Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

โฆษกคสช.แถลงทำงานครบ 2 ปี อัดพวกใช้ความรู้สึกนึกว่าจะล้มประชามติเพื่ออยู่ต่อ

$
0
0
 
26 พ.ค.2559 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยทีมงานโฆษก คสช. แถลงผลการทำงานของ คสช.ครบรอบ 2 ปี  โดย พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวยืนยันว่า การทำงานตลอด 730 วัน หรือกว่า 2 ปี ของ คสช. หลังเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้นโยบายรัฐบาลที่เน้นย้ำการทำงานเพื่อประชาชน คสช.ได้ยึดหลักการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และสนับสนุนงานของรัฐบาลให้ดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด แต่ยอมรับว่ายังมีปัญหาบางประเด็นที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ลุล่วง แต่ คสช.ได้เร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
“ขอยืนยันว่า คสช.ยังรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนภายใต้โรดแมป โดยเฉพาะการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 รวมถึงจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามสูตร 6:4 ,6:4  ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงคำสัญญาของ คสช.ได้ อีกทั้ง คสช.จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี และเป็นมิตรกับประเทศเดียวกัน ทั้งในภูมิภาคเดียวกันและต่างภูมิภาค พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้คนไทยและคนต่างประเทศ ขอยืนยันว่า คสช.ไม่หวังคิดสืบทอดอำนาจ หรืออยู่ในตำแหน่งต่ออีก 5-10 ปีตามที่หลายฝ่ายกังวล ขอย้ำว่าจะไม่มีอะไรผิดไปจากสูตรของ คสช.ที่กำหนดไว้” พ.อ.ปิยพงษ์ กล่าว
 
กรณีถามว่า หากสมมติว่าไม่มีเลือกตั้งในปี 60 จะดำเนินการอย่างไรต่อไป และใครจะรับผิดชอบ นั้น พ.อ.ปิยพงษ์ ระบุว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ส่วนที่ห่วงว่า คสช. จะสืบอำนาจต่ออีก 5 ปี หรือ 10 ปีนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาที่ คสช. สัญญาไว้กับประชาชน ขอให้เชื่อมั่นและวางใจติดตามการทำงานของ คสช. ยืนยันว่า คสช. ไม่บิดพลิ้ว เพราะที่ผ่านมา คสช. ได้ผ่านกระบวนการตัดสินใจสำคัญที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยืนยันว่า ความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมถึงคณะรัฐมนตรี แม่น้ำ 5 สาย ยังไม่มีอะไรบิดพลิ้ว เป็นไปตามสัญญาที่ได้วางไว้
 
พ.อ.วินธัย กล่าวถึงกระแสที่มีบางฝ่ายออกมากล่าวหาว่า คสช.จะล้มประชามติเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป ว่า เชื่อเป็นการพูดด้วยอารมณ์และความรู้สึก หรือจินตนาการส่วนบุคคล แต่สิ่งสำคัญขอให้ดูที่กรอบเวลาที่กำหนด
 
กรณีมีการหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาวิพากษ์วิจารณ์ คสช. นั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความกังวลของบางองค์กร แต่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ เพราะไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุมมองของเจ้าหน้าที่ได้ระมัดระวังอย่างดี เพราะเข้าใจว่า การกระทำใดๆ อาจมีผู้ไม่หวังดีนำไปขยายผล เพื่อลดความน่าเชื่อถือของ คสช. ได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พยายามบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้คนในสังคมละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน สำหรับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเหมาะสม ภายใต้กฎหมาย 
 
“ขอยืนยันว่ารัฐบาลและ คสช.มีความระมัดระวังการดำเนินการใด ๆ ที่จะไม่ละเมิดสิทธิประชาชน ส่วนกรณีที่ วัฒนา เมืองสุข ยังโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีรัฐบาลต่อเนื่องนั้น การออกมาวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ควรเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือพาดพิงบุคคลและองค์กร รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการคาดเดาในทางลบ ซึ่งการแสดงออกใด ๆ ขอให้ดูความเหมาะสม อย่าให้เข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย และต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่พิสูจน์ได้ พร้อมวอนขอให้มองรัฐบาลและ คสช.ที่ทำงานด้วยความจริงจัง อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมการนำเสนอของสื่อมวลชนในขณะนี้ว่าที่เข้าใจการทำงานของ คสช. และการนำเสนอข้อมูลอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาสื่อได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” พ.อ.วินธัย กล่าว
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ติเตียน ม.ราชภัฏราชนครินทร์ เตือนบุคลากรโพสต์เฟซบุ๊ก หลังพบวิจารณ์ร่างรธน.มีชัย

$
0
0

ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งมี 'มีชัย ฤชุพันธุ์' นั่งนายกสภามหาวิทยาลัย ออกบันทึกเตือนบุคลากรโพสต์เฟซบุ๊ก หลังพบวิจารณ์ร่าง รธน.มีชัย ชี้เป็นหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ไม่ควรโพสต์ข้อความที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม หรือไม่สร้างสรรค์ เสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมฯ

28 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กชื่อ 'Arjinjonathan Arjinkit' ของ อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์ประจำสาขาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เผยแพร่บันทึำข้อความ ซึ่งออกโดยผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี เรื่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์ ถึง คณบดีทุกคณะ ผู้อำนวยการสถาบัน สำนักและศูนย์ ในมหาวิทยาลัย โดยระบุว่าผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้นสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งพบว่ามีบุคลากรบางคนได้โพสต์ข้ความไม่เหมาะสม

บันทึกดังกล่าวระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ให้การว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปรามบุคลากร ว่าไม่ควรโพสต์ข้อความที่ก่อใหเกิดความขัดแย้งในสังคม หรือไม่สร้างสรรค์หรือเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

อาจิณโจนาธาน โพสต์ข้อความวิจารณ์บันทึกดังกล่าวด้วยว่า เมื่อมหาวิทยาลัยสอดส่องเฟซบุ๊กคุณ

"ผมได้รับหนังสือเวียนนี้ เป็นบันทึกข้อความส่งถึงคณบดีทุกคนให้กับชับการใช้เฟสบุคของบุคลากรของมหาวิทยาลัย มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่มากดังนี้

1. บุคลากรของมหาวิทยาลัยมีจำนวนร่วม 1,000 คน มหาวิทยาลัยรู้ได้อย่างไรว่าใคร ใช้เฟสบุคชื่ออะไร และใช้หน่วยงานไหนเป็นคนสอดส่อง

2. ในหนังสือระบุว่า “มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ” หมายความว่าอย่างไร คือห้ามบุคลากรของมหาวิทยาลัยวิจารณ์ คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาล ร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หรืออย่างไร???????

3. การโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในเฟสบุค เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยหรือไม่? หากข้อความดังกล่าวสร้างความแตกแยก ความไม่สงบ หรือผิด พรบ.คอมฯ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับผิดชอบ หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ

4. การที่มหาวิทยาลัยสอดส่องการใช้เฟสบุคของบุคลากร (ผมสันนิษฐานว่ามีการสอดส่องเรียบร้อยแล้ว ถึงมีหนังสือเวียนฉบับนี้ออกมา) เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่

ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยอาจจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ต่อสาธารณะชนครับ" อาจิณโจนาธาน โพสต์

 

มีชัยนั่งนายกสภาฯ จ่อถอดอธิการ ชี้เตือนบุคลากรเหตุมีคนโพสต์วิจารณ์ร่างรธน.

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่ประชุมสภา มรภ.ราชนครินทร์ ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน จะประชุมวาระพิเศษ ซึ่งมีวาระลับ พิจารณาถอดถอน อุทัย ศิริภักดิ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี อ้างว่า ตั้งแต่นายอุทัย ดำรงตำแหน่งมาเป็นเวลา 3 ปี ได้กระทำความผิดในการอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการเพื่อให้ตนเอง และผู้อื่น ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้จ่ายเงินของทางราชการโดยไม่เหมาะสม หย่อนความสามารถ และบริหารงานขาดประสิทธิภาพหลายประการ จึงไม่อาจวางใจให้นายอุทัยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิการบดีต่อไปได้

นอกจากนี้ นพพร ยังเปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่มีการออกคำสั่งให้บุคลากรร่วมมือรัฐ ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะล่าสุด มีอาจารย์มหาวิทยาลัยรายหนึ่งโพสต์แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในทิศทางที่ขัดแย้งกับนายกสภาฯ อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุ่นพี่ นิติ มข. วินิจฉัย ปี 1 ปีนี้ ไม่ได้รุ่น บกพร่องความสามัคคี-ร่วมกิจกรรม

$
0
0

สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น ออกบันทึกแจงไม่มีกิจกรรมพิธีชิงธงรุ่น ปีนี้ เหตุปี 1 ไม่ได้รุ่น หลังไม่ผ่านประเมินของรุ่นพี่ บกพร่องความสามัคคี-ร่วมกิจกรรม ย้ำไม่กระทบความเป็นครอบครัวคณะนิติศาสตร์ หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ที่มาเฟซบุ๊ก 'Janewit Chueasawatee  

28 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี นักกิจกรรมทางการเมือง โพสต์ บันทึกข้อความ ของสโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2558 เรื่อง ชี้แจงกิจกรรม 'พิธีชิงธงรุ่น รุ่นที่ 12 ประจำปีการศึกษา 2558' 

โดยระบุว่า สโมสรได้มอบให้รุ่นพี่แต่ละชั้นปี แต่ละชุมนุมกีฬาทำการลงคะแนนเสียงแล้ว ผลปรากฎว่าคะแนนเสียงส่วนใหญ่ "ไม่ให้รุ่น" ทางสโมสรฯ จึงได้เรียกประชุมคณะกรรมการและตัวแทนรุ่นพี่แต่ละชั้นปีและชุมนุมกีฬาเพื่อหาแนวทางในการจัดกิจกรรม "พิธีชิงธงรุ่น ที่ 12" อย่างไรก็ตามทางสโมสรฯ มีความจำเป้นต้องชี้แจงแก่น้องใหม่ปีการศึกษา 2558 ว่า ในปีการศึกษานี้จะไม่มีการจัดกิจกรรม ชิงธงรุ่น ดังกล่าว และให้น้องใหม่ไม่ได้รับรุ่น
 
บันทึกดังกล่าวยังระบุว่า การไม่ได้รับรุ่นคือการพิจารณาจากมุมมองจากของรุ่นพี่ในเรื่องของความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชั้นปี และความร่วมมือจากการทำกิจกรรมภายในคณะและกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยตลอดทั้งปีการศึกษา ไม่ได้หมายความรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องภายในคณะ หรือการยอมรับในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคณะนิติศาสตร์ หรือกระทบต่อการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด
 
กิจกรรมวันแรกพบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ ประจำปี 2558 เมื่อวันที่ 4 ส.ค.58 (ที่มาเว็บไซต์ law.kku.ac.th)
 

เจนวิทย์ สงสัย การไม่ให้รุ่น(โดยรุ่นพี่) ไม่ใช่ระบบ sotus?

ขณะที่ เจนวิทย์ ผู้โพสต์บันทึกดังกล่าว ได้แสดงความเห็นด้วยว่า สืบเนื่องจากตนได้ทวิตภาพ บันทึกข้อความของ สโมสรฯ ดังกล่าว เรื่อง 'ไม่ให้รุ่น' กับ นักศึกษาใหม่รุ่นล่าสุด (ปีการศึกษา2558) โดยได้เขียนข้อความกำกับว่า "ความน่ากลัวของระบบ sotus ในนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น คือมันถูกทำเป็น 'เอกสารทางการ' แบบไม่หลบซ่อน ‪#‎เอกสารบอกเราไม่ให้รุ่น‬" ล่าสุดมียอดรีทวิตราว 2,400 บัญชี โดยมี รุ่นพี่ นิติ มข.หลายราย พยายามโพสต์บอกข้าพเจ้าว่า 'การไม่ให้รุ่น(โดยรุ่นพี่) ไม่ใช่ระบบ sotus'
 
"ขอทวิตตอบสั้นๆ แบบนี้ครับ "รุ่นพี่ นิติ มข บอก 'การไม่ให้รุ่น' ไม่ใช่'ระบบsotus' คำอธิบายแบบนี้ เหมือนประโยค 'เป็นเผด็จการที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด' ‪#‎หยุดหลอกตัวเอง‬" ‪#‎We_Cant_Normalize_Sotus‬ ปล.โปรดอ่านบันทึกข้อความประกอบ จะเห็นความก้าวหน้าของระบบ sotus ในสังคมไทย" เจนวิทย์ โพสต์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ: วันของเด็ก...

$
0
0



ข้อเขียนนี้ ผมเขียนขึ้นมาครั้งแรกในปี 2012 เป็นการสะท้อนย้อนคิดประสบการณ์ของตนเองวัยเด็กแบบหนึ่ง  ประสบการณ์เช่นนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากสังคมที่ยอมรับลำดับชั้นทางสังคมและระบบอำนาจนิยมแบบทหารเป็นสำคัญ  ข่าวอนุบาลคอสเพลย์ชุดทหาร ที่ จ.ขอนแก่น ที่ผ่านมา ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนนี้อีกครั้ง  การเผยแพร่ครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นการช่วยให้เกิดการทบทวนถึงระบบอำนาจนิยมในเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากการรัฐประหาร


ที่มาภาพ: Bright TV ซึมซับแต่เด็ก! เด็กอนุบาลแต่งชุดทหารมาเรียนสร้างวินัยรักชาติ

1.

วันเด็กเคยทำให้ผมรู้สึกภูมิใจ...

ความภูมิใจของผมเกิดขึ้นราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งในการแข่งขัน “เก็บขยะ”  การแข่งขันนี้มีที่มาจากครูในโรงเรียนเล็งเห็นว่าขยะจากงานวันเด็กมีเยอะจนล้นเกินภาระกิจของภารโรง ประกอบกับของบริจาควันเด็กประเภทปลากระป๋องก็เหลือมาก กลัวว่าหากเก็บไว้นานก็จะบูดหรือหมดอายุ  ดังนั้น เสียงประกาศการแข่งขันจึงดังขึ้นราวกับเป็นพิธีปิดฉาก “วันเด็ก” ในปีนั้น

แน่นอน ในฐานะคนเก็บขยะเก่งที่สุด ผมได้รับปลากระป๋องจำนวนมากและกลับบ้านในสภาพเนื้อตัวมอมแมม  ผมยังโฆษณากับแม่และยายเสียลั่นแบบลากเสียงยาวๆ ว่า “ได้ถ่ายภาพคู่กับครูใหญ่ด้วยยย…ครูที่โรงเรียนชมใหญ่เลยว่าหนูเป็นเด็กดี…”

วันเด็กทำให้ผมรู้สึกภูมิใจ


2.

1 ปีต่อมา งานวันเด็กถูกจัดอีกครั้ง กิจกรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนทุกปีที่ผ่านมา  บรรดาข้างต้มทรงเครื่องโรยแผ่นเต้าหู้ทอดจืดๆ ส้ม นมถุงและมันแกว ถูกยกมาให้กับผู้เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง  บนเวทีการแสดง เพื่อนๆ ของผมที่มีหน้าตาเข้าท่าเข้าทางหน่อยกำลังวาดลวดลายแสดงความสามารถต่างๆ เพื่อประกวดยุวชนดีเด่น  ขณะที่ในลานกว้างของโรงเรียน เด็กหลายคนที่รูปร่างออกกำยำล่ำสันกำลังแข่งขันชักคะเย่อ วิ่งกระสอบ เป่าแป้งหาเหรียญ และเกมส์อีกมากมายที่เรียกเสียงหัวเราะของผู้ใหญ่  จำได้ว่ามีเสียงประกาศดังตลอดงานว่าผู้ชนะเลิศและรองทั้งสองอันดับในแต่ละเกมส์เท่านั้นจะมีสิทธิไป “ลอง” นั่งเก้าอี้ของนายอำเภอ รองนายอำเภอ และครูใหญ่ ตามลำดับ

ผมก็ไม่ทราบว่ายุวชนดีเด่นกับเก้าอี้พวกนี้มีแรงดึงดูดกับเด็กอย่างไร  แต่เห็นสีหน้าและอาการเชียร์ของบรรดาพ่อและแม่ของเด็กแล้วก็ตกใจ เพราะแทบทุกคนหากไม่ตะแบงเสียงเชียร์สุดฤทธิ์ก็ทำการติวเข้มลูกช่วงก่อนขึ้นเวทีประกวดกันอย่างเต็มที่  อดนึกไม่ได้ว่าตำแหน่งยุวชนดีเด่นกับเก้าอีนั่นคงเป็นของดีจริงๆ  ไม่งั้น พวกผู้ใหญ่คงไม่เคี่ยวเข็ญเราขนาดนั้น

วันเด็กปีเดียวกันนี้ ผมตั้งใจว่าจะไม่เล่นอะไรที่เป็นเด็กๆ อีกต่อไป  ความรู้สึก “ห้าวและห่าม” เริ่มเกิดขึ้น มันผลักดันให้ผมไปเดินเบียดเสียดเยียดยัดกับเด็กในวัยเดียวกันเพื่อจะลองนั่งรถถังและจับปืนกลกับพี่ๆ ทหารดูสักครั้งให้ชื่นใจ  อ้อ...ลืมบอกไป วันนั้นผมแต่งตัวชุดทหารลายพรางไปเสียเต็มยศ แถมยังพกหนังสติ๊กยิงนกไว้ที่เอวเป็นมั่นเหมาะพร้อมกระสุนดินเหนียวอีกหนึ่งถุง  พ่อกับแม่ของผมพากันหัวเราะเสียยกใหญ่ เนื่องจากชุดที่ผมใส่มันไม่เข้ากับอาวุธที่มี  “มันต้องมีปืนลูก...วันหลังพ่อจะพาไปซื้อปืนกลที่ตลาดนัด...” พ่อบอกอย่างนั้น

เรื่องปืนกับหนังสติ๊กเป็นความทรงจำที่ชัดเจนมากสำหรับผม  เพราะหลังจากกลับมาที่บ้านแล้ว  ผมยังคงใส่ชุดทหาร “เดินลาดตระเวน” (จริงๆ คือเดินเล่น) อยู่แถวๆ ถนนหน้าบ้านซึ่งขนาบไปด้วยทุ่งนาขนาดใหญ่  ทุกๆ เย็นถนนลูกรังแห่งนี้มักเต็มไปด้วยฝูงควายจำนวนมากที่ถูกต้อนเข้าคอก  ภาพของเด็กวัยรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังต้อนควายกลับบ้านจึงเป็นเรื่องคุ้นตาสำหรับบ้านเรา  ผมคิดว่าเด็กพวกนี้ “เท่” ดี เพราะสีผมของพวกเค้าออกแดงๆ แถมยังไม่เกรียนสั้นเหมือนนักเรียนประถม  บางครั้งผมก็รู้สึก “ทึ่ง” ยามเห็นพวกเค้าสามารถขุดหาสัตว์ตามคันนาจำพวก แย้ ปู กบ และงู สำหรับนำมาประกอบอาหารเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อแม่หรือไปหาซื้อตามตลาด

แต่แม่มักบอกผมทุกครั้งว่า เด็กพวกนี้เกเร ไม่อยากให้ผมไปเล่นด้วย บางครั้งก็บอกว่าเด็กพวกนี้น่าสงสาร ไม่ได้เรียนหนังสือ ต้องทำงานตากแดดจนผมแดง ตัวดำ

การเดินลาดตระเวนวันนั้นมีเรื่องผิดสังเกตและน่าผิดหวังนิดหน่อย  ผมไม่เห็นฝูงควายเช่นเดิม มีเพียงกองขี้ทั้งสดและแห้งของมันปรากฏอยู่เกลื่อนถนน  ปกติในเวลานี้ ผมจะต้องเจอเด็กเลี้ยงควายกำลังต้อนควายกลับบ้าน  และเรามักทักทายพูดคุยกันอยู่เสมอ

หลังจากเดินไปเดินมาอยู่นาน ผมตัดสินใจเดินกลับบ้านเพราะเริ่มหิวข้าวและบรรยากาศก็เริ่มสลัวลงเรื่อยๆ  ทว่า ระหว่างทางผมเดินสวนกับเด็กเลี้ยงควายคนหนึ่ง เธอคนนี้คุ้นตามาก  เราอาจเคยเจอกันหลายครั้งและเคยทักทายกันอยู่ แต่ตอนนั้นแสงค่อนข้างน้อยผมจึงไม่ทราบทันทีว่าเธอชื่ออะไร

แปลก ท่าทางการเดินกระโผกกระเผกของเธอคล้ายพยายามจะวิ่งแต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากมองไม่ค่อยเห็นทาง และถนนลูกรังก็ไม่ได้อ่อนนุ่มพอที่จะให้เท้าเปลือยเปล่าของเธอเดินได้อยากสะดวกสบาย  เมื่อเราเดินสวนกันใกล้ขึ้น  ผมสังเกตว่าเธอร้องไห้เสียจนตาบวมตุ่ย เสียงสะอึกสะอื้นของเธอยังคงดังเบาๆ  สายตาเราสบกันเพียงครู่เดียว แววตาเธอคล้ายมีเรื่องราวอยู่มากมาย

“อย่าหนีนะมึง...กูให้เฝ้าควายอยู่ดีๆ เสือกไปเที่ยวงานวันเด็ก  รู้ไหม ถ้าควายเค้าหายไป กูจะเอาที่ไหนมาใช้คืน...” เสียงตะคอกดังขึ้นจากข้างหลังเธอคนนี้ราวสิบกว่าเมตร  มันดังจนคนในละแวกนั้นเดินออกมาดูจนทั่ว

“กูบอกว่าอย่าวิ่ง...” ชายคนนั้นตะคอกซ้ำอีกครั้งเมื่อเห็นเธอเคลื่อนไหวเร็วขึ้น  จากนั้น เขาได้ง้างหนังสติ๊กขึ้นมายิงไปที่บริเวณขาเธอคนนั้นอย่างถนัดถนี่สองถึงสามครั้ง  เสียงร้องของเธอดังขึ้นแต่ไม่มีใครออกมาช่วยเหลือ  บรรดาไทยมุงในชนบทต่างรู้ดีว่าชายคนนี้คือพ่อของเธอ  ครอบครัวนี้มีฐานะที่ยากจนมาก ไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง พวกเค้าต้องต้องรับจ้างเลี้ยงควายให้กับคนมีฐานะรายหนึ่งในหมู่บ้าน และบ่อยครั้งผู้เป็นพ่อต้องออกไปหางานรับจ้างอื่นๆ อีกสารพัด ปล่อยให้ลูกเฝ้าควายทั้งฝูงเพียงลำพัง

แน่นอน คนเห็นเหตุการณ์คงรู้สึกสลดใจ แต่ไม่มีใครไปช่วยเธอหรือทำการห้ามปรามเลยสักคน  โทษของเธอคงหนักเกินไป การหนีงานไปเที่ยวจนควายเกือบหายไปหลายตัวมันเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับสังคมบ้านนา  บางคนเอ่ยปากพูดถึงความน่าเวทนาของเด็ก และบางคนบ่นพึมพำถึงอนาคตที่ตีบตัน มืดมน ของเด็กเลี้ยงควายผู้ไม่มีการศึกษา พร้อมกับสั่งสอนลูกๆ ให้ขยันเรียนเพื่อที่จะได้ไม่ลำบากตอนโต  โดยอาศัยโศกนาฏกรรมที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นกรณีศึกษา

ใช่ ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ผมถูกแม่เรียกกลับเข้าบ้านทันที  แม่คงกลัวว่าผมจะถูกลูกหลงจากกระสุนดินเหนียวหรือท่านคงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งไม่ดีจึงไม่อยากให้เด็กเห็น  แต่ตอนนั้น “เลือด” ในร่างกายของผมมันสูบฉีดพร่านไปหมดแล้ว

“ทำไมวะ เด็กจะไปงานวันเด็กมันผิดตรงไหน ทำไมต้องยิงหนังสติ๊กใส่ด้วย...ทำไมไม่มีใครมาห้ามเลย พวกผู้ใหญ่ทำอะไรกันอยู่วะ” คำถามจำพวกนี้ถูกระดมเข้ามาในใจ เพราะเมื่อเปรียบเทียบอายุแล้ว ผมกับเธอไม่น่าจะห่างกันมากแต่เหตุใดเราจึงต่างกันเหลือเกิน

จากนั้น สำนึกประเภท “ปกป้องคนที่อ่อนแอกว่า” แบบที่เคยได้อ่านในนิยายจีนกำลังภายในและวิชาลูกเสือสำรองได้ทำให้ผมหยิบหนังสติ๊กคู่กายออกจากเอว บรรจงใส่กระสุนลงไป จากนั้นก็เล็งและยิงไปที่หัวของชายผู้นั่นเสียเต็มเหนี่ยวถึงสองนัดท่ามกลางความตกใจของไทยมุงทุกคน  และแน่นอน คู่ต่อสู้ของผมหันหลังกลับมาด้วยความโกรธ พร้อมกับปรี่เข้ามาหาผมอย่างรวดเร็วทำให้ผมต้องยิงสวนไปยิงนัดตรงบริเวณหน้าท้อง  ทว่า เมื่อเขาเข้ามาใกล้และจำได้ว่าผมเป็นใคร  เขากลับชะงักเท้าและหันหลังเดินกลับไปด้วยอาการโกรธเกรี้ยวกว่าเดิม

“นี่ถ้ามึงไม่ใช่ลูกครูหล่ะก็ เจอดีแน่ไอ้เด็กห่านี่...” เขาบ่นด้วยความหัวเสียส่วนผมก็วิ่งกลับบ้านด้วยความหัวใจพองโต

วันเด็กปีนี้ ผมรู้สึกว่าตนเองโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว...


3.

“นี่เราเป็นเด็กเกเรตั้งแต่เมื่อไหร่ เอาหนังสติ๊กไปยิงหัวเค้าจนแตกยังไม่ไปขอโทษเค้าอีก รู้มั้ยเค้าเป็นผู้ใหญ่”  ผมจำไม่ได้ว่าเสียงเกรี้ยวกราดนี้เป็นของพ่อหรือแม่ จำได้เพียงว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ผมถูกตีก้นไปจนนับไม่ถ้วน
“ก็เค้ายิงหนังสติ๊กใส่ลูกตัวเองทำไมเล่า  เห็นมั้ยหน่ะว่าเด็กคนนั้นมันเจ็บ มันก็แค่อยากไปเพราะมันไม่เคยไป” ผมเถียงกลับ  แต่เหตุผลจากเด็กอย่างผมไม่เป็นที่น่ารับฟังเท่าไรนัก  ผู้ใหญ่ที่บ้านบางคนบอกว่าผม “ดีแตก” บางคนก็บอกว่า โตขึ้นผมคงเกเรแน่นอน

“นี่นะ โตขึ้นหากมันมีปืน มันคงยิงเค้าแล้ว” เสียงญาติคนหนึ่งเอ่ยขึ้น  “อ้าว...บอกมาว่าตัวเองผิดมั้ยไปยิงเค้าแบบนั้น” เสียงญาติอีกคนสวนแทรกขึ้นมา

“ไม่ผิด” ผมยืนกรานหนักแน่นด้วยน้ำตาคลอเบ้า  ตอนนั้น ผมไม่เข้าใจเลยว่าตนผิดตรงไหน  การปกป้องคนอ่อนแอและถูกทำร้ายจะเป็นสิ่งที่ผิดได้ยังไง ทำไมผู้ใหญ่ไม่ช่วยเด็ก แต่กลับมาตีเด็กที่ช่วยเด็ก  แบบนี้มันถูกแล้วหรือไง...

“ช่างมันเถอะ ยังไงมันก็ยังเด็กอยู่ โตขึ้นมามันก็รู้เรื่องเองแหละ” ญาติผู้อาวุโสที่สุดคนหนึ่งพูดสรุปเรื่องราว  แต่ในใจผมกลับรู้สึกอึดอัดจนแทบระเบิดออกมา  ผมมีเรื่องอยากพูดอีกมากแต่ติดที่ไม่รู้จะเล่าออกมาอย่างไร สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ลุกขึ้นเดินและตะโกนดังลั่นเสียหลายครั้งเพื่อระบายอารมณ์แล้วไปนอนตรงมุมหนึ่งของบ้านจนกระทั่งเช้า

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมไปงานวันเด็ก...

หลายปีผ่านไป ผมก็เจริญรอยตามคำทำนายของผู้ใหญ่ในครั้งนั้นเกือบทุกเรื่องนับตั้งแต่การชกต่อย ทะเลาะวิวาท และการหนีเรียนไปเที่ยวตามประสา “วัยรุ่น”  ญาติๆ มักบ่นแบบเอือมระอากับแม่ผมอยู่เสมอถึงการคบเพื่อนของผม  เพราะแต่ละคนล้วนเหลือขอทั้งนั้น  แน่นอน ผมอาศัยผลการเรียนที่ดีอย่างสม่ำเสมอเป็นเกราะป้องกัน  ผมเริ่มเรียนรู้ “กติกา” ในโลกของผู้ใหญ่พร้อมๆ กับทำการต่อต้านอย่างเปิดเผย นับตั้งแต่ เจาะหู โกนผมเสียจนโล้น (ประท้วงไม่ให้นักเรียนไว้ผมยาว) ไม่ไปเรียนแต่อ่านหนังสือเองในบ้าน รวมไปถึงการ “ตั้งใจ”พลั้งมือชกผู้ใหญ่ในโรงเรียน  โทษฐานที่เขาคนนั้น “บังเอิญ” ลวนลามเด็กนักเรียน

ที่หนักสุดคือ การเกือบติดศูนย์ในวิชาศาสนาและจริยธรรมจนแทบไม่ได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยทั้งที่สอบชิงทุนเรียนดีได้  เนื่องจากเขียนคำตอบแบบวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาการสอนแบบซ้ำซากและเน้นในด้านสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่จนเกินงาม
ประเด็นหลักของผมคือ ในโลกนี้ไม่มีผู้ใหญ่ในตำราหรอก หากมีแต่อำนาจที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กเพื่อให้พวกเค้ารู้สึกเป็น 

“ผู้ใหญ่”  วิชานี้สอนให้เราไม่รู้จักชีวิตจริง ไม่เคยสอนให้รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร  สอนเพียงกฎที่เราต้องเดินตาม ไม่ได้สอนให้เราเดินได้ด้วยตัวเอง  จำได้ชัดเจนว่า ตอนนั้นผมอ่านให้เพื่อนๆ ทุกคนฟังในห้องสอบหลังเขียนเสร็จ และเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย

“เราไม่ผิด” ผมนึกถึงอดีต


4.

ปี พ.ศ. 2554

ผมยืนเหม่อมองงานวันเด็กที่ถูกจัดในบริเวณสนามหญ้าของที่ทำงานอยู่นาน  ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าวันนี้คือวันเด็ก รู้เพียงว่าตนเองจะเข้ามาทำงานที่ค้างชาวบ้านเค้าไว้ในวันเสาร์

มันเป็นงานที่ปราศจากรถถัง ปืนกล หรือการจับเด็กมาประกวดเต้นแร้งเต้นกาให้ผู้ใหญ่ชื่นชม  ผมเห็นแม่เดินจูงมือลูกมาทำกิจกรรมระบายสีน้ำและเห็นพ่อกำลังสอนลูกชายพับเครื่องบินกระดาษกันอย่างสนุกสนาน และกิจกรรมหลายอย่างภายในงานราวกับเปิดโลกใบใหม่ให้ผมสัมผัส  ความรู้สึกว่าตนเป็น “สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์” เข้ามาเกาะกุมใจอย่างแน่นหนาและพาผมไปพบความกับความทรงจำเกี่ยวกับวันเด็กของตนเองทั้งที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน

แน่นอน แม้ผมจะบอกกับตนเองอยู่เสมอว่า “ไม่ผิด” แต่ก็เสียใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมา  เพราะเมื่อย้อนเวลากลับไป เราทุกคนล้วนเป็นทั้งเหยื่อและผลผลิตของมุมอัปลักษณ์ในสังคมของเราเองทั้งนั้น  จะมีใครรู้ว่าหากเกิดกรณีชาวนายากจนคนหนึ่งทำร้ายลูกชายครู ผลลัพท์จะเป็นเช่นไร  จะมีใครรู้ว่าในสังคมชนบทที่ถูกมองว่าเรียบง่ายและเป็นสังคมพึ่งพาอาศัยกันกลับมีมายาคติเรื่องฐานะ สีผิว ระบบอาวุโส และการศึกษา นับไม่ถ้วน  ทั้งยังมีอาการไม่อยากยุ่งเรื่องของชาวบ้านปะปนอยู่ไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ เกือบทุกที่

สุดท้าย จะมีใครรู้ว่า แท้จริงแล้วเด็กก็มิใช่ผ้าขาวที่จะสามารถซักย้อมได้ตามใจ  หากเป็นโลกใบหนึ่งซึ่งไวต่อการเรียนรู้และต้องการคู่สนทนาเพื่อแบ่งปันจินตนาการต่อกัน

ผมยืนมองกิจกรรมวันเด็กตรงหน้าเสียนาน รู้สึกตัวอีกที่ก็พบว่าตนกำลังปาเครื่องบินกระดาษแข่งกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับตนในครั้งอดีตเสียแล้ว  เด็กหลายคนช่วยสอนวิธีการพับเครื่องบินแบบใหม่ๆ ให้มีทั้งแบบร่อนค้างกลางอากาศนาน และพุ่งได้ไกล  ที่น่าสนใจคือปลายหัวที่แหลมคมของเครื่องบินทุกลำถูกพับเก็บอย่างเรียบร้อยเพื่อความปลอดภัย

“พ่อหนู บอกว่าจะเล่นอะไรก็ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย” เด็กชายตัวอ้วนบอก...


5.

ผมเดินทางกลับบ้านตอนบ่ายและพักลงตรงหน้าทีวีด้วยความอิ่มเอมบางอย่างคล้ายว่าบางส่วนของชีวิตวัยเด็กได้กลับคืนมา  ทว่าเมื่อหน้าจอทีวีสว่าง สายตาผมจับจ้องไปที่การรายงานภาพวันเด็กของแต่ละช่องซ้ำไปซ้ำมา  ภาพของเด็กยื้อแย่งกันเล่นปืนกล ปีนป่ายรถถัง และถูกจับให้ไปนั่งเก้าอี้ตัวนั้นตัวนี้ยังคงปรากฏขึ้นราวกับเป็นพิมพ์เขียวจากอดีต  ข่าวบางช่วงยังให้เวลาจำนวนมากกับการประกาศรางวัลยุวชนดีเด่นสาขาต่างๆ มากมาย  จากนั้นภาพก็ตัดมายังข่าวทำแท้งของวัยรุ่น ข่าวคดีความทางการเมือง ยุบพรรค ความรุนแรงในภาคใต้ ข่าวทุจริต คลิปฉาว ฯลฯ

ใจของผมเริ่มห่อเหี่ยวและกระหวัดนึกถึงอดีตของตนเองอีกครั้ง...

บางที สังคมโดยรวมของเรายังคงไม่เติบโตเป็น “ผู้ใหญ่” จริงๆ เลยสักครั้ง

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยยอดลงทะเบียนประชามติ รธน.นอกเขตจังหวัดมี 8,083 คนแล้ว

$
0
0
กกต. ระบุยอดลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่าง รธน.นอกเขตจังหวัด ระหว่างวันที่ 1-27 พ.ค. 2559 มีจำนวน 8,083 คนแล้ว

 
28 พ.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการแทนเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า นับจาก กกต.ได้ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และได้เปิดให้มีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ซึ่งนับเป็นวันแรกของการลงทะเบียน มีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ทยอยมาลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัดอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1-27 พฤษภาคม 2559 มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 8,083 คน โดยการลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด จาก 2 ช่องทาง คือ การยื่นต่อสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น จำนวน 3,954 คน และการใช้ช่องทางการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 4,129 คน
 
นายบุณยเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดมากที่สุดใน 5 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,235 คน , จังหวัดขอนแก่น จำนวน 190 คน , จังหวัดนนทบุรี จำนวน 135 คน , จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 135 คน และจังหวัดระยอง จำนวน 93 คน ส่วนสำนักทะเบียนซึ่งมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดมากที่สุด คือ เทศบาลเมืองกันทรลักษ์ จำนวน 603 คน รองลงมา คือ เขตราชเทวี จำนวน 227 คน เขตสายไหม จำนวน 197 คน เขตประเวศ จำนวน 192 คน และเขตดุสิต จำนวน 150 คน
 
นายบุณยเกียรติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัดยังสามารถลงทะเบียนได้อย่างต่อเนื่องโดยผ่าน 3 ช่องทาง ตามห้วงระยะเวลา ดังนี้ 1.ยื่นด้วยตนเอง สำหรับกรุงเทพมหานคร ยื่นคำขอได้ที่สำนักงานเขต และที่ต่างจังหวัดยื่นคำขอที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 7 กรกฎาคม 2559 ในวันและเวลาราชการ ทั้งนี้สามารถยื่นคำขอเป็นกลุ่มได้ โดยการมอบหมายผู้มีสิทธิอื่นยื่นแทน 2.ยื่นทางไปรษณีย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2559 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ 3.ยื่นผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ http://election.dopa.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 – 30 มิถุนายน 2559 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติในเวลา 24.00 น.ของวันที่ 30 มิถุนายน 2559
 
“อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประสงค์ขอใช้สิทธิออกเสียงนอกเขตจังหวัด ยื่นคำขอลงทะเบียนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการหลงลืม ซึ่งระบบการลงทะเบียนออกเสียงนอกเขตจังหวัด ได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนอย่างมาก ซึ่งสามารถยื่นผ่านทางช่องทางอินเทอร์เน็ต ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยื่นด้วยตนเองที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น” นายบุณยเกียรติ กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รองโฆษกพรรคเพื่อไทยชี้คดี 'ฟิลลิป มอร์ริส' เป็นเคสในไทยไม่เกี่ยว 'WTO'

$
0
0
รองโฆษกพรรคเพื่อไทยชี้คดี 'ฟิลลิป มอร์ริส' ที่เกิดในไทยเป็นคดีอาญาเรื่องการสำแดงเท็จในการนำเข้าว่าต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนที่ฟิลิปปินส์ท้วงมาแค่ให้ทำตามระเบียบแกตต์เท่านั้น 

 
28 พ.ค. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าจากกรณีพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด โดยนายทรอย เจ ม้อดลิน (MR.TROY J MODLIN) กับพวกรวม 8 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 ฐานความผิด ร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล โดยคำฟ้องสรุปว่า นิติบุคคลดังกล่าวกับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าในราชอาณาจักรไทยและสำแดงราคาสินค้าประเภทบุหรี่ ยี่ห้อมาร์ลโบโร (Marnboro) และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม (L&M) อันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร เหตุเกิดระหว่างเดือน ก.ค. 2546 ถึงเดือน มิ.ย. 2549 มีความผิดทั้งสิ้น 272 กรรม รวมราคาสินค้า (บุหรี่) บวกราคาอากรที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210,209,582.50 บาท (สองหมื่นสองร้อยสิบล้านสองแสนเก้าพันห้าร้อยแปดสิบสองบาทห้าสิบสตางค์) โดยศาลประทับรับฟ้องแล้ว โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหากกระทำผิดจริง ตามกฎหมายศุลกากรจะปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาของรวมค่าอากร ซึ่งยอดปรับอาจจะอยู่ที่ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทนั้น
 
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนทราบมาว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม ครม. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวรายงานคดีสำคัญที่ ครม.ให้ความสนใจ ซึ่งรัฐและเอกชนฟ้องร้องกัน 17 คดี ต่อที่ประชุม ครม. ซึ่งคดีส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม และเกิดความผิดพลาด ส่วนจะจริงหรือไม่ ต้องรอให้ศาลตัดสินนั้น โดย 1 ใน 17 คดี มีการรายงานเรื่องคดีของฟิลลิป มอร์ริส เลี่ยงภาษีหลายหมื่นล้านบาทรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ฟิลลิป มอร์ริส มีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และเคยมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) และ WTO ชี้ว่า ฟิลลิป มอร์ริส ทำถูกต้อง กระทั่งล่าสุดรัฐมนตรีพาณิชย์ของฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ไทยทำตามข้อตกลงของ WTO นายวิษณุจึงรายงานเรื่องนี้ให้ ครม.ทราบ
 
นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า แต่เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ฟ้องไทยที่ WTO นั้น เป็นเรื่องฟ้องว่าประเทศไทยคิดคำนวณภาษีศุลกากรตามขั้นตอนของแกตต์ (Gatt) ซึ่งมีทั้งหมด 6 วิธี "ไม่ถูกต้อง" โดยกรมศุลกากรไปใช้วิธี "ราคาของเหมือน" แล้วไม่ได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฟิลลิปฯให้ทราบก่อน จึงผิดระเบียบของแกตต์ที่จะต้องแจ้งให้บริษัทฯทราบก่อน 2.เรื่องคดีฟิลลิป มอร์ริส ที่เกิดขึ้นในไทย เป็นคดีในศาลอาญา เป็นเรื่องที่อัยการยื่นฟ้องคดีเลี่ยงภาษีศุลกากร จากการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าความเป็นจริงมาตั้งแต่ปี 2546 ตามข้อกล่าวหาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
 
"คดีในประเทศไทย เป็นคดีที่บริษัทนี้สำแดงเท็จในการนำเข้า ซึ่งมีภาษี 3 ตัวคือ ภาษีศุลกากร, ภาษีสรรพสามิต, และภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ WTO เลย และ WTO ก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องใด ๆ เกี่ยวกับการสำแดงราคาอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน ไม่ใช่นำไปเหมารวมกัน" นายยุทธพงศ์กล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงการณ์ 'เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์' ทรงรับการผ่าตัดเนื้องอกที่พระศอเรียบร้อยดี

$
0
0

28 พ.ค. 2559 แถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ฉบับที่ 2
       
ตามที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มีพระอาการประชวร โดยคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้ตรวจพบก้อนเนื้องอกที่พระศอ (คอ) และทรงได้รับการถวายการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจ (Biopsy) เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พุทธศักราช 2559 ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
       
การผ่าตัดสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี คณะแพทย์ฯ ได้ตัดก้อนเนื้องอกออกทั้งหมด เพื่อป้องกันพระอาการอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ผลของการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ไม่พบเนื้อร้าย หลังการผ่าตัดทรงขยับพระพาหุ (ต้นแขน) และพระกร (ปลายแขน) ได้น้อย กอปรกับยังมีพระอาการจากภาวะตับอ่อนอักเสบเดิม ทรงปวดพระนาภี (ท้อง) มีพระอาการคลื่นไส้ และทรงอาเจียนเป็นบางครั้ง อีกทั้งยังทรงมีพระปรอท (ไข้) สูงเป็นบางเวลา เสวยพระกระยาหารได้น้อย และมีพระอาการอ่อนเพลียมาก
       
คณะแพทย์ฯ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ จึงมีความเห็นร่วมกัน ขอพระราชทานกราบทูลให้ทรงงดการปฏิบัติพระกรณียกิจสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ทรงพักพระวรกาย และทรงรับการถวายพระโอสถอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่่อให้ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว
       
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
       
สำนักพระราชวัง
       
28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2559
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรัญชัย ถามเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญ-เกษียร เล่าเรื่องเผด็จการกระเป๋ารถเมล์

$
0
0

เก็บตก วรัญชัย โชคชนะถามในวงเสวนา "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้" ถามเรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญ ประชามติ และระเบียบที่ กกต. ใช้คุมการรณรงค์ - สมชาย ปรีชาศิลปกุล หวั่นแนวโน้มเกิดรัฐธรรมนูญที่ไร้ 'รัฐธรรมนูญนิยม' - อภิชาต สถิตนิรามัย กลัวการรับรัฐธรรมนูญ จะเท่ากับรับระเบียบอำนาจรัฐข้าราชการเป็นใหญ่- เกษียร เตชะพีระ เล่าภาวะเผด็จการของกระเป๋ารถเมล์ และวิธีหนีพ้นจากภาวะดังกล่าว

 

ในวงเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หัวข้อ รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ ซึ่งจัดไปแล้วเมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา วิทยากรประกอบด้วย 1. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน 4. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 5. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

คลิปวรัญชัย โชคชนะ ถามเรื่องรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ ตอบโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล อภิชาต สถิตนิรามัย บารมี ชัยรัตน์ เดชรัต สุขกำเนิด เกษียร เตชะพีระ และสรุปโดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

วรัญชัยถาม-วิทยากรตอบ

ในช่วงถามตอบ วรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหลายสมัย อภิปรายว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ดี รอบนี้เขาไม่ลงผู้แทนก็ได้ และตั้งคำถามถึงวิทยากร โดยถามสมชาย ปรีชาศิลปกุลว่า เขาว่าต้องใช้เวลาปฏิรูปเหตุผลฟังได้หรือไม่ การลงประชามติเอาประชาชนเป็นตัวประกันหรือไม่ รับก็ได้แบบนี้ ไม่รับก็ได้แบบนี้

คำถามสำหรับอภิชาต สถิตนิรามัย วรัญชัยถามว่า นอกจากรัฐบาลมีความคิดยกเลิกเบี้ยคนชรา หลักประกันสุขภาพ และลดปีเรียนฟรีลงจาก 15 ปี เหลือ 12 ปี ท่านคิดกับเรื่องนี้อย่างไร ตัดงบประมาณแผ่นดินหมด แต่จะซื้ออาวุธที่ประเทศอื่น ท่านในฐานะนักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเหมาะสมหรือไม่

นอกจากนี้ได้สอบถาม บารมี ชัยรัตน์ ว่ามีความเห็นอย่างไร กรณีท้องถิ่นให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือใช้วิธีต่ออายุผู้บริหารท้องถิ่น

ถามสำหรับเดชรัต สุขกำเนิด วรัญชัยถามว่าเรื่องการศึกษา ที่อาจารย์เดชรัตพูดว่าไม่ต้องเชื่อรัฐธรรมนูญ 12 ปี เราก็จะให้ 15 ปี แต่ถ้าไม่ทำตาม จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในส่วนของคำถามถึงเกษียร เตชะพีระ วรัญชัย ถามว่าท่านพูดมาถูกหมด จึงไม่สงสัยข้องใจ เป็นเพราะอย่างนี้ใช่ไหม เขาถึงบอกว่าพวกที่มานั่งฟัง ประชุม อย่าบิดเบือน ก้าวร้าว หยาบคาย อย่าข่มขู่ ปลุกระดม และถ้าทำกับกฎหมายประชามติได้ ถ้าหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. เขาก็ต้องออกกฎแบบนี้ได้ ประชาชนจะทำอย่างไร

นอกจากนี้ยังถามพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ว่าที่ผ่านมามีแต่เขาทำโรดแมป แล้วประชาชนทำไมไม่ทำโรดแมปเองบ้าง ถ้าทำโรดแมปแล้วประชาชนจะทำอย่างไร

ในช่วงตอบคำถาม สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่า หลังจากนี้จะเกิดภาวะ "Constitution without constitutionalism" หรือ รัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักรัฐธรรมนูญนิยม หมายความว่า จะอยู่ในสังคมที่มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม" เช่น ขาดหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน หลักอำนาจสูงสุดของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง กระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลางและน่าเชื่อถือ เราจะอยู่ในสังคมที่มีสิ่งที่มีแต่ชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเกิดมาแล้วในละตินอเมริกา แอฟริกา และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เดินหน้าไปก็จะอยู่ในภาวะที่มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญ

ด้านบารมี ชัยรัตน์ แสดงความเป็นห่วงหากมีการใช้ระเบียบกฎหมายกำกับการลงประชามติแบบที่ใช้ในระดับชาติขณะนี้ เอาไปบังคับใช้ในระดับท้องถิ่น

อภิชาต สถิตนิรามัย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญที่ เกษียรเสนอก่อนหน้านี้ก็คือ เป็นยุทธศาสตร์ที่รวมทุกอย่าง คือจะไม่ทำสักอย่าง ทั้งนี้การแก้ไขเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง ต้องเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะมากๆ แต่ไม่จำเป็นต้องลงที่เนื้อหา สำคัญที่กระบวนการมากกว่า ที่จะจูงใจให้กับการลงทุนด้านการศึกษา การวิจัยและพัฒนา

แปลว่าต้องมีกลไกรัฐที่เข้มแข็งถึงจะทำเรื่องนี้สำเร็จ กลไกรัฐที่ว่านั้นคือระบบราชการ แต่เราก็เห็นตัวอย่างของระบบราชการ ทั้งกรณีกรมการบินพลเมือง กิจการประมงติดโทษแบน IUU ซึ่งสะท้อนปัญหายอดภูเขาน้ำแข็งของระบบราชการ น้ำท่วมปี 2554 เราก็ได้รับผลกระทบมากเกินที่ควรจะเป็นสาเหตุหนึ่งก็เป็นเรื่องความไร้เอกภาพของระบบราชการที่ 20 หน่วยงานไม่ประสานกัน

ระบบราชการไทยถึงเวลายกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นระบบที่ใช้ได้ของการบริหารรัฐ ซึ่งการรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นอย่างที่เกษียรเสนอ คือไม่ใช่รับรัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่เป็นการรับระเบียบอำนาจของ คสช. ซึ่งก็คือรัฐราชการเป็นใหญ่

ด้านเดชรัต สุขกำเนิด ในเรื่องอุดหนุนการศึกษา หากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย รัฐบาลต้องอุดหนุนอย่างน้อย 12 ปี แต่รัฐบาลจะสนับสนุนเพิ่มเติมเป็น 15 ปี แบบเดิมก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะความเมตตาของรัฐบาล ถ้าเขาต่อให้ถึง 15 ปี คงต้องรบกวนราษฎรอาวุโสเขียนจดหมายขอบคุณ ซึ่งก็จะเหมือนกับเรื่องเหมืองแร่ ที่การยุติการทำเหมือง ไม่ได้เป็นเพราะละเมิดเสรีภาพประชาชน แต่ยุติเพราะความเมตตาของรัฐบาล

สำหรับเรื่องแผนการรณรงค์นั้น ในฐานะที่ทำงานกับภาคประชาชน เสนอว่าต้องคุยกับภาคประชาสังคมว่าสิ่งที่กำลังจะเลือก และอนาคตที่กำลังจะเลือกคืออะไร

ด้านเกษียร เตชะพีระ ในเรื่องเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เกษียร ได้อ้างถึงหมวด 15 มาตรา 255 และ 256 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า ต้องได้เสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสมาชิก และ 20% ของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และถ้าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกระทบต่อเรื่องสำคัญ หรือเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์พื้นฐานต้องผ่านประชามติ

และถ้ามี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่ง เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทบเรื่องสำคัญ มาร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญว่า "ไอ้นี่มันเกี่ยวครับ ไอ้นี่มันเกี่ยวครับ" แล้วไยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็หยุดไป คือเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เกี่ยว แต่มี ส.ส. และ ส.ว. จำนวนหนึ่งเห็นว่าเกี่ยวไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อล็อกกระบวนการแก้ไข

นอกจากนี้เกษียรยังเตือนเรื่อง การได้เผด็จการกระเป๋ารถเมล์ด้วย ในรถเมล์ที่จะมีทั้งโชเฟอร์ตีนผี กระเป๋ารถเมล์ดุ ประเภทที่ตะคอกผู้โดยสารว่า "จะลงกดกริ่งสิพี่ ลงเร็วๆ หน่อยรอช้าห่าอะไร" เดิมก็เป็นคนกระจอกๆ ผลงานที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดีอะไร พอได้อำนาจหน่อยก็ใหญ่ฉิบหาย ห้ามอย่างโน้น ห้ามอย่างนี้ ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าหมายถึงใคร วันที่ดีที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของผมคือ ผมเจอรถเมล์แบบนี้ เมื่อรถเมล์จอดที่เดอะมอลล์บางแค ก็มีคนๆ หนึ่งแต่งตัวราชการ ตะโกนว่าทำไมโชเฟอร์ขับแบบนี้ ไม่ห่วงสวัสดิการผู้โดยสารเลย "It makes my day"

พิชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ระบอบประชาธิปไตยจุดเด่นอยู่ที่อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ต้องคำถามว่าถ้าเราไม่ต้องการให้คนอื่นมากำกับอำนาจเรา คำถามที่ท้าทายคือ เราจะ Self-limitation หรือเราจะกำกับอำนาจตัวเองอย่างไร อำนาจประชาธิปไตยต้องออกแบบให้พวกเราสามารถหยุดยั้งอำนาจที่เราเองอาจจะเหลิงได้ นั่นคือหัวใจ ถ้าเราทำตัวนี้ได้ก็ไม่ต้องแคร์ว่าคนอื่นจะมีอำนาจมาสั่งเรา เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ Self-government ถ้าเรามี Self-limitation ภายใน Self-govermemt ซึ่งเป็นภารกิจที่เราต้องช่วยกันออกแบบสถาบันการเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

WHO เผยคนทำงานภาคสาธารณสุขในซีเรียมีความเสี่ยงสูงสุดในโลก

$
0
0
องค์การอนามัยโลกชี้ซีเรียเป็นสถานที่อันตรายที่สุดสำหรับคนทำงานภาคสาธารณสุข เมื่อปี 2558 มีเหตุโจมตี 135 ครั้ง บุคคลากรด้านสาธารณสุข-ผู้ป่วย เสียชีวิตกว่า 173 คน อันตรายยิ่งกว่าพื้นที่ความขัดแย้งอื่น ๆ ในโลก 

 
 
สงครามในซีเรีย บ่อยครั้งที่กองกำลังฝ่ายต่าง ๆ มักจะโจมตีสถานพยาบาล (ที่มาภาพ: worldbulletin.net)
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 เว็บไซต์ Middle East Onlineได้รายงานว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เปิดเผยตัวเลขสถิติที่ได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงภัยของคนทำงานในภาคสาธารณสุข โดยระบุว่าซีเรียเป็นสถานที่อันตรายที่สุดสำหรับคนทำงานด้านสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อปี 2558 ซึ่งอันตรายยิ่งกว่าพื้นที่ความขัดแย้งอื่น ๆ อย่างเช่น ปาเลสไตน์ และเยเมน เป็นต้น
 
เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกระบุว่ากว่าสองในสามของการโจมตีสถานที่ให้บริการสาธารณสุขนั้น เป็นการโจมตีที่จงใจ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และหากพิสูจน์ว่าฝ่ายไหนโจมตีจริง พวกเขาก็จะได้รับการไต่สวนว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม
 
นับเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกได้จัดทำสถิติเรื่องการโจมตีสถานที่ให้บริการสาธารณสุขและเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนทำงานภาคสาธารณสุขในพื้นที่ความขัดแย้งต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุม 19 ประเทศทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าการโจมตีโดยตรงต่อสถานที่และบุคลากรด้านการสาธารณสุข (รวมทั้งการโจมตีรถพยาบาล) ใน 19 ประเทศเมื่อปี 2558 มี 256 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 434 คน ซึ่งรวมทั้งบุคคลากรด้านสาธารณสุข ผู้ป่วย ผู้อยู่ในเหตุการณ์ โดยมากกว่าครึ่งของเหตุโจมตีดังกล่าวหรือคิดเป็น 135 ครั้ง เกิดขึ้นในซีเรียส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 173 คน ส่วนในพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ปาเลสไตน์มีการโจมตีดังกล่าว 34 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 คน ที่ปากีสถานมีการโจมตี 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 45 คน และที่ลิเบียมีการโจมตี 14 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 39 คน
 
ส่วนเมื่อปี 2557 มีการโจมตีโดยตรงต่อสถานที่และบุคลากรด้านการสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง 19 ประเทศรวม 338 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 525 คน
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กำนันเมืองนะชี้แจง กรณี จนท.อุทยานทวงคืนผืนป่า - ยืนยันเป็นที่ทำกินดั้งเดิม

$
0
0

กำนัน ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ชี้แจงกรณีสื่อลงข่าวหาว่าถูก จนท.อุทยานยึดไม้เถื่อน 29 ท่อน ยืนยันไม่มีไม้เถื่อน ภาพในสื่อเป็นเหตุการณ์พื้นที่อื่น - ส่วนที่ดิน 22 ไร่ที่ถูกหาว่าบุกรุกนั้น ยืนยันเป็นที่ทำกินดั้งเดิม - ขณะที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านโป่งอางเคยค้านแผนสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานหวั่นท่วมหมู่บ้าน และเมื่อปี 58 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ร่วมกับ คณะกรรมการหมู่บ้านเพิ่งสำรวจพื้นที่-รังวัดให้ชาวบ้าน 93 รายตามมติคณะรัฐมนตรีปี 41 ก่อนเจอ จนท.อุทยาน เข้าพื้นที่ทวงคืนผืนป่า

ภาพจากข่าว “ป่าไม้สนธิกำลังตรวจสอบผู้นำชุมชนบุกรุกป่าอนุรักษ์” ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ออนไลน์ เมื่อ 24 พ.ค. 2559 โดยนำภาพข่าวตรวจยึดไม้สัก 29 ท่อน ที่ป่าห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มาเป็นภาพประกอบข่าว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ เข้าตรวจสอบพื้นที่บ้านโป่งอ่าง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ขณะที่ผู้ถูกพาดพิงซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนัน ต.เมืองนะ ระบุไม่มีการยึดไม้เถื่อน ไม่มีการแพ้วถางพื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืช โดยพื้นที่ 22 ไร่ เป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิม

ภาพที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์กับที่บ้านโป่งอ่าง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ต่อมาเมื่อมีการตรวจสอบจากเฟซบุ๊คของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ พบว่าเป็นภาพเหตุการณ์ตรวจยึดไม้สักท่อน 29 ท่อน ที่ป่าห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนละสถานที่ (ที่มา: เฟซบุ๊คนายผณินทร์ ทับกล่ำ, 24 พ.ค. 2559)

ภาพเหตุการณ์ตรวจยึดไม้สักท่อน 29 ท่อน ที่ป่าห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์กับที่บ้านโป่งอ่าง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่มา: เฟซบุ๊คนายผณินทร์ ทับกล่ำ, 24 พ.ค. 2559)

เหตุการณ์ตรวจพื้นที่บ้านโป่งอาง ตำบลเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอุทยานแห่งชาติผาแดง (ที่มา: เฟซบุ๊คนายผณินทร์ ทับกล่ำ, 23 พ.ค. 2559)

 

กรณีที่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ได้ลงเนื้อหาข่าวว่า “ป่าไม้สนธิกำลังตรวจสอบผู้นำชุมชนบุกรุกป่าอนุรักษ์” ระบุว่า “เจ้าหน้าที่ป่าไม้สนธิกำลังตรวจสอบผู้นำชุมชนบุกรุกป่าอนุรักษ์ พบพื้นที่ถูกแผ้วถางปลูกพืชกว่า 22 ไร่ ด้านเจ้าตัวอ้างสิทธิ์เป็นผู้ถือครองระบุว่าเจ้าหน้าที่ตรวจรังวัดให้แล้ว เจ้าหน้าที่เตรียมตรวจสอบข้อเท็จจริงดำเนินคดีตามกฎหมาย”

การออกตรวจและดำเนินคดีผู้กระทำผิดบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 07.00 .วันที่ 24 พค 59 โดยทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำโดย นายผณินทร์ ทับกล่ำ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสาละวิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้ร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจสอบในพื้นที่ บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 .เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ภายหลังได้รับการร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่ว่า ทางกำนัน ต.เมืองนะ เป็นผู้บุกรุกป่าอนุรักษ์ในเขตหมู่บ้าน พื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง”

ทางเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจฯ กรมอุทยาน ร่วมกับ จนท. สปป.3 ภาคเหนือ และเจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยที่ 2 บก.ควบคุมที่ 1 มฉ.ที่ 4 ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่บุกรุกดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการครอบครองทั้งหมด 22 ไร่ นอกจากนี้ยังพบการดำเนินการแผ้วถางเพื่อเตรียมเพาะปลูกพืช ทางเจ้าหน้าที่้จึงได้ทำการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ดำเนินการลงบันทึกหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับได้รายงานให้ทางผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

ในเวลาต่อมา ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่อยู่นั้น ได้มีมีลูกชายกำนัน ต.เมืองนะ แสดงตัวและรับเป็นเจ้าของพื้นที่ดังกล่าว และอ้างว่าก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ มาตรวจรังวัดให้แล้ว อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 แล้ว ปรากฎว่ามีร่องรอยการทำกิน ประมาณ 5ไร่ ทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดก็พบว่า ปัจจุบันครอบครองถึง 22 ไร่ ซึ่งถือเป็นการบุกรุก จึงได้ส่งเรื่องราวให้สำนักฯ 16 ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และตรวจยึดไม้เถื่อนอีก ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นจึงได้ทำการบันทึกจับกุม ส่งให้กับพนักงานสอบสวน สภ.เชียงดาว เพื่อดำเนินคดี โดยมีไม้สัก ที่ทำการตรวจยึดไว้จำนวน 29 ท่อน” ทั้งนี้ ในภาพข่าวมีการลงภาพประกอบเป็นรูปการตรวจยึดไม้สักท่อนของกลางเป็นจำนวนมาก

ต่อมา นายพงษ์ศักดิ์ เสนาใจ กำนัน ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกพาดพิง กล่าวว่า รายงานข่าวดังกล่าวทำให้เขาเป็นผู้เสียหายหลายประเด็น โดยนายพงษ์ศักดิ์ชี้แจงว่า ในการเข้าตรวจค้นนั้นมีเพียงเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารที่ปรากฎตามเนื้อหาของข่าวแต่อย่างใด และในการบุกเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทางผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อมูลแต่อย่างใด อีกทั้งเร่งรัดให้มีการดำเนินการภายในเวลาอันรวดเร็วซึ่งผิดปกติของวิธีการขอเข้าทำการตรวจค้น ที่ต้องขอเข้าตรวจค้นโดยให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

ส่วนที่ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการครอบครอง 22 ไร่นั้น นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการครอบครองนั้นมีเพียงไม่กี่ไร่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทำกินดั้งเดิมมานานแล้ว และไม่มีการแผ้วถางพื้นที่เพื่อเตรียมเพาะปลูกพืชดังข้อความปรากฎตามข่าวแต่อย่างใด

ส่วนที่ระบุว่ามีการตรวจยึดไม้ 29 ท่อนนั้น นายพงษ์ศักดิ์ ชี้แจงว่า เป็นการเพิ่มประเด็นในข่าวเพื่อหวังผลให้ร้ายแก่ผู้เสียหายเพิ่มเติมโดยข่าวระบุว่า ในพื้นนั้นสามารถตรวจยืดไม้เถื่อนได้อีก จำนวน 29 ท่อนนั้น เป็นการนำภาพจากพื้นที่อื่น ซึ่งไม่ใช่สถานที่เดียวกับที่มีการดำเนินการเข้าตรวจค้น

กำนันตำบลเมืองนะ กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ดังกล่าวลงข่าวที่บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงอย่างมาก ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจผิดสร้างความสับสนให้กับผู้ที่รับรู้ข่าวสารหากมีการแชร์ข้อมูลก็จะทำให้ผู้ถูกพาดพิงเสียหาย ทั้งนี้กำนันตำบลเมืองนะเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อมูลให้เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะเดียวกัน ในเฟซบุ๊คของ นายผณินทร์ ทับกล่ำ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าสาละวิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดปฎิบัติการทวงคืนผืนป่าในครั้งนี้ ได้มีการโพสต์ภาพท่อนสักของกลางที่ยึดไว้ได้ในพื้นที่อื่นไม่ใช่ที่บ้านโป่งอาง เมื่อ 24 พ.ค. 2559 โดยระบุว่า “ลุยพื้นที่ อช.ผาแดง ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ อช.ผาแดงและเจ้าหน้าที่ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 335 แม่จา ได้ร่วมกันตรวจยึดพื้นที่ป่าถูกบุกรุกจำนวน 5-0-71 ไร่ ยึดไม้สักท่อนได้จำนวน 29 ท่อน ปริมาตร 3.51 ลบม. บริเวณป่าห้วยจะค่าน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่”

ขณะที่ ในการตรวจสอบพื้นที่บ้านโป่งอาง เมื่อ 23 พ.ค. นายผณินทร์ บันทึกไว้ด้วยว่า “วันนี้ได้ร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่หน่วยปฎิบัติการพิเศษที่ 1 สปป.3 (ภาคเหนือ) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแดง และเจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมตรวจยึดคืนผืนป่า บริเวณป่าบ้านโป่งอาง ตำบลเมืองนะ จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งต้นน้ำแม่ปิง กว่า 22 ไร่ อช.ผาแดง”

 

บ้านโป่งอ่างหวั่นถูกทวงคืนผืนป่า-ตั้งชุมชนมานานแต่ไร้เอกสารสิทธิ์

จากเหตุการณ์ตรวจสอบพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่าบ้านโป่งอางของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และการนำเสนอของสื่อมวลชนดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านบ้านโป่งอาง เริ่มหวาดระแวงและหวั่นวิตกกันมากขึ้น กับปัญหานโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยพื้นที่บ้านโป่งอาง เป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทใหญ่ และชาวปกาเกอะญอ ตั้งถิ่นฐานนับร้อยปีก่อนมีอุทยานแห่งชาติผาแดง

ที่ผ่านมาชุมชนดังกล่าวมีส่วนร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นสาขาย่อยของลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยสมาชิกชุมชนยืนยันว่าน้ำที่ต้นน้ำปิงบริเวณบ้านเมืองนะ แกน้อย แห้งขอด แต่บริเวณป่าต้นน้ำของห้วยหก ซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อเทือกเขาดอยปุกผักกา ยังมีลำน้ำห้วยหกไหลลงสู่แม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน โดยสภาพป่าฝั่งตะวันตกของหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืช พันธุ์สัตว์นานาชนิด ส่วนพื้นที่ป่าบริเวณรอบๆ หมู่บ้านจะเป็นป่าโปร่ง และมีการจัดสรรเป็นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมาช้านาน อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินทำกิน มีเพียงการยืนยันหลักฐานการถือครองตามบรรพบุรุษ


บันทึกการตรวจพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เมื่อ 7-8 มีนาคม 2558 มีการทำรังวัดและบันทึกร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน และรังวัดให้ชาวบ้าน 93 ราย

อนึ่งก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 7-8 มีนาคม 2558 เจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เคยเคยมาสำรวจรังวัดและทำบันทึกร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 โดยมีการรังวัดให้ชาวบ้าน 93 ราย อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าพื้นที่ ก็มีการบันทึกว่าจะให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้เมื่อปี 2554 กรมชลประทานได้เสนอโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน โดยชาวบ้านมีการคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณดังกล่าว หมู่บ้านจะต้องถูกอพยพออกไปทั้งหมดอีกทั้งน้ำจะท่วมผืนป่านับหมื่นไร่ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของชาวบ้าน ทำให้กรมชลประทาน ยอมยุติโครงการเอาไว้ชั่วคราว จนกระทั่ง เกิดเหตุเจ้าหน้าที่อุทยานนำกำลังเข้าไปตรวจยึดคืนผืนป่าบริเวณบ้านโป่งอางและเจาะจงไปที่ ที่ดินทำกินของนายพงษ์ศักดิ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกำนันตำบลเมืองนะดังกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประเมินเศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร การเติบโตยังไม่เต็มศักยภาพ

$
0
0
นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีกหากไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้

 
29 พ.ค. 2559 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ประเมินผลงาน "2 ปีเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหาร: อนาคตและความหวังและ ภารกิจในการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจในปีที่สาม" ว่าประเมินเศรษฐกิจไทย 2 ปีหลังรัฐประหาร อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงกระเตื้องขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2557 ที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและมีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shut Down Bangkok ตลอดระยะเวลา 8 ปีหลังการรัฐประหาร 2549 วิกฤตการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นโดยตลอด ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมามีการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนประมาณ 700 กว่าวันสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและเกิดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจำนวนมาก สูญเสียทรัพยากรในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ให้ดีขึ้นและในช่วงเวลา 8 ปีมีรัฐบาลมากถึง 7 รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรักษาการนายกรัฐมนตรี 9 ท่าน สะท้อนความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนและทำให้สูญเสียโอกาสในการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างมาก ปัญหาสะสมดังกล่าวได้บ่อนเซาะให้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ลดทอนความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องและล่าสุดอัตราการขยายตัวทางส่งออกเดือนเมษายนก็ติดลบสูงถึง 8%
 
อนาคตเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประชาธิปไตยที่มั่นคง เสถียรภาพทางการเมืองและการแก้ไขปัญหาวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองให้ได้ สำหรับรัฐประหาร 2557 ครบรอบ 2 ปีแล้วคงต้องรอดูว่าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างไรหรือไม่ หรือ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมรัฐประหารจะเป็นเพียงกลไกในการระงับความขัดแย้งได้ในระยะสั้นเท่านั้นหากไม่สามารถสถาปนาความเป็นนิติรัฐ ระบบยุติธรรมที่ทุกคนเชื่อมั่น รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย 
 
การออกแบบรัฐธรรมนูญให้รัฐบาลเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองมีคุณภาพ ระบบตรวจสอบถ่วงดุลเข้มแข็ง รัฐบาลที่มีคุณภาพดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและเข้มแข็งจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าผลงานของ คสช. มีประสิทธิผลอย่างไร และสิ่งนี้จะทำให้ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ สังคมเกิดสันติธรรม ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและก้าวพ้นกับดักทศวรรษแห่งความถดถอยและขัดแย้งไปได้ 
 
เศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ที่ระดับ 3.2-3.5% ดีขึ้นกว่าปี 2557 ขยายตัวเพียงแค่ 0.8% และ ปี 2558 กระเตื้องขึ้นเป็น 2.8% จากภาคการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ภาคการบริโภคที่กระเตื้องขึ้นอย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะมีแรงกดดันจากชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก หากเราไม่สามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งได้ตามกรอบเวลาที่มีการคาดหวังเอาไว้ คสช. และ รัฐบาล ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจบางเรื่อง มีการทวงคืนผืนป่าและพื้นที่สาธารณะให้กลับมาเป็นของแผ่นดิน การประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างด้วย e-biding ที่เพิ่มความโปร่งใสในโครงการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ การบังคับใช้กฎหมายและการทำให้เกิดนิติรัฐจะเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ การประกอบการ การลงทุนในประเทศไทยสร้างความเชื่อมั่น
 
ภาคการลงทุน ในส่วนของการลงทุนภาครัฐปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการติดลบ -7.3% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 29.8% ในปี พ.ศ. 2558 โดยเติบโตสูงสุดในไตรมาสสี่ที่ 41.2% และ คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 12-13% ในปี พ.ศ. 2559 ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนนั้น มีการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ คาดว่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดหากสามารถกลับคืนสู่การเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อย โดยในปี พ.ศ. 2557 การลงทุนภาคเอกชนติดลบ -1% ในปี พ.ศ. 2558 ติดลบ -2% และ พ.ศ. 2559 คาดว่าจะเริ่มเป็นบวกเล็กน้อยประมาณ 2.1% 
 
ภาคการบริโภคหลัง 2 ปีของการรัฐประหารโดย คสช. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็นผลจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รายได้เกษตรกรลดลง ประชาชนส่วนใหญ่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก การบริโภคเติบโตในระดับ 0.6% ในปี พ.ศ. 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.1% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่ากระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับ 2.3% เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมเติบโตเป็นบวกต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวติดลบ -6.5% ในปี พ.ศ. 2557 มาเป็น เติบโตเป็นบวก 20% ในปี พ.ศ. 2558 และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2559 อาจแตะระดับ 33 ล้านคน (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.4%) ทำรายได้ 1.685 ล้านล้านบาท (ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.6%) ส่วนภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งมูลค่าและผลผลิต โดยอัตราการขยายการผลิตภาคเกษตรขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ ในปี พ.ศ. 2557 หดตัวร้อยละ -3.8 ในปี พ.ศ. 2558 และยังคงขยายตัวติดลบต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2559 ที่ระดับร้อยละ -1.5 ภาวะดังกล่าวเป็นคำอธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภัยแล้งและราคาพืชผลที่ตกต่ำ ราคาและรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับกลไกตลาดซึ่งเกษตรกรเคยได้รับจากการรับจำนำและการประกันราคาในอดีตมีแรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะมากขึ้นตามลำดับ รายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้นช่วงหนึ่งได้จากการแทรกแซงราคาได้ทรุดตัวลงหลังจากมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีข้อจำกัดฐานะทางการคลังมากขึ้น มีความเสียหายจากการรั่วไหลทุจริต 
 
ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึง ภารกิจของ คสช. ควรทำในช่วงต่อไปว่า ข้อแรก ต้องทำให้เกิดกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ข้อสอง ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย สาม ดำเนินการปฏิรูปในเรื่องต่างๆและวางรากฐานและส่งมอบภารกิจเพื่อการปฏิรูปให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไปสี่ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนระบบราง การบริหารจัดการน้ำ และอื่น ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ห้า ดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกรอบวงเงิน 6 แสนกว่าล้านบาทให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเข้าถึงประชาชน ห้า ประสานกับธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีและดูแลไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป (มีโอกาสอ่อนตัวมากกว่าปรกติในช่วงปลายปี) ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจะแข็งค่าขึ้นจากปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หก ฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเพิ่มรายได้ให้ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกรรายย่อย โดยควรพิจารณาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน เจ็ด เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม หลีกเลี่ยงการกำกับควบคุมที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ แปดรื้อฟื้นทบทวนคดีค่าโง่ทั้งหลายที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมากจากการทุจริตคอร์รัปชันและสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้รัฐและประชาชนผู้เสียภาษีมีงบประมาณมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ รัฐบาล และ คสช. ควรพัฒนาระบบและกลไกเพื่อให้โครงการขนาดใหญ่ สัมปทานต่างๆในปัจจุบันและอนาคตไม่เกิดปัญหาค่าโง่ขึ้นมาอีกเช่นที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะเป็นโครงการค่าโง่คลองด่าน ค่าโง่ทางด่วน ค่าโง่รถดับเพลิง กทม. ค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นต้น
 
2 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในการปฏิรูประบบวิจัยและระบบการศึกษาได้ดีระดับหนึ่งอันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับผลิตภาพ สร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปีที่สามของ คสช.ก่อนการเลือกตั้ง (1 ปีกว่า ๆ ที่เหลืออยู่) เพิ่มงบประมาณทางด้านการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมให้อยู่ในสัดส่วนเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว วางรากฐาน 10 ยุทธศาสตร์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปีให้เข้มแข็งและรัฐบาลในอนาคตสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดช่วง 
 
ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวให้ความเห็นอีกว่าสนับสนุนรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดินด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการปรับโครงสร้างการบริหารกิจการภาครัฐควรทำให้เกิดเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้มากนัก นโยบายการการปรับโครงสร้างประชากรและเพิ่มประชากรในวัยทำงานควรดำเนินการอย่างเหมาะสม การปฏิรูประบบสวัสดิการให้มีความยั่งยืนทางการเงิน 
 
การผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน โดย สนช. และรัฐบาล คสช. จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในการนำไปพัฒนาประเทศ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยปรับเปลี่ยนอัตราและเพดานเริ่มจัดเก็บให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบชนชั้นกลาง ภาษีทรัพย์สินทั้งภาษีมรดกและภาษีที่ดินจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนในระยะยาว รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในระดับรุนแรงมากๆเนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุดมากถึง 325 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และ คนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรกถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ นอกจากนี้จากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคหรือการกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 การที่ค่า Gini Coefficient มีค่าสูงเกือบ 0.9 สะท้อนถึงความไม่ธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงพร้อมกันนี้ควรลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวอ้างงานวิจัยสำคัญต่างๆเพื่อชี้ให้เห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าโดยเฉพาะมิติทางด้านความเป็นธรรมและการกระจายรายได้เช่นBarro (1996), Glasure, Lee and Norris (1999), Plumper and Martin (2003), Doucouliagos and Ulubasoglu (2008), Rodrik and Wacziarg (2005) เป็นต้นแสดงถึง ความสัมพันธ์ของระดับประชาธิปไตย การใช้กฎอัยการศึกษาและการจำกัดเสรีภาพ(การปกครองแบบรวมอำนาจ) กับ การพัฒนาเศรษฐกิจ พบข้อสรุปจากงานวิจัยสำคัญๆ สอดคล้องกันว่า “ในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยทำให้เสถียรภาพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นมากกว่าระบอบอำนาจนิยมหลายเท่าตัวเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนและเสรีภาพในการประกอบการ เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทำให้เกิดนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยในระดับสูง ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง เสถียรภาพของสังคมสูงกว่า ความแตกแยกต่ำกว่า สถาบันต่างๆมีความเข้มแข็งและธนาคารกลางมีความเป็นอิสระมากกว่า การเป็นประชาธิปไตยมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจผ่านสี่ช่องทางคือ ทุนกายภาพดีกว่า ทุนมนุษย์สูงกว่า ทุนทางสังคมและการเมืองมากกว่าระบอบอำนาจนิยม (Persson and Tabellini 2006) นอกจากนี้ระบอบประชาธิปไตยยังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบอบอำนาจนิยม (Rodrik 2007) อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถพลักดันนโยบายสาธารณะดีๆที่เป็นประโยชน์ในระยะยาวได้หากต้องเสียคะแนนนิยม ขณะที่ปัญหาการทุจริตในการเลือกตั้งและการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวอ่อนด้อยลงทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นจึงต้องปฏิรูปกระบวนการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองให้สามารถคัดกรองคนดีมีความรู้ความสามารถสู่ระบบการเมือง ทำให้พรรคการเมืองพัฒนาสู่ความเป็นสถาบัน ให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดลงด้วยรัฐประหารเป็นระยะๆ ย่อมทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งและมีคุณภาพในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศและประชาชน และไม่ทำให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง 
 
ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ต้องมีกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นไปตามกรอบเวลาเลือกตั้งเดิมจึงไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและยึดถือหลักการประชาธิปไตย หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จะไม่มีผลบวกหรือผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนน่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่จะต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีเนื้อหาหลายประการไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยฉบับนี้จะนำมาสู่การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่หรือไม่หากมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่จากประเด็นที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภาการให้อำนาจตุลาการและอำนาจองค์กรอิสระโดยไร้การตรวจสอบถ่วงดุล ผลกระทบทางเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวน่าจะมากกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 เนื่องจาก ปัจจัยทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นบวกเหมือนเมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535
 
คสช. รัฐบาล และ ทุกภาคส่วนในสังคม มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองรอบใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้น เศรษฐกิจปีที่สามของ คสช. จึงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องและสังคมสงบสันติ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนุฯ เนื้อหา กสทช.เสนอปรับ 'วอยซ์ทีวี' เหตุเสนอข่าว 'พลเมืองโต้กลับ' ขัดประกาศ คสช.

$
0
0
เผยจันทร์ 30 พ.ค. นี้ กสท.ถกต่อกรณี อนุฯ เนื้อหา เสนอปรับวอยซ์ทีวี เหตุเสนอข่าวพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมเรียกร้องปล่อยวัฒนา ขัดประกาศ คสช. สุภิญญาเห็นต่าง ชี้รัฐ -กสทช.ควรเปิดกว้าง ส่วนกรณีถ่ายทอดสดยิงตัวตาย อนุฯเนื้อหากำลังรวบรวมข้อมูล

 
29 พ.ค. 2559 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 17/2559 วันจันทร์ที่ 30 พ.ค. นี้ มีวาระประชุมน่าจับตา ได้แก่ การออกอากาศรายการ Wake Up News ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง VOICE TV เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559 เวลาประมาณ 07.22 น. นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประกาศจัดกิจกรรมอีกครั้งในวันศุกร์นี้ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข แบบไม่มีเงื่อนไข ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ตรวจสอบพบเนื้อหารายการดังกล่าว และได้พิจารณาในคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา พบว่า มีลักษณะเป็นการต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/57 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557  ซึ่งการออกอากาศที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับ มีผลเป็นการออกอากาศที่มีเนื้อหาสาระกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง วันที่ 4 มิ.ย. 2557 ระหว่างสำนักงาน กสทช. และ บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตช่อง VOICE TV ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯเห็นสมควรโทษปรับทางปกครอง ตามมาตรา 57(2) ประกอบกับมาตรา 57(3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551
 
นางสาวสุภิญญากล่าวว่า อนุฯเนื้อหาเสนอให้ กสท. เอาผิดรายการโทรทัศน์ที่วิจารณ์การเมืองอีกแล้ว ดิฉันกลับเห็นต่างว่า กสทช.และฝ่ายรัฐควรเปิดใจกว้างขึ้นสำหรับการแสดงความเห็นของฝ่ายค้านและน้อมรับการตรวจสอบจากสื่อต่างๆ ให้มากขึ้น เพราะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง อีกทั้งเพื่อลดแรงเสียดทานจากกลุ่มคนที่เห็นต่าง ในเวลาที่ประเทศกำลังจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กสทช. ควรให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลสื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ คุ้มครองผู้บริโภคสื่อมากขึ้น แทนที่จะเน้นควบคุมเสรีภาพทางการเมืองเป็นหลัก
 
“ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนการถ่ายทอดสดเหตุการณ์เจรจาผู้ต้องหาจนยิงตนเองเสียชีวิต ขณะนี้อนุกรรมการด้านเนื้อหายังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล และให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงก่อนสรุปว่าขัดมาตรา 37 หรือไม่ จึงยังไม่ได้เสนอวาระเข้ามาให้ กสท. พิจารณาครั้งนี้ ส่วนในมิติจริยธรรม สำนักงาน กสทช. ได้ส่งจดหมายไปให้แต่ช่องพิจารณาตัวเองตามกรอบจรรยาบรรณของช่องต่างๆแล้วว่าขัดกติกากำกับตนเองที่วางไว้หรือไม่ แล้วให้แจ้งกลับมาที่ กสทช. ใน 15 วัน จากนั้น สำนักงาน กสทช. จะส่งเรื่องต่อให้องค์กรวิชาชีพสื่อพิจารณาต่อไป เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่าการเผยแพร่ถือว่าขัดจริยธรรมสื่อไหม ถ้าขัดแล้วสื่อควรทำอย่างไร เช่น การขอโทษและแก้ไข เป็นต้น” สุภิญญากล่าว
 
นอกจากนี้มีวาระน่าติดตาม ได้แก่ วาระการกำหนดแนวทางการดำเนินคดีปกครอง กรณีมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ได้ยื่นฟ้อง กสทช. และ กสท. ต่อศาลปกครองอุดรธานี โดยศาลปกครองมีคำสั่งให้ทำการแก้คำฟ้องพร้อมด้วยพยานหลักฐานยื่นต่อศาลโดยจะครบกำหนดในวันที่ 3 มิ.ย. นี้ วาระสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) การพิจารณาให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์วาระการขยายระยะเวลายื่นรายงานการแพร่แปลกปลอมของสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่และวาระอื่น ๆ ติดตามการประชุมในวันจันทร์นี้
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช.แจงการจัดซื้อยามะเร็งระดับประเทศ เพื่อช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาราคาแพง

$
0
0
สปสช.แจงจัดซื้อยามะเร็งระดับประเทศ ช่วยผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงยาราคาแพงตามบัญชียาหลักแห่งชาติ และยึดแนวทางการรักษาตามที่ราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์กำหนด ยืนยันไม่ได้จำกัดสิทธิแพทย์ใช้ยานอกบัญชียาหลักแต่ได้เปิดช่องให้เบิกจ่ายได้ภายใต้เพดานวงเงินที่กำหนด พร้อมย้ำงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีจำกัด ต้องดูแลรักษาคนไทยทั้งประเทศ

 
29 ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยอนุมัติให้ สปสช.ดำเนินการจัดหายามะเร็งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มยา จ.2 ในระดับประเทศ โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำหน้าที่จัดหาและจัดซื้อ รวมทั้งต่อรองราคายา เพื่อบรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อเบิกจ่ายให้กับผู้ป่วย
 
ทั้งนี้ในการชดเชยยามะเร็ง สปสช.จะอ้างอิงตามแนวทางการสั่งใช้ยาของบัญชียาหลักแห่งชาติและตามแนวทางการจ่ายชดเชยผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Protocol) ของ สปสช.ที่จัดทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยและสมาคมแพทย์ในสาขามะเร็งที่เกี่ยวข้อง อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านม เป็นต้น โดยระบุว่าผู้ป่วยมะเร็งชนิดใดควรได้รับยามะเร็งรายการใดบ้าง ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน แต่ในกรณีที่แพทย์บางท่านต้องการรักษาผู้ป่วยมะเร็งโดยใช้ยามะเร็งนอกรายการที่กำหนดก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน เพียงแต่การเบิกจ่ายชดเชยต้องไม่เกินจากเพดานค่ารักษาที่กำหนด
 
“สปสช.ยืนยันว่าไม่ได้จำกัดสิทธิการรักษาโรคมะเร็งของแพทย์แต่อย่างใด เพียงแต่ในการเบิกจ่ายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เท่านั้น โดยกรณีที่แพทย์ใช้ยารักษาตามแนวทางที่กำหนดในโปรโตคอลจะสามารถเบิกจ่ายชดเชยได้เต็มจำนวน แต่ในกรณีที่แพทย์ต้องการใช้ยาสูตรอื่นที่ไม่ตรงตามแนวทางในโปรโตคอลกำหนด ซึ่งคณะทำงานพัฒนาแนวทางการจ่ายชดเชยค่าบริการโรคมะเร็ง สปสช.กำหนดเบิกจ่ายไม่เกิน 2,300 บาท/ครั้งสำหรับกรณีผู้ป่วยนอก หรือไม่เกิน 4,000 บาท/ครั้ง สำหรับโรคมะเร็งที่ยังไม่ได้กำหนดโปรโตคอล”
 
ทั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการจัดหายาผ่านองค์การเภสัชกรรมเพื่อชดเชยเป็นยาให้กับโรงพยาบาลสำหรับกรณียามะเร็งที่มีราคาแพง ซึ่งจะมีผลต่อภาระงบประมาณของโรงพยาบาลและในภาพรวมระดับประเทศ เป็นการใช้กลไกการต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคายาที่เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 มีทั้งหมด 5 รายการ ส่วนรายการยาที่เหลือทั้งหมด สปสช.ได้จ่ายชดเชยเป็นเงินให้แก่โรงพยาบาล
 
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งมีการพัฒนาและคิดค้นยาใหม่ต่อเนื่อง แต่คงไม่สามารถนำยามะเร็งทุกรายการซึ่งอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติมาบรรจุสิทธิประโยชน์ เพราะเป็นกลุ่มยาราคาแพงมาก ในขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีงบประมาณจำกัดและต้องดูแลคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงต้องยึดถือรายการยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากเป็นยาที่ผ่านการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เกี่ยวข้องแล้ว หากจะให้ สปสช.อนุมัติเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่ผู้ป่วยเป็นการเฉพาะรายนั้นคงไม่สามารถทำได้
 
อย่างไรก็ตามหากมีแพทย์เห็นว่ายานอกบัญชีรายการใดที่รักษาได้ผลดีกว่ายาในบัญชียาหลักและจำเป็นต่อผู้ป่วยจริง ก็สามารถที่จะเสนอเพื่อบรรจุในสิทธิประโยชน์ได้ แต่ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งผลทางคลินิกและความคุ้มทางเศรษฐศาสตร์ก่อน ซึ่งหากยารายการดังกล่าวผ่านความเห็นชอบและประกาศเป็นบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็จะทำให้ผู้ป่วยในระบบทุกคนมีโอกาสได้รับยาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นที่บอกว่า สปสช.จำกัดการใช้ยานั้น ยืนยันว่าไม่ได้จำกัด เพียงแต่เราเชื่อมั่นในปรัชญาของบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตัดสินโทษ 'บิกโนเน' เผด็จการคนสุดท้ายของอาร์เจนตินา ฐานเอี่ยวล่าสังหารประชาชน

$
0
0

อดีตนายพลผู้ได้รับสมญานามว่าเผด็จการคนสุดท้ายของอาร์เจนตินาถูกตัดสินลงโทษจำคุกเพิ่มอีก 20 ปี ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเหยี่ยวที่มีการไล่ล่าศัตรูทางการเมืองของเผด็จการในอเมริกาใต้ของยุคนั้นอย่างโหดเหี้ยม นอกจากนี้ยังพบว่าสหรัฐฯ มีส่วนช่วยเหลือเผด็จการอเมริกาใต้ในปฏิบัติการดังกล่าวด้วย

30 พ.ค. 2559 เรย์นัลโด บิกโนเน อดีตนายพล วัย 88 ปี ผู้ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นเผด็จการทหารคนสุดท้ายของอาร์เจนตินาถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปี จากที่เขามีบทบาทในปฏิบัติการเหยี่ยว (Operation Condor) ซึ่งเป็นปฏิบัติการจัดตั้งหน่วยสังหารร่วมกันในประเทศเผด็จการแถบเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย ชิลี ปารากวัย อุรุกวัย รวมถึงอาร์เจนตินา ที่ทำการข้ามแดนเพื่อลักพาตัว ทารุณกรรมและสังหารศัตรูทางการเมืองที่หนีข้ามประเทศ

ในอาร์เจนตินามีกรณี "การจับกุมอย่างผิดกฎหมาย" 105 กรณีซึ่งส่วนใหญ่มักจะตามมาด้วยการเสียชีวิตของชาวต่างชาติหลายสัญชาติที่หลบหนีการถูกตามล่าทางการเมืองเข้าไปอยู่ในอาร์เจนตินา และในอาร์เจนตินาเองภายใต้รัฐบาลทหารในยุคสมัยนั้นก็มีการปราบปรามผู้คนด้วยสาเหตุทางการเมืองจนมีผู้คนหลบหนีออกจากประเทศเช่นกัน โดยหลังจากที่จับกุมตัวเหยื่อมีการบังคับให้ "สาบสูญ" โดยมักจะถูกเผา หรือถูกวางยาแล้วโยนจากเครื่องบินลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก

แต่ในที่สุดตัวการผู้ก่ออาชญากรรมโหดเหี้ยมเหล่านี้ก็ถูกตัดสินลงโทษ โดยที่ผู้พิพากษา อเดรียน กรุนแบร์ก อ่านคำพิพากษาตัดสินอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร 17 คนในห้องพิจารณาคดีที่เต็มไปด้วยญาติๆ ของเหยื่อ

บิกโนเน ปกครองอาร์เจนตินาสมัยปี 2525-2526 ในช่วงต้นสงครามเกาะฟอล์กแลนด์ เขาถูกตัดสินว่ามีส่วนพัวพันกับการลักพาตัวและการใช้อำนาจในทางที่ผิดในการบังคับสาบสูญประชาชนมากกว่า 100 คน โดยที่ก่อนหน้านี้บิกโนเนก็เคยถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตมาแล้วจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องในช่วงที่อาร์เจนตินาอยู่ภายใต้เผด็จการในปี 2519-2526 อดีตนายพลระดับสูงอีกรายหนึ่งที่ถูกตัดสินคือ ซานติเอโก ริเวอรอส ถูกตัดสินให้จำคุก 25 ปี

ลุซ ปาลมาส ซาลดัว ทนายความฝ่ายญาติผู้สูญเสียจากศูนย์ศึกษาสังคมและกฎหมายซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนอาร์เจนตินากล่าวว่า การตัดสินในครั้งนี้มีความสำคัญเพราะเป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการเหยี่ยวได้รับการพิสูจน์คดีในศาล และถือเป็นครั้งแรกที่อดีตสมาชิกผู้ร่วมปฏิบัติการเหยี่ยวถูกตัดสินฐานก่อตั้งองค์กรอาชญากรรม

หนึ่งในกรณีที่ริเวอรอสถูกตัดสินคือกรณีที่พวกเขาลักพาตัวคู่สามีภรรยาพร้อมกับทารกไปคุมขังไว้ในสถานกักกันของกองบัญชาการปฏิบัติการเหยี่ยวในบัวโนสไอเรส คู่สามีภรรยาถูกสังหารและลูกของพวกเขาชื่อมารีอานา อายุ 1 ขวบถูกมอบให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอาร์เจนตินาเลี้ยงดู จนกระทั่งอีก 16 ปีหลังจากนั้นมารีอานาถึงจะได้กลับไปสู่ญาติๆ ครอบครัวจริงของเธอ ส่วนพ่อเลี้ยงของเธอถูกตัดสินฐานกระทำทารุณกรรมและจับกุมคนอย่างผิดกฎหมาย

ถึงแม้ว่าในการพิจารณาคดีในครั้งนี้จะไม่ได้คำนึงถึงบทบาทของทางการสหรัฐฯ ในยุคนั้นต่อปฏิบัติการที่โหดร้ายในอเมริกาใต้ แต่ก็มีหลักฐานสำคัญที่โยงถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในยุคนั้นได้ ซาลดัวกล่าวว่าพวกเขาค้นพบเอกสารของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ รู้เห็นเกี่ยวกับการสังหารในกรณีปฏิบัติการเหยี่ยวและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค มีหลักฐานบ่งชี้ว่าหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ให้คอมพิวเตอร์แก่หน่วยปฏิบัติการเหยี่ยวและติดต่อพวกเขาผ่านทางบริการโทรเลขในกรุงปานามา

แม้ว่าโดยทางการแล้วบริการโทรเลขนี้ถูกกำหนดให้ใช้กับการซ้อมรบร่วมกันของทหารในประเทศอเมริกาใต้กับสหรัฐฯ ที่ปานามา แต่เอกสารโทรเลขจากสถานทูตสหรัฐฯ ในปารากวัยส่งถึงทางการสหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาทำการประสานงานด้านข้อมูลกับประเทศแถบอเมริกาใต้ที่เป็นเครือข่ายของปฏิบัติการเหยี่ยว

ซาลดัวระบุว่าอาจจะมีการเปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในปฏิบัติการเหยี่ยวในอนาคต ปัจจุบันพวกเขามีแต่เอกสารของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ พวกเขาหวังว่าจะได้ข้อมูลมากกว่านี้หลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และซีไอเอยอมเผยแพร่เอกสารในช่วงเผด็จการอเมริกาใต้ จากที่ก่อนหน้านี้ในวงที่ไปเยือนอาร์เจนตินาในเดือน มี.ค. ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ให้สัญญาว่าจะเปิดเผยเอกสารเรื่องนี้ทั้งหมด รวมถึงเอกสารของกองทัพและเอกสารด้านข่าวกรองด้วย

"ผมชื่อว่าพวกเราควรจะมีความรับผิดชอบที่จะเผชิญหน้ากับอดีตด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส" ซาลดัวกล่าว

 

 

เรียบเรียงจาก

Argentina's last military dictator jailed for role in international death squad, The Guardian, 27-05-2016 http://www.theguardian.com/world/2016/may/27/argentinas-last-military-dictator-jailed-over-role-in-operation-condor

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เขียนไว้ให้ปรากฏ: ปริศนาถุงมือเหลืองรองเท้าแดง กับ"ประชาธิปไตย" ที่หล่นหาย

$
0
0



งุนงงสงสัย:

เป็นไปได้อย่างไรที่กลุ่มคนที่เคยต่อต้านขับไล่เผด็จการเมื่อคราวพฤษภา 35 จะกลายเป็นผู้ที่ปกป้องและให้ท้ายรัฐบาลทหารในปัจจุบัน? อะไรเป็นปัจจัยทำให้พวกเขาเปลี่ยนไป หลักการประชาธิปไตยหรือเงื่อนไขทางการเมือง?

แต่ทว่าการเปลี่ยนไปของพวกเขาได้สร้างเงื่อนไขใหม่ให้สังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นเงื่อนไขที่ไม่เพียงจะเปลี่ยนทิศทางการเมืองไทยเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนระบบการเมืองทั้งระบบเลยก็ได้ และการเปลี่ยนไปของพวกเขาจะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างที่พวกเขามุ่งหวังหรือไม่ ?

สมมติฐาน:

"จุดหมายที่แท้จริงคือการกำจัดทักษิณ การล้มไทยรักไทย (ทุนสามานย์ เผด็จการรัฐสภา)....แต่พวกเขาล้มทักษิณเองไม่ได้ เขาต้องอาศัยทหาร พันธมิตรสร้างเงื่อนไขให้การยึดอำนาจปี 49 เป็นไปได้ ขณะที่ กปปส.ปูทางให้การรัฐประหารปี 57 เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้"

ปัญหาของพวกเขาคือจะล้มทักษิณได้อย่างไร ในเมื่อทักษิณคือผู้นำที่เกิดจากระบบประชาธิปไตยตัวแทน ที่คัดเลือกจากประชาชน มีแค่สองทางคือหนึ่งการพยายามชนะทักษิณด้วยระบบเลือกตั้ง (หนึ่งคนหนึ่งเสียง) แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่าการพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือความล้มเหลวที่พวกเขาไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้นทุกครั้งของความปราชัยในสนามเลือกตั้งจึงไม่ใช่พวกเขาไร้ความสามารถหรือไม่ได้รับความนิยม แต่เป็นเพราะประชาชนโง่เขลาเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน กับพรรคทุนสามานย์ที่ใช้เงินซื้อเสียง.....ดังนั้นยังคงเหลือสองวิถีทางเพื่อที่จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็คือการเปลี่ยนกติกาหรือระบบ การยึดอำนาจปี 49 จุดมุ่งหมายคือการเปลี่ยนกติกาและเทคนิคของการเลือกตั้งแต่พวกเขาก็พ่ายแพ้เช่นเคย รัฐประหารปี 57 จุดมุ่งหมายจึงกลายเป็นการเปลี่ยนระบบการเลือกผู้นำ (หนึ่งคนไม่ใช่หนึ่งเสียง) นั้นก็คือทำให้การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกผู้นำ แต่การเลือกตั้งไม่ใช่กระบวนการเลือกผู้นำเหมือนดังที่ผ่านมา

ที่มาของปัญหา:

ข้อเขียนของอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สันว่าด้วยปริศนาเหลืองกับแดง  ชี้ถึงปัญหาการเมืองไทยนั้นเกิดจากความขัดแย้งแย่งชิงของกลุ่มผู้นำที่ต่างสายพันธุ์ คือการต่อสู้ของผู้นำที่มีแซ่ต่างกัน (อาข่า แต้จิ่ว ไหหล่ำ ฮกเกี้ยน) โดยวิธีการมองเช่นนี้ยังคงยืนอยู่บน "ตรรกะของความขัดแย้ง" นั้นก็คือเปลี่ยนจากความขัดแย้งระหว่าง x กับ y (เหลืองกับแดง ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ประชาธิปไตยกับเผด็จการรัฐสภา อิสาน-เหนือ กับกรุงเทพ-ใต้ ชนชั้นกลางที่เกิดใหม่หัวก้าวหน้ากับชนชั้นกลางเก่าที่อนุรักษ์นิยม หรือเลยไปกระทั่งเป็นความขัดแย้งของคนสองกลุ่มในเดือนตุลา และอีกมากมาย) ไปสู่ความขัดแย้งที่หลากหลายขึ้น ซึ่งฟังดูสอดคล้องกับความคิดของโพสต์โมเดิร์นที่ตั้งบนเชื่อของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แต่ข้อสงสัยของผู้เขียนก็คือว่าความแตกต่าง ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมไม่ใช่หรือ แล้วระบบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรอกหรือ หากการแย่งชิงของคนต่างแซ่เพื่อก้าวสู่อำนาจเป็นเรื่องจริง ปัญหาก็คือว่าทำไมการแย่งชิงนี้ที่เคยตั้งอยู่บนระบบประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 40 ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินแพ้ชนะ กลับจบลงด้วยรัฐประหารและเผด็จการทหารในที่สุด

สรุปสั้นๆก็คือ ทำไมระบอบที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงถูกทำลายด้วยความขัดแย้งเอง?

ขณะที่ข้อเขียนของอาจารย์ นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ "เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร" พยายามอธิบายปัญหาด้วยมุมมองและแว่นตาของ ฟรานซิส ฟูกูยาม่า ว่าสาเหตุที่แท้จริงไม่ใช่ความขัดแย้งทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเหลืองกับแดง ทักษิณกับกลุ่มอำนาจเดิม และก็ไม่ใช่ความบกพร่องขององค์กรอิสระ (ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.) ไม่ใช่ความไม่เอาถ่านของภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ สื่อสารมวลชน สถาบันศึกษา อื่นๆ) สิ่งเหล่านี้คือผลทั้งสิ้น เหตุที่แท้จริงคือรัฐไทยเป็นรัฐที่ไม่เข้มแข็ง ระบบราชการที่เป็นหัวใจของรัฐไร้ประสิทธิพล ขาดหลักคุณาธิปไตย อีกทั้งไม่มีอิสระและมักตกเป็นกลไก เครื่องมือของผู้ครองอำนาจ(รัฐ) ......

คำถามก็คือว่าทำไมระบบการเมือง (ในที่นี้คือประชาธิปไตย) ถึงจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบราชการ "ที่ดี"? หรือพูดให้ง่าย ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้นก็คือว่าการใช้สิทธิหนึ่งคนหนึ่งเสียงในการเลือกผู้นำ ต้องขึ้นอยู่กับระบบราชการ"ที่ดี"ด้วยหรือ? ในแง่ข้อเท็จจริงกับบทสรุปของอาจารย์นิธิที่เน้นและให้ความสำคัญว่ารัฐไทยยังไม่ใช่รัฐที่เข้มแข็งแบบรัฐสมัยใหม่ และมักตกเป็นสมบัติของผู้ครองอำนาจนั้น ผู้เขียนสงสัยและคิดว่ายังถกเถียงได้อีกมาก เพราะมีข้อเท็จจริงแย้งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยึดอำนาจปี 49 ว่าเป็นไปได้อย่างไร หากระบบราชการถูกครอบงำโดยผู้มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ หรือการยุบพรรคไทยรักไทยจะเป็นไปได้อย่างไรหากสิ่งทีอาจารย์นิธิเขียนคือความจริง

แต่ข้อเท็จจริงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบราชการไม่ได้ถูกยึดครองและใช้ประโยชน์โดยผู้ครองอำนาจ ประเด็นอยู่ที่ว่าถูกครอบงำมากน้อยเพียงไร ในเนื้อหาและพื้นที่ไหน ดังนั้นระบบราชการจึงมีอิสระพอสมควร โดยเฉพาะทหารต้องถือว่ามีมากเกินไปด้วยซ้ำ เห็นได้จากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทหารไม่เพียงไม่ทำตามคำสั่งของผู้นำ หากยังถือวิสาสะประกาศกฎอัยการศึกเอง ทำตัวเป็นผู้มากบารมีไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และยึดอำนาจในที่สุด

ความคลุมเคลือไม่แน่ชัดของรัฐที่เข้มแข็งคือช่องว่างที่สามารถอธิบาย"ช่วงเปลี่ยนผ่าน" ได้เป็นอย่างดี เพราะมีสมมติฐานว่า  "การเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการอยู่รอดของประชาธิปไตย" ดังนั้นประชาธิปไตยอยู่รอดไม่ได้ก็มาจากสาเหตุที่ยังไม่เป็นรัฐสมัยใหม่ที่เข้มแข็งนั้นเอง แต่เหตุผลนี้จะอธิบายช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 จนถึงรัฐประหาร 49 หรือช่วงรัฐธรรมนูญ 50 จวบจนถึงยึดอำนาจปี 57 ได้อย่างไร กระนั้นก็ดีการมองปัญหาของอาจารย์นิธิถือว่าแตกต่างจากอาจารย์แอนเดอร์สันโดยสิ้นเชิง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความขัดแย้ง หากแต่อยู่ที่องค์ประกอบที่ไม่พร้อมของสังคมเอง ซึ่งนั่นก็คือระบบราชการ

ผู้เขียนเห็นต่างจากอาจารย์นิธิค่อนข้างมาก กล่าวคือแม้ความขัดแย้ง องค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคมไม่ใช่สาเหตุ แต่ก็คือส่วนหนึ่งของปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม หากเป็นผล ก็ไม่ใช่ผลที่แยกเป็นอิสระจากเหตุของมัน แต่มีปฏิกริยาลูกโซ่ที่ทำให้ผลนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบราชการที่"ไม่พร้อม"หรือว่าจากรัฐที่เข้มแข็ง หากเกิดจากตัวระบบประชาธิปไตยเองต่างหาก

ระบบประชาธิปไตย:

ประการแรก: ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ดีไม่ใช่เพราะมันทำให้คนดีมือสะอาดมีความสามารถได้เป็นผู้นำประเทศ มันเป็นระบบที่ดีเพราะว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการเลือกคนดีมือสะอาดมีความสามารถให้ได้เป็นผู้นำต่างหาก หรือพูดให้ชัดเจนก็คือประชาชนมีส่วนในการกำหนดและนิยามความหมายที่เป็นรูปธรรมให้กับ"คนดีมือสะอาดมีความสามารถ"นั้นเอง

ประการต่อมา: หัวใจระบบประชาธิปไตยมีสองข้อสำคัญคือ

1. ความเสมอภาคในทางกฏหมาย และเท่าเทียมของสิทธิลงคะแนน หนึ่งคนหนึ่งเสียง

2. ถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่

ข้อแรกความเสมอภาคทางกฏหมายก็คือนิติธรรม (หนึ่งในสามที่ฟูกูยามากล่าวถึงว่าต้องมีในสังคมประชาธิปไตย) ปัญหาก็คือว่าหากองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่จะทำให้เกิดนิติธรรมขึ้นในสังคม กลับกลายเป็นปัญหาของนิติธรรมเสียเอง หรือ กกต. องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการจัดการเลือกต้ังเพื่อให้คนใช้สิทธิกลับไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง องค์กรที่เป็นแขนขาของระบบ เพื่อผลักดันให้ระบบทำงานกลับกลายเป็นปัญหาของระบบเอง ระบบจะแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างไร.

ที่สำคัญและเป็นจุดเปราะบางของประชาธิปไตยก็คือการถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เสียงข้างมากที่เป็นทั้งเหตุผลและสิ่งการันตีที่สร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง นั่นคือเสียงข้างมากคือเหตุผลที่ถือเป็นที่สุด มีความชอบธรรมในตัวเอง และไม่มีเหตุผลใดสามารถแย้งได้ แต่ที่สร้างปัญหาให้ระบบคือเสียงข้างน้อย. เพราะเสียงข้างน้อยถูกรวบเข้าไปเป็นส่วนของเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก (part of no part) ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็คือเมื่อเสียงข้างมากชนะได้เลือกผู้นำ ผู้นำที่ถูกเลือกด้วยเสียงข้างมากจะเป็นผู้นำของเสียงทั้งหมด ไม่ว่าเสียงข้างน้อยจะชอบหรือไม่ก็ตาม หรือการผ่านร่างกฏหมาย ไม่ว่าเหตุผลฝ่ายไหนจะถูกต้องหรือดีกว่าไม่ใช่ประเด็น เพราะว่าระบบนี้ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก กฏหมายที่ผ่านความเห็นชอบของเสียงข้างมากก็จะถูกนำมาบังคับใช้กับทุกคน ด้วยเหตุนี้เสียงข้างน้อยที่ไม่ใช่เสียงข้างมากเพราะไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากก็จะถูกรวบเข้าไปอยู่ในเสียงข้างมากโดยปริยาย แต่ถ้าเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเสียงส่วนใหญ่?? เสียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบแต่ไม่ยอมร่วม(มือ)กับระบบ? ระบบจะเป็นอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร?

การผ่านร่าง พ.ร.บ. "เหมาเข่ง"ด้วยเสียงข้างมากท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนและไม่เห็นด้วยของฝ่ายค้านจนประกาศลาออกทั้งหมด คือที่มาของการยุบสภาเพื่อผ่าทางตันของระบบ และเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการเลือกตั้ง.....ทุกอย่างน่าจะเป็นไปตามกลไกของระบบ

แต่......เสียงส่วนน้อยที่อยู่ในระบบไม่ยอมร่วมมือกับระบบ ระบบจะเดินไปอย่างไร

กปปส. ประกาศไม่ยอมรับการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พร้อมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งโดยไม่ส่งผู้ลงสมัคร

องค์กรอิสระที่จัดการเลือกตั้งทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ และศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นแขนขาของระบบตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ......แล้วประชาธิปไตยจะเดินไปอย่างไร

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จึงคือวันฆาตกรรมประชาธิปไตย และต่อมาในวันที่ 21 มีนาคมปีเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ประกาศการจากไปของประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ วันที่ 22 พฤษภาปีเดียวกันจึงเป็นวันเผาเรือนร่างที่ไร้ชีวิตของประชาธิปไตย

หากการฆาตกรรมครั้งนี้ไม่ใช่การสมรู้ร่วมคิด อย่างน้อยก็เป็นการร่วมมือและส่งไม้ต่อจนระบบไม่อาจต้านทานและเดินไปอย่างปกติได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการล่มสลายของประชาธิปไตยเกิดจากปัญหาภายในของมันเอง เกิดจากเสียงส่วนน้อยที่ไม่ยอมรับการค้ำจุนของระบบต่อเสียงส่วนใหญ่ เกิดจากองค์กรที่เป็นแขนขาสร้างปัญหาให้ระบบเอง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย: จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจดจำแบบไหน

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดคุยในโอกาสครบรอบ 50 ปี การจากไปของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนคนสำคัญของไทย ว่าทุกวันนี้ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ถูกจดจำในหลากหลายภาพลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ผู้แต่งบทกาพย์ยานี 11 “เปิบข้าว” ในแบบเรียนภาษาไทย ผู้แต่งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ไปจนถึงนักวิชาการประวัติศาสตร์ผู้มีงานเขียนสำคัญ อาทิ โฉมหน้าศักดินาไทย, สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฯลฯ นอกจากนี้เขายังทำให้สถานที่ซึ่งเขาจบชีวิต คือบ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอีกด้วย

เรื่องน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือสำหรับนักต่อสู้ทางการเมืองทุกฝ่ายก็คือ บทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนำไปขับร้องในกิจกรรมทางสังคมและการชุมนุมทางการเมืองของทุกกลุ่ม (ชมคลิป "แสงดาวแห่งศรัทธา" จากทุกเวที)โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเพลงที่สร้างความประทับใจให้กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” แต่งขึ้นในช่วงที่จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจองจำเป็นนักโทษการเมืองในคุกลาดยาว และทั้งที่ชีวิตยังอับเฉาในคุก แต่เขาก็ไม่สูญเสียความหวังในเรื่องชัยชนะของประชาชน โดยสุธาชัย เสนอว่า เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา มีความสำคัญในแง่ ช่วยปลุกเร้าการต่อสู้ ในยามท้อแท้สิ้นหวัง ไม่รู้จะต่อสู้ไปอย่างไร และกลายเป็นเพลงที่มีความสำคัญสำหรับนักต่อสู้ทางการเมืองทุกสีทุกฝ่าย โดยที่ผู้แต่งเองก็ไม่สามารถผูกขาดการตีความหมายของเพลงไว้ได้

ติดตามวิดีโอจากประชาไทที่

 

 

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TCIJ: เจาะเวลาหาอดีต แบบแผน‘การเกิด-ดับ’ ของรัฐบาลไทยช่วงปี 2518 ถึง 2539

$
0
0
ย้อนดู ‘แบบแผน’ ของการจัดตั้งรัฐบาลของประเทศไทย การดำรงอยู่ และจุดจบของรัฐบาลทั้งรูปแบบ ‘เผด็จการ ประชาธิปไตยครึ่งใบ และประชาธิปไตย’ ในช่วงปี 2518-2539

 
จากรายงานวิจัยเรื่อง 'รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. 2518-2539' โดย ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ด้วยเงินทุนสนับสนุนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่เมื่อปี 2541 ที่ได้ศึกษาถึงลักษณะความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาลในช่วงระยะเวลา 20 ปีเศษดังกล่าว และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างของรูปแบบรัฐบาล รวมถึงทัศนคติของกลุ่มบุคคลสำคัญที่มีต่อรูปแบบรัฐบาล  ศึกษาเปรียบเทียบที่มาและการล่มสลายของรัฐบาลแต่ละรูปแบบภายใต้ระบอบการเมืองที่มีความแตกต่างกัน รวมทั้งที่มาและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีในแต่ละรัฐบาล
 
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาเริ่มจากรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช จนถึง รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการสำรวจทัศนคติของกลุ่มบุคคลชั้นนำทางการเมืองไทย โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา นักวิชาการ ข้าราชการประจำระดับสูง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ๆ ประมาณ 100 คน โดยผลวิจัยมีข้อค้นพบสำคัญด้าน แบบแผนการจัดตั้งรัฐบาลและการจัดความสัมพันธ์ทางการเมือง  ที่อาจเป็นข้อสังเกตสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน
 
ปัจจัยและความแตกต่าง ระหว่างปี 2518-2539
 
ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ดังกล่าว (2518-2539) มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยทั้ง 3 รูปแบบคือ มีรัฐบาลรูปแบบเผด็จการ  รัฐบาลรูปแบบประชาธิปไตย และรัฐบาลรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความแตกต่างของรูปแบบการปกครอง สรุปได้ดังนี้
 
รัฐธรรมนูญ ในการกำหนดรูปแบบของรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2018-2539 ปัจจัยสำคัญที่สุดคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศจะกำหนดหลักเกณฑ์กติกาออกมาว่าในเวลานั้น ๆ ประเทศจะปกครองด้วยรูปแบบใด  จะปกครองด้วยรูปแบบเผด็จการ  รูปแบบประชาธิปไตย  หรือว่ารูปแบบกึ่งประชาธิปไตย  ในช่วงเวลาดังกล่าวปรากฏว่าประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534  ในบรรดารัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองประเทศเหล่านี้จำนวน 3 ฉบับ  ที่กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการ คือ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2519 ธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2520 และธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2534 ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐเป็นแบบกึ่งประชาธิปไตย ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 (ฉบับดั้งเดิมที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม)  และรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีรัฐบาลในรูปแบบประชาธิปไตย คือ  รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517  ทั้งนี้การกำหนดว่ารูปแบบรัฐบาลจะเป็นแบบใด  สามารถพิจารณาได้จากรูปแบบของสภาที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สบายใจได้ 'หมอเหรียญทอง' ยัน รพ.มงกุฎวัฒนะ ปลอดคนคิดเลวร้าย เผยไล่ออกตั้งแต่ 53

$
0
0

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะและปธ.องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ระบุที่รพ.แม้มีคนต้านคสช.อยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยและให้ความร่วมมือล่าแม่มดพวกหมิ่นฯเป็นอย่างดี แนะองค์กรอื่นเปิดเผยบอุดมการณ์ทางการเมืองบุคลากรเพื่อให้ผู้บริโภคสบายใจ

 

30 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.38 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เหรียญทอง แน่นหนา' ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และประธานองค์กรเก็บขณะแผ่นดิน ได้โพสต์ (ซึ่งเฟซบุ๊กเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน' ได้แชร์ต่ออีกที) ว่า ขออนุญาตประชาสัมพันธ์การเปิดเผยข้อมูลเพื่อการตัดสินใจของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ รพ.มงกุฎวัฒนะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของแพทย์และบุคลากรส่วนน้อยบางคนตามโพสต์นี้

"ผมเป็นคนชัดเจนจึงขอเปิดเผยว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่มีแพทย์และบุคลากรที่ต่อต้าน คสช. แต่ก็มีเพียงส่วนน้อยและไม่ถึงกับเลวร้าย (พวกที่เลวร้ายไล่ออกไปตั้งแต่ปี 53 แล้ว) แต่ที่ทำให้ผมยอมรับได้ก็เพราะแพทย์และบุคลากรส่วนน้อยเหล่านี้ให้ความร่วมมือสืบค้นและส่งรายชื่อพวกหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นจำนวนมากให้แก่ผมเป็นอย่างดี ดังนั้นท่านผู้ใช้บริการ รพ.มงกุฏวัฒนะได้โปรดอย่ารังเกียจพวกเขา อย่างไรก็ตามหากท่านต้องการเลือกตรวจรักษากับแพทย์จำนวนมากที่สนับสนุน คสช. ท่านสามารถสอบถามข้อมูลโดยตรงได้ที่ผม" พล.ต.นพ.เหรียญทอง
 
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ระบุด้วยว่า ตนมีนโยบายเปิดเผยข้อมูล ทั้งนี้ก็เพราะทุกองค์กรมีคนประเภทนี้ปะปนอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้บริหารองค์กรจะต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจรับการตรวจอย่างสบายใจ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การุณ สกุลประดิษฐ์

$
0
0
"การใส่ชุดทหารมาเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ไม่ถือว่าผิดระเบียบเพราะสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด ผมมองว่านอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกเข้มแข็งเมื่อสวมเครื่องแบบแล้ว รูปแบบของกิจกรรมอาจต้องการความทะมัดทะแมงจากเด็กด้วย” 
 
เลขาธิการ กพฐ. กล่าว ถึงกรณีร.ร.ชุมชนดูนสาดจัดกิจกรรม "ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง" โดยให้เด็กอนุบาลสวมชุดทหารมาเรียน, 27 พ.ค. 59

นักกฎหมายสากลชี้คำพิพากษาพรุ่งนี้ คดีปะทะเหมืองแร่ จ.เลย ทดสอบสิทธิของนักปกป้องสิทธิฯ

$
0
0

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและโพรเท็คชันฯ ออแถลงการณ์ร่วม ชี้คำพิพากษาพรุ่งนี้คดีอดีทหารนำกลุ่มชายฉกรรจ์ทำร้ายร่างกายชาวบ้านเปิดทางขนแร่ จ.เลย เป็นบททดสอบสำคัญเรื่องสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภาพเหตุการณ์ 15 พ.ค. 2557 กรณีกลุ่มชายฉกรรจ์ พร้อมอาวุธ เข้าเปิดทางให้รถบรรทุกขนย้ายแร่ทองคำออกจากเหมืองแร่ทองคำวังสะพุงจังหวัดเลย ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บร่วม 30 คน 

30 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ (International Commission of Jurists) และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่องคำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้ (31พ.ค.59) ในคดีที่มีจำเลย คือ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค (เกษียณอายุ) และพ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค (บุตรชาย) จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่ามีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรง โดยใช้กลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธ กว่า 100 คน เข้าทำร้ายสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด รวมถึงชาวบ้านนอกเหนือจากกลุ่มดังกล่าวด้วย เหตุเกิดที่บ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ในคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 โดยผู้เสียหายถูก ทำร้ายและกักขังไว้มากกว่า 7 ชั่วโมงระหว่างเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 7 ราย 

ซึ่งคำแถลงร่วมดังกล่าว ระบุว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้ จะเป็นบททดสอบสำคัญต่อความยึดมั่นของประเทศไทยเรื่องการนำตัวผู้กระทำความผิดทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ
 
สำหรับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดนั้น เป็นการรวมตัวของกลุ่มชุมชนที่ประท้วง โดยกล่าวอ้างว่าการทำเหมืองส่งผลกระทบ เป็นการทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของพวกเขา ทั้งนี้กิจกรรมของกลุ่มฯส่วนมาก เน้นที่การขอให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หยุดการเหมืองแร่ทองคำ ที่ภูทับฟ้า จังหวัดเลย  

แซม ซารีฟี (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล สำนักงานเอเชีย กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย คดีนี้กลายมาเป็นคดีสัญลักษณ์ที่นักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่พยายามคุ้มครองสิทธิชุมชนของพวกเขา” นอกจากนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีคนจำนวนมากกำลังติดตามคดีนี้ เพื่อจะดูว่ารัฐบาลไทยจะได้ทำตามความยึดมั่นของตนเองที่จะคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่”

ทั้งนี้ การบุกโจมตีบ้านนาหนองบงดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ตั้งสิ่งกีดขวางถนนเส้นในหมู่บ้านที่มุ่งไปทางเหมืองทองคำ ระหว่างการบุกโจมตี ได้มีการทำลายด่านกีดขวาง โดยมีรายงานว่ามีรถบรรทุกจำนวนอย่างน้อย 13 คัน เข้ามาขนแร่จากพื้นที่เหมือง

จากคำให้การบางส่วนของชาวบ้าน พล.ท.ปรเมษฐ์ และพ.ท.ปรมินทร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในวันที่ 15 พ.ค.57  โดยบุคคลทั้งสองถูกตั้งข้อหาต่าง ๆ รวมถึงข้อหา ‘ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย’ และ ‘การกักขังผู้อื่นโดยมิชอบ หรือการลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และ มาตรา 309

แซม ยังได้กล่าวเสริมว่า “หากพิเคราะห์จากรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธมากกว่า 100 นาย เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ไอซีเจมีข้อห่วงใยในประเด็นว่ามีจำเลยเพียงสองรายเท่านั้นที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการโจมตีดังกล่าว ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้สืบสวนคดีใหม่และประกันว่ามีการนำบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมารับผิดชอบ รวมถึงมีการให้การเยียวยาเหยื่อที่เกี่ยวข้องด้วย”

คดีที่กล่าวหา พล.ท.ปรเมษฐ์ และพ.ท.ปรมินทร์ มีเหตุเชื่อมโยงมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯได้ยื่นฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญากว่า 19 คดีต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านอื่น ๆ จำนวน 33 ราย ซึ่งหนึ่งในการยื่นฟ้องคดีรวมถึงการฟ้องหมิ่นประมาททางอาญากับเด็กหญิงอายุ 15 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กล่าวข้อความอันไม่เป็นผลดีเกี่ยวกับงานของบริษัทฯในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง

อนึ่ง กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสอง ศาลจังหวัดเลยได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันอังคารที่ 31 พ.ค.59 เวลา 9.00 น.

ข้อมูลพื้นฐาน :

พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และพ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ มาตรา 295 (‘ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย’) และมาตรา 296 (‘ระวางโทษฐานทำร้ายร่างกาย’), มาตรา 309 (‘ความผิดฐานการกักขังผู้อื่นโดยมิชอบ’ ) และมาตรา 310 (‘ระวางการกักขังผู้อื่นโดยมิชอบ’) , มาตรา 358 (‘ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ’), มาตรา 371 (‘ความผิดฐานพกพาอาวุธ’ ), มาตรา 376 (‘ความผิดฐานใช้ดินระเบิด’ ) , มาตรา 391 (‘ความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย’) ประกอบกับข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ได้แก่ มาตรา 32, มาตรา 33 (‘การนำอาวุธปืนไปจดทะเบียนยังนายทะเบียนท้องที่’) รวมถึงมาตราอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา อาทิ มาตรา 83และมาตรา 84 (ตัวการและผู้ใช้), มาตรา 91 (มาตรา 90 และมาตรา 91 เป็นมาตราเกี่ยวกับการกระทำความผิดเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท โดยให้ศาลลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ต้องไม่เกินโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91) นอกจากนี้ยังรวมถึงความผิดอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, มาตรา 7, มาตรา 8 ทวิ, มาตรา 72 และมาตรา 72ทวิ, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 3, และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ข้อ 3,
ข้อ6, และข้อ 7  

ประเทศไทยมีพันธกรณีทางกฎหมายที่จะคุ้มครองนักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนจากการถูกโต้กลับด้วยเหตุที่มาจากการใช้สิทธิของพวกเขาที่ชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศอื่น ๆ อีก 126 ประเทศที่สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) เพื่อรับเอาหนึ่งในข้อมติล่าสุดของสหประชาชาติเรื่องนักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชน  ข้อมติสหประชาชาติที่ 70/161 ได้รับรองความสำคัญที่การให้ความคุ้มครองนักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนของรัฐต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่นักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกประหัตประหารอันมีเหตุมาจากการมีกิจกรรมที่สงบและมติยังได้ต่อต้านภัยต่าง ๆ, การคุกคามและการข่มขู่ต่อนักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งส่งเสริมให้รัฐต่าง ๆ สอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการข่มขู่และการโต้กลับ ทั้งยังสนับสนุนให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images