Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

"เพื่อไทย" เสนอชื่อ "ยิ่งลักษณ์" ชิงนายกฯ พรุ่งนี้

0
0

ด้าน "ภูมิใจไทย" มีมติงดออกเสียง ยืนยันพรุ่งนี้ไม่มีงูเห่า ส่วน "อภิสิทธิ์" ขอว่าที่นายกฯ คนใหม่แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ชี้ประเทศมีเงินคงคลัง 3 แสนล้านบาท เทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีเพียง 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นสถานะการเงินที่มั่นคงมาก ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลใหม่จะเร่งกู้เงิน 8 แสนล้านบาท

วาง "เสนาะ" เสนอชื่อ "ยิ่งลักษณ์" ชิงนายกฯ พรุ่งนี้

ที่ประชุม ส.ส. พรรคเพื่อไทย มีมติเสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรในวันพรุ่งนี้ (5 ส.ค.) โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวขอบคุณ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ทุกคนที่ให้ความไว้วางใจตนเองตั้งแต่แรก ในการให้เป็นผู้สมัครส.ส.ลำดับที่ 1 ประกอบกับขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจเลือกพรรคเพื่อไทยให้เป็นแกนนำจัดตั้ง รัฐบาลด้วย ดังนั้น ยืนยันจะทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้ดีที่สุด โดยในวันพรุ่งนี้ ได้มีการมอบหมายให้นายเสนาะ เทียนทอง เป็นผู้เสนอชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในที่ประชุมสภาฯเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้

 

มติ "ภูมิใจไทย" งดออกเสียง ยันพรุ่งนี้ไม่มีงูเห่า

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวภายหลังการประชุม ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรุ่งนี้ (5 ส.ค.54) เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมพรรคมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย เสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ส.ส. ของพรรคภูมิใจไทย จะงดออกเสียง ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าว ส.ส. บางส่วนของพรรคจะสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง พร้อมมั่นใจไม่มี ส.ส. คนใดกระทำการขัดมติพรรค และคิดว่าจะไม่มีงูเห่าเกิดขึ้นในพรรคอย่างแน่นอน สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ทราบข่าวจากสื่อว่าจะไม่เสนอชื่อใครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นายศุภชัย ยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และจะทำงานในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ โดยยึดประชาชนเป็นหลัก โดยพรรคจะเสนอกฎหมายประกบกฎหมายที่รัฐบาลเสนอและจะร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายที่ พรรคการเมืองอื่นเสนอด้วย แต่ต้องเป็นมติเห็นชอบจากพรรคเท่านั้น ทั้งนี้จะทำงานในสภาด้านอื่นๆ ในฐานะฝ่ายค้าน อย่างดีที่สุด และมีสติ ทั้งการตรวจสอบรัฐบาล และตั้งกระทู้ถาม โดยพรรคจะไม่เล่นการเมืองในสภาฯ เช่นไม่เสียบบัตรแสดงตนระหว่างเข้าร่วมประชุม แต่หากไม่เห็นด้วย อาจใช้วิธีวอล์คเอาท์แทน

 

นายกฯ ฝาก "ยิ่งลักษณ์" แก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฝากให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เร่งแก้ปัญหาค่าครองชีพให้กับประชาชน และทำให้การเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการรัฐสภา โดยยืนยันหากรัฐบาลบริหารประเทศได้ดีก็จะไม่คัดค้านการทำงาน แต่หากทำไม่ดีก็จะไม่ให้โอกาส ขณะเดียวกันไม่ขอวิจารณ์การจัดสรรตำแหน่งคณะรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นเรื่องกระบวนการภายในพรรคเพื่อไทย โดยไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรี คนที่รับผิดชอบคือ นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนฝ่ายค้านจะตั้งคณะรัฐมนตรีเงา เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ อยู่ที่กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่พิจารณา

นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยถึงการรายงานสถานะเศรษฐกิจและสังคมที่จะมีการส่งมอบงานให้รัฐบาล ชุดใหม่ รวมทั้งประชาชนรับทราบผ่านทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในคืนนี้ เวลา 20.30 น.ว่า รายงานนี้จะเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลชุดใหม่ในการสานต่อการทำงาน และเพื่อไม่ให้ประชาชนกังวลกับการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยขณะนี้ ประเทศไทยมีเงินสำรอง 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสองปีที่ผ่านมา เพิ่มจากเดิม 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และจัดเก็บภาษีเกินเป้า 2 แสนล้านบาท และมีเงินคงคลัง 3 แสนล้านบาท เทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีเพียง 5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นสถานะการเงินที่มั่นคงมาก ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลใหม่ จะเร่งกู้เงิน 8 แสนล้านบาท เพราะขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ที่มา: เรียบเรียงจากสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ [1]. [2]. [3]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ส่งมอบงานให้รัฐบาลใหม่ เผยตอนรับตำแหน่งเหมือนไฟไหม้บ้าน-วันนี้ดับไฟได้แล้ว

0
0

นายกรัฐมนตรีชี้แจงการบริหารประเทศในช่วง 2 ปีพร้อมเตรียมส่งมอบงานให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ ยันประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินและมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่รัฐบาลใหม่สามารถนำไปแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ เผยมีเงินคงคลัง 3 แสนล้าน มากกว่าตอนรับตำแหน่งที่มีเพียง  5 หมื่นล้าน แถมจัดเก็บรายได้เกินเป้า 2 แสนล้าน

เว็บไซต์ สำนักโฆษก สำนักนายกรัฐมนตรี รายงานว่า วันนี้ (4 ส.ค.) เวลา 20.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงที่บริหารประเทศ พร้อมกล่าวขอบคุณประชาชนและข้าราชการทุกคนที่ช่วยให้การบริหารประเทศในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสามารถฟันฝ่าวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งสรุปสาระสำคัญว่า

ขณะนี้ได้มีการเปิดสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว และจะมีการประชุมสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และมีการบริหารราชการแผ่นดินในนามของรัฐบาลใหม่

นายกรัฐมนตรีได้ กล่าวกับพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามอย่างเต็มความสามารถในการให้การเปลี่ยนผ่านทางการ เมืองให้เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนการรับรองผลการเลือกตั้ง โดยช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ได้มีการเตรียมการในการส่งมอบงานเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารราชการ แผ่นดินได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมการในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการ และมีการเตรียมงานไว้ชั้นหนึ่งแล้ว และจะให้รัฐบาลชุดใหม่ได้สามารถเข้ามาสานต่อ รวมถึงการแก้ปัญหาภัยพิบัติ อุทกภัยในหลายจังหวัด ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้มีการติดตามเฝ้าระวังในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีกล่าวมั่นใจว่า การส่งมอบการบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้ สถานะทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศเอื้อต่อการที่จะให้รัฐบาลใหม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะฐานะของประเทศมีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใหม่มีความยืดหยุ่นในการปรับนโยบายทางด้านการเงินการคลัง โดยเงินสำรองระหว่างประเทศขณะนี้มีสูงถึง 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากการรัฐบาลชุดก่อนที่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินถึง 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเงินสำรองอยู่ในลำดับที่ 13 ของโลก ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกและการท่องเที่ยวหรือการหารายได้เข้าประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง สำหรับฐานะการคลังในประเทศขณะนี้ มีเงินที่จัดเก็บรายได้เพิ่มเกินเป้าหมายงบประมาณถึงเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ฐานะการคลังนั้นมีความมั่นคง และจะทำให้การจัดงบประมาณสำหรับปีงบประมาณต่อ ๆ ไป ทำได้คล่องตัวยิ่งขึ้น นอกจากนั้นเงินคงคลัง ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท มากกว่าตอนเข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงหนี้สาธารณะของประเทศไทยว่า หากคิดเป็นสัดส่วนกับรายได้ประชาชาติแล้วได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 หรือต่ำกว่า ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบเคียงกับประเทศต่าง ๆ ในโลก ส่วนภาวะเศรษฐกิจทางด้านอื่น ๆ เช่น ภาวะการจ้างงานอยู่ในฐานะที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ อัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นประวัติกาล ในเรื่องของการมีเครื่องมือกลไกต่าง ๆ ที่จะรองรับกับความผันผวนในเรื่องของราคาน้ำมันกับต้นทุนต่าง ๆ นั้น ปัจจุบันฐานะของกองทุนน้ำมัน ถ้ามีการคงนโยบายในการที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จะทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันอย่างต่อเนื่อง และกองทุนน้ำมันนั้นจะอยู่ในภาวะซึ่งไม่ติดลบในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนข้างหน้า

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวด้วยว่า ตอนที่เข้ามารับตำแหน่งเหมือนไฟเข้ามาไหม้บ้าน ขณะที่วันนี้ได้ดับไฟเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนโยบายที่รัฐบาลได้ดำเนินการว่า หลายเรื่องมีความคืบหน้า อาทิ การจัดระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า นโยบายเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี การดูแลคนกลุ่มต่าง ๆ เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น แต่ยอมรับว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระหลายคณะกรรมการ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมไปถึงการมีกฎหมาย หรือมาตรการต่าง ๆ ซึ่งยังค้างอยู่ แต่เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าไปพิจารณามาตรการ กฎหมาย และข้อเสนอแนะเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การมีสังคมที่มีความเป็นธรรม และมีสวัสดิการสำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน

ด้านการต่างประเทศและความมั่นคง นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า ปัจจุบันฐานะของประเทศไทย หลังจากประสบกับปัญหาวิกฤติมากมาย สังคมโลกมีความมั่นใจในประเทศไทยมากขึ้น และจากการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง นำไปสู่การที่ประเทศไทยจะได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพในงานระดับโลก หรืองานระดับระหว่างประเทศ ทั้งเวทีเศรษฐกิจ การกีฬา โดยหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะได้สานต่อและทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการ เป็นเจ้าภาพดังกล่าว

ด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ขณะนี้เป็นไปด้วยความราบรื่นยกเว้นในกรณีที่มีข้อพิพาทกับทางกัมพูชา ส่วนปัญหาภายในประเทศที่กระทบต่อความมั่นคง เช่น ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหายาเสพติด รัฐบาลใหม่คงจะได้มีการสานต่อ และสามารถดำเนินทิศทางของนโยบายนำไปสู่ความสงบสุขต่อไป ตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีกระบวนการของการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์ความขัด แย้งในอดีต โดยมีคณะกรรมการอิสระ และหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะได้สานต่อในแนวทางนี้เพื่อนำไปสู่ความจริงและยก สถาบันต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่เหนือความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันหลักของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสถาบันอื่น ๆ ซึ่งมีภาระหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรต่าง ๆ ตามกระบวนการยุติธรรม ถ้าหากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การบริหารงานของรัฐบาลใหม่จะ สามารถนำไปสู่การยุติความขัดแย้งที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ

จาก นั้นนายกรัฐมนรีได้กล่าวขอบพระคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ข้าราชการทุกคนที่ช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นำพาประเทศชาติฟันฝ่าวิกฤติต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะมีบางปัญหาซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ หรือไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ทำไว้นั้นจะเป็นฐานในการที่จะให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อ เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนทุกคนต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีเรียใช้รถถังยึดพื้นที่ชุมนุมที่เมืองฮามา-ยูเอ็นเร่งหามาตรการจัดการ

0
0

เหตุการณ์ความวุ่นวายในซีเรียยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นสัปดาหฺ์ ล่าสุด 3 ส.ค. 2011 มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศว่า ทางการซีเรียได้นำรถถังเข้ายึดพื้นที่จตุรัสโอรอนเตสกลางเมืองฮามา ซึ่งเป็นจุดประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด

ผู้อาศัยในเมืองกล่าวว่าสื่อของรัฐในตอนนี้เน้นการนำเสนอเรื่องการดำเนินคดีของฮอสนี มูบารัค (อดีตผู้นำอิยิปต์ที่ถูกประชาชนประท้วงขับไล่) ขณะที่การใช้รถถังยิงโจมตีนั้นเกิดขึ้นที่ย่าน อัล-ฮาเดอร์ ซึ่งในปี 1982 ทางการของซีเรียก็เคยใช้ทหารเข้าปราบประชาชนในพื้นที่นี้จนล้มตายเป็นหลายพันคนมาแล้ว

เสียงระเบิดที่ได้ยินในช่วงเช้าของวันที่ 3 ส.ค. นั้นไม่แน่ชัดว่ามาจากอะไร เนื่องจากมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ในฮามา ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับผู้อยู่ในพื้นที่เพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ได้

รามี อับดุลราห์มาน ประธานหน่วยงานเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียจากประเทศอังกฤษบอกว่าผู้อยู่ในพื้นที่รายงานว่ามีการนำรถถังเป็นขบวน มุ่งตรงเข้าสู่ตัวเมืองในช่วงเช้าวันพุธ และจากนั้นไม่นานก็ได้ยินเสียงระเบิด

ทางการซีเรียได้ส่งทหารเข้าไปปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมระลอกล่าสุดตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบครั้งล่าสุดยังไม่อาจระบุได้แน่ชัด มีนักกิจกรรมในพื้นที่คาดการณ์ว่าอยู่ในราวๆ หลักร้อยราย โดยมีนักกิจกรรมรายหนึ่งกล่าวว่านับตั้งแต่ที่มีการประท้วงรัฐบาลอัสซาดมา มีประชาชนเสียชีวิตแล้วราว 1,700 ราย

การประณามจากนานาชาติ

การปราบปรามผู้ชุมนุมในซีเรียทำให้ต่างชาติรุมประณามและเรียกร้องให้มีการยกเลิกการปราบปราม โดยรักษาการนายกรัฐมนตรีของตุรกี อะริง บูเลนท์ กล่าวว่าการใช้กำลังของทางการซีเรียในฮามาเป็น 'เรื่องโหดร้าย' และรัฐบาลที่สั่งกระทำสิ่งที่ทารุณดังกล่าวไม่สมควรถูกเรียกว่า 'มิตรสหาย'

ฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เข้าพบกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชาวซีเรียเมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ขณะที่รัฐบาลโอบาม่าประกาศมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่กับซีเรีย ส่วนสภาสหรัฐฯ ได้หารือเรียกร้องให้ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลอัสซาด

ทางด้านอิตาลีได้เรียกตัวเอกอัครราชพูตประจำซีเรียกลับประเทศเพื่อเป็นการประท้วง "การปราบปรามประชาชนอย่างเหี้ยมโหด" ของรัฐบาลซีเรีย ขณะที่สหภาพยุโรปได้บีบรัดมาตรการคว่ำบาตรซีเรียมากยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามทางสำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่า การเรียกร้องของนานาชาตินั้นไม่เป็นผลในซีเรีย เนื่องจากประเทศเผด็จการซีเรียอาศัยเป็นพันธมิตรกับประเทศอิหร่านซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นหลัก

ยูเอ็นถกเครียด-ไร้ข้อตกลง

คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติได้ประชุมหารือวงปิดเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาในประเด็นจะจัดการกับปัญหาในซีเรียอย่างไร ซึ่งทางรัสเซียได้ให้ความเห็นว่าควรดำเนินการอย่างพิจารณาความสมดุล โดยชี้ว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายซีเรียเสียชีวิตไปรวมแล้ว 350 ราย ขณะที่ฑูตฝั่งประเทศตะวันตกให้ความเห็นว่าการใช้มาตรการเบากับอัสซาดไม่ส่งผลให้เกิดอะไร

โดยทูตรัสเซียกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าทางสมาชิกสภาความมั่นคงจะกลับไปหารือกับรัฐบาลของตนก่อน และจะกลับมาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 3 ส.ค.

ที่มา

Syrian tanks 'shell' restive city of Hama, Aljazeera, 03-08-2011
http://english.aljazeera.net/video/middleeast/2011/08/20118392942601931.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ประสงค์’ อยู่ไหน? คดียังไม่จบ รายงานตัวศาลด่วน!

0
0

ประสงค์ ปัญญาธรรม เป็นคนเร่ร่อน มีอาชีพเก็บของเก่าขายอยู่ย่านสามเหลี่ยมดินแดง เขาเป็น 1 ในจำเลย 5 คนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

ที่เหลืออีก 4 คน คือ คนขับแท็กซี่, เด็กวัด, คนใบ้, ช่างทาสี ทั้งหมดไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพิ่งรู้จักกันตอนอยู่โรงพัก และขึ้นศาล

[คำสุข คำโพธิ์ (46 ปี), ปรีชา งามตา (35 ปี), เฉลิมพงษ์ กลิ่นจำปา (43 ปี), สุรชัย บุญเสริมทรัพย์ (46 ปี)]

พวกเขาทั้ง 5 ถูกทยอยจับกุมในช่วงบ่ายวันที่ 21 พ.ค.53 บริเวณวัดตะพาน (วัดทัศนารุณสุนทริการาม) ดินแดง หลังจากกมีการสลายการชุมนุมและส่งผู้ชุมนุมกลับบ้านในวันที่ 20 พ.ค.53 วันรุ่งขึ้นทหารยังคงควบคุมและตรวจสอบพื้นที่ ทุกกุฎิ ทุกหลังคาเรือนในบริเวณดังกล่าวถูกรื้อค้น

สำหรับคนที่มีครอบครัวติดตามคดีเป็นเรื่องเป็นราวก็จะได้รับการประกันตัวภายหลังถูกคุมขังที่เรือนจำราว 1-2 เดือน ขณะที่คนอย่างประสงค์และเฉลิมพงษ์ (คนใบ้) ติดคุกอยู่นานเกือบปี ได้ประกันตัวราวเดือนมีนาคม 2554 โดยความช่วยเหลือของทนายความจากพรรคเพื่อไทย

รายการอาวุธแนบท้ายคำฟ้องของพวกเขายาวเหยียดเกือบ 30 รายการ ทั้งปืนยาว-ปืนสั้นหลายกระบอก ระเบิดปิงปอง ระเบิดเพลิง มีดดาบ บังตอ หนังสติ๊ก กระสุนน๊อต ใส่รวมอยู่ในเข่ง วางเรียงรายอยู่ตรงหน้าพวกเขาระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทหารทำการถ่ายรูป

ประสงค์ โดดเด่นเป็นพิเศษเพราะเขาสูญเสียดวงตา ต้องใส่ตาปลอมข้างหนึ่ง เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สมัยยังวัยรุ่น ระหว่างที่ติดคุก เรามีโอกาสเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับเขา 2-3 ครั้ง ได้ความว่า เขาออกจากบ้านมาตั้งแต่เด็ก เคยเป็นช่างปั้นอยู่ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตลดา (น่าจะเป็นโครงการศูนย์ศิลปาชีพ) เขาว่าได้รับการดูแลและทำงานอยู่ที่นั่นหลายปี แต่ตัวเขาค่อนข้างเกเรและไม่มีวินัย จึงถูกส่งให้ไปทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอนบ้านเกิด แต่เขาก็หนีออกจากที่นั่นอีก และตัดสินใจใช้ชีวิตไม่เป็นหลักแหล่งอยู่ในกรุงเทพฯ ย่านที่อยู่ประจำคือแถววัดตะพานที่เขาโดนจับ

“ตอนเมามันเคยเล่าให้ฟังว่า แม่ตายตอนคลอดมัน พ่อก็มาตรอมใจตายทีหลังอีก พวกญาติๆ ก็เลยว่ามันเป็นตัวซวย แถมโตมาก็ไม่ค่อยเต็มเต็ง มันเลยออกจากบ้าน..จริงๆ อายุสมองเขายังเด็กอยู่นะ เพียงแต่ขี้เมาเท่านั้นเอง” ‘นกแดง’ สาวเสื้อแดงที่คอยดูแลบรรดาคนติดคุกที่ไม่มีญาติเล่าให้ฟัง

ประสงค์เคยเล่าให้ฟังตอนอยู่ในเรือนจำว่า ถูกจับในวันที่ 21 พ.ค. ตอนนั้นกำลังเดินหาของกิน เพราะร้านรวงแถวนั้นปิดเงียบหมด จนเจอทหารและถูกจับกุมตัว แต่เพื่อนร่วมคดีออกความเห็นว่า สงสัยคงเมาแล้วเดินเพ่นพ่านเสียมากกว่า

คำสุข คำโพธิ์ คนขับแท็กซี่จำเลยที่ 3 ของคดีนี้เล่าว่า วันเกิดเหตุมีทหารหลายร้อยนายเข้าตรวจสอบพื้นที่ขณะที่เขานอนพักอยู่ในบ้านเช่า ส่วนรถแท็กซี่จอดไว้ริมกำแพงตามปกติ เมื่อทหารถามหาเจ้าของรถ เขารีบออกไปแสดงตัวพร้อมเปิดให้ตำรวจตรวจค้น ปรากฏว่าท้ายรถพบเหล็กแป๊บหนึ่งอัน

“เราก็มีเอาไว้ติดรถอยู่แล้ว ไว้ขันล้อ เปลี่ยนยาง หัวหน้าทหารเขาหยิบมาโยนลงกับพื้น แล้วบอกว่านี่คืออาวุธ จากนั้นเขาก็จับปิดตา มัดมือไขว้หลัง” คำสุขเล่า

เขาเล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่พาตัวเขาไปอีกที่หนึ่งโดยที่ยังปิดตาเขาไว้ คาดเดาว่าน่าจะเป็นซอยรางน้ำ จากนั้นก็มีของแข็งฟาดเข้ากลางหลังบ้าง หน้าท้องบ้าง ใบหน้าบ้าง และมาเป็นระยะๆ กว่าจะนำตัวไปให้ตำรวจในช่วงค่ำ

เขาไม่เห็นสิ่งใด นอกจากเสียง อักๆ โอ๊ยๆ ของคนที่อยู่ข้างๆ มันทำให้เขารู้ว่ามีคนที่โดนจับและอยู่ในสภาพเดียวกับเขาในบริเวณใกล้เคียงด้วยเช่นกัน

คนที่โดนหนักสุดเห็นจะเป็นเฉลิมพงษ์ ซึ่งใครๆ ต่างก็เรียกว่า ‘ไอ้ใบ้’ เพื่อนร่วมเหตุการณ์บอกว่าใบ้ถึงกับสลบ ต้องหามขึ้นโรงพักเพราะหมดสติ

‘ใบ้’ รูปร่างผอมเกร็ง เขามีชื่อเล่นอย่างเป็นทางการว่า ‘ผอม’ เป็นใบ้แต่กำเนิด เป็นลูกคนโตในจำนวนลูก 2 คน เขาไม่รู้หนังสือ และไม่รู้ภาษามือด้วยเพราะไม่ได้เล่าเรียนอะไรสักอย่าง ครอบครัวมีฐานะยากจนและอาศัยใช้ภาษากายตามธรรมชาติสื่อสารกับเขาแบบรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ส่วนใหญ่ใครถามอะไร ใบ้จะพยักหน้ารับร่ำไป

สำรวย กลิ่นจำปา แม่ของใบ้ทำงานรับจ้างล้างจานตามร้านอาหาร เธอเป็นคนพาใบ้มาขึ้นศาลตามนัดหมายโดยตลอด เธอเล่าว่า ใบ้เคยทำงานอยู่กับทีมอาสาสมัครพระรามเก้า จากนั้นก็มาช่วยงานที่วัดตะพาน คอยบริการญาติโยมที่มาวัด จัดโต๊ะ ล้างจานตามงานศพที่วัด เป็นคนไม่กินไม่เที่ยว มีเงินไปให้พ่อให้แม่อาทิตย์ละหลายร้อย หลังวันเกิดเหตุ ใบ้ไม่กลับบ้านเป็นอาทิตย์ แม่พยายามตามหาอยู่นาน

“โอ๊ย ตอนนั้นใจจะขาด เหมารถตามหาไปทั่วก็ไม่เจอ งานการไม่เป็นอันทำ จนสุดท้ายผ่านไปเดือนกว่าถึงเจอว่าติดคุกอยู่” แม่เล่าและว่าคนในวัดเล่าให้แม่ฟังว่า ใบ้กำลังล้างบาตรให้พระตอนทหารมาจับ เพราะว่าเขามีป้ายประจำตัว นปช. ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าได้มาอย่างไร

“พอรู้ข่าว พ่อเครียดมาก นอนไม่หลับ บ่นปวดหัว อาหารก็ไม่ยอมกิน เราบอกว่าไม่ต้องไปเครียดหรอก เดี๋ยวลูกก็ได้ออก ก็ไม่เชื่อ แกรักลูกคนนี้มากเพราะมันพิการ แกเลยตรอมใจ”

สุดท้ายพ่อของใบ้ ซึ่งเป็นอัมพาตมา 7-8 ปี ก็เสียชีวิตลงเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก่อนที่ใบ้จะออกมาจากคุก แม่ยังบ่นเสียใจจนทุกวันนี้ว่าลูกชายคนโปรดไม่ทันได้ออกมาเผาศพพ่อด้วยซ้ำ

เราพยายามสอบถามใบ้ด้วยท่าทางต่างๆ ว่าเขาโดนทำร้ายร่างกายตรงไหนบ้าง เขาพยักหน้าติดๆ กันหลายครั้ง และชี้ที่ปาก ซึ่งแม่อธิบายประกอบว่าฟันหลุดหายไปสองซี่ เขาชี้ที่หัวและที่หลัง พร้อมกับทำท่าประกอบคล้ายว่า มีบางอย่างพุ่งออกจากปากเขาเป็นจำนวนมากไปกองกับพื้น รวมทั้งทำท่าควักเงินออกจากกระเป๋าส่งมอบให้คนข้างหน้า แม่อธิบายว่า เงินของใบ้เกือบ 4 พันบาทถูกยึดไปด้วย

ส่วนปรีชา งามตา หรือ เป็ด เป็นเด็กวัดอยู่ในวัดตะพาน ถูกจับกุมก่อนใครในวันที่ 21 พ.ค. เขาบอกว่าทหาร 200-300 คนเข้าตรวจค้นในวัดและพบว่าภายในกุฏิของหลวงพี่ที่เขาอาศัยอยู่ด้วยนั้น มีเสื้อแดงของเขาแขวนอยู่

“พอเจอเสื้อแดงผม 2 ตัว เขาเตะเข้าคางเลย ถามว่าพวกมึงมีใครบ้าง พอบอกไม่รู้ก็เตะอีก ตอนนั้นหลวงพี่ออกไปข้างนอก พอเขาเตะจนพอใจก็เอาผมมารวมกลุ่มกับคนอื่นที่โดนจับอยู่ก่อนแล้วตรงทางเข้าวัด ตรงนั้นมีอาวุธวางอยู่เต็ม แล้วก็มีช่างภาพของทหารมาคอยถ่ายรูป”

“เขาปิดตาแล้วเอาตัวไปแถวซอยรางน้ำเหมือนกัน โดนสารพัด เตะจนกลิ้งไปกับถนน พอจะเอาส่งตำรวจตอนค่ำ เขาก็เอาน้ำมาลูบตามตัว” ปรีชาว่า 

ส่วนสุรชัย นั้นเป็นคนพื้นที่ บ้านอยู่ข้างวัด และช่วยงานเป็นช่างทาสีอยู่ในวัดตะพาน เขาเล่าว่า วันที่โดนจับ เป็นเวลาประมาณ 14.30 น. ทหารเข้าค้นภายในบ้าน แล้วพบมีดดาบ 1 อัน ซึ่งเป็นมีดส่วนตัวที่เขามีติดบ้านไว้ พร้อมกันนั้นก็เจอผ้าผูกหัวสีแดงชิ้นเล็กๆ อีก 1 ชิ้น ทหารจับเขามัดมือไขว้หลัง ปิดตา และนำมาถ่ายรูปร่วมกับอาวุธที่ทางเข้าวัดเช่นกัน จากนั้นก็คุมตัวไปไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง ปิดตา และถูกกระทำเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เขาได้ประกันตัวราวเดือนกันยายน 2553 เมื่อออกจากคุกก็ไปประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

3 สิงหาคม 2554 เวลาบ่ายโมงกว่า ทุกคนเดินหน้าตาอ่อนระโหยมาที่หน้าห้องพิจารณาคดี 913 รายงานผลว่า พวกเขาวนแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์หาตัวประสงค์นานกว่า 2 ชั่วโมง แต่ไม่มีวี่แวว

แม่ของใบ้ที่รออยู่หน้าห้องพิจารณาสีหน้าห่อเหี่ยว เพราะหมายความว่าวันนี้จะยังไม่มีการพิจารณาคดี ต้องเลื่อนไปอีกเนื่องจากจำเลยมาศาลไม่ครบทั้ง 5 คน และหมายความอีกว่า เธอจะสูญเสียค่าแรง 200 บาทไปฟรีๆ

ทนายความ ลูกความ ผู้ใกล้ชิดติดตามคดี ตั้งวงหารือกันหน้าตาเคร่งเครียด หาหนทางในการหาตัวประสงค์และกักตัวเขาไว้จนกว่าจะถึงการพิจารณาคดีนัดหน้า ทุกคนยืนยันว่าเมื่อวาน (2 ส.ค.) ที่มีการสืบพยานโจทก์พวกเขาเจอตัวประสงค์และนำมาศาล พร้อมกับแจ้งประสงค์ให้รับรู้แล้วว่าวันนี้จะมีการสืบพยานอีก เขารับปากมั่นเหมาะแต่ก็ไม่มา  ทำให้เกือบทั้งหมดแทบจะมีมติเอกฉันท์ว่าหากเจอตัวเมื่อไรจะนำส่งตำรวจเพื่อเอาเข้าคุกไว้ก่อนจนกว่าจะพิจารณาเสร็จ แต่สุดท้ายก็ตกลงว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะหากอัยการอุทธรณ์ประสงค์ก็จะติดคุกยาว

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมจบไปนานแล้ว ผู้คนในสังคมลืมเรื่องราวไปหมดแล้ว แผลฟกช้ำดำเขียวก็หายแล้ว ความยากลำบากในเรือนจำก็ผ่านพ้นไปแล้ว(?)  แต่คดีความในโรงในศาลของพวกเขายังไม่จบ

ประสงค์อยู่ไหน ... เพื่อนๆ ให้อภัยแล้ว มาศาลด่วน สืบพยานจำเลย 1 ก.ย.นี้ 9.00 น.
 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาสังคมไทยไม่ชอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

0
0

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ประชาสังคมไทยทวีความสำคัญขึ้นในฐานะแนวคิดและแนวปฏิบัติในการสร้างเครือข่ายทางสังคมเพื่อหาทางออกจาก “วิกฤติ” ที่เกิดจากระบอบการเมืองการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยและจากระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ผู้สนับสนุนประชาสังคมมองว่าแท้จริงแล้วระบอบเสรีประชาธิปไตยมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความชอบธรรมของระบบรัฐสภา พรรคการเมือง และนักการเมือง รวมทั้งยังรวมศูนย์อำนาจและไม่เปิดโอกาสให้กับการมีส่วนร่วมจากสมาชิก โดยเฉพาะจากสมาชิกเสียงส่วนน้อย ขณะเดียวกันก็เห็นว่าระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีซึ่งมักได้รับการส่งเสริมโดยรัฐทำให้ความยั่งยืนและความสามารถในการพึ่งตนเองของผู้คนและชุมชนถูกทำลาย ประชาสังคมไทยจึงมุ่งกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของทั้งสองส่วนให้เกิดความชอบธรรม รวมทั้งเน้นการลดอำนาจหน้าที่และบทบาทของรัฐต่อสังคมลงและเพิ่มบทบาทของสังคมแทนรัฐ

การดำเนินงานของฝ่ายประชาสังคมประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ประชาสังคมได้เข้ามาแทนที่การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับกลุ่มชาวบ้านอันถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของขบวนการภาคประชาชน กลุ่มชาวบ้านในที่นี้มักก่อตัวขึ้นจากปัญหาผลกระทบจากนโยบาย/โครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันองค์กรพัฒนาเอกชนก็ประสบกับข้อจำกัดด้านเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้นทุกขณะ ขณะเดียวกันประชาสังคมไทยก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการการต่อรองกับฝ่ายต่างๆ โดยได้มีบทบาทในการเข้าผลักดันนโยบายรัฐในหลายเรื่อง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 การผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับ ที่สำคัญได้ผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง “องค์กรอิสระ” ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐใหม่ๆ หลายองค์กร ที่สำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบัน/พัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ของสังคม โดยเชื่อกันว่าองค์กรอิสระเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากกว่าหน่วยงานในระบบราชการและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากกว่า ในขณะเดียวกันองค์กรอิสระเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญที่สนับสนุนการทำงานขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม นอกจากนั้นชนชั้นนำในประชาสังคมไทยยังเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ อาทิ การเป็น ส.ว. แต่งตั้งหรือเป็นรัฐมนตรี
 
อย่างไรก็ดี แม้จะดูเหมือนว่าประชาสังคมไทยจะมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐมาก แต่ที่จริงแล้วประชาสังคมไทยมีสถานะเป็นกลไกที่รองรับการปรับตัวของเพื่อธำรงอำนาจต่อไปของรัฐไทยท่ามกลางการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ด้วย  อนึ่ง “รัฐไทย” ในที่นี้ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศและส่วนราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตามโครงสร้างในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้วต้องทำงานสนองนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสถาบันและชนชั้นนำอื่นที่มีอำนาจมากทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเหนือภาคส่วนอื่นๆ ของรัฐและมีอิทธิพลอำนาจเหนือชีวิตทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองของประเทศและของผู้คนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางอำนาจและการเมืองแบบจารีตอย่างกษัตริย์และทหาร

ความท้าทายที่สถาบันทางการเมืองและอำนาจแบบจารีตต้องเผชิญมีทั้งความขัดแย้งทางอำนาจและผลประโยชน์ภายใน ความกังวลในการสืบทอดอำนาจของบางสถาบันหลัก กระแสโลกที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย การก้าวขึ้นมาสู่อำนาจของรัฐบาลประชานิยม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น รวมทั้งกระแสความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของคนธรรมดาสามัญต่อความไม่เท่าเทียมและช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม  และการเมือง

น่าสนใจว่า ประชาสังคมไทยก่อกำเนิดโดยและมักอยู่ภายใต้การนำของชนชั้นนำ ผู้ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้มีการศึกษาสูง เป็นนักวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้ชำนาญการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่พยายามผันตัวเองมาเป็นวิศวกรทางสังคม และผู้ซึ่งได้รับการนับถือยกย่องในสังคมกระแสหลักในฐานะผู้มี “คุณธรรม” สูงแล้วนั้น ชนชั้นนำประชาสังคมมักมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งในทางอุดมการณ์และในเชิงอุปถัมภ์กับบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งหรือไม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจสถาปนานั้นเสียเอง

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย ประชาสังคมไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าสนับสนุนระบอบการเมืองและสถาบันทางอำนาจแบบจารีต โดยพยายามส่งเสริม “ประชาธิปไตย” เฉพาะบางรูปแบบที่สอดคล้องกับแนวทางของสถาบันทางการเมืองแบบจารีต เนื่องจากประชาสังคมไทยไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงต่อระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) มองว่ามิใช่แนวทางประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งควรจะเป็นประชาธิปไตยในความหมายกว้างที่ไม่หมายเฉพาะถึงการเลือกตั้งหรือเสียงส่วนใหญ่ แต่หมายถึงการให้ภาคสังคมชี้นำและกำกับภาครัฐ
เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อรัฐบาลประชานิยมหรือรัฐบาลพรรคเดียวชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จุดเน้นของแนวคิดและหลักการที่ประชาสังคมไทยนำเสนอต่อสังคมได้เปลี่ยนจากประเด็นคุณธรรมจริยธรรมพลเมือง (civic virtue) และอุดมการณ์ส่วนรวม ดังที่เน้นมากในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540 และต้นทศวรรษที่ 2550 มาสู่ประเด็นความสำคัญของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือ (deliberative democracy) ผ่านกิจกรรม “สมัชชา” ที่แพร่หลายตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับตำบลหมู่บ้าน โดยมองว่าสมัชชาเหล่านี้ทำให้เกิดการรับ-ให้ข้อมูล การรวบรวมความเห็นที่หลากหลาย และการสร้างความเห็นพ้องต้องกัน ประชาสังคมเน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของพลเมืองในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงและไม่สามารถแข่งขันในระบบการเมืองแบบตัวแทนที่มีการใช้เงินซื้อเสียงมากได้ รวมทั้งเน้นย้ำถึงสิทธิของการไม่เชื่อฟังรัฐ(ที่มาจากการเลือกตั้ง) ของพลเมือง (civil disobedience)
น่าสนใจว่า ทั้งประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือนี้ถูกหยิบมาใช้โดยประชาสังคมไทยในฐานะคู่ตรงข้ามประชาธิปไตยแบบตัวแทน แทนที่จะมองว่าเป็นส่วนที่จะต้องช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนั้นก็ยังถูกตีความไปในทางที่สนับสนุนความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบจารีตที่วางอยู่บนแนวคิดลำดับชั้นของอำนาจทางศีลธรรม (hierarchical order of moral authority) ที่ให้คุณค่ากับศีลธรรมที่เหนือกว่าของชนชั้นนำในภาคประชาสังคม ผู้ซึ่งส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับบุคคล/สถาบันที่อยู่ในศูนย์กลางอำนาจแบบจารีตของรัฐไทยหรือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจสถาปนานั้นเสียเอง ยังมิพักต้องพูดถึงประเด็นที่ว่ายังมีผู้คนและกลุ่มองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่มิเคยได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้หรือปรึกษาหารือของประชาสังคมไทยเลย
 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ชนชั้นนำ นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนในเครือข่ายประชาสังคมวางตัวออกห่างจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่วางอยู่บนฐานของการเลือกตั้ง ที่สำคัญวางเฉยต่อการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนผู้เพียงแต่เรียกร้องการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่อย่างโหดเหี้ยมโดยรัฐเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมารวมทั้งยังรับรองความชอบธรรมการสังหารหมู่ในครั้งนี้ด้วยการเข้ารับบทบาทสำคัญในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้กลบเกลื่อนการฆ่าของตน แต่ยังเป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือของประชาสังคมไทยที่ถูกประชาสังคมไทยจัดวางให้อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งด้วย

หมายเหตุ: บทความตีพิมพ์ในคอลัมน์ “คิดอย่างคน” หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2554 
 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธเถรวาทแบบไทยรับใช้อะไร?

0
0

“ธรรมก็เช่นเดียวกับสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม
ไม่ใช่ทั้งดำรงอยู่หรือไม่ดำรงอยู่
ใครที่เข้าใจความหมายข้อนี้อย่างถ่องแท้
ย่อมประจักษ์ว่าทุกสรรพสัตว์คือพุทธ”

(จาก “ดวงตะวันในดวงใจฉัน” (the my heart) ของ ติช นัท ฮันห์
แปลโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู หน้า 85)

 

ผมคิดว่า ในขณะที่พุทธนิกายเซ็น และวัชรญาณรับใช้ความเป็นมนุษย์และมนุษยชาติ แต่พุทธเถรวาทแบบไทยกลับยังหลับหูหลับตารับใช้ระบบชนชั้น Egoism และทุนนิยมบริโภคผ่านการโปรโมทอุดมการณ์ธรรมราชา แฟชันปฏิบัติธรรมดูจิตดูใจไม่ใส่ใจสังคมและวัฒนธรรมการทำบุญทำทานเพื่อสรรพสมบัติ ไม่สนใจความเป็นธรรมทางสังคม

อุดมการณ์ธรรมราชา บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐในความหมายว่า รัฐใช้อุดมการณ์ทศพิธราชธรรมของพุทธเป็นอุดมการณ์ปกครองบ้านเมืองเพื่อความเป็นธรรมและผาสุก หรือรัฐใช้อุดุมการณ์นั้นเป็นเครื่องมือสร้างความศักดิ์สิทธิ์แก่อำนาจของตนเอง

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ดูเหมือนท่านพุทธทาสภิกขุ จะเชื่อว่า เคยมีระบบที่รัฐใช้อุดมการณ์ธรรมราชาเป็นอุดมการณ์ปกครองเพื่อความผาสุกอยู่จริง แต่ถูกยกเลิกไป ดังที่ท่านกล่าวว่า

เขาเคยมีอยู่ระบบหนึ่ง เขาเรียกว่าพระราชาที่ประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ไปศึกษาดูเถอะ เป็นระบบสังคมนิยมแบบพระเจ้า องค์คุณ 10 ประการ ที่ทำให้เป็นพระราชามีทศพิธราชธรรมนั้น เป็นหลักสังคมนิยมแบบพระเจ้าทั้งนั้น โผล่มาก็ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺวํ มทฺทวํ ตปํ อโกธํ อวิหึสํ ขนฺตึ จ อวโรธนํ นี้ มันเป็นธรรมะสูงสุด และแบบสังคมนิยม แต่ถ้าถึงคราวเผด็จการก็ใช้ธรรมะเผด็จการ …ถ้าเผด็จการมันก็เผด็จการโดยธรรมะ อย่างพระเจ้าเผด็จการ หรือพระพุทธเจ้าเผด็จการ นี่นักการเมืองสมัยนี้เขาก็บอกว่าหาไม่ได้ มันก็มีส่วนจริง เพราะว่าโลกได้ทิ้งระบบที่ดีที่สุดอย่างนี้ไปเสียแล้ว เนื่องมาจากทิ้งพระเจ้าก่อน แล้วมันก็ทิ้งระบบที่บุคคลมีคุณธรรม ตามแบบของพระเจ้าเสียหมด[1]

แต่ดูเหมือน ส.ศิวรักษ์ จะมองต่างออกไปว่า

แต่ตามความเป็นจริงทางการเมืองนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ผมว่าเราต้องยอมรับความจริงนะครับ พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่มาถือพุทธ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ยกที่ดินถวายเป็นวัดแห่งแรก คือ วัดเวฬุวัน แต่พอมาถือพุทธแล้วแหยเลยครับ ถูกลูกฆ่าตาย ถือพุทธแล้วแหยครับ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่แย่งราชสมบัติพ่อได้ เพราะไปเข้ากับเทวทัต ไม่ได้เข้าหาพระพุทธเจ้า พระเจ้าโกศลก็เหมือนกันนะครับ นับถือพระพุทธเจ้าในเรื่องส่วนตัว เช่น ท่านเสวยมากไป พระพุทธเจ้าบอกเสวยให้น้อยลง ก็ดี แต่ท่านก็เป็นคนบ้าสมภารไปตลอดชีวิต พระเจ้าอโศกเองมานับถือพุทธ ทำดีมากเลย แต่พระเจ้าอโศกเองก็ล้มเหลว ถูกแย่งราชสมบัติภายในรัชกาลพระองค์เอง อีกนัยหนึ่ง บทบาทคำสอนศาสนาพุทธในทางการเมืองมีความล้มเหลวมาโดยตลอด หรือผู้มีอำนาจเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองในทางการเมืองยิ่งกว่าในทางศาสนา[2]

แม้แต่เรื่องความสัมพันธ์เชิงรูปธรรมของรัฐกับพุทธศาสนา หรือรัฐกับสถาบันสงฆ์นั้น ก็ดูเหมือนนักวิชาการพระสงฆ์ กับนักวิชาการฆราวาสจะมองต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เช่น มุมองของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ขณะเป็นพระเทพเวที ที่ว่า

ในสังคมไทย บทบาทและหน้าที่ทางการเมืองของพระสงฆ์ได้ดำเนินมาในลักษณะที่เข้ารูปเป็นมาตรฐานพอสมควร พระสงฆ์สั่งสอนหลักธรรมในการปกครองและสอนนักปกครองให้มีธรรม แต่ไม่เข้าไปยุ่มย่ามก้าวก่ายในกิจการเมือง ทางฝ่ายบ้านเมืองก็ยกชูสถาบันสงฆ์ไว้ในฐานะที่ เหนือการเมือง โดยมีประเพณีทางการเมืองที่ปฏิบัติมาเกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ เช่นว่า ผู้ใดหนีเข้าไปในพัทธสีมาของวัดก็เป็นอันพ้นภัยการเมือง เหมือนลี้ภัยออกไปในต่างประเทศ ผู้บวชแล้วเป็นผู้พ้นภัย และเป็นผู้พ้นภัยจากปรปักษ์ทางการเมือง ดังกรณีของข้าราชบริพารของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระสงฆ์สมมติพระราชวังเป็นพัทธสีมาแล้วอุปสมบทให้ พาออกจากวังผ่านกองทัพของผู้ยึดอำนาจ ไปสู่วัดได้โดยปลอดภัย และกรณีของขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ในรัชการพระเจ้าเอกทัศน์ เป็นต้น[3]

ขณะที่ จิตร ภูมิศักดิ์ มองว่า พุทธศาสนาและพระสงฆ์ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐ เช่น

ศักดินา (กษัตริย์) แบ่งปันที่ดินให้แก่ทางศาสนา แบ่งปันข้าทาสให้แก่วัดวาอาราม ยกย่องพวกนักบวชให้เป็นขุนนางมีลำดับยศ มีเครื่องประดับยศ มีเบี้ยหวัดเงินปีและแม้เงินเดือน...ศาสนามีหน้าที่สั่งสอนให้ผู้คนเคารพยำเกรงกษัตริย์ พวกนักบวชทั้งหลายกลายเป็นครูอาจารย์ที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งแน่นอนแนวทางการจัดการศึกษาย่อมเป็นไปตามความปรารถนาของศักดินา [4]

จะเห็นว่า หากมองในเชิงข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์อุดมการณ์ธรรมราชาไม่ใช่ “สัจธรรมที่เป็นอกาลิโก” หากแต่เป็นขั้นตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมการเมืองในบางนครรัฐของอินเดียโบราณ บางนครรัฐที่นับถือพุทธในแถบเอเชียรวมทั้งสยาม และจะว่าไปแล้วอุดมการณ์ดังกล่าวก็ถูกใช้เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจทางการเมืองมากกว่าจะสร้างความเป็นธรรมและความผาสุกทางสังคมอย่างที่ท่านพุทธทาสมอง

ปัจจุบันนี้แม้สังคมไทยจะผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 และ “ประกาศคณะราษฎร” ก็ระบุชัดว่า “แผ่นดินนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่เราก็ยังอยู่ในยุคของการปลูกฝังและโปรโมทความเชื่อเรื่อง “บ้านของพ่อ” พร้อมกับเชิดชูอุดมการณ์ธรรมราชาและสำทับ “ความกตัญญู” ของราษฎรที่ต้องมีต่อผู้ปกครอง ผ่านสื่อของรัฐ ระบบการศึกษาแบบทางการ และหนังสือต่างๆ รวมทั้งผ่าน “การตลาดหนังสือธรรมะ” ด้วย

ซึ่งที่จริงแล้วตามหลักการของทศพิธราชธรรม (และจักรวรรดิวัตร) ในพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิมไม่มีการสำทับว่าผู้ใต้ปกครองต้องกตัญญูต่อผู้ปกครองแต่อย่างใด มีแต่เน้นว่าผู้ปกครองต้องมีปัญญา มีศีล มีคุณธรรม ความอ่อนน้อม ความซื่อตรง เที่ยงธรรม ดูแลความเป็นอยู่ของราษฎรให้ได้รับความเป็นธรรม ผาสุกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และผู้ปกครองควรรับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ตามความจำเป็นเท่านั้น

วันก่อนผมบังเอิญเปิดไปเจอรายการ “พื้นที่ชีวิต” ทาง Thai PBS ดำเนินรายการโดย “คุณนิ้วกลม” เขาพาเที่ยววัดแห่งหนึ่ง มีคนจำนวนมากไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ท่องบทสวดไป สลับกับการตะโกนคำว่า “รวยๆ!!” พร้อมกับเอามือตบกระเป๋าตังค์ไปด้วย

คำถามคือหากศาสนาหมายถึงศรัทธาหรือความเชื่อในคุณค่าบางอย่าง เช่น เชื่อในคุณค่าของความจริง ความดี ความงามสูงสุดคือพระเจ้า หรือเชื่อในความพ้นทุกข์ เชื่อในคุณค่าของอิสรภาพทางจิตวิญญาณ หรือเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ อิสรภาพและสันติภาพของมนุษยชาติ แต่ดูเหมือนพุทธศาสนาปัจจุบันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองความเชื่อในคุณค่าของเงิน ของวัตถุนิยม ของชนชั้น สังคมไทยมีวัฒนธรรมการทำความดีในนามของการทำบุญทำทานเพื่อให้ได้ “สรรพสมบัติ” เงินทองไหลมาเทมา เจริญรุ่งเรืองด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ “การตลาดหนังสือธรรมะ” ที่ตอบสนองความต้องการแบบนี้ รวมทั้งเรื่องอิทธิปาฎิหาริย์ต่างๆ นับวันจะขยายตัวมากขึ้น

เช่นเดียวกับ “การตลาดหนังสือธรรมะ” ประเภทดูจิตดูใจตนเอง ไม่สนใจปัญหาสังคม มองปัญหาสังคมเป็นเรื่องกิเลส เรื่องความวุ่นวายทางโลกที่ผู้มุ่งทางธรรมไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็กำลังขยายตัวมากขึ้นๆ เช่นกัน

เราแทบจะไม่ค่อยเห็นหนังสือธรรมะประเภทที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจความหมายและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นมนุษยชาติ นอกจากจะต้องอ่านหนังสือแบบเซ็น และวัชรญาณซึ่งก้าวหน้าอย่างกลมกลืนกับโลกสมัยใหม่ที่เน้นเรื่องการทำความเข้าใจความหมายของความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษยชาติที่สอดคล้องกับมิติสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความเสมอภาค และสันติภาพมากกว่า

เช่น Concept ที่ว่า “ทุกสรรพสัตว์คือพุทธะ” เป็น Concept ของ “ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์” ที่สวยงามมาก ขณะที่พุทธเถรวาทแบบไทยแทบจะไม่กล้าเอ่ยประโยคเช่นนี้เลย เพราะไปถือว่าพุทธะเป็นสัพพัญญูเหนือมนุษย์ทั้งปวงในโลกธาตุ

หากพุทธเถรวาทแบบไทยยังหลับหูหลับตาถวิลหาอดีต อยู่ในโลกแคบๆ ของตนเอง ไม่สนใจรับใช้ความเป็นมนุษย์และมนุษยชาติ พุทธศาสนาก็จะอยู่ในสภาพเป็นเครื่องมือของระบบชนชั้น ระบบการกดขี่เอาเปรียบ และเป็น “ยากล่อมประสาท” ภายใต้วัฒนธรรมการทำความดีเพื่อสรรพสมบัติและการตลาดธรรมะแบบ “สุขกันเถอะโยม” อย่างฉาบฉวยเช่นนี้ต่อไป และนั่นคือ “ความเสื่อม!”

 

....................................................

[1] พุทธทาสภิกขุ.ธรรมกับการเมือง ชุดธรรมโฆษ (น.194-195)
[2] ส.ศิวรักษ์.เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง:ความกล้ากับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอัน อยุติธรรม.http://www.prachatai.com/journal/2011/0132502.(1/14/211).
[3] พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).กรณีสันติอโศก.หน้า 28.
[4] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย.หน้า 66-67.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตำรวจเบิกความ คดีเผา CTW เผยเห็นภาพไม่ชัด แต่จำได้

0
0

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.54 เวลาประมาณ 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้องพิจารณาคดี 501 มีการสืบพยานในคดีเลขดำที่ 2478/2553 มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจกท์ ฟ้องนายสายชล แพบัวกับพวกรวม 2 คน ในความผิดวางเพลิงเผาทรัพย์ และฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  

โดยในวันนี้ (3 ส.ค.) มีการสืบพยานโจทก์คือ นายสถาพร เปาทอง อายุ 43 ปี ผู้จัดการฝ่ายประกันภัย สินไหมทดแทน บริษัท ไทยสิริ  เขาให้การว่า บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาฯ ได้ทำประกันกับบริษัทตนไว้ เป็นการประกันการก่อการร้ายซึ่งมีวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท เฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเมื่อประเมิณในขั้นต้นแล้ว ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเฉพาะโครงสร้างมีมูลค่าประมาณ 5,200 ล้านบาท โดยที่พยานไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้แต่อย่างใด

ในช่วงบ่าย มีการเบิกตัวพยานอีกคนคือ ร้อยตำรวจเอก พรเลิศ รัตนคาม นายตำรวจประจำสถานีตำรวจชนะสงคราม ร.ต.อ. พรเลิศให้การว่า ภายหลังจากเหตุการณ์ในวันที่19 พฤษภาคม2553 สองอาทิตย์ ตนได้รับหมายจับพร้อมมอบหมายให้ตรวจสอบบุคคลตามภาพ ตนดูภาพและจำได้ว่าเคยเห็นนายสายชลที่สนามหลวงมาก่อน จึงทำการเข้าจับกุม ภายหลังนายสายชลก็รับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามรูปจริง ทั้งนี้ตนยอมรับว่า ในหมายจับไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดใดๆเลยเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย มีเพียงรูปถ่ายใบเดียวที่ตนยอมรับว่า มองเห็นใบหน้าแค่ด้านเดียว และเห็นตา จมูก ปาก และหน้าผาก ของบุคคลในรูปไม่ชัดเจน ถ่ายที่ไหนเมื่อไรตนก็ไม่ทราบ ในการจับกุมจำเลยตนอาศัยดูรูปถ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ดูโดยภาพรวมแล้ว คล้ายกับจำเลย ซึ่งพอจับกุมแล้ว จำเลยก็รับสารภาพและยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และไม่ได้รับการประกันตัว โดยจะมีการนัดสืบพยานโจทย์อีกในวันที่23-24 สิงหาคม2554

เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 2 ส.ค.54 และในเว็บไซต์* ได้เปิดเผยการสัมภาษณ์นายสายชลด้วยว่า นายสายชลอ้างว่าตนถูกซ้อมทรมาณจากตำรวจเพื่อให้รับสารภาพว่าเป็นบุคคลตามภาพจริง

 

*( told The Nation yesterday afternoon that he had been forced to admit that he was the man in the photograph because "police threatened to lynch me and send me to the military" - a red-shirt guard - is illiterate. ) http://www.nationmultimedia.com/home/Confusing-testimony-from-security-guard-in-Central-30161805.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนโป่งอางลงชื่อค้าน-ระดมทุนต้านเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน

0
0

 

 

หลังจากที่ชาวบ้านบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทราบข่าวว่าทางกรมชลประทาน มีแผนจะเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเขื่อน ซึ่งจุดที่จะมีการดำเนินงานนั้นตั้งห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตร จึงทำให้ชาวบ้านบ้านโป่งอางรู้สึกตื่นตระหนกและได้ออกมาคัดค้านกันทั้งหมู่บ้าน

นางบัวเขียว ชุมภู ชาวบ้านบ้านโป่งอาง กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวก็รู้สึกไม่ค่อยดี ก็มีการพูดกันปากต่อปาก กระจายข่าวให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ว่าจะมีคนข้างนอกเข้ามาสร้างเขื่อนในบ้านเรา พี่น้องชาวบ้านที่ทราบข่าวก็เกิดความตกใจ  แต่อย่างไรก็ตามเราก็พยายามบอกให้กับคนอื่นว่าไม่ต้องตกใจ แต่เราต้องใช้สติในการต่อสู้ 

“ถึงยังไงเราก็ไม่ให้สร้าง เพราะว่าเราอยู่อาศัยกันตั้งแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ แต่คนข้างนอกเข้ามาก็จะมาเอาไปสร้างเป็นเขื่อน ทั้งๆที่บ้านเราเองไม่มีความเดือดร้อนอะไรกันแล้ว ฝายเราก็มี เราไม่เดือดร้อนอะไรซักอย่าง การเก็บผัก เก็บหน่อไม้ ก็เป็นรายได้ของชาวบ้าน ไม่ต้องเข้าเวียง เพื่อไปแย่งอาชีพของคนอื่นในเมือง เราอยู่แบบพอมีพอกิน และเรารู้การสร้างเขื่อนนั้นไม่ดี ทางหมู่บ้านของเราเองก็มีสื่อดูผ่านโทรทัศน์ มันจะทำให้พื้นที่ป่า พื้นที่ทำกินถูกน้ำท่วม และมีการอพยพไปอยู่ที่อื่นด้วย” 

ล่าสุด ชาวบ้านโป่งอาง ได้มีการลงชื่อกันเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมกับมีการเรี่ยไรเงินเพื่อระดมทุนในการเคลื่อนไหวและเป็นใช้จ่ายในการไปยื่นหนังสือคัดค้านในกรุงเทพฯ ต่อไป

นางสาวธิวาภรณ์ พะคะ กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านได้ลงรายชื่อคัดค้านไม่เอาเขื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เรี่ยไรรวบรวมเงินกัน แต่ได้แค่ 3,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ทำงานหาเช้ากินค่ำ มีภาระค่าใช้จ่ายเยอะอยู่ ไหนต้องส่งลูกเรียน และต้่องเลี้ยงปากท้องตัวเองอีก ถ้าเป็นไปได้ ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อด้วยว่า ใครที่มีภาระใจอยากจะบริจาคเงิน​ช่วยเหลือพี่น้องชาวบ้านโป่งอาง​ในการคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้น​น้ำแม่ปิงตอนบน โดยสามารถบริจาคมาได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงดาว ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี นางหทัยรัตน์ ศรีใจ, นางขวัญดาว ปุกคำ และนางสาวจันทร์เพ็ญ กุ่ยโพ หมายเลขบัญชี 516-0-30577-7

“อยากขอวิงวอนพี่น้องคนไทยร่วมเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในกา​รดำเนินการปกป้องฐานทรัพยากรอันมีค่าของประเทศนี้ไว้และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเิดินทาง​ไปยื่นหนังสือให้องค์กรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในที่ต่าง ๆ ทั้งในตัวจังหวัดและกรุงเทพฯ อยากจะบอกว่าสิ่งเล็ก ๆ ที่ท่านให้กับพี่น้องบ้านโป่งอา​งในครั้งนี้ ท่านจะได้รับกลับคืนยิ่ง​กว่าที่ท่านให้เป็นร้อยเท่า พันเท่า เพราะนี่คือผืนป่าต้นน้ำปิง ถ้าชาวบ้านรวบรวมเงินพอกับค่าใช้จ่ายได้แล้ว เราคงจะเดินทางไปยื่นหนังสือกันต่อไป” นางสาวธิวาภรณ์ กล่าวในตอนท้าย

 

 
ข้อมูลการศึกษาเบื้องต้นโดยสำนักชลประทานที่ 1 ร่วมกับสำนักบริหารโครงการ

1.ที่ตั้งโครงการฯตั้งอยู่หมู่ที่5 ตำบลเมืองนะอำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ 

2.ขนาด /ความจุ เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ550 ล้านลูกบาศก์เมตรพื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุดประมาณ1,500 ไร่ตัวเขื่อนสูงประมาณ62.0 เมตรยาวประมาณ500เมตร

3.พื้นที่อ่างเก็บน้ำ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว) เขตป่าอนุรักษ์ที่เรียกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น1 A (สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญ)

4.ระยะทางการสร้างเขื่อนห่างจากหมู่บ้านโป่งอาง เพียง1 กิโลเมตร

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พรรคการเมืองที่ได้อำนาจจากประชาชน ต้องรอบคอบรัดกุม สุขุม และมีเหตุผล

0
0

กระบวนการกำเนิดพรรคการเมือง หากย้อนมองไปในอดีตตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา มีแต่พรรคการเมืองที่ได้อำนาจมาจากอำนาจพิเศษ ทั้งถูกกำกับและแทรกแซง ภายใต้คำแอบอ้าง “ประชาธิปไตย” ทั้งสิ้น

แม้รัฐบาลหลังเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของนิสิตนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ที่ได้รัฐบาลพระราชทานนายสัญญา ธรรมศักดิ์ กระทั่งรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดต่อมาคือประชาธิปัตย์ และรัฐบาลหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  ก็เป็นรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลจากอำนาจพิเศษ จนถึงรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยิ่งเข้าสู่ยุคแห่งการวางรากฐานให้กับความมั่นคงของพรรคการเมืองระบบขุนศึกขุนนางอำมาตย์ กระทั่งเมื่อ พลเอกเปรม ต้องลดละเลิกไปเพราะกระแสแห่งพลังประชาชนเรียกร้องต้องการให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งสูงยิ่ง อำมาตย์ที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการเลือกตั้งและดูถูกว่าประชาชนโง่ จำต้องถอยออกไปวางแผนอยู่วงนอก ท่ามกลางการต่อสู้ของประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยแท้จริงสืบเนื่องมาตลอด
 
ประชาชนเรียนรู้และเติบโตขึ้นทุกวัน ต่อสู้ผลักดันจนได้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งสาระสำคัญกำหนดให้พรรคการเมืองหลุดพ้นจากกรอบการกำกับดูแลของอำมาตย์มากที่สุดตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมา เป็นต้นว่า สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็ดี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง อันทำให้พรรคการเมืองที่มาจากอำนาจประชาชนแข็งแกร่งขึ้น 
 
ต้องพูดว่าพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้อำนาจจากประชาชนอย่างแท้จริง คือ “พรรคไทยรักไทย” เพราะสายธารการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อเนื่องมาตลอด เรียกร้องการตรวจสอบระบบการเมืองที่เข้มข้นขึ้น จนทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นครั้งแรกที่อำนาจจากประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลได้ครบสี่ปี และพรรคไทยรักไทยก็นำนโยบายที่ได้ประกาศไว้มาทำให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ ประชาชนได้ประโยชน์ ประชาชนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมว่า “ประชาธิปไตยกินได้” ตรงนี้เท่ากับไปถ่างช่องว่างอำนาจพิเศษให้ห่างไกลออกไปยิ่งขึ้น ซึ่งอำนาจพิเศษเริ่มดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทาง ปรับเครือข่าย สร้างกำลัง ปลุกระดมโจมตีตามวิธีการที่ถนัด
 
จากผลงานชัดเจนในสี่ปีที่พรรคไทยรักไทยบริหารชาติบ้านเมือง ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอย่างท่วมท้น เลือกกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย กลายเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมากพรรคเดียวจนทำให้อำนาจพิเศษลุกขึ้นมาต่อต้านโดยวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” และอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ ที่สุดก็รัฐประหารด้วยกำลังอาวุธโค่นรัฐบาลที่มาจากอำนาจประชาชนและรัฐธรรมนูญ 2540 ลงไป วางโครงสร้างใหม่ สร้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมา  จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนต่อสู้กับอำมาตยาธิปไตยมาจะห้าปีเต็มในเดือนกันยายน ปี 2554 นี้ สูญเสียเลือดเนื้อ ชีวิต ทรัพย์สิน และทุกสิ่งทุกอย่างมากมายมหาศาล จนที่สุดประชาชนก็สอนบทเรียนขุนศึกขุนนางอำมาตย์อีกครั้ง ด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยถล่มทลายเกือบสิบหกล้านคน ได้ ส.ส.เกินกว่าครึ่ง ข้อสรุปก็คือ
 
ต้องทบทวนว่าอำนาจที่พรรคเพื่อไทยได้มานั้น 
มองย้อนไปตั้งแต่ยังเป็นพรรคไทยรักไทย
นับว่า ได้มาจาก ประชาชน อย่างแท้จริง
คือมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย 
ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้มาจากอำนาจพิเศษ 
หลังสุดนี่ต้องใช้คำว่า “ปาดเลือดเนื้อเหงื่อนอง” ของผองพี่น้องเสื้อแดง ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล เ
พราะฉะนั้นจะทำอะไรควรไตร่ตรองให้ดี
ไม่ใช่วูบวาบหวั่นไหวไปกับความคิดที่จะปรองดองอย่างถลำตัวถลำใจ
 
การคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งบริหารต้องรอบคอบ รัดกุม สุขุม และมีเหตุผล ถึงที่สุดแล้วควรเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ใส่ใจแต่ความรู้สึกของอำนาจพิเศษ อย่าลืมว่า พรรคการเมืองพรรคนี้เป็นพรรคการเมืองที่ได้อำนาจจากประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนกำลังจับตามองพรรคอยู่ หากพรรคทำเพื่อประชาชน มวลมหาประชาชนก็จะยืนเคียงข้าง เป็นฐานกำลังสำคัญให้กับพรรค
 
เราหวังว่า ในสถานการณ์ที่มีรัฐบาลใหม่ พวกท่านทั้งหลายจะร่วมกับประชาชนเดินหน้าต่อไป ต่อยอดดอกใบประชาธิปไตยให้เต็มต้น เคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 เครื่องไม้เครื่องมือและกลไกของระบอบอำมาตย์ อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย ภายในเวลาไม่นานนัก ด้วยการเป็นเจ้าภาพเสนอทำประชามติให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานจากเวทีไทยศึกษา: ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวผ่านขบวนการแรงงาน-เครือข่ายการจัดการทรัพยากร-เกษตรกรรม

0
0

หมายเหตุ
1. ชื่อรายงานเดิม: ไทยศึกษา: ภูมิทัศน์ของขบวนภาคประชาสังคม-ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมไทยผ่าน ขบวนการแรงงาน เครือข่ายการจัดการทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืน
2. จากเวที Civil Society Envisioned เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 จัดโดย Thai Social Movement Watch (TSMW) เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน The 11th International Conference on Thai Studies: Visions of the Future ระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ
3. นำเสนอโดย จิตรา คชเดช กลุ่ม Try Arm และ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี และเอกชัย อิสระทะ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ผู้ให้ความเห็นต่อการนำเสนอโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์



แฟ้มภาพ: ประชาไท


จิตรา คชเดช: ขบวนการแรงงานกับประชาธิปไตย 20 ปีกับการเปลี่ยนแปลง

“ความเข้มแข็งและประชาธิปไตยของขบวนการแรงงานไทยถูกทำลายบ่อนเซาะอย่างเนียน-เนียน หลังยุครัฐบาล รสช. ขบวนการแรงงานรัฐวิสาหกิจถูกแยกขาดออกจากแรงงานเอกชน มีระบบไตรภาคีที่กลืนกลายสหภาพแรงงานให้เป็นอำนาจหลอกล่อที่จำกัดสิทธิและทำลายความเข้มแข็งในขบวนการต่อสู้ต่อรองของคนงาน”

ยุคแรกของการรวมตัวและขับเคลื่อนของขบวนการแรงงานไทยสมัยที่ยังไม่มีกระทรวงแรงงาน ขบวนการแรงงานถูกกดดันคุกคามจากฝ่ายความมั่นคงในลักษณะที่มีการทำลายแบบแตกหักอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังยุค รสช. ปี 2534 มีการตั้งกระทรวงแรงงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลคนงานแทนกระทรวงมหาดไทย แต่กระทรวงแรงงานกลับเข้าข้างนายจ้าง และเข้าแทรกแซงกระบวนการทำงานและทำลายความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานไทย โดยใช้กฎหมายที่บัญญัติในสมัย รสช. กฎหมายดังกล่าวระบุว่าที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ ผ่านกรอบการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน ภายใต้กรอบคิดว่าที่ปรึกษาสหภาพแรงงานต้องมีความเป็นกลาง เห็นใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ส่งผลให้นายจ้างเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยที่สหภาพไม่ได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของลูกจ้าง นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจแยกออกจากพนักงานบริษัทเอกชน เป็นการทำลายการวมตัวกันเพื่อร่วมต่อสู้และเกื้อหนุนเป็นขบวนการเหมือนที่ผ่านมา

ระบบไตรภาคี กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่สร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงานไทย เพราะคณะกรรมการไตรภาคีที่มาจากหลายแย่งชิงผลประโยชน์กันเองโดยไม่สนใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนงาน ไตรภาคีมีที่มาจากสหภาพแรงงานแต่ละแห่ง 1 สหภาพมี 1 เสียง โดยไม่สนใจว่าสหภาพนั้นมีจำนวนสมาชิกมากน้อยแค่ไหน นายจ้างจะให้ความเกรงใจประธานสหภาพแรงงานที่เข้าเป็นคณะกรรมการในระบบไตรภาคีซึ่งมีกว่า 20 แห่ง พวกเขามีอภิสิทธิ์ให้หยุดงาน มีเบี้ยเลี้ยงและมีอำนาจมากจนเสพติดอำนาจและทำทุกวิถีทางที่จะรักษาอำนาจไว้ แม้ว่าจะขาดคุณสมบัติบางอย่างแล้ว เช่น ไม่ได้อยู่ในโรงงานหรือเกษียนแล้ว โดยที่กระทรวงแรงงานก็ไม่ได้ตรวจสอบคุณสมบัติ

“แม้สหภาพนั้นจะมีสมาชิก 3,000-4,000 คน หรือสมาชิก 10 คน ก็ 1 เสียงเท่ากัน …ที่มาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะทำให้คนที่มุ่งจะเข้าระบบไตรภาคีจะพยายามไปตั้งสหภาพ มีสมาชิกสหภาพละ 10- 20 คน โดยไม่จำเป็นต้องมีสหภาพแรงงานขนาดใหญ่เพื่อให้ต่อรองกับนายจ้างได้”

ระบบไตรภาคีทำลายความเข้มแข้งและประชาธิปไตยของขบวนการแรรงงานไทย และไร้อำนาจในการคุ้มครองสวัสดิภาพของคนงานอย่างแท้จริง เพราะเมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนงานกับนายจ้าง คณะกรรมการระบบไตรภาคีส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับกรอบของรัฐ และแม้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) จะมีมติให้นายจ้างรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างหรือถูกไล่ออกให้กลับเข้ามาทำงาน แต่กฎหมายก็เขียนชัดเจนว่าอำนาจชี้ขาดสุดท้ายอยู่ที่ศาล นายจ้างก็เอาคำสั่ง ครส.ไปฟ้องศาลว่าคำสั่งของ ครส.ไม่ชอบ

“การทำลายความเข้มแข็งของสหภาพโดยการเลิกจ้างแกนนำ ซื้อตัวโดยการให้ตำแหน่ง การสร้างความเชื่อว่าถ้าให้สวัสดิการค่าจ้างแรงงานสูงจะทำให้คนงานตกงานและบริษัทจะย้ายฐานการผลิต...จนทำให้ขบวนการแรงงานแตกเป็นหลายฝ่าย”

จิตรามีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวว่าต้องแก้ระบบไตรภาคี เพื่อให้แต่ละระบบสหภาพมีสมาชิกเยอะๆ และทำให้สหภาพมีอำนาจต่อรอง รวมถึงเสนอให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตั้งในเขตโรงงาน และมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง

“การเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ทำงานเป็นทางออกหนึ่ง ที่สำคัญคนงานต้องมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองและเป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เพราะคนทั้งประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นคนงานกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคอื่นๆ การมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองก็ทำให้มีนโยบายที่ตอบสนองผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง อาจใช้โครงสร้างแบบสหภาพแรงงาน โดยให้สมาชิกจ่ายเงินค่าบำรุง”
 

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: “ป่าชุมชนถึงโฉนดชุมชน คำถามอีกมากมายที่รอการตอบ”
เรื่องโอละพ่อของขบวนการเคลื่อนไหวป่าชุมชน ที่ขบวนการเอ็นจีโอ นักวิชาการ และเครือข่ายทุ่มพลกำลังขับ คือการผลักดันข้อเสนอทางนโยบายร่วมกับการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ละเลยการวิเคราะห์ปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาความขัดแย้ง จนกระทั่ง พ.ร.บ.ป่าชุมชนถูกแปลงสาระสำคัญไป

เป้าหมายของขบวนการเอ็นจีโอในการทำงานเคลื่อนไหวที่เรียกว่า People Movement คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สำหรับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ คัมภีร์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่พึงปรารถนาคือการแก้ไขความขัดแย้งเรื่องที่ดินป่าไม้ให้เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการทรัพยากร มีการกระจายอำนาจ และรับรองสิทธิชุมชน

การร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อปี 2532 ถือเป็นยุคแรกๆ ที่นำข้อเสนอเชิงนโยบายผนวกกับการเคลื่อนไหวมวลชน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมาย แม้ว่าแกนกลางของความขัดแย้งคือการที่ชุมชนอาศัยอยู่ที่ดินของรัฐที่ประกาศเป็นเขตป่าไม้ประเภทต่างๆ แต่เครือข่ายเอ็นจีโอและแกนนำเลือกใช้ประเด็นป่าชุมชนขับเคลื่อนก่อน เพราะประเด็นเป็นบวก น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า มีการใช้ยุทธวิธีอย่างครบสูตร ทั้งการศึกษาวิจัย การล่ารายชื่อ การล็อบบี้ เดินขบวน ธรรมญาติตรา มีการเจรจาในหลายๆ ระดับ จนกระทั่ง พ.ร.บ.ป่าชุมชนผ่านได้ 3 วาระ ในสมัย สนช. แต่สาระที่ผิดเพี้ยนไปมากมาย จนเครือข่ายไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญขอไม่ใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนตัวนี้

กิ่งกรยอมรับว่า คุณูปการของการทำงานที่ผ่านมาทำได้เพียงระงับความรุนแรงของสถานการณ์ไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“20 ปีแห่งการเคลื่อนไหวเราไม่เห็นภูเขาเขยื้อนเลย สักเซ็นติเมตรเดียว สงสัยจะทำไม่ครบ 3 เหลี่ยม เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายและโครงสร้างน้อยมากหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย ส่วนในระดับพื้นที่ก็ทรงตัว กล่าวได้ว่าการใช้พละกำลังมหาศาลใน 20 ปี ที่ผ่านมาทำได้แค่ให้ชุมชนไม่ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน หรือดำรงอยู่ได้พอสมควร แบบไม่แน่ใจว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่าเพราะมีการอพยพมาหางานทำข้างนอกมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต”

กิ่งกรได้ชี้ให้เห็นอีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวด้านป่าไม้ที่ดินที่ชูเพียงประเด็นสิทธิชุมชน หรือการจัดการป่าแบบส่วนรวม ได้ละเลยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการใช้ที่ดินภายในชุมชนทั้งในระดับระบบส่วนรวมและระบบปัจเจก ทำให้ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าชาวบ้านใช้ที่ดินอย่างไร จึงตั้งคำถามว่าเป็นการเสนอวาทกรรมป่าชุมชนหรือสิทธิชุมชนแบบลอยๆ เกินไปหรือไม่? มันขาดพลวัตหรือเปล่า? หลังจากปี 2544 ภายใต้รัฐบาลทักษิณและมีการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นทำให้ชาวบ้านปรับตัวและจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองเพื่อให้ตนเองอยู่ได้นั้น เครือข่ายฯ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ ถึงความเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรียกว่าภูมิทัศน์การเมืองในชนบทมากน้อยแค่ไหน?

กิ่งกรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การผลักดันนโยบายเรื่องโฉนดชุมชนเป็นเรื่องที่ทะเยอทะยานมากกว่าเดิม ทุกคนฝันอยากปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศ มีการกระจายการถือครองที่ดิน มีอัตราภาษีก้าวหน้า การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นภูเขาใหญ่กว่าเดิม ในระดับพื้นที่มีปฏิบัติการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (โดยชุมชน) อย่างคึกคัก มีการอ้างสิทธิที่ดิน (land reclaim) ยึดที่ดิน (land occupation) จัดสรรที่ดินโดยชุมชน จัดทำโฉนดชุมชน กองทุนที่ดิน ไปถึงการพัฒนาระบบการผลิตยั่งยืน

แต่คำถามที่ยังไม่มีการถกเถียงในขบวนการคือ คำว่า “โฉนดชุมชน” เพียงพอหรือไม่ที่จะตอบโจทย์การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนแม้กระทั่งในระดับชุมชน สิทธิส่วนรวมกับสิทธิปัจเจกในที่ดินหรือการถือครองที่ดินอยู่ร่วมกันอย่างไร? ทับซ้อนกันอย่างไร? ในกระบวนการขับเคลื่อนมีการชุมนุม เปิดโต๊ะเจรจา สร้างข้อตกลง จัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ ฯลฯ การกดดันทางการเมืองเป็นเครื่องมือหลักที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้มีการเปิดเจรจา แต่เมื่อทำมากครั้งเข้า ทำบ่อยจนเป็นประจำ จะกลายเป็น exhausting people movement หรือไม่?

“ชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านมีสีสันร้อนแรงขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร และการขยายตัวของมวลชนเสื้อแดงอย่างมหาศาล หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในหลายพื้นที่ชัดเจนว่าพี่น้องทั้งในเครือข่ายและนอกเครือข่ายพากันกาเบอร์ 1 คำถามคือขบวนการปฏิรูปที่ดินจะเชื่อมโยงตนเองกับมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้หรือไม่? อย่างไร? สองอาทิตย์ก่อนในเวทีของเครือข่ายบอกว่าเราจะต้องสร้างความเข้มแข็งของ “การเมืองภาคพลเมือง” ดิฉันถามว่ามันต่างกับ “การเมืองภาคประชาชน” ตรงไหน? แล้ว “การเมืองภาคพลเมือง” จะจัดความสำคัญกับการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างไร? และถ้าขบวนการภาคประชาชนภายใต้เครือข่าย อย่างเช่น เครือข่ายทรัพยากร เครือข่ายที่ดิน ฯลฯ จะดำรงตนเป็นขบวนการแบบ non-Thaksin ต่อไป แล้วจะทำงานต่อไปอย่างไร ?”


เอกชัย อิสระทะ: 2 แนวทางการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนรากหญ้าในทศวรรษหน้า

สองแนวทางหลักการในเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนรากหญ้า จากมุมมองของเอ็นจีโอภาคใต้ที่ประกาศตัวว่าเป็นพันธมิตรรุ่นแรก และหันหลังให้กับขบวนการเสื้อเหลืองไปเรียบร้อยแล้ว เขายืนยันว่าไม่เอาทั้งทักษิณและยังคงรบกับประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ยุคนายหัวชวน แต่ก็ยอมรับระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งยังสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชน

เอกชัย เล่าว่าตนเองเรียนจบรัฐศาสตร์แต่มาทำงานกับเกษตรกรเพราะคิดว่าเกษตรกรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงแรกที่ทำงานในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกปี 2532 ซึ่งจัดว่าเป็นงานเย็น เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานของเครือข่ายทรัพยากรที่ทำงานใกล้ชิดกัน จนกระทั่งปี 2540 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน และในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เอกชัยได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเรียกตนเองว่าเป็นพันธมิตรรุ่นแรก แต่มาจนถึงวันนี้ตนเองไม่ใช่พันธมิตรแล้ว

“ขบวนการประชาชนรากหญ้า เป็นกลุ่มประชาชนที่เกิดปัญหา และเคลื่อนไหวต่อสู้กับกลุ่มทุนหรืออำนาจรัฐ จริงๆ แล้วประชาชนรากหญ้าอาจจะมีเยอะแยะ มากมายหลายกลุ่มแต่ผมขอนิยามเฉพาะคำจำกัดความนี้ ในส่วนที่เรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ผมหมายถึงการเมืองที่กลุ่มประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจรัฐ หรือการตอบโต้กับรัฐอย่างตรงไปตรงมาไม่ผ่านกลไกตัวแทน

เอกชัยเห็นว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวแนวแรกที่ใช้วิธีการชุมนุม กดดัน ชุมนุม เป็นยุทธวิธีในยุคหนึ่งซึ่งยังใช้ได้ และยังมีความจำเป็น แต่ก็มีข้อจำกัด สิบกว่าปีที่ผ่านมาเราอ่อนล้าและอาจทำให้เพียงระงับความรุนแรงในพื้นที่ ขณะที่ยุทธวิธีอีกแบบหนึ่งที่ใช้กันมากขึ้นคือการอาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญและกลไกการสื่อสารสังคม เช่น ใช้ช่องทางกรรมการสิทธิฯ สภาองค์กรชุมชน หรือกลไกรัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ใช้ผลักดันได้และใช้ทุนต่ำกว่า อาศัยมวลชนน้อยกว่า แต่การชุมนุมเดินขบวนก็ยังจำเป็นต้องใช้

“กรณีเขาคูหาที่รัฐภูมิ เราใช้เงื่อนไขของสภาองค์กรชุมชนทั้งที่สภาองค์กรชุมชนไม่เข้มแข็ง แต่ก็มีบทบาทในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่อยู่ข้างผู้คัดค้านการทำเหมือง แต่อยู่ข้างโรงโม่ เราจึงขอใช้เงื่อนไขนี้เปิดเวที เชิญบริษัท และเชิญพวกเรามาให้ข้อมูลกัน เราใช้ทุกเงื่อนไขของกลไกรัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่ที่ออกมา กองทุนยุติธรรม รวมถึงกลไกข้าราชการปกติ กรรมการแบบเดิมก็พยายามใช้แต่ไม่ยึดติดมากเพราะรู้ว่าขยับไม่ได้มาก แต่ว่าต้องใช้และสื่อสารกับสังคม”

เอกชัยเชื่อว่าการใช้ช่องทางกลไกรัฐธรรมนูญเท่าที่มี บวกกับการสื่อสารสังคม น่าจะเป็นแนวทางหลักในอีกสิบปีข้างหน้า ควบคู่ไปกับการทำงานงานพื้นฐาน งานวิจัย งานข้อมูล งานต่อรอง งานล็อบบี้ ส่วนการออกมาชุมนุมก็คงจะเปลี่ยนไป และรัฐไทยก็น่าจะปรับเปลี่ยนและเรียนรู้การทำงานกับผู้ด้อยโอกาสหรือกลุ่มปัญหา

“การสู้แบบนี้มันใช้เวลายาว ยังได้อะไรไม่มากแต่อย่างน้อยก็ยันและทำให้เห็นให้เขาคิดว่าคนตัวเล็กตัวน้อยมีอำนาจ และต่อสู้ได้จริง ทั้งๆ ที่ ทุนและขบวนการของทุนใหญ่กว่าเราเยอะแต่เราก็สู้ได้”

เอกชัย กล่าวว่าตนเองสนใจเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนมาโดยตลอด และเคยเสนอตั้งพรรคคนจนในขบวนการสมัชชาคนจน พรรคเกษตรทางเลือก และเคยเห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้เพื่อนร่วมงานในแวดวงเอ็นจีโอใต้จะไม่มีปฏิกิริยาตอบรับต่อแนวทางการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนรากหญ้าขึ้นมาใหม่ แต่เอกชัยก็ยังยืนยันว่ายังจำเป็นต้องมีพรรค และต้องยอมรับการเลือกตั้งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าจะรู้สึกเหมือนว่าไม่มีเบอร์ที่อยากจะกาจริงๆ เอ็นจีโอในภาคใต้เท่าที่สัมพันธ์ด้วยตอนนี้ไม่มีใครเป็นเสื้อเหลืองแล้วและก็รบกับนายหัวชวนมาตลอด แต่ก็ยืนยันว่าไม่เอาทักษิณ เพราะเอาเงินและนโยบายประชานิยมลงไปในพื้นที่ซึ่งไม่ทำให้ขบวนการของประชาชนเติบโตและเข้มแข็ง

 

เก่งกิจ กิติเลียงลาภ : ความเห็นต่อการนำเสนอ
ก่อนจะวิพากษ์วิจารณ์ เราบอกได้หรือไม่ว่าสังคมไทยมีหน้าตาเป็นยังไง รูปธรรมขององค์กรประชาธิปไตยที่ภาคประชาชนพูดถึงแท้จริงเป็นอย่างไร การปฏิเสธการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ประเด็นเรื่องชนชั้น และปัจจัยการผลิตในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อของขบวนการภาคประชาชน

เก่งกิจเล่าว่าตนเคยได้รับเชิญจากกลุ่มคนที่ต่อสู้เรื่องป่าชุมชนและโฉนดชุมชน ให้ไปแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แกนนำเป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีอายุ 5-60 ปี และมีคนรุ่นอายุประมาณ 20 – 30 ปีที่ได้รับการอบรมของโรงเรียนการเมืองในลักษณะที่เป็นซ้าย กลุ่มคนดังกล่าววิเคราะห์ว่าเรากำลังอยู่ในยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่ทุนนิยมก้าวหน้า พวกเขาอธิบายว่าการเรียกร้องโฉนดชุมชนเป็นสิ่งที่เหมาะสม ในฐานะที่เขาเป็นฝ่ายซ้าย เพราะความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากการที่ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตกระจุกอยู่ที่คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเขาใช้คำว่า “ซากเดนของศักดินา”

“คำถามที่สนใจก็คือสังคมชนบทไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมพบว่าเอาเข้าจริงเราไม่มีองค์ความรู้ที่เป็นกรอบร่วมกัน ต่างคนก็ต่างคนก็ต่างวิพากษ์จากแง่มุมของตนเอง เราเห็นการแตกกันระหว่างคนที่เป็นเอ็นจีโอรุ่นอาวุโสกับคนที่เป็นเอ็นจีโอรุ่นใหม่ๆ แต่เอ็นจีโอรุ่นใหม่รวมถึงนักวิชาการยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะอธิบายหรือตอบโต้กับองค์ความรู้ในการพัฒนาทางเลือกที่เป็นกระแสหลัก”

เก่งกิจเห็นว่าผู้นำเสนอในเวทีนี้ต่างพูดถึงสังคมไทยด้วยสมมติฐานที่ต่างกัน โดยไม่มีการวิเคราะห์โครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือละเลยที่จะใช้กรอบคิดเรื่องชนชั้นที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยการผลิต ทำให้ขบวนการภาคประชาชนมีความอิหลักอิเหลื่อ ซึ่งมีคำถามว่าคำอธิบายสังคมไทยแบบนี้มีลักษณะที่ก้าวหน้าหรือหรือถอยหลัง?

ประเด็นสำคัญที่ถูกละเลยอย่างมากคือการศึกษาเกี่ยวกับแรงงาน ประหนึ่งว่าสังคมไทยไม่มีกรรมกร หรือกรรมกรไม่สำคัญ และเชื่อว่าการสัมมนาไทยศึกษาทั้ง 3 วันนี้แทบไม่มีประเด็นในเรื่องกรรมกรด้วยเช่นกัน นอกจากงานของคุณจิตราซึ่งพูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรแรงงาน

“ผมคิดว่าเอ็นจีโอและหลายคนที่ทำเรื่องชุมชน ประชาธิปไตยในองค์กร แต่รูปธรรมของประชาธิปไตยในองค์กรจะมีได้อย่างไรถ้าไม่มีการเลือกตั้งในองค์กร คุณไม่มีสมาชิก สมาชิกไม่ได้เป็นคนจ่ายเงินสนับสนุนองค์กร เราพูดถึง สสส. พอช. คำถามคือเรามีข้อเสนออะไรที่ทำให้องค์กรภาคประชาชนมีสมาชิกที่เลือกตั้งผู้บริหารองค์กรหรือเป็นแกนนำด้วยตนเอง”

ส่วนเรื่องโฉนดชุมชน เก่งกิจมีข้อสังเกตว่าแนวคิดเรื่องโฉนดชุมชนพยายามสร้างกระบวนการร่วม (collectivize) ในการจัดการปัจจัยการผลิตในระดับชุมชน แต่เพื่อพิจารณาจริงๆ แล้วโฉนดชุมชนไม่ได้ collectivize หรือ nationalize ปัจจัยการผลิตที่รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันที่มีอำนาจในสังคมเลยแม้แต่น้อย ซ้ำร้ายไปกว่านั้นโฉนดชุมชนยังลดทอนความเป็นการเมือง (depoliticize) ทำให้ตัวเองไม่เป็นการเมืองเลย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาโหวต "ยิ่งลักษณ์" นายกคนที่ 28

0
0

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 296 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 197 เสียง

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดหมายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เมื่อเวลา 10.00 น.โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้เมื่อถึงเวลา นายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอชื่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ส.ส.บัญชีราย ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ซึ่งที่ประชุมได้ให้การรับรองการเสนอดังกล่าว โดยไม่มีพรรคใดเสนอชื่อชิงตำแหน่ง จากนั้นเป็นการขอมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายบุคคล โดยวิธีการขานชื่อที่ละคน

ทั้งนี้มีสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 497 คน มีผู้ให้ความเห็นชอบ 296 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง งดออกเสียง 197 เสียง ส่งผลให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับคะแนนเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28

ซึ่งผู้งดออกเสียทั้งหมดเป็นเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครักประเทศไทย พรรครักสันติ พรรคมาตุภูมิ ส่วนข่าวที่ว่าจะเกิดกลุ่มงูเห่าขึ้นภายในพรรคภูมิใจไทยนั้น วันนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะสมาชิกของพรรคภูมิใจไทยต่างงดออกเสียงตามมติของพรรคทุกคน

ซึ่งขั้นตอนต่อไปประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อได้ชื่อนายกรัฐมนตรีแล้ว จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที

“ชูวิทย์”ประเดิมป่วนสภาฯสุดท้ายโดนไล่ออก

รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในห้องประชุมก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี  ได้วุ่นวายเล็กน้อยเมื่อ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครักประเทศไทย ลุกขึ้นหารือเรื่องการจัดที่นั่งในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร  โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ได้ให้คนไปคุยกับเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ที่นั่งจัดผิด เพราะตามธรรมเนียมขวามือประธานเป็นฝั่งรัฐบาล ซ้ายมือเป็นฝ่ายค้าน แล้วจับตนไปอยู่ใต้ถุน ทำให้ประชาชนไม่เห็น ซึ่งได้ทำจดหมายไปก็ไม่ตอบ  ซึ่งตรงนี้ทำให้นายสมศักดิ์   เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ปิดไมค์ตัดบท ขอให้หารือวันหลัง แต่นายชูวิทย์ นำ “ค้อน”ไม้ผูกโบว์แดงที่เตรียมมาขึ้นมาชู และพยายามจะพูดต่อ แต่นายสมศักดิ์ ปิดไมค์ ทำให้นายชูวิทย์ เดินนำค้อนมามอบให้ประธานที่หน้าบัลลังก์ จากนั้น นายสมศักดิ์ ตัดบทและนำส.ส.ใหม่ที่ยังไม่ได้ปฏิญาณตนอีก 4 คน ได้ปฏิญาณตน

ภายหลังการปฏิญาณ นายชูวิทย์ ยังได้ลุกขึ้นยืนประท้วงพร้อมตะโกนอยู่ในห้องประชุมทำให้ นายสมศักดิ์ ระบุว่า เพิ่งขอความร่วมมือสมาชิกเรื่องการประชุม และตนจะใช้ข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด และได้ขอร้องให้นายชูวิทย์นั่งลงกว่า 10 ครั้ง และระบุว่า วันแรกการประชุม ขอความกรุณาให้บรรยากาศเรียบน้อย อย่าดื้อเลย  แต่นายชูวิทย์ไม่ยอมนั่ง ทำให้ประธานลุกขึ้นยืน แต่นายชูวิทย์ก็ยืนตรงเช่นกัน ทำให้นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อประธานลุกขึ้นยืน สมาชิกต้องนั่ง ซึ่งเป็นมาตรการเดียวกับใช้ค้อน เมื่อสมาชิกไม่นั่งจึงขอใช้อำนาจประธานเชิญออกจากห้องประชุม ทำให้ ส.ส.ในห้องประชุม ต่างปรบมือกัยคำสั่งประธานที่ให้เชิญนายชูวิทย์ออกจากห้องประชุมโดยเฉพาะพรรคชาติไทยพัฒนา แต่นายชูวิทย์ ยังไม่ยอมออกพร้อมกับชี้นิ้วไปที่นายสมศักดิ์ว่า "อุตส่าห์เอาค้อนมาให้ด้วยความเคารพแล้ว"

ทำให้นายสมศักดิ์ ให้รปภ.มาเชิญออกจากห้องประชุม ซึ่งนายชูวิทย์ ได้เรียก รปภ.2 คนที่เดินเข้ามาหา มาจับมือ พร้อมกับนั่งลง ซึ่งนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นรายงานการประชุมด้วย ทำให้นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงว่า เมื่อวินิจฉัยให้ออกแล้วสมาชิกต้องออก ทำให้นายสมศักดิ์ ให้รปภ.เชิญนายชูวิทย์ ออกจากห้องประชุม สุดท้ายนายชูวิทย์จึงยอมออกจากห้องประชุม ซึ่งระหว่างเดินออก ส.ส.หลายพรรคต่างส่ายหัว กับการป่วนของนายชูวิทย์

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ครอบครัวข่าว, เดลินิวส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: รายงานเสวนา “เพิ่มค่าแรง 300 บาท/วัน: ได้-ได้ หรือ ได้-เสีย”

0
0

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ห้อง 500 ชั้น 5 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ IBMP CLUB หรือกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ด้านบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. จัดเสวนาในหัวข้อ “เพิ่มค่าแรง 300 บาท/วัน: ได้-ได้ หรือ ได้-เสีย” เพื่อเปิดเวทีให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้มีพื้นที่ในสังคมในการแสดงความคิดเห็น และบทวิเคราะห์จากภาคแรงงานสู่สาธารณะ เพื่อผลักดันประเด็นในการถกเถียงให้กว้างขึ้น โดยมี จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, พรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUGB) , เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ, จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากกลุ่มประกายทุน และ อัญธนา สันกว๊าน นักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ทางด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. ร่วมเสวนา


เวลามองความคุ้มกับการทำงานในโรงงานเขามองแค่พอกินพอใช้หรือไม่ เขาไม่ได้มองความเสื่อมสภาพของร่างกาย...
..เมื่อมีปรับขึ้นค่าจ้างนายจ้างก็เร่งเป้าการผลิตให้เหมาะสมกับรายได้ของนายจ้าง...
..มันไม่ใช่ประชานิยม แต่มันทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น แต่อย่าละเลยสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงาน นั่นหมายถึงความมั่นคงต่อไป”
จิตรา คชเดช

จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เล่าถึงสภาพการทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าว่า ส่วนมากเข้างาน 8.00น. เลิกงาน 17.00น. แต่พอเลิกงาน จะไม่เห็นคนงานกลับบ้าน เพราะส่วนใหญ่ทำงานล่วงเวลา (OT) และเราจะเห็นว่าวันอาทิตย์ก็ยังมีรถรับส่งคนงาน ทั้งๆ ที่เป็นวันหยุด เพราะคนงานก็ทำงานในวันหยุดด้วย

สภาพการทำงานส่วนมากจะถูกตั้งเป้าการผลิต เช่น โครงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะมีการคำนวณเป็นนาทีต่อนาที โดยใช้วิศวกรรมทางการผลิต มีการจับเวลา อย่างกรณีโรงงานไทรอัมพ์ฯจะมีหน่วยคำนวณอยู่ที่ออสเตรีย ไม่ว่าจะลุก ยืน เดิน เข้าห้องน้ำ เขาคำนวณหมด เพราะฉะนั้นนายจ้างจะรู้เลยว่างาน 1,000 ชิ้นที่เขารับมาจะต้องใช้กี่คน กี่วันในการผลิต ดังนั้นเมื่อคำนวณแบบนี้นายจ้างไม่มีขาดทุน ถ้าคนงานทำไม่ได้นายจ้างก็จะใช้วิธีการเตือนคนงานว่าด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะมีตัวอย่างให้ดูเปรียบเทียบจากคนงานที่ทำได้ตามเป้าหมายนายจ้างก็จะถ่ายวิดีโอเก็บไว้ เพราะฉะนั้นวงจรแบบนี้มันจะควบคุมหมด ว่างานเท่านี้ คน 50 คนจะต้องทำงานกี่วัน และถ้าคนขาดไป 1 คนก็จะมีการเร่งเป้าเพื่อให้ได้ตามเวลาที่ต้องการ โดยหัวหน้างานก็จะควบคุมเช่น ห้ามลางาน เพราะจะทำให้นายจ้างเสียหาย อาจจะถูกใบเตือน ถูกเลิกจ้างได้

นอกจากบังคับด้วยระเบียบบริษัทแล้ว ยังมีการใช้วิธีแรงจูงใจ คือถ้าคนงานทำได้มากกว่าเป้าที่กำหนดก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่เป็นแรงจูงใจมหาศาลที่คนงานจะต้องทำงานให้ได้ การเร่งเป้าการผลิตทำให้คนงานไม่กินน้ำมาก เพราะจะทำให้ปวดฉี่บ่อยทำให้เสียเวลาไปเข้าห้องน้ำ แต่สิ่งที่ตามมาคือโรคไต กรวยไตอักเสบ นั่งนานๆ ก็จะเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท เวลาเป็นโรคนี้มันจะร้อนหลังวูบๆ คนก็เชื่อว่าโดนของ โดยไสยศาสตร์ ไปหาหมอรดน้ำมนต์ก่อนอันดับแรก กว่าจะรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรค ก็เสียหายไปเยอะแล้ว

จิตราตั้งคำถามว่า 8 ชั่วโมงของการทำงานกับการที่คนงานต้องเสี่ยงกับค่าจ้างขั้นต่ำที่เขาได้นั้นคุ้มกันหรือไม่ เวลามองความคุ้มกับการทำงานในโรงงานเขามองแค่พอกินพอใช้หรือไม่ เขาไม่ได้มองความเสื่อมสภาพของร่างกาย ซึ่งพอคนงานอายุมากขึ้นจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างจากความเสื่อมตรงนี้ แต่กลับมองเพียงว่าค่าจ้างพอกับค่าครองชีพหรือไม่ บางโรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคจะต้องเสี่ยงกับพิษสารตะกั่วซึ่งสะสมในร่างกายนำไปสู่โรคหลายโรค เช่น มะเร็ง แต่ที่เห็นบ่อยคือสมองเสื่อมหรือถูกทำลายนำไปสู่อาการเพ้อเจ้อ คนก็เชื่อว่าถูกผีเข้า และออกจากงานไปโดยความเชื่อนั้น ซึ่งกว่าที่จะรู้ว่าป่วยจากการทำงานก็หมดสภาพการเป็นคนงานไปแล้ว ทำให้ไม่มีอะไรคุ้มครอง

ต่อเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทนั้น จิตราเปรียบเทียบว่า ถ้าผลิตธรรมดาจ่าย 250 บาท ได้งาน 10 ตัว แต่พอเร่งเป้าการผลิตจากเพิ่มอีกนิดเป็น 350 บาท ได้งานถึง 30 ตัว ทั้งที่หากคิดตามสัดส่วนควรจะได้ 630 บาท ดังนั้นการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทนั้นนายจ้างก็รู้อยู่แล้ว เมื่อมีปรับขึ้นค่าจ้างนายจ้างก็เร่งเป้าการผลิตให้เหมาะสมกับรายได้ของนายจ้าง ดังนั้นนายจ้างก็จะไม่ขาดทุน ถึงขาดทุนกำไรก็ไม่ขาดทุนอยู่แล้ว

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่องอัตราค่าจ้าตามมาตรฐานฝีมือ เมื่อ 29 เม.ย. 54 เขาบอกว่า 29 ก.ค.ที่ผ่านมานี้ ประกาศฉบับนี้ได้ถูกใช้แล้ว 22 อาชีพ ซึ่งมีช่างเย็บรวมอยู่ด้วยนั้น อาชีพนี้จะต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยกว่า 250 บาท ในระดับ 1 จากการเช็คฝีมือ ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 340 บาท ระดับ 3 จ่ายไม่น้อยกว่า 430 บาท การเช็คฝีมือต้องไปเช็คกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่รู้เป็นเพราะอะไรกลับไม่ได้รับการโฆษณาอย่างกว้างขวาง แต่การให้กรมฯเป็นผู้เช็คนั้นอาจมีปัญหา เช่น คนทำงานมากว่า 20 ปีเมื่อไปเช็คอาจได้เพียงแค่ระดับ 1 จริงๆ แล้วประกาศนี้ควรจะบอกว่าอายุงาน 3 ปีนี่ควรได้ระดับ 3 แล้ว ไม่ใช่ว่าให้ไปทดสอบอีก เพราะขนาดเรียนมหาวิทยาลัย 3-4 ปีก็จบปริญญาแล้ว แต่นี่ทำงานในโรงงานมา 20-30 ปีแล้วก็ยังกินค่าจ้างขั้นต่ำอยู่

สิ่งที่นายทุนจะได้จากการปรับค่าจ้าง 1.จะได้ที่การเร่งเป้าการผลิต 2.จากที่สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้ายื่นหนังสือว่าถ้ามีการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท ที่บอกว่ารัฐบาลจะต้องช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เป็นส่วนต่างจากค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยให้คูปองในสัดส่วน 70-80% เพื่อผู้ประกอบการนำคูปองเหล่านี้ไปใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หรือเงินที่จะจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม หากไม่มีมาตรการรองรับก็จะอยู่ไม่ได้

ทุกวันนี้นายทุนข้ามชาติหิ้วกระเป๋าเข้ามาลงทุนในประเทศ BOI ก็มีการโฆษณาว่าถ้ามาลงทุนในเมืองไทยจะได้รับอะไรบ้าง เช่น มีคนงานที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก เขาเอาคนไปขายขนาดนี้เลย รวมถึงได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลดภาษี จะเห็นว่า BOI มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการลงทุนของนายทุนข้ามชาติอย่างมาก บริษัทไหนทำกิจการใกล้จะเจ๊งรัฐก็จะรีบเข้าไปช่วยเหลือเพราะเขากลัวคนงานได้รับผลกระทบหากมีการปิดกิจการ พอรัฐมีแนวทางแบบนี้ นายทุนก็อาศัยช่องว่างสร้างบริษัทแม่-ลูกขึ้นมา โดยบริษัทลูกจะเป็นบริษัทที่ใกล้จะเจ๊งตลอดเวลาทำธุรกิจไม่เคยมีกำไรเลย โดยวิธีค้าขายของเขาบริษัทลูกก็จะขายสินค้าให้กับบริษัทแม่โดยเอากำไรน้อยมาก โดยที่คนส่วนใหญ่ฝ่ายผลิตจะอยู่บริษัทลูกแต่คนส่วนน้อยอยู่กับบริษัทแม่ การบริหารใกล้จะขาดทุนตลอดเวลาก็อาจเสียภาษีบ้างไม่เสียบ้าง หรือสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างนายจ้างก็อ้างตลอดว่าบริษัทขาดทุน บางบริษัทก็เป็นหนี้บริษัทแม่อีก ประเด็นนี้รัฐเองก็ไม่พูดถึง อ้างแต่ว่าคนละนิติบุคคล
พอพูดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนายทุนก็ไปตีความว่าถ้าจ่ายที่ขั้นต่ำก็จะไม่ผิดกฎหมาย แม้คนงานคนนั้นจะทำงานมาแล้วกว่า 20 ปี จึงทำให้การที่คนงานจะอยู่ได้ในสังคมนี้ก็ต้องทำ OT บางที่มี OT เสาร์อาทิตย์ หรือ ถึงตี 3-4 ตลอด ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คนท้องจะไม่ให้ทำ OT แต่คนงานก็จะปิดไม่ให้คนรู้ว่าท้องเพราะหากไม่ทำ OT จะไม่พอกิน เมื่อไม่พอกินก็ส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง

ส่วนใหญ่คนงานเป็นคนงานอพยพ สิ่งแรกที่ต้องมองหาคือบ้านเช่าโดยราคาค่าเช่าคิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำตกอยู่ที่ 40-50% และค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ก็ไม่ถึง 30 วันต่อเดือนเพราะไม่รวมวันหยุด ดังนั้นเอาเข้าจริงค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันที่คนงานใช้ชีวิตจึงต่ำกว่าค่าจ้างที่กำหนด ค่าอาหารอีกเฉลี่ยวันละ 100 บาท ซึ่งเป็นสภาพที่ยากลำบากมากในความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีค่ารถ เช่น ถ้าอยู่ในซอยก็ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซต์รับจ้างที่รัฐไม่ได้ควบคุมราคาค่าบริการ ค่าน้ำ-ไฟ คนที่ได้ความช่วยเหลือจากรัฐก็เป็นคนที่มีมอเตอร์เป็นของตัวเอง แต่คนงานที่อยู่บ้านเช่า ไม่มีมอเตอร์ของตนเอง ดังนั้นจึงต้องเป็นไปตามอำเภอใจเจ้าของห้องเช่า ดังนั้นค่าน้ำไฟก็เป็นปัญหาที่รัฐอาจไม่ได้ช่วยเหลือจริง

คนงานคนหนึ่งไม่ได้อยู่แค่ในสังคมโดดๆ ยังมีครอบครัว และหนี้ของพ่อแม่จากภาคเกษตรที่ต้องแบกรับภาระ โดยเฉพาะหนี้ ธกส. หรือเดือนไหนที่เงินเดือนช็อตก็ต้องกู้หนี้นอกระบบซึ่งดอกเบี้ยแพงมาก บางคนหาทางออกโดยการเล่นหวย ที่สะท้อนว่าเราไม่มีทางออกไม่มีทางเลือกจริงๆ หรือถ้าเครียดมากก็หาทางออกเช่น ดื่มเหล้าขาว ให้เมาเพื่อลืมปัญหา

เพราะฉะนั้นการปรับค่าจ้าง 300 บาทมันไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตคนงานดีขึ้นเลิศเลออะไร เพียงแต่บรรเทาให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นบ้างเล็กน้อย ถ้ารัฐจะต้องการส่งเสริมให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี
1. ต้องส่งเสริมให้คนงานสามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อให้เขาสามารถที่จะต่อรองปรับปรุงสภาพการจ้างแบ่งปันผลกำไรกับนายจ้างได้โดยตรง
2. ต้องจัดสวัสดิการ เช่น เรียนฟรี ดูแลผู้สูงอายุ ค่าเช่าบ้านควรอยู่ที่สัดส่วน 5-10% ต่อเงินเดือนเท่านั้น เป็นต้น
3. รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นสำหรับลูกจ้า เช่น อาหาร ค่าเดินทาง สาธารณูประโภค เป็นต้น

การที่พรรคเพื่อไทยพูดเรื่องนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศหรือปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน มันไม่ใช่ประชานิยม แต่มันทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น แต่เน้นว่าอย่าละเลยสิทธิการรวมตัวให้มีสหภาพแรงงาน นั่นหมายถึงความมั่นคงต่อไป

 

“ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้นหมดเวลาแล้วที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำ มันคือต้องทำ..มันเป็นฉันทมติของคนในสังคมไปแล้ว ดังนั้นมันควรจะขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบการเมืองแบบตัวแทน .. 300 บาท คนงานขาดทุนด้วยซ้ำไป

..บอกว่าขึ้นค่าแรงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ต้องเพิ่มทักษะในการทำงานของคนงาน..เหมือนกับว่าที่ผ่านมาการที่คนงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพราะว่าทักษะของคนงานที่ผ่านมามันไม่ได้เรื่อง”
เทวฤทธิ์ มณีฉาย

เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมจากกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า ขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น เห็นได้จากสัดส่วนของการเกิดและอยู่รอดของทารกเทียบกับในอดีต รายได้ประชาชนสูงขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างรายได้กลับสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในสังคมไทย จากงานสำรวจของดิอิโคโนมิสต์ ประเทศไทยมีช่องว่างอยู่อันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยมีสัดส่วนระหว่างกลุ่มคนรวยสุดกับกลุ่มคนจนสุดห่างกันถึง 15 เท่า และถ้าดูที่รายได้ครัวเรือนปี 49-50 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจมานั้น แบ่งเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20% จะพบว่ากลุ่มรวยสุด 20% มีรายได้เกือบ 50% ของรายได้รวมทั้งสังคมในขณะที่ 20% ที่จนสุดกลับมีรายได้เพียง 5.7%

ขณะที่ค่าจ้างในภูมิภาคเอเชียสำหรับประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าไทยจะมากกว่าลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาร่วมกันมาอย่างมาเลเซีย พบว่าค่าแรงขั้นต่ำต่างกันกว่าเท่าตัว จากการสำรวจของ IMF ประเทศมาเลเซียอยู่ที่ 14,400 บาท ในขณะที่ประเทศไทยค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 6,070 บาท

มีการสำรวจต้นทุนเรื่องค่าจ้างที่สำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา สัดส่วนในการจ่ายค่าจ้างแน่นอนในธุรกิจ SMEs มีสัดส่วนตรงนี้ต่อต้นทุนทั้งหมดมากแต่ก็ไม่มากไปกว่า 10% ของต้นทุนทั้งหมด แต่ยิ่งธุรกิจยิ่งใหญ่ขึ้นเท่าใดต้นทุนในเรื่องค่าจ้างต่อต้นทุนทั้งหมดยิ่งถูกลงอาจเหลือเพียง 1-3% ซึ่งเมื่อเราขึ้นค่าแรง 300 บาทจาก 215 บาท เท่ากับ 39% เมื่อเทียบกับต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจขนาดย่อมอาจอยู่ที่ 3% ที่เพิ่มขึ้น แต่หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อาจอยู่ที่ 1% ถ้ากระทบจริง ทั้งนี้ ในความเป็นจริงธุรกิจประเภทนี้แม้จะเป็นธุรกิจแรงงานเข้มข้นอย่างในอุตสาหกรรมอาหารบางแห่งก็มีจ่ายค่าแรงมากกว่า 300 บาทอยู่แล้วในอัตราแรกเข้า ซึ่งบางแห่งยังรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศรีปทุมในรายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2552/2553 สัดส่วนค่าแรงของผู้บริหารกับพนักงานที่ปฏิบัติงานห่างกันถึง 8.5-10 เท่า โดยผู้บริหารระดับสูงเฉลี่ยที่รายละ 80,034 บาทต่อเดือน สูงกว่าตำแหน่งพนักงานปฎิบัติการที่เฉลี่ย 9,457 บาท ถึง 70,577 บาท นี่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วไปจากการสำรวจ แต่ความจริงบางบริษัทห่างกันกว่า 20-30 เท่า ถามว่าเหตุใดสัดส่วนถึงได้ห่างกันขนาดนี้ นี่สะท้อนว่าในขณะที่เรามีความก้านหน้าของเทคโนโลยีและผลิตภาพในการผลิต แต่ช่องว่างกลับเพิ่มขึ้น
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท นั้นหมดเวลาแล้วที่จะพูดว่าควรหรือไม่ควรทำ มันคือต้องทำ ในเชิงการเมืองนี่คือนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอต่อประชาชนและประชาชนลงมติเลือกนโยบายนี้ เราอาจโวยวายว่านี่เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย แต่เราต้องไม่ลืมว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอนโยบาย 25% ดังนั้นการขึ้นค่าแรง มันเป็นฉันทามติของคนในสังคมไปแล้ว ดังนั้นมันควรจะขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของระบบการเมืองแบบตัวแทน

ระบบการเมืองแบบตัวแทนมันคือระบบที่เปิดโอกาสให้คนในสังคม โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่สามารถที่จะลงมติ สามารถที่จะกำหนดชะตาชีวิตหรือความเป็นไปของคนในสังคมได้ ดังนั้นเราควรที่จะคงไว้ซึ่งหลักการหรือความชอบธรรมตรงนี้

จริงๆ แล้วต่อให้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน เราไปดูตามร้านอาหารทั่วไปขั้นต่ำ 30 บาทต่อจานแล้ว เท่ากับ 10% ของค่าแรงต่อวัน ถ้าหากวันหนึ่งต้องกิน 3 มื้อ ก็เท่ากับ 30% แล้ว ไม่ต้องพูดถึงผลไม้ ทำให้ไม่ต้องพูดถึงการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ นี่คือชีวิตขั้นต่ำที่คนในสังคมจะอยู่ได้ แต่ถ้าไปดูค่าตอบแทนที่ควรจะเป็นในระดับสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ไม่ใช่แค่เลี้ยงคน 1 คน แต่ต้องเลี้ยงครอบครัว คู่สมรสและบุตรด้วย

300 บาทแค่ตัวเองยังเอาไม่รอด ดังนั้น 300 บาทมันน้อยไปเสียด้วยซ้ำ จริงๆ ถ้าอิงตามข้อเรียกร้องของคนงานเมื่อปีที่ผ่านมาเขาขอ 400 กว่าบาท ดังนั้น 300 บาท คนงานขาดทุดด้วยซ้ำไป

ค่าแรงในโลกเมื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจพบว่าลดลงทั่วโลก จากที่ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งได้กล่าวไว้ในงานปาฐกถาหัวข้อเศรษฐศาสตร์ของการเมืองไทย ที่ มธ. เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา โดย อ.ผาสุก ได้อ้างบทความของ “ดิอิโคโนมิสท์” ว่ามีแนวโน้มรายได้ของคนงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญของเครื่องจักร การที่เครื่องจักรเข้ามาแทนที่คนงาน บางโรงงานแทบไม่มีคนงานด้วยซ้ำไป ดังนั้นอำนาจการต่อรองของคนงานจึงลดลง คนงานในหลายประเทศเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง นี่คือสาเหตุสำคัญ สัดส่วนของการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทยอยู่ที่ 1% ของกำลังแรงงานทั้งหมดคือ 3 แสนกว่าคนจากกำลังแรงงาน 37 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีสวัสดิการก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของรายได้น้อยอย่างในสแกนดิเนเวียมีอัตราการจัดตั้งสหภาพอยู่ที่ 80% ของแรงงาน ดังนั้นเรื่องของค่าแรงมันไม่ใช่เรื่องเชิงเทคนิคทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องเชิงการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในการกำหนดความสัมพันธ์ในการผลิตด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานไทยกับอัตราเงินเฟ้อหรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าไม่ได้ไปด้วยกัน หากอยากรู้ว่าผลพลอยได้จากการเติบโตหรือเงินส่วนหนึ่งไปอยู่ที่ไหนก็ย้อนกลับไปดูช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในสังคมไทยที่ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งห่างกันมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามูลค่าเพิ่มที่คนในสังคมผลิตผลตอบแทนมันไปอยู่ในกระเป๋าของใคร

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนอกจากจะเป็นฉันทามติของคนในสังคม ยังสะท้อนความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยด้วย เพราะทำให้คนในสังคมสามารถกำหนดหรือให้ความสามารถของคนในสังคมที่จะกำหนดทิศทางของสังคมไทย ที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำหรือผลตอบแทนของคนงานสอดคล้องกับกลไกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การรัฐประหาร มีการลดทอนค่าจ้างและเงื่อนไขหรือความสามารถในการต่อรองของคนงาน อย่างก่อน พ.ค.35 มีการแยกคนงานรัฐวิสาหกิจออกจากคนงานในภาคเอกชน ทำให้ความสามารถในการต่อรองของคนงานลดลง รวมถึงการขึ้นค่าแรงก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงคนที่มาจากกลไกการแต่งตั้งที่อ้างศัพท์ในเชิงเทคนิคมากกว่าความสอดคล้องในความต้องการของประชาชน

และในความเป็นจริงการประเมินนโยบายเราไม่ได้ประเมินในเชิงตัวเงินอย่างเดียว เวลาวิเคราะห์นโยบาย แต่เรายังประเมินในเรื่องสังคมด้วย คนงานในโรงงานเวลามีลูก การได้ค่าแรงขั้นต่ำมันบังคับให้เขาต้องทำ OT โดยอัตโนมัติ ทำให้เวลาที่อยู่กับลูกหรือครอบครัวลดลง พร้อมกับค่าตอบแทนที่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการของรัฐก็ไม่สามารถรองรับ ก็ต้องส่งลูกตัวเองไปอยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเพื่อลดต้นทุนทั้งเงินและเวลาในการเลี้ยงดู ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูได้เต็มที่ พออยู่กับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัดก็ตามไม่ทันหลาน ส่วนมากครอบครัวคนงานจะแตกแยก อัตราการหย่าสูง ดังนั้นเวลาประเมินนโยบายควรดูตรงนี้ด้วย

ส่วน SMEs ที่จะได้รับผลกระทบนั้นรัฐบาลควรออกมาตรการให้ธุรกิจเหล่านั้นเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนเลยว่าหลังจากที่ขึ้นค่าแรงแล้วได้รับผลกระทบเท่าไหร่ต่อสาธารณชน เพื่อที่จะให้รัฐเข้าไปหนุนช่วย
แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ Over Re-action กระตุ้นให้สังคมกลัว ซึ่งในระบบเศรษฐกิจความรู้สึกมันมีผลมากกว่าข้อมูลจริงๆ ของมันเสียอีก มันเป็นผลเรื่องการเมือง ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการสร้างความชอบธรรมในเรื่องการขึ้นราคาสินค้า คนงานที่ได้ค่าแรง 300 บาทหรือมากกว่าอาจต้องกินของที่แพงขึ้นด้วย อีกทางหนึ่งมันเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองโดยเฉพาะในระหว่างที่พรรคเพื่อไทยถูกแขวน ที่เปิดโอกาสให้นายทุนหรือคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งสามารถให้กลไกนี้ล็อบบี้ รวมถึงสร้างความชอบธรรมให้รัฐเข้าสนับสนุนหรือช่วยเหลือหรือได้สิทธิพิเศษกับนายทุนที่เข้าล็อบบี้หรือสร้างกระแสความชอบธรรมตรงนี้มากกว่าความเป็นจริงที่ตัวเองได้รับผลกระทบก็ได้

ประเทศไทย GDP พึ่งพาต่างประเทศถึง 72% สร้างความไม่มั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของเรามากเพราะขาข้างหนึ่งเราเหยียบเข้าไป 72% แล้วซึ่งเป็นความเสี่ยงโดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอาจมีปัญหา และเมื่อพิจารณาดูดีๆ ทุนข้ามชาติอย่างในอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคหรือยานยนต์กลุ่มเหล่านี้ก็ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและยกเว้นภาษี สิ่งที่ได้รับในระบบเศรษฐกิจเราจริงๆ คือแค่ค่าแรงขั้นต่ำที่คนงานได้เท่านั้น แม้มูลค่าการส่งออกเราจะเพิ่มแต่มันเกิด Multiplier effect หรือการหมุนของเงินในระบบเศรษฐกิจไม่มากเพราะจากการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่มตรงนั้นคนในระบบเศรษฐกิจได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญการขึ้นค่าแรงจึงเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อภายใน แน่นอน SMEs ในระยะแรกการขึ้นค่าแรงโดยเฉพาะในต่างจังหวัดมันได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ในระยะยาวต้นทุนในการกระจายสินค้าอาจไม่ต้องกระจายไกล คนในท้องถิ่นก็สามารถที่จะบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ นำไปสู่การเติบโตในระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่างๆ

ประเด็นที่สำคัญที่สุดเหมือนเรากำลังบอกว่าขึ้นค่าแรงต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ต้องเพิ่มทักษะในการทำงานของคนงานด้วย เหมือนกับว่าที่ผ่านมาการที่คนงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพราะว่าทักษะของคนงานที่ผ่านมาไม่ได้เรื่อง แม้ปัจจุบันอัตราการเพิ่มทักษะของไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามหรือจีนเราสู้ไม่ได้ก็จริง แต่เราไม่ได้ดูว่าที่ผ่านมาเราเพิ่มทักษะสะสมมานาน เราพัฒนามาคู่ขนานกับมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียมีค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าไทยกว่าเท่าตัว แต่ค่าครองชีพเขากลับถูกกว่า แสดงว่าปัญหาค่าแรงขั้นต่ำมันไม่ใช่มาจากความด้อยทักษะของแรงงาน แต่เป็นเรื่องของการเมืองว่าด้วยการจัดความสัมพันธ์ในการผลิตว่าผลตอบแทนที่ควรจะได้จะได้กันเท่าไหร่ อำนาจต่อรองมากน้อยเพียงใด ระหว่างนายทุน ผู้บริหาร คนงาน

เราบอกว่าแรงงานไทยมีปัญหาเรื่องทักษะการทำงานหรือผลิตภาพในการผลิต ในขณะที่นายทุนไทยไม่ว่าจะนายทุนเฉพาะบางกลุ่มที่ถูกจัดไว้ในอันดับหนึ่งของโลก นายทุนธรรมดาของไทยจากการจัดอันดับของนิตยสารของฟอร์บก็ติดอันดับต้นๆ ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ค่าแรงขั้นต่ำเรากับแพ้ชาติอื่นๆ ในโลก

สรุปแล้ว 300 บาท คนงานเสียมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตั้งแต่การจัดรูปแบบความสัมพันธ์การผลิตที่ให้ค่าตอบแทนจากมูลค่าเพิ่มในการผลิตแก่ฝ่ายนายทุน หรือที่เรียกว่าค่าจูงใจมากเกิน จนสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างของรายได้ที่ห่างกันมากไม่แพ้ชาติใดในโลกในสังคมไทย


“หากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถทำได้ ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ถือเป็นกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะดำเนินการ ควรปิดกิจการไป เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น”
จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์

จิรัฐสรรพ์ ประมวลศิลป์ นักศึกษากลุ่มประกายทุน กล่าวว่า ในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เพราะในกลไกตลาด ค่าแรงมันทำงานเอง ค่าแรงขั้นต่ำเป็นราคาค่าแรงที่ต่ำที่สุดที่สามารถจ่ายได้ในตลาดแรงงาน ดังนั้น ค่าแรงขั้นต่ำจึงเป็นค่าแรงของแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการผลิตต่ำที่สุดในตลาดแรงงาน หากค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดไว้สูงกว่ามูลค่าการผลิตของแรงงาน กลไกตลาดจะไม่สามารถตอบสนองอุปทานแรงงานส่วนนั้นได้ นำมาซึ่งการว่างงาน นอกจากนี้ หากค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพการผลิตจริงไม่เพิ่ม ราคาสินค้าจะสูงขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

แรงงานต้องได้อย่างเสียอย่างระหว่างเวลาพักผ่อนซึ่งเป็นอรรถประโยชน์ที่ตนเองได้รับกับการทำงานเพื่อได้เงินมา ถ้าค่าแรงสูง แรงงานก็จะรู้สึกว่าค่าเสียโอกาสจากการพักผ่อนสูงขึ้นก็จะทำงานมากขึ้น ดังนั้นหากค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าราคาดุลยภาพ ผลที่ตามมาคือจะมีปริมาณอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ก็จะมีคนตกงานตามมา

ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในระดับมหาภาคในขณะที่ประสิทธิภาพในการผลิตไม่เพิ่มเท่ากับค่าแรงที่เป็นตัวเงินเพิ่มอย่างเดียว ของมีปริมาณเท่าเดิม ราคาสินค้าก็จะสูงขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่ม นี่คือมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สายคลาสสิค แต่ถ้าสายเคนส์ก็จะมองว่า ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น แรงงานก็จะบริโภคมากขึ้น เศรษฐกิจก็อาจจะโตได้สักพัก

ตามทฤษฎีคลาสสิค ราคาสินค้าเพิ่มจะทำให้กำลังซื้อของค่าแรงขั้นต่ำกลับมาเท่ากับก่อนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานจึงไม่ได้อะไรจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนใหญ่เราจะคิดว่านายจ้างเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองสูง สามารถที่จะกดค่าแรงให้ต่ำเพื่อให้ได้กำไรสูงได้ แต่นายจ้างก็ต้องแข่งขันเช่นกันเพื่อให้ได้แรงงานมา เช่น การรับสมัครงาน การเพิ่มค่าแรง ก็เป็นการแข่งขันของนายจ้าง ส่วนลูกจ้างก็แข่งขัน โดยกดค่าแรงตัวเองให้ต่ำที่สุดเพื่อให้ได้รับงาน

การขึ้นค่าแรงทำให้เกิดภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเรียกว่า เงินเฟ้อ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้มีเงินออม และธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการวางแผนกิจการในระยะยาว เป็นการไม่กระตุ้นให้ธุรกิจต่างๆ เติบโต การจ้างงานจะเกิดขึ้นช้าลง ในตลาดแรงงานเราต้องยอมรับว่าไม่เป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์เสียทีเดียว แรงงานมีต้นทุนการเข้า-ออกโรงงาน แรงงานไม่สามารถเปลี่ยนงานได้บ่อยเหมือนเปลี่ยนยี่ห้อสินค้า เช่นเดียวกับนายจ้างก็ไม่สามารถเลิกจ้างได้โดยง่าย เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือต่อลูกจ้าง ทำให้คนงานอื่นไม่กล้าเข้ามาทำงาน

การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน หัวใจอยู่ที่การพัฒนาศักยภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพราะจะทำให้เราผลิตสินค้าได้มากขึ้น

ข้อเท็จจริงในเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาเราจะถูกนักวิชาการสายอำมาตย์วิจารย์นโยบายค่าแรงขั้นต่ำของพรรคเพื่อไทยจะทำเกิดวิกฤติต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการพูดภายใต้สมมติฐานบนหนังสือเรียน ซึ่งไม่เหมือนกับความเป็นจริงของสังคมไทย เนื่องจากในวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นการส่งสัญญาณราคาที่ผิดพลาด นายจ้างคิดว่าค่าแรงตรงนี้เป็นค่าแรงที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงาน ผลที่ได้คือเมื่อเศรษฐกิจเติบโต มีความต้องการซื้อสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น แต่เป็นความต้องการซื้อที่ไม่ตอบกับแรงงานในระบบเศรษฐกิจไทย เพราะพอความต้องการซื้อตรงนี้เพิ่ม จุดดุลยภาพของราคาค่าแรงอาจเพิ่มก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงเราจะสังเกตเห็นว่านายจ้างเริ่มขึ้นค่าแรงมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว เพราะเขาเห็นว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่สามารถจ้างงานได้จริง มีการขาดแคลนแรงงาน สังเกตอัตราการว่างานตอนนี้อยู่ที่ 0.4% นับว่าต่ำเกินไป ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับอัตราปกติ เพราะในระบบเศรษฐกิจ ปกติ ควรมีอัตราคนตกงานและกำลังหางานใหม่อยู่ที่ 2-4%

ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันจึงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าดุลยภาพ และค่าแรงขั้นต่ำควรเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดอุปสงค์ส่วนเกิน แรงงานที่ทำงานประจำกับองค์กรขนาดใหญ่ และไม่ต้องการเปลี่ยนงานอันเนื่องมาจากต้นทุนธุรกรรมต่างๆ เป็นผู้เสียประโยชน์มากที่สุดจากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรขนาดใหญ่ที่สามารถใช้แรงงานในราคาที่ต่ำกว่าดุลยภาพได้ จึงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการเอาเปรียบแรงงานไว้

ปัจจุบัน ค่าแรงแรงงานไร้ฝีมือในตลาดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างมาก องค์กรขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูง (เช่น ยานยนต์) เสนอค่าแรงที่สูงขึ้น ดึงดูดแรงงานออกจากอุตสาหกรรมอื่น

ค่าแรงที่เสนอให้แรงงานไร้ฝีมือ เริ่มสูงขึ้นถึง 250 บาท ต่อวัน ทั้งที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เริ่มดำเนินงาน และยังไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างแรงจูงใจในการขึ้นค่าแรงให้ผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถทำได้ ทั้งที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ถือเป็นกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะดำเนินการ ควรปิดกิจการไป เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพยิ่งขั้น

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นที่มีความเป็นการเมืองสูง และได้ถูกคู่แข่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยนำมาใช้เป็นข้อโจมตีว่าที่รัฐบาลใหม่ ข้อเรียกร้องจากเอกชนส่วนใหญ่จึงมักออกมาจากบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเลือกข้างอย่างชัดเจน มีการโจมตีโดยใช้ชุดความคิดในแบบเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อาจมีสมมติฐานไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ที่ผ่านมา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน เพราะค่าแรงขั้นต่ำขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อเกือบทุกปี หากผู้ประกอบการอ้างว่าเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนด้านอื่นนอกจากค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องกดค่าแรงเอาไว้ เราก็ควรตั้งคำถามว่า รายได้จากการขายสินค้าในราคาสูงขึ้นและรายได้ที่เกิดจากการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นั้นไปตกอยู่ในมือใคร

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทำได้จริง เพื่อชดเชยค่าแรงขั้นต่ำแท้จริงที่หายไป เนื่องจากเงินเฟ้อที่ขึ้นสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานค่าแรงขั้นต่ำให้เท่ากับปี 2539 ค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่ 255 บาท โดยไม่คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ดีกว่าในช่วงปี 2539

ภาวะขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปริมาณมาก โดยกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยกว่าช่วงเวลาอื่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้ ยังทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น กลับมาอยู่ที่อัตราการว่างงานปกติ กล่าวคือ ตลาดแรงงานกลับไปอยู่ที่ดุลยภาพ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในปริมาณมากอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งอาจปรับตัวไม่ทันและต้องปิดกิจการไป รัฐบาลจึงต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และการเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพแรงงานเพิ่มขึ้นคุ้มกับค่าแรง

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศเป็นสิ่งจำเป็น ค่าครองชีพในแต่ละจังหวัดไม่ได้ต่างกันมากนัก เป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานในท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่กระจุกตัวด้วย

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ควรเริ่มในพื้นที่ที่มีค่าแรงสูง เพราะผู้ประกอบการมีความสามารถในการปรับตัวมากกว่า แล้วค่อยเพิ่มค่าแรงในพื้นที่อื่นตามกันไป

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเริ่มเพิ่มเงินเดือนข้าราชการให้เริ่มต้นที่ 15,000 บาท ภายในสิ้นปี 2554 การเพิ่มเงินเดือนค่าราชการ จะดึงดูดแรงงานให้มาทำงานภาครัฐ และเร่งให้เอกชนต้องเพิ่มเงินเดือนตามกัน เพื่อดึงดูดให้คนทำงานในภาคเอกชน และรักษากำลังแรงงานเดิมไว้ เมื่อเงินเดือนแรงงานระดับปริญญาตรี และแรงงานมีฝีมือเพิ่มขึ้น ค่าแรงแรงงานไร้ฝีมือมักจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำต้องมาเป็นนโยบายแพ็คเกจ เช่นมีโครงการอบรมเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพื่อให้ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 20% เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจ และนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปจ่ายค่าแรง การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการปรับตัว การเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท เป็นนโยบายที่ควรเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท การควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2558 การปรับตัวของวิสาหกิจไทยเป็นสิ่งจำเป็น ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดร่วม ที่สินค้า บริการ และแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องได้รับการส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบ เป็นนิติบุคคลแบบบริษัท และชำระภาษีตามจริง การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกัน เป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจและแรงงานเข้าระบบมากขึ้น

ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการได้กับได้ แรงงานได้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น มีโอกาสในการหางานทำที่ดีกว่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แลกกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและประสิทธิภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น เป็นการย้ายเงินเข้ากระเป๋าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมักใช้เงินที่ได้เพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภคอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลดำเนินนโยบายควบคุมราคาสินค้า ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการบางรายเหมือนที่ผ่านมา เงินไม่เฟ้อมากจนเกินไป ประชาชนมีกำลังซื้อ มีการบริโภคและการผลิตเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายด้านอุปสงค์ ภาษีซึ่งเป็นต้นทุนในการประกอบการลดลง แรงงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นนโยบายด้านอุปทาน ทำให้ผู้ประกอบการผลิตมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคก็บริโภคเพิ่มขึ้น และรัฐบาลจะได้ประโยชน์จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น
 

“สำหรับผมทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็จริงแต่ค่าอาหารก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ บางอย่างแพงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ เช่น น้ำมัน ซึ่งเป็นค่าขนส่งที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ด้วย จึงควรที่จะขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ
..การที่พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้จริง ประชานิยมมันจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการ”
พรมมา ภูมิพันธ์

พรมมา ภูมิพันธ์ ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า (LUGB) กล่าวว่า เรื่องนี้เราได้มีการคุยก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางเลขาธิการพรรคเพื่อไทยได้มาพูดคุยแล้วกล่าวกับพวกตนว่าพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะนำของขวัญมาให้กับผู้ใช้แรงงานก็คือค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเมื่อปี 2553 พบว่าการที่คนงานจะดำรงชีพได้ต้อง 441 บาท

ทำไมเราจึงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับนโยบายนี้ เมื่อขึ้นค่าแรง 300 บาทมันจะเชื่อมโยงไปกับประชาชนทั่วประเทศ แม้ 300 บาทจะไม่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ยังทำให้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง เพราะปัจจุบันนี้หลายบริษัทค่าจ้างก็เกิน 300 บาทแล้ว

ก่อนหน้านั้น อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐบอกว่า “อนาคตเรามีปัญหาแน่ หากปล่อยให้พรรคการเมืองนำนโยบายฉาบฉวย อย่างการขึ้นค่าแรง หรือการเอาใจคนด้วยการเพิ่ม​เงินเดือน” ไม่แน่ใจว่า อ.ณรงค์ คิดอะไร แต่เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมากลับบอกว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง

อีกคนที่น่าสนใจที่พูดว่า “คนไทยตามบ้านนอก มีคนเอาของไปล่อ ก็เกิดความอยากได้ กลายเป็นคนหิวกระหาย และนิสัยเสียไปหมด” ซึ่งเป็นคำพูดของคุณสุเมธ ตันติเวชกุล คนเหล่านี้ออกมาพูดเหมือนเป็นการต่อต้าน รวมไปทั้งราษฎรอาวุโส ที่ออกมาบอกว่า "ค่าแรงขั้นต่ำวันละ​ 300 บาท ว่ารับรองว่าทำไม่ได้ ถ้าค่าแรงอยู่ที่วันละ 150 บาท กินเป็นแบบเศรษฐกิจพอเพียง จะสามารถอยู่ได้" แต่ในความเป็นจริงทุวันนี้มันไม่มีจะกิน มันจะพอเพียงตรงไหน ทำให้ตนสงสัยว่าคนเหล่านี้ทำไมออกมาต่อต้านเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

อีกคนบอกว่า “ค่าจ้างแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เป็นสิ่งที่เป็นไม่ได้เลย” เป็นคำพูดของคุณบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทนี้ไม่มีสหภาพแรงงาน เหล่านี้เป็นตัวอย่างนักวิชาการและนายทุนที่ออกมาพูด เช่นเดียวกับสมาคมอุตสาหกรรมหรือหอการค้าที่ออกมาต่อต้าน นี่เป็นสิ่งที่ตนในฐานะผู้ใช้แรงงานรู้สึกเจ็บปวดในขณะที่นายทุนขูดรีดเรามาโดยตลอด

อีกเหตุผลที่สนับสนุนนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น เพราะคิดว่าเขาน่าจะทำได้ เพราะที่ผ่านมานโยบายเขาสามารถทำเป็นผลงานที่ประชาชนติดใจได้ เช่น ประชาชนที่อยู่ตามชนบทการป่วยเป็นโรคมะเร็งไม่สามารถที่จะรักษาได้เลยแต่พอมี 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาชนไม่ค่อยเจ็บป่วยมากนักเพราะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง

สมัยคุณทักษิณเป็นนายก พี่ป้าน้าอาตามชนบทจะไม่สามารถติดต่อลูกหลานที่มาทำงานในกรุงเทพฯได้ เมื่อสามารถกู้เงินกองทุนในหมู่บ้านนั้นได้ก็สามารถซื้อโทรศัพท์สำหรับติดต่อสื่อสารกับลูกได้ พ่อแม่ที่อยู่กรุงเทพฯก็สามารถพูดคุยกับลูกที่อยู่ต่างจังหวัด

แต่ทั้งนี้การที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถทำนโยบายได้ก็ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนที่จะสนับสนุน แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ออกมาต่อต้าน จึงเป็นห่วงว่ารัฐบาลนี้จะบริหารประเทศได้ไม่นานเพราะไปกระทบกับนายทุน ถ้านายทุนที่เราสามารถจับต้องได้ก็เรื่องหนึ่ง แต่นายทุนที่แอบแฝงแบบไม่เปิดเผยตัวเองเป็นสิ่งที่อันตราย ทั้งนี้ ยังไม่เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะทำนโยบาย 300 บาทได้หรือไม่ อาจเป็นการเมืองก็ได้ อย่างซีพีออกมาขานรับว่าเราสนับสนุน แต่ในข้อเท็จจริงลูกจ้างเขา 80% เป็นคนงานเหมาค่าแรง เป็นลูกจ้างรายวันทั้งนั้น ค่าแรงขั้นต่ำ 193 บาท

อีกกลุ่มทุนที่สนับสนุนคือเครือซีเมนต์ไทย ซึ่งในความเป็นจริงลูกจ้างประจำก็เกินอยู่แล้ว 300 บาท แต่สหภาพแรงงานได้ล้มไปแล้วทำให้สวัสดิการหลายอย่างหายไป

ในข้อเท็จจริงคนงานเหมาค่าแรงทั้งหมดได้ไม่ถึงหรือว่าได้ก็มีส่วนหนึ่งที่คนงานเหล่านั้นถูกกระทำจากผู้รับเหมา เช่นคนงานในแผนกไฟฟ้ากับตนก่อนหน้าที่มาทำงานต้องการค่าแรง 280 บาท แต่นายจ้างเหมาค่าแรงหักหัวคิวอีก 30 บาท เหลือ 250 บาท ซึ่งปรกติบริษัทเหมาค่าแรงจะได้ต้นทุนค่าบริหารจัดการไปแล้ว 7% แต่ก็ยังมีการหักค่าหัวคิวอีก

การขึ้น 300 บาทมันจะเชื่อมโยงกับประกันสังคมที่มีการหักจากลูกจ้าง 5% และคิดว่าในอนาคตควรจะมีการหักในอัตราก้าวหน้าด้วย เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็ไปลดภาษีให้นายทุน ปีแรก 23% จาก 30% ซึ่งไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ปัจจุบันก็มีการเลี่ยงภาษีอยู่ ดังนั้นเมื่อมีการลดภาษี รัฐควรจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับผมทำงานอยู่ต่างจังหวัดก็จริงแต่ค่าอาหารก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ ก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-30 บาทเหมือนกัน บางอย่างแพงกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ เช่น น้ำมันต่างจังหวัดที่ผมอยู่ลิตรละ 40 กว่าบาท ซึ่งเป็นค่าขนส่งที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ด้วย จึงควรที่จะขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ

ขณะนี้เหมือนพรรคเพื่อไทยกำลังจะอ่อนล้า คนที่ออกมาต่อต้านเป็นกลุ่มนายทุนใหญ่ ถ้าเราไม่มีการเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงาน เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องแผ่ว จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันผลักดันตรงนี้

ส่วนใหญ่การลงทุนการผลิตค่าจ้างคิดเป็นประมาณ 5-6% ของงบการลงทุนทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก ส่วน SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้นทุนประมาณ 15% ซึ่งรัฐก็ต้องหามาตรการเสริมเพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นอยู่ได้ด้วย

ตอนนี้เกิดการขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำไป ปัจจุบันรับจ้างเกี่ยวข้าวดำนาในต่างจังหวัด 250 บาท หาคนไม่ได้แล้ว บางที่ต้องทำอาหารให้คนงานเหล่านั้นกินด้วย แม้แต่คนขายก๋วยเตี๋ยวตามห้างร้านยังมีการจ้าง 200 บาทกว่าแล้ว เพราะถ้าไม่จ้างขนาดนั้นจะไม่มีคนทำงานให้คุณ นี่คือข้อเท็จจริง จึงอยากขอวิงวอนให้สภานายจ้าง สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าหรือนายทุนต่างๆ อย่าออกมาต่อต้าน เพื่อที่ลูกจ้างจะลืมตาอ้าปากได้เล็กน้อย ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ลูกจ้างยืดได้เต็มตัวได้

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นค่าจ้างข้าราชการครู 8% สินค้าต่างๆ ขึ้นตามมาหมด เช่นกันคนงานที่จะได้ค่าแรงขึ้น 300 บาท สินค้าก็เตรียมที่จะขึ้น ซึ่งมันก็อาจจะกลับมาสู่จุดเดิม แต่มันดูดีหน่อยที่ได้ค่าจ้าง 300 บาท แต่ข้อเท็จจริงเงินที่เหลือในกระเป๋าก็เท่าเดิม

เขาเสนอว่า ดังนั้น คนงานไม่ควรหยุดเพียงเท่านี้ อยากเสนอข้อเสนอเข้าไปให้พรรคเพื่อไทยเพิ่มเช่น การเรียนฟรีที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงค่าเทอม แต่ต้องรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย การดูแลผู้สูงอายุ ค่าเช่าบ้าน ซึ่งในอนาคตไม่อยากเห็นพรรคเพื่อไทยทำแค่ประชานิยมธรรมดาเท่านั้น อยากเห็นเลยไปถึงรัฐสวัสดิการ ซึ่งพรรคการเมืองที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ การที่พรรคเพื่อไทยสามารถทำได้จริง ประชานิยมจะเป็นการปูพื้นฐานไปสู่รัฐสวัสดิการ

 

 “เป้าหมายของการมุ่งหากำไรสูงสุดแนวคิดนี้ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งแสวงหากำไรที่ยั่งยืนแทน”
อัญธนา สันกว๊าน

 

อัญธนา สันกว๊าน นักศึกษาหลักสูตรควบตรี-โท ทางด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า จากที่ได้ไปพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-เล็ก พบว่าปัจจุบันโลกธุรกิจได้เปลี่ยนไป เป้าหมายของการมุ่งหากำไรสูงสุดแนวคิดนี้ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการมุ่งแสวงหากำไรที่ยั่งยืนแทน ซึ่งมาจากการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้-เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นายทุน ลูกน้องแรงงาน แม้กระทั่งสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักให้ตัวผู้ประกอบการเองต้องหันมาให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม และทำให้ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า

ด้วยกระแสสังคมที่ถูกบีบนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้องค์กรธุรกิจที่กดขี่ค่าแรงไม่สามารถดำรงอยู่หรือสามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจต่อไป จากการไปดูงานของโรงงานหนึ่งซึ่งมีการส่งออกอาหารไปทั่วโลก ทางเขาบอกว่าปัจจุบันการแข่งขันในตลาดโลกไม่ได้ง่าย เราส่งออกอาหารไปที่ต่างๆ ไม่ใช่แค่ส่ง แต่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศก็มาดูงานที่โรงงานด้วย โดยมีการตรวจสอบแม้กระทั่งว่ามีการดูแลพนักงาน จ่ายค่าแรงอย่างไร โดยเฉพาะประเทศทางฝั่งสหภาพยุโรปจะเข้มงวดกับสิ่งเหล่านี้มาก ซึ่งถ้ามีปัญหาตรงนี้เขาก็จะไม่ทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวบีบหนึ่งให้บริษัทต้องดูแลแรงงาน

ด้วยกลไกตลาดลักษณะการแข่งขันของโลกใบนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้-เสียของธุรกิจมากขึ้น จะทำให้นโยบายการปรับค่าแรงของแรงงานดีขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลใดหรือนักการเมืองพรรคใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็ตาม เพราะประเทศเราพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติตามกฎของประเทศคู่ค้าได้นั้นเราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน

ทำไมนโยบาย 300 บาทภาคธุรกิจถึงได้ออกมาโวยวาย ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 178.5 บาท ซึ่งอยู่ในช่วง 159-221 บาท ถ้าขึ้นค่าแรง 300 บาท จะเพิ่มขึ้นถึง 35-75% ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น 6-13% ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ต้นทุนขนาดนี้อาจไม่มีผลกระทบต่อเขามากนัก ประกอบกับหลายบริษัทก็มีการให้เงินที่มากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่เน้นแรงงานเข้มข้นและ SMEs ต้นทุนขึ้นมาค่อนข้างสูง แล้วจะแบกรับภาระไหวหรือไม่ เฉพาะกรุงเทพฯ ค่าแรงจาก 215 เป็น 300 บาท คิดเป็น 39.5% ผู้ประกอบการตกใจแน่นอน ยิ่งถ้ามาดูขอนแก่นกับร้อยเอ็ด ซึ่งค่าแรงจะขึ้นถึง 80%

เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พนักงานในส่วนของสำนักงานหรือส่วนอื่นๆ เรียกร้องตามมาแน่นอน ดังนั้นต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับคงไม่ใช่เพียงเท่านี้ และการที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะลดภาษีให้เหลือ 23% คือหายไป 7% แต่ต้นทุนเขาเพิ่มขึ้นมา 6-13% ซึ่งภาคที่จะกระทบหนักคือภาคการผลิต ภาคการบริการ จึงนำมาสู่กระแสต่อต้านตามมา

อีกภาคที่จะมีผลกระทบมากคือภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ปัจจุบันค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 20-30% ของต้นทุนก่อสร้างบ้าน 1 หลัง ไม่ใช่เพียงค่ารับเหมาที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรงงานตามมาด้วย ทำให้ต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นกว่า 10% แล้วจะส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาฯจะปรับขึ้นประมาณ 2-3%

การขึ้นค่าแรง จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีการจ้างงานรวมสูงสุด ถึง 3.3 ล้านคน สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่อาจไม่กระทบอะไรมาก แต่สำหรับ SMEs ซึ่งมี 2.9 ล้านราย คิดเป็นจำนวนแรงงานในภาคนี้ถึง 10.5 ล้านคน ซึ่งผู้ประกอบการในภาคนี้มีกำไรน้อยอยู่แล้วยังต้องมาขึ้นค่าแรงถึง 300 บาท ทางออกที่ง่ายที่สุดของธุรกิจเหล่านี้อาจหมายถึงการปลดพนักงานออก ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมก็จะตามมา

อย่างกรณีบริษัทที่เคยไปศึกษามาให้ค่าแรงเกินกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่พอพรรคเพื่อไทยขอขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท ส่งผลกระทบให้พนักงานในโรงงานของเขาขอขึ้นค่าแรงจากที่มีอยู่ ผู้ประกอบการก็มองว่าการคุมคนมันยุ่งยาก ทำให้ทางแก้ของผู้ประกอบการอาจหันมาลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มหรือไม่ก็ Outsource นำไปสู่การปลดพนักงานออกอยู่ดี

อัญธนา กล่าวว่า ไม่ได้ต่อต้านนโยบายค่าแรง 300 บาท เพราะควรขึ้นเพื่อให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าจริงๆ แต่ประเด็นคือเราจะขึ้นอย่างไรเพื่อไม่ให้ช็อคตลาด ค่อยๆ ปรับขึ้นดีหรือไม่ มาคุยกัน 3 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ ว่าจะมีวิธีการปรับขึ้นอย่างไร เพราะที่เป็นอยู่เมื่อเราบอกว่าจะปรับขึ้น 300 บาท นักลงทุนต่างชาติหลายบริษัทก็เริ่มที่จะส่งสัญญาณว่าจะถอนฐานการผลิต อย่างล่าสุด บริษัททีแอลกรุ๊ป ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะปลดคนงาน 700 คนแล้วย้ายฐานการผลิตไปที่เวียดนาม

ปัจจุบันผลิตภาพการผลิตของคนงานไทยเติบโตเพียงแค่ 3% ต่อปี ในขณะที่จีนเติบโตที่ 9.5% และเวียดนาม 5.3% เมื่อนักลงทุนจะลงทุนในประเทศใดตัวเลขเหล่านี้ก็สำคัญ ค่าแรงเราสูงกว่าเวียดนามในขณะที่ผลิตภาพในการผลิตของเราเติบโตได้น้อยกว่าเวียดนาม

และอีก 5 ปี AEC หรือประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้น ค่าแรงในไทยเราสูงกว่าในขณะที่เราไม่มีการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เราอาจเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเราได้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักร้องฮิพฮอพชื่อดังถูกห้ามแสดงคอนเสิร์ตหลังเข้าร่วมทางการเมือง

0
0

นายเซยา ตอว์ นักร้องฮิพฮอพชื่อดังของพม่าถูกห้ามแสดงคอนเสิร์ตการกุศลที่จะจัดขึ้นที่ ทะเลสาบกั่นดอว์จี กรุงย่างกุ้งในวันเสาร์ที่ 6สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังถูกจำคุกเป็นเวลา 3 ปีครึ่งในข้อหามีส่วนร่วมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลพม่า

ทั้งนี้ เซยาตอว์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดีว่า  ทางเจ้าหน้าที่ได้กดดันไปยังผู้จัดงานว่าห้ามเซยา ตอว์ขึ้นร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่จะมีขึ้นและหากทางผู้จัดงานไม่ปฏิบัติตาม ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่อนุญาตให้จัดคอนเสิร์ต ขณะที่การจัดคอนเสิร์ตดังกล่าวขึ้นนั้นก็เพื่อหาเงินช่วยเหลือแก่บ้านพักคน ชราในเมืองดาโก่ง เมียวทิต ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงย่างกุ้ง  ซึ่งจะมีศิลปินนักร้องชื่อดังของพม่าหลายคนเข้าร่วมงานดังกล่าว

ด้านเซยาตอว์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลห้ามเขาเล่นคอนเสิร์ตเพียงเพราะว่าเขามี ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง และที่ผ่านมา เขาเองก็ไม่ได้รับแจ้งจากรัฐบาลพม่าว่า เขาไม่สามารถเล่นคอนเสิร์ตได้ "หากรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ พวกเขาก็ควรยอมรับในความหลากหลาย และถึงแม้ว่าเราจะมีความเชื่อที่แตกต่างไปจากรัฐบาลปัจจุบัน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นพวกอยู่นอกกฎหมาย" เซยา ตอว์กล่าว

ทั้งนี้ เซยาตอว์ เป็นที่รู้จักดีในพม่าในฐานะหนึ่งในนักร้องวง Acid ซึ่งเป็นศิลปินกลุ่มแรกๆที่นำแนวเพลงฮิพฮอพมาเผยแพร่ในพม่าเมื่อปี 2543 โดยเขายังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Generation Wave หลังการประท้วงใหญ่ในปี 2550 ซึ่ง Generation Wave เป็นกลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยและออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลพม่า เช่นการแต่งเพลงหรือแจกใบปลิวโจมตีรัฐบาลพม่าเป็นต้น ซึ่งสมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในพม่า  อย่างไรก็ตาม เซยาตอว์ถูกจับในปี 2551 และถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 5ปี ก่อนที่ทางการจะลดโทษและได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังใช้ชีวิตอยู่ในคุกเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง

แปลและเรียบเรียงโดยสาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆอีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.orgเฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpostทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: สยามเมืองยิ้ม-สยามเมืองยักษ์

0
0

เยาะหยันเมืองยักษ์ยิ้ม สยามหยอก
คุยโอ่ในเน่านอก อวดหน้า
หลงตนยิ่งกว่าหลอก คนต่าง ประเทศแล
ยิ้มฉีกใจขาดล้า ค่าไร้สยามลวง

ประกาศต่อโลกก้อง ยืนกราน
ไทยหว่านโปรยยิ้มหวาน เสน่ห์ไว้
มิมีชาติใดปาน งามเปรียบ อุแม่เจ้า
ทุกข์-สุขยังยิ้มได้ โลกซ้องสดุดี

ดูถูกชาติอื่นแย้ม ยากเย็น
เพียงภาพที่เราเห็น ห่างพ้น
ยิ้มขื่นใช่แล้งเข็ญ เสรีภาพ
สิทธิไม่ถูกปล้น นอกใบ้ในสรวล

ขอเยาะขอยั่วเย้ย ยิ้มสยาม
แท้ซากวาทกรรมทราม เศษเชื้อ
ชีวิตถูกคุกคาม ทุกขณะ
ยลสิ!ยักษ์ฉีกเนื้อ เน่าช้ำสยามแสยง

รอยยิ้มของยักษ์ร้าย เล่นละคร
ถือหอกคอยหลอกหลอน เล่ห์แย้ม
ล่อเหยื่อเพื่ออวยพร ห้ามวิพากษ์
ความลับหลังเปิดแง้ม แสยะยิ้มสยดสยอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สังคมที่ให้ความสำคัญกับ “ความสมบูรณ์แบบ” ของ “ครอบครัว” จนล้นเกิน

0
0

ปัญหาเรื่องการหย่าร้างได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการหย่าร้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนน่าวิตก จนกระทั่งได้มีการก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมสถาบันครอบครัวในเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ดังที่ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้แสดงให้เห็นว่าการหย่าร้างมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อาทิเช่น ในปี พ.ศ.2540 มีการหย่าร้างจำนวน 62,379 คู่ ซึ่งเพิ่มเป็น 77,735 คู่ในปี พ.ศ.2545 และเพิ่มเป็นถึง 109,277 คู่ในปี พ.ศ.2552

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยดูจะหมกมุ่นวิตกกังวลอยู่กับเรื่องเพียงบางเรื่อง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้านเดียว และส่วนใหญ่ก็เป็นการมองที่ปลายเหตุเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาถึงสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่าร้าง การหาหนทางว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาสถาบันครอบครัวเอาไว้ การพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว และการพยายามหาแนวทางที่จะ “รักษา” “เยียวยา” หรือจัดความสัมพันธ์กับเด็กที่มี “ปัญหา” เหล่านี้อย่างไร

แน่นอนว่าการหย่าร้างย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมของเด็กอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการดำรงตนอยู่ในสังคมมากกว่ากว่าเด็กปกติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายตาของ “ผู้ใหญ่” ที่ย่อมต้องการให้เด็กๆ มีความคิดและปฏิบัติตนให้อยู่กับร่องกับรอย (น่าสงสัยว่าถ้าหากการหย่าร้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ในอนาคตเด็กกลุ่มใดกันแน่ที่จะเป็นเด็กส่วนน้อย เด็กที่ไม่ปกติ เด็กที่ต้องได้รับการเยียวยาเป็นพิเศษ)

ผู้เขียนชวนให้ตั้งคำถามง่ายๆ ว่า จริงหรือที่ปัญหาต่างๆ ที่เด็กเหล่านี้ได้รับ มีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวเพียงอย่างเดียว เพราะผู้เขียนเห็นว่าลำพังการหย่าร้าง หรือการอยู่กับ “พ่อ” หรือ “แม่” เพียงคนเดียวไม่น่าจะส่งผลถึงขนาดนั้น แต่กรอบความคิดบางอย่างของสังคมไทยเองต่างหากที่ทำให้ “การหย่าร้าง” หรือ “ความไม่สมบูรณ์” ของครอบครัวกลายเป็นปัญหามากกว่าที่มันควรจะเป็น ดังนั้น หากเรามองในมุมนี้ ประเด็นต่อมาก็คือ “เด็ก” เหล่านี้ (ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา) หรือสังคมไทยกันแน่ ที่ควรจะได้รับการรักษาเยียวยา

การให้ความสำคัญกับความผูกพันในครอบครัวอย่างล้นเกิน

ในขณะที่หลายๆ สังคมให้ความสำคัญกับการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูกภายหลังการหย่าร้างพอๆ กับความพยายามหาทางรักษา “ครอบครัวที่สมบูรณ์” เอาไว้ ดังที่เรามักจะเห็นในหนังฝรั่งหลายๆ เรื่อง ที่ใช้กลไกทางกฎหมายในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก ภายหลังการหย่าร้าง ว่าลูกควรอยู่กับใคร ใครมีสิทธิพบเจอลูกแค่ไหนและเมื่อไหร่ เป็นต้น แต่สังคมไทยกลับมีอคติที่ไม่ดีกับการหย่าร้างมากเกินไป เราไม่มองว่าการทะเลาะเบาะแว้ง การเข้า-ออกจากสถาบันครอบครัว การแยกทาง การหย่าร้างเป็นปัญหาปกติที่เกิดขึ้นในทุกๆ สังคมมนุษย์ เราพยายามไกล่เกลี่ย รอมชอม กดดันและบีบบังคับ (โดยสังคม) ให้ใครบางคนต้องอดทนกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรักษาครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติเอาไว้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนที่โดนกดขี่ กลายเป็นผู้แบกรับต้นทุน/ภาระ ในการประคับครองครอบครัวตามอุดมคติแบบไทยเอาไว้บนบ่า

การที่เราสร้าง “กรอบมาตรฐาน” บางอย่างขึ้นมานั้น เป็นส่วนสำคัญที่เข้าไปกดดันและทำให้ผู้คนที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามกรอบมาตรฐานดังกล่าวได้ รู้สึกผิด ย้ำแย่ และทดท้อในชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็ดังเช่น ในปัจจุบันมีการรณรงค์กันอย่างเข้มข้นในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งถ้าหากวาทกรรมดังกล่าวสามารถสถาปนาขึ้นเป็นกรอบมาตรฐานหลักของสังคมไทยได้แล้ว ก็จะทำให้ผู้หญิงหลายคนที่ไม่สามารถเลี้ยงลูก ดูแลลูก หรือให้นมลูกด้วยนมของตนได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องรู้สึกว่าตนเองได้กลายเป็น “แม่ที่บกพร่อง” ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ต้องกลายเป็น “แม่” ที่ไม่สมบูรณ์ตามอุดมคติของแม่แบบไทยๆ

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เราพบเห็นได้ทั่วไปตามป้ายโฆษณาบนท้องถนนในปัจจุบัน คือการผลิตวาทกรรมว่าด้วยการเป็นลูกผู้ชายที่แท้จริงต้องบวชให้ได้อย่างน้อยหนึ่งพรรษา ซึ่งถ้าหากวาทกรรมดังกล่าวถูกผลักดันให้กลายเป็นกรอบมาตรฐานของสังคม ก็จะทำให้ผู้ชายจำนวนนับไม่ถ้วนที่บวชไม่ถึงหนึ่งพรรษา (ดังเช่นตัวผู้เขียนเองเป็นต้น) ต้องรู้สึกว่าตนเองบกพร่อง เป็นปมด้อย และเป็น “ลูก(ผู้)ชาย” ที่ไม่สมบูรณ์

ในกรณีเรื่องการหย่าร้างก็เช่นเดียวกัน การที่เด็กคนหนึ่งไม่กล้าที่จะบอกว่าตนไม่มีพ่อหรือแม่ และรู้สึกว่าตนเองเป็นปัญหา มีปมด้อย ไม่สมบูรณ์ และรู้สึกกลัว ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตนเองและปัญหาที่มีต่อสังคม จนต้องกลายเป็นเด็กมีปัญหา ไม่ได้เป็นเพราะพ่อแม่ของเขาแยกทางกัน หรือเพราะเขาขาดความอบอุ่นในครอบครัวเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคม ที่ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์แบบของครอบครัวมากเกินไปต่างหาก ที่เข้าไปกดดันพวกเขาเหล่านั้น

สังคมที่สถาปนากรอบมาตรฐานของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามอุดมคติขึ้นมา สังคมที่ไม่มองว่าการหย่าร้างเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ได้เบียดขับให้พ่อ แม่ หรือใครก็ตามที่ไม่สามารถประคับประครองครอบครัวของตนให้เป็นไปตามอุดมคติดังกล่าวได้ หรือใครก็ตามที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในครอบครัวแบบอุดมคติดังกล่าว กลายเป็นคนที่ดูจะมีปัญหา ไม่มีความรับผิดชอบ มีความบกพร่อง และไม่สมบูรณ์อย่างรุนแรง

ดังนั้น สังคมที่ให้ความสำคัญกับความรัก ความผูกพันในครอบครัวจนล้นเกินต่างหาก ที่กดดันและทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกกลัวที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอกด้วยสิ่งที่เขาหรือครอบครัวของเขาเป็น จนต้องเก็บกดปิดกั้น และแบกรับปัญหาต่างๆ เอาไว้เพียงคนเดียว จนนำมาซึ่งปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับผู้คนในสังคมภายนอก

ครอบครัวที่ดีแบบไทยๆ

“ครอบครัวที่ดี” แบบไทยๆ ที่ต้องเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น ความผูกผัน ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความกตัญญู การเคารพเชื่อฟัง ความสามัคคี ไม่แตกแยก และที่สำคัญคือไม่หย่าร้าง ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับอุดมการณ์ชาตินิยมตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา

อุดมการณ์ชาตินิยมไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความกลมเกลียว ความสามัคคี ความจงรักภักดี ตลอดจนสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ปกครอง (ในทุกๆ ระบอบ) อยู่เสมอมา เพราะการสร้างจินตภาพเรื่อง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ให้เกิดขึ้นในสำนึกของคนทั้งปวง จะช่วยในการจัดระเบียบสังคม รวมทั้งยังช่วยลดความแตกต่างและความขัดแย้ง เอื้อให้เกิดสภาวะที่มีเอกภาพ การสมัครสมานภายใน หรือความสามัคคีภายในชาติสามารถเกิดขึ้นได้  [1] ซึ่งลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ที่ถูกสร้างขึ้นคือ ความพยายามทำให้เราจินตนาการว่าผู้คนภายใน “ชาติ” ก็เปรียบดังญาติพี่น้องที่อยู่ใน “ครอบครัว” เดียวกัน

ในสมัยแผนดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเผยแพร่เนื้อหาของจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ ให้ปรากฏแก่มหาชน  [2] ซึ่งเนื้อหาของจารึกหลักนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของการอธิบาย “การปกครองแบบไทย” ในสมัยต่อมา ซึ่งถือว่ามีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือเป็นการปกครองแบบ “พ่อ” ปกครอง “ลูก”

แต่ช่วงที่อุดมการณ์ชาตินิยมไทยลงมามีบทบาทในการจัดการกับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของประชาชนอย่างเด่นชัดนั้น เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ที่พยายามหาทาง “เพาะ” ความรักชาติ ด้วยการ “เพาะ” ความรักใน “คณะ” ย่อยๆ ให้เกิดขึ้นก่อน โดยที่ผู้มีความรักใน “คณะ” ของตนจะต้องตระหนักว่าทุกคณะเป็นส่วนหนึ่งของ “ชาติไทย” ซึ่งเป็นคณะใหญ่ที่สุด  [3]

พระองค์ทรงสร้างสถาบันหรือชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะรักและเสียสละให้กับชุมชนเหล่านั้น และถ่ายทอดความรักความเสียสละมาสู่ชาติ “คณะ” ที่สำคัญอันหนึ่งได้แก่ “ตระกูล”(ทรงริเริ่มการใช้นามสกุลในประเทศไทย) ซึ่งก็คือ “ครอบครัว” นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อ “ชาติ” ของพระองค์คือชาติที่สามัคคี กลมเกลียว รู้ที่ต่ำที่สูง ไม่ขัดแย้ง และทำตามหน้าที่ “ครอบครัว” ตามอุดมคติของพระองค์จึงต้องเป็นครอบครัวที่มีแต่ความรัก ความกตัญญู ความผูกพัน ความสามัคคี ความกลมเกลียว ไม่แตกแยก ไม่หย่าร้างด้วยเช่นกัน

ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลได้แทรกแซงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมากขึ้น เพราะการแต่งงาน การมีครอบครัว ย่อมหมายถึงการสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความเจริญมั่นคงของชาติ ในช่วงนี้เองเริ่มมีการส่งเสริมให้ประชาชนได้ทำการแต่งงานสร้างครอบครัว มีการนำเสนอแนวทางการดำเนินชีวิตสมรสและแนวทางในการแก้ปัญหาชีวิตสมรส มีการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการสมรสขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อความสะดวกในการสมรส อันคำนึงถึงความประหยัด ชี้แนะเกี่ยวกับการตรวจร่างกายก่อนสมรส รวมไปถึงการกำหนดพิธีสมรสมากคู่ในคราวเดียว  [4]

การเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์ของชาติเปรียบดังความสัมพันธ์ของครอบครัวถูกตอกให้ลงลึกในความรู้สึกของผู้คนมากขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้ลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูกหรือที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่าระบบพ่อขุนอุปถัมภ์ โดยมีหลวงวิจิตรวาทการและพระยาอนุมานราชธนเป็นปัญญาชนเบื้องหลังคนสำคัญ นโยบายต่างๆ ของจอมพลสฤษดิ์จึงสะท้อนการเป็นผู้นำแบบ “พ่อขุน” ไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือ “ลูกๆ” ด้วยความเมตตา การรักษาความเรียบร้อยในครอบครัว และการส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรม เป็นต้น [5] 

ความสัมพันธ์อันสมบูรณ์แบบในครอบครัว ระหว่าง “พ่อ-แม่-ลูก” ได้ถูกเน้นย้ำให้มากยิ่งขึ้นไปอีกในสมัยรัชกาลปัจจุบัน มีการเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกลาปัจจุบันว่า “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” มีการประดิษฐ์วันพ่อ วันแม่ และวันเด็กขึ้นมา ซึ่งในวันเหล่านี้ก็จะตามมาด้วยนิทรรศการเพื่อเน้นย้ำให้เราตระหนักว่าใครเป็น “พ่อ” ของชาติ ใครเป็น “แม่” ของชาติ และใครเป็น “ลูกๆ” ของชาติ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความพยายามที่จะรักษาและตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบไทยๆ เอาไว้ นั่นก็คือความสัมพันธ์แบบพ่อปกครองลูกนั่นเอง และเมื่อผู้ปกครองถูกเปรียบเป็น “พ่อ-แม่” พลเมืองหรือผู้ถูกปกครองถูกเปรียบเป็น “ลูก” ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจึงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่สงบเรียบร้อย รู้หน้าที่ รู้ที่ต่ำสูง กตัญญูรู้คุณ ไม่เบาะแว้ง ไม่แตกแยก และเต็มไปด้วยความรักความสามัคคี

การเน้น “ความรัก” ความผูกพัน ความสามัคคี ของผู้คนใน “ชาติ” ที่ถูกเปรียบดัง “ครอบครัว” ได้ทำให้สถาบันครอบครัวไทย ถูกหล่อหลอมไปด้วยทัศนคติแบบชาตินิยมไปด้วย ครอบครัวแบบไทยๆ จึงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่รัก-ผูกพัน-สามัคคี แตกแยกไม่ได้ เมื่อเลือกแล้วก็ต้องช่วยกันประคับประคองความสัมพันธ์แบบ “พ่อ-แม่-ลูก” กันต่อไป ส่วนใครก็ตามที่ทำตามกรอบครอบครัวที่สมบูรณ์แบบไทยๆ ไม่ได้ ก็จะต้องกลายเป็นคนที่มีปัญหา ไม่สมบูรณ์ และมีอะไรผิดแปลก และจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเมื่อคุณไม่สามารถประคับประคองอุดมคติครอบครัวแบบไทยเอาไว้แล้วละก็ คุณย่อมอาจเป็นปัญหา และอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะประคับประคองความสัมพันธ์หรืออุดมคติของการปกครองแบบไทยเอาไว้ไม่ได้เช่นเดียวกัน

วาทกรรมเรื่องความรักความผูกพัน ความสามัคคีเช่นนี้เองที่บีบคั้นให้คนที่หย่าร้างกัน คนที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ รู้สึกบกพร่อง รู้สึกว่าตนไม่สมบูรณ์ จนเกิดความกลัว ความวิตกกังวลที่ล้นเกินมากไป

เชิงอรรถ

[1]  โปรดดูประเด็นนี้ใน สายชล สัตยานุรักษ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535), สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย, พ.ศ.2550,
[2]  สายชล สัตยานุรักษ์, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535), สนับสนุนโดยกองทุนสนับสนุนการวิจัย, พ.ศ.2550, หน้า  20.
[3]  เรื่องการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” สมัยรัชกาลที่ ๖ นี้ผู้เขียนใช้ข้อมูลจาก สายชล สัตยานุรักษ์, เพิ่งอ้าง, หน้า ๖๖-๑๐๕.
[4]  โปรดดูใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ วันแม่ในทศวรรษ 2480: เซ็กส์ ความรักกับความเป็น “แม่พันธุ์” แห่งชาติ ในhttp://prachatai.com/journal/2009/08/25415
[5]  ดูใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2548.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภารกิจครั้งแรกในการหาข้อเท็จจริงในประเทศไทยโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ

0
0

ผู้เสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แห่งสหประชาชาติโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก เยือนไทย 8-19 ส.ค. ตรวจสอบผลกระทบของมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์

เจนีวา/กรุงเทพมหานคร - จอย เนโกซิ อีเซโล่ (Joy Ngozi Ezeilo) ผู้เสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แห่งสหประชาชาติโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก จะมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 8-19 สิงหาคมเพื่อตรวจสอบผลกระทบของมาตรการป้องกันการค้ามนุษย์ในประเทศไทย

“ในระหว่างภารกิจ ข้าพเจ้าต้องการที่จะเข้าถึง กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆและผู้เสียหายจาการค้ามนุษย์ เพื่อได้รับข้อมูลโดยตรงและจะนำไปพิจารณาตามกฎหมายนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในประเทศ”ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนต่อองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์กล่าว

“ข้าพเจ้าหวังว่าจะมีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลเพื่อหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าและความท้าทายที่ยังคงเหลืออยู่ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์” ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนต่อองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ กล่าว

อีเซโล่เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระตามข้อบังคับของสหประชาชาติสภาสิทธิมนุษยชนเพื่อสนับสนุนการป้องกันการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบและการยอมรับของมาตรการเพื่อส่งเสริมและป้องกันปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

ผู้เสนอรายงานฯจะไปเดินทางไปที่จังหวัดกรุงเทพฯ, จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, จังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดสงขลา เธอจะเข้าพบกับตัวแทนของรัฐบาลและตุลาการ,สมาชิกขององค์การระหว่างประเทศและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการต่อสู้กับการค้ามนุษย์และผู้เสียหายด้วยตัวเอง

เมื่อสิ้นภารกิจของ ผู้เสนอรายงานฯจะแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ ในเวลา 11.00 น. วันที่ 19 สิงหาคม 2554

หมายเหตุ: จอย เนโกซิ อีเซโล่ เริ่มบทบาทของเธอในการรายงานพิเศษเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ผู้เชี่ยวชาญอิสระโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กเริ่มต้น ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2551 คุณอีเซโล่เป็นทนายความสิทธิมนุษยชนและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศไนจีเรีย เธอได้ยังทำหน้าที่ต่างๆในภาครัฐ รวมถึงดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการเกียรติยศของกระทรวงการสตรีและการพัฒนาสังคมในรัฐ Enugu เป็นผู้แทนในการประชุมแห่งชาติว่าด้วยการปฏิรูปทางการเมือง เธอได้ให้คำปรึกษากับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และยังมีส่วนร่วมในหลายองค์กรพัฒนาเอกชน โดยเฉพาะงานในสิทธิของผู้หญิง เธอได้มีบทความตีพิมพ์ในหลากหลายหัวข้อซึ่งรวมถึงสิทธิมนุษยชนสิทธิสตรีและกฎหมาย Sharia คุณอีเซโล่ได้รับเกียรติแห่งชาติ (เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไนจีเรีย) ในปี 2549 สำหรับการทำงานด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับอาณัติและกิจกรรมผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนต่อองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้ามนุษย์ได้ที่ http://www2.ohchr.org/english/issues/trafficking/index.htm
OHCHR หน้าประเทศไทย–: http://www.ohchr.org/EN/Countries/AsiaRegion/Pages/THIndex.aspx

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมและสื่อมวลชนกรุณาติดต่อ Ms. Junko Tadaki (หมายเลขโทรศัพท์: +66 84722 6156 / jtadaki@ohchr.org) หรือ Mr. Daniel Collinge (หมายเลขโทรศัพท์: +662 288 1178 / collinge@un.org) หรือเขียนถึงsrtrafficking@ohchr.org

สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ, ติดตามบนสื่อสังคม:
http://www.facebook.com/unitednationshumanrights
https://twitter.com/unrightswire

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรมไทย: คำชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องหูกระป๋อง

0
0

จากการที่มีผู้สอบถามและนำหูกระป๋องและฝาเครื่องดื่มบำรุงร่างกายมามอบให้แก่ชมรมนัก พัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อทำชิ้นส่วนของขาเทียมจำนวนมาก ทางชมรมฯ ขอขอบคุณและชื่นชมในความเอื้ออาทรของทุกท่านเป็นอย่างยิ่งและใคร่ขอชี้แจง ข้อเท็จจริงในการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตขาเทียมให้ทุกท่านได้ทราบดังต่อไป นี้

1.หูกระป๋องหรือฝาเครื่องดื่มเป็นโลหะประเภทอลูมิเนียม ดังนั้นอลูมิเนียมทุกชนิด เช่น กระทะ ขัน กะละมัง ที่เป็นอลูมิเนียมสามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด

2.การรณรงค์นำของเหลือใช้มาทำประโยชน์เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรบริโภคเพื่อหวังจะนำหูกระป๋องมาเพื่อทำขาเทียมช่วยเหลือผู้พิการเพราะหูกระป๋อง 4,200 อัน มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีมูลค่าเป็นเศษอลูมิเนียมเพียง 50 บาท จะหลอมได้ชิ้นส่วนเพียง 5 ชิ้น ในขณะที่เราต้องเสียเงินซื้อเครื่องดื่มอย่างน้อยถึง 42,000 บาท

3.เหตุใดถึงเลือกเฉพาะหูกระป๋องหรือหูเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ถ้าต้องการอลูมิเนียมเพื่อทำขาเทียมจริง ๆ ก็ควรจะรับบริจาค หม้อ ขัน กระทะ เครื่องต่าง ๆ ที่มีส่วนของอลูมิเนียม จะได้ประมาณมากมาย (ถ้าท่านมีศรัทธาอยากจะช่วยเหลือผู้พิการส่งเงินบริจาคไปยังที่อยู่ของหน่วยงานที่ขอบริจาคจะดีกว่าที่จะรวบรวมหูกระป๋อง เพราะนอกจากไม่คุ้มค่าแล้วยังเสียความรู้สึกที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้แก่นักฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ให้แก่ตน)

4.เศษอลูมิเนียมทุกชนิดต้องนำมาหลอมที่อุณหภูมิ 800 C เพื่อจะแปรรูปเป็นอลูมิเนียมแท่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหลอมอลูมิเนียมแท่งและค่าจัดส่งมากกว่าค่าวัตถุดิบ ถ้าหน่วยงานใดที่ต้องการชิ้นส่วนขาเทียม ทางชมรมฯ ยินดีจะผลิตให้พอกับความต้องการและไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

5.ความสามารถในการประกอบขาเทียมจากเศษอลูมิเนียม100 กิโลกรัม เมื่อนำมาทำชิ้นส่วนของขาเทียมจะได้ชิ้นส่วนถึง 500 อัน ผู้ประกอบขาเทียมต้องใช้เวลาประกอบหลายปี ดังนั้นการรณรงค์เพื่อเก็บหูกระป๋องกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศจึงเป็นเรื่องการสร้างภาพของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และควรจะให้ประชาชนได้รู้ความจริง

6.การดื่มน้ำกระป๋อง เป็นการสิ้นเปลือง เพราะแผ่นโลหะที่นำมาทำกระป๋องต้องนำเข้า และต้องจ่ายค่ากระป๋องเพิ่มจากน้ำขวดปรกติถึง3 บาท

7.การสร้างศรัทธาและจิตสำนึกเพื่อช่วยเหลือคนพิการเป็นสิ่งที่ดี แต่การโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายและนำสถาบันเบื้องสูงมาอ้างเช่นนี้ทำให้ผู้ที่มีจิตศรัทธาเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก เรื่องอย่างนี้ … ผู้คุ้มครองผู้บริโภคน่าจะดูแลให้ทั่วถึง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ ชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย

เอกสารเผยแพร่ กรุณาสำเนาแจกจ่ายต่อด้วย

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลรับฟ้อง 'ผู้จัดการ' หมิ่น 'พัชรวาท' กล่าวหานิติกรรมอำพราง

0
0

ศาลรับฟ้อง "นสพ.ผจก" หมิ่นอดีตผบ.ตร. อำพรางโอนรีสอร์ท 100 ล้านให้ลูก สั่งรวมอีก 2 สำนวน เริ่มสืบพยานโจทก์นัดแรก เม.ย.2555

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันนี้(4 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ อ.3490/2552 ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบริษัทเอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่,หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136, 326, 328, 332 สืบเนื่ิองจากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 31 ส.ค.-7 ก.ย.52 จำเลยร่วมกันตีพิมพ์ข่าวกล่าวหาว่าโจทก์ทำนิติกรรมอำพรางทุจริตโดยให้บุตรสาวถือครองรีสอร์ทหรู ราคา 100 ล้านบาทแทน และยังทุจริตงบประมาณเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   

โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์แล้วเห็นว่า คดีมีมูล จึงประทับรับฟ้องไว้พิจารณา โดยศาลสอบคำให้การจำเลยแล้วจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกัน ทนายโจทก์ได้แถลงต่อศาลขอรวมสำนวนเป็นคดีเดียวกับคดีหมายเลขดำ อ.2660/2552 และ อ.2994/2552 ที่โจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยบุคคลเดียวกันไว้แล้ว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คู่ความเป็นคนๆ เดียวกัน และเพื่อความสะดวกต่อการเดินทางมาเบิกความของพยาน จึงอนุญาตให้รวมสำนวนเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้ยึดสำนวนหมายเลขดำ อ.2660/2552 เป็นคดีหลัก

ภายหลังศาลรวมสำนวนคดีแล้ว โจทก์ ได้แถลงขอสืบพยานบุคคล 10 ปากใช้เวลาไต่สวน 4 นัด  ส่วนจำเลยขอสืบพยานต่อสู้คดีรวม 14 ปาก ใช้เวลา 4 นัด

ศาลพิจารณาแล้วอนุญาต โดยเริ่มสืบพยานโจทก์วันที่ 18 เม.ย. 55 เวลา 9.00 น. และสืบพยานติดต่อกันทุกวัน

ทั้งนี้ทนายจำเลย ได้ขอให้ศาลสืบพยานลับหลังจำเลยด้วย เนื่องจากจำเลยมีอาชีพสื่อมวลชนต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่สะดวกในการเดินทางมาฟังการพิจารณาคดีทุกนัด ซึ่งทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้สืบพยานลับหลังจำเลยได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ประเวศ” เสนอปรับค่านิยมใหม่ให้อาชีวะ สำคัญกว่าสายสามัญ

0
0

ประธาน คสป. แนะการศึกษาของชุมชนต้องเรียนรู้จากคนพื้นที่ เสนอตั้งสภาเยาวชน-อุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น เปิดโอกาสเด็กเรียนรู้เอง เร่งสร้างสัมมาอาชีวศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แก้เด็กตีกัน-แรงงานไร้คุณภาพ

วันที่ 5 สิงหาคม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น 2554 “เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกอย่างมีปัญญา” ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษเปิดงานโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในหัวข้อ “สร้างคนสร้างชุมชน สร้างชาติ”

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาของชุมชนท้องถิ่นเริ่มต้นได้โดยการทำฐานข้อมูลอาชีพมนุษย์ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นคน สร้างการเรียนรู้กับปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งประเทศจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ ต้องเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน และงดการเรียนในห้องเรียนลง เพิ่มการเรียนในแหล่งเรียนรู้ชุมชนอันหลากหลาย และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เช่น การสร้างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา หรือศูนย์การเรียนรู้พิเศษเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำตำบล เป็นต้น

“เด็กและเยาวชนควรจะมีโอกาสได้คิดและจัดการตนเอง เพื่อให้สมองส่วนหน้าเจริญเติบโต มีสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม จึงควรตั้ง สภาเยาวชน ในทุกตำบล ให้เด็กรวมตัวกันคิดว่าอยากทำอะไร เช่น กีฬา ศิลปะ ดูแลสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงกันระหว่างตำบล จังหวัดเป็นเครือข่าย รวมระหว่างพลังอดีตกับอนาคต คือ พลังของผู้ใหญ่ที่เข้าไปสนับสนุนเด็กๆ ก็จะเป็นพลังมหาศาลของเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ นี่คือหนึ่งทางที่การศึกษาของชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้”

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงระบบการศึกษาปัจจุบันบิดเบี้ยว ทั้งๆ ที่สายอาชีวะศึกษาควรจะสำคัญกว่าสายสามัญศึกษา แต่ประเทศไทยกลับเป็นประเทศที่ดูถูกการทำงาน เป็นประเทศของชนชั้น คนชั้นบนดูถูกคนทำงานชั้นล่างว่า เป็นคนชั้นต่ำ ไม่ดี ดังคติที่ว่า รักดีห้ามจั่วรักชั่วหามเสา ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน หรือ ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน เป็นทัศนคติที่รังเกียจการทำงาน ในขณะที่ประเทศอื่นไม่เป็น จึงควรสร้างสัมมาอาชีวศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ให้อาชีวะศึกษามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี

“หากอาชีวศึกษาถูกมองว่าเป็นเรื่องต่ำต้อย ไม่มีเกียรติ แล้วเด็กอาชีวจะอยู่อย่างไร เมื่อไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี เขาก็พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ในทางลบ อันเป็นที่มาของการตีกัน เราต้องสร้างค่านิยมสัมมาอาชีวะศึกษา ให้เป็นเรื่องดี มีเกียรติ” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างสัมมาอาชีวะศึกษาสำหรับคนทั้งมวล โดยทุกภาคส่วน รวมถึงสถานประกอบการต้องยื่นมือมาทำการศึกษาท้องถิ่น สร้างสัมมาอาชีวะศึกษา เพื่อให้ได้แรงงานที่ทำงานเป็น มีความอดทน รับผิดชอบ อันจะเกิดความสำเร็จทั้งสถานประกอบการและชุมชนท้องถิ่น

ประธาน คสป. กล่าวอีกว่า การศึกษาของชุมชนท้องถิ่น สามารถนำระบบสุขภาพชุมชน ที่มีโครงสร้างทั่วถึงมาก มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาชุมชนท้องถิ่นและผนวกรวมกับระบบการสื่อสารชุมชนท้องถิ่นได้ โดยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารในชุมชน เข้ามาคิดอย่างจริงจังว่าจะใช้การสื่อสารทุกชนิดมาทำการศึกษาเพื่อคนในท้องถิ่นอย่างไร

“นอกจากนี้ ควรนำวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตในชุมชน เข้ามาเชื่อมโยงความรู้และเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่น อาจมีการฝึกทำหนังสือพิมพ์ชุมชน เห็นได้ว่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ระดับชาติตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจและการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนจึงสามารถนำความคิด เรื่องราว ข้อเสนอและนโยบายภายในชุมชนมาทำเป็นช่องทางสื่อสาร เชื่อมโยงกันทั่วประเทศขึ้นมาจากข้างล่าง ลดทอนพลังจากข้างบนลง”

ประธาน คสป. กล่าวถึงการจัดอุดมศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่นด้วยว่า เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว เรื่อง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดจึงควรมี 1 มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เป็นอุตรดิตถ์โมเดล ที่ทำงานร่วมกับจังหวัด ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งมีสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ของท้องถิ่น รวบรวมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้มากหากมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี แต่เนื่องจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยปัจจุบันยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี ใช้ศักยภาพเพียง 5-10% เท่านั้น มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้มากกว่านั้นอีกมาก

“ในแต่ละจังหวัดควรจะตั้งเป็นสภาการศึกษาของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล นำโดยสภาผู้นำชุมชน เชื่อมโยงสู่ระดับตำบล และในระดับจังหวัด หากมีสภาการศึกษาของจังหวัด ก็ไม่ควรจะเป็นแบบรูปเดิมที่มีแค่นักการศึกษา ครูกับคนที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ควรจะเป็นภาคีพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ เพราะคือการศึกษาที่บูรณาการกับทุกเรื่อง”

ศ.นพ.ประเวศ  กล่าวด้วยว่า หลักการดังกล่าวแม้เป็นเรื่องยาก แต่หากร่วมกันทำจากข้างล่างขึ้นมา ด้วยหลักการชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ก็จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งประเทศ เกิดเป็นสังคมศานติสุข ซึ่งเชื่อว่า หากคนไทยหยุดทะเลาะกัน และร่วมมือกันทุกระดับอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกันสู่ทิศทางใหม่ที่คนไทยจะอยู่ร่วมกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เริ่มต้นด้วยการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ก็จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้

ที่มาข่าว: ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แกนนำต้านถ่านหินสมุทรสาคร ฟ้องศาลปกครองสั่งคุ้มครองทั้งจังหวัด

0
0

อดีตยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด ยื่นฟ้องผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ต่อศาลปกครองกลาง ละเว้นการปฏิบัติหน้า ที่อนุญาตให้มีการขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำท่าจีน

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 54 ที่ผ่านมาเนชั่นทันข่าวรายงานว่านายสนธิญา สวัสดี อดีตยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดสมุทรสาคร ยื่นฟ้อง นายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ต่อศาลปกครองกลาง ฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อนุญาตให้มีการขนถ่ายถ่านหินในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในแม่น้ำท่าจีน สภาพแวดล้อมถูกทำลาย และไม่ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับเรือบรรทุกถ่านหิน รวมทั้งท่าขนถ่ายถ่านหินที่ไม่ได้รับอนุญาต

นายสนธิญาระบุในคำร้องว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและไม่ได้รับคำตอบใด ๆ จึงขอใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 67 และ 74 ขอให้ศาลมีคำสั่งย้ายผู้ว่าฯจังหวัดสมุทรสาครออกนอกพื้นที่ภายใน 30 วัน และขอให้ผู้ว่าฯออกคำสั่งบังคับห้ามขนถ่ายถ่านหินภายในพื้นที่ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ทั้งตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า ห้ามไม่ให้เรือบรรทุกถ่านหินเข้ามาจอดเทียบท่าในแม่น้ำท่าจีน รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามการขนถ่ายถ่านหินจากเรือ รถยนต์หรือพาหนะใด ๆ เข้ามาในพื้นที่จนกว่าการพิจารณาของศาลตามคำฟ้องจะแล้วเสร็จ

ใน จ.สมุทรสาครมี 3 อำเภอ 40 ตำบล ภายหลังการเสียชีวิตของนายทองนาค เศวตจินดา แกนนำต่อต้านถ่านหินในพื้นที่ ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทำให้ศาลปกครองมีคำสั่งห้ามขนถ่ายถ่านหินเฉพาะในเขต ต.ท่าทรายเพียงตำบลเดียว ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ได้รับผลกระทบมีถึง 34 ตำบล ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรและประมง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการขนถ่ายถ่ายหินของเรือบรรทุกถ่านหินมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไขทั้งจากผู้ประกอบการและผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ในจ.สมุทรสาครมีโรงงานมากกว่า 5,700 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 10% ที่ใช้พลังงานถ่านหินทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพงเพื่อประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ยังมีการสร้างท่าเทียบเรือทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากในเขต ต.บางหญ้าแพรก ต.ท่าฉลอม ต.โกรกกราก ต.ท่าทราย และต.คลองมะเดื่อ

“การขนถ่ายถ่านหินได้สร้างผลกระทบกับแม่น้ำ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดคำสั่งในการแก้ไขปัญหาจึงคุ้มครองเฉพาะ ต.ท่าทรายแห่งเดียว ทั้งที่ความเสียหายเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งจังหวัด จึงต้องการให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวยกเลิกการขนถ่ายถ่านหินทั้งจังหวัด”นายสนธิญา กล่าว

นายสนธิญา กล่าวอีกว่า หากคดีไม่มีความคืบหน้า ตนจะเข้าพบนายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)เพื่อร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบการเข้าออกของเรือบรรทุกถ่านหิน จนทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายอำพล กล่าวว่า ขณะนี้ป.ป.ท.อยู่ระหว่างติดตามผลการการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากประชาชนหรือหน่วยงานเกี่ยวข้องจะเข้าพบเพื่อมาขอความช่วยเหลือป.ป.ท.ก็พร้อมเข้าไปช่วยตรวจสอบ แต่ขณะนี้อยากให้เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมจังหวัดที่ต้องไปตรวจสอบเรื่องผลกระทบทางมลภาวะในด้านต่างๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live