Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

3 นักสิทธิผู้เปิดการซ้อมทรมานรับทราบข้อหาหมิ่นประมาททหาร พร้อมโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

$
0
0

3 นักปกป้องสิทธิฯ รับทราบข้อกล่าว หลัง กอ.รมน. ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาท-พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีที่ออกรายงานซ้อมทรมานภาคใต้ ผู้ทำรายงานโต้ ทหารไม่เปลี่ยน-ไม่แก้ปัญหา

สมชาย หอมลออ ,พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ,อัญชนา หีมมิหน๊ะ  ตามลำดับ

26 ก.ค.2559 เวลา 13.00 น. ที่ สภ.เมืองปัตตานี นักสิทธิมนุษยชน 3 คน ประกอบด้วย สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ได้เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดีด้วยข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาโดยเอกสารและความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” โดยรายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูแตะ ทนายความของทั้งสามกล่าวว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหาในส่วนของความผิดฐานหมิ่นประมาทว่าเกิดในวันที่ 10 ก.พ.2559 ที่ทางเครือข่ายมีการเปิดเผยรายงาน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 14 ก.พ.2559 หลังจากมีการเผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ต่างๆ

”ผมสังเกตเห็นว่าถ้าในหนังสือมีคำว่าเจ้าหน้าที่ทหาร หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหาร เขาก็จะอ้างว่าไม่เป็นความจริง" อับดุลกอฮาร์ กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว ส่วนรายละเอียดในเรื่องข้อต่อสู้นั้นทีมทนายจะมีการจัดทำบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง

แอมเนสตี้แถลงต้องยกเลิกสอบสวนโดยทันที

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International-AI) ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการแจ้งข้อหาแก่นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนโดยเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการสอบสวนทางอาญาแก่ทั้งสามโดยทันที แถลงการณ์ยังกล่าวว่า หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยได้มีความพยายามในการปราบเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ อีกทั้งยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากการต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคนและดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” ซาลิล เช็ตตี้ เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้”ซาลิลกล่าว

ผู้จัดทำออกแถลงการณ์การที่รัฐเข้าแจ้งความ สะท้อนถึงการพยายามไม่แก้ปัญหา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558 โดยเนื้อความบางส่วนกล่าวว่า กรณีการแจ้งความร้องทุกข์ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น สะท้อนให้เห็นท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานของรัฐบาลไทย การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อผู้จัดทำแทนนั้นแสดงให้เห็นว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคนใช้วิธีการทรมานการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป

อีกทั้งแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่าผู้จัดทำได้ส่งรายงานชิ้นดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนเผยแพร่เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแต่อย่างใด มีเพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคนได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ 

ประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและนักกิจกรรมอีกสองคนอาจได้รับโทษจำคุกเนื่องจากเปิดโปงการทรมาน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยต้องยกเลิกการสอบสวนทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงทั้งสามคนโดยทันที รวมทั้งต่อประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งอาจถูกแจ้งข้อหาในวันนี้เนื่องจากการจัดทำและตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติซึ่งเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเมื่อเดือนที่แล้ว อาจต้องได้รับโทษจำคุกห้าปีและถูกปรับเป็นเงินประมาณ 170,000 บาท หากพบว่ามีความผิดฐาน “หมิ่นประมาททางอาญา” และ “ความผิดทางคอมพิวเตอร์” โดยบุคคลทั้งสามจะเข้าพบตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยสัญญาจะประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการทรมาน แต่นับเป็นความขัดแย้งที่พวกเขากลับคุกคามนักกิจกรรมที่พยายามเปิดโปงการกระทำอันน่ารังเกียจเช่นนี้

“ทางการไทยควรยุติการสอบสวนทางอาญาโดยทันที โดยยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งสามคน และดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่พวกเขาเปิดโปง เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคุ้มครองนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปกป้องเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจากความรับผิด” 

นายสมชาย หอมลออ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นสมาชิกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) และกลุ่มด้วยใจ พวกเขาได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เสนอ 54 กรณีของการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพไทย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ที่มีความอ่อนไหว และมีรายงานการทรมานเกิดขึ้น

ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษในรายงานการทรมานฉบับนี้ ได้แจ้งข้อหาต่อบุคคลทั้งสามเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559  

ข้อกล่าวหาต่อบุคคลทั้งสามเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทยที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา

ภายหลังรัฐประหารปี 2557 รัฐบาลทหารของไทยเพิ่มความพยายามในการปราบปรามเสียงที่เห็นต่างทุกรูปแบบ มีการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคมอย่างกว้างขวาง เฉพาะในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ทางการได้ตั้งข้อหาต่อบุคคลกว่า 100 คน เนื่องจากต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

“กรณีที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งสามคนนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลทหารว่า ไม่มีบุคคลใดที่ปลอดภัยและอยู่นอกเหนือการควบคุมของพวกเขาได้” ซาลิล เช็ตตี้กล่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าบุคคลซึ่งถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นนักโทษทางความคิด และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

นายสมชาย หอมลออเป็นนักกิจกรรมอาวุโสและเป็นอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดทำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติเป็นผู้อำนวยการของมูลนิธิ

เมื่อเดือนที่แล้ว นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระจากการทำงานให้กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (มสผ.)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลและการตีพิมพ์รายงานการทรมานดังกล่าว 

ในวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 128 รัฐภาคีสหประชาชาติที่แสดงความเห็นชอบสนับสนุนมติขององค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ทางการงดเว้นการข่มขู่และตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

 

แถลงการณ์ 

คำชี้แจงกรณีการจัดทำและเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ 2557-2558

จากกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าเป็นผู้เสียหาย  ได้แจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานี ให้ดำเนินคดี นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในข้อหา “ร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กล่าวคือ ผู้เสียหายตรวจพบว่า มีการนำเอาเอกสารรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี พ.ศ. 2557-2558 ซึ่งเป็นความเท็จ ไปเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในเวปไซต์  http://voicefromthais.wordpress.com”   โดยผู้ต้องหาทั้งสามได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ สภ.ปัตตานีนั้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ขอแถลงว่า

1. การกระทำทรมาน เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งตามกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี รัฐมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว

2. นับตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ความไม่สงบกล่าวคือกรณีปล้นปืนค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ในปี 2547เป็นต้นมาปรากฎว่ามีการกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ และการประหัตประหารนอกกระบวนการยุติธรรม เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เสมอมา โดยที่ทางการไทยไม่มีมาตรการในการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาอย่างได้ผลแต่อย่างใด 

3. แม้ผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำดังกล่าว จะได้ร้องเรียน ร้องทุกข์หรือดำเนินมาตรการต่างๆด้วยตนเอง หรือโดยการช่วยเหลือสนับสนุนขององค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อแสวงหาความเป็นธรรมและการชดใช้เยียวยา แต่มักไม่ได้ผล เนื่องจากวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลในหมู่เจ้าหน้าที่ยังเข้มแข็ง กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ ผู้ที่ร้องทุกข์ร้องเรียนและเรียกร้องความเป็นธรรมถูกข่มขู่ คุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานจำเป็นต้องแสวงหาการช่วยเหลือเยียวยาจากองค์การและกลไกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกสหประชาชาติ  

4. การจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558  ผู้จัดทำได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อจากการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations for Victims of Torture) โดยรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงจากคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน ระหว่างปี 2547-2558 เพื่อหาหนทางในการแสวงหาความเป็นธรรมและเยียวยาต่อไป โดยใช้แบบประเมินผลกระทบจากการทรมานเพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งออกแบบโดย Physicians for Human Rights (PHR) และ American Bar Association Rule of Law Initiative (ABAROLI)  ทั้งผู้เก็บรวบรวมข้อมูลก็ได้ผ่านการฝึกอบรมในการใช้แบบสอบถามดังกล่าวหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นรายงานดังกล่าวจึงมีความถูกต้องแม่นยำในทางวิชาการ

5. ในการเขียนรายงาน ผู้จัดทำรายงานมิได้ประสงค์ที่จะระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทรมาน เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรม วิธีการ สถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมของการกระทำทรมาน ความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดกับผู้เสียหายจากการทรมานเป็นสำคัญ โดยพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการทรมานอย่างเป็นระบบ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือเป็นการกระทำทรมานเป็นประจำ โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เป็นการกระทำที่แพร่หลาย กว้างขวางในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น การข่มขู่ให้กลัว การจำลองวิธีการประหารชีวิต การซักถามที่ใช้เวลานานโดยไม่ให้พักผ่อน การขังเดี่ยว การทำให้สูญเสียประสาทสัมผัส  การทุบตีทำร้ายร่างกาย การทำให้สำลักหรือบีบคอ การทำให้จมน้ำหรือจุ่มน้ำ และการให้อยู่ในห้องร้อน ห้องเย็น เป็นต้น 

6. ร่างรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2557-2558 ผู้จัดทำได้ส่งให้แก่เจ้าหน้าที่เป็นเวลานานกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะเผยแพร่ต่อประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ไม่เคยติดต่ออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานที่จัดทำรายงานแต่อย่างใด มีเฉพาะเจ้าหน้าที่บางคน ได้โทรศัพท์สอบถามผู้เขียนรายงานบางคน เพื่อขอทราบรายชื่อผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น ซึ่งผู้จัดทำรายงานไม่สามารถให้ได้ โดยปราศจากความยินยอมของผู้ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา นอกจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานแล้ว ยังไม่สามารถคุ้มครองความมั่นคง ปลอดภัยของผู้เสียหายด้วย ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัว ไม่เชื่อมั่นหน่วยงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรม หลายคนมีอาการคับแค้นด้านจิตใจและวิตกกังวล ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำไปสู่สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้

7. การที่กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ  และนโยบายของทางราชการในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนท่าทีที่ไม่เปลี่ยนแปลงต่อการแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังคงเกิดขึ้นเสมอ การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเลยไม่นำพาต่อข้อเสนอแนะของรายงานแต่กลับดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสาม ไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าทางการไทยและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางคน ใช้วิธีการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบต่อไป โดยยังไม่ได้ตระหนักว่า การทรมานอย่างอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบที่ยังดำเนินต่อไปในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวหาโดยนานาชาติว่าเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity)” ได้   

วันที่ 26 กรกฎาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.แรงงานแจงพร้อมเจรจาไตรภาคีคุ้มครองลูกจ้าง 'โดล' กว่าพันคนตามกฎหมาย

$
0
0
 
ที่มาภาพเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

26 ก.ค.2559 จากกรณีวานนี้ (25 ก.ค.59) บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 10 ต.ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ ได้ปิดงานโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่งผลให้ทำให้ลูกจ้างทั้งที่เป็นคนไทยและแรงงานข้ามชาติกว่าพันคนต้องตกงาน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) นั้น

วันนี้ (25 ก.ค.59) ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยต่อสถานการณ์ด้านแรงงานโดยได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีลูกจ้างของบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ จ.ชุมพรนั้น ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชุมพร ได้เข้าไปดำเนินการดูแลช่วยเหลือคนงาน ซึ่งวันนี้ (26 ก.ค.59) เวลา 09.00 น. จะมีการนัดหารือกันเพื่อตกลงในรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างตามฤดูกาล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัทฯ พร้อมจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน และเงินชดเชยตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ส่วนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 254 คน จะดำเนินการย้ายไปทำงานที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามความสมัครใจ สำหรับลูกจ้างส่วนหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ให้พิจารณาตามความสมัครใจเพื่อไปทำงานที่จ.ประจวบคีรีขันธ์และจ.ระยองต่อไป

ธีรพล กล่าวต่อว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชุมพร ได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานตามสิทธิผู้ประกันตนแล้วขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพรได้ประสานกับจังหวัดในพื้นที่มารับสมัครงานจำนวนกว่า 1,000 อัตราแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.59) ซึ่งทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานว่างในบริษัทฯ ผลิตอาหารทะเลจำนวน 300 อัตรา ส่วนศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คนงานตามความต้องการของบริษัทที่จะรับเข้าทำงานใหม่ โดย บริษัทโดลฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกจากนี้บริษัท โดลฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายละเอียดการดำเนินการให้แก่ลูกจ้างเป็นรายคน ส่งให้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธเนตร มอบตัวกองปราบฯ คดีนั่งรถไฟส่องโกงราชภักดิ์ ประกัน 1 หมื่น

$
0
0

26 ก.ค.2559 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เวลา 11.00 น. ธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม ถนนพหลโยธิน เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องหาในคดีโพสต์ภาพแผนผังทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ และสถานะคดีของธเนตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอส่งตัวให้อัยการศาลทหารเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ภายหลังการรายงานตัวเสร็จสิ้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวธเนตรกลับและนัดส่งตัวให้อัยการศาลทหารในวันที่ 28 ก.ค. นี้ ที่ศาลทหาร

ธเนตร ถูกดำเนินคดีในฐานความผิดในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)

โดยเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ธเนตร ได้เดินทางเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี จากคดีร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2558 ในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 พนักงานสอบสวนได้ให้ธเนตรประกันตัวด้วยเงินสด 10,000 บาท โดยสถานะคดีของธเนตรขณะนี้อยู่ระหว่างการรอส่งตัวให้อัยการศาลทหารเพื่อพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องอีกเช่นกัน

 คลิป ธเนตร ให้สัมภาษณ์ขณะเข้ามอบตัวที่ สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี (ที่มาFahroong Srikhao ฟ้ารุ่ง ศรีขาว)

ทั้งนี้ก่อนที่ธเนตรจะเดินทางเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนทั้งสองคดี ธเนตรได้หายตัวไปและไม่ไปตามนัดรายงานตัวระหว่างฝากขังครั้งที่ 2 ของศาลทหาร

"ไม่อยากหลบหนี อยากให้คดีสิ้นสุด ก็อยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอยากบวชให้พ่อ จึงกลับมาสู้ในกระบวนการยุติธรรม" ธเนตร กล่าว พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาเกรงเรื่องความไม่ปลอดภัยจึงหลบหนีไป รวมทั้งกลัวถูกอุ้ม พร้อมยืนยันต่อสู้ให้ถึงที่สุดและยืนยันเจตจำนงค์ว่าตนเองไม่ผิด 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้องคดีเหมืองทองฟ้องประธานสภา อบต.เขาหลวง ศาลชี้หลักฐานไม่ชัด

$
0
0

บริษัททุ่งคำฟ้องประธาน อบต.เขาหลวงฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่นำเรื่องขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่เข้าที่ประชุม อบต. ศาลพิพากษายกฟ้องระบุ หลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน

26 ก.ค 2559 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย ประมาณ 80 คน เดินทางมาที่ศาลจังหวัดเลย เพื่อฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.687/2558 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในกรณีที่ประธานสภาฯ ไม่นำเรื่องการขอต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯ เข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวง

ต่อมาเวลา 09.50 น. ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานทางฝ่ายโจทก์ไม่ชัดเจน ไม่สามารถรับฟังได้ว่านายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง ผิดจริง

ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2558 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยนายสราวุธ สารวงษ์ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยระบุว่า โจทก์ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำและทองแดง ณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2555 ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย เนื่องจากหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติของโจทก์ใกล้จะสิ้นอายุ (26 ธ.ค. 2555) ซึ่งตามระเบียบกรมป่าไม้ กำหนดว่า โจทก์จะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงและต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลท้องที่ที่ที่ดินตั้งอยู่ แต่เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2555 หลังจากที่โจทก์ยื่นเรื่องต่อ อบต.เขาหลวงเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบแล้ว จำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดการนำเรื่องของโจทก์เสนอเข้าที่ประชุม อบต.เขาหลวง แต่จำเลยหาได้กระทำเช่นนั้นไม่ กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และจำเลยยังเป็นแกนนำพาชาวบ้านในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่ตั้งของบริษัทโจทก์มาชุมนุมประท้วงการทำงานของโจทก์ โดยมีเจตนาเพื่อที่จะไม่ให้โจทก์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการปฏิบัติหรือละเวันการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  

คดีดังกล่าวนี้ได้ผ่านขั้นตอนการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยเรียบร้อยแล้ว และรอฟังคำพิพากษาในวันนี้ (26 ก.ค. 2559) ณ ศาลจังหวัดเลย ทั้งนี้ ตามมาตรา 157 ว่าด้วยความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการฟังคำพิพากษาคดีว่า ชาวบ้านกลุ่มฅนรักบ้านเกิดฯ เข้ารับฟังผลด้วยความคาดหวังว่าศาลจะยกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากประเด็นปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องการเมือง ทว่าบริษัทได้นำเข้าสู่พื้นที่ของศาลสถิตย์ยุติธรรม ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ควรได้รับการแก้ไขทางการเมือง อีกทั้งกลุ่มชาวบ้านไม่ต้องการให้ต่ออายุการอนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประกอบกิจการเหมืองทองคำ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร และสุขภาพของชาวบ้าน

ทั้งนี้ บริษัทได้ฟ้องร้องประธาน อบต.เขาหลวง เป็นคดีความอีก 1 คดี ในข้อหาเดียวกันนี้ คือ ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นคดีดำหมายเลข อ.244/2559 ภายหลังจากที่นายสมัยในฐานะประธานสภา อบต.เขาหลวง ได้นำเรื่องการขอต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ เข้าสู่การประชุมสภา อบต.เขาหลวง และได้มีการนำเหตุผลการคัดค้านของกลุ่มฅนรักบ้านเกิดเข้ามาพูดคุยด้วย ส่วนสมาชิกอบต.เขาหลวงโซนบนจำนวน 16 คน ได้อ้างการพัฒนาจึงต้องการให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไป รวมถึงเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีงานทำ และขอให้มีการลงมติเห็นชอบ นำไปสู่ความวุ่นวาย จนทำให้ต้องปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง และได้มีความพยายามที่จะเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยสมาชิกอบต.โซนบนจำนวน 16 คน พยายามให้มีการเปิดประชุมเพื่อขอมติความเห็น พร้อมร้องขอให้มีการประชุมลับ ทำให้เกิดปัญหากับชาวบ้านที่ต้องการเข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงมีการนำเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จำนวนหลายร้อยคนเข้ามาควบคุมพื้นที่ในการประชุมสภา อบต.เขาหลวง ครั้งต่อๆ มา จนการประชุมสภา อบต.ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ได้เกิดความวุ่นวายในการประชุม สภา อบต. และต่อมาสมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบน 16 คนได้ฟ้องร้องชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังสะพุง ในข้อหาข่มขืนใจและทำร้ายร่างกาย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องตรวจสอบสภาพผู้ต้องขังตุรกี หลังทราบข้อมูลทารุณกรรม

$
0
0

องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ข้อมูลการละเมิดสิทธิในตุรกี หลังรัฐบาลตุรกีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเผยว่า มีการทารุณกรรมผู้ต้องขัง ล่วงละเมิดทางเพศ และไม่ยอมให้ทนายหรือครอบครัวเข้าเยี่ยม ชี้เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายข้อ

26 ก.ค. 2559 องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า พวกเขาได้รับหลักฐานที่น่าเชื่อถือทำให้ทราบว่าผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมหลังจากการรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีถูกทุบตี ทารุณกรรม รวมถึงถูกข่มขืน ในสถานที่คุมขังทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

แอมเนสตี้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองอังการาและอิสตันบูลสั่งให้ผู้ต้องขังอยู่ในท่าผิดปกติหรืออยู่ในท่าเดิม (stress position) เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ไม่ยอมให้น้ำ อาหาร และการรักษาพยาบาล รวมถึงมีการใช้วาจาด่าทอและข่มขู่คุกคามพวกเขา ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือถูกทุบตี ทารุณกรรมและข่มขืน จอห์น ดาลฮุยเซน ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ยุโรปกล่าวว่าเขาได้รับภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในที่คุมขังจริงและถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกเมื่อพิจารณาจากจำนวนการคุมขังผู้คนเป็นจำนวนมากตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

"มันเป็นเรื่องด่วนที่สุดที่รัฐบาลตุรกีจะต้องหยุดยั้งการกระทำที่น่ารังเกียจเหล่านี้และยอมให้นานาชาติเข้าไปตรวจสอบเยี่ยมเยียนผู้ต้องขังเหล่านี้ในสถานที่ที่พวกเขาถูกควบคุมตัวไว้" ดาลฮุยเซนกล่าว

แอมเนสตี้ระบุอีกว่ามีการกักขังตามอำเภอใจรวมถึงนำไปขังไว้ในที่ๆ ไม่เป็นทางการ ผู้ต้องขังถูกปฏิเสธไม่ให้ทนายความหรือครอบครัวเข้าพบและไม่มีการแจ้งข้อหาในการจับกุมอย่างเหมาะสมจนถือเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทางการตุรกีก็ทำให้ประธานาธิบดี เรเซป ไทยิป แอร์โดอัน สามารถคุมขังผู้คนโดยไม่แจ้งข้อหาได้เพิ่มขึ้นจาก 4 วันเป็น 30 วัน เพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติอย่างทารุณมากขึ้น

ทางแอมเนสตี้ยังได้พูดคุยกับทนายความ แพทย์ และผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำเกี่ยวกับสภาพของผู้ต้องขังซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัยทำให้ทราบถึงเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องขังตามที่ระบุถึงซึ่งเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะในสนามกีฬาและสนามม้าของศูนย์บัญชาการตำรวจกรุงอังการา และมีอีกหลายกรณีที่ถูกนำไปคุมขังในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำอย่างเป็นทางการเช่นนี้

ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่คุมขังเปิดเผยอีกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์แม้ว่าผู้ต้องขังจะอยู่ในสภาพแทบยืนไม่ได้ ตาเลื่อนลอย จนถึงขั้นหมดสติ มีแพทย์ตำรวจรายหนึ่งบอกกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรือนจำว่าให้เขาปล่อยผู้ต้องขังให้ตายไปแล้วค่อยบอกกับคนอื่นว่าพบตัวผู้ต้องขังรายนี้เสียชีวิตไปตั้งแต่แรกแล้ว นอกจากนี้ในหมู่ผู้ต้องขังราว 650-800 รายในศูนย์บัญชาการตำรวจอังการา มีอย่างน้อย 300 รายที่มีร่องรอยถูกทุบตีทำร้าย บางคนมีบาดแผลของมีคม รอยช้ำ และกระดูกหัก ราว 40 ราย บาดเจ็บสาหัสจนไม่สามารถเดินได้ มีสองรายที่ถึงขั้นยืนไม่ขึ้น มีผู้ต้องขังรายหนึ่งเป็นผู้หญิงมีรอยช้ำที่ใบหน้าและลำตัว ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าเขาได้ยินตำรวจพูดกันว่าที่พวกเขาถูกทุบตีเพื่อให้ "เปิดปากพูด"

มีการเปิดเผยต่อไปว่าผู้ต้องขังถูกมัดมือและถูกบังคับให้คุกเข่าเป็นเวลานานหลายชั่วโมง บางครั้งมีการรัดที่มัดมือแน่นจนเกิดแผล ทนายความบอกว่าผู้ต้องขังบางคนถูกนำตัวมาโดยที่เสื้อผ้าเปื้อนเลือด ไม่ยอมให้น้ำและอาหารแก่ผู้ต้องขัง 2-3 วัน นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังอยู่ในสภาพจิตใจย่ำแย่ มีคนหนึ่งพยายามกระโดดจากหน้าต่างชั้น 6 ของอาคาร อีกคนหนึ่งเอาหัวโขกกำแพงซ้ำๆ

ดาลฮุยเซนกล่าวว่า ถึงแม้จะมีภาพและวิดีโอการทารุณกรรมเผยแพร่ไปทั่วประเทศตุรกี แต่รัฐบาลก็ยังเงียบเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเงียบเฉยในสภาพการณ์เช่นนี้ถือเป็นปล่อยปละละเลยให้การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้น ดาลฮุยเซน ยังกล่าวอีกว่าเขาเข้าใจว่าสภาพการณ์ในตุรกีชวนให้มีความเป็นห่วงด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประชาชนหลังเกิดกรณีการพยายามก่อรัฐประหารเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่ก็ไม่ควรจะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการทารุณกรรม ปฏิบัติเลวร้ายต่อผู้ต้องขัง รวมถึงการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ เพราะลิดรอนสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมถือเป็นการละเมิดกฎหมายตุรกีเองและกฎหมายระหว่างประเทศ

"บรรยากาศการเมืองของตุรกีในตอนนี้อยู่ในสภาพของความหวาดกลัวและตื่นตระหนก รัฐบาลควรเบนเข็มให้ประเทศเข้าสู่หนทางของการเคารพสิทธิและกฎหมาย ไม่ใช่การแก้แค้น" ดาลฮุยเซนกล่าว

แอมเนสตี้เรียกร้องให้คณะกรรมการยุโรปเพื่อการป้องกันการทารุณกรรม (CPT) เข้าตรวจสอบสภาพผู้ต้องขังในตุรกีโดยด่วน และในฐานะที่ตุรกีเป็นสมาชิกสภายุโรปรัฐบาลตุรกีมีพันธกรณีในการต้องให้ความร่วมมือกับ CPT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการเข้าถึงสถานที่คุมขังได้จากที่ก่อนหน้านี้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตุรกีถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยมสถานที่คุมขัง แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้หน่วยงานทางการของตุรกีร่วมกันประณามการทารุณกรรมและการปฏิบัติเลวร้ายต่อผู้ต้องขัง รวมถึงต่อต้านและนำตัวผู้ทำการทารุณกรรมออกมาแสดงความรับผิดชอบ อนุญาตให้ทนายความเข้าเยี่ยม แจ้งเรื่องการคุมขังต่อสมาคมทนายความและครอบครัวผู้ต้องขังโดยทันที

"ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เรียกร้องให้ทางการตุรกีปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและไม่ฉวยโอกาสใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในการย่ำยีสิทธิผู้ต้องขัง" ดาลฮุยเซนกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Turkey: Independent monitors must be allowed to access detainees amid torture allegations, Amnesty International, 24-07-2016
https://www.amnesty.org/en/latest/news/2016/07/turkey-independent-monitors-must-be-allowed-to-access-detainees-amid-torture-allegations/

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมนักข่าวประณาม 'หมอเปรมศักดิ์' หลังเปลื้องผ้านักข่าว ชี้เป็นการคุกคาม

$
0
0

26 ก.ค.2559 ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง การคุกคามสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากกรณีที่ น.พ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศบาลเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เทศบาลมืองบ้านไผ่ จำนวน 4 คน ถอดเสื้อผ้าผู้สื่อข่าวชาย จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ขณะขอสัมภาษณ์ที่สำนักงานเทศบาล โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลบันทึกภาพผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวถูกถอดเสื้อผ้าด้วยกล้องวิดิโอและโทรศัพท์มือถือ หลังจากไม่พอใจการนำเสนอข่าว นพ.เปรมศักดิ์ กับหญิงสาววัยรุ่น และมีการอ้างว่าเป็นการสู่ขอกันผ่านทางสื่อออนไลน์นั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุแม้ผู้ตกเป็นข่าวจะเห็นว่าการนำเสนอข่าวของตนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมก็สามารถใช้สิทธิ์ทางกฎหมายต่อผู้ละเมิด ไม่ควรใช้กำลังกระทำการอันเป็นการแสดงออกถึงการคุกคามสื่อมวลชนเช่นนี้ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ข่มขืนใจให้ผู้อื่นยอมจำนนโดยเป็นการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและเสรีภาพ และขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา 310 ที่มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง คุกคามเสรีภาพในร่างกาย

ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ขอประณาม นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศบาลเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และเหตุการณ์นี้ ขอให้บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบนักการเมือง ดำเนินการตามหลักจริยธรรม และร้องทุกข์กล่าวโทษ นพ.เปรมศักดิ์ ตามกฎหมาย ให้เจ้าหน้าตำรวจดำเนินคดีนึ้ให้ถึงที่สุด เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักข่าว และข่มขู่ หน่วงเหนี่ยว กักขัง คุกคามเสรีภาพในร่างกายอีกต่อไป

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ พร้อมพิทักษ์และปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพอย่างเต็มที่

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับรังสิมันต์ โรม หลังมีชื่อติดแบล็คลิสต์ ห้ามดีเบตร่าง รธน. บนเวที กกต.

$
0
0

รังสิมันต์ โรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุ ไม่เข้าใจเหตุใดถึงติดรายชื่อแบล็คลิสต์ห้ามขึ้นเวทีดีเบตของ กกต. ชี้ถ้า กรธ. เชื่อว่าสิ่งที่ต้องเองทำดีแล้ว ทำไม่ต้องกลัว

กลายเป็นเรื่องที่โยนความรับผิดชอบกันไปมาระหว่าง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าแท้จริงแล้วใครเป็นคนกำหนดแบล็คลิสต์ 5 รายชื่อ ห้ามร่วมเวทีดีเบตเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กกต. และสถานีโทรทัศน์ TPBS ซึ่งเบื้องต้นจะมีแบ่งประเด็นดีเบตทั้งหมด 10 ประเด็น ซึ่งระหว่างนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเตรียมการ ดำเนินการ และคาดว่าจะได้มีเวทีและเผยแพร่สู่สาธารณะก่อนหน้าการลงประชามติ หนึ่งสัปดาห์

สำหรับรายชื่อที่ถูกคัดออกห้ามร่วมการดีเบต มาจากเหตุที่ว่า หลายคนมีพื้นที่ในการแสดงออกอยู่แล้ว อีกทั้งพวกเขายังมีพฤติกรรมในการแสดงออกทางสื่อที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการถกเถียง ประกอบด้วย 1.สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. 2.จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. 3.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. 4.รังสิมันต์ โรม สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และ 5.พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนเตรียมอุดมศึกษา

แม้จะดูยังไม่ชัดเจนว่าการตัด 5 รายชื่อนี้ออกจากการดีเบตว่ามีที่มาจากฝ่ายใด แต่ที่แน่ชัดที่สุดนอกจาก 3 นักการเมืองรุ่นใหญ่ ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ถูกกันออกไปด้วยสองคน หนึ่งในนั้นคือ รังสิมันต์ โรม ประชาไทได้มีการโอกาสพูดคุยกับเขาสั้นต่อกรณีดังกล่าว คำตอบแรกของเขาในบทสนทนาคือ “ผมไม่เข้าใจ งง มากว่าทำไมเขาต้องห้ามเรา”

00000

จากกรณีการเปิดเผย 5 รายชื่อแบล็คลิสต์ห้ามร่วมเวทีดีเบตเรื่องร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจะจัดขึ้นโดย กกต. หนึ่งในนั้นมีชื่อของคุณรวมอยู่ด้วย คุณคิดอย่างไรกับการที่ตัวเองมีชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์

จริงๆ ผมไม่เข้าใจ งง มากว่าทำไมเขาต้องห้ามเรา คือเท่าที่ผมอ่านข่าวก็ยังไม่เห็นเหตุผลจริงๆ ว่ามันเป็นเพราะอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียกร้องการดีเบท พูดกันตรงไปตรงมา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือ NDM เป็นคนแรกที่ออกไปท้าให้มีการดีเบตขึ้น เพื่อให้เกิดการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นขณะกำลังจะมีการจัดการดีเบตขึ้นจริง เขากลับไม่ให้เราไปดีเบตด้วย ซึ่งตรงนี้ผมอยากให้เขาออกมาชี้แจง เพราะสิ่งที่เขาทำมันเป็นการจำกัดสิทธิ ฉะนั้นมันต้องมีเหตุผลมาอธิบาย ไม่ใช่ไร้เหตุผลแบบนี้

แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแม้เขาจะห้ามไม่ให้ผมร่วมดีเบต พวกเราหลายคนก็พร้อมที่จะไปแทน ในแง่หนึ่งมันไม่ได้เหนือความคาดหมายว่าเขาจะจำกัดสิทธิเราไปเรื่อยๆ เพราะเราก็โดนกระทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว

เขามีพฤติกรรมในการแสดงออกทางสื่อที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการถกเถียงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ

กกต. สมชัย เองก็ให้เหตุผลไว้แล้วหลังจากประชุมร่วมกับ กรธ. และไทยพีบีเอสว่า แม้บางรายชื่อจะเป็นที่สังคมให้ความสนใจ อีกทั้งคนเหล่านี้ก็มีเวทีของตัวเองอยู่แล้ว และจากการพิจารณาร่วมกันเห็นว่า ทั้งหมดมีพฤติกรรมในการแสดงออกทางสื่อที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการถกเถียงเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ จึงร่วมกันตัดออก 5 ชื่อออก

คือถ้ากลับมาคิดดู ผมว่าเหตุผลพวกนี้มันเป็นการกล่าวหาซะมากกว่า มันไม่ใช่เหตุผลจริง ถามว่าทุกวันนี้ใครเป็นคนข้อมูลฝ่ายโหวตโนมากที่สุด คือพวกเรานะครับ เราทำข้อมูลมาโดยตลอด เราทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเรามีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์โดยตรง และเป็นเองก็เป็นสู้หนึ่งของขบวนการต่อสู้มาโดยตลอด ถามว่าผมแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นอย่างไร ผมคิดว่าไม่

จริงๆ นั้นอาจจะไม่ใช่เหตุผลจริงที่เขาไม่อยากให้ผมออกไปพูด เขาอาจจะมีความรู้สึกส่วนตัวกับผมมากกว่า มากกว่าจะเป็นเรื่องที่ผมมีบทบาทในสังคม เพราะถ้าเชื่อข้อกล่าวหาแบบนั้น มันก็ไม่สามารถที่จะมีใครออกไปดีเบตได้เลย

สำหรับกรณีของคุณสุเทพ คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร และคุณเพนกวิ้น พริษฐ์ ซึ่งถูกติดแบล็คลิสต์เหมือนกัน คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

จริงๆ ผมคิดว่ามันไม่ควรมีแบล็คลิสต์ตั้งแต่แรก มันไม่ดีหรือที่เราได้ให้คนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน เวทีมันสามารถจัดให้มีอะไรเหล่านี้ได้ และสุดท้ายเราก็เถียงกันด้วยเหตุผล หรือเราไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาในเหตุผลแล้ว เราเลยไม่สนใจ แต่ตัวผมเองยังศรัทธาในเหตุผล ผมเชื่อว่าการดีเบต เรื่องวิธีการดีเบตมันก็มีลูกเล่นลูกชน มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายมันวัดกันด้วยข้อมูลมันวัดกันด้วยเหตุผล ผมคิดว่าคนไทยเขาตัดสินใจได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวเรื่องใครจะไปให้ข้อมูลเพื่อยุยงปลุกปั้นเลย ถ้าเกิดว่า กรธ. มีข้อมูล และ กรธ. เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันดีมันถูกต้องแล้วจะกลัวอะไร

สุดท้ายแล้ว การที่คุณติดแบล็คลิสต์ มันเป็นเพราะเขากลัวว่าคุณจะชนะในการดีเบตหรือเปล่า

เรื่องชนะ หรือไม่ชนะมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การดีเบตสำหรับผม ผมไม่ได้มุ่งจะเอาชนะ แต่มองว่ามันเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราจะได้นำเสนอข้อมูลมากกว่ากว่า ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องคิด และมันสำคัญที่สุด มากกว่าที่จะมองไปเรื่องชนะ หรือแพ้ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมันไม่มีใครตัดสิน สุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นคนเอาข้อมูลไปคิดต่อเอง

ถึงที่สุดแล้วถ้าเกิดว่า รายชื่อที่ได้เข้าไปร่วมในเวทีดีเบต ไม่มีคนของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เลย จะทำอย่างไรต่อไป

มันคงพูดอะไรไม่ได้แล้ว เวลามันก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เราก็คงไปเรียกร้องอะไรตรงนั้นไม่ทัน สุดท้ายแล้วสังคมก็คงจะได้เห็นเอง ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นจริงๆ ว่าอะไรคือความถูกต้อง และเป็นธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเป็นมนุษย์ตกต่ำลงในรัฐอันเปราะบาง

$
0
0



วันนี้ มีสองความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาชายแดนภาคใต้ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์กรทหาร ความเคลื่อนไหวแรกคือ 3 นักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย "พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ" "อัญชนา หีมมีหน๊ะ" และ "สมชาย หอมลออ" เดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานีเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและให้การต่อสู้คดี หลังถูก กอ.รมน. ฟ้องหมิ่นประมาทและความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จากการจัดทำและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ "การทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ" ในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย

การซ้อมทรมานผู้ต้องหาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้มีมานานแล้วตั้งแต่ช่วงหลังกรณีปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส การตามล่าหาปืนจากนโยบายอันดุดันของรัฐบาล พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ทั้งส่งตำรวจจากส่วนกลางและหน่วยงานทหารอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าขณะนั้นตามหาปืนกลับมาและค้นหาผู้ร่วมขบวนการปล้นปืนทั้งหมด ส่งผลให้มีการจับกุมและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก หนึ่งในเหยื่อซ้อมทรมานกรณีปล้นปืนที่โด่งดังมากคือ "อนุพงษ์ พันธชยางกูร" หรือ "กำนันโต๊ะเด็ง" อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ต่อมาก็หลุดจากข้อกล่าวหาเพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ต่อมากำนันโต๊ะเด็งและพวกก็ให้ถ้อยคำกับดีเอสไอและร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดกับ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ กับพวกรวม 19 คนในข้อหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวและทำร้ายร่างกาย (ซ้อมทรมาน) ระหว่างที่ถูกสอบปากคำในคดีปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งพยานกลุ่มนี้บางส่วนตกเป็นผู้ต้องหา แต่ท้ายที่สุด ป.ป.ช.ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยสรุปว่าข้อกล่าวหาที่มีต่อ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ และพวกไม่มีมูล ซึ่งต่อมา พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร.ก็ฟ้องร้องกำนันโต๊ะเด็งและพวกกลับข้อหาให้การเท็จ แต่ท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง

กรณีการซ้อมทรมานกำนันโต๊ะเด็งน่าสนใจ มีข้อมูลทางลับมากมายที่ผมเขียนไม่ได้ในที่นี้ แต่กำนันอนุพงษ์เคยเปิดเผยว่า เขาถูกตำรวจซ้อมทรมานจนฟันกรามหัก 2 ซี่ (เขาเอาฟันมาแสดงต่อศาลด้วย) เขาถูกจับมัดขาแล้วโยนตัวออกจากเฮลิคอปเตอร์จนห้อยโตงเตงกลางทะเล จับใส่ห้องเย็น จับตัวลูกและเมียมาทรมานต่อหน้า กำนันโต๊ะเด็งจึงยอมทุกอย่าง เพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกเมีย เขาขอพบทนายสมชายและรับรู้ว่า ทนายสมชายถูกทำให้เสียชีวิต ถูกบังคับให้แถลงข่าว ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนปล้นปืนในค่ายทหารปี 2547 และให้พูดตามที่เตรียมไว้คือ ให้ใส่ร้ายหะยีสุหลง พ่อของนายเด่น โต๊ะมีนา และกลุ่มวาดะห์ ในพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน

หลังจากศาลได้ยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 กำนันอนุพงษ์เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลถึงการทำงานของชุดตามล่าหาขบวนการปล้นปืนตอนนั้น และยังเปิดเผยข้อมูลซึ่งเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรด้วย

"ตอนที่ถูกควบคุมตัวที่เขาตันหยงอาการผมยังไม่สาหัส จนเที่ยงคืนถูกคุมตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกรุงเทพฯ มีตำรวจยศ พล.ต.อ.คนหนึ่ง เป็นหัวหน้าชุด ควบคุมตัวผมขึ้นเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำตัวผมไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาซ้อมผมจนไม่รู้สึกตัว ล่ามกับเก้าอี้ ฟันผมหักสองซี่ ผมยังเก็บไว้เป็นหลักฐาน ตอนนั้นผมไม่ได้รู้จักกับทนายสมชายเป็นการส่วนตัว รู้แต่ว่าเป็นทนายมุสลิมที่เสียสละมาช่วยพี่น้องในชายแดนใต้ และผมอยากให้มาช่วย ผมถูกซ้อมหลายครั้ง ถูกล่ามโซ่ไว้กับโต๊ะ ถูกกระทืบ เขานั่งกินไวน์กัน ฉี่ใส่ปากผม เขาพูดกันว่า ผมเรียกร้องจะเอาทนายสมชายอย่างเดียว จะทำอย่างไร ถ้าทนายสมชายยังอยู่ก็จะหาหลักฐานมาหักล้างได้หมด ต้องทำคดีอื่นมาใหม่ โดยให้ผมแถลงข่าว”

นายอนุพงษ์กล่าวต่อว่า “จากนั้นผมถูกทำร้ายร่างกายจนหมดสติ พอฟื้นมาก็ถูกจับไปขังในห้องเย็นที่หนาวจัดจนปวดหัว เขาบอกให้ผมรับสารภาพ ผมบอกว่าถ้าผมเป็นคนปล้นปืนไปกว่า 300 กระบอก แล้วจะเอาปืนที่ไหนมาคืน จนวันที่ 8 มีนาคม 2547 พี่สมชายนัดมาว่าจะเจอผม แต่พวกเขาไม่ให้เจอ เขามาถามว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย มีกระดาษโน้ตมาบอกว่า พี่สมชายจะมาหาวันที่ 15 มีนาคม แต่ไม่รู้ว่าเป็นลายมือพี่สมชายจริงหรือไม่”

“พวกเขามานั่งกินเหล้ากันที่เดิม แล้วถามผมว่า ยังอยากเจอทนายสมชายอีกมั้ย เขาบอกว่ากูส่งมันไปหาอัลลอฮฺแล้ว เอามันไปเผาที่ราชบุรี และจะส่งมึงไปด้วย คนที่สั่งฆ่าทนายสมชายคือนายตำรวจที่อยู่ต่อหน้าผม คนที่อยู่ในเฮลิคอปเตอร์และทรมานผม ผมอยู่ในคุกอีกสักพัก ร่างกายเริ่มแข็งแรงขึ้น เจอตำรวจที่เคยทรมานผมเข้ามาอยู่ในคุก ผมเข้าไปถามว่า ฆ่าพี่สมชายทำไม เขาบอกว่า นายสั่ง เพราะนายกลัวตำแหน่งจะหาย ถ้าความจริงปรากฏและนายเขาก็ได้ตำแหน่งนั้นจริงๆ”

นี่คือภาพการซ้อมทรมานในภาคใต้ ซึ่งข้อมูลถึงปี 2555 มีรายงานตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานจากศูนย์ทนายความมุสลิมกว่า 300 กรณี และจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถึง 102 กรณี ยังไม่รวมกับเหตุอุ้มหายซึ่งเป็นอาชญากรรมโดยรัฐอีกกรณี

ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่สองคือกรณี "นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์" ซึ่งเป็นหลานสาวพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเสียชีวิตระหว่างฝึกซ้อมทหารใหม่ในค่ายทหาร ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ "ค่ายปิเหล็ง" อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไป สน.มักกะสัน กรุงเทพฯ เบื้องต้นเธอบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอถูกจับกุมด้วยฐานความผิดหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ทหาร และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากกรณีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน พลทหารวิเชียร ลงในโซเชียลมีเดีย โดยโพสต์ในช่วงเดือน ก.พ. 2559

ถ้าใครติดตามข่าวกรณีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของพลทหารวิเชียร เผือกสม จะรู้ว่า "นริศราวัลถ์" เธอเป็นตัวแทนของญาติๆ ที่ออกมาต่อสู้เพื่อน้าชายที่ตายอย่างอธรรม กรณีนี้มีหลักฐานชัดเจนจากแพทย์ชันสูตรว่าพลทหารวิเชียรถูกซ้อมจนตาย แต่กว่าที่ผู้กระทำถูกเปิดโปงออกมาก็ตอนที่นริศราวัลถ์เธอออกมาส่งเสียงนั่นแหละ คดีนี้ครอบครัวของพลทหารวิเชียรฟ้องแพ่งต่อกระทรวงกลาโหม เป็นจำเลยที่ 1 กองทัพบกเป็นจำเลย ที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี (ต้นสังกัด กอ.รมน.) เป็นจำเลยที่ 3 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกองทัพบกได้ทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรในระหว่างการฝึกทหารใหม่อย่างทารุณโหดร้ายจนเป็นเหตุให้ผลทหารวิเชียรถึงแก่ความตาย ซึ่งจำเลยประสงค์ที่จะไกล่เกลี่ย และศาลแพ่งพิพากษาให้กองทัพบกจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2557 ตามที่ได้ไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันเป็นจำนวนเงิน 6.5 ล้านบาท

ส่วนสำหรับคดีอาญานั้นสำนักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า มารดาของพลทหารวิเชียรได้แจ้งความดำเนินคดีกับครูฝึกทหารใหม่และทหารที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนถึงแก่ความตายต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุแล้ว และเนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารทั้งหมด ดังนั้นคดีจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ซึ่งผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้เอง ตาม พ.ร.บ. พระธรรมนูญ ศาลทหาร 2498 มาตรา 49 ให้พนักงานอัยการทหารเท่านั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลทหาร ปัจจุบัน คดียังอยู่ในระหว่างการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

สองกรณีนี้สะท้อนว่า ความเปราะบางยิ่งของรัฐไทย คือปัญหาสิทธิมนุษยชน การเคารพต่อศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่ากรณีการกระทำต่อผู้เห็นต่าง หรือแม้แต่ภายในหน่วยงานของรัฐเอง ซึ่งยังมีกรณีการซ้อมทรมานพลทหาร การทำร้ายผู้ใต้บังคับบัญชาจนถึงแก่ความตายปรากฎสู่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่เป็นคำถามคือ เหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐของไทย โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคงจึงไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนในการทำงาน และดูเหมือนถูกมองว่าเป็นสิ่งฉุดรั้งการทำงานมากกว่าเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งแม้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว และแม้รัฐไทยจะมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายแล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างล่าช้า หากเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เร่งตราออกมาอย่างรวดเร็วภายใต้รัฐบาลนี้.

0000

 

อ้างอิง
          คำให้สัมภาษณ์ กำนันอนุพงษ์ พันธชยางกูร,สำนักข่าว ฟาตอนี ออนไลน์, 12 มีนาคม 2557
          รายงาน การทรมาน...ปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข,แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย, 27 มิถุนายน 2557
          ข่าว ศาลยกฟ้อง “กำนันโต๊ะเด็ง” แจ้งความเท็จ ถูก ตร.ซ้อมคดีปล้นปืนปี 47,ผู้จัดการออนไลน์, 4 มิถุนายน 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุ่มพนักงานเทศบาลประกันตัว 1 แสนผิดพ.ร.บ.ประชามติ ส่งจม.ร่างรัฐธรรมนูญที่เชียงใหม่

$
0
0


ภาพวิศรุตที่กองปราบฯ (แฟ้มภาพ)

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวนายวิศรุต คุณนิติสาร อายุ 38 ปี อาชีพเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มาทำบันทึกการจับกุมที่กองบังคับการปราบปราม กรณีตกเป็นผู้ต้องหาส่งจดหมายประชามติจำนวนมากไปยังประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยถูกจับกุมที่คอนโดของญาติย่านลาดพร้าว ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นนำตัวกลับเชียงใหม่ในเย็นวันดังกล่าวทันที  (อ่านข่าวที่นี่)

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.แม่ปิงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติแก่นายวิศรุต และญาติได้นำโฉนดที่ดินวางเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท จึงมีการปล่อยตัวในเย็นวันดังกล่าว (23 ก.ค.) นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า พ่อและแม่นายวิศรุตซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปในวันเดียวกัน 23 ก.ค.ไปยังค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับการปล่อยตัวในวันนั้นเช่นเดียวกัน คาดว่ากรณีของนายวิศรุตนี้จะถูกกันไว้เป็นพยานเพื่อแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลระดับสูงขึ้นไปและนักการเมืองในพื้นที่ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นเรียกร้องหยุดใช้ พ.ร.บ.ประชามติ-เปิดเสรีดีเบตร่าง รธน.

$
0
0

ผู้รายงานพิเศษ UN ประณามไทยจับ-ตั้งข้อหาจากคำสั่ง คสช.-พ.ร.บ.ประชามติ เรียกร้องหยุดใช้ พ.ร.บ.ประชามติ และเปิดให้มีการถกเถียงร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง

26 ก.ค. 2559 เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและตั้งข้อหาต่อการแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียและสาธารณะที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหารและ พ.ร.บ.ประชามติ

ในแถลงการณ์ระบุว่า มีรายงานว่า ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นมา มีคนอย่างน้อย 86 รายถูกสอบสวนหรือตั้งข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อต้นเดือน ก.ค. มีนักกิจกรรมเจ็ดรายถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ ขณะที่นักข่าวที่ตามไปทำข่าวก็ถูกจับและตั้งข้อหาด้วย ทั้งนี้ การฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เสียค่าปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

เขาแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อคำสั่งของรัฐบาลทหาร และ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งจำกัดการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

"แนวคิดของการประชามติคือการเปิดให้มีการถกเถียงอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะมีการลงประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ควรส่งเสริมให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เสรี และเปิดให้มีการอภิปรายอย่างเข้มข้น" เดวิด ไคย์ กล่าว

"แทนที่จะทำให้การแสดงออกต่อร่างรัฐธรรมนูญเป็นอาชญากรรม รัฐบาลไทยควรจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการสนทนาของสาธารณะ เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะเกิดการมีส่วนร่วมโดยได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ในระหว่างการประชามติ" เดวิด ไคย์ กล่าว

ทั้งนี้ มาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ระบุว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

"ทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง" เขากล่าวพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประชามติ ยกเลิกข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.นี้ รวมถึงที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่ง คสช. ทั้งหมด และยึดถือพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

สำหรับข้อเรียกร้องของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ได้รับการรับรองจากผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคณะทำงานว่าด้วยการคุมตัวโดยพลการ
 

แปลจาก
http://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=20302&LangID=E

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่งชันสูตร ‘สิบโทกิตติกร’ ศีรษะ-กระเพาะอาหารแตก ชี้ 4 ทหารร่วมกันทำร้าย

$
0
0

ศาลจังหวัดสุรินทร์อ่านผลคดีชันสูตรพลิกศพสิบโทกิตติกร เสียชีวิตระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร จ.สุรินทร์ เผยบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง-กระเพาะอาหารแตก หลักฐานชี้1พลอาสา 3 พลทหารร่วมกันทำร้ายจนถึงแก่ความตาย

26 ก.พ. 2559 ศาลอาญาจังหวัดสุรินทร์ได้อ่านคำสั่งศาลในคดีชันสูตรพลิกศพสิบโทกิตติกร สุธีรพันธ์ ซึ่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 จ.สุรินทร์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ยื่นคำร้อง โดยบุญเรือง สุธีรพันธ์ มารดาของผู้ตายได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นผู้ร้องในคดี  ศาลอ่านคำสั่งว่า เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือมีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครชูเกียรติ นันทะพันธ์ พลทหารนลทวัช ใจมนต์ พลทหารยุทธพิชัย เสนพาท พลทหารจีระศักดิ์ สิทธิษร ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

การไต่สวนคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้ระบุพยาน 5 ปาก ได้แก่ นายแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พนักงานสอบสวน มารดาของผู้ตาย ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในค่ายวรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 และประจักษ์พยานผู้อยู่ในเหตุการ ส่วนทนายของมารดาผู้ตายได้นำพยานเข้าไต่สวน 2 ปาก ได้แก่ นายทหารผู้เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร และรักษาราชการแทนผู้บังคับเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 ซึ่งในการสอบพยานครั้งนี้ทนายมารดาผู้ตายได้นำภาพจากกล้องวงจรปิดที่ปรากฏภาพผู้ตายกำลังถูกทำร้ายร่างกายในเรือนจำเข้าประกอบการซักพยานด้วย

ก่อนหน้านี้มารดาของผู้ตายเคยเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า ลูกชายของตนทำหน้าที่รับราชการอยู่ในมณฑลทหารบก 25 จ.สุรินทร์ หน่วยงานทหารราบ ร.23 เขาถูกจับกุมในวันที่ 1 ก.พ. ด้วยข้อหาให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหา หลังจากนั้นตนได้พยายามยื่นประกันตัว แต่ถูกศาลทหารปฏิเสธด้วยเหตุผลว่ากลัวผู้ต้องหาหลบหนี

มารดาผู้ตายกล่าวด้วยว่า จากนั้นได้พยายามที่จะเข้าเยี่ยมลูกชายตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. แต่ถูกปฏิเสธ ทางผู้คุมกล่าวว่ายังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนไม่สามารถให้เข้าเยี่ยมได้ ต่อมาตนได้ขอเข้าเยี่ยมในทุกวันเสาร์ แต่ยังถูกปฏิเสธการให้เยี่ยมด้วยเหตุผลเดิม โดยครั้งสุดท้ายที่ขอเข้าเยี่ยมคือ 20 ก.พ.ซึ่งก็ถูกปฏิเสธเช่นเดิม หลังจากนั้นเพียง 1 วันก็ได้รับโทรศัพท์ว่าลูกชายตนเองเสียชีวิต

"เขาไม่เคยบอกอะไรแม่เลย ไม่เคยบอกว่าลูกเจ็บหรือป่วย บอกแค่เยี่ยมไม่ได้เพราะอยู่ในชั้นสืบสวน ขนาดแม่ไปก่อนวันที่เขาโทรมาแค่วันเดียวเขายังไม่เคยบอก" นางบุญเรืองกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต.พิจิตรถามกกต.กลางจะเอาไงกับลิง ทำแผนหนุ่มเมาฉีกมวนสูบแทนบุหรี

$
0
0

26 ก.ค.2559 จากกระแสข่าวการทำลายหรือความเสียหายของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงประชามติในหลายพื้นที่  กรณีที่ จ.พิจิตร เหตุการณ์ฝูงลิงแสมที่ทำการฉีกบัญชีดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด วันนี้ (26 ก.ค.59) ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า ประยูร จักรพัชรกุล ผอ.กต.จังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.ต.จรวย ผลประเสริฐ รองผบก.ภ.จว.พิจิตร ทำหนังสือถึงกกต.พิจิตรเพื่อสอบถามว่าจะแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่ เพราะกกต.พิจิตรเป็นผู้เสียหาย ซึ่งจากข้อเท็จจริง ลิงแสมเป็นสัตว์ป่า ฉะนั้น ไม่ต้องใช้ข้อกฎหมายใดๆ แต่การแจ้งความดำเนินคดีตรงนี้เป็นอำนาจของกกต.กลาง ทางกกต.พิจิตรจะทำหนังสือสอบถามกกต.กลางเพื่อพิจารณา

ประยูร กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเห็นว่าจะไปเอาผิดลิงได้อย่างไร ตามข้อกฎหมาย คำว่า ผู้ใด มันควรใช้กับคน หากว่าเป็นสัตว์ ตรงนี้ไม่ได้เข้าข้อกฎหมายก็ไม่รู้ว่าจะไปแจ้งความเอาผิดกรณีอะไร และไม่ได้เสียหายอะไรมาก แค่เอารายชื่อชุดใหม่มาติดใหม่เรื่องก็จบ และเชื่อว่าไม่มีใครมากลั่นแกล้ง และไม่มีใครใช้ให้ลิงมาทำแบบนี้

ระยองคุมตัวหนุ่มหาปลาเมาฉีกบัญชีรายชื่อไปมวนสูบแทนบุหรี่ ทำแผน

จ.ระยอง วันนี้ (26 ก.ค.59) ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า พ.ต.อ.คมสัน ชัยเจริญศิลป์ ผกก.สภ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุมตัว ณัฐวุฒิ หรือกอล์ฟ บุญมา อายุ 25 ปี ภูมิลำเนา อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพคดีฉีกบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 76 ศาลาอเนกประสงค์ชุมชนมาบข่า (สำนักอ้ายงอน) เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา

โดย ณัฐวุฒิ ผู้ต้องหารับสารภาพว่า มีอาชีพรับจ้างทั่วไป คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ ได้กินเหล้า และนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นคลิก สีดำ-แดง โดยเพื่อนเป็นคนขี่รวม 2 คน ไปจับปลาบริเวณคลองตรงข้ามศาลาอเนกประสงค์ชุมชนมาบข่า ด้วยความเมา และรู้สึกอยากสูบบุหรี่แต่ไม่มีบุหรี่สูบ จึงเดินไปฉีกกระดาษที่กระดานในศาลาอเนกประสงค์ มานั่งมวนกระดาษแล้วจุดไฟสูบใกล้คลองดังกล่าว ส่วนเพื่อนนั่งดูปลา จากนั้นก็กลับไปบ้านไม่ได้หลบหนีไปไหน โดยไม่คิดว่าจะมีความผิด จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายศาลไปจับกุม ไม่มีใครว่าจ้างให้ไปฉีกบัญชีรายชื่อ และไม่เกี่ยวเรื่องการเมืองแต่อย่างใด

ด้าน พ.ต.อ.คมสัน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามศาลาอเนกประสงค์ พบภาพผู้ต้องสงสัยเดินเข้าไปฉีกเอกสารบัญชีรายชื่อที่กระดาน แล้วเดินถือกลับมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนได้กระจายกำลังค้นหาผู้ต้องสงสัยจากภาพกล้องวงจรปิด จนสืบทราบว่า เป็นคนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป

จึงขออนุมัติหมายศาลจับกุม และผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ส่งตัวให้ ร.ต.อ.อรรณพ ผันอากาศ รองสารวัตรสอบสวน เจ้าของคดี ดำเนินคดีข้อหาทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารใดของผู้อื่นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ กรณีดังกล่าวถือเป็นการทำลายเอกสารของทางราชการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี มาตรา 188 และมาตรา 360 ไม่มีโทษปรับ 

เชียงรายมือมืดฉกบัญชีไปทั้งฉบับ

จ.เชียงราย วันนี้ (26 ก.ค.59) ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ธัญเทพ ปาระมี เจ้าหน้าที่ กกต.ประจำ จ.เชียงราย เข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ต.วีระพล สำราญใจ สว.สส.สภ.แม่สาย ว่า เมื่อคืนที่ผ่านกระดาษพิมพ์บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงประชามติ ของบ้านป่ายาง หมู่ 8 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จำนวน 41 แผ่น จำนวนผู้มีสิทธิ์ 683 คน ที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.แม่สาย นำไปติดบอร์ดประจำหน่วยลงคะแนนที่ 9 อาคารหอประชุมที่ทำการลูกเสือชาวบ้านป่ายาง เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 59 หายไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไต่สวนอธิการ มฟน.ปากสุดท้ายคดีวิสามัญ 4 ศพโต๊ะชูด นัดฟังคำสั่ง14 ก.ย.นี้

$
0
0

ศาลปัตตานีไต่สวนอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี พยานปากสุดท้ายคดีวิสามัญ 4 ศพโต๊ะชูด ยืนยันความบริสุทธิ์ของ 2 นักศึกษาที่เสียชีวิต ศาลนัดฟังคำสั่ง 14 ก.ย.นี้ ญาติยืนยันรอฟ้องทั้งอาญาและแพ่ง

ญาติผู้เสียชีวิตในคดีวิสามัญ 4 ศพโต๊ะชูด มาให้กำลังใจนักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่จัดทำรายงานสถานการณ์ซ้อมทรมานในชายแดนใต้เข้ารายงานตัวต่อพนักงารสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐานหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่หลังจากฟังการไต่สวนการตายที่ศาลจังหวัดปัตตานี

26 ก.ค.2559 เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดไต่สวนพยานปากสุดท้ายในคดีหมายเลขดำที่ ช.11/2558 ระหว่างพนักงานอัยการซึ่งเป็นผู้ร้อง และสูไฮมี เซ็นกับพวกรวม 4 คนซึ่งเป็นผู้ตาย ในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่สนธิกำลังปฏิบัติการในพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2558 โดยพยานปากสุดท้ายนี้ คือ อิสมาแอลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (มฟน.) เนื่องจากผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คน

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งทำหน้าที่ว่าความในคดีนี้ เปิดเผยหลังการไต่สวนว่า อิสมาแอลุตฟีได้ยืนยันความบริสุทธิ์ของนักศึกษาทั้ง 2 คนว่า ไม่ใช่แนวร่วมก่อความไม่สงบตามที่มีการปล่อยข่าวออกมาหลังเกิดเหตุ และก่อนหน้านั้นก็ไม่มีข้อมูลว่าทั้งสองคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้อ้างผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระที่ตรวจสอบเหตุการณ์นี้ก็ยืนยันว่าทั้ง 2 คนไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบด้วยเช่นกัน

อับดุลกอฮาร์ เปิดเผยด้วยว่า ศาลได้นัดฟังคำสั่งไต่ส่วนการตายในคดีนี้ในวันที่ 14 กันยายน 2559 นี้ ซึ่งแม้ว่าผลของการไต่สวนจะออกเป็นเช่นไร ทางญาติก็เตรียมที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา

ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตของทั้ง 4 คนก็ยืนยันเช่นกันว่า หลังจากฟังการไต่สวนในวันนี้แล้วทางกลุ่มญาติก็ได้ประชุมหารือกันแล้วก็ตกลงที่จะฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา

สำหรับการไต่พยานครั้งนี้ ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า เป็นการไต่สวนต่อเนื่องจากครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ซึ่งศาลได้ไต่สวนพยานฝ่ายญาติผู้ตายจำนวน 3 ปาก ได้แก่ ชาวบ้านผู้รับรู้เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ นาแซ ดอคอ ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่เกิดเหตุ และ แวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ในนามคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี

ส่วนความเป็นมาของคดีโดยย่อ คือ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก. ทพ.41 ร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ทุ่งยางแดง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชน 22 คน และเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนสงครามยิงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ให้ข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิต 2 คน คือ อันวาร์ ดือราแม และ มากูรอซี แมเราะ เป็นแกนนำก่อความไม่สงบในพื้นที่ทุ่งยางแดงระดับปฏิบัติการ (RKK) ได้ใช้อาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ความจริงของเหตุการณ์ ไม่ได้มีบุคคลทั้งสองรายชื่อดังกล่าวเสียชีวิต แต่ผู้เสียชีวิต 4 คน ได้แก่ สุไฮมี เซ็น คอลิด สาแม็ง มะดารี แม้เราะ และ ซัดดัม วานุ สองในสี่คนที่เสียชีวิต คือ คอลิด และ มะดารี เป็นนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี

ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียงและญาติของผู้เสียชีวิตต่างเชื่อว่า ผู้เสียชีวิตดังกล่าวไม่มีอาวุธและไม่ได้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จากรณีดังกล่าวนี้ทำให้ภาคประชาสังคมและองค์กรมุสลิมมีความสงสัยว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง จาก deepsouthwatch.org

ศาลจังหวัดปัตตานีนัดไต่สวนอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นพยานปากสุดท้าย คดีไต่สวนการตาย กรณีนักศึกษาและชาวบ้านเสียชีวิต 4 ราย

“หยาดน้ำตาและคำขออภัย” คำต่อคำในถ้อยแถลงบทเรียนทุ่งยางแดง

กรรมการสอบยืนยัน 4 ศพทุ่งยางแดงไม่ใช่แนวร่วม ปืนของกลางไม่เกี่ยวผู้ตาย

เปิดชื่อทีมสอบเหตุทุ่งยางแดง หลายองค์กรจี้ทำงานรอบด้าน นำคนผิดมาลงโทษ

ตั้งกรรมการสอบ ‘ทุ่งยางแดงเดือด’- อธิการย้ำอย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ

ผบช.ศชต.ขอโทษกรณีทุ่งยางแดง ขอโอกาสตำรวจทำงานในพื้นที่

แม่ทัพขออภัยอีกครั้งต่อหน้าคนทุ่งยางแดง วอนขอให้ก้าวข้าม

ชาวบ้านถามปืนที่ศพมาจากไหน? – ทหารยันทำตามขั้นตอนปิดล้อมปะทะวิสามัญทุ่งยางแดง

รวมแถลงการณ์กรณีโต๊ะชูด จี้กรรมการสอบสร้างความจริงให้ปรากฏ นำคนผิดมาลงโทษ

มฟน.แถลงขอบคุณทุกฝ่าย จี้รัฐทำตามข้อเสนอกรรมการสอบฯ

มฟน.ออกแถลงการณ์ ยืนยัน 2 นักศึกษาถูกวิสามัญที่ทุ่งยางแดง ไม่มีประวัติเป็นภัยต่อความมั่นคง

ศาลปัตตานีไต่สวนเจ้าหน้าที่วิสามัญ 4 ศพที่ “ทุ่งยางแดง” นัดต่อไปปีหน้า

ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด ย้อนรอยโมเดลทุ่งยางแดง

10 ข่าวเด่นแห่งปี DSJ ปรากฏการณ์สมดุลแห่งข่าวสาร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.-ทหารค้นบ้านหนุ่มอุบลฯสวมเสื้อ 'VOTE NO' - จับหนุ่มตะโกนชวน 'NO VOTE' ส่งจิตแพทย์

$
0
0

26 ก.ค.2559 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (26 ก.ค.59) พ.ต.อ.ศิราเมษฐ์ ธานินพิทักษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำ จ.อุบลราชธานี ตำรวจ และฝ่ายปกครอง นำตัว อติเทพ อิ่มวุฒิ อายุ 25 ปี อยู่บ้าน ที่ ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี เข้าค้นบ้านพักเลขที่ดังกล่าว เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม หลัง อติเทพ สวมเสื้อยืดสีดำสกีนตัวอักษรสีแดงด้านหลังคำว่า “VOTE NO รธน.”

จากการตรวจค้นนานเกือบ 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับการต่อต้านการออกเสียงประชามติเพิ่มเติม จึงนำตัวมาสอบสวนปากคำเพิ่มเติมที่ห้องสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง

ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อช่วงสายวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารพบ อติเทพ สวมใส่เสื้อตัวดังกล่าว ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านหน้าศาลากลางจังหวัด ถ.แจ้งสนิท จึงเข้าควบคุมตัว เพื่อสอบถามที่อยู่และยึดเสื้อตัวดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน และต่อมาวันนี้ พนักงานสอบสวนได้เชิญตัวมาให้ปากคำเพิ่มเติมและเข้าค้นหาหลักฐานที่บ้านพัก

ซึ่ง พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา รอง ผกก.สส.สภ.เมืองอุบลราชธานี กล่าวว่า จากการสอบสวน อติเทพอ้างว่า ได้มาจากเพื่อนที่ไปพบกันในงานแห่เทียนเข้าพรรษา จึงแลกมาสวมใส่ เพราะเห็นเท่ห์ดี โดยไม่มีเจตนาอะไร หลังสอบสวนปากคำได้ปล่อยให้กลับบ้าน แต่หากมีหลักฐานเพิ่มเติม ก็จะเรียก อติเทพมาสอบสวนอีกครั้ง

และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอพิบูลมังสาหาร เข้าจับกุมตัว วิชาญ ภูวิหาร อายุ 48 ปี ชาว เขตหนองแขม กรุงเทพฯ ขณะยืนตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ไม่ให้ออกไปลงประชามติ

โดย วิชาญ อ้างว่า เป็นสมาชิกพรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ ไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติ จึงไม่ต้องการไปลงประชามติ พร้อมมาเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกับตนไม่ไปลงประชามติ

แต่ พ.ต.อ.โสภณ เครือเช้า ผกก.สงสัยพฤติกรรม วิชาญ คล้ายคนมีจิตบกพร่อง จึงส่งตัว วิชาญ ให้แพทย์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อ.เมือง ตรวจสอบสภาพจิตใจ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นมีสภาพจิตปกติ จึงแจ้งข้อกล่าวหา วิชาญ ก่อความวุ่นวาย โดยมุ่งหวังไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย คุมตัวดำเนินคดี

สำหรับ วิชาญ เมื่อปี 2556 ได้ร่วมกับกลุ่มธรรมยาตราปืนรั้วข้ามเข้าไปในเขตทหารกัมพูชาที่เข้าพระวิหาร เพื่ออดข้าวประท้วงกรณีศาลโลกตัดสินให้กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบตัวปราสาทเขาพระวิหารมาแล้วด้วย และเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2558 ผู้จัดการออนไลน์เคยรายงานด้วยว่า วิชาญ ร่วมกลุ่มนี้ โดยมี สมาน ศรีงาม เป็นแกนนำกลุ่มธรรมยาตราและสภาประชาชน เดินเท้าจากเขาพระวิหาร อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษมุ่งหน้าเข้ากรุง เพื่อถวายฎีกา“ในหลวง” ทวงคืนแผ่นดินไทยเขาพระวิหาร

ภาพวิชาญ (คนที่ 2 จากซ้าย) รวมกับกลุ่ม สมาน (คนที่ 3 จากซ้าย) อดข้าวประท้วงกรณีศาลโลกตัดสินให้กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบตัวปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 56

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาคติความเป็นคณะ: มายาคติในรั้วมหาวิทยาลัยที่หลายคนมองข้าม

$
0
0



ก่อนจะเริ่มต้นเลือกหัวข้อและอภิปรายกันในเรื่องพวกนี้ คิดว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะมีคำถามในใจแน่ๆ

ผู้เขียนขอถือวิสาสะเดาคำถามของผู้อ่านคำถามหนึ่งว่า...มายาคติคืออะไร? ถ้าจะให้อธิบาย ตามหลักวิชาการ
มายาคติคือการสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ[1]

คิดว่าก่อนหน้านี้คงมีผู้อ่านหลายคนไม่เคยรู้จักกับคำว่า “มายาคติ” มาก่อน และอาจจะสงสัยก็ได้ว่าเราจะต้องมาครุ่นคิดเรื่องมายาคติในมหาวิทยาลัยกันไปเพื่ออะไร ? และการถกเถียงเรื่องนี้มีความสำคัญกับนักศึกษามากขนาดไหน? มันทำให้เรามีผลการเรียนดีหรือเปล่า? ช่วยทำให้เราเรียนแบบไม่ติดเอฟในวิชาไหนหรือไม่? ช่วยให้น้องปีหนึ่งไม่ต้องถูกพี่ว้ากในห้องเชียร์? ช่วยให้มหาวิทยาลัยจัดงานสปอร์ตเดย์ให้ยิ่งใหญ่หรือเปล่า? ช่วยให้เลือกเรียนตัวนอกคณะที่ได้เกรดง่ายหรือไม่?

ผู้อ่านคงรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่าการถกเถียงเรื่องมายาคติในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ช่วยทำให้เราสอบได้เกรดสี่หรือช่วยให้รอดพ้นจากการติดเอฟวิชาที่เกลียดเข้าไส้ น้องปีหนึ่งก็ถูกพี่ว้ากอยู่ดี ต่อให้เรารู้ความหมายของมายาคติก็ไม่ช่วยให้มหาวิทยาลัยเลิกจัดงานสปอร์ตเดย์ ผู้เขียนเองก็เห็นด้วยกับผู้อ่านตรงที่ว่าถ้าเราคิดแบบนี้ เราหยุดอ่านคอลัมน์นี้แล้วไปอ่านหนังสือสอบ ไปว้ากน้องปีหนึ่งในห้องเชียร์ กิจกรรมโชว์เชียร์ในงานสปอร์ตเดย์ตามใจต้องการเสียดีกว่า

แต่ผู้เขียนเองก็มีบางอย่างที่ไม่เห็นด้วยกับผู้อ่านเช่นเดียวกัน  เพราะผู้เขียนกลับคิดว่าการทำความเข้าใจ
มายาคติในรั้วมหาวิทยาลัยจะทำให้เราเห็นว่าการเรียนให้ไม่ได้เกรดเอฟ การว้ากในห้องเชียร์ การเข้าร่วมกิจกรรม

สปอร์ตเดย์ (หรือชื่อกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ละมหาวิทยาลัยของตัวเอง แต่มีกิจกรรมโชว์เชียร์ประกอบการแข่งขันกีฬาในมหาวิทยาลัย) การเลือกเรียนตัวนออกคณะที่เกรดง่ายแทนเลือกเรียนเพราะความสนใจ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกัน เพราะนักศึกษาส่วนมาก (ย้ำว่าแค่ส่วนมากไม่ใช่ทุกคน) ล้วนอยู่ภายใต้มายาคติเรื่องหนึ่งทั้งสิ้น

นั่นก็คือ “มายาคติความเป็นคณะ” ซึ่งมีที่มาที่ไปอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

โดยเราต้องมองจุดเริ่มต้นของการรับรู้มายาคติจากการขัดเกลาทางสังคมตั้งแต่แรกเกิด นั้นก็คือการปลูกฝังจากครอบครัวให้ลูกๆ ของตนให้เลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิต และการตั้งคำถามจากสังคมรอบข้างตลอดเวลาว่า “หนูอยากเป็น (ในบริบทนี้คืออยากประกอบอาชีพ) อะไร?” ซึ่งสะท้อนนัยยะของสังคมที่ต้องการให้คนในสังคมเลือกอาชีพที่มีความเฉพาะทางสูงเพื่อทำงานในภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น

เมื่อย้อนมองย้อนกลับมาในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับการศึกษาภาคสามัญ เพื่อการรองรับการสร้างกำลังคนที่มีความเฉพาะทางสูง ทำให้สถาบันระดับอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิตเฉพาะทางเพื่อป้อนเข้าสู่สังคม แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยจะต้องจัดการเรียนการสอนโดยแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ ตามสาขาวิชาที่ตลาดแรงงานต้องการ เช่น คณะแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตวิศวกร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผลิตสถาปนิก เป็นต้น การแบ่งแยกในลักษณะนี้ทำให้มายาคติความเป็นคณะ (ตามความคิดเห็นส่วนตัว) เกิดขึ้นมา

นับจากการรับรู้ค่านิยมทางสังคมเรื่องการเลือกประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งตามความสนใจ การตัดสินใจเลือกที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา การสมัครสอบและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นคณะทั้งนั้น แทบทุกคนในสังคมล้วนมีภาพจำว่าถ้าอยากทำงานอันนี้จะต้องเรียนคณะนี้ อยากทำงานอันนั้นจะต้องเรียนคณะนั้น เมื่อสอบติดคณะที่ต้องการก็ทำให้ผู้สอบติดมีความยึดมั่นในคณะที่ตนเองติดมาสูงยิ่งขึ้นไปอีก

การยึดติดในตัวคณะที่ตัวเองสังกัด ส่งผลให้แต่ละคณะปลูกฝังความคิด ให้เชื่อมั่นในคณะของตนว่าเป็นคณะที่ดีที่สุด ทุกคนที่อยู่คณะเดียวกันต้องมีความสามัคคีและมีความเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกันผ่านกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และกิจกรรมสปอร์ตเดย์

กิจกรรมเหล่านี้มีมายาคติของความเป็นคณะที่ไม่ยอมให้คณะของตนน้อยหน้าไปกว่าคณะอื่น ในแง่ของความพร้อมเพรียงในการร้องเพลงเชียร์และความสวยงามอลังการของการโชว์เชียร์คณะ ยกตัวอย่างเช่นบางคณะในมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งหนึ่งของประเทศไทยใช้งบประมาณในการจัดเตรียมแสงสีเสียงสำหรับการโชว์เชียร์สูงมาก ทำให้คณะนั้นได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าเป็นจุดเด่นของกิจกรรมโชว์เชียร์ตอนกลางคืนของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

นอกเหนือไปจากกิจกรรมพวกนี้แล้ว มายาคตินี้ยังทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เรียนให้ได้เกรดที่ดี (ไม่ให้ติดเอฟ) เพื่อให้ผลการเรียนในทรานสคริปต์สวยและเป็นที่ดึงดูดใจของนายจ้างตอนสมัครงานตามที่ต้องการ ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่เลือกเรียนตัวนอกคณะ(ตามที่หลักสูตรกำหนดให้เลือกเรียน)ที่ให้เกรดง่ายๆ แทนที่จะเลือกเรียนตัวที่สนใจ

ในทางกลับกันคนที่เลือกเรียนตัวนอกคณะเพราะความสนใจส่วนตัวก็อาจถูกตำหนิ ประชดประชัน หรือเสียดสีจากเพื่อนร่วมคณะได้เช่นเดียวกันทั้งที่ในความจริงนักศึกษาทุกคนมีสิทธิ์จะเลือกวิชาเรียนได้ตามความสมัครใจ และไม่มีสิทธิ์ที่จะถูกสังคมรอบข้างมองในแง่ไม่ดีเช่นนี้ เช่น นาย ก. อยู่คณะวิทยาศาสตร์แต่เลือกเรียนตัวฟรีวิชาประวัติศาสตร์ จนถูกเพื่อนล้อว่า นาย ก. เป็นนักศึกษาภาคประวัติศาสตร์ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้วมายาคติของความเป็นคณะคือความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างของคณะไม่ว่าจะเป็นการเรียน กิจกรรม โดยผู้เขียนเสนอว่าเกิดมาจากแนวคิดการผลิตกำลังคนแบบแยกส่วน แม้ว่าบางคณะจะมีอาชีพที่ไม่ตายตัวสำหรับคนเรียนจบก็ตาม มายาคติความเป็นคณะเป็นแค่สิ่งที่คนอุปโลกน์ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ใช่ความจริงเสมอไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการประกอบอาชีพกับคณะที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้องกันเสมอไป เรามีอิสระในการเลือกประกอบอาชีพตามที่ใจต้องการ หากไม่ติดขัดกับเงื่อนไขของสัญญาทุนการศึกษาสำหรับบางคณะ ยกตัวอย่างเช่น เราเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เราก็อาจไปทำงานเป็นครีเอทีฟหรือศิลปินก็ได้ ประภาส ชลศรานนท์ หนึ่งในเจ้าของบริษัทเวิร์คพ้อยท์ เอ็นเตอร์เทอร์เมนท์ ผู้ประพันธ์เพลง “วันพรุ่งนี้” และเพลง “ปั่นจักรยาน” ที่ติดหูคนทั้งประเทศ ก็เรียนจบสถาปัตย์จาก จุฬาฯ สถาบันเดียวกันกับวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ผลิตงานเขียนออกสู่สาธารณะอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

ในเมื่อการประกอบอาชีพกับคณะที่เรียนไม่จำเป็นจะต้องเกี่ยวกัน แล้วเราจะยังปลูกฝังมายาคติความเป็นคณะไปเพื่ออะไรกัน? แล้วเราจะแบ่งแยกคณะใครคณะมันแล้วแข่งขันกันไปจนวันตายกันไปเพื่ออะไร? เพื่อปลูกฝังแนวคิดระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมให้กับคนในสังคมแค่ไหนหรอกหรือ? สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นกับการทำงานในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ต้องมีการบูรณาการศาสตร์หลายๆ สาขาระหว่างวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ธุรกิจ การตลาด กฎหมาย เข้าด้วยกัน ทักษะวิชาชีพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการทำงาน การแก้ปัญหา และการดำรงชีวิตอีกต่อไป ข่าวเรื่องการเสนอร่างกฎหมายพืชตัดต่อพันธุกรรมและกระแสการต่อต้านหรือสนับสนุนจีเอ็มโอเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเราไม่สามารถวิเคราะห์จากข้อมูลสาขาใดสาขาหนึ่งได้

เราควรลงมือทำอะไรสักอย่างดีไหม?

การริเริ่มปรับเปลี่ยนกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์และกีฬาสีให้มองความสำคัญของความเป็นปัจเจกและลดทอนความสำคัญของคณะตนเอง การสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากคนในหลายๆ สาขาวิชา การให้ความสำคัญกับงานที่อยากทำในอนาคตแทนคณะที่จะเรียนในอนาคต สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลดทอนมายาคตินี้ ไม่ได้เป็นการลบล้างมายาคติความเป็นคณะให้หมดไป

เพียงแค่มันเริ่มตรงที่เราต้องมองการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยใหม่ ไม่ได้มองแค่ว่าเราจะต้องสอบเข้าคณะนั้น ให้ได้เพราะเป็นคณะที่ดังหรือจบมามีงานทำ ไม่ได้มองว่าเราจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องที่ดูศักดิ์สิทธิ์ดังเช่นกิจกรรมของบางมหาวิทยาลัย ไม่ได้มองว่าเราจะต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของการโชว์เชียร์สปอร์ตเดย์ แต่ต้องมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับเครือข่ายขนาดใหญ่อย่างละเอียดมากกว่ามองประเด็นแค่บางประเด็นแบบผิวเผินเท่านั้น

เพราะในชีวิตจริงยังมีมายาคติที่มองไม่เห็นและที่ยังไม่รู้อีกจำนวนมากคอยควบคุมเราอยู่

0000

เชิงอรรถ
[1] นิยามของมายาคติอ้างจาก http://johnnopadon.blogspot.com/2015/10/roland-barthes-myth-post-structural.html

หมายเหตุบทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร small but matter มายาคติในรั้วมหาวิทยาลัย ฉบับเดือนเมษายน 2559
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อคติและมายาคติที่ขัดขวางการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาท

$
0
0

                                                                                       

 

ปฐมเหตุแห่งการเกิดภิกษุณีสงฆ์

เป็นที่น่าสังเกตว่าสตรีที่ประสงค์ออกบวชกลุ่มแรกนั้นมาจากเมืองกบิลพัสดุ์ นัยว่าเป็นเหล่าศากยวงศ์ทั้งหมด เหตุใดสตรีเหล่านี้จึงกล้าที่จะแหกกฎสังคม-วัฒนธรรมของชมพูทวีปซึ่งกีดกันผู้หญิงในทางศาสนาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ แม้ลัทธิใหม่ทั้ง 6 ลัทธิที่เกิดร่วมสมัยกับพุทธศาสนา ลักษณะร่วมที่สำคัญของลัทธิเหล่านี้คือต่อต้านศาสนาพราหมณ์ ในบรรดาลัทธิทั้ง 6 นี้ ศาสนาเชนของมหาวีระดูโดดเด่นมากที่สุด มีคนเลื่อมในมากที่สุด มีคำสอนที่เหมือนหรือใกล้เคียงพุทธศาสนามากที่สุด เชื่อกันว่าเจ้าชายสิทธัตถะตอนที่ออกแสวงหาโมกขธรรมก็เคยมาศึกษาลัทธินี้ด้วยเหมือนกัน ที่สำคัญศาสนาเชนไม่เคยสูญไปจากอินเดีย มีสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ศาสนาเชนก็ไม่อนุญาตให้สตรีเป็นนักบวช(หมายถึงสมัยพุทธกาลหรือยุคแรกของศาสนาเชน) แล้วเหตุใดสตรีแห่งศากยวงศ์พวกนี้จึงกล้าที่จะแหกกฎเหล็กอันนี้ แสดงว่าสตรีเหล่านี้ต้องมีอะไรพิเศษแน่ๆ

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเข้าถึงการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงและพาเหล่าบุรุษเข้าถึงการดับทุกข์มาแล้วหลายราย ฝ่ายสตรีก็ปรารถนาบ้าง ตอบแค่นี้ฟังเผินๆก็ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่อย่างว่ามันง่ายเกินไป หากท่านมองย้อนไปในอดีตเมื่อ 2500 ปีก่อนโน้น ในยุคสมัยที่สตรีเป็นสมบัติของชาย 3 คน คือ พ่อ สามีและลูกชาย ในยุคสมัยที่สตรีแม้เกิดในวรรณะสูงแต่ก็มีค่าแค่ “ศูทร” คือคนชั้นต่ำ ในยุคสมัยที่เชื่อว่าสิ่งที่ถูก “ตี” แล้วจะดี คือ ควาย ทาส กลองและสตรี เท่าที่เล่ามาก็คงพอให้ท่านได้เห็นภาพผู้หญิงในสมัยนั้นว่าเป็นอย่างไร สตรีถูกกำหนดให้เกิดมาใช้แรงกายมากกว่าแรงสมอง ความรู้ที่มีก็เพื่อการเป็นเมียกับแม่ที่ดีเท่านั้น ส่วนความรู้ที่สูงกว่านั้นอย่างความรู้ในทางศาสนา อย่าได้แม้แต่คิด แต่แล้ววันหนึ่งมีสตรีกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าฉันอยากเป็นนักบวช ฉันอยากเข้าถึงการดับทุกข์เหมือนบุรุษบ้าง นี่ต้องเป็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติมากๆ ในยุคสมัยนั้น แล้วอะไรที่ดลใจหรือเป็นแรงขับให้สตรีศากยวงศ์เหล่านี้ต้องการออกบวช? คงไม่ใช่แค่ความต้องการอย่างเดียว

อย่าลืมว่าการให้สตรีบวชได้นั้นเป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคมชมพูทวีปอย่างแรง เป็น shock of the town เลยทีเดียว ใครที่ทำใจไม่ได้เผลอๆจะหัวใจวายเอา ก็มีที่ไหนที่ปล่อยให้สตรีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้มีมลทินเข้ามาร่วมในศาสนากับบุรุษ  ก่อนหน้านั้นอย่าว่าแม้แต่เข้ามาเลย เฉียดเข้าไปใกล้ยังไม่ได้ ศาสนาเปรียบเหมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่กันไว้สำหรับบุรุษเท่านั้น ดังนั้นเหตุที่เหล่าสตรีศากยวงศ์ต้องการออกบวชจึงน่าจะมีปัจจัยอื่นเกื้อหนุนด้วย แล้วเหตุที่ว่านั้นคืออะไร?

กบิลพัสดุ์ของศากยวงศ์นั้นเป็นเมืองที่ปกครองแบบหมู่คณะ คงคล้ายสภาซีเนตของโรมันหรือสภาของพวกกรีก บางคนอธิบายว่าเป็นแบบสาธารณรัฐ ฝ่ายพุทธเองเรียกการปกครองรูปแบบนี้ว่า “สามัคคีธรรม” เอาเข้าจริงเราไม่ทราบได้แน่ชัดว่าการปกครองที่ว่านี้มีรายละเอียดอย่างไร ได้แต่ทราบคร่าวๆว่าเป็นการปกครองโดยคณะที่สมาชิกมาจากวรรณะกษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่แบบราชาธิปไตย เหมือนรัฐใหญ่อย่างมคธหรือสาวัตถี รัฐหรือเมืองที่ปกครองรูปแบบนี้ก็เช่น วัชชี กบิลพัสดุ์ รามคาม กุสินารา ฯ เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐหรือเมืองเหล่านี้มักจะอยู่ทางเหนือของอินเดีย

ลักษณะหนึ่งของการปกครองแบบนี้คือการให้เกียรติสตรี จะเห็นได้จากหลักอปริหานิยธรรม 7 หรือ “ธรรมที่ไม่ทำให้เสื่อม” ที่พระพุทธองค์ตรัสถึงพวกกษัตริย์ลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีว่าตราบใดที่พวกลิจฉวียังยึดหลักธรรมนี้อยู่ ตราบนั้นไม่มีใครมาทำลายได้ เชื่อว่าหลักอปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมร่วมหรือลักษณะการปกครองของรัฐที่ปกครองแบบคณาธิปไตยในชมพูทวีป หนึ่งในหลักธรรมนี้กล่าวว่า “บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้ถูกข่มเหงรังแก” นี่คงจะพอยืนยันได้ว่าสตรีในรัฐดังกล่าวซึ่งหมายรวมถึงเมืองกบิลพัสดุ์ด้วยนั้น คงมีสถานภาพและเสรีภาพที่ดีกว่าสตรีในรัฐอื่นที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยและศาสนาพราหมณ์

ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนนี้จึงทำให้สตรีศากยวงศ์สามารถเข้าถึงความรู้ทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาใหม่ที่พระพุทธเจ้าได้สถาปนาขึ้น ประกอบกับพระพุทธเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในศากยวงศ์ ความใกล้ชิดนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้สตรีศากยวงศ์กลุ่มนี้กล้าที่จะร้องขอเพื่อใช้สิทธิเข้าถึงการหลุดพ้นเหมือนบุรุษ และในที่สุดการเรียกร้องก็สมหวัง

ถ้าจะเรียกพระนางปชาบดีโคตมีและเหล่าสตรีศากยวงศ์ทั้ง 500 ว่าเป็น Feminist รุ่นแรกก็คงไม่ผิด เพราะพวกเธอกล้าที่จะ deconstruct อคติทางเพศจนมีชัยชนะ อย่างนี้ต้องยกนิ้วให้พร้อมตะโกนว่า “นางแน่มาก”

ความจริงเรื่องเหตุปัจจัยที่ทำให้เหล่าสตรีศากยวงศ์ลุกขึ้นมาขอบวช น่าจะมีการศึกษาให้มากกว่านี้ เพื่อที่จะเข้าใจที่มาที่ไปของการกำเนิดภิกษุณีสงฆ์ได้อย่างลุ่มลึก ที่นำเสนอมาเรื่องอำนาจของความรู้และสถานภาพทางสังคมนั้น ก็เพียงเพื่อเป็นการ “โยนหินถามทาง” เท่านั้น น่าจะมีปัจจัยอื่นอีก

ที่เล่าเรื่องสตรีศากยวงศ์กลุ่มนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า สตรีหรือใครก็ตามที่ถูกกีดกันในสิทธิของความเป็นมนุษย์ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม เขาก็จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันนั้น ความเชื่อที่เกิดจากอธรรมอันนำไปสู่อคติก็จะไร้น้ำยา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชมพูทวีปเมื่อ 2500 ปีก่อน ก็ไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้


การสถาปนาภิกษุณีสงฆ์ครั้งแรกในพุทธศาสนา

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในพรรษาที่ 5 ตอนที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองไวศาลี ความจริงก่อนหน้านั้นตอนที่พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางปชาบดีโคตรมีก็เคยทูลขอบวชมาครั้งหนึ่งแล้วแต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ พระนางเองก็ไม่ละความพยายามได้ตามเสด็จมาที่เมืองไวศาลีและได้มาทูลขอบวชอีกครั้ง ผลก็คือทรงปฏิเสธอีก การที่ทรงปฏิเสธถึง 2 ครั้ง 2 ครา ทำให้พวกที่ไม่สนับสนุนการบวชภิกษุณีหรือจะเรียกสั้นๆว่าฝ่ายค้านยกมาอ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาที่จะให้มีภิกษุณีสงฆ์ ถ้าเราฟังความแค่นี้ เหตุผลที่ฝ่ายค้านยกมาอ้างก็ดูจะมีน้ำหนัก แต่ถ้าเราศึกษาไปถึงสังคม-วัฒนธรรมของชมพูทวีปในตอนนั้น เข้าใจสถานภาพของสตรีในตอนนั้น เข้าใจการสถาปนาพุทธศาสนาซึ่งเพิ่งตั้งมาเพียง 5 ปี เรียกได้ว่ายังไม่มั่นคงเพียงพอ เราก็จะเข้าใจเหตุผลที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธการดังกล่าว  

อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของพุทธศาสนานั้นก็เพื่อ “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” เพื่อประโยชน์แก่พหุชน เพื่อความสุขของพหุชนและเกื้อกูลโลก นี่คือคำประกาศเจตนารมณ์ที่พระพุทธองค์ได้มอบให้แก่สมณฑูตชุดแรกที่จะออกไปเผยแพร่ศาสนา กล่าวโดยสรุปก็คือการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาก็เพื่อความสุขและประโยชน์ของพหุชน ในบาลีใช้คำว่า “พหุชน” ก็หมายถึงมนุษย์ทุกคน ทั้งชายและหญิง ก็เมื่อความสุขที่สูงสุดของพุทธศาสนาคือพระนิพพาน พุทธศาสนาก็ต้องเปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคนที่หวังพระนิพพานได้มีโอกาสเข้าถึง ทางเข้าถึงที่ว่านี้ก็โดยการบวชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้โดยหลักการแล้วพุทธศาสนาจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนทั้งชายและหญิงได้เข้าถึงพระนิพพาน เพียงแต่ว่าโอกาสนั้นจะมีเมื่อไร พร้อมหรือยัง เหมาะสมหรือยัง โดยเฉพาะกรณีที่สตรีจะเข้ามาบวชนั้น ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเหตุการณ์นี้เป็น shock of the town พระพุทธองค์ก็ต้องทรงรอบคอบหน่อย

อันที่จริงการบวชนั้นไม่ยากหรอก แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเมื่อบวชแล้วจะได้รับการยอมรับมากน้อยแค่ไหน การบริหารจัดการจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญสตรีเหล่านี้มีความจริงจังในเพศบรรพชิตมากน้อยแค่ไหน หากผลีผลามอาจส่งผลเสียต่อพุทธศาสนาซึ่งกำลังเริ่มผลิดอกออกใบอยู่ในขณะนั้นก็ได้

เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดกับพวกทิเบตในปัจจุบันนี้ ฝ่ายทิเบตเองก็ไม่มีภิกษุณีสงฆ์ เมื่อองค์ดาไลลามะมีพระประสงค์จะให้มีการบวชภิกษุณีสงฆ์ในฝ่ายมูลสรวาสติวาทคือในนิกายของฝ่ายทิเบตเอง พระองค์ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องนี้ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปีเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เหตุผลใหญ่ก็คือเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้วต้องได้รับการยอมรับจากพุทธทิเบตอีก 3 นิกายนอกจาก “เกลุกปะ” ของพระองค์ คือ นิงมาปะ กากยูปะ และ ศากยะปะ เห็นไหมว่าการบวชนั้นไม่ยาก แต่เรื่องที่จะเกิดหลังการบวชนั้นต่างหากที่ยาก สำหรับกรณีของพระนางปชาบดีและพวกศากยธิดาทั้ง 500 นั้นถือว่าจบเร็วกว่าพวกทิเบตในตอนนี้เสียอีก

และที่อ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาจะให้มีภิกษุณีสงฆ์มาตั้งแต่แรกนั้น ดูจะเป็นการหมิ่นพระบรมศาสดามากไปหน่อย ก็จะไม่หมิ่นได้อย่างไร ถ้าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาแล้วต่อมาให้บวชทำไม? อย่างนี้ก็กล่าวหาว่าพระพุทธองค์ทรงโลเลนะซิ หรือว่าที่ให้บวชนั้นเพราะสงสารด้วยเป็นศากยวงศ์ด้วยกัน เห็นแก่ญาติพี่น้องว่างั้นเถอะ ถ้าพระพุทธองค์มีเจตนาที่จะไม่ให้มีภิกษุณีสงฆ์จริงๆแล้วละก็ คงไม่อนุญาตต่อมาในภายหลังอย่างเด็ดขาด ความจริงตอนที่ทรงตรัสรู้แล้วใหม่ๆ พระพุทธองค์เคยกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์แล้วด้วยซ้ำ(ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นยังไม่มีทั้งภิกษุและภิกษุณี) ไม่เชื่อไปอ่านมหาปรินิพพานสูตร ก็จะพบว่าหลังการตรัสรู้ใหม่ ในสัปดาห์หนึ่งตอนที่อยู่ไต้ต้นนิโครธ มารได้เข้ามาทูลให้ดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้กล่าวกับมารว่าต้องรอให้พุทธบริษัทที่มี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา รู้พระธรรมวินัย เผยแพร่พระธรรมวินัย และปกป้องพระธรรมวินัยได้ก่อน เมื่อไรที่พุทธบริษัททำได้อย่างนี้แล้วพระพุทธองค์ก็จะดับขันธ์ปรินิพพาน นี้อ้างจากพระไตรปิฎกนะ ไม่ได้คิดเอาเอง

เห็นไหมว่าพระพุทธองค์นั้นทรงมีเจตนาเรื่องภิกษุณีสงฆ์มาก่อนตั้งนานแล้ว ก่อนที่พระนางปชาบดีและเหล่าศากยธิดาจะมาขอบวชเสียอีก(คือก่อนตั้ง 5 ปี) ก็อย่างที่บอกถ้าไม่มีเจตนาแล้วพระพุทธองค์จะไม่ทรงอนุญาตให้บวชอย่างเด็ดขาด ไม่ว่านางนั้นจะเป็นใครก็ตาม

ในเรื่องเจตนานี้ทางพุทธศาสนากับฝ่ายกฎหมายมีมุมมองที่ต่างกัน ทางกฎหมายถือหลักว่า “กรรมส่อเจตนา” หมายความว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้นจะเป็นตัวชี้วัดถึงเจตนา โทษานุโทษก็ว่าไปตามเจตนานั้นๆ อย่างนาย ก.พกปืนเข้าไปบ้านนาย ข. ในบ้านไม่มีไครนอกจากนาย ข. ต่อมานาย ข. ถูกยิงเสียชีวิต นาย ก. ให้การกับตำรวจว่านาย ข. ฆ่าตัวตายเอง ดูจากพฤติกรรมแล้วใครจะไปเชื่อ การที่พกปืนเข้าไปในบ้านของคนอื่น ก็ส่อเจตนาไม่ดีแล้ว เรื่องนี้นายก.เป็นผู้ต้องหาแน่ๆ ส่วนทางพุทธศาสนาจะถือหลัก “เจตนาส่อกรรม” หมายความว่าเจตนาจะเป็นตัวตัดสินหรือชี้นำไปสู่การกระทำนั้นๆ ว่าเป็นกรรมดีหรือกรรมไม่ดี  การที่พระพุทธองค์มีเจตนาเรื่องภิกษุณีสงฆ์มาก่อน ต่อมาก็ทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ นี่เป็นเจตนาที่ส่อกรรมอย่างชัดๆ ดังนั้นใครที่อ้างว่าพระพุทธองค์ไม่มีเจตนาที่จะให้มีภิกษุณีสงฆ์ ต้องศึกษาให้มากกว่านี้แล้วจะเข้าใจ


ว่าด้วยเรื่องครุธรรม 8 ประการ

ที่นี่ก็มาถึงประเด็นสำคัญคือเรื่องครุธรรม 8 ประการ การที่พระนางปชาบดีจะได้บวชหรือไม่ยังขึ้นอยู่กับว่าพระนางจะยอมรับครุธรรม 8 ประการหรือไม่ นี่เป็นเงื่อนไขที่ทรงตรัสและนำมาใช้เฉพาะกรณีของพระนาง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราๆท่านๆที่มีใจหนักไปทางมนุษยธรรมมักจะมองว่าครุธรรม 8 ประการนั้นกดผู้หญิง แม้บวชแล้วยังให้ผู้หญิงเป็นรองผู้ชายอยู่นั่นเอง นักวิชาการบางคนถึงกับเชื่อว่านี้ไม่ใช่พุทธพจน์หากเป็นข้อมูลที่ใส่เข้าไปในพระไตรปิฎกตอนหลัง ดังนั้นจึงไม่ควรยึดเป็นสรณะ แต่ก่อนที่จะตัดสินอย่างไรลองมาฟังเรื่องราวความเป็นมาทั้งหมดก่อน

           ย้อนกลับไปที่ไวศาลีอีกครั้ง(รายละเอียดในตอนนี้ให้ไปอ่านในพระวินัยปิฎก จุลวรรค ในหมวดภิกขุณีขันธกะ ในที่นี้จะนำมาเล่าเป็นภาษาพูดเพื่อความกระชับ) เมื่อพระนางปชาบดีตามมาทูลขอบวชแต่พระพุทธองค์ก็ไม่อนุญาตอีก

พระอานนท์จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าสตรีออกบวชแล้วจะบรรลุโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผลหรืออรหันตผลหรือไม่?

พระพุทธองค์ตอบว่า “บรรลุได้”

พระอานนท์ถามซ้ำเชิงร้องขอว่า “ถ้าบรรลุได้ แล้วพระนางปชาบดีผู้เคยเลี้ยงดูพระองค์ประสงค์จะบรรลุธรรมที่พระองค์ประกาศไว้ พระองค์จะไม่อนุญาตหรือ?”

พระพุทธองค์ตอบกลับมาว่า “ถ้าพระนางปชาบดีรับครุธรรม 8 ประการนี้ นางก็บวชได้” จากนั้นพระพุทธองค์ก็ตรัสเล่าว่าครุธรรม 8 ประการมีอะไรบ้าง และทรงให้เหตุผลว่าการที่ให้รับครุธรรม 8 นี้ก็เพื่อป้องกันมิให้พุทธศาสนาอายุสั้น ในตอนลงท้ายซึ่งสำคัญมาก ในบาลีกล่าวว่า “ ...อานนท์ ถ้าพระนางปชาบดีโคตรมีรับครุธรรม8ข้อนี้ (การรับครุธรรม)นั้นแหละจงเป็นการอุปสมบทของพระนางปชาบดีโคตมีนั้น” (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หน้า 317) หมายความว่าเมื่อพระนางปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม 8 ประการแล้วพระนางฯก็ผ่านการบวชแล้วนั่นเอง

ที่นี้มาดูว่าครุธรรม 8 ประการนั้นมีอะไรบ้าง


1 ภิกษุณีถึงจะบวชได้ 100 พรรษา ก็จะต้องทำการกราบไหว้ ต้อนรับทำอัญชลีกรรม ทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น

2 ภิกษุณีไม่พึงจำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ

3 ภิกษุณีพึงหวังธรรม 2 อย่าง คือ ถามอุโบสถและไปรับโอวาทจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน

4 ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย โดยสถาน 3 คือ ได้เห็น ได้ฟังหรือได้นึกสงสัย

5 ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย

6 ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่าย (ข้อนี้ล่ะที่จะเป็นปัญหาต่อไป)

7 ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใดๆ

8 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอนภิกษุณี

พระนางปชาบดีโคตมียอมรับครุธรรม 8 ประการ เป็นอันว่าพระนางได้บวช แต่พวกสตรีนิยมฟังแล้วคงกรี๊ดลั่น นี่มันกดขี่กันชัดๆ แต่อย่าเพิ่งหงุดหงิดครับ ใจเย็นๆค่อยฟังไป เอาล่ะที่นี้มาวิเคราะห์ประเด็นเรื่องครุธรรม 8 นี้กัน

1.ถ้าว่าไปตามข้อมูลในพระไตรปิฎกแล้ว เรื่องครุธรรม 8 ประการนี้พระพุทธองค์ตรัสสำหรับกรณีของพระนางปชาบดีโคตรมีแต่เพียงรูปเดียวใช่หรือไม่? เพราะบรรดาศากยธิดาอีก 500 ที่ตามมานั้นต่างได้รับการบวชโดยภิกษุสาวก โดยการรับไตรสรณคมน์ ไม่มีที่ตรงไหนที่ระบุว่าเหล่านางศากยธิดาต้องรับครุธรรม 8 นี้ก่อนแต่ประการใด แต่ฝ่ายค้านก็โต้ได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์การบวชก็เลยทำโดยพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกก่อน หมายความว่ารุ่นแรกให้อนุโลมไปก่อนว่างั้นเถอะ เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้วจึงค่อยปฏิบัติตามครุธรรม 8 นี้ ฟังดูก็เข้าท่า แต่ก็แย้งได้อีกว่า ถ้าเห็นว่าครุธรรมนี้จำเป็นสำหรับภิกษุณีสงฆ์แล้ว เหตุใดในพระไตรปิฎกจึงไม่ระบุให้เหล่าศากยธิดาทั้ง 500 นั้นยอมรับครุธรรมนี้ก่อน เหตุใดจึงใช้เงื่อนไขนี้กับพระนางปชาบดีโคตมีเท่านั้น อีกทั้งการรับครุธรรม 8 ก็หมายถึงการบวชอยู่แล้ว ถ้าเหล่าศากยธิดาทั้งหมดยอมรับก็ไม่ต้องไปรบกวนพระสงฆ์สาวกเพื่อทำการบวชให้จริงไหม? พูดไม่ออกแล้วล่ะซิ แต่อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ก็ยังถกเถียงต่อได้ อย่าเพิ่งด่วนสรุป เอาเป็นว่าผมเสนอว่าเรื่องครุธรรมนี้เป็นเงื่อนไขเฉพาะพระนางปชาบดีโคตมีใช่หรือไม่? ขอให้ไปคิดกันต่อ ส่วนผมว่าน่าจะใช่

2.ถ้าเรายอมรับว่าครุธรรม 8 นี้เป็นพุทธพจน์จริงและเป็นเงื่อนไขที่เสนอสำหรับกรณีพระนางปชาบดีโคตรมีจริง ฟังดูก็มีเหตุผล เพราะอย่าลืมว่าเหล่าศากยวงศ์นั้นมีทิฐิหรืออัตตาในเรื่อง “วงศ์” ค่อนข้างแรง เรื่องนี้ใครที่อ่านพุทธประวัติก็คงพอจะทราบว่าพวกศากยวงศ์นั้นยึดมั่นถือมั้นในโคตรวงศ์ของตน จะไม่ยอมแต่งกับคนนอกวงศ์ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์ไปบวชให้กับเหล่าศากยบุตรนั้น พระพุทธองค์บวชให้พระอุบาลีก่อน พระอุบาลีนั้นเดิมเป็นช่างตัดผมประจำราชสำนัก ทั้งๆที่เป็นคนจากวงศ์อื่นและเป็นวงศ์ที่เป็นขี้ข้า จากนั้นถึงค่อยบวชให้เหล่าศากยบุตร เมื่อบวชแล้วเหล่าศากยบุตรจึงต้องทำความเคารพพระอุบาลีเพราะถือว่าอาวุโสกว่า การที่พระพุทธองค์ทำเช่นนี้ก็เพื่อลดทิฐิหรืออัตตาของเหล่าศากยบุตรนั่นเอง ส่วนพระนางปชาบดี(และเหล่าศากยธิดาอีก 500)ซึ่งเป็นศากยวงศ์ด้วยเหมือนกัน ก็คงมีทิฐิหรืออัตตาในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย การกำหนดครุธรรม 8 นี้ก็เพื่อกำราบทิฐิหรืออัตตานี้ต่างหาก หาใช่มีเจตนาเพื่อกดสตรีลงให้เป็นรองบุรุษไม่ ถ้าไม่เชื่อไปอ่านในพระวินัยปิฎกหมวดอื่นๆดู แล้วจะเห็นว่าจริง(อย่างเช่นพระพุทธองค์ห้ามภิกษุใช้ภิกษุณีซักจีวรฯ เป็นต้น)

3.ต่อเนื่องจากข้อ 2 ถ้าเป็นพุทธพจน์จริงอย่างที่ว่า การบัญญัติครุธรรม 8 นี้ก็มีเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือเพื่อให้ภิกษุณีสงฆ์เป็นที่ยอมรับของฝ่ายภิกษุสงฆ์ อย่าลืมว่าตอนนั้นสถานภาพของสตรีในชมพูทวีปหาได้เท่าเทียมบุรุษไม่ โดยเฉพาะในทางศาสนา แล้วจู่ๆวันหนึ่งมีนักบวชผู้หญิงเกิดขึ้น แรงต้านทั้งจากภายในและภายนอกก็ต้องมีเป็นของธรรมดา ในขณะที่พุทธศาสนาเพิ่งเริ่มต้นและบรรดาสงฆ์สาวกก็มีทั้งที่เป็นอริยสงฆ์และสมมุติสงฆ์ ฝ่ายอริยสงฆ์คงไม่มีปัญหา แต่ฝ่ายสมมุติสงฆ์นี้ซิคงรับไม่ได้ ถ้าจัดการไม่ดีอาจมีผลลบต่อพุทธศาสนาโดยรวม การที่พระพุทธองค์บัญญัติครุธรรมก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น เป้าหมายก็เพื่อให้ฝ่ายสมมุติสงฆ์ยอมรับภิกษุณีบริษัท อย่างน้อยก็ดูเหมือนว่าตนนั้นอยู่เหนือนักบวชสตรีเหล่านี้ อันนี้ก็จะไปตรงกับคำอธิบายที่ว่าหากสตรีมาบวชแล้วอายุพุทธศาสนาจะสั้นลง ดังนั้นจึงกำหนดครุธรรม 8 ความหมายก็เพื่อป้องกันปัญหาภายในหมู่สงฆ์ด้วยกันเอง อย่าลืมว่านี้เพิ่งพรรษาที่ 5 แค่นั้นเอง เพราะถ้าเกิดปัญหาจนถึงขั้นสังฆเภท พุทธศาสนาก็ไปไม่รอด

ประเด็นนี้ฝ่ายค้านก็อาจแย้งได้ว่าในสมัยนั้นบรรดาสาวกของพระพุทธองค์ล้วนเป็นพระอรหันต์เป็นอริยสงฆ์ทั้งหมด ไม่ควรจะเป็นปัญหาอย่างที่ว่า อันนี้เป็นการมองที่ Romantic อย่างยิ่ง ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตลอดพระชนม์ชีพที่พระพุทธองค์ได้สั่งสอนสงฆ์สาวกมา สาวกส่วนหนึ่งที่บรรลุธรรมเป็นอริยสงฆ์ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นได้แค่สมมุติสงฆ์ การบัญญัติพระวินัยก็เกิดจากการกระทำผิดพลาดของเหล่าสมมุติสงฆ์นี้ทั้งนั้น อย่างกรณีเทวทัตและสาวกที่ตามเทวทัตไปนั้นเป็นอริยสงฆ์หรือ? หรืออย่างพระสุภัททะที่แสดงอาการดีใจเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพาน จนเป็นเหตุให้เกิดการทำสังคายนาครั้งที่ 1 นั้นเป็นอริยสงฆ์หรือ?

เรื่องครุธรรม 8 ที่ผมได้วิเคราะห์นี้ ถ้ายอมรับว่าเป็นพุทธพจน์ก็น่าจะมีเหตุผลอย่างที่ผมได้เสนอมา เป็นเหตุผลที่เหมาะสมและสอดคล้องแก่บุคคลและกาลเวลา เป้าหมายก็เพื่อความยั่งยืนแห่งภิกษุณีบริษัทและพุทธศาสนา และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะหลังจากสถาปนาภิกษุณีแล้วปรากฏว่ามีสตรีออกบวชอีกมาก ภิกษุณีบริษัทก็ตั้งมั่น ไม่ทำให้ผิดหวัง สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ(ผู้เป็นเลิศในด้านต่างๆ)ถึง 13 รูป ถ้าเปรียบเป็นธุรกิจก็ถือว่าได้ผลกำไรไม่ขาดทุน

ประเด็นที่เราควรคิดต่อก็คือเมื่อเรื่องครุธรรม 8 เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและเฉพาะกาล เหตุใดเมื่อเวลาผ่านไปเรายังยึดมั่นในครุธรรม 8 นี้อยู่ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ได้ไหม? หรือยกเลิกได้ไหม? ข้อเสนอสุดท้ายนี้รับรองว่าฝ่ายเถรวาทรับไม่ได้แน่ๆ เพราะหลักการของฝ่ายเถรวาทก็คือ “ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ ไม่เพิกถอนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ” หมายความว่าไม่เพิ่มหรือตัดสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว(แต่ความจริงที่ประจักษ์หาเป็นเช่นนั้นไม่) ดังนั้นถ้าจะเสนอให้ยกเลิกครุธรรม 8 นี้คงเป็นไปได้ยาก ทางออกที่พอจะทำได้ก็คือการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เท่านั้น แต่เถรวาทเมืองไทยบอกยืนกระต่ายขาเดียวว่า “ไม่ได้”  

ขอพูดถึงการยึดมั่นของฝ่ายเถรวาทสักนิด ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมา แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนหรือสถานการณ์ไม่เหมาะสม ก็มีพุทธานุญาตให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสิกขาบทนั้นๆ หากทรงเห็นว่าจะเป็นการเหมาะสมและมีประโยชน์กว่า  แม้แต่ก่อนที่จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานก็ทรงมีพุทธานุญาตให้เพิกถอนสิกขาบทเล็กๆน้อยๆนั้นได้ นี่คือพุทธวิธีที่เหมาะสมแก่รูปการณ์และเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นในวินัย วินัยหรือกฎก็เปรียบเสมือนรั้วที่เราสร้างเพื่อป้องกันภัย แต่ไม่ใช่สร้างอย่างแข็งแรงจนเราออกมาภายนอกไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นรั้วที่เราสร้างเพื่อป้องกันก็จะกลายเป็นที่กักกันฉันใดก็ฉันนั้น ฝ่ายเถรวาทที่อ้างว่าเคารพนับถือพระพุทธเจ้า กลับไม่ปฏิบัติตามพุทธดำรัสของพระบรมศาสนา ยึดมั่นถือมั่นเอาไว้หมด สรุปเอาดื้อๆว่าที่มีพุทธดำรัสให้ยกเลิกสิกขาบทได้นั้น พวกตนจะไม่ยกเลิกอะไรเลย นี่หรือคือความเคารพ ที่เรียกตนว่า “เถรวาท” นั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นพวกที่เชื่อในวาทะของพวกเถระรุ่นแรกที่ทำการสังคายนา อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ไม่ใช่พวก “พุทธวาท” ที่เชื่อในวาทะของพระพุทธเจ้า

ฝ่ายเถรวาทจึงรับไม่ได้ถ้าจะให้ปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกสิกขาบทใดๆ แต่ในความเป็นจริง จริงหรือ?ที่ฝ่ายเถรวาทยึดมั่น “ไม่บัญญัติในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ ไม่เพิกถอนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ” โดยเฉพาะเถรวาทในไทย

ส่วนประเด็นที่ว่าเรื่องครุธรรม 8 ประการนี้เป็นสิ่งที่สอดแทรกเข้าในพระไตรปิฎกตอนหลัง อันนี้ก็เป็นไปได้เพราะพระไตรปิฎกไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล สมัยนั้นมีแต่พระธรรมและพระวินัย พระพุทธองค์เองก็ไม่เคยตรัสคำว่า “พระไตรปิฎก” เลยแม้แต่สักครั้ง เชื่อว่าคำสอนในพุทธศาสนาที่ถูกจัดหมวดหมู่เป็น 3 หรือที่เรียกว่าพระไตรปิฎก อันประกอบด้วย พระสุตตันตะ พระวินัยและพระอภิธรรมนั้นน่าจะเกิดตอนที่บันทึกคำสอนเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อพศว.ที่ 6 หรืออาจจะหลังจากนั้น ท่านพุทธทาสเองท่านเชื่อว่าพระอภิธรรมไม่ใช่พุทธพจน์ พูดง่ายๆคือไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แต่เป็นคำอธิบายของเหล่าอรรถกถาจารย์รุ่นหลังที่ได้รวบรวมแล้ว “จับใส่พระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า” ก็ขนาด “ปิฎก” หนึ่งยังจับใส่ได้ ประสาอะไรกับครุธรรม 8 นี้จะจับใส่ไม่ได้ อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับแต่เชื่อว่าคงไม่ผิด

ตอนนี้กลับไปที่เรื่องภิกษุณีกันต่อดีกว่า


ภิกษุณีสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

ตั้งแต่มีภิกษุณีสงฆ์ในพรรษาที่ 5 เป็นต้นมา บริษัทฝ่ายนี้มั่นคงขึ้นตามลำดับ เพราะมีสตรีออกบวชอีกมากรวมทั้งพระนางยโสธรา ชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ และพระนางเป็น 1 ในภิกษุณีสงฆ์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะซึ่งมีทั้งหมด 13 รูป อาทิ พระนางปชาบดีโคตรมีเป็นเลิศทางรัตตัญญูคือรู้ราตรีนาน พระนางเขมาเถรีเป็นเลิศทางปัญญา พระอุบลวรรณาเถรีเป็นเลิศทางมีฤทธิ์ ฯลฯ ในเถรีคาถายังกล่าวถึงสตรีที่ออกบวชแล้วบรรลุธรรมมีทั้งสิ้น 73 รูป นี่ก็คงพอที่จะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าภิกษุณีบริษัทนั้นรุ่งเรืองและสำเร็จผลได้จริงๆ กล่าวได้ว่าไม่ทำให้พระพุทธองค์ผิดหวังว่างั้นเถอะ

แต่เรื่องราวภิกษุณีมีน้อยมากในพระไตรปิฎก เท่าที่หาก็มี “เถรีคาถา” ซึ่งอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย และใน “ภิกขุณีวิภังค์ และ จุลวรรค” ในพระวินัยปิฎกเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็มองไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าพระไตรปิฎกเขียนโดยพระผู้ชายจนมีลักษณะ androcentric คือ แสดงความเป็นใหญ่ของผู้ชายอย่างชัดเจน  เลยไม่ให้ความสำคัญต่อพระผู้หญิง บ้างก็ว่าภิกษุณีถูกตัดตอนไปตั้งแต่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว จะเห็นได้จากการสังคายนาครั้งที่ 1 นั้นไม่มีข้อมูลว่ามีภิกษุณีเข้าร่วมเลย ประเด็นนี้พระมหากัสสปะโดนเข้าไปเต็มๆ (รายละเอียดอ่านใน “เหตุเกิด พ.ศ.1 ของพระมโน”) ดังนั้นภิกษุณีจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมในพระไตรปิฎก

หากไปดูในมหาปรินิพพานสูตรซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฝากพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระธรรมพระวินัย ที่มีพุทธดำรัสเช่นนี้ก็ยืนยันว่า “ภิกษุณีสงฆ์” นั่นได้ตั่งมั่นเป็นหลักสำคัญหนึ่งในพุทธบริษัท และเป็นบริษัทหนึ่งที่พระองค์มั่นพระทัย มิฉะนั้นพระพุทธองค์คงไม่ฝากให้ช่วยดูแลพระธรรมพระวินัยซึ่งจะมาทำหน้าที่เป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์ อย่างเราๆท่านๆถ้าจะฝากฝังใครให้ช่วยดูแลของสำคัญ ถ้าไม่มั่นใจเราคงไม่ฝากฝังใช่ไหม? ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ


311 สิกขาบทสำหรับภิกษุณีสงฆ์

เราทราบกันดีว่าวินัยของภิกษุสงฆ์นั้นมี 227 ข้อ ส่วนวินัยของภิกษุณีสงฆ์นั้นมี 311 ข้อ และวินัยบัญญัตินี้เชื่อว่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว(แต่บางคนก็แย้งว่ามีเพิ่มเติมภายหลังด้วยโดยเฉพาะวินัยของภิกษุณีสงฆ์ ประเด็นนี้ก็ถกเถียงได้ แต่ขอละไว้ก่อน) เมื่อเห็นตัวเลขที่ต่างกันเช่นนี้บางคนก็ตีความว่าเหตุที่มีวินัยฝ่ายภิกษุณีสงฆ์มากก็เพื่อกันพวกผู้หญิงไม่ให้เข้ามาบวช เพราะถ้าบวชก็ต้องถูกวินัย 311 นี้กำกับคงอยู่ได้ไม่นาน คือตั้งไว้เพื่อให้ขยาดว่างั้นเถอะ แสดงว่าคนที่พูดอย่างนี้ไม่เข้าใจ เอาเข้าจริงตัวเลขจะมากจะน้อยแทบจะไม่มีนัยสำคัญ เอาล่ะจะเล่าให้ฟัง

การบัญญัติวินัยสงฆ์รวมทั้งการปรับอาบัตินั้นเกิดจากสงฆ์กระทำผิดหรือกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมแก่สมณเพศ พระพุทธองค์จึงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ หากใครละเมิดก็วางกติกาการลงโทษที่เรียกว่าปรับอาบัติไว้ ตั้งแต่ความผิดขั้นเล็กน้อยไปจนถึงขึ้นอุกฤต หมายความว่าต้องมีการกระทำเกิดขึ้นก่อนถึงจะบัญญัติข้อห้ามตามมาทีหลัง ด้วยเหตุนี้ถ้าพระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพต่อมาอีก ก็จะมีวินัยเกิดขึ้นอีกไม่ว่าทั้งฝ่ายภิกษุหรือภิกษุณี ดังนั้นตัวเลข 227 หรือ 311 จึงไม่ใช่ตัวเลขตายตัว เผลอๆถ้าภิกษุทำผิดมากๆตัวเลขฝ่ายภิกษุก็อาจจะมากกว่าภิกษุณีก็ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคแรกๆของพุทธศาสนายังไม่มีวินัยบัญญัติ เนื่องจากตอนนั้นยังมีพุทธสาวกไม่มากอีกทั้งสาวกทั้งหมดเป็นพระอริยสงฆ์จึงไม่ได้ทำอะไรที่ผิดพลาด ต่อมาเมื่อมีสาวกมากขึ้นส่วนหนึ่งเป็นสมมุติสงฆ์ ตอนนี้แหละที่เริ่มมีการกระทำผิดและตอนนี้แหละที่เริ่มมีการบัญญัติพระวินัย ดังนั้นสิกขาบทดังกล่าวจึงมีไว้เพื่อกำกับบรรดาสมมุติสงฆ์เป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภิกษุหรือภิกษุณี นอกจากนี้จะเห็นว่าสิกขาบทภิกษุณีส่วนหนึ่งกำหนดไว้เพื่อเป็นการปกป้องมิใช่มีไว้เพื่อทำลาย เช่น กำหนดไว้ว่าภิกษุณีต้องจำพรรษาในอารามที่มีภิกษุอยู่ด้วย ต้องไม่เดินทางไปไหนเพียงรูปเดียว ฯ

อีกประการหนึ่งการนับจำนวนสิกขาบทของภิกษุทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่เหมือนกัน เช่นวินัยของภิกษุณีนับเป็นหลายข้อแต่วินัยอย่างเดียวกันของฝ่ายภิกษุนับเป็นข้อเดียว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัวเลขสิกขาบทฝ่ายภิกษุณีมีมากกว่าฝ่ายภิกษุ

อย่างไรก็ตามยังมีการลักหลั่นในการปรับอาบัติระหว่างภิกษุกับภิกษุณี แม้จะเป็นความผิดอย่างเดียวกัน เรื่องนี้อาจมีเหตุผลอยู่เบื้องหลังหรือว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมต่อนักบวชสตรีจริงๆ ประเด็นนี้ก็ขอข้ามไปก่อนเช่นกัน

เอาเข้าจริงถ้าผู้ที่เข้าบวชสำรวมกาย วาจา ใจ ควบคุมให้อยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ พระวินัยเหล่านี้แทบไม่มีความหมายเอาเลย ไม่ว่าสิกขาบทจะมากหรือน้อยก็ตาม เพราะหากตั้งใจปฏิบัติตามหลักคำสอนมีหรือที่จะพลาดไปทำผิด เคยอ่านเรื่องหลวงปู่รูปหนึ่ง(ไม่แน่ใจว่าหลวงปู่มั่นหรือไม่)บอกว่าพระวินัยที่ท่านยึดมั่นมีข้อเดียวคือ “ใจ” ถ้าเราคุมใจเราได้พระวินัยต่อให้เป็นพันก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นจำนวนพระวินัยหรือสิกขาบทจึงไม่มีนัยสำคัญใดๆที่จะมากีดกันไม่ให้สตรีออกบวช เพราะในอดีตสตรีก็ออกบวชเป็นจำนวนมาก แม้ในปัจจุบันสตรีก็ยังออกบวชและกำลังจะบวชอีกมาก อย่างที่กำลังเกิดในบ้านเราขณะนี้ ดังนั้นที่อ้างว่าพระวินัย 311 มีไว้เพื่อให้สตรีขยาดหรือทนเป็นภิกษุณีไม่ได้ ก็ไม่จริง


ความเป็นมาของภิกษุณีสงฆ์หลังพุทธกาล

เรื่องราวของภิกษุณีสงฆ์หลังพุทธกาล โดยเฉพาะในอินเดีย ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็พอจะค้นหาได้ก็จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

เรื่องราวภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียและศรีลังกา หลักฐานที่เก่าแก่ก็คือคัมภีร์ “ทีปวงศ์” และ “มหาวงศ์” คัมภีร์ทั้ง 2 นี้ได้เล่าเรื่องราวของภิกษุณีสังฆมิตตา ธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่มาบวชให้นางอนุฬาและเหล่าสตรีแห่งอนุราธปุระในศรีลังกา เหตุการณ์นี้เกิดในพุทธศตวรรษที่ 3 (ต่อไปจะใช้ตัวย่อว่า พศว.) คัมภีร์ทีปวงศ์จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับภิกษุณีสงฆ์มากกว่าคัมภีร์มหาวงศ์ เชื่อว่าเพราะผู้บันทึกเป็นภิกษุณีสงฆ์ และเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งค้นพบอารามและเจดีย์ของพระนางอนุฬาเถรีพร้อมเหล่าภิกษุณีชาวสิงหล อยู่นอกเมืองอนุราธปุระที่ไปทางมหินตเล การค้นพบนี้มีจารึกที่อยู่บนลานหินเป็นเครื่องยืนยัน หลักฐานี้ได้แสดงว่าในพศว.ที่ 3 นั้นภิกษุณีสงฆ์ได้เผยแพร่จากอินเดียมาสู่ศรีลังกาจริง

ส่วนหลักฐานในอินเดียที่ยืนยันว่าในพศว.3 ยังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ก็คือจารึกของพระเจ้าอโศกที่สารนาท ซึ่งระบุให้ภิกษุและภิกษุณีอย่าทำให้เกิดการแตกแยก ดังนั้นคนที่เคยอ้างว่าภิกษุณีสงฆ์หมดไปเมื่อสมัยพุทธกาลแล้ว และอ้างต่อว่าตอนที่ทำสังคายนาครั้งที่ 1 ก็ไม่มีภิกษุณีปรากฏแล้วนั้น ความเชื่อนี้ก็ผิด นอกจากนี้ในบันทึกของพระฟาเหียนที่มาศึกษาในอินเดียเมื่อพศว.10 นั้นกล่าวว่าที่เมืองสังกัสสะ มีภิกษุและภิกษุณีนับพัน นี้แสดงว่าภิกษุณีสงฆ์ยังมีในดินเดียสืบต่อมา

จากการค้นคว้าของอาจารย์ปีเตอร์ สกีลลิ่งทำให้ทราบว่ามีจารึกที่กล่าวถึงภิกษุณีในอินเดียและดินแดนใกล้เคียงซึ่งมีอายุเรื่อยมาจนถึงพศว.ที่ 16 จารึกที่พบนั้นมีตั้งแต่เหนือสุดที่กัตมัณฑุ ในเนปาล ทางภาคกลางของอินเดียที่ พิหาร สาญจี โกสัมพี มถุรา ตะวันตกสุดที่รัฐมหาราษฎร์ ตะวันออกที่เบงกอลตะวันตก และอมราวดี(ถ้าจำไม่ผิดอ.สกีลลิ่งเคยบรรยายหัวข้อนี้ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไปขอข้อมูลได้) จากหลักฐานที่อ.ปีเตอร์ สกีลลิ่งนำมาเสนอนี้ได้ยืนยันว่าภิกษุณีสงฆ์มีอยู่ในอินเดียจนถึงพศว.ที่ 16

ส่วนหลักฐานทางศรีลังกาก็ระบุเช่นเดียวกันว่ามีภิกษุณีตั้งแต่พศว.3 เรื่อยมาถึงพศว.16 เช่นกัน จากนั้นก็ขาดสูญ ต่อมาฝ่ายภิกษุสงฆ์ของศรีลังกาสามารถฟื้นคืนมาได้(สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุ ในพศว.ที่18) ด้วยความช่วยเหลือของพระพม่า จากอาณาจักรพุกาม แต่ปรากฏว่าฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ไม่ได้รับการฟื้นฟูด้วยแต่อย่างใด ตั้งแต่นั้นมา(ฝ่ายเถรวาท)ก็เชื่อกันว่าภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้วอย่างสิ้นเชิง สืบต่อไม่ได้อีกแล้ว

แต่มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งใน พศว.10 คือการสืบสายภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาไปจีน เรื่องราวนี้ปรากฏในงานเขียนของพระเปาซางระซึ่งบุว่า ใน ค.ศ.433 หรือ พ.ศ.976 คณะภิกษุณีสงฆ์ศรีลังกาได้เดินทางไปบวชให้แก่สตรีชาวจีนที่เมืองนานกิง ด้วยเหตุนี้จึงมีภิกษุณีบริษัทในฝ่ายมหายานตั้งแต่นั้นสืบมา และภิกษุณีฝ่ายมหายานเหล่านี้เป็นนิกายธรรมคุปต์ ที่ถือสิกขาบทใกล้เคียงกับฝ่ายเถรวาท จากความสัมพันธ์นี้ได้ช่วยให้ฝ่ายเถรวาทที่ต้องการสืบต่อภิกษุณีบริษัทได้อาศัยภิกษุณีฝ่ายมหายานสายนี้แหละช่วยบวชให้ ก็เหมือนกับฝ่ายภิกษุสงฆ์ที่สยามเราได้มาจากลังกา พอสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทางลังกาสิ้นวงศ์ไม่มีภิกษุเหลือก็มาขอสืบต่อจากสยาม กลายเป็นสยามวงศ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน แต่การที่สตรีฝ่ายเถรวาทไปขอบวชจากภิกษุณีมหายานนี้ ฝ่ายภิกษุเถรวาท(ส่วนหนึ่ง)ไม่ยอมรับอ้างว่าเป็นคนละนิกาย เดี๋ยวจะตอบเรื่องนี้ให้ละเอียดในตอนท้าย

ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียเล่าว่า พระนางราชปัตนี พระอัยยิกาของพระเจ้าราชัสนครแห่งราชวงศ์มัชปาหิต ได้ออกผนวชอยู่ที่ถ้ำคุวาปาชีร์ และอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.1893 เราไม่ทราบแน่ชัดว่าพระนางออกผนวชเป็นชีหรือภิกษุณีกันแน่ มีทางเป็นไปได้เช่นกันที่จะเป็นภิกษุณี เพราะที่ชวาเป็นทางผ่านของสินค้าและอารยธรรม แม้สงฆ์ฝ่ายนิกายอภัยคีรีของศรีลังกาก็ยังมีสาขาอยู่ที่นี่ อาจเป็นไปได้ที่ภิกษุณีจากอินเดียหรือจากศรีลังกาได้มาบวชให้แก่สตรีชาวพุทธที่นี่ เรื่องนี้ต้องค้นกันต่อ อย่างที่ว่า “สิ่งที่เราไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มี” ที่ผ่านมาเราเชื่อว่าในอุษาคเนย์เราไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์ แต่ก็ไม่แน่

ก่อนเข้าสู่เรื่องภิกษุณีสงฆ์ในบ้านเราขอพูดเรื่อง “อคติ” สักนิด ในพุทธศาสนากล่าวว่าอคตินั้นคือหนทางที่ไม่ควรไป เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดถือปฏิบัติ อคตินั้นเกิดจาก โกรธ เกลียด หลงและไม่รู้ การขัดขวางการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ของฝ่ายเถรวาทโดยอ้างพระวินัยและอื่นๆนั้น เมื่อศึกษาให้ดีแล้วจะพบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “กฎเกณฑ์” หากเป็นเรื่อง “กีดกัน” มากกว่า และเหตุของการกีดกันที่ว่านี้ก็มาจากอคตินี้แหละ


ภิกษุณีสงฆ์ในสยาม

มีปราสาทโลหะสูงประมาณ 1 เมตร ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ห้องศิลปะเชียงแสน ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร ที่ฐานมีจารึกเขียนด้วยอักษรธรรมล้านนา ระบุศักราช 1089 ซึ่งก็คือจุลศักราช เทียบเป็น พ.ศ. ก็คือ พ.ศ.2270 ข้อความจารึกกล่าวถึงเจ้าเมืองเชียงราย ชายาและบุตร สร้างปราสาทโลหะนี้เพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระธาตุ ในส่วนคำอธิฐานนั้น “บุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญา” ผู้เป็นชายาเจ้าเมืองเชียงรายได้กล่าวว่า “...เมื่อใดพระอริยเมตไตรยเจ้าลงมาตรัสสัพพัญญุตัญญาณเป็นพระในโลกนี้ หื้อผู้ข้าทั้งหลายแม่ลูกเป็นพุทธุปัฏฐากแล้ว หื้อข้าได้ออกบวชเถิงอรหันตาภิกขุณีแม้นลูกข้าทั้ง 2 ก็หื้อได้เถิงอรหันตาชู่คน...”

นี่เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สตรีล้านนา(หรือสยาม)ในอดีตก็ปรารถนาที่จะได้บวชเป็นภิกษุณีเรื่องสตรีต้องการออกบวชในสังคมเราไม่ใช่เพิ่งมีเมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 ที่นายนรินทร์กลึงบวชลูกสาวทั้งสองหรือสมัยหลวงแม่วรมัย-หลวงแม่ธัมมนันทานี้เท่านั้น แต่มีมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ที่น่าสนใจก็คือคำอธิฐานนี้ปรารถนาให้เป็นจริงในโลกหน้า ในโลกของพระศรีอาริยเมตไตรย ไม่ใช่ในโลกนี้ที่เป็นโลกของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เรื่องนี้ตอบไม่ยาก เพราะคำอธิบายหรือจะเรียกว่า “มายาคติ” ก็ไม่ผิดที่เชื่อกันว่าภิกษุณีสงฆ์ได้สิ้นไปหมดแล้ว ไม่สามารถสืบสายวงศ์ต่อใหม่ได้ในโลกของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ถ้าสตรีใดประสงค์จะบวชก็ตั้งจิตอธิฐานเอาในโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ “บุษบาสิริวัฒนฯ” เธอจึงอธิฐานออกมาเช่นนั้น

นอกจากนี้ที่ฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย-เชียงแสน(อยู่ที่กุฏิคณะ 15 วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์) มีจารึกเขียนว่า “พระเจ้าแม่ศรีมหาตา ขอปรารถนาเป็นผู้ชายชั่วหน้า จุงข้าได้เป็นศิษย์ตนพระศรีอาริยโพธิสัตว์เจ้าแต่ทานข้าทั้งผองแห่งองค์พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองกับแม่พระพิลกและแม่ศรี ให้เป็นข้าจังหันพระเจ้า”

“พระเจ้าแม่ศรีมหาตา” ก็คือพระมารดาของพระมหาธรรมราชาบรมปาล(กษัตริย์สุโขทัยองค์สุดท้าย)และเป็นพระมารดาของพระชายาเจ้าสามพระยาแห่งอยุธยาด้วย พระนามนี้ตั้งโดยเจ้าสามพระยา ส่วน “พระพิลก” ก็คือพระมารดาของพระเจ้าติโลกราช

จารึกทั้งสองนี้มีความสำคัญเนื่องจากเป็นพยานเรื่องความต้องการออกบวชของสตรีในบ้านเมืองเรา ซึ่งมีมาแล้วอย่างน้อยก็ 300 กว่าปี ประเด็นนี้น่าสนใจว่าเหตุใดสังคมเราซึ่งมีมายาคติเรื่องผู้หญิงบวชไม่ได้ ยิ่งในตอนนั้นความเชื่อนี้คงต้องแรงมากกว่านี้ อีกทั้งเมื่อ 300 ปีก่อนสถานภาพของสตรีบ้านเราคงไม่ดีเช่นทุกวันนี้ แต่เหตุใด “บุษบาศิริวัฒนฯ พระแม่ศรีมหาตา พระแม่พิลก” นางนี้ถึงยังต้องการออกบวชเป็น “อรหันตาภิกขุณีและศิษย์พระศรีอาริยเมตไตรย”พูดง่ายๆก็คือสตรีเหล่านี้ต้องการบรรลุธรรมหรือนิพพาน นางทั้ง 3 ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ เพราะที่ล้านนานั้นผู้หญิงเป็นของแสลงสำหรับศาสนา ยิ่งในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์แล้วละก็ผู้หญิงเป็นของต้องห้ามเลยทีเดียว ผู้หญิงจึงถูกมองว่าเป็น “เมียและแม่” ในทางโลกและเป็น “มาร” ในทางศาสนาไม่เชื่อฟังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้


มายาคติว่าด้วยเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุในล้านนา

คงจำกันได้เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวครึกโครมเรื่องส.ว.ระเบียบรัตน์ไปสอบถามเรื่องเหตุใดที่พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุดอยตุงจึงมีป้ายห้ามสตรีเข้า ที่ถามไปนั้นก็เพื่ออยากทราบเหตุผล แต่อาจด้วยภาพลักษณ์ของเธอที่ทำงานด้านสิทธิสตรี จึงทำให้ฝ่ายตอบโต้ส่วนมากเป็นผู้ชายและมีอายุ(ทั้งพระและชาวบ้าน)ออกมาอัดเธอซะน่วมไปเลย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของเหตุการณ์นี้ก็คือได้ช่วยเปิดโอกาสให้มีการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับพุทธศาสนากันมากขึ้น

ฝ่ายตอบโต้คุณระเบียบรัตน์บอกว่าพระธาตุฝังไว้ไต้ดิน แล้วสร้าง “ยนต์จักรผัน” ใส่ไว้เพื่อป้องกันผู้ที่จะมาขุดทำลายพระธาตุ ยนต์จักรผันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงห้ามสตรีเข้าใกล้ ไม่เช่นนั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเสื่อม บ้างก็อ้างว่าพระบรมธาตุเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าใกล้พระสงฆ์ เมื่อพระธาตุเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเองดังนั้นผู้หญิงจึงไม่ควรเข้าใกล้ บ้างก็อ้างสิทธิเสรีภาพในประเพณีของท้องถิ่นที่ต้องได้รับการเคารพนับถือ ฯลฯ ผมยกคำอธิบายของฝ่ายตอบโต้คุณระเบียบรัตน์มาให้ทราบพอเป็นพิธี อยากรู้รายละเอียดไปอ่าน “ผู้หญิงกับพระธาตุ” สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ บรรณาธิการ(มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง)

ผมขอข้ามประเด็นเรื่องความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นล้านนาที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุและผู้หญิงไปก่อน เพราะถ้าเถียงคงต้องลงลึกในรายละเอียดอีกมาก เข้าประเด็นเรื่องพุทธศาสนากับผู้หญิงเลย พุทธที่ผมว่านี้หมายถึง “พุทธไทย” ที่มีทั้งผีและพราหมณ์หรือลัทธิความเชื่ออื่นๆผสมรวมอยู่ด้วย(และรวมถึงพุทธในที่อื่นๆที่มีลักษณะแบบเดียวกันนี้เช่น พม่า มอญ ฯ) หรือจะเรียกว่า “พุทธผสมหรือพุทธเทียม” ก็คงไม่ผิด บรรดาพุทธไทยหรือพุทธผสมเหล่านี้แหละที่หาเหตุผลมากีดกันผู้หญิงไม่ให้เข้ามามีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในศาสนาเหมือนผู้ชาย ข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุในล้านนานั้นก็คือการต่อยอดของอคติอันนี้

เท่าที่รู้ความมา ผมพยายามที่จะไม่ไปละเมิดความเชื่อของผู้คน(แต่ก็พลาดบ้างเป็นบางครั้ง) ไม่ว่าเขาจะเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์อะไรก็ตาม ทั้งๆที่ผมไม่เชื่อ ผมก็เคารพและไม่ไปยุ่งเกี่ยวตราบใดที่ความเชื่อนั้นไม่ไปทำร้ายคนอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะนี้เป็นสิทธิของเขาที่จะเชื่อ เอาเข้าจริงความเชื่ออย่างเรื่องพระธาตุกับผู้หญิง ก็มิได้มีแง่มุมในทางลบแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหนึ่งในคนที่เชื่อในทางบวกคือยายผมเอง ทุกครั้งที่ผมพายายไปไหว้พระธาตุดอยตุง ยายจะไม่ยอมเหยียบขึ้นบนลานพระธาตุเลย ยายไม่เหยียบเพราะยายเคารพพระธาตุ และความจริงผมเป็นผู้ชายก็ไม่ควรเข้าไปเหยียบด้วยเหมือนกัน เอาเข้าจริงในเขตพระธาตุนั้นมันมีอะไร เข้าไปแล้วมันได้อะไร ถ้าเราจะให้ความเคารพพระธาตุกันจริงๆแล้วละก็ ไม่ควรให้ใครไม่ว่าหญิงหรือชายเข้าไป ถ้าเชื่ออย่างนี้ก็ควรแก่การยกย่อง ถ้าเชื่ออย่างนี้ก็ไม่เสียทั้งชายและหญิง ถ้าเรารู้จักจัดการกับความเชื่อ จัดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างความเชื่อที่ต่างกัน ผมว่าเราอยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข ถ้าสร้างจารีตไม่ให้ใครเข้าไปในเขตพระธาตุด้วยเหตุผลเพื่อความเคารพ อันนี้รับได้ ส่วนความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเข้าในเขตพระธาตุไม่ได้เพราะสกปรกเนื่องจากมีประจำเดือน อันนี้รับไม่ได้จริงๆ

ถามจริงๆเถอะ “ถ้าผู้หญิงไม่มีประจำเดือน ผู้ชายหน้าไหนจะได้เกิด?” การมีประจำเดือนเป็นสัญญาณของความเป็นแม่ ถ้าคิดว่าประจำเดือนเป็นสิ่งสกปรก ลูกชายที่เกิดมาก็ต้องสกปรกด้วยซิ ก็ออกมาจากที่เดียวกันไม่ใช่หรือ?

ขอย้ำอีกทีว่าข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระธาตุนั้นเป็นการต่อยอดของอคติทางเพศในพุทธศานาแบบไทยๆคือเป็นพุทธผสมหรือพุทธเทียม เพราะถ้าเป็นพุทธแท้ๆจะไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าอยากจะรู้ว่าพุทธแท้เป็นอย่างไรก็ต้องไปศึกษาจากพระไตรปิฎก บางคนฟังแล้วหงุดหงิดว่าทำไมไม่บอกให้รู้เสียเลยล่ะ ก็เพราะวันนี้ไม่ได้มาพูดเรื่องพุทธแท้พุทธเทียม แต่มาพูดเรื่องภิกษุณีสงฆ์เดี๋ยวจะหลุดประเด็นไป

แล้วล้านนาในอดีตมีความเชื่อที่ส่อไปทางอคติต่อผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน? ความเชื่อที่เอนเอียงไปทางผีกับพราหมณ์จะมีอคติอย่างนี้แรง พวกที่สักยันต์ตามร่างกายจะไม่ยอมลอดราวผ้าถุง จะไม่ยอมลอดไต้ถุนบ้าน ขนาดใบกล้วยยังไม่ยอมลอดด้วยเชื่อว่าผีต้นกล้วยเป็นผีผู้หญิง เอาเข้าไปโน่น ส่วนที่เอียงมาทางพุทธมากหน่อยก็มีท่าที่ที่ดีต่อสตรี สตรีไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม ดั่งที่มีคัมภีร์เล่มหนึ่งของล้านนายังกล่าวสรรเสริญภิกษุณีสงฆ์เลย


อุปปาตะสันติหรือมหาสันติงหลวง

คัมภีร์อุปปาตะสันติหรือที่ทางล้านนาเรียกว่า “มหาสันติงหลวง” แต่งโดยพระมังคลศีลวงศ์ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ มีทั้งหมด 271 คาถา ใช้สวดในพิธีสะเดาะเคราะห์หรือเพื่อความเป็นสิริมงคล คัมภีร์นี้สูญไปจากเมืองล้านนานานแล้ว โชคดีที่ยังเหลืออยู่ที่พม่า เราเพิ่งแปลงจากอักษรพม่ามาเป็นไทยเมื่อไม่นานมานี้ เนื้อหาของคัมภีร์นี้ก็คล้ายๆบทสวดชินบัณชรคือกล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัยตลอดจนเทพเทวดาและอัญเชิญให้มาปกปักษ์รักษา แต่ที่สำคัญคือในบทที่กล่าวถึงบรรดาพุทธสาวกที่ยิ่งใหญ่ ไม่กล่าวเฉพาะฝ่ายภิกษุสงฆ์เท่านั้น หากกล่าวถึงภิกษุณีสงฆ์ทั้ง 13 รูปที่ได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะด้วย

ทราบว่าที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็สวดอุปปาตะสันตินี้เป็นประจำ เรื่องนี้ไม่แปลก แต่ถ้าไม่สวดซิถึงจะแปลก

มีคัมภีร์หนึ่งของภาคเหนือ ชื่อ “มาลัยโผดโลก” หรือ มาลัยโปรดโลก กล่าวถึงพระมาลัยไปโปรดสัตว์นรกก่อนกลับท้าวยมบาลได้ขอให้พระมาลัยไปบอกชาวโลกว่าให้เร่งทำบุญ อย่าได้ทำบาป จะได้ไม่ต้องมาตกนรก ทำให้ท่านท้าวต้องมีภาระหนัก บาปหนักที่ยมบาลกล่าวไว้ก็คือ

“...อย่ากวนเกาด่าชีตีพราหมณ์ อย่าใจหามด่าพ่อตีแม่ อย่าได้ตัดไม้สรีมหาโพธิ์ อย่าม้างแก้วโกฐิเจดีย์ อย่ากระทำร้ายแก่ภิกษุณีกระทำหื้อเลือดตีนพระเจ้าออก...”

น่าสังเกตว่าคัมภีร์นี้ได้ระบุว่าการทำร้ายภิกษุณีถือว่าเป็นบาปหนักอย่างหนึ่ง แต่พระที่เทศน์หรือคนที่ฟังเทศน์กัณฑ์นี้ก็คงฟังผ่านๆ ไม่สะกิดใจแต่อย่างใดว่าทางพุทธศาสนานั้นได้ระวังหวงแหนภิกษุณีสงฆ์มากเพียงไร หลายคนคิดว่าก็ล้านนาไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้วจะไปคิดให้ปวดหัวทำไม ผิดไปล่ะครับเรื่องศาสนาไม่ใช่เรื่องของรัฐหรือเรื่องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ของเราชาวพุทธทุกคน ผู้ที่บวชเป็นภิกษุณีสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมหายานหรือหินยานก็ตาม ล้วนเป็นภิกษุณีที่เราไม่ควรทำร้ายทั้งสิ้น อันนี้น่าสนใจว่าสิ่งที่ภิกษุสงฆ์บางรูปโดยเฉพาะในมหาเถรสมาคมทำต่อภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยขณะนี้นั้นถือว่าเป็นถือว่าเป็นการทำร้ายใช่หรือไม่? น่าคิด แต่ผมว่าใช่

สยามประเทศก็ใช่ว่าจะไม่รับรู้หรือหลงลืมภิกษุณีสงฆ์ เพียงแต่ว่าหลักฐานที่ว่านี้เรายังไม่ได้ค้นหาหรือยังไม่พบ พุทธศาสนิกชนต่างก็รู้จักภิกษุณีสงฆ์ทั้งนั้น เมื่อใดที่กล่าวถึงพุทธบริษัท 4 เราก็ต้องเอ่ยถึงภิกษุณีอยู่เสมอ ถ้าเราไปวัดเทพธิดารามและวัดพระเชตุพนฯหรือวัดโพธิ์เราก็จะได้เห็นรูปและภาพภิกษุณีสงฆ์ หรืออย่างคัมภีร์อุปปาสันติก็มีบทสรรเสริญเหล่าภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นเอตทัคคะ เรื่องภิกษุณีสงฆ์ความจริงยังมีหลงเหลืออยู่บ้างในสังคมเราเพียงแต่ไม่เปิดเผยให้รับรู้มากแค่นั้นเอง  


การฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ในสยาม

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าบ้านเมืองเราไม่เคยมีภิกษุณีมาก่อนและไม่เคยมีความพยายามที่จะรื้อฟื้น จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ที่นายนรินทร์กลึงได้บวชลูกสาวของตน คือ สาระและจงดี ใน พ.ศ.2471 ถือว่านี้เป็นครั้งแรกที่บ้านเมืองนี้มีผู้หญิงออกบวช ด้วยเป็นเรื่องที่สังคมโดยเฉพาะพระสงฆ์ไม่คาดคิดมาก่อน เลยได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ขัดต่อความเชื่อที่มาแต่โบราณว่าภิกษุณีสงฆ์ขาดสายไปแล้ว แล้วยังอุตริบวชอีกทำไม แน่นอนว่าเรื่องนี้มหาเถรสมาคมต้องเป็นเดือดเป็นร้อน สมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ถึงกับมีพระลิขิตสั่งห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์บวชให้แก่สตรี ดังมีรายละเอียดดังนี้

 

“คำสั่งสมเด็จพระสังฆราช"

ประกาศ

หญิงเป็นบรรพชิต

           
หญิงซึ่งจักได้สมมติตนเป็นสามเณรีโดยถูกต้องตามพระพุทธานุญาตนั้น สำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา 12 ล่วงแล้วเป็นปวัตตินีคือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มี เป็นอันเสื่อมสูญตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติ เพิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ฯ

           
เพราะเหตุนี้ ห้ามพระเณรทุกนิกายบวชหญิงเป็นภิกษุณี สิกขมานาและเป็นสามเณรีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

           
ประกาศแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2471”

           
พระลิขิตฉบับนี้เปรียบเสมือนคำประกาศิตที่สงฆ์ไทยยึดมั่น เมื่อไรก็ตามที่มีเรื่องภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้น ต้องมีคนนำพระลิขิตนี้มาอ้างเพื่อต่อต้านเสมอ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปมากแล้วก็ตาม ฝ่ายค้านก็ยังยึดมั่นพระลิขิตนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยไม่เคยพิจารณาว่าคำสั่งนี้ออกมาในสถานการณ์ใด? อย่างไร?  และที่สำคัญคำสั่งนี้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่? อย่างกฎหมายที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมหรือล้าสมัยเขายังเลิก และที่อ้างว่าเป็นพระลิขิตต้องปฏิบัติตาม จริงหรือ? แล้วพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชฯองค์ที่อยู่ในพระโกศซึ่งบัญชาให้จับธัมมชโยวัดพระธรรมกายสึกล่ะ ไม่เห็นมหาเถรสมาคมหรือบรรดาสงฆ์ไทยปฏิบัติตาม แล้วนี่จะอธิบายว่าอย่างไร?  สองมาตรฐานนี่หว่า!


พ.ศ. 2475 ปฏิรูปการปกครองแผ่นดินแต่ลืมปฏิรูปคณะสงฆ์

มีคนวิจารณ์ความผิดพลาดของคณะราษฎร์อย่างหนึ่งก็คือการไม่ปฏิรูปคณะสงฆ์ คณะราษฎร์ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนการปกครอง แต่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการคณะสงฆ์ไทยที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ โดยมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด เพื่อให้เข้าใจประเด็นนี้ ขอย้อนความเพื่อให้เข้าใจสักนิดว่า แต่เดิมก่อนนั้นการบริหารจัดการคณะสงฆ์ถือพระวินัยเป็นหลัก ส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองอยู่บ้างก็บรรดาสงฆ์ที่อยู่ในเขตเมืองหลวง เช่น อยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ฯ ซึ่งอาจมีกฎเกณฑ์ของบ้านเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ ส่วนสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเล็กๆหรือในชนบทนั้นล้วนใช้พระวินัยเป็นเกณฑ์ในการควบคุมการประพฤติ พระกับชาวบ้านมีความหมายและใกล้ชิดกัน กล่าวโดยสรุปก็คือพระสงฆ์สมัยก่อนเป็นอิสระจากรัฐและมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านสูง โดยยึดพระวินัยเป็นหลัก

 พอสิ้นอยุธยา สงฆ์ก็ถูกกระทบกระเทือนไปด้วยถึงขั้นเสื่อมเลยก็ว่าได้ เมื่อตั้งกรุงธนบุรีได้ 15 ปี การพระศาสนาก็ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อให้การคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัชกาลที่ 1 จึงได้ตรากฎหมายสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่อำนาจของกฎหมายนี้ก็จำกัดเฉพาะในเขตอำนาจของรัฐสยามเท่านั้น ยังไม่ล่วงไปถึงล้านนา อีสานหรือทางไต้ เอาเข้าจริงก็คงจะควบคุมได้เฉพาะพระนครหลวงเท่านั้น ส่วนเขตนอกๆก็ยังเป็นแบบเดิมอยู่

การที่คณะสงฆ์มาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝ่ายบ้านเมืองต้องการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อให้นโยบายของรัฐสัมฤทธิผลจึงได้ทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ให้จัดตั้งองค์กรที่มีชื่อว่า “มหาเถรสมาคม” เป็นผู้มีอำนาจบริหารจัดการคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (หรือพ.ศ.2445) การปฏิรูปคณะสงฆ์ครั้งนี้ก็อนุโลมไปตามฝ่ายบ้านเมืองคือรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเช่นกัน ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าทั้งมหาเถรสมาคมก็ดี พระสงฆ์ที่อยู่ในระดับผู้ปกครองตั้งแต่เจ้าอาวาสจนถึงสมเด็จพระราชาคณะก็ดี ต่างก็อยู่ในลักษณะเหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐมีอำนาจและสิทธิ์เหนือกว่าคณะสงฆ์ การคณะสงฆ์ไม่เป็นอิสระเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต และที่สำคัญคือไปให้ค่าแก่พรบ.สงฆ์มากกว่าพระวินัย

เรื่องมหาเถรสมาคมยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกมาก วันนี้ขอข้ามไปก่อน แต่อยากจะโยงให้เห็นว่า จากสภาพการณ์ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “พุทธศาสนาของผู้ชาย” เพราะการรวมศูนย์อำนาจของมหาเถรสมาคมทำให้สมาชิกในองค์กรเกิดอหังการ-มมังการ(ตัวกู-ของกู) จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ผู้หญิงบวชในบ้านเมืองเรา ฝ่ายที่เต้นเป็นฟืนเป็นไฟและต่อต้านก็คือมหาเถรสมาคมนี้แหละ พอมาถึงตอนนี้ท่านคงเข้าใจแล้วนะครับว่าทำไมคณะราษฎร์จึงถูกวิจารณ์ว่าทำการเปลี่ยนแปลงไม่เบ็ดเสร็จ ถ้ายกเลิกมหาเถรสมาคมซะตอนนั้น แล้วให้พระสงฆ์กลับมาเป็นของชาวบ้านเหมือนเดิม มีอิสระเหมือนเดิม ป่านนี้เราคงมีภิกษุณีสงฆ์เป็นร้อยเป็นพัน เพราะมีพระสงฆ์อีกหลายรูปที่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ในไทย แต่ที่ท่านทำอะไรมากไม่ได้ก็เพราะมันมีกฎหมายค้ำคออยู่ แต่ถ้าจะเลิกมหาเถรสมาคมวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว ฝ่ายคณะสงฆ์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย อันเป็นผลจากการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งส่วนมากเป็นพระหนุ่มที่เห็นว่าการปกครองสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจนั้นไม่เป็นธรรมไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอำนาจนั้นตกไปอยู่ในมือของพระฝ่ายธรรมยุติ  จึงเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรสงฆ์โดยให้แยกเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายวินัยธรคือฝ่ายตุลาการนั่นเอง หมายความว่าการบริหารจัดการคณะสงฆ์ก็ต้องการอนุโลมไปตามฝ่ายบ้านเมืองซึ่งเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง การตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยในหมู่คณะสงฆ์(ยุวสงฆ์)จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อันนำไปสู่การเกิดพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพความเสมอภาค แต่ก็แปลกในที่ตอนนั้นเรื่องภิกษุณีสงฆ์กลับไม่ได้รับการกล่าวถึง ถ้าจะบอกว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกพระสงฆ์ตอนนั้นไม่รู้ ก็เห็นจะไม่ใช่ เพราะเมื่อปีพ.ศ.2471 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 4 ปี นายนรินทร์กลึงได้บวชลูกสาวนจนเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว มีหรือที่พระสงฆ์ซึ่งเป็นแกนนำในการเรียกร้องให้ปฏิรูปองค์กรสงฆ์จะไม่รู้ หรือว่าจริงๆแล้วพระสงฆ์ไทยไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลย ภิกษุณีสงฆ์ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมอีกครั้งหนึ่ง แม้ในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม


อคติและมายาคติเรื่องผู้หญิงและภิกษุณีสงฆ์

เมื่อเกิดเหตุการณ์นายนรินทร์กลึงบวชลูกสาว สิ่งที่ตามมาก็คืออคติเรื่องผู้หญิงกับศาสนาและมายาคติเรื่องภิกษุณีสงฆ์ก็ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีเกิดขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม คติดังกล่าวก็เช่น
 

- พระสงฆ์จะไม่รับของจากมือของสตรี ลองค้นในพระวินัยปิฎก ที่พอจะใกล้เคียงกับจารีตนี้ก็คือ ในหมวดสังฆาทิเสส ข้อหนึ่งกล่าวว่า “ห้ามจับต้องกายหญิง” และในหมวดปาฏิเทสนียะ ข้อหนึ่งกล่าว่า “ห้ามรับของเคี้ยวของฉันจากมือจางภิกษุณีมาฉัน” พระวินัยนอกนั้นไม่เห็นจะเกี่ยวข้อง คงจาก 2 ข้อนี้กระมังที่พระสงฆ์ไทยได้นำไปขยายต่อเป็นไม่รับของจากมือสตรี แต่ในพุทธประวัติกล่าวว่าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกบิลพัสดุ์ พระนางยโสธราสยายผมเช็ดพระบาทพระพุทธเจ้า เหตุการณ์ตอนนี้ยังปรากฏเป็นภาพจำหลักในใบเสมาสมัยทวารวดี มีชื่อเรียกว่า “พิมพาพิลาป” พบที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติขอนแก่น แสดงว่าอดีตกับปัจจุบันมีคติความเชื่อต่างกัน ความเชื่อเรื่องภิกษุกับผู้หญิงแตะต้องกันไม่ได้ จึงเป็นคติที่ทางไทยในปัจจุบันกำหนดขึ้นเอง(วัตรปฏิบัติเฉพาะอีกอย่างของสงฆ์ไทยก็คือการโกนคิ้ว สงฆ์ประเทศอื่นเขาไม่โกน)  

- สตรีห้ามแตะจีวรพระ (แล้วเจ๊ที่ขายจีวรต้องทำอย่างไร ใช้คีมคีบเอาหรือ?)

- เวลาใส่บาตร สตรีต้องระวังไม่ให้มือไปถูกบาตรพระ

- สตรีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอุโบสถ

- สตรีเข้าในเขตพระธาตุไม่ได้ ด้วยเป็นเพศที่สกปรกเพราะมีประจำเดือน (เฉพาะในภาคเหนือ)

- ภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทขาดสูญไปนานแล้ว ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ เพราะในครุธรรม 8 นั้นระบุว่าการบวชภิกษุณีสงฆ์ต้องบวชด้วยสงฆ์ 2 ฝ่าย เมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้วสตรีก็บวชไม่ได้

- คนที่เกิดเป็นสตรีเพราะทำกรรมมาก คนที่เกิดเป็นชายเพราะทำบุญมาก

- แม่ที่ได้บวชลูกชายจะไม่ตกนรกเพราะจะได้เกาะชายผ้าเหลืองลูกชายขึ้นสวรรค์ ด้วยเหตุนี้กระมังที่ตอนแห่นาคถึงให้แม่เป็นผู้ถือผ้าไตร

- ผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะลักษณะ 1 ใน 32 ประการของมหาปุริษลักษณะหรือลักษณะของผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าก็คือ “พระคุยหฐานอยู่ในฝัก” สตรีไม่มี “พระคุยหฐาน” ดังนั้นจึงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้อย่างเด็ดขาด (บางคนสงสัยว่าพระคุยหฐานคืออะไร ก็คืออวัยวะที่แสดงความเป็นชายไง ขอโทษที่พูดตรงๆไม่ได้ กระดากปากเพราะไม่เคย)

ฯ ล ฯ

           
มายาคติเท่าที่ได้รวบรวมมานี้สะท้อนทัศนคติที่ฝ่ายชายและ/หรือสังคมมองสตรีว่าเป็น “หีนชาติ” คือ คนที่เกิดมาต่ำต้อย สกปรกเป็นมลทิน มีกรรมมากเลยต้องมาชดใช้กรรม เป็นเพศที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่ได้ชายผ้าเหลืองของลูกชายก็จะไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ฯ แม้ประสงค์จะออกบวชก็ถูกอคติและมายาคติกั้นไว้ว่าภิกษุณีสายเถรวาทขาดหายไปนานแล้ว ดังนั้นจึงไม่สามารถสืบต่อได้(เรื่องนี้ในตอนท้ายจะว่าในรายละเอียดอีกที) อคติและมายาคตินี้ต้องยอมรับว่าแรงจริงๆเพราะแม้แต่ผู้หญิงด้วยกันเองก็ยอมรับ บางคนถึงกับออกมาต้านการบวชภิกษุณีสงฆ์ มีสตรีนางหนึ่งเป็นกรรมการสมาคมพุทธศาสนาที่ใหญ่มากของเมืองไทยพูดกับผมว่าผู้หญิงไม่ควรบวชเธอให้เหตุผลว่า “แค่มีภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ปวดหัวมากอยู่แล้ว จะมาบวชเพิ่มอีกทำไม?” นี้ไงใครว่าไม่แรง

ทั้งๆที่มีคติกีดกั้นผู้หญิงกับพระสงฆ์หรือศาสนา แต่ปรากฏว่าคนเข้าวัดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนใส่บาตรพระตอนเช้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คนที่ไปเข้าฝึกสมาธิวิปัสสนาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง หรือว่านี้เป็นผลจากการกล่อมเกลาของสังคมจนทำให้ผู้หญิงเชื่อจริงๆว่าตนเป็น “คนบาป” เลยต้องทำบุญกุศลให้มากเผื่อจะได้เกิดเป็นผู้ชายซึ่งเป็น “คนบุญ” ในชาติหน้า หรือว่า? ?

ทางออกสำหรับสตรีไทยที่ต้องการเข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริงก็มีเพียงการเป็นแม่ชี แต่ฐานะของแม่ชีนั้นในทางโลกและทางธรรมก็ไม่ชัดเจน ศีลที่แม่ชีถือนั้นก็แค่ระดับอุบาสิกาเท่านั้นเอง และในความเป็นจริงแม่ชีแทบจะไม่ได้โอกาสที่จะพัฒนาตนทั้งทางปริยัติและปฏิบัติเพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานในวัดโดยเฉพาะที่โรงครัว ดีหน่อยที่ปัจจุบันทางการได้ตั้งวิทยาลัยมหาปชาบดีหรือสถาบันแม่ชีไทยขึ้นเพื่อพัฒนาแม่ชีให้เข้าถึงธรรมะมากกว่าเดิม ฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณีในเมืองไทย พยายามเสนอทางออกให้สตรีมาบวชเป็นชี ก็อย่างที่บอกแม่ชีก็คือแม่ชี แม่ชีไม่ใช่นักบวช ถ้าสตรีต้องการเป็นนักบวชจริงๆต้องเป็นภิกษุณีสงฆ์ครับไม่ใช่แม่ชี

เมื่อ 2 ปีก่อนผมพบแม่ชีสาวท่านหนึ่งที่วัดไทยพุทธคยา ตอนหนึ่งของบทสนทนาเธอได้พูดกับผมว่าเธอคงไม่มีโอกาสได้บวช ก็ด้วยเหตุผลอย่างที่ท่านๆรู้นั่นแหละ แต่ผมก็ให้กำลังใจไปว่าตอนนี้ทางศรีลังกาเขาอนุญาตให้สตรีบวชได้ ถ้าเมืองไทยไม่อนุญาตท่านก็ไปขอบวชที่ศรีสังกาซิ ความจริงจะบวชที่ไหนไม่สำคัญ ความเป็นพุทธไม่มีรัฐชาติ ไม่มีเชื้อชาติ เมื่อเร็วๆนี้น้องสาวของแม่ชีท่านนี้มาแจ้งแก่ผมว่าพี่สาวของเธอได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว ผมดีใจและกล่าวสาธุอนุโมทนาในการบวชของเธอ ครับ แม่ชีไม่ใช่นักบวช ถ้าอยากบวชต้องเป็นภิกษุณีครับ ปัจจุบันนี้ผู้หญิงบวชได้แล้ว อีกไม่นานก็ไม่ต้องไปถึงศรีลังกา ไปที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีก็พอ อยากรู้ติดตามต่อไปซิครับ

เมื่อสิ้นเรื่องลูกสาวของนายนรินทร์กลึงไปแล้ว เรื่องพระผู้หญิงก็หายไประยะหนึ่ง จนเมื่อพ.ศ.2499 นางวรมัย กบิลสิงห์ ออกบวชเป็นสามเณรีโดยพระพรหมมุนี(ผิน สุวโจ)รองเจ้าอาวาสวัดบวรฯเป็นผู้บวชให้ ต่อมาได้ไปรับการอุปสมบทเป็นภิกษุณีที่ไต้หวัน กรณีของภิกษุณีวรมัยดูจะต่างกับของลูกสาวนายนรินทร์เพราะกรณีหลังนี้ไม่ได้ถูกวิจารณ์หรือต่อต้านมากเท่ากรณีแรก ตอนที่บวชเป็นสามเณรีใหม่ๆนั้นก็มีการร้องเรียนไปถึงมหาเถรสมาคมว่าท่านแต่งการเลียนแบบพระสงฆ์ ทางมหาเถรฯมีมติว่า “ไม่เห็นเป็นการเสียหายต่อคณะสงฆ์”  อันนี้ก็แปลก แล้วพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรฯไปอยู่ไหน? ที่พูดนี้ไม่ใช่ขัดขวางสตรีจะบวช แต่แปลกใจว่าทำไมตอนหลังถึงอ้างพระลิขิตนี้กันจัง หลังจากนางวรมัยบวชเป็นภิกษุณีแล้วเรื่องของท่านก็ไม่เป็นที่รับรู้เท่าไร อย่างผมก็ทราบแต่เพียงคร่าวๆว่าท่านอยู่ที่นครปฐม แต่ก็ถือว่าท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องภิกษุณีสงฆ์ในไทย

พอมาถึงยุคลูกสาวของท่านคือ ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ท่านออกบวชในปี พ.ศ.2544 เป็นสิกขามานาได้ 2 ปีจากนั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในพ.ศ.2546 ในนิกายอมรปุระ ต่อมาในปีพ.ศ.2548 ท่านได้อุปสมบทซ้ำอีกครั้งเพื่อย้ายตามปวัตตินีมาอยู่ในนิกายสยามวงศ์ ต้องถือว่านี่เป็นยุคแรกที่สังคมไทยได้รับรู้เรื่องภิกษุณีสงฆ์อย่างกว้างขวางและคึกโครมมากที่สุด ผมคนหนึ่งล่ะที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดด้วยความตื่นเต้น

จากนั้นมาก็มีสตรีไทยออกบวชเป็นภิกษุณีตามอีกหลายรูป อย่างท่านภิกษุณีนันทญาณี (นามเดิมรุ้งเดือน สุวรรณ)แห่งสำนักปฏิบัตธรรมนิโรธารามที่ จ. เชียงใหม่ ฯลฯ ผมเคยมีลูกศิษย์ที่เป็นภิกษุณีมาเรียนปริญญาโทภาคพิเศษด้วยรูปหนึ่ง ผมลืมฉายาท่านไปแล้ว ผมรู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญที่ท่านเลือกมาเดินบนทางเส้นนี้และผมมักจะหาเวลาสนทนากับท่านอยู่บ่อยๆ นอกจากจริยวัตรที่น่าเลื่อมใสแล้ว ความรู้และทัศนะทางพุทธศาสนาของท่านก็ไม่หลุดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมจึงเชื่อว่าถ้าสตรีออกบวชมากๆและพยายามไม่ให้หลุด นักบวชสตรีจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มาช่วยพยุงศรัทธาของชาวพุทธในเมืองไทยไว้ได้มาก

หลังจากท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว เรื่องราวของท่านไม่นิ่งและไม่เงียบ ท่านเขียนหนังสือและออกสื่ออยู่บ่อยๆ แน่นอนผลสะท้อนก็ดังตามไปด้วยซึ่งมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ตอนที่ท่านบวชใหม่ๆผมไปเจอพระไทยรูปหนึ่งซึ่งกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่นิวเดลี พระรูปนี้เล่าให้ผมฟังว่าสาเหตุที่ท่านธัมมนันทาออกบวชก็เพื่อต้องการจะแก้แค้นแทนแม่ท่าน คำอธิบายของท่านทำให้ผมต้องนิ่งไปชั่วขณะ ยอมรับว่าตอนนั้นผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของท่านธัมมนันทาหรอกครับ แต่ที่นิ่งไปเพราะตกใจที่นักศึกษาปริญญาเอกให้คำอธิบายที่ดูจะเป็นอัตวิสัยและหน่อมแหน่มซะเหลือเกิน เรื่องนี้ผมเพิ่งเล่าให้ท่านธัมมนันทาฟังเมื่อเร็วๆนี้เอง และที่แปลกใจมากๆก็คือคนที่ออกมาคัดค้าน ที่ผมเจอกับตัวเอง ส่วนมากเป็นผู้หญิง ผมคิดว่าประเด็นนี้น่าจะมีคนนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ได้

ต้องยอมรับว่าท่านธัมมนันทาท่านได้บุกเบิกเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ให้แก่สังคมไทยจนมีสตรีออกบวชตามอีกมาก ผมคิดว่าตอนนี้คงมีหลายสิบท่านแล้ว และอีกไม่นานท่านธัมมนันทาก็สามารถทำหน้าที่ปวัตตินีหรืออุปัชฌาย์ได้แล้ว สตรีที่ต้องการบวชก็ไม่ต้องไปถึงศรีลังกา ยุคของท่านนี้แหละที่ทำให้พุทธบริษัทในเมืองไทยมีครบ 4 และยุคนี้ภิกษุณีสงฆ์ก็เป็นบริษัทใหม่ที่มาแรงและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหนึ่งก็คือมีเสียงสนับสนุนท่านและภิกษุณีทั้งหลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง บางคนมองว่านี่เป็นอิทธิพลของกระแสประชาธิปไตยที่สิทธิของสตรีได้รับการยอมรับและได้รับการคุ้มครองมากขึ้น แต่ผมมองว่าเรื่องพุทธศาสนากับเรื่องประชาธิปไตยเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน”


พุทธศาสนากับประชาธิปไตยและความเท่าเทียมกันของชายและหญิง

มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับประชาธิปไตย บ้างก็ว่าพุทธศาสนานั้นเป็นประชาธิปไตย โดยอ้างข้อความในอัคคัญญสูตรว่าเหล่าประชาชนได้พร้อมใจกันเลือกผู้นำที่เรียกว่า “มหาชนสมมติ” ขึ้นมาปกครอง ซึ่งอันนี้ไปตรงกับทฤษฎีพันธสัญญา(Contract Theory) ของตะวันตก นอกจากนี้รูปแบบของสังฆะที่พระพุทธองค์กำหนดก็คล้ายกับรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น การใช้มติของที่ประชุม การให้ความสำคัญต่อหลักการมากกว่าตัวบุคคล ฯ และที่สำคัญพุทธศาสนาเน้นเรื่องมนุษยธรรมอย่างยิ่ง ในมุมมองของพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์นั้นมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ด้วยเหตุผลดังกล่าวพุทธศาสนาจึงถูกมองว่าเป็นหรือเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตย  

แต่ท่านพุทธทาสบอกว่าไม่ใช่ ท่านมองว่าพุทธศาสนาเป็นสังคมนิยม แต่ไม่ใช่สังคมนิยมแบบมาร์กซิสม์ ซึ่งไม่ใช่สังคมนิยมที่แท้จริงเพราะยังมีการทำลายล้างแม้ชีวิตมนุษย์ด้วยกัน สังคมนิยมที่ท่านพูดถึงนี้คือ “ธัมมิกสังคมนิยม” คือสังคมนิยมที่เน้นธรรมเป็นใหญ่

อย่างไรก็ตามก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ใช่นักปรัชญาการเมืองที่จะเสนอรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดให้แก่มนุษย์ แต่ท่านได้เสนอแนวทางพ้นทุกข์ให้แก่มนุษย์  ดังนั้นเรื่องของพุทธศาสนากับประชาธิปไตยจึง “เป็นคนละเรื่องเดียวกัน” หมายความว่าพุทธศาสนาสามารถถูกมองว่าเป็นประชาธิปไตยก็ได้(ในขณะเดียวกันก็ถูกมองเป็นสังคมนิยมได้เช่นกัน)แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประชาธิปไตยถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ส่วนพุทธศาสนาถือมติเอกฉันท์เป็นใหญ่ อย่างเช่นการบวชถ้ามีสงฆ์ในที่ประชุมค้านเพียงรูปเดียวการบวชนั้นเป็นอันต้องยุติ หรืออย่างความชั่วความดีก็จะใช้เสียงส่วนมากมาตัดสินก็ไม่ได้ ดังนั้นพุทธศาสนาก็คือพุทธศาสนา ประชาธิปไตยก็คือประชาธิปไตย คือ “เป็นคนละเรื่อง...”  เพียงแต่ว่าทั้งสองมีบางสิ่งที่ “...เดียวกัน” คือมีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกัน จึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน จุดร่วมหนึ่งที่ตรงกันก็คือ “ความเสมอภาค”

ศาสนาพราหมณ์ก็ดี ลัทธิการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ดี ต่างมองว่ามนุษย์ไม่เท่ากัน(พวกพุทธเทียมก็เชื่ออย่างนี้เหมือนกัน) มีตำนานหรือชุดคำอธิบายที่สืบเนื่องมาแต่อดีตเพื่อกล่อมเกลาให้มนุษย์ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบยอมรับชะตากรรมในการไม่เท่าเทียมกัน แต่พุทธศาสนาและประชาธิปไตยกลับต่อต้านความเชื่อนี้ ทั้งสองมองว่ามนุษย์มีความเสมอภาคมีความเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ความเสมอภาคจึงเป็นลักษณะเด่นและลักษณะร่วมของพุทธศาสนาและประชาธิปไตย

เมื่อเกิดกรณีภิกษุณีสงฆ์ในไทย ประเด็นเรื่องพุทธศาสนากับประชาธิปไตยโดยเฉพาะประเด็นความเสมอภาคก็ถูกจับตามองอีกครั้ง ไม่ปฏิเสธว่ากระแสประชาธิปไตยมีส่วนผลักดันให้สตรีเรียกร้องสิทธิในการบวช เอาเข้าจริงการขอบวชของผู้หญิงไม่ใช่เป็นการเรียกร้องสิทธิแต่เป็นการทวงสิทธิต่างหากเพราะเป็นสิทธิที่เคยมีเคยได้ หากแต่เกิดอุปสรรคเพราะการขาดช่วงผู้สืบต่อเลยทำให้ผู้หญิงในยุคปัจจุบันไม่ได้รับสิทธิอันนั้น การเรียกร้องนี้จึงเป็นการเรียกร้องเพื่อทวงสิทธิที่ตนเคยมี บางคนตีประเด็นว่าพวกนี้เป็นพวก feminist พวกสตรีนิยม พวกเรียกร้องสิทธิสตรี แต่ผมว่าไม่ใช่ พวกผู้หญิงที่ขอบวชนั้นเขาไม่ได้อ้างสิทธิสตรีตามที่กฎหมายรับรอง แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิของมนุษย์คนหนึ่ง เป็นมนุษย์ที่เคยมีสิทธิอันนั้น และเขาต้องการทวงสิทธิอันนั้นคืน และขอย้ำอีกทีว่าเขาเหล่านี้เป็นมนุษย์ เพียงแต่มีเพศเป็นผู้หญิงเท่านั้น

ในเมืองไทยเรา ประเด็นเรื่องสตรีกับพุทธศาสนา ก็ไม่ต่างจากเรื่องประชาชนกับประชาธิปไตย คือทั้งสตรีและประชาชนมักจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ยัง “ไม่รู้และไม่พร้อม” ดังนั้นจึงไม่ควรเรียกร้องโวยวาย ทางที่ดีควรทำบุญทำกุศลให้มากๆ เกิดชาติหน้าฉันใดจะได้เกิดเป็นผู้ชาย จะได้เกิดเป็นเจ้าคนนายคน ชาตินี้บุญน้อยก็ต้องรับกรรมไปก่อน ผู้หญิงควรเป็นเมียและแม่ที่ดี ประชาชนก็ต้องเป็นผู้อยู่ไต้ปกครองที่ดี เคารพ เชื่อฟังและรักผู้ปกครอง มายาคตินี้คือการผสมที่ลงตัวระหว่างอประชาธิปไตยกับอธรรมซึ่งเคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่บัดนี้การณ์ได้เปลี่ยนไปแล้วเพราะทั้งผู้หญิงและประชาชนต่างก็ตาสว่าง สังคมก็เปลี่ยนไปมีประชาธิปไตยและมีธรรมมากขึ้น ผู้หญิงมีพื้นที่ในศาสนา ประชาชนมีพื้นที่ในการเมือง กระแสนี้ผมเชื่อว่าหยุดไม่ได้เมื่อเริ่มไหลแล้วนับวันมีแต่จะแรงขึ้นเท่านั้น  


ถาม-ตอบประเด็นเรื่องภิกษุณีสงฆ์

ขอรวบรัดเข้าประเด็นเรื่องที่เป็นปัญหาคาใจว่าผู้หญิงบวชได้หรือ ผมขอว่าเป็นข้อๆไปนะครับ

1 เรื่องภิกษุณีสงฆ์สูญไปแล้ว ในพระวินัยกำหนดให้สตรีต้องบวช 2 ครั้ง คือบวชกับภิกษุณีสงฆ์ก่อน จากนั้นถึงมาบวชกับภิกษุสงฆ์ เมื่อขาดภิกษุณีสงฆ์แล้วก็ไม่มีใครบวชให้สตรีในขั้นตอนแรก เมื่อไม่ผ่านขั้นตอนแรกจะมาขอบวชกับภิกษุสงฆ์ไม่ได้ ถือว่าขัดพระวินัย ปัญหาข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดที่ฝ่ายค้านยกมาอ้าง แต่ด้วยพุทธวิธีสอนให้เรา “มีทางออกในทุกปัญหา” ไม่ใช่ “มีปัญหาในทุกทางออก”

ถ้าเราจะยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัดว่าสตรีต้องบวช 2 ครั้ง ก็ทำตามที่ศรีลังกาทำคือให้สตรีไปบวชครั้งแรกกับภิกษุณีสงฆ์ของฝ่ายมหายาน ส่วนมากจะไปบวชกับวัดโฝกวงซันที่ไต้หวัน จากนั้นก็ค่อยมาบวชกับภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท พวกรุ่นแรกก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น ต่อเมื่อมีภิกษุณีบริษัทฝ่ายเถรวาทแล้ว สตรีที่ต้องการบวชก็ไปขอบวชจากภิกษุณีเหล่านี้ได้เลย ด้วยวิธีนี้ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง

แต่ฝ่ายค้านก็แย้งว่าภิกษุณีที่บวชให้ครั้งแรกนั้นเป็นมหายาน ฝ่ายเราเป็นฝ่ายหินยานหรือเถรวาท เป็นคนละพวกกัน จะบวชให้กันไม่ได้

ถามว่าใครกำหนดให้ว่าบวชไม่ได้ ในพระวินัยมีกล่าวไว้ที่ไหนว่าห้ามต่างนิกายบวชให้กัน และที่สำคัญเรื่องนิกายเป็นเรื่องที่เกิดมาภายหลัง ไม่ใช่คำสอนพระพุทธเจ้า เป็นการตีความพระธรรมที่ต่างกันก็มีวิถีปฏิบัติต่างกัน แต่เป้าหมายไม่ว่าฝ่ายไหนก็เหมือนกันคือนิพพาน แล้วจะไปรังเกียจทำไม การติดขัดเรื่องนิกายเป็นทิฐิของชาวพุทธรุ่นหลังๆนี้ต่างหาก ไม่ควรยึดเป็นสรณะ ฟังแล้วอย่าเพิ่งโกรธ ติดตามต่อไปแล้วจะเข้าใจ

ถามจริงๆเหอะ ภิกษุณีฝ่ายมหายานเป็นพุทธหรือไม่?

ถ้าเป็นแล้วบวชให้ไม่ได้หรือ? พระวินัยระบุว่าการบวชครั้งแรกสตรีต้องบวชกับภิกษุณี ก็อุตส่าห์ไปบวชกับภิกษุณีมาแล้วจริงๆยังบอกว่ารับไม่ได้ แล้วจะให้ทำอย่างไร

ที่อ้างว่าฝ่ายมหายานกับเถรวาทถือวินัยหรือสิกขาบทต่างกัน อันนี้ก็จริงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มหายานก็มีอีกหลายกลุ่มย่อย กลุ่มที่บวชให้แก่ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทนั้นเป็นมหายายนิกายธรรมคุปต์ ถือสิกขาบทคล้ายกับฝ่ายเถรวาท ท่านพระภิกษุโพธิมหาเถระ ได้เขียนอธิบายประเด็นนี้ในบทความชื่อ “ การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายเถรวาท” โดยอ้างงานเขียนของ Ann Heirman ใน “Can We Trace the Early Dahrmaguptakas? ที่ว่า “ในขณะที่พระภิกษุณีจีนถือปฏิบัติตามพุทธศาสนาแบบมหายาน แต่โดยสายพระวินัยมิใช่มหายาน แต่เป็นนิกายที่แตกแขนงออกมาจากพุทธศาสนาในสมัยแรกคือนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งสังกัดอยู่กับนิกายวิภัชชวาทอย่างเดียวกับนิกายเถรวาท ถือเป็นนิกายเถรวาททางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มีทั้งพระสูตรและพระอภิธรรมคล้ายคลึงกันและพระวินัยนั้นถือตามวินัยในฝ่ายบาลี” คำว่าฝ่ายบาลีคือฝ่ายเถรวาท

สรุปก็คือภิกษุณีมหายานนิกายธรรมคุปต์ที่บวชให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทรุ่นแรกนั้นถือวินัยเหมือนหรือคล้ายกับฝ่ายเถรวาท เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจะขัดข้องอยู่อีกหรือ?


ผมคิดว่าปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการสถาปนาภิกษุณีสงฆ์นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องกฎเกณฑ์แต่เป็นเรื่องกีดกันถ้าทำใจกว้าง กฎเกณฑ์ที่ว่าก็ไม่ใช่อุปสรรค

และย้ำอีกทีว่า “พระวินัยเป็นเหมือนรั้วป้องกัน ไม่ใช่รั้วกักกัน” อันไหนไม่เหมาะสมไม่มีประโยชน์แก่กาลสมัยก็ควรเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก ถามว่าทำได้ไหม? ทำได้ซิครับ เพราะพุทธองค์แม้ท่านจะเป็นผู้บัญญัติพระวินัยเอง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนท่านก็ยืดหยุ่นกฎเพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ บางกรณีท่านก็ให้ยกเลิกไปเลย จะยกตัวอย่างมาให้ดู

พระวินัยกำหนดภิกษุณีต้องบวช 2 ครั้ง เหตุนี้เกิดเมื่อนางอัฑฒกาสี หญิงงามเมืองแห่งพาราณสีเมื่อบวชจากภิกษุณีสงฆ์แล้วนางปราถนาจะไปบวชกับพระพุทธองค์ที่สาวัตถี พอจะเดินทางก็มีข่าวว่าพวกนักเลงที่หลงในรูปของนางจะมาดักลักพาตัว นางจึงส่งตัวแทน(ในบาลีใช้คำว่าทูต)ไปทูลแก่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์เมื่อทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้วจึงได้กล่าวแก่เหล่าภิกษุสงฆ์ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีอุปสมบท แม้โดยทูต” เห็นพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ไหม?

อีกเรื่องหนึ่งพระวินัยกำหนดให้คณะสงฆ์ที่จะทำการอุปสมบทต้องมี 10 รูป น้อยกว่าไม่ได้ แต่สำหรับเขตที่ห่างไกลมีพระภิกษุน้อย พระพุทธองค์ก็ปรับ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายที่อวันตีทิกขิณาบทมีภิกษุน้อยรูป เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะสงฆ์ 5 รูปได้ทั่วปัจจันตชนบท” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค) อย่างกรณีนี้ถ้าคือพระวินัยเคร่งคงบวชใครไม่ได้ หรืออย่างพระวินัยห้ามเก็บอาหาร มีครั้งหนึ่งที่เกิดภัยพิบัติก็ทรงอนุญาตให้สงฆ์เก็บอาหารไว้ได้ ต่อเมื่อเหตุการณ์นั่นผ่านไปแล้วก็ให้กลับมาใช้วินัยเดิม

ตัวอย่างที่ทรงยกเลิกก็มีเช่นเมื่อครั้งที่สงฆ์มีไม่มาก พระพุทธองค์อนุญาตให้สงฆ์ทำการอุปสมบทได้เอง “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราอนุญาตพวกเธอนั่นแหละจงให้กุลบุตรทั้งหลายบรรพชาอุปสมบท...เราอนุญาตบรรพชาอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์นี้” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค) ต่อมาเมื่อมีสงฆ์มากขึ้นจึงได้ทรงบัญญัติวินัยใหม่และยกเลิกวินัยเก่าที่เคยใช้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราห้ามอุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ซึ่งเราได้อนุญาตไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม”

พระวินัยเป็นหนึ่งสอง(พระธรรมพระวินัย)ที่ทำหน้าที่แทนพระบรมศาสดา เราชาวพุทธต้องให้ความเคารพ แต่การนำมาใช้ก็ควรปรับเพื่อให้เหมาะแก่สถานการณ์ แต่การปรับก็ต้องมีหลักมิเช่นนั้นก็จะเป็นการทำลายพระวินัยไป เรื่องการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาท จะเป็นไปไม่ได้ถ้าใช้ทิฐิ แต่ถ้าใช้ปัญญากับเมตตาปัญหานี้ก็มีทางออก ก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้ตรัสอนุญาตให้ยกเลิกสิกขาบทเล็กๆน้อยๆได้ “ ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้” นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเห็นว่าในอนาคตสิกขาบทบางข้อคงไม่เหมาะและไม่เป็นประโยชน์จึงได้ทรงอนุญาตไว้

แต่ฝ่ายเถรวาทกลับไม่ฟัง ไม่ยอมเพิ่มไม่ยอมตัดสิกขาบทใดๆ ยึดมั่นว่า “สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว” อ้างว่าเพื่อความเคารพต่อพุทธเจ้า ผมว่าการที่ไม่ยอมปรับไม่ยอมเปลี่ยนกฎกติกาเล็กๆน้อยๆนี้ต่างหากที่ไม่เคารพ นี่เป็นจุดอ่อนของฝ่ายเถรวาท การยึดมั่นในพระวินัยอย่างเคร่งครัดในหลายกรณีทำให้ฝ่ายเถรวาทกลายเป็นพวก “เถรตรง” แต่เอาเข้าจริงมีกี่รูปกันแน่ที่ยึดมั่นในพระวินัยอย่างแท้จริง ที่เห็นส่วนมากก็เพื่อใช้อ้างเท่านั้น

2 ถ้ากลับไปปัญหาเดิมที่ว่าภิกษุณีสงฆ์ฝ่ายเถรวาทสิ้นไปแล้ว จะสืบต่ออีกไม่ได้ แต่ถ้าจะสืบต่อโดยไม่มีภิกษุณีสงฆ์จะทำได้ไหม? ทำได้ครับ เพราะในพระไตรปิฎกได้ให้ทางออกในปัญหานี้แก่เรา ก็คือให้พระภิกษุสงฆ์ทำการบวชให้สตรีรุ่นแรกเลย เป็นการบวชเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องผ่านการบวชโดยภิกษุณี(เพราะอ้างว่าสูญไปแล้วนี้ พอจะไปบวชกับฝ่ายมหายานก็รังเกียจ ) เมื่อภิกษุสงฆ์บวชให้สตรีรุ่นแรกไปแล้ว เมื่อได้ภิกษุณีรุ่นแรกมาแล้วจากนั้นก็กลับมาใช้กฎเดิมคือให้สตรีบวช 2 ครั้ง

แล้วทางออกที่ว่านี้อยู่ที่ไหน? อยู่ในประวินัยปิฎก จุลวรรคครับ พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี” ตรัสเมื่อตอนให้พุทธานุญาตแก่ภิกษุสงฆ์ทำการบวชให้แก่เหล่าศากยธิดา 500 ที่ตามพระนางปชาบดีมา และพุทธานุญาตนี้ก็ไม่เคยยกเลิก ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีภิกษุณีขาดอย่างปัจจุบันก็ควรนำวิธีนี้ที่ทรงมีพุทธานุญาตนี้มาใช้ครับ

ฝ่ายค้านยังอุตส่าห์เถียงว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องเฉพาะกาลเพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ต่อเมื่อมีแล้วก็ควรยกเลิกวิธีนี้ การเถียงอย่างนี้เป็นการตีความชัดๆ และเป็นการตีความเพื่อไม่ให้มีภิกษุณีสงฆ์ ไหนว่าฝ่ายเถรวาท “ไม่เพิ่มไม่ตัดสิกขาบท” เมื่อมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสงฆ์บวชสตรีได้และไม่มีคำสั่งยกเลิก ท่านก็ควรปฏิบัติตามไม่ใช่หรือ? ถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วจะอ้างว่าเป็นเถรวาทอยู่ทำไม?

3 ถ้าผู้หญิงออกบวชแล้วพุทธศาสนาจะสั้น ในบาลีบอกว่าจากอายุ 1000 ปีก็จะเหลือ 500 ปี ประเด็นนี้มักยกมาอ้างไม่หมด ความจริง(ถ้าเชื่อว่าเป็นพุทธพจน์จริง)พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้แล้วบอกต่อว่าเพื่อเป็นการป้องกันปัญหานี้จึงบัญญติครุธรรม 8 ประการขึ้นมา ที่ผ่านมามักอ้างไม่หมดข้อความก็เลยกลายเป็นความเชื่อที่ว่าถ้าผู้หญิงออกบวชแล้วศาสนาจะสั้น

ประเด็นนี้ต้องกลับไปมองที่ประวัติศาสตร์ว่าสั้นจริงไหม? หลังจากพระนางปชาบดีและเหล่าศากยธิดารวมทั้งสตรีอีกมากที่ออกบวชในสมัยพุทธกาล พอเวลาผ่านไป 500 ปีพุทธศาสนากลับยังรุ่งเรืองในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ภิกษุณีสงฆ์ก็มีทั้งในอินเดียและศรีลังกา เรื่อยมาถึง 1000 ปี พุทธศาสนาก็ยังรุ่งเรืองในอินเดีย พระฟาเหียนจากจีนยังต้องมาศึกษาพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ และในบันทึกของท่านก็ยืนยันว่ายังมีภิกษุณีสงฆ์อยู่ จากการศึกษาของอ.ปีเตอร์ สกีลลิ่งก็ยืนยันแล้วว่าภิกษุณีสงฆ์ในอินเดียมีอยู่ต่อมาจนถึง พศว.16

เอาเข้าจริงภิกษุณีสงฆ์ก็สูญไปจากอินเดียและศรีลังกาพร้อมๆกับภิกษุสงฆ์ในพศว.ที่ 16 นั่นแหละ ด้วยเหตุการเสื่อมภายในของวงการสงฆ์เองและเหตุจากสงครามจากมุสลิมและจากอินเดียไต้ ถ้าไปอ่านเหตุการณ์สูญสิ้นของพุทธศาสนาในอินเดียไม่มีที่ไหนเลยที่จะอ้างว่าเกิดจากมีภิกษุณีสงฆ์ หรือกรณีศรีลังกาเมื่อฟื้นฟูภิกษุสงฆ์ในสมัยพระเจ้าวิชัยพาหุและพระเจ้าปรากรมพาหุ(พศว.17-18)พุทธศาสนาก็ตั้งมั่นอีกรอบ แต่ต่อมาก็สูญไปอีกโดยเฉพาะสมัยพระเจ้ากีรติศิริราชสิงหะซึ่งตรงกับสมัยพระเจ้าบรมโกศของสยาม ไม่เหลือภิกษุสงฆ์อยู่เลยแม้แต่รูปเดียว กล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็แทบจะสิ้นไปจากศรีลังกา เหตุแห่งการสิ้นของพุทธศาสนานี้ไม่มีภิกษุณีสงฆ์เกี่ยวข้องด้วยแม้แต่รูปเดียว เพราะสูญไปตั้งแต่พศว.16โน่นแล้ว อย่างนี้ยังจะมาอ้างอีกว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมเพราะผู้หญิงมาบวชได้อย่างไร?

เหตุแห่งการเสื่อมของพุทธศาสนาพระพุทธองค์ตรัสไว้ชัดเจนว่าเกิดจากพุทธบริษัททั้งหลายไม่ศึกษาปฏิบัติ ไม่เผยแพร่และไม่ปกป้อง พระธรรมพระวินัย ไม่มีที่ไหนที่ตรัสว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมเพราะผู้หญิง และในประวัติศาสตร์ก็ยืนยันแล้ว่าคำกล่าวหานี้ไม่จริง ในทางกลับกันจะเห็นว่าผู้หญิงเข้ามาบวชได้ช่วยงานพระศาสนาและช่วยสังคมได้อีกแรงหนึ่ง ดั่งกรณีที่เกิดในไตหวันขณะนี้ ใครสนใจควรติดตามอ่านงานของวัดโฝกวงซันหรือวัดฉือจี้ดู

4 ส่วนปัญหาปลีกย่อยเกี่ยวกับข้อห้ามเรื่องผู้หญิงกับพระสงฆ์ เช่น รับของต่อจากมือไม่ได้ ผู้หญิงแตะจีวรไม่ได้ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้บางข้อได้ตอบไปแล้วข้างต้น บางข้อก็เป็นการยึดถือของพุทธไทยเท่านั้น เป็นเรื่อง “อจินไตรย” คิดไปก็ไม่มีประโยชน์ ทางที่ดีควรยกเลิกเสีย

5 มีประเด็นเรื่องกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูภิกษุณีในไทย คืออำนาจของมหาเถรสมาคม ตามพรบ.การปกครองคณะสงฆ์พ.ศ.2505 นั้น จะดูแลเฉพาะ “ภิกษุสงฆ์” เพราะกฎหมายระบุชัดว่า “คณะสงฆ์ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์” แล้วที่นี่จะทำอย่างไร ก็ไม่ยาก แก้กฎหมายซิ ให้ดูแลรวมมาถึงภิกษุณีสงฆ์ด้วย แต่ถ้าไม่แก้ ทางออกก็คือฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ไหนๆก็ไปสืบมาจากศรีลังกาแล้วก็ตั้งเป็นอีกนิกายหนึ่งเป็น “ภิกษุณีสงฆ์ สิงหลนิกาย” แล้วไปอยู่ในหมวดหมู่ “คณะสงฆ์อื่น” ที่มี “จีนนิกาย และ อานัมนิกาย” สังกัดอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้บางคนค้านหัวชนฝาบอกว่าเป็นสังฆเภท อ้าว! แล้วการตั้งธรรมยุติไม่ใช่สังฆเภทหรือ? ถ้าไม่ใช่แล้วทำไมจะตั้ง “สิงหลนิกาย” อีกไม่ได้ ยอมรับความจริงซิครับว่าเมืองไทยอีกตั้งหลายนิกาย ไม่ใช่แค่มหานิกายกับธรรมยุติเท่านั้น ไหนจะธรรมกาย ไหนจะสันติอโศก ฯ เลิกหลอกตัวเองแล้วมองโลกตามที่มันเป็นเถอะ เราจะแก้ปัญหาได้

ก็เพราะกฎหมายนี้แหละที่เอกสารเดินทางของท่านธัมมนันทายังระบุว่า “นางฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์” อยู่ ภิกษุณีท่านอื่นๆก็คงมีชะตาเดียวกัน อดทนเถอะครับ เป็นรุ่นบุกเบิกก็เหมือนเป็นแนวหน้าต้องรับแรงปะทะมากหน่อย

เอาล่ะที่มาที่ไปของภิกษุณีก็เล่าแล้ว ปัญหาที่คาใจก็ตอบให้แล้ว ทางแก้ไขก็บอกให้แล้ว ถ้ายังจะค้านอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว แต่จะค้านก็ค้านไปเถอะ เพราะไม่มีผลแล้ว ความจริงที่ปรากฏก็คือมีผู้หญิงออกบวชจำนวนไม่ได้ลดลงกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมลองสอบถามความคิดเห็นของพวกชาวบ้านกลุ่มหนึ่งว่า “ผู้หญิงบวชได้ไหม?” ส่วนมากตอบว่าไม่ได้ แต่พอถามว่าถ้าเห็นผู้หญิงโกนหัวใส่จีวรผ่านมาจะไหว้ไหม? ทั้งหมดตอบว่าไหว้ เอาเข้าจริงสังคมไทยได้เลยปัญหาเรื่องผู้หญิงจะบวชได้หรือบวชไม่ได้ไปนานแล้ว เพราะมีผู้หญิงได้บวชเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลายสิบรูป ที่ตั้งเป็นประเด็นขึ้นมาก็เพื่อให้สังคมยอมรับการบวชนั้นต่างหาก อย่างที่เล่าไห้ฟัง ระดับชาวบ้านเขาไม่มีปัญหาถ้าบวชแล้วเขาก็ยกมือไหว้ทั้งนั้น แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐและคณะสงฆ์ต่างหาก ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ยอมรับ แต่ท่านก็ไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของภิกษุณีสงฆ์ได้ ผมเข้าใจครับว่าเรื่องภิกษุณีสงฆ์นี้มันเป็นความจริงที่ทำให้ท่านอึดอัด (An Inconvenient Truth) แต่ก็ช่วยไม่ได้


ส่งเสริมแล้วอย่าลืมปกป้อง

พวกเราชาวพุทธสมควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสนับสนุนให้สตรีได้บวช เพราะการบวชไม่ใช่ความชั่ว การบวชเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อทั้งส่วนตนและส่วนรวม แต่อย่าลืมว่าสตรีก็คือมนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือความผิดพลาด เพื่อช่วยให้ภิกษุณีบริษัทตั้งมั่นอย่างยั่งยืน เราทุกคนก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลบรรดาภิกษุณีเหล่านี้ไม่ให้ผิดพลาดในพระธรรมพระวินัย ไม่ให้หลุดจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ หากเกิดการผิดพลาดก็ช่วยบอกช่วยเตือน หากทำผิดถึงขั้นอุกฤตก็ต้องช่วยเอาออกไป นี้แหละถึงจะเรียกว่าส่งเสริมภิกษุณีบริษัทอย่างถูกต้อง แต่ถ้าปล่อยให้ภิกษุณีรูปนั้นๆละเมิดพระธรรมพระวินัย นี้ก็ถือว่าร่วมกันทำลายภิกษุณีบริษัทและพุทธศาสนาไปพร้อมๆกัน


ลงท้ายเพื่อเริ่มต้น

เท่าที่ได้เล่าความเป็นมาและตอบข้อข้องใจเรื่องภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทมาแล้ว หวังว่าคงพอเข้าใจ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกหรือจากเอกสารที่ได้แนะนำไว้ (รวมทั้งหนังสืออ้างอิงที่แนบมาตอนท้ายนี้) อย่าคิดว่าหรือเชื่อว่า โดยไม่ได้ศึกษา ขงจื้อกล่าวว่า “เรียนโดยไม่คิดเสียเวลา แต่คิดโดยไม่เรียนอันตราย” ปัญหาหลายอย่างในเมืองไทยแก้ไม่ได้เพราะคนส่วนใหญ่ชอบคิดโดยไม่เรียน รวมทั้งปัญหาเรื่องภิกษุณีนี้ด้วย

           ขอย้ำอีกทีว่าการที่ผมเห็นด้วยและสนับสนุนให้สตรีบวชนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ว่า

1 มีพุทธานุญาตให้สตรีบวชได้

2 ในประวัติศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่าสตรีที่ออกบวชสามารถบรรลุธรรมได้

3 มีสตรีประสงค์จะบวชและการบวชเป็นสิ่งที่ดีไม่ใช่ความชั่ว

4 สตรีเป็นมนุษย์เหมือนบุรุษ มีสิทธิ์และมีศักดิ์เท่าเทียมกับบุรุษ และพุทธศาสนาก็รับรองสิทธิ์และศักดิ์อันนี้

5 ปัญหาการบวชที่อ้างว่าติดขัดเรื่องพระวินัยนั้น เรื่องนี้แก้ไขได้โดยใช้ “ปัญญาและเมตตา” อันเป็นพุทธวิธีที่พระพุทธองค์เคยใช้ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว และปัจจุบันศรีลังกาก็ทำนำร่องไปแล้ว ขอย้ำอีกทีว่าพระวินัยหรือกฎระเบียบต่างๆนั้นเปรียบเสมือนรั้วบ้านที่มีไว้เพื่อป้องกันแต่ไม่ใช่มีไว้เพื่อกักกัน


ออกมามองโลกภายนอกเถิดพระคุณเจ้า        

ลักษณะเด่นในคำสอนของพุทธศาสนาคือ “อนัตตา” สรรพสิ่งล้วนไม่มีตัวไม่มีตน “สัพพะ ธัมมา อนัตตา” หญิง-ชายเมื่อเข้ามาบวชแล้ว แม้ยังมีเพศต่างกันหรือมีวินัยต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย เมื่อเข้าถึงความเป็นพุทธแล้วเรื่องเหล่านี้ก็สิ้นไป สภาวะการเป็นพุทธนั้นเป็นสภาวะไร้ตัวตน ไร้เพศ ด้ายเหตุนี้กระมังที่ศิลปินได้สร้างพระพุทธรูปให้ออกมาในลักษณะกึ่งชาย-กึ่งหญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง ทั้งนี้เพื่อจะสื่อว่าเมื่อเข้าถึงภาวะ “พุทธะ” แล้ว ก็จะข้ามพ้นเรื่องเพศ ข้ามพ้นเรื่องตัวตนไป ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ “พุทธะ” เท่านั้น


เป้าหมายของพุทธศาสนาก็สอนให้เราข้ามห้วงเหวแห่งสังสารวัฏ แต่ก่อนที่จะไปข้ามห้วงเหวที่ใหญ่อย่างนั้น เราควรข้ามอคติและมายาคตินี้ก่อนครับ

เอ๊า! กระโดดข้ามมาเลยพระคุณเจ้า

0000

 



เอกสารอ้างอิง

1 การพัฒนาสตรีในพระพุทธศาสนา โดย ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ษัฏเสน

2 เรื่องของภิกษุณีสงฆ์ โดย ธัมมนันทา ภิกษุณี

3 สืบสานและเติมเต็ม เรื่องราวของภิกษุณีวันวานและวันนี้ โดย ฉัตรสุมาลย์

4 ภิกษุณีบวชไม่ได้ วาทกรรมที่กำลังจะเป็นโมฆะ โดย ธัมมนันทา

5 ภิกษุณี กับบทบาทเรื่องเพศสภาพในสังคมไทย โดย ภิกษุณีธัมมนันทา

6 ตอบ ดร.มาร์ติน พุทธวินัยถึงภิกษุณี โดย พระภิกษุณีสุโพธา

7 สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์จริงหรือ? โดย พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ใน บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2549

8 ภิกษุณี วิกฤต ฤา โอกาส โดย Ritti Janson

9 ทัศนะของพุทธศาสนาต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)

10 ปัญหาภิกษุณี บททดสอบสังคมไทย โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)

11 ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา โดย ปรีชา ช้างขวัญยืน

12 ผู้หญิงกับพระธาตุ โดย สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ บรรณาธิการ

13 การเคลื่อนไหวของยุวสงฆ์ไทยรุ่นแรก พ.ศ.2477-2484 โดย คนึงนิตย์ จันทบุตร

12 ประวัติศาสตร์สตรีไทย โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ สมชาย ปรีชาเจริญ นายผี

13 การรื้อฟื้นการอุปสมบทภิกษุณีในนิกายเถรวาท โดย พระภิกษุโพธิ มหาเถระ

14 Women Under Primitive Buddhism โดย I.B.Horner

           

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 20-26 ก.ค. 2559

$
0
0

ก.แรงงาน แจ้งนายจ้างให้ลูกจ้างออกไปใช้สิทธิลงประชามติ หากขวางเจอคุก-ปรับ
 
นายสุทธิวงศ์ กติกา สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติพร้อมกันทั่วประเทศ จากความสำคัญดังกล่าว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายศิริชัย ดิษฐกุล ได้ประกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ขอความร่วมมือจากนายจ้าง สถานประกอบกิจการ ให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ เพื่อเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้ดำเนินการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม โดยได้รับความร่วมมืออันดีจากทุกภาคส่วน รวมทั้งส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้าง มีส่วนร่วมในการออกเสียงประชาติ
 
นายสุทธิวงศ์กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงแรงงานจึงได้ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการและผู้ที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบกิจการ ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ณ สถานที่ออกเสียงประชามติ ตาม กกต.ได้กำหนดขึ้น โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด กรณีที่นายจ้างผู้ใดขัดขวางหรือหน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงต่อลูกจ้าง อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
เอกชนจ่อฟ้องศาล พ.ร.บ.คนพิการไม่เป็นธรรม อ้าง ตจว.หาคนมาทำงานไม่ได้ จำใจส่งเงินเข้ากองทุนกว่าแสนบาทต่อปี
 
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังมีแนวคิดที่อาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเกี่ยวกับ การออกพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ที่ไม่ชอบโดยการบังคับให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั่วไปที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปให้รับคนพิการในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน หากไม่รับคนพิการทำงานจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าการออกกฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ
 
"ไม่ใช่เอกชนจะไม่จ้างคนพิการ แต่ปัญหาคือเราหาคนพิการไม่ได้ หลายโรงงานพยายามขอร้องให้รัฐช่วยหาแรงงานคนพิการให้ แต่รัฐหรือเขตก็บอกว่าให้หาเอง ที่สุดเมื่อเอกชนหาไม่ได้ก็ต้องทำตามกฎหมายคือจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเฉลี่ยต่อคน ก็คิดเป็นเงินเกือบแสนบาทต่อปี เมื่อหลายคนก็เป็นเงินมากอยู่แล้ว กองทุนฯ ตอนนี้มีเงินมากเอาไปทำอะไร" นายทวีกิจกล่าว
 
ทั้งนี้ เอกชนต้องการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะผู้ออกกฎหมายหรือแรงงานจังหวัด เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานคนพิการขึ้น แล้วเป็นศูนย์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้เอกชนไปแจ้งขอยื่นคนพิการเข้าทำงานไม่ใช่ให้เอกชนหาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย โดยการดำเนินงานก็สามารถนำเงินกองทุนฯ ที่เก็บไปพัฒนาเพิ่มทักษะฝีมือ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่ามีเงินเข้ากองทุนฯ จำนวนพอสมควร
 
นายสมมาต ขุนเศษฐ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานในเขตรอบนอกและต่างจังหวัดประสบปัญหาการจ้างคนพิการทำ งานเนื่องจากหายาก ส่วนใหญ่คนพิการจะกระจุกตัวในเขต กทม.
 
 
กระทรวงแรงงานเผยเดือน มิ.ย.59 จ้างงานเพิ่มกว่า 2 แสนคนเมื่อเทียบปี 58
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนไทยทุกคนทุกกลุ่มมีงานทำที่มั่นคง ภายใต้นโยบาย 3 โอกาส คือ โอกาสแรกคือ การตั้งต้น ทั้งด้านเงินทุน การจัดหาตำแหน่งงานรองรับ โอกาสที่สอง คือ การพัฒนาทักษะฝีมือ ทั้งในส่วนของกระทรวงดำเนินการเอง หรือร่วมกับภาคเอกชนในการฝึกทักษะตลอดจนร่วมมือกับนานาประเทศ และโอกาสที่สาม คือ การคุ้มครองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตทีดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจากการประสานความร่วมมือในทุกฝ่าย ทำให้สถานการณ์การจ้างงงานเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยเข้าทำงานในสถานประกอบการ (มาตรา 33) ในเดือนมิ.ย. 59 มีจำนวน 10,377,038 คน เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. 59 ที่มีจำนวน 10,347,954 คน จำนวนถึง 29,084 คน และหากเทียบกับเดือนมิ.ย. 58 ที่มีแรงงานทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 10,118,561 คน จะเพิ่มขึ้นถึง 258,477 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนอื่น ๆ ในปี 2559 ตั้งแต่ มกราคม – พฤษภาคม ยอดจ้างงานเดือนมิ.ย. จะมีจำนวนแรงงานที่เข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการสูงสุด โดย ม.ค. มี 10,314,551 คน ก.พ. มี 10,348,753 คน มี.ค. (ซึ่งทุกปีจะมียอดจ้างงานสูงขึ้นเนื่องจากมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่การทำงาน) มีจำนวน 10,365,424 คน เม.ย. 10,338,067 คน และเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันในรอบ 6 เดือนในปี 2559 (มค.-มิย.59)กับปี 2558(มค.-มิย.58)พบว่าผู้ประกันตนเข้าทำงานในสถานประกอบการปี 2559 สูงกว่าปี 58 เฉลี่ยเดือนละกว่า 280,000 คน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่นๆทีมีความต้องการแรงงานอยู่จำนวนมาก
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังเน้นย้ำให้แรงงานที่จบใหม่ หรือแรงงานที่ทำงานอยู่เดิมต้องพัฒนาทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริงโดยเฉพาะปัจจุบันภาคบริการยังขาดอยู่มาก อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้แล้วด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป
 
 
ก.แรงงานเตรียมตำแหน่งงานรองรับพนักงานเหมาช่วงโตโยต้า
 
นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงาน กล่าวว่า กรณีพนักงานเหมาช่วงโตโยต้าเข้าร่วมโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ทาง พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยบริษัทหรือผู้ประกอบการจะมีปัญหา ในการผลิต และพนักงานกลุ่มที่ถูกปรับลดจะมีปัญหารายได้ในการครองชีพ และการหาอาชีพใหม่ จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือร่วมกับบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อสอบถามถึงแนวทางและหามาตรการที่จะดำเนินการแก้ไขและลดปัญหาร่วมกัน และกรณีมีข่าวว่าบริษัทโตโยต้าปรับลดพนักงานลง 4,000-5,000 คนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีการปรับลดเพียง 900 คนเศษ ซึ่งเป็นพนักงานกลุ่มเหมาช่วงที่แสดงความจำนงขอเข้าโครงการจากด้วยใจ สมัครใจลาออก ที่จากเดิมการปรับลดพนักงานของบริษัทโตโยต้ามีเป้าหมายในการ ปรับลดเพียง 900 คน แต่มาแสดงความจำนงถึง 1,200 คน อีกทั้งการออกจากงานครั้งนี้เป็นการออกจากงานเพียงชั่วคราว เนื่องจากบริษัทโตโยต้าได้ให้คำมั่นว่า หากการผลิตการส่งออกดีขึ้นตามเดิมก็พร้อมที่จะรับพนักงานกลุ่มนี้กลับเข้าทำงาน
 
ทางกระทรวงแรงงานก็จะเริ่มดำเนินการโดยให้กรมการจัดหางานประสานงานกับพนักงานเป็นรายบุคคล เพื่อทราบความประสงค์ความต้องการทำงาน หากประสงค์ให้กระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือเรื่องของตำแหน่งงานใหม่ เปลี่ยนงานใหม่ และหางานใหม่ ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ได้เตรียมตำแหน่งงานในกลุ่มของยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ไว้ 1,100 ตำแหน่ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ไว้รองรับ รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระ การฝึกเพื่อเพิ่มฝีมือแรงงานหรือการฝึกเพื่อเปลี่ยนสายงาน และการให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ
 
 
ขรก.สธ.สุโขทัยรวมตัวทวงสิทธิ์อายุราชการผ่านศูนย์ดำรงธรรมฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเมธาสิทธิ์ นวลเนียม พร้อมด้วยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายวิษณุ สว่างทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เนื่องจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข อดีตพนักงานของรัฐได้รับผลกระทบจากการนับอายุราชการ เกรงว่าจะส่งผลต่อเงินบำนาญ
 
นายเมธาสิทธิ์เปิดเผยว่า กลุ่มข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงฯ อดีตพนักงานของรัฐในช่วงปี พ.ศ. 2543-2546 ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานทันตกรรม เจ้าพนักงานเภสัชกรรม รวมกว่า 1,000 คนใน 12 จังหวัดภาคเหนือ และกว่า 30,000 คนทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติระเบียบราชการอย่างไม่เป็นธรรมในเรื่องอายุราชการ
 
ซึ่งแพทย์และพยาบาลเหล่านี้จบการศึกษาในฐานะนักเรียนทุนของรัฐที่ต้องทำสัญญาผูกมัดกับรัฐบาลว่าจบมาแล้วบรรจุทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ถ้านักเรียนทุนเรียนจบแล้วลาออกไปอยู่เอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ จะต้องชดใช้ทุนตามที่สัญญากำหนด แต่ขณะนั้นนโยบายรัฐจำกัดจำนวนข้าราชการ ทำให้ต้องเข้าทำงานในฐานะพนักงานราชการไปก่อน และทางกระทรวงฯ ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมข้าราชการทุกประการ
 
กระทั่งต้นปี 2543 กลุ่มนักเรียนทุนเหล่านี้ได้รวมตัวเรียกร้องการบรรจุกลับเป็นข้าราชการมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ได้รับคำตอบจาก ก.พ.ว่า อย่างไรนักเรียนทุนต้องบรรจุเป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งให้ใช้สิทธิต่างๆ อ้างอิงกับราชการทุกอย่าง
 
ต่อมาปี 2547 มีการประกาศโอนพนักงานของรัฐทั้งหมดเข้าเป็นข้าราชการ เพราะ ก.พ.ไม่สามารถออกกฎหมายต่างๆ มารองรับสิทธิ และแก้กฎหมายครอบคลุมพนักงานของรัฐได้ จึงบรรจุกลับเข้าไปเป็นข้าราชการ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2547
 
แต่ในการบรรจุเป็นข้าราชการกลับให้นับเวลาการทำงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการทำผลงานเท่านั้น ไม่ได้นับย้อนหลังอายุราชการขณะเป็นพนักงานของรัฐ ทำให้ข้าราชการกลุ่มนี้อายุราชการขาดหายไป 1-4 ปีตามรุ่นที่จบ จึงได้มีการรวมกลุ่มข้าราชการ กลุ่มอดีตพนักงานของรัฐ ปี 2543-2546 เพื่อดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมเรียกร้องอายุราชการย้อนหลังในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ควรได้อื่นๆ ด้วย
 
 
กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ยื่น กสม. ช่วยเหลือ ถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน อ้างคุณสมบัติไม่ผ่าน
 
กลุ่มมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ 11 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี ถูกบริษัทปฏิเสธรับเข้าทำงาน โดยกลุ่มมุสลิม เปิดเผยว่า ได้ทำงานกับสายการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้หมดสัญญากับบริษัทที่จัดหาจึงไม่มีการต่อสัญญาต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้เรียกพนักงานไปคุยเรื่องการทำงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่ม 11 คนนี้ เป็นรอบที่ 2 ซึ่งเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด แต่บริษัทไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจน ว่า ทำไมจึงไม่ให้ทำงานต่อ เพียงบอกว่าคุณสมบัติไม่ผ่าน
 
ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีความกังวลว่า การที่ไม่ได้รับการต่อสัญญานั้น อาจเป็นเพราะบริษัทเห็นว่าเป็นบุคคลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจจะกระทบต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่ใน 11 คน ก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีมาโดยตลอด
 
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมุสลิมทั้ง 11 คน ได้ยื่นเรื่องกล่าวต่อศาลแรงงานแล้ว โดยศาลนัดอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ย. 2559
 
 
"IRPC" ยันไม่มีแผนลด พนักงาน
 
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ (IRPC) กล่าวยืนยันว่าบริษัทไม่มีแผนปรับลดพนักงาน เนื่องจากภาวะอุตสาหกรรมแต่อย่างใด แต่เปิดโครงการสมัครใจลาออก (Early Retire) ภายใต้โครงการ EVERESTที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี2558เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรทุกด้าน โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายจำนวนพนักงานที่จะปรับลดลงโดยปัจจุบันมีพนักงานประมาณกว่า 5,000 คน ซึ่งการดำเนินการ ไม่ได้มุ่งหวังลดพนักงาน อย่างไรก็ตาม จากการเพิ่มประสิทธิภาพมาโดยตลอดตั้งแต่โครงการเดลต้าปี 2556ทางบริษัทเปิดให้พนักงานสมัครใจลาออกและมีผู้สมัครเข้าโครงการจนพนักงานมีอัตราเหลือเท่าปัจจุบัน
 
 
200 องค์กรลั่นจ้างงานคนพิการหมื่นคน
 
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อม 6 องค์กร ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งองค์กรเอกชนและภาคประชาสังคมกว่า 200 องค์กร ร่วมประกาศความร่วมมือโครงการสานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา โดย พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ได้มอบนโยบายนี้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานคนพิการให้ได้ 10,000 อัตรา ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ พล.อ.อดุลย์ กล่าวว่า หากทำได้ตามเป้าหมายจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากถึง 1,000 ล้านบาท
 
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้เชื่อมประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนจนเกิดการจ้างงานคนพิการกว่า 1,277 อัตรา ในปี 2559 โดยความร่วมมือของบริษัทเอกชน 88 องค์กร ทำให้คนพิการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน
 
 
ก.แรงงานเผย 9 เดือนสร้างงานคนพิการมีรายได้กว่า 900 ล้านบาทต่อปี
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ถือเป็นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดส่งเสริมให้
 
คนพิการมีงานทำ โดยปัจจุบันมีคนพิการทั่วประเทศ 1,568,847 คน เป็นคนพิการที่อยู่ในกำลังแรงงาน จำนวน 748,941 คน และสามารถทำงานได้ แต่ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ จำนวน 397,800 คน (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ 3 มิ.ย.59) จากสถิติดังกล่าวทำให้รัฐมีมาตรการในการปรับ
 
แก้ไขกฎหมายและระเบียบให้มีความสอดคล้องในสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนพิการที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน และผู้ดูแลคนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิแทนคนพิการได้มากยิ่งขึ้น นายจ้างและสถานประกอบการมีทางเลือกในการปฏิบัติตามกฎหมายได้หลากหลาย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำงาน มีอาชีพ มีรายได้ด้วยตนเอง และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งนอกจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมส่งเสริมให้คนพิการมีงานทำในลักษณะ 3S (Skill, Social, Security) แล้ว ยังประสานทุกภาคส่วนเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานของคนพิการ ทั้งการเข้าทำงานในสถานประกอบการ (มาตรา 33) และหากไม่สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ ก็ดำเนินการอื่นทดแทน เพื่อให้คนพิการมีอาชีพและมีรายได้ โดยใช้กลไก “ประชารัฐ”
 
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมการจัดหางานดำเนินการรับลงทะเบียนสมัครงานสำหรับคนพิการที่สนใจทำงาน ติดต่อประสานนายจ้าง/สถานประกอบการ เพื่อรับแจ้งตำแหน่งงานว่าง และจัดส่งคนพิการที่ลงทะเบียนสมัครงานไปพบนายจ้างเพื่อพิจารณาบรรจุงาน จัดงานนัดพบแรงงานคนพิการพร้อม ๆ กับจัดประกวดแข่งขันนายจ้าง/สถานประกอบการดีเด่น ที่ให้การสนับสนุนการจ้างงานคนพิการด้วย ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาในรอบ 9 เดือน (ต.ค.58 – มิ.ย.59) มีคนพิการขึ้นทะเบียนหางานกับกรมการจัดหางาน จำนวน 3,253 คน ได้รับการบรรจุงานแล้ว 1,695 คน มีรายได้จากการบรรจุงานตามวุฒิการศึกษาดังนี้ ระดับประถมศึกษา (เสมียน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า, พนักงานบริการ, ควบคุมเครื่องเย็บผ้า) จำนวน 516 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 9,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา (เสมียน, เจ้าหน้าที่คลังสินค้า, พนักงานบริการ) จำนวน 845 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 9,000 บาท ระดับ ปวช. (พ่อครัว, พนักงานต้อนรับ) จำนวน 74 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 12,500 บาท ระดับ ปวส./อนุปริญญา (เสมียน, พนักงานบริการ) จำนวน 110 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 12,500 บาท และระดับปริญญาตรี (ผู้บัญญัติกฎหมาย, เสมียน) จำนวน 150 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน คนละ 16,500 บาท เมื่อคิดโดยรวมแล้วก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 17,024,000 บาท/เดือน หรือ 204,288,000 บาท/ปี และสำหรับผู้ที่ไม่พร้อมทำงานในสถานประกอบการ นายจ้างให้สิทธิคนพิการสร้างงาน สร้างอาชีพให้อีกจำนวน 6,303 คน ก่อให้เกิดรายได้ 690,178,500 บาท/ปี รวมทั้ง 2 กลุ่ม คนพิการมีงาน มีอาชีพ จำนวน 7,998 คน ก่อให้เกิดรายได้รวม 911,490,500 บาท/ปี ทั้งนี้นายจ้างหรือคนพิการสามารถติดต่อเพื่อการจ้างงานได้ที่สายด่วน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 24/7/2559
 
ผลสำรวจพบนิคมฯต้องการแรงงานสายวิชาชีพ
 
“อมตะกรุ๊ป “ เผยนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ทั้งสองแห่ง พร้อมรับแรงงานฝีมือต่อเนื่อง ล่าสุดรับไปแล้วกว่า 10,000 อัตราต่อปี เน้นสาย ปวช. ปวส. ป้อน 5 อุตสาหกรรมหลัก ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็คทรอนิค เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก ยาง
 
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลที่นำมาใช้ในการกระตุ้นการลงทุนในอนาคต ขณะนี้ได้ส่งผลให้เกิดการเตรียมตัวในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลใช้โมเดล ปรับไปสู่อุตสหกรรม 4.0 โดยเน้นนวัตกรรมเครื่องจักร และหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการตกงานของแรงงานไทยมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ คงเป็นในอนาคต ที่จะนำมา เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และนวัตกรรมเครื่องจักร มาใช้ในสายการผลิต เรื่องนี้ต้องมีเวลาพัฒนาอีกระยะหนึ่ง
ส่วนกรณีที่มีกระแสลดพนักงานในช่วงนี้ มองว่าเป็นการบริหารจัดการต้นทุนของผู้ประกอบการและถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกเพื่อเป็นการการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเท่านั้น จะเห็นว่าจากกรณีการประกาศปรับลดแรงงานที่ผ่านมา เป็นการปรับลดแรงงานส่วนของการจ้างบุคคลภายนอกหรือ เอาท์ซอร์สซิ่ง (Outsourcing ) แต่ไม่ได้เป็นการปรับลดพนักงานประจำของบริษัท ซึ่งจากการสำรวจความต้องการจ้างงาน ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ. ชลบุรี และ นิคมฯอมตะซิตี้ จ.ระยอง ยังมีการเปิดรับอย่างต่อเนือง โดยเมื่อเร็วๆนี้ สถานประกอบการในนิคมฯ ยังมีความต้องการแรงงาน ประมาณกว่า 10,000 อัตรา ซึ่งตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิค เหล็กและเหล็กกล้า พลาสติก เป็นต้น โดยแรงงานที่ต้องการต้องการแรงงานสายวิชาชีพที่จบ ปวช. ปวส. มากกว่าแรงงานสายสามัญที่จบระดับปริญญาตรี
 
“ แนวโน้มความต้องแรงงานในสถานประกอบการ ปัจจุบัน เน้นการรับแรงงานเข้าสู่ระบบในสายการผลิต โดยจะเน้นรับตำแหน่งงานที่มาจากสายสายวิชาชีพ มากกว่าแรงงานในระดับการศึกษาทั่วไป เนื่องจากทิศทางการผลิตในอนาคตอันใกล้ จะต้องมีการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทั้งในด้านประสิทธิภาพ การขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง รวมถึงนโยบายของรัฐบาล ที่มีการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย (New s curve )จะมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งของประเทศ ”นายวิบูลย์กล่าวว่า
 
อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพการเติบโตของอมตะทั้ง 2 แห่ง มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 42,000 ไร่ มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,170 โรงงาน เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางแหล่งงานขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของประเทศไทย สามารถรองรับแรงงานได้เป็นจำนวนมากกว่า 10,000 อัตราต่อปี ปัจจุบันมีแรงงานหนุนเวียนอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะแล้วกว่า 210,000 คน
 
 
แรงงานเมียนมา 137 คน ประท้วงหลังไม่ได้ค่าจ้าง
 
แรงงานพม่าจำนวน 137 คน ของโรงงานเส้นหมี่ จ.ราชบุรี กว่า 100 คนรวมตัวประท้วงขอลาออกหลังไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่ช่วงวันที่16-30มิถุนายน จากเดิมมีกำหนดจะจ่ายให้ในวันที่13 ก.ค. และค่าจ้างช่วงวันที่ 1-15ก.ค. จะมีกำหนดจ่ายในวันที่ 29 ก.ค. จึงกลัวว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างทั้ง 2 งวด จากนั้นนายออง ซู ตัน ทูตแรงงานพม่า ได้ร่วมพูดคุยและร่วมลงชื่อในบันทึกข้อตกลงระหว่างโรงงานกับแรงงานพม่าทั้งหมดจึงยุติการประท้วง
 
 
หนุนออกกฎหมายใหม่ปลดล็อกการเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ กยศ. ให้นายจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือน พร้อมนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรโอนให้กองทุนหวังแก้ปัญหาหนี้ค้างจ่าย
 
ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กองทุนกรอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรได้ ทำให้กองทุนต้องพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมากในการจัดสรรให้กู้ยืม เป็นผลให้กองทุนต้องยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้กู้ยืม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้
 
ทั้งนี้ จากการที่พ.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนในการผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ โดยได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ให้มีการกู้และการนำส่งคืนเงินอย่างรัดกุมเหมาะสม รวมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการกู้ยืม และให้บรรจุกฎหมายใหม่ของกองทุนเป็นกฎหมายเร่งด่วนตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2
 
ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ(เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559)โดยกฎหมายใหม่ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจางนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระหรือต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560
 
ต่อประเด็นดังกล่าวนายปรเมศวร์สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กยศ. อธิบายเพิ่มเติมกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่สรุปชื่อเป็นทางการ คาดว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งหากการยกร่างกฎหมายใหม่ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในป 2560 นั้น จะมีผลในทางปฏิบัติ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.กระ บวนการให้กู้ยืมในวันข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 4 ประเภทจากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ประเภทคือ กยศ.ปล่อยกู้สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้มีรายได้น้อยหรือขาดแคลนทุนทรัพย์กรอ.เป็นเงินกู้ยืมเพื่อส่งเสริมในสาขาวิชาการที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นนักศึกษาขาดแคลนหรือยากจนก็ตาม ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ ทุนเรียนดี และสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องให้การส่งเสริม เช่น การพัฒนาประเทศหรือสาขาที่ไม่มีคนสมัครเรียน 2. กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้โดยไม่ว่าข้อมูลจะอยู่หน่วยงานใด ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อห้ามทางกฎหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการหักเงินเดือนโดยกฎหมายบังคับนายจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือนพร้อมส่งภาษีให้กรมสรรพากรโดยกรมสรรพากรจะโอนหนี้ให้กยศ.ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ค้างในอนาคต
 
ต่อข้อถามถึงคุณภาพลูกหนี้นั้น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กล่าวว่า ภาพรวมวงเงินกู้ยืมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 4.6ล้านราย วงเงินประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 3 ล้านราย ปิดบัญชีแล้ว 4 แสนราย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คงเหลือกว่า2 ล้านราย และมีเงินต้นตามสัญญาประมาณ1 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษา ประมาณ 1 ล้านรายคิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 1 แสนล้านบาท(ยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้)
 
นอกจากนี้ คงมีวงเงินค้างชำระอยู่ จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น50% ของยอดเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1แสนล้านบาท ซึ่งเงินกู้ค้างชำระ 50%ที่ครบกำหนดแต่ยังไม่จ่ายแบ่งเป็น 1. กลุ่มทั่วไปมียอดหนี้ค้างชำระ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค้างชำระน้อยเพียง22% จากยอดหนี้ที่ครบกำหนด จากจำนวน 2ล้านราย 2. กลุ่มไกล่เกลี่ยจำนวน1 แสนรายยอดหนี้ค้างชำระ 7,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่สามารถชำระหรือค้างชำระ78% เตรียมดำเนินคดีในระยะถัดไป และกลุ่ม 3. เป็นลูกหนี้ถูกดำเนินคดีแล้วกว่า6 แสนราย มีหนี้ค้างชำระ 3.6 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 90% โดยกลุ่มนี้ต้องดำเนินการบังคับคดี ตามรุ่นปีที่ฟ้องร้อง เช่น ปี 2559 จะบังคับคดีกับลูกหนี้ที่กยศ.ฟ้องในปี 2550 และในปี2560 กยศ.จะบังคับคดีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องในปี 2551 ซึ่งในกระบวนการบังคับคดีนั้นเป็นหน้าที่กยศ.ต้องทยอยดำเนินการ เพราะหากไม่ดำเนินการเจ้าพนักงานจะมีความผิดทางกฎหมายเช่นกัน
 
“ทุกวันนี้ กยศ.เปิดทุกช่องทางให้ผู้กู้ชำระคืนหนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักและรับผิดชอบต่อการนำเงินกู้คืนกองทุนเพื่อจะนำส่งต่อรุ่นต่อไปที่สำคัญเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วลูกหนี้ถ้ามีทรัพย์สินไม่ควรผ่องถ่ายโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นพยายามทำไม่ให้มีทรัพย์ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวมีความผิดทางอาญาและนิติกรรมที่ลูกหนี้ดำเนินการโอนไปนั้นสามารถขอคำสั่งศาลให้เพิกถอนได้ ซึ่งนอกจากมีความผิดหนีหนี้แล้วยังเข้าข่ายผิดทางอาญาด้วย”
 
ขณะเดียวกันกยศ.ได้เพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้ทยอยคืนหนี้เงินกู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดโครงการกยศ.-กรอ.เพื่อชาติและโครงการปิดชำระภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% นอกจากนี้ที่ผ่านมากยศ.ได้ว่าจ้างบริษัทภายนอกให้ติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งผลดำเนินงาน 3 ครั้งสามารถทวงหนี้ได้ 5,500 ล้านบาทโดยจ่ายค่าติดตามทวงถามในอัตรา7% ซึ่งโดยรวมกยศ.จ่ายค่าติดตามทวงถามหนี้ประมาณ 200 ล้านบาทสามารถลดการดำเนินคดีลูกหนี้กว่า1 แสนราย ลดค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี 700 ล้านบาท และมีเงินกลับสู่ระบบด้วย อนึ่งสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดเมื่อ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2559) มียอดการชำระหนี้กยศ.เพิ่มขึ้นจากปีก่อน39% และกรอ.เพิ่มขึ้น 27%
 
 
กระทรวงแรงงาน เตรียมเปิดศูนย์หางานให้ผู้สูงอายุส.ค.นี้ พร้อมใช้มาตรการหักลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าจูงใจผู้ประกอบการ
 
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2559 ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการจัดทำแผนส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุว่า จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานให้แก่ผู้สูงอายุ ขึ้นภายในศูนย์บริการจัดหางาน ช่วงต้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรวบรวมข้อมูลการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตามความเชี่ยวชาญ รูปแบบการทำงาน และจะสำรวจการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อเป็นตัวกลางให้ผู้สูงอายุที่มาขึ้นทะเบียนไว้เป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการมาติดต่อเพื่อจ้างงาน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายทยอยติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า กระทรวงฯ จะนำมาตรการของกระทรวงการคลังมาสนับสนุนในการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยมีโปรแกรมส่งเสริมจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการ ซึ่งจะกำหนดในเรื่องค่าจ้างหรือสภาพการจ้างใหม่ และมีวิธีจูงใจสถานประกอบการให้เข้าร่วมโครงการด้วยมาตรการด้านภาษี ซึ่งสถานประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าในการจ้างงานผู้สูงอายุซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้เร็ว ๆ นี้
 
นอกจากนี้กระทรวงจะมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคมเพื่อให้เอื้อต่อการจ้างงานหลังอายุ 55 ปี รวมถึงปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าปี 2559 มีผู้มารับบำนาญชราภาพ 63,000 คน ซึ่งได้รับเงินสูงสุด 3,425 บาทต่อเดือน และต่ำสุดได้รับ 720 บาทต่อเดือน แต่โดยหลักการสากลผู้สูงอายุจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40% ของเงินเดือน ขณะที่อัตราที่ สปส.จ่ายสูงสุดยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลพอสมควร
 
ม.ล.ปุณฑริก เปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อมูลปี 2557 ผู้สูงอายุของประเทศไทยมีกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งหมด และปี 2578 ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะต้องเตรียมรับมือ คือ อาชีพและรายได้โดยผู้สูงอายุ 1 ใน 3 จะมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่วัยแรงงานก็มีจำนวนลดน้อยลง ซึ่งกระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุในระยะที่ 1 พ.ศ.2559 – 2564 โดยจะกระจายงานจากภาคเอกชนไปสู่ชุมชนให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ส่งเสริมอาชีพในชุมชน เป็นต้น
 
 
โดล ไทยแลนด์ ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ชุมพร คนงานกว่าพันเคว้ง
 
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ ( 25 ก.ค.) ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร นายสุชาติ พรหมมิตร นายสมโชค สักคานา หัวหน้าช่าง ประจำแผนก บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม หมู่ 10 ตำบล ท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องส่งออกต่างประเทศรายใหญ่ พร้อมด้วยกลุ่มพนักงาน คนงาน ลูกจ้าง กว่า 200 คน เข้าขอความช่วยเหลือต่อหน่วยงานเกี่ยวข้อง เนื่องจากช่วงเช้าที่ผ่านมาพนักงานและคนงานของบริษัท ได้เดินทางไปทำงานที่โรงงานดังกล่าว แต่ต้องตกใจเมื่อพบว่าประตูโรงงานปิดล๊อกอย่างดี โดยมีตำรวจ ทหาร และ อ.ส.และ รปภ. ยืนคุมรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณหน้าประตูและห้ามบุคคลภายนอกเข้าอย่างเด็ดขาด
 
นายสุชาติ พรหมมิตร หัวหน้าช่าง ประจำแผนก เปิดเผยว่า ตนได้พยายามสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทก็ทราบว่า บริษัทได้สั่งปิดโรงงานลงอย่างถาวรในวันนี้ ด้วยอ้างว่าจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยอง และบอกว่าหากพนักงาน คนงาน รายใดต้องการจะทราบรายละเอียดต่างๆให้เดินทางมายังโรงแรมแห่งหนึ่งกลางใจเมืองชุมพร เพื่อจะได้รู้ถึงข้อมูลต่างๆซึ่งพวกตนก็ได้เดินทางไปตามที่ทางบริษัทจัดเตรียมไว้ แต่ก็ถูกผู้บริหารจัดแยกให้เข้าประชุมเป็นแผนกเป็นกลุ่มไม่ให้รวมกัน
 
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ได้มีพนักงานบางส่วนที่เข้าไปแล้วออกมาบอกต่อกันว่าทางบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ที่ จ.ชุมพร ได้ปิดตัวลงจริงและจะย้ายฐานการผลิตไปรวมกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และ จ.ระยอง แต่พนักงานและคนงานบริษัทยังคงจ้างอยู่เช่นเดิม แต่ต้องเลือกว่าจะไปทำที่จังหวัดไหน หรือจะยื่นใบลาออกตามความสมัครใจ ทำให้ทุกคนไม่พอใจเพราะว่าการจะปิดหรือย้ายโรงงานจะต้องแจ้งกล่าวล่วงหน้า ไม่ใช่นึกจะปิดก็ปิดเลย ซ้ำยังให้เลือกข้อใดข้อหนึ่งอีก จึงได้เดินทางมาเพื่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างทีเป็นคนไทยกว่า 1,300 คน และแรงงานต่างด้าวกว่า 200 คน รู้สึกเคว้งขว้างตกงาน
 
ด้านนางกุลรัฐ วิวัฒนานนท์ รักษาราชการแทนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร ได้ลงมาพบพนักงานและคนงานดังกล่าวและเปิดเผยว่า นายสมดี คชายั่งยืน ผวจ.ชุมพร ได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและช่วยเหลือด้านสวัสดิการตามกฎหมาย และจะเชิญทางบริษัทมาชี้แจงถึงสาเหตุในการปิดโรงงานพร้อมกับจะหาตำแหน่งงานรองรับตามความสมัครใจต่อไป
 
ขณะที่ น.ส.ฉัตรปวีณ์ จิระวัฒนผลิต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ชุมพร ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ฐานของการผลิต เนื่องจากปัญหาด้านผลผลิตในพื้นที่มีน้อย ต้องซื้อจากจังหวัดอื่นทำให้ต้นทุนสูง ประกอบกับเราเป็นบริษัทผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกไปต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องขนส่งสินค้าที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง จึงต้องย้ายฐานการผลิตไปรวมกับที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระยอง ส่วนแรงงานทั้งหมดเราจะปฏิบัติดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยทำความเข้าใจกันเองเป็นการภายในกับพนักงานและลูกจ้างอยู่เท่านั้น
 
 
จนท.จัดหางานเชียงใหม่นำทหาร-ตำรวจกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิด กม.ตลาดสดใหญ่ รวบได้กว่า 10 ราย
 
(26 ก.ค. 59) เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และทหาร ร่วมกันตรวจสอบและกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะสถานประกอบการและร้านค้าในตลาดเมืองใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายสำคัญในตัวเมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นสามารถควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวชาวพม่า และผู้ประกอบการที่มีการว่าจ้างแรงงานผิดประเภท เพื่อควบคุมตัวไปตรวจสอบและดำเนินคดีได้มากกว่า 10 ราย
 
ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายของกรมการจัดหางาน ที่ให้มีการ ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ลักลอบทำงานโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ นำคนต่างด้าวเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของรัฐ โดยนำคนต่างด้าวไปรายงานตัว และขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service หรือ OSS) ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.ค. 59 นี้
 
ขณะที่วานนี้เจ้าหน้าที่โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ชุดปฏิบัติการตรวจสอบและคุ้มครองคนหางานกรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ และเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ได้ร่วมกันตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งหมดรวม 18 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 3 คน แรงงานต่างด้าวทำงานผิดเงื่อนไขนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาต จำนวน 14 คน และเป็นแรงงานเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 1 คน นำส่งสถานีตำรวจภูธรแม่ริมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 
สำหรับกรณีแรงงานเด็กต่างด้าวที่อายุต่ำกว่า 15 ปีนั้น ภายหลังทราบชื่อว่า ด.ช. กวางเชียง สัญชาติพม่า ซึ่งจากการสอบถามของพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานแรงงานจังหวัดเชียงใหม่และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นเด็กให้การว่า เกิดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 อายุ 11 ขวบ โดยได้ติดตามพ่อแม่เข้ามาทำงานแต่ตัวเด็กไม่ได้มีการทำงาน จากการสอบสวนแล้วไม่มีพยานหลักฐานในการทำงาน จึงได้แจ้งข้อหาเด็กเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
 
กระทรวงแรงงาน ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร รุดดูแล
 
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง บริษัท โดลไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตแปรรูปผลไม้ส่งออกที่ปิดโรงงานแปรรูปผลไม้ส่งออกที่จังหวัดชุมพรนั้น ล่าสุดหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชุมพร ได้เข้าไปดำเนินการดูแลช่วยเหลือคนงาน ซึ่งวันนี้มีการนัดหารือกันเพื่อตกลงในรายละเอียดในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และจากการตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างประมาณ 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างตามฤดูกาล จะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนกรกฎาคมนี้ บริษัท ฯ พร้อมจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 2 เดือน และเงินชดเชยตามกฎหมาย เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ ส่วนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 254 คน จะดำเนินการย้ายไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามความสมัครใจ สำหรับลูกจ้างส่วนหนึ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ให้พิจารณาตามความสมัครใจเพื่อไปทำงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดระยองต่อไป
 
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดชุมพร ได้ไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานตามสิทธิผู้ประกันตนแล้ว ขณะที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดชุมพร ได้ประสานกับจังหวัดในพื้นที่มารับสมัครงานจำนวนกว่า 1,000 อัตราแล้ว ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.59) ซึ่งทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานว่างในบริษัท ฯ ผลิตอาหารทะเลจำนวน 300 อัตราส่วนศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้คนงานตามความต้องการของบริษัทที่จะรับเข้าทำงานใหม่ โดย บริษัทโดล ฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัท โดล ฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายละเอียดการดำเนินการให้แก่ลูกจ้างเป็นรายคน ส่งให้ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้
 
 
พนักงาน และแรงงานกว่าพันยอมรับเงื่อนไขผู้บริหารหลัง บริษัท โดล ไทยแลนด์ ผู้ผลิตผลไม้กระป๋องส่งออกรายใหญ่ ปิดโรงงานที่ชุมพร ย้ายฐานการผลิตไปรวมกันที่ จ.ระยอง และ จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
หลังจากที่เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) ได้เกิดปัญหาพนักงาน และคนงานของบริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าแซะ จ.ชุมพร มานานถึง 24 ปี เป็นบริษัทผู้ผลิตแปรรูปผลไม้กระป๋องเพื่อการส่วนออกยังประเทศอเมริกา และยุโรป ได้ประกาศปิดโรงงานลงอย่างฉับพลันทันด่วน ทำให้พนักงาน และคนงานของบริษัทกว่า 1,255 คน ต้องอยู่ในอกสั่นขวัญหายไปตามๆ กัน เพราะต้องตกงาน และไม่ทราบชะตากรรมว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทมากน้อยเพียงไร จึงได้ไปรวมตัวกันเพื่อขอความช่วยเหลือจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชุมพร
 
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (26 ก.ค.) น.ส.สุทัศนี โรจนสุนทร ที่ปรึกษาการสื่อสาร น.ส.ฉัตรปวีณ์ จิระวัฒนผลิต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และคณะผู้บริหาร บริษัท โดล ไทยแลนด์ จำกัด ได้ใช้ห้องประชุมโรงแรมนานาบุรี ตำบลท่าตะเภา อ.เมือง จ.ชุมพร เป็นสถานที่ประชุมชี้แจงต่อพนักงาน และคนงานทั้งหมดประมาณ 1,255 คน ซึ่งรวมไปถึงแรงงานต่างด้าว ถึงการปิดโรงงานที่ชุมพร เพื่อนย้ายฐานการผลิตไปรวมกับโรงงานที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่ จ.ระยอง เนื่องจากปัญหาเรื่องผลผลิตในพื้นที่มีน้อย และการขนส่งที่ไกล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ของบริษัทเพื่อรับเรื่อง ให้คำแนะนำ และเสนอเงื่อนไขให้แก่ผู้ที่ต้องการจะทำงานต่อในโรงงานที่จะย้ายไปรวมใน 2 จังหวัดดังกล่าว โดยแบ่งแยกจัดประชุมเป็นกลุ่มๆ ตามสายงาน พร้อมจัดให้มีล่ามมาแปลภาษาให้แก่แรงงานชาวพม่าด้วย โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา และนำอัตราตำแหน่งงานที่ต้องการของบริษัท ห้างร้านต่างๆ ในพื้นที่ไปติดประกาศไว้รองรับต่อแรงงานที่ต้องการหางานใหม่ทำด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่าย พนักงาน และคนงานต่างทยอยเดินทางมารับฟังสาเหตุจากบริษัทในการปิดโรงงานเพื่อย้ายฐานการผลิตดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายบริหารของบริษัทได้เสนอเงื่อนไขให้แรงงาน พนักงานทั้งหมดสามารถเลือกที่จะไปทำงานต่อได้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ระยอง ตามความสมัครใจ ซึ่งปรากฏว่า พนักงาน และคนงานส่วนหนึ่งตกลงพร้อมที่จะย้ายไปทำงานต่อยังต่างจังหวัด แต่แรงงานส่วนใหญ่ซึ่งเป็นระดับล่างไม่สามารถไปทำงานไกลยังต่างจังหวัดได้ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ต้องรับผิดชอบครอบครัว และภาระอื่นๆ โดยทางบริษัทได้เสนอให้เงื่อนไขแก่พนักงาน และคนงานที่มีเงินเดือนต่ำก็ให้เป็นผู้ถูกเลิกจ้าง เพราะจะได้เงินสวัสดิการช่วยเหลือจากประกันสังคมเป็นผู้ว่างงาน 50% แต่หากเป็นผู้ที่มีเงินเดือนที่สูงแนะนำให้ใช้วิธีลาออก แม้จะได้เงินสวัสดิการช่วยเหลือจากประกันสังคมเป็นผู้ว่างงานเพียง 30% แต่เมื่อรวมกับสวัสดิการอื่นๆ แล้วจะเป็นเงินที่มากกว่าผู้ถูกเลิกจ้าง นอกจากนั้น ทางบริษัทยังมีเงินช่วยเหลือนอกเหนือจากกฎหมายบังคับอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งก็สร้างความพอใจให้แก่พนักงาน และคนงานทุกคน และได้แยกย้ายกันกลับในที่สุด
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียก 11 คนเครือข่ายนักการเมืองเชียงใหม่ส่งมทบ.11 เตรียมแจ้งข้อหา ม.116 ปมจม.ประชามติ

$
0
0

<--break- />ใช้มาตรา 44 เรียกเข้าค่าย รายงานตัวแล้ว 7 คน ส่งต่อ มทบ.11 ตำรวจเตรียมแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น เป็นคดีความมั่นคงต้องขึ้นศาลทหาร 

 

27 ก.ค.2559 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บ้านพักรับรองภายใน มทบ.33 ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ ทหารควบคุมตัวบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจดหมายที่ถูกระบุว่ามีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ควบคุมตัว 11 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งถูกให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นายคเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก

นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่เขต 1 พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกอบจ.เชียงใหม่

นางสาวธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ อาชีพทันตแพทย์

นายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้แล้วเข้าโครงการคุ้มครองพยาน

นายนายอติพงษ์ คำมูล เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลช้างเผือก

นายกฤตกร ไพทะยะ คนขับรถผู้บริหารเทศบาลช้างเผือก

นางสาวเอมอร ดับโศรก

นางสุภาวดี งามเมือง

นายเทวรัตน์ อินต้า

นางกอบกาญจน์ สุคีตา

โดยมีผู้มารายงานตัวตามหมายเรียกในครั้งนี้ 7 คน คือ นายคเชน นางสาวธารทิพย์ นายวิศรุต นายนายอติพงษ์ นางสาวเอมอร นางสุภาวดี นางกอบกาญจน์ สำหรับบุคคลที่เหลืออีก 4 คนคือนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้รับแจ้งว่าอยู่ในระหว่างลาพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางเจ้าหน้าที่มีการแจ้งให้มารายงานตัวที่ มทบ.11 ทันทีที่กลับมาถึงประเทศไทย ส่วนนางสาวทัศนีย์ นั้นได้รับแจ้งว่าไปกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าให้เข้ารายงานตัวที่มทบ. 11 ภายในวันนี้ ส่วนนายกฤตกรและนายเทวรัตน์ยังไม่สามารถตามตัวได้ก็ได้แจ้งให้ญาติพาตัวมาพบกับเจ้าหน้าที่ทหารภายในวันนี้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะออกหมายจับทันที

การออกคำสั่งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 11 คนมารายงานตัวในครั้งนี้สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนายวิศรุต คุณะนิติสาร พนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือก คนสนิทของนักการเมืองท้องถิ่น และนายสามารถ ขวัญชัย ซึ่งให้การรับสารภาพว่า ได้รับการสั่งการจากเครือข่ายผู้มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองให้ไปดำเนินการแจกใบปลิวต่อต้านการออกเสียงประชามติ และจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ซึ่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองได้นำกำลังเข้าบุกค้นใน 10 จุดที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ซึ่งเป็นที่ตั้งของธุรกิจตระกูลนักการเมืองชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผบ.มทบ.33 กล่าวว่า เมื่อเย็นวานนี้ทางทีมกฏหมายของ คสช. ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อเจ้าหน้าที่กองปราบปราม กรุงเทพฯ เกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้นซึ่งเข้าข่ายมาตรา 116 ถือเป็นอำนาจของศาลทหาร ทุกฝ่ายจึงเห็นว่าให้ทางกรุงเทพเป็นผู้ดำเนินคดี โดยจากปากคำผู้ต้องหาได้ให้การเป็นประโยชน์ถึงคนบงการ คนดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ในการก่อความไม่สงบในประเทศ ทางเราจึงได้ออกหมายเรียกทั้ง 11 คนมาพบเพื่อนำตัวไปที่มทบ. 11 ในการควบคุมตัวและดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมาย โดยจากนี้ทางกองปราบฯ จะเข้ามาดำเนินการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อช่วงจากตำรวจภาค 5
ทั้งนี้ มาตรา 116 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดที่ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

หลังจาก พล.ต.โกศล ชี้แจงรายละเอียดการเรียกทั้งหมดให้มารายงานตัวแล้ว ได้นำตัวทั้ง 7 คนขึ้นรถตู้โดยมีกำลังทหารกว่า 30 นายควบคุม เพื่อนำตัวทั้งหมดเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปส่งตัวให้ที่ มทบ.11 กรุงเทพ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ได้แยกตัวนายวิศรุตไปอีกกลุ่มหนึ่ง

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหร ตำรวจและฝ่ายปกครอง ได้บุกเข้าค้นบ้านพักของนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติด้วย

ด้านนายคเชน เจียกขจร นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ขอพูดอะไร ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายยังไม่ขอให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนนางสาวธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ ทำงานเป็นทัตแพทย์ เปิดเผยว่าตนเองเป็นน้องของนางสาวทัศนีย์และนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ ตนไม่เคยยุ่งเรื่องการเมืองทำอาชีพเป็นหมอฟันอย่างเดียว ยังไม่ทราบว่าโดนเรื่องอะไรและไปเกี่ยวข้องกับคดีนี้ตรงไหน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิงห์บุรี 'พิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ' แจ้งความ 112 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง

$
0
0

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ทีนิวส์การเมืองรายงานว่า ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสิงห์บุรี ได้มีสมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯ ประจำจังหวัดสิงห์บุรี และประชาชนที่รักในหลวง ได้เดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.พิชา รุจินาม ผู้กำกับการ สภ.เมืองสิงห์บุรี เพื่อให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กชื่อหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ได้มีการโพสต์ข้อความที่จาบจ้วง ด่าทอ ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างรุนแรง ในหลายๆ ครั้ง ซึ่งเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมี ณัฐนารา ปานมี เป็นแกนนำเครือข่าย พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 10 คน มาร่วมแจ้งความดำเนินคดี

ทีนิวส์ รายงานด้วยว่า จากการสอบถาม ณัฐนารา ทราบว่า ได้มีน้องที่รู้จักกับตนส่งข้อความมาบอกว่าให้ตนเข้าไปดูเฟซบุ๊กในกลุ่ม "ไม่ควายจริงเป็นสลิ่มไม่ได้" ซึ่งเป็นกลุ่มสาธารณะ เมื่อตนเข้าไปดูจึงเห็นเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อตามที่แจ้งความ โพสต์ข้อความในกลุ่มลักษณะจาบจ้วง ด่าทอ ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ตนจึงสำเนาภาพหน้าจอไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อเข้าไปดูในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อดังกล่าว ย้อนหลังไปพบว่า เฟซบุ๊กนี้ใช้ถ้อยคำเหน็บแนม เสียดสีสถาบันฯ หลายครั้ง จึงตัดสินใจนำหลักฐานที่ได้สำเนาไว้มาแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของเฟซบุ๊กนี้ โดยมี พ.ต.ท.สุทธิรักษ์ หมอโอสถ รอง ผกก.สืบสวนสอบสวน เป็นผู้รับแจ้งเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวในความผิดมาตรา 112 ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลานพลทหารวิเชียรเผยพร้อมสู้คดี องค์กรสิทธิเรียกร้องรัฐดำเนินการรอบคอบ-ปกป้องสิทธิ

$
0
0
นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ระบุพร้อมให้กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบ หากผิดจริง ยินดีรับโทษ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วไม่ผิด จะฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญา ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรมชี้แม้เป็นการแจ้งความส่วนตัว แต่ราชการควรดำเนินการให้รอบคอบ ปกป้องสิทธิของประชาชน รวมทั้งอำนวยความเป็นธรรมต่อญาติของผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายของการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไปพร้อมๆ กันด้วย 



แฟ้มภาพ 26 ก.ค. 2559

27 ก.ค. 2559 กรณี นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ซึ่งถูกจับกุมวานนี้ โดยถูกนำตัวจากสถานีตำรวจมักกะสัน กรุงเทพฯ ไปยัง สภ.เมืองนราธิวาส เพื่อสอบปากคำในข้อหา "หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน"

มีรายงานว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม  2559 นริศราวัลย์และผู้ติดตามจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม รวมทั้งตำรวจชุดจับกุมสองนายได้เดินทางมาถึง สภ.เมืองนราธิวาส ผู้ต้องหาถูกนำตัวส่งพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.สมภาร ชะพินใจ และมีทนายความจำนวน 3 คนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าเป็นทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในชั้นนี้ด้วย
ผู้ต้องหาได้รับทราบข้อกล่าวหาพร้อมทั้งให้การปฏิเสธว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา และจะขอให้การโดยละเอียดพร้อมเสนอพยานหลักฐานต่างๆ ต่อพนักงานสอบสวนในภายหลัง จากนั้นจึงได้ขอประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดได้ออกหนังสือรับรองให้ประกอบการประกันตัว พนักงานสอบสวนอนุญาตและดำเนินการให้ตามคำขอของผู้ต้องหา

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.03 น. นริศราวัลถ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รับทราบข้อกล่าวหาและประกันตัวเรียบร้อยแล้ว โดยกำลังเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมระบุด้วยว่า ผู้ฟ้องเป็นนายทหารระดับพันตรี สำหรับขั้นตอนต่อไปทนายจะทำเรื่องแก้ต่าง และรวบรวมหลักฐานส่งให้พนักสอบสวนภายหลัง เพื่อส่งอัยการพิจารณาจะรับสั่งฟ้องหรือไม่

"เมย์ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นเมย์ก็พร้อมให้กระบวนการยุติธรรมตรวจสอบเช่นกัน หากเมย์ทำผิดจริง เมย์ก็ยินดีรับโทษตามกฎหมายค่ะ แต่ถ้าพิสูจน์แล้วไม่ผิด เจอฟ้องกลับทั้งทางแพ่งและอาญา ‪#‎นอกเหนือจากคดีพลทหารวิเชียรฯ‬" นริศราวัลถ์ ระบุ

ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรณีดังกล่าวทางญาติพลทหารวิเชียร จะเป็นคู่ความกับใครเราไม่รู้ แต่ไม่ได้เป็นคู่ความกับกองทัพ กองทัพไม่เคยแจ้งความดำเนินคดีกับเขาแน่นอน ส่วนเขาจะถูกดำเนินคดีกับใคร มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราไม่รู้ 

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีมีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน พลทหารวิเชียร เผือกสม น้าชายของนางสาวนริศราวัลถ์ แจ้งความร้องทุกข์โดยร้อยเอกภูริ เพิกโสภณ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2558 กล่าวหาว่านางสาวนริศราวัลถ์ ใช้เฟซบุ๊กโพสต์และแชร์รูปพร้อมข้อความหมิ่นประมาทร้อยเอกภูริ ผู้กล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2558 ถึงปัจจุบัน (ณ วันที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์) เหตุเกิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ต่อเนื่องถึง อ.เมือง จ.นราธิวาส  เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง  ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนราธิวาส ซึ่งเป็นท้องที่รับผิดชอบตามที่อ้างถึงที่เกิดเหตุ ได้รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558

ร้อยเอกภูริ เพิกโสภณ ปัจจุบันมียศพันตรี เป็นผู้บังคับบัญชาในกองร้อยที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทำร้ายพลทหารวิเชียร เผือกสม จนเสียชีวิต

ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือคดีต่อญาติของพลทหารวิเชียร เผือกสม มานับแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2554  โดยเป็นทนายความของญาติในคดีไต่สวนการตาย และคดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายทางละเมิดจากหน่วยงานต้นสังกัดจนได้รับการเยียวยาเป็นจำนวนเงินที่ผู้เสียหาย ส่วนในคดีอาญาพนักงานสอบสวนได้มีการส่งสำนวนการสอบสวนให้กับสำนักงานปราบปรามทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  มีการชี้มูลความผิดต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรจนถึงแก่ความตายไปแล้ว และ ป.ป.ท.ได้ส่งสำนวนคดีอาญาดังกล่าวให้แก่พนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสไปแล้ว ซึ่งต่อมาทราบว่ามีการสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมจนกระทั่งทราบตัวเจ้าหน้าที่ทหารผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มจากจำนวน 9 นายเป็น 10 นาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการประสานความร่วมมือในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการจังหวัดนราธิวาสกับ ป.ป.ท. แม้จะมีระยะเวลานานแต่ทางญาติก็ยังมีความหวังกับความเป็นธรรมที่รอคอยเกือบ 5 ปี

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า การจับกุมและดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแม้จะดำเนินถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแต่มิได้คำนึงถึงความปลอดภัยและชื่อเสียงของนางสาวนริศราวัลย์ เนื่องจากนางสาวนริศราวัลถ์ มีที่อยู่และสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง โดยทำงานเป็นข้าราชการของกองกิจการเด็กและเยาวชน กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการส่งหมายเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยแม้การแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้จะเป็นการดำเนินการเป็นคดีส่วนตัว ทางฝ่ายราชการก็ควรดำเนินการให้รอบคอบและปกป้องสิทธิของประชาชน รวมทั้งอำนวยความเป็นธรรมต่อญาติของผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายของการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไปพร้อมๆ กันด้วย

“การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องไม่เป็นเครื่องมือของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรมาน ในกรณีนี้นางสาวนริศราวัลถ์เป็นญาติผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมและใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้ตามสมควร การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมและไม่ส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในทางการกลั่นแกล้งประชาชน” สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

ด้านองค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการยุติดำเนินคดีอาญากับหลานของพลทหารวิเชียร ซึ่งออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชายที่ถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต เมื่อปี 2554 โดยแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ความพยายามของตำรวจไทยในการข่มขู่และตอบโต้ญาติของเหยื่อที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมไม่ต่างจากการให้ความเห็นชอบกับการทรมาน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images