Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

พม่า - กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" ลงนามหยุดยิงรอบใหม่

$
0
0

กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA และรัฐบาลพม่าลงนามหยุดยิงกันอีกรอบ หลังสัญญาหยุดยิงสองฝ่ายที่มีมาตั้งแต่ปี 2532 เป็นโมฆะจากเหตุรัฐบาลกดดันกลุ่มหยุดยิงเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF เป็นเหตุให้สองฝ่ายเปิดฉากรบกัน

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะเจรจากองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" หรือ พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน กองทัพรัฐฉาน SSPP/SSA ได้พบเจรจาสันติภาพกับคณะเจรจาฝ่ายรัฐบาลพม่า ที่ทำเนียบรัฐบาลรัฐฉาน เมืองตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน การเจรจาสองฝ่ายแบ่งเป็นสองระดับ ระดับรัฐและสหภาพ โดยคณะเจรจากองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA กว่า 10 คน พร้อมด้วยทหารติดตามมีอาวุธครบมือรวมกว่า 100 นาย เดินทางจากบ้านไฮ เมืองเกซี รัฐฉานภาคเหนือ

พ.อ.เจ้าจายละ โฆษก SSPP/SSA เปิดเผยว่า ช่วงเช้าคณะเจรจาสันติภาพของ SSPP/SSA รวม 7 คน นำโดยเจ้าขุนแสง ได้พบหารือกับคณะเจรจาพม่าระดับรัฐบาลรัฐฉาน นำโดยเจ้าอ่องเมียด นายกฯ รัฐฉาน โดยมีเจ้าหน้าที่สำคัญกองทัพและในรัฐบาลรัฐฉานเข้าร่วม การเจรจาสองฝ่ายได้ข้อตกลงร่วมกัน 5 ข้อ ได้แก่ 1.สองฝ่ายเห็นพ้องหยุดยิง 2.ให้ "บ้านไฮ" ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ SSPP/SSA เป็นพื้นที่อยู่อาศัยครอบครัวเจ้าหน้าที่และทหาร SSPP/SSA ต่อไป 3.ให้ SSPP/SSA ตั้งสำนักงานประสานงานที่เมืองตองจี (รัฐฉานตอนใต้) เมืองล่าเสี้ยว (รัฐฉานภาคเหนือ) และโขหลำ (รัฐฉานภาคกลาง) 4.หากต้องพกพาอาวุธเข้าพื้นที่ซึ่งกันและกันจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และ 5.สองฝ่ายจะเจรจาระดับสหภาพเพื่อสันติภาพ การพัฒนา และดำรงอยู่ของประชาชนเป็นเกิดขึ้นอย่างถาวร

จากนั้นในช่วงบ่าย สองฝ่ายมีการเจรจาสันติภาพระดับรัฐบาลสหภาพ ฝ่ายพม่านำโดยอูอ่องตอง ส.ส.รัฐบาลพม่าและเลขาธิการพรรค USDP ฝ่าย SSPP/SSA มีเจ้าเครือไตย เลขาธิการที่ 1 เป็นแกนนำ การเจรจาสองฝ่ายได้ข้อสรุปและลงนามร่วมกัน 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.สองฝ่ายเห็นพ้องตกลงร่วมในการเจรจาระดับรัฐ 2. สองฝ่ายเห็นพ้องไม่ให้ความเป็นสหภาพแตกแยก และเพื่อให้ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวแห่งอำนาจอธิปไตยคงอยู่ตลอดกาลนั้นให้ขึ้นอยู่กับน้ำใจปางโหลง (สัญญาปางโหลง) 3.การพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวเจ้าหน้าที่และทหาร SSPP/SSA ให้สอดคล้องตามกฎหมายและอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาล 4.ร่วมกันปราบปรามยาเสพติด และ 5.สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะหารือและเจรจากันอีกเพื่อให้สันติภาพสองฝ่ายเกิดขึ้นอย่างถาวร

ทั้งนี้ หลังการลงนามข้อสัญญาสันติภาพสองฝ่ายแล้วเสร็จ รัฐบาลพม่าโดยอูอ่องตอง และอูเต็งส่อ ได้มอบข้าวสารจำนวน 500 กระสอบ เครื่องกำเินิดไฟฟ้า โซลาเซล 50 ชุด และจานรับสัญญาณดาวเทียม 20 ชุด ให้ SSPP/SSA โดยมีเจ้าเครือไตย และเจ้าขุนแสง เป็นผู้รับมอบ

กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" SSPP/SSA มีพล.ต.ป่างฟ้า เป็นผู้นำสูงสุด มีพื้นที่เคลื่อนไหวในรัฐฉานภาคกลางและภาคเหนือ เคยทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2532 และเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา SSPP/SSA ถูกรัฐบาลกดดันเปลี่ยนสถานะเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน ฺ(Border Guard Force) เช่นเดียวกันกองกำลังกลุ่มอื่นๆ หลังปฏิเสธได้ถูกรัฐบาลพม่ากำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย และเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2554 ถูกกองทัพพม่าโจมตีอย่างหนัก นับจากนั้นทั้งสองฝ่ายพยายามเจรจาสงบศึกกันหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยึดครองทุกแห่ง: แรงบันดาลใจจากออคคิวพายฯ สู่ประเทศไทย

$
0
0

สารคดี: ยึดครองทุกแห่ง: แรงบันดาลใจจากออคคิวพายฯ สู่ประเทศไทย
ความยาว 5 นาที 53 วินาที
ถ่ายภาพโดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทย์ขจร
ตัดต่อและกำกับโดย 'เอมิลี่'

วิธีอ่านคำบรรยายภาษาไทย: ขณะเล่นวิดีโอให้กดปุ่ม cc บริเวณมุมล่างขวาของจอวิดีโอ

 

คำอธิบายโดยผู้ผลิตสารคดี

ประชาธิปไตยภายในขบวนการและแนวร่วมที่เข้มแข็ง คือ ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวกลุ่ม “ออคคิวพายวอลล์สตรีท” ที่ทำให้เราสองคนสนใจและตัดสินใจทำวิดีโอขนาดสั้นนี้ขึ้นระหว่างที่เราเข้า ร่วมสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวที่นิวยอร์คช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือน พฤศจิกายนปีที่แล้ว วัตถุประสงค์เบื้องต้นก็คือ เราต้องการแนะนำและจุดประกายให้คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเคลื่อนไหวและนักจัดตั้งในบ้านเราได้รู้จักหลักการพื้น ฐานและวิธีการของการจัดตั้งที่เรียกว่า “กระบวนสร้างฉันทามติ (consensus-building process)”

เราเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวมีจุดแข็งที่ทำให้ขบวนการออคคิวพายฯ สามารถขยายฐานการเคลื่อนไหวและผลักดันประเด็นของตนเองจนเกิดความตระหนักใน เรื่องนี้อย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970s อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่าขบวนการนี้ไม่ได้ปราศจากข้อบกพร่องและประเด็นปัญหาเร่งด่วน ในบริบทของแต่ละสังคมนั้นแตกต่างกันไป หัวใจสำคัญก็คือ เราเล็งเห็นว่าสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญทางการเมืองและต้อง การแรงบันดาลใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเชิงยุทธศาสตร์ของการขับเคลื่อนที่จะช่วยให้ขบวนการประชาธิปไตยในประเทศสามารถสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของการเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิกฤติสิ่งแวดล้อมในมุมมองสังคมนิยม

$
0
0

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอในเวที "วิกฤติสิ่งแวดล้อมในมุมมองสังคมนิยม" เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2555 เวลา 17.00 -18.45 น. ในงานสัมมนา Marxism ณ สำนักงานมูลนิธิ 14 ตุลา จัดโดยกลุ่มประกายไฟ

 

เมื่อเร็วๆ นี้มีเสียงบ่นจากนักสิ่งแวดล้อมชื่อดังทางเฟซบุ๊กทำนองที่ว่ามีแต่คนพูดเรื่องการเมือง แต่ไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์หรือการต่อรองของฝ่ายต่างๆ เพื่ออำนาจ ได้ยินทัศนะแบบนี้ก็น่าแปลกใจกึ่งเศร้าใจที่ยังมีคนคิดแบบนี้อยู่ ซึ่งคิดไปคิดมาก็คงมีอีกมากโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่มีมุมมองแบบสิ่งแวดล้อมนิยม โดยไม่เห็นความเชื่อมโยงกับเรื่องทางการเมือง

เรื่องที่จะพูดวันนี้คงไม่ใช่เรื่อง "สังคมนิยม" เพราะไม่ถนัด แต่จะพูดเรื่องนิเวศวิทยาการเมืองที่ใช้เป็นกรอบทำความเข้าใจปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่ได้รับอิทธิพลมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซิสต์โดยตรง

จะขอพูด 3 ประเด็น

1.นิเวศวิทยาการเมืองคืออะไร เกี่ยวข้องกับมาร์กซิสม์อย่างไร

2.ใช้กรอบนิเวศการเมืองวิพากษ์การใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วม ที่พยายามผลักดันกันอยู่ในปัจจุบัน

3.ชี้ให้เห็นว่าการพยายามแก้ไขปัญหาทรัพยากรมีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

นิเวศวิทยาการเมืองคืออะไร
นิเวศวิทยาการเมืองมีหลายแนว แต่แนวที่ใช้อยู่มีพัฒนาการมาจากนักคิดแนวภูมิศาสตร์มนุษย์ ที่พยายามจะถกเถียงในสองประเด็นหลัก

หนึ่ง เถียงกับนักวิทยาศาสตร์ที่มองแต่เรื่องทางกายภาพ โดยเสนอว่าเรื่องของ "ธรรมชาติ" การขาดสมดุลของระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรที่มากเกินไป แต่เกี่ยวโยงกับเงื่อนไขทางสังคมการเมืองอย่างมาก

สอง เถียงกับแนวคิดการพัฒนาที่มองว่าความยากจนและคนยากจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การกล่าวหาคนจนเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาทางนิเวศวิทยาการเมืองในประเทศโลกที่สาม เพื่อจะสร้างคำอธิบายใหม่ว่าการถูกครอบงำทางเศรษฐกิจการเมืองโดยประเทศโลกที่หนึ่ง การขูดรีดทรัพยากรตั้งแต่สมัยอาณานิคม และการถูกผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมโลกต่างหากที่ทำให้ทรัพยากรในประเทศโลกที่ 3 ถูกทำลาย และคนยากคนจนในประเทศโลกที่ 3 ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าคนรวยเพราะอยู่ในภูมิประเทศที่สุ่มเสี่ยงมากกว่า มีเงินและทุนในการรับมือกับปัญหาน้อยกว่า

เช่น กรณีน้ำท่วมที่ผ่านมา แม้จะบอกว่าเป็นภัยธรรมชาติ แต่ก็จะพบว่าผู้คนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน มีคนชั้นในที่ไม่ถูกน้ำท่วม คนรวยรอบนอกก็หนีออกไปตั้งแต่น้ำยังมาไม่ถึง แต่คนจนคนจนลอยคอ ทุกวันนี้หลายคนก็ยังรอคอยการฟื้นฟูอยู่ ขณะที่คนรวยล้างบ้านอบโอโซนฆ่าเชื้อราทาสีใหม่ไปเรียบร้อย

นิเวศการเมืองวิเคราะห์ด้วย Interactive Approach คือวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคมที่เป็นเงื่อนไขของภัยธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอาจเกิดขึ้นจริง แต่มันถูกหยิบยกให้เป็นปัญหาในสังคมเพราะเงื่อนไขทางการเมือง เช่น ไฟป่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติทุกปี แต่วันหนึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลก เพื่อจะบอกว่าคนในป่าเผาป่าและควรถูกอพยพออกจากป่า หรือเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของบประมาณจัดการไฟได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

โดยสรุปคือนิเวศวิทยาการเมืองพยายามชี้ว่ากระบวนการทางเศรษฐกิจการเมือง มีส่วนกำหนดรูปแบบการใช้และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ บางครั้งพวกนักสิ่งแวดล้อมมีข้อเสนอดีๆ ให้เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ใช้รถพรีอูซเราเองก็เห็นด้วย แต่ทำไมเราทำตามไม่ได้ แอนโธนี กิดเดนส์ มาร์กซิสต์คนหนึ่ง อธิบายเรื่องนี้ว่าก็เพราะเราอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่กำกับควบคุมอยู่นั่นเอง


คุณูปการจากมาร์กซิสม์

1) นิเวศวิทยาการเมืองแนวที่นี้ รับอิทธิพลมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองของมารกซิสต์ ได้อิทธิพลของวัตถุนิยมวิภาษวิธีคือวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่ขับเคลื่อนความเป็นไปทางสิ่งแวดล้อม

2) เป็นการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์

3) เป็นการวิเคราะห์โครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใช้การวิเคราะห์ชนชั้นมาแสดงให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคม จะแก้ไขปัญหามลพิษด้วยการออกรถไฮบริด หรือการทำไบโอดีเซลคงไม่พอ ตราบเท่าที่คนในสังคมมันยังไม่เท่ากันไม่เสมอภาคกัน

4) นิเวศวิทยาการเมืองวิจารณ์รัฐ และระบบทุนนิยม ว่าเป็นตัวการของปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บทวิจารณ์ของนักนิเวศวิทยาการเมืองต่อมาร์กซิสต์มีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นการนำไปต่อยอด เพราะเห็นว่ายังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้วิเคราะห์ปัญหาไม่ครอบคลุม แต่วันนี้คงไม่มีเวลาลงรายละเอียดเรื่องนี้
 

ระบบกรรมสิทธิ์ร่วม Common Property ผ่านมุมมองนิเวศวิทยาการเมือง

สิทธิเหนือทรัพยากรเป็นเรื่องหนึ่งที่นิเวศวิทยาการเมืองให้ความสำคัญ เพราะทำให้เกิดปัญหามากมาย โดยมองว่าจำเลยสำคัญอยู่ที่รัฐ กับ ทุนนิยม ในกรณีของประเทศไทย ตามกฎหมายสิทธิเหนือที่ดินป่าไม้มีแค่สองแบบคือกรรมสิทธิ์ของรัฐ และกรรมสิทธิ์เอกชนที่บริหารจัดการด้วยกลไกตลาดเป็นหลัก คนฐานะดีจึงซื้อที่ดินกักตุนได้ แต่คนจนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน

มาร์กซิสต์เห็นว่าการควบคุมผูกขาดปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะแรงงานและที่ดินของนายทุนเป็นปัญหาสำคัญของระบบทุนนิยม ทำให้แรงงาน และชาวนาชาวไร่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขบวนการชาวไร่ชาวนาไทยตั้งแต่กลางทศวรรษ 2510 เรื่อยมาก็ได้รับอิทธิจากแนวคิดนี้ มีการต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดิน ค่าเช่านา การกระจายการถือครองที่ดิน และแนวทางนี้มีอิทธิพลมาถึงขบวนการชาวนาในปัจจุบัน

ขณะที่มาร์กซิสต์เสนอเรื่องการผลิตร่วมและกรรมสิทธิ์ส่วนร่วม ก็มีแนวคิดเรื่อง Tragedy of the Commons (1968) ของ Garrett Hardin ซึ่งเป็นนักนิเวศวิทยาที่บอกว่าหากทรัพยากรกลายเป็นของส่วนรวมเมื่อไหร่จะกลายเป็นโศกนาฏกรรม เพราะแต่ละคนจะเข้าไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่สนใจดูแลรักษา

แต่ไม่นานก็มีการแย้งว่าในชุมชนท้องถิ่นที่ระบบการจัดการทรัพยากรดูแลร่วมกันได้ มีกฎเกณฑ์การใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นระบบ Common Property เพื่อจะบอกว่ารัฐอย่ามาผูกขาดอำนาจเหนือทรัพยากร หรือเอื้อประโยชน์ให้นายทุนด้วยการใช้ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนที่ใช้กลไกตลาดในการจัดการทรัพยากร

แนวคิดเรื่อง Common Property ได้รับความสนใจมากในแวดวงนิเวศวิทยาการเมือง เช่นเดียวกับในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมือง และเศรษฐศาสตร์สถาบัน งานพัฒนาในประเทศโลกที่สามก็มักจะหยิบเอาเรื่องนี้มาเผยแพร่และส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น

ในประเทศไทยพูดเรื่องนี้กันมากช่วงปลายทศวรรษ 2520 เมื่อมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบเหมืองฝาย และต่อมาก็ป่าชุมชน ซึ่งพยายามไปเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อเรื่องผีซึ่งเป็นอุดมการณ์อำนาจที่ควบคุมการจัดการทรัพยากร ต่อมาก็พูดเรื่องสิทธิชุมชน เรื่อยมาจนถึงโฉนดชุมชนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลแรกที่รับลูก

 

ปัญหาของการพยายามใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วม

ข้อแรก เรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรไม่ใช่เรื่องของคนกับทรัพยากรเท่านั้น แต่เป็นการกำหนดสิทธิระหว่างคนกับคนในสังคมด้วยกันเอง งานศึกษาและข้อเสนอในเรื่อง Common Property จึงเน้นไปที่การจัดความ "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ระหว่างผู้คน แต่ก็มักพูดถึงแต่ความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับรัฐ หรือชุมชนกับนายทุนหรือคนภายนอกเนื่องจากบริบทปัญหาในขณะนั้นเป็นเช่นนั้น เช่น รัฐให้นายทุนมาสัมปทานทำไม้ รัฐประกาศเขตป่าทับที่ ฯลฯ งานศึกษาและงานเขียนพยายามแสดงให้เห็นการจัดการทรัพยากรของชุมชน มีแนวโน้มไปทางโรแมนติก คือชุมชนจัดการดีไปหมด เกรงว่าถ้าบอกว่าไม่ดี หรือขัดแย้งกันภายในก็จะหมดความชอบธรรมในการอ้างอำนาจเหนือทรัพยากร

แต่สิ่งที่มักขาดไปคือไม่แสดงให้เห็นความแตกต่างหลากหลายและความขัดแย้งภายในชุมชนที่มากพอ ถ้ามองแบบมาร์กซิสต์ก็คือขาดการวิเคราะห์ทางชนชั้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ แต่งานทางมานุษยวิทยาเศรษฐกิจจะให้ความสำคัญกับความแตกต่างของฐานะทางสังคมเศรษฐกิจภายในชุมชน โดยที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางสังคมภายนอกว่าทำคนในชุมชนไม่เท่าเทียมอย่างไร และมีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในชุมชนอย่างไร

เมื่อไม่วิเคราะห์ความแตกต่างจึงทำให้มีข้อเสนอที่โรแมนติก คือชุมชนจัดการกันเองได้ ไม่สนใจรัฐหรือกลไกอำนาจและสถาบันต่างๆ ในรัฐ ไม่เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏในทุกๆ หน่วยทางสังคม คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะรัฐหรือนายทุนกับประชาชน แต่มีความไม่เสมอภาคระหว่างประชาชนด้วยกันเองด้วยซึ่งที่สุดแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ที่แม้จะสามารถจัดการทรัพยากรด้วยระบบกรรมสิทธิ์ร่วมได้ก็อาจไม่ช่วยทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

ปัญหาข้อที่สอง งานศึกษาเกี่ยวกับ Common Property ในต่างประเทศ รวมทั้งในไทย เป็นการศึกษาระบบที่เคยมีอยู่แล้วในชุมชนท้องถิ่น หรือท้องถิ่นปรับประยุกต์ขึ้นเองเพื่อต่อรองกับอำนาจภายนอก แต่ขณะนี้มีความพยายามส่งเสริมแนวคิดนี้โดยสร้างให้เป็นโมเดล กลายเป็นกรอบการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นที่แข็งตัว ซึ่งมีธงว่าชุมชนท้องถิ่นต้องปกปักษ์รักษาทรัพยากรเอาไว้ให้ได้ และต้องเป็นวิถีทางแห่งการอนุรักษ์ โดยไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขปัจจุบันว่าชุมชนเป็นอยู่อย่างไรจริงๆ ผลที่เกิดขึ้นกลายเป็นการควบคุมชุมชนมากกว่าจะช่วยต่อรองให้ชุมชนมีอำนาจเหนือทรัพยากรมากขึ้น

ความจริงเป้าหมายของการจัดการทรัพยากรแบบนี้ดีอยู่แล้วคือ เพื่อกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรจากรัฐมาสู่ประชาชนอย่างเป็นธรรมมากขึ้น แต่ยังต้องใคร่ครวญว่าแนวทางปฏิบัติจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายแค่ไหนอย่างไร

การจัดการร่วมจะบรรลุก็ต่อเมื่อดำเนินการอย่างเป็นประชาธิปไตย คือต้องให้ทั้งเสรีภาพ และทำให้ปัจเจกมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เหตุผลหนึ่งที่สังคมคอมมิวนิสต์มีปัญหาก็เพราะเป็นการบังคับปัจเจกให้ทำเพื่อส่วนรวม คือให้ใช้แรงงานทำการผลิตในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วม แล้วให้ปัจเจกได้รับส่วนแบ่งตามความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีปัญหาในการนิยามความ "จำเป็น" เพราะเป็นเรื่องของการประกอบสร้างทางสังคม (social construction) ที่แต่ละคน "จำเป็น" ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน


กรณีตัวอย่าง

หลายปีก่อนมีโอกาสลงพื้นที่ ทั้งศึกษาเอง และไปสังเกตการณ์ การทดลองใช้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วม จะยกตัวอย่างให้เห็นว่ามีปัญหาอย่างไร

กรณีแรก มีความพยายามทดลองการทำนารวมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ภาคเหนือ และอีกแห่งที่อีสาน เป็นระบบการผลิตร่วมกัน มีเป้าหมายให้ชุมชนได้ใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน นารวมที่ภาคเหนือใช้ที่ดินที่นายทุนปล่อยรกร้างว่างเปล่า ปรากฏว่าคนมาทำนาส่วนใหญ่เป็นคนอายุมาก ซึ่งก็ทำมั่งไม่ทำมั่ง เพราะไม่ไหว ผลผลิตที่ได้จึงต่ำมาก

ส่วนที่ภาคอีสานเป็นการเข้าหุ้นที่ดินและปัจจัยการผลิต คนที่เอาที่ดินมาลงหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่อยากทำนา แต่ไม่มีแรงงาน เพราะลูกหลานออกรับจ้างไปตัดอ้อยทั้งฤดูบ้าง รับจ้างรายวันบ้าง ส่วนคนที่มาออกแรงมีทั้งแกนนำชุมชน ซึ่งทำการผลิตของตนเองอยู่แล้วและขยายกำลังการผลิตเพิ่มมาในที่ดินส่วนรวม การทำนารวมที่นี่ได้ผลผลิตดี แบ่งกันตามส่วน แต่ก็ไม่บรรลุเป้าหมายที่ว่าจะช่วยเหลือชาวนาไร้ที่ดิน หรือช่วยกระจายทรัพยากร เพราะชาวนาไร้ที่ดินก็ไม่ค่อยมาทำ แต่ออกไปรับจ้าง ผู้ที่ร่วมในระบบดังกล่าวกลับเป็นอดีตชาวนาที่มีที่ดินและมีเงินส่งกลับจากลูกหลาน

การทำเกษตรในปัจจุบันต้องลงทุนสูงทั้งแรงงาน และปัจจัยการผลิต การแก้ปัญหาเรื่องที่ดินอย่างเดียวบางทีก็ไม่ตอบโจทย์ว่าจะช่วยให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นหรือเปล่า มีงานวิจัยเรื่องนี้อยู่มาก แต่ไม่ค่อยนำมาพิจารณากันเท่าที่ควร

กรณีที่สองเป็นชุมชนเมืองในที่ดินของรัฐ สุ่มเสี่ยงจะถูกไล่รื้อ จึงเรียกร้องให้รัฐออกโฉนดชุมชน และมีข้อต่อรองว่าชุมชนจะควบคุมกันเองไม่ให้ขายสิทธิหรือให้เช่าที่ดิน เพื่อยืนยันว่าชาวบ้านต้องการที่ดินเพื่ออยู่อาศัยจริงๆ แต่ความจริงคนในชุมชนไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ-สังคม มีทั้งคนจนและคนฐานะดีมาก

ชุมชนบอกว่าผู้ที่ไม่ร่วมการเคลื่อนไหวจะไม่ให้มีชื่ออยู่ในโฉนดชุมชน ปรากฏว่าคนที่ไม่ร่วมเป็นคนฐานะดีและมีอิทธิพล มีบ้านให้เช่าอยู่ในชุมชน 2-3 หลัง ถ้าออกโฉนดชุมชนได้เขาจะถูก "ชุมชน" ยึดบ้านและที่ดิน ซึ่งเขาคงไม่ยินยอม และใครจะตัดสินว่าเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าเขาจะถูกผลักไสออกจากที่ดินเพราะเขาก็บุกเบิกจับจองหรือซื้อสิทธิมา ไม่ต่างจากคนในชุมชนอื่นๆ เพียงเพราะเขาฐานะดี หรือไม่เข้าร่วมขบวนการเรียกร้อง เรื่องนี้ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อ

ความขัดแย้ง "ภายใน" ที่เกิดขึ้นมักกลายเป็นภาระที่ชาวบ้านต้องจัดการกันเอง บนสมมติฐานว่าชุมชนมีศักยภาพ จัดการกันเองได้ แม้ว่าปัญหาจะเกิดจากกลไกใหม่ หรืออำนาจภายนอกก็ตาม ในขณะที่เข้าไปศึกษา การออกโฉนดชุมชนที่นั่นยังไม่คืบหน้านัก ความขัดแย้งต่างๆ จึงไม่ปรากฏ หรืออาจมีความขัดแย้งแล้วแต่นักวิจัยก็ไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้

ตัวอย่างสุดท้ายเป็นที่ดินในเขตป่าภาคเหนือ มีการรังวัดทำขอบเขตทั้งรอบแปลง และแยกแยะที่ดินของแต่ละครัวเรือน ใช้หลักการโฉนดชุมชนคือห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ มีกติกาจัดการร่วมกัน แต่ปรากฏว่าการซื้อขายที่ดินมีมาก่อนนั้นนานแล้ว มีคนต่างหมู่บ้าน และต่างอำเภอเข้ามาซื้อที่ดินทำเกษตร แต่ไม่ได้อยู่ในชุมชน กรรมการหมู่บ้านและกรรมการตำบลจึงไม่สามารถจะเอากฎเกณฑ์ร่วมของหมู่บ้านและตำบลไปควบคุมเขา เป็นเรื่องที่ต้องต่อรองกันต่อไป

การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ยังคงต้องผลักดันกันต่อไป แต่แนวทางที่เป็นอยู่อาจไม่บรรลุ หรือไม่พอ จะพูดแบบเหมาๆ ว่าเพื่อ "คนยากจน" เพื่อ "คนจนไร้ที่ดิน" หรือจัดการร่วม หรือยั่งยืน หรือเพื่อส่วนรวม แล้วแปลว่าเป็นแนวทางที่ดีเวิร์คยังไม่พอ

เรื่องที่น่าจะพิจารณามากขึ้นคือ

1.เหตุของความไม่เป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรมีเฉพาะ "รัฐ ทุนชาติ ทุนข้ามชาติ" เท่านั้นหรือเปล่า ประชาชนด้วยกันเองจะปัญหาด้วยไหม

2.ถ้ามองเห็นแค่รัฐกับทุน ซึ่งรัฐก็มักหมายถึงหน่วยงานรัฐ หรือกฎหมายบางตัวที่มีปัญหา การต่อรองกับรัฐและทุนจึงมีเป้าหมายเพียงแค่ต่อรองกับหน่วยงานหนึ่งๆ หรือพยายามแก้กฎหมาย ร่างกฎหมายบางฉบับ เพื่อให้ชุมชนมีอำนาจจัดการที่ดิน การมองแค่นี้อาจแคบเกินไปจนละเลยปัญหาพื้นฐานที่สำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่กว่านั้น

3.เรื่องกรรมสิทธิ์นั้นสำคัญแต่ทำเรื่องนี้อย่างเดียวไม่พอ เพราะยังตอบโจทย์ชีวิตของคนท้องถิ่นได้ไม่รอบด้าน สถานะของผู้คน ระบบเศรษฐกิจ ระบบและความสัมพันธ์ทางการผลิตในยุคนี้ เป็นอย่างไรแล้ว ชาวไร่ชาวนาหรือคนชนบทยังทำการเกษตรอยู่หรือเปล่า สังคมชนบทยังเป็นสังคมชาวนาอยู่ไหม ความสัมพันธ์ภายในชุมชนเป็นอย่างไร

4.ระบบที่นำไปสวมในชุมชนท้องถิ่นนั้นเป็นระบบที่จะเพิ่มความขัดแย้งภายในให้เพิ่มขึ้นไหม แน่นอนว่าคนท้องถิ่นมีศักยภาพในการจัดการ และแก้ไขปัญหา แต่ระบบใหม่ที่นำเข้าไปจะช่วยให้คนท้องถิ่นมีอำนาจเหนือทรัพยากรมากขึ้น หรือยิ่งไปเพิ่มปัญหาให้ถูกจำกัดควบคุมมากขึ้นกันแน่

5.ระบอบกรรมสิทธิ์ร่วมที่กำลังผลักดันกันอยู่นี้เน้นบังคับใช้กับชุมชนท้องถิ่นที่มีปัญหาเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากร แม้จะบอกว่านั่นคือเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐ แต่คงต้องถามต่อว่าสำหรับประชาชนคนอื่นภายนอกเล่า ยังสามารถเสพ ซื้อ หรือกักตุนทรัพยากรอย่างไรก็ได้หรือเปล่า หากเป็นเช่นนี้ระบอบนี้จะทำให้เกิดความเสมอภาคต่อประชาชนทั้งมวลได้อย่างไร

แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรไม่ได้ หากประชาชนไม่เสมอภาค

การมุ่งเน้นแก้ไขเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรเรื่องเดียวจะกลายเป็นการแก้ไขปัญหาที่มิรู้จบ เพราะปัญหาแก้ไม่ได้ด้วยการแก้ไขกฎหมายป่าไม้-ที่ดิน หรือมติ ครม.ทีละฉบับ ทีละมาตรา ต่อให้มีกฎหมายป่าชุมชน โฉนดชุมชนขึ้นมา แต่หากคนมองคนไม่เท่ากัน กฎหมายดีๆ ก็ยังถูกเลือกใช้ เลือกปฏิบัติเหมือนเดิม

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือจะต้องทำให้ความเป็น "ประชาชน" มีความหมายในสังคม และทำให้บ้านเมืองเรามี "ประชาธิปไตย" ที่มีความหมายจริงๆ คือยอมรับร่วมกันให้ได้เสียก่อนว่า "คนมีความเป็นคนเท่ากัน" มีความเสมอภาค มีสิทธิที่จะส่งเสียง

เป็นประชาชนที่มีมีความหมายคือ มีอำนาจเหนือรัฐ คือรัฐต้องฟังเสียงประชาชน และปกป้องดูแลไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็เป็นคนเหมือนกันข่มขู่คุกคามตลอดเวลาแบบที่เป็นอยู่

ความเป็นประชาธิปไตยยังหมายรวมถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ทำให้ประชาชนธรรมดาๆ มีสิทธิที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และเสมอภาคกับประชาชนคนอื่น ที่มีที่มีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจเหนือกว่า

การจะทำให้คนมีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจเท่ากันคงเป็นเรื่องเพ้อฝันเกินไป แต่สิทธิ เสรีภาพ โอกาส และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สามารถทำให้เท่าเทียมกันได้ ไม่ใช่บอกให้คนในป่าอยู่พอเพียงกับความอดๆ อยากๆ เพื่อถนอมป่าไว้ให้เป็นปอดของชาติ ที่รอคนมีเงินมานอนตากอากาศ หากคนในเมืองมีสิทธิกินเกินอิ่มได้ ทำไมคนในป่าจะต้องทนหิว บอกว่าคนในป่าโง่ไม่รู้จักอนุรักษ์ทรัพยากร แต่คนรวยเดินตากแอร์กันอย่างไม่รู้สึกผิด หากคนในเมืองชอบไปเที่ยวป่าได้ ทำไมคนในป่าเดินห้างแล้วจะต้องถูกเหยียดหยามดูแคลน

ประชาธิปไตยเป็นเรื่องพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมง่ายที่สุด ตรงที่สุด เพราะเราจะเห็นได้ง่ายๆ ว่าชาวบ้านที่ต่อสู้ปกป้องสิทธิเหนือทรัพยากรไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐและประชาชนกลุ่มอื่นๆ อยู่บ้านดีๆ ก็ถูกจับ ทำเกษตรก็ถูกขังคุก ต่อสู้เคลื่อนไหวก็ถูกฟ้องร้อง ชุมนุมก็ถูกคนในเมืองด่า

หากไม่มีประชาธิปไตยที่ทำให้คนมีความเสมอภาคกันจริงๆ กรรมสิทธิ์ร่วม หรือระบบสิทธิเหนือทรัพยากรใดๆ ที่ว่าดีที่สุดก็ไม่อาจช่วยให้คนด้อยอำนาจ คนชายขอบ เป็นประชาชนที่มีความหมายขึ้นมาได้ เพราะถึงจะมีสิทธิเหนือทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง แต่ออกไปข้างนอกก็ยังถูกคนอื่นกดหัวดูถูกอยู่เหมือนเดิม

แต่น่าเสียดายว่านักเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในบ้านเรา กลับมองไม่ค่อยเห็นการเชื่อมโยงตรงนี้ ไม่เห็นว่าสิทธิและเสียงของประชาชนมีความหมาย ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะการเลือกตั้ง หรือการจะเลือกพรรคไหนเป็นรัฐบาลแค่นั้น แต่กำลังพูดว่าเรามีจุดยืนหรืออุดมการณ์ที่มองเห็นคนเท่ากันหรือเปล่า เราเคารพความเป็นคนของคนอื่นแล้วหรือยัง เคารพสิทธิ เสียง และเสรีภาพในการเลือกของประชาชนคนอื่นไหม ไม่ต้องมาร่วมเคลื่อนไหวอะไรในเรื่องประชาธิปไตยก็ได้ถ้าบอกว่ามีภารกิจการงานมากอยู่แล้ว มีปัญหาที่ต้องแก้ไขมากอยู่แล้ว

"แต่ถามกันจริงๆ จุดยืนในใจที่กั๊กไว้เนี่ยมองประชาชนคนอื่นยังไง..มองชาวบ้านที่ทำงานด้วยยังไง..พูดถึงพวกเขายังไง มองเขาเท่ากับตัวเองหรือเปล่า กล้ายอมรับกันตรงไปตรงมาไหม"

หรือว่าเราจะได้ยินเพียงเสียงของธรรมชาติ และเสียงของประชาชนคนชายขอบในสังกัดของตัวเอง ผู้ที่ถูกมองอย่างโรแมนติกว่าบริสุทธิ์ ซื่อ และไร้เดียงสา และความจริงแล้ว แม้แต่ประชาชนที่เราบอกว่าเราทำงานเพื่อพวกเขา ก็ไม่แน่ว่าจริงๆ แล้วเราจะมองพวกเขาเป็นประชาชนที่มีความหมาย...


ข้อเสนอให้คิดกันต่อ

ข้อเสนอหากว่าจะอยากทราบกันจริงๆ เพราะเห็นคนชอบถามหาข้อเสนอ บอกว่าวิจารณ์แล้วไม่เสนอ ที่ไม่เสนอก็เพราะทราบว่าเสนอไปก็ไม่ทำ

1) คงจะต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างหลากหลายของสถานะทางเศรษฐกิจสังคมในชุมชน และวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขาที่เป็นอยู่อย่างจริงจังกว่านี้

2) ระบบสิทธิเหนือทรัพยากรใดๆ ที่จะคิดพัฒนาขึ้นมา จะต้องไม่ใช่เพื่อให้คนในชุมชนควบคุมกันเองอย่างเดียว แต่ต้องทบทวนว่าทำให้ชาวบ้านมีอำนาจเหนือทรัพยากรจริงไหม และคงจะต้องผลักดันการกระจายทรัพยากรจากคนรวยมาสู่คนจนให้มากกว่านี้

3) เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องผลักดันอุดมการณ์ว่าประชาชนต้องเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เชิงรูปธรรมไม่แน่ใจ แต่อุดมการณ์ตรงนี้มีอยู่ในสำนึกของนักสิ่งแวดล้อมแล้วหรือยังคงต้องทบทวนให้หนัก และพยายามปฏิบัติให้ได้ ในสังคมไทย สังคมนักพัฒนา สังคมชาวบ้าน ทำเรื่องเหล่านี้ในทางปฏิบัติให้ได้เสียก่อนแล้วเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วม หรือสำนึกรับผิดชอบร่วมในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมันจึงจะเป็นไปได้

"หากออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ไม่ได้ นอนแสดงจุดยืนอยู่ที่บ้านก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเห็นแต่ว่ากระตือรือร้นสนับสนุนให้มีการปราบ การฆ่าประชาชน ไม่เห็นว่าจะมีจุดยืนเรื่องการเคารพความเป็นคนของประชาชนเลย"

ความอาวุโส ระบบอุปถัมภ์อะไรที่มีอยู่ในแวดวงนักพัฒนาและสังคมไทยนั้นไม่น่ารังเกียจเกินไปนักหรอก หากวางอยู่บนความสัมพันธ์ที่มองเห็นคนมีศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่ากัน.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึก แนะผู้บริหารมธ.เลิกห้ามเคลื่อนม. 112

$
0
0

มีผู้ลงชื่อจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องผู้บริหารมธ. ทบทวนและยกเลิกมติการห้ามใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวเพื่อการแก้ไขม. 112 ชี้ หาก "ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ก็ควรเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงเรื่องการเมือง-สังคมอย่างเสรี ดังประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

กลุ่มนักศึกษา-อาจารย์-ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประชาชนกว่าร้อยคนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกร้องให้ยกเลิกมติที่ออกมาจากที่ประชุมมหาวิทยาลัย หลังสมคิด เลิศไพฑูรย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โพสต์ข้อความสาธารณะในเฟซบุ๊กว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคลื่อนไหวในกรณีเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112  โดยระบุเหตุผลว่า "อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนีนการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดัง กล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัย ของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวซึ่งล่าสุดมีคนร่วมลงชื่อกว่าร้อยคนผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควรจะ เป็นพื้นที่ที่มี "เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ดังคำขวัญและจุดประสงค์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย และไม่เคยมียุคไหนนอก จากยุคเผด็จการที่ผู้บริหารมีนโยบายปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน จึงควร เล็งเห็นความสำคัญของการยอมให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศเสรีและสามารถจัดกิจกรรมทางสังคมและ การเมืองอย่างเปิดกว้าง เพื่อเอื้อให้ความขัดแย้งในสังคมบรรเทาลง 

ทั้งนี้ นายรักชาติ วงศ์อธิชาติ หนึ่งในผู้ร่วมลงนามจดหมายเปิดผนึกกล่าวว่า กลุ่มดังกล่าวจะเดินทางไปยื่นหนังสือ เปิดผนึกต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภายในสัปดาห์นี้ด้วย 

0000

สืบเนื่องจากสเตตัสล่าสุดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ในเฟสบุ๊ก ใจความว่าด้วย เรื่องของการจะห้ามใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการเคลื่อนไหวทางความคิดและการขับเคลื่อนประเด็น ปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการปิดกั้น เสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพทางวิชาการ ในมหาวิทยาลัยที่มีคำขวัญอันโดดเด่นว่า เสรีภาพทุกตารางนิ้ว

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นพื้นที่สำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยที่เป็นผลผลิตของคณะราษฎรที่จะมุ่งหวังในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย  มหาวิทยาลัยผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ ขบวนการ 11 ตุลาคม 2494 ในการเรียก ร้องมหาวิทยาลัยคืนจากจอมพล ป., ขบวนการ 14 ตุลา 2516, ขบวนการ 6 ตุลา 2519, ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ทำ ให้มหาวิทยาลัยได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะในการส่งเสริมความคิดทางการเมือง และประชาธิปไตย  การเปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาที่แหลมคมควรจะเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยพึงกระทำโดยไม่มีการกีดกันและคัดค้าน คง จะมิเป็นการกล่าวเกินจริงว่าพื้นที่ทางวิชาการที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและเป็นพื้นที่ที่เปิด กว้างทางความคิดมากที่สุด คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

แต่มติเอกฉันท์ของผู้บริหารเพียงไม่กี่คนนำมาซึ่งการทำลายเสรีภาพในมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง การจะไม่อนุญาต ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา112 เป็นการปิดกั้น ปิดปาก นักศึกษาและประชาชน ผู้กระหาย ในเสรีภาพทางวิชาการและความถูกต้อง เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การที่มีความมุ่งหวังว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเป็น “บ่อบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขา ควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพ ของการศึกษา.”

นักศึกษา, คณาจารย์, ศิษย์เก่า แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนผู้รักในเสรีภาพทางความคิดและการ แสดงออก ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารทั้งหลายที่ลงมติในการไม่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน กรณีการแก้ไขมาตรา112 กลับไปทบทวนว่าความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่การก่อตั้งในปี พ.ศ.  2478 เป็นต้นมา เป็นพื้นที่ที่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดและเปิดกว้างให้มีการใช้เพื่อพูดคุย ถกเถียง  ประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่เคยมีครั้งไหนนอกจากยุคเผด็จการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีนโยบายปิดกันไม่ให้ นักศึกษาและอาจารย์แสดงเสรีภาพทางความคิด

เราขอเรียกร้องให้ผู้บริหารยกเลิกมติข้างต้น หากมหาวิทยาลัยยังมีคำขวัญที่ว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตาราง นิ้ว” อธิการบดีและผู้บริหารมหาวิยาลัยควรจะเห็นถึงความสำคัญของธรรมศาสตร์ในการเป็นพื้นที่สำคัญในการทำ ให้ความขัดแย้งบรรเทาลงและยอมให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคม การเมือง และการ วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงอย่างเปิดกว้างอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่การก่อตั้งมหาวิทยาลัย

ด้วยความเคารพ

รักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ อุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์/ นักศึกษาชั้นปีที่3 คณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ อดีตสมาชิกสภานักศึกษาและศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2544 -  2548)

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สิงคโปร์

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

เพียงคำ ประดับความ อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จีรนุช เปรมชัยพร อดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รหัส 29

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2553-2554)

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา รหัส 256280

บริภัทร ตั้งเสรีกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ เอกปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (class of  2013)

ศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พัชรี แซ่เอี้ยว อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ รหัส48

สุเจน กรรพฤทธิ์ อดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ รหัส 43

พันธุ์ภูมิ ผุดผ่อง กรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2554-2555)

ธันย์ ฤทธิพันธ์ ประชาชน

ภูริพัศ เมธธนากุล มนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุปต์ พันธ์หินกอง อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์

พันธกานต์ ตงฉิน อดีตนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รหัส 48

อนุธีร์ เดชเทวพร อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 49, อดีตอุปนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2551-2552, อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี 2552-2553

วันเพ็ญ ก้อนคำ/ ประชาชน

น้ําฝน ลิ่วเวหา วารสารศาสตร์48

รุ่งโรจน์ "อริน" วรรณศูทร (นิรันดร์ สุขวัจน์ มธ 159101) / ลาออกปีการศึกษา 2519 "รัฐศาสตร์ ทฤษฎีและปรัชญา การเมือง"

นุชจรีย์ วิริยางกูรภาพ อดีตนักศึกษาคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี

วรวิทย์ ไชยทอง ภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬา ฯ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล /ประชาชน

พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รหัส 46

ศรีสมร กิจภู่สวัสดิ์, นิสิตเกษตรศาสตร์, รหัส ๒๕๒๕

พิศาล ธรรมวิเศษ ชาวบ้าน

ศิรดา วรสาร อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 50

ธนุต มโนรัตน์ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

เทพวุธ บัวทุม คนไท

มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม ราษฎร

สุเทพ ศิริวาโภ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น/ประชาชน

นายนิคม โชติพันธ์ ประชาชน

ธนพล พงศ์อธิโมกข์ CCP/ประชาชน

อดิศร เกิดมงคล นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วรัญญา เกื้อนุ่น รหัส 37 คณะนิติศาสตร์ มธ

วรรษชล ศิริจันทนันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อภิวัฒน์ วัฒนพงษ์ อดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 49

สุริยัน สินธทียากร ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ คณะเศรฐศาสตร์ รุ่น 24 

 ศิริวุฒิ บุญชื่น SEAS, ศิลปศาสตร์ '46

นวภู แซ่ตั้ง นักศึกษาปริญญาตรี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วีระพันธุ์ ตรีรัตน์พันธุ์ ราษฎร

ธนากร ปัสนานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี3

อาดีช วารีกูล รัฐศาตร์การเมืองการปกครองม.รามและมานุษยวิทยาสาขาไทยคดีศึกษาปริญญาโท ม.ทักษิณ สงขลา

นครินทร์ วิศิษฎ์สิน บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พีระพล เวียงคำ นักกิจกรรม, นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ รหัส 4903610147,อดีตอุปนายกฯ อมธ.ปี 2551- 2552

ประวิทย์ พันสว่าง นักเขียน ชาวบ้าน

แวววิศาข์ ณ สงขลา นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

ราชาวดี สิริโยธิน อักษรศาสตร์ จุฬา ฯ เกียรตินิยม

สงกรานต์  ป้องบุญจันทร์  นักศึกษา ป.โท  คณะนิติศาสตร์ รหัส 2551

ชัยศิริ จิวะรังสรรค์ ศิลปินอิสระ

วินัย ผลเจริญ อดีตนักศึกษาปริญญาโทคณะศิลปศาสตร์ และปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พลิศ ลักขณานุรักษ์ อดีตกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (2553-2554)

สิทธา แสนสมบูรณ์สุขนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน รหัส53

นาย พิเศษ นภาชัยเทพ ราษฎร 

ยศวัฒน์ ปานโต ประชาชนคนไทยที่ไม่ได้จบธรรมศาสตร์ แต่รู้จักธรรมศาสตร์จากสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาในการ แสดงออก และปรารถนาให้ธรรมศาสตร์มียึดมั่นในอุดมการณ์ในสิทธิเสรีภาพของการแสดงออก

ประชาเลิศ แซ่เจ็ง ม.รามคำแหง

พัธรพงศ์ เลิศปัญญาธรรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประภาภูมิ เอี่ยมสม นักศึกษาชั้นปีที่2 คณะมนุษยศาสตร์ เอกอังกฤษ สถาบันการศึกษานานาชาติ ม.รามคำแหง ผุ้ซึ่ง เคยชื่นชมมธ.ในฐานะมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง

ก้าวหน้า เสาวกุล ศิลปศาสตรบัณฑิต มธ. รหัส 47

นางกนกวรรณ เกิดผลานันท์ (นางสาวกนกวรรณ โยธาทิพย์) ศิษย์เก่าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัสนักศึกษา 3207610746

ธนพล ฟักสุมณฑา

อนุพันธุ์ หงษาชัย รัฐศาสตร์บัณฑิต ม. รามคำแหง ผู้เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอย่างแท้จริง

อิทธิพล โคตะมี

อชิรวิชญ์ อันธพันธ์

วรยุทธ ยอดบุญ นิสิตปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พรเทพ กมลเพชร เศรษฐศาสตร์บัณฑิต รหัส 48

ปองภพ บูรพกิจลาภา นักศึกษาปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

ลิขิต เครือบุญมา ศิลปศาสตร์ ปี2

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ราษฎร

เกศริน เตียวสกุล นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์รหัส ๒๐

ชัยพฤกษ์ พัฒน์ดำรงจิตร

คมลักษณ์ ไชยยะ บัณฑิตอาสาสมัคร ม.ธรรมศาสตร์รุ่น 32

ดร.อิสราภรณ์ พิศสะอาด

ลงชื่อค่ะ นารีรัตน์ นิลพิศุทธิ์ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ณัฐญา เกิดเพชร,วารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แคน อุดมเจริญชัยกิจ ธรรมศาสตร์ รหัส52

วีระ หวังสัจจะโชค รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

อรุณี พูลสวัสดิ์ ประชาชน

ตันติกร เตริยาภิรมย์ บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เธนศก์ ล้ำเลิศ / ราษฎร

วสวัตติ์ เถื่อนคำ ประชาชน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แด่เสียงของคนส่วนใหญ่ในโลก

$
0
0

ก่อนที่การประท้วงเปลือยที่ทรงค่าจะถูกล้อเลียนจน กลายเป็นเรื่องโจ๊กไป ผมอยากเล่าความรู้สึกให้ฟังถึงการเปลือยอกท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บในที่ ประชุมของบรรดานายทุนและผู้นำรัฐบาลโลก ซึ่งผมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาล้อเลียนถากถางกัน แต่เป็นการเรียกร้องด้วยความเสียสละ มีความเป็นมา และมีเป้าหมายยิ่งใหญ่เพื่อคนส่วนใหญ่ในโลก (คนจน+ผู้หญิง)

ผมหมายถึงการประท้วงในระหว่างการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่กรุงดาวอสในขณะนี้

ดาวอสเป็นเมืองตากอากาศในภาคตะวันออกของเทือกเขาแอลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประชากรแค่ประมาณหมื่นเศษ ส่วนที่ประชุม World Economic Forum (WEF) นั้นเป็นการจัดงานขององค์กรที่อ้างตัวเองว่าเป็นองค์กรสากล และทุกปีจะเชื้อเชิญผู้นำธุรกิจ+การเมือง+นักวิชาการ (ยกเว้นคนยากคนจน) จากทั่วโลกมาประชุมกัน เพื่อหาทางทำให้ “โลกดีขึ้น”

WEF นั้นก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1971 แต่ไม่โด่งดังจนกระทั่งการประชุม WEF ในปี 2000 (2543) ซึ่งมีผู้ประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์นับพันคนเข้ามารณรงค์ ที่คนจำได้แม่นคือการถล่มร้านแม็คโดนัลด์ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม และยังเป็นแรงบันดาลใจให้มีการประท้วงต่อเนื่องไประหว่างการประชุมธนาคารโลก ที่วอชิงตัน และประชุมของ IMF ในเดือนเมษายนกับกันยายน ปีเดียวกัน

ก่อนหน้านั้นในปี 1999 ก็มีการประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ครั้งใหญ่ในระหว่างการประชุมขององค์การการ ค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ตอนนั้นมีบทบาทมากในการส่งเสริมโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ การประท้วงที่ดาวอสในสองปีต่อมาจึงถือเป็นความสืบเนื่องของความไม่พอใจต่อผล กระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะคนรวย แต่ไม่กระจายให้ทั่วถึงคนส่วนใหญ่ในโลก

ต่อให้ผมพระมาพูดผมก็ไม่เชื่อว่าบรรดาผู้นำการเมือง+นักธุรกิจที่ร่ำรวย 200 กว่าคนที่มาประชุมกันทุกปีที่เมืองตากอากาศในประเทศร่ำรวยสุดในโลกเหล่านี้ จะพยายามหาทางกระจายโภคทรัพย์ให้ทั่วถึงคนทุกคนในสังคม

ผลจาก การประท้วงที่ดาวอสในปี 2000 เป็นเหตุให้ในปี 2001 (2544) ภาคประชาชนจัดการประชุมคู่ขนานขึ้นมาที่เราเรียกว่าเป็น World Social Forum หรือเวทีสังคมโลก (แทนที่จะพูดแต่เรื่องเศรษฐกิจเหมือนนายทุน เราต้องพูดเรื่องของสังคมด้วย) และจัดงานนี้ขึ้นที่เมือง Puerte Allegre ประเทศบราซิล

ภาคประชาชนจัดงานเขามีคนเข้าร่วม 50,000 กว่าคนเป็นบรรยากาศที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการประชุมของนายทุนที่ดาวอส ที่ WSF ไม่มีการปิดกั้นการประท้วง ทุกคนมีเสรีภาพที่จะแสดงออก และทุกคนเสมอภาคกัน

แต่การประชุมของนายทุน+นักการ เมืองนั้น เขากีดกันคนที่เห็นต่างจากโลกาภิวัตน์ เลือกไปประชุมในเมืองแพงสุดในประเทศแพงสุดในโลก มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และสามารถทำได้ดีเพราะดาวอสเป็นเมืองขนาดเล็กในหุบเขา สามารถตั้งด่านสกัดบรรดาผู้ประท้วงได้เป็นอย่างดี พวกนายทุนเขามีบทเรียนมาแล้วจากการประท้วงที่ซีแอตเติล ต้องย้ายไปนิวยอร์ก ต่อมาก็ย้ายไปควีเบ็ค (ซึ่งถึงกับมีการกั้นด้วยแท่งปูนถาวรรอบที่ประชุม)

ในการประชุมครั้งที่ 42 ของ WEF นอกจากผู้ประท้วงกลุ่ม Occupy ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกแล้ว ยังมีสตรีสามท่านที่ทำการประท้วงอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแหวกวงล้อมอันแน่นหนาเข้าไปถึงประตูที่ประชุม

ผู้ประท้วงเปลือยอกทั้งสามท่านมาจากกลุ่ม Femen ประเทศยูเครน นำโดยคุณ Inna Shevchenko หลายคนอาจจำประเทศนี้ได้จากอดีตประธานาธิบดี Yulia Tymoshenko ที่สวยและสง่าที่นอกจากแพ้เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยังต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในข้อหาคอร์รัปชัน ข้อความประท้วงบนหน้าอกเปลือยของผู้ประท้วงท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บถึงขั้น เป็นน้ำแข็งมีอาทิ

“เราจนเพราะพวกคุณ” (Poor because of you!) “วิกฤตเกิดขึ้นจากดาวอส” ("Crisis! Made in Davos) “ปาร์ตี้ของพวกแก๊งนายทุนในดาวอส” (Gangsters party in Davos)

ที่ประทับใจผมมากสุดคือที่คุณ Inna Shevchenko แกให้สัมภาษณ์ว่า “ในตึกที่ประชุมแห่งนี้ มีแต่ผู้ชาย มีผู้หญิงเพียงไม่กี่คน ในรัฐสภาทั่วโลกก็เป็นแบบนี้” เธอบอกต่อว่า “ในยูเครน รัฐมนตรีเป็นผู้ชายทั้งนั้น ไม่มีผู้หญิงเลย” ผู้หญิงเองก็ “ต้องการตัดสินชะตากรรมด้วยตนเอง”

“เรามาที่นี่เพื่อตะโกนก้อง ใช้เสียงของผู้หญิง ใช้ร่างกายของผู้หญิงเพื่อจะบอกว่าผู้หญิงก็ต้องการตัดสินชะตากรรมของตนเอง ด้วย” คุณ Inna Shevchenko กล่าวในท้ายสุด

 
ข่าวจาก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มองการเมืองพม่าผ่านสายตา “อดีตนักโทษการเมือง”: เปลี่ยนแปลงเร็ว-แต่ยังสรุปไม่ได้

$
0
0

สัมภาษณ์ โบ จีอดีตนักโทษการเมือง และผู้ก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ระบุยังมีนักโทษการเมืองถูกขังอยู่กว่า 400 คน ชี้ถึงแม้พม่าจะเปลี่ยนเร็ว แม้รัฐบาลจะไม่จับกุมใครเพิ่ม แต่ในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้าหรือหลังเลือกตั้ง สถานการณ์อาจเปลี่ยนไปอีกก็ได้

หลังจากที่พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองระลอกใหญ่ถึง 651 คนเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา และมีกระแสการปฏิรูปภายในประเทศที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ชาติตะวันตกที่มีนโยบายคว่ำบาตรพม่ามาอย่างยาวนาน ต่างแสดงความยินดีต่อความเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญในพม่า ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของชาติดังกล่าว อาทิ การผ่อนปรนการคว่ำบาตร การยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และการให้เงินช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ภายในพม่า 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับโบจี (Bo Kyi) อดีตนักโทษการเมือง และเลขาธิการสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าหรือ AAPP-B (Assistance Association for Political Prisoner – Burma) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองพม่าและครอบครัวในด้านการเงิน การรักษาพยาบาลและการศึกษา รวมถึงการเก็บสถิติ-ข้อมูล และการรณรงค์ในระดับสากลเพื่อกดดันให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ 

 

BO KYI

นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมืองในพม่าแล้ว AAPP ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองอย่างไรอีกบ้าง 

เราให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองผ่านทางครอบครัวของพวกเขา โดยเฉพาะด้านการเงิน เนื่องจากว่าเราเองไม่สามารถเดินทางกลับเข้าพม่า เราจึงใช้กลุ่มลับของเราในประเทศเพื่อเข้าเยี่ยมครอบครัวของนักโทษการเมืองและมอบเงินให้ญาติๆ ไปเยี่ยมนักโทษที่เรือนจำซึ่งพึ่งความช่วยเหลือจากครอบครัวในเรื่องอาหารและอื่นๆ นอกจากนี้ AAPP ก็ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัวออกมา เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ และหากว่าพวกเขาต้องการการรักษาพยาบาลระยะยาว เราก็จะช่วยเหลือพวกเขาตรงจุดนั้น 

เรายังให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของนักโทษการเมืองด้วย โดยในทุกๆ ปี เราจัดหาทุนการศึกษาให้แก่เด็กๆ 200 คนเพื่อศึกษาภายในประเทศ และอย่างในปีนี้ ก็มีนักศึกษาสามคนที่ได้ทุนศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ฮ่องกง ซึ่งล้วนเป็นลูกๆ ของนักโทษการเมือง หากพวกเขามีเกณฑ์เหมาะสม เขาก็จะได้รับทุนตรงนี้ เพราะเราอยากจะมอบโอกาสการศึกษาแก่เด็กรุ่นใหม่ๆ 

มีเพียงองค์กร AAPP เท่านั้นที่ให้ความช่วยเหลือในลักษณะนี้ ในประเทศพม่าเอง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยก็ให้ความช่วยเหลือแก่นักโทษการเมืองในด้านการเงิน ในบางโอกาสเขาก็จะให้ทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ของนักโทษการเมืองด้วย 

ตอนนี้ ตัวเลขของนักโทษการเมืองในพม่าล่าสุดเป็นจำนวนเท่าใดแล้ว 

ตอนนี้ตัวเลขล่าสุดของเราอยู่ที่ 410 และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบต่อไป

คุณค่อนข้างดีใจหรือเปล่ากับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองระลอกใหญ่จำนวน 651 คนเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

ผมรู้สึกดีใจเมื่อเห็นสหายของผมได้ออกมาจากเรือนจำ ผมดีใจและตื่นเต้นมากจริงๆ แต่ผมก็รู้สึกไม่พอใจรัฐบาล เพราะรัฐบาลเองยังไม่ยอมรับว่าพวกเขาเป็นนักโทษการเมือง ในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องดีที่ผู้นำขบวนการคนสำคัญหลายคนถูกปล่อยตัวออกมา นั่นหมายถึงว่าเรายิ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกจองจำอยู่ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ผมกลัวว่าประชาคมนานาชาติจะไม่ใส่ใจกับคนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เราจึงต้องทำอะไรเพื่อพวกเขามากกว่านี้ เพราะถ้าหากคนอย่างนางออง ซาน ซูจีถูกจำคุกล่ะก็ ทุกคนต้องรู้และพูดถึงกันไปทั่ว แต่สำหรับคนที่ไม่มีใครรู้จักนั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อเร็วๆ นี้ สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนท่าทีของนโยบายต่างประเทศต่อพม่า เช่นการยุติการคว่ำบาตร และความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต คุณมองว่าทางตะวันตกประเมินสถานการณ์ดีเกินความเป็นจริงหรือเปล่า 

ผมคิดว่าเขาเร็วเกินไป เขาน่าจะทำอะไรเป็นขั้นตอนและช้าลงกว่านี้ เช่น ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถสร้างสันติภาพทั่วประเทศหรือเจรจาหยุดยิงได้ทั้งหมด สหรัฐและยุโรปค่อยมาคิดขั้นตอนไปว่าจะทำอย่างไร เช่นการยุติการคว่ำบาตร และหากว่าเขาเชื่อว่าสถานการณ์กำลังจะดำเนินไปในทางที่ถูกต้องจริงๆ แล้ว เขาอาจจะมายื่นข้อเสนอต่อไป เช่นว่า จะล็อบบี้ให้มีการยกเลิกการคว่ำบาตรทั้งหมด เป็นต้น

นอกจากนี้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าก็ยังไม่ดีขึ้นเลยด้วย เรื่องหลักนิติรัฐก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากไม่มีหลักนิติรัฐ ใครๆ ก็อาจจะถูกจับกุมได้ ถึงแม้ว่าในตอนนี้รัฐบาลจะไม่จับกุมใครก็ตาม แต่ในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า หรือแม้แต่หลังการเลือกตั้ง สถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ใครจะรู้

คุณพูดถึงเรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มาพร้อม “เงื่อนไข” คืออะไร ช่วยอธิบายหน่อยได้หรือไม่

ตัวอย่างเช่น มินโกหน่าย (ผู้นำขบวนการนักศึกษาในยุค 1988) ถูกตัดสินจำคุก 65 ปี เขาถูกจำคุกตั้งแต่ปี 2550 จนมาถึงตอนนี้ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ก็เป็นเวลา 4 ปี หากว่าเขาถูกจับอีกครั้ง เขาอาจจะต้องถูกจำคุกเพื่อใช้โทษที่เหลืออีก 60 กว่าปีก็เป็นได้ เพราะประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ไม่ได้แถลงให้ชัดว่าการปล่อยตัวนักโทษเป็นการปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข กฎหมายเองระบุไว้ว่าการปล่อยตัวมีสองแบบ แบบแรกคือมีเงื่อนไข แบบที่สองคือไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตรงนี้ประธานาธิบดีไม่ได้ระบุให้ชัดเจน 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัวออกมาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ บางคนก็บอกว่าเขาได้รับการปล่อยตัวแบบไม่มีเงื่อนไข บางคนก็บอกว่าถูกปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข ซึ่งความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำให้เกิดความสับสนมากว่าอะไรเป็นอะไร เราเองก็ไม่ทราบข้อมูลตรงนี้ชัดเจน จะรู้ก็ต่อเมื่อพวกเขาถูกจับอีกครั้งเท่านั้น 

คุณคิดยังไงกับการลงเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย บางคนมองว่าหากว่าพรรคได้รับเสียงการเลือกตั้งที่มากพอ นางออง ซาน ซูจีอาจจะได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งก็ได้

ผมสนับสนุนการตัดสินใจของนางออง ซาน ซูจีในการจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายและลงสมัครเลือกตั้ง แต่ถ้าหากเธอได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หรือกระทรวงอื่นที่ไม่สำคัญนัก แล้วเธอจะทำอะไรได้เล่า 

บางคนมองว่า เมื่อรัฐบาลได้ทำการปฏิรูปที่มีผลในแง่บวกแล้ว องค์กรทางการเมืองฝ่ายค้านของพม่าที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศควรจะกลับเข้าไปในประเทศเพื่อร่วมกันทำงาน คุณคิดว่าอย่างไร

รัฐบาลบอกว่าเราสามารถกลับไปประเทศได้แบบมีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น หากว่าผมไม่ได้กระทำผิดอะไรในพม่า และนอกประเทศ ผมสามารถกลับไปได้ แต่ถ้าหากความผมเคยทำผิดอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะในประเทศหรือนอกประเทศ ผมอาจจะถูกจับอีกก็ได้ คือ ตอนนี้สถานการณ์มันดีขึ้น แต่มันดีขึ้นเพียงเล็กน้อยมาก นอกจากนี้ เราเองก็ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองเท่าใดนัก ถ้าหากว่าเรามั่นใจมากขึ้น เราก็จะกลับไป ฉะนั้น สำหรับพวกเราตอนนี้แล้ว การอยู่ข้างนอกเป็นเรื่องที่ดีกว่า ในแง่ของปัจเจกบุคคล บางคนก็ได้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลว่าหากเขากลับไปพม่าแล้วเขาต้องสามารถเดินทางออกมาอีกได้ จริงๆแล้วมีคนไม่มากเท่าไหร่นะที่กลับเข้าประเทศ มีจำนวนน้อยมากที่กลับไปยังพม่า

นอกจากนี้ก็ยังพวกกลุ่มนักวิชาการที่ได้รับเชิญกลับเข้าประเทศไปร่วมกิจกรรมหรือการประชุม พวกเขาสามารถกลับเข้าประเทศได้หนึ่งหรือสองอาทิตย์และก็สามารถกลับออกมาได้เพราะพวกเขาได้ต่อรองกับรัฐบาล ถ้าหากว่าผมได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศและกลับออกมาได้ ผมก็จะกลับไป 

นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องรอดูสถานการณ์ไปจนถึงปี 2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งต่อไป การเลือกตั้งซ่อมมีความหมายน้อยมากสำหรับพวกเรา เก้าอี้ 48 ที่นั่งไม่ได้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่อะไรมากมาย และถึงแม้ว่าเราจะได้รับคะแนนเสียงทั้งหมดเพียงพอสำหรับเก้าอี้ทั้งหมด แต่เก้าอี้ 48 ที่นั่งก็ไม่เวิร์คอยู่ดี ฉะนั้นเราจำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2558 เมื่อถึงตอนนั้น ต้องดูอีกทีว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะได้มีส่วนร่วมมากแค่ไหน การเลือกตั้งจะใสสะอาดและยุติธรรมมากน้อยเพียงใด 

ในความคิดเห็นของคุณ มาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อให้บรรลุความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงคืออะไร

ผมคิดว่ารัฐบาลต้องมีหลักนิติรัฐ หลักนิติรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และในการจะบรรลุซึ่งสิ่งนั้น รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องแถลงนโยบาย เช่น การจะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการต่อผู้กระทำผิดดังกล่าว ผมไม่ได้พยายามฟื้นฝอยหาตะเข็บ แต่ผมร้องขอเพื่อปัจจุบันและอนาคต ตัวอย่างเช่น ในอดีตที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐที่เคยทรมานผม ผมขออย่างเดียวคือขอให้เขารับสารภาพ และยอมรับว่าเขาได้กระทำผิด เพียงแค่นั้นเองที่เราต้องการ มันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรองดองมาก 

อีกอย่างคือ ผมต้องการจะทำโครงการเยียวยาสำหรับเหยื่อทางการเมือง รัฐบาลจะต้องให้ความสนับสนุนในทางการเงิน หรือรัฐบาลจะต้องอนุญาตให้เรารับเงินทุนจากผู้บริจาคต่างประเทศได้ เพราะถ้าผมทำงานอยู่ในพม่า ผมไม่สามารถรับเงินต่างประเทศได้เพราะนั่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นั่นคือปัญหา มันมีกฎแบบนั้นอยู่เยอะมาก ฉะนั้นเราจำเป็นต้องพูดถึงกฎหมายที่จะต้องถูกยกเลิก และกฎหมายที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อการทำงานในสถานการณ์เช่นนี้ 

คุณคิดอย่างไรกับการลงทุนอันมหาศาลของประเทศไทยในพม่า

ผมไม่รู้เรื่องมากนักเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านการเงินระหว่างไทยและพม่า แต่ผมรู้ว่าประเทศไทยใช้ทรัพยากรด้านก๊าซธรรมชาติและพลังงานจากพม่า นั่นเป็นผลประโยชน์ของไทยที่ใหญ่ที่สุดต่อพม่า และถ้าหากว่านักธุรกิจไทยทำทุกอย่างได้ดีเหมาะสม เราก็จะไม่พูดอะไร เพราะผมเชื่อว่าประเทศไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา ฉะนั้นเราสามารถรักษาผลประโยชน์ที่ร่วมกันไว้ได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องการสำหรับไทยและพม่า หากว่าเราทำงานร่วมกันได้ เราก็จะได้ผลประโยชน์ด้วยกัน

คุณไม่คิดว่าประเทศไทยควรคว่ำบาตรการลงทุนในพม่าหรือ?

ยังไงประเทศไทยก็ไม่ทำเช่นนั้นหรอก ผมคิดว่าให้มันเป็นการทำธุรกิจที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบมากกว่า โดยการปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานสากลและปกป้องสิทธิแรงงาน เราต้องการการลงทุนที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ

น่าสนใจที่คุณพูดเช่นนั้น เพราะว่าที่ผ่านมานักรณรงค์ไทยหลายกลุ่มได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการลงทุนในพม่า

ใช่ ผมก็เข้าใจ ผมคิดว่ามันจะดีกว่าต่อแรงงานเองและนักธุรกิจเองด้วย ถ้าหากว่าเขาสามารถปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสากล และให้ค่าแรงที่เหมาะสม ตอนนี้ผมอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผมเห็นธุรกิจหลายแห่งที่บ้างก็ดี บ้างก็ไม่ดี ฉะนั้น ถ้าหากเขาสามารถปฏิบัติตามหลักการสากลและจัดหาสภาพการทำงานที่เหมาะสมแก่คนงานได้ นั่นก็เป็นเรื่องดี แต่ในประเทศไทยมันเป็นเรื่องยากที่จะทำเช่นนั้นเพราะนักธุรกิจไทยไม่ทำตามกฎหมาย ผมคิดว่ารัฐบาลไทยยังคงผ่อนปรนในเรื่องของข้อบังคับมากเกินไป เรื่องเช่นนี้คงจะเกิดในอนาคต แต่เราจะคงต้องผลักดันให้มันบรรลุผลไปทีละน้อย  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมคิด เลิศไพฑูรย์

$
0
0

"เพราะมหา'ลัยเป็นสถานที่ราชการ"

30 ม.ค. 55, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยมติผู้บริหารไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่เคลื่อนไหวกรณี ม.112

การย้ายถิ่นกับประเทศไทยในปี พ.ศ.2555: การท้าทายการกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษที่ฝังรากลึก

$
0
0

ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงวิกฤติการณ์น้ำท่วม ไม่มีประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุม ไม่มีการร้องขอใดๆ เพื่อแรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษ ไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายติดตามเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างใกล้ชิด แน่นอนพวกเขารู้ดีว่า วิกฤติน้ำท่วมนี้มีผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไรบ้าง

แรงงานข้ามชาติกว่า 200,000 คน จากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ต่างเคลื่อนย้ายกันในช่วงวิกฤติน้ำท่วม สำหรับคนไทยที่ได้รับผลกระทบ การหาที่พักอาศัยกับครอบครัว หรือในศูนย์พักพิงเป็นเรื่องที่ท้าทายไม่น้อย แรงงานข้ามชาติต้องเจอกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่มีอุปสรรคที่เฉพาะเจาะจงหลายอย่างจึงถูกโยนใส่พวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน แต่ก็มีข้อยกเว้นในบางเรื่องเช่นความกรุณาและการต้อนรับที่อบอุ่นจากนายจ้างบางคน และจากชุมชนบางแห่ง

ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีหนังสือเดินทางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เสรีภาพในการเคลื่อนย้ายของพวกเขาต้องถูกใช้เงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อจ่ายให้กับนายหน้าที่ไม่ถูกควบคุมดูแลโดยรัฐสำหรับเป็นการช่วยชีวิตของพวกเขา หลายคนต้องเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางเพื่อให้เดินทางกลับบ้านของตนอย่างถูกกฎหมาย หรือเพื่อเดินทางไปหาที่พักอาศัยกับเพื่อนในพื้นที่อื่นๆ จนกว่าระดับน้ำจะลดลง และเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย แรงงานที่กลับเข้ามาทำงาน ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่ยืดหยุ่นและมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากในกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อจัดการกับเรื่องการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และวีซ่าหมดอายุ

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มีเพียงเอกสารใบเสร็จรับเงินการขึ้นทะเบียนแรงงานที่แสนจะบอบบาง (กว่าสองปีแล้วที่แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน) หรือไม่มีเอกสารใดๆ เลย เราได้เห็นสิ่งเลวร้ายที่สุดของการบริหารจัดการการย้ายถิ่น  เมื่อแรงงานกลุ่มนี้ที่เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่ถูกน้ำท่วม นายหน้าผู้ฉวยโอกาส ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รีดไถแรงงานเหล่านี้ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตตามกฏหมายให้เดินทางออกนอกจังหวัดที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นพื้นที่ทำงานที่ได้จดทะเบียนไว้

แรงงานเหล่านี้อัดกันแน่นถึง 150 คน ในรถหกล้อเช่า เดินทางไปยังชายแดนตอนกลางคืน ซึ่งชัดเจนว่าการเดินทางอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อฉล แรงงานเหล่านี้ถูกส่งกลับเพราะเป็นเหยื่อของภัยน้ำท่วม นี่ไม่ใช่การเดินทางฟรีๆ แต่พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายหัวละ 2,500-4,000 บาท

หากแรงงานยังต้องการอยู่ในที่พักที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การให้ความช่วยเหลือแทบจะไม่มี และจะเจอกับการแบ่งแยกเชื้อชาติที่น่ารังเกียจ ในหลายๆ ชุมชนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลยและต้องการย้ายออกจากพื้นที่ จะมีพวกมาเฟียกักตัวให้อยู่ในตึกที่มีประตูล็อคไว้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าเข้าไปยุ่ง ยังมีรายงานอีกด้วยว่า บ่อยครั้งที่แรงงานข้ามชาติถูกปฏิเสธให้เข้าพักในศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบอุทกภัย

กระทรวงแรงงานยืนยันว่า ได้ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติอย่างพอเพียงแล้ว ได้จัดบ้านพักอาศัยให้แรงงานข้ามชาติจำนวน 200-400 คน มีรายงานว่า รัฐบาลปฏิเสธที่จะใช้เงินจากภาษีอากรในการจัดบ้านพักอาศัยให้แรงงานข้ามชาติ ได้แต่อาศัยเงินบริจาค สถานทูตพม่าได้ออกเอกสารเป็นร้อยๆ ฉบับที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ แต่เพราะไม่มีการตอบสนองในระดับนโยบาย เอกสารเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกรับรองจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

เมื่อมองกลับไปจะเข้าใจถึงปัญหาหลังเกิดเหตุการณ์ว่า ในขณะที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับแรงงานข้ามชาติผู้ประสบอุทกภัยจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่นั่นอาจเป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงความสนใจออกจากประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่กำลังเผชิญอยู่

สื่อมวลชนไทยเกือบทั้งหมด ยกเว้นเพียงบางสื่อ ไม่ได้รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่สื่อจากต่างประเทศกลับให้ความสนใจประเด็นสำคัญนี้ หน่วยงานสหประชาชาติหน่วยงานหนึ่งได้เข้ามาแทรกแซงอย่างแข็งขันในการสร้างความกดดันทางการทูต

มองในแง่ดี วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ และการขาดการตอบสนองต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะ บวกกับการใช้อำนาจไปในทางผิดๆ และการละเมิดต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางวิกฤติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และในช่วงเวลาที่น่าจะเป็นเวลาที่ดีสำหรับการบริหารจัดการการย้ายถิ่นในประเทศไทย

แต่ในความเป็นจริงยิ่งกว่านั้น วิกฤติน้ำท่วมเพียงแค่ทำให้เห็นปัญหาการคอรัปชั่นได้ชัดเจนขึ้น การใช้อำนาจในทางที่ผิดยังคงฝังอยู่ภายใต้หน้าตาของศิลปะการทำการตกแต่งการเปลี่ยนแปลงการย้ายถิ่นในประเทศไทย

ก่อนปี พ.ศ. 2554 แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ ไม่มีเอกสารใดๆ และกระบวนการจดทะเบียนยังเป็นสิ่งที่ไม่โปร่งใส เข้าใจยาก และมีระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยุ่งยากสำหรับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง มีการจับกุมที่มีการใช้อำนาจอย่างผิดๆ แรงงานข้ามชาติต้องตกอยู่ในวังวนของการถูกรีดไถ และการถูกส่งกลับ กระบวนการขั้นตอนหรือแนวคิดของการจัดการการย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติไม่เคยประสบผลสำเร็จ ส่วนหนึ่งของการกล่าวยืนยันของหลักนิติธรรมในสองทศวรรษของการไม่มีระบบกฎหมายของการบริหารจัดการการย้ายถิ่นอย่างชัดเจน

การคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติล้มเหลวอย่างน่าเศร้าใจ เห็นได้จากหน่วยงานทางด้านสิทธิขององค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนระหว่างประเทศให้ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ประเด็นการค้ามนุษย์ในเรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่นำไปสู่การกดขี่แรงงานและการกดขี่ทางเพศไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 มีหลักฐานของการพัฒนาในทางบวก มีการผลักดันการเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติจากใต้ดินให้ขึ้นมาสู่บนดินโดยนายจ้างนำมาขึ้นทะเบียนเกือบถึง 2 ล้านคน แม้จะยังเป็นการทำให้ถูกกฎหมายที่เอนเอียงไปทางนายจ้างได้ประโยชน์ และหลังจากลังเลที่จะเข้าร่วมในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง มีความพยายามที่จะทำให้ถูกต้องจากสิ่งที่กระทำการแบบผิดกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของแรงงานข้ามชาติเกือบ 750,000 คน (ส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า) ที่ขณะนี้ได้เป็นเจ้าของหนังสือเดินทางแบบชั่วคราว

กระบวนการพิสูจน์สัญชาติมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายให้กับนายหน้าที่ไม่ได้ถูกควบคุมให้อยู่ในระบบซึ่งเป็นตัวเชื่อมต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐของทั้งสองฝั่งเขตแดน กระบวนการไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ประการใดกับระบบการจดทะเบียนประชากรในประเทศต้นทาง กระบวนการนี้ ทำให้แรงงานข้ามชาติมีอิสระในการเดินทาง (แม้จะยังไม่ได้รับสิทธิในการเปลี่ยนนายจ้าง) มีสิทธิในการขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และมั่นใจมากขึ้นในสถานภาพที่ดีขึ้นของตัวเอง กระบวนการพิสูจน์สัญญชาตินับเป็นทางออกอีกทางหนึ่งซึ่งยังเป็นสิ่งที่พอจะยอมรับได้ของสถานการณ์ที่เลวร้ายและระดับของการคอรัปชั่นที่ฝังรากลึกทำให้พัวพันอยู่ในกระบวนการ

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 รองรัฐมนตรีด้านแรงงานของประเทศพม่า ได้เดินทางมายังประเทศไทยสองครั้ง เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองแรงงาน ท่านรัฐมนตรีมีความกระตือรือร้นในการให้ความมั่นใจว่า แรงงานจากประเทศพม่าทุกคนกลายเป็นแรงงานถูกกฎหมายผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ จะมีการเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติเพิ่มอีก 5 ศูนย์ในประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและลดต้นทุนในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 มีเจ้าหน้าที่สถานทูตที่ทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะในสถานทูตพม่า ประจำกรุงเทพมหานคร ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมหนัก รัฐบาลพม่าได้เปิดสะพานมิตรภาพแม่สอด-เมียวดี เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ประสบภัยน้ำท่วมและมีความประสงค์อยากกลับบ้าน และถูกกระทำจากทั้งสองฝ่าย

ปัจจุบัน ประเทศไทยและประเทศพม่าให้ความสำคัญและความสนใจร่วมกันกับการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย โดยตั้งเป้าไปที่แรงงานจำนวนมากจากประเทศพม่า ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ได้นำไปสู่การมีส่วนช่วยทำให้การลักลอบขนคนในรอบ 2 ทศวรรษลดลง การที่นายจ้างต้องพึ่งพิงแรงงานเป็นล้านๆ คน และผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสำคัญกับช่องทางการย้ายถิ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นประโยชน์และสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ก็ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผน

เรื่องราวการถูกเอารัดเอาเปรียบที่น่าตกใจของลูกเรือประมงชี้ว่า แรงงานในภาคนี้ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด อุตสาหกรรมประมงยังคงปฏิเสธปัญหา ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดของการเอารัดเอาเปรียบ อุตสาหกรรมประมงของไทยถูกมองว่าต้องพึ่งพิงการค้ามนุษย์เพื่อให้เรือออกทะเล

การเพิ่มการคุ้มครองด้านสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายยังไม่ประสบความสำเร็จ แรงงานส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงการประกันสุขภาพ เพราะนายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ ผลคือเมื่อมีการตายเกิดขึ้น หลังจาก 5 ปีของการรณรงค์ให้มีการจ่ายค่าทดแทนอุบัติเหตุในการทำงานให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุ แม้จะมีการแทรกแซงโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การสหประชาชาติก็ตาม แต่มีการพัฒนาในเรื่องนี้น้อยมาก

แรงงานข้ามชาติยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในการจัดตั้ง เจ้าหน้าที่การบังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นยังคงทำทุกวิถีทางที่จะขูดรีดเงินจากแรงงานข้ามชาติและจากนายจ้างของพวกเขา

ประเทศไทยน่าจะถูกจัดให้อยู่ใน “ระดับ 3” (ระดับ 3 หมายถึง ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการดังกล่าว) ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปีพ.ศ.2554 ที่จัดทำโดยสำนักงานและติดตามตรวจสอบกับการค้ามนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ร่วมมือกันป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และลงโทษผู้กระทำผิด ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการค้ามนุษย์ Joy Ezeilo ในปีพ.ศ.2554 ได้ประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทยไว้อย่างร้ายแรง ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากความจริง แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการตอบสนองที่จริงใจใดๆ เกิดขึ้น

การบริหารจัดการการย้ายถิ่นในประเทศไทย มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา แต่เมื่อมองลึกไปจากผิวหน้า การกระทำความผิดที่ไม่มีการลงโทษ และการใช้อำนาจอย่างผิดๆ ยังคงฝังรากลึก รอคอยที่จะปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยยังขาดนโยบายที่ผ่านการคิดอย่างรอบคอบ นโยบายระยะยาว ที่สนับสนุนความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับแรงงานข้ามชาติ นายจ้าง และชุมชนไทยอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสร้างสรรค์ให้เกิดองค์กรการบริหารจัดการการย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ มีอิสระ และเป็นองค์รวม

ควรมีการจัดกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและการนำเข้าแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และสามารถติดตามการถูกการเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ผู้กำหนดนโยบายยืนยันอย่างน่าชื่นชม ในเรื่องของความโปร่งใส ถูกกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิ

การขยายบทบาทของประเทศพม่าในการจัดการการย้ายถิ่น จะถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดในปีพ.ศ. 2555 นี้ หากเกิดกรณีของการล่วงละเมิดในระบบการรับสมัครสำหรับการนำเข้าแรงงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าวอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะฝังรากลึกอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ก็ยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นกับแรงงานของพวกเขาซึ่งพวกเขาควรต้องดำเนินการเช่นเดียวกันด้วย

สื่อภายในประเทศ ควรเริ่มทำความเข้าใจประเด็นในเรื่องแรงงานข้ามชาติให้ชัดเจนและเป็นกลางมากขึ้น นักการทูตควรเตรียมความพร้อมในการเล่นบทบาทการเจรจาต่อรองทางการค้าต่อประเด็นในเรื่องของการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมประมง

ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านควรเป็นผู้นำ เคียงคู่ไปกับประเทศฟิลิปปินส์ ในการผลักดันประเด็นแรงงานข้ามชาติ เข้าสู่กรอบการทำงานของประเทศสมาชิกในกลุ่ม ASEAN เพื่อให้มีการหาทางออกของความท้าทายของการย้ายถิ่นในระดับภูมิภาคอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งขณะนี้คงมีแค่ระดับของการตอบสนองที่อ่อนแอของความร่วมมือแบบทวิภาคีเท่านั้น

แรงงานข้ามชาติจากพม่ากำลังเตรียมการวางแผนที่จะกลับบ้านซึ่งพวกเขาหวังว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้ ประเทศไทยอาจจะต้องต่อสู้กับปัญหาการกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษที่ฝังรากลึกที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการย้ายถิ่นมาอย่างยาวนานเพื่อดำรงแรงงานที่เป็นส่วนสำคัญเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เป็นแรงงานต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตอธิบดีกรมสรรพกรคดีหุ้นชินคอร์ป

$
0
0

ยกฟ้อง "ศิโรตน์ สวัสดิ์พาณิชย์" และพวกรวม 5 คน กรณีงดเว้นคำนวณภาษีหุ้นชินคอร์ปที่ "พจมาน" โอนหุ้นให้ "บรรณพจน์" ระบุจำเลยไม่มีเจตนาเอื้อประโยชน์ หรือจงใจกระทำผิด

วันนี้ (31 ม.ค.) สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพพากร และพวกรวม 5 คน ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร, ร่วมกันละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 และ มาตรา 157 กรณีงดเว้นการคำนวณภาษีที่ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โอนหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ให้กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ทำให้รัฐได้รับความเสียหายที่ไม่จัดเก็บภาษีจำนวน 270 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 5 คน ไม่ได้มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีอากร อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น และศาลอุทรณ์เห็นว่าจำเลยทั้ง 5 คน ไม่ได้มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้นายบรรณพจน์ แต่เป็นการตอบข้อหารือตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน นั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้องยืนตามศาลชั้นต้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.เห็นชอบ 9 เมษายนเป็นวันหยุดราชการ

$
0
0

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้วันที่ 9 เมษายนนี้ เป็นวันหยุดราชการ ให้ประชาชนร่วมไว้ทุกข์งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (31 ม.ค.) ว่านายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอการกำหนดวันหยุดและการไว้ทุกข์ งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยกำหนดให้วันที่ 9 เมษายนนี้ เป็นวันหยุดราชการ ส่วนวันที่ 10 เมษายน ซึ่งตรงกับวันอังคาร จะมีการประชุม ครม.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.เห็นชอบปรับเงินเดือนข้าราชการวุฒิ ป.ตรี 15,000

$
0
0

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการ ปริญญาตรี-โท-เอก-ปวช.-ปวส. ในปีแรก 2555 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (31 ม.ค.) ว่านายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการ ปริญญาตรี-โท-เอก-ปวช.-ปวส. ในปีแรก 2555 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ใช้งบประมาณ 5,600 ล้านบาท พร้อมทั้งปรับขึ้นเงินเดือนราชการที่มีอายุงานตั้งแต่ 1 - 10 ปี ตามฐานเงินเดือนจริง ส่วนที่มีอายุงานเกิน 10 ปีขึ้นไปอยู่ระหว่างพิจารณา

สำหรับฐานเงินเดือนที่ยังไม่ถึง 15,000 บาท จะเพิ่มเงินการครองชีพชั่วคราวให้ไม่เกิน 15,000 บาท โดยเงินเดือนที่ปรับฐานใหม่ คือ ปริญญาตรี จากเดิม 9,140 บาท เพิ่มเป็น 11,680 บาท, ปริญญาโท จากเดิม 12,600 บาท เป็น 15,300 บาท , ปริญญาเอก จากเดิม 17,010 บาท เป็น 19,000 บาท , ปวช. จากเดิม 6,410 บาท เป็น 7,620 บาท และ ปวส. จากเดิม 7,600 บาท เป็น 9,300 บาท

ขณะที่การพิจารณาการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนราชการในปี 2556 ต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังก่อน เพื่อไม่ให้กระทบระบบเศรษฐกิจประเทศ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลังเลือก สปสช.อันดับ 1 ดีเด่นในการบริหารกองทุน

$
0
0

กระทรวงการคลังมอบรางวัล สปสช.บริหารกองทุนหมุนเวียนอับดับ 1 จาก 108 องค์กรทั่วประเทศ เลขาธิการ สปสช.เผยได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน จากจัด 4 ครั้งเน้นให้ความสำคัญรายหัวประชาชน 

31 ม.ค.55 นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้ทำการคัดเลือกกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่ได้พิจารณาคัดเลือกกองทุนเงินนอกงบประมาณประเภททุนหมุนเวียนที่มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีกว่าเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ รางวัลการพัฒนาดีเด่น รางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น และรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจ ความภาคภูมิใจ และผลักดันให้กองทุนหมุนเวียนต่างๆ พัฒนาการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะทำให้ประชาชนและผู้รับบริการของกองทุนหมุนเวียนต่างๆได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานต่อ ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกกองทุนดีเด่นประจำปี 2554 นั้น มีรายชื่อทั้งหมด 108 กองทุน โดนมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และว่าจ้างที่ปรึกษาภายนอกในการติดตามประเมินผลและคัดเลือกอย่างเป็นระบบ

“รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น เป็นรางวัลแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจ ซึ่งกระทรวงการคลังมอบให้กับทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินดีเด่น สมควรได้รับการยกย่องและเป็นตัวอย่างในการถ่ายทอดการสร้างสรรค์ผลงาน การพัฒนา และการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการอย่างเป็นระบบแก่ทุนหมุนเวียนอื่นๆ”อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

นอกจากนี้แล้ว สำหรับหลักเกณฑ์ในการตัดสินรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นมี 3 รางวัล คือ รางวัลผลการดำเนินงานประเภทดีเด่น ซึ่งจะต้องมีผลงานตั้งค่าระดับ 4 ขึ้นไป และประเภทชมเชย รางวัลประสิทธิภาพเฉพาะด้านดีเด่น ตั้งเป้าหมายค่าระดับ 3 และรางวัลการพัฒนาดีเด่นมีประเภทดีเด่นตั้งค่าเป้าหมายค่าระดับ 3และประเภทชมเชย

นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ในฐานะองค์กรบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีหน้าที่บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลจากระบบประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยสปสช.บริหารงบประมาณซึ่งให้ความสำคัญกับการกระจายให้เป็นธรรม มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพการจัดบริการ รวมทั้งบริหารเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของประชาชนกลุ่มที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพมาก

ทั้งนี้ในปี 2554 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีงบประมาณ 101,057 ล้านบาท ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคนที่ได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งจากการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ และได้รับการประเมินจากบริษัทไทยเรตติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด(ทริส) ให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีซ้อน (ปี 51 ,ปี 52 และปี 54 ซึ่งในปี 53 นั้นสปสช.ได้รางวัลผลการดำเนินงานชมเชย) อย่างไรก็ตาม สำหรับรางวัลในครั้งเป็นความสำเร็จจากการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริหารและผู้รับบริการ จึงทำให้ได้รับรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นเป็นปีที่ 3 อีกครั้ง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

5 องค์กรสิทธิแถลงร่วม วอน มธ.ทบทวนมติขัดเจตนาธรรมศาสตร์ อัดรัฐไม่ปกป้อง

$
0
0

แถลงการณ์ องค์กรสิทธิห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญ กำลังถูกคุกคาม

31 มกราคม 2555 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.), 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.), 

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.), 

โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์ร่วม กรณีคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์ ระบุ รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามเสียเอง

ในแถลงการณ์ยังระบุถึงกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ ว่า 

สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรมเสมอมา มติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสถาบัน ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

แถลงการณ์ได้เรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

 

0 0 0

 

 

แถลงการณ์

 
องค์กรสิทธิห่วงใยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายตามกรอบรัฐธรรมนูญ
กำลังถูกคุกคาม 

 

จากข้อเสนอของนักวิชาการนิติศาสตร์กลุ่มนิติราษฎร์และกิจกรรมของคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือที่ทราบกันทั่วไปว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้นำมาซึ่งการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคม มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้านซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ตราบใดที่การใช้สิทธิดังกล่าวได้ดำเนินไปในกรอบของสันติวิธีและเป็นไปตามตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนทุกคน แต่ในขณะที่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์บางกลุ่ม ได้แสดงออกในลักษณะของการคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น แทนที่รัฐจะได้ทำหน้าที่ดังกล่าวของตน กลับปรากฏว่าผู้นำของรัฐบาลทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติบางคนได้แสดงออกไปในทางเสียดสี ข่มขู่ กระทั่งคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มนิติราษฎร์

ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้บรรยากาศของความแตกต่างทางความคิดทางการเมือง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างของคณะนิติราษฎร์เป็นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและความเชื่อ ตลอดจนข้อเสนอต่อการดำเนินการแก้ไขกฎหมายตามกรอบวิธีการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งปกติ เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่ไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นและข้อเสนอดังกล่าว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตน และสามารถถกเถียงโต้แย้งได้ด้วยเหตุผล อย่างสันติและอารยะ แต่ต้องเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากตน ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างตามครรลองประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ กลับนำมาซึ่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพของคนอื่น รัฐจึงจึงมีหน้าที่ต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างและสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขและการปฏิรูปกฎหมายอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญคือรัฐจะต้องไม่เป็นผู้คุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้เสียเอง ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามหน้าที่ของตนในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและยุติการคุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวของประชาชนโดยทันที

ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันการศึกษามีภารกิจในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีประวัติศาสตร์อย่างยาวนานที่มิใช่พียงแต่เป็นสถาบันซึ่งผลิตปัญญาชนเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นแบบของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคและความเป็นธรรม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่สำหรับสิทธิและเสรีภาพเสมอมา ดังนั้นการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเองใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็นสิทธิและเสรีภาพที่กลุ่มนิติราษฎร์และประชาชนทั่วไปสามารถกระทำได้ตามหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันศึกษาของรัฐและประเพณีปฏิบัติอันดีงามของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพความคิดและการแสดงออก ตามครรลองของกฎหมายและประชาธิปไตยเป็นการทำลายจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้โปรดทบทวนคำสั่งห้ามกลุ่มนิติราษฎร์ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำกิจกรรมตราบใดที่การทำกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในกรอบของสันติวิธีและสิทธิมนุษยชน

อนึ่งพึงตระหนักว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย บุคคลอาจไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของบุคคลอื่น แต่พึงปกป้องสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของเขา

         

                                                                        วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2555

                                                                        มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

                                                                        มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

                                                                        คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

                                                                        เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.)

                                                                        โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ’ ผ่านวุฒิสภาฉลุย ส.ว.ถอย ตัดทิ้งข้อความกรรมาธิการฯ

$
0
0

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่รัฐสภา ตัวแทนเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติไทยจังวัดระนองและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 40 คน เข้าพบ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เพื่อทำความเข้าใจกรณีกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อความจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ ในมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติ เป็น “คนไทยพลัดถิ่น” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันผู้นั้นมิได้ถือสัญชาติของประเทศอื่น และได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีวิถีชีวิตเป็นคนไทย โดยได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับ

ตัวแทนเครือข่ายฯ ชี้แจงว่า การเพิ่มเติมข้อความดังกล่าว จะส่งผลให้ชาวไทยพลัดถิ่นเกือบทั้งหมด จะไม่ได้รับสัญชาติไทย ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยสำรวจและขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรเฉพาะชนกลุ่มน้อย  คนไทยพลัดถิ่นจึงได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร จากกระทรวงมหาดไทยน้อยมาก

ต่อมา เวลา 13.30 น. วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ในวาระที่ 2 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ยังคงยืนกรานให้คงมาตรา 3 ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย หลังจากถกเถียงกันประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ ที่ประชุมได้มีมติให้ยืนตามร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....ที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยตัดข้อความ  “ก่อนวันที่ พระราชบัญญัติสัญชาติ จะมีผลบังคับใช้” ออก ด้วยคะแนนเสียง 73 ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ต่อมา เวลา 18.40 น. ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....  ในวาระที่ 3 โดยลงมติรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ด้วยคะแนนเสียง 84 เสียง ต่อ 11 เสียง

นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ แกนนำเครือข่ายไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า ตนและชาวบ้านเครือข่ายไทยพลัดถิ่น จะอยู่ที่หน้ารัฐสภาอีก 1 คืน รอเข้าพบเพื่อขอบคุณสมาชิกวุฒิสภา และเฉลิมฉลองที่ร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....ที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การตั้ง รมต. ดร.นลินี ทวีสิน กับข้ออ้างทางจริยธรรม

$
0
0

เป็นที่ทราบกันดีในทางการเมืองในขณะนี้ว่า ในที่สุดกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ซึ่งถูกหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ ห้ามมิให้ทำธุรกิจกับพลเมืองสหรัฐ แม้จะมีการปฏิเสธจาก ดร.นลินี ว่าเป็นความเข้าใจผิดกรณีถูกกล่าวหาจากหน่วยงานดังกล่าวว่าทำธุรกิจกับภริยาของนายโรเบริ์ต บูกาเบ ประธานาธิปดีแห่งซิมบับเว ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาลสหรัฐผู้กล่าวหานั้น กำลังนำไปสู่ปัญหาการเมืองได้ เมื่อมีความพยายามใช้เหตุจากการที่นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นปัญหาทางการเมืองโดยเริ่มจากมี สส. ฝ่ายค้านตั้งกระทู้สอบถามนายกรัฐมนตรีขณะที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปทำหน้าที่ในต่างประเทศ จนเกิดความวุ่นวายในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร์ โดยที่พรรคฝ่ายค้านต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ด้วยตนเอง    

ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ที่มีอีกหนึ่งฐานะคือตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยว่าได้รับรู้ถึงการเสนอชื่อ ดร.นลินี ทวีสิน มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นเพราะเป็นหัวหน้าพรรคมาตอบกระทู้แทน โดยอ้างเหตุจำเป็นว่านายกฯไม่สามารถตอบกระทู้ได้เพราะอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ  แต่ท้ายที่สุดพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมโดยยืนยันที่จะให้นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  มาตอบคำถามด้วยตัวเอง ในที่สุดจึงต้องเลื่อนวันตอบกระทู้ของนายกรัฐมนตรีต่อสภาฯออกไปในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งที่โดยแม้ว่าจะยอมรับการแต่งตั้ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ว่ามีความถูกต้องตามกฎหมาย (รัฐธรรมนนูญ ฯ ปัจจุบัน) เพราะว่าผู้ถูกแต่งตั้งมีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด  แต่กระนั้นก็ตาม ผู้ตั้งกระทู้จากพรรคประชาธิปัตย์ยังชี้ว่าแม้การแต่งตั้งจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการตั้งที่ขัดต่อจริยธรรม  เช่นเดียวกันกับที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แสดงความกระตือรือร้นในการเข้าไปตรวจสอบว่าการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวด ๑๓ ว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๙ หรือไม่ ภายหลังจากมีบุคคลได้ร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการฯ

คำถามหรือกระทู้ของ สส. พรรคฝ่ายค้านต่อนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อการแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.นลินี ทวีสิน ว่าแม้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หรือพูดอีกนัยคือชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เป็นไปตามจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความในมาตรา ๒๗๙ แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน  ทำให้เกิดความเข้าใจได้เป็นสองนัยว่า  ๑) ที่ว่าการแต่งตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามที่ฝ่ายค้านผู้ตั้งกระทู้ยอมรับนั้นหมายถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯทั้งฉบับ ซึ่งรวมถึงบทบัญญัติว่าด้วยจริยธรรม ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐในหมวด ๑๓ ด้วยหรือไม่กรณีหนึ่ง และ ๒) หากการแต่งตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญปัจุบัน แต่ไม่ถูกต้อง ขัดหรือสวนทางกับหมวด ๑๓ ว่าด้วยจริยธรรม  ตามที่กล่าวอ้าง  เรื่องการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าได้หรือไม่ได้ ชอบหรือไม่ชอบ จะต้องดูจากหมวดที่ ๑๓ เป็นหลักหรือไม่ ในประการสำคัญมีรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดหลักการไว้อย่างไร กรณีหลักเกณฑ์การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าขัดหรือสวนทางกับหมวดที่ ๑๓ แล้วให้ถือเอาหมวดที่ ๑๓ เป็นหลักในการวินิจฉัยการแต่งต้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองการหาคำตอบทั้งสองกรณีหากเราไม่ทำความเข้าใจ หรือ จำแนกแยกแยะไม่ได้ หรือไม่มีความเข้าใจสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองกรณีจริยธรรม (Ethics) ก็จะเข้าใจไปในทิศทางที่สส.พรรคฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีคือ

หนึ่ง. จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดจากการชี้นิ้วของบุคคลโดยเฉพาะผู้เป็น สส. หรือ นักการเมือง ที่สามารถใช้อัตวินิจฉัยส่วนตนที่ชี้กล่าวหาบุคคลอื่นได้หากเกิดความรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ทั้ง ๆ ที่เรื่องใดจะเป็นเรื่องทางจริยธรรมหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบรรทัดฐานของสังคม (Social Norms) สังคมไม่ใช่ผู้สร้างบรรทัดฐาน การเกิดหรือการก่อตัวของจริยธรรม เกิดขึ้นเหมือนการบัญญัติหรือเขียนขึ้นเหมือนกฎหมายแต่เรียกต่างกัน หรือ กรณีเกิดจากการเลือกวินิจฉัยตีความเอาเองตามคำที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ อันเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนมาก ๆ

สอง. การหล่อหลอมทางบรรทัดฐานของสังคมในเรื่องใด ๆ จนส่วนหนึ่งถูกยกระดับพัฒนาเป็นจริยธรรมนั้น  ไม่ต้องพิจารณาถึงความจริง (The Master of Fact) ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งนั้น ๆ อย่างน้อยที่สุดจะเกี่ยวข้องกับความถูกต้องตามกฎหมายของสังคม (Laws and Orders) หรือไม่  การที่สังคมเขียนหรือก่อกำเนิดจริยธรรมขึ้นซึ่งสะท้อนออกตาม ประมวลจริยธรรม (Code of Ethics) ในเรื่องใด ๆ นั้น ไม่เป็นความจริงก็ได้  ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้  อย่างกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน    โดยนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อันปัญหาจากการที่มีการกล่าวหาทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ การเมืองและ ความจริง (Fact)  ความชอบด้วยกฎหมายและนิติธรรมระหว่างประเทศ (International Rule of Laws) โดยปัญหาข้อเท็จจริงดังกรณีการแต่งตั้ง ดร.นลินี ฯ ยังไม่เคยมีบรรทัดฐานมาก่อนว่าอย่างนี้เป็นปัญหาทางจริยธรรม กรณีอาจจะอ้างว่าก็เอาเรื่องนี้เป็นกรณีสร้างบรรทัดฐาน แล้ว ความจริง ความถูกต้องจะว่าอย่างไร จริยธรรมถูกสร้างด้วยเงื่อนไขอย่างนี้จะถูกหรือ และ การเอาความต้องการทางการเมืองมาบังคับผู้อื่นให้ยอมจำนนด้วยข้ออ้างทางจริยธรรมตามมาตรฐานส่วนตนสิ่งนั้นกลายเป็นจริยธรรมเรื่องนั้นทันทีหรือ

สาม. กระทู้ของพรรคฝ่ายค้านส่วนหนึ่ง อ้างยอมรับว่าการแต่งตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน แต่ไม่ถูกต้องตามจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา ๒๗๙ ในหมวด ๑๓ เลยไม่รู้ว่าหากชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจริง แล้วทำไมต้องไม่ถูกต้องตามหมวด ๑๓ อีกหากจะต้องวินิจฉัยตามกระทู้ของ สส.พรรคฝ่ายค้านก็แสดงว่า บทบัญญัติในหมวด ๑๓ มีผลบังคับเหนือ (Over Rule) บทบัญญัติในหมวด ๙ เรื่องคณะรัฐมนตรี ในประการสำคัญโดยมองว่ากรณีจริยธรรมโดยนัยที่กำหนดไว้ตาม มาตรา ๒๗๙ หมวด ๑๓ นั้นมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ พูดอีกนัยคือ จริยธรรม กับ กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเดียวกัน ใช้บังคับเหมือนกันก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะจริยธรรมเป็นระบบความคุมทางสังคม (Social Control) ขณะที่กฎหมายเป็นระบบความคุมทางกฎหมาย (Legal Control) ซึ่งต่างกัน

ความสับสนที่สะท้อนจากกระทู้ของ สส. พรรคฝ่ายค้าน และหรือ การกระตือรือร้นเข้าไปตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาบางท่าน จากกรณีการที่นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่งต้ง ดร.นลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า และ ทำการถวายสัตย์เข้าทำหน้าที่เป็นที่เรียบร้อยไปแล้วโดยว่าไม่ถูกต้องตามจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น  ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะความเชื่อโดยบริสุทธ์ใจของผู้ตั้งกระทู้ หรือ ความเข้าใจจริง ๆ อย่างนั้นจริง ๆ หรือไม่  เป็นเรื่องที่สังคมการเมืองไทยต้องคอยติดตามการถามกระทู้ และ การตอบกระทู้จากนายกรัฐมนตรีในอนาคตอันไกล้นี้  ในฐานะที่เป็นกรณีปัญหาทางการเมืองหนึ่งที่ถูกจุดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ไป ไม่สำคัญอะไรนักสำหรับสังคมที่จะให้ค่ากับการเล่นการเมือง เพื่อการเมือง โดยการเมืองที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปจากสังคมการเมืองไทย

แต่กรณีนี้ผู้เขียนกลับมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเมื่อพิจารณาถึงโอกาสทางการเมืองไทยที่จะต้องพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งสุดท้ายที่จะตกถึงมือประชาชน กอปรปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทยที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยในอดีตที่ผ่านมา ความยิ่งใหญ่และถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ใจในรอบปีใหม่เมื่อเห็นนักการเมืองหยิบยกเอาเรื่องจริยธรรม  มาเป็นประเด็นสำคัญในการตรวจสอบกันในทาง “การเมือง” หากเป็นเช่นนั้นจริง ๆ การเมืองไทยคงพัฒนาและยกระดับสูงขึ้นและเป็นความหวังของประชาชนไทยที่ตั้งตารอคอยมาเป็นเวลานาน  อย่าลืมและแกล้งไม่เข้าใจว่า จริยธรรม (Ethics) ที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑๓ รัฐธรรมนูญปัจจุบันซึ่งกำลังถูกนำไปใช้ในข้อกล่าวหาด้านจริยธรรมนั้น  ในตัวสาระแก่นสารในตัวของจริยธรรมเอง คุณค่าของจริยธรรมได้บอกตัวมันเองว่าผู้ยกเรื่องจริยธรรมมากล่าวหาผู้อื่น ต้องตั้งอยู่บนครองแห่งจริยธรรมด้วย หาไม่แล้วก็จะเป็นเพียงการจับแพะชนแกะ หรือการสร้างวาทะกรรมทางการเมืองเท่านั้น

ผมไม่ปฏิเสธว่าจริยธรรมอาจมีได้ในหลาย ๆ ด้านเช่น จริยธรรมทางการเมือง จริยธรรมของนักวิทยาศาสตร์ จริยธรรมของนักธุรกิจ จริยธรรมของครูอาจารย์ หรือ จริยธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง  อันเป็นบรรทัดฐานร่วมกันของสังคมที่ก่อร่างสร้างขึ้นมา  ซึ่งขึ้นอยู่กับความจริง ความถูกต้องตามกฎหมายที่ถูกต้อง และ นิติธรรมระหว่างประเทศที่ถูกต้องเทียบเคียงกับกรณีนายกรัฐมนตรีนางสาว ยิ่งลีกษณ์ ชินวัตร แต่งตั้ง ดร.นลินี ทวีสิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หากจะต้องเป็นเรื่องปัญหาที่ต้องพิจารณาทางจริยธรรมต้องมีฐานที่มาของจริยธรรมในเรื่องนั้น ๆ ที่ถูกต้อง จริยธรรมไม่อาจงอกเงยขึ้นจากการชี้นิ้วของบุคคลใดอาชีพใดกล่าวหาคนอื่น โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใด ๆ กับบรรทัดฐานของสังคม หรือไม่จำแนกแยกแยะว่าจริยธรรมกับกฎหมายเป็นสิ่งเดียวกันระดับเดียวกันหรือไม่ หากเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงต้องการใช้มันเพื่อต้องการบรรลุผลทางการเมืองเท่านั้น  การผูกโยงจริยธรรมเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง ผู้ถามหรือตั้งกระทู้จำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า... คำถามจริยธรรมไม่เป็นการทำลายจริยธรรมของผู้ถามเสียเอง....

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ความคิดมิจฉาทิฐิ!

$
0
0

แรกๆ ที่ตกเป็นเหยื่อ ม.112 และถูกกดดันอย่างหนัก ผมรู้สึกอิจฉาอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ไม่น้อยที่พวกเขาเป็นอาจารย์ “ธรรมศาสตร์” ที่ถือกันว่าเป็น “พื้นที่เสรีภาพทุกตารางนิ้ว”

 

แต่พลันที่ปรากฏแถลงการณ์ของชมรมนิติ มธ.2501 เรียกร้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้าม “นิติราษฎร์” ใช้สถานที่ของธรรมศาสตร์รณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 8 และประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และให้กลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ทันที เพื่อไม่ให้นักศึกษารับ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” มาเป็นแบบอย่างต่อไป พร้อมทั้งให้มีการดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ดังที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น

 

และต่อมา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า

"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"

 

จึงเป็นที่มาของภาพและข้อความข้างล่างนี้

 

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเลิกอิจฉาเลยครับ และตระหนักถึงความเป็นจริงชัดขึ้นว่า ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศนี้ไม่มีพื้นที่เสรีภาพแม้แต่ตารางนิ้วเดียวที่จะอภิปรายถกเถียง “ประเด็นสถาบันกษัตริย์” ด้วยเหตุด้วยผลกันเลย

 

แต่คำถามคือ อะไรคือ “ความคิดมิจฉาทิฐิ” ระหว่างความคิดของชมรมนิติ มธ.2501 ที่ยืนยัน “สถานะข้าราชการ” และความคิดของนายสมคิดที่ยืนยันความเป็น “สถานที่ราชการ” ของธรรมศาสตร์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง กับความคิดของนิติราษฎร์ที่ยืนยันเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของ “ราษฎร” และยืนยันความเป็น “บ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร...” ของธรรมศาสตร์ ตามคำประกาศของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

ข้ออ้างชมรมนิติ มธ.2501 ที่ว่านิติราษฎร์จาบจ้วงสถาบัน ไม่เลื่อมใสในการปกครองระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็น “การกล่าวหา” ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมเดียวกันกับกลุ่มอื่นๆ ที่แทนที่จะแสดงเหตุผลหักล้างข้อเสนอของนิติราษฎร์ ก็ใช้วิธีกล่าวหา (ซึ่งนายสมคิดก็เคยใช้) เช่นว่า เนรคุณทุนอานันทมหิดล ล้มเจ้า เปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง จนกระทั่งด่าหยาบคาย เผาหุ่น ฯลฯ

 

ส่วนเหตุผลของนายสมคิดเรื่องกลัวคนจะเข้าใจผิดว่า ธรรมศาสตร์สนับสนุนการแก้ ม.112 ยิ่งเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเท่ากับสรุปว่า “ชาวบ้านโง่” ไม่มีปัญญาแยกแยะว่าอะไรเป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม อะไรเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย

 

ทีนายสมคิดไปร่างรัฐธรรมนูญให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารโดยบอกว่า “ตนเองไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร” ทำไมไม่แคร์ว่า สังคมจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนรัฐประหาร ส่งเนติบริกรของธรรมศาสตร์ไปรับใช้รัฐประหาร ที่ไม่แคร์แสดงว่า สมคิดเชื่อว่าประชาชนมีวุฒิภาวะแยกแยะได้ใช่ไหมว่า อะไรคือความเป็นธรรมศาสตร์ อะไรคือความเป็นสมคิด และถึงสมคิดจะสนับสนุนรัฐประหารหรือไม่ก็เป็นเรื่องของสมคิด ไม่ใช่เรื่องของธรรมศาสตร์

 

ส่วนเรื่องความปลอดภัย นายสมคิดย่อมรู้ว่าการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ใช้เหตุผลและสันติวิธีมาตลอด กลุ่มคนที่เข้าร่วมฟังก็ไม่เคยก่อความวุ่นวายหรือความรุนแรงใดๆ มีแต่ฝ่ายที่เห็นแย้งกับนิติราษฎร์อย่างนายสมคิดและฝ่ายอื่นๆ เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้เหตุผล แต่ใช้การกล่าวหา ใส่ร้าย ใช้อำนาจ และการข่มขู่คุกคาม เช่น การเผ่าหุ่นอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นต้น

 

แทนที่คณะผู้บริหารจะออกมาปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และป้องปรามฝ่ายที่คุกคามนิติราษฎร์ กลับใช้อำนาจอำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายกล่าวหา ใส่ร้าย และข่มขู่คุกคามนิติราษฎร์!

 

หรือว่า “ความแหลมคม” ของเหตุผลในการลบล้างรัฐประหารของนิติราษฎร์มัน “ทิ่มแทง” จรรยาบรรณวิชาชีพอาจารย์สอนกฎหมาย และความชัดเจนในอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนพึงมีอย่างยิ่ง ของคนบางคน บางกลุ่ม

 

ผมเองแม้ไม่ใช่ชาวธรรมศาสตร์ แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็ภูมิใจในประวัติศาสตร์อันงดงามของธรรมศาสตร์ที่เป็นสถานที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยตลอดมา “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” มีอยู่จริงหรือไม่ นั่นอาจเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ แต่ในสถานการณ์ที่สังคมกระหายความรู้ ต้องการ “พื้นที่เหตุผล” ในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แล้วนิติราษฎร์ก็ปรากฏขึ้น ข้อเสนอของพวกเขาคือทางออกที่ควรจะเป็น และน่าจะเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ

 

พูดอีกอย่างว่า นิติราษฎร์คือนักวิชาการที่ลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบต่อการเสนอทางออกจากความขัดแย้งอย่างเป็นรูปธรรมแก่สังคม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าที่สมคิดเคยแสดงออกมาแล้วในคราวร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์รัฐประหาร 19 กันยาแน่ๆ

 

แต่น่าอนาถใจที่มติกรรมการบริหารของธรรมศาสตร์ชุดนี้ ปิดทางการเปลี่ยนผ่านสังคมคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติลง พวกเขากำลังทำให้ธรรมศาสตร์กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ “แปลกแยก” จากวิถีทางการใช้เหตุผล เสรีภาพ และสันติวิธีในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

 

คำถามคือ ถ้าแม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็ยัง “ปิดพื้นที่” การใช้เสรีภาพและเหตุผลในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หากวันข้างหน้าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่นี้ขยายไปสู่การเกิดความรุนแรงนองเลือดขึ้นอีก ฝ่ายปิดพื้นที่เหตุผลและเสรีภาพ ยังจะมีน้ำยาแสดงความรับผิดชอบอะไรไหม?! 
 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โวยทหารพรานยิงชาวบ้านดับ 4 เจ็บ 5 กอ.รมน.โต้! อ้างค้นร้ายแฝงในรถ

$
0
0

ญาติผู้ตายโวยถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง หลังไล่สกัดคนร้ายที่ถล่มยิงฐานบ้านน้ำดำ ดักยิงชาวบ้านดับ 4 ราย เจ็บอีก 5 โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. แถลงอ้างคนร้ายใช้ชาวบ้านเป็นโล่มนุษย์ พยายามสร้างเงื่อนไขให้เข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่ทำ

เช้าวันที่ 30 มกราคม 2555 เจ้าหน้าที่ทยอยส่งผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยพัฒนาสันติ บ้านน้ำดำ ตำบลปูโล๊ะปูโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ใช้กำลังพร้อมอาวุธไล่สกัดคนร้ายไม่ทราบจำนวนที่ใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ฐานปฏิบัติการบ้านน้ำดำ ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี

สืบเนื่องจากเมื่อเวลา 20.30 น.คืนวันที่ 29 มกราคม 2555 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้ปืนเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการทหารพราน 4302 หมู่ที่ 3 บ้านน้ำดำ เป็นเหตุให้ทหารพรานบาดเจ็บเล็กน้อย 1 นาย หลังเกิดเหตุทหารพรานหน่วยพัฒนาสันติบ้านน้ำดำไล่สกัดคนร้าย เมื่อมาถึงบริเวณ หมู่ที่ 1 บ้านกาหยี ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก พบรถยนต์กระบะตอนครึ่งขับมาบนถนนสายบ้านน้ำดำ-บ้านกะหยี มีผู้โดยสารเต็มคัน จึงตั้งจุดสกัด ก่อนถึงแยกทางหลวงสาย 418 เมื่อรถยนต์คันดังกล่าวชะลอความเร็ว เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่ตัวรถยนต์กระบะคันดังกล่าวพรุนทั้งคัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย

หลังเกิดเหตุ พ.ต.ท.วีรชาติ คูหามุ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร(ผกก.สภ.)หนองจิก นำกำลังตำรวจพร้อมชุดพิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที พบรถยนต์กระบะตอนครึ่ง สีบรอนซ์เงิน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย เจ็บสาหัส 3 ราย เจ้าหน้าที่จึงประสานรถเพื่อนำส่งโรงพยาบาลหนองจิก นอกจากนี้ จากการตรวจสอบภายในรถพบปืนสงครามอาก้า 1 กระบอก และปืนพกสั้นขนาด 11 มม.อีก 1 กระบอก

นายแวเตะ อาแวกือจิ บิดาผู้เสียหายโวยว่าถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งหาว่าผู้ตายนั้นเป็นโจร เพราะก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหายทั้งหมดได้นั่งรถออกมาจากบ้านจำนวน 9 คน เพื่อมุ่งหน้าไปร่วมละหมาดคนตายที่บ้านทุ่งโพธิ์ โดยมีนายยา ดือราแม อายุ 58 ปี ตำแหน่งคอเต็บ เป็นคนขับ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุทหารพรานตะโกนให้จอด เมื่อรถชะลอความเร็วกลับถูกเจ้าหน้าที่ยิงใส่จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ บางส่วนกระโดดหนีไปหลบที่บ้านญาติ ก่อนที่บรรดาญาติและชาวบ้านในละแวกดังกล่าวช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลหนองจิกเป็นการด่วน

นายมะรูดิง แวกะจิ อายุ 15 ปี หนึ่งในผู้บาดเจ็บ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงปืนและเสียงคล้ายลูกระเบิดดังขึ้นฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน จากนั้นหลังเสร็จจากละหมาดอีชาที่มัสยิดในหมู่บ้าน นายยา ดือราแม ได้ชวนไปละหมาดคนตายที่บ้านโพธิ์ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมืดมาก มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนบอกเป็นภาษาไทยให้หยุดรถทันที ในระหว่างที่รถชะลอความเร็วได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นไม่รู้มาจากทิศทางไหน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันทีและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ตนจึงกระโดหนีหลบที่ใต้รถ แต่ก็ถูกยิงเข้าที่แขนขวา 1 นัด จากนั้นจึงได้พยายามหลบหนีเข้าป่า ก็ยังถูกยิงไล่ตามหลังเป็นชุดใหญ่อีก แต่โชคดีกระสุนพลาด ตนจึงเข้าไปหลบอาศัยบ้านของเพื่อนบ้านก่อนที่จะถูกพาส่งโรงพยาบาลต่อไป

นายมะรูดิง แวกือจิ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นยิง และช่วงที่คนร้ายดักยิงนั้นเราไม่ได้มียิงตอบสู้กับคนร้ายแต่อย่างใดเพราะเราไม่มีอาวุธปืนแม้สักกระบอกเดียว จึงได้แต่วิ่งหนีตายอย่างเดียว ตนไม่รู้จริงๆ ว่าทำไมเขาต้องมายิง เพราะจะไปช่วยละหมาดคนตาย ทำไมเขาต้องดักสกัดยิงอย่างเลือดเย็นเช่นนี้

ส่วนรายชื่อผู้เสียชีวิต ได้แก่ นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี (ลูกอิหม่าม) อยู่บ้านเลขที่ 37/2 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายสาหะ สาแม อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93/2 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, นายหะมะ สะนิ อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 ม.1 บ้านกะหยี ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสภาพศพทั้งถูกยิงเข้าที่บริเวณลำตัวและขาเป็นแผลฉกรรจ์

ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้แก่ นายยา ดือราแม อายุ 58 ปี ตำแหน่งคอเต็บมัสยิดบ้านกะหยี มีบาดแผลถูกอาวุธเฉียดจำนวน 1 แผล และมีรอยฟกช้ำตามลำตัวเป็นจำนวนมาก, ด.ช.มะรูดิง แวกือจิ อายุ 15 ปี ถูกยิงเข้าที่แขนขวา หัก จำนวน 1 นัด, นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี และ นายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี โดยทั้งหมดเป็นชาว ต.ลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่มัสยิดบ้านตันหยงบูโล๊ะ ตำบลปุโล๊ะปุโย ญาติได้นำร่างของผู้เสียชีวิตประกอบพิธีทางศาสนา ประกอบด้วยศพนายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี, นายสาหะ สะแม อายุ 70 ปี, นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี และ นายหามะ สะนิ อายุ 65 ปี โดยมีประชานชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมละหมาดให้กับผู้เสียชีวิต ก่อนที่จะช่วยกันแบกร่างของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ไปฝั่งยังกุโบร์ บ้านตันหยงบูโล๊ะ โดยมีชาวบ้านร่วมเดินไปยังกุโบร์กันเป็นจำนวนมาก หลายคนเชื่อว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์ และอยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ

ทหารโต้! อ้างค้นร้ายแฝงตัวในรถ
พล.ต.อัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า คนร้ายก่อเหตุใช้เครื่องยิงกระสุนเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานชุดปฏิบัติการทหารพราน 4302 บ้านน้ำดำ พยายามจะใช้พี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นโล่มนุษย์กำบัง โดยการอาศัยรถยนต์ของชาวบ้านที่แล่นผ่านมา แฝงตัวเพื่อใช้เป็นเส้นทางในการหลบหนี เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นท่าทางมีพิรุธเข้าตรวจสอบ คนร้ายได้ยิงตอบโต้ใส่เจ้าหน้าที่ ทิ้งหลักฐานแล้วหลบหนีเอาตัวรอดไป

พล.ต.อัคร กล่าวว่า ส่วนเจ้าหน้าที่ได้ทำการตอบโต้กลุ่มคนร้าย ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์รับเคราะห์ ซึ่งเป็นกลลวงของกลุ่มคนร้ายที่พยายามสร้างสถานการณ์ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพี่น้องประชาชน เบื้องต้นขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อย่างละเอียดก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเชื่อมโยงการก่อเหตุร้ายของกลุ่มคนร้ายในครั้งนี้ ซึ่งจะสามารถระบุได้แน่ชัดว่ามีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง

พล.ต.อัคร เปิดเผยด้วยว่า ในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถยึดปืนอาก้า AK47 ได้ 1 กระบอก และปืนพกสั้นขนาด 11 ม.ม. 1 กระบอก ซึ่งเป็นอาวุธที่คนร้ายใช้ในการก่อเหตุ โดยทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบที่มาของอาวุธปืนว่าคนร้ายเคยนำไปก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ใดบ้าง และเชื่อมโยงไปสู่ผู้ที่ครอบครองต่อไป

พล.ต.อัคร เปิดเผยว่า ด้านการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ขณะนี้ทางหน่วยศูนย์สันติสุข และทางหน่วยทหารพราน 4302 บ้านน้ำดำ ได้ลงพื้นที่เพื่อพะปะพูดคุยและทำความเข้าใจกับญาติพี่น้องของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ในครั้งนี้ ท่าทีในเบื้องต้นชาวบ้านและญาติพี่น้องยังตกอยู่ในสภาวะโกรธแค้นเจ้าหน้าที่ ยังไม่อยากฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

 

 

ที่มา:  ประมวลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘โคทม’ จับมือนักการเมืองสามจังหวัด ตั้งวงเสวนาถกปัญหาชายแดนภาคใต้

$
0
0

ส่งสัญญาณเอกภาพนักการเมืองชายแดนใต้ รวมหัวถก เสนอ 4 ข้อ แก้ปมไฟใต้ ทลายพรรคพวก ผู้จัดพื้นที่ชี้ นักการเมืองจชต. ขอพื้นที่กลาง กล้าคิด แต่ยังไม่เคยร่วมโต๊ะถกเถียงกันเอง

เวลา 9.00 น. วันที่ 30 มกราคม 2555 ที่ห้องฟาตอนี โรงแรม ซีเอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเวทีสานเสวนาแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกกับนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเวทีปิดเฉพาะนักการเมืองเข้าร่วม 12 คน ประกอบด้วย นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ นายนัจมุจดีน อูมา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคมาตุภูมิ นายอับดุลเลาะห์มาน อับดุลสมัด อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคประชาธิปัตย์

นายเจะอามิง โตะตาหยง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ นายแวมาฮาดี แวดาโอะ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคแทนคุณแผ่นดิน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ นายบูรฮานูดิน อูเซ็ง อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา พรรคเพื่อไทย นายสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคเพื่อไทย นายมุข สุไลมาน อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคมาตุภูมิ นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี พรรคมาตุภูมิ นายสมพงษ์ สระกวี อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยน จนถึงเวลาที่ 13.00 น. วันเดียวกัน ทั้งหมดได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการเสวนาได้ข้อสรุปทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐบาลควรมอบหมายให้รัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน รับผิดชอบการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง 2.ควรผลักดันร่างพระราชบัญญัติศาลชารีอะห์ ร่างพระราชบัญญัติกิจการฮัจญ์ ร่างพระราชบัญญัติอาหารฮาลาล และพระราชบัญญัติกองทุนซะกาต ที่ตกไปจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

3.รถยนต์ที่ใช้ในพื้นที่ จะต้องมีป้ายทะเบียนรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงว่าเป็นรถที่ไม่ปรากฏที่มา และอาจมีความประสงค์ร้าย เรื่องนี้ควรแจ้งให้ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะด่านตรวจให้ความสนใจและกวดขัน 4.รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ ที่ประชุมกำหนดคร่าวๆ ครั้งต่อไปจะจัดในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส ประเด็นที่จะนำขึ้นมาพูดคุยคือ การเตรียมความพร้อมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยอาจจะเป็นเวทีเปิดให้หลายภาคส่วนเข้าร่วมรับฟัง

สำหรับงานสานเสวนาครั้งนี้ เป็นข้อเสนอจากวงเสวนานักการเมือง ที่ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จัดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี ซึ่งต้องการให้มีวงเสวนาในลักษณะนี้ทุกเดือน เพื่อให้เป็นพื้นที่กลาง สำหรับการถกเถียงของนักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสดงบทบาทการร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ชัดเจน พร้อมกับให้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบความเคลื่อนไหวข้อเสนอของวงเสวนา รับรู้ว่านักการเมืองในพื้นที่มีท่าทีอย่างไรต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนรับทราบว่า นักการเมืองไม่ได้นิ่งนอนใจ หรือไม่ได้ทำอะไรอย่างที่มีผู้วิจารณ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

$
0
0

"บ่อยครั้งที่การยืนบนที่สูงที่สุดเพื่อให้คนเห็นหน้าว่าตนจงรักภักดีกว่าใครนั้น ก็ยืนขึ้นโดยเหยียบหัวผมขึ้นไป พร้อมกับร้องว่าผมเนรคุณ บางคนแสดงความจงรักภักดีไปพร้อมกับการเหยียดหยามคนอื่น หรือบางกลุ่มก็แสดงความอาฆาตมาดร้าย ก่นด่า ประณามนิติราษฎร์ไปด้วยเพื่อให้ความจงรักภักดีที่คนๆ นั้นกำลังแสดงอยู่นั้นมีน้ำหนักในหน้าสื่อสารมวลชนมากขึ้น"

มติชนออนไลน์, 31 ม.ค. 55

บทกวี: ในนามของความรัก

$
0
0
ในนามของความรัก

 

คมปากกาตวัดเชือดจนเลือดสาด

คมพยาบาทขมความแค้นแน่นคอหอย

กรามกัดกรามเขี้ยวขบเขี้ยวจนเขียวรอย

ถ่อยสุดถ่อยต่ำสุดต่ำขย้ำกลืน

 

ฝ่าตีนเหยียบส้นตีนย่ำทำทุกท่า

เดรัจฉานผลาญวิชาหน้าระรื่น

ไร้สำนึกไร้สำนักไร้หลักยืน

วิชากลวงวิชากลืนวิชากรรม

 

เนรคุณเนรทุนเนรเทศ

สัญชาติเปรตเศษคนพ่นกระหน่ำ

ข้อมูลเท็จข้อมูลเทียมข้อมูลทำ

เรื่องน้ำเน่าเรื่องน้ำครำยำกันไป

 

ท้ายที่สุดจนปัญญาหาเหตุผล

ไล่ปราบคนไล่ปิดคำทำไม่ได้

จึงข่มขู่คุกคามไปตามไท

ด้วยอำนาจด้วยบาตรใหญ่ด้วยศักดา

 

เพราะเหตุนี้ประตูนั้นจึงถูกปิด

มิตรไร้มิตรศิษย์ไร้ครูครูไร้ค่า

เสรีภาพน้ำใจแลปัญญา

จึงถูกฆ่า...ในนามของความรัก

 

                                                                                                           

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images