Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live

มูลนิธิสืบฯ ทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษา ชี้ข้อมูลภาพสัตว์ป่าสงวนในสื่อการสอนผิดพลาด

0
0

29 มิ.ย. 2559 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โดย ภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขข้อมูลภาพสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยที่ผิดพลาด โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏข้อมูลว่ากระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำข้อมูลสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยพร้อมภาพประกอบ บรรจุไว้ในแท็บเล็ต และส่งมอบให้โรงเรียนนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนกับเด็กนักเรียนนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรพบว่า ข้อมูลภาพสัตว์ป่าสงวนของประเทศไทยหลายชนิดพันธุ์มีความผิดพลาด ไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือบางภาพไม่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้อย่างชัดเจน

"มูลนิธิสืบฯ จึงขอวิงวอนให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดในสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้ความรู้กับนักเรียนอย่างถูกต้อง รวมถึงในการนำภาพมาใช้ประกอบข้อมูลสื่อการเรียนการสอนชุดดังกล่าว ควรใส่ข้อมูลที่มาของภาพและเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพ เพื่อปลูกฝังเด็กๆ ได้รู้เรื่องลิขสิทธิ์ทางปัญญาด้วยเช่นกัน" มูลนิธิสืบฯ ระบุ



ภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลขาฯศาลรธน. ชี้พ.ร.บ.ประชามติ ใช้เพื่อความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็น

0
0
29 มิ.ย. 2559 จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ม.61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ม.4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
 
พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีดังกล่าวว่า ตัว พ.ร.บ.ประชามติ ออกมาเพื่อการดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุ้มครองการแสดงความคิดเห็นประชาชนให้เป็นไปโดยอิสระ และรัฐธรรมนูญในอดีตก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี
 
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าในกฎหมายอาญาทั่วไปไม่มีการกำหนดถ้อยคำ “ปลุกระดม ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย” ว่าอย่างไรที่ถือเป็นความผิด นายพิมล กล่าวว่า เรื่องนี้ตุลาการได้มีการอภิปรายกัน เชื่อว่าจะมีการเขียนเหตุผลให้ชัดเจนไว้ในคำวินิจฉัย ซึ่งในส่วนของคำวินิจฉัยกลาง คาดว่าจะมีการเผยแพร่ได้ในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะมีคำวินิจฉัยส่วนตนตามมา
 

กกต.สมชัยระบุจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ  ก็ไม่มีผลต่อ กกต. ส่วนตัวเห็นด้วยตั้งแต่แรกว่าไม่เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงการทำประชามติ หากพบว่ามีคนกระทำผิดพ.ร.บ.ดังกล่าว ประชาชนสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องผ่าน กกต. เพราะมันเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ดังนั้น การอ่านกฎหมายไม่ควรอ่านทีละตัว ควรอ่านทั้งมาตรา เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และต้องดูเจตนาผู้อ่านกฎหมายด้วยว่ามีเจตนารมณ์แบบไหน
 
สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า หลังจากนี้ กกต.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยวันพรุ่งนี้ 30 มิ.ย.เวลา 10.00 น. บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และ อรุณ วัชรสวัสดิ์ ผู้เขียนการ์ตูนเข้าพบ เพื่อชี้กรณีนำเสนอภาพการ์ตูนตัดต่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำประชามติ
 
ด้าน รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการฯ เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีผลผูกพันกับทุกองค์กร และต่อจากนี้เป็นหน้าที่กกต.ในฐานะผู้รักษากฎหมาย ที่จะตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายผิดตามกฎหมายดังกล่าว

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มี ม.44 ในมือ ประยุทธ์ ยัน รธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มร่างใหม่ และไม่ลาออก

0
0

พล.อ.ประยุทธ์ ยันหากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มร่างใหม่ ซึ่งตนจะไม่ลาออก และไม่มีใครสามารถปลดตนได้ เพราะตนมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ แนะประชาชนอย่าให้ใครมาชี้นำ 

29 มิ.ย.2559 ช่วงบ่ายวันนี้  รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานพิธีเปิดงานเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2559 “Go Wild For Life” หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดงานดังกล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนต้องช่วยกันเดินหน้าประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่จะทำหรือไม่ทำก็เป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า ตนไปบังคับใครไม่ได้ ประชาชนต้องรับผิดชอบเพราะเลือกมาเอง และถ้าทุกคนต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ ก็เชื่อว่าจะทำได้  ไม่ต้องมากังวลกับตน แต่ควรกังวลกับชีวิตตัวเองมากกว่า ที่เข้ามายืนตรงนี้  วันนี้ประเทศไทยต้องอดทน  อดทนกับสิ่งที่ผ่านมาและอดทนสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่ออนาคต ขอย้ำว่าตนจะใจร้ายกับคนร้ายเท่านั้น และทุกเรื่องต้องแก้ด้วยกฎหมาย ตนจะคุยกับคนที่ทำผิดกฎหมายไม่ได้ จะถูกหรือผิดต้องสู้คดี หากอยากให้ประเทศสงบเรียบร้อยต้องปรองดอง แต่เราจะไม่ปรองดองกับคนทำผิดกฎหมาย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง ขออย่าให้ใครมาชี้นำ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของประชาชน  อยากให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง รัฐบาลพยายามดูแลทำทุกอย่างเต็มที่ตามกฏหมาย ขอประชาชนอย่าเชื่อถ้อยคำบิดเบือน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา และสาธารณสุข ทั้ง 2 เรื่อง รัฐบาลดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ และดีกว่าเดิม และหากร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มร่างใหม่ ซึ่งตนจะไม่ลาออก และไม่มีใครสามารถปลดตนได้ เพราะตนมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ 

ย้ำรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวเปิดงานดังกล่าวตอนหนึ่งว่า จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2515 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 44 ปี โลกต้องเผชิญวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อมมากมาย รวมทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่รู้คุณค่า โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบการค้าสัตว์ ตัดไม้พันธุ์หายาก และการลักลอบลำเลียงสัตว์ป่านำสัตว์ไปเป็นเมนูเปิบพิศดารมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงขอให้ทุกคนช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่านิ่งเฉย หากพบผู้กระทำความผิดให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ให้ดำรงอยู่ในธรรมชาติ โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง จึงขอให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ และหาวิธีให้สัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกับคนได้อย่างไม่รบกวนกัน ซึ่งสิ่งสำคัญต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน พร้อมกับขอให้ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการทำลายสัตว์ป่า และทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในปี 2559 ได้กำหนดคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลกไว้ว่า Go Wild For Life : หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดฆ่า แก้ปัญหาสัตว์ป่าสูญพันธุ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ด้วยการลดอาชญากรรมจากการซื้อขายที่ผิดกฎหมาย ในแต่ละปีมีสัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์ และเสี่ยงต่อการใกล้จะสูญพันธุ์จากการลักลอบล่าสัตว์เพื่อการค้าที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสัตว์ป่าบางชนิดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารช่วยรักษาสมดุลของประชากรสัตว์ให้สอดคล้องกับระบบนิเวศ เช่น ตัวนิ่มที่เป็นผู้ควบคุมปริมาณของแมลงในธรรมชาติ เพราะกินมดและปลวก ถึงปีละ 7 ล้านตัว เป็นต้น
 
และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2559 นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนให้คนไทยทุกคนร่วมมือ ร่วมใจกัน รักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย. 2559 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 โดยเริ่มต้นจากการ หยุดซื้อ หยุดขาย หยุดล่า หยุดฆ่า สัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานต่อไปในอนาคต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอลอว์ยัน ม.61 พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดหลักเสรีภาพ ขอทุกฝ่ายใจกว้างเปิดรณรงค์ได้

0
0

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยืนยัน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ขัดหลักเสรีภาพ ขอทุกฝ่ายเปิดให้ประชาชนรณรงค์ได้

29 มิ.ย.2559  จากกรณีเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติเอกฉันท์เห็นว่า มาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเนื้อหาในวรรคสองมีการบัญญัติคำว่า "รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย" นั้น มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น และอาจทำให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยดุลพินิจของตัวเอง จนทำให้กระทบสิทธิของประชาชนที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย จึงเห็นควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ส่วนข้อความในมาตรา 61 วรรคสาม และวรรคสี่ นั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นเรื่องของบทกำหนดโทษ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้ออกกฎหมาย และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา โดยคำร้องดังกล่าวเป็นของ จอน อึ๊งภากรณ์  ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ม.61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 ม.4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ล่าสุด ไอลอว์ ออกคำชี้แจงว่า เนื่องจากขณะนี้เรายังไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงในคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ในประเด็นนี้ เราทราบเพียงผลคำวินิจฉัยจากข่าวประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ปี 2557 

ไอลอว์ขอยืนยันตามที่ได้ยื่นคำร้องไปแล้วว่า พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติห้ามการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 10 ปีนั้น เป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักเสรีภาพการแสดงออกซึ่งเป็นหลักการที่อยู่คู่กับการเมืองการปกครองไทยมาทุกยุคสมัยและเป็นหลักการพื้นฐานที่มนุษยชาติยอมรับกันโดยทั่วไป 
 
การที่มาตรา 61 วรรคสอง บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดโดยใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น คำว่า "รุนแรง" "ก้าวร้าว" "ปลุกระดม" ซึ่งเป็นคำที่ไม่เคยมีนิยามอยู่ในกฎหมายฉบับใดมาก่อน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการแสดงออกอย่างใดจะผิดกฎหมายหรือไม่ ขัดต่อหลักการของกฎหมายอาญาที่ต้องชัดเจนแน่นอน ส่วนการแสดงออกด้วยถ้อยคำที่ "หยาบคาย" นั้น ตามปกติแล้วแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่ก็ไม่ใช่การกระทำที่ต้องมีโทษทางกฎหมาย ขณะที่บทกำหนดโทษของความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก็เป็นโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เป็นเพียงแค่การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสงบ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีนั้น เทียบได้กับความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท หรือฐานทำให้หญิงแท้งลูกและถึงแก่ความตาย การบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองเช่นนี้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขต โดยไม่มีเหตุอันสมควร
 
ไอลอว์ เห็นว่า บรรยากาศการพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติทุกวันนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงาผิดปกติ ทั้งที่ใกล้ถึงเวลาลงประชามติแล้ว โดยที่ประชาชนที่มีความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห้นด้วยต่างไม่กล้าแสดงออก ถกเถียง หรือทำกิจกรรม ดังที่มีตัวอย่าง การจับกุมดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่แจกเอกสารแสดงเหตุผลไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และมีผู้ถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 7 คนในปัจจุบัน บรรยากาศเช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการทำประชามติที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 และมีแต่จะทำให้ผลการลงประชามติไม่เป็นที่ยอมรับทั้งโดยประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก
 
ไอลอว์ ไม่มีความประสงค์จะสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในการทำประชามติ และไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่ความรุนแรง แต่เรายืนยันที่จะทำกิจกรรมทางสังคมและใช้ช่องทางตามกฎหมายทุกวิถีทางที่มีอยู่ต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการจัดทำประชามติได้อย่างเสรี เพื่อให้การจัดทำประชามติที่จะเกิดขึ้นสามารถสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างแท้จริง
 
ในระหว่างที่พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 ยังไม่ถูกยกเลิกโดยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นไปได้ที่บรรยากาศการทำประชามติจะดีขึ้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คสช. และ กกต. เปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและทำกิจกรรมรณรงค์ได้อย่างเต็มที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม ยกเลิกการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบ เลิกจับกุมประชาชนจากการแสดงความคิดเห็น ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังและยุติการดำเนินคดีที่กำลังเกิดขึ้นด้วย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปล่อยลูกโป่งที่เชียงใหม่ #รณรงค์ไม่ผิด เรียกร้องปล่อยตัวผู้รณรงค์ประชามติ

0
0

นักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมปล่อยลูกโป่ง #รณรงค์ไม่ผิด เพื่อยื่นยันสิทธิในการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และกล่าวคำว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" พร้อมกัน เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้รณรงค์ประชามติ

ที่มาของภาพ: เพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย

29 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลา 18.00 น. ที่บริเวณอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมปล่อยลูกโป่ง #รณรงค์ไม่ผิด เพื่อยื่นยันสิทธิในการรณรงค์ ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยได้กล่าวคำว่า "ปล่อยเพื่อนเรา" พร้อมกัน

ในเพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย รายงานด้วยว่ ในกิจกรรมดังกล่าว มีทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตุการณ์ กิจกรรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เวลาประมาณ 19.00 ผู้เข้าร่วมต่างแยกย้ายเดินทางกลับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียกร้องบัวแก้วเปิดเผย 'งบล็อบบี้' ชิงเก้าอี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

0
0

นักสิทธิมนุษยชนจากฟอรัม-เอเชียชี้ว่าการที่ไทยพลาดเก้าอี้ UNSC เรื่องหลักไม่ใช่เพราะสิทธิมนุษยชน เพราะคาซัคสถานก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ปัจจัยหลักอยู่ที่ภูมิศาสตร์การเมืองและความสำคัญของคาซัคสถาน พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผย 'ค่าใช้จ่าย' ที่กระทรวงการต่างประเทศออกเดินสายหวังให้นานาชาติยกมือหนุนไทยนั่ง UNSC

แฟ้มภาพ ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ที่มาของภาพประกอบ: UN Photo/JC McIlwaine)

29 มิ.ย. 2559 จากรายงานกรณีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ลงคะแนนเสียงเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง ประเภทสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC แทนตำแหน่งที่ครบวาระรวม 5 ตำแหน่ง ได้แก่ แอฟริกา ละตินอเมริกาและแคริบเบียน เอเชียแปซิฟิก อย่างละ 1 ที่นั่ง และยุโรปตะวันตก 2 ที่นั่ง โดยการดำรงตำแหน่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นระยะเวลา 2 ปี

โดยในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผลการลงคะแนนรอบ 2 ปรากฏว่า คาซักสถานได้ 138 เสียง ขณะที่ไทยได้ 55 เสียง ทำให้คาซักสถานได้เป็นสมาชิก UNSC ในสัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ต่อกรณีดังกล่าว พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออก สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรัม-เอเชีย (FORUM-ASIA) อธิบายว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Security Council (UNSC) คือองค์กรหลักของสหประชาชาติ ที่มีอำนาจมากทางทหารและการเมือง เพราะมีภาระหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลก โดยจะมีอำนาจในการตัดสินใจส่งกองกำลังรักษาสันติภาพหรือกองกำลังทหารไปประเทศที่เป็นภัยคุกคามสันติภาพหรือความมั่นคงของโลก โดย UNSC นั้นเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยประเทศที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะมี 5 ประเทศผู้ชนะสงครามที่อยู่ถาวร ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และจะมีอีก 10 ประเทศไม่ถาวรที่ถูกคัดเลือกเข้าไป โดยจะมีวาระครั้งละ 2 ปี  

กรณีที่ไทยแพ้การชิงตำแหน่งที่นั่งสมาชิกประเภทไม่ถาวร UNSC ให้แก่คาซัคสถานนั้น พิมพ์สิริเห็นว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยไม่น่าใช่สาเหตุหลักที่ทำให้พลาดที่นั่ง เพราะคาซัคสถานเองก็มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวมาตั้งแต่ปี 1991 และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพภายในประเทศ จึงเห็นว่า สาเหตุน่าจะมาจากภูมิศาสตร์ทางการเมืองของคาซัคสถานที่อยู่ใกล้รัสเซียและจีนมากกว่า อีกทั้งประเทศจากเอเชียกลางก็ไม่เคยมีบทบาทใน UNSC มาก่อน และถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะดูสนิทกับจีนและรัสเซีย แต่สุดท้ายแต่ละประเทศก็ต้องเลือกผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อน และไทยก็ดูเหมือนจะมีผลประโยชน์น้อยกว่าคาซัคสถาน

พิมพ์สิริยังกล่าวอีกว่า การพลาดที่นั่งใน UNSC อาจบอกได้ว่าภาพลักษณ์ของไทยไม่ดีในสายตานานาชาติ และไทยประเมินสถานการณ์ผิดไป ซึ่งนำไปสู่การใช้งบประมาณของกระทรวงต่างประเทศไปอย่างมากที่ไม่มีการเปิดเผยว่าเอาไปใช้ทำอะไรบ้างหรือใช้ไปเท่าไร ซึ่งประชาชนผู้เป็นคนจ่ายภาษีก็ควรจะเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้

นอกจากนั้นยังมองว่า สาเหตุที่ไทยอยากจะเข้าไปนั่งใน UNSC เพราะไทยพยายามอยากจะมีบทบาทในเวทีโลกเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้แก่ประเทศ อีกทั้งทาง คสช. ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าหากได้เข้าไปนั่งใน UNSC ได้ นานาชาติก็จะเข้าใจสถานการณ์ของไทยมากขึ้น

แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะพลาดที่นั่งใน UNSC พิมพ์สิริกลับมองว่าประเทศไทยไม่ต้องรู้สึกอะไรก็ได้ เพราะหากไทยได้เข้าไปอยู่ใน UNSC ก็อาจจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลในการต้องทุ่มงบไปกับกองกำลังทหารมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีที่ฟอรัม-เอเชีย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นานาชาติพิจารณาอย่างระมัดระวังเรื่องการลงมติเลือกไทยเข้าไปอยู่ใน UNSC นั้น พิมพ์สิริกล่าวว่าด้วยจุดยืนของฟอรัม-เอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรระดับภูมิภาค ทำให้องค์กรต้องแสดงความเห็นในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา พัฒนาการทางสิทธิมนุษยชนก็ย่ำแย่ขึ้นทุกวัน อีกทั้งยังไม่มีท่าทีจะกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นนานาชาติก็ควรจะนำประเด็นนี้ไปพิจารณาด้วย

ส่วนสถานการณ์ที่ฟอรัม-เอเชีย กำลังติดตามอยู่ตอนนี้คือการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทางฟอรัม-เอเชียเน้นย้ำตลอดในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยิ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 61 วรรค 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติดังกล่าวละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และต้องเป็นปัญหาอย่างแน่นอน

ต่อกรณีภาคประชาชนในไทย พิมพ์สิริเห็นว่า หากภาคประชาชนของไทยอยากได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศที่ชัดเจนในเรื่องของประชาธิปไตย ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือแรงกระเพื่อมภายในประเทศจากภาคประชาชนก่อน เหมือนในกรณีพม่าที่เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงว่าอยากได้รัฐบาลประชาธิปไตย อยากได้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ชาติตะวันตกที่ก่อนหน้าที่มีสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทหาร ก็มีการปรับท่าที เป็นต้น ดังนั้นอย่าไปตั้งความหวังว่าประเทศอื่นจะเข้ามาช่วย ทุกอย่างอยู่ที่เรา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร้องยูเอ็น พิจารณาประเด็นซ้อมทรมานในไทย แม่เผยก่อนลูกตายก็ไม่ได้พบ

0
0

กลุ่มเครือข่ายภายประชาสังคมร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงยูเอ็น กรณีการซ้อมทรมานในไทยเนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล ด้านครอบครัวผู้เสียหายร่วมเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนเองได้ประสบ

29 มิ.ย. 2559 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ภาคีร่วม และกลุ่มครอบครัวผู้เสียหายจากการทรมานจำนวนหนึ่ง ร่วมอ่านจดหมายเปิดผนึกด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ และเข้าไปยื่นหนังสือต่อ เลอรอง เมลลอง รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษชน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล ซึ่งตรงกับ 26 มิ.ย. ของทุกปี

จดหมายดังกล่าวมีเนื้อหากล่าวถึงการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 แต่จากรายงานขององค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนได้สะท้อนให้เห็นว่าหลายครั้งที่มีการซ้อมทรมานนั้น เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือภายใต้การรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาเฉกเช่นที่ควรจะเป็น ทางเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติรับพิจารณาปัญหาการทรมานประชาชนในบริบทของประเทศไทย สู่การหามาตรการในการให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการของมนุษยธรรม

บุญเรือง สุธีรพันธุ์ หนึ่งในกลุ่มครอบครัวผู้เสียหายที่เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า ตนหวังว่าการการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐจะหมดไป และอยากให้ผู้ที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับโทษอย่างเหมาะสม

โดยบุญเรืองได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกชายของตนว่า ลูกชายของตน สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ทำหน้าที่รับราชการอยู่ในมณฑลทหารบก 25 จ.สุรินทร์ หน่วยงานทหารราบ ร.23 เขาถูกจับกุมในวันที่ 1 ก.พ. ด้วยข้อหาให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา หลังจากนั้นตนได้พยายามยื่นประกันตัว แต่ถูกศาลทหารปฏิเสธด้วยเหตุผลว่ากลัวผู้ต้องหาหลบหนี

บุญเรืองกล่าวต่อว่า จากนั้น ได้พยายามที่จะเข้าเยี่ยมลูกชายตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากทางผู้คุมกล่าวว่ายังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ไม่สามารถให้เข้าเยี่ยมได้ ต่อมา ตนได้ขอเข้าเยี่ยมในทุกวันเสาร์ แต่ยังถูกปฏิเสธการให้เยี่ยมด้วยเหตุผลเดิม โดยครั้งสุดท้ายที่ขอเข้าเยี่ยมคือ 20 ก.พ. ซึ่งก็ถูกปฏิเสธเช่นเดิม หลังจากนั้นเพียงหนึ่งวัน เช้าวันที่ 21 ก.พ. ก็ได้รับโทรศัพท์ว่าลูกชายตนเองเสียชีวิต

"เขาไม่เคยบอกอะไรแม่เลย ไม่เคยบอกว่าลูกเจ็บหรือป่วย บอกแค่เยี่ยมไม่ได้เพราะอยู่ในชั้นสืบสวน ขนาดแม่ไปก่อนวันที่เขาโทรมาแค่วันเดียวเขายังไม่เคยบอก" นางบุญเรืองกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนพิการเกาหลีถูกหามออกจากห้องประชุม หลังบุกประท้วงยกเลิกจัดเรทคนพิการ

0
0

ตัวแทนกลุ่มองค์กรต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการถูกหามลงจากเวทีทันทีหลังตะโกนให้ยกเลิกจัดเรทคนพิการขณะ รมต.สุขภาพและสวัสดิการขึ้นพูดงานประชุมนานาชาติด้านสังคมสงเคราะห์ ที่กรุงโซล เกาหลีใต้


คลิปเหตุการณ์การนำตัวผู้ประท้วงออกจากการประชุม

29 มิ.ย. 2559 วานนี้ (28 มิ.ย.) เดอะการ์เดียนรายงานว่า ตัวแทนกลุ่มองค์กรต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ (SADD: Solidarity Against Disability Discrimination) ถูกบังคับให้ออกจากการประชุมนานาชาติด้านสังคมสงเคราะห์ ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หลังขึ้นประท้วงขณะที่ประธานกำลังพูด

ทันทีที่ชองชินยอบ รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการเกาหลีใต้ขึ้นพูดในที่ประชุม กลุ่มคนพิการผู้ประท้วงก็ขึ้นมาบนเวทีพร้อมตะโกนเป็นภาษาเกาหลีและอังกฤษว่า ‘ไม่เอาการจัดเรทความพิการอีกแล้ว’ ก่อนที่จะถูกบังคับให้ออกไปจากห้องประชุมโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะเห็นได้จากในวิดีโอว่า หญิงพิการถูกอุ้มออกไปโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 4 คน และถูกทิ้งลงบนพื้นพร้อมกับเสียงตะโกน

หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงถูกนำตัวออกไป งานประชุมยังคงดำเนินต่อ โดยมีประธานจากสามองค์กรที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ขึ้นพูดเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์การทำงานสังคมสงเคราะห์ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมประชุมบางคนและกลุ่มนักสังคมสงเคราะห์ต่างประณามการกระทำต่อนักเคลื่อนไหว องค์กรสังคมสงเคราะห์จากอังกฤษกล่าวขณะถ่ายทอดสดว่า การประชุมครั้งนี้มีกุญแจสำคัญเพื่อสร้างเกียรติและคุณค่าแก่ทุกคน การกระทำนี้ทำให้เห็นถึงการปฏิบัติที่ตรงกันข้าม แทนที่จะห้ามกลุ่มคนพิการขึ้นพูด พวกเราน่าจะเชิญทั้งตัวแทนคนพิการในประเทศและระดับนานาชาติเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมนี้เสียมากกว่า

ปัจจุบัน การจัดเรทความพิการในเกาหลีมี 6 ระดับ ซึ่งกำหนดผลประโยชน์และอุปกรณ์สนับสนุนของคนพิการที่จะได้รับผ่านรัฐ กลุ่มคนพิการกล่าวว่า การจัดเรทเช่นนี้ทำให้คนพิการหลายคนเสียชีวิต และกฎนี้ควรถูกยกเลิก อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้พิการกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงกฎนี้ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ถึงแม้การจัดอันดับจะมี 6 ระดับ แต่การให้เงินบำนาญกลับให้เฉพาะในระดับที่ 1-3  และการให้อุปกรณ์ช่วยเหลือถูกกำหนดให้เฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ระดับที่ 1 และ 2  อีกทั้งการจัดเรทในปัจจุบันยังทำให้การจัดจ้างผู้ช่วยคนพิการไม่ครอบคลุมคนที่มีความต้องการอย่างแท้จริง ซึ่งหากมีการยกเลิกและเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้เรทความพิการ 6 ระดับนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ คือกลุ่มคนพิการรุนแรง (ระดับที่ 1-3) และคนพิการไม่รุนแรง (ระดับที่ 4-6) ซึ่งจะช่วยให้การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นครอบคลุมไปถึงคนพิการในระดับที่ 3 กว่า 43,000 คน หรือร้อยละ 17 ของคนพิการทั้งหมด

คย็องซอกปาร์ค ตัวแทนจากกลุ่มต่อต้านการเลือกปฏิบัติในคนพิการกล่าวว่า พวกเขาคาดหวังว่ารัฐบาลจะปรับปรุงการจัดเรทในปีนี้ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ทำตามสัญญาทั้งในเรื่องของเบี้ยความพิการ และการให้บริการต่างๆ จึงทำให้กลุ่มคนพิการต้องออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว


แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.humanrightskorea.org/2014/government-scraps-plan-to-simplify-disability-rating-system/
https://www.theguardian.com/social-care-network/2016/jun/28/disabled-activists-condemn-treatment-social-work-conference
https://www.theguardian.com/social-care-network/2016/jun/27/disabled-protesters-social-work-conference-seoul

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จดหมายจากเรือนจำ จากศิษย์ถึงอาจารย์ผู้สอนวิชาสิทธิพื้นฐานและผู้เขียน กม.ประชามติ

0
0

รังสิมันต์ โรม 1 ใน 7 นักศึกษาผู้ถูกจับกุมคุมขังจากการรณรงค์เรื่องการทำประชามติรัฐธรรมนูญ คสช.ฝากข้อความผ่านเพื่อนที่ไปเยี่ยมถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ สมาชิกสภ่านิติบัญญัติแห่งชาติ เจ้าของ พ.ร.บ.ประชามติ และเป็นผู้สอนวิชาสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

ที่มาภาพ: Flickr.com/iLaw.th

0000


จดหมายถึงอาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์

สวัสดีครับอาจารย์ อาจารย์สบายดีไหมครับ อาจารย์รู้หรือยังครับว่าตอนนี้ผมอยู่ในเรือนจำ ผมสบายดีนะครับ ที่นี่อากาศร้อน แออัด และถูกจำกัดสิทธิค่อนข้างพอสมควร แต่ผมก็ยังรับมือไหวครับ

อาจารย์ยังจำได้ไหม อาจารย์เคยสอนผมในรายวิชา LA150 หรือสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมยังตำในสิ่งที่อาจารย์สอนได้ดี ถึงแม้อาจารย์จะเป็นส่วนหนึ่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ผมและเพื่อนไม่เคยเห็นด้วยเลย แต่ผมก็ยังเคารพอาจารย์เสมอ เพราะอาจารย์เคยประสาทวิชาความรู้ให้ผมเสมอมา

น่าเสียดายที่สิ่งที่อาจารย์ได้ทำขึ้น คือมีส่วนในการร่างพรบ.ประชามติ ได้ทำให้ผมและเพื่อนๆอีก 6 คนต้องสูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐาน และถูกขังอยูในเรือนจำ

อาจารย์ครับ ผมถามหน่อยครับว่าพวกผมบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญหรือเปล่าครับ เพราะถ้าพวกผมไม่ได้บิดเบือน หรือทำอะไรผิด ผมและเพื่อนๆก็ไม่สมควรจะอยู่ในเรือนจำเลยครับ ผมหวังว่าอาจารย์จะได้อ่านจดหมายนี้
 

ด้วยความเคารพรักเสมอ

รังสิมันต์ โรม
ยังคงเป็นศิษย์ของอาจารย์เสมอ

 

0000

 

หมายเหตุ: วิชา LA150 คือ วิชากฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นวิชาเลือกทั่วไปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: อย่าใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาปิดปากประชาชน

0
0

การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวเองและการตีความมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีปัญหามาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่คำสั่ง คสช.หลายๆ คำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ก็ถูกตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือเรียกได้ว่าอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจนทำให้สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการคุ้มครองจริงแต่อย่างใด ภายใต้สภาพเช่นนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปอีกทางหนึ่ง ก็ไม่อาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ดี คำสั่งคสช.อยู่เหนืออำนาจศาลทั้งหลาย

ความจริงแล้ว ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้กฎหมายประชามติลงโทษใคร แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ การอ้างและบิดเบือนกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และส่วนอื่นๆ มาใช้ข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นต่างก็ดี หรือรณรงค์เพื่อให้ประชาชนไม่รับร่างก็ดี การข่มขู่ดังกล่าวทำร่วมกันอย่างเป็นระบบโดยผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้อง จนทำให้คนจำนวนมากเกิดความหวาดกลัวหรือไม่ต้องการเสี่ยงต่อการถูกลงโทษในอัตราโทษที่สูงมาก ทั้งๆ ที่การกระทำเหล่านั้นไม่ขัดต่อกฎหมายประชามติแต่อย่างใด ซ้ำยังได้รับการคุ้มครองโดย มาตรา 7 ของกฎหมายประชามติเองด้วย สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้การทำประชามติเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม คือ มีแต่การชี้นำจากฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้สนับสนุนอยู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกือบทำอะไรไม่ได้เลย

การที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายอ้างกฎหมายประชามติข่มขู่ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นในทางไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ในระบบกฎหมายปัจจุบัน ก็ไม่มีช่องทางที่ประชาชนผู้ถูกละเมิดจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อระงับยับยั้งการปฏิบัติของผู้มีอำนาจได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว แม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดข้อห้ามใดๆเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คงคาดได้ไม่ยากว่า ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะยิ่งอ้างและบิดเบือนกฎหมายประชามติเพื่อข่มขู่ปิดปากประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ในกรณีล่าสุดที่มีการจับกุมคุมขังนักศึกษาที่ไปแจกเอกสารแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งดำเนินคดีในศาลทหารในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากการแจกเอกสารเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นวิธีหนึ่งที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 7 ของกฎหมายประชามติ ทาง คสช.ซึ่งปากก็พร่ำอยู่ตลอดว่าให้ทุกคนทำตามกฎหมาย แต่กลับไม่เคารพกฎหมายเสียเอง หากเลือกที่จะใช้คำสั่งของตนตามอำเภอใจอย่างไร้เหตุผล ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

ผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงต้องช่วยกันยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นก็ดี เผยแพร่ความคิดเห็นก็ดี หรือการรณรงค์ก็ดี ล้วนเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง กับจะต้องช่วยกันยืนยันด้วยว่าการทำประชามตินั้นเป็นการอาศัยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมาใช้แก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติ ในกรณีที่สังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสำคัญ การทำประชามติจึงต้องเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

การทำประชามติแบบ ‘มัดมือชก’ อย่างที่เป็นอยู่ รังแต่จะทำให้การทำประชามตินี้ขาดความชอบธรรมลงไปทุกที ทั้งยังส่งผลให้เกิดความสงสัยไม่เชื่อถือต่อร่างรัฐธรรมนูญเองด้วย หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติไปในสภาพที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเองก็จะไม่มีทางเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ไปได้ และนั้นก็หมายความว่าประเทศไทยจะต้องจมอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งโดยไม่อาจหลุดพ้นไปอีกยาวนาน

อย่าใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาปิดปากประชาชน

หยุดใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ประชาชนต้องมีเสรีภาพ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานพิเศษ: หรือ ‘พุทธไทย’ ไม่มีที่ยืนให้ LGBT?

0
0

องค์กรสงฆ์ตีความพระไตรปิฎกห้ามคนหลากหลายทางเพศบวช เหมารวมทำศาสนาพุทธเสื่อมเสีย แต่พระผู้ชายกลับเป็นแค่เรื่องตัวบุคคล ขณะกฎหมายเท่าเทียมระหว่างเพศยังให้เลือกปฏิบัติได้ถ้าเกี่ยวกับหลักศาสนา นักวิชาการชี้พระไตรปิฎกมีการเสริมแต่งภายหลังเพื่อกีดกันคนบางกลุ่ม หนุนให้กลับไปหาหลักธรรมเดิมและตีความให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน


ภาพโดย neil banas(CC BY-NC 2.0)
 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ทางสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสามพระยาเขตพระนคร ได้ทำหนังสือเรื่อง ‘พระภิกษุสามเณรมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ’ แจ้งไปยังเจ้าคณะเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ระบุว่ามีพระภิกษุและสามเณรบางกลุ่มมีพฤติกรรม ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป ทั้งยังโพสต์ภาพลงในโซเชียล มิเดียต่างๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความเสื่อมเสีย และได้กำชับให้เจ้าอาวาสต้องดูแลพระภิกษุ-สามเณรในสังกัด หากพระภิกษุ-สามเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศไม่เชื่อฟัง ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎของมหาเถรสมาคม

นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์มติชน (http://www.matichon.co.th/news/191072 ) ยังได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของพระราชวิจิตรปฏิภาณหรือเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตดุสิต ต่อกรณีนี้ด้วยว่า แนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้พระภิกษุสามเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนา เจ้าอาวาสต้องพิจารณากุลบุตรที่เข้ามาบวชในวัดว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ถ้าพบว่ามีก็ไม่อนุญาตให้บวช และต้องตรวจพฤติกรรมหลังบวชด้วย หากต่อมแต๋วแตกต้องให้ลาสิกขาเพศ เพราะถ้าให้อยู่ในสมณเพศก็ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้ เรื่องนี้หากเจ้าอาวาสบกพร่อง หรือไม่พิจารณาให้ดี เจ้าอาวาสเองอาจถูกตรวจสอบ โดนพักงาน และอาจมีโทษร้ายแรงให้ปลดจากตำแหน่ง เพราะรับบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเข้ามาทำความเสื่อมเสียให้ศาสนา ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อเจ้าอาวาสและต่อคณะสงฆ์

วิเคราะห์จากเนื้อหาในหนังสือและคำให้สัมภาษณ์ แสดงให้เห็นว่ามหาเถรสมาคมและพระชั้นผู้ใหญ่ยังตามไม่ทันโลกสมัยใหม่และไม่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เพราะยังคงใช้ถ้อยคำเชิงลบอย่างคำว่า ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’

แน่นอนว่า เมื่อผู้ใดเพศใดบวชในพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามกฎกติกาของศาสนา แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับการห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวช เพราะการใช้ชีวิตในร่มเงาศาสนาถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล อีกทั้งก็มีคนหลากหลายทางเพศบวชเป็นพระภิกษุที่ประพฤติตนในกรอบกติกา การห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวชจึงวางอยู่บนอคติและกติกาในแบบที่มหาเถรสมาคมเป็นผู้กำหนด

แม้แต่ผู้หญิงยังถูกห้ามบวช

นับจากอดีต ศาสนาเป็นดินแดนต้องห้ามของคนหลากหลายทางเพศ นอกจากพวกเขาและเธอจะก้าวเข้าไปไม่ได้แล้ว บางกรณียังถูกคนในร่มเงาศาสนาก้าวออกมาประหัตประหาร

สำหรับพุทธแบบไทยที่ติดตรึงกับความเชื่อว่าตนเป็นพุทธแท้ มีการปฏิบัติที่เข้มงวด เป็นของเก่าแก่ดั้งเดิม และยึดมั่นกับพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่มาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้พุทธแบบไทยทางการที่ผูกพันกับอำนาจรัฐและอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้แก่ ‘ผู้หญิง’ ในฐานะนักบวช

มติของ มส. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2557 ระบุว่า ให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศปฏิบัติตามประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 โดยห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรทุกนิกายบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา เป็นสามเณรี ด้วยเหตุผลที่ว่า นางภิกษุณีสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว

เมื่อผู้หญิงยังถูกห้ามบวช จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหลากหลายทางเพศจะใช้ชีวิตในร่มเงาศาสนาพุทธตามแรงศรัทธา เพราะไม่เพียงคัมภีร์ในพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกที่ห้ามไม่ให้คนหลากหลายทางเพศบวช ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญแล้ว ยังมีโครงสร้างอำนาจในการปกครองสงฆ์ไทยที่เป็นปราการขวางกั้น เป็นการปะทะกันระหว่างหลักศาสนากับหลักสิทธิมนุษยชนที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้

ความผิดที่ถูกเหมารวม

ข้อมูลจากเว็บของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนพระภิกษุ-สามเณร ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ทั่วประเทศในปี 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 348,433 รูป ซึ่งหากประเมินจากที่จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา เคยกล่าวกับเดลินิวส์ (http://m.dailynews.co.th/News.do?contentId=232218 ) ว่า จากข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับพระตุ๊ด เณรแต๋ว พบว่าจะพบพฤติกรรมพระตุ๊ด เณรแต๋ว ร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรพระเณรทั้งหมด เท่ากับว่าจะมีพระและสามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นกะเทยประมาณ 3.4 หมื่นรูป

สิ่งนี้แสดงว่า แม้การตีความในพระไตรปิฎกจะยังมีความคลุมเครือในด้านถ้อยคำ แต่ในทางปฏิบัติมีพระและสามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ชายบวชอยู่ในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อีกด้านที่ต้องยอมรับคือภาพลักษณ์ของภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่งที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของตนผ่านโซเชียลมีเดีย ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศ ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านจากสังคมในรูปแบบต่างๆ

จุดที่ชวนตั้งข้อสังเกตต่อการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็คือ การเหมารวมว่าพระ-สามเณรทุกรูปที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชายล้วนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดังนั้น ทางแก้ปัญหามักจะมุ่งไปที่การห้ามคนกลุ่มนี้บวชและพระอุปัชฌาย์จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองผู้บวช บุญรอด บุญเกิด หัวหน้าภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยให้ความเห็นไว้กับเว็บไซต์ผู้จัดการว่า (www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000028788)

“ผู้นำระดับเจ้าอาวาส ระดับเจ้าคณะที่มีอำนาจในการปกครองต้องสอดส่องดูแลคนพวกนี้ ถ้าเขาเข้ามาบวชแล้วมีลักษณะเป็นอย่างนี้ก็กั้นออกไป คือให้สึกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรให้อยู่ในวัด แล้วตัวของคนที่เป็นเองถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเป็น มันจะเป็นจุดเศร้าหมองหรือจุดด้อยศาสนา ฉะนั้น ตัวเองไม่ควรที่จะอยู่”

ชวนให้ตั้งคำถามว่า กรณีที่พระ-สามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชาย เมื่อมีข่าวคราวพฤติกรรมไม่เหมาะสม เหตุใดจึงไม่มีการห้ามผู้ชายบวช หรือเพราะพฤติกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าอย่างนั้น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระ-สามเณรที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ผู้ชายจึงไม่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่กลับถูกเหมารวมว่า ถ้าคนกลุ่มนี้บวชเป็นพระจะต้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน ดังนั้น ต้องไม่ให้คนกลุ่มนี้บวช?

พระไตรปิฎกห้ามคนหลากหลายทางเพศบวชหรือไม่?

พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ระบุถึงบุคคลที่ห้ามบวชคือบัณเฑาะก์,

คนลักเพศ และอุภโตพยัญชนก

พระชาย วรธัมโม พระที่สนใจประเด็นเชิง Gender อธิบายความหมายของถ้อยคำเหล่านี้ว่า บัณเฑาะก์หมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม มีเพียงรูสำหรับขับถ่าย ตามพระไตรปิฎกมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่ชอบอมองคชาติของผู้อื่น ผู้ที่มีความต้องการทุกข้างขึ้นข้างแรม ผู้ที่ถูกตัดอวัยวะเพศ และผู้ที่ชอบแอบดูคนร่วมเพศกัน

ขณะที่คนลักเพศหมายถึงคนที่ขโมยจีวรมาห่มหรือลักเพศสมณะ

ส่วนอุภโตพยัญชนกคือคนที่มีอวัยวะเพศเปลี่ยนแปลงไปมาได้ องคชาติเปลี่ยนเป็นโยนีหรือโยนีเปลี่ยนเป็นองคชาติได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือปุริโส อุภโตพยัญชนก หมายถึงมีสภาพร่างกายเป็นชายสามารถร่วมเพศกับผู้หญิงได้ แต่ก็สามารถร่วมเพศกับผู้ชายได้ด้วย โดยอวัยวะเพศจะเปลี่ยนเป็นของผู้หญิงเพื่อร่วมเพศกับผู้ชาย อีกประเภทคืออิตถี อุภโตพยัญชนก มีสภาพร่างกายเป็นผู้หญิงสามารถร่วมเพศกับผู้ชายได้ แต่หากต้องการร่วมเพศกับผู้หญิง อวัยวะเพศจะเปลี่ยนเป็นของผู้ชายเพื่อร่วมเพศกับหญิงได้เช่นกัน โดยอิตถี อุภโตพยัญชนกสามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้และตนเองก็สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าเป็นปุริโส อุภโตพยัญชนกสามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้

เมื่อดูจากความหมายของถ้อยคำที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พระชาย กล่าวว่า มหาเถระสมาคม (มส.) ตีความคำนี้ว่าหมายถึงกะเทยหรือผู้ชายที่มีบุคลิกเป็นผู้หญิง แต่บัณเฑาะก์ไม่ใช่กะเทย ส่วนคำว่าลักเพศก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีความหมายแบบที่ใช้กันในปัจจุบันแต่อย่างใด ขณะที่อุภโตพยัญชนก มส.ตีความเป็นคนสองเพศ มีอวัยวะเพศสองอย่างในคนเดียวกัน เป็นอวัยวะเพศที่ไม่ได้เป็นแค่องคชาติอย่างเดียว แต่มีโยนีรวมอยู่ด้วย ถ้าในความหมายปัจจุบันก็น่าจะหมายถึงกลุ่มคนที่เรียกว่าอินเตอร์เซ็กส์ (Intersex)

การตีความบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนกเช่นนี้ บวกกับการไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี ย่อมเท่ากับการบวชเป็นพระในพุทธศาสนาของไทย ผูกขาดเฉพาะเพศชายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พระชายแสดงความเห็นว่า หากดูจากความหมายเดิมของพระไตรปิฎก

“พระพุทธเจ้าเคยอนุญาตให้บัณเฑาะห์บวช แสดงว่ายุคนั้นพุทธเจ้ายังไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่มีเรื่องว่าบัณเฑาะห์คนนี้ไปขอมีเพศสัมพันธ์กับพระรูปหนึ่งกับสามเณร แต่ถูกปฏิเสธ เลยไปขอมีเพศสัมพันธ์กับคนข้างๆ วัด เรื่องรู้ไปถึงหมู่สงฆ์ จริง ก็เลยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอะไร แต่คณะสงฆ์ที่ไปฟ้องพูดว่า ควรจะมีการกำหนดมิให้บัณเฑาะก์บวชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ในยุคนั้นพระผู้ชายก็มีเซ็กส์ การมีเพศสัมพันธ์ยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็นวินัย เพราะใครบวชเข้ามาก็รู้กันหมดว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าห้ามเสพเมถุน เผอิญมีพระรูปหนึ่งชื่อพระสุทินที่ยังไม่มีผู้สืบสกุล ทางพ่อแม่พระสุทินก็เลยมาหาท่าน ตอนนั้นวินัยเรื่องประพฤติพรหมจรรย์ยังไม่มี พระสุทินถูกรบเร้าจากพ่อแม่ก็ยอม พอเกิดกรณีนี้ขึ้น ตอนหลังพระพุทธเจ้าจึงต้องบัญญัติว่าห้ามภิกษุสงฆ์มีเพศสัมพันธ์ ใครมีต้องปราชิก แต่ถ้าใครที่มีไปแล้วอย่างพระสุทิน ซึ่งเป็นต้นบัญญัติ ถือว่าไม่อาบัติ ยังเป็นพระได้ต่อ ในเมื่อผู้ชายก็มีหลุดไปมีเพศสัมพันธ์ แล้วทำไมไม่ห้ามผู้ชายบวช แต่พอบัณเฑาะก์ทำพลาดแค่ครั้งเดียวกลับถูกห้ามบวชเลย

กลุ่มที่ถูกประณามว่ามีความเป็นมนุษย์น้อย เช่น ชนพื้นเมือง ที่ในภาษาบาลีใช้คำว่าพวกนาค ซึ่งบวชไม่ได้ นัยคือมันมีปัญหาเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาลแน่ๆ ว่า พุทธศาสนาถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือเฉพาะผู้ชาย ... พระวินัยถูกต่อเติมในยุคหลังอีกมาก เพราะการที่อ้างว่าเป็นมนุษย์มั้ย เป็นบุรุษหรือเปล่า เป็นบัณเฑาะก์บวชไม่ได้ เป็นกะเทยบวชไม่ได้ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เติมขึ้นมาทีหลัง กลับไปที่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตเวไนยสัตว์ให้บวชได้ สัตว์ที่สอนได้ กะเทย ทอม เกย์ ตุ๊ด ถ้ามีความปรารถนานิพพานย่อมมีสิทธิที่จะบวชได้

“ส่วนตอนแรกที่เห็นอุภโตพยัญชนก เราคิดว่าไม่ใช่มนุษย์ คนธรรมดาอวัยวะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนั้น น่าจะเป็นการทำให้คนที่มีอวัยวะเพศที่แตกต่างถูกทำให้น่ากลัว เป็นปีศาจ ไม่ใช่มนุษย์ คุณก็จะไม่ได้บวช อันนี้น่าจะเป็นมายาอีกข้อหนึ่งของงานเขียนในพระไตรปิฎกที่ปรากฏอยู่ นอกเหนือจากความหมายของบัณเฑาะก์ที่ถูกเขียนไว้แล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระชายจึงมีทัศนะว่า พระไตรปิฎกไม่ได้ห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวชดังที่มหาเถระสมาคมตีความ

หลักศาสนาเป็นเหตุให้เลือกปฏิบัติได้

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 18 กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือของตนในการสอน การปฏิบัติการสักการะบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล

ปัจจุบัน ‘เพศ’ มีความหลากหลายมากกว่าแค่หญิง-ชาย กระแสสิทธิมนุษยชนเองก็ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยไม่เลือกว่าจะเป็นเพศใด ขณะที่ ‘พุทธไทย’ ที่เป็นทางการและอิงกับมหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศบวช ทำให้พุทธไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งยวดจากกระแสสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พุทธไทยยังคงมีอิทธิพลสูงยิ่งในสังคม ทั้งในมิติของการเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งกฎหมาย เป็นเพราะพุทธศาสนามีส่วนสำคัญต่อการก่อรูปรัฐชาติไทย ทำให้ความเป็นพุทธกับความเป็นไทยถูกผสานเป็นเนื้อเดียว พุทธศาสนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คิดว่าพุทธศาสนาถูกกระทบกระทั่ง ย่อมเกิดการตีขลุมไปว่าความเป็นชาติไทยถูกกระทบกระเทือนโดยปริยาย

อิทธิพลของพุทธไทยอาจเห็นได้จาก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มาตรา 17 ที่กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้ ยกเว้น ‘เป็นการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา’

“นั่งอยู่ในคณะกรรมการวิสามัญตอนนั้นที่ถกเถียงกันเรื่องนี้ มันเป็นความกังวลของนักกฎหมาย เราต้องเข้าใจว่านักกฎหมายเป็นนักเทคนิคที่มีความกังวลเรื่องกฎหมายเยอะ เขาจึงกังวลว่าถ้าเกิดเหตุฟ้องร้องเกี่ยวกับศาสนาที่มีข้อห้ามอาจเกิดความวุ่นวาย จึงต้องขยักไว้และรอดูในทางปฏิบัติว่าเกิดปัญหาอะไรและจะแก้กันยังไง แต่สิ่งที่ต่อสู้กันมา ท่านประธานกรรมาธิการก็ใช้คำว่าหลักศาสนา หมายความว่าให้คำว่าหลักไปอยู่ใน พ.ร.บ.ให้ได้ เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยความเท่าเทียมระหว่างเพศตีความจากตรงนี้ ถ้าการเลือกปฏิบัตินั้นเกิดจากความเชื่อไม่ใช่หลักการศาสนาที่ถูกบัญญัติไว้ก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ” รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ด้าน ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เห็นไปในทางเดียวกันว่า แม้เรื่องส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศจะมีต้นเหตุมาจากศาสนา วิชาการ หรือความมั่นคง แต่กฎหมายนี้ได้เปิดโอกาสให้คนโลกเก่ากับกับโลกใหม่ได้เรียนรู้กัน และเชื่อว่าเมื่อเกิดการปะทะสังสรรค์กันแล้ว สุดท้ายจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายในอนาคตเอง

พระไตรปิฎกถูกเติมแต่ง ต้องย้อนกลับไปหาหลักธรรมดั้งเดิม

ด้านสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชการอิสระด้านอุษาคเนย์ศึกษา อธิบายว่า กรณีนี้ต้องย้อนกลับไปหาแก่นธรรมคำสอนของพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกๆ ของโลกที่เปิดพื้นที่ให้แก่สตรี ซึ่งในสังคมของชมพูทวีป ณ เวลานั้น สตรีเป็นกลุ่มชนชั้นสองแม้จะอยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์ก็ตาม เหตุนี้ โดยหลักการแล้ว พุทธศาสนาไม่มีการแยกบุรุษสตรี

ส่วนในกรณีคนหลากหลายทางเพศ สมฤทธิ์ กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกมีการสอดแทรกบางเรื่องที่น่าจะถูกตีความว่าเป็นคนหลากหลายทางเพศ เช่น มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ติดใจรูปร่างหน้าตาของพระพุทธเจ้า ไปไหนก็ชอบมองแต่พระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็มีการตีความว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ภิกษุรูปนี้จะชอบผู้ชาย หมายความว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นเวไนยสัตว์ แปลว่าสัตว์ที่สอนได้ เมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นเวไนยสัตว์ย่อมหมายความว่ามนุษย์ทุกคนสามารถบวชได้

ผมคิดว่าแกนหลักของคำสอนพุทธจริงๆ คือการให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของคน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรต่างมีโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะที่จะพัฒนาให้เกิดการตื่นรู้ต่อความทุกข์ของตัวเองและเพื่อนมนุษย์และสามารถเรียนรู้ฝึกฝนหาทางแก้ไขได้ ธรรมวินัยเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้คนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ ในโลกที่เปิดกว้าง การตีความธรรมวินัยต้องเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนอย่างเท่าเทียมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ยึดตามตัวอักษรแบบที่ทำกันมานาน

ทว่า อุปสรรคใหญ่โตคงหนีไม่พ้นคัมภีร์ศาสนา-พระไตรปิฎก ที่พุทธไทยให้ความสำคัญชนิดที่แตะต้องไม่ได้และประกาศว่าจะต้องยึดถือตามคัมภีร์อย่างเคร่งครัด (แน่นอนว่ามีหลากกรณีที่พระไตรปิฎกไม่ได้ระบุไว้ แต่พระสงฆ์ไทยก็ทำสิ่งที่นอกเหนือพระไตรปิฎก) อีกทั้งยังถูกผูกขาดการตีความโดยมหาเถรสมาคม ซึ่งสมฤทธิ์ กล่าวว่าต้องเข้าใจว่าพระไตรปิฎกหรือพระวินัยมีการเติมแต่งในยุคหลัง ถ้ากลับไปสมัยพุทธกาล การบวชไม่มีการสอบถามแบบนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยถามว่าพ่อแม่อนุญาตหรือไม่ ทางการอนุญาตหรือไม่ คุณเป็นมนุษย์หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง เพื่อป้องกันพุทธศาสนาให้อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“กลุ่มที่ถูกประณามว่ามีความเป็นมนุษย์น้อย เช่น ชนพื้นเมือง ที่ในภาษาบาลีใช้คำว่าพวกนาค ซึ่งบวชไม่ได้ นัยคือมันมีปัญหาเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาลแน่ๆ ว่า พุทธศาสนาถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือเฉพาะผู้ชาย ถึงมีตำนานว่านาคบวชไม่ได้ คำว่า นาค ไม่ได้หมายความว่าเป็นสัตว์จริงๆ ในแง่มานุษยวิทยา นาคแปลว่าคนพื้นเมือง พระวินัยถูกต่อเติมในยุคหลังอีกมาก เพราะการที่อ้างว่าเป็นมนุษย์มั้ย เป็นบุรุษหรือเปล่า เป็นบัณเฑาะก์บวชไม่ได้ เป็นกะเทยบวชไม่ได้ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เติมขึ้นมาทีหลัง กลับไปที่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตเวไนยสัตว์ให้บวชได้ สัตว์ที่สอนได้ กะเทย ทอม เกย์ ตุ๊ด ถ้ามีความปรารถนานิพพานย่อมมีสิทธิที่จะบวชได้”

ถามว่านี่คือการตีความให้เข้ากับยุคสมัยใช่หรือไม่ สมฤทธิ์ตอบว่า จะว่าอย่างนั้นก็ใช่ แต่เขากลับเห็นว่าเป็นการย้อนไปยึดคำสอนดั้งเดิมมากกว่า ไม่ใช่การตีความใหม่ เขาขยายความว่าเป็นการตรวจสอบกับหลักศาสนาดั้งเดิม

“ผมบอกได้เลยว่าพระไตรปิฎกมีการเติมแต่งไม่มากก็น้อย โดยฝีมือของลังกา ในกรณีของลังกาพยายามจะเอาตนเองเป็นแม่แบบของความเป็นพุทธและใส่การตีความของตนลงไป ในลังกาจึงมีปัญหามาก ผมยกตัวอย่าง ปัจจุบัน สยามวงศ์ในลังกาจะไม่บวชให้แก่ชนชั้นล่าง แต่จะบวชให้เฉพาะชนชั้นสูงของลังกา ชนชั้นล่าง กรรมกร แรงงานบวชไม่ได้ ต้องหนีไปบวชกับพม่า มอญ จึงกลายเป็นนิกายอมรปุระ นิกายรามัญวงศ์ ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ของลังกา เราจะเห็นว่าลังกามีการตีความพุทธศาสนาใหม่ ถ้าเราเชื่อพระไตรปิฎกที่ตกทอดมาโดยไม่คิด ก็ดูเหมือนว่าผมจะตีความใหม่ แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์และเข้าใจหลักศาสนา อย่าลืมว่าศาสนาที่กำลังพูดอยู่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของหลักศาสนา เราจึงควรย้อนไปที่ต้นกำเนิดศาสนา เมื่อต้นกำเนิดบอกว่าเมื่อคุณเป็นมนุษย์ เป็นเวไนยสัตว์ และบวชได้ นี่คือการย้อนกลับไปหาหลักคำสอนดั้งเดิมมากกว่าตีความใหม่”

หยุดตีความแบบคับแคบ-แยกรัฐออกจากศาสนา

สมฤทธิ์ กล่าวว่า พุทธไทยที่อยู่ภายใต้การครอบงำของมหาเถรสมาคม ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐไทยอีกที ทำให้การตีความคำสอนเป็นการตีความที่คับแคบ อยู่ภายใต้พื้นที่ของอำนาจของรัฐพุทธไทย ทางออกจากเรื่องนี้คือการกลับไปตรวจสอบและทำความเข้าใจพระวินัยว่ามีการเติมแต่งในภายหลัง ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิบวชได้ และถ้าบวชในประเทศไทยไม่ได้ก็ไปบวชที่อื่นที่อนุญาตให้บวช เช่นเดียวกับกรณีภิกษุณีสงฆ์ ถึงแม้มหาเถรสมาคมไม่ยอมรับสถานภาพอย่างเป็นทางการ แต่ในแง่ของพฤติกรรมแล้วสังคมยอมรับ กล่าวคือไม่ต้องไปสนใจองค์กรสงฆ์ไทย

ที่สำคัญที่สุดคือต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ ให้ศาสนาเป็นเรื่องของชุมชน ของชาวบ้านและใช้พระธรรมวินัยเป็นตัวกำหนด จะทำให้มีบางวัดอนุญาตให้บวช บางวัดไม่อนุญาต คนที่ต้องการบวชก็จะมีทางเลือก

ด้าน สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนา แสดงทัศนะว่า ในทางหลักการเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยต้องตีความธรรมวินัยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เสียความหมายสำคัญ แต่ในทางปรากฏการณ์คงเป็นเรื่องที่จะเกิดกลุ่มต่างๆ มาต่อรองกับอำนาจคณะสงฆ์และอาจต้องใช้เวลา

“ผมคิดว่าแกนหลักของคำสอนพุทธจริงๆ คือการให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของคน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรต่างมีโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะที่จะพัฒนาให้เกิดการตื่นรู้ต่อความทุกข์ของตัวเองและเพื่อนมนุษย์และสามารถเรียนรู้ฝึกฝนหาทางแก้ไขได้ ธรรมวินัยเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้คนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ ในโลกที่เปิดกว้าง การตีความธรรมวินัยต้องเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนอย่างเท่าเทียมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ยึดตามตัวอักษรแบบที่ทำกันมานาน”

ถึงกระนั้นมีการมองว่า พระไตรปิฎกจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะถูกหยิบยกขึ้นมากีดกันคนหลากหลายทางเพศ เพราะการละเมิดพระไตรปิฎกยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พร้อมใช้สร้างกระแสได้เสมอ ซึ่งสุรพศเห็นว่า หากยังมีการอ้างพระธรรมวินัยเช่นนี้...

“ก็แปลว่าธรรมวินัยในมุมมองของเขาสอบไม่ผ่านการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ผมพูดถึงธรรมวินัยก็เพราะการบวชเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่แล้ว มันขึ้นกับว่าจะตีความให้บวชได้หรือไม่ ถ้าตีความไม่ได้ ปัญหาใหญ่ก็อยู่ที่คณะสงฆ์มีอำนาจตามกฎหมายมาควบคุมการตีความ จะแก้ปัญหานี้ได้จริงก็ต้องแยกศาสนาจากรัฐ”

เชื่อว่าการผูกขาดการตีความของมหาเถรสมาคมที่กีดกันเพศอื่นๆ ไม่ให้มีสิทธิบวชจะต้องเผชิญกับคำถามมากมายในอนาคต พุทธไทยที่มักกล่าวอ้างว่ามีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต้องตอบให้ได้ว่า แล้วเหตุใดจึงมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่บวชได้?

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อุทธรณ์ยืนจำคุกตลอดชีวิต 2 จำเลยอุ้มฆ่าเอกยุทธ

0
0

30 มิ.ย.2559 กรณีเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.57 ศาลอาญา พิพากษาประหารชีวิต สันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง อายุ 23 ปี และ สุทธิพงศ์ พิมพิสาร อายุ 28 ปี จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในคดีอุ้มฆ่า เอกยุทธ อัญชันบุตร หรือ "จอร์จ ตัน" เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ อดีตเจ้ามือแชร์ชาร์เตอร์ และนักธุรกิจชื่อดัง ถูกแจ้งความว่าหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 56 แต่เนื่องจากคำให้การมีประโยชน์ต่อรูปคดี จึงพิจารณาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และให้ร่วมกันชดใช้ทรัพย์สินแก่ทายาทผู้เสียชีวิต เป็นเงินจำนวน 1.94 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 ชวลิต หรือเชาว์ วุ่นชุม อายุ 23 ปี ศาลพิพากษาจำคุก 13 เดือน รวมกับโทษรอลงอาญาจากคดีเก่าที่ศาลจังหวัดพัทลุงอีก 6 เดือน รวมเป็น 19 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 ทิวากร หรือ ทิว เกื้อทอง อายุ 18 ปีเศษ จำคุก 8 เดือน ฐานปิดบังซ่อนเร้นอำพรางศพ ส่วน จ.ส.อ.อิทธิพล และ จิตอำไพ บิดามารดาของ สันติภาพ ศาลตัดสินจำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานรับของโจร

ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.59) สำนักข่าวเนชั่น รายงานว่า ศาลอุทธรณ์ ศาลพิจารณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แก้ไขความผิดของสันติภาพ และสุทธิพงศ์ ไม่ได้เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่มีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดความผิดและหลีกเลี่ยงทางอาญาตามที่กระทำไว้ ทั้งนี้โทษของสันติภาพ และสุทธิพงศ์ ยังคงเป็นไปตามศาลชั้นต้น จำคุกตลอดชีวิต

ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 คือ บิดา และมารดา ของสันติภาพ ที่มีความผิดในฐานรับของโจร ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี แต่ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ทั้งสองมีความผิดร่วมกันรับเงินไว้โดยรู้ว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด จึงพิพากษาตามศาลชั้นต้น จำคุก 1 ปี 4 เดือน ซึ่งทั้งสองคน จะยื่นเรื่องขอประกันตัวต่อไป
 
ทั้งนี้ ระหว่างการฟังคำพิพากษา สันติภาพ และสุทธิพงศ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และพูดคุยกับครอบครัว และญาติ ที่มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี ก่อนที่จะถูกควบคุมตัวกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
 
สำหรับกรณีการเสียชีวิตของเอกยุทธนั้นเคยถูกนำมาเป็นประเด็นการเมือง โดยมีการกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากเอกยุทธ เป็นผู้มีบทบาทในการทำสื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร ถึงยิ่งลักษณ์ด้วย
 
โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.56 ผู้จัดการออนไลน์เคยรายงานด้วยว่า พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายโดยระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีของเอกยุทธถือว่าไม่ได้แตกต่างจากคดีของสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำในปี 2547 ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
“คดีนี้มันก็ไม่ต่างจากกรณีของคุณสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเรายังไม่รู้ประเด็นว่าคืออะไร แต่ผู้ตายไม่ใช่ประชาชนธรรมดาที่ไม่เคยมีเรื่องกับอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ คุณเอกยุทธถือเป็นตัวอย่างของคนที่สู้กับอำนาจรัฐ จะเป็นฝั่งอะไรก็ช่าง แต่เมื่อมีการตาย เจ้าหน้าที่รัฐและการเมืองต้องระวัง ระวังต่อการเข้าไปก้าวก่าย ระวังต่อการที่ทำให้เห็นได้ว่ามันมีการดำเนินการไม่สุด” พญ.พรทิพย์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Genderless Kei แฟชั่นไม่จำกัดเพศในญี่ปุ่น เปิดพรมแดนสุดล้ำท้าทายขนบเดิม

0
0

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีวัฒนธรรมแต่งการข้ามเพศอยู่แล้วทั้งในศิลปะยุคเก่าและในวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่เทรนด์ล่าสุดที่เรียกว่า "Genderless Kei" ก็พยายามไปไกลกว่านั้นด้วยการท้าทายหรือลบเลือนเส้นแบ่งพรมแดนทางเพศทิ้งไป และอาจจะกลายเป็นพื้นที่ให้คนเพศทางเลือกได้แสดงออกมากขึ้นในสังคมกระแสหลักที่ยังไม่เปิดกว้าง

นิตยสารแฟชั่นจากสหรัฐฯ Refinery29 นำเสนอเรื่องกระแสเทรนด์การแต่งกายและการแสดงออกแบบไม่ยึดติดเพศสภาพหรือที่เรียกว่า "Genderless Kei" โดยยกตัวอย่างการแต่งตัวเช่นหนุ่มแหววท่าทาง "คาวาอี้" รูปร่างผอมบางในชุดสีชมพู สวมเครื่องประดับแบบผู้หญิง ปากทาลิปสติกสีราสป์เบอร์รี แต่นี่ไม่ใช่แค่การจับผู้ชายมาแต่งหน้าเท่านั้น Refinery29 ระบุว่าปรากฏการณ์ Genderless Kei ถือเป็นการก้าวข้ามเส้นเขตแดนของเพศสภาพและเพศวิถีในประเทศที่แทบไม่เคยมีการถกเถียงกันในประเด็นนี้มาก่อน

ในประเทศญี่ปุ่นมีกระแสแฟชั่นต่างๆ หลากหลายจากฮาราจูกุเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายโกธิก โลลิตา แฟชั่นแกลหรือ "Gyaru" ที่เป็นสาวทาตัวสีแทนทำผมบลอนด์ หรือแฟชั่นสุดจี๊ดอื่นๆ ที่อาจจะล้มหาย เกิดใหม่ หรือหลอมรวมแปรเปลี่ยนเป็นแนวใหม่ แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือแฟชั่น Genderless Kei ที่มีที่มาจากปรากฏการณ์ "อัลจาง" (Ulzzang) ที่หมายถึงหน้าตาในอุดมคติสำหรับทั้งเพศหญิงและเพศชายที่ถูกนำไปใช้ในภาพลักษณ์ของเหล่าไอดอลเคป็อบ ต่อมากระแสภาพลักษณ์หนุ่มอรชรหน้าตาคล้ายตุ๊กตาเช่นนี้ก็แพร่สะพัดไปทั่วเอเชียจนกระทั่งถูกดูดกลืนและดัดแปลงในทางสุนทรียะโดยหนุ่มๆ นักแต่งตัวในโตเกียว

Naopis โมเดลและบล็อกเกอร์แฟชั่นที่เขียนให้นิตยสาร "Nylon" กล่าวว่าแนวทางแฟชั่น Genderless Kei คือการแต่งแต้มสีสันแบบผู้หญิงๆ ให้กับผู้ชาย จากเดิมที่สิ่งเหล่านี้ผู้ชายตามแบบฉบับทั่วๆ ไปมักจะออกห่างเช่นการใช้สีชมพู Naopis บอกว่าตัวเขาเองก็ชอบสีชมพูเหมือนกันเพราะมันเป็นสีที่ "เจิดจ้าและกล้าหาญ"

บล็อกเกอร์ชาวญี่ปุ่นหลายคนชี้ว่าพวกเขาได้อิทธิพลมาจากแฟชั่นฤดูใบไม้ร่วงคอลเลคชั่นที่ 13 ของ เจ. ดับเบิลยู แอนเดอสัน ที่ส่งโมเดลชายขึ้นไปบนเวทีเดินแบบพร้อมกับชุดที่ดูแทรกด้วยความเป็นหญิง จนกระทั่งดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นได้ออกแบบคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงของตัวเองในปี 2558 โดยมีการสับเปลี่ยนการแต่งกายแบบสลับเพศ เช่น ให้ผู้หญิงแต่งชุดมาดเข้มแบบแฟชั่นท้องถนนลอนดอนเดินเคียงไปกับโมเดลชายที่สวมชุดผูกโบว์แบบผู้หญิงหรือแม้กระทั่งชุดแต่งงาน

หนึ่งในโมเดลญี่ปุ่นที่เดินแบบกับชุดสลับเพศนี้ใช้ชื่อว่า GenKing ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการของเทรนด์ไม่ยึดติดเพสภาพเขาบอกว่าสำหรับเขาแล้วเรื่องความลื่นไหลทางเพศสภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาชอบที่แม่เขาคาดผมเขาด้วย Hello Kitty มาตั้งแต่สมัยอนุบาล และการปรากฏตัวของเขาในฐานะ "เด็กชายหน้าสวยลึกลับ" ก็ทำให้กระแส Genderless Kei บูมขึ้นมาในสื่อญี่ปุ่น แต่ถึงแม้ Genking จะบอกว่าเขามีหัวใจเป็นหญิงแต่กระแส Genderless Kei ไม่ใช่ความต้องการถูกมองว่าเป้นผู้หญิงแต่เป็นเสมือนพื้นที่ให้เขาเป็นได้ทั้ง "นายแบบ" และ "นางแบบ" เพราะการที่มีเพศสภาพคลุมเครือสำหรับเขาแล้วเป็นเรื่องน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้ชายสนใจของน่ารักพรุ้งพริ้งแบบเด็กผู้หญิงหรือการที่สาวๆ ทำอะไรคูลๆ ดูเป็นผู้ชาย

Toman โมเดล Genderless Kei อีกรายหนึ่งและสมาชิกวงบอยแบนด์กล่าวเช่นกันว่าเรื่องของ Genderless Kei ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัวเพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนเป็นเพศใดแต่เป็นการข้ามพ้นบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศสภาพ

ไม่เพียงแค่คนที่มีเพศกำเนิดเป็นชายเท่านั้นที่อยู่ในเทรนด์นี้ ในนิตยสารแฟชั่นก็ญี่ปุ่นยังมีการนำเสนอ "สาวหล่อ" อย่างผู้หญิงในชุดแบบผู้ชายด้วย จนทำให้ Genderless Kei แทบจะลบเลือนพรมแดนระหว่างเพศทิ้งไป เว้นแต่ว่าสื่อญี่ปุ่นมักจะเลือกให้ความสนใจกับแต่ผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายในเทรนด์นี้เท่านั้น คนที่พูดึงเรื่องนี้คือ Ranma Yu นักเต้นและโมเดลที่ไม่จำกัดนิยามเพศสภาพตัวเอง เธอเคยแสดงอยู่ในคณะละครทาคาระซึกะซึ่งมีแต่ผู้หญิงแสดงในบททั้งเพศชายและหญิง ชื่อในการแสดงของเธอมาจากการ์ตูนอนิเมะที่ชื่อ "รันม่า 1/2" (Ranma 1/2) ที่ตัวละครเอกจะสลับเพศไปมาระหว่างชายหญิงถ้าหากโดนน้ำ

Refinery 29 ระบุว่าถึงแม้ประเทศญี่ป่นจะมีวัฒนธรรมแปลกๆ ที่ชวนให้ชาวโลกประหลาดใจหลายเรื่อง แต่สังคมญี่ปุ่นหลักๆ ยังอนุรักษ์นิยมในเรื่องเพศสภาพ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จัดอันดับให้ญี่ปุ่นมีช่องว่างระหว่างเพศสูงมากไม่ว่าจะเป็นช่องว่างรายได้ จำนวน ส.ส.ในสภา คนทำงานบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ภาพของหญิงภรรยารินชาปรนนิบัติสามีมนุษย์เงินเดือนยังเป็นภาพที่แสดงให้เห็นการแบ่งแยกทางเพศในปริมณฑลสาธารณะของญี่ปุ่น ที่ยังคงมีอยู่และส่งผลต่อผู้คน

บรรยากาศนอกอาณาเขตแฟชั่นของญี่ปุ่นก็ยังคงมีการแบ่งแยกเพศแบบดั้งเดิมอยู่ โรงเรียนรัฐจำนวนไม่มากที่บังคับแต่งยูนิฟอร์มเพิ่งยอมให้นักเรียนหญิงเลือกสวมกางเกงได้ แม้ว่าในอาณาเขตของแฟชั่นและบันเทิงมีเรื่องของการแต่งกายข้ามเพศ หรือมีความลื่นไหลทางเพศกันมานานแล้วและเกิดเป็นกระแสนิยมเป็นพักๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนางรำ "ชิระเบียวฉิ" (shirabyoshi) ที่แต่งกายด้วยกางเกงขายาวพกดาบซามูไร หรือกระแสเพลงร็อค visual-kei ที่มีการแต่งกายฉูดฉาดหยิบยืมอิทธิพลมาจากเดวิด โบวี ในยุคแสดงภาพยนตร์ "มหัศจรรย์เขาวงกต" (Labyrinth)

อย่างไรก็ตามมีบางคนเชื่อว่าสังคมญี่ปุ่นอาจจะเปิดรับเทรนด์แบบ Genderless Kei มากขึ้นเนื่องจากความสนใจและการตามแฟชั่นของทั้งชายและหญิงในญี่ปุ่น แต่ มะสะฟุมิ มงเดน ผู้เขียนหนังสือ "Japanese Fashion Cultures: Dress and Gender in Contemporary Japan" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นและเพศสภาพในญี่ปุ่นร่วมสมัยโต้แย้งในประเด็นนี้ว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีอย่างหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมตะวันตกคือการเป็นคนสนใจแฟชั่นไม่ได้ทำลายความเป็นชายในแบบของวิถีการรักเพศตรงข้าม (heterosexual masculinity) ในทางตรงกันข้ามมันยิ่งเพิ่มความน่าปรารถนาในตัวผู้ชายด้วย เพราะผู้ชายที่น่าปรารถนาในสุนทรียะของญี่ปุ่นคือผู้ชายผิวเนียน ผมจัดทรง คิ้วเรียบร้อย หุ่นสเลนเดอร์ ดูสนใจแฟชั่น ตรงกันข้ามกับชายที่น่าปรารถนาในวัฒนธรรมตะวันตกที่ต้องกล้าแสดงออก มีความมั่นใจมากเกินไปจนล้นในแบบของผู้ชายๆ และไม่สนใจแฟชั่น

มงเดนกล่าวอีกว่าแฟชั่นหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เชื่อมโยงกับวิถีทางเพศของคนนั้นๆ มากเท่ากับมุมมมองทางวัฒนธรรมของตะวันตก ซึ่งมงเดนหมายความว่าในบางวัฒนธรรมการที่ผู้ชายแต่งตัวในทางใกล้เคียงผู้หญิงอาจจะถูกตีความจากผู้มองเห็นโดยอัตโนมัติว่าเป็นเกย์หรือคนรักเพศเดียวกัน แต่ในญี่ปุ่นการแต่งกายข้ามเพศจะไม่ทำให้ถูกมองเช่นนั้นโดยอัตโนมัติ แต่ Genderless Kei คือขีดสุดของการเปิดให้ชายและหญิงสลับสับเปลี่ยนพื้นที่ในการแต่งกายข้ามพ้นการกำหนดทางวัฒนธรรมได้

ในบทความ ยกตัวอย่าง Ryucheru ที่เป็น "หนุ่มน้อยน่ารัก" หรือ "คาวาอิบอย" แก้มชมพูแซมด้วยเครื่องประดับวิ้งวับ เขามีคนรักสาวชื่อ Peco-chan ส่วน Genking ที่ถึงแม้ว่าจะทำให้เกิดเสีงฮือฮาหลังเปิดตัวว่าเป็นเกย์ทางโทรทัศน์เขาก็พยายามทำให้คนแยกแยะระหว่างการแสดงออกทางรูปลักษณ์ของเขากับเพศวิถีของเขาออกจากกัน โดยบอกว่าการเป็นคนข้ามเพศ (transgender) เป็นเรื่องของเพศสภาพเป็นคนละอย่างกับวิถีความชื่นชอบทางเพศ

นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้ Genderless Kei ส่งสารที่มีพลังออกมา ซึ่งตรงกันข้ามกับแฟชั่นที่พยายามจะ "เป็นกลางทางเพศ" (gender-neutral) เช่นผลงานของ Zara ที่ชื่อคอลเล็กชันไม่ระบุเพศ (Ungendered collection) ที่ไม่ทำให้เกิดความนิยมได้ เพราะการลบเลือนสิ่งที่สื่อถึงเพศสภาพทำให้มันจืดเกินไป ต่างจาก Genderless Kei ที่ไม่ได้เน้นลบเลือนความเป็นเพศแต่ใช้วิธีการแบบขี้เล่นๆ ในการงัดเอาการแปะป้ายของเพศสภาพแบบดั้งเดิมออกไป เช่นที่ Toman บอกว่า "กาลครั้งหนึ่ง ผู้ชายก็ยังเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ยังเป็นผู้หญิง แต่ในตอนนี้พวกเราเป็นอิสระจะสวมใส่อะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ"

ทั้งนี้ การที่กระแส Genderless Kei ไม่ได้เสนอถ้อยแถลงเรื่องทางเพศมากเกินไปก็ทำให้มันปลอดภัยในการแสดงออกทางการเมืองในระดับส่วนตัวแบบที่ไม่กระโตกกระตาก กระแสการบูมของความลื่นไหลทางเพศสภาพในแฟชั่นญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นถึงการที่คนรุ่นปัจจุบันต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองออกจากแบบแผนของคนรุ่นก่อน Genking บอกว่าถ้าญี่ปุ่นมีการเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้นบ้างมันก็จะที่ให้พบเจอคนที่มีความวิเศษในตัวได้มากขึ้น

ในญี่ปุ่นคนที่เป็นเพศทางเลือกยังแสดงตัวอย่างชัดเจนได้ยาก ทำให้ Naopis มองว่าถ้า Genderless Kei ได้รับความนิยมก็จะทำให้สังคมมองเห็นกลุ่มเพศทางเลือกที่เคยรู้สึกถูกกดทับจากแบบแผนดั้งเดิมของประเทศเพิ่มมากขึ้น Naopis บอกว่ายุคสมัยที่คนไม่ว่าเพศใดก็ตามสามารถเข้าถึงแฟชั่นและความงามได้จะเป็นการเปิดพื้นที่ทำให้เพศทางเลือกรู้สึกสบายใจได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี

สำหรับตอนนี้ Genderless Kei ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในหมู่วงการแฟชั่นและดารา แต่สื่อญี่ปุ่นก็เริ่มทำให้คำว่า "genderless" เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะข้ามไปสู่แฟชันกระแสหลักไม่ว่าจะเป็นสายคาวาอี้ หรือ Visual Kei และกลายเป็นอะไรที่มากกว่าเทรนดแฟชั่น เช่นที่ Ranma Yu บอกว่าสำหรับเธอแล้ว Genderless Kei ไม่ใช่แค่แผชั่นคือการแสดงออกตัวตนผ่านทางศิลปะ และเป็น "สัญลักษณ์ความเป็นปัจเจกบุคคล" ของตัวเธอเอง

 

เรียบเรียงจาก

Japan's "Genderless Kei" Trend Is About So Much More Than Just Fashion, Refinery 29, 22-06-2016 http://www.refinery29.com/2016/06/113884/japanese-fashion-kei-agender

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.ไฟเขียวร่างกฏ ก.แรงงาน ใช้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 15 ปี ทำงานได้รับอันตราย คุก 1 ปี

0
0

30 มิ.ย.2559 รายงานขาวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เมื่อวันอังคารที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี พ.ศ. ... ซึ่งได้กำหนดงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์ เป็นงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์อันอาจเกิดอันตรายจากความสั่นสะเทือนแบบทั้งทั้งร่างกาย งานยก แบก หาบหาม ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม งานที่ต้องสัมผัสละออง ไอ ก๊าซ จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น งานพ่นสี งานฟอกย้อม และงานที่ต้องสัมผัสกับ ฝุ่น ฟูม เส้นใย จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น งานเชื่อมโลหะ หลอมโลหะ งานขัด เจียโลหะ

สำหรับงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน เป็นงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์นั้น งานยก แบก หาบ หาม ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม งานที่เกี่ยวกับแสงจ้า เสียงดัง ความร้อนจัด ความเย็นจัด หรือความสั่นสะเทือนซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย งานที่ต้องสัมผัสละออง ไอ ก๊าซ จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น งานพ่นสี งานฟอกย้อม งานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น ฟูม เส้นใย จากวัตถุดิบหรือกระบวนการผลิตอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น งานเชื่อมโลหะ หลอมโลหะ งานขัด เจียโลหะ และงานเกี่ยวกับจุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้ออื่นอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ธีรพล กล่าวด้วยว่า ขอเตือนนายจ้าง ผู้ประกอบการ สถานประกอบการ ตระหนัก พร้อมสร้างความเข้าใจ ต่อร่างกฎกระทรวงกำหนดงานที่มีลักษณะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของหญิงมีครรภ์หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี พ.ศ. ... หากฝ่าฝืนกรณีเป็นเหตุให้หญิงมีครรภ์หรือเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือถึงแก่ความตาย มีโทษสูงสุดจำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ไม่มีแผ่นดินให้ยืน

0
0

 

แผ่นดิน ที่กว้างใหญ่ ไม่มีที่ให้ยืน
มีแต่ความ ขมขื่น ในสิทธิที่ขัดข้อง
หรือที่นี่ ไม่มีระบอบ การปกครอง
ประชาธิปไตย ที่ปกป้อง สิทธิของคน

โอ้...ดูเถิด ประเทศนี้ ช่างแห้งแล้ง
มีแต่ความ เสแสร้ง และฉ้อฉล
ผู้ปกครอง เล่นเหลี่ยม ล่อด้วยกล
กดขี่ ข่มหัวคน ด้วยกลลวง

 


จาก 7 ประชาธิปไตย์ใหม่ในห้องขัง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'การศึกษาเพื่อความเป็นไท' ชี้ ครูเขียนกางเกงนักเรียนประจานเป็นการทำลายสินทรัพย์

0
0

30 มิ.ย.2559 จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งสนับสนุนและคัดค้านกรณีที่อาจารย์ฝ่ายปกครองโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งได้มีการเขียนบนกางเกงนักเรียน เพราะกางเกงไม่ถูกระเบียบโรงเรียน 

วานนี้ (29 มิ.ย.59) กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองและการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ได้ออกแถลงการณ์ กรณีดังกล่าว โดยระบุถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

"การฝึกให้นักเรียนมีวินัยในการปฎิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน จำเป็นจะต้องดำเนินการภายใต้กฎระเบียบของโรงเรียนเช่นกัน การดำเนินการลงโทษที่เกินกว่าเหตุและไม่เป็นไปตามกฎของโรงเรียน/กระทรวงศึกษาธิการ การกระทำเช่นนั้น นอกจากจะทำให้สินทรัพย์ของนักเรียนเสียหาย และเกิดความอับอาย ยังเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของการใช้อำนาจหรืออารมณ์ที่ขัดกับกฎระเบียบวินัยที่มีอยู่" แถลงการณ์กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ระบุ
 
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จึงเรียกร้องให้โรงเรียนและอาจารย์ดังกล่าว รับผิดกับการกระทำ และกำชับให้อาจารย์ปฏิบัติตามกฎของสถานศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชามติ 2559 ประชาธิปไตยที่หลงทาง

0
0

ช่วงปี 2540 เป็นช่วงชีวิตที่ผมได้ก้าวย่างเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมกับเป็นช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังเข้าสู่ความเข้มข้นในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม เป็นสถานที่บ่มเพาะความคิด จิตสำนึก ให้ได้มองถึงสังคมรอบข้าง แทนที่จะมองแต่เรื่องตนเอง หรือเรียนให้จบ ๆ ไปแล้วไปหางานทำ

ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมนี่เอง ที่ได้พาผมไปรู้จักสังคมอีกมุมหนึ่งที่สังคมกระแสหลักมองข้าม ไม่ให้ความสำคัญ แต่กลุ่มคนในสังคมนั้นกลับมีความสำคัญต่อสังคมกระแสหลักเป็นอย่างมาก นั่นคือ “สลัม” คนเหล่านั้นเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานราคาถูก แรงงานนอกระบบที่ชนชั้นกลางไม่ทำกัน หากขาดแรงงานเหล่านี้ไปเมืองจะเจริญไม่ได้อย่างแน่นอน (วาทะ พี่เปี๊ยก นายทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ แกนนำชาวบ้านสลัม)

นั้นคือบทบาทแรกที่ผมได้สวมเสื้อตัวที่ 2 จากชุดแรกที่สวมใส่คือชุดนักศึกษา เสื้อชุดที่ 2 นี่เองที่ทำให้ผมและกลุ่มชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมถูกเรียกขานว่าเป็น “นักกิจกรรม” ที่ศึกษาปัญหาชีวิตชาวคนจนเมืองที่ถูกละเลยจากสังคมหลัก เป็นอีกหนึ่งวิชาที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน แต่ได้ความรู้มากมายกว่าการท่องจำกระดาษข้อสอบหน้ารามมากยิ่งนัก

001

บทเรียนจากการเป็นนักกิจกรรมของชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมนี้เองทำให้ผมได้รู้จักและได้ร่วมเคลื่อนไหวด้วยคือ “สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)” และนี้เองที่ทำให้ผมได้มองสังคมได้กว้างมากขึ้นไปอีก เพราะการเคลื่อนไหวของ สนนท. ช่วงเวลานั้นก็จะสอดรับกับสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่ และกลุ่มนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ก็ใจจดใจจ่อถึง ร่าง รธน. ใหม่ที่จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร


002

หลังจากภารกิจ สสร. จบลง ประเทศไทยได้ร่าง รธน.ใหม่มา แน่นอนเนื้อหามันดีขึ้นกว่า รธน.เดิมอย่างสิ้นเชิง เนื้อหาสอดรับกระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตั้งแต่กระบวนการเลือกผู้แทน สสร. จนถึงเนื้อหาในเล่มร่าง รธน. “การรณรงค์” จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เราทั้งในนามชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม และ สนนท. ร่วมกันจัดรณรงค์ไม่ว่าจะเป็นในมหาวิทยาลัยของตนเอง ที่ร่วมกับชมรม กลุ่ม ค่าย หรือแม้แต่พรรคในมหาวิทยาลัย จัดเวทีน้อยใหญ่ตามแต่โอกาส เพื่อให้เพื่อน ๆ นักศึกษาได้ข้อมูลเนื้อหาจากร่าง รธน. ฉบับปี 2540 หรือที่สังคมได้ขนานชื่อว่าเป็น รธน. ฉบับประชาชน

การรณรงค์ของเราไม่ได้หยุดแค่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ สนนท. เท่านั้น เรายังมีนัดจัดเวทีสาธารณะตามจุดเมืองหลวงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วงเวียนใหญ่ หรือย่านบางลำพู เป็นต้น เราจัดเวทีอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ เปิดเผย และสร้างสรรค์ จนเกิดสัญลักษณ์ “ธงเขียว” ขึ้นมาเพื่อแสดงตัวตนให้รู้ว่าประชาชนที่มีธงเขียวนั้นต้องการร่าง รธน. ฉบับปี 2540 นี้

จนกระทั่งการลงคะแนนเห็นชอบรับร่าง รธน. ฉบับปี 2540 ก็เริ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น สส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมดพิจารณาออกเสียงว่าจะ รับ หรือ ไม่รับ ร่าง รธน. ฉบับนี้

ก่อนวันลงคะแนนเสียงผมยังจำได้ดี เรา นักศึกษา องค์กรประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดเวทีใหญ่กลางสนามหลวง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันอภิปรายเนื้อหา ร่าง รธน. หรือกลุ่มไหนมาจากจังหวัดไหนถึงขั้นประกาศกร้าว หาก สส. จังหวัดตนเองไม่รับร่าง รธน. นี้ เลือกตั้งครั้งใหม่จะไม่เลือกกลับเข้ามาเป็น สส ในจังหวัดนั้น ๆ อีก นี่เป็นแนวทางวิถีทางประชาธิปไตยในช่วงยุคที่ผมเป็นนักกิจกรรมช่วงนั้น

กลับมาสู่ปัจจุบัน ปี 2559 ผ่านมาแล้ว 19 ขวบปี การพัฒนาด้านประชาธิปไตยควรจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น การแสดงออกทางความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ “ควร” จะได้รับการยอมรับและเปิดกว้างมากขึ้น แต่กลับตรงกันข้าม

เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าการเข้ามาปกครองโดยทหารในช่วงนี้ แม้ว่าจะเป็นภาวะไม่ปกติทั่วไปแต่ทิศทางที่ทางนายกรัฐมนตรี หรือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ประกาศไว้ว่า จะเป็นการเข้ามาปกครองประเทศเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสากล และที่บริหารอยู่นี่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และพยายามจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยโดยการจัดให้มีประชามติ เพื่อได้ให้ประชาชนออกเสียงแสดงความเห็นถึง ร่าง รธน. ฉบับใหม่นี้ ว่าควรจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างนี้ แต่กลับกลายเป็นเพียงแค่เปลือกกระบวนการ แต่หัวใจหลักนั้นถูกละเลย และปิดกั้นทุกวิถีทาง

ดังจะเห็นได้จากมีการข่มขู่ออกหน้าสื่ออย่างเนือง ๆ โดยคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ว่าจะดำเนินคดีต่อบุคคลนั้น กลุ่มนี้ เพียงเพราะการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากฝ่ายบริหาร ที่เป็นเนื้อหาโดยแท้ของร่าง รธน. ฉบับนี้ หรือล่าสุดที่มีการจับกุมนักศึกษา นักกิจกรรม ที่รณรงค์เผยแพร่เนื้อหาอีกด้านหนึ่งของร่าง รธน. ฉบับนี้ต่อสาธารณะ เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ กลับถูกตำรวจจับ (ก่อน) แล้วแจ้งข้อหาทำผิดกฎหมายประชามติ ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านั้นต้องติดคุกเพียงเพราะ “รณรงค์” เนื้อหาร่าง รธน.

ร่าง รธน. ฉบับนี้ หากยังไม่เปิดเล่มอ่านเนื้อหา เพียงแค่มองที่มา ที่ไป ก็แทบจะไม่มีความชอบธรรมในการนำเสนอต่อประเทศได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่แต่งตั้งมาโดยไม่ได้ยึดโยงจากประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนกระบวนการรณรงค์สามารถทำได้เพียงฝ่ายเดียว นำเสนอเพียงด้านเดียว ภาคประชาชนไม่สามารถจะดำเนินการได้ หากจะดำเนินการก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมายหลายอย่างและต้องถูกกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด ที่พร้อมจะสามารถยุติการกระทำได้ทันที

นี่ไม่ใช่รูปการที่จะพาสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่มันจะเป็นการปิดกั้นอิสรภาพ เสรีภาพ ของประชาชน ปิดไว้เพื่อรอวันจะระเบิดออกมา


003

ดังนั้น ถึงแม้ผมจะเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ 1 เสียง ในสังคม จึงอยากจะให้ คสช. และรัฐบาลได้ทบทวนกระบวนการ วิธีคิดใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด เรื่องเล่าเรื่องนี้มิได้คาดหวังที่จะเรียกร้องต่อ คสช. จะเห็นตามคำร้องขอ

แต่อยากจะส่งเสียงนี้ถึงนักกิจกรรม ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตยกันมา ร่วมปกป้อง “สิทธิ อิสระ เสรีภาพ ของประชาชน” ร่วมกันอีกครั้ง การรณรงค์ประชามติครั้งนี้ ไม่ใช่สิ่งอัปยศแต่อย่างใด

สิทธิ อิสระ เสรีภาพ ทางความคิด การแสดงออก เป็นของประชาชนทุกคน !!!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลทหารร้องประยุทธ์ หลังคดีถูกนายพลนอกราชการล่ามไว้กับยางรถยนต์ไม่คืบ

0
0

30 มิ.ย.2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ปีที่แล้ว พลทหารเอนก พลทองวิจิตร พร้อมด้วยญาติและทนายความ เข้าร้องทุกข์ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศูนย์บริการประชาชนฯ  สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ  โดย พลทหารเอนก ระบุว่า เป็นทหารประจำการอยู่ที่ศูนย์การฝึกทหารใหม่สัตหีบ จ.ชลบุรี ผู้บังคับบัญชาส่งตัวมาช่วยทำงานให้กับนายทหารนอกราชการ ยศ พล.ร.ต.ที่บ้านพักย่านพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม ถูกมอบหมายให้ทำงานไม้ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีความชำนาญ กระทั่งถูกนายทหารนอกราชการเจ้าของบ้านนำโซ่มาผูกเอวกับยางล้อรถยนต์ ได้รับความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจจนทนไม่ไหว ต้องหลบหนีออกมาเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้ร้องไปถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อปลดโซ่ที่ล่ามออกแต่ไม่เป็นผล จึงมาร้องขอความเป็นธรรมกับนายกฯ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย

ล่าสุดวันนี้ (30 มิ.ย.59) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่ศูนย์บริการประชาชน พลทหารเอนก ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอความเป็นธรรมติดตามความคืบหน้าคดีที่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อ พล.ร.ต.เบญจพร บวรสุวรรณ นายทหารนอกราชการ ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และทำร้ายรางกาย กรณีล่ามโซ่พลทหาร อเนกไว้กับยางรถยนต์ จนต้องหนีออกมาพร้อมยางรถยนต์เพื่อมาขอความเป็นธรรมที่ศูนย์ดำรงธรรมจนได้รับการช่วยเหลือเมื่อช่วงเดือน ส.ค.ปี 2558 แต่คดีความไม่มีความคืบหน้า

โดย ยศธวิชัย กิมมูล ทนายความ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้แจ้งความไว้ที่ สภ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม และมีการส่งเรื่องต่อไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่มีการสั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น เมื่อติดตามความคืบหน้าก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ต้องหาเป็นนายพลผู้มีอิทธิพล จึงจำเป็นต้องมาขอให้นายกฯ ให้ความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวด้วย และจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร จากกระทรวงกลาโหมที่มาประจำศูนย์บริการประชาชนก็รับปากว่าจะติดตามเรื่องนี้ให้ จากนี้คงไปพบพนักงานอัยการเพื่อสอบถามว่าคดีดำเนินการไปถึงไหนอีกครั้ง ยืนยันว่าจะสู้คดีให้ถึงที่สุดเพราะมั่นใจในพยานหลักฐาน

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

0
0

"ถ้าการทำประชามตินั้น ไม่สามารถที่จะมีการรณรงค์หรือไม่สามารถที่จะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เราก็ยากที่เรียกได้ว่าการกระทำเช่นนั้นมันมีลักษณะเป็นประชามติ"

30 มิ.ย.59

เอ็นจีโอใต้ประกาศปฏิญญา 30 ปีพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว ปกป้องสิทธิชุมชน สันติภาพยังยืน

0
0

30 มิ.ย. 2559 ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา อ.เมือง จ.สงขลา คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้ ได้ประกาศ “ปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.ใต้ ภาคใต้การพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว” เป็นกิจกรรมปิดงาน "30 กป.อพช.ใต้ บทเรียนการเคลื่อนไหวประชาชนภาคใต้ (ชุมคน ชุมชน คนใต้)” ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา โดยมีตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)สมาชิกเครือข่ายกว่า 20 องค์กร และตัวแทนชุมชนต่างๆทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนสำนักต่างๆ เข้าร่วมกว่า 500 คน

โดย สมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ กป.อพช.ใต้ เป็นผู้นำอ่านปฏิญญาดังกล่าว โดยมีใจความสรุปว่า 30 ปีแห่งการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนภาคใต้ได้ก่อเกิดรูปธรรมการพึ่งตนเองในหลายประเด็น เช่น การจัดการประมง ทรัพยากรทะเลชายฝั่ง ที่ดิน พลังงาน น้ำ ระบบเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นต้น และก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการมากมายจนสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นิเวศวัฒนธรรม ท่ามกลางภัยคุกคามนานัปการอย่างรุนแรงตลอดมา จากกระแสทุนและกลไกของรัฐเองที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรสนองประโยชน์บนฐานการไม่เคารพกันและกัน

“หาก 30 ปีที่ผ่านมาไม่มีปฏิบัติการของชุมชนในการยับยั้งภัยคุกคามและสร้างรูปธรรมการจัดการตนเอง ภาพของภาคใต้วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้”

ปฏิญญาดังกล่าวยังยืนยันด้วยว่า 1.เราจะสร้างปฏิบัติการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบเกษตรทางเลือก การปกป้องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ผู้บริโภคและสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อเนื่องเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลแก่ชีวิตของคนภาคใต้ แม้อำนาจรัฐและทุนจะคุกคามมากขึ้นทุกวัน

2.เราจะสร้างรูปธรรมการจัดการด้านพลังงานของภาคใต้ให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยจะขับเคลื่อนต่อเนื่องกันไป และคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้าโซล่าเซลล์จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้

3.เราจะสร้างความร่วมมือของประชาชน วิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่จริง

ปฏิญญาฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า ภาคใต้มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการเกษตร ประมง ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถจ้างงานได้อย่างมหาศาล เป็นภูมิภาคที่มีรายได้ลำดับต้นของประเทศ หากภาครัฐและกลุ่มทุนจะเข้ามาจัดการก็ต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องโดยสรุป ดังนี้

1.ต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของภาคใต้ เพราะทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามลพิษจากถ่านหินคือฆาตกรเงียบที่ฆาตกรรมมนุษย์มาแล้วไม่น้อย

2.ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่และการสร้างอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นทางขนส่งแลนบริดจ์ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้

3.หยุดการใช้อำนาจพิเศษโดยเฉพาะ ม.44 เพื่อออกคำสั่ง สร้างกฎหมายที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการหรือกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานทรัพยากรโดยรวมของภาคใต้

4.รัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ มีประเด็นสิทธิชุมชนอ่อนด้อยลงกว่ารับธรรมนูญฉบับปี 2550 รวมถึงการจำกัดเสรีภาพชุมชน การเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชนในหลายมาตรา ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยโดยประชาชน

ปฏิญญายังระบุว่า “เรากำหนดอนาคตการพัฒนาของเราได้ หากรัฐไม่คิดทำลายเราด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เราจึงขอยืนยันในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคใต้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าการทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยว สามารถสร้างสมดุลชีวิตได้มากกว่าการพัฒนาให้เป็นแผ่นดินมลพิษจากการอุตสาหกรรมหนัก เราจึงขอประกาศว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาสีเขียว” 

ปฏิญญา 30 ปี กป.อพช.ใต้

ภาคใต้การพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว

30 ปีแห่งการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนภาคใต้ ได้ก่อเกิดรูปธรรมการพึ่งตนเองในหลากหลายประเด็น เช่น การจัดการประมง และทรัพยากรทะเลชายฝั่ง การจัดการที่ดิน การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การสร้างรูปธรรมระบบเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นต้น และ ๓๐ ปี ที่ผ่านมาได้ก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการมากมายจนสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นิเวศวัฒนธรรม ท่ามกลางภัยคุกคามนานัปการที่รุกเร้าภาคใต้อย่างรุนแรงตลอดมา  หาก 30 ปี ที่ผ่านมาไม่มีปฏิบัติการของชุมชนในการยับยั้งภัยคุกคามและสร้างรูปธรรมการจัดการตนเอง ภาพของภาคใต้วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้

เรายืนยันว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นการเดินทางบนความยากลำบาก ด้วยกระแสแห่งทุนและกลไกของรัฐเองที่ถาโถมเข้ามาเพื่อการแย่งชิงการใช้ทรัพยากรสนองประโยชน์บนฐานการไม่เคารพกันและกัน แต่เรายืนยันว่าเส้นทางสายนี้คือทางเดินที่ถูกต้อง มีแต่การลุกขึ้นมาจัดการตนเองบนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าใจบริบทและก่อเกิดการจัดการที่ไม่ทำลายล้าง เราจึงยืนยันว่า

1. เราจะสร้างปฏิบัติการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้  สายน้ำ ทะเล ที่ดินและระบบเกษตรทางเลือก รวมถึงการปกป้องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ผู้บริโภคและความสงบสุขสันติภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อเนื่องจากเดิมเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลแก่ชีวิตของคนภาคใต้แม้ว่าอำนาจรัฐและทุนจะคุกคามเรามากขึ้นทุกวัน

2. เราจะสร้างรูปธรรมการจัดการด้านพลังงานของภาคใต้ให้สามารถพึ่งตนเองได้โดยจะขับเคลื่อนต่อเนื่องกันไปนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปและคาดว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้าโซล่าเซลล์จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้

3. เราจะสร้างความร่วมมือของประชาชน วิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่จริง

เราเชื่อว่าภาคใต้มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ เพราะพื้นฐานของสภาพทางภูมิศาสตร์ และทุนแห่งรูปธรรมการจัดการที่สรรสร้างมาอย่างยาวนาน  จะสามารถนำเราไปสู่วันข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถจ้างงานได้อย่างมหาศาล และยิ่งเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ลำดับต้นของประเทศและเป็นภูมิภาคที่มีความสุขและความพึงพอใจสูงสุดของประเทศ เราจึงขอยืนยันว่าเราสามารดำรงชีวิตในวันนี้ และจะไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่ หากภาครัฐและกลุ่มทุนจะต้องเคารพการตัดสินใจ และออกแบบการดำเนินชีวิตของเราเอง ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องเราดังนี้

1. ต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของภาคใต้  เพราะทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามลพิษจากถ่านหินคือฆาตรกรเงียบที่ฆาตรกรรมมนุษย์มาแล้วไม่น้อย ทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมจนย่อยยับมาแล้วทั่วโลก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพของภาคใต้โดยตรงอย่างเลือดเย็น

2. ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการสร้างอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นทางขนส่งแลนบริดส์ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ อันเป็นความไม่สอดคล้องกับศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่ และจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจของคนใต้ในระยะยาว

3. หยุดการใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะ ม.44 เพื่อออกคำสั่ง สร้างกฎหมายที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการ หรือกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อฐานทรัพยากรโดยรวมของภาคใต้

4. รัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ ประเด็นสิทธิชุมชนอ่อนด้อยลงกว่ารับธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งหายไปคือ “สิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปรกติและต่อเนื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับการคุ้มครอง...” รวมถึงการจำกัดเสรีภาพการชุมชน การได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน หลายมาตราด้วยการเพิ่มข้อความ “ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ” และ “อำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ...” โครงสร้างอำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศทั้งบริหาร นิติบัญญัติและองค์การอิสระ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยโดยประชาชน

เรากำหนดอนาคตการพัฒนาของเราได้ หากรัฐไม่คิดทำลายเราด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม  เราจึงขอยืนยันในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคใต้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าการทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยว สามารถสร้างสมดุลชีวิตได้มากกว่าการพัฒนาให้เป็นแผ่นดินมลพิษจากการอุตสาหกรรมหนัก เราจึงขอประกาศว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาสีเขียว

เราขอประกาศที่จะยืนยันในท่าทีดังกล่าวนี้อย่างมุ่งมั่นร่วมกัน ผ่านกระบวนการเชื่อมร้อยเครือข่ายคนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เราไม่ต้องการ และจะประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่จะนำพาภาคใต้ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ภายใต้แนวคิดการพัฒนาภาคใต้สู่สีเขียว และเราขอประกาศว่าเราจะร่วมมือกันที่จะต่อสู้กับทุกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบที่จะเข้ามาทำลายความเป็นภาคใต้ของเราอย่างถึงที่สุด

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้

30 มิถุนายน 2559

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live