Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สื่อหลัก 'มาเลย์-อินโด' ตีข่าว ทหารพรานกราดยิงรถชาวปัตตานี

$
0
0

สำนักข่าวเบอร์รีตาฮารียันของมาเลเซียและสำนักข่าวอันตารานิวส์ของอินโดนีเซีย ต่างรายงานข่าวกรณีทหารพรานที่จังหวัดปัตตานีของไทย กราดยิงรถยนต์ของชาวมุสลิมระหว่างเดินทางไปละหมาดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีชายชราวัย 70 ปีรวมอยู่ด้วย

ในเนื้อหาของข่าวมีการนำคำสัมภาษณ์ของคนขับรถหนึ่ง ซึ่งเป็นเหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยคนขับรถเล่าถึงวินาทีระทึกขณะเกิดเหตุการณ์และระหว่างหลบหนีเพื่อเอาตัวรอด

นอกจากนี้ยังมีการนำบทสัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.ชนวีร์ ชมาฤกษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหนองจิก จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ทางตำรวจจะตรวจสอบอาวุธปืนที่พบในรถของชาวบ้านทั้งสองกระบอกอย่างละเอียดอีกครั้ง หลังคนขับรถปฏิเสธว่าปืนทั้งสองกระบอกไม่ใช่เป็นของคนในรถและยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

ในส่วนท้ายของเนื้อหาข่าวได้รายงานสถิติจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(DeepSouthWatch) ถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2547 โดยมีตัวเลขผู้เสียชีวิตถึง 5,000 คนและบาดเจ็บถึง 8,300 คน  

 

 

ที่มา
http://www.bharian.com.my/bharian/articles/4balikmajlispengebumianmaut/Article
http://www.antaranews.com/berita/295153/polisi-empat-orang-ditembak-mati-paramiliter-di-thailand-selatan

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักศึกษา ม.มหาสารคามไม่ได้รับอนุญาตใช้พื้นที่จัดเสวนาเรื่องกฎหมายหมิ่น

$
0
0

วันที่ 31 ม.ค. นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อเตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”

นายโอภาส สินธุโคตร นักศึกษาวิทยาการเมืองการปกครองเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว

ทั้งนี้ การรวบรวมรายชื่อดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยวันดังกล่าวนักศึกษาและศิษย์เก่าจะร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกวางพวงหรีดและทำพิธีสืบชะตาวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ในเวลา 12.12 น. ที่หน้าวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม

รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้

จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 31 มกราคม 2555

เรื่อง ขอเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการ
เรียน คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ตามที่กลุ่มนิสิตที่สังกัดวิทยาการเมืองการปกครอง ร่วมกับอาจารย์ในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความสนใจที่จะจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” โดยเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พูดคุยและถกเถียงปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในสังคม ให้แก่นิสิตและผู้ที่สนใจทั่วไป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แต่กระนั้น เมื่อทีมผู้จัดงานได้ทำเรื่องขออนุญาตขอใช้สถานที่และจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ผลปรากฏว่า คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองไม่อนุญาตให้ใช้ ตึก D วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว

ในขณะที่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะองค์กรทางวิชาการ ดำเนินงานตามพันธกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่เกี่ยวกับ การเมืองการปกครองและกฎหมาย รวมทั้งการเมืองท้องถิ่นในอีสาน เพื่อทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ และแสวงหาข้อเท็จจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติด้านการเมืองการปกครอง) ให้เป็นไปอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยหวังว่าด้วยข้อมูลและองค์ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจของนิสิตและสาธารณชน

ซึ่งประเด็นเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จึงเป็นสิ่งที่สมควรยิ่งที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองจะเป็นพื้นที่ที่สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่นิสิตและผู้ที่สนใจ ผู้ซึ่งเป็นคณะบริหารและคณาจารย์ควรจะเห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการเป็นพื้นที่เปิดที่สามารถจัดกิจกรรมทางสังคม การเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงอย่างเปิดกว้าง

และยิ่งไปกว่านั้น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง และมีจิตสำนึกที่รับใช้สังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่อำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติ

ดังนั้นในฐานะของนิสิต, คณาจารย์, ศิษย์เก่า แห่งวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้รักในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ที่ลงมติในการไม่อนุญาตให้ใช้ วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็น พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ออกมาชี้แจงและให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจดังกล่าวด้วย เพราะการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางความหลากหลายทางความคิดและปิดกั้นโอกาสในการพูดคุย ถกเถียง ประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ให้นักศึกษาและคณาจารย์แสดงเสรีภาพทางความคิด

เชื่อมั่นแห่งอุดมการณ์ สิทธิและเสรีภาพเป็นของทุกคน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส แล้วคิดถึงมติ กก.บห.ธรรมศาสตร์

$
0
0

กรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตน เผยแพร่ความว่า [๑]

"ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนีนการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"


หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองประการหนึ่ง  ซึ่งจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้คือ หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) บนความคิดเบื้องหลังหลักการนี้มีอยู่ว่า "ในระหว่างสิ่งที่เลวร้ายตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปที่จำต้องเลือก  บุคคลควรเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด" หลักการนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง [๒]

เราอาจเห็นภาพพจน์ได้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างบริบูรณ์ สำหรับพิจารณาเทียบเคียงกรณี "มติ" ซึ่งนายสมคิดฯ เผยแพร่ ข้างต้น  สมควรพิจารณาโดยอาศัยคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ปรากฏข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันและน่าสนใจยิ่ง ดังนี้ [๓]

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Conseil d'Etat) ได้ใช้หลักแห่งความจำเป็น  บังคับแก่คดีพิพาทหลายคดี  คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานได้แก่  C.E., 19  mai  1933, Benjamin*

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า  ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งเมือง Nevers ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีดำริที่จะจัดประชุมทางวรรณกรรมขึ้น  และได้เชิญนาย René  Benjamin  มาแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมนี้ด้วย

สหภาพครูได้แจ้งให้นายกเทศมนตรีเมือง  Nevers  ทราบว่าจะทำการต่อต้านการเดินทางมาแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin ทุกวิถีทาง  ทั้งนี้  เพราะบุคคลผู้นี้ได้เคยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามบรรดาครูผู้สอนในโรงเรียนที่ไม่ขึ้นต่อศาสนาไว้ในข้อเขียนต่าง ๆ ของตนหลายครั้ง  พร้อมกันนั้นก็ได้เรียกร้อง  ทั้งโดยหน้าหนังสือพิมพ์  ใบปลิว  และป้ายโฆษณา  ให้บรรดาผู้สนับสนุนโรงเรียนของรัฐ  สหภาพ  ตลอดจนกลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ มาชุมนุมต่อต้านด้วย

นายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers  พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการเดินทางมาเมือง Nevers ของนาย René  Benjamin เพื่อแสดงปาฐกถาทางวรรณกรรม  น่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในเมืองนี้ได้  จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙๗ แห่งกฎหมายลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ.๑๘๘๔  ซึ่งบัญญัติว่า  "นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกมาตรการที่จำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย"  ออกคำสั่งห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส  พิพากษาว่า  คำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ทั้งนี้โดยแสดงเหตุผลประกอบคำพิพากษาสรุปได้ว่า  ความไม่สงบเรียบร้อยอันอาจเกิดขึ้นจากการมาปรากฏตัวของนาย René  Benjamin  ในเมือง Nevers  นั้นมิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าคำสั่งดังกล่าว  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers ที่ห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René  Benjamin  นั้นเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนเกินขอบเขตแห่งความจำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อยของเมือง  Nevers

คดี Benjamin คงทำให้ท่านผู้อ่านประจักษ์แก่คำตอบว่า "มติที่ประชุมกรรมการบริหาร มธ." ซึ่งห้ามคณะนิติราษฎร์ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและใช้ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้นั้น ย่อมขัดหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง ส่งผลให้มติดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

 

เชิงอรรถ

* M. LONG, P.  WEIL, G.  BRAIBANT,  Les grands  arrêts  de  la  jirisprudence  administrative, 7e édition, Paris,  Sirey, 1978. pp. 217 - 222.

[๑] มติชน (ออนไลน์), ‘"สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มธ.เคลื่อนไหว 112 "เกษียร" ชี้น่าเสียใจ นศ.-ศิษย์เก่า ต้าน’ :  http://www.matichon.co.th/news_detail.php newsid=1327920954&grpid&catid=01&subcatid=0100

[๒] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคหนึ่ง “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”

[๓] คัดข้อความจาก :  วรพจน์  วิศรุตพิชญ์. สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543. หน้า 89 - 90.

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดประท้วงนิติราษฎร์ แสดงพลังหน้า "ลานปรีดี" 2 ก.พ. นี้

$
0
0

 กนก รัตน์วงศ์สกุลปัดไม่ได้เป็นแกนนำเดินขบวน แต่ขอต้านนิติราษฎร์ด้วยโดยเรียกร้องให้คว่ำบาตรนิติราษฎร์ ขณะที่ "ธรรมศาสตร์เสรีฯ" เตรียมวางหรีดรูปปั้นป๋วย-ปรีดี ส่วน "ชาญวิทย์-เกษียร-พนัส" เตรียมบรรยาย "ปรีดี พนมยงค์ กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

"วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" เตรียมแสดงพลังที่ลานปรีดี

มีรายงานว่าในเฟซบุ๊ก "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" ซึ่งมีสมาชิกเพจเกิน 2,000 คน (เวลา 23.30 น. วันที่ 31 ม.ค.) ได้นัดหมายกันที่หน้าคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการกระทำของคณะนิติราษฎร์ โดยระบุว่า "นัดรวมพลที่หน้าคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 14.00 น. (บ่ายสองโมง)"

ในประกาศระบุว่าจะมีการแสดงพลังเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ณ ลานปรีดี โดย กนก รัตน์ วงศ์สกุล ผู้แทนศิษย์เก่า และจะยื่นหนังสือต่ออธิการบดีที่ตึกโดม พร้อมร้องเพลงถวายพระพร หันหน้าไปยังฝั่งศิริราช

 

กนกยันไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ขอเรียกร้องให้คว่ำบาตรนิติราษฎร์

ขณะเดียวกัน นายกนก รัตน์วงศ์สกุล ที่ถูกอ้างถึงในประกาศดังกล่าว ได้โพสต์ในเฟซบุค ว่า "เพิ่งเสร็จจากงานแถลงข่าวคอนเสิร์ต Do for Dad ของพี่แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง (3 มี.ค.นี้) ออกมาเจอแถลงการณ์ ′กนกนำทีมลูกแม่โดม ตะเพิดนิติราษฎร์ จี้อธิการ มธ.สอบวินัย-อาญา′ เผยแพร่ไปตามเว็บข่าวต่างๆ...ผมงงมาก แต่เดิมคือ พี่ๆเพื่อนๆวารสารฯชวนให้ไป ′ประชุมเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะมีมติอย่างไร′ ในวันที่ 2 ก.พ. ผมก็จะไปร่วมประชุมด้วย เพราะเราไม่เห็นด้วยกับนิติราษฎร์แน่ แต่ที่จะ ′ตะเพิด - ให้อธิการเอาผิดทางวินัยและอาญา - มีเดินขบวน!!′ ตรงนี้มาได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่ประชุมเลย หรือพวกเราไปประชุมกันตอนไหน? ทำไมกนก..แกนนำคนนี้ ไม่รู้เรื่องเลย! ถามผมหรือยังว่า เห็นด้วยกับมตินี้หรือไม่? ทาง มธ.ก็เพิ่งมีมติห้ามนิติราษฎร์ใช้สถานที่ เห็นที..โดนแม่ด่าอีกแล้ว ทะลึ่งจะไปนำขบวน >.<"

กนก ยังโพสต์ต่อเนื่องด้วยว่า "ผมเป็นลูกแม่โดมคนหนึ่ง คนที่จบออกมาด้วยการรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ในหลวง เหมือนลูกแม่โดมอีกมากมาย จะอย่างไรผมก็ยืนอยู่ข้าง "วารสารฯต้านนิติราษฎร์" ผมและเพื่อนพ้องน้องพี่วารสารศาสตร์ทุกรุ่น ไม่อยากให้คนที่บังอาจ คิดริดรอนพระราชอำนาจของในหลวง..อยู่ในรั้วธรรมศาสตร์! พวกนี้อาศัยคำว่า เสรีภาพทางวิชาการ แสดงความเห็นโดยไม่แยแสหัวใจคนไทย รวมหัวกันย่ำยีความรู้สึกของสังคม ผมขอเรียกร้องให้ลูกแม่โดมทุกคน บัณฑิตจากสถาบันอื่น ประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกันปกป้องศูนย์รวมจิตใจของไทย ด้วยการคว่ำบาตรทางสังคมทุกๆ ด้าน ต่อ "นิติราษฎร์" กลุ่มนี้"

 

"ธรรมศาสตร์เสรีฯ" เตรียมวางหรีดไว้อาลัยเสรีภาพ

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 3 ก.พ. เวลา 14.00 - 17.00 น. จะมีการบรรยายสาธารณะหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์ กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ณ ห้องประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ชั้น 2 อาคารเอนกประสงค์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจะทำการวางพวงหรีดเพื่อคัดค้านการห้ามรณรงค์เกี่ยวกับมาตรา 112 และไว้อาลัยให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำลายตัวเองด้วยการปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าวที่รูปปั้น ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ. เวลา 14.00 น. และที่รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ. เวลา 14.00 น.

 

สมาคมสถาบันพระปกเกล้า เรียกร้องให้หยุดละเมิดสถาบันกษัตริย์

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายกสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานแถลงการณ์คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ของคณะกลุ่มบุคคลที่ได้อ้างความเป็นนักวิชาการและเสนอต่อสาธารณะในการแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และนำไปสู่การละเมิด พาดพิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันของชาติให้เกิดความเสียหาย และ กระทบกระเทือนต่อจิตใจประชาชนทั่วทุกหมู่เหล่า และขยายวงไปสู่ความขัดแย้งและแตกยกของผู้คนในสังคม

ดังนั้นสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าในฐานะศูนย์รวมของนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าของสถาบันพระปกเกล้า และมีวัตถุประสงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างความห่วงใยต่อพฤติกรรมและการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่ก้าวเลยความเป็นนักวิชาการที่แสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างมีจรรยาบรรณ อย่างที่วิญญูชนพึงแสดงออกและพึงกระทำ คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าจึงขอเรียกร้องต่อสาธารณะดังนี้

1.ให้คณะบุคคลดังกล่าวได้ยุติการกระทำที่ละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

2.ขอให้สถาบันการศึกษาต้นสังกัดของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้ดำเนินการควบคุมพฤติกรรมและการกระทำที่สร้างความแตกแยกแก่สังคมและประเทศโดยรวม และพิจารณาถึงการกล่าวอ้างตำแหน่งทางวิชาการของสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของประเทศไปแสวงหาผลประโยชน์ให้เกิดแก่กลุ่มตนเองและพวกพ้องแห่งตน ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

3.ขอเรียกร้องให้สาธารณะสังคมได้โปรดติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มคณะบุคคลดังกล่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้าจึงแถลงมายังสังคมและประชาชนให้ทราบโดยทั่วกัน และขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้แสดงออกถึงความจงรักภักดี ปกป้องเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้เชี่ยวชาญสื่อกังวลไทยหนุนนโยบายใหม่ทวิตเตอร์

$
0
0

สืบเนื่องจากกรณีการที่นางจิราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ถึงการสนับสนุนนโยบายการ “เลือกเซ็นเซอร์” (selective censorship) ของทวิตเตอร์ที่ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ ที่จะเซ็นเซอร์ข้อความที่ไม่เหมาะสมตามกฎหมายภายในตามคำร้องขอจากทางการประเทศต่างๆ ทำให้เกิดความกังวลจากหลายฝ่ายว่านโยบายดังกล่าวอาจถูกใช้โดยรัฐเพื่อปิดกั้นข้อมูลข่าวสารมากกว่าเดิมนั้น

ทาง Gayathry Venkiteswaran ผู้อำนวยการองค์กร “พันธมิตรสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Southeast Asian Press Alliance - SEAPA) ซึ่งรณรงค์เรื่องเสรีภาพสื่อในระดับนานาชาติ ได้ให้ความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า ถึงแม้นโยบายการเลือกเซ็นเซอร์ของทวิตเตอร์จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในหมู่โซเชียลมีเดียรายอื่นๆ เพราะกูเกิ้ลหรือเฟซบุ๊กก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน แต่การที่ประเทศซึ่งมีกฎหมายริดรอนสิทธิเสรีภาพนำนโยบายดังกล่าวไปใช้ อาจทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเสี่ยงต่อการเผชิญการปิดกั้นข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้น

Gayathry มองว่า ถึงแม้ทวิตเตอร์จะยืนยันในหลักการความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยคำร้องขอจากรัฐบาล และเนื้อหาที่ถูกปิดกั้น แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลอาจจะหาข้ออ้างเพื่อปิดกั้นข้อมูลดังกล่าวได้อยู่ดี เช่น อ้างว่าเป็นข้อมูลในระหว่างการสืบสวนคดี เป็นต้น

“เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ภาคประชาสังคมควรจับตาดูนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด” Gayathry กล่าว

ทั้งนี้ ทางเว็บไซต์ทวิตเตอร์ได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาว่า จะเริ่มใช้นโยบาย “เลือกเซ็นเซอร์” ข้อความที่ไม่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ เช่น การแบนเนื้อหาที่สนับสนุนนาซีในเยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น โดยทวิตเตอร์ระบุถึงข้อดีนโยบายนี้ว่า จะปิดกั้นการเข้าถึงข้อความนั้นๆ เฉพาะจากภายในประเทศ แต่ผู้ใช้จากประเทศอื่นๆ ยังคงสามารถเข้าถึงได้อยู่ ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้ที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องลบข้อความออกจากฐานข้อมูลสากลทั้งหมด

Twitter selective censorship

หลังจากที่ทวิตเตอร์ประกาศนโยบายดังกล่าว ก็เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้ทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองในประเทศที่มีเสรีภาพสื่อและการแสดงออกจำกัด พร้อมกับการนัดประท้วงออนไลน์เพื่อคัดค้านนโยบายนี้ด้วย อ้าย เหว่ย เหว่ย ศิลปินวิพากษ์สังคมชื่อดังของจีน ก็ได้ทวีตข้อความที่ระบุว่า “หากทวิตเตอร์จะเซ็นเซอร์ ผมก็จะหยุดใช้”  

“ทวิตเตอร์นั้นถูกนำเข้ามาใช้ในขบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองอย่างแยกไม่ออก มันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันไปแล้ว ฉะนั้น ทวิตเตอร์ก็ไม่ควรจะแยกตัวเองออกไปจากหลักการขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก” Gayathry ให้ความคิดเห็น

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง เช่น The Guardian, The Next Web ก็ได้รายงานกรณีที่ทางการไทยกลายเป็นที่แรกในโลกที่ออกมาขานรับนโยบายใหม่นี้อย่างเปิดเผย และตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนโยบายการปิดกั้นข้อมูลและเสรีภาพการแสดงออกรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ทางด้านปลัดกระทรวงไอซีทียืนยันว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าหากเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตไปกระทบกับสถาบันฯ และหมิ่นเบื้องสูง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาจัดการ

"เรายืนยันว่ายังให้สิทธิ์แสดงเสรีภาพ แต่หากการแสดงนั้นไปละเมิดเรื่องที่คนไทยเคารพ หรือเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเชื้อพระวงศ์ ก็เป็นสิ่งที่กระทรวงยอมไม่ได้ที่จะปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เราได้อธิบายกับผู้ดูแลทวิตเตอร์รับทราบอย่างดีถึงสถาบันกษัตริย์ของไทยที่ ใครจะละเมิดไม่ได้  เรายอมรับว่าได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปให้ผู้ดูแลทวิตเตอร์จริง และทางนั้นก็ยินดีจะให้ความร่วมมือกับเรา แต่อาจบังเอิญว่าเป็นจังหวะเดียวกับที่ทางทวิตเตอร์ได้ประกาศจะเข้มข้นกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมด้วย ส่วนบางคนที่โพสต์ด้วยถ้อยคำหรือสำนวนที่ทางทวิตเตอร์แปลแล้วไม่เข้าใจ ก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีในการติดตามและเอาผิดทางกระบวนการยุติธรรม" นางจิราวรรณ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการ อมธ. วอนผู้บริหารทบทวนมติห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว ม.112

$
0
0

 คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ชี้มติผู้บริหารห้ามใช้พื้นที่เคลื่อนไหว ม.112 กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการไม่อนุญาตให้บุคลากรแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

วันนี้ (1 ก.พ.) คณะกรรมการบริหาร องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ "กรณี มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหว มาตรา ๑๑๒..." ลงในเฟซบุคของกลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณี มติคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหว มาตรา ๑๑๒

ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เขียนข้อความผ่านทาง Facebook ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งมีข้อความว่า “ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา ๑๑๒ อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาลัยหรือมหาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้” นั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ในฐานะผู้แทนของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่ามติที่มีผลผูกพันดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) จึงขอแสดงจุดยืนที่มีต่อมติดังกล่าว ดังนี้

1) อมธ. ร้องขอให้ทบทวนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ตามที่ท่านอธิการบดีได้ระบุไว้ข้างต้น เพราะมติดังกล่าวมีเนื้อหาที่กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

2) มหาวิทยาลัยเปรียบได้กับห้องทดลองในทางสังคมศาสตร์ เป็นสถานที่หลักในการขับเคลื่อนพัฒนาการในทางวิชาการ เปรียบได้กับพัฒนาการในทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยห้องทดลองเป็นสำคัญ การไม่อนุญาตให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยแสดงความคิดเห็นย่อมไม่ต่างอะไรกับการทำลายเสาค้ำยันในความเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพในทางความคิดทิ้งไป

3) เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้ท่านอธิการบดี ชี้แจงถึงมติดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการทั่วไป ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน

สุดท้ายนี้ อมธ. ยังคงยืนยันในจุดยืนแห่งการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเรายังคงเคารพในความเห็นที่แตกต่างไม่ว่าจะมาจากกลุ่มใดก็ตาม ตราบเท่าที่ความคิดเห็นเหล่านั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ทั้งนี้ อมธ. ในฐานะผู้แทนของนักศึกษาซึ่งมีความหลากหลายทางความคิด ขอรับรองว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่กลุ่มทางการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทางการเมืองใดเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากแต่ความสวยงามในความคิดเห็นที่แตกต่างคือภาพสะท้อนแห่งความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่แท้จริง

ด้วยจิตคารวะ

คณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“จังหวัดจัดการตนเอง” ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ สู่การปฏิรูปประเทศไทย

$
0
0

 

1. บทนำ

                นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ในปี พ.ศ.2475 ประเทศไทยก็มีการกระจายอำนาจ การบริหารและการปกครองสู่ท้องถิ่นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริหารราชการถูกแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือการบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น

                แต่ปัจจุบัน โครงสร้างการบริหารและปกครองในรูปแบบเดิม เริ่มเกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายต่อหลายรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาโดยการปรับลักษณะของโครงสร้างการบริหารราชการไทย แต่ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของประเทศไทยได้ ซึ่งเกิดจาก การบริหารราชการแผ่นดินไทยนั้น เน้นไปที่การรวมศูนย์มากกว่าการกระจายอำนาจ เนื่องจากต้องการรักษาความมั่นคงของชาติ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังจะเห็นได้ชัดเจนจาก ปัญหามากมายในระดับท้องถิ่นนั้นไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากลักษณะการบริหารราชการไทยดังกล่าวสร้างปัญหาให้กับการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่

                1) ปัญหาทางด้านโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ปัญหาทางด้านอํานาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซ้อนทับกับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทั้งเรื่องอำนาจ ภารกิจ งบประมาณและการประสานงาน ปัญหาด้านการกํากับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกินไป มีความพยายามของฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครองที่จะเข้าไปกํากับดูแลการดําเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการกําหนดนโยบายและแผนที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ หรือปัญหาการไม่สามารถนํานโยบายไปปฏิบัติได้จริง

                2) ปัญหาทางด้านการบริหารการเงินการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการดําเนินภารกิจต่างๆ ซึ่งมักจะไม่เพียงพอที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนําไปใช้จ่ายในการจัดทําบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนได้ครบถ้วนตามภารกิจที่กฎหมายกําหนด

                3) ปัญหาทางด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเต็มที่

                4) ปัญหาทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน หัวใจหลักของการปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือ เป็นการปกครองตนเองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆแต่ในทางปฏิบัติจะพบว่า การมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นของประชาชนมีค่อนข้างน้อย คงมีเพียงแต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น หลังจากนั้นประชาชนจึงไม่ค่อยมีส่วนร่วมอย่างอื่น ซึ่งทําให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดพลัง ขาดความร่วมมือ ขาดความสนใจจากประชาชนอันเป็นผลให้การปกครองท้องถิ่นซึ่งเป็นการปกครองของคนในท้องถิ่นเองไม่ค่อยประสบความสําเร็จเท่าที่ควร ซึ่งไม่มีทางที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยที่คิดอยู่ในกรอบเดิม

                บทความนี้มุ่งที่จะทำความเข้าใจและนำเสนอ แนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดที่ลดการปกครองและบริหารจากส่วนกลางลงมารวมศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่จังหวัด ที่เรียกว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เคลื่อนไหวภายใต้กรอบคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอันขัดต่อกฏหมาย แต่ดำเนินยุทธศาสตร์เคลื่อนไหวโดยวิธีการของภาคประชาชน ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การสร้างให้ประชาชนสำนึกต่อความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เกิดการตื่นตัว ลุกขึ้นมาสนใจแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมกันขยายแนวความคิด ให้สามารถขับเคลื่อนในเชิงรูปธรรมได้

                ซึ่งถ้าสามารถจัดตั้ง “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้จริงจะเป็นรูปธรรมที่ทำให้ เปลี่ยนวิธีคิดของคนในชาติ เมื่อประชาชนได้รู้สึกว่าตนเองได้เป็นเจ้าของท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงจะทำให้มีความรักท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น เปลี่ยนบทบาทตัวตนของประชาชน เมื่อประชาชนสัมผัสได้ถึงประชาธิปไตยที่ใกล้ตัวจะทำให้เกิดสำนึกในความเป็นพลเมืองได้อย่างชัดเจน เปลี่ยนวิธีการจัดการและบริหารท้องถิ่น ภาคประชาชนที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่นจะเข้าไปมีอำนาจ มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นคนในท้องถิ่นก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แก้ไขกันในระดับท้องถิ่นของตนเอง เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจเดิมที่มีมาอย่างยาวนานนาน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองท้องถิ่นไทย สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปประเทศไทยครั้งสำคัญ

                บทความนี้แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1) การทำความเข้าใจในกรอบคิด ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 2) อธิบายถึงรากฐานและพัฒนาการของแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” 3) วิเคราะห์ถึง “จังหวัดจัดการตนเอง” ว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ได้อย่างไร? 4) นำเสนอแนวทางพัฒนาไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง”

2. กรอบคิด : แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement)

                แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) เป็นกรอบนำทางในการศึกษา “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งเป็นรูปแบบความเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบหนึ่งซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ จึงสามารถเป็นกรอบแนวคิด นำทางในการอธิบายและวิเคราะห์ ว่ารูปแบบการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” มีความหมายและลักษณะ ปัจจัยเคลื่อนไหว โครงสร้าง เป้าหมายและกระบวนการในการขับเคลื่อนอย่างไร

                นิยาม ความหมายและลักษณะ ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ว่า คือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ต้องการสร้างนิยามหรือความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามหรือความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” ให้กว้างไกลไปจากเดิมที่ดำรงอยู่ ด้วยการชี้ชวนให้เห็นว่าชีวิตประจำวันนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและเป็นเรื่องของสังคมด้วย(ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540) ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้ยังปฏิเสธวิธีการที่ใช้ความรุนแรงและเป้าหมายของการต่อสู้เรียกร้องก็ไม่ใช่เพื่อการช่วงชิงอำนาจรัฐ ดังที่นิยมคิดหรือกระทำกันในแวดวงของการเมืองแบบเก่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ ตัวอย่างรูปธรรมหนึ่งของการเมืองแบบใหม่หรือการเมืองภาคประชาชน ในฐานะที่เป็นตัวแสดงหรือผู้กระทำทางการเมือง ไม่นิยมใช้ความรุนแรง

                ลักษณะที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ การสร้างวัฒนธรรมการต่อต้าน ขัดขืน โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายมาก เช่น เพื่อระดมความรู้ ยกระดับจิตสำนึก การรับรู้ของประชาชนในเคลื่อนไหว หรือเพื่อสร้างแนวคิดใหม่ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐรับทราบหรือรับผิดชอบต่อการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือสังคมในวงกว้างมิใช่ทำตามอำเภอใจหรือล่วงละเมิดอำนาจของตนเอง เป็นการเคลื่อนไหวที่ต้องการจะอุดช่องว่างในส่วนที่รัฐและองค์กรระหว่างประเทศทำไม่ได้หรือไม่มีความต้องการจะทำหรือการเรียกร้องให้ประชาชนเข้าไปมีบทบาทในระดับของการตัดสินใจในองค์กรและสถาบันที่จัดระเบียบสังคม

                โครงสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ ผู้เข้าร่วม ผู้ประสานงานและผู้สนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีระดับหลากหลายในสังคม เช่น แรงงานกรรมมาชีพ แรงงานนั่งโต๊ะ(แรงงานมีฐานะ) ประชาชนทั่วไป พนักงานรัฐวิสาหกิจและเอกชน นักเรียนนักศึกษา นักวิชาการ NGOs นักพัฒนา องค์กรพัฒนา รวมไปถึงองค์กรสนับสนุนงบประมาณต่างๆ ซึ่งตัวโครงสร้างขบวนการขับเคลื่อนจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะและรูปแบบของประเด็นในการขับเคลื่อน

                เป้าหมายที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ คือ กระตุ้นความตื่นตัวและจิตสำนึกทางการเมืองของผู้เข้าร่วมจากกิจกรรม เกิดการกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกและการตื่นตัวเรื่องนั้นๆ เกิดความหวงแหนท้องถิ่นและเกิดสำนึก “ความเป็นเจ้าของ” เปลี่ยนแปลงในเรื่องความเข้าใจของสังคมหรือสถาบันพื้นฐานของสังคมซึ่งส่งผลกระทบ ระหว่างรัฐกับประชาชน ที่สำคัญการเข้าร่วมขบวนการก็ส่งผลต่อตัวผู้เข้าร่วมได้อย่างสำคัญและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างในประเทศหรือท้องถิ่น ซึ่งเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึง การเมืองการปกครอง

                กระบวนการของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ รูปแบบและหลักการเคลื่อนไหว ดังเช่น การใช้ยุทธวิธีการขัดขวาง ดังที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง(2552) ได้กล่าวไว้ว่า วิธีการนี้เป็นการเข้าไปขัดขวางการตัดสินใจทางการเมืองและฝ่ายตรงข้าม เช่น การบอยคอต คือการ เข้าไปขัดขวาง การดำเนินกิจการรัฐหรือฝ่ายตรงข้าม มีลักษณะเป็นการก่อตัวของประชาชนอย่างเหนียวแน่น เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองและการนั่งประท้วง คือการบุกเข้าไปนั่งประท้วงในสถานที่เฉพาะ เพื่อให้เกิดการเจรจาอย่างเหมาะสมและพอใจทั้ง 2 ฝ่าย

                รูปแบบดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งใช้มานานในสังคมไทย แต่ยังมีรูปแบบและลักษณะที่เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบัน เช่น การจัดเวทีและการประชุมหารือ เกิดขึ้นในทุกระดับจากประชาชนและนักวิชาการ รวบรวมภาคีจากผู้สนใจในประเด็นต่างๆ เพื่อที่จะกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป การใช้สื่อเพื่อกระจายข่าวสารและขยายองค์ความรู้ เกิดจากการคิดค้นแนวคิดเพื่อพัฒนาสังคม การเมืองและเศรษฐกิจและนำไปขยายองค์ความรู้ให้ประชาชนในระดับต่างๆและพื้นที่ต่างๆเข้าใจและใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การรวบรวมแนวร่วมในอุดมการณ์เดียวกัน ความเชื่ออุปถัมภ์ คือ การกล่อมเกลา โน้มน้าวและเกลี่ยกล่อมจากผู้อุปถัมภ์ เช่น ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นหรือนายทุน เพื่อจัดตั้งมวลชนให้มีความคิดเห็นที่คล้อยตามกัน กลุ่มคนเหล่านี้มีผลประโยชน์กับประชาชนรากหญ้า ซึ่งทำให้ประชาชนรากหญ้าคล้อยตามไป

                ปัจจัยต่างๆที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ เกิดขึ้นและขับเคลื่อนได้ เนื่องจากปัจจัยหลัก 2 ประการ กล่าวคือ ปัจจัยภายในของตัวผู้ขับเคลื่อนเอง ได้แก่ จิตสำนึกของความเป็นพลเมืองของประชาชนทั่วไป พฤติกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และการมีความตื่นตัวทางการเมือง รวมถึงพร้อมที่จะทำการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมและการเชื่อมโยงและการสร้างเครือข่าย เช่น ภาคประชาสังคม ในกลุ่มที่ประสบปัญหาหรือกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิต่างๆเพื่อทำการต่อสู้กับการครอบงำของระบบรัฐหรือระบบตลาด และถึงปัจจัยภายนอก ได้แก่ บริบททางสังคมของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ระบบเศรษฐกิจของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ระบบการปกครองของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งคนส่วนมากในพื้นที่สามารถแสดงความต้องการและเคลื่อนไหวเพื่อปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในประเทศหรือท้องถิ่นที่ตนเป็นเจ้าของได้

                จะเห็นได้ว่า แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (New Social Movement) คือ กรอบคิดที่แสดงให้เห็นส่วนประกอบต่างๆของการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น โครงสร้าง กระบวนการและเป้าหมายในการเคลื่อนไหว สามารถนำมาวิเคราะห์ “จังหวัดจัดการตนเอง” ว่าเป็นรูปแบบและแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวคือ การเคลื่อนไหวทางสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองและบริหารท้องถิ่นไทย

3. พัฒนาการ “จังหวัดจัดการตนเอง”

                แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2551 จากการนำแนวคิด “การพึ่งตนเอง” ในเรื่องเกษตรชุมชน เช่น ป่าชุมชนและเกษตรทางเลือก ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมายาวนานและกระจายอยู่ทั่วประเทศ ร่วมกับ การนำบทเรียน จากวิกฤติทางการเมืองในช่วง พ.ศ.2547 - พ.ศ.2549 เข้ามาเป็นประเด็นในการพูดคุยกันในเวทีย่อยๆของภาคส่วนต่างๆที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาสังคม เช่น คณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) และสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) [2] และ นักวิชาการอิสระต่างๆ ซึ่งแลกเปลี่ยนความคิดกันในเรื่องของการพึ่งตนเองและการแก้ปัญหาทางการเมือง

                ต้นปี พ.ศ.2552 เริ่มมีการยกกระแสแนวคิด “การจัดการตนเอง” ขึ้นมาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนในเวที จากความร่วมมือของสถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช ภาคเหนือ) และกลุ่มนักวิชาการอิสระในภาคเหนือ จัดเวที ขับเคลื่อนพัฒนาการเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็น ของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเวทีนั้นได้พูดถึงแนวคิดปฏิรูปประเทศเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นขึ้น เนื่องจากผู้ร่วมเวทีมีการแลกเปลี่ยนกันถึงการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทยที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยนำแนวคิด การพึ่งตนเองมาบูรณาการใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวหรือขับเคลื่อนแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนและยังมีกลุ่มประชาชนสนใจน้อยมาก

                ในช่วงปลายปี พ.ศ.2552 สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) ร่วมกับ และคณะกรรมการประสานงานองคกรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช) จัดเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการนำเสนอเรื่อง “การจัดการตนเอง” ในประเด็นของอำนาจท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ในระดับจังหวัด รวมถึงภายในเวทีได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักวิชาการหลายท่าน ถอดองค์ความรู้นโยบาย “ผู้ว่า CEO” ของรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งแนวคิด “จังหวัดบูรณาการ” ขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกระแสการเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่ปฏิเสธอำนาจรัฐส่วนกลาง เป็นเพียงการร่างแผนโดยท้องถิ่น เรียกว่า “แผนประชาชน” เสนอจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อผู้ว่าราชการหมดวาระแผนฯนั้นก็ตกไป ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร แต่ นโยบาย “จังหวัดบูรณาการ” ก็ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดมากขึ้น รวมทั้งมีนักวิชาการที่มีประสบการณ์การศึกษาจากต่างประเทศ นำแนวคิด การบริหารจัดการท้องถิ่นในระบอบประชาธิปไตยจากประเทศที่มีความมั่นคงทางการบริหารจัดการ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นกรอบคิดในการสร้างรูปแบบที่เหมาะสมกับการบริหารท้องถิ่นของไทย ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จในระดับจังหวัด เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ มองพื้นที่เป็นตัวตั้งมากกว่าศูนย์กลาง ซึ่งในประเทศไทยก็มีแนวคิดเรื่องพื้นที่เป็นตัวตั้งในลักษณะรูปธรรมคือ ท้องถิ่นและภูมิภาค เช่น อบต. เทศบาล อบจ. เป็นต้น ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จน้อยมาก ผู้เข้าร่วมเวทีนั้นจึงมีความคิดเห็นตรงกันว่า ท้องถิ่นควรจะขยายอำนาจให้ใหญ่ขึ้นไปสู่ ระดับจังหวัด

                หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2553 เครือข่ายองค์กรที่เคลื่อนไหวจังหวัดจัดการตนเอง ร่วมกันจัดเวที การศึกษาและถอดองค์ความรู้ในประเด็น การจัดการสังคม การพัฒนาการเมืองและการบริหารงานท้องถิ่น ไว้อย่างต่อเนื่องหลายเวที จึงได้เสนอเรื่อง “การจัดการตนเอง” แก่ทาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. จึงได้ตั้งชื่อโครงการว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” เพื่อของบประมาณในการนำร่องขับเคลื่อนประมาณ 10% ของงบประมาณที่ พอช.สามารถจัดสรรได้

                ในเดือน มกราคม ปี พ.ศ.2554 ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ.... ฉบับแรกเกิดขึ้น จากเครือข่ายองค์กรต่างๆที่ขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเองรวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายโดยมี นายชำนาญ จันทร์เรือง [3] เป็นประธานร่าง พรบ. และนำเสนอร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ เพื่อร่วมกันระดมความคิดและเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการสร้างตัวแบบในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมของจังหวัดจัดการตนเอง ในขณะเดียวกันคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. ก็ได้จัดเวทีขยายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์แนวความคิดเรื่องการกระจายอำนาจในประเด็นสาธารณะสุข ในเรื่องสุขอนามัยภายในครัวเรือนที่ จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ทำการแลกเปลี่ยน พูดคุยระหว่างกัน ซึ่งเครือข่ายเคลื่อนไหว จังหวัดจัดการตนเองที่นำโดย สถาบันการจัดการทางสังคม หรือ สจส. หารือแลกเปลี่ยนกันในประเด็นของการจัดการตนเองกับเรื่องสาธารณะสุขท้องถิ่น จึงเกิดเป็นร่างแบบแผน เพื่อนำไปเสนอกับ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในระเบียบวาระ “พื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ซึ่ง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ทำการคัดเลือกระเบียบวาระในการขับเคลื่อนมากมายกว่า 100 ประเด็น ให้เหลือเพียง 9 ประเด็น เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนต่อไป ซึ่งประเด็น “พื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ผ่านมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นประเด็นเคลื่อนไหวโดย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการได้ปรับเปลี่ยนประเด็นเคลื่อนไหวให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นประเด็น “นโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ” ซึ่งเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ ลักษณะการเคลื่อนไหว ไม่จำกัดระดับเขตการปกครอง ว่าจะต้องเป็นจังหวัด อำเภอหรือตำบล หลังจากนั้น แนวคิด การจัดการตนเอง เริ่มเป็นที่รู้จักของท้องถิ่นในวงกว้างมากขึ้น ในเรื่องของการจัดการตนเองในเรื่องของสาธารณะสุขและเรื่องการจัดการตนเองในเองในรูปแบบของจังหวัดและท้องถิ่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายแนวความคิดไปทั่วประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณกิจกรรมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ(สสส.) ซึ่งสถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) เป็นเจ้าของโครงการขับเคลื่อน การเข้ามาสนับสนุนด้านงบประมาณของ สสส. เพราะเล็งเห็นว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับการจัดการสังคมและการพัฒนาท้องถิ่น

                ต่อมา ในเดือน เมษายน ปี พ.ศ.2554 คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานกรรมการปฏิรูป และ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) โดยมี ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี เป็นประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป และมีสำนักงานปฏิรูปหรือ สปร. [4] ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ จึงได้มีการเสนอเรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” สู่ สำนักงานปฏิรูป ซึ่งมีแนวทางสอดคล้องและเป็นช่องทางในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งได้ออกหนังสือปกสีส้ม "ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ" เรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง จึงได้ถูกบรรจุลงเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือปกสีส้ม ในประเด็น การเสริมอำนาจในการจัดการตนเองของท้องถิ่น หัวข้อ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งได้เป็นประเด็นข้อเสนอในการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ต่อมา คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ได้นำประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง มาเป็นประเด็นในการเสนอมติและผ่านมาเป็นมติของสำนักงานปฏิรูป คำว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” จึงกระจายไปในวงกว้างมากขึ้น รวมถึง สถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้ด้วย เป็นการเพิ่มแนวทางขยายแนวความคิด โดยการดำเนินการจัดเวทีเพื่อขยายแนวความคิดและระดมภาคีในระดับภูมิภาคจนถึงระดับท้องถิ่น

                ในเวลาเดียวกัน เกิดกระแสการแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด และสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการตอบโต้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดนี้และหนังสือปกส้ม ฯ เพราะเล็งเห็นว่า ทำให้ขาดเอกภาพในการปกครองประเทศและอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้

                ในเดือน พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางการเมืองภายในมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นจุดที่เหมาะสมและสำคัญที่สุด ในการกระจายและขยายแนวความคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ประชาชนสามารถมองภาพแนวคิดนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น โดยยกประเด็นความขัดแย้ง เป็นประเด็นตัวอย่างในการที่จะใช้ “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นประเด็นในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อที่จะก้าวข้ามประเด็นปัญหาทางการเมืองภายในไป ซึ่งแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้รับการตอบรับอย่างดีโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จึงได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายขับเคลื่อนทางการเมืองที่สำคัญคือ เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นเครือข่ายที่สำคัญในการรวบรวมเครือข่ายและประสานงานขับเคลื่อนเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงสามารถจัดเวทีประสานภาคส่วนต่างๆในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น ภาคธุรกิจท้องถิ่น กลุ่มเสื้อเหลือง กลุ่มเสื้อแดง จึงสามารถไกล่เกลี่ยกันให้คลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ไปได้บางส่วน

                ต่อมาสถาบันการจัดการทางสังคม(สจส.) ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อน ประกอบไปด้วย สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) รวมทั้งองค์กรอิสระในพื้นที่ เช่น เครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ภาคีคนฮักเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชนและสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันผลักดันประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อประสานงานในการจัดเวที ขยายความรู้ ขยายความคิด แลกเปลี่ยนความรู้และขยายไปยังภาคต่างๆ ของประเทศไทยจังหวัดจัดการตนเองจึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเมื่อมีการขยายองค์ความรู้และแนวความคิดมาโดยตลอด ก็เริ่มมีกลุ่มประชาชนและเครือข่ายที่เห็นด้วยกับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง จึงนำไปประยุกต์แลกเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ เช่น พื้นที่จัดการตนเอง จังหวัดปฏิรูป เกิดการขยายองค์ความรู้ไปยังภาคต่างๆ เช่น เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็น “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ภาคอีสาน ในปลายพฤษภาคม 2554 ซึ่งรวมไปถึง ปัตตานีมหานคร ซึ่งก่อนหน้านี้ แนวคิดปัตตานีมหานคร เป็นแนวคิดการรวมตัวกันของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเดียวกันและเกิดขึ้นมานานมาก แต่เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดนและเสี่ยงต่อการเสียดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไป จึงไม่มีการเคลื่อนไหวในเชิงรูปธรรมมากนัก ในเดือน มิถุนายน แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองได้นำเข้าไปเป็นประเด็นในรายการ เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย ช่อง Thai PBS ซึ่งนำผู้นำท้องถิ่นและกลุ่มผู้เคลื่อนไหวมาถกกันในประเด็น “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งรวมถึงผู้นำชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกันรวมทั้ง การขยายเวที “แนวคิด ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจให้ จังหวัดจัดการตนเอง” ไปถึงภาคใต้ จึงมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและรูปแบบระหว่าง แนวคิดจังหวัดจัดการตนเองกับแนวคิดปัตตานีมหานคร มากขึ้น ต่อมาในเดือน กรกฏาคม 2554 เกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในประเด็นจังหวัดจัดการตนเองในภาคกลาง หลายๆจังหวัดทั่วประเทศ ได้นำแนวความคิดจังหวัดจัดการตนเองไปต่อยอดความคิดเพื่อสร้างรูปแบบการจัดการตนเองในรูปแบบที่เหมาะสมกับจังหวัดหรือท้องถิ่นของตนเอง

              

4. บทวิเคราะห์ : จังหวัดจัดการตนเอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ สู่การปฏิรูปประเทศไทย

                ปัจจุบันแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” เป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ในประเทศไทยที่ขยายวงกว้างไปกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งจังหวัดที่ยกขึ้นให้เป็นตัวแบบหรือ Model แนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง” คือ จังหวัดเชียงใหม่ ถูกยกให้เป็นตัวแบบ(Model)จังหวัดจัดการตนเอง เพื่อเป็นแบบแผนในการขับเคลื่อนแนวคิดและเป็นรูปแบบที่จะทำให้ ภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ตื่นตัวในประเด็นดังกล่าว ตั้งแต่ พ.ศ.2552 โครงการเชียงใหม่จัดการตนเอง เกิดขึ้นพร้อมกับการขับเคลื่อนตัวแบบเชียงใหม่จัดการตนเองให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยการรวมภาคีภาคส่วนต่าง ซึ่ง ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรต่างๆมากมาย [5] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2554 นำโดยเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง องค์กรขับเคลื่อนและสนับสนุนต่างๆ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อร่างพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองขึ้น โดยเกิดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งก็ได้เครือข่ายขับเคลื่อนรวมถึงนักวิชาการเข้าร่วมในการเวทีอย่างต่อเนื่อง เช่นนายชำนาญ จันทร์เรือง เป็นประธานในการร่าง พรบ. ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง[6] ซึ่งมีแนวคิดในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมายาวนาน จึงได้ผนวกแนวคิดดังกล่าวเข้ากับแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองขึ้น โดยนำการเลือกตั้งผู้ว่าราชการบรรจุลงในร่างพระราชบัญญัติจังหวัดจัดการตนเองด้วย เรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร” ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้อยู่ในกระบวนการปรับปรุงและเมื่อสมบูรณ์แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำประชาพิจารรวบรวมรายชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อเพื่อยกร่าง พรบ.เสนอให้เป็นกฏหมาย ตามกระบวนการสภาต่อไป

                การเคลื่อนไหวเพื่อให้จังหวัดเชียงใหม่เป็น Model “จังหวัดจัดการตนเอง” สามารถวิเคราะห์ได้ตามองค์ประกอบของการเคลื่อนไหวตามกรอบคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม รูปแบบใหม่ ดังนี้

                โครงสร้างการขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กร NGOs ในระดับชาติ เช่น สำนักงานปฏิรูป (สปร.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) เป็นต้น ซึ่งให้งบประมาณและความร่วมมือในการจัดเวที รวมถึงองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สภาองค์กรชุมชนจังหวัด บ้านชุ่มเมืองเย็น ภาคีคนฮักเจียงใหม่และสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งให้ความร่วมมือในเวทีขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนงบประมาณในบางกิจกรรม สื่อมวลชน เช่น วิทยุชุมชนเชียงใหม่ หนังสือ VCDและแผ่นพับให้ความรู้เรื่อง “จังหวัดจัดการตนเอง” เว็ปไซต์ www.p-power.org เป็นต้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. เทศบาล เป็นต้น และภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าและผู้ประกอบการเอกชน

                เป้าหมายของการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างความตื่นตัวและสนใจให้กับชาวเชียงใหม่ในเรื่องของการจัดการตนเอง เข้าร่วมเวทีและการประชุมเชิงปฏิบัติการของจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อสามารถนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างรูปแบบของ จังหวัดจัดการตนเอง จนนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้ง "เชียงใหม่มหานคร”ต่อไป

                กระบวนการการขับเคลื่อน ได้แก่ การประสานพลังเครือข่าย ยกระดับองค์ความรู้เพื่อการจัดการตนเองและขับเคลื่อนทางนโยบายโดยใช้วิธีการ การจัดเวทีขยายองค์ความรู้และความคิดไปในระดับต่างๆทั่วพื้นที่โดยการจัดเวทีขยายความรู้ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอเพื่อกระจายแนวคิดไปทั่วพื้นที่เชียงใหม่ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนรวมถึงร่วมแก้ไข พรบ.ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การใช้สื่อต่างๆในการกระจายองค์ความรู้ เช่น การประชาสัมพันธ์ในวิทยุท้องถิ่น อินเตอร์เน็ต จัดทำหนังสือ แผ่นพับและโปสเตอร์กระจายแนวคิด และเมื่อรวบรวมพลังขับเคลื่อนได้แล้ว สุดท้ายคือการรวบรวมความคิด ข้อเสนอทั้งหลายขึ้นมาประกอบการยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ (พรบ.) เพื่อสร้างการขับเคลื่อนทางนโยบาย

                ปัจจัยต่างๆที่ทำให้ขบวนการเกิดขึ้นและขับเคลื่อนได้ ได้แก่ ปัจจัยภายในตัวประชาชน เช่น พฤติกรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเชียงใหม่ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาสังคมในรูปแบบ NGOs มีการเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิด มีการจัดตั้งสภาท้องถิ่นขึ้นและเข้าร่วมโครงการพัฒนาการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนมาก แสดงให้เห็นถึง ความสำนึกความเป็นพลเมืองของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจัยภายนอก เช่น สภาพสังคมเชียงใหม่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาถึง 715 ปี และมีความพร้อมและศักยภาพการเคลื่อนไหวและบริหารจัดการภายในท้องถิ่นได้ เช่นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมสูง จำนวนประชากร ความเข้มแข็งของสื่อสาธารณะและสถาบันการศึกษาที่มีจำนวนมาก สภาพทางวัฒนธรรมเชียงใหม่ ซึ่งมีอัตลักษณ์แบบล้านนาทั้ง ภาษาเหนือ วัฒนธรรมและประเพณีเฉพาะ สภาพทางเศรษฐกิจมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสูง เป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ สภาพการปกครองของเชียงใหม่ มีทั้งหมด 25 อำเภอ 204 ตำบล ซึ่งเป็นโครงสร้างการปกครองที่มีขนาดใหญ่

                 นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนอยู่อีกมากมาย เช่น เชียงราย นครปฐมแม่ฮ่องสอน น่าน และ ขอนแก่น ดังนี้

                จังหวัดเชียงราย เคลื่อนไหวในรูปแบบเดียวกันกับเชียงใหม่ คือ มีการจัดเวทีกระจายความรู้โดย NGOs ระดับชาติเช่นเดียวกัน มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแผนและมีการประชาสัมพันธ์ในจังหวัดเชียงรายเช่นเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันที่ ภาคประชาชนระดับท้องถิ่นในเชียงราย เช่น สมัชชาสุขภาพ สภาองค์กรชุมชน ปฏิรูปที่ดิน บ้านมั่นคง สวัสดิการชุมชน หมอเมือง ศิลปินพื้นบ้าน ลุ่มน้ำ

 กลุ่มแม่ญิงกับการพัฒนา สื่อชุมชน สภาพัฒนาการเมือง ผู้สูงอายุ ชมรมผู้พิการ อสม. และกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น เป้าหมายของการเคลื่อนไหว คือ การกำหนดประเด็นเป้าหมายในการเคลื่อนไหว จำนวน 6 ประเด็น ประกอบด้วยประเด็น การจัดการที่ดินทำกิน ,ประเด็นการจัดการลุ่มน้ำ 7 ลุ่มน้ำเชียงราย, ประเด็น จังหวัดจัดการตนเอง โดยชุมชนสวัสดิการ, ประเด็น สุขใจ ไม่คิดสั้น, ประเด็นการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น และประเด็นสื่อภาคชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งในขณะที่ผู้เขียนได้เขียนบทความชิ้นนี้ เชียงรายอยู่ในช่วงสรรหาประเด็นในการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง และกำหนดให้เกิด พรบ. “มหานครเชียงราย” ไม่เกิน พ.ศ.2556

                จังหวัดแม่ฮ่องสอน เคลื่อนไหวเช่นเดียวกันกับเชียงใหม่ แต่มีความแตกต่างกันของ NGOs ระดับท้องถิ่น เช่น เครื่อข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดเวทีสัมมนาขยายองค์ความรู้ ประกอบกับ เป้าหมายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนคือ จัดทำร่างโครงการรณรงค์และส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดจัดการตนเองโดยภาคประชาสังคม จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจะนำเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขอรับการสนับสนุนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการตนเองภายในจังหวัดได้ เนื่องจากมีทุนทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และทางสังคมที่เข้มแข็งอยู่แล้ว

                จังหวัดน่าน เคลื่อนไหวเช่นเดียวกันกับเชียงใหม่ เช่นเดียวกันแต่มีความแตกต่างกันของ NGOs ระดับท้องถิ่น นำโดยกลุ่มฮักเมืองน่าน เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเองตำบลต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆของจังหวัดน่านและเครือข่ายลุ่มน้ำน่านและการดำเนินการสมานฉันท์กับฝ่ายต่างโดยการลงนามความร่วมมือ เช่น การร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศบาลเมืองน่านร่วมการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ปี 2554 จังหวัดน่าน เป็นต้น เป้าหมายของการเคลื่อนไหว มีด้วยกัน 4 ประเด็น คือ ความมั่นคงทางอาหาร, ทรัพยากรธรรมชาติที่ครอบคลุม ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม, การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ซึ่งจังหวัดน่านจะยังคงจัดเวทีขยายแนวคิดและถอดบทเรียนจากจังหวัดต่างๆเช่นนี้อย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมเพื่อหาแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อไป

                จังหวัดนครปฐม เคลื่อนไหวเช่นเดียวกันกับเชียงใหม่ เช่นเดียวกันแต่มีความแตกต่างกันของ NGOs ระดับท้องถิ่น เช่น สภาเด็กและเยาวชน สภาองค์กรชมชน กลุ่มเรารักแม่น้ำท่าจีน โรตารี่นครปฐม เป็นต้น แต่มีเครือข่ายของภาคการศึกษาและเยาวชน จำนวนมาก เช่น มหาวิทยาลัยนครปฐม มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เนื่องจากเป้าหมายของนครปฐมคือ การจัดการตนเองให้เป็น นครแห่งการอ่านและวิชาการ ซึ่งเริ่มมาจากระดับตำบล เช่น ตำบลผาสุก และกระจายไปยังทุกตำบลของ นครปฐม เพราะเนื่องจากนครปฐมมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากและมีทุนทางวัฒนธรรมสูง ปัจจุบันอยู่ในช่วงขับเคลื่อนโดยการจัดเวทีขยายแนวคิด “นครแห่งการอ่าน” ไปในระดับอำเภอต่างๆ

                จังหวัดขอนแก่น เริ่มเคลื่อนไหวจากระดับท้องถิ่นก่อนโดยเริ่มจากการจัดการตนเองเรื่องของทรัพยากรป่าไม้ ภายหลัง NGOs ระดับชาติ ได้เข้ามาขยายแนวความรู้ในเวที “เสวนาสถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทยสู่แนวความคิดยุทธศาสตร์จังหวัดจัดการตัวเอง ภาคอิสาน” จึงรับแนวคิดนี้ไปเคลื่อนไหวต่อ โดยมี NGOs เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่ม กรีนพีซภาคอิสาน ร่วมขับเคลื่อนด้วย เพื่อต้องการให้ขอนแก่นเป็นจังหวัดทรัพยากรและอุตสาหกรรมการเกษตรตามธรรมชาติของประเทศไทย            

                กรอบคิด ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ได้กล่าวถึง โครงสร้างการเคลื่อนไหว ที่ต้องเกิดขึ้นจากภาคประชาชนหรือองค์กรอิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ เป้าหมายของการเคลื่อนไหว ทางสังคมรูปแบบใหม่ ต้องเป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่ต้องการให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมืองของพื้นที่นั้นๆและก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อที่จะใช้พลังของประชาชนเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือสถาบันพื้นฐานทางสังคม กระบวนการเคลื่อนไหว ที่ต้องไม่ใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่ผิดกฏหมาย แต่ต้องใช้ยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวที่มีแบบแผนและแนวทางในการรวบรวมประชาชนให้มีแนวคิดหรือเจตนารมณ์ร่วมกัน อีกทั้งยังต้องอาศัยปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อน เช่นปัจจัยภายในตัวผู้ขับเคลื่อนซึ่งมีสำนึกความเป็นพลเมืองสูงและปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” ต้องการให้ประชาชนในทุกๆระดับในสังคม มีสำนึกพลเมืองในการแสดงความ “เป็นเจ้าของ” ท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ไม่เพียงแต่การเสนอความคิดเห็นหรือถกเถียงกันในกลุ่มย่อย แต่ต้องผลักดันฐานความคิดของประชาชนทุกระดับให้มีพลังในการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและกลั่นกรองแนวทางในการแก้ปัญหาที่ภาคประชาชนท้องถิ่นได้ตระหนักมาโดยตลอด ขบวนการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” ได้แสดงให้เห็นรูปธรรมของการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารและปกครองท้องถิ่นได้ชัดเจนที่สุด และเมื่อภาคประชาชนเข้มแข็งและมีองค์ความรู้ความคิดที่หลากหลาย รอบด้านแล้วนั้น จะก่อให้เกิด พลังในการขับเคลื่อนซึ่งเป็นพลังที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองและบริหารราชการไทย โดยสามารถขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้ง “จังหวัดจัดการตนเอง”ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถสร้างประชาธิปไตยให้มีความเข็มแข็งมากขึ้นในประเทศไทย

                หลักคิดของจังหวัดจัดการตนเอง คือ ต้องการจะลดบทบาทของรัฐส่วนกลางลงและเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่น เป็นการ“ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” และประชาชนสามารถบริหารจัดการท้องถิ่นนั้นๆได้เอง โดยการ ยุบการปกครองส่วนภูมิภาค นำไปรวมกับ การปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัด ซึ่งจะคงเหลือไว้แต่ราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่ส่วนกลางสามารถส่งบุคลากรมายังหน่วยราชการระดับจังหวัดได้ตามปกติ ซึ่งจะถือว่าเป็นบุคลากรของส่วนกลาง จัดให้มีการเลือกตั้ง ในส่วนของสภาจังหวัดหรือฝ่ายบริหารหรือปกครองตามแต่จังหวัดนั้นๆต้องการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับท้องถิ่นมากขึ้น การปรับขั้นตอนจัดเก็บงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจากเดิมจังหวัดจัดเก็บภาษีในท้องถิ่นได้แล้วนำส่งให้ส่วนกลาง 100% เต็มจำนวนและรัฐจึงจัดแบ่งสัดส่วนงบประมาณลงมายังจังหวัด ประมาณ 25-30% ปรับเปลี่ยนเป็น ภาษีที่จังหวัดจัดเก็บได้นั้น นำส่งให้ส่วนกลาง 30% และจังหวัดจัดเก็บไว้เป็นงบประมาณจังหวัด 70% เพื่อบริหารจัดการและจัดสรรงบประมาณภายในจังหวัดเองทั้งหมด เช่นด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการท่องเที่ยว ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ด้านความปลอดภัยและตำรวจ ด้านสวัสดิการและการจัดบริหารสังคม ด้านการกีฬา เป็นต้น โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับภารกิจของส่วนกลาง 3 เรื่อง คือ กำลังทหาร ระบบเงินตราและการต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นชาติ รูปแบบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงการอำนาจอธิปไตยได้มากขึ้น ดึงประชาธิปไตยให้เข้ามาใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น จะทำให้ประชาชนรับรู้ถึงผลกระทบจากการบริหารท้องถิ่นหรือจากการกระทำใดๆในท้องถิ่นของตน เช่น การเลือกตั้งฝ่ายบริหารท้องถิ่น ถ้าประชาชนเลือกผู้แทนที่ทุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้รับผลกระทบชัดเจนกว่าการเลือกตั้งระดับประเทศหรือการเลือกตั้งเพียงบางฝ่ายของราชการท้องถิ่นในปัจจุบัน และการก่อสร้างหรือรื้อถอนสิ่งใดในจังหวัดประชาชนจะรับรู้ถึงผลกระทบมากกว่าในปัจจุบันเพราะ งบประมาณในจังหวัดคืองบประมาณของตนเองอย่างชัดเจน จึงกล่าวได้ว่า “จังหวัดจัดการตนเอง” ดึงเอาอำนาจการบริหารและการปกครอง รวมถึงความเป็นประชาธิปไตยเข้ามาใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น ทำให้ประชาชนจึงเกิดความสำนึกความเป็นประชาธิปไตยและตื่นตัวกับหน้าที่พลเมืองที่ทุกคนต้องปฏิบัติ

                ด้วยเหตุนี้จึงควรจัดตั้ง การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดขึ้นมาใหม่ ดังเช่น “จังหวัดจัดการตนเอง” ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องของโครงสร้าง การปกครองในประเทศไทย ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น วิธีคิดของประชาชนในทุกระดับและปฏิรูปตัวตนของประชาชนให้มีพลังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในท้องถิ่น ที่มี “เจ้าของ” คือ ประชาชนในท้องถิ่น นั้นเอง

5. แนวทางพัฒนาไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง”

                จากการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่แพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆกว่า 45 จังหวัดในปัจจุบัน ทำให้ยิ่งเพิ่มความเป็นรูปธรรมมากขึ้นของ การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและการปกครองของไทย ผู้เขียนจึงเสนอแนะแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้ ขบวนการเคลื่อนไหวมีความเข้มแข็งและก่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ดังนี้

                (1) ขบวนการเคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” ควรเสนอของบประมาณจากองค์กรอิสระ หรือ NGOs ระดับชาติให้มากขึ้นรวมทั้ง NGOs ทั่วประเทศ ควรหันมาสนใจในประเด็นดังกล่าวและร่วมกันระดมทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหว เพื่อก่อให้เกิดการจัดเวทีและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในระดับ ตำบล ซึ่งเป็นระดับย่อยของท้องถิ่น เพื่อขยายแนวคิดและองค์ความรู้ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของจังหวัด ควรเริ่มจากจังหวัด เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแบบ ของแนวคิด “จังหวัดจัดการตนเอง”

                (2) ควรจัดเวทีรวบรวมเครือข่ายที่เคลื่อนไหว “จังหวัดจัดการตนเอง” ทั่วประเทศมารวมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างพลังเครือข่ายให้เข้มแข็งมากขึ้นและปรับแนวทางการเคลื่อนไหวให้สามารถจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองให้เกิดขึ้นจริง

                (3) ควรจัดเวทีแลกเปลี่ยนแนวความคิดกับฝ่ายปกครองในระดับจังหวัดหรือระดับชาติ รวมทั้งสมาคมนักปกครอง เพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนความรู้และปรับทัศนคติเพื่อลดปัญหาในขั้นตอนการขับเคลื่อนของ “จังหวัดจัดการตนเอง”ได้

                (4) จัดทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ลงในสื่อกระแสหลัก เช่น ช่องโทรทัศน์ ฟรีทีวี คลื่นวิทยุส่วนกลางและหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง เพื่อกระจายแนวความคิดให้คนทั่วประเทศได้รับทราบและเข้าใจในเป้าหมายของการเคลื่อนไหว

                (5) เร่งจัดทำร่าง พรบ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานครฯ ให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมในการเคลื่อนไหว รวมทั้งสร้าง Model จังหวัดจัดการตนเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมและเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆต่อไป

                จังหวัดจัดการตนเอง เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจาก ภาคประชาชน ก่อตัวขึ้นเกิดเป็น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังประชาชนอย่างแท้จริง เสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้แก่พลเมืองภายในประเทศ เกิดสำนึกความเป็นพลเมืองไทยและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและการปกครองท้องถิ่นไทย ซึ่งปัจจุบัน เกิดปัญหาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจดังกล่าวเพื่อก้าวข้ามปัญหาต่างๆเหล่านี้ ด้วยวิธีการของประชาชนและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน จึงควรตื่นตัวกับความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ลุกขึ้นมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอแนวทางและผลักดันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของภาคประชาชน เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

 

บรรณานุกรม

หนังสือทั่วไป

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. (2546). อำนาจและคอร์รัปชั่น. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์

คณะกรรมการดำเนินการจัดสมัชชาปฏิรูป. (2554). รูปแบบ ระบบ และแนวทางการจัดสมัชชาปฏิรูป.         กรุงเทพมหานคร : บริษัท วิกิ จำกัด.

คณะกรรมการปฏิรูป. (2553). ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที คิว พี จำกัด

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2540). รัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ ทฤษฏี : หนึ่งทศวรรษรัฐศาสตร์แนววิพากษ์.           กรุงเทพมหานคร : ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก

ธีรยุทธ บุญมี. (2544). ประชาคม. กรุงเทพมหานคร : สายธาร.

ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2552). แนวการวิเคราะห์การเมืองแบบขบวนการทางสังคม. กรุงเทพมหานคร :  มูลนิธิ ไฮน์ริค เบิลล์.

ประเวศ วะสี. (2553). ปฏิรูปประเทศไทย รายการเรื่องที่ควรปฏิรูป. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ที คิว พี จำกัด.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2552). เศรษฐศาสตร์ การเมือง(ลุกขึ้นสู้). กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2552). รายงานผลการศึกษาความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สวิง ตันอุด. (2554). คู่มือเปลี่ยนประเทศไทยให้จังหวัดจัดการตนเอง. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์.

วิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย

พรศิริ ชีวาพัฒนานุวงศ์. (2548). ขบวนการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรณีศึกษา กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้               (ประเทศไทย). วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาสังคมวิทยา.

มัทนา โกสุมภ์. (2549). กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของการเมืองภาคประชาชน ในกรณีสวนสัตว์กลางคืนจังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์ ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บัณฑิต วิทยาลัย, สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ.

วีรศักดิ์ ทิพย์มณเฑียร. (2548). การวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อปัญหาการดำเนินการ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อน “หินกรูด”. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน.

ศิริพร โคตะวินนท์. (2543). ผู้หญิงในขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนชายขอบ กรณีศึกษาฝ่ายราษีไศล : หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 และ 3. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาสังคมวิทยา.

 

 

[1] นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โครงการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สหวิทยาการสังคมศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

[2] สถาบันการจัดการทางสังคม (สจส.) เปลี่ยนจาก วิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) ในปี พ.ศ.2551

[3] ประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็นและนักวิชาการด้านกฏหมาย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

[4] เป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ ศึกษา และรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวมทั้งการประสานกับหน่วยงาน องค์กรทุกภาคส่วนและสาธารณชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูป

[5] กล่าวถึงในส่วนของ โครงสร้างการขับเคลื่อน หน้าถัดไป

[6] ศาสตราจารย์ สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปี 2555 ...เมืองไทยควรเดินหน้านโยบาย 2 สูง

$
0
0

นอกจาก “ทฤษฎี 2 สูง”  จะเอื้อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มเม็ดเงินในมือของประชาชนมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น กล้าจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้าในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นแล้ว  ทฤษฎีดังกล่าวยังมี “นัยยะ” ที่สำคัญอีกประการหนึ่งซ่อนอยู่ข้างใน  นั่นคือ การผลักดันให้องค์กรหรือประเทศมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Adding) แทนการเป็นผู้ผลิตแต่สินค้าคอมมอดิตี้ที่ใช้ราคาถูกเป็นจุดขาย

เพราะ “การเพิ่มมูลค่า” จึงทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่อง “ต้นทุน” ด้วยว่าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ย่อมสามารถตั้งราคาได้สูง (อาจบางครั้ง) เกินกว่าทุนเป็นหลายเท่า  โดยที่ผู้บริโภคก็ “ยินดีซื้อ”  มิได้เกี่ยงงอนเรื่องราคาแต่อย่างใด  ดังกรณีโทรศัพท์มือถือ iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ ที่คนเข้าคิวยาวเป็นหางว่าวแย่งกันอย่างกับขนม ทั้งที่สนนราคาสูงถึงกว่า 20,000 บาทต่อเครื่อง

แนวคิดสองสูงของ “ท่านประธาน แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์”  จึงเป็นการชี้นำให้องค์กรมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้า  ผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ เมื่อปรุงสุกย่อมมีมูลค่าสูงกว่าจำหน่ายเป็นไก่สดแช่แข็ง  และเมื่อมี “แบรนด์เนม” ก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ

เมื่อเดินยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่า จึงมิพักต้องกังวลเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท”  ด้วยเหตุนี้หากธุรกิจในประเทศต่างพากันเดินไปในทิศทางดังกล่าว  ความมั่งคั่งย่อมเกิดขึ้นกับ “คนไทย” ในทุกระดับชั้นโดยทั่วกัน

ประเทศเพื่อนบ้านที่เลือกยุทธศาสตร์มูลค่าเพิ่มสูง (High Value Adding) ไปแล้วก็คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย  ซึ่งได้สะท้อนออกมาในรูปของความมั่งมีศรีสุขของประชากร  สิงคโปร์เองมีรายได้ต่อหัวของประชาชนสูงถึงร่วม 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี (สูงกว่าไทยเราตั้ง 10 เท่า)  ธุรกิจในสิงคโปร์กว่า 60% ของ GDP เป็นธุรกิจภาคบริการ เช่น การเงิน การธนาคาร การค้าปลีก ค้าส่ง ภัตตาคาร &โรงแรม  ตลอดจนบริการคมนาคมขนส่งทางเรือ และทางอากาศ  ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงแก่ผู้ประกอบการทั้งสิ้น

การวัดผลงานของ CEO สมัยใหม่นั้น  เขาวัดกันที่ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร  ตัวชี้วัดเรียกว่า EVA  หรือ Economic Value Added ซึ่งอธิบายง่ายๆ ว่า   CEO สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นและผู้ให้กู้ได้หรือไม่  นัยยะก็คือเม็ดเงินที่นำมาลงทุนในกิจการทุกบาททุกสตางค์มี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งสิ้น  แม้แต่ส่วนของ “เจ้าของ”  ก็ยังคิดดอกเบี้ยเข้าไปด้วย หนทางเดียวที่ซีอีโอจะเอาชนะ “เครื่องกีดขวาง” ซึ่งในที่นี้คือ “ต้นทุน &ค่าใช้จ่าย” ที่ถูกยกให้สูงขึ้น  ก็คือการเดินยุทธศาสตร์ High Value Added นั่นเอง

บริษัทจากโลกตะวันตกที่มาลงทุนในไทยล้วนบริหารด้วยยุทธศาสตร์ “มูลค่าเพิ่มสูง” จึงไม่ควรตั้งแง่หากจะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้คนไทยได้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นบ้าง  แต่ไหนแต่ไรพวกเขาใช้ทฤษฏี “1 สูง  1 ต่ำ”  มาโดยตลอด กล่าวคือ  ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มเพื่อให้ได้ราคาแล้วมาอาศัยแรงงานราคาถูกในบ้านเรา 

รัฐบาลควรเดินนโยบาย 2 สูง ด้วยการออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ราคาและสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้โดยไม่เดือดร้อน  ภายใต้นโยบายดังกล่าว กระทรวงต่างๆ อันเป็นแขนขาในการบริหารบ้านเมือง จักต้องร่วมมือกันระดมสรรพกำลังคิดมาตรการเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เดินหน้าไปในแนวทางดังกล่าวนี้

จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็น “เจ้าภาพ” สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ...  ว่าเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะก็จะดีไม่น้อยเลยครับ

ถึงเวลาที่เมืองไทยจะต้องปรับตำแหน่ง (Repositioning) ตัวเองมาเป็นประเทศ “มูลค่าเพิ่ม” เสียที  และวางยุทธศาสตร์ผลักดัน เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง  เราเคยตัดไม้สักขายเป็นท่อนซุงจนหมดป่า ส่งออกปอกระเจาอัดเบลแทนที่จะนำไปทอเป็นกระสอบ  ขายยางแผ่นดิบรมควันให้มาเลเซียไปเพิ่มมูลค่าเป็นยางรถยนต์ ถุงมือแพทย์ ฯลฯ  วันนี้เราต้องหันมาดูอย่างพินิจพิเคราะห์ว่า “ข้าว” ที่เราส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกนั้นเพิ่มมูลค่าได้เพียงแค่หุงให้สุกเท่านั้นหรือ ?

เป็นการบ้านข้อใหญ่ สำหรับรัฐบาลท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่จะต้องสางต่อครับ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มรดกลัทธิล่าอาณานิคม: ผลพวงประวัติศาสตร์ผ่านแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์

$
0
0

บทนำ
         มรดกตกทอดจากอดีตที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในปัจจุบันนั้น นักรัฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์จำนวนมากได้ให้คำอธิบายไว้มากมาย ทว่าในปัจจุบันมีนักเศรษฐศาสตร์สามารถใช้เครื่องมือที่เรียกว่า เศรษฐมิติ (Econometrics) ในการยืนยันถึงอิทธิพลของมรดกจากอดีตสามารถส่งผล “อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ”  ต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันได้ หรือพูดง่ายๆว่า วิชาเศรษฐศาสตร์นั้นบ่งบอก ผลพวงประวัติศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม จับต้องเป็นตัวเลขได้

         ผลพวงประวัติศาสตร์ที่แสดงออกในรูปตัวเลขนั้นมาจากงานศึกษาเรื่อง The Colonial Origins of Comparative Development: An Empirical Investigation ซึ่งเป็นผลงานที่ผสมผสานระหว่างการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ร่วมกัน ของทีมวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย MIT เมื่อ ค.ศ.2006  โดยคำถามวิจัยสำคัญของงานชิ้นนี้ก็คือ ผลกระทบการล่าอาณานิคมที่เคยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาสามารถส่งผลต่อเนื่องจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างไร

การชี้วัดหรือยืนยันว่าปัจจัยต่างๆมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็นต้องยืนยันผ่านความสัมพันธ์ “ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ” ระหว่างข้อมูลตัวเลขของสิ่งที่เราต้องการศึกษา   ดังนั้นสำหรับงานศึกษาชิ้นนี้ ที่ต้องการหาความสัมพันธ์หลักระหว่างพัฒนาการทางเศรษฐกิจกับการล่าอาณานิคมนั้นจึงใช้ตัวแปรตัวเลขหลักๆ 2 ตัวโดยที่ตัวแปรที่ชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกสะสมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันของแต่ละประเทศจะใช้ตัวเลขของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนตัวแปรที่ชี้วัดมรดกของการล่าอาณานิคมที่มีผลในปัจจุบันได้นั้นจะใช้ตัวเลขของคุณภาพสถาบัน(institution quality)ภายในประเทศนั้นๆ 

ทว่าก่อนที่จะเข้าสู่ผลการศึกษาว่า สถาบันส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และเกี่ยวกับการล่าอาณานิคมอย่างไร ผู้เขียนจะขออธิบายคำว่าสถาบันเสียก่อนว่าหมายถึงสิ่งใด

สถาบันคืออะไร ส่งผลต่อผู้คนและสังคมได้เช่นใด?
         สถาบันที่ว่าไม่ใช่สถาบันที่หมายถึงสถานที่ที่แต่อย่างใด ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Douglas North ให้คำจำกัดความว่า สถาบันหมายถึงกฎกติกาที่มนุษย์อย่างเราๆสร้างขึ้นและส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมทางการเมือง พฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงวิธีคิดของมนุษย์ภายใต้สถาบันนั้นๆได้ด้วย ตัวอย่างของสถาบันหรือกฏกติกาดังกล่าวก็เช่น กฏหมาย ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น สำหรับวิธีการแบ่งประเภทของสถาบันนั้นมีหลายแบบ ทว่าการแบ่งเพื่อให้ศึกษาง่ายและจับต้องได้ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น จะแบ่งออกเป็น สถาบันทางการเมือง (political institution) และ สถาบันทางเศรษฐกิจ (economics institution) โดยสถาบันทางการเมืองที่ดีนั้นคือกฎกติการทางการเมืองที่จัดการกับความขัดแย้งได้ดีสามารถแบ่งสันปันอำนาจของกลุ่มผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างลงตัว เท่าเทียมรูปธรรมก็คือ สถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย  ผลพวงคือ การไม่เกิดความรุนแรงมากนักเวลามีการจัดการปัญหาความขัดแย้งในสังคม  ส่วนสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีนั้นคือกฎกติกาทางเศรษฐกิจที่ให้อิสระต่อปัจเจกชนในการประกอบการลงทุน ทำมาค้าขาย สามารถคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (private ownership) ไม่ให้รัฐหรือชนชั้นนำสามารถยื้อแย่งกรรมสิทธิ์ไปได้โดยง่าย รูปธรรมคือ สถาบันเศรษฐกิจแบบทุนนิยม  ผลพวงก็คือ เศรษฐกิจในประเทศมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่ดีต่อเนื่องและสถาบันการเมืองและเศรษฐกิจที่แย่หรือเลวนั้นก็คือ สถาบันแบบเผด็จการทั้งหลายนั่นเอง

         ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ได้มีสมมติฐานว่าสถาบันที่แตกต่างกันไปจะส่งผลให้แรงจูงใจการทำสิ่งต่างๆของผู้คนในสังคมมีความแตกต่างกัน ถ้าพูดให้ลงลึกถึงปรัชญาของเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อมนุษย์นั้น เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก(mainstream economics) มีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้มีเหตุมีผลอย่างเต็มที่(rationality) มีอิสระในการกระทำการใดๆได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง ทว่าเศรษศาสตร์สายสถาบัน (institutional economics) มองว่ามนุษย์กระทำการใดๆเพื่อประโยชน์สูงสุดตนเองเช่นกัน ทว่าไม่ได้อิสระ ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้เหตุผล (bound rationality) โดยข้อจำกัดนั้นขึ้นอยู่กับสถาบัน พูดให้ง่ายก็คือ คนเราจะมีเหตุผล จะคิดได้แค่ไหน มีแรงจูงใจในการทำอะไรได้อย่างอิสระถึงระดับใดย่อมขึ้นอยู่กับกฏกติกาต่างๆที่ครอบสังคมเราจะเอื้อให้เรามีอิสระได้แค่ไหนนั่นเอง และผลของแรงจูงใจที่มาจากสถาบันที่ต่างกันก็ได้ก่อให้เกิดรูปธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างในหลายๆประเทศ เช่นความแตกต่างของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปัจจุบัน ความแตกต่างระหว่างจีนตอนเป็นคอมมิวนิสต์และทุนนิยม เป็นต้น 

จุดกำเนิดของสถาบันในปัจจุบัน:การตายของชาวยุโรป?
ย้อนกลับมาที่งานศึกษาชิ้นเดิม ทีมวิจัยกำหนดให้คุณภาพของสถาบันแต่ละประเทศถูกวัดจากดัชนีที่เรียกว่า Risk of expropriation ที่เป็นดัชนีชีวัดระดับการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจากรัฐและชนชั้นนำ (ดัชนีดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อความอิสระของตุลาการ การเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทัดเทียม การเคารพในเสรีภาพของพลเมือง) โดยค่าของดัชนีดังกล่าวอยู่ระหว่าง 0 ถึง 10คะแนนยิ่งคะแนนมาก หมายถึงคุณภาพของสถาบันในประเทศนั้นยิ่งดีมากตาม

ผลการศึกษาจาก ข้อมูล 64 ประเทศที่ล้วนแต่เคยเป็นประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมนั้นได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าค่าความแตกต่างระหว่างดัชนีเพียง 1คะแนนจะส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางด้านเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 154 % แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของสถาบันนั้นส่งผลอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในประเทศเพียงใดนอกจากนี้ แม้ว่าจะมีการควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆที่อาจส่งผลร่วมกับอิทธิพลของสถาบันไม่ว่าจะเป็น ลักษณะทางภูมิศาสตร์ อุณหภูมิ คุณภาพดิน ทวีป   ฯลฯ ให้คงที่ไว้แล้ว ก็ยังค้นพบว่า อิทธิพลของสถาบันแบบเพียวๆก็ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญอยู่ดี สรุปก็คือต่อให้เป็นประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่นที่ว่าเป็นประเทศที่หลายคนมักเชื่อกันว่าเป็นประเทศที่มี “คนดี มีคุณภาพขยัน มาตั้งแต่กำเนิด” แต่ถ้าเจอการจัดตั้งสถาบันแบบแย่ๆเข้าไปก็จะมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไม่ต่างจากประเทศยากจนทั้งหลายได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทีมวิจัยต้องการค้นหาว่า ที่มาของสถาบันในปัจจุบันที่มันส่งผลต่อเศรษฐกิจนั้นมันมีต้นกำเนิดมาจากที่ใดกัน ซึ่งศึกษาไปศึกษามาก็ค้นพบว่าตัวแปรที่ส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อสถาบันในปัจจุบันนั้นคือ อัตราการตายของชาวยุโรป (mortalityrate of European settler) ในสมัยการล่าอาณานิคมนั่นเอง

เหตุผลที่ว่าทำไม อัตราการตายของชาวยุโรปสามารถส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปัจจุบันได้นั้นสามารถอธิบายได้จากการล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 17 โดยจุดเริ่มต้นนโยบายการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจยุโรปหรือประเทศเจ้าอาณานิคมในตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน หรือเบลเยี่ยมคือต้องการหาที่อยู่ใหม่ และแหล่งทรัพยากรใหม่ๆ และแรงงานจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรและเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ประเทศของตน ดังนั้นประเทศอาณานิคมเป้าหมายจะต้องมีคุณสมบัติสองประการหลักๆ ก็คือ หนึ่ง มีทรัพยากรที่มีค่า และ สอง ชาวยุโรปสามารถพาคนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ได้

ดินแดนเป้าหมายของประเทศเจ้าอาณานิคมนั้นล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรมีค่า เอามาค้าขายสร้างความมั่งคั่งได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรเหมืองแร่ หรือทรัพยากรทางการเกษตร  ทว่าสิ่งที่ต่างกันออกไปก็คือแต่ละประเทศเหล่านั้นบางประเทศ อากาศดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ชาวยุโรปอยู่ได้ ส่วนบางประเทศนั้น อากาศร้อนชื้น โรคภัยมากมาย อยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ก็ตายวันยังค่ำ

ดังนั้นประเทศมหาอำนาจเลยทำนโยบายล่าอานาณิคมเป็น 2 แบบ นั่นคือประเทศไหนอุดมสมบูรณ์และอยู่ได้ จะใช้นโยบายสร้างสังคมให้ดีดังเช่นประเทศตนเอง จะได้ส่งคนของตนเองไปอยู่อาศัยได้ หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือสร้าง สถาบันที่ดีตามแบบฉบับประเทศตนเองให้แก่ประเทศนั้นไม่ว่าจะเป็น การให้มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือ การมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของปัจเจก ตัวอย่างของประเทศอาณานิคมเหล่านี้คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย ส่วนไอ้ประเทศที่อยู่ไม่ได้ แต่ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์เหลือเกิน นั้นจะใช้นโยบายที่จ้องแต่จะดึงทรัพยากรจากประเทศเหล่านั้นให้มากที่สุด นั่นก็คือการใช้กำลังทหาร และรวมหัวกับชนชั้นนำของประเทศนั้นๆบีบบังคับให้ส่งทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ให้ประเทศเจ้าอาณานิคมให้มากที่สุด ไม่ต้องสนคุณภาพชีวิตประชาชนเท่าใด หรือเป็นการสร้างสถาบันแบบเผด็จการขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างของประเทศอาณานิคมประเภทนี้คือ ประเทศเมืองร้อนทั้งหลายในอเมริกาใต้ แอฟริกาเกือบทั้งหมด และเอเชียในบางส่วน

ความต่อเนื่องของความเป็นสถาบัน:มรดกตกทอดจากอดีตถึงปัจจุบัน
และผลพวงจากนโยบายของสถาบันในอดีตที่แตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้นได้ส่งผลสืบเนื่องมายังสถาบันในปัจจุบันได้ ประเทศอาณานิคมทีชาวยุโรปไปอยู่ได้ทั้งหมดคงไม่ต้องพูดถึงว่ามีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีเพียงใด แต่สำหรับประเทศอาณานิคมที่ชาวยุโรปไปอยู่ไม่ได้ แม้ว่าหลายประเทศจะได้รับอิสรภาพจากชาติเจ้าอาณานิคมแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีลักษณะของสถาบันแบบเผด็จการดำรงอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าแม้ว่าจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่อำนาจยังคงเป็นของชนชั้นนำกลุ่มเล็กๆที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับสถาบันแบบเผด็จการ พวกเขายังไม่ยินยอมที่จะเสียผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสถาบันที่ใช้อยู่ ยังยืนยันที่จะใช้นโยบายแบบเผด็จการบังคับประชาชนในประเทศ เช่นโยบายการค้าทาสของกัวเตมาลา เม็กซิโก และบราซิลที่ยังมีผลต่อเนื่องเนื่องจากความต้องการแรงงานมหาศาลในการทำการเกษตร จนกว่าประเทศทั้งหลายนั้นได้มีการปฏิวัติประชาธิปไตยขึ้นในช่วงประมาณศตวรรษที่ 20จึงค่อยยกเลิกนโยบายแบบเผด็จการเหล่านั้นไป หรือแม้ว่าประเทศทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพแล้วจะมีการใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็จะมีก่อการรัฐประหารแย่งอำนาจคืนสู่ชนชั้นนำอยู่อย่างเนืองๆ ดังเช่น ประเทศเม็กซิโกที่กลุ่มผู้ก่อการนั้นล้วนเป็นบรรดาเจ้าที่ดิน พ่อค้าและเจ้าของอุตสาหกรรมที่ล้วนได้รับผลประโยชน์จากสมัยที่ประเทศยังถูกเจ้าอาณานิคมปกครองทั้งสิ้น

ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว สอดคล้องกันกับข้อมูลทางตัวเลขผ่านวิธีทางเศรษฐมิติที่ค้นพบว่า ข้อมูลการตายของชาวยุโรป ข้อมูลการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรป ข้อมูลของสถาบันเมื่อครั้งอดีต ข้อมูลของสถาบันในปัจจุบัน และข้อมูลพัฒนาการทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนแล้วแต่สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกันหมด

        จวบจนถึงปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 มรดกตกทอดของสถาบันก็ยังส่งผลถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศดังเช่นในอเมริกาใต้ และแอฟริกาจะหลุดพ้นทั้งจากชาติมหาอำนาจและชนชั้นนำของตนไปสู่ประเทศประชาธิปไตยได้แล้ว ทว่าก็ยังเหลือมรดกตกค้างในเรื่องของกฎกติกา นโยบาย หรือแม้กระทั่งวิธิคิดของชนชั้นนำที่มีอำนาจในการปกครองประเทศอยู่บ้างที่ยังส่งผลให้แต่ละประเทศที่สถาบันดีและสถาบันแย่ยังมีพัฒนาการเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

บทสรุป
ไอเดียของงานศึกษาผลพวงประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ได้ช่วยยืนยันตรรกะที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนมีผลมาจากอดีต และผลจากอดีตนั้นล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่มีการต่อสู้ แย่งชิงทรัพยากรและอำนาจทั้งสิ้น สิ่งที่น่าสนใจศึกษาต่อจากงานชิ้นนี้ก็คือแม้ว่าโลกจะหมดสิ้นยุคของการล่าอาณานิคมด้วยกำลังทหารซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบอย่างชัดแจ้งแล้วนั้น แต่มันสามารถแฝงฝังอยู่ในรูปของการล่าอาณานิคมด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและการฑูตที่แนบเนียนขึ้นผ่านทางสถาบันในประเทศต่างๆได้หรือไม่? หรือ ถ้าจะบีบกรอบการศึกษาให้มาอยู่แค่ในประเทศไทยก็น่าสนใจว่า ปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยที่ยังมีความขัดแย้งสูงดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น แม้จะมีนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ให้คำอธิบายที่ทรงพลังเกี่ยวกับจุดกำเนิดของมันไว้แล้ว ก็เป็นที่ท้าทายว่าความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะสามารถใช้ ตัวเลข ตรรกะว่าด้วยแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจของกลุ่มผลประโยชน์ผ่านทางสถาบันมาอธิบายปรากฎการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างมีน้ำหนักหรือไม่?

และที่สำคัญ หากประเทศไทยสมัยใหม่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใครมาก่อนเลย แล้วอะไรที่ทำให้สถาบันของประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาได้เท่าสถาบันของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายได้?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติกว่า 200 คน ลงชื่อหนุนแก้ม.112

$
0
0

นักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมจาก 16 ประเทศ สนับสนุนคณะรณรงค์แก้ไขม.112 ตามข้อเสนอนิติราษฏร์ พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ ระบุ ต้องแก้ไขม.112 เพื่อ"คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยและเสริมสร้างประชาธิปไตยและนิติรัฐในความหมายที่กว้าง”   

ในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ตามที่แนบมาพร้อมกันนี้) นักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติจำนวน 224 คนได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อการใช้มาตรา112  และการลิดรอนสิทธิพื้นฐานของผู้ที่ถูกกล่าวโทษภายใต้มาตรานี้  ผู้ที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกยืนยันว่า “มาตรา112 ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงอิทธิพลในการใช้ปิดปากคู่ขัดแย้งทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่ขัดแย้งที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

ดร. เควิน ฮิววิสัน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย นอร์ทแคโรไลนาแชเปิลฮิลล์และผู้เชียวชาญด้านไทยศึกษาแสดงความเห็นว่า “การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปในทางที่ผิดในทางการเมืองนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับสภาวะเสื่อมถอยของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย  การใช้อำนาจตรวจสอบ การเซ็นเซอร์ตัวเอง และข้อกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง”

ผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฯสนับสนุนคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพราะ “การปฏิรูปกฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยและเสริมสร้างประชาธิปไตยและนิติรัฐในความหมายที่กว้าง” 

การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112  ที่นำเสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์จะทำให้การลงโทษได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด, จำกัดให้ผู้ที่สามารถแจ้งความกล่าวโทษได้เป็นสำนักราชเลขาธิการแทนที่จะเป็นใครก็ได้, จำแนกการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตออกจากการอาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์, และแยกการละเมิดมาตรา 112 ให้อยู่ในหมวดความผิดต่อเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์แทนที่จะจัดให้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ

ดร.ราเชล แฮริสัน นักวิชาการผู้เชียวชาญด้านวัฒนธรรมไทยศึกษากล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักคิดและนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติจำนวนมากร่วมลงชื่อกับเราในการสนันสนุนการปฏิรูปมาตรา 112  เป็นการแสดงให้เพื่อนชาวไทยที่กำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายนี้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และเรื่องนี้จะถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากประชาคมนานาชาติ” 

ผู้ลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ประกอบด้วย (ตามรายนามที่แนบมาด้วยนี้) นักวิขาการ นักเขียนและนักกิจกรรมทางสังคมจาก 16 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, แคนาดา, เดนมาร์ก, เยอรมนี, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เนเธอร์แลนด์, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, สวีเดน, ตรินิแดดและโตเบโก, อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา



 ข้อมูลสังเขปว่าด้วย “ปัญญาชนนานาชาติร่วมสนับสนุนร่างแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์” 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ โนม ชอมสกี้  (Noam Chomsky) นักปรัชญา นักภาษาศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 20-21 แห่งสถาบันเทคโนโลยี่แมสซาชูเส็ทส์ (Massachusetts Institute of Technology) เขามีงานเขียนมากมาย ที่มุ่งวิพากษ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอีกหลายรัฐบาล

เอมิตาฟ โกช (Amitav Ghosh) นักคิด-นักเขียนชาวอินเดีย ผลงานของเขาได้รับรางวัลนานาชาติมากมาย เช่น The Circle of Reason ได้รับ Prix Medicis อันเป็นรางวัลทรงเกียรติสาขาวรรณกรรมของฝรั่งเศส, The Shadow Lines ได้รับ 2 รางวัลจาก Sahitya Akademi และรางวัล Ananda Puraskar ของอินเดีย, the Calcutta Chromosome ชนะรางวัล the Arthur C. Clark อันเป็นรางวัลอันทรงเกียรติของประเทศอังกฤษสำหรับนวนิยายวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

แทริค อาลิ (Tariq Ali ) นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน เป็นนักประวัติศาสตร์การทหาร นักเขียน สื่อมวลชน ผู้กำกับภาพยนตร์ ปัญญาชนสาธารณะ นักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขายังเป็นสมาชิกของกองบรรณาธิการวารสาร New Left Review 

คริส เฮดจ์ส (Chris Hedges) นักเขียน-นักข่าวสงครามชาวอเมริกัน เขาเชี่ยวชาญทั้งการเมืองอเมริกาและตะวันออกกลาง ในปี 2002 คริสได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากผลงานด้านการก่อการร้าย เขาเคยได้รับรางวัลจากองค์กรนิรโทษกรรมสากลในฐานะสื่อมวลชนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน, และได้รับเชิญไปสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, นิวยอร์ค, พรินซ์ตัน ฯลฯ

โรเบิร์ต มีโรพล (Robert Meeropol) ลูกชายของจูเลียส และอีเธล โรเซนเบิร์กส (Julius and Ethel Rosenberg) สองสามีภรรยาที่ถูกรัฐบาลอเมริกันกล่าวหาและลงโทษประหารชีวิตในข้อหาเป็นสายลับขโมยข้อมูลระเบิดนิวเคลียร์ให้กับสหภาพโซเวียต โรเบิร์ตกับน้องชายของเขา (ไมเคิล) กลายเป็นเด็กกำพร้าในทันที แต่โชคดีที่ครอบครัวมีโรพลรับอุปการะพวกเขา พี่น้องสองคนใช้เวลาหลายปีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพ่อแม่ ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยทำให้สังคมอเมริกันตระหนักถึงความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมอเมริกันในยุคล่าแม่มด คอมมิวนิสต์”, โรเบิร์ตจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักกิจกรรมเยาวชนหัวก้าวหน้าที่ถูกเล่นงาน

แอรีล ดอร์ฟแมน (Ariel Dorfman)  นักเขียนนวนิยาย นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เขาถือสัญชาติอเมริกันแต่มีเชื้อสายอาร์เจนตินา-ชิลี ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมและลาตินอเมริกาศึกษา ที่มหาวิทยาลัยดุ๊ค สหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการชื่อดังที่อยู่นอกวงการไทยศึกษาจำนวนมาก อาทิเช่น

ศ.แอนโทนี รีด (Anthony Reid) ผู้เขียนหนังสือทวิภาคคลาสสิค Southeast Asia in the Age of Commerce.

ศ. โรเบิร์ต เอบริตตัน (Robert B. Albritton) นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้

ศ. บาร์บารา วัตสัน อันดายา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย

ศ. เบน เคียร์แนน (Ben Kiernan) แห่งมหาวิทยาลัยเยล ผู้เขียน How Pol Pot Came to Power และ The Pol Pot Regime,

ศ. ฟรีดา บีเฮทส์ (Frieda Behets) เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและวิจัยการแพทย์ ม.นอร์ทแคโรไลน่า แชปเปล ฮิลล์

ศ. ดิเปช จักรปาตี (Dipesh Chakrabarty) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลังอาณานิคม (Post Colonialism) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก

ศ. ปีเตอร์ เบลล์ (Peter Bell) นักเศรษฐศาสตร์แห่ง State University of New York at Purchase

ศ. ฮิลารี ชารล์สเวิร์ธ (Hilary Charlesworth) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อธรรมาภิบาลและความยุติธรรมระหว่างประเทศ ม.แห่งชาติออสเตรเลีย

ศ. จอห์น ไซเดล (John T. Sidel) ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินโดนีเซีย แห่ง London School of Economics and Political Science

สำหรับ นักวิชาการด้านไทยศึกษาที่คุ้นเคย ได้แก่ ศ. เคร็ก เรย์โนลส์ (Craig Reynolds) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย, ศ. ชารล์ส คายส์ (Charles Keyes) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน, ศ. เควิน ฮิวสัน (Kevin Hewison) จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลน่า, ศ. แคเธอรีน บาววี่ (Katherine Bowie) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน, ศ.ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เป็นต้น

0000

 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทำเนียบรัฐบาล

ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต

กทม.10330

ประเทศไทย

โทรสาร +66-2288-4016

1 กุมภาพันธ์ 2555

 

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในฐานะผู้สังเกตการณ์นานาชาติที่ติดตามและห่วงใยสถานการณ์ประเทศไทย เราขอประกาศยืนหยัดเคียงข้างคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ที่นำโดยนักวิชาการไทยที่สังคมให้ความนับถืออย่างมาก เช่น ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112  เราเฝ้าติดตามด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะจำนวนของผู้ที่ถูกฟ้องร้องและดำเนินคดีได้เพิ่มขึ้นอย่างทับทวีคูณ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของการกดขี่ในนามของการปราบปรามมากขึ้น  ขณะที่การละเมิดสิทธิพื้นฐานของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงการไม่ให้สิทธิในการประกันตัวและการปฏิเสธสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยได้กลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการลงโทษจำคุกที่รุนแรงที่สุดภายใต้มาตรา 112 กับนายอำพล (หรือ “อากง”) ที่ถูกพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ให้ต้องโทษจำคุก 20 ปี ในความผิดที่ถูกกล่าวหาว่าได้ทำการส่งข้อความต่อต้านสถาบันกษัตริย์จำนวนสี่ข้อความ(sms) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่   ในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีคดีที่ถูกฟ้องร้องและพิพากษาลงโทษจำนวนมาก และอีกไม่ทราบจำนวนที่ไม่ปรากฏต่อสาธารณชน แต่ปรากฏอยู่ในสถิติการดำเนินคดีของศาล   เรามีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อการใช้มาตรา 112 ที่ให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความกล่าวโทษบุคคลใดว่าละเมิดกฎหมายนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มที่หลังจากได้รับแจ้งความ   สิ่งที่เป็นความกังวลอันสำคัญยิ่งนี้เพราะจำนวนที่เพิ่มขึ้นของการกล่าวหาและการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 เกิดขึ้นเพราะสังคมไทยมีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายมากขึ้นตามอุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง   ภายใต้บริบทเช่นนี้ มาตรา 112 ได้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงอิทธิพลในการที่ปิดปากคู่ขัดแย้งทางการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่ขัดแย้งที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ระยะเวลาของโทษจำคุกที่รุนแรงและไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่ถูกกำหนดไว้ภายใต้มาตรา 112 ได้ทำลายบุคคลที่ต้องโทษและครอบครัวของพวกเขา พรากปู่จากหลาน พรากพ่อจากลูก และพรากสามีจากภรรยา ยิ่งไปกว่านั้น การที่ระยะเวลาของโทษจำคุกเหล่านี้เทียบเท่าได้กับโทษที่ผู้ค้ายาเสพติดและผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้รับนั้น ทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวในหมู่ประชาชนชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อประชาชนไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมื่อไรที่เสียงเคาะประตูบ้านที่ดังขึ้นนั้นจะมาจากข้อความที่พวกเขาเขียน บทความที่พวกเขาโพสต์ในโลกออนไลน์ หรือจากการกระทำใดๆที่ถูกนับว่าเป็นการไม่จงรักภักดี  ก็จะเกิดการจำกัดความคิดและการแสดงออก [ที่มีต่อสถาบัน] ตราบใดที่สิ่งนี้ยังเกิดขึ้น สิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์ก็ไม่อาจเกิดขึ้นอย่างเป็นจริงในประเทศไทย

เราขอยืนหยัดสนับสนุนคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เพราะการปฏิรูปเป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทยและเสริมสร้างประชาธิปไตยและนิติรัฐในความหมายที่กว้าง ร่างแก้ไขกฎหมายที่นำเสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์จะแก้ปัญหาวิกฤติต่างๆที่เกิดจากการใช้มาตรา 112 ในทางที่ผิดโดยการทำให้การลงโทษเป็นเหตุเป็นผลและได้สัดส่วนกับความผิด  การจำกัดให้ผู้ที่สามารถแจ้งความกล่าวโทษได้เป็นสำนักราชเลขาธิการแทนที่จะเป็นใครก็ได้  การจำแนกการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตจากการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และดำเนินการกับการละเมิดมาตรา 112 ในกรอบของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแทนที่จะเป็นเรื่องการละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐเราขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาการแก้ไขมาตรา 112 ตามที่มีการเสนอโดยเร็ว

ขอแสดงความนับถือ

(ตามลำดับตัวอักษรนามสกุล)

 

1. Patricio N. Abinales

Professor, School of Pacific and Asian Studies

University of Hawaii-Manoa

 

2. Tariq Ali

Writer

 

3. Nadje Al-Ali

Professor of Gender Studies 

School of Oriental and African Studies (SOAS)

 

4. Robert B. Albritton

Professor, Department of Political Science

University of Mississippi

 

5. Dennis Altman, AM FASSA

Professor of Politics and Director of the Institute for Human Security

LaTrobe University

 

6. Gene Ammarell 

Associate Professor of Anthropology

Ohio University

 

7. Barbara Watson Andaya

Professor of Asian Studies

University of Hawai'i

 

8. Dennis Arnold

Lecturer

Maastricht University

 

9. Edward Aspinall

Professor, Department of Political and Social Change

Australian National University

 

10. Chris Baker

Independent Scholar

 

11. Joshua Barker

Associate Professor of Anthropology

University of Toronto

 

12. Frieda Behets

Professor of Epidemiology and Research Professor of Medicine

University of North Carolina at Chapel Hill

 

13. Peter Bell

Emeritus Professor 

State University of New York at Purchase

 

14. Trude Bennett

Associate Professor, Gillings School of Global Public Health

University of North Carolina at Chapel Hill

 

15. Chris Berry, 

Professor of Film & TV Studies, Department of Media & Communications

Goldsmiths, University of London

 

16. Robert J. Bickner

Professor (Thai), Department of Languages and Cultures of Asia

University of Wisconsin

 

17. Julia Bindman

London, UK

 

18. David JH Blake

PhD Candidate, School of International Development, Faculty of Social Sciences

University of East Anglia, Norwich

 

19. John Borneman

Professor of Anthropology

Princeton University

 

20. Katherine Bowie

Professor of Anthropology

University of Wisconsin-Madison

 

21. Francis Bradley

Assistant Professor, Department of Social Sciences and Cultural Studies 

Pratt Institute

 

22. Shaun Breslin

Professor, Department of Politics and International Studies

University of Warwick

 

23. Lisa Brooten

Associate Professor, College of Mass Communication and Media Arts

Southern Illinois University Carbondale

 

24. Andrew Brown

Lecturer

University of New England

 

25. James Buchanan

MA, Southeast Asian Studies

School of Oriental and African Studies

 

26. Poowin Bunyavejchewin

Alumnus 

University of Hull

 

27. Michael Burawoy

Professor of Sociology

University of California, Berkeley

 

28. Pongphisoot Busbarat

Research Associate, Department of Political & Social Change

Australian National University

 

29. Peter Carey

Emeritus Fellow in History, Trinity College

Oxford University

 

30. Toby Carroll

Senior Research Fellow, Lee Kuan Yew School of Public Policy

National University of Singapore

 

31. Pavin Chachavalpongpun

Fellow 

Institute of Southeast Asian Studies

 

32. Dipesh Chakrabarty

Lawrence A. Kimpton Distinguished Service Professor, Department of History and

Department of South Asian Languages and Civilizations

The University of Chicago

 

33. Dae-oup Chang

Senior Lecturer, Department of Development Studies

School of Oriental and African Studies

 

34. Hilary Charlesworth

Australian Research Council Laureate Fellow and Director and the Center for 

International Governance and Justice

Australian National University

 

35. Pheng Cheah 

Professor, Department of Rhetoric

University of California at Berkeley

 

36. Nicholas Cheesman

Projects Officer

Asian Legal Resource Centre

 

37. Hyaeweol Choi

Professor

Australian National University

 

38. Noam Chomsky

Institute Professor (retired)

Massachusetts Institute of Technology

 

39. John Clark

Professor of Asian Art History and ARC Professorial Fellow 

University of Sydney

 

40. Peter A. Coclanis

Department of History

University of North Carolina, Chapel Hill

 

41. Joshua Cohen

Marta Sutton Weeks Professor of Ethics in Society

Stanford University

 

42. Paul T. Cohen

Senior Research Fellow, Department of Anthropology

Macquarie University

 

43. Elizabeth Fuller Collins

Professor, Classics & World Religions, Southeast Asian Studies Program

Ohio University

 

44. Michael Kelly Connors

Associate Professor, School of Social Sciences 

La Trobe University

 

45. Jason Cons

Postdoctoral Fellow in Development Sociology

Cornell University

 

46. Christopher Cramer

Professor of the Political Economy of Development

School of Oriental and African Studies

 

47. Altha Cravey

Associate Professor of Geography, 

University of North Carolina, Chapel Hill

 

48. Simon Creak

Associate Professor, Center for Southeast Asian Studies

Kyoto University

 

49. Vicki Crinis

Research Fellow

University of Wollongong

 

50. Michael Cullinane

Associate Director, Center for Southeast Asian Studies

University of Wisconsin-Madison

 

51. Susan M. Darlington

Professor of Anthropology and Asian Studies

Hampshire College

 

52. Tony Day

Visiting Professor of History

Wesleyan University

 

53. Bina D'Costa

Fellow, Research School of Asian and Pacific Studies

Australian National University

 

54. Heather D’Cruz

Adjunct Research Associate, Centre for Human Rights Education

Curtin University of Technology

 

55. Deirdre de la Cruz

Assistant Professor, Asian Languages and Cultures and History

University of Michigan 

 

56. Arif Dirlik, 

Knight Professor of Social Science (retired)

University of Oregon

 

57. Ariel Dorfman

Author and Distinguished Professor

Duke University

 

58. Ian Down

Associate Professor, Department of Political Science

University of Tennessee, Knoxville

 

59. George Dutton

Vice Chair and Associate Professor, Department of Asian Languages and Cultures

University of California, Los Angeles

 

60. Nancy Eberhardt

Professor of Anthropology

Knox College 

 

61. Pilapa Esara

Assistant Professor, Department of Anthropology

The College at Brockport (State University of New York)

 

62. Grant Evans

Senior Research Fellow

Ecole Francaise d'Extreme Orient

 

63. Brett Farmer

Lecturer, BALAC Program, Faculty of Arts

Chulalongkorn University

 

64. Nicholas Farrelly 

Research Fellow, School of International, Political and Strategic Studies 

Australian National University

 

65. Didier Fassin 

James D. Wolfensohn Professor of Social Science 

Institute for Advanced Study, Princeton

 

 

 

66. Jane M. Ferguson

Lecturer, School of Culture, History, and Language 

Australian National University

 

67. Federico Ferrara

Assistant Professor

City University of Hong Kong

 

68. Jessica Fields

Associate Professor of Sociology

San Francisco State University

 

69. Thamora Fishel

Outreach Coordinator

Cornell Southeast Asia Program

 

70. Tim Forsyth 

Reader in Environment and Development, Department of International Development

London School of Economics and Political Science

 

71. Nancy Fraser 

Henry A. & Louise Loeb Professor of Philosophy and Politics

New School for Social Research

 

72. Arnika Fuhrmann

Research Scholar 

University of Hong Kong.

 

73. David Fullbrook 

Graduate Student 

National University of Singapore

 

74. Narayanan Ganesan

Professor

Hiroshima Peace Institute

 

75. Lisa Gardner 

Journalist

 

76. Paul K. Gellert

Associate Professor, Department of Sociology 

University of Tennessee

 

77. Kenneth M. George 

Professor of Anthropology

University of Wisconsin-Madison

 

78. Amitav Ghosh

Author

 

 

79. Tamra Gilbertson

Carbon Trade Watch

Barcelona, Spain

 

 

80. Henry A. Giroux

Global Television Network Chair, Department of English and Cultural Studies

McMaster University

 

81. Jim Glassman 

Associate Professor of Geography

University of British Columbia

 

82. Lawrence Grossberg 

Morris Davis Distinguished Professor of Communication Studies

University of North Carolina at Chapel Hill

 

83. Geoffrey C. Gunn

Professor of International Relations, Faculty of Economics

Nagasaki University

 

84. Tyrell Haberkorn 

Research Fellow, Department of Political and Social Change

Australian National University

 

85. Vedi Hadiz

Professor of Asian Societies and Politics, Asia Research Centre

Murdoch University

 

86. Jeffrey Hadler

Associate Professor, Department of South and Southeast Asian Studies

University of California, Berkeley

 

87. Shahar Hameiri


Senior Lecturer in International Politics, School of Social Science and Humanities


Murdoch University

 

88. Annette Hamilton

Professor, Faculty of Arts and Social Sciences

University of New South Wales

 

89. Paul Handley

Journalist and Author of The King Never Smiles

 

90. Eva Hansson

Senior Lecturer, Department of Political Science

Stockholm University, Sweden

 

 

 

91. Harry Harootunian

Adjunct Professor, Weatherhead East Asian Institute, Columbia University 

Visiting Professor, Literature Program, Duke University

 

92. Rachel Harrison

Reader in Thai Cultural Studies

SOAS, University of London

 

93. Gillian Hart

Professor of Geography & Chair of Development Studies

University of California, Berkeley

 

94. Paul Healy

Senior Lecturer, School of Humanities

University of New England

 

95. Steve Heder

Faculty of Law and Social Sciences

School of Oriental and African Studies

 

96. Chris Hedges

Author

 

97. Sascha Helbardt

Lecturer for Southeast Asian Studies

University of Passau

 

98. Dagmar Hellmann-Rajanayagam

Associate Professor for Southeast Asian Studies

University of Passau 

 

99. Ariel Heryanto

Associate Professor, Southeast Asia Centre

Australian Natioanl University

 

100. Kevin Hewison

Professor of Asian Studies

University of North Carolina-Chapel Hill

 

101. Allen Hicken

Associate Professor

University of Michigan

 

102. Maureen Helen Hickey

Postdoctoral Research Fellow, Asia Research Institute

National University of Singapore

 

103. CJ Hinke

Independent Scholar

Freedom Against Censorship Thailand (FACT)

 

104. Scott A. Hipsher

Visiting Professor, Fort Hays State University

Hays, KS USA (China Campus)

 

105. Philip Hirsch

Professor of Human Geography

University of Sydney

 

106. Preedee Hongsaton

PhD Candidate 

Australian National University

 

107. Alexander Horstmann

Senior Research Affiliate

Max Planck Institute for the Study of Ethnic and Religious Diversity

 

108. Thomas Hoy

Lecturer

Thammasat University

 

109. Caroline Hughes

Director, Asia Research Centre 

Murdoch University

 

110. Adadol Ingawanij

Senior Research Fellow 

Westminster University 

 

111. Feyzi Ismail 

Doctoral candidate

School of Oriental and African Studies

 

112. Soren Ivarsson

Associate Professor 

University of Copenhagen 

 

113. Peter A. Jackson 

Professor of Thai History, College of Asia and the Pacific

Australian National University

 

114. Arne Kalleberg

Professor of Sociology

University of North Carolina at Chapel Hill

 

115. Ward Keeler

Associate Professor, Department of Anthropology

University of Texas at Austin

 

116. Charles Keyes

Professor Emeritus of Anthropology and International Studies

University of Washington

 

117. Khoo Boo Teik

Political analyst and author

Member, Aliran Kesedaran Negara, Penang, Malaysia

 

118. Khoo Gaik Cheng

Lecturer

Australian National University

 

119. Ben Kiernan

Whitney Griswold Professor of History

Yale University

 

120. Sung Chull Kim

Professor

Hiroshima Peace Institute

 

121. Damien Kingsbury

Professor and Director, Centre for Citizenship, Development and Human 

Rights, Faculty of Arts and Education

Deakin University

 

122. Sherryl Kleinman

Professor, Department of Sociology

University of North Carolina, Chapel Hill

 

123. H. Ruediger Korff

Professor for Southeast Asian Studies

University of Passau

 

124. Andrew Alan Johnson

Postdoctoral Fellow, Asia Research Institute

National University of Singapore

 

125. Lee Jones

Lecturer in International Politics, School of Politics & International Relations

Queen Mary, University of London

 

126. Hjorleifur Jonsson

Associate Professor of Anthropology, School of Human Evolution and Social 

Change 

Arizona State University

 

127. Sarah Joseph

Director, Castan Centre for Human Rights Law

Monash University

 

128. John Langer

Honorary Fellow, School of Communication and the Arts 

Victoria University

 

129. Tomas Larsson 

Lecturer, Department of Politics and International Studies

Cambridge University

 

130. Laurids S. Lauridsen 

Professor

Roskilde University

 

131. Doreen Lee

Assistant Professor of Anthropology

Northeastern University

 

132. Namhee Lee

Associate Professor of Modern Korean History, Department of Asian 

Languages & Cultures

University of California, Los Angeles

 

133. Christian C. Lentz

Assistant Professor, Department of Geography

University of North Carolina-Chapel Hill

 

134. Samson Lim

Assistant Professor, Humanities, Arts and Social Sciences

Singapore University of Technology and Design

 

135. Peter Limqueco

Co-Editor, Journal of Contemporary Asia

 

136. Larry Lohmann

The Corner House, UK

 

137. Tamara Loos

Associate Professor of Southeast Asian History

Cornell University

 

138. Gregore Pio Lopez

PhD Candidate, Crawford School of Economics and Government

Australian National University

 

139. Trevor H.J. Marchand

Professor of Social Anthropology

School of Oriental and African Studies

 

140. Thomas Marois

Lecturer in Development Studies

School of Oriental and African Studies, University of London

 

141. Andrew MacGregor Marshall

Freelance journalist and author

 

 

142. Geoff Mann

Associate Professor 

Simon Fraser University

 

 

143. Mary E. McCoy

Lecturer & Outreach Coordinator

University of Wisconsin-Madison

 

144. Colleen McGinn

PhD Candidate

Columbia University

 

145. Katharine McGregor

Senior Lecturer in Southeast Asian History

University of Melbourne

 

146. Shawn McHale

Associate Professor of History, Elliott School of International Affairs 

George Washington University

 

147. Robert Meeropol

Executive Director

Rosenberg Fund for Children

 

148. Gayatri Menon

Department of Sociology

Franklin and Marshall College

 

149. Mary Beth Mills

Professor of Anthropology

Colby College

 

150. Art Mitchells-Urwin 

SOAS Thai Society President

School of Oriental and African Studies, University of London

 

151. Michael Montesano

Visiting Research Fellow

Institute of Southeast Asian Studies, Singapore

 

152. Rosalind Morris 

Professor, Department of Anthropology

Columbia University

 

153. Frank Munger

Professor of Law

New York Law School 

 

154. Melissa Nickols

Honours Candidate

Australian National University

 

155. Nguyen-vo Thu-huong

Associate Professor, Asian Languages and Cultures and Asian American 

Studies

University of California, Los Angeles

 

156. Don Nonini

Professor of Anthropology

University of North Carolina, Chapel Hill

 

157. Rachel Sarah O'Toole 

Assistant Professor of History

University of California, Irvine

 

158. Piya Pangsapa

Head and Senior Lecturer, Institute for Gender and Development Studies

The University of the West Indies

 

159. Raj Patel

Visiting Scholar, Center for African Studies

University of California at Berkeley

 

160. Jamie Peck

Canada Research Chair in Urban & Regional Political Economy

University of British Columbia

 

161. Maurizio Peleggi

Associate Professor, Department of History 


National University of Singapore

 

162. Thomas Pepinsky

Assistant Professor, Department of Government

Cornell University

 

163. Sheldon Pollock 

Ransford Professor of Sanskrit and Indian Studies

Columbia University 

 

164. Oliver Pye

Lecturer for Southeast Asian Studies 

Bonn University

 

165. Rahul Rao

Lecturer in Politics

School of Oriental and African Studies, University of London

 

166. Rajah Rasiah 

Khazanah Nasional Chair of Regulatory Studies and Professor of Technology 

and Innovation Policy, Faculty of Economics and Administration

University of Malaya

 

167. Leon Redler

Faculty (since 1970), Former Chair of the Association

Philadelphia Association, London, UK

 

168. Anthony Reid

Professor [emeritus]

Australian National University

 

169. Craig Reynolds

Professor, School of Culture, History, and Language

Australian National University

 

170. Andrea Riemenschnitter

Professor and Chair of Modern Chinese Studies, Director of the 

University Research Priority Program “Asia and Europe” 

University of Zurich

 

171. Jonathan Rigg

Professor, Geography Department

Durham University

 

172. Geoffrey B. Robinson

Professor and Vice-Chair, Department of History

University of California, Los Angeles

 

173. Garry Rodan


Professor of Politics and International Studies


Murdoch University

 

174. John Roosa

Associate Professor, History Department

University of British Columbia

 

175. Danilyn Rutherford

President, Society for Cultural Anthropology

Professor and Chair, Department of Anthropology

University of California, Santa Cruz

 

176. Saskia Sassen

Robert S. Lynd Professor of Sociology, Department of Sociology 

Co-Chair, Committee on Global Thought

Columbia University

 

177. Wolfram Schaffar

Professor for Development Studies, Institute of Development Studies

University of Vienna

 

178. Tilman Schiel

Professor, Chair of Insular Southeast Asian Studies

University of Passau

 

179. Johannes Dragsbaek Schmidt

Associate Professor

Aalborg University 

 

180. Sarah Schulman

Distinguished Professor of the Humanities

City University of New York

 

181. Raymond Scupin

Director, Center for International and Global Studies and Chair, Department of

Anthropology and Sociology

Lindenwood University

 

182. Laurie J. Sears

Professor of History and Director, Southeast Asia Center

University of Washington

 

183. Mark Selden

Coordinator

The Asia-Pacific Journal

 

184. Sarah Sexton

The Corner House, UK

 

185. Jeffrey Shane

Southeast Asian Librarian, Curator, David K. Wyatt Thai Collection and 

Chair of CORMOSEA

Ohio University

 

186. John T. Sidel

Sir Patrick Gillam Professor of International and Comparative Politics

London School of Economics and Political Science

 

187. Dan Slater

Associate Professor, Department of Political Science

University of Chicago 

 

188. elin o'Hara slavick

Distinguished Professor of Art

University of North Carolina, Chapel Hill

 

189. Claudio Sopranzetti

PhD Candidate

Harvard University

 

190. Chris Sneddon

Associate Professor, Environmental Studies Program and Geography 

Department

Dartmouth College

 

191. Irene Stengs

Senior Research Fellow, Ethnology Department, Meertens Institute

Royal Netherlands Academy of Arts and Sciences

 

192. Carolyn Strange

Senior Fellow, School of History

Australian National University

 

193. Donald K. Swearer

Harvard University

 

194. David Szanton

Executive Director, emeritus, International and Area Studies Center

University of California, Berkeley

 

195. Eduardo Climaco Tadem 

Professor of Asian Studies

University of the Philippines, Diliman

 

196. Teresa S. Encarnacion Tadem

Professor of Political Science

University of the Philippines, Diliman

 

197. Neferti Tadiar

Professor and Chair, Department of Women's, Gender, & Sexuality Studies

Barnard College

 

198. Eric Tagliacozzo

Associate Professor, Department of History

Cornell University

 

199. Michelle Tan

Independent Scholar

 

200. Nicola Tannenbaum

Professor of Anthropology, Department of Sociology & Anthropology

Lehigh University

 

201. Nicholas Tapp

Professor Emeritus, Australian National University

Chair, Department of Sociology, East China Normal University

 

202. Ross Tapsell

Lecturer in Asian Studies

Australian National University

 

203. Benjamin Tausig

PhD Candidate, Department of Music

New York University

 

204. James Taylor

Senior Lecturer

The University of Adelaide

 

205. Nora A Taylor

Alsdorf Professor of South and Southeast Asian Art, Department of Art 

History, Theory and Criticism

School of the Art Institute of Chicago

 

206. Robert Tierney

Lecturer, School of Business

Charles Sturt University

 

207. Serhat Uenaldi

Doctoral Candidate

Humboldt-University of Berlin

 

208. Giles Ji Ungpakorn

 

209. Peter Vandergeest

Associate Professor, Department of Geography

York University

 

210. Andrew Walker

Senior Fellow, College of Asia and the Pacific

Australian National University

 

211. Joel Wainwright

Associate Professor, Department of Geography

Ohio State University

 

212. Napisa Waitoolkiat

Lecturer at South East Asian Institute of Global Studies

Payap University

 

213. Meredith L. Weiss

Associate Professor of Political Science

University at Albany, SUNY

 

214. Marion Werner

Department of Geography

University at Buffalo, SUNY

 

215. Cornel West

Class of 1943 University Professor

Center for African American Studies

Princeton University

 

216. Frederick F. Wherry

Associate Professor of Sociology

University of Michigan (Ann Arbor)

 

217. Jerome Whitington

Research Fellow, Asia Research Institute

National University of Singapore

 

218. Ingrid Wijeyewardene

Lecturer

University of New England

 

219. Andrew Willford

Associate Professor of Anthropology

Cornell University

 

220. Joanna Williams

Professor Emerita, History of Art & South/Southeast Asian Studies

University of California at Berkeley

 

221. Ara Wilson 

Director, Program in the Study of Sexualities and Associate Professor, 

Women's Studies & Cultural Anthropology

Duke University

 

222. Leslie Woodhouse

Lecturer, History

University of San Francisco

 

223. Susan L. Woodward

The Graduate Center 

City University of New York

 

224. Rebecca Zorach

Associate Professor, Art History

University of Chicago

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานะ การเมือง การพัฒนา ความรุนแรง ชายแดนใต้

$
0
0

ขอความสันติสุข ประสบแด่ทุกท่าน,

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ Konrad Adenauer Foundation (มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์) , The Delegation of the European Union to Thailand (คณะผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย) , Cross Cultural Foundation (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) , The British Embassy Bangkokที่เอื้ออำนวยให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องชายขอบ ในเดือนรุ่งปีใหม่ ช่วงแห่งการเริ่มต้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่เรากำลังจะมาช่วยกันมองปัญหาความรุนแรงในภาคใต้แบบ Road Map ที่ไม่สามารถทำให้ลุล่วงไปได้ด้วยปฏิบัติการใด ชั่วข้ามคืน หากแต่อาจต้องเริ่มก้าวแรกถึงสามปี นอกจากนี้ ยังทำให้เห็นว่าสิ่งที่เคยทำไปแล้ว สิ่งที่กำลังจะทำในปีนี้ ยังจะมีผลสะเทือนไปสู่ปี ค.ศ.2014 อีกด้วย

สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวันนี้ ผมเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหาความรุนแรงและกระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในนาม ปาตานี ฟอรั่ม

ปาตานี ฟอรั่ม เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนน้องใหม่ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายทั้งคนมลายูและคนที่ไม่ใช่มลายูแต่เติบโต และอาศัยอยู่ในปัตตานีอย่างผม (และคุณดอน ปาทาน) ปาตานี ฟอรั่ม ไม่ใช่แค่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เสนอข่าวสารในพื้นที่ล้วนๆ แต่เราเป็น พื้นที่ ของการนำเสนอบทความวิเคราะห์และกิจกรรมเสวนากึ่งวิชาการเพื่อ high light สาระเนื้อหาการถกเถียงที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ที่มีความอ่อนไหวสูงเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อฝ่าข้ามเพียงการตอบโต้สถานการณ์รายวัน แนวคิดหลักของเราก็คือการโน้มน้าวให้สังคมไทยและรัฐเลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแสวงหาหนทางในการยอมรับ และอยู่ร่วมกับผู้ที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างจากคนส่วนมากของสังคมไทย เช่น สังคมมลายูในภาคใต้ของไทยอย่างสันติสุข ในความหมายขั้นต่ำที่สุดว่าเราจะหาหนทางขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร ดังนั้นจึงไม่แปลกหากท่านพบบทความเชิงเฝ้าติดตามพลวัตรความขัดแย้ง การดำเนินนโยบายรัฐ และการฟอร์มตัวของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม องค์กรต่างๆ ที่อ้างว่าเคลื่อนไหวอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ในหน้า website ปาตานี ฟอรั่ม (www.pataniforum.com)

สำหรับประเด็นที่ผมตั้งใจนำเสนอแลกเปลี่ยนกับท่านทั้งหลายในวันนี้ ผมได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเวทีทั้งหัวข้อที่ว่าด้วย Road Map, ท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวผมเองในฐานะตัวแทนของปาตานี ฟอรั่ม ดังที่กล่าวแล้ว รวมทั้งที่ตัวผมและปาตานี ฟอรั่ม มีโอกาสลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องในฐานะนักวิจัยด้านสันติภาพร่วมกับองค์กรอื่นๆ ทั้งในพื้นที่และระหว่างประเทศ ผมจึงเห็นว่า โดยทั่วไปและรวมถึงวันนี้ เวลาเราพูดถึง ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเวลาพูดถึง “แผน” ไม่ว่าจะในรูปแบบ Road Map หรือ ยุทธศาสตร์ ก็มักจะถกเถียงกันอยู่ระหว่างปัญหาเรื่องความมั่นคง และปัญหาเรื่องความยุติธรรม ซึ่งในเวทีนี้มีท่านผู้ทรงคุณวุฒิเพียงพอแล้ว

        อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมอยากจะชี้ชวน เพิ่มเติมประเด็นเรื่อง “การพัฒนาในพื้นที่ความรุนแรงเช่นในพื้นที่ จชต.” ให้มีที่มีทางอยู่ใน Road Map ของเราด้วย เนื่องจากผมเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา การพัฒนา ถูกพูดถึงในฐานะ “ความหวัง” ของทางออก แต่ขณะเดียวกันก็อยู่อย่างแยกส่วนจากยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน แต่ในวันนี้ ในสามปีข้างหน้านี้ ผมอยากเสนอว่า Road Map ของเราควรอภิปรายหัวข้อการพัฒนาให้เข้มข้น หนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่เฉพาะนโยบาย soft soft ที่ทำหน้าที่เพียง แย่งชิงมวลชน อีกต่อไป เพราะในความเป็นจริงของพื้นที่ ผมพบว่า ตัวนโยบายและโครงการพัฒนา มีความข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการด้านความมั่นคง, ข้องเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความรุนแรง และเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ซึ่งสมควรได้รับการยืดขยายความเข้าใจให้มากกว่าแค่ความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรมด้วย อย่างหนึ่งที่ผมต้องกล่าวก่อนเสนอความเห็นของผมก็คือ input สำหรับการคิดเรื่อง Road Map และเป็น Road Map ส่วนตัวของผมในฐานะนักวิจัยในพื้นที่เท่านั้น คงไม่อาจอ้างได้ว่าคนในพื้นที่จะเห็นตามทั้งหมด ผมจะพูดเพียง 2 ประเด็นหลักเท่านั้น คือจุดตั้งต้นสำหรับ Road Map ของเราและการยกสถานะงานพัฒนาให้มีความหมายใน Road Map ของเรา 

1. จุดตั้งต้น Road Map
ผมคิดว่าจุดตั้งต้นของ Road Map ก็คือตัวสาเหตุที่ทำให้เราต้องมาคิดเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวในรูปแบบ RoadMap กันอย่างวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมคือ ลักษณะความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นความขัดแย้งยังไม่ “settle” หรือยังไม่อยู่ตัว ผมกำลังจะบอกว่า ณ ขณะนี้ ความขมุกขมัว ลื่นไหล ช่วงชิงความชอบธรรม คือส่วนที่ชัดที่สุดและต้องยอมรับไปพลางๆ เพราะสิ่งที่ปาตานี ฟอรั่มพบขณะนี้ก็คือกระบวนการเจรจาสันติภาพในกรณีจังหวัดชายแดนภคใต้ยังไม่สามารถฟอร์มตัวได้อย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เพราะไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลไทยเสียเลย แต่ประเด็นอยู่ที่สภาวะการนำของคู่เจรจาที่ชอบธรรมยังคงอยู่ในภาวะสูญญากาศ เพราะแม้จะมีการอ้างภาวะความเป็นผู้นำชอบธรรมสำหรับการนั่งโต๊ะเจรจาจากหลายกลุ่มทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีกลุ่มใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเป็นผู้กุมอำนาจในการควบคุมการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงๆ เพราะการใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและส่วนใหญ่ที่เป็นมลายูมุสลิมยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและถี่ขึ้นในช่วงหลัง ขนาดที่นักเจรจาสันติภาพชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ซึ่งริเริ่มการสานเสวนาทางลับกับกลุ่มต่างๆ ที่แสดงความจำนงเข้าเจรจา ถึงกับยอมรับเลยว่า เจรจายาก และบางครั้งก็ยอมรับด้วยว่าคุย "ผิดตัว" 

สถานการณ์ที่ยังไม่อยู่ตัวเช่นนี้ ยากกว่ามาก (ไม่ใช่ง่ายกว่านะครับ) เพราะในช่วง “คลำหาคู่เจรจา” อยู่นั้นจะรักษาสิ่งมีค่าอย่าง ชีวิต สายสัมพันธ์ และความเชื่อมั่นของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่อโดยทั่วไปแล้วหากความรุนแรงแบบนี้เกิดเรื่อยไปของพวกนี้หมดลงแน่ พูดอีกอย่างได้ว่า ความขัดแย้งที่ไม่มีคู่เจรจา “ควบคุมยากกว่า” และ “จ่ายมากกว่า” ในแง่นี้ผมคิดว่าการสลายเงื่อนไขความรุนแรง [เช่น ปัญหาการว่างงานและด้อยคุณภาพเชิงสังคม อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าสูตรสำเร็จ อย่างการปกครองพิเศษ ที่เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวกว่า และไม่แน่ว่าจะมีสถานะข้อเสนอหรือยัง เพราะตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพให้แก่ข้อเสนอนี้] ผมคิดว่าแนวโน้มความไม่ปลอดภัยในพื้นที่มีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์ยิงนายมุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมซึ่งเป็นนักการเมืองชาวมลายูมุสลิมเมื่อกลางเดือนที่แล้ว โดยชายสองคนซึ่งมาทราบกันในภายหลังว่าผู้ยิงเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อปี 49 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ญาตินายมุคการ์เตรียมแห่ศพทั่วเมืองเพราะสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายมุกตาร์ เหตุการณ์นี้สร้างความมึนงง และความหวาดกลัวมากยิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายคือชาวมลายูมุสลิมที่เสนอตัวเป็นปากเสียงประชาชนในพื้นที่สามจังหวัด  นอกจากนี้ เหตุการณ์ข้างต้นยังชี้ด้วยว่าคู่ขัดแย้งในพื้นที่ไม่ได้มีแค่คู่เดียว คือรัฐไทยกับกลุ่มผู้ก่อการอีกต่อไป แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างผู้มีบทบาท [อิทธิพล] ชาวมลายูด้วยกันเองดูจะเข้มข้นขึ้น และอาจส่งผลต่อความรู้สึกไม่ไว้วางใจทั่วทั้งสังคมในพื้นที่ 

ที่ผ่านมา ภายหลังปี 2547 ผมได้ยินความคิดเรื่องการเมืองนำการทหารอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่เคยทราบความหมายที่แท้จริงของคำพูดเหล่านั้น แต่จากประสบการณ์การทำงานด้านรณรงค์และศึกษาวิจัยในพื้นที่ผมคิดว่า “การพัฒนา” มีศักยภาพที่จะเพิ่มความเป็นการเมืองได้มากที่สุด เพราะสามารถรวบรวมผู้คนที่ต้องการเข้ามาร่วมเดิมพัน แข่งขันได้มากที่สุด และมีลักษณะข้ามชนชั้น ข้ามศาสนา ชาติพันธุ์หรือสถานะทางสังคมได้มากที่สุด โดยเฉพาะในระดับชาวบ้านทั่วไป แต่ที่ผ่านมา การพัฒนา ในพื้นที่นี้ไม่เคยเป็นดังนั้น โดยเฉพาะในระดับนโยบายซึ่งยังคงใช้รูปแบบ เครือข่ายทางนโยบายระหว่างรัฐ เอกชนซึ่งเป็นคนชั้นนำในพื้นที่ และที่ดูจะโดดเด่นอย่างมากในพื้นที่จชต. ก็คือการที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเป็นเครือข่ายการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนากับเค้าด้วย และเครือข่ายแน่นหนาแบบนี้นี่เองที่ผมคิดว่าทำให้ที่ผ่านมา การพัฒนา ซึ่งอันที่จริงจะมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่เชื่อมความสัมพันธ์กลับกลายเป็น ยุทธศาสตร์รอง ที่มีขึ้นเพื่อรองรับยุทธการด้านความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งจะอภิปรายในประเด็นต่อไป

2. สถานะ การพัฒนา ที่ผ่านมา และสถานะใน Road Map 
ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในจชต. เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ แน่นอนรัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการอุตสาหกรรมครัวฮาลาล ฝ่ายนักพัฒนาเอกชน (บางส่วน) ในพื้นที่ก็ทำการคัดง้างกับรัฐบาลบ้างเป็นบางคราว บรรยากาศการทำโครงการพัฒนาก็มีแนวโน้มว่าจะคึกคักมากยิ่งขึ้นเมื่อดูเหมือนว่าความรุนแรงชักจะยืดเยื้อและยังไม่ลงตัว ไม่เพียงแต่ตัวแสดงภายในประเทศแต่ในปีสองปีที่ผ่านมานี้ดูเหมือนรายงานการศึกษาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ทั่วโลกทั้งของ UNDP ธนาคารโลก หรือแหล่งการศึกษาสำคัญของโลกอย่าง Harvard ต่างพากันออกมาตอกย้ำว่าความขัดแย้งประเภทนี้กำลังเป็นแนวโน้มที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะดูเหมือนจะยุติลงได้ยาก อย่างไรก็ตามรายงานฉบับต่างๆ ก็บอกเราว่า ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เห็นๆ กันนั้นอาจไม่ได้มีสาเหตุว่าเราผิวสีอะไร หรือพูดภาษาอะไร แต่มีสาเหตุจากปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านโอกาสทางสังคมในด้านต่างๆ และที่น่าสนใจคือ เพียงแค่ปัญหาการว่างงานก็ดูจะเป็นสาเหตุเบื้องหลังให้แก่การลุกขึ้นต่อต้านรัฐได้ด้วย ถ้าทึกทักเอาว่าสิ่งที่รายงานเหล่านี้พูดเป็นจริง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ อันที่จริงความขัดแย้งรุนแรงแบบนี้ “เราควบคุมได้” สิ่งที่ผมเห็นในปัจจุบันก็คือ องค์กรระหว่างประเทศที่ผมได้กล่าวไปแล้วบ้างนั้น รวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศจากสหภาพยุโรปจึงมีทีท่าจะสนับสนุนงบประมาณเพื่อความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นด้วยทั้งในภูมิภาคเอเชีย และจชต.ของไทย ไม่เพียงเท่านั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยในปี 2008 ฝ่ายความมั่นคงก็ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับ การทำงานด้านการพัฒนา อย่างมากด้วยมิใช่เพียงด้านการรักษาความมั่นคงของดินแดนอย่างเดียวแต่คำถามก็คือ เราก็พัฒนากันจบไปหลายโครงการแล้วทั้งของศอบต. องค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำไมผลการประเมินโครงการพัฒนาหลายโครงการที่ลงสู่ในพื้นที่ยังพบว่า

- ช่องว่างทางสังคมไม่ได้ลดลงจริง คนคนจริงยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
- ทำไมยังพบว่า ชาวบ้านยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการออม การทำบัญชีครัวเรือน
- ทำไมยังพบว่า บางคนเข้าถึง บางคนเข้าไม่ถึง ซึ่งปัญหานี้น่าสนใจว่าเกิดจากโครงการพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชน และอันที่จริงโครงการของรัฐ (ศอบต) ยังมีผู้เข้าถึงกว้างขวางมากกว่า 
- ทำไมเป้าหมายสร้างอาชีพจึงมุ่งไปที่ผู้หญิง คนชรา ทั้งที่คนเหล่านี้รัฐไม่ใช่ต้องสร้างงาน แต่ต้องดูแลสวัสดิการ แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มเยาชนชายซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายยังคงมีอัตราว่างงานสูง และทำไมโครงการอบรมค่ายสันติสุขต่างๆ ที่นำผู้ชายไปฝึกอาชีพในค่ายทหารยังไม่เคยได้รับการประเมินผลสำเร็จด้านการสร้างอาชีพ
- ทำไมระดับการพัฒนาของพื้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ
- (ทำไมจึงพบว่า) หลายครัวเรือนไม่ให้ความร่วมมือ/ ไม่กระตือรือร้น/ ไม่สมัครใจที่จะได้รับการพัฒนา ทำไมไม่อยากเอาโครงการพัฒนา? 
- (ทำไม) โครงการพัฒนายังไม่ตรงกับความต้องการของชุมชนอยู่อีก ความรู้ของชาวบ้านไม่พอ และทำไมยังมีการส่งไก่มาให้ชาวบ้านเลี้ยงหน้าฝน ทำไมยังส่งไก่ขี้โรคมาให้เลี้ยง
- ทำไมบางชุมชนดีกัน ทำไมบางชุมชนขัดแย้งกันกว่าเดิม โดยเฉพาะระหว่างชาติพันธุ์ และยังไม่สามารถสร้างผลด้านดีให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนต่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ได้มากกว่าแค่รักษา status quo ระหว่างกัน 
- ทำไมยังมีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตงบประมานการพัฒนาชุมชน ทั้งจากรัฐ เอกชน และกระทั่งชาวบ้านกันเองในหมู่บ้าน
- หรือไม่ได้ก่อให้เกิดความไว้วางใจหรือปรับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านได้จริงๆ เช่น ชาวบ้านตากใบบางส่วนบอกว่าเข้าร่วมกับโครงการทุกโครงการ มีความรู้สึกที่ดีขึ้นกับนายทหารในพื้นที่มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถสร้างความไว้วางใจสถาบันความมั่นคงได้ มีเพียงความสัมพันธ์เป็นรายคนๆ ไปเท่านั้น ฯลฯ

ผมเฝ้าครุ่นคิด และอยากลองเสนอว่าสาเหตุของปัญหาข้างต้น น่าจะเกิดจากการที่เรามอง “สถานะของงานพัฒนา” ในยุทธศาสตร์แก้ไขความขัดแย้งต่างกันและผิดไปมาก และผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ เพราะในบรรดา “ช่องว่าง” ความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ชาวบ้านกับองค์กรเอกชนคือ ในขณะที่ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการพัฒนาเป็น priority  แต่ภายใต้นโยบายและโครงการพัฒนานั้นรัฐให้ priority กับเป้าหมายด้านความมั่นคง พูดให้ตรงคือยุทธศาสตร์การพัฒนามีขึ้นเพื่อรองรับเป้าหมายด้านความมั่นคงเชิงอธิปไตยเท่านั้น หมายความว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาเกิดขึ้น และเป็นไปเพื่อเป้าประสงค์การเอาชนะจิตใจชาวบ้านในสงครามแย่งชิงมวลชนซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอยู่ร่ำไป 

ปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นปัญหาดังกล่าวมีอยู่อย่างน้อยสามอย่างคือ ประการแรก ในรอบหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยของมหาวิทยาลัยระดับประเทศอย่างจุฬา มธ.และมหิดลที่ทำร่วมกับ WB รวมทั้งในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของมูลนิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และ FIDH ระบุว่าการเลือกพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาของรัฐยังผูกโยงกับว่าพื้นที่นั้นมีสีอะไรจากฝ่ายความมั่นคง งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นชุมชนที่ขบวนการ active อยู่มักถูกตัดงบประมานการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ความระแวงสงสัย ความน้อยเนื้อต่ำใจระหว่างชุมชนแดง เหลือง เขียว .. หลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการที่สอง ก็คือแม้จะมีการประกาศแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 โดยศอบต.ซึ่งเป็นผลหน่วยงานพลเรือน ซึ่งสำหรับในปี 2554 มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบ ประมาณ ในเบื้องต้นรวมเป็นจำนวนถึง 7 พันกว่าล้านบาท แต่ในแผนที่ผมคิดว่าดีมากๆ ฉบับนี้กลับระบุข้อความสำคัญกำกับวิธีใช้ไว้ว่า “แผนนี้ มีขอบเขตการดำเนินงานเฉพาะงานด้านการพัฒนา ที่มีการบูรณาการให้สอดคล้อง กับแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคง ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร โดยโครงการต่าง ๆ ในยุทธศาสตร์การพัฒนาจะมุ่งเน้นตอบสนองยุทธศาสตร์ความมั่นคงเป็น ลำดับแรก” ผมอาจตีความผิด ดังนั้นผมหวังว่าจะมีการอธิบายว่าผมเข้าใจผิดไปว่าอะไรเป็นหลัก อะไรรอ

ประการที่สาม คือการอ้างใช้หลักการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างตื่นเขิน และไร้ทิศทาง ซึ่งในความเห็นของผมซึ่งได้ศึกษาพระราชดำรัสแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาพอสมควร ผมคิดว่าเราเอามาใช้กันแบบไม่ลึกซึ้งเพียงพอ และผิดฝาผิดตัวในบางกรณี ตัวอย่างที่ผมคิด เช่นว่า การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมเด่นในพื้นที่ไปพร้อมกัน ผมเห็นว่าโครงการทั้งสองนั้นดี แต่ดูขัดกันในทางปฏิบัติ เนื่องมาจากข้อเท็จจริงในพื้นที่ก็คือ โครงการสร้างอาชีพเกษตรกรรมมีการทำกันในชุมชนอยู่ในระดับครัวเรือนเท่านั้น ไม่มีการพัฒนาศักยภาพ เทคโนโลยีให้สามารถ ขาย หรือเป็นล่ำเป็นสันเพียงพอจะป้อนอุตสาหกรรมได้เลย แถมยังคาดหวังให้ชาวบ้านรู้จักออม (ซึ่งอันที่จริงตรรกะการสะสมทรัพย์ไม่ใช่ตรรกะระบบเศรษฐกิจอิสลาม) ในขณะที่ แนวโน้มของมูลค่าผลผลิตอาหารฮาลาลมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นปัญหาของผมคือข้อเท็จจริงที่ว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  นั้นจำนวนผู้ผลิตที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาลจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดปัตตานี โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการดังเดิมราว 4-5 ราย ในกรณีจังหวัดยะลาผลผลิตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์รายย่อย และในกรณีของนราธิวาสผลผลิตส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตรายใหญ่รายเดียวของจังหวัด  ทำไมเป็นเช่นนั้น พูดให้ตรงก็คือในทางปฏิบัติโครงการพัฒนาเกษตรกรรมและโครงการอาหารฮาลาลไม่ได้ไปด้วยกัน เพราะเท่าที่มีงานวิจัยกันมา เราพบว่าชาวบ้านมีอาชีพเพียงรับจ้างขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้านิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยพิจารณาจากพื้นที่ตัวอย่างของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอื่นของประเทศ  ซึ่งผมคาดหวังว่าอันที่จริงแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือสร้างความสามารถพึ่งตนเอง สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อความเท่าเทียม และสร้างความยั่งยืนของอาชีพ

สิ่งที่ผมเสนอนั้นอาจทำให้พอมองเห็นได้ว่าสถานะของการพัฒนาในพื้นที่ที่ผ่านมามีสถานะอย่างไรใน Road Map เพื่อหยุดยั้งความรุนแรง มีค่าใช้จ่ายอย่างไรหากไม่ให้ความใจใส่กับการพัฒนาในพื้นที่อ่อนไหว ใครอยู่ตรงไหนของการพัฒนา ดังนั้นแม้ว่าผมจะไม่มีข้อเสนอรูปธรรมสำหรับการพัฒนาใน Road Map การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้  แต่ในเมื่อดูเหมือนเราทุกคนในสังคมต่างเป็นผู้มองเห็นคุณค่าของงานพัฒนาคน เศรษฐกิจ สังคม และเราต่างเป็นตัวแสดงที่สำคัญในงานพัฒนา การให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและด้านที่มีความเปราะบางเกี่ยวกับความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมจึงใคร่ขอเสนอว่าเราน่าจะมาทบทวนและ take into account ได้ว่า งานพัฒนาควรถูกยกสถานะให้คลองคล้องในลักษณะเท่าๆกับหรือนำการปฏิบัติการเชิงความมั่นคงและการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมใน Road Map ของเราด้วย  เนื่องจากที่ได้พูดไปแล้วว่านี่คือสิ่งสะท้อนความเป็นการเมืองที่จะดึงเอาความร่วมไม้ร่วมมือมาได้มากที่สุดทางหนึ่งจากผู้คนในสังคม 

 

 

เก็บความจาก เสวนา ยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ปี 2554-2557 เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้
11 มกราคม 2555 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แชร์กระจาย เฟซบุ๊ค ‘อภินันท์ บัวหภักดี’ เขียนถึงเรื่องเดิม เหยื่อใหม่ ‘นิติราษฎร์’

$
0
0

 

2 ก.พ.55 อภินันท์ บัวหภักดี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ถูกกล่าวหาแสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มีใบหน้าคล้ายองค์รัชทายาท ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เขียนถึงสถานการณ์ที่เกิดกับนิติราษฎร์ โดยได้รับการแชร์อย่างกว้างขวาง

 

 

“วันนี้ ขอแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสักครั้ง

ในฐานะคนที่เคยโดนทำร้ายด้วยกฎหมายมาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ และ พระราชวงศ์

... อย่างไม่เป็นธรรม ย้ำอีกครั้ง อย่างไม่เป็นธรรม ...

แถมท้ายว่า เป็นการใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงคนทั้งประเทศ

ที่ประชาชนทั้งประเทศจำนวนไม่น้อย ก็ตั้งใจที่จะเชื่อด้วยว่า

การใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวง นั้น ... เป็นความจริง

กรณี การล่าชื่อเพื่อให้แก้ไขมาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ นั้น

ผมเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้ ก็เป็นกฎหมายมาตราหนึ่ง

ทำไมกลุ่มคนที่จะต้องมีส่วนปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ..จะขอให้แก้ไขบางส่วน ..ไม่ได้

สิทธินี้ ควรเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

และจริงๆ วิธีการแก้ไขก็มีระบุไว้อยู่แล้ว

ทำไมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงต้องกระทำการดัง ... การล่าแม่มด ...

คือการกล่าวหา ...ใส่ร้ายป้ายสี ...หลอกลวงคนทั้งประเทศ ...

ว่าคณะ นิติราษฎร์ มีแผนการ มีความคิดว่าจะโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์

แล้วก็โยงใยไปถึง กลุ่ม นปช. คนเสื้อแดง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ..แบบเหมารวม

ผมเห็นว่า เรื่องแนวคิดทางการเมือง ..ย่อมมีการเห็นตรงกันได้ ..

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ..จะต้องเป็นกลุ่มเดียวกัน ...

และผมก็ไม่เห็นว่า คณะนิติราษฎร์ จะมีแนวคิด มีแผนการ

จะคิดโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ตรงไหน

ฝ่ายที่ต่อต้านคณะนิติราษฎร์ กำลังกระทำการอย่างที่คุ้นเคย

คือการกล่าวร้าย ด่าทอ ใส่ร้ายป้ายสี หลอกลวงประชาชน

เพื่อสร้างความรู้สึกโกรธแค้น ชิงชัง ..จนทำให้ฝ่ายที่ได้รับข้อมูล พร้อมที่จะเชื่อ ...

เรื่องแบบนี้ทำมาเหมือนๆ กัน ตั้งแต่การกล่าวหา ..ท่านปรีดี กรณีลอบปลงพระชนม์ ร. 8

กรณี หมิ่นพระบรม ฯ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ...ของผม

มาจนถึง คณะนิติราษฎร์ กำลังเป็นเหยื่อรายปัจจุบัน ครับ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากลิเบียปี 2553 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจนถึงขณะนี้

$
0
0

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น. กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากประเทศลิเบียจำนวน 5 คน นำโดยนายมานะ พึ่งกล่อม เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความชัดเจนจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานว่า ตนและเพื่อนได้เคยร้องทุกข์เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 และต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่นด้วย ในเรื่องของการเก็บค่าหัวคิวไปทำงานต่างประเทศเกินที่กฎหมายกำหนด การทำผิดสัญญาจ้าง การไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา การทำงานไม่ตรงตำแหน่ง ไม่ได้รับรายได้ตามที่บริษัทแจ้งไว้ สภาพการทำงานที่ลำบาก ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสงครามกลางเมืองของประเทศ  จึงต้องการมาทวงถามความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว เพราะระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 1 ปี แต่ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าและคำสั่งใดๆ ออกมา [1]

อีกทั้งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่นายมานะ พึ่งกล่อมและเพื่อนรอผลคำวินิจฉัยจากกองตรวจฯ ดังกล่าว ได้ถูกบริษัทจัดหางาน เงินและทองพัฒนา จำกัด ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและทางอาญา จำนวนถึง 7-8 คดี  ซึ่งบางคดีบริษัทถอนฟ้องไปแล้ว แต่บางคดีล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ศาลแขวงพระนครเหนือ กรุงเทพฯ พิพากษาตัดสินยกฟ้องนายมานะ พึ่งกล่อม เพราะไม่มีความผิดใดๆ [2]

ทางกลุ่มแรงงานดังกล่าวรู้สึกน้อยใจและผิดหวังต่อกลไกการทำงานของกระทรวงแรงงาน เพราะไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานและปล่อยให้ฝ่ายบริษัทจัดหางานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตนถึง 140 ล้านบาท อันเป็นการบั่นทอนกำลังใจและทำลายเสรีภาพในการทำมาหากินจนหนี้สินล้นพ้นตัว  ล่าสุดนายมานะและเพื่อนอีก 1 คนถูกข่มขู่ จึงรุดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555  กล่าวคือ มีบุคคลโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า “ให้หยุดดำเนินการเกี่ยวกับคดีแรงงานของประเทศลิเบีย  ต้องการค่าเสียหายเท่าไร ถ้าไม่หยุดจะได้อย่างอื่นแทน”  นายมานะไม่ทราบว่าเป็นใคร และเกรงว่าตนจะไม่ปลอดภัยจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน  อีกทั้งตนเองไม่เคยมีศัตรูอื่นใด นอกไปจากคดีที่กำลังฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ อยู่ [3]

สำหรับเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เมื่อได้รับฟังปัญหาของกลุ่มแรงงานจึงเรียกให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยร้องทุกข์ชี้แจงว่า ได้ออกหนังสือให้บริษัทจัดหางานรวบรวมหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้เรียกมาไกล่เกลี่ยกับคนงาน  ดังนั้นทางเลขานุการฯ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการติดตามบริษัทจัดหางานมาไกล่เกลี่ยกับคนงานก่อน  และเมื่อเวลา 13.00-15.30 น. ทางหัวหน้าฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องทุกข์และนักวิชาการแรงงานชำนาญการที่รับผิดชอบกรณีลิเบียนี้ ได้เรียกให้ตัวแทนจากบริษัทจัดหางาน 2 แห่ง ได้แก่  บ.มิลเลี่ยน เอ็กซ์เพรส จำกัด และบ.เงินและทองพัฒนา จำกัด เข้ามาไกล่เกลี่ยกับกลุ่มแรงงาน โดยบ.มิลเลี่ยนเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่มานะและเพื่อน แต่ไม่ระบุจำนวนเงิน ส่วนบ.เงินและทองฯ ยืนยันความถูกต้องของตัวเองและจะสู้คดีในชั้นศาล  ส่วนกลุ่มแรงงานก็ปฏิเสธการยอมรับเงินช่วยเหลือจากบ.มิลเลี่ยนฯ เพราะบริษัทยังไม่ได้นับรวมเงินค่าล่วงเวลา ค่าเสียโอกาสต่างๆ [4]

นอกจากนี้ การฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลได้นัดไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 21-23 มีนาคม 2555  หลังจากที่บริษัทจัดหางานไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานไทยไปลิเบียในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย [5] ซึ่งจะต้องพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาลต่อไป.

 

..............................

[1] พัชณีย์ คำหนัก เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากับกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานลิเบีย ณ กระทรวงแรงงาน  วันที่ 31 มกราคม 2555

[2] พัชณีย์ คำหนักเข้าฟังคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ วันที่ 23 ธันวาคม 2554

[3] สำเนาใบแจ้งความ รายงานประจำวันเป็นหลักฐาน สถานีตำรวจภูธร เมืองขอนแก่น กองบัญชาการ/ภาค 4 ลงวันที่ 27 มกราคม 2555

[4] กลุ่มคนงานไทยถูกจัดส่งไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ประมาณวันที่ 11 มกราคม 2553 โดยบริษัทจัดหางานต่างๆในเมืองไทย แต่มีปัญหาในช่วงระหว่างการทำงาน เช่น ปัญหาการเซ็นสัญญาฉบับที่ 2 ในภาษาอาหรับที่แตกต่างไปจากฉบับภาษาไทยที่ตกลงกันแล้ว ปัญหาการเก็บค่าหัวคิวเกินที่กฎหมายกำหนด ปัญหาไม่ได้รับค่าล่วงเวลา การจ่ายเงินเดือนล่าช้า สภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีรถรับ-ส่ง เดินเท้าฝ่าทะเลทรายไปไซด์งาน  คนงานร่วมกันล่ารายชื่อและร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในลิเบียแล้ว และเมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองของประเทศลิเบีย ก็ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนตุลาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางานเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ.  

แหล่งที่มา:  1. จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ.  แรงงานไทยในลิเบียร้องขอความเป็นธรรมจากเอ็นจีโอ.  21 มิถุนายน 2554.  เว็บไซด์ประชาไท http://prachatai.com/journal/2011/06/35591 

2. กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน.  สำเนาจดหมายเรื่อง รายงานกรณีหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เสนอข่าวของนายมานะ พึ่งกล่อม  ถึงอธิบดี เลขที่ รง 0311/3047 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554.

3. เว็บไซด์ประชาไท.  รายงาน: สรุปสถานการณ์ “คนงานไทย” หนีตายจลาจล “ลิเบีย”.  13 มีนาคม 2554. 

http://prachatai.com/journal/2011/03/33518

[5] สัมภาษณ์มานะ พึ่งกล่อม วันที่ 31 มกราคม 2555 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 2)

$
0
0
"วิจักขณ์ พานิช" สัมภาษณ์ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 2 โลกย์ที่ไม่เสียหลัก
 
(2) โลกย์ที่ไม่เสียหลัก
 
วิจักขณ์: อย่างในศาสนาจะพูดถึงการยึดมั่นในหลักธรรม แล้วในทางนิติศาสตร์ อาจารย์ก็มักพูดอยู่เสมอๆ ว่าต้องยืนอยู่บนหลักการ ยึดมั่นในหลักวิชาที่ถูกต้อง การยึดมั่นในหลักสองแบบนี้มีความคล้ายกันอยู่มั้ยครับ
 
วรเจตน์: คงมีส่วนที่ร่วมกันอยู่นะ เพียงแต่ว่าหลักธรรมหรือหลักการพวกนี้ เวลาเอามาใช้จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการตีความ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางพุทธศาสนา อย่างหลักธรรมที่อยู่ในพระไตรปิฎก พอนำมาใช้จริง มันก็ต้องถูกตีความ ปัญหาคือการตีความแบบไหนถึงจะเป็นการตีความที่ถูก ซึ่งตรงนี้บางทีมันก็เป็นปัญหานะ 
 
ในความเข้าใจของผม เวลาที่เราพูดถึงหลักธรรมหรือหลักการ คือ เรายอมรับว่าในการที่เราเป็นมนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา คิดได้ มันคงต้องมีอะไรบางอย่างเป็นฐานยึดโยงสังคมของมนุษย์เอาไว้ด้วยกัน เราจะบอกว่าโอเค ไม่มีหลักการ อะไรเลย  งั้นปัญหาคือ สังคมที่เราอยู่ก็จะไม่เป็นสังคมของมนุษย์ที่มีความเป็นอารยะ
 
ดังนั้นผมเข้าใจว่าคำสอนทางศาสนา เวลาถูกสอนนั้นคงต้องมีหลักการอะไรบางอย่างอยู่ หลักการที่สอนให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอารยะพอสมควร แต่ว่าแน่นอนว่าสภาพของโลกมันไม่ได้อยู่นิ่งหรอก มันวิวัฒนาการ มันผันแปร มันเปลี่ยนไป การยึดหลักธรรมในบางเรื่อง เวลาที่มันตีความ ผมเข้าใจว่าก็ต้องคำนึงถึงสภาพบางอย่างที่เปลี่ยนไปด้วย อย่างเช่น เวลาพระพุทธเจ้าวางกฎเกณฑ์ให้ภิกษุปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ยอมรับว่าบางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงได้ สิกขาบทเล็กน้อย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เข้มงวดว่าจะต้องติดตรึงเอาไว้ แต่สามารถปรับหรือตัดทิ้งไปได้  แต่หลักใหญ่ใจความ อย่างหลักอริยสัจ ซึ่งโอเคมันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสัจจะแล้ว ไม่ต้องตีความอะไร เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่าได้ค้นพบ เราก็ดูว่าจริงมั้ย ชีวิตมนุษย์เป็นทุกข์เนี่ย จริงหรือเปล่า
 
ผมคิดว่ามีบางอย่างที่แม้จะต่างบริบท มันก็เหมือนกันอยู่เหมือนกัน แต่เวลาที่คนเอามาใช้อ้างนี่แหละที่จะเป็นปัญหา ทุกอย่างมันเกิดจากการอ้าง อ้างในบริบทไหน มันเป็นเรื่องบริบทของการเอาหลักธรรมนั้นๆ มาอ้าง
 
วิจักขณ์: แล้วในกรณีพุทธศาสนาไทยที่เป็นพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งโดยหลักคือการพยายามปฏิบัติตามรูปแบบและคำสอนตามบริบทในอดีต คือในสมัยพุทธกาลให้มากที่สุด  มันจะกลายเป็นลักษณะของการพยายามย้อนอดีตอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ความพยายามเช่นนั้นจะเป็นปัญหาในตัวมันเองมั้ยครับ อย่างเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยที่สามารถตัดหรือปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน
 
วรเจตน์: ส่วนหนึ่งก็ใช่  แต่เราอาจจะต้องพิจารณาแบบนี้ คือ เวลาที่เราพูดถึงพุทธในไทย มันก็มีปะปนกันอยู่หลายส่วน  อย่างแรกคือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันมันปะปนด้วยลัทธิพิธีต่างๆ มากมาย อย่างผมก็โตมาในสังคมชนบท ก็เห็นถึงการมีอยู่ของความเชื่อที่หลากหลายปนๆ กันอยู่ และแน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าความเชื่อเหล่านั้นเป็นผลร้ายกับพุทธศาสนา แต่ผมว่ามันก็ไม่ทั้งหมดหรอก เพราะบางทีกระพี้มันก็ห่อหุ้มตัวที่เป็นแก่นเอาไว้ หรือช่วยรักษาตัวแก่นเอาไว้ก็ได้ เพียงแต่ว่าคนธรรมดาทั่วไปก็อาจจะไปติดกับตรงนั้นเยอะ แทนที่จะทะลุไปถึงตัวแก่นตัวคำสอน แล้วบางทีมันก็เบี่ยงเบนไปจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า
 
แล้วในทางปฏิบัติ ผมว่าพระเถรวาทในบ้านเราหลายส่วนก็มีวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ ในความคิดเห็นของผม เรื่องวินัยถ้าเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นหลัก ผมว่ามันน่าจะดี ในเซ้นส์ของการรักษาตัววัตรปฏิบัติให้บริสุทธิ์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งผมว่าในปัจจุบันมันไม่เป็นแบบนั้น มันเปลี่ยนอะไรไปเยอะมากๆ เลยในสังคมสงฆ์ แล้วก็ในทุกระดับ เพราะในความเข้าใจของผม สังคมของสงฆ์ในระดับหนึ่งก็พัวพันอยู่กับผลประโยชน์ในทางโลก เอื้อกันระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายศาสนา ฝ่ายราชอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักร เอื้อกันในทางผลประโยชน์ ซึ่งบางทีมันก็พัวพันกันในทางการเมืองอยู่ด้วย มันไม่ได้กลับไปในคำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้า ผมว่านี่เป็นปัญหา เพราะในด้านหนึ่ง ในแง่ของการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติย้อนกลับไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมว่าอันนี้เนี่ยดี แต่ในแง่ของการวินิจฉัยหรือการตีความศีล ในโลกปัจจุบันเนี่ย ผมว่าบางเรื่องมันก็อาจจะเป็นปัญหาอยู่
 
วิจักขณ์: อย่างที่อาจารย์ว่าบริบทมันแตกต่างออกไป ยิ่งโดยเฉพาะคำสอนเข้ามาสู่สังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น…
 
วรเจตน์: ใช่… อย่างเช่นประเด็นของการทำแท้ง เวลาพูดเรื่องทำแท้ง ถามว่าทำแท้งบาปไหม? ผมว่าในทางศาสนาพุทธ มันก็ต้องบอกว่าบาป ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว แต่อีกคำถามนึงคือ แล้วเราจะกำหนดกติกาเรื่องการทำแท้งยังไงในสังคมปัจจุบัน
 
โอเคล่ะ ในฐานะชาวพุทธ เราบอกว่าทำแท้งบาป เพราะว่าชีวิตมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาก็คือ เกิดขึ้นเมื่ออสุจิของพ่อไปเจอกับไข่ของแม่ ปฏิสนธิ วิญญาณจิตหยั่งลงในครรภ์ของแม่ วินาทีนั้นเกิดเป็นชีวิตแล้ว การทำให้ชีวิตล่วงไปตั้งแต่นั้น มันก็คือการฆ่า ก็ถือว่าเป็นบาป แต่ปัญหาก็คือว่าในบริบทสังคมสมัยใหม่แบบปัจจุบัน การวินิจฉัย หรือการกำหนดกติกาเกี่ยวกับเรื่องของการทำแท้ง มันจะเข้มงวดแบบในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ไหม อันนี้ผมกำลังโยงคำสอนทางศาสนาเข้ากับหลักกฏหมายแล้ว  โอเค ถ้าจะเอาตามหลักศาสนา ตามการตีความเพียวๆ คุณก็บอกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่บาป ซึ่งผมว่ามันก็ต้องยอมรับ เพราะมันคือคำสอน การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ก็ต้องยอมรับว่าไม่ถูกต้อง แต่ว่าไอ้สิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางธรรมะ ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย ถามว่ามันจะต้องเป็นสิ่งที่ตัวระบบกฎหมายหรือกติกาในทางสังคมต้องเดินตามในทุกกระเบียดนิ้ว โดยที่ไม่สามารถปรับกติกาแบบนี้ให้มันอยู่กับชีวิตแบบโลกย์ๆ ได้ไหม ผมคิดว่าหลายเรื่อง บางทีเราไปเอาสองอย่างมาผสมปนกัน คือว่าเราจะไปเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน กับการมีชีวิตอยู่ในสังคมในทุกๆเรื่อง แล้วก็พยายามทำกฎหมายให้มันเป็นแบบนั้น ซึ่งผมคิดว่าอันนี้มันไม่น่าจะถูกนะ
 
วิจักขณ์: กลายเป็นว่าคำสอนทางศาสนาเลยมีอำนาจควบคุมโลกย์ไปเสียอย่างนั้น
 
วรเจตน์: ในความเห็นผม เวลาที่เราทำกติกาอยู่ร่วมกันแบบที่เรายังเป็นมนุษย์ ยังเป็นปุถุชนมีกิเลส มีปัญหาแบบโลกย์ๆ แบบนี้เนี่ย กฎเกณฑ์บางอย่างมันอาจจะต้องเบี่ยงเบนไปจากตัวคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง บ้างในแง่ที่ว่า.. ยกตัวอย่างการทำแท้งเนี่ย.. มันก็เป็นเรื่องบาป อย่างในการสอนธรรมะ เราก็ต้องสอนว่ามันเป็นเรื่องบาป แต่ถามว่ารัฐจะเอาผิดกับคนทำแท้ง ไม่อนุญาตให้เค้าทำแท้งในทุกกรณี แล้วก็เอาผิดกับคนทำแท้ง เอาผิดกับแม่ที่ไปทำแท้งในทุกกรณีเนี่ย มันถูกต้องมั้ย ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถูกต้อง เพราะว่าปัญหาในชีวิตประจำวันจริงๆ ของคนมันมีความซับซ้อน มีความหลากหลาย มันมีมิติในทางสังคมไปเกี่ยวพันอยู่เยอะ ระบบกฎหมายต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างสองอันนี้ให้ได้ และการหาจุดสมดุลระหว่างสองอันนี้ มันไม่ใช่ว่าระบบกฎหมายกำลังส่งเสริมให้คนทำบาป แต่มันเป็นเรื่องของการพยายามหาทางแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเวลาที่มันมีปัญหาแบบนี้ แล้วพวกที่เคร่งในศาสนามากๆ ออกมาต่อต้านเนี่ย ในหลายกรณีจึงเป็นเรื่องที่สุดโต่งจนเกินไป และก็เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้คนในสังคมเลย
 
วิจักขณ์: ดูเหมือนมันก็คล้ายๆ กันนะครับ ระหว่างหลักศีลธรรมกับหลักกฎหมาย คือก็อาจมีคุณค่าในเชิงอุดมคติของมันอยู่ แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นเรื่องของศิลปะของการนำมาใช้ทำความเข้าใจชีวิต และปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นจริง โดยหาจุดที่สมดุลระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง คนในสังคมจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
 
วรเจตน์: ใช่ คือทั้งกฎหมายและศีลธรรมจริงๆ มันก็เป็น norm ทั้งคู่ คือเป็นบรรทัดฐานกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ความเหมือนกันอยู่ตรงนี้ แต่ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ว่า ศีลธรรมเนี่ยมันกำหนดลึกเข้าไปถึงในจิตใจคน มันไปมากกว่ากฏหมาย ดังนั้นการเรียกร้องในทางศีลธรรมมันจึงเรียกร้องได้มากกว่า เพราะมันเข้าไปถึงภายในใจของคน ในขณะที่กฎหมายเนี่ย มันเป็นเรื่องของกฏเกณฑ์กติกาในการทำให้สังคมพออยู่ร่วมกันได้ในมาตรฐานขั้นต่ำ แล้วก็มีสภาพบังคับ โดยปกติสภาพบังคับตามกฏหมาย คือ สภาพบังคับในทางกายภาพ ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ถูกจับ เอาไปขังคุกอะไรแบบนี้  มันไม่ใช่สภาพบังคับแบบรู้สึกผิด รู้สึกเป็นบาป มันเป็นสภาพบังคับในแง่ของการต้องเสียค่าปรับ ต้องไปติดคุก ตรงไปตรงมาประมาณนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบัญญัติกฏหมาย เราจึงไม่บัญญัติล้วงลึกเข้าไปถึงในใจของคน
 
อย่างในศาสนาพุทธ เวลาที่เราพูดถึงการกระทำ มันมีทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม สามอย่าง ลึกเข้าไปถึงความคิดนึกเลย  แต่ในทางกฎหมายเนี่ย มันคุมแค่กายกรรมกับวจีกรรม คือสิ่งที่แสดงออกมาภายนอก มันไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงตัวมโนกรรม นี่คือความแตกต่างกันของตัวกฎหมาย
 
ที่นี้เอาล่ะ ศาสนาก็คุมกายกรรมเหมือนกัน กฏหมายก็คุมเหมือนกัน แต่ว่าระดับของการคุมมันอาจจะต่างกัน หรือระดับของ sanction หรือสภาพบังคับมันอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อระดับมันต่างกัน เวลาที่เราคิดกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา มุมหรือมิติที่จะมองมันก็อาจจะต่างกัน เช่น ศาสนาอาจจะปรารถนาไม่ให้มีการพรากชีวิตเลยในทุกมิติ ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ เพราะมันเป็นชีวิตเท่ากัน และต้องการรักษาชีวิตเอาไว้  และตามหลักศาสนาการพรากชีวิตนั้นเป็นบาป นั่นคือในข้อที่ศาสนาเคร่งครัด แต่ว่าพอในทางกฏหมายปุ๊บ เอาล่ะเราไม่พรากชีวิตทั่วๆ ไป ชีวิตที่คลอดออกมาแล้ว เป็นทารกแล้วเนี่ยโอเค แต่พอมาถึงชีวิตในครรภ์มารดาปุ๊บเนี่ย มันมีความเหลื่อมกันอยู่ อีกทั้งยังมีมิติที่ต้องคิดว่า โอเค ลูกเนี่ย ตอนที่ยังไม่เกิดมาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของแม่ ศาสนาจะเรียกร้องว่าแม่ไม่ควรจะฆ่าลูก ...แต่ว่าเราจะไปรู้เหรอ ชีวิตของคนน่ะมันมีอะไรตั้งหลายอย่างที่มันเกิดเป็นปัญหา  แล้วเราไปเรียกร้องกับคนในทางกฎหมาย มากเท่ากับในทางศาสนานั้นมันเป็นไปไม่ได้ แล้วการพูดในมุมนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาศาสนา แต่กำลังจะบอกว่าฟังก์ชั่นมันคนละแบบ แล้วระบบกฎหมายต้องพยายามหาทางจัดการปัญหานี้ให้ได้ดุลยภาพกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฮยาตั้งโต๊ะเจรจาส่อแววคว้าน้ำเหลว สหภาพแรงงานเดินหน้าบุกกรุง

$
0
0

1 ก.พ. 55 - เนชั่นแชลแนลรายงานว่าวันนี้ (1 ก.พ.55) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน อาคารศูนย์กระทรวงแรงงาน หมู่ 10 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ นำโดยนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพ ฯ ,นายชาตรี บุญมา , นายณัฐกร สีนันต๊ะ ,นายสุขสันต์ อิ่นคำ , นายนภดล พินธุ , นายชัยวัฒน์ ดอกคำ และ นายบิลลี่ ใจดี เข้าเจรจากับผู้แทนบริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด โดยมีตัวแทนบริษัทฯประกอบด้วย นายทาเคมิ มิยาโมโตะ ประธานบริษัท , นายโทชิอะกิ โยชิมูระ ผู้จัดการทั่วไปการบัญชีและการเงิน , นางสาวสมถวิล จันทราช ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหาร , นายสกล จินดาศิริโรจน์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต , นายไกรสร พันธุ์ดอน รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตรวจสอบงาน , นายธันวา ทาหน่อทอง ผู้จัดการแผนกบริการทั่วไป และ นางวีรยา คำบุรี ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพและร่วมการประชุม
 
นายอัครเดช ประธานสหภาพแรงงานฯ เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ปี 2555 ขอให้ทางบริษัทโฮยาฯ ปรับอัตราการจ่ายโบนัสจากเดิมไม่ต่ำกว่า 1 เท่าของเงินเดือนเป็นไม่ต่ำกว่า 2.5 เท่าของเงินเดือน , ปรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สำหรับพนักงานรายวันเดิม 5,000 บาทต่อปีเป็น 10,000 บาทต่อปี และ พนักงานรายเดือน เดิม 6,000 บาทต่อปีเป็น 12,000 บาทต่อปี , ปรับเบี้ยขยันจากเดิม 550 บาท/เดือนเป็น 850 บาท/เดือน , ให้พิจารณาเพิ่มค่าความเสี่ยงประกอบด้วยด้วยค่าสายตา ค่าเสี่ยงภัยที่ทำงานากับสารเคมี ค่าทำงานในที่สูง , จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ,ให้มีห้องหรือที่ทำการสหภาพแรงงานฯในบริษัทฯ ตลอดจนให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯได้มีสิทธิลางานเพื่อเข้ร่วมกิจกรรมองค์กรต่าง ๆ ไม่มีผลต่อการพิจารณาเงินเดือน โบนัส และ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง เปลี่ยนแปลงหน้าที่หรือกระทำใดๆอันเป็นเหตุให้สมาชิกสหภาพฯไม่สามารถทำงานอยู่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสหภาพแรงงานฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของพนักงานบริษัทฯตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
 
ในขณะที่ทางบริษัท โฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด ได้ทำหนังสือเลขที่ HY*027-1/2555 วันที่ 23 ม.ค.2555 เรื่องขอการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของบริษัทในปัจจุบัน บริษัทฯจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของพนักงานที่ได้รับจากบริษัท จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เลขที่ ร.ส.9 ลงวันที่ 25 ม.ค.2555 ที่มีการยกเลิกค่าสายตา ค่าเสี่ยงภัย และ ค่ายืนทำงาน โดยทางบริษัทได้อ้างว่ามีหน่วยงานความปลอดภัยที่มีหน้าที่ในการดูแลงานด้านนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้กำหนดให้ลูกจ้างลากิจโดยได้รับค่าจ้างและไม่นำการลากิจไปพิจารณาเบี้ยขยันไม่เกินวันละ 5 วันทำงานหากเกินไม่อนุญาตให้ใช้ลากิจ การจ่ายโบนัสขั้นต่ำเกรด ดี ที่บริษัทฯระบุของพนักงานรายวันอยู่ที่ 1 เท่าของค่าจ้าง และหากสามารถทำการผลิตได้ตามเป้าหมายของปี 55. จะได้รับเงินพิเศษ แต่ไม่ให้ทางสภาพแรงงานฯอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานของบริษัทในการทำกิจกรรมของสหภาพ รวมทั้งใช้เวลางานของบริษัทไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสหภาพฯ ถือเป็นข้อตกลงให้มีผลบังคับใช้ 3 ปี
 
นายอัครเดช กล่าวว่า สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 1,937 คน ส่วนหนึ่งจะเป็นของโฮยา อีกส่วนหนึ่งเป็นของบริษัทอื่นๆ ที่พนักงานได้รับผลกระทบใกล้เคียงกัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2554 ที่ได้มีการรวมตัวเรียกร้อง ยื่นหนังสือ พบนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัด พบ นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ลำพูน เขต 1 พรรคเพื่อไทย และล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้นที่มาประชุมคณะรัฐมตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 1 ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
ดังนั้น คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ฯจึงได้ตัดสินใจส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึง สถานทูตประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย , สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน วันที่ 9-12 ก.พ.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้ารวมทั้งขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือพนักงานโฮยาทั้งหมดเนื่องจาก บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 60/26 หมู่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน มีพนักงานประมาณ 4 พันคน เลิกจ้างพนักงานฝ่ายผลิตโรงงาน 2 ที่มีผลสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.2555 จำนวน 1,609 พนักงานยินยอมพร้อมใจสมัครเข้าร่วมโครงการประสงค์ลาออก จำนวน 1,400 คน คงเหลือประมาณ 209 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,500 คนคือพนักงานฝ่ายผลิตโรงงาน 1 ที่ทางบริษัทกำลังพยายามลดค่าสวัสดิการต่างๆ มีแต่เพียงเงินรายวันและรายเดือนเท่านั้น แนวโน้มพนักงานโรง 1 ก็จะมีชะตากรรมไม่ต่างกับโรง 2 อย่างแน่นอน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเจรจาระหว่างผู้แทนนายจ้างกับสหภาพฯ มีอันต้องสะดุดลงทันที เมื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างเห็นผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าว อย่างไรก็ตามทางสหภาพแรงงานฯยังคงยืนยันจะเดินหน้าเจรจาให้ประสบความสำเร็จ หลังจากเมื่อวันที่ 20 และ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาการเจรจาทุกครั้งทำได้เพียงแค่รับทราบแต่ไม่สามารถติดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ส่วนผู้บริหารของบริษัทโฮยา พยายามที่เลี่ยงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กำกับพลังงานยันไม่ถอนใบอนุญาตบัวสมหมาย แนะให้ไปฟ้องศาลปกครอง

$
0
0

1 ก.พ.55 เวลา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อำเภอสว่างวีระวงศ์  อุบลราชธานี ยื่นหนังสือคัดค้านการออกใบอนุญาตบริษัทบัวสมหมายฯ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  กกพ.ยันไม่เพิกถอนใบอนุญาต อ้างกรมโรงงานแจงว่าถูกต้องแล้ว  แนะให้ไปฟ้องศาลปกครองและให้ทำเรื่องค้านการออกใบผลิตไฟฟ้า    

ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชยและบ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ)ของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ยื่นหนังสือคัดค้าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 ไม่เพิกถอนการออกใบอนุญาตของบริษัทฯ

นายชูศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานกำกับกิจการพลังงานเป็นตัวแทนมารับหนังสือแทน กกพ. กล่าวว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นการสิ้นสุดการอุทรณ์แล้ว  กกพ.ไม่สามารถไม่เพิกถอนใบอนุญาตได้ และการออกใบอนุญาตให้บริษัทบัวสมหมายฯ ทำตามความเห็นของกรมโรงงาน  ส่วนใบผลิตไฟฟ้า ที่เป็นอำนาจของ กกพ.ยังไม่ออกเพราะบริษัทยังไม่ได้ยื่นเรื่องมา  หากต้องการจะให้ยกเลิกหรือเพิกถอนต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่ถึงอย่างไรการฟ้องศาลปกครองเราก็คิดว่าเราชนะเพราะ กกพ. จะอ้างว่า กกพ.ทำตามความเห็นชอบของกรมโรงงาน  ถ้าเราไม่อนุญาตก็จะมีคำถามว่า ทำไมที่อื่นสร้างได้ ไม่เห็นมีผลกระทบ หากเกินผลกระทบต่อชุมชนจริงสามารถมาฟ้องร้อง กกพ. เรามีกฎหมายคุ้มครองชาวบ้านอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยใช้กฏหมายเพราะไม่มีชาวบ้านมาร้องเรียนและเป็นกฎหมายใหม่ 

ด้านน.ส.สดใส สร่างโศรก ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแกลบ กล่าวว่า กกพ.ตั้งขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในด้านการผลิตพลังงาน สร้างความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความมั่นคงด้านพลังงาน   แต่การกระทำของ กกพ.ในวันนี้ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความโปร่งใส และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม  มุ่งเพียงจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนเท่านั้น  แต่ไม่คิดถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน   ชาวบ้านยื่นเรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการขอใบอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2551 แต่กกพ.ไม่เคยให้น้ำหนักและสนใจปัญหาของชาวบ้าน แม้แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการขุดบ่อน้ำของบริษัทบัวสมหมาย ที่ทำให้น้ำในชุมชนขาดแคลนในการทำนา  กกพ.อ้างว่าต้องให้บริษัทฯตอกเสาเข็มก่อนหรือต้องรอให้โรงงานเปิดใช้จริงถ้ามีปัญหาค่อยมาฟ้อง  ถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนตายก่อนเพราะต้องซื้อขายราคาแพงกิน เป็นโรคปอด หรืออุบัติเหตุเนื่องจากมีรถบรรทุกแกลบอย่างน้อยวันละ 30 คัน อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็จะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเพื่อให้ลูกหลาน ได้อยู่อย่างไม่ลำบากและเป็นทุกข์    

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จม.เปิดผนึกอาจารย์ มธ. จี้มหาลัยจัดถก 112 เอง

$
0
0

1 ก.พ.55  อาจารย์จากหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกรณีกรรมการบริการมหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 ระบุเป็นลักษณะ “อธรรมศาสตร์” การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงสาธารณะเป็นเกียรติภูมิแก่มหาวิทยาลัย การปิดพื้นที่เท่ากับผลักมาตรานี้ออกจากวงวิชาการ พร้อมทั้งเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางจัดกิจกรรมวิชาการเรื่องนี้เอง เพื่อเป็นตัวอย่างการถกเถียงที่สร้างสรรค์ให้สังคม

0 0 0

 

จดหมายเปิดผนึก

ถึง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณีมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112

สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป  โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า

1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ

หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”  มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ “อธรรมศาสตร์” เป็นอย่างยิ่ง

2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่มต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณะชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด

3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ

4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น 

กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปมปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณะชนที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

วันที่ 31 มกราคม 2555

ลงชื่อ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media,University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิแถลงร้องรัฐ สอบกรณี 4 ศพหนองจิกโปร่งใส คุ้มครองพยาน

$
0
0

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 โดยขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ข้อมูลในพื้นที่ที่ได้จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้อยู่ที่ร่วมในเหตุการณ์ เป็นข้อมูลที่แตกต่างกับทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ได้มีการแถลงทางสื่อมวลชน  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ และได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ยังมีความรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ และความปลอดภัยของตนเอง  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลที่มีอายุมากและเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์

“การที่หน่วยงานของรัฐรีบด่วนออกมาแถลงและสรุปโดยรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ และต้องใช้ชิวิตอยู่อย่างหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่”

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรกแต่ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้  และทุกเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนในพื้นที่ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม ด้านล่าง)

ด้านมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยแถลงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงประชาชนในชุมชนอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังต่อไปนี้

1.    รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องไม่ปกปิดพยานหลักฐานและให้ผู้ที่ประชาชนไว้วางใจเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและแถลงให้ประชาชนทราบ

2.   ต้องจัดให้มีการคุ้มครองพยานคือผู้รอดชีวิตอย่างเต็มที่เพื่อให้พยานสามารถให้ข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกังวลในการถูกคุกคาม

3.   หากปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดรัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้มีการงดเว้นโทษ (Impunity) ต่อผู้ใดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นราษฎรสามัญหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้มูลนิธิฯมีความเชื่อมั่นว่าสันติภาพคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากประชาชนที่บริสุทธิ์ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีชีวิตอยู่ในความไม่รู้สึกปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สกไม่ปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 0 0 0

 

แถลงการณ์มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

กรณีเหตุการณ์ที่ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี


จากเหตุการณ์ทหารพรานยิงรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บท 3105 ปัตตานี กำลังเดินทางไปร่วมละหมาดมายัต (พิธีละหมาดศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม) จนเป็นเหตุให้คนแก่และเยาวชนที่โดยสารในรถยนต์คันดังกล่าวเสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 เวลาประมาณ 20.30 น. ที่หมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นั้น ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย

จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องแยกเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ  เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน คันหมายเลขทะเบียน บท 3105 ปัตตานี  เพราะเหตุการณ์ยิงฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 กับเหตุการณ์ยิงใส่รถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 3105 ตั้งอยู่คนละหมู่บ้านและเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา  จากการที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้สอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ความว่า ชาวบ้านที่ถูกยิง กำลังเดินทางจากจากหมู่บ้าน กาหยี (ตันหยงบูโละ) หมู่ที่ 1ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อจะไปละหมาดมายัตยังมัสยิดบ้านตอโป หมู่ที่ 4 ตำบลตะลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งการละหมาดมายัติ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาในการจัดการศพก่อนนำไปฝั่งซึ่งช่วงเวลาที่ญาติของผู้ตายกำหนด   แต่เนื่องจากทางออกของหมู่บ้านมีสองทางคือทางที่ต้องผ่านฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ที่เกิดเหตุมีการยิง เอ็ม 79 ถล่ม กับทางด้านหน้าหมู่บ้าน รถคันดังกล่าวจึงได้หลีกเลี่ยงและเลือกใช้เส้นทางดังกล่าวแม้ระยะทางจะไกลแต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ในขณะที่นายยา ดือราแม ผู้ขับรถยนต์กำลังขับรถยนต์จะขึ้นเนินได้มีทหารพราน เรียกให้หยุดรถ และได้สอบถามว่าจะไปไหน ทันใดนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอีกชุดหนึ่งใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่คนในรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บท 3105 เป็นเหตุทำให้คนที่อยู่ในรถต้องวิ่งหลบหนีกระสุนปืนเพื่อเอาตัวรอด จนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ ดังกล่าว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลในพื้นที่จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้อยู่ที่ร่วมในเหตุการณ์  ซึ่งเป็นข้อมูลที่แตกต่างกับทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้มีการแถลงทางสื่อมวลชน

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ และได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ยังมีความรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ และความปลอดภัยของตนเอง  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลที่มีอายุมากและเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์ การที่หน่วยงานของรัฐรีบด่วนออกมาแถลงและสรุปโดยรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ และต้องใช้ชิวิตอยู่อย่างหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างไร  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรกแต่ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้  และเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนในพื้นที่  เมื่อเป็นดังนี้ความสงบในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

                                                มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

                                                31 มกราคม 2555

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณบดี มมส. แจงหวั่นเหตุรุนแรง นศ.จัดกิจกรรมไว้อาลัย

$
0
0

ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครองเผย เดินหน้าทำกิจกรรมไว้อาลัยต่อ โต้คณบดีกรณีหวั่นเหตุรุนแรง สะท้อนให้เห็นว่าไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา

ภายหลังจากที่นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อเตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ตามทีประชาไทรายงานไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ ร.ศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในวิทยาลัยการเมืองการปกครองเนื่องจากหวั่นเกรงเหตุรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความเห็นทางวิชาการ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ”

ด้านนายโอภาส สินธุโคตร ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาการเมืองการปกครองที่ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อทวงถามคำตอบจากผู้บริหารวิทยาลัยฯ เปิดเผยกับประชาไทว่าแถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา และยืนยันจะจัดกิจกรรมไว้อาลัยที่หน้าวิทยาลัยฯ ต่อไปตามกำหนดเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเล็กน้อย

โดยเขาเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงตัวว่าจะออกมาต้านการจัดกรรมดังกล่าว พร้อมเตรียมพระสงฆ์มาปัดรังควานกลุ่มของเขาด้วย หากมีการวางพวงหรีดที่หน้าวิทยาลัยฯ

“คำชี้แจงของคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองที่ให้เหตุผลไม่อนุญาตให้ใช่สถานที่เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงนั้นแสดงให้เห็นว่า คณบดีไม่มีความเชื่อมั่นว่านักศึกษาของวิทยาลัยมีความเป็นอารยะ และสามารถพูดกันได้ด้วยเหตุผล วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปวารณาตัวว่าเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ แต่กลับไม่สามารถใช้พื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมวิชาการในประเด็นกฎหมายได้ ทั้งๆ ที่คณะศิลปศาสตร์นั้นสามารถจัดงานในลักษณะดังกล่าวได้” ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาลัยการเมืองการปกครองกล่าวในที่สุด

สำหรับรายละเอียดคำชี้แจงจากคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคามมีดังนี้

ข้อชี้แจงต่อกรณีการไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”

ตามที่ได้มีการแถลงการณ์การระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรณีไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้น คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงขอชี้แจงดังนี้

สืบเนื่องจากที่คณบดีได้พบข้อความประชาสัมพันธ์ใน Face-book เรื่องการจัดเสวนาดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงได้ดำเนินการ

1) คณบดีได้เชิญผู้จัดสัมมนาเข้ามาพบถึงเรื่องที่จะจัดกิจกรรมในวันที่ 30 มกราคม 2555 คณบดีและผู้บริหารที่ร่วมชี้แจงด้วย ได้แจ้งถึงความจำเป็นในการไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรม โดยเหตุผลที่ยังไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมในขณะนี้ กล่าวคือ จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ

2) โดยเหตุที่คณบดีและผู้บริหารยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการ โดยไม่ได้คิดปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการของผู้จัด ตามคำแถงการณ์ที่ปรากฏในสื่อต่างๆ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความเป็นกลางซึ่งต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัดไม่เอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เนื่องจากนิสิตและบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองฯ มีความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารจึงเสนอความเห็นและความไม่สบายใจต่อผู้จัดเป็น 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมในนามของกลุ่มบุคคล โดยไม่ใช้นามของหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการล่วงสิทธิ์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และ

ประการที่สอง ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมได้ในสถานที่อื่นที่เหมาะสมกว่า เพื่อให้สามารถระดมความคิดได้อย่างหลากหลายและไม่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงที่ไม่อาจประเมินการณ์ได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในประเด็นอันละเอียดอ่อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิตและบุคลากรในภาพรวมองค์กรวิทยาลัยการเมืองฯ

ทั้งนี้ ข้อเสนอความเห็นและความไม่สบายใจทั้งสองประการนั้น ผู้จัดงานได้รับทราบแล้วในการเข้าพบในวันดังกล่าว

ในฐานะคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอทำความความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์และอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานที่ยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งก่อนหน้านี้และปัจจุบัน ว่าหลักสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมารับผิดชอบเป็นผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครองนั้น ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ โดยถือว่าคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการพัฒนากระบวนการคิดระหว่างคณาจารย์กับนิสิต รวมไปถึงการเผยแพร่เกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองฯในฐานะตลาดทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งคณบดีวิทยาลัยการเมืองฯ ตระหนักในภารกิจนี้เป็นอย่างดี เห็นจะได้จากการจัดงานหรือร่วมกิจกรรมทางวิชาการในหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในวิทยาลัยการเมืองการปกครองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีความครอบคลุมในทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนและสาขาวิชาต่างๆ โดยรวมทั้งจัดตั้งคลินิกรัฐศาสตร์ที่เป็นผู้จัดเวทีเสวนานี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการบริหารงานของวิทยาลัยการเมืองฯ ที่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ เปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตที่เข้าร่วมโครงการในทุกโครงการ มีเสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา ทั้งยังอุดหนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนต่างๆ ของนิสิตและบุคคลากรทุกท่านอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการจัดกิจกรรมบางครั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกิจกรรม ความขัดแย้งภายในวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ตาม ดังเช่น กรณีของกิจกรรมการรับน้องในปี พ.ศ. 2554 แต่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ยังคงอนุญาต และให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น หากประเมินแล้วว่าสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบของระเบียบ และความสามัคคีในหมู่นิสิต

อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้จัด ให้จัดกิจกรรมในอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองได้ในขณะนี้ แต่ทางผู้บริหารขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เคยคิดที่จะจำกัดหรือห้ามการแสดงออกทางความคิด การแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการของอาจารย์หรือบุคลากร ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หากแต่คณบดีในฐานะผู้บริหารที่รับผิดชอบต่อองค์กรอันเป็นที่รักของเราชาววิทยาลัยการเมืองฯทุกคนทุกรุ่นทุกสมัย ที่สืบทอดปณิธาน “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” จึงจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทางอย่างรอบคอบและระมัดระวังโดยปราศจากอคติใดๆ มาเกี่ยวข้อง เพื่อปกป้อง ดูแลความปลอดภัย ในชีวิต ทรัพย์สิน ของนิสิต บุคลากร ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการในวิทยาลัยการเมืองฯ อันเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดที่พึงกระทำในการทำหน้าที่คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

(รองศาสตราจารย์ สีดา สอนศรี)

คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กก.อิสลามหวั่น 4 ศพบานปลาย สั่งทุกมัสยิดปัตตานี ‘ละหมาดฮายัต’

$
0
0

 

 


แม่ทัพภาคที่ 4 ขอโทษ ทหารพรานยิงชาวบ้าน 


สาหัส-สภาพนายมะรูดิง แวกาจิ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี

 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 31 มกราคม 2555 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้นำคณะกรรมการตรวจสอบกรณีชาวบ้านถูกยิงตาย 4 ศพ ที่บ้านกะหยี ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง มาประชุมร่วมกับผู้เสียหายบางคน ญาติผู้เสียหาย และผู้อยู่ในเหตุการณ์

พล.ท.อุดมชัย ได้นำเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก 5 นาย พร้อมนายยา ดือราแม คนขับรถคันเกิดเหตุ ซึ่งได้รับบาดเจ็บ มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนเกิดเหตุ บรรยากาศการพูดคุยเต็มไปด้วยความตึงเครียด ขณะที่พล.ท.อุดมชัย ได้ขอโทษชาวบ้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาแบบใดก็ตาม ตนจะให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย การนัดให้พบกันครั้งนี้ เพราะต้องการให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจกันต่อกัน

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ทั้งสองฝ่ายให้ข้อมูลตรงกันบางส่วนคือ เจ้าหน้าที่ทหารพรานให้ข้อมูลว่า เวลาประมาณ 20.05 น.วันที่ 29 มกราคม 2555 มีคนร้ายโยนระเบิด M 79 ลงที่ฐานบ้านน้ำดำ 3 นัด แต่ระเบิดทำงานเพียง 1 ลูก ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านเล่าว่าได้ยินเสียงระเบิด 1 ครั้ง ขณะที่การให้ข้อมูลในที่เกิดเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต ของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน โดยฝ่ายทหารพรานเล่าว่า เจอรถยนต์ชาวบ้านแล่นผ่านจุดเกิดเหตุ จึงบอกให้หยุด แต่คนขับกลับใส่เกียร์ถอยหลัง จากนั้นมีคนลงจากรถ พร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกัน 

“ส่วนชาวบ้านเล่าว่า กำลังเดินทางไปละหมาดคนตาย โดยเลี่ยงไปใช้เส้นทางที่ไม่ผ่านฐานบ้านน้ำดำ แต่กลับมาเจอทหารพรานชุดดังกล่าวเรียกให้หยุด จึงหยุดรถ จากนั้นมีผู้ใช้ปืนยิงใส่ชาวบ้านที่มากับรถ ขณะที่ตำรวจระบุว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า มีเหตุปะทะกัน มีคนตาย คนบาดเจ็บ และเจออาวุธปืน” พล.ท.อุดมชัย กล่าว

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยอีกว่า หลังรับฟังข้อมูล กลุ่มชาวบ้านและญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ 1.ให้สับเปลี่ยนทหารพรานชุดดังกล่าวออกนอกพื้นที่ 2.แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริง 3.ให้แก้ไขกรณีที่นายทหารบางคนให้ข่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะกันของแนวร่วมก่อความไม่สงบ เพราะทำเกิดความเข้าใจผิดว่า ชาวบ้านเป็นคนร้าย

“ตอนนี้ผมได้สับเปลี่ยนกำลังขุดดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อลดความหวาดระแวง ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมมองว่า เจ้าหน้าที่ทำตามแผนเผชิญเหตุ ผมยังยึดมั่นที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครผิดใครถูก ทุกอย่างต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐาน และการสอบสวน ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม้ว่าจะเป็นอย่างไร ผมต้องฟังเสียงประชาชน” พล.ท.อุดมชัย กล่าว

เหยื่อเล่านาทีระทึก
นายมะรูดิง แวกาจิ อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแสงประทีปวิทยา ตำบลปุโละปุโย หนึ่งในผู้บาดเจ็บที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี เล่าว่า ก่อนเวลา 20.00 น. วันที่ 29 มกราคม 2555 ที่บ้านของนายยา ดือราแม อายุ 58 ปี คอเต็บมัสยิดบ้านตันหยงบูโล๊ะ ตำบลปุโล๊ะปุโย มีการทำบุญเลี้ยงอาหารเนื่องในวันเมาลิดนบี ขณะนั้นได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น บริเวณฝั่งตรงกันข้ามหมู่บ้าน

นายมะรูดิง เล่าว่า หลังเสร็จละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน นายยาได้ชวนไปละหมาดคนตายที่บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลลิปะสะโง โดยไม่มีใครพูดถึงเสียงระเบิด โดยตนขึ้นไปนั่งที่ท้ายกระบะรถยนต์ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมืดมาก ได้ยินเสียงคนพูดเป็นภาษาไทยให้หยุดรถ แต่มองไม่เห็นตัวคน มีคนตอบกลับไปว่า จะไปละหมาดคนตาย ขณะที่กำลังชะลอความเร็วของรถ มีเสียงปืนดังขึ้นโดยไม่ทราบทิศทางหลายนัด ญาติที่มาด้วยกันกระโดดลงจากรถ ขณะนั้นตนเห็นทหารถือปืนไล่ยิงญาติคนดังกล่าว

นายมะรูดิง เล่าอีกว่า ส่วนตนกระโดดไปหลบอยู่บนพื้นใกล้ล้อรถ เห็นนายยาเปิดประตูรถลงมา แล้วคลานลงไปในป่าข้างทาง ตนจึงคลานตามไป แต่ก็ถูกตามไล่ยิง ตนจึงหนีเข้าไปหลบที่บ้านญาติที่อยู่ไม่ห่างมากนัก ตอนนั้นรู้สึกเจ็บที่แขน จึงรู้ว่าถูกยิง หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเสียงปืนสงบ ตนถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองจิก ก่อนจะถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี

นายมะรูดิง เล่าด้วยว่า ก่อนเดินทางทุกคนขึ้นรถที่บ้านของนายยา และนายยกก็ไม่ได้ขับรถแวะรับใครระหว่างทาง ประกอบกับตอนขึ้นรถ ตนไม่เห็นว่ามีสิ่งของอะไรอยู่ท้ายกระบะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครพกพาอาวุธสงครามขึ้นมากับรถ ตามที่เจ้าหน้าที่บอกว่าพบอาวุธปืนสงครามในรถ ส่วนในห้องคนขับด้านหน้า ก็ไม่น่าจะมีอาวุธสงคราม

นายแวมะกรี แวกาจิ บิดาของนายมะรูดิง เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนและภรรยาอาศัยอยู่ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง หลังทราบเหตุจึงเดินทางกลับทันที สำหรับนายมะรูดิงเป็นลูกชายคนเดียว มีน้องสาวอีก 2 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่กับย่า

แพทย์ยันพ้นขีดอันตราย
นายแพทย์อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 3 คน ได้แก่ นายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ถูกยิงที่ท้องทะลุกระเพาะ แพทย์ได้ผ่าตัดและพ้นขีดอันตรายแล้ว คนไข้รู้สึกตัวดี ส่วนคนที่ 2 นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 79 ปี ถูกยิงที่เท้า กระดูกเท้าแตกทั้งสองข้าง แพทย์ได้ผ่าตัดเย็บแผล อาการปลอดภัยแล้ว คนที่ 3 นายมะรูดิง ถูกยิงที่กระดูกแขนซ้าย แพทย์ผ่าตัดแล้ว ขณะนี้อาการปลอดภัย ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย แพทย์ให้กลับบ้าน

สำหรับผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี นายสาหะ สาแม อายุ 62 ปี นายหะมะ สะนิ อายุ 65 ปี สภาพศพถูกยิงที่บริเวณลำตัวและขาเป็นแผลฉกรรจ์ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ประกอบด้วย นายยา ดือราแม อายุ 58 ปี คอเต็บมัสยิดบ้านกะหยี มีบาดแผลถูกอาวุธเฉียด 1 แผล มีรอยฟกช้ำตามลำตัวจำนวนมาก, ด.ช.มะรูดิง อาแวกือจิ อายุ 15 ปี ถูกยิงเข้าที่แขนขวาหัก 1 นัด, นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี และนายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ทั้งหมดเป็นชาวตำบลปุโล๊ะปูโย

กรรมการอิสลามร้องทุกมัสยิดละหมาดฮายัต
นายอาหะมะ หะยีดือราแม เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากชาวบ้าน และมอบเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละ 2,000 บาท

นายอาหะมะ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า มีผู้ปล่อยข่าวลือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เรียกประชุมผู้นำศาสนาเตรียมเดินขบวนประท้วงที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง เพียงแต่มีการส่งหนังสือเชิญชวนให้ผู้นำศาสนาทุกมัสยิดร่วมประกอบพิธี อารวาฮฺ หรือ การขอพรเพื่อนำส่งผลบุญแก่ผู้ตาย และให้ร่วมละหมาดฮายัตวันศุกร์ เพื่อขอพรจากพระเจ้าให้คุ้มครองประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

นายอาหะมะ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการลุกฮือของผู้ที่ไม่พอใจ เนื่องจากเห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จึงได้ประกาศทางสถานีวิทยุและส่งหนังสือถึงผู้นำศาสนา หมู่ที่ 1 ตำบลปูโล๊ะปูโย ซึ่งเป็นบ้านของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ให้อยู่ในความสงบ พร้อมกับส่งหนังสือเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไปแล้ว

ศูนย์นิติวิทย์ฯตรวจวิถีกระสุน
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกำลังตำรวจ นำรถกระบะคันเกิดเหตุไปตรวจวิถีกระสุน โดยรถมีสภาพถูกยิงบริเวณกระจกด้านหน้า และด้านข้างคนขับแตกทั้งหมด กระบะด้านซ้ายมีรูจำนวนมากทะลุด้านขวา ส่วนรูกระสุนเจ้าหน้าที่ได้นำเหล็กมาเสียบไว้ แสดงวิถีกระสุนยิงจากที่สูงลงจากที่ต่ำ กระสุนที่ยิงเป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 และอาก้า

ผบ.ทบ.ยันไม่เข้าข้างทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากเป็นประชาชนอาจจะไม่เข้าใจคำถามและคำสั่งที่บอกให้หยุดรถ ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ให้กองทัพภาคที่ 4 ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นให้ย้ายกำลังพลที่ถูกกล่าวหาออกนอกพื้นที่แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลต่อการสอบสวน แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการโจมตี และเพิ่มการโจมตีมากขึ้น พร้อมพยายามปลุกปั่นชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบและพร้อมชดใช้และเยียวยาผู้ที่สูญเสียด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และจะไม่เข้าข้างผู้ใต้บังคับบัญชา หากทำเกินกว่าเหตุจะถูกลงโทษ

นายกฯ ปูสั่ง ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้พล.อ.ประยุทธ์ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นต้องให้การดูแลประชาชน และให้ความยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เบื้องต้นขอเวลาให้กองทัพตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อน

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images