Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ศาลแพ่งยกฟ้อง ภรรยา 'อากง' เรียกค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตในรพ.เรือนจำ

$
0
0

ศาลแพ่งยกฟ้อ ระบุข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าแพทย์พยาบาลบกพร่องในหน้าที่ เพียงวิธีการรักษาต่างกัน รพ.เรือนจำย่อมมีกฎระเบียบมากกว่าเป็นธรรมดา ด้านรสมาลิน ภรรยานายอำพล หรืออากง ระบุ ยื่นฟ้องเพียงต้องการให้หน่วยงานตื่นตัวปรับปรุงคุณภาพรักษานักโทษ 

เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษากรณีที่นางรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของนายอำพล ตั้งนพกุล อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปี 2555 ได้ฟ้องกรมราชทัณฑ์เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาทและดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง เนื่องจากโจทก์เห็นว่านายอำพลเสียชีวิตที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์และเห็นว่าการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังรวมถึงระบบการกู้คืนชีพของโรงพยาบาลไม่ได้มาตรฐานทำให้นายอำพลถึงแก่ชีวิต

ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่าให้ยกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์

รสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของผู้ตายให้สัมภาษณ์ภายหลังทราบผลคำพิพากษาว่า เธอไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะคดีนี้ หรือต้องการเงินชดเชย หรือต้องการให้ลงโทษเอาผิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพียงแต่หวังว่าการฟ้องคดีจะกระตุ้นให้หน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษานักโทษที่เจ็บป่วยปรับปรุงและพัฒนาการทำงานของพวกเขาให้ดีขึ้น เพราะเธอเองเห็นว่านักโทษก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรได้รับการการดูแลรักษาเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่นๆ เธอเห็นว่านักโทษกระทำความผิดควรได้รับการลงโทษโดยการจำกัดอิสรภาพในชีวิต แต่ไม่ควรถูกทำให้มีคุณภาพชีวิตทั้งในเรือนจำและการรักษาพยาบาลย่ำแย่ไปด้วย

“นักโทษก็เป็นคน ไม่อยากให้คนอื่นๆ ต้องประสบชะตากรรมเดียวกันกับอากง อยากให้ระบบมันดีขึ้น” รสมาลินกล่าว

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความโจทก์ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ศาลแพ่งพิพากษาให้ยกฟ้องในคดีนี้ โดยประเด็นที่ต่อสู่ในคดีมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ประเด็นที่จำเลยมีอาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ แต่ไม่มีการตรวจคลื่นหัวใจ มีเพียงการให้ยาลดการเต้นของชีพจร แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าความจริงแล้วควรมีการตรวจคลื่นหัวใจเพื่อให้ทราบว่าอัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่และจะได้ให้การรักษาที่ถูกจุด แต่ศาลเห็นตามที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นแพทย์ของกรมราชทัณฑ์ที่ว่าการเต้นของหัวใจของบุคคลนั้นแตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัยและเมื่อตรวจพบความผิดปกติก็ได้มีการจ่ายยาให้ผู้ตายแล้ว

2.การที่ผู้ตายมีอาการปวดท้อง ท้องบวมโตนั้น แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่าควรเจาะน้ำในช่องท้องเพื่อให้ผู้ป่วยลดอาการแน่นท้อง และจะมีส่วนช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย ขณะที่ศาลเห็นตามพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ว่าแพทย์ที่ตรวจรักษาได้ให้ยาขับปัสสาวะแล้ว และการเจาะน้ำในช่องท้องนั้นมีความเสี่ยง แพทย์ย่อมวินิจฉัยวิธีที่เหมาะสมในการรักษาได้แตกต่างกัน

3.การฟื้นคืนชีพ แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์เห็นว่า การฟื้นคืนชีพตามที่พยานจำเลยได้เบิกความนั้นเป็นเพียงการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้น แต่เมื่อเหตุเกิดในโรงพยาบาลจึงควรช่วยฟื้นคืนชีพในขั้นสูงได้โดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าและต้องกระทำโดยแพทย์เท่านั้น เพราะแพทย์จะเป็นคนวินิจฉัยว่าเมื่อใดที่ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย ซึ่งโดยมาตรฐานทั่วไปจะต้องปฏิบัติการภายใน 4 นาทีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้ทันเวลา หากแต่การช่วยฟื้นคืนชีพในครั้งนี้ดำเนินการโดยพยาบาลและเครื่องกระตุ้นหัวใจก็อยู่อีกชั้นหนึ่งของโรงพยาบาลและไม่ถูกนำมาใช้ ขณะที่แพทย์ซึ่งเป็นพยานจำเลยเบิกความว่า มีการตรวจคนไข้ทุกวันพบว่า คนไข้เดินได้ พูดคุยได้ เริ่มรับประทานอาหารได้ และกำลังอยู่ระหว่างเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจสอบสาเหตุความเจ็บป่วยแต่ติดวันหยุดราชการ ขณะเกิดเหตุแพทย์เจ้าของไข้กำลังประชุม พยาบาลที่ช่วยฟื้นคืนชีพได้โทรเพื่อรายงานสถานการณ์และแพทย์ได้แจ้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ทางโทรศัพท์ โดยพยาบาลระบุว่าเมื่อมาถึงก็พบว่าผู้ตายไม่สามารถแทงเข็มน้ำเกลือได้แล้ว แพทย์ได้รับรายงานเมื่อไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพได้แล้ว แต่ก็ยังให้ช่วยต่อไปอีก 20 นาที รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 40 นาที

ศาลวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “แพทย์และพยาบาลให้การดูแลรักษาผู้ตายมาตลอด ต่างใช้วิจารณญาณและความรู้ความสามารถตามหลักวิชาอย่างเต็มความสามารถ แม้ไม่สามารถช่วยฟื้นคืนชีพผู้ตายได้สำเร็จ การที่แพทย์พยาบาลใช้หรือไม่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้าในการช่วยฟื้นคืนชีพ ย่อมอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์และพยาบาลอย่างดีแล้วว่าจะสามารถอุปกรณ์การแพทย์ชนิดใดได้หรือไม่ในช่วงวิกฤต แม้แพทย์ซึ่งเป็นพยานโจทก์จะเห็นต่างก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว”

นอกจากนี้โจทก์ยังระบุว่าผู้ตายได้รับการเลือกปฏิบัติทั้งที่มาตรา 51 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข พูนสุขระบุว่า โจทก์หมายถึงความสามารถในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำไม่เท่าเทียมกันเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ได้รับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลภายนอก อย่างเช่นกรณีนี้แม้แพทย์จะสั่งให้เจาะเลือดเพื่อหาค่าความผิดปกติต่างๆ แต่ปรากฏว่าติดวันหยุดราชการ 3 วันจึงยังไม่มีการดำเนินการในส่วนดังกล่าว หรือกรณีการช่วยเหลือระหว่างการฟื้นคืนชีพซึ่งผู้ตายอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขนาดกลางแต่กลับไม่มีแพทย์ร่วมปฏิบัติการเพราะติดประชุม อย่างไรก็ตาม ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นทุกคนมีเท่าเทียมกันแต่ต้องดูสถานะของจำเลยด้วยว่าอยู่ในสถานะใด ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ย่อมต้องมีกฎระเบียบเคร่งครัดกว่าที่อื่นและทุกคนอยู่ภายใต้ระเบียบนั้นไม่ว่าแพทย์พยาบาลก็ตาม

“ส่วนประเด็นว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเป็นการขัดรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่รับฟังจากพยานหลักฐานของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง.... การจำกัดปริมาณผู้เยี่ยม เวลาเยี่ยม การส่งผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ แม้แต่การติดต่อสื่อสารที่จำเลยไม่อาจใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เหล่านี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการขัดต่อสิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงสถานะตัวบุคคลของคนนั้นๆ ด้วยว่าตนเองอยู่ในสถานะเช่นใดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานเหล่านั้น เพียงแต่ว่าสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลยังคงมีอยู่ไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิแต่อย่างใด” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

“วินิจฉัยแล้วว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของผู้ตายไม่พอให้รับฟังได้ว่าสืบเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ดังที่ญาติผู้ตายกล่าวอ้าง.... ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ” คำพิพากษาระบุ 

อำพล อายุ 61 ปีขณะเสียชีวิต เป็นอดีตพนักงานขับรถที่ปลดระวางมาเลี้ยงหลานอยู่บ้าน เขาถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น (SMS) มีข้อความดูหมิ่นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นไปให้นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จากนั้นสมเกียรติจึงแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ อำพลถูกจับกุมตัวที่บ้านพักจังหวัดสมุทรปราการ ถูกขังอยู่ราวสองเดือนจึงได้รับการประกันตัว ต่อมาเมื่ออัยการสั่งฟ้อง เขาถูกคุมขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวอีกเลยระหว่างต่อสู้คดี 23 พ.ย.2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเขามีความผิดจริง พิพากษาจำคุก 20 ปี (ข้อความ/กรรมละ 5 ปี 4 ข้อความ) ต่อมาวันที่ 8 พ.ค.2555 อำพลเสียชีวิตในโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลังป่วยมานานและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลไม่กี่วัน 

30 ต.ค.2556 ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวนคำร้องชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำ อช. 10/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นคำร้องไต่สวนการเสียชีวิตของนายอำพล ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยศาลสั่งว่าสาเหตุและพฤติการการตายคือระบบไหลเวียนโลหิตและทางเดินหายใจล้มเหลว จากมะเร็งตับระยะลุกลาม เป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ โดยศาลยังฟังไม่เพียงพอว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษา (อ่านที่นี่)

ก่อนหน้านั้นวันที่ 7 พ.ค.2556 นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ต่อศาลปกครอง เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังป่วย แต่เจ้าหน้าที่ภายใต้สังกัดของผู้ฟ้องคดีได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นายอำพลถึงแก่ความตาย ให้กำหนดให้กรมราชทัณฑ์ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,225,250 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะชำระเสร็จสิ้น 

25 ธ.ค.2556 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แจ้งว่าศาลปกครองได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของ นางรสมาลิน ภรรยานายอำพล โดยก่อนหน้านี้รสมาลินขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 44,505 บาทเนื่องจากการไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระ ดังนั้นสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงเปิดขายเสื้อเพื่อระดมทุนเป็นค่าธรรมเนียมดังกล่าว (อ่านที่นี่)

23 เม.ย.2558 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 10/2558 ว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม (อ่านที่นี่) คดีจึงถูกโอนไปยังศาลแพ่ง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.ดิจิทัลฯ เฝ้าระวังเว็บหมิ่นฯ 24 ชม. ขออย่าไลค์-แชร์-คอมเมนต์ตอบโต้โพสต์ที่สุ่มเสี่ยง

$
0
0

พล.อ.อ.ประจิน เผยส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ และขณะนี้สามารถปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปได้กว่า 50% ตั้งเป้าจะระงับให้ได้ 100% จ่อขอความร่วมมือไลน์และเฟซบุ๊ก หลังจากที่ได้ที่ประสานขอความร่วมมือไปทางกูเกิลและยูทูบ ซึ่งผู้ให้บริการได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

24 ต.ค. 2559 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่บริเวณโดยรอบพระบรมหาราชวังว่า ทางกระทรวงดีอีได้เพิ่มช่องทางการลงนามแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์กระทรวงดีอี เพื่อรวบรวมรายชื่อและส่งต่อไปยังรัฐบาล โดยได้นำไอแพดจำนวน 3 เครื่อง ตั้งโต๊ะไว้ที่เต็นท์ของกระทรวงดีอี บริเวณท้องสนามหลวง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาลงนามแสดงความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ด้วย

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงมาตรการการป้องกันเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน ว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดีย และอย่ากดไลค์ กดแชร์ หรือคอมเมนต์ตอบโต้บทความที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อสถาบันและความมั่นคงของชาติ เพราะนอกจากจะไม่เหมาะสมแล้วยังเสี่ยงผิดกฎหมาย จึงขอให้ประชาชนที่พบเว็บไซต์หรือบทความที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันหรือต้องสงสัยว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แจ้งมาทางศูนย์ที่เบอร์ 1212 ตลอดเวลา

พล.อ.อ.ประจิน ยังเปิดเผยว่า กระทรงดีอีได้ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างใกล้ชิด และดำเนินการปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 26 ที่ระบุความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง ยั่วยุ หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่หากเข้าข่ายความผิดดังกล่าว รัฐบาลสามารถปิดเว็บหมิ่นได้ทันที ซึ่งส่วนใหญ่เว็บที่ถูกปิดจะเป็นเว็บในประเทศ และขณะนี้สามารถปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันไปได้กว่าร้อยละ 50 รวมทั้งแจ้งเตือนไปทางไอดีของผู้กระทำผิดทั้งในและต่างประเทศได้แล้วหลายราย ทั้งนี้ ตั้งเป้าจะระงับเว็บไซต์หมิ่นให้ได้ 100% นอกจากนี้ยังเตรียมขอความร่วมมือไปทางผู้บริหารแอพพลิเคชั่นไลน์และเฟซบุ๊กต่อไป หลังจากที่ได้ที่ประสานขอความร่วมมือไปทางกูเกิลและยูทูบ ซึ่งผู้ให้บริการได้ตอบรับและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม นอกจากรัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมายแล้วขณะเดียวกันจะให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม กูเกิลได้ส่งแถลงการณ์มายังเดอะเนชั่น โดยปฏิเสธว่ากูเกิลไม่ได้มอนิเตอร์โพสต์ใดๆ ของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไทย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เหรียญทอง' ลั่นจะกลับมาไม่ว่าจะถูกรีพอร์ตเฟซดับสักกี่ครั้ง

$
0
0

เฟซบุ๊ก พล.ต.นพ.เหรียญทอง หายไป คาดว่าถูกรีพอร์ตจนดับ หลังมีการไล่ล่าและละเมิดสิทธิส่วนตัวผู้ถูกกล่าวหาหมิ่นฯอย่างเข้มข้น ล่าสุดมีแถลงออกมาจากเพจองค์กรเก็บขยะฯ ระบุถูกปิดจริง พร้อมยืนยันว่าดับกี่ครั้งก็จะเปิดใหม่เพื่อสู้ต่อ

ที่มา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน

24 ต.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.01 น. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน' โพสต์ข้อความแจ้งข่าวจาก พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้ง “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” กรณีที่ เฟซบุ๊กของเขาหายไปนั้น ว่า เพจ เหรียญทอง แน่นหนา 159,725 ไลค์ขณะนี้ถูกปิดไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 ต.ค.59 เวลา 16.07 น. แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะ พล.ต.เหรียญทอง โดนปิดเฟซเป็นประจำ มีสถิติถูกปิดเพจทั้งสิ้น 4 ครั้งในรอบ 2 ปีแล้ว โดยอ้างว่าเนื่องจาก ตัวเขาเอง ต่อสู้กับขบวนการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ดุเดือดมาโดยตลอดแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน 

นอกจากนี้ แถลงของ พล.ต.เหรียญทอง  ยังระบุรายละเอียดการถูกปิดที่ผ่านมาด้วยว่า เฟซที่ 1 เป็นเฟซส่วนตัวถูกปิดเมื่อ ก.ค.57 มีสมาชิกไลค์และติดตามมากกว่า 70,000 ไลค์ , เฟซที่ 2 เป็นเพจสาธารณะถูกปิดเมื่อ ม.ค.58 มีสมาชิกไลค์มากกว่า 50,000 คน , เฟซที่ 3 เป็นเพจสาธารณะถูกปิดเมื่อ พ.ย.58 มีสมาชิกไลค์มากกว่า 40,000 คน ส่วนเฟซที่ 4 ซึ่งเป็นเพจสาธารณะและถูกปิดล่าสุดเมื่อ 24 ต.ค.59 นี้ มีสมาชิกไลค์ 159,725 ไลค์
 
แถลงดังกล่าวระบุต่อว่า ไม่ว่าจะถูกปิดสักกี่ครั้ง พล.ต.เหรียญทอง ก็จะกลับมาต่อสู้กับขบวนการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่ชีวิตของ พล.ต.เหรียญทอง ยังดำรงอยู่ ก็จะยังคงปกป้องพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าจนกว่าชีวิตจะหาไม่
 
"ถึงแม้แผนการปฏิบัติจะสะดุดไปบ้าง แต่ท่านทั้งหลายไม่ต้องตกใจนะครับ แล้ว พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา ก็จะต้องกลับมาร่วมปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ร่วมกับพสกนิกรผู้จงรักภักดีเหมือนเดิม "ผมจะกลับมา...I shall return." แล้วเตรียมตัวพบกันใหม่อีกนะครับ" พล.ต.เหรียญทอง ระบุ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้เฟซบุ๊ก พล.ต.เหรียญทอง ได้มีการดำเนินการไล่ล่าผู้ที่เขากล่าวหาว่ามีพฤติกรรมหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างหนัก โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เยาวชนปาตานี' ร้องยูเอ็นปมปิดล้อมคุมตัว น.ศ.ปาตานีในกรุงเทพ

$
0
0

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี เข้ายื่นร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติกรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา เมินคณะกรรมการสิทธิฯ เหตุไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ

<--break- />

ที่มาเพจ The Federation of Patani Students and Youth - PerMAS

24 ต.ค. 2559 อัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี(permas) พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights – UNOHCHR) กรณีการปิดล้อมคุมตัวนักศึกษาเยาวชนปาตานีในกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา 

อัสมาดี กล่าวว่า พวกเรามีความกังวลใจต่อการปฏิบัติการของภาครัฐในการจำกุม ปิดล้อม ตรวจค้นนักศึกและเยาวชนปาตานี ที่ใช้อำนาจไม่อยู่บนพื้นฐานหลักนิติรัฐนิติธรรมเท่าที่ควร เพราะการอ้างว่าการบุกจับกุมครั้งนี้ เพราะหวั่นจะก่อเหตุการณ์วินาศกรรม ช่วงวันที่ 25 ต.ค.-30 ต.ค.นี้ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันครบรอบการสลายการชุมนุมตากใบ ถามว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้มีหลักการทางกฎหมายอย่างไร ยิ่งรัฐทำเช่นนี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง เพราะส่งผลถึงความไม่เชื่อใจของประชาชนในพื้นที่แล้ว และเกรงว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้ จะทำให้เยาวชนปาตานีถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง และเมื่อมีเหตุวินาศกรรมเกิดขึ้นที่ไหน เยาวชนปาตานีอาจจะถูกโยนความผิดทั้งที่ไม่ได้เป็นคนกระทำก็ได้ 

“การจับกุมครั้งนี้ เป็นการจับกุมที่มีตัวเลขสูงมาก ทำให้เรากังวลใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะที่ผ่านมาระดับนโยบายภาครัฐที่ออกมานั้นดูเหมือนจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ริดรอนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนอย่างมาก ที่ผ่านมาเราเรียกร้องผ่านรัฐมาโดยตลอด อยากให้รัฐแสดงความจริงใจที่แท้จริง” อัสมาดี กล่าว 

อัสมาดี กล่าวว่า การยื่นหนังสือต่อยูเอ็นครั้งนี้ เพื่อขอให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เนื่องจากเรามีความเชื่อมั่นในกลไกการตรวจสอบเรื่องสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เพราะที่ผ่านมาเราเรียกร้องไปยังรัฐบาลมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเมื่อเราร้องขอเข้าเยี่ยมเยาวชน พาพ่อแม่พวกเขาขึ้นมากทม. รัฐก็กลับส่งตัวกลับไปที่คุมขังที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แสดงให้เห็นว่ามักมีปัญหาทางเทคนิคตลอด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ เท่าที่เราติดตามการจับกุม ทราบว่ามีผู้ถูกจับกุมไปถึง 105 คน แต่ที่มีรายชื่อออกมามีเพียง 44 คน ซึ่งมีบางส่วนที่ถูกปล่อยตัวมาบ้างแล้ว และที่ชัดเจนคือมี 5 คนที่ถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี 

ต่อกรณีคำถามทำไมถึงไม่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องสิทธิของไทยเข้ามาตรวจสอบนั้น อัสมาดี กล่าวว่า เราไม่มั่นใจการตรวจสอบของกสม. เพราะเป็นหน่วยงานที่อิงกับภาครัฐ ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบอาจจะติดขัดได้

หลังเข้าพบตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ อัสมาดี เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นทาง UN รับข้อเสนอต่างๆ ที่ได้นำมายื่นในวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นการทำงานตามกลไกต่อไปคือการเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ สำหรับข้อเสนอที่ได้นำมายื่นคือ ขอให้ทาง UN เฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในช่วงเปราะบางทางการเมือง รวมถึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในไทย โดยเป็นทีมตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพราะกระบวนการสันติภาพขณะนี้ยังไม่ตอบโจทย์รากเหง้าของประเทศไทย

 

ที่มา : สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรรเสริญ แนะกลุ่มกอดฟรีคลายเศร้า น่าทำกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้

$
0
0

พล.ท.สรรเสริญ ชวนเยาวชนทำกิจกรรมแสดงความอาลัยให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงาม แนะกิจกรรมกอดฟรี บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อแสดงความรักกัน น่าจะมีกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้ ขณะที่กิจกรรมระบุชัด ชายกอดชาย หญิงกอดหญิง 

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drag Diesel Thailand' ซึ่ง 23.00 น. 24 ต.ค.2559 ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวของเพจนี้ได้

24 ต.ค. 2559 ผู้สื่อข่ายรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Drag Diesel Thailand' ได้เผยแพร่ภาพชายและหญิงสวมชุดดำ ด้านหลังเป็นกระทรวงกลาโหม พร้อมชูป้าย "กิจกรรมกอดฟรี เพราะพ่ออยากให้รักกัน” พร้อมข้อความประกอบโพสต์ดังกล่าวด้วยว่า ชายกอดชาย หญิงกอดหญิง 

ซึ่งโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในเฟซบุ๊กจำนวนมาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์ดังกล่าวได้แล้ว 

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบฯ)

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงกิจกรรมนี้ด้วยว่า อยากให้ข้อคิดแก่เยาวชนทุกคนว่า ทุกกิจกรรมที่ทำนอกจากเกิดจากเจตนาดีแล้ว ต้องพิจารณาว่ากิจกรรมเหล่านั้นเหมาะสม และความควรแก่กาลเทศะด้วย จึงจะเรียกว่าสมบูรณ์พร้อม ดีพร้อม เพราะหากกิจกรรมนั้น ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมอันดีงาม หรือไม่เหมาะควรแก่ห้วงเวลาขณะนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแก่การแสดงความอาลัยของชาวไทยทุกคน ความตั้งใจดีนั้นก็อาจจะไม่ได้รับคำชื่นชม สมดั่งเจตนาของผู้กระทำ อาทิ กิจกรรม ที่มีการแพร่ในโซเชี่ยล ว่าให้กอดฟรี บริเวณท้องสนามหลวงเพื่อแสดงความรักกันนั้น หากเป็นสิ่งที่จัดขึ้นจริงตามภาพข่าวที่เผยแพร่กัน ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า น่าจะมีกิจกรรมที่เหมาะควรกว่านี้ หรือน่าทำมากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่ากิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายวันแล้ว โดย เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา เนชั่น และไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า บริเวณท้องสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม. ได้มี ณัฐชานันท์ พรบุญบานเย็น อายุ 19 ปี และกลุ่มเพื่อนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 4 คน จัดกิจกรรมให้กอดฟรี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแแก่ผู้ที่มาร่วมงานถวายความอาลัย 

ณัฐชา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้เปิดเว็บไซต์ชื่อดังเห็นคลิปวีดีโอแถบยุโรป ให้เข้าสวมกอดบุคคลที่ยืนถือป้าย ฟรีกอด หรือ freehug เพื่อให้บุคคลที่กำลังโศกเศร้าเสียใจเกิดความสบายใจมากขึ้นด้วยภาษากาย จึงเกิดไอเดียแล้วปรึกษากับกลุ่มเพื่อนมหาวิทยาลัย เห็นพ้องกันอยากทำกิจกรรมบริเวณสนามหลวง ทั้งนี้รวมตัวกันมาทำวันแรกตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมง มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามากอดแล้วเกือบ 100 คน  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุคลิกภาพของ ร.5 ในบทบาทนักการเมืองภายใต้การบริหารจัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น

$
0
0

<--break- />

หนังสือ The Rise and Decline of Thai Absolutism ของ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทยในช่วงรัชกาลที่ 4-6 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองและการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ของไทยโดยสถาบันพระมหากษัตริย์มีบทบาทสำคัญท่ามกลางปัจจัยการเมืองภายในและนอกประเทศ จากหนังสือนี้มีประเด็นน่าสนใจประเด็นหนึ่งคือบุคลิกภาพ และยุทธวิธีทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแสดงหนึ่งทางการเมือง ที่ใช้จัดการกับกลุ่มการเมืองสองรุ่น เพื่อเป้าประสงค์ต่างๆ กัน คือในช่วงต้นรัชกาลเป็นไปเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ในช่วงปลายรัชกาลเป็นความพยายามรักษาอำนาจของพระองค์ไว้จากความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และกลุ่มการเมืองใหม่ๆ ที่พระองค์มีส่วนสร้างขึ้นมาเอง

ในการพิจารณาบุคลิกภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะ ‘นักการเมือง’ อาจพิจารณาได้จากยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางการเมืองต่อกลุ่มพลังทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นอาจแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่


1. กลุ่มอำนาจเก่า ประกอบไปด้วย

1) กลุ่มสยามเก่า นำโดยกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (วังหน้า)

2) กลุ่มอนุรักษ์นิยม นำโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) หรือ

ตระกูลบุนนาคและพวกพ้อง    

3) กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยากระสาปนกิจโกศล พระยาภาสกรวงศ์

ทั้งสามกลุ่มนี้เป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในช่วงต้นรัชกาล

2. ในช่วงปลายรัชกาลมีสองกลุ่มสำคัญคือ กลุ่มสยามหนุ่ม (รุ่นที่ 2 ) คือกลุ่มพระโอรส กับชนชั้นสูง เช่น จมื่นไวยวรนาถ พระองค์เจ้าเทววงศ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระองค์เจ้าภานุรังษี จมื่นศรีสรรักษ์ ฯลฯ และกลุ่มข้าราชการสามัญชนคนรุ่นใหม่

ยุทธศาสตร์การต่อสู้ในกรณีกลุ่มแรกนั้น เป็นไปเพื่อการรวบอำนาจของพระมหากษัตริย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาววิสัยทางประวัติศาสตร์ในระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์มิใช่ผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองหากแต่อำนาจกระจายอยู่ที่เจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ขุนนางในระบบไพร่-ขุนนาง โดยเฉพาะในราชสำนักอำนาจการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ขุนนางตระกูลบุนนาคสืบต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์จึงจำต้องต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าและปรับเปลี่ยนการบริหารปกครองเสียใหม่และให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจทุนนิยม การเมืองโลกขณะนั้น พระองค์ต่อสู้กับกลุ่มสยามเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยมีกลุ่มสยามหนุ่มเป็นแนวร่วม ยุทธวิธีที่ใช้คือไม่แตกหักกับศัตรูทางการเมือง แต่ใช้วิธีทำลายคู่ต่อสู้อย่างช้าๆ เช่นกรณีปฎิรูปการคลัง รวบอำนาจจัดเก็บภาษีของขุนนางไว้ที่ส่วนกลางในขณะเดียวกันก็สนองตอบข้อเรียกร้องจากกลุ่มการเมืองแต่ไม่ใช่ทำให้สำเร็จในคราวเดียวเพื่อจะทำให้กลุ่มการเมืองเห็นว่าพระองค์ยังมีประโยชน์ต่อพวกเขาอยู่ ยุทธวิธีการหาแนวร่วมโดยชูประเด็นที่มีความเห็นตรงกันเช่น สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดดเดี่ยวกลุ่มสยามเก่า อีกทั้งกรณีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าในปีพ.ศ. 2417-2418 พบว่าเมื่อวังหน้าอาศัยกงสุล Thomas Knox  เป็นพันธมิตร และมีแนวโน้มนำไปสู่แทรกแซงการเมืองจากตะวันตก พระองค์ก็อาศัยสายสัมพันธ์กลุ่มสยามหนุ่มสร้างพันธมิตรกับกงสุล Sir Andrew Clarke เพื่อทัดทานการแทรกแซงเช่นกัน

การสิ้นอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าปรากฏชัดเมื่อแกนนำของแต่ละกลุ่มสิ้นชีวิตลง ในขณะที่พระองค์เองก็เริ่มมีอำนาจรวมศูนย์เพิ่มขึ้น การใจเย็นรอเวลา ในขณะที่ตัวเองได้เปรียบดูเหมือนจะช่วยให้พระองค์เอาชนะคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่มีอายุมากกว่าและอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนความได้เปรียบทางการเมืองที่พระองค์มีนั้นเกิดจากยุทธวิธีเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองบางกลุ่มเพื่อให้กลุ่มอื่นๆ หันมาสวามิภักดิ์เป็นแนวร่วมเพิ่ม สำหรับกลุ่มที่ไม่สวามิภักดิ์พระองค์ก็ไม่ได้ใช้วิธีแตกหักแต่ใช้วิธีปล่อยให้กลุ่มดังกล่าวถูกโดดเดี่ยว อ่อนตัวสลายลงไปเอง ยุทธวิธีดังกล่าวกระทำผ่านกลไกการเมืองที่สำคัญเช่นสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (The Council of state) เป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ โดยดึงเอาเจ้านายระดับเจ้าพระยามาเข้าร่วมทั้งจากกลุ่มสยามเก่า อนุรักษ์นิยมและกลุ่มอื่นๆ การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในสภาเท่ากับเป็นการยอมรับของแต่ละกลุ่มการเมืองด้วย แม้กระทั่งการตัดสินลงโทษขุนนางที่ “คอรัปชั่น” เช่นกรณีพระยาอาหารบริรักษ์หนึ่งในเครือข่ายตระกูลบุนนาค ทว่าในที่สุดพระองค์ก็แสดงวิธีการรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ด้วยการประนีประนอมไม่ลงโทษแตกหักที่อาจสร้างความโกรธแค้นให้เครือข่ายบุนนาค อันสะท้อนว่า วิธีจัดการกับชนชั้นนำที่เป็นศัตรูต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ไม่แตกหัก หากพิจารณาผลการต่อสู้ทางการเมืองกับกลุ่มแรกนี้จะพบว่าพระองค์ประสบความสำเร็จ สถาปนาอำนาจรวมศูนย์ไว้ได้ ในขณะเดียวกันเมื่อต้องจัดการกับกลุ่มที่สอง กลับพบว่าพระองค์ไม่ประสบความสำเร็จนักและยังส่งผลไปสู่ปัญหาการเมืองในรัชกาลที่ 6-7 กลายเป็นจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด

การสร้างระบบราชการสมัยใหม่เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่พระองค์ใช้เป็นกลไกรวมศูนย์อำนาจทางการเมือง ในบรรยากาศยุคล่าอาณานิคม ทว่าคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกและจากโรงเรียนวิชาชีพภายในประเทศได้เข้าสู่ระบบราชการกลายเป็นคนกลุ่มใหม่ทั้งยังเป็นปัญหาของพระองค์ในเวลาต่อมา กล่าวคือในระบบราชการได้ย้ายความภักดีของข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปยังความภักดีต่อวิชาชีพ ระบบคุณธรรม (Merit) และชาตินิยม (Nationalism) โดยมีเครือข่ายอุปถัมภ์ใหม่คือเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นสูงเป็นศูนย์กลาง ข้าราชการรุ่นใหม่นี้ตั้งคำถามกับประเด็นลำดับความสำคัญของผลประโยชน์แห่งชาติกับผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ ความเป็นอิสระของศาลจากฝ่ายบริหาร ความเท่าเทียมกันในเรื่องเลื่อนชั้นสังคมอาชีพการงาน นอกจากนี้กลุ่มสยามหนุ่มรุ่นที่สอง ที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1880s  แม้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มที่แต่มีมุมมองความเห็นแตกต่างกับพระมหากษัตริย์หลายประการเกี่ยวกับอนาคตของรัฐไทย กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามต่ออำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ โดยปรากฏเป็นบันทึก Memorandum วิพากษ์และเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อป้องกันปัญหาการเมืองกับประเทศเจ้าอาณานิคมในช่วงค.ศ.1985 ทั้งที่ปัญหาการเมืองลงลึกในระดับความคิดคุณค่าใหม่ในสังคม ทว่ารัชกาลที่ 5 กลับใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการ  สั่งการ เพื่อช่วงชิงความภักดีกลับมาผ่านพิธีกรรมเช่นกรณีสั่งให้ข้าราชการเข้าร่วมพิธีโสกัณฑ์ ทว่าข้าราชการกลับเข้าร่วมพิธีไม่มากดังที่พระองค์ปรารถนา

ในระดับอัตวิสัยพระองค์ประสบปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งใหม่-เก่า ลังเลที่ไม่ขจัดคนเก่า และไม่ส่งเสริมคนใหม่อย่างเต็มที่ อาทิ พยายามรักษาความพึงใจของขุนนางเก่า ส่งเสริมลูกหลานคนเหล่านั้นให้ศึกษาและรับราชการแต่ก็ติดขัดตรงที่ขุนนางไม่เคยชินกับการทำงานหนัก รวมถึงระบบบริหารสมัยใหม่ การเรียนการสอบแข่งขัน อีกทั้งจำนวนชนชั้นสูงเหล่านี้ก็มีจำนวนไม่มาก ไม่เพียงพอต่อระบบบริหารสมัยใหม่จนเป็นช่องทางให้สามัญชนสามารถเข้าสู่ระบบราชการเลื่อนฐานะจนเป็นชนชั้นกระฎุมพีได้ กระนั้นก็พบว่าพระองค์ไม่สามารถนำระบบ merit มาใช้ได้อย่างเต็มที่อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสามัญชนคนรุ่นใหม่กับกลุ่ม “ผู้ดี” เก่า และความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับข้าราชการรุ่นใหม่

อีกประการหนึ่งพระองค์ไม่สามารถจัดการกับศัตรูทางการเมืองกลุ่มที่สองในช่วงปลายรัชกาลได้เพราะคนรุ่นใหม่ที่ว่านี้ เป็นบรรดาโอรสของพระองค์ เมื่อคนเหล่านี้วิพากษ์พระองค์ หรือขัดแย้งกัน พระองค์จะกระทำเพียงตักเตือน หมายหัว โดดเดี่ยว ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดิมที่เคยใช้ แต่กับสามัญชนในทางตรงกันข้ามจะถูกตัดสินโทษหนักเช่นกรณีนายเทียนวันถูกตัดสินจำคุกเป็นต้น

การต่อสู้ของรัชกาลที่ 5 กับกลุ่มการเมืองในช่วงต้นรัชกาลนั้นสะท้อนให้เห็นบุคลิกภาพของรัชกาลที่ 5 ในฐานะนักการเมืองที่มีทั้งการรุก-รับอย่างใจเย็น รู้จักจังหวะเวลา  ไม่ผลักให้ศัตรูรู้สึกหมดหนทางสู้แต่เป็นการเมืองแบบรวมคนเข้ามาร่วมกัน (Inclusive) อีกทั้งแสวงหาแนวร่วมเพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามทั้งจากภายในและภายนอก ในขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองปลายรัชกาลจะพบว่า พระองค์มีความลังเลเมื่อต้องเผชิญกับศัตรูการเมืองที่พระองค์สร้างขึ้นมาเองผ่านระบบราชการอันเป็นความลังเลที่สะท้อนภาววิสัยทางประวัติศาสตร์คือระบบประเพณีดั้งเดิมอันขัดต่อ “ความทันสมัย” ที่เข้ามาใหม่และยังไม่ลงรอยกัน ปัญหานี้ทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อกษัตริย์มีแนวโน้มที่จะเลือกข้างระบบประเพณี สอดคล้องกับอัตวิสัยส่วนพระองค์ที่เชื่อว่าลูกหลานขุนนางเก่าไว้วางใจได้มากกว่าสามัญชนที่พระองค์ไม่รู้จัก ดังนั้นในบทบาทนักการเมืองแล้วพระองค์จึงต้องเลือกทำในสิ่งที่คาดว่าจะรักษาอำนาจของพระองค์ไว้ให้นานที่สุด

0000

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน:  นักศึกษาโครงการรัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุสลิมขอโทษ

$
0
0

ในนามของมุสลิม "อยากขอโทษ" สำหรับเหตุการณ์ระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่ง ตัวเมืองปัตตานี ทำให้ผู้เสียบาดเจ็บเกือบ 20 คน และเสียชีวิต 1 คน

ในคัมภีร์อัลกรุอ่านได้กล่าวใว้ว่า "โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่า และตระกูลเพื่อจะได้รู้จักกัน" (อัล-กุรอาน 49/13) เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะอ้างว่ามีความสูงส่งกว่าคนอื่นที่แตกต่างกันทางเผ่าพันธุ์และชาติตระกูล และไม่มีใครอ้างสิทธิ์ที่จะพลากชีวิตคนอื่นได้ ไม่ว่านามอะไรก็ตาม

ทำไมมุสลิมต้องขอโทษ? เหตุการณ์ระเบิด กราดยิง หากเหยื่อหรือผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคนนับถือศาสนาพุทธ ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการติดอาวุธต่อต้านรัฐ แน่นอนก็ย่อมเป็นคนมุสลิม

ฉะนั้น คำว่า“ระเบิด” เป็นคำกริยา(Verb) ที่บอกถึงประธาน (Subject) คือ โจรใต้มุสลิม ที่ดูเหมือนอยู่ในพจนานุกรมของนักข่าวหนังสือพิมพ์ ที่เหมือนฝังในหัวและปรากฎอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 2547 อันเป็นลักษณะการ  คุมคำ > คุมความหมาย > คุมความคิด > คุมคน ตามคำอธิบายของนักรัฐศาสตร์ไทยอย่าง ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ฉะนั้นเหมือนเป็นการควบคุมความคิดของคนในสังคมไทยโดยอัตโนมัติ โดยปราศจากคำถาม เมื่อเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำตอบของสังคมคือ “พวกโจรใต้มุสลิม” แน่นอนไม่ต้องคิดมากและถามต่อ จบข่าว


เหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่ง ตัวเมืองปัตตานี ถือว่าเป็นการระเบิดที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทำให้อดคิดถึงและเป็นห่วงพี่ๆเพื่อนๆ นักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มุสลิม กลุ่มเพื่อนๆอาจารย์/นักวิชาการ มักชอบไปทานอาหารที่หน้าตลาดโต้รุ่ง อันเป็นตลาดที่มีการจับจ่ายและมีอาหารให้รับประทานจำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ใช่มีแต่คนมุสลิมขาย หลายต่อหลายครั้งเมื่อมีนักวิชาการลงมาเยี่ยมเยียน ตกกลางคืนก็มักจะไปเดินหาของใส่ท้องยามค่ำคืนหรือแม้กระทั่งยามเช้า

โดยส่วนใหญ่ที่ผมคลุกคลีอยู่ด้วย กลุ่มพี่ๆเพื่อนๆอาจารย์ที่ไม่ใช่มุสลิมที่ผมรู้จัก นอกจากภาระกิจการสอนแล้ว หลายคนยังใส่ใจทำงานทางสังคม เช่น จัดกลุ่มทีมฟุตบอลผู้หญิงให้แก่ชาวมลายูมุสลิม หลายคนทำผลงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ปาตานีที่เปิดพื้นที่ให้แก่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หลายคนคลุกคลีกับชาวบ้านลงพื้นที่ทำงานด้านการพัฒนาแก่ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้อาจจะทำให้หลายต่อหลายคนหมดกำลังใจและท้อถอยลงได้

เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ คงไม่ใช่แนวทางของการต่อสู้อย่างสง่างาม เพราะนอกจากปราศจากความรับผิดชอบ ทั้งต่อเป้าหมายทางการเมืองและเหยื่อผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตแล้ว ยังสร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวบ้านมลายูจำนวนไม่น้อย เพราะหลังจากนี้ตามหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่คงต้องโดนตรวจค้นและออกหมายจับ อีกจำนวนไม่น้อย

ที่สำคัญทุกคนที่ตายไปในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนฝ่ายต่างๆ สายสืบหรือชาวบ้านผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ รวมถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร อิหม่ามยะผา กาเซ็ง ชาวบ้านที่ถูกอุ้มหายสาบสูบ เหยื่อจากคมกระสุนและระเบิดทั้งหมด หรือผู้ก่อการนับร้อยในเหตุการณ์กรือเซะ ชาวบ้านในเหตุการณ์สลายม็อบที่ตากใบ ฯลฯ ทั้งหมดมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ พวกเขาทุกคนล้วนมีคนที่รักใคร่ห่วงใย มีพ่อ มีแม่ มีพี่ มีน้อง มีลูกเมียญาติมิตร มีความฝัน ความหวังต่อชีวิตในอนาคตด้วยกันทั้งสิ้น

ฉะนั้นไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม ไม่ว่าผู้รักษาดินแดนหรือผู้แบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าคนใส่เครื่องแบบหรือพลเรือน ความรู้สึกของพวกเขา คือความรู้สึกแห่งความเจ็บปวดจากการสูญเสียชีวิตที่ไม่มีวันได้คืน ทิ้งเหลือแต่ความคับแค้นใจและเสียใจ ให้แก่คนข้างหลังที่ต้องแบกภาระทางจิตใจอันหนักหน่วง

การใช้วิธีการรุนแรง เช่นระเบิด กราดยิง มันง่ายต่อการบรรลุเป้าหมายคือทำให้คนตายและบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำจากฝ่ายใด เพราะไม่จำเป็นต้องพึงทฤษฎีและวิธีคิดใดให้ซับซ้อน

การระเบิดที่เข่นฆ่าประชาชนทำลายผู้บริสุทธิ์พลเรือนเช่นนี้ ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศขั้นร้ายแรง

สำหรับประชาคมมุสลิมที่ประสบปัญหากับการรับมือวิธีคิดสุดโต่ง (Extremism) ยังไม่สามารถยับยั้งหรือเสนอแนวคิดสันติวิธีอันเป็นมรดกและทรัพย์อันล้ำค่าทางด้านวิทยปัญญาของอิสลามให้แก่กลุ่มมุสลิมบางส่วนที่เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงในนามของมุสลิม เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก หลักคำสอนบางข้อได้ถูกนำมาตีความเพื่อให้สอดรับกับวิธีอันรุนแรงของกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง โดยปราศจากผู้รู้ที่รับรองและขาดการตีเบต ถกเถียง/อภิปรายให้กว้างขวาง

ในนามของมุสลิมอยากจะกล่าวคำขอโทษ ต่อผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกคน ซึ่งดูจากรายชื่อผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ก็เป็นพี่น้องไทยพุทธ และแน่นอนขอประณามต่อการกระทำครั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำฝ่ายใด เพราะวิธีการแบบนี้ไม่สามารถจะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นได้ 

0000

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน Patani Forum 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักสิทธิผู้บริโภคอเมริกันเขียน ทำไมการควบรวมกิจการบรรษัทยักษ์ กระทบอาหาร-น้ำ-ภาวะโลกร้อน

$
0
0

สื่อนอกกระแสของสหรัฐฯ คอมมอนดรีมส์รายงานเรื่องเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการครอบงำของกลุ่มบรรษัทในมิติต่างๆ ทั้งด้านอาหารและพลังงาน ทำให้เกิดปัญหาต่ออาหาร น้ำ และภาวะโลกร้อน โดยผู้เขียนวีโนนาห์ เฮาเตอร์ ระบุว่าธนาคารเครดิตสวิสมีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงอยู่เบื้องหลังโครงการที่มีปัญหาอย่างดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ด้วย

24 ต.ค. 2559 "คุณอาจจะเคยเรียนรู้มาก่อนในไฮสคูลว่าการผูกขาดเป็นเรื่องแย่กับผู้บริโภค" เป็นประโยคเปิดบทความของ วีโนนาห์ เฮาเตอร์ ผู้อำนวยการองค์กรผู้บริโภค ฟูดแอนด์วอเทอร์วอทช์ โดยอธิบายต่อไปว่าการผูกขาดทำลายการแข่งขันในตลาด ทำให้ผู้คนมีทางเลือกน้อยลงและทำให้สิ่งของราคาสูงขึ้น การที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ร่วมทุนกันในตลาดอาหารและพลังงานยังทำให้มีแค่บรรษัทไม่กี่บรรษัทครองตลาด การที่พวกเขายึดกุมตลาดเอาไว้ยังส่งผลต่อนโยบายสาธารณะทำให้พวกเขามีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองด้วย

อย่างที่เมื่อไม่นานนี้ เอลิซาเบธ วอร์เรน นักวิชาการและ ส.ว. พรรคเดโมแครตกล่าวไว้ว่าการแข่งขันกำลังจะตาย การที่บรรษัทยึดกุมภาคส่วนต่างๆ ไว้เป็นภัยต่อประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

เฮาเตอร์ยังเปิดเผยอีกว่าการทำข้อตกลงร่วมทุนของบรรษัทยักษ์ยังทำเงินมหาศาลให้กับธนาคารที่มีอำนาจ ทำให้พวกเขามีอิทธิพลทางการเมือง หนึ่งในธนาคารที่ว่าคือเครดิตสวิส เฮาเตอร์เปิดเผยว่า ไบเออร์ บริษัทเคมีจากเยอรมนี ซื้อบริษัทมอนซานโตของสหรัฐฯ ด้วยวงเงิน 64,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) บริษัทเคมไชนาซื้อบริษัทยาฆ่าแมลงและเมล็ดพันธุ์ของสวิตเซอร์แลนด์ซินเจนตาด้วยวงเงิน 46,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) บริษัทท่อน้ำมันสัญชาติแคนาดาเอนบริดจ์พยายามซื้อกิจการบริษัทสเปกตราซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฮิวสตันของสหรัฐฯ ด้วยวงเงิน 43.1 ล้านดอลลาร์ (1.5 ล้านล้านบาท) โดยทั้งหมดนี้มาจากการแนะนำของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งได้รับค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาถึง 100-200 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,500-7,000 ล้านบาท)

แล้วการควบรวมกิจการขนาดใหญ่มีผลกระทบต่ออาหาร น้ำ สิ่งแวดล้อมอย่างไร? เฮาเตอร์อธิบายไว้ในบทความว่ากิจการขนาดยักษ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเกษตรและโครงสร้างพลังงาน พวกธนาคารและสถาบันทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครดิตสวิส, เวลส์ฟาร์โก, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนด์ลีย์, แบงค์ออฟอเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป ฯลฯ ต่างอยู่เบื้องหลังโครงการที่สร้างปัญหาอย่างดาโคตาแอคเซสไปป์ไลน์ที่ชนพื้นเมืองสแตนดิงร็อคซูส์ลุกขึ้นต่อต้านเพราะธนาคารอย่างเครดิตสวิสเป็นผู้ให้เงินกู้แก่โครงการของเอนเนอร์จีทรานสเฟอร์ หุ้นส่วนหลักของเอนบริดจ์ โดยโครงการดังกล่าวจะทำให้แหล่งน้ำของชนพื้นเมืองเป็นพิษ

เฮาเตอร์ระบุว่าถ้าหากเอนบริดจ์ควบคุมกิจการกับสเปกตราแล้วจะทำให้พวกเขากลายเป็นบรรษัทโครงสร้างพื้นฐานพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือและมีอิทธิพลทางการเมืองมาก และบรรษัทนี้พยายามจะขุดเจาะน้ำมันและก๊าซจากใต้ผืนโลกให้ได้มากที่สุดด้วยวิธีการแฟรกกิงซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมรวมถึงเรื่องสภาพภูมิอากาศด้วย

นอกจากนี้บทความของเฮาเตอร์ยังแสดงความกังวลว่าถ้าบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่อย่างมอนซานโตกับซินเจนตาควบรวมกิจการกันจะทำให้พวกเขามีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือเกษตรกร ทำให้กำหนดราคาสูงๆ ได้ และจำกัดทางเลือกเมล็ดพันธุ์กับเครื่องมือการเกษตร อาจจะมีพืชที่ปลูกด้วยสารฆ่าแมลงอันตรายอย่างไกลโฟเสตเพิ่มมากขึ้นซึ่งไกลโฟเสตเป็นสารที่มีส่วนในการก่อมะเร็งและวัชพืชที่ทนทานขึ้น เฮาเตอร์ยังบอกอีกว่ากลุ่มบรรษัทเหล่านี้อาจจะล็อบบี้เรื่องการอภิปรายเกี่ยวกับจีเอ็มโอที่จะเป็นการให้ข้อมูลผิดๆ ต่อประชาชน

ในแง่ของการล็อบบี้ เฮาเตอร์ระบุถึงสิ่งที่เธอเคยเขียนในหนังสือของเธอว่าถ้าหากบรรษัทเหล่านี้มีอำนาจมากขึ้นพวกเขาก็จะใช้อิทธิพลในการกำหนดกติกาของตัวเองทำให้คนทั่วไปต้องต่อสู้หนักขึ้นเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิมีเสียงในระบอบประชาธิปไตยและเกิดเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

เฮาเตอร์ยังเขียนถึงกรณีที่บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอย่างสแตนดาร์ดออยล์ที่คอยกุมอำนาจเพื่อยับยั้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่สมัยของ เจ.ดี. ร็อคกี้เฟลเลอร์ หนึ่งในบริษัทที่แตกออกมาอย่างเอ็กซอนก็เคยค้นพบมานานแล้วว่าเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนแต่มีการปิดข่าว

ในบทความ เฮาเตอร์ยังยกตัวอย่างถึงกรณีที่ชุมชนหลายชุมชนในรัฐนอร์ทดาโคตาเผชิญกับปัญหามลพิษจากของเสียโรงงานการเกษตรจำนวนมากที่ไหลทะลักในช่วงเกิดพายุเฮอริเคนแมทธิว เฮาเตอร์เตือนว่าเมื่อบรรษัทยักษ์มีอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อระบบพลังงานและอาหารมากมายขนาดนี้ ผู้คนทั่วไปในสังคมอย่างเราก็จะได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการของพวกเขาไปด้วยในขณะที่ธนาคารมัวแต่ฟันกำไรปล่อยให้ประชาชนทนทุกข์กับภาวะโลกร้อนอยู่ในระดับล่างๆ

 

เรียบเรียงจาก

Three Massive Mergers—Millions for One Bank and a Disaster for Food, Water, and Climate, Common Dreams,
http://www.commondreams.org/views/2016/10/21/three-massive-mergers-millions-one-bank-and-disaster-food-water-and-climate

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคม-NGO แถลงประณามผู้ก่อเหตุระเบิด จ.ปัตตานี เสนอเร่งพูดคุยเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

$
0
0

ภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม แถลงการณ์แสดงความเสียใจ- ประณามผู้ก่อเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง จ.ปัตตานี พร้อมเสนอให้เวทีพูดคุยสันติภาพเร่งเรื่องพื้นที่ปลอดภัย

25 ต.ค. 2559 จากกรณีเหตุระเบิดภายในตลาดโต้รุ่ง ถนนพิพิธ เขตเทศบาลเมืองปัตตานี ช่วงค่ำของวันที่ 24 ต.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ สมพร ขุนทะกะพันธ์ และนริศรา มากชูชิต บาดเจ็บสาหัส อีกทั้งมีผู้ได้รับบาดอีกหลายราย คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่รวม 28 องค์กร กล่าวประณามการก่อเหตุดังกล่าวเนื่องจากเป็นการก่อเหตุต่อผู้บริสุทธิ์ เสนอให้พื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน วัด หรือพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลังถูกละเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง อีกทั้งยังเสนอให้เวทีการพูดคุยสันติภาพที่ประเทศมาเลเซียเร่งพูดคุยและสร้างข้อตกลงเพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดภัยแก่ประชาชน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวประณามผู้ก่อเหตุพร้อมกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศ อีกทั้งการก่อเหตุดังกล่าวยังเป็นก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาสันติภาพละวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเพียง 1 วัน ส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิต และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารรวมทั้งเรียกร้องให้รัฐทำการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ระหว่างทางที่หาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ และองค์กรภาคประชาสังคม

25 ตุลาคม 2559 ณ ตลาดโต้รุ่ง อ. เมือง จ. ปัตตานี

ขอแสดงความเสียใจอย่างหาที่เปรียบมิได้ กับครอบครัวผู้เสียชีวิต _ป้าสมพร ขุนทะกะพันธ์ และน้องนริศรา มากชูชิต และขอวิงวอน ภาวนาให้ผู้บาดเจ็บนับสามสิบคน ปลอดภัย และมีจิตใจที่เข้มแข็ง จากการประสบเหตุการณ์ระเบิดในตลาดโต้รุ่ง เมื่อคืนนี้

การกระทำความรุนแรงที่ไม่คำนึงถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่กระทำการอันโหดร้าย ต่อ เด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนที่ไม่มีอาวุธและไม่ใช่เป็นคู่ต่อสู้. ถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีสิทธิ์ มีชีวิตรอด เป็นการกระทำการยกเข่ง เหมารวมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีคนหลากหลายศาสนา เพศ วัย จำนวนมาก ไปใช้ประโยชน์ กลุ่มคนที่กระทำจึงเป็นกลุ่มคนที่ควรถูกประณามจากสาธารณะอย่างยิ่ง

เราทั้งหลายขอวิงวอน ภาวนา ร้องขอให้
1. ผู้ก่อเหตุยุติการกระทำเยี่ยงนี้เสีย
2. ขอให้ละเว้นการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง คน แก่ และคนที่ไม่มีอาวุธ
3. ขอให้พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ ตลาด ถนนหนทาง โรงเรียน วัด มัสยิด โบถส์คริสต์ และ พื้นที่ อื่น ๆ ที่มิใช่สนามรบหรือจุดตั้งกองกำลัง ถูกละเว้นจากการทำความรุนแรงและมีความปลอดภัย 
4. ขอให้รัฐเร่งจับกุมคนกระทำในครั้งนี้และทำความกระจ่างให้แก่ประชาชนโดยเร็ว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับการไม่ให้มีการก่อเหตุซ้ำในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ
5. ขอให้โต๊ะพูดคุยสันติสุข สันติภาพที่มาเลเซีย ในวันนี้ เร่งพูดคุยและ ได้ร่วมกันทำเรื่องพื้นที่สาธารณะ ปลอดภัย ตามข้อเสนอขององค์กรผู้หญิงที่ท่านรับในการพูดคุยเมื่อ 2 กันยายน 2559ให้เป็นข้อตกลงสำคัญที่จะร่วมกันทำให้เป็นจริง เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน ที่ ท่าน บอกว่า สำคัญต่อท่าน
6. ขอให้กลุ่มก่อการอื่น ๆ ในพื้นที่ ยุติการทำรุนแรงต่อพลเรือน และพื้นที่สาธารณะ 
7. ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศร่วมลงนามในแถลงการณ์ของเรา เพื่อแสดงพลังพลเมืองไม่เอาความรุนแรง

เราจึงขอลงนามเพื่อข้อเรียกร้องทั้งหมด

คณะทำงานวาระผู้หญิง ทั้ง 23 องค์กรสมาชิก 
1. กลุ่มเซากูน่า
2. กลุ่มด้วยใจ
3. กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้
4. กลุ่มออมทรัพย์สัจจะสตรี
5. เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ( Civic Women)
6. เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7. เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ
8. เครือข่ายทรัพยากรชายแดนใต้
9. เครือข่ายชุมชนศรัทธา
10. เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี
11. เครือข่ายอาสาสมัครยุติธรรมทางเลือก
12. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
13. เครือข่ายผู้หญิงธรรมาภิบาลชายแดนใต้
14. ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส
15. ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส 
16. มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า 
17. สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) 
18. สมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
19. สภาประชาสังคมชายแดนใต้
20. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ 
21. ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา
22. ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า 
23. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 
24. ชุมชนคูหามุข เทศบาบนครยะลา
25. เครือข่ายสตรีชาวพุทธเพื่อสันติภาพ
26. ชมรมพุทธรักษา
27. กลุ่มสตรีพุทธเพื่อสังคม 
28. เครือข่ายสานเสวนาพุทธ_มุสลิม

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บประนามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งจังหวัดปัตตานีขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้นยึดมั่นแนวทางสันติ

เผยแพร่วันที่ 25 ตุลาคม 2559

แถลงการณ์

แสดงความเสียใจต่อต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บ

ประณามเหตุรุนแรงและการวางระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งจังหวัดปัตตานี

ขอเสนอแนะให้ทุกฝ่ายอดทนอดกั้นยึดมั่นแนวทางสันติ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 9.00 . เวลา 14.00 . และเวลา 19.00 . มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ปัตตานี  หลายฝ่ายประเมินว่าเป็นการกระทำความรุนแรงอันเนื่องจากวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ โดยเกิดเหตุระเบิดที่อำเภอยะรังแต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ  มีการลอบยิงบุคคลในพื้นที่อำเภอหนองจิกมีผู้เสียชีวิตสองรายเป็นสามีภรรยาและผู้บาดเจ็บหนึ่งรายและเหตุการณ์ที่สามเป็นเหตุการณ์ระเบิดที่ตลาดโต้รุ่งอำเภอเมืองปัตตานีเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตเป็นหญิง 1 รายได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 19 รายผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นละขอประนามผู้ก่อเหตุระเบิดดังกล่าวซึ่งได้ก่อความรุนแรงต่อพลเรือนเด็กและสตรีผู้บริสุทธิ์สร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนอีกทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะการลอบวางระเบิดในตัวเมืองจังหวัดปัตตานีในเวลา 19.00 . ในพื้นที่ตลาดสาธารณะขณะที่ชาวบ้านเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก  ทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองจากการใช้อาวุธไม่ว่าจากฝ่ายใด

การใช้ระเบิดที่มีวิถีการทำลายแบบไม่เจาะจงส่งผลให้มีผู้หญิงและเด็กได้รับบาดเจ็บ การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทั้งตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายในประเทศโดยอาจเป็นความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอีกด้วยจึงควรถูกประนามจากทุกฝ่ายและรัฐต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและรับโทษตามกฎหมายและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

ารก่อเหตุรุนแรงก่อนการเจรจาที่เป็นข่าวสารว่าจะมีขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคมและรวมถึงตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบไม่แต่เพียงส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สินแต่ยังส่งผลระยะยาวถึงศักยภาพของประชาชนในการดำรงชีวิตความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากความพิการหรือผลกระทบทางด้านจิตใจที่กว่าจะฟื้นคืนได้ต้องใช้เวลายาวนาน เหตุระเบิดยังเป็นการส่งเสริมให้วงจรของความรุนแรงยังคงอยู่นอกจากนี้ยังส่งผลลบต่อบรรยากาศการเจรจาสันติภาพซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไม่ว่าฝ่ายใดหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธประหัตประหารและก่อเหตุรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์และรัฐจะต้องนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมช่วยเหลือต่อผู้เสียหายทั้งทรัพย์สินและผู้ได้รับบาดเจ็บ วมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดอย่างเต็มที่ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวความอดทนอดกลั้นของทุกฝ่ายจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้บริสุทธิ์ะหว่างทางที่หลายฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางสันติวิธี

วันที่ 25 ตุลาคม 2559

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศอตช.เผยคดีจำนำข้าว มีจนท.รัฐเอี่ยว 986 คดี 'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม

$
0
0

เลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตฯ เผยการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ขณะนี้ตร.ได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวม 986 คดี 'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

25 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านามา ประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ว่า จากเดิมที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมด 853 คดี ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสำนวนเพิ่มเติมรวมเป็นทั้งหมด 986 คดี

ทั้งนี้ ป.ป.ท.ได้ทยอยส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณา และมีมติสั่งให้ไต่สวนแล้ว 125 คดี โดยจากนี้จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตามจำนวนคดี และตั้งเป้าจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาชี้มูลต่อไป หากเห็นว่ามีมูล ถ้าเป็นคดีอาญาจะส่งให้พนักงานอัยการฟ้องร้อง หากเป็นเรื่องของวินัยหรือค่าเสียหาย จะส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการตามขั้นตอน

ประยงค์ กล่าวยืนยันว่า การทำงานของ ป.ป.ท.เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ การตั้งอนุกรรมการตามจำนวนคดี ถึงแม้เราจะมีบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เราก็จะทำงานตามขั้นตอน สลับบุคลากรเข้าไปทำงานในทุกชุดอนุกรรมการให้การทำงานเดินไปอย่างรวดเร็ว
 

'ภูมิธรรม' ชี้ใช้ม.44 ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม กำลังสร้างความขัดแย้ง

ขณะที่วันเดียวกัน ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเผชิญกับความกดดันจากนโยบายและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาชาวนาในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน แต่กลับต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งโดยการรัฐประหารและใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตั้งแต่การถอดถอนออกจากตำแหน่ง เพื่อทำให้ขาดคุณสมบัติที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และเร่งรัดรีบเร่งไต่สวนคดีทั้งหลาย เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามให้อดีตนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่าเกิดจากโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท อย่างขาดเหตุผลอันชอบธรรมที่จะอธิบายต่อสาธารณะ ที่มิใช่วิถีทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ภูมิธรรม ยังได้ตั้งคำถามว่า การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าเสียหาย นั้น รัฐบาลมีความจำเป็นใดที่ทำให้ต้องรีบเร่ง และรวบรัดดำเนินการเข้าสู่กระบวนการเรียกให้ชดใช้ความเสียหายด้วยเงินจำนวนมากขนาดนี้ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้อยู่ในการบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด พ.ศ.2539 เพื่อช่วยมิให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดทางละเมิด ให้รัฐต้องรับผิดแทน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า มีนักกฎหมายหลายคนตั้งประเด็นการเร่งรัดเรียกค่าเสียหายจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าวถึง 35,000 ล้านบาท ว่า การถูกเรียกให้ชดใช้ความเสียหายจากนโยบายการรับจำนำข้าว ด้วยการออกคำสั่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีเข้าไปยึด และอายัดทรัพย์ได้นั้น กำลังสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะประชาชนบางส่วนแสดงเจตจำนงจะร่วมแบ่งปันความทุกข์กับ ยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ในหลักนิติธรรม ที่ประชาชนกำลังเฝ้าดู และติดตามระบบและกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตัวแทนสนช. แจง ปธ.รัฐสภาโลก ย้ำไทยกำลังเดินหน้าตามโรดแมป เตรียมเลือกตั้งทั่วไป

$
0
0

พิไลพรรณ หัวหน้าคณะผู้แทน สนช. เข้าพบ ประธานสหภาพรัฐสภา แจงสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ที่มาภาพ เว็บไซต์ ข่าวรัฐสภา

25 ต.ค. 2559 ข่าวรัฐสภารายงานว่า พิไลพรรณ สมบัติศิริ หัวหน้าคณะผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union:IPU) ครั้งที่ 135 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำคณะผู้แทน สนช.ประกอบด้วย สมชาย แสวงการ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล เสาวณี สุวรรณชีพ เเละ สุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 22– 27 ต.ค. 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยเข้าพบ ซาเบร์ โฮซเซน เชาว์ดรี ประธาน IPU เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังเดินหน้าไปตามโรดแมป มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และ สนช. ดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเตรียมการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งประธาน IPU ได้รับทราบและเข้าใจถึงโรดแมปเเละสถานการณ์การเมืองไทย ท่ามกลางความเศร้าเสียใจของประชาชนไทยที่อยู่ในช่วงการถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เเละเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะสามารถเดินหน้าตามโรดแมปและจัดให้มีการเลือกตั้งได้ภายหลังพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชแล้ว 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ สมาชิก สนช. ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิก IPU ทั้ง 153 ประเทศ ให้ทำหน้าที่กรรมาธิการสามัญของการประชุม IPU ประกอบด้วย พิไลพรรณ สมบัติศิริ ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญ IPU ว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Committee on UN Affairs (Public sittings)) และ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Committee on Peace and International Security)
 


ประวัติความเป็นมา สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union)


สหภาพรัฐสภา (IPU) เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2431 โดยเริ่มจากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ความคิดเห็นในการเรียกร้องให้มีการประชุมระหว่างมวลสมาชิกแห่งรัฐสภาเกี่ยวกับงานสันติภาพและความเข้าใจอันดี ซึ่งกันและกันได้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป โดยมีความเข้าใจว่าการประชุมร่วมกันนี้จะเป็นทางหนึ่งที่จะขจัดข้อขัดแย้งที่อาจจะมีขึ้นและนำความสงบสุขมาสู่โลก

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2431 ได้มีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศในลักษณะดังกล่าวขึ้นที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างสมาชิกรัฐสภา คือ เซอร์วิลเลียม แรนเดล ครีเมอร์ (Sir William Randal Cremer)ชาวอังกฤษ กับนายเฟรเดริค ปาสซี (Frédéric Passy) ชาวฝรั่งเศส และยังมีสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ 7 คน กับสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสอีก 25 คน เข้าร่วมใน การประชุมดังกล่าวด้วย รูปร่างของการประชุมระหว่างรัฐสภาได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 29 และ 30 มิถุนายน พ.ศ.2432  ณ กรุงปารีส โดยมีสมาชิกแห่งรัฐสภา 95 คน จากประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม เดนมาร์ก ฮังการี อิตาลี ไลบีเรีย สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 9 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุม

มติแรกของการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 1 มีว่า “การดำเนินงานของรัฐสภาทั้งหลายนั้น รู้สึกว่าเป็นการกระทำที่ห่างจากความคิดเห็นของประชาชนไปทุก ๆ ที ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้แทนปวงชนที่ได้รับการเลือกขึ้นมาจะได้ทำหน้าที่ของตนเกี่ยวกับงานของนโยบายในการที่จะนำประเทศของตนไปสู่ความยุติธรรม  การนิติบัญญัติและภราดรภาพ”

จากการประชุมครั้งแรก หลักการในการที่จะจัดตั้งสหภาพรัฐสภาได้มีรูปร่างขึ้นแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยอีกห้าปีถัดมาจึงได้มีการยกร่างธรรมนูญของสหภาพ และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 5 ณ กรุงเบอร์น สมาพันธรัฐสวิส ในปี พ.ศ.2435 ที่ประชุมฯ ได้จัดตั้งสำนักงานกลางชื่อว่า “สำนักงานสหภาพระหว่างรัฐสภาเพื่อตัดสินกรณีพิพาทระหว่างประเทศ” และในการประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2437 ธรรมนูญของสหภาพรัฐสภาได้รับการรับรองจากบรรดาสมาชิกของสหภาพรัฐสภา

วัตถุประสงค์

สหภาพรัฐสภาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการประชุมรัฐสภานานาชาติมานับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2442 มีเป้าหมายที่จะดำเนินการเพื่อสันติสุขและความร่วมมือระหว่างประชาชน และเพื่อการจัดตั้งสถาบันที่มั่นคงของผู้แทนปวงชน การที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ดังกล่าว สหภาพรัฐสภาจึงมีภารกิจในการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 1. ส่งเสริมการติดต่อ ประสานงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างรัฐสภาและสมาชิกของรัฐสภาทั่วโลก
 2. พิจารณาประเด็นปัญหาในระดับนานาชาติและหาข้อมติในประเด็นดังกล่าวโดยมุ่งประสงค์ถึงการมีส่วนร่วมของรัฐสภาและสมาชิกแห่งรัฐสภานั้น ๆ
 3. สนับสนุนการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบกติกาสากลโดยตระหนักว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
 4. ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาที่มั่นคงของผู้แทนประชาชน

นอกจากนี้ สหภาพรัฐสภายังได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดภายใต้วัตถุประสงค์ร่วมกันกับองค์การสหประชาชาติและได้ประสานความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น


ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภา

ทิศทางและแนวโน้มของสหภาพรัฐสภาต่อประเด็นปัญหาระหว่างประเทศ และความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันมิติรัฐสภาในด้านการต่างประเทศ ได้แก่

1. ด้านสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 

2. ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 

3. ด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
4. ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม 

5. ด้านสิทธิสตรี 

6. ด้านความร่วมมือกับสหประชาชาติ

7. ด้านความร่วมมือกับองค์การการค้าโลก 

8. ด้านปฏิรูปสหภาพรัฐสภาและการบริหารองค์กร

 

รัฐสภาไทยกับสหภาพรัฐสภา

ประวัติความเป็นมา

ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภาทั้งผ่านทางรัฐบาล และทางรัฐสภาโดยตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ทางรัฐบาลติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนทางรัฐสภานั้น ประธานคณะมนตรีสหภาพรัฐสภาติดต่อกับประธานรัฐสภาไทย โดยครั้งแรกขอให้รัฐสภาไทยจัดส่งคณะผู้แทนไปสังเกตการณ์การประชุมใหญ่ของสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 37 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. 2491 แต่ในครั้งนั้นรัฐสภาไทยยังไม่พร้อมจึงไม่สามารถที่จะรับคำเชิญได้ อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะดึงประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภายังคงดำเนินต่อไป เพราะว่าในขณะนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียอาคเนย์ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา แต่ยังไม่ได้เป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา ประธานคณะมนตรีและเลขาธิการสหภาพรัฐสภาต่างก็พยายาม ติดต่อโดยตรงกับประธานรัฐสภาไทยในขณะนั้นคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ทั้งทางส่วนตัวและทางการในที่สุดสหภาพรัฐสภาได้ส่ง นายปอล บาสทิต อดีตรัฐมนตรี ฝรั่งเศส และประธานหน่วยรัฐสภาฝรั่งเศสมาเยือนประเทศไทยในฐานะตัวแทนของสหภาพรัฐสภา และได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีบางท่าน และในการประชุมคณะมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 คณะมนตรีได้มีมติให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องไปพิจารณา รัฐสภาได้มีการประชุมเป็นการภายในเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2492 โดยที่ประชุมเห็นว่าสหภาพรัฐสภาเป็นองค์กร ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยและมีนโยบายในการที่จะหาลู่ทางเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก ประกอบกับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยทางรัฐสภา ทั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุน ทุกวิถีทาง ที่ประชุมรัฐสภาจึงได้ตกลงในหลักการให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพรัฐสภา โดยถือเอารัฐสภาไทยเป็นหน่วยประจำชาติ และสมาชิกแห่งรัฐสภาไทยเป็นสมาชิกของหน่วยโดยตำแหน่งและได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา พร้อมกันนั้นทางรัฐบาลก็แปรญัตติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2493 เพื่อตั้งงบสหภาพรัฐสภาในงบของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท

ในการประชุมภายในของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้ให้การรับรองร่างข้อบังคับของหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา และพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของหน่วยฯ ขึ้นมาตามข้อบังคับ หลังจากที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยฯ เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นไป และในคราวประชุมคณะมนตรีแห่งสหภาพรัฐสภา ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2493 ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหน่วยประจำชาติไทยเข้าเป็นภาคีของสหภาพรัฐสภา

การถูกระงับการเป็นภาคีของสหภาพฯ

ที่ประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ 111 ซึ่งประชุมกันที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ในปี พ.ศ. 2515 ได้ลงมติให้ระงับการเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทยไว้ชั่วคราว เนื่องจากมีการปฏิวัติและยุบสภา

อย่างไรก็ตาม หน่วยประจำชาติไทยได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง ในคราวประชุมคณะมนตรีสหภาพรัฐสภา สมัยประชุมที่ 112 ณ กรุงอาบิดจัน ประเทศโคท์ไอเวอรี่ ในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2516 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร สมัยประชุมที่ 162 ซึ่งประชุมกันที่รัฐสภาแห่งชาติโคท์ไอเวอรี่ได้พิจารณาการขอกลับเข้าเป็นภาคีสหภาพรัฐสภาของหน่วยประจำชาติไทย โดยได้เชิญผู้แทนของคณะผู้แทนหน่วยประจำชาติไทยเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ในการนี้  นายเสนาะ อูนากูล เลขาธิการหน่วยประจำชาติไทยได้ตอบข้อสงสัยของสมาชิกในคณะกรรมการบริหารเป็นที่พอใจ คณะกรรมการบริหารจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับหน่วยประจำชาติไทยกลับเข้าเป็นสมาชิกของ  สหภาพรัฐสภาดังเดิม และยังคงเป็นภาคีแห่งสหภาพฯ อยู่จนกระทั่งบัดนี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ต่างประเทศชี้ขอตัวคนผิด ม.112 กลับไทยไม่ได้ หากประเทศนั้นไม่มีกฎหมายลักษณะนี้

$
0
0

รมว.ต่างประเทศ ระบุขอความร่วมมือไปยังหลายประเทศแล้ว ให้ช่วยกำชับหรือกำราบผู้ที่กระทำความผิด ม.112 ชี้เป็นการดำเนินการทางการทูตการเมือง แจงไม่สามารถขอตัวคนผิดกลับไทยได้ หากประเทศนั้นไม่มีกฎหมายลักษณะนี้

ดอน ปรมัตถ์วินัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)
 
25 ต.ค. 2559 ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวถึงการประสานขอความร่วมมือกับทางประเทศต่างๆ เพื่อติดตามตัวบุคคลที่หลบหนีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ว่า เรื่องนี้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามตัวผู้กระทำความผิด และมีหน้าที่ประสานขอความร่วมมือในการส่งตัวผู้กระทำความผิดกลับมายังประเทศไทยส่วนกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ขอความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ โดยผ่านทูตไทยและต่างประเทศเพื่อให้ช่วยกำชับหรือกำราบผู้ที่กระทำความผิด ถือเป็นการดำเนินการทางการทูตการเมือง ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกับหลายประเทศ แต่ขอไม่เปิดเผยว่าเป็นประเทศใดบ้าง เพราะอาจมีผลกระทบในด้านต่างๆ ตามมา
 
“ส่วนเรื่องข้อกฎหมายการส่งตัวผู้กระทำผิดกลับไทย เป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมที่ต้องตั้งเรื่องขึ้นมา ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะแต่ละประเทศไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าไม่ได้กระทำผิดกฎหมายของประเทศนั้นก็ไม่สามารถส่งตัวกลับได้ หากเป็นเรื่องการห้ามปราม หลายประเทศให้ความร่วมมือดี เหมือนกับที่ต่างประเทศขอให้ไทยช่วยดูแลปัญหาทางด้านการเมืองเช่นกัน” ดอน กล่าว
 
ดอน ปฏิเสธจะเปิดเผยรายชื่อประเทศที่ได้ส่งหนังสือไป เพราะอาจกระทบประเทศที่ 3 แต่ยอมรับได้จัดส่งไปหลายประเทศแล้ว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่ง สนช.พิจารณาต่อ

$
0
0

25 ต.ค. 2559 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล   พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสุขภาพจิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ ภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ยัง รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 โดยกำหนดเพิ่มเติมบทนิยาม เพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กำหนดสิทธิผู้ป่วยที่จะต้องได้รับ การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกัน และควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต กำหนดให้เจ้าหน้าที่จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ กำหนดให้คณะกรรมการสถานบำบัดมีอำนาจให้ความยินยอมในการบำบัดรักษาทางกายแทนบุคคล (ผู้ป่วย) รวมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติจัดทำแผนยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต แบบมีส่วนร่วม โดยเชื่อมโยงและประสานสอดคล้องกัน ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น

เห็นชอบ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 

ครม. ยังมีมติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แล้วให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สนช. แห่งชาติพิจารณาต่อไป

ครม. ยังรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติ             ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และรับทราบผลการดำเนินการขอจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบขึ้นเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เป็นการนำเสนอสาระสำคัญของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เช่น การขยายตัวของผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ กลยุทธ์ของธุรกิจยาสูบในการเพิ่มจำนวนผู้บริโภคยาสูบ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนเพื่อไม่ให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบได้โดยง่ายซึ่งจะเป็นการลดจำนวนนักสูบรายใหม่อีกทางหนึ่ง รวมทั้งจะเป็นการลดภาระงบประมาณในด้านการช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ประชาชน อันเนื่องมาจากโรคที่เกิดจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วย และในการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติด้วยแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. ตั้งศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ

$
0
0

25 ต.ค. 2559 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  โดย ครม.มีมติเห็นชอบผลการประชุมเรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2559 ตามบัญชานายกรัฐมนตรีและให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอ ดังนี้ ให้ มท. ดำเนินการตามหนังสือ มท. ด่วนที่สุด ที่ มท 0307.2/ว2417 ลงวันที่ 22 ส.ค. 2557ต่อไป แต่เพื่อให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในอำเภอเป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 96/2557 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นในอำเภอและกำหนดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีสาเหตุจากการร้องเรียนร้องทุกข์

ให้ มท. เกลี่ยอัตรากำลังที่มีไปสนับสนุนการดำเนินการตามกรณีข้างต้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 96/2557 ให้แก่นายอำเภอเพื่อให้ศูนย์ดำรงธรรมที่จัดตั้งขึ้นสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีสาเหตุจากการร้องเรียน ร้องทุกข์ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และทันต่อสถานการณ์ เมื่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว ให้ มท. พิจารณาถึงความจำเป็นเหมาะสมในการคงอยู่ระหว่างศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกคำร้อง คำขอประกันตัว ‘ตู่ จตุพร’ ระบุยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งถอนประกันตัว

$
0
0

แฟ้มภาพประชาไท

25 ต.ค. 2559 มติชนออนไลน์และคมชัดลึกออนไลน์รายงานตรงกันว่า  เมื่อเวลา 15. 00 น. วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย โดยอัยการโจทก์ยื่นคำร้องเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว และศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอปล่อยชั่วคราว จตุพร จำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา

วิญญัติ กล่าวก่อนยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่า วันนี้เป็นการยื่นคำร้องครั้งแรกหลังจากที่จตุพร ถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว โดยคำร้องที่ยื่นในวันนี้นั้นระบุเหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวเป็นเวลา 15 วันแล้ว ระยะเวลาที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม และจตุพรจำเลยที่ 2 ยอมรับถึงผลที่เกิดขึ้นไปแล้ว มีการรับโทษไปแล้ว หากได้รับการปล่อยชั่วคราวมาจำเลยจะระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก จึงมาขอความเมตตาต่อศาล

วิญญัติ กล่าวว่า กรณีดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ถูกถอนประกัน ทั้งที่คดีก่อการร้ายที่จตุพร จำเลยที่ 2 โดนคดีอยู่นั้น จะต้องใช้เวลาพิจารณาคดียาวนาน บุคคลที่อ้างว่าได้รับความเสียหายใช้สิทธิได้อยู่แล้ว และเป็นสิทธิที่จะใช้ฟ้องคดีฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท โทษเบากว่าคดีที่จตุพร จำเลยที่ 2 โดนดำเนินคดีอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้วเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ โดยกำหนดเงื่อนไข ตามคำสั่งในรายงานลงวันที่ 22 ส.ค. 2555 และวันที่ 30 พ.ย. 2555 ต่อมา จตุพร จำเลยที่ 2 ยอมรับว่า ได้พูดออกรายการโทรทัศน์และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างๆ ตามที่โจทก์ร้องขอให้เพิกถอนประกันจริง ศาลพิจารณาแล้ว เป็นการผิดเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดไว้ แม้บุคคลผู้ที่อาจได้รับความเสียหายมิได้ใช้สิทธิฟ้องร้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อเพิกถอนประกันก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะร้องขอถอนประกัน และศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนประกันได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว และศาลเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนประกันจตุพร จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา และขณะนี้ยังไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะทำให้เห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่เพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้อง

ภายหลัง วิญญัติ กล่าวว่า แนวทางหลังจากนี้จะพิจารณาว่าจะยื่นประกันใหม่อีกครั้งหรือจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งที่ยกคำร้อง ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่นั้นยังบอกไม่ได้ เพราะการยื่นคำร้องอีกครั้งนั้นจะต้องดูเหตุเพื่อให้มีผลเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ อย่างในคำสั่งของศาลมีการระบุว่า เพิ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมาจึงอาจจะต้องมีความเหมาะสมมากกว่านี้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. ประณามเหตุระเบิดตลาดโต้รุ่ง ปัตตานี วอนร่วมหาแนวทางในการนำสันติสุขคืนสู่ประเทศ

$
0
0

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

25 ต.ค. 2559 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา กรณีกลุ่มบุคคลก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดบริเวณหน้าตลาดโต้รุ่ง ถนนพิพิธ เทศบาลเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต จำนวน 1 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยมีเด็กจำนวนหลายรายรวมอยู่ด้วย อีกทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน นั้น

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  และได้ติดตามสถานการณ์ตลอดมา เห็นว่า การลอบวางระเบิดในที่สาธารณะ เป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงในการดำรงชีวิตของบุคคล อันขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกฝ่ายพึงยึดถือ จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และต่อผู้บาดเจ็บกับครอบครัวด้วย 

วัส กล่าวเพิ่มเติมว่า กสม. มีบทบาทและหน้าที่ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันจะละเมิดมิได้ ขอวิงวอนกลุ่มบุคคลผู้ก่อความไม่สงบยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ กับขอเป็นกำลังใจให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายที่มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการช่วยกันเฝ้าระวังสอดส่องรักษาความปลอดภัย ป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และขอให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ร่วมกันด้วยความเคารพในความแตกต่างของกันและกัน รวมทั้งร่วมกันแสวงหาแนวทางในการนำสันติสุขคืนสู่ประเทศต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิวยอร์กไทม์ลงหน้าคู่บันทึก 281 สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เคยด่าผ่านทวิตเตอร์

$
0
0

นิวยอร์กไทม์บันทึกสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ เคยด่าผ่านโซเชียลมีเดียได้ยาวเป็นหางว่าวถึงขนาดลงหน้าคู่ได้ โดยในบัญชีรายชื่อนี้มีทั้งคน, สถานที่, สิ่งของ, ข้อตกลงทางการเมือง, นโยบาย, องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ รวมแล้ว 281 รายชื่อ


หน้าหนังสือพิมพ์ดังกล่าว อ่านทั้งหมดที่นี่

 

สื่อนิวยอร์กไทม์ฉบับวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค. 2559) ลงหน้าคู่แสดงบัญชีรายชื่อ "281 ผู้คน, สถานที่ และสิ่งของทั้งหมดที่โดนัลด์ ทรัมป์ เคยด่าในทวิตเตอร์นับตั้งแต่ที่เขาประกาศว่าจะลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี" โดยมีทั้งรายชื่อคนหรือสิ่งที่ถูกด่าเรียงตามตัวอักษรตามด้วยคำด่าที่ใช้

สิ่งที่ถูกทรัมป์ด่าหรือเหยียดมีตั้งแต่ประเทศอย่าง "อังกฤษ" "เยอรมนี" สื่ออย่าง "ซีเอ็นเอ็น" "เดอะ เดลี บีสต์" กลุ่มคนอย่าง "ผู้นำยุโรป" หรือแม้กระทั่ง "การเลือกตั้งปี 2559" เองก็โดนด่าไปด้วย ใต้ชื่อของฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตก็มีบัญชีคำที่ใช้ด่าเธอยาวเหยียดเป็นจำนวนมากเช่นคำว่า "คนโกง" (crooked) "หายนะของนโยบายการต่างประเทศ" หรือ "ดีแต่พูดไม่ลงมือทำ"

ไม่เพียงคลินตันเท่านั้น บัญชีของนิวยอร์กไทม์ยังแสดงให้เห็นว่าทรัมป์ด่าผู้ลงสมัครพรรคเดียวกันอย่างเท็ด ครุซ, เจบ บุช, มาร์โก รูบิโอ เอาไว้ยาวเหยียดเช่นกัน ทรัมป์ยังเคยด่าพรรคการเมืองรีพับลิกันไว้ว่า "โคตรอ่อนต่อโลก!" "ไม่จงรักภักดี" "ไม่รู้จักวิธีการเอาชนะ" ขณะที่เขาด่าพรรคเดโมแครตว่าเป็น "เครื่องจักรการเมืองที่แปดเปื้อน" "โกงให้เบอร์นีหลุดออกจากชัยชนะ" และอ้างว่า "ความอ่อนแออย่างถึงที่สุดของพรรคกลายเป็นเครื่องมือเรียกพวกไอซิส" แต่ทรัมป์เองก็เคยด่าเบอร์นีเอาไว้เหมือนกันว่าเป็น "พวกหมดไฟ!" "บ้า" "เพี้ยน"

ในบัญชีสิ่งที่ทรัมป์ด่ายังประกอบด้วยกลุ่มคนอย่าง "ประชาชนทั่วไป" "สื่อกระแสหลัก" องค์กรอย่าง "องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ" หรือ "นาโต" ข้อตกลงทางเศรษฐกิจอย่าง "ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก" (TPP) และแม้กระทั่ง "ระบบการเลือกตั้ง" โดยกล่าวหาว่าระบบการเลือกตั้งมีการโกง (rigged) อยู่หลายครั้ง

อนึ่ง นิวยอร์กไทม์ยังบันทึกคำด่าที่ทรัมป์ด่าพวกเขาเอาไว้จำนวนมากด้วย เช่นด่าว่า "ล้มเหลว" "โคตรไม่ซื่อ" "เป็นหนังสือพิมพ์ที่กำลังจะตาย" "เขียนอะไรก็ได้ที่อยากเขียนแล้วก็สร้าง 'แหล่งข้อมูล' ขึ้นมาเอง"

 

เรียบเรียงจาก

The 281 People, Places and Things Donald Trump Has Insulted on Twitter: A Complete List, The New York Times,
http://www.nytimes.com/interactive/2016/01/28/upshot/donald-trump-twitter-insults.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'บรรยง' ชี้รวบรัดเอาผิดปมจำนำข้าว ก่อผลกระทบ ทั้งความยุติธรรมและอนาคตประเทศ

$
0
0

บรรยง พงษ์พานิช ระบุแม้ค้านนโยบายจำนำข้าวตั้งแต่หาเสียง หนุนดำเนินคดีเอาผิดกับคนทำเสียหาย แต่การดำเนินคดีที่รวบรัด เหมาเอาผิดหมด ไม่ว่ากันตามเนื้อผ้า ส่งผลกระทบของกระบวนยุติธรรมและกระบวนการนโยบายสาธารณะ เกรงอีกหน่อยจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย 

บรรยง พงษ์พานิช (แฟ้มภาพ ประชาไท)

25 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา บรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน), กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และกรรมการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โพสต์ความเห็นต่อโครงการรับจำนำข้าว การเร่งรัดดำเนินคดีดังกล่าวและผลกระทบที่จะตามมา ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'Banyong Pongpanich' ในลักษณะสาธารณะ ซึ่งมีการกดไลค์กว่า 1,700 และ 383 แชร์

3 เหตุผลที่คัดค้านตั้งแต่หาเสียง 

บรรยง โพสต์ว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่มีการคิดนโยบายเอามาหาเสียง และตลอดเวลาที่ดำเนินนโยบาย ตนก็มีการคัดค้านอย่างเปิดเผยตลอดมา ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการ คือ 1. เป็นการฝืนกลไกตลาด ความคิดที่จะกักตุนเพื่อลดอุปทานตลาดโลกแล้วหวังว่าจะทำให้ราคาดีขึ้นนั้น เป็นความคิดที่ไร้สาระเพราะเราผลิตข้าวเพียง 5% ของโลก ถึงแม้จะส่งออก 30%ของตลาดโลก

2. จะทำให้เกิดการเบี่ยงเบน เราจะผลิตข้าวมากขึ้นทั้งๆที่ประเทศไม่ได้มี Comparative Advantageจริง และการอุดหนุนอย่างนี้จะลดความกดดันที่จะให้ชาวนาเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มคุณภาพ 3. เป็นการที่รัฐยึดอุตสาหกรรมข้าวมาทำเอง (Nationalization)ซึ่งนอกจากห่วยแล้วยังจะหาย คือ มีการทุจริตเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน
 
"ผลก็อย่างที่ทราบแหละครับ คือ นอกจากทำให้ข้าวไทยถอยหลังแล้ว ยังมีความเสียหายมากมาย ผมไม่เถียงหรอกครับว่าชาวนาได้รับประโยชน์บางส่วน แต่ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน อย่างที่เสียหายไป 500,000 ล้าน ผมเชื่อว่าชาวนาได้รับ ประโยชน์อย่างมากแค่ครึ่งเดียว 250,000 ล้าน ส่วนที่หายไปก็ไม่ใช่เป็นการโกงทั้งหมดนะครับ ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่หายไปกับความไร้ประสิทธิภาพของระบบมากกว่า แต่มีโกงมีกินแน่นอน ซึ่งผมเชื่อว่ารวมประโยชน์มิชอบของพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมืองทุกฝ่าย ไม่น่าจะเกินห้าหมื่นล้านบาท แต่ก็มากโขอยู่" บรรยง โพสต์
 
บรรยง โพสต์ย้ำด้วยว่า ที่ตนคัดค้านตลอดมา ก็เป็นการคัดค้านนโยบาย คัดค้านไม่ให้นำนโยบายประชานิยมที่คิดง่ายๆ ไม่รอบด้าน คิดเร็วๆ ชุ่ยๆ เพียงเพื่อจะให้ชนะเลือกตั้ง มาปฏิบัติให้เกิดผลเสียหายมหาศาลถึงเพียงนี้ และการคัดค้านของตนก็เป็นไปอย่างเปิดเผย ต้องการให้หยุดนโยบาย ต้องการให้สังคมรับรู้ได้บทเรียน
 

ยุติธรรม? รวบรัดเอาผิด ศาลเดียว เอาผิดหมดแทนที่จะจับคนโกง

บรรยง โพสต์ถึงกระบวนการดำเนินคดีจำนำข้าวด้วยว่า การที่เรามาเร่งรัดจะเอาผิด กับหัวหน้ารัฐบาลที่ทำเรื่องนี้ กับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางอาญาทางแพ่ง ในกระบวนการที่รวบรัดเกินไป จะต้องคิดให้ดีว่ามันยุติธรรมจริงไหม กับจะส่งผลกระทบอะไรต่อไปอีกบ้าง อย่างข้อหาที่ว่าทำนโยบายที่มีการเปิดโอกาสให้มีการทุจริตได้นั้น ตนอยากถามเลยว่า ในประเทศนี้ มีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจ่ายเงินแล้วไม่มีโอกาสเกิดทุจริตเลยแม้แต่น้อย ตนกลัวว่า ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้น แทนที่เราจะไปหาว่าใครโกง กระบวนการไหนที่บกพร่อง จับคนผิดคนโกงมาลงโทษ ว่ากันไปตามเนื้อผ้า เรากลับเล่นหัวตลอดลำตัวไปถึงหางอย่างนี้ ว่าใครอยู่ในกระบวนการต้องรับผิดชอบหมดทุกคน ไม่ว่าโกงไม่โกง ใครมีอำนาจต้องโดนหมด ไม่ว่าจะได้ประโยชน์เข้าพกเข้าห่อหรือไม่ แถมใจร้อน ใช้กระบวนการเร่งรัด ใช้ศาลเดียว ใช้อำนาจยึดทรัพย์เร่งด่วน ไม่เปิดโอกาสให้ต่อสู้ตามครรลอง
 
"เหมือนคดีกรุงไทยแหละครับ ที่ผมขอยืนยันว่า ผู้ที่ถูกลงโทษทั้งยี่สิบกว่าคน ไม่ใช่ทุกคนที่มีการทุจริตอย่างแน่นอน แต่โดนตัดสินรวบยอดในศาลเดียว" บรรยง โพสต์
 

กลัวจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย

"อย่างนี้ ที่ผมกลัว อีกหน่อยจะไม่มีใครกล้าคิดนโยบายอะไรเลย เพราะนโยบายที่จะแน่ใจว่าปลอดทุจริตร้อยเปอร์เซนต์ในประเทศนี้ เวลานี้ บอกได้เลยว่าหาแทบไม่มี หรือแม้กล้าคิดมาแล้ว ข้าราชการเจ้าหน้าที่ คนที่ต้องอยู่ในสายปฏิบัติการก็จะไม่มีใครกล้าเอาไปทำ เลยกลายเป็นว่าคนกล้าจริงๆ มักต้องมีส่วนได้เสีย ถึงจะคุ้มเสี่ยง" บรรยง โพสต์
 
บรรยง โพสต์ชวนคิดด้วยว่า ประเทศไทยเป็นระบบที่รัฐใหญ่ ทั้งขนาด บทบาท และอำนาจ เรามีกฎข้อบังคับกว่าแสนฉบับ แถมขยันออกกฎใหม่กฎเพิ่มทุกวัน รัฐธรรมนูญใหม่ก็มุ่งเน้นขยายรัฐเข้าไปอีก แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีภาครัฐที่มีแต่ความกลัว ไม่กล้าทำอะไรใหม่เลย อย่างนี้ไม่เรียกว่าติดกับดักตัวเองแล้วจะเรียกอะไร ไม่ต้องหวัง 4.0 อะไรจากประชาชน ถ้ารัฐยังเป็นแค่ 2.0 อยู่
 
"ถ้าเรามีกระบวนการยุติธรรมที่อาจไปลงโทษคนที่แค่พลาด คนที่ไม่ได้โกง คนที่กล้าทำ คนที่แค่ไม่ได้ตรวจกฎให้ครบแสนฉบับก่อนลงมือทำ อีกหน่อยจะมีใครกล้าทำอะไรกัน ทุกคนย่อมรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีกันไปหมด ประเทศจะเดินได้อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่า อย่าดำเนินคดี อย่าสอบสวนเอาผิด กับคนที่ทำให้เสียหายนะครับ เพียงแต่ขอให้แยกแยะให้ดี และใช้กระบวนการที่ยุติธรรมจริงๆ เท่านั้น" บรรยง โพสต์ พร้อมตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมแบบที้เรามีนั้น ควรได้รับการปฏิรูปจริงจังกันเสียทีไหม
 
 
ที่มา :  'Banyong Pongpanich
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับอนุสรณ์ อุณโณ ปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ที่ทางของความเศร้า-ความโกรธ

$
0
0

<--break- />สองสัปดาห์ก่อน หลังข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันนำมาซึ่งความเศร้าโศกอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรชาวไทย ปรากฏการณ์ย่อยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยก็ทยอยผุดขึ้นในหลายพื้นที่ด้วยเช่นกัน นั่นคือ การที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยซึ่งรับข่าวสารทางโซเชียลมีเดียเข้ารุมล้อมบ้านตามหาตัวผู้ที่โพสต์ข้อความไม่เหมาะสม ไม่แสดงความเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กระทั่งมีการรุมทำร้ายผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการดังกล่าวโดยประชาชนด้วยกันเอง

“มาตรการทางสังคม” ได้เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ภูเก็ตพังงาเกาะสมุยก่อนที่จะลามไปยัง ชลบุรีระยองจันทบุรี กระทั่งในกทม.ก็มีเรื่องชวน ‘ดราม่า’ เมื่อหญิงสูงวัยมีประวัติจิตเภทโดยตบปากอย่างแรงจากการพูดคนเดียวบนรถเมล์

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาสังคมวิทยาและยังเคยทำการศึกษาวิจัยเรื่องแนวคิดทางการเมือง ลักษณะการรวมกลุ่มของประชาชนในจังหวัดภาคใต้ในช่วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวในภาพรวม ซึ่งสะท้อนมาจากอารมณ์โศกเศร้าที่แปลเป็นความโกรธเกรี้ยว รวมทั้งประเมินสถานการณ์การข้างหน้าและเสนอทางออกจากความรุนแรงในลักษณะนี้

คิดอย่างไรกับกระแส ‘การล่าแม่มด’ ในช่วงที่ผ่านมา ?

ไม่รู้จะใช้คำว่าล่าแม่มดดีไหม เพราะมันทำให้เราไปคิดถึงปรากฏการณ์บางอย่าง แต่คิดว่ามันคือความโกรธเคืองที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่ความรุนแรงที่เป็นหมู่ชน เอาเข้าจริงแล้วก่อนหน้านี้มันมีความโกรธเคืองอยู่ระดับหนึ่ง แต่คำถามคือทำไมมันปะทุขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะว่าความขุ่นเคืองตรงนั้นไปบรรจบกับความเศร้าโศกเสียใจ ความเศร้าโศกเสียใจมีอยู่แล้ว แต่พอถูกกระทบกระทั่งมันก็แปลกลายเป็นความโกรธเคืองแล้วก็นำไปสู่การทำร้ายผู้คน

บางคนอาจถามว่าทำไมมันถึงเกิดกับภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนที่จะกระจายตัวไปในพื้นที่อื่นๆ ภาคใต้มีลักษณะเฉพาะที่พอจะอธิบายได้

หนึ่ง คือ ความรู้สึกรักและภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผลพวงของกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ ไม่แตกต่างจากคนภาคอื่น พระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์เกิดอย่างเข้มข้นในช่วงสองทศวรรษเศษที่ผ่านมา

สอง มันไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและการแข่งขันทางการเมืองค่อนจะสูง เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความนิยมมากในภาคใต้อิงอาศัยหรือให้ภาพการเป็นพรรคการเมืองที่จงรักภักดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา และตัวแทนอีกปีกการเมืองหนึ่งของประชาธิปัตยอย่าง กปปส. อิงอาศัยสถาบันกษัตริย์ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน เมื่อคนในภาคใต้บ่งชี้ตัวเองเข้ากับพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะเดียวกับก็ได้รับการกล่อมเกลาที่เกิดขึ้นในระดับภาพใหญ่ของประเทศจึงทำให้คนใต้จึงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ค่อนข้างสูง บวกกับการมองว่าคนที่ไม่รักเจ้าเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามทางการเมืองของตน เมื่อเห็นคนที่โพสต์อะไรแบบนั้น เขาก็จะมองว่านี่ไม่ใช่พวกเดียวกันทางการเมืองแถมยังไม่รักสถาบันอีก จึงเกิดกระแสอย่างที่เห็นขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว

สาม ผู้คนอาจมองว่าการแก้ปัญหาของคนในภาคใต้มีลักษณะที่จะใช้ความรุนแรงในภาพใหญ่กว่าภาคอื่น เช่น กรณีของภูเก็ตเมื่อตอนที่เกิดความไม่พอใจเหมืองแร่แทนทาลั่มก็มีการรวมตัวกันไปเผา การล้อมการปิดกั้นศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าในแง่หนึ่งเขาไม่ได้เชื่อถือกลไกรัฐในการแก้ปัญหาแต่เชื่อในการดำเนินการโดยมือของเขาเอง พวกเขาไม่ค่อยมีความกลัวรัฐส่วนกลางเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ ในแง่ของประวัติศาสตร์ ภาคใต้ตอนบนที่ไม่นับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เวลารัฐส่วนกลางไปปกครองนั้นไม่ได้มีลักษณะของการขูดรีดกดขี่ข่มเหงอำมหิตสักเท่าไรเมื่อเปรียบเทียบกับล้านนาหรือล้านช้าง ถ้าเราไปดูนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นรัฐหัวเมือง จะพบว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา แทบไม่มีกบฎ ความกลัวต่อความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐมันไม่อยู่ในสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนในภาคใต้ และรัฐส่วนกลางเองก็ไม่เคยใช้ความรุนแรงกับหัวเมืองในภาคใต้ในช่วงสองศตวรรษที่ผ่านมา

ที่กล่าวว่าไม่อยากใช้คำว่า “ล่าแม่มด” นั้นเสนอว่าควรใช้คำใด ?

ใช้คำว่าอะไรก็ได้ จะ ศาลเตี้ย หรือ ล่าแม่มด ก็ได้หมด ปรากฏการณ์ทั้งหมดมันเกิดจากการไม่เชื่อในระบบหรือกระบวนการยุติธรรมปกติ มันคือการลุแก่อำนาจของคนบางกลุ่มที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดซึ่งค่อนข้างจะบ่งชี้ถึงคุณลักษณะทางอำนาจในสังคมไทยที่อิงกับการใช้ชีวิตประจำวันของคน เพราะจริงๆ แล้ว สังคมไทยไม่ได้อยู่ด้วยระเบียบกฎเกณฑ์หรือกฎหมายสักเท่าไร มันอยู่ที่ว่าคุณมีอำนาจหรือเส้นสายสักเท่าไร ใครสามารถละเมิดกฎหมายได้เท่าไรก็จะยิ่งมีอำนาจมาก มันเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยโดยรวมไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคใต้ คนที่ไม่เชื่อในกระบวนการแบบปกติก็พร้อมที่จะลุแก่อำนาจ เราไม่เชื่อในอำนาจที่อยู่ในโครงสร้างหรืออำนาจตามบทบาทหน้าที่ คนที่มีอำนาจมากกว่าคือคนที่สามารถละเมิดกฎเกณฑ์แบบปกติได้ เป็นคนที่สามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิด สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย การล่าแม่มดก็เป็นภาพสะท้อนอันหนึ่ง

บทบาทของพรรคการเมืองในปราปฏการณ์นี้มีมากน้อยแค่ไหน ?

ในกรณีนี้ มีไม่มากเพราะเขารู้ว่ามันเป็นเกมที่อันตรายพอสมควร และในช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นช่วงที่นักการเมืองถูกกดปราบให้อยู่หงิมๆ คุณไม่สามารถแสดงบทบาทหรือมีปากมีเสียงอะไรได้เพราะระบบการเมืองของประเทศไม่ได้อยู่ในจุดที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นกำลังหลัก เขาจึงไม่สามารถแสดงตัวได้อย่างเปิดเผย หรือออกนอกหน้า ได้แต่จับตาดูว่ารัฐบาลทหารจะเอายังไง สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นแรงผลักหรือการยุยงปลุกปั่นของพรรคการเมือง แต่เป็นผลของขบวนการที่ต่อเนื่องแล้วเข้มข้น และปะทะขึ้นมาในจังหวะที่บรรจบกับพอดี

มันมีงานเขียนทางมนุษยวิทยาของเรนาโต โรซาลโด (Renato Rosaldo) สอนอยู่ที่ชิคาโก้ เขาเขียนหนังสือชื่อ Culture and truth: The remaking of social analysis เขาพูดถึงความเศร้าเสียใจ (grief) กับการล่าศรีษะมนุษย์ในหมู่ชาวอีลองกอสในหมู่เกาะลูซอนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ เขาศึกษาอยู่นานแต่ก็ไม่เข้าใจสักทีว่าอะไรที่ทำให้ความเศร้าโศกเสียใจอันเกิดจากการเสียคนที่รักผลักให้ชาวอีลองกอสมีความโกรธแค้นแล้วนำไปสู่การล่าหัวของคนเผ่าอื่น มันมีคำอธิบายที่เป็นนามธรรมหรือปรัชญาว่า มันต้องเป็นการกิน soul stuff หรือจิตวิญญาณที่มันอยู่ในหัว ก็ว่ากันไป แต่โรซาลโดก็ยังไม่พอใจการอธิบาย วันหนึ่งเขาเดินไปเห็นพ่อคนหนึ่งนั่งกอดศพลูกสาวตัวเองนัยน์ตาแดงก่ำด้วยความโกรธ แล้วอีกซักพักก็ออกไปล่าหัวมนุษย์ เขาก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งมีประสบการณ์ด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจว่าความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียมันนำไปสู่ความโกรธแค้นและเข่นฆ่าผู้อื่นได้ยังไง มันเริ่มต้นจากการเสียพี่ชายแล้วก็เห็นพ่อยืนเสียใจและโกรธ แต่ตอนนั้นเขาก็ยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งเขาเจอกับตัวเอง ตอนที่ตัวเองไปวิจัยอีกครั้งที่ฟิลิปปินส์ ภรรยาของเขาชื่อมิเชล โรซาลดา ซึ่งเป็นนักมานุษยวิทยาสอนอยู่ที่ชิคาโก้เหมือนกันก็ไปศึกษาชนเผ่าอิฟูกัลซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่งในตอนใต้ของฟิลิปปินส์เหมือนกัน วันหนึ่งมีคนมาบอกว่ากับโรซาลโดว่ามิเชลพลาดเดินตกหน้าผาแล้วก็เสียชีวิต โรซาลโดรีบไปและเห็นภรรยาตัวเองนอนเสียชีวิตอยู่ในหุบเหวข้างล่าง แวบแรกตัวของโรซาลโดรู้สึกเสียใจที่สูญเสีบภรรยาไป แต่หลังจากเสียใจมันเป็นความโกรธที่ตามมา โกรธที่หนึ่งก็คือทำไมถึงได้สะเพร่าตกลงไป คนอื่นก็เดินกันตั้งเยอะแยะไม่เห็นตก อย่างที่สอง ซึ่งอาจจะฟังโรแมนติกมากเพราะว่าหลังจากนั้นไม่กี่ปีโรซาลโดก็แต่งงานใหม่ เป็นการโกรธและตัดพ้อว่าเธอเห็นแก่ตัวเกินไป ตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทิ้งฉันไว้อยู่ลำพัง ฉันจะอยู่อย่างไร จะต้องเศร้าโศกเสียใจขนาดไหน เขาเลยถึงบางอ้อว่า ความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียคนที่ตัวเองรักมันกลายเป็นความโกรธแค้นและนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นได้อย่างไร

หากเรามาดูเปรียบเทียบกับกรณีของไทย คนไทยรู้สึกเศร้าโศกเสียใจที่สูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ตนรักไป และมันก็กลายเป็นความโกรธเพราะมันมีแฟคเตอร์ตัวอื่นเข้ามา นั่นคือการดูแคลนความโศกเศร้า หรือรู้สึกว่าความตายนั้นมันถูกดูหมิ่น ความโศกเศร้าจึงผันไปเป็นความรุนแรงต่อคนที่ดูหมิ่น ในงานชิ้นนี้โรซาลโดยังพูดถึง cultural force of emotion คือพลังทางวัฒนธรรมของอารมณ์ คือ ปกติแล้วเราจะคิดว่าอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นสัญชาติญาณเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่สิ่งที่โรซาลโดพยายามจะชี้คือมันมีพลังทางวัฒธรรมของอารมณ์อยู่ มันผูกอยู่กับความสัมพันธ์ของคนที่เรารักและอยู่ดีๆ มันก็หักสะบั้นลง


แฟ้มภาพ กรณีภูเก็ต (ภาพจากผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Mint Idea-Tv)

มีความกังวลว่าเหตุการณ์จะลุกลามไปจนเกิดเป็นความเกลียดชังแบบที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ต.ค.2519 หรือไม่ ?

ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถึงตรงนั้น มันน่าจะเป็นความรุนแรงประปรายและกระจัดกระจาย ไม่ได้มีการจัดการให้เป็นองค์กรแนวเดียวหรือเชื่อมโยงกัน เพราะกลุ่มที่เกิดมันกระจัดกระจายไปทั่ว อีกประการคือ มันยังไม่ได้รับการหนุนจากรัฐ หรือกลไกที่รัฐสนับสนุน เช่น เมื่อก่อนเรามีกลุ่มต่างๆ ที่รัฐเข้าไปเกี่ยว แต่ตอนนี้มันเหมือนเป็นการปะทะขึ้นมาของความโกรธเคืองซึ่งมีหลายปัจจัยบรรจบกัน แต่มันยังไม่ถูกทำให้เป็นแบบแผนหรือขวนการอันเดียวกันโดยรัฐ เพราะฉะนั้นการที่จะนำไปสู่ 6 ตุลาไม่น่าจะเกิดได้เพราะมันอาศัยการ organize การจัดตั้งอะไรหลายๆ อย่าง ต้องมีการกรุยทางมาตามลำดับ มีการกระพือโหมโดยสื่อของรัฐ แต่ปัจจุบันเราไม่ได้มีสภาพการณ์เช่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วรัฐอยากจะรักษาสภาพทุกอย่างให้อยู่ในความปกติที่สุด อย่าลืมว่าเราอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน และรัฐอยากให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุด การเมืองปะทุมันไม่ได้เป็นที่พึงประสงค์ของรัฐ ความวุ่นวายจะยิ่งสื่อให้เห็นว่ารัฐจัดการไม่ได้ เราก็จะเห็นได้ว่าคนอย่างสรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมา บอกว่าไม่ใส่เสื้อดำก็ไม่เป็นไร พยายามจะ calm down คนที่โกรธแค้นอยู่ในตอนนี้ เขาต้องการให้ช่วงเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าเกิดมีปัญหาจริงๆ ก็ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ใช้มาตรา 112 เอาเข้าซังเตไป แต่อย่าให้กระเพื่อมมีมวลชนวุ่นวาย มันเป็นภาพที่ไม่สวย และทำให้การเปลี่ยนผ่านดูไม่ราบรื่น

คิดว่าโซเชียลมีเดียมีบทมากแค่ไหนในปรากฏการณ์นี้ ?

โซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างสำคัญเลยในการทำให้กระแสของความเกลียดชังขยายตัวค่อนข้างเร็วและไร้การควบคุม มันใส่อะไรลงไปได้เรื่อยๆ นับเป็นความอันตรายข้อหนึ่งของโซเชียลมีเดีย เพราะพอมันไร้การควบคุมมันก็เปิดโอกาสให้กับการปลุกระดมและการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน ขาดการกำกับดูแล อันนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาข้อหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาคงไม่ใช่การให้รัฐเข้ามามอนิเตอร์ แต่มันอยู่ที่การสร้างวุฒิภาวะของคนไทยว่าคุณจะต้องมีความระมัดระวังความรอบคอบ มีวุฒิภาวะที่จะอยู่กับข้อมูลข่่าวสารและการชักจูงโน้มน้าว มันไม่มีใครดูแลได้หรอก สังคมไทยจะต้องโตกว่านี้ถึงจะอยู่กับโซเชียลมีเดียได้ดีกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเจอการล่าแม่มดแบบนี้

เราอาจจะเห็นว่ามันคนโดนล่าเพราะเรื่องสีเสื้อ แต่พอเราเดินไปตามท้องถนนก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่พอคุณเริ่มเปิดเฟซบุ๊กเมื่อไร มันอย่างกับจะเป็นสงคราม จะฆ่าแกงกัน ไม่ใส่เสื้อดำออกนอกบ้านไม่ได้ จริงๆ แล้วมันไม่ถึงขนาดนั้น เพราะโลกความจริงมันอยู่กันด้วยหลายสิ่งหลายอย่างมาก อย่างไรก็ดีพอมันถูกกระตุ้นในโซเชียลมีเดีย มันก็จะพาโลกในโซเชียลมีเดียออกไปสู่โลกภายนอกอีกทีหนึ่ง ทำราวกับว่าโลกข้างนอกจะต้องเป็นอย่างนั้น คนที่ถูกกระตุ้นก็รู้สึกว่าจะต้องไปจัดการคนที่ไม่ใส่เสื้อดำ มันเป็นช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารที่บิดเบี้ยวไร้การตรวจสอบ ทำให้เกิดกลุ่มเฉพาะที่รับข้อมูลที่ไปในทางของตัวเอง จึงพากันรวมตัวกันออกไปทำในสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

ประเมินว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานไหม ?

ผมคิดว่าความโศกเศร้าโดยตัวของมันเองจะค่อยๆ คลี่คลายไปตามลำดับ ยิ่งเมื่อมีพิธีบรมราชาภิเษกเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่เร็วเท่าไร มันก็จะแทนที่ความเศร้าเสียใจได้เร็วเท่านั้น แต่ตอนนี้ทางฝ่ายผู้ปกครองยังไม่พร้อมที่จะแทนที่อารมณ์ทางสังคมด้วยการเฉลิมฉลอง ก็ต้องปล่อยให้อารมณ์ของความสูญเสียดำรงอยู่ไปก่อน อารมณ์ของสังคมตอนนี้เป็นเรื่องของการไว้ทุกข์ไว้อาลัยให้กับการสูญเสีย แต่เมื่อมีจังหวะใหม่ อารมณ์ของสังคมใหม่ที่ใหญ่กว่าเข้ามาแทนที่ ก็อาจยังมีความรู้สึกที่สูญเสียอยู่ แต่ในแง่ของระดับรัฐ เขาจะต้องจัดการให้เกิดอารมณ์ของการเฉลิมฉลองให้กลายเป็นอารมณ์ใหม่ของสังคม เพราะไม่ว่าอย่างไรประเทศก็ต้องเดินหน้าต่อไป ความเศร้าโศกเสียใจอาจจะหดแคบลง หรือมีที่ทางที่เหมาะสม แต่จะไม่ใช่อารมณ์ใหญ่ของสังคมอีกต่อไป

มีตัวอย่างบางคลิปในโซเชียลมีเดียที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการล่าแม่มดด้วย คิดเห็นอย่างไร ?

ผมคิดว่ามันเป็นการลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในแง่หนึ่งก็เข้าใจได้ว่ามันเป็นการยอมจำนนต่อกระแสกดดันของมวลชน แต่ผมว่าเขาก็มีทางเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น เช่นการทำตามขั้นตอนกฎหมายปกติ แต่ก็ไม่ ผมคิดว่าในตอนนั้นเขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษากฎหมาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของมวลชน

จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ?

ประการแรก คือ เราต้องเรียกร้องการคืนมาของกฎเกณฑ์ระเบียบปกติ เราต้องเรียกร้องการกลับมาของการใช้กฎหมาย ในการแก้ไขปัญหา ไม่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสูงส่งมาจากไหนมาละเมิดกฎเกณฑ์กติกาที่เราใช้ในการอยู่ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็จะไม่มีหลักประกันอะไรให้กับชีวิตของผู้คน ไม่มีใครบอกคุณได้ว่าวันหนึ่งคุณใส่เสื้อสีแจ๊ดออกไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่บางอย่างทั้งที่คุณก็ไม่ได้รู้สึกอยากจะละเมิดใคร แต่ไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้มาตีหัวคุณ แล้วจะเอาผิดที่ไหนได้ถ้าคุณใช้วิธีการแบบนี้ร่ำไป มันไม่ได้ ใครผิดก็ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ มันต้องไม่เปิดโอกาสแม้ว่าเขาจะใช้ข้ออ้างที่ดูดีสูงส่งมาละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในฐานะที่เป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มันต้องคล้ายๆ กับจัดสรรความโศกเศร้าให้มีที่ทางหรือแสดงออกอย่างเหมาะสม แล้วก็สำรวม โอเคว่าความโศกเศร้านั้นมีแน่และไม่ควรถูกทำให้หายไป แต่จะทำยังไงให้ความเสียใจได้รับการแสดงออกอย่างเหมาะสมและถูกที่ทาง

ประการที่สอง คือ ต้องไม่ให้ความเสียใจเป็นข้ออ้างในการกระทำสิ่งใดๆ ในการละเมิดกฎหมายหรือขั้นตอนปกติ ไม่ใช่แค่การไปละเมิดหรือตั้งศาลเตี้ย แต่หมายถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ในสังคมไทยมีหลายกรณีมากที่การละเมิดกฎเกณฑ์ปกติมีข้ออ้างที่สูงส่งมีศีลธรรมเต็มไปหมดเลย เป็นคนดีบ้างล่ะ เศร้าโศกเสียใจบ้างล่ะ แต่ผมว่าเราควรจะลด โอกาสในการอ้างคุณงามความดีเหล่านี้มาละเมิดกฎเกณฑ์ปกติ

ประการที่สาม คือ ใช้กลไกกฎหมายตามปกติ ไม่เปิดให้ใครลุแก่อำนาจ เอากฎหมายมาไว้ในมือและใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ที่สำคัญคือต้องมีการดำเนินคดีกับคนที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะในนามของอะไรก็ตามแต่ ต้องเอามาลงโทษ ไม่ให้เขาลอยนวลพ้นผิด มิเช่นนั้นแล้วก็จะได้ใจแล้วก็ปฏิบัติอยู่ร่ำไป ตำรวจจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ได้ คุณเป็นผู้พิทักษ์สัมติราษฎร์ ผู้พิทักษ์กฎหมาย คุณก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ตอนนั้นคุณอาจจะทำไม่ได้ แต่มันก็มีคลิปมีหลักฐานที่จะใช้ดำเนินคดีในภายหลังได้ เพราะถ้าเขาลอยนวลพ้นผิดได้ด้วยข้ออ้างแบบนี้ ต่อไปใครๆ ก็ทำ แล้วสังคมจะอยู่อย่างไร

การเมืองสีเสื้อมีผลในการทำให้ความรุนแรงทวีคูณขึ้นไหม ?

ก็น่าจะมีผล ที่ผ่านมาฝ่ายหนึ่งก็มักผูกโยงภาพว่าอีกฝ่ายว่าเผาบ้านเผาเมืองต้องการล้มสถาบันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันน่ากลัวกว่าการเมืองเสื้อสี เพราะว่าตอนนี้มันขยายลุกลามไปทั่ว คนที่แต่เดิมอาจจะไม่ได้สมาทานขั้วใดขั้วหนึ่งเป็นการเฉพาะ อาจจะไม่ใช่เหลืองจัด แต่พอเห็นคนถูกกล่าวหาว่าหมิ่นก็พร้อมที่จะกระโจนเข้าไป พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงด้วย ตอนนี้มันอันตรายกว่าการเมืองเสื้อสี มันถูกโหมด้วยอารมณ์ ความคลุ้มคลั่งค่อนข้างจะเยอะ มันน่ากลัวเพราะอะไร เพราะมันขาดการจัดตั้ง มันจึงคาดคะแนไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ผมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่สภาวะสุ่มเสี่ยง อ่อนไหว และเปราะบางมาก  

คิดว่าสังคมาถึงจุดสูงสุดของความรุนแรงแล้วหรือยัง ในอนาคตจะแรงขึ้นหรือเบาลง ?

ผมคิดว่ามันจะทรงตัวอยู่แบบนี้ไปประมาณสัปดาห์สองสัปดาห์ แล้วก็จะค่อยๆ ลดลง ผมไม่คิดว่ามันจะขยายใหญ่ เว้นเสียแต่ว่ามีพวกที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเข้ามาผสม แต่ผมคิดว่า คสช. ซึ่งเป็นผู้สร้างความสงบเงียบให้กับการเปลี่ยนผ่านไม่ต้องการสิ่งนั้น มันจึงน่าจะถูกจำกัดไว้ระดับหนึ่ง ในแง่หนึ่งเราอาจจะเอาผิดคนเหล่านั้นไม่ได้ มีการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ คนที่ถูกใช้ความรุนแรงก็อาจจะซวยไป เอาความผิดอะไรใครไม่ได้ แต่ขนาดของมันจะไม่ไปใหญ่กว่านี้สักเท่าไร จะประปราย กระจัดกระจายทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่สำคัญคือมันไม่มีหลักประกันในชีวิต ผู้คนก็คงต้องระมัดระวังตัวเองกันไป ตอนนี้คุณอยู่ในสังคมที่ไม่มีหลักประกันอะไร ถ้าเกิดทำผิดแล้วพวกที่ใช้วาทกรรมใหญ่ๆ มาใช้วาทกรรมนั้นกับคุณ โอกาสที่เขาจะหลุดรอดมีสูงมากๆ ถ้าเขาอ้างว่าเขาทำในนามของความรัก ความดี ความเศร้าโศกเสียใจจากความสูญเสีย คุณก็พร้อมที่จะได้รับความรุนแรงที่มันเกินพิกัดและเกินไปจากกระบวนการยุติธรรมปกติ คงไม่สามารถนำคนเหล่านั้นมาดำเนินคดีตามขั้นตอนปกติได้ในช่วงเวลานี้

แปลว่าทุกส่วนต้องเงียบกันต่อไป ?

เพราะว่าสังคมถูกครองโดยความเศร้าโศกเสียใจ และส่วนหนึ่งก็กลายเป็นความคลุ้มคลั่งไป คนที่อยู่ในอำนาจรัฐก็ไม่กล้าที่จะเข้ามาจัดการอะไร สิ่งที่จะประคองตัวเองให้รอดคืออย่าไปทำอะไรที่มันขวางลำ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ณ ตอนนั้นไม่มีหลักประกันอะไรให้กับคุณหรอก เมื่อความเศร้าโศกเสียใจคลี่คลายไป และเมื่ออารมณ์ของสังคมถูกแทนที่ด้วยวาระใหม่นั่นคือการขึ้นครองราชย์ซึ่งจะต้องมีการเฉลิมฉลอง ความเศร้าโศกเสียใจก็จะต้องถูกจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของมันใหม่ ซึ่งก็จะช่วยให้ความรุนแรงลดลงไปตามลำดับ

เราจะป้องกันไม่ให้การล่าแม่มดเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้อย่างไร ?

ในที่สุดแล้วเราต้องไม่สร้างความผูกพันที่มากล้นเกินไป เราต้องไม่สร้างหรือทำให้คนคนหนึ่งผิดธรรมชาติไป เช่น จะอยู่ได้ยาวนาน เราต้องไม่สร้างบุคคลที่มีลักษณะพิเศษไปจากมนุษย์ธรรมดาแล้วผูกตัวเองกับเขา เพราะเมื่อมันเจอกับข้อเท็จจริงของชีวิต คุณจะไม่สามารถรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ มันจะนำมาสู่อารมณ์ที่พุ่งพล่านเดือดดาล เราต้องทำให้คนในสังคมอยู่กับสภาพความเป็นจริงของชีวิต หนึ่ง คือ มนุษย์ทุกคนคือปุถุชนคนธรรมดา มีดีชั่วปะปนกัน ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ สอง คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องปกติสามัญ การเกิดแก่เจ็บตายมันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็ต้อง to be fair กับผู้สูญเสียด้วย คือไม่ควรจะใช้โอกาสนี้ในการทับถมหรือทำร้ายจิตใจกัน เราควรจะเคารพผู้คนในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่เศร้าโศกเสียใจได้ อย่าไปถากถางเยาะเย้ย ต้องให้เกียรติผู้ที่สูญเสียด้วย สังคมอารยะจึงจะอยู่ด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นมันก็จะลำบาก สาม คือ เมื่อมีความเศร้าโศกเสียใจ ควรจะแสดงออกอย่างพอเหมาะพอควรไม่คลุ้มคลั่ง นี่พูดภาษาพระเลยนะ มันตลกมากที่พูดเรื่องนี้ต้องพูดแบบพระ แต่มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหยิบคำพระมาระดับหนึ่ง คือ เราต้องจัดวางความเศร้าโศกเสียใจให้มันถูกต้อง พอเหมาะพอควร รู้ว่าความจริงของชีวิตคืออะไร

อีกเรื่องหนึ่งคือรัฐ ถ้ามีการสูญเสียขนาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถาบันทางสังคม รัฐจะต้องรีบเข้ามาคลี่คลายหรือจัดการกับความเศร้าโศกเสียใจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องราวเกิดขึ้นกระจายเต็มไปหมดโดยที่แทบจะไม่จัดการอะไรเลย ความสูญเสียมีหลายระดับ ในระดับบุคคล มันไม่เป็นไร แต่พอมันเป็นระดับสถาบันทางสังคม หรือสถาบันทางการเมือง มันกระทบกันไปหมด รัฐจะต้องเข้ามาจัดการในทันที จะต้องเข้ามาบอกแนวทางปฏิบัติ ออกมาห้ามปรามโดยเร็ว อย่าปล่อยให้เรื่องมันเกิดจนถึงจุดที่ไม่สามารถจัดการได้ ตอนนี้รัฐยังจัดการช้าเกินไป และยังคิดไม่เป็นระบบ

ช่วงนี้มีคำที่ฮิตคือ #ดึงสติกันหน่อย อยากให้ช่วยทิ้งท้ายเพื่อดึงสติคนในสังคม

เป็นธรรมดาที่เราจะเสียใจเมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แต่ก็ต้องตระหนักว่า ความสูญเสียนี้เป็นสิ่งธรรมดาที่เราต้องเผชิญไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะฉะนั้นในฟากหนึ่งเราก็ไม่เสียสูญความเป็นมนุษย์ที่จะเสียใจได้ แต่ในอีกฟากหนึ่งเราก็ต้องไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่จะคิดและมีวิจารณญาณได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้ความสูญเสียมันไปปิดกั้นการใช้ความคิดวิจารณญาณในการตอบสนองต่อบุคคลที่อาจจะกระทำการที่เราคิดว่าไม่เคารพความสูญเสียของเรา มันอาจจะมีเหตุผล เงื่อนไข เหตุปัจจัย ลักษณะเฉพาะอยู่ข้างหลังก็ได้ อย่างเร่งด่วนตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ต่อให้การกระทำที่เรารู้สึกว่าไม่เคารพหรือดูหมิ่นต่อความสูญเสีย หรือผู้สูญเสีย เราก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะไปพิพากษาหรือลงทัณฑ์เขาได้ ประเทศนี้มันมีระบบกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่จะทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ก็ปล่อยให้มันได้ทำหน้าที่ของมันไป เพราะสุดท้ายแล้วกระบวนการเหล่านั้นมันจะมาป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นอีก อันจะนำมาซึ่งความโกรธแค้นที่มีต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาว 17 แจ้งความ ถูกปลอมเฟซบุ๊กโพสต์หมิ่นกษัตริย์ คาดฝีมือคนเคยทะเลาะกัน

$
0
0

 

25 ต.ค. 2559 พ.ต.ท.ณรงค์ แสนเกื้อ พนักงานสอบสวน สภ.กันตัง รับเรื่องแจ้งความร้องทุกข์จาก ณัฐกานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 17 ปี ชาว อ.กันตัง จ.ตรัง ว่า มีคนแอบอ้างนำชื่อ และภาพของตนไปสร้างเฟซบุ๊กปลอมขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “นู๋โบวี่ รักปี๋โอมมี” โดยมีภาพใบหน้าของ ณัฐกานต์และอาวุธปืน พร้อมลักษณะเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวเพิ่งเปิด และมีการโพสต์ข้อความในวันเดียวกัน ส่งผลให้ณัฐกานต์เสื่อมเสียชื่อเสียง และถูกสังคมเข้าใจผิด อีกทั้งภาพที่ถูกโพสต์ขึ้นมีปืนไม่ทราบชนิดรวมอยู่ด้วย โดยชาวเน็ตเมื่อเห็นข้อความพร้อมกับภาพดังกล่าวที่ถูกโพสต์ขึ้นต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ทั้งด่าทอ สาปแช่ง และแชร์ข้อความดังกล่าวออกไป โดยที่ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเฟซบุ๊กนั้นถูกปลอมขึ้นมา

พ.ต.ท.ณรงค์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของ ณัฐกานต์ เอาไว้เพื่อตรวจสอบ 

ณัฐกานต์ ระบุว่า ตนกับสามีเคยมีปัญหาส่วนตัวกับผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นแฟนกับสามีตน โดยสามีตนได้เลิกรากับผู้ชายคนดังกล่าวไปได้ประมาณ 2 เดือน และยังเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทจนมีการแจ้งความดำเนินคดีกันมาแล้วก่อนหน้านี้ จึงเชื่อว่าจะต้องเป็นฝีมือของผู้ชายคนนี้อย่างแน่นอน เพราะตนเองไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งกับใคร ส่วนภาพใบหน้าของตนนั้น เชื่อว่าเขาจะต้องไปก๊อปปี๊ภาพมาจากในเฟซบุ๊กของคนที่เป็นเพื่อนกับตนอย่างแน่นอน

ทางด้านเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สภ.กันตัง หลังสอบปากคำ ณัฐกานต์ แล้ว จึงได้เดินทางไปนำตัว นินทร์ (นามสมมติ) อายุ 29 ปี อดีตแฟนของสามีณัฐกานต์มาสอบสวนที่ สภ.กันตัง โดยเบื้องต้น นินทร์ ให้การปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้กระทำ เจ้าหน้าที่จึงยึดโทรศัพท์มือถือไว้ตรวจสอบและปล่อยตัวไปก่อน โดยยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน และหาพยานหลักฐาน

ขณะเดียวกันก็ยังจะต้องนำตัวผู้ต้องสงสัย และพยานรายอื่นๆ ประมาณ 3-4 คน มาสอบปากคำด้วย เพื่อหาหลักฐานติดตามหาตัวมือโพสต์ต่อไป เนื่องจากเขาข่ายกระทำความตามมาตรา 112 และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

กมล ประเสริฐกุล นายอำเภอกันตัง ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้ลงมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นผู้เสียหายได้มาแจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ โดยทางตำรวจหาพยานหลักฐานผู้ที่ต้องสงสัยว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำผิดหรือไม่ ซึ่งทราบว่าในเบื้องต้น เจ้าตัวได้ปฏิเสธ โดยผู้เสียหายต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษเพราะอยู่ในเขตเมืองกันตัง ซึ่งเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัย เพราะอาจมีคนจำนวนมากโกรธเคือง และสร้างความไม่พอใจได้ต่อกระแสที่ถูกแชร์ออกไป จึงได้มอบหมายให้ทางอำเภอและฝ่ายความมั่นคงติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images