Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live

หมายจับ'พระธัมมชโย'กับความชอบธรรมของดีเอสไอ‬

0
0



การวิพากษ์นี้ มุ่งประเด็นกรณีพระเทพญาณมหามุนี(พระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย) ข้อเขียนนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตจากกรณีที่ศาลอาญา ได้ออกหมายจับ ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไปโดยมีการไต่สวนคำร้องที่เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้ารัฐและฝ่ายของตัวแทนผู้ต้องหา คือ พระธัมมชโย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ซึ่งการสอบสวนคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น แม้ในส่วนคดีนี้ที่ทางฝ่ายผู้ต้องหามีข้อโต้แย้งหลายประการ ตามที่ทราบกันทั่วไปในการแถลงข่าวและขอความเป็นธรรมไปบ้างแล้วนั้น จึงไม่ขอลงรายละเอียดเนื้อหาในคดี เพราะอาจจะกระทบต่อรูปคดี ซึ่งผู้เขียนไม่มีความเกี่ยวข้อง แต่ในฐานะนักกฎหมายผู้หนึ่งและต่อสู้ในทางสิทธิมนุษยชน จึงขอตั้งข้อสังเกตที่เป็นการจับตาไปยังท่าทีและแนวทางของดีเอสไอ ว่าจะดำเนินอย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม และชอบธรรมเมื่อมี "หมายจับ!"

หากกล่าวถึงเหตุออกหมายจับ ตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ.มาตรา 66 ย่อมหมายความว่า ถ้าไม่มีเหตุออกหมายจับ ศาลจะออกหมายจับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้มีเหตุออกหมายจับศาลก็ไม่อาจจะไม่ออกหมายจับก็ได้ ไม่มีกฎหมายมาตราใดบังคับว่า หากมีเหตุออกหมายจับแล้วศาลต้องออกหมายจับ หากศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่หลบหนีอย่างแน่นอน ศาลอาจไม่ออกหมายจับก็ได้ แม้จะมีเหตุออกหมายจับก็ตาม ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะต้อง "นัดหมาย" หรือออก "หมายเรียก" บุคคลนั้นต่อไป หากบุคคลนั้นไม่มาตามนัดหรือหมายเรียก พนักงานสอบสวนย่อมร้องขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งศาลก็จะใช้ดุลพินิจว่าจะออกหมายจับตามคำร้องขอครั้งที่สองของพนักงานสอบสวนหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ศาลอาญาได้ออกหมายจับ แต่ดีเอสไอก็ใช่ว่าจะต้องจับพระธัมมชโย เพราะเหตุว่าพระธัมมชโยไม่มามอบตัวที่ดีเอสไอภายในเจ็ดวัน หรือตามที่ขีดเส้นตายไว้ กระบวนการในทางอาญายังมีหลักการเป็นแนวทางปฏิบัติอีก จึงอยู่ว่าดีเอสไอจะใช้อำนาจของตนอย่างไร ทั้งนี้ มีข้อพิจารณาอยู่ว่า

ก.พระธัมมชโย ท่านไม่มาที่ดีเอสไอเพราะเหตุใด มีเหตุอันสมควรหรือไม่

ข. การต้องบังคับจับกุมตามหมายจับ จะกระทำด้วยความเหมาะสมแก่สถานะของพระธัมมชโย(พระภิกษุ) อย่างไร

ค. หากดีเอสไอเห็นว่าไม่มามอบตัว จะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้าไปจับกุมในวัดพระธรรมกาย อะไรจะเกิดขึ้น

ง. คดีนี้ เป็นเพียงขั้นตอนแรกที่ดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้โอกาสแก้ข้อหาได้เต็มที่(ย้ำว่าขั้นตอนแจ้งข้อหา) ซึ่งในทางคดี ดีเอสไอควรต้องมีพยานหลักฐานพอสมควรและสามารถกล่าวหาพระธัมชโยได้อย่างหนักแน่น

ข้อพิจารณาดังกล่าวข้างต้น หากเทียบกับคดีที่มีพระรูปหนึ่งที่ร่วมจัดการชุมนุมทางการเมืองและถูกตั้งข้อหาร้ายแรง ศาลอาญาได้ออกหมายจับไปแล้ว แต่ยังไม่มีจับกุม จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่า มีการถอนหมายจับในทางสอบสวนเมื่อสอบเสร็จแล้วส่งสำนวนให้อัยการคดีพิเศษยังได้รับโอกาสให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม แล้วยังไม่สั่งฟ้องต่อศาลกลับทอดเวลานานนับปีได้ ดีเอสไอและอัยการทำอย่างไร เคยมีการชี้แจงต่อสาธารณชนหรือไม่ ดังนั้นด้วยกระบวนการเช่นนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของดีเอสไอใช่หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีกล่าวหาพระธัมมชโยนี้ ย่อมจะเป็นสิ่งที่จะสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของดีเอสไอที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีรัฐมนตรียุติธรรมกำกับดูแลทางด้านนโยบาย ด้านอื่นจะมีหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นในที่นี้ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงการทำงานของคณะพนักงานสอบสวนได้ไม่น้อยในห้วงภาวะการเมืองและอำนาจการปกครองประเทศอย่างมีนัยยะหรือไม่ เพราะผู้คนที่สนใจ อาจมองไปถึงผู้ที่กล่าวโทษตั้งรูปคดีด้วยว่าบุคคลเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร สอดรับกับการตั้งข้อรังเกียจของผู้ใดหรือไม่ ข้อกล่าวหาเป็นไปตามหลักกฎหมายที่เป็นฐานความผิดชัดแจ้งและมีพยานหลักฐานได้มั่นคงเพียงใด

ในทางการสอบสวนและรูปคดี ที่ผ่านมาไม่เพียงเฉพาะดีเอสไอเท่านั้น แต่รวมถึงพนักงานสอบสวนในคดีทั่วไป จะเป็นคดีดัง คดีสะเทือนขวัญ คดีการเมืองก็ตาม การกล่าวหาและการสอบสวนที่มี ก็ล้วนแต่เป็นการผลักภาระไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งหากต้องสมมุติฐานทางการสอบสวนมาเช่นใดพนักงานอัยการก็ต้องสั่งฟ้องตามพนักงานสอบไป แล้วสุดท้ายภาระทั้งหมดในการแก้ต่างต่อสู้คดีก็ตกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งจากคำพิพากษาต่างๆในคดีอาญา คำวินิจฉัยและเหตุผลประกอบมักปรากฎว่าให้น้ำหนักแก่การทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการไม่มีสาเหตุโกรธเคือง ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยมาก่อน และปฏิบัติหน้าที่ราชการปราศจากอคติใดๆ แล้วท้ายที่สุดพิพากษาลงโทษจำเลย

คดีนี้จึงเป็นอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย จะพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าหรือความถดถอยไปหรือไม่ อย่าได้มองเพียงว่า ผลประโยชน์ที่อาจมีวาระซ่อนเร้นจากความขัดแย้งนี้จะตกที่ผู้ใดหรือไม่ แต่อาจต้องมองว่าประชาชนพลเมืองไทยจะต้องเผชิญกับระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมไปอีกกี่ปีกี่สมัยกัน

วลีที่ให้ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย มิใช่เป็นการใช้กฎหมายตามใจคนใช้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้คนใช้อำนาจตามกฎหมายน่าเคารพและเป็นที่ยอมรับได้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทรำพึงว่าด้วยมายาคติของสังคมที่มีต่อคณะรัฐศาสตร์

0
0


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ยินถึงเสียงก่นด่ากันปากต่อปาก ถึงข้อครหาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการมีอยู่รวมไปถึงขีดความสามารถของนักรัฐศาสตร์ในสังคมไทยปัจจุบัน จากทั้งภายในโลกทางกายภาพ (actual space) และในโลกเสมือนจริง (virtual world) ที่เริ่มจะถูกตั้งคำถามจากสังคมด้วยสาเหตุที่ว่าเหตุใดนักรัฐศาสตร์ไทยหลายๆคนถึงไม่สามารถที่จะนำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยแก่สังคมได้ และมากไปกว่านั้น ยังมีวาทะปรากฏออกมาจู่โจมถึงนักรัฐศาสตร์หลายๆคนที่ไม่ได้แสดงออกซึ่งความรัก หลงใหล หรือเชิดชูในค่านิยมประชาธิปไตย อย่างที่(สังคมและคนส่วนใหญ่หวังให้) ควรจะเป็น ผู้คนส่วนใหญ่ภายในสังคมปัจจุบันมักพากันเข้าใจว่า นักรัฐศาสตร์ ในฐานะผลผลิตของคณะรัฐศาสตร์ จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าที่ถูกจับคู่มากับความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นนักประชาธิปไตย หรือพูดตามตรงเลยก็คือ มายาคติที่คนมักเหมารวม และมีความเข้าใจต่อคณะรัฐศาสตร์ คือการเป็นภาพตัวแทนของโรงงานที่ผลิตนักประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็รวมไปถึงการมีภาพลวงตาว่า นักรัฐศาสตร์กับนักประชาธิปไตยคือคนคนเดียวกัน

สิ่งนี้ไม่เคยเป็นสิ่งที่ถูก แถมยังเป็นมายาคติแบบเหมารวมที่คนธรรมดา หรือคนนอกวงการ(รัฐศาสตร์)ทั่วๆไปมักจะเข้าใจและมองมาที่วงการรัฐศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นถือเป็นความเข้าใจผิดขนานใหญ่ที่มีต่อวงการรัฐศาสตร์และต่อนักรัฐศาสตร์ เพราะแท้ที่จริงแล้ว คณะรัฐศาสตร์ วงการรัฐศาสตร์ ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น สิ่งที่พวกเขาทำการผลิตคือ “ความหลากหลาย” ที่จะสามารถผลิตอะไรให้แก่สังคมได้อย่างหลากหลายมากกว่านั้น พวกเขาสามารถผลิตได้ทั้ง: นักประชาธิปไตย นักสังคมนิยม นักการทหาร นักปฏิวัติ นักเสรีนิยม นักปฏิรูป นักถอนรากถอนโคน นักวิพากษ์ นักสตรีนิยม นักอุดมคตินิยม นักสัจนิยม นักทุนนิยม หรือแม้แต่จอมเผด็จการ ผู้ใฝ่ในแนวคิดเผด็จการหลากรูปแบบ เป็นต้น

ด้วยเหตุผลที่ว่าคณะนี้ไม่ได้สอนเพียงแค่ทฤษฎี แนวคิด หรือปรัชญาประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังสอนปรัชญา แนวคิดทฤษฎีจากหลากหลายสำนักคิดเอาไว้สำหรับให้นักศึกษาใช้เป็นเครื่องมือในการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์ และการใช้ตรรกะ เหตุผลในปริมณฑลภายนอกห้องเรียนอีกด้วย “นักรัฐศาสตร์” ในฐานะผลผลิตจาก “คณะรัฐศาสตร์” จึงสามารถที่จะเป็น “นัก” ที่มีแนวคิดอะไรก็ได้ และสำเร็จการศึกษาออกมามีมุมมองที่จะเป็นนักอะไรก็ได้ (becoming) การมีความเชื่อที่ว่า นักรัฐศาสตร์ เป็นสินค้าที่ถูกจับคู่มากับความเป็นนักประชาธิปไตย จึงเป็นภาพมายาคติที่สมควรจะถูกรื้อออกไปจากความเข้าใจของสังคมโดยเร็วที่สุด เพราะมันเป็นอันตรายกับทั้งสังคม และวงการของนักรัฐศาสตร์เองกับการให้หรือตั้งความหวังเหล่านั้นจนกลายเป็นแรงผลักดันในการเข้ามากด ทับถมบังคับทิศทางการผลิตนักรัฐศาสตร์ของ โรงงานผลิตรัฐศาสตร์ (คณะรัฐศาสตร์) ทั่วประเทศ และทั่วโลกนั้นผลิตออกมาแต่นักประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักของคณะรัฐศาสตร์

หากสังเกตและพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดถึงความหลากหลายของแนวคิดที่ถูกผลิตออกมาจากคณะรัฐศาสตร์นั้นเป็นสีสันที่สำคัญ และเป็นความเสรี (liberalism) อย่างหนึ่งของ “คณะรัฐศาสตร์” ที่อนุญาต และเปิดกว้างให้เหล่าสานุศิษย์เลือกที่จะศึกษา ให้ความสนใจกับแนวคิดรูปแบบใดๆที่มีอยู่ภายในโลกวิชาการ หรือโลกแห่งความคิดก็ได้ ตามที่ตนเองมีความสนใจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อให้ “นักรัฐศาสตร์” ในฐานะผลผลิตสำคัญของคณะ สามารถออกไปปฏิบัติการในสังคมได้อย่างมีทักษะการวิพากษ์ การพลิกแพลงเงื่อนไข และการใช้ชีวิตต่างๆในสังคมได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ความสามารถในการมองปรากฏการณ์ (phenomena) ทั้งทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ให้ออกอย่างทะลุปรุโปร่ง ด้วยเครื่องมือใดๆก็ตามที่พวกเขาถนัดจะใช้ หรือประสงค์จะเลือกใช้ (อันมีนานัปการ) เพื่อขยายขอบฟ้าความเข้าใจให้แก่สังคมได้มีความกระจ่างมากยิ่งขึ้น

หากจะมีคนผู้ใดพยายามจะดันทุรังถามหา หรือควานหาถึงความแน่นอนในการเป็นนักประชาธิปไตย และกระบวนการผลิตนักประชาธิปไตยกับทางคณะรัฐศาสตร์เมื่อใด ผู้เขียนจะพยายามชี้แจง แนะพวกเขาเสมอว่า ให้เดินไปหาได้จากห้องเรียนประเภทวิชา การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) หรือที่นักศึกษามักเรียกกันว่า “Gov’ Compare” นอกนั้นก็ห้องเรียนประเภทวิชานโยบายต่างประเทศและการทูต (Foreign Policy and Statecraft) ที่มีเนื้อหา วิธีคิด และตำราเรียนที่มีฐานอยู่บนวิธีคิดแบบ Democratic Peace Theory ของ Immanuel Kant[1]ซึ่งมุ่งสร้าง แสวงหาความเป็นประชาธิปไตยในการเป็นแนวทางสำหรับเชื่อมต่อรัฐแต่ละรัฐเข้าหากันในปฏิสัมพันธ์ระดับระหว่างประเทศ[2]  จะเข้ากับนิยามเรื่องโรงงานผลิตนักประชาธิปไตยมากกว่า ส่วนตัวคณะรัฐศาสตร์แล้วนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นโรงงานผลิตนักประชาธิปไตยให้แก่สังคมเสียทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่หลายๆคนควรจะตระหนักไว้

เพราะโดยพื้นฐานแล้วคณะรัฐศาสตร์นั้นเป็นพื้นที่ในทางอุดมคติเพียงผืนเดียว ที่พยายามจะฟูมฟัก และรวบรวมดูแลหลอดทดลองของตัวอ่อนของแนวคิดทางสังคมการเมืองรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลาย แปลก แตกต่างจากทั่วทุกสารทิศบนโลกมาให้ผู้เรียน และ นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้ แนวทางของคณะรัฐศาสตร์จึงมีความสนใจที่กว้างพอที่จะให้นักศึกษา “เลือกจะเป็น” (freedom of thought) นักอะไรก็ได้ผ่านทักษะการวิพากษ์ และการใช้ชุดเหตุผลที่มีอยู่เป็นทวีคูณในโลกได้อย่างอิสระ คุณสมบัติข้อนี้เองที่ทำให้สังคมได้เห็นนักรัฐศาสตร์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนักรัฐศาสตร์แบบ Marxism, นักรัฐศาสตร์ Po-Mo (Postmodern), นักรัฐศาสตร์ Critical Theory, นักรัฐศาสตร์ Militarism, นักรัฐศาสตร์ Realism, นักรัฐศาสตร์ Idealism, หรือนักรัฐศาสตร์ Fascism ที่จะออกมาทำหน้าที่ช่วยเหลือ สร้างคอนเซ็ปต์ มโนทัศน์ที่หลากหลายต่างๆนานาในการพัฒนาสังคม พัฒนารัฐให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ มากกว่าที่จะผลิตออกมาเพียงนักรัฐศาสตร์สาย Liberalism อย่างเดียว ที่อาจจะทำให้สังคมขาดซึ่งความหลากหลายทางรูปแบบของแนวความคิด เมื่อนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ Chantal Mouffe อธิบายไว้ว่า เป็นสภาวะ “พหุนิยมที่มีแต่ความคล้อยตาม(พยายาม)หลอมรวมกัน” (pluralism-without-antagonism) อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมที่ทุกๆคนเอนเอียง คล้อยตามไปกับความคิดแบบเดียวกัน (associative view of political participation) และไม่ก่อให้เกิดการถกเถียงทั้งๆที่ระบบการเมืองประชาธิปไตยนั้นต้องการการถกเถียง และปรึกษาหารือ ซึ่งในส่วนนี้ Chantal Mouffe ถึงกับเปรยเอาไว้ว่า “ครั้นเมื่อทุกๆคนมีแนวคิดเหมือนกันหมด เราจะมีระบบการปรึกษาหารือ (deliberative model) เอาไว้เพื่อเหตุอันใด หรือปรึกษากับใครได้(?)”[3]

สิ่งที่คณะรัฐศาสตร์กำลังพยายามกระทำอยู่ และผลิตอยู่จึงเป็นภารกิจเพื่อการผลิตสร้างแนวคิดที่หลากหลายตอบรับกับโจทย์ของสังคมโลกที่กำลังหนุนอยู่กับกระแสแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม พหุนิยมทางความคิด ที่สามารถจะอยู่ร่วมกันได้ แม้พวกเขา [นักศึกษา] จะไม่ได้เชื่อหรือยึดในแนวคิดแบบประชาธิปไตยแบบเดียวกัน แต่พวกเขาในฐานะผลผลิตของคณะรัฐศาสตร์ก็จะสามารถยืนอยู่บนโลกประชาธิปไตยได้อย่างราบรื่น ด้วยแนวคิดเชิงวิพากษ์ และชุดเหตุผลที่พวกเขาได้เรียนรู้และรับไปใช้ พร้อมกับความสามารถที่จะยอมรับและต่อรองปะทะกับแนวคิดที่แตกต่างกันได้อย่างมีความอดทนอดกลั้น รูปการลักษณะนี้ดูจะมีแนวโน้มและโอกาสที่เป็นประโยชน์กับสังคมประชาธิปไตยเสียมากกว่า เพราะจะเป็นข้อดีสำคัญที่จะช่วยให้เราและสังคมเห็นประชาธิปไตยในมุมมองของสำนักคิดต่างๆมากขึ้น ทั้งประชาธิปไตยแบบ Fascism, ประชาธิปไตยแบบ Marxism, ประชาธิปไตยแบบ Gramscian, ประชาธิปไตยแบบ Foucauldian, หรือ ประชาธิปไตยแบบ Wongyanawian, มากกว่าจะมีแค่การปล่อยให้นักศึกษาหรือสังคมรู้จักแต่เพียงประชาธิปไตยของ John Rawls หรือ Jurgen Habermas อันเป็นประชาธิปไตยกระแสหลักอย่างเดียว ทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน โจมตีระหว่างกัน จนเกิดปฏิกิริยาของการหมุนเหวี่ยง ขับเคลื่อน พัฒนา ประชาธิปไตยที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เดินหน้าต่อไปเคียงคู่กับสังคมได้ (ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นนักรัฐศาสตร์ จากสายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สามารถอยู่กับสังคมประชาธิปไตยได้โดยมิได้พิศวาส หรือรักในประชาธิปไตยเท่าใดนัก)

เพราะเมื่อใดที่คณะรัฐศาสตร์ทำตัวเป็นโรงงานผลิตนักประชาธิปไตย เมื่อนั้นคณะรัฐศาสตร์จะต้องแพ้ภัยตัวเอง

1. แพ้ภัยตัวเองที่ไม่สามารถผลิตพลังที่แตกต่าง หลากหลาย และสร้างสรรค์ให้ออกมาสู่สังคมได้

2. แพ้ภัยของทฤษฎีประชาธิปไตยที่ตนเองสอนให้ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างอดกลั้น แต่กลับบีบอัดและปิดทางเลือกให้นักศึกษาจำเป็นต้องจบออกมาเป็น(นักประชาธิปไตย)พิมพ์เดียวเหมือนๆกันหมด (เพราะหากทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่าตัวคณะรัฐศาสตร์เองกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ทำลายประชาธิปไตยและไม่เสรีเสียเองเช่นกัน)

หากจะพูดถึงเรื่องของการผลิตนักประชาธิปไตยนั้น พวกเรานั้นผลิตได้ แต่ในทางกลับกันพวกเราเลือกที่จะผลิตนักอื่นๆ ออกมาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้นักต่างๆเหล่านี้ต้องออกมาโต้เถียง สร้างการปะทะ ประจันหน้าใส่กันเอง จนนำมาซึ่งพลวัตการพัฒนาที่สามารถจะปั่นสังคมให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ในที่สุด มากกว่าจะไปบังคับไลน์การผลิตของรัฐศาสตร์มีแต่นักประชาธิปไตยคลอดออกมา หากลองจินตนาการถึงโลกที่มีแต่นักประชาธิปไตยรูปแบบเดียวกัน ทุกคนมีมุมมองต่อประชาธิปไตย หรือเรื่องใดๆเหมือนกันหมด โดยปราศจากมุมมองที่แตกต่าง ก็จะพบว่าโลกนั้นไม่ต่างไปจากโลกที่ตายไปแล้ว กลายเป็นโลกที่จะปราศจากซึ่งความเคลื่อนไหว โลกที่ไร้การหมุนเคลื่อนใดๆ สุดท้ายทุกอย่างจะหยุดนิ่งและไม่มีความก้าวหน้าเกิดขึ้น

คณะรัฐศาสตร์จึงจำเป็นต้องพยายามทำหน้าที่ที่จะสร้างความหลากหลายทางแนวคิดเหล่านั้นแล้วฉีดป้อนเข้าสู่สังคม พร้อมกับให้แนวคิดที่หลากหลายเหล่านั้นเข้าไปช่วยเหลือปลุกปั่นการปะทะ การโต้เถียง อย่างมีภูมิคุ้มกัน ด้วยความเสรีและอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทั้งจากผู้อื่น และทั้งจากตัวของตัวเอง ด้วยความเคารพ ฉะนั้นแล้วเมื่อย้อนกลับมามองที่บทบาทของคณะรัฐศาสตร์จริงๆแล้วคือ โรงงานที่พร้อมจะผลิตความแตกต่าง หลากหลายที่สามารถจะอาศัยอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างอดทนอดทน อดกลั้นต่อกัน ไม่บีบบังคับหรือกดขี่ทับถมในสิ่งที่แปลกแยกจากตน ซึ่งจะกลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำสังคมไปสู่สังคมประชาธิปไตยได้เองในภายหลัง โดยอัตโนมัติ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook ของผู้เขียน เมื่อ 10 เมษายน 2559

 

เชิงอรรถ

[1]  Brown, G.W., and Held, D. (2013). The Cosmopolitanism Reader. Cambridge: Polity Press.

[2] Archibugi, D. (2008). The Global Commonwealth of Citizens: Toward Cosmopolitan Democracy. Princeton: Princeton University Press.

[3]  Miessen, M. (2011). The Nightmare of Participation (Crossbench Praxis as A Mode of Criticality). Berlin: Sternberg Press

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเรียงว่าด้วยเรื่องสถานะของศิลปะ สังคมและเสรีภาพ

0
0



สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้  เป็นช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวาย   และเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ  ที่ส่อเค้าลางการเปลี่ยนแปลงของหลายสิ่งหลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นมิติเชิงโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ  สังคม  ศาสนา  ศิลปะ วัฒนธรรม  ตลอดจนเรื่องของ “อำนาจและผลประโยชน์ทับซ้อน” (ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกร้อยแปด) กล่าวคือว่า มันเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่น่าศึกษาค้นคว้า   และน่าที่จะนำไปวิเคราะห์พัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ หรือเป็นกรณีศึกษาในแง่มุมของประวัติศาสตร์ความคิด  ถึงอย่างไรก็ตาม ในบางครั้งบางที  เมื่อลองมองภาพรวมของสังคมทุกวันนี้  ก็อาจกลายเป็นเรื่องที่ดูน่าวิตกกังวนใจมิใช่น้อย  โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยที่มีความเปราะบาง และอ่อนปวกเปียก  ดังที่เห็นเป็นอยู่

อนาคตของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ตามที่ผู้เขียนได้เกริ่นมาในข้างต้น   จึงตกอยู่ใน “วิกฤติ” และเป็นภาวะวิกฤติที่ยากต่อการจินตนาการไปถึงอนาคตอันสดใส   ชุดของการอ้างเหตุผล หรือการใช้ตรรกะในแบบเดิม อย่างที่เคยศึกษาเล่าเรียนกันมา   จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างราบรื่นอีกต่อไป

และที่มากไปกว่านั้น  ผู้คนในสังคมเอง ก็ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างสบายใจเท่าที่ควร   โดยเฉพาะรูปแบบทางสังคมในปัจจุบัน  ที่อุดมไปด้วยวิธีคิดแบบ “ศรีธนญชัย”  ในทำนองฉลาดแกมโกงหรือแม้แต่ฐานคิดโบราณ  ดังสำนวนที่ว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพียงหวังเข้ายึดกุมทุกสิ่งอย่าง ด้วยอำนาจในทางพละกำลัง  

แต่จะว่าไปแล้ว  ผู้ที่มีพละกำลังและมีอำนาจในการออกแรงเชือดไก่  กลับเป็นพวกที่ไม่เข้าใจในธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสิ่ง  ไม่เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนต้องเปลี่ยนแปลง ขัดแย้ง และวิวัฒน์ตัวมันเองตลอด ภายใต้เงื่อนไขของเวลา  

เมื่อสถานการณ์ทางสังคมเป็นเช่นนี้  หน้าที่ของ “ศิลปิน” ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า  ในฐานะที่เป็นนักสร้างสรรค์  นักประกอบสร้างสิ่งที่เรียกว่าผลงานศิลปะ  ควรตื่นจากการหลับใหล ตื่นจากการลุ่มหลงในชื่อเสียง เกียรติยศและรางวัล  แล้วหันกลับมาครุ่นคิดพิจารณากันให้หนักขึ้น กล่าวคือ จะต้องคิดอย่างรอบคอบ และมองอย่างรอบด้านไปตามบริบทที่เป็นอยู่   อ่านกลเกมต่างๆตามสภาวการณ์ทางสังคมที่กำลังเป็นไป  ภายใต้ความสัมพันธ์ของ “บริบทสังคมโลก”  และต้องไม่ลืมหันกลับมาทบทวนเพื่อตั้งคำถาม?  สำรวจตรวจสอบต่อปัญหาโครงสร้างทางความคิด  ในมิติเชิงปรัชญาที่เป็นนามธรรม  เช่น  ความจริง  ความดี และความงาม  ว่าทั้งหมดทั้งมวล  มันสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ และให้เกิดคุณค่าใดแก่มวลมนุษยชาติได้บ้าง   

เพราะอย่างน้อยที่สุดแล้ว  ศิลปินเองก็มีอำนาจมากพอที่จะใช้ผลงานศิลปะของตน  เป็นกระบอกเสียงสาธารณะ  เป็นภาพตัวแทนอันแสดงถึงวิธีคิด และอุดมการณ์ของตนเองอย่างชาญฉลาด  อาจแสดงออกด้วยวิธีการอันนิ่มนวลชวนหลงใหล  อาจวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น  อย่างตรงไปตรงมา  การล้อเล่น การเสียดสี  การกลับคุณค่าความหมายของวัตถุ  หรืออาจหาวิธีการที่แยบยลกว่านั้น  ก็คงสุดแล้วแต่กลเม็ดเด็ดของตัวศิลปินที่จะคิดได้  เพราะเมื่อความคิดและประสบการณ์ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะ เริ่มตกตะกอนนอนก้น  มันอาจช่วยส่งผลสะท้อน เป็นความคิดรวบยอดอันเฉียบคมได้ในเบื้องหน้า

ทั้งนี้  สิ่งหนึ่งที่ศิลปินลืมเสียมิได้ก็คือ  จะต้องไม่ละทิ้ง “เจตจำนงของตนเอง” ซึ่งเป็นเจตจำนงในระดับปัจเจกบุคคล  ที่ทั้งตัว “ศิลปิน”(ในฐานะนักสร้างสรรค์) และ “ศิลปะ” (ในฐานะที่เป็นวัตถุ/สื่อ) จะต้องแสดงออกร่วมกันอย่างเสรี และในที่นี้สิ่งที่เราทุกคนจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนก็คือ “ศิลปะกับเสรีภาพ”  ไม่ใช่ สิ่งที่ต้องถูกจับแยกขาดออกจากกัน แต่ทว่าเป็นสิ่งที่ต้องมาควบคู่กัน โดยผสมผสานกันไปอย่างกลมกลืน 

สุดท้ายนี้ มีข้อความสั้นๆตอนหนึ่ง ที่ผู้เขียนได้คัดลอกบันทึกเอาไว้ในสมุดโน้ตเล่มเล็ก  ซึ่งเป็นคมความคิดที่ดีมีสาระ และมีความน่าสนใจให้เราได้นำไปขยายความต่อ  เป็นผลงานของอาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  เขียนเอาไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า “ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้” โดยสำนักพิมพ์สามัญชน  และจากเนื้อความบางตอนในหนังสือ ที่กล่าวว่า“ชีวิตจำเป็นต้องมีจินตนาการ เพื่อนำรสชาติของมัน  มาหลอมรวมเป็นความหมาย  และจินตนาการที่แท้จริง  ย่อมมิได้มาด้วยการปลอมแปลงเหตุผล  หรือข้ออ้างของผู้อื่นให้เป็นปรารถนาของตนเอง”  

ฉะนั้นแล้วในแง่หนึ่ง  ผู้เขียนจึงมีทรรศนะว่าศิลปะที่ดีได้นั้น ก็ควรที่จะเป็นศิลปะที่ “ฟรีจินตนาการ” และจะเป็นการดีขึ้นมาอีกระดับ คือจะต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของตนเอง พยายามเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำ และเป็นอิสระจาก “ความอยุติธรรม” ในสังคมทั้งปวง 

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน เจตนา แสวงนาม กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์  สาขาปรัชญา  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่       

                                                                                               

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงาน TRY ARM ระดมทุนบริจาคกกน.เข้าคุกหญิงกว่า 2 พันตัว

0
0

‘จิตรา TRY ARM’ เผยสูตรระดม กกน.เพื่อบริจาคคนงานลงแรงผู้รักปชต.ลงทุน ขอรัฐควรจัดหาชุดชั้นในให้เพียงพอ คุกต้องมีสุขอนามัย อัดการละเมิดสิทธิในคุกเท่ากับลงโทษเกินกฎหมาย ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิประกันตัว โทษเล็กน้อยไม่ควรเข้าคุกหรือขังแทนค่าปรับ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ได้นำกางเกงในที่ได้จากการระดมทุนกว่า 2,000 ตัว มามอบให้ผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีตัวแทนของทัณฑสถานฯ รับมอบ ซึ่งนอกจากกลุ่มคนงาน TRY ARM แล้ว ยังมีผู้สนใจในเฟซบุ๊ก อาสาสมัคร กรกนก คำตา หรือน้องปั๊บ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และถูกนำตัวเข้าทัณฑสถานฯ ก่อนออกมาบอกเล่าเรื่องราวการละเมิดสิทธิในนั้น มาร่วมนำของบริจาคให้ทัณฑสถาน รวมทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มาร่วมเป็นสักขีพยาน

คนงานลงแรงผู้รักประชาธิปไตยลงทุน

ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สอบถามถึงโครงการนี้เพิ่มเติม กับ จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ซึ่งเธอ กล่าวว่า แรกเริ่มโครงการวางไว้ว่าจะมีการระดมทุนไว้ 2,000 ตัว โดยประชาสัมพันธ์เชิญร่วมบริจาคทางเฟซบุ๊ก แต่หลังจากเริ่มเปิดระดมไปเพียง 3 วัน ก็เกินเป้าที่ตั้งไว้ จึงต้องรีบนำมามอบให้ที่ทัณฑสถาน สำหรับรูปแบบการระดมทุนนั้นกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm รวมด้วยโดยการลงแรงตัดเย็บผลิตให้ฟรี พร้อมอาสาเป็นผู้ประสานงาน ส่วนค่าวัตถุดิบใช้เงินจากผู้บริจาคดังกล่าว การระดมทุนใช้เวลาเพียง 3 วันก็ครบ เนื่องจากตั้งเป้าแต่แรกไว้เพียง 2,000 ตัวเท่านั้น ทำให้ยังมีเงินที่ได้รับบริจาคเกิน ซึ่งทางกลุ่มเตรียมหาช่องทางในการนำไปบริจาคที่ทัฑณสถานหญิงที่อื่นต่อไป

โดยเหตุผลที่เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา จิตรา เล่าว่า เนื่องจากปี 2557 ตนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำและได้เห็นสภาพในเรือนจำที่แออัดและสกปก รวมทั้งไม่มีเสื้อชั้นในและกางเกงในให้ใส่ ประกอบกับมีนักศึกษาคือ กรกนก ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและถูกนำตัวไปเข้าทัณฑสถานหญิงระหว่างรอประกันตัวเช่นกัน ได้ออกมาเล่าถึงสภาพเรือนจำที่ไม่ดีและละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ภายหลังได้มีการจัดสัมมนากันทาง ผอ.ทัณฑสถานฯ ได้ออกมาพูดว่าเสื้อชั้นในกางเกงในขาดแคลนมาก พวกตนจึงคิดว่าในเมื่อกลุ่มของตนทำการผลิตกางเกงในอยู่แล้วจึงร่วมระดมทุกกับผู้รักประชาธิปไตยทำโครงการนี้ขึ้นมา

กรณีปัญหาการขาดแคลนชุดชั้นในและกางเกงในนั้น จิตรา กล่าว่าได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ระบุว่าทางเรือนจำมีการจัดหาให้ 2 ชุดต่อคน และส่วนหนึ่งญาติจะซื้อให้ ซึ่งหากไม่มีญาติก็จะไม่ได้รับเพิ่ม แต่ด้วยความที่จัดหาให้เพียง 2 ชุด บวกกับคนที่อยู่ในนั้นจำนวนมากทำให้บางครั้งเกิดการสูญหาย จึงทำโครงการเพื่อเข้าไปบริจาคตรงนี้ แต่จริงแล้ว รัฐควรจัดหาให้อย่างเพียงพอคืออย่างน้อยคนละ 6 ชุด พร้อมทั้งมีกระบวนการตรวจเช็คของที่จัดหาให้ว่ายังอยู่หรือไม่หรือเสียหายหรือเปล่า เพื่อสามารถเบิกทดแทนได้

การละเมิดสิทธิในคุกเท่ากับลงโทษเกินกฎหมาย

“สิ่งที่เราเน้นคือเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด และการไม่ละเมิดสิทธิ และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ต้องขังเพื่อให้เขาสามารถกลับมาสู่สังคมที่ดีได้อย่างไร ไม่ใช่เอาเขาเข้าไปในเรือนจำเพื่อแก้แค้นเขา” จิตรา กล่าว

จิตรา กล่าวว่า เมื่อเราเอาคนไปขังแล้ว มันไม่มีความสบายหรอก แต่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในนั้น ไม่ถูกละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หรือทำให้เหมือนสัตว์ รวมทั้งการสวมใส่เสื้อผ้าก็ต้องมีสิทธิที่จะได้สวมอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้สวมใส่ ไม่ใช่ว่าถูกขังแล้วจะไม่มีสิทธิที่สวมใส่เสื้อผ้าอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีสิทธิ

“โทษเขาคือการขังหรือจำกัดสิทธิการเดินทางเท่านั้น แต่ไม่ได้ต้องโทษว่าต้องถูกละเมิด ต้องโทษว่าต้องถูกการทารุณกรรม การอยู่ในนั้นไม่ได้มายความว่าเขาต้องถูกทารุณกรรมด้วย เพราะหากถูกละเมิดอื่นๆ ในคุก ย่อมเท่ากับว่าเขถูกลงโทษมากกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย” จิตรา กล่าว

ต้องมีสิทธิประกันตัว โทษเล็กน้อยไม่ควรเข้าคุกหรือขังแทนค่าปรับ

จิตรา กล่าวต่อว่า การที่ผู้ต้องหาได้ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ถูกขังรวมกันอยู่ คนที่ถูกฝากขังก็ต้องถูกนำตัวไปขัง แทนที่เขาจะได้ออกมาเตรียมข้อมูลในการต่อสู้คดี ลดความแออัดในเรือนจำ รัฐภาระของรัฐ แถมคนได้รับการประกันตัวออกมาทำงานยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถทำงานและเสียภาษีได้ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้อกับกระบวนการยุติธรรมควรให้สิทธิการประกันตัว หรือใช้วิธีการควบคุมตัวแบบอื่น เช่น ใส่สัญญาณติดตัวแทน หรือคดีเล็กน้อยก็ไม่ต้องควบคุมตัวก็ได้ ทั้งนักโทษทางความคิดนักโทษการเมือง รวมทั้งการขังแทนค่าปรับ

จิตรา กล่าวอีกว่า บางคนไม่สามารถเข้าถึงการประกันตัวได้ ก็ควรหาทางช่วยเหลือ บางคนอาจได้สิทธิในการประกันตัว แต่ไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัว เรื่องสิทธิการประกันตัวก็เป็นปัญหา เรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัวที่ใช้อัตราเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยจนก็เป็นปัญหา คนจนถูกกล่าวหากระทำความผิดเดียวกับคนรวย แต่วงเงินประกัน 1 แสน คนจนก็อาจไม่สามารถหาเงินมาได้ ก็ต้องไปติดคุก หรือการเสียค่าปรับ เมื่อไม่มีเงินเสียก็ต้องไปติดคุกแทนค่าปรับอีก

“หลายครั้งเราจะได้ยินว่าคนรวยไม่ติดคุก แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรวยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่คนรวยสามารถเข้าถึงหลักทรัพย์การประกันตัว มีเงินในการเสียค่าปรับ แถมสามารถจ้างทนายฝีมือดีได้อีก เขาก็สามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้” จิตรา กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สัมภาษณ์: ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์’ (ตอนที่ 2) “เราต้องไม่ดูแคลนความจริง”

0
0

อ่านบทสัมภาษณ์ตอนที่ 1 

การดำรงอยู่ของความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน การใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่ใช่เพียงเพราะแค่ ‘วัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวล’ (Impunity) เท่านั้น นี่มันแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง สิ่งที่หล่อเลี้ยงมันเอาไว้คือความอ่อนแอด้านสิทธิมนุษยชนของไทย องคาพยพต่างๆ ในโครงสร้างอำนาจที่ต่างก็อุ้มชูกันและกัน รวมไปถึงสื่อมวลชนที่เพิกเฉยเพราะเลือกข้าง

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายกาารชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) สารภาพจากใจว่า อาจจะไม่มีความหวังกับการนำผู้สั่งการให้เกิดการสังหารหมู่ประชาชนมาลงโทษในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่เธอเชื่อว่าการค้นหา ‘ความจริง’ ในวันนี้จะเป็นหลักฐานสำคัญในอนาคต ในวันที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและโครงสร้างอำนาจอันบิดเบี้ยวนี้ถูกแก้ไขแล้ว

เธอบอกว่าไม่มีใครให้ฝากความหวัง มีก็แต่ตัวเราเองเท่านั้น

“ฝากความหวังกับตัวเราเอง โดยที่ไม่มีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีแรงก็ทำต่อไป”

มีกรณีในต่างประเทศใดบ้างที่จะเป็นตัวแบบให้เราเดินไปสู่จุดนั้น จุดที่จะดำเนินคดีกับผู้สั่งการ

พวงทอง:ดิฉันคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แม้กระทั่งข้อเสนอของนิติราษฎร์ อย่างที่บอกว่ากระบวนการที่จะทำให้การพ้นผิดลอยนวลยุติลงได้ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจจริง แต่สังคมไทยไม่ได้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เรากำลังถอยหลังกลับไปสู่อดีตด้วยซ้ำไปภายใต้การนำของทหาร เราไม่ได้กำลังจะเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

แม้กระทั่งช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เราก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านใดๆ ทั้งสิ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีอำนาจแค่ควบคุมรัฐบาลของตนเองเท่านั้น แต่กลไกอำนาจรัฐอื่นๆ กองทัพ ศาล องค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ ทำงานต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนในการอุปถัมภ์วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล การที่ความรุนแรงระดับกว้างขวางต่อประชาชนเกิดขึ้นได้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้นำไม่กี่คน มันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางอำนาจที่เขามองว่า กรณี 2553 คนเสื้อแดงคือศัตรูทางอำนาจของเขา รวมถึงคุณทักษิณ ชินวัตรด้วย จึงต้องการกดปราบขบวนการเหล่านี้ให้หมดฤทธิ์ไป ถ้าคนที่ควบคุมกลไกอำนาจรัฐทั้งหลายยังมีจุดยืน มีอุดมการณ์ต่อต้านประชาธิปไตยอยู่ คุณไม่มีทางทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้ แล้วก็ไม่มีทางจะเอาคนทำผิดมารับผิดได้

“คุณระดมพลทหารออกมา 67,000 กว่านาย อนุมัติให้มีการเบิกกระสุนออกมาเกือบ 4 แสนนัด มันคืออะไร กระสุนจริงนะคะ กระสุนสไนเปอร์อีก 2,000 นัด เวลาคุณเซ็นคำสั่งเหล่านี้ คุณจะบอกว่ามันจะไม่ถูกใช้เลยอย่างนั้นเหรอ เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นยังไง”

คุณจะเห็นว่าการที่เราไม่สามารถเอาผิดกับคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพได้ เพราะกลไกอำนาจรัฐที่มีอยู่ต่างช่วยกันปกป้อง ดังนั้น ยังไม่ต้องพูดถึงตัวแบบว่าจะเกิดขึ้นมั้ย จะแบบไหน ยังไง คือตัวแบบก็ต้องดีไซน์ตามบริบทของสังคมนั้นด้วย เราอาจจะเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ แต่ในที่สุด ถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสที่จะพูดถึงตัวแบบ มันจะต้องปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังยิ่งขึ้น ทั้งคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ญาติคนที่สูญเสีย ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่สูญเสียมากกว่านี้ ไม่ใช่ตัดสินกันตามอำเภอใจโดยคนที่มีอำนาจไม่กี่คนหรือคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนหรือนักสันติวิธีในสังคมนี้ ซึ่งดิฉันคิดว่าคนเหล่านี้มีปัญหาในการมองการคืนความยุติธรรม

มีปัญหายังไง

พวงทอง:เท่าที่ดิฉันฟังคนบางคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน กลับมองการปรองดองในลักษณะที่ให้ยอมๆ กันไปมากกว่า

พออาจารย์บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ก็เลยไม่รู้จะถามอะไรต่อ

พวงทอง:คือถ้าการเมืองเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยจริง กระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งดิฉันคิดว่ามันคืออุปสรรคสำคัญของความยุติธรรม ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะที่หนึ่ง คนพวกนี้อาจจะลู่ตามลม เริ่มเห็นแล้วว่ากระแสทางการเมืองเปลี่ยน การพิจารณาคดีก็จะเปลี่ยน สอง-ถูกสังคมกดดัน กระแสสังคมมีผลต่อการตัดสินอยู่เยอะ สาม-เราอาจจะได้นักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีแนวความคิดที่ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในชีวิตของประชาชนมากยิ่งขึ้นก็ได้ อันจะนำไปสู่การตีความกฎหมายใหม่

เช่นในหลายประเทศการที่สามารถนำผู้ที่กระทำรุนแรงต่อประชาชนเมื่อสามสี่สิบปีก่อนมาลงโทษได้ ทั้งๆ ที่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้ว เพราะมันเกิดการตีความใหม่ของผู้พิพากษารุ่นใหม่ บอกว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมานั้นขัดกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด ดังนั้น กฎหมายนิรโทษกรรมไม่มีผลบังคับใช้ สามารถไปเอาผิดกับคนเหล่านั้น ถามว่าในปัจจุบันเป็นไปได้มั้ยในสังคมไทย เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการตีความในลักษณะนั้น สังคมต้องเปลี่ยนทัศนะในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในชีวิต ทัศนะต่อการที่บอกว่ารัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจต่อไปไม่ได้ แต่สังคมไทยยังไม่ได้มองเรื่องนี้

สิ่งที่อาจารย์กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ เมื่อโครงสร้างอำนาจเปลี่ยนและอยู่ในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เท่านั้น

พวงทอง:ใช่ มันต้องเป็นประชาธิปไตย ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่นี้เป็นไปไม่ได้เลย

แต่สถาบันตุลาการไทยคือสถาบันหนึ่งที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

พวงทอง:ไม่เปลี่ยน ทัศนะคติก็ไม่เปลี่ยน ดิฉันคิดว่าศาลไทย ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอ่อนแอมาก แล้วก็ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐสูง มีแนวโน้มที่จะตีความในลักษณะที่การใช้อำนาจของรัฐนั้นมีความถูกต้องมากกว่า

ที่อาจารย์พูดมาทั้งหมด ดูเหมือนไม่มีอะไรที่ประชาชนจะทำได้เลย ไม่มีอะไรที่เราพอจะทำได้เลยจริงๆ เหรอ ในสถานการณ์แบบนี้ เช่น การค้นหาข้อเท็จจริง เพราะสิ่งนี้ก็มีผลต่อการรับรู้และความรู้สึก เป็นต้น

พวงทอง:สิ่งที่กลุ่ม ศปช. พยายามทำตั้งแต่ปี 2553 คือการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้ได้มากที่สุด ตอนที่ทำรายงานนี้ดิฉันไม่ได้หวังว่าจะนำผู้ทำผิดมาลงโทษได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดิฉันคิดว่ามันจะเป็นหลักฐานในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าที่จะเอามาใช้ แต่ถ้าคุณไม่เก็บ มันก็หายไป

สอง-เรายังต้องพยายามพูดเรื่องนี้กันอยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็มีคนไม่มากหรอกที่สนใจ ที่จะพูด และสนใจที่จะฟัง ติดตาม แต่คนที่ยังเห็นความสำคัญเรื่องนี้ก็ต้องทำงานสม่ำเสมอ ดิฉันเชื่อว่าผลกระทบที่จะได้ไม่เยอะหรอก คนที่สนใจเรื่องนี้มีแค่กระจุกเดียวในสังคมนี้ สื่อส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจเรื่องพวกนี้ เมื่อสื่อไม่สนใจเพราะสื่อต่อต้านเสื้อแดง ผู้บริโภคของเขาก็ต่อต้านเสื้อแดง ดิฉันคิดว่าอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศนี้ที่ยังสนใจติดตามเหตุการณ์ปี 2553 อยู่

คนเสื้อแดงที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมปี 2553 ดิฉันเชื่อว่าเขาอาจยังมีความคับแค้นอยู่ แต่คนเหล่านั้นก็มีชีวิตประจำวันที่จะต้องทำมาหากิน เขาก็ไม่มีเวลามาทำสิ่งเหล่านี้ จึงเป็นหน้าที่ของคนที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ต้องพูดต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคนฟังน้อย ไม่สนใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นบันทึก เป็นหลักฐานที่จะเอาไปใช้ในวันข้างหน้า นี่ก็เป็นกำลังใจอันหนึ่งให้แก่ครอบครัวของคนที่สูญเสียด้วย ที่ว่ายังมีคนที่ไม่ลืมเหตุการณ์เหล่านี้อยู่

“กลไกอำนาจรัฐอื่นๆ กองทัพ ศาล องค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ ทำงานต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งนั้น ซึ่งคนเหล่านี้มีส่วนในการอุปถัมภ์วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล”

เป็นไปได้หรือเปล่าที่กระบวนการเอาคนผิดมาลงโทษจะถอยไปถึง 6 ตุลา 19

พวงทอง:กว่าจะถึงวันนั้นที่จะเอาผิดกับคนที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลา 19 หรือพฤษภา 35 คนที่เกี่ยวข้องก็อาจเสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำได้คือการพูดความจริง ความจริงเกี่ยวกับสองกรณีนี้ ดิฉันคิดว่ามีการพูดถึงน้อยมาก ใครเป็นคนสั่งการ ใครเป็นคนระดมทหารเข้ามา ไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทหารระดับปฏิบัติการหรือแกนนำผู้ชุมนุม ข้อมูลเหล่านี้ยังคลุมเครือมาก ต้องทำให้มันชัดเจนว่าใครเกี่ยวข้อง ดิฉันคิดว่าเราต้องไม่ดูแคลนความจริง ความจริงจะทำให้คนเห็นสังคมของตนเองมากขึ้นว่ามันมีกลไกเยอะแยะที่สามารถถูกระดมเพื่อเอามาใช้ทำร้ายประชาชนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

เหมือนที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เคยยกคำพูดขึ้นว่า ในสถานการณ์ความรุนแรง ความจริงจะเป็นสิ่งแรกที่ถูกสังหาร

พวงทอง:แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะค้นหา ตรวจสอบมันไม่ได้ ในสงครามหรือความรุนแรง ทุกฝ่ายต่างก็พยายามโฆษณาชวนเชื่อ พยายามนำเสนอภาพว่าตัวเองถูกอย่างไร อีกฝ่ายเลวร้ายอย่างไร แต่คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง มันมีหลักฐานจำนวนมากที่ฟ้องโดยตัวมันเอง เช่นกรณีคลิปของนายทหารสไนเปอร์ที่ยิง คลิปอันนี้บอกอะไร มันก็บอกว่าเขาล้มลงแล้ว คุณก็ยังยิงซ้ำ และมันมีการใช้สไนเปอร์ในการสลายการชุมนุม ซึ่งมันไม่มีที่ไหนในโลกทำกันแบบนี้ ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่เยอะแยะในกรณีปี 2553

ปี 2519 มันหายไปเยอะมากแล้ว แต่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมี บางคนยังเป็นเด็กอยู่ในตอนนั้น เราไม่เคยสามารถติดตามได้ว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร ถ้าเรามีกระบวนการในการเรียกเอาคนเหล่านั้นมาให้บันทึกประวัติศาสตร์ เราก็อาจจะเห็นข้อมูลบางด้านของสังคมไทยที่น่ารังเกียจหรือที่เป็นปัญหา แล้วก็หาป้องกันได้ในอนาคต

การค้นหาความจริงหรือการนำคนผิดมาลงโทษอาจก็ต้องการความเห็นพ้องต้องกันในระดับหนึ่ง แต่ในสภาพที่เกิดความขัดแย้ง แบ่งขั้ว แตกแยกขนาดนี้ อีกฝ่ายทำอะไร ผิดเสมอ ฝ่ายฉันทำอะไรถูกเสมอ คือมันคงไม่ใช่แค่โครงสร้างเปลี่ยน แต่ว่าความขัดแย้งร้าวลึกของคนที่ยังคงอยู่ จะเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับเรื่องนี้

พวงทอง:ใช่ นี่เป็นอุปสรรค หลายปีที่ผ่านมามันมีความชิงชังกันอยู่เยอะมาก คนกลุ่มหนึ่งจะปฏิเสธข้อมูลของคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยสิ้นเชิงและไม่อยากรับฟัง ไม่อยากสนใจ แล้วก็รู้สึกว่ายิ่งขจัดคนอีกกลุ่มหนึ่งออกไปได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี นี่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญของการแสวงหาความจริง การแก้ไขความขัดแย้ง การแสวงหาความยุติธรรม

แต่ถามว่ามันเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยจริงหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่ ในหลายสังคมที่เอาผิดกับผู้ทำความผิดได้ มันก็ผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว ในกรณีของอาร์เจนตินาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1979 คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้สึกมีปัญหา แม้กระทั่งตอนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนิรโทษกรรมให้กับทหาร คนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าทหารทำหน้าที่ปกป้องประเทศจากภัยคอมมิวนิสต์ เพราะคนที่ถูกอุ้มหายไป 30,000 คนก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อประเทศอาร์เจนตินา คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจที่จะคืนความยุติธรรมให้กับบรรดาญาติ

แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้นว่ารัฐจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ต่อให้คุณมองว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะใช้วิธีการอะไรในการกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งได้โดยไม่ต้องเคารพกฎหมาย เพราะในที่สุดแล้วมันจะลามปามไปสู่คนจำนวนมากที่อาจจะไม่ใช่คอมมิวนิสต์จริงๆ แต่เป็นเพียงแค่เพื่อน ญาติ เป็นพ่อแม่ ก็ถูกอุ้มหายไปด้วย มันมีกรณีที่แม่ออกมาเรียกร้องตามหาลูกที่ถูกอุ้มหายไป 2 คน แล้วในที่สุดแม่ก็ถูกอุ้มหายไปด้วย

“เราต้องไม่ดูแคลนความจริง ความจริงจะทำให้คนเห็นสังคมของตนเองมากขึ้นว่ามันมีกลไกเยอะแยะที่สามารถถูกระดมเพื่อเอามาใช้ทำร้ายประชาชนตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”

ดิฉันเชื่อว่ามนุษย์มีพัฒนาการที่จะพัฒนาไปสู่การเชื่อในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น เรายอมรับแน่ว่านี่เป็นอุปสรรคที่จะทำให้การคืนความยุติธรรมยืดเยื้อยาวนานออกไปอีก ซึ่งเราก็เห็นมาแล้วในกรณีชิลี อาร์เจนตินา บราซิล และรวมถึงประเทศไทยด้วย ดิฉันจึงวางอยู่บนความเป็นจริงว่าการคืนความยุติธรรมจะไม่เกิดขึ้น ตราบที่โครงสร้างอำนาจไม่เปลี่ยน ซึ่งโครงสร้างก็เกี่ยวข้องกับความแตกแยกของประชาชนด้วย เพราะฝ่ายที่มีอำนาจเองก็มีกลไกเครื่องมือในการที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ความคิดความเชื่อของเขาในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

แล้วจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร ตอบอย่างนี้แล้วกัน เรื่องของความขัดแย้ง แบ่งสี แบ่งฝ่าย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หลายสังคมผ่านภาวะอย่างนี้มาแล้ว แต่ปัญหาในกรณีสังคมไทยปัจจุบัน คนทุกกลุ่มเชื่อว่าตัวเองยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีใครบอกหรอกว่าตัวเองชอบเผด็จการทหาร รวมถึงคนที่ไปเป่านกหวีดเรียกทหาร เขาก็จะบอกว่าเขาชอบประชาธิปไตย แต่ถ้าคุณยอมรับว่าเขาชอบประชาธิปไตยจริงๆ ในระบอบประชาธิปไตย มันมีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้ง มันจะต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องมีความยุติธรรม เคารพในความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ซึ่งหมายความว่าการเคารพนี้ไม่ใช่การจัดการอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวิธีนอกกฎหมายหรือวิธีที่รุนแรง

ปัญหาในกรณีของไทย เรายังตกลงกันไม่ได้เลยว่าเวลามีความขัดแย้งเกิดขึ้นคุณจะแก้ไขมันได้ยังไง ตกลงไม่ได้ เพราะว่าเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ประชาชนของอีกฝ่ายก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงเข้าจัดการอีกฝ่ายหนึ่งเลย โดยไม่ต้องสนใจสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วยกันเอง ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยจริง การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องมีเซ็ตของหลักการจำนวหนึ่งที่คุณต้องยึดไว้ให้ได้ แต่สังคมไทยไม่มีหลักการแบบนี้ ไม่มีหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการว่าศาลทหารเป็นสิ่งที่ผิด คุณเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ได้ หรือหลักการที่จะตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์กรณีที่หลักฐานมีปัญหา เราไม่กล้าวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม จะเห็นว่าอุปสรรคมันเยอะมากๆ ทุกด้าน

นอกจากความรุนแรงจากเหตุการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังมีกรณีสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ซึ่งก็จำเป็นต้องหาคนผิดมาลงโทษและเปิดเผยข้อเท็จจริง

พวงทอง:ใช่ ในกรณีภาคใต้ ซึ่งการซ้อมทรมาน การใช้ความรุนแรงของรัฐ เกิดขึ้นกว้างขวางกว่ากรณีปี 2553 ซะอีก สังคมไทยก็ไม่ได้สนใจกับมันเท่าไหร่ และตราบใดที่คุณไม่แก้ไขปัญหานี้ ปัญหาภาคใต้ก็จะแก้ไขยากมาก ต่อให้วันหนึ่งจะสามารถเจรจากันได้ในระดับแกนนำของฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการ แต่ถ้าคุณไม่คืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ ความคับแค้นก็ยังอยู่ แล้วจะเป็นหน่ออ่อนที่อาจจะสร้างคนที่ต้องการจะเป็นกบฏต่อรัฐไทยในรุ่นต่อไปอีกก็ได้

“ถ้าคุณเป็นประชาธิปไตยจริง การแก้ไขความขัดแย้งจะต้องมีเซ็ตของหลักการจำนวหนึ่งที่คุณต้องยึดไว้ให้ได้ แต่สังคมไทยไม่มีหลักการแบบนี้ ไม่มีหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน”

อาจารย์ยังมีข้อสังเกตอื่นๆ ต่อเรื่องนี้อีกหรือเปล่า

พวงทอง:ในกรณีปี 2553 การปกป้องผู้ที่กระทำผิดแตกต่างจากในอดีตพอสมควร ในอดีต คนที่เป็นเหยื่อถูกมองว่าเป็นเหยื่อจริงๆ อย่างกรณี 6 ตุลา 2519 เราเห็นชัดเจน นักศึกษาคือคนที่เป็นเหยื่อ ทั้งที่ถูกปราบปรามและถูกขังคุก การพยายามที่จะเอาผิดกับคนที่สั่งการเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นยังมีอำนาจอยู่ ฉะนั้น เราจะเห็นว่าคนที่มีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเอ็นจีโอก็จะยืนอยู่ข้างเหยื่ออย่างชัดเจน

แต่ในกรณีปี 2553 คนที่มีบทบาทเรื่องสันติภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน กลับมีความคลุมเครือ ลังเล แล้วก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์มากกว่าที่จะปกป้องสิทธิของผู้ที่ถูกกระทำ รายงานของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดิฉันคิดว่าเป็นตัวอย่างสำคัญ ซึ่งบทบาทของสององค์กรนี้มีผลต่อทัศนคติของประชาชนที่ต่อต้านเสื้อแดงมาก และกลายเป็นข้ออ้างในการสนับสนุนการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อคนเสื้อแดง จะเห็นว่าในกรณีปี 2553 คนที่ควรจะมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงกลับไม่ได้ทำหน้าที่นี้ ฉะนั้น ถ้าเราดูกรณีปี 2553 การที่ไม่สามารถเอาผิดได้ มันเป็นความร่วมมือของคนหลายกลุ่ม หลายองค์กร เป็นความร่วมมือโดยไม่ตั้งใจก็ได้ อย่างไม่เป็นทางการ

อาจารย์ตั้งคำถามหรือเปล่าว่าเป็นเพราะอะไร

พวงทอง:คือเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการแตกเป็นสีเป็นฝ่าย คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นกลางทางการเมืองจริงๆ เขาเลือกสีอยู่แล้วโดยที่ไม่ได้บอก เขาก็อาจจะบอกว่าดิฉันไม่เป็นกลาง เป็นแดงก็ได้ ดิฉันก็ไม่ปฏิเสธ ถ้าการเป็นแดงหมายถึงการต่อต้านรัฐที่ไม่แฟร์กับประชาชน แต่สิ่งที่ดิฉันท้าทายทาง คอป. มาตลอดก็คือเอาตัวรายงาน เอาข้อมูล มาดีเบตกัน ให้ตัวข้อมูลเป็นตัวตัดสินเอามั้ย แต่เขาก็ไม่เคยรับที่จะดีเบต

เป็นเพราะภาพลักษณ์ของเสื้อแดงดูเหมือนจะมีความรุนแรงแฝงอยู่ รวมถึงการโหมประโคมจากสื่อเรื่องการเผาบ้านเผาเมืองหรือเปล่า

พวงทอง:เราไม่คิดว่าคนเสื้อแดงใช้ความรุนแรงมากไปกว่าการชุมนุมของพวกเสื้อเหลืองและ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ทั้งนี้ เราต้องเข้าใจว่าในบรรดาผู้ชุมนุมของทั้งสองฝ่าย มีคนส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่ภาพลักษณ์คนเสื้อเหลืองกับไม่ได้ถูกนำเสนอขึ้นมา เพราะอะไร เพราะว่าสื่อส่วนใหญ่ยืนอยู่อีกสีหนึ่ง มันมีสองส่วน การใช้อาวุธที่อาจจะทำขึ้นมาเอง การมีการ์ดพกอาวุธ มีทั้งสองสี แล้วก็ระดับการใช้ความรุนแรงไม่ต่างกัน กปปส. ด้วย คุณปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงสูงมากๆ อาจจะมากกว่าเสื้อแดง เสื้อแดงยังไม่สามารถขนอาวุธขนาดหนักมายิงกันกลางถนนได้ แล้วป่านนี้จับได้แค่คนเดียว เป็นไปได้ยังไง

แต่คนส่วนใหญ่ซึ่งเสพสื่อที่สนับสนุนเสื้อเหลืองต่อต้านเสื้อแดงก็จะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ หรือถูกนำเสนอใหม่อย่างในกรณีมือปืนป็อปคอร์น กลับกลายเป็นผู้ที่มาช่วยพวกเขา คุณมีวิธีบิดข้อเท็จจริงสร้างคำอธิบายแบบใหม่ได้ จากคนที่ใช้ความรุนแรงกลายเป็นฮีโร่ไป

คนเสื้อแดงเองเขาก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่มี อีกประการหนึ่ง บุคลิกของคนเสื้อแดงที่ดูเป็นชาวบ้านทั่วไป มันเป็นบุคลิกที่ไม่ถูกใจคนชั้นกลางในเมือง อะไรที่ไม่ถูกใจก็ถูกมองเป็นความป่าเถื่อน ความดิบ แต่ถามว่าคนชั้นกลางในเมืองไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันอย่างนั้นหรือ ใช้ตลอดเวลา แม้กระทั่ง กปปส. ที่มองว่าเป็นม็อบปัญญาชน ม็อบมีการศึกษา ก็มีความรุนแรง แต่กลับมองไม่เห็น อันนี้เป็นปัญหาของสื่อที่พยายามลดความรุนแรงของฝ่ายหนึ่ง แล้วไปขยายภาพความรุนแรงของอีกฝ่ายหนึ่ง บางทีการพูดเสียงดัง โวยวาย มันไม่ใช่ความรุนแรงของคนกลุ่มหนึ่ง มันเป็นบุคลิกปกติของพวกเขา แต่มันถูกตีความว่าเป็นความรุนแรง

แม้ว่าเสื้อแดงจะไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเดียวที่มีความคิดเหมือนๆ กัน แต่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นแกนของคนเสื้อแดง คำถามคือในการเรียกร้องการเอาผิดกับผู้สั่งการให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน แกนนำ นปช. ควรจะต้องแสดงบทบาทอะไรมากกว่านี้หรือเปล่า แต่ขณะเดียวกัน แกนนำ นปช. ก็แอบอิงกับเพื่อไทยและคุณทักษิณ ซึ่งตัวคุณทักษิณก็เกี่ยวพันกับกรณีสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบด้วย ที่ญาติเหยื่อก็ต้องการความเป็นธรรมเช่นกัน

พวงทอง:ดิฉันคิดว่าคงไปฝากความหวังอะไรกับ นปช. ไม่ได้มาก เพราะแกนนำ นปช. หลายคนก็โหวตเอาด้วยกับ พ.ร.บ.เหมาเข่ง และไม่ยอมออกมาขอโทษ เราก็เห็นอยู่ว่าเขาไม่ได้มีความอิสระจากคุณทักษิณมากพอ ซึ่งตรงนี้มันทำให้เขาสูญเสียการสนับสนุนของมวลชนจำนวนมาก ดิฉันไม่คิดว่าเราจะฝากความหวังเรื่องนี้กับ นปช. ได้ เขากลับจะกลายเป็นภาระที่เราจะต้องวิพากวิจารณ์มากขึ้นด้วย

เราควรฝากความหวังไว้กับตัวเราเอง?

พวงทอง:ฝากความหวังกับตัวเราเองโดยที่ไม่มีความหวังว่ามันจะเกิดขึ้นสักเท่าไหร่ แต่ถ้ายังมีแรงก็ทำต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: เจาะเวลาหาอดีต - รูปแบบรัฐบาลไทย จาก 2518 ถึง 2539 มีอะไรในกอไผ่?

0
0
ไม่ว่า ‘รธน.ฉบับมีชัย’ จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ  ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ หรืออาจจะไม่มีประชาธิปไตยเลย TCIJ ชวนย้อนเวลาไปดูสถิติตัวเลขและรูปแบบรัฐบาลในยุค 2518-2539 ซึ่งในช่วง 20 ปีเศษนั้น ประเทศไทยใกล้เคียงกับการเป็น ‘Banana Republic’ มากที่สุด  เพราะมีการรัฐประหารถึง 6 ครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญถึง 6 ฉบับ

 
 
เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ระบุว่าจากรายงานวิจัยเรื่อง 'รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2518-2539'  โดย ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ด้วยเงินทุนสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่เมื่อปี 2541 ที่ได้ศึกษาถึงลักษณะความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 20 ปีเศษดังกล่าว และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล รวมถึงทัศนคติของกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีต่อรูปแบบรัฐบาล  ศึกษาเปรียบเทียบที่มาและการล่มสลายของรัฐบาลแต่ละรูปแบบภายใต้ระบอบการเมืองที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งที่มาและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาล
 
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาเริ่มจากรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จนถึง รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการสำรวจทัศนคติของกลุ่มบุคคลชั้นนำทางการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ข้าราชการประจำระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ประมาณ 100 คน โดยผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้
 

เปรียบเทียบรัฐบาล 3 รูปแบบ

 
ประการแรก ในเรื่องของลักษณะความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล พบว่ามีรูปแบบรัฐบาลที่มีลักษณะแตกต่างกันเป็น 3 รูปแบบคือ รัฐบาลในรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม, รูปแบบกึ่งประชาธิปไตย (หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ) และรูปแบบประชาธิปไตย รัฐบาลรูปแบบเผด็จการอำนาจนิยม มักเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นภายหลังการทำรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ จากนั้นคณะผู้ยึดอำนาจจึงมอบหมายให้บุคคลซึ่งอาจเป็นทหารหรือพลเรือนทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลต่อไป รัฐบาลรูปแบบนี้มักประกอบด้วยข้าราชการหรืออดีตข้าราชการทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรี
 
รัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่มุ่งประนีประนอมทางการเมืองระหว่างพลังอำนาจของกลุ่มข้าราชการประจำกับกลุ่มนักการเมืองซึ่งมีฐานอิงอยู่กับประชาชน รัฐบาลรูปแบบนี้จึงเกิดจากการอาศัยความชอบธรรมจากประชาชนโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยส่วนหนึ่ง กับกระบวนการของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอีกส่วนหนึ่ง อาทิ การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา และการให้อำนาจแก่วุฒิสภาให้มากกว่าหรือทัดเทียมกับสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย รัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตยนี้จึงมีองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนของข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง มาประกอบกับตัวแทนของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมในรัฐบาลผสมอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในสังกัดมาร่วมกันใช้อำนาจทางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยอาศัยการสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเป็นเสียงส่วนใหญ่และการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นตัวแทนพลังฝ่ายข้าราชการ อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของระบอบกึ่งประชาธิปไตย อำนาจของฝ่ายพรรคการเมืองมีสูงขึ้นตามลำดับ ในขณะที่อำนาจของฝ่ายข้าราชการประจำหรือวุฒิสภาก็ลดลงไปตามลำดับเช่นกัน
 
รัฐบาลรูปแบบประชาธิปไตย  คือรัฐบาลผสมที่เกิดจากการรวมตัวของพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแข่งขันกันจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ายใดที่สามารถรวมเสียงข้างมากได้ในสภาย่อมสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยมักให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล และเสถียรภาพของรัฐบาลผสมมักขึ้นอยู่กับปัจจัยของพรรคการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นปัจจัยหลัก ส่วนการตรวจสอบถ่วงดุลของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาเป็นปัจจัยรอง
 

ประชาธิปไตยครึ่งใบ ข้าราชการมีอิทธิพลมาก-น้อยขึ้นกับใครเป็นนายก

 
ประการที่สอง ในเรื่องของปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล พบว่ามีปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ 1. รัฐธรรมนูญ 2. อิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายข้าราชการประจำโดยเฉพาะฝ่ายทหาร 3. บทบาทของพรรคการเมือง และ 4. ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการบริหารงานของรัฐบาล กล่าวคือ รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐบาลที่แตกต่างกัน เพราะมีที่มาแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญที่มีที่มาจากการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศย่อมเป็นผู้กำหนดสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ โดยมักกำหนดให้มีสภาเดียวมาจากการแต่งตั้งทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติและคอยสนับสนุนฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล  ส่วนรัฐบาลก็มักมีที่มาจากการกำหนดของคณะผู้ยึดอำนาจเป็นสำคัญ
 
รัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย ก็มักกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีและกำหนดให้ประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา อำนาจหน้าที่และบทบาทของวุฒิสภามีมากกว่าหรือทัดเทียมกับสภาผู้แทนราษฎร สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐบาลแบบกึ่งประชาธิปไตย ก็คือการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ สำหรับรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐบาลแบบประชาธิปไตย ก็กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมี 2 สภาเช่นกัน แต่สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่และบทบาทเหนือกว่าวุฒิสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี จะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
 
ในด้านอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายข้าราชการประจำโดยเฉพาะฝ่ายทหาร จะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลแบบเผด็จการอำนาจนิยม มักจะอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายข้าราชการทหาร ซึ่งอาศัยรัฐธรรมนูญและวุฒิสภาเป็นปัจจัยในการครอบงำ เช่นเดียวกับรัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายข้าราชการทหารจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับคณะทหารที่ให้การสนับสนุน
 
ส่วนรัฐบาลแบบประชาธิปไตยนั้น  อิทธิพลของฝ่ายข้าราชการทหารแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็ค่อนข้างลดน้อยลงตามลำดับ โดยเฉพาะในรัฐบาลประชาธิปไตยช่วงหลัง ๆ ส่วนบทบาทของพรรคการเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล หากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย พรรคการเมืองย่อมมีบทบาทสูงในการกำหนดรัฐบาล โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่าง ๆ หากเป็นรัฐบาลแบบกึ่งประชาธิปไตย บทบาทของพรรคการเมืองย่อมลดระดับลงในระดับหนึ่ง โดยต้องยอมให้ฝ่ายข้าราชการประจำได้เข้ามามีส่วนในการกำหนดรูปแบบรัฐบาล และสามารถกำหนดสัดส่วนของรัฐมนตรีได้จำนวนหนึ่ง สำหรับรัฐบาลแบบเผด็จการอำนาจนิยม พรรคการเมืองย่อมมีบทบาทน้อยที่สุดหรือแทบไม่มีเลยในการกำหนดรูปแบบรัฐบาลหรือองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี
 
 
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษกกรธ.บอกไม่แน่ใจ YPD เป็น กปปส.จริง? หลังอัด 2 รัฐ “ทหาร” การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง

0
0

หลัง ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตยจัดแถลงข่าว 2 ปี รัฐ “ทหาร” การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง 'อมร โฆษกกรธ.' โต้สงสัยเป็น กปปส.จริงหรือไม่ ยันเนื้อหา รธน.ยึดโยง ปชช.

ภาพขณะกลุ่ม YPD แถลงเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา

23 พ.ค.2559 หลังจากวานนี้ (22 พ.ค.59) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) ได้จัดแถลงข่าว 2 ปีการรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย YPD ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ 2 ปี  รัฐ “ทหาร” การปฏิรูปที่ไม่มีอยู่จริง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยภายหลังมีการเผลแพร่วิดีโอคลิปการแถลงของ ธัชพงศ์ แกดำ คณะกรรมการ YPD กล่าวว่า ตนเคยเข้าร่วมชุมนุมกับมวลมหาประชาชน ซึ่งสิ่งที่เรียกร้องมาโดยตลอดช่วงชุมนุมคือการปฎิรูป แต่วันนี้ชัดเจนว่ารัฐบาลคสช. ไม่ได้ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเลยแม้แต่นิดเดียว โดยสามารถดูได้จากคำถามพ่วงของประชามติ ที่ยืนยันชัดเจนว่าการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องนั้น รัฐบาลชุดนี้ไม่ใส่ใจและไม่ทำการปฏิรูป เพราะฉะนั้นวันนี้ไม่ใช่กิจกรรมของการเมืองสีเสื้อสีใดสีหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการปกครองระหว่างประชาชนกับรัฐ ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำหารปฏิรูปอย่างแท้จริง โดย 2 ปีที่ผ่านมาเราเห็นว่าการพัฒนาของรัฐมีแต่ไปละเมิดสิทธิชุมชน ชาวบ้าน และเมือ่รัฐไปละเมิดชาวบ้านก็ไม่สามารถออกมาคัดค้านได้เพราะมี ม.44 โดยเฉพาะการยกเลิกผังเมือง การปล่อยให้มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เหล่านี้เป็นสิ่งที่บอกว่าประชาชนไม่สามารถที่จะเชื่อฟังรัฐบาลชุดนี้ได้อีกต่อไป 

"ทำให้ YPD เข้าใจด้วยว่าการรัฐประหารของรัฐบาลชุดนี้ รัฐประหรโดยการอ้างว่าจะปฏิรูป นี่คือการผิดสัญญาอย่างแท้จริง ไม่มีจริงอีกต่อไปแล้วเรื่องการปฏิรูป"  ธัชพงศ์ กล่าว

วันนี้ (23 พ.ค.59) เดลินิวส์และมติชนออนไลน์รายงานตรงกันว่า อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสต้านรัฐธรรมนูญหลังครบรอบ 2 ปีรัฐประหารของ คสช. ว่ายิ่งใกล้วันประชามติก็ได้ปรากฏกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ออกมามากมาย ทำงานแบบจัดตั้งสอดประสานอย่างเป็นระบบ ล่าสุดมีผู้ปรารถนาดีส่งวีดิทัศน์การแถลงข่าวของกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นกิ่งก้านสาขาของ กปปส. ใช้ชื่อว่า  YPD ซึ่งมีการกล่าวหา กรธ. โดยเฉพาะเรื่องข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ยึดโยงประชาชน ซึ่งตนไม่แน่ใจว่ากลุ่มนี้เป็น กปปส.จริงหรือไม่ และในเรื่องรัฐธรรมนูญที่เขาอ้างว่า ไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น ไม่ถูกต้องครับ เพราะในวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ทาง กรธ.ได้เผยร่างแรกให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนพร้อมได้นำความเห็นต่างๆ มาปรับแก้มากมาย โดยสามารถดูเปรียบเทียบร่างแรกกับฉบับทำประชามติได้ ยืนยันว่า กรธ.นำความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนมาพิจารณาอย่างเต็มที่ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะครู ก. ครู ข. และ ครู ค. รับทราบว่า หากมีผู้โจมตีรัฐธรรมนูญของพวกเราในแง่มุมนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายชี้แจงทำความเข้าใจในสิ่งที่ถูกบิดเบือนด้วย

YPD แถลงโต้กลับอมร

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 17.36 น. ที่ผ่านมา กลุ่ม YPD ได้แถลงโต้ อมร ผ่านเฟซบุ๊ก Young People for Social-Democracy Movement, Thailand - YPD โดยระบุว่าทาง YPD มีความไม่สบายใจต่อการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเนื่องจากผิดเพี้ยนและบิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดของสาธารณชนได้ จึงต้องขอโอกาสชี้แจงต่อสังคมใน 2 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. “ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย” เป็นกลุ่มกิจกรรมที่มีความสนใจทางการเมืองแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ก่อตั้งเมื่อปี 2545 โดยนักกิจกรรม นักศึกษา นักอนุรักษ์ สื่อมวลชน โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มีทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางการเมือง เน้นทำงานกับกลุ่มเยาวชน คนหนุ่มสาว เชื่อมโยงกับขบวนการภาคประชาชนทั้งแรงงานและเกษตรกร ทั้งยังเป็นเครือข่ายสมาชิกกับองค์กร International Union of Socialist Youth ซึ่งเป็นองค์กรเยาวชนที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในระบบรัฐสภา มีสมาชิกจากกว่า 134 ประเทศทั่วโลก
 
“ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย” มีธรรมนูญองค์กรและโครงสร้างองค์กรแบบไม่มีประธาน สมาชิกทุกคนมีอิสระในการแสดงความเห็นในฐานะปัจเจกบุคคล แต่หากจะแสดงจุดยืนในนามขององค์กร ก็ต้องผ่านการลงมติในที่ประชุม เพราะฉะนั้น ในสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2556-2557 สมาชิกบางคนจึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของ กลุ่มกปปส.ซึ่งเป็นสิทธิในทางการเมืองในนามปัจเจกบุคคลเป็นธรรมดา
 
“ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย” ไม่เคยออกแถลงการณ์หรือแสดงจุดยืนใดๆในนามองค์กรในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองปี 2556-2557 ดังนั้นการจะมากล่าวหาว่า ตีตราว่า องค์กรเป็น กปปส. ไม่เป็นกปปส. หรือแม้กระทั้งจะกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มทางการเมืองฝั่งตรงข้ามจึงเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล สะท้อนการปฏิบัติหน้าที่โฆษกที่ผิดพลาด ขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ทำลายความน่าเชื่อถือต่อตำแหน่งอันทรงเกียรติ และความเชื่อมันต่อร่างรัฐธรรมนูญ
 
เรามีจุดประสงค์จะก้าวข้ามความขัดแย้งการเมืองเรื่องสีเสื้อ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมานี้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเอามวลชนมาประหัตประหารกัน แต่ชนชั้นนำในสังคมไทยกลับพลัดกันเสวยสุข ยกตัวอย่างเช่น การรับเงินเดือนจากตำแหน่งต่างๆที่ทหารตั้งให้หลังรัฐประหาร หรือการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากการเป็นรัฐบาลในสมัยที่ยังมีประชาธิปไตย ชนชั้นนำต่างมีอำนาจขึ้นมาผลัดกันชม
 
เราปรารถนาระบบประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับอุดมการณ์ทางการเมืองกว่าตัวบุคคล เราไม่เอาพรรคการเมืองที่เป็นเพียงตัวแทนของชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่ เราเป็นเพียงแค่เยาวชนที่ใฝ่ฝันถึงอนาคตใหม่ของสังคมไทย
 
2. ข้อกล่าวหาที่ว่า “ยิ่งใกล้วันประชามติก็ได้ปรากฏกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ออกมามากมาย ทำงานแบบจัดตั้งสอดประสานอย่างเป็นระบบ”และการโกหกต่อหน้าสาธารณชนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญยึดโยงกับประชาชน “ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย” ขอชี้แจงว่าเราไม่ได้ทำงานโดยรับอามิสสินจ้างจากใคร พวกเราบางคนยังยืมเงินเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม 20 บาทเพื่อนั่งเรือคลองแสนแสบกลับบ้านหลังแถลงการณ์
 
การสอดประสานของการลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญและประชามติเป็นธรรมชาติของโลก เมื่อใดที่แรงกดมีมาก การปะทุก็เกิดขึ้นตามมา เมื่อใดที่ประชาชนไร้สิทธิเสรีภาพ การลุกขึ้นเพื่อทวงสิทธิของประชาชนก็เกิดขึ้นตามมา
 
เราจึงขอท้าให้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ขัดกับความโปร่งใสของการทำประชามติ เพื่อจะได้รู้ว่าความจริงแล้วประชาชนคิดเห็นอย่างไร ท้ายนี้เราขอตั้งคำถามง่ายๆว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยึดโยงกับประชาชน ขอให้ท่านจงอธิบายการขั้นตอนและหลักเกณฑ์การแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญว่ายึดโยงกับประชาชนอย่างไรหากท่านตอบได้และกล้าตอบ ขอให้ท่านช่วยให้สัมภาษณ์อีกครั้งในวันพรุ่งนี้
 

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ธัชพงศ์ เพิ่มเติมได้ที่ :  ‘บอย’ จากร่วม คปท.จนนาทีสุดท้าย-ไปหอศิลป์ไม่กี่นาทีกลายเป็น‘ทาสแม้ว’

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทั่วโลกเสี่ยงวิกฤตหนักด้านยาปฏิชีวนะ พบ 'เชื้อดื้อยา' คร่า 700,000 ชีวิต/ปี

0
0

เมื่อไม่นานมานี้สื่อต่างประเทศพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องที่เชื้อโรคจำนวนมากเริ่มวิวัฒนาการจนสามารถต้านทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพได้หรือที่เรียกกันว่าเชื้อดื้อยา จนมีการประกาศผลการวิเคราะห์เรื่องปัญหาเชื้อโรคดื้อยา (AMR) ว่าถ้าหากไม่มีแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังก็อาจจะก่อให้เกิดวิกฤตอย่างหนักได้


ที่มาภาพ: http://www.cdc.gov/getsmart/community/about/antibiotic-resistance-faqs.html

23 พ.ค. 2559 ในเว็บไซต์ที่มีการวิเคราะห์เรื่องของปัญหาเชื้อดื้อยา amr-review.org ระบุว่าปัญหานี้เป็นภาระหนักมากโดยเฉพาะในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เริ่มมีการเติบโตเพราะอาจจะทำให้การศัลยกรรมหรือการติดเชื้อเล็กน้อยกลายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงทำให้ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นทั้งฝ่ายผู้ให้บริการสุขภาพและฝ่ายผู้รับบริการ

จากที่ก่อนหน้านี้วิทยาการทางการแพทย์สามารถเอาชนะเชื้อโรคได้มาโดยตลอด 50 ปี แต่ปัจจุบันการดื้อยามีเพิ่มมากขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 50,000 คนต่อปีจากการที่เชื้อโรคดื้อยาจากการสำรวจในยุโรปและสหรัฐฯ และมีการประเมินว่าในระดับโลกอาจจะมีผู้เสียชีวิตราว 700,000 คนต่อปีในกรณีเชื้อโรคดื้อยา

เรื่องนี้ทำให้แซลลี เดวีส์ อธิบดีกรมการแพทย์ของอังกฤษกล่าวว่าพวกเขามาถึงจุดอันตรายแล้วและควรต้องมีปฏิบัติการอะไรบางอย่างในระดับโลกเพื่อทำให้ภาวะเชื้อโรคดื้อยาแผ่ขยายออกไปช้าลง ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการในเรื่องนี้แล้วก็อาจจะส่งผลให้การเสียชีวิตในกรณีนี้มีเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 ล้านคนภายในปี 2593

สาเหตุหนึ่งคือการใช้ยาปฏิชีวนะทั่วโลกมากเกินไปจนเป็นเหตุเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อจนสามารถต้านยาได้ แพทย์ในประเทศไทยเคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ต่อสื่อ สกายนิวส์ว่า การที่เชื้อโรคที่ต้านทานยาได้อาจจะทำให้เกิด "การล่มสลายของระบบการแพทย์สมัยใหม่" ได้ถ้าหากไม่มีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนในเรื่องการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของเชื้อโรคเหล่านี้

สกายนิวส์ยังได้สัมภาษณ์ พญ. วารุณี วานเดอพิทท์ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ ผู้ที่บอกว่าเธอต้องเจอกรณีเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเป็นกรณีของการติดเชื้อที่สามารถรักษาได้ และถ้าหากไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อด้านการแพทย์สมัยใหม่

"คุณจะไม่สามารถรักษาแบบไอซียูได้อีกต่อไป คุณจะไม่สามารถได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ คุณจะไม่สามารถได้รับการผ่าตัด" วารุณีกล่าว

นักวิจัยระบุว่าปัญหาเชื้อดื้อยานั้นเกิดขึ้นหนักเป็นพิเศษในอินเดียและจีน อีกทั้งยังเกิดขึ้นพอสมควรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยิ่งอยู่ในโลกที่เชื่อมต่อไร้พรมแดนก็ทำให้การจำกัดเชื้อดื้อยาทำได้ยากขึ้น

ในประเทศไทยมีการใช้งบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายในการพึ่งพายาปฏิชีวนะมากเกินไป โดยที่แพทย์เตือนว่าการขายยาปฏิชีวนะโดยไม่มีใบสั่งยาจะเพิ่มความเสี่ยงในการนำไปใช้อย่างผิดวิธีและทำให้แบคทีเรียกลายพันธุ์ได้ มีการประเมินว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโรคที่ดื้อยา 10,000 - 35,000 ราย ในแต่ละปี

นพ.กำธร มาลาธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลรามาธิบดีในกรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ต่อสกายนิวส์ในเรื่องการใช้ยาผิดๆ ว่า บางทีคนไข้ก็ทานยาเม็ดเดียวแทนที่จะทานสองเม็ด ซึ่งจะส่งผลแย่กว่าทานยาแค่ 2 วันแทนที่จะทานยา 5 วันเสียอีก เพราะคนไข้จะได้รับยาที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่าจำนวนปกติทำให้แบคทีเรียดื้อยาที่คนไข้ทานได้มากขึ้น ในเรื่องนี้ นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ประธานสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เช่นกันว่าควรมีการสั่งห้ามการขายยาโดยตรงโดยไม่มีใบสั่งยาและควรมีการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเชื้อดื้อยามากขึ้น

นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ระบุถึงเรื่องนี้ว่าสาเหตุที่เมื่อช่วงราว 50 ปีที่ผ่านมาการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ลดลงไม่ได้เป็นเพราะยาปฏิชีวนะแต่เป็นเพราะระบบจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดีขึ้นอย่างบ้านเรือน ท่อน้ำทิ้ง ระบบน้ำสะอาด เป็นสิ่งที่ช่วยลดเชื้อวัณโรคและอหิวาตกโรคที่แพร่หลายมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19

ดิอิโคโนมิสต์ระบุต่อไปว่าการที่เชื้อดื้อยานี้มีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างเจ็บคอเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย เรื่องการปศุสัตว์ ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ โดยที่สกายนิวส์ประเมินว่าน่าจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการปศุสัตว์ราวร้อยละ 70 ทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่เนื้อสัตว์จะมีแบคทีเรียที่ดื้อยาปนมาด้วย

ในบทความของดิอิโคโนมิสต์ชี้ว่าปัญหานี้มีความเกี่ยวโยงกับเรื่องของตลาดยาด้วย การที่เชื้อโรคมีความสามารถดื้อยาเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของตัวผู้ใช้ยาเองที่ไม่ได้ใช้ยาให้ครบตามจำนวนที่กำหนดเพราะคิดว่าหายจากอาการที่เป็นแล้วแต่ในความเป็นจริงเชื้อดื้อยายังคงมีชีวิตอยู่ เมื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้ง่ายๆ จึงหันมาผลิตยาที่ฆ่าเชื้อได้ดีขึ้นแม้แต่ในเชื้อที่ดื้อยาตัวอื่น แต่เนื่องจากมันมีราคาแพงจึงพยายามเก็บไว้ในกรณีเจ็บป่วยที่รักษาได้ยากลำบากจริงๆ เท่านั้น แต่มันก็ทำให้ยาพวกนี้ขายได้น้อยและไม่ส่งเสริมให้บริษัทยาทำการวิจัยและพัฒนาตัวยาเหล่านี้ อย่างเช่นตัวยา อาร์เทมิซินิน ที่ใช้รักษามาลาเรียแทนยาตัวเดิมหลังจากที่เชื้อปรสิตต้านทานยาตัวเดิมได้นั้นมาจากนักวิชาการของจีนไม่ได้มาจากบริษัทยาตะวันตก

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการแก้ไขปัญหากระทำได้โดยหลายวิธี เริ่มตั้งแต่การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะในการเร่งการเจริญเติบโตในปศุสัตว์ซึ่งทางสหภาพยุโรปมีการสั่งห้ามในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว ควรมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นทั้งในคนและสัตว์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อตั้งแต่แรก ในสถานพยาบาลเองที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อต้านทานโรคก็ควรจะมีระบบอนามัยที่ดีขึ้นกว่านี้ รัฐบาลแต่ละประเทศควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่ายาปฏิชีวนะทำงานอย่างไรและพวกเขาจะช่วยลดการแพร่เชื้อที่ต้านทานโรคได้อย่างไร

ในแง่นโยบายส่งเสริมจูงใจนวัตกรรมยานั้นมีการประกาศตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาแล้วว่ามีบริษัทยาและบริษัทตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ 85 แห่ง ลงนามให้สัญญาว่าจะมีปฏิบัติการต่อปัญหาเชื้อโรคดื้อยา และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข้อเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษ จิม โอนีลล์ ซึ่งเสนอให้มี "รางวัลเข้าสู่ตลาด" แก่บริษัทที่ผลิตยาปฏิชีวนะใหม่ที่ใช้งานได้ออกมาโดยรางวัลดังกล่าวมีมูลค่า 800 - 1,300 ล้านดอลลาร์โดยยังไม่นับรวมรายได้จากการขายยา

โอนีลล์ ยังเสนอให้มีการเพิ่มทุนการวิจัยโดยรัฐบาลอังกฤษและจีนเพื่อส่งเสริมเทคนิคการวินิจฉัยโรคที่มีราคาถูกลง เช่น ถ้าหากว่าหมอสามารถบอกได้ทันทีว่าการติดเชื้อนั้นเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียก็จะสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าควรหรือไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะไม่มีผลกับไวรัส) รวมถึงทราบได้ว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะแบบไหนทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายยาที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาบางส่วนได้และทำให้สามารถจำกัดจำนวนของเชื้อดื้อยาประเภทใหม่ๆ ลงได้ด้วย

ในเว็บไซต์ศูนย์ป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ มีหน้าเพจที่ให้ความรู้เรื่องเชื้อโรคดื้อยาโดยเฉพาะ โดยระบุว่าการที่เชื้อโรคดื้อยานั้นเป็นการที่เชื้อโรคเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้ยาที่คนไข้ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพน้อยลงทำให้เชื้อบางส่วนเหลือรอด เมื่อเชื้อเหล่านี้อยู่รอดได้ก็จะแบ่งตัวเพิ่มและทำอันตรายได้มากขึ้น ทำให้มีตัวเชื้อโรคที่ดื้อยาเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Antibiotics : When the drugs don’t work , The Economist, 21-05-2016
http://www.economist.com/news/leaders/21699116-how-combat-dangerous-rise-antibiotic-resistance-when-drugs-dont-work

Antibiotic Resistance Becoming Global 'Crisis', Sky News, 12-05-2016
http://news.sky.com/story/1694324/antibiotic-resistance-becoming-global-crisis

เว็บไซต์ Review on Antimicrobial Resistance
http://amr-review.org/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Antibiotic Resistance Questions and Answers, CDC
http://www.cdc.gov/getsmart/community/about/antibiotic-resistance-faqs.html
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวิตร ชี้ 2 ปี คสช.เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าประยุทธไม่เข้ามา เราจะไม่มีความสุขได้เลย

0
0
23 พ.ค.2559 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเนื่องในวันครบรอบ 2 ปี คสช. ขอให้คสช.ทำตามสัญญา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ว่า แล้วอะไรที่ไม่ทำบ้าง เรื่องเศรษฐกิจก็เขียวประเทศเดียว ดีหรือไม่  รัฐบาลก็พยายามทำ เขียวอยู่ประเทศเดียวแล้วบอกไม่ดีจะให้ทำอย่างไร จะให้แดงไปกับเขาหรือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจก็ออกมาบอก รัฐบาลก็จะทำต่อ และจะทำให้ดี แต่สัญญาณดีไม่ดีต้องไปถาม ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่ถามตน
 
กรณีคำถามว่านอกจากยิ่งลักษณ์แล้วยังมีหลายฝ่ายแสดงความห่วงใย และอยากเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาลมากกว่านี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีอย่างไร ก็ออกมาเต็มไปหมด ที่ตนพูดมา 2 ชั่วโมงนี่ไม่มีผลงานหรือ ส่วนเรื่องปฏิรูปก็ปฏิรูปไป ทุกอย่างจะจบวันเดียวไม่ได้ การปฏิรูปใช้เวลาอีก 5-10 ปี ยังไม่จบ
 
ส่วนที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเนื่องในวับครบรอบ 2 ปี คสช. และมีกระแสข่าวว่าเกิดการปะทะกับกลุ่มสนับสนุน คสช. นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่มีหรอก นิดหน่อย ตนบอกแล้วว่าอย่าสน ช่วงนี้ทุกอย่างกำลังเดินตามโรดแม็ป จะมีการทำประชามติ แล้วจะมาอะไรกันอีก เมื่อเห็นว่ามีทางเดินแล้ว จะมาบอกว่าทางไม่มี  ก็ไม่เป็นไร
 
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึง ซุปเปอร์โพล ระบุประชาชนอยากให้คสช.อยู่ต่ออีก 2 ปีว่า ทำยังไงจะอยู่ต่อ กติกามีไหม ต้องทำตามกติกา และโรดแม็ปทุกเรื่อง
 

ถ้าวันนั่นนายกฯ ไม่เสียสละเข้ามา เราจะไม่สามารถมีความสุขได้เลย 

ขณะที่ในการบรรยายหัวข้อ “การขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยด้วยรากฐานความมั่นคง” โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้เรายอมรับว่าประเทศของเราไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัตินั้นเราพยายามทำให้เป็น ถ้าวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตัดสินใจเข้ามาเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ วันนี้ก็ไม่รู้ว่าประเทศของเราจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราต้องยอมรับว่านายกฯท่านเป็นผู้เสียสละ ถ้าท่านไม่เข้ามา เราจะไม่สามารถมีความสุขได้เลย ทั้งนี้ แม้ว่าพวกเรามาอย่างไม่ถูก แต่ความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้านั้นมีมากมายมหาศาล ตนไม่ได้อวยให้ฟัง แค่พูด มีคนบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่ตนก็เห็นตัวเลขเขียวอยู่ และเขียวอยู่ประเทศเดียวด้วย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นศ.ราม-NDM ร้อง UN เจรจารัฐไทยเปิดให้ปชช.วิจารณ์ร่างรธน. คืนอำนาจเลือกตั้งโดยเร็ว

0
0

23 พ.ค. 2559 เมื่อเวลา 13.30น. กลุ่มเสียงจากหนุ่มสาว นำโดย นันทพงษ์ ปานมาศ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและสมาชิกกว่า 10 คน พร้อมด้วยสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่(NDM) อาทิ รังสิมันต์ โรม ชลธิชา แจ้งเร็ว ชนกนันท์ รวมทรัพย์ เดินทางมายื่นหนังสือต่อ ผู้แทนองค์กรสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นวิพากวิจารณ์ต้องไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นสิทธิของประชาชน และขอให้สหประชาชาติเจรจาให้รัฐบาลเร่งคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

Voice TVรายงานด้วยว่า นันทพงศ์ ระบุว่าสืบเนื่องจากในรอบสองปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาล คสช.ได้เข้ายึดอำนาจพร้อมละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนัก มีการจับกุมคุมขัง คุกคามตรวจค้นบุคคลโดยไม่ชอบ และยิ่งในบรรยากาศการลงประชามติ ยังมีการออกกฎหมายที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าไม่เป็นผลดีต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศ
 
นอกจากนี้ นันทพงศ์ ยังระบุว่าที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้เคยยื่นเรื่องไปยังกลไกของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการตอบสนอง จึงเห็นว่ามีแต่เพียงกลไกของสหประชาชาติเท่านั้น ที่จะส่งเสียงมาถึงรัฐบาลไทยอย่างมีความหมายได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารจำคุกลุงมอบดอกไม้ 3 เดือน รอลงอาญา 1 ปี ปรับสี่พัน

0
0

ศาลสั่งจำคุกชายวัย 78 ปี สามเดือน แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี  เหตุมอบดอกไม้ให้พ่อน้องเฌอ ในกิจกรรม 'พลเมืองรุกเดิน' รณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และนั่งอยู่ในวงพูดคุยของนักกิจกรรม  

23 พฤษภาคม 2559  ศาลทหารกรุงเทพ ได้มีการอ่านคำพิพากษาในคดีของนายปรีชา‬ แก้วบ้านแพ้ววัย 78 ปี ว่ามีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 ซึ่งมีอัตราโทษสำหรับความผิดที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง ต่างจากในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2557 จึงอาศัย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ให้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 8,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท

แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรง จึงสมควรให้โอกาสจำเลยปรับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนดเวลา 1 ปี

นายปรีชา‬ ได้เล่าว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558  ตนได้ไปดู นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ ทำกิจกรรม‘พลเมืองรุกเดิน’ เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ยุติการนำพลเรือนขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร โดยขณะที่พันธ์ศักดิ์ ได้เดินมาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระหว่างนั้นมีคนนำดอกไม้มามอบให้นายพันศักดิ์ พร้อมกับนำมาแจก และเชิญชวนให้นายปรีชาที่ยืนดูอยู่ นำดอกไม้ให้นายพันศักดิ์ด้วย นายปรีชาจึงได้นำดอกไม้ที่ได้รับแจกไปยื่นให้หนึ่งดอก จากนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยด้วย ตนจึงพูดคุยด้วยดีเนื่องจากไม่คิดว่าเป็นการกระทำความผิดแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขอเบอร์โทรศัพท์ นายปรีชาจึงได้ให้ไปโดยไม่ได้คิดอะไร 

จากนั้นกลุ่มของนายพันธ์ศักดิ์ได้เดินต่อไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลานปรีดี พนมยงค์ ปรีชาจึงเดินตาม เข้าไป แต่ได้แยกไปกินข้าวเมื่อเดินกลับออกมาพบกลุ่มนายพันธ์ศักดิ์ประมาณยี่สิบคนนั่งคุยกันอยู่โดยไม่ได้มีการกล่าวปราศัย ไฮด์ปาร์ก แต่อย่างใด ตนจึงได้เข้าไปนั่งฟังเฉยๆ จึงเป็นเหตุให้ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมอยู่ในที่ชุมนุม

จากพฤติกรรมดังกล่าวนายปรีชาได้ถูกนำมาตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดยุยงปลุกปั่นตาม  ป.อ.ม.116 (3) และร่วมกันฝ่าฝืนประกาศฯ ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557

หลังทราบผลการพิจารณาคดี วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้กล่าวว่า เหตุที่จำเลยตัดสินใจไม่ได้สู้คดีเนื่องจาก เมื่อศาลทหารได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง โดยในคำฟ้องไม่มีความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตาม ป.อ. มาตรา 116 (3)   แต่ฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ตามประกาศที่ 7/2557 เพียงข้อหาเดียว เมื่อปรึกษากับลูกความแล้ว มีความเห็นตรงกันว่า การสู้คดีเป็นภาระหนักสำหรับลูกความที่เป็นคนชรา มีปัญหาสุขภาพ ประกอบกับประเมินว่าข้อหาที่ฟ้องน่าจะได้รับการปราณีจากศาลลงโทษไม่หนักนักจึงตัดสินใจยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ได้แสดงความรู้สึกเป็นกังวลใจ ว่าหากมีการใช้การตัดสินคดีข้างต้นมาเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันต่อไป 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สตรีศรีสยาม' จี้สหรัฐเรียกทูตฯกลับ หลังวิจารณ์การละเมิดสิทธิในไทย

0
0
 
 
23 พ.ค.2559 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Banrasdr Photo' รายงานว่า วันนี้ 12.00 น. ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  กลุ่มสตรีศรีสยาม (W Thailand) พร้อมด้วยประชาชนประมาณ 50 คน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้เรียกตัว กลิน ที.เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กลับประเทศ จากกรณีที่ เดวีส์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าทางสหรัฐฯมีความกังวลในเรื่องการละเมิดสิทธิในไทย การที่รัฐบาลไทยจับกุมกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง (อ่านรายละเอียด : ทูตสหรัฐยันจุดยืนกังวลการจับกุมนักเคลื่อนไหวไทย ชี้ขัดต่อพันธกรณีตามหลักสากล)
 
โดย ตัวแทนกลุ่มสตรีศรีสยาม กล่าวว่า เดวีส์ได้แสดงพฤติกรรมไร้ซึ่งมารยาททางการทูต ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง จึงขอให้ทางสหรัฐฯทบทวนและคัดเลือกผู้ที่เข้าใจบริบทของประเทศไทยมาทำหน้าที่ และยังต้องการให้นายเดวีส์ออกมาขอโทษชาวไทย พร้อมกับยืนยันว่าการมาแสดงออกครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดๆ ต่อจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ให้ตัวแทนของกลุ่มเข้าไปยื่นหนังสือภายในสถานทูต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เราจะไปทางไหน#6: เกษียร เตชะพีระ ‘Deep state ปะทะ Deep society’ สู้อย่างไรในศึกยาว

0
0

จนถึงตอนนี้เชื่อว่าไม่มีใครกล้ารับประกันว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับมีชัย’ จะเกิดขึ้นแน่นอน 100% หรือไม่ เพราะอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ในยุคเปลี่ยนผ่านนี้และภายใต้ ม.44 ส่วนการทำนายผลประชามติก็ไม่ง่าย ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจ คสช.ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับมาตรการ ‘ประชาสัมพันธ์’ ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐที่บุกเคาะถึงประตูบ้าน แย่ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสังคมยังมืดแปดด้านต่อคำถามว่าหากประชามติไม่ผ่านแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

ท่ามกลางสภาวะร่อแร่ของ ‘ตัวประกัน’ ที่เรียกว่าประชาธิปไตย หลายคนอึดอัดและเฝ้าแต่ถามว่าแล้วเราจะหาทางออกจากจุดนี้อย่างไร

แม้แต่ เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และอดีตนักศึกษารุ่น “14 ตุลา” ก็ไม่อาจให้คำตอบระยะสั้นได้ชัดเจนนัก แต่เขาได้พาเราวิเคราะห์ให้เห็นเส้นทางประชาธิปไตยขึ้นๆ ลงๆ ยาวนานในประวัติศาสตร์การเมือง โดยใช้กรอบวิเคราะห์ที่กำลังโด่งดังในตอนนี้คือ ‘รัฐพันลึก’ หรือ Deep state เพื่อให้เห็นรากของปัญหา และยังมีส่วนที่เขาคิดต่อ นั่นคือ Deep society ที่ปะทะขัดแย้งกับ Deep state มายาวนาน  และแม้บทสนทนาไม่อาจหาคำตอบสำเร็จรูปได้ว่าการปะทะนี้จะจบลงตรงไหน และโดยเฉพาะเมื่อไม่มี 'อำนาจนำ' เหมือนอดีต แต่อย่างน้อยเบื้องต้นก็มีคำชี้ชวนให้มองศึกนี้ในระยะยาวและรักษาหลักบางอย่างเพื่อให้สังคมไทยสู้กันในนานโดยไม่ต้องสูญเสียเพิ่มเติมอีก

0 0 0 0 0 0 0

ทั้งหมดนี้คือการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ (hegemony) ไม่มีพลังทางการเมืองที่จะชักจูงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศได้โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ยอมรับ พอขาดพร่องอันนี้ไปก็วิ่งหาการทดแทน เพราะไม่ไว้วางใจว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะยอมรับระเบียบการเมืองเดิมที่เป็นอยู่ได้ แต่ก่อนนี้ยังมีอำนาจนำที่กล่อมเกลา ชักจูง เชื่อมโยงเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งให้ยอมรับระเบียบอำนาจบางอย่างได้ ในภาวะที่อำนาจนำเสื่อมถอยก็มองหากติกาใหม่ขึ้นมา ทางออกก็คือสร้างระเบียบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง

 

ขอเริ่มต้นที่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายหลายประเด็น อาจารย์คิดว่ามันสะท้อนอะไรบ้าง

เกษียร:คิดว่าแนวโน้มหลักไม่เปลี่ยน ตั้งแต่ 2549 ถึงปัจจุบัน เป็นความพยายามที่จะหาทางออกจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่มีปัญหาและไม่เวิร์ค ถ้าพูดด้วยภาษาของ คปค.สมัยนั้นคือ ทำระบอบประชาธิปไตยให้ปลอดภัยสำหรับสถาบันกษัตริย์ อันนี้เป็นโจทย์ที่อธิบายให้ตัวเขาเอง แล้วก็อยากดัดแปลงประชาธิปไตยให้เหมาะกับการคงอยู่ของสิ่งสำคัญในบ้านเมืองทั้งหลาย

ทิศทางแก้ปัญหาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือทำให้มันไม่เป็นประชาธิปไตย ผมมักจะล้อว่านักรัฐศาสตร์พูดกันเรื่อยเลยว่าทำรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกว่าเดิม (transition to democracy) แต่ที่ผมดูในรอบสิบปีที่ผ่านมา มันเป็นการเปลี่ยนผ่านไปเป็นระบอบไม่ประชาธิปไตย (transition to non-democracy) มากกว่า  แล้วหลังรัฐประหารของ คสช. จะเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับของคุณบวรศักดิ์ก็ดี คุณมีชัยก็ดี หรือข้อเสนอของคสช.ที่แทรกเข้ามาก็ดี ทิศทางหลักไม่เปลี่ยน มุ่งหาคำตอบทางการเมืองให้กับประเทศโดยลดความเป็นประชาธิปไตยลง รู้สึกว่าความมั่นคงของสิ่งที่สำคัญของประเทศจะได้มาโดยระบอบที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย

นั่นแปลว่า พูดเป็นรูปธรรมก็คือ ย้ายอำนาจจากสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของเสียงข้างมากไปไว้กับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่ใช่ของเสียงข้างมาก พูดเป็นภาษาของเสื้อแดง นปช.คือ ย้ายไปให้กับสถาบันที่เขาเรียกว่า ‘อำมาตย์’ ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก อาจจะเป็นตุลาการ อาจจะระบบราชการ อาจจะกองทัพ อาจจะเป็นเครือข่ายเอ็นจีโอ ซึ่งทำงานกับภาคประชาชนแต่ไม่ได้ความชอบธรรมโดยผ่านการเลือกตั้งเป็นผู้แทน อาการแบบนี้หรือแนวโน้มแบบนี้ คิดว่าแสดงออกชัดมาตั้งแต่ 2549 แล้ว มีเวอร์ชั่นเลือกตั้ง 30 แต่งตั้ง 70 ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล มีเวอร์ชั่นแต่งตั้ง 100 ทั้ง 100 ของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วก็มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่คุณประสงค์ สุ่นสิริ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างตอนนั้น

คำถามคือว่า เมื่อย้ายเอาอำนาขออกมาจากสถาบันที่เป็นของเสียงข้างมาก พูดง่ายๆ ว่า สภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองทั้งหลาย เพราะคิดว่าคนเหล่านี้ไม่น่าไว้วางใจ คอร์รัปชัน แล้วจะไปโปะไว้ที่ไหน เขาก็เลือกไปโปะไว้กับตุลาการบ้าง ระบบราชการประจำหรือกองทัพบ้าง หรือเครือข่ายเอ็นจีโอบ้าง ฉะนั้น หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา พอมีร่างรัฐธรรมนูญ ผมก็ดูว่าจะไปทิศทางใหม่ไหม? แต่แล้วแทนที่จะแก้ปัญหาความสับสนตึงเครียดของการเมืองไทยด้วยการทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กลับทำให้มันเป็นประชาธิปไตยน้อยลง มันชัดเจนแล้วถึงทุกวันนี้ว่าเขาก็เลือกทางเดิม

คิดว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญถอยหลังหนักกว่าที่เคยเป็นมาไหม

หนักกว่าเดิมไหม ผมคิดว่าก็มีความหลากหลายผันแปร variation คืออยู่ที่ว่าเครือข่ายหรือกลุ่มที่เข้าไปกุมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความไว้วางใจหรือศรัทธาต่อสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสถาบันไหน อย่างที่ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า ฉบับของคุณบวรศักดิ์นั้นมอบอำนาจให้กับตัวแทนเครือข่ายเอ็นจีโอ พูดให้เขาโมโหเลยก็ได้ว่าคือ ขุนนางเอ็นจีโอ สภาคุณธรรมอะไรทั้งหลาย เอาอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากมาฝากไว้ให้คนเหล่านี้ใช้แทน ส่วนฉบับของคุณมีชัย ผมคิดว่าฝากไว้กับตุลาการภิวัตน์ ฝากไว้กับศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ทางเลือกของคสช.ก็เป็นทางเลือกแบบหวนหาความมั่นคงแบบประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยป๋าเปรม ฝากไว้กับวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และหวังว่าแกนวุฒิสภาจะเป็นคนของเขา

ตอนแรกเราอาจจะงงว่าทำไมเวอร์ชันของคุณบวรศักดิ์ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งที่แต่งตั้งคุณบวรศักดิ์เป็นหัวหน้ายกร่างเอง ผมคิดว่ามันอาจเกิดความไม่ไว้วางใจภายในกันเอง กลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลุ่มอื่นไม่ไว้วางใจเครือข่ายเอ็นจีโอ กลัวว่าเอาอำนาจไปแปะไว้กับเอ็นจีโอแล้วคุมไม่ได้ก็เลยโหวตคว่ำลง ทีนี้ก็เป็นการรอมชอมระหว่างฉบับมีชัยกับคสช. เอาอำนาจไปแปะไว้กับตุลาการส่วนหนึ่ง ข้าราชการประจำส่วนหนึ่ง กองทัพอีกส่วนหนึ่ง ถ้าไปทิศทางนี้เขาคงรู้สึกว่าจะแก้ปัญหาได้

ทั้งหมดนี้คืออะไร ทั้งหมดนี้คือการเมืองที่ไม่มีอำนาจนำ (hegemony) ไม่มีพลังทางการเมืองที่จะชักจูงใจคนส่วนใหญ่ของประเทศได้โดยที่ไม่ต้องบังคับให้ยอมรับ พอขาดพร่องอันนี้ไปก็วิ่งหาการทดแทน เพราะไม่ไว้วางใจว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งจะยอมรับระเบียบการเมืองเดิมที่เป็นอยู่ได้ แต่ก่อนนี้ยังมีอำนาจนำที่กล่อมเกลา ที่ชักจูง ที่เชื่อมโยงเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งให้ยอมรับระเบียบอำนาจบางอย่างได้ ในภาวะที่อำนาจนำเสื่อมถอยก็มองหากติกาใหม่ขึ้นมา ทางออกก็คือสร้างระเบียบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง มันก็เป็นอย่างนี้

พูดภาษาที่มีนักวิชาการยืมไอเดียเรื่อง ‘รัฐพันลึก’ Deep State มาใช้ก็ได้ คำแปลนี้มาจากอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งคิดว่าแปลได้ลงตัวดีมาก ไอเดียเรื่อง Deep State มาจากตุรกี แล้วพวกนักวิเคราะห์เอาไปใช้กับละตินอเมริกา พูดง่ายๆ ว่ามันคือกลไกรัฐทั้งหลาย อาจเป็นระบบราชการ อาจเป็นตุลาการ อาจเป็นกองทัพ อาจจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ พอไปอยู่ใต้ระบอบการเลือกตั้งประชาธิปไตย โครงสร้างส่วนลึกเหล่านี้มีความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความมั่นคง หรือระเบียบการเมือง หรือผลประโยชน์ที่ไม่ไปกันกับระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง ดังนั้นมันจึงกลายเป็นว่า เวลาคุณมองดูประเทศเหล่านี้ มองดูตุรกี มองดูประเทศในละตินอเมริกาบางประเทศ ข้างบนจะเป็นการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่ข้างล่างจะมีโครงสร้างส่วนลึกซึ่งไม่ค่อยยอมรับระเบียบนี้เท่าไร ดังนั้นจะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังเหล่านี้โดยตำแหน่งฐานะในโครงสร้างรัฐที่มีอยู่ เคลื่อนไหวในทิศทางที่ท้ายที่สุดนำมาซึ่งความสั่นคลอนของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง รัฐบาลจากการเลือกตั้งมันก็มีปัญหาของมัน เรื่องคอร์รัปชัน เรื่อง abuse of power คุณทักษิณก็ทำ เล่นงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงครามต่อต้านยาเสพติดที่เกิดการวิสามัญฆาตรกรรมคนต้องสงสัยตั้งเยอะ คุณยิ่งลักษณ์ก็มีปัญหากฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง อันนั้นคืออาการที่แสดงออกของระเบียบการเมืองจากการเลือกตั้งที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งพอ เสียงข้างมากก็สามารถ abuse power ได้

เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ก็เป็นจังหวะที่ “รัฐพันลึก” ทั้งหลายจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ผมว่าช่วงที่ชัดที่สุดคือ ช่วง กปปส.ชุมนุม ถ้าคุณไปดูจะเห็นปฏิบัติการองค์กรของรัฐต่าง ๆ  กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามปกติ กองทัพมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ตุลาการมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม ในสถานการณ์การเมืองที่คับขันบางอย่างที่ระเบียบการเมืองจากการเลือกตั้งกระทำการที่ไม่เหมาะสม รัฐพันลึกก็จะขยับเขยื้อนในทิศทางที่ผิดความคาดหมายของระเบียบปฏิบัติปกติทั่วไป และในที่สุดก็เกิดสถานการณ์ไม่ปกติ เกิดสถานการณ์ที่จำเป็นต้องหยุดระเบียบการเมืองจากการเลือกตั้งลง อันนี้คือไอเดียเรื่องรัฐพันลึก ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น อาจเป็นเครือข่ายที่อยู่รอบนอกหรืออาจเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนก็ได้

ไอเดียนี้น่าฟังและใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ได้ดี ผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์นิธิเขียนถึงต่อมาที่ว่า 10 ปีที่ผ่านมารัฐพันลึกมันไม่ค่อยลึกเท่าไร (หัวเราะ) ถ้าคิดเป็นเรือดำน้ำ มันโผล่มาอยู่บนผิวน้ำแล้ว เผยตัวออกมาให้เห็นชัดเจนเลย ถึงทุกวันนี้สิ่งที่เรียกว่ารัฐพันลึก คุณพล็อตได้ คุณรู้ว่าใครเป็นใคร ถึงจุดหนึ่งก็ปรากฏตัวเปิดเผยมารับตำแหน่งบริหารรัฐบาลอย่างชัดเจน นั่งใน ครม. กมธ. สปท. สนช. กรธ. เต็มไปหมด ในแง่หนึ่งเรื่องรัฐพันลึกเมื่อประยุกต์ใช้เมืองไทยนั้นสิบปีที่ผ่านมาไม่ลึกเท่าไร เห็นหน้าค่าตากันชัดเจนและกลายเป็นอำนาจทางการ

ในแง่กลับกัน ผมอยากเสนอว่าเรามี ‘สังคมพันลึก’ ด้วย ผมพูดในแง่ดี เราไม่เพียงมี deep state แต่เรามี deep society ด้วย อยากชวนเข้าใจด้วยตัวอย่างเหตุการณ์นี้ว่า เมื่อสองวันก่อนมีคนเอารูปของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สมัยหนุ่มฟ้อหลังจบจากฮาวายใหม่ๆ นั่งอยู่ในเวทีเสวนาคาดว่าหอประชุมใหญ่ คนนั่งขนาบสองสามคน คนหนึ่งคือ มารุต บุนนาค เป็นผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานรัฐสภา คนถัดมาคือสุวัฒน์ วรดิลก หรือรพีพร นักเขียนนิยายชื่อดัง อีกข้างคือ สุภา สิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นี่คือพลังประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้าในธรรมศาสตร์และสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นคือการอภิปรายหลังจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2526 เป็นงานรำลึกอาจารย์ปรีดี ผมพูดถึงสิ่งนี้ขึ้นมาเพราะจำได้แม่นว่าหลังผมและเพื่อน ๆ รุ่นคนเดือนตุลาออกจากป่า คนเหล่านี้ให้ความโอภาปราศรัยดูแล ให้กำลังใจ คุณทวีป วรดิลก เปิดบ้านให้พวกผมกับเพื่อนที่เพิ่งออกจากป่ามาไปพูดคุย ปลอบโยน ให้กำลังใจ คุณทวีปเขียนงานกลอนเปล่าให้กำลังใจคนออกจากป่าว่าความพ่ายแพ้เกิดขึ้นได้ขอให้ต่อสู้เพื่อภารกิจประชาธิปไตยต่อไป คุณสุภา สิริมานนท์ เปิดบ้านให้ผมเข้าไปสัมภาษณ์เพื่อทำวิทยานิพนธ์ศึกษาขบวนการสังคมนิยมฝ่ายซ้ายหลังปี 2490 คนเหล่านี้คือ มรดกที่หลงเหลืออยู่ของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และหลังจากนั้นพวกเขาก็โดนปราบปราม หลายคนติดคุก พวกเขาก็ลงไปอยู่ข้างล่างเหมือนเรือดำน้ำ เป็น deep society แต่เมื่อมีโอกาสพวกเขาก็กลับมาแสดงตัวตนของเขา กลับมาโอบอุ้มแสดงความเห็นอกเห็นใจคนรุ่นหลัง อันนี้มีอยู่ในสังคมไทยเยอะมาก เพราะสังคมไทยในแง่หนึ่งเราก็มีเนื้อนาบุญ เราผ่านการต่อสู้ประชาธิปไตยหลายระลอก ปี 2475, ช่วงเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง, ทศวรรษ 2490, 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ คนอย่าง ธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน คนอย่างปริญญา เทวนฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คนอย่างสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่อยู่ ม.เที่ยงคืน คือ มรดกของพฤษภาทมิฬ หรือล่าสุด หลังเกิด คสช. ผมพบว่าเพื่อนรุ่นผมที่เคยเข้าป่า ช่วยกันจัดกิจกรรมให้กำลังใจ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล รวมถึงระดมเงินทุนช่วยเหลือผู้ต้องหาคดีการเมือง

ความขัดแย้งครั้งนี้ยาวนานนัก อย่าคิดว่า deep state ชนะแล้วโดยง่าย สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเราจะยืนยาวไปอีกหลายปี มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง deep state กับ deep society ไม่จบเร็ว ไม่จบง่าย บรรยายกาศที่ผ่านมาบางทีก็ทำให้เราหดหู่หมดกำลังใจ สิบปีก็อยู่กันตรงนี้ เป็นระลอกๆ ไม่จบ แต่น่าสนใจว่าทำตั้งหลายรอบไม่ยักจบสักทีใช่ไหมครับ

 

ประเด็นของผมคือ ความขัดแย้งครั้งนี้ยาวนานนัก อย่าคิดว่า deep state ชนะแล้วโดยง่าย สิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเราจะยืนยาวไปอีกหลายปี มันเป็นการต่อสู้ระหว่าง deep state กับ deep society ไม่จบเร็ว ไม่จบง่าย บรรยายกาศที่ผ่านมาบางทีก็ทำให้เราหดหู่หมดกำลังใจ สิบปีก็อยู่กันตรงนี้ เป็นระลอกๆ ไม่จบ แต่น่าสนใจว่าทำตั้งหลายรอบไม่ยักจบสักทีใช่ไหมครับ พวกเขาเองก็คงรู้สึกอยู่ว่ามันน่าอึดอัด อยากให้จบเร็ว ๆ ไม่อย่างนั้นคุณปีย์ มาลากุล คงไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ดุเดือดยาวเหยียด ไม่อย่างนั้นหม่อมเต่า จัตุมงคล โสณกุล ก็คงไม่มาให้สัมภาษณ์เปิดเผยยาวเหยียด ทำไมมันยุ่งยากอย่างนี้ ไม่จบและชนะเบ็ดเสร็จสักที ก็เพราะมันมี deep society ไง

จะยกให้ฟังอีกอย่างสองอย่าง ถ้าคุณไปอ่านวิทยานิยพนธ์ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ตอนปริญญาโท เรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏฯ ก่อน 14 ตุลามันมีปรากฏการณ์อันหนึ่งที่น่าสนใจคือการขุดเอาหนังสือต้องห้ามเก่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเผยแพร่เยอะแยะไปหมดเลย มันหลุดมาได้ยังไง มันโดนแบนโดยคำสั่งสฤษดิ์ โดนยึดโดนเผาไปหมดแล้ว แต่เพราะมันมีคนรุ่นนั้นที่เหลืออยู่เขาเก็บหนังสือไว้ พอบรรยายกาศการเมืองผ่อนคลายลง สฤษดิ์เสียชีวิตไปแล้ว บรรยากาศมีเสรีภาพขึ้นบ้าง เขาก็เอาหนังสือเหล่านี้ส่งต่อให้เด็กอีกรุ่นที่สนใจ นี่ไง deep society

หรือแม้กระทั่งการเคลื่อนไหวของขบวนการมวลชน นปช. นปก.ที่ยึดโยงกับทักษิณ เป็นการเลือกตั้งที่มีคนไปโหวตให้กับพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทยเป็นสิบล้าน เป็นการเคลื่อนไหวที่มีมวลชนขยายไปเรื่อย คิดว่าหายไปเหรอ มันมีมรดก มี deep society นึกออกไหมครับที่มันพอกเป็นชั้นๆๆๆ พวกเขาก็เป็นตัวของเขาอย่างนั้น พวกเขาอยากได้ประชาธิปไตย อยากได้ระเบียบการเมืองที่พวกเขามีสิทธิเสรีภาพ มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น สถานการณ์การเมืองอาจจะเปลี่ยน บางช่วงลงไป deep ลงไปใต้ดิน บางช่วงไปอยู่ใน cyber space พล่านเต็ม cyber space เลย และ deep society เดี๋ยวนี้มันเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย เชื่อมโยงกับองค์กรต่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ผมคิดว่าเพราะเหตุนั้น ทำให้รัฐพันลึกวิตกกังวล พวกเขาก็เป็นของเขาอยู่แบบนี้ ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนักเขาก็เป็น deep society   สถานการณ์ดีหน่อยเขาก็เคลื่อนไหวของเขา พูดเรื่องประชาธิปไตย เขาคือป้า ๆ ลุง ๆ ที่ไปตามการชุมนุมของจ่านิว พวกมวลชนหน้าหอใหญ่ที่ปรากฏตัวตรงนั้นตรงนี้ ปัญหาคือ พอ deep state กลายเป็นรัฐทางการ คนเหล่านี้ถูกนิยามใหม่หมดเลยแม้ว่าเขาจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เป็นตัวของเขาแบบนั้น แต่พอระเบียบอำนาจข้างบนเปลี่ยน เขาถูกนิยามให้ ในทางกฎหมายเป็นอาชญากร ในทางการเมืองถูกนิยามให้เป็นภัยความมั่นคง กลายเป็นเป้าในการติดตามสอดส่องของหน่วยงานข่าวกรอง ตอนหลังคนที่โดนคดีความมั่นคงต่างๆ เยอะขึ้น มันคือการที่ deep state นิยามพื้นที่การเมืองใหม่ นิยามพลังต่างๆ ใหม่ แล้วไปเจอว่ามี deep society เต็มไปหมด

ผมไม่คิดว่าจะจบได้ไว จะยื้อกันไปอีกนาน ในความหมายที่ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะออกทางไหน ออกว่าผ่าน deep society ก็ยังอยู่ ออกว่าไม่ผ่าน deep state ก็อยู่ตรงนั้น มันไม่ใช่อะไรที่จะจบด้วยการชกหนึ่งยก เรากำลังพูดถึงอะไรที่จะต่อสู้กันอย่างยืดเยื้ออีกเป็นเวลายาวนานพอสมควร ดังนั้นข้อที่น่ากังวลที่สุด ไม่ใช่ว่าใครชนะ เพราะผมไม่คิดว่าใครจะชนะในเวลาอันสั้น แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือทำยังไงให้การต่อสู้นี้เป็นไปโดยสันติวิธี อันนี้สำคัญกว่า ผมไม่เห็นในระยะอันสั้น ไม่ว่าพลังฝ่ายนี้หรือฝ่ายโน้นต้องการเผด็จศึกเร็ว ต้องการให้จบเร็ว ผมเห็นแต่การต่อสู้ที่จะยืดยาวอีกพอสมควร ดังนั้นเรื่องที่น่าห่วงที่สุดคือ จะต่อสู้กันอย่างไรให้เป็นไปโดยสันติ

สำหรับผมคิดว่าต้องรักษา human rights ให้ได้ ผมไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยด้วยซ้ำนะ ผมพูดถึงอะไรที่เบสิกกว่านั้นเยอะเลย ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีหลักสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ ถ้ารักษาสิทธิมนุษยชนไม่ได้ พัง นี่ไม่ใช่อะไรที่เป็นคำหรูที่ฝรั่งพูดแล้วเรามาเห่อ แต่สำหรับผมมันเป็นอะไรที่คอขาดบาดตายเลย .... นี่เป็นแค่ศึกย่อยเท่านั้น จนกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่าอะไรคือระเบียบการเมืองที่ deep state และ deep society จะอยู่ร่วมกันได้


มีโอกาสจบแบบนองเลือดขนาดไหน

มันออกแบบนั้นก็ได้ แต่ผมคิดว่า ถ้าเราคิดว่าแบบนั้นมันต้นทุนแพง ถ้าคาดว่าทางเลือกแบบนั้นที่คนทำนายไว้มันน่ากลัว คุณก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำยังไงจะรักษาพื้นที่ต่อสู้แบบสันติวิธีระหว่างสังคมพันลึก กับ รัฐพันลึก ให้เป็นไปได้

ตอนนี้ผู้กุมอำนาจดูจะปิดทางหมด การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองถูกปิด ทั้งที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีพื้นที่ต่อรองกันอย่างสันติที่สุด  ขณะที่ประชาชนก็ตื่นตัวมาก ส่วนรัฐก็ใช้เครื่องมือที่แข็งและไม่ประนีประนอมขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยทั้งหมดดูเหมือนไปสู่ความรุนแรงอย่างที่หลายกลุ่มวิเคราะห์

มันมีปัจจัยที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยากให้มันจบ อยากเห็นทางออกไม่ว่ามันจะรุนแรงหรือไม่มากขึ้น ผมเข้าใจอย่างนี้ว่ามันน่าอึดอัด และมันไม่ง่ายอย่างนั้น เช่น ตอนนี้ไม่มีเรื่องไหนในประเทศไทยจบสักเรื่องหนึ่ง ตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ก็ตั้งไม่ได้ เรื่องจำนวนมากก็มีลักษณะแบบนี้ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่ไม่มีอำนาจนำ สังคมที่ไม่มีอนุญาโตตุลาการสุดท้ายมาบอกว่า จบแบบนี้ ! ซึ่งแม้หลายฝ่ายอาจจะอึดอัดบ้างแต่ก็ยอม พอไม่มีตรงนี้ก็ไม่มีอะไรที่จบได้เพราะจะมีฝั่งตรงข้ามมาบอกว่า กูไม่ยอม! เสมอไม่ว่าจะอยู่ในกติกาหรือผิดกติกา ไม่ว่าฝั่งตรงข้ามจะอยู่ในหรือนอกระบบ บรรยากาศแบบนี้ไม่ดีเลย บรรยากาศแบบนี้ทำให้คนรู้สึก ในภาษาอังกฤษเรียกว่า catharsis คือ ถ้าอย่างนั้น เป้ง! ไปเลยมั้ย ผมเป็นห่วงตรงนี้ ไม่รู้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่าที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ออกมาพูดเร็วๆ นี้ว่า law and order ที่คสช.นำมาก็ดีอยู่ แต่ขอให้ระวังว่ามันมีความตึงเครียดที่อยู่ใต้พื้นผิว ตอนนี้มันไม่มีความขัดแย้งใดในสังคมไทยที่จบได้เลย ฝั่งหนึ่งบอกกูทำตามกติกาทุกอย่างแล้ว แต่ก็มีคนยืนขึ้นมาแล้วบอก กูไม่ยอม ! แล้วมันทำให้เกิดความอึดอัดคุคั่งมาก พร้อมจะรู้สึก catharsis ให้มันจบไปเลย

แล้วต้องทำยังไงเพื่อการรักษาพื้นที่สันติวิธีในการต่อสู้

สำหรับผมคิดว่าต้องรักษา human rights ต้องรักษาสิทธิมนุษยชนให้ได้ ผมไม่ได้พูดถึงประชาธิปไตยด้วยซ้ำนะ ผมพูดถึงอะไรที่เบสิกกว่านั้นเยอะเลย ทุกฝ่ายไม่ว่าจะอยู่ในความเชื่อทางการเมืองแบบไหน อยู่ค่ายอะไร ต้องมีหลักสิทธิมนุษยชนในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ ถ้ารักษาสิทธิมนุษยชนไม่ได้ พัง นี่ไม่ใช่อะไรที่เป็นคำหรูที่ฝรั่งพูดแล้วเรามาเห่อ แต่สำหรับผมมันเป็นอะไรที่คอขาดบาดตายเลย เพราะการรักษา human rights คือการรักษาพื้นที่ต่อสู้สันติวิธีไว้ให้ทุกฝ่าย ใครชนะผมไม่รู้ เป็นไปได้ว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยเพราะคิดว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมอาจจะเป็นฝ่ายชนะ ผมพร้อมที่จะยอมรับการชนะแบบนั้นได้ ก็สู้กันต่อ แต่ว่าขอว่าต้องรักษา human rights ให้กับทุกฝ่าย ถ้าไม่รักษาตรงนี้พื้นที่การต่อสู้แบบสันติมันจะหดลงเรื่อย ๆ

มันเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์ในสถานการณ์หรือไม่ พูดในระดับการชนกันของมวลชน เราอาจโน้มน้าวให้ทั้งสองฝั่งไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน แต่ที่ผ่านมาคนที่ละเมิด human rights มากที่สุดคือรัฐ ซึ่งรัฐไม่ฟัง

ผมเห็นด้วยว่าพลังที่มีโอกาสจะใช้ความรุนแรงได้มากกว่าคือพลังที่มีเครื่องมือเครื่องไม้ในมือ ซึ่งก็คืออำนาจรัฐ ดังนั้น human rights จึงยิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่จะจำกัดอำนาจรัฐไว้ หัวใจสำคัญที่สุดของ human rights คือ การจำกัดอำนาจรัฐ หยุดแค่นี้ สิทธิมนุษยชนเริ่มตรงนี้ เส้นอยู่ตรงนี้ แล้วเปิดพื้นที่โล่งให้คนสู้กันอย่างสันติ

ปรากฏการณ์ตอนนี้ที่เห็นยิ่งสะท้อนว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนนั้นเลวร้าย เพราะอันที่จริงแม้แต่อาจารย์เองก็อยู่ในความเสี่ยงที่อาจโดนรัฐละเมิด เรียกเข้าค่ายเมื่อไรก็ได้

ผมก็เลยรู้สึก ในความหมายนี้ว่า ประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินอย่างไร มีพื้นที่ให้คนได้ใช้สิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีความสำคัญกว่าใครชนะ ถึงตอนนี้ ประชามติอาจจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่ทุกฝ่ายต้องมีพื้นที่สันติให้ต่อสู้ทางความคิด ทุกฝ่ายต้องได้รับการเคารพ human rights ของเขา คิดว่าผ่านประชามติหรือไม่ผ่านแล้วชนะหรือครับ? ไม่หรอก เกมนี้ยาว ไม่จบ คุณคิดว่าผ่านแล้วทุกอย่างล่มสลาย หรือไม่ผ่านแล้วทุกอย่างล่มสลายหรือ deep state vs. deep society มัน long term! หน้าที่เราระหว่างที่มันจะมีการณณรงค์ มีศึกย่อยอีกหลายครั้งที่สังคมไทยต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกันแล้วหาทางออก คือ การรักษาพื้นที่สันติ รักษา human rights ไว้ ถ้าทำอันนี้ไม่สำเร็จ ก็โอเคค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้ต้องทำเรื่องนี้ ถ้าผมเข้าใจถูกเรื่องที่ว่า deep state และ deep society จะฟัดกันอีกยาว นาน นี่เป็นแค่ศึกย่อยเท่านั้น จนกว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้ว่าอะไรคือระเบียบการเมืองที่ deep state และ deep society จะอยู่ร่วมกันได้

แล้วตอนนี้ใครคืออนุญาโตตุลาการสุดท้ายในสังคมไทยและจะ function ไหมเพราะตอนนี้ความขัดแย้งหนักหน่วงยาวนาน และลงไปถึงระดับครอบครัว

คำตอบแบบรัฐศาสตร์ทางการคือ ใครมีอำนาจอธิปไตยล่ะ? ก็คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ลำพังอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของที่เพียงพอที่จะทำให้ระบอบการเมืองของไทยเดินหน้าไปโดยไม่สะดุดได้ ในที่สุดแล้ว final arbiter (อนุญาโตตุลาการสุดท้าย) ต้องมีอำนาจนำ ผมคิดว่าปัญหาที่เจอในปัจจุบันก็คือ มีอำนาจอธิปไตยแต่ไม่มีผู้กุมอำนาจคนไหนที่มีอำนาจนำ อำนาจนำคืออำนาจที่ทำให้คนยอมตามได้โดยไม่ถูกบังคับ

กติกาที่ตกลงกันใช้ไม่ได้หรือ ทำไมจะต้องมีอำนาจนำตลอดเวลา

อันนี้ต้องสาวกันไปยาว ตั้งแต่เราเปลี่ยนระบอบการปกครอง การมีหรือไม่มีอำนาจนำนั้นไม่ได้อยู่ที่ใจเราปรารถนา แต่มันเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ลักษณะเด่นสำคัญ 2 อย่างของบ้านเราที่ทำให้อำนาจนำลงหลักได้ คือ เรามีรัฐที่รวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ (overcentralized but underunified state structure) และเรามีชนชั้นนำหลายกลุ่มที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร (elite pluralism under royal patronage) อันนี้คือแก่นแท้ของระเบียบการเมืองที่เราเรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

อำนาจรวมศูนย์แต่ข้างบนนี่แตกเป็นเสี่ยงหมดเลย คสช.ที่เรียกว่ารวมศูนย์อำนาจที่สุด พยายามจะมีอำนาจที่มีเอกภาพที่สุด แต่ในที่สุดก็เห็น ตุลาการ อัยการ ก็ไม่ได้ยอม มีการต่อรองอะไรต่าง ๆ ดังนั้น รวมกำลังกันไปทำอะไรก็ไม่ค่อยจะได้ผลเต็มที่ ทำดีมากก็ไม่ได้ ทำแย่มากก็ไม่ได้ ไม่เหมือนรัฐฟาสซิสม์ ไม่เหมือนรัฐคอมมิวนิสต์ คุณชื่มชมรัฐสังคมนิยมว่าสังคมนิยมดีจังเลย มีพลังสูง เพราะมันไม่ด้อยเอกภาพ แต่เราไม่มีองค์กรแบบนั้นนะครับ เราไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์ การรวมศูนย์ของเรา ใช่ รวมศูนย์แต่ก็แบบว่า ตรงนี้เขตอำนาจกู ตรงนั้นเขตอำนาจมึง แต่ละเรื่องแต่ละปัญหามีหน่วยงานราชการเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นสิบหน่วย จึงแก้ปัญหา(อ่า)อะไรไม่ได้สักอย่าง เราอยู่ท่ามกลางความด้อยประสิทธิภาพของระบบราชการ ก็เพราะมันรวมศูนย์สูงแต่มันด้อยเอกภาพนี่แหละ แล้ววิธีแก้ที่ผ่านมาในอดีต เราทำอยู่ 3-4 อย่าง 1.แก้แบบสฤษฎิ์ กูมีอำนาจคนเดียว ใครไม่ยอมกู ลงโทษยิงเป้า 2.แก้แบบในหลวง ทรงใช้พระบารมีโน้มนำทุกฝ่ายให้มีเอกภาพแล้วทำตามแนวพระราชดำริ 3.ลดอำนาจรัฐลง เพิ่มอำนาจตลาดตามแนวทางของอานันท์ ปันยารชุน 4.กระจายอำนาจลงข้างล่าง ตามแนวทางหมอประเวศ วะสี และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ที่ผ่านมาโหมดที่เวิร์คมากหน่อยคือ อำนาจนำ ทำไมประเทศนี้พึ่งพากับอำนาจนำมาก เพราะ 1.โครงสร้างรัฐรวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพ 2.อีลีท (ชนชั้นนำ) มีหลายกลุ่ม กลุ่มคุมสื่อ กลุ่มคุมธุรกิจ กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มข้าราชการ เทคโนแครต สังคมนี้มีอีลีทเต็มไปหมด พอกพูนเพิ่มขึ้นมาตามบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป แต่ละฝ่ายก็มีเครือข่ายมีผลประโยชน์ของตัว อยู่ด้วยกันเป็นเอกภาพกันเพราะทุกฝ่ายยอมรับอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ถ้าอีลีทกลุ่มไหนหรือคนไหนมีปัญหาเรื่องนี้ เด้ง เช่น จักรภพ เพ็ญแข หรือถ้าย้อนกลับไปก็คือ ชะตากรรมที่อาจารย์ปรีดีเจอ ชะตากรรมที่อาจารย์ป๋วยเจอ นี่คือโครงสร้างที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ เราไม่ได้เลือก แต่มันเป็บแบบนี้ และเพราะมันเป็นแบบนี้ที่ผ่านมามันเลยพึ่งการมีอำนาจนำ

ในที่สุดมันคงต้องถอยกลับไปสู่จุดที่ว่า อะไรคือข้อตกลงขั้นต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ แล้วเริ่มสร้างจากอันนั้น อำนาจนำสร้างได้ ใช้เวลานานหน่อย แต่ต้องเริ่มจากข้อตกลงขั้นต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ ในความรู้สึกของผม ซึ่งพูดไปบางกลุ่มเขาก็ไม่พอใจเท่าไร นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข...อันนี้มันต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะเห็นพ้องต้องกันได้ และการตีความมันมีชีวิตของมันเอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในพ.ศ.นี้และในอีก 10  ปีข้างหน้า ความหมายก็อาจไม่เหมือนกัน

 

ตอนนี้อาจเป็นปรากฏการณ์ที่อีลีทกลุ่มต่างๆ ไม่ไว้ใจกันเอง

ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นอย่างนั้น และไม่ได้หมายความว่าเขาไว้ใจกันมากมาแต่ต้น แต่ว่าที่ผ่านมามันทนกันได้หรือไปกันได้ก็เพราะทุกฝ่ายก็ยอมให้อำนาจนำในสังคม แต่ตอนนี้ไม่มี พอไม่มี ทุกปัญหาค้างเติ่ง เราเคยอยู่ในประเทศนี้หนึ่งปีโดยไม่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีแต่รักษาการ จำได้ไหม ไม่มีอนุญาโตตุลาการสุดท้ายและผมคิดว่าจะไม่มีไปอีกพักใหญ่ มีแต่คนกุมอำนาจอธิปไตยคือ คุณประยุทธ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเห็นด้วยและยินยอม

แต่ว่าอนุญาโตตุลาการสุดท้ายจะก่อร่างสร้างตัวจากอะไรได้ จะมาจากการเลือกตั้งก็คงไม่ใช่

ในที่สุดมันคงต้องถอยกลับไปสู่จุดที่ว่า อะไรคือข้อตกลงขั้นต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ แล้วเริ่มสร้างจากอันนั้น อำนาจนำสร้างได้ ใช้เวลานานหน่อย แต่ต้องเริ่มจากข้อตกลงขั้นต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะยอมรับได้ ในความรู้สึกของผม ซึ่งพูดไปบางกลุ่มเขาก็ไม่พอใจเท่าไร นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมรู้สึกอันนี้ข้อตกลงขั้นต่ำสุดแล้ว เริ่มต้นจากตรงนั้น แล้วหลังจากนี้จะสร้างอะไรขึ้นมา เป็นข้อตกลงใหม่ หลังจากนี้จะสร้างอำนาจนำได้หรือไม่ อันนี้ผมก็ไม่รู้แล้ว แต่ต้องหาอะไรที่เป็นพื้นฐานต่ำสุดที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยก่อน ผมไม่เห็นอย่างอื่นยกเว้นอันนี้ อะไรที่น้อยกว่านี้ ไม่สามารถจะสร้างความ consensus (ฉันทมติ) ได้

ยิ่งนานวันเข้าเรายิ่งเห็นว่าสองสิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งที่ขัดกันเอง ดูเหมือนจะไปกันไม่ได้มากขึ้น ๆ ด้วย ยังจะหา consensus ได้ไหม

วิธีการที่เขาเลือกในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย 10 ปีที่ผ่านมาทำให้การรักษาพื้นที่อันนี้ การเห็นพ้องต้องกันขั้นพื้นฐานนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ ผมพูดได้แค่นี้ แต่อะไรที่น้อยกว่านี้ ผมก็คิดว่า พัง

เคยเถียงกับคนกลุ่มหนึ่งมารอบหนึ่งแล้ว เขาติดตรงนี้แหละ เขาถามว่าแบบที่เคยเป็นมาก็ไม่ใช่ว่าดีสมบูรณ์ไม่ใช่หรืออาจารย์ ผมอธิบายว่า อันนี้มันต่ำสุดที่ทุกฝ่ายพอจะเห็นพ้องต้องกันได้ และการตีความมันมีชีวิตของมันเอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในพ.ศ.นี้และในอีก 10  ปีข้างหน้า ความหมายก็อาจไม่เหมือนกัน

ดูเหมือนเรายังมองไม่เห็นเส้นทางไปสู่จุดนั้น คนในสังคมจำนวนมากก็พยายามจะหาคนที่จะให้คำตอบสำเร็จรูปที่เป็นความหวัง

เฉพาะหน้าผมไม่อยากให้คิดถึงแต่การต่อสู้ระยะสั้น ในทำนองประชามติจะต้องชี้ขาด แหลกกันไปข้าง ผมไม่คิดแบบนั้นแล้ว ที่เราจะเห็นต่อไปมันจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวพอสมควร และเพราะเหตุนั้นเรื่องสำคัญอาจไม่ใช่การชนะหรือแพ้ในจังหวะบางจังหวะ แต่คือการรักษาพื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ รักษา human rights ไว้ เพราะถ้าทำอันนี้ไม่ได้มันจะออกไปในทิศทางที่มันแย่

ข้อเรียกร้องนี้เป็นข้อเรียกร้องให้คนที่ด้อยอำนาจกว่าเป็นคนรับภาระไหม การรักษาพื้นที่นี้ ตัวกำหนดหลักน่าจะไม่ใช่คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรือเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

เราก็คงต้องออกแรงเยอะหน่อย แต่ข้อเรียกร้องนี้มุ่งกดดันต่อคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน มันมุ่งไปสู่พลังฝ่ายไหนล่ะที่กำลังละเมิดสิทธิมนุษยชน เราต้องการพื้นที่ที่อำนาจรัฐหยุดตรงนั้น สองที่ปีผ่านมันถึงขนาดหยุดการอภิปรายในมหาวิทยาลัย หยุดการทำพิธีกรรมอะไรของชาวบ้านแบบง่าย ๆ เลย ผมรู้สึกว่าแบบนี้โอกาสที่จะมีพื้นที่ที่คนไทยทะเลาะกันได้อย่างสันติมันน้อย เรื่องสิทธิเสรีภาพมันไม่ได้สำคัญเพราะฝรั่งบอก แต่มันสำคัญ     จริง ๆ สำหรับสังคมไทยและคนไทยเราเองที่จะหาทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ

ข้อเรียกร้องนี้มุ่งคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง ยังไม่ไปถึงการเลือกตั้ง หรือการออกแบบระบอบประชาธิปไตย

คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน คุณจะสู้ คุณอยากได้อะไรล่ะ คุณอยากได้การเลือกตั้ง คุณสู้บนพื้นที่นี้ มันไม่ได้บอกว่าคุณต้องสู้เพื่ออะไร คุณสู้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าเราต้องต่อสู้ร่วมกันเพื่อรักษาพื้นที่นี้ ฝั่งตรงข้ามจะต่อสู้เพราะอยากได้ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ ก็เอาเลยพี่ ไม่ใช่ไปหยุดมวลชนไม่ให้เขาสู้ในสิ่งที่เขาเชื่อ แต่มันต้องมีพื้นที่ที่เขาและคนอื่นทุกฝ่ายสู้ได้อย่างปลอดภัย มีเสรีภาพ เรื่องนี้ที่สำคัญ

การต่อสู้จะเลือกเน้นประเด็นไหนก็คงเป็นไปตามโจทย์ที่เรารู้สึกว่าสำคัญ โจทย์ผมคือเราเห็นพลังฝ่าย deep state แล้วก็เห็นพลังของ deep society ศึกนี้ยาวนาน และเนื่องจากมันยาวนาน ทำอย่างไรให้มันไม่รุนแรง

อาจารย์ดูจะมองในระยะยาวมาก ถ้าพูดกันในระยะสั้น การผ่านหรือไม่ผ่านของรัฐธรรมนูญไม่สำคัญหรือ

ผมหมายความว่า เรื่องที่สำคัญเคียงคู่ไปกับสิ่งที่คุณสู้คือ ต้องมีพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสู้ พื้นที่ human rights พื้นที่ต่อสู้อย่างสันติ แม้รัฐธรรมนูญผ่าน คุณคิดว่ามันจบเหรอ (หัวเราะ) พลังประชาธิปไตยทั้งประเทศจะยอมกลับใจบวช แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เป็นเหรอ มันไม่จบหรอก มันอีกยาว แล้วต่อให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน มันจบหรือ วันรุ่งขึ้นอาจมีการประกาศเอารัฐธรรมนูญปี 2521 มาใช้ก็ได้

คิดอย่างนี้ก็ได้ ในช่วงสิบปีข้างหน้า เป็นไปได้ว่าเราอาจได้นายกฯจากการเลือกตั้ง แล้วก็เป็นไปได้ว่าได้นายกฯจากการเลือกตั้งอีกคนหนึ่ง จากนั้นก็เป็นไปได้ว่าได้นายกฯจากรัฐประหารอีกคน มีขึ้นลงแบบนี้ได้อีกหลายระลอก เป็นไปได้ด้วยว่าเพื่อไทยชนะ เป็นไปได้ว่าประชาธิปัตย์ชนะ เป็นไปได้ว่ามีนายกฯคนนอก คนไทยจะผ่านความผันผวนทางการเมืองที่เปลี่ยนค่ายย้ายข้าง เปลี่ยน regime ตลอดได้อย่างไร? มันก็ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาอยู่ มีพื้นที่ที่เขาจะสู้อย่างสันติวิธีได้

ในเลนส์ของสันติวิธี ที่ผ่านมาเราเห็นการเคลื่อนไหวมวลชน ว่ากันเฉพาะในส่วนมวลชนก็มีเรื่องความรุนแรงด้วย อาจเป็นไปเพื่อตอบโต้ความรุนแรงจากรัฐ หรือป้องกันตัวจากฝ่ายตรงข้ามก็ตาม บางคนบอกว่าเรื่องนี้ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะมีกลุ่มก้อนประชาชนย่อย ๆ ที่โกรธแค้นและพร้อมทำอะไรที่สวนทางกับการต่อสู้แบบสันติ อาจารย์มองปรากฏนี้อย่างไร

ผมคิดว่ายิ่งถ้าไม่มีพื้นที่ human rights ความรุนแรงแบบนี้ยิ่งเกิดมาก ทำไมเขาอยากจะไปทำแบบนั้น เพราะเขาไม่ไว้ใจว่าเขาจะปลอดภัย เพราะเขาไม่ไว้ใจว่าเขาจะไม่โดนยิง ดังนั้น เขาก็หันไปหาทางรุนแรงบ้าง

ผมไม่ได้คานธีจ๋า ผมเริ่มจากการคิดว่า ศึกนี้ยาวนาน มันสู้กันยาว และเนื่องจากไม่จบระยะสั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ มีพื้นที่ที่จะสู้กันโดยไม่ต้องฆ่ากัน ซึ่งผมเห็นว่า Human Rights เป็นคีย์ พูดอย่างนี้แล้วแปลว่า อาจารย์เกษียรจะไม่ไปโหวตรึป่าว? ไม่ ผมต้องไปโหวตสิ แล้วอาจารย์เกษียรจะโหวตข้างไหน? ผมก็คงไม่รับ แต่สำหรับผมตอนนี้เรื่องพื้นที่สันติวิธีและสิทธิมนุษยชนมันสำคัญกว่า ดังนั้น บางทีสิ่งที่น่ากลัวคือ กติกา กกต.และอย่างอื่นที่ไปบีบไม่ให้คนพูด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพคน มันต้องเปิดให้เขาพูด นี่คือโอกาสที่จะทะเลาะกันโดยการถกเถียง ไม่ต้องฆ่ากัน เชื่อผมสิ ยังไงมันก็ยื้อกันต่อไปอีกไม่ว่าผ่านหรือไม่

คิดว่า ช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่คสช.พูดถึงหมายถึงอะไร

เขาเองก็อาจไม่แน่ใจหรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เขาต้องการให้มั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขามีอำนาจที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งที่เลวร้ายที่สุดต่อเขาเกิดขึ้น เขาป้องกัน development ในทางที่จะคุมไม่ได้และเป็นโทษต่อพวกเขา นี่เราไม่ได้พูดถึงแค่สถาบันที่สำคัญของประเทศ แต่เราพูดถึงผลประโยชน์เป็นแสนล้านของอีลีท ออกหัวหรือก้อยมีผลกระทบกับผลประโยชน์พวกเขาแน่

กลับกันก็คือใน 5  ปีข้างหน้า deep society หายสาบสูญไปหมดไหม ก็ไม่ มันก็คงยังยื้อกันอยู่

คิดว่า คสช.จะอยู่ได้ถึง 5 ปีไหม

ที่มันตลกคือ ผมคิดว่าอีลีทจำนวนมากไม่แฮปปี้กับผลงานของคสช. แต่หาอะไรมาแทนไม่ได้ นึกอย่างอื่นไม่ออก ในแง่หนึ่งมันก็เบสิกรัฐศาสตร์ อำนาจนำไม่เวิร์ค ก็ต้องหันไปใช้อำนาจบังคับ แล้วใครกุมอำนาจบังคับ ก็กองทัพ การประกันความมั่นคงก็ประกันด้วยกองทัพ กองทัพก็เพ่นพ่านไปหมด เรื่องที่กองทัพไม่ควรต้องยุ่งก็ยุ่งไปหมด ซึ่งมันไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกองทัพเอง

ในจังหวะคับขันหรือช่วงเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์ มันมีแนวโน้มความเป็นไปได้มากกว่าหนึ่งเสมอ (นี่เป็นไอเดียของธงชัย วินิจจะกูลที่มอง 14 ตุลา) กว่าจะมาถึงจุดนี้ เราอยู่กันมาได้ก็เพราะมีพลังครอบงำกดเอาไว้ ก่อน 14 ตุลาตัวที่ครอบงำกดไว้ คือเผด็จการทหาร พอ 14 ตุลา อันนี้หลุด พวกเราก็ตื่นเต้นเห็นแนวโน้มประชาธิปไตย แต่คำเตือนของธงชัยคือ ไม่หรอก พอทหารหลุดออกไป มันมีแนวโน้มกษัตริย์นิยมด้วย แต่เราไม่เห็น ผ่านไป 3 ปีถึงได้เห็น พอถึง 6 ตุลาถึงได้เห็นว่ามันไม่ได้มีแต่พลังประชาธิปไตย มันมีพลังกษัตริย์นิยมด้วย มาถึงตอนนี้พออำนาจนำไม่ฟังก์ชั่นแนวโน้มความเป็นไปได้ทางการเมืองก็มีมากกว่าหนึ่ง สถานการณ์ตอนนี้แนวโน้มประชาธิปไตยก็มีปรากฏ แนวโน้มฟาสซิสม์ก็มีปรากฏ ตอนนี้ประโยคของกรัมชีที่คนชอบโพสต์ “เมื่อสิ่งเก่าไม่ตาย สิ่งใหม่ไม่เกิด ปีศาจอสูรกายปรากฏ” มันออกมาในความหมายนี้  อย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนออกมาให้สัมภาษณ์ก็แนวโน้มฟาสซิสม์ แปลว่าคนในระบอบเก่าไม่ได้มีแนวโน้มแบบเดียว แบบสุดโต่งก็มี แบบเสรีนิยมแบบคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ก็มี แต่ก็ตอนนี้แหละที่อสูรกายมันปรากฏตัว 

แล้วเราควรทำยังไง

ก็กลับไปเรื่องเก่า ทุกฝ่ายต้องได้รับการคุ้มครอง human rights เท่าเทียมกัน จะเป็นคุณปีย์, หม่อมเต่า,วรชัย เหมะ, วัฒนา เมืองสุข  ตราบเท่าที่มีพื้นที่ที่ทุกคนได้รับการคุ้มครอง โอกาสที่จะรุนแรงก็จะน้อยลง

เท่าที่ผ่านมา พูดได้ไหมว่าคนชั้นกลางไม่สนใจ human rights เท่าไร มองบทบาทคนชั้นกลางอย่างไร เขาเป็นพลังทางการเมืองแบบไหนกันแน่ หรือเขามีพลังทางการเมืองจริงหรือเปล่า

ความรู้สึกผม เหมือนเขากำลังลงแดงรอบสอง รอบแรกเมื่อ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 ลงแดงรอบแรกเพราะว่าหลักเสาประกันความมั่นคงเดิมถูกถอน คือ อเมริกา อเมริกาแพ้สงครามอินโดจีน เคยกอดอเมริกาไว้เป็นหลักประกันว่าคอมมิวนิสต์จะไม่เข้ามา เมื่อถอนเสาอเมริกาไปก็ว้าวุ่นต้องกอดอย่างอื่น มีความไม่มั่นคงสูงมาก อาการรักแบบเว่อร์ๆ ทั้งหลายของคนชั้นกลางนั้นก็เพราะรู้สึกไม่มั่นคง (insecure)

ผมมีความรู้สึกว่าปัญหาจิตวิทยาการเมืองของพวกเขาเยอะมาก ทำให้เขาคิดถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง (unrealistic) ชอบนักเชียวที่จะย้อนไปก่อน 2475 หรือสมัย ร.5 หรือถวายพระราชอำนาจคืน อันที่จริง ถ้ารักสถาบันกษัตริย์ก็น่าจะเข้าใจว่าไม่ควรเสนอคำนี้ เพราะคำนี้น่ากลัวที่สุด ถวายพระราชอำนาจคืนเท่ากับถวายความรับผิดชอบคืนด้วย นโยบายต่างๆ นั้นผิดพลาดได้และถ้าผิดพลาดก็ไม่ได้ลงที่นายกฯ อีกต่อไป อันนี้แย่มาก พอคนชั้นกลาง insecure มากๆ ก็มีจินตนาการที่ฟุ้งเฟื่อง แทนที่คนชั้นกลางจะเป็นพลังให้กับเสถียรภาพ (stability) ให้กับการเมืองไทย กลายเป็นว่าคนชั้นกลางทำให้การเมืองไม่มี stability เพราะมีความคาดฝันทางการเมืองที่ unrealistic เต็มไปหมด

แล้วทำไมตอนพฤษภา 2535 หรือ 14 ตุลาก็ว่าบทบาทนักศึกษาปัญญาชนคนชั้นกลางต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยมีสูง

มันเป็นขาขึ้นของเขา มันอยู่ในช่วงที่เขาไปเบียดแทนที่ระบบราชการและกองทัพ ผมคิดถึง 14 ตุลา 16 ถึงพฤษภา 35 ผมคิดว่านี่เป็น power shift ครั้งที่สอง ซึ่งกินเวลา 15 ปี มันเริ่มที่ 14 ตุลา 16 แล้วมีหลายยกมาก 6 ตุลาก็เป็นยกหนึ่ง เข้าป่าก็เป็นยกหนึ่ง สู้กันหลายรูปแบบ แต่ไปจบในเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 โอเค established แล้ว นี่แหละการปกครองในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภากระฎุมพี ซึ่งคนชั้นกลางใช้เป็นช่องทางทางอำนาจได้ แต่พอมาถึงปัจจุบันนี้อำนาจกำลัง shift หลุดจากมือเขาไปสู่คนที่อยู่ข้างล่างกว่า แล้วเขาไม่รู้จะทำยังไง เขากลายเป็นปัจจัยของความไม่มีเสถียรภาพ (instability) ทางการเมือง ดังนั้น เขาจึงเดินแนวทางพุทธอิสระ เดินแนวทางสุเทพ เดินตามเส้นทางทางการเมืองที่หลุดโลก ตอนนี้เขากำลังลงแดงรอบสอง รอบแรกอเมริกาถอนตัวเขาหันไปกอดสถาบันหลักของชาติ ลงแดงรอบสองคราวนี้ คำถามคือจะให้กอดใคร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาตอนนี้คือการจะสมานพลังนี้เข้ามาในข้อเรียกร้องทางการเมืองแบบไหนก็ตามเป็นเรื่องยากมาก เพราะเขามีข้อเรียกร้องที่ unrealistic มาก ไปก่อน 2475 เอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้แล้ว

เขาอาจพูดไปอย่างนั้น เพราะเขาเกลียดทักษิณเฉย ๆ

ผมคิดว่าเขาไม่รู้ว่าเขาอยากได้อะไร เขาไม่มีจินตนาการทางการเมืองที่ realistic พอ จินตนาการที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน เป็นไปได้ในเมืองไทย เป็นไปได้ที่จะสามัคคีคนส่วนข้างมาก อันที่จริงเขาก็ไม่แคร์ด้วยซ้ำไป เขาไม่ได้อยากสามัคคีพวกต่างจังหวัด ในโหมดแบบนี้ผมไม่รู้ว่าจะทำยังไงได้ เขาก็คงแคร์เวลาที่มันเป็น human rights ของเขา แต่เขาไม่แคร์เวลาที่มันเป็น human rights ของคนอื่น

ที่น่ากลัวก็คือ พอคนชั้นกลางบอกว่า human rights มึงกูไม่สน เสื้อแดงหรือพลังประชาธิปไตยก็อาจบอกว่า human rights มึงกูก็ไม่สนเหมือนกัน แบบนี้ก็พัง ในความหมายนี้คือ เขาบ้าได้ แต่คุณบ้าตามเขาไม่ได้ ถึงแม้เราอยากบ้า
 

ผมคิดว่าถ้าคุณเอาพลังส่วนที่ไม่ใช่ส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของสังคมเป็นพลังหลัก เป็นตัวนำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะถ่วงทั้งสังคมไว้ สังคมมันพร้อมจะไปไกลกว่านี้แต่เอามันไปเป็นเพดานจุกตันไว้


ปัญหาประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทยเอง เสียงข้างมากก็มีปัญหาการตรวจสอบ แล้วมันก็เกิดกระแสปฏิเสธเสียงข้างมากเลย เราควรหาทางออกอย่างไร

ดังนั้นทางออกของคณะร่างรัฐธรรมนูญทั้งหลายทำคือ จำกัดประชาธิปไตยลง แต่ข้อเสนอของผมกลับกันคือควรขยายประชาธิปไตยให้มากขึ้น คุณสู้กับเสียงข้างมากที่ abuse power ด้วยการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากขึ้น เช่น สร้างกลไกการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนทั้งหลายแหล่ให้มากขึ้น เรื่องสำคัญก็ทำประชามติ แทนที่จะให้ กปปส.ก่อม็อบ ทำไมเรื่องสำคัญแบบนี้ไม่ทำประชามติเสียแต่แรก คือ หากยอมรับว่ามีปัญหาว่า majority rule จะกลายเป็นทรราชย์ (tyranny) ได้ แต่วิธีป้องกันไม่ใช่การถอยไปสู่พื้นที่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ต้องตรงกันข้ามคือขยายประชาธิปไตยให้กว้างขึ้น ซึ่งตรงนี้คนอย่างอาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หรือนักวิชาการท่านอื่นน่าจะรู้เรื่องดี เช่น เรื่อง primary vote เปิดพื้นที่การเมืองแล้ว invite คนให้เข้ามามากขึ้น ตัวแทนคุณมัน abuse คุณต้องคุมตัวแทนคุณ แต่ที่ผ่านมาคิดแต่ว่าจะลดประชาธิปไตย

ทำไมชนชั้นนำไม่เลือกแนวนั้น สู้กันในกติกาประชาธิปไตย 

ก็เขาไม่ไว้ใจประชาชน ชนชั้นนำไทย เอาแบบเวอร์ชั่นที่มองดีที่สุดคือ เขาคิดเพื่อประชาชนจริง แต่ไม่ได้คิดว่าโดยประชาชน กูทำเพื่อพวกมึงนะ แต่อย่าทำโดยพวกมึงเองเลยเพราะพวกมึงยังไม่พร้อมสักที (หัวเราะ) เขาไม่ไว้ใจประชาชน ผมก็ไม่มีคำตอบว่าจะแก้ยังไง เขาไม่ไว้ใจประชาชนแต่อยากได้ความชอบธรรมจากประชาชน ประชามติเขาก็อยากให้ผ่าน ประชาชนเห็นด้วย ดีจัง (ตบมือ) อำนาจถึงจะยึดมา ตั้งคนร่างเอง แต่อย่างน้อยประชาชนก็เอาด้วย (หัวเราะ)

ที่ไม่ไว้ใจประชาชนเพราะประชาชนสู้ด้วยจำนวน ถ้าจะสู้กับเสียงข้างมากที่เขามองว่า tyranny ก็ต้องเล่นในเกมจำนวนอยู่ดี แล้วเขาจะเล่นเกมนี้ได้อย่างไร

อันนี้ผมก็ไม่มีคำตอบให้เขา เขาอาจต้องเปลี่ยนวิธีที่เขามองคน ไม่ดูถูกคน ผมไม่ได้คิดว่าประชาชนฉลาดโดยนามธรรม แต่ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ ประชาชนก็พลาดได้ อาจจะเลือกผิดก็ได้ แต่ก็ได้แค่ 4 ปี

รัฐราชการกำลังใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ระบบราชการจะยังฟังก์ชั่น ขับเคลื่อนประเทศได้ในยุคสมัยนี้ไหม 

ผมยังรู้สึกว่าในภาวะที่เขาจนตรอก คือ เขาไม่รู้ว่าจะหันไปหาพื้นฐานพลังอำนาจไหน ระเบียบอำนาจแบบไหนที่จะชดเชยทดแทนชั่วคราวได้ คสช.ก็เลือกพลังราชการ มันจึงเต็ม ครม. สนช.ไปหมด เราไปดูรัฐราชการมีปัญหาอะไร ปัญหาหลักคือ ความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนไม่ได้เลือกมาแล้วมีสิทธิอะไรมาใช้อำนาจนิติบัญัติ บริหาร ดังนั้น 1.ปัญหาความชอบธรรมจะเรื้อรังกับรัฐราชการตลอด 2.ทุกวันนี้สังคมไม่ได้อยู่ในสมัย 1960 ที่เป็นยุคทองของรัฐราชการแต่มันปี 2016 แล้ว คนคิดเองเป็น ระบบราชการจะทำตัวเป็นคนคิดแทนคนทั้งสังคมไม่ได้ คุณเองนั่นแหละปัญหาเต็มไปหมด ปัญหาเปรอะไปหมด ยังไม่ต้องพูดถึงคอร์รัปชั่น สังคมเปลี่ยนไปเยอะแล้วคุณกลับไปพึ่งพลังเก่า ซึ่งทุกวันนี้มีความสามารถในการปรับตัว มีพลวัตน้อยกว่าภาคเอกชนและภาคอื่นๆ เยอะแยะ คุณพึ่งพลังแบบนี้ได้ยังไงในวันนี้ ราวกับแช่แข็งสมองไว้ 40 ปีผ่านมายังจะให้คนไทยคิดเหมือนกัน คิดเหมือนระบบราชการคิด ความคิดเขาไม่เปลี่ยนเลย อยู่ในโหมดคิดแบบ bureaucratic polity ในขณะที่สังคมเปลี่ยนไปหมดแล้ว แล้วไม่ตระหนักเลยว่า bureaucratic polity มีปัญหาในตัวเอง รวมศูนย์สูง เอกภาพต่ำ ดังนั้น ไม่มีประสิทธิภาพจริง เว้นแต่คุณสั่งๆๆ แบบสฤษฏดิ์

ผมคิดว่าถ้าคุณเอาพลังส่วนที่ไม่ใช่ส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของสังคมเป็นพลังหลัก เป็นตัวนำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันจะถ่วงทั้งสังคมไว้ สังคมมันพร้อมจะไปไกลกว่านี้แต่เอามันไปเป็นเพดานจุกตันไว้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์แนะคนไทยต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด พี่ไทยตามใจตัวเอง

0
0

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

23 พ.ค. 2559  เมื่อเวลา 14.35 น. ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบาย “การบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ในการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ธนาคารของรัฐ และสื่อมวลชน

เน้นสร้าความเข้าใจ ไม่เน้นอำนาจ

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวมอบนโยบาย สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า รัฐบาลพยายามบูรณาการการทำงาน แก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจ ต้องการให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เพราะเห็นในสิ่งที่บกพร่อง แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการคือความเข้าใจ ความร่วมมือมองไปข้างหน้า โดยต้องไม่ลืมนำปัญหาที่ทับซ้อนอยู่ข้างหลังให้เดินไปข้างหน้าด้วย เพื่อไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ฉะนั้น จึงเกิดการบูรณาการ ทำใหม่ คิดใหม่ แก้ไขวิธีการกระบวนการในการบริหารจัดการ ปรับในเชิงโครงสร้าง ปรับกิจกรรมให้มีการบูรณาการข้ามกระทรวงข้ามหน่วยงานในงานเดียวกัน บูรณาการรัฐ ข้าราชการกับประชาชน กับธุรกิจเอกชน และบูรณาการในส่วนของประชาชนด้วยกันให้มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งของตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่พึ่งรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งหมายในการบูรณาการ เพื่อปฏิรูปประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้สอดคล้องกับโลกในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน รวมทั้งเดินหน้าวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้าที่เป็นการตีกรอบกว้าง ๆ ใน 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไปดูแลคนทุกหมู่เหล่าให้เกิดความทั่วถึงเป็นธรรม ซึ่งความท้าทายวันนี้คือการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเราต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของโลก โดยจะต้องปฏิรูปประเทศเพื่อไม่ให้ถูกกดดันจากโลกภายนอก พัฒนาประเทศไทยไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างภาคภูมิใจ เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลไม่มีความขัดแย้ง ประเทศมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเทียม

“วันนี้ผมไม่ใช่เป็นนักการเมือง แต่เข้ามาทำงานการเมืองร่วมกับทุกคน แม้แต่ข้าราชการที่นั่งอยู่ที่นี่ก็ทำงานการเมืองด้วย อย่าลืมว่าผลงานที่ผ่านมา ข้าราชการทุกระดับต่างก็ทำงานการเมืองทั้งสิ้น รัฐบาลมีเพียงหน้าที่ดำเนินนโยบายเท่านั้น ประเทศไทยได้ผ่านประสบการณ์มามากพอสมควร ตั้งแต่โชติช่วงชัชวาลย์มาจนถึงวันนี้ ความท้าทายของเรามีอยู่มากมาย ที่ผ่านมาเราไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน การทำงานของกระทรวง ทบวง กรม ก็ต่างคนต่างทำ ทำงานแบบรูทีน รัฐบาลไม่ได้มองภาพในเชิงบูรณาการหรืออนาคต ก็ต้องตุปัดตุเป๋ไปมา ความเข้มแข็งจึงไม่เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อเติมด้วยความขัดแย้งเข้าไปอีก ก็ทำให้ปัญหามีมากขึ้น ดังนั้นการที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเพียงการตีกรอบกว้าง ๆ และได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นเข็มทิศนำทางนำพาประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

บอกขณะนี้กำลังปฏิรูปครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเกิดสมัย ร.5

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จะต้องขับเคลื่อนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา และปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมกันเพื่อเตรียมคนสู่อนาคตในศตวรรษที่ 21 และศตวรรษต่อ ๆ ไป ดังนั้น จึงต้องผนึกกำลังกันทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิดประชารัฐ ซึ่งวันนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ที่เราต้องปรับตัวให้สอดคล้องเข้ากับอารยธรรมของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องปรับตัวกับภัยคุกคามจากภายใน ภายนอก โดยในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของเราในปัจจุบัน จะต้องเปลี่ยนจากสังคมที่พึ่งการเกษตร พึ่งตนเอง พึ่งการส่งออกสินค้าเกษตร ไปสู่การเป็นสังคมเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมสีเขียว และปรับเปลี่ยนสู่สังคมฐานความรู้เศรษฐกิจสร้างมูลค่า แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของเรายังมีความขัดแย้งกันในเรื่องที่ไม่ได้เริ่มต้นจากระเบียบ ไม่ได้เริ่มจากกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เป็นปกติสุขมาก่อน พูดกันแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ จนลืมคำว่าหน้าที่ ดังนั้น การทำงานของพวกเราจึงยาก แต่ก็ยังสู้ได้ด้วยความเอาใจใส่ความจริงใจของพวกเรา เพื่อลูกหลานประเทศชาติในอนาคต พร้อมกับต้องมองตำแหน่งของไทยในเชิงยุทธศาสตร์ในเวทีโลกให้ประเทศไทยมีที่ยืนที่มั่นคงด้วย โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แก้ไขประเด็นที่เปราะบาง อ่อนไหว ไร้เสถียรภาพในทุกมิติ ไม่ให้เกิดความแตกแยกวุ่นวาย เป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีการเมืองที่มีธรรมาภิบาลและมีเสถียรภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เรากำลังปฏิรูปประเทศในครั้งที่ 2 ซึ่งการปฏิรูปประเทศครั้งแรกเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยวันนี้หากไม่มีการปฏิรูปเราจะถูกกดดันจากภายนอกในทุกมิติรวมทั้งจะมีแรงปะทุจากภายในของเรา ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ตามความรับผิดชอบ ขอให้ทุกหน่วยงานทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งใดที่เป็นปัญหา รัฐบาลพร้อมจะแก้ไขปัญหาให้ แต่จะต้องมีการบูรณาการกันข้ามหน่วยงานในกิจกรรมเดียวกัน เพราะรัฐบาลไม่สามารถจะทำทุกอย่างในเวลาเพียง 2 ปีหรือเวลาที่เหลืออยู่ตามโรดแมป จึงต้องนำกิจกรรมหลักขึ้นมาวางพื้นฐานให้ได้ก่อน ส่วนที่เหลือก็ทำคู่ขนานกันไป รวมทั้งต้องทำให้ไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และในเรื่องคุณภาพของคน ต้องคิดถึงสังคมผู้สูงวัยที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีมากขึ้นถึงครึ่งหนึ่งของประชากรไทย รวมทั้งเรื่องการขาดแรงงานวัยฉกรรจ์ที่เป็นปัญหาระยะยาว

แม้ส่งออกลด แต่มวลความสุขสูงขึ้น ต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจบางคน ออกมาพูดว่าเศรษฐกิจตกต่ำคนจะตายกันหมดแล้ว มันตายตรงไหน เขาไม่ตายกันหรอก เขามีการปรับตัวเสมอ ตนไปภาคอีสานเขาก็บอกว่าปรับตัวได้เอง เพราะปีนี้แล้งมาก แต่กลับมีคนไปยุแหย่ตลอดเวลา ว่ามันแย่แล้วถ้ามันแย่ตัวเลขเศรษฐกิจมันจะขึ้นไหม จาก0.8 ตอนนี้ขึ้นมา 3.2 ก็ยังมาบอกว่าเป็นตัวเลขปลอมอีก ตนไม่เข้าใจ ทั้งโลกและประเทศรอบบ้าน ประเทศรวยๆติดลบตัวแดงเถือกหมด เรามีเรื่องการส่งออกที่ลดลง แต่เราก็มีมวลความสุขสูงขึ้น เราต้องภูมิใจที่มีความสุขแบบเบิร์ดเบิร์ด แบบพี่ไทยตามใจตัวเอง ขณะที่ประเทศอื่นกฎหมายเขาแรงทำอะไรมากไม่ได้ แต่มาบ้านเราสบาย แม้แต่การขับรถ เหมือนกับไทยเป็นสนามขับรถมากันเต็มที่เชียงใหม่ เกิดความวุ่นวายกันหมดแล้วก็จะมาให้รัฐบาลไล่กลับ ถ้าไล่เขาแล้วเราจะอยู่ยังไงในเมื่อรายได้หลักของประเทศอยู่ที่การท่องเที่ยว

เพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องเพิ่มบทบาทของไทยในเวทีโลก ต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส ไม่ใช่ทำโอกาสให้เป็นวิกฤตเพิ่มขึ้น ต้องเดินหน้าไปสู่อนาคตโดยต้องดูว่าจะเดินให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนอย่างไร ซึ่งก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาทำหน้าที่ก็ไม่โทษใคร แต่โทษตัวเองด้วย เรากำลังเป็นรัฐที่จะล้มเหลว และจะล้มเหลวทันทีถ้าไม่ได้ปฏิรูปโดยเริ่มจากตัวเอง ภาครัฐ และประชาชน อย่าคิดแต่เพียงอำนาจ ผลประโยชน์ ทุกวันนี้ถ้ามีทุจริตจะโดนหมด เราต้องสะอาดและโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ดังนั้นการปฏิรูปจึงต้องมีโรดแมปยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปมาแล้ว สำหรับเรื่องการค้าการลงทุน เราเปิดทั้งหมดทำให้มีการแข่งขัน ทำให้สร้างความเชื่อมั่นและลดการรั่วไหล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้บอกกับทุกประเทศว่าไทยจะต้องไม่มีการทุจริตและคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ถ้าหน่วยงานไหนบอกว่าต้องเสียเงินขอให้มาบอกแล้วจะลงโทษเดี๋ยวนั้น แต่ส่วนตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่คิดว่าใครจะทำ ถ้ารักประเทศต้องไม่ทำ

เลิก ม.44 ก็ใช้ กม.ปกติ ไม่ละเว้น มีรธน.เพื่อสากลยอมรับ มีประชามติเพื่อให้ทุกคนรับทราบ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงเรื่องการเมืองด้วยว่า ขอให้ทุกฝ่ายหนักแน่นเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวไม่เคยหมดกำลังใจ ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่าเชื่อการบิดเบือน พร้อมกับชี้แจงถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคง เพื่อให้สามารถผ่อนปรน ผ่อนผันได้ แต่หากมีการเรียกร้องให้ยกเลิก มาตรา 44 ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายปกติ โดยไม่ละเว้น ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นหลักประกันที่ให้ประเทศไทยมีหลักการที่สากลยอมรับ ขณะที่เรื่องประชามติก็เพื่อให้ทุกคนรับรู้รับทราบ

 

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ทำเนียบฯมติชนออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาประชาสังคมใต้แถลงยุทธศาสตร์ใหม่ สร้างพื้นที่กลาง-ดันปชช.ร่วมกระบวนการสันติภาพ

0
0

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมาที่โรงแรมซีเอส.ปัตตานี สภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดแถลงนโยบายยุทธศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ปี พ.ศ.2559 – 2561 ต่อกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐทีมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการสภาฯ ที่ปรึกษา องค์กรสมาชิก องค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐเข้าร่วมฟังการแถลงกว่า 100 คน โดยนายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ พร้อมด้วยรองประธานอีก 4 คน ประกอบด้วย อัศว์มันต์ บินยูโซ๊ะ รักชาติ สุวรรณ โซรยา จามจุรี และมันโซร์ สาและ เป็นผู้แถลง

สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

โดย อัศว์มันต์ เป็นผู้แถลงในส่วนวิสัยทัศน์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้คือ สังคมที่เป็นธรรมและมีสันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ส่วนพันธกิจคือ หนุนเสริมการสร้างสันติภาพและกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนเป้าหมาย คือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

สร้างพื้นที่กลาง-ให้ภาคประชาชนร่วมกระบวนการสันติภาพ

อัศว์มันต์ แถลงในส่วนของยุทธศาสตร์ว่า มี 3 ประการ ประกอบด้วย 1. การสร้างพื้นที่กลางและผลักดันเชิงนโยบาย (Common Space and Advocacy) คือ สร้าง/ขยายพื้นที่กลางให้กับภาคประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน กระบวนการสันติภาพเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอและผลักดันเชิงนโยบายด้วยความรู้แก่ทุกฝ่าย

2. การเสริมพลัง (Empowerment) เสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งและอำนาจการต่อรองให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในทุกมิติ และ 3. การขยายเครือข่าย (Networking) ขยายองค์กรสมาชิก/สมาชิกของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ รวมทั้งขยายเครือข่ายองค์กรภายในประเทศและต่างประเทศ

มุ่งขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในชุมชน

มันโซร์ แถลงในประเด็นการขับเคลื่อนในปี พ.ศ.2559–2561 มี 4 ข้อดังนี้ 1. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านกระบวนการสร้างสันติภาพในชุมชน 2. การพัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในชุมชน

3. การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคท้องถิ่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในชุมชน และ 4. ขยายสมาชิกและจัดทำฐานข้อมูลองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและงานพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นปัจจุบัน

สำหรับข้อเสนอจากองค์กรภาคีเครือข่าย รักษ์ชาติ แถลงในส่วนของข้อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนจากองค์กรภาคีเครือข่าย มีทั้งหมด 14 ข้อ ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการหนุนเสริมสันติภาพ เช่น เปิดพื้นที่กลางในการสร้างอำนาจต่อรอง พัฒนาศักยภาพภาคประชาสังคม พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ศึกษาวิจัยและฟังความเห็นประชาชนเพื่อพัฒนารูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่ประชาชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการตนเองได้จริง

รักษ์ชาติ กล่าวต่อไปว่า ส่งเสริมอัตลักษณ์ของทุกเชื้อชาติ ระบบยุติธรรม กระบวนการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง สนับสนุนการแก้ปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะยาเสพติด สิ่งแวดล้อม อาชญากรรมและความยากจน ส่งเสริมสันติวิธี  การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบและความไม่เป็นธรรม พัฒนาศักยภาพเยาวชน สตรีและเครือข่ายชาวพุทธ

(อ่านรายละเอียดใน เอกสารประกอบการแถลงนโยบาย ยุทธ์ศาสตร์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ พ.ศ.2559 – พ.ศ.2561)

จำเป็นต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อหนุนเสริมสันติภาพ

มูฮำหมัดอายุบ แถลงว่า สภาประชาสังคมชายแดนใต้เกิดจากนักพัฒนาเอกชนอาวุโสและนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ร่วมก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 เพื่อเป็นองค์กรประสานงานของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่

“ความรุนแรงในพื้นที่จำเป็นต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งสภาประชาสังคมชายแดนใต้สามารถเป็นพื้นที่กลางได้ โดยสภาประชาสังคมฯ เชื่อว่าความไม่สงบในพื้นที่ต้องจบด้วยการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ไม่สามารถจบลงด้วยการใช้อาวุธ ดังนั้นทุกเครือข่ายของสภาฯต้องเติบโตไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอในหลายๆด้าน รวมทั้งเป็นเครือข่ายทางสังคมที่หนุนเสริมกระบวนการสันติภาพต่อไป” มูฮำมัดอายุบ กล่าว

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม 2.เพื่อร่วมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน 3.เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสาน  และสนับสนุนระหว่างองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม 4.เพื่อสร้างพื้นที่กลางแก่ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ

จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค

โซรยา แถลงด้วยว่า ที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้วิเคราะห์ ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและอุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมาและการวางยุทธศาสตร์ใหม่ในปี 2559 พบว่า จุดแข็งคือสมาชิกและเครือข่ายสามารถหยิบยกประเด็นมาพูดคุยได้ทุกเรื่อง มีความหลากหลายของสมาชิกสูง ทำให้ได้รับการยอมรับที่เป็นทางการ สามารถทำงานเชื่อมต่อภาคประชาสังคมได้จริง ที่ผ่านมามีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพและการกระจายอำนาจ

โซรยา แถลงอีกว่า จุดอ่อนคือ การกำหนดยุทธศาสตร์ที่ผ่านมากว้างเกินไป ไม่สามารถดำเนินการได้ทุกเรื่อง ยังมีสมาชิกน้อยและไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ยังขาดคนรุ่นใหม่ในฐานะสมาชิก ยังทำงานตั้งรับ ขาดการสื่อสารกับสังคมภายนอก

โอกาสจากการหนุนเสริมสันติภาพและนโยบายรัฐ

“ยังมีอุปสรรคบางอย่างที่ต้องคำนึงในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานในอนาคตคือ ภายใต้รัฐบาลทหารอาจเป็นอุปสรรคในการทำงานเนื่องจากช่องทางทางกฎหมายบางอย่างที่จำกัดการทำงาน และองค์กรภาคประชาสังคมบางส่วนได้รับการจัดตั้งโดยฝ่ายรัฐอาจทำให้ความเป็นอิสระในการทำงานของภาคประชาสังคมหายไป” โซรยา กล่าว

โซรยา แถลงด้วยว่า ส่วนโอกาสคือ มีองค์กรภายในและภายนอกหนุนเสริมประเด็นสันติภาพมากขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสที่เกิดจากนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ปี 2555 – 2557 ว่าด้วย“การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 ว่าด้วย“การจัดตั้งกลไกการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ที่เอื้อให้เกิดการพูดคุยสันติภาพ เป็นต้น

ผู้เข้าร่วมอยากให้สื่อสารกับภายนอก-ช่วยเด็กกำพร้าด้วย

ตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวทีวีช่อง 3 มาเลเซีย กล่าวว่า สภาประชาสังคมฯ ต้องสื่อสารให้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ประชาชนรับรู้บทบาทและหน้าของสภาประชาสังคมฯ นอกจากนี้ต้องมีบทบาทพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กกำพร้าหรือช่วยเหลือองค์กรที่ดูแลเด็กกำพร้าในพื้นที่ด้วยเนื่องจากในพื้นที่มีเด็กกำพร้าจำนวนมาก

ซิติมาเรียม บินเยาะ ที่ปรึกษากลุ่มเซากูนา กล่าวว่า คนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่บางคนทำงานหลายองค์กร จึงควรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสภาประชาสังคมฯด้วย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้เมื่อมีปัญหา และอยากให้สภาประชาสังคมฯตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กยากจนด้วย

ให้แก้ปัญหาคนมีรายได้น้อย-สร้างคนรุนใหม่

อับรอน มูซอ จากลุ่มพิราบขาวชายแดนใต้ เสนอว่า สภาประชาสังคมฯต้องเข้าไปแก้ปัญหาความมั่นคงของครัวเรือนคือประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้น้อย เพราะปัญหาความมั่นคงของครัวเรือนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสร้างสันติภาพในพื้นที่

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ(We Peace) กล่าวว่า 12 ปีที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ยังไม่ค่อยพูดถึงกระบวนการสันติภาพมากนัก คนที่พูดมีเพียงองค์กรภาคประชาสังคมเท่านั้น ดังนั้นสภาประชาสังคมฯต้องปรับปรุงการทำงานด้วยโดยลงพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพมากขึ้น

“คนทำงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนเดิมๆ ไม่มีคนใหม่ๆเข้ามาทำงานในองค์กร ดังนั้นสภาประชาสังคมฯต้องสร้างคนรุ่นใหม่ๆเข้ามาทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้มากขึ้น” ปาตีเมาะ กล่าว

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โผล่เปิดตัวแอพ Go Bike จับมือสมาคมวิน จยย.-หลังขนส่งสั่งเลิก Grab Bike

0
0

คล้อยหลังขนส่งสั่งฟัน Grab Bike-Uber Moto - ล่าสุด สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างฯ ร่วมกับบริษัท Go Bike ที่จดทะเบียนเมื่อธันวา 58 เปิดตัวแอพลิเคชันเรียกวินมอเตอร์ไซค์ ระบุเพื่อสร้างมาตรฐานราคา ป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ให้บริการวิน จยย. โดยจะทยอยขยายพื้นที่ให้บริการทั่ว กทม.-ปริมณฑล ขณะที่เพจ Grab Bike ระบุยังคงให้บริการด้านส่งสิ่งของ

หลังจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค. กรมการขนส่งทางบก กองพลที่ 1 ตำรวจนครบาล ฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน หารือผู้ให้บริการ Grab Bike และ Uber MOTO ก่อนสั่งยุติการให้บริกร อ้างแก่งแย่งผู้โดยสารจากวินจักรยานยนต์สาธารณะที่จัดระเบียบกับ คสช แล้ว ก่อให้เกิดความแตกแยก สร้างความไม่สงบในสังคม เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากวินจักรยานยนต์ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามระเบียบ คสช. นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ที่มา: เฟซบุ๊ค เพจ Go Bike

ต่อมาทั้งสมาร์ทโฟนระบบ iOSและ Androidสามารถดาวโหลดแอพลิเคชั่น Go Bike ซึ่งบริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือวินมอเตอร์ไซค์ ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม โดยแอพลิเคชันสำหรับ Android ระบุว่าปรับปรุงแอพลิเคชันเมื่อ 19 พฤษภาคม 2559 ส่วนใน iOS ระบุว่าปรับปรุงแอพลิเคชันเมื่อ 22 พฤษภาคม 2559 โดยเว็บไซต์ต้นทางอยู่ที่ https://gobike.asia/ ในขณะที่ในเฟซบุ๊ค เพจ Go Bikeเปิดตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2559 โดยขณะที่รายงานข่าวอยู่นี้ในเพจเพิ่งเริ่มอัพเดตข้อมูลของการบริการ

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับบริษัท Go Bike จำกัด เปิดตัวแอพลิเคชัน Go Bike บริการจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในการแถลงข่าว มีการระบุสาเหตุการพัฒนาแอพลิเคชันว่า "เพื่อให้เป็นไปตามระบบของกฎหมาย และมาตรฐานการให้บริการ ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานภายในสมาคมฯ เอง หรือร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของการบริการ ให้เกิดความปลอดภัย ความสะดวกต่อผู้โดยสาร และสร้างมาตรฐานราคาให้เป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังเพื่อยกระดับชีวิตของ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้มีรายได้ที่แน่นอน มีระบบการให้บริการที่ถูกต้องและชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการรุกล้ำพื้นที่การให้บริการของกันและกัน"

โดยแอพพลิเคชั่น Go Bike ผู้โดยสาร สามารถเรียกใช้บริการรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเสียค่าบริการตามจริง ไม่เสียค่าธรรมเนียมในการใช้แอพลิเคชัน หรือค่าเรียกผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยในใบแถลงข่าวระบุว่า "Go Bike อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครอง ซึ่งสามารถให้บริการพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง"

เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งมีสมาชิกในสังกัดหนึ่งแสนคนกล่าวว่า "เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับ Go Bike Thailand ในส่วนของเทคโนโลยีที่เข้ามา เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นตัวกลาง ระหว่างกลุ่มลูกค้าและผู้ขับขี่ฯ นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านการประกอบอาชีพของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเราเชื่อว่าแอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นการส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้คนในเมือง และยังแก้ไขปัญหาของผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างให้มีรายได้มากขึ้น สามารถให้บริการอื่นๆ นอกจากส่งผู้โดยสาร เช่น การส่งของ หรือเอกสารตามความต้องการของลูกค้า สร้างอาชีพเสริมให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ ไม่เพียงแต่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่ทำเป็นอาชีพประจำเท่านั้น"

ด้าน ชาครีย์ ละอองมณี ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณฑ์ของบริษัทโกไบค์ ไทยแลนด์ กล่าวว่า "ทาง Go Bike เองก็รู้สึกดีใจ ที่ได้ร่วมงานกับสมาคมฯ เพื่อยืนยันการมอบความสะดวกสบายสูงสุด ให้แก่ผู้ที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างทุกท่านและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างนั้นดีขึ้น จากแอพลิเคชันของเรา"

สำหรับแอพลิเคชัน ระบุค่าโดยสารอยู่ที่เริ่มต้น 20 บาท 2 กม. แรก อัตราค่าโดยสาร ไม่เกิน 25 บาท ระยะทาง กม.ต่อไป แต่ไม่เกิน 5 กม. อัตราค่าโดยสาร ไม่เกิน กม.ละ 5 บาท

ระยะทางเกิน 5 กม. แต่ไม่เกิน 15 กม. อัตราค่าโดยสาร ตั้งแต่ กม.แรก จนสิ้นสุดการรับจ้าง ต้องไม่เกิน กม.ละ 10 บาท

ระยะทาง เกินกว่า 15 กม.ขึ้นไป อัตราค่าโดยสาร ตามที่ผู้ขับรถและผู้โดยสารตกลงกัน

กรณีที่ไม่มีการตกลงกัน ตั้งแต่ กม.แรก จนสิ้นสุดการรับจ้าง ต้องไม่เกิน กม.ละ 10 บาท

สำหรับข้อมูลจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ของบริษัทผู้พัฒนาแอพลิเคชัน จดทะเบียนในนาม บริษัท โกไบค์ จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท ระบุว่า "ประกอบกิจการเป็นตัวแทนด้านการตลาด จัดจำหน่าย บริการทางอินเตอร์เน็ต"สำนักงานอยู่ที่ เลขที่ 1108/31 ถนนสุขุมวิท  แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110

ที่มา: เพจ GrabTH

สำหรับแอพลิเคชัน Grab ล่าสุดมีการแจ้งใน แฟนเพจระบุว่ายังคงให้บริการตามปกติ แต่ปรับปรุงบริการ GrabBike เหลือเฉพาะการให้บริการขนส่งสิ่งของเท่านั้น "Grab ยังอยู่เคียงข้างคุณ เรามีหลากหลายพาหนะทั้ง GrabTaxi, GrabCar และ GrabBike (Delivery) เรียกได้เลยผ่านแอพ Grab ค่ะ"

อนึ่ง เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สำรวจ ' ซุ้ม-เสื้อวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง' พบส่วนต่างเป็นเหตุดึงค่าโดยสารสูงเกินจริง บางวินราคาสูงถึงครึ่งล้าน ระบุค่าโดยสารที่แพงเพราะบวกราคาเสื้อวิน ขณะที่บริการเรียกรถออนไลน์ถูกกว่า เพราะคิดจากราคาจริงตามระยะทาง นักวิชาการแนะรัฐเปิดแข่งขัน เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ เผยเตรียมฟ้องคนกล่าวหา 'ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ'

0
0

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ในการกล่าวมอบนโยบาย “การบูรณาการเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้นำเหล่าทัพ ผู้บริหารภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ธนาคารของรัฐ และสื่อมวลชน

สำนักข่าวไทย และไทยรัฐออนไลน์รายงานตอนหนึ่ง ที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งความว่างเปล่า เพราะไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้คนทั้งประเทศ และประเทศมีความอ่อนแอ การขับเคลื่อนต้องเดินหน้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเศรษฐกิจอย่างเสรี ค้าขายกับทุกประเทศ ไม่เลือกข้าง

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า เรื่องการเมืองขอให้หนักแน่น อดทน เชื่อมั่นตน และเชื่อมั่นว่า ทุกคนเข้ามา ไม่ได้เพื่อหวังผลประโยชน์ และเตรียมที่จะฟ้องร้องคนที่กล่าวหา ว่ามีการเรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ เพราะแต่งตั้งตามปกติ ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร รวมถึง กรณีที่การกล่าวหาว่า ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ก็เตรียมที่จะฟ้องร้องเช่นเดียวกัน
 
"ขออย่าเชื่อเรื่องที่บิดเบือนว่าเศรษฐกิจตกต่ำ ผมจะให้สภาพัฒน์ไปฟ้อง เพราะมีการบิดเบือนตัวเลข และอย่าว่าทหารโกง หากมีหลักฐานก็ไปฟ้องมา หากกรรมการสอบสวน วันนี้บอกตำรวจไม่ดี งั้นต้องยุบหมดตำรวจ โรงเรียนนายร้อยก็ต้องยุบ สร้างใหม่ตั้งแต่ ป.1 ซึ่งมันไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาด้วย สิ่งที่ผมพูดวันนี้ผมรับฟังจากทุกคนให้อภัยผมบ้างเวลาหงุดหงิดเพราะผมรับเยอะ วันนี้ทำงานตาม 6 ป. แต่วันนี้จะเอาแค่ป.เดียว ประชามติ ผมละเบื่อ วันนี้รัฐมนตรีกลาโหมบอกไม่ไหว 70 ปี แล้วจะลาออก ถ้าท่านลาออก ผมก็ใช้มาตรา 44 ตั้งท่านกลับมาใหม่ เราใช้กันเองอยู่แล้ว ถือว่าเรารักกัน ใครเป็นคนปล่อยข่าว ปลัดกระทรวงหรือเปล่า เราทำงานมาด้วยกัน รู้อยู่แล้วใครเป็นอย่างไร และคนที่ถูกปรับออกไม่ใช่ว่าไม่ดี เราร่วมชะตากรรมมาตั้งแต่ 22 พ.ค.2557 ผมไม่ทิ้งท่านอยู่แล้ว ท่านก็อย่าทิ้งผม" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
"การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นการทำเพื่อความมั่นคง ให้มีการผ่อนปรน ผ่อนผันได้  ขออย่าเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน และยังมีกำลังใจในการทำงาน ไม่กลัว เพราะผมยิ่งตียิ่งร้อน ขอทุกคนมีกำลังใจซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันเพื่อประเทศชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อ่านแล้วชอบใจ สุเทพรับประกันร่างรธน.มีชัย ตอบโจทย์ปฏิรูปของ กปปส.

0
0

สุเทพ บอกเอาร่าง รธน.มีชัยมาดูแล้ว รู้สึกถูกใจ พอใจ ชอบใจ ยันส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชน ส่วนใครจะเลือกอย่างไรลงคะแนนรับไม่รับ เป็นเรื่องของแต่ละคน

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่เกาะสมุย สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมคณะ ประกอบด้วย ถาวร เสนเนียม วิทยา แก้วภราดัย อิสระ สมชัย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย และชุมพล จุลใส ลงพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ และทอดผ้าป่าสามัคคี โดยมีหน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 500 คน

ซึ่ง สุเทพ ได้กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ว่าได้ศึกษาในรายละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พบว่าในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้นส่วนใหญ่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมวลมหาประชาชนทุกประเด็น พร้อมยืนยันว่าการออกมาพูดในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เนื่องจากจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญนำข้อเรียกร้องของ กปปส.ไปพิจารณา ประกอบไปด้วย การปฏิรูปการเมืองให้เข้าสู่การปกครองตามหลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปฏิรูปกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่น การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินให้ถึงมือประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ ทางการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข
 
“ในภาพรวมของเราแล้วและในฐานะที่เป็นเลขาธิการ กปปส. เมื่อเอาเจตนารมณ์ของประชาชนเรื่อการปฏิรูปประเทศเป็นที่ตั้งแล้วเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาดูแล้วรู้สึกถูกใจ พอใจ ชอบใจ ส่วนใครจะเลือกอย่างไรลงคะแนนรับไม่รับ เป็นเรื่องของแต่ละคน ผมเขียนได้เป็นข้อๆ เอามาเปรียบเทียบได้ บางเรื่องไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่เคยมี และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศมานาน อย่างเรื่องนายกฯ เฉพาะกิจในรัฐธรรมนูญเขาเขียนไว้เลยว่า หากเกิดกรณีเช่นนั้นบุคคลที่มวลมหาประชาชนเรียกร้องไว้ก็ต้องออกมาทำเลยไม่ต้องปฏิวัติแล้ว ถ้ามีรัฐธรรมนูญแบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ต้องไปปฏิวัติ ผมถึงเห็นว่าตรงนี้เป็นการหาทางออกให้ประเทศ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ในฐานะศิษย์สวนโมกข์ อาจารย์พุทธทาสบอกว่า คนที่มาเป็นผู้นำ มาอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับคนมีธรรมะ มีศีลธรรม ให้ได้คนดีก็แล้วกัน ไม่ได้อยู่ที่วิธีการมา แต่อยู่ที่คน” สุเทพ กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มคลั่งชาติ-ศาสนา ในเมียนมาร์ยังเสียงดัง แม้แต่ในยุคสมัยของ 'อองซานซูจี'

0
0

ถึงแม้เมียนมาร์จะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหลังจากการเลือกตั้งล่าสุดแต่กลุ่มชาตินิยมจัดและกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงก็ยังคงแสดงออกเหยียดเชื้อชาติกีดกันศาสนาอื่นอย่างต่อเนื่องจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในหมู่ชนกลุ่มน้อย บางกรณีก็กลายเป็นความรุนแรง แม้แต่คนที่เป็นชาวพุทธด้วยกันเองบางคนยังถูกกล่าวอ้างว่าเป็นคนศาสนาอื่นเพื่อหาเรื่องรังแกพวกเขา

24 พ.ค. 2559 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานสถานการณ์การเหยียดและกีดกันทางศาสนาที่ยังคงเลวร้ายแม้จะอยู่ภายใต้รัฐบาลของอองซานซูจี โดยระบุถึงกรณีที่หมู่บ้านเตาง์ตัน (Thaungtan) ที่ขึ้นป้ายสีเหลืองอร่ามเป็นข้อความว่า "ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมเข้ามาค้างคืน ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมเช่าที่อยู่อาศัย ไม่ให้มีการแต่งงานกับชาวมุสลิม" ป้ายนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยชาวพุทธฯ ผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแถบดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี พวกเขาลงนามร่วมกันในเอกสารให้แสดงออกว่าพวกเขาต้องการโดดเดี่ยวตัวเองซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ผู้คนลงนามเพราะถูกบีบบังคับหรือไม่

แต่นับจากนั้นมาก็มีหลายหมู่บ้านทั่วเมียนมาร์ หรือประเทศพม่า เริ่มทำตาม รายงานเดอะการ์เดียนระบุว่าแนวคิดคับแคบแต่อันตรายอย่างการตั้งป้าย "เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น" เป็นเหมือนตัวอย่างเล็กๆ ที่กำลังแพร่กระจายความตึงเครียดทางศาสนาที่อาจจะเป็นภัยต่อประชาธิปไตยของเมียนมาร์ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งต้นทดลองได้

เดอะการ์เดียนรายงานว่า หลังจากอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี ประเทศแห่งนี้ก็เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบที่ประชาธิปไตยแบบที่มีผู้แทนจากการเลือกตั้งแต่กองทัพก็ยังควบคุมสถาบันหลักๆ ในชาติอยู่ โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมากลับมีการเคลื่อนไหวแบบชาตินิยมเพิ่มมากขึ้น เช่น เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีกลุ่มคนประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งเรียกร้องให้ทูตเลิกใช้คำว่า "โรฮิงญา" เรียกชาวมุสลิมผู้อพยพหรือผู้พลัดถิ่นภายใน ขณะที่กลุ่มชาตินิยมแถบรัฐอาระกันยืนยันว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ

ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่ความคิดเห็นของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งล่าสุดก็ไม่ได้มีแนวทางในเชิงช่วยทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาดีขึ้นเลย โดยอองซานซูจีเองยังเคยกล่าวต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ไม่ให้ใช้คำว่าโรฮิงญาและเมื่อไม่นานมานี้รัฐมนตรีศาสนาคนใหม่เป็นอดีตนายพล ตุระ อ่องโก ก็เรียกชาวมุสลิมและชาวฮินดูว่าเป็น "พลเมืองอาศัยร่วม" (associate citizens)

เดอะการ์เดียนรายงานต่อไปว่าโวหารของฝ่ายชาตินิยมในเมียนมาร์นั้นไม่มีการตอบโต้และในบางกรณีก็ถูกนำไปขยายเพิ่มเติมโดยรัฐบาลใหม่ทำให้บางคนสงสัยว่าชนกลุ่มน้อยในเมียนมาร์จะยังมีที่ยืนอยู่อีกหรือไม่ แม้แต่ในหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกลความเจริญอย่างเตาง์ตันก็มีการจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายยุวชนชาตินิยมต่อต้านต่างชาติเมื่อไม่นานมานี้

ในวัดแห่งหนึ่งของหมู่บ้านเตาง์ตัน พระรูปหนึ่งชื่อ มะนิต๊ะ อธิบายเรื่องป้ายของหมู่บ้านว่าทางหมู่บ้านมีการพูดคุยกันถึงเรื่องนี้แล้วมองว่าพรรคเอ็นแอลดีไม่ยอมทำอะไรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องศาสนาเลยทำให้ทางหมู่บ้านต้อง "ปกป้องศาสนา" ด้วยตนเอง

ในรายงานของเดอะการ์เดียนมีการยกตัวอย่างกรณีชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นับถือศาสนาฮินดูเข้าไปในหมู่บ้านเตาง์ตันในช่วงต้นปี 2558 ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่าเขาเป็นมิตรกับคนในชุมชนดี จากนั้นเขาก็เริ่มซื้อที่ดินแถบนั้นทำให้ชาวบ้านด่วนตัดสินเขาทันทีว่าเขาเป็นชาวมุสลิมแน่ๆ มีชาวบ้านรายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับป้ายแบ่งแยกทางศาสนากล่าวว่าลักษณะการด่วนตัดสินของชาวบ้านเปรียบเสมือนความเชื่อเรื่องผี พวกเขาไม่เคยเห็นผีมาก่อนแต่พวกเขาก็กลัวผี

แต่กลุ่มเครือข่ายยุวชนชาตินิยมก็พบว่าผู้มาใหม่กับครอบครัวของเขาไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้มีการกล่าวหาว่าเขาเป็นคนบังกลาเทศที่แอบหลบเข้ามาในประเทศ มะนิต๊ะบอกว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันได้แต่จะมีปัญหาบางอย่างเกี่ยวกับการบริจาคและพิธีกรรมทางศาสนา

ผู้มาเยือนที่ถูกชาวบ้านสงสัยชื่อว่าจ่อซานวิน เป็นชายวัย 28 ปีที่ครอบครัวนับถือทั้งพุทธและฮินดู เขาเป็นคนย่างกุ้งผู้เข้าไปซื้อที่ดินในเตาง์ตัน เพื่อบูรณะบ้านไม้หลังเก่าให้เป็นที่อยู่สำหรับพ่อของเขาหลังเกษียณอายุ แต่หลังจากที่เขาซื้อที่ดินและบูรณะบ้าน พระกับชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่เป็นมิตรกับเขาทันที หลังจากที่เขาซื้อที่ดินอีกแห่งหนึ่งเพื่อวางแผนเปิดร้านน้ำชาพ่อของเขาก็ร้องทุกข์ต่อเขากับภรรยาว่าชาวบ้านและพระในหมู่บ้านไม่อยากให้พวกเขาอาศัยอยู่ที่นั่น มีการกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นชาวมุสลิมและมีสมาชิกเครือข่ายยุวชนชาตินิยมขู่ว่าจะเผาบ้านของพวกเขา มีกลุ่มวัยรุ่นคอยป้วนเปี้ยนอยู่รอบบ้านของพวกเขาตลอดเวลา จนกระทั่งผู้บริหารหมู่บ้านบอกกับจ่อซานวินว่าเขาไม่สามารถรับรองความปลอดภัยให้ได้ ครอบครัวของจ่อซานวินจึงตัดสินใจขายบ้านแล้วย้ายออกจากหมู่บ้านนี้

ซานเทย์ ญาติของจ่อซานวินกล่าวว่า ทุกศาสนาควรจะสามารถอยู่ได้ในทุกที่ของประเทศ ทุกๆ คนควรอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน พวกกลุ่มชาตินิยมพยายามจะทำตัวเป็นใหญ่ในหมู่บ้าน

หลังจากผิดหวังในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว กลุ่มชาตินิยมที่หนุนหลังพรรคการเมืองฝ่ายทหารก็ออกมาโวยวายอีกครั้งจนทำให้เมียนมาร์เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทางศาสนาอีก แมทธิว สมิทธ์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรฟอติฟายไรท์กล่าวว่าถ้าหากไม่มีการเคลื่อนไหวแสดงออกต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาในเมียนมาร์หนักขึ้น การกีดกันทางศาสนาก็จะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ จนยากที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์รุนแรง

นอกจากนี้ยังมีกรณีพระชื่อดังอย่างพระวีระตุ๊ ที่คอยโพสต์ข่าวลือใส่ความชาวมุสลิมลงในโซเชียลมีเดีย และหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ทำอะไรกับกรณีที่มีหมู่บ้านกีดกันทางศาสนาอิสลามโดยพวกเขาอ้างว่าไม่ได้รับรายงานร้องเรียนจากภูมิภาคในเรื่องนี้ พรรคเอ็นแอลดีเองก็อยู่ในภาวะต้องระแวดระวังความคิดเห็นเพราะมีความเกลียดชังชาวโรฮิงญาในทุกภาคส่วนของสังคมพม่าเมื่อไม่นานมานี้แม้แต่สื่ออิระวดีในภาษาพม่ายังมีกรณีการ์ตูนเหยียดเชื้อชาติชาวโรฮิงญาจนนักกิจกรรมออกมาวิจารณ์ และเมื่อนักศึกษาจากวิทยาลัยรัฐศาสตร์ย่างกุ้งจัดเดินขบวนเพื่อสันติภาพโดยมีป้าย "ยอมรับความหลากหลาย ส่งเสริมความอดกลั้นต่อความต่าง" ก็มีตำรวจบอกว่าจะฟ้องร้องนักกิจกรรมเหล่านี้ในข้อหาประท้วงโดยไม่ได้รับอนุญาต

การเหยียดศาสนายังส่งต่อชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น กรณีคนขับรถแท็กซี่ผู้หาเช้ากินค่ำในย่างกุ้ง ถูกกลุ่มวัยรุ่นตะโกนด่าเหยียดและทุบตีเขาหน้าเจดีย์ชเวดากองเพียงเพราะเขาเป็นชาวมุสลิม จ่อซานวินรู้สึกถึงความเจ็บปวดแบบเดียวกันโดยที่ญาติของจ่อซานวินตัดพ้อถึงคนในหมู่บ้านที่ขับไล่พวกเขาว่า "ผู้คนพวกนี้ พวกเขาใจแคบเหลือเกิน พวกเราไม่อยากอยู่ร่วมกับพวกเขา"


เรียบเรียงจาก

'No Muslims allowed': how nationalism is rising in Aung San Suu Kyi's Myanmar, The Guardian, 23-05-2016
http://www.theguardian.com/world/2016/may/23/no-muslims-allowed-how-nationalism-is-rising-in-aung-san-suu-kyis-myanmar

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: งบพุทธ 5.4 พันล้าน ‘พระไทย’ รวยไม่แพ้ชาติใดในโลก

0
0

คลิกที่นี่เพื่อชมภาพขนาดเต็ม

การเรียกร้องให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติมักเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตามสถานการณ์การเมือง ขณะเดียวกันก็มีกระแสว่า รัฐจะต้องทำนุบำรุงอุดหนุนพุทธศาสนา เพราะกำลังถูกศาสนาอื่นรุกราน โดยการยกตัวอย่างว่ามีความพยายามของสร้างศาสนสถานของศาสนาอื่นขึ้นทั่วประเทศ โดยได้รับเงินจากอุดหนุนจากต่างประเทศ ขณะที่พุทธศาสนาถูกหมางเมินจากรัฐ แต่ข้อมูลต่อไปนี้คงจะทำให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไทยรู้สึกอุ่นใจขึ้นไม่มากก็น้อย

งบประมาณปี 2559 ที่รัฐยกให้แก่พุทธศาสนาผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่ว่าจะในรูปการบูรณะปฏิสังขรวัด การวัดสำรวจที่ดินเพื่อออกโฉนดให้แก่วัด เงินเดือนพระ เงินส่งเสริมศาสนาพิธี เป็นต้น จำนวน 5,406.0309 ล้านบาท ในจำนวนนี้ยังมีเงินอุดหนุนการจัดพิธีประทานสัญญาบัตร พัดยศ ผ้าไตร และพิธีการทรงตั้งเปรียญธรรม 3 ประโยค 1,494,500 บาท

งบประมาณรายจ่ายสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2559 คือ 5,406,030,900 บาท

แยกเป็น งบบุคลากร 399.8587 ล้านบาท

                        งบดำเนินงาน 179.0177 ล้านบาท

                        งบลงทุน 52.2337 ล้านบาท

                        งบเงินอุดหนุน 4,752.7947 ล้านบาท

                        งบรายจ่ายอื่น 22.1268 ล้านบาท

โดยเงินจำนวนนี้กระจายออกไปใน 3 แผนงาน ได้แก่

            1.แผนงาน: แก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้              279.9652 ล้านบาท

            2.แผนงาน: สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน                           1,568.9714 ล้านบาท

            3.แผนงาน: อนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 3,557.0943 ล้านบาท

ในแผนงานที่ 3 อนุรักษ์ ส่งเสริม และพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งถูกแบ่งเป็นงบเงินอุดหนุนทั่วไป จำนวน 1,907,794,800 บาท เงินอุดหนุน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

1.เงินอุดหนุนอุปถัมภ์นิตยภัต (หรือเงินเดือนพระ) พระสังฆาธิการพระสมณศักดิและพระเปรียญ 1,225,572,400 บาท

2.เงินอุดหนุนการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด 500,015,900 บาท

3.เงินอุดหนุนการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามหลวง 38,510,000 บาท

4.เงินอุดหนุนส่งเสริมการบริหารและการปกครองคณะสงฆ์ 24,046,000 บาท

5.เงินอุดหนุนถวายเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจของสมเด็จพระสังฆราช 23,000,000 บาท

ขณะที่เงินนิตยภัตหรือเงินเดือนพระที่รัฐจ่ายให้แก่พระสงฆ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ประจำปีงบประมาณ 2555 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,125,572,400 บาท โดยตำแหน่งพระสงฆ์ 5 อันดับแรกที่ได้เงินเดือนสูงสุด (ไม่นับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า) ได้แก่

1.สมเด็จพระสังฆราช เงินเดือน 34,200 บาท จำนวน 1 รูป คิดเป็น 410,400 บาทต่อปี

2.ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เงินเดือน 30,800 บาท จำนวน 1 รูป คิดเป็น 369,600 บาทต่อปี

3.สมเด็จพระราชาคณะ เงินเดือน 27,400 บาท จำนวน 8 รูป คิดเป็น 2,630,400 บาทต่อปี

4.กรรมการมหาเถรสมาคม เงินเดือน 23,900 บาท จำนวน 21 รูป คิดเป็น 6,022,800 บาทต่อปี

5.เจ้าคณะหนใหญ่ต่างๆ (ม/ธ) เงินเดือน 23,900 บาท จำนวน 5 รูป คิดเป็น 1,434,000 บาทต่อปี

ส่วนงบประมาณเงินนิตยภัตตามงบประมาณปี 2555 ที่ต้องจ่ายให้แก่พระสงฆ์ในตำแหน่งต่างๆ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.พระอธิการ (เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ที่ไม่เป็นพระครูสัญญาบัตร) ได้รับเงิบเดือน 1,800 บาท จำนวน 19,614 รูป คิดเป็น 423,662,400 บาทต่อปี

2.เลขานุการเจ้าคณะตำบล ได้รับเงินเดือน 1,200 บาท จำนวน 8,415 รูป คิดเป็น 121,176,000 บาท

3.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท หรือฝ่ายวิปัสสนา ได้รับเงินเดือน 2,500 บาท จำนวน 3,600 รูป คิดเป็น 108,000,000 บาท

4.พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ได้รับเงิบเดือน 2,200 บาท จำนวน 1,800 รูป คิดเป็น 47,520,000 บาท

5.พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ได้รับเงินเดือน 2,500 บาท จำนวน 1,400 รูป คิดเป็น 42,000,000 บาท

ขณะที่งบประมาณ ปี 2559 ของกรมการศาสนา จำนวน 398,963,700 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะถูกจัดมาทำนุบำรุงพุทธศาสนา สุดท้ายแล้วคงเหลือเงินสำหรับทำนุบำรุงศาสนาอื่นไม่มากนัก พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนไทยน่าจะรู้สึกดีขึ้นมากเมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live