Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ปธน.อินโดนีเซียระบุยังไม่มีความสูญเสียหลังแผ่นดินไหว-ยังไม่เกิดสึนามิ

$
0
0

สุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ระบุสถานการณ์ที่อาเจะห์หลังแผ่นดินไหวยังควบคุมได้ และได้มีการเตือนภัยสึนามิ-อพยพประชาชนขึ้นที่สูงแล้ว พร้อมสั่งการให้ทีมกู้ภัยบินเข้าอาเจะห์แล้ว

สำนักข่าว DNA ของอินโดนีเซียรายงานวันนี้ (11 เม.ย.) ว่า ประธานาธิบดีสุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ของอินโดนีเซีย กล่าวว่า ไม่มีรายงานความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวใกล้เมืองอาเจะห์วันนี้ และไม่มีสัญญาณว่าจะมีเหตุสึนามิ แม้ว่าจะมีการเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิเกิดขึ้นในหลายจุด

"ยังไม่มีสัญญาณของสึนามิ แม้ว่าเราจะมีการเตือนภัยแล้ว" ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษเดวิด คาเมรอน ซึ่งกล่าวด้วยว่าสหราชอาณาจักรเตรียมพร้อมช่วยเหลือหากจำเป็น

ยุทโธโยโน กล่าวว่า "สถานการณ์ที่อาเจะห์อยู่ภายใต้การควบคุม แม้จะเกิดความตื่นตระหนกขึ้นเล็กน้อย แต่ประชาชนก็สามารถขึ้นไปอยู่บนที่สูง" เขายังกล่าวด้วยว่า ได้สั่งให้ทีมช่วยเหลือภัยพิบัติบินไปยังอาเจะห์ ซึ่งเมืองแห่งนี้เคยได้รับผลกระทบจากสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม ปี 2547 ด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานพม่าที่กาญจบุรีเรียกร้องนายจ้างปรับค่าจ้างตามอัตราใหม่

$
0
0

แรงงานชาวพม่าภายในโรงงานแปรรูปผลไม้ที่กาญจบุรี ชุมนุมเรียกร้องให้โรงงานปรับค่าแรงจากวันละ 182 บาท เป็น 252 บาทตามอัตราใหม่ พร้อมเดินทางกลับที่พักหลังเจรจาไม่คืบ ด้านโรงงานส่งตัวแทนกล่อมให้กลับไปทำงาน แล้วจะขึ้นค่าจ้างให้ โดยคนงานเตรียมเข้าทำงานพรุ่งนี้ พร้อมรอดูท่าทีโรงงานสิ้นเดือนจะจ่ายหรือไม่

วันนี้ (11 เม.ย.) ที่โรงงานวีต้า ซึ่งประกอบกิจการแปรรูปและอบแห้งพืชผักและผลไม้ ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ได้มีคนงานในโรงงานกะกลางวันราว 3 พันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า ได้ชุมนุมเรียกร้องให้โรงงานปรับค่าแรงจากเดิมวันละ 182 บาท เป็นอัตราใหม่ 252 ที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศให้มีผลตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 โดยสาเหตุของการชุมนุมเกิดจากการที่มีการประกาศปรับอัตราค่าจ้างใหม่แล้ว แต่ทางโรงงานไม่มีวี่แววปรับค่าจ้างให้ ทำให้คนงานในโรงงานรวมตัวชุมนุม โดยหลังจากที่การเจรจาช่วงเช้าวันนี้ไม่มีความคืบหน้า คนงานได้เดินทางกลับที่พักทันที

ทำให้ทางโรงงานส่งตัวแทนของโรงงานไปเจรจากับตัวแทนคนงานถึงที่พัก โดยระบุว่าจะขึ้นค่าแรงให้ และขอให้กลับเข้าไปทำงาน โดยทางคนงานตัดสินใจว่าตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (12 เม.ย.) จะกลับเข้าไปทำงาน และจะรอดูท่าทีของโรงงานว่าสิ้นเดือนจะมีการจ่ายค่าแรงในอัตราใหม่หรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกเลิกเตือนภัยสึนามิทั่วชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียแล้ว

$
0
0

ศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ ในพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดแล้ว

ศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก (Pacific Tsunami Warning Center - PTWC) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกประกาศเฝ้าระวังคลื่นสึนามิทั่วชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใกล้ชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเวลา 15.39 น. วันนี้ (11 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเวลาประเทศไทย) 

ล่าสุดศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก ได้ประกาศยกเลิกการเฝ้าระวังการเกิดเหตุสึนามิ ในพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ลืมเสีย10เมษา

$
0
0

 

 ลืมเสีย อย่าพูดถึง 10 เมษา

กลับบ้านกันเถิดคับพี่น้อง

ชวนมารำลึกกันไปก็เท่านั้น
ชวนร้อย ชวนพัน ชวนหมื่น ชวนแสน ก็มากันแค่ห้าคนสิบคน

ลืมดีกว่าคับ ง่ายกว่ากันเยอะ
พวกเราต้องก้าวข้ามความจริงให้ได้ ความจริงไม่มีประโยชน์ เป็นเรื่องไร้สาระ คนไทยต้องรักกันคับ
บ้านเมืองลุกเป็นไฟเนื่องจากพวกเรามัวแต่จำสิ่งที่ไม่ดี ถ้าคนไทยไม่รักกันแล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร 
เราต้องนองเลือดอีกกี่ครั้ง เราต้องก้าวข้ามความจริงไปพร้อมๆ กัน  เราแตกแยกสามัคคีกันมาพอแล้ว

จำไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมาหรอกคับ  ความจริงไม่มีประโยชน์  ความจริงเป็นสิ่งไร้สาระ
คิดดูขนาด ตุลา 19 พฤษภา 35  พวกเรายังลืมกันได้ นับประสาอะไรกะ 10 เมษา
ลืมเสียให้สิ้นเพื่อแผ่นดินไทยอยู่รอด  บอกให้ลืมเสียดีๆ อย่าให้ต้องสั่งต้องบังคับ

เราต้องช่วยกันลืมคับ คนไทยรักสามัคคีต้องลืมวันนี้ไปให้ได้
คนไทยเรารักกันคับ แต่ถ้าอยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องฆ่าทิ้งให้หมดคับ พวกไม่รักชาติ  

ลืมเสีย อย่าพูดถึง 10 เมษา

ถามว่าผมเป็นใครถึงมาชวนให้พวกท่านลืม  ผมเป็นคนไทยผู้รู้รักสามัคคีคนหนึ่ง
เราไม่จำหรอกคับ  นวมทอง ไพรวัลย์อะไรนั่น ? ลุงตีนโตอะไรนั่น         เราไม่จำอยู่แล้ว

เลือดเนื้อเป็นสิ่งสมมติทั้งนั้น  เข้าหาพระธรรมทำใจให้บริสุทธิ์  
มาเป็นคนดีของสังคมเพื่อร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมืองดีกว่า
มีกี่ศพหรือคับ   ต้องเอาฆาตกร  ต้องเอาคนผิดมาติดคุกอะไรนั่น  ไร้สาระ
ไม่มีหรอกคับ ทหาร แก๊สน้ำตา เอ็ม 79 กระสุนยาง กระสุนจริง สไนเปอร์  ชายชุดดำ บลา บลา บลา

ถามว่าผมเป็นใครถึงมาชวนให้พวกท่านลืม  ผมเป็นคนไทยผู้รู้รักสามัคคีคนหนึ่งคับ
ประเทศชาติสำคัญที่สุด  ลืม 10 เมษาเสียเถิดถ้ามันทำให้คนไทยแตกแยก
ทำให้รัฐบาลที่เราเลือกมากับมือต้องลำบาก 

ลืม 10 เมษาเสียเถิด ใครจะเจ็บใครจะพิการ  อย่าไปจำเลย
ใครจะติดคุก  ใครจะถูกขัง  อย่าไปจำเลย
มีแต่จะทำลายบรรยากาศปรองดอง
เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์แล้ว เราคนไทยทุกคนพร้อมจะสละได้เสมอ ใช่มั้ยคับพี่น้อง !!!
เราต่างเป็นควายของแผ่นดินกันทั้งนั้น
เรามาตั้งใจเป็นควายแล้วทำดีเพื่อทดแทนคุณประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ากันดีกว่า  

ลืมเสีย อย่าพูดถึง 10 เมษา

วันนี้ลืมไม่ได้ วันหน้าต้องลืมได้แน่ๆ
ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น พระท่านสอนเอาไว้

อย่าแชร์คลิป อย่าแชร์ภาพ อย่าแชร์เรื่องราว  อย่าก๊อปซีดีแจก  อย่าถ่ายเอกสารแจก  อย่าทำอีกเลยคับ 
ไม่ดีเลย  คนไทยที่รักชาติบ้านเมืองดูแล้วจะรู้สึกอย่างไร 

ขอความกรุณาเถิดคับ  เพื่อให้ประเทศของเราก้าวต่อไป  เรามาก้าวข้ามความจริงกันเถิด    
บอกให้ลืมเสียที  พูดกันดีๆ นะคับ  อย่าให้ต้องบังคับ  ลืม 10 เมษาเสียเถิด

แดง แด่ง แดง  แผ่นดินร่ำร้องระงม  อย่าแต่งอย่าเปิดอย่าร้องกันอีกเลยเพลงแบบนี้ 
มีแต่จะทำให้เกิดความแตกแยกเสียเปล่าๆ  

เรามาเล่นเกมกันดีกว่า  เฟซบุคๆ เรามาเล่นฟาร์มวิล  เรามาเล่นแองกรี้เบิร์ด  เรามาเล่นมาเฟียวอร์ 
เรามาเล่นเกมกันดีกว่า  เรามาเล่นเกมให้ลืม 10 เมษา

เรามาโพสเพลงกันดีกว่า  เรามาแชร์เพลง  แชร์ข่าวดารา  แชร์เรื่องคุณครูอังคณา  เพื่อให้ลืม 10 เมษา
ไปเล่นสงกรานต์สิคับ  ไปคูเมืองก็ได้  ไปบุรีรัมย์ก็ได้  ไปดูดาราเอวีเพื่อให้ลืม 10 เมษา  

อย่าได้ส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้  อย่าได้ส่งต่อภาพเหล่านี้  กันอีกเลย 
อย่าให้คนอื่นได้รู้  อย่าให้ชาวต่างชาติได้รู้  อย่าให้ลูกหลานเราได้รู้ 

ลืมง่ายกว่าจำคับ นี่เป็นสัจธรรม  เขาจะปรองดองกันแล้ว
                   
ลืม 10 เมษาเสียเถิด  

ใครยังลืมไม่ได้ลองดูคับ นับพร้อมๆ กัน 1 2 3

อ้าวทำไมยังร้องไห้กันอีก  จะโศกเศร้าคร่ำครวญอะไรกัน  ลืม 10 เมษาได้แล้วคับ  ลองใหม่คับ

เอ้า 1 2 3 ลืม 10 เมษา !!! เห็นมั้ย ไม่ยากเลย ไม่เคยมีวันที่ 10 เมษา ในประเทศนี้ !!!!!!

 

*************************************************************************************



รายชื่อผู้เสียชีวิตจากการปะทะที่สี่แยกคอกวัว ณ วันที่ 10 เมษายน 2553 

 

1 Mr. Hiroyuki Muramoto    อายุ 43 ปี  ถูกยิงอกซ้าย เสียชีวิตก่อนถึง รพ. (ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์)
2 นาย สวาท วางาม                 อายุ 43ปี ถูกยิงศีรษะด้านบนข้างขวาทะลุขมับซ้าย เสียชีวิตก่อนถึง รพ.
3 นาย ธวัฒนะชัย กลัดสุข       อายุ 36 ปี ถูกยิงอกซ้าย ทะลุหลังเสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
4 นาย ทศชัย เมฆงามฟ้า         อายุ 44 ปี ถูกยิงอกซ้าย ทะลุหลัง เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
5 นาย จรูญ ฉายแม้น               อายุ 46 ปี ถูกยิงอกขวากระสุนฝังใน เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
6 นาย วสันต์ ภู่ทอง                 อายุ 39 ปี ถูกยิงศีรษะด้านหลัง ทะลุด้านหน้า  เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
7 นาย สยาม วัฒนนุกุล            อายุ 53 ปี ถูกยิงอก ทะลุหลัง  เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
8 นาย มนต์ชัย แซ่จอง              อายุ 54 ปี ระบบหายใจล้มเหลวจากโรคถุงลมโป่งพอง เสียชีวิตที่รพ. 
9 นาย อำพน ตติยรัตน์              อายุ 26 ปี ถูกยิงศีรษะด้านหลัง ทะลุด้านหน้า เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
10 นาย ยุทธนา ทองเจริญพูลพร อายุ 23 ปี ถูกยิงศีรษะด้านหลัง ทะลุด้านหน้า เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
11 นาย ไพรศล ทิพย์ลม          อายุ 37 ปี ถูกยิงศีรษะด้านหน้า ทะลุท้ายทอย เสียชีวิตที่ รพ. 
12 นาย เกรียงไกร คำน้อย       อายุ 24 ปี ถูกยิงสะโพก กระสุนฝังในช่องท้อง เสียชีวิตที่รพ. 
13 นาย คะนึง ฉัตรเท              อายุ 50 ปี ถูกยิงอกขวา กระสุนฝังใน เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
14 พลฯ ภูริวัฒน์ ประพันธ์       อายุ 25 ปี แผลเปิดกะโหลกท้ายทอย เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
15 พลฯ อนุพงษ์ เมืองอำพัน    อายุ 21 ปี ทรวงอกฟกช ้า น่อง 2 ข้างฉีกขาด เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
16 นายนภพล เผ่าพนัส           อายุ 30 ปี ถูกยิงที่ท้อง เสียชีวิตที่ รพ. 
17 พ.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม         อายุ 43 ปี ท้ายทอยขวาฉีกขาดน่อง 2ข้างฉีกขาด เสียชีวิตที่รพ. 
18 พลฯ สิงหา อ่อนทรง          อกซ้ายและด้านหน้าต้นขาซ้ายฉีกขาด เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
19 พลฯอนุพงศ์ หอมมาลี      อายุ 22 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ เสียชีวิตที่รพ.  
20 นายสมิง แตงเพชร            อายุ 49 ปี ถูกยิงศีรษะ เสียชีวิตที่รพ.  
21 นาย สมศักดิ์ แก้วสาน         อายุ 34 ปี ถูกยิงหลัง ทะลุอกซ้าย เสียชีวิตที่รพ.  
22 นาย บุญธรรม ทองผุย      อายุ 40 ปี ถูกยิงหน้าผากซ้ายทะลุศีรษะด้านหลังส่วนบน เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
23 นาย เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์      อายุ 29 ปี  แผลที่หน้าอกซ้าย เสียชีวิตที่รพ. 
24 นายบุญจันทร์ ไหมประเสริฐ   อายุ 45 บาดแผลเข้าสะโพกขวาตัดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขาหนีบ เสียชีวิตที่รพ. 
25 นาย มานะ อาจราญ            อายุ 23 ปี ถูกยิงศีรษะ ด้านหลังทะลุหน้า เสียชีวิตก่อนถึง รพ. 
26 นายอนันต์ สิริกุลวานณิชย์                         อายุ 54 ปี ถูกยิง เสียชีวิต 

หมายเหตุ:
ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ผ่านฟ้า รวม 26 ราย เป็นทหาร 5 ราย, พลเรือน 21 ราย (ทหารนอกประจ าการ 1 ราย, นักข่าวรอยเตอร์ 1 ราย) รายที่ 25 นาย มานะ อาจราญ ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตขณะอยู่ในสวนสัตว์ดุสิต รายที่ 26 เสียชีวิตเพิ่มหลังนอนพักใน โรงพยาบาล (15 พค.53)


ข้อมูลจาก:
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

$
0
0

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ยื่นหนังสือถึงพ่อเมืองตรังรอบ 2 หลังสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกรื้อถอนสะพานเข้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งเคลื่อนขบวนรณรงค์ 20 กม.แจกแถลงการณ์ 1,000 ชุดทั่วเมืองตรัง

จากเหตุการณ์ที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลังเข้าไปตัดฟันสวนยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และรื้อสะพานเข้าพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง

วันที่ 10 เม.ย.55 เมื่อเวลา 12.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ประมาณ 150 คน ได้เคลื่อนขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์รณรงค์แจกแถลงการณ์ จำนวน 1,000 ชุด ในพื้นที่ อ.เมืองตรัง เปิดโปงการข่มขู่คุกคามชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่โฉนดชุมชนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพร้อมทั้งเข้ายื่นหนังสือต่อนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งจังหวัด ที่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานฯ กับชาวบ้านซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 แต่เพียง 3 วัน ก็ถูกคุกคามอีก นับว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ลำบากยากจนให้ลำบากสาหัสขึ้นไปอีก

นายสมนึก กล่าวถึงการที่ทางเครือข่ายฯ เดินทางข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังว่า เพื่อติดตามผลความคืบหน้าจากการยื่นข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้รับคำตอบจากนายไชยยศ ธงไชย รอง ผวจ.ตรัง ซึ่งลงมารับหนังสือว่า ได้ประสานงานส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี และกองทัพภาคที่ 4 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมายังจังหวัดตรัง ส่วนการประสานงานหน่วยงานป่าไม้ให้ยุติการกลั่นแกล้งข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมนั้น รองผู้ว่าฯ บอกว่าขอเวลารับฟังหน่วยงานป่าไม้ก่อน แสดงให้เห็นถึงท่าทีหลีกเลี่ยงในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อ ผวจ.ตรัง อีกครั้ง ดังนี้ 1.ให้ประสานงานหาทางแก้ไขช่วยเหลือกรณีการรื้อถอนสะพานบ้านหาดสูงโดยเร่งด่วน 2.ให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่นที่อยู่ในการบริหารงานของจังหวัด เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคาม ทำลายอาสิน ดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ดั้งเดิม และ 3.ให้แจ้งผลดำเนินงานให้เครือข่ายฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

“เครือข่ายมีแผนรณรงค์กับคนตรัง ควบคู่ไปกับการเจรจากับทางจังหวัด สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ จะมีการเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปแจกใบปลิวต่อพี่น้องในพื้นที่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว และ อ.ปะเหลียน รวมทั้งอำเภออื่นๆ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายอำเภอด้วย” นายสมนึกให้ข้อมูล

นายสมนึกกล่าวด้วยว่า การแจกแถลงการณ์ในวันนี้ได้รับความสนใจจากพี่น้องข้าราชการ และพี่น้องคนเมืองตรังเป็นอย่างมาก หลายคนได้กล่าวให้กำลังใจเครือข่ายฯ ให้ต่อสู้ปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน และดูแลรักษาป่าต่อไป ส่งผลให้สมาชิกเครือข่ายฯ ได้มีกำลังใจมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนรณรงค์ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดในครั้งนี้ มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเคลื่อนขบวนท่ามกลางสายฝนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ ม.4 ต.ควนปริง อ.เมือง ไปยังศาลากลางจังหวัดตรัง หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนแจกแถลงการณ์ต่อเจ้าหน้าที่ราชการบริเวณศาลากลางจังหวัด เทศบาลนครตรัง และประชาชนทั่วไปที่สัญจรและตั้งบ้านเรือนบนถนน 6 สาย ได้แก่ ถ.พัทลุง ถ.ราชดำเนิน ถ.พระราม 6 ถ.วิเศษกุล ถ.กันตัง และ ถ.ตรัง-ปะเหลียน

ทั้งนี้ สมาชิกเครือข่ายฯ ได้แต่งกายด้วยชุดดำและขาว และงดใช้เครื่องเสียง เพื่อไว้ทุกข์ต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ตามประกาศของรัฐบาล

นอกจากนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังออกแถลงการณ์ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน หยุดซื้อเวลา เร่งแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน” สนับสนุนการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการจัดให้มีโฉนดชุมชน เนื้อหาดังนี้

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

แถลงการณ์ฉบับที่ 1 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
หยุดซื้อเวลา เร่งแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน

แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะแถลงนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เอาไว้อย่างชัดแจ้งต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมถึงจะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้และทะเล น่าเสียดายที่นโยบายสวยหรูเหล่านี้ กระทั่งปัจจุบันไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มิหนำซ้ำ รัฐบาลยังปล่อยปละละเลย ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่เพียงแต่ ไม่เดินตามแนวทางรับรองสิทธิชุมชนตามทีกล่าวอ้างไว้ในนโยบาย แต่กลับมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างรุนแรง

ดังที่เป็นข่าว กรณีนายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดจับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ จ.ตรังจำนวน 2 รายด้วยข้อหาการนำผลหมากออกมาขายในวันที่ 25 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลัง 50 นาย เข้ารื้อถอนตัดฟันต้นยางพารา ลองกอง สะตอ หมากและมะพร้าว รวม 1000 ต้น ของชาวบ้าน 3 ราย ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู จ.ตรัง และในวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานฯเขาปู่-เขาย่า นำกำลัง 30 นาย เข้ารื้อถอนสะพานสัญจรที่มีอยู่เพียงเส้นทางเดียวของชาวบ้านหาดสูง จ.ตรัง

ในขณะที่ข้อเท็จจริง พื้นที่เหล่านี้อยู่ในกระบวนการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นประธานและกำกับดูแล อีกทั้งยังอยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโชติ ตราชู เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ใจความสำคัญว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานโฉนดชุมชน และจะมอบหมายเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดแก้ไขข้อพิพาทแก่ชุมชนที่ประสงค์จะดำเนินงานโฉนดชุมชน

โฉนดชุมชนเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทับซ้อนสิทธิ์ระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน เหตุจากความผิดพลาดที่ว่า พื้นที่ป่าสงวนฯ และอุทยานแห่งชาติฯที่ราชการประกาศจำนวนมากนั้น ล้วนแต่มีชุมชนท้องถิ่นตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับการสำรวจและกันแนวเขตที่ดินทำกินออก หากได้ถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อร่วมกับหน่วยงานรัฐในการป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ชุมชนเตรียมการโฉนดชุมชนจึงมีกฎกติกาดูแลรักษาพื้นที่ปา ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้าง

น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่แยกแยะและมองไม่เห็นคุณค่าของชุมชนผู้ดูแลรักษาป่า พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โฉนดชุมขนภาคใต้ จึงสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ ความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ต่อนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามที่ได้แถลงไว้ รวมถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องโฉนดชุมชน ที่ไม่สามารถกำกับให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติตามนโยบายรับรองสิทธิชุมชนที่ให้ไว้กับประชาชนได้

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องโฉนดชุมชน กลับมาใส่ใจต่อปัญหาพื้นฐานของประชาชน และดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. มอบหมายนโยบายที่ชัดเจน และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานโฉนดชุมชน ให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ทะเล
  2. เพื่อป้องกันคำกล่าวที่ว่า รัฐบาลปากว่าตาขยิบ และมีส่วนรู้เห็นต่อความรุนแรงในพื้นที่โฉนดชุมชนภาคใต้ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นผลสำเร็จภายในเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
11 เมษายน 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมต้านโลกร้อนค้านเขื่อนแม่วงก์ เผยสอบอีไอเอปี 45 ไม่ผ่าน

$
0
0

อ้างรัฐบาลยุคนี้ใช้ข้ออ้างปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาเป็นตัวประกันสร้างความชอบธรรมในการเร่งรีบสร้างเขื่อน โดยมิได้พิจารณาเลยว่าน้ำท่วมที่ผ่านมามีสาเหตุจากอะไรกันแน่

11 เมายน 2555 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่มุ่งผลาญงบประมาณ-ทำลายแหล่งดูดซับโลกร้อน โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบข้อเสนอของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์-กำแพงเพชร ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งติดต่อกับผืนป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร พื้นที่ป่ามรดกโลกทางธรรมชาติ โดยมีข้ออ้างที่เป็นสูตรสำเร็จ คือ การป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร ทั้ง ๆ ที่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างมีเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่า 10 เขื่อนแล้ว แต่ก็มิสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ได้ อีกทั้งโครงการดังกล่าวคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 และยังเสนอให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ในลักษณะบูรณาการมากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น

“แต่รัฐบาลยุคนี้กลับใช้ข้ออ้างปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 มาเป็นตัวประกันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเร่งรีบการสร้างเขื่อนดังกล่าว โดยมิได้พิจารณาเลยว่าน้ำท่วมที่ผ่านมาเป็นความผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลและหน่วยงานราชการทั้งระบบมากกว่าการไม่มีเขื่อนต่างหาก”

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ไปมากกว่า 13,000 ไร่ ต้องสูญเสียผืนป่าแหล่งดูดซับก๊าซที่ก่อปัญหาโลกร้อน โดยมีไม้สักหนาแน่นเป็นอันดับสองของประเทศไทยรองจากอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ซึ่งจะถูกนำมาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ในการทำสัมปทานไม้ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท ชักลากไม้ออกจากป่า 4-5 ปีก็ยังไม่หมด นอกจากนั้นลักษณะเด่นของผืนป่าแม่วงก์คือ มีสภาพเป็นป่าลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากป่าในบริเวณที่สูงกว่า เพราะเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ป่า โดยเฉพาะในหน้าแล้ง สัตว์ป่าบางชนิดจะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลุ่มหรือใกล้แม่น้ำเท่านั้น ป่าที่ลุ่มในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ก็เหลืออยู่น้อยมาก หากถูกน้ำท่วมอ่างเก็บน้ำจะเป็นตัวกีดขวางทางเดินของสัตว์ป่าและแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นสองส่วนจึงนับว่าเป็นการสูญเสียในด้านระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเมินค่าไม่ได้

นอกจากนั้นมีข้อที่น่าสังเกต คือ เมื่อมีการเสนอโครงการนี้ใหม่ ๆ ในปี 2528 กรมชลประทานเสนอใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพียง 3,187 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีความจุของน้ำเหนือเขื่อน 380 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่พอมาเดือนสิงหาคม 2554 กรมชลประทานเพิ่มงบประมาณเป็น 9,629 ล้านบาท โดยลดความจุของน้ำเหนือเขื่อนเหลือ 258 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือน กลับมีการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างไปถึง 13,000 ล้านบาท อันเป็นข้อน่าสงสัยว่าจะเป็นโครงการผลาญงบประมาณของชาติอีกโครงการหนึ่งจากเงินกู้ 3.5 แสนล้านหรือไม่

ที่สำคัญโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียก่อนโดยเฉพาะในมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 66 มาตรา 85 และมาตรา 87 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลรวบรัดดำเนินการ และใช้เทคนิคเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย สมาคมฯและชาวบ้านก็พร้อมจะใช้กระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 60 และมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อยับยั้งและเพิกถอนโครงการดังกล่าวแน่นอน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับคำถามท้าทายของ ‘คำ ผกา’

$
0
0

เป็นเรื่องท็อลค์ ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว เมื่อคำ ผกา ประกาศ “ขอขมาพระรัตนตรัย” มหาเถรสามคมและองค์กรชาวพุทธทั่วประเทศ และขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุติรายการเป็นเวลา 1 เดือน จากกรณีที่ “กล่าวล่วงเกิน” พุทธศาสนา ในรายการ “คิดเล่น เห็นต่างกับคำ ผกา” ที่ออกอากาศทาง Voice TV เมื่อ 10 และ 11 มีนาคม 2555 ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากชาวพุทธกลุ่มหนึ่งอย่างรุนแรง

 

โดยเฉพาะ “ปฏิกิริยา” จาก ดร.พระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ใช้วิธีไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วยการกล่าวเสียดสีเรื่อง “สรีระ” มากกว่าที่จะใช้เหตุผลโต้แย้งคำถามและข้อวิจารณ์ต่างๆ ของ คำ ผกา

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม ผู้แทนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นางสาวลีลาวดี วัชโรบล เลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเนื้อหารายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” โดยสาระสำคัญในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า

“ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบแล้วทำให้พบประเด็นการแสดงความคิดเห็นที่แสดงความไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และมีการกล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มีการกล่าวให้ร้ายรัฐบาลต่อนโยบายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 และมาตรา 79 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะซึ่งปรากฏในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักทั้ง 2 ของราชอาณาจักรไทย” (ดูเว็บไซต์ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย)

นางสาวลีลาวดี รับเรื่องเพื่อจะนำเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และคลี่คลายเรื่องนี้

หากย้อนกลับไปดูรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” เมื่อวันที่ 10 และ 11 มีนาคมที่พูดเรื่อง “รัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย” จะเห็นว่า คำ ผกา อ้างอิงจุดยืนของ “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ตั้งคำถามต่อ “รัฐศาสนา” (state religion)

โดยเธอเห็นว่า รัฐไทยเป็น “รัฐศาสนาโดยแอบแฝง” หรือเป็นรัฐศาสนาโดยพฤตินัย เห็นได้จากการยกพุทธศาสนาให้มีสถานะเหนือศาสนาอื่นๆ ความพยายามที่จะเรียกร้องให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย” การใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาในราชพิธี และพิธีกรรมที่เป็นทางการต่างๆ เช่น ตราธรรมจักร โต๊ะหมู่บูชา การกำหนดให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็น national holiday การบังคับให้เรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน การเกณฑ์นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา รวมทั้งการใช้งบประมาณของรัฐจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เป็นต้น

ประเด็นที่เราควรเข้าใจคือ รัฐโลกวิสัยถือว่าเรื่องการนับถือศาสนา หรือกิจกรรมทางศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล บทบาทของรัฐคือการปกป้องเสรีภาพดังกล่าวนี้ ฉะนั้น รัฐจึงไม่มีหน้าที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชน แต่ถือว่าสมาชิกแห่งรัฐทุกคนเป็นพลเมืองที่ต้องอยู่ภายใต้หลักการสากลอันเดียวกันคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค รัฐจึงไม่มีสิทธิ์ยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เหนือศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยการกำหนดให้สอนศีลธรรมทางศาสนาในโรงเรียน การมีนโยบายให้ความสำคัญกับกิจกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ โดยใช้งบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนในทุกศาสนา เป็นต้นคำถามของ คำ ผกา ก็คือคำถามจาก “จุดยืน” ดังกล่าวนี้

ถามว่า มีเหตุผลหรือไม่ที่จะใช้จุดยืนของรัฐโลกวิสัยตั้งคำถามต่อการที่รัฐไทยที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษแก่ศาสนาพุทธ (หรือศาสนาใดก็ตาม) คำตอบก็คือ ถ้าเรายืนยันว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งต้องใช้กับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียม ก็มีเหตุผลอย่างยิ่ง หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม

ฝ่ายที่เห็นว่า คำถามจากจุดยืนดังกล่าวไม่มีเหตุผล ก็มักจะอ้าง “ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติไทย” ซึ่งก็เป็นเหตุผลทำนองเดียวกับที่อ้างเพื่อคัดค้านการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 หรือคัดค้าการปฏิรูปสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้หลักการสากลเฉกเช่นประเทศประอารยประชาธิปไตยทั้งหลายนั่นเอง

ส่วนประเด็นที่ คำ ผกา วิจารณ์ (ประมาณ) ว่า การจัดกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี” เป็นการเอานิยามความสุขตามความเชื่อของตนเองไปมอบให้คนอื่นๆ เป็นการสะกดจิตหมู่ เป็นยากล่อมประสาท เพราะว่ามันทำให้คนคิดว่าสวดมนต์แล้วจะมีความสุข ชีวิตจะดี โดยละเลยประเด็นปัญหาที่เป็นจริงอื่นๆ เช่น รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนากิจการสาธารณะอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศก้าวหน้า รวมทั้งวิจารณ์ว่าศีล 5 ก็ไม่ได้สูงส่งกว่า บัญญัติ 10 ประการ ของศาสนาคริสต์ การเอาพุทธศาสนามาตอบปัญหาสังคมทุกเรื่องไม่น่าจะถูกต้อง ศาสนาอาจไม่เกี่ยวกับการทำให้คนเป็นคนดี เพราะคนดีในโลกสมัยใหม่ต้องถูกควบคุมโดยหลักกฎหมาย การตรวจสอบโดยสื่อ ฯลฯ

คำวิจารณ์ทำนองนี้ หากคิดตามหลักเสรีภาพของจอห์น สจ๊วต มิลล์ เราจะเข้าใจได้ว่านี่เป็นการท้าทายของ “ความเห็นต่าง” ที่เป็นโอกาสให้ “ความคิดกระแสหลัก” ได้ “ออกกำลัง” มีชีวิตชีวา ไม่ดำรงอยู่อย่างครอบงำให้คนเชื่อตามๆ กันอย่างปราศจากการตั้งคำถาม เพราะถ้าความคิดกระแสหลักไม่ถูกท้าทาย ไม่ได้ออกกำลังโต้แย้งกับความเห็นต่าง มันก็จะกลายเป็นความคิดที่เชื่อตามๆ กันอย่างงมงาย ไร้พลัง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา และตายซากไปในที่สุด

ผมนึกถึงเวลาอ่านงานของนักวิชาการพุทธศาสนาฝ่ายก้าวหน้า (เช่นงานของ สมภาร พรมทา)ที่มีการประยุกต์ความคิดของพุทธศาสนากับข้อถกเถียงของปรัชญาตะวันตกในประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ปัญหาการทำแท้ง ชีวจริยธรรม ฯลฯ เห็นได้ชัดว่า มันทำให้ความคิดของพุทธศาสนามีชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อ จืดชืด ก้าวร้าวเหมือนความคิดและวิธีปกป้องพุทธศาสนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็เคยตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักหลายๆ เรื่องในสมัยพุทธกาล เช่นที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ท่านก็ถามว่า “ถ้าเช่นนั้นกุ้ง หอย ปู ปลา เต่าที่มันแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาก็ต้องบริสุทธิ์จากบาปใช่หรือไม่?” หรือที่เชื่อกันว่า “คนมีวรรณะ (ชนชั้น) ต่างกันเพราะเกิดจากปาก ไหล่ สะดือ เท้าของพระพรหม และ คนเราดี เลว ต่างกันเพราะชาติกำเนิด” ท่านก็พูดแรงๆ เลยว่า “คนทุกชนชั้นต่างก็เกิดจากโยนีของมารดาทั้งนั้นแหละ เรื่องจะดีหรือเลวอยู่ที่การกระทำของบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด” เป็นต้น

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าต้องการแนะนำให้คนมีเหตุมีผล เชื่อและกระทำในสิ่งที่อธิบายได้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนี้ ไม่ใช่ให้เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้

เช่น อธิบายให้เห็นความเป็นเหตุผลไม่ได้ว่าการสวดมนต์ข้ามปีจะมีปาฏิหาริย์ให้ชีวิตดีมีความสุข ความเจริญได้อย่างไร การเดินธุดงค์บนถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบของพระ 1,500 รูป เข้ามาในย่านชุมชนเมืองจะมีปาฏิหาริย์ช่วยป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ฯลฯ

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามาเห็นการปฏิบัติพิธีกรรมที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ การสร้างภาพด้วยกิจกรรมประเภท “ธรรมะโฆษณา” เกินจริงว่า ธรรมะของพุทธศาสนาตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง ท่านอาจจะตั้งคำถามกับ “ปรากฏการณ์ในนามของพุทธศาสนา” ทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากยิ่งกว่าที่ คำ ผกา ตั้งคำถามหรือไม่

พระพุทธเจ้าอยู่ในยุคที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพเท่าปัจจุบัน แต่พระองค์ก็พยายามต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในสถานการณ์ที่จำกัด โลกปัจจุบันให้คุณค่าสูงยิ่งกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทว่าชาวพุทธปัจจุบันกำลังเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าด้วยการทำลายเสรีภาพในนามของการ “ปกป้องพุทธศาสนา”

เรากำลังปกป้องพุทธศาสนาจากอะไรกันแน่? จากการใช้เหตุผลตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างนั้นหรือ? พระพุทธเจ้าเคยแสดงความเห็นว่า การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่ง “ด่า” คือ “ภัยคุกกคามของพุทธศาสนา” เช่นนั้นหรือ? ภัยคุกคามพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้ายืนยัน คือการที่ชาวพุทธไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาไม่ใช่หรือ?

แล้วมีในพระไตรปิฎกเล่มไหนครับที่พระพุทธเจ้าสอนให้ชาวพุทธประณาม หรือเรียกร้องให้เอาผิดคนที่ “ไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา กล่าวให้ร้ายรัฐบาล กล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี…”

น่าเศร้าไหมครับ พระพุทธเจ้าเป็นคนก้าวหน้าในยุคที่โลกล้าหลัง และสร้างความคิดก้าวหน้าจากการต่อสู้กับความคิดที่ล้าหลังต่างๆ แต่ชาวพุทธปัจจุบันกลับมีความคิดล้าหลังในโลกที่ก้าวหน้า และปกป้องพุทธศาสนาจากความคิดที่ก้าวหน้า!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หนี้สาธารณะเดือน ม.ค. อยู่ที่ 41.06% ของจีดีพี เป็นหนี้ของรัฐบาล 3.11 ล้านล้านบาท

$
0
0

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุหนี้สาธารณะเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 41.06 ของจีดีพี โดยเป็นสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลจำนวน 3.11 ล้านล้านบาท

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานเมื่อ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่า นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เปิดเผยยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2555 ว่า มีจำนวน 4,362,357.32 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.06 ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,117,186.74 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,077,900.35 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 167,270.23 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 64,460.24 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการ เงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้น 28,665.38 ล้านบาท 16,888.72 ล้านบาท และ 18,906.14 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง

อย่างไรก็ตาม หนี้ของรัฐบาลเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 5,460.37 ล้านบาท เนื่องจากหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 49.78 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 109.83 ล้านบาท และการชำระคืนสกุลเงินเยน ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง 159.61 ล้านบาท

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เม้าท์มอย : ไม่ลืม...2 ปี 10 เมษา 53

$
0
0

เม้าท์มอยสัปดาห์นี้ มารำลึกครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ปี 53 ซึ่งเป็นวันที่เกิดความรุนแรงและความสูญเสียจากการ “ขอคืนพื้นที่” ถนนราชดำเนินของ ศอฉ.ภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนมีผู้เสียชีวิต 26 คน ในจำนวนนั้นเป็นทหาร 5 นาย ประชาชน 20 คน และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 1 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม ผู้บังคับบัญชาทหาร และนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ระเบิด และกระสุนจริงอีกเกือบพันราย

หลิ่มหลีและชามดอง ไปที่สี่แยกคอกวัว และแยกถนนดินสอฝั่งโรงเรียนสตรีวิทยา สถานที่ที่มีการปะทะครั้งใหญ่ในค่ำคืนวันที่ 10 เม.ย.53 ระหว่างกองพลทหารพร้อมอาวุธครบมือที่พยายามเข้าสลายการชุมนุม และคนเสื้อแดงที่ต้านทานการรุกของทหาร เพื่อย้อนรอยเรื่องราวในวันนั้น และวันนั้นผ่านมาแล้ว 2 ปี มาดูว่าในวันที่ 10 เม.ย.55 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บุญยืน สุขใหม่: กฎหมายที่เกี่ยวข้องและเทคนิคการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิผล

$
0
0

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเทคนิคการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิผล 

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมิใช่เป็นปัญหาภายในสถานประกอบการเท่านั้น บางครั้งความขัดแย้งมีความรุนแรงและยืดเยื้อสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งคู่กรณีและสาธารณชน รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศภาครัฐจึงจำเป็นต้องมาแทรกแซงความสัมพันธ์ของคู่กรณี เพื่อสร้างความสงบสุขในวงการอุตสาหกรรมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยการวางกรอบและกฎเกณฑ์ขั้นตอนทางการแรงงานสัมพันธ์ให้เป็นระบบการร่วมเจรจาต่อรองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งด้านแรงงานสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างและองค์กรของทั้งสองฝ่ายเป็นสิทธิควบคู่และต่อเนื่องจากสิทธิอีกประการหนึ่งคือ สิทธิในการร่วมตัวกันของลูกจ้างซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ 98และ 87 ตามลำดับ ซึ่งแม้ประเทศไทยจะยังมิได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ก็ได้มีการนำเอาหลักการทั้งสองประการมาปฎิบัติตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่ระบบอุตสาหกรรม ดังนั้นปรากฏชัดเจนในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งองค์กรลูกจ้าง ได้แก่ สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน และสมาคมนายจ้าง และ สภาองค์กรนายจ้าง ตามลำดับรวมทั้งสิทธิในการเข้าร่วมเจรจาต่อรองของทั้งสองฝ่าย

การแรงงานสัมพันธ์

1. ทวิภาคี คือ มีการตกลงกันระหว่าง 2 ฝ่าย เช่น ลูกจ้าง และ นายจ้าง โดยที่ไม่อาศัยอำนาจ รัฐ

2. ไตรภาคี คือ มีการคุยกัน 3 ฝ่าย  คือ ฝ่าย ลูกจ้าง และ นายจ้าง และ ภาครัฐซึ่งต้องว่ากันตามระเบียบข้อบังคับ ข้อตกลงสัญญาจ้าง กฎหมาย คำสั่ง คำชี้ขาด ขนมธรรมเนียมประเพณี

การเจรจาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ 

การเจรจาต่อรอง จัดเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในเรื่องของแรงงานสัมพันธ์ และ การ บริหารแรงงาน ตามลำดับ ซึ่งนอกจากมีความเป็นศาสตร์ในตัวเองแล้ว ยังรวมเอาลักษณะของความเป็นศิลปะเข้าไว้อีกด้วยลักษณะของความเป็นศาสตร์คือ เป็นวิชาหรือองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์หรือตรรกะที่มีรูปแบบชัดเจน มีขั้นตอน จุดกำเนิด สภาวะการดำลงอยู่และจุดสิ้นสุด ส่วนลักษณะ ของการเป็นศิลปะนั้นกล่าวได้ว่าอะไรที่เป็นศิลปะย่อมไร้ขอบเขตไร้รูปแบบ สามารถสรรสร้างขึ้นได้ไม่จำกัดสุดจินตนาการ ความรู้ความคิด ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนจะอำนวยให้ สามารถนำมาปรับผสมผสานหลักและวิธีการต่างๆเข้าด้วยกันได้หลากหลายรูปแบบ

เทคนิคในการเจรจาต่อรอง

สิ่งที่นายจ้างต้องการจากลูกจ้างมีอะไรบ้างและสิ่งที่ลูกจ้างต้องการจากนายจ้างมีอะไรบ้าง นายจ้าง และลูกจ้างมีความต้องการตรงกันคือ  ความมั่นคง ควรเน้นผลประโยชน์มิใช่จุดยืนและยอมรับประโยชน์ของคู่กรณี ให้ยึดหลักการอย่างมั่นคง แต่ให้ยืดหยุ่นนุ่มนวลต่อตัวบุคคล แยกตัวบุคคลและปัญหาออกจากกัน ศึกษาการรับรู้ของฝ่ายเราและคู่กรณี เอาใจเขามาใส่ใจเรา ศึกษาภาวะทางอารมณ์ของคู่กรณีโดยปล่อยให้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเต็มที่ แต่อย่าโต้ตอบ การสื่อข้อความ การฟังด้วยความตั้งใจ การพูดเข้าเป้าหมาย การสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน คู่กรณีควรมุ่งชนะและแก้ปัญหา มากกว่าเอาชนะซึ่งกันและกัน กำหนดทางเลือกหลายทาง ใช้มาตรฐานที่ไม่ลำเอียงเป็นหลักในการกำหนดข้อตกลง  และสิ่งหนึ่งเลยทีสำคัญคือ อำนาจในการต่อรองการเตรียมความพร้อมในองค์กรนั้นๆ

ควรมีการเตรียมการก่อนเริ่มเจรจาต่อรอง  

1. จัดลำดับความสำคัญของข้อเรียกร้อง

2. ศึกษาองค์ประกอบข้อเรียกร้องแต่ละข้อ

3. เตรียมทางเลือกในการประนีประนอม

4. การกำหนดหน้าที่ของผู้แทนเจรจา

5. ศึกษาผู้แทนในการเจรจาของอีกฝ่าย

6. ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า

วงจรการร่วมเจรจาต่อรอง

การร่วมเจรจาต่อรองมีจุดเริ่มต้นสภาวะความเป็นไปและจุดส้นสุดเหมือนสิ่งอื่นทั่วไป ดังนี้ 

1. มีที่มาจากการยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยฝ่ายนายจ้าง หรือ ฝ่ายลูกจ้างหรือทั้งสองฝ่าย 

2. กระบวนการเจรจาต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนี้

2.1 การเจรจาต้องเริ่มขึ้นภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อเรียกร้อง

2.2 หากตกลงกันได้ ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดทำข้อตกลงและให้นายจ้างนำไปยื่นขอจดทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ตกลงกันและถือว่าเป็นการสิ้นสุดการร่วมเจรจาต่อรอง

2.3 หากไม่มีการเจรจากันภายในกำหนด 3 วันข้างต้นหรือมีการเจรจากันแล้ว(ไม่ว่าจะเจรจากันกี่ครั้ง หรือใช้เวลาเจรจากันนานเท่าใดก็ตาม) ไม่สามารถตกลงกันได้ให้ถือว่ามี ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันตกลงกันไม่ได้ 

2.4 พนักงานประนอมข้อพิพาทมีกำหนด 5 วัน ในการไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีตกลงกันภายในกระบวนการของการร่วมเจรจาต่อรองหากตกลงกันได้ให้จัดทำข้อตกลงเช่นเดียวกับข้อ 2.2 และถือว่ากระบวนการร่วมเจรจาเป็นอันยุติ

2.5 หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลา 5 วันดังกล่าวให้ถือว่ามี ข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เกิดขึ้น กระบวนการร่วมเจรจาต่อรองอาจดำเนินการต่อไป ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของกฎหมาย

(ชาร์ตแสดงขั้นตอนการระงับข้อพิพาทแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม)

สาเหตุความล้มเหลวของการเจรจา

ยื่นข้อเรียกร้องขณะที่นายจ้างประสบภาวการณ์ขาดทุน การระงับอารมณ์ไม่ได้ของคู่เจรจา ไม่มีการวางแผนการเจรจาล่วงหน้า การใช้เวลาและสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม ไม่มีข้อมูลที่ดีพอจะสนับสนุนความต้องการด้วยเหตุผล ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง ขาดความสนับสนุนจากสมาชิก บุคคลภายนอกเข้ามาแทรกแซงเกินขอบเขต เรียกร้องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสิ่งที่อีกฝ่ายไม่สามารถตอบสนองได้  

ความล้มเหลวของการเจรจาต่อรอง

1.ขาดการเตรียมพร้อมที่มีประสิทธิภาพและขั้นตอน

-เตรียมข้อเรียกร้อง

-เตรียมผู้แทน

-การศึกษาผู้แทนอีกฝ่ายเตรียมเอกสารข้อมูลที่จำเป็น

-เตรียมแนวทางเจรจา

2.ข้อเรียกร้องตั้งไว้สูงเกินไป

3.นายจ้างและลูกจ้างไม่ยอมรับสิทธิและสถานะของกันและกัน

4.เริ่มต้นเจรจาด้วยเรื่องยาก

5.ผู้แทนเจรจาขาดความรู้ประสบการณ์และทักษะในการเจรจาต่อรอง

6.ผู้แทนเจรจาไม่มีอำนาจตัดสินใจ

7.ไม่ใช้ปรัชญา/เหตุผลที่อยู่เบื้องหลัง สภาพการจ้างแต่ละรายการมาประกอบการเจรจา

8.ผู้แทนเจรจาขาดเอกภาพหรือขัดแย้งกันเอง

9.มีการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจา

10.นำเอาสิ่งที่ไม่สมควรเข้ามาเจือปนในการเจรจา เช่น เรื่องส่วนตัว ศักดิ์ศรี การท้าทาย

11.อำนาจการต่อรอง ขาดการสนับสนุนจากสมาชิก

ข้อควรจำ

*เราเจราต่อรองเพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน มิใช่ แตกแยก

*เราเจราต่อรองเพื่อการสร้างสรรค์ มิใช่ ทำลาย

*เราเจราต่อรองเพื่อให้ได้ประโยชน์ มิใช่ สูญเสีย

*เราเจราต่อรองเพื่อข้อยุติ มิใช่ ข้อพิพาท

การเขียนข้อเรียกร้องอย่างถูกวิธี

ควรเขียนเป็นภาษาไทยมีใจความเข้าใจง่ายระบุวันเวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ในข้อเรียกร้องแต่ละข้อให้ระบุใจความที่เข้าใจง่าย และระบุข้อเรียกร้องที่ขอไปเป็นข้อๆตามลำดับ ใจความในหนังสือ ควรมีเหตุและผลในการยื่นครั้งนี้  และขอแต่งตั้ง ผู้ แทนในการเจรจาครั้งนี้พร้อมแต่งตั้งที่ปรึกษา ได้ไม่เกิน 2 คน ทบทวนการเปลี่ยนแปลง

สภาพการจ้าง

*  เปลี่ยนไม่ได้ถ้าไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

*  วิธีเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างอย่างถูกต้อง

 - ยื่นข้อเรียกร้องและเจรจา

- ทำข้อตกลงยอมเป็นรายบุคคล

*  วิธีเปลี่ยนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

- ประกาศฝ่ายเดียว

- เจรจานอกรอบกับสหภาพแรงงาน

- เรียกประชุมพนักงานและพนักงานส่วนใหญ่เห็นด้วย

 - ปรึกษาหารือกับคณะกรรมการสวัสดิการ

การแจ้งข้อเรียกร้อง

1. ต้องทำเป็นตัวหนังสือ

2. เงื่อนไข

*ลูกจ้างเป็นผู้แจ้ง ต้องมีรายชื่อ และลายมือชื่อ ของลูกจ้างที่สนับสนุน ร้อยละ 15ของลูกจ้างทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง

* สหภาพเป็นผู้แจ้ง ต้องมีสมาชิกเป็นลูกจ้าง 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด

3. ตัวแทนเจรจาไม่เกิน 7 คน

4. ที่ปรึกษา 1  หรือ 2 คน

การทำบันทึกการเจรจาและการทำบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง

เพื่อให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีใจความสมบูรณ์ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการปฎิบัติตามในภายหลัง การจัดทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสามารถทำได้หลายลักษณะ ความสั้นยาวของข้อตกลงขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระของสภาพการจ้างที่ตกลงกันได้ และควรมีรายละเอียด ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ

1. ระบุ  วัน เวลา สถานที่ที่ทำข้อตกลง

2. รายชื่อที่ชัดเจนของผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง รวมทั้งที่ปรึกษาและพนักประงานประนอมข้อพิพาทแรงงานกรณีที่ถึงขั้นการไกล่เกลี่ยด้วย

3. ข้อความในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ถ้ามีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างผิดแผกแตกต่างไปจากกฎหมายแรงงาน  ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

4. ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน รัดกุม อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที ว่าผู้ใดมีหน้าที่ต้องทำสิ่งใด หรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด หรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด

5. ข้อความถูกต้องตามเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในบางเรื่องหากมีกำหนดเงื่อนไขใดๆ ไว้จะต้องบันทึกเงื่อนไขดังกล่าวให้ชัดเจนต้องตระหนักว่าถ้อยคำเหล่านั้นมีความสำคัญยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่และผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย

6. หากมีการผิดพลาดในการเขียนหรือในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความ ผู้แก้ไขต้องขีดฆ่าความแล้วลงลายมือชื่อกำกับทุกครั้ง เพื่อ ป้องกันการโต้แย้งในภายหลัง

7.  กำหนดบุคคลผู้ชี้ขาดหรือผู้วินิจฉัยไว้เป็นการล่วงหน้าในกรณีที่อาจต้องมีปัญหาในการตีความในภายหลัง 

8. กำหนดวันเริ่มใช้บังคับและวันสิ้นอายุของข้อตกลง เพื่อป้องกันปัญหาที่เกี่ยวกับการแจ้งข้อเรียกร้อง ครั้งต่อไป

9. ลงลายมือชื่อผู้แทนนายจ้าง และ ผู้แทนลูกจ้าง ให้ครบถ้วนถ้าไม่อาจลงลายมือครบทุกคนได้ แต่ละฝ่ายต้องลงลายมือชื่อเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนของแต่ละฝ่าย(เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/ 2523)

10. ในกรณีที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีหลายหน้าเพื่อป้องกันการโต้แย้งข้อความในภายหลัง ให้ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายอย่างน้อยฝ่ายละ  1 คน ตรวจสอบข้อความและลงลายมือชื่อกำกับไว้ทุกหน้า

 

เราจะทำอะไรกันต่อไปเพื่อการจัดตั้งและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหภาพแรงงาน 

สรุปได้ดังนี้

1. ให้สหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองสูงยื่นข้อเรียกร้องในส่วนสวัสดิการต่างๆให้กับพนักงานเหมาค่าแรงด้วย

2. กรณีที่มีพนักงานเหมาค่าแรงหลายบริษัทในสถานประกอบการเดียวสหภาพแรงงานต้องประสานให้ทุกบริษัทยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกับสหภาพแรงงาน

3. ในสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองสูงให้รับพนักงานเหมาค่าแรงเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และปฏิบัติต่อพนักงานเหมาค่าแรงเช่นพนักงานประจำ

4. ให้แต่ละสหภาพแรงงานยื่นหนังสือต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่ตนอยู่ในเขตออกคำสั่งกรณีการตีความตาม ๑๑/๑

5. พนักงานเหมาค่าแรงฟ้องศาลวินิจฉัยกรณีการตีความตามมาตรา ๑๑/๑

6. ให้ทุกสหภาพแรงงานที่อยู่ในพื้นที่และสังกัดกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออกกำหนดวันในการยื่นข้อเรียกร้องพร้อมกัน

7. ให้สหภาพแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันจัดกลุ่มศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันขณะที่มีการเจรจาต่อรอง

 

 

 

หากเข้าใจ สหภาพ  อย่างลึกซึ้ง
จะรู้ถึงผลที่ได้มหาศาล
จะพ้นเงาแห่งความกลัวอย่างลนลาน
จะเพิ่มฐานสมาชิกอย่างมั่นคง
“ความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสุข”
Solidarity

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พนมเปญโพสต์เผย "วอลมาร์ท" จับตาแรงงานประท้วงที่ "พัฒนาซีฟู้ดส์"

$
0
0

คนงานกัมพูชาที่พัฒนาซีฟู้ดส์ จ.สงขลา กว่าครึ่งเตรียมเดินทางกลับบ้านหลังผลเจรจาเรื่องปรับปรุงสภาพการทำงานไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่คนงานยังถือแต่สำเนาหนังสือเดินทาง จะได้ตัวจริงคืนเมื่อถึงชายแดนเท่านั้น ด้าน "วอลมาร์ท" เผยจับตาเรื่องนี้ใกล้ชิด-พร้อมสอบสวนทันทีที่ได้รับรายงานการละเมิดสิทธิ์ ส่วนบริษัทจัดหางานยันเรื่องนี้จบด้วยดีแล้ว

พนมเปญโพสต์รายงานพนักงานกัมพูชากว่าครึ่งเตรียมกลับบ้านแล้ว

หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ (11 เม.ย.) ว่า กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานชาวกัมพูชา 800 คนที่กล่าวหาว่าตำรวจได้ขู่พวกเขาด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า ระหว่างชุมนุมหน้าโรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 เม.ย.) ได้เตรียมเดินทางกลับบ้านแล้ว ขณะที่ผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

โดยนายซก ทรง ตัวแทนพนักงานกล่าวกัมพนมเปญโพสต์ว่า แรงงานได้ข้อให้ฝ่ายบริหารขอทางโรงงานคืนหนังสือเดินทางให้กับพวกเขา และยอมให้พวกเขายกเลิกสัญญาจ้างถ้าพวกเขาต้องการเดินทางกลับ นอกจากนี้มีการเจรจากับบริษัท ซีดีเอ็ม เทรดดิ้ง แมนพาวเวอร์ บริษัทจัดหางานของกัมพูชา ซึ่งชาวกัมพูชากว่า 500 คนเตรียมเดินทางกลับบ้านแล้ว

ทั้งนี้การชุมนุมเรียกร้องให้ทางโรงงานให้สวัสดิการ ค่าข้าววันละ 20 บาท และเบี้ยขยัน 600 บาทต่อเดือนซึ่งเป็นเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ก่อนเข้าทำงาน ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่แรงงานจำนวนมากรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดมากขึ้น เพราะจะได้กลับบ้าน นายซก สรง กล่าว

ทั้งนี้คนงานในโรงงานรวมทั้งชาวพม่า และชาวไทย ได้รวมตัวประท้วงอยู่ภายนอกโรงงานส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งระดับโลกดังกล่าว มาตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย. นายซก ทรง กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า ทางโรงงานยอมให้คนงานกลับเข้าทำงาน "พวกเราดีใจที่มีทางออกหลังเกิดการประท้วงเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่ว่าสำหรับคนที่ต้องการประท้วงต่อ ทางโรงงานจะไม่ยอมจ่ายตามที่คนงานมีข้อเรียกร้อง"

พนักงานโรงงานดังกล่าว ยังร้องเรียนด้วยว่า ต้องจ่ายค่าเช่าที่พักเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้บริษัทซีดีเอ็ม ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานดังกล่าวสัญญาว่ามีที่พักฟรี

 

บริษัทจัดหางานยันเรื่องนี้มีทางออกแล้ว หลังเข้าไปประสานกับคนงานและโรงงาน

นายเฮง โสเพีย เจ้าหน้าที่ประสานงานของ บริษัทซีดีเอ็ม กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า ทางบริษัทซีดีเอ็มสามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้ หลังจากที่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับคนงานและเจรจากับโรงงาน "หลังจากที่พวกเขาฟังเรา พวกเขาก็หยุดประท้วง" นายเฮง กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายเฮง ไม่สามารถยืนยันรายงานที่ว่า ทางโรงงานจะจ้างคนงานที่ทำงานในช่วงวันหยุดสงกรานต์ 8 วัน ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นมาใหม่ 246 บาทต่อวัน

 

"วอลมาร์ท" เผยกำลังติดตามกรณีพัฒนาซีฟู้ดส์

ด้านเมอร์แกน เมอร์ฟี ผู้จัดการด้านประสานงานระหว่างประเทศ ของห้างค้าปลีกยักษ์วอลมาร์ท กล่าวกับพนมเปญโพสต์ว่า วอลมาร์ทกำลังสืบสวนเรื่องนี้

"โดยเร็วที่สุดเท่าที่พวกเราได้รับรายงานถึงความเป็นไปได้ว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานที่โรงงานพัฒนาซีฟู้ดส์ เราจะเริ่มสอบสวนเรื่องนี้" เธอกล่าว "พวกเราทำรายงานลักษณะนี้อย่างจริงจังมาก และพวกเราจะมีมาตรการออกมาอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของการสืบสวนที่พวกเราไปดำเนินการมา"

ทั้งนี้พนมเปญโพสต์ พยายามติดต่อสัมภาษณ์นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถให้ความเห็นได้ ขณะที่นายกอยกอง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และตัวแทนของพัฒนาซีฟู้ดส์ ไม่สามารถติดต่อได้

 

เอ็นจีโอกัมพูชาระบุการยึดหนังสือเดินทางถือเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ให้การศึกษาทางกฎหมายแก่ชุมชน (Community Legal Education Center - CLEC) จากกัมพูชา ที่เดินทางมาสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้นกับคนงานชาวกัมพูชาที่ จ.สงขลา ให้ข้อมูลผู้สื่อข่าวประชาไทว่า คนงานชาวกัมพูชาร้องเรียนว่าหากต้องการเดินทางไปที่ชายแดนไทย-กัมพูชาจะต้องจ่ายค่าเดินทางให้กับบริษัทจัดหางานเป็นเงิน 1,200 บาท และจะได้รับคืนหนังสือเดินทางต่อเมื่อเดินทางถึงชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว โดยระหว่างนี้คนงานทั้งหมดถือเพียงสำเนาหนังสือเดินทางเท่านั้น

"กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติ จำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และจำกัดเสรีภาพในการรวมตัวสมาคม" เจ้าหน้าที่จากศูนย์ CLEC กล่าว โดยระบุว่าทางกัมพูชาจะทำรายงานในเรื่องนี้เช่นกัน

ทั้งนี้การเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการเิกิดขึ้นหลังจากที่ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. โดยที่อัตราค่าจ้างของ จ.สงขลา ปรับเพิ่มจากวันละ 176 บาท มาเป็นวันละ 246 บาท

อนึ่ง ก่อนหน้านี้พนักงานเคยร้องเรียนด้วยว่า สภาพการจ้างงานของโรงงานมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ห้องน้ำภายในโรงงาน และที่พักอาศัยมีจำกัดและไม่ถูกสุขลักษณะ ที่พักมีความแออัด ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน และต้องจ่ายค่าที่พักคนละ 300 บาทต่อเดือน และมีการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะมาทำงาน บริษัทจัดหางานระบุว่าจะไม่มีการเรียกเก็บ นอกจากนี้ยังมีการยึดหนังสือเดินทางเอาไว้ ให้คนงานถือเพียงสำเนาหนังสือเดินทาง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใต้เท้าขอรับ: แผ่นดินไหวและปัญหาใจกลางของวัฒนธรรมการเมืองไทย

$
0
0

นักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลพร่ำพูดมานานว่าปัญหาของการจัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือมาตรา 112 เท่านั้น เขาพร่ำพูดเช่นนี้มาหลายปีแล้ว คนฟังเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ที่ไม่เข้าใจก็บอกว่านี่คือวิธีคิดของพวกนักวิชาการล้มเจ้าบ้าง การกล่าวย้ำว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่การจัดวางสถานะของสถาบันกษัตริย์แม้ในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองมีการปะทะกันบาดเจ็บล้มตาย ก็ยังมีคนฟังไม่เข้าใจ เพราะนี่คือปัญหาของวัฒนธรรมการเมืองของไทยที่ใช้เวลาบ่มเพาะมาหลายสิบปี วัฒนธรรมที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิธีคิดอันรวมไปถึงการคิดว่าอะไรที่คิดได้และอะไรที่ไม่ควรคิด และแทรกซึมอยู่ในทุกการถกเถียงของสังคมไทยอย่างไม่ควรจะต้องเป็นเช่นนั้นในหลายครั้ง รวมถึงครั้งนี้...ข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิ

ประเทศชนิดที่สื่อมวลชนหลักคือฟรีทีวีไม่สามารถรายงานข่าวอย่างทันท่วงทีเมื่อมีประกาศจากศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคพื้นแปซิฟิก ของสหรัฐอเมริกาแต่กลับทอดเวลาไปอีกกว่า 2 ชั่วโมง กว่าจะตัดรายการถ่ายทอดสดรวมการเฉพาะกิจพระราชพิธีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เข้าสู่การรายงานสถานการณ์จับตาสึนามิ หลังแผ่นดินไหวขนาด 8.3 ริกเตอร์และเกิดอาฟเตอร์ช็อคซ้ำอีก 2 ครั้งบริเวณเกาะสุมาตรา ผู้บริหารสื่อฟรีทีวีต้องใช้เวลาหาคำตอบกับตัวเองเกือบสองชั่วโมงว่าในฐานะสื่อมวลชนควรรับผิดชอบต่ออะไรก่อน

แน่นอนคนที่ไม่มีพันธกิจร่วมกับการถ่ายทอดสดครั้งนี้จะตอบให้ตัวเองดูดี มีอุดมคติอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ แต่คำถามคือ ถ้าคุณเป็นผู้บริหารฟรีทีวี คุณจะตัดสินใจอย่างไร และให้คำอธิบายกับตัวเองอย่างไร

วิวาทะที่เกิดขึ้นตามมายิ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการเมืองของสังคมไทยชัดเจนมากยิ่งขึ้นๆ โซเชียลเน็ตเวิรกเริ่มแชร์ข้อความจริงบ้างเท็จบ้างถึงความเชื่อมโยงระหว่างประมุขของประเทศกับการตัดสินใจตัดเข้าสู่การถ่ายทอดสดสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อคนนับล้านคนใน 6 จังหวัดตอนใต้ของประเทศไทย

คำถามหนาหู เพื่อหาผู้รับผิดว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบการถ่ายทอดสดรวมการเฉพาะกิจครั้งนี้ ตามมา เครือข่ายโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี 6 แห่ง ไทยทีวีสีช่อง 3, ททบ.5, ช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี, สทท. และ ไทยพีบีเอส รวมทั้งสถานีโทรทัศน์เคเบิลบางส่วน และมีคณะกรรมการ ซึ่งประธานกรรมการทุกชุดเป็นผู้บริหารของสถานีกองทัพบกช่อง 5 ประธานคนปัจจุบันคือ พลโทฉัตรชัย สาริกัลยะ และครั้งนี้ แม่ข่ายในการถ่ายทอดคือช่อง 3 และผู้มีอำนาจสั่งการก็คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่คำถามหลักก็คือ ถ้าเป็นคุณ คุณจะตัดสินใจอย่างไร ทั้งๆ ที่มันเป็นคำถามที่บ้องตื้นเหมือนถูกเอ่ยจากปากคนที่ไม่มีสามัญสำนึก แต่มันกลับเป็นคำถามตอบยากสำหรับสังคมไทย.....ทำไม?

การตัดสินใจที่ไม่ง่ายขนาดที่ว่าผู้บริหารทีวีสาธารณะที่ใช้ภาษีของประชาชนกว่าสองพันล้านบาทต่อปี ยังต้องทวีตขอบคุณเพื่อนร่วมงานด้วยความซาบซึ้งว่า "การที่ไทยพีบีเอสยกเลิกการถ่ายทอดสดในพระราชพิธีสำคัญ. เพื่อรายงานข่าวเตือนภัยเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องใช้สติและความกล้าหาญ".....ทำไม!!!??

คำตอบไม่ยาวแต่หาคนตอบยาก ข่าวแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นง่ายที่สุดของปัญหาวัฒนธรรมการเมืองของไทย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Monarchy Normative Media: ทฤษฎีบรรทัดฐานสื่อ ที่นี่ ที่เดียว ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

$
0
0

บ่ายแก่ ๆ ของวันที่ 11 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหวทางทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา 8.3 ริคเตอร์ คลื่นสึนามิกำลังซัดผ่านเข้าสู่พื้นที่โดยรอบ สัญญาณเตือนภัยดังสนั่นทั่วพื้นที่ใกล้เคียง หกจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงซ้ำรอยแบบปีใหม่ 2547 อีกครั้ง ทว่าในภาวะวิกฤตเช่นนี้สถานีโทรทัศน์ของไทยที่ออกอากาศแบบฟรี ๆ ให้เราได้ชมทั้งหกช่องนั้นกำลังถ่ายทอดพระราชพิธีอยู่ แม้จะมีช่อง ThaiPBS ที่ตัดสินใจตัดการรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจทิ้งเพื่อเสนอข่าวสึนามิ แต่โทรทัศน์อีกห้าช่องก็ยังคงเสนองานพระราชพิธีจนจบประหนึ่งเหมือนไม่เกิดอะไรขึ้น

เพียงข้ามคืนมีความคิดเห็นบนสังคมออนไลน์และบทความหลายชิ้นได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างถึงพริกถึงขิง รวม ๆ ก็พอแบ่งได้เป็นสองทางคือฟากที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเนื่องด้วยไม่ยอมตัดสินใจเลือกสึนามิที่เป็นผลกระทบโดยรวมก่อน อีกทางก็วิพากษ์ในทิศทางที่ว่าหากเป็นเอ็งบ้าง เอ็งกล้าตัดหรือ

เหตุผลต่าง ๆ หลายบทความคงวิเคราะห์กันไว้แล้ว ผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องอื่นที่พอพูดใกล้เคียงกันได้บ้าง

ใครที่เรียนสาขานิเทศศาสตร์ย่อมคุ้นชื่อของเดนิส แมคเควล (Denis McQuail) เป็นอย่างดี แมคเควล ว่ากันว่าด้วยความเป็นกลาง ๆ ไม่เลือกฟากทางความคิดอย่างสุดโต่งทางใดทางหนึ่งของเขาทำให้ผลงานเขียนหลายชิ้นกลายเป็นหนังสืออ่านหลักของนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่ใช้กันทั่วไป แมคเควลรวบรวมแนวความคิดที่หยิบยืมจากศาสตร์อื่นมาร้อยเรียงเพื่ออธิบายปรากฎการณ์สื่อ หนึ่งในแนวคิดที่ถูกนำมาใช้กันบ่อยยิ่งคือเรื่องบรรทัดฐานสื่อ (Normative Media) อันเป็นแนวคิดที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสื่อในบริบทสังคมต่าง ๆ ว่าอิงคุณค่ากับบริบทใด

ในเวอร์ชั่นแรก ๆ ของ Mass Communication Theory แมคเควลแบ่งกลุ่มบรรทัดฐานไว้สี่กลุ่มใหญ่ภายใต้กรอบแนวคิดทางการเมือง อาทิ สื่อที่ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดเสรีนิยม สังคมนิยมแบบโซเวียต อำนาจนิยม เป็นต้น ต่อมามีการขยายไปสู่บริบทอื่น ๆ เช่น ทำงานบนพื้นฐานแนวคิดสังคมประชาธิปไตยเพื่อการมีส่วนร่วม แนวคิดการพัฒนา ฯลฯ โดยแต่ละแนวทางความคิด สื่อจะปฏิบัติงานบนกรอบฐานเพื่อรับใช้อุดมการณ์ความคิด และแนวคิดนี้สามารถใช้ตรวจสอบได้ว่า ณ บริบทสังคมนั้น ๆ สื่อทำงานเป็นไปตามบรรทัดฐานที่ตั้งไว้หรือไม่

ฉบับปรับปรุงล่าสุด (6th edition) แมคเควลขมวดแนวคิดกลายเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ได้แก่ สื่อภายใต้แนวคิดทางการตลาด แนวคิดเพื่อสังคม แนวคิดสื่อในฐานะมืออาชีพ และสื่อทางเลือกที่สนใจประเด็นรอง ๆ ของกลุ่มชนรากหญ้า

เป็นโจทย์ที่ตอบยากว่าแล้วเมืองไทยอยู่ในกรอบบรรทัดฐานสื่อแบบไหน บทบาทต่าง ๆ ก็ยังดูคลุมเครือ ยิ่งฐานคิดเรื่องประชาธิปไตยที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในแต่ละฐานคิดก็ดูเลือนลางและบิดเบือนไปจากหลักการไม่น้อย ในฐานะคนสอนสื่อต้องยอมรับว่าเหนื่อยยากมากกับการใช้แนวคิดของแมคเควลอันเป็นที่ยอมรับของสากลโลกในการอธิบายเมืองไทยจริง ๆ

สงสัยเมืองไทยจะมีบรรทัดฐานส่วนตัวอันมิอาจบดบังได้จริง ๆ

จากเหตุการณ์ ถ่ายทอดพระราชพิธี VS สึนามินี้ กลายเป็นปรากฎการณ์ชัดเจนที่ตอบข้อสมมติฐานทั้งหมดในใจผู้เขียนว่าแท้ที่จริงแล้วบ้านเรานั้นมีบรรทัดฐานเฉพาะตัวที่ไม่มีใครเหมือนแน่ บรรทัดฐานนี้อ้างอิงบนพื้นฐานอุดมการณ์ความคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคลือบภายนอกด้วยประชาธิปไตย การทำงานของสื่อมีพื้นฐานคิดให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นอันดับหนึ่ง ชาติเป็นอันดับสอง ศาสนาอันดับสาม อันดับสี่คือข่าวฉาวดารา ส่วนประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ท้าย ๆ สังเกตได้จากการเรียงลำดับข่าวภาคค่ำ มีสักกี่ครั้งเชียวที่ข่าวอันมีประชาชนเป็นตัวหลักจะเป็นข่าวแรก

บรรทัดฐานสื่อแบบนี้ สื่อไทยยินยอมพร้อมใจให้ความสำคัญ ให้พื้นที่ เวลาและกรอบทิศทางการนำเสนอในแง่บวกแก่ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เสมอ ทุกบริษัทสื่อต่างยินยอมพร้อมใจเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของพระราชวงศ์ผ่านรายการและสื่อที่ตนมีในมือ เป็นเรื่องที่ต้องรู้โดยอัตโนมัติว่าใกล้วันเกิดพระราชวงศ์องค์ใดก็ต้องทำเทิดพระเกียรติก่อนเข้ารายการ คั่นรายการ ปิดรายการ สละช่วงเวลาที่ดีที่สุดของรายการ อาทิ ช่วงเปิดให้กับการนำเสนอเรื่องราวพระราชวงศ์ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทตนนั้นมีความจงรักภักดีเป็นที่หนึ่งไม่แพ้ใคร

ยิ่งบางช่วงเวลา อาจต้องจำใจกระอักเลือดเพราะสูญเสียเวลาไพรม์ไทม์ราคาแสนสูงนาทีร่วมล้านไปเพียงด้วยการถ่ายทอดงานพระราชพิธี แต่ในเมื่อบรรทัดฐานกรอบคิดตั้งไว้ให้ยินยอมพร้อมใจ ดังนั้นการเสียเงินไม่กี่สิบล้านที่จะได้แต่ละตอนไปกับการแสดงความจงรักภักดีนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ (และควรทำอย่างยิ่งด้วย)

หันมามองเหตุการณ์เมื่อหัวค่ำวานนี้ มองกันด้วยบรรทัดฐาน Monarchy Normative Media เช่นนี้ก็ดูเป็นเรื่องเหมาะควรแล้ว ในเมื่อการชั่งน้ำหนักระหว่างเหตุการณ์สองเหตุการณ์มีความยากเย็นนัก การเลือกโดยใช้กรอบบรรทัดฐานเป็นตัวช่วยก็พอทำให้เห็นภาพได้ว่าสื่อไทยควรเลือกนำเสนออะไรมากกว่ากัน

เป็นไปได้น่าจะมีการพัฒนาเป็นงานวิจัยเพื่อสร้างกรอบของ Monarchy Normative Media ให้ชัดเจน แล้วประกาศที่ทางให้ชัดเจนในวงวิชาการโลก น่าจะสร้างกรอบความคิดใหม่ในการอธิบายปรากฎการณ์สังคมที่เฉพาะเจาะจงเฉกเช่นเมืองไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่แน่แมคเควลเองอาจจะนำไปใส่ในไว้ในหนังสือของเขาฉบับปรับปรุงใหม่ก็ได้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียเริ่มส่งผลแล้ว

$
0
0

ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ในซีเรียเริ่มอยู่ในความสงบแล้ว หลังจากกำหนดเส้นตายข้อสัญญาหยุดยิงของอันนันส่งผล ในช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 12 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่น

12 เม.ย. 2012 - สำนักข่าว BBC รายงานว่า ข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียที่ทางโคฟี่ อันนัน ตัวแทนจากสหประชาชาติเป็นผู้เสนอ เริ่มส่งผลบังคับใช้แล้ว แต่ทางประเทศตะวันตกก็แสดงความกังวลอย่างเปิดเผยว่าซีเรียจะปฏิบัติตามแผนหยุดยิงนี้ไปได้เรื่อยๆ หรือไม่

ทางการซีเรียกล่าวว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามข้อสัญญาหยุดยิง แต่ยังมีสิทธินการตอบโต้การโจมตี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางการสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่าสัญญาจากซีเรียดูมีความน่าเชื่อถือน้อยมากหรือไม่มีเลย

ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่าข้อสัญญาหยุดยิงในซีเรียตอนนี้เริ่มถูกนำมาปฏิบัติแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ทางฝ่ายกลุ่มกบฏติดอาวุธก็ยังกล่าวในทำนองเดียวกันกับรัฐบาลว่า พวกเขาจะตอบโต่หากมีการโจมตีใดๆ จากฝ่ายรัฐบาล

นายโคฟี่ อันนัน ได้รับคำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรจากกระทรวงการต่างประเทศของซีเรียว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียจะหยุดการสู้รบทั้งหมดในดินแดนใต้อาณาเขตพื้นที่ประเทศซีเรีย ภายในเวลา 6 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าตนมีสิทธิใยการตอบโต้การโจมตีจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายได้ตามความเหมาะสม

"หนึ่งชั่วโมงหลังจากครบกำหนดเส้นตาย สถานการณ์ในทุกๆ พื้นที่ก็อยู่ในความสงบ" รามี อับเดล ราห์มาน ประธานกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียกล่าว

จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน บอกว่าการหยุดยิงเกิดขึ้นแล้ว จุดสนใจตอนนี้ตกอยู่ที่การถอนทัพของฝ่ายรัฐบาลทั้งทหาร รถถัง และอาวุธหนัก ซึ่งควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. แล้ว

จิม รายงานอีกว่า แม้จะมีข่าวเรื่องการยิงกันและใช้อาวุธหนักตอบโต้กันในเมืองอิดลิบ และในเขตชานเมืองของเมืองหลวงดามาสกัส แต่โดยส่วนใหญ่ข้อสัญญาหยุดยิงก็มีการปฏิบัติจริง อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องซับซ้อนอีกหลายเรื่องให้ต้องแก้ไขก่อนที่จะมีความคืบหน้าทางด้านการเมือง

ความกังวลจากชาติตะวันตก
ซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็นกล่าวถึงจดหมายให้คำมั่นจากซีเรียว่า "น่าหนักใจ" และเสริมว่ารัฐบาลซีเรียควรมีหน้าที่หลักๆ ในการหยุดความรุนแรง

วิลเลี่ยม ฮาค เลขาธิการด้านการต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ทำงานในยูเอ็นจะส่งทีมตรวจสอบเข้าไปในซีเรีย เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่ย้อนกลับไปสู่ความรุนแรงอีก 

ทางด้านนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แองเจลา เมอเคล และประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่างบอกว่าพวกเขายังคงกังวลว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาดของซีเรียจะไม่ทำตามเงื่อนไขข้อตกลงของโคฟี่ อันนัน

ทางด้านรัสเซียและจีนที่เคยโหวตต้านการเข้าแทรกแซงซีเรียในที่ประชุมด้านความมั่นคงของสหประชาชาติ แสดงความยินดีต่อการหยุดยิง แต่ก็บอกว่าฝ่ายกบฏก็ควรปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน

นักข่าว BBC : รัสเซีย จีน และอิหร่าน มีอิทธิพลในการตัดสินใจหยุดยิงของซีเรีย
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 11 เม.ย. ยังคงมีการปะทะกันโดยเฉพาะในเมืองฮอม นักกิจกรรมเปิดเผยว่ามีประชาชนอย่างน้อย 30 คนถูกสังหารในซีเรีย

โฆษกของกองกำลังกบฏฟรีซีเรียนอามี่ (FSA) บอกว่าข้อสัญญาหยุดยิงดูท่าจะไม่เป็นผล เพราะจะไม่มีฝ่ายใดยอมหยุดยิง

"หากฝ่ายตรงข้ามหยุดยิง ประชาชนชาวซีเรียก็จะพากันเดินขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดีในวันเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าฝ่ายรัฐบาลก้จะไม่หยุดด้วย" ร.อ. อะยาม อัล-เคอดี ให้สัมภาษณ์กับ BBC ที่เขตพรมแดน ตุรกี-ซีเรีย

มีสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงบางรายเปิดเผยว่า หากแผนการของอันนันไม่สำเร็จ พวกเขาจะต้องใช้มาตรการที่แข็งข้อขึ้น ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานว่าอาจไม่ได้หมายถึงการใช้กำลังทางทหารแทรกแซง แต่อาจหมายถึงการคว่ำบาตร 

มีเสียงจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการติดอาวุธให้กับกลุ่มต้านรัฐบาลในซีเรีย แต่ประธานาธิบดีโอบาม่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา โอบาม่าก็ได้เข้าพบกับรมต. กลาโหม ของซาอุดิอารเบียซึ่งสนับสนุนการติดอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC แสดงความเห็นเชิงวิเคราะห์เหตุการณ์หยุดยิงว่า มีแรงกดดันมหาศาลทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมทำตามข้อสัญญาของอันนัน แต่ดูเหมือนว่ารัสเซียอาจจะใช้อิทธิพลที่มีอยู่มากอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของรัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกันจีนและอิหร่านที่เป็นมิตรประเทศสำคัญของซีเรียก็สนับสนุนภารกิจของอันนันอย่างหนักแน่น ซึ่งอาจช่วยให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด หันมาฟังได้

 

 

 

ที่มา
Syria ceasefire comes into effect under Annan plan, BBC, 12-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-17683705

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สปสช.โชว์ระบบจัดซื้อยาพบ 4 ปีประหยัด 1.2 หมื่นล้านบาท

$
0
0

สปสช.เผยผลการดำเนินงานจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมด้วยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปี 51-55 พบ 4 ปีที่ผ่านมาช่วยประหยัดงบประมาณประเทศชาติได้ถึง 12,000 ล้านบาท จากการจัดซื้อสเต็นท์ เลนส์แก้วตาเทียม ยาในกลุ่ม CL ยาต้านไวรัสเอชไอวี กลุ่มยาราคาแพง และน้ำยาล้างไต ผลจากการประหยัดส่งผลต่อเนื่องเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพให้ประชาชน

นายแพทย์ประทีป  ธนกิจเจิรญ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่สปสช.ได้ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ตามนโยบายของรัฐบาลให้ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วม เพื่อพัฒนาการบริหารยาและเวชภัณฑ์โดยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) นั้น พบว่าผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2551-มกราคม 2555 สามารถประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายของประเทศได้ถึง 12,499 ล้านบาท และมีผลต่อเนื่องในการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้แก่ประชาชนด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.หมวดอุปกรณ์และอวัยวะเทียมประหยัดได้ ประหยัดได้ 1,639 ล้านบาท ได้แก่ เลนส์แก้วตามเทียมชนิดพับได้ จากราคา 4,000 บาท จัดซื้อได้ 2,800 บาท, เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับไม่ได้ จาก 4,000 บาท จัดซื้อได้ 700 บาท, สายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน จาก 20,000 บาท จัดซื้อได้ 10,000 บาท, สายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวด จาก 30,000 บาท จัดซื้อได้ 5,600 บาท และสายสวนเพื่อการขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวดเคลือบยา จาก 85,000 บาท จัดซื้อได้ 17,600 บาท

2.หมวดยา ประหยัดได้ 7,451 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นยาที่ทำ CL ประหยัดได้ 6,092 ล้านบาท เช่น ยาโดซีแท็กเซล สำหรับรักษามะเร็งเต้านม จาก 28,355 บาท เมื่อทำ CL เหลือ 1,757 บาท, ยา โคลพิโดเกรลสำหรับรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ จากเม็ดละ 72.53 บาท เหลือ 0.928 บาท, ยาต้านไวรัสโลพินาเวียร์/ริโทรนาเวียร์ จาก 74 บาท เหลือ 13 บาท ขณะที่ยาที่ไม่ได้ทำ CL ประหยัดได้ 1,359 ล้านบาท เช่น ยาต้านไวรัสเออาร์วี จาก 22,412 บาท เหลือ 19,742 บาท, กลุ่มบัญชียาจ.2 จากการต่อรองราคายาจาก 135,251 บาท เหลือ 95,915 บาท เป็นต้น

3.หมวดผู้ป่วยไตวาย ประหยัดได้ 3,409 ล้านบาท ได้แก่  ยาอิริโธรโพรอิทิน(Erythropoietin)กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด จาก 671 ล้านบาท เหลือ 229 บาท, น้ำยาล้างไตทางช่องท้อง จาก 200 บาท เหลือ 105 บาท

รองเลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า ราคาที่ลดลงจากการสั่งซื้อในปริมาณมาก และการลดต้นทุนจากเทคโนโลยีการบริหารจัดการพัสดุในระบบ VMI ซึ่งเข้าไปช่วยบริหารจัดการคลังยาและเวชภัณฑ์ของลูกค้าให้มีคลังยาและเวชภัณฑ์ที่เหมาะสม โดยการนำยาไปเติมเต็มให้เมื่อถึงจุดกำหนด การบริหารจัดการระบบนี้จะทำให้รพ.ลดปริมาณการสำรอง และมียาใช้เพียงพอตลอดเวลา ได้รับยาที่ผลิตใหม่ ลดการสูญเสียจากการทำลายยาที่รพ.ส่งคืนยาที่หมดอายุ สามารถขยายจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการได้มากขึ้น เนื่องจากมีการบริหารคลังยาที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้งบประมาณเท่าเดิม ประเทศชาติลดการสูญเสียทรัพยากรจากการทำลายยาหมดอายุ รักษาสภาพแวดล้อม อันเนื่องจากมีการทำลายยาหมดอายุลดลง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีการบริหารใด ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์

$
0
0

วันนี้ บริบทประเทศเปลี่ยนไป ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิตของผู้คน ความเจริญต่างๆ รวมถึงเรื่องของธรรมชาติและ อุบัติภัยจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่มาแรง กระทั่งหลายคนยังบอกว่า วันนี้ธรรมชาติเอาคืน

ใครมาเป็นรัฐบาลยุคใหม่นี้เหนื่อยทุกคน นอกจากบริหารงาน แก้ไขปัญหา พัฒนาประเทศด้านต่างๆ ยังต้องบริหารประโยชน์ บริหารความเป็นธรรม ซึ่งนับวันจะเห็นเด่นชัดขึ้น

ขณะที่ต้องนำประเทศสู่การแข่งขันในเวทีโลกอีกด้วย

ทำให้วันนี้โจทย์การทำงานของรัฐบาลยากขึ้น หลายมิติขึ้น ทั้งเชื่อมโยงมากขึ้น ออกนโยบายใหม่เรื่องหนึ่ง กระทบไปหลายภาคส่วน 

แก้ปัญหาเรื่องหนึ่งโยงไปอีกหลายเรื่อง

ซึ่งต้องคิดหลายชั้น หากไม่รอบคอบพอ หรือมีจุดอ่อน บกพร่องให้สังคมเห็นอยู่เรื่อยๆ และคอยตามแก้ปัญหาเป็นทีๆไป ก็สะท้อนถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ซึ่งยอมไม่ได้                          

เมื่อบริบทเปลี่ยนไป เป็นความจำเป็นที่รัฐบาลยุคใหม่ต้องพึ่งพาเครื่องมืออย่างการประชาสัมพันธ์(PR) เป็นอื่นไปไม่ได้ เพื่อเอาไว้ใช้อธิบาย ชี้แจงเรื่องต่างๆ

ต้องสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น หากมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน จะทำให้ปัญหาทุกอย่างจบลงได้ด้วยดี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญก่อน

งบประมาณบางครั้งยังไม่ใช่ปัญหา ขาดคน ขาดวัสดุอุปกรณ์ ยังเป็นเรื่องรองๆ ถ้าด่านแรกประชาชนเห็นด้วย ไฟเขียวเรื่องที่สื่อสาร ทุกอย่างเดินได้

จะทำอะไร อย่างไร เพื่อใคร เป้าหมายใด ต้องสื่อสารให้รู้ ให้เข้าใจ รัฐบาลหรือนักการเมือง ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบาย ชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาด้านต่างๆ

ถ้าไม่สื่อ หรือพีอาร์ไม่เพียงพอ และลงมือทำ มีหวังเจอต้าน เจอประท้วง วันนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนสูง การบริหารภาครัฐไม่ง่ายเหมือนอดีต  

ยิ่งไม่พีอาร์ หรือพีอาร์น้อย ยิ่งไม่ต้องพูดถึง  เท่ากับเป็นอุปสรรคในตนเอง

ตรงข้าม หากประชาชนรับรู้ เข้าใจ เคลียร์ ก็หนุนเต็มที่เช่นกัน

การประชาสัมพันธ์ จึงสำคัญในฐานะเป็นเครื่องมือแผ้วถางทาง เป็นด่านแรกที่จะให้งานก้าวข้ามสิ่งกีดขวางไปได้ งบประมาณว่าสำคัญ ยังไม่เท่า หลายโครงการมีงบ แต่ทำอะไรไม่ได้ รอพีอาร์ให้ข่าวสาร สร้างความรู้ความเข้าใจก่อน

การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ จึงหนุนส่งรัฐบาลยุคใหม่ ทั้งเป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของงานที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง

การบริหารยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม หรือละเลยพีอาร์

ช่วยแก้โจทย์ที่ยาก ให้ง่าย อะไรที่ง่าย ให้ง่ายยิ่งขึ้น การบริหารนำพาประเทศก้าวหน้าฉันใด การประชาสัมพันธ์ก็นำพาประเทศก้าวหน้าฉันนั้น ถ้าใช้เป็น

รัฐบาลใดๆในยุคใหม่ ทั้งไม่เก่งคิดนโยบาย แถมอ่อนการประชาสัมพันธ์ เท่ากับทำให้ประชาชน ประเทศเสียโอกาส แทนที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาที่ดีๆของรัฐ และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็ไม่ได้ เพราะถูกคัดค้านเสียก่อน เนื่องจากประชาชนเข้าใจผิด ขาดข่าวสารความรู้ที่เพียงพอ

ข่าวสารล่าช้า ประชาชนเอาไปลือ วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเสียก่อน กลายเป็นรัฐบาลตั้งรับ แม้โครงการที่ดีๆนั้นจะกลับมา และเป็นที่ยอมรับในภายหลังด้วยวิธีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก แต่ก็เสียเวลาไปมาก ซึ่งเสียดายโอกาส

ย้อนกลับไปที่บอกว่า ต้องพึ่งพาพีอาร์ ต้องใช้พีอาร์ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ง่าย บริบททางการประชาสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ยุคใหม่โจทย์พีอาร์ก็ยากขึ้น หลายมิติขึ้น  

จากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา รัฐบาลกั้น(บิ๊กแบ็ก) ประชาชนรื้อ เพราะอะไร

จากกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างไม่ได้ เพราะอะไร รวมถึงที่จะไปทำโครงการอะไรในพื้นที่ ต้องถามชุมชนก่อน โดยเฉพาะที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม

การประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไร จะเป็นที่พึ่งพาให้รัฐบาลอย่างไร

วันนี้ใช่ว่าสื่อสารประชาสัมพันธ์อะไรออกไปแล้ว คนจะเออออ เห็นด้วย คล้อยตาม ยอมตาม ไม่ใช่อีกแล้ว

แต่ประชาชนขอพิจารณาก่อน win win เป็นผลดีต่อส่วนรวมจริงมั๊ย ใครได้ประโยชน์ หวังผลอะไร ประชาชนยุคใหม่ฉลาด รู้หมด   

อันที่จริงการที่ต้องถามชุมชนก่อน หรือให้ประชาพิจารณ์ก่อน ไม่ใช่ไม่ดี มีผลดี นอกจากประชาชนตรวจสอบโครงการ จะได้ระมัดระวังฝ่ายบริหารที่ไม่จริงใจ มีประโยชน์แอบแฝง

เดี๋ยวนี้ประชาชนมีความรู้ มีบทเรียน ประสบการณ์ และสนใจเรียนรู้ใหม่ๆ หูตากว้างไกลจากข่าวสารผ่านสื่อที่มีอยู่เต็มไปหมด อิสระไม่มีลิมิต โลกการสื่อสารไร้พรมแดน จะมาให้เรียบร้อย อดทน ยอมทนรับภาระ รับความไม่เสมอภาค ความไม่ชอบธรรม กระทั่งรับความผิดพลาดจากการบริหาร เขาก็ไม่ยอมกันอีกแล้ว

ประชาชน เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ขณะที่รัฐธรรมนูญหนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชน มีเสรีภาพ มีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องฟัง ไม่ฟังไม่ใส่ใจไม่ได้

บ่อยครั้งพีอาร์ยากจะเอาอยู่ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องกังวล อยู่ที่ความจริง ถ้าโครงการดีจริง ก็จะนำไปสู่ความลงตัวได้ในที่สุด แต่อาจใช้เวลา ประชาชนใช่ว่าจะดื้อรั้น การประชาสัมพันธ์ คือต้องพูดความจริงแก่ประชาชน

ปัญหาส่วนหนึ่ง อยู่ที่มีการบิดเบือน หรือมีวาระซ่อนเร้น ทำให้พีอาร์ยาก มองอะไรเป็นเกม ช่วงชิงทางการเมือง

การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ควรอยู่บนข้อเท็จจริง จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เพียงแต่แยบยลขึ้นในวิธีการ  สื่อด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้น เพื่อเอาชนะปลายทางที่เป็นประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้คล้อยตาม เห็นด้วย

ลดต้าน เพิ่มหนุน

หากลดการช่วงชิงทางการเมืองได้ พีอาร์ก็เบาไปเยอะ

คำถาม คือ ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึง เอาชนะความเข้าใจของคนให้ได้ ที่สุดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรม

โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ให้เห็นด้วยกับนโยบาย โครงการใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ ของรัฐบาล

อยู่ที่รัฐบาลจะกำกับดูแล บริหารจัดการอย่างไร ใช้การประชาสัมพันธ์อย่างไร ถือว่า ประชาชน เป็นผู้กำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการประชาสัมพันธ์ยุคใหม่

ผู้เขียนยังเคยคิดว่า การบริหารงานยุคใหม่ นอกจากประกอบด้วยงบประมาณ คน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ หรือเรียกง่ายๆ 4 M ที่เราท่องๆกันมา วันนี้ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เข้าไปอีกหนึ่งตัว และน่าจะสำคัญพอๆกับเงิน คน วัสดุอุปกรณ์ หรือมากกว่าด้วยซ้ำ  

พิสูจน์แล้วว่า ลำพังมีงบ มีคน ถ้าประชาสัมพันธ์ไม่เคลียร์ ประชาชนไม่เอาด้วย ทุกอย่างก็จบ ก้าวเดินไม่ได้

ขาดงบ หางบเพิ่มได้ ขาดคน ขอคนเพิ่มได้ ขาดวัสดุอุปกรณ์ ก็จัดซื้อเพิ่มได้   

จึงมองการบริหารสมัยใหม่ เท่ากับ 4 M + 1 PR  

และต่อไปนี้ เป็น 4 มุมมองสำหรับรัฐบาลยุคใหม่ VS การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่

1  รัฐบาลในฐานะผู้สั่งการประชาสัมพันธ์
2  รัฐบาลในฐานะนักประชาสัมพันธ์
3  นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ลงมือทำประชาสัมพันธ์
4  นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้สวมบทรัฐบาลด้านข่าวสาร

ขอกล่าวถึงแต่ละมุมมอง ดังนี้

1. รัฐบาลในฐานะผู้สั่งการประชาสัมพันธ์
หมายถึง รัฐบาลเป็นผู้สั่งทีมงานประชาสัมพันธ์ หรือทีมงานโฆษกรัฐบาล ให้ทำประชาสัมพันธ์ข่าวสารรัฐบาล

ในมุมมองนี้ มุ่งไปที่สิ่งที่รัฐบาลจะให้ประชาสัมพันธ์ จะเอาอะไรไปประชาสัมพันธ์ อยู่ที่เนื้อหางาน ที่จะเอาไปเป็นเนื้อหาประชาสัมพันธ์ เช่น นโยบายใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ งานโครงการใหม่ๆหรือปัญหาที่ต้องแก้ไข ฯลฯ ถ้ารัฐบาลมีอะไรใหม่ๆที่เจ๋งๆ ออกมา จะเป็นที่สนใจ หรืออะไรที่เป็นความคืบหน้า เป็นความสำเร็จ จะทำให้ข่าวสารมีน้ำหนักมีคุณค่า การประชาสัมพันธ์ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากสื่อมวลชนและประชาชน ตรงข้าม หากเป็นเนื้อหางานเก่า งานเดิมที่ไม่มีอะไรใหม่ เป็นข่าวเก่า การประชาสัมพันธ์ก็จะไม่เป็นที่โฟกัสของสังคม สะท้อนว่า รัฐบาล กระทรวงต้องสร้างผลงาน ทั้งงานใหม่และงานเก่าให้คืบหน้า ไม่เช่นนั้น ก็ไม่รู้จะประชาสัมพันธ์อะไร ไม่รู้จะสั่งให้เอาอะไรไปประชาสัมพันธ์                      

อย่างไรก็ตาม คงไม่เป็นปัญหา เนื่องจากตรงนั้นเป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ มีความเคลื่อนไหวใหม่ๆตลอดเวลา ห่วงแต่ผู้นำองค์กร หน่วยงานรองๆลงมา ถ้าไม่มีอะไรใหม่ ก็แทบนิ่งไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมเท่าที่ควร อาจจะกลายเป็นหน่วยงานโลกลืมก็เป็นไปได้

การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ จึงมีบทบาทใหม่เป็นตัวเร่ง หรือมีส่วนผลักดันให้ผู้บริหารอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องคิด ต้องแข่ง เพื่อสร้างผลงานให้โดดเด่น และเป็นที่ประจักษ์ ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปประชาสัมพันธ์

2. รัฐบาลในฐานะนักประชาสัมพันธ์
ในยุคใหม่เป็นความจำเป็นที่คนเป็นนักบริหาร นักการเมือง ต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์ด้วย อย่างน้อยต้องพูดจาภาษาประชาสัมพันธ์ ภาษาที่สร้างมิตรมิใช่ศัตรู พูดดีมีแต่ได้ พูดร้ายมีแต่เสีย การที่รัฐบาล เป็นนักสื่อสารประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง จะดีที่สุด เพราะเป็นคนที่รู้ว่า จะพูดอะไรดีที่สุด เนื้อหาที่พูดเป็นนโยบาย งานโครงการ หรือเป็นการสร้างความเชื่อมั่น สร้างพลัง สร้างแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจ ฯลฯ ให้เหมาะกับจังหวะโอกาส หรือสถานการณ์  อาทิ ท่านนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์ที่ จ.สงขลา ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ควรจะพูดถึงอะไรบ้างในเนื้อหาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออกไปสู่สังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หรือการไปเป็นประธานเปิดเดินเครื่องผลิตรถยนต์ฮอนด้า อันเนื่องจากสถานการณ์มหาอุทกภัย ควรพูดอะไรเป็นเนื้อหาประชาสัมพันธ์ในวันนั้นบ้าง ถ้าพูดดี ได้เนื้อหาครบ เห็นภาพ ก็สร้างความมั่นใจ ประทับใจแก่นักธุรกิจ นักลงทุน เป็นต้น

ในมุมมองนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คือนักบริหาร นักการเมือง นักประชาสัมพันธ์ผู้พูดที่น่าเชื่อถือสูงสุด ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ การแถลงข่าวตามจังหวะโอกาส จึงมิเพียงประชาสัมพันธ์ตนเอง รัฐบาล แต่ยังประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศ

3. นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ลงมือทำประชาสัมพันธ์
ประชาสัมพันธ์ในที่นี้ หมายถึง ทีมงานโฆษกรัฐบาล ทีมงานประชาสัมพันธ์รัฐบาล ในฐานะผู้ลงมือทำประชาสัมพันธ์ตามที่รัฐบาลสั่งการ หรือมอบหมายงาน  ในมุมมองนี้ อยู่ที่ทีมงาน ต้องเป็นมืออาชีพ มิเพียงทำตามสั่งแล้วจบ จะทำประชาสัมพันธ์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น  แยบยล แยบคายแค่ไหน ต้องคิดเหนือชั้น มองข้ามช็อต ตั้งแต่วางแผน นำแผนไปปฏิบัติ และติดตามผล อ่านเกมได้ กำหนดเกมเป็น ชงประเด็นให้นายกรัฐมนตรีได้ พลิ้ว เนียน ให้การประชาสัมพันธ์ผลงานเป็นที่จดจำของประชาชนได้ มีความสามารถกำหนดกลยุทธ์ใหม่ๆ และทำให้บรรลุเป้าหมาย สร้างศักยภาพในการแข่งขันให้รัฐบาล เป็นที่พึ่งพาให้นายกรัฐมนตรีได้

4. นักประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้สวมบทรัฐบาลด้านข่าวสาร                                                               
ทีมงานประชาสัมพันธ์ ทีมงานโฆษกรัฐบาล โดยเฉพาะโฆษกรัฐบาล ต้องสวมบทบาทนายกรัฐมนตรี ในการให้ข่าวสารประชาสัมพันธ์รัฐบาล เป็นอื่นไปไม่ได้ หากหวังผลจากการประชาสัมพันธ์ การสวมบทนี้ เพราะจะทำให้รู้ว่า ต้องพูดอะไร อะไรควรพูด อะไรไม่ควร มีความพลิ้วไหว พูดให้เนื้อหาหนักแค่ไหน เชื่อมโยงอย่างไร หากพูดเนื้อหาเบา ก็จะไม่เป็นประเด็นสนใจ ไม่ตอบโจทย์ ทั้งไม่สมบทบาทโฆษก โดยเฉพาะในการให้สัมภาษณ์ แถลงข่าวสื่อมวลชน โฆษกรัฐบาลยุคใหม่ควรต้องมีมาตรฐานสูงขึ้น เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีด้านข่าวสารรัฐบาล มีความน่าเชื่อถือสูง พูดอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ทำได้จริงตามพูด บางจังหวะโอกาส ต้องตัดสินใจเฉพาะหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องให้อำนาจและการตัดสินใจ ไว้วางใจ ให้อิสระในการทำงาน เป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานประชาสัมพันธ์รัฐบาลให้ทันบริบทที่เปลี่ยนไป และการแข่งขันในเวทีโลก จะทำให้นายกรัฐมนตรีเบา มีเวลาบริหารงาน สร้างผลงานที่สำคัญๆ ต่อยอดขึ้นไป

ขณะที่ต้องขายแนวคิดนี้ ไปยังกระทรวง กรม จังหวัด ในฐานะกลไกของรัฐ ประสานพลังประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลและประเทศ ขยับขับเคลื่อนเป็นแพ็คเกจด้วยการประชาสัมพันธ์ มุ่งนักประชาสัมพันธ์กระทรวง นักประชาสัมพันธ์กรม ประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นที่พึ่งพาได้ หากทำได้รัฐบาลจะแจ้งเกิดผลงานในลักษณะดาหน้าเดิน เปรียบดั่งถนน 16 เลนที่ใช้ประโยชน์ทุกเลนไปพร้อมๆกัน สู่จุดหมายปลายทาง

เป็น 4 มุมมองสำหรับรัฐบาลยุคใหม่ VS การประชาสัมพันธ์ยุคใหม่ ที่ต้องพึ่งพาประสานเชื่อมโยงอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน   

ไม่มีการบริหารใด ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประวัติศาสตร์ไทยแบบ Plot Based History กับการอ่าน เชคสเปียร์แบบไทยๆ

$
0
0

 

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ การแบนภาพยนตร์หรือการเผยแพร่ใดๆ สู่พื้นที่สาธารณะ ในสังคมอารยะเราย่อมเคารพความเห็นต่าง ที่สามารถนำเสนอและถกเถียงในพื้นที่สาธารณะได้ เห็นด้วยกับผู้สร้างภาพยนตร์ Shakespeare Must Die ที่พูดถึงสังคมอำนาจนิยมและมิอาจพูดถึงความเป็นมาของความอุบาทว์ในสังคมได้

ในบทความนี้ผมจึงมิได้พิจารณาถึงการฟันธงว่า ควรหรือไม่ควร “ห้ามฉาย”ภาพยนตร์เรื่องนี้ เนื่องจากได้ให้คำตอบไปตั้งแต่ประโยคแรกเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่มุ่งอยากนำเสนอคือ ข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับวิธีการตีความประวัติศาสตร์การเมืองของผู้สร้างซึ่งเป็นแบบฉบับของการพยายามทำความประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ที่อยู่บนฐานโครงเรื่องแบบชนชั้นนำแบบจารีตนิยม การตีความงานเขียนของเชคสเปียร์ตามแบบฉบับไทยๆ รวมถึงประเด็นความสวยงามของศิลปะอย่างไม่มีเงื่อนไข

เป้าประสงค์หลักที่อยากจะสื่อมีเพียงแค่กระตุ้นเตือนให้ผู้สร้างหนังในฐานะสมาชิกฐานันดรที่สี่ฉุกคิดถึงเงื่อนไขข้างต้น ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ในกองเซ็นเซอร์มีคนที่มีความเห็นคล้ายกับข้อสังเกตนี้หรือไม่ แต่ที่สำคัญประวัติศาสตร์ไทย”มีเนื้อหา”ที่มีนัยยะสำคัญต่อการทำความเข้าใจเงื่อนไขการเมืองปัจจุบัน ที่บางครั้งการอ้างความสวยงามของศิลปะในการตีความตามใจชอบดูจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในสังคมอารยะเช่นกัน

ในเบื้องต้นผมอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมที่มีโอกาสได้สนทนากับเพื่อนร่วมงานชาวเยอรมันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ”ก่อนสมัย” ของเราทั้งสองคน สำหรับผม คือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และสำหรับเพื่อนของผม คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของฮิตเลอร์ แน่นอนว่าเราทั้งสองเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าและเอกสารทั้งนั้น

ทีแรกผมเลี่ยงที่จะพูดถึงเหตุการณ์ที่เยอรมัน เพราะเคยได้ยินจากเพื่อนฝูงที่เคยไปเที่ยวเยอรมันว่า คนเยอรมันถือว่าการพูดถึงฮิตเลอร์เป็นเรื่องหยาบคาย แต่ปรากฏว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจผิดถนัด จริงอยู่ฮิตเลอร์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นเรื่องเลวร้ายแต่ “ไม่ใช่” เรื่องที่พูดถึงไม่ได้ ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันตลอด

เพื่อนของผมท่านนี้เล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเองในสมัยเด็กต้องไปทัศนศึกษายังแคมป์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเป็นฝันร้ายสำหรับเขาไปหลายคืน สำหรับสังคมเยอรมัน มันเป็นเรื่องผิดกฎหมายที่จะบอกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้น” หรือ การสร้างคำอธิบายใดๆ เพื่อลดทอนความเลวร้ายเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน

แน่นอนว่าสำหรับประเทศที่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่มีการตกแต่งหลายรอบอย่างประเทศไทย การจำและการลืมประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่วางอยู่บน “ฐานโครงเรื่อง” ดังที่ อ.ธงชัย วินิจจะกุล พยายามเปรียบเทียบการเข้าใจประวัติศาสตร์ของไทยที่มีฐานโครงเรื่องง่ายๆ ว่า คนไทยแตกสามัคคี--ความวุ่นวาย--พระเอกขี่ม้าขาว--บ้านเมืองสงบสุขสามัคคี อันเป็นเหตุผลที่คนไทยเข้าใจว่า ชาวบ้านบางระจันรบกับทัพบุเรงนอง หรือการเนรมิตเหตุการณ์ประหลาด อย่าง “16 ตุลา 2514” ขึ้นมา เพราะ “เนื้อหา” หรือข้อเท็จจริง ถูกลดความสำคัญให้เหลือเพียงแค่โครงเรื่อง หรือ Plot แบบง่ายๆเท่านั้น

ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ตัวอย่าง มีฉากแขวนคอและทุบด้วยเก้าอี้ ห้อมล้อมด้วยผู้คนที่สรรเสริญ เหตุการณ์นั้นโพกผ้าสีโทนแดง แม้ผู้สร้างหนังจะแสดงความเห็นว่า สีแดงเป็นสีแห่งความก้าวร้าวรุนแรงเป็นที่เข้าใจของสากลโลก ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทางการเมืองกลุ่มเดียว แต่ด้วยนัยยะบริบทอื่นที่ผู้สร้างพยายามเชื่อมโยงถึงการที่ประชาชน (ในอาภรณ์แดง) ถูกชักนำโดยท่านผู้นำให้กำจัดผู้ที่ตะโกน “Get Out” ในบริบทการเมืองร่วมสมัยไทย ทำให้ไม่อาจคิดเป็นอื่นได้

เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องที่คิดมากไปเอง เพราะคนดูหนังก็จำเป็นต้องคิดให้มากกว่าสารของผู้สร้างอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นปัญหาสำคัญ เพราะมันหมายถึงการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยแบบโครงเรื่องจารีต โดยเป็นการเชื่อมว่า ขบวนการคลั่งเจ้าย่างสดนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับขบวนการเสื้อแดงที่ถูกชักนำโดยนักการเมืองว่า มีลักษณะร่วมกัน โดยเป็นการเชื่อมตรงสู่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย แบบง่ายๆ คือ “มีผู้บ้าคลั่งทำลายความสงบและสวยงาม และคนส่วนมากที่โง่เง่าอันถูกชักจูงจากคนบ้าอำนาจและได้ประโยชน์จากมวลชน” เนื้อหาและข้อเท็จจริงหลายอย่างถูกลดทอนตัดออกไปเพื่อให้ทุกอย่างเข้ากับโครงเรื่องแบบง่ายๆ ตามแบบฉบับประวัติศาสตร์ไทย ให้เหลือเป็นแค่ “คนคลั่งที่ถูกปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ”

ย้อนกลับไปในกรณีศึกษาเยอรมันอีกครั้ง มันคงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างยากลำบาก ถ้าเกิดพรรคอนุรักษ์นิยมในเยอรมันให้งบทำหนังแก่ภาพยนตร์ที่มีพล็อตเทียบเคียงว่า การสไตรค์หยุดงานของกรรมกรฝ่ายซ้ายเป็นการถูกชักนำโดยผู้นำสหภาพบ้าอำนาจอันไม่ต่างกับเหตุการณ์ฮิตเลอร์ล้างสมองคนเยอรมัน  

ศิลปะมีความสวยงามก็จริง แต่ความสวยงามก็เกิดจากการประดิษฐ์และให้ความหมายของมนุษย์ ความสวยงามที่ศิลปินพูดถึง จะนับเป็นความสวยงามได้อย่างไรหากมันวางอยู่บนฐานการเหยียบย่ำคนส่วนมากในสังคมว่า โง่เง่าและคิดไม่เป็น

โดยส่วนตัว ผมเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ หรือละครเวทีมากมายนัก ดูตั้งแต่หนังตลาด หนังตลกวัยรุ่น หนังรักเกาหลี ละครหลังข่าว หนังการเมือง หรือหนังทางเลือกตามโอกาสไม่ได้กำหนดสเป็คตัวเองว่าเป็นแบบไหน แต่ไม่เคยปฏิเสธที่จะเสพสื่อแบบที่สามัญชนหรือชาวไพร่เสพกัน

ในส่วนละครแม็คเบธนั้นเมีเพียงความทรงจำเลือนลางว่า เคยอ่านในหนังสือนอกเวลาสมัยมัธยม แต่เนื้อเรื่องก็ไม่น่าสนุกจดจำสำหรับเด็กมัธยมนัก จนกระทั่งมีโอกาสได้ดูละครเวทีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯจึงมีโอกาสได้ไปค้นอ่านอีกครั้ง จึงพบประเด็นสำคัญที่ชวนน่าแลกเปลี่ยนเมื่อคนไทยไปอ่านวรรณกรรมฝรั่งแล้วนำความคิดแบบไทยๆ ไปอ่าน ปัญหาการตีความแบบไทยๆ ที่พบกันทั่วไปจากผู้ชมละครเวที ซึ่งจบง่ายๆ เกี่ยวกับ แม็คเบธ ผู้ทะเยอทะยานฆ่าพระราชา งมงายในไสยศาสตร์ วิกลจริต และสุดท้ายแพ้ภัยตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วก็เป็นการตีความตามพล็อตวิธีคิดประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบชนชั้นนำจารีตทั้งสิ้น ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวแล้ว มันเป็นคนละเรื่องกับเนื้อแท้ความเป็นนัก “มนุษย์นิยม”ของเชคสเปียร์ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้งานเขียนของเขาโด่งดังไปทั่วโลก

ดังนั้นเวลาชนชั้นนำไทยอ่านเชคสเปียร์จึงอ่านแบบไทยๆ และได้คำตอบว่า แม็คเบธ ทะเยอทะยาน หรือไชล็อคในเรื่อเวนิสวานิช งก ซึ่งเป็นการอ่านและตีความตามความเข้าใจแบบอนุรักษ์นิยมโดยแท้ ในบทละครหลังชนชั้นนำไทยมีการแปลบทละครเพื่อการสร้างคนจีนให้เป็นยิวแห่งบูรพาทิศด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่ว่าคนยิวกับคนจีนงกเหมือนกัน

หากพิจารณาแล้วงานของเชคสเปียร์พยายามตีแผ่ความคิดแบบมนุษย์นิยม คือการตัดสินใจและรับผลของการกระทำในฐานะมนุษย์ ไม่มีเรื่องของเทวดาฟ้าดิน จริงอยู่แม้แม็คเบธจะตัดสินใจกระทำการสังหารพระราชาจากคำทำนายของแม่มดที่เขาจะได้เป็นกษัตริย์ (อันเกิดจากเรื่องบังเอิญจากคำทำนายครั้งแรก) แต่เมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้าย เขาตัดสินใจเข้าสู่สมรภูมิเพื่อที่จะเอาชนะคำทำนายของแม่มดเช่นกัน แม้ว่าการตัดสินใจนั้นอาจหมายถึงการแลกด้วยชีวิต อันเป็นภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ตัดสินใจบนฐานประโยชน์เฉพาะหน้าของตน มิใช่การหลงลิขิตฟ้าดิน

เช่นเดียวกันกับไชล็อคซึ่งได้รับการฉายภาพผ่านมุมมองของชนชั้นนำจารีตไทยถึงความตระหนี่โหดร้ายและได้รับกรรมสนองในท้ายสุด แต่ในบทละครนี้ของเชคสเปียร์ กลับพยายามมุ่งเน้นถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนในเรื่อง เป็นมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์กัน อาจมีผู้ดี ไพร่ นาย บ่าว เศรษฐี คนจน นายทุน ศักดินา แต่ข้อสำคัญคือ ทุกคนเป็น ”มนุษย์” ไม่มีใครในเรื่องเป็นเทวดา ดังเห็นได้จากบทพูดลือชื่อของไชล็อคที่ว่า

“ข้าเป็นคนยิว....แต่เรากินต่างจากคนคริสเตียนหรือ เมื่อโดนอาวุธทำร้าย เราบาดเจ็บต่างกันหรือไร เราเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน เมื่อเจ็บป่วยเรารักษาต่างกันหรือไร เหน็บหนาวและอบอุ่นด้วยฤดูกาลเดียวกัน เมื่อท่านแทงเรา เลือดเราไม่ไหลหรือ เมื่อท่านจี้เอว เราก็หัวเราะเหมือนกัน เมื่อโดนวางยาพิษ เราก็ตายเหมือนกัน ถ้ามีใครทำผิดกับเรา เราก็ล้วนแก้แค้นเหมือนกัน”

ปัญหาสำคัญคือการตีความบทละครหรือวรรณกรรมต่างชาติมาในบริบทสังคมไทยมักแยกไม่ออกจากการตีความตามแบบฉบับชนชั้นนำที่มองประวัติศาสตร์เป็นโครงเรื่องแบบที่รับใช้ประโยชน์ทางชนชั้นของตนมากกว่าการตีความวรรณกรรมในเนื้อหาสาระที่ปรากฏ จึงไม่แปลกนักที่ จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ทักษิณเหมือนโจโฉ พลเอกเปรมเหมือนเล่าปี่ อันเป็นผลจากการตีความวรรณกรรมต่างชาติตามมุมมองแบบชนชั้นนำไทย การตีความวรรณกรรมต่างชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาในแก่นแท้ปรัชญา มากกว่าแค่การจับสวมเปรียบเทียบตามพล็อตแบบไทยๆ ที่เราอยากให้เป็น

ศิลปะมีความงามของมันอยู่แน่แท้ แต่มิใช่ว่าความงามของมันตามมุมมองของผู้สร้างจะไม่มีต้นทุน ต้นทุนของความงามในหนังเรื่อง Shakespeare Must Die เริ่มต้นด้วยการผลิตซ้ำการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตามโครงร่างแบบจารีตของไทย ตามด้วยการลดค่าของประชาชนที่ย่อมมีสิทธิเสรีในการดำเนินชีวิตและศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเพียงทาสแก่การชักนำของ ”ท่านผู้นำ” ดังนั้นความงามของศิลปะจึงมิได้ล่องลอยอย่างไม่มีเงื่อนไข หากแต่จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานการยอมรับร่วมกันในสังคม

มนุษย์มีเสรีภาพ แต่มิใช่เป็นปัจเจกชนที่ล่องลอยตามมโนสำนึกของตน มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสังคมรวมหมู่ การกระทำของมนุษย์หนึ่งคนส่งผลต่อมนุษย์ทั้งสังคมไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในฐานันดรใด ดังนั้นการผลิตซ้ำความคิดที่นำสู่การลดทอนความเป็นคนของอีกฝ่ายจึงควรแก่การละเว้น

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความของคุณ Filmstick ก่อนเขียนบทความนี้ ซึ่งมีความเห็นด้วยอย่างยิ่งที่การห้ามฉายภาพยนตร์นี้เป็นการปิดโอกาสการนำข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของภาพยนตร์นี้ในพื้นที่สาธารณะ แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงสำคัญคือ สุดท้ายภาพยนตร์นี้จะมีการเผยแพร่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในยุคที่สิทธิอำนาจของรัฐชาติกำลังถดถอย ผมไม่คิดว่าการห้ามฉายจะมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติเท่าใดนัก ดังนั้นการวิพากษ์เรื่องการแบนหนังก็เรื่องหนึ่ง การวิพากษ์หนังก็ยังคงจำเป็นต้องดำเนินไป ดังที่ได้พิจารณาไปแล้วการลดทอนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อนำสู่การสร้าง Plot ประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้อุดมการณ์ของชนชั้นตนก็นับเป็นเรื่องที่อันตรายและผิดวิสัยสำหรับสังคมอารยะไม่แพ้การห้ามฉายภาพยนตร์เช่นเดียวกัน

 

 

ปล.อุทิศบทความนี้ให้แก่ คนึง ฉัตรเท เจ้าหน้าที่ รปภ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 หนึ่งในไพร่ที่ไม่มีที่ยืนในโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบชนชั้นนำ

....................................................

กรุณาเทียบเคียงกับคลิปนี้อีกครั้ง ศิลปะจำเป็นต้องวางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มิใช่ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล http://www.youtube.com/watch?v=T98ObqqERw4

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนสะเอียบร่วมค้าน “เขื่อนแม่วงก์” ชี้ใช้งบแผ่นดิน มาทำลายอนาคตลูกหลาน

$
0
0

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ ค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์จี้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่ออนาคตของลูกหลาน-ป่าไม้ พร้อมเสนอพัฒนาแก้มลิง ระบบเหมืองฝาย ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน

 
 
วันที่ 12 เม.ย.55 กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกแถลงการณ์ “คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์ หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทำลายป่า หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์”
 
จากการที่รัฐบาลได้มีมติ ครม.ในวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562
 
“โครงการทำลายป่าเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการใช้เงินของลูกหลาน มาทำลายป่า ผลที่รับกลับมาคือการทำลายอนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
 
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้น มาอย่างยาวนาน แสดงความเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ
 
อีกทั้ง เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญ พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี และยังส่งกระทบน้อยมากต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง
 
“ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่าเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป” แถลงการณ์ระบุ
 
 
ทั้งนี้โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการหนึ่งในแผนลุ่มน้ำพัฒนาสะแกกรัง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2525-2529 ครอบคลุมพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำแม่วงก์ ลุ่มน้ำคลองโพธิ์ และลุ่มน้ำห้วยทับเสลา ซึ่งทั้ง 3 ลุ่มน้ำจะไหลลงมารวมกันที่แม่น้ำสะแกกรัง จ.นครสวรรค์ และจะสามารถรองรับน้ำได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตาม 6 มาตรการ คือ 1.การเร่งรัดการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 2.การขออนุญาตพื้นที่จากกรมอุทยานป่าไม้ 3.การสำรวจข้อมูลด้านวิศกรรม 4.การปลูกป่าทดแทน 5.การเพิกถอนอุทยานเพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง 6.การบูรณาการพื้นที่หลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น
 
 
 
แถลงการณ์กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า คัดค้านการสร้างเขื่องแม่วงก์
หยุดอ้างน้ำท่วมเพื่อทำลายป่า หยุดกู้เงินเพื่อมาทาลายป่า
หยุดธุรกิจการเมือง หยุดผลาญงบประมาณแผ่นดิน หยุดเขื่อนแม่วงก์
 
จากการที่รัฐบาลได้มีมติ ครม. ในวันที่ 10 เมษายน 2555 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 8 ปี อีกทั้งยังผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ความไม่ชอบมาพากลเป็นอย่างยิ่ง โครงการทำลายป่าเช่นนี้ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ซึ่งเป็นเงินกู้จากต่างประเทศ เป็นการใช้เงินของลูกหลาน มาทำลายป่า ผลที่รับกลับมาคือการทำลายอนาคตของลูกหลานเรานั่นเอง
 
การสร้างเขื่อนแม่วงก์นอกจากจะทำลายป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์กว่า 11,000 ไร่ (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันไร่) ยังกระทบต่อพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์ สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์ สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์ และปลาน้ำจืดจำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
 
            กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้านที่ทำหน้าที่พิทักษ์ป่าสักทองแก่งเสือเต้น มาอย่างยาวนาน เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรกู้เงินมาทำลายป่า เพราะจะทำให้เกิดปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต และขอให้รัฐบาลยกเลิกการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รวมทั้งยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่ออนาคตของลูกหลาน และเพื่อป่าไม้ซึ่งเปรียบเสมือนปอดของมวลมนุษยชาติ
 
            กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เสนอให้รัฐดำเนินการพัฒนาแก้มลิง พัฒนาระบบเหมืองฝาย โดยใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลักการสำคัญ พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้เลยภายในหนึ่งปี ทั้งยังส่งกระทบน้อยมากต่อป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งใช้งบประมาณน้อยกว่าเขื่อนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายการจัดการน้ำให้ทุกพื้นที่ได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญที่สุด รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องรักษาป่าที่เหลืออยู่อย่าเข้มงวด และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับมาทำหน้าที่รักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่ออนาคตของลูกหลานสืบไป
 
ด้วยจิตรคารวะ
 
กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
12 เมษายน 2555
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ม.ทักษิณ’ ทำบรรจุภัณฑ์ ‘กาแฟบ้านแหร’ ชาวบ้านปลื้มเพิ่มยอดขาย

$
0
0

โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ ม.ทักษิณ ลงชุมชนช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์กาแฟโบราณบ้านแหร ชาวบ้านปลื้มยอดขายกาแฟเพิ่ม พฤษภาฯ ลุยต่อ ร่วมจัดเวทีวางแผนพัฒนาศักยภาพชุมชน

 
 
นางรูฮานา อาซัม ตัวแทนกลุ่มสตรีทำกาแฟโบราณบ้านแหร ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16–17 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณบ้านแหร กับแกนนำชุมชนบ้านแหรและกลุ่มสตรี จากนั้นมีการบันทึกวิดีโอเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต และสัมภาษณ์กลุ่มสตรีถึงแนวคิดในการรวมกลุ่มเพื่อนำไปประชาสัมพันธ์
 
นางรูฮานา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการฯ ได้มอบกล่องบรรจุภัณฑ์และเครื่องหีบห่อกาแฟให้แก่ชุมชนบ้านแหรทำให้ขายดีขึ้น โดยในปี 2554 ที่ผ่านมา กลุ่มของตนสามารถขายกาแฟโบราณบ้านแหรได้ 36 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 300 บาท ได้กำไรประมาณ 7–8 พันบาท จากเดิมที่ปีหนึ่งๆ ขายได้เพียงไม่กี่กิโลกรัม
 
“บ้านแหรมีการรวมกลุ่มสตรีทำกาแฟเป็นอาชีพเสริม 4–5 กลุ่ม เป็นธุรกิจภายในครัวเรือน ขั้นตอนการผลิตจะใช้แรงงานคนในชุมชนเป็นหลักทั้งการคั่วโดยใช้ฟืนการตำกับครกไม้ โดยขายปลีกกันในชุมชนละแวกใกล้ๆ ขายส่งไปยังปัตตานี นราธิวาส กรุงเทพฯ ตามที่มีผู้สั่งซื้อ” นางรูฮานา ให้ข้อมูล
 
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ เปิดเผยว่า นอกจากจะสนับสนุนบรรจุภัณฑ์และเครื่องหีบห่อกาแฟบ้านแหรแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2555 ทางโครงการฯ จะจัดเวทีระดมความคิดเห็นที่บ้านแหร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาศักยภาพชุมชนด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อเกาหลีเหนือระบุแผนปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง 3 ล้มเหลว

$
0
0

สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือ เคยรายงานก่อนหน้านี้เมื่อ 16 มี.ค. ว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือมีความมั่นใจว่าโครงการปล่อยจรวด เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจะประสบความสำเร็จ

สำนักข่าว KCNA ของเกาหลีเหนือเผยแพร่ภาพผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนต่างประเทศ ได้รับเชิญไปดูฐานปล่อยจรวดโซแฮ เมื่อ 8 เม.ย. ก่อนการปล่อยจรวดอึนฮา-3 เพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง 3

สถานีโทรทัศน์กลางเกาหลีเหนือ (KCTV) เผยแพร่ภาพอนิเมชั่นการปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-2 เมื่อปี 2552

สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ รายงานว่ามีการปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง-3 ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเช้าวันนี้ แต่การส่งเกิดล้มเหลว โดยสถานีภาคพื้นดิมไม่สามารถตรวจสอบวิถีโคจรของดาวเทียมได้

สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ (KCNA) รายงานว่า การปล่อยจรวดอึนฮา-3 (Unha-3) เพื่อส่งดาวเทียมกวางเมียงซง 3 (Kwangmyongsong-3) ที่ฐานปล่อยจรวดโซแฮ เมืองโชซาน จังหวัดปยองอันเหนือ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 7.38 น. 55 วินาที ตามเวลาท้องถิ่นวันนี้ (13 เม.ย.) หรือ 5.38 น. ตามเวลาในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามสถานีตรวจสอบดาวเทียมภาคพื้นดินล้มเหลวที่จะตรวจสอบวิธีโคจรของดาวเทียมดังกล่าว โดยนักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญขณะนี้กำลังตรวจสอบสาเหตุของความล้มเหลวดังกล่าว

ด้านสำนักข่าวยอนฮับของทางการเกาหลีใต้ อ้างข้อมูลของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ว่า จรวดเกิดระเบิดขึ้นใน 2 นาทีหลังจากปล่อยออกไป และแตกออกเป็น 20ชิ้น และตกลงไปในน่านน้ำสากลห่างจากชายฝั่งเกาหลีเหนือไปทางทิศตะวันตก

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุด้วยว่า กองทัพเกาหลีใต้ ได้ทำการค้นหาบริเวณดังกล่าวเพื่อกู้ซากจรวด

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวยอนฮับ รายงานด้วยว่า เกาหลีเหนือได้ขู่ไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะตอบโต้อย่างทันทีและไร้ความปราณี ต่อประเทศใดๆ ก็ตามที่สกัดกั้นการปล่อยจรวดหรือเข้าเก็บซากจรวด

 

 

ที่มา: แปลจาก

N. Korea says its satellite failed to enter orbit, Yonhap, 2012/04/13 13:50 KST

DPRK′s Satellite Fails to Enter Its Orbit, KCNA, 13 April 2012 http://www.kcna.kp/

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images