Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

นศ.รามรักชาติ ร้องกองปราบสอบเบื้องหลัง 'จ่านิว-NDM' ถามตอนเด็กรามถูกยิงไปอยู่ไหน

$
0
0

ที่มาภาพ เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเรารักชาติ' ที่

2 พ.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'กลุ่มเรารักชาติ' ซึ่งตั้งเพจเมื่อ 11.28 น. ของวันนี้ โพสต์ภาพพร้อมรายงานว่า ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 09.30 น. ชัชเชชฌ์ สงศรี ผู้ประสานงานเครือข่าย กลุ่ม “เรารักชาติ” พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 6 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.มงคล พรมโสภา สว.(สอบสวน) กก.1บก.ป. เพื่อร้องทุกข์ให้ช่วยตรวจสอบกลุ่มทุนสนับสนุนความเคลื่อนไหวของ กลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” หลังที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวได้ออกมาจัดกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

โดย เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' ได้รายงานพร้อมเผยแพร่วิดีโอคลิป ว่ากลุ่มดังกล่าวได้ร้องกองปราบตรวจสอบเบื้องหลัง "นิว สิรวิชญ์" นอกจากนั้น ยังข้องใจว่าสิรวิชญ์ไปอยู่ที่ไหนในวันที่ "เด็กราม" โดนยิง ทำไมไม่ออกมาเคลื่อนไหว เตรียมให้กำลังใจตำรวจที่ควบคุมตัวสิรวิชญ์เมื่อวานนี้

"ตอนนี้บ้านเมืองกำลังเข้าสู่การทำประชามติ แล้วปีหน้ารัฐบาลก็บอกแล้วว่ายังไงก็มีการเลือกตั้งแน่นอน เขาคงไม่โกหกต่างชาติแล้วก็คงไม่โกหกคนไทย แล้วกลุ่มเราเองก็ตั้งมาตั้งแต่ปี 57 มีเพจอยู่ ถ้าจำไม่ได้ตอนปี 57 ก็ตอนที่ใครเป็นนายกไม่ทราบนะครับนักศึกษารามก็สูญเสียไปเยอะตอนนั้น พวกเราเองก็เลยคิดกันว่าน่าจะตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายในกลุ่มของพวกเรา เรารักชาติจึงได้ชวนน้องๆ เด็กราม แล้วหลายส่วนเข้ามาร่วมกันอยู่ในกลุ่มนี้เพื่ออยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ และอยากให้บ้านเมืองเกิดการปรองดองขึ้นไม่อยากให้มีการเคลื่อนไหวกันมากเกินไป เพราะว่าผมเองก็ไม่อยากเห็นพี่น้องคนไทยต้องฝ่าลูกกระสุนปืน" ผู้ประสานงานเครือข่าย กลุ่ม “เรารักชาติ” กล่าว

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า เบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้รับเรื่องดังกล่าวไว้ ก่อนประสานส่งต่อเรื่องให้กับผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี

$
0
0

ปิยบุตร ทบทวน 'ตุลาการภิวัตน์' ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา จัดชุดคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์ที่ผ่านมาว่าส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างไร และตอบคำถามอะไรคือเหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้ศาลผลิตคำพิพากษาแบบ 'ตุลาการภิวัตน์'

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

 
โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี  
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

 

000000

ปิยบุตร แสงกนกกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 


วันนี้ไม่ได้เอาคำพิพากษาของศาลมาแกะให้ดูทีละฉบับ แต่จะทำให้เห็นว่าตลอดสิบปีที่ผ่านมากลุ่มคำพิพากษาที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัตน์ มันส่งผลกระทบในทางการเมืองอย่างไร และมันมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ศาลผลักดันตัวเองเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัตน์

ขอแบ่งการพูดเป็น 3 หัวข้อ หัวข้อแรก ทบทวนย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ตุลาการภิวัตน์แบ่งเป็น 3 ช่วง หัวข้อที่สอง คำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างไร ซึ่งจะขอจัดกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม หัวข้อที่สามคือ เหตุปัจจัยอะไรสนับสนุนให้ศาลผลิตคำพิพากษามาในแบบที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัตน์

หัวข้อแรก
ตุลาการภิวัตน์สามภาค เพื่อโค่นล้มกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง

หมุดหมายสำคัญคือตัวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อ 25 เมษายน 2549 พระราชดำรัสในช่วงนั้น หลายท่านมักนึกถึงตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า มาตรา 7 ใช้ไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วมีพระราชดำรัสอีกชุดหนึ่งที่สำคัญคือพระราชดำรัสที่ทรงแนะแนวศาลว่าศาลจะต้องเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งที่มีผู้ลงสมัครพรรคเดียว อันที่จริงไม่ใช่พรรคเดียว มีพรรคอื่นด้วย เพียงแต่ไม่มีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย หลังจากนั้นศาลก็มีการเรียกประชุม 3 ศาลแล้วมีแถลงการณ์ต่างๆ ตามมา จะขออนุญาตข้ามตรงนี้ไป เพราะค่อนข้างยาว หลังจากนั้น อ.ธีรยุทธ บุญมี ก็ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมา

ภาคแรก หรือ episode 1 เราอาจนับตั้งแต่มีพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 จนถึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550

ภาคสอง เราอาจนับตอนที่มีรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อด้วยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และจบที่การขึ้นมาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ภาคสาม เราอาจนับตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมา จนมีรัฐประหาร 2557

ภาคแรกหลังมีพระราชดำรัสเกิดขึ้น มีการประชุมระหว่าง 3 ศาล คือ ศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2549 วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุว่าการจัดการเลือกตั้งนั้นหันคูหาออกข้างนอกทำให้การลงคะแนนไม่เป็นไปโดยลับ จากนั้นศาลปกครองก็พิพากษาซ้ำอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 6 พ.ค.2549 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่าการเลือกตั้ง 2 เมษาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ให้เพิกถอนการเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ พอการเลือกตั้งถูกเพิกถอนไปก็ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ มี พ.ร.ฎ.จัดการเลือกตั้ง ปัญหาก็คือว่า สังคมไม่ไว้วางใจ กกต.ชุดนั้นว่ามีความไม่เป็นกลาง พูดง่ายๆ คนคิดว่าเข้าข้างรัฐบาลไทยรักไทย แต่ กกต.มีอยู่ 5 คน ปรากฏว่าลาออกไปแล้ว 2 คน มี 3 คนไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งเพราะเขาคิดว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ แต่ปรากฏว่าในเวลานั้น คุณจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นเลขาประธานศาลฎีกา ท่านแถลงว่าขอความร่วมมือให้เสียสละลาออกเถอะ หลังจากนั้นนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกาเวลานั้นก็ให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้ กกต.ลาออกเถอะเพื่อเปิดทางให้ศาลเข้ามามีบทบาท แล้วคุณวิรัชก็ทิ้งท้ายว่า ผมขอให้ประชาชนจับตาการไต่สวนคดีของศาลอาญาที่ กกต.เป็นจำเลย  อย่างใกล้ชิดเพราะจะมีกรณีที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สองเดือนถัดมาก็พิพากษาจำคุก วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และ กกต.อีก 2 คน เป็นเวลา 4 ปีโดยไม่รอลงอาญาและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี เนื่องจากจัดการเลือกตั้งไม่สุจริต การถูกติดคุกและไม่ได้รับการประกันตัว ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติการเป็น กกต. ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยปริยาย จึงมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่คือชุดคุณสดศรี สัตยธรรม ประพันธ์ นัยโกวิท ฯลฯ ปรากฏว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นก่อน ในวันที่ 19 กันยายน 2549

คณะรัฐประหารในเวลานั้นจัดการยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งก่อน ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ก็ได้พิพากษายุบพรรคไทยรักไทย เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี โดยคณะรัฐประหารได้ออกประกาศมาก่อนหน้านั้นฉบับหนึ่งว่า ถ้าพรรคไทยรักไทยถูกยุบให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็เอาประกาศฉบับนั้นมาใช้ย้อนหลัง นี่คือภาคที่หนึ่ง

หลังจากนั้นในภาคที่สอง เมื่อเกิดรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีการวางกลไกให้ศาลเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ชนะการเลือกตั้งมา ในเวลานั้นถ้าเราลองย้อนกลับไปดูเขาพยายามไม่แตะเรื่องรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะคิดว่าเป็นของร้อน แต่สักพักก็เกิดประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารขึ้นมา มีการชุมนุมเรื่องขายชาติของพันธมิตรฯ ยืดยาวแล้วก็มีการปิดสนามบิน ตุลาการภิวัตน์ภาคที่สองจึงเริ่มทำงานอีกรอบหนึ่ง เราจะเห็นศาลปกครองสูงสุดรับคดีปราสาทพระวิหารมาตัดสินและสั่งห้ามรัฐบาลไปลงนามใน Joint Communique ศาลรัฐธรรมนูญปลดคุณสมัครออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคดีที่เราเรียกกันว่า ชิมไปบ่นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณสมัครพ้นไปจากนายกฯ พรรครัฐบาลก็ยังเกาะกันติดจึงเอาคุณสมชาย วงษ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ฉะนั้น พันธมิตรฯ จึงชุมนุมปิดสนามบินต่อ จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรครัฐบาล 3 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย พอโดนยุบ กลุ่มของคุณเนวิน ชิดชอบ ก็แยกออกมาแล้วไปสนับสนุนให้พรรคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นรัฐบาล ตุลาการภิวัตน์ภาคที่สองก็ยุบพรรคได้อีกรอบและล้มรัฐบาลได้อีกรอบ

พอคุณอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลก็ไม่มีคำพิพากษาทำนองนี้อีกแล้ว เงียบหายไป แล้วก็กลับมาเป็นภาคที่สาม ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนถึงรัฐประหารล่าสุด เริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งเพราะรัฐบาลชุดนี้หาเสียงไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้ากลับมาเป็นรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ชูธงเป็นนโยบาย พอเข้ามาก็เริ่มแก้รัฐธรรมนูญ สำหรับชนชั้นนำ พูดง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหัวใจสำคัญของเขา เมื่อจะมีการแก้เกิดขึ้นก็ต้องมีการหักเหลี่ยมชิงไหวชิงพริบกันไม่ให้เกิดการแก้ไขได้ พอรัฐสภาเริ่มเดินเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการให้จังหวัดแต่ละจังหวัดเลือก ส.ส.ร. และมี ส.ส.ร.ผู้เชี่ยวชาญ เอาโมเดลคล้ายปี 2540 กลับมาใช้ พอทำแบบนั้น ผลปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาขวางทันทีไม่ให้แก้ จากนั้นช่วงมี พ.ร.บ.เหมาเข่งออกมาก็เริ่มเป็นขาลงของรัฐบาล เราจะเห็นว่ามีคำพิพากษาตามมาอีกเป็นชุด ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.แก้ไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องมาตรา 190 แก้ไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคแก้ไม่ได้ เป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยทั้งหมด แล้วตามมาด้วยเรื่องปลดคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากนายกรัฐมนตรี มีคดีเรื่องร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเงินมาดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กท์ตามนโยบายของรัฐบาล ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สุดท้ายมี กปปส.มาชุมนุมเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง แต่ กกต.ก็จัดการเลือกตั้ง สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.57  ไม่ชอบ ก็ล้มการเลือกตั้งไปอีกรอบหนึ่ง หลังจากนั้นเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.57  เราก็ไม่เห็นบทบาทของศาลอีกเลย เงียบหายไปเลย อันที่จริงบทบาทของศาลยังมีอยู่ แต่เป็นไปในด้านกลับ กลายเป็น endorse  (ให้การรับรอง) รัฐบาลทหารแทน จากเดิมที่คุณตรวจสอบรัฐบาลใช่ไหม คราวนี้คุณไม่ตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ใครมาฟ้องคุณบอกรัฐธรรมนูญชั่วคราวบอกไว้ว่าตรวจสอบไม่ได้ มีมาตรา 44 อยู่ มีมาตรา 47 อยู่

ตุลาการภิวัตน์ทั้งสามภาคได้ทำลายพลังของกลุ่มการเมืองเดียวกันทั้งหมดคือ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ซึ่งทั้งสาม ภาคจบลงด้วยการล้มรัฐบาลหมด


หัวข้อที่สอง 
คำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างไร 

ลองสำรวจชุดคำพิพากษาที่เราจัดกลุ่มให้เป็นตุลาการภิวัตน์มันส่งผลกระทบอะไรบ้างผมคิดว่าคำพิพากษากลุ่มนี้ส่งผลกระทบอยู่ 4 รูปแบบ
กลุ่มที่หนึ่ง คำพิพากษาที่กำจัดนักการเมืองโดยตรง
กลุ่มที่สอง คำพิพากษาที่ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล
กลุ่มที่สาม คำพิพากษาที่ปกป้องแดนอำนาจของพวกเขาเอง
กลุ่มที่สี่ สร้างสุญญากาศในทางการเมือง

กลุ่มแรกคำพิพากษาที่เข้าไปจัดการนักการเมืองโดยตรง กำจัดนักการเมืองที่ถูกมองเป็นศัตรู เป็นภัยต่อชนชั้นนำจารีตประเพณี ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มนี้คือ การยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี การปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ยึดทรัพย์สิน ผลคือนักการเมืองเหล่านี้ต้องถูกขับออกไปจากการเมือง ไม่ถาวรก็ชั่วคราวระยะเวลาหนึ่ง แล้วรัฐบาลต้องล้มลงต้องมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

กลุ่มที่สองคำพิพากษาที่ส่งผลทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล โดยธรรมชาติของความเป็นศาล เราไม่สามารถตัดสินคดีที่ปลดรัฐบาลล้มรัฐบาลได้อยู่บ่อยๆ ข้อจำกัดของความเป็นศาลมันมี ถ้าทำมากๆ อาจทำให้ศาลเสียหายได้ แต่มันก็มีวิธีอยู่คือ มีคำพิพากษาออกมาแล้วมันไปบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลหรือเปิดช่องให้องค์กรอื่นเล่นงานได้ต่อ กลุ่มนี้เช่น กรณีปราสาทพระวิหาร ศาลปกครองรับไปตัดสินแล้วคุ้มครองชั่วคราวห้ามไปลงนาม จะเห็นว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะชูขึ้นมาทันทีว่า เห็นไหม การทำข้อตกลงไทยกัมพูชา ถือเป็นการขายชาติขายแผ่นดินจริง, คำพิพากษาศาลปกครองที่พิพากษาว่าการย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายประจำ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นก็มี ส.ว.กลุ่มหนึ่ง เอาผลจากคำพิพากษานี้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้มีการปลดคุณยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กลุ่มที่สามคำพิพากษาที่ส่งผลปกป้องแดนอำนาจของตัวเอง รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหัวใจของพวกเขา พอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสียงข้างมากชูธงจะเข้ามาแก้ เริ่มแก้ปุ๊บก็ถูกขวางทันที ถามว่าทำไมต้องขวาง ตอนแรกจะเปิดทางให้มีการเลือก ส.ส.ร.จากนั้นจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ลองย้อนคิดดูทำไม ส.ส.ร.40 สามารถทำได้ แต่ ส.ส.ร.ชุดใหม่ที่จะทำนี้กลับทำไม่สำเร็จ ส.ส.ร.40 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่เลือกอ้อมกันไปอ้อมกันมา ส.ส.ร.ที่จะตั้งขึ้นตอนนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จังหวัดละ 1 คน หมายความว่าอำนาจหลุดมือจากการชนชั้นนำไปแล้วเพราะมาจากการโหวต จึงปล่อยตรงนี้ไม่ได้เด็ดขาด แต่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลานั้นก็ไม่กล้าตัดสินถึงขนาดว่าทำไมได้ แค่บอกว่าทำได้แต่ควรต้องประชามติก่อน ทีนี้รัฐบาลในเวลานั้นคำนวณแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย ก็เปลี่ยนหมากใหม่เป็นการไปแก้ทีละมาตรา ไม่ตั้ง ส.ส.ร.แล้ว แก้ทีละเรื่อง เริ่มจากกล่องดวงใจเขาก่อนเลยคือ วุฒิสภา จริงๆ ส.ว.สมัย 40 มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแล้วคนมองว่า รัฐบาลไทยรักไทยไปแทรกแซง ส.ว.ไว้หมดเลย ดังนั้น ส.ว.50 จึงเป็นลูกครึ่ง แต่งตั้ง เลือกตั้ง รัฐสภาเสียงข้างมากก็จะแก้กลับไปเลือกตั้งทั้งหมด ถ้ากลับไปเลือกตั้งทั้งหมดคนที่จะมีอันเป็นไปคือ องค์กรอิสระทั้งหลายนี่แหละ จะต้องถูกเปลี่ยนหมดแน่นอน เพราะ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นคนเข้ามาเลือก ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ปล่อยไม่ได้ การแก้ ส.ว.จึงเป็นเหมือนกล่องดวงใจ เราถึงเห็นการตีความแบบพิสดารว่า การแก้รัฐธรรมนูญโดยเปลี่ยนให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หลังจากนั้นมาเป็นชุด แก้มาตรา 190 ก็ไม่ให้แก้ แก้เรื่องยุบพรรคก็ไม่ให้แก้ นี่คือการป้องกันแดนอำนาจของตัวเอง เพราะถ้าเสียส่วนนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญจะพลิกโฉมทันที

กลุ่มที่สี่ คำพิพากษาที่ส่งผลให้เกิดสุญญากาศ ตอนรัฐบาลทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ มันจะมีการชุมนุมต่อต้าน จุดประสงค์ของผู้ชุมนุมต่อต้านไม่ได้ต้องการให้ยุบสภา เพราะเขามองว่ายุบแล้วเลือกตั้งใหม่ได้พวกเดิมกลับมา เขาจะบอกปฏิรูปก่อนบ้าง เสนอ ม.7 เสนอนายกพระราชทานบ้าง แต่อยู่ดีๆ เสนอไม่ได้มันต้องเกิดสุญญากาศก่อน พอยุบสภาปุ๊บเกมต่อไปคือต้องไปเลือกตั้ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ อำนาจหายหมด ราชการประจำไม่ฟังแล้ว หลังการยุบสภาของทั้งรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ข้าราชการเกียร์ว่างทันที พอจะเลือกตั้งก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าเลือกตั้งไม่ได้ สุดท้ายก็จะมีคำพิพากษาออกมาว่าการเลือกตั้งนั้นใช้ไม่ได้ เราจึงมีคำพิพากษาเรื่องนี้ 2 ครั้ง ล้มการเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 และล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เพื่อให้การเลือกตั้งเสียไป พอเสียไปรัฐบาลก็ไม่มี เป็นรัฐบาลรักษาการก็เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ และทั้งสองครั้งจบด้วยการรัฐประหาร

นี่คือผลกระทบในทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษากลุ่มที่เราเรียกว่า ตุลาการภิวัตน์
 

หัวข้อที่สาม เหตุปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์

แล้วสิ่งเหล่านี้เกิดมาได้อย่างไร มันมีเหตุปัจจัยอยู่ 4 ข้อ ที่ผลักดันให้เกิดคำพิพากษาแบบตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นได้

1.  ตัวบทรัฐธรรมนูญ

ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติต่างๆ มากมาย แต่จะมีตัวบทที่เขียนไว้ชัดเจนว่าให้อำนาจศาล ศาลก็ไม่ลังเลใจที่จะใช้อำนาจเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือมีช่องทางการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา องค์กรนั้นองค์กรนี้ สุดแท้แต่ อีกอันหนึ่งคือ ตัวบทมันไม่ชัดแต่ศาลตีความให้อำนาจตัวเอง ยกตัวอย่างมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มันไม่มีทางที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมาตรวจการแก้รัฐธรรมนูญได้โดยใช้ช่องมาตรา 68 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เอามาตรานี้มาตีความว่าตัวเองมีอำนาจไปตรวจสอบ จริงๆ น่าสนใจ มาตรา 68 มันเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่การใช้อำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญมันไม่ได้ใช้เสรีภาพ มันคนละเรื่องเลย มาตรานี้ถ้าใช้ให้ถูกคือ การชุมนุมแล้วล้มระบอบการปกครอง เป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมเพื่อล้มระบอบการปกครอง แต่ของเรามันกลับตาลปัตร พอมีคนชุมนุมแล้วเสนอการปกครองอะไรไม่รู้เต็มไปหมด มีคนไปร้องตามมาตรา 69 ศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่รับ เพราะศาลแพ่งบอกไปแล้วว่าเขาชุมนุมโดยชอบ แต่อีกกรณีหนึ่งรัฐสภามีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ ทำการแก้รัฐธรรมนูญ พอมีคนไปร้องบอกรับ ตรวจแล้วบอกว่าที่แก้นั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง

จริงๆ น่าสนใจอีกเหมือนกัน ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย วันที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เป็นวันที่ร่างนี้หลุดพ้นจากรัฐสภา หลุดพ้นจากตัวนายกรัฐมนตรีแล้ว อยู่ในขั้นตอนรอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ถ้าเราอ่านตัวบทมาตรา 68 ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญคือ สั่งห้ามการกระทำนั้น ถ้าเห็นว่าการแก้เรื่อง ส.ว.เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญก็ต้องสั่งห้าม แต่ในเวลานั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งห้ามใคร รัฐบาลยิ่งลักษณ์นำร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ แล้ว ถ้ากลับไปอ่านคำตัดสินจะเห็นว่าศาลบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองแต่ศาลไม่สั่งอะไรเลย แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปขอพระราชทานร่างนั้นคืนกลับมาเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้อนุญาตให้ทำนะ ถ้าทูลเกล้าฯ แล้ว พระมหากษัตริย์อาจลงพระปรมาภิไธย หรือวีโต้ หรือนิ่งแล้วกลายเป็นวีโต้โดยปริยาย เป็นอันว่ารัฐบาลเองเห็นว่าไปต่อไม่ได้แล้วก็ถอยเองในเวลานั้น จากนั้นก็ตามมาด้วยการยุบสภา

ดังนั้น มันจึงต้องมีเหตุปัจจัยคือ ตัวบทรัฐธรรมนูญ อาจเขียนไว้ชัดว่ามีอำนาจ หรืออีกแบบคือ เขียนไม่ชัดแล้วศาลแปลความ ขยายความให้ตัวเองมีอำนาจ อีกแบบคือมีถ้อยคำที่มีความหมายกว้างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ 2550 มีถ้อยคำทำนองนี้เยอะและร่างของมีชัย ฤชุพันธุ์ จะยิ่งเยอะมากกว่าเดิม เช่น นิติธรรม คุณธรรม ศาลก็จะเอาคำๆ นี้มาขยาย เช่น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้แก้ไขมาตรา 68 ศาลหยิบยกคำว่า นิติธรรม เป็นเหตุผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจการแก้รัฐธรรมนูญ
 

2. นักร้อง

นักร้องคือคนที่ไปร้องศาล สุภาษิตกฎหมายละตินบอกว่า ไม่มีคำฟ้อง ไม่มีผู้พิพากษา ถ้าไม่มีคนไปฟ้องศาลตัดสินไม่ได้ ทีนี้ศาลอยู่ดีๆ จะเปิดประตูเรียกให้คนมาฟ้องก็ไม่ได้ จึงต้องมีกลุ่มที่ขะมักเขม้นขยันขันแข็งในการร้องศาลตลอดเวลา ตอน 2549 จะเห็นอาจารย์กลุ่มหนึ่งร้องไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมาสู่การล้มเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 ปี 2557 ก็เหมือนกัน อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์อีกนั่นแหละ ทั้งสองรอบ ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ แล้วก็ล้มการเลือกตั้งอีกเหมือนกัน ผู้ร้องรอบปี 2557 ไม่ได้มีแค่อาจารย์มหาวิทยาลัยแต่ยังมี ‘ส.ว.ลากตั้ง’ อีกด้วย นึกถึงที่อาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน พูดว่าเขาทำงานเป็นทีมคล้ายวงออเคสตร้า คนนี้เป่า คนนี้ตี คนนี้ตบ ออกมาเป็นเพลงสวยงาม
 

3. วาทกรรมตุลาการภิวัตน์

เป็นผลมาจากพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 ต่อเนื่องมา วาทกรรมนี้ผลักให้ศาลแอคชั่นมากขึ้น เมื่อก่อนเราไม่เคยเห็นศาลขยันขนาดนี้ เรื่องในทางการเมืองไม่เคยเห็นศาลลงมาตัดสินขนาดนี้ ศาลจะแอคทีฟเมื่อคุณออกกฎหมายมายุ่งกับศาล มาล้ำแดน แต่ตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมาศาลแอคทีฟมากขึ้น ถ้าไม่มีวาทกรรมตุลาการภิวัตน์ ไม่มีทางที่ศาลจะขยันแบบนี้
 

4. สร้างให้สังคมเชิดชูศาลเป็นกลาง

สนับสนุนว่าศาลนั่นเองที่ต้องออกมา บนวาทกรรมว่า ศาลมีความเป็นกลาง เป็นอิสระ เรื่องทุกเรื่องที่ขัดแย้งกันต้องไปจบที่ศาล มันลามมาขนาดปัจจุบันในตอนร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลคุณประยุทธ์ว่า ถ้าคนทะเลาะกันก็ต้องให้ศาลตัดสินสิ ขัดแย้งกันเมื่อไรต้องมีศาลชี้ขาด ทั้งที่กระบวนการทางการเมืองบางเรื่องไม่ต้องจบที่ศาล แต่ของไทยต้องมีศาลตลอด
ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ผลักดันให้เกิดชุดคำพิพากษาตุลาการภิวัตน์ขึ้นมาได้


อนาคตจะมีภาค 4 ภาค 5 หรือไม่

มันอาจจะกลับมาอีก วันที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องเกิดขมึงเกลียวในทางการเมืองกันนิดหน่อยแล้วศาลจึงจะออกมา แล้วกลับไปเหมือนเดิม ผมจึงคิดว่ามันยังไม่จบ โอกาสที่จะมีอีกยิ่งชัดขึ้นเมื่อดูร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ซึ่งยังคงสนับสนุนให้มีตุลาการภิวัตน์อยู่ โดย

1. constitulization สิ่งที่ผิดให้กลายเป็นถูกหมดเลย สิ่งที่ผิดหมายความว่า วันที่ศาลตัดสินแบบถ้อยคำไม่ชัด อำนาจไม่มีแต่ขยายความเอง ณ วันนี้มันจะถูกหมดแล้ว ตอนนั้นเราเถียงกันเรื่องว่าต้องไปร้องอัยการสูงสุดก่อน คราวนี้เขียนเลยว่าถ้าร้องอัยการสูงสุดแล้วไม่ตอบก็สามารถร้องศาลรรัฐธรรมนูญได้โดยตรง บรรดานักร้องมืออาชีพก็ถูมือเลย อีกอันคือ ตัดสิทธิเลือกตั้ง ตอนยุบพรรคไทยรักไทยแล้วตัดสิทธิกรรมการ 111 คน เขาใช้ถ้อยคำว่า ได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย คำๆ นี้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 เขาหมายถึงพวกรัฐประหาร แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหารใช้คำนี้เพื่ออธิบายว่าพรรคไทยรักไทยไปจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองมาเป็นรัฐบาล แล้วเอาประกาศ คปค.มาตัดสิทธิย้อนหลัง 5 ปีด้วย มันยังคลุมเครืออยู่ อย่ากระนั้นเลย ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีมาตรา 237 ขึ้นมา ต่อไปนี้กรรมการบริหารพรรคโดนใบแดง พรรคนั้นโดนยุบ กรรมการโดนตัดสิทธิทั้งพรรค 5 ปี แล้วพลังประชาชน เพื่อไทย มัชฌิมา โดน ร่างมีชัยยังทำอย่างนี้ต่อและพิเศษไปกว่านั้น เขียนถ้อยคำใหญ่โตไปเต็มเลย แล้วเปิดให้ศาลตีความถ้อยคำนั้น มีการรับรองสิทธิเสรีภาพไว้เต็มเลยแต่ข้อยกเว้นคือ เรื่องความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง มีอีกอันที่น่าสนใจ รับรองเสรีภาพในทางวิชาการไว้แต่มีข้อยกเว้นคือ ใช้เสรีภาพในทางวิชาการแล้วต้องรับฟังผู้อื่นด้วยและห้ามขัดกับหน้าที่ของพลเมืองไทย ข้อหนึ่งคือ ห้ามยุยงปลุกปั่นให้มีความขัดแย้งของคนในชาติ ข้อจำกัดนั้นกว้างสุดแท้แต่จะตีความมากๆ แล้วยังมีประเด็นคนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนดีมีคุณธรรมซื่อสัตย์สุจริตอย่างเป็นที่ประจักษ์ชัด ใครเป็นคนบอก คำตอบคือศาลรัฐธรรมนูญ มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่เหมือนชาวบ้าน 60 กว่าล้านก็ได้ ไม่นับเรื่องมาตรา 7 ซึ่งย้ายไปเป็น มาตรา 5 แล้ว

ฉะนั้น ร่างมีชัยยังสนับสนุนบทบาทของศาลอยู่ เพียงแต่ว่าจะมาตอนไหน แล้วแต่โมเม้นท์ในแต่ละช่วง

ขอสรุปว่า จากการศึกษามา 10 ปี เราอาจต้องช่วยสร้างนิยามของตุลาการภิวัตน์ใหม่ อาจารย์สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) ลองเปลี่ยนชื่อมันให้กลายเป็น การเมืองเชิงตุลาการ อันนี้ก็น่าสนใจ เพราะคำว่าตุลาการภิวัตน์นั้นดูดีเกินกว่าที่มันเป็นจริง

หากเราจะลองให้นิยามดู ในความเห็นของผมคือ เป็นขบวนการที่ศาลเข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านการตัดสินคดี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายกลุ่มการเมืองที่เป็นอันตรายหรือภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตุลาการภิวัตน์อาศัยความชอบธรรมแบบเสรีแบบประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ ในการเข้าไปตรวจสอบองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความชอบธรรมบนหลักการนั้น เขาไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อพัฒนา liberal democracy ให้สมบูรณ์ แต่เขามุ่งหมายที่จะทำลายองค์กรจากการเลือกตั้งที่เป็นภัยคุกคามต่อระบอบของพวกเขามากกว่า

ในต่างประเทศ ศาลพยายามจะช่วยพัฒนาประชาธิปไตยให้มันดีขึ้นโดยการเข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพบุคคลมากขึ้น ซึ่งเป็น legitimacy แบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่ขาหนึ่งคือ มาจากการเลือกตั้ง อีกขาหนึ่งคือ จำกัดอำนาจขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง ศาลอยู่ในปีกเข้าไปตรวจอบ แต่ศาลเราอาศัยความชอบธรรมแบบนี้แต่ไม่ได้มุ่งหมายพัฒนาประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ คุ้มครองสิทธเสรีภาพ แต่กลับไปจำกัดพลังทางการเมืองของขั้วเดียวกลุ่มเดียวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะเห็นได้ว่า คดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 มีผลไม่เป็นคุณต่อกลุ่มการเมืองกลุ่มเดิมและกลุ่มเดียว ในหลายกรณีผลกระทบทางการเมืองที่เกิดจากคำพิพากษาสำคัญกว่าการสร้างหลักกฎหมายพื้นฐานหรือการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบอำนาจรัฐ ผมหมายถึงว่า เวลาศาลตัดสินปุ๊บ มันมีเอฟเฟคทางการเมืองมหาศาล เฮกันหมด แต่ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ ศาลตัดสินว่าอะไร

ยกตัวอย่างคดีคุณถวิล เปลี่ยนศรี คนที่เฮรวมทั้งคนที่ไม่เฮลองไปอ่านคำพิพากษาดูแล้วจะรู้ว่า ศาลไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีย้ายคุณถวิลไม่ได้ ศาลไม่ได้พูดว่าการย้ายนั้นเอื้อประโยชน์กับคนนั้นคนนี้ ไม่เลย เหตุผลที่ศาลใช้คือ นายกรัฐมนตรีสู้ในศาลปกครองว่าคุณถวิลมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจึงอยากให้มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าจากการสืบสวนในศาล คุณยิ่งลักษณ์ไม่เคยเรียกคุณถวิลมาใช้สักครั้งหนึ่ง ศาลจึงบอกว่าที่คุณยิ่งลักษณ์บอกว่าคุณถวิลเก่งนั้นไม่จริง การย้ายนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลยืนยันด้วยซ้ำว่านายกฯ เป็นผู้บริหารสูงสุดมีอำนาจย้ายข้าราชการได้ แต่เราอย่าลืมว่าการย้ายข้าราชการซีสูงๆ เขาก็ต้องให้เกียรติกันบอกว่ามาช่วยงาน และเลขา สมช.ตำแหน่งนี้ทุกรัฐบาลก็ย้ายหมดเพราะมันเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลนั้นๆ คุณสมัคร คุณอภิสิทธิ์ ก็ย้ายเช่นกัน

คำพิพากษาบางอันออกมาส่งผลกระทบทางการเมืองแบบฉับพลันทันที สำเร็จในตัวเอง โดยที่ไม่มีใครไปซีเรียสเลยว่าศาลให้เหตุผลอะไรบ้าง วางหลักกฎหมายอะไรไว้บ้าง จบแล้วจบกัน มีผลทางการเมืองแล้ว ดังนั้นผลกระทบทางการเมืองอาจสำคัญมากกว่าการสร้างหลักกฎหมายหรือการสร้างมาตรฐานการตรวจสอบอำนาจรรัฐ

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากสรุปทิ้งท้าย การเกิดตุลาการภิวัตน์ด้านหนึ่งก็มีข้อเสีย แต่ในดีมีเสีย ในเสียมีดี พอเป็นแบบนี้ 10 ปีผมคิดว่าความน่าสนใจคือ ทำให้ศาลลงมาอยู่ในระนาบเดียวกันแล้ว คนมองว่าศาลคือ political actor อันหนึ่ง แน่นอนว่าเขายังมีความศักดิ์สิทธิ์อะไรบางอย่างผ่านวัฒนธรรมจารีตประเพณีต่างๆ หรือกฎหมายละเมิดอำนาจศาล หมิ่นประมาทศาล มันก็ยังมีอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุดในความคิดของคนทั่วไปในสังคมเขากล้า challenge กับศาลว่าคุณก็มีทัศนคติอยู่เบื้องหลังนี่ จริงๆ มันเป็นเรื่องปกติ สมมติมี พ.ร.บ.อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ สมมติศาล 5 คนบอกทำได้ อีก 4 คนบอกทำไม่ได้ อันนี้ใช้หลักกฎหมายหรือทัศนคติ มันเลยความเป็นกฎหมายขึ้นไปแล้ว กฎหมายที่มันขึ้นไปสู่แดนนโยบายมากขึ้นนั้นมันไม่ใช่นิติศาสตร์แท้ๆ แต่มันคือทัศนคติของคนตัดสินคดี

ปรากฏการณ์สิบปีที่ผ่านมาศาลเป็น political actor ไปแล้วในความคิดของคนจำนวนมาก จุดชี้วัดที่น่าสนใจคือ ทำไมศาลเขาถึงเริ่มป้องกันตัวเองมากขึ้น ถ้าลองตามให้ดี ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะออกกฎหมายละเมิดอำนาจศาลขึ้นมา ศาลอื่นมีแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี วันที่วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ไปฟ้องคุณพร้อมพงศ์ จนติดคุกเพิ่งได้ออกจากคุก นั่นแกฟ้องในนามตัวเอง ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญพยายามผลักดันให้มี เพื่ออะไร เพราะว่าในอนาคตศาลรัฐธรรมนูญต้องไปตัดสินคดีแบบนี้อีก เมื่อมีกฎหมายทุกคนก็พร้อมจะเซ็นเซอร์ตัวเอง

ในสิบปีที่ผ่านมา มันอาจเสียต่อระบบกฎหมายอยู่มากแต่ที่ได้คือมัน challenge ศาล แต่ที่น่าเสียดายก็คือ ในกระบวนการยุติธรรมตัดสินออกมาแล้วเราเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย มันอาจเป็นที่ยอมรับยุติกันได้ แต่ในยุคปัจจุบันมันไปถึงจุดที่ไม่มีใครยอมรับกันอีกแล้ว ในสังคมไทยมันไม่มีองค์กรอะไร บุคคลใดที่พูดแล้วมันจะจบ

มันกลายเป็นว่าสังคมไทยไม่มีองค์กรใดบุคคลใดที่พูดแล้วมันจะจบ ทุกวันนี้ ถ้าสำรวจทั้งประเทศน่าจะหาไม่เจอแล้ว ศาลตัดสินก็ไม่จบ กองทัพรัฐประหารก็ไม่จบ เลือกตั้งเข้ามาก็ไม่จบ มันจะเป็นช่วงวิกฤตอย่างนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือต้นทุนที่ศาลเทไปจนหมดหน้าตัก และทำให้รื้อฟื้นความเชื่อถือในสังคมกลับมาค่อนข้างยากพอสมควร

อีกเรื่องที่จะขอทิ้งท้ายคือ ผมคิดว่า Judicialization of Politics ที่ใช้กันในต่างประเทศ มีมิติความแตกต่างจากตุลาการภิวัตน์ อยู่หลายเรื่องเหมือนกัน ของเขา มันเป็นกรณีที่ศาลมีอำนาจตัดสินและพยายามแปลความจากตัวบทเช่น อย่างนี้กระทบสิทธิ กระทบสิทธิชุมชน กระทบเสรีภาพ นี่กระทบความมั่นคง คือศาลจะพยายามเข้าไปบาลานซ์ความมั่นคงกับเสรีภาพ โดยตีความผ่านตัวบท แต่ตุลาการภิวัตน์แบบไทยที่เกิดขึ้น หลายเรื่องไม่ได้มีอำนาจอย่างชัดเจน แต่ก็เข้าไปได้

ข้อแตกต่างอีกอันหนึ่ง คือ Judicialization of Politics ในต่างประเทศที่เกิดขึ้น คือ การสู้กันขององค์กรที่มาจากการเลือกตั้งกับองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ทั้งสององค์กรนี้สังกัดระบอบเดียวกัน คือเห็นไม่เหมือนกัน แต่สังกัดระบอบเดียวกัน แต่ของไทย ศาลสังกัดระบอบหนึ่ง อีกพวกหนึ่งสังกัดอีกระบอบหนึ่ง ปัญหามันเลยซับซ้อนยิ่งกว่านั้นอีก

 

ถาม-ตอบ

ถาม: หนึ่ง มีเหตุผลอะไรที่ตุลาการภิวัตน์มุ่งทำลายกลุ่มการเมืองแค่กลุ่มเดียว สอง พอตุลาการภิวัตน์ทำงานไปจะจบลงที่การรัฐประหาร อยากรู้ความเชื่อมโยงของตุลาภิวัตน์กับสถาบันทหารกับการรัฐประหารว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร

ปิยบุตร: ขออนุญาตตอบข้อสองก่อน เพราะเป็นซีรีส์ที่ผมยังเขียนอยู่ในมติชนสุดสัปดาห์ คือ ศาลไทยกับรัฐประหาร อ.เกษียร เตชะพีระ เคยอภิปราย บอกว่า มันเป็นคู่หูกัน ศาลกับทหาร ขาดใครไม่ได้ แกพูดว่าเป็นผีเน่ากับโรงผุ ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปดู ถ้ามีรัฐประหารแล้วศาลบอกว่าสิ่งที่รัฐประหารทำมาไม่ชอบ จะจบเลย เพราะฉะนั้น ศาลจะคอย endorse รัฐประหารตลอดเวลา ลำพัง ทหารหรือปืนอย่างเดียว โลกสมัยใหม่ไม่อนุญาตให้คุณใช้ปืนปกครองประเทศได้ ปืนต้องถูกเปลี่ยนรูปให้เป็นกฎหมาย ใช้ปืนอย่างเดียวไม่มีใครคบแล้ว

ทีนี้การถูกเปลี่ยนรูปให้เป็นกฎหมาย ผู้ที่จะช่วยได้ หนึ่ง คือ นักกฎหมาย เนติบริกร อีกด้านหนึ่ง คือ ถ้ามีคนฟ้องคดีที่ศาล ศาลจะต้องตัดสินคดีในลักษณะที่เป็นคุณกับตัวรัฐประหาร ถามว่าศาลเคยตัดสินไม่เป็นคุณกับรัฐประหารไหม เคย แต่เฉพาะเรื่องที่รัฐประหารมายุ่งกับศาล แต่ถ้ารัฐประหารไม่มายุ่งกับศาล ข้าก็จะ endorse เอ็งไปเรื่อยๆ เราลองไปดูประวัติศาสตร์คำพิพากษาของไทยได้หมด

ยกตัวอย่างอีกกรณี ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ในชุดของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มีความพยายามจะปรับโครงสร้างคณะกรรมการตุลาการ (กต.) ให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ปิดกันอยู่แต่พวกศาล ต่อมา อ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เขียนจดหมายเปิดผนึกในฐานะ “ประชาชนคนไทยคนหนึ่ง” ถามว่าพวกเราหนึ่งคนไปเขียนจดหมายในฐานะประชาชนคนไทย ถามว่าคณะกรรมการร่างจะสนใจไหม เทียบกับอ.ธานินทร์ ซึ่งเป็นองคมนตรี อดีตศาล อดีตนายกฯ ท่านเขียนมาว่าเรื่อง กต.อย่าไปยุ่ง ผลคือเลิกทันที

คือ ถ้าทหารแตะศาลเมื่อไหร่ เขาไฟต์ทันที แต่ถ้าไม่แตะก็อยู่ด้วยกันไป

ส่วนทำไมพอตุลาการภิวัตน์เสร็จต้องจบด้วยรัฐประหาร นั่นเพราะมันเป็นข้อจำกัดของความเป็นศาล เราลองคิดดู ศาลตัดสินว่าเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งประเทศ ศาลตัดสินว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในวันนั้นพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตอนนั้นถ้าเราจำกันได้มันมีความพยายามลุ้นกันอยู่ว่า "ศาลตัดสินปุ๊บจะไปกันยกชุด ไม่มีรัฐบาลอยู่เลย กลายเป็นสุญญากาศ คราวนี้เข้าทางพวกเราแล้ว" เราจะเห็นได้ว่าด้วยความเป็นศาลไม่กล้าตัดสินไปในลักษณะที่สุดโต่งขนาดนั้น จริงๆ ที่ผ่านมามันก็สุดๆ จะสุดโต่งๆ แล้ว จะให้ไปตัดสินถึงขนาดที่บอกว่า วันนี้ตัดสินเสร็จแล้วรัฐบาลหายไปทั้งคณะเลย มันเกิน capacity ของความเป็นศาลแล้ว พูดง่ายๆ ศาลทำยังไงก็ตามไม่มีวันจะเปลี่ยนให้เป็นรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จแบบรัฐบาลทหาร เป็นไปไม่ได้แน่ ศาลก็จะทำได้เท่านี้แล้วสุดท้ายมันจะเข้าสูตรว่ามันถึงทางตัน ถึงต้องมี แอ่น แอน แอ๊น รัฐประหาร คือความเป็นศาล มันตัดสินคดีแบบล้มรัฐบาลจนหมดเกลี้ยงไม่เหลือสักคนเป็นไปไม่ได้ มันมีข้อจำกัดของมันอยู่ แต่อย่างน้อยที่สุด ผลของคำพิพากษาพวกนี้มันส่งผลจนเหมือนเกิดวิกฤตขึ้นมา จนทหารที่ทำหน้าที่ล้างท่อต้องออกมา ลองดูรัฐประหารทั้งสองครั้งจะเป็นอย่างนี้หมด

ส่วนคำถามข้อที่หนึ่ง อาจจะฟังคำถามไม่ค่อยเคลียร์ แต่เข้าใจว่ากำลังสงสัยว่าตุลาการภิวัตน์ มันคือศาลเข้าไปมีบทบาทในทางการเมือง แล้วสุดท้ายผมบอกว่ามันเข้าไปมีบทบาทกับกลุ่มเดียว แล้วเลยสงสัยว่าทำไมมันไม่มีทุกกลุ่มใช่หรือไม่

ถ้าตอบอย่างนี้ก็สุ่มเสี่ยง คือผมก็ทิ้งไว้ให้คิดว่าแล้วทำไมไม่มีปัญหากับการเมืองทุกกลุ่ม เอาคนละระนาบกันก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างพรรคนั้นพรรคนี้ ทำไมองค์กรตุลาการไทยตรวจสอบรัฐบาลจากการเลือกตั้งเต็มพิกัด ตัวบทในรัฐธรรมนูญไม่ให้ไปถึง ก็ยังตีความว่าตรวจสอบได้ เข้ามาจนแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่พอเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจ มีคนไปฟ้องเต็มเลย ทั้งศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ฟ้องกี่ทีศาลก็จะบอกว่ามาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 รับรองการกระทำทุกอย่างของ คสช.หมดแล้ว ศาลไม่ตรวจ มาตรา 44 บอกว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ทั้งหมด ถูกต้องทุกอย่างแล้ว ศาลไม่ตรวจ แต่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง กฎหมายเขียนไม่ชัด ยังพยายามไปให้ถึง พูดง่ายๆ พอเป็นรัฐบาลจากการรัฐประหาร คุณยึดตามตัวบท ก่อนหน้านั้นตัวบทไม่เปิดก็ยังตีความไปให้ถึง 

ผมอาจจะตอบคำถามไม่ตรง แต่เล่าเป็นปรากฏการณ์ให้ลองไปชั่งน้ำหนักดูแล้วกันว่าสุดท้ายทำไมมันถึงเป็นแบบนี้


ถาม: เรายังพอจะมีความหวังในแง่ของการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงสถาบันตุลาการ ให้สามารถรับผิดชอบกับสังคมและประชาชนได้ โดยที่ไม่เป็นอย่างที่มันเป็นอยู่หรือเปล่า หรือว่าจริงๆ การปฏิรูปอาจจะไม่พอ อาจจะต้องการการเปลี่ยนแปลงมากกว่านั้น อะไรที่พอจะทำได้ เพราะข้อวิพากษ์ตอนนี้เหมือนไม่มีความหวังเลย

ปิยบุตร: ก่อนจะตอบคงต้องไปนอนฝันหลายๆ ตื่น เอาจริงๆ นะผมว่าทหารเปลี่ยนก่อนศาล ศาลน่าจะเป็นองค์กรสุดท้ายที่จะเปลี่ยน ไปบรรดาองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหมด พวก ส.ส. ส.ว. นักการเมือง ดีชั่วอย่างไรมันมี response ต่อคนเลือกตั้ง เพราะถูกเลือกเข้ามา ผมมองว่า กองทัพ เขาไวต่อการเมือง แม้เขามีภารกิจอะไรบางอย่าง แต่เขาก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่ผมว่าศาลด้วยระบบที่มันปิด ระบบที่ถูกยกให้ขึ้นไปสูงมาก การปรับตัวมันก็ช้ามาก เผลอๆ น่าจะเปลี่ยนยากและถ้าเราลองดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา องค์กรตุลาการไทยเราไม่เคยถูกเปลี่ยนเลย ขณะที่ถ้าเราไปดูการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติใหญ่ของทุกประเทศ คุณเปลี่ยนระบอบการปกครอง จากหน้ามือเป็นหลังมือ การเปลี่ยนระบอบการปกครองไม่มีใครละเว้นศาลหรอก ศาลต้องถูกเปลี่ยนตามระบอบการปกครองทันที แต่ประเทศไทยเรา 2475 ไม่มีใครแตะต้องศาลเลย ทุกวันนี้เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นมรดกของ 2475 ทั้งๆ ที่คณะราษฎรเป็นคนที่ทำเอกราชทางการศาลให้ แต่ 2475 ไม่มีความหมายสำหรับศาลเลย ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของแต่ละประเทศ ซึ่งถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ศาลต้องโดนก่อน

มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ศาลไม่โดนแล้วมันส่งผล คือ เยอรมนี ศาลสมัยระบอบไกเซอร์ ตอนเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ สาธารณรัฐไวมาร์เขาไม่ใช้ระบบ purification ศาล คือให้สมัครใจ ไม่อยากทำงานกับระบอบใหม่ก็ลาออกไปกินเงินเกษียณเสีย ปรากฏบางคนไม่ออก ก็อยู่ไปเรื่อยๆ และมาตัดสินคดีเลอะๆ เทอะๆ เต็มไปหมดเลย ลองไปดูที่ อ.วรเจตน์เคยบรรยายไว้ หรือลองดูงานของคุณภาณุ คือพูดง่ายๆ ว่า คุณเป็นคนที่มีความคิดสังกัดระบอบเดิม แล้วคุณก็ยังมาดำรงชีวิตอยู่ในระบอบใหม่ เพราะคุณไม่ออก แล้วคุณก็จะตัดสินคดีความตามระบอบเดิมต่อ

ขณะที่ฝรั่งเศส เวลาเปลี่ยนระบอบทีหนึ่ง purification ศาลประจำ กษัตริย์กลับมาเขาก็ purification พวกสาธารณรัฐออกไป สาธารณรัฐมาก็ purification ศาลอีกระบอบหนึ่งออกไป  แต่ของเรา เราไม่เคยไปเปลี่ยนอะไรศาลเลย แม้กระทั่งระบบการศึกษา การพัฒนาภายในศาล ไม่มีเลย วันก่อนไปบรรยายที่มติชน พร้อม อ.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผมก็เลยถามแก แกบอกว่า มันไม่มีสอนเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในโรงเรียนศาลเลย

อันนี้น่าสนใจ มันคล้ายกับประเทศชิลี คืออเมริกาใต้ มีเผด็จการทหารหลายประเทศ บางประเทศ ทหารอุ้มฆ่าอุ้มหาย เช่น อาร์เจนตินา มีการอุ้มหาย ไม่ส่งไปฟ้องศาลเลย เพราะศาลไม่ใช่พวกมัน ขืนส่งฟ้องศาล ศาลยกฟ้องหมด แต่ชิลี จำนวนการอุ้มน้อยกว่า แต่ใช้กฎอัยการศึก แล้วก็ส่งฟ้องศาล แล้วศาลก็พร้อมจะเออออห่อหมกกับเผด็จการปิโนเชต์ได้เลย ศาลชิลีทำไมเป็นแบบนั้น มันมีงานภาษาอังกฤษที่ศึกษาศาลในระบอบเผด็จการทั้งหมด เขาศึกษาศาลชิลี เขาบอกว่า ศาลชิลีมันมีความรู้สึกว่า apolitic มันไม่เกี่ยวกับการเมือง มันอยู่เหนือการเมืองตลอดเวลา ดังนั้น คุณเป็นประชาธิปไตย คุณเป็นรัฐบาลพรรคสังคมนิยมมา เผด็จการทหารปิโนเชต์มา ผมไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผมเป็นศาล ผมอยู่ของผมต่อ ตรงกันข้าม ใครมาบอกว่าเป็นศาลต้องพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย อ้าว เอ็งเป็นศาลการเมืองนี่หว่า แล้วมันก็มีความหยิ่งทะนงในเรื่องนี้มาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่คุณบอก apolitic คุณเป็น politic จริงๆ คือการที่คุณบอกคุณปลอดการเมือง คุณก็การเมืองแล้วไง เพราะการที่คุณบอกว่าปลอดการเมือง ทำให้กฎหมายของเผด็จการทุกอย่างถูกต้องชอบธรรมหมด เพราะคุณไม่เอาคุณค่าของระบอบการปกครอง

ที่น่าสนใจอีกอันคือ ขนาดปิโนเชต์ออกจากอำนาจไปแล้ว ในช่วงขาลง ศาลยัง endorse ให้อยู่เลย จนกระทั่งปิโนเชต์โดนจับที่ลอนดอนเมื่อนั้นแหละ ศาลชิลีกลับตาลปัตรทันที ทั้งที่เป็นคนหน้าเดิม คือพูดง่ายๆ หมามันจะตาย เห็บมันกระโดดหนี เพราะฉะนั้น ลองไปดู ศาลในประเทศระบอบเผด็จการ ถ้าศาลเป็นเนื้อเดียวกันกับทหาร ทหารก็จะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ กฎอัยการศึก ตรากฎหมายละเมิดสิทธิจำนวนมาก พอเอาไปฟ้องศาล สุดท้ายศาลก็เอาเข้าคุกให้ แต่ถ้าศาลไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับทหาร ทหารก็จะไม่ใช้บริการศาล ก็จะอุ้มเลย ไม่ต้องไปฟ้องศาล เขียนตัดอำนาจศาลทิ้งหมด แต่ของไทย เราจะเห็นได้ว่าศาลกับทหาร เหมือนพันธมิตรกัน เขาจะไม่ยุ่งกัน ถ้าทหารล้ำแดนศาลเมื่อไหร่ ศาลออกเมื่อนั้น

ถาม: มีประสบการณ์ต่างประเทศไหม ที่เอาศาลมาขึ้นศาลด้วย ในฐานะปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย หรือตัดสินโดยมิชอบ
ปิยบุตร:ที่ชัดที่สุดคือหลังนาซีล่ม ผู้พิพากษาโดนขึ้นศาลอยู่หลายคน จากความผิด ป.อาญา เรื่องใช้กฎหมายบิดเบือนเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่น แต่ลองสังเกต เยอรมนีต้องใช้สองสมัย หลังยุคไกเซอร์ล้มเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ ยังมีซากเดนของระบอบเก่าอยู่ ซึ่งพวกนี้ก็ตัดสินคดีต่างๆ จน endorse คนแบบฮิตเลอร์ขึ้นมาได้ จนต้องฮิตเลอร์ล่มถึงจะจัดการศาลได้อีกรอบ แต่ในบางประเทศที่ศาลเขาไหวตัวทันว่าระบอบเผด็จการมันไปไม่รอดแล้วมันก็ปรับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานทั่วโลกเดินขบวนในวันแรงงานสากลประจำปี 2559

$
0
0
แรงงานทั่วโลกรณรงค์วันแรงงานสากล 1 พ.ค. หลายแห่งในโลกรัฐบาลพยายามออกกฎหมายเลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น กลุ่มสหภาพแรงงานจึงออกมารณรงค์คัดค้าน ส่วนเอเชียเน้นเรื่องขึ้นค่าแรง ที่สหรัฐฯ เรียกร้องสิทธิแรงงาน รวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของผู้อพยพ 

 
 
การเดินขบวนของกลุ่มสหภาพแรงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย
(ที่มาภาพ: flickr.com/nseika/CC BY 2.0)
 
 
ป้ายรณรงค์วันแรงงานที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
(ที่มาภาพ: flickr.com/sohabayoumi/CC BY 2.0)
 
 
การรณรงค์สิทธิแรงงานรวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของผู้อพยพที่สหรัฐอเมริกา
(ที่มาภาพ: flickr.com/40969298@N0/CC BY 2.0)
 
 
การเดินขบวนของกลุ่มสหภาพแรงงานในประเทศมัลดีฟ
(ที่มาภาพ: flickr.com/dyingregim/CC BY 2.0)
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2559  ที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้แรงงานในที่ต่าง ๆ ของโลกได้เดินขบวนเนื่องในวันแรงงานสากล อาทิเช่น ที่ฮ่องกงผู้ใช้แรงงานออกมาเรียกร้องว่าแม้ฮ่องกงจะใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว แต่ปัญหาแรงงานอื่น ๆ เช่น สิทธิแรงงาน และข้อพิพาทระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างยังไม่ได้รับการแก้ไข 
 
ที่เกาหลีใต้ ชาวเกาหลีใต้หลายหมื่นคนมาร่วมชุมนุมแสดงพลังคัดค้านนโยบายการปฏิรูปแรงงานของรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงกว่าเดิม เจ้าหน้าที่ผู้มีบทบาททางกิจการแรงงานกล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ประธานาธิบดีปัก กึน-เฮเป็นผู้ผลักดันกับพรรคแซนูรีพรรครัฐบาลจะทำให้บริษัทต่างๆปลดคนงานออกได้ง่ายมากกว่าเดิม ขอให้แรงงานทั้งหลายต่อสู้คัดค้านฏหมายที่ชั่วร้ายร่วมกันระหว่างการชุมนุมร่วมกันที่โซลพลาซาที่ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลากลางกรุงโซลโดยมีแรงงานราว 30,000 คนเข้าร่วมชุมนุมด้วย ที่กัมพูชา สหภาพแรงงานนำแรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า เดินขบวนสู่อาคารรัฐสภาที่กรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ก็ถูกตำรวจปราบจลาจลขัดขวางขบวนไม่ให้เข้าไปในอาคารได้ 
 
ที่ฝรั่งเศส ในที่กรุงปารีสมีผู้ชุมนุมราว 17,000 คน เดินขบวนต่อต้านร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานที่จะเข้าสู่สภาในวันที่ 3 พ.ค. 2559 นี้ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยให้นายจ้างเลิกจ้างแรงงานได้ง่ายขึ้น ขณะที่ตุรกีเจ้าหน้าที่ตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุม 207 คน นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิต 1 คน
 
ส่วนที่สหรัฐอเมริกากลุ่มผู้ใช้แรงงานในหลายเมืองทั่วประเทศได้ออกแสดงจุดยืนเรียกร้องสิทธิแรงงานรวมทั้งสิทธิต่าง ๆ ของผู้อพยพ ทั้งในเรื่องค่าจ้างและยุติแผนการส่งตัวกลับ รวมถึงสนับสนุนแผนของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในการให้ใบอนุญาติแก่ผู้อพยพผิดกฎหมายที่มีบุตรถือสัญชาติอเมริกัน นอกจากนี้ยังเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ เพศ และศักดิ์ศรีของแรงงานอพยพ ที่ได้รับการปลุกระดมจากการรณรงค์หาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันในช่วงที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรมในกรณีที่ชาวอเมริกันผิวสีและเชื้อสายลาตินที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช. ขยายเวลาสรรหาเลขาธิการคนใหม่

$
0
0

2 พ.ค. 2559  ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2559 ได้มีวาระการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อดำรงตำแหน่งแทน นพ.วินัย สวัสดิวร ที่จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 15 พฤษภาคม นี้ โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้ากระบวนการสรรหา ซึ่งจากการเปิดรับสมัครผู้รับการสรรหาตั้งแต่วันที่ 1-22 เมษายน 2559 มีจำนวนผู้สมัครรับการสรรหาทั้งหมด 8 ราย และขณะนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาคุณสมบัติของคณะกรรมการสรรหาฯ แล้ว
 
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการกำหนดกรอบระยะเวลาการสรรหาเลขาธิการ สปสช.เบื้องต้น คณะกรรมการสรรหาฯ จะดำเนินการระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน 2559 เพื่อนำเสนอรายชื่อผู้ที่เหมาะสมเพื่อให้บอร์ด สปสช.พิจารณาคัดเลือกดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ในวันนี้ ( 2 พ.ค. 59) แต่เนื่องจากกระบวนการสรรหามีขั้นตอนรายละเอียดที่มาก ทั้งต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเพื่อให้ได้ผู้เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติที่เหมาะสมและตรวจสอบข้อห้ามในการสมัครรับการสรรหา รวมทั้งการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ จึงขอขยายเวลาการสรรหาเพิ่มเติม และขอเลื่อนการนำเสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเพื่อบอร์ด สปสช.พิจารณาคัดเลือกในวันนี้ไปในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งหน้าในวันที่ 6 มิถุนายน 2559 แทน   
 
“ที่ประชุมบอร์ด สปสช.เห็นชอบให้มีการขยายเวลาการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ออกไป เพราะเข้าใจว่าการดำเนินการสรรหาเพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.ไม่ง่าย ดังนั้นเพื่อให้คณะกรรมการสรรหาฯ มีเวลาดำเนินการเพิ่มขึ้น จึงขอให้คณะกรรมการสรรหาฯ นำรายชื่อที่รับการสรรหากลับมาเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้านี้” ประธานบอร์ด สปสช. กล่าว
 
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการรายงานรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเรียงลำดับตามระยะเวลาการสมัคร ดังนี้ 1.นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการแทนเลขาธิการ สปสช. 2.นางสาวสวนีย์ อ่อนสุวรรณ์ อดีตผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ 3.นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพัทธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี 4. นพ.ปภัสสร เจียมบุญศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข 5.ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 6.รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 7.นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และ 8.ผศ.นพ.ชูศักดิ์ โอกาศเจริญ ประธานหลักสูตรมหาบัณฑิตระบาดวิทยาทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาสาสมัครชี้แจงร่าง รธน.แบบ 'เคาะประตูบ้าน' ลงพื้นที่ ก.ค.นี้

$
0
0
โฆษก กรธ.เผยความคืบหน้าการอบรมอาสาสมัครชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ กทม. ซึ่งจะใช้ชุมชนละ 2 คน โดยจะเริ่มอบรมอาสาสมัครตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ และออกชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแบบเคาะประตูบ้านได้ในเดือน ก.ค. ด้าน ผบ.ทบ.ฮึ่ม! กลุ่มก่อกวนประชามติร่าง รธน. ลั่นเดี๋ยวจัดการเอง

 
2 พ.ค. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ว่า สมาชิก กรธ.แต่ละคนจะใช้วิธีการสุ่มเพื่อลงพื้นที่ โดยสมาชิก กรธ. 2 คนจะรับผิดชอบลงพื้นที่ต่อ 1 กลุ่มจังหวัด ในวันที่มีการอบรมครู ข. กรธ.ก็จะลงพื้นที่ไปด้วย โดยคาดกันว่าในวันที่ 15 พ.ค.ทางกระทรวงมหาดไทยก็จะแจ้งมายัง กรธ.ให้ทราบว่าในแต่ละพื้นที่จะมีการอบรมครู ข.กันวันไหน ซึ่งวิธีนี้จะแบ่งจำนวน กรธ.ให้ดูแลพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม
       
นายชาติชายกล่าวว่า การลงพื้นที่ของ กรธ.มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้ว่าชาวบ้านมีความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ กรธ.จะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมการอธิบายในส่วนที่ ครู ข.ยังไม่เข้าใจอยู่ ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการทำหน้าที่ของครู ค.ทั้ง 4 คนที่จะทำหน้าที่เคาะประตูชี้แจงตามหมู่บ้าน ซึ่งทางครู ค. นั้นถ้าไปชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญแล้วเจอคำถามที่ไม่เข้าใจ ก็สามารถติดต่อสายตรงมาถามมายัง กรธ.ได้เลย แต่ทั้งนี้ตนอยากให้ทำเป็นขั้นๆไปก่อน ถ้าครู ค.ไม่เข้าใจก็สายตรงมาถามครู ข. ครู ก. แล้วถึงจะมายัง กรธ. ถ้าวิทยากรทั้ง ครู ก. ครู ข. และ ครู ค. มีความไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะผิดกฎหมายหรือไม่ ทาง กรธ.ก็สามารถจะตอบคำถามตรงนี้ได้ แต่ทั้งนี้เรื่องประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้ประกาศออกมานั้น ทาง กรธ.คงจะได้ชี้แจงให้ ครู ก.เข้าใจชัดเจนแล้วตั้งแต่วันที่ 18-19 พฤษภาคม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ในวันดังกล่าวนี้ก็จะมีตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชนจำนวน 70 กว่าคนเข้ารับการอบรมพร้อมกับ ครู ก.จำนวน 380 คนด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้รับการอบรมรวมกัน 456 คน
       
นายชาติชายกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมจะเป็นวันแรกที่วิทยากรอาสาสมัครของ กรธ.จะเริ่มลงพื้นที่ชี้แจงร่างร่างรัฐธรรมนูญทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด หลังจากที่ กรธ.ได้ลงพื้นที่ไปดูการอบรมวิทยากรล่วงหน้าในเดือน มิถุนายน
       
สำหรับในส่วนของกรุงเทพฯ ซึ่งมีพื้นที่ชุมชนมากกว่า 2,060 ชุมชนนั้นก็จะมีวิทยากรไปชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญชุมชนละ 2 คน เป็นชายหนึ่งคนหญิงหนึ่งคน รวมจำนวนวิทยากรจำนวนมากกว่า 4,000 คน ซึ่งในเดือน มิถุนายนนั้น ก็จะมีการอบรมวิทยากรเหล่านี้ ที่รัฐสภาโดยแบ่งออกเป็น 6 รุ่น ดังนั้น ขอยืนยันว่าทางกรุงเทพฯ ให้ความร่วมมือส่วนนี้เป็นอย่างดี โดยในวันที่ 2 มิถุนายน กรธ.จะชี้แจงให้ผู้อำนวยการเขต 50 เขตในกรุงเทพฯ ชี้แจงหัวหน้าฝ่ายปกครอง หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนของแต่ละเขต เขตละ 2 คน รวมจำนวน 150 คน ที่ห้องประชุมของสภากรุงเทพมหานครด้วย เพื่อให้ทั้ง 150 คนนี้ไปหาผู้มีคุณสมบัติเป็นวิทยากรชุมชนละ 2 คนต่อไป
       
ส่วนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญนั้นควรจะเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้าในเวทีของ กรธ.ด้วยหรือไม่ นายชาติชายกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน หน้าที่ของ กรธ.นั้นไม่ได้ชักจูงให้คนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ แค่ไปชี้แจงข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประชามติก็ให้หน้าที่ตรงนี้ชัดเจนแล้ว กรธ.มีหน้าที่ต้องไปอธิบายร่างรัฐธรรมนูญ แต่จำนวน กรธ.นั้นไม่เพียงพอก็ต้องให้คนอื่นมาช่วย ตราบใดก็ตามที่ไม่ไปเคาะประตูแล้วบอกว่าชวนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รับจะไม่ได้รับสิ่งตอบแทน หรือไปข่มขู่เขา ตรงนี้ก็ไม่ผิดกฎหมาย
       
ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยงของครู ค.ที่ทำหน้าที่ นายชาติชายกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีเงินให้ การทำหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญของครู ค ก็ได้แค่เบี้ยเลี้ยงวันเดียวจำนวน 370 บาท ดังนั้น ทางกระทรวงมหาดไทย หรือทาง กทม.จะเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับทางเขา กรธ.ไม่ได้เป็นเจ้าของเงิน
 
ผบ.ทบ.ฮึ่ม! กลุ่มก่อกวนประชามติร่าง รธน. ลั่นเดี๋ยวจัดการเอง
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึง กลุ่มคนที่ออกมาก่อกวนการลงประชาชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการต่อต้าน โดยการโหวตโนว่า ตนยังสงสัยว่ามาต่อต้านกันทำไม เมื่อต้องการประชาธิปไตย นี่คือสิ่งหนึ่งในการเริ่มทำประชามติ ซึ่งกองทัพบก และคสช. ต้องการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในการลงประชามาติให้มากที่สุด ทั้งประชาชนที่ไม่เห็นด้วย หรือและประชาชนที่เห็นด้วย ก็ให้ไปลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่ต้องวุ่นวาย แต่พวกที่ทำให้เรื่องมันวุ่นวาย มันมีปัญหา ไม่ปล่อยหรอก เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความสงบเรียบร้อย ความสงบสุขในบ้านเมือง มีไม่กี่กลุ่ม หน้าเดิมทั้งนั้น ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวตนดูแลเอง พวกนี้ 
 
เมื่อถามว่า จับตากลุ่มก่อกวนกลุ่มไหนเป็นพิเศษ เพราะมีทั้ง กลุ่มโพสต์ข้อความ กลุ่มออกมายืนเฉยๆ พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า พวกที่มายืนเกะกะวุ่นวาย มาประมาณ 3-4 คน จะมีสื่อมวลชนอีกเป็นโหล ตำรวจอีกกว่า 100 คน วุ่นวายไปหมด ความจริงไม่อยากไปให้ความสำคัญ ถ้าสื่อไม่ให้ความสำคัญ จะไม่เกิดอะไรขึ้น จะเป็นเด็กๆก็แล้วแต่ ตนมองว่าในสถาบันต่างๆมีเยาวชน นักศึกษา อีกจำนวนมากที่ทำความดี มีจิตอาสา เก่งเรื่องการศึกษา ทำประโยชน์ต่อสังคม อยากให้สื่อนำเสนอคนกลุ่มนี้บ้าง น้องๆจะได้มีกำลังใจในการทำความดี พวกที่เกะกะปล่อยไปเหอะ เรียนหนังสือไม่จบเสียที ถือเป็นพวกก่อกวน กวนได้กวนไป กวนก็จับ  
 
เมื่อถามว่า มีกลุ่มที่มาจากพรรคการเมือง พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า ท่านก็ทราบ หาตัวได้อยู่แล้ว ชี้นำไปทางด้านนั้นอยู่แล้ว สื่อฉลาด และรู้ อย่างไปสร้างความขัดแย้ง เราต้องการความสามัคคีกัน ประเทศต้องเดินไปได้ รัฐบาลเองก็ทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศเดินไปได้ด้วยความสงบ อยากให้สื่อช่วยกัน เมื่อถามว่า ต่อไปจะใช้ไม้แข็งหรือไม่ เพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า ไม่เว้น เมื่อถามย้ำอีกว่า จะถึงขั้นนั้นหรือไม่ พล.อ.ธีรชัย กล่าวว่า ต้องดูเอา แต่คงไม่เรียกมาปรับทัศนคติแล้ว เพราะพูดไม่รู้เรื่อง
 
เมื่อถามถึง กรณี มีแผนผังเชื่อมโยงไปถึง นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือ โอ๊ค บุตรชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นผู้จ่ายเงินให้กับกลุ่มทำเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ว่า สื่อก็ดูเอา ออกมาจากการสอบถามและเขาก็รับ ก็ดูตามนั้น ส่วนจะเชิญนายพานทองแท้ มาสอนสวนหรือไม่ ยังไม่เชิญ 
 
เมื่อถามว่า มีการใช้ต่างชาติมากดดันการทำงานของ คสช. พล.ธีรชัย กล่าวว่า คนไทยหรือไม่ ชอบชักศึกเข้าบ้านไปดูตัว ตัวเดิมทั้งนั้นแหละ คนที่ทำความเดือดร้อนให้ประเทศชาติและประชาชนทั้งนั้น ประชาชนต้องการความสงบสุข ตอนนี้เขาเดือดร้อนเรื่องภัยแล้ง ช่วยกันหน่อย ไปดูประชาชนที่เดือดร้อนที่มากมาย กับกลุ่มไม่กี่คน นับตัวได้ เดี๋ยวจัดการเอง ไม่เป็นไร ทั้งนี้ตนไม่ห่วงว่า ก่อนลงประชามติจะมีกลุ่มขบวนการต่างๆออกมาอีกมากมาย เรามีวิธีดำเนินการ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ฯ: อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

$
0
0

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สรุปการเสวนา ‘เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ผ่านหัวข้ออนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ "จงหวังกันต่อไป"

เสวนาวิชาการเรื่อง “เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในวันที่ 22 เมษายน 2559 ณ ห้อง LB1201 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการเสวนาวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถกเถียงทางวิชาการ

งานนี้มีผู้ร่วมนำเสนอ 7 คน ได้แก่

โยชิฟูมิ ทามาดะ - ประชาธิปไตยกับตุลาการภิวัตน์
สายชล สัตยานุรักษ์ - มรดกทางประวัติศาสตร์และการบังเกิด "ตุลาการภิวัตน์" ในรัฐไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล - กำเนิดและความพลิกผันของแนวคิดการเมืองเชิงตุลาการ
กฤษณ์พชร โสมณวัตร - การประกอบสร้างอัตลักษณ์ตุลาการไทย: คุณธรรม สถานภาพ และอำนาจ
อายาโกะ โทยามะ - องค์กรอิสระกับการเมือง การวิเคราะห์เกี่ยวกับการคัดเลือกกรรมการ
ปิยบุตร แสงกนกกุล - ตุลาการภิวัตน์วิธี  
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ - อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการ

 

00000


อรรถจักร สัตยานุรักษ์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


จากการนั่งฟังทั้งหมด อยากจะพูดถึงตุลาการ 'อ' ภิวัตน์ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต บทสรุปจากการสัมมนา

สิ่งแรกที่รู้สึกคือสังคมนี้มรดกเก่ายังมีพลังมาก ผมเคยได้ยิน อ.เบน พูดอะไรทำนองนี้มาครั้งหนึ่งโดยเปรียบเทียบกับ 3 ประเทศ มี ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซียว่า มีมรดกบางอย่างที่ครอบอยู่ ผมฟังอยู่ผมก็รู้สึกอย่างนั้น

ผมคิดว่าการอภิปรายวันนี้ของทุกๆ ท่านทำให้เราเข้าใจคำว่า "ตุลาการภิวัตน์" ชัดเจนขึ้น หลังจากที่เราก็คลุมเครือกันมานานพอสมควร

อันแรกที่ทำให้เราเห็นชัดขึ้นก็คือว่า Judicialization เกิดขึ้นมากมาย มีความหลายหลายบนโลกใบนี้ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาเกิด Judicialization ขึ้นมาหลายพื้นที่ หลายประเทศในโลก แล้วก็มีความแตกต่างหลากหลายกัน แล้วก็ทำหน้าที่จัดการสังคมการเมืองไม่เหมือนกัน อาจารย์สมชายหรืออาจารย์ทามาดะเองก็ชี้ให้เห็นว่ามีหลายมุมมาก อาจารย์ทามาดะชี้ให้เห็นว่าบางแห่งก็คุ้มครองคนส่วนน้อยหรือบางส่วนก็ไม่เป็นประชาธิปไตย

ดังนั้นถ้าหากเราจะเข้าใจตุลาการภิวัตน์ หรือ Judicialization เราคงจำเป็นต้องเข้าใจความเฉพาะของโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่ละพื้นที่ แม้ว่าด้านหนึ่งจะมีกรอบกว้างๆ ว่าตุลาการเข้ามายุ่งกับการเมือง นี่คือกรอบกว้างสุด แต่ความแตกต่างของการเข้าไปยุ่ง เข้าไปเกี่ยวมันขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

กรณีไทย มีการเกิดตุลาการภิวัตน์ทับซ้อนกันมากมาย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันทีทันใด มันเป็นการต่อสู้ทางการเมืองทางวัฒนธรรมที่ซ้อนทับและสัมพันธ์กันหลายมิติอย่างเห็นได้ชัด เช่น อาจารย์กฤษณ์พชรพูดถึงเรื่องการสร้างอัตลักษณ์ตุลาการ จากเดิมที่เป็น nobody ตึกก็ไม่มี ส้วมก็ไม่มี ก็เปลี่ยนมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ตุลาการคนดี ผู้ดี ผู้รู้ ความจงรักภักดี คำถามคือทำไม ทำไมต้องสร้างแบบนี้ สิ่งนี้จะเข้าไปสัมพันธ์กับส่วนที่สอง

ส่วนที่สองคือว่าการเกิดอัตลักษณ์ตุลาการซึ่งเป็นการต่อสู้ชุดหนึ่งของภายในตุลาการเอง สัมพันธ์อยู่กับสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าการเมืองวัฒนธรรมของสังคม คือ ในช่วงการเปลี่ยนมาเป็นรัฐสมัยใหม่ตั้งแต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรื่อยมา อาจเรียกตรงนี้ว่าเป็นกระบวนการ making a moral society ทุกรัฐที่เกิดขึ้น รัฐใหม่จะต้องสร้าง moral society ขึ้นมาแน่ๆ กรณีญี่ปุ่นสร้างแบบหนึ่ง กรณีไทยเราสร้างแบบหนึ่ง อันเนื่องมาจากการก่อรูปของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยและความต่อเนื่องของรัฐไทยไม่มีการแตกหักทางความคิด จึงทำให้ชนชั้นนำไทยที่เริ่มเป็นผู้ก่อสร้างรัฐใหม่ ในช่วงรัชกาลที่ 5ได้สร้าง moral สร้างสังคมที่เป็นจริยธรรมแบบพุทธศาสนา

บนกระบวนการนี้จึงเป็นสิ่งที่นำมาสู่สิ่งที่ตุลาการเองก็ยึดโยงตัวเองเข้ากับพุทธศาสนา ยึดโยงเข้ากับ manner หรือมารยาทแบบผู้ดีที่ถูกสร้างขึ้นมา รวมทั้งเป็นผู้รู้ในกฎหมาย และในท้ายที่สุดที่ถูกเน้นสำคัญที่สุดที่เป็นปฏิสัมพันธ์กับการเมืองช่วงหลัง คือ ความจงรักภักดี ดังนั้นการเน้นแบบนี้มันจึงแยกไม่ได้จากกระบวนการที่เราเรียกว่า making a moral society

นึกเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เราจะพบความแตกต่างกับญี่ปุ่นคนละชุด ปฏิรูปเมจิ บรรดาปัญญาชนก็เข้ามาด่าศาสนา ด่าขงจื้อว่าเป็นพวกโง่ ด่าทุกศาสนา เพื่อสถาปนาจริยธรรมชุดหนึ่งขึ้นมา แล้วจริยธรรมนี้ก็เป็นตัวเข้ามากำกับรัฐ เข้าไปกำกับอื่นๆ

แต่กรณีไทย เนื่องจากเราไม่แตกหักกับอะไรเลย ชนชั้นนำเราครองสถานะเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้นำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่นิพพาน ก็สามารถสืบทอดตรงนี้มา

ดังนั้นความเป็นคนดี ผู้ดี ผู้รู้ ความจงรักภักดีจึงอยู่ในกรอบศาสนาพุทธเป็นหลัก อันนี้เป็นการต่อสู้อันแรกซึ่งสัมพันธ์กันระหว่างอัตลักษณ์ตุลาการและการเมืองวัฒนธรรม พร้อมกันนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือตุลาการภิวัตน์มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ มันเกิดพร้อมๆ กับการยอมรับจากคนข้างล่าง ถ้านึกถึงสิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรพูดถึงตุลาการภิวัตน์สามภาค สิ่งสำคัญคือเราจะเข้าใจตุลาการภิวัตน์ นอกจากเราเข้าใจปฏิบัติการ ซึ่งดีมากๆ อาจารย์ปิยบุตรได้พูดได้ชัดเจนว่าเขาปฏิบัติการอะไร  สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจคนข้างล่างว่ายอมรับได้อย่างไร คนอย่างอาจารย์ปิยบุตรลุกขึ้นมาวิจารณ์ แต่คนที่ยอมรับมีเยอะกว่า เยอะกว่าจนกระทั่งทำให้เขาสามารถทำได้

ผมคิดว่าสิ่งสำคัญอาจารย์สายชลได้ตอบตรงนี้ว่า การจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมและชนชั้นกลาง รัฐจัดการสังคมไทยในช่วงแรกๆ จัดการเฉพาะส่วนที่เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยับตัวเรื่อยๆ ชนชั้นกลางที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในหมู่บ้านห่างไกล เขาก็ได้สร้างมรดกในการมีชีวิตอยู่เขาแบบหนึ่ง แต่เมื่อขยับตัวมาเป็นชนชั้นกลาง ก็จัดความสัมพันธ์ของเขากับรัฐ นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ทามาดะใช้ในทฤษฎีเรื่องอำนาจกับอิทธิพล รวมทั้งที่อาจารย์สายชลนำมาพูด ชนชั้นกลางก็ดึงหรือพยายามที่จะสร้างการคานอำนาจ หรือดุลกันระหว่างอำนาจกับอิทธิพลเสมอมา ถ้าดุลได้เมื่อไรตัวเองก็อยู่ได้สบายขึ้น คนไทยมีลักษณะพิเศษ คือ เล่นการเมือง คืออยู่กับอำนาจ แต่ไม่เคยไว้ใจอำนาจ มรดกอันนี้ก็ถูกชนชั้นกลางหยิบขึ้นมาใช้ แล้วก็ยอมรับอยู่ในระบบตรงนี้ตลอดเวลา เมื่อชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้น เข้ามาสู่ในพื้นที่การเมืองของรัฐมากขึ้น ในด้านหนึ่งเขาก็ยอมรับกับ moral ที่รัฐสร้างขึ้น ที่อิงอยู่กับศาสนา อิงอยู่กับอื่นๆ

กรณีคุณประมาณ ชันซื่อ ซึ่งเป็นบุคลิกพิเศษก็ใช้ระบบอุปถัมภ์แบบชาวบ้าน โดยไปขอธนาคารให้ปล่อยเงินกู้ให้ข้าราชการตุลาการกู้ซื้อบ้านในอัตราที่ถูกมากๆ นี่คือระบบอีกชุดหนึ่ง moral แบบนี้ก็เป็น moral แบบไทย 

ในด้านหนึ่งชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยายตัวมาเป็นระลอกๆ ก็ยอมรับ moral ที่รัฐสร้างคือ ศาสนาพุทธ คนดี ความสูงส่งของอำนาจรัฐ อีกด้านก็ใช้อำนาจกับอิทธิพลเข้ามา เหตุผลหลักที่อ.สายชลพูดคือ ความอ่อนแอของชนชั้นกลางที่ไม่สามารถจะจัดองค์กรได้ เราเพิ่งมีพื้นที่สาธารณะที่เราสื่อสารกันได้กว้างจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง นสพ.ไทยรัฐช่วง 2510 ยอดขายแค่สองแสนเล่มต่อประชากรทั้งประเทศ กระจอกมาก แต่เดี๋ยวนี้มันขยาย

ความอ่อนแอของชนชั้นกลางที่ค่อยๆ ขยาย มันจึงทำให้ชนชั้นกลางไม่สามารถเกาะกลุ่มได้ จึงต้องเล่นแบบที่เคยเล่น คือใช้อิทธิพลคานอำนาจ บางทีก็เอาอำนาจมาคานอิทธิพล

ผมคิดว่าบนฐานมรดกเก่าจึงถูกใช้เข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เวลานักรัฐศาสตร์พูดถึงเรื่องวงจรอุบาทว์ ผมคิดว่าลึกลงไปของวงจรอุบาทว์คือยุทธวิธีของการคานอำนาจของชนชั้นกลางนี่เอง ชนชั้นกลาง-รัฐประหาร Happy Honeymoon อยู่พักหนึ่ง เริ่มรู้สึกอึดอัดก็ดึงเอาพวกอื่นมา เอานักการเมือง เอาการเลือกตั้งมา เขี่ยทหารออกไป อยู่นักการเมืองเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ก็ดึงทหารกลับมา

ถ้าลึกลงไปนี่คือยุทธวิธีการคานอำนาจของชนชั้นกลาง มรดกเก่าแบบนี้ทำงานในพื้นที่การเมืองระดับชาติอย่างเข้มข้นตลอดมา ทั้งหมดก็คือมุ่งปกป้องอำนาจของชนชั้นนำ แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่อาจารย์ปิยบุตรพูด ซึ่งผมเห็นด้วยคือ ข้อดีในข้อเสียคือ เริ่มเกิดความขัดแย้งทางความคิดมากขึ้น มันไม่ง่ายที่จะรักษาสถานะตุลาการไว้แบบเดิม

อนาคตของสังคมไทยภายใต้อำนาจตุลาการคือ การต่อสู้ยังไม่จบ อาจารย์ปิยบุตรพูดชัดเลยว่า ตุลาการภิวัตน์ก็ยังรอจังหวะเวลาที่จะแสดงบทบาท แต่จะถูกนำมาใช้เพื่อใช้ดาบต่อไป ก็คือการรัฐประหาร

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปคือ เมื่อกี้เรากังวลกันว่าอนาคตจะคืออะไร ที่ผมพูดถึงชนชั้นนำทั้งหมดฟังดูเหมือนเขาทั้งหมดเป็นก้อนเดียวกัน ผมคิดว่าข้อดีในข้อเสียอันหนึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งในช่วงการต่อสู้ 10 ปีผมคิดว่าสิ่งหนึ่งก็คือว่าไม่มี closed system ในโลกนี้ต่อให้ระบบวิทยาศาสตร์ดีขนาดไหนก็ยังไม่มีระบบปิดที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราคงจะมีความหวังได้ แม้ว่าอาจจะเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ก็ไม่เป็นไร หวังไว้ก่อน

ผมเสนอว่า จริงๆ การก่อรูปของชนชั้นนำที่ครองประเทศไทยมา และมีเครื่องมือที่ใช้เยอะแยะเลย เครื่องมือหนึ่งก็คือศาล เครื่องมือที่สองก็คือทหาร ขณะเดียวกันผมใช้คำเรียกการก่อรูปของชนชั้นนำแบบนี้ว่า Party of order นักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งใช้คำว่า network ผมคิดว่าพอพูดถึง network ดูเหมือนกับว่าทั้งหมดเกาะกันแน่นและเคลื่อนไปในทิศทางเดียว แต่เราจะพบว่าในท่ามกลางการสืบทอดชนชั้นนำไทย ผมคิดว่าการสืบทอดของชนชั้นกลางไทยที่สืบทอดกันมานาน สร้างระบบเกียรติยศขึ้นมาในห้าทศวรรษ ได้ผนวกคนเข้ามาร่วมเยอะแยะ เมื่อพูดถึงการผนวกรวมคนเข้ามาเยอะแยะ ลองนึกถึง กปปส. ผมคิดว่าไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน อาจจะมี Consensus บางอย่างที่ทุกคนร่วมกันในจังหวะสู้รบ แต่ในแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกัน ในความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงมานาน ทำให้เกิดการสร้างความเห็นร่วมกันชุดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งกว้างขวางมากพอสมควร กว้างขวางจนผลักดันให้คนจำนวนหนึ่งไปเป่านกหวีด ไปทำอะไรได้เยอะแยะเลย

แต่อย่างไรก็ตามผมปฏิเสธ network ด้วยเหตุผลว่าผมไม่คิดว่ามันเป็น network ผมคิดว่าแต่ละกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระภายใต้สิ่งที่เรียกว่า consensus ที่สร้างร่วมกัน

ผมคิดว่าการก่อรูปของชนชั้นนำอย่างน้อยห้าทศวรรษนี้ มันทำให้เกิด Party of order และใน Party of order นี้แต่ละหน่วยมีอิสระในการเคลื่อนไหวที่อยู่ภายใต้ consensus ใหญ่ๆ ชุดหนึ่ง ตรงนี้เองด้านหนึ่งก็คือว่า ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่เราต้องคิดก็คือว่า ความเปลี่ยนแปลงใน Party of order มันมี ผมไม่คิดว่า Party of order จะสามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันที่เป็นชุดเดียวกันได้ตลอด

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน Party of order ที่สามารถสนับสนุนโปเลียนให้ขึ้นมามีอำนาจมีชีวิตอยู่แค่ช่วง 10 ปีกว่าเอง หรือ Party of order ที่เกิดขึ้นในบราซิล ก็คือกลุ่มฝ่ายขวา เข้ามา สร้าง consensus ร่วมกันและเคลื่อนไหวกัน ท้ายสุดมันแตก

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงใน Party of order ผมเชื่อว่ามี หากเราศึกษากันดีๆ ระหว่างศาลกับทหารจะเป็นพันธมิตรกันอย่างนี้ยาวนานต่อไปไหม ผมไม่รู้แต่ผมไม่คิดว่าจะมันแน่นกัน อาจจะแน่นกันวันนี้ แต่วันข้างหน้าไม่แน่น ในทหารเองแน่นไหมผมว่าไม่ บูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญจะประสานกันได้ยาวนานขนาดไหน คอยดูเรื่อง ผบ.ทบ.คนต่อไป

ในความเปลี่ยนแปลง Party of order ผมคิดว่าเราคงต้องตามและมันอาจเป็น crack เป็นรอยเปลี่ยน รอยแตกที่จะทำให้เราเห็นอนาคตบางส่วนที่เกิดขึ้นตรงนี้ได้ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนักศึกษาอย่างเดียว เกิดขึ้นเพราะมีรอยแตกของ กฤษณ์ สีวะรา ฯลฯ  6 ตุลาก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความเป็นเนื้อเดียวกันของทหาร สงัด ชลออยู่เข้าเฝ้าในหลวงแล้วก็พูดด้วยว่า มีคนจะปฏิวัติก่อน

Party of order มีรอย crack อยู่ทั่วๆ ไป แต่ในบางยามมันอาจจะสร้างร่วมกันได้

ส่วนที่สอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากๆ คือ "สาธารณะ" ผมคิดว่าสาธารณะในช่วงสิบปีมันมีความเปลี่ยนแปลง และผมคิดว่ามันเริ่มทำให้คนเห็นอะไรมากขึ้น

อีกอันหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของ Party of order ความเป็นอิสระโดยสัมพัทธ์ของกลุ่มภายใน Party of order ท้ายสุดแล้วจะไปเปลี่ยน consensus ความเห็นร่วมบางประการที่จะทำให้เราเห็นอนาคตมากขึ้น ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเราคงต้องเข้าใจให้มากขึ้น อาจจะต้องศึกษากันในหลายมิติที่ประกอบกันให้เกิดตุลาการภิวัตน์ และท้ายสุดแล้วเราก็อาจทำให้ตุลาการภิวัตน์มีคุณค่าขึ้นมาบ้างก็ได้

ตัวอย่างที่อาจารย์สมชายยกตัวอย่าง ซึ่งผมคิดว่าน่าคิดต่อ คือกรณีของผู้พิพากษาที่ช่วยคดีคุณจินตนา ขณะเดียวกันก็ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวในการทำให้ศาลขยายเวลา และเขาก็อ้างว่าเขาเป็นผู้พิพากษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การอยู่ภายใต้อัตลักษณ์แบบนี้กลับทำให้คนบางคนสามารถคิดอะไรบางอย่างหรือรู้สึกอะไรบางอย่าง หรือมีความกล้าในการกระทำอะไรบางอย่างที่หักออกจากขนบได้ ดังนั้น การอ้างว่าเป็นผู้พิพากษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็อาจจะเปิดโอกาสให้สิ่งที่เราเรียกว่า Party of order มีอิสระโดยสัมพัทธ์อีกแบบหนึ่งขึ้นมาก็ได้

ผมฟังแล้วรู้สึกว่าตรงนี้มันน่าสนใจ หมายถึงว่า ชุดหนึ่งที่เราคิดว่ามันคุมมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ มันคุมไม่ได้สมบูรณ์ มันเปิดช่องให้มนุษย์บางคนใช้อัตลักษณ์อันนี้ไปทำอะไรบางอย่าง และทำให้เขาภาคภูมิใจ และกระทำในสิ่งที่มองจากสังคมชาวพุทธ มันงดงามมากในการช่วยผู้หญิงคนหนึ่ง

ดังนั้นเราคงต้องละเอียดมากขึ้น และเข้าใจในความซับซ้อนต่างๆ มากขึ้น รวมถึงเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสังคม เข้าใจความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของชนชั้นกลาง สรุปก็คือจงหวังกันต่อไป Waiting for Godot  มันจะมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ขอบคุณมากครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแรงงานเหนือรณรงค์วันแรงงานขอรัฐคุ้มครอง ‘แรงงานไทย—ข้ามชาติ’ เท่าเทียม

$
0
0

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือรณรงค์วันแรงงานขอรัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอให้มีการแก้กฎกระทรวงที่ยกเว้นกลุ่มอาชีพบางกลุ่มที่ไม่ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ขอค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาทต่อวันทั่วประเทศ


เครือข่ายแรงงานภาคเหนือรณรงค์พร้อมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่

2 พ.ค. 2559 ที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ ได้มีการรณรงค์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติและวันแรงงานสากลโดยเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบไปด้วย ประกอบไปด้วย มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER), มูลนิธิ MPLUS, เครือข่ายปฏิบัติการผู้หญิงไทยใหญ่ (SWAN), กลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ (SYP), สหพันธ์คนงานข้ามชาติ, กลุ่มแรงงานสามัคคี, สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน, สหภาพแรงงานอุตสากรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์, สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ, กลุ่มคนรับงานมาทำที่บ้าน, ละครชุมชน “กั๊บไฟ”, เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ

โดยข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานสากลของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือระบุว่าด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ

ในโอกาสนี้ ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานด้านส่งเสริมสิทธิด้านแรงงาน กว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานภายในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่ายังมีปัญหา การละเมิดสิทธิแรงงาน ได้แก่ การจัดตั้งสหภาพแรงงานของคนงานในพื้นที่ภาคเหนือ ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดตั้ง ไม่สามารถขยายสหภาพแรงงานให้เพิ่มขึ้นและขาดความเข้มแข็ง รวมถึงไม่ได้มีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีชุดต่างๆ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลา ต่าง ๆ  การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด  ปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ยังพบว่าเอกสารข้อแนะนำ วิธีการใช้และเก็บรักษาอุปกรณ์การทำงานและสารเคมีอันตราย การป้องกันและการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาของคนงาน ไม่มีการอบรมชี้แจงถึงข้อควรระวังของการใช้สารเคมีต่างๆ ให้กับคนงานได้มีความรู้และเข้าใจก่อนนำไปใช้ การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม เนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม และบางส่วนมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น การใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตร ที่มีเงื่อนไขต้องให้ข้าราชการ ซี 3 รับรองทุกปี และกรณีรับเงินชราภาพ ที่ยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการรับสิทธิ นอกจากนี้ ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการเดินทาง และถูกเรียกรับผลประโยชน์

จากการประชุม เพื่อระดมปัญหาและข้อเสนอของกลุ่มคนทำงานและเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กว่า 200 คน จึงมีข้อเรียกร้องมายังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานประจำจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ นักวิชาการ นักกฎหมายที่สนใจด้านแรงงาน และสหภาพแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน และการเข้าถึงสิทธิด้านแรงงานของคนงาน

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล (1.) ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของบริษัทจัดหางาน เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานผิดประเภทของแรงงาน โดยบริษัทจัดหางานนำคนงานไปทำงานไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาการจ้างงาน เป็นเหตุให้คนงานข้ามชาติกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 (2.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนแรงงานและออกใบอนุญาตทำงาน ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาการจดทะเบียนต้องใช้เอกสารจำนวนมากและมีหลายขั้นตอน เสียค่าใช้จ่ายสูง

(3.) ขอให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน (4.) ขอให้รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 421 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

(5.) ขอให้รัฐบาลกำหนดให้พนักงานบริการเป็นอาชีพที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฉบับ (6.) ขอให้แก้ไขพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ให้คนงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน และขยายอายุคนทำงานจนถึง 60 ปี และ (7.) ขอให้มีการแก้กฎกระทรวงที่ยกเว้นกลุ่มอาชีพบางกลุ่มที่ไม่ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ให้แรงงานทุกคนทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในกองทุนชราภาพ ให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกที่จะรับเป็น บำเหน็จชราภาพ หรือ บำนาญชราภาพได้ โดยไม่กำหนดอายุของผู้ประกันตน

ส่วนข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยนั้นขอให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ให้มีเสรีภาพในการเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความตื่นตระหนกทางศีลธรรม

$
0
0


ความตื่นตระหนกทางศีลธรรม หรือที่ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Moral Panic กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกครับ ไม่เว้นแต่ในอเมริกาเอง เพียงแต่มันอาจมีแง่มุมของ Moral Panic ที่แตกต่างกัน

ผมกล่าวเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าแม้แต่ในวงการนักวิชาการด้านศีลธรรมหรือนักวิชาการด้านศาสนาในเมืองไทยเองก็มีทัศนะที่แตกต่างกันไป สุดแล้วแต่ใครจะมองครับ ซึ่งผมคิดว่าสำหรับนักวิชาการกระแสหลักของไทยแล้ว ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมยังเป็นแค่ประเด็นความน่าสะพรึงกลัวในแง่ของความไร้ศีลธรรมหรือความไม่สนใจศีลธรรมของผู้คนในยุคปัจจุบันเท่านั้น พูดง่ายๆก็คือมองว่า Moral Panic ยังเป็นปัญหาศีลธรรมเชิงปัจเจกแบบพื้นๆ โดยทั่วไป แบบคนดีกับโจร เป็นต้น  ซึ่งแน่นอนว่ามันสัมพันธ์กับการกำเนิดค่านิยม 12 ประการและแบบเรียนศีลธรรมของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดกันมายาวนาน 

ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมในโลกตะวันตกมีความหมายลึกกว่านี้มาก โดยเฉพาะการถือเอาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนหนึ่งของความตื่นตระหนกทางศีลธรรมนั้น อีกนัยหนึ่งโลกตะวันตกมองว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการละเมิดศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เพราะเป็นการละเมิดต่อตัวมนุษย์ตามคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์นั่นเอง เหมือนที่ Immanuel Kant (1724–1804) เคยกล่าวไว้ว่า ศีลธรรมเป็นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการทรงคุณลักษณะความเป็นมนุษย์ แต่แล้วท่าทีหรือความคิดของค้านท์เอง กลับถูกตีความแบบไทยๆ ให้แคบอยู่ในความหมายของศีลธรรมพื้นๆ  โดยทั่วในทำนองของ “การตั้งอยู่ในศีลในธรรมของมนุษย์”เท่านั้น

แท้จริงแล้ว ภาพรวมของศีลธรรมในโลกตะวันตกยังได้ผนวกเอาเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ไว้ด้วย เช่น สิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออก (การพูด) เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยรัฐ หรือนโยบายที่ส่งผลกระทบกับคุณลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่สูงกว่ากว่าการเบียดเบียนทำร้ายกันทางร่างกายหรือทางจิตใจเพียงอย่างเดียว

นั่นแสดงว่า โลกตะวันตกมองว่าการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่สำคัญของมนุษย์และทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นสมบูรณ์และเจริญงอกงาม ศีลธรรมในรูปแบบสิทธิมนุษยชนจึงถูกกำหนดขึ้นมา ซึ่งหากมองจากแง่มุมของอเมริกันแล้ว มันได้ถูกตั้งค่าให้เป็นมาตรฐานในแบบที่เรียกว่า American Standard เลยทีเดียว และกลายเป็นปมของความขัดแย้งกับมาตรฐานทางด้านศีลธรรมของบางประเทศที่ไม่ได้รวมเอาสิทธิและเสรีภาพเข้าไว้ในฐานะ “คุณลักษณะของความเป็นมนุษย์”ไว้ด้วย ซึ่งท่าดังกล่าวนับเป็นความตื่นกระหนกทางศีลธรรมของรัฐอเมริกันอย่างหนึ่ง นอกเหนือไปจากสิ่งสำคัญคือ ความเชื่อมโยงกับการกำหนดหรือสร้างระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย”ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อคุณลักษณะพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้รัฐอเมริกันจึงเชื่อว่า ความดีหรือความมีศีลธรรมของประชาชน ไม่สามารถประเมินหรือวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม และรัฐไม่สามารถไปบังคับให้พลเมืองต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม หากรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองพลเมืองให้มีมีสถานภาพของความเป็นผู้มีเสรีภาพและมีสิทธิในความเป็นมนุษย์ขั้นพื้นฐาน เช่น การแสดงออกซึ่งความเห็นต่างๆ เป็นต้น

ความดีในความหมายของอเมริกันจึง ไม่ได้หมายถึงการมีจิตสาธารณะเพียงอย่างเดียวดังแบบอย่างของค่านิยม 12 ประการเท่านั้น หากยังหมายถึงคุณสมบัติในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในทางที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางศีลธรรมต่อส่วนรวม (สังคม) ขึ้น แต่รัฐก็ไม่ควรหวาดวิตกกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองดังกล่าว หากควรส่งเสริมให้พลเมืองได้มีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเสียด้วยซ้ำ เพราะการแสดงออกดังกล่าวถือกันว่าเป็นบันไดไปสู่นวัตกรรม

Thomas Humphrey Marshall กล่าวถึงสิทธิพลเมืองไว้ 3 ประการ กล่าวคือ (1) Civil rights หมายถึงสิทธิบุคคลในกฎหมาย เสรีภาพบุคคลที่จะเลือกดำรงอยู่ ความเสมอภาคความเป็นธรรม (2) political rights หมายถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง และการแสดงความเห็นต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครอง และ (3) social rights หมายถึงสิทธิเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สวัสดิการ ความมั่นคง การดูแลด้านสุขภาพ รวมถึงการดูแลพลเมืองหากเกิดการเลิกจ้างงาน หรือการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรัฐต้องให้การคุ้มครอง

ในแง่ของศีลธรรม ดูเหมือนโลกตะวันตก จะมองไกลไปมากกว่าโลกตะวันออก กับเรื่อง“ของกลาง”ของสังคมมนุษย์ คือ สถานะความเป็นพลเมือง ขณะที่โลกตะวันออกยังคงถกเถียงหรืออภิปรายกันถึงการรู้แจ้งหรือการแก้ไขปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าการมองในแง่ของปัญหาการอยู่ร่วมกันของสังคม 

พูดง่ายๆ คือ โลกตะวันออกมองแกนของปัญหาสังคมว่าเกิดจากปัจเจกบุคคล ส่วนโลกตะวันตกมองแกนของปัญหาว่าเกิดจากการกระทำร่วมกันของคนหลายคนในสังคม  โดยเฉพาะบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับคนหลายคนในสังคมขนาดต่างๆ ตั้งแต่ระดับครอบครัวขึ้นไปจนถึงระดับรัฐ ซึ่งในระดับรัฐก็หมายถึง ผู้ปกครองนั่นเอง

ในแง่ของพัฒนาการ ก็คือ ตะวันตกได้แยกสกัดประเด็นด้านศีลธรรมซึ่งว่าด้วยการวัตรปฏิบัติเชิงปัจเจกออกจากการเมืองการปกครอง หลังจากผ่านยุคสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) มาแล้ว จนเกิดสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองขึ้นมา ซึ่งสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว “เป็นของกลาง” ที่อยู่นอกเหนือไปจากวัตรปฏิบัติทางด้านศีลธรรมเชิงปัจเจก

วัตรปฏิบัติ ส่วนตัวด้านศีลธรรม (ศีลธรรมเชิงปัจเจก) มีความสัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ของความเป็น พลเมืองในรัฐบ้าง แต่ก็น่าจะเป็นแบบคนละเรื่องเดียวกันมากกว่า เป็นความเหมือนที่แตกต่าง ระหว่างความดีกับการเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีไม่ได้หมายถึงคนดี (เชิงศีลธรรม)และคนดี(เชิงศีลธรรม) ก็ไม่ได้หมายถึงผู้ที่เป็นพลเมืองดี

ความเป็นพลเมือง จึงหมายถึง “สถานะแบบกลางๆ ที่ทุกคนพึงเข้าถึงด้วยความเสมอภาค” นั่นคือ การมีสิทธิ เสรีภาพ และทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ถึงที่สุด ขณะที่ “คนดี” เป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องวัตรปฏิบัติส่วนตน ใครจะเข้าถึงความเชื่อของตนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ในยุคศาสนาในยุโรปหรือยุคกลาง (Middle Ages) เอง มีการเรียนรู้ (บทเรียน)เรื่องนี้มากที่สุด และเป็นระยะเวลาของการแยกตัวออกจากันระหว่าง “ศีลธรรมเชิงปัจเจก”กับ “ความเป็นพลเมือง” หลังจากยุโรปได้รับบทเรียนการตีความคำสอนหรือหลักศาสนาที่แผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมถึงสถานะความเป็นพลเมือง จนท้ายที่สุดกลายเป็นการจองจำพลเมืองให้ปราศจากเสรีภาพไปโดยปริยาย (ด้วยเงื่อนไขทางศีลธรรมของศาสนา) ต่อมามีการก่อกบฏขึ้น ด้วยการถอดสลักหรือตัวควบคุมโดยศาสนาที่เกิดจากการตีความทำให้เป็นรัฐศีลธรรมของบุคคลในทางศาสนา ก่อให้เกิดการติด “กับดักศักดินา”จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง เรียกยุคนั้นว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การเปลี่ยนผ่านที่รุนแรง ได้แก่การปฏิวัติฝรั่งเศสในระหว่างปีค.ศ. 1789  ถึง 1799 จนเหตุการณ์นี้ ได้กลายเป็นโมเดลสำคัญของการปฏิวัติประชาชนของโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นความสำเหนียกในความเป็นพลเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงสิทธิของความเป็นพลเมืองแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ของความเป็นพลเมืองอีกด้วย อย่างน้อยหน้าที่ในขั้นพื้นฐานคือ การเคารพต่อสัญญาประชาคม หรือกฎของการอยู่ร่วมกัน หมายความว่านอกเหนือไปจากความเคารพต่อความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกันแล้ว พลเมืองยังต้องมีหน้าที่ต่อกันด้วย ซึ่งการมีหน้าที่ต่อกันดังกล่าวโยงไปที่ศูนย์กลางคือรัฐ ดังนั้นหน้าที่ของพลเมืองต่อรัฐ ก็คือหน้าที่ต่อเพื่อนพลเมืองด้วยกันด้วยนั่นเอง ในการที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันบนโลกแห่งความเป็นจริงและสามัญลักษณ์โดยสันติ ซึ่งสันติจะเกิดขึ้นได้ถ้าพลเมืองและผู้ปกครองสำเหนียกถึงสิทธิและหน้าที่ของตนตามคุณลักษณะทางด้านศีลธรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่ตั้งอยู่บนความมีเสรีภาพเป็นประการสำคัญ

ความตื่นตระหนกทางศีลธรรมทางศาสนาแบบไทยๆ ไม่ใช่สิ่งที่เสียหายแต่อย่างใด หากแต่การตื่นตระหนกดังกล่าว ทำให้ “ความดี (ศีลธรรม)เชิงปัจเจก” ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น การตีความเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง) อยู่เนืองๆตลอดมา ความดีเชิงปัจเจกหรือในเชิงศาสนาแบบที่รัฐไทยนำมาใช้นั้น จึงถูกอธิบายโดยหลักธรรมต่างๆ ในรูปแบบการควบคุมทางศีลธรรมโดยรัฐ)

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งของแวดวงวิชาการของไทยมีการนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่กระบวนการตีความ “ความเป็นพลเมือง” เสียใหม่ให้สอดคล้องกับกระแสประชาธิปไตย เช่น ในเรื่องของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะของความเป็นมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขชนชั้น วรรณะ รวมถึงความยุติธรรมเชิงประชาธิปไตยตามพลวัตของโลก ซึ่งหากเป็นในกรณีของพุทธศาสนา “ดร.อัมเบดการ์” ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีเพียงฉบับเดียวของอินเดีย (ที่ไม่เคยมีประวัติการฉีกทิ้งเลย) ได้แสดงให้เห็นว่าพลังในการตีความคำสอนทางศาสนาจำเป็นและยิ่งใหญ่เพียงใด ซึ่งนี่ก็เป็นกระแสหนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงวิชาการด้านศาสนาของไทย ถึงแม้จะน้อยมากก็ตามที

โดยภาพรวมจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างความตื่นตระหนกทางด้านศีลธรรมภายใต้รัฐไทยกับภายใต้รัฐตะวันตกก็คือ ผลจากความตื่นตระหนก ความตื่นตระหนกฯภายใต้รัฐไทยนำไปสู่การสร้างกระบวนการควบคุมด้านศีลธรรมขึ้นมานอกเหนือจากกฎหมายโดยรัฐ ขณะที่รัฐฝ่ายตะวันตกนำไปสู่การวางเฉยไม่ยุ่งเกี่ยว หรือคือการปลดปล่อยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของปวงชน.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เหมืองแร่และแม่หญิง...อีกมุมของเหมือง

$
0
0




ท่ามกลางความร้อนระอุของการลงพื้นที่ในเขตชุมชนเหมืองแร่ของ รัฐมนตรีว่าการสามกระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมเฝ้าจับตามองผลที่จะเกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคราวนี้ 

การลงสำรวจพื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ในเขตจังหวัดพิจิตร เพื่อร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงของปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ของสามกระทรวงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปตามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการเรียกร้องของชาวบ้านในเขตทับคล้อ และ เขาเจ็ดลูกในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นอันน่าจะมาจากการขุดเหมืองทองในเขตชุมชน

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยที่นำทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจประเด็นด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในเขตชุมชนนี้มาชั่วเวลาหนึ่ง ผมขอเสนอมุมมองทางวิชาการที่น่าสนใจในเรื่อง “ผลกระทบของเหมืองแร่ที่มีต่อสตรี”  ในชุมชนนี้ เนื่องจาก ประเด็นด้านผลกระทบทางสังคมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีต่อบุคคลหลากกลุ่ม ที่นอกเหนือจากด้านสุขภาพนั้น ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในสื่อและงานวิจัยในประเทศไทย โดยข้อมุลจากการเขียนบทความนี้ ผมและคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) แห่งประเทศออสเตรเลีย สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลงพื้นที่ในช่วงปีที่ผ่านมาและพูดคุยกับตัวแทนจากบริษัท ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน รวมไปถึงเอ็นจีโอในชุมชนเหมืองแร่


สภาพเหมืองแร่

ประเด็นที่หนึ่ง: อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการจ้างแรงงานสตรี

อุตสาหกรรมเหมืองแร่นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่ได้รับการจับตามองและวิพากษ์มากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากขนาดของอุตสาหกรรม รูปแบบการลงทุนที่มักจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทระหว่างประเทศ และ ผลกระทบจากอุตสาหกรรมทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพต่อชุมชน

ในกรณีของเหมืองแร่ชาตรีนั้นเป็นรูปแบบการรวมทุนของบริษัทอัครารีซอสเซสและบริษัทคิงส์เกตจากออสเตรเลีย โดยที่บริษัทอัครานั้นได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเหมืองแร่ชาตรีนั้นกินอาณาเขตของพื้นที่ในเขตจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์

ประเด็นทางสังคมประเด็นสำคัญที่บริษัทเหมืองแร่ข้ามชาติในทุกประเทศได้รับการวิจารณ์มากคือ รูปแบบและวิธีการจ้างงาน และผลกระทบของอุตสาหกรรมที่มีต่อคนหลากกลุ่ม เช่น ชนพื้นเมือง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็กและสตรีในพื้นถิ่น โดยผลกระทบที่เห็นชัดคือลักษณะงานในอุตสาหกรรมนี้มีความเป็น ’ชาย’ และ  ‘ชนกลุ่มใหญ’ ค่อนข้างชัดเจน และอาจทำให้ผู้ด้อยโอกาสยิ่งขาดโอกาสมากทวีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในประเทศออสเตรเลีย ที่ผู้เขียนทำงานและพำนักอยู่ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาก ทว่า ยังมีรายงานด้านความไม่เท่าเทียมกันในการจ้างงานและโอกาสในการได้รับผลประโยชน์จากเหมืองแร่ระหว่างเพศชายและหญิง และพบตัวเลขที่น่าตกใจคือ มีผู้หญิงที่สามารถขึ้นไปสู่ตำแหน่งในผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมนี้เพียง 2.6% และ มีผู้หญิงเพียง 16% เท่านั้นทำงานในอุตสาหกรรมหลักของประเทศเช่นนี้ (Australian Government, 2015)  ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่จึงเป็นประเด็นใหญ่ในหลายประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง

หันกลับมามอง ในบริบทของชุมชนเหมืองแร่ในพิจิตรและพิษณุโลกนั้น ทางบริษัทมีนโยบายในเรื่องของความเท่าเทียมกันในการจ้างงานและมีการส่งเสริมให้สุภาพสตรีเข้าสู่กระบวนการจ้างงานในตำแหน่งที่หลากหลาย ในอดีตนั้นผู้หญิงอาจจะถูกจำกัดบทบาทของตนให้อยู่แค่ในสำนักงานและทำงานเอกสารให้กับบริษัท แต่ทีมวิจัยพบว่ามีผู้หญิงที่ทำงานในลักษณะงานที่ต้องใช้กายภาพเทียบเท่ากับเพศชายมากขึ้น เช่น ขับรถขนแร่ วิศวกรเหมืองแร่ หรือ งานบริหารชุมชนสัมพันธ์เป็นต้น การส่งเสริมบทบาทให้ผู้หญิงมีความหลากหลายในการทำงานนั้นช่วยให้พวกเธอมีความมั่นใจ และ รู้สึกว่าตนเองมีความเท่าเทียมกันกับทุกคนในองค์กร อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาทีมผู้บริหารของบริษัทเราพบผู้หญิงเพียงหนึ่งคนในบทบาทด้านบัญชีและผู้บริหารชายถึงห้าคนจากจำนวนผุ้บรหารทั้งหมดของบริษัท

ประเด็นหนึ่งที่เราพบในการลงพื้นที่คือ มีสมาชิกในชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่มานาน แต่ขาดคุณวุฒิทางการศึกษา หรือ ทักษะในการทำงานที่เหมาะสม คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เนื่องจากค่านิยมที่ส่งเสริมผู้ชายให้มีโอกาสทางการศึกษามากกว่าหญิงในหลายครอบครัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้พวกเธอรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสในการทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเธอ พวกเธอมักกล่าวในทำนองตัดพ้อว่าบริษัทเลือกเอาคนนอกพื้นที่มาทำงานเพราะเขาหรือเธอมีปริญญาบัตร การตัดโอกาสในการจ้างงานอาจทำให้สมาชิกในชุมชนหลายคนไม่พอใจและ ประเด็นเหล่านี้อาจทับถมในใจของชาวบ้านมาชั่วระยะเวลาหนึ่งในด้านความเท่าเทียมและโอกาสทางเศรษฐกิจ

                

กลุ่มคนงานผู้สนับสนุนเหมืองแร่ : (ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดพิจิตร)

ประเด็นที่สอง เหมืองแร่ทองคำกับผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของสตรี

จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับชุมชน เราพบว่า ข้อมูลในเรื่องของผลกระทบของเหมืองแร่ที่มีต่อโอกาสในชีวิตนั้น เป็นข้อ   มุลกระแสหลักที่ชาวบ้านในชุมชนกล่าวถึง แน่นอนว่าประเด็นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจตามที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นมีผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายในชุมชน การได้รับโอกาสเข้าทำงานในบริษัทเหมืองแร่ และการมีรายได้ประจำจากการทำงานกับบริษัทดูจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนต้องการ เพราะนั่นหมายถึงสถานะทางสังคม และ โอกาสที่เพิ่มขึ้นในชีวิต

โอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิงในชุมชนนับได้ว่าเป็นประเด็นที่สมาชิกชุมชนและตัวแทนจากทางบริษัทกล่าวถึง ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการชุมชนสัมพันธ์หรือพัฒนาชุมชนนั้น บริษัทจำเป็นต้องมีกองทุนหมู่บ้านในรูปแบบต่างๆและการจัดการเงินจำนวนที่ต่างกันในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อลงสู่กลุ่มสมาชิกชุมชนต่างๆ รวมถึงผู้หญิง โอกาสเช่นนี้ เป็นการสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงหลายคนในชุมชนเหมืองแร่ที่พิจิตร ผู้หญิงหลายคนกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น เย็บผ้า กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ หัตถกรรม โดยเงินที่ใช้ดำเนินการมาจากโครงการต่างๆของบริษัทเหมืองแร่

อย่างไรก็ตามมีผุ้หญิงและสมาชิกในชุมชนอีกหลายกลุ่มที่วิพากษ์ว่า กระบวนการจัดสรรเงินเพื่อเข้าสู่ชุมชนนั้น มีผู้ชายเป็นผู้นำ ทั้งในระดับหมู่บ้าน และ ตำบล และมักจะผ่านผู้ใหญ่บ้าน และ นายก อบต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพศชาย การที่ผุ้หญิงไม่สามารถเข้าไปมีเสียงอย่างเต็มที่ในกระบวนการการจัดสรรทรัพยากรนั้น อาจนำไปสู่ การพัฒนาจากมุมมองของชายเท่านั้น เช่นผู้หญิงสามารถทำได้แค่หัตถกรรม เย็บผ้า ปลูกผัก ในขณะที่ความต้องการที่แท้จริงของผุ้หญิงอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองเนื่องจากการไร้ตัวแทนเพศหญิงที่เข้มแข็งในชุมชน นอกจากนี้ความเท่าเทียมกันในจำนวนเงินที่จัดสรรให้แต่ละหมู่บ้าน และ การเข้าถึงกองทุนหมู่บ้าน ล้วนถูกกล่าวถึงโดยสตรีหลากกลุ่มในทุกหมู่บ้าน กล่าวได้ว่า เหมืองแร่มีผลกระทบต่อโอกาสในชีวิตของผู้หญิงทั้งบวกและลบ


ประเด็นที่สาม เหมืองแร่ทองคำกับบทบาททางการเมืองและครอบครัวของสตรี

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเหมืองแร่กับชุมชนนั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากบทบาทที่ทับซ้อนของเหมืองแร่ต่อหมู่บ้านต่างๆ คนงาน ผุ้นำชุมชน องค์กรทางการปกครอง เช่น อบต และ เอ็นจีโอ กล่าวได้ว่าลักษณะความสัมพันธ์นั้นเป็นในเชิง ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ (love-hate relationship) นั่นคือ ชุมชนมองเห็นความสำคัญของการมีอยู่ของเหมืองแร่ เพราะนั่นคือการเปลี่ยนชีวิตและวิถีชุมชน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรและผลประโยชน์จากเหมืองแร่ และ อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของบริษัทก็ล้วนแต่สร้างความแคลงใจของชุมชนต่อเหมืองแร่

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้นำในการการต่อสู้กับเหมืองแร่ในด้าน สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่เป็นผุ้หญิง ที่เคยทำงานกับบริษัทเหมืองแร่ พวกเธอบอกว่าความเป็นหญิงทำให้ระดับความรุนแรงในการต่อสู้ไม่ดุเดือดจนเกินไป พวกเธอมองว่าการใช้ความเป็นสตรีมาต่อสู้กับบริษัท จะทำให้ปฏิกริยาจากทางบริษัทไม่สามารถถึงขั้นรุนแรงได้ในระดับที่น่ากลัว พวกเธอไม่ต้องการให้ผุ้ชายในครอบครัวลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะเกรงว่าปฏิกริยาตอบจากฝ่ายตรงข้ามอาจดุเดือดถึงขั้นอันตราย ดังนั้นเราจึงอนุมานได้ว่าการมีอยู่ของบริษัทเหมืองแร่มีความสัมพันธ์กับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของผู้หญิงในชุมชน (Pimpa and Moore, 2015)

นอกจากนี้สตรีหลายคนที่มองตนในฐานะเพศแม่ ให้ข้อมูลว่า การมีอยู่ของเหมืองในทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ลูกๆของพวกเธอกลับมาจากกรุงเทพมหานครและสามารถมาใช้ชีวิตแบบครอบครัวใหญ่ได้อีกครั้ง เพราะโอกาสในทางเศรษฐกิจและการศึกษาเปิดกว้างขึ้นสำหรับลูกและหลานของพวกเธอ 


บทสรุป

บทบาทของบริษัทเหมืองแร่นั้นมีความสลับซับซ้อนและหลากมิติ องค์กรทางธุรกิจ เช่น บริษัทเหมืองแร่นั้น มีหน้าที่ที่สำคัญคือการผลิตและสร้างผลกำไร อย่างไรก็ตามทฤษฎีทางธุรกิจด้านการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจ (Stakeholder Theory, Freeman 1984) สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหมืองแร่แห่งนี้ได้ ความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความคาดหวังและความต้องการของแต่ละกลุ่มย่อมต่างกัน ดังนั้น การจัดการทรัพยากรและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในการทำเหมืองแร่โดยบริษัทเหมืองแร่นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มบุคคลอันหลากหลาย สมาชิกทุกภาคส่วนในชุมชนต้องมีเสียงในการจัดการทรัพยากรในชุมชน

ปัญหาเรื้อรังด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตรโดยองค์กรที่มีความเป็นกลาง และ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยอาศัยผลทางวิทยาศาตร์เป็นตัวตั้ง มากกว่าผลลัพธ์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตามผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่นั้น อาจจะไม่สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้นกระบวนการทางสังคมศาสตร์ที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญหลากด้านของสังคมจึงเป้นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาชุมชนอันเป้นมรรคผล และ เพื่อป้องกันปัญหาที่หมักหมมตามทีเกิดขึ้นในปัจจุบัน 

 

อ้างอิง

Australian Government (2015), Gender Equality Spotlight: Mining, Interim Report, Canberra. Also available at: https://www.wgea.gov.au/wgea-newsroom/gender-equality-spotlight-mining
Freeman, E. (1984), Strategic Management: A stakeholder approach. Boston: Pitman

Pimpa, N. and Moore, T. (2015), Kingsgate’s Thai mine a lesson in failed community management, The Conversation, Australia. Also available at: http://theconversation.com/kingsgates-thai-mine-a-lesson-in-failed-community-management-37588

เกี่ยวกับผู้เขียน:รศ.ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา เป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศและความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยเรื่องเหมืองแร่และสตรีในประเทศไทยและลาวฉบับนี้ได้รับเงินอุดหนุนวิจัยจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งประเทศออสเตรเลีย และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://seabiz.asia

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมตั้งมูลนิธิบรรหารเพื่อผู้ป่วยยากไร้-สวดพระอภิธรรมที่วัดเทพศิรินทร์ถึง 7 พ.ค.

$
0
0

สวดพระอภิธรรมและบำเพ็ญกุศล 'บรรหาร ศิลปอาชา' ที่วัดเทพศิรินทร์ถึง 7 พ.ค. จากนั้น 18 พ.ค. ครอบครัวเตรียมเคลื่อนศพไปวัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี บำเพ็ญกุศลทุกวันศุกร์จนครบ 100 วัน สำหรับเงินร่วมทำบุญสวดพระอภิธรรมจะนำไปก่อตั้ง "มูลนิธิบรรหาร ศิลปอาชา เพื่อผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราช"

2 พ.ค. 2559 บรรยากาศสวดพระอภิธรรมนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 และหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ 23 เมษายนนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเย็นวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร บรรยากาศสวดพระอภิธรรมคืนวันนี้นั้นมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายสนธยา คุณปลื้ม นายจตุรนต์ ฉายแสง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายกร ทัพพะรังสี นายสุภาพ คลี่ขจาย นพ.เหวง โตจิราการ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวัฒนา เมืองสุข จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ฯลฯ เข้าร่วมงานสวดพระอภิธรรม

ทั้งนี้เจ้าภาพคืนวันที่ 2 พฤษภาคม ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังชล สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศด้านการเมือง สถาบันการพลศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเแห่งชาติ (นปช.) นอกจากนี้ยังมีข้าราชการ และประชาชน อาทิ สมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มสุพรรณบุรีเอฟซี นักเรียนจากโรงเรียนบรรหาร-แจ่มใสวิทยา 3 ร่วมงานด้วย

 

สวดพระอภิธรรมถึง 7 พ.ค. ก่อนย้ายไปวัดป่าเลไลยก์ 18 พ.ค.

สำหรับเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 3 ถึง 7 พฤษภาคม ประกอบด้วย วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม อาทิ เครือมติชน, พรรคประชาธิปัตย์, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย, กรมพลศึกษา, นักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่น10, บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน), สโมสรรัฐสภา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี, นายสุรเดช ยะสวัสดิ์, สมาคมคนพิการผู้ค้าสลากประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย

เจ้าภาพสวดพระอภิธรรมในวันพุธที่ 4 พฤษภาคม อาทิ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ และพรรคชาติพัฒนา, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง, ครอบครัวเลขวัด, ครอบครัวลิ่มทอง, ธนาคารออมสิน (สำนักงานใหญ่), มูลนิธิกฤตานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย, สมาคมมานะสัมพันธ์ (ตระกููลหม่า) แห่งประเทศไทย, มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์, สมาคมตระกูลหม่าแห่งประเทศมาเลเซีย, สมาคมตระกูลหม่า เมืองเล่อผิง มณฑลเจียงซี สาธารณรัฐประชาชนจีน, สมาคมตระกูลหม่าทั่วโลก, คุณฮั่งคุง แซ่เบ๊ นายกสมาคมตระกูลหม่าทั่วโลก, สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน, สมาคมเตี้ยเอี้ยแห่งประเทศไทย

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม งดสวดพระอภิธรรมในวันฉัตรมงคล

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม เจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กลุ่มวังขนาย โดยนายอารีย์ ชุ้นฟุ้ง, สภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ประจำประเทศไทย, สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย, คุณอนุฤทธิ์ เกิดสินชัย, บริษัทไรท์แมน จำกัด

สำหรับการสวดพระอภิธรรมจะมีจนถึงวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม เจ้าภาพคืนสุดท้ายคือ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่นายบรรหารเคยเป็นแกนนำ บริษัทสี่แสงการโยธา (1979) จำกัด หนังสือพิมพ์บ้านเมือง และนายวิเชียร เตชะไพบูลย์

ทั้งนี้เจ้าภาพได้แจ้งผู้ร่วมบริจาคทำบุญว่าจะนำเงินทำบุญไปตั้ง "มูลนิธิบรรหาร ศิลปอาชา เพื่อผู้ป่วยยากไร้โรงพยาบาลศิริราช" ในโอกาสต่อไปด้วย

อนึ่ง นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา เปิดเผยกับมติชนออนไลน์ว่า ในวันพุธที่ 18 พฤษภาคมนี้เวลา 13:00 น. ทางครอบครัวจะดำเนินการเคลื่อนศพของนายบรรหารไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี และตั้งบำเพ็ญกุศลจนกว่าจะครบ 100 วัน ทั้งนี้ได้ขอพระบรมราชานุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวราวุธ กล่าวว่า การตั้งศพนายบรรหารเพื่อบำเพ็ญกุศลที่วัดป่าเลไลยก์นั้น เป็นไปตามคำร้องขอของพี่น้องชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากเขามีข้อจำกัดในการเดินทางมาเคารพศพนายบรรหารในกรุงเทพมหานคร และด้วยความผูกพันของนายบรรหารต่อจังหวัดสุพรรณบุรีและชาวสุพรรณบุรีทุกคน ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่านายบรรหารนั้นได้ทุ่มเททั้งกายและใจให้กับจังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้นเพื่อให้ ชาวจังหวัดสุพรรณบุรีที่ นายบรรหารรัก ได้แสดงความไว้อาลัย จะได้มีการสวดพระอภิธรรมเพื่อบำเพ็ญกุศลทุกๆ วันศุกร์จนกว่าจะครบ 100 วัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมเผย ถูกปฏิเสธเข้าร่วมให้ความเห็นโรดแมปฯ ทรัพย์สินทางปัญญา

$
0
0

3 พ.ค. 2559 กรณี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์และส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็น ขอเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปทรัพย์สินทางปัญญา 20 ปี (2559 – 2579) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พ.ค. 2559 ที่ห้องประชุมวิมวาทิตย์ 1 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด (เช้าวันนี้) มูลนิธิฯ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วม โดยที่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ แจ้งว่าเป็นการประชุมเฉพาะหน่วยงานราชการ ทั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมระบุว่า ได้แสดงความจำนงขอเข้าร่วมก่อนตั้งแต่กลางเดือนเมษายน

มูลนิธิเข้าถึงเอดส์กังวลว่าร่างโรดแมปฯ ฉบับดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์การผูกขาดตลาดจากระบบสิทธิบัตร ซึ่งจะส่งผลให้ยามีราคาแพง ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น มากกว่าที่จะช่วยแก้ไขปัญหา

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยาของมูลนิธิฯ กล่าวว่า ร่างโรดแมปนี้เน้นการเอื้ออำนวยให้จดสิทธิบัตรได้ง่ายและมากขึ้น แต่ไม่ได้ส่งเสริมความสมดุลระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับการปกป้องประโยชน์สาธารณะ

“ตัวอย่างของความไม่สมดุล คือ คำขอรับสิทธิบัตรยาและสิทธิบัตรยาจำนวนมากที่เข้าข่ายเป็นคำขอฯ หรือสิทธิบัตรแบบด้อยคุณภาพและไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร ร้อยละ 84 ของจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรยาและร้อยละ 74 ของสิทธิบัตรในช่วงปี 2543 ถึง 2553  อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การที่ไม่สามารถใช้มาตรการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนได้รับสิทธิบัตร (pre-grant opposition) ที่มีอยู่ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อจำกัดในเชิงกฎหมายและฐานข้อมูลและการประกาศโฆษณาที่ไม่แน่นอนและคลาดเคลื่อน จึงส่งผลให้มีสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพจำนวนมากเกิดขึ้น” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการเข้าถึงยาเป็นประเด็นที่ภาคประชาสังคมหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกังวลและเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและแก้ไขมาตลอด แต่การกำหนดและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปฯ กลับไม่มีภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือกลุ่มผู้ป่วยเข้าร่วมให้ความคิดเห็น

เฉลิมศักดิ์ ยังแสดงความคิดเห็นว่า ร่างโรดแมปฯ ขาดหลักการสำคัญในเรื่องที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศที่รับจดสิทธิบัตร เพื่อที่อุตสาหกรรมภายในประเทศจะได้เรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรไปจะได้สิทธิผูกขาดตลาดนาน 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร

เขากล่าวว่า ตัวอย่างของการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์จริงๆ คือ การสร้างโรงงานผลิตในประเทศไทย  ที่ผ่านมา บริษัทยาข้ามชาติเพียงแต่จดสิทธิบัตร ขึ้นทะเบียนยา และจำหน่ายยาเท่านั้น หรือไม่ก็เพียงมาบรรจุหีบห่อในประเทศเท่านั้น ไม่ได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีอะไรให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ

“สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญอีกอย่างในเรื่องระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นธรรม แต่สังคมส่วนใหญ่มักจะไม่พูดถึง” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ร่างโรดแมปฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ใช้ข้อตกลงสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ข้อตกลงทริปส์) ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยาจำเป็น  ตัวอย่างมาตรการในข้อตกลงทริปส์ที่กล่าวมา คือ การฟ้องคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตร การนำมาตรการยืดหยุ่น เช่น มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ ซีแอล ฯลฯ มาใช้

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้มีข้อเสนอแนะต่อร่างโรดแมปฯ ดังนี้
1. ในการทำโรดแมปฯ ควรจะแยกแยะประเด็นเรื่องยาและเวชภัณฑ์ออกมาต่างหาก ทั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงและโต้แย้งกันมาก และยาและเวชภัณฑ์ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่มีความเปราะบางแตกต่างจากสินค้าประเภทอื่น และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก

2. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรศึกษาข้อมูลจากฐานเพื่อให้ทราบว่าผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเรื่องยาและเวชภัณฑ์ คือ บริษัทต่างชาติหรือบริษัทของคนไทย ทั้งนี้ จะได้เห็นสัดส่วนที่แท้จริงว่าประเทศไทยพึ่งพาและนำเข้ายาและเวชภัณฑ์มากน้อยเพียงไร และภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสร้างความเข้มแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนายาต่อไปอย่างไร โดยไม่ให้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการวิจัยและพัฒนายาเองในประเทศให้เป็นจริงได้

3. ขอสนับสนุนให้เร่งแก้ไขและปรับปรุงฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้มีความเป็นปัจจุบัน ถูกต้องแม่นยำ และเข้าถึงง่ายในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบและคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อภาคสาธารณสุขและภาคอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญในประเทศ ให้สามารถนำเข้าหรือผลิตยาจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทันเวลา

4. กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องปรับปรุงคุณภาพในการตรวจสอบและพิจารณาให้สิทธิบัตรยากับผู้ขอรับสิทธิบัตร โดยทำคู่มือการตรวจสอบคำขอฯ มาให้อย่างเคร่งครัดและควรทบทวนและปรับปรุงให้คู่มือมีคุณภาพมากยิ่งขึ้นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิบัตรและการเข้าถึงยาจำเป็น และสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับยา เพื่อลดและขจัดปัญหาการผูกขาดตลาดผ่านคำขอฯ และสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ

5. การวัดผลสำเร็จของกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรมุ่งเน้นแต่จำนวนคำขอรับสิทธิบัตรหรือการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่ควรกำหนดให้จำนวนคำคัดค้านคำขอฯ และคำคัดค้านที่เป็นผลเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จด้วย  ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลว่า เท่าที่ผ่านมาตั้งแต่มี พ.ร.บ. สิทธิบัตร มีการยื่นคำคัดค้านและคำคัดค้านที่เป็นผลจำนวนเท่าไร เพื่อเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นเพื่อบอกว่ากลไกสร้างความสมดุลนี้ทำงานเป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นการผลิตยาชื่อสามัญให้เข้ามาแข่งขันในตลาดได้มากน้อยเพียงไร  ทั้งนี้ การกระตุ้นให้เกิดการผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญ ถือว่าช่วยให้เกิดการวิจัยและพัฒนายาภายในประเทศและการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ยามีราคาถูกลง

6. การสร้างจิตสำนึกในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรพูดในมุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเดียว แต่ควรเน้นในอีกด้านหนึ่ง ที่ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องคุ้มครองสาธารณประโยชน์ด้วย เช่น การคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง การนำมาตรการยืดหยุ่นภายใต้ พ.ร.บ. สิทธิบัตร และข้อตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือข้อตกลงทริปส์ มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงบทบาทของระบบทรัพย์สินทางปัญญาในการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศที่ด้อยกว่าสามารถเรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้

7. กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ควรตื่นตระหนกต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่ใช้กลไกรายงานประจำปีมาตรการพิเศษ 301 ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้บังคับเอาฝ่ายเดียว มาต่อรองข่มขู่ให้ประเทศคู่ค้าที่ด้อยกว่ายอมรับเงื่อนไขที่เกินกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก  แม้ว่าประเทศไทยจะพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังไม่พอใจและต้องการให้ไทยแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้เข้มงวดเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ อันเป็นข้อตกลงร่วมของนานาประเทศในเรื่องการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา  ดังนั้น ขอสนับสนุนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่ายอมรับข้อเสนอแนะของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ที่เกินเลยกว่าข้อตกลงทริปส์ ในรายงาน 301 และขอให้ฟ้องเรื่องการใช้มาตรการ 301 ที่ไม่เป็นธรรมต่อองค์การการค้าโลก

8. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรมีจุดยืนที่ชัดเจนและเข้มแข็ง ที่จะไม่ยอมรับเงื่อนไขหรือมาตรการต่างๆ ที่เสนอในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ที่เกินเลยไปกว่าข้อตกลงทริปส์ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ฯลฯ หรือเสนอแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านั้น

9. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข นำมาตรการยืดหยุ่นต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงทริปส์มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา และควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการนำมาตรการยืดหยุ่นเหล่านั้นมาใช้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและต้องการนำมาตรการนั้นมาใช้

10. ในโรดแมปฯ ควรระบุให้มียุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันที่จะทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นจริง ที่จะทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศได้เรียนรู้ พัฒนา และต่อยอด โดยเฉพาะในเรื่องยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ และเป็นความชอบธรรมที่ผู้ได้สิทธิบัตรไม่ควรยอมรับเพื่อแลกกับผลประโยชน์จากการผูกขาดตลาด 20 ปี ดังตัวอย่างกฎหมายในอินโดนีเซีย ที่ผู้นำเข้าและจดสิทธิบัตรยาจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โดยการมีโรงงานผลิตยาในอินโดนีเซียภายในระยะเวลาที่กำหนด

11. กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นำกฎหมายที่มีอยู่หรือแก้ไขกฎหมายที่หน่วยงานนั้นกำกับดูแล เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสมดุลในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและสาธารณประโยชน์ให้ดียิ่งขึ้น  ในที่นี้หมายถึง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ. การควบคุมราคาสินค้าและบริการ ซึ่งถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะสร้างความสมดุลทำให้ประชาชนและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นในราคาที่เป็นธรรมได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายทั้งสองฉบับไม่เคยถูกใช้เป็นคุณต่อสาธารณะ กลับเน้นแต่เรื่องคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนและนักธุรกิจ

ถึงแม้มูลนิธิฯ จะถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น แต่จะส่งเอกสารแสดงความคิดเห็นต่อร่างโรดแมปฯ ฉบับนี้และข้อเสนอแนะให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารไม่ให้ประกัน 8 ผู้ต้องหาแอดมินเพจล้อประยุทธ์ ทนายจ่อยื่นอีก 10 พ.ค.นี้

$
0
0

ภาพ ตำรวจนำผู้ต้องหาทั้ง 8 รายแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา

3 พ.ค. 2559 ความคืบหน้าคดีแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีผู้ต้องหา 8 รายซึ่งถูกออกหมายจับข้อหากระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และกฎหมายอาญา มาตรา 116 และถูกคุมขังที่เรือนจำและทัณฑสถานนั้น

วันนี้ บีบีซีไทย รายงานว่าหลัง อานนท์ นำภา ทนายความของผู้ต้องหา ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด แล้วนั้น ล่าสุด อานนท์ เปิดเผยว่า ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าในข้อเท็จจริงพฤติการณ์ยังไม่เปลี่ยน แต่ อานนท์ ระบุว่า จะยื่นขอประกันตัวใหม่อีกครั้งในวันที่ 10 พ.ค. ที่จะถึงนี้
 
ทั้งนี้ โดยผู้ต้องหาใช้หลักทรัพย์รายละ 150,000 บาท ในการยื่นประกันตัว พร้อมทั้งชี้แจงว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี รวมถึงไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเพราะหลักฐานทั้งหมดอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว
 
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 8 ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก "เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ประกอบด้วย หฤษฏ์ มหาทน ณัฎฐิกา วรธันยวิชญ์ นพเก้า คงสุวรรณ วรวิทย์ ศักดิ์สมุทรนันท์ โยธิน มั่งคั่งสง่า ธนวรรธน์ บูรณศิริ ศุภชัย สายบุตร และกัณสิทธิ์ ตั้งบุญธินา ซึ่งศาลทหารไม่พิจารณาให้ประกันตัวในการยื่นขอครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลพิเคราะห์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคัดค้านการประกันตัว จึงยังไม่มีเหตุผลสมควรให้ปล่อยชั่วคราว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ค้านตั้ง ‘ชัยวัฒน์’ คุมป่าทั่วประเทศ เหตุยังมีคดีละเมิดสิทธิกรณีบิลลี่

$
0
0

เครือข่ายสิทธิฯ เตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น (UNHRC) 11 พ.ค. นี้ กรณีกรมอุทยานฯ ตั้ง ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ คุมอุทยานทั่วประเทศ ทั้งที่มีคดีละเมิดสิทธิฯบังคับบุคคลสูญหาย พื้นที่กะเหรี่ยงแก่งกระจาน

3 พ.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม 25 องค์กร ร่วมแถลงการณ์คัดค้านกรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่งตั้ง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เป็นหัวหน้าชุดพญาเสือ ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า โดยระบุว่าจะร้องต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC)  ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodical Review: UPR) ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า  ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจนเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องคดีปกครองเรียกร้องค่าเสียหาย 

“การตัดสินใจให้ชัยวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯนั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น  อีกทั้งการที่ชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุคดีที่ชัยวัฒน์ถูกฟ้อง ได้แก่ คดีอาญาร้ายแรงต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกสอบสวน  ซึ่งเป็นคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี  มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน  3 เรื่อง  ซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  2 เรื่อง  และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 7 เรื่อง  (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง)


กรมอุทยานแจง ชัยวัฒน์ ‘บริสุทธิ์ทุกคดี’ 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเดลินิวส์รายงานว่า ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวเปิดตัวและประกาศตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า ชุดปฏิบัติการพญาเสือ โดยมีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ทำหน้าที่หัวหน้าชุดพญาเสือ และ ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เป็นรองหัวหน้าทีม นอกจากนี้ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่พิกัดจีพีเอส และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักอุทยานทั่วประเทศมาร่วมทีม รวมทั้งหมด 21 คน

กรณีการแต่งตั้งชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการจะทำให้เป็นปัญหากับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงหรือไม่ ธัญญา กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายคดีของชัยวัฒน์ ได้ผ่านการต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทุกคดีเรียบร้อยแล้ว ส่วนความไม่พอใจของชาวกะเหรี่ยงนั้น ความจริงแล้วมีชาวกะเหรี่ยงที่สนับสนุนชัยวัฒน์ รวมทั้งอยากให้ชัยวัฒน์ กลับเข้าทำงานที่เดิมมากกว่าคนที่ไม่ชอบด้วยซ้ำ จึงไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะชัยวัฒน์เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน และน่าจะปฏิบัติภารกิจนี้ได้เป็นอย่างดี 

ธัญญา กล่าวถึงการปฏิบัติการของทีมพญาเสือว่า จะเน้นการปราบปราบการบุกรุกป่ารายใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั่วประเทศ ซึ่งกรมอุทยานฯ จะให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ เครื่องมือปฏิบัติการ อาวุธ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยอย่างเต็มที่ คาดว่าพื้นที่แรกจะลงดำเนินการภายในสัปดาห์หน้าจะเป็นพื้นที่ภาคใต้และตะวันออก แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าจังหวัดได้

 

แถลงการณ์ร่วม
เครือข่ายสิทธิฯ เตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) ในเวที UPR
กรณีตั้งผู้ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหัวหน้าชุด “พญาเสือ” คุมอุทยานทั่วประเทศ
ยุติแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในการรักษาพื้นที่ป่า


จากการที่วันนี้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวชุดเฉพาะกิจพญาเสือ แก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ เน้นทำงานเชิงรุก และขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยกำหนดให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญาเสือ” ที่ทำหน้าที่ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดในพื้นที่อุทยานฯได้ทั่วประเทศ โดยรับคำสั่งและขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ และไม่ต้องขึ้นตรงกับผู้อำนวยการส่วนพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวสนองนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลปัจจุบันเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าเพิ่ม

เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างนี้ขอประท้วงและเตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย Universal Periodical Review (UPR) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลกรที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจนเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องคดีปกครองเรียกร้องค่าเสียหาย

การตัดสินใจให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯนั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น อีกทั้งการที่นายชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง

เครือข่ายองค์กรตามรายนามด้านล่างนี้เห็นว่างานด้านการอนุรักษ์ป่าและการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามีหลายมิติและมีความอ่อนไหว แม้ว่าจะอ้างถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลแต่ในสถานการณ์จริงมีกลุ่มประชากรที่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยานทั่วประเทศ 

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและอธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งที่มอบให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรรับหน้าที่สำคัญนี้และขอให้คัดเลือกบุคคลกรที่มีแนวทางการทำงานบนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและในการพิทักษ์รักษาป่า รวมทั้งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการอำนวยความเป็นธรรม ต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่ยั่งยืน

การที่เครือข่ายองค์กรฯจะร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 แต่ไม่มีการตอบรับและกลับมีการแต่งตั้งนายชัยวัฒน์ฯ ในวันนี้  ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ มีดังนี้คือขอเรียกร้องให้ทางอุทยานแห่งชาติโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการ สอบสวน หรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เนื่องจากถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรงต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกสอบสวน ซึ่งเป็นคดีความอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 2 เรื่อง และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ ในห้วงเวลาที่ครบรอบสองปีการหายตัวไปของนายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ภายหลังการจับกุมของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งรวมทั้งสิ้น 7 เรื่องในขณะนี้ ดังนี้การที่นายชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง

ในหนังสือฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ดังกล่าวที่ยื่นต่ออธิบดีกรมอุทยานฯนั้นอ้างถึงเหตุผลทั้งความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งหลักการด้านการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายและการบริหารจัดการบุคคลกรของรัฐโดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติให้เป็นสมบัติของชาติและของโลก และในขณะเดียวกันเป็นต้องเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้หลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกำลังถูกเสนอชื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติภายใต้กรอบของยูเนสโกเป็นอันเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยอย่างสมภาคภูมิ

องค์กรร่วมลงนาม
1. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
2. เครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
3. เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง
4. เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
5. เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
6. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี
7. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
8. สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
9. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
10. มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล
11. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
13. มูลินิธิรักษ์ไทย(ภาคเหนือ)
14. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
15. มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูง
16. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
17. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
18. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่
19. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
20. หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย
21. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
22. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
23. โรงน้ำชา (TEA-togetherness for Equality and Action)
24.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
25. โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่งไม่รับฎีกา ขสมก. เหตุไม่เกี่ยวประโยชน์สาธารณะ หลังคดียื้อกว่า 5 ปี

$
0
0

3 พ.ค. 2559 เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง (รัชดา) ห้อง 603 ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกา คดีที่นางอารี แซ่เลี้ยว ผู้เสียหาย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมานิต หวังสะแล่ะฮ์ เป็นจำเลยที่ 1 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นจำเลยที่ 2 ฐานผิดสัญญารับขนคนโดยสาร เรียกค่าเสียหายเป็นเงินรวม 1,328,298 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ (ฟ้องเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554)

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 กรณีอุบัติเหตุรถเมล์โดยสาร สาย 4 หมายเลขทะเบียน 12-0357 กรุงเทพมหานคร ของ ขสมก. โดยมีนายมานิต เป็นพนักงานขับรถ ได้ขับรถเมล์ด้วยความเร็ว โดยเบรกกะทันหัน ทำให้นางอารี ใบหน้ากระแทกอย่างรุนแรงกับเหล็กพนักพิงเบาะนั่งด้านหน้า ได้รับบาดเจ็บสาหัส

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 164,475 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้กับโจทก์ ต่อมาโจทก์อุทธรณ์ โดยปี 2556 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 347,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 323,000 บาท ด้านจำเลยทั้งสองขอฎีกาต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาตามฎีกาที่ว่าค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ฯ กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์สูงเกินและฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย ทั้งไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 52 และข้อกำหนดประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ข้อ 40 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกาและไม่รับฎีกา

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งศาลฎีกาในคดีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของ ขสมก. ที่ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม และผู้บริโภคที่ใช้บริการ ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการสาธารณะมากกว่าการหวังผลทางคดี ซึ่งเรื่องนี้ผู้เสียหายต้องใช้เวลาต่อสู้คดีถึง 3 ศาลนานกว่า 5 ปี แต่สุดท้ายศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้ ขสมก. ฎีกา เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

“ผมเห็นด้วยที่ศาลฎีกาควรจะรับเฉพาะเรื่องที่สำคัญและเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ การยื้อคดีของ ขสมก. ไม่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้ว หาก ขสมก. ยังไม่ยอมชำระค่าเสียหายตามที่ศาลกำหนดพร้อมดอกเบี้ย เราคงต้องดำเนินการยึดทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมายต่อไป”ทนายความอาสาฯ กล่าว

ด้าน อารี กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุในปี 2550 ไม่เคยได้รับการติดต่อหรือดูแลใดๆ จาก ขสมก. ต่อมาเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือนัดเจรจาไกล่เกลี่ยคดีนี้ ผู้แทน ขสมก.บอกให้ฟ้องคดีไปก่อนแล้วจะจ่ายเงินค่าเสียหายให้ในชั้นศาล โดยอ้างว่า ขสมก. เป็นหน่วยงานรัฐจ่ายเงินก่อนฟ้องไม่ได้ แต่เมื่อตนฟ้อง ขสมก. เป็นคดีผู้บริโภคแล้ว กลับปฏิเสธการเยียวยา และสู้คดีอย่างถึงที่สุด ทำให้ตนรู้สึกผิดหวัง

“ดีใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม คดีนี้สิ้นสุดเสียที 9 ปีที่ผ่านมาชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเลย ต้องเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานมาตลอด” ผู้เสียหายกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับพ่อ'โยธิน' เมื่อเขามองเห็นลูกชายเป็น นายทหารคนหนึ่ง

$
0
0

"ผมเป็นคนตั้งชื่อเขาว่า โยธิน โยธินที่แปลว่า ทหาร"

สำหรับ อาคม มั่งคั่งสง่า อายุ 67 ปี อดีตข้าราชการทหาร ยศนาวาอากาศโท เขามองเห็น โยธิน มั่งคั่งสง่า (ลูกชาย) หนึ่งในผู้ต้องหา เหตุทำเพจล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายทหารคนหนึ่ง

แม้โยธินจะเรียนจบด้านศิลปะมา เป็นคนนิ่งเงียบ เรียบร้อย และสุขม แต่สิ่งที่เขาทำ ในสายตาของพ่อ เมื่อเปรียบเทียบกับตำนาน 'สามก๊ก' โยธินคือ นายทหารคนหนึ่ง ที่ออกไปยืนด่าทัพฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นแผนของขงเบ้ง ถึงที่สุดแล้วทัพตรงข้ามโกรธจัด จนเปิดหน้า ยกทัพออกมารบ และพ่ายแพ้ไปในท้ายที่สุด

อดีตนายทหารอากาศ มองว่า ทหารไม่ได้มีอยู่แต่ในภาพจำเดิมๆ เช่นว่า ต้องถือปืน ใส่เสื้อเกาะ หรือนั่งอยู่บนหลังม้าแบบในสมัยก่อน แต่เพื่อการต่อสู้ ทหารมียุทธวิธีที่มากกว่านั้น เพราะเพียงแค่หนึ่งคนไปยื่นด่า กองทัพทั้งกองก็ล้มลงได้ง่า

00000

ย้อนกลับไปเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 27 เม.ย. 2559 อาคมเล่าว่า มีนายทหารไม่ต่ำกว่า 15 นายเข้ามาหาที่บ้านพักโดยชี้แจงว่า ขอความให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย ก่อนแจ้งว่าต้องการควบคุมตัวลูกชาย และจากนั้นก็เข้าควบคุมตัว พร้อมยึดอุปกรณ์สื่อสาร เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต โดยไม่สนใจว่าของเหล่านั้นจะเป็น ของโยธินหรือไม่ ไม่เว้นแม้แต่หนังสือต่างๆ ที่ซื้อเก็บไว้ เช่นนิตยสารฟ้าเดียวกัน สงครามกลางเมืองในรวันดา กระทั่งสติ๊กเกอร์ เรารักประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ทหารก็นำไปด้วย

"มือถือของผมเอง เพิ่งซื้อมาหมื่นสาม เมื่อสองวันก่อน ยังไม่ทันได้เล่นเป็น เขาก็เอาไป ใบเสร็จเรามีให้ดู แต่เขาไม่สนใจ"

เขาเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่มีการเตรียมพร้อมมาอย่างดี และมีการเก็บข้อมูลทุกอย่างมาก่อน เนื่องจากวันที่เข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาที่บ้านหลังนี้เพียงแค่ที่เดียว ทหารเข้าไปที่บ้านของแฟนโยธิน และยึดเอาคอมพิวเตอร์ซึ่งแฟนโยธินจำเป็นต้องใช้ทำงานไปด้วย...

แม้เจ้าหน้าที่จะไม่ได้ท่าทีที่รุนแรง แต่เข้าเห็นว่าการะทำแบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการแสดงหมายจับ มีเพียงแต่การจับไปก่อน แล้วค่อยตั้งข้อกล่าวหาทีหลัง เขาเห็นว่านี่เป็นเรื่องที่ผิด

เมื่อถามถึงสภาพความเป็นอยู่ของทางบ้านหลังจากที่โยธินถูกจับกุม เขาบอกว่าไม่ได้มีความลำบากมาก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ สภาพจิตใจของแม่ มากกว่า

"คนเป็นแม่ก็เป็นเรื่องปกติไม่มีใครอยากเห็นลูกติดคุก วันไปเจอเขาวันแรกที่ศาลทหาร ผมก็ไปยืนให้เขาเห็นหน้าว่าพ่อมาแล้ว แต่แม่เขาเข้าไปกอดลูก แล้วน้ำตาซึมๆ ทุกวันนี้เวลามาเยี่ยมลูกก็ยังร้องไห้น้ำตาซึมอยู่"

สำหรับคนเป็นพ่อ เขาเห็นว่าสิ่งที่ลูกชายโดนตั้งข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คดีความมั่นคงนั้นเป็นเรื่องที่หนักเกินไป

"ข้อหาที่เขาโยง มันเป็นเรื่องความมั่นคง แต่มันไม่น่าจะเข้าข่าย ลูกผมไม่ได้ทำอะไรร้ายแรง สิ่งที่เขาทำก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมากขนาดนั้น มันไม่ใช่เรื่องความมั่นคงหรอก แต่มันเป็นเรื่องความไม่มั่นใจของบางคนมากกว่า"

"วันนี้คุณอาจจะคิดว่ากินเบี้ยเราได้ แต่วันข้างหน้าเราจะกินเรือกินม้าคุณ"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 สาวผู้ต้องหาคดีการเมือง เปิด 3 เรื่องเล่าละเมิดสิทธิฯ ระหว่างรอประกันในเรือนจำ

$
0
0

'นศ.สาวธรรมศาสตร์-ผู้ต้องหามีขันแดง-จิตรา' เล่าประสบการณ์ถูกละเมิดระหว่างรอประกันตัวในเรือนจำ ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ กระบวนการศาลทหารละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และข้อกำหนดแมนเดลา อดีต รมช.แรงงาน จี้ประยุทธ์สั่งเลิกตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิง

3 พ.ค.2559 มติชนออนไลน์และเดลินิวส์ รายงานว่า ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้สั่งยกเลิกการตรวจภายในผู้ต้องโทษหญิงที่ไม่ใช่คดียาเสพติดทันที แม้ว่าคดีจะสิ้นสุดแล้วหรือเป็นการฝากขังชั่วคราวก็ตาม เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งเลวร้ายมากต่อผู้หญิงทุกคน และทราบมาอีกว่าเคยมีผู้นำแรงงานหญิงคนหนึ่งเคยถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าแล้วให้คลานไปเข้าห้องน้ำ เป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ทั้งนี้การตรวจภายในคนที่ต้องคดียาเสพติดก็ควรจะเป็นสถานที่มิดชิด ไม่ให้อับอายและคนตรวจต้องเป็นพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลของเรือนจำเท่านั้น และควรทำตามอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย

“รู้สึกเป็นห่วง 8 ผู้ถูกจับกุม และมีผู้หญิง 1 ใน 8 ที่ถูกจับและถูกกล่าวหาเรื่องการเมืองล่าสุดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจะถูกล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พล.อ.ประยุทธ์ควรสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ระงับการกระทำใดๆ และแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อไม่ให้สังคมโลกตราหน้าว่าประเทศไทยเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ลดาวัลลิ์ กล่าว

นศ.ธรรมศาสตร์เล่าการตรวจช่องคลอดในเรือนจำ

กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป (ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Pup Kornkanok Khumta )

กรณีดังกล่าวถูกพูดถึงในสังคมเนื่องหลังจาก กรกนก คำตา หรือ ปั๊ป นักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยคดีนั่งรถไฟจะไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ 7 ธ.ค.58 ซึ่งเมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา กรกนกขึ้นศาลทหารและถูกนำตัวไปเรือนจำก่อนได้รับการประกันตัวพร้อมผู้ต้องหาชายอีก 5 คน เวลา 20.20 น. หลังจากออกจากเรือนจำกรกนกได้โพสต์เล่าการปฏิบัติของเรือนจำในระหว่างที่เธอรอประกันตัวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว และต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Fahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว' ได้สัมภาษณ์ พร้อมรายงานว่า ในระหว่างอยู่ในเรือนจำ 14.00 น. – 20.00 น. เธอได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับนักโทษหญิงในเรือนจำ ถูกบอกให้ถอดเสื้อผ้าและใส่ผ้าถุงผืนเดียวเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ แต่ทุกครั้งที่ต้องรายงานตัวต่อหน้าผู้คุมแต่ละแดน เธอจะถูกสั่งให้ลุกนั่งเพื่อตรวจสอบว่าซ่อนยาเสพติดหรือไม่ โดยมีผู้คุมยืนจับผืนผ้าถุงที่เธอสวมใส่ ขณะที่ผ้าถุงซึ่งล้อมตัวเธออย่างหลวมๆ นี้ ก็ไม่ได้มิดชิดพอจะบังสายตาคนนับร้อยในเรือนจำ

นอกจากนั้นยัง ถูกตรวจช่องคลอดเพื่อดูว่ามีการซุกซ่อนยาเสพติดหรือสิ่งใดหรือไม่ ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง แต่เธอมองว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครไม่ว่าถูกดำเนินคดีอะไร เธอเตรียมร้องเรียนต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ผู้ต้องหามีขันแดงก็โดนด้วย

วันนี้ (3 พ.ค.59) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานด้วยว่า ธีรวรรณ เจริญสุข ผู้ต้องหาในคดีขันแดง ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายฯ ว่าเธอก็ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับกรณีของนักศึกษารายดังกล่าวเช่นกัน โดยเธอระบุว่าเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านา พนักงานสอบสวนได้นัดหมายเธอมาที่ศาลทหาร เพื่อมาขออำนาจศาลฝากขัง และศาลทหารได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ จากนั้นเพื่อนของ ธีรวรรณ จึงได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวแล้ว แต่ขณะกำลังรอเจ้าหน้าที่ศาลทำหมายปล่อยตัวอยู่นั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับจะพาตัวเธอไปยังเรือนจำ โดยระบุว่าต้องไปปล่อยตัวจากเรือนจำ แล้วเจ้าหน้าที่ศาลจะนำหมายปล่อยไปที่เรือนจำอีกที แม้เธอจะพยายามคัดค้าน แต่ก็ไม่เป็นผล

ธีรวรรณ ระบุว่า เธอถูกพาตัวไปยังทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ แม้จะพยายามแจ้งเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วว่าศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวแล้ว และกำลังรอหมายปล่อยตัวจากศาล แต่เธอกลับยังถูกนำตัวไปตรวจร่างกายเพื่อเข้าเรือนจำ โดยมีการใช้ห้องเล็กๆ ห้องหนึ่ง ที่มีผู้คุมอยู่ด้วยสองคน ให้เธอถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นออกทั้งหมด และยังให้ทำกิริยานั่งแล้วลุก-นั่งแล้วลุกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีการซุกซ่อนสิ่งใดไว้ในช่องคลอดหรือไม่ แต่กรณีของเธอ เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการล้วงเข้าไปในช่องคลอด เนื่องจากเห็นว่ามีอายุมากแล้ว

เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ ก็มีการให้เธอใส่ชุดผู้ต้องขัง และนำตัวเข้าไปส่วนทะเบียน เพื่อจัดทำประวัติ ปั๊มลายมือ ถ่ายรูป และแจกอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นบางส่วนสำหรับนักโทษ พร้อมกับให้แขวนป้ายสีเหลืองที่แสดงถึงความเป็นนักโทษใหม่ ก่อนจะนำตัวเข้าไปภายในแดน 1 ซึ่งเป็น “แดนแรกรับ” อันเป็นแดนที่ผู้ต้องขังใหม่จะเข้ามาก่อนเป็นแห่งแรก ธีรวรรณระบุว่าเธอถูกนำตัวเข้าไปในเรือนจำราวชั่วโมงเศษ ทางเรือนจำก็มีการประกาศชื่อเธอว่ามีหมายปล่อยตัวมาแล้ว จึงได้มีการคืนเสื้อผ้าชุดเดิม และให้เปลี่ยนจากชุดนักโทษได้

ธีรวรรณ ยังระบุว่า สภาพในเรือนจำมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในลักษณะเหมือนนายกับบ่าว โดยนักโทษจะต้องคลานเข่าเข้าไปหาผู้คุมในเรือนจำ และต้องยกมือไหว้ขณะพูดคุยด้วย

เธอระบุความรู้สึกหลังจากถูกปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวว่า “ทำให้เราสติแตก รู้สึกเหมือนกับเข้าไปในนรก เหมือนกับเป็นนักโทษไปแล้ว ไม่เคยคิดเลยว่าจะโดนแบบนี้ ทั้งที่เราก็ได้ประกันตัวอยู่แล้ว” โดยขณะปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำ เธอมีอาการร้องไห้เสียใจ และเพื่อนๆ ต้องพากันไปทำบุญรดน้ำมนต์และสะเดาะเคราะห์ที่วัดในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

สำหรับ ธีรวรรณ อายุ 54 ปี ก่อนหน้านี้เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ เธอถูกทหารกล่าวหาตามมาตรา 116 จากกรณีการถ่ายภาพคู่กับขันน้ำสีแดง และภาพโปสเตอร์ซึ่งมีรูปภาพของ ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม) คดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนเพิ่งขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นผัดที่ 4

จิตรา เล่าประสบการณ์ในทัณฑสถานหญิงฯ ระหว่างรอประกัน

การปฏิบัติของเรือนจำต่อผู้ต้องหาทางการเมืองในระหว่างรอการประกันตัวในลักษณะดักล่าวนอกจาก 2 รายข้างต้นยังมี กรณี จิตรา คชเดช นักกิจกรรมทางการเมืองและสังคม เจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพฯ และผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ที่ถึงดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจากเธอไม่สามารถกลับมารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ได้ทัน เนื่องจากติดภาระกิจอยู่ที่ประเทศสวีเดน แม้จะรายงานตัวกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงสต๊อคโฮล์มแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล โดยเมื่อเธอเดินทางกลับมาประเทศไทยจึงถูกดำเนินคดี กักตัวที่ห้องขังกองปราบ 1 วัน และถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงฯ เพื่อรอการประกันตัว เช่นกัน ซึ่งเธอเคยเปิดเผยประสบการณ์ดังกล่าวกับประชาไท ไว้ตั้งแต่ ก.ย. 57 ด้วยว่า วันที่ส่งศาลทหาร หลังจากนั้นเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่นำตัวตนไปที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม เพื่อฝากขัง และรอคำสั่งศาลทหารว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ จิตรา เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยถูกฝากขังในศาลปกติของพลเรือนที่จะนำตัวไปไว้ห้องขังใต้ถุนศาลเพื่อรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งในกระบวนการปกติหากเป็นชั้นตำรวจหรือพนักงานสอบสวนนั้นหากให้ประกันตัวก็ปล่อยตัวได้ โดยไม่ต้องขังก่อน ซึ่งต่างจากกรณีนี้ที่นำตัวเข้าทัณฑสถานหญิงฯ ก่อน

ภาพจิตรา หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำ

“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว” จิตรา กล่าว

พร้อมเล่าต่อว่า กระบวนการเหล่านั้นเริ่มจากการตรวจร่างกาย ให้ถอดเสื้อผ้าหมดรวมทั้งชุดชั้นในกลางวงผู้คุม เมื่ออยู่ในสภาพเปลือยก็ต้องหมุนตัวให้ผู้คุมดู ตรวจนิ้วมือนิ้วเท้า ตรวจผม โดยผู้คุมจะยืนดูและมีนักโทษในเรือนจำที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมคอยจัดการให้

หลังจากนั้นก็นุ่งผ้าถุง 1 ตัวที่เขาจัดให้ไปตรวจภายใน ตรวจช่องคลอด และต่อด้วยการทำประวัติสุขภาพ โดยจะเขียนน้ำหนักส่วนสูงที่ฝ่ามือ หลังจากนั้นผู้คุมได้ให้คนนำเสื้อมาให้ 1 ตัว และต่อด้วยการทำประวัตินักโทษ ในระหว่างนี้ตนได้ขอผู้คุมสวมเสื้อชั้นในและกางเกงใน แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยผู้คุมชี้แจงว่าเสื้อผ้าและสิ่งของที่เอาเข้าไปนั้นไม่สามารถใช้ได้เลย ต้องให้ญาติซื้อมาให้ภายหลัง ของที่ติดตัวมาทุกอยู่จะถูกเก็บและทำบัญชีไว้ตั้งแต่แรก โดยมีเพียงใบรายการของติดตัวมาเท่านั้น

จิตรา เล่าต่อว่า หลังจากทำประวัตินักโทษเสร็จ มีคนรับตัวให้ไปที่แดนแรกรับ เมื่อถึงแดนแรกรับก็ต้องถอดเสื้อผ้าทั้งหมดเพื่อให้ผู้คุมที่นั่นดู หลังจากนั้นเขาให้ผ้าถุงเรา 1 ผืน เพื่อไปอาบน้ำโดยมีนักโทษคนหนึ่งเฝ้า หลังจากอาบน้ำเสร็จให้เสื้อผ้า 1 ชุด โดยเขียนว่าแดนแรกรับ จากนั้นก็ทำประวัติที่แดนแรกรับอีกครั้ง

ระหว่างการทำประวัติที่แดนแรกรับนั้น เวลาเดินทำประวัติถูกห้ามไม่ให้ยืน จึงต้องนั่งยองหรือถัดก้นไปตามกระบวนการและต่อแถวนักโทษคนอื่นๆประมาณ 10 กว่าคนที่ต้องทำประวัติขณะนั้น สิ่งที่ซักถาม เช่น มาจากศาลไหน คดีอะไร เพราะต้องแยกคดีของนักโทษ โดยตนอยู่ในกลุ่มนักโทษทั่วไป จากนั้นเขียนเลขที่หลังมือซึ่งเป็นเบอร์ล็อคเกอร์ของตนด้วย

จิตรา เล่าอีกว่า จากนั้นผู้ช่วยผู้คุมจึงพาเข้าเรือนนอนในห้องคดีทั่วไป ซึ่งมีคนอยู่ 69 คน มีหัวหน้าห้องที่เป็นนักโทษ เรียกตนไปสอบประวัติอีกครั้งในห้อง คดีในนั้นส่วนมากเป็นคดีต่างด้าว แรงงานข้ามชาติ คดีฉ่อโกง โดยเฉพาะคดีต่างด้าวที่พูดไทยไม่ได้ก็มักถูกหัวหน้าห้องหงุดหงิดใส่และถูกด่าทอ

มีกิจกรรมให้ผู้ที่อยู่ในห้องทั้งหมดสวดมนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง และเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีเสร็จให้ทุกคนผ่อนคลาย มีการเปิดทีวีละครและมิวสิควีดีโอเก่าๆให้ดู เริ่มแจกที่นอนซึ่งมีเพียงผ้าห่มคนละ 1 ผืน โดยจะนำมาห่มหรือปูนอนหรือพับเป็นหมอนก็ได้  ซึ่งคนที่อยู่มาก่อนหน้าแนะนำให้พับหนุนหัวเพราะกลางคืนอากาศจะร้อน นอนกับพื้นที่ปูกระเบื้องธรรมดา และจัดระเบียบการนอนโดยแบ่งเป็น 3 แถว โดยด้านหนึ่งให้เอาหัวชนกัน อีกด้านเอาเท้าชนกัน ตอนนั้นเวลาประมาณ 21.00 น. และสักพักผู้คุมก็มาเรียกชื่อตนเพื่อปล่อยตัว

หลังจากถูกเรียกปล่อยตัว ก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมดูอีก 1 รอบ แล้วหลังจากนั้นได้รับผ้าถุง 1 ผืน เพื่อใส่และเดินถือใบเอกสารออกไปที่ห้องปล่อยตัว โดยนั่งที่ห้องนั้นนานมาก จนกระทั่งมีคนเอาเสื้อผ้าและของต่างๆที่ติดตัวมาแต่ต้นมาให้ จึงได้ใส่เสื้อผ้าตรงนั้นท่ามกลางผู้คุม ทรัพย์สินที่ถูกคืนมานั้นมาตรวจภายหลัพบว่าจี้ของตนนั้นหายไป

ขั้นตอนการผ่านด่านแต่ละครั้งในการปล่อยตัวจะต้องมีรหัสปลดล็อค เช่น การถามชื่อ-นามสกุล ชื้อเพื่อนสนิท หมายเลขโทรศัพท์เพื่อสนิท ชื่อพ่อแม่ เป็นต้น ตามประวัติที่กรอกในรอบแรก เท่ากับว่าหากตอบผิดก็อาจจะไม่ได้ออก เพราะเขาต้องการเช็คว่าเป็นตัวจริงหรือไม่

"ก่อนปล่อยตัวผู้คุมมาขอถ่ายเอกสารและบอกด้วยว่าพึ่งเป็นกรณีแรกที่มาจากศาลทหาร จึงเก็บข้อมูลไว้เป็นกรณีศึกษา" จิตรา กล่าวทิ้งท้าย

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ชี้ขอประกันศาลพลเรือนไม่ต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯพบว่าแม้ระเบียบปฏิบัติของเรือนจำหญิงทั่วประเทศ จะให้มีการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องขังที่ถูกนำตัวมาจากศาลทุกคน แต่โดยปกติในศาลพลเรือน กรณีผู้ต้องหาถูกฝากขังหรือถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาล และอยู่ในระหว่างการทำเรื่องขอประกันตัว จะมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล โดยไม่ได้มีกระบวนการตรวจร่างกาย และหากได้รับการประกันตัว ก็จะมีการปล่อยตัวจากที่ศาล ไม่จำเป็นต้องนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำแต่อย่างใด

แต่ในกรณีของการพิจารณาในศาลทหาร กลับมีการอ้างระเบียบว่าจำเป็นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปปล่อยตัวที่เรือนจำ แม้ผู้ต้องหารายนั้น ศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวแล้วก็ตาม ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากกระบวนการตรวจค้นร่างกายก่อนเข้าเรือนจำในกรณีของผู้ต้องหาหญิงหลายราย

ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อกำหนดแมนเดลา

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าการค้นตัวผู้ต้องขังในลักษณะดังกล่าวนั้น ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และขัดต่อข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)] หรือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ ซึ่งได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากลใหม่ในการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังทั่วโลกเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนข้อกำหนดดังกล่าว ข้อกำหนดดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการค้นตัวผู้ต้องขังว่า “จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง” และ “การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น…ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ” ซึ่งศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการอื่นในการตรวจสอบผู้ต้องขังโดยไม่ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังได้

ข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง ระบุว่า

“ข้อกำหนด 51  จะต้องไม่ใช้การค้นเพื่อการคุกคาม ข่มขู่ หรือเป็นการล่วงล้ำโดยไม่จำเป็นต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ผู้บริหารเรือนจำจะต้องเก็บรักษาบันทึกการค้นตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย และการค้นในห้องขัง รวมทั้งเหตุผลของการค้น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ทำการค้นและผลของการค้นตัว”

“ข้อกำหนด 52

  1. การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว รวมทั้งการค้นแบบถอดเสื้อผ้าและการค้นตามซอกหลืบต่าง ๆ ของร่างกาย ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ผู้บริหารเรือนจำควรได้รับการสนับสนุนให้มีการคิดค้นและการใช้วิธีการที่เป็นทางเลือกอื่นอันเหมาะสมกว่าแทนที่จะใช้การค้นตัวที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขัง ซึ่งหากจำเป็นก็ต้องกระทำในที่ลับ และให้ผู้ค้นเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งผ่านการอบรมและมีเพศเดียวกับผู้ต้องขังนั้น
  2. การค้นตามซอกหลืบต่างๆ ของร่างกายให้กระทำได้เฉพาะโดยบุคคลากรทางการแพทย์มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่รับผิดชอบการพยาบาลเบื้องต้น หรือโดยอย่างน้อยต้องเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมอย่างเหมาะสมจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ให้เข้าใจถึงมาตรฐานด้านอนามัย สุขภาพ และความปลอดภัย”

อ้างอิงจาก United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners (the Mandela Rules)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ประวิตร โรจนพฤกษ์’-นักโทษความคิด โผล่งานเสรีภาพสื่อโลก ที่ฟินแลนด์

$
0
0

ที่ฟินแลนด์ นักกิจกรรมสวมหน้ากาก ประวิตร โรจนพฤกษ์ และนักโทษทางความคิดอีกหลายคน ชี้เมื่อคนเหล่านี้มาร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลกด้วยตัวเองไม่ได้ก็ขอเป็นภาพแทน  

3 พ.ค. 2559 กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ รัฐบาลฟินแลนด์ร่วมกับยูเนสโกจัดงานวันเสรีภาพสื่อโลก ประจำปี 2016‬ ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรต่างๆ และสื่อมวลชน ราวพันคน โดยในปีนี้มีธีมว่า “การเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิของคุณ!” (Access to Information and Fundamental Freedoms, This is your right!)

ภายในงาน มีการพูดคุยในเรื่องหลักการพื้นฐานเรื่องเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลของสาธารณะ โดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ทั้งเรื่องผลกระทบเรื่องผู้ลี้ภัยในยุโรปบนการให้คุณค่าของสื่อสาธารณะ, เสรีภาพในงานศิลปะเป็นความท้าท้ายใหม่ของการพัฒนาหรือไม่, ข้อจำกัดของการปกป้องแหล่งข่าวของสื่อมวลชน, การต่อสู้กับเฮทสปีชในสื่อผ่านระบบจริยธรรมและตรวจสอบกันเอง, การสอดส่อง การปกป้องข้อมูล และการเซ็นเซอร์ออนไลน์, สิทธิในข้อมูลข่าวสารในประเด็นเพศสภาพ, พรมแดนใหม่ของการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

งานนี้สถานทูตฟินแลนด์ได้เชิญนักข่าวไทยจำนวนหนึ่งเข้าร่วมงาน แต่ประวิตร โรจนพฤกษ์ คอลัมนิสต์อาวุโสจากข่าวสดอิงลิช หนึ่งในผู้ได้รับเชิญไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เนื่องจาก คสช.ไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ หลังจากเขาถูกเรียกเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ 2 ครั้งรวม 10 วันและต้องเซ็นข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเดินทางออกนอกประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. โดยก่อนหน้านี้ คสช.อนุญาตให้เขาเดินทางไปประชุมในต่างประเทศได้หลายครั้ง ยกเว้นครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เขายังคงจะได้ร่วมประชุมในพรุ่งนี้ (4 พ.ค.) ในเวทีที่พูดคุยถึงความยากลำบากในการทำงานของสื่อในบางประเทศ เช่น ไทย พม่า และประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ผ่านการประชุมทางไกล เวทีนี้เป็นงานที่จัดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์เป็นการเฉพาะและจะมีสื่อมวลชนฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ ร่วมรับฟัง

นอกจากนี้ภายวันในงานวันแรกยังปรากฏว่ามีนักกิจกรรมสวมหน้ากากใบหน้านักโทษการเมืองไทยที่ถูกจำคุกด้วยข้อหามาตรา 112 รวมถึงประวิตร โรจนพฤกษ์ ปรากฏตัวภายในงานราว 10 นาที มีใบหน้าของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บ.ก.นิตยสาร Voice of Taksin, ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ภรณ์ทิพย์ และปติวัฒน์ นักแสดงละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า

จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านแรงงานและด้านการเมือง ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในประเทศฟินแลนด์ราว 6 ปี เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ เธอให้สัมภาษณ์ว่า เวทีนี้เป็นเวทีสำคัญเพราะสื่อทั่วโลกต่างเผชิญกับการคุกคามและเซ็นเซอร์ ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่เช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีเสียงที่มาบอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในที่นี้ด้วย อยากให้คนเหล่านี้ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องได้มาเผยโฉมในงาน แต่ในเมื่อเขามาไม่ได้ก็ขอทำเป็นภาพของพวกเขาแทน

ด้านองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) ออกแถลงการณ์ประณาม คสช. จากการห้ามประวิตรเดินทางออกนอกประเทศเพื่อร่วมงานดังกล่าว พร้อมระบุว่าได้ส่งต่อบทความของประวิตรในข่าวสด อิงลิช ไปยังสื่อต่างๆ ทั่วโลก เพื่อตอบโต้กับการสั่งห้ามดังกล่าว รวมถึงจะแปลเป็นภาษาไทยด้วย โดย เบนจามิน อิสมาอิล หัวหน้าแผนกเอเชีย-แปซิฟิกของ RSF กล่าวว่า จะมีการรายงานความเห็นของประวิตรและสถานการณ์การละเมิดสิทธิครั้งนี้ยิ่งกว่าการอนุญาตให้ประวิตรเดินทางเสียอีก

เขาชี้ว่า รัฐไทยต้องเข้าใจว่าทุกความพยายามที่จะปิดกั้นความเห็นจะกระตุ้นให้เกิดปรากฏการณ์สไตรแซนด์ (Streisand effect) และยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาต้องเข้าใจว่า การวิพากษ์และความหลากหลายของความเห็นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำให้สังคมดีขึ้น

RSF ระบุว่า ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลทหารนั้นกลัวว่าจะเสียการควบคุมประเทศ หากอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และการตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมกลายเป็นเรื่องต้องห้าม โดยยกกรณีที่มีพลเมืองเน็ตถูกจับกุม 8 รายโดยถูกข้อหายุยงปลุกปั่น แม้ว่าจะไม่ได้โพสต์อะไรที่เป็นภัยความมั่นคงของชาติ

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2016 ของ RSF ระบุว่า ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ โดยอันดับของไทยลดลงอย่างรุนแรงนับแต่การรัฐประหาร เมื่อสองปีก่อน

ทั้งนี้ ปีนี้นับเป็นปีที่ 25 ที่โลกพูดถึงวันเสรีภาพสื่อโลก มันมีที่มาจากคำประกาศวินด์ฮุก (Windhoek) ซึ่งเป็นผลมาจากการรวมตัวของกลุ่มนักข่าวชาวแอฟริกันในงานสัมมนาของยูเนสโกในเมืองวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย ในปี 1991 ที่ซึ่งพวกเขาร่วมลงนามร่วมกันในคำประกาศชื่อเดียวกับสถานที่จัดสัมมนานี้เพื่อยืนยันบทบาทที่เป็นอิสระและความเป็นพหุนิยมของสื่อ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดกับสื่อมวลชน ต่อมาในปี 1993 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้วันที่ 3 พ.ค. เป็นวันเสรีภาพสื่อโลกอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ฟินแลนด์เจ้าภาพในปีนี้ คือ ประเทศอันดับหนึ่งในการจัดอันดับเรื่องเสรีภาพสื่อในปี 2016 และอยู่ในตำแหน่งนี้มา 6 ปีซ้อน ดัชนีดังกล่าวจัดทำโดยองค์การผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF)

รายงานดัชนีเสรีภาพสื่อโลก ปี 2016 ของ RSF ระบุว่า ประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 136 จาก 180 ประเทศ โดยอันดับของไทยลดลงอย่างรุนแรงนับแต่การรัฐประหาร เมื่อสองปีก่อน


ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เงินเฟ้อเม.ย.ขยายตัวครั้งแรกใน 16 เดือน เหตุของแพงจากภัยแล้ง

$
0
0

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน ต่ำสุดใน 7 เดือน จากความกังวลภัยแล้ง-ค่าครองชีพ สมาคมผู้ค้าปลีก เผยดัชนีการค้าปลีกของไทยไตรมาสแรก ขยายตัวเพียง 2.6% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือคงเป้าส่งออกปีนี้ 0-2% 

3 พ.ค. 2559 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ทีผ่านมา สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนเม.ย.59  เท่ากับ 106.42 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนธ.ค.57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.55 หากเทียบกับเดือนมี.ค.59 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย  4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) 59 ลดลง ร้อยละ 0.35 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“หากเปรียบเทียบเงินเฟ้อเดือนเมษายน กับ เดือนมี.ค. 59 พบว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ราคาผักสด อาทิ มะนาว ถั่วฝักยาว ผักชี และ พริกสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44 เนื้อสุกร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 สาเหตุอีกส่วนมาจากผู้ส่งสินค้าหยุดทำการในช่วงสงกรานต์ ทำให้สินค้าไม่เพียงพอจำหน่าย รวมถึงอาหารโทรสั่ง เช่น พิซซ่า” สมเกียรติ กล่าว

สำหรับสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อ เดือนเม.ย.สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้พืชและสัตว์เติบโตได้ช้า ส่งผลให้ผลผลิตในตลาดน้อยลง ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์และผักสดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปรับขึ้น เช่น มะนาว ผักชี ถั่วฝักยาว และ พริกสด โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 1.57 ขณะที่หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 13.13 โดยเฉพาะบุหรี่ร้อยละ 28.15 ส่วนหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.81 ค่าตรวจรักษาและค่ายา สูงขึ้นร้อยละ1.3  หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.52  อย่างไรก็ตามหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 2.58 โดยน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ลดลงร้อยละ 11.20  ค่าไฟฟ้าลดลงร้อยละ 4.11

หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน

ขณะที่วันนี้ (3 พ.ค.59) ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 59 ว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค. 58 อยู่ที่ระดับ 61.5 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อนข้างช้า  โดยยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตร  รวมถึงการหารายได้ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศไม่มาก  ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น  และยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวระดับสูง  แม้การท่องเที่ยวและการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว  โดยมูลค่าส่งออกเดือน มี.ค. 59 มูลค่าสูงถึง 19,124.55  ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3  ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2  รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย  แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ปัจจุบันและอนาคตไม่ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ต่ำที่สุดรอบ 78 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.55  อยู่ที่ระดับ 81.3  สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่เหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่  ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเดือนเม.ย.59  ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ต่ำสุดรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 58 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครคะมัดระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น

เผยดัชนีการค้าปลีกของไทยไตรมาสแรก ขยายตัวเพียง 2.6%

ขณะที่ จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทย มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2554 โดยไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6  และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัว ร้อยละ 2.8 ลดลงจากต้นปีที่คาดว่าโตร้อยละ 3 ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากที่เคยโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ในข่วงปี 2545 – 2555 โดยตัวเลขดัชนีการค้าปลีกของไทยมีอัตราการเติบโตลดลงตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 12 , ปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 6.3 , ปี 2557 ขยายตัว ร้อยละ 3.2 และ ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยมูลค่าค้าปลีกในปี 2558 มีมูลค่า 3.1 ล้านล้านบาท

โดยการบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่งอ่อนแอลงมาตลอด เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากการผลิตภาคการเกษตรยังอ่อนแอ ส่งผลให้สินค้าไม่คงทน เช่นอาหาร และ เครื่องดื่ม ไม่มีการเติบโตเลย ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางถึงระดับบน ออกไปช้อปปิ้งที่ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องเติบโตประมาณร้อยละ 9 ต่อปี โดยในปี 2558 คนไทยไปใช้จ่ายในต่างประเทศสูงถึง 170,032 ล้านบาท และในจำนวนนี้เป็นการจับจ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในไทยสูงถึง 50,840 ล้านบาท

สรท.คงเป้าส่งออกปีนี้ 0-2%

นพพร เทพสิทธา  ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.  19,125  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ขยายตัวร้อยละ 1.30  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  แต่ทาง สรท.มองว่าแม้จะเป็นบวก แต่คงต้องติดตามการส่งออกอีก 3  ไตรมาส  ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ประกอบกับหลายสำนักยังประเมินภาพรวมการส่งออกปีนี้ติดลบ  ดังนั้น  สรท. จะยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 0-2  ไม่มีการปรับประมาณการ และคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังใกล้ชิด แม้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐ  จีน  มีแนวโน้มดีขึ้น  แต่ภาพรวมยังเห็นว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมีปัญหาและเปราะบาง ประกอบกับภาคเอกชนกังวลปัญหาเงินบาทแข็งค่าเกินไป  และการแข่งขันทางการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีหลายประเทศค่อนข้างมาก รวมถึงปัญหาไอยูยูว่าอียูจะให้ใบแดงต่อการแก้ไขปัญหาประมงของไทยอออกมาเช่นไร
 
ทั้งนี้  ทาง สรท.กำหนดเป้าหมายการส่งออกปีนี้เติบโตร้อยละ 0-2 มูลค่าส่งออกรวม  214,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ราคาน้ำมันเฉลี่ย  45  ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  เงินบาท  35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ดังนั้น  การที่จะให้การส่งออกเติบโตร้อยละ 5  ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้  หมายถึงต้องทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  เห็นว่าเป็นเรื่องยากมากในช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

 

เรียบเรียงจาก ข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮอนดูรัสแถลงจับ 4 ผู้ต้องหาสังหารนักสิ่งแวดล้อมต้านเขื่อนชื่อดัง

$
0
0

จากกรณีนักกิจกรรมต้านเขื่อนในฮอนดูรัส เบอร์ตา คาเซเรส ถูกสังหารเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทางการฮอนดูรัสเปิดเผยว่าพวกเขาจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ 4 ราย เผย 2 รายเอี่ยวบริษัทสร้างเขื่อนและเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร ด้านลูกสาวผู้ตายไม่เชื่อใจรัฐ เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างอิสระโดยองค์กรต่างประเทศ

3 พ.ค. 2559 ทางการฮอนดูรัสจับกุมตัวผู้ต้องหา 4 ราย ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมชื่อ เบอร์ตา คาเซเรส เมื่อราว 2 เดือนที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ทางการฮอนดูรัสจับกุมตัวบุคคล 4 คนชื่อ ดักลาส บัสติลโล, มาริอาโน ชาเวซ, เซอร์จิโอ ออเรลลานา และ เอดิลสัน ดูอาร์เต เมซา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมาโดยสำนักงานอัยการของฮอนดูรัสแถลงว่า "มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อกล่าวหา" ต่อผู้ต้องหาเหล่านี้

ทั้งนี้สำนักงานอัยการยังระบุอีกว่ามีผู้ต้องหาอยู่ 2 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทสร้างเขื่อนพลังงานน้ำที่คาเซเรสเป็นผู้รณรงค์ต่อต้าน คือ ออเรลลานา วิศวกรเขื่อนอากัว ซาคาร์ (Agua Zarca) ของบริษัทพลังงานเดซาโรลลอส และบัสติลโล เจ้าหน้าที่ทหารเกษียณอายุ อดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของเดซา

เหตุสังหารคาเซเรส เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค. ในเมืองด้านตะวันตกของ เมือง ลา เอสเปอเรนซา โดยที่คาเซเรสเป็นนักกิจกรรมรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมโกลด์แมนไพรซ์ ผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวหยุดยั้งการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรอาหาร น้ำ และยาของชนพื้นเมืองชาวเลนคา โดยก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ คาเซเรสเคยถูกข่มขู่เอาชีวิตจากกิจกรรมการเรียกร้องของเธอมาก่อน

หนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขู่เธอคือออเรลลานา โดยที่คาเซเรสรายงานต่อเจ้าหน้าที่ทางการฮอนดูรัสว่าเธอถูกข่มขู่คุกคามจากอันธพาลในท้องถิ่น เธอรายงานการถูกข่มขู่เอาชีวิตไป 33 กรณี จนกระทั่งถูกสังหารหลังจากที่มีผู้บุกรุก 2 คนบุกเข้าไปในบ้านเธอช่วงก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 2 มี.ค. โดยที่ผู้ต้องสงสัยทั้ง 4 รายถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีส่วนในการสังหารและพยายามฆ่าคาเซเรสกับเพื่อนของเธอคือกุสตาโว คาสโตร ผู้ประสานงานของกรีนพีซเม็กซิโกที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีการบุกสังหารที่บ้านคาเซเรสด้วย

ก่อนหน้านี้ครอบครัวของคาเซเรส เพื่อนของเธอ และผู้สังเกตการณ์คดีนี้กล่าววิจารณ์การสืบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐโดยที่เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนต้องใช้เวลาถึง 11 วันกว่าจะเดินทางไปสืบสวนที่สำนักงานของเดซาโรลลอส ทางครอบครัวของคาเซเรสยังเคยวิจารณ์ด้วยว่าเจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการสื่อสารกับพวกเขาเกี่ยวกับคดีแต่กลับปล่อยข้อมูลสำคัญให้กับสื่อ

ลอรา คาเซเรส ลูกสาววัย 23 ปี ของเบอร์ตา คาเซเรส กล่าวว่ารัฐบาลฮอนดูรัสมีความใกล้ชิดกับกรณีการสังหารแม่ของเธอมากเกินไปจนคาดว่าการสืบสวนจะเป็นไปอย่างไม่อิสระ เนื่องจากรัฐบาลฮอนดูรัสเป็นผู้ให้สัมปทานการสร้างเขื่อนและเป็นผู้ส่งตำรวจกับทหารไปทำงานร่วมกับหน่วยรักษาความปลอดภัยของเดซาโรลลอส ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ข่มขู่คุกคามแม่เธอ  ลอราเชื่อว่าที่มีการแถลงข่าวการจับกุมวันนี้น่าจะมาจากการต่อสู้ของพวกเขาและแรงกดดันจากนานาชาติ และพวกเธอก็จะเรียกร้องให้มีการสืบสวนจากนานาชาติต่อไป

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้รัฐบาลฮอนดูรัสยังคงไม่ยอมให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา (Inter-American Commission on Human Rights) ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสืบสวนกรณีการสังหารคาเซเรสและนักกิจกรรมอื่นๆ ในฮอนดูรัส

องค์กรโกลบอลวิตเนสระบุว่าฮอนดูรัสเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเหตุการณ์สังหารเกิดขึ้น 109 กรณีนับตั้งแต่ปี 2553-2558


เรียบเรียงจาก

4 Arrested In Murder Of Honduran Activist Berta Cáceres, NPR, 02-05-2016
http://www.npr.org/sections/thetwo-way/2016/05/02/476525879/4-arrested-in-murder-of-honduran-activist-berta-c-ceres

Berta Cáceres murder: four men arrested over Honduran activist's death, The Guardian, 02-05-2016
http://www.theguardian.com/world/2016/may/02/berta-caceres-murder-four-men-arrested-honduras

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ชี้เป็นสิทธิตามกม.ของผู้ถูกล่าวหาที่ขอ ป.ป.ช.ทบทวนมติคดีสลายการชุมนุม ปี 51

$
0
0

3 พ.ค.2559 เมื่อเวลา 14.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมรื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุม ปี พ.ศ.2551 ว่า ไม่ใช่เป็นการรื้อฟื้นคดี แต่เป็นการยื่นหนังสือจากผู้ถูกกล่าวหาให้พิจารณาทบทวนมติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทุกคนสามารถยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.ให้พิจารณาทบทวนมติได้ทุกกรณี ตามที่กฎหมายระบุไว้ ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไปหลังจากการยื่นหนังสือ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าจะตั้งคณะกรรมการเข้ามาศึกษาทบทวนกรณีที่มีการยื่นหนังสือหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่มีการตั้งกรรมการเข้ามาศึกษา ก็แสดงว่ายังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น จึงขอความร่วมมืออย่าไปปลุกกระแสเพื่อสร้างความขัดแย้งเกิดขึ้น สำหรับกลุ่มที่เห็นต่างก็สามารถยื่นหนังสือเพื่อให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนได้เหมือนกัน พร้อมกล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของอคติ แต่สิ่งใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำก็ให้ไปพิจารณาดำเนินการ

สำหรับกรณีที่ สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ออกมาวิพากวิจารณ์เกี่ยวกับฐานนโยบายประชารัฐนั้น นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ไม่ได้สนใจคำวิพากวิจารณ์ดังกล่าว เพราะได้ทำในสิ่งที่ดีแล้ว ซึ่งถ้าไม่เคยทำ คิดแล้วพูด จะมีแต่สร้างปัญหา สร้างความขัดแย้ง และสร้างความไม่เข้าใจต่อกันเท่านั้น

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานพิจารณาถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพล.อ.ประวิตร เป็นหนึ่งในจำเลย ว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับตน  แต่มีผู้ร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบหลักฐานข้อมูลเก่าใหม่มาเปรียบเทียบกัน ไม่ใช่การรวบรัดหรือทำได้ทันที เพราะมีขั้นตอนเป็นจำนวนมาก

 

ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบและสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live




Latest Images