Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

หมายเหตุประเพทไทย #124 อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงความเป็นไทย

0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และ ชานันท์ ยอดหงษ์ นำเสนอเรื่องอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย โดยในที่นี้มองผ่าน ผลงานบันเทิงจาก "เอ็กแซ็กท์" และละครเวทีที่ผลิตโดย "ซีเนริโอ" ค่ายละครเวทีซึ่งรังสรรค์และอำนวยการโดย "บอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ"

โดยในรอบกว่าสองทศวรรษมานี้ ทั้งสองบริษัท ได้ผลิตสื่อบันเทิง ทั้งเพลง ละครโทรทัศน์และละครเวทีจำนวนไม่น้อยที่ทำหน้าที่ส่งต่อและผลิตซ้ำจินตนาการความเป็นไทย และอุดมการณ์ชาตินิยม เช่น เลือดขัตติยา เดอะมิวสิคัล, ทวิภพ เดอะมิวสิคัล หรือ สี่แผ่นดิน เดอมิวสิคัล โดยเฉพาะละครเวทีเรื่องหลังนี้ในปี 2554 ถึง 2555 และ 2557 เปิดการแสดงไปแล้วกว่า 150 รอบการแสดง นับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของวงการละครเวที นอกจากนี้ในปี 2559 ซีเนริโอและ กอ.รมน. ยังร่วมกันผลิตละครเวทีเรื่อง "ผ้าห่มผืนสุดท้าย" ซึ่งมีเนื้อหาส่งเสริมบทบาทและภาพลักษณ์ของทหารอีกด้วย หรือล่าสุดก็ส่งละครทีวีชื่อดังอย่าง 'พิษสวาท' ที่ตอกย้ำวาทกรรมนักการเมืองเลวอย่างเข้มข้น จนคว้า เรตติ้งสูงสุดในประวัติศาสตร์วงการทีวีดิจิทัลแล้ว 
 
สื่อบันเทิงมีส่วนในการกล่อมเกลาทางสังคม ตลอดจนเสริมสร้างจินตนาการความเป็นไทยและอุดมการณ์ชาตินิยมอย่างไร ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธงชัย วินิจจะกูล

0
0

"โลกไม่ต้อนรับพวกหวังสั้นๆ ม้วนเดียวจบ แต่ต้อนรับพวกเข้าใจสัจจะและค่อยๆ ก้าว”

ใน ปาฐกถาศิลปวัฒนธรรม หัวข้อ"งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา", 24 ก.ย.2559

'สุริยะใส' เสนอกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมาตรฐานคุณธรรมสูงกว่านักการเมืองทั่วไป

0
0
'สุริยะใส' เสนอสังคายนาองค์กรอิสระทั้งระบบไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคนแต่ต้องปรับองค์กร ระบุควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่านักการเมืองทั่วไป

 
 
ที่มาภาพประกอบจากเฟซบุ๊กสุริยะใส กตะศิลา
 
25 ก.ย. 2559 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นถึงแนวคิดเซตซีโรองค์กรอิสระจะต้องมีความชัดเจนว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน ถ้ามีความหมายเพียงแค่เปลี่ยนคน เปลี่ยนตัวกันใหม่ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร อาจจะเป็นการถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำ แนวคิดเซตซีโรองค์กรอิสระทั้งหมด ถ้า กรธ. จะทำจริงต้องเน้นที่การปฏิรูปองค์กรอิสระต่อยอดจากจุดที่ดีอยู่แล้ว และเข้าไปปิดช่องโหว่ หรือจุดด้อยขององค์กรเหล่านั้น ปัญหาขององค์กรอิสระที่ผ่านมากว่า 20 ปี ซึ่งกำเนิดขึ้นจากฐานคิดปฏิรูปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั้น มีปัญหาทั้งส่วนของระบบและตัวบุคคล ควบคู่กันไป
       
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ ไปออกแบบให้องค์กรอิสระเป็นอำนาจที่ 4 หลุดลอย และไม่เชื่อมโยงกับสังคม จนหลายครั้งกลายเป็นอำนาจพิเศษที่ควบคุมตรวจสอบยากและการทำงานล่าช้า ติดดาบให้องค์กรแบบนี้มากไป แต่ไม่มีการกำกับตรวจสอบที่ดี ซึ่งอาจทำให้องค์กรเหล่านี้อันตรายในระยะยาว บางองค์กรได้คนนี้แต่ระบบไม่เอื้อบางองค์กรระบบดี แต่ได้คนที่ไม่เหมาะสมไปดำรงตำแหน่งก็เกิดปัญหาตามมา จึงต้องปฏิรูปทั้งตัวองค์กร หรือระบบ และตัวบุคคล หรือการได้มาไปพร้อม ๆ กัน ผมเสนอประเด็นในการพิจารณาปรับปฏิรูปองค์กรอิสระทั้งระบบดังนี้
       
ประการแรก ที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งต้องมีความหลากหลายมากขึ้น และเปิดทางให้มีการสรรหาที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสมากขึ้น
       
ประการที่สอง ต้องอิสระจากการเมืองและทุน เพราะการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองสลับซับซ้อนมากขึ้น
       
ประการที่สาม กระบวนการทำงานต้องยึดหลักธรรมาภิบาล
       
ประการที่สี่ มาตรฐานการวินิจฉัยต้องสูงกว่านี้ บางครั้งคำวินิฉัยขัดแย้งกันเองก็เคยมี
       
ประการที่ห้า ต้องยึดโยงกับสังคมและประชาชนมากขึ้นไม่ใช่ให้อำนาจอิสระหลุดลอยจนกำกับถ่วงดุลไม่ได้
       
ประการที่หก ควรกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้สูงกว่านักการเมืองทั่วไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา 35|53 (1) ชี้สิทธิการศึกษา สาธารณสุข มีแววถอยกลับไปก่อนยุค 2535

0
0

เสวนาประจำปีศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ “กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท” อยากเห็นห้องเรียนเป็นที่แสดงความคิดเห็นมากกว่าที่ลงโทษนักเรียน จนท.สำนักงานปลัด ศธ. สะท้อนโครงสร้างระบบการศึกษากลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจ ขณะที่อาจารย์ทันตะ ม.มหิดล สะท้อนเรื่องสาธารณสุข ปี 45 มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปัจจุบันหมอกลับมาถกเถียงว่าประชาชนต้องร่วมจ่ายหรือไม่?

25 ก.ย.2559 ที่ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ ชั้น 1 คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีวงเสวนาสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย “35|53 หนุ่มสาวในห้วงของการเปลี่ยนผ่าน” โดยในช่วงเช้าเวลา 09.00 น. เป็นการเสวนาหัวข้อ “เติบโต” ว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมือง วิทยากรประกอบด้วย วาทินีย์ วิชัยยาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วริษา สุขกำเนิด กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ทพ. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Openworlds เป็นผู้ดำเนินการสนทนา

 

แม่วัยรุ่น : ภาพตัวแทนผู้หญิงวัยเรียนที่ตั้งครรภ์และการต่อรองเพื่อมีพื้นที่ในสังคม

วาทินีย์ เปิดประเด็นว่าด้วยระบบคุณค่าทางสังคมและสิทธิพลเมืองด้วยการสะท้อนประสบการณ์ของ 'แม่วัยรุ่น' ภายใต้ข้อจำกัดของระบบคุณค่าและสถาบันทางสังคม วาทินีย์ กล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่วัยรุ่น หรือแม่วัยใส หรือที่ผู้คนเข้าใจว่ามีครรภ์ในวัยเรียน ซึ่งกลุ่มศึกษาคืออายุระหว่าง 16-24 ปี โจทย์แรกที่เริ่มต้นนั้นไม่ได้มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นปัญหาแต่มองว่าแม่วัยรุ่นเป็นกลุ่มในสังคมและได้รับอิทธิพลหรือโครงสร้างสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเขา โดยค่านิยมที่ส่งผลกระทบต่อแม่วัยรุ่นมากที่สุดคือ 'ค่านิยมเรื่องวัยเรียน' เพราะค่านิยมนี้ส่งผลต่อวิธีคิดของคนในสังคมและแม่วัยรุ่นว่าช่วงวัยเรียนหนังสือที่ควรอยู่ในสถาบันการศึกษานั้น ไม่ควรที่จะมีเรื่องเพศ เช่น การห้ามมีแฟน การห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศ ซึ่งแนวคิดนี้สร้างกลไกผ่านสถาบันสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สาธารณสุข ฯลฯ ดังนั้น การที่วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียนจึงถูกโครงสร้างสังคมกดทับแม้แต่ตัวแม่วัยรุ่นเองก็ถูกแนวคิดดังกล่าวที่นิยามความเป็นแม่ในวัยเรียนส่งผลต่อทัศนคติในการดำเนินชีวิต

“เมื่อได้สอบถามแม่วัยรุ่นถึงเรื่องปัจจัยที่ทำให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน เขาก็มีมุมมองที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่เรื่องการคบเพื่อนต่างเพศและการท้องในวัยเรียน เขามองว่าการมีเพศสัมพันธ์เกิดจากการคบกัน มีความรักและความใกล้ชิด ซึ่งการมีอะไรกันนั้นก็เป็นธรรมดาของคนที่เป็นแฟนกันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนคู่หรือหลายใจซึ่งสะท้อนวิธีคิดแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือ monogamyแต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็มองว่าการมีเพศสัมพันธ์จนเกิดการตั้งครรภ์คือเรื่องผิด” วาทินีย์ กล่าว

วาทินีย์ กล่าวต่อไปว่า แม้สถาบันทางสังคมต่างๆ จะมีอิทธิพลค่านิยมเรื่องวัยเรียนที่ไม่ควรมีเรื่องเพศ แต่แม่วัยรุ่นก็พยายามต่อรองต่อตัวระบบคุณค่าของสังคม เช่น แม้มีลูกแล้วแต่ก็สนใจที่จะศึกษาต่อและเอาลูกไปฝากไว้ให้สถานสงเคราะห์หรือญาติคนใกล้ชิดเลี้ยง โดยมองว่าตนกำลังทำหน้าที่แม่อยู่คือการเรียนและการสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ซึ่งสะท้อนวิธีคิดความเป็นแม่ที่มีอุดมคติที่สอดคล้องกับสังคม การกลับไปเรียนหรือการไปทำงานคือการทำหน้าที่แม่ที่ดีซึ่งสะท้อนให้เห็นภาคปฏิบัติการต่อวิธีคิดของแม่วัยรุ่น

"ถ้าเราเรียนรู้วิธีคิดของแม่วัยเรียน ที่มีทัศนะเชิงลบว่าวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศเป็นปัญหา วัยเรียนไม่ควรคิดเรื่องเพศ ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลายสถาบันสังคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านวงการสาธารณสุข เช่น เมื่อเด็กวัยเรียนตั้งครรภ์แพทย์ก็จะมีทัศนะไม่ดีต่อเด็ก ในสถาบันการศึกษามีครูที่ไม่ยอมรับทำให้เด็กถูกกันออกจากระบบการศึกษา แม้แต่สถาบันครอบครัว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครอบครัวแม่วันรุ่นบางครอบครัวพาไปทำแท้งเองด้วยซ้ำ การตั้งคำถามว่าจะทำให้แม่วัยรุ่นมีคุณภาพอย่างไรในสังคมจึงไม่ใช่สถาบันใดสถาบันหนึ่งแต่ต้องช่วยกันหลายฝ่าย แต่จุดเริ่มควรทำความเข้าใจและการให้ความยอมรับ เพราะมีหลายกรณีที่แม่วัยรุ่นถ้าได้โอกาสในสังคมในช่วงตั้งครรภ์ก็จะทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" วาทินีย์ กล่าว

 

การใช้อำนาจมากกว่าเหตุผลในระบบการศึกษาปมปัญหาของโรงเรียนไทย

ขณะที่ วริษาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการศึกษาในอุดมคติ โดยเริ่มต้นกล่าวว่า ความฝันของเขานั้นในเรื่องการศึกษาคือเพื่อความเป็นไท มีอิสรภาพ อัตลักษณ์ ซึ่งระบบการศึกษาต้องสร้างให้นักเรียนแต่ละคนมีความหลากหลายแตกต่างและพัฒนาไปตามศักยภาพ การศึกษาไม่ควรสร้างคนให้คิดเหมือนกันเป็นการกดศักยภาพในตัวเด็ก โดยทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจาก 1.การส่งเสริมให้เด็กมีการคิดวิพากษ์วิจารณ์ (Critical thinking) 2.เนื้อหาที่เรียนควรมีความยืดหยุ่นไม่ใช่สอนตมหนังสือแต่ควรเป็นความรู้ที่เกิดการเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน 3.ทำให้นักเรียนมีความสุขที่จะมาโรงเรียน 4.ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกสิ่งที่ชอบไม่ใช่มีเพียงสายวิชาวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ ศิลปศาสตร์และคณิตศาสตร์ ควรให้เขาได้เลือกวิชาที่อบและถนัดที่อยากจะเรียนรู้

วริษา กล่าวต่อว่า เคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ก โดยที่การเรียนนั้นเริ่มจากการตั้งคำถามและให้นักเรียนคิดต่อปัญหาสังคมหรือสถานการณ์ที่ยกขึ้นมาโดยไม่ได้ให้คำตอบสุดท้าย แต่ให้เด็กอธิบายและคิดต่อปัญหาดังกล่าวด้วยเหตุผล เช่น เราควรรับหรือไม่รับผู้ลี้ภัยมาพักพิงในประเทศ โดยในชั้นเรียนจะให้นักเรียนเลือกตอบและให้เหตุผล ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนวิธีคิดอย่างมีเหตุผล การฟังคนอื่น และคิดเรื่องจริยธรรมในเวลาเดียวกัน แต่ปัญหาโรงเรียนไทยในเวลานี้คือนักเรียนไม่มีความสุขกับการมาโรงเรียนเนื่องจากบรรยากาศการสอนที่ไม่กระตุ้นเร้าในนักเรียนมีส่วนร่วมในความเห็น ปัญหาการลงโทษนักเรียน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างครูและนักเรียนมีให้เห็นในข่าวเป็นประจำ

"การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าครูมองว่าเด็กนักเรียนเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลต้องใช้กำลังในการลงโทษ การลงโทษทำให้เด็กกลัวครู เกิดความเกรง ไม่สร้างบรรยากาศในการตั้งคำถาม คิดด้วยเหตุและผล มีแต่ความระแวงระวัง" วริษา กล่าว

 

นโยบายการศึกษากับรัฐธรรมนูญ : การกลับมารวมศูนย์อำนาจการศึกษารอบใหม่หลังประชามติ 2559

ขณะที่ ภูมิศรัณ กล่าวถึงภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาอันเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยกล่าวว่า ตลอดช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาภายใต้โครงสร้างทางอำนาจที่เปลี่ยนไปนับจาก พ.ศ. 2557 ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในระยะ 20 ปี ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีการปฏิรูปการเมืองนำไปสู่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งแนวคิดเรื่องสังคมประชาธิปไตยมีอิทธิพลอย่างสูงจนก่อให้เกิด พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเริ่มคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ชุมชนและส่งเสริมให้ยอมรับการศึกษาทางเลือกในระบบท้องถิ่น

โดยพระราชบัญญัติดังกล่าว ยังทำให้เกิดการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยโดยแนวคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการคิดตัดสินใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการจัดการของกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า การคิดเรื่องคุณภาพการศึกษานั้นกระทรวงทำมาโดยตลอดไม่ว่าจะการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพครู ด้วยการปรับฐานเงินเดือนครูให้สูงขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 เพื่อให้ครูมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่กลับเกิดปัญหาคือครูเอาเวลาไปทำวิทยฐานะเพื่อเงินเดือนมากกว่าจะเอาเวลาไปเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน

ภูมิศรัณ กล่าวต่อว่า การเกิดของ2 องค์กรที่เพิ่มภาระให้กับครูและอาจารย์และเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาคือ 1.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ 2.สํานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สทศ.) ในเรื่องของ สมศ.นั้นจะเห็นว่าเป็นการเพิ่มภาระทางวิชาการให้ครูอาจารย์ต้องทำเรื่องการประเมินและวัดผลทางด้านการศึกษาทำให้ใช้เวลามากจนทำให้ลดคุณภาพการสอนหนังสือ จนเมื่อรัฐบาลคณะรักษาความสงบและมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้ ม.44 ออกคำสั่งให้การชะลอหรือปลดผุ้อำนวยการ สมศ. ทำให้เกิดการชะลอในการทำเรื่องประเมินของสถาบันการศึกษา ซึ่งการใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็ทำให้ดีขึ้นบ้างในเรื่องของโครงสร้างภายในกระทรวงศึกษาธิการ เพราะ คสช.มองว่าการทำงานเรื่องการศึกษาที่ผ่านมาเกิดความผิดพลาดขึ้นในการบริหารเพราะให้อิสระมากเกินไปรัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษในการจัดการ

"อย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559 ฉบับประชามติที่ผ่านมา มีการวิพากษ์เรื่องการเรียนฟรีที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ที่จะให้มีการเรียนฟรีได้ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งหลังจาก ม.3 นักเรียนจะได้สิทธิการศึกษาผ่านกองทุน ซึ่งกองทุนที่ว่านี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่แน่นอนว่าในรัฐธรรมนูญดังกล่าวรัฐบาลไม่สนับสนุนให้มีสิทธิเรียนฟรีจนถึง มัธยมปลาย โดยหลักง่ายๆ คือ เรียนฟรีถึงแค่ ม.3" ภูมิศรัณ กล่าว

 

นโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย : หมอยังถกเถียงว่าสิทธิการรักษาควรให้ประชาชนทุกคนจริงหรือ?

ด้าน ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวในประเด็นที่ว่า 20 ปีกับนโยบายสาธารณสุขในสังคมไทย บริการสุขภาพนั้นเป็นสิทธิของประชาชนหรือไม่ยังคงถกเถียงกันอยู่ในทุกวันนี้ ทั้งนี้ พ.ศ. 2475 มีการร่าง พ.ร.บ.สาธารณสุข โดยหากแบ่งอย่างง่ายๆ จะเห็นว่าจะมีสิทธิแบ่งออกเป็น 3 แบบ เริ่มจากสิทธิข้าราชการ ปี พ.ศ. 2521 ต่อมามีหลักประกันสังคม ปี พ.ศ. 2533 และหลักสิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนคือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545

เดิมมีการให้สิทธิรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 แต่ในขณะนั้นเป็นรูปแบบสงเคราะห์ ต้องเป็นประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเวลาต่อมาก็ขยายสิทธิมาถึงผู้สูงอายุและเด็ก สิ่งนี้พัฒนาการจนเป็นสิทธิประกันสุขภาพ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมองว่าสิทธิการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน การรักษาพยาบาลฟรีจึงเป็นแนวคิดที่ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บุกเบิกและผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนรัฐบาลไทยรับไปเป็นนโยบายใช้จริง โดยพรรคไทยรักไทยได้นำไปใช้เป็นนโยบายที่เรียกว่า "30 บาทรักษาทุกโรค" จึงทำให้เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของประชาชนเป็นจริงขึ้นมา การไปรักษาพยาบาลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการสงเคราะห์หรือเปลี่ยนค่านิยมที่คนจนกลัวหรือไม่กล้าไปหาหมอเพราะไม่มีเงิน

"การรับรู้ของประชาชนเรื่องการรักษาพยาบาลเปลี่ยนแปลงไป คือแต่ก่อนไม่เงินไปโรงพยาบาลต้องไปขอความอนุเคราะห์จากหมอแต่ปัจจุบันประชาชนกล้าไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเพราะรูว่าตนเองมีสิทธิ แต่แนวคิดเรื่อง 30 บาท ก็มีหมอกังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิอำนาจต่อรองมากขึ้น ประชาชนก็จะไม่ดูแลตัวเองปล่อยให้เป็นโรคเพราะรู้ว่ามียาฟรีตลอดเวลา ทำให้เถียงกันมาเป็น 10 ปีว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลนี้ควรให้สิทธิทุกคนหรือเฉพาะคนจนเท่านั้น" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เมื่อโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เป็นสิทธิของประชาชนไปผูกกับเรื่องการเมืองของพรรคที่ถูกวิจารณ์ ทำให้สิทธิสาธารณะสุขของประชาชนถูกมองว่าเป็นประชานิยม และถูกนำมาถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุดว่าทุกคนในประเทศควรได้รับบริการสาธารณสุขซึ่งเป็นสิทธิของทุกคนหรือรัฐควรให้สิทธิเฉพาะคนที่รัฐเห็นว่าควรสงเคราะห์ หัวใจสำคัญของการเกิดขึ้นของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือ การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกลดบทยาทลงจากเดิม แต่ก่อนที่จะต้องดูแลและจัดการงบประมาณในด้านสาธารณะสุขแต่ปัจจุบันกลายเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ที่ดูแลงบประมาณ

"สิ่งที่ยังถกเถียงกันในวงการสาธารณะสุข เจ้าหน้าที่มักจะมองว่า ประชาชนควรจะร่วมจ่ายหรือไม่ งบประมาณเพียงพอไหม ซึ่งการรักษาพยาบาลจึงยังไม่เหมือนการที่ประชาชนไปหาตำรวจทหารเมื่อมีปัญหา เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ และต่อมา เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขส่วนใหญ่กังวลว่าถ้าประชาชนมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จะไม่ดูแลสุขภาพปล่อยให้ตัวเองป่วยเพราะคิดว่ามีสิทธิรักษา และอีกเรื่องคือเมื่อประชาชนมีสิทธิมากขึ้นหมอก็จะมีอำนาจน้อยลง หมอกลัวว่าจะมีการฟ้องร้องเรียกร้องสิทธิการรักษามากขึ้นอีก" ทพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โอน 60,000 ล้าน ซื้อประกันสุขภาพให้ข้าราชการ เหมาะสมเพียงใด

0
0


 

เรื่องนี้อยากให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ ตามมาตรฐานที่ท่านตั้งเป้าในการเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนในประเทศ  การที่กรมบัญชีกลางเสนอให้โอนการจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการปีละ 60,000ล้านบาทไปให้บริษัทประกันภัยภาคเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดีว่าเพื่อประโยชน์ของข้าราชการ ประเทศชาติ หรือของบริษัทเอกชน เพราะระบบประกันสุขภาพเป็นระบบที่รัฐใช้จ่ายจากภาษีประชาชน และเป็นระบบที่ถ้วนหน้าในปัจจุบันแต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนทุกคน เพราะรัฐจ่ายให้ข้าราชการมากกว่าประชาชน รัฐใช้เงิน 60,000 ล้านบาทจ่ายค่ารักษาให้ข้าราชการและครอบครัวเพียง 6 ล้านคนหรือคนละ 10,000บาท/ปี ขณะที่คนอีก 48 ล้านคนที่ใช้ระบบบัตรทอง รัฐจ่ายปีละ 140,000 ล้านบาท หรือคนละ 3,000 บาทต่อปี โดยเงินทั้งหมดจะถูกจ่ายตรงไปที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน หากรัฐเลือกที่จะใช้เงิน 60,000 ล้านบาทไปให้บริษัทเอกชน จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการให้กับเอกชน ที่สำคัญก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนในระบบบัตรทอง ทั้งนี้รัฐควรใช้เงินด้านหลักประกันสุขภาพทั้งหมดรวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท ดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคกันมากกว่า

หลายคนเห็นว่า การให้บริษัทเอกชนมาจัดบริการสุขภาพให้ข้าราชการเป็นแนวคิดที่ดี และคิดว่ารัฐจะลดค่าใช้จ่ายปีละ 6 หมื่นล้านลงได้ ขอให้คิดตรึกตรองดีดี เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐก็ซื้อประกันจากบริษัทเอกชนหัวละ 10,000 บาทอยู่ดี เท่ากับใช้เงิน 6 หมื่นล้านและมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การจัดการ การกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การเรียกเอกสาร การยกเว้นโรคต่างๆ ตามแบบที่บริษัทเอกชนดำเนินการก็จะตามมา แม้รัฐอาจบอกว่าจะต่อรองสัญญาประเภทสิทธิประโยชน์กับบริษัทเอกชนได้ แต่มีบทเรียนมาแล้วในหลายประเทศและแม้แต่ประกันสุขภาพในบ้านเราที่จ่ายกันปีละหมื่นสองหมื่นบาท เอาเข้าจริงยกเว้นโรคนั้น โรคนี้ หรือต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องนี้คือ การส่งผลกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวมทั้งประเทศ เพราะรัฐใช้งบประมาณในการซื้อประกันที่ต่างกัน ราคาต่างกัน ระหว่างข้าราชการ 10,000 บาท/คน ให้เอกชนทำ กับประชาชนทั่วไปรวมพวกในประกันสังคม ซื้อในราคา ถัวเฉลี่ยที่ 3,000 บาท/คน ให้โรงพยาบาลรัฐทำ  แล้วโรงพยาบาลเอกชนก็ร่วมมือกับบริษัทประกันได้ ราคาซื้อสูงบริษัทประกันก็ไปทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลเอกชนได้กำไรเพิ่มขึ้น จ้างหมอ พยาบาล ราคาสูงขึ้น ย่อมดึงดูดคนเหล่านี้ไปที่โรงพยาบาลเอกชน ขณะที่โรงพยาบาลรัฐในต่างอำเภอก็ยังแก้ปัญหาหมอ พยาบาลไม่เพียงพอไม่ได้ โครงการนี้จะยิ่งถ่างช่องว่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีก

แต่หากรัฐเอาเงินทั้งหมดที่จะซื้อประกันทั้งบัตรทอง ข้าราชการ ประกันสังคม เอามาดำเนินการให้โรงพยาบาลของรัฐได้รับประโยชน์เต็มๆ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายรายหัวให้สูงขึ้นเฉลี่ยจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทุกคนเท่ากันเสมอกัน ให้โรงพยาบาลรัฐเป็นผู้รับประกัน ส่วนเกินหรือคนรวยมากๆไม่อยากใช้โรงพยาบาลรัฐ ก็ไปเลือกช้อปปิ้งใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเอง ย่อมทำให้โรงพยาบาลรัฐก็มีหมอพยาบาลที่อยู่ทำงานมากขึ้น ได้รับค่าใช้จ่ายมากขึ้น หน่วยงานกำกับระบบหลักประกันสุขภาพตามกฎหมายก็ทำหน้าที่บริหารและจัดชุดสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนอย่างเหมาะสม มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพได้ เรื่องนี้ต้องคิดดีดี ทั้งรัฐ และนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน ที่มองว่าการทำให้ธุรกิจเอกชนเติบโตจะทำให้เศรษฐกิจประเทศโตด้วยโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงในทางความเหลื่อมล้ำ การกระจายความเป็นธรรม ก็จะหลงประเด็นไป

ข้อเสนอคือเอาเงิน 6 หมื่นล้านที่จะไปจ่ายให้บริษัทเอกชน มารวมกับเงิน 1 แสน 4 หมื่นล้าน ของบัตรทอง และ อีก 5 หมื่นล้านของประกันสังคม แล้วบริหารจัดซื้อระบบหลักประกันสุขภาพโดยรัฐเอง มุ่งเน้นไปที่การซื้อบริการจากโรงพยาบาลรัฐ ส่วนการบริหารจัดการก็มีหน่วยงานตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่บริหารอยู่แล้ว จะได้ประโยชน์มากกว่า มีความเป็นธรรม ได้จริง และเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ตามเป้าหมายการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้

0000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

“ทศกัณฐ์” ในยุคฮิปสเตอร์ กับ “ขนมครก” ในฐานะ “มรดกทางวัฒนธรรม”

0
0

ไม่น่าเชื่อว่าเราจะมาถึงจุดนี้กันได้  จุดที่เกิดสงครามวิวาทะครั้งใหญ่ว่าด้วยการสืบทอดและส่งเสริมวัฒนธรรมไทย  ภายหลังเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องความเหมาะสมในการนำตัวละครโขน “ทศกัณฐ์” ไปใช้เป็นตัวดำเนินเรื่องในโฆษณาส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ”

ผู้ที่ร้องเรียน เป็นอดีตข้าราชการผู้ใหญ่สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ผู้เขียนเคยร่วมงานด้วยเมื่อครั้งที่กระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมการจัดเรตติ้งเชิงคุณภาพสำหรับสื่อโทรทัศน์ (ที่ปัจจุบันเราใช้กันอยู่) ครั้งนั้นผู้เขียนเป็นคณะทำงานจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในฝั่งสภาเยาวชนกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นองค์กรร่วม แม้ภายหลังผู้เขียนลาออกจากสภาเยาวชนฯ  แต่ก็ยังได้กลับมาร่วมงานกับท่านและกระทรวงของท่านอีกหลายงาน ทั้งในการร่วมประชุมให้ความคิดเห็นจัดทำนโยบายและเป็นวิทยากรบรรยายให้กับเวทีของกระทรวงฯ  ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างเคารพและประทับใจในน้ำใจของอดีตข้าราชการท่านนั้น แต่ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ค่อยประทับใจในเรื่องบทบาทของท่านในการเป็นหัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม(ตำแหน่งขณะนั้น) 

และไม่แปลกใจที่การกลับมาของท่านครั้งนี้ในฐานะอดีตข้าราชการ จะกลับมาสร้างความแตกแยกทางวัฒนธรรมกับคนรุ่นใหม่อีกครั้งในยุค gen Z

ความขัดแย้งเรื่องความเหมาะสมในการนำตัวละครชุดโขน “ทศกัณฐ์” ที่ถูกนิยามว่าเป็นราชาแห่งยักษ์ในวรรณคดีรามเกียรติ์ มาใช้ในภาพยนตร์ประกอบเพลง(MV)โฆษณาการท่องเที่ยว ที่มีทั้งฉากถ่ายรูปเซลฟี่  หยอดขนมครก ในส่วนผู้เขียนมองว่า เรื่องนี้มันไม่ควรเป็นประเด็นขัดแย้ง เป็นศึกใหญ่อย่างไร้สาระระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นครูในแวดวงนาฏศิลป์  หากว่าพวกเรา โดยเฉพาะผู้ร้องเรียน ช่วยกันตั้งสติเสียหน่อยว่า

1. ประเด็นเรื่องความเป็น “ราชาแห่งยักษ์” มันไม่ควรเป็นประเด็น เพราะอย่างไร ไม่ว่ามองในคติทางวรรณคดีไทย หรือในคติทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู   ทศกัณฐ์ก็ถือเป็น “อสุรกาย” ไม่ใช่เทพอวตาร ต่างจากตัวละคร “พระราม” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นภาคอวตารของ “พระวิษณุนารายณ์ “ หรือ “นางสีดา” ซึ่งเป็นภาคอวตารของ “พระแม่ลักษมี” จะสังเกตได้ว่าทั้งในmvนี้ หรือแม้แต่ในการแสดงโขน ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าชมการแสดงโขนรอบพิเศษร่วมกับคณะของทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา  จะไม่มีบทน่ารักๆหรือบทตลกให้ตัวละครตัวพระตัวนางเลย (โดยเฉพาะในmvนี้ ทีมผู้สร้างคงคิดดีแล้ว ที่ไม่นำตัวพระราม-นางสีดามาใช้เลย)

*เพื่อนของผู้เขียนเคยให้ความเห็นว่า ในอินเดียก็มีกลุ่มที่บูชา “ราวณะ” ในฐานะที่เป็นสาวกขององค์พระศิวะ  ซึ่งก็อาจไม่ได้มองเชื่อมโยงว่าเป็นองค์เดียวกับตัวละครบทร้ายในรามายณะ (เพื่อนผู้เขียนใช้คำที่คุยกันว่า “เขาบูชา แต่ไม่บ้าจี้แบบคนไทยเรา”)

2. การแสดงชุดเที่ยวไทยมีเฮ ถ่ายทอดในลักษณะภาพยนตร์ประกอบเพลง (MV) ซึ่งก็ชัดเจนว่าถ่ายทอดในลักษณะศาสตร์ภาพยนตร์  ไม่ใช่นาฏศิลป์โขน  การที่คนบางพวกตั้งแต่ระดับนักเลงคีย์บอร์ดไปจนถึงครูบาอาจารย์ ศิลปินแห่งชาติบางท่านต่างงัดเอาความเป็นศิษย์มีครู  งัดเอาหลักการทางโขนมาโจมตีภาพยนตร์ชุดนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นการใช้วิชามาแสดงความพาลกันอย่างเลอะเทอะไปหน่อย  แทนที่จะตั้งหลักกันว่า เขาชัดเจนว่าเขาแสดงภาพยนตร์ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยวประเทศไทย4ภูมิภาค  ไม่ได้มาแสดงโขน(ที่นอกจากมีรูปแบบการแสดงเฉพาะแล้ว ยังแสดงได้แต่วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ไม่มีโขนวรรณคดีเรื่องอื่นๆ)  ดังนั้นการแสดงภาพยนตร์ชุดนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการมาเปลี่ยนแปลงหลักการ นิยาม หรือรายละเอียดใดๆของการแสดงรูปแบบโขนเลย ไม่ได้จะมาสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้การแสดงโขน เพียงยืมตัวละครในโขนมาใช้เดินเรื่องในภาพยนตร์เท่านั้น 

เมื่อสิ่งนี้เป็นภาพยนตร์  โขนที่มีอยู่ก็ยังคงความเป็นโขน ที่ไม่มีใครกล้าคิดจะไปเปลี่ยนบรรทัดฐาน  และการดำรงรักษาไว้ซึ่งนาฏศิลป์โขนแบบต้นฉบับดั้งเดิม ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้เรียนโขน ที่วันนี้เราอาจพบได้ที่ศาลาเฉลิมกรุง ที่วัดพระพิเรนทร์    ส่วนผู้ทำภาพยนตร์โฆษณา เขามีหน้าที่เรื่องโฆษณาการท่องเที่ยว  ก็เท่านั้นเอง


อีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนให้ความสนใจคือประเด็นเรื่องที่ว่า ราชาแห่งยักษ์อย่างทศกัณฐ์ไม่ควรมาแสดงการทำ “ขนมครก”  เป็นการไม่เหมาะสม ไม่สมเกียรติในความเป็นยักษ์ระดับพระราชา

ผู้เขียนมองว่า การแสดงฉากนี้จะเป็นเรื่องผิด และผิดร้ายแรงมากๆ หากมันปรากฏอยู่ในการแสดงโขน แต่ไม่ผิดสำหรับการแสดงที่ชัดเจนว่าเป็นภาพยนตร์   เพราะอย่างที่กล่าวว่า  โขนแสดงได้เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นวรรณคดีเก่าแก่ที่สะท้อนวิถีชีวิต ค่านิยมในสังคมยุคเทวราชา  การทำขนมครกก็ดูควรจะเป็นกิจของพวกสามัญชนมากกว่ากษัตริย์นักรบแห่งนครรัฐลงกา

แต่สำหรับภาพยนตร์ประกอบเพลงเที่ยวไทยมีเฮ  มันคือการแสดงที่เป็นคนละศาสตร์กับโขน และมันคือการตั้งโจทย์ท้าทายวาทกรรม  ว่าหากทศกัณฐ์ที่เรารู้จักจากวรรณคดีโบราณ ยังมีตัวตนอยู่ในโลกยุคปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) ทศกัณฐ์ควรจะต้องปรับวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ให้เข้ากับคนยุค2016หรือไม่?  เช่นการใช้สมาร์ทโฟนแทนนกพิราบสื่อสาร การถ่ายรูปลงสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) 

และในยุค2016นี้เองสถานะของ “ขนมครก” ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญไปแล้ว  จากการเป็นขนมที่เกิดจากกิจกรรมในครัวของสามัญชน  มันได้ถูกยกระดับขึ้นมาเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” (Cultural Heritage) เป็นภูมิปัญญา เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่ชนชั้นสูงต้องมีบทบาทร่วมในการทำให้สังคมเห็นคุณค่า ความสำคัญ  อาจคล้ายๆกับที่พสกนิกรไทยในชีวิตจริงก็ยังมีโอกาสได้เห็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทรงลงมือสาธิตการทำอาหารเมนูโบราณต่างๆในพิธีการโอกาสสำคัญๆ เช่นตรุษจีน เป็นต้น

พูดมาถึงตรงนี้ มันก็วนมาเข้าประเด็นกับคำพูดฮิตติดหูที่ตามมาภายหลังกรณีสงครามความคิดนี้ ที่กล่าวกันไว้ว่า “เราอยากมีวัฒนธรรมไทยให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก สนใจ หรืออยากให้มันอยู่บนหิ้งให้คนไม่กี่กลุ่มเข้าถึง  และรอวันสูญหายไปกับกาลเวลา?!”

0000

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ศาลเวียดนามตัดสินไม่รับอุทธรณ์บล็อกเกอร์ชื่อดัง

0
0

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2559 สื่อเรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ศาลในเมืองหลวงฮานอยของเวียดนามตัดสินไม่ยอมรับคำอุทธรณ์ของเหงียนหูวินห์ บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเวียดนาม ทำให้เขาต้องกลับไปรับโทษจำคุก 5 ปีต่อ ในข้อหาความผิดฐานวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านบทความทางอินเทอร์เน็ต

เหงียนหูวินห์ เป็นอดีตตำรวจที่รู้จักในนาม Ba Sam เขาเคยถูกตัดสินพร้อมกับผู้ช่วยของเขาชื่อ เหงียนทิมินห์ทุย เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาในข้อหา "ใช้เสรีภาพแบบประชาธิปไตยในทางที่ผิดโดยล่วงละเมิดผลประโยชน์ของรัฐ" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 258 ของเวียดนาม ส่วนผู้ช่วยของเขาถูกลงโทษจำคุก 3 ปีในข้อหาเดียวกัน ภายหลังถูกจับกุมพวกเขาทั้ง 2 คนถูกคุมขังไว้ในคุกตั้งแต่เดือน พ.ค.2557

จ่านหวูฮาย (Tran Vu Hai) ทนายความฝ่ายจำเลยวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของศาลที่คงคำตัดสินแบบเดิมว่า มีกระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีที่ "ไม่เป็นประชาธิปไตย" เพราะหัวหน้าผู้พิพากษากล่าวว่าเขาจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายก็จริงแต่ในช่วงพิจารณาคดีเขาไม่รับฟังข้อโต้แย้งจากฝ่ายจำเลยแม้แต่น้อย และบางครั้งก็ยังพูดในเชิงสนับสนุนฝ่ายโจทก์ด้วยก่อนที่จะพิพากษาตัดสิน ในที่นี้ถือว่าหัวหน้าผู้พิพากษาไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้

ทนายความฝ่ายจำเลยอีกคนหนึ่งคือ จ่านก๊วกท่วน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า การตัดสินคดีในศาลชั้นต้นกรณีของเหงียนหูวินห์นั้นมาจากการรวบรวมหลักฐานที่ไม่เหมาะสมตามกระบวนการ ถ้าหากมีการปฏิบัติตามกระบวนการกฎหมายอาญาฉบับใหม่ของเวียดนามจะถือว่าเหงียนหูวินห์บริสุทธิ์ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการตัดสินเช่นนี้เป็นเพราะกระบวนการศาลในแบบเวียดนามเองซึ่งมีการเข้าข้างรัฐบาล เลทิมินห์ฮา ภรรยาของเหงียนหวินห์กล่าวว่า สามีของเธอไม่ได้มีความผิดใดๆ เลยเช่นกัน

องค์กรสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาชิกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเวียดนาม (VCHR) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาประณามการปฏิเสธอุทธรณ์ของเหงียนหูวินห์และเรียกร้องให้เวียดนามหยุดกรปราบปรามการต่อต้านโดยสงบ 

ดิมิทรีส์ คริสโตปูลอส ประธาน FIDH กล่าวว่า เวียดนามคอยปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยอ้างใช้กฎหมายที่กดขี่และใช้ "ศาลเถื่อน" แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเวียดนามไม่ได้สนใจปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลเลย โฮวันไอ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเวียดนามระบุในแถลงการณ์ร่วมกับ FIDH ว่า นานาชาติต้องช่วยกันประณามให้หนักขึ้นในเรื่องการปราบปรามคนเห็นต่างของรัฐบาลเวียดนาม

 

เรียบเรียงจาก

Vietnamese Court Rejects Appeal, Sends Blogger Back to Prison, RFA, 22-09-2016

http://www.rfa.org/english/news/vietnam/rejects-09222016163537.html

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดให้ชมเป็นครั้งแรก คำพิพากษา 'อลัน ทูริง' บิดาคอมพิวเตอร์ผู้ถูกลงโทษเพราะเป็นเกย์

0
0

เทศมณฑลในอังกฤษยอมเปิดเผยเอกสารพิพากษา อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์และนักถอดรหัสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เคยถูกตัดสินให้มีความผิดจากการเป็นคนรักเพศเดียวกันต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ซึ่งกลุ่ม LGBT จะนำมาจัดแสดงก่อนการเดินขบวนไพรด์ในเดือน ต.ค.

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2559 สื่อพิงค์นิวส์รายงานว่า หอจดหมายเหตุท้องถิ่นของเทศมณฑลเชชเชอร์ในอังกฤษเปิดเผยเอกสารการพิพากษาลงโทษ อลัน ทูริง นักคณิตศาสตร์และนักถอดรหัสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ถูกตัดสินโทษฐานเป็นคนรักเพศเดียวกันออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก

ทูริง เป็นผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานของวิทยาการคอมพิวเตอร์สมัยใหม่เคยถูกตัดสินให้มีความผิดฐาน "พฤติกรรมอนาจาร" ในปี 2495 หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ทำให้เขาถูกบังคับให้ใช้สารเคมีเพื่อทำให้หมดความรู้สึกทางเพศ ถูกห้ามไม่ให้ทำงานที่สำนักงานข่าวกรองกลางของอังกฤษ (GCHQ) และมีความเป็นไปได้ที่จะฆ่าตัวตายด้วยสาเหตุที่เขาถูกลงโทษ ทูริงเคยทำหน้าที่ถอดรหัสการสื่อสารของนาซีด้วยเครื่อง "อินิกมา" ซึ่งถูกมองว่าเป็นเหตุทำให้สงครามโลกครั้งที่ 2 จบเร็วขึ้น

กลุ่มเพื่อความหลากหลายทางเพศ "เชสเตอร์ไพรด์" ร่วมกับนักประวัติศาสตร์เรียกร้องให้มีการเผยแพร่เอกสารคำตัดสินคดีของทูริงออกสู่สาธารณชนโดยมีการเผยแพร่ในสำนักงานเทศบาลเมืองเชสเตอร์ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ตัดสินคดีของทูริง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางการเทศมณฑลเชชเชอร์ก็ยอมเผยแพร่เอกสารคดีนี้ต่อสายตาสาธารณชนในที่สุด ซึ่งเอกสารคดีของทูริงจะประกอบด้วยสำนวนข้อกล่าวหา คำร้อง และคำตัดสิน ในช่วงพิจารณาคดีของเขา

เอกสารการดำเนินคดีทูริงจะถูกนำมาจัดแสดงพร้อมกับสมุดบันทึกให้กับสาธารณชนได้แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ทูริงและคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ต้องเผชิญทั้งในอดีตและปัจจุบัน เอกสารดังกล่าวยังถูกนำมาเผยแพร่ในช่วงก่อนงานเทศกาลเชสเตอร์ไพรด์ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. นี้ และจะมีการจัดแสดงต่อไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 9 ต.ค.

เฮเลน พิกกิน-โจนส์ ประธานเชสเตอร์ไพรด์กล่าวว่า เอกสารการตัดสินคดีทูริงมีความสำคัญในระดับนานาชาติ จากการที่ทูริงเป็นผู้เบิกทางให้กับวิทยาการคอมพิวเตอร์แต่เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดกับเขานำมาซึ่งการฆ่าตัวตายในปี 2497 พิกกิน-โจนส์ พูดถึงเอกสารคำตัดสินอีกว่า เพียงแค่ข้อความง่ายๆ ไม่กี่บรรทัดก็เผยให้เห็นถึงการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อคนที่ช่วยรักษาชีวิตผู้คนหลายล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเพียงเพราะเขาเป็นคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น พวกเขาจึงต้องการนำเอกสารคำตัดสินนี้ออกแสดงต่อสาธารณชนเพื่อหวังว่าจะทำให้คนได้เห็นสิ่งที่ทูริงเคยทำไว้และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเฉลิมฉลองความหลากหลายในเมืองที่มหัศจรรย์ของพวกเขา

เรื่องราวของทูริงเคยปรากฏบนจอภาพยนตร์ในชื่อ "ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก" (The Imitation Game) ที่ออกฉายเมื่อปี 2557 หลังจากที่มีการรณรงค์กันในที่สุดเมื่อปี 2556 ทูริงก็ได้รับการอภัยโทษหลังเสียชีวิตจากพระราชินีซึ่งเป็นกรณีที่น้อยครั้งมากจะเกิดขึ้น ทั้งนี้พิงค์นิวส์ก็รายงานว่ารัฐบาลอังกฤษกำลังพยายามปรับเปลี่ยนให้มีการลบล้างความผิดให้กับคนรักเพศเดียวกันคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่เคยถูกตัดสินให้มีความผิด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะอาจจะมีกรณีอภัยโทษคนอื่นๆ แบบทูริง

 

เรียบเรียงจาก

Codebreaker Alan Turing’s gay sex conviction documents go on display, Pink News, 23-09-2016

http://www.pinknews.co.uk/2016/09/23/codebreaker-alan-turings-gay-sex-conviction-documents-go-on-display/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Alan_Turing

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวฟินแลนด์นับหมื่นประท้วงต้านเหยียดเชื้อชาติ หลังเหตุนีโอนาซีทำคนเสียชีวิต

0
0

ชาวฟินแลนด์หลายหมื่นคนในเมืองต่างๆ ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติหลังจากที่มีเหตุการณ์สมาชิกกลุ่มนีโอนาซีทำร้ายชายผู้หนึ่งจนเสียชีวิต โดยมีนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานาธิบดีเข้าร่วมการชุมนุมด้วย

23 ก.ย. 2559 ประชาชนชาวฟินแลนด์หลายหมื่นคนรวมถึงนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานาธิบดีเข้าร่วมประท้วงบนท้องถนนในหลายเมืองทั่วประเทศฟินแลนด์เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและต่อต้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศ หลังจากเกิดเหตุมีผู้ทำร้ายชายอายุ 28 ปี ซึ่งเป็นผู้ประท้วงกลุ่มนีโอนาซีจนเสียชีวิตในกรุงเฮลซิงกิเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจประเมินว่ามีประชาชนในเฮลซิงกิราว 15,000 คนออกมาเดินขบวนที่จัตุรัสซีเนท การเดินขบวนจบลงด้วยการกล่าวสุนทรพจน์สั้นๆ โดยอดีตประธานาธิบดี ทารยา ฮาโลเนน มีการแสดงดนตรี และการสงบนิ่งรำลึกถึงผู้เสียชีวิต อัลจาซีรารายงานว่ามีผู้ประท้วงต่อต้านผู้อพยพ 2 รายถูกจับกุมในที่อื่นๆ 2 แห่ง ในกรุงเฮลซิงกิ

เหตุทำร้ายชายอายุ 28 ปี เกิดขึ้นหลังจากที่เขาไปทะเลาะกับสมาชิกกลุ่มนีโอนาซีชื่อกลุ่ม "ขบวนการต่อต้านของชาวฟินแลนด์" ทำให้เขาถูกเตะและถูกทุบศีรษะ เหตุดังกล่าวทำให้มีชายอายุ 26 ปีคนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มนีโอนาซีถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่ได้เจตนา

นักการเมืองหลายคนรวมถึงนายกรัฐมนตรี จูฮา ซิปิลา กล่าวประณามเหตุการณ์ในครั้งนี้และกล่าวต่อสื่อว่ารัฐบาลจะประกาศมาตรการใหม่เกี่ยวกับ "กลุ่มสุดโต่งที่น่าเป็นห่วง" ในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางการเรียกร้องให้มีการสั่งแบนองค์กรเหยียดเชื้อชาติ ซิปิลายังได้ไปร่วมชุมนุมต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในเมืองโกเปียวในวันเดียวกันด้วย นอกจากเฮลซิงกิและโกเปียวก็ยังมีการประท้วงต้านการเหยียดเชื้อชาติในเมืองอื่นๆ คือ ตัมเปเร, โยเอนซู และ ยูแวสกูแล โดยไม่มีสถานการณ์ใดๆ
 

เรียบเรียงจาก

Finland: Tens of thousands march in anti-racism rallies, Aljazeera, 24-09-2016
http://www.aljazeera.com/news/2016/09/finland-tens-thousands-march-anti-racism-rallies-160924132128863.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เพื่อไทย' ขอ คสช.เลิก.ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ปมจำนำข้าว หันกลับมาใช้กฎหมายปกติ

0
0

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์พรรค เรื่อง ขอให้ทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่หัวหน้า คสช. ได้ดำเนินการเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กับอดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 56/2559 ลงวันที่ 13 กันยายน 2559 ให้อำนาจกรมบังคับคดี ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วยการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าว ขณะเดียวกันกลับคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ให้ไม่ต้องรับผิด จากที่เคยออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 39/2558 คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาครั้งหนึ่งแล้ว นั้น
 
พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและหัวหน้า คสช. ที่จะมุ่งเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีโครงการรับจำนำข้าวให้ได้ โดยไม่สนใจกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย โดยเห็นได้ชัดเจนจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามชี้นำสังคมและชี้นำการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้เห็นว่าบุคคลเหล่านั้นได้กระทำความผิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายโดยเร็ว จนถึงขนาดใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของกฎหมายปกติที่ใช้บังคับทั่วไป เพื่อนำมาใช้กับกรณีนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการลุแก่อำนาจสร้างความไม่ชอบธรรมแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา และเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังนี้
 
1. โครงการรับจำนำข้าว ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินว่าผู้ที่เกี่ยวข้องมีความผิดหรือไม่ หากตัดสินว่ามีความผิดจึงควรจะมาพิจารณาถึงความรับผิดทางแพ่งต่อไป ไม่ควรที่ผู้นำจะออกมาชี้นำสังคมและชี้นำการพิจารณาคดีของศาลรายวันก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
 
2. โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้การอุดหนุนด้านการเกษตร (Agricultural Subsidies) แก่เกษตรซึ่งเป็นภาคที่อ่อนแอ และเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศอันถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของชาวนาส่วนรวม ซึ่งการดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล  ถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่นำเรื่องกำไรขาดทุนมาพิจารณาและเรียกค่าเสียหายจากผู้นำรัฐบาลก่อน ทั้งที่ทุกรัฐบาลก็มีการดำเนินการในทำนองเดียวกันมากมายหลายโครงการ และเป็นแนวปฏิบัติที่นานาชาติได้ใช้กันโดยทั่วไป
 
3. การเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว เป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลไม่ใช่การทำละเมิดทั่วไป เช่น การทำให้ทรัพย์สินของราชการเสียหาย หรือการยักยอกเงินของทางราชการที่จะสามารถกำหนดค่าเสียหายและความรับผิดได้ชัดเจน ดังนั้นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวจะถือเป็นการละเมิดหรือไม่ก็ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนั้นการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของบุคคล ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงไม่ควรที่จะต้องเร่งรีบ รวบรัดในการกำหนดค่าเสียหาย และเรียกให้บุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีอาญาเสียก่อน อันจะทำให้มีความชัดเจนว่าบุคคลใดมีความผิด และต้องรับผิดหรือไม่
 
4. การอ้างว่า หากไม่เร่งดำเนินการ คดีอาจขาดอายุความนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดหรือไม่ จึงเท่ากับยังไม่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด อายุความจึงยังไม่เริ่มต้น แต่การยกข้ออ้างดังกล่าวก็เพื่อเร่งรัดให้มีการเรียกค่าเสียหายให้จบทันอายุของรัฐบาลนี้ อันเป็นเจตนาทางการเมือง และเป็นการชี้นำกระบวนการยุติธรรมจากอคติของผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจ
 
5. การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่ว่าฉบับที่ 39/2558 หรือฉบับที่ 56/2559 โดยให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งให้ไม่ต้องรับผิด และให้อำนาจกรมบังคับคดี  ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง แทนที่จะเป็นปลัดกระทรวงการคลังตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น จะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเป็นธรรมเพราะถือว่ามีกฎหมายคุ้มครอง แต่กระทำเพื่อให้บรรลุเจตนาของผู้นำเท่านั้น จึงเท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
 
6. มาตรา 44 เป็นสิ่งที่มีมาโดยมิชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม แต่เป็นสิ่งที่หัวหน้า คสช. เขียนให้อำนาจตนเองไว้ อันเป็นอำนาจซึ่งไม่ได้มาจากความยินยอมของประชาชน การใช้อำนาจดังกล่าวจึงควรเป็นไปอย่างจำกัดเฉพาะตามองค์ประกอบและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น กรณีการออกคำสั่งข้างต้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ เพราะการออกคำสั่งคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ และการให้อำนาจกรมบังคับคดียึดอายัดทรัพย์บุคคลเป็นการเฉพาะนั้น ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และข้ออ้างในคำสั่งนั้นแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ผู้ออกคำสั่งจะต้องคำนึงถึงความชอบธรรมเป็นด้านหลักด้วย
 
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คสช.และรัฐบาลปัจจุบันล้วนเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าว ดังนั้นจึงถือเป็น "ผู้มีส่วนได้เสีย" “เป็นคู่ขัดแย้ง” และมิใช่ "ผู้เป็นกลาง" การที่พยายามจะดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องในคดีจำนำข้าวด้วยวิธีการใช้ "คำสั่งทางปกครอง" โดยไม่เลือกใช้กระบวนการฟ้องร้องเป็นคดีแพ่ง จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและขัดหลักนิติธรรม อีกทั้งอาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายาม และ/หรือมีความจงใจที่จะใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อมุ่งทำลายพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมืองที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งเท่ากับจงใจทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยนั่นเอง
 
พรรคเพื่อไทยจึงขอเรียกร้องให้หัวหน้า คสช. และรัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมายปกติ ไม่ควรใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 มุ่งใช้บังคับเพื่อเร่งเอาผิดกับบุคคลเป็นการเฉพาะ และการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นไปตามหลักความเป็นธรรม  และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ไม่ควรยกเว้นหรือคุ้มครองความรับผิด จึงขอให้มีการทบทวนกระบวนการเรียกค่าเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว และยกเลิกการใช้มาตรา 44 โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.อนุญาต 19 แกนนำ นปช. เพิ่มพยาน 8 ปาก คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

0
0

พนักงานสอบสวนกองปราบฯ อนุญาต 19 แกนนำ นปช. เพิ่มพยาน 8 ปาก นัดสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่ออัยการศาลทหาร 17 ต.ค.นี้ คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ

ที่มาภาพ เพจ Banrasdr Photo

26 ก.ย. 2559 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมคณะ รวม 19 คน มาตามนัดกับพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการกองปราบปราม ถนนพหลโยธิน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน กรณีเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ หลังจากได้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ มีเงื่อนไข ห้ามสร้างความวุ่นวายทางการเมือง

จตุพร กล่าวก่อนเข้าไปในกองปราบฯว่า ก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นเรื่องขอเพิ่มพยาน 8 ปาก แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ถ้าพนักงานสอบสวนไม่อนุญาติให้เพิ่มพยานดังกล่าว ก็จะมีการส่งตัวพวกตนให้อัยการศาลทหารในวันนี้ ซึ่งพวกตนก็จะยื่นขอเพิ่มพยาน 8 ปาก อีกครั้งกับอัยการศาลทหารด้วย รวมถึง ขอความเป็นธรรม ต่ออัยการศาลทหาร กรณีที่ก่อนเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ คสช.บอกว่าสามารถเปิดได้ แต่กลับมีการฟ้องคดีพวกตนภายหลัง อีกทั้งเสียดายหากศูนย์ปราบโกงประชามติยังเปิดอยู่ จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับผลประชามติมากกว่านี้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เมื่อเข้าไปในกองปราบฯ ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ทั้ง 19 แกนนำฯก็ได้ออกมาจากกองบังคับการกองปราบปราม โดย จตุพร เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้อนุญาติให้เพิ่มพยาน 8 ปาก ตามที่ขอไว้ โดยจะทำการสอบพยานทั้ง 8 ปาก ภายใน 15 วัน และนัดมาเพื่อฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องต่ออัยการศาลทหาร ในวันที่ 17 ตุลาคมที่จะถึงนี้

สำหรับบรรยากาศ ที่หน้ากองบังคับการกองปราบปราม มีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอให้กำลังใจเหล่าแกนนำ นปช.ด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร จำนวนมากมาล้อมกองบังคับการกองปราบปรามดังเช่นคราวก่อน

 

ที่มา : เพจ PEACE TV และ Banrasdr Photo

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI เสนอตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยระยะยาว รับมือสังคมสูงวัย

0
0

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการแถลงผลการวิจัย “พร้อมรับสังคมสูงวัย: วางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาว กับทางเลือกระยะท้ายของชีวิต” ซึ่งทีดีอาร์ไอจัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญ คือ ในสังคมปัจจุบันมีคำถามเรื่องการทำใจในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาไม่ใช่การรักษาโรคแต่เป็นเรื่องของการดูแลอาการ โดยภาระนี้เป็นของครอบครัวรับผิดชอบกันเอง ยิ่งในอนาคตเมื่อครอบครัวมีขนาดเล็กลง คนมีลูกน้อยลง บางคนไม่แต่งงานหรืออยู่คนเดียว คนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่แบกรับภาระจึงหนักมาก จึงควรมีระบบบรรเทาภาระเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งแยก ผู้สูงอายุติดบ้าน(ต้องการการดูแลบ้าง ไม่ตลอดเวลา) กับผู้สูงอายุติดเตียง(ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนดูแลตลอด 24 ชม.)
 
ปัญหาของผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงนี้ งานศึกษาพบว่าในปี 2560 จะมีผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มรวมกันราว 3.7 แสนคน และในอีก 20 ปีข้างหน้า (ปี 2580) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 8 แสนคน แต่สัดส่วนนี้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการดูแล โดยผู้สูงอายุติดเตียงต้องการผู้ดูแลตลอดเวลา ขณะที่ความต้องการผู้สูงอายุติดบ้านต้องการการดูแลโดยเฉลี่ยประมาณ 100 ชั่วโมง/เดือน จำนวนผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ส่งผลให้ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 60 จะมีความต้องการผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียงรวมกันราว 2.5 แสนคน และในปี 2580 ความต้องการผู้ดูแลเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 6 แสนคน ซึ่งจะเป็นอาชีพทีเกิดขึ้นได้ในอนาคต ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลในส่วนที่นอกเหนือจากระบบที่ภาครัฐให้การดูแล นั่นคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว อาทิ ค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางผู้จัดการการดูแล ค่าผู้ดูแลและค่าเดินทางผู้ดูแล รวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และในปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายในการดูแลดูสูงอายุติดบ้าน/ติดเตียงจะเพิ่มขึ้นเป็น เกือบ 2 แสนล้านบาท

งานศึกษาจึงออกแบบระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยยึดหลักการแบ่งกันร่วมความรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามสัดส่วนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดย ในส่วนภาครัฐนอกจากบริการทางการแพทย์พื้นฐานภายใต้งบประมาณปกติแล้วสิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการจัดตั้งกองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาว และให้ประชาชนอายุ 40-65 ปี ร่วมกันจ่ายเงินสมทบในแต่ละปีเพื่อนำไปบริหารจัดการช่วยเหลือการดูแลผู้สูงอายุสำหรับค่าอุปกรณ์ วัสดุสิ้นเปลืองและค่าเดินทางของผู้จัดการการดูแล ส่วนค่าจ้างและค่าเดินทางของผู้ดูแลผู้ป่วยให้ผู้ใช้บริการและท้องถิ่นรับผิดชอบคนละครึ่ง ขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยการบริจาคเงินสมทบผ่านท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สังคมสูงอายุไม่ได้แย่เสมอไป จะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น เช่น กิจการผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานให้บริการ (ต้องได้รับใบอนุญาต) บริการรถรับ-ส่งผู้สูงอายุหรือผู้พิการ บริการดูแลระยะยาวและ day care ตัวแทนขายวัสดุ อุปกรณ์สำหรับผู้รับประโยชน์ ตลาดสินค้า (สำหรับผู้สูงอายุ) มือสอง บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ใช้โดยผู้สูงอายุ เป็นต้น”

นี่คือ ภาพรวมของการออกแบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในบทบาทของตัวเองในการสร้างระบบให้เกิดขึ้นและดูแลกำกับให้เกิดคุณภาพ โดยต้องมีคณะกรรมการกำกับและควบคุมคุณภาพสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพสถานบริการและรถรับส่งผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ขณะที่ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนคุณภาพการให้บริการได้

สำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เสียชีวิตประมาณ 4 แสนคน และในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุราว 3 แสนคน และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ซึ่งตึงตัวมาก จำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกจากการไปที่โรงพยาบาล งานวิจัยเลือก กรณีศึกษาผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ ประมาณปีละกว่า 4 หมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งกว่า 6.6 แสนคนและจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการที่จะส่งเสริมการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน โดยมุ่งหวังให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้นในระยะสุดท้าย ซึ่งในระบบปัจจุบันผู้ป่วยมักมั่นใจที่จะอยู่ในโรงพยาบาลมากกว่าที่จะกลับบ้าน ด้วยระบบการดูแลที่บ้านยังไม่ทั่วถึง

ตัวอย่างในหลายประเทศ การเสียชีวิตที่บ้านมีสัดส่วนที่สูงขึ้น เช่น เยอรมนี ร้อยละ 51 ญี่ปุ่น(ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง)ร้อยละ 81 เป็นต้น และจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ประชาชาชนกว่าร้อยละ 61 ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ขณะที่ในเกาหลีใต้มีความต้องการมากถึงร้อยละ 90 สะท้อนภาวะความต้องการทางจิตใจที่คนจำนวนมากต้องการจะใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างอบอุ่นที่บ้าน หากมีระบบการดูแลที่ดี ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วย ให้เหมือนกับการได้รับการดูแลที่โรงพยาบาล กล่าวคือ การมีระบบติดตามและช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรมีการสร้างกลไกสนับสนุนทางการเงินแก่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน

งานวิจัยได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่าย 2 กรณี คือ กรณีผู้ป่วยมะเร็งภายใต้โครงการ UC มีค่ารักษาพยาบาลเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตเฉลี่ยราว 45,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดกว่า 3.4 แสนบาท ในเดือนสุดท้ายของชีวิต แต่หากเป็นการดูแลในเดือนสุดท้ายที่บ้านอย่างมีมาตรฐานที่ผู้ป่วยมั่นใจได้ทั้งเรื่องอุปกรณ์ที่จำเป็น วัสดุสิ้นเปลือง ค่าตอบแทนและการเดินทางของบุคลากรและผู้ดูแล จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 27,000 บาท งานวิจัยเสนอว่าควรส่งเสริมให้เกิดระบบการดูแลระยะท้ายที่บ้าน โดยให้เป็นทางเลือกของผู้ป่วย (ไม่บังคับ) หากผู้ป่วยต้องการกลับไปอยู่กับครอบครัวในระยะสุดท้ายของชีวิตที่บ้าน ก็ควรมีทางเลือกการดูแลแบบประคับประคองที่บ้านในระบบประกันสุขภาพของเราด้วย  

สำหรับความเป็นไปได้ของระบบ ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ในเรื่องกรณีผู้ป่วยระยะท้ายเราเปรียบเทียบให้เห็นว่ากรณีรักษาพยาบาลในเดือนสุดท้ายที่โรงพยาบาลแพงกว่าการรักษาที่บ้านโดยมีทีมดูแลแบบประคับประกอบคอยช่วยเหลือ มนุษย์ทุกคนต้องการการดูแลที่ดีและอบอุ่นในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เราจึงพยายามเสนอระบบที่เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการ และค่าใช้จ่ายที่ถูกลงในระบบการรักษา ส่วนในการดูแลระยะยาว กองทุนดูแลผู้ป่วยระยะยาวเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและไม่เป็นภาระการเงินการคลัง เป็นสิ่งใหม่ที่เมื่อเพิ่มขึ้นมาทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้นโดยหลายๆ ฝ่ายช่วยกันรับภาระทางการเงินการคลังตามสมควร ซึ่งหากรอให้รัฐบาลเป็นผู้รับภาระทั้งหมดก็อาจใช้ระยะเวลายาวนานหรืออาจเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ระบบนี้เป็นระบบที่ออกแบบมาสำหรับประชาชนทุกคน รวมทั้งข้าราชการด้วย เพราะสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้ง 3 สวัสดิการไม่ครอบคลุมการดูแลที่บ้าน การเสนอกฎหมายใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าจะถูกออกแบบมาให้การบริหารจัดการอยู่ภายใต้องค์กรเดิมที่มีอยู่หรือมีองค์กรใหม่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องการกำกับคุณภาพก็ควรที่จะรวมไปกับกรมกิจการผู้สูงอายุ กรมอนามัย กรมการขนส่งทางบก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย อธิบายความแตกต่างว่า การดูแลผู้ป่วยระยะยาว (Long-term care) ประเทศไทยมีการพัฒนามายาวนาน ระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาวจะใช้ระยะยาวนานอาจเป็น 5-10 ปี แต่การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative care) เป็นการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตเป็นสิ่งใหม่มากในสังคมไทย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจมีเวลาที่ 6 – 12 เดือน และในช่วง 1 เดือนสุดท้ายก่อนตายยิ่งต้องการการดูแลอย่างเข้มข้นมาก ในเรื่องการจัดการอาการป่วยอย่างมีประสิทธิภาพผู้ป่วยจึงจะมีคุณภาพชีวิตทีดีสามารถที่จะอยู่ที่บ้านและตายที่บ้านได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีทีมแพทย์/บุคลากรที่เชี่ยวชาญในการดูแลอาการป่วยรวมถึงการดูแลด้านจิตใจ และต้องสามารถเข้าถึงบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง มิเช่นนั้น ก็มักจบที่ญาติพามารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล สำหรับความเป็นไปได้ในการนำระบบการดูแลแบบประคับประคองไปใช้นั้น ในชนบทมีระบบเครือข่ายด้านสุขภาพที่สามารถทำได้ดีในหลายพื้นที่ แต่ควรมีการเติมองค์ความรู้เพิ่มเติมในทุกระดับ ให้มีผู้เชี่ยวชาญในระดับโรงพยาบาลชุมชนคอยให้คำแนะนำปรึกษาได้ ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักที่ไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ก็ควรจัดให้มีการดูแลแบบประคับประคองที่โรงพยาบาลชุมชนได้ ซึ่งใกล้บ้านและค่าจ่ายถูกกว่า ดังนั้นในอนาคตโรงพยาบาลชุมชนควรมีทีมที่ได้รับการอบรมระดับกลางในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ในส่วนของกรุงเทพขอบเขตเกินกว่าจะไปประสานการดูแลตรงนี้ได้ การดูแลในกรุงเทพที่ดีที่สุดน่าจะทำเป็น Home service จะเหมาะสมกว่า แต่ก็จะต้องมีการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลด้วย

ด้าน นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ก่อตั้ง Health at Home กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่บ้าน เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบ้านเรามีการเติบโตของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ยังขาดการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวอย่างเป็นระบบ ขณะที่ในภาคชนบทยังสามารถดูแลได้ดีพอสมควร ขณะที่ Home care เป็นคำตอบสำหรับการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยระยะยาวในเมือง ปัจจุบันธุรกิจผู้ดูแลเป็นธุรกิจที่ไม่มีมาตรฐานอย่างเป็นทางการ แต่เป็นมาตรฐานในทางปฎิบัติงานได้จริง มีความเชี่ยวชาญใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะการดูแลผู้ป่วยนอกจากการได้คนดีแล้วควรต้องมีระบบที่ดีด้วย จึงต้องสร้างระบบของเราเองในการคัดกรองและพัฒนาบุคลากรผู้ดุแลที่มีคุณภาพไปดูแลผู้ป่วยระยะยาว โดยค่าตอบแทนผู้ดูแลอยู่ระหว่าง 1.5 -2.5 หมื่นบาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ผู้ดูแลและอาการผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ในบ้านเรายังมองผู้ดูแลผู้ป่วยกับแม่บ้านไม่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีมาตรฐานมีกรอบเวลาการทำงานและเวลาพักที่ชัดเจน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชนบทที่เคลื่อนไหวกับพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (1)

0
0

 

ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทที่สำคัญตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็คือ การเปลี่ยนผ่านของสังคมชนบทจากสังคมชาวนาสู่สังคมของผู้ประกอบการชนบท โดยความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆในชนบท เช่น การที่เกษตรกรเปลี่ยนจากการเป็นชาวนาที่มีรายได้มาจากการทำนาบนที่นาของตนเองเพียงอย่างเดียวไปสู่การเป็นผู้จัดการนาที่รับจ้างสัญญาในการทำนาในที่ดินของเกษตรกรรายอื่นอย่างครบวงจรตั้งแต่การเตรียมนาไปสู่การเก็บเกี่ยว หรือการที่เกษตรกรเปลี่ยนจากการหารายได้จากการเป็นชาวนา ไปสู่การหารายได้จากการนำรถเกี่ยวข้าวของตนเองไปรับเกี่ยวข้าวนอกชุมชนของตนเอง จนรายได้จากการรับเกี่ยวข้าวกลายเป็นรายได้หลักแทนการทำนาบนที่ดินของพวกเขา (ประภาส และ ตะวัน, 2558)

อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของกระบวนการดังกล่าวก็คือ ผู้ประกอบการชนบทเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรคือเงื่อนไขของการเกิดผู้ประกอบการชนบท และเพื่อตอบคำถามดังกล่าวบทความชิ้นนี้จะมุ่งไปที่การศึกษาการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (pluriactivity) หรือการเกิดขึ้นของการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย (diversification) ในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญของการเป็นผู้ประกอบการชนบท

โดยการขยายตัวไปสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายของเกษตรกร หรือ พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญกับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท เนื่องจากพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การสร้างความหลากหลายในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ชาวนาไม่จำเป็นต้องปลูกข้าวอย่างเดียวเหมือนในอดีต แต่ชาวนาสามารถขยายไปสู่การใช้ที่นาของตัวเองเปิดเป็นโฮมสเตย์ หรือ การปล่อยเครื่องมือทางการเกษตรของตนเองให้เกษตรกรรายอื่นเช่า เป็นต้น (Knickel et al., 2003) ในขณะที่การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท คือ การปรับตัวของเกษตรกรเข้าสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย และการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ที่อยู่นอกเหนือการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (non-agricultural activities) จนในที่สุดแหล่งรายได้ใหม่ดังกล่าว ได้เข้ามาแทนที่แหล่งรายได้หลักในภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม (Durand and Huylenbroeck, 2003; McElwee, 2008)

จะเห็นได้ว่าพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของการเป็นผู้ประกอบการชนบท เป็นกระบวนการที่สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองกระบวนการ คือ กระบวนการเดียวกัน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทจากสังคมชาวนาสู่สังคมของผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้การศึกษาเงื่อนไขการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบท เพื่อให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชนบท จึงสามารถทำได้ผ่านการศึกษาบริบทการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในภาพกว้าง โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ ทั้งนี้การศึกษาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่จะช่วยให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจชนบทอย่างไร และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆอย่างไรบ้าง และในส่วนสุดท้ายของการอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการนำตัวอย่างของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆของโลกที่นอกเหนือไปจากสังคมตะวันตก เช่น อเมริกากลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก มาใช้อธิบายเพื่อให้เห็นภาพการคลี่คลายไปสู่สังคมผู้ประกอบการชนบทและการเกิดขึ้นของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


เงื่อนไขทางเศรษฐกิจในภาพกว้างที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจสัมพันธ์อย่างแนบแน่นอยู่กับการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในสองด้าน คือ หนึ่งการเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจจากการเน้นการผลิตอย่างเข้มข้น (productivist) ไปสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น (post-productivist) ที่การผลิตทางเกษตรกรรมไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ การผลิตเพื่อให้ได้จำนวนสินค้าทางการเกษตรจำนวนมหาศาล แต่เน้นไปที่ความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งยังรวมไปถึงการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม อันส่งผลให้การผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เน้นการผลิตสินค้าทางการเกษตรเชิงปริมาณค่อยๆหมดความสำคัญลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆที่นอกเหนือไปจากการผลิตสินค้าทางการเกษตรเชิงปริมาณ ค่อยๆขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว (Sharpley and Vass, 2006) นอกจากนั้นความเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทก็คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (liberalization) ที่ส่งผลให้เกิดการทะลักล้นเข้ามาของสินค้าเกษตรราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา จนส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศที่พึ่งเปิดเสรีทางเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ร่วมไปกับข้อจำกัดของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทำให้รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยพยุงราคาของสินค้าเกษตรได้ง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรต้องสร้างกลยุทธ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง ผ่านการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการสร้างแหล่งรายได้ที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม  (Lee, 2005; Padron and Burger, 2015) ในอีกด้านหนึ่งการขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยิมใหม่ (neo-liberal) ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจในชนบทอย่างเฉียบพลัน (Chase, 2010) เพราะการที่รัฐถอยห่างจากตลาด และปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ ได้ทำให้เกษตรกรมีตุ้นทุนอย่างมหาศาลในการปรับตัวให้เข้ากับทิศทางใหม่ของตลาด ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ในการปรับตัวที่เป็นไปได้มากกว่า ซึ่งนั่นก็คือก็ตัดสินใจมุ่งสู่ทิศทางของการสร้างพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการยกระดับจากชาวนาไปเป็นผู้ประกอบการ

การเปลี่ยนผ่านจากยุคการผลิตอย่างเข้มข้นไปสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น

สำหรับบริบทของการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านแรก สัมพันธ์อยู่กับการเปลี่ยนผ่านของโมเดลทางเศรษฐกิจที่เคยเน้นการผลิตอย่างเข้มข้นไปสู่สภาวะหลังการผลิตอย่างเข้มข้น กล่าวคือ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญในชนบทของประเทศอังกฤษ (Marsden and Murdoch, 1998) เนื่องจากการขาดแคลนอาหารในช่วงสงคราม ทำให้รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ภาคชนบทกลายเป็นพื้นที่ของการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (securing food supply) ของประเทศ (Burton, 2004) ทำให้เกิดความพยายามที่จะสร้างระบบซึ่งช่วยให้สามารถกระตุ้นให้เกิดการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้น (maximising food production) โดยอาศัยการส่งเสริมเทคโนโลยีทางการผลิตให้เกษตรกรสามารถผลิตได้ในจำนวนมหาศาล ผ่านการให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีความชำนาญในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เฉพาะอย่าง เช่น เกษตรกรที่ปลูกมันฝรั่งก็ปลูกมันฝรั่งอย่างเดียว หรือ เลี้ยงวัวนมก็เลี้ยงวันนมอย่างเดียว รวมทั้งจัดแบ่งพื้นที่ทางการผลิตให้แต่ละภูมิภาคมีความชำนาญในผลิตสินค้าเกษตรเฉพาะด้าน ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าทางการเกษตรเฉพาะอย่างได้ในจำนวนครั้งละมากๆ (Sharpley and Vass, 2006)

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 โมเดลของการเน้นผลิตสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้นเริ่มหมดพลังลง และได้ถูกท้าทายจากปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด (oversupply) ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมด้านราคา ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสินค้าเกษตรที่อาจเกิดการปนเปื้อนอันเนื่องมาจากการผลิตอย่างเข้มข้นที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้สารเคมีที่ล้นเกินหรือคุณภาพในการผลิต และยังรวมไปถึงกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าโมเดลที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเข้มข้น ได้ก่อปัญหามากมายต่อธรรมชาติและสุขภาพของมนุษย์ (Lowe et al., 1993) ทั้งหมดนี้จึงได้นำไปสู่การสับเปลี่ยนมุมมองและนโยบายของรัฐบาลอังกฤษต่อชนบทและภาคเกษตรกรรม ไปสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น

สำหรับโมเดลทางเศรษฐกิจยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้นสัมพันธ์อยู่กับแนวความคิดที่ว่า การผลิตสินค้าเกษตรจะต้องมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมด้านคุณภาพมากกว่าเรื่องของปริมาณ เช่น การปลูกพืชปลอดสารพิษ และมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในชนบท (sustainable rural development) ทั้งนี้มุมมองดังกล่าวได้ขยายไปสู่ปฏิบัติการณ์เชิงนโยบาย เช่น การประกาศใช้นโยบาย Single Farm Payment ในยุโรป ซึ่งเป็นการสนับสนุน (subsidy) ด้านเงินทุนแก่เกษตรกร (ที่ยอมทำตามข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิของสัตว์ และสุขภาพของผู้บริโภค) โดยเงินสนับสนุนจากรัฐจะแปรผันตามจำนวนการถือที่ดินในฟาร์ม (EU-LEX, 2016) ซึ่งหมายความว่าเงินที่เคยได้รับจากการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรเฉพาะอย่าง หรือ การเข้าไปแทรกแซงตลาดด้านราคาของรัฐจะหมดไป ทำให้เกษตรกรไม่สามารถที่จะผลิตอย่างเข้มข้นได้เหมือนในช่วงก่อนทศวรรษ 1970s ที่รัฐเคยเข้ามาช่วยพยุงราคาของพืชผลทางการเกษตรเพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการผลิตอาหารอย่างเข้มข้น หรือในอีกนัยยะหนึ่งก็คือรัฐพยายามที่จะลดการสนับสนุนด้านราคาแก่เกษตรกรลง เพื่อจัดการกับปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดของสินค้าเกษตร ซึ่งทำให้การผลิตอย่างเข้มข้นแบบดั้งเดิม (traditional agriculture) ซึ่งเคยเป็นรายได้หลักทางเดียวของเกษตรกร ไม่สามารถที่ดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น ยังทำให้เกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับความเข้มงวดของกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น (environmetal regulation) รวมไปถึงความพยายามของรัฐที่ต้องการจะดึงภาคเกษตรเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในชนบท (Sharpley and Vass, 2006) ส่งผลให้เกษตรต้องแสวงหาแนวทางในการปรับตัวร่วมกับรัฐ ซึ่งนั่นก็คือการเกิดขึ้นของนโยบายที่จะสนับสนุนเกษตรกรให้ก้าวข้ามการผลิตแบบดั้งเดิม ไปสู่การประกอบพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การปลูกพืขผักออกานิค) การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร การเป็นผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวในชนบท และยังรวมไปถึงว่าเกษตรกรที่ไม่สามารถปรับตัวต่อนโยบายใหม่ทางการเกษตรของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะออกไปหางานนอกภาคการเกษตรทำ เช่น การรับจ้าง หรือ การทำทั้งงานในภาคเกษตรร่วมกับงานนอกภาคเกษตร เพื่อสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคหลังการผลิตอย่างเข้มข้น (Ilbery and Bowler, 1998; Burton, 2004)


การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ในอีกด้านหนึ่งการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา กล่าวคือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจได้ทำให้บรรษัทข้ามชาติ (private international trade) โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าเกษตร เข้ามาทำตลาดในประเทศต่างๆ ทำให้เกษตรกรที่เคยได้เปรียบจากการคุ้มครองด้านราคาโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับบรรษัทข้ามชาติ (Padron and Burger, 2015)

โดยการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจนั้น สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับการยอมรับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ต้องการให้สินค้าต่างๆสามารถหมุนเวียนได้อย่างเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสินค้าเกษตร ซึ่งประเทศที่มีกำลังแรงงาน (labour force) มากกว่า จะมีความได้เปรียบด้านต้นทุนในการผลิตต่อหน่วย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศดังกล่าวมีราคาถูกมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเล็กที่มีขนาดของกำลังแรงงานต่ำกว่า เช่น สินค้าเกษตรราคาถูกที่นำเข้ามาจากประเทศจีน (Lee, 2005) ดังนั้นเมื่อประเทศที่มีขนาดของกำลังแรงงานที่เล็กกว่าในเชิงเปรียบเทียบ ตัดสินใจเปิดเสรีทางการค้า ก็จะส่งผลโดยตรงกับเกษตรกรในกลุ่มประเทศดังกล่าว ที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติราคาสินค้าเกษตรในประเทศตกต่ำอย่างเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรจากกลุ่มประเทศที่มีขนาดของกำลังแรงงานใหญ่กว่า ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศที่มีกำลังแรงงานขนาดเล็กกว่า ต้องถูกบังคับให้ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการผลิต ผ่านการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ที่กว้างขวางไปกว่าการผลิตในรูปแบบเดิม (ibid)

นอกจากนั้นการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจกับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบทยังสัมพันธ์อยู่กับการขยายตัวของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neo-liberal) ที่มุ่งเน้นให้รัฐค่อยๆถอยห่างออกจากตลาด และปล่อยให้กฎไกของตลาดเป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชนบท (Chase, 2010) โดยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาสินค้าเกษตร เนื่องจากเมื่อรัฐตัดสินใจถอยห่างออกจากตลาด ก็เท่ากับว่ารัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงหรือช่วยเหลือด้านราคาแก่เกษตรกรอีกต่อไป และปล่อยให้ราคาของสินค้าเกษตรไปผูกอยู่กับกลไกของตลาด

การผูกราคาของสินค้าเกษตรไว้กับกลไกตลาด จะทำให้ราคาของสินค้าเกษตรตกต่ำลงในทันที โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เคยสัมพันธ์อยู่กับการผลิตแบบดั้งเดิม เช่น ฝ้ายหรือข้าว เนื่องมาจากว่าอุปทานของสินค้าเกษตรมีมากเกินกว่าความต้องการของตลาด (เป็นผลจากนโยบายเก่าที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรเฉพาะอย่างอย่างเข้มข้น) ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงมีทางเลือกในการปรับตัวอยู่สองทาง คือ หนึ่งเกษตรกรต้องหันไปปลูกสินค้าเกษตรชนิดใหม่ที่สามารถส่งออกได้ (export crops) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากความรู้ดั้งเดิมที่เกษตรกรเคยมี ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนจากการปลูกฝ้ายมาสู่การปลูกมันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชคนละประเภท เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องหาตลาดใหม่ องค์ความรู้ใหม่ และเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ ซึ่งการปรับตัวในลักษณะนี้จะมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้มีรัฐคอยช่วยเหลือเหมือนที่ผ่านมา ในขณะที่ทางเลือกที่สอง คือ การที่เกษตรกรเริ่มขยายไปสู่ทางเลือกในการสร้างรายได้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะการก้าวข้ามการพึ่งพารายได้จากการผลิตสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจชนิดอื่น หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การที่เกษตรกรตัดสินใจก้าวข้ามจากการเป็นชาวนาที่ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐอย่างเข้มข้น ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในชนบท ที่มีแหล่งรายได้จากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กว้างขวางไปกว่าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม (Graziano da Silva, 2001; Steward, 2007)


ความหลากหลายของการเป็นผู้ประกอบการในชนบทและพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

การเกิดขึ้นของผู้ประกอบการในชนบท คือ การที่เกษตรกรหรือชาวนาเริ่มเข้าสู่การสร้างพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผ่านการขยายแหล่งรายได้ที่มาจากการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ (side venture) ที่นอกเหนือไปจากการผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม (Ferguson and Olofsson, 2011) โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการผลิตพืชผลทางเกษตรกรรมหรือปศุสัตว์อย่างเข้มข้นแบบดั้งเดิม ไปสู่การผลิตแบบใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า (value-added) ของสินค้าและบริการ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างฟาร์มสัตว์แบบเปิดที่ให้สัตว์สามารถอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ (free-range farm) เพื่อขายเนื้อสัตว์ในตลาดบนที่ผู้บริโภคเน้นการบริโภคเพื่อสุขภาพ (ปลอดยาปฏิชีวินะ ปลอดจีเอ็มโอ ปลอดการใช้ฮอร์โมน) หรือ การเปลี่ยนไปสู่ฟาร์มแบบออกานิค เพื่อขายผักปลอดสารพิษในราคาสูง เป็นต้น (Barlas et al., 2001; Damianos and Skuras, 1996) ทั้งนี้การเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการยังอาจรวมไปถึง การเพิ่มมูลค่าผ่านการแปรรูปสินค้าเกษตร (processing) เช่น การแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้าแช่แข็ง หรือการสร้างบรรจุภัณฑ์ (packaging) แบบใหม่เพื่อใช้ในการขายสินค้าเกษตรในตลาดและกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขวางมากขึ้น (Mahoney and Barbieri, 2003)

นอกจากการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการแล้ว ลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบทยังรวมไปถึงการขยายบทบาทของเกษตรกรจากผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรไปสู่บทบาทของการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งหมายถึงการที่เกษตรกรเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำตลาด (merchandising activities) เช่น การเริ่มมีหน้าร้านของตนเองในฟาร์ม (on-farm retailing) การใช้ช่องทางใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต ในการโฆษณาสินค้าเกษตรของตนเอง เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และยังรวมไปถึงการสร้างตลาดที่กว้างขวางและหลากหลาย ซึ่งลักษณะของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ย่อมแตกต่างไปจากการผลิตอย่างเข้มข้นแบบเดิมที่เกษตรกรเป็นเพียงผู้ผลิตให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อนำสินค้าออกไปสู่ตลาดอีกทอดหนึ่ง (McNally, 2001)

ในอีกด้านหนึ่งลักษณะของการกลายมาเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกรในชนบท ยังอาจรวมไปถึงการขยายการใช้พื้นที่ทางการเกษตร ที่แต่เดินจำกัดอยู่เพียงแค่การผลิตพืชผลทางการเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้น ไปสู่การใช้ที่ดินในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่นอกเหนือไปจากกิจกรรมทางการเกษตรแบบเดิม เช่น การเปลี่ยนฟาร์มให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพักและใช้ชีวิตได้ในช่วงวันหยุด ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ของฟาร์มแบบดั้งเดิมได้ถูกขยายให้กลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ ที่กว้างขวางกว่าการเป็นเพียงพื้นที่ของการผลิตพืชผลทางเกษตรกรรมอย่างเช้มข้น (Barbieri and Mshenga, 2008)

นอกจากนี้การกลายมาเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกร ยังนับไปถึงการขยายบทบาทของเกษตรกรในฐานะของชาวนาหรือชาวสวน ไปสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้เช่า ทั้งการปล่อยเช่าที่ดินให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ หรือ การเป็นผู้ให้เช่าอุปกรณ์การผลิตที่ใช้ในการทำการเกษตร (Mahoney and Barbieri, 2003) ซึ่งยังรวมไปถึงการรับจ้างทำการผลิตตามสัญญา (contact services) เช่น การทำเกษตรพันธะสัญญากับบรรษัทเกษตร การเป็นแรงงานรับจ้างในการปลูกพืช การเป็นแรงงานรับจ้างในการดูแลสัตว์ และการรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเจ้าของรถไถหรือเจ้าของอุปกรณ์เกษตร (Turner et al., 2003)

อย่างไรก็ตามลักษณะของการกลายมาเป็นผู้ประกอบการในชนบท หรือ การขยายเข้าสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกษตรกร ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้บริบท แต่สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขและบริบทภายในของสังคมนั้นๆ (McNally, 2001) ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจจะมีโอกาสในการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ทางเกษตรกรรม (non-agricultural activities) ได้มากกว่าเกษตรกรที่เน้นการปศุสัตว์ เพราะเกษตรกรที่เน้นการผลิตพืชเศรษฐกิจจะมีช่วงเวลาระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยว ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถว่างเว้นจากการทำงานในภาคการเกษตร และขยายการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปนอกพื้นที่ทางการเกษตรได้ เช่น การรับจ้างสัญญาของเกษตรกรรายอื่นมาทำ หรือ การออกไปรับจ้างงานนอกภาคเกษตร (Ilbery et. al., 1997) ขณะที่เกษตรกรที่เน้นการปศุสัตว์อาจจะขยายไปสู่กิจกรรมทางทางเศรษฐกิจในลักษณะอื่นๆได้ แต่ก็จะจำกัดอยู่ในพื้นที่ของฟาร์ม เช่น ฟาร์มโคนมในตอนเหนือของอังกฤษ ได้ปรับพื้นที่บางส่วนในฟาร์มโคนมให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยพวกเขาก็ไม่ได้เลิกกิจการโคนม แต่ทำกิจการโคนมซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักต่อไป ควบคู่ไปกับกิจกรรมการท่องเที่ยว (Glover, 2011)

นอกจากนั้นขนาดของฟาร์มก็ยังมีอิทธิพลต่อลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบท ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มขนาดใหญ่ในอังกฤษและเวลส์ จะมีโอกาสที่จะขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เน้นไปในด้านของการให้เช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรได้ มากกว่าฟาร์มที่มีขนาดเล็กอย่างมีนัยยะสำคัญเพราะฟาร์มขนาดใหญ่ครอบครองทรัพยากรไว้มากกว่า แต่เมื่อเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวและการให้บริการด้านการพักผ่อนย่อนใจ (recreation) ฟาร์มขนาดเล็กและขนาดกลางกลับมีความสามารถในการขยายไปสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านนี้ไม่แตกต่างไปจากฟาร์มขนาดใหญ่ เนื่องจากการขยายไปสู่พื้นที่ของการท่องเที่ยวไม่ได้เรียกร้องการครอบครองปัจจัยในการผลิตที่มีราคาสูงเหมือนกับการให้เช่าเครื่องมือทางการเกษตร (McNally, 2001)

ดังนั้นในแง่หนึ่งลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการและประเภทของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัจจัยภายใน คือ บริบทและเงื่อนไขของเกษตรกรในแต่ละสังคม

สำหรับบริบทและเงื่อนไขในระดับปัจจัยภายนอกก็คือ บริบททางเศรษฐกิจสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ซึ่งส่งผลต่อการขยายไปสู่การประกอบพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น การปรับลดชั่วโมงการทำงานของรัฐบาลในไต้หวัน จากที่เคยกำหนดให้ต้องทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน เป็น 5 วัน ทำให้ผู้คนเริ่มเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและพัฒนาระบบขนส่งภายในประเทศ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในชนบทขยายตัวและเกษตรกรปรับตัวมาเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในชนบท (Lee, 2005) หรือในกรณีตัวอย่างของการเปิดเสรีเมล็ดกาแฟในเม็กซิโก ที่ทำให้บรรษัทข้ามชาตินำเมล็ดกาแฟราคาถูกเข้ามามากจนราคาเมล็ดกาแฟในประเทศตกต่ำ และทำให้เกษตรกรที่ปลูกเมล็ดกาแฟดิบในเม็กซิโก ต้องปรับตัวและขยายการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจสู่การแปรรูปเมล็ดกาแฟและกลายมาเป็นผู้จัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟสำเร็จรูปไปในที่สุด (Padron and Burger, 2015)

ดังนั้นลักษณะของการเป็นผู้ประกอบการในชนบทและประเภทของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ จึงสัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขและบริบทของปัจจัยภายในและภายนอกภาคชนบท ที่ทำให้เส้นทางของการก่อรูปเป็นผู้ประกอบการในชนบทของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในส่วนถัดไปของบทความชิ้นนี้ จะนำกรณีศึกษาการขยายตัวของพหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ มาเป็นตัวอย่างในการอธิบายให้เห็นลักษณะของการก่อรูปขึ้นเป็นผู้ประกอบการผ่านการขยายตัวของสู่พหุกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ

0000

 

อ้างอิง

ALSOS, G. A. & CARTER, S. 2006. Multiple business ownership in the Norwegian farm sector: Resource transfer and performance consequences. Journal of Rural Studies, 22, 313-322.

ALSOS, G. A., SARA LJUNGGREN, ELISABET WELTER, FRIEDERIKE 2011. Introduction: Researching Entrepreneurship in Agriculture and Rural Development. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

BARBIERI, C. & MSHENGA, P. 2008. The role of firm and owner characteristics on the performance of agritourism farms. Sociologia Ruralis, 48, 166–183.

BARLAS, Y., DAMIANOS, D., DIMARA, E., KASIMIS, C. & SKURAS, C. 2001. Factors influencing the integration of alternative farm enterprises into the agro-food system. Rural Sociology, 66, 342–358.
BURTON, R. 2004a. Seeing through the “good farmer’s” eyes: towards developing an understanding of the social symbolic value of “productivist” behaviour. Sociologica Ruralis, 44, 195-215.

BURTON, R. J. F. 2004b. Seeing Through the ‘Good Farmer's’ Eyes: Towards Developing an Understanding of the Social Symbolic Value of ‘Productivist’ Behaviour. Sociologia Ruralis, 44, 195-215.
CANTILLON, R. 1755. Essai sur la nature du commerce en ge\0301ne\0301ral. Traduit de l'anglois. [By R. Cantillon.], Londres [Paris].

CARTER, S. 1998. Portfolio entrepreneurship in the farm sector: indigenous growth in rural areas. Entrepreneurship and Regional Development, 10, 17-32.
CHASE, J. 2010. The place of pluriactivity in Brazil's agrarian reform institutions. Journal of Rural Studies, 26, 85-93.

DAMIANOS, D. & SKURAS, D. 1996. Farm business and the development of alternative farm enterprises: an empirical analysis in Greece. Journal of Rural Studies, 12, 273-283.
DEVELOPMENT), O. O. F. E. C.-O. A. 1994. Tourism Strategies and Rural Development. Paris: OECD

DURAND, G. & HUYLENBROECK, G. V. 2003. Multifunctionality and Ru- 165
ral Development: A General Framework. In: GUIDO VAN HUYLENBROECK & DURAND, G. (eds.) Multifunctional Agriculture. A new paradigm for European Agriculture and Rural Development. USA: Ashgate Publishing Company.

FERGUSON, R. & OLOFSSON, C. 2011. The Development of New Ventures in Farm Businesses. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

GRANDE, J. 2011. Entrepreneurial efforts and change in rural firms: three case studies of farms engaged in on-farm diversification. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

GRAZIANO DA SILVA, J. 2001. Quem Precisa de uma Estrate ́gia de Desenvolvimento? Projeto Rurbano UNICAMP, Sa ̃o Paulo, Campinas.

ILBERY, B. & BOWLER, I. 1998. From agricultural productivism to post- productivism. In:

ILBERY, B. (ed.) The geography of rural change. Harlow: Longman.

KIRZNER, I. M. 1979. Perception, opportunity and profit : studies in the theory of entrepreneurship, Chicago ; London, University of Chicago Press.

KNICKEL, K., VAN DER PLOEG, J. D. & RENTING, H. 2003. Multifunktionalitat der Landwirtschaft und des landlichen Raumes: Welche
Funktionen sind eigentlich gemeint und wie sind deren Einkommens – und
Beschaftigungspotenziale einzuschatzen? GEWISOLA – Tagung 2003. Universitata Hohenheim.

LEE, M.-H. 2005. Farm tourism Co-operation in Taiwan. In: HALL, D., KIRKPATRICK, I. & MITCHELL, M. (eds.) Rural Tourism and Sustainable Business. Clevedon: Channel View Publications.

LEX, E. 2016. Single Farm Payment (SFP) [Online]. Available: http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=URISERV%3Al11089 [Accessed].

LOWE, P., MURDOCH, J., MARSDEN, T., MUNTON, R. & FLYNN, A. 1993. Regulating the new rural spaces: the uneven development of land. Journal of Rural Studies, 9, 205-222.

MAHONEY, E. & BARBIERI, C. 2003. Farm and Ranch Diversification: Engaging the Future of Agriculture. The Graduate Institute of Leisure, Recreation, and Tourism Management. National Chiayi University.

MARSDEN, T. & MURDOCH, J. 1998. The shifting nature of rural governance and community participation. Journal of Rural Studies, 14, 1-4.

MCELWEE, G. 2008. A taxonomy of entrepreneurial farmers. International Journal of Entrepreneurship and Small Business, 6, 465-478.

MCNALLY, S. 2001. Farm diversification in England and Wales – what can we learn from the farm business survey? Journal of Rural Studies, 17, 247–257.

PADRÓN, B. R. & BURGER, K. 2015. Diversification and Labor Market Effects of the Mexican Coffee Crisis. World Development, 68, 19-29.

SAY, J. B. 1964. A treatise on political economy : or the production, distribution and consumption of wealth, New York, Augustus M Kelley, Bookseller.

SCHUMPETER, J. A. 1934. The theory of economic development : an inquiry into profits, capital, credit, interest, and the business cycle, Cambridge, Mass., Harvard U.P.
SHARPLEY, R. & VASS, A. 2006. Tourism, farming and diversification: An attitudinal study. Tourism Management, 27, 1040-1052.

SILVA, L. R. D. & KODITHUWAKKU, S. S. 2011. Pluriactivity, entrepreneurship and socio-economic success of farming households. In: ALSOS, G. A. (ed.) The handbook of research on entrepreneurship in agriculture and rural development. Cheltenham: Edward Elgar.

STEWARD, A. 2007. Nobody farms here anymore: livelihood diversification in the Amazonian community of Carva ̃o, a historical perspective. Agriculture and Human Values, 24, 75–92.

TURNER, M., WINTER, D., BARR, D., FOGERTY, M., ERRINGTON, A. & LOBLEY, M. R., M., 2003. Farm Diversification Activities 2002: Benchmarking Study. In: DEFRA, T. U. O. E. A. P. T. (ed.) CRR Research Report. UK: University of Exeter.

ประภาส ปิ่นตกแต่ง, ตะวัน วรรณรัตน์. การเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการเมืองในชุมชนชนบทและการปรับตัวของชุมชนภาคกลางบางแห่ง. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. "ชนบท": ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. ใน: พงศกร เฉลิมชุติเดช, เกษรา ศรีนาคา, บรรณาธิการ. ชุดโครงการวิจัยเรื่อง ความเปลี่ยนแปลง "ชนบท" ในสังคมไทย: ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว. กรุงเทพ: สกว, 2558.

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รุ่นที่สามของวาทกรรมต้านโกง ความรู้และการเมืองแบบหลังอาณานิคม

0
0


 

ใครๆ ก็รู้ว่าฝ่ายหนุนร่างมีชัยชูประเด็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” และปฏิบัติการจิตวิทยาว่าร่างฯ นี้ประหารคนโกง ห้าม ส.ส. บินฟรี ฯลฯ ก็ประสบผลในการทำให้คนอ่านลดตัวเองเป็นเด็กแจกใบปลิวออนไลน์อย่างกว้างขวาง

วาทกรรมว่านักการเมืองค้านร่างมีชัยเพราะร่างนี้ปราบโกงเกิดในเงื่อนไขแบบนี้

และเมื่อถึงวันที่ 7 สิงหาคม วาทกรรมนี้ก็แสดงพลานุภาพของมันออกมา

ไม่มีใครรู้ว่าร่างมีชัยจะปราบโกงได้อย่างที่พูดหรือไม่

คนที่ศึกษาเรื่องโกงซึ่งบอกว่าร่างนี้ไม่ได้ปราบโกงจริงก็มี แต่การที่ฝ่ายโหวตรับชนะก็หมายความว่าประเด็น “ปราบโกง” เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญสูงมาก

และการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเกาะเกี่ยวกับ “ปราบโกง” ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ได้ผลจริงๆ

สวนทางกับฝ่าย “โหวตรับ” ที่ชูประเด็นปราบโกง ฝ่ายรณรงค์ไม่รับกลับให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก

ส่วนที่พอจะพูดถึงเรื่องนี้มีแค่การผลิตซ้ำวาทกรรมประเภท “ประชาธิปไตยป้องกันการโกงได้ดีที่สุด”

หรือไม่อย่างนั้นก็คือ “ทั่วโลกปราบโกงด้วยกระบวนการประชาธิปไตย” ซึ่งไม่ได้บอกอะไรมากกว่าการไม่ตอบว่าอย่างไรหรือที่ประชาธิปไตยป้องกันการโกง?

ในบรรดาฝ่าย “ไม่รับ” ที่มีหลากหลาย พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นฝ่ายที่เข้าใจความสำคัญของประเด็นปราบโกงมากที่สุด

หัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ประสบการณ์สมัยเป็นนายกฯ อ่านร่างมีชัยจนสรุปว่าร่างนี้ไม่ได้ปราบโกง ซ้ำยังเอื้อให้ฝ่ายบริหารคุม ป.ป.ช. และเอื้อโกงมากขึ้น

ส่วนรองหัวหน้าพรรค นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ถึงกับบอกว่าร่างนี้เปิดทางให้รัฐมนตรีและอธิบดีโกงหนักขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ดี ประชาธิปัตย์พูดเรื่องนี้ช้าและไม่ได้ทำอะไรเกินไปกว่าการตั้งโต๊ะแถลงข่าวเฉยๆ จึงไม่มีผลอะไรในสถานการณ์คุมการเผยแพร่ความเห็นต่างนัก

ขณะที่ฝ่าย “ไม่รับ” ก็โจมตีว่าประชาธิปัตย์ “ไม่รับ” ด้วยเหตุผลที่ไม่เข้าท่า เพราะพูดเรื่องปราบโกง แต่ไม่พูดเรื่องประชาธิปไตย ผลก็คือสารเรื่อง “ปราบโกง” จากฝ่าย “ไม่รับ” แทบไม่มีที่ยืนในพื้นที่สาธารณะของสังคม

แน่นอนว่า “ปราบโกง” มีด้านที่เป็นวาทกรรมเพื่อให้ร้ายนักการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือเฉดของคำว่า “นักการเมือง” ที่เป็นเป้าหมายของการ “ปราบโกง” ก็วนเวียนกับนักการเมืองบางกลุ่มและพรรคการเมืองบางพรรค แต่ปัญหาคือการมอง “ปราบโกง” เป็นวาทกรรมมีแนวโน้มจะดูถูกว่ามันเป็นเรื่องลวงโลกจนไม่ต้องสนใจอะไร แค่แฉให้โลกรู้ว่าเป็นวาทกรรมก็เพียงพอ

ก่อนมองข้ามความสำคัญของประเด็น “ปราบโกง” มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันสามข้อ

ข้อแรก แม้ “ปราบโกง” จะเป็นวาทกรรม แต่มันไม่ใช่วาทกรรมที่เพิ่งสร้างในช่วงล้มประชาธิปไตยปี 2548-2549 ในเชิงประวัติศาสตร์ ความคิด วาทกรรมนี้มีรากฐานย้อนไปถึงทศวรรษ 2520 ที่กองทัพเริ่มพูดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์, พรรคของนายทุน, ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเป็นสมาชิกสภาผู้แทน ฯลฯ ทั้งที่ผ่านโครงสร้างหลักของกองทัพ รวมทั้งผ่านกลุ่มย่อยอย่างกลุ่มทหารประชาธิปไตยซึ่งเชื่อมต่อกับกลุ่มยังเติร์กที่มีบทบาทสนับสนุน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

“ปราบโกง” ไม่ใช่วาทกรรมเฉพาะกิจเพื่อไล่ล่าฝ่ายนายกฯ ทักษิณอย่างที่หลายคนเข้าใจ วาทกรรมนี้เคยไล่ล่า ชาติชาย ชุณหะวัณ ไล่ล่า บรรหาร ศิลปอาชา ไล่ล่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่สถานการณ์และปัจจัยพื้นฐานของแต่ละกรณี

ข้อสอง นอกจากกองทัพยุค 2520 จะเป็นตาน้ำของวาทกรรม “ปราบโกง” กองทัพยังให้กำเนิด “นักวิชาการสายทหาร” ซึ่งมีบทบาทผลิตคำและแนวคิดอย่างวงจรอุบาทว์, ธุรกิจการเมือง, บุฟเฟ่ต์คาบิเนต, ประชาธิปไตยนายทุน ฯลฯ อันทรงอิทธิพลทางสังคมและเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการปูทางสู่การรัฐประหาร หรือไม่ก็เปิดไฟเขียวให้ทหารแทรกแซงการเมือง

หากนึกไม่ออกว่างานกลุ่มนี้พูดอะไร ก็ลองเข้าห้องสมุดไปเปิดงานเขียนของ สมชัย รักวิจิตร, อมร รักษาสัตย์, สุจิต บุญบงการ, กระมล ทองธรรมชาติ, อมร จันทรสมบูรณ์ ฯลฯ ซึ่งจะอธิบายการเมืองไทยด้วยคำและแนวคิดแบบนี้วนเวียนไปมาตลอดเวลา

ถ้าถือว่าคำและแนวคิดเหล่านี้เป็นอุดมการณ์ในความหมายของอัลธูแซร์ สถานีวิทยุในเครือข่ายของกองทัพระหว่าง พ.ศ.2520-2540 ก็คือกลไกทางอุดมการณ์ที่เผยแพร่คำและแนวคิดนี้สู่ผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง คำและแนวคิดนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือผู้สมาทานคำสอนของนักวิชาการกลุ่มดังกล่าว แต่คำและแนวคิดนี้แทรกตัวสู่สังคมแทบจะทันทีที่กำเนิดขึ้นมา

ข้อสาม เมื่อวาทกรรม “ปราบโกง” มีบรรพบุรุษทางปัญญาย้อนไปถึงทศวรรษ 2520 ก็เท่ากับวาทกรรมนี้อยู่มาเกือบสี่สิบปีและครอบคลุมคนอย่างน้อยสองรุ่น รุ่นแรกคือรุ่นที่วาทกรรมนี้ก่อตัวขึ้นอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.สายหยุด เกิดผล และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งอายุ 90 ขึ้นไป ส่วนรุ่นที่สองคือคนอายุ 60++ อย่าง คำนูณ สิทธิสมาน หรือ สำเริง คำพะอุ ซึ่งเป็นลูกค้ารุ่นแรกของวาทกรรม

อย่างไรก็ดี ถ้ารวม “คนรุ่นใหม่” ที่ติดตามการเมืองในยุคเฟื่องฟูของ ASTV/พันธมิตร และมีแรงเฉื่อยตกค้างมาถึงยุค กปปส. ก็อาจพูดได้ว่าวาทกรรม “ปราบโกง” มีอิทธิพลกับคนสามรุ่นแล้วจนปัจจุบัน

ถึงจุดนี้ แม้ “ปราบโกง” จะเป็นวาทกรรม แต่ก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่จะอธิบายด้วยพล็อตสำเร็จรูปประเภท “วาทกรรมที่เพิ่งสร้าง” หรือ “การโกงไม่มีอยู่จริง” เหมือนกระบวนท่าวิพากษ์ชาติหรือวัฒนธรรมที่ทำกันในยุคนี้ เพราะ “ปราบโกง” มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ครอบคลุมคนสองรุ่นจนแทรกตัวสู่สังคมเกือบครึ่งศตวรรษ ซ้ำยังถูกผลิตซ้ำไม่หยุดโดยกลไกรัฐและสังคม

พูดอีกแบบ ปราบโกงมีฐานะเป็นข้อเท็จจริงในสังคม (Social Fact) ในความหมายของ Durkheim ที่สังคมกลายเป็นชุมชนซึ่งหล่อหลอมเรื่องนี้สู่สมาชิกในสังคมตลอดเวลา ผลก็คือคนมีความพร้อมจะปฏิบัติเรื่องต่างๆ ภายใต้กรอบที่ “ปราบโกง” กำหนด เพราะถ้าไม่ทำตามก็รู้สึกประหลาด, สังคมบอกว่าต้องทำแบบนั้น รวมทั้งรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ควรทำด้วย เพราะใครๆ เขาก็ทำกัน

ตรงข้ามกับความคิดว่าวาทกรรมต้านโกงถูกขบวนการต้านประชาธิปไตยสร้างเพื่อล้มระบบประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 2549 ขบวนการต้านประชาธิปไตยรอบนี้ต่างหากที่เกาะใบบุญวาทกรรม “ปราบโกง” แล้วปรุงแต่งให้ทันสมัย โยนประเด็นประเภทผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทิ้งไป ขยายพรมแดนสู่ประเด็นเรื่องนโยบายสาธารณะ/ผลประโยชน์ทับซ้อน/การคอร์รัปชั่นทางนโยบาย

กระบวนการที่ฝ่ายต้านประชาธิปไตยใช้วาทกรรมต้านโกงทำให้ “ปราบโกง” เกิดนวัตกรรมสองเรื่อง

เรื่องแรกคือการใช้สื่อสมัยใหม่เป็นพื้นที่ให้นักปลุกระดมแบบเก่าสร้างขบวนการมวลชนบนอุดมการนี้

และเรื่องที่สองคือการเกิดภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนวาทกรรมนี้โดยมีหน่วยงานรัฐและรัฐบาลจัดงบประมาณสาธารณะสนับสนุนอย่างจริงจัง

สนธิ ลิ้มทองกุล กับ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้สื่อใหม่ปั่นวาทกรรมเก่าเพื่อสร้างขบวนการมวลชน สนธิผสมผสานเว็บไซต์, ทีวีดาวเทียม, SMS ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดวาทกรรมเก่าในภาษาใหม่จนสร้างม็อบพันธมิตรฯ ปูทางให้อำนาจนอกระบบ

ขณะที่สุเทพลอกสนธิ เพิ่มการใช้โซเชียลมีเดีย แล้วใส่การปราศรัยแบบป้ายสีให้เป็นดิจิตอลสำหรับเชิญชวนให้เกิดการยึดอำนาจตรงๆ

แม้สุเทพจะสร้างมวลชนโดยวิธีที่สนธิเริ่มต้น แต่ทีมสุเทพทำให้มวลชนสุดโต่งขึ้น กลายเป็นกองกำลังคุกคามคนฝ่ายอื่นมากขึ้น และจัดตั้งมวลชนไล่ล่าผู้ไม่เข้าร่วมม็อบ กปปส. ระดับใกล้เคียงการประทุษร้าย สิบปีหลังกระบวนการที่สนธิริเริ่ม วาทกรรมปราบโกงได้เกิดเนื้อในใหม่ที่เอื้อให้นักการเมืองเก่าเอาไปใช้แบบผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นได้อย่างสมบูรณ์กลางศูนย์กลางมหานคร

พูดเปรียบเทียบง่ายๆ สนธิมีด้านที่ทำให้เรื่องซับซ้อนอย่างการคอร์รัปชั่นทางนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อนกลายเป็นเครื่องมือปลุกระดมมวลชน ส่วนสุเทพสร้างมวลชนสุดโต่งแนวลูกเสือชาวบ้านและนวพลบนพื้นฐานของการปั่นวาทกรรมจนเกิดม็อบพระสุวิทย์ การยึดศูนย์ราชการ และการยิงทิ้งลุงอะเกว

อย่าลืมว่าแม้แต่ คุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ด้วยกันยังถูกสุเทพจาบจ้วงอย่างสาดเสียเทเสีย แค่เพราะกรณ์บอกว่าไม่สบายใจที่ กปปส. ยึดกระทรวงการคลัง ส่วน สรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกทีมสุเทพบุกไปถึงช่องสามแล้วบังคับให้เป่านกหวีดต่อหน้าม็อบที่คลั่งเต็มที

เราจะทบทวนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวาทกรรมต้านโกงในตอนต่อไป

 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 กันยายน 2559

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยข้อมูล ‘ผู้หญิงทำแท้งด้วยยาได้’ พบปัญหาเข้าไม่ถึงข้อมูล- รพ.ไม่ทำให้

0
0

เครือข่ายคนทำงานประเด็นผู้หญิงชี้ ‘ผู้หญิงมีสิทธิยุติการตั้งครรภ์’ เผยทำแท้งด้วยยาปลอดภัยเกือบ 100% พบปัญหาสำคัญคือเข้าไม่ถึงข้อมูล-สถานพยาบาลไม่ทำเพราะกลัวบาป ส่งผลให้ผู้หญิงทำแท้งเถื่อน- ดูแลเด็กไม่ได้


คลิปวิดีโอสะท้อนความคิดในเรื่องการทำแท้ง

26 ก.ย. 2559 เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (ช้อยส์) และองค์กรภาคี ร่วมรณรงค์เพื่อสิทธิเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยจัดเสวนา "คุยเรื่องแท้ง: คิดใหม่ มุมมองใหม่" เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องบริการสุขภาพและความเข้าใจของสังคมในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

อนึ่ง ปัจจุบันสถานการณ์ยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในประเทศไทย เพราะทัศนคติความเชื่อที่หล่อหลอม เช่น เรื่องบาปบุญคุณโทษ และถึงแม้ผู้ที่ทำแท้ง จะอยู่ในวัยทำงาน สามารถหารายได้เลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ก็ยังมักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนร่วมงาน ทั้งที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในหลายกรณี






ภาพบรรยากาศกิจกรรมเวิร์คช็อป ‘แท้งปลอดภัย 4.0’

ในช่วงเช้า มีการจัดเวิร์คช็อป ‘แท้งปลอดภัย 4.0’ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการทำแท้ง ผ่านการนำเสนอจุดยืนตั้งแต่ระดับ 1 เห็นด้วยน้อย- 4 เห็นด้วยมาก ของตัวเองจากการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง เช่น คิดว่าการทำแท้งปลอดภัยหรือไม่ คิดว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ฯลฯ โดยผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้คำปรึกษาเรื่องเพศ พยาบาล และกลุ่มคนที่ทำงานประเด็นผู้หญิงหลายองค์กรประมาณ 120 คน โดยมีผู้เข้าร่วมที่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างน้อย และในวงเสวนาช่วงบ่าย มีการเจาะลึกถึงประเด็นการใช้- ผลกระทบจากยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด และการปรับเปลี่ยนความเชื่อที่มีต่อการทำแท้ง และผู้ที่ทำแท้ง

นพ.สัญญา ภัทราชัย สูตินารีแพทย์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ ในสมัยก่อนผู้หญิงเริ่มที่จะมีสิทธิในการคุมกำเนิด ซึ่งนับว่าเป็นสิทธิแรกๆ ที่ทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า การมีเซ็กส์ไม่ได้จำเป็นต้องตั้งครรภ์เสมอไป อย่างไรก็ดีเรื่องการทำแท้งในไทย ยังคงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก เพราะยาที่ใช้นั้นถูกควบคุมการใช้โดยกรมอนามัย ห้ามจำหน่ายในร้านขายยา และคุมเข้มเฉกเช่นยาเสพติด รวมทั้งผู้ให้บริการบางที่ก็ยังไม่เต็มใจทให้บริการ

โดยทั่วไป การยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้หากผู้หญิงมีปัญหาทางสุขภาพกายหรือจิต จนอาจก่อให้เกิดอันตราย, การตั้งครรภ์ที่เกิดจากความผิดอาญาทางเพศ ได้แก่ ข่มขืนกระทำชำเรา กระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการล่อลวง และการพบว่าตัวอ่อนในครรภ์มีภาวะผิดปกติ

‘ยาทำแท้ง’ปลอดภัยไม่ต่างจากพาราเซตามอล

สุพิชา เบาทิพย์ จากองค์กร Woman Help Woman กล่าวว่า การทำแท้งที่ปลอดภัยนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ จนถึงอายุครรภ์ประมาณ 24 สัปดาห์ โดยการอม หรือสอดใส่ช่องคลอดด้วยยาไมเฟฟริสโตน 200 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่ช่วยหยุดฮอร์โมนที่สำคัญต่อตัวอ่อน ร่วมกับยาไมโซฟอสตอล 200 ไมโครกรัม ซึ่งยานี้จะทำให้เกิดการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูก ถ้าหากการทำแท้งนั้นสำเร็จ อาการแพ้ท้องที่มีอยู่จะหายไป และมีเลือดออกคล้ายประจำเดือน สามารถตรวจเพื่อให้แน่ใจโดยที่ตรวจครรภ์ ทั้งนี้ปัจจัยความสำเร็จในการทำแท้งนั้นขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ อายุครรภ์ที่มากก็อาจทำให้การทำแท้งนั้นยากขึ้นด้วยเช่นกัน

สุพิชากล่าวว่า การทำแท้งด้วยยาดังกล่าว มีความปลอดภัยถึงร้อยละ 98 ไม่ต่างอะไรกับการกินยาพาราเซตามอล ทั้งนี้ก็ยังมีข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่ไม่ควรใช้ยา ได้แก่ บุคคลที่ถูกบังคับให้ทำแท้ง, มีอายุครรภ์ที่มากเกินไป, แพ้ยาชนิดนี้, มีภาวะของโรคต่อมหมวกไตวาย โลหิตจางขั้นรุนแรงหรือเป็นหอบหืดขั้นรุนแรง, ใช้ห่วงคุมกำเนิด, ท้องนอกมดลูก, ไม่สามารถเดินทางไปถึงโรงพยาบาลได้ภายใน 1 ชั่วโมง หรืออาศัยอยู่คนเดียว โดยหลังจากการใช้ยา อาจทำให้มีผลข้างเคียงจากเล็กน้อย การอมในปากอาจทำให้มีผลข้างเคียงมากกว่าการสอดเข้าช่องคลอด แต่การอมจะช่วยไม่ให้แพทย์รู้ว่ามีความพยายามที่จะทำแท้ง นอกจากนี้ หลังใช้ยาอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างเป็นไข้ อาเจียน มึนหัว และอาจปวดท้อง จุกเสียดร่วมด้วย แต่หากมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น ใช้ผ้าอนามัยแบบหนาเต็ม 2 แผ่น ภายใน 1 ชั่วโมง, มีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส หรือมีของเหลวที่กลิ่นและสีผิดปกติไหลออกจากช่องคลอด ก็อาจจำเป็นที่จะต้องพบแพทย์

การเดินทางยาคุมกำเนิด- ยายุติการตั้งครรภ์ในไทย

วราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศได้เล่าถึงพัฒนาการคุมกำเนิดในประเทศไทย ยาคุมกำเนิดเกิดขึ้นและใช้ครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2503 หลังจากนั้น 10 ปี ยาคุมกำเนิดได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า จะต้องให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น จะกระทั่งในปี 2515 และ 2517 จึงอนุญาตให้พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสามารถเป็นผู้จ่ายยาดังกล่าว และในปัจจุบัน เราจะพบว่า ผู้หญิงสามารถซื้อยาคุมกำเนิดได้ด้วยตัวเอง

“จำเป็นไหมที่ผู้หญิงทุกคนที่มีเซ็กส์ต้องเป็นแม่ หากเขาไม่พร้อม เขาก็ต้องสามารถตัดวงจรได้” วราภรณ์กล่าว

วราภรณ์กล่าวถึงกรณีการทำแท้งว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ขึ้นทะเบียนยาทำแท้งดังกล่าวแล้วกว่า 61 ประเทศ เช่น ประเทศจีนเมื่อปี 2531 ไต้หวันเมื่อปี 2543 เวียดนามเมื่อปี 2545 ฯลฯ ในขณะที่ประเทศไทย ยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนไปเมื่อเดือนธันวาคม 2557 และเพิ่งเข้าไปอยู่ในรายชื่อบัญชียาหลัก จ (1) เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ วราภรณ์กล่าวว่า ความพยายามที่จะผลักดันยาชนิดนี้ในไทย เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2536 แต่ก็ล้มเหลวเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2540 ข้อมูลของการใช้ยาชนิดนี้เริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ผู้หญิงที่ต้องการใช้ก็สามารถสั่งได้ทางอินเทอร์เน็ต จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดการศึกษาในเรื่องระบบการให้บริการอย่างจริงจัง และผลักดันให้ยาชนิดนี้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาหลังจากได้ขึ้นบัญชียาหลักแล้ว จึงได้มีการบรรจุแผงยาทั้งสองชนิดนี้ไว้ด้วยกัน โดยมีข้อบ่งชี้เพื่อการทำแท้ง

ถึงแม้ยาสองชนิดดังกล่าว จะสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังไม่พร้อมที่จะให้บริการ และถึงแม้จะให้บริการ และยังมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เช่น บางโรงพยาบาลเลือกทำแท้งให้เฉพาะคนที่การตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อีกทั้งยาดังกล่าว ยังถูกกำหนดให้ใช้ในเฉพาะสถานการณ์บริการในโครงการพิเศษเท่านั้น

วาทกรรมสร้างความกลัว ‘ทำแท้ง = บาป’

กฤตยา อาชวนิจกุล จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กล่าวว่า วาทกรรมของการทำแท้งนั้นมี 3 แบบคือ 1. Deserved abortion จะทำหากมีเหตุอันสมควรเช่น เพื่อสุขภาพทางกายและใจของผู้หญิง, การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากความผิดทางอาญา เช่น การข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว ฯลฯ 2. Repeated abortion เป็นการทำแท้งซ้ำแล้วซ้ำอีก สังคมมักมีคำถามกับผู้หญิงที่ทำแท้งมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำแท้งก็เปรียบเสมือนการเป็นหวัดทางนรีเวช ทุกคนมีสิทธิทำได้โดยปราศจากข้อสงสัยของสังคม และ 3. Sex Selective abortion การทำแท้งเพื่อเลือกเพศของลูก ซึ่งพบมากในประเทศจีน อินเดีย และเกาหลีใต้

กุลกานต์ จินตกานนท์ ผู้หญิงที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้งเล่าว่า เมื่อรู้ตัวว่าท้อง ก็รู้ทันทีว่าต้องทำแท้ง เพราะไม่สามารถเลี้ยงเด็กคนนี้ได้เนื่องจากทำงานและไม่มีคนที่พร้อมเลี้ยงดู แต่เพราะความกลัวบาป ความลังเลจึงเกิดขึ้นกับเธอตั้งแต่ตอนหาข้อมูลจนกระทั่งเดินทางไปที่คลินิกทำแท้ง ความรู้สึกโทษตัวเองเกิดขึ้นกับเธอตลอดเวลา ทั้งความคิดที่ว่า ทำไมถึงไม่คุมกำเนิด และความคิดที่ทับถมจากสังคมที่ล้วนตีตราต่อว่า ว่าทำไมเพียงแค่ลูกคนเดียว เธอจึงไม่สามารถเลี้ยงดูได้

“ขนาดตัวเราเอง ยังมองว่ามันบาป แล้วจะทำให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไรว่ามันไม่บาป” เธอกล่าว

นรากร ไหลหรั่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี เล่าถึงประสบการณ์ที่มีในฐานะครูว่า เด็กส่วนมากไม่กล้าที่จะเข้ามาปรึกษา เมื่อมีปัญหาเรื่องเพศ เพราะกลัวการถูกตราหน้า ขายหน้า ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน และกลัวว่าหากปรึกษาแล้วจะโดนไล่ออก ตลอดเวลาที่ผ่านมา วิชาเพศศึกษามักนำภาพโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาพตัดขวางอวัยวะ ภาพการทำแท้ง ทำคลอดที่น่ากลัวให้เด็กดู และสอนว่า การทำแท้งนั้นเป็นการทำบาป จึงทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้กลไกการป้องกัน หรือการปฏิบัติที่ถูกวิธี

เขากล่าวว่า ถึงแม้โรงเรียนจะให้โอกาสเด็กที่ท้อง ได้ลาคลอดลูกและสามารถกลับมาเรียนต่อ แต่ร้อยละ 90 ของเด็กเหล่านั้นไม่กลับมาเรียนต่อ เด็กผู้หญิงส่วนมากต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก บางคนกลับมาเรียน ก็โดนแรงกดดันจากทั้งเพื่อนและครู จนต้องย้ายโรงเรียนเพื่อหนีปัญหา จนเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ลูกศิษย์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คนหนึ่งของนรากร ได้เข้ามาปรึกษาว่าตนเองท้อง และต้องการทำแท้ง เนื่องจากสอบติดมหาวิทยาลัยและต้องการเรียนต่อ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตระหนักถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ลูกศิษย์ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อ

ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนเข้าไม่ถึงการทำแท้งปลอดภัย

ถึงแม้จะมีการรณรงค์มาอย่างยาวนาน รวมทั้งปัจจุบันยาทำแท้งก็ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วก็ตาม แต่การเข้าถึงยาดังกล่าว ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แพทย์ รพ. รามาธิบดีกล่าวว่า แม้โรงพยาบาลรามาธิบดีจะมียาตัวนี้เพื่อให้กับผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ในทุกๆ วันอังคารและพฤหัสบดี แต่ด้วยเงื่อนไขที่ยังยุ่งยากของการใช้ยา จึงทำให้การเข้าถึงยาดังกล่าวไม่สามารถทำได้โดยทั่วไป อีกทั้งเงื่อนไขทางสังคมที่มี เช่น ศาสนา หรือผู้ให้บริการอย่างโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อบ่งชี้ในทุกข้อ โดยส่วนมากจะเลือกทำแท้งให้กับผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพ หรือรอให้ผู้หญิงแท้งเองมาก่อนแล้วจึงทำให้ นอกจากนี้ มีข้อกำหนดว่า หน่วยงานที่ต้องการใช้ยาจะต้องเขียนโครงการพิเศษเพื่อรับยา และหากเบิกใช้ยาจะต้องมีการเขียนรายงานส่งกรมอนามัยทุกครั้ง ซึ่งสร้างความยุ่งยากและเป็นเงื่อนไขที่ยังกำหนดอยู่ในปัจจุบัน


เยาวภา ลีอำนาจวงศ์

เยาวภา ลีอำนาจวงศ์ ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกกรุงเทพมหานครกล่าวกับประชาไทว่า คนหูหนวกส่วนมากอ่านได้ไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญคือต้องมีการใช้ภาษามือควบคู่ ต้องมีล่ามภาษามือเป็นคนช่วยแปล เพื่อให้คนหูหนวกได้มีข้อมูลในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ที่ผ่านมากลุ่มคนหูหนวกมีปัญหาในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง โดยพวกเขาไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงได้แต่เพียงแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มคนหูหนวก โดยอาศัยการตัดสินใจที่มาจากผู้ปกครอง เท่าที่รับรู้ คนหูหนวกจะเล่าต่อกันมา ว่าที่ไหนรับทำแท้ง และถึงแม้จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องไป

เธอเล่าต่อว่า วิธีการทำแท้งส่วนมากที่คนหูหนวกทำ ยังคงใช้วิธีขึ้นขาหยั่ง และสอดเครื่องมือเหล็กเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อขูดมดลูก

“คนหูหนวกพอรู้ว่าท้องก็มักเล่าให้พ่อแม่ฟัง สมัยนั้นยังไม่มีการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย คนไม่อยากให้เด็กหูหนวกท้องเพราะมองว่าไม่มีประสบการณ์เลี้ยงลูก วุฒิภาวะและอาชีพก็ไม่มี ควรพาไปทำแท้ง ก็หาว่าคลินิกรับทำไหม ถ้าไม่รับก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

“เท่าที่ฟังจากเพื่อนคนหูหนวก เขาบอกว่าแม่พาไปที่คลินิก ขึ้นขาหยั่ง คุยอะไรก็ไม่รู้กับหมอ เขาไม่รู้เรื่องเพราะแม่ไม่ใช้ภาษามือ สักพักหมอก็เอาเหล็กแหลมๆ เข้าไปแล้วขูดออก เจ็บมาก เสร็จแล้วมีตัวเด็กทารกออกมา ยังดิ้นได้ เขารู้สึกติดตาและไม่สบายใจ ฝังใจ และมักถามเธอว่า ‘บาปไหม’ ‘ทำถูกไหม’ ตลอดเวลา” เยาวภาเล่า

เธอเสริมว่า หากคนหูหนวกมีล่ามเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล ติดต่อโรงพยาบาล ตลอดจนช่วยแนะนำก็จะช่วยให้คนหูหนวกมีสิทธิในการตัดสินใจ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุ แจงปมจำนำข้าว เป็นกฎหมายใช้ตั้งแต่ปี 39 ยึดทรัพย์มาเกือบ 5 พันรายแล้ว

0
0

26 ก.ย. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณี พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รับผิดเรื่องการจำนำข้าวทั้งสี่ฤดูกาลจำนวน 2.7 แสนล้านบาทว่า การรับผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผ่านการพิจารณาในขั้นตอนการรับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการการรับผิดทางแพ่งและเห็นว่าเป็นความผิดเรื่องละเว้นการทำหน้าที่ เพราะได้รับการแจ้งเตือนแล้ว แม้ว่าฤดูกาล ที่ 1-2 ยังไม่ได้รับการแจ้งเตือน แต่เมื่อได้รับการแจ้งเตือนในฤดูกาลผลิตที่ 3-4 ยังละเว้นจึงถือว่ามีความผิดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จึงให้รับผิดเฉพาะสองฤดูกาลผลิตหลัง มูลค่าความเสียหายลดลงมาเป็น 3.5 หมื่นล้านบาทตามเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ในกรณีที่เป็นกรณีรับผิดทำกันหลายคนแบ่งสัดส่วนการรับผิดแบ่งสัดส่วนไว้ 10 ถึง 20% กรณีนี้คิด 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลยส่วน 80 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ต้องไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนรับผิดครั้งนี้

วิษณุ กล่าวว่า ส่วน 80% ที่เหลือ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พศ.2539 ระบุว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เพราะหากรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ยกตัวอย่าง 10 คนเหมาจ่ายเพียงคนเดียว อีก 9 คนไม่ได้จ่ายอันนี้ ไม่ได้ แต่ต้องเป็นการรับผิดแบบใครผิดใครจ่าย เช่น ยิ่งลักษณ์ 20% ส่วนอีก 80% ก็ไปหาผู้ที่รับผิดและต่างคนต่างจ่ายตามความผิดหนักเบา ส่วนเหตุผลที่ทราบชื่อ ยิ่งลักษณ์คนเดียว เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมา แต่รายชื่ออื่นยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ต้องไปตามหากันต่อไป ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ต้องทำกันหลายฝ่าย เบื้องต้นทราบว่า มีทั้งข้าราชการและเอกชนที่ต้องร่วมรับผิด

วิษณุ กล่าวต่อว่า มาตรา 8 ในความรับผิดทางละเมิดหรือไม่ให้รับผิดแทนกัน เมื่อความเสียหาย 1.7 แสนล้านบาท คือคนเดียว ประธานที่ต้องรับผิดชอบในสัดส่วน 10 ถึง 20% จึงออกมาเป็นตัวเลขดังกล่าวที่ ยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ใช้มาตั้งปี 2539 ยึดทรัพย์มาแล้ว เกือบ 5000 ราย ใครที่ไม่ได้อยู่ในวงการราชการอาจจะไม่ทราบ และไม่รับรู้ ส่วนใครจะเป็นผู้หาคนผิดในอีก 80% ที่เหลือ สำหรับความรับผิดในทางแพ่งเป็นเรื่องของกระทรวงที่เป็นผู้บังคับบัญชาเป็นต้นสังกัดต้องดำเนินการ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงใครกระทรวงมันที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด สำนักนายกรัฐมนตรีเองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องไปหาผู้กระทำความผิด ขณะนี้ปปท.กำลังสอบอยู่ 50- 60 รายและบ่ายนี้(26 ก.ย.) จะมารายงานความคืบหน้าด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องเซ็นลงนามหรือไม่ สามารถมอบอำนาจให้ใครก็ได้” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าการใช้มาตรา 44 กับ ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นธรรม วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้ใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ เป็นเรื่องของการที่ต้องตั้งต้นการกระทำวามผิดที่วินิจฉัยตามกฏหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ปี 2539 ขั้นตอนต่อไปก็ต้องยึดทรัพย์ เว้นแต่ไปร้องศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวก็จะไม่ยึดทรัพย์ แต่หากไม่คุ้มครองชั่วคราวหรือไม่มีการฟ้องศาลก็ต้องยึดทรัพย์

วิษณุ กล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่ได้ให้อำนาจ กรมบังคับคดีไปลงมือยึดทรัพย์ แต่จะยึดได้ต่อเมื่อมีคำสั่งเท่านั้นเอง และมีวิธี มีมารยาท ไม่ใช่บุกยึด ขนนู่นี่ มีกรรมวิธีขั้นตอน และยึดเสร็จก็ต้องเอามาขายทอดตลาด

เมื่อถามว่าหากจำเลยไม่สามารถชดใช้ทรัพย์ได้จะถือว่าเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น การล้มละลายมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เช่นการถูกฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัครผู้แทนได้ตลอดชีวิต

เมื่อถามว่าในช่วงเวลานี้จะสามารถถ่ายโอนทรัพย์สินได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า กรมบังคับคดีมีอำนาจบางอย่าง เช่น การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินก่อนหน้านี้ หากเป็นการโอนหนีหนี้ สามารถเพิกถอนได้ หากโอนไม่ได้หนีหนี้ ซื้อขายตามสุจริต ก็ไม่ต้องเพิกถอน

ปธ.ป.ป.ช.ไม่หนักใจสอบปมลูก-ภรรยา พล.อ.ปรีชา

ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าคดีบุตรชาย และภริยาของพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า ตามกระบวนการเมื่อมีคนมาร้องเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปตรวจสอบข้อมูล หรือที่เรียกว่าขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง  ส่วนจะให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงเท่าไหร่ นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง มีใครบ้างที่ต้องไปตรวจสอบ เป็นขั้นตอนปกติที่เราต้องทำ

“ไม่หนักใจการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับน้องชายนายกรัฐมนตรี แต่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่ ขณะที่ระยะเวลาในการดำเนินการคงไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเรื่องมีอะไรบ้าง ถ้ามีหลายประเด็นก็อาจจะต้องใช้เวลามาก แต่กรณีนี้สำนักเลขาธิการป.ป.ช.ยังไม่ได้รายงานมายังกรรมการป.ป.ช. แต่เมื่อสำนักเลขาฯ รับเรื่อง ก็ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน ยังไม่ต้องรายงานคณะกรรมการ จะรายงานต่อเมื่อผลการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าจะรับเรื่องไว้หรือไม่รับเรื่องไว้” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้สังคมให้ความสนใจค่อนข้างมาก ป.ป.ช.จะเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด คงไม่ล่าช้า ถ้าเร่งรัดมาก ๆ ก็เป็นประเด็นขึ้นมาว่าไปเลือกทำตรงนั้นตรงนี้ ความจริงเร่งทุกเรื่อง และขอเรียนพี่น้องประชาชนเลยว่าตอนนี้เรามีนโยบายว่า เรื่องที่ค้างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และคดีใหม่ต้องภายใน 1 ปี

พล.ต.อ.วัชพล ยังกล่าวถึง กรณีมีข้อสังเกตการพิจารณาคดีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ออกมาเรื่อยๆ ว่า คงไม่ใช่ เพราะแต่ละเรื่องเป็นเรื่องเก่าบ้าง เมื่อไปเร่งรัด เจ้าหน้าที่ก็จะดูว่าเรื่องไหนที่ทำใกล้เสร็จแล้ว จึงส่งมาให้กรรมการป.ป.ช.ตรวจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ค้างเก่า  มีคดีที่เราพิจารณาแล้วให้ข้อกล่าวหาตกไปเยอะพอสมควร แต่หากมีมูลก็ต้องยืนยันได้ว่าผิดอะไร สามารถส่งอัยการเพื่อให้อัยการพิจารณาสำนวนต่อไป

แจงที่ยิ่งลักษณ์ถูกพิจารณา 15 คดี เป็นเพราะช่วง และจังหวะ

สำหรับประเด็นที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ ถูกป.ป.ช.พิจารณาคดีถึง 15 คดี ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า อาจจะเป็นเพราะช่วง และจังหวะที่เรื่องต่าง ๆ ของอยู่ในสำนักไต่สวนคดีนักการเมือง ที่เป็นเรื่องใหญ่ ๆ และเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี โดยป.ป.ช.ก็เร่งหมดทุกสำนักทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

ส่วนที่ ยิ่งลักษณ์มอบทีมทนายความร้องคัดค้านการตั้ง สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ถึง 6 คดี นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า มีหลายกรณีที่คณะกรรมการหยิบขึ้นมาวินิจฉัยตามที่มีการร้องคัดค้าน และยกคำร้องไปหลายเรื่อง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ สุภาไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ก็มีสปิริตว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องในบริบทสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังอยู่ สุภา ก็ขอถอนตัว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Yellowing สารคดี 'ปฏิวัติร่ม' ในฮ่องกง ถูกกีดกันไม่ให้ฉายในโรงใหญ่

0
0

เฉินจื่อหวน ผู้บันทึกภาพการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อ 2 ปีก่อน รวบรวมทำเป็นสารคดีเพื่อเป็นอนุสรณ์การต่อสู้ แต่ภาพยนตร์ของเขาไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ในบ้านตัวเองแม้ว่าจะเคยฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในหลายประเทศรวมถึงในฮ่องกงเอง เขาสงสัยว่าเป็นเพราะบรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเองของธุรกิจในฮ่องกงที่หวั่นเกรงทางการจีนหรือไม่


ภาพจาก Yellowing

27 ก.ย. 2559 ในยามที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่เป็นนักศึกษา เฉินจื่อหวน คนหนุ่มนักทำภาพยนตร์ก็คว้ากล้อง Canon 50D ออกไปที่แนวหน้า ในคืนนั้นเป็นคืนวันที่ 28 ก.ย. 2557 ที่เกิดเหตุตำรวจปะทะกับขบวนการปฏิวัติร่มในฮ่องกงซึ่งเรียกร้องให้พวกเขาสมัครเป็นผู้แทนลงเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐได้โดยไม่ต้องมาจากการคัดเลือกของทางการจีน เป็นคืนนั้นเองที่คนหนุ่มนักทำภาพยนตร์อายุ 29 ปีตัดสินใจว่ามันเป็นภารกิจของเขาที่จะต้องบันทึกเหตุชุลมุนทางการเมืองที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ไว้

"ผมเชื่อว่าบางครั้งคำพูดก็ไม่สามารถอธิบายทุกอย่างได้ ... ภาพจะสามารถจะแสดงให้เห็นได้ว่าการอารยะขัดขืนมีความหมายที่แท้จริงอย่างไร" เฉินจื่อหวนให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียน

เฉินจื่อหวนย้อนกลับไปที่สถานที่ปักหลักชุมนุมซ้ำๆ อีกหลายครั้งในช่วง 79 วันถัดจากนั้น เขาคอยติดตามผู้ชุมนุม ซึ่งประกอบด้วยประชาชนทั่วไป ครู และนักเรียนชั้นมัธยมฯ รวมถึงเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาตกกระไดพลอยโจนถูกตำรวจตีเข้าที่ใบหน้า

ความพยายามของเฉินจื่อหวนทำให้เกิดสารคดีที่ชื่อ "Yellowing" ความยาว 133 นาที ที่นำมาฉายครั้งแรกเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในเทศกาลภาพยนตร์อิสระฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาและไต้หวันด้วย ชื่อสารคดีในภาษาจีนจะหมายถึง "บันทึกช่วงเวลาวุ่นวาย" ขณะที่ชื่อสารคดีภาษาอังกฤษสื่อถึงสีเหลืองที่ชาวฮ่องกงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

เฉินจื่อหวนกล่าวว่า ภาพยนตร์ของเขาเป็น "บันทึกที่สำคัญ" ที่สื่อถึงมุมมองคนในเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญอย่างการประท้วงของชาวฮ่องกง เฉินจื่อหวนบอกว่าสื่อท้องถิ่นมักจะเซ็นเซอร์ตัวเองและเน้นในแง่ผู้นำการเคลื่อนไหวมากเกินไปโดยไม่มีการรายงานมุมมองจากผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนทั่วไป รวมถึงมีการรายงานความรุนแรงของการประท้วงเกินความจริง ในฐานะที่เขาเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระเขาจึงมีหน้าที่นำเสนอมุมมองที่สื่อกระแสหลักไม่ได้รายงาน

อย่างไรก็ตามในช่วงใกล้ครบรอบเหตุการณ์ประท้วงปฏิวัติร่มในปีที่ 2 เฉินจื่อหวนก็บอกว่าโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ในฮ่องกงปฏิเสธจะฉายภาพยนตร์ของเขาซึ่งเขาสงสัยว่าอาจจะมาจากบรรยากาศการเซ็นเซอร์ตัวเองในฮ่องกงเมื่อกลุ่มธุรกิจต่างๆ พยายามหลีกเลี่ยงไม่สร้างความขุ่นเคืองให้กับทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันเฉินจื่อหวนก็ไม่แน่ใจว่าที่โรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ไม่ยอมฉายเป็นเพราะภาพยนตร์ของเขายังมีคุณภาพไม่พอหรือเพราะมีเนื้อหาทางการเมืองกันแน่

ในเรื่องนี้วินเซนต์ สุย ผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะขององค์กรภาพยนตร์อิสระที่เป็นผู้แทนจำหน่าย Yellowing กล่าวว่าสารคดีเรื่องนี้ได้รับคำวิจารณ์ทางบวก ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นเครื่องการันตีให้ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอน แต่โรงภาพยนตร์ในฮ่องกงก็ยืนยันไม่ยอมฉายโดยไม่อธิบายเหตุผลใดๆ สุยสงสัยเช่นกันว่าเป็นไปได้ที่โรงภาพยนตร์พยายามเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่ตัวเขาก็ไม่แน่ใจว่าโรงภาพยนตร์ได้รับคำสั่งโดยตรงในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่เฉินจื่อหวนสงสัยเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองเนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ที่ชื่อ Ten Years ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่แต่งเรื่องขึ้นเนื้อหาเกี่ยวกับโลกอนาคตที่เลวร้ายหลังจากฮ่องกงตกอยู่ใต้การครอบงำของจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น โดยในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากฮ่องกงฟิล์มอวอร์ดทำให้สื่อใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่พอใจ เช่นสื่อโกลบอลไทม์วิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น "ไวรัสทางความคิด" หลังถูกวิจารณ์ Ten Years ก็ค่อยๆ หายไปจากจอภาพยนตร์ในฮ่องกง

เฉินจื่อหวนเชื่อว่าที่โรงภาพยนตร์เซ็นเซอร์ตัวเองกันมากขึ้นเป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์ Ten Years เรื่องนี้ทำให้โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Yellowing โต้กลับการผลักพวกเขาให้ไปอยู่ชายขอบด้วยการจัดฉายแบบไม่เป็นทางการตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้องปาฐกถาของโรงเรียนหรือในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบเดียวกับที่ Ten Years เคยทำไว้ แต่เฉินจื่อหวนก็บอกว่าเขายังมีเป้าหมายปลายทางคือการฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่

"ผมไม่ต้องการให้ (การเซ็นเซอร์ตัวเอง) กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญแบบในจีนแผ่นดินใหญ่ มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ดีเลยที่ผู้ชมภาพยนตร์จะเริ่มแบ่งแยกกีดกันภาพยนตร์อิสระออกจากสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์เพื่อการค้า" เฉินจื่อหวนกล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อเดอะการ์เดียนสอบถามบริษัทโรงภาพยนตร์หลายสาขาที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง ยูเอ ซีนิมา ถึงสาเหตุที่ไม่ฉาย Yellowing พวกเขาตอบว่าไม่ได้ต้องการเซ็นเซอร์ด้วยเหตุผลทางการเมือง

ถึงแม้จะไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ใหญ่ๆ ในบ้านตัวเอง แต่ Yellowing ก็จะมีการนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติยีห์ลาวาที่สาธารณรัฐเช็กในเดือน ต.ค. และมีการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลภาพยนตร์ไต้หวันโกลเดนฮอร์ส

เฉินจื่อหวนบอกอีกว่าเขาหวังว่าผลงานของเขาจะเป็นอนุสรณ์ของการต่อสู้ทางการเมืองของชาวฮ่องกง ฮ่องกงเปลี่ยนไปมากหลังจากการประท้วง ผู้ชมบางคนอาจจะเข้าร่วมขบวนการด้วยใจเต็มร้อยแต่ก็ไม่อยากกลับไปมองความทรงจำนั้นเพราะจะเกิดอารมณ์ด้านลบจากการคิดว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาล้มเหลว แต่ภาพยนตร์สารคดีของเขาจะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนได้มองย้อนกลับไปในช่วงการประท้วงเพื่อที่จะเก็บกวาดและจัดการกับความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้


เรียบเรียงจาก

Screened out? Film charting Hong Kong's umbrella movement struggles to be seen, The Guardian, 26-09-2016
https://www.theguardian.com/world/2016/sep/26/yellowing-film-hong-kong-umbrella-movement-struggles-to-be-seen-cinema

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปรีชา' บอกเพิ่งรู้ลูกใช้บ้านในค่ายตั้งบริษัท ด้านขาใหญ่ต้านโกงปัดจ้อปมนี้พัลวัน

0
0

พล.อ.ปรีชา เผยเพิ่งรู้ว่าลูกชายเอาบ้านในค่ายไปจดทะเบียนตั้งบริษัท ประธาน ป.ป.ช. ยันไม่หนักใจสอบครอบครัวปรีชา แต่ต้องรอบคอบ ขณะที่ 'วันชัย ตัน' เผยขาใหญ่ต้านคอรัปชั่น ปฏิเสธพูดปมลูกปรีชาพัลวัน PPTV เปิดตัวละครใหม่ หจก. นำพล อินเตอร์เทรด

27 ก.ย. 2559 จากกรณีสื่อหลายสำนักรายงานว่าห้างหุ้นส่วนจัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่เป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างหน่วยงานภาครัฐหลายโครงการนั้น ตั้งเลขที่ 128/31/007 ตำบลอรัญญิก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อยู่ในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ (สนามบิน) ตำบลอรัญญิก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 โดยมีลักษณะแบ่งเป็นบ้านพักของนายทหาร อยู่ติดกับพื้นที่สนามกอล์ฟดงภูเกิด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (27 ก.ย.59) โพสต์ทูเดย์รายงานว่า พล.อ.ปรีชา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เพิ่งทราบ เพราะไม่รู้เห็น ซึ่งตอนลูกชายเอาบ้านในค่ายไปจดทะเบียนตั้งบริษัทนั้นไม่รู้จริงๆ

“ตอนนั้นเขาจัดการเอง เพราะไม่มีบ้าน มีแต่บ้านในค่าย และพร้อมให้ตรวจสอบตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีการตรวจสอบ ผมพร้อมชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” พล.อ.ปรีชา กล่าว

ประธาน ป.ป.ช. ยันไม่หนักใจสอบครอบครัว พล.อ.ปรีชา แต่ต้องรอบคอบ

ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า เรื่องคดีลูกชายและภริยาของ พล.อ.ปรีชานั้น เมื่อมีคนมาร้อง ทางเจ้าหน้าที่ก็คงจะต้องไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนระยะเวลาขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง เป็นขั้นตอนปกติที่ ป.ป.ช.ต้องทำ

“เรื่องนี้ไม่หนักใจ แต่ต้องทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะสังคมเฝ้ามองอยู่ ทั้งนี้ระยะเวลาในการดำเนินการคงตอบไม่ได้ ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอน ทุกเรื่องมีความสำคัญหมด คงไม่ล่าช้า เพราะทุกเรื่อง ป.ป.ช.ก็เร่งหมด” ประธาน ป.ป.ช. กล่าว

'วันชัย ตัน' เผยขาใหญ่ต้านคอรัปชั่น ปฏิเสธพูดปมลูกปรีชาพัลวัน

วานนี้ (26 ก.ย.59) วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานข่าว PPTV โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Vanchai Tantivitayapitak' ในลักษณะสาธารณะด้วยว่า "สถานการณ์บอกตัวตน วันนี้นักข่าว PPTV โทรไปขอสัมภาษณ์ผู้นำหลายคนมีชื่อเสียงด้านการรณรงค์ให้ผู้คนต่อต้านการคอรัปชั่น ตอนแรกก็ยินดีให้สัมภาษณ์เมื่อนักข่าวบอกว่าเรื่องคอรัปชั่น แต่พอบอกประเด็นเรื่อง ลูกชายปลัดกระทรวงกลาโหมประมูลงานกองทัพได้ ปรากฏว่าทุกคนปฏิเสธกันหมดโดดหนีพัลวัน บางคนติดประชุมด่วนกระทันหัน บางคนไม่รับสายอีก"

 

ที่มา 'Vanchai Tantivitayapitak'

PPTV เปิดตัวละครใหม่ หจก. นำพล อินเตอร์เทรด

ขณะเดียวกัน วานนี้ PPTVได้เผยแพร่รายงานด้วยว่า กรณีดังกล่าวนี้ ตัวละครที่น่าสนใจอีกหนึ่งบริษัท คือ หจก.นำพล อินเตอร์เทรด ซึ่งทีมข่าว PPTV ค้นพบข้อมูลที่ยืนยันได้อย่างน้อย 3 โครงการ ว่า เป็นหนึ่งในบริษัท ที่เข้าประกวดราคาแข่งกับ คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น (ของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา) และแพ้การประกวดราคา ไปหลักพันบาททั้ง 3 โครงการนี้ รวมทั้งมีประวัติรับงาน กับกองทัพ มากกว่า 100 โครงการ และเฉพาะช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา รับงานกองทัพ 50 โครงการ เป็นของกองทัพภาคที่ 3 ถึง 49 โครงการ

รายงานของ PPTV ชี้ให้เห็นว่า ความน่าสนใจของ หจก.นำพลฯ คืออาจจะเป็นคู่สัญญาที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพภาคที่ 3  ซึ่งไม่นับ โครงการก่อนหน้าปี 2558  อีกมากกว่า 50 โครงการ ลักษณะโครงการ มีตั้งแต่ จัดซื้อเครื่องแต่งกาย รองเท้า เสื้อยืด เครื่องสนาม เครื่องแบบทหาร ไปจนถึงจัดซื้อรถจักรยานยนต์ จัดซื้อเครื่องหาพิกัดด้วยดาวเทียม และปรับปรุงอาคาร ก่อสร้างอาคาร แต่ หจก.นำพลฯ กลับมาแพ้การประกวดราคา ในโครงการที่มี คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น เป็นคู่แข่ง ในราคาที่ต่างกันเพียงหลักพันบาท (อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ เปิดข้อมูล “นำพล อินเตอร์เทรด” คู่เทียบ หจก.ลูก พล.อ.ปรีชา)

 

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

งัด ม.44 ตั้ง 'พล.ต.สรรเสริญ' ควบ รก.อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

0
0

ระบุเพื่อขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของรัฐให้สอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์ของคสช. ให้ 'พล.ต.อ.วุฒิ' พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. พร้อมแช่แข็งผู้บริหาร-ข้าราชการท้องถิ่น ระหว่างตรวจสอบอีกว่า 70 ราย ใน มหาสารคาม

27 ก.ย. 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 59/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 และการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐ โดยระบุว่า ตามที่มีคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15  พ.ค. 58 และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 19/2558 เรื่อง แต่งตั้งและให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดํารงตําแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อื่น ลงวันที่ 25 มิ.ย. 58 นั้น โดยที่หน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบได้เสนอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ เนื่องจากถูกร้องเรียนหรือกล่าวหาว่าใช้ตําแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายจากปฏิบัติหน้าที่จนเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และมีมูลอันสมควรตรวจสอบจึงจําเป็นต้องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและกําหนดมาตรการบางอย่างเพิ่มเติม นอกจากนี้ โดยที่จําเป็นต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในบางหน่วยงานของรัฐเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของงานและแก้ไขปัญหาซึ่งไม่อาจดําเนินการโดยวิธีการปกติได้ อีกทั้งมีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน โดยผู้มีรายชื่อที่เกี่ยวข้องมิได้มีความผิดหรืออยู่ระหว่างการถกตรวจสอบใด ๆ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. 

โดยในคำสั่งดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ตั้ง พล.ต.สรรเสริญ ควบ รก.อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

ข้อ 15 ระบุว่าเพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของรัฐให้มีลักษณะสอดคล้องกันระหว่างการประชาสัมพันธ์ของทางราชการ การประชาสัมพันธ์ของคสช. กับการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลโดยเฉพาะการบริหารแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อการปฏิรูป ให้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกําเนิด ผู้ชํานาญการกองทัพบก โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีรักษาราชการในตําแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราว อีกตําแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 59 เป็นต้นไป

ให้ พล.ต.อ.วุฒิ พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.

ข้อ 14 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง การตรวจสอบข้อร้องเรียนร้องทุกข์ การให้บริการประชาชน การตรวจราชการ และการปฏิบัติภารกิจเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อย ตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ให้พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ พ้นจากตําแหน่งรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง รับเงินประจําตําแหน่ง 21,000 บาท ดํารงตําแหน่ง ผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษที่จัดให้มีขึ้นในสํานักนายกรัฐมนตรีตามคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค. 58 โดยให้ขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิมและให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ขณะที่ข้อ 13 ระบุว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ต่อเนื่องและไม่กระทบต่อการปฏิบัติงานซึ่งกําลังดําเนินไปด้วยดี ให้ นที ขลิบทอง ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติต่อไปจนถึงวันที่ 5 พ.ย. 60 และให้ผู้มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

แช่แข็งผู้บริหาร-ข้าราชการท้องถิ่น ระหว่างตรวจสอบอีกว่า 70 ราย

รวมทั้ง ข้อ 1 ให้ผู้ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ข้าราชการพลเรือน ตามบัญชีแนบท้ายคําสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในตําแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการประจํา หน่วยงานนั้นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

ข้อ 2 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 2 ข้าราชการตํารวจ ตามบัญชีแนบท้ายคําสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการโดยไม่ขาดจากตําแหน่งเดิมและให้ไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่นในสังกัดเดิม เป็นการชั่วคราว โดยผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติจะมีคําสั่งให้ไปปฏิบัติราชการในศูนย์ปฏิบัติการ ในกองบัญชาการตํารวจแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบก็ได้

ข้อ 3 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ผู้บริหารและผู้มีตําแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้ายคําสั่งนี้ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดํารงตําแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

ข้อ 4 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 4 ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามบัญชีแนบท้าย คําสั่งนี้ ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ราชการอื่น ในจังหวัดนั้น ๆ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนด แต่ต้องมิใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นปฏิบัติ หน้าที่อยู่เดิม โดยไม่ต้องมีคําร้องขอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย เป็นผู้บังคับบัญชามีอํานาจมอบหมายให้ผู้นั้นปฏิบัติงานตามความเหมาะสม ในกรณีนี้ มิให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินประจําตําแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ไปราชการชั่วคราว ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๕๕ อันเนื่องจากการไปช่วยราชการตามคําสั่งนี้

ข้อ 5 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 5 กรรมการพนักงานส่วนตําบล ตามบัญชีท้ายคําสั่งนี้ พ้นจากการเป็นกรรมการ และให้ผู้มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการคัดเลือกกรรมการใหม่ตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการคัดเลือกกรรมการแทนกรรมการซึ่งพ้นจากตําแหน่ง ให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่และให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

ข้อ 6 ให้ศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แจ้งข้อเท็จจริงอันเป็นมูลเหตุ แห่งการตรวจสอบการปฏิบัติราชการของผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ถึงกลุ่มที่ 4 ให้หน่วยงานทราบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยต้องปรากฏผลให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ศอตช. เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้นั้นหรือเพื่อดําเนินการทางวินัยต่อไป ในกรณีที่ไม่อาจดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้รายงานรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของ เจ้าหน้าที่ผู้นั้น แล้วแต่กรณีเพื่อขยายเวลาได้ตามความจําเป็น
 
ข้อ 7 ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อ 6 หากไม่พบว่ามีการกระทําความผิดหรือ ไม่ถึงขั้นต้องดําเนินการทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาสรุปผลการตรวจสอบและพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้ว แจ้งให้ ศอตช. ทราบ ในการนี้ ให้ประธาน ศอตช. แต่งตั้งคณะบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นข้าราชการ ไม่มีข้อขัดแย้งหรือส่วนได้เสียกับบุคคลหรือเรื่องที่มีการกล่าวหา และไม่เคยเป็นผู้ตรวจสอบเรื่องนี้มาก่อน มีจํานวน 3 ถึง 5 คน เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบผลการตรวจสอบเดิมของผู้บังคับบัญชาของ ผู้ถูกตรวจสอบกับรายงานหรือพยานหลักฐานที่มีอยู่อีกครั้งหนึ่งและให้มีอํานาจเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคําได้ โดยคณะบุคคลดังกล่าว อาจตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกตรวจสอบแต่ละรายหรือหลายรายพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.สภาความมั่นคงฯ ฉ.ใหม่ เพิ่มที่นั่ง รมว.ยุติธรรม-ICT

0
0

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 26 ก.ย. พ.ศ. 2559 เป็นปีที่ 71 ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.บ.ขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ประกาศดังกล่าวมีระบุหมายเหตุ ถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า เนื่องจากบริบทสถานการณ์ด้านความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศโดยมีความเชื่อมโยงกับมิติด้านต่างๆ และมีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่โดยที่กลไกการดําเนินการด้านความมั่นคงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังไม่เอื้อต่อการปฏิบัติภารกิจในการจัดทําและบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงให้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมรวมทั้งในการติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และการแจ้งเตือนสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคาม หรือการประกาศสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามและการประกาศระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม ตลอดจนการดําเนินการอื่นที่จําเป็นในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์นั้น ดังนั้น เพื่อให้การดําเนินการด้านความมั่นคงแห่งชาติและการรักษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมรองรับสถานการณ์ด้านความมั่นคงและแนวโน้มภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

      “มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2559”
       
       มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
       
       มาตรา 3 ให้ยกเลิก
       (1) พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502
       (2) พระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2507
       
       มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
       
       “ความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า ภาวะที่ประเทศปลอดจากภัยคุกคามต่อเอกราช อธิปไตยบูรณภาพแห่งอาณาเขต สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน หรือที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งความพร้อมของประเทศที่จะเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆอันเกิดจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ
       
       “นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ” หมายความว่า นโยบายและแผนหลักของชาติที่เป็นกรอบหรือทิศทางในการดําเนินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามเพื่อธํารงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ
       
       “ภัยคุกคาม” หมายความว่า ภาวะหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง สลับซับซ้อน หากไม่ดําเนินการแก้ไขจะเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงแห่งชาติ
       “สภา” หมายความว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
       “สํานักงาน” หมายความว่า สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
       
       หมวด 1 สภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 6 ให้มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกดังต่อไปนี้
       
       (1) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภา
       (2) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธานสภา
       (3) รัฐมนตรีว่าการกระทวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด
       
       ให้เลขาธิการเป็นสมาชิกและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการของสํานักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของสภา สภาอาจมีมติให้เชิญรัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณา หรือผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในเรื่องนั้น ให้เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งคราวในฐานะสมาชิกเฉพาะกิจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ผู้ที่ได้รับเชิญและมาประชุมมีฐานะเป็นสมาชิกตามวรรคหนึ่งสําหรบการประชุมครั้งที่ได้รับเชิญนั้น
       
       มาตรา 7 สภาความมั่นคงแห่งชาติมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
       
       (1) จัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
       (2) เสนอแนะและให้ความเห็นในการกําหนดยุทธศาสตร์ชาติในมิติด้านความมั่นคง หรือประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี
       (3) พิจารณากําหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติและแผนบริหารวิกฤตการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (4) กําหนดแนวทางหรือมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณา
       (5) ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ
       (6) กํากับและติดตามการดําเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
       (7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ประธานสภาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมสภา มีอํานาจเรียกให้หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งข้อมูลหรือเอกสารใด ๆที่เกี่ยวข้องมาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณา หรืออาจขอให้บุคคลใดๆ มาชี้แจงด้วยก็ได้
       
       มาตรา 9 ให้นําบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับแก่การประชุมสภาโดยอนุโลม
       
       มาตรา 10 สภามีอํานาจแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาของสภาซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ด้านละไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่มีอํานาจหน้าที่โดยตรงในด้านที่จะได้รับการแต่งตั้ง และผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านความมั่นคงหรือนักวิชาการด้านความมั่นคงในด้านนั้น คณะที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่งมีอํานาจหน้าที่ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในด้านที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อเสนอความเห็นต่อสภา หรือพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติตามที่สภามอบหมายหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะที่ปรึกษา ให้เป็นไปตามที่สภากําหนด
       
       มาตรา 11 สภาจะแต่งตั้งผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจตามมาตรา 6 วรรคสาม คณะกรรมการคณะอนุกรรมการ หรือคณะทํางาน เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่สภามอบหมายก็ได้การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทํางาน ให้นํามาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลมหลักเกณฑ์และวิธีการในการแต่งตั้ง และการปฏิบัติงานของผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจที่ได้รับแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สภากําหนด
       
       มาตรา 12 ให้ประธานสภา สมาชิก ผู้เคยเป็นสมาชิกเฉพาะกิจซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 11 กรรมการ และอนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนดที่ปรึกษาตามมาตรา 10 มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
       
       หมวด 2 ความมั่นคงแห่งชาติ
       
       ส่วนที่ 1 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 13 เพื่อประโยชน์ในการธํารงไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติขึ้นตามข้อเสนอแนะของสภาในการจัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและของประชาชนด้วยการประกาศใช้และการแก้ไขปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติให้ทําเป็นประกาศพระบรมราชโองการและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       
       มาตรา 14 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ต้องมีสาระที่ครอบคลุมถึงนโยบายภายในประเทศ นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับการเศรษฐกิจ และอื่น ๆอันเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องต้องกัน เพื่อให้กิจการของหน่วยงานของรัฐสามารถประสานกันได้อย่างใกล้ชิดเป็นผลดีต่อความมั่นคงแห่งชาติ และอย่างน้อยต้องกําหนดเป้าหมายและแนวทางการดําเนินการในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
       
       (1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       (2) การปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ
       (3) การพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติและศักยภาพการป้องกันประเทศ
       (4) การรักษาความมั่นคงภายในประเทศและระหว่างประเทศ
       
       มาตรา 15 เมื่อมีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่กรณี ใช้เป็นกรอบหรือแนวทางหรือดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ในการจัดทําแผนการบริหารราชการแผ่นดิน แผนนิติบัญญัติ การกําหนดยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง แผนเตรียมพร้อมแห่งชาติ แผนบริหารวิกฤตการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ หรือการกําหนดแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ หรือการปฏิบัติราชการอื่นใด ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าวหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดทํายุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง หรือการกําหนดแผนงานหรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่สภากําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
       
       มาตรา 16 ให้สํานักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานของรัฐให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณสําหรับแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นเรื่องสําคัญ ให้หน่วยงานของรัฐเสนอแผนงานหรือโครงการดังกล่าวต่อสํานักงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และให้หน่วยงานของรัฐที่มีอํานาจหน้าที่ในการจัดทํางบประมาณ นําความเห็นดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาด้วยแผนงานหรือโครงการใดจะถือเป็นแผนงานหรือโครงการเรื่องสําคัญตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด
       
       มาตรา 17 ให้สํานักงานติดตามผลการดําเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง และแผนงานหรือโครงการซึ่งเป็นเรื่องสําคัญตามมาตรา 16 เพื่อสนับสนุน อํานวยการ หรือประสานการดําเนินการที่จําเป็น รวมทั้งให้คําแนะนําเกี่ยวกับการเร่งรัดหรือปรับปรุงการดําเนินงานดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพในกรณีที่สํานักงานเห็นว่าการดําเนินงานใดของหน่วยงานของรัฐไม่เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ยุทธศาสตร์หรือแผนด้านความมั่นคงเฉพาะเรื่อง หรือแผนงานหรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้เสนอความเห็นต่อสภาเพื่อพิจารณาเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่เห็นสมควรต่อไป
       
       ส่วนที่ 2 การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 18 ให้สํานักงานติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ และจัดทําฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในกรณีที่มีสถานการณ์ซึ่งมีความเสี่ยงอันจะนําไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้สํานักงานแจ้งเตือนสถานการณ์ดังกล่าวพร้อมเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดําเนินการอื่นที่จําเป็นในการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์นั้น ต่อนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไป และให้สํานักงานรายงานการดําเนินการดังกล่าวต่อสภา
       
       มาตรา 19 ในกรณีที่มีสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาประกาศระดับความร้ายแรงของภัยคุกคามดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอความเห็น แนวทาง มาตรการ หรือการดําเนินการอื่นที่จําเป็น ต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหรือสั่งการให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือระงับยับยั้งภัยคุกคามดังกล่าว
       ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรียังไม่พิจารณาดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สภาเป็นผู้ใช้อํานาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จําเป็นและเหมาะสมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการดําเนินการตามวรรคหนึ่งเมื่อการใช้อํานาจของสภาสิ้นสุดลงตามวรรคสองแล้ว ให้สภารายงานผลการดําเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
       
       หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกาศให้สถานการณ์ใดเป็นสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามและการยกเลิกการประกาศ รวมทั้งการกําหนดระดับความร้ายแรงของภัยคุกคาม ให้เป็นไปตามที่สภากําหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
       
       มาตรา 20 ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการพิจารณาเรื่องใดเป็นเรื่องสําคัญที่จะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีส่งเรื่องให้สภาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา หรือในกรณีที่สภาเห็นว่าการดําเนินการในเรื่องใดเป็นเรื่องสําคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ให้สภาเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี
       
       หมวด 3 สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
       
       มาตรา 21 ให้มีสํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
       
       (1) รับผิดชอบในงานธุรการของสภา และศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับงานของสภา
       (2) จัดทําร่างนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติตามเป้าหมายและแนวทางที่สภากําหนดเพื่อเสนอต่อสภา
       (3) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อสภาหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณากําหนดนโยบายยุทธศาสตร์ แผนงาน และการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (4) ให้คําปรึกษา เสนอแนะ และให้ความเห็น ตลอดจนอํานวยการและประสานการปฏิบัติงานใดๆเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
       (5) ติดตาม ประเมิน วิเคราะห์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ด้านความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ พิสูจน์ทราบและคาดการณ์ภัยคุกคามและการประเมินกําลังอํานาจของชาติ
       (6) ประสานงานหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในกิจการด้านความมั่นคงระหว่างประเทศด้านความมั่นคงในเชิงยุทธศาสตร์ ด้านการประเมินสภาวะแวดล้อม และด้านวิชาการที่เกี่ยวกับความมั่นคง
       (7) ศึกษา วิจัย รวบรวม พัฒนา ส่งเสริม และเผยแพร่ข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
       (8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น หรือตามที่สภานายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา 22 ให้มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบริหารราชการของสํานักงาน ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการให้เลขาธิการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยในการพิจารณาเสนอชื่อผู้ซึ่งสมควรดํารงตําแหน่งเลขาธิการ ให้สภาเสนอชื่อบุคคลเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
       
       บทเฉพาะกาล
       
       มาตรา 23 บรรดาคําสั่งหรือมติของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมีผลใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ จนกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้จะมีคําสั่งหรือมติเป็นอย่างอื่น
       
       มาตรา 24 ให้คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัติสภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้จะมีมติเป็นอย่างอื่น
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
       นายกรัฐมนตรี”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live