Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ฐานข้อมูลออนไลน์ 6 ตุลา และความคาดหวังเห็นความยุติธรรมในอนาคต

$
0
0

เสวนาเปิดตัวเว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้ว่าการทำฐานข้อมูล 6 ตุลาในที่สุดเมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นจะถูกใช้ประโยชน์ ธงชัย วินิจจะกูล ย้ำว่าแม้จะไม่ได้เห็นความยุติธรรมในระยะนี้ แต่สิ่งที่ทำได้คือความหวังของคนในอนาคต รวมทั้งการทำให้สังคมพูดคุยกันได้ทุกด้าน เพื่อทำให้สังคมมีวุฒิภาวะ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่อาคารอุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ร่วมกับ โครงการบันทึก 6 ตุลา จัดกิจกรรมโครงการสัมมนา "เผชิญความอยุติธรรมด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์" เปิดตัวเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา” [www.doct6.com] ในฐานะแหล่งข้อมูลออนไลน์ ที่มุ่งเก็บรวบรวมรักษาและจัดระบบข้อมูลที่ยังกระจัดกระจายในที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลและเพื่อการค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

กิจกรรมเปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการเสวนาหัวข้อ “บันทึกข้อมูลเพื่อทวงความยุติธรรม” วิทยากรประกอบด้วย ธงชัย วินิจจะกูล สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (IDE-Jetro, Japan) พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรอมฎอน ปันจอร์ จาก Deep South Watch ดำเนินการเสวนาโดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พวงทอง ภวัครพันธุ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ในต่างประเทศมีการจัดตั้งที่บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงมีมาก โดยกระแสอันหนึ่งของนักจดหมายเหตุหรือนักเก็บข้อมูลก็คือเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงของรัฐ โดยเฉพาะอาชญากรรมของรัฐ หลายกรณีสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ มีการรวบรวมและค้นหาความจริงมาเป็นเวลา 20 ปี แล้ว ซึ่งช่วงนั้นคนอาจไม่มีความหวังเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปการเมืองเปลี่ยน ข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นก็กลับมาใช้ประโยชน์

พวงทอง ชี้ด้วยว่า สังคมไทยอยู่ได้กับความอิหลักอิเหลื่อ เราจัดการได้ดีภายใต้ความคลุมเครือ ภาวะแบบนี้มันมีราคา สิ่งที่ชัดคือ มันเกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด แต่จากประสบการณ์หลายสังคม ข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มันสำคัญ มันทำให้สังคมได้เรียนรู้เหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรุนแรง โดยไม่ติดอยู่กับมายาคติ โดยเฉพาะข้อมูลการละเมิดนั้น หากไม่เก็บขึ้นมามันก็จะหาย สังคมไทยอยู่ในจุดที่น่าจะคิดอย่างจริงๆ ที่จะต้องมีแหล่งข้อมูลที่รวบรวม

รอมฎอน ปันจอร์เสนอแนะด้วยว่า อยากให้พยายามให้มองรอบด้าน รวมทั้งมองในประเด็นการเปลี่ยนปลงทางการเมืองในศูนย์กลางประเทศในช่วงนั้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรอบนอกอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความจริงที่รอบด้านขึ้น

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการพูดถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ธงชัย วินิจจะกูลย้ำว่า ต่อให้เรารังเกียจว่าหลายคนกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความเข้าใจผิด แต่ก็ห้ามไม่ได้ ในทางกลับกันการพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้อดีตนั้นไม่ตาย ดังนั้นโดยภาพรวมในสังคมควรส่งเสริมให้คนพูดไป รวมทั้งพูดผิดๆ ด้วย เพราะเราไม่กลัวว่าคนจะเขียนประวัติศาสตร์อย่างไร

สำหรับการแสวงหาความยุติธรรมจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ธงชัย มองว่าจะไม่ได้เห็นความยุติธรรมในระยะนี้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือความหวังของคนในอนาคต ดังนั้นเราจึงต้องเก็บเอกสารข้อมูลเอาไว้ เพราะอนาคตอาจเห็นความยุติธรรมได้ในระยะยาว รวมทั้งต้องทำให้สังคมเราพูดกันทุกด้าน เพื่อให้คนในสังคมเติบโตมีวุฒิภาวะ

สำหรับเหตุผลในการสร้างเว็บนี้ ธงชัย กล่าวว่า เกิดขึ้นเพื่อ หนึ่ง ความยุติธรรม และสอง รู้สึกผิด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถตามญาติตามคนที่เกี่ยวข้องไม่ได้มาก จึงอยากทำและเก็บเป็นหลักฐานไว้

“มีความอยุติธรรมอีกมาก หากเราสู้ไม่ได้หมด อย่างน้อยที่สุดก็แบมันออกมา ตอนนี้พูดไม่ได้ก็เตรียมแบในอนาคต” ธงชัย กล่าว พร้อมย้ำด้วยว่าตนไม่เคยรังเกียจเลยกับคนที่กัดไม่ปล่อย คนกัดไม่ปล่อยบางที่ก็น่าเบื่อ แต่คนกัดไม่ปล่อยมีประโยชน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชทำไมต้องเป็นฉบับใหม่?: เสียงจากนายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์

$
0
0

ความเห็นอีกด้านต่อร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ กับ ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อทำไม่ได้จริงหรือ? การผูกขาดเมล็ดพันธุ์จากบรรษัทขนาดใหญ่เป็นไปได้ไหม? การเข้าเป็นสมาชิก UPOV จำเป็นต่อเราหรือไม่? ทำไมการได้รับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่จึงสำคัญ? และเหตุผลที่ต้องแก้พ.ร.บ.ฉบับนี้

จากข้อโต้แย้งของ BIOTHAI ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ ซึ่งได้ตีความกฎหมายว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อจะผิดกฎหมาย รวมทั้งไม่สามารถจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดพันธุ์นั้นได้ รวมถึงเจตนาการร่างพ.ร.บ. ที่ต้องการให้เป็นไปตามแนวทางของ UPOV1991 อาจทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย และทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง มีผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

ประชาไทสัมภาษณ์ ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อให้เห็นอีกด้านของความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้

ข้อสงสัยในมาตรา 35 วรรค 2 จะจำกัดสิทธิเกษตรกรในการปลูกพืชพันธุ์ใหม่จริงไหม?

ในวรรคแรก "เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง" สิ่งเหล่านี้ในทางวิชาการเมล็ดพันธุ์คือ Home save seed คือผู้ปลูกเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง ซึ่งเป็นกันมานานแล้วในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรซื้อพันธุ์ข้าวแล้วเก็บพันธุ์ที่ตัวเองรู้ว่าดี และเก็บไว้ใช้เอง กฎหมายก็ให้สิทธิเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์

ส่วนวรรคที่สอง “รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้” อันนี้ยิ่งเป็นประโยชน์มากกับเกษตรกร คือในภาวะเมล็ดพันธุ์ขาดแคลน แทนที่เกษตรกรจะมีสิทธิแค่เก็บเมล็ดพันธุ์ตามปกติไว้ใช้เอง ก็มีสิทธิเก็บไว้ได้มากกว่านั้นอีกเนื่องจากใช้อำนาจของคณะกรรมการคุ้มครอง

คำว่า “จำกัด” ทำให้ตีความว่า สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้

อาจจะใช้คำว่า “กำหนด” ก็ได้ ผมไม่ทราบภาษากฎหมาย แต่คิดว่าถ้าเป็นที่เรื่องคำ ในเวลานี้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เขาเปิดรับฟังความเห็นอยู่ เราก็อาจจะเขียนเสนอความเห็นให้ใช้คำที่มันมีความหมายแบบนี้ คำว่า “จำกัด” มันอาจจะรู้สึกถูกข่มขู่มากเกินไปก็เป็นได้

เจตนาของกฎหมายตัวนี้ ผมมองว่ารัฐจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องจนกว่าผู้ทรงสิทธิไม่สามารถขยายจำนวนได้ตามความต้องการของตลาด เกิดภาวะเช่น ข้าวยากหมากแพง ภัยพิบัติ และคณะกรรมการเห็นว่าพืชนี้มีความสำคัญ กฎหมายฉบับนี้จะขยายสิทธิให้เกษตรกรได้ปลูกพืชที่ตลาดต้องการ หรือเช่นพันธุ์ข้าวไม่พอใช้ บ้านเราผลิตข้าวได้ 10 ล้านตัน ใช้พันธุ์ข้าว 1 เปอร์เซ็นต์ ถ้าพันธุ์ข้าวไม่พอใช้ก็แปลว่าเราจะไม่สามารถผลิตข้าว 10 ล้านตันได้ รัฐก็จะเข้ามากำกับช่วยดูแลเรื่องพวกนี้ ถึงตอนนั้นถ้าใครได้รับการคุ้มครองสิทธิ์อยู่ พอถึงเวลาคุณก็ต้องปล่อยสิทธิตัวนี้ออกไป

ในแง่ของสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ ถ้าเรารู้ว่าเมล็ดจะไม่พอ ในแง่ของการค้าเราต้องทำเพิ่มอยู่แล้ว แต่ภัยพิบัติมันมาอย่างที่เราไม่รู้ เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ. นี้เปิดทางให้รัฐมีอำนาจในการจัดการเรื่องพวกนี้ได้

ยกตัวอย่างเรื่องลิขสิทธิ์อย่างอื่น เช่น เพลง สมมติเป็นเพลงที่ขายดีมาก เขาผลิตออกมาล้านแผ่นแล้วขายหมด แต่เขาไม่ยอมผลิตต่อ ซึ่งในกรณีของเพลงรัฐก็ไม่มีสิทธิจะเข้าไปยุ่งเพราะไม่ได้เป็นภัยพิบัติที่ต้องบังคับว่าคุณต้องผลิตออกมา แต่ในกรณีเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นเรื่องของชีวิต อาหารที่คนต้องบริโภค ถ้าขาดแคลนเมื่อไหร่ ก็ลำบากกันหมด ข้อนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยชดเชย แน่นอนว่ากำหนดปริมาณที่จะเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลากี่ปี และจากนั้นสิทธิของเจ้าของสิทธิก็จะกลับคืนสู่เจ้าของ

จากมาตรา 74 ทำให้ตีความได้ว่า ใครนำเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปขายหรือแจกจ่ายจะผิดกฏหมาย?

มาตรา ๗๔ ผู้ใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๕๗ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ มาตรานี้ถูกตีความว่า จะทำให้เกษตรกรที่ปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิด

มาตรา ๓๓ ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวใน การดําเนินการต่อส่วนขยายพันธุ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ผลิต หรือการผลิตซ้ํา (การขยายพันธุ์)

(๒) การปรับปรุงสภาพเพื่อวัตถุประสงค์ของการขยายพันธุ์

(๓) การเสนอขาย

(๔) การขายหรือการทําการตลาดอื่น ๆ

(๕) การส่งออก

(๖) การนําเข้า

(๗) การเก็บสํารองเพื่อวัตถุประสงค์ในการดําเนินการตาม (๑) ถึง (๖)

มาตรา ๕๗ เมื่อได้จดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่นของชุมชนใดแล้วให้ชุมชนนั้นมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการ ปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิต ขาย ส่งออกนอก ราชอาณาจักร หรือจําหน่ายด้วยประการใดซึ่งส่วนขยายพันธุ์ของ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ทั้งนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่ได้รับหนังสือสําคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเป็นผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืช พื้นเมืองเฉพาะถิ่นนั้นแทนชุมชนดังกล่าว ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความ คุ้มครอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นส่วนขยายพันธุ์

(๒) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับ ความคุ้มครองซึ่งกระทําโดยสุจริต

(๓) การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สําหรับพันธุ์พืช พื้นเมือง เฉพาะถิ่นที่ได้รับความคุ้มครองโดยเกษตรกรด้วยการใช้ส่วน ขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น นั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถ เพาะปลูกหรือขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา (๔) การกระทําเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ได้รับความ คุ้มครองโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า

มาตรา 33 คือมาตราที่เราคุยเมื่อกี้ 33 อันเดียวถูกขยายไป 6 ข้อในร่าง ฯ ฉบับใหม่ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปลูกหรือเก็บรักษาพันธุ์ปลูกต่อได้ในพื้นที่ของตัวเอง ส่วนผลผลิตนำไปขายได้ แต่อย่าขายพันธุ์อย่าขายเมล็ดพันธุ์หรือแจกจ่ายถ้าเรายุติธรรมพอเราก็จะมองเห็นว่ามันไม่เหมาะ เหมือนกับการไปลิดรอนสิทธิของผู้ที่พึงได้ เพราะมันเท่ากับว่าคุณไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เขาใช้เวลาวิจัยกันกว่าจะได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชพันธุ์ใหม่ แล้วคุณก็มาปลูกต่อ แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไปขายต่อ แบบนี้เขาจะเสียเวลาวิจัยกันทำไม

ส่วนมาตรา 57 อันนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิเกษตรกรเลย แต่จำกัดสิทธิผู้ทรงสิทธิ ซึ่งต้องขออนุญาตก่อนการนำพันธุ์พืชเมืองท้องถิ่นมาพัฒนา เพราะมาตรา 57 เป็นการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ซึ่งเจ้าของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็คือคนในท้องถิ่น ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง พูดกันง่ายๆ ก็คือ เจ้าของพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็คือรัฐบาล กลุ่มบุคคลในท้องถิ่น

ตอนนี้ยังไม่มีอะไรขึ้นทะเบียนเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นเลย เพราะมันถูกขยายไปโดยธรรมชาติ ไม่ได้มีเฉพาะที่นี่ที่เดียว บางคนย้ายถิ่นก็เอาไปด้วย แต่ในความหมาย “พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น” คือพืชที่ขึ้นเฉพาะถิ่นนั้นๆ และถูกดูแลรักษา ยกตัวอย่าง กล้วยไม้รองเท้านารี จะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเฉพาะในท้องที่ของมันเอง เช่น ภาคใต้ก็มีรองเท้านารีเฉพาะ ภาคเหนือก็มีรองเท้านารีอีกลักษณะหนึ่ง

กลุ่มบุคคลหรือประชาชนท้องถิ่นเมื่อได้ดูแลรักษาทำให้พืชตัวนี้อยู่ในท้องถิ่น ใครจะนำไปใช้ต้องขออนุญาต ทีนี้เวลาจะนำไปใช้ สมมติเราเห็นว่ารองเท้านารีสตูลลักษณะดี ถ้าหากไปผสมกับรองเท้านารีลำปางจะได้พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะดียิ่งกว่า การจะเอารองเท้านารีสตูลมาใช้ก็ต้องขออนุญาต ขอจากใคร ก็ขอจากรัฐบาล ซึ่งการขออนุญาตก็จะมีการแบ่งผลประโยชน์ ถ้าเกิดผลประโยชน์ขึ้นจะมีการแบ่งปันเท่าไหร่ เงินแบ่งปันผลประโยชน์เหล่านี้ก็จะกลับคืนไปสู่ท้องถิ่นที่พืชตัวนี้อยู่ เพื่อดูแลมันต่อไป เพราะฉะนั้นในพ.ร.บ.นี้ถึงมีเงินกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช

การจะมีพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็แสดงว่าชุมชนจะต้องมองหาพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้วไปขอขึ้นทะเบียนเอาไว้ และใครจะนำออกจากท้องถิ่นไปต้องขออนุญาต ถ้ายิ่งนำไปทำประโยชน์มากเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็จะกลับคืนสู่ท้องถิ่นนั้นๆ แต่การทำประโยชน์ไม่ใช่ว่าเก็บเกี่ยวไป เป็นเพียงการเอาตัวอย่างไปใช้

ไม่เหมือนกับปัจจุบันที่ไม่มีการคุ้มครอง เข้าป่าไปกวาดเอารองเท้าพื้นเมืองกลับมาเป็นเข่งๆ มันก็สูญไปจากท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่ถ้ามันเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นแล้ว ประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นจะรักษาและหวงแหน ใครจะมาเก็บไปก็จะไม่ยอม เพราะมันจะเป็นประโยชน์ของท้องถิ่นที่จะได้รับ การจะขึ้นทะเบียนเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นก็ต้องพิสูจน์ได้ว่าที่อื่นไม่มี

แล้วอย่างพืช เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่เขาว่ากันว่าต้องเมืองนนท์เท่านั้น จดเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นได้ไหม?

ไม่จัดว่าเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น แต่สามารถจดเป็น GI (Geographical Indications - การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ) ได้ ตัวนี้เป็นเรื่องของการตลาด เช่น ทุเรียกหลงลับแล เราคงไม่สามารถหาซื้อได้จากระยอง มันช่วยส่งเสริมการตลาดแก่ชุมชนนั้นๆ และการจะรับจดทะเบียนพืชพื้นเมืองท้องถิ่นรัฐก็ต้องดูแลและตรวจสอบ

ทำไมต้องเข้าเป็นสมาชิก UPOV?

UPOV เป็นองค์กรนานาชาติระหว่างประเทศ ซึ่งดูแลเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เน้นว่าเป็นพันธุ์พืชใหม่ ปัจจุบันมี 74 ประเทศ ถ้าเป็นสมาชิก UPOV พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองในประเทศจะได้รับการคุ้มครองในประเทศที่เป็นสมาชิก UPOV ทุกประเทศ ถ้าหากเราไม่มีการพัฒนาพันธุ์ใหม่เราก็ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกเขาก็ได้

ใน 74 ประเทศก็คือประเทศที่มีการพัฒนาพันธุ์พืช ก็จะได้รับการคุ้มครอง การคุ้มครองไม่ใช่เฉพาะพันธุ์พืชแต่ขยายตัวไปถึงการขาย เป็นเรื่องของการตลาด ถ้าพันธุ์พืชที่เราพัฒนาถูกขายออกไปในประเทศอื่นและไม่ได้รับการคุ้มครองก็จะถูก- - ใช้คำง่ายๆ ก็คือ ถูกก็อปปี้ได้ง่าย

พ.ร.บ. ฉบับนี้เราส่งเสริมให้มีนักปรับปรุงพันธุ์ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพันธุ์ ส่งเสริมให้มีการสร้างพันธุ์ใหม่ เมื่อสร้างพันธุ์ใหม่แล้วส่งไปขาย ถ้าไม่ได้รับการคุ้มครอง พันธุ์ของเราก็จะถูกนำไปใช้ โดยเฉพาะในช่วง 20 ปี บ้านเราพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก แล้วก็ถูกนำไปใช้ในอาเซียน ในประเทศเขตร้อนเกือบทั้งหมด เราเป็นผู้ส่งออกพันธุ์พืชรายใหญ่ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน

ณ ปัจจุบัน เราส่งออกข้าวโพดเกือบทุกประเทศในเอเชีย ถ้าพันธุ์เราไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็จะถูกผลิตขึ้นในประเทศนั้นๆ แล้วก็ขายโดยที่จะไม่ซื้อจากเราอีกต่อไป

แล้วเราจะไปขอความคุ้มครองจากประเทศนั้นๆโดยตรงได้ไหม?

เราก็ต้องไปจดทะเบียนขอการคุ้มครองในประเทศเขาทีละประเทศ แต่ถ้าเราเป็นสมาชิก UPOV เราแค่จดทะเบียนในประเทศเรา การคุ้มครองจะเกิดขึ้นทุกประเทศสมาชิก

ความสำคัญของการได้รับการคุ้มครอง

บริษัท (ส่วนตัว) ผมอายุ 30 กว่าปี เริ่มทำงานพัฒนาพันธุ์มา 25 ปี เพิ่งจะขายพันธุ์ที่เป็นของบริษัทได้จริงๆ เมื่อประมาณสัก 10 ปีนี้เอง มันใช้เวลานานมาก ถ้าไม่ใช่ความฟลุ๊ค แต่ละปีมีพันธุ์ออกมาเป็นร้อย แต่เอามาสกรีนจะเข้าตลาดจริงๆ เหลือสัก 3-4 พันธุ์ก็ถือว่าเก่งแล้ว

เพราะอะไร?

ตลาดมีข้อจำกัด พันธุ์พืชใหม่จะได้รับการยอมรับเมื่อไหร่ หนึ่ง เกษตรกรต้องยอมรับ จะยอมรับก็เพราะพันธุ์แข็งแรง ปลูกง่าย ตายยาก สอง ฝ่ายขนส่ง แม้พันธุ์นี้ผลผลิตดีแต่ขนส่งบอกว่าไม่เอา ขนถึงปลายทางหายไปครึ่งหนึ่ง เสียหาย ช้ำ ไม่อยากได้ สาม ตลาด พอขนส่งไปที่ตลาด ตลาดบอกว่า พันธุ์นี้ไม่เอา วางสองวันเหลืองแล้ว เหี่ยวเร็ว สี่ ผู้บริโภค รสชาติไม่อร่อย ก็ไม่ได้

ดังนั้นในการที่พันธุ์จะเข้าตลาดได้ จะต้องมีคนอย่างน้อย 4 กลุ่มบอกว่า Yes ไม่ใช่ว่าเราทำพันธุ์ออกมาดีแล้วทุกคนจะโอเค พอไปถึงตลาดจริงๆ แล้วข้อจำกัดจะตามมา พื้นที่นี้ปลูกได้ พื้นที่นี้ปลูกไม่ได้ ฤดูนี้ปลูกได้ ฤดูนี้ปลูกไม่ได้ เพราะงั้นพันธุ์จะมีความหลากหลายมาก

บ้านเรามีสามฤดู ร้อน ฝน หนาว สามฤดูนี้พันธุ์พืชก็จะแตกต่างกัน ถามว่าพันธุ์เดียวได้ไหม ก็ได้ แต่ต้องยอมรับว่ามันดีที่สุดในฤดูหนาวนะ ฤดูฝนมันก็ได้แค่นี้ พื้นที่ราบได้แบบนี้นะ ที่ดอนได้แบบนี้ ที่ภูเขาได้แบบนี้ มันเป็นผลกระทบที่เราต้องหาพันธุ์ที่เหมาะ เช่น เราจะผลิตของไปขายที่ภาคเหนือก็ต้องทนเย็น เพราะที่นั่นเย็น ถ้าไม่ทนเย็นที่นั่นก็ไม่ยอมรับ เพราะมันเติบโตไม่ได้ เชื่อไหมว่าผมทำพัฒนาพันธุ์มา เวลานี้ผมยังไม่มีพันธุ์ขายภาคเหนือเลย เพราะว่าเขตพัฒนาผมอยู่สุพรรณบุรี อยู่ในเขตร้อน ก็ต้องยอมรับว่าข้อจำกัดของเรามี

จากปัจจัยเหล่านี้เป็นไปได้ไหมว่าบริษัทใหญ่จะผูกขาด เพราะเป็นผู้มีกำลังและทุนมากกว่า?

บริษัทใหญ่ กำลังเยอะ อย่าลืมว่าต้นทุนก็สูง ดังนั้นเขาจะไม่พัฒนาพันธุ์ที่ใช้เฉพาะถิ่น เช่น ตอนนี้ประเทศไทยผลิตข้าวโพด 17,000 ตันต่อปี เฉลี่ยกิโลละ 70-100  บาท ก็มีมูลค่าเมล็ดเพียง 1,700 ร้อยล้านบาทเป็นมูลค่าขาย ผมว่าไม่มีบริษัทไหนจะลงมาเล่น ที่เขาจะมองคือเขามองว่าทั้งภูมิภาคเท่าไหร่ บริษัทใหญ่เขาจะไม่มองเฉพาะประเทศ

โดยเฉลี่ยแล้วพันธุ์พืชแต่ละชนิด แต่ละบริษัทดูแลไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครคุม Majority ทั้งหมด ถ้าใครคุม Market share ของพืชตัวหนึ่งได้สัก 50 เปอร์เซ็นต์นี่ยอมนับถือ

แต่อย่างตลาดข้าวโพด เป็นของซีพีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และเป็นของมอนซาโต้อีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญเมล็ดพันธุ์ของซีพีก็ได้สิทธิบัตรมาจากมอนซาโต้ ดังนั้นจึงกลายเป็นการถือครองตลาดครึ่งหนึ่งของทั้งสองบริษัทใหญ่ที่ผนวกรวมกัน

เรื่องนี้เราก็ต้องยอมรับ ในเรื่องพัฒนาการใครเก่งก็ต้องยอมรับ

แล้วเรื่องความหลากหลายล่ะ?

ถามว่าเราไม่ซื้อพันธุ์เขาได้ไหม ได้  เวลานี้ทุกบริษัทพัฒนาพันธุ์ออกมาไม่ใช่ว่าพันธุ์เดียวแล้วขายได้ ปริมาณพันธุ์ที่ว่ารวมๆ 50 เปอร์เซ็นต์คือหลายพันธุ์ อาจจะเป็นข้าวโพดชนิดเดียวแต่พันธุ์มีเป็นสิบๆ ชนิด อย่างเวลานี้แตงกวาในบ้านเรามีขายอยู่ 300 กว่าพันธุ์ เพราะฉะนั้นคนใช้จะเลือกใช้อะไรก็ได้ เวลาคนใช้เมล็ดพันธุ์อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ก็จะมองว่าพันธุ์นี้เหมาะกับฉัน ต้องใช้พันธุ์นี้ แต่ในที่สุดการตัดสินใจจะอยู่ที่คน 4 กลุ่มเสมอ

ผมอยู่ในวงการนี้ผมมองว่าเมล็ดพันธุ์ ถ้าคุณขายแพง ปลูกแล้วไม่คุ้มทุน ผมไม่ซื้อ ผมไปซื้ออีกพันธุ์ที่ราคาถูกกว่า ในฤดูที่สินค้าแพงอย่างฤดูฝน ถ้าฝนตกหนักๆ ผักหลายชนิดจะโตลำบากเพราะน้ำเยอะเกินไป จะมีพันธุ์บางพันธุ์ที่โตได้ เขาก็จะไปซื้อพันธุ์นั้นมาใช้ แต่พันธุ์นั้นราคาแพงเกินไปขายแล้วไม่คุ้ม อันนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดในบ้านเรา เพราะบ้านเราต้นทุนเมล็ดพันธุ์คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดทางการเกษตร ถือว่าถูกมาก

ต้นทุนการผลิตทั้งหมด ถ้าเราเริ่มจากการไถที่เตรียมแปลง เมล็ดพันธุ์ วัสดุการเกษตร ปุ๋ย ยาเคมี แรงงาน น้ำมัน ค่าเครื่องสูบน้ำ เมล็ดพันธุ์ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่า เซ้นซิทีฟที่สุด ถึงแม้จะมีมูลค่าต่ำ ทำอะไรล้มเหลวโทษเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อน

เมล็ดพันธุ์ มีคุณภาพสองอย่างคือ อันที่หนึ่งคือคุณภาพพันธุ์ อันที่สองคือคุณภาพเมล็ด พันธุ์จะดีไม่ดี จะไปรู้เอาตอนสุดท้ายที่เรากินแล้วอร่อย ส่วนคุณภาพเมล็ดพันธุ์ จริงๆ แล้วรับผิดชอบแค่หยอดลงไปแล้วงอก ถ้างอกได้ก็จบหมดภาระของเมล็ดพันธุ์แล้ว ส่วนที่เหลือคือการบำรุงรักษา ใส่ปุ๋ยใส่น้ำ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การผลิตล้มเหลว คุณจะได้ยินเสียงเลยว่า เมล็ดพันธุ์ไม่ดี โทษเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อน ทั้งที่เมล็ดพันธุ์ควรจะรับผิดชอบแค่ปลูกแล้วงอกดี ปลูกแล้วโอเค จบ

มีงานวิจัยที่อิงจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อเข้า UPOVเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้นเป็น 3 เท่า เป็นไปได้ไหม?

อะไรก็ตามที่เป็นปัจจัยการผลิต ถ้าไม่คุ้มจะถูกเปลี่ยนทันที ในการผลิต ธรรมชาติมีไดนามิกในตัวมันเอง เราไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรแบบนี้เท่านั้น มันจะถูกปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เมล็ดพันธุ์ถ้าแพงเกินไปก็จะเลือกซื้อของที่ถูกกว่า ที่คุณภาพใกล้เคียง เมื่อไหร่ก็ตามที่เค้กชิ้นนี้ใหญ่ ในระบบการค้าเสรีจะมีคนเข้ามาแบ่ง เพราะฉะนั้นมันไม่มีทาง

ที่กังวลกันเรื่องข้าวกับข้าวโพดว่าจะเกิดการผูกขาดจากบรรษัทใหญ่

ข้าวไม่มีใครอยากลงไปเล่นหรอก เพราะรัฐดูแลอยู่ ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทไหนขายเมล็ดพันธุ์ข้าว แม้กฎหมายฉบับนี้จะเอื้อประโยชน์ให้นักปรับปรุงพันธุ์ แต่ยังมีกฎหมายฉบับอื่นคุ้มครองอยู่ เรามีกฎหมายหลายฉบับ คุณจะพัฒนาพันธุ์ข้าวไม่ได้หรอกถ้ากฎหมายตัวนี้ยังไม่ได้เปลี่ยน

ประเทศเราห้ามนำพันธุ์ข้าวเปลือกเข้ามาในประเทศเพื่อการค้า ข้าวไฮบริด (ข้าวลูกผสม) เขาขายกันมา 30 ปีแล้ว บ้านเรายังไม่ได้ใช้เลยเพราะนำเข้าไม่ได้ แม้กระทั่งจะขอพันธุ์ข้าวมาทดสอบก็ต้องผ่านกระบวนการควบคุมคุ้มครอง ณ ปัจจุบันบริษัทเอกชนที่พัฒนาพันธุ์ข้าว ก็ใช้พันธุ์ข้าวในเมืองไทย นำเข้าไม่ได้ กฎหมายมันมี linkage (การเชื่อมโยง) ที่ถ่วงดุลกันอยู่หลายอัน

ผมไม่อยากใช้คำว่าไม่มีเอกชนผลิตพันธุ์ข้าว แต่บริษัทที่เป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ผลิตพันธุ์ข้าวเนี่ย เป็นคนไทยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ คือ อยู่ในท้องถิ่น ผลิตพันธุ์ข้าว แล้วก็ขายให้เกษตรกรในท้องถิ่น

ต่างประเทศไม่มีใครลงทุน เพราะราคายังไม่จูงใจ เนื่องจากรัฐบาลช่วยซับพอร์ท ควบคุมราคา รัฐบาลถึงจะผลิตพันธุ์ข้าวได้น้อย ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณการใช้ทั้งหมด แต่ว่าราคาต่ำ มันดึงราคาพันธุ์ข้าวไว้ไม่ให้สูง เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สามารถดูแลได้เอง เพราะฉะนั้นเกษตรกรเก็บไว้ใช้เองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

พันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบริษัทท้องถิ่นเป็นคนทำ ซึ่งแต่ก่อนก็คือโรงสี เมื่อมีพันธุ์ข้าวดีโรงสีก็จะเก็บไว้เพื่อขายแก่เกษตรกรในฤดูหน้า คล้ายๆ ทำหน้าที่เป็นยุ้ง แต่มาระยะหลังมีกฎหมายเรื่องการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โรงสีก็ต้องพัฒนาตัวเอง ต้องควบคุมคุณภาพ เก็บรักษาให้ดี จนกระทั่งมาระยะหนึ่งในท้องถิ่นที่ทำได้ก็จะมีคนกลาง ในการไปดูแปลงข้าว แปลงนี้ข้าวสวยคุณภาพดี ก็เก็บพันธุ์มาขาย มันเป็นเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นทั้งนั้น เพราะราคาไม่สูง ดังนั้นใครก็ตามคิดจะลงไปทำพันธุ์ข้าว ราคานี้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย บริษัทผมก็ไม่ทำ

ถ้าพันธุ์จะทะลักเข้ามาก็เพราะ หนึ่งมีคุณสมบัติที่ดี เด่นกว่า ถ้าแตกต่างกันไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ คนปลูกไม่เปลี่ยนพันธุ์ เข้าคุ้นกับพันธุ์เก่า เขาจะใช้วิธีการเดิม อะไรเดิมในการปลูก ถึงแม้บอกว่านี่พันธุ์ใหม่นะ ผลผลิตสูงกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เชียวนะ แต่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มนะ ต้องทำยังงั้นเพิ่ม ยังงี้เพิ่มนะ ยังขายยากเลย

การขายพันธุ์ยากที่สุดคือเปลี่ยนวิธีการจัดการของเกษตรกร อย่าลืมว่าแม้กระทั่งข้าวโพด กว่าเกษตรกรจะยอมรับไฮบริดใช้เวลาเป็น 10 ปี เพราะปกติปลูกข้าวโพดสิบไร่ แบกปุ๋ยลงไปสองกระสอบ เดี๋ยวนี้ต้องแบกปุ๋ยไปไร่ละกระสอบถึงจะได้ผลผลิตขนาดนี้ ด้วย เมื่อก่อนไร่หนึ่งสีข้าวโพดมาได้อย่างเก่งก็ 200-300 ร้อยกิโล เดี๋ยวนี้ปลูกข้าวโพดใส่ปุ๋ยมาได้ 800-900 กิโล ถึง 1,200 กิโลต่อไร่ ก็เพราะหนึ่งพันธุ์ดีขึ้น สองเทคโนโลยีการผลิตก็ดีขึ้น แต่ผมยังไม่พูดว่าต้นทุนที่ได้กับข้าวโพดที่ได้มันคุ้มกันไหม ซึ่งมันต้องคุ้ม ไม่งั้นเขาคงไม่ทำ เกษตรกรเขาฉลาดนะ

การฟ้องร้องเรื่องการหยิบพันธุ์ไปใช้?

เช่น ตำลึง เป็นตัวที่น่าสนใจเนื่องจากคุณค่าทางอาหารสูง ผมเคยเอามาพัฒนา แต่ปรากฏว่าในเชิงการตลาดมันไปไม่ได้ คนกิน แต่ตำลึงจะให้ผลผลิตสูงต้องไปหาตำลึงตัวผู้ ไม่ติดลูก ใบก็จะเยอะ แต่ถ้าคุณทำตำลึงตัวผู้คุณจะเอาเมล็ดที่ไหน ก็ต้องไปหาตำลึงตัวเมีย

แต่ปรากฏว่าตำลึงขยายพันธุ์ง่ายโดยใช้เถา เพราะฉะนั้นถ้าผมพัฒนาตำลึงมาผมคงไม่ได้ขาย เขาซื้อผมครั้งเดียวแล้วเขาก็ใช้เถามันปลูกต่อ เพราะฉะนั้นในแง่ธุรกิจมันจึงทำไม่ได้ ดังนั้นก็ไม่มีใครพัฒนา พัฒนามาแล้วคนก็ซื้อพันธุ์เราไปปลูก แล้วเก็บพันธุ์ขายต่อ ลักษณะแบบนี้มันชุบมือเปิบกันเกินไป แต่ถ้ามีการคุ้มครอง อันนี้ทำได้ แต่ต้องหา marker ให้เจอ เช่น แทนที่จะเป็นใบห้าเหลี่ยม ตำลึงผมจะเป็นใบหกเหลี่ยม คุณจะไปขยายพันธุ์ของผม ผมต้องไปขอค่าลิขสิทธิ์

ในไทยกฎหมายเรื่องการฟ้องร้องการหยิบพันธุ์ไปใช้มักจะไม่สำเร็จ ในที่สุดจะถูกยกฟ้อง เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ คล้ายกับความผิดไม่ซึ่งหน้า ผมพิสูจน์ได้ว่านี้เป็นพันธุ์ของผม คุณมีได้ไง เขาบอกเขาซื้อมาปลูก แสดงว่าก็ต้องมีคนขโมยพันธุ์ผมไปขาย ก็ต้องไปหาคนขโมย ใครล่ะ เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่ามีการขโมย ก็ยกฟ้อง

ต่างจากมอนซาโตที่เกษตรกรโดนฟ้องเพราะเก็บเมล็ดพันธุ์ของบริษัทไปปลูกต่อ

เขาชนะเขาไม่ได้ชนะจากพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เขาชนะจากกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา เพราะอเมริกาเขายอมให้จดลิขสิทธิ์ยีน ซึ่ง UPOV ไม่รับเรื่องนี้

เกษตรกรในต่างประเทศมีพื้นที่กันเป็นพันเอเคอร์ เอาแค่ซื้อไปแล้วเก็บพันธุ์ไว้ใช้ได้เอง คนพัฒนาพันธุ์ก็ตายแล้ว ไม่ต้องขาย เขาถึงต้องมีกฎหมายอื่นขึ้นมาควบคุมกำกับรองรับ  

ประเทศอเมริกาตอนนี้อยู่ได้ด้วยค่าลิขสิทธิ์ เพราะฉะนั้นใครคิดค้นอะไรขึ้นมาได้เขาก็มีลิขสิทธิ์ เคสนี้ต่างกัน อเมริกายอมให้ใช้จีเอ็มโอในประเทศ เพราะฉะนั้นยีนจีเอ็มโอที่ของเขา คุณจะเอาไปใช้ต่อไม่ได้ มันเป็นลิขสิทธิ์ของเขา

บ้านเรายอมให้เกษตรกรเก็บพันธุ์ไว้ใช้เอง เพราะเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ที่มีพื้นที่จำกัด แต่ถ้าหากเราไม่นิยามคำว่าเกษตรกรให้ดี คำว่าเกษตรกร คุณลองช่วยนิยามให้หน่อย ใครที่จะถูกนิยามว่าจะเป็นเกษตรกร?

ที่ไม่ใช่นิติบุคคล?

เพราะฉะนั้นนิติบุคคลจะเก็บเมล็ดพันธุ์มาใช้เองไม่ได้ ถูกไหม? เวลาที่คุยกันเรามักไปสะดุดอยู่ที่คำนี้ ลองนิยามคำว่าเกษตรกร บางทีเขาก็จะบอกว่า ผู้มีรายได้ต่ำ ถ้าเป็นเกษตรกรแล้วมีรายได้ต่ำผมไม่เป็น (หัวเราะ) แล้วคุณจะหาเกษตรกรที่เข้มแข็งได้ยังไงในเมื่อคุณบังคับให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำ แล้วเกษตรกรคืออะไร?

อย่างฟาร์มที่ทำอยู่ เป็นเกษตรกรไหม? ผมก็ยังไม่รู้เหมือนกันนะ

ถ้าเกษตรกรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะคณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน จะพ้นจากความเป็นเกษตรกรไหม?

คนในประเทศ 70 ล้านคนใครเป็นเกษตรกรบ้าง ถ้าเกษตรกรคือคนมีอาชีพเกษตรกรรม ผมก็เป็นเกษตรกรนะ บริษัทผมก็เป็นเกษตรกรเหมือนกัน แล้วเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนไหม คนไม่เสียภาษีคือเกษตรกรไหม เกษตรกรรายใหญ่มีพื้นที่เป็นพันไร่ จ้างคนงานทีร้อยคน คุณยังนับว่าเขาเป็นเกษตรกรอยู่รึเปล่า บริษัทซีพีก็ถือเป็นเกษตรกรไหม ถ้าเขาแค่เอาพันธุ์ผมไปผลิตใช้เองผมก็จนแล้วล่ะ ไม่ต้องขายใครแล้ว

ต้องช่วยกันนิยาม ผมว่ารัฐเองก็ตอบไม่ได้หรอกว่าใครคือเกษตรกร มันต้องหาให้เจอก่อน ไม่งั้นเราก็มานั่งเถียงกันแล้วก็ไม่รู้ว่าเรากำลังต่อสู้เพื่อใคร เพื่อคนกลุ่มไหน

การขยายการคุ้มครองลักษณะพิเศษไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากเมล็ดพันธุ์ไปถึงตัวผลิตผลและผลิตภัณฑ์จริงไหมที่ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพันธุ์พืชใหม่ก็ถูกคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ ผิดกฎหมายถ้าเรานำไปทำเป็นผลิตผลและผลิตภัณฑ์?

“มาตรา ๓๙ สิทธิของผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชใหม่ตามมาตรา ๓๓ ย่อมไม่ขยายไปถึงการกระทําใดๆ ต่อส่วนขยายพันธุ์หรือผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งถูกนําออกจําหน่ายโดยผู้ทรงสิทธิหรือด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ เว้นแต่การนําไปทําเป็นส่วนขยายพันธุ์ต่อไปของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครอง”

ดังนั้นจึงสิทธิของผู้ทรงสิทธิจึงไม่รวมถึงผลิตผลและผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการนำไปทำเป็นส่วนขยายพันธุ์ต่อไป คือการนำพันธุ์ของเขามาใช้ขยายพันธุ์ผสมจนออกมาเป็นพันธุ์ใหม่ อเมริกามีกฎหมายคล้ายๆ แบบนี้อยู่อันหนึ่งที่คุ้มครองไปถึงผลผลิต น่าจะเป็นเรื่องของสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ซึ่งคนละอันกับบ้านเรา และ UPOV ก็ไม่มีเรื่องนี้

จริงๆ บ้านเรามีหน่วยงานที่จดสิทธิบัตรซึ่งแยกออกมาจากการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งคุ้มครองพันธุ์พืชก็ไม่เหมือนกับสิทธิบัตร บ้านเรามีอยู่ตัวเดียวคือ EVD ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์เบื้องต้น เช่น คุณทำพันธุ์ข้าวหอมมะลิใหม่ขึ้นมาได้ แล้วมีคนใส่สีม่วงเข้าไปในข้าวหอมมะลิคุณแล้วบอกว่าเป็นพันธุ์ใหม่ EVD จะไม่ยอมให้ทำแบบนั้น

คำว่า “ซึ่งถูกนําออกจําหน่ายโดยผู้ทรงสิทธิหรือด้วยความยินยอมของผู้ทรงสิทธิ” เหมือนประโยคนี้กลายเป็นว่าต้องได้รับการยอมรับจากผู้ทรงสิทธิก่อน?

ตามที่ผมเข้าใจคือมันน่าจะเป็นส่วนขยายของประโยคแรก คือ “ย่อมไม่ขยายไปถึงการกระทำใดๆ” ก็หมายความว่าสามารถจะนำไปใช้งานได้ ทั้งผลิตผลและผลิตภัณฑ์ เขาเคยมีความพยายามที่จะไปควบคุมผลิตผล ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพันธุ์พืชใหม่ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ และมาตรานี้ก็เขียนว่าผู้ทรงสิทธิย่อมไม่สามารถไปเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ แต่อย่างที่ผมบอกว่านี่คือร่างแรก เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรไม่เคลียร์เราก็สามารถนำเสนอความเห็น ทำประชาพิจารณ์ได้

กฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์?

กฎหมายฉบับนี้ส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ เพราะประเทศที่พัฒนา มันมีตัวเลขแสดงให้เห็นชัดว่า ประเทศนั้นใช้เมล็ดพันธุ์ในประเทศมูลค่าสูงเมื่อเทียบกับประชากร เขาคำนวณออกมาเป็นประชากรต่อหัวต่อเมล็ดพันธุ์ ยิ่งใช้เมล็ดพันธุ์มูลค่าสูงก็ยิ่งเป็นประเทศที่พัฒนา ญี่ปุ่นก็ดี อเมริกาก็ดี ไต้หวันก็ดี ใช้เมล็ดพันธุ์มูลค่ามากกว่าเมืองจีน เมล็ดพันธุ์เขาแพง เป็นของมีคุณภาพ อินโดนิเซียมีคน 200 ล้าน แต่มูลค่าการใช้เมล็ดพันธุ์เท่ากับบ้านเราที่มีคน 70 ล้าน

เหตุผลที่ต้องแก้พ.ร.บ. ฉบับนี้

พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้เมื่อปี 42 แต่ทำอะไรไม่ได้ ไม่สามารถเดินหน้าได้ เนื่องจากติดประเด็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป เดิมเขียนแค่พื้นที่มีกำเนิดในประเทศไทย ไม่ใช่ ถิ่นกำเนิด และพอเป็นกำเนิดมันเลยเป็นพืชตั้งแต่หญ้าแพรกขึ้นไปหมด แล้วการปรับปรุงพันธุ์จะเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มันถูกปลูกในไทยมันก็มีเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไปแล้ว แปลว่าพืชทุกตัวที่ปลูกเป็นของรัฐบาล อย่างพันธุ์ข้าวโพดที่เรานำเข้า ก็ถือเป็นของไทย ไม่ให้สิทธิ์เจ้าของเดิมที่นำเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธุ์ที่เขาพัฒนามาแล้วเพื่อเอามาต่อยอด พันธุ์พืชจะมีประสิทธิภาพต้องพัฒนาในพื้นที่ใช้งาน ต้องถูกเอามาพัฒนาในเมืองไทย แต่กลายเป็นว่าพอลงเครื่องบินมา พอเมล็ดตกถึงพื้นแผ่นดินไทยก็เป็นของไทยเลยใช่ไหม คำตอบคือใช่ อย่างนี้ใครก็รับไม่ได้ มันเลยไม่เกิดอะไรขึ้น ทุกคนหยุด ไม่ทำอะไรต่อ

ด่านที่สอง พ.ร.บ. เก่า มาตรา 52 ผู้ใดจัดเก็บต้องได้รับการอนุญาต พร้อมทั้งทำข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ ผมเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ผมยังไม่รู้เลยว่าผมจะเก็บอะไรบ้าง แต่เขาจะบังคับให้เราขึ้นทะเบียนว่าจะเก็บอะไร เก็บจำนวนเท่าไหร่ เก็บที่ไหน ตอบไม่ได้ ถ้าตอบก็โกหก เพราะจริงๆ คือไม่รู้ การรวบรวมพันธุ์พืชมันเป็นลมเพลมพัด บางทีเราเดินเข้าตลาด น่าสนใจเก็บมาก่อน เขาบอกพันธุ์นี้อร่อย เก็บมาก่อน มันมีการเดินทาง ระหว่างนั้นไปเจอเมล็ดก็ขอซื้อเขาไว้ ออกมาเป็นรูปนั้นซะเยอะ แต่ระเบียบให้ลงทะเบียน ต้องกรอกหมด แบ่งปันผลประโยชน์ ผมยังไม่รู้เลย ยังไม่เห็นมูลค่าเลย จะกรอกยังไง เลยไม่มีใครยอมกรอก

ดังนั้นออกมาแล้วมันใช้ไม่ได้ ถ้า พ.ร.บ. ฉบับนี้ปี 60 ไม่คลอดก็รอต่อไป

ส่วนประเด็นอีกอย่างก็คือแก้ไขตาม UPOV เหมือนถ้าเราจะเข้าไปในสมาคมเข้าเราก็ต้องตั้งกฎเกณฑ์ที่ไม่ขัดกับระเบียบของเขา

พูดถึง พ.ร.บ. สำหรับคนทำธุรกิจไม่มีใครเสีย เพราะคนทำธุรกิจถ้าทางนี้ไปไม่ได้เขาก็ไปทางอื่น เพียงแต่ประเทศจะเสียโอกาสเหล่านี้ไปจากการที่ไม่อัพเดตตัวเอง ไม่สามารถที่จะออกกฎหมายกำกับดูแลได้ เราเสียแล็บใหญ่ๆ ไปตั้งหลายแล็บ มูลค่าหลายร้อยล้าน เขาไปที่อื่นดีกว่าเพราะอยู่ที่นี่มาคุยกันหลายปีแล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเสียแล็บพวกนี้ซึ่งเป็นวิทยาการที่ค่อนข้างจะสูง เราเสียความรู้ด้วยนะ ถ้าเขามาตั้ง คนของเราเข้าไปทำงาน ความรู้ก็จะถูกถ่ายทอดออกมา ความรู้เราก็จะอัพเดต มูลค่าทางเศรษฐกิจก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องที่แน่ๆ คือความรู้ถดถอย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อพม่าในวิกฤตโรฮิงญา: โดนเซ็นเซอร์-ข่มขู่-คุกคาม ถ้ารายงานไม่ตรงใจรัฐบาล

$
0
0

ขณะที่รัฐบาลพม่าเล่นบทว่าตัวเอง "ถูกรังแก" จากสื่อต่างประเทศและประชาคมโลกที่ประณาม กองทัพพม่า-กองกำลังพลเรือนที่ร่วมเผาบ้านเรือน สังหาร และข่มขืนชาวโรฮิงญา นอกจากนี้สื่อพม่าเองก็ลำบากเพราะถูกคุกคามเมื่อพวกเขาพยายามสืบค้นความจริงในกรณีนี้ ถ้าหากเรื่องที่เขานำเสนอแตกต่างจากวิธีการเล่าเรื่องแบบเข้าข้างรัฐบาล

แนวแผงกั้นด้านหน้าสวนมหาพันธุละ ด้านหลังคือศาลาว่าการนครย่างกุ้ง ภาพถ่ายเดือนพฤศจิกายน 2558 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

20 ต.ค. 2560 อัลจาซีรารายงานเรื่องนักข่าวชาวพม่าซึ่งถูกรังแกและคุกคามเพียงเพราะพยายามสืบค้นความจริงและนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ หนึ่งในนั้นคือมินมิน นักข่าวอายุ 28 ปี ซึ่งมีผู้ถูกลอบวางระเบิดในบ้านของเขา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

มินมินเปิดเผยว่าเขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงขณะที่พยายามสืบหาความจริงเกี่ยวกับประเด็นในรัฐยะไข่ เขาเป็นบรรณาธิการของสำนักข่าว "สืบสวนรัฐยะไข่" ซึ่งตีพิมพ์นิตยสารข่าวการเมืองเผยแพร่รายเดือนที่เน้นข่าวสอบสวนสืบสวนเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็รายงานอะไรไม่ได้มาก จำต้องเก็บเงียบในเรื่องนี้เพราะต้องระวังตัว

หลังเหตุการณ์ที่รัฐบาลพม่าใช้กำลังปราบปรามชาวโรฮิงญาผู้ไม่ได้รับสัญชาติและสิทธิพื้นฐานของรัฐบาลพม่า ก็เป็นเหตุให้มีชาวโรฮิงญามากกว่า 500,000 รายหนีออกจากประเทศ สหประชาชาติกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็นตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในขณะที่อองซานซูจีและรัฐบาลพม่าวิจารณ์การนำเสนอของสื่อต่างประเทศและการทำงานของสหประชาชาติผู้บันทึกเหตุการณ์ต่อชาวโรฮิงญาว่าเป็นการรายงาน "ข่าวปลอม" แต่หม่อง ซานี นักวิชาการพม่าซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศก็วิจารณ์ว่ารัฐบาลปฏิเสธการบันทึกหลักฐานและข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ ทั้งยังปฏิเสธว่าไม่มีการข่มขืนผู้หญิงหลายร้อยคน ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ อองซานซูจี มักกล่าวในเฟซบุ๊กเพจอย่างเป็นทางการของเธอ

อัลจาซีรายังได้พูดคุยกับนักข่าวอีกสิบกว่าคนที่เปิดเผยว่าพวกเขาก็ถูกคุกคามถึงขั้นถูกขู่ฆ่าเพราะพยายามทำข่าวประเด็นโรฮิงญาในแบบที่ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ การคุกคามและการเซ็นเซอร์ยังส่งผลต่องานของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด นอกจากรัฐบาลแล้วพวกเขายังกังวลเรื่องการตอบโต้จากชาวพม่าที่ไม่พอใจข่าวของพวกเขาด้วย

ยารา บาว เมลเฮม นักข่าวอัลจาซีราในนครย่างกุ้งเปิดเผยว่า รัฐบาลพม่ายังนำเสนอข่าวในลักษณะที่เป็นเรื่องเล่าแบบเข้าข้างตัวเอง เช่น อ้างว่ารัฐบาลจะสู้รบกับสิ่งที่พวกเขานิยามว่าเป็น "การก่อการร้ายของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง" ในรัฐยะไข่ต่อไป

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลระบุว่าพวกเขาปฏิบัติการเพื่อโต้ตอบการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) แต่รายงานของสหประชาชาติเปิดเผยว่าทหารได้เผาบ้านเรือนของชาวโรฮิงญาเพื่อขับไล่ไม่ให้พลเรือนชาวโรฮิงญากลับประเทศอีก แต่รัฐบาลพม่าก็ปฏิเสธในเรื่องนี้ และอ้างว่าการนำเสนอดังกล่าว "รังแก" พวกเขา

ดาวิส มาธีสัน นักวิเคราะห์เรื่องพม่ากล่าวว่าสิ่งที่น่ากลัวมากคือตัวโฆษณาชวนเชื่อที่รับใช้รัฐบาลพม่า ที่ทำให้เขานึกถึงลักษะการกลบเกลื่อนเหตุการณ์แบบโลกโหดร้ายคล้ายนิยายของจอร์จ ออร์เวลล์

แม้แต่การทำงานของสื่อนิตยสารของมินมินเองก็ยากลำบาก มีทีมงานนิตยสารของเขาลาออกไปแล้ว 6 รายเพราะเขาไม่อนุญาตให้ใช้คำว่า "พวกผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี" ในรายงาน ทำให้เขาเป็นห่วงอนาคตนิตยสารของตัวเองก่อนอนาคตของประเทศแล้วตอนนี้

เรียบเรียงจาก

Myanmar journalists 'harassed' for reporting on Rohingya crisis, Aljazeera, 16-10-2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.แรงงาน ขอให้กลุ่มผู้ประกันตนร่วมแสดงความคิดเห็นปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม

$
0
0

พล.อ.ศิริชัย รมว.แรงงาน ขอบคุณกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ช่วยตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมกรณีชราภาพ พร้อมชวนแสดงความคิดเห็นปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม

แฟ้มภาพ กระทรวงแรงงาน

20 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า วิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอบคุณกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่ช่วยตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสังคมกรณีชราภาพ ที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการไปแล้ว คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้รัฐบาลต้องออกเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในอัตราร้อยละ 1 และให้นายจ้างและผู้ประกันตนออกเงินสมทบ ในอัตรา ร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันได้ออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมมากกว่าทุกชุดที่ผ่านมา

สำหรับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์หลัก ประการแรก เพื่อให้ผู้รับบำนาญไม่ตกอยู่ในภาวะยากลำบากในการครองชีพหรือต่ำกว่าระดับความยากจน และประการที่สอง เพื่อให้ผู้รับบำนาญ มีการทดแทนรายได้ประจำต่อเนื่อง ในอัตราที่สอดคล้องกับรายได้ก่อนเกษียณ โดยสนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กำหนดให้ผู้ทำงาน 30 ปี ควรได้รับบำนาญไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ แต่สำหรับผู้ประกันตนของไทยนั้น สำนักงานประกันสังคมให้สูงกว่ากล่าวคือ ผู้ที่ทำงานโดยส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับบำนาญร้อยละ 41.5 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ 

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังอยู่ระหว่างการศึกษาสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนในด้านอื่นๆ เช่น การปรับเพิ่มบำนาญตามอัตราค่าครองชีพให้แก่ผู้ที่รับบำนาญไปแล้ว เพื่อรักษามาตรฐานการใช้จ่ายของผู้รับบำนาญเมื่ออายุมากขึ้นและเมื่อค่าเงินเปลี่ยนไป รวมทั้งการปรับเพิ่มบำนาญให้แก่ผู้รับบำนาญรุ่นแรก ซึ่งมีระยะเวลาการส่งเงินสมทบน้อยเพราะขาดโอกาส และการบูรณาการกับกองทุนบำนาญอื่นๆ ของประเทศ เพื่อกำหนดระดับของบำนาญ และแผนการจัดเก็บเงินสมทบที่สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ  เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมได้เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นในการปฏิรูประบบบำนาญไปแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งได้รับข้อมูลที่ดีในการกำหนดแนวทาง และจะเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็นอีก 6 ครั้ง ใน 6 จังหวัด  คือ  ครั้งที่ 7 จ.ขอนแก่น วันที่ 30 – 31 ต.ค. 2560  ครั้งที่ 8  จ.อุบลราชธานี วันที่ 6 - 7 พ.ย. 2560 ครั้งที่ 9 จ.ระยอง วันที่ 13 -14 พ.ย. 2560  ครั้งที่ 10 จ.เพชรบุรี วันที่ 20 - 21 พ.ย. 2560  ครั้งที่ 11 จ.สมุทรปราการ วันที่ 24 พ.ย. 2560  และครั้งที่ 12 กรุงเทพมหานคร วันที่ 28 พ.ย. 2560 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า กระทรวงแรงงาน จึงขอเชิญชวนกลุ่มผู้ประกันตน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุด โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามและจองที่นั่ง ได้ที่สำนักงานประกันสังคม โทรศัพท์หมายเลข 0 2956 2345 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506 ในวันและเวลาราชการ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ต.ค. 2560

$
0
0

ก.แรงงานขอธุรกิจหยุดให้ร่วมพระราชพิธี 26 ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการอนุญาต ให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดงาน เพื่อให้ลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย รวมทั้งเป็นการร่วมใจกันถวายความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ตามสถานที่ที่กำหนดใกล้บ้านพร้อมกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือโทรสายด่วน 1546

ที่มา: โลกวันนี้, 16/10/2560

สภาองค์กรนายจ้างหวั่นเทคโนโลยีใหม่ทำคนตกงาน-แบงก์ปิดสาขา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผย สถานการณ์การจ้างงานว่า ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนการว่างงานประมาณ 476,000 คน คิดเป็น 1.22% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี ถือว่าต่ำ ในอาเซียนหลายประเทศมีการว่างงานกว่า 3-4%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางแรงงานในอนาคตถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากภาคเอกชนปรับตัวการนำเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ในภาคธุรกิจเร็วกว่าที่คาด ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ยังรวมถึงภาคบริการด้วย ส่งผลต่อการจ้างแรงงานใหม่ และการเลิกจ้างงาน

โดยภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วง เช่น ภาคธนาคาร เริ่มปิดสาขาอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากสถิติของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าช่วง 7 เดือน ของปีนี้ ปิดสาขาแล้วทั้งสิ้น 126 สาขา ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปใช้ธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ หันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจที่เกี่ยวกับคอลล์เซ็นเตอร์ต่างๆ หันมาใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ

ขณะที่ภาครัฐยังปรับตัวช้า โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ยังปรับหลักสูตรการศึกษารองรับความต้องการแรงงานใหม่ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ ควรหารือร่วมกับแต่ละภาคอุตสาหกรรมว่ามีความต้องการแรงงานอย่างไร จะปรับตัวรองรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0

"แรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยปรับตัวรองรับเทคโนโลยีซึ่งไม่นับรวมการใช้เฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ" นายธนิต กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 16/10/2560

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ต่อ สนช.

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน พร้อมด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.)ร่วมกับ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สภาองค์การลุกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยขอให้เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นของขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน และให้มีผลบังคับใช้ในปี 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญที่ลูกจ้างทั่วประเทศให้ความสนใจอย่างมาก และมองว่าหากร่างดังกล่าวประกาศใช้จะไม่กระทบผู้ประกอบการ SME เพราะ SME ไหนที่มีการจ้างงาน 20 ปีขึ้นไปถือว่ามีเสถียรภาพและเป็น SME ขนาดใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ อยากให้มีตัวแทนของแรงงานเข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในอนาคตด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความสมดุลในการพิจารณา และได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุดซึ่งอัตราที่เหมาะสมคือควรมีภาคส่วนแรงงานในคณะกรรมาธิการ 2-3 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 16/10/2560

เตือนแรงงานไทย 'ไต้หวัน' จำกัดสิทธิแรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าประเทศ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันกำหนดจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวันต่อแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายในกรณีต่างๆ เช่น กรณีหลบหนีนายจ้างหรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายจะถูกจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวัน 3 ปี แต่หากกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมภายใน 1 เดือน และได้รับการยินยอมจากนายจ้างให้ทำงานต่อไป แรงงานต่างชาติมีสิทธิยื่นถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้หลบหนีกับกระทรวงแรงงานและสำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันได้โดยไม่ถูก Blacklist 3 ปี กรณีพำนักในไต้หวันไม่เกิน 1 ปี ห้ามเข้าไต้หวัน 1 ปี พำนักเกิน 1 ปี ห้ามเข้าตามระยะเวลาที่พักเกินสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ส่วนกรณีเป็นบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีต้องโทษ อาทิ ถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปห้ามเข้าไต้หวัน 8 ปี จำคุกน้อยกว่า 1 ปี ห้ามเข้า 5 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกในสถานกักกันหรือถูกโทษปรับแต่รอลงอาญา ห้ามเข้า 2 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เสพยาเสพติดแล้วมีคำสั่งศาลให้รับการบำบัดจะถูกห้ามเข้า 5 ปี และเมื่ออัยการยืนยันแล้วว่าผู้เสพเป็นผู้ที่ไม่มีแนวโน้มจะเสพติดอีกและได้รับการยกฟ้องจะถูกห้ามเข้า 3 ปี

นายวรานนท์กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะไปทำงานในไต้หวันควรศึกษากฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับให้รอบคอบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะได้ไม่ถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศต้องคำนวณรายรับ-รายจ่ายให้ดีว่าหากเดินทางไปทำงานแล้วจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่ และขอให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้ระมัดระวังนายหน้า

จัดหางานเถื่อน เพราะอาจถูกหลอกลวงต้องเสียเงินฟรีไม่มีงานให้ทำ หรือทำงานไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ และขอย้ำว่าการจะไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านด่านตรวจคนหางาน และยื่นแบบแจ้งการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง หากผู้ใดไม่ผ่านด่านตรวจคนหางานถือว่าถูกหลอกแน่นอน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/10/2560

สปส. แนะผู้ประกันตนจาก 3 รพ.ที่ยกเลิกเลือกใหม่ภายใน 31 ต.ค.นี้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 238 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 79 แห่ง ทั้งนี้รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าใหม่ในปี 2561 อีก 2 แห่ง ที่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้ และมีสถานพยาบาลที่ไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง

โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมขอย้ำในกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าวได้จนถึง 31 ธันวาคม 2560

อย่างไรก็ดีสำหรับสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ทดแทน ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสถานพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการใกล้เคียงกันกับโรงพยาบาลยันฮี ยินดีรับผู้ประกันตนเพิ่มได้รวมแล้วไม่เกิน 30,000 คน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังได้กล่าวอีกว่า การร่วมมือของสถานพยาบาลของรัฐบาล เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในเขตพื้นที่ใช้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลที่ตัวเองพึงพอใจ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังคงเดินหน้าปฏิรูปบริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

ที่มา: Sanook Money, 17/10/2560

ธุรกิจบริการ ค้าปลีก ก่อสร้าง ยังต้องการแรงงานสูง

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 พบว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจบริการ 9,529 อัตรา ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 8,915 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 7,293 อัตรา ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 6,449 อัตรา และธุรกิจก่อสร้าง 6,248 อัตรา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ทำให้ตลาดแรงงานกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม และค้าปลีก

ส่วนธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีฐานการผลิตที่สำคัญหลายแห่งกระจายอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก รวมถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย จึงส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

เช่นเดียวกับธุรกิจก่อสร้าง ที่มีความต้องการแรงงานสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียมตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือง และชมพู ขณะเดียวกันยังมีองค์กรต่างๆ ที่มาลงประกาศรับสมัครงานบนจ๊อบไทยดอทคอม เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 อีกด้วย

สำหรับตัวเลขประมาณการประเภทงานที่มีแนวโน้มเปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น ได้แก่ 1) งานขาย อยู่ที่ประมาณ 17,500-18,000 อัตรา 2) งานช่างเทคนิค 9,400-10,000 อัตรา 3) งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 7,100-7,500 อัตรา 4) งานวิศวกรรม 6,400-7,000 อัตรา และ 5) งานบริการลูกค้า 5,400-6,000 อัตรา

สะท้อนได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้นงานขาย เพราะเป็นหัวใจสำคัญของทุกบริษัท แต่น่าสังเกตว่าเมื่อลองดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่างานผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 32 คาดว่าเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีผลต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม และด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จ๊อบไทยดอทคอม จึงคาดว่าในไตรมาส 4 ตลาดแรงงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ประมาณร้อยละ 1-3

ที่มา: VoiceTV, 18/10/2560

เปิดแล้ว! 3 แห่ง "ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา"

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการกัมพูชาเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) และกลุ่มบัตรสีชมพู โดยเน้นให้บริการกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 ก่อน จำนวน 3 แห่ง

ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา ทั้ง 3 แห่ง มีดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร ที่อิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 4 เลขที่ 2539 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง 2.จังหวัดระยอง ที่ มายอง โอทอป เลขที่201หมู่7ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา 3.จังหวัดสงขลา ที่ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ การตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวเป็นการดำเนินการของประเทศต้นทาง

ขณะเดียวกันทางการไทยก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา

โดยศูนย์ที่จังหวัดระยองและสงขลาจะมีหน่วยงานฝ่ายไทยเข้าไปดำเนินการในกระบวนการต่อเนื่องจากทางการกัมพูชาในรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) มีขั้นตอนการให้บริการคือ 1.แรงงานรับการตรวจสัญชาติจากเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชา เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับเอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) 2.ขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 31มีนาคม 2561จากสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง 3.ขอรับการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข 4.ขอรับใบแทนใบอนุญาตทํางานจากกรมการจัดหางาน

ส่วนศูนย์ฯกรุงเทพมหานครนั้นมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้บริการแบบ OSS ได้ โดยแรงงานฯที่เข้ามาที่ศูนย์ฯ กรุงเทพฯ เมื่อได้เอกสาร TD แล้วจะต้องกลับไปตรวจลงตรา (VISA) ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดที่แรงงานกัมพูชาทำงานอยู่

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายใน3ศูนย์ฯมีจำนวน 4,400 บาท เป็นค่าธรรมเนียมเอกสารTD 2,350บาท ค่าตรวจลงตรา (VISA) 500บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ500บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทํางาน 550 บาท โดยขณะนี้มีแรงงานกัมพูชากลุ่มบัตรสีชมพูในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 นี้ จำนวนกว่า 13,000 คน และกลุ่มใบจับคู่ จำนวน 200,000 คน

"ผมจึงขอย้ำเตือนให้รีบมาดำเนินการตรวจสัญชาติภายในกำหนดระยะเวลาโดยด่วน โดยเฉพาะกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ เพราะหากเกินกำหนดจะไม่มีการต่ออายุอีก และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบ MOU สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.สายด่วน 1694" นายวรานนท์ กล่าวในที่สุด

ที่มา: คมชัดลึก, 18/10/2560

มนุษย์เงินเดือนซีด สปส. ชง กม.รีดเงินประกันสังคม สูงสุด 1,000 บาท อ้างผลสำรวจคนเห็นด้วย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร้อยละ 81 เห็นด้วยกับการขยายเพดานการเก็บเงินสมทบ จาก 15,000 เป็น 20,000 บาท โดยเก็บร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เช่น คนที่ได้เงิน 16,000 บาท เก็บ 800 บาท เงินเดือน 17,000 บาท เก็บ 850 บาท คือสูงสุดเก็บไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนผู้ที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ สปส. ได้ทำเป็นร่างกฎกระทรวง เสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเสนอเข้าครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป คาดว่าน่าใช้ได้จริงภายใน 3 เดือนนี้

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากขยายการเก็บเงินสมทบเพิ่มแต่เรื่องเงินชราภาพกลับมีเงื่อนไขมาก ที่สำคัญ เมื่อผู้ประกันตนที่เสียชีวิตไปแล้วเงินนั้นไม่ตกแก่ทายาท นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยืนยันว่าสปส.ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกันตน เรื่องการจ่ายบำนาญชราภาพให้ทายาทผู้ประกันตนนั้น คณะกรรมการได้หารือกันว่าอาจจะปรับเปลี่ยนการจ่ายให้กับทายาทได้ เช่น กรณีที่เดือดร้อน มีความจำเป็น ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในเรื่องเหล่านี้

เลขาธิการ สปส.ส่วนที่เรียกร้องให้จ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขสุดท้ายหากสังคมต้องการอย่างนั้นก็จ่ายให้ได้ แต่สิ่งอยากจะบอกคือถ้าเราคิดแต่เรื่องกำไรส่วนตัว การดูแลสังคมร่วมกันก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องความคิดต่อส่วนรวมตั้งช่วยกันสร้าง

ที่มา: ข่าวสด, 20/10/2560

สหภาพแรงงาน ขสมก. ชี้แจงขอเสียสละค่าล่วงเวลาพนักงานสมัครใจเอง

หลังจากมีรายงานว่า ขสมก. หารือกับสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ขอความร่วมมือพนักงานทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ไม่รับค่าโอทีและเบี้ยงเลี้ยง ซึ่งทาง ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเช่ารถเพื่อบริการประชาชนฟรีทุกเส้นทาง ทางสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า หลังจากได้สอบถามข้อมูลจากพนักงานทราบข้อเท็จจริงว่า มีพนักงานจำนวนหนึ่งเขียนคำร้องไม่ขอรับค่าจ้างในวันหยุดและค่าล่วงเวลา เพื่ออุทิศตนถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และอีกประการหนึ่งสหภาพแรงงานฯเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานที่มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงพนักงาน เป็นการทำผิดต่อกฎหมายแรงงาน ซึ่งเบี้ยเลี้ยงถือเป็นสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ที่มา: VioceTV, 20/10/2560

กระทรวงแรงงาน อนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านเป็นล่ามได้

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวเปิดให้แรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา กลุ่มบัตรสีชมพู ทำงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมาได้ เพิ่มจากงานที่อนุญาต คือ งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล แต่ผู้ว่าจ้างต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ประกาศรับสมัครและว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานก่อน อย่างน้อย 15 วัน หากพ้นเวลาดังกล่าวไม่มีคนไทยสมัครงาน นายจ้างจึงสามารถจ้างคนต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา ได้ 1 คน ต่อการจ้างคนต่างด้าว 100 คน ส่วนกรณีนายจ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากําไรในทางเศรษฐกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ให้จ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ที่มา: ch7.com, 20/10/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสทช. นำเงินรายได้ไตรมาส 3 จำนวน 190.58 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุนดีอี

$
0
0

21 ต.ค. 2560 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. นำเงินรายได้ไตรมาส 3 ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190.58 ล้านบาท โดยการนำส่งเงินดังกล่าวจากเงินรายได้ของสำนักงาน กสทช. เป็นการปฏิบัติตามมาตรา 24 (4) ของ พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้สำนักงาน กสทช. จะต้องจัดสรรเงิน 15% ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่และรายได้ของสำนักงานฯ เข้ากองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในการนำส่งเงินดังกล่าวในปี 2560 สำนักงาน กสทช. จะทำการนำส่งทุกไตรมาส ส่วนในปีถัดไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 จะนำส่งเงินรายได้ให้กองทุนเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รับรองงบการเงินแล้ว
 
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้นำเงินรายได้ไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ส่งกองทุนดีอีไปแล้ว จำนวน 1,182.86 ล้านบาท รวมเงินที่สำนักงาน กสทช. นำส่งกองทุนดีอีแล้วจนถึงขณะนี้ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,373.44 ล้านบาท
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

33 จังหวัดเตรียมรับมือฝนตกหนัก 21-23 ต.ค.นี้

$
0
0
ปภ.ประสาน 33 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตลอด 24 ชม.

 
21 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วงวันที่ 21-26 ต.ค. 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยยังคงมีอากาศร้อนขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวนในลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสาน 33 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางพื้นที่ ในช่วงวันที่ 21-23 ต.ค. 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง 
 
นายชยพล กล่าวอีกว่านอกจากนี้ได้จัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงเสริมแนวคันกั้นน้ำ และประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำสะสม กรณีสถานการณ์รุนแรงให้พิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิง หรือจุดอพยพที่ปลอดภัย
 
“ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ สถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้จุดเสี่ยง อาทิ ใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการถูกล้มทับ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป” นายชยพล กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดชรัต สุขกำเนิด: เมื่อ กม.เก็บค่าน้ำ-เมล็ดพันธุ์ ลดทางเลือกของเกษตรกร

$
0
0

‘ประชาไท’ ชวนมองกฎหมายเก็บค่าน้ำและเมล็ดพันธุ์ผ่านแว่นของเศรษฐศาสตร์ เมื่อนโยบายที่ดีคือการเพิ่มทางเลือกเกษตรกร แล้วเรื่องนี้เพิ่มหรือตัดทางเลือก

จากกรณีเก็บค่าน้ำสำหรับการทำเกษตรไล่มาจนถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เมล็ดพันธุ์ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทเอกชน เนื่องจากมีเนื้อหา เช่น ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อหรือการขยายอายุสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น

ทั้งสองกรณีร้อนถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงปะปนไปกับอารมณ์ความเชื่ออยู่ในที เกี่ยวกับเกษตรกรและชาวนากับความเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

‘ประชาไท’ ชวนถอยออกมาหนึ่งก้าว มองกลับเข้าไปด้วยแว่นของเศรษฐศาสตร์ เพราะทั้งเรื่องน้ำและเมล็ดพันธุ์ก็มีมิติเรื่องประสิทธิภาพแฝงอยู่ ไม่ว่าจะในแง่การใช้ทรัพยากรหรือการแข่งขันของบริษัทเอกชนที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจากแรงจูงใจด้านสิทธิบัตรที่เพิ่มขึ้น

คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทั้งสองประเด็นตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่ต้น เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนหาคำตอบ

เครื่องมือทางนโยบายต้องสร้างทางเลือก ไม่ใช่ตัดทางเลือก

เดชรัตไม่ได้เริ่มต้นจากการระบุว่า นโยบายทั้งสองดีหรือไม่ดี มันออกจะเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยรัดกุม เพราะเครื่องมือทางนโยบายหรือเศรษฐศาสตร์ อย่างในกรณีการเก็บค่าน้ำ ไม่ใช่สิ่งที่ถูก-ผิดโดยตัวมันเอง เดชรัตชวนให้ถอยกลับไปพิจารณา ‘ทางเลือก’

“ถ้าเราพูดแบบกว้างที่สุดคือทำอย่างไรให้เกษตรกรมีทางเลือก ทำอย่างให้เกษตรกรเลือกทางเลือกที่น่าจะดี โดยที่เรามีฐานความคิดว่ามีเรื่องบางเรื่องที่ดีต่อพี่น้องเกษตรกร แต่พี่น้องเกษตรกรไม่เลือกเพราะอะไร ถ้าอย่างนั้นเราทำแบบนี้ดีหรือไม่ เขาจะได้เลือกสิ่งที่เขาควรเลือกมากขึ้น ไม่ได้บังคับ แต่อย่างน้อยที่สุดก็จูงใจให้เขาเลือกสิ่งที่ควรจะเป็นหรือก้าวข้ามอุปสรรคที่ทำให้เขาไม่สามารถเลือกสิ่งที่ควรจะเป็น คือเขาอาจจะรู้ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เขาควรเลือก แต่มันมีอุปสรรค ติดกับดัก เราก็ไปแก้กับดักตรงนั้น

“ถ้าคิดภายใต้กรอบนี้ก็ต้องถือว่า วิธีการที่รัฐบาลทำเรื่องการเก็บภาษีน้ำ ไม่ใช่ตัวภาษีน้ำ แต่วิธีที่รัฐบาลพูดหรือเสนอออกมา มันเป็นวิธีการที่ตรงข้ามกับกรอบที่ผมมีโดยสิ้นเชิง กรอบที่ผมมีเริ่มต้นจากทางเลือกก่อน ตัวผมเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการเก็บภาษีน้ำ แต่โจทย์ของมันคือคุณจะให้เขาเลือกอะไร แล้วคุณก็ไปเก็บภาษีน้ำเพื่อให้เขาเลือกสิ่งนั้น”

สรุปได้ว่า ต้องเริ่มต้นจากโจทย์ว่า รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรทำอะไร แล้วมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาจะช่วยให้เกษตรกรทำสิ่งเหล่านั้นได้ดีเพิ่มขึ้นและก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ อย่างไร

โจทย์ข้อนี้อยู่ในความคิดของรัฐหรือไม่ เดชรัตคิดว่า ไม่ หรือหากมีอยู่ก็ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาเลย แต่กลับสื่อสารออกมาในแง่การใช้น้ำที่สิ้นเปลืองหรือความเป็นธรรมในการใช้น้ำสำหรับทุกฝ่าย เขายกตัวอย่างรูปธรรมว่า สมมติเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีความจำเป็นต้องมีบ่อเก็บน้ำ ปัญหาคือเกษตรกรไม่มีเงิน คำถามคือถ้าเก็บภาษีน้ำแล้วเกษตรกรจะมีเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่ อาจจะมีเพิ่มขึ้น ถ้ากฎหมายกำหนดให้มีการตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุน แต่ถ้าเงินจากภาษีน้ำที่รัฐบาลกำหนดไหลเข้ากระเป๋าใหญ่ของรัฐบาล อุปสรรคที่เกษตรกรเผชิญก็จะไม่ได้รับแก้ไขเหมือนเดิม

“การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก

“ในกรณีเมล็ดพันธุ์ก็เช่นเดียวกัน เกษตรกรจะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นหรือเปล่า คุณอาจพูดว่าจะเป็นแรงจูงใจให้บริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่ดีขึ้น แล้วทางเลือกของเกษตรกรคืออะไร ทางเลือกคือการซื้อ ใช่หรือเปล่า อย่างกรณีข้าวโพด เราตอบได้หรือเปล่าว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการที่มีเลือกจากบริษัทเอกชนที่พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมาเนิ่นนาน

“ก่อนหน้านี้เราใช้พันธุ์ที่รัฐพัฒนา เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บไว้ได้ แต่เอกชนมาทำเป็นพันธุ์ลูกผสมแข่งกัน เราอธิบายว่าอย่างไรที่ว่าเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือไม่ใช่ แต่เท่าที่ผมเห็น ผมไม่ได้รู้สึกว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น เราควรจะสรุปบทเรียนข้าวโพดให้ตรงไปตรงมาว่ามันโอเคหรือไม่ ถ้าโอเค เราจะได้นำผลสรุปนี้มาขยายต่อ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่มันไม่มีผลการศึกษาที่จะยืนยัน”

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

เดชรัตให้ข้อมูลว่า ต้นทุนการปลูกข้าวมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ไม่สามารถใช้ตัวเลขเดียวได้ อย่างไรก็ตาม หากกล่าวโดยทั่วไป ปัจจุบัน ต้นทุนการปลูกข้าวตกประมาณ 4,000 บาทต่อไร่ สมมติไร่หนึ่งใช้น้ำ 1,600 ลูกบาศก์เมตร ชาวนาต้องเสียค่าน้ำประมาณ 800 บาท ถ้ามีรายได้จากการขายข้าว 6,000 บาทต่อไร่เมื่อบวกค่าน้ำเข้าไป กำไรที่เคยได้จะลดลงประมาณร้อยละ 40 หมายความว่ากำไร 2,000 บาทต่อไร่จะลดเหลือ 1,200 บาทต่อไร่หลังจากหักค่าน้ำ

ขณะที่ต้นทุนเมล็ดพันธุ์บอกไม่ได้ว่า พืชแต่ละชนิดมีต้นทุนเท่าใด แต่เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพดว่า อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของต้นทุนทั้งหมด

“ถ้ากฎหมายสองฉบับนี้ผ่าน ต้นทุนของเกษตรกรจะขึ้นเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ผมไม่ได้เอาเกณฑ์นี้เป็นตัวตั้งในการพูดว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ดี ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นคุ้มกับประสิทธิภาพหรือทางเลือกที่เพิ่มขึ้น ผมก็โอเค โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ต้องพูด เพราะตัวเลขที่รัฐบาลให้มาเป็นตัวเลขที่อาจจะไม่ค่อยละเอียดอ่อนเท่าไหร่ ชาวนามีกำไร 2,000 จะเก็บไป 800 เป็นการพูดที่ไม่คำนึงถึงความอ่อนไหวของคนฟัง ไม่ใช่ตัวหลักการ แต่วิธีคิดและวิธีการนำเสนอมันไม่ละเอียดอ่อนในเชิงของผู้ได้รับผลกระทบ

“ส่วนกรณีเมล็ดพันธุ์ เราคาดเดาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการผูกมัดเรื่องเมล็ดพันธุ์ อาจเลยไปถึงการผูกมัดเรื่องการใช้ปุ๋ยและการใช้ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งตอนนี้เมล็ดพันธุ์หลายตัวก็เป็นลักษณะนี้แล้ว ฉะนั้น แนวคิดความคิดนี้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์ยังไม่มีการตรวจสอบ”

ประสิทธิภาพ?

ส่วนหลังจากนี้ เราสนทนากันด้วยมิติด้านประสิทธิภาพและแนวโน้มภาคเกษตรในอนาคตโดยเชื่อมโยงกับนโยบายทั้งสอง

เมื่อถามถึงในแง่ประสิทธิภาพ การออกกฎหมายลักษณะนี้จะไม่ช่วยสร้างปัจจัยให้เกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันหรือ? เดชรัตตอบว่า

“การตั้งโจทย์เรื่องภาษีน้ำ ส่วนตัวผม คิดว่าเป็นวิธีการตั้งโจทย์ที่ไม่ดีเลย คือเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดพลาด ย้ำครับว่าไม่ใช่การเก็บภาษีน้ำไม่ดีเลย แต่วิธีการตั้งโจทย์ของรัฐบาลเป็นการตั้งโจทย์แบบเหมาโหลและไม่มีทางเลือก"

“ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลคิด ไม่ได้เอาโจทย์เรื่องประสิทธิภาพเป็นตัวตั้ง อาศัยแค่ความเชื่อ ไม่มีการพิสูจน์ ไม่มีการบอกว่าเมื่อเกษตรกรจ่ายค่าน้ำ แล้วจะไปลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะมันมี 3 ทางเลือก หนึ่งคือปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ สอง ยิ่งไม่มีเงินเข้าไปอีกแล้วก็ออกไปจากระบบ ซึ่งบางคนไม่แคร์ แต่ผมแคร์ ออกก็ได้ แต่ต้องออกอย่างมีทางเลือก สาม-เขาก็ยังไม่ออกหรอก แต่ก็ทนอยู่ ทนจ่ายค่าน้ำต่อไป เรื่องนี้ไม่มีการพิสูจน์ว่าทำแล้วประสิทธิภาพจะดีขึ้น ผมจะเชื่อก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์ สมมติว่ารัฐบาลจะทำจริงๆ แล้วไม่แคร์การพิสูจน์ ก็ยังมีการพิสูจน์หลังจากออกนโยบายมาแล้ว ว่าเก็บค่าน้ำแล้ว ประสิทธิภาพการใช้น้ำจะดีขึ้นอย่างไร อะไรคือเกณฑ์ที่รัฐบาลจะใช้ในการวัด ส่วนในกรณีเมล็ดพันธุ์ควรจะตอบได้แล้ว เพราะผ่านมา 20 ปีแล้ว สุดท้ายเราก็มานั่งเถียงกันจากความเชื่อ”

ส่วนในกรณีของเมล็ดพันธุ์ เดชรัตยกตัวอย่างข้าวโพด

“กรณีข้าวโพดเรามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่เกษตรกรที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทำไมไม่เปรียบเทียบกับมันสำปะหลังที่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้ เกษตรกรจึงมีทางเลือกที่จะเก็บไว้ปลูกต่อหรือจะซื้อก็ได้ แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวดีกว่าข้าวโพดที่เกษตรกรต้องไปซื้อทุกรอบหรือไม่ ซึ่งสามารถวิจัยได้เลย เพราะทั้งสองอย่างเราทำมา 20 ปีแล้ว ซึ่งเราอาจพบว่า ข้าวโพดอาจได้ประโยชน์ต่อเกษตรกรน้อยกว่าการทำแบบมันสำปะหลังก็ได้ แล้วถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา ต่อไปเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บท่อนมันไว้ปลูกต่อได้”

เดชรัตย้ำว่า ไม่มีคำว่าประสิทธิภาพอยู่ในความพยายามจะออกกฎหมาย มีแต่ความเชื่อที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เขากล่าวย้ำโดยกลับไป ณ จุดเริ่มต้นของการสนทนาว่า รัฐบาลควรพิจารณาว่าอะไรคือเครื่องมือไปสู่ประสิทธิภาพ เหตุใดเครื่องมือนั้นไม่ถูกใช้ แล้วจึงหานโยบายทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อให้เครื่องมือดังกล่าวถูกใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

“ผมจะคิดแบบ Micro to Macro ผมต้องมองการตัดสินใจของคนแต่ละคนให้เห็นก่อน เพื่อให้เห็นว่ากรอบใหญ่ที่เราจะทำภายใต้ พ.ร.บ.น้ำ คืออะไร แต่รัฐบาลใช้แมคโครตัดสินใจ เก็บเงินแล้วทุกคนก็ต้องปรับตัว จริงๆ แล้วไมโครทำยังไง เขาอธิบายไม่ได้ สำหรับผมไม่เห็นตัวเลขไหนที่จะอธิบายเรื่องนี้ได้ที่เป็นการพิสูจน์ นอกจากคุยกันในเรื่องความเชื่อ ผมจึงค่อนข้างซีเรียสว่า ประสิทธิภาพที่เราพูดถึงไม่ใช่สิ่งที่คนที่พยายามทำสองเรื่องนี้อธิบายอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ เดชรัตชี้ให้เห็นว่า บางทีคำว่าประสิทธิภาพอาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงปริมาณ

“ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าประสิทธิภาพคือคำตอบของภาคเกษตร สมมติเรายกตัวอย่างประสิทธิภาพการผลิตข้าวขึ้นมาได้ ผมว่าราคาข้าวเราคงตกอีกเยอะ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพจึงอาจไม่ได้แปลว่าผลิตมากขึ้นภายใต้ทรัพยากรที่มี แต่ถ้าบอกว่าจะทำให้คุณภาพดีขึ้น มันก็อาจจะเป็นไปได้ว่าจะช่วยให้เกษตรกรดีขึ้น

“แต่เมล็ดพันธุ์ที่พัฒนา ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบโจทย์มากนักในเรื่องคุณภาพ ส่วนใหญ่จะตอบโจทย์ในเชิงปริมาณมากกว่า ผมคิดว่าเมล็ดพันธุ์ที่เรามีอยู่ โดยเฉพาะข้าวจะเห็นชัด มันจะตอบโจทย์เราในเรื่องคุณภาพมากกว่า แต่เราอาจมองว่าไม่ใช่ตัวหลัก ยังมองว่าให้ผลผลิตต่อไร่น้อยนิดเดียว ตอนนี้ซัพพลายข้าวเราเกิน มันอาจเป็นโจทย์ในเชิงประสิทธิภาพได้ ถ้าเราสามารถตอบได้ว่าเรามีแผนอย่างไรที่จะทำให้การปลูกข้าวน้อยลง เรื่องมันเกี่ยวโยงกันหมด จะพูดแยกส่วนเฉพาะประสิทธิภาพไม่ได้

“เรื่องเมล็ดพันธุ์ ถ้าถามว่าผมยอมรับเรื่องสิทธิบัตรหรือเปล่า ยอมรับการที่เกษตรกรต้องซื้อหรือไม่ ผมยอมรับได้ แต่ยอมรับบนฐานที่ผู้เล่นบางคนเข้ามาแทรกแซงในตลาด เช่น รัฐบาลหรือมหาวิทยาลัย หรือใครที่เข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ หมายความว่ามีผลิตภัณฑ์เข้ามาสู้กับภาคเอกชน เพื่อเป็นทางเลือก ไม่ได้หมายความว่าต้องสู้ให้เอกชนล้มหายตายจาก แต่สู้เพื่อไม่ให้มีแต่เอกชนเท่านั้นที่ผูกขาด”

จากรายย่อยสู่รายใหญ่

มีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องว่า แนวโน้มในอนาคตการทำเกษตรกรรมจะปรับเปลี่ยนจากรายย่อยไปสู่การทำเกษตรกรรมบนพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งจะให้ผลตอบแทนและมีประสิทธิภาพมากกว่า จำนวนเกษตรกรจะลดลง ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตอื่น แล้วเกษตรกรที่ยังอยู่ก็จะมีรายได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากตัวหารในภาคการเกษตรลดลง นี่คือแนวคิดกระแสหลักที่ดำรงอยู่

เรามองได้หรือไม่ว่า การเก็บค่าน้ำและการแก้กฎหมายเมล็ดพันธุ์ก็เพื่อตอบรับกับแนวโน้มดังกล่าวในอนาคต เดชรัตอธิบายว่า

“เราต้องพูดก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ เกษตรจะเป็นรายใหญ่มั้ย ก็ต้องตอบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อเกษตรกรรายใหญ่มีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยง มันเกิดขึ้นแล้วในกรณีของไก่ หมู แต่จะไม่เกิดขึ้นในกรณีที่เขาไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้อย่างในกรณีของข้าว ของพืชไร่ เขาก็จะปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยทำต่อไป โดยข้อเท็จจริงจะมีเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้นที่จะเป็นรายใหญ่จริงๆ มันจะไล่ไปตามความสามารถที่จะเอาเงินไปลงทุนและควบคุมไม่ให้ตนเองไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยลงมากๆ

“สำหรับผม ผมคิดว่าแนวโน้มนี้ไม่จริง ยกตัวอย่างข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผมไม่เชื่อว่าจริง ในระยะ 20 ปีนี้ผมไม่เชื่อว่ารายใหญ่จะเข้ามา บวกด้วยปัจจัยอีกข้อคือที่ดินของเรามีราคาแพง ถึงเป็นรายใหญ่ก็ไม่สามารถซื้อที่ดินเป็นหมื่นไร่แสนไร่ได้ง่ายๆ

“ประเด็นที่ว่าจำนวนเกษตรกรน้อยลง ส่วนแบ่งจะมากขึ้น ผมไม่ติดใจ แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็เกิดขึ้น เกษตรกรก็ลดลง แต่ก่อนมี 60-70 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็เหลือ 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น คนที่เชื่อก็ยังเชื่อว่าต้องลงอีก แต่ผมไม่เชื่อว่าจะลง ไม่ใช่ว่าภาคเกษตรดี แต่ภาคอื่นไม่รับ ตัวเลขการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะมันมาสู่อุตสาหกรรมในรูปแบบใหม่แล้ว ไม่ใช่แบบเดิม ตัวเลขของภาคบริการก็รับเพิ่มขึ้นบ้างภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่น้อย อย่างเวลาพูดถึงภาคการท่องเที่ยว มันก็มีความสวิง ปัจจุบันจ้างงานอยู่ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั้งหมด แล้วจะรับเกษตรกรที่ลดลงได้หรือไม่

“ผมจะดีใจมากถ้ามีใครยืนยันว่า มีใครสามารถรับคนในภาคเกษตรได้ ไม่ได้ดีใจที่ออกจากภาคเกษตร แต่ดีใจที่มีทางเลือก”

ประเด็นที่เดชรัตกังวลคือเขาไม่แน่ใจว่าเกษตรกรจะมีทางเลือกดังว่า แต่อาจจะย้อนกลับกัน คือคนบางส่วนต้องออกจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมาสู่ภาคเกษตร ส่วนหนึ่งเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เขาย้ำว่าไม่ได้ค้าน ถ้าเกษตรกรเหลือน้อยลง เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริง

“ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่เกษตรกรเหลือน้อยลงและย้ายไปอยู่ภาคอื่น การย้ายไปอยู่ภาคอื่นให้ดีขึ้นได้ เขาไม่ควรจะย้ายโดยไม่มีทางเลือก เขาต้องมีทางเลือก แต่ไปทางนั้นเพราะมันดีกว่า การต่อรองของเขาจะดีกว่า ผมจึงเห็นว่า ใครก็ตามที่สนับสนุนให้เกษตรย้ายไปภาคอุตสาหกรรม ผมไม่ได้ค้าน แต่เขาควรไปในลักษณะที่มีทางเลือกเสมอ การบีบให้ไปโดยไม่มีทางเลือกคือการทำให้เขาหมดอำนาจต่อรองในเซ็คเตอร์ใหม่ที่เขากำลังจะไป”

เดชรัตมีทัศนะว่า กฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำหรือเมล็ดพันธุ์ สุดท้ายแล้วจะเป็นการตัดตัวเลือกของเกษตรกรลง

การคิดนโยบายหรือออกกฎหมายต้องวางอยู่หลักการที่จะเพิ่มทางเลือกให้แก่เกษตรกร ไม่ใช่ตัดทางเลือก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มันไม่ง่ายที่จะเป็น ‘ปอแน’: เสี้ยวชีวิต LGBT ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะต่างจึงเจ็บปวด (3)

$
0
0

ท่ามกลางความไม่สงบ สิ่งที่ LGBT ในพื้นที่เผชิญคงเป็นได้เพียงชายขอบของปัญหา ความรุนแรงถูกทับซ้อนกันหลายระดับจนยุ่งเหยิง ทางออกเล็กที่พอมองเห็นในเบื้องต้นอาจต้องกลับไปที่ตัวบุคคลที่จะตีความคำสอนว่าใครกันแน่ที่สามารถพิพากษามนุษย์ได้

เอ๋เล่าว่า เพื่อนๆ ในพื้นที่ชนบทมีทัศนะว่าผู้หญิงเป็นทอมยังไม่น่าเกลียดเท่ากับผู้ชายเป็นเกย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เอกลับคิดว่าเกย์ใช้ชีวิตง่ายกว่ากะเทย ส่วนนาน่ามองอีกแบบว่า ทอมต่างหากที่เผชิญปัญหาหนักกว่าใคร เพราะการไม่คลุมฮิญาบเท่ากับการเปิดเผยตัวเอง ซึ่งผิดหลักศาสนา

ไม่มีคำตอบว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศกลุ่มไหน เป็นง่าย อยู่ง่ายกว่ากัน (คนหลากหลายทางเพศที่เป็นซีแยหรือพุทธอาจอยู่ง่ายกว่า เพราะมีแรงกดดันทางศาสนาน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่เผชิญปัญหาหรือความรุนแรง) ที่พอบอกได้ ทุกเพศที่อยู่นอกกรอบชาย-หญิงล้วนต้องเผชิญแรงกดดันทั้งจากสังคม ศาสนา และครอบครัว บ้างเลือกแตกหัก บ้างเลือกต่อรองประนีประนอม บ้างเลือกเปลี่ยนแปลงตนเอง

คำถามสำคัญไม่ใช่เรื่องยากหรือง่าย แต่อยู่ที่ว่าอะไรคือหนทางที่มุสลิมในพื้นที่และความหลากหลายทางเพศจะสามารถอยู่ร่วมกันได้

...ไม่จำเป็นต้องมองหาคำตอบในงานชิ้นนี้ เพราะไม่มีให้

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ เธอพบกรณีการทำร้ายร่างกายคนที่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมักเกิดจากคนในครอบครัว บางรายถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสจนมีอาการทางจิตเภท บางรายหลังจากรับการรักษาตัวแล้วส่งกลับบ้านก็ยังถูกทำร้ายซ้ำอีก การกระทำเช่นนี้ผิดทั้งกฎหมายและหลักการอิสลาม แต่เธอยอมรับตรงไปตรงมาว่า การทำงานประเด็นนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องยาก ยังไม่ต้องล้ำหน้าไปว่ากันถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพียงแค่ประเด็นการละเมิดและทำร้ายร่างกายผู้หญิงก็ลำบากที่จะจัดการ

นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ที่ต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนทับถมลงไปให้ยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรอก คนพิการ ผู้ติดยา ผู้ติดเชื้อ พนักงานบริการทางเพศ ฯลฯ ซึ่งเป็นคนชายขอบอยู่แล้ว ยิ่งถูกผลักไสออกสู่ชายขอบมากขึ้นๆ ท่ามกลางเสียงระเบิดและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ปัญหาที่เกิดกับคนกลุ่มน้อยและชายขอบเหล่านี้ดูไม่สลักสำคัญเท่ากับการยุติความไม่สงบลงเสียก่อน ด้วยการจัดลำดับความสำคัญทำนองนี้ พวกเขาจึงต้องอยู่อย่างไร้ตัวตนและเฝ้ารอ

“ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา” เป็นความเห็นของอันธิฌา

อัตลักษณ์ทางศาสนาและเชื้อชาติที่ถูกชูให้เข้มข้นขึ้นเพื่อต่อสู้ ต่อรองกับความเป็นสยาม มองความเป็นสมัยใหม่อย่างไม่เป็นมิตรนัก ความหลากหลายทางเพศถูกจัดหมวดหมู่เป็นผลพวงจากความเป็นสมัยใหม่ เรื่องมันก็เลยยิ่งหนักหนา แต่เอกรินทร์พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่

“ดูเหมือนว่าเรื่องแอลจีบีทีมาพร้อมกับโลกสมัยใหม่ ประเด็นสำคัญคือในทางประวัติศาสตร์สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกอิสลาม มันมีมานานแล้ว มีการต่อรองภายใต้เงื่อนไขบริบทสังคมนั้นๆ มาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อเกิดรัฐชาติแล้วเรื่องอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ ผมอยากบอกว่ามันไม่ใช่โจทย์เรื่องความสมัยใหม่ มันมีมาแต่โบราณแล้ว”

“ถ้าเรามองความรุนแรงที่เกิดกับแอลจีบีทีในพื้นที่สามจังหวัด เราคิดว่ามันทับซ้อนกันหลายมิติ เวลาที่คนคนหนึ่งในสามจังหวัดเป็นมุสลิมด้วย เป็นแอลจีบีทีด้วย มันถูกกระทำรุนแรงจากหลายมิติ หลายรูปแบบ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นแอลจีบีทีอย่างเดียว เขาอาจถูกเลือกปฏิบัติจากมิติอื่นๆ จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของเขา”

บทความชิ้นหนึ่งจาก www.gaystarnews.comเรื่อง The secret gay history of Islamระบุว่า เดิมทีโลกอิสลามมองคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ทั้งยังเชื่อว่าศาสดามูฮัมหมัดให้การสนับสนุนและปกป้องคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ แต่ความคิดแบบคริสเตียนที่มาพร้อมการล่าอาณานิคมของตะวันตกต่างหากที่ทำให้โลกมุสลิมติดเชื้ออาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในที่สุด

............

“ศาสนาอิสลามจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร” เอกรินทร์ทวนคำถามของผม “เรื่องนี้ศาสนาไม่ได้ยอมรับอยู่แล้ว อิสลามก็คืออิสลาม เราไม่สามารถปรับบทบัญญัติศาสนาให้เข้ากับปรากฏการณ์ได้ แต่สิ่งท้าทายคือมุสลิมจะรับมืออย่างไร

“หนึ่งคือเราต้องมองก่อนว่า พวกเขาเป็นผู้ศรัทธาเช่นเดียวกับเรา คนมุสลิมต้องเข้าใจกันก่อนว่าคนที่เป็นแอลจีบีทีที่เป็นมุสลิมก็เป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า มีสถานะเท่าเรา มีคำในอัลกุรอานที่ผมอ่านอยู่ทุกวันคืออัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาและกรุณาปราณีกับเราเสมอ ผมชอบประโยคนี้มาก นั่นแปลว่าความเมตตาสำคัญมาก มันสอนให้เราเมตตาต่อคนอื่นด้วย ถ้าเราเป็นผู้ศรัทธา ผู้ที่เป็นแอลจีบีทีต้องกล้าแลกเปลี่ยนกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิมคือเวลาที่เราคิดว่าเราเป็นคนเคร่งศาสนา เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ เราจะไม่คบกับคนที่เรารู้สึกว่าไม่ใช่บ่าวที่ดี

“สำหรับผมการแยกบ่าวที่ดีและบ่าวที่ไม่ดี มันทำให้ยากต่อการแก้ไขเรื่องแบบนี้ เป็นความท้าทายของชาวมุสลิมที่จะเข้าใจแอลจีบีทีในฐานะมนุษย์ด้วยกันและใช้ความเมตตาต่อกัน สุดท้าย เราไม่มีสิทธิกล่าวหาหรือทำอะไรกับเขาทั้งสิ้น เขากับเรามีสิทธิเท่ากัน

“สิ่งนี้เป็นเรื่องระหว่างคนคนนั้นกับพระผู้เป็นเจ้า เราไม่มีสิทธิไปตัดสินผิดบาปของเขาว่าเป็นคนดีหรือคนเลว นั่นไม่ใช่หน้าที่เรา”

น่าจะพอเป็นทางออกในแง่การตีความหลักศาสนาและในแง่ปัจเจกบุคคลในสถานการณ์นี้

..............

ในภาษามลายู คำว่า ‘ปอแน’ หมายถึงกะเทยหรือผู้ชายที่ทำตัวตุ้งติ้งเป็นผู้หญิง ส่วนเลสเบี้ยน เกย์ ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล เควียร์ หรือคำเรียกเพศอื่นๆ ยังไม่มีการบัญญัติใช้ในภาษามลายู ด้านหนึ่งสะท้อนภาวะการปรับเปลี่ยนไม่ทันของภาษามลายูเพื่อใช้เรียกหรือนิยามสิ่งต่างๆ

คนในพื้นที่แสดงความเห็นว่า ปอแน ไม่สามารถตีความรวมถึงเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่กะเทยได้ แต่อีกบางคนบอกว่าสามารถทำได้ เป็นความอิหลักอิเหลื่อไม่น้อยยามที่ไม่มีภาษาใช้เรียกขาน พอพูดได้ว่า นอกจากกะเทยแล้ว แอลจีบีทีกลุ่มอื่นๆ ไม่มีที่ทางในภาษามลายู การใช้คำทับศัพท์เป็นทางแก้ช่วยให้มุสลิมในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูรู้ว่าจะเรียกขานคนที่แตกต่างอย่างไร

มันไม่ง่ายเลยจริงๆ ที่จะเป็น ‘ปอแน’ ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล เควียร์...

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาชนซิมบับเวไม่เห็นด้วยรัฐบาลตั้งกระทรวงสอดส่องโลกไซเบอร์

$
0
0

ซิมบับเว ประเทศที่มีการบริหารผิดพลาดจนเคยเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ล่าสุดขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและเงินตรากำลังตั้งกระทรวงใหม่เพื่อสอดส่องโลกโซเชียล ในขณะที่การสำรวจพบว่ากลุ่มตัวอย่างประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วยกับล่วงล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวจากรัฐบาล

Skyline of Harare, Capital of Zimbabwe

กรุงฮาราเร เมืองหลวงประเทศซิมบับเว (ที่มา:วิกิพีเดีย)

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่าเมื่อไม่นานนี้มีการสับเปลี่ยนโยกย้ายคณะรัฐมนตรีซิมบับเวโดยประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ ซึ่งเป็นที่จับตามอง โดยมีการก่อตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวง "ความมั่นคงไซเบอร์กับการค้นหาและบรรเทาภัย" ซึ่งผู้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีคืออดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง แพทริก ชีนามาซา

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าพวกเขาก่อตั้งกระทรวงนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ผิด แต่ก็มีผู้สังเกตการณ์กังวลว่าเหตุผลที่แท้จริงที่รัฐบาลจัดตั้งกระทรวงนี้คือเอาไว้ปราบปรามประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดียในช่วงที่เศรษฐกิจซิมบับเวกำลังสูญเสียเสถียรภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์กรจัดตามมองสื่อในซิมบับเว MISA มองว่าเรื่องนี้เป็นภัยต่อเสรีภาพในการแสดงออก และอาจจะส่งผลให้เกิดความกลัวถูกปราบปรามจนมีการเซนเซอร์ตัวเองทั้งจากสื่อและจากประชาชนผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย

จอร์จ ชารัมบา โฆษกรัฐบาลซิมบับเวกล่าวปกป้องกระทรวงใหม่ว่าประธานาธิบดีต้องการจัดการกับภัยคุกคามที่มาจาก "การใช้พื้นที่ไซเบอร์สเปซอย่างผิดกฎหมาย" และอ้างว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการสร้างความแตกตื่นจนทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือการขาดแคลนเงินตราและขาดแคลนสินค้าทำให้ผู้คนพากันวิจารณ์รัฐบาลผ่านทางโซเชียลมีเดีย ปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาเมื่อชาวซิมบับเวพากันกักตุนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตการเงินจนทำให้ของในร้านค้าขาดตลาด ชั้นวางของว่างเปล่า ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 300 ภาวะเช่นนี้ทำให้ชาวซิมบับเวนึกถึงวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2551-2552 ที่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักร้อยละ 89.7 พันล้านล้านล้าน

กระนั้นเมื่อมีชาวซิมบับเวพยายามเปิดเผยปัญหาการขาดแคลนสินค้ากลับถูกทางการจับกุม เมื่อวันที่ 23 ก.ย. มีการจับกุมบาทหลวงอีแวน มาวาริเร จัดประชุมที่ศาลากลางพร้อมไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการขาดแคลนเงินตราและเครื่องอุปโภคบริโภค ทำให้มีคนจากที่อื่นนอกจากในซิมบับเวเริ่มติดตามเขา มาวาริเรยังเคยมีชื่อเสียงจากคำกล่าวสุนทรพจน์ #ThisFlag ที่เรียกให้ชาวซิมบับเวออกมาเคลื่อนไหวด้วย

รัฐบาลมูกาเบไม่ยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องการที่เขาบริหารงานได้แย่ แต่กลับโทษโซเชียลมีเดียว่าเป็นตัวทำให้ปัญหาเศรษฐกิจแย่ลง โทษว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความแตกตื่นจนสินค้าขาดตลาด

โรเบิร์ต มูกาเบ ประธานาธิบดีของซิมบับเวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์รายงานว่ารัฐบาลซิมบับเวพยายามควมคุมโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุขาดแคลนของอุปโภคบริโภคแล้ว โดยที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และไซเบอร์ตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา และมีโอกาสที่จะผ่านร่างภายในปีนี้โดยที่กระทรวงไซเบอร์ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมีการพยายามผลักดันร่างกฎหมายตัวนี้มาแต่ตั้งปี 2559 


ซุปา มันดิวันซิรา รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้กล่าวว่าการตรวจตราอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญโดยอ้างเหตุการณ์ที่นางแบบรายหนึ่งถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นความจริงว่าทำให้เด็กติดเชื้อเอชไอวีจนมีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปรุมด่าทอโจมตีเธอรวมถึงมีการข่มขู่เอาชีวิตเธอด้วย ทำให้รัฐบาลอ้างว่ากระทรวงใหม่นี้จะดูแลและลดกรณีการข่มเหงรังแกกันทางอินเทอร์เน็ต

จากการเก็บข้อมูลของอโฟรมารอมิเตอร์ในปี 2560 พบว่ามีชาวซิมบับเวร้อยละ 84 มีโทรศัพท์มือถือใช้ ร้อยละ 36 ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมร้อยละ 41 ของประเทศ มีชาวซิมบับเวใช้เฟซบุ๊กราว 850,000 ราย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจึงกังวลว่าการพยายามควบคุมโซเชียลมีเดียอาจจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เนื่องจากในช่วงขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้นมีประชาชนที่ไม่พอใจพากันใช้การส่งข้อความและแอพพลิเคชันอย่าง WhatsApp และ Twitter ในการจัดตั้งการประท้วงบนท้องถนน

โซเชียลมีเดียยังเป็นพื้นที่ที่ชาวซิมบับเวพูดคุยเรื่องการเมืองกันมาก เช่นในช่วงก่อนเลือกตั้ง 2556 มีคนใช้ชื่อ Baba Jukwa เปิดโปงเรื่องอื้อฉาวของพรรครัฐบาลโดยมีผู้ติดตามเขามากกว่า 300,000 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้นิยมชมรายการบันเทิงออนไลน์รวมถึงรายการแนวตลกเสียดสีเช่น BustopTV ที่มีหญิงวัยรุ่นสองคนเสียดสีในเรื่องต่างๆ จุดที่ดังที่สุดคือตอนที่พวกเธอล้อเลียนการเดินขบวนสนับสนุน เกรซ มูกาเบ ภรรยาของประธานาธิบดี มีผู้ชมหลายหมื่นในเฟซบุ๊กและมีการเผยแพร่ส่งต่อกันทางแชท

อะโฟรบารอมิเตอร์ซึ่งเป็นการสำรวจจัดทำโดยสถาบันความคิดเห็นของประชาชนในซิมบับเวยังได้ทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ชาวซิมบับเว 1,200 ราย ในช่วงต้นปีนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกือบ 7 ใน 10 เห็นด้วยในเรื่องที่ประชาชนควรสื่อสารกันอย่างเป็นส่วนตัวได้โดยที่ไม่มีรัฐบาลมาสอดส่อง กลุ่มตัวอย่างที่ต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มตัวอย่างที่ยิ่งมีระดับการศึกษาสูงหรืออายุน้อยกว่ายิ่งจะโน้มเอียงมาทางเน้นรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวมากกว่าจะคล้อยตามข้ออ้างด้านความมั่นคงของรัฐบาล

เรียบเรียงจาก

Zimbabwe created a new ministry to monitor social media. But most Zimbabweans don’t want government monitoring, Washington Post, October 20, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พบปัญหาเครื่องรูดบัตรคนจน 'ไม่เพียงพอ-สัญญาณอ่อน'

$
0
0
กรมบัญชีกลางร่วมกับ ก.พาณิชย์ และธนาคาร เร่งติดตั้งเครื่อง EDC ให้ครบ 18,000 เครื่อง ภายในเดือน พ.ย. 2560 เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบันมี  6,000 กว่าเครื่องไม่เพียงพอ และพบปัญหาสัญญาณอ่อน

 
22 ต.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าจากการรวบรวมข้อมูลการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พบว่าผู้มีสิทธินำบัตรไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ส่งรายชื่อร้านธงฟ้าประชารัฐที่ได้รับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวนกว่า 18,000 ร้านค้าให้กับธนาคารกรุงไทย  ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. โดยธนาคารกรุงไทยได้เร่งทยอยติดตั้งเครื่อง EDC ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ แล้วมากกว่า 6,000 เครื่อง แต่พบว่าเครื่อง EDC ยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนผู้มีสิทธิที่มีความประสงค์จะนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ สำหรับร้านธงฟ้าประชารัฐที่ธนาคารกรุงไทยติดตั้งเครื่อง EDC แล้ว และพบปัญหาสัญญาณอ่อน เพื่อแก้ไขประเด็นดังกล่าว ทางธนาคารจะดำเนินการเชื่อมต่อสัญญาณด้วยสาย LAN กับเครื่อง EDC พร้อมจัดทำคู่มือให้กับร้านธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน และทำให้การซื้อขายสินค้าเป็นไปอย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น
 
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงความคืบหน้าของการติดตั้งเครื่อง EDC ว่ากรมบัญชีกลาง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ ได้ร่วมกันวางแนวทางแก้ไขประเด็นร้านธงฟ้าประชารัฐที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอ โดยกำหนดกรอบเวลาร่วมกันว่า จะติดตั้งเครื่อง EDC จำนวน 9,500 เครื่อง ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. และจะทยอยติดตั้งเพิ่มเติมให้ครบ 18,000 เครื่องตามเป้าหมายภายในเดือน พ.ย. 2560 ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาคมธนาคารไทย ธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์
 
ทั้งนี้ การติดตั้งเครื่อง EDC ส่วนที่เหลือ กระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามเกณฑ์ลำดับความสำคัญ ดังนี้ เป็นร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ต้องติดตั้งให้ครอบคลุมทุกตำบล และเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนผู้มีสิทธิหนาแน่น เพื่อให้ผู้มีสิทธิทั่วประเทศได้รับความสะดวกในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเท่าเทียมกัน โดย กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ข้อมูลของร้านธงฟ้าประชารัฐที่ได้รับคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ของกระทรวง ส่วนร้านค้าที่ยังไม่ปรากฏรายชื่อ ทางกระทรวงจะมีการพิจารณาในลำดับต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #180 ขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่-ต้นทุนสุขภาพกับความยากจน

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ คำ ผกา และประภาภูมิ เอี่ยมสม พูดถึงการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรอบใหม่ ซึ่งทำให้ราคาเหล้าและบุหรี่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าการขึ้นภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการหลายๆ ด้านตามแผนขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อลดการบริโภคเหล้าและบุหรี่ แต่คำถามก็คือการเสริมปัจจัยต่างๆ ทั้งการขึ้นราคา รวมไปถึงการเสริมปัจจัยเชิงลบเช่น การพิมพ์คำเตือน รูปภาพ ติดบนฉลากผลิตภัณฑ์ การตีตราด้วยสโลกแกน “จน เครียด กินเหล้า” จะทำให้คนลดละเลิกเหล้าและบุหรี่ได้ผลจริงหรือ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณามิติทางเศรษฐกิจ การปรับภาษีสรรพสามิตรอบล่าสุด ย่อมกระทบคนหาเช้ากินค่ำที่พึ่งพาเหล้าและบุหรี่เป็นเครื่องหย่อนใจหลังตรากตรำทำงานหนัก แต่เมื่อภาครัฐไม่ได้มีมาตรการส่งเสริมทางบวกเพื่อลดการบริโภคเหล้าและบุหรี่ที่ดีพอ เช่น ยังไม่ได้ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงสวนสาธารณะและการออกกำลังกายเป็นไปได้จริงๆ สำหรับทุกคน ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการขึ้นภาษีเหล้าและบุหรี่อาจไม่ได้ทำให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลงอย่างที่ตั้งเป้าหมาย แต่ทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยหันไปต้มกลั่นเหล้าหรือมวนยาสูบใช้เอง หรือหนักกว่านั้นคือซื้อสุราปลอม บุหรี่หนีภาษี ซึ่งยิ่งเสี่ยงต่อสุขภาพ

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลัง
ที่เฟสบุ๊ค 
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อาเบะนำพรรคร่วมรัฐบาลชนะเลือกตั้งญี่ปุ่น-จ่อตั้งรัฐบาลสมัยที่ 3

$
0
0

ผลสำรวจหลังการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นวันอาทิตย์นี้พบว่า พรรคเสรีประชาธิปไตยและแนวร่วมจะได้ที่นั่ง 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการตั้ง "รัฐบาลอาเบะ" สมัยที่ 3 และความทะเยอทะยานแก้ไขมาตรา 9 ในรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มอำนาจให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ท่ามกลางวิกฤตคาบสมุทรเกาหลีจากการแผลงฤทธิ์ทดสอบขีปนาวุธของคิมจองอึน

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ภาพถ่ายปี 2013
ที่มา: แฟ้มภาพ/giyoshisan/Wikipedia

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จากพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) และพรรคแนวร่วมจะสามารถรักษาชัยชนะเอาไว้ได้ในการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์นี้ (22 ต.ค.) โดยผลสำรวจเบื้องต้นพบว่า พรรคเสรีประชาธิปไตยและแนวร่วมจะรักษาที่นั่งเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับการตั้ง "รัฐบาลอาเบะ" สมัยที่ 3 พร้อมๆ กับเพิ่มความทะเยอทะยานของอาเบะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลการสำรวจโดยอ้างอิงจากผลสำรวจนอกคูหาเลือกตั้ง (exit polls) ของสถานีโทรทัศน์ TBS และ TV Tokyo ชี้ว่าแนวร่วมของพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคโคเมโต (Komeito) จะได้ที่นั่ง ส.ส. 311 ที่นั่ง จากทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร 465 ที่นั่ง ซึ่งมากพอที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่สหรัฐอเมริการ่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหากทำได้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกนับตั้งแต่บังคับใช้มาได้ 70 ปี

ทั้งนี้เลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตย โทชิฮิโร นิคาอิ พยายามที่จะไม่พูดอะไรมากแม้จะได้รับข้อมูลแล้วว่าชัยชนะอยู่ในมือของพรรค "เราดีใจที่สาธารณชนได้มอบอาณัติแก่คณะรัฐบาล แต่เราก็จะระมัดระวังที่จะไม่ก้าวไปข้างหน้าอย่างผู้หยิ่งผยอง

แม้ว่าจะมีพรรคคู่แข่งคือพรรคคิโบโนโต (Kibo no To) หรือพรรคแห่งความหวัง ที่เพิ่งตั้งขึ้นโดยผู้ว่าการกรุงโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ แต่ก็มีแนวโน้มว่าในการเลือกตั้งทั่วไปรอบนี้จะทำได้เต็มที่เพียงรักษาที่นั่งในสภาเดิมก็คือ 57 ที่นั่ง

ส่วนพรรคฝ่ายค้านอีกพรรคที่ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นก็คือ พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญนิยมแห่งญี่ปุ่น ซึ่งมีแนวโน้มจะได้ถึง 58 ที่นั่ง จากเดิมมี 16 ที่นั่ง

ทั้งนี้มีรายงานว่า อาเบะ พยายามที่จะสร้างฉันทามติภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งเริ่มกระบวนการประชามติในปีหน้า เพื่อการนี้รัฐบาลอาเบะชุดใหม่จะต้องได้เสียงข้างมากเกิน 2 ใน 3 หรือต้องมากกว่า 310 ที่นั่ง ทั้งนี้หากพรรคร่วมรัฐบาลขั้วเดิมยังมีเสียงข้างมากไม่ถึงเกณฑ์ 2 ใน 3 ก็อาจจะหาชวนพรรคฝ่ายค้านที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเข้าร่วมเพื่อการนี้ อย่างเช่น พรรคคิโบโนโต และพรรคนิปปอน อิชิน โน ไก (Japan Innovation Party) ซึ่งทั้ง 2 พรรคมีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามพวกเขาให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 เรื่องกองกำลังป้องกันตนเอง (JSDF) น้อยกว่าเรื่องสิทธิในการรับรู้ของประชาชน การศึกษาแบบไม่เก็บค่าใช้จ่าย และการกระจายอำนาจ

ข้อมูลจากกระทรวงการสื่อสาร จนถึงเวลา 18.00 น. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิร้อยละ 29.99 ลดลง ร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ขณะที่การเลือกตั้งล่วงหน้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 21.37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 62.54

เรียบเรียงจาก

Abe’s gamble pays off with ruling bloc headed for two-thirds majority in Lower House, BY TOMOHIRO OSAKI, The Japan Times. OCT 22, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มหาดไทยไม่อุทธรณ์คดี 351 ไทยพลัดถิ่น พร้อมออกบัตรคนไทยให้

$
0
0

กระทรวงมหาดไทยไม่อุทธรณ์ คดีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น แก่ 351 ผู้ที่ยังไม่ได้สัญชาติไทยจาก อ.แม่สอดและอ.แม่ระมาด จ.ตาก พร้อมจะเร่งรัดดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนคนไทยให้

คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน อพยพกลับเข้ามาอยู่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความ ระหว่างไปฟังคำพิพากษาศาลปกครองขอคืนสัญชาติไทยเมื่อ 14 ก.ย. 2560 (ที่มา: เอื้อเฟื้อภาพโดยสุรพงษ์ กองจันทึก)
 

23 ต.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า สุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่น สภาทนายความ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากศาลปกครองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน คือภายในวันที่ 13 ตุลาคม 2560  มีผลให้คดีถึงที่สุด  ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการเพิ่มชื่อเข้าสู่ระบบทะเบียนและออกบัตรประจำตัวประชาชนแบบคนไทยให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน

ตามที่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 352/2558 ว่า คำสั่งของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ 0309.1/15143 ลงวันที่ 29 ก.ย. 2557 ที่ไม่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 351 คน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และให้ดำเนินการเพิ่มชื่อคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ เข้าในระบบทะเบียนราษฎร์แบบคนไทย โดยถือว่าเป็นคนไทยโดยการเกิด


สุรพงษ์ กล่าวว่า บรรจบ จันทรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งว่า กำลังเร่งดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางโดยตรวจสอบสถานะปัจจุบันของคนไทยพลัดถิ่นทั้ง 351 คน  เนื่องจากมีบางคนเสียชีวิตไปแล้ว  หลายคนก็ได้สัญชาติไทยไปแล้วด้วยวิธีการตามข้อกฎหมายอื่น ซึ่งต้องตรวจละเอียดว่าได้รับการถ่ายรูปทำบัตรประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว  ส่วนคนที่เหลือจะต้องให้อำเภอและจังหวัดจัดทำแก้ไขข้อมูลในส่วนต้นทางให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เข้าระบบออกเลข 13 หลักแบบคนไทยในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎร์ให้  คาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้ภายในเดือนตุลาคม  เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎร์และจัดทำบัตรประจำตัวแบบคนไทยได้ภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560

สุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากคนไทยพลัดถิ่น 351 คนนี้แล้ว ยังมีคนไทยพลัดถิ่นที่ยื่นเรื่องรอการพิจารณาของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนมาก  รวมทั้งคนที่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องอีกไม่น้อย  เมื่อคำพิพากษาของศาลปกครองกลางถึงที่สุด จะเป็นบรรทัดฐานในการได้สัญชาติไทยของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากอีกนับพันคน รวมทั้งลูกหลานของคนเหล่านี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รบ.ปฏิเสธสั่งรื้อถอนทุบทำลายเทวรูปภายในวัด

$
0
0

รัฐบาลปฏิเสธสั่งรื้อถอนทุบทำลายเทวรูปภายในวัด ชี้เป็นดุลพินิจของคณะสงฆ์ที่อยากเห็นความถูกต้องเหมาะสมตามหลักธรรมคำสอนและพระวินัย เชื่อชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับได้

23 ต.ค. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วานนี้ (22 ต.ค.60) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการส่งต่อกันในสื่อออนไลน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้รื้อถอนทุบทำลายรูปปั้น องค์เทพ หรือสิ่งที่เป็นความเชื่อของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักทางศาสนา ออกจากวัดทุกวัด ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะความจริงคือการดำเนินงานภายในของคณะสงฆ์ที่ได้พิจารณาแล้วว่าสิ่งใดถูกต้องเหมาะสม

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้รับทราบข้อมูลว่า มหาเถรสมาคมได้มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าคณะทุกเขตในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ เรื่อง ห้ามติดแผ่นป้ายโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูปในที่ต่าง ๆ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลใช้ความเชื่อทางศาสนาไปแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการโฆษณาสรรพคุณพระบูชาและวัตถุมงคล มีการอ้างที่มาของวัสดุที่ใช้สร้างพระบูชา วัตถุมงคล เทวรูป และอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักธรรมคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา จึงขอให้เจ้าคณะทุกเขตสอดส่องดูแลการโฆษณาจัดสร้างพระบูชา วัตถุมงคล และเทวรูปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการเผยแผ่ธรรมะอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ พระอุโบสถหรืออุโบสถนั้นเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมตามพระวินัย ดังนั้น วัดทุกวัดจึงไม่ควรจำหน่ายพระบูชา วัตถุมงคล และเทวรูปต่าง ๆ ภายในและบริเวณพระอุโบสถหรืออุโบสถ” ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นดุลพินิจของคณะสงฆ์ที่ต้องการเห็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักธรรมคำสอนและพระวินัยเกิดขึ้น โดยแต่ละวัดจะพิจารณารื้อถอน ทุบทำลายรูปปั้นหรือเทวรูปที่อยู่ภายในวัด รวมทั้งงดจำหน่ายพระบูชาและวัตถุมงคลเอง ส่วนทางด้านของพุทธศาสนิกชนนั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่มีความเข้าใจและยอมรับได้ เนื่องจากอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการพระพุทธศาสนาในทางที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แจ้งตำรวจจับคนปลอมเข็มที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

$
0
0

รองปลัดสำนักฯ เผยแจ้งตำรวจจับคนปลอมเข็มที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพออนไลน์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ ทอ.เตรียมเล่นงานฝ่าฝืนบินโดรน - ห้ามเนชั่นทีวี สำนักข่าวทีนิวส์ ไทยทีวี 6 ทำข่าวหลังฝืนข้อตกลงไลฟ์สด 

23 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (23 ต.ค.60) สมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเปิดการจำหน่ายเข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวน 40,000 เข็ม เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายครบหมด โดยประชาชนที่มาเข้าคิวซื้ออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  โดยหลังจากนี้ สำนักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยังเร่งผลิตเข็มที่ระลึกดังกล่าวเพื่อนำออกจำหน่ายอีก และจะเปิดให้ประชาชนสั่งจองได้เร็วที่สุดประมาณปลายเดือน พ.ย.นี้ หรือตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.โดยในกรุงเทพฯ สถานที่เปิดรับจองได้แก่ กองคลัง สำนักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ภายในทำเนียบรัฐบาล และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาในเขตกรุงเทพฯ  ส่วนในต่างจังหวัดนั้น สปน.กำลังหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ทำการไปรษณีย์  ทั้งนี้การรับสั่งจองนี้ไม่ได้จำกัดจำนวนเข็มที่แต่ละคนต้องการจะซื้อ ขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าเข็มดังกล่าวจะหมด เพราะเราผลิตอยู่เรื่อย ๆ ตามจำนวนที่มีการสั่งจองเข้ามา 

รองปลัดสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการที่ สปน.พบเบาะแสการขายเกินราคา และการทำปลอมแปลง จึงขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคนที่นำเข็มดังกล่าวมาขายในราคาสูงเกินจริง เพราะสปน.กำลังจะเร่งเปิดรับจองการสั่งซื้อ พร้อมกับจะจัดส่งให้ถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด  อีกทั้งพบว่ามีคนอ้างว่าได้รับเข็มพระราชทานแล้วไปจัดทำเอง และมีคนที่ทำปลอมขึ้นมาหลอกจำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊กและบางเว็บไซต์ ซึ่งได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามตรวจสอบเพื่อจับกุม 

“ขอย้ำว่าเข็มที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ มีลักษณะรูปทรงหกเหลี่ยม พื้นเป็นสีเหลืองทอง ด้านหน้าอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ภปร มีพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมีประดิษฐานอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างจารึกอักษรคำว่า “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๒๕๖๐”  ดังนั้น ขอให้ประชาชนหลงเชื่อซื้อของปลอม และอย่าทำปลอมแปลงเพื่อมาหลอกขายเลย เพราะถือเป็นความผิดทางอาญา และเป็นสิ่งที่ไม่บังควรอย่างยิ่งในการทำอะไรที่ไปกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนชาวไทยในช่วงพระราชพิธีดังกล่าว จึงขอให้ทุกคนร่วมกันทำความดีถวายในหลวง” รองปลัด สปน. กล่าว

ทอ.เตรียมเล่นงานฝ่าฝืนบินโดรน

ขณะที่วานนี้ พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์  เสมาชัย โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวถึงกรณีกองทัพอากาศขอความร่วมมืองดบินโดรนรอบพื้นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในรัศมี 19 กิโลเมตร  ระหว่าง 25-29 ตุลาคม 2560 และขอความร่วมมือประชาชนแจ้งเบาะแสการฝ่าฝืนบินโดรน ได้มีประชาชนผู้หวังดีส่งภาพและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการบินโดรนในบริเวณใกล้เคียงพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบในรัศมี 19 กิโลเมตร ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมาให้กองทัพอากาศ 

“ขอขอบคุณผู้ที่ส่งข้อมูลและเบาะแสภาพการบินโดรนมาให้ ซึ่งกองทัพอากาศจะได้ส่งมอบข้อมูลและภาพให้หน่วยเกี่ยวข้องตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป ขอวิงวอนผู้ที่คิดจะฝ่าฝืนบินโดรนในห้วงเวลาและพื้นที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รวมทั้งพื้นที่โดยรอบพระเมรุมาศจำลองและซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศ โปรดล้มเลิกความคิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว” โฆษกกองทัพอากาศ กล่าว

พล.อ.ต.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ขอเชิญประชาชนร่วมถวายพระเกียรติและร่วมกันรักษาความปลอดภัยในห้วงพระราชพิธี โดยช่วยเฝ้าตรวจผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดกฎหมาย และสามารถส่งข้อมูล ภาพ คลิป ฯลฯ ที่แสดงแนวโน้มการฝ่าฝืนบินโดรนในห้วงเวลาดังกล่าว ได้ที่เฟซบุ๊คกองทัพอากาศหรือไลน์กองทัพอากาศ ไอดี @rtaf เพื่อรวบรวมส่งให้หน่วยเกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

ห้ามเนชั่นทีวี สำนักข่าวทีนิวส์ ไทยทีวี 6 ทำข่าวหลังฝืนข้อตกลงไลฟ์สด 

เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ประชุมชี้แจงกับเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ภายหลังการซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถึงกรณีที่มีสื่อมวลชน 3 สำนัก ได้ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ขอความร่วมมือไว้ในการประชุมแต่ละครั้งว่า จะไม่มีการไลฟ์สดในวันที่ 21 และ 26 ต.ค.2560 และจะต้องไม่เผยแพร่คลิปข่าว ก่อนที่ริ้วขบวน ที่ 1-3 จะจบสิ้นลง

พล.ท.สรรเสริญ ระบุว่า สื่อสำนักหนึ่งได้ลงคลิปที่ถ่ายบนอัฒจันทร์ และนำมาเผยแพร่ในลักษณะรายงานข่าวเหตุการณ์สด โดยที่ริ้วขบวนทั้ง 3 ยังไม่จบสิ้นดี กองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเพช (กอร.พระราชพิธี) จึงได้เชิญผู้บริหารช่องดังกล่าวเข้ามาพูดคุยชี้แจง และมีมติไม่ให้สื่อสำนักดังกล่าว ทำข่าวในวันที่ 22 ต.ค. ซึ่งจะมีการซ้อมริ้วขบวนที่ 4-6 โดยจะยึดบัตรสื่อมวลชนพิเศษที่ กอร.ออกให้ และจะคืนให้หลังจากประชุมร่วมในวันที่ 24 ต.ค.นี้ เพื่อให้สามารถทำงานในวันพระราชพิธีจริงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวสามารถมาใช้บริการศูนย์สื่อมวลชนได้ แต่ไม่สามารถขึ้นอัฒจันทร์ทำข่าวได้ โดยแนวทางนี้ จะเป็นแนวทางปฏิบัติกับสื่ออีก 2 สำนัก ที่ไม่ทำตามข้อตกลง เช่นเดียวกัน และขอให้สื่ออื่นๆ ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่เคยได้ประชุมร่วมกันด้วย
 
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสื่อมวลชน 3 สำนักที่ถูกห้ามทำข่าวการซ้อมริ้วขบวนที่ 4 - 6 ในวันนี้ ได้แก่ เนชั่นทีวี สำนักข่าวทีนิวส์ และ ไทยทีวี 6 ซึ่งเผยแพร่ทางยูทูบ
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธาน ป.ป.ช.ไม่ขัด กฎหมายลูกเปิดช่องให้ สตง. ตรวจสอบทุจริตเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.

$
0
0

ประธาน ป.ป.ช. ยันส่วนตัวยอมรับและเห็นด้วยในเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่ให้อำนาจผู้ว่าการ สตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่กระทำการทุจริตได้ ระบุข่าว จนท.ป.ป.ช.ค้าน คงกังวลในเรื่องข้อกฎหมาย

แฟ้มภาพ

23 ต.ค. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (23 ต.ค.60) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ผ่านวาระ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยให้อำนาจผู้ว่าการ สตง. สามารถไต่สวนเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่กระทำการทุจริตได้ ว่า ส่วนตัวยอมรับในเนื้อหาของกฎหมาย และเห็นด้วย เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของ สตง.ในการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดินของทุกส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ 

ส่วนที่มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.ได้คัดค้านเรื่องนี้นั้น ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คงเป็นเพียงรายงานข่าวเท่านั้น หากมีการคัดค้านคงเป็นข้อกังวลในเรื่องข้อกฎหมายที่มองว่า ในการดำเนินการของ ผู้ว่า สตง. ตามเนื้อหาเดิม ก่อนปรับแก้จะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ เมื่อผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ก็ถือว่า เรื่องยุติลงแล้ว 

พล.ต.อ.วัชรพล ยังกล่าวถึง การจัดทำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ว่า ทราบว่า กรธ. จะส่งร่างกฎหมายไปยัง สนช. ในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะเข้าวาระแรก ในวันที่ 2 พ.ย. โดย ป.ป.ช.ได้ชี้แจงความเห็นไปยัง กรธ.แล้ว เกี่ยวกับบริบทของการทำหน้าที่ ที่มีปัญหาอุปสรรคขัดกับร่างกฎหมาย โดยจะพยายามชี้แจงกับ กรธ. และหากว่าท้ายที่สุดยังไม่ได้มีการปรับแก้ตามข้อเสนอ ก็ยังมีชั้นกรรมาธิการศึกษา พร้อมยืนยันว่า จะใช้เวทีนี้ชี้แจงอีกครั้ง รวมถึงช่องทางกระบวนการอื่นๆ ที่จะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประธาน ป.ป.ช. ระบุถึงการรื้อฟื้นคดี 3 คดีใหญ่ ที่จะยื่นต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีคดีที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตร 2 คดีว่า อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาล คาดว่า จะใช้เวลาไม่นาน เพราะมีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว เมื่อแล้วเสร็จก็จะยื่นศาลฯ ตามขั้นตอน

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มรดกล้านนาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม | คนสามัญ อานันท์ 70 ปี

$
0
0

สัมมนาวิชาการ “มานุษยวิทยา ล้านนาคดี และประวัติศาสตร์นิพนธ์ คนสามัญ อานันท์ 70 ปี” ระหว่างวันที่ 20 - 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ช่วงบ่ายวันที่ 20 ก.ย. เป็นการนำเสนอกลุ่มบทความ  "มรดกล้านนาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม" ดำเนินรายการโดย ดร.อาชว์บารมี มณีตระกูลทอง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้การเปลี่ยนอดีตพื้นที่ความขัดแย้งให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพร้อมไปกับการมีส่วนร่วมของชุมชน ติดตามได้จากการนำเสนอของ วศิน ปัญญาวุธตระกูล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งนำเสนอหัวข้อ "การจัดการชุมชนท่องเที่ยวบนพื้นที่สูง กรณีศึกษาภูลมโลและพื้นที่เชื่อมโยงอย่างยั่งยืน"

ส่วนการนำเสนอต่อมา กรวรรณ สังขกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงการวิจัยเพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยว แนวทางการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สภาพการแข่งขันทางการตลาด และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยนำเสนองานวิจัยหัวข้อ "มรดกล้านนาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม"

นอกจากนี้อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย โดยตอนหนึ่งกล่าวว่าการท่องเที่ยว นอกจากการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มแล้ว ต้อง 4 มิติได้แก่ จิตวิญญาณ อัตลักษณ์ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต ถ้าไม่มี 4 มิตินี้การท่องเที่ยวก็จะไม่น่าสนใจ โดยยกตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลออกหว่าหรือออกพรรษาของ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พื้นที่ความรู้ ป่าชุมชน และคนสามัญ | คนสามัญ อานันท์ 70 ปี

$
0
0

สัมมนาวิชาการ “มานุษยวิทยา ล้านนาคดี และประวัติศาสตร์นิพนธ์ คนสามัญ อานันท์ 70 ปี” ระหว่างวันที่ 20 - 21 เดือนกันยายน พ.ศ. 2560 ห้องประชุม 1 อาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานอารยธรรมศึกษาโขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ในช่วงเช้าวันที่ 21 กันยายน เป็นการนำเสนอกลุ่มบทความ นำเสนอกลุ่มบทความ “พื้นที่ความรู้ ป่าชุมชน และคนสามัญ” ดำเนินรายการโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อนำเสนอประกอบด้วย  (1) สุนทร สุขสราญจิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา นำเสนอหัวข้อ "อิ้วเมี่ยนภูลังกา: พลวัตความเป็นไทยและอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์"

(2) วรวรรณ วรรณลักษณ์ นักวิชาการอิสระ นำเสนอหัวข้อ "เวียงหนองหล่ม: พื้นที่เชิงซ้อนของความหมายและการจัดการทรัพยากรร่วม"

(3) อัษฎาวุธ มงคลแก้ว นักวิชาการอิสระ นำเสนอหัวข้อ "การปรับตัวเพื่อเข้าถึงที่ดิน กรณีการปลูกยางพาราในพื้นที่สูงทางภาคเหนือ"

และ (4) พสุธา โกมลมาลย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นำเสนอหัวข้อ "หัวไร่ปลายนา: พื้นที่(กึ่ง)ป่าชุมชนในวัฒนธรรมของคนอีสาน"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐสภากาตาลุญญาเตรียมตอบโต้สเปนหลังจ่อเข้าปกครองแคว้นโดยตรง

$
0
0

คาดสภาแคว้นประชุมพฤหัสฯ นี้ รมว. ต่างประเทศแคว้นกาตาลุญญาอัด อียูนิ่งเฉยแบบนี้ประชาธิปไตยจะอยู่รอดอย่างไร โฆษกรัฐบาลกาตาลุญญากร้าว รัฐบาลจะสู้ถึงที่สุดเพื่อปกป้องสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่กาตาลุญญาจะบังคับใช้การประกาศเอกราชฝ่ายเดียว

(ล่าง)การ์เลส ปุกเดมอนด์ แถลงเรื่องการประกาศตัวเป็นเอกราชในรัฐสภากาตาลันเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา (ที่มา: Parliament de Catalunya)

เมื่อ 23 ต.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะ การ์เดียน รายงานว่า รัฐสภาแคว้นกาตาลุญญาเตรียมจัดประชุมหาแนวทางตอบโต้การประกาศใช้มาตรา 155 จากรัฐบาลสเปน การจัดประชุมจะมีขึ้นก่อนหน้าการประชุมของรัฐสภาสเปนที่คาดว่าจะเป็นการประชุมเพื่อรับรองการใช้มาตรการถอดถอนรัฐบาลท้องถิ่นแล้วให้รัฐบาลกลางปกครองแทน โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งภายในหกเดือน

ผู้นำกาตาลุญญาลงนามประกาศเอกราชแต่ยังไม่บังคับใช้ หวังเปิดโต๊ะเจรจา รบ. กลาง

หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

มาตรา 155 มีใจความว่า ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นไม่สามารถรักษากฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมายได้ รัฐบาลกลางสามารถยกเลิกการปกครองตนเองของแคว้นได้แล้วเข้ามาปกครองโดยตรง

เมื่อวานนี้ ราอูล โรเมวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคว้นกาตาลุญญาได้กล่าวหาสหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่ออกมาแสดงท่าทีต่อความพยายามจะควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐบาลกลางสเปน

“[ถ้าการรวบอำนาจเกิดขึ้น] อียูจะอยู่กับสภาวะแบบนี้อย่างไร” โรเมวากล่าวกับรายการวิทยุ บีบีซีเรดิโอ โฟร์ส ทูเดย์ “ประชาธิปไตยของอียูจะยังคงอยู่และมีความน่าเชื่อถือได้อย่างไรถ้าพวกเขายอมให้มันเกิดขึ้น สิ่งที่ผมบอกได้ก็คือประชาชนและสถาบันต่างๆ ในกาตาลุญญาจะไม่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น”

ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีสเปน โซรายา เซนซ์ เด ซานตามาเรียกล่าวว่า ทันทีที่การปกครองแคว้นโดยตรงถูกบังคับใช้ รัฐบาลสเปนจะแต่งตั้งผู้แทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของประธานาธิบดีแทนการ์เลส ปุกเดมอนด์ ประธานาธิบดีแคว้นคนปัจจุบัน

“พวกเขาได้เป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลท้องถิ่นและเป็นบุคคลอาวุโสในรัฐบาลเพราะว่ารัฐธรรมนูญให้อำนาจ” เธอกล่าวผ่านวิทยุโอนดา เซโร “พวกเขาไม่ได้รับมอบหน้าที่ดังกล่าวมาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน”

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีของสเปนกล่าวว่าเขาบังคับใช้อำนาจตามมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญสเปนเพื่อ “ฟื้นฟูหลักนิติธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นการประกันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใต้สภาวะปรกติ”

ประธานาธิบดีกาตาลุญญา การ์เลส ปุกเดมอนด์ได้ประณามท่าทีของรัฐบาลสเปนว่าเป็น “การรัฐประหารในทางปฏิบัติ (de facto coup d’etat)” และยังยืนยันว่าผลประชามติที่ร้อยละ 90 เห็นว่ากาตาลุญญาต้องแยกตัวจากสเปนเป็นอาณัติที่รัฐบาลต้องตอบสนองด้วยการแยกตัวจากสเปนมาตั้งเป็นสาธารณรัฐ

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

เมื่อ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาปุกเดมอนด์ได้ลงนามในคำประกาศเอกราชไปแล้ว แต่ว่าเลื่อนการบังคับใช้ไปก่อนเป็นเวลาสองเดือนเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจากับรัฐบาลกลาง ปุกเดมอนด์ยังกล่าวถึงการบังคับใช้มาตรา 155 ว่าเป็นการโจมตีสถาบันของแคว้นกาตาลุญญาอย่างร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สมัยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกปกครองสเปนเมื่อ ค.ศ. 1939-1975 และเป็นการ “ปิดประตู” ใส่ความพยายามในการพูดคุย ทั้งนี้ รัฐบาลแคว้นกาตาลุญญายังไม่ล้มเลิกแผนการแยกตัวเป็นเอกราชและประกาศเลือกตั้งใหม่ก่อนที่มาตรา 155 จะถูกรับรองโดยรัฐสภาสเปน โดยโฆษกของรัฐบาลกาตาลันได้กล่าวว่ารัฐบาลจะ “สู้อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องสถาบันที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งกาตาลุญญา”

พรรค CUP ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างน้อยและมีแนวคิดซ้ายจัดได้เรียกร้องให้มวลชนทำอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “การคุกคามสิทธิของพลเมือง ปัจเจกและส่วนรวมของชาวกาตาลันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด” ตั้งแต่สมัยรัฐบาลฟรังโก

สถิติจากรัฐบาลกาตาลันระบุว่า วันประชามติเมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมามีผู้ออกไปลงคะแนนเสียงทั้งหมด 2.3 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 43 อย่างไรก็ดี ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสเปนที่พยายามขัดขวางไม่ให้คนไปออกเสียงทำให้สูญเสียเสียงโหวตไปถึง 7 แสน 7 หมื่นเสียง

เรียบเรียงจาก

Catalan MPs to discuss response to Spanish move towards direct rule, The Guardian, October 23, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images