Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ยังมีเหตุรุนแรงในซีเรีย แม้คณะผู้ตรวจการเยือนประเทศแล้ว

$
0
0

โอบาม่าประกาศคว่ำบาตรผู้ที่เอื้อให้ซีเรียและอิหร่านใช้เทคโนโลยีในการติดตามตัวและปราบปรามประชาชน

24 เม.ย. 2012 - นักกิจกรรมรายงานว่ากองทัพซีเรียสังหารประชาชนหลายสิบคนในเมืองฮามา ในขณะเดียวกับที่คณะผู้ตรวจการของสหประชาชาติเยือนสถานที่ชุมนุมประท้วงใกล้กับกรุงดามากัส ด้านสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ 

กลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในซีเรียเปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ (23) ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เข้าโจมตีย่านอาบีนด้วยปืนกลหนักและปืนกลเบา ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 28 ราย

กลุ่มนักกิจกรรมยังได้โพสต์วิดีโอแสดงให้เห็นภาพกลุ่มควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังการระเบิดของกระสุนปืนครกที่ตกลงมาในพื้นที่ บ้างก็รายงานว่ามีการยิงถล่มด้วยปืนครกก่อนที่กองทัพจะเข้ามา

มูวซับ นักกิจกรรมในพื้นที่บอกว่า มีรถถังกับปืนใหญ่เปิดฉากโจมตีในตอนเช้า มีบ้านหลายหลังไฟลุกไหม้ จากนั้นกองทัพทหารก็เข้ามาแล้วก็ไล่ยิงผู้คนบนถนน

ตอนนี้ซีเรียยังคงมีการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ของสื่อต่างชาติ ทำให้สื่อไม่สามารถระบุต้นตอความรุนแรงได้แน่ชัด

การหยุดยิง "ยังไม่สมบูรณ์"

จากความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์รุนแรง บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติก็ได้อนุมัติให้มีการส่งคณะผู้ตรวจการการหยุดยิงในซีเรีย 300 คน ในสัปดาห์หน้า

 

บันคีมูน กล่าวย้ำว่า ขอให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ของซีเรียให้การคุ้มกันคณะผู้ตรวจการซึ่งไม่ระบุชื่อ และให้พวกเขาเดินทางได้โดยเสรี

อย่างไรก็ตาม ลิน ปาสเค หัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของบังคีมูน กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า อัสซาดยังไม่ได้ทำตามข้อตกลงหยุดยิงโดยสมบูรณ์

คณะผู้ตรวจการจากยูเอ็นได้ไปเยือนแหล่งชุมนุมประท้วงหลายแห่งใกล้กับเมืองหลวงและพบปะกับผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านหลายพันคนที่เรียกร้องให้มีรัฐบาลถูกโค่นล้ม

ทางคณะผู้ตรวจการยังได้เยือนเมืองซาบาดานีที่มีการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านอยู่หลายระลอกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ภาพวีดิโอของนักกิจกรรมเผยให้เห็นคณะผู้ตรวจการเดินผ่านรถถังบนท้องถนน แม้ว่าหนึ่งในแผนการสันติภาพของโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาฯ ยูเอ็น จะมีการเรียกร้องให้นำรถหุ้มเกราะออกจากพื้นที่ชุมชนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม รักษาการ รมต. ต่างประเทศของซีเรียก็ย้ำว่า รัฐบาลปฏิบัติตามแผนการของอันนันอย่างเต็มที่ แต่ฝ่าย "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งพวกเขาใช้กล่าวถึงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังไม่ยอมรับแผนการดังกล่าว

นาบิล อราบี ประธานสันนิบาตชาติอาหรับเรียกร้องให้มีการใช้กระบวนการทางการเมืองในการแก้วิกฤติความรุนแรงในซีเรีย

โอบาม่าบอกรัฐบาลซีเรียและอิหร่าน "ใช้เทคโนโลยีไปในทางอันตราย"

สมาชิกสองรายของคณะผู้ตรวจการ ได้ปักหลักอยู่ที่เมืองฮอมในวันอาทิตย์ (22) ที่ผ่านมา ด้านสื่อรัฐบาลซีเรียรายงานว่ามีการส่งตัวคณะผู้ตรวจการทหารเดินทางเยือนย่าน อัล-เวร์ ของเมืองฮอม

 

นักกิจกรรมต่างรู้สึกสงสัยในภารกิจเยือนซีเรียของยูเอ็น พวกเขาบอกว่ารัฐบาลเพียงแค่ซื้อเวลาไว้โดยไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการหยุดยิง พวกเขาบอกอีกว่า แม้ในเขตที่คณะผู้ตรวจการไปเยือนจะมีการหยุดการต่อสู้กันแล้ว แต่ยังคงเกิดความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ เช่นกรุงดามากัส, ฮามา และเดรา

ทางสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ โดยสั่งห้ามการส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย และจำกัดการขายสินค้าที่อาจนำมาใช้ปราบปรามประชาชนได้

ประธานาธิบดีโอบาม่า ของสหรัฐฯ ก็ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่เมื่อวันจันทร์ (23) ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายคือผู้ที่ช่วยให้รัฐบาลซีเรียและอิหร่าน ติดตามตัวผู้ต่อต้านรัฐบาลได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์

โอบาม่ากล่าวว่า สองชาตินี้ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้านแรงผ่านทางการใช้เทคโนโลยีติดตามตัว และ "ใช้เทคโนโลยีไปในทางที่เป็นอันตราย" โดยการใช้ตรวจตราสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อวางแผนโจมตีกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

"เทคโนโลยีเหล่านี้ควรใช้ในการส่งเสริมประชาชน ไม่ใช่ใช้ปราบปรามประชาชน" โอบาม่ากล่าว การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในครั้งนี้คือการอายัดทรัพย์สินและระงับวีซ่าบริษัทของอิหร่านและซีเรีย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาในการใช้วางแผนปราบประชาชน

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียกล่าวประณามการคว่ำบาตรในครั้งนี้ว่า "เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ หากมองในมุมของกฏหมายสากล"

 

 

ที่มา

Syrian troops 'kill dozens' in Hama, Aljazeera, 24-04-2012

http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/04/20124244145281848.html

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทเรียนสันติภาพจากอาเจะห์สู่ปาตานี: จาก GAM สู่ Partai Aceh ภายใต้ Autonomy

$
0
0

 

การต่อสู้ของปาตานีไม่ได้เป็นที่รับรู้ของชาวโลกเท่าที่ควร จึงไม่มีการสนับสนุนจากนานาประเทศเกี่ยวกับความต้องการของประชาชนคนปาตานี อีกทั้งข้อมูลที่มีอยู่ของปาตานียังไม่ได้เป็นข้อมูลที่เผยแพร่ในระดับสากล หากเปรียบเทียบกับอาเจะห์ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งคล้ายๆ ปาตานีแล้ว หลังจากเกิดสึนามิในปี 2004 จึงได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ ทำให้อาเจะห์ได้เป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้ประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันอาเจะห์ถือว่าได้รับสันติภาพกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

การเดินทางไปยังประเทศอินโดนีเซียเมื่อตอนต้นปีของผู้เขียนพร้อมกับทีมงานที่เป็นผู้เข้าร่วม 7 คน เป็นตัวแทนจากกลุ่มสื่อ 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านเยาวชน 2 คน กลุ่มที่ทำงานด้านผู้หญิง 2 คน และทำงานด้านสันติวิธี 1 คน ทั้งหมดคือตัวแทนจากคนทำงานภาคประชาสังคมที่เป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับเลือกเพื่อไปศึกษาดูการทำงานของเอ็นจีโออินโดนีเซีย และไปดูการทำงานของเอ็นจีโออาเจะห์ เพื่อนำบทเรียนกลับมาใช้เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้หลังจากได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนมากหน้าหลายตาที่นั่น

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 200 ล้านคน กลุ่มชาติพันธ์กว่า 1,128 กลุ่ม มีเกาะ 17,508 เกาะ และ (ยังมีอีก 9,634 เกาะที่ยังไม่มีชื่อ) มีทั้งหมด 756 ภาษาที่เป็นภาษาพื้นเมือง ปัจจุบันมี 33 จังหวัด และ 491 อำเภอ หลังจากที่อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากฮอลแลนด์ในปี ค.ศ. 1945 ประเทศอินโดนีเซียได้มีอธิปไตยเป็นของตนเองภายใต้การปกครองของประธานธิบดีซูการ์โน โดยได้ยึดหลักซุมเปาะห์เปอมือดอ (Youth Declaration) ปี ค.ศ.1928 คือ “One Nation, One Language, One Homeland” ซึ่งเป็นคำประกาศที่เป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับดัชต์ เป็นวิธีการสร้างจุดร่วมในการต่อสู้ของชาวอินโดนีเซียเพื่อรวมกันเป็นหนึ่งในหลากหลายชาติพันธ์เพื่อต่อสู้ขับไล่กับศัตรูในยุคล่าอาณานิคม

หลังจากอินโดนีเซียได้รับเอกราชไม่นาน การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราชของชนกลุ่มน้อยภายในประเทศอินโดนีเซียก็เกิดขึ้น พอถึงปี ค.ศ.1998 กลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้ประกอบไปด้วยชาวอาเจะห์ ชาวมาลุกู ชาวโปโซ  ชาวกะลิมันตันบารัต ชาวปาปัวนิวกีนี  และชาวติมอร์บารัต ซึ่งปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้คลี่คลายลงไปบ้างแล้ว หลังจากที่ติมอร์เลสเตได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ.1999 และอาเจะห์ได้กลายเป็นจังหวัดที่มีการปกครองพิเศษของอินโดนีเซียเมื่อปี 2005

ทั้งนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเปรียบเทียบกระบวนการการต่อสู้ของประชาชนชาวอาเจะห์ ช่วงก่อนระหว่างและหลังสันติภาพของเจะห์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงปี 1976-1979 ในช่วงก่อตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมีชื่อว่า GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ก่อตั้งโดย ฮาซัน ติโร (Hasan Tiro) และเพื่อน ช่วงนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่เป็นการจัดตั้งเยาวชนเพื่อไปฝึกยังต่างประเทศในแถบตะวันออกกลางโดยเฉพาะที่ประเทศลิเบีย จะมีการเคลื่อนไหวแบบจรยุทธ์และการโจมตีขนาดเล็กซึ่งไม่ได้ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคงของอินโดนีเซียมากนัก ถือว่าเป็นช่วงการเตรียมพร้อมของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์

ช่วงปี 1979 -1989 กลุ่มผู้นำต่างๆ ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศได้กลับมายังมาตุภูมิเพื่อจัดตั้งและฝึกอาวุธ พร้อมทั้งเน้นการขยายฐานและจัดตั้งมวลชนภายในอาเจะห์ตามหมู่บ้านต่างๆ การจัดตั้งลักษณะนี้เรียกว่า DOM หรือ (Daerah Operasi Militar) เป็นการขยายเขตเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดตั้งของขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์หรือเป็นการสร้างฐานที่มั่นนั้นอง ในขณะเดียวกันก็ส่งออกเยาวชนเพื่อฝึกฝนการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ในช่วงนี้พวกเขาจึงจะไม่เน้นการก่อเหตุ อีกทั้งยังอยู่ในช่วงเวลาที่ขบวนการต่อสู้เองก็ไม่ได้เปิดเผยตัวตน ถือว่าเป็นยุคของการปิดตัวและไม่สามารถขยายงานการเมืองในระดับชาติและสากล ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากปัจจัยภายในประเทศที่บรรยากาศทางการเมืองยังอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการซูฮาร์โต ซึ่งเป็นเผด็จการที่ไม่เปิดรับการทำงานของภาคประชาสังคม เพราะยังไม่เป็นประชาธิปไตย

กลุ่มขบวนการของอาเจะห์ในช่วงนี้ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกขานว่า Kumpulan Kacau Keamanan หรือแปลว่ากลุ่มก่อความไม่สงบ

ช่วงปี 1989-2003 เป็นช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ บรรยากาศประชาธิปไตยเริ่มเปิด การเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม สื่อต่างๆ เริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ เริ่มขยายพื้นที่ทางการเมืองของตัวเอง โดยส่วนหนึ่งได้ขยายงานการเมืองด้านการทำงานภาคประชาชน ขยายกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ในจาการ์ตาหรือภายในประเทศ อีกบางส่วนจะถูกขยายไปยังคนอาเจะห์ที่อยู่ต่างประเทศ เช่น ฮอลันดา ยุโรป สวีเดน และอังกฤษ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ ซึ่งมีผลทำให้รัฐบาลจาการ์ตาต้องคิดหนักเป็นสองเท่าเมื่อต้องการวางกำลังเข้าปราบปรามกลุ่ม GAM หรือขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์เพื่อเอกราช กล่าวคือ รัฐบาลจำต้องคิดหาเหตุผลเพิ่มว่าจะตอบคำถามชาวโลกอย่างไรด้วย  

เหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ได้มีความพยามของทั้งสองฝ่ายที่จะเจรจาเพื่อหาทางออก ได้มีการนัดเจรจาในประเทศที่สาม คือ ประเทศญี่ปุน โดยจัดเจรจาที่กรุงโตเกียว ทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งตัวแทนและให้หลักประกันความปลอดภัยกับตัวแทนของ GAM ที่จะไปเจรจา ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียกลับเบี้ยวและมีการจับกุมตัวแทนฝ่าย GAM ที่ไปเจรจา ณ สนามบินขาออกที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ

การจับกุมครั้งนั้นสามารถคุมตัวไว้ทั้งหมด 5 คน ในขณะที่ตัวแทนอีก 3 คน ที่เป็นตัวแทนเจรจาในครั้งนั้นสามารถเล็ดลอดผ่านไปยังประเทศญี่ปุนได้ หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงอายุ 21 ปี ทำให้เวทีเจรจาดำเนินไปยังตึงเครียดและไม่มีความไว้วางใจจากตัวแทนฝ่าย GAM จนในที่สุดการเจรจาดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในข้อเสนอของรัฐบาลคือการให้การปกครองพิเศษที่ทางอาเจะห์ได้รับอยู่แล้วและไม่มีข้อเสนอใหม่ๆ อีกทั้งยังต่อรองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเหนือให้รับข้อเสนอเดิมตามเอกสารที่ตัวแทนรัฐบาลอินโดนีเซียเขียนมาจากจาการ์ตา หลังจากนั้นทาง GAM ได้ประกาศสงครามและใช้กำลังโจมตีต่อสู้กับผู้รุกรานที่มาจากจากการ์ตาอีกครั้งหนึ่ง

ช่วงปี 2005 อาเจะห์ได้รับสันติภาพหลังจากเหตุการณ์สึนามิได้คร่าชีวิตประชาชนชาวอาเจะห์ไปประมาณ 3 แสนกว่าคน ชาวโลกได้หันมาเห็นอกเห็นใจคนอาเจะห์ที่สูญเสียจากเหตุการณ์สึนามิ อีกทั้งประชาชนชาวอินโดนีเซียไม่สามารถที่จะยอมรับในทางมนุษยธรรมที่จะเห็นรัฐบาลของตนได้เข้าไปรบและฆ่าคนอาเจะห์ได้อีก จึงได้มีการเสนอจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อที่จะเจรจากับฝ่าย GAM เพื่อยุติการสู้รบและหาทางออกทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาอาเจะห์

การเจรจาได้บรรลุและประสบผลสำเร็จโดยอาเจะห์ได้รับการปกครองพิเศษที่แตกต่างจากเดิมเพื่อจัดการตัวเอง โดยมีเงื่อนไขจะต้องสลายพรรค GAM  ที่ใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซียและวางอาวุธที่มีอยู่ทั้งหมด พรรค GAM ถูกสลายกลายเป็นพรรคการเมืองปัจจุบันที่เรียกว่าพรรคอาเจะห์ (Partai Aceh) และได้รับการคัดเลือกเข้ามาบริหารอาเจะห์ ในระบบรัฐสภา พรรคอาเจะห์ชนะการเลือกตั้งโดยมีตัวแทนเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารในรัฐบาลท้องถิ่นของเจะห์

จะเห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของปาตานีจะมีส่วนคล้ายคลึงกันกับอาเจะห์ในช่วงต้น ขบวนการจะไม่มีการเปิดเผยตัวตนและไม่มีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน จนกระทั่งบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเปิด เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยมากขึ้น ในช่วงเผด็จการซูฮาร์โตถูกขับไล่ลงจากอำนาจ ทำให้ขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอาเจะห์ได้ประกาศตนเองแก่ชาวโลก พร้อมกับมีข้อเสนอทางการเมืองที่ชัดเจน

ถ้าเปรียบเทียบกับการต่อสู้ของขบวนการไม่สงบที่ปาตานีในปัจจุบัน อาจเห็นได้ว่าอยู่ในช่วงการต่อสู้ที่ยังไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นฝีมือของขบวนการไหน และมีข้อเสนออะไรทางการเมืองที่ชัดเจน ทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงยังมีข้อถกเถียงจากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักวิชาการและเอนจีโอในอินโดนีเซียอีกมากมายว่าการเจรจาสันติภาพที่อาเจะห์นั้น จริงๆ แล้วได้รับอานิสงส์จากภัยธรรมชาติคือสึนามิ แต่บางกลุ่มกลับระบุว่า ยังมีเงื่อนไขอื่นอีกไม่ใช่แค่เพราะสึนามิอย่างเดียว

ที่น่าสนใจก็คือ สันติภาพที่เรียกว่า Autonomy  หรือการปกครองพิเศษในปัจจุบันนั้น จริงๆ แล้วเป็นสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่? ประชาชนคนอาเจะห์มองสันติภาพในครั้งนี้ว่าอย่างไร? และปาตานีจะได้บทเรียนอะไรจากสันติภาพในอาเจะห์ครั้งนี้ ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่จะหามือระเบิดพลีชีพสักคน

$
0
0

 

“หนึ่งทศวรรษหลัง 9/11 เรื่องที่เป็นปริศนาไม่ใช่ว่าทำไมมุสลิมจำนวนมากจึงหันสู่การก่อการร้าย แต่กลับเป็นว่าทำไมเป็นส่วนน้อยต่างหากที่เข้าร่วมญิฮาดของอัลกออิดะห์”

รถเช่าคันนั้นเลี้ยวเข้าสู่ทางเดินด้านหลังสำนักทะเบียนและเล่นไปช้าๆ บนถนนอิฐที่ทอดผ่านโรงอาหารและภาควิชาภาษาอังกฤษ ห่างเพียงไม่กี่ก้าวจากที่ทำงานของผม เพลง “Beyond Time” เพลงแดนช์อัพบีตเยอรมัน เป็นเพลงที่เปิดในเครื่องเสียงรถยนต์ คนขับคือ โมฮัมเหม็ด ตาฮรี-อซาร์ (Mohammed Taheri-Azar) เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโลไลนาแห่งนี้เมื่อสามเดือนก่อน ดังนั้นเขาจึงคุ้นเคยกับสถานที่เป็นอย่างดี พ้นไปจากโรงอาหารจะเป็นลานกว้างที่เรียกกันว่า เดอะพิต (the Pit) ที่นักศึกษาจะมานั่งเล่นกันในตอนเที่ยงในวันอากาศอบอุ่นในฤดูหนาวของต้นปี 2006 ตาฮรี-อซาร์วางแผนว่าจะฆ่าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เขาไม่มีอาวุธอะไรเลยนอกจากมี สเปรย์พริกไทยและรถ SUV ขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่เขาเช่ามาเพื่อพุ่งชนคนแล้วร่างที่ถูกชนจะไม่ติดกับตัวรถ  เมื่อขับถึงเดอะพิต ตาฮรี-อซาร์ เร่งความเร็วและหักเลี้ยวชนคนที่อยู่กระจัดกระจาย นักศึกษาถูกชนล้มลงบ้างถูกเกี่ยวติดบังโคลนในขณะที่จำนวนมากถูกชนจนลอยม้วนจากฝากระโปรงและร่วงตกลงมาจากกระจกหน้า ตาฮรี-อซาร์เลี้ยวไปทางซ้ายจนสุดลานกว้างชนนักศึกษาอีกสองคนที่หน้าหอสมุดจากนั้นจึงเร่งเครื่องออกจากมหาวิทยาลัยตรงบริเวณที่ทำงานผม

ตาฮรี-อซาร์ขับรถลงจากเนินอันเป็นที่มาของวิทยาเขตชาเปล ฮิลล์ (Chapel Hill) จนถึงย่านที่พักอาศัยอันเงียบสงบ เขาจอดรถและกด 911 จากโทรศัพท์มือถือของเขา “ผมเพิ่งขับรถชนคนหลายคนมาครับ” เขาพูดกับโอเปอเรเตอร์ “ผมไม่มีอาวุธหรืออะไรทั้งสิ้น คุณสามารถมาจับตัวผมได้เลยตอนนี้”

โอเปอเรเตอร์ถามว่าเขาทำไปทำไม เขาตอบว่า “ที่ผมทำลงไปเป็นการลงโทษรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกขณะนี้” ดังนั้นคุณทำสิ่งนี้เพื่อลงโทษรัฐบาล? “ใช่ครับ” เขาปฏิบัติตามคำแนะนำของโอเปอเรเตอร์ วางโทรศัพท์ที่กระโปรงหน้ารถยนต์และเอามือทั้งสองวางบนศีรษะเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาถึง

ก่อนออกจากอพาร์ตเมนต์ในเช้าวันนั้น ตาฮรี-อซาร์ทิ้งจดหมายไว้หนึ่งฉบับบนเตียงนอนเพื่ออธิบายสิ่งที่เขาทำอย่างละเอียด ความว่า:

“เนื่องจากการเข่นฆ่าชายหญิงผู้ศรัทธาภายใต้การบงการของรัฐบาลสหรัฐฯ ผมได้ตัดสินใจใช้ข้อได้เปรียบที่ผมอยู่บนแผ่นดินสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2006 ผมจะเอาชีวิตชาวอเมริกันและผู้สมรู้ร่วมคิดให้ได้มากที่สุดที่ผมจะสามารถทำได้เพื่อเป็นการลงโทษสหรัฐฯ สำหรับการกระทำที่ไร้ศีลธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในอัลกุรอ่าน อัลเลาะห์ทรงอนุญาตให้ชายและหญิงผู้มีศรัทธาฆ่าใครก็ตามที่รับผิดชอบต่อการฆ่าชายหญิงผู้ศรัทธาคนอื่น ผมรู้ว่าอัลกุรอ่านเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แท้จริงและชอบธรรมเพราะได้รับการตรวจสอบอย่างครบถ้วนจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่และยังได้รับการถอดรหัสทางคณิตศาสตร์ด้วยหมายเลข 19 ที่อยู่เหนือความสามารถของมนุษย์  หลังจากได้ทำสมาธิและไตร่ตรองอย่างเต็มที่แล้ว ผมได้ตัดสินใจที่จะใช้สิทธิในการตอบโต้ด้วยความรุนแรง ที่อัลเลาะห์ทรงมอบให้อย่างเต็มที่เท่าที่ผมจะสามารถจะกระทำได้ในปัจจุบัน

ผมได้เลือกสถานที่เป็นการเจาะจงไว้แล้ว มหาวิทยาลัยจะเป็นเป้าหมายของผมเพราะผมรู้ดีว่าที่นั่นมีโอกาสสูงที่ผมจะฆ่าคนได้หลายคนก่อนที่ผมจะฆ่าตัวตายหรือถูกจับกุมคุมขังตามแต่อัลเลาะห์ประสงค์ พระบัญชาจากองค์อัลเลาะห์ไม่เคยเป็นที่กังขาและพระบัญชาของพระองค์ต้องปฏิบัติตาม”

ในวันนั้นมีคนกระดูกหักและบาดเจ็บอื่นๆรวม9 ราย โชคดีที่ ตาฮรี-อซาร์ ไม่ได้ฆ่าใครตาย เดิมที ตาฮรี-อซาร์มีแผนที่จะเข้าร่วมต่อสู้ในอัฟกานิสถานหรืออิรัก แต่เขาเปลี่ยนใจเพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับวีซ่าท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ จากนั้นเขาจึงสนใจที่จะเข้าสมัครเป็นทหารและจะทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงที่วอชิงตัน ดี.ซี. แต่นึกขึ้นได้ว่าเขาสายตาสั้นเกินกว่าที่ทางกองทัพจะยอมรับให้เป็นนักบิน เขาจึงมองมาใกล้ตัวมากขึ้น อย่างการยิงกราดใส่ฝูงชนในมหาวิทยาลัย จดหมายจากเรือนจำของเขาระบุว่าเขาเคยคิดแผนการที่จะยิงกราดในโรงอาหาร ซึ่งผมไปกินข้าวเที่ยงที่นั่นเป็นประจำ

หลายสัปดาห์ก่อนหน้าการโจมตี ตาฮรี-อซาร์ซ้อมยิงปืนแบบมีที่ชี้เป้าเลเซอร์ ที่สนามยิงปืนใกล้ๆ บ้านแต่เขาพบว่าเขาไม่สามารถซื้อปืนได้โดยที่ไม่มีใบอนุญาต ที่จริงตาฮรี-อซาร์สามารถซื้อไรเฟิลได้เลยเพียงแค่กรอกแบบฟอร์มของรัฐบาลกลาง แต่เขาตั้งใจจะซื้อปืนกล็อก ต่อมาที่อพาร์ตเมนต์ เขาเริ่มกรอกแบบฟอร์มขอใบอนุญาต แต่ก็เปลี่ยนใจเมื่อพบว่าเขาจะต้องหาเพื่อนสามคนมาเซ็นรับรองว่ามีความประพฤติดี เขาบ่นไว้ในจดหมายที่ทิ้งไว้บนเตียงว่า “กระบวนการในการขอใบอนุญาตครอบครองปืนของเมืองนี้มีความเข้มงวดมากและผมไม่สามารถเข้าถึงมันได้ในตอนนี้” หนึ่งเดือนต่อมา ในคุก เขาได้เหตุผลต่อการตัดสินใจของเขาคือ “บางทีปืนอาจเกิดขัดข้องและการมีปืนสักกระบอกอาจจะทำให้ผมเป็นที่เพ่งเล็งจากพวก FBI ซึ่งจะทำให้แผนการโจมตีของผมล้มเหลว” ตาฮรี-อซาร์อาจเป็นผู้ก่อการร้ายเพียงรายเดียวในโลกที่มีปัญหากับกฎหมายควบคุมอาวุธปืน

ความไร้ความสามารถของตาฮรี-อซาร์ในฐานะผู้ก่อการร้ายอาจจะเป็นเรื่องชวนหัว แน่นอนว่าคนๆหนึ่งที่ต้องการที่ฆ่าและตายด้วยเป้าหมายบางอย่าง ใช้เวลาหลายเดือนในการไตร่ตรองคิดแผนโจมตีควรจะพบวิธีฆ่าคนที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้   ทำไมเขาถึงไม่สามารถหาอาวุธปืนหรือประดิษฐ์ระเบิดหรือลองใช้วิธีการสังหารนับร้อยที่เรารู้กันผ่านภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต นี่ไม่ต้องพูดถึงจากข่าวต่างๆ แต่ตาฮรี-อซาร์เลือกที่จะขับรถชนคน ทำไมเขาถึงเลือกสถานที่ที่ไม่มีพื้นที่มากพอที่จะเร่งความเร็วได้?

ที่น่าฉงนไปกว่านั้นคือเราไม่เห็นการก่อการร้ายแบบนี้เท่าไรนัก ในรอบทศวรรษของ “สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโลก” ที่ก่อโดยสหรัฐฯ ที่เป็นการตอบโต้การโจมตีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ถ้ารถยนต์ทุกคันสามารถเป็นอาวุธได้ ทำไมเราจึงไม่ค่อยพบการโจมตีด้วยรถยนต์มากกว่านี้? คาร์บอมบ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในทศวรรษ 1920 โดยคันแรกระเบิดที่วอลล์สตรีท แต่การจะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ทักษะขั้นสูง ในทางกลับกัน การฆ่าโดยขับรถพุ่งชน  อาศัยทักษะความชำนาญเพียงน้อยนิด การฆ่าคนด้วยรถยนต์มีมาตั้งแต่รถยนต์ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาและการโจมตีด้วยรถยนต์เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองเป็นที่รู้จักผ่านภาพยนตร์ดังเมื่อปี 1966 เรื่อง The Battle of Algiers ที่นักปฏิวัติอัลเจียเรีย 2 คนขับรถพุ่งเข้าชนป้ายรถโดยสารประจำทางที่เต็มไปด้วยผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสที่ยืนรอรถเมล์อยู่ กระนั้นมีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่เลือกใช้วิธีการนี้เป็นการก่อการร้าย ในจำนวนมุสลิมหลายล้านคนในสหรัฐฯ มีเพียงตาฮรี-อซาร์เป็นคนแรกที่พยายามใช้วิธีการโจมตีแบบนี้ และอาจเป็นได้ว่ามีอีก 2 รายที่ลอกเลียนวิธีการนี้ อันนำไปสู่การเสียชีวิตของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 1 ราย (ในการไต่สวน โอมีด โปปาล ผู้สังหารคนเดินถนนหนึ่งรายนั้น ถูกเลื่อนออกมาหลายปีเพราะต้องพิสูจน์สภาพจิตของผู้ต้องหาว่ามีความพร้อมที่จะได้รับการไต่สวนหรือไม่) นอกจากรถยนต์แล้ว มีอาวุธในการก่อการร้ายอื่นๆ จำนวนมากมายที่สามารถหาได้อย่างง่ายดาย คู่มือสำหรับผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมฉบับหนึ่ง ที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2006 ให้รายชื่อ “อุปกรณ์พื้นฐาน” 14 อย่างที่ “ใช้และหาได้ง่ายสำหรับทุกคนที่ต้องการต่อสู้กับศัตรูที่มายึดครอง” หนึ่งในนั้น คือ “ขับรถยนต์พุ่งชนบุคคลอื่น” (หมายเลขที่ 14) และ “วางเพลิงเผาบ้านหรือห้องขณะที่ทุกคนนอนหลับ” (หมายเลขที่ 10)

ถ้าวิธีการก่อการร้ายต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้อย่างง่ายๆ อย่างการใช้รถยนต์ ทำไมจึงมีผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมเพียงน้อยนิดเท่านั้น? ท่ามกลางความตายและการทำลายล้างที่ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ก่อ คำถามนี้ออกจะไร้สาระ  แต่ถ้าคิดดูดีๆ ว่าโลกเรามีมุสลิมมากกว่าพันล้านคน พวกเขาจำนวนมากน่าจะเกลียดชังตะวันตกและปรารถนาจะพลีชีพ  ทำไมเราจึงไม่เห็นการโจมตีก่อการร้ายในทุกหนทุกแห่งและทุกๆ วัน?

ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมก็ถามคำถามนี้เช่นกัน ในมุมมองของพวกเขาตะวันตกได้รุกรานโจมตีสังคมมุสลิมมาอย่างยาวนาน ก่อนหน้า 9/11 มานานนัก การรุกรานนี้ทั้งได้แก่การโจมตีทางทหาร การครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจ และความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรม และพวกเขาเชื่อว่าการคุกคามเหล่านี้นับวันจะยิ่งหนักหน่วงยิ่งขึ้น อิสลามนิยมเสนอทางออก คือ การสถาปนาการปกครองแบบอิสลาม อิสลามนิยมแบบปฏิวัติเสนอยุทธศาสตร์ในการสถาปนารัฐอิสลามได้แก่ การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ นักปฏิวัติแบบก่อการร้ายเสนอกลยุทธ์ในการปลุกระดมให้เกิดการลุกฮือด้วย การโจมตีพลเรือน เพราะเชื่อว่าการโจมตีจะทำลายขวัญกำลังใจของศัตรู ปลุกจิตใจชาวมุสลิมให้ฮึกเหิม และทำให้ความขัดแย้งแหลมคมยิ่งขึ้น อันจะทำให้ชาวมุสลิมสู่การตระหนักว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นวิถีทางเดียวในการปกป้องอิสลาม

แต่ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมกำลังเป็นวิตกว่ามันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังเอาไว้ การก่อการร้ายไม่ได้นำชาวมุสลิมสู่การปฏิวัติ ผู้ก่อการร้ายชั้นนำคร่ำครวญเสมอว่า ทำไมชาวมุสลิมจึงไม่ออกมาต่อต้านตะวันตกมากกว่านี้? ต้องทำอะไรมุสลิมจึงจะออกมาจับอาวุธต่อสู้?

อุซามะฮ์ บิน ลาเดนผู้ล่วงลับก็เคยกล่าวในทำนองนี้เป็นประจำ “แต่ละวัน ฝูงแกะหวังว่าหมาป่าจะหยุดฆ่าพวกเขา แต่บทสวดอ้อนวอนเหล่านี้กลับหาได้รับคำตอบไม่” เขาประกาศเอาไว้เมื่อปี 2008 “ใครก็ตามที่มีเหตุมีผลย่อมมองเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกชักจูงให้หวังลมแล้งๆ เรื่องเหล่านี้แหละคือภารกิจของเรา” บิน ลาเดนและอัยมัน อัซเซาะวาฮิรี  ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำของอัลกออิดะห์ ได้แสดงถ้อยแถลงด้วยน้ำเสียงแห่งชัยชนะและแรงบันดาลใจ แต่ความไม่พอใจต่อสถานการณ์กลับถูกเผยให้เห็นตลอดถ้อยแถลง “ไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับคนที่ยังหลบอยู่ข้างหลังการต่อสู้นี้” อัซเซาะวาฮิรีบรรยายในวิดีโอที่เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2007 “พวกเรายังคงเป็นนักโทษ ที่ถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวนขององค์การ [อิสลามกระแสหลัก] และมูลนิธิต่างๆ ไม่ให้กระโจนเข้าสู่สนามรบ เราจำต้องทำลายห่วงโซ่ที่พันธนาการกีดขวางเรากับการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตนของเราให้จงได้”

วิดีโอปลุกระดมจัดตั้งของอัลกออิดะห์เมื่อปี 2008 ถามว่า “พี่น้อง บอกข้าทีสิว่า เมื่อไหร่พวกคุณจะโกรธ? ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเราถูกละเมิด สิ่งก่อสร้างของเราถูกทำลาย และคุณยังไม่โกรธ ถ้านักรบของเราถูกฆ่า ศักดิ์ศรีถูกหยามหมิ่นและโลกของเรามาถึงจุดจบ แล้วคุณยังไม่โกรธ บอกข้าทีสิ เมื่อไหร่ที่คุณจะโกรธ?” วิดีโอสรุปว่าถ้าเช่นนั้นก็ไม่มีความเป็นชายพอที่จะเข้าร่วมญีฮาด “ดังนั้นจงอยู่อย่างกระต่ายและตายอย่างกระต่าย”

ผู้ก่อการร้ายอื่นๆ ใช้ข้อความเสียดแทงใจเหมือนๆ กันนี้เพื่อชักจูงให้มุสลิมเข้าร่วมกิจกรรมปฏิวัติ “เกิดอะไรขึ้นกับประชาชาติมุสลิม?” กลุ่มสู้รบชาวปากีสถานฮาร์กัต อุลมูจาฮิดิน (Harkat ul-Mujahideen) กล่าวไว้ในเวปไซต์ของพวกเขา “เมื่อกาฟีร์เอามือมาแตะต้องลูกสาวของพวกเขา ชาวมุสลิมไม่แม้กระทั่งจะขยับนิ้วเพื่อปกป้อง” อาบู มูซาบ อัล-ซูริ นักยุทธศาสตร์ของการปฏิวัติอิสลามชื่อดัง กล่าวว่ามันเป็นเรื่อง “น่าละอาย” (regrettable) ที่มีมุสลิมเพียงน้อยนิด เพียงหนึ่งในล้านคนที่เข้าร่วมญีฮาดในอัฟกานิสถาน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ผู้สนับสนุนญีฮาดแบบใช้ความรุนแรงได้ประณามและพูดให้เพื่อนมุสลิมรู้สึกผิดมานานหลายทศวรรษแล้ว ซัยยิด กุฎบฺนักฟื้นฟูอิสลามชาวอียิปต์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจแก่ขบวนการอิสลามหลายต่อหลายรุ่น ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ว่า “ความเป็น ประชาชาติมุสลิมได้สูญสิ้นมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว” มีเพียงการปฏิวัติเพื่อสถาปนารัฐอิสลามเท่านั้นจึงจะทำให้ชาวมุสลิมสามารถได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ศรัทธา”

กุฎบฺเสนอว่าญีฮาดปฏิวัติเป็นหน้าที่รวมหมู่ของมุสลิม ในทศวรรษ 1980 อิสลามนิยมสู้รบทำให้การตัดสินทางศาสนามีความชัดเจนขึ้นว่า “ทุกวันนี้ ญีฮาดเป็นหน้าที่ส่วนตัวที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ” เขียนโดยมูฮัมหมัด อับดุล อัลซาลาม ฟาราจ (Muhammed abd al-Salam Faraj) ผู้นำความคิดของกลุ่มที่ลอบสังหารประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์เมื่อปี 1981 ระบุว่าหน้าที่ดังกล่าวจะถือว่าได้ปฏิบัติแล้วก็ต่อเมื่อ “เผชิญหน้าและเลือด” เท่านั้น อับดุลลาห์ อัซซาม (Abdullah Azzam) หนึ่งในจัดตั้งใหญ่ของขบวนการแนวร่วมญีฮาดต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถานในทศวรรษ 1980 เรียกร้องให้มุสลิมเข้าร่วมกับการต่อสู้ ไม่ใช่เพียงการบริจาคเงินสนับสนุน แต่เป็นหน้าที่ส่วนบุคคล “ที่มุสลิมทุกคนบนโลกใบนี้ต้องทำ ตราบจนภารกิจนี้จะสำเร็จ รัสเซียและคอมมิวนิสต์จะถูกขับไล่ออกไปจากอัฟกานิสถาน ไม่เช่นนั้นบาปจะยังคงแขวนติดอยู่ที่คอของพวกเราอยู่” เมื่อปี 1998 บิน ลาเดนและผองเพื่อนใช้ภาษาแบบเดียวกันนี้ประกาศสงครามกับสหรัฐ “ประกาศให้สังหารชาวอเมริกันและพันธมิตร ทั้งพลเรือนและทหาร เป็นหน้าที่ส่วนบุคคลที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติในทุกประเทศที่สามารถจะกระทำได้”

เป็นเวลาหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมได้เรียกร้องให้มุสลิมปฏิบัติหน้าที่ญีฮาดติดอาวุธต่อต้านผู้ปกครองของตนเอง ต่อต้านโซเวียตและต่อมาคือต่อต้านอเมริกัน คนหลายหมื่นคนปฏิบัติตามคำเรียกร้องเหล่านั้น หรือจากการประเมินของกระทรวงความมั่นคงสหรัฐฯ ที่อาจจะมีจำนวนถึงแสนคนในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา จำนวนดังกล่าวนี้คือนักรบที่มีศักยภาพที่จะใช้ความรุนแรง แม้ว่าจำนวนมากจะไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังและต่อมาจะออกจากขบวนการก็ตาม แต่ในเวลาเดียวกันมุสลิมมากกว่าพันล้านคน หรือมากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ปฏิบัติการ แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องปรกติสำหรับขบวนการปฏิวัติทุกประเภท ที่มีคนเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เข้าร่วมขบวนการ ขบวนการก่อการร้ายฝ่ายซ้ายอย่างเวเธอร์แมน (Weatherman) ในสหรัฐฯ กองทัพแดงในเยอรมนีตะวันตก กองทัพแดง (the Red Brigades) ในอิตาลีดูจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งน้อยกว่าเสียด้วยซ้ำ ที่มีจำนวนนักรบไม่มากไปกว่าพันคนในช่วงกระแสสูงในทศวรรษ 1970 และ 1980 การจัดตั้งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าดูเหมือนจะเป็นขบวนการที่สัมพันธ์กับดินแดนอย่าง IRA หรือ ETA (the Basque Homeland and Freedom Group) และกลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์ ที่ได้รับการประเมินว่ามีสมาชิกเพิ่มขึ้นมากในช่วงยึดครองฉนวนกาซาในปี 2007 คือมีจำนวนสมาชิกในอัตราประมาณ 1 คนต่อประชากร 100 คน ซึ่งจากการประเมินของผม ขบวนการก่อการร้ายอิสลามนิยมระดับโลกสามารถจัดตั้งสมาชิกได้น้อยกว่า 1 คนต่อประชากรมุสลิม 15,000 คนในรอบ 25 ปีที่ผ่านมาและน้อยกว่า 1 ต่อ 100,000 คนหลังกรณี 9/11

ความยากลำบากในการจัดตั้งได้สร้างปัญหาคอขวดสำหรับกลยุทธที่เป็นเอกลักษณ์ของการก่อการร้ายอิสลามนิยม คือ ระเบิดฆ่าตัวตาย องค์กรเหล่านี้มักอ้างว่าตนมีรายชื่ออาสาสมัครที่ต้องการจะพลีชีพ ซึ่งถ้ามีจริงคงเป็นรายชื่อที่ไม่ยาวนัก จัดตั้งของอัลกออิดะห์ นาม คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด (Khalid Sheikh Mohammed) ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2002 หลายเดือนก่อนที่เขาจะถูกจับกุม อย่างมั่นใจถึงความสามารถในการจัดตั้งอาสาสมัครสำหรับ “ภารกิจพลีชีพ” ซึ่งเป็นการเรียก ระเบิดฆ่าตัวตายของชาวก่อการร้ายอิสลามนิยม “เราไม่เคยขาดผู้ผลีชีพที่มีประสิทธิภาพ แน่นอนเรามีแผนกๆ หนึ่งเรียกว่า แผนกพลีชีพ”

“มันยังคงอยู่ใช่มั้ย” โยสรี โฟดา (Yosri Fouda) นักข่าวอัลจาซีร่า ผู้ถูกปิดตาขอให้พาไปสัมภาษณ์ที่อพาร์ทเมนท์ของโมฮัมเหม็ดในการาจี ปากีสถาน ถาม “ใช่แล้ว และยังคงอยู่ตราบที่เรายังคงญีฮาดต่อต้านพวกนอกรีตและไซออนนิสต์ เรามีรายชื่ออาสาสมัคร ปัญหาเดียวที่เรามีในเวลานี้คือการเลือกคนที่เหมาะสม ซึ่งต้องเป็นคนที่คุ้นเคยกับตะวันตก” จำนวนรายชื่อในที่นี้ ไม่ใช่หลักหลักร้อย และเกือบทั้งหมดไม่เหมาะที่จะปฏิบัติภารกิจก่อการร้ายในตะวันตก หลังจากโมฮัมเหม็ด  ถูกจับกุมและได้รับ “การสอบสวนอย่างเข้มข้น” จาก CIA ที่ใช้วิธีการที่รัฐบาลสหรัฐฯประณามมาเป็นทศวรรษว่าเป็นการทรมาน รัฐบาลกลางก็แถลงผลการสอบสวนว่านายโมฮัมเหม็ดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตาย 39 ครั้งและหนึ่งในนั้นคือ การโจมตี 9/11 ที่มีผู้ก่อการจี้เครื่องบินจำนวน 19 คน “เพราะเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะหาได้และสามารถส่งมายังสหรัฐฯ ได้ก่อน 9/11” จากข้อมูลต่อต้านก่อการร้ายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาว แผนการเดิมของ 9/11 จะมีการโจมตีพร้อมกันที่ฝั่งตะวันตกด้วย แต่อัลกออิดะห์ไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ได้ บางทีที่โมฮัมเหม็ด อ้างว่าอัลกออิดะห์“ ไม่เคยขาดผู้พลีชีที่มีศักยภาพ” นั้นอาจเป็นเพียงแค่ราคาคุย

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะนิติราษฎร์

$
0
0

ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ประกาศคณะนิติราษฎร์ ฉบับที่ 34, 25 เม.ย. 55

การเลือกตั้งปทุมธานี ไม่ใช่แค่ปัญหาบุคคลและท้องถิ่น

$
0
0

                ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. และนายก อบจ. ปทุมธานี ได้มีความเห็นจากคนของพรรคเพื่อไทยว่าเป็นความผิดพลาดของตัวบุคคล เรื่องนี้จึงกำลังถูกทำให้พ้นตัวพรรคเพื่อไทย ทำให้เป็นเรื่องส่วนบุคคล และทำให้เป็นปัญหาท้องถิ่น แต่ข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงหรือไม่

ใครควรรับผิดชอบ

                ความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ ควรเป็นของ นายสุเมธ ฤทธาคนี และ ส.ส.ปทุมธานีเท่านั้นหรือไม่ ประการแรกคือ นายชาญ พวงเพ็ชร เป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะพยายามขจัดทิ้ง ประการต่อมา การลาออกจาก ส.ส. ของนายสุเมธ ต้องรับทราบโดยกรรมการพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน และไม่เคยปฏิกิริยาของพรรคเพื่อไทยต่อการลาออกก่อนหน้านี้ ประการที่สาม การลาออกควรจะมีการหารือของ ส.ส.ปทุมธานี จึงมีการหาผู้สมัครคนใหม่ นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ สามีของพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.เพื่อไทยปทุมธานี เขต 4

                จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ กรรมการพรรคเพื่อไทยรับทราบทุกขั้นตอน ดังนั้น ไม่ควรโยนความผิดให้กับนายสุเมธ และ ส.ส.ปทุมธานีเท่านั้น

เพราะน้ำท่วมอย่างเดียวหรือไม่

                การสั่งสอนพรรคเพื่อไทยครั้งนี้เป็นเพราะน้ำท่วมอย่างเดียวหรือไม่ แน่นอนน้ำท่วมมีผลกระทบต่อการตัดสินเฉพาะกลุ่มที่เบื่อการทำงานพรรคประชาธิปัตย์แล้วหันมาเลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่คะแนนที่หายไปจำนวนมากขนาดนี้ย่อมมาจากมวลชนเสื้อแดงด้วย

เมื่อดูได้จากช่วงน้ำท่วม เสียงของเสื้อแดงยังคงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าเป็นเพราะฝีมืออำมาตย์ เหมือนกับที่บทความของสุนัย จุลพงศธร เขียนไว้ แม้กระทั่งการเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มวลชนยังคงต้อนรับอย่างอบอุ่น

                ถึงแม้ว่า ในช่วงน้ำท่วมผู้รับเหมารายย่อยจากย่านอื่นที่ไปติดน้ำท่วมที่ลำลูกกาเล่าว่า เสื้อแดง (ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย) จัดกำลังดูแลพื้นที่น้ำท่วมอย่างดียิ่ง แต่มวลชนเสื้อแดงที่จัดการดูแลตัวเองเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.เพื่อไทยอย่างกระท่อนกระแท่น รวมถึงในพื้นที่ปทุมธานีด้วย

ขณะที่ ทัศนคติของเสื้อแดงนนทบุรีฝั่งตะวันตก ซึ่งน่าจะสะท้อนทัศนคติเสื้อแดงปทุมธานีได้ คือน้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหญ่หลวงจนเปลี่ยนไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้ว่าจะหงุดหงิดพฤติกรรมของ ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยก็ตาม

                แต่สิ่งที่สุนัย ไม่ได้กล่าวถึงเสื้อแดงปทุมธานีเลย คือผลกระทบจากช่วงการชุมนุมเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2553 เสื้อแดงปทุมธานีได้แสดงบทบาทสนับสนุนการชุมนุมราชประสงค์ มีผู้บาดเจ็บหลายราย เช่น การชุมนุมที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง การเผชิญหน้าที่ ขวัญชัย ไพรพนา หลบหนีกลับราชประสงค์ ทิ้งให้มวลชนเสื้อแดงเผชิญหน้ากับทหารเพียงลำพัง

                เมื่อพรรคเพื่อไทยหันหน้าไปปรองดอง และเอาตัวเสื้อแดงที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกัน ทิ้งให้ไร้อิสรภาพมาเกือบสองปี โดยเก้าเดือนอยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่พวกเขาเลือกมากับมือ แล้วพวกเขาจะพอใจได้อย่างไร

                ในเฟซบุ๊ก ข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้ปล่อยตัวเสื้อแดงที่ติดคุก มีคนคลิก “Like” และโพสต์ความเห็นสนับสนุนมากมาย ดังนั้น สุนัย รวมถึงพรรคเพื่อไทย ไม่ควรมองข้ามความรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยกำลังหักหลังพวกเขา

น้ำท่วมเพราะอำมาตย์หรือ

                ในเมื่อสุนัยได้พูดถึงเรื่องน้ำท่วม ก็ขอฝากข้อสงสัยเรื่องน้ำท่วมบางใหญ่และบางบัวทองเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อพื้นที่สองอำเภออยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่าสิบกิโลเมตร พื้นที่ใกล้ที่สุดประมาณห้ากิโลเมตร

                พื้นที่นี้ได้รับน้ำทุ่งจากปทุมธานีหรือไม่ คำตอบคือ ได้รับ ซึ่งมาถึงตั้งแต่ 10 ต.ค. และน้ำท่วมเฉพาะบริเวณคันกั้นน้ำไม่แข็งแรงและพังลงมา เช่น โรงพยาบาลบางบัวทอง และน้ำก็ยังไหลไปแม่น้ำท่าจีน ผ่านลำคลองต่างๆ พอคืนวันที่ 18 ต.ค. น้ำห็ท่วมอำเภอบางบัวทองในพื้นที่เทศบาล เนื่องจากเขื่อนริมคลองบางบัวทองและประตูน้ำพิมลราชพัง จึงท่วมทันที พื้นที่ไกลออกไป เช่น บริเวณถนนกาญจนาภิเษก น้ำท่วมเริ่มมาจากด้านปลายคลองแต่ละสาย หมายความว่าน้ำไม่สามารถไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนได้อีกแล้ว เพราะในรายงานกรมชลประทาน แม่น้ำท่าจีนที่ประตูน้ำพลเทพเต็มตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.

                วันที่ 27 ต.ค. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ความเห็นว่า แม่น้ำท่าจีนถูกใช้งานมากเกินไป และประตูน้ำท่วมพลเทพได้ปิดลงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน สถานการณ์ในนนทบุรีฝั่งตะวันตกดีขึ้นตามลำดับ พื้นที่ส่วนใหญ่แห้งประมาณกลางเดือนธันวาคม น้ำควรลดลงจนแห้งในปลายเดือนธันวาคม ถึงไม่มีการชุมนุมของคนจังหวัดนนทบุรี

                คำถามจึงมีว่า เป็นเพราะอำมาตย์ปล่อยน้ำ หรือเป็นเพราะการบริหารน้ำด้วย

ไม่ใช่แค่ปัญหาส่วนบุคคลและท้องถิ่น

                การโยนความผิดเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายและทำบ่อย คนติดคุกเพราะฝ่าฝืน พรก. ที่ถูกจับรอบราชประสงค์เกือบร้อยคนไม่เคยมี ส.ส.เพื่อไทยไปเยี่ยม ตามรายงานมีแค่ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่ไปเยี่ยมเกือบครบ แม้แต่ ธิดา ถาวรเศรษฐ ไปเรือนจำทุกวัน แต่ไม่เคยเยี่ยมผู้ต้องขังเสื้อแดงคนอื่น ยกเว้นแกนนำ นปช. การโยนความผิดให้กับ ส.ส.ปทุมธานี จึงเป็นเรื่องธรรมดา

                การจะโยนปัญหาให้พ้นพรรคเพื่อไทย อาจจะมีความจำเป็นแบบไทยเพื่อรักษาหน้าตัวเอง ทั้งที่พรรคต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

                การเลือกตั้งปทุมธานี ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนที่ให้พรรคเพื่อไทยกลับไปทบทวนกลไกพรรคและทิศทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ว่า “เห็นหัวมวลชนเสื้อแดง” ไหม ไม่ใช่แค่ ส.ส.เป็นรายบุคคล แต่เป็นทั้งพรรคที่ต้องทบทวนตัวเอง ที่สำคัญคือต้องทบทวนความพยายามปรองดองโดยเอานักโทษการเมืองเสื้อแดงเป็นตัวประกัน 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาษาและสำเนียงท้องถิ่น : สินค้าวัฒนธรรมเทียม ๆ ปลอม ๆ ในสื่อบันเทิงไทย

$
0
0

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Home ของคุณมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น 3 องก์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องความรักและความทรงจำ โดยมีพื้นเรื่องเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตัวละครส่วนใหญ่จึงอู้คำเมืองกันเกือบทั้งเรื่อง ใครฟังไม่รู้เรื่องก็มีซับไตเติลภาษากลางให้ได้อ่าน ผู้เขียนเองใช้ชีวิตอยู่ภาคเหนือมานานจนสามารถพูดและฟังคำเมืองได้อย่างสบาย ๆ ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็พบว่าสำเนียงการพูดการจาของตัวละครไม่มีติดขัดให้รู้สึก “เจ็บแอวขนาด” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบของคนเหนือเวลาได้ยินคำพูดเหนือผสมกลางกลายเป็นสำเนียงประหลาดว่าฟังแล้วเจ็บเอวเหลือเกิน เรื่องนี้ต้องขอบคุณคุณมะเดี่ยวในฐานะผู้กำกับชาวเหนือที่ติวเข้มนักแสดงเป็นอย่างดี

ใช่ว่าหนังเรื่อง Home คือสื่อบันเทิงเรื่องแรกที่เลือกใช้ภาษาเหนือเป็นภาษาในการสื่อสารของตัวละครในเรื่อง หากย้อนกลับไปมองแวดวงบันเทิงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีละครทีวีไทยไม่น้อยที่เลือกให้พระเอกนางเอกเป็นคนต่างจังหวัดแล้วพูดภาษาถิ่น บ้างก็ให้นางเอกเป็นสาวไฮโซปลอมตัวมาเป็นคนใช้ชาวอีสาน บ้างก็ให้เป็นครีเอทีฟสาวที่มีเบื้องหลังเป็นเด็กดอย เวลาอยู่กับเพื่อนสนิทก็จะพูดภาษาเหนือกัน และหลาย ๆ เรื่องยกระดับให้ถึงกับพูดกันทั้งเรื่อง อาทิเรื่องรอยไหม ที่ตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องใช้ภาษาเหนือในการสื่อสารสนทนากัน

กลายเป็นกระแสที่น่าสนใจไม่น้อยที่ผู้จัดละครจำนวนมากสนใจสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครที่พูดสำเนียงท้องถิ่น ทั้งที่ในอดีตภาษาท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นเหนือ อีสานและใต้ รวมถึงสำเนียงเฉพาะของท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น คำลงท้ายว่าฮิ มักถูกใช้ในทำนองเสริมสร้างความตกลงขบขันจากการถูกนิยามว่าเป็นสำเนียงของพวกบ้านนอกที่ถูกพูดผ่านตัวละครจำพวกคนใช้ คนขับรถ โดยเฉพาะภาษาอีสานโดนหนักกว่าใครเพื่อน ทำเอาคนอีสานจำนวนไม่น้อยพลอยเกิดความอายที่จะพูดภาษาถิ่น

ความตั้งใจของคนทำละครทีวีคงต้องการเปิดเส้นทางใหม่ ๆ เพื่อสร้างกลุ่มฐานคนดู ผู้เขียนพยายามวิเคราะห์ พอมองเห็นเป็นสองแนวทางคือ ประการแรก ได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มที่พูดด้วยภาษาถิ่นในเรื่อง ประการที่สองคือ กลุ่มคนภาคกลางที่แม้ฟังไม่รู้เรื่องแต่ก็รู้สึกว่าสำเนียงเหล่านี้เป็นของแปลกใหม่ น่าชวนติดตามและเรียนรู้ภาษาไปในตัว ดังนั้นสำเนียงภาษาถิ่นจึงกลายเป็นหนึ่งเครื่องมือบุกทะลวงเปิดตลาด กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่คนทำ(คิดว่า)สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจและประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการรับชมได้

ทว่าแท้ที่จริงแล้วคนดูที่เป็นคนท้องถิ่น พูดและฟังสำเนียงภาษานั้นมาแต่เกิดเขาชื่นชอบจริงหรือ

ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่หงุดหงิดทุกทียามได้ดูและได้ยินหนังละครที่พูดภาษาเหนือกันแบบมั่วไปหมด สื่อบันเทิงเหล่านี้โดยมากใช้นักแสดงผู้มีสำเนียงกลางเป็นภาษาแม่ดำเนินเรื่อง ดังนั้นเขาและเธอย่อมไม่สะดวกปากแน่ยามต้องพูดสำเนียงท้องถิ่นออกมา และตัวผู้กำกับเองก็คงไม่ได้เคี่ยวเข็ญอะไร อาจจะเนื่องด้วยตัวผู้กำกับเองซึ่งเป็นคนภาคกลางก็คงไม่ทราบว่าจริง ๆ เขาพูดกันอย่างไร สิ่งที่เราเห็นและได้ยินในละคร สำเนียงภาษาถิ่นเหล่านี้จึงมีแต่เพียงการหยิบเอาคำบางคำ สำเนียงบางสำเนียงมาผสมรวมกับภาษากลาง อาทิ ในภาษาเหนือหญิงสาวพูดคำว่า ‘เจ้า’ ต่อท้ายประโยคก็เป็นอันเพียงพอว่านี่คือภาษาเหนือแล้ว หรือการใช้สรรพนาม ข่อย ข้าเจ้า ฯลฯ ผสมปนเปกันไปจนงงว่าจะพูดภาษาเหนือหรือภาษากลางกันแน่

เอาเข้าจริงนี่เป็นภาพสะท้อนได้อย่างดีถึงการไม่ทำการบ้านของผู้กำกับและทีมงาน โดยปกติแล้วนักแสดงที่ดีจะเล่นให้เข้าถึงบทบาทและทำให้คนเชื่อว่าตัวเขาเป็นตัวละครตัวนั้นจริง ๆ นั้น สำเนียงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะสำเนียงเป็นตัวบอกท้องถิ่น เห็นได้บ่อยครั้งในบรรดาบทสัมภาษณ์นักแสดงต่างประเทศที่ต้องเล่นหนังในบริบทอื่น (เช่นนักแสดงอเมริกันแสดงเป็นชาวอังกฤษ) หากเป็นนักแสดงที่ดีและพยายามเล่นให้เข้าถึงบทบาท เขาจะต้องพยายามฝึกอย่างหนักเพื่อให้ตนสามารถพูดสำเนียง ‘ซ่งติงติดคอ’ ได้เหมือนสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ทว่าเมื่อดูสื่อบันเทิงไทยมีน้อยรายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ดังนั้นภาษาถิ่นที่ปรากฎในสื่อบันเทิงไทยโดยมากจึงมีสถานะเป็นเหมือนสินค้าที่พยายามสร้างความแปลกใหม่และความหลากหลายให้แก่วงการ เหมือนเป็นการหยิบเอาวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เคยใช้กันมาจนปรุแล้วมาผสมกันใหม่กลายเป็นสูตรที่คิดว่าน่าขายได้ ทว่าภาษาถิ่นที่นำมาเสนอกับกลายเป็นบิดเบือนไปจากพื้นฐานความจริง ไม่มีใครในพื้นที่นั้นที่พูดด้วยสำเนียงแบบนั้น คนภาคกลางที่หัดเริ่มพูดภาษาเหนือแล้วมี ‘สำเนียงปะแล็ด’ ก็ไม่ได้มีลักษณะแบบนี้ คนอีสานทั้งภูมิภาคก็ไม่มีใครพูดแบบน้องไฮโซผู้ปลอมตัวมาเป็นคนใช้ที่ใช้คำว่า ‘เด้อหล้า’ ติดปากตลอดเวลา ฉะนั้นเมื่อไม่มีใครบนโลกความจริงพูดด้วยสำเนียงนี้ แล้วเราจะเรียกสำเนียงของบรรดานักแสดงทางสื่อบันเทิงเหล่านี้ว่าอะไรนอกเสียจากมันคือวัฒนธรรมเทียมอันจอมปลอม

คนที่ดูแล้วชื่นชมหนังและละครที่ใช้สำเนียงภาษาวัฒนธรรมเทียมนี้ก็ไม่ต่างอะไรจากพวกที่ปลาบปลื้มยากไปเที่ยวบนเขาบนดอยแล้วเห็นชาวเขาใส่ชุดชนเผ่ามาขายของที่ระลึกพร้อมระลึกว่า โอ้ว พวกเขายังรักษาขนบธรรมเนียมดั่งเดิมไว้ ในหมู่บ้านของเขาคงอุดมไปวัฒนธรรมอันงดงามที่คงไว้ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษเป็นแน่ หารู้ไม่ว่าวิถีชีวิตของชาวเขาเหล่านั้นก็เปลี่ยนผันไปมิได้คงเดิม ชุดชนเผ่าก็หาได้ใส่ในชีวิตประจำวันทุกวันไม่

ดูแล้วกระแสวัฒนธรรมเทียมจำพวกสำเนียงท้องถิ่นปลอม ๆ คงได้รับความนิยมไปอีกไม่น้อย มีหลายคนแย้งผู้เขียนว่าสื่อบันเทิงเหล่านี้กำลังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมให้คนต่างถิ่นได้รู้จักความงดงามของภาษาท้องถิ่น ทว่าการที่สื่อนำเสนอแบบผิด ๆ นั้นย่อมเท่ากับการผลิตซ้ำความเทียมและจอมปลอมซ้ำไปซ้ำมา ในไม่ช้าคนในวัฒนธรรมภาษากลางย่อมเข้าใจสำเนียงท้องถิ่นอย่างคลาดเคลื่อน เนื่องด้วยเข้าใจว่าสิ่งที่ตนได้ยินจากในทีวีและจอเงินนั้นคือของจริง ทั้งที่ไม่มีใครเลยที่พูดด้วยสำเนียงนั้นในโลกแห่งความเป็นจริง ฉะนั้นแล้วนี่เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของต่างถิ่นจริงหรือ

ผู้เขียนว่าไม่น่ามีปัญหาที่จะฝึกให้นักแสดงพูดด้วยสำเนียงที่ถูกต้อง (มะเดี่ยวทำได้มาแล้ว อย่างน้อย ๆ มะเดี่ยวก็รู้ว่าเขาควรเลือกคนที่มีพื้นเพท้องถิ่นนั้นมาเล่น เพื่อลดปัญหาสำเนียงแบบ ‘เจ็บแอว’ ของนักแสดง) แต่ก็คงมีข้ออ้างของคนทำอีกล้านแปดที่จะไม่สนใจ เช่น เรื่องการขาดเวลาและบุคลากรในการฝึกเอย ความไม่พร้อมของนักแสดงเอย ฯลฯ พูดบ่นไปก็เหมือนสีซอ

การแก้วัฒนธรรมเทียมประเด็นนี้ไม่ได้ยากอะไรเลยเพียงแต่ให้นักแสดงพูดภาษากลางไปนั่นแหละ คนดูรู้และรับได้มาเกือบสามทศวรรษแล้วที่ตัวละครเป็นคนภาคอื่นและเกิดเหตุการณ์ในภาคต่าง ๆ ของประเทศแต่กลับพูดภาษากลาง ทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดนี่แหละ ไม่ต้องไป ‘สลิด’ อยากเสนอนู้นนี่โดยที่ปราศจากความละเอียดในการทำงาน หากเพิกเฉยทำต่อไปเช่นนี้ก็มีแต่ผลิตวัฒนธรรมปลอม ๆ ให้คนดูได้เสพกันอย่างลอยหน้าลอยตาไม่รู้ในความผิดตัวเองอยู่ต่อไป

แล้วต่อไปวัฒนธรรมเทียมเหล่านี้ก็คงพัดทะลักหน้าจอต่อไปอีกเป็นแน่ถ้าเรายอมและเพิกเฉยต่อมัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นัดฟังคำพิพากษาคนงานถูกฟ้อง พ.ร.บ.คอมฯ 25 พ.ค.นี้

$
0
0

เมื่อวันที่ 24-25 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายสงคราม ฉิมเฉิด พนักงานจัดส่งแก๊ส สาขาสมุทรสาคร บริษัท ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสหภาพฯ ในข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตามมาตรา 14 (1) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

โดยคดีดังกล่าว เป็นคดีที่นางปาริชาติ พลพละ ผู้จัดการสาขาของบริษัทไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ฟ้องนายสงคราม ในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ.2535 มาตรา 3,4 รวมถึงข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เนื่องจากมีการส่งอีเมลหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาทไปยังองค์กรต่างๆ ซึ่งที่สุด หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย นายจ้างได้ยอมความโดยถอนฟ้องไป แต่ยังคงเหลือข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่อาจยอมความได้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีต่อไป

โดยในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์นำสืบพยาน 6 ปากได้แก่ นางปาริชาต พนักงานบริษัท 3 คน ผู้แปลเอกสาร 1 คน และพนักงานสอบสวน 1 คน ขณะที่ฝ่ายจำเลย นำสืบเพียงจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีในวันที่ 25 พ.ค.55 เวลา 10.00น.

ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายจำเลย กล่าวว่า ในประเด็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยจะก่อความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน ได้นำสืบโดยชี้ว่า ไม่น่าจะผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เพราะฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลในอีเมลดังกล่าวเป็นเท็จ โดยแม้จะมีพยานคนกลางในที่เกิดเหตุ 1 คนแต่ฝ่ายโจทก์กลับไม่มีการนำสืบ ส่วนการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้นำสืบว่า เมื่อสงครามยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาแล้วก็ส่งแฟกซ์ให้กรรมการสหภาพแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งสงครามไม่รู้ว่าจะมีการเผยแพร่ไหม เพราะเขาเองไม่ได้ใช้อีเมล ขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำสืบ ก็ไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจนว่าอีเมลที่ได้รับนั้นใครเป็นผู้ส่ง เพียงแค่คิดว่าเมื่อสงครามเป็นเจ้าของจดหมายก็น่าจะเป็นผู้ส่งหรือให้ใครส่งให้

ทั้งนี้ รายงานประจำปีของเครือข่ายพลเมืองเน็ต ชื่อ "เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตไทย ปี พ.ศ. 2554" ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 6 เม.ย.55 ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหมิ่นประมาท หากแต่มีโทษจำคุกสูงกว่า และยอมความไม่ได้ เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นอาญาแผ่นดิน โดยในปี 2554 เป็นปีแรกที่มีบันทึกว่า มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 มาใช้ฟ้องร้องระหว่างประชาชนกับประชาชน ในทางที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งมี 3 กรณีด้วยกันที่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะได้แก่ คดีของนายสงคราม ฉิมเฉิด คดีของนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งถูกฟ้องโดยแพทย์ว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ อันได้แก่ข้อมูลคนไข้ที่เสียชีวิตและภาพความผิดพลาดในการรักษา ซึ่งนางปรียนันท์ใช้ในการรณรงค์เพื่อผลักดันร่างกฎหมาย และกรณี น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความต่อทวิตเตอร์แอคเคาท์ @NotMallikaBoon ที่ล้อเลียนทวิตเตอร์ @MallikaBoon ของเธอ ว่าเป็นข้อมูลเท็จซึ่งทำให้คนเข้าใจผิดและเสื่อมเสียชื่อเสียง

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะถูกนำมาใช้เพื่อขัดขวางการรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ ในอนาคต เนื่องจากประชาชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกิจกรรมการรณรงค์ทางการเมือง รณรงค์ด้านสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ

 

มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
(1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมยศ” ชวนฟังสืบพยานดีเอสไอพรุ่งนี้ - ศาลอาญาส่งคำร้องศาลรธน.ตีความ 112 หลังสืบเสร็จ

$
0
0

 

25 เม.ย.55 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำหนดการสืบพยานในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา112  ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin จะมีการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในวันพรุ่งนี้ (26 เม.ย.55) คือ พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ซึ่งนายสมยศได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เป็นปากสำคัญที่อยากเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมฟังการสืบพยานปากนี้ด้วย

ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ประกอบด้วยพยาน 3 ปาก ซึ่งเป็นบรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติทั้งหมด โดยหนึ่งในพยานคือ นางสาวสุภาณี สุขอาบใจ บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ เบิกความว่า การจัดพิมพ์หนังสือหรือนิตยสารใดๆก็ตาม ต้องได้รับอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์จากหอสมุดแห่งชาติก่อน เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจความครบถ้วนของเอกสาร แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาของสิ่งพิมพ์นั้น ส่วนตนได้อ่านบทความในนิตยสาร Voice of taksin ที่ถูกฟ้องร้องเพราะดีเอสไอนำมาให้ เมื่ออ่านแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาหมิ่น ผู้เขียนเจตนาทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย เมื่อทนายจำเลยถามว่าหากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์จะทำได้หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ ทนายจึงอ่านพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแสดงไว้เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ว่าการวิจารณ์พระองค์สามารถทำได้ สุภาณีตอบว่าตนไม่เคยได้ยินหรือได้อ่านพระราชดำรัสนี้มาก่อน

ส่วนที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามาตรา112ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น หลังจากศาลอ่านรายงานพิจารณาคดีก็ได้วินิจฉัยว่า จะส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญในวันสืบพยานวันสุดท้ายคือ 4 พ.ค. 55

ด้านนายสมยศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวและผู้ที่มาให้กำลังใจว่า แม้ศาลอาญาจะส่งคำร้องไปช้าก็คงไม่เป็นอะไร ตนอยู่ในคุกมานานจนชิน ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแล้ว ก็ไม่ได้ หากออกไปไม่รู้จะหาทางกลับบ้านถูกหรือไม่ 

                                                   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แคนาดายกเลิกคว่ำบาตรพม่า ด้านอาเซียนยินดีอียูเลิกคว่ำบาตร

$
0
0
รมว.ต่างประเทศแคนาดาเผยจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจพม่า ด้านอาเซียนยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าของอียู ระบุเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
25 เม.ย. 55 - นายจอห์น  แบร์ด  รมว.ต่างประเทศแคนาดาเปิดเผยว่า  ทางการแคนาดายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่า เช่นการนำเข้า-ส่งออก และธุรกรรมทางการเงิน  เนื่องจากพม่าได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่   ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นเพียงวันเดียว ภายหลังสหภาพยุโรป(อียู)ระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าเป็นเวลา 1 ปี  นายแบร์ดบอกว่า  การยกเลิกคว่ำบาตรพม่ามีผลทันที ทำให้แคนาดาสามารถส่งออกและนำเข้า รวมทั้งเข้าไปลงทุนในพม่า แต่ยังคงคว่ำบาตรด้านอาวุธเหมือนเดิม
 
 
การระงับมาตรการคว่ำบาตร มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปในพม่า และการเลือกตั้งซ่อมเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้นางอองซาน ซูจี  ผู้นำฝ่ายค้านได้เข้าไปนั่งในสภาเป็นครั้งแรก  รวมทั้งมีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน อย่างไรก็ตาม แคนาดาต้องการเห็นพม่าดำเนินการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ผู้คนจากหลากหลายอาชีพมีโอกาสได้ร่วมการปฏิรูป   แต่แคนาดาจะไม่รีรอที่จะกลับมาคว่ำบาตรพม่าอีก  หากสถานการณ์ในพม่ากลับมาเลวร้ายอีก   ซึ่งเรามีความหวังและมองในแง่ดีอย่างมาก  พร้อมกับจะติดตามดูพม่าอย่างใกล้ชิด ร่วมกับประชาคมโลก
 
ด้านสมาคมประชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนแสดงความยินดีในวันนี้ต่อการที่อาเซียนได้ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในแถลงการณ์ที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ว่าทุกประเทศสมาชิกในอาเซียน ยินดีกับการระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ที่ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม
 
 
นายวิชัย นัมเบียร์ ที่ปรึกษาพิเศษเกี่ยวกับพม่าของเลขาธิการสหประชาชาติ เผยเมื่อวาน ก่อนที่นายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติจะเยือนพม่าสุดสัปดาห์นี้ว่า หลังผ่านพ้นช่วงเวลากว่า 20 ปีที่พม่าโดดเดี่ยวตัวเอง เวลานี้พม่ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็ว มีรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง และรัฐสภา
 
ทั้งนี้ นายนัมเบียร์ ระบุว่า การพบกันระหว่างประธานาธิบดีเต็ง เส่งและนางอองซาน ซูจี ผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเกมนี้ พร้อมกับกล่าวชื่นชมภาวะผู้นำของเต็ง เส่ง และการตัดสินใจของนางซูจี ที่ยอมเข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมส.ส.เมื่อต้นเดือนนี้ และอีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การตัดสินใจของอาเซียนที่เลือกพม่าเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปี 2557 นอกจากนี้การระงับมาตรการคว่ำบาตรทั้งจากสหรัฐและสหภาพยุโรปก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญ
 
สถิติล่าสุด ระบุว่า พม่า มีประชากรเมื่อปี 2553 จำนวน 50 ล้าน 3 แสนคน และอยู่ในอันดับ ที่ 149 จากทั้งหมด 185 ประเทศของดัชนีวัดคุณภาพชีวิต
 
นายนัมเบียร์ บอกว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ การเร่งพัฒนาพม่า และพม่ามีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการเงินการปฏิรูปสกุลเงิน วางแผนบริหารจัดการเงินทุนและความช่วยเหลือที่จะไหลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมศักยภาพของหน่วยราชการ วางแผนพัฒนาภาคเอกชน และสิ่งแรกที่ยูเอ็นจะให้ความช่วยเหลือ คือ การจัดลำดับความสำคัญของแผนการพัฒนาประเทศ
 
นายนัมเบียร์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันรัฐบาลพม่า เริ่มดึงบุคลากรที่มีความสามารถที่อยู่ในต่างประเทศกลับพม่า แต่ก็ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลอย่างมาก ซึ่งหากพม่าจัดการกับปัจจัยต่างๆเหล่านี้ได้ เละขาเชื่อว่า มีแนวโน้มอย่างมากที่พม่าจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, กรุงเทพธุรกิจ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยในสายน้ำและลมหนาว

$
0
0

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง ดำเนินต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ แต่ความกังขาถึงความเติบโตของประชาธิปไตยระดับย่อยที่สุดและศักยภาพขององค์กรท้องถิ่นว่าจะตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ได้ดีเพียงใดอาจถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ผ่านการจัดการปัญหาในหลายๆ ประเด็น

การจัดการภัยพิบัติก็เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนมีข้อจำกัดทั้งเรื่องระเบียบการทำงานและงบประมาณที่ทำให้ท้องถิ่นต้องปรับตัวหาช่องทางที่จะตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ขณะเดียวกัน เราพบว่า ประชาชนในท้องถิ่นแสดงความพึงพอใจต่อการตอบสนองขององค์กรท้องถิ่นที่พวกเขาเลือก แม้จะยังทำหน้าที่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน

$
0
0

(26 เม.ย.55) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมือง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า แม้จะมีขยายการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างฯ ที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน แต่กลับปรากฏว่า ยังไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง เพื่อแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

 

ขอเรียกร้องความจริงใจรัฐสภาจากการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน
อย่าเป็นเพียง "ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์"

สืบเนื่องจากการขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุม และอ้างถึงจดหมายลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เรื่องขอให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  และเครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง  เมื่อวันที่ 8, 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบันกลับพบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

(1) จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

(2) การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องให้นำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของทหาร ?

$
0
0

ที่เขียนถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องพม่า แต่จะไม่ห้ามปรามผู้อ่านคิดถึงหรือคำนึงสถานการณ์และบริบทในประเทศอื่นโดยเทียบเคียง

พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับท่าทีต่อรัฐธรรมนูญที่ทหารเป็นผู้อำนวยการสร้างไว้อย่างน่าคิด เมื่อพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งใหม่ 43 คนหลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้ปฎิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 23 เมษายน ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนคำปฎิญาณตนก่อนปฎิบัติหน้าที่ว่า จากคำว่าจะ “ปกป้อง” เป็น “เคารพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญ

บังเอิญว่าไม่มีความรู้ภาษาพม่าพอจะทำความเข้าใจได้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันเพียงใด แต่ในภาษาอังกฤษซึ่งชาวพม่าแปลได้ว่า “Uphold” (พวกฝรั่งแปลว่า Safeguard)และ “Abide”(ฝรั่งแปลว่า Respect) นั้นให้ความหมายแตกต่างกันทีเดียว คำแรกนั้นแปลได้ว่าปกป้องหรือในภาษาไทยอาจจะใช้คำว่า “รักษาไว้ซึ่ง” ส่วนคำหลังแน่นอนแปลว่าเคารพเชื่อฟังและกินความได้ว่าต้องปฏิบัติตามด้วย

ความจริงพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้ขอเปลี่ยนคำปฎิญาณหรอก แค่ขอตัดทิ้งคำหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะในตัวบทของคำปฎิญาณคำทั้งสองคำนี้อยู่ด้วยกันในประโยคเดียวกัน คือแปลความได้ว่า สมาชิกสภาจะต้องรักษาไว้ซึ่งและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพ และปรากฎว่าผู้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าต้องปฏิญาณด้วยถ้อยคำแบบเดียวกันนี้ด้วย

ชาวพม่าให้ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันหลายทางบ้างก็ว่าเรื่องนี้มันหยุมหยิมเกินกว่าเอ็นแอลดีจะหยิบมาเป็นประเด็นหาเรื่องไม่เข้าสภา บ้างก็ว่าพรรคนี้ควรรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าคำปฏิญาณตนเป็นแบบนี้ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรไปลงสมัครรับเลือกตั้ง บ้างก็ว่าอย่าให้เรื่องเล็กน้อยนี้มาเป็นอุปสรรคการปรองดองแห่งชาติเลย บ้างก็ว่าคำว่า Abide นั้นความหมายหนักหน่วงกว่า Uphold เสียอีกเพราะมันมีสภาพบังคับอยู่ด้วยแต่ถึงอย่างไรเรื่องพวกนี้ก็เป็นประเด็นเล็กน้อยเมื่อประชาชนเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในสภา ยังไงก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่จะเกี่ยงงอนทำไมกับเรื่องแค่นี้คำสาบานจะมีความหมายอะไรหากใจคนไม่เอนเอียง

พรรคเอ็นแอลดีหรือแม้แต่ตัวอองซานซูจีไม่ได้ให้เหตุผลเรื่องนี้ชัดเจนนักว่าทำไมจะปฏิญาณว่าจะปกป้องหรือรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองไม่ได้ บางทีเรื่องนี้ทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ความคิดของเธอตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ แต่ดูจากรายงานข่าวทั้งที่ชาวพม่าเขียนเองและที่ฝรั่งเขียน เห็นว่าพรรคนี้ไม่อยากจะปฏิญาณเช่นนั้นเพราะมีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว

แต่เชื่อว่านี่คงไม่ใช่เหตุผลสำคัญเพราะมันฟังดูแปร่งๆ ด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกมันล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะแก้ไขง่ายหรือแก้ไขยาก แต่ต้องแก้ไขได้แน่นอน ทุกประเทศล้วนแก้ไขและรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย ไม่ว่าอย่างไร รัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ต้องมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีแบบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม บางประเทศอย่างพม่าเองว่างเว้นการใช้รัฐธรรมนูญถึง 20 ปี แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีกับเขาเหมือนกัน การแก้ไขความจริงก็คือการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแบบหนึ่งนั่นแหละ เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใดแข็งขืนต่อสถานการณ์หรือไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วไม่แก้ไข เดี๋ยวก็จะมีคนมาฉีกมันทิ้ง

เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่พรรคเอ็นแอลดีไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองนั้นเป็นเพราะไม่ชอบที่มาของมันมากกว่าเหตุผลอย่างอื่น

รัฐธรรมนูญในอุดมคติที่หลายๆคนอยากจะได้นั้น จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยมหาประชาชนหรือผู้แทนที่ประชาชนเลือกมาเป็นสำคัญ และจะต้องร่างในเงื่อนไขและบรรยากาศที่ปราศจากการบงการของใครทั้งสิ้น นั่นจึงสมควรเป็นรัฐธรรมนูญที่มีค่าควรแก่การปกป้อง หรือ หากจะมีใครต้องพลีชีพเพื่อรักษามันไว้ก็นับว่าคุ้มค่า

ในชีวิตจริงนั้นรัฐธรรมนูญแบบอุดมคติหาได้ยาก ในบางประเทศเคยมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่พอมีคนฉีกจริงๆ ปรากฎว่าคนที่สาบานว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเองนั่นแหละ เอาดอกไม้ไปให้คนฉีกรัฐธรรมนูญก่อนใครเพื่อน คนที่พลีชีพเพื่อมันจริงๆกลับไม่ปรากฎว่าเคยสาบานอะไร รัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยที่บังคับใช้ในปัจจุบันก็ร่างโดยคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆที่ไม่มีใครเลือกตั้งมาเลย อย่างดีหน่อยก็เอามาถามความเห็นว่าคนอื่นจะยอมรับได้ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้การมีรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เท่ากับว่ามีประชาธิปไตยก็ได้ มีรัฐธรรมนูญจำนวนมากในโลกนี้มีเนื้อหาขัดกับหลักการประชาธิปไตย แม้ว่าวิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญจะดูเป็นประชาธิปไตยอย่างมากก็ตาม

รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐธรรนูญในอุดมคติของประชาชนพม่าเพราะมันถูกสร้างขึ้นโดยการอำนวยการของทหารและใช้เวลายาวนานมากนับแต่ปี 1993 แม้จะปรากฎว่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่นผู้แทนของพรรคเอ็นแอลดีแต่ก็ได้ถอนตัวออกไปตั้งแต่ปี 1995และสมาชิกกว่า 1000 คนของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นล้วนแล้วแต่ทางกองทัพสรรหามาทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าถูกโจมตีตั้งแต่ต้นมือว่าเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของทหารในการเมืองพม่าต่อไป เพราะเขียนรับรองฐานะและบทบาทของกองทัพและนายทหารในสภานิติบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน สมาชิกสภา 25 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากการสรรหาของกองทัพทั้งหลายทั้งปวงรวมความแล้วรัฐธรรมนูญของทหารพม่านั้นวิธีการได้มาและมีเนื้อหาแบบไม่สู้จะเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก แม้ว่าจะผ่านการลงประชามติในปี 2008 แต่ก็ช่างเป็นการลงประชามติที่น่ากังขามาก เพราะมันเกิดขึ้นท่ามกลางห่าพายุนากีสเลยก็ว่าได้

จำได้คลับคล้ายคลับคลา แต่ไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่ามีนักการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกนิยมทหารคนไหนออกมาพูดทำนองว่าให้ประชาชนลงมติรับๆกันไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขใหม่ทีหลังก็ได้หรือเปล่า ถ้าจำผิดก็ขออภัยเพราะอาจจะไปปนเปกับเหตุการณ์ในประเทศอื่น

ด้วยที่มาและเนื้อหาที่ไม่ต้องด้วยระบอบประชาธิปไตยเช่นว่านั้นเอง ทำให้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจี ไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

ในทางอุดมคติแล้วต้องถือว่า ท่าทีทางการเมืองแบบนี้ของเอ็นแอลดี น่าสรรเสริญยิ่งนัก เพียงแต่ปัญหาว่าเรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เรื่องของเรื่องคือ พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับฝ่ายทหารมาโดยตลอด เกิดเปลี่ยนใจมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาแล้วประสบชัยชนะเหนือพรรครัฐบาลอย่างท่วมท้นเสียด้วย

คำถามคือ ถือว่าพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจียอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับทหารเขียนแล้วหรือยัง? คำตอบก็น่าจะเป็นว่ายอมรับไปแล้วตั้งแต่ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคเอ็นแอลดีจะฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปกล่าวคำปฏิญาณแบบอื่นได้หรือไม่ คำตอบในทางกฎหมายต้องบอกว่าไม่ได้ และผลในทางกฎหมายสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่ได้รับการเลือกตั้งก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาแห่งสหภาพไม่ได้ด้วยเพราะยังไม่ได้สาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ถ้าหากพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีประสงค์จะเป็นผู้แทนนอกสภา แล้วจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งทำไม เป็นพรรคนอกกฎหมายอยู่อย่างเดิมไม่ดีหรือจะกระเสือกกระสนเข้าไปทำไมให้เปลืองตัว ตรรกแบบนี้ดูเหมือนเคยมีนักการเมืองและนักนิยมทหารในประเทศอื่นใช้เพื่อตีกันคู่แข่งทางการเมืองของตัวในการเลือกตั้งเช่นกันแต่บังเอิญว่าไม่ค่อยมีคนเชื่อถือเท่าไหร่ เพราะเอาเข้าจริงการแสดงการยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งใดอาจจะใช้ได้แค่ระดับกลยุทธทางการเมืองระยะสั้นเท่านั้นในที่สุดเอ็นแอลดีก็กลับเข้าสู่การเมืองในระบบเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งๆที่กฎเกณฑ์เดิมที่ตัวเองรังเกียจก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย

ถ้าเช่นนั้นการเกี่ยงงอนเรื่องคำสาบานเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่มีผลในทางปฎิบัติอะไรเลยแบบนี้จะทำไปทำไม ในทางการเมืองก็มีความหมายแค่ว่า พรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้ยอมรับกฎเกณฑ์ของทหารโดยดุษฎี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมันยังจะไม่หมดไป

เรื่องนี้พอจะทำให้มีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า หรือเห็นเป็นทางทางออกได้หรือไม่ ความจริงก็พอมีทางอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าพลเอกเต็งเส่งและพรรครัฐบาลจะอยากรักษาความเป็นพลังประชาธิปไตยที่บริสุทธิผุดผ่องของเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเอาไว้แค่ไหน ถ้าเต็งเส่งใจกว้างหน่อยอาจจะต้องยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสภาแห่งสหภาพบางประการ กล่าวคือยอมให้สมาชิกกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างใดก็ได้ตามใจชอบหรือตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา

ถ้าทำอย่างนั้นพม่าก็ไม่ใช่ประเทศแรกในโลกหรอกที่ทำกันแบบนี้ ในสภาอังกฤษมีคำปฏิญาณมากกว่า 1 แบบให้สมาชิกเลือกเปล่งวาจาสาบานตามความเชื่อของตัวเอง เรื่องสบถสาบานอะไรนี่มันก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วจะบังคับกันได้อย่างไร

ในปี 2010 สภาอังกฤษยอมให้สมาชิกพรรค Sinn Fein ของไอร์แลนด์เหนือเขียนคำสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งเอง เพราะพวกเขาไม่สบายใจที่จะเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

อันที่จริงนี่ก็น่าจะเป็นหลักการแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ประเทศประชาธิปไตยจริงๆนั้นอุดมการณ์หลายแบบสามารถอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นเรื่องขัดกับหลักการพื้นฐานในการปกครองมากเลยหากจะบังคับให้สมาชิกซึ่งไม่นับถือศาสนาคริสต์วางมือบนพระคัมภีร์แล้วเปล่งวาจาว่าจะเชื่อถือในพระเจ้าหรือขอให้พระเจ้าคุ้มครอง หรือ จะให้สมาชิกซึ่งมีอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ต่อให้ประเทศนั้นเป็นราชอาณาจักรเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ สมาชิกรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติได้โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐ แต่ในหลายประเทศก็ไม่ยอม เพราะถือว่าการจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐเป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมอย่างอื่นเขาจะสารเลวเพียงใดก็รับกันได้ หากเขาเหล่านั้นอ้างว่าตัวจงรักภักดี

ในกรณีของพม่า อองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดี จะไม่เปล่งวาจาสาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขาไม่ชอบก็ไม่เห็นเป็นไร ตราบเท่าที่เขาพูดว่าเขาจะยังเคารพมันอยู่ หรือ ต่อให้ไม่พูดอะไรเลย ในฐานะกฎหมายพวกเขาก็หนีสภาพบังคับของมันไปไม่พ้นอยู่แล้ว

คำถามต่อไปคือ ถ้าเต็งเส่งยอมให้มีคำปฏิญาณในรัฐสภาได้หลายแบบ และพรรคเอ็นแอลดีเลือกเอาแบบที่ไม่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ วันข้างหน้าเกิดบังเอิญจะด้วยอะไรก็ตามที เกิดมีการแก้ไขเนื้อหา ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ลดบทบาททหารลงได้ตามที่อองซานซูจีต้องการ หรือ เอาถึงขนาดว่าแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้คนที่เคยสมรสกับชาวต่างชาติเป็นประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาลได้ ถึงวันนั้นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้จะมีค่าสำหรับพรรคเอ็นแอลดีที่ควรจะ “ปกป้อง” มันหรือไม่ และถ้าหากมีคณะนายทหารรุ่นหนุ่มอยากจะฉีกมันเพื่อพาประเทศกลับไปเป็นอย่างเก่าในอดีต หรือ ปกครองแบบไม่มีรัฐธรรมนูญเลยเหมือนช่วงปี 1988-2008 พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีก็จะไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองอุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้ไขมันมาเลยหรือ

ไม่มีใครรู้หรอก ถึงวันนั้นอองซานซูจีอาจจะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนพม่าทั้งมวลปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ก็ได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลือสะพัด! "หน่อคำ" หัวหน้าโจรสลัดน้ำโขง ถูกจับกุมแล้ว

$
0
0

มีข่าวลือแพร่สะพัด "หน่อคำ" หัวหน้าโจรสลัดแม่น้ำโขงและเจ้าพ่อยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ที่หลายฝ่ายเชื่ออยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ถูกจับกุมตัวแล้ว

 
แหล่งข่าวจากชายแดนไทย-พม่า (รัฐฉาน) รายงานว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวลือหนาหูว่า นายหน่อคำ ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นหัวหน้าโจรสลัดแม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ได้ถูกจับกุมตัวแล้วเมื่อวานนี้ ขณะหลบหนีอยู่ในประเทศลาว โดยเขาได้ถูกนำตัวข้ามเข้าไปในประเทศจีนผ่านชายแดนลาว – จีน ด้านบ่อเตียน – บ่อหาน
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำคนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวฉาน SHAN ว่า ได้ยินข่าวหน่อคำถูกจับเช่นกัน แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเขาถูกจับที่ไหน เมื่อใด และใครเป็นผู้จับกุมเขา
 
นายหน่อคำ อายุ 50 ปี เชื้อสายไทใหญ่ เป็นอดีตนายทหารในกองทัพเมืองไตย MTA - Mong Tai Army ของขุนส่า หลังขุึนส่าวางอาวุธแก่ทางการพม่าในปี 2539 ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยหน่อคำมีความสนิทสนมกับนายทหารระดับสูงของพม่าในฝั่งท่าขี้เหล็ก
 
เมื่อปี 2549 นายหน่อคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปปส. พม่าเข้าตรวจค้นบ้านพักในหมู่บ้านตอก้อ ฝั่งท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ปปส.พม่าซึ่งได้รับข้อมูลจากทั้งจีนและไทย สามารถตรวจยึดยาบ้านับล้านเม็ด แต่นายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้าไทยและเข้าไปกบดานอยู่ในฝั่งลาว จนกระทั่งข่าวคราวเงียบลงจึงกลับเข้าไปเคลื่อนอยู่ในฝั่งพม่า
 
ทั้งนี้ กลุ่มของนายหน่อคำ มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดเก็บค่าคุ้มครองเรือลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงและจับเรียกค่าไถ่ลูกเรือบ่อยครั้ง โดยทางกลุ่มอ้างว่าเป็นการเก็บค่าคุ้มครองผ่านในพื้นที่ นอกนั้นยังคอยจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่คุ้มครองแถบสามเหลี่ยมทองคำด้วย
 
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการไทย โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศพส.) แถลงข่าว “ประกาศจับนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ” (Most Wanted) จำนวน 25 ราย ในจำนวนนี้มีชื่อนายหน่อคำ รวมอยู่ด้วย โดยเขาถูกตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสิน ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 'คดียิงเอ็นจีโอสงขลา'

$
0
0

วันนี้ 25 เมษายน 2555 เวลา 09:30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก นายฤทธิ์ณรงค์  อารมณ์ฤทธิ์ เป็นเวลา 13 ปี ซึ่งเป็นจำเลย “เรื่องความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ” กรณียิงนายสิทธิชัย  แพทย์พงศ์ เอ็นจีโอสงขลาได้รับบาดเจ็บสาหัส  และเสียชีวิตภายหลังจากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาชั้นศาล

สืบเนื่องจากนายสิทธิชัย  แพทย์พงศ์ อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ถูกประกบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552  เหตุเกิดบริเวณหน้าหมู่บ้านทรัพย์ปรีชา ถนนลพบุรีราเมศวร์ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ต่อหน้าแม่ค้าและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก
 
โดยนายสิทธิชัย แพทย์พงศ์ เป็นเอ็นจีโอรับผิดชอบงานเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนด้วยการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่เป้าหมายขององค์กร  และมีบทบาทสำคัญในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากนำหลักการทำงานเดียวกันนั้นมาจัดตั้งกลุ่มรับซื้อน้ำยางพารา ในพื้นที่หมู่ 6 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อลดการผูกขาดและการเอาเปรียบของพ่อค้า ส่งผลให้นายทุนเดิมในชุมชนเสียผลประโยชน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองมีข้อมูลว่าในรอบ 2 ปีก่อนเกิดเหตุ มีความขัดแย้งในพื้นที่นี้มาโดยตลอด และมีบุคคลสำคัญทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารกลุ่มน้ำยางสดในหมู่ 6 ถูกยิงเสียชีวิตและบาดเจ็บมาแล้ว 4 ราย
 
นายสิทธิชัยเองก็ถูกข่มขู่มาโดยตลอด และทราบล่วงหน้าว่ามีการวางแผนฆ่าตนเองจึงได้บันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อย่างละเอียด รวมทั้งไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ จนเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับกุมนายฤทธิ์ณรงค์  อารมณ์ฤทธิ์  ได้
 
ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2554ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ริบของกลาง
ทางญาตินายสิทธิชัย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจึงได้ยื่นอุทธรณ์ และวันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษา เมื่อเวลา 09:30น. โดยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย โดยสรุปดังนี้
 
“ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน  พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ 2490 มาตรา7,8 ทวิ วรรค 1 ,72 วรรค3, 72 ทวิ วรรค2 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 12 ปี  ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มี  และใช้ไว้ในครอบครองจำคุก 6 เดือน  ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง  หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต  ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 12 เดือน และริบของกลาง คำขออื่นจากนี้ให้ยก”
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย เกี้ยเซียะ

$
0
0

ในโอกาสวันสงกรานต์ พ.ศ.2555 นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังประเทศลาว และพบปะกับคนเสื้อแดงจำนวนมาก ที่ข้ามพรมแดนไปเยี่ยม ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่โรงแรมกรีน ปาร์ค บูติก โฮเต็ล นครเวียงจันทน์ โดยกล่าวอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ขอให้ พล.อ.เปรม มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ตอนที่อยู่เมืองไทยจะไปกราบคารวะเป็นประจำ แม้ พล.อ.เปรม จะอายุมาก แต่ยังแข็งแรง จึงอยากฝากความปรารถนาดีไปถึง และตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือหารือปรึกษากันเลย

การแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีต่อ พล.อ.เปรม อย่างมาก เพราะนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ท่าทีของขบวนการฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงการต่อต้าน พล.อ.เปรม เสมอมา ด้วยเหตุผลว่า พล.อ.เปรมและองคมนตรีทั้งหลายเป็นกลุ่มสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เคยระบุในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2552 ว่า พล.อ.เปรม คือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร สำหรับ พล.อ.เปรมก็แสดงท่าทีหลายครั้งที่ชี้ให้เห็นแนวคิดอันสวนทางกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยและขบวนการเสื้อแดง เช่น การแสดงความชื่นชมและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ.2550 ต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ.2552 ก็ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เคยระบุว่า “คนไทยโชคดีที่ได้นายกฯชื่ออภิสิทธิ์” ในทางตรงข้าม ในกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พล.อ.เปรม กล่าวว่า เป็นการ “ทรยศชาติ” ดังนั้น การที่เป้าหมายในการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) และขบวนการคนเสื้อแดงในระยะที่ผ่านมา ที่มุ่งจะต่อต้านอำมาตยาธิปไตย และถือกันว่า พล.อ.เปรม เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำมาตย์จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

ปัญหาคือ การปรับเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นนี้ สะท้อนสถานการณ์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อขบวนการประชาชนอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประนีประนอม ที่ดำเนินมาแล้วนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้เข้าเป็นรัฐบาล และเป็นท่าทีเดียวกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้ไปร่วมงานงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันกองทัพบก ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ยกมือไหว้ พล.อ.เปรม 2 ครั้ง โดยที่ พล.อ.เปรม รับไหว้ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างกลาง ทั้ง 2 ได้พูดคุยกันประมาณ 2-3 นาที ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะเดินไปลงนามในสมุดอวยพร โดยมี น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินประกบคู่ไปด้วย จากนั้น พล.อ.เปรมได้เดินย้อนกลับมาและพูดคุยกับนายกฯ พร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาของสื่อมวลชนอย่างมาก

ต่อมา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดงาน ’รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย“ ที่ตึกสันติไมตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงาน ในครั้งนี้ พล.อ.เปรมและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สนทนากัน เดินเคียงคู่กันอย่างชื่นมื่น ซึ่งเห็นได้ว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลที่จะสร้างภาพแห่งความปรองดอง

ถ้าจะให้วิจารณ์กระบวนการเหล่านี้ คงไม่อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำผิด เพราะต้องเข้าใจกันว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่รัฐบาลปฏิวัติโค่นล้มอำมาตย์ แต่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีแนวทางประนีประนอม ยิ่งกว่านั้น เป้าหมายแห่งการปรองดองเพื่อความสามัคคีภายในชาติ น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกฝ่าย ดังนั้น พรรคเพื่อไทย และ นปช.จึงยุติการโจมตี พล.อ.เปรมมานานแล้ว เพราะอาจจะถือได้ว่า การมุ่งกล่าวถึงการล้มล้างฝ่ายอำมาตย์จะไม่เป็นผลดีต่อความสามัคคีที่รัฐบาลจะต้องสร้างขึ้น เพียงแต่ว่าการปรองดองที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีการดำเนินการอีกหลายอย่างซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น

  1. การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีท่าทีไม่แตะต้องกองทัพบกเลย ในกรณีปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 เป้าหมายของการโจมตีกรณีนี้ มุ่งไปที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น การไม่แตะต้องกองทัพ ไม่ขัดแย้งกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะผ่อนปรนไม่ให้เป็นศัตรูกับกองทัพ
  2. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนในการไม่สนับสนุนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เคยขอต่อฝ่ายนิติราษฎร์เสียด้วยซ้ำ ให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ทั้งที่ การที่รัฐบาลไม่ดำเนินการเรื่องนี้ หมายถึงการละเลยปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ผลักดันในเรื่องเสรีภาพทางความคิด และเมินเฉยต่อคำตัดสินอันละเมิดหลักยุติธรรมของผู้พิพากษาทั้งหลาย
  3. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดำเนินการอย่างเชื่องช้าในการช่วยเหลือประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน และยังคงติดอยู่ในคุก ในขณะนี้ ทั้งที่รัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วถึง 8 เดือน ก็ยังมีมิตรสหายที่ถูกคุมขังอยู่เกือบ 60 คน
  4. แม้ว่าจะมีกระแสในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่การดำเนินการของพรรคเพื่อไทยในขั้นนี้ ก็มีเพียงแค่การผลักดันให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาแห่งการแก้ไข ซึ่งหมายถึงว่า พรรคเพื่อไทยกำลังและเขียน ”เช็คเปล่า” ให้แก่คณะบุคคลที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า หลักประกันที่จะสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงไม่ชัดเจน

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ ฝ่ายขบวนการประชาชนคงจะต้องพิจารณาบทบาทของพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นจริง และคงต้องยอมรับว่า การผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงท่าทีเชิงปฏิวัติสังคมคงจะเป็นการยาก ในส่วนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คงต้องแสดงบทบาทเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ต่อไป แต่ยังน่าจะต้องถือว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นมิตรในแนวร่วม จึงยังไม่จำเป็นถึงขนาดที่จะต้องคว่ำบาตรหรือต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคงต้องเข้าใจสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่สามารถชูธงต้านอำมาตย์ได้เหมือนเดิม

ท่าทีของฝ่ายประชาชนในขณะนี้ คือ ควรจะต้องเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทย สามารถที่จะเลือกสนับสนุนนโยบายบางด้าน และแสดงท่าทีไม่สนับสนุนนโยบายบางด้านได้ การปรองดองหรือการประนีประนอมกับฝ่ายอำมาตย์อย่างไร้หลักการ เราก็คงจะต้องไม่เห็นด้วย และยังต้องเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปต่อสู้ในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับพวกขวาจัด หรือผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้นำมาซึ่งหลักการที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง เป็นต้น

แต่การสนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ ทั้งในเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 คงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีท่าทีอย่างไร เพราะบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมไทยอยู่ในมือของประชาชน ยิ่งเสียกว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน 'ปะนาเระ' เดือด : จากวิสามัญ 3 ศพถึงกราดยิงมัสยิด

$
0
0

จุดยิง - บาลาเซาะห์ (อาคารละหมาดขนาดเล็ก) ซาบีลุลค็อยร์ บ้านนาพร้าว อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
จุดที่คนร้ายแต่งชุดดำ กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต เมื่อคืนวันพุธที่ 11 เมษายน 2555

 

ถนนสายเล็กๆ ในบ้านนาพร้าวที่ขนานไปกับชายหาด แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เรื่องราวความรุนแรงสะเทือนขวัญ เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่มีทั้งคนพุทธและมุสลิมแห่งนี้ มาอย่างต่อเนื่องนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา

ทีมข่าวของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ลงไปเจาะลึกถึงความเป็นไปในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี แต่ดูเหมือนว่า ความจริงของแต่ละฝ่ายยังต่างกันลิบลับ

เหตุรุนแรงอันเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนหมู่ที่ 2 ตำบลปะนาเระ กล่าวขวัญถึงคือเหตุยิงปะทะกันระหว่างทหารพรานกับกลุ่มที่รัฐเรียกว่าผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

ครั้งนั้น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ระบุว่า มีคนร้ายประมาณ 6 คนใช้อาวุธสงครามและปืนพกยิงใส่จุดตรวจร่วมบนถนนในหมู่บ้าน หลังเสียงปืนสงบลง พบผู้เสียชีวิต 3 คน ส่วนทหารพรานและสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บาดเจ็บเล็กน้อย

ถัดมาอีกเดือนกว่าๆ กำลังทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 ได้ควบคุมตัวครูสอนศาสนาหรืออุสตาซ 7 คนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอปะนาเระ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก พวกเขาถูกสงสัยว่าเป็นแกนนำในระดับความคิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

จากนั้นความรุนแรงในหมู่บ้านยิ่งถี่ขึ้น เริ่มจากวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2555 เกิดเหตุคนร้ายยิงสองพ่อลูกชาวมุสลิม โดยนายฮะ สาเระ เจ้าของร้านคาร์แคร์ผู้พ่อเสียชีวิต ส่วนลูกชายบาดเจ็บ

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2555 นายเอกชัย ทองใหญ่ ชาวพุทธในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นลูกจ้างแขวงการทางอำเภอปะนาเระถูกยิงเสียชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ชาวไทยพุทธถูกยิงบาดเจ็บเล็กน้อย

วันพุธที่ 11 เมษายน 2555 คนร้ายซุ่มยิงชาวบ้านบริเวณบาลาเซาะห์ (อาคารละหมาดขนาดเล็ก) ซาบีลุลค็อยร์ประจำหมู่บ้าน ช่วงหลังละหมาดอีซา (ละหมาดตอนค่ำ) ทำให้นายยาลี ตาเห อายุ 51 ปี และนายรอมลี หะยีดอเล็ง อายุ 50 ปี เสียชีวิต ส่วนภรรยาของนายรอมลีถูกยิงบาดเจ็บสาหัส

เสียงจากชาวบ้าน และขบวนการ?

“คนมุสลิมไม่มีทางที่จะยิงไปในมัสยิดแน่นอน” นายมะแอ กาเจ อดีตโต๊ะอิหม่ามวัย 65 ปีที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้มีหลักฐานใดๆ มะแอก็เชื่อว่าทหารพรานอาจเป็นคนที่ลอบเข้ามาทำร้ายคนมุสลิมในหมู่บ้าน

นายมะแอสะท้อนว่า ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัวทหารชุดดำเป็นอย่างมาก เขาเล่าว่าทหารพรานเหล่านี้มักจะมาอยู่ในป่า หลบๆ ซ่อนๆ และคนที่มาเป็นทหารพรานก็มักเป็นพวกนักเลงหัวไม้ หรือคนไม่มีงานทำ “ตั้งแต่ทหารพรานมาอยู่ที่นี่ มีชาวบ้านเสียชีวิตหลายคนแล้ว” มะแอกล่าว

อดีตโต๊ะอิหม่ามผู้นี้ ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของทหารเสียทีเดียว เขาคิดว่าทหารก็มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถ้าให้เขาเลือกได้ เขาอยากให้ “ทหารเขียว” (ทหารหลัก) มาอยู่ในหมู่บ้านมากกว่า

พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 กล่าวว่า ทางกอ.รมน.ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อโอนงานให้ทหารพรานเข้ามารับผิดชอบพื้นที่แทนทหารหลักมากขึ้น โดยโอนพื้นที่อำเภอปะนาเระและยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีจากมือของทหารหลักมาสู่ทหารพรานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา

นายเจ๊ะอิซอ ตาเห ซึ่งเสียพี่ชายคนโตในเหตุการณ์ยิงมัสยิดเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าทหารพรานน่าจะเป็นจำเลยที่หนึ่งในเหตุการณ์ในครั้งนี้

“คนมุสลิมไม่ฆ่าคนในมัสยิด เพราะว่ามัสยิดเป็นบ้านของพระเจ้า” เขากล่าวหลังจัดงานทำบุญครบรอบเจ็ดวันหลังการเสียชีวิตของยาลี “ความรู้สึกของประชาชนเจ็บปวดมาก จะมาละหมาดที่บาลาเซาะห์ก็ไม่กล้า”

เขาคิดว่าทหารไม่ว่าจะชุดสีอะไรก็ตามไม่ควรจะมีอยู่ในหมู่บ้าน “[ผม] รู้สึกกลัว ถ้ามีทหาร ประชาชนจะกลัว” เจ๊ะอิซอกล่าว

ชาวบ้านเล่าว่า มีใบปลิวกล่าวหาว่าทหารพรานเป็นผู้ก่อเหตุวางไว้อยู่หน้ามัสยิดในหมู่บ้านไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ เอกสารที่ชาวบ้านนำมาให้ดูจั่วหัวเป็นภาษาไทยว่า “ข้อเท็จจริงการกราดยิงมุสลิมในมัสยิดบ้านนาพร้าว (ไอปาแย 2)”

“ในนามนักรบฟาตอนี ที่แซกซึม [สะกดตามต้นฉบับ] อยู่ในทุกพื้นที่เราขอสัญญาว่า เลือดทุกหยด ทุกชีวิตที่พี่น้องมุสลิมเรา อ.ปะนาเระต้องสูญเสีย ณ วันนี้และต่อจากนี้จะไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน มันต้องชดใช้เป็น 100 เท่า ไทยพุทธ เจ้าหน้าที่ และ คนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ไม่ว่ามันจะใช้เส้นทางไหน ทำอะไร ที่ไหน เราพร้อมที่จะปลิดชีพมันแน่นอน...” เอกสารชิ้นนี้ลงชื่อเป็นภาษามลายู Pejuang fatoni (นักรบฟาตอนี)

 

นายทหารชุดดำ “รู้ดีว่าต้องตกจำเลย”

พ.อ.นิติ ในฐานะทหารผู้รับผิดชอบสูงสุดในพื้นที่ปานะเระรู้ดีว่าทหารพรานตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์สังหารโหดที่มัสยิด เขาได้ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านหลังละหมาดใหญ่วันศุกร์ สองวันหลังเกิดเหตุการณ์

“ยืนยันว่าลูกน้องผมไม่ได้ทำ แต่เราบังคับให้คนเชื่อไม่ได้”  คือคำยืนยันจาก พ.อ.นิติ

พ.อ.นิติ มองว่า เหตุการณ์ยิงมัสยิดนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงฝ่ายขบวนการเสียชีวิตสามศพเมื่อเกือบสองเดือนก่อน รวมถึงการควบคุมตัวเจ็ดอุสตาซไปซักถามด้วย

เหตุการณ์แรกนั้น ทหารพรานนับเป็นวีรกรรมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานครั้งนั้นเลยทีเดียว เพราะภายในฐานของกรมทหารพรานที่ 44 มีการเขียนข้อความในบอร์ดติดผนังขนาดใหญ่สีแดงว่า “เชิดชูเกียรติของกำลังพล”

“พวกเขาต้องการลดความเชื่อมั่นและศรัทธากับทหารพรานในพื้นที่” ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 กล่าว

นอกจากนี้ยังระบุว่า การยิงมัสยิดเป็นจุดที่จะทำให้เกิด “การปลุกระดม” และสร้างความแตกแยกในชุมชน

พ.อ.นิติ กล่าวว่า ทหารพรานเองได้สืบสวนในเชิงลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน

ทว่า เรื่องยาเสพติดและการเมืองท้องถิ่น อาจเป็นประเด็นผสมโรงที่ทำให้เกิดความรุนแรงด้วยก็เป็นได้ นั่นคือ คำทิ้งท้ายฝากไว้ให้คิดของ พ.อ.นิติ

เสียงจากคนพุทธแห่งปะนาเระ

บ้านนาพร้าวมีคนนักถือศาสนาพุทธอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประมาณ 1,400 คน

ผู้นำชุมชนคนพุทธในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยนาม กล่าวว่า เหตุรุนแรงระลอกล่าสุดนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามของ “ฝ่ายโจร” ที่ต้องการจะดึงฐานมวลชนคืน หลังจากพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในเหตุโจมตีป้อมจุดตรวจทหารพราน ที่ทำให้สูญเสียสมาชิกไปถึง 3 คน

“เขาสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่สร้างไม่ขึ้น แต่ถ้าชาวบ้านเล่นด้วย จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก” เขากล่าว

ชาวพุทธคนนี้สูญเสียคนในครอบครัวไปกับเหตุความไม่สงบเมื่อหลายปีก่อน มองว่าพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์รุนแรง เขาคิดว่า รัฐมองประเด็นผิดและพยายามจะเปลี่ยนแปลงคนที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการ

“มีกลุ่มอยู่เพียงนิดหน่อยเท่านั้นที่เล่นอยู่ … เขาออกมาพูดไม่ได้ พูดคือตาย ต่อต้านคือตาย”

ชายหนุ่มคนนี้มองว่า สถานการณ์ในหมู่บ้านขณะนี้ กลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด “ปัจจุบันนี้ พ่อค้ายาเสพติดกับแนวร่วมของขบวนการนั้นเป็นคนคนเดียวกัน” เขากล่าว

เขาอธิบายว่า พวกพ่อค้ายาเสพติดมีเงินก็เอาไปจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้สังหารคู่แข่งหรือศัตรูของตนเอง ส่วนพวกขบวนการเองก็ต้องการรายได้

คำอธิบายเช่นนี้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของทหารในช่วงหลังๆ ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เส้นทางของนักรบปาตานีที่ประกาศว่าตนต่อสู้เพื่อเอกราช ได้เดินทางมาบรรจบกับเส้นทางของกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายจริงหรือ

ตำรวจกับการดำเนินคดี

พ.ต.ท.สมศักดิ์ สังข์น้อย พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปะนาเระ ระบุว่า ข้อสรุปเบื้องต้นจากสอบสวนแต่ละคดี ดังนี้ เหตุยิงสองพ่อลูกคนมุสลิมน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว โดยผู้ตายเป็นอดีตอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีฆาตกรรมในอำเภออื่น แต่ศาลยกฟ้อง

ส่วนเหตุยิงคนไทยพุทธน่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการฉวยโอกาสเพื่อสร้างกระแสว่า เป็นการตอบโต้ระหว่างพุทธกับมุสลิม

ส่วนเหตุยิงช่างซ่อมจักรยานยนต์บาดเจ็บ ก็น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเกี่ยวข้องความไม่พอใจในการบริการซ่อมรถ

ส่วนเหตุการณ์ยิงมัสยิด(บาลาเซาะห์) ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ใครเป็นผู้ที่กระทำผิด

“หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อาจช่วยไขความกระจ่างของเหตุการณ์ได้มากขึ้น คือ การพิสูจน์ปลอกกระสุนเอ็ม 16 จำนวน 19 ปลอกที่พบในที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบว่า เป็นปืนเคยถูกใช้ก่อเหตุอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญในการคลี่คลายคดี”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'เขื่อน' ได้เวลาออกกฎหมายจำกัดการสร้าง

$
0
0

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นับแต่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2467 (เขื่อนพระราม 6 จ.อยุธยา) ในยุคแรก ๆ ของการสร้างเขื่อนในประเทศไทย อาจจะไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมา และไม่เคยเห็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อน ที่สำคัญได้รับการโฆษณาชวนเชื่อจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคยันท้องถิ่น ว่าเขื่อนนั้นดีเลิศประเสริฐศรียิ่งนัก

ข้ออ้างของการสร้างเขื่อนที่สำคัญ คือ เพื่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า การประมง การป้องกันอุทกภัย และการผลักดันน้ำเค็ม แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง เขื่อนก็ก่อให้เกิดหายนะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมนุษย์ สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ที่ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ของผืนน้ำและผืนป่า หลายพื้นที่ต้องไล่รื้ออพยพชาวบ้านให้ไปอยู่ที่อื่น หรือต้องหลีกทางอันเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารให้กับสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์ แต่กลับสร้างประโยชน์ให้มีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตัวใหญ่ยันถึงตัวเล็ก เพราะฉะนั้นจึงเกิดการต่อต้าน การสร้างเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หลายเขื่อนในประเทศไทยได้รับการคัดค้านการก่อสร้างอย่างรุนแรง เช่น เขื่อนเหวนรก เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองนางน้อย เขื่อนบาโหย เขื่อนรับร่อ เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนน้ำปาย 1-3 และเขื่อนแม่ลามาหลวง จนรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

นักสร้างเขื่อนทั้งหลายมักไม่ค่อยสนใจต่อผลกระทบที่จะตามมา หรือสภาพที่ควรอนุรักษ์หรือรักษาไว้ในบริเวณพื้นที่ที่เสนอที่จะสร้างเขื่อนเลย คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะผลาญงบประมาณโดยใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างได้อย่างไร  เช่น “เขื่อนน้ำโจน” ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกไปแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมีความพยายามที่จะก่อสร้างเขื่อนบริเวณนั้นให้ได้ แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน จนคณะรัฐมนตรีต้องมีมติระงับการสร้างเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 ซึ่งเขื่อนดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าปิดกั้นลำน้ำแควตอนบน บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ. กาญจนบุรี แต่ฝ่ายนักอนุรักษ์คนสำคัญ เช่น สืบ นาคะเสถียร หมอบุญส่ง เลขะกุล ได้เข้าคัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 ม. น้ำจะท่วมใจกลางป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างและตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานถึง 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 12,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532 การสร้างเขื่อนน้ำโจนก็คือ การทำลายป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับการประกาศจากองการณ์ยูเนสโกให้เป็น พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกในปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชรได้ โดยมีข้อสมอ้างว่า เพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนเลย และที่สำคัญเหตุผลของการอนุมัติให้ก่อสร้าง ไม่สามารถตอบโจทย์หรืออรรถาธิบายเหตุผลที่แท้จริงในการก่อสร้างได้

โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งกั้นขวางสายน้ำบริเวณต้นลุ่มน้ำสะแกกรัง มีปริมาณพื้นที่รองรับน้ำสูงสุดได้เพียง 258 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลางในปี 2554 ที่ผ่านมามีปริมาณนับหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกันไม่ได้กับปริมาฯน้ำที่เขื่อนแม่วงก์จะใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วมได้ ในขณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีเขื่อนเดิมอยู่แล้วหลายเขื่อน เช่น เขื่อนทับเสลา เขื่อนคลองโพธิ์ เขื่อนแม่กวง ซึ่งพื้นที่ที่กรมชลประทานใช้เป็นข้ออ้างในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรก็อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันของเขื่อนแม่วงก์ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเข้าไปอีกในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวก็มิใช่พื้นที่แล้งซ้ำซากเหมือนภาคอีสาน แต่เกษตรยังสามารถทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่มีโดยสิ้นเชิง แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการถึง 13,280 ล้านบาท และต้องสูญเสียพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้เศรษฐกิจที่มีค่าสูง เช่น ไม้สัก และพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่า 564 ประเภทในพื้นที่ดังกล่าวไปกว่า 13,000 ไร่

เหตุผลดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้มีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การลดปัญหาของความขัดแย้งกันของภาคประชาชนกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ นั่นคือ “การจำกัดการสร้างเขื่อน” โดยใช้มาตรการทางกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อกำหนด เพื่อมิให้นักสร้างเขื่อนทั้งหลายเลิกคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป ซึ่งจะได้หันไปพัฒนาหรือวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับเขื่อนหรืออ่างขนาดเล็กที่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เกิน 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อไป ซึ่งพื้นที่เขื่อนหรืออ่างขนาดเล็ก มักเป็นที่พอใจของชาวบ้านและไม่ได้รับการต่อต้านจากนักอนุรักษ์มากนัก ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 7 มาตรา ซึ่งมาตราที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

มาตรา 5  ห้ามหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นใดของรัฐและหรือเอกชน เสนอหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนที่มีขนาดความจุของน้ำเกินกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

มาตรา 6  ห้ามก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ หรือพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่อนุรักษ์ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามกฎหมายเพื่อการนั้น

มาตรา 7 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนทุกประเภทจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ และต้องจัดกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการหรือกิจกรรมทุกขั้นตอน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินการด้วย

ร่างกฎหมายดังกล่าวสมาคมจะเชิญชวนภาคประชาชนที่เห็นด้วยร่วมกันใช้สิทธิตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาต่อไป ซึ่งสมาคมและเครือข่ายนักอนุรักษ์ นักกฎหมาย จะได้ออกไปจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน ให้กับประชาชนทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ และจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของประชาชนที่สนับสนุนแผนงานดังกล่าว จะได้มีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายดังกล่าวร่วมกันต่อไป ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการปกป้องผืนป่าของชาติร่วมกันในอนาคต

ขณะเดียวกันในส่วนของมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ หากคณะรัฐมนตรีไม่ทบทวนโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอของภาคประชาชน ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางศาลปกครองในการฟ้องร้องเพื่อระงับโครงการดังกล่าว และหากประชาชนท่านใดต้องการมีส่วนร่วมในการยับยั้งโครงการดังกล่าวสามารถมอบอำนาจให้สมาคมเป็นตัวแทนไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ โดยไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือแต่งตั้งผู้แทนคดีได้ในเว็บไซด์ของสมาคมที่ www.thaisgwa.com แล้วกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และรีบส่งมาที่สมาคมตามที่อยู่ในแบบฟอร์มโดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้หยุดยั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลร่วมกันต่อไป...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา

$
0
0

ผมเคารพ ‘เจตนาดี’ ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่รักพุทธศาสนา ต้องการปกป้องพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงคู่สังคมไทยและสังคมโลกตลอดไป ที่พยายามต่อสู้ขับเคลื่อนให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย’ และต่อสู้ผลักดันให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาว ผมเข้าใจดีว่า การต่อสู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวทำกันมาอย่างเหนื่อยยาก และผมเองก็เคารพเสรีภาพ เหตุผล ของทุกฝ่ายที่พยายามผลักดัน 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ เป้าหมาย แนวคิดเบื้องหลังของการต่อสู้ผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ นั้น ผมกลับพบว่ามีปัญหาน่ากังวลซึ่งอยากตั้งข้อสังเกตไว้

ปัญหาน่ากังวลที่ว่านี้ คือ เรากำลังติด ‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ในจินตนาการแบบอดีต และกำลังผูกปมใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? ซึ่งในที่สุดปมต่างๆ ที่พยายามผูกเพิ่มขึ้นมากมายนั้น อาจไม่ได้ทำให้เกิด ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ เลยก็ได้

‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ที่ผมสังเกตเห็นในการแสดงออกของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในบ้านเรามีสามปมหลัก คือ


ปมหนึ่ง - ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะกษัตริย์อุปถัมภ์ ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยปัจจุบันต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย

แต่ปมนี้บดบังความจริงที่ว่า พุทธศาสนาที่ไม่ใช่ในเชิงพิธีการ แต่เป็นพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระหรือเชิงวิถีชีวิตนั้น มักเป็นพุทธแบบบ้านๆ ที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ พระสงฆ์และชุมชนพุทธที่เข้มแข็งทางปัญญาและการปฏิบัติธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน มักเป็นฝ่ายที่ขบถหรือเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจรัฐส่วนกลาง

เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่อ้างหลักธรรมคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของ รัชกาลที่ 6 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เรื่อยมาถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อชา สุภัทโท พุทธทาสภิกขุ พระไพศาล วิสาโล สมณสันติอโศก และสำนักปฏิบัติธรรมอื่นๆ ที่เข้มแข็งได้ด้วยการสร้างตัวเองให้เป็นที่เชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

และบดบังความจริงว่า รัฐประชาธิปไตยไม่อาจทำหน้าที่เหมือนรัฐราชาธิปไตยได้ เพราะรัฐประชาธิปไตยอ้างอิงความเป็นกลางทางศาสนา (และทางอื่นๆ) โดยอิงแนวคิดแบบ secularism และ liberalism ซึ่งหมายถึงความเป็นกลางของรัฐอ้างอิง ‘ความชอบธรรม’ อยู่บนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพทางเพศ ทางการเมือง การนับถือศาสนาฯลฯ

ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา โดยต้องพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการนับถือศาสนาและอื่นๆ จะนำอุดมการณ์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นอุดมการณ์ของรัฐในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่พลเมืองไม่ได้


ปมสอง - ศาสนาพุทธถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมจึงสูญสิ้นจากอินเดีย ฉะนั้น ศาสนาอิสลามที่กำลังรุกในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในระยะยาว

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า ก่อนจะถูกกองทัพมุสลิมรุกรานนั้น พุทธศาสนาอ่อนแอมากแล้ว มีการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การศึกษาสงฆ์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาตัดขาดจากสังคม จากปัญหาของโลกภายนอก สนใจถกเถียงและชื่นชมความดีงามสูงส่งของหลักธรรมพุทธศาสนาเฉพาะในแวดวงเดียวกัน (เหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันที่แทบจะปิดกั้นตัวเองจากความเห็นต่าง ไม่มองฝ่ายที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เป็น ‘กัลยาณมิตร’ หรือ ‘ผู้ชี้ขุมทรัพย์’ อย่างที่พุทธะแนะนำให้มอง)

และบดบังความจริงว่า การเผยแผ่ศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ใช้กองทัพหรือความรุนแรงนำทางอีกแล้ว แต่เป็นการใช้เหตุผลเสรีภาพ ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพระหว่างศาสนาและเกิดความร่วมมือที่จะสนับสนุนความเป็นธรรมและสันติภาพใน ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ร่วมกัน

ฉะนั้น ศาสนิกที่มีวุฒิภาวะทางศาสนาควร ‘ก้าวนำ’ ในการขจัดความหวาดระแวงระหว่างศาสนา สร้างความเข้าใจและความเคารพเชื่อถือระหว่างศาสนา อย่างที่ท่านพุทธทาสทำเป็นตัวอย่าง และอย่างที่พุทธะทำเป็นตัวอย่างมาแล้วในสมัยพุทธกาล

ปมสาม - ศาสนาอิสลามออกกฎหมายคุ้มครองตัวเอง ฉะนั้น พุทธศาสนาต้องมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเขาบ้าง

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า หลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลามกับพุทธศาสนานั้นแตกต่างกัน ขณะที่ศาสนาอิสลามไม่ได้แยกความเป็นนักบวชกับความเป็นฆราวาสออกจากกัน ไม่ได้แยกกฎของพระเจ้ากับกฎหมายอย่างเป็นอิสระจากกัน แต่พุทธศาสนาแยกเรื่องดังกล่าวออกจากกันอย่างชัดเจน

และบดบังความจริงว่า พุทธศาสนามี ‘จุดแข็ง’ ในเรื่องการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะพุทธะถือว่า ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพจึงจะค้นพบสัจจะได้ สัจจะที่ค้นพบทำให้พ้นทุกข์ได้ และทุกคนต่างมีความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะหรือคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์

ฉะนั้น โดยหลักการพื้นฐานแล้ว พุทธศาสนาจึงไม่ควรมีกฎหมายเอาผิดในเรื่องลบหลู่ศาสดา หรือสอนผิดจากพระไตรปิฎก เพราะการมีกฎหมายเช่นนี้ย่อมขัดต่อความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะ เพราะการศึกษาและปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเสรีภาพอย่างสูงสุดของปัจเจกบุคคลที่จะตีความคำสอนผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์เฉพาะตน การออกกฎหมายให้อำนาจบางองค์กรมาคอยตรวจสอบเอาผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของการแสวงหาสัจจะ และเป็นการทำลายมิติที่หลากหลาย มีชีวิตชีวาของพุทธศาสนาให้หายไป

เพราะยึดติด ‘สามปม’ ดังกล่าว (เป็นอย่างน้อย) จึงทำให้เกิดการพยายาม ‘ผูกปมใหม่ๆ’ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปมให้รัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย ปมพุทธศาสนาประจำชาติ ปมให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ปมให้รัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษาพุทธศาสนา การจัดกองทุนอุดหนุนต่างๆ การใช้อุดมการณ์พุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน ปมจัดกิจกรรมทางศาสนาแบบมหกรรม ฯลฯ

ซึ่งการผูกปมเหล่านี้คือการทำให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นกลไกรัฐ ทำให้เสรีภาพในการศึกษา การตีความคำสอนพุทธถูกจำกัด คับแคบ ทำให้พุทธที่มีมิติหลากหลายมีสีสันมีชีวิตชีวาแบบชาวบ้านๆ กลายเป็น ‘พุทธทางการ’ แบบแข็งทื่อที่เน้นพิธีการ พิธีกรรมแบบแห้งแล้ง ไม่ประเทืองปัญญา และไร้ชีวิตชีวา


จะว่าไปแล้ว ความมั่นคงของพุทธศาสนาจะเป็นไปได้จริงเมื่อคลายปมเหล่านั้นเสีย ให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจะให้สอดคล้องกับแนวทางของพุทธะจริงๆ ควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ (ระบบขุนนางพระ) ยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่เป็นเผด็จการซึ่งขัดต่อหลักการของธรรมวินัยที่เป็นประชาธิปไตยเสีย

ให้คณะสงฆ์ปกครองตนเองด้วยหลักธรรมวินัย และให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของชาวบ้านที่เขามีเสรีภาพจะศรัทธาเชื่อถือและสนับสนุนอุปถัมภ์ ไม่ต้องมีอำนาจศาสนจักรที่ใช้กฎหมายเป็น ‘ดาบ’ คอยควบคุม กำกับ และครอบงำทางความคิดของผู้คน

อย่างที่ไปบีบให้ปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ต้องออกมาขอโทษดังที่ทำกันอยู่!

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ฟัง ‘วิจักขณ์ พานิช’ พูด ใน ‘สันติประชาธรรมเสวนา’ ที่ ‘สวนเงินมีมา’ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: จากปทุมธานี ถึงพรรคเพื่อไทย

$
0
0

การพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยทั้งในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 5 ปทุมธานี และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.) ได้ให้บทเรียนที่สำคัญยิ่ง

สาเหตุเฉพาะหน้าของความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ก็คือ มวลชนคนเสี้อแดงปทุมธานีจำนวนมาก “พร้อมใจกัน” ไม่ไปลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยนั่นเอง เป็นผลให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์แม้จะไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่ม แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งในที่สุด

นัยหนึ่ง คนเสื้อแดงปทุมธานีกำลัง “สั่งสอนบทเรียนสำคัญ” ให้กับพรรคเพื่อไทย

สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาระบบของพรรคเพื่อไทยในการคัดสรรคนเพื่อลงสมัครเป็น ส.ส. ที่ยังเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ในแต่ละเขต จะมี “เจ้าของพื้นที่” อยู่เพียงไม่กี่คนที่งุบงิบตัดสินใจกันเองว่า จะเอาญาติ พี่น้อง ลูกเมียใครลงสมัครบ้าง โดยไม่สนใจความคิดความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่น

ผลที่ได้คือ ในหลายพื้นที่ พรรคเพื่อไทยจะได้แต่ประเภท “ส.ส.หลังยาว” ที่เกาะกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา โดยแทบไม่ได้หาเสียงด้วยตนเอง ไม่มีผลงานอันใด ไม่ใส่ใจประชาชนในพี้นที่ ไม่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในยามเดือดร้อน เอาแต่วิ่งเต้นในพรรค คอยเดินตามรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อตำแหน่งต่างๆ ให้ตนเองหรือพรรคพวกญาติพี่น้อง

ในการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนจำต้องกล้ำกลืนทั้งน้ำตา ยอมลงคะแนนให้ “ส.ส.หลังยาว” พวกนี้เข้าไปเพราะต้องการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนเผด็จการจารีตนิยม ให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยชนะคะแนนเด็ดขาดแล้วได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่ในการเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นคนละปริบท ประชาชนสามารถตัดสินใจได้กว้างขึ้นโดยรู้ดีว่า จะไม่กระทบภาพใหญ่ระดับประเทศ พวกเขาจึงเลือก ส.ส.ตามลักษณะและคุณภาพอย่างแท้จริง ในกรณีเขต 5 ปทุมธานี ส.ส.ที่ลาออกไป คือพวกหลังยาว ซึ่งประชาชนเอือมระอาเต็มทน ส่วนผู้ที่มาลงแทน ก็ถูกคัดสรรมาจาก “เจ้าของพื้นที่” โดยไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชน ดูถูกประชาชนว่า นี่คือพื้นที่สีแดง ต่อให้พวกตนเอา “เสาไฟฟ้า” มาลง คนเสื้อแดงก็ต้องเลือกวันยังค่ำ เพราะถึงอย่างไร มวลชนก็จะไม่หันไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เขาหารู้ไม่ว่า คนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างสูง ฟันฝ่ากระสุน ระเบิด และกองเลือดเพื่อประชาธิปไตยมาแล้ว มวลชนจึงคิดได้ว่า พวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นพวกเขาต่างหากที่กำหนดชะตากรรมของพรรค

บทเรียนสำคัญคือ พรรคเพื่อไทยจะต้องปฏิรูปกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ลดเลิกระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ให้ประชาชนระดับฐานรากเข้ามามีส่วนโดยตรงในการเสนอชื่อและคัดสรรผู้สมัคร สร้างให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง ค่อยๆ ลดความเป็นพรรคเถ้าแก่ใหญ่ แน่นอนว่า สิ่งนี้จะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรค แต่นี่คือปัจจัยชี้ขาดข้อเดียวว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองเชิงสถาบันในระยะยาวต่อไปได้หรือไม่เมื่อพ้นยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแล้ว

พรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในระดับชาติ แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในระดับท้องถิ่น คือพ่ายแพ้การเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเกือบทุกท้องที่ โดยมี อบจ. ปทุมธานี เป็นกรณีล่าสุด การเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับท้องถิ่นนั้น มีลักษณะเนื้อหาที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน จะเอาวิธีการของการเลือกตั้งระดับชาติไปใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ คือไม่สามารถชูภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์แล้วชนะเลือกตั้ง

การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรงของคนพื้นที่และการพัฒนาท้องถิ่น ประชาชนจึงต้องการคนพื้นที่ที่ทำงานทุ่มเทให้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการคนที่เป็น “เพื่อไทย” หรือ “เสื้อแดง” การเมืองระดับชาติแทบไม่มีผล ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยจึงใช้ไม่ได้กับการเมืองท้องถิ่นอีกเช่นกัน เพราะไปตัดสินกันที่ความสัมพันธ์โยงใยกับ “เจ้าของพื้นที่” เป็นหลัก โดยมีผลงานและความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่นเป็นประเด็นรอง

บทเรียนจากกรณี อบจ.ปทุมธานีจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อการเมืองท้องถิ่น ซึ่งแบบวิธีคิด วิธีการทำงาน การหาเสียง การจัดตั้งเครือข่ายและสร้างผลงานในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเรียนรู้ หัวใจสำคัญจึงยังคงอยู่ที่ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยอีกนั่นเอง

แต่ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ปทุมธานี และเป็นเหตุผลที่ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ปฏิเสธเสียงแข็งและไม่ยอมพูดถึง นั่นคือ นโยบายปรองดองของพรรคเพื่อไทยและท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมุ่งประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมโดยไม่คำนึงถึงหลักการความยุติธรรม  เป็นการ “หย่าศึก” “ลืมอดีตทุกอย่าง” “ยกโทษให้ทุกฝ่ายทุกคน” บนกองเลือดและความเจ็บช้ำของมวลชนคนเสื้อแดง

คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เสียมเรียบ ที่บอกให้ แม่น้องเกด (นางพะเยาว์ อัคฮาค มารดานางสาวกมลเกด อัคฮาค พยาบาลอาสาที่ถูกทหารพลแม่นปืนฆ่าอย่างโหดเหี้ยมขณะปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนาราม) และญาติผู้เสียชีวิตควร “เสียสละ” “เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” นั้น เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจคนเสื้อแดงอย่างสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับญาติพี่น้องของคนที่ตาย บาดเจ็บ พิการ และติดคุกถึงทุกวันนี้ เป็นนัยว่า เขาเหล่านี้ไม่รู้จัก “เสียสละ” ที่ไม่เห็นด้วยกับ “การปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยอย่าได้คิดว่า “ให้เงินเยียวยาไปคนละหลายแสนหรือหลายล้าน แล้วจบกัน” จะต้องเข้าใจว่า การที่คนเหล่านี้ก้าวออกมาต่อสู้ ฝ่ากระสุน ระเบิด และความตาย เสียชีวิตและอวัยวะ สูญทรัพย์สิน เงินทอง อาชีพการงาน ต่อเนื่องมาหลายปีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน แต่จุดหมายหลักคือ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นผลพลอยได้ เขาเหล่านี้แหละที่ “เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงมาตลอดหลายปี” สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องในวันนี้ไม่ใช่การล้างแค้น พวกเขาต้องการแค่ “ความยุติธรรม” เท่านั้น และก็ไม่มีใครหน้าไหนมีสิทธิ์มาบอกให้พวกเขา “เสียสละ” เพิ่มขึ้นอีก ยิ่งไม่มีสิทธิ์มาบอกพวกเขาว่า “ให้นึกถึงส่วนรวม”

การปฏิเสธความจริงข้อนี้คือ “การทรยศ” ต่อการเสียสละอันใหญ่หลวงของพวกเขา ถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยและแกนนำยังไม่เข้าใจอยู่อีกหรือ?

เรื่อง “การปรองดอง” ที่ไร้หลักการและไม่ยุติธรรมนี้แหละคือความคับแค้นใจอย่างแท้จริงในหัวใจของคนเสื้อแดงทั่วประเทศ พวกเขารู้สึกว่า “ถูกหักหลัง” นี่จะเป็นเครื่องชี้ชะตากรรมหนึ่งเดียวของพรรคเพื่อไทยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า จะยังคงได้รับการอุ้มชูและคุ้มครองจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่

หากปราศจากมวลชนคนเสื้อแดงแล้ว อย่าว่าแต่จะชนะเลือกตั้งเลย แม้แต่ตัวพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ก็ไม่อาจอยู่รอดได้แม้แต่วันเดียวในกรงเล็บของเผด็จการจารีตนิยม!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 27 ปี “น้องเกด” พยาบาลอาสา ครอบครัวเสนอ “ปรองดอง” แบบที่ผู้สูญเสียรับได้

$
0
0

พะเยาว์ อัคฮาด จัดงานวันเกิด 27 ปี “กมนเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯ เสื้อแดงร่วมจำนวนมาก ตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่สนนิรโทษกรรมของนักการเมือง เสนอนิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ส่วนแกนนำ นปช.-ระดับผู้บังคับบัญชา-ผู้สั่งการ หากพบผิดต้องดำเนินคดี “น้องเดียร์” ขึ้นเวที บอกไม่มีใครลืม แต่ขอให้ใจเย็น

 

นางพะเยาว์ (ซ้าย) และนายณัทพัช อัดฮาด (กลาง)  ขณะอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อที่จะนำไปสู่ความปรองดอง

 

26 เม.ย.55 เมื่อเวลา 17.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ มีการจัดงานรำลึกการเสียชีวิตและวันคล้ายวันเกิดของนางสาวกมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยนางพะเยาว์ และนายณัทพัช อัคฮาด มารดาและน้องชายได้อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อที่จะนำไปสู่ความปรองดองเสนอต่อ รัฐบาล รัฐสภา และสารณชนพิจารณา โดยมีเนื้อหา ดังนี้

1. เสนอให้ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองและผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทุกฝ่ายโดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมวงกว้าง

2. เร่งรัดให้การสืบสวนสอบสวน การไต่สวนการตาย และการพิจารณาคดีบนชั้นศาลกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมดำเนินไปอย่างไม่ล่าช้า เพื่อฟื้นฟูระบบนิติรัฐในสังคมไทย หากปรากฏว่าแกนนำ นปช. เป็นผู้กระทำความผิดก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำความผิด อาจพิจารณาให้นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ต้องไม่ละเว้นการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้สั่งการและผู้บังคับบัญชาในการสลายการชุมนุม เพราะการละเว้นความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย

3. ให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองนับแต่การรัฐประหาร 19 กันยา ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และผู้ประกอบการเอกชน

4. สำหรับกรณีของคุณทักษิณและพวก ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบ 2 มาตรฐานหรือกระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยา ควรดำเนินการตามแนวทาง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ของคณะนิติราษฎร

นายณัทพัชกล่าวในแถลงการณ์ว่า กระบวนการสร้างความปรองดองที่ได้เสนอให้พิจารณานี้วางอยู่บนคุณค่า หลักการ และกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในหลักนิติรัฐและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมากเช่นนี้อีกในอนาคต

นางพะเยาว์กล่าวปิดการแถลงการณ์ไว้อาลัยนางสาวเกดว่า “วันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว น้องเกดได้เกิดมาเป็นลูกสาวในครอบครัวอัคฮาด แต่แล้วเธอก็ได้จากเราไป ขณะที่ทำหน้าที่พยาบาลอาสาสมัครในสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งกำลังชุมนุมเพื่อยืนยันในหลักความยุติธรรมที่ตนเชื่อ และอีกฝ่ายหนึ่งกำลังเคลื่อนกองกำลังติดอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม

 วันนี้น้องเกดได้เกิดอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะลูกของผู้รักความถูกต้อง รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย

วันนี้คบเพลิงแห่งเสรีชนได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ยังความสว่างไสวในดวงตาและในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั้งแผ่นดิน ท่ามกลางการต่อต้านรัฐประหาร คัดค้านระบบความยุติธรรม 2 มาตรฐาน และต่อสู้กับการเมืองแบบจารีตนานหลายปี

ดิฉันขอให้จิตวิญญาณของน้องเกดและของผู้ที่เสียสละคนอื่นๆ สถิตอยู่ในตัวเราทุกๆ คนในที่นี้ เพื่อนำทางไปสู่อนาคตที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอบคุณค่ะ”

นางพะเยาว์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคดีว่าในตอนนี้คดีได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเธอยังคงมีกำลังใจในการที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ลูกของเธอ

หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวแถลงการณ์ก็ได้มีพิธีรดน้ำอัฐฐิของนางสาวกมนเกด เนื่องด้วยมีผู้มาแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมากทำให้นางพะเยาว์ก็ถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่  

 

 

จากนั้นเวลา 19.00 น. มีเวทีปราศรัยโดยนางพะเยาว์ ได้นำเค้กขึ้นมาบนเวทีพร้อมร้องเพลงวันเกิด และเป่าเทียนวันเกิดให้ลูกสาวที่เสียชีวิต และแจกเค้กให้ผู้ที่มาร่วมงานด้วย จากนั้นได้กล่าวบนเวทีว่า

"ที่ ส.ส.หลายคนบอกให้หันหน้ามาปรองดองและลืมๆไปซะ ก็อยากให้มองกลับกันว่าหากเป็นลูกหลานของท่านจะยอมหรือไม่ เพราะประชาชนได้ผ่านเหตุการณ์มาไม่นานและยังไม่ลืมเหตุการณ์ อยู่ดีๆ พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) จะมาโยนเรื่องปรองดองลงมาใครจะทำได้ เพราะพี่น้องได้ร่วมต่อสู้กันมา ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการปรองดอง แต่มีข้อแม้ว่าหากจะปรององต้องไม่เกี่ยวคดีความที่มีอยู่" นางพะเยาว์กล่าวและว่าไม่สนใจการให้สัมภาษณ์ของทักษิณ ชินวัตร เรื่องนิรโทษกรรม แต่มั่นใจใน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ

นางพะเยาว์ กล่าวอีกว่าอยากฝากถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่าข้องใจว่าประเทศนี้พอมีอะไรกันก็เข้าพบพล.อ.เปรม อาทิ กองทัพก็ต้องเข้าไปรดน้ำ   และที่มีคนออกมาระบุว่า พล.อ.เปรมไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เหตุการณ์ที่ผ่านมา พล.อ.เปรมก็เคยการันตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าประเทศไทยโชคดีที่มีนายกชื่ออภิสิทธิ์ แล้วทำไมตอนที่สั่งฆ่าประชาชน พล.อ.เปรมไม่ออกมา ตนมั่นใจว่าคนที่อยู่เบื้องหลังและยุ่งการเมืองคือ พล.อ.เปรม

ส่วน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุมว่า ไม่ได้มาร่วมงานในฐานะ ส.ส. แต่มาร่วมงานในฐานะผู้สูญเสีย เชื่อว่าเสื้อแดงทุกคนไม่ลืมการสูญเสียในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อยากให้ทุกคนมั่นใจ และเชื่อใจกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าเราไม่เชื่อ เราก็ไม่สามารถเชื่อใครได้นอกจากตัวเอง

"เดียร์รู้สึกไม่แตกต่างจากแม่น้องเกด แต่อยากให้ทุกคนใจเย็นเหมือนเดียร์ และเชื่อว่าคุณพ่อของเดียร์ และน้องเกดจะใจเย็นไปกับพวกเรา" น.ส.ขัตติยากล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images