Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

ขอยืนยันกับ อ.กิตติศักดิ์ ปรกติ: “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง”

0
0

          ผมเพิ่งอ่านพบข้อเขียนของท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ {1} รุ่นพี่ธรรมศาสตร์ของผมเมื่อวานนี้เอง ทั้งที่อาจารย์ท่านเขียนมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว (ราว 4 เดือนก่อน)  ผมไม่ได้ทำงานการเมือง เลยตกข่าว ไม่ได้ติดตามข่าวสารด้านนี้นัก  แต่ผมเคยเขียนเรื่อง “เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง” เมื่อเดือนมิถุนายน 2554  ผมจึงขอมายืนยันกับอาจารย์กิตติศักดิ์และทุกท่านในเรื่องนี้ครับ

 

ข้อเขียนของอาจารย์กิตติศักดิ์

          ท่านเขียนไว้ว่า “ตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้เห็นได้จากคดี Perry v. Schwarzenegger ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิพากษาไปเมื่อ 4 สิงหาคม ปี 2010 นี้เองว่า ผลการลงประชามติของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2008 ที่มีมติให้แก้รัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียเสียใหม่ เพื่อหวงห้ามมิให้คนเพศเดียวกันทำการสมรสกันได้นั้นขัดต่อหลักความเสมอภาคและขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ตามประชามตินั้น ประชาชนเสียงข้างมากในแคลิฟอร์เนียต้องการให้กำหนดตายตัวลงในรัฐธรรมนูญของแคลิฟอร์เนียทีเดียวว่า การสมรสจะทำได้เฉพาะหญิงกับชายเท่านั้น คำพิพากษาของศาลสูงสหรัฐอเมริกาในคดีนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ศาลตัดสินไปในทางที่ขัดต่อมติมหาชน จัดเป็น Anti-Majoritarian Decision แต่ศาลสหรัฐอเมริกาก็ได้ยอมรับว่า เมื่อเสียงส่วนมากใช้ไปในทางที่ผิด ศาลซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้”

          ผมขอเห็นต่างจากอาจารย์กิตติศักดิ์ ดังนี้:

          1. ประชามติของชาวมลรัฐหนึ่งจะไปขัดกับรัฐธรรมนูญของทั้งสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมาจากฉันทามติของคนทั้งประเทศ) ย่อมไม่ได้อยู่แล้ว  ประชามติของคนกลุ่มย่อยเช่นนี้ย่อมไม่มีผล เช่น ชาวฮาวายจะลงประชามติแยกออกจากสหรัฐอเมริกาคงไม่ได้ มติของคณะโจรว่าจะไปปล้นบ้านไหน ชุมชนไหน ย่อมใช้ไม่ได้เพราะโจรไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในสังคม

          2. อย่างไรก็ตาม หากมีการลงประชามติกันทั่วประเทศห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ต้องแก้กฎหมายตามเสียงส่วนใหญ่ ผู้พิพากษาก็คงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมาตัดสินเป็นอื่นได้

          3. ดังนั้นมันจึงเป็นคนละเรื่องกัน จะกล่าวว่า “ศาล (ผู้พิพากษาไม่กี่คน) ซึ่งแม้เป็นเสียงข้างน้อยที่แสนจะน้อยก็มีหน้าที่ชี้ถูกชี้ผิดให้เสียงข้างมากรับรู้ไว้” ไม่ได้ครับ เพราะเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว

 

อย่าบิดเบือนเสียงส่วนใหญ่

          เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้องนั้นเป็นสัจธรรม แต่กฎทุกกฎก็มีข้อยกเว้น เช่น ในกรณีศิลปวิทยาการ คนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่ไม่มีความรู้ อาจเชื่อว่าโลกแบน แต่ความจริงโลกกลม  หรือเราคงไม่สามารถถามคนส่วนใหญ่ว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไร  เราพึงถามผู้รู้ต่างหาก  อย่างไรก็ตามในกรณีสังคม เศรษฐกิจและการเมือง เสียงส่วนใหญ่ถูกต้องแน่นอน

          บางคนอ้างผิด ๆ ว่าเสียงส่วนใหญ่ก็ตัดสินใจผิดพลาดได้ เช่น กรณีการเถลิงอำนาจของนาซี เยอรมนี โดยอ้างว่าฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงก็คือ การเลือกตั้งในปี 2476 ดังกล่าว นาซีไม่ได้ชนะด้วยเสียงส่วนใหญ่ นาซีได้คะแนนเสียงเพียง 44% เท่านั้น {3} ทั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งสกปรก รวมทั้งการทำลายคู่แข่งของฮิตเลอร์  และแม้นาซีจะชนะการเลือกตั้งใน 33 จาก 35 เขตเลือกตั้ง ก็เป็นการชนะด้วยเสียงข้างมากแต่ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่อยู่ดี

          โดยสรุปแล้วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เป็นเรื่องของปุถุชน ทุกคนรู้เท่าทันกัน เสียงส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ ไม่มีใครโง่กว่าใคร  ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นในเสียงส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นจะถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรืองมงายเอง ซึ่งไม่ใช่ปรากฏเฉพาะปุถุชน แม้แต่ อาจารย์ระดับดอกเตอร์ชื่อดังยังหลงคารมเปรตกู้มาแล้ว หรือพวกคุณหญิงคุณนาย นายทหารใหญ่ ๆ ไปหลงเคารพอลัชชีทั้งหลาย เป็นต้น

อย่าหลงกับ “คนดี”

          ท่านอาจารย์กิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่า “      หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ดำรงอยู่ได้ไม่ใช่เพราะตั้งอยู่บนฐานของเสียงข้างมากเฉยๆ . . . อำนาจสูงสุดแม้จะเป็นของประชาชน แต่ก็จำกัดโดยกฎหมายเสมอ และกฎหมายที่ว่านี้มีอยู่อย่างไรก็ต้องตัดสินโดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นอิสระ . . . ที่ว่าเป็นอิสระในที่นี้ก็คือต้องเป็นคนกลาง ที่เข้าสู่ตำแหน่งเพราะมีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางคุณวุฒิ และทางคุณธรรม ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ แต่ตั้งขึ้นจากบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่พอจะทำให้น่าเชื่อได้ว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนมีคุณวุฒิเป็นผู้รู้กฎหมาย รู้ผิดชอบชั่วดี และเป็นผู้ทรงคุณธรรมคือวินิจฉัยตัดสินคดีไปตามความรู้และความสำนักผิดถูกของตน โดยตั้งตนอยู่ในความปราศจากอคติ และมีหลักเกณฑ์ทางจรรยาบรรณคอยควบคุม”

          ศาลรัฐธรรมนูญของไทยชุดนายอุระ หวังอ้อมกลาง ก็ถูก คปค (คมช) ยุบทิ้งไป  กระบวนการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากวุฒิสภาซึ่งมาจาก คมช. อีกทอดหนึ่งหลังจากว่างเว้นไป 2 ปี จะประกันได้อย่างไรว่า “ไม่ใช่ตั้งกันตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ”  นอกจากนั้นจากการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 {4} พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (57%) ไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 37.62 ไม่ค่อยเชื่อมั่น ส่วนร้อยละ 19.31 ไม่เชื่อมั่น) ส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื่อมั่น (ร้อยละ 25.53 ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 17.54 เชื่อมั่นมาก)  ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญก็เพราะ “เพราะการตัดสินคดีที่ผ่านมา มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางคดีมองว่าเป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน”

          คำถามสำหรับประเทศไทยก็คือ ข้าราชการตุลาการได้รับการพิสูจน์อย่างเพียงพอจากสังคม หรือไม่ว่าเป็นคนดีจริง ไม่มีนอกมีใน ประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมและตรวจสอบที่เข้มงวดต่อบุคลากรเหล่านี้เช่นในประเทศที่เจริญหรือไม่ หรือความเป็นคนดีเป็นแค่ข้อกล่าวอ้าง แต่ไม่เคยพิสูจน์  ถ้าเป็นเช่นนั้นสังคมอาจมีข้อกังขา เข้าทำนอง “อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” นั่นเอง

ต้องเคารพประชาชน

          ในประเทศที่เจริญ เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ว่าถูกต้อง แต่ “กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น” ในกรณีศิลปวิทยากรดังข้างต้น  และด้วยข้อยกเว้นเหล่านี้ พวกเผด็จการทรราชจึงนำมาบิดเบือน สร้างความสับสนด้วยการอุปโลกน์ตนเป็นผู้นำ เป็นผู้รู้ เป็นอภิชนเหนือคนอื่น และข่มว่ามหาชนเป็นคนโง่ ถูก “ฟาดหัวด้วยเงิน” ได้โดยง่าย ไร้สามารถ ขาดศักยภาพในการตัดสินใจ จำเป็นต้องมีผู้ยิ่งใหญ่ที่สวรรค์ส่งมาเพื่อนำทางให้อยู่เสมอ ๆ

          การบิดเบือนเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อให้ท้ายพวกเผด็จการทรราชมาทำการรัฐประหาร แล้วมาควบคุมประชาชน  แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็มาโกงกิน  ดังเช่นที่เห็นตั้งแต่สมัยสฤษดิ์ สามทรราช รสช. หรืออาจรวม คมช. ด้วยก็ได้ มีใครเชื่อบ้างว่ารัฐบาลสุรยุทธ์และรัฐมนตรีเหล่านั้นใสสะอาดกว่ายุคอื่น ในยุคเผด็จการทรราชมักมีการโกงกินมากกว่าพวกนักการเมืองพลเรือนเพราะขาดการตรวจสอบและเพราะมักอ้างตนมีคุณธรรมเหนือผู้อื่น

          เผด็จการทรราชยังใช้อำนาจเขียนประวัติศาสตร์บิดเบือนต่าง ๆ นานา เช่น ในสมัย 6 ตุลาคม ก็หาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ก็จัดแสดงนิทรรศการอาวุธในธรรมศาสตร์ที่สนามไชย ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักศึกษาผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเชื่อว่าไม่เคยมีอาวุธสงครามเช่นนั้น หาไม่ตำรวจ ทหารและกลุ่มฝ่ายขวาที่บุกเข้าไปคงต้องเสียชีวิตกันมากมายไปแล้ว

          ประชาชนมักถูกมองว่าเป็นแค่ “ฝุ่นเมือง” หรือ “ปุถุชน” (บุคคลผู้มีกิเลสหนา) แต่ในความเป็นจริง สัจธรรมอยู่ในคนหมู่มาก จึงมีคำพูดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”  ปุถุชนหรือสามัญชนนี่แหละคือเจ้าของประเทศตัวจริง  ไม่ว่าชนชั้นปกครองจากชาติใด ราชวงศ์ใด หรือลัทธิใดมาครอบครอง สามัญชนก็ยังอยู่สร้างชาติ รักษาความเป็นชาติ เช่นที่เห็นได้ในประวัติศาสตร์จีน เกาหลี หรือล่าสุดในสมัยสงครามเวียดนามที่มีเพียงประชาชนระดับบนที่มีฐานะและโอกาสที่ดีกว่าที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อความอยู่รอดส่วนตัว  ดังนั้นเราจึงต้องตระหนักถึงคุณค่าของมวลมหาประชาชนแทนที่จะไปยกย่องทรราช

 

อ้างอิง:

{1}   กิตติศักดิ์ ปรกติ. สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน ปรกติ 28 กันยายน 2554 www.manager.co.th/daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000123483

{2}   โสภณ พรโชคชัย. เสียงส่วนใหญ่คือความถูกต้อง. http://prachatai.com/journal/2011/06/35438

{3}   การเลือกตั้งในเยอรมนี German federal election, March 1933. http://en.wikipedia.org/wiki/German_federal_election,_March_1933

{4}   ดุสิตโพลคนกรุง 37.62% ไม่เชื่อศาล รธน.-“วสันต์” แนะตั้ง ส.ส.ร.แก้ รธน. ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 สิงหาคม 2554 18:51 น. http://www.manager.co.th/Politics/Viewnews.aspx?NewsID=9540000103816

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายเปิดผนึก: จากศิษย์เก่าดีเด่นคนหนึ่งถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นที่รัก

0
0

            ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองของสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในบางคราวมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้กลายถูกมองเป็นเสมือนคบเพลิงส่องทางสว่างไสวแก่ผู้คน แต่ในบางคราวก็ต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าโจมตีว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์แต่แรกเริ่มของมหาวิทยาลัย

            ในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การดำเนินบทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญก็กำลังเผชิญกับคำถามและข้อสงสัยจากผู้คนอย่างกว้างขวาง อันปรากฏขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ซึ่งได้ทำให้การเมืองในสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับการแบ่งสีแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงคาดความหมายที่มีสถาบันทางสังคมการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญจากแต่ละฝ่าย

            มหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาระดับสูงควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อความขัดแย้งในทางการเมือง เป็นคำถามสำคัญที่สังคมเองก็มีความคาดหวังอยู่แม้จะไม่มากก็ตาม

            แน่นอนว่าเราคงไม่อาจคาดหวังให้บุคคลที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีทรรศนะในทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับตัวเรา เพราะความขัดแย้งครั้งนี้มีประเด็นที่สามารถถกเถียงและให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ได้ในหลากหลายชุด ซึ่งต่างก็มีเหตุผล ข้อมูล ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปเป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งมหาวิทยาลัยมิใช่ดินแดนสรวงสวรรค์ที่ผู้คนหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงในทางสังคมล้วนต่างก็ย่อมตกอยู่เงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคมนี้ด้วยเช่นกัน

            แต่มหาวิทยาลัยในฐานะของสถาบันการศึกษาควรจะถูกวางบทบาทเอาไว้ตรงไหน อย่างไร

            มหาวิทยาลัยในสังคมปัจจุบันเป็นแหล่งที่ถูกคาดหมายในด้านของภูมิปัญญาความรู้เมื่อต้องเผชิญกับความยุ่งยากต่างๆ ยิ่งนับวันที่สภาพสังคมมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็ถูกคาดหมายในระดับที่สูงขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างได้ทั่วถึง

            ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างลึกซึ้งในห้วงเวลาปัจจุบัน เราได้เห็นภาพของการแสดงจุดยืนของบุคคลแต่ละฝ่ายออกมาอย่างแข็งขัน พร้อมกันไปกับการโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างหรือยืนอยู่ในคนละฝั่งอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นการปลุกเร้าผู้ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับตนและทำให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย

            ที่สำคัญอาการเกลียดชังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและขยายตัวออกกว้างขวางด้วยผู้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหฤหรรษ์

            การแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้กลายเป็นปมประเด็นที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมต้องการที่จะหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในชีวิตและเสรีภาพซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการแสดงความเห็นของตน อีกทั้งความเห็นที่แตกต่างก็ดำเนินไปในทิศทางของการแสดงจุดยืนมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นหรือทรรศนะของแต่ละฝ่าย

            เมื่อต้องเผชิญการแสดงความเห็นที่สั่นคลอนความเชื่อที่เคยเป็นมาอย่างรุนแรง รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างติดตามมา ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนำซึ่งความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างแน่นอน

            มหาวิทยาลัยจะเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร ทางหนึ่งที่มักเห็นกันบ่อยครั้งก็คือการใช้อำนาจในการปิดกั้นไม่ให้เกิดการแสดงความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้น ซึ่งไม่สู้เป็นประโยชน์ทั้งกับสถาบันและกับสังคมโดยรวมแต่อย่างใด

            หนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เกิดการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่เป็นประโยชน์ก็คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ของการถกเถียงในประเด็นปัญหาอย่างตรงไปตรงมา บนฐานของข้อมูลและความรู้ระหว่างบุคคลในฝ่ายต่างๆ บทบาทในลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เกิดความงอกงามในทางปัญญาและการเรียนรู้เท่านั้น หากแต่จะเป็นแนวทางเพื่อทำให้เกิดการสนทนาระหว่างผู้คนให้สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน อันเป็นภาพที่หาได้อย่างยากเย็นยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันระหว่างผู้ซึ่งสมาทานแนวความคิดที่แตกต่างกัน

            บทบาทดังกล่าวจะช่วยทำให้การกล่าวหาและป้ายสีกันแบบไร้เหตุผลในทางการเมืองมีความหมายน้อยลง เมื่อสีต่างๆ เจือจางลงก็คงจะทำให้สังคมสามารถมองเห็นใบหน้าที่มีชีวิตของอีกฝ่ายในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งได้มากขึ้น

            ในด้านของการแสวงหารู้ การเปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนนับเป็นห้องเรียนไม่เป็นทางการเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรยายตามตารางสอน และเป็นการให้การเรียนรู้กับนักศึกษาและบุคคลภายนอกได้อย่างดียิ่ง

            แน่นอนว่าการตระหนักถึงการสร้างความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรต้องตระหนักถึง หากเห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่กำลังจะก้าวเดินไปสู่เหตุการณ์ที่มีเลือดตกยางออกหรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บล้มตาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึงระวังมิให้ถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างเพื่อปิดปากฝ่ายอื่นที่มีความเห็นต่างๆ ตามอำเภอใจ    

            สังคมไทยตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน และสถานการณ์เช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไป บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการนำเสนอแนวทางเพื่อก้าวข้ามให้พ้นไปจากความยุ่งยากนี้เป็นภาระหน้าที่ประการหนึ่ง  

            และภาระหน้าที่ดังกล่าวนี้คงไม่อาจจำกัดไว้เพียงเฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น หากหมายรวมไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งอื่นด้วยเช่นกันที่จะช่วยนำพาสังคมไทยให้เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างสันติและสงบ มากกว่าเพียงการคลั่งไคล้อยู่กับการจัดอันดับที่สูงขึ้นของมหาวิทยาลัยในระดับโลกโดยไม่สนใจถึงปัญหาความขัดแย้งที่กำลังคุโชนอยู่ภายสังคม ณ ห้วงเวลานี้


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยุกติ มุกดาวิจิตร: เสรีภาพใต้ระบอบกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ

0
0

สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ลักษณะพิเศษของสังคมไทย เพราะในโลกนี้มีสังคมมากมายที่มีสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่สวาซีแลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ ไปจนถึงญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มหาอำนาจทางการเมือง หรือมหายาจก ต่างก็มีสถาบันกษัตริย์กันทั้งสิ้น 

แต่หากเราจะอยู่กันอย่างประเทศอารยะแล้ว เราควรจะนับเอาประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ที่วางอยู่บนหลักมนุษยนิยมมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียง อย่างไรก็ดี ในข้อเขียนนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ประสงค์จะเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ของประเทศต่างๆ แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่า ความนิยมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทย ที่กำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพในสังคมไทยอยู่นั้น หรือเรียกสั้นๆได้ว่า "ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ" นั้น มีลักษณะพิเศคือ เป็นกษัตริย์นิยมที่เป็นปฏิปักษ์กับมนุษยนิยม ดังจะเห็นได้ไม่ยากจากปฏิกิริยาที่นักกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ มีต่อการต่อต้านคณะนิติราษฎร์และคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ดังนี้

ประการแรก กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่นิยมเหตุผล เหตุผลเป็นมาตรฐานสำคัญของการวัดความเป็นมนุษยนิยม รายที่แย่หน่อยก็มักด่ากราด ทำลายความเป็นมนุษย์ของเหยื่อด้วยสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะทางภาษาหรือการตัดต่อภาพ บางรายใช้ความเชื่อแบบยุคก่อนมาสาปแช่ง ให้ตกนรกบ้างล่ะ ให้ธรณีสูบบ้างล่ะ โดยหารู้ไม่ว่าไม่มีนักมนุษยนิยมคนใดเขาเชื่อนิทานเหล่านี้กันแล้ว แต่นี่ยังนับว่าเป็นความไร้เหตุผลแบบก่อนสมัยใหม่ที่ตกยุค บางทีกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ก็กล่าวหาคนอย่างเลื่อนลอย เช่น แม้ว่าในข้อเสนอของนิติราษฎร์ แม้ไม่มีข้อความใดบ่งชี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทางที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่นักเขียนใหญ่รายหนึ่งก็ยังตะแบงป้ายสีไปน่ำขุ่นๆ ได้ว่า "ผมอ่านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อย่างไรๆ ก็ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่ากลุ่มนิติราษฎร์เห็นว่า ราชอาณาจักรไทยหรือประเทศไทยไม่จำเป็นต้องอาศัยพระมหากษัตริย์เป็นประกันความมั่นคงต่อไปอีกแล้ว" กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงมักอาศัยสัญลักษณ์ห้วนๆ มาป้ายสีเหยื่อ หรือคิดหาสัญลักษณ์อะไรมาไมาได้ ก็ย้ำความเชื่อของตนเอาเองแบบไม่ต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนอะไรเลย ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นการเปิดประตูให้ความชั่วร้ายของกษัตริย์นิยมไทยๆ แบบรุนแรง เข้ามาทำร้ายสังคมไทย

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ บางรายยอมแลกการบูชาลัทธิกษัตริย์นิยม กับการทำลายหลักการพื้นฐานของมนุษยนิยม คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ แบบนี้ไม่ยอมแม้แต่จะให้มีการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ หรือไม่ยอมแม้แต่จะให้เอ่ยถึง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาตร้าย ไม่ว่าใครจะกล่าววิจารณ์อะไรต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะเป็นการ "จาบจ้วง ล่วงเกิน" ไปเสียทั้งสิ้น กษัตริย์นิยมประเภทนี้ไม่ยอมรับความเท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของมนุษยนิยมและประชาธิปไตย 

นับวัน กษัตริย์นิยมแบบนี้จะค่อยๆ หมดไปในสังคมชนบท "ความทรงจำ" ต่อภาพงดงามของ "พระราชอำนาจ" ส่วนใหญ่เหลือตกค้างอยู่แก่เฉพาะกับคนในเมือง ที่อบอุ่นสุขสบายบนซากศพการตายที่ชายขอบ เพราะการสร้าง "พระราชอำนาจนำ" ขึ้นมาในท้องถิ่นชนบทห่างไกลดังในอดีตนั้น เกิดขึ้นตามยุคสมัยของการต่อสู้กับภัยคุกคามความมั่นคงสมัยหนึ่ง แต่ในสมัยปัจจุบัน บทบาทพระราชอำนาจนำจำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ไม่ใช่ในแบบที่เคยคุ้นกันมา แต่ในเมื่อการอภิปรายถึงบทบาทพระมหากษัตริย์ในบริบทใหม่ถูกปิดกั้นเสียแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าพระราชอำนาจนำแบบใดที่เหมาะสมกับสังคมประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ต้องการ

ประการที่สาม กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ หาได้รักเทิดทูนเจ้านายทุกๆ พระองค์ใน "สถาบันพระมหากษัตริย์" อย่างเสมอเหมือนกันไม่ กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ แยกแยะพระมหากษัตริย์ออกจากเจ้านายพระองค์อื่นๆ รักบางพระองค์ เทิดทูนเพียงบางพระองค์ กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงไม่แม้แต่จะให้ความเท่าเทียมกับทุกๆ พระองค์ เจ้านายบางพระองค์จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์แม้แต่จากกลุ่มกษัตริย์นิยมด้วยกันเอง หากแต่กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่ยอมรับสิทธิเท่าเทียมกันในการวิจารณ์เจ้านาย มีเพียงพวกพ้องของชนชั้นนำเท่านั้น ที่จะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์เจ้านายได้ อย่างไรก็ดี ในสังคมไทย เราย่อมทราบกันดีว่า นักลัทธิกษัตริย์นิยมก็เป็นนักนินทาเจ้านายเชื้อพระวงค์ไปจนถึงพระบรมวงศานุวงค์กันแทบทุกคนไป

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ วางความยุติธรรมอยู่บนลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ คือความยุติธรรมที่แทบจะปราศจากหลักมนุษยธรรม ดังคำกล่าวของโฆษกศาลยุติธรรม ที่ลงท้ายบทความ "อากงปลงไม่ตก" (2) ที่ว่า "ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเอาคำกล่าวในอดีตที่เคยพูดกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสร้างชาติให้มีสันติสุขอย่างถาวรยั่งยืนคือ 'อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก และอย่าแยกแผ่นดิน'" หากโฆษกศาลยุติธรรมกล่าวเช่นนี้เสียเองแล้ว จะให้ประชาชนมั่นใจได้อย่างไรว่า ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จะไม่กลายเป็นอคติครอบงำศาลเสียจนไม่สถิตความยุติธรรมในระบอบประธิปไตยที่ต้องวางอยู่บนหลักมนุษยนิยมอีกต่อไป ความยุติธรรมในแบบมนุษยนิยมคือการให้ความเป็นธรรมต่อข้อเท็จจริง ถือว่ามนุษย์เสมอเหมือนกัน พร้อมๆ กับความมีมนุษยธรรมตามสมควร แต่หากสาธารณชนสงสัยว่า การตัดสินของศาลจะมุ่งพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์เหนือกว่าพิทักษ์สิทธิของความเป็นมนุษย์แล้ว กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ก็กำลังทำลายมนุษย์เพื่อปกป้องลัทธิบูชาของพวกพ้องตนเองเท่านั้น

ประการที่ห้า กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ยอมให้มีลัทธิกษัตริย์นิยมแบบเดียว คือแบบไทยๆ ที่วางอยู่บนระบอบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำกลุ่มน้อย ความนิยมต่อพระมหากษัตริย์แบบไทยๆ อย่างอื่น คือแบบเป็นเหตุเป็นผล แบบที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยสากล แบบที่จะต้องแยกอำนาจสถาบันกษัตริย์ออกจากอำนาจทางการเมืองโดยเด็ดขาดนั้น ถือว่าเป็นแบบที่ไม่ถูกต้อง กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงคับแคบ ไม่ยินดียอมรับข้อเสนอของกษัตริย์นิยมแบบประชาธิปไตยสากล เนื่องจากกลุ่มพวกพ้องของตนเองที่ปกป้องกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ นี้เท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากช่องว่างในการอิงแอบ ดึงเอาสถาบันกษัตริย์ลงมาแปดเปื้อนกับการเมือง กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ พิทักษ์อำนาจและข่ายใยของการอุปถัมภ์ค้ำชูพวกพ้องที่อิงแอบอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์กษัตริย์ 

ประการต่อมา กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่มีมนุษยธรรม ยอมให้มีการฆ่าล้าง ประหัตประหารมนุษย์ได้ หากแม้นว่ามนุษย์นั้น (ที่มักถูกเรียกในสำนวนครึๆว่า "อ้ายอีคนใด") ไม่นิยมลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ของพวกตน กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงไม่เคยห้ามปรามการกระทำรุนแรง การมุ่งอาฆาตมาตร้ายเพื่อนมนุษย์ในนามของกษัตริย์นิยม ประหนึ่งว่า การฆ่าคนนอกลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ นั้นชอบแล้ว กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ไม่เคยประณามชนวนของการเข่นฆ่าอย่างรุนแรง มากไปกว่าจะไปร่วมยุยงให้เกิดการเข่นฆ่าผู้คนที่วิจารณ์เจ้านายชั้นสูงอย่างมีเหตุมีผล สำหรับนักลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ การไล่ล่าทุบตีคนที่ไม่ยืนฟังเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ น่ายกย่องเกินกว่าจะถูกทักท้วงหรือดำเนินคดีตามหลักมนุษยนิยม

ในที่สุด ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จึงสร้างความกลัวไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่นักการเมืองผู้สู้เพื่อประชาชนตั้งแต่พฤษภาคม 2535 ยังเกรงกลัว ออกโรงมาตักเตือนให้นิติราษฎร์และ ครก.112 หยุดการเคลื่อนไหว ซ้ำร้ายย่ิงกว่านั้น กษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ทำให้แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยยังต้องกลัว ลัทธิกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ ในปัจจุบันจึงดำเนินมาถึงขั้นที่มันไม่ต้องทำงานเองอีกต่อไป มันไม่ต้องออกแรงมาทำร้ายผู้คนอย่างบ้าคลั่งเหมือนเมื่อเช้าวันที่ 6 ตค. 2519 อีกต่อไป แต่มันทำงานด้วยการทำให้คนยอมรับเอาความกลัวเข้ามา การข่มขู่เพียงเล็กน้อยประกอบด้วยภาพหลอนความรุนแรงในนามของกษัตริย์นิยมที่สถาบันการศึกษาเองก็ไม่สามารถพูดถึงตรงไปตรงมาได้ ก็มีพลังเพียงพอที่จะบีบให้สถาบันการศึกษารับความกลัวเข้ามาเป็นเหตุในการปิดปากตนเอง 

เมื่อศาลก็ถูกสงสัยว่าจะทำงานในนามกษัตริย์นิยมแบบไทยๆ จนไม่อาจพิทักษ์มนุษยนิยมได้แล้ว และปราการสำคัญที่จะปกป้องมนุษยนิยม คือมหาวิทยาลัย อันเป็นสถาบันขั้นสูงของการใช้แห่งเหตุผล ยังกลับปิดกั้นตนเองเพราะความกลัวเสียอีก แล้วจะยังคงหลงเหลือสื่อมวลชน สาธารณชนทั่วไป หรือใครที่ไหนที่จะมาปกป้องความเป็นมนุษย์อยู่อีกต่อไป

 

                                                                        ขอร่วมไว้อาลัยแด่ความตายของเสรีภาพที่ธรรมศาสตร์
                                                                                                1 กุมภาพันธ์ 2555
                                                                                                    ยุกติ มุกดาวิจิตร

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

0
0

ศิษย์เก่า-ปัจจุบันที่ดำเนินการล่ารายชื่อขอคำตอบจากคณบดีกรณีไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดงานเสวนากฎหมายหมิ่นฯ เปลี่ยนใจไม่วางพวงหรีดและสืบชะตา หวั่นเกิดเหตุปะทะของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย หันมาชูป้ายรณรงค์และให้ข้อมูลแก่นักศึกษา บุคลทั่วไป ด้านคณบดียืนยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 12.12 น. ที่ใต้ตึกวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน ภายใต้ชื่อกลุ่ม “กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ” จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ของคณบดี และคณะผู้บริหารของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง โดยมีการอ่านแถลงการณ์โต้แย้งคำชี้แจงของคณบดีฯ ชูป้าย ให้ข้อมูล และชี้แจงการออกมารณรงค์ของกลุ่มจากตัวแทนศิษย์เก่าของแต่ละรุ่น พร้อมทั้งการควบคุมดูแลอย่างเข้างวดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในขณะที่กลุ่มฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าว มีกลุ่มนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง มารวมตัวชูป้ายเพื่อปกป้องเกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และให้กำลังใจคณบดี พร้อมกับพูดว่านิสิตปัจจุบันไม่อยากให้จัดเสวนาเรื่อง“สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” เพราะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน

หลังจากนั้น รศ. สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองพร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้เดินทางลงมาชี้แจง พร้อมทั้งยืนยันว่าที่จริงแล้วคณบดีและผู้บริหารไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการแต่อย่างใด ให้ทางกลุ่มผู้รณรงค์กลับไปอ่านแถลงการณ์อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกันนั้นได้มีการมอบช่อดอกไม้จากคณบดี ผู้บริหาร และนักศึกษาฝ่ายที่มาชูป้ายปกป้องเกียรติของคณะ ให้แก่กลุ่มผู้รณรงค์อีกด้วย

สำหรับตัวแทนกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ กล่าวแสดงความยินดีสำหรับการกลับมาอีกครั้งของสิทธิเสรีภาพในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แต่ในขณะเดียวกันนี้ ทางกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการระบุว่าจะติดตามเฝ้าระวังการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และด้านอื่นๆ ของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง รวมทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป

แถลงการณ์

กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ

เรื่อง ข้อโต้แย้งต่อคำชี้แจงของคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

……………………………………………………………………………………………………………

สืบเนื่องจากกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ ได้ทำจดหมายเปิดผนึกขอทราบเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และมีการระดมรายชื่อนิสิตปัจจุบัน ศิษย์เก่า และบุคคลทั่วไปเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องเสรีภาพในการจัดเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครองให้กลับมามีเสรีภาพอีกครั้งหนึ่ง และคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อกรณีการไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง เหตุผลที่คณบดี และผู้บริหารฯชี้แจงนั้น ทางกลุ่มฯ พิจารณาแล้วมีมติว่า เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผล และไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่น่าจะรับฟัง โดยกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ ขอโต้แย้งความจริงใจในการชี้แจงของคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ดังต่อไปนี้

ประเด็นชี้แจงข้อที่ 1 ที่คณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชี้แจงว่า “...การจัดเสวนาวิชาการเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิด ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสาร ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อย และการป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น...ซึ่งประเมินการรักษาความปลอดภัยแล้วว่าไม่สามารถปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที...” ประเด็นข้อชี้แจงนี้ทางกลุ่มฯขอโต้แย้งว่า จากการสอบถามถึงรูปแบบของการจัดเสวนาวิชาการ และขอบข่ายเนื้อหาสาระที่จะมีการแลกเปลี่ยนในการเสวนาวิชาการนั้นมิได้มีรูปแบบการไฮปาร์ค การโต้วาที หรือการใช้อารมณ์/อคติที่สุดโต่งในการนำเสนอความคิดเห็น ในทางตรงกันข้ามเวทีเสวนาวิชาการที่จะเกิดขึ้นเป็นเวทีที่จะให้กลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างทางความคิดได้แสดงเหตุผลหักล้างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศของความเป็นวิชาการซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปทางวิชาการที่จะเป็นทางออกของสังคมไทย และเวทีดังกล่าวนี้ยังเป็นเวทีที่จะให้ข้อมูลทางวิชาการทั้งสองด้านซึ่งจะขจัดความกังวลในประเด็นภาวะความสับสนของข้อมูลข่าวสาร อนึ่งการดำเนินการเช่นนี้ทางกลุ่มฯประเมินว่า จากบริบทของส่วนภูมิภาค และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในเวทีวิชาการของส่วนภูมิภาค (มหาสารคาม) ไม่น่าจะมีความรุนแรงที่จะทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิต ทรัพย์สิน การที่คณบดี และผู้บริหารฯ ชี้แจงโดยอ้างเหตุผลข้างต้นเป็นการประเมินสถานการณ์ที่เทียบเคียงบริบทของสถานการณ์ที่เกินเลยความเป็นจริง และชี้นำให้เกิดความรุนแรงท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นวิชาการ

ประเด็นที่ 2 ที่คณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ชี้แจงว่า “...ยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการ...เล็งเห็นถึงความเป็นกลางซึ่งต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัดไม่เอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด...จึงร้องขอให้จัดกิจกรรมในนามของกลุ่มบุคคล โดยไม่ใช้นามของหน่วยงาน...และดำเนินการจัดกิจกรรมได้ในสถานที่อื่นที่เหมาะสมกว่า (ที่มิใช่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง) โดยให้เหตุผลว่าอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิตและบุคลากรในภาพรวมองค์กรวิทยาลัยการเมืองฯ” ประเด็นข้อชี้แจงนี้ทางกลุ่มฯข้อโต้แย้งว่า หากคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการ และยังรักษาความเป็นกลางจริง การที่คณบดี และผู้บริหารไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองก็เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และไม่เป็นกลาง อันเนื่องด้วยไม่เคารพในสิทธิที่พึ่งมีในการที่จะใช้สถานที่ และปรามาศผู้เข้าร่วมในท่วงทำนองที่เป็นกลุ่มบุคคลที่ไร้อารยะ และมักใช้ความรุนแรง

ในประเด็นร้องขอให้จัดกิจกรรมในนามกลุ่มบุคคล และจัดในพื้นที่อื่นที่มิใช่วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ทางกลุ่มฯพิจารณาแล้วมีมติว่า การร้องขอเช่นนี้เป็นการทำลายหลักการ และเป้าหมายของการจัดตั้งหน่วยงานซึ่งมีวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งว่า เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ และเป็นหน่วยงานที่ให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา รวมทั้งให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ในการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นการผลักภาระความรับผิดให้พ้นจากหน่วยงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงเกิดขึ้นในหน่วยงานที่มีปรัชญาว่า “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”

ประเด็นความกังวลที่คณบดี และผู้บริหาร กังวลว่าการจัดกิจกรรมอาจส่งผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิต และบุคลากรวิทยาลัยการเมืองการปกครองนั้น ทางกลุ่มมีมติว่า ทางกลุ่มพึงระวัง และให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ตลอดระยะเวลาการทำกิจกรรมที่ผ่านมา ยังไม่มีเหตุการณ์/กิจกรรมใดๆที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ทั้งๆที่นิสิต และบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองการปกครองมีความคิดที่แตกต่าง ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่านี่คือความสวยงามของบรรยากาศทางวิชาการ และเป็นมนต์ขลังของความเป็นประชาธิปไตยอันเกิดจากการมีเสรีภาพทางวิชาการ อนึ่งหากคณบดี และผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครองกังวลต่อประเด็นนี้จริง ทางกลุ่มฯขอเรียกร้องคณบดี และผู้บริหารว่า ไม่ควรบิดเบียนวัตถุประสงค์ของการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครองของกลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ และยุติการใช้เหตุผลที่ไม่ใช่เหตุผลที่ทางกลุ่มแสดงจุดยืนไว้ต่อสาธารณะอันเป็นการบิดเบือนข้อมูล และเป็นการเสี้ยมให้เกิดความรุนแรงขึ้นในการทำกิจกรรม

ทางกลุ่มฯขอเน้นย้ำ และแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ว่า เราจะเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการให้เกิดขึ้นในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง และจะปกปักรักษาเกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองการปกครองในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่จัดการเรียนการสอนทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ และเป็นหน่วยงานที่ให้เสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา รวมทั้งให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นพื้นที่ในการถกเถียงทางวิชาการ

กลุ่มฯเคารพในความแตกต่างทางความคิด เคารพในการวิพากษ์ที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผล และเคารพในความเป็นมนุษย์ที่มีอารยะ รวมถึงเคารพในความเป็นครู อาจารย์ที่สร้างสรรค์ให้เกิดความงอกงามทางปัญญา

ด้วยจิตคารวะ และเชื่อมั่นสิทธิเสรีภาพ

กลุ่มรักวิทยาลัยการเมืองการปกครองเพื่อเสรีภาพทางวิชาการ

02/02/2012…12.12 น.

องค์กร/บุคคลที่ร่วมเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

ขบวนการคนหนุ่มสาวอีสาน, กลุ่มกิจกรรมปุกฮัก, ชมรมฅนสร้างฝัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ชมรมรัฐศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, กลุ่มอิสระเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายและสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นายวิทยา แสงปราชญ์ นายอนุวัฒน์ พรหมมา นายเจษฎาวุฒิ อโนวัน นายอธิป ชุมจินดา
นางสาวดวงทิพย์ ฆารฤทธิ นายสุเทพ ศิริวาโภ นายโอภาส สินธุโคตร นายกิตตินันท์ นาชัยคำ
นายโกเมน จันทะสิงห์ นางสาวปรางค์ทิพย์ มั่นธร นายทิวา นินทะสิงห์ นายวรวิทย์ สีหาบุญลือ
นางสาวกนกพร กรกระโทก นางสาวภรณ์ทิพย์ มั่นคง นายอิทธิพล สีขาว นายเรืองฤทธิ์ โพธิพรม
นายชัชรินทร์ ชัยดี นายณัฐพงษ์ ราชมี นายปิยะวัฒน์ นามโฮง นายศรายุทธ ศิลา
นายสกล ภูชัยแสง นายยุทธนา ลุนสำโรง นายปกรณ์ อารีกุล นายศักดิ์ระพี รินสาร
นายปรินทร์ ฮอหรินทร์ นางสาวสุภาวดี สายภัยสง นางสาวกุสุดา โจทก์มีชัย นายดิน บัวแดง พัชรี แซ่เอี้ยว
นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา นายอรรถพล ทุมสวัสดิ์ นายภูมินทร์ พาลุสุข นายบัณฑิต หอมเกษ
นางสาวพลอยชมพู ชมภูวิเศษ นายวัฒนะ บูรณ์เจริญ นายศรวิษฐ์ โตวิวิชญ์ นายณัฐพล อิ้งทม
นางสาวอารยา ทองดี นายอุเชนท์ เชียงแสน นางสาวนิภาภรณ์ ซับขุนทด นายธนิสสร มณีรักษ์
นางสาวนิตยา ราชประสิทธิ์ นางสาววราพร ครามบุตร นางสาวธิติมา บุคสิงหา นายพลิศ ลักขณานุรักษ์
นายสุรชิต วรรณพัฒน์ นายวรุฒ จักรวรรดิ นายมงคล ชูเสน นางสาวสิริสกุล คีรีรัตน์ นายศรัญยู เดชทิม
นางสาวเจษฎาภรณ์ พิณเหลือง นางสาวสุดารัตน์ บุญธรรม นางสาวพรพิมล สันทัดอนุวัตร นางสาวจีระภา มูลคำมี
นายศตคุณ คนไว นายจิรทีปต์ ขัดมะโนแก้ว นายยุทธศักดิ์ วรวิเศษ นายพิษณุเดช สุคำภา
นางสาวสุทธิพร พุ่มศรี นายวิษณุ อาณารัตน์ นายวิทยา พันธ์พานิชย์ นายอภิชาต จำปาเทศ
นางสาวศิริภรณ์ จิตติแสง นางสาวธัญญา ทุมวารีย์ นายชำนาญ ยานะ นางสาวพิมระวี เสียงหวาน
นายเทิดพันธุ์ พวงเพ็ชร นายกิตติพงษ์ นาสมยนต์

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

คณบดี มมส. มอบดอกไม้ให้น.ศ. ยันไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ กลุ่มรณรงค์ระบุจับตาต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มธ.ระอุ กลุ่มสนับสนุน-คัดค้านนิติราษฎร์แสดงจุดยืน

0
0

กลุ่มศิษย์เก่าวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ชุมนุม-ร้องเพลงสรรเสริญหน้าลานปรีดี แจงต้องคัดค้านเพราะนิติราษฎร์ละเมิดเสรีภาพของในหลวง ในขณะที่อีกกลุ่มแสดงจุดยืนหนุนนิติราษฎร์บริเวณใกล้เคียง แต่ไม่มีเหตุรุนแรง

2 ก.พ. 55 – เมื่อเวลาราว 14.00 น. กลุ่ม “วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์” ราว 70-80 คน ได้นัดชุมนุมหน้าบริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ตามที่นัดหมายในเฟซบุ๊กของกลุ่ม ในขณะที่ผู้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์ราว 40 คน ได้ชุมนุมและจัดกิจกรรมบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยฝั่งสนามหลวง โดยในระหว่างชุมนุมนั้นเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากเกิดการโห่ไล่ผู้ชุมนุมจากต่างฝ่าย

กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ซึ่งระบุว่าเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และคณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่เรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยมีตัวแทนของกลุ่ม คือผู้กำกับหนังชื่อดัง ยุทธนา มุกดาวิจิตร ยื่นหนังสือให้กับนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ เพื่อส่งต่อให้นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ซึ่งติดภารกิจ โดยมีข้อเรียกร้องให้มีคำสั่งสอบสวนคณะอาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ โดยนายยุทธนา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จำเป็นต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากข้อเสนอของนิติราษฎร์เป็นการละเมิดเสรีภาพของประมุขประเทศ

“มีการตอกย้ำข้อเสนอที่มากขึ้นๆ อย่างกรณีที่ผมบอกไปเรื่องข้อเสนอตอนหลังที่มีสองสามข้อ ที่ว่าไม่ให้ในหลวงมีพระราชดำรัส ซึ่งพระราชดำรัสใครๆ ก็อยากฟัง แล้วก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ปรากฏว่าตอนนี้เรากำลังเรียกร้องเสรีภาพ คณะนิติราษฎร์กำลังเรียกร้องเสรีภาพกันตลอดเวลา โดยไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น แล้วผู้อื่นอันนั้นก็คือประมุขของประเทศ ก็คือในหลวง” ยุทธนากล่าว

กลุ่มวารสารฯ ต้านนิติราษฎร์ ยังมีข้อเสนออีกสี่ข้อ ได้แก่

1. เรียกร้องต่อประชาคมธรรมศาสตร์ ให้ร่วมกันคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ รวมทั้งการใช้ชื่อมหาวิทยาลัยไปสร้างความชอบธรรมให้กับการเคลื่อนไหวที่ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์

2. เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดสถาบันในทุกรูปแบบอย่างจริงจังและเฉียบขาด

3. เรียกร้องต่อเพื่อนสื่อมวลชน ให้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อไม่ขยายผลการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

4. เรียกร้องต่อประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ให้ร่วมกันแสดงตนคัดค้านการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ต่อต้านแนวคิดและการกระทำใดๆ ที่ส่อแสดงถึงการล่วงละเมิด ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

มีรายงานว่า ในขณะที่กลุ่มดังกล่าวกำลังชุมนุมอยู่นั้น ได้มีผู้สนับสนุนเดินเข้าไปในบริเวณหน้าลานปรีดีพร้อมชูป้ายสนับสนุนนิติราษฎร์ ทำให้เกิดเหตุชุลมุนจนตำรวจจำเป็นต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยสถานการณ์ความขัดแย้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มดังกล่าวด้วย

กลุ่มนักกิจกรรม “กราบเก้าอี้” เพื่อเตือนย้ำความรุนแรง 6 ตุลา

ในเวลาใกล้เคียงกัน เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย, Activists for Democracy Network และกลุ่มประกายไฟ พร้อมทั้งประชาชนที่สนใจราว 40 คน ได้จัดกิจกรรม “แจกภาพ กราบเก้าอี้” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดคนที่คิดเห็นต่างทางการเมือง พร้อมทั้งแจกแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาว่าสังคมไทยควรนำบทเรียนจากเหตุการณ์ในอดีตมาทบทวน โดยเฉพาะ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาและประชาชนถูกฆ่าอย่างโหดร้ายเนื่องมาจากถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

กลุ่มดังกล่าวยังเสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่อื่นๆ เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชาพิจารณ์ปัญหามาตรา 112 และให้กลุ่มที่คัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ได้เปิดใจและรับฟังความเห็นที่แตกต่างเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลง 

นักศึกษามธ. รังสิตวางพวงหรีดไว้อาลัยแด่เสรีภาพธรรมศาสตร์

ในวันเดียวกัน วอยซ์ทีวีรายงานว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยได้มารวมตัวกันบริเวณด้านหน้ารูปปั้นท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตพร้อมตะโกนว่าธรรมศาสตร์ตายแล้วก่อนที่จะมีการวางพวงหรีดเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยมีมติไม่อนุญาตให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลต่างๆใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเคลื่อนไหวในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 และต้องการให้ทางมหาวิทยาลัยทบทวนเรื่องดังกล่าวเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ชื่อว่า มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรา ไม่ได้มีธงว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ธงนำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ต่อศักดิ์ สุขศรี ตัวแทนของกลุ่มระบุ

หลังจากกิจกรรมในครั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่าวางแผนจะจัดกิจกรรมไว้อาลัยแด่เสรีภาพในธรรมศาสตร์อีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 5 ก.พ. ณ รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ บริเวณลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 000

 แถลงการณ์เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย

"...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..." ปรีดี พนมยงค์

ภายหลังจากคณะนิติราษฎร์นำเสนอข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากนั้นได้มี คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 หรือ ครก.112 ได้ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อเข้าสู่กลไกรัฐสภา และเป็นที่ปรากฏว่ามีทั้งกระแสเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนเห็นว่าควรยกเลิกไปเลย และไม่เห็นด้วยกับการแก้เลย แต่กระแสคัดค้านที่ต้องการให้คงสภาพ ม.112 เดิมและห้ามแตะต้องนั้น กลับนำไปสู่กระแสคลั่งสถาบันฯ ขาดการ "เปิดใจ" รับฟังเหตุผล ป้ายสี ใช้ความรุนแรง ข่มขู่ อย่างเช่นในอดีต

ด้วยความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิด เรามีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้

1.มหาวิทยาลัยควรเป็นเสาหลักของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการใช้เหตุใช้ผลอย่างสันติ สิทธิในเสรีภาพในการแสวงหาความรู้ การใช้เหตุใช้ผลและข้อมูลในเชิงประจักษ์ อย่างสันติ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรจะยึดมั่นและส่งเสริม ไม่ใช่นำเอาข้ออ้างการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ มาลดทอนสิทธิในเสรีภาพและหลักการดังกล่าว นอกจากทำลายความเป็น มหา+วิทยาลัย ที่ควรเป็นแหล่งศึกษาของสาธารณะแล้ว ยังทำให้หลักการดังกล่าวขัดกับการเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์อีก

2.นำบทเรียน ความรุนแรงที่เกิดจาก "ความใจแคบ" ในอดีตมาทบทวน ว่า "เสรีภาพ" ไม่ได้ก่อให้เกิด "ความรุนแรง" มีแต่การจ้องจำกัดเสรีภาพที่ชอบใช้ "ความรุนแรง" มากำจัด "เสรีภาพ" โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีบทเรียนจากความคับแคบในอุดมการณ์เผด็จการฟาสซิสต์ ที่ถูกเอามาใช้จัดการกับนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้เองเมื่อ 6 ตุลา 19 ด้วยข้อหาที่เกี่ยวกับ ม.112 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเลยไปถึงการล้มล้างสถาบันที่ถูกปลุกขึ้นมาขณะนั้น หรือแม้กระทั่ง ปรีดี พนมยงค์ เองก็ถูกข้อหาในลักษณะนี้เล่นงาน ดังนั้นธรรมศาสตร์เองควรนำเอาบทเรียนเหตุการณ์นี้มาเป็นแนวทางให้การส่งเสริมให้คนในมหาลัยและสังคมได้ "เปิดใจ" ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และลดการยึดมั่นในอุดมการณ์ที่เพิ่งสร้างเพื่อป้องกันความรุนแรงที่เคยมีบทเรียน แต่ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการปิดกันเสรีภาพเสียเอง

3.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดเวทีประชาพิจารณ์ปัญหามาตรา 112 เพราะมหาวิทยาลัยไม่เพียงต้องเป็นบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ เท่านั้น และต้องเป็นผู้จุดไฟให้แสงสว่างทางปัญญาเพื่อสร้างบรรทัดฐานการแก้ปัญหา แก้ความขัดแย้งด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสันติวิธี มากกว่าด้วยความรุนแรงและความศรัทธาแบบมืดบอด

4.กลุ่มคัดค้านข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ควรเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ศึกษาทำความเข้าใจข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ หยุดสร้างกระแสคลั่งสถาบันฯ หยุดการใช้ความรุนแรง เรียนรู้ประสบการณ์และบทเรียนความรุนแรงที่เกิดจากอาการคลั่งในอดีต ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

5.สื่อมวลชน ก็เช่นกัน ชนวนเหตุความรุนแรง 6 ตุลา 19 สื่อก็เป็นตัวกระตุ้นอาการคลั่งของคน จนเป็นเหตุให้มีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ต่างจากกรณีความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรณี เมษา – พ.ค.53 ที่สื่อมีส่วนส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

6.รัฐบาลควรนำเอาข้อเสนอแก้ ม.112 ของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และคณะนิติราษฎร์ จัดให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างขวางขวางเพื่อนำไปสู่กระบวนการในการทำประชามติในการปรับปรุงแก้ไข ยกเลิกหรือดำรงสภาพเดิมต่อไป โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพให้อภิปรายหรือตั้งกรรมการศึกษาเเละทำประชาพิจารณ์ ตามสำดับรวมถึงคุมครองความปลอดภัยของผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อแก้กฎหมายและแสดงความคิดเห็นตามสิทธิในเสรีภาพของพลเมือง

7.สังคมควรยึดมันใน "ความเป็นเหตุเป็นผล" และการแสดงหาทางออกอย่างสันติ หยุดการใช้ความรุนแรง หยุดปิดปากและความศรัทธาแบบไม่มีเหตุผล ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางความคิด มี "ขันติธรรม" หรือความใจกว้างอดทนอัดกลั้นต่อความคิดเห็นและการแสดงออกที่แตกต่าง ให้ความสำคัญในสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งคุณค่าที่สำคัญที่สังคมควรยึดถืออันจะนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา ในฐานะราษฎรผู้กระหายน้ำ

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย(คกป.)
Activists for Democracy Network(ADN.)
กลุ่มประกายไฟ (Iskra Group) 

ANTI 3

ANTI 2

ANTI 1

ANTI 4

ภาพจากเฟซบุ๊กกลุ่ม "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์"

 bus001_IMGP8126

bus009_IMGP8078

bus008_IMGP8081

bus007_IMGP8103

bus006_IMGP8093

bus005_IMGP8147

bus004_IMGP8141

bus003_IMGP8113

bus002_IMGP8115

 ภาพโดยกานต์ ทัศนภักดิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย : “จินตนาการ” สำคัญกว่าความจริง นะพี่น้องเอ้ย..ยย

0
0

ช่วงที่ 1

“จินตนาการ” ของสนธิ สำคัญกว่าความจริง

มาดูจินตนาการเจิดจรัสของ สนธิ ลิ้มทองกุล ที่เที่ยวไปโยงใยพี่เบิ้มอย่างอเมริกา พร้อมข้อกล่าวหาว่าส่งเงินส่งทองมาให้องค์กรนู้นนี้นั้นมาล้มเจ้าไทย ที่สำคัญ ประชาไท ถูกเฮียแกโยงไปโยงมาให้เข้ามาสู่ขบวนการล้มเจ้าจนได้ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร หลิ่มหลีกับชามดองจะมาขานไขให้ฟัง แต่ด้วยพลังจินตนาการของเฮียสนธิ ความจริงอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป

 

 

ช่วงที่ 2

นิติราษฎร์ ในอุ้ง...สื่อไทย และธรรมศาสตร์ (เลิก) สอนให้ฉันรักประชาชน

ข้อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของนิติราษฎร์ กลายเป็นเรื่องใหญ่โตไปกว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปซะแล้ว เมื่อสื่อน้อยสื่อใหญ่ แปลงกายเป็นสื่อ “ดาว (สยาม) กระจาย” รุ่น 2555 แทคทีมกันมาสร้างกระแสยำใหญ่คณะนิติราษฎร์ และวันนี้ธรรมศาสตร์เลิกสอนให้ฉันรักประชาชนแล้วหรือไร

 

 

ช่วงที่ 3

การประชุม World Economic Forum

เม้าท์มอยเรื่องเศรษฐกิจโลก และการประชุม World Economic Forum ที่เมือง Davos สวิตเซอร์แลนด์ ว่าพวกเขาได้ข้อสรุปอะไรกันบ้าง แล้วคนยากจนจะได้อะไรจากการประชุมนี้บ้าง

 

เม้าท์มอย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานเข้า 'simsimi' หากโพสต์ด่าชื่อคนอาจผิดอาญา

0
0
รมว.ไอซีที เกาะติด แอพฯ “ซิมซิมอิ” เล็งฟันหากผิดกฎหมาย ระบุโพสต์ชื่อคนผ่านโซเชียลฯ ผิดอาญา ขณะที่โฆษกเชื่อการเล่นช่วงนี้แค่กระแส เตือนเยาวชนอย่าหลงผิด พบเบาะแสแจ้งสายด่วน 1212
 
3 ก.พ. 54 - เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า หลังจากมีกระแสการเล่นแอพพลิเคชั่น Simsimi หรือ ซิมซิมอิ จากเกาหลี แพร่กระจายในโลกไซเบอร์อย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เบื้องต้น กระทรวงไอซีที ยังคงติดตามการโพสต์ข้อความผ่านโลกโซเชียลฯอยู่ ว่ามีคำไหนบ้างที่ไม่สมควรในการเผยแพร่ เพราะนอกจากจะเล่นกันในแอพพลิเคชั่นแล้ว ยังมีการโพสต์ลงโซเชียลฯ ซึ่งบางคำไม่สมควร  
 
ทั้งนี้ ต้องดูกระแสสังคมว่า ขณะนี้เป็นอย่างไร และประชาชนให้ความสนใจมากน้อยขนาดไหน และดูว่ากลุ่มไหนที่เล่นแอพพลิเคชั่นบ้าง ขณะที่ระบุว่าผู้ที่พิมพ์ชื่อบุคคลอื่น แล้วคำตอบออกมาเป็นคำหยาบคาย หรือเข้าข่ายหมิ่นประมาทบุคคลนั้น แล้วโพสต์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เป็นการกระทำที่ผิดและมีโทษตามกฎหมายอาญา 
 
ขณะที่ นายสงกรานต์ เตชะณรงค์ โฆษกกระทรวงไอซีที กล่าวว่า เบื้องต้นลองเล่นแอพฯ ดังกล่าวแล้ว โดยป้อนคำที่เป็นภาษาไทยเข้าไปในลักษณะการคุยปกติ ซึ่งแอพฯ ดังกล่าวก็คุยดี มีหยอกล้อกันบ้าง แต่เมื่อใช้คำไม่สุภาพ แอพฯ ก็โต้ตอบกลับมาด้วยคำไม่สุภาพ จึงไม่แน่ใจว่าคนที่คิดค้นแอพฯ ดังกล่าวขึ้นมามีจุดประสงค์อะไร เพราะจากการตรวจสอบพบว่ามีฟังก์ชั่นตัวหนึ่งที่คนคุยสามารถสอนคำมันได้ แต่คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นฝีมือคนไทย เพราะแอพฯ ดังกล่าวมาจากเกาหลี อีกทั้งคำซ้ำที่ป้อนออกไป คำตอบยังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเป็นกระแสการเล่นในช่วงแรกเท่านั้น เพราะเป็นความรู้อยากเห็น และอีกไม่นานก็จะค่อยๆ หายไป
 
“ในเรื่องของภาษาต้องช่วยกันดู อย่าใช้คำที่หยาบคาย หรือเกินเลยเกินไป เพราะแอพฯ นี้ เป็นการให้ความสนุกสนาน การที่มีผู้เข้าไปเล่น เชื่อว่าเป็นกระแส และอีกไม่นานจะจากไป เหมือนเป็นความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้น” นายสงกรานต์ กล่าว 
 
โฆษกกระทรวงไอซีที กล่าวอีกว่า ยืนยันที่จะเฝ้าระวังและดำเนินการ หากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย และจะดำเนินการตามขั้นตอนทันที พร้อมทั้งฝากเตือนเยาวชน และผู้เล่นทุกคนว่า โปรแกรมดังกล่าว เอาไว้เล่นเพื่อความสนุกสนาน และไม่ควรเล่น หรือโพสต์ข้อความที่เกินเลย หรือหมิ่นประมาทผู้อื่น เพราะไม่ถูกต้อง รวมทั้งเป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย และหากผู้ใดพบเห็นการกระทำที่ผิด สามารถรายงานมาที่ สายด่วนกระทรวงไอซีที  1212 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: “ประชารัฐ” --- รัฐของประชาชน

0
0

 

เพลงชาติไทยบทแรกมีเนื้อร้องว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี” สะท้อนชัดเจนถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งก็คือ มุ่งหมายสร้างประเทศไทยให้เป็น “ประชารัฐ”

 

ประเทศสยามภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีเพลงชาติอย่างเป็นทางการ แต่ในทางพฤตินัย ได้ถือเอาเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งเป็นเพลงถวายความเคารพแด่พระมหากษัตริย์เป็นเพลงชาติ สอดคล้องกับหลักคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ว่า พระมหากษัตริย์คือ รัฐ หรือ ชาติ คณะราษฎร์ขณะเมื่อเตรียมก่อการก็ได้มีความพยายามที่จะร่างเพลงชาติไว้ล่วงหน้า เช่นเดียวกับที่ได้ร่าง “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม” รอไว้

 

เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้นแล้ว คณะราษฎร์จึงได้ขอให้พระเจนดุริยางค์ประพันธ์ทำนองขึ้น และได้ใช้บรรเลงต่อมา แต่การแสวงหาเนื้อร้องที่เหมาะสมกลับยืดเยื้อมาอีกหลายปี เนื้อร้องที่เป็นทางการชิ้นแรกเริ่มใช้ในปี 2477 ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา มีความยาวมากถึง 4 บท บทละ 4 วรรค รวมเป็น 16 วรรค เนื้อร้องชุดนี้ยังคงใช้ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่า “สยาม” มีเนื้อหาเป็นลัทธิเชื้อชาติไทยอย่างเข้มข้น เน้นการปลุกใจสู้รบอาจหาญ แต่กลับไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เพลงชาติไทยหลังจากนั้นจึงยังคงเป็นเพลงบรรเลง ที่มีการร้องเนื้อเพลงน้อยมาก

 

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น ประเทศไทยแล้ว รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติขึ้นใหม่เมื่อปี 2482 ปรากฏว่า เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ได้รับการยอมรับ มีเนื้อร้องสั้นกะทัดรัดเพียง 2 บท บทละ 4 วรรคเท่านั้น โดยมีเนื้อร้องบทแรกที่เข้าประกวดว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชาธิปไตยของไทยทุกส่วน อยู่ยืนยงดำรงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี” แต่ข้อความวรรคที่สองและสามถูกแก้ไขเป็นฉบับทางการว่า “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล” ปรากฏว่า เนื้อร้องใหม่นี้เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป และได้ใช้สืบมาจนทุกวันนี้

 

เนื้อร้องใหม่นี้มีข้อเด่นที่สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ได้ชัดเจน คือเป็นทั้งลัทธิรักชาติ และเน้นประชาธิปไตยควบคู่กัน คำว่า ประชารัฐ ก็คือ รัฐของประชาชน เป็นรัฐประชาธิปไตยที่เป็นของคนไทยทุกส่วน ที่สำคัญคือ เนื้อร้องนี้มีท่วงทำนองที่ทันสมัย ลดความสำคัญของลัทธิเชื้อชาติไทยของยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง เปลี่ยนจากการมองไปในอดีตบรรพกาล มาเป็นมองอนาคตที่สดใส ดังข้อความวรรคสุดท้ายว่า “เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย”

 

มรดกของคณะราษฎร์ได้ถูกทำลายจนแทบหมดสิ้นนับแต่รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อปี 2500 ฝ่ายนิยมกษัตริย์พยายามที่จะลบล้างความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎร์ให้สูญไปจากประวัติศาสตร์ไทย คณะราษฎร์ถูกกล่าวหาว่า “ชิงสุกก่อนห่ามและรวบอำนาจในหมู่พวกพ้อง” รัฐธรรมนูญสามฉบับที่ใช้โดยคณะราษฎร์หายสาบสูญ หลักหกประการของคณะราษฎร์ถูกลืมเลือน ความพยายามของคณะราษฎร์ที่จะสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นสถาบันหลักที่สี่ของชาติ ตามคำขวัญใหม่ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ” ประเพณีการฉลองวันรัฐธรรมนูญอย่างเอิกเกริก และ “วันชาติ 24 มิถุนายน” ถูกยกเลิก แม้แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ถูกลดความสำคัญลง ถึงกับมีข้อเสนอให้รื้อทำลายทิ้งในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงปัจจุบัน “เพลงชาติไทย” จึงเป็นมรดกทางความคิดชิ้นสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ของคณะราษฎร์เท่านั้น

 

แต่สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนั้นไม่เคยหมดสิ้น ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จิตวิญญาณและอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอย่างอัศจรรย์ ความทรงจำที่ถูกกดเก็บเอาไว้กลับฟื้นคืนมาปรากฏชัดเจนและสดใส ความรับรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ การต่อสู้ ประสบการณ์ชัยชนะและพ่ายแพ้ของคณะราษฎร์กลับมาเป็นความรู้สาธารณะ เป็นวาทกรรมที่ถูกบอกเล่าซ้ำ ๆ อีกครั้ง ขบวนประชาธิปไตยที่ขยายตัวเติบใหญ่และเข้มแข็งขึ้นหลังรัฐประหารกลายเป็นผู้สืบทอดอุดมการณ์และจิตวิญญาณของคณะราษฎร์อย่างแท้จริง ขบวนการคนเสื้อแดงปัจจุบันมิได้เชื่อมโยงประสบการณ์และความเรียกร้องต้องการของพวกเขาไปที่ 14 ตุลาคม 2516 หากแต่เชื่อมโยงไปที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยตรง ในแง่นี้ ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงจึงมีลักษณะก้าวหน้ายิ่งกว่าขบวนการนักศึกษาเดือนตุลาคม

 

คณะนักวิชาการที่เรียกตนเองว่า “คณะนิติราษฎร์” นิติศาสตร์เพื่อราษฎร นั้นไม่เคยปิดบังเลยว่า ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากคณะราษฎร์ ดังจะเห็นได้จาก คำประกาศก่อตั้งเมื่อ 19 กันยายน 2553 ที่ระบุจุดมุ่งหมายไว้อย่างเปิดเผยว่า เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ซึ่งก็คือ ไปบรรลุภารกิจที่คณะราษฎร์กระทำไม่สำเร็จ ข้อนี้ไม่จำเป็นที่บรรดาศัตรูของคณะนิติราษฎร์จะต้องมา “ชี้ให้เห็น”

 

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรอบของรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะราษฎร์ จึงเป็นการรื้อฟื้นโครงการทางการเมืองของคณะราษฎร์ขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นข้อเสนอที่กลับไปสู่ 24 มิถุนายน 2475 จึงมีลักษณะก้าวหน้ายิ่งกว่าข้อเสนอเดิมของขบวนประชาธิปไตยและพรรคเพื่อไทยที่เพียงต้องการรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ 2540

 

คณะนิติราษฎร์จึงเป็นผู้สืบสานอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ในทางความคิดและหลักการทางกฎหมาย แต่ผู้ที่สืบสานอุดมการณ์ของคณะราษฎร์ในทางการเมืองและในทางปฏิบัตินั้นคือ ขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดง ที่สำคัญคือ ขบวนประชาธิปไตยในวันนี้ยังได้กระทำภารกิจแรกสุดที่คณะราษฎร์ทำไม่สำเร็จนั้น ให้บรรลุได้ระดับหนึ่งคือ การทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแผ่ขยายกว้างและหยั่งลงลึกสู่มวลประชามหาชนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อเป็นฐานมวลชนประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและเข้มแข็งที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

ขบวนประชาธิปไตยปัจจุบันยังจะมุ่งไปบรรลุภารกิจขั้นสูงที่คณะราษฎร์ไม่อาจกระทำได้ด้วยข้อจำกัดทางความคิดและทางการเมือง นั่นคือ แปร “ประชารัฐ” จากคำขวัญในเพลงชาติ ให้ประเทศไทยบรรลุความเป็น “ประชารัฐในทางเป็นจริง” ในที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยสเปกแท็บเล็ต ป.1 สูงลิ่วสวนทางราคา

0
0
เปิดสเปกแท็บเล็ต ศธ.ตั้งไว้สูงลิ่ว ต้องรองรับระบบปฏิบัติการทั้งแอนดรอยด์หรือลีนุกซ์ เงื่อนไขหลังการขายเพียบ ดูแลทุก 6 เดือน แต่ตั้งราคาไว้เพียงเครื่องละ 2,400 บาท
 
3 ก.พ. 55 - รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แจ้งว่า ขณะนี้ ศธ.ได้เปิดเผยรายละเอียดคุณลักษณะเครื่องแท็บเล็ตตามโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียน หรือ One  Pc  Per  Child ของรัฐบาล โดยเฉพาะแท็บเล็ตที่เตรียมแจกให้นักเรียนชั้น ป.1 ในปีการศึกษา 2555 หรือเดือน พ.ค.นี้ โดยมีคุณลักษณะทั้งภายในและภายนอก ดังนี้ ภายใน มีระบบประมวลผลกลางไม่ต่ำกว่า 1  GHz เป็นแบบ  Dual Core หน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 MB จอภาพแสดงผลขนาดไม่น้อยกว่า 7 นิ้ว หรือความละเอียดจอภาพไม่น้อยกว่า 1024*768 Pixel หน้าจอทนทานต่อรอยขีดข่วน หรือ Gorilla Glass มีหน่วยบันทึกข้อมูลขนาดไม่น้อยกว่า 16 GB
 
ส่วนภายใน มีระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกด้วย อาทิ สายเชื่อมสัญญาณ  Data  Sync ชุดหูฟังพร้อม  Microphone มีช่องสำหรับใส่สื่อบันทึก  Micro SD มีอุปกรณ์การเชื่อมต่อแบบ  USB ระบบเชื่อมต่อ  Wireless  Networking ตามมาตรฐาน  IEEE 802.11b/g หรือดีกว่าโดยใช้คลื่นความถี่ 2.4  GHz นอกจากนี้ยังมีระบบมัลติมีเดียแบบติดตั้งภายในตัวเครื่อง ลำโพง ไมโครโฟน และช่องสำหรับชุดหูฟัง และไมโครโฟน ขนาด 3.5  mm มีระบบเซ็นเซอร์สำหรับการปรับแสงสว่าง การเคลื่อนไหวแกน  X, Y,  Z ความเร่ง และพิกัด  GPS ชนิดติดตั้งภายในตัวเครื่อง และระบบสัมผัสแบบ Capacitive Multi Touch
 
สำหรับระบบพลังงานต้องสามารถใช้กับระบบไฟฟ้ามาตรฐานสำหรับประเทศไทย 220 Volt 50 Hz มีแบตเตอรี่ชนิด  Lithium  Polymer ที่สามารถทำงานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง มีระบบป้องกันและติดตั้งระบบปฏิบัติการที่ไม่ได้รับอนุญาตในโครงการลงบน  Flash,  Storage จะแสดงภาพโลโก้กระทรวงศึกษาธิการเมื่อเริ่มเปิดเครื่องที่หน้าจอ และตัวเครื่องติดฟิล์มกันรอย มีซองบรรจุ เพื่อป้องกันเครื่องทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และสามารถปรับระดับให้เหมาะสมกับสายตาได้อย่างน้อย 2 ระดับ เป็นระบบปฏิบัติการ Android 3.2 (Honeycomb) Linux Kernel 2.6.36 ขึ้นไป และรองรับ  Android 4.0 (Ice  Cream Sandwich) Linux Kernel 3.0.1 ได้
 
สำหรับเงื่อนไขการรับประกัน มีดังนี้ ผู้ขายต้องรับประกันครุภัณฑ์ ทั้งประกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันตรวจรับ พร้อมทั้งต้องให้บริการ ณ สถานที่ตั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี, ในกรณีแท็บเล็ตเครื่องหนึ่งเครื่องใดเสีย หรือใช้การไม่ได้ ผู้ขายต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ผู้ขายได้รับแจ้ง, หากมีแท็บเล็ตเครื่องใดเครื่องหนึ่งใช้งานตามปกติแล้วแบตเตอรี่เกิดระเบิด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนเครื่องแท็บเล็ตทั้งหมดที่ขายให้แก่โครงการ และกรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ผู้ขายต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด, ผู้ขายต้องเข้าไปตรวจสอบและบำรุงรักษาครุภัณฑ์ที่เสนอทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยตลอดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันส่งมอบ, ผู้ขายต้องจัดให้มีศูนย์ให้บริการตอบปัญหาการใช้งาน และแจ้งเครื่องมีปัญหาที่สามารถติดต่อได้ 24 ชั่วโมง, และในกรณีที่เป็นการจัดซื้อจัดหาจำนวนมากกว่า 1,000 เครื่องในคราวเดียวกัน ผู้ขายต้องจัดแท็บเล็ตสำรองให้แก่ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนที่ซื้อในคราวเดียวกัน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศธ.ได้งบประมาณเพื่อจัดซื้อแท็บเล็ตรวม 1,900 ล้านบาท และเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของบเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ในสัปดาห์หน้า เพื่อดำเนินจัดซื้อแท็บเล็ตให้ได้ประมาณ 9 แสนเครื่อง แจกนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 8.7 แสนคนครบทุกคน และแบ่งส่วนที่เหลือให้ครูผู้สอนหรืออาจไปนำร่องแจกนักเรียนในระดับอื่นๆ ทั้งนี้ การจัดซื้อดังกล่าวจะใช้ระบบจีทูจี รัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทย ส่วนราคาแท็บเล็ตต่อเครื่อง ศธ.ได้ตั้งไว้ 2,400 บาท.
 
ที่มาข่าว: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, ศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความสับสนเข้าครอบงำกระบวนการสันติภาพในภาคใต้

0
0

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆนี้ว่า ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ก่อความรุนแรงโดยมุ่งหวังจากเรียกร้องความสนใจจากองค์กรนานาชาติเพื่อดึงให้องค์กรเหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาให้ได้

คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้โจมตีฐานทหารแห่งหนึ่งในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แล้วล่อให้กำลังทหารชุดที่เป็นกำลังเสริมเข้าไปติดกับดักแล้วซุ่มโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธปืนยังผลให้ทหารเสียชีวิตถึง 6 นาย

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่าความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยซึ่งเป็นดินแดนที่มีคนพูดภาษามาเลย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนี้เป็นความปัญหาภายในของไทยและทางการไทยกำลังพยายามทำดีที่สุดแล้วที่จะแก้ไขปัญหา

โชคร้ายไปหน่อย ที่ว่าดีที่สุดนั้นนั้นยังไม่ดีเท่าใดนัก เพราะบรรดาผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถลงมือเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ

มีการทุ่มเทงบประมาณไปหลายพันล้านบาทเพื่อเอาชนะปัญหานี้ให้ได้ แต่ชาวบ้านซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิมมาลายูก็เอาใจช่วยพวกผู้ก่อความไม่สงบด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อการเคลื่อนไหวของพวกเขา ในพื้นที่ของชุมชนที่ห่างไกลออกไป กองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อความไม่สงบไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี พวกเขาเดินทอดน่องเข้าออกร้านน้ำชาในหมู่บ้านราวกับว่าเป็นผู้ถือกฎหมายเสียเองอย่างนั้น ชาวบ้านก็คงไม่ชอบความโหดร้ายป่าเถื่อนแต่ดูเหมือนว่าจะมีความรู้สึกร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบอยู่มาก

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า หากองค์กรระหว่างประเทศมากปรากฎตัวขึ้นก็จะทำให้ปัญหาภาคใต้นั้นยุ่งยากมากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจนักว่า สมมติฐานของพลเอกประยุทธ์นั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของอะไร แต่หากผู้ก่อความไม่สงบอยากจะเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติจริงๆ พวกเขาไม่น่าจะจำกัดความรุนแรงเอาไว้ที่ภาคใต้ซึ่งเป็นถิ่นของชาวมุสลิมมาลายูเป็นแน่

แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมีมากมายในเขตภาคใต้ตอนบนซึ่งห่างจากเขตจังหวัดชายแดนใต้เพียงแค่ขับรถไม่กี่ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นถ้านั่งรถไฟก็แค่คืนเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ วัสดุที่ใช้ในการประกอบระเบิดนั้นหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป

ปัญหาของพลเอกประยุทธ์และบรรดาข้าราชการอนุรักษ์นิยมของไทยทั้งหลายคือ พวกเขาไม่อยากจะถกเถียงเรื่องความชอบธรรมของรัฐไทยในประวัติศาสตร์ของชาวมาลายูในภาคใต้ต่างหาก ถ้าทำอย่างนั้นพวกเขาก็จะพบว่าชาวมาลายูที่นั่นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคนละชุดกับคนส่วนอื่นๆของประเทศ 

ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสนอเอาไว้ในเอกสารที่เขียนกับอีสเวสต์เซ็นเตอร์ เกี่ยวกับการโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ของการก่อกบฏทางภาคใต้ของไทยว่า ทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งคือต้องยอมรับความแตกต่าง 

ธเนศ กล่าวว่า “ถ้าปราศจากความเข้าใจพื้นฐานและการยอมรับอัตตาลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของกันและกันแล้ว ก็คงจะเป็นการยากที่ทั้งสองฝ่ายจะมีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง”   “กรุงเทพฯมองว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องของภัยการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่มุสลิมมาลายูเห็นว่านี่เป็นหนทางหนึ่งของความอยู่รอดของวัฒนธรรมและเชื้อชาติ” “เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน ชาวมุสลิมมาลายูจะต้องได้รับอนุญาตให้มีบทบาทอย่างสำคัญในการนำมาซึ่งสันติภาพและความมั่งคั่งไปสู่ท้องถิ่นของพวกเขา”

แต่กรุงเทพฯก็มีแนวโน้มจะคิดว่าพวกเขารู้ดีที่สุด ที่แย่กว่านั้นคือ พลเอกประยุทธ์พูดว่าถ้าไม่ทำแบบทหารก็ไม่มีทางเลย นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงต่อต้านความคิดเรื่องการให้อิสระทางการปกครองที่เสนอขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียวในพื้นที่ภาคใต้ แม้ว่าจะรณรงค์เรื่องการให้อำนาจการปกครองก็ตาม

เป็นที่คาดหมายได้ สุดท้ายยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็กลับคำ การแสดงการไม่แยแสชาวมุสลิมมาลายูก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรในทางการเมือง เพราะพวกเขาก็รู้ดีว่าสาธารณชนทั่วไปก็ไม่ได้แยแสต่อความรู้สึกของชาวมุสลิมมาลายูอยู่แล้ว 

ดังที่เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปัตตานีฟอรั่มได้กล่าวไว้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อเร็วๆนี้ว่า บางทีอำนาจปกครองอาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมมากกว่า

เดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป กล่าวไว้ในปาถกฐาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า ต้องให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมแก่ชาวมุสลิมมาลายูมากขึ้น เช่น ให้การศึกษาแบบสองภาษาโดยให้ภาษาแม่ (มาเลย์) ได้มีโอกาสใช้เคียงคู่กับภาษาไทย

ลิปแมน พูดมีประเด็นทีเดียว ในปี 2550 เมื่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ทดลองให้โรงเรียนชั้นประถมหลายโรงได้สอนภาษามาเลย์และศาสนาอิสลาม ปีนั้นผู้ก่อความไม่สงบเผาโรงเรียนไปกว่า 100 โรงแต่ในปีถัดมามีโรงเรียนถูกเผาน้อยกว่า 10 โรง 

กฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งในเวลานั้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ทำให้ครูสอนศาสนาและผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่นได้มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาบ้าง เขาบอกว่า นี่มันเป็นความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ 

แต่แล้วก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือผู้กำหนดนโยบายคนไหนให้ความสนใจกับพัฒนาการอันนั้นเลย บางทีถ้าเขาทำเขาอาจจะเสียหน้าก็ได้เพราะบรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เคยได้ปฏิเสธความคิดที่จะให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทำงานควบคู่ไปกับภาษาไทย

เมื่อพูดถึงเรื่องอิทธิพลต่างประเทศ พลเอกประยุทธ์ ไม่มีความกล้าหาญมากพอจะยอมรับว่า ระหว่างสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์นั้นก็เคยมีการขอความช่วยเหลือจากชุมชนนานาชาติ  ประเทศเพื่อนบ้านและตัวกลางต่างชาติให้มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ ความริเริ่มเช่นว่านั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความพยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความริเริ่มเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเหนือบ่ากว่าแรงพลเอกประยุทธ์ เพียงแต่ว่าเขาไม่สามารถยอมรับความจริงที่เขาไม่ชอบได้เท่านั้นเอง

ทุกวันนี้หน่วยงานของรัฐ ทั้งกองทัพ ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลต่างประเทศ นักการเมืองทั้งที่เกษียณแล้วและที่กำลังทำงานอยู่ เอ็นจีโอทั้งในและนอกประเทศที่เคยมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยสันติภาพ ก็พยายามสำรวจแนวคิดในการสร้างกระบวนการสันติภาพกันอยู่ บางพวกก็วิ่งหาอยู่ว่าจะคุยกับหัวหน้าพวกแบ่งแยกดินแดนคนไหนดี ความจริงก็คือมีนายหน้าสันติภาพมากมายเหลือเกิน แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของกระบวนการ (สันติภาพ) สักรายเดียว บางรายก็พยายามจะเข้าหาผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น

แต่ถ้าปราศจากกระบวนการที่มีความหมายซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรัฐเสียแล้ว ก็ลืมไปได้เลยว่าพวกนักไกล่เกลี่ยเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ 

หลังจากที่ได้กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อโศกนาฎกรรมที่ทำกับชาวปัตตานีแล้ว พลเอกสุรยุทธ์ได้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐร่วมมือกับต่างประเทศในการแสวงหาวิถีทางที่ไม่ใช่ทางทหารเพื่อยุติความขัดแย้งในภาคใต้ แต่ความพยายามเหล่านี้เหลวไม่เป็นท่าในสมัยรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ระหว่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็มีกระบวนการสันติภาพโผล่ขึ้นมาอีกด้วยความหวังว่าจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐในการเจรจาสันติภาพ

หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ออกถ้อยแถลงเพื่ออธิบายถึงกระบวนการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่ง โดยผ่านตัวกลางต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีไม่ได้ให้การรับรองแถลงการณ์นี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เพียงแต่รับทราบอย่างไม่เป็นทางการ เพราะแหล่งข่าวบอกว่า นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจำเป็นจะต้องปฏิเสธ   

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้รับทราบถึงความพยายามของหลายหน่วยงานทางด้านความมั่นคงและข่าวกรองรวมทั้งชุมชนนานาชาติกำลังพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม เพียงแต่นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์) ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวเพราะมันอ่อนไหวทางการเมืองมากเกินไป 

กระบวนการสันติภาพที่สภาความมั่นคงแห่งชาติให้การสนับสนุนเหล่านั้นสามารถจบได้อย่างสวยงามในตอนนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้นำคนของตัวมาเป็นผู้อำนวยการศอ.บต. แหล่งข่าวในรัฐบาลบอกว่าความจริงผู้อำนวยการศอ.บต.ทวี สอดส่อง ก็อยากจะคุยกับผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ปัญหาคือมีคนอ้างว่าเป็นหัวหน้าขบวนการเหล่านี้หลายคนเหลือเกิน

แม้ว่าทวีจะคลำโดนเป้าแต่ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศหลายคนพูดว่า มันก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี นอกจากปัญหาเรื่องดินแดนของตัวกลางและกระบวนการสันติภาพโดยตัวของมันเองแล้ว บรรดาผู้ที่เป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ และจำนวนมากก็แข่งขันกันเอง แย่ไปกว่านั้นคือพวกผู้นำเหล่านี้ควบคุมนักรบในพื้นที่ไม่ได้

ถ้าหากจะทำให้กระบวนการสันติภาพมีความหมายขึ้นมาบ้าง บรรดาผู้นำทั้งหลายก็ต้องแสดงให้นักรบเห็นว่า พวกเขาสามารถปฏิบัติตามกระบวนการนั้นได้จริงๆ 

บรรดานักรบผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลายไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเร่งรีบเข้าสู่กระบวนการสันติภาพใดๆ หรือ การเจรจา หรือ อะไรก็ตามแต่จะเรียก ตราบเท่าที่พวกเขายังสามารถปฎิบัติการได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่เช่นนี้ การซุ่มโจมตีที่สายบุรีก็บอกความจริงเรื่องนี้ได้ทั้งหมดแล้ว

 

Note: Please visit Conflict & Insurgency in Southeast Asia  (http://www.seasiaconflict.com/) for more reports on Southern Thailand in English. 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คดียิง 4 ศพปัตตานีถึงสหประชาชาติ แฉ ม.17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินใบอนุญาตฆ่า

0
0

ยิง 4 ศพ ถึงสหประชาชาติ จี้รัฐรับข้อเสนอทบทวนสถานการณ์ละเมิดสิทธิ UN แฉมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินอนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายชาวบ้าน ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง–อาญา 2 ประเทศแคนาดา–สวิสเซอร์แลนด์ จับมือรณรงค์ให้รัฐไทยยกเลิก เอ็นจีโอจี้รัฐลดกองกำลังติดอาวุธ ส่งทหารพรานชุดใหม่ลงพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งชาย–หญิงผูกผ้าพันคอสีชมพูหวานจ๋อย 

เยาวชนนักกฎหมาย – มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมนำนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายแห่ง ในกิจกรรมเยาวชนนักกฎหมาย เยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีและที่โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555

ตำรวจสอบปากคำเหยื่อ

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 2 มกราคม 2555 ที่ห้อง 101 ตึกเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โรงพยาบาลปัตตานี พนักงานสอบสวนคดีชาวบ้านปัตตานีถูกถล่มยิงเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน ได้สอบปากคำนายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ยิงชาวบ้านตันหยงบูโละห์ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก เสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 คน เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 โดยใช้เวลาในการสอบปากคำนานกว่า 3 ชั่วโมง

จากนั้น เวลาประมาณ 15.30 น. พนักงานสอบสวนชุดเดียวกัน ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลปัตตานี เพื่อสอบปากคำนายยา ดือราแม คนขับรถคันเกิดเหตุ และนายอับดุลเลาะ นิ อายุ 17 ปี ชาวบ้านที่ไม่ได้รับบาดเจ็บเพียงรายเดียว โดยพนักงานสอบสวนได้แยกสอบสวนคนละห้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนและสืบสวนชุดนี้ มีพ.ต.อ.โพธิ สวยสุวรรณ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

คนเจ็บอาจพิการ

นายแพทย์อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ได้ย้ายผู้ถูกยิงที่ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ไปรักษาตัวในห้องพิเศษแล้ว โดยย้ายนายมะแอ ดอเลาะ อายุ 79 ปี ไปอยู่ที่ห้อง 101 ตึกเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนนายมะรูดิง แวกาจิ อายุ 15 ปี ไปห้อง 202 ตึกประชานิเวศน์ โรงพยาบาลปัตตานี ส่วนนายซอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ยังต้องอยู่ในห้องไอซียู คาดว่าอีก 2-3 วัน จะย้ายไปอยู่ห้องพิเศษได้

“ยังไม่กล้าบอกว่า ผู้ถูกยิงบางคนจะพิการหรือไม่ เพราะเกรงจะกระทบกระเทือนจิตใจญาติๆ” นายแพทย์อรุณกล่าว

ทหารพรานชุดใหม่ผูกผ้าพันคอสีชมพู

วันเดียวกัน พ.อ.ชาคริต สนิทพ่วง ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 22 ได้นำกำลังทหารพรานชุดใหม่ 200 นาย ไปปฏิบัติหน้าที่แทนกำลังพลของกรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ ตามข้อตกลงระหว่างพล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กับตัวแทนชาวบ้านและญาติผู้ที่เสียชีวิต โดยกำลังพลชุดใหม่ผูกผ้าพันคอสีชมพู เป็นกำลังผสมกับทหารพรานหญิง

พ.อ.ชาคริต ได้มอบแนวทางการปฏิบัติหน้าที่และการปฏิบัติตนให้กำลังพลทราบว่า ให้ยึดมั่นหน้าที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับความยุติธรรมและความเป็นธรรม ไม่ให้มองว่าทุกคนเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง นอกจากนี้ ยังกำชับให้กำลังพลทุกนายปฏิบัติงานด้วยการมีสติ ห้ามประมาท และหากมีเหตุที่ต้องลั่นไกปืน กระสุนที่ออกจากกระบอกปืนของเจ้าหน้าที่นายใด ก็ต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบ ตลอดจนคาดโทษกำลังพลที่ผ่าฝืนระเบียบวินัย

พ.อ.ชาคริต กล่าวว่า เหตุที่ย้ายกำลังชุดเก่าซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุออกนอกพื้นที่ เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่เกิดความไม่พอใจการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

ยิง  4ศพถึงสหประชาชาติ

นายอกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยว่า ในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ประเทศไทยจะต้องให้คำตอบว่า จะตอบรับข้อเสนอในการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศหรือไม่ ในเวทีการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UPR) มูลนิธิศักยภาพชุมชนจะนำเหตุการณ์ชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิต 4 ศพที่ปัตตานี มารณรงค์ให้รัฐบาลไทยตอบรับข้อเสนอให้ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศ

มาตรา17เครื่องมือรัฐละเมิดสิทธิ์

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UPR) เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2554 มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้ออ่อนของกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การมีอยู่ของมาตรา 17 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิประชาชน จากรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในพื้นที่ความขัดแย้งของไทย ที่มูลนิธิศักยภาพชุมชนเป็นผู้จัดทำ พบว่าประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องรับผิด ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด จากตัวแทนประเทศแคนาดาและประเทศสวิตเซอร์แลนด์

2 ประเทศเสนอรื้อ พ.ร.ก ฉุกเฉิน

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ตัวแทนทั้งสองประเทศเสนอให้ถอนมาตรา 17 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่ครั้งนั้น ตัวแทนประเทศไทยชะลอการตัดสินใจ โดยระบุว่าจะให้คำตอบในวันที่ 15 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่ชะลอการตัดสินใจทุกประเทศ ต้องให้คำตอบพร้อมเหตุผลผ่านกลไก UPR ว่าจะตอบรับข้อเสนอให้ปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศหรือไม่

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมดังกล่าว มีการส่งรายงานการละเมิดสิทธิจากประเทศไทย ทั้งหมด 27 เล่ม ทั้งหมดสหประชาชาติจะนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน เป็นที่น่ายินดีว่า สหประชาชาติได้นำเนื้อหาของรายงานที่ส่งโดยมูลนิธิศักยภาพชุมชนหลายข้อมาพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่ได้เตรียมให้คำตอบต่อสหประชาชาติในประเด็นดังกล่าว เช่น การจัดประชุมสัมมนาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าล่าช้า เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่ประเทศไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นว่า จะลดสถานการณ์การละเมิดสิทธิในประเทศได้อย่างไร

“การจัดทำรายงานของมูลนิธิศักยภาพชุมชน มีการนำข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ มาเขียนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ความขัดแย้ง ส่งสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ผ่านกลไก UPR ด้วย” นายอกนิษฐ์ กล่าว

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมามูลนิธิได้รณรงค์ให้ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนมาตลอด โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเจรจาหว่านล้อมตัวแทนรัฐบาลไทยให้ทำความเข้าใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในเกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดกำลังจะขอพบเลขานุการคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอข้อมูลจากพื้นที่ผ่านไปยังกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศเพื่อให้เข้าใจประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น เพราะภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 กระทรวงการต่างประเทศจะต้องแถลงต่อสาธารณชนว่า จะมีคำตอบต่อข้อเสนอในการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศในเวที UPR อย่างไร โดยเฉพาะต่อข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 17 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นายอกนิษฐ์ กล่าวว่า กรณีเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่จังหวัดปัตตานี อาจเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ขยายวงมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น กรณีนี้ กระบวนการยุติธรรมต้องทำให้ความจริงต้องปรากฏว่าเป็นอย่างไร เพราะจะทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอกนิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการปิดบังข้อมูลการตาย หรือไม่มีการไต่สวนการตาย ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า รัฐปกป้องเจ้าหน้าที่ ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศมองว่า เป็นจุดอ่อนที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย เรียกว่าวัฒนธรรมความไม่รับผิดชอบ (Culture of Impunity) ซึ่งปัญหานี้ ในประเทศไทยพบมากที่สุดในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผสานวัฒนธรรมจี้รัฐลดกำลังถืออาวุธ

ขณะเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลทบทวนแนวทางจัดตั้งกองกำลังทหารพรานในการแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นการลดกำลังติดอาวุธในพื้นที่แทนการเพิ่มจำนวนกองกำลัง โดยเฉพาะการรับสมัครพลเรือนชายหญิงอายุ 18-20 ปี เพื่อฝึกอาวุธ ซึ่งมีหลักสูตรอบรมที่จำกัดกว่าทหารหลักและจัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งซับซ้อน ตลอดจนมีบรรยากาศความไม่ไว้วางใจกันสูงในกลุ่มประชากร

แถลงการณ์ ระบุต่อไปว่า การให้พลเรือนฝึกอาวุธและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครทหารพราน อาจมีความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย อีกทั้งอาจขาดประสบการณ์การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และขาดการอบรมกฎการใช้อาวุธตามระเบียบปฏิบัติสากลว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles on the use of force and firearms by law enforcement officials) 

 

ใบอนุญาตฆ่า

 

มาตรา17พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

มาตรา 17 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

 

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้จี้เกาหลีใต้ปล่อยนักเคลื่อนไหวทวีต "คิม จอง อิล จงเจริญ"

0
0

แอมเนสตี้ เรียกร้องให้ปล่อยตัว ปาร์ก จูงยืน ชาวเกาหลีใต้อายุ 24 ปี ที่ถูกทางการเกาหลีใต้จับกุมในข้อหาผิดกฎหมายความมั่นคงในประเทศ หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ซึ่งแชร์มาจากทวิตเตอร์ของทางการเกาหลีเหนือว่า “คิมจองอิลจงเจริญ”

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 55 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการเรื่อง "เกาหลีใต้ต้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการส่งข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องคิมจองอิล" โดยมีรายละเอียดดังนี้

..............................

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

แถลงการณ์

1 กุมภาพันธ์ 2555

 

เกาหลีใต้ต้องปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวที่ถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการส่งข้อความทางทวิตเตอร์เรื่องคิมจองอิล

 

ทางการเกาหลีใต้ควรปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวสื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุน “ปรปักษ์” ทันที หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ที่ได้รับจากบัญชีทวิตเตอร์ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวในวันนี้

ปาร์ก จูงยืน (Park Jeonggeun) อายุ 24 ปี นักเคลื่อนไหวของพรรคสังคมนิยม ได้ถูกทางการเกาหลีใต้ตั้งข้อกล่าวหาเมื่อวานนี้ ฐานละเมิดกฎหมายความมั่นคงในประเทศ หลังจากที่เขาได้ส่งต่อข้อความทางทวิตเตอร์ที่ระบุว่า “คิมจองอิลจงเจริญ” ซึ่งเขาได้รับมาจากบัญชีทวิตเตอร์ของทางการเกาหลีเหนือ

ปาร์กบอกว่า เขาส่งต่อข้อความทวิตเตอร์ฉบับนั้นเพื่อล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือ และไม่ได้เป็นการสนับสนุนพวกเขาเลย แต่ต่อมาปาร์กก็ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักตัวกรุงโซลตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม และอาจต้องติดคุกเป็นเวลาถึงเจ็ดปี

“กรณีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคงในประเทศเลย แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ทางการเกาหลีใต้ไม่เข้าใจเอาเลยถึงความรู้สึกที่ต้องการเสียดสี” แซม ซาริฟี (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว

“การคุมขังบุคคลเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสงบ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในกรณีนี้ ข้อกล่าวหาที่มีต่อปาร์ก จูงยืนเป็นเรื่องที่น่าตลก และทางการควรถอนข้อกล่าวหานี้โดยทันที” เขากล่าว

ปาร์ก จูงยืนเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมของเกาหลีใต้ที่มักวิจารณ์เกาหลีเหนือ สำหรับการกดขี่ด้านแรงงาน การห้ามตั้งสหภาพแรงงาน และการบังคับให้ประชาชนต้องทำงานในสภาพที่เลวร้าย

“ปาร์กเป็นสมาชิกพรรคที่วิพากษ์วิจารณ์เกาหลีเหนืออย่างเปิดเผย แต่คดีที่เหลวไหลเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเขาเพียงคนเดียว เป็นเวลานานมาแล้วที่ทางการเกาหลีใต้ใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศ (National Security Law - NSL) เพื่อจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานและปิดกั้นการแสดงออกของภาคประชาสังคมโดยอ้างความมั่นคงในประเทศ” เขากล่าว

ตำรวจกล่าวหาว่าปาร์ก จูงยืนเผยแพร่ข้อความโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ

“ความจริงผมเพียงแต่ต้องการล้อเลียนผู้นำเกาหลีเหนือเท่านั้นเอง ผมทำไปเพราะสนุก” ปาร์ก จูงยืนกล่าวกับแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล

“นอกจากนั้นผมยังอัพโหลดและแก้ไขภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือส่งผ่านทวิตเตอร์ มีการเปลี่ยนรูปทหารเกาหลีเหนือที่กำลังยิ้มอยู่เป็นภาพที่ดูขึงขังของหน้าผมเอง และเปลี่ยนจากอาวุธที่ทหารถือเป็นขวดเหล้า”

“แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ แต่ผมก็สนใจในวัฒนธรรมเกาหลีเหนือและมีสิทธิที่จะได้เรียนรู้ถึงเรื่องนั้น” เขากล่าวเสริม

“พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศมีผลกระทบลึกซึ้งต่อเสรีภาพในการแสดงออกในเกาหลีใต้ แทนที่ทางการจะนำกฎหมายฉบับนี้มาแก้ไขปัญหาที่คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ กลับนำมาคุกคามประชาชนและจำกัดสิทธิที่จะแสดงออกได้อย่างเสรี ควรมีการปฏิรูปกฎหมายฉบับนี้ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน และถ้ารัฐบาลแก้ไขกฎหมายไม่ได้ ก็ควรยกเลิกไปเสีย” แซม ซาริฟี

ในช่วงที่เกาหลีใต้อยู่ใต้การปกครองของทหารระหว่างทศวรรษ 1970 และ 1980 ทางการมักใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เพื่อจับกุมคุมขังประชาชน และมักมีการทรมาน บังคับให้สารภาพ และการไต่สวนอย่างไม่เป็นธรรมในระบบยุติธรรมทางอาญา

แม้ว่าระบอบทหารในเกาหลีใต้จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทางการก็ยังคงใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อคุกคามต่อผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลเกาหลีเหนือนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ทางการเกาหลีใต้โดยเฉพาะตำรวจ อัยการ และสำนักข่าวกรองแห่งชาติยังคงใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลต่อเกาหลีเหนือ

ในช่วงที่ผ่านมามีการจับกุมบุคคลจำนวนมากโดยใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงในประเทศ ในข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อหรือยุยงให้เกิดการล้มล้างระบอบปกครอง” ซึ่งในกรณีที่บุคคลใดถูกไต่สวนพบว่ามีความผิดในข้อหาสรรเสริญ ยุยง หรือโฆษณาชวนเชื่อกิจกรรมของ “หน่วยงานต่อต้านรัฐบาล” ก็อาจต้องได้รับโทษจำคุกมากถึงเจ็ดปี

หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการนิยามคำว่า “สรรเสริญ” “ยุยง” หรือ “โฆษณาชวนเชื่อ” เป็นการตีความตามดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมายเอง

ปัจจุบันมีการสืบสวนสอบสวนหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ซึ่งเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับเกาหลีเหนือทางอินเตอร์เน็ต โดยทางการเกาหลีใต้เห็นว่าเป็นข้อความที่ “เป็นประโยชน์ต่อปรปักษ์”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ราคาที่ดินในเมืองทวายแพงขึ้นสูงถึงร้อยล้านจั๊ต

0
0

มีรายงานว่า ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเมืองทวาย ทางภาคใต้ของประเทศพม่ากำลังพุ่งพรวดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ดินในตัวเมืองทวายบางแห่งนั้นมีราคาสูงถึงหลายร้อยล้านจั๊ต หลังโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะก่อสร้างในพื้นที่

ขณะที่พบว่า ที่ดินที่มีราคาแพงที่สุดตั้งอยู่บนถนนอาซาร์นี ในตัวเมืองทวาย เนื่องจากมีหลายธนาคารเอกชนได้เปิดสาขาย่อยบนถนนสายนี้ โดยนักธุรกิจในพื้นที่ยังเผยว่า เหตุที่ราคาที่ดินในเมืองทวายนั้นราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็เพราะยังมีหลายบริษัทนักลงทุนเตรียมเข้ามาสร้างโรงแรมและสำงานย่อยในเมืองทวาย

ขณะที่ชาวบ้านเปิดเผยว่า แม้ที่ดินบางแห่งนั้นจะมีราคาสูงถึงหลายร้อยล้านจั๊ต แต่ก็ยังมีนักธุรกิจที่ต้องการครอบครองที่ดินผืนดังกล่าว เหมือนเช่นบริษัทแม็กซ์ เมียนมาร์ (Max Myanmar Company) ที่เพิ่งยอมควักเงินหลายร้อยล้านจั๊ตซื้อที่ดินในตัวเมืองทวายเมื่อเร็วๆนี้

ทั้งนี้ ชาวบ้านเปิดเผยว่า ราคาที่ดินในเมืองเริ่มขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการคาดการณ์กันว่า จะมีการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลายคนจึงรีบซื้อที่ดินหวังเกรงกำไร แต่ในเวลาต่อมาราคาที่ดินกลับมีราคาต่ำลงและคงที่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด หลังการเยือนของนายติ่น อ่อง มิ้น อู รองประธานาธิบดี ทำให้ราคาที่ดินกลับขยับสูงขึ้นอีกครั้ง

ด้านนายติ่น อ่อง มิ้น อู ระหว่างเยือนเมืองทวาย ได้ขอให้ทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งโครงการนี้มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)ของไทยได้รับสัมปทานและเข้าไปก่อสร้าง โดยโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย โรงงานอุตสาหกรรมหนักและการก่อสร้างถนนจากทวายเชื่อมจังหวัดกาญจนบุรีของไทย ซึ่งคาดว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้นจะใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 8 เท่า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่เมืองทวายบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบจากโครงการนี้แล้ว โดยเฉพาะการถูกยึดที่ดิน ไร่นาไปทำโครงการนี้ ขณะที่เชื่อว่า การเข้าไปลงทุนของบริษัทไทยและนักลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนี้ จะทำให้ชาวบ้านในเมืองทวายราว 23,120 คน จาก 18 หมู่บ้านต้องถูกโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น และไร้ที่ทำกิน

 

อหิวาตกโรคระบาดในค่ายผู้ลี้ภัยรัฐคะฉิ่น

หน่วยงานบรรเทาทุกข์ชาวคะฉิ่นเปิดเผยว่า ขณะนี้มีเด็กและคนชราในค่ายผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นตามชายแดนรัฐคะฉิ่น – จีน กำลังเผชิญกับอหิวาตกโรคระบาด สาเหตมาจากดื่มกินน้ำที่ไม่สะอาด ล่าสุดพบมีเด็กกว่า 30 รายกำลังป่วยเป็นโรคนี้ และมีเด็ก 1 รายที่เสียชีวิต

ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยคะฉิ่นอีก 3 แห่ง ทั้งในเมืองมังซี เมืองปาเจาและเมืองไวหม่อก็กำลังประสบกับปัญหาเดียวกัน สาเหตุคือไม่มีน้ำดื่มสะอาด และเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มสะอาดยาก เนื่องจากค่ายผูู้ลี้ภัยตั้งอยู่บนภูเขา รวมทั้งไม่มีห้องสุขาที่ถูกสุขอนามัยเพียงพอ แม้แต่ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นในเมืองรุ่นลี่ ฝั่งจีนก็ประสบกับปัญหาอหิวาตกโรคเช่นเดียวกัน

ตามรายงานของคณะกรรมการบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัยคะฉิ่น(the Kachin refugees’ relief committee) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีค่ายผู้ลี้ภัยคะฉิ่นในประเทศจียมีอยู่จำนวน 19 แห่ง และในรัฐคะฉิ่นอีก 40 แห่ง ซึ่งตัวเลขผู้ลี้ภัยจากสงครามในรัฐคะฉิ่นพุ่งเป็น 44,000 คนแล้ว โดยค่ายผู็ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับการประสานงานและความช่วยเหลือด้านอาหารและยาจากกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization – KIO) จากชาวพม่าทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นด้านศาสนาและด้านสังคม

อย่างไรก็ตาม กลับมีรายงานว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่อนุญาตให้หน่วยงานสากลใหญ่ๆเข้าไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยคะฉิ่น ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยกำลังขาดแคลนอาหาร ที่พัก เสื้อผ้า เต้นท์ และยารักษาโรค ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรัฐคะฉิ่นล่าสุด ก็ยังไม่มีสัญญาณว่า รัฐบาลพม่าและกองทัพคะฉิ่นจะสามารถตกลงและยุติสงครามได้ในเร็ววันนี้ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทใหญ่ได้ออกมารายงานว่า ทางกองทัพพม่าเริ่มถอนกำลังออกจากเขตควบคุมของทหารคะฉิ่นที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของรัฐฉานแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ชาวบ้านก็ยังไม่กล่้าเดินทางกลับบ้าน เพราะยังไม่แน่ใจสถานการณ์

 

แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima 2 กุมภาพันธ์ 55

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ร้องขอออกรายการ ‘สรยุทธ์’ แฉปัญหา ‘ครูจ้างสอน’

0
0

ครูจ้างสอนสุราษฎร์ฯ ทำจดหมายเปิดผนึกขอความอนุเคราะห์ให้ออกรายการเจาะข่าวเด่น แฉปัญหาความเดือดร้อนของครูจ้างสอนที่มีสวัสดิการต่ำ จี้ ก.ศึกษา ตั้งกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของครูจ้างสอน

3 ก.พ. 55 - ครูจ้างสอนโดยงบประมาณโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” ว่าด้วยเรื่องขอความอนุเคราะห์ให้ออกรายการเจาะข่าวเด่น เพื่อตีแผ่ปัญหาของครูจ้างสอน รวมถึงขอให้ตั้งกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของครูจ้างสอนโดยงบประมาณโรงเรียน

 


โรงเรียนสหกรณ์นิคม
219 หมู่ 4 ตำบลตะกุกเหนือ
อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
3 กุมภาพันธ์ 2555
 
เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้ออกรายการเจาะข่าวเด่น
เรียน คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา
 
เนื่องด้วยข้าพเจ้า นางจริยา กิจวิถี และ นางวนิดา น้ำทอง ครูจ้างสอนโดยงบประมาณโรงเรียน ปฏิบัติการสอนในระดับชั้นปฐมวัย อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ข้าวของมีราคาแพงมาก แต่ค่าตอบแทนที่ครูจ้างสอนได้รับต่ำมาก เพียงเดือนละ 4,000 - 6,000 บาท เหตุเพราะโรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องเงินค่าตอบแทนครูจ้างสอน แต่ด้วยความจำเป็นในภาวะที่โรงเรียนขาดแคลนครู โรงเรียนจึงต้องแก้ไขปัญหา ด้วยการจ้างคนในท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์การสอนในโรงเรียนเอกชนมาก่อน หรือผู้ที่มีความรู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษา มาสอบเป็นลูกจ้างของโรงเรียน ทำสัญญาจ้างปีต่อปี โดยมีกระบวนการประเมินผลการสอนทุกปี มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านการสอนทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง และต้องรับผิดชอบ จัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.)
 
แต่ครูจ้างสอน ได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 4,000 - 6,000 บาท ไม่มีการขึ้นค่าตอบแทน ไม่มีเงินสะสม ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ไม่มีบัตรประกันสังคม ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เป็นเพียงลูกจ้างของโรงเรียน ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการคุ้มครองทางกฎหมายใดๆ แม้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่น้อยนิดไม่เพียงพอต่อการครองชีพ แต่สิ่งหนึ่งที่ครูจ้างสอนมีอยู่เต็มเปี่ยมหัวใจ คือ จิตวิญญาณของความเป็นครู สอนเด็กด้วยความมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสาในการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ครูจ้างสอนบางท่านสอนหนังสือมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังสอนอยู่โดยไม่รับค่าตอบแทนเลยก็มี
 
จนกระทั่งรัฐบาล ฯพณฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการ และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท นั้น ครูจ้างสอน ซึ่งคาดว่ามีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ อย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เพราะครูจ้างสอนไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เป็นเพียงลูกจ้างของโรงเรียน จึงต้องรับค่าตอบแทนจากโรงเรียนในอัตราเดิม เดือนละ 4,000 - 6,000 บาท ครูจ้างสอนจึงเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง เป็นครูผู้ด้อยโอกาส ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นครูผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะค่าตอบแทนที่ได้รับน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างเอกชน หรือกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งครูจ้างสอนก็เปรียบเสมือนกรรมกรก่อสร้างรากฐานของสังคม คือสร้างเด็กและเยาวชน ให้มีความพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นสมาชิกที่ เก่ง ดี และมีความสุขของสังคมไทยต่อไป
 
ข้าพเจ้า ไม่มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนครูจ้างสอน ครูผู้ด้อยโอกาสที่กระจายกันอยู่ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีช่องทางในการสื่อสารกับสังคม เพื่อให้รับรู้ถึงตัวตน และการมีอยู่จริงของครูจ้างสอน ครูผู้ด้อยโอกาส
 
ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านกรุณาเปิดช่องทางในการสื่อสารกับสังคมด้วยการอนุญาต ให้ออกรายการเจาะข่าวเด่น ซึ่งข้าพเจ้าคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้น ให้เพื่อนครูจ้างสอนที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ได้ติดต่อเข้ามารวมตัวกันเป็นเครือข่าย เพื่อนำเสนอปัญหาของครูจ้างสอนต่อรัฐบาล หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการสำรวจปริมาณครูจ้างสอนโดยงบประมาณโรงเรียนทั้งประเทศ และให้ครูจ้างสอนเป็นลูกจ้างของกระทรวงศึกษา ครูจ้างสอนจึงจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
ลงชื่อ......................................                   ลงชื่อ...................................... 
 (นางจริยา กิจวิถี)                                         ( นางวนิดา น้ำทอง )
 ครูจ้างสอนโรงเรียนสหกรณ์นิคม                 ครูจ้างสอนโรงเรียนบ้านเชี่ยวมะปราง
 โทรศัพท์ 089-8750909                                โทรศัพท์ 087-2749049
 

 


 

โรงเรียนสหกรณ์นิคม

219 ม. 4 ตำบลตะกุกเหนือ
อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
3 กุมภาพันธ์ 2555
 
เรื่อง ขอให้ตั้งกรรมการศึกษารวบรวมข้อมูลและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาของครูจ้างสอน โดยงบประมาณโรงเรียน
 
เรียน ฯ พณ ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
 
เนื่องด้วยข้าพเจ้า นางจริยา กิจวิถี และ นางวนิดา น้ำทอง ครูจ้างสอนโดยงบประมาณโรงเรียน ปฏิบัติการสอนในระดับชั้นปฐมวัย อยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ข้าวของมีราคาแพงมาก แต่ค่าตอบแทนที่ครูจ้างสอนได้รับต่ำมาก เพียงเดือนละ 4,000 - 6,000 บาท เหตุเพราะโรงเรียนไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องเงินค่าตอบแทนครูจ้างสอน แต่ด้วยความจำเป็นในภาวะที่โรงเรียนขาดแคลนครู โรงเรียนจึงต้องแก้ไขปัญหา ด้วยการจ้างคนในท้องถิ่น ที่มีประสบการณ์การสอนในโรงเรียนเอกชนมาก่อน หรือผู้ที่มีความรู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการศึกษา มาสอบเป็นลูกจ้างของโรงเรียน ทำสัญญาจ้างปีต่อปี โดยมีกระบวนการประเมินผลการสอนทุกปี มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้ด้านการสอนทุกปี ปีละไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง และต้องรับผิดชอบ จัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ (สมศ.)
 
แต่ครูจ้างสอน ได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 4,000 - 6,000 บาท ไม่มีการขึ้นค่าตอบแทน ไม่มีเงินสะสม ไม่มีค่ารักษาพยาบาล ไม่มีบัตรประกันสังคม ไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เป็นเพียงลูกจ้างของโรงเรียน ที่ไม่อยู่ในขอบเขตการคุ้มครองทางกฎหมายใดๆ แม้ว่าจะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่น้อยนิดไม่เพียงพอต่อการครองชีพ แต่สิ่งหนึ่งที่ครูจ้างสอนมีอยู่เต็มเปี่ยมหัวใจ คือ จิตวิญญาณของความเป็นครู สอนเด็กด้วยความมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ มีจิตอาสาในการทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ครูจ้างสอนบางท่านสอนหนังสือมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังสอนอยู่โดยไม่รับค่าตอบแทนเลยก็มี
 
จนกระทั่งรัฐบาล ฯพณฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่ข้าราชการ และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท นั้น ครูจ้างสอน ซึ่งคาดว่ามีอยู่จำนวนมากทั่วประเทศ อย่างน้อยโรงเรียนละ 1 คน ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว เพราะครูจ้างสอนไม่มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ เป็นเพียงลูกจ้างของโรงเรียน จึงต้องรับค่าตอบแทนจากโรงเรียนในอัตราเดิม เดือนละ 4,000 - 6,000 บาท ครูจ้างสอนจึงเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ด้อยโอกาสอย่างแท้จริง เป็นครูผู้ด้อยโอกาส ในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นครูผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะค่าตอบแทนที่ได้รับน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำของลูกจ้างเอกชน หรือกรรมกรก่อสร้าง ซึ่งครูจ้างสอนก็เปรียบเสมือนกรรมกรก่อสร้างรากฐานของสังคม คือสร้างเด็กและเยาวชน ให้มีความพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นสมาชิกที่ เก่ง ดี และมีความสุขของสังคมไทยต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ ฯ พณ ฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งกรรมการศึกษาปัญหา รวบรวมข้อมูล และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ให้ครูจ้างสอนได้มีสถานะเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ครูจ้างสอนจะได้ มีโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามนโยบายของรัฐบาล
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
ลงชื่อ......................................                     ลงชื่อ...................................... 
 (นางจริยา กิจวิถี)                                          ( นางวนิดา น้ำทอง )
 ครูจ้างสอนโรงเรียนสหกรณ์นิคม                 ครูจ้างสอนโรงเรียนบ้านเชี่ยวมะปราง
             โทรศัพท์ 089-8750909                       โทรศัพท์ 087-2749049


 

 

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเป็นไทยในรามเกียรติ์ฉบับไทย: การสร้างขึ้นมาใหม่

0
0

หากมิใช่การเขียนอย่างแฝงนัยแห่งความหมายเอาไว้ให้ผู้อ่านได้ขุดคิดแล้ว คงต้องกล่าวว่าบทความเรื่อง"สร้างแล้วจึงรื้อ : รามเกียรติ์ไทยในมหกรรมรามายณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ์ ฯ" ของ อ.เจตนา นาควัชระ (กรุงเทพธุรกิจ section จุดประกาย, พฤ 2 กภพ.2555 น.08) ตีความปัจฉิมราชวินิจฉัย พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ที่ว่า "ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด ดั่งพระทัยสมโภชบูชา ใครฟังอย่าได้ใหลหลงจงปลงอนิจจังสังขาร์" ตรงตามตัวอักษรจนเกินไป
 
เหตุเพราะวัฒนธรรมไทย เมื่่อจะเล่านิทานให้ฟัง หรือเมื่อจะเล่นละครให้ดูแล้ว  หากมีผู้วิจารณ์ว่า น้ำเน่านี่หว่ามุขหนึ่งที่จะตอบแก้ก็ต้องว่า  เล่าให้ฟัง เล่นให้ดูพอเพลิน ๆ นะ เรื่องเล่าเล่น ๆ นะ ไม่มีอะไรหรอก  ฟังแล้วดูแล้วก็ปลงเข้าสู่พระธรรมเสีย  เหมือนอย่างเมื่อมีคนดูละครบางเรื่องแล้วรู้สึกเน่าเหลือเกิน คณะู้ผู้จัดก็นิมนต์พระมาเทศน์สอนแง่คิดทางธรรรมให้ฟังท้ายละคร ก็เป็นอันจบละครเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์
 
รามเกียรติ์ฉบับไทยเป็นภาพสะท้อนการดำเนินไปตามขนบความเป็นไทยฉบับหลวง และสะท้อนความคิดอ่านของผู้แต่งอย่างชัดแจ้ง  นั่นคือสถานะของพระรามในรามเกียรติ์ฉบับไทยมิใช่พระเจ้า  หากแต่เป็น "เจ้า" องค์หนึ่ง "พระราม" ของไทยมิใช่ "ราม" อย่างฮินดู  สีดาจึงมิใช่คู่ของพระเจ้า หากแต่เธอคือนางสีดา ซึ่งเป็นของเจ้า .โครงเรื่องมิใช่การภักดีต่อสัจจะ  แต่คือการภักดีต่อเจ้า
 
เรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้า ๆ อย่างพระรามย่อมเป็นที่เสพย์ในหมู่ประชาชน  หากเป็นผู้ดีเป็นอำมาตย์ ซึ่งมีจำนวนน้อยก็ต้องเสพย์เสวยเรื่องพระราม  ส่วนชาวบ้านหรือไพร่ทั่วไปก็เสพย์เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ไป  กล่าวอย่างภาษาการตลาดก็ว่า ละครจักร ๆ วงศ์ ๆ เป็น fighting brand เจาะตลาดล่างของเรื่องเล่าแบบรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทย-ซึ่งเป็นสินค้าเกรด A  หากแต่ชาวบ้านหรือไพร่ทั่ว ๆ ไปก็สามารถสนุกกับเรื่องพระรามได้จากตัวละครที่เป็นอุดมคติ  หรือมีลักษณะเป็นที่นิยมของไพร่  ซึ่งการคล้อยตามหรือสนุกตามเรื่องเล่า ก็สามารถทำให้ผู้เสพย์คล้อยตามอุดมคติของผู้แต่งได้โดยไม่รู้ตัว หรือโดยไม่ทันสังเกตตัวเอง
 
ตัวละครในอุดมคติ หรือพระเอกสำหรับไพร่ หรือพระเอกสำหรับชาวบ้านชาวบ้าน มิใช่พระราม พระลักษณ์ หรือทศกัณฐ์  หากแต่คือหนุมาน ไม่หล่อ แต่เท่ มี "วิชา"  และ โคตรเจ้าชู้  สำหรับไพร่ ๆ ในสังคมของลูกพี่ หรือในสังคมที่มีพี่ใหญ่  หากลูกพี่หรือพี่ใหญ่มีปัญหาอะไร ขอเพียงให้เชื่อไ้ด้สนิทใจว่า พี่ใหญ่ทำถูกต้องแล้ว เหล่าลูกน้องทั้งหลายย่อมยินดีช่วยเหลือเต็มที่   หนุมานก็เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป คือรักลูกพี่ ทำได้เพื่อพี่ใหญ่  หนุมานจึงมีคุณสมบัติสอดคล้องกับค่าความนิยมหรืออุดมคติแบบไพร่ ๆ  หนุมานจึงเป็นพระเอกของไพร่ หรือชาวบ้าน ในวัฒนธรรมไทย  และเรื่องรามเกียรติ์ฉบับไทยจึงเป็นที่นิยมในหมู่ไทย
 
การทำความเข้าใจรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทย จึงไม่ควรเพียงพิจารณาจากขนบเถรวาท  หากแต่ควรพิจารณาจากสภาพไทย ๆ ที่พระเจ้ากลายสภาพเป็นเจ้า  และไพร่พลอย่างหนุมานกลายเป็นพระเอกในดวงใจของผู้เสพย์ผู้ชม.สังคมไทยไม่ได้รื้อสร้าง  ไม่ได้deconstruct  ไม่ได้สร้างแล้วจึงรื้อ แล้วสร้างใหม่ อย่างที่อาจารย์เจตนากล่าว เพราะเราเพียงแต่สร้างรามเกียรติ์ขึ้นมาใหม่ reconstructขึ้นมาใหม่จากรามเกียรติ์เรื่องเดิม ให้เป็นรามเกียรติฺิ์แบบไทย ๆ
 
จากแง่มุมการกลายเป็นไทยของรามเกียรติ์ เราจึงไม่อาจพิจารณาโดยเทียบเคียงกับศิลปะรามายณะของชาติอื่น ๆว่าเราหยุดอยู่กับที่ หรือกลายเป็นมาอยู่ท้ายแถวแล้วละหรืออย่างที่อาจารย์เจตนาตั้งคำถาม  เหตุเพราะรามเกียรติ์ไทยได้บ่ายหน้าไปในทิศทางของตนเอง  ธรรมะหรือสัจจะของพระเจ้า จงหลีกทางไปให้แก่สิทธิอันชอบธรรมของเจ้า  รามเกียรติ์ฉบับราชการไทยเป็นบท เป็นการแสดงที่เป็นพิธีกรรมบูชาเจ้า มิใช่มุ่งสร้างความหฤหรรษ์บันเทิงเป็นหลัก  เพราะเหตุดังนั้นจึงต้องการความศักดิ์สิทธิ์ถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิม เหมือนอย่างที่เมื่อจะไหว้เจ้าไหว้เทวดา เราก็มักต้องบูชาด้วยเครื่องเซ่นไหว้ตามอย่างที่ผู้รู้กำหนดมา  ยิ่งถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิมยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งดีต่อเจ้าที่เซ่นไหว้ และดีต่อผู้เซ่นไหว้เอง  ประเด็นสำคัญมิใช่การค้นหาสิ่งใหม่ ๆ หรือหาแรงบันดาลใจจากวิถีชาวบ้าน หากคือการทำให้ถูกต้องตามแบบอย่างดั้งเดิม (แต่ถ้าจะทำให้อลังการบิ่งๆขึ้นก็ไม่มีปัญหา)  เหตุดังนั้นจึงไม่ต้องคาดหวังถึงการประดิษฐ์ท่ารำหรือการแต่งเพลงใหม่ ๆ มาใช้ในรามเกียรติ์ฉบับราชการไทย
 
จากมุมมองของผู้ผลิตซ้ำรามเกียรติ์ไทย  รามเกียรติ์ไทยจึงเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์  หากประสงค์จะสร้างใหม่ ก็จงไปสร้างในพื้นที่อื่น ๆ  หรือในพื้้นที่ประกอบของเรื่อง เช่น ให้ความใหม่สดแก่พิเภก แก่หนุมาน  หรือจะแปลงความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นบ้าน ๆ ใส่ลงในเพลงสุนทราภรณ์ ในละครจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือในละครน้ำเน่า ก็ล้วนไม่มีปัญหาแต่อย่ามายุ่งกับโครงหลักของรามเกียรติ์  การกลายเป็นไทยของรามเกียรติ์จึงเป็นข้อจำกัดในต้วเอง !
 
สำหรับชาวบ้าน ชาวบ้าน  หรือสำหรับไพร่ ๆ  เราอาจไม่ได้มีโอกาสดูการแสดงชั้นเลิศของต่างชาติแล้วย้อนกลับมาดูตัวเราเอง  หากแต่เราสามารถดูรามเกียรติ์ไทยแล้วย้อนกลับมาเข้าใจความเป็นไทยที่สร้างขึ้นมาจำกัดความสร้างสรรค์ของเราเอง
 
ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องดนตรีไทย  แต่อาจารย์เจตนาอาจจะคิดซับซ้อนเกินไปเกี่ยวกับรามเกียรติ์และนาฎศิลป์ไทย จึงยังคงให้ความสำคัญกับความมหัศจรรย์/บทสนทนาของระนาดเอกระนาดทุ้ม  หรือการให้โอกาสแก่การรังสรรค์เพลงใหม่ ๆ   หากสิ่งสำคัญหรือเป็นพื้นฐานที่สุดของนาฎศิลป์ นาฎยสังคีต หรือนาฎดุริยางค์ไทยคือ จังหวะ  แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในวัฒนธรรมดนตรีไทยก็คือ ฉิ่ง !   หรือก็คือในวัฒนธรรมไทย  สิ่งสำคัญย่อมมิใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆท่วงทำนองใหม่ ๆ  หากแต่ที่สำคัญที่สุด คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ท่วงทำนองใหม่ ๆ เพื่ออวยประโยชน์สุขแก่นาฎยสังคม หรือสังคมโดยรวมนั้น จะต้องคำนึงถึงจังหวะที่พอเหมาะพอดีลงตัวกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ   นาฎยสังคมไทยไม่มีปัญหาเรื่องแนวทางใหม่ ๆ เท่าการมีปัญหาเรื่องการตระหนักรู้จังหวะ  และเราอาจกล่าวได้ว่า  ผู้ใดเข้าใจจังหวะ ผู้นั้นเข้าใจสังคมไทย  ผู้ใดสามารถกำหนดจังหวะ  ผู้นั้นสามารถกำหนดสังคมไทย
 
ปัญหาคงอยู่ว่า จังหวะฉิ่งของพี่ไทย หรือก็คือจังหวะแบบไทย ๆ เป็นตัวกำหนดจนถึงกับจำกัดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับที่ความเป็นไทยในรามเกียรติ์กลายเป็นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือไม่  และเราจะออกจากข้อจำกัดนี้ไปได้อย่างไร ?
 
                                                                                        
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดข้อเสนอ“คณิต ณ นคร”(ฉบับเต็ม) หนุนแก้ไข มาตรา112 ส่งตรงถึง “ยิ่งลักษณ์”

0
0

3 ก.พ. 55 - เว็บไซต์ประสงค์ดอทคอม (http://www.prasong.com) เผยแพร่ ข้อเสนอ คอป. ของ 'คณิต ณ นคร' หนุนแก้ไข มาตรา112 ส่งให้นายกเมื่อ 30 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

หมายเหตุ-เป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ซึ่งมี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่เสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจซึ่งมีเนื้อหาเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในรื่องระวางโทษให้ลดลงเหลือไม่เกิน 7 ปี และให้มีหน่วยงานกลางในการกลั่นกรองการดำเนินคดีเพื่อมิให้มีการนำบทบัญญัติในเรื่องนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การอ่านข้อเสนอดังกล่าวง่ายขึ้น  จึงมีการเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ในบางส่วน

@@@@@@@@@@@@@

นับตั้งแต่ได้เกิดความขัดแย้งในทางการเมืองของคนในชาติ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น

หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งมี คุณธรรมทางกฎหมาย (Rechtsgut / legal interest) ที่คุ้มครอง คือ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร (ดู คณิต  ณ นครกฎหมายอาญาภาคความผิด พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ สำนักพิมพ์วิญญูชน มิถุนายน ๒๕๕๓ หน้า ๖๗๒) เป็นที่กล่าวถึงกันมาก

โดยฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยได้เรียกร้องให้มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่ชอบที่จะกระทำได้ ซึ่งหากการกระทำทุกอย่างเป็นความผิดอาญาฐานดังกล่าวไปเสียสิ้นก็ย่อมจะขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ จึงเห็นสมควรจักได้ยกเลิกความผิดฐานนี้เสีย และ คอป. ได้เสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าวตามระบบกฎหมายที่เป็นอยู่ไปแล้วตามหนังสือที่อ้างถึงว่า ในการดำเนินคดีในความผิดฐานดังกล่าวกระบวนการยุติธรรมของประเทศชอบที่จะกระทำโดยรอบคอบกว่าที่เป็นอยู่ นั้น

คอป. ขอกราบเรียนว่า คอป. ได้รับการแต่งตั้งขึ้นโดยฝ่ายการเมืองและดำรงอยู่โดยฝ่ายการเมือง กล่าวคือ ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนและดำรงอยู่เพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลปัจจุบัน  และ คอป. ขอกราบเรียนต่อไปว่า การทำงานของ คอป. ตลอดเวลาที่ผ่านมา คอป. ได้ทำงานนอกจากบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อรัฐแล้ว คอป. ยังทำงานบนพื้นฐานของ “ความรับผิดชอบต่อประชาชน” (Public Accountability) ด้วย ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของ คอป. ที่ผ่านมาและที่จะมีต่อไปจึงเป็นข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่าย ต่อทุกภาคส่วนในสังคมและต่อประชาชนด้วย

อีกประการหนึ่งการทำงานของ คอป. ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นการทำงานบนพื้นฐานของวิชาการและบนพื้นฐานของความเป็นอิสระ

ยิ่งกว่านั้น คอป. ตระหนักดีว่าในสังคมปัจจุบันไม่ว่าความไม่สงบจะเกิดขึ้นในที่ใดในประเทศใดย่อมกระทบต่อสังคมนานาประเทศด้วย รายงานและข้อเสนอแนะของ คอป. จึงได้จัดทำเป็นสองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและโดยตรงจาก คอป.

คอป. ขอกราบเรียนว่าในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น คอป. ได้ทำการศึกษาในแง่มุมของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวมีผลเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นและเพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติด้วย

การแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยเฉพาะการสร้างความปรองดองของคนในชาติอันเป็นภารกิจของ คอป. ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐและประชาชนนั้น คอป. เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้วแม้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ชอบที่จะต้องพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่ง คอป. ได้พิจารณาแล้วจึงขอเสนอแนะดังต่อไปนี้

1)ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็น ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน

2) โดยที่ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่คุ้มครอง “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อันเป็น “คุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม” (Universalrechtsgut / Legal interest for public own) อันเป็นเรื่องของ “สถาบัน” หาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่

ดังนั้น การที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีด้วยพระองค์เองย่อมไม่เป็นการเหมาะสมและสมควรและเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบันอีกด้วย โดยที่เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย จึงอาจจะกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจให้ดำเนินคดี

3)ในส่วนของระวางโทษของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นั้น ชอบที่จะมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบัน กล่าวคือ ชอบที่จะให้เบาลง ซึ่งอย่างน้อยชอบที่จะกลับไปถือเอาระวางโทษจำคุกเดิมของประมวลกฎหมายอาญาเมื่อประกาศใช้บังคับใหม่ ๆ คือระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปีโดยไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำ และให้มีระวางโทษปรับด้วย ตามเหตุผลที่ปรากฏในบทความเรื่อง “การให้อำนาจในการดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือที่รวมบทความ “การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) หน้า ๓๑ ถึงหน้า ๕๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้า ๔๙ – ๕๐ และหน้า ๕๔ – ๕๕

4) จากข้อเสนอแนะดังกล่าวมา ร่างมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่จะนำเสนอต่อรัฐสภาจึงเป็นดังต่อไปนี้

มาตรา ๑๑๒ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ

การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง

อนึ่ง แม้บทบัญญัติตามวรรคสามของร่างกฎหมายดังกล่าวจะเป็นบทบัญญัติที่โดยเนื้อแท้เป็นบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (เทียบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑) แต่ก็ชอบที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเสียเลยทีเดียว

5) ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ และความผิดตามมาตรา ๑๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่ยึดโยงกัน เมื่อได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑๒ แล้วก็ต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๓๓ ในคราวเดียวกัน โดยให้มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามเหตุผลโดยละเอียดที่ปรากฏในบทความเรื่อง “การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือรวมบทความ“การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาเพื่อพิจารณาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) พร้อมหนังสือฉบับนี้ และร่างมาตรา ๑๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะมีข้อความดังต่อไปนี้

มาตรา ๑๓๓ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คอป. ขอกราบเรียนในที่นี้ด้วยว่า โดยที่การทำงานของ คอป. เป็นการทำงานที่ตั้งอยู่บน “ควารับผิดชอบต่อประชาชน” (public accountability) ข้อเสนอแนะของ คอป. ดังกล่าวมานี้ คอป. ถือว่าเป็ข้อเสนอแนะต่อทุกฝ่ายในรัฐสภาและต่อประชาชนด้วย และในส่วนของรัฐสภานั้น คอป. เห็นว่าชอบที่ผลักดันกฎหมายดังกล่าว และประชาชนเองก็ชอบที่จะผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อจักได้ช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ

@@@@@@

เกรินนำก่อนเสนอแก้ไข ประมาวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ก่อนที่ คอป. จะได้กล่าวถึงการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานดังกล่าว คอป. เห็นสมควรกล่าวถึงพื้นฐานของความแตกต่างระหว่างสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับสังคมไทยเราดังต่อไปนี้

(๑) ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น คนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นเสรีนิยมสูง แต่คนในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเรามีความเป็นอำนาจนิยมสูง ดังจะเห็นได้จากการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐโดยไม่พิจารณาถึงความจำเป็น การออกหมายจับ การจับ การควบคุม การขังและการปล่อยชั่วคราวตลอดจนการเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจึงไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย จน คอป. ต้องมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังรายละเอียดปรากฏในข้อเสนอแนะของ คอป. ตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คอป. ๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ถึงนายกรัฐมนตรี แม้กระนั้นก็ตามกรณีดังกล่าวก็ยังมีปัญหาอยู่จนบัดนี้ จึงชอบที่รัฐบาลนี้จักได้ดำเนินการต่อไป เพราะความถูกต้องและเป็นธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญของความปรองดองของคนในชาติ

(๒) ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ จะมี หน่วยที่ปรึกษา ของพรรคการเมือง เช่น หน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย หน่วยที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งหน่วยที่ปรึกษาดังกล่าวจะทำงานกันอย่างต่อเนื่องจนเป็น “สถาบัน” ควบคู่กับพรรคการเมือง สำหรับ “หน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย” ของพรรคการเมืองนั้น จะเป็นผู้ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่เป็นอยู่โดยทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนากฎหมาย เพื่อการแก้ไขกฎหมายและเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยใช้กฎหมาย แต่ในประเทศไทยเรานั้น เนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ยังพัฒนาไปไม่ถึงการเป็น “สถาบันทางการเมือง” พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงยังมีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ “หน่วยที่ปรึกษากฎหมาย” ของพรรคการเมืองจึงยังคงเป็น “หน่วยที่ปรึกษากฎหมาย” เป็นการเฉพาะกิจที่ยังไม่เป็น “สถาบัน” ไปด้วย

ความแตกต่างอันเป็นพื้นฐานสองประการดังกล่าวย่อมส่งผลถึงการแก้ปัญหาของประเทศชาติด้วยกฎหมายที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐประสบปัญหาทางการเมืองที่จะต้องแก้ปัญหาความรุนแรงในทางการเมือง

คอป. ขอกราบเรียนด้วยว่า จากการศึกษาของ คอป. นั้น ในอดีตอย่างน้อยเคยเกิด “กองทัพแดง” (Red Army) ขึ้นในสองประเทศ กลุ่มกองทัพแดงเป็นกลุ่มที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์และได้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อล้มล้างรัฐบาลและสถาบันการเมือง ซึ่งในสองประเทศที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้มีการจัดการกับกลุ่มกองทัพแดงที่ต่างกัน ดังต่อไปนี้

(๑) ในประเทศญี่ปุ่นได้เกิด กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army) ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “Nihon Sekigun” กองทัพแดงญี่ปุ่นไม่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศเลบานอนเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๑ โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐบาลญี่ปุ่นและพระเจ้าจักรพรรดิ์แห่งญี่ปุ่น โดยมีหัวหน้าคนเก่าชื่อ Haruo Wako ซึ่งถูกจับกุมได้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๗ และถูกศาลแห่งประเทศญี่ปุ่นพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และเขาได้ตายในเรือนจำเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๑ นี้เอง ในระหว่างที่หัวหน้ากลุ่มถูกจำคุกอยู่นั้น ก็ได้มีหัวหน้ากลุ่มคนใหม่ชื่อ Fusako Shigenobu และหัวหน้ากลุ่มคนใหม่เพิ่งถูกจับกุมได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๐ และเขาถูกศาลแห่งประเทศญี่ปุ่นพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๖ กรณีจึงกล่าวได้ว่าการจัดการกับกลุ่มกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กระบวนการยุติธรรมในการปราบปราม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมของประเทศญี่ปุ่นนั้น ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก และประเทศญี่ปุ่นก็ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแต่อย่างใด

(๒) ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีระหว่างปลายปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ถึงปลายปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ก็ได้เกิด “กลุ่มกองทัพแดง” (Red Army Faction) ซึ่งเรียกในภาษาเยอรมันว่า “Rote Armee Fraktion” กลุ่มกองทัพแดงเยอรมันเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายหรือเป็นกลุ่มการเมืองที่นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์เช่นกัน กลุ่มการเมืองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ดำเนินการในทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลเยอรมันโดยใช้ความรุนแรงต่างๆ การดำเนินการในทางการเมืองของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้จึงมีลักษณะเป็นกลุ่มอาชญากรก่อการร้าย ซึ่งการต่อสู้กับกลุ่มนี้ได้นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายในเวลาต่อมา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๒.๑) กลุ่มอาชญากรก่อการร้ายกลุ่มนี้มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงชื่อ Ulrike Meinhof และมีผู้ร่วมคิดคนสำคัญเป็นผู้ชายชื่อ Andreas Baarder กลุ่มอาชญากรก่อการร้ายกลุ่มนี้จึงรู้จักกันทั่วไปว่า “Barrder – Meinhof Group” ซึ่งหากจะกล่าวเฉพาะการรวมตัวของบุคคลโดยไม่คำนึงถึงอาชญากรรมที่บุคคลในกลุ่มไปก่อกับความผิดทางอาญาตามกฎหมายของไทยเราแล้วความผิดของบุคคลที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มก็คือความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๙ ของไทยเรานั่นเอง

(๒.๒) อั้งยี่กลุ่มนี้ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงประเภทต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง เป็นต้นว่า การวางระเบิดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สำนักพิมพ์ของเอกชน การปล้นสดมภ์ การจับตัวบุคคลเรียกค่าไถ่ การสังหารบุคคลต่าง ๆ เช่น วางระเบิดสังหารผู้พิพากษาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ วางระเบิดสังหาร “อัยการสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐ” (Bundesstaatsanwalt/Federal Prosecutor General) เป็นต้น

(๒.๓) การก่ออาชญากรรมของอั้งยี่กลุ่มนี้ทางกลุ่มอ้างว่าเป็นเรื่องการดำเนินการในทางการเมืองของกลุ่ม และเมื่อบุคคลในกลุ่มถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีก็จะมี “กลุ่มทนายความ” ที่เรียกกันว่า “ทนายความฝ่ายซ้าย” (Linksanwalt / Leftish Attorney at Law) คอยให้ความช่วยเหลือในทางคดี

(๒.๔) ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเยอรมันในขณะนั้น จำเลยแต่ละคนสามารถมีทนายความแก้ต่างคดีให้ตนได้โดยไม่จำกัดจำนวนทนายความ และทนายความทุกคนจะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้แก่ลูกความของตนได้โดยการทำงานร่วมกันหรือทนายความแต่ละคนจะดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแยกกันอย่างเป็นอิสระแยกจากกันและกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำได้

(๒.๕) เมื่อกลุ่ม “ทนายความฝ่ายซ้าย” เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยการทำงานโดยอิสระแยกกันสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานการเมืองของกลุ่มตนได้ กลุ่มทนายความดังกล่าวจึงใช้ช่องทางของกฎหมายดำเนินการกระบวนพิจารณาในศาลโดยแยกกันเพื่อเป็นการประวิงคดีจนทำให้การพิจารณาคดีของศาลติดขัด การที่ “ทนายความฝ่ายซ้าย” ต่างคนต่างดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยแยกกันนี้จึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เป็นการกระทำเพื่อให้กลไกส่วนหนึ่งของรัฐล้มเหลวแล้วรัฐก็จะกลายเป็นรัฐล้มเหลว

(๒.๖) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ยอมปล่อยให้พฤติกรรมของ “ทนายความฝ่ายซ้าย” สามารถใช้กฎหมายดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลจนกระทบต่อประสิทธิภาพโดยไม่มีการแก้ไขปัญหา ในที่สุดรัฐบาลจึงได้เสนอแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้จำเลยแต่ละคนสามารถมีทนายความได้ไม่เกิน ๓ คน

(๒.๗) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ดีต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ต้องมี “ความเป็นเสรีนิยม” (ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๗ สำนักพิมพ์วิญญูชน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ หน้า ๔๗ – ๔๘)  กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคล การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในครั้งนี้ที่จำกัดการมีทนายความไว้ไม่เกิน ๓ คนนั้น ก็เป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามสมควร เหตุนี้รัฐสภาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีจึงให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงทำให้การประวิงคดีโดยการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหรือเป็นอุบายเพื่อการดำเนินการทางการเมืองของทนายความฝ่ายซ้ายได้รับการแก้ไขเป็นผลสำเร็จ ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในทางการเมืองของนักการเมืองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหาที่สั่นคลอนต่อระบอบการเมืองของประเทศแล้วฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้ผนึกกำลังกันเพื่อแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างมีหลักมีเกณฑ์

การที่ คอป. ได้หยิบยกเอาเหตุการณ์อันแสดงถึงบทบาทของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการแก้ปัญหาของประเทศชาติขึ้นมากล่าวนั้น ก็โดยประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมมีทางแก้ปัญหา ในระบบ ในทางการเมืองอย่างมีหลักมีเกณฑ์ได้เสมอ เพียงแต่นักการเมืองของประเทศต้องมี เจตจำนงในทางการเมือง (political will) ที่ถูกต้องและจริงจังเท่านั้น

ในประเทศไทยเรานั้น คอป. เห็นว่าทุกฝ่ายต่างกล่าวถึงและเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยกันมาโดยตลอด และดูเหมือนประชาชนทั้งหลายก็เบื่อหน่ายต่อการยึดอำนาจการปกครองประเทศของฝ่ายทหาร เพราะการยึดอำนาจการปกครองประเทศของฝ่ายทหารเป็นการทำให้ประเทศชาติมีแต่ถอยหลังและห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตยออกไป จนเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองประเทศครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่า “กลุ่มนิติราษฎร์” ได้เสนอให้มีการประกาศให้การกระทำบางอย่างอันเกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจครั้งหลังนี้เสียเปล่าหรือตกเป็นโมฆะ อันแสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับการแก้ปัญหาของประเทศโดยการยึดอำนาจรัฐของฝ่ายทหาร

คอป. ใคร่ขอเรียนย้ำต่อรัฐบาล ฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯในที่นี้ด้วยว่า บัดนี้ สังคมไทยเราได้มีการตื่นตัวมากขึ้นซึ่งล้วนแล้วเป็นนิมิตหมายที่ดีทั้งสิ้น เช่น

(ก) ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจร่วมกับกลุ่มสื่อสารมวลชนได้ออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งได้เป็นไปโดยเรียบร้อยโดยปราศจากความรุนแรงและให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของการเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเพื่อป้องกันความรุนแรงในการเลือกตั้งแล้ว คอป. ยังเห็นว่าเป็นการป้องกันการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารด้วย และการกระทำของกลุ่มดังกล่าวนับว่าได้ผลทีเดียว

(ข) ในการยึดอำนาจรัฐทุกครั้งได้มีการอ้างการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเหตุผลหนึ่งประกอบด้วยเสมอ บัดนี้ได้มีการตื่นตัวของกลุ่มบุคคลในสังคมต่อไปอีก กล่าวคือ ได้มีกลุ่มนักธุรกิจรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มต่อต้านการคอร์รัปชั่น แม้ถึงว่านายดุสิต นนทะนาคร ผู้เป็นหัวหน้าของกลุ่มนักธุรกิจต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะเสียชีวิตไปอย่างกะทันหันอย่างน่าเสียดายเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ คอป. ก็ทราบว่าโครงการต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่นายดุสิต นนทะนาคร และคณะได้ก่อตั้งไว้นั้น ได้มีผู้สืบแทนแล้วและทำงานกันต่อไป

บัดนี้ การเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้วและประชาชนทั่วไปก็ยอมรับผลของการเลือกตั้ง ทั้งงานเกี่ยวกับความปรองดองของคนในชาติที่ คอป. ได้ดำเนินการอย่างมี “ความรับชอบต่อประชาชน” (public accountability) มาโดยตลอดนั้น ก็เป็นที่ยอมรับจากประชาคมนา ๆ ประเทศด้วย

การแก้ปัญหาและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยเรานั้น คอป. เห็นว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จทำนองการดำเนินการของ “กลุ่มกองทัพแดง” ของประเทศญี่ปุ่นหรือของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หากแต่จะต้องพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองบนพื้นฐานของสังคมของไทยเรา ดังจะเห็นได้จากการที่ “คณะราษฎร” ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าเป็นเรื่องของ “การอภิวัฒน์”

เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันดังกล่าวมาแล้วนั้น คอป. เห็นว่าการที่จะยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เสียเลยตามที่บางคนหรือบางฝ่ายเรียกร้องนั้น น่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพความเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใด ๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่เหมาะสมนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะจะยังคงมีการใช้หรือพยายามใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือในทาง

การเมืองทั้งเพื่อปกป้องสถาบันและเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองกันต่อไปอันจะเป็นอุปสรรคในการสร้างความปรองดองของคนในชาติ

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยใช้หลักวิชาการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนอันเป็นแนวทางที่ คอป. ดำเนินการมาโดยตลอดนั้น คอป. จึงได้ศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่าง ๆ ทั้งของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและบุคคลธรรมดาเป็นประมุข คอป. จึงขอกราบเรียนเพื่อทราบดังต่อไปนี้

(๑) จากการศึกษานโยบายทางอาญาของประเทศต่าง ๆ นั้น คอป. พบว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของบุคคลกับการเอาผิดทางอาญากับความผิดอาญาบางประเภท ซึ่งรวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยนั้น มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลย์ได้ เช่น ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้มีการบัญญัติให้ความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายหรือผู้ถูกประทุษร้ายเป็น บุคคลสาธารณะ (public figure) เป็นความผิดอาญาชนิดหนึ่งที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า Ermächtigungsdelikt ซึ่งอาจถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้ว่า “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ”

(๒) ความผิดที่ต้องให้อำนาจ คือพื้นฐานของความสมดุลย์ระหว่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญของบุคคลกับการดำเนินคดีอาญาทีเดียว กล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญา แต่รัฐก็ชอบที่จะให้การดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ

กล่าวคือ รัฐต้องให้ผู้เสียหายมีอำนาจที่จะพิจารณาก่อนว่าการดำเนินคดีกับบุคคลที่ได้กระทำความผิดอาญาต่อตนจะมีผลดีต่อตนในทางการเมืองหรือไม่ โดยรัฐจะไม่ให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศตัดสินใจในการดำเนินคดีด้วยตัวเองโดยลำพัง เช่น การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น การสอบสวนจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีได้ให้อำนาจให้ดำเนินการเท่านั้น เหตุผลและรายละเอียดปรากฏในบทความเรื่อง “การให้อำนาจในการดำเนินคดีอาญา” ในหนังสือรวมบทความ “การก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๑) หน้า ๓๑ ถึงหน้า ๕๖ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้า ๓๖

(๓) นโยบายทางอาญาในระบบกฎหมายอาญาเยอรมันดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น แม้นโยบายทางอาญาก็จักต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการฝึกคนและการพัฒนาคน กล่าวเฉพาะนักการเมืองก็คือการฝึกนักการเมืองของประเทศและการพัฒนานักการเมืองของประเทศในด้านจิตสำนึกของความเป็นประชาธิปไตยทีเดียว

(๔) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ นิติศาสตร์แนวพุทธ” ที่แนบมาในสิ่งที่ส่งมาด้วย (๒) โดยท่านกล่าวว่าพระพุทธศาสนามองมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึกและเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ (ดู หน้า ๔๑) และว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือฝึกมนุษย์หรือเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตมนุษย์ (ดู หน้า ๕๗) และว่า กฎหมายมี ๒ แบบ ถ้าเน้นอำนาจก็จะเป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่วโดยการห้ามและบังคับมาก แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษา ซึ่งมุ่งสร้างคนดี ก็จะมีลักษณะในทางจัดสรรโอกาสและการส่งเสริมมาก แต่ในความเป็นจริงซึ่งสังคมในขณะหนึ่ง ๆ มีคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลาย การปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่ทั้งสองด้าน คือทั้งส่งเสริมคนดี และกำราบคนร้าย ทั้งนี้โดยมีจุดเน้นที่การสร้างและส่งเสริมคนดี” (ดู หน้า ๑๒๙)

(๕) คอป. เห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยเราดูจะมีเพียงการเน้นที่การบังคับด้านเดียว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติต่าง ๆ ส่วนมากจะจบลงด้วยส่วนหรือหมวดอันว่าด้วย “บทกำหนดโทษ” นโยบายทางอาญาของไทยเราจึงทำให้เกิดสภาพกฎหมายอาญาเฟ้อและส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายในที่สุดด้วย ซึ่งข้อนี้รัฐควรจักต้องวางเป็นนโยบายเป็นการทั่วไปไว้ เพื่อให้กฎหมายและระบบกฎหมายของประเทศได้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมและดียิ่งขึ้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดูหนัง “The Lady” แล้วย้อนมองอีกหลายชีวิตในพม่า

0
0

 เสวนา “อองซาน ซูจี...เรื่องเล่า นอกเรื่อง The Lady” ที่จุฬาฯ “จีระนันท์ พิตรปรีชา” ชี้ยังมี “กำแพง” ที่กั้นให้คนไทยไม่เห็นชีวิตประชาชนพม่า ขณะที่ “จ๋ามตอง” ชี้ยังมีอีกหลายครอบครัวในพม่าที่ต้องพลัดพรากเหมือนฉากในหนัง ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยที่แม้จะหยุดยิงแล้ว แต่ทหารพม่ายังไม่ถอนกลับ ด้าน “สุเนตร ชุตินทรานนท์” อธิบายแนวทางสันติวิธีกับเงือนไขที่ไม่มีทางเลือกของออง ซาน ซูจี

ในวันแรกของการฉายภาพยนตร์ “The Lady” หรือ “ออง ซาน ซูจี: ผู้หญิงท้าอำนาจ” ผลงานกำกับของลุค เบซง (Luc Besson) ในประเทศไทยนั้น เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ร่วมกับหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “อองซาน ซูจี...เรื่องเล่า นอกเรื่อง The Lady” ที่เรือนจุฬานฤมิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในงานนอกจากมีวงเสวนาแล้ว ยังมีการสาธิตการฝนแป้งทะนาคา ซุ้มอาหารพม่า พร้อมฉายตัวอย่างของภาพยนตร์ The Lady และภาพยนตร์ “Bringing Justice to Women” ด้วย

ในช่วงเสวนาซึ่งมี ดร.นฤมล ทับจุมพลผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีวิทยากรประกอบด้วย ดร.สุเนตร ชุตินทรานนท์ นักประวัติศาสตร์ด้านพม่าศึกษาและผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ๋ามตอง ผู้แทนจากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women’s Action Network: SWAN) และจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ผู้เคยพบสนทนากับออง ซาน ซูจี

 

 

การพลัดพรากจากครอบครัวของออง ซาน ซูจีสะท้อนหลายชีวิตในพม่า

โดยจ๋ามตอง กล่าวถึงฉากในภาพยนตร์ The Lady ที่ออง ซาน ซูจี ต้องพลัดพรากจากสามีและลูกว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ครอบครัวของออง ซาน ซูจีเท่านั้น แต่ได้เกิดกับอีกหลายๆ ครอบครัวในพม่า ซึ่งบางครอบครัวต้องพลัดพรากจากกัน 30 ปี หรือ 40 ปี ถึงจะได้มีโอกาสกลับมาเจอกันอีก นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะนำเสนอในเรื่องออง ซาน ซูจี แต่หลายแง่มุมได้สะท้อนชีวิตความเป็นจริงของคนในพม่า

จ๋ามตองกล่าวด้วยว่า หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลพม่าที่นำโดยเต็งเส่งกำลังจะเป็นประชาธิปไตย แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ต้องไม่ลืมว่ากองทัพพม่ายังไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งยังมีกรณีที่เมื่อปี 2554 กองทัพพม่ากำลังทำสงครามกับกองทัพรัฐฉานเหนือ ทั้งที่ทำสัญญาหยุดยิงกันมา 23 ปี มีการทำสงครามกับกองทัพคะฉิ่น ซึ่งทำให้มีผู้อพยพจำนวนมาก และเมื่อปีที่แล้วในรอบ 8 เดือน มีการเปิดเผยรายงานที่ระบุว่าผู้หญิงถูกทหารพม่าข่มขืน 81 คน ในพื้นที่รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และในจำนวนนี้ 35 คนถูกฆ่า และกองทัพพม่าไม่เคยนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ขณะที่สถานการณ์การเมืองในพม่าแม้จะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองออกมา แต่ก็ยังมีนักโทษการเมืองกว่า 1,000 คนที่ยังถูกจองจำ

ตัวแทนจากเครือข่าย SWAN ยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาและโครงการลงทุนในพม่าว่า ที่ผ่านมาชาวพม่าต้องอพยพเพราะโครงการที่รัฐบาลพม่าบอกว่าเป็นโครงการพัฒนา เช่น โครงการสร้างเขื่อน การทำเหมืองแร่ ซึ่งมีการเวนคืนบ้านเรือน ไร่นาของชาวบ้าน ทำให้ประชาชนนับหมิ่นนับแสนต้องหลบหนีออกมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือออกมาหางานทำในเมืองใหญ่ ขณะที่การค้าและการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้น ชาวบ้านไม่มีโอกาส ไม่มีสิทธิ์มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รัฐบาลก็ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม และผลกระทบต่อชีวิตประชาชน บริษัทหรือว่านานาชาติอาจจะคุยกับเต็ง เส่ง อาจจะคุยกันเนปิดอว์ หรือย่่างกุ้ง แต่ประชาชนในพื้นที่ต้องคุยกับกระบอกปืน กับกองทัพพม่าที่ยังไม่ได้หายไปไหนในความเป็นจริง

 

“จิระนันท์” ชี้ “กำแพง” ที่กั้นอยู่ ทำให้คนไทยไม่เห็นชีวิตประชาชนพม่า

จิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งมีโอกาสได้พบออง ซาน ซูจี กล่าวว่า เรื่องประวัติศาสตร์ไทย-พม่า เป็นส่วนหนึ่งที่กลบปิดบังสายตาที่จะมองประชาชน ชีวิตในประเทศพม่า ซึ่งแท้จริงพวกเขาคือเพื่อนร่วมโลก ร่วมสาขาวัฒนธรรมกัน ภาษาอาจไม่เหมือน แต่กินหมากเหมือนกัน นับถือพุทธศาสตร์ เราจะมีกำแพงอะไรกั้นอยู่จนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เรามีร่วมกันนั้นมีมากมายเหลือเกิน

จิระนันท์ กล่าวว่า ออง ซาน ซูจี ไม่ได้เกิดมาจากเอาอุดมการณ์เข้าว่า แต่เกิดจากการปรับตัวเรียนรู้ตามสถานการณ์และคิดว่าอะไรคือทางออกที่ดีที่สุด จีระนันท์กล่าวถึงโอกาสที่เข้าไปพบกับออง ซาน ซูจีว่า ในราวปี 1995 (2538) จะมีการประชุมสตรี (APC Conference) ที่ปักกิ่ง ตัวแทนฝ่ายไทยคือคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ต้องการให้ปาฐกถาเปิดงานเป็นการกล่าวของออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ยืนหยัดเพื่อความเป็นธรรม ประชาธิปไตย และเพื่อนพี่น้องด้วยกัน จึงติดตามคุณหญิงสุพัตราเข้าประเทศเพื่อไปเป็นช่างภาพ โดยเข้าประเทศพม่าด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว และมีรถจากสถานทูตไทยมารับ ฝ่ายท่านทูตบอกว่าเคยแอบไปพบออง ซาน ซูจีมาแล้ว โดยขณะที่ไปในย่างกุ้งก็จะมีสันติบาลพม่าคอยติดตาม และบันทึกชื่อและถ่ายรูปว่ามีใครบ้างที่มาพบออง ซาน ซูจี

จิระนันท์ เปิดเผยว่าตัวเองเข้าไปในฐานะช่างภาพ แต่ไม่ได้พูดอะไรกับออง ซาน ซูจี มีเพียงคุณหญิงสุภัตราที่เป็นคู่สนทนา โดยความประทับใจที่มีต่อออง ซาน ซูจีคือ ผู้หญิงคนนี้มีความฉลาดมาก บางเรื่องที่พูดอยู่ก็เกินเลยความสามารถที่จะรับรู้ หรือบางเรื่องเป็นอนาคตอันไกลโพ้นไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบัน และเวลาตอบคำถามที่ตอบไม่ได้จะไม่เลี่ยงตอบ แต่ตอบให้เป็นนามธรรม ตอบให้ถูกใจไว้ก่อน ซึ่งเก่งมาก แสดงระดับสติปัญญาและเสน่ห์ พอคุยไปคุยมาก็จะออกเรื่องผู้หญิง เช่นถามเรื่องเสื้อผ้าว่าซื้อมาจากไหน ถือเป็นเสน่ห์บุคลิกส่วนตัว ที่ทำให้เราเห็นว่าออง ซาน ซูจีมีความแข็งแกร่งแต่ไม่บึกบึน ในความนุ่มนวล พอถามเรืองส่วนตัว ซึ่งครอบครัวของออง ซาน ซูจีมาเยี่ยมไม่ได้ เธอก็ไม่ฟูมฟายเลย ก็ได้ตอบว่าก็แล้วแต่อนาคต ซึ่งที่เราเห็นภาพในภาพยนตร์ก็เป็นห้วงที่ออง ซาน ซูจีอยู่กับตัวเอง ในห้วงที่เป็นห่วงสามีเป็นห่วงลูก ซึ่งภาพยนตร์มีข้อดีที่ทำให้เห็นตรงนี้

“คือภาพวีรสตรีที่ทุกคนยุให้สู้ ก็อาจร้องไห้อยู่ที่บ้าน จะร้องไห้ให้คนอื่นเห็นก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกประณามอีก” นักเขียนรางวัลซีไรต์กล่าว อย่างไรก็ตามในครั้งที่จีระนันท์ไปพบออง ซาน ซูจี ไม่ได้มีการบันทึกเทปปาฐกถาสำหรับใช้ในการประชุม เนื่องจากคณะที่ไปพบออง ซาน ซูจีมีเวลาจำกัดและใกล้เวลาจะกลับประเทศไทยแล้ว จึงใช้วิธีถ่ายทำภายหลัง แล้วนัดหมายให้มีคนในพม่านำเทปส่งออกมาให้ โดยต่อมาก็ได้นำเทปนั้นไปเปิดในการประชุมด้วย

 

“สุเนตร” ชี้แนวทางสันติวิธีในพม่า เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีทางเลือกสำหรับซูจี

ด้านสุเนตร ชุตินทรานนท์ ตอบคำถามที่มีผู้ถามเรื่องการใช้แนวทางสันติวิธีในพม่าว่า การต่อสู้กับอำนาจรัฐพม่ามีอยู่หลายรูปแบบ หลายสถานการณ์ และหลายเงื่อนไข ในบางรูปแบบ บางสถานการณ์ และบางเงื่อนไข คู่ต่อสู้ไม่ได้ใช้วิธีการสันติวิธี เช่น การต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่ต้องสู้อย่างยาวนาน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะใช้สันติวิธีเป็นตัวตั้ง

แต่พอมาในเงื่อนไขของออง ซาน ซูจี เป็นการต่อสู้ของคนพม่า ที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจรัฐของพม่า เป็นคนที่มีบ้าน ครอบครัว วงศ์ตระกูล เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะถามว่า เมื่อออง ซาน ซูจีถูกกักขังแล้วเขาต่อสู้ด้วยสันติวิธีมันเวิร์คไหม ต้องถามใหม่ว่าเขามีวิธีอื่นที่ดีกว่าไหมที่จะต่อสู้ในเงื่อนไขของเขา เพราะฉะนั้น ในเงื่อนไขของเขา เขาทำในสิ่งที่ชนกลุ่มน้อยทำไม่ได้ ซึ่งเขาไม่มีเงื่อนไขนั้น

เพราะฉะนั้นเงื่อนไขของซูจีต้องเป็นเงื่อนไขเดียว เขาไม่มีทางโดยเด็ดขาด ถ้าคุณรู้จักทหารพม่า รู้จักอำนาจรัฐพม่า ไม่มีทางโดยเด็ดขาดที่จะใช้อาวุธต่อสู้เพราะมันไม่เกิดผลอะไร ในทางที่จะเอื้ออำนวยให้ได้มาซึ่งชัยชนะ ในเงื่อนไขของออง ซาน ซูจี เป็นเงื่อนไขที่ไม่มีทางเลือก ต้องใช้การต่อสู้ด้วยวิธีนี้

และการต่อสู้ด้วยวิธีนี้ ที่ผ่านมาระยะหนึ่ง นักศึกษา การปฏิวัติชายจีวรก็ดีก็ใช้วิธีการทำนองนี้ ก็มีนักศึกษาที่หนีเข้าป่าและไปจับอาวุธด้วยเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเป็นการขับเคลื่อนการต่อสู้ในเมืองหลวง มันไม่มีวิธีอื่นนอกจากวิธีที่เป็นสันติวิธี

แล้วการตอบโต้ของรัฐบาล ก็ต้องดูว่าเป็นใครที่ออกมาต่อสู้ ใครตั้งเงื่อนไข สถานการณ์ประมาณไหน อย่างสังคมเราก็คงไม่คิดว่าจะมีการทำอะไรกับพระ แต่สังคมพม่าในช่วงปฏิวัติชายจีวร มีพระถูกจับกุมสังหารจำนวนมาก ตั้งคำถามกับความเข้าใจกันลำบากเหมือนกัน แต่ผมอยากจะกลับมาว่า เขาไม่มีทางเลือกอื่นนะ เขาต้องต่อสู้ด้วยวิธี เป็นวิธีการที่ผมคิดว่าเขาสามารถทำได้ในบนเงื่อนไขของเขา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกษียร เตชะพีระ: “ในธรรมศาสตร์ไม่มีใครคิดล้มเจ้า”

0
0

เสวนา “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เกษียร เตชะพีระระบุ “ไม่ต้องกลัวธรรมศาสตร์ เท่าที่ผมทราบไม่มีใครในธรรมศาสตร์คิดล้มเจ้า ไม่แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่สิ่งที่คนในธรรมศาสตร์ควรมีสำนึกทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์ที่จะล้ม คือล้มการเมืองที่ใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย”

วันนี้ (3 ก.พ. 55) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์จัดการเสวนาหัวข้อ “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” วิทยากรประกอบด้วย พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มธ. เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. และธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ดำเนินรายการ มรกต เจวจินดา ไมเยอร์

มรกตกล่าวว่า ระยะหลังนี้มีประเด็นว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อสังคมควรจะเป็นอย่างไร บางสื่อก็บอกว่ามีการห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็นในมหาวทิยาลัยเกี่ยวกับบางมาตราอาจจะนำไปสู่ 6 ตุลา การเสวนาวันนี้จึงเป็นการอภิปรายในประเด็นเป้าหมายการก่อตั้งธรรมศาสตร์ 70 ปี

โดยเกษียร เตชะพีระกล่าวถึงความขัดแย้งในสังคมไทยที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงว่า สิ่งที่น่ากลัวขณะนี้ไม่ใช่ความรุนแรงจากการจัดตั้ง หากแต่เป็นความรุนแรงที่ไม่ได้จัดตั้งแต่มาจากการปลุกกระแสความเกลียดชังผู้ที่มีความคิดต่าง

เกษียรกล่าวถึงกรณีที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กล่าวถึงกรณีที่ระบุว่าคนลาวโง่เหมือนคนไทย ซึ่งเป็นแรงดันดาลใจให้เขาคิดถึงคำประกาศคณะราษฎรใน 3 ประเด็น คือ ราษฎรโง่หรือไม่ ความเสมอภาคและจิตใจความเป็นเจ้าของชาติ

ราษฎรโง่หรือไม่
ใช่ที่ว่าจุดหมายยังไม่ถึง
ใช่ที่ว่าเป็นฝันซึ่งยังต้องสร้าง
รัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่ใส่พานวาง
แต่ทวยราษฎร์เป็นเบี้ยล่างเสมอมา
แต่หากไร้คณะนิติราษฎร์สู้
ราษฎรคงยังอยู่เป็นไพร่ข้า
ก้าวแรกการแก้ปมสมบูรณาฯ
เป็นก้าวสั้นแต่ทว่ายั่งยืนยาว.....

เกษียรเริ่มต้นด้วยบทกวีที่เขาแต่งให้กับกลุ่มนิติราษฎร์ จากนั้นจึงกล่าวถึงโพสต์ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 24 ม.ค. เวลา 8.17 น. ว่า “คนลาวมันก็โง่เหมือนคนไทย ที่ไม่รู้ว่าเปลือกนอกแม้วที่ดูเก่งดูคล่องขายฝัน สร้างความเจริญ สุดท้ายทรัพยากรและความมั่งคั่งจะตกอยู่กับแม้ว ทิ้งให้ลาวจนกรอบ เจริญแต่วัตถุ สังคมฟอนเฟะ ดูพี่ไทยเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน น้องลาวที่รัก”

“คือผมก็รู้หมอตุลย์เขาไม่ชอบคุณทักษิณ แต่ผมติดใจประโยคแรก “คนลาวมันก็โง่เหมือนคนไทย” แล้วหมอตุลย์เป็นคนชาติอะไร เริ่มจากหมอตุลย์ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ คือเรื่องการเปลี่ยนแปลง 2475 มันเกิดจากแนวคิดที่ว่า ราษฎรโง่ จึงต้องให้เจ้าปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช”

เกษียรยกคำประกาศคณะราษฎร์ที่พระยาพหลฯ อ่านในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองตอนหนึ่งว่า

“รัฐบาลของกษัตริย์ได้กล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กินว่า ราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรยังโง่ คำพูดของพวกรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้น ไม่ใช่เพราะโง่ เป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคน”

ซึ่งอาจารย์กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ก็ได้ทำการศึกษาหัวข้อการรุ่งเรืองขึ้นและล่มจมลงของระบอบสมบูณาญาสิทธิราชย์ของสยาม มีการกำหนดเช่นนั้จริงๆ คือในสมัยรัชการที่ 5 มีโรงเรียนฝึกราชการทหาร ปี 2452 มีการออกระเบียบ โรงเรียนนี้...ลูกหลานเจ้านายรวมทั้งเจ้านายผู้้ใหญ่บางตระกูลรวมทั้งลุกนายทหารเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าเรียนได้ พวกที่เหลือให้เข้าเรียนชั้นปีที่ 4 ยังมีการจัดชั้นเรียนพิเศษสำหรับเจ้านายชั้นพระเยาว์”

สรุปว่าอาจารย์ปรีดี โต้ว่าถ้าราษฎรโง่เจ้าก็โง่เพราเป็นคนชาติเดียวกัน ข้อความสั้นๆ มีนัยยะสามประการ

 

หนึ่ง คนเราเสมอภาคกัน ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่

สอง ถ้าเราคิดประโยคนี้ดีๆ น่าสนใจ เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ปัจจัยอะไรที่ทำให้เสมอภาค - คือความเป็นไทยที่เท่าเทียมกัน “เวลาเราบอกวาคนเราเท่ากัน เราให้คำอธิบายเหตุปัจจัยที่ใหคนเท่ากันได้ต่างๆ นานา เช่นถ้าผมพูดบอกว่า เพราะเป็นคนเหมือนกัน มันมี Common Unity อีกแบบคือ ถ้าวรเจตน์โง่ สมคิดก็โง่ เพราะเป็นธรรมศาสตร์ หรือเพราะเป็นนิติศาสตร์เหมือนกัน นี่ก็คือข้อเสนอเหมือนเดิม แต่อาจารย์ปรีดีพูดอีกแบบคือ มันมีอะไรบางอย่างแฝงฝังอยู่ในแก่นแท้สารัตถะของความเป็นชาติไทยหรือความเป็นไทย แต่อะไรบางอย่างนั้นทำให้คนเท่าเทียมเสมอภาคกัน ไม่มีใครดีวิเศษหรือเลวร้ายกว่ากัน ชาติไทยในฝันของอาจารย์ปรีดีคือชาติไทยที่เท่าๆ กัน เป็นความป็นไทยที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งผมคิดว่าความเป็นไทยแบบนี้หายไปจากคนไทยปัจจุบันมาก”

สาม เมื่อคนเท่ากันมารวมด้วยกัน ก็ต้องปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เพราะเมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข ตัวเลขมากกว่ามีอำนาจมากกว่า ตัวเลขน้อยกว่ามีอำนาจน้อยกว่า อันนี้ทำให้ประชาธิปไตยไม่ดีน่ะ (หัวเราะ)

“ผมติ๊งต่างว่า ถ้าเราขึ้นรถเมล์ที่ขับโดยโชเฟอร์ตีนผี ขับแข่งกันไปมา เบรกกระทันหัน จอดก็หวาดเสียว ระหว่างที่ขึ้นรถก็คิดว่ากูขึ้นรถเมล์หรือรถขนสัตว์ กระเป๋าบอกจะลงให้รีบเตรียมตัว เวลาเราอยู่กับรถเมล์หรือรถสองแถวไปนานๆ เราก็อยากเอาปืนฉีดน้ำไปจ่อสมองโชเฟอร์ เราก็เป็นผู้โดยสาร เราคุมอะไรไม่ได้ เราไม่มีอำนาจห่าเหวอะไรเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พอนึกภาพออกไหมครับ ฉันท์ใด ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ฉันนั้น “

เกษียรกล่าวว่าระบอบการเมืองเหล่านั้นคือผู้โดยสารที่ไม่มีอำนาจ ในความหมายนี้ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ผู้โดยสารน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้น เช่น ดุ ผู้โดยสารไปขับเอง แต่นึกออกไหม ถ้าจะขับรถเองผู้โดยสารก็ต้องขับรถเป็น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็สอนให้คนขับรถเมล์ ก็เลยตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ก็เลยสอนวิชากฎหมายการเมือง วิชาที่จำเป็นสำหรับการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรที่ไม่เคยมีโอกาส ให้ได้เรียนวิชาขับรถคุณจะได้สามารถขับรถได้เอง สามารถถือหางเสือรัฐนาวาสยามได้

อัศวพาหุ เคยเขียนเรื่องรัฐนาวา ว่าเราอยู่ในเรือลำเดียวกัน เพราะฉะนั้นหน้าที่จะต้องช่วยกันพาย ถ้าจะพาย ก็พาย ถ้าไม่พายก็ขึ้นไปจากเรือเสียอย่าเถียงนายท้าย ถ้าเราต้องการของหนักสำหรักถ่วงเรือก็เอาก้อนหินดีกว่า เพราะมันไม่มีเสียง

สาม จิตใจเป็นเจ้าของชาติ ผมคิดว่ามีความรู้สึกใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 คือจิตใจเป็นเจ้าของชาติ คือชาตินิยมแบบพลเรือน คือรักชาติเพราะชาตเป็นของเรา รักชาติเพราะชาติเป็นประชาธิปไตย คือบางทีชาติไม่ค่อยน่ารัก ถ้าโดนดุ แต่ถ้าชาติเป็นประชาธิปไตยมันเลยน่ารัก

บันทึกเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย คุณหญิงแร่ม พรมหมโมบล บันทึกว่า เป็นเรื่องที่ประหลาดจริงๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองการปกครองแล้ว ไม่ทราบว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้บัณฑิตเนติบัณฑิตรุ่นเดียวกันคือ 2473 และรุ่นถัดไปรวมใจและคบกันได้อย่างสนิทสนมและมีความคิดเป็นอย่างเดียวกันว่าจะช่วยประเทศชาติทุกวิถีทาง “ถามว่าเราเดือดร้อนอะไรในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราจะตอบทันทีว่าเรารักในหลวง เราไม่เดือนร้อนอะไรเลย แต่การให้ราษฎร มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยนั้น ทำให้เรากระหยิ่มยิ้มย่อง....”

แปลว่า เส้นแบ่งระหว่างระบอบเก่าก่อน 2475 กับหลัง หาใช่ความรู้สึกต่อสถาบันกษัตริย์ แต่ความแตกต่างที่แท้ระหว่างก่อนและหลัง คือ ราษฎรมีสิทธิออกสัยง มีส่วนรับผิดชอบในชาติ หรือนัยหนึ่งราษฑฎรได้มีจิตใจเป็นเจ้าของชาติ ขณะที่ก่อนหน้านั้นชาติไม่ใช่องเรา อำนาจอธิปไตยไม่ใช่เป็นของประชาชนหากเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน

แต่ความหัศจรรย์ของระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันคือผู้คนจำนวนมากในสังคมกลับมีความคิดความเข้าใจเสมอเหมือนอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้เกิดความสับสนปนเประหว่างพื้นที่การเมือง พื้นที่สาธารณะ กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

“อาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ใช้คำว่าสองนคราประชาธิปไตย ผมใช้คำว่า สองนคราประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่สำหรับผม ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิดหรือความเข้าใจราวกับว่าอยูในระบอบสมบูรณราญาสิทธิราชย์ ทำให้คนพยายามดึงสถาบันอันเหมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิมาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ทำให้สถาบันกษัตริย์เข้าไปอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง"

“พูดง่ายๆ คือคิดว่าพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เพราะยังคิดกับสถาบันกษัตริย์ราวกับอยู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำให้กฎหมายมาตราสามเลขนั้นมีปัญหามาก ดังนั้นเมื่อเขาได้ยินคนใช้สิทธิตามโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยเขาโกรธทันที

“เมื่อเกิดความเดือนร้อนหรือความขัดแย้ง ก็เอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง ผมเองก็ไม่ปลื้มคุณทักษิณ ผมว่าแกตลกๆ แต่เมื่อมีความขัดแย้งกับคุณทักษิณ คุณก็เอาพระบารมีเป็นที่พึ่ง เอาสถาบันกษัตริย์มาเกลือกกลั้วกับการเมือง และอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์เอง มันไม่ยากนะครับ มันน่าจะเข้าใจได้ แต่ผมงงมากว่าคนจำนวนมากไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าคนที่พูดเรื่องนี้กลายป็นคนที่จะล้มเจ้าไปหมด ท่านคิดได้อย่างไรครับเนี่ย แสดงว่าท่านยังไม่ออกไปจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทำให้เกิดปัญหากับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุข”

เกษียรกล่าว พร้อมอ่านบทกวีของเฉินซันเปนการส่งท้ายการอภิปรายว่า

พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

 

“ทำไมเมืองไทยไม่ต้องการอาจารย์ปรีดี จนท่านต้องลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ต่างแดนจนสิ้นชีวิต เพราะเมืองไทยถูกหลอกให้หลงเชื่อคำโจมตีใส่ร้ายป้ายสีว่าปรีดี ฆ่าในหลวงจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ประศาสน์การ หรืออดีตอธิการบดีป๋วย อึ๊งภากรณ์ ล้วนเคยตกเป็นเหยื่อข้อกล่าวหาเลื่อนลอย มีการไปตะโกนในโรงหนัง โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน

“กรณีอาจารย์ป๋วย ก็มีคนมาพูดในวิทยุยานเกราะว่าในบรรดามหาวิทยาลัยในเมืองไทยแห่งหนึ่งรับแผนโซเวียตมา หรือตอนหกตุลาก็เริมต้นด้วยละครหมิ่นรัชทายาท จนผู้ประศาสน์การและอาจารย์ป๋วยอยู่เมืองไทยไม่ได้ จนมหาวิทยาลัยถูกล้อม เผา ถูกนักเรียนอาชีวะบุก ผมยกเรื่องพวกนี้มาทำไม นี่เป็นพันธะและความรับผิดชอบทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์ที่ชาวธรรมศาสตร์ทั้งมวลพึงมีเพื่อป้องกันใม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ในแผ่นดินไทยอีก น่าเสียใจที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบันลืมและละทิ้งความรับผิดชอบทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์ ลืมได้ยังไง ทั้งหมดมันเกิดมาด้วยวิธีการเดียวกัน

“ไม่ต้องกลัวธรรมศาสตร์ เท่าที่ผมทราบไม่มีใครในธรรมศาสตร์ ไม่มีใครในธรรมศาสตร์คิดล้มเจ้า ไม่แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่สิ่งที่คนในธรรมศาสตร์ควรมีสำนึกทางศีลธรรมและประวัติศาสตร์ที่จะล้ม คือล้มการเมืองที่ใช้เจ้าเป็นเครื่องมือไล่ล้างทำลายคนดีไปจากแผ่นดินไทย “

เกษียร ยังกล่าวถึงปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อความแตกต่างทางความคิดด้วยความเกลียดชังด้วยว่า “ถ้าจะโกรธกรุณาอย่าใช้ Hate Speech และอย่าใช้ภาษาสงครามเช่น สงครามครั้งสุดท้าย และผมไม่เห็นด้วยกับผู้บริหารมากๆ เลยที่ว่าปัจจุบัน ไม่เหมือน 6 ตุลาคม เพราะเราโดดเดี่ยวสจากชาติมหาอำนาจอื่นๆ

สองคือ เอาเข้าจริง รัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แม้จะมีเสียงเยอะในรัฐบาล ความชอบธรรมก็บกพร่องเพราะพี่ใหญ่แทรกแซงไม่หยุดเลย เดี๋ยวก็มีคำชี้แนะ เดี๋ยวก็มีคนบินไปหา ประสิทธิภาพตอนน้ำท่วมที่ผ่านมา ก็เป็นรัฐบาลที่คลอนแคลน ฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องใช้เวลาตัดสินใจมากเรื่อง ม.112 และสุดท้ายตัดสินใจไม่ทำอะไร และเมื่อไม่ทำอะไรผลคือมีกระแสมวลชนขึ้นมา รัฐบาลทีต้องอ่อนแอแบบนี้ โดยตัวเองก็ต้องใช้กำลัง และเรื่องใหญ่ที่สุดของชนชั้นนำไทยปัจจุบัน คือแก้น้ำท่วม สำหรับความรุนแรงถ้าจะเกิดขึ้นนั้นปกติจะเป็นความรุนแรงจากการจัดตั้ง แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าคือความรุนแรงที่ไม่ได้จัดตั้งเพราะจุดความโกรธเกลียดกันมากเกินไป

เกษียรกล่าวด้วยว่าข้อขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความกลัวว่าจะล้มเจ้า แต่กลัวว่าจะไม่ได้ใช้เจ้าต่อไป และแพร่เชื้อความเกลียดนี่ออกไป ซึ่งนี่ต่างหากที่น่ากลัว

นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยด้วยว่า หากกลัวความขัดแย้งจะบานปลาย มหาวิทยาลัยก็ควรทำหน้าที่เปิดพื้นที่สำหรัยบการถกเถียง

“ถ้าผู้บริหารใจใหญ่ จัดสิ แล้วจะทำให้บ้านเมืองเย็นลง แล้วจะมีการพูดกันเรื่องนี้โดยไม่ต้องตราหน้าด่ากัน”

 

ธำรงศักดิ์ เพ็ชรเลิศอนันต์: ธรรมศาสตร์กับการเมือง
การก่อตั้งธรรมศาสตร์ที่แยกไม่ขาดกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเข้ามาสู่ธรรมศาสตร์ เขาพบป้ายที่เขียนว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

“ผมก็คิดว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องบ๊องๆ บ้าๆ แน่ๆ เลย และวันแรกที่เข้าธรรมศาสตร์ก็ถูกยื้อแย้งให้เป็นมวลชนสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือสิงห์แดงแข็งขัน คือความพยายามเมาตอนเย็นทุกเย็น การอบรมบ่มเพาะคือการทำให้หน้ามันแดงขึ้นๆ อีกส่วนหนึ่งก็แย่งตัวไปเป็นมวลชนฝ่ายประท้วงรัฐบาล งานประท้วงชิ้นแรกที่ผมทำคือการประท้วงการสร้างเขื่อยน้ำโจน เพื่อนบอกว่าประท้วงเสร็จก็จะได้กินข้าวห้องแอร์ที่ฝั่งศิริราช ผมก็ว้าวุ่นใจมาก เพราะขณะหนึ่งก็บอกว่ารักประชาชน ผมก็ถูกยื้อแย้งโดยมวลชนสองฝ่าย นี่คือชีวิตของความเป็นสิงห์แดง”

ธำรงศักดิ์กล่าวถึงประวัติของ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อเริ่มก่อตั้ง เป็นการเรียนการสอนแบบสุโขทัยบวกรามคำแหง เมื่อสอบก็มีการจัดสอบในจังหวัดต่างๆ เก็บค่าเล่าเรียนเพียงปีละ 20 บาท

เขากล่าวว่า โดยประวัติศาสร์การก่อตั้งตามเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การภารกิจของผู้สำเร็จการศึกษาต้องสนับสุนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยไปยังหมู่ประชาชน และสิ่งที่ปรีดี พนมยงค์ปรารถนาคือสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติ 24 มิ.ย. 2475 ระบอบประชาธิปไตยคือคนทุกคนอยูใต้กฎหมายเดียวกัน รวมถึงผู้นำของระบอบนี้นด้วย ปรีดดี พนมยงค์ไม่เคยถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยแต่ถกเถียงเรื่องคำสามคำ คือสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค

“สิทธิ เสรีภาพเราพูดได้ แต่เสมอภาคเราพูดไม่ได้ เราก็ข้ามมันไป วันนี้ถ้าปรีดีกลับมาได้ ปรีดีกคงตะลึงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น”

ธำรงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า คำถามที่พบบ่อยจากนักศึกษาคือ ทำไมต้องเกิดคณะราษฎรขึ้น ถ้าไม่เกิดเราจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเหมือนภูฏาน “ซึ่งผมคิดว่า องค์ประมุขของภูฏานนนั้นเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ไทยมากเลยเพราะท่านบอกว่าประชาธิปไตยต้องค่อยๆ เรียนรู้ ผมก็ไม่รู้ว่าภูฏานเลียนแบบไทย หรือไทยเลียนแบบภูฏาน นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ๆ มักพูดกัน คือทำไมต้องมีการปฏิวัติ 2475 ผมก็บอกว่าเพื่อรวบรัดที่สุดว่าทำไมต้องมี 2475 ผมว่าเผลอๆ ตอนนี้เหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้อาหารเป็นพิษในสังคมไทยพอๆ กับ 112”

ธำรงศักดิ์กล่าวว่า การเกิดขึ้นของการปฏิวัติ 2475 นั้นไม่สามารถที่จะแยกออกจากกระแสโลกได้เลย โลกเดิมนั้นปกครองโดย Monarchy ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าอะไรเราเรียก Monarchy ไปก่อน แล้ววันหนึ่งมีการล้ม Monarchy โดยฝรั่งเศส และอเมริกาประกาศเอกราชจากอังกฤษ และโลกตะวันตกก็มากับอาณานิคม และ Democracy เกาะหลังอาณานิคมมาด้วย เหมือนกับ Communism ซึ่งหวังทำลาย Colonialism กับ Democracy

หลังจากรัชกาลที่ 5 สวรรคต รัชกาลที่ 6 เพียงปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ ก็ถูกนักศึกษานายร้อยทหารบกได้เตรียมการและพร้อมจะยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 6 เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย นี่คือ กบฏ ร.ศ.130 ปี พ.ศ.2454 ปีเดียวกับที่จีนมีกบฏเช่นกัน คือให้หลังเพียงสิบกว่าปีที่ ร. 5 สถาปนาการปกครองแบบรวมศูนย์

“แสดงว่ากลุ่มทหารที่เป็นกำลังสำคัญรุ่นนั้นอายุ 19-23 คือคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อย คนอายุเจเนอเรชั่นนี้ควบคุมลำบากมากเพราะเขามีวิธีคิดอีกแบหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าพลังของ Democracy เป็นพลังที่เข้ามามีผลเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยแน่นอน แต่หลังจากนั้นอีก 20 ปีต่อมา ก็สามารถบรรลุความสำเร็จในการเปลี่ยนระบอบการเมือง”

“เมื่อคณะราษฎรเริ่มต้นคิดเปลี่ยนระบอบนี้ ก่อนหน้านั้น 6 ปี เขารวมตัวกัน 7 คน รวมตัวกันที่ฝรั่งเศส และคนเจ็ดคนอายุสูงสุด 29 ปี ต่ำสุด 26 ปี คนที่อายุ 29 คือ ร้อยโทแปลก ทีระสังขะ ทีตอมาเรารู้จักในนาม ป. พิบูลสงคราม อีกคนคือปรีดี อายุ 26 ปี คน 7 คน คุยกันว่าบ้านเมืองเราไม่ศิวิไลซ์ เมื่อเราเทียบเคียงกันกับทหารหนุ่มที่เรียกว่ากบฏหมอเหล็ง กับคณะราษฎร มีความคิดเหมือนกันเลย คือ ความคิดที่บอกว่าราฎรเป็นเจ้าของประเทศชาติร่วมกัน ระบอบ Monarchy กับ Democracy เขาเถียงกันประเด็นเดียวแล้วฆ่ากัน คือ “แผ่นดินนี้เป็นของใคร” และประการต่อมาคือ “เราต้องทำให้แผ่นดินนี้ศิวิไลซ์” คือการมองไปยังตะวันตก แล้วผู้ปกครองสมัยรัชกาลที่ 5-6 ไม่ศิวิไลซ์หรือ นั่นคือความศิวิไลซ์ทางชนชั้น แล้วอะไรคือตัวแทนความศิวิไลซ์ ก็คือรัฐธรรมนูญ เจ้าของประเทศคือราษฎร และผู้ปกครองอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หลัก 6 ประการของปรีดี มีเพื่อประกันความศิวิไลซ์เหล่านี้”

ธำรงศักดิ์ กล่าวว่าสำหรับหลักเอกราชของปรีดี นั้นอาจจะมีคนโต้แย้งว่าไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ไทยขณะนั้นเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในทางศาล เมื่อแก้ไขได้ จึงสถาปนาอนุสาวรีย์อันหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมีเอกราชอันสมบูรณ์ นั่นคืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินกลาง และในปีที่เขาลงหลักปักหมุดกันเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 นั้น ประกาศว่าวันนี่คือวันชาติ เป็นวันชาติและเฉลิมฉลองเอกราชอันสมบูรณ์ 3 วัน 3 คืน แต่ประเทศนี้ไม่มีอะไรแน่นอน วันชาติก็ตายได้

สอง หลักความปลอดภัย สาม หลักเศรษฐกิจ อันนำไปสูเค้าโครงเศรษฐกิจที่ปรีดี ถูก ‘เล่น’ เป็นคนแรก เขาถูกเล่นโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา คนทั่วไปมักเข้าใจว่า การรัฐประหารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2476 แต่ขอให้ทุกท่านเชื่อผม ผลงานทีผมทำมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีใครอ่านเลย คือ คนที่ทำรัฐประหารครั้งแรกคือนักกฎหม่ายที่จบจากอังกฤษ คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เม.ย. 2476 “เรามักจะพูดว่า 2475 เป็นการปฏิวัติที่ไม่นองเลือด แต่มันนองเลือดกันมาหลังจากนั้น สังคมไทยเป็นสังคมไทยที่น่ากลัว เขาสามารถฆ่าคนกลางถนนได้ มือถือคัมภีร์ แล้วก็ถือเอ็ม 16 ต้องระวัง”

ประเด็นต่อมาคือ สิทธิเสรีภาพเสมอภาคนั้นคือหลักการที่ปรีดี พนมยงค์พยายามบ่มเพาะนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อแรกตั้งคือการผลิตมนุษย์ยุคใหม่เพื่อเข้าสู่ระบอบการเมืองใหม่ ผลิตคนเข้าสู่ระบอบการเมืองและนักการเมือง จึงมีคนที่เข้าไปอยู่ในท้องถิ่น องค์ความรู้ใหม่ๆ จะไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่ ปรีดี จึงสถาปนาชื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างท้าทายมากว่านี่คือมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตณ์และการเมือง เพื่อบอกว่านักศึกษาทุกคนต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะปรารถนาหรือไม่ ที่ตราธรรมจักรนั้นปรีดีใส่พานรัฐธรรมนูญเอาไว้ ดังนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์จึงต้องยืนยันหลักการทางการเมืองต่อไป

 

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องตีสองหน้า แต่ถ้าเล่นบทถูกกดดันแล้วมากดดัน นั่นแปลว่าท่านสวามิภักดิ์แล้ว

ธำรงศักดิ์กล่าวเสริมประเด็นสิ่งที่ตกค้างอยูในความเชื่อและความกลัว จากกรณี 2475 โดยเขาเคยถามนักศึกษาว่า อะไรคือมรดกตกทอดจาก 2475 สิ่งที่นักศึกษาตอบคือ รัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าสนใจมากว่ารัฐธรรมนุญไทยมี 18 ฉบับ แต่คนเริ่มต้นคือคณะราษฎร “ผมก็ถามนักศึกษาต่อ ว่า 10 ธ.ค.คือวันอะไร นักศึกษาตอบว่าวันรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิทินรุ่นใหม่ เขียนว่า “วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ” แต่ปฏิทินแบบฉีกเป็นใบๆ อย่างที่ออกมาจากเยาวราชยังไม่เปลี่ยน เพราะว่าไม่ได้เปลี่ยนบล็อกพิมพ์”

“ผมถามต่อว่า วันรัฐธรรมนูญนั้นมีครูพาไปดูพลุไหม มีผู้นำของประเทศสปีชให้ฟังไหม นักศึกษาตอบว่าหยุดซักผ้า กลายเป็นวันหยุดที่ต่างคนต่างอยู่เงียบๆ แต่ผมถามว่าทำไมไม่เลิก ก็จะถูกชี้หน้าว่าอ๋ออยากเป็นเผด็จการใช่ไหม ฉะนั้นเราก็อยู่กันแบบนี้แหละ”

อีกสิ่งหนึ่งที่นักศึกษาตอบรองลงมา มรดกของคณะราษฎร คือ ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่จนถึงวันนี้

นี่คือมรดกสองอย่าง แต่อีกอย่างที่ตามมา คือ การอภิวัฒน์ 2475 นั้นทำให้เกิดการรัฐประหารตามมามากมาย

“แล้วความรุนแรงล่ะ ความรุนแรงที่ผ่านมาถูกยุติโดยพระมหากรุณาธิคุณ การที่สังคมไทยจะก้าวข้ามความรุนแรง โดยเฉพาะตัวเลขสามตัว (มาตรา 112) ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมไทยจะต้องมองให้มาก คือปัจจัยใดจะยุติความรุนแรง

“หากมีกรณีนิติราษฎร์แล ะม. 112 เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งอื่นจะเกิดเหตุการณ์แบบวันนี้แบบที่นี่หรือไม่ คำตอบของผมก็คือไม่ เพราะมันเกิดไม่ได้ตั้งแต่นิติราษฎร์ เพราะสปีชีของที่นี่แบบที่นี่เป็นสปีชีแบบพิเศษของสังคมจริงๆ พวกนิติราษฎร์ไม่สามารถจุติได้ที่ไหนเลย คือเป็นคนๆ แต่รวมตัวกันเป็นก๊กเป็นเหล่าขนาดนี้มันสั่นสะเทือนมหาวิทยาลัยอย่างมาก มันก็ต้องเกิดที่นี่แหละ คือทุกรุ่นต้องเผชิญหน้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบ 80 ปี มีเส้นทางชีวิตโคตรทรหดคือ มีชีวิตรุ่งโรจน์อยู่ประมาณ 15 ปีแรก หลังจากนั้นเริมรุ่งริ่ง ต่อมา อีก 65 ปี ไอ้ที่รุ่งโรจน์เพราะปรีดีขึ้นสู่อำนาจ ลองคิดดูเด็กธรรมศาสตร์จะคิดอย่างไร เขาก็เห็นปรีดีเป็นแบบอย่าง แต่พอมันเริ่มรุ่งริ่ง หลัง 2490 การคัมแบ็กของหลายสิ่งหลายอย่างเด็กธรรมศาสตร์ก็เริ่มถอย เส้นทางหลัง 2490 เป็นเส้นทางที่ธรรมศาสตร์ต้อบงต่อสู้เพื่อรักษาความอยู่รอด เช่น เกือบถูกย้ายไปอยู่ทุ่งบางกะปิกับไอ้ขวัญและอีเรียม คือเรื่องเริ่มจากบฏแมนฮัตตัน รบกันไปมาสุดท้ายยึดธรรมศาสตร์ หรือการเป็นการ์ดรักษามหาวิทยาลัยพร้อมไม้หนึ่งด้าม

“แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทย ที่มีการกำจัดกันระหว่างทหารแต่ละกลุ่ม ธรรมศาสตร์ยุคนี้ เป็นยุคของการค่อยๆ เป็นฐานกำลังในการกำจัดอำนาจของทหาร พื้นที้ของธรรมศาสตรฺเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมอภิปรายทางวิชาการเพื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร เปิดเวทีให้นายควง และ ม.ร.ว.เสนีย์มาพูด เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ เผด็จการทหาร เพราะฉะนั้นเวทีธรรมศาสตร์คือเวทีที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ในสังคมไทยตลอดมา และเมื่อจะเกิดสิ่งใหม่คุณต้องเจ็บปวด คนที่เคลื่อนไปเพื่อพิทักษ์ให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด เรากลับเห็นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไม่ใช่อาจารย์ อาจารย์ส่วนใหญ่อยู่ในห้องแล้วลุ้นให้ลูกศิษย์ไปสิๆ แต่ตอนนี้อาจารย์ออกหน้า มันแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างหรือเป็นเพราะนักศึกษาส่วนใหญ๋ใช้เวลาในการปลูกข้าวที่ทุ่งรังสิต”

ธำรงศักดิ์กล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2519 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองคน คนหนึ่งคือพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กับนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นเหมือนเกราะบางประการ หากมีอำนาจของข้างนอกกดดันมา ผู้นำหรือผู้บริหารธรรมศาสตร์จะบอกว่านี่เป็นสถาบันการศึกษา นักศึกษาก็ต้องเถียงกัน บทบาทผู้บริหาร มธ. เล่นบทนี้มาตลอด

“คือท่านต้องได้รับการกดดันแน่ๆ ผมอย่ากจะบอกว่าท่านต้องเล่นสองหน้า เพราะท่านต้องถูกกดันแน่นๆ แต่ถ้าเล่นบทเดียวคือถูกกดดันแล้วมากดดันต่อนั่นแสดงว่าท่านสวามิภักดิ์เสียแล้ว”

ท้ายที่สุดธำรงศักดิ์กล่าวถึงความรุนแรงทางการเมืองที่หลายฝ่ายแสดงความวิตกกังวลว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมร่วมกันผลิต

 “ความรุนแรงนั้นเราร่วมผลิตด้วยกัน แล้วก็ต้องโดนตีกบาลกันทุกคน หากเราไปถึงจุดนั้น เรามีปัญหาทีเดียว คือเราตีกบาลกันในประเด็นที่ไม่ใช่ที่สาระสำคัญอะไรทั้งสิ้น แต่ตีกบาลกันเพราะตัวเลขสามตัว แต่มีปรากฏการณ์หนึ่งคือเมื่อสอนนักศึกษาหลายคณะ พบว่ามีนักศึกษาจำนวนมากไม่ได้รู้เรื่อง 112 จริงๆ คือสังคมไทย “เสพ” ประเด็นนี้กันสักเท่าไหร่ เสพกันในเฟซบุ๊ก ในโทรทัศน์ ในสื่อสิ่งพิมพ์ เราจะประมาณกันอย่างไร เราจะประมาณว่าคนในสังคมจะลุกขึ้นตีกันทั้งหมดหรือไม่ แต่ผมคิดว่างานนี้เป็นการฆ่ากันระหว่างคนชั้นกลางกับคนชั้นสูง

 

พนัส ทัศนียานนท์ : ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความท้าทายของธรรมศาสตร์
หากแต่เป็นความท้าทายของสังคม

ในฐานะนักกฎหมายขอตอบคำถามแรกก่อนว่า สถานที่ราชการ เป็นของใคร ซึ่งถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินคือสถานที่ซึ่งเป็นของราชการ รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้นก็คงต้องพิจารณาว่าธรรมศาสตร์นีเป็นส่วนหนึ่งของราชการหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าใช่ แต่ขณะเดียวกัน ในสถานาที่ราชการก็เป็นพื้นที่สาธารณะและแตกต่างจากสาถนที่ราชการอื่นๆ เช่นกระทรวงกลาโหม แต่ไม่มีพื้นที่สาธารณะ ใครจะเข้าไปเฉยๆ คงไม่ได้ ที่เป็นประเด็นคือ เสรีดภาพทางวิชาการ สมัยท่านอาจารย์ปรีดี ในคำกล่าวรายงานเปิดมหาวิทยาลัย อาจารย์ปรีดีใช้คำว่าเสรีภาพทางการศึกษา แต่คำว่าเสรีภาพทางวิชาการ นั้นได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในฉบับปัจจุบัน ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่จะต้องคิดว่าความหมายของมันแค่ไหน เหตุที่พูดเช่นนี้เพราะในยุคปัจจุบันนี้อาจจะเป็นวิกฤตธรรมศาสตร์ ก็จะมีคนใช้เดียวกันแต่ความหมายที่แต่ละคนใช้มีความหมายแตกต่างโดยสิ้นเชิง

เช่น คำว่าประชาธิปไตย เดี๋ยวนี้ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นวาทกรรมเมื่อปี 2475 คือคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม คือประเทศไทยเราโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชน ราษฎรชาวไทยยังไม่มีความพร้อม ไม่มีความเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ไปเอามาจากฝรั่ง รัฐธรรมนูญคืออะไร ชาวบ้านไม่รู้จัก แต่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ความจริง ณ เวลานั้นสภาวะทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีการศึกษาค่อนข้างสูง ผมรู้สึกว่าในยุคนั้นน่าจะมีเสรีภาพทางความคิดและมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าในยุคปัจจุบันด้วยซ้ำ

ผมมีโอกาสอ่านเอกสารการประชุมสภาฯ นั้นสมัยนั้น ผมยังทึ่งว่า ถ้าพูดกันแบบนั้นในสมัยนี้คงติดคุกกันระนาว ส.ส. ทีอภิปรายในสภาใช้คำที่รุนแรงมาก และคนหนึ่งที่เป็นดาวสภาและผมประทับใจจริงๆ เป็นบิดาของเพื่อนคนหนึ่งของผม ท่านนายก พล.อ.สุรยุทธ์ เช่นเดียวกับอาจารย์ชาญวิทย์ที่ไม่มา เราเรียนสวนกุหลาบรุ่นเดียวกัน คุณพ่อของ พล.อ.สุรยุทธ์คือคุณโพยม จุลานนท์ เป็นดาวสภาในยุคนั้นและการอภิปรายนั้นดุเดือดรุนแรงมาก

“ผมเข้ามาเมื่อปี 2502 ตอนนั้นธรรมศาสตร์เขาเป็นยุคสายลมแสงแดด เป็นยุคที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ถ้าไม่คิดอะไรเลยจะมีความสุขมากๆ คนทีตระหนักในกีฬาก็ซ้อมกีฬากันทั้งวัน ยกน้ำหนัก รักบี้ เพาะกล้าม ผมไม่ตระหนักกีฬาพวกนี้ ไปเล่นกีฬาในร่ม คือมีโต๊ะบิลเลียด ตกเย็นก็ตั้งวง และมีการจัดไปเที่ยว แต่เมื่อกลับมาพวกหัวหน้านักศึกษาลบชื่อหมดเลย โทษฐานฝ่าฝืนคำสั่ง เท่าที่เอามาเล่าซุบซิบกันคือบรรดาผู้นำนักศึกษามีกิจกรรมใต้ดินทางการเมือง เพราะยุคผมไม่มีการอ้างว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว และสิ่งที่ใฝ่ฝันคือกิจกรรมฟุตบอลประเพณี เพื่อไปประกาศศักดา ขับรถตระเวนรอบเมืองตำรวจก็ไม่ทำอะไร เราถือว่ามีเสรีภาพมาก แต่จริงๆ แล้วคือเอกสิทธิ์ และอีกอย่างคือ บอลล์ คือ งานราตรีสโมสร สมัยนั้นต้องมีการเต้นรำ การจัดงานใหญ่ต้องไปสวนลุมพินี วงดนตรีสุนทราภรณ์ และวันสำคัญมากๆ คือวันรับปริญญา เราไปแสดงความยินดี รืนเริง ได้เป็นบัณฑิตแล้ว อย่างน้อยเราก็มีฐานะไม่เหมือนคนอื่นเพราะเรามีปริญญา เพราะในยุคผมนั้นคนมีใบปริญญาน้อยมาก เราเหมือนเป็นอภิสิทธิ์ชน มันเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้สึกตัวหรอก แต่เราก็เป็นอภิสิทธิ์ชนแบบ 2nd Class เพราะมหาวทิยาลัยอีกแห่งเขาเป็ฯ 1st Class ฉะนั้นการเรียนมหาวิทยาลัยอีกนัยยะหนึ่งก็คือความเป็นอภิสิทธิ์ชน”

สำหรับเสรีภาพทางวิชาการยุคนั้นไม่มีเลยโดยเด็ดขาด แสดงออกได้บ้างสำหรับการล้อเลียนในวันฟุตบอลประเพณี แต่ในยุค 2502 ผู้ที่เป็นอธิการบดี คือจอมพลถนอม กิตติขจร มีความพยายามแปลงสภาพธรรมศาสตร์ดั้งเดิม อันดับแรกคือยึดทรัพย์สินของธนาคารที่อาจารย์ปรีดีตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นแหล่งสนับสนุนด้านการเงินให้กับมหาวิทยาลัย ชื่อว่าธนาคารเอเชีย ต่อมามีการออกกฎหมาย อันที่จริงธรรมศาสตร์ตอนเปิดมาครั้งแรกไม่ใชข่มหาวิทยาลัยของรัฐ มีเงินจากธนาคารเอเชียและเงินค่าเล่าเรียน แต่มาเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐเมื่อมีการออกกฎหมาย และให้ไปขึ้นกับสำนักนายกฯ แต่ช่วง 2490-2500 ที่จอมพลสฤษดิ์เข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจ

“มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์มากจริงๆ และเกิดการต่อสู้ของนักศึกษาในรุ่นก่อนหน้า ส่วนยุคของผมนั้นไม่มีเสรีภาพแม้แต่กระผีกเดียว”

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ เล่าว่าในยุคนั้นมีกิจกรรมของนักศึกษา แต่ก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และประเด็นก็เป็นประเด็นเดิมๆ ฝ่ายที่เป็นอนุรักษ์นิยมและยังโลดแล่นถึงยุคนี้ และยังไม่จากไปไหน เช่น ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน รหัส 2501 กล่าวหาว่านักกิจกรรมนักศึกษาหัวรุนแรง มักพูดเรื่องสันติวิธี ต่อต้านสหรัฐ และทำให้เกิดเงื่อนไขทางการเมืองถึงขนาดที่ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ เข้ามายึดอำนาจจากจอมพล ป. ทำให้ธรรมศาสตร์ถูกกวาดล้างอย่างที่สุด ความเป็นธรรมศาสตร์ที่สืบทอดกับอาจารย์ปรีดี ถูกล้างออกไปหมด

ผมบอกตรงๆ เลยว่าสมัยผมนั้นผมเรียนจบไปก็มุ่งมั่นจะมาสอนที่คณะ คณะผมนั้นคณบดีเป็นพระยา ซึ่งไม่เคยเห็นหน้าเลย และมีอาจารย์ประจำท่านเดียว นอกนั้นมาจากกระทรวงยุติธรรม ผู้พิพากษา อธิบดีอัยการ หรือกระทรวงการต่างประเทศและกฤษฎีกา ผมจบไปก็มุ่งมั่นจะสอบเนติบัณฑิต ผมสอบเนติ์ได้พร้อมกับคุณชวน หลีกภัย ผมอายุไม่ถึง ก็ไปสอบเป็นอัยการ เข้าสู่โลกของพวกอำมาตย์โดยแท้จริง การหล่อหลอมการปลูกฝังต่างๆ คือการเป็นขุนนางระดับสูง มีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ เรพาะข้าราชการอัยการ-ตุลาการ สูงกว่าราชการพลเรือนทั่วไป

จากนั้นคุณชวนหลีกภัย ก็มาชักชวนไปเลือกตั้ง แต่ผมก็เป็นอัยการเรื่อยมา ไม่ได้คิดเรื่องการบ้านการเมือง 14 ตุลาผมอยู่ที่กรมอัยการ เราก็ไม่รู้เรื่องอะไรมาก เป็นเรื่องของรุ่นน้องๆ ผมก็มีกำลังบำรุงบ้างตามสมควร ผมยังเชื่ออยู่ว่าบ้านเมืองมันแย่เพราะมันคอร์รัปชั่น ที่เห็นตำตาในสมัยที่ผมทำงานคือในกระบวนการยุติธรรม ถามว่าคอร์รัปชั่นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมไม่รู้ แต่มันคอร์รัปชั่นกันน่าดูเลย มีมานานแล้ว

และสิ่งที่ผมเป็นอัยการและมีความอยากรู้เรื่องหนึ่งที่ตอนนี้กลัมาเป็นประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ คือ อัยการคนไหนที่เป็นคนทำคดีสวรรคต อธิบดีกรมอัยการคนหนึ่งลาออกเพราะไม่ยอมทำคดีสวรรคต ผมเข้าไปเป็นเสมียนที่กรมอัยการ คุณเล็กเป็นอธิบดี ผลจากที่ท่านเป็นคนทำคดีนีก็ทำให้ท่านก้าวหน้าข้ามาเป็นรัฐมนตรี แต่เพื่อนที่สนิทกับท่าน ดร.หยุด แสงอุทัย เป็นเพื่อนซี้กันมาก และดร.หยุด คือมือกฎหมายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม

“ผมคิดว่าในประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายธรรมศาสตร์มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคิดแบบนักกฎหมายก็คงต้องมากำหนดว่าเสรีภาพในทางวิชาการต้องมีขอบเขต ประชาธิปไตย ต้องเป็นเสรีภาพที่มีขอบเขคในทางวิชาการ เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตคืออนาธิปไตย แต่คำถามคือ ขอบเขตเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะมีมากน้อยแค่ไหรน อย่างน้อยที่มีการประกาศว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว คือเสรีภาพมีทุกเรื่องยกเว้นเรื่องเดียวคือ ตัวเลขสามตัว”

“แล้วเรื่องนี้จะสามารรถนำมาพูดกันได้แค่ไหนอย่างไร ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ประเด็นที่ท้าทายเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรทศาสตร์แต่ท้าทายสังคมไทย แต่อย่างน้อยที่สุดจุดเริมต้นก็เกิดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจุดประกายขึ้นมา ผมเรียนว่าผมก็ภูมิใจว่าอย่างน้อย คณะนิติศาสตร์ไม่เคยสูญสิ้นความเป็นธรรมศาสตร์ที่อาจารย์ปรีดีได้มอบไว้แกพวกเรา”

 

ความขัดแย้งเกิดจากอิทธิพลของสื่อโดยแท้

พนัส ทัศนียานนท์ กล่าวว่า ในยุคสายลมแสงแดดนั้นต่างจากปัจจุบัน คือยุคของเขาเป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย เป็นเผด็จการทหารเตมรูปแบบ แต่ยุคนี้เป็นประชาธิปไตยแต่มีสำนึกเผด็จการ

“ปัญหาคือสื่อ เป็นอิทธิพลของสื่อโดยแท้ ไม่ว่าข้อเสนอจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ฝ่ายที่เขาคิดว่าพวกนี้คือพวกที่ล้มเจ้า เขาบอกว่าเขาไม่สนมราจะไปทำความเข้าใจ นี่เป็น Mentality ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิธีการหลีกเลี่ยงความรุนแรง ไม่ใชเรื่องของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรทมศาสตร์เท่านั้น และโยเฮพาะอย่างยิ่งกับสื่อผมว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจ ในเมื่อประเด็นมันแหลมคมมากๆ จะไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ จะไปกลัวว่าสื่อเขาจะบอกว่าริดรอนเสรีภาพของสื่อ เพราะการนำเสนอของสื่อต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ ไม่ใช่เหมือนกับว่าเอาน้ำมันไปราดลงบนรกองไฟ เท่าที่ผมพยายามดูสื่อบางสื่อที่ผมไม่อยากดูอยู่แล้ว มันเท่ากับช่วยกัน ทุกคนก็รู้ดี โดยผู้เสนอเขาไม่ได้มีเจตนาร้ายอะไร ปัญหาคือถ้าจะจัดการกันในวงกว้างให้เกิดความเข้าใจกันโดยทั่วหน้า จะมีวิธีการอย่างไรที่ดีที่สุดที่จะสื่อไปถึงประชาชน ผมเองคนขับรถก็ยังถามอยู่เรื่อยๆ เพราะเขาฟังสื่อก็ไม่ได้ให้ความกระจ่างกับเขา เขาก็ย่อมเข้าใจง่ายๆ ตาม Mentality ที่ตกค้างอยู่ ก็ย่อมคิดว่า คนพวกนี้เป็นปัญหาแน่ ๆ”

อนึ่ง เวทีเสวนาได้รับการรายงานโดยสื่อในเครือผู้จัดการด้วย โดยกลับอ้างว่าเวทีเสวนาดังกล่าวจัดโดยกลุ่ม “นิติราษฎร์” โดยพาดหัวว่า “นิติราษฎร์” ไม่จำนน โบ้ยมติ มธ.แค่ร่างทรง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เราจะฝันใฝ่อะไรกันดีในปี 2555

0
0

การต่อสู้เรียกร้องที่สร้างแรงบันดาลใจที่สุดของปี 2554 ได้ชูความสำคัญของปัญหาประชาธิปไตย

ถึงแม้จะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่แตกต่างกันมาก การเคลื่อนไหวต่างๆ ไล่ตั้งแต่การรุกฮือของอาหรับสปริงถึงการต่อสู้ของสหภาพในวิสคอนซิน การประท้วงของนักศึกษาในชิลีไปจนถึงสหรัฐและยุโรป การจลาจลในอังกฤษไปจนถึงการยึดครองของ indignados ในสเปน (ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของสเปน ชื่อเต็ม Los Indignados มีความหมาย “The Outraged” ในภาษาอังกฤษ: ผู้แปล) การยึดจตุรัส Syntagma ในกรีซและออคคิวพายวอลล์สตรีทจนกระทั่งรูปแบบท้องถิ่นอีกนับไม่ถ้วนของการปฏิเสธทั่วทุกโลกได้มีลักษณะร่วมประการแรกคือ ข้อเรียกร้องในเชิงปฏิเสธ นั่นคือ รับไม่ได้กับโครงสร้างของเสรีนิยมใหม่อีกต่อไป! การตะโกนโห่ร้องที่พ้องกันนี้ไม่เพียงเป็นการประท้วงในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นเชิงการเมืองไปในตัวด้วย เพื่อต่อต้านคำกล่าวอ้างจอมปลอมของการเมืองระบบตัวแทน  ทั้งมูบารักและเบน อาลี หรือนายธนาคารวอลล์สตรีท สื่อชนชั้นสูงและแม้แต่ประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐฯ สมาชิกรัฐสภาหรือข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเอง ต่างไม่มีใครเลยทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้พวกเรา

แน่นอน แรงขับเคลื่อนมหาศาลของการปฏิเสธมีความสำคัญมาก แต่เราควรจะระมัดระวังไม่ให้หลงทางไปท่ามกลางเสียงอีกทึกของการชุมนุมและความขัดแย้งที่ศูนย์กลาง ซึ่งดำเนินไปไกลเกินกว่าการประท้วงและต่อต้าน การเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังร่วมแบ่งปันความปรารถนาสำหรับประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ที่ในบางกรณีแสดงออกในรูปของเสียงที่ไม่หนักแน่นและไม่แน่ใจนักแต่ในหลายกรณีมั่นคงและทรงพลัง พัฒนาการของความปรารถนานี้คือส่วนหนึ่งของสายใยที่พวกเราร้อนรนอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามรอยในปี 2555

ต้นตออันหนึ่งของความเป็นปรปักษ์ ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้กระทั่งขบวนการที่เพิ่งได้ล้มผู้นำเผด็จการไปแล้วจะต้องเผชิญก็คือ ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับระบบแรงงาน ทรัพย์สินและการเป็นตัวแทน (representation) ในรัฐธรรมนูญเหล่านี้

ประการแรกสุด การขายแรงงานแลกค่าจ้าง คือกุญแจของการเข้าถึงรายได้และสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง มันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่อย่างกระท่อนกระแท่นมายาวนานสำหรับผู้ที่อยู่ภายนอกตลาดแรงงานปกติ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนว่างงาน แรงงานหญิงที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผู้อพยพและอื่นๆ แต่วันนี้ รูปแบบของแรงงานทั้งหมดยิ่งปรากฏความเปราะบางและขาดความมั่นคงมากขึ้นอีก แน่นอน แรงงานยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งของความมั่งคั่งในสังคมทุนนิยม แต่มันกลับถูกวางอยู่ภายนอกความสัมพันธ์กับทุนมากยิ่งขึ้นและบ่อยครั้ง อยู่ภายนอกความสัมพันธ์กับค่าจ้างที่มีเสถียรภาพ (stable) ดังนั้น รัฐธรรมนูญทางสังคมของเรายังคงต้องการให้แรงงานรับจ้างได้รับสิทธิและการเข้าถึงอย่างเต็มที่ภายในสังคมซึ่งแรงงานประเภทนี้นับวันจะยิ่งน้อยลงไปทุกที

ทรัพย์สินเอกชนคือเสาหลักที่สองของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมวันนี้ไม่เพียงแต่ทัดทานกฏเกณฑ์ของระบบธรรมรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal governance) ทั้งในระดับชาติและระดับโลก แต่ยังรวมถึงกฎเกณฑ์ของทรัพย์สินโดยทั่วไปอีกด้วย ทรัพย์สินไม่เพียงธำรงรักษาลำดับชั้นและการแบ่งแยกทางสังคม แต่ก็กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทรงพลังที่สุดบางอย่าง (บ่อยครั้งเป็นความสัมพันธ์ที่กลับหัวกลับหาง) ที่พวกเราต่างมีซึ่งกันและกันและมีร่วมกันในสังคม แต่การผลิตเชิงเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนั้นก็ได้ปรากฏลักษณะร่วมที่เด่นชัดซึ่งท้าทายและไปไกลกว่าขอบเขตของระบบทรัพย์สินนั้น ความสามารถของทุนในการสร้างกำไรจึงลดลงเนื่องจากมันกำลังสูญเสียสมรรถภาพเชิงประกอบการและพลังที่จะจัดระบบระเบียบและความร่วมมือทางสังคมลง แต่ทุนก็กลับสะสมความมั่งคั่งได้เพิ่มมากขึ้นผ่านรูปแบบของค่าเช่าเป็นหลัก ซึ่งบ่อยครั้งถูกจัดตั้งผ่านเครื่องมือทางการเงินที่สามารถฉกฉวยมูลค่าที่ถูกผลิตในเชิงสังคมและ (มูลค่านั้น) มักไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของตัวทุนเอง อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ขณะของการสะสมทุนเอกชนได้ก่อให้เกิดการลดทอนอำนาจและผลิตภาพของสังคม ทรัพย์สินเอกชนจึงไม่เพียงมีลักษณะเป็นกาฝากมากขึ้นแต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการผลิตเชิงสังคมและสวัสดิการสังคมอีกด้วย

สุดท้าย เสาหลักที่สามของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นนั้น ได้กลายเป็นเป้าของความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น อยู่ที่ระบบตัวแทนและคำกล่าวอ้างกำมะลอว่าด้วยการสร้างธรรมรัฐประชาธิปไตย (democratic governance) การทำลายบทบาทของอำนาจในทางการเมืองของบรรดาตัวแทนมืออาชีพคือหนึ่งในไม่กี่สโลแกนที่ตกทอดมาจากจารีตแบบสังคมนิยมที่เราเต็มใจที่จะตอกย้ำภายใต้เงื่อนไขร่วมสมัยของเรา นักการเมืองมืออาชีพ ร่วมกับผู้นำองค์กรธุรกิจและผู้ครอบครองสื่อนั้นควบคุมบริหารระบบตัวแทนประเภทที่อ่อนแอที่สุด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่านักการเมืองฉ้อโกง (ถึงแม้ในหลายกรณีจะเป็นเรื่องจริง) แต่กลับอยู่ที่โครงสร้างตามรัฐธรรมนูญได้แบ่งแยกกลไกของการตัดสินใจทางการเมืองออกจากอำนาจและความปรารถนาของมวลมหาชน (multitude) กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไม่ว่าแบบใดก็ตามในสังคมเราจำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่ปัญหาการขาดตัวแทนและความเสแสร้งของการเป็นตัวแทนที่ตั้งอยู่ตรงใจกลางของรัฐธรรมนูญดังกล่าว

การตระหนักถึงตรรกะและความจำเป็นของการปฏิวัติต่อเสาหลักทั้งสามและอื่นๆ ที่เหลือซึ่งทำให้การต่อสู้เรียกร้องจำนวนมากในปัจจุบันโลดแล่นอยู่นั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงก้าวแรกอย่างแท้จริง คือจุดตั้งต้นของการเดินทาง ความเร่าร้อนของความคับข้องต่อสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและการปะทุขึ้นพร้อมกันของการปฏิวัติจะต้องได้รับการจัดตั้งเพื่อให้ดำรงอยู่ข้ามเวลาและเพื่อนำไปสู่รูปแบบใหม่ของชีวิต หรือการก่อตัวของสังคมทางเลือก

ความลับของก้าวต่อไปนี่แหละ ที่หายากพอกับที่มันมีค่ามหาศาล

ในปริมณฑลเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องค้นหานวัตกรรมสังคมเพื่อให้สามารถผลิตร่วมกันอย่างเสรีและแจกจ่ายความมั่งคั่งที่ปันกันนี้อย่างเท่าเทียม คำถามก็คือ พลังในการผลิตและความปรารถนาของพวกเราจะถูกนำเข้าไปและต่อเติมในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของทรัพย์สินเอกชนได้อย่างไร? สวัสดิการและทรัพยากรพื้นฐานทางสังคมจะถูกจัดหาให้กับทุกคนในโครงสร้างสังคมที่ไม่ได้ถูกกำกับและครอบงำโดยสถาบันของรัฐได้อย่างไร ? เราต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตและแลกเปลี่ยน รวมทั้งโครงสร้างของสวัสดิการสังคมที่ประกอบขึ้นจากสังคมและเหมาะสมกับสังคม

ความท้าทายของปริมณฑลทางการเมืองก็แหลมคมพอกัน เหตุการณ์ต่างๆ และการปฏิวัติที่สร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้ความคิดและปฏิบัติการทางประชาธิปไตยมีลักษณะถอนรากโดยการเข้ายึดครองและจัดการกับพื้นที่ อย่างเช่น จตุรัสสาธารณะ ด้วยโครงสร้างหรือสมัชชาที่เปิด ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและธำรงรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยใหม่นี้เอาไว้ได้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แท้จริงแล้ว การจัดองค์กรภายในของขบวนการเองก็ตกอยู่ภายใต้กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) อย่างต่อเนื่องด้วย

เมื่อมีความพยายามที่จะสร้างโครงสร้างแบบเครือข่ายที่มีส่วนร่วมแบบแนวระนาบ การปฏิวัติต่อต้านระบบการเมืองที่ครอบงำ นักการเมืองมืออาชีพและโครงสร้างที่ไม่ชอบธรรมของระบบตัวแทนนั้นจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อรื้อฟื้นระบบตัวแทนแบบที่ชอบธรรมที่เราคิดได้ แต่มีเป้าหมายที่การทดลองรูปแบบใหม่ของการแสดงออกในเชิงประชาธิปไตย นั่นคือ democracia real ya (หรือ Real Democracy Now ในภาษาอังกฤษ เป็นการจัดตั้งในระดับรากหญ้าในสเปน ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 และพัฒนาไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน: ผู้แปล) คำถามก็คือ เราจะแปรเปลี่ยนความคับข้องใจและการต่อต้านให้กลายเป็นกระบวนการตรวจสอบจากเจ้าของอำนาจที่คงทนได้อย่างไร ? การทดลองประชาธิปไตยจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจจากเจ้าของ ที่ไม่เพียงทำให้จตุรัสสาธารณะหรือละแวกบ้านกลายเป็นประชาธิปไตยแต่ถึงกับประดิษฐ์สังคมทางเลือกที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงได้อย่างไร ?

เพื่อเผชิญกับประเด็นเหล่านี้ พร้อมกับประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย เราได้เสนอก้าวแรกที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่มีหลักประกัน (guaranteed income) สิทธิในการเข้าถึงความเป็นพลเมืองโลก (the right to global citizenship) และกระบวนการแบบประชาธิปไตยของการยึดคืนให้เป็นสมบัติร่วมของสังคม (reappropriation of the common) แต่เราก็ไม่ได้ตกอยู่ใต้ภาพหลอนว่าเรามีคำตอบทั้งหมดแล้ว แต่เรากลับอุ่นใจต่างหากจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ใช่แค่พวกเราที่กำลังถามคำถามเหล่านี้ ที่จริงแล้ว เรามั่นใจว่ากลุ่มคนที่ไม่พึงพอใจกับชีวิตที่ถูกเสนอให้โดยสังคมเสรีนิยมใหม่ร่วมสมัยนั้น ทั้งที่คับข้องจากความอยุติธรรม รู้สึกต่อต้านอำนาจของการสั่งการและการขูดรีด และที่กำลังโหยหารูปแบบประชาธิปไตยทางเลือกของชีวิตที่อยู่บนฐานของการแบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกันนั้น ด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้และเดินตามความปรารถนาของตน พวกเขาจะสรรสร้างคำตอบใหม่ที่เรายังคงไม่สามารถแม้กระทั่งจะจินตนาการไปถึง ทั้งหมดคือความใฝ่ฝันที่ดีที่สุดบางประการสำหรับปี 2555

--------------------

*Michael Hardt และ Antonio Negri ผู้เขียน Empire และ Multitude เขียนบทความนี้ใน Adbusters นิตยสารแนวปฏิเสธระบบทุนและต่อต้านบริโภคนิยมที่ใช้รูปแบบของการป่วนทางวัฒนธรรม (culture-jamming) ซึ่งเน้นการเปิดโปงอุดมการณ์เบื้องหลังการโฆษณาชวนเชื่อขององค์กรธุรกิจ นิตยสารนี้มีส่วนสำคัญในการจุดประกายการชุมนุมเพื่อยึดสวนซุกคอตติในนิวยอร์ค ต้นกำเนิดของขบวนการออคคิวพายวอลล์สตรีท

 

ที่มา : Michael Hardt & Antonio Negri. What to expect in 2012. Adbusters #99. 8/12/54 http://www.adbusters.org/magazine/99/under-no-illusions.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 3)

0
0
"วิจักขณ์ พานิช" สัมภาษณ์ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 3 ธรรมะเสียหลัก
 
(๓) ธรรมะเสียหลัก
 
วิจักขณ์: ด้วยความที่ศีลธรรมมีพลังอำนาจมากกว่า คือ ล้วงลึกเข้าไปถึงจิตใจหรือจิตวิญญาณ ทำให้บางทีกฏหมายก็ยืมเอาศีลธรรมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมด้วยหรือเปล่าครับ
 
วรเจตน์: แน่นอนว่ากฏหมายที่เขียนขึ้นโดยอิงกับหลักศีลธรรมเนี่ย ปกติมันจะมีพลังบังคับมากกว่ากฏหมายซึ่งเขียนขึ้นโดยไม่อิงพลังทางศีลธรรมอยู่แล้ว ที่นี้กฏหมายมันก็มีหลายอย่าง อย่างเรื่องพื้นๆ ที่สุด คือ เรื่องของการฆ่าคนตาย การลักทรัพย์ ข่มขืน ก็ชัดเจนว่าอันนี้มันก็มีพลังทางศีลธรรมหนุนอยู่ คนก็รู้สึกทันทีว่าอันนี้เป็นความผิดในตัวของมันเอง แต่มันมีกฏหมายอีกส่วน ที่เป็นเรื่องในทางเทคนิค คือ เป็นกฏหมายที่กำหนดกฏเกณฑ์ความประพฤติบางอย่าง ซึ่งบางทีก็อาจไม่เกี่ยวกับศีลธรรมโดยตรง ...คือมันก็อาจจะเกี่ยวอยู่เหมือนกันนะ แต่อาจจะเป็นโดยอ้อม อย่างเช่น กฏจราจร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับศีลธรรมโดยตรง มันเป็นเรื่องของการกำกับควบคุมการสัญจรไปมาของคน แต่ถ้าพลังทางศีลธรรมมันเยอะ อย่างเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันก็อาจจะช่วยให้การกำกับตรงนี้มันดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่แน่นอนว่าเวลาเราจะพูดเรื่องพวกนี้ เราต้องคำนึงถึงบริบทของสภาพสังคมด้วย 
 
ตอนสมัยผมเรียนเยอรมัน ผมก็พยายามเทียบของเค้ากับของบ้านเรา คือคนไทยเนี่ยมักจะบอกว่าเราเป็นเมืองพุทธ ซึ่งเมืองพุทธของเราก็คือเมืองที่คนมีใจโอบอ้อมอารี ไม่เห็นแก่ตัว เป็นสยามเมืองยิ้ม อะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ภูมิใจของเราแบบนี้ และมักคิดว่าศาสนาพุทธของเราดีกว่าศาสนาอื่นในแง่ของจิตใจ แต่พอเราไปดูเรื่องของการใช้รถใช้ถนนของคนไทย เราจะพบว่ามันต่างกันมาก เราจะพบว่าบ้านเราไม่มีวินัย คนไทยเห็นแก่ตัวกันมาก และมากจริงๆด้วย แล้วก็ไม่ยอมกัน ในขณะที่เมืองนอก ซึ่งจากมุมมองของไทยคือเค้าไม่ได้ถือพุทธแบบเรา ไอ้ความโอบอ้อมอารีทางจิตใจเค้าไม่มี แต่ในเรื่องการจราจร เค้ากลับมีวินัย มันเป็นสิ่งที่คนเค้าทำกัน มันเป็นวัฒนธรรมในการเคารพกฏหมายซึ่งเค้าทำ ผมเคยเห็นกับตา สมัยผมเรียนอยู่นะ มีทางม้าลาย แล้วรถเบนซ์วิ่งมา มีคนเข็นสัมภาระ ซึ่งดูสภาพก็ดูซ่อมซ่อนิดหน่อย รถเบนซ์หยุด แล้วก็จอดให้คนเดินข้าม ผมก็ตั้งคำถามว่า ไอ้การที่เค้าจอดให้คนเดินข้ามเนี่ย มันเป็นเพราะเค้ามีจิตใจโอบอ้อมอารี มันเป็นน้ำใจของเค้า หรือมันเป็นอุปนิสัยและความเคยชิน ในแง่ของการมีวินัยและการเคารพกฏหมาย ในความรู้สึกผมนะ ผมคิดว่ามันเป็นการมีวินัยและการเคารพกฏหมาย แต่ว่าอีกด้านนึง มันก็ได้ในเซ้นซ์ของการมีจิตใจที่ดีไปพร้อมๆ กัน 
 
คือบ้านเราจะพยายามไปเน้นด้านเดียว (ด้านจิตใจ) แต่ว่าในอีกด้านนึง(การมีวินัย การเคารพกฏหมาย)เราก็ปฏิเสธ หรือเราไม่สนใจ  กลายเป็นว่าในสังคมเรา ถ้าใครเลี่ยงกฏเกณฑ์อันนี้ได้ มันก็เป็นสิ่งซึ่งเราก็ไม่รู้สึกผิดด้วย  อันนี้ก็หมายความว่า ที่เราอบรมบ่มเพาะกันมาหลายๆ เรื่อง มันไม่เวิร์คเลย มันไม่ฟังก์ชั่นเลยในสังคมของเรา 
 
ที่ผมสะเทือนใจมากๆ อย่างตอนผมโตขึ้นมา ผมเห็นภาพเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙  คนเอาเก้าอี้ฟาดไปที่ศพของนิสิตที่ต้นมะขามในท้องสนามหลวง แล้วห่างไปแค่ไม่เท่าไหร่คือวัดพระแก้ว แล้วเราบอกว่าเราเป็นคนพุทธ เป็นเมืองพุทธ แล้วโดยจิตใจมันใช่ที่ไหน ในทางกลับกันนะ ผมกลับรู้สึกว่าบางที คำสอนแบบพุทธ มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟาดฟันคนอื่น  คือ การติดว่าตัวเองเป็นคนดี มีธรรมะอะไรประมาณนี้ แล้วไปฟาดคนอื่น แถมโดยที่ไม่รู้สึกผิดด้วยนะ แล้วผมกำลังรู้สึกว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นในสังคมไทยเราอีกแบบเนี้ยะ อาจจะเกิดขึ้นกับผม หรือกับคนอื่นๆอีกในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้เราก็ไม่รู้... เวลาที่เราออกมาทำเรื่องที่ทำอยู่แบบนี้ แล้วผมก็แปลกใจว่าเอ๊ะ นี่สังคมเรามันยังไง
 
วิจักขณ์: กลายเป็นว่าคำสอนทางศาสนามีอำนาจที่ถูกดึงเอาไปใช้ตัดสินคนอื่น ถึงขนาดชี้เป็นชี้ตาย.. 
 
วรเจตน์: (เน้นเสียง)  ใช่ มันกลายเป็นแบบนั้น
 
วิจักขณ์: แล้วอาจารย์มองว่ามันเป็นปัญหาเดียวกับสถานการณ์ของการบังคับใช้กฏหมายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตอนนี้ไหมครับ
 
วรเจตน์: ผมว่าเป็นปัญหาอยู่นะ 
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย อย่างกรณีคุณทักษิณ คุณทักษิณเป็นตัวละครหลักในทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ การปรากฏขึ้นของคุณทักษิณได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองในบ้านเมืองเราไปมาก ถึงจุดนึงก็เกิดการไล่ล่าคุณทักษิณ เรียกว่าไล่ล่าเพราะว่า ที่สุดเนี่ย เราจะสังเกตเห็นว่าเวลาที่มีการช่วงชิงทางการเมือง มักจะมีการอ้างธรรมะไปฟาดฟันกันในทางการเมืองว่า โอเค ฝั่งนึงทุจริตคอรัปชั่นโกงบ้านกินเมือง อีกฝ่ายถือธรรมะ ก็คือการเอาธรรมะ เอาความดีเนี่ย ไปปราบความชั่ว คือ ทาสีให้มันเป็นขาวกับดำ ทั้งๆ ที่ถ้าเราคิดให้ลึกๆ ในบริบทของการเมืองทุกๆ แห่งเนี่ย มันเป็นสีเทาหมด ไม่มีอะไรขาว และไม่มีอะไรดำ ครั้นเมื่อคุณเข้าไปและร่วมวงในการต่อสู้ เพื่อเป้าหมายในการขจัดศัตรูทางการเมือง ธรรมะที่คุณเอามาใช้ฟาดฟันไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เมื่อคุณเอามาใช้ปุ๊บ มันจะเลือนไปทันที เพราะมันจะเป็นมิติเดียว มันจะไม่ครอบคลุมทุกมิติ และคำสอนโดยตัวแท้ของพุทธศาสนา มันไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วผมคิดว่าพระพุทธเจ้าคงไม่ประสงค์ให้มีใครอ้างเอาธรรมะของท่านไปใช้ในการทำลายคนหรือทำลายในทางการเมืองอย่างรุนแรง แล้วเกิดเหตุการณ์โศกสลดขึ้นตามมา ผมว่ามันคงไม่ใช่แบบนั้น
 
ผมพบว่าในห้วงต่อสู้ทางการเมือง หลายคนในทางส่วนตัวเค้าก็เป็นคนดีนะ เป็นคนดีในแง่ที่ว่าเค้าก็มีจิตใจดี แต่พอถึงคราวที่จะต้องจัดการกันหรือต้องดำเนินการทางการเมืองเนี่ย ผมไม่คิดว่าเค้าจะเป็นคนดีอีกต่อไปในเชิงโครงสร้าง ในเชิงระบบ ที่ผมบอกว่าผมไม่คิดอย่างนั้นก็เพราะว่า สุดท้ายเขาใช้ทุกวิธีการในการทำลายล้าง เพราะเขาถือว่าเขามาในนามของความดี มาในนามของธรรมะ แล้วหลายคนที่เป็นคนมีชื่อเสียง อยู่ในฝ่ายปฏิบัติธรรม ก็กลับกลายเป็นคนซึ่งสามารถไปฟาดฟันคนอื่นได้โดยที่ สุดท้ายผมก็ยังถามว่า แล้วธรรมะเรื่องความเมตตาอยู่ตรงไหน ความพอเหมาะพอประมาณบนทางสายกลางอยู่ตรงไหน หลักการที่ถูกต้องมันอยู่ตรงไหน 
 
วิจักขณ์: อาจารย์ว่าสภาวะที่ตรรกะมันกลับตาลปัตรแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง
 
วรเจตน์: ผมว่ามันเกิดขึ้นจากการสร้างความเกลียดชังขึ้นมา คนที่อ้างธรรมะเข้าไปจัดการ คุณจัดการเค้าโดยพื้นฐานของความเกลียด 
 
วิจักขณ์: ...แล้วไม่รู้ตัว
 
วรเจตน์: แล้วไม่รู้ตัว ใช่.. เพราะพื้นฐานของธรรมะที่สุดไม่ว่าจะศาสนาไหน คือ ความรัก ความเมตตา แต่ว่าเวลาคุณเข้าจัดการเนี่ย คุณเริ่มต้นจากความเกลียด ความชัง การทำลาย ...เป็นแบบนี้ แต่เค้าไม่รู้ตัวหรอก เพราะคิดว่ากำลังทำเพื่อ.. พูดง่ายๆ คือ.. รับใช้คุณค่าอันนึงที่มันสูงกว่า ความดีงาม หรือการเมืองที่บริสุทธิ์ อะไรแบบนี้  โดยที่ไม่รู้ตัวว่า ระหว่างทางวิธีการที่ใช้เนี่ย มันเป็นวิธีการที่ผิด หลายคนนี่ไม่เอาหลักเลยนะ  
 
ในทัศนะของผม พระพุทธเจ้าท่านก็สนับสนุนเรื่องหลักกฏหมายเป็นใหญ่เหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าเมื่อท่านปรินิพพานเนี่ย ก็ไม่ได้เลือกใครขึ้นมาสืบต่อศาสนา คือ ไม่ได้เอาตัวบุคคลมาสืบต่อศาสนา แต่ยกเอาธรรมะขึ้นเป็นหลักในการปกครองสงฆ์ หมายถึงในบรรดาสงฆ์ทั้งปวงก็ตกอยู่ภายใต้หลักธรรมที่พระองค์ได้อบรมสั่งสอน คือมันเป็นข้อธรรม มันเป็นข้อบัญญัติ ซึ่งนัยหนึ่งมันก็คือกฏหมาย มันก็กฏเกณฑ์อย่างหนึ่งนั่นเอง พูดง่ายๆ นี่ก็คือหลักเรื่องกฏหมายเป็นใหญ่นั่นแหละ ไม่ได้เอาหลักเรื่องการปกครองโดยบุคคลเป็นใหญ่  ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เมื่อมาอยู่ในชุมชนสงฆ์แล้ว ก็ถือเอาหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นใหญ่
 
คล้ายๆกับเรื่องกฏหมายเหมือนกัน คือเราในสังคมมนุษย์ เราก็ยอมตนอยู่ภายใต้กฏหมายที่เรากำหนดขึ้นมานั่นเอง แล้วก็ในแง่ของการเอาธรรมะหรือเอากฏหมายขึ้นเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนได้เล็กๆน้อยๆ ให้เหมาะกับสภาพของยุคสมัย โดยที่โครงสร้างหลักที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ก็เปลี่ยนไม่ได้ อันนี้ก็เป็นธรรมดา เพราะถ้าเปลี่ยนก็เป็นการทำลายศาสนาไปหมด แต่สิกขาบทเล็กๆน้อยๆก็ปรับเปลี่ยนได้ แล้วก็เปลี่ยนโดยเสียงข้างมากด้วย สงฆ์ก็ต้องมาประชุมกัน ก็เปลี่ยนกันโดยเสียงข้างมากนั่นแหละ เพราะทุกเรื่องเอาถึงที่สุด ไม่มีทางหรอกที่จะเห็นพ้องต้องกันทั้งหมดเป็นเอกฉันท์ เมื่อพระศาสดาไม่อยู่เสียแล้ว คนที่วางกฏเกณฑ์ไม่อยู่เสียแล้ว คนอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ก็อาจจะเถียงกัน เช่นที่บอกว่า เปลี่ยนได้บ้างเนี่ย อะไรบ้างที่มันเปลี่ยนเล็กน้อย ก็เถียงกันเห็นไม่ตรงกัน อันเป็นเหตุของการแตกนิกาย ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา มันเป็นวิวัฒนาการของทุกๆศาสนาอยู่แล้ว 
 
ที่นี้ย้อนมาในบริบทของการต่อสู้ ผมพบว่าหลายคนไม่ได้ยึดหลักพวกนี้เลย ถ้าเราถือหลักให้ความยุติธรรมกับคน สิ่งที่ทำกันที่ผ่านมาหลายสิ่งหลายอย่าง มันก็ผิด  แต่ขณะที่ผมพยายามยืนยันหลักการว่า ถ้าคุณจะจัดการแก้ปัญหาคุณต้องทำตามหลักการที่ถูกต้อง ผมกลับถูกมองว่าทำให้มันไปเข้าทาง มันไปช่วยอีกข้างนึง แล้วก็ถูกปัดไปในห้วงบริบทของการต่อสู้ ผลักไปเป็นอีกฝั่งหนึ่ง แล้วนี่คือปัญหา ที่สุดทุกวันนี้มันเลือนหมด ผมเองก็งงไปหมดแล้ว
 
คือ หลายคนเนี่ย ในช่วงชีวิตนึง เขาก็เคยพูดอะไรที่มันถูกต้อง ดีงาม แต่ว่าพอมาอีกช่วงชีวิตนึง ทำไมเขาถึงเป๋ไปได้ขนาดนี้ หลายคนที่ผมเคยนับถือ เคยตามอ่านงานเขา เคยรู้สึกว่าเขามีหลักการที่ดี แต่พอทำไมวันนึง มันถึงเป็นแบบนี้...  ผมรู้สึกว่ามันเป็นเพราะอคติที่มันอยู่ในใจ แล้วไม่รู้ตัว เราต้องไม่ลืมว่า คนเราเนี่ย ยิ่งศึกษาธรรมะมากเท่าไหร่ บางทีมันก็ยิ่งถูกร้อยรัดมากขึ้นเท่านั้น 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live