้นต่ำเลยก็จะยิ่งมีความเป็นสัดส่วนสูงมาก (เนเธอรแลนด์ซึ่งใช้ระบบนี้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ระบบเลือกตั้งมีความเป็นสัดส่วนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยกำหนดเพดานขั้นต่ำแค่ 0.67%) ฉะนั้น ระบบผสมนั้นไม่ว่าจะเป็นระบบไหนก็สร้างความเป็นสัดส่วนไม่ได้เต็มที่เท่าระบบ List PR  ฉะนั้น ถ้าจะดีเฟนด์สนับสนุนระบบผสมก็ต้องเข้าใจว่าจุดแข็งของมันคือเป็นระบบ “ทางสายกลาง” ที่ต้องการผนวกจุดแข็งของทั้งระบบเสียงข้างมากและระบบสัดส่วน คือ ต้องการทั้งความเข้มแข็งของรัฐบาลกับเสถียรภาพการเมืองและต้องการคงผู้แทนในระบบเขตที่ตอบสนองกับประชาชนในพื้นที่

8. เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบผสมที่ใช้ในเกือบทุกประเทศในโลก (และผ่านการทดลองปรับแก้จนหาจุดลงตัวมาแล้ว) จึงใช้ระบบบัตรสองใบ ประชาชนมีสิทธิเต็มเปี่ยมตามหลักการประชาธิปไตย ได้เลือกทั้งผู้แทนเขตที่มีคุณภาพและเลือกพรรคที่มีนโยบายที่ดี

9. การใช้ระบบผสมที่มีผู้แทนทั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ แต่กลับให้ประชาชนใช้สิทธิได้บัตรเดียวในระบบเขตมีปัญหาหลายประการ (บทความที่แล้วของผู้เขียนได้ชี้ไว้แล้วหลายประการ รวมทั้งความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่าน)[3]ในที่นี้ขอเน้นไปที่ประเด็นปัญหาใจกลางสำคัญ คือ ระบบนี้มีผู้แทนสองแบบ แต่กลับตัดสิทธิประชาชนที่จะได้เลือกผู้แทนทั้งสองแบบโดยตรงประชาชนถูกบีบให้เลือกได้แค่ส.ส.เขตซึ่งเป็นการเลือกตัวบุคคล แต่คะแนนดังกล่าวกลับไปกำหนดทั้งที่นั่งรวมและปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับ หรือพูดได้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกผู้แทนในระบบปาร์ตี้ลิสต์โดยตรงนั่นเอง ทว่าผู้แทนปาร์ตี้ลิสต์งอกขึ้นมาจากคะแนนส.ส.เขตของพรรคที่หักลบเขตที่ชนะไปแล้ว ปัญหาก็จะเกิดขึ้นในกรณีที่เราชอบผู้สมัครในเขต แต่ไม่ได้ชอบพรรค พรรคที่เราไม่ชอบก็จะได้คะแนนไปด้วยโดยปริยาย ในทางกลับกัน ถ้าเราชอบพรรค แต่ไม่ชอบผู้สมัครที่พรรคส่งมา เราก็ไม่มีทางเลือกอีก ถ้าอยากให้พรรคที่เชียร์ได้ที่นั่งมากๆ ก็จำใจต้องเลือกผู้สมัครที่พรรคส่งมา ซึ่งด้วยเหตุนี่เอง จึงตอบคำถามว่าทำไมระบบผสมที่ใช้บัตรสองใบจึงมีความสมเหตุสมผลกว่า ประชาชนมีสิทธิใช้วิจารณญาณเต็มที่ และผู้แทนที่ถูกเลือกก็สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนชัดเจน เพราะประชาชนได้เลือกโดยตรงทั้งในระบบเขตและระบบพรรค    

10. นี่คือเหตุผลว่าทำไมระบบผสมที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550, และที่เสนอโดยกรธ.ชุดบวรศักดิ์ เป็นระบบผสมที่สมเหตุสมผลกว่า เพราะทั้งสามระบบล้วนให้สิทธิประชาชนมีบัตรเลือกตั้งสองใบสำหรับคนที่อยากได้ระบบผสมที่มีความเป็นสัดส่วนมาก ระบบแบบเยอรมันก็ทำหน้าที่นี้ได้เหมือนระบบมีชัย เพราะจำนวนที่นั่งทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับจะถูกกำหนดมาจากสัดส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนั้น (คือพรรคจะไม่ได้ที่นั่งเกินสัดส่วนความนิยมของพรรค) และระบบเยอรมันดีกว่าแบบมีชัยในสองมิติคือ หนึ่ง ที่นั่งพรรคกำหนดจากความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคโดยตรงไม่ได้กำหนดจากความนิยมในตัวผู้สมัครในแต่ละเขต สอง ประชาชนได้สิทธิเลือกผู้แทนโดยตรงทั้งสองแบบคือเลือกพรรคที่ชอบ และเลือกผู้แทนเขตที่นิยม (และคนเยอรมันก็ใช้สิทธิประชาธิปไตยนี้อย่างเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องเลือกผู้สมัครเขตที่ตนไม่ชอบแม้จะสังกัดพรรคที่ตนเชียร์ก็ตาม เพราะอย่างไรก็มีอีกคะแนนในมือในการกาให้พรรคอยู่แล้ว)

11. ระบบผสมแบบมีบัตรใบเดียวและเอาคะแนนทั้งหมดไปผูกอยู่ที่เขตเลือกตั้ง ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก ซึ่งอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเทคนิค แต่ก็มีนัยสำคัญทางการเมืองคือ ทำให้การกระบวนการนับคะแนน การประกาศผล และการจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหาสะดุดได้ง่าย (โดยเฉพาะในบริบทการเมืองไทยที่กกต.มีอำนาจมากในการตัดสิทธิผู้สมัคร) เพราะหากเขตเลือกตั้งบางเขตจัดเลือกตั้งไม่ได้ หรือผู้สมัครถูกใบแดง ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ จะทำให้กระทบกับการคำนวณคะแนนและที่นั่งของทุกพรรคตามไปด้วย เพราะทุกอย่างผูกอยู่กับคะแนนเขตเลือกตั้ง (ยังต้องรอพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งที่จะออกมา เราจึงจะพิจารณาปัญหานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น)

12. การนำระบบนี้มาใช้ยังต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์การเมืองไทยในสนามเลือกตั้งด้วย ผู้เขียนชี้ไว้ในบทความที่แล้ว ว่าพรรคขนาดกลางจะได้เปรียบในระบบนี้ เพราะพรรคขนาดกลางของไทยมีลักษณะเป็นพรรคภูมิภาคนิยมหรือจังหวัดนิยม (อาทิ โคราช บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ชลบุรี) ที่พรรคเหล่านี้ได้เปรียบเพราะเกาะกุมฐานเสียงแน่นหนาในจังหวัดของตน ยิ่งจังหวัดใหญ่ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากยิ่งได้เปรียบ (ตัวอย่างเช่น บุรีรัมย์ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของภูมิใจไทยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,129,508 คน) พรรคขนาดกลางจะโกยที่นั่งไปมากทั้งที่ความนิยมของพรรคมีอยู่แค่ระดับจังหวัด ไม่ได้เป็นพรรคที่มีนโยบายหรือแนวทางที่เป็นที่นิยมของคนทั้งประเทศ ในระบบแบบเดิมพรรคเหล่านี้จะได้ที่นั่งจากผู้แทนเขตเป็นหลัก แต่ไม่ได้จากระบบปาร์ตี้ลิสต์ เพราะพรรคไม่มีความโดดเด่นในเชิงนโยบายให้ประชาชนเลือก ยกตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ในบุรีรัมย์ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้ที่นั่งเขตไปถึง 7 ที่นั่ง เหลือให้เพื่อไทยเพียง 2 ที่นั่ง แต่ในระบบบัญชีรายชื่อภูมิใจไทยกลับแพ้เพื่อไทยถึงแสนกว่าคะแนน โดยภูมิใจไทยได้ 226,741 ในขณะที่เพื่อไทยได้ 329,568 คะแนน หากนำระบบมีชัยมาใช้ผู้เลือกตั้งในบุรีรัมย์ก็หมดโอกาสใช้สิทธิแบบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” แบบที่เคยทำ  ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดกับพรรคประชาธิปัตย์เช่นกันที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงมากในบางจังหวัด แต่แพ้ให้กับพรรคขนาดกลางในระบบเขต 

13. ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งแบบ 2540, 2550 ตั้งใจออกแบบกฎกติกาที่สร้างระบบพรรคการเมืองใหญ่ ออกแบบกติกาที่สร้างแรงจูงใจให้พรรคการเมืองต้องก้าวพ้นจากพรรคจังหวัดเป็นพรรคระดับประเทศ และก้าวพ้นจากการขายแค่ตัวบุคคล “ดี เด่น ดัง มีอิทธิพล” ในพื้นที่ไปสู่การเป็นพรรคที่ผลิตนโยบายระดับมหภาค ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ระบบแบบมีชัยเป็นการออกแบบกติกาที่สร้างแรงจูงใจให้ทุกพรรคกลับไปโฟกัสที่ระบบเขตซึ่งเน้นตัวบุคคล ซึ่งเป็นการก้าวถอยหลังทุกพรรคมุ่งหาคนดีเด่นดังมาลงสมัครในระบบเขตเพื่อดึงคะแนนเข้าสู่พรรค (เพราะประชาชนเลือกพรรคโดยตรงไม่ได้) ช่วยต่อชีวิตให้พรรคการเมืองแบบอิทธิพลท้องถิ่นแบบจังหวัดนิยมหรือภูมิภาคนิยมมีลมหายใจต่อไปในระบบการเมืองไทยและมีอำนาจต่อรองสุงในการจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่ามีประชาชนบางท่านแสดงความเห็นว่า ถ้าเอาระบบนี้มาใช้จริง ก็จะ “แก้เกม” ด้วยการเลือกพรรค โดยไม่สนใจผู้สมัครส.ส.เขต ไม่ว่าจะไร้คุณภาพเพียงใด เพื่อให้พรรคที่ตนชอบมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ ก็จะไปสร้างปัญหาของการเปิดช่องทางให้ผู้แทนจำนวนหนึ่งที่จริงๆ แล้วประชาชนไม่ได้นิยมชมชอบได้เข้าสู่สภาเพราะการเลือกเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ 

14. ปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ได้เปรียบพรรคเล็กจากระบบเลือกตั้ง ปัญหาอยู่ที่วัฒนธรรมการเคารพผลการเลือกตั้งที่ขาดหาย ดุลอำนาจระหว่างพลังที่มาจากการเลือกตั้งและที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และปัญหารัฐซ้อนรัฐโดยกองทัพ  การชี้ว่าระบบเลือกตั้งแบบมีชัยสร้างความเป็นสัดส่วนได้ดีกว่า โดยไม่พิจารณาระบบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่และภูมิทัศน์ในการเลือกตั้งตามสภาพความเป็นจริงจึงอาจทำให้หลงทิศผิดทางได้ ถามว่าระบบนี้สร้างความเป็นสัดส่วนให้ใคร? ภายใต้สภาพความเป็นจริงในสนามเลือกตั้ง ความเป็นสัดส่วนกลับเอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดกลางที่เข้มแข็งในระบบเขตในระดับจังหวัด (ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนขั้วย้ายค่ายเข้าร่วมกับพรรคใดหรืออำนาจแบบใดก็ได้) มากกว่าจะมุ่งพัฒนาระบบพรรคการเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งในเชิงนโยบาย   

15. ระบบผสมที่ให้มีผู้แทนสองประเภทแต่มีบัตรแค่ใบเดียว มีใช้อยู่บ้างในบางประเทศแต่ส่วนใหญ่ก็เลิกใช้ไปแล้ว (ดังที่ผู้เขียนชี้ไว้ในบทความที่แล้ว) อันเนื่องมาจากปัญหาบัตรใบเดียวและการนับคะแนนดังที่กล่าวไป ผู้เขียนไม่ได้เสนอว่าเราจำเป็นต้องใช้ระบบเลือกตั้งตามหรือไม่ตามใคร แต่การเรียนรู้จากประเทศอื่นนั้นสำคัญ ถ้าดีเราจะได้ปรับใช้ ถ้าไม่ดีเราจะได้ไม่ดำเนินรอยตาม ซึ่งการที่ระบบเลือกตั้งผสมแบบใช้บัตรใบเดียวไม่เป็นที่นิยมใช้ เพราะมีปัญหาพื้นฐานหลายประการอยู่จริง และก็ไม่เหมาะกับสภาพปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่  

16. คนที่ศึกษาระบบเลือกตั้งทุกคนย่อมทราบดีว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเลือกตั้งที่ดีที่สุดในโลก” ที่ใช้ได้กับทุกประเทศ เพราะแต่ละระบบล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกันไปเช่น บางระบบเพิ่มความเป็นสัดส่วน (ระหว่างที่นั่งและคะแนน) แต่ไม่สร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองและรัฐบาล เป็นต้น ระบบเลือกตั้งที่มีอยู่หลายแบบในโลกนี้ (ซึ่งมี 3 แบบหลัก และแต่ละแบบมีแบบย่อยแตกแขนงออกไป) จึงเป็นเสมือนเมนูให้เราเลือก และคนที่จะตัดสินใจเลือกควรเป็นประชาชนทั้งประเทศ นักวิชาการมีหน้าที่แค่ให้ข้อมูลความรู้เปรียบเทียบให้เห็นว่าแต่ละระบบทำงานอย่างไร ดีด้อยตรงไหน สังคมมีหน้าที่ตัดสินว่าควรจะนำระบบเลือกตั้งแบบใดมาใช้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่สังคมนั้นๆ เผชิญอยู่

17.   ประเด็นที่สำคัญมากคือ มีความเข้าใจผิดที่สำคัญในเรื่อง “ความเป็นสัดส่วน” การที่ไปสถาปนาว่าระบบเลือกตั้งที่ตอบโจทย์ความเป็นสัดส่วนคือระบบเลือกตั้งที่มีความเป็นประชาธิปไตยแบบผู้แทนมากที่สุด เป็นบรรทัดฐานที่คลาดเคลื่อนและทำให้ไขว้เขว เป็นบรรทัดฐานที่สมมติขึ้นเอง เราไม่สามารถบอกได้ว่าระบบเลือกตั้งชนิดใดผลิตผู้แทนที่เป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนมากกว่ากัน เกณฑ์ขั้นต่ำมีแค่ว่าการเลือกตั้งต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมเสรีและเสมอภาค ส่วนจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใดนั้นเป็นประเด็นที่สังคมต้องร่วมกันพิจารณา

18.   ในประเทศที่ใช้ระบบเสียงข้างมาก (majority system) ทั้งหลายในโลกนี้ ถามว่าเค้าทราบหรือไม่ว่าระบบที่ใช้อยู่ไม่เป็นสัดส่วน ย่อมทราบดีเพราะเป็นกติกาที่เปิดเผย ไม่ได้ปิดลับอะไร บางประเทศใช้มานานเป็นร้อยๆ ปี คำนวณผลคะแนนเลือกตั้งแต่ละครั้งดูก็ย่อมทราบถึงความไม่เป็นสัดส่วน แต่ทำไมถึงยังใช้ระบบนี้ที่ไม่เป็นสัดส่วน ก็เพราะมันมีข้อดีหลายประการที่หักลบกลบหนี้แล้วชดเชยข้อด้อยเรื่องความไม่เป็นสัดส่วน และพิสูจน์ว่าทำให้ระบบการเมืองเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพ (กล่าวคือ มันสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งของรัฐบาล ลงคะแนนง่าย ที่มาผู้แทนชัดเจน เกิดระบบพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง พรรคใดชนะเลือกตั้งก็ชนะเด็ดขาดสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มั่นคงที่สามารถผลักดันนโยบายได้อย่างต่อเนื่องอยู่ครบวาระ) เราย่อมไม่อาจไปชี้ว่าความเป็นผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของส.ส.อังกฤษมีต่ำกว่า ความเป็นผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของส.ส.เม็กซิโก (ที่ใช้ระบบผสมแบบบัตรใบเดียว) เพียงเพราะระบบเลือกตั้งอังกฤษสร้างความเป็นสัดส่วนน้อยกว่าระบบของเม็กซิโก

19. หรือยกตัวอย่างประเทศเยอรมันที่เป็นต้นตำรับของความพยายามสร้างระบบผสมให้เป็นสัดส่วน ก็ไม่ได้บูชาความเป็นสัดส่วนแบบสุดโต่ง ดังที่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำของพรรคที่จะได้รับการจัดสรรปาร์ตี้ลิสต์ไว้ที่ 5%[4]พรรคใดได้ต่ำกว่านี้ก็จะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งเข้าสู่สภา ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดมีพรรคการเมืองหนึ่งมีประชาชนเลือกในบัญชีรายชื่อ 4.9% พรรคนั้นก็จะพลาดไม่ได้ที่นั่งเลย ถามว่าแฟร์ไหมจากมุมของความเป็นสัดส่วน ก็ไม่แฟร์ เพราะ 4.9% ของพรรคนี้ไม่ถูกนับ กลับถูกนำไปจัดสรรให้พรรคการเมืองอื่นๆ แต่ระบบเยอรมันกำหนดเช่นนี้เพราะต้องการป้องกันไม่ให้เกิดปรากฎการณ์ที่พรรคสุดโต่งหัวรุนแรงอาศัยหาเสียงกับประชาชนกลุ่มแคบด้วยนโยบายสุดโต่ง (เช่น เหยียดผิว) เข้ามาสู่สภาได้ง่ายเกินไป ซึ่งมีเหตุผลที่มาจากประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมในอดีตของสังคมเยอรมัน กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่านอกจากหลัก “ความเป็นสัดส่วน” แล้ว มีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบด้วยอีกมากมายในการจะตัดสินใจว่าระบบเลือกตั้งหนึ่งๆ เหมาะที่จะนำมาใช้หรือไม่ มิใช่ยกเอาความเป็นสัดส่วนไว้เป็นเป้าหมายสูงสุดจนบดบังมองไม่เห็นเป้าหมายอื่นๆ 

20. สรุปคือ หลักความเป็นสัดส่วนระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่ง (proportionality) หรือหลักความยุติธรรมของคะแนน เป็นเพียงเป้าหมายหนึ่ง มิใช่เป้าหมายประการเดียวกระทั่งอาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดเสมอไปเช่นในสถานการณ์ที่สังคมต้องการเสถียรภาพทางการเมือง โดยเฉพาะในสังคมที่ประสบปัญหาการล่มสลายของรัฐบาลอยู่บ่อยครั้งทำให้การบริหารประเทศหยุดชะงักและขาดความต่อเนื่อง รัฐบาลไม่สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้กับผู้ลงคะแนนเสียงได้เลยเนื่องจากอายุสั้น ในสภาพเช่นนี้ ระบบเลือกตั้งที่เน้นความเป็นสัดส่วนอาจจะไม่ตอบโจทย์ ในแง่นี้ถามว่าระบบเลือกตั้งแบบผสมในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 (ที่นับคะแนนแบบแยกกันระหว่างเขตและปาร์ตี้ลิสต์) มีปัญหาเรื่องความเป็นสัดส่วนคือทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบได้ที่นั่งเกินไปหรือไม่ ใช่แน่นอน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ สภาพปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยขณะนั้นที่ประสบปัญหารัฐบาลผสมอ่อนแอขาดนโยบายและไร้เสถียรภาพ (ภายใต้ระบบเสียงข้างมากแบบเขตเดียวหลายคน) ระบบผสมที่นำมาใช้ในปี 2540 ทำหน้าที่ตอบโจทย์ปัญหาตรงนั้นของมัน มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเป็นสัดส่วนตั้งแต่ต้น

21. นอกจากเป้าหมายเรื่องความเป็นสัดส่วนแล้ว มีเป้าหมายอะไรที่สำคัญอีกบ้าง มีอีกอย่างน้อย 5 ประการคือ หนึ่ง ความพร้อมรับผิดของผู้แทนต่อผู้ลงคะแนน (accountability) หมายถึงความผูกพันทางนโยบายที่ผู้แทนมีต่อประชาชนที่เลือกพวกเขาเข้ามา สอง เสถียรภาพและความเข้มแข็งของรัฐบาล สาม ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง สี่ ความประสานปรองดองระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ เป้าหมายนี้มีความสำคัญในสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางสังคมวัฒนธรรม และห้า การสะท้อนเสียงของคนกลุ่มน้อย (ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย ผู้ด้อยโอกาส) ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งแต่ละระบบต่างบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ต่างกัน

22. สรุปว่าการพิจารณาระบบเลือกตั้ง จะดูแค่ว่ามันสร้างความเป็นสัดส่วนหรือไม่ไม่ได้ หากมันสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมาหลายประการจนทำลายจุดแข็งเรื่องความเป็นสัดส่วนมันย่อมไม่ใช่ระบอบที่สร้างระบบผู้แทนที่ดี การพิจารณาระบบเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้าน

23. บทความนี้มีความยืดยาวเสียมากแล้ว แต่คิดว่าน่าจะพออธิบายประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อสงสัยและข้อถกเถียงได้ชัดเจนพอสมควร จึงขอจบแต่เพียงเท่านี้  




[1] http://prachatai.org/journal/2016/02/64002

[2]ดู Allen Hicken and Bangkok Pundit, “The Effects of Thailand’s Proposed Electoral System,” 10 February 2016 http://www.thaidatapoints.com/project-updates/theeffectsofthailandsproposedelectoralsystembyallenhickenandbangkokpundit

[3]ดูความเห็นของรศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน และรศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้ตามลำดับที่https://www.facebook.com/siripan.nogsuansawasdee/posts/1239407319410585:1 และ http://www.prachatai.com/journal/2016/02/64020

[4]ยกเว้นได้ที่นั่งส.ส.เขตอย่างน้อย 3 ที่นั่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารอ้างคำสั่งผู้ว่าฯ สั่งระงับเวที WeMove ภาคอีสาน หลังวิพากษ์ร่าง รธน. ฉบับมีชัย

$
0
0
ทหารอ้างคำสั่งผู้ว่าฯ ระงับเวทีภาคอีสาน “เสียงประชาชนอีสานต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ของเครือข่าย WeMove ที่ จ.อำนาจเจริญ หลังทนเสียงประชาชนวิจารณ์ 'ร่าง รธน. ฉบับมีชัย' ไม่ไหว สั่งให้ยุติการจัดงานภายใน 5 นาที ผู้จัดระบุคณะกรรมการร่าง รธน. ต้องรับฟังการเคลื่อนไหวของประชาชน จึงจัดงานมิได้ขัดต่อกฎหมายอย่างไร

 
 
 
 
ที่มาภาพ: voicelabour
 
13 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ voicelabourรายงานว่าหลังจากที่ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย หรือ WeMove และเครือข่าย ได้เวทีภาคอีสาน “เสียงประชาชนอีสานต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญ ภายหลังสารดำเนินงานได้ 10 นาที ได้มีนายหารแต่งชัดลายพราง 4 นายได้เข้ามาร่วมงาน และลงเบียนเข้าร่วมงาน ได้มีการถ่ายรูปเก็บบรรยากาศภายในงาน  และเก็บภาพถ่ายแนะนำบนเวทีแต่ละท่าน อีกทั้งยังขอถ่ายภาพเดี่ยวของผู้จัดงานทุกท่าน ซึ่งทางผู้จัดงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากนั้นเวลาประมาณ 13.30 น. กลุ่มนายทหารดีงกล่าวได้แจ้งให้ผู้จัดงานยกเลิกการจัดงานทันทีให้เวลาเก็บของภายใน 5 นาที โดยอ้างคำสั่งผู้ว่าฯ สั่งห้ามการจัดงาน
 
หลังจากที่มีคำสั่งให้ยุติทางกลุ่มผู้จัดจึงได้ย้ายเวทีมาที่โรงแรมรูท 202 กลุ่มนายทหารได้ติดตามมาและบอกให้ยุติการจัดโดยอ้างคำสั่งของผู้ว่า ทางด้านผู้นำกลุ่มการจัดงานจึงขอให้นายทหารคนดังกล่าวนำคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรมา
 
นางสุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ประสานงาน WeMove กล่าวถึงกรณีการจัดเวทีภาคอึสาน  กล่าวว่าได้มีทหารเข้ามาแล้วสั่งให้หยุดเคลื่อนไหวเวทีภายใน 5 นาที เมื่อย้ายมาที่โรงแรมรูท202 ได้มีคำสั่งใก้เรายุติเวทีการจัดงานอีก ซึ่งทางกลุ่มได้เรียกร้องให้นำคำสั่งที่เป็นลายอักษรมายืนยันกับทางกลุ่มว่า เป็นคำสั่งของผู้ว่าจริง ทั้งนี้นางสุนีระบุว่าคณะกรรมการร่างฯ ต้องรับฟังการเคลื่อนไหวของประชาชน เราพยายามทำให้ขบวนผู้หญิงและทั่วประเทศรับรู้เรื่องร่าง รธน. ซึ่งการกระทำของกลุ่มมิได้ขัดต่อกฎหมายอย่างไร
 
"ทาง WeMove ไม่ขอยอมรับอำนาจคำสั่ง ต้องตั้งคำถามกับ คสช. ผู้ว่าทุกจังหวัด จะทำอย่างไร จะให้จัดแบบลับ ๆ ล่อ ๆ หรือ เปืดเผย อย่างไรก็ตามทาง WeMove จะเวทีเสียงประชาชนกับร่าง รธน.ต่อไป ในอาทิตยาหน้า ในวันที่ 20-21 ก.พ.ที่จังหวัดพัทลุง" นางสุนี กล่าว
 
ด้านนางสางสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนมากเกินไป ร่าง รธน.ต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เราจัดโดยเปิดเผย เราพยายามประสานหลายฝ่ายแต่สุดท้ายโดนห้ามจัด ซึ่งตนในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิฯ ในวันที่ 17 ก.พ. นี้
 
ทั้งนี้คณะผู้จัดงานได้พยายามติดต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อสอบถามเรื่งที่เกิดขึ้นด้วย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: เ ค า ะ ก ะ ล า

$
0
0


 

๐ เคาะกะลาเรียกหมา หมาก็รู้
นายเรียกกู่กินข้าว ทุกคราวหน
แต่กะลาครอบแดน เคาะใดคน-
ยังหลับทน มิรู้ตื่น ขืนครอบคา !

๐ เขากดอยู่อย่างนั้น__ครั้นแต่ดึกดำบรรพ์มา
รู้เห็นหรือเช่นว่า__สยบยอมลงค้อมกาย

๐ องคาพยพถ้วน__ก็คือล้วนประหนึ่งตาย-
ซาก,สิ้นกำลังหงาย__กะลาเก่ากับเงาเดิม !

๐ เสริมด้วยซ้ำ__ฉุดกระชาก
ใครคิดจาก__กะลาเจ้า
ทุกเกมหมาก__เพียรมั่น
คงใต้เหง้า__ลึกหงำ !

๐ เผยธรรมชาติผู้__ผิดคน
มิหลุดจากวังวน__ครอบไว้
คอยเคาะกะลาจน__จักว่า-
คงทาสสถาน,ไร้-__ตื่น,หรือ !


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WeMove จี้ คสช.รับผิดชอบ-หยุดคุกคาม หลังทหารสั่งหยุดเวทีถกร่าง รธน. อ้างไม่ขออนุญาต

$
0
0
 
ที่มาภาพ: voicelabour

3 ก.พ. 2559 จากกรณีเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ ใน จ.อำนาจเจริญ สั่งยุติเวที "เสียงประชาชนอีสานต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)  (อ่านรายละเอียด) จากนั้นขบวนผู้หญิงฯ ได้ออกแถลงการณ์ “เรียกร้อง คสช.แสดงความรับผิดชอบและหยุดคุกคาม สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) เรียกร้อง คสช.แสดงความรับผิดชอบและหยุดคุกคาม สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ตามที่ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) จัดเวทีนําเสนอร่างรัฐธรรมนูญและรับฟังความ คิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญจากองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนในภาคอีสานในวันนี้ (13 ก.พ. 2559) ที่โรงเรียนอนุบาลอํานาจเจริญ ซึ่งเป็นไปตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญขอความร่วมมือประชาชนส่งความคิดเห็น โดยมีประชาชนจาก 13 จังหวัดเข้าร่วมจํานวน 75 คน ซึ่งเมื่อดําเนินการประชุมไปได้ไม่นาน ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าในงาน ถ่ายภาพวิทยากร ผู้จัดงาน รายชื่อผู้เข้าร่วม และเอกสารต่างๆ จากนั้นได้แจ้งว่ามีคําสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยุติการประชุม ผู้จัดได้ขอคําสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดง ต่อมาผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลได้ขอร้องให้ยุติการประชุม แม้ก่อนหน้านี้จะได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ เนื่องจากไม่สบายใจที่ให้ใช้สถานที่อีกต่อไป และแจ้งว่าจะขอปิดไฟและเครื่องเสียงภายใน 2 นาที ผู้จัดพยายามอธิบายและต่อรองแต่ในที่สุดต้องยุติการประชุม และย้ายการประชุมมาที่โรงแรมรูท 202 เจ้าหน้าที่ทหารและตํารวจได้ตามมาที่โรงแรม และสั่งให้ยุติการประชุมอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้างคําสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทหาร อ้างว่าไม่มีการขออนุญาตก่อนจัด แต่ผู้จัดยังยืนยันว่าเป็นการจัดการ ประชุมโดยเปิดเผย และเป็นการร่วมมือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ประกอบกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศเคยจัดการประชุมในลักษณะนี้มาแล้ว 2 เวที คือที่ส่วนกลางที่รัฐสภา โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมาร่วมงาน และได้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมาใช้ประกอบการประชุมด้วย และได้จัดการประชุมที่ภาคเหนือ (จังหวัดลําปาง) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เวทีนี้เป็นเวทีที่ 3 และมีแผนจะจัดเวทีภาคใต้ในสัปดาห์หน้าด้วย 

การกระทําของเจ้าหน้าที่ทหาร ตํารวจ ที่จังหวัดอํานาจเจริญครั้งนี้ ถือว่าเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ใน การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการกระทําที่ขัดกับการสิ่งที่ คสช.สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศจึงขอเรียกร้องให้ คสช.แสดงความรับผิดชอบ และยุติการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นประชาชนคงไม่ สามารถยอมรับร่างรัฐธรรมนูญที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 15.00 น.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับ 'จ่านิว' ขณะร่วมงานบอลประเพณี-ก่อนปล่อยตัวชั่วคราว-รอส่งศาลทหารจันทร์นี้

$
0
0

ทหารชี้เป้าตำรวจ สน.ปทุมวัน จับจ่านิว 'สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์' ในงานฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก่อนส่งตำรวจรถไฟธนบุรี ก่อนที่ล่าสุด 23.00 น. ตำรวจยอมปล่อยตัวชั่วคราว ใช้หลักทรัพย์ประกันตัว 10,000 บาท โดยให้มารายงานวันจันทร์เพื่อส่งศาลทหารฝากขัง ขณะที่ยังมีนักกิจกรรมอีก 4 รายถูกออกหมายจับ

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ก่อนถูกตำรวจควบคุมตัวไป สน.สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี เมื่อ 13 ก.พ. 2559

13 ก.พ. 2559 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. "จ่านิว" สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกตำรวจ สน.ปทุมวัน ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าควบคุมตัว ขณะเข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ที่สนามศุภชลาศัย โดยแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลทหารกรุงเทพเมื่อ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา

จากนั้น ตำรวจชุดจับกุมนำตัวสิรวิชญ์ส่งสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี พนักงานสอบสวนจัดทำบันทึกการจับกุม ระบุว่า เวลาประมาณ 15.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รับแจ้งจาก ร.อ.สุดเขตต์ แคล้วภัย ผบ.ชป.พท.1 ทางโทรศัพท์ว่า พบตัวนายสิรวิชญ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับ เดินอยู่ในขบวนพาเหรดล้อการเมืองภายในสนามฟุตบอล ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบที่สนามฟุตบอล พบผู้ต้องหากำลังให้สัมภาษณ์สื่ออยู่ เจ้าหน้าที่ทหารได้ชี้ตัวผู้ต้องหายืนยัน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงเข้าแสดงหมายจับต่อผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาได้อ่านหมายจับ ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริงและไม่เคยถูกจับกุมตามหมายจับนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวผู้ต้องหามาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิรวิชญ์ปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม เนื่องจากตนเองไม่ได้รับการแจ้งสิทธิใดๆ ขณะที่บันทึกการจับกุมระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแก่ผู้ถูกจับ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมตัวสิรวิชญ์ไว้ในห้องสอบสวนชั้นล่าง ซึ่งเป็นห้องกระจก โดยญาติและเพื่อนสามารถเข้าเยี่ยมได้ อันเป็นผลมาจากการเจรจาของสิรวิชญ์และทนาย ที่ขอไม่ให้ควบคุมตัวในห้องขัง ต่อมาเวลาประมาณ 23.00 น. พนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสิรวิชญ์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 10,000 บาท

หลังจากนี้ ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ. เวลา 08.30 น. สิรวิชญ์ ต้องมารายงานตัวที่สถานีตำรวจรถไฟธนุบรี เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวสิรวิชญ์ส่งศาลทหารกรุงเทพต่อไป ตามหมายจับที่ 10/2559 ลงวันที่ 11 ก.พ. 59 ซึ่งตามหมายจับ สิรวิชญ์ ต้องหาว่า มั่วสุม หรือ ชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ตนอกจากนี้ หมายจับยังระบุว่า พนักงานสอบสวนขอออกหมายจับโดยเหตุที่มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี โดยพนักงานสอบสวนจะขออำนาจฝากขังจากศาลต่อไป

นอกจาก สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แล้ว ยังมีนักกิจกรรมอีก 4 คน ที่ถูกออกหมายจับจากกรณีไม่มารายงานตัวตามที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้มาพบ เพื่อส่งตัวไปยังอัยการทหาร คือ นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์ นางสาวชนกนันท์ รวมทรัพย์ และนายกรกช แสงเย็นพันธ์ (อ่านรายละเอียด อนุมัติหมายจับ 5 นักกิจกรรมนั่งรถไฟไปราชภักดิ์)ซึ่งคาดว่าเจ้าหน้าที่จะติดตามเพื่อจับกุมต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แห่กะลา-อีเจี๊ยบ-ตั่วเฮีย ล้อการเมืองฟุตบอลประเพณีจุฬา-มธ. ทหารสกัดไม่อยู่

$
0
0

ฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 71 พล.ม.2 ระดมทหารใส่เสื้องานบอลร่วมงาน พร้อมตรวจยิบ-เปิดเจรจาขอปรับแต่งขบวนล้อการเมือง แถมสกัดที่ประตูเข้าสนาม สุดท้ายยอมให้ผ่าน นักศึกษาทีมล้อการเมือง มธ. แห่หุ่น "อีเจ๊ยบเชียร์ทหาร" เบิกทาง ตามด้วยหุ่นกะลา ตั่วเฮีย 3 ล้านล้าน ฯลฯ พร้อมเซอร์ไพรส์ป้ายผ้าแจมกลางขบวน "มีทหารไว้ทำไม ใครกล้าถาม-มีไว้ห้าม ป้ายผ้า ผู้กล้าถือ"

14 ก.พ. 2559 - งานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งที่ผ่านมามีข่าวว่าถูกควมคุมจากเจ้าหน้าที่ทหารอย่างเข้มงวด โดยเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีทหารเข้าขอหารือกับนักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวางข้อตกลง และต่อมาสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาเตือนนักศึกษาด้วยว่า วันงานอาจจะมีการทำนอกเหนือข้อตกลงได้ และถ้าเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ปีหน้าต้องเปลี่ยนแปลงทีมงานทำขบวนล้อการเมืองนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เวลา 12.00 ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า ที่สนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานฟุตบอลประเพณี มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ สังกัด ม.พัน 1 รอ. กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล ม.2 รอ.) ใส่เสื้อเชียร์ฟุตบอลประเพณีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฝ้าสังเกตุการณ์ การเตรียมกิจกรรมของกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดป้ายประจำตัวแสดงสังกัดว่ามาจากกองทัพบก

ทหารสังกัด ม.พัน 1 รอ. กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ สวมชุดเชียร์ฟุตบอลประเพณีของ ม.ธรรมศาสตร์ เข้าดูแลพื้นที่ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 13 ก.พ. ก่อนการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ที่สนามศุภชลาศัย

เจ้าหน้าที่ทหารสวมเครื่องแบบ 4 นาย และสุนัขดมกลิ่น 1 ตัว เข้ามาตรวจพื้นที่โดยรอบในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ รวมทั้งตรวจในบริเวณที่กลุ่มอิสระล้อการเมือง ม.ธรรมศาสตร์ เตรียมกิจกรรมด้วย (ที่มา: ประชาไท)

นักศึกษากลุ่มอิสระล้อการเมืองรื้อและตัดพานท้ายปืนของหุ่นรูปปืนออก หลังจากทหารสั่งให้รื้อโดยให้เหตุผลว่าดูแล้วมีความรุนแรง

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบ 4 นาย พร้อมสุนัขหนึ่งตัว ได้เข้ามาตรวจสอบในบริเวณที่กลุ่มอิสระล้อการเมือเตรียมกิจกรรมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ก่อนเคลื่อนขบวน เจ้าหน้าที่ทหารได้สั่งให้กลุ่มอิสระล้อการเมือง รื้อหุ่นรูปคล้ายปืน ซึ่งทำจากกระดาษและขึ้นโครงด้วยไม้อัดออก โดยให้เหตุผลว่าดูแล้วมีความรุนแรง จึงได้มีการตัดพานท้ายปืนออก เพื่อให้มีรูปร่างไม่คล้ายปืน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ามีป้ายผ้าบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่เก็บไปด้วย

คลิปนักศึกษาขอเจรจาหลังทหารปิดประตูห้ามขบวนล้อการเมืองเข้าสนาม 

ก่อนที่ขบวนล้อการเมือง ม.ธรรมศาสตร์ จะเข้าสู่สนามเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบที่ตรึงกำลังในสนามกีฬาได้ปิดประตูห้ามเคลื่อนขบวนล้อการเมือง

ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักศึกษา ระหว่างเจรจากับทหาร โดยทหารขอตรวจป้ายผ้าและหุ่นประกอบขบวนล้อการเมือง ก่อนที่จะยอมเปิดประตูเพื่อให้นักศึกษาทำกิจกรรม

ต่อมาเมื่อเวลา 14.40 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนล้อการเมือง ของมหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์กำลังจะเข้าสู่สนาม ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบนำโดย พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม 2 รอ. ได้เข้ามาตรวจหุ่นอีกครั้ง โดยได้สั่งให้ทหารนอกเครื่องแบบปิดประตูห้ามเคลื่อนขบวนล้อการเมืองเข้าสู่สนาม

ด้านนายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษา ต้องเข้าเจรจา ขณะที่บางส่วนส่งเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจ ซึ่งทางทหารขอดูป้ายผ้า และขอเปิดดูภายในหุ่น แต่นักศึกษาระบุว่าถ้าเปิดจะทำให้หุ่นเสียหาย ทหารจึงถามว่าหุ่นดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมใช่หรือไม่ นักศึกษายืนยันว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งแน่นอน จากนั้นเวลา 14.55 น. ทหารจึงสั่งให้เปิดประตูให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้

เปิดทางขบวนล้อการเมืองขบวนแรก "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" สวมเสื้อกั๊กลายพราง พร้อมข้อความ "เรารักทหารไทย" (ที่มา: Facebook/กลุ่มอิสระล้อการมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ขบวนที่สอง "กะลาแลนด์ Ban ประชา" สะท้อนการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและโครงการซิงเกิลเกตเวย์ของรัฐบาล (ที่มา: ประชาไท)

ขบวนที่สาม "ดาร์ธไหน โกงไวเฟร่ออออ!!!" (ที่มา: Facebook/กลุ่มอิสระล้อการมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ขบวนที่สี่ "ตั่วเฮียที่รัก" (ที่มา: Facebook/กลุ่มอิสระล้อการมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ขบวนที่ห้า "ฟรีซแลนด์ ห้ามคว่ำ ห้ามเผยอ เดี๋ยวเจอกัน" ซึ่งก่อนขบวนเข้าสนามถูกสั่งตัดพานท้ายปืนของหุ่นรูปปืนเอ็ม 16 (ที่มา: Facebook/กลุ่มอิสระล้อการมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

โดยขบวนแรกที่เข้าสู่สนามคือ "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" ซึ่งเป็นมาสคอตจากเฟซบุ๊คเพจบันเทิง "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" หรือเดิมคือเพจสมรักษ์ พรรคเพื่อเก้ง ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.6 ล้านบัญชี สำหรับหุ่น "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" ตกแต่งด้วยเสื้อกั๊กลายพราง เขียนข้อความคาดตัวหุ่นว่า "เรารักทหารไทย" โดยที่ก่อนหน้านี้เพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วน มีชื่อเสียงในโลกโซเชียลถึงความกาลกิณี ประกาศเชียร์ฟุตบอลทีมไหนทีมนั้นแพ้

ขบวนที่สองคือ "กะลาแลนด์ Ban ประชา" สะท้อนถึงกรณีที่รัฐบาลวางแผนทำโครงการซิงเกิลเกตเวย์ และการเซ็นเซอร์ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อป้องกันการติดเกมของเยาวชน รวมถึงปิดกั้นเว็บไซต์ต่างๆ โดยขบวนเป็นรูปกะลามะพร้าว ถูกปักด้วยโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ไลน์ เฟซบุ๊ค และสื่อต่างประเทศอย่างบีบีซี ที่เคยปิดตัววิทยุบีบีซีเมื่อ 10 ปีทีแล้ว แต่ล่าสุดกลับมาให้บริการภาคภาษาไทยแบบออนไลน์ และป้ายผ้าที่นำหน้าขบวน เขียนข้อความว่า "ความมั่นคง คือกะลา ขังทวยราษฎร์ ขอผูกขาด ดักกรอง แอบส่องสาร ขอไว้ใจ ให้ศรัทธา รัฐบาล ขออย่าต้าน กด F5 สนั่นรัว"

ขบวนที่สามคือ "ดาร์ธไหน โกงไวเฟร่ออออ!!!" วิจารณ์เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาล คสช. ไม่ถูกเอาผิดหลายโครงการ เช่น อุทยานราชภักดิ์ การจัดซื้อง จีที-200 การจัดซื้อบอลลูนลาดตระเวน ซึ่งกลายเป็นการตรวจสอบคนกันเองไม่ต่างจากยุคของรัฐบาลพลเรือน ทั้งนี้มีขบวนป้ายผ้าเขียนข้อความว่า "เคยเป็นถึงทหารใหญ่ เจไดยอด กลับตาบอด บ้าอำนาจ DARTH VADER อุด'ยานจน ครองออสการ์ ค่าเลิศเลอ ก่อนจะเผลอ เผยวิญญาณ นักการเมือง" 

ขบวนที่สี่คือ "ตั่วเฮียที่รัก" (ตั่วเฮีย ยืมมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วแปลว่า พี่ใหญ่") เป็นหุ่นรูปเด็กชายเปลือยอกนุ่งโจงกระเบน เล่นรถไฟของเล่น อยู่ในอุ้งเท้าของมังกรที่กระหวัดหางพันธนาการเอาไว้ ขณะที่ตัวมังกรมีศรธนูรูปธงชาติสหรัฐอเมริกาปักรอบๆ สะท้อนนโยบายต่างประเทศของไทยที่หันไปทางจีนแทนสหรัฐอเมริกา แต่ต้องเผชิญกับสัญญาโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้านบาท โดยหน้าขบวนมีป้ายผ้าเขียนข้อความเรียงกันว่า "มองซ้ายขวา หาใคร ไยไม่พบ จำประจบ พบเสี่ย เลียพี่ใหญ่ เสี่ยจับมอม ล่อเหยื่อ ด้วยรถไฟ เสี่ยจัดไป 3 ล้านล้าน สำราญพุง"

และขบวนที่ห้า ซึ่งถูกเลื่อยพานท้ายปืนทิ้งคือ ขบวนที่ชื่อว่า "ฟรีซแลนด์ ห้ามคว่ำ ห้ามเผยอ เดี๋ยวเจอกัน" เป็นหุ่นในชุดที่เป็นรูปคล้ายนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนเอาสองมือเทินพานรัฐธรรมนูญไว้บนศีรษะ ข้างหน้ามีหุ่นปืนเอ็ม 16 วางตั้งอยู่และมีผ้าดำผูกปลายกระบอกปืน โดยผ้าดำนั้นผูกหอหุ่นตุ๊กตาไล่ฝนสีขาว สาดด้วยสีแดงเหมือนเลือด คล้ายภาพจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

โดยขบวนนี้มีคำอธิบายว่า ผลสุดท้ายสิ่งที่ถูกกำจัดด้วยรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ใช่เพียงฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่อาจหาญมาท้าทายตน หากแต่เป็นอำนาจของประชาชนและหน่ออ่อนของประชาธิปไตยเองต่างหาก ที่คงอาจไม่มีวันลืมตาดูโลกและเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงในประเทศไทยได้เลย"

 

ป้ายตอบคำถาม "#มีทหารไว้ทำไม" ร่วมแจมกลางขบวน

ที่มา: Facebook/กลุ่มอิสระล้อการมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ก่อนที่ขบวนล้อการเมืองจะออกจากสนาม เมื่อขบวนที่สี่ "ตั่วเฮียที่รัก" เคลื่อนมาถึงหน้าที่นั่งประธาน ได้มีการนำป้ายที่เตรียมไว้มาร่วมในขบวนโดยมีข้อความระบุว่า “มีทหารไว้ทำไม ใครกล้าถาม” และ “มีไว้ห้าม ป้ายผ้า ผู้กล้าถือ” รวมทั้งมีการแสดงสัญลักษณ์สามนิ้วปิดปากของผู้ร่วมขบวน ก่อนที่กลุ่มนักศึกษาจะรีบวิ่งออกจากสนามในที่สุด

อนึ่งในเวลา 15.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจาก ร.อ.สุดเขตต์ แคล้วภัย ผบ.ชป.พท.1 ทางโทรศัพท์แจ้งว่าว่า พบตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีนั่งรถไฟเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ เหตุเกิดเมื่อ 7 ธ.ค. 2558 เดินอยู่ในขบวนพาเหรดล้อการเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ภายในสนามฟุตบอล ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบและแสดงหมายจับต่อผู้ต้องหาโดยเชิญตัวไปที่ สน.รถไฟธนบุรี ก่อนปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อเวลา 23.00 น. (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

กลุ่มอิสระล้อการเมืองย้ำไม่มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง แต่ต้องการเตือนรัฐบาล

ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.40 น. วรยุทธ์ มูลเสริฐ นักศึกษาชั้นที่ปี 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ให้สัมภาษณ์หลังขบวนล้อการเมืองออกจากสนาม ระบุว่าที่ผ่านมาทหารเข้ามาตรวจสอบและเจรจาหลายขั้นตอน และก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งว่าวันจัดงานฟุตบอลประเพณีจะมีการเซ็นเซอร์เกิดขึ้น

นายวรยุทธ์กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง เพียงแค่ต้องการเตือนรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การลงทุนสร้างรถไฟร่วมกับประเทศจีน รวมทั้งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ

 

เพจ "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" ขำก๊ากได้ร่วมพาเหรด-ยันไม่ได้ร่วมคิด อย่าเรียกปรับทัศนคติ

ส่วนเพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วนซึ่งถูกนำไปทำเป็นหุ่นในขบวนล้อการเมือง ได้ชี้แจงต่อแฟนเพจเช่นกันโดยระบุว่า

"55555555555555555555 ห่า อีเจี๊ยบตัวบ๊ะเร่อเลย คือหนูไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยนะพี่ตะหาน เพจหนูไม่ได้เกี่ยวกะการเมือง มีแต่การมุ้งล้วนๆ 5555 น้องๆ เค้าให้เกียร์ ทำหุ่นรูปหนูให้ไปร่วมในขบวนพาเหรดเสยๆ หนูไม่ได้ไปช่วยเค้าคิด ช่วยเค้าทำนะคะ มันไม่ได้มาขอกูสักคำค่ะ

อีดอก หาเรื่องให้กู 55555 ปีนี้เชียร์ธรรมศาสตร์ซะดีมั้งเนี่ย ถ้าจะเรียกไปปรับระดับน้ำในหู พี่ทหารก็เรียกไอ้คนทำหุ่นมันไปปรับนะ ไม่ต้องมาเรียกหนู 55555 ระดับน้ำในหูหนูเท่ากันดีแล้ว ไม่ต้องปรับแล้วจ้า เรียนมาเพื่อทราบ"

55555555555555555555ห่า อีเจี๊ยบตัวบ๊ะเร่อเลย คือหนูไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยนะพี่ตะหาน เพจหนูไม่ได้เกี่ยวกะการเมือง มีแ...

Posted by อีเจี๊ยบ เลียบด่วน on Friday, 12 February 2016

 

ก่อนหน้านี้ พล.ต.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 ในวันที่ 13 ก.พ. ที่สนามศุภชลาศัยว่า ทางกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ได้สั่งการให้ พล.ม. 2 รอ. ที่รับผิดชอบพื้นที่เขตปทุมวัน ดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจาก ม.พัน 1 รอ. นอกเครื่องแบบ จำนวน 100 นาย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้กำหนดเขตรับผิดชอบเป็น 3 เขต คือ 1.ดูแลความเรียบร้อยภายนอกรั้วสนามกีฬา และพื้นที่โดยรอบ 2.ดูแลความเรียบร้อยภายในรั้วสนามกีฬา และ 3.ดูแลความเรียบร้อยภายภายในสนามกีฬา

พล.ต.เฉลิมพล กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลอะไรกับงานฟุตบอลประเพณี แต่ว่าการจัดกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ในรูปของขบวนพาเหรด และการแปรอักษรนั้น ทางคณะกรรมการผู้จัดงานได้ประชุมร่วมกันกับ คสช. แล้ว ก็จะร่วมกันดูความเรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทำนองเดียวกันทางที่พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ให้แนวทางสามประเด็นในกิจกรรมดังกล่าว นั่นคือ 1. การจัดกิจกรรมอย่าไปแสดงออกอะไรที่หมิ่นประมาทบุคคล และหมิ่นประมาทหน่วยงาน 2. การจัดกิจกรรมอย่าไปสร้างความแตกแยกในสังคม และ 3.การจัดกิจกรรม อย่าไปทำให้เสียภาพลักษณ์ส่วนรวมของประเทศ

 

ตัดไม้ข่มนามไม่ช่วยอะไร มธ.ขนทีมชาติเตะชนะจุฬา 5 ต่อ 1 "ลีซอ" ติดภารกิจไม่ได้ร่วมทีมจามจุรี

ส่วนผลการแข่งขันทีมฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชนะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 ประตูต่อ 1 โดยชนะเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน เพิ่มสถิติชนะเป็น 24 ครั้ง เสมอกัน 31 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชนะ 16 ครั้ง โดยชัยชนะนัดนี้นับว่าเป็นสกอร์ที่ห่างกันมากที่สุดในฟุตบอลประเพณี เทียบเท่ากับครั้งที่ 31 เมื่อเดือน ม.ค. 2515 ครั้งนั้นธรรมศาสตร์ชนะ 4-0 แต่สกอร์รวมที่ทั้งคู่ยิงรวมกันได้มากที่สุดยังเป็นของปี 2493 ที่จุฬาเอาชนะไป 5-3

สำหรับผู้ฝึกสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล และ โชคทวี พรหมรัตน์ มีผู้เล่นทีมชาติไทยร่วมทีมจำนวนมากเช่น สารัช อยู่เย็น , อดิศร พรหมรักษ์ , ชนานันท์ ป้อมบุบผา รวมถึง อดิศักดิ์ ไกรษร และมี อภิเชษฐ์ พุฒตาล เป็นกัปตันทีม ซึ่งจะลงเล่นให้ธรรมศาสตร์เป็นครั้งสุดท้ายหลังรับใช้สถาบันมายาวนานที่สุดถึง 17 สมัย ส่วนชนาธิป สรงกระสินธ์ เจ็บโคนขาหนีบมีชื่อเป็นสำรอง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ฝึกสอนคือ สัจจา ศิริเขตร์ มีนักฟุตบอลที่เล่นในสโมสรอาชีพเช่น ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์, วุฒิชัย ทาทอง, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, อภิวัฒน์ งั่วลำหิน และมีอดุลย์ หมื่นสมาน เป็นกัปตันทีม ส่วน “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย ติดภารกิจกับต้นสังกัด แบงค็อก ยูไนเต็ด ไม่ได้มาร่วมทีมจามจุรี

คลิปพิธีตัดไม้ข่มนามของศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมบูมบาก้า เมื่อ 13 ก.พ. 59

อนึ่งก่อนการแข่งขันในเฟซบุ๊คเพจของ "สมาคมนิสิตเก่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" มีการเผยแพร่คลิปพิธีตัดไม้ข่มนามของศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย แต่หลังทำพิธีก็ไม่มีผลต่อสกอร์ในการแข่งฟุตบอลแต่อย่างใด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยพยาบาลสธ. ควง 37 เวร/เดือน แถมปัญหาเงินเดือนตัน ชี้ชำนาญการจ่อลาออกเพียบ

$
0
0

Hfocus รายงาน ผอ.สำนักการพยาบาล เผยพยาบาลรัฐงานหนัก  37 เวร/คน/เดือน แถมพยาบาลชำนาญการจ่อลาออกเพียบหลังเกณฑ์ ก.พ. ให้ขึ้นชำนาญการพิเศษได้แต่ต้องยุบตำแหน่งว่าง เงินเดือนตัน ชี้มาถึงจุดที่คนไข้คาดหวังกับพยาบาล ส่วนพยาบาลมีปัญหางานหนัก ค่าตอบแทนน้อย ไม่คุ้มค่า เกิดความเครียด ส่งผลขอลาออก

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ รายงานว่า ดร.กาญจนา จันทร์ไทย ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ของวิชาชีพพยาบาลในขณะนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก จากปัญหาการไม่มีตำแหน่งบรรจุเป็นข้าราชการสำหรับพยาบาลรุ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มพยาบาลที่ทำงานมานาน ก็ประสบปัญหาไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งจากพยาบาลชำนาญการขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษได้ ทำให้มีแนวโน้มการลาออกสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่าจำนวนการเข้าเวรเฉลี่ยของพยาบาลในภาครัฐ สูงถึง 37 เวร/คน/เดือน มีวันหยุดเพียง 2-4 วัน ต่อเดือน จากเกณฑ์ปกติที่ควรอยู่ที่ 22 เวร/คน/เดือน มีวันหยุด 8 วัน และยิ่งมีการลาออกมาก คนที่เหลืออยู่ก็มีแนวโน้มที่จะลาออกตามมากขึ้น เนื่องจากต้องรับภาระงานที่หนักขึ้นไปอีก
 
ดร.กาญจนา กล่าวว่า โครงสร้างอัตรากำลังของพยาบาลในสังกัด สธ.ปัจจุบัน มีพยาบาลที่เป็นข้าราชการประมาณ 9 หมื่นคน และพนักงานจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) อีก 1.2 แสนคน ซึ่งในส่วนของพยาบาลที่เป็นข้าราชการ กว่า 97% เป็นพยาบาลชำนาญการ โดยมีพยาบาลชำนาญการพิเศษ 3% และพยาบาลเชี่ยวชาญเพียง 0.01% เท่านั้น ซึ่งปัญหาก็คือกลุ่มพยาบาลชำนาญการ ซึ่งเมื่ออายุ 40 ปี เงินเดือนก็เริ่มตันแล้ว และโอกาสจะขึ้นเป็นพยาบาลชำนาญการพิเศษก็น้อยมาก
 
“ช่วง 2-3  ปีที่ผ่านมา ก็พยายามคุยกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าจะเอา 22% ขึ้นชำนาญการพิเศษได้ไหม เอา 2 หมื่นคนใน 9 หมื่นขึ้น ให้เขาได้หายใจได้บ้าง แต่พอเกณฑ์ในปี 2558 ออกมาคือให้ขยายเพดาน 22% ได้ แต่ต้องยุบตำแหน่งว่างด้วย พยาบาลก็หมดกำลังใจ ซึ่งน่ากลัวมากเพราะถ้าตันอยู่แบบนี้แล้วเขาจะอยู่ไปทำไม ตั้งแต่พอรู้ว่าจะต้องยุบตำแหน่งด้วย จำนวนการลาออกก็มากขึ้น ตอนนี้กำลังทำข้อมูลให้ผู้ที่ประสงค์จะลาออกแจ้งเข้ามา โดยจะสรุปข้อมูลเร็วๆ นี้ ซึ่งดูแนวโน้มแล้วก็คงมีจำนวนมาก” ดร.กาญจนา กล่าว
 
ขณะเดียวกัน ปัญหาในกลุ่มของพยาบาลรุ่นใหม่ ก็คือมีการบรรจุมาแล้ว 3 รอบ แต่ก็ยังเหลือค้างรอบรรจุอยู่อีกกว่า 2,042 คน แต่มีคนเกษียณปีละประมาณ 500 คน แถมยังโดนเรื่องยุบตำแหน่งอีก ดังนั้นกลุ่มนี้ก็คงไม่รอบรรจุแล้วเช่นกัน
 
“ถ้าดูในภาพรวมของประเทศ เราไม่ขาดคน ตัวเลขพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ 1:450 ซึ่งใกล้เคียงกับของ WHO ซึ่งแนะนำที่ 1:500 แต่เอาจริงๆ มันดูแค่นี้ไม่ได้ เพราะเป็นตัวเลขที่คิดจากจำนวนประชากรไทยเท่านั้น แต่อย่าลืมว่าเมื่อเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็จะมีชาวต่างชาติเข้ามารับบริการมากขึ้นอีกเยอะมาก ประเด็นสำคัญคือเราเลี้ยงคนให้อยู่ในระบบไม่ได้ อย่างเรื่องการยุบตำแหน่ง ทำไม ก.พ.ไม่คำนึงถึงความจำเป็น” ดร.กาญจนา กล่าว
 
ผู้อำนวยการสำนักการพยาบาล กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ปัญหา นอกจากขอให้ยกเลิกการยุบตำแหน่งว่างแล้ว ถ้าเลื่อนตำแหน่งไม่ได้ก็อย่าให้เงินเดือนตัน เช่น อาจทำแบบวิชาชีพครู ที่หากเงินเดือนตันแล้วสามารถเลื่อนไหลไปแท่งอื่นได้ อย่างน้อยยังพอมีกำลังใจ แต่ ก.พ. ก็บอกว่าถ้าจะทำแบบนี้ต้องแก้กฎหมายเยอะมาก
 
“ถ้าไม่แก้ปัญหาก็ไม่รู้ว่ามันจะระเบิดวันไหน ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป มันจะมาถึงจุดที่คนไข้ก็คาดหวังกับพยาบาล พยาบาลงานหนักแถมค่าตอบแทนต่ำไม่คุ้มค่าก็เครียด แล้วจะขอลาออกกันไปเรื่อย ทุกวันนี้ก็มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า พยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีอัตราการเจ็บป่วย อัตราการบาดเจ็บ มีความเครียดและป่วยรุนแรงมากกว่าวิชาชีพอื่นๆ ”ดร.กาญจนา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ม.ราชภัฏยะลา : PerMAS ขอโทษปชช. ไม่สามารถจัดคุยสันติภาพได้ หลังถูกทหารแบนเวที

$
0
0

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS)  รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า เวลา 13.30 น. PerMAS ได้แอคชั่นแสดงจุดยืน กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นพื้นที่เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ณ.หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เนื่องวันเดียวกัน (13 ก.พ.59) PerMAS ได้มีกำหนดการเสวนา “สันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน” หลังจากได้มีการประชาสัมพันธ์ถึงกรณีการจัดเสวนาครั้งนี้ ก่อนที่ กอรมน.ภาค4 ส่วนหน้า ได้เชิญ PerMAS เข้าร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการจัดเสวนาในครั้งนี้ 

โดย PerMAS ระบุว่า ในที่ประชุมทาง กอรมน.ภาค4 ส่วนหน้า ได้มีการเสนอสองแนวทางด้วยกัน 1.ระงับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และ 2. เลื่อนการจัดเสวนา เพราะการจัดเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นค่อนข้างอ่อนไหว (Sensitive) 

 

 

:::PerMAS อ่านแถลงการณ์พร้อมกับแอคชั่น:::กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน------------------เมื่...

Posted by The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS on 13 กุมภาพันธ์ 2016

 

อารีฟีน โซะ ประธาน PerMAS ได้กล่าวว่า วันนี้หลังจากเวทีทางการเมืองถูกปิดแล้ว เราต้องออกมาแสดงจุดยืนของเราต่อความสำคัญของพื้นที่ทางการเมืองต่อกระบวนการสร้างสันติภาพปาตานี ที่เป็นวาระของประชาชน หลังจากเจ้าหน้าที่ให้ยุติการจัดเสวนา 

อารีฟีน ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในขณะที่นักศึกษาเดินขบวนไปยังสถานที่ต่างๆ ทางเจ้าหน้าที่ มีการคุกคามขมขู่นักศึกษา และพยายามแย่งไมค์ของนักศึกษาที่กำลังพูดอยู่

“PerMAS ยังยืนยันความสำคัญต่อพื้นที่ทางการเมือง โดยจะมีการรุกเปิดพื้นที่ทางวิชาการในรั่วมหาลัยต่างๆ เพราะพื้นที่ในรั้วมหาลัย เป็นพื้นที่ทางวิชาการ ดังนั้น PerMAS จะเป็นต้องรุกเปิดพื้นที่ทางการเมืองในรั้วมหาลัยต่างๆที่อยู่ในพื้นที่ปาตานีและนอกพื้นที่ปาตานี” อารีฟีน กล่าว

แถลงการณ์ PerMAS ต่อการยุติโครงการเสวนา"สันติภาพปาตานี ทำไมต้องประชาชน
 
กอ.รมน.ชี้จัดอะไรก็ได้แต่เรียกหาเอกราชไม่ได้ คำว่า ‘right to self determination’ เป็นประเด็น
 
บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานด้วยว่า พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในส่วนรายละเอียดของการหารือระหว่างนักศึกษากับเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ดูแลในพื้นที่เฉพาะจุด แต่เท่าที่บอกได้นั้น เจ้าหน้าที่เรียกหารือเพราะว่าเห็นว่าทางกลุ่มนักศึกษายังไม่ชัดเจนในเรื่องเป้าหมายของการจัดงาน แต่ที่ระบุว่าเป็นจุดประสงค์การจัดงานนั้นไม่สมควรเนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณเรียกร้องในสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นคือการใช้คำว่า Right to self determination คือเอกราช ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีหลายเรื่องที่หมิ่นเหม่มากแต่ก็โอนอ่อนให้ แต่สำหรับเรื่องนี้ถือว่าทำไม่ได้
 
“เขาพยายามจะบอกว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สงคราม ให้บีอาร์เอ็นเป็นคู่สงคราม แต่บีอาร์เอ็นเป็นคนทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่มาทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ปกป้องประชาชน เขาพยายามยกระดับไปสู่ต่างประเทศ ใช้คำว่า right to self determination อันนี้ผิดกฎหมาย” โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่เองก็เข้าใจถึงธรรมชาติการเคลื่อนไหวของเยาวชน แต่ทุกฝ่ายไม่ว่าใครก็ตามรวมทั้งนักศึกษาต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย สิ่งที่เจ้าหน้าที่เป็นห่วงในเวลานี้ ไม่ใช่ตัวนักศึกษา แต่เกรงว่าอาจมีคนอื่นอยู่เบื้องหลัง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสท. เตรียมถก The Daily Dose เข้าข่ายเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช. หรือไม่

$
0
0
กสท. เตรียมพิจารณารายการ The Daily Dose ช่อง Voice TV ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 2559 ว่าจะเข้าข่ายมีเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/57 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/57 หรือไม่

 
 
14 ก.พ. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 6/59 วันจันทร์ที่ 15 ก.พ. 2559 นี้มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ กรณีการออกอากาศรายการ The Daily Dose ทางสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง Voice TV เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ก.พ. 2559 เวลาประมาณ 21.00 – 22.00 น. อาจเข้าข่ายมีเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/57 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/57 และอาจขัดต่อบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2557
 
นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ตอนนี้สื่อเองกำลังเซ็นเซอร์ตัวเองขั้นสูงสุดอยู่แล้วก็เลี่ยงที่จะไม่พูดเรื่องการเมืองนอกจากการรายงานข่าวธรรมดาธรรมดาทั่วไปทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสที่จะได้รับการวิเคราะห์ที่หลากหลายรอบด้านลงลึกในการเปรียบเทียบ และ ตัดสินใจเรื่องที่กระทบกับชีวิตของเขา โดยเฉพาะบรรยากาศของการกำลังร่างธรรมนูญฉบับใหม่ กสทช. ควรจะส่งเสริมการเปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วมให้คนรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจริงๆ ในทางตรงข้าม ถ้า กสทช. ใช้อำนาจในเชิงที่จะทำให้เกิดความกลัวและปิดกั้นว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สื่อต้องระวังและแตะต้องไม่ได้มันก็จะสวนทางกับทิศทางการปฏิรูป ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
 
นอกจากนี้มีวาระเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการออกอากาศที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมได้แก่ กรณีการออกอากาศรายการตื่นมาคุย ทางช่องดิจิตอล MCOT HD กรณีการออกอากาศรายการ The Lover Machine วงล้อลุ้นรัก ทางช่องรายการ 3 HD วาระสรุปผลการพิจารณากรณีรายการ Super BB Max ออกอากาศทางกิจการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ช่อง Hit Station
 
วาระอื่น ๆ น่าจับตา ได้แก่ ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์  ในการมีคำสั่งทางปกครองเพิ่มเติมจากมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จากการประชุมครั้งที่แล้ว (5/59 เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2559) กรณี บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด แจ้งเปลี่ยนแปลงระบบการให้บริการแพ็กเกจ Z PAY TV ทางกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม GMM Z วาระความเห็นของอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯต่อผลสำรวจรายการโทรทัศน์ช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว หลังออกอากาศ (Post rate) วาระมาตรการบังคับทางปกครองกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กรณีเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามประกาศการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หรือเรียงลำดับเลขช่อง รวมทั้งวาระข้อโต้แย้งคัดค้านประกาศหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ เงื่อนไขการอนุญาต และมติ กสท. ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด  โดยสามารถติดตามผลการประชุมในวันจันทร์นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ส่องพาเหรดล้อ 5 ปีก่อนรัฐประหาร ล้อนักการเมืองไม่เป็นไร ล้อรัฐบาลทหารเท่านั้นเป็นเรื่อง

$
0
0

 

ถือเป็นปีที่ 2 แล้วของพาเหรดล้อการเมืองในงานฟุตบอลเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 และ 71 ภายใต้รัฐบาลทหาร และคสช. ที่กิจกรรมดังกล่าวถูกควบคุมอย่างเข้มข้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างที่ วรยุทธ์ มูลเสริฐ นักศึกษาชั้นที่ปี 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ให้สัมภาษณ์หลังขบวนล้อการเมืองออกจากสนามวานนี้(13 ก.พ.59) ระบุว่าที่ผ่านมาทหารเข้ามาตรวจสอบและเจรจาหลายขั้นตอน และก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งว่าวันจัดงานฟุตบอลประเพณีจะมีการเซ็นเซอร์เกิดขึ้น

วรยุทธ์กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่มีเจตนาสร้างความขัดแย้ง เพียงแค่ต้องการเตือนรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การลงทุนสร้างรถไฟร่วมกับประเทศจีน รวมทั้งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ (อ่านรายละเอียด)
 
ในโอกาสขอย้อนกลับไปดูผลงานการล้อการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน งานฟุตบอลเพณี 5 ปี ก่อนรัฐประหาร ที่ไม่ถูกควบคุมจากรัฐบาล ซึ่งภาพบางส่วนที่เพจกลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ไว้ในอดีต ดังนี้
 
 
ครั้งที่ 69 ปี 56 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 
โดย เมื่อวันที่ 2 ก.พ.56 MGR Onlineรายงานบทสัมภาษณ์ “หงส์” สุบรรณ บุญท่วม นักศึกษาชั้นปี 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ประจำปี 2556 เปิดเผย แนวคิดปีนี้ง่ายๆ สบายๆ เข้าใจง่าย ซึ่งได้หยิบเอาประเด็นทางการเมืองถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์หนังดังๆที่ใครหลายคนรู้จักดี ปรับเนื้อหาประเด็นให้เข้ากับภาพยนตร์แต่ละเรื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจมากขึ้น ผ่านตัวหุ่นล้อการเมืองทั้ง 4 ตัว (ประกอบด้วย 300 ประชาตัน กัปตัน อเมริโกย หมื่นห้ามหาสนุก และคุณนาย(ก)ฮา)
 
ครั้งที่ 68 ปี 55 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 
 
 
โดยในครั้งนั้น วันที่ 25 ก.พ.55 MGR Onlineรายงานด้วยว่า “ออม-ศุทธิกร โพธิ์ทองคำ” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีการจัดการสถาบันนานาชาติสิรินธร ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง ประจำปี 2555 เล่าว่า พวกเราเหล่านักศึกษาได้แต่หวังว่าจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจ และจุดประกายให้มวลชนได้ฉุกคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขาเอง ในวาระนี้นักศึกษาทุกคนได้รวมตัวกันทุ่มเทแรงใจ สละหยาดเหงื่อ ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ กลั่นกรองความรู้สึกที่ทุกคนมีอยู่ในเบื้องลึก เพื่อที่จะสร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและประชาชนคนทั่วไป 
 
“คอนเซ็ปต์ของหุ่นล้อการเมืองในปีนี้ คือ การหยิบยกเอาประเด็นที่ไม่ยากและไม่ง่าย เน้นความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ และคลอบคลุมกระแสสังคม โดยใช้คำว่า “เอา” ซึ่งเป็นคำฮิตติดหู นำเสนอผ่านหุ่นล้อการเมืองทั้ง 4 ตัว คือ “เอาอยู่” แต่มัววุ่นเรื่องคนเมืองนอก “เอาหน้า” ออกทีวีทำทีใหญ่ “เอามั้ย” ล่ะ เสรีภาพอาบเลือดไทย รัฐบาลจัญไร...กู “ไม่เอา” ประธานกลุ่มอิสระล้อการเมืองประจำปี 2555 เล่า 

ครั้งที่ 67 ปี 54 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

ชื่อ ขึ้นเงินเดือนฟรี ภาษีประชาชน

นางอับ(ปรี)สิทธิ์

ชั่ว(จน) ฟ้าดินสลาย ตอน” ประชาวิวัฒน์” กับดักมนุษย์ สุดสยอง

ครั้งที่ 66 ปี 53 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

ล้อการเมืองทักษิณ ฮุนเซน ที่มา : tlcthai.com

ที่มา : tlcthai.com

ครั้งที่ 65 ปี 52 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ 

ปิ๊งรักสลับขั้ว ล้อเนวิน ชิดชอบและอภิสิทธิ์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยแผน 4 ระยะควบรวมอาชีวะสังกัด สช. มา สอศ.

$
0
0
เผยผลประชุมการบริหารจัดการรวมสถานศึกษา ระยะ 1 เดือน ก.พ. เร่งยกร่างประกาศ ศธ. การโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคคล สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ. ระยะ 2 เดือน มี.ค.-เม.ย. เร่งบริหารจัดการไม่ให้กระทบ นศ. ที่จะจบ ระยะ 3 เดือน พ.ค. ปีการศึกษาใหม่เร่งใช้สัดส่วนรับสายอาชีพต่อสายสามัญ 42:58 ระยะ 4 ช่วงจัดทำงบฯ ปี 2560 จะวางแผนระยะยาวร่วมกันอีกที โดยการควบรวมครั้งนี้เป็นเพียงการโอนบุคลากร ภารกิจที่อยู่ในกำกับของ สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ.ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนแต่อย่างใด

 
14 ก.พ. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าตามที่ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 42ง ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่8/2559 เรื่อง การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา44ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2547สั่งการให้โอนอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรียนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาไปเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
 
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 13ก.พ. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เป็นประธานประชุมการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) ผู้แทนและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วม
 
โดย ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวภายหลังประชุมว่า เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2559 กำหนดให้มีผลบังคับนับตั้งแต่วันถัดไปที่มีการประกาศ ซึ่งก็คือวันที่ 13 ก.พ. ดังนั้นจึงได้เชิญทุกที่ประชุมฝ่ายมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นของคำสั่ง และเตรียมแผนการทำงาน เบื้องต้น กำหนดแนวทางดำเนินการเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก คือ ช่วง 2 สัปดาห์ของเดือน ก.พ.นี้จะมุ่งให้การเปลี่ยนผ่านเดินไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด โดยเฉพาะการถ่ายโอนภารกิจ ทรัพย์สิน งบประมาณ บุคลากร ฯลฯ ซึ่ง สอศ.จะเร่งยกร่าง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การโอนกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณบุคคล ฯลฯ เสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามในวันที่15ก.พ.นี้ และวันเดียวกัน ตนจะทำหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อมอบหมายให้การปฏิบัติภารกิจในการดูแลสถานศึกษาเอกชนเป็นไปตามเดิม ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานราบรื่นไม่สะดุด
 
ระยะที่สอง เดือน มี.ค.-เม.ย.ถือเป็นช่วงสำคัญที่นักเรียน นักศึกษาจะจบการศึกษาจึงต้องระวังไม่กระทำการอะไรที่ส่งผลกระทบต่อเด็กไม่ได้ ดังนั้น จะเป็นช่วงที่ต้องเร่งบริหารจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยมากที่สุด เพื่อให้เด็กได้เรียนจบตามแผนที่วางไว้ ระยะที่สาม เดือน พ.ค.เป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ จะร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2559 ซึ่ง สอศ.กำหนดสัดส่วนรับนักเรียนสายอาชีพต่อสายสามัญอยู่ที่ 42:58 โดย 42%ของอาชีวะทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนในจังหวัดนั้นจะต้องวางแนวทางส่งต่อเด็กร่วมกันอย่างไรก็ตาม สอศ.ไม่ใช่จะแย่งเด็กจาก สพฐ.แต่เราพบว่ามีนักเรียน 7% ที่จบ ม.3 แล้วไม่เรียนต่อแต่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สอศ.จะไปจูงใจให้เด็กกลุ่มนี้มาเรียนสายอาชีพมากขึ้นและระยะสุดท้าย ช่วงที่จะต้องจัดทำงบประมาณปี 2560 ก็จะมีการวางแผนการพัฒนาระยะยาวร่วมกันต่อไป
 
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในช่วงแรก สอศ.จะรับโอนข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของกลุ่มงานโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน สช.มาอยู่ในสังกัด สอศ.ทั้งสิ้น 27 คน ซึ่งจะมอบหมายให้รองเลขาธิการ กอศ.ทำหน้าที่กำกับดูแล โดยยังคงให้ปฏิบัติงานตามภารกิจที่ทำอยู่เช่นเดิมและจะค่อยๆเพิ่มปริมาณงานให้มากเพียงพอ เมื่อภาระงานมากขึ้นก็จะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับสำนักภายใน สอศ.และต่อไปอาจจะมีการยกร่าง พ.ร.บ.อาชีวศึกษาเอกชนด้วยแต่ระหว่างนี้วิทยาลัยอาชีวะเอกชนยังคงดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ไปก่อน
 
“คำสั่ง คสช.ดังกล่าวถือเป็นประโยชน์อย่างมากที่อาชีวะรัฐและเอกชนจะมาร่วมกันผลิตกำลังคนได้ตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่งต่อไปทั้งอาชีวะรัฐและเอกชนจะสามารถรวมพลัง เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้วิชาการ และการใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันว่าการควบรวมดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน แน่นอน เพราะเรายึดหลักการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ให้อิสระในการจัดการศึกษา แต่เป้าหมายสำคัญคือร่วมขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อควบรวมแล้วจะทำให้มี สอศ.มีวิทยาลัยอาชีวะอยู่ในกำกับดูแลทั้งสิ้น 886 แห่ง และมีนักเรียนสิ้น 976,615 คน แบ่งเป็น วิทยาลัยอาชีวะรัฐ จำนวน 425 แห่ง นักศึกษา 674,113 คน และวิทยาลัยอาชีวะเอกชนจำนวน 461 แห่ง นักศึกษา 302,502 คน” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว และว่าทั้งนี้การรวมอาชีวศึกษารัฐและเอกชนครั้งนี้เป็นเพียงการโอนบุคลากร ภารกิจที่อยู่ในกำกับของ สช.มาอยู่ในกำกับของ สอศ.ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน
 
ด้าน รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สวทอ.) กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกยินดีอย่างมากและรอการประกาศชัดเจนมาตลอด เพราะในการประชุม สวทอ.ในเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ที่ต้องการให้เกิดการรวมอาชีวศึกษาเอกชนและอาชีวศึกษาของรัฐเข้าด้วยกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของการจัดการศึกษา ทั้งในเรื่องการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน มาตรฐานวิชาการ ซึ่งจะทำให้การผลิตกำลังคนของอาชีวศึกษาไทยสอดคล้องกับและตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การบริการ ท้องถิ่น กลุ่มคลัสเตอร์ รวมถึงการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนด้วย
 
“คำสั่งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเทศชาติและอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาทางอาชีวะเอกชนก็มีเตรียมพร้อมวางโครงสร้างอาชีวะเอกชนระดับจังหวัด มีการสร้างความเข้าใจเพื่อเตรียมการรองรับไว้อยู่แล้ว เชื่อว่าจากนี้มาตรฐานหลักสูตรต่าง ๆ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทำให้อาชีวะรัฐและเอกชนรวมตัวกันได้เป็นอาชีวศึกษาของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ เรายังสามารถบริหารงานจัดการได้อย่างอิสระมั่นใจว่าไม่มีผลกระทบ หากมีเรื่องที่ต้องการตัดสินใจที่รวดเร็ว เพื่อบริการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพผู้บริหารอาชีวะเอกชนก็ยังคงทำได้ปกติ และเชื่อว่าข้อจำกัดปัญหาเรื่องการประสานงานต่าง ๆ จะหมดไป” รศ.ดร.จอมพงศ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหพันธ์ปลัดอำเภอจี้รัฐบาลให้ความกระจ่างเหตุ 'พ.ต.ท.จันทร์' เสียชีวิต

$
0
0
สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลให้ความกระจ่างสาเหตุการเสียชีวิตของ 'พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์' เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ

 
14 ก.พ. 2559 มติชนออนไลน์รายงานว่าสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ฉบับที่ 3/2559 ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้รัฐบาลให้ความกระจ่างสาเหตุการเสียชีวิตของพนักงานสอบสวน สน.เทียนทะเล โดยระบุว่า
 
สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ (ส.พ.ช.) ยุคก่อตั้งมีสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท.) ที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้วยเจตนารมย์ที่ตรงกันไม่ว่าจะเป็น การมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบ การส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานสอบสวนไม่ว่าฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีความเป็นอิสระ สามารถ ใช้วิชาชีพการสอบสวนโดยปราศจากการชี้นำหรือบิดเบือนคดีจากผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา ผู้มีอิทธิพล ซึ่งในการขับเคลื่อนที่ผ่านมา สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ และสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และร่วมสัมมนากับองค์กรภาคเอกชนในหลายองค์กรเพื่อกำหนดโครงสร้างรูปแบบกระบวนการสอบสวนคดีอาญา เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชน ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
 
พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ ท่านทำหน้าที่เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ มีความมุ่งมั่นทุ่มเทขับเคลื่อนด้วยเจตนารมณ์ตามที่กล่าวมาร่วมกับพี่น้องพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจกว่า 3,000 นาย ซึ่งแน่นอนว่าเจตนารมณ์และแนวทางในการขับเคลื่อนย่อมมีผลกระทบต่ออำนาจ และผลประโยชน์โดยเฉพาะระบบโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น การเสนอขอแยกพนักงานสอบสวนให้มีสายงานเฉพาะของตนในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือการขอแยกเป็นอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีความเป็นอิสระในกระบวนการสอบสวนคดีอาญา ความมุ่งมั่นทุ่มเทของ พ.ต.ท.จันทร์ฯ ครั้งล่าสุดได้มีการยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีทบทวนคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2559 และที่ 7/2559 กรณีเนื้อหาของ 2 คำสั่งนี้มีผลกระทบต่อพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทั้งประเทศ ซึ่งกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ จึงมีความเคลือบแคลง สงสัยว่ามีความเชื่อมโยง กรณีที่ พ.ต.ท.จันทร์ ได้ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อให้การสอบสวนของตำรวจมีความเป็นอิสระเพื่อพี่น้องประชาชนไทย ประเด็นการเสียชีวิตอาจมีส่วนเกี่ยวโยงทำให้ฝ่ายตรงข้าม ใช้อิทธิพลมืดและดำเนินการกับ พ.ต.ท.จันทร์ ฯได้ ซึ่งสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีอาญา ดังนี้
 
1.ปลัดอำเภอมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีอาญา และกรณีที่นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมการสอบสวนคดีอาญาทั่วไปก็จะมีปลัดอำเภอ ในการร่วมทำการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ หรือกรณีที่ประชาชนร้องขอความเป็นธรรม ในกระบวนการสอบสวนพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองโดยเฉพาะนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะมอบหมายให้ปลัดอำเภอเข้าร่วมในการสอบสวน รวมถึงคดีอาญาบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองเป็นผู้สอบสวนคดีอาญานั้นๆ แต่ฝ่ายเดียว จะเห็นได้ว่ามิติของการสอบสวนคดีอาญาหลักๆจะมีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองทำการสอบสวน โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทคดี ลักษณะคดีและเงื่อนไขกฎหมาย ในการเชื่อมโยงในการปฏิบัติงานสอบสวนร่วมกัน
 
2.เมื่อลักษณะงานของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครองมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันนั้นกรณี พ.ต.ท.จันทร์ฯ เลขาธิการสหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ได้จัดตั้งองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญร่วมกับพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจอีกกว่า 3,000 นาย มีเจตนารมย์ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความยุติธรรมในกระบวนการที่ทำอย่างแท้จริงนั้น สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ที่ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขในพื้นที่แด่พี่น้องประชาชนเฉกเช่นเดียวกัน จึงต้องให้การสนับสนุนร่วมมือกัน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสอบสวนให้เกิดความเป็นอิสระ ตัดอำนาจการชี้นำคดีการบิดเบือนคดีจากอิทธิพล ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอิทธิพล ทั้งสององค์กรจึงมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และ ได้ร่วมมือขับเคลื่อนกระบวนการสอบสวนเป็นไปตามหลักสากลนี้มาตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน
 
เมื่อข้าราชการน้ำดี พ.ต.ท.จันทร์ ได้ออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนให้ระบบ และโครงสร้างการสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ตาย ย่อมมีประเด็นที่ตัดเสียไม่ได้ คือเกิดจากการใช้อิทธิพลมืดของผู้เสียประโยชน์ จึงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของพี่น้องประชาชน ในระบบการปกครองและการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ ทำให้ประชาชนเกิดความสิ้นศรัทธาและไม่ไว้ใจฝ่ายรัฐได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม หรือแม้แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุการเสียชีวิตของ พ.ต.ท.จันทร์ ชัยสวัสดิ์ ให้ชัดเจน โดยการแสดงหลักฐานต่อสาธารณชน เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่พี่น้องประชาชน อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้คนดีมีที่ยืนในสังคมไทยได้ต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ระบุ ร่าง รธน.ต้องนำหลักสิทธิชุมชนและสิทธิอื่น ๆ ของประชาชนกลับมา

$
0
0
14 ก.พ. 2559 สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเบื้องต้นต่อสาธารณชนและเปิดรับฟังความคิดเห็น ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปนั้น นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้นำหลักการของบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบัญญัติแทนมาตรา 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการประกาศเจตจำนงของรัฐไทยในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค รวมทั้งรับรองหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ  นอกจากนั้นควรรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องต่างๆ โดยยังคงหลักการไม่ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ควบคู่ไปกับการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนและการทำหน้าที่ของรัฐมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาชนและประชาคมโลกยิ่งขึ้น
 
สำหรับเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองรักษาและส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไปกำหนดเป็นหน้าที่รัฐ  คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรยืนยันกำหนดสิทธิชุมชนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามเดิม โดยมีหลักการและสาระสำคัญไม่ต่ำไปกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 เคยรับรองไว้
 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขอบเขตของสิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิในเรื่องอื่นๆ ด้วย ดังนั้น เพื่อให้การใช้สิทธิชุมชนมีความสมบูรณ์ขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจงเหตุผลก่อนการอนุญาตโครงการก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับชุมชน การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน สิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น
 
สุดท้าย ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างความปรองดอง ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลและเป็นความคาดหวังของภาคส่วนต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดเป็นหมวดการปฏิรูปแทนการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้เกิดกลไกรวมทั้งวางกรอบการปฏิรูปให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง นางเตือนใจกล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พม.เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม 56-57 จำนวน 868 ราย 120 ล้านบาท

$
0
0
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เตรียมจ่าย 120 ล้านบาท ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการการชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557 จำนวน 868 ราย รวม 120 ล้านบาท ตายรับ 400,000 บาท ทุพพลภาพ 200,000 บาท บาดเจ็บสาหัส 100,000 บาท บาดเจ็บ 60,000 บาท และบาดเจ็บเล็กน้อย 20,000 บาท เปิดลงทะเบียน 17 กพ.-17 มี.ค. คาดล็อตแรกเงินถึงมือเดือน เม.ย. นี้

 
14 ก.พ. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านางขวัญวงศ์ พิกุลทอง รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ตามหลักมนุษยธรรม แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 พร้อมทั้งอนุมัติใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 120 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯรับผิดชอบดำเนินการนั้น ตนในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบกองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตได้ประชุมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณการผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองปี 2556-2557 ซึ่งเป็นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 868 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 840 ราย ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนยื่นคำร้องรับเงินเยียวยา ระหว่างวันที่ 17 ก.พ.-17 มี.ค.นี้ โดยในกรุงเทพฯ เปิดลงทะเบียนที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม.ต่างจังหวัดลงทะเบียนที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ทุกจังหวัด ซึ่งพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมฯ จะแถลงข่าวรายละเอียดต่างๆ ในวันที่ 15 ก.พ.นี้
 
รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวด้วยว่า สำหรับเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาเป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้เสียชีวิต 400,000 บาท ผู้ทุพพลภาพ 200,000 บาท ผู้บาดเจ็บสาหัส 100,000 บาท บาดเจ็บ 60,000 บาทและบาดเจ็บเล็กน้อย 20,000 บาท ซึ่งจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์คู่ขนานไปกับการเปิดลงทะเบียน ทั้งการยื่นให้ 20 กระทรวง ตรวจสอบว่าผู้ได้รับผลกระทบมีคดีความทางการเมืองที่ยังไม่สิ้นสุดคดีหรือไม่ รวมถึงส่งเรื่องถึงคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน ตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองพิจารณาอนุมัติ หากเห็นชอบ ก็ส่งรายชื่อขออนุมัติงบกลางจากสำนักงบประมาณ ซึ่งคาดว่าเร็วสุดจะสามารถเบิกจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบชุดแรกภายในปลายเดือน เม.ย.นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปิดฉาก 'โรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา' หลังศาลให้ยึดทรัพย์สินเป็นของแผ่นดิน

$
0
0
ด้านครอบครัวเจ้าของย้ายออกไปอยู่มัสยิดพร้อมตัดสินใจไม่อุทธรณ์ ระบุ "เราโดนมามากแล้ว อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบคนปกติเสียที"

 
 
 
 
(ที่มาภาพ: บีบีซีไทย)
 
 
14 ก.พ. 2599  บีบีซีไทยรายงานว่าครอบครัวแวมะนอเก็บข้าวของทั้งหมดที่มีอยู่ในบ้านที่ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี มีชาวบ้านที่อยู่รอบๆไปช่วยพวกเขาเพื่อจะย้ายออกจากบ้านซึ่งก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนปอเนาะด้วย พวกเขาต้องออกจากที่ดินผืนนี้หลังจากที่แพ้คดีในศาล ถูกคำสั่งให้ยึดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ว่าด้วยการยึดทรัพย์ที่ถูกใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้ายด้วยการเป็นที่ฝึกอาวุธของผู้ก่อเหตุ
 
“ผมเคารพการตัดสินใจของศาล” บันยาล ลูกชายของดอเลาะ แวมะนอบอก ส่วนเรื่องที่ว่าคนที่มีหมายจับและเป็นต้นตอของการยึดทรัพย์หนนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินหรือเป็นเจ้าของโรงเรียนนั้น เขาเชื่อว่าศาลรู้แล้ว “ครอบครัวก็ไม่ทราบว่าพ่อไปทำอะไร แต่เรื่องที่ดินผมก็ชี้แจงไปแล้วว่ามันเป็นของคนอื่น แต่ศาลคงคิดว่ามีหลักฐานที่เชื่อถือได้ เมื่อศาลตัดสินผมก็ยอมรับ ผมบอกแต่แรกแล้วว่า เมื่อเราสู้คดี ไม่ว่าแพ้หรือชนะเราก็จะยอมรับคำตัดสิน”
 
“โรงเรียนปอเนาะญีฮาดวิทยา” ชื่อที่เคยมีสื่อรายงานว่าเป็นตัวปัญหาตั้งแต่แรก เพราะทำให้คนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ไว้ใจ แม้มุสลิมทั่วไปจะบอกว่าคำว่า “ญีฮาด” เป็นเรื่องของการต่อสู้กับตัวเองและเป็นการพยายามมุ่งมั่นทำความดีก็ตาม แต่ 11 ปีที่โรงเรียนเจอคดียึดทรัพย์อันเนื่องมาจากคดีที่เกี่ยวพันไปถึงครูใหญ่ของโรงเรียนคือ นายดอเลาะ ทำให้คนในครอบครัวต่างถูกเพ่งเล็งจนอยู่ไม่เป็นสุข สมาชิกบางคนถูกยิงเสียชีวิตยิ่งทำให้เส้นทาง 11 ปีเต็มไปด้วยปัญหา
 
จากคดีที่เริ่มต้นเมื่อปี 2548 ที่เชื่อมโยงมาจากการซัดทอดของบุคคลสองคนที่บอกเจ้าหน้าที่ว่า พวกเขาได้ฝึกอาวุธภายในบริเวณโรงเรียน คดีนี้มีกลุ่มบุคคล 36 คนถูกออกหมายจับในข้อหาก่อความไม่สงบ เป็นกบฎและอั้งยี่ ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่หลบหนี อีก 18 คนเข้ามอบตัวสู้คดีและได้รับการปล่อยตัวหมดเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่หลบหนีมีนายดอเลาะ ครูใหญ่โรงเรียนญีฮาดวิทยารวมอยู่ด้วย นอกจากคดีอาญาแล้ว อีกด้านหนึ่ง ปปง.โดยมีอัยการเป็นตัวแทน ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่งร้องขอให้ยึดทรัพย์เพราะเห็นว่าเป็นการใช้ที่ดินไปสนับสนุนการก่อการร้าย หลักฐานสำคัญในคดีนี้คือคำให้การของผู้ต้องหาสองคนในคดีอาญาดังกล่าวที่ระบุว่าพวกตนเคยไปฝึกอาวุธในโรงเรียน ต่อมาศาลแพ่งตัดสินเมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาให้ริบทรัพย์เป็นของแผ่นดินตามที่ ปปง.ร้องขอ
 
“ที่ดิน 14 ไร่นี้เป็นของพี่น้องในตระกูลห้าคน” บันยาลกล่าว “เจ้าของที่ก็อยู่ในที่ต่างๆ กระจัดกระจายกันไปเพราะต่างก็มีครอบครัว มีแต่เราที่อยู่ที่นี่และสานต่อโรงเรียนปอเนาะ” แม่ของเขาเป็นหนึ่งในพี่น้องห้าคนนั้น แต่ส่วนพ่อเป็นลูกเขยที่แต่งเข้ามาในครอบครัว และได้รับหน้าที่ดูแลโรงเรียนเพราะในครอบครัวไม่มีผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ดอเลาะไม่ได้มีสิทธิในที่ดิน เขาทำหน้าที่ครูใหญ่ ความข้อนี้ทิ้งความคลางแคลงใจไว้กับครอบครัวและคนรอบข้างว่า ในเมื่อกฎหมายชี้ความผิดกับเจ้าตัว เหตุใดจึงยึดในสิ่งที่ไม่ใช่ของเขา
 
นอกจากที่ดินที่ไม่ใช่ของนายดอเลาะ ทรัพย์สินบนที่ดินคือโรงเรียน อาคารต่างๆรวมไปถึงสถานที่ละหมาดล้วนเป็นทรัพย์สินที่ทางครอบครัวถือว่าเป็นของส่วนรวม เนื่องจากชาวบ้านรอบข้างเข้าไปช่วยก่อสร้างและนำวัสดุสิ่งของไปช่วย “ตอนที่ครอบครัวมาทำปอเนาะ คนที่นี่ดีใจเพราะจะมีคนมาเผยแพร่ความรู้ ที่นี่ถือว่าเป็น “วะกัฟ” (ของสาธารณะ) ก็ว่าได้” บันยาลบอก มาตอนนี้เมื่อครอบครัวแพ้คดี พวกเขารู้ว่าต้องย้ายออกเพราะถ้าอยู่ต่อไป หากมีคนไปฟ้องร้องก็จะมีความผิด แม้ว่าหนทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการอุทธรณ์แต่พวกเขาเลือกที่จะไม่ทำ
 
“มีเจ้าหน้าที่หลายคนมาพูดคุยบอกให้เราอุทธรณ์ ครอบครัวก็รู้สึกแปลก ทำไมเจ้าหน้าที่มาบอกให้พวกเราอุทธรณ์ ในเมื่อพวกเขาเองเป็นคนฟ้องร้องเรา มันเหลือจะบรรยาย ตกลงเจ้าหน้าที่จะเอายังไงกับเรากันแน่” ครอบครัวประชุมกับชาวบ้านเพื่อหารือกัน บันยาลบอกว่า ทั้งชาวบ้านและศิษย์เก่าเสนอทางออกว่าจะหาที่อยู่ให้ใหม่ แต่ในระหว่างนี้พวกเขาจะไปอาศัยอยู่ในมัสยิดเป็นการชั่วคราว
 
“วันนี้ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารมาถาม พอเห็นเราจะย้ายไปอยู่มัสยิดก็บอกว่า ทำไมไม่ไปบอกทหารก่อน ผมก็บอกว่ามีชาวบ้านที่จะช่วยเราอยู่แล้ว ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของผมบ้าง”
 
นอกจากพ่อที่หนีไป พี่ชายของบันยาลซึ่งเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศคืออินโดนีเซียถูกยิงเสียชีวิตขณะที่กลับมาเยี่ยมบ้าน กลายเป็นอีกคดีหนึ่งในสามจังหวัดภาคใต้ที่ยังหาตัวผู้ลงมือไม่ได้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเคยเสนอให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวในกรณีนี้ แต่ครอบครัวแวมะนอปฏิเสธ โดยชี้แจงว่าสิ่งที่ต้องการจากเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรกคือ หาตัวผู้ลงมือก่อเหตุให้ได้มากกว่า นอกจากนั้นก่อนที่จะมีการอายัดที่ดินของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถกะบะที่บันยาลซื้อมาได้สามเดือนไปโดยระบุว่าเป็นรถที่ใช้ในการก่อการร้าย จนบัดนี้เขายังไม่ได้คืน “ผมก็ไม่รู้จะไปฟ้องร้องใคร ไม่รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับใคร”
 
ด้วยเหตุดังนั้นครอบครัวจึงตัดสินใจว่าจะไม่อุทธรณ์ “ผมอยากให้คดีมันสิ้นสุด คือทนไม่ได้แล้วกับสิบเอ็ดปีที่เจอมา มีทั้งเจ้าหน้าที่มาล้อม ผมเองเคยโดนเชิญตัว พี่ชายโดนยิง ถ้าอุทธรณ์ก็คงจะไม่สิ้นสุด จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาเรื่อยๆ เราไม่อยากอยู่แบบนี้แล้ว อยากจะมีชีวิตปกติแบบชาวบ้านทั่วไปบ้าง”
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ไชยันต์ ไชยพร’ เป็นพยานคดี ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร’

$
0
0
'ไชยันต์ ไชยพร' อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” 

 
 
(ที่มาภาพ: เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
 
เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมาที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ในคดีที่กลุ่มนักวิชาการในนาม “เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย”  ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 31 ต.ค.58 และได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สองผู้ต้องหาในคดีนี้ ได้เดินทางเข้ายื่นคำให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ขอให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการในสาขาต่างๆ อีก 4 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้คดี 
 
ไชยันต์ ไชยพร ได้นัดหมายเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวานนี้ และได้นำข้อเขียนเรื่อง ‘เสรีภาพทางวิชาการ’ ที่เคยเขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสารเวย์ มายื่นเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกอบสำนวนคดีนี้ ส่วนคำให้การเกี่ยวกับคดีพร้อมจะให้การเป็นพยานในชั้นศาลต่อไป ถ้าหากมีการส่งฟ้องคดี
 
ในบทความดังกล่าว ไชยันต์อภิปรายถึงหลักเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ โดยเห็นว่าเสรีภาพในการพูดและแสดงออกมีนัยที่กว้างกว่าเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวคือ เสรีภาพทางวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูด-คิดหรือแสดงออก ขณะเดียวกัน เสรีภาพทางวิชาการไม่ได้หมายความว่า นักวิชาการเท่านั้นที่มีเสรีภาพนี้ เพราะคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการก็มีเสรีภาพทางวิชาการได้  สิ่งที่นักวิชาการแสดงออกก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นวิชาการเสมอไปด้วย บางครั้ง การที่นักวิชาการใช้เสรีภาพ อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยเนื้อหาที่แสดงออกมานั้นไม่ได้สามารถเรียกได้ว่าเป็นเนื้อหาและวิธีการที่เป็น“วิชาการ” และบางครั้ง การที่คนที่ไม่ใช่นักวิชาการใช้เสรีภาพ ก็อาจจะเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ    
 
ไชยันต์ระบุในบทความว่าในโลกทุกวันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ในโลกสื่อสมัยใหม่แล้ว ยิ่งยากจะหาบรรทัดฐานต่อขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออก โดยในพื้นที่ที่จำกัดและคนจำกัด คนในพื้นที่นั้นก็สามารถบอกหรือสร้างหรือกำหนดขอบเขตของเสรีภาพขึ้นมาได้  แต่สิ่งที่พวกเขา (จำนวนหนึ่ง) กำหนดภายใต้พื้นที่ (ขนาดหนึ่ง) ณ เวลานั้นๆ ย่อมไม่สามารถจะขยายไปครอบคลุมคนอื่นๆ ในพื้นที่อื่นและเวลาอื่นได้  ต่อให้ใช้อำนาจรัฐ อาจจะสามารถควบคุมสังคมที่เจอตัวกันได้  แต่สังคมเจอตัวก็มี “จำนวนคนหนึ่งๆ” “พื้นที่หนึ่งๆ” และ “เวลาหนึ่งๆ” จำกัดอยู่เสมอ แต่สำหรับโลกหรือพื้นที่ในสื่อสมัยใหม่ เป็นการยากที่จะควบคุม                            
 
ไชยันต์ระบุด้วยว่าในประเด็นปัญหาหนึ่งๆ หากมีผู้คนนำไปถกเถียงกัน โดยพยายามใช้เหตุผลหรือชุดความคิด ชุดจริยธรรม ศีลธรรม จารีต ฯลฯ และพยายามตัดสินว่า ขอบเขตควรอยู่แค่ไหนและอย่างไร ในลักษณะของข้อเสนอเพื่อการหารือถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่พอเป็นไปได้ หรือถ้าหาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เสวนากันต่อไป อย่างนี้ เรียกได้ว่า เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักวิชาการก็สามารถแสดงออกทางความคิดผ่านการพูดหรือเขียนในลักษณะนี้ได้เช่นกัน
 
ทั้งนี้ ฝ่ายผู้ต้องหายังเหลือพยานบุคคลที่ต้องการจะนำเข้าให้การเพิ่มเติมอีกหนึ่งคน ได้แก่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แต่เนื่องจากพยานยังไม่สะดวกเดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้ และพนักงานสอบสวนระบุว่าต้องเร่งจัดทำสำนวนส่งต่ออัยการทหาร ทำให้ทางฝ่ายผู้ต้องหาจะประสานพยานเพื่อจัดส่งคำให้การเป็นหนังสือมายื่นต่อพนักงานสอบสวนต่อไป
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย: ตอบปัญหาหัวใจกับชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ (1)

$
0
0

 

 

14 ก.พ. 2559 - หมายเหตุประเพทไทยช่วงวันวาเลนไทน์นี้ สองพิธีกร อรรถ บุนนาค และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ยังอยู่พูดคุยกับ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยตอบปัญหาความรักจากกระทู้พันทิป ตั้งแต่เรื่องรักร่วมสายเลือด แอบชอบลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง จนถึงเรื่องจะทำอย่างไร แฟนชอบแกล้งป่วย ฯลฯ

พร้อมด้วยคำถามจากพิธีกรอาทิ "ความรักไม่ได้เป็นธรรมชาติ ต้องมีวัฒนธรรม กรอบศีลธรรม/สังคม ขีดกรอบด้วยหรือไม่?" "ในอนาคตความรักจะไร้พรมแดนไหม?" "ในการประคองความสัมพันธ์ จะทำอย่างไรกับการต่อรองและฟาดฟัน?" "เป็นไปได้ไหมที่จะสร้างกฎสำหรับความสัมพันธ์?" "ความรักมีถูกผิดไหม?"

รวมทั้งคำถามเรื่อง "คนสมัยก่อนที่จับคลุมถุงชนแล้วบอกว่า "อยู่ไปก็รักกันเอง" จริงหรือไม่? ทั้งหมดนี้อาจารย์ชลิดาภรณ์จะตอบอย่างไรติดตามรับชมทางรายการหมายเหตุประเพทไทย

 

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ https://facebook.com/maihetpraphetthai

ติดตามรายการใน YouTube ที่ https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวัติศาสตร์แบบฉลอง สุนทราวาณิชย์ (1): แกะรอยอาจารย์ฉลอง

$
0
0



หากมนุษยศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีวิทยาที่นำไปสู่การทำความเข้าใจสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์แล้วไซร้ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ คือนักประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่งที่สมควรได้รับการกล่าวถึงเพราะเป็นนักวิชาการผู้คร่ำหวอดในวงวิชาการ โดยเฉพาะในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มาเป็นระยะเวลายาวนาน อาจารย์ฉลองเป็นดัง “เสาหลัก” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเสาหลักของแผ่นดิน -จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- มาเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามากว่า 40 เล่ม จน นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่า “อาจารย์ฉลองเป็นนักวิชาการที่มีมิตรและศิษย์มากที่สุด...เพราะความสนใจของอาจารย์ฉลองนั้นกว้างขวาง” (ธนาพล และสุวิมล, 2558: 9)

บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะนำเสนอว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาจารย์ฉลองได้ผลิตงานวิชาการเรื่องใดไว้บ้าง และมีความสนใจประเด็นอะไรในทางประวัติศาสตร์ และความสนใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพราะได้มีผู้ทำการสำรวจเบื้องต้นไว้แล้ว (โปรดดูบทความของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ใน ธนาพล และสุวิมล, 2558) แต่ผู้เขียนการต้องจะศึกษาว่า แนวคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ รวมถึงมุมมองที่มีต่อมนุษย์และวัฒนธรรมของอาจารย์ฉลองเป็นอย่างไร โดยทำการสังเคราะห์ผ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งของอาจารย์ ทั้งนี้นอกจากจะเพื่อบูชา “ครู” คนสำคัญคนหนึ่งของวงการประวัติศาสตร์ไทยแล้ว การสังเคราะห์แนวคิดและมุมมองทางประวัติศาสตร์ มนุษย์ และวัฒษนธรรมของอาจารย์ฉลองยังเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะผู้สนใจที่จะก้าวเข้ามาเป็น “นักเรียนประวัติศาสตร์” เพราะการทำความเข้าใจแนวคิดทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ฉลองย่อมสะท้อนแนวโน้ม ความคลี่คลาย และความเปลี่ยนแปลงของแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ผ่านมาอีกด้วย


แกะรอยอาจารย์ฉลอง

อาจารย์ฉลองได้กล่าวถึงลักษณะนิสัยของตนเองเอาไว้ว่าเป็นคนที่ “ใช้ชีวิตแบบไร้สาระ อยู่ไปวันๆ อยู่ไปเรื่อยๆ” (ฉลอง, 2553: 10) เกิดในครอบครัวจีนยากจนคนอพยพแถวชุมชนแออัดแถววัดดอนยานนาวา สายตระกูลทั้งปู่ตาและพ่อ รวมถึงพี่น้องของแม่ที่สิงคโปร์ล้วนทำงานรับจ้าง ไม่เป็นเสมียนก็ช่าง ไม่มีเคยมีใครคิดจะเอาดีทางท่องบ่นคำภีร์ขงจื้อสอบจองหงวน การสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สอบเข้ามหาวิทยาลัย จนกระทั่งกลายเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่อาจารย์ฉลองเรียกว่า “ไกลเกินฝัน-หล่นไกลต้น” (ฉลอง, 2553: 15)

ตอนเข้าโรงเรียนเตรียมฯ ใหม่ๆ นั้น อาจารย์ฉลอง เคยคิดจะเรียนต่อที่คณะรัฐศาสตร์ วางเข็มอนาคตว่าจะเป็นทูต ยังไม่มีความมคิดที่จะเข้าเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จนกระทั่งได้พบกับผลงานและเรื่องราวของนิสิตเก่าคณะอักษรฯ สองคนซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลให้อาจารย์เลือกเรียนสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ในคณะอักษรศาสตร์ นิสิตเก่าคณะอักษรคนแรกนั้นคือ -นิธิ เอียวศรีวงศ์- ที่อาจารย์ฉลองรู้จักผ่านทางงานเขียนทั้งที่เป็นเรื่องสั้น งานเขียนในเชิงวิพากษ์สังคมและมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และงานเขียนทางวิชาการประวัติศาสตร์ จนกระทั่งประทับใจในข้อเสนอและข้อถกเถียง ความรอบรู้ ลุ่มลึก รวมทั้งความกล้าในการคิดวิพากษ์ อย่างที่ไม่เคยทึ่งหรือประทับใจใครในระดับนี้มาก่อน จนทำให้อาจารย์ฉลองหันมาแน่วแน่กับการเตรียมสอบเพื่อเข้าคณะอักษรฯ (ฉลอง, 2553: 31)

นิสิตเก่าคณะอักษรฯ คนที่สองได้แก่ -จิตร ภูมิศักดิ์- ผ่านบอร์ดนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องราว “ความสำเร็จ” ของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ และ “การจับตาย” ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่เทือกเขาภูพานซึ่งในนิทรรศการดังกล่าวมีภาพและชื่อของ “ผกค.” (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) ที่ถูกจับตาย พร้อมคำบรรยายต่อท้ายชื่อว่า “อักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาฯ” โดยอาจารย์ฉลองได้เล่าย้อนไปถึงเรื่องราวในตอนนั้นว่า “ผมอธิบายความรู้สึกของผมในตอนนั้นไม่ถูก แต่โดยรวมก็คือ ผมได้พบและ “รู้จัก” นิสิตอักษรฯ ที่เป็น “กบฏ” (ผ่านภาพและตัวอักษร) ในช่วงไล่ๆ กันถึง 2 คน...มันกลายเป็นความฝังใจลึกๆ อยากรู้อยากสัมผัสว่าคณะฯ นี้สอนอะไร ถึงสร้าง “กบฏ” ได้มากมายปานนั้น” (ฉลอง, 2553: 32) ความรู้สึกประทับใจกับ “กบฏ” เช่นนี้ได้สะท้อนลักษณะนิสัยและแนวคิดลึกๆ ของอาจารย์ฉลองซึ่งจะปรากฏออกมาในผลงานการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์ฉลองด้วย ดังที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวไว้ว่า “บุคลิกของ อ.ฉลอง เป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเล่นตลกกับเรื่องซีเรียส ชอบแหย่ ท้าทายแบบทีเล่นทีจริง (แปลว่าจริงจังแบบเราไม่รู้ตัว) อ.ฉลองรักษาความเป็นปัจเจกชนอิสระที่ “ล้อเล่น” กับจารีตธรรมเนียมมาตรฐานได้อย่างคงเส้นคงวา พอเหมาะพอควร และด้วยความสามารถที่คนอื่นต้องเคารพ” (ธนาพล และสุวิมล, 2558: 119)


การเรียนในระดับปริญญาตรีเป็นเวลา 4 ปี อาจารย์ฉลองเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโทเพราะไม่ต้องการถูกเกณฑ์ทหาร วิธีที่จะเลี่ยงการเกณฑ์ทหารได้ชั่วคราวคือรักษาสถานะนิสิตไว้ อาจารย์ฉลองเลยสมัครเรียนต่อปริญญาโทที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และเริ่มตั้งใจร่ำเรียนอย่างจริงๆ จังๆ (ฉลอง, 2553: 37) ในช่วงที่ยังเป็นนิสิตปริญญาโทประวัติศาสตร์อยู่นั้น อาจารย์ฉลองดูจะให้ความสนใจการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์มากเป็นพิเศษ ผลงานวิชาการเรื่องแรกในชีวิตทางวิชาการของอาจารย์ฉลองจึงทำการศึกษาเรื่อง วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทยจากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทั้งนี้เพราะเห็นความสำคัญของการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่า “ปัญหาประวัติและวิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ในด้านประวัติศาสตร์ทางความคิด (History of Idea) กลับไม่ได้ความสนใจจากนักศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเท่าที่ควร” (ฉลอง, 2515: 68) และควรจะต้องตระหนักด้วยว่า ในขณะที่อาจารย์ฉลองทำการศึกษาค้นคว้าและอธิบายในประเด็นดังกล่าวนั้น นิธิ เอียวศรีวงศ์ เพิ่งผลิตผลงานที่ศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ออกมาเพียงบทความเดียว คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนลด์ ทอยน์บี (นิธิ, 2512) ส่วนผลงานที่โด่งดังอย่าง ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา นั้นยังไม่แล้วเสร็จจนกระทั่งปี 2523 (นิธิ, 2523) จึงอาจกล่าวได้ว่าอาจารย์ฉลองเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยเป็นคนแรกๆ และการให้ความสำคัญกับการศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์เช่นนี้จะส่งผลอย่างสำคัญต่อมุมมองที่อาจารย์ฉลองมีต่อวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนจะอธิบายต่อไปในภายหลัง

ในบทความดังกล่าว อาจารย์ฉลองมุ่งศึกษาพัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทยในช่วงระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงและเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเป็นแบบแผนในการปฏิรูปปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า

1. ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ทัศนคติและวิธีการศึกษาแบบตะวันตกได้ทำให้แนวทางของประวัติศาสตร์ไทยดำเนินไปในแนวใหม่ ประวัติศาสตร์ของชาติเริ่มมีเค้าโครงใกล้เคียงความหมายที่แท้จริง ผิดจากประวัติศาสตร์ของพระราชวงศ์ ที่แสดงออกในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ก่อนหน้านั้น

2. พร้อมๆ กับการที่มีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในทางประวัติศาสตร์ วิธีการเขียนประวัติศาสตร์ไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปจากเดิม และการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยก็เริ่มมีฐานะสูงขึ้นและสำคัญมากขึ้น แม้ว่า “นักประวัติศาสตร์อาชีพ” ในความหมายที่แท้จริงจะยังไม่มีก็ตาม แต่สถาบันหลายสถาบันที่ก่อตั้งในระยะเวลาดังกล่าว ก็ได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในแบบแผนตะวันตกมากขึ้น เป็นต้นว่า หอพระสมุด หนังสือพิมพ์วชิรญาณ และโบราณคดีสโมสร เป็นต้น (ฉลอง, 2515: 69-70)

ด้วยเหตุดังนั้น “วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย” จึงเป็นผลของการที่ทัศนคติและแนวคิดของการศึกษาแบบตะวันตกแพร่หลายเข้ามา แต่พลังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติก็มิได้ถูกกลืนหายไปกับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งหมด ลักษณะบางประการของพงศาวดารแบบเดิมยังคงมีปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในงานเขียนของระยะที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง (ฉลอง, 2515: 81-82) อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าหลังจากผลงานชิ้นนี้เสร็จสิ้นแล้ว ความสนใจในประเด็นเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ของอาจารย์ฉลองดูจะเบาบางลงไป เพราะไม่ปรากฏว่ามีผลงานศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ตีพิมพ์ขึ้นมาอีก ต้องรอจนกระทั่งปี 2535 อาจารย์ฉลองจึงกลับมาเสนอผลงานในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกครั้งจากบทความเรื่อง งานเขียนประวัติศาสตร์ของของคนพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคท้องน้ำสมัยจารีต: “หน้าที่” ของอดีต และ “การรับรู้อดีต” ของคนพื้นเมือง (ฉลอง, 2535ก) และ Maha Sila Viravongs Phongsawadon Lao: A Reappraisal ในปี 2542 ก่อนที่จะแปลและพิมพ์เป็นบทความภาษาไทยในปี 2549 (Chalong, 1999; ฉลอง, 2549)

มีความเป็นได้ว่าอาจารย์ฉลองจะนำเวลาทั้งหมดไปทุ่มเทกับวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษาของตนเอง จนแล้วเสร็จโดยใช้เวลาในการศึกษาเพียงสองปีเศษ แม้วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ฉลองจะไม่ได้สนใประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์อีกต่อไป แต่ก็ยังมีความคาบเกี่ยวกันอยู่บ้างกับความสนใจที่ปรากฏออกมาในบทความวิชาการฉบับแรก นั่นก็คือ ความสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ สูงเนื่องจากการขยายอิทธิพลเข้าของจักรวรรดินิยมตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 4 - 6 ซึ่งผลงานเรื่อง รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5 - 6 (2518) ของอาจารย์ฉลอง ได้ใช้ความพยายามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศทั้งสองเป็นแกนกลางในการอธิบายที่นำพาผู้อ่านไปสู่ความเข้าใจระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในการเมืองโลก การสถาปนาความสัมพันธ์สัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรุสเซีย-ไทย จึงไม่ได้เป็นเรื่องของเพียงสองประเทศนี้เท่านั้น เป็นผลมาจากตำแหน่งแห่งที่ของประเทศทั้งสองในระบบการเมืองโลกที่มีทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ ตะวันออกไกล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย (โปรดดู ฉลอง, 2518)

ประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของสยามดูจะอยู่ในความสนใจของอาจารย์ฉลองไปอีกนาน เพราะหลังจากหนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์ออกมาแล้ว อาจารย์ฉลองก็ยังผลิตผลงานทางวิชาการในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ บทวิจารณ์บทความ “ฝรั่งเศสและคลองกระ” (2527ข) สัมพันธภาพไทย-ลาวเชิงประวัติศาสตร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 (2529ง)ประเทศไทยกับการเมืองโลก: การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (2533ข) การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป (2540) และ ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ.1899 (2542) เป็นต้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว อาจารย์ฉลองก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที ภายหลังจากนั้น ความสนใจในงานวิชาการของอาจารย์ฉลองดูแตกต่างหลากหลายและยากที่จะระบุลงไปให้ชัดเจนว่าอาจารย์ฉลองให้ความสนใจประวัติศาสตร์ด้านใดมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากจะลองแบ่งความสนใจของอาจารย์ฉลองช่วงหลังจากการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ออกเป็น 3 ด้านกว้างๆ ด้านที่หนึ่ง คือ ความสนใจอันเกี่ยวกับ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ทั้งที่รวบรวมด้วยตนเอง อาทิเช่น การรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฉลอง 2529ค; 2530ก; 2530ข) และเขียนคำนำให้กับหนังสือที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ อาทิ หนังสือเรื่อง ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (2529ข) และ ประวัติศาสตร์ลาว ของเติม วิภาคย์พจนกิจ (2530) เป็นต้น

ความสนใจด้านที่สอง ได้แก่ การทำงานประเภท “การสำรวจสถานภาพทางความรู้” ซึ่งพบว่าอาจารย์ฉลองได้ผลิตงานในลักษณะดังกล่าวออกมาหลายชิ้นด้วยกัน อาทิ สถานภาพการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประเทศไทย (2529ก) สถานภาพการศึกษาด้านประวัติศาสตร์: รายงานการสำรวจเบื้องต้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ.2515-2534 (2533) สถานภาพงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2535 (2536) และ สถานภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสาตร์และเทคโนโลยีไทย (2541) ความสนใจทางวิชาการทางด้านนี้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการเสนอประเด็นหรือข้อถกเถียงในทางวิชาการใหม่ แต่ก็มีคุณูปการแก่วงการวิชาการเป็นอย่างสูง เพราะงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้จะทิ้งข้อสงสัย รอยว่าง ช่องโหว่ ของการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเด็นต่างๆ เอาไว้ให้นักวิชาการรุ่นหลังหรือผู้ที่สนใจได้สานต่อ คุณูปการด้านนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการวิจัยเรื่อง สถานภาพของความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของผลงานการศึกษาประวัติศาสตร์แพทย์ไทยชิ้นเยี่ยมของ ทวีศักดิ์ เผือกสม จากหนังสือเรื่อง เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ในสังคมไทย (ทวีศักดิ์ 2550) ซึ่งทวีศักดิ์เป็นผู้ช่วยวิจัยคนหนึ่งของอาจารย์ฉลองในการประเมินสถานภาพความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่นเอง

ส่วนงานกลุ่มสุดท้าย ที่อาจารย์ฉลองเพิ่งผลิตขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ ที่แม้ว่าจะมีปรากฏออกมาเป็นจำนวนน้อยเพียง 2-3 ชิ้น คือ โหรไทยกับประวัติศาสตร์โลก: เมื่อโหรไทยทำนายดวงพระชาตามกุฎราชกุมารรัสเซีย (2549ข) Small Arms, Romance, Crime and Violence in Post World War II Thai Society (2005) และ The Regionalization of Local Buddhist Saints: Amulets, Crime and Violence in Post WW II Thai Society (2013) แต่ผลงานทั้งหลายเหล่านี้กลับเป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของอาจารย์ฉลอง เพราะเป็นผลงานที่ประหนึ่งว่าถูกทำคลอดออกมาจากองค์ความรู้และความสนใจอันหลากหลายที่อาจารย์ฉลองสั่งสมมาตลอดชีวิตทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองบทความหลังที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นผลงานทางวิชาการที่อธิบายสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างรอบด้าน อาจารย์ฉลองนำเอาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้เลย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมและการบูชาพระเครื่อง, นักเลงและอันธพาล, ความรุนแรงและอาชญากรรม, สงครามโลกครั้งที่สอง, ปืนเล็กและความรู้ทางการทหาร, วัฒนธรรมการเขียนนิยาย, ความอ่อนแอของรัฐ ฯลฯ มาเชื่อมโยงจนได้ผลงานทางประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่รอบด้าน ลุ่มลึก และอ่านสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง โดยที่อาจารย์ฉลองได้กล่าวถึงการศึกษาของตนเองไว้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่พยายามจะพูดถึงสิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงในประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักเลย (Chalong, 20013: 207-208)

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าอาจารย์ฉลองเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความสนใจหลากหลายและกว้างขวางมาก และผลงานทางวิชาการที่อาจารย์ฉลองผลิตออกมานั้นล้วนเป็นผลงานที่มีคุณภาพสูงและมีประโยชน์ต่อวงวิชาการไทยเป็นอย่างยิ่ง ประเด็นที่เราควรพิจารณาต่อไปก็คือผลงานต่างๆ เหล่านี้นั้นสะท้อนมุมมองที่อาจารย์ฉลองมีต่อวิชาประวัติศาสตร์อย่างไรซึ่งผู้เขียนขอยกไว้เล่าในบทความตอนต่อไป

 


บรรณานุกรม

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2515). “วิวัฒนาการการเขียนประวัติศาสตร์ไทย จากเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: ศึกษาเปรียบเทียบพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2,” วารสารศิลปากร, (ปีที่ 16 เล่มที่ 4, 2515), น.68-82.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2518). รุสเซีย-ไทย สมัยรัชกาลที่ 5-6. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2527ก). “ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน: ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยอุดมการณ์และผู้นำ” ใน พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล และอัจฉราพร กมุทพิสมัย (บก.) ความเชื่อพระศรีอาริย์และกบฏผู้มีบุญในสังคมไทย.กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, หน้า 22-32.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2527ข). “บทวิจารณ์บทความ “ฝรั่งเศสและคลองกระ” ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการเรื่อง 300 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสจัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 14-15 ธันวาคม 2527.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ก) “สถานะของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 5 ฉบับที่ 3-4 (เมษายน-กันยายน 2529) หน้า 53-63

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ข). “คำนำ,” ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง. เสถียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ แปล. กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2529ค). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2529) น. 74-112.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์. (2529ง). “สัมพันธภาพไทย-ลาวเชิงประวัติศาสตร์ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20,” ศิลปวัฒนธรรม. ปี่ที่ 8 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2529). น.142-155.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2530ก). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม 2530) น. 68-80.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2530ข). “รากเหง้าของความเปลี่ยนแปลง: เอกสารประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2469-2474.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม 2530) น. 58-81.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2533ก). “ถิ่นกำเนิดชนชาติไท: สมมุติฐานของนักวิชาการตะวันตก.” เอกสารประกอบการประชุมวิชาการประจำปี 2533 เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เรื่อง ชนชาติไทย: คำถามที่ต้องช่วยกันตอบ วันที่ 18-19 ตุลาคม 2533 ณ ห้อง 116 ตึกอักษรศาสตร์ 1 คณะอักษรศาสตร์ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2533ข). “ประเทศไทยกับการเมืองโลก: การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง.” นโยบายต่างประเทศไทยบนทางแพร่ง. ฉันทิมา อ่องสุรักษ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2535ก). “งานเขียนประวัติศาสตร์ของคนพื้นเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคน้ำสมัยจารีต: “หน้าที่” ของอดีตและ “การรับรู้อดีต” ของคนพื้นเมือง.” เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: คาบสมุทรและกลุ่มเกาะ” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และทัศนศึกษาชายฝั่งทะเลคาบสมุทรไทย วันที่ 23-28 มิถุนายน 2535.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2535ข). “สถานภาพการศึกษาด้านประวัติศาสตร์: รายงานการสำรวจเบื้องต้นจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ พ.ศ.2515-2534.” วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 2 (กรกฎคม-ธันวาคม 2535)

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2536). รายงานการวิจัยเรื่อง สถานภาพงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์ไทย ระหว่าง พ.ศ.2503-2535. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2540). “การเมืองเบื้องหลังการเสด็จประพาสยุโรป” รายงานการวิจัยนำเสนอในการประชุมทางวิชาการเรื่อง ยุโรปกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว: โอกาส ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลง จัดโดยสยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมป์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18-20 ธันวาคม 2540 ณ โรงแรม เจ ดับลิว แมริออท.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2541). สถานภาพความรู้ทางประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2542). “ไทยกับการประชุมสันติภาพนานาชาติกรุงเฮกครั้งแรก ค.ศ. 1899” รัฐศาสตร์สารปีที่ 21 ฉบับที่ 2 (2542) หน้า 1-36.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2544). “บทวิจารณ์อานันท์ กาญจนพันธุ์ “สังคมไทยตามความคิดและความใฝ่ฝัน ในงานของอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา,” 60 ปี ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง). น. 229-245.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2549ก). “พงสาวะดานลาว ของ มหาสิลา วีระวงศ์,” จักรวาลวิทยา. (กรุงเทพฯ: มติชน). น. 2-37.

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2549ข). “โหรไทยกับประวัติศาสตร์โลก: เมื่อโหรไทยทำนายดวงพระชาตามกุฎราชกุมารรัสเซีย.”  ศิลปวัฒนธรรม  ปีที่ 27  ฉบับที่ 3 หน้า 78-91

ฉลอง สุนทราวาณิชย์ (2553). ไร้สาระ: บางส่วนของบันทึกและงานเขียนอันปราศจากคุณค่าและไม่สมควรรำลึกจดจำในช่วงชีวิต 43 ปีเศษๆ ในจุฬาฯ. กรุงเทพฯ: ศอฉ.ศูนย์อำนวยการการเกษียณอายุการทำงานของอาจารย์ฉลอง.

ธนาพล ลิ่มอภิชาต และสุวิมล รุ่งเจริญ บรรณาธิการ (2558). เจ้าพ่อ ประวัติศาสตร์ จอมขมังเวทย์. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2512). “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับอาร์โนลด์ ทอยน์บี”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (มิถุนายน-สิงหาคม).

นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2523). ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ.

เติม วิภาคย์พจนกิจ (2530). ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ทวีศักดิ์ เผือกสม (2550). เชื้อโรค ร่างกาย และรัฐเวชกรรม: ประวัติศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Chalong Soontravanich (1999). “Maha Sila Viravong’s Phongsawadon Lao: A Reappraisal.” A research paper presented to the 7th International Conference on Thai Studies, University of Amsterdam, July 5-8.

Chalong Soontravanich (2005). “Small Arms, Romance, Crime and Violence in Post World War II Thai Society.” Southeast Asian Studies. Vol. 43, No. 1. 2005.

Chalong Soontravanich (2013). “The Regionalization of Local Buddhist Saints: Amulets, Crime and Violence in Post-World War II Thai Society.” SOJOURN: Journal of Social Issues in Southeast Asia. Vol. 28, No.2 (2013) pp. 179-215.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

LIGO ยืนยันการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งแรก

$
0
0


ภาพ: LIGO, NSF, Aurore Simonnet (Sonoma State U.)

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2016 นี้ ทีมงาน LIGO (Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory) ได้ออกแถลงข่าวยืนยันการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งแรกของโลก โดยทีมงานเปิดเผยว่าวันที่ 14 กันยายน 2015 ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงที่เกิดจากหลุมดำสองหลุมมวล 29 และ 36 เท่าของดวงอาทิตย์รวมตัวกัน และปลดปล่อยพลังงานในรูปของคลื่นความโน้มถ่วงที่ตรวจพบได้โดยเครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงทั้งที่ Hanford, Washington และ Livingston, Louisiana ในเวลาเดียวกัน

นอกจากการยืนยันการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงแล้ว การค้นพบนี้ยังช่วยยืนยันถึงการมีอยู่ของ binary black hole หรือหลุมดำสองหลุมที่โคจรรอบกันอีกด้วย

แต่ว่าคลื่นความโน้มถ่วงคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร


ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของไอสไตน์

ก่อนจะพูดถึงคลื่นความโน้มถ่วง เราจำเป็นต้อง ต้องอธิบายถึงแรงโน้มถ่วงตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอสไตน์ก่อน ไอสไตน์อธิบายว่าแรงโน้มถ่วงเกิดจากมวลทำให้เกิดการบิดงอของกาลอวกาศ คล้ายกับการที่เรายืนบนเตียงนอนทำให้พื้นเตียงรอบๆ เรานั้นบิดงอไป และการบิดงอของกาลอวกาศนี้เป็นตัวส่งผลให้วัตถุมีการเคลื่อนที่อย่างที่เราสังเกตเป็นแรงโน้มถ่วงทุกวันนี้

ผลพลอยได้อย่างหนึ่งของการบิดงอของกาลอวกาศก็คือ แรงโน้มถ่วงจะสามารถทำให้ระยะทางและเวลาเกิดการบิดเบือนได้ ซึ่งสามารถพบได้ชัดเจนในบริเวณที่มีแรงโน้มถ่วงสูง เช่น รอบหลุมดำ


คลื่นความโน้มถ่วง

ถ้าการยืนบนเตียงของเราทำให้เตียงเราโค้งงอได้ การกระโดดขึ้นลงหรือเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วบนเตียงนอนของเราก็จะสามารถแผ่อิทธิพลการโค้งงอออกไปรอบๆ ได้เช่นเดียวกับการโยนก้อนหินลงบนผิวน้ำ เมื่อเราโยนก้อนหินลงไปในทะเลสาป การรบกวนบนผิวน้ำจะแผ่ออกไปรอบๆ เกิดเป็นคลื่นผิวน้ำ

เช่นเดียวกัน การรบกวนในกาลอวกาศโดยมวลจำนวนมาก ก็น่าจะสามารถแผ่อิทธิพลการรบกวนนี้ไปยังกาลอวกาศรอบๆ ได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเราไม่สามารถเพิ่มหรือทำให้มวลหายไปได้ เราจึงไม่สามารถ “โยน” มวลลงไปยังผิวกาลอวกาศได้ในลักษณะเดียวกับการโยนก้อนหินลงในผิวน้ำ แต่สิ่งที่อาจจะสามารถทำให้เกิดการแผ่คลื่นความโน้มถ่วงได้ก็คือการยุบตัวลงของมวลอย่างรวดเร็ว การโคจรรอบกันของมวลจำนวนมากสองมวล หรือการรวมตัวกันของวัตถุขนาดมหึมาเช่นหลุมดำสองหลุม

อีกวิธีหนึ่งที่สามารถเปรียบเทียบคลื่นความโน้มถ่วงได้ก็คือโดยการเปรียบเทียบกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เราทราบกันว่าอิเล็คตรอนจะแผ่สนามไฟฟ้าไปรอบๆมัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเราทำการเคลื่อนอิเล็คตรอนไปยังตำแหน่งใหม่ สนามไฟฟ้าของอิเล็คตรอนจะต้องใช้เวลาเดินทางออกไปเท่ากับความเร็วแสง เมื่อเราทำการเคลื่อนตำแหน่งอิเล็คตรอนอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสนามไฟฟ้าอย่างรวดเร็วนี้เอง ที่ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปรอบๆ การที่เราสามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ก็เป็นเพราะว่าอิเล็คตรอนภายในเสาอากาศเกิดการสั่นขึ้นลงและแผ่ออกไปเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่สามารถตรวจจับได้โดยอิเล็คตรอนในเสาอากาศของเครื่องรับนั่นเอง ในลักษณะเดียวกันเมื่อเรามีมวลขนาดใหญ่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว เราก็จะสามารถแผ่คลื่นความโน้มถ่วง ที่สามารถตรวจพบได้โดยมวลอื่นที่ห่างไกลออกไป

โดยลักษณะของคลื่นความโน้มถ่วงนั้น จะอยู่ในรูปของการบิดงอของกาลอวกาศทำให้ระยะทางในสองทิศทางยืดและหดออกไป คล้ายกับการทำให้หนังยางวงกลมบิดเบี้ยวออกเป็นวงรีในทิศทางที่สลับกันไปมา


ความท้าทายในการศึกษาคลื่นความโน้มถ่วง

อย่างไรก็ตาม การตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมจึงยังไม่มีการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงจนถึงทุกวันนี้ ความท้าทายของคลื่นความโน้มถ่วงส่วนหลักๆ เป็นเพราะว่าคลื่นความโน้มถ่วงมีอิทธิพลน้อยมาก และจะสังเกตเห็นได้ง่ายก็ในกรณีที่เกิดการรวมตัวกันของมวลขนาดมหึมาเช่นหลุมดำเท่านั้น

ลองนึกภาพมวลขนาด 29 เท่าของดวงอาทิตย์ แต่มีขนาดเพียงแค่ 150 กม. เคลื่อนที่ด้วยความเร็วครึ่งหนึ่งของความเร็วแสง และชนเข้ากับหลุมดำอีกอันที่มีมวล 36 เท่าของดวงอาทิตย์ นี่คือเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการสังเกตที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2015 ที่ผ่านมา

เมื่อรวมกันแล้ว มวลรวมสุดท้ายของหลุมดำนั้นมีมวลเพียงแค่ 62 เท่าของมวลดวงอาทิตย์เท่านั้นเอง และมวลอีก 3 เท่าของดวงอาทิตย์ได้ถูกเปลี่ยนไปในรูปของพลังงานคลื่นความโน้มถ่วงที่แผ่ออกมาเป็นระยะทางกว่า 1.3 พันล้านปีแสงจนมาถึงโลกของเรา

พลังงานที่ปลดปล่อยออกมาโดยการรวมตัวของหลุมดำนี้ มีมากกว่า 50 เท่าของพลังงานที่ดาวฤกษ์ทุกดวงในเอกภพปลดปล่อยออกมาในหนึ่งหน่วยเวลาเสียอีก อย่างไรก็ตาม พลังงานเหล่านี้ถูกปลดปล่อยออกมาในเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งพลังงานอันมหาศาลนี้ ก็ส่งผลให้เกิดการยืดหดเพียงแค่ 10^(-21) ส่วนเท่านั้นเอง นั่นคือหากเรามีไม้เมตรวางเอาไว้ในขณะที่คลื่นความโน้มถ่วงจากการรวมตัวของหลุมดำนี้ผ่านไป ไม้เมตรนั้นจะยืดได้ไม่เกิน 10^(-21) เมตร

ด้วยความท้าทายเหล่านี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงที่แม่นยำและมีขนาดใหญ่เป็นอย่างมาก


LIGO

Laser Interferometer Gravitational-Wave Observatory (LIGO) เป็นเครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงขนาดมหึมา ประกอบขึ้นด้วยท่อขนาดยาว 4 กิโลเมตร สองท่อ ทำมุมกัน 90 องศา และมีสถานีตรวจวัดอยู่สองที่ ที่ Hanford, Washington และ Livingston, Louisiana

การที่ใช้ท่อขนาดยาว 4 กม. นี้จะทำให้การยืดหดของกาลอวกาศที่เกิดจากคลื่นความโน้มถ่วงสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้น เพื่อสังเกตคลื่นและการสั่นไหวในกาลอวกาศที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับทุ่นลอยกลางทะเลที่คอยสังเกตคลื่นผิวน้ำ ซึ่งส่วนมากในเวลาคลื่นลมสงบนั้นมีคลื่นที่ราบเรียบเกินกว่าที่เครื่องมือจะสามารถตรวจวัดได้

การรวมตัวกันของหลุมดำที่ผ่านมา เปรียบได้กับการเกิดมรสุมขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดคลื่นขนาดมหึมาจนพอจะสังเกตได้

แต่แม้กระทั่งคลื่นความโน้มถ่วงขนาดมหึมานี้ ก็ทำให้กาลอวกาศภายในท่อยาว 4 กม. เปลี่ยนแปลงความยาวไปเพียงแค่ 10^(-18) เมตรเพียงเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กกว่าขนาดของโปรตอนเสียอีก

ความท้าทายหลักๆ ในการสังเกตคลื่นความโน้มถ่วงของ LIGO ก็คือการกำจัดการสั่นสะเทือนเล็กๆ ที่อาจจะเกิดจากบนโลก และการวัดระยะทางที่แม่นยำ ในการวัดระยะทาง ซึ่ง LIGO สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า interferometer โดยการใช้เลเซอร์ยิงสะท้อนกับกระจกที่ยังปลายอุโมงค์ เมื่อระยะทางในสองอุโมงค์เกิดการเปลี่ยนแปลงจากคลื่นความโน้มถ่วง จึงสามารถสังเกตได้เป็นเฟสของเลเซอร์ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสะท้อนกลับมายัง interferometer

ซึ่งการค้นพบในวันที่ 14 กันยายน 2015 นี้ทำให้เราสามารถยืนยันการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วง และหลุมดำโคจรรอบกัน ในเอกภพได้


ต่อจากนี้

เมื่อ 400 ปีที่แล้ว กาลิเลโอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ในการสังเกตวัตถุบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรก และเพิ่มความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาลของมนุษย์อย่างก้าวกระโดด และทุกครั้งที่เรามีการเปิดหน้าต่างช่วงคลื่นใหม่ในการสังเกตการณ์ทางธรรมชาติ ก็ทำให้ความเข้าใจของเราก้าวเพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณ

เช่นเดียวกัน การค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นพบยิ่งใหญ่ที่กำลังจะตามมาเพียงเท่านั้น เมื่อเราสามารถค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงได้ เราก็จะสามารถยืนยันปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ อีกมากมายที่คาดเอาไว้ได้ เช่น การยุบตัวของซูเปอร์โนวา ดาวนิวตรอน คอสมิคสตริง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่เครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงอาจจะนำมา ก็คือสิ่งที่เรายังคาดคิดไม่ถึงในตอนนี้

ปัจจุบัน LIGO ยังมี sensitivity เพียงแค่ 1 ใน 3 ของที่ควรจะเป็นเพียงเท่านั้น และ LIGO ยังสามารถพัฒนาเครื่องมือได้อีก จึงมีโอกาสที่จะตรวจพบปรากฏการณ์อื่นได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของคลื่นความโน้มถ่วงก็คือ คลื่นความโน้มถ่วงนั้นไม่สามารถบอกทิศทางได้ ใกล้เคียงกับไมโครโฟนที่สามารถฟังเสียงได้ แต่บอกไม่ได้ว่าเสียงมาจากทิศทางใด

อย่างไรก็ตาม กำลังจะมีการสร้างเครื่องตรวจวัดคลื่นความโน้มถ่วงอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ญี่ปุ่น อิตาลี ฯลฯ เป็นเครือข่ายของคลื่นความโน้มถ่วง ซึ่งหากเรามีเครื่องตรวจวัดหลายตำแหน่ง ก็จะช่วยให้เราสามารถจำกัดขอบเขตของทิศทางที่กำลังมาถึงได้

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่ใช้ระยะเวลากว่า 50 ปีและเงินทุนสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและความร่วมมือของเอกชน เงินภาษีประชาชนกว่า 40 ปี จึงจะเกิดเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติได้



หมายเหตุ: อ่านข้อมูลและความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ มติพล ตั้งมติธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images