Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

องค์กรแรงงานเรียกร้องปล่อย 'สมยศ' ฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน

$
0
0
 
30 เม.ย. 55 - โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและเครือข่ายออกแถลงการณ์เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ พฤกษาเกษมสุข' เพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข ทันที
เพื่อฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชน
 
ในวาระโอกาสวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) 1 พฤษภาคม 2555  โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) องค์กรสาธารณะประโยชน์ รณรงค์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้ พร้อมองค์กรสนับสนุนแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้   ขอเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับนักโทษการเมืองคดีเดียวกันทั้งหมด และเร่งฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยในประเทศ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือของฝ่ายเผด็จการรัฐประหารปี 2549 ในการคุกคามสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชน
 
ก่อนอื่นเราขอเตือนความจำของท่านว่า คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นผู้ต่อต้านการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยสันติวิธี  และยังเป็นนักกิจกรรมด้านแรงงานที่มีบทบาทอย่างมากในการรณรงค์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและประชาธิปไตยที่ถูกลิดรอน และทำสื่อวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนที่เห็นต่างจากเผด็จการรัฐประหาร   ทว่าเขากลับถูกจับกุมคุมขังเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ด้วยข้อหาข้างต้นและถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัวหลายครั้ง  ซึ่งเป็นสิทธิที่ระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและปฎิญญาสากลของสหประชาชาติ  ขณะนี้ศาลอาญา รัชดากำลังดำเนินการไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยในระหว่างวันที่ 18-20, 24-26 เมษายน 2555 และวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2555 
 
นอกจากนี้คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังเป็นที่รู้จักในขบวนการแรงงานไทย โดยเริ่มต้นทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน จากนั้นได้เข้าสู่ขบวนการแรงงานโดยมีผลงานการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม เช่น การเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนงานอ้อมน้อย เป็นที่ปรึกษาให้สหภาพแรงงานไทยเบลเยี่ยมและคนงานโรงงานทอผ้าพาร์การ์เม้นท์ ในการต่อสู้เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำและการเลิกจ้างคนงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมของคนงานย่านรังสิต ปทุมธานี การช่วยเหลือคนงานเนื่องจากไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ร่วมกับองค์กรแรงงานไทยและต่างประเทศ ก่อตั้งกลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลูกจ้างหญิงได้รับสิทธิการลาคลอด 
 
นอกจากนี้เขายังได้ก่อตั้งศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและอบรมคนงานด้านสิทธิการจ้างงานและฝึกอบรมคนงานใน สายการผลิตต่างๆ เช่น โรงงานเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รถยนต์และจักรยานยนต์ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 จนถึง 2548 ต่อจากนั้นสมยศหันเหความสนใจมาสู่การทำหนังสือและเป็นคอลัมนิสต์  ทั้งหมดนี้คือการทำงานเพื่อสร้างมาตรฐานสิทธิแรงงาน และร่วมสร้างความเป็นพี่น้องระหว่างแรงงานในประเทศและต่างประเทศ
 
ด้วยความตระหนักถึงความเป็นพี่น้องและเสรีภาพของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก ทำให้องค์กรแรงงานอื่นๆ ร่วมกันแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพในไทยและเรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข รวมถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ เช่น สภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย (Victorian Trades Hall Council) ประเทศออสเตรเลียออกจดหมายเรียกร้องท่านและเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เกี่ยวข้องให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยส่งผ่านสถานทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2555 
 
เราขอย้ำหลักการและเหตุผลของการเรียกร้องท่านให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคนทันที    5 ประการ 
 
1. นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต้องได้รับการปกป้องจากเผด็จการทั้งปวง ตามปฎิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่า มนุษย์ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกบุคคลหรือในนามกลุ่มองค์การทางสังคม ต่างได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการแห่งเสรีภาพ ที่ผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งปฏิญญานี้ยอมรับถึงสิทธิในการดำเนินกิจกรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในการรวมตัวและเรียกร้อง  เพื่อให้รัฐบาลสร้างหลักประกันว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิสามารถดำเนินกิจกรรมได้โดยไม่ต้องกลัวการถูกปราบปราม
 
2. เสรีภาพเป็นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย และสร้างอำนาจให้แก่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ จะต้องยึดถือไว้เป็นหลักประกันสำหรับปกป้องสถาบันประชาธิปไตยและถ่วงดุลอำนาจกับเผด็จการในอนาคต
 
3. การก่อรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะเป็นรัฐบาลที่ก่อปัญหามากมายและถูกประณามว่าทุจริตคอรัปชั่น จนทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง แต่การใช้กำลังทหารและอาวุธออกมายึดอำนาจรัฐ ไม่สามารถยอมรับได้ตามหลักการประชาธิปไตยสากล เพราะเป็นการทำลาย/ลิดรอนอำนาจของประชาชนอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังใช้วิธีการรุนแรงหลากหลายรูปแบบ เช่น ข่มขู่ ปราบปราม กักขัง หน่วงเหนี่ยว สลายการชุมนุม มีการออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 กฎหมายรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 และมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับอื่นๆ มากขึ้น เช่น กฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น  ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่  แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มเติม และก่อให้เกิดความร้าวฉานในสังคมระหว่างสองขั้วคือ ผู้ก่อ/สนับสนุนการทำรัฐประหารกับผู้ที่คัดค้านการทำรัฐประหาร  รวมถึงการเสื่อมศรัทธาและการตั้งคำถามต่อองค์กร/สถาบันสำคัญ เช่น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ระบบยุติธรรมไทย  เพราะไม่สามารถเป็นเครื่องมือระงับความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
 
4. กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เปิดช่องให้มีการแจ้งความกล่าวหาโดยใครก็ได้  ซึ่งคลุมไปถึงให้มีการตีความเกินจริง  เหมารวมว่าประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์ สร้างอคติ คับแคบ สุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้ง ทำร้ายผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยง่าย  ทั้งก่อให้เกิดการไต่สวนพิจารณาคดีที่เอนเอียง ไร้มาตรฐาน ลงโทษอย่างหนักเทียบเท่าหรือยิ่งกว่าอาชญากรฆ่าคน  และยังกักขังนักโทษการเมืองให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ ใส่ห่วง ล่ามโซ่ตรวนตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผู้ต้องหากลายเป็นอมนุษย์ไปในที่สุด ซ้ำยังก่อให้ผลทางจิตวิทยา สร้างความหวาดกลัวให้แก่สาธารณชน
 
5. การต้องยกระดับสิทธิมนุษยชนในประเทศจะเป็นการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย  และทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติต่อหน้ากฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
 
แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นจุดยืนและเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง  หากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทางการเมือง การจัดตั้ง รวมกลุ่มตามระบอบประชาธิปไตยถูกเพิกเฉย ละเลย ย่อมเท่ากับว่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนสิทธิแรงงาน ประชาชน จะไม่ได้รับการปกป้องใดๆ   เราจะยังคงยืนหยัดรณรงค์ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขและนักโทษคดีหมิ่นฯ ต่อไปเพื่อให้ชาวโลกได้รับรู้ว่าประชาชนไทยยังขาดเสรีภาพและความยุติธรรม
 
ด้วยความศรัทธาต่อเสรีภาพของประชาชน
 
รายนามองค์กรที่สนับสนุนแถลงการณ์ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข
 
1. สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์เครื่องหนังประเทศไทย
2. สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย (ประกอบด้วยสมาชิก 145 สหภาพแรงงาน)
3. สหภาพแรงงานกิจการปั่น-ทอแห่งประเทศไทย (พิพัฒนสัมพันธ์)
4. สหภาพแรงงานมอลลิเก้เฮลท์แคร์
5. กลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า
6. สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล
7. สหภาพแรงงาน พี.ไอ.เอ็ม
8. องค์กรเลี้ยวซ้าย (องค์กรสังคมนิยม)
9. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิชี้ การเลื่อนตัดสินคดี "จีรนุช"เป็นการยืด "บรรยากาศความกลัว"

$
0
0

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในภูมิภาค ร่วมแถลงข่าวหลังการเลื่อนการพิพากษา "จีรนุช" ระบุ พ.ร.บ. คอมฯ จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อคุ้มครอง "ตัวกลาง" ในโลกไซเบอร์

 30 เม.ย. 55 - เมื่อเวลา 15.00 น. ภายหลังการเลื่อนการตัดสินคดีความผิดในมาตรา 14 และ 15 ตาม พ.ร.บ. คอม ของ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท องค์กรสิทธิและองค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อระหว่างประเทศ อาทิ พันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ได้ร่วมกันแถลงข่าว  ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยชี้ว่า การตัดสินใจของศาล เป็นการหล่อเลี้ยงบรรยากาศของความกลัวให้ยาวนานยิ่งขึ้นในวงการอินเทอร์เน็ตไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพื่อปกป้องสิทธิของ "ตัวกลาง" ในโลกอินเทอร์เน็ต

photo (2)

คดีตัวกลางที่เป็น "หมุดหมาย" ในวงการอินเทอร์เน็ตไทย

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ ตัวแทนจากองค์กรรณรงค์เพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Media Defense กล่าวว่า คดีที่เป็นหมุดหมายนี้ เมื่อถูกตัดสินแล้ว จะมีผลอันน่ากลัว (chilling effects) ต่อแวดวงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย เนื่องจากหากตัดสินว่าผิดจริง จะหมายถึงว่า ต่อไปนี้ เพียงการปรากฏเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในเว็บไซต์หนึ่งๆ ไม่ว่าจะด้วยระยะเวลานานเพียงใด ก็ถือว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์นั้นมีเจตนาทำความผิดกฎหมายตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์แล้ว 

"ถ้าผลการตัดสินออกมาว่าผิดจริง ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ต้องเฝ้าเว็บไซต์ของตัวเองวินาทีต่อวินาที ไม่ใช่ต่อชั่วโมง ไม่ว่าข้อความนั้นจะขึ้นมากี่วินาทีหรือกี่นาที คุณก็จำเป็นต้องลบมันออกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" เขากล่าว 

ด้านตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตั้งข้อสังเกตว่า การตีความกฎหมายตัวนี้ของศาลแตกต่างจากเจตนารมณ์เดิมที่กฎหมายถูกร่าง โดยเฉพาะมาตรา 14 ใน พ.ร.บ. คอมฯ ที่เดิมกำหนดไว้เพื่อเอาผิดกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเชิงเทคนิค เช่น รหัสข้อมูลต่างๆ ที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อโจมตีหน่วยงานรัฐหรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) ระบุว่า ในระยะสามปีแรกของการใช้กฎหมายดังกล่าว ส่วนใหญ่กลับถูกใช้ส่วนใหญ่ในคดีหมิ่นประมาทแทบทั้งสิ้น 

อาทิตย์ชี้ว่า นอกจากการใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากโทษจำคุกสูงสุดของพ.ร.บ. คอมฯ ที่มี 5 ปี ดูจะผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับกฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาที่มีโทษสูงสุด 1-2 ปีแล้ว การทำให้กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะยอมความไม่ได้ ก็ทำให้เกิดความลักลั่นในการใช้ ประกอบกับกระบวนการจับกุมที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน ยิ่งชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขตีความและแก้ไขกฎหมายตัวนี้ใหม่มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 

การเลื่อนพิพากษา ยิ่งทำให้ "ความกลัว" ปกคลุมในสังคม

สุนัย ผาสุก นักวิจัยประเทศไทย จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ในระยะหนึ่งเดือนที่ศาลเลื่อนการอ่านคำพิพากษานี้ หวังว่าศาลไทยจะนำเอาข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติมาพิจารณา ซึ่งเสนอไม่ให้รัฐไทยเอาผิดกับตัวกลางในอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการเซ็นเซอร์ขึ้นในสังคม

"การดำเนินคดีของตัวกลางอย่างจีรนุช ไม่สมควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าการตัดสินคดีจะถูกเลื่อนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็คือความพยายามของทางการไทยที่จะตีความการใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับตัวกลางสำหรับความคิดเห็นอื่นที่ถูกโพสต์ออนไลน์ และผลที่ตามมาก็คือ มันสร้างบรรยากาศความกลัวในหมู่ผู้ดูแลเว็บไซต์และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ที่จำเป็นต้องเซนเซอร์เนื้อหาต่างๆ ที่ผู้อื่นเป็นผู้โพสต์ เพราะเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีแบบเดียวกัน" สุนัยกล่าว

"การเลื่อนคดีคำพิพากษาของจีรนุช จึงเป็นการทำให้บรรยากาศความไม่แน่นอนและความกลัวที่ปกคลุมยืดเยื้อมากยิ่งขึ้น" 

ด้านจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทและจำเลยในคดีพ.ร.บ. คอมฯ กล่าวว่า ถึงแม้เธอจะหวังว่าผลการพิพากษาจะออกมาดี แต่ก็ยอมรับว่ายังมีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างใหม่ และการตีความก็ยังไม่แน่นอน

จีรนุชตอบคำถามของผู้สื่อข่าวต่างประเทศด้วยว่า ถึงแม้การรณรงค์และแรงสนับสนุนจากนานาชาติจะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการช่วยประกันว่าการดำเนินคดีเป็นไปอย่างโปร่งใส แต่ในความคิดของทางการไทย อาจถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ และเป็นปัญหาที่อยู่ภายใต้ของอธิปไตยของไทย จึงอาจมีผลต่อคดีไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ยังมีกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมาก ที่ยังต้องการความสนใจจากสาธารณะ และเสริมว่า การรณรงค์ไม่ควรมุ่งเน้นที่ตัวบุคคลมากเกินไป แต่ควรจะให้ความสำคัญกับประเด็นของปัญหามากกว่า  

ทั้งนี้ ตามกำหนดเดิม ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีของจีรนุชวันที่ 30 เม.ย. 55 แต่เมื่อเวลาราว 9.47 น. ของวันนี้ ผู้พิพากษาได้ขึ้นบัลลังก์เพื่อแจ้งว่า เนื่องจากเอกสารในคดีนี้มีจำนวนมาก จึงขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.55

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แดงเชียงใหม่ยกธง 'Primary Vote' ยอม 'พรรคเพื่อไทย' คัดผู้สมัครเอง

$
0
0
เสื้อแดงเชียงใหม่ยกธง 'Primary Vote' หลังส่ง 4 ตัวแทนไปให้พรรคพิจารณา ยอม 'พรรคเพื่อไทย' คัดผู้สมัครเอง ส่งคนสนิท 'เยาวภา' ลงสมัครซ่อม ส.ส. เขต 3 'เพชรวรรต' ระบุเสื้อแดงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่เสนอชื่อคนลง ส.ส. แล้วมีเงื่อนไขต่อรอง ท้า ปชป. ได้ห้าพันเสียงก็เก่งแล้ว
 
พท.ส่ง "เกษม นิมมลรัตน์" ลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เชียงใหม่
 
เนชั่นทันข่าวรายงานว่าที่พรรคเพื่อไทย 30 เม.ย. 2555 เมื่อเวลา 16.00 น. พรรคเพื่อไทยมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมมีการหารือถึงการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 แทนน.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ อดีตส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยให้พ้นสภาพความเป็นส.ส.กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งนายยงยุทธ และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 ของพรรค 
 
โดยนายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติเห็นชอบตามที่ที่ประชุมส.ส.ภาคเหนือเสนอชื่อนายเกษม นิมมลรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมส.ส.เชียงใหม่ เขต 3 แทนน.ส.ชินณิชา
 
ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า รู้จักกับนายเกษมมานาน ซึ่งการลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมเพื่อรับใช้ชาวเชียงใหม่นั้น นอกจากจะมีนโยบายของพรรคที่คอยตอบโจทย์แล้ว นายเกษมยังเป็นคนในพื้นที่ซึ่งอยู่กับประชาชนและเคียงบ่าเคียงไหล่กับพรรคมานาน ดังนั้นหวังว่าชาวเชียงใหม่จะให้โอกาสนายเกษมมาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อรับใช้ชาวเชียงใหม่
 
แดงเชียงใหม่ยกธง-ยอม "เจ๊แดง" ส่งคนสนิทลงสมัครซ่อม ส.ส. เขต 3
 
ด้านเว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 เม.ย. ที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย สาขา อ.สันกำแพง บ้านแม่ปูคา หมู่ 10 ต.ต้นเปา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ได้มีกลุ่มบุคคลเสื้อแดง ใช้ชื่อว่า คนเสื้อแดงภาคประชาชน จำนวน 20 คนได้เดินทางมายังสำนักงานพรรคเพื่อไทย และยื่นหนังสือถึงผู้ดูแลสำนักงานผ่านไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ว่า อยากจะให้ทางพรรคคัดเลือกบุคคลที่ประชาชนคนเสื้อแดงรู้จักเข้าลงสมัครซ่อม สส.เขต 3 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย ก็ได้แจ้งให้กับกลุ่มเสื้อแดงภาคประชาชน ที่เดินทางมาวันนี้ว่าทาง พรรคเพื่อไทยได้ประกาศไปแล้ว และได้ตรวจสอบคุณสมบัติของกลุ่มคนที่ถูกเสนอมาแล้วทั้งของ นางเยาวภา วงค์สวัสดิ์ เอง รวมทั้งของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยื่นเสนอชื่อมา 4 คน ซึ่งก็ได้คัดแล้ว ลงมาติเอานายเกษม นิมมลรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกอบจ.เชียงใหม่ ลงสมัคร  ซึ่งกลุ่มภาคประชาชนเมื่อรับทราบแล้ว ทุกคนก็เป็นที่เข้าใจและสลายตัวไปในที่สุด
 
ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำกลุ่มเสื้อแดง  นปช.กลาง เชียงใหม่ได้เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม ตนได้เสนอชื่อบุคคลจำนวน 4 คนไปยังพรรคเพื่อไทยแล้วเพื่อให้พิจารณา แล้วซึ่งทางพรรคเพื่อไทย ก็ได้รับไปแล้วและพิจารณา แล้ว ซึ่งทางกลุ่มพวกตนก็แล้วแต่ทางพรรค เมื่อพรรคเพื่อไทย มีมติเอา นายเกษม แล้วทางกลุ่มของตนก็ไม่มีปัญหา ซึ่งเราก็ได้ยื่นรายชื่อไปตามที่กลุ่มต้องการ และทางพรรคเพื่อไทยเอง เขาก็ได้พิจารณาตรวจสอบแล้ว ทางกลุ่มเราก็ทำตามมติของพรรคเพื่อไทย  ไม่มีปัญหาอะไร 
 
ด้านนายเพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล ที่ปรึกษาแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ได้เปิดเผยว่า กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ตนอยากให้รู้หน้าที่รู้บทบาท คนเสื้อแดงนั้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับบ้าน เรื่องที่จะไปเสนอชื่อบุคคลลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ตนคิดว่า คนเสื้อแดงไม่ได้มีหน้าที่ในตรงนั้น เราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่มาเสนอชื่อคนโน้นคนนี้ลงสมัคร มีเงื่อนไขต่อรอง ดูแล้วไม่ถูกต้องและไม่ใช่อุดมการณ์ของคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน เรื่องการส่งคนงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องของคณะกรรมการพรรคเพื่อไทยเอง คนเสื้อแดงไม่ควรที่จะเข้าไปเสนอหรือไปมีเงื่อนไข  ไม่อย่างนั้นฝ่ายตรงข้ามจะมองดูพวกเราคนเสื้อแดงที่ไม่โปร่ง ใส ก็เหมือนกับพวกฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดง ออกมาต่อสู้ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ และประกาศจะไม่ยุ่งกับการเมือง ด่าการเมืองว่า สกปรก สุดท้ายก็พากันแห่ลงสมัคร สร้างพรรคขึ้นมา แล้วสุดท้ายก็ทะเลาะกันเองในที่สุด
 
นายเพชรวรรต ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า แล้วเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ ประกาศกร้าว จะขึ้นเชียงใหม่เพื่อส่งผู้สมัครลงมาต่อสู้ชิงชัย สส.ในเขต 3 นั้น ตนอยากจะบอกกับนายอภิสิทธิ ว่าอย่าได้ช้า ให้รีบส่งคนมาสมัครลงได้เลย และหากได้คะแนน 5 พันคะแนน จะถือว่า ผู้สมัคร สส.พรรคประชาธิปัตย์ เก่งแล้ว สุดยอด ขอให้ส่งมาเถอะ และคนเสื้อแดง ก็จะไม่ไปขับไล่นายอภิสิทธิ เลยหากมาเชียงใหม่ แล้วลงพื้นที่ชว่ยลูกพรรคหาเสียง  มาเลย เพราะเป็นสงครามของการเมือง ไม่ใช่สงครามของการเข่นฆ่ากัน  หากนายอภิสิทธิ กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ก็ขอให้โทรศัพท์มาหาตน ได้ ตนพร้อมที่จะไปให้ความคุ้มครองดูแลให้ และยังจะช่วยสนับสนุนให้อีกด้วย มาเถอะ ได้ 5 พันคะแนนในจังหวัดเชียงใหม่เขต 3 ถือว่าเก่งแล้ว 
 
ประชาชนเขตเลือกตั้งซ่อมยันไม่ก้าวก่ายมติของพรรค พท. แนะควรส่งผู้สมัครที่อยู่ในพื้นที่
 
สำนักข่าวประชาธรรมได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ โดยล่าสุดประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด) ที่รวมตัวกันแบบไร้แกนนำได้ออกมาแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ได้มุ่งจะก้าวก่ายมติของพรรคเพื่อไทย แต่อยากให้ผู้สมัครที่พรรคส่งมา มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเขต 3 พร้อมกับเสนอให้พรรคนำกติกาเกี่ยวกับกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในตราสารของพรรคมาใช้อย่างเคร่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติ ประสบการณ์ การทำงานการเมืองระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด 
 
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ไม่อยากเห็นการเมืองเป็นระบบครอบครัว ระบบขัดตาทัพ แต่อยากเห็นประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน และทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน
 
นางวาณี อภิวงศ์ ชาวบ้านจากต.ร้องวัวแดง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากแกนนำนปช.ถูกพรรคเรียกไปคุย ก็มาบอกว่า คนที่จะส่งลงเพียงแค่ขัดตาทัพไว้ ถ้าคนกลุ่มบ้านเลขที่ 111 กลับมาก็จะนำเข้ามาแทน จึงขอร้องไม่ให้เราเคลื่อนไหว  ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้พวกเราไม่ต้องการ เราอยากให้ชาวบ้านเลือกก่อน
 
"ที่สำคัญเราอยากได้คนในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าเอาคนจากหมู่บ้านไหนตำบลไหนมายัดเยียดให้เรา เราไม่ได้เป็นวัวเป็นควาย เราอยากได้คนที่ลงพื้นที่ในเขต 3 อำเภอ คนที่เป็นที่รู้จัก"
 
ชาวบ้านจากอ.แม่ออน อายุประมาณ 60 ปี กล่าวว่า เราแค่ไปแถลงการณ์ว่าเราไม่ชอบแบบนี้ ไม่ได้แถลงในนามนปช.เชียงใหม่ แต่แถลงในนามประชาชนของเขต 3
 
"ที่ออกมาแถลงการณ์เพราะเรารักพรรคเพื่อไทย ให้เลือกพรรคอื่นเราก็คงไม่เลือก  พรรคเพื่อไทยต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง อย่างที่นายกทักษิณเคยบอก อันนี้เหมือนกับว่าพรรคนำกฎเกณฑ์มาบีบประชาชนมากเกินไป ไม่ยอมให้ประชาชนตัดสินใจเองบ้าง" ชาวอำเภอแม่ออนกล่าว
 
นางวาณี กล่าวอีกว่า เรามายื่นเพราะเราต้องการประชาธิปไตย เราไม่ได้ต้องการระบบอำมาตย์ ตอนที่นส.ชินณิชาลงสมัคร เราก็เลือกตามหลักการของคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย แต่พอเลือกไปแล้วผลงานออกมาไม่ดี ไม่ได้ลงพื้นที่ ไม่ได้ลงมาพัฒนาบ้านเราให้เจริญรุ่งเรือง เราจึงอยากให้พรรครับรู้ว่าไม่ควรเอาระบบขัดตาทัพ ระบบครอบครัวมาใช้ 
 
"ประชาชนก็มีหัวใจ บอกตามตรง อยากได้คนในพื้นที่ เอาใครก็ได้ เราอยากสนับสนุนคนในพื้นที่ สมมุติถ้าส.ส.เป็นคนในเขตอ.ดอยสะเก็ด เรามีปัญหา เราไปหาเขาได้ ไม่ต้องไปหาที่พรรค แต่สามารถไปหาบ้านเขาได้"
 
ด้านนายมนูญ บูรณะพัฒนา ว่าที่ผอ.การการเลือกตั้ง เขต 3 ของพรรคเพื่อไทย ได้ออกมารับเรื่อง พร้อมเรียกตัวแทนชาวบ้านเข้าไปคุยแบบปิดลับ  หลังจากเจรจาเสร็จได้กล่าวว่า จะดำเนินการส่งข้อมูลไปที่พรรคเพื่อให้รับทราบว่าต่อไปควรดำเนินการอย่างไร แต่ ณ เวลานี้ไม่ทัน เวลากระชับมาก ต้องรีบโปรโมตผู้สมัคร ถ้ามีอะไรก็จะมาพูดกันหลังจากนี้ ความจริงการลงสมัครต้องลงพื้นที่เป็นปี แต่ ณ วันนี้สถานการณ์มันไม่เอื้อ จึงอยากให้ชาวบ้านสนับสนุนพรรคเพื่อไทยต่อไป.
 
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานกลาง นปช.แดงเชียงใหม่และแกนนำประชาชนในพื้นที่ เชียงใหม่เขตเลือกตั้ง 3 (อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่ออน อำเภอดอยสะเก็ด) จัดแถลงข่าว เรื่องส่งตัวแทนผู้สมัคร ส.ส.ให้พรรคเพื่อไทยส่งลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ใช้ระบบ Primary Vote โดยให้ประชาชนในพื้นที่สรรหาตัวแทนผู้สมัค รส.ส. ให้พรรคพิจารณา ส่งลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ เพื่อจะได้ ส.ส.เป็นคนในพื้นที่พบปะดูแลประชาชนตลอดเวลา
 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day สมยศ พฤกษาเกษมสุข และประชาธิปไตยที่แท้จริง

$
0
0

วันที่ 1  พฤษภาคมพ.ศ.2433  ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้กำหนดให้ป็นวันกรรมกรสากล หรือ “วันเมย์เดย์” (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” จากสังคมเกษตรไปสู่สังคมอุตสาหกรรม  ที่ส่งผลให้ผู้คนอพยพจากการผลิตภาคเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด 

สภาพดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย   เพื่อเรียกร้อง “ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน8ชั่วโมงและศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง 

 

“ระบบสามแปด” คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมงและศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง  ยังห่างไกลความเป็นจริงของชีวิตผู้ใช้แรงงานในสังคมไทยที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน ซึ่งต้องมีชีวิตอยู่รอดได้ก็ต้องทำงานหนักมากกว่า 8 ชั่วโมง ต้องทำงานล่วงเวลา และทำงานวันหยุดด้วย

อย่างไรก็ตาม   “วันกรรมกรสากล” ถูกชนชั้นปกครองอำมาตย์ไทย บิดเบือนให้กลายเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”  เพื่อให้ผู้ใช้แรงงาน ถูกครอบงำด้วยอุดมการ “พระเดชพระคุณ” เหนือกว่าว่า อุดมการ “ชนชั้น”   เพื่อบิดเบือนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก

และเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสยบยอมจำนนต่ออำนาจที่เหนือกว่า มากกว่าการตระหนักถึงการกดขี่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกลดทอนให้เป็นเพียง “หุ่นยนต์” หรือ “สินค้า” ในระบบทุนนิยม

 

0 0 0

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  ปัญญาชนของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ผู้มีบทบาทอันแข็งขันในการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน  ทำหน้าที่ให้ความรู้  เรียนรู้จากผู้ใช้แรงงาน  มีความใฝ่ฝันให้ผู้ใช้แรงงานอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ

“สมยศ  พฤกษาเกษมสุข”  เป็นปัญญาชนของผู้ใช้แรงงาน ที่ต่างจากปัญญาชนในระบบทุนนิยมที่ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับนายจ้าง นายทุนต่างๆ  ในการแสวงหากำไร  ขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน  เอารัดเอาเปรียบกดขี่ชนชั้นผู้ใช้แรงงาน   แต่ปัญญาชนผู้ใช้แรงงานนั้น กลับมีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน  ทำหน้าที่เปิดโปงด้านมืดของระบบทุนนิยม และแสวงหาทางออกให้กับผู้ใช้แรงงาน     

ช่วงชีวิตของเขา ได้เดินทางแลกเปลี่ยนกับปัญญาชนผู้ใช้แรงงานทั่วโลก  เขาจึงมีเพื่อนสหภาพแรงงาน นักวิชาการ  ปัญญาชนชนชั้นแรงงาน และฝ่ายประชาธิปไตยทั่วโลก  ปัญญาชนแบบเขายังต่างกับผู้นำขุนนางกรรมกร ที่นิยมระบอบอำมาตยาธิปไตย สนุบสนุนการรัฐประหาร  พวกผู้นำกรรมกรที่ฉวยโอกาส หาผลประโยชน์ส่วนตน   และบางส่วนก็อับจนทางปัญญาด้วยการชูธงลัทธิสหภาพแรงงานที่ปิดกั้นการต่อสู้ทางการเมืองของผู้ใช้แรงงาน

ในช่วงวิกฤตการเมืองไทย การต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเข้มข้นนั้น    “สมยศ  พฤกษาเกษมสุข”  มีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิด “กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย”  เป็นบรรณาธิการหนังสือ Voice of Taksin กระบอกเสียงฝ่ายประชาธิปไตย  และถูกจับดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ  ม.112  จากบทความในหนังสือที่เขาเป็นบรรณาธิการ  และถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพโดยศาลไม่ให้ประกันตัว  กลายเป็น “คนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ กลับต้องเป็นผู้ถูกกดขี่เสรีภาพ” เสียเอง

“สมยศ พฤกษาเกษมสุข”   กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย ในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ

……………

บริบทเงื่อนไขสภาพการดำรงอยู่ที่เป็นจริงปัจจุบัน  การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงาน  ในภาวะที่ฝ่ายประชาธิปไตยเบียดขับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย  นั้น

ผู้ใช้แรงงานไทยฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องสนับสนุนนโยบาย 300 บาท และคัดค้านการต่อต้านนโยบายนี้ของกลุ่มทุนล้าหลังคับแคบที่หากินกับการกดค่าจ้างแรงงาน เช่น สภาหอการค้า  สภาอุตสาหกรรม  สมาคมนายธนาคาร  ฯลฯ   มิใช่เพียงเรียกร้องรัฐบาลให้ทำตามนโยบายเท่านั้น  

ทั้งยังต้องแก้ไข เสนอกฎหมายต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน  เช่น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์      พรบ.ประกันสังคม      พรบ.คุ้มครองความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ   การลงนามอนุสัญญา ILO มาตรา 87 และ 98  ฯลฯ  พร้อมๆ ขยายการต่อสู้เรื่องรัฐสวัสดิการ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม โดยมาตราการภาษีก้าวหน้า

ขณะที่ด้านการเมือง สนับสนุนการต่อสู้ให้มีการประกันตัว “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” และคนอื่นๆที่โดนดำเนินคดีทำนองเดียวกัน    ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแก้ไขมาตรา 112    ปล่อยนักโทษการเมือง   เอาคนสั่งฆ่าประชาชนเหตุการณ์เมษา –พฤษภาอำมหิต 53 มาลงโทษตามกฎหมาย


นอกจากนนี้แล้ว ต้องสนับสนุนให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ไม่มีอำนาจนอกระบบครอบงำ และเสนอให้ผู้ใช้แรงงานเลือกตั้งในสถานประกอบได้ เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและอำนาจของผู้ใช้แรงงาน

สิ่งสำคัญยิ่ง  ขบวนการแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้า  ต้องขยายงานจัดตั้ง ยกระดับ สมาชิก มีการนำรวมหมู่  ประชาธิปไตยในองค์กร  สร้างผู้ปฎิบัติงาน  ขยายสมาชิก   แสวงหาแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย

เพราะวัน May Day  มิใช่ “วันแรงงานแห่งชาติ”  แต่เป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ  ความเสมอภาค และประชาธิปไตย 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความแสงสำนึก: การลุกขึ้นประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน

$
0
0

 

“ความรุนแรงที่ระเบิดขึ้น
ไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม

แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก”

 

ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใคร
ก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน

การประท้วงทางการเมือง
เป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ

และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น
โดยนามแล้วจะเป็นการต่อสู้กับตลาดอันเลวร้าย

แต่อันที่จริง
พวกเขาประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง
ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว

 

การประท้วงปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ

แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก

 

0 0 0

บิล เกตส์ กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาได้อย่างไร? ความมั่งคั่งของเขาไม่ได้เกี่ยวกับว่า บริษัทไมโครซอฟท์ผลิตซอฟท์แวร์ที่ดีในราคาต่ำกว่าคู่แข่ง หรือก็ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบริษัท “ขูดรีด” คนงานของตัวเองเก่งกว่าหรอก (อันที่จริงไมโครซอฟท์จ่ายเงินเดือนให้แรงงานทางปัญญาค่อนข้างสูง) คนเป็นล้านซื้อซอฟท์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพราะว่ามันทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่เกือบจะทุกคนต้องใช้ ซึ่งเป็นการผูกขาดในทางปฏิบัติ ปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่า “ภูมิปัญญาทั่วไป” (general intellect) หมายความถึงองค์รวมความรู้ในทุกรูปแบบ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์จนถึงฮาวทู  บิล เกตส์ทำให้ภูมิปัญญาทั่วไปนี้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน และร่ำรวยด้วยการเก็บค่าเช่าที่ตามมา

การแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นของเอกชนเป็นสิ่งที่มาร์กซ์มองไม่เห็นในงานเขียนเกี่ยวกับทุนนิยมของเขา (เหตุผลหลักก็เพราะเขามองข้ามมิติทางสังคมของมัน) แต่สำหรับในปัจจุบัน นี่คือแก่นใจกลางของการต่อสู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องด้วยบทบาทของภูมิปัญญาทั่วไป (ซึ่งเกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้และความร่วมมือทางสังคม) ได้เพิ่มขึ้นในยุคทุนนิยมหลังอุตสาหกรรม ดังนั้นความมั่งคั่งจึงสะสมขึ้นจากแรงงานทั้งหมดที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตภูมิปัญญาทั่วไป และ (ดังที่มาร์กซ์เองก็ดูเหมือนจะเห็น) ผลของมันไม่ใช่การสลายตัวลงของทุนนิยม แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของผลกำไร ที่เปลี่ยนจากการขูดรีดแรงงานไปสู่การขูดรีดค่าลิขสิทธิ์ความรู้แทน

เช่นเดียวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแสวงหาประโยชน์ เป็นแหล่งรายได้จำนวนมหาศาล สิ่งที่ตามมาก็คือการต่อสู้กันอย่างไม่จบสิ้นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ประชาชนในโลกที่สามหรือบรรษัทข้ามชาติตะวันตก ดูเป็นเรื่องติดตลกที่ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างแรงงาน (ซึ่งสร้างมูลค่าส่วนเกิน) และสินค้าอื่น (ซึ่งการใช้สินค้าคือการบริโภคมูลค่านั้น) มาร์กซ์จัดให้น้ำมันเป็นสินค้า “ทั่วไป” ความพยายามจะเชื่อมโยงความผันผวนของราคาน้ำมัน กับความผันผวนของต้นทุนการผลิตหรือมูลค่าของแรงงานที่ถูกขูดรีด คงเป็นความพยายามที่ไร้ความหมาย เพราะต้นทุนการผลิตถือว่าจิ๊บจ๊อยหากเทียบกับราคาที่เราต้องจ่ายเวลาเติมน้ำมัน ซึ่งเป็นราคาค่าเช่าที่เจ้าของทรัพยากรสามารถเรียกเท่าใดก็ได้ เพราะความจำกัดของอุปทานนั่นเอง

กำลังการผลิตที่สูงขึ้นนำมาซึ่งผลกระทบที่มากขึ้นขององค์ความรู้ ทำให้ “การว่างงาน” เปลี่ยนความหมายไป และนี่คือความสำเร็จของทุนนิยม (ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้น ฯลฯ) ที่ทำให้การว่างงานมีจำนวนมากขึ้น และทำให้คนงานไร้ประโยชน์ลงเรื่อยๆ จากสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา เช่นการมีงานหนักน้อยลง ได้กลับกลายเป็นโชคร้ายแทน หรือถ้าจะพูดในอีกแบบหนึ่ง โอกาสที่จะถูกขูดรีดในงานประจำบัดนี้ดูจะกลายเป็นสิทธิพิเศษที่น่าปรารถนาไปเสีย ดังที่เฟรดริก เจมสันกล่าวว่าตลาดโลก “ที่ๆครั้งหนึ่งทุกคนเป็นแรงงานการผลิตกำลังสูง ในที่สุดความสามารถในการผลิตนี้ก็ตอบแทนตัวเองด้วยการอัปเปหิแรงงานออกจากระบบการผลิต” ในกระบวนการอันต่อเนื่องของทุนนิยมโลกาภิวัฒน์นั้น กลุ่มคนว่างงานไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน “กองทัพแรงงานสำรอง” อย่างที่มาร์กซ์ได้จัดประเภทเอาไว้ หากแต่ดังที่เจมสันว่า คนว่างงานนั้น รวมถึง “ประชากรจำนวนมหาศาลทั่วโลกที่ “ตกหล่นจากประวัติศาสตร์” ถูกกีดกัดออกไปจากการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่แบบประเทศโลกที่หนึ่ง และถูกตัดออกไปในฐานะผู้ที่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย” ตัวอย่างเช่นในที่ๆเรียกว่า “รัฐที่ล้มเหลว” (อย่างคองโกและโซมาเลีย) หรือเหยื่อของสภาวะความอดอยาก หรือประสบหายนะทางนิเวศวิทยา หรือผู้ที่ถูกกักขังอยู่ในวิธีคิดโบราณจอมปลอมเรื่อง “การเหยียดเชื้อชาติ” หรือผู้รับบริจาคและการช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ หรือเป้าโจมตีของสงครามต่อสู้การก่อการร้าย คำจำกัดความของ “การว่างงาน” จึงขยายกว้างออกไปและรวมคนจำนวนมากมายเอาไว้ ตั้งแต่ว่างงานชั่วคราว คนที่อยู่ในชุมชนแออัด (คนเหล่านี้ที่มักถูกมองข้ามจากมาร์กซ์ว่าเป็น lumpen-proletarian) และสุดท้ายรวมไปถึงประชากรและรัฐที่ถูกกันออกจากกระบวนการของทุนนิยมโลก ลองนึกถึงพื้นที่ว่างเปล่าบนแผนที่โบราณเอาก็แล้วกัน

บางคนอาจพูดว่าทุนนิยมรูปแบบใหม่นี้ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆในการปลดปล่อย และนี่เป็นข้อเสนอหลักของงาน Multitude ของไมเคิล ฮาร์ดท์และอันโตนิโอ เนกรี (ผู้ซึ่งพยายามดึงมาร์กซิสต์ไปสุดขั้ว) ที่เชื่อว่าถ้าเราตัดหัวของทุนนิยมออกเสีย เราก็จะได้สังคมนิยม พวกเขามองว่ามาร์กซ์มีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ และมองแรงงานอุตสาหกรรมในลักษณะรวมศูนย์ เป็นอัติโนมัติ และมีการจัดการอย่างเป็นลำดับชั้น มองภูมิปัญญาทั่วไปว่าเป็นอะไรบางอย่างที่ถูกวางแผนมาจากศูนย์กลาง ทั้งสองมองว่าการเกิดขึ้นของ “แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุ” (immaterial labour) ในปัจจุบันเท่านั้น จึงจะทำให้การปฏิวัติกลายเป็นเรื่อง “เป็นไปได้ในทางภววิสัย” เหล่าแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้แบ่งเป็นสองพวกคือ แรงงงานทางปัญญา (intellectual labour - ผลิตความคิด ผลิตงานเขียน ออกแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ) ถึง “แรงงานบริการ” (affective labour – เช่น หมอ พี่เลี้ยงเด็ก หรือแอร์โฮสเตส) ในปัจจุบันนี้ แรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุมีอำนาจนำ แบบเดียวกับในอดีต ที่มาร์กซ์ประกาศว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีอำนาจนำในทุนนิยมของศตวรรษที่ 19  พลังของแรงงานที่ไม่ได้ผลิตวัตถุนี้ ไม่ใช่มาจากเรื่องจำนวน แต่โดยจากการเล่นบทบาทสำคัญทางสัญลักษณ์ในเชิงโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือช่องทางใหม่ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สิ่งที่ทุกคนต้องใช้” (common) คือความรู้ที่ทุกคนต้องใช้กันทั่วไป และรูปแบบการสื่อสารร่วมมือใหม่ ผลผลิตของแรงงานเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งของ แต่เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมแบบใหม่ ผลผลิตที่ไม่ใช่วัตถุเหล่านี้คือชีวิตการเมือง  เป็นการผลิตชีวิตทางสังคมเลยทีเดียว

ฮาร์ดและเนกรีอธิบายกระบวนการของทุนนิยม “หลังสมัยใหม่” ที่วันนี้มีผู้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามด้วยมากมาย ว่าเป็นการเปลี่ยนจากการผลิตเชิงวัตถุ ไปสู่การผลิตเชิงสัญลักษณ์  เปลี่ยนจากตรรกะรวมศูนย์และมีลำดับชั้น ไปสู่การจัดการตัวเองและมีการร่วมมือจากหลายๆศูนย์ – ที่ต่างออกไปคือฮาร์ดท์และเนกรีศรัทธาในมาร์กซ์ พวกเขาพยายามพิสูจน์ว่ามาร์กซ์ถูก และการเกิดขึ้นของภูมิปัญญาทั่วไปนั้น ในระยะยาวจะไปกันไม่ได้กับทุนนิยม แต่ผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมหลังสมัยใหม่กำลังอ้างสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเลย พวกเขาพยายามเสนอว่าทฤษฎี (และปฏิบัติ) ของมาร์กซิสต์ ยังตกอยู่ในข้อจำกัดของตรรกะลำดับชั้น และการรวมศูนย์อำนาจ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้อธิบายผลกระทบของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารต่อสังคมได้ อันที่จริงมีเหตุผลเชิงประจักษ์ต่อข้อโจมตีนี้ด้วย นั่นคือ สิ่งที่ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์พังครืนลง ก็คือการที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตรรกะทางสังคมแบบใหม่ ที่วางอยู่บนฐานของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสารได้ กลับกันพวกเขาไปมุ่งนำการปฏิวัติ ซึ่งก็เป็นแผนการรวมศูนย์ขนาดใหญ่ของรัฐอีกอันหนึ่งเท่านั้น ความจริงที่ย้อนแย้งคือ สิ่งที่ฮาร์ดท์และเนกรีเฉลิมฉลองในฐานะโอกาสครั้งสำคัญในการเอาชนะทุนนิยมนั้น ในขณะเดียวกันก็ถูกเฉลิมฉลองโดยเหล่าผู้สนับสนุนของการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ว่าโลกทุนนิยมแบบ “ไร้ความขัดแย้ง” ได้เกิดขึ้นแล้ว

ข้อวิเคราะห์ของฮาร์ดท์และเนกรีมีจุดอ่อนบางอย่าง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่าทุนนิยมนั้น ได้เหลือรอดสิ่งที่ควรจะเป็น (ในคำดั้งเดิมของมาร์กซิสต์) “การจัดการการผลิตแบบใหม่” (a new organisation of production) ที่ทำให้ทุนนิยมเสื่อมลงได้อย่างไร  พวกเขาประเมินความสามารถทุนนิยมปัจจุบันต่ำเกินไป เพราะในวันนี้ ทุนนิยมประสบความสำเร็จในการแปรภูมิปัญญาทั่วไปให้กลายเป็นทรัพย์สินของเอกชน (อย่างน้อยในระยะสั้น) ทำให้แรงงานเองมีความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าพวกเขาไม่แค่ว่างงานชั่วคราวเท่านั้น แต่ว่างงานในเชิงโครงสร้างเลยทีเดียว

ถ้าทุนนิยมแบบเก่าจะต้องมีนายทุน เป็นผู้ลงทุน (ด้วยเงินตัวเองหรือยืมมา) ในการผลิตที่เขาจัดการ ดำเนินการและขูดรีดเอากำไรด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ ทุนนิยมแบบใหม่นี้ไม่ต้องมีนายทุนที่เป็นเจ้าของบริษัท แต่มีผู้บริหารมืออาชีพ (หรือบอร์ดบริหารที่นำโดยซีอีโอ) ซึ่งบริหารบริษัทที่ธนาคารเป็นเจ้าของ (ธนาคารเองก็บริหารโดยผู้จัดการ ซึ่งก็ไม่ใช่เจ้าของอีกเหมือนกัน) หรือนักลงทุนรายใหญ่อื่นๆ ในทุนนิยมแบบใหม่นี้ “กระฎุมพี” ในความหมายแบบเก่าได้เปลี่ยนไป กระฎุมพีกลายเป็นฝ่ายบริหารที่มีเงินเดือน ได้ค่าจ้างและร่วมเป็นเจ้าของด้วย ได้รับหุ้นเป็นผลตอบแทน (เหมือนเป็น “โบนัส” จาก “ความสำเร็จ”)

กระฎุมพีใหม่ยังขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินอยู่ แต่คราวนี้ซ่อนเร้นมาในรูปแบบของสิ่งที่เรียกว่า “ค่าจ้างส่วนเกิน” (surplus wage) พวกเขาได้รับเงินเดือนมากกว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ของชนชั้นกรรมาชีพอยู่บ้าง (ซึ่งเป็นมายาคติที่อ้างกันบ่อยครั้ง ตัวอย่างจริงๆในเศรษฐกิจโลกวันนี้ก็คงจะเป็นค่าจ้างของคนงานที่ต้องทำงานหนัก ในกิจการร้านขนาดเล็กและกลางที่จีนหรืออินโดนีเซียเท่านั้น) และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานะของพวกเขาต่างจากกรรมาชีพทั่วไป เพราะฉะนั้น “กระฎุมพี” ในความหมายคลาสสิกค่อยๆหายไป นายทุนใหม่ปรากฏขึ้นมาในฐานะส่วนหนึ่งของแรงงานมีเงินเดือน ในฐานะผู้จัดการ ที่มีคุณสมบัติควรจะได้เงินมากกว่า เพราะ “ความสามารถในการแข่งขัน” ของพวกเขา (นี่คือทำไม “การประเมินด้วยหลักวิทยาศาสตร์อันจอมปลอม” จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะมันให้ความชอบธรรมแก่ความเหลื่อมล้ำนี้) คนที่ได้รับค่าจ้างส่วนเกินไม่ได้มีเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ หมอ ทนาย นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชนและศิลปิน ค่าจ้างส่วนเกินมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือเงินมากขึ้น (สำหรับผู้จัดการ เป็นต้น) แต่อีกด้านหนึ่งก็คืองานที่น้อยลง และเวลาว่างมากขึ้น (สำหรับปัญญาชนบางคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ) 

เกณฑ์ประเมินที่ใช้ในการพิจารณาว่า แรงงานคนไหนจะได้ค่าจ้างส่วนเกินนั้น เป็นกลไกอันพลการของอำนาจและอุดมการณ์ และไม่ได้มีจุดเชื่อมสำคัญใดๆถึงประสิทธิภาพการทำงานที่แท้จริงเลยแม้แต่น้อย ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเหตุผลทางการเมือง นั่นคือการรักษา “ชนชั้นกลาง” เพื่อดำรงเสถียรภาพของสังคม สภาวะพลการของช่วงชั้นทางสังคมไม่ใช่ความผิดพลาดแต่เป็นความจำเป็น ความพลการของเกณฑ์การประเมินนั้นก็เหมือนกับความพลการของความสำเร็จทางการตลาด เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่ระเบิดขึ้นไม่ใช่เพราะมันมี “ความบังเอิญ” (contingency) มากเกินไปในสังคม แต่ระเบิดขึ้นเมื่อมีความพยายามจะทำลายความบังเอิญนั้นลงต่างหาก ในงานเรื่อง La Marque du sacre 

[2] นั้นชอง ปิแอร์ ดูปุย อธิบายเรื่อง “ช่วงชั้น” ว่าเป็นหนึ่งในสี่ขั้นตอน (“เครื่องมือทางสัญลักษณ์” – “dispositifs symboliques”) ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้ที่เหนือกว่ากับผู้ที่ต่ำกว่ากลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ขั้นตอนเหล่านั้นคือ 1) ช่วงชั้น (ระบบระเบียบจากภายนอกที่ทำให้เราสามารถมีประสบการณ์ของชนชั้นล่างอย่างเป็นอิสระจากคุณค่าที่เรามีแต่กำเนิด 2) การทำให้ความจริงปรากฏ (demystification – ขั้นตอนทางอุดมการณ์ที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณธรรม (meritocracy) แต่เป็นผลผลิตของการต่อสู้แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ทำให้ฉันสามารถจะหลีกหนีความเจ็บปวดว่า ชีวิตที่ดีกว่าของคนอื่นคือผลจากคุณธรรมและความสามารถของเขา  3) ความบังเอิญ (contingency - เป็นกลไกแบบเดียวกัน ที่ทำให้เราเข้าใจว่า ตำแหน่งแห่งที่ของเราในสังคมก็เหมือนกับการเล่นหวย คนที่แทงถูกคือคนที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงและร่ำรวย และ 4) ความซับซ้อน (complexity – พลังที่ควบคุมไม่ได้ส่งผลอันคาดเดาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น “มือที่มองไม่เห็น” ของตลาดอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของเราและความสำเร็จของเพื่อนบ้านก็ได้ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานหนักกว่า และฉลาดกว่ามากก็ตาม) แม้ว่าจะเห็นได้ชัดเจน แต่ขั้นตอนทั้งสี่เหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับช่วงชั้นทางสังคม แต่มันทำให้ช่วงชั้นเป็นเรื่องรับได้ ดูปุยกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนเกิดความไม่พอใจ อันมาจากความไม่เท่าเทียมในสังคมนั้น ไม่ใช่ความเชื่อที่ว่าคนอื่นไม่ควรได้รับโชคของตน แต่ตรงข้ามกันเลย มันคือความเชื่อที่ว่าคนอื่นควรจะได้รับโชคของตนต่างหาก เพราะเป็นความเชื่อเดียวที่พวกเขาจะแสดงออกได้อย่างเปิดเผย   ด้วยฐานคิดเช่นนี้ ดูปุยสรุปว่า หากคิดว่าสังคมที่เป็นธรรมและมองตัวเองว่าเป็นธรรมนั้น จะปราศจากคนไม่พอใจล่ะก็ ถือว่าเป็นความเข้าใจผิดใหญ่หลวงเลยทีเดียว ในสังคมแบบนี้แหละ คนที่อยู่ในช่วงชั้นต่ำกว่าจะหาทางระบายความไม่พอใจด้วยวิธีการที่รุนแรง

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีนทุกวันนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พูดมา คือในทางอุดมคตินั้น จุดประสงค์ของการปฏิรูปยุคเติ้งเสี่ยวผิง คือการพยายามสร้างระบบทุนนิยมที่ปราศจากกระฎุมพี (ที่จะกลายเป็นชั้นปกครองใหม่ได้) อย่างไรก็ตามในตอนนี้ ผู้ปกครองจีนค้นพบความจริงอันเจ็บปวดว่า ระบบทุนนิยมอันปราศจากช่วงชั้นที่ชัดเจน จะยิ่งไปทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพเป็นการถาวร แล้วจีนจะไปทางไหนดีล่ะ ในวันนี้เราจะเห็นว่าประเทศคอมมิวนิสต์เก่ามักกลายมาเป็นผู้จัดการทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพที่สุด ความเป็นปฏิปักษ์กับกระฎุมพีในประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านี้ ได้สวมเข้าพอดิบพอดีกับทิศทางของทุนนิยมในปัจจุบัน ซึ่งกลายมาเป็น “ทุนนิยมผู้จัดการ” (managerial capitalism) โดยไม่ต้องมีกระฎุมพี ซึ่งในทั้งสองกรณี อดีตและปัจจุบัน (ดังที่สตาลินกล่าวไว้นานแล้ว) “ผู้บริหารตัดสินใจทุกเรื่อง” (ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างรัสเซียกับจีนในวันนี้คือ ในรัสเซีย อาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนห่วยแตก และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกรรมาชีพ ในขณะที่จีนนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยได้รับค่าจ้างส่วนเกิน เพื่อเป็นหลักประกันความ “เชื่อง” ของพวกเขา)

เรื่องค่าจ้างส่วนเกิน ทำให้เราเห็นการประท้วง “ต่อต้านนายทุน” ที่กำลังดำเนินไปอยู่เวลานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงวิกฤตนั้น ผู้ที่ต้อง “รัดเข็มขัด” ก่อนใครก็คือพวกที่อยู่ในระดับล่างของกระฎุมพีเงินเดือน การประท้วงทางการเมืองเป็นหนทางเดียวในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพ และถึงแม้ว่าการประท้วงของพวกเขานั้น จะเป็นการต่อสู้ในนามของการสู้กับตลาดอันเลวร้าย แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขากำลังประท้วงเรื่องพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอภิสิทธิ์ของตัวเอง ที่กำลังหดหายไปอย่างรวดเร็ว ไอน์ แรนด์แสดงความคิดเพ้อฝันเรื่องการประท้วงเหล่านายทุนผู้สร้างสรรค์ไว้ในงาน Atlas Shrugged [3] ความเพ้อเจ้อนี้ทำให้เห็นว่า การประท้วงในปัจจุบันเป็นเรื่องวิตถาร ผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นกระฎุมพีเงินเดือนที่ประท้วงเพราะกลัวจะไม่ได้ค่าจ้างส่วนเกิน   นี่ไม่ใช่การประท้วงของชนชั้นกรรมาชีพ แต่เป็นการต่อสู้ไม่ให้ตนเองกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพต่างหาก ดังนั้นใครจะกล้าลุกขึ้นประท้วง เมื่อในสังคมวันนี้นั้น การมีงานมั่นคงถือได้ว่าเป็นอภิสิทธิ์ทีเดียว คนเหล่านี้ไม่ใช่คนงานค่าจ้างต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฯลฯ หรอก แต่เป็นคนงานอภิสิทธิ์ที่มีงานมั่นคงแล้ว (ครู คนทำงานในภาคขนส่งสาธารณะ ตำรวจ) และนี่ก็ส่งผลไปถึงคลื่นนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วงด้วย แรงจูงใจของพวกเขานั้นอาจจะเป็นความกลัวว่า การศึกษาจะไม่ให้หลักประกันค่าจ้างส่วนเกินแก่พวกเขาในอนาคต

ในขณะเดียวกันก็ชัดเจนว่า การลุกขึ้นประท้วงขนาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา จากอาหรับ สปริงจนถึงในยุโรปตะวันตก จาก Occupy Wall Street จนถึงจีน จากสเปนถึงกรีซ ไม่ควรถูกมองเพียงแค่ว่า เป็นการลุกฮือของกระฎุมพีเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป   ในประเทศอังกฤษ  การประท้วงของนักศึกษาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา กับเหตุการณ์จลาจลในเดือนสิงหาคม [4]  นั้นต่างกันแน่ ในกรณีหลังนี้ดูจะเป็นเทศกาลทำลายล้างของผู้บริโภค เป็นแรงระเบิดต่อการถูกกีดกัน   ในกรณีการลุกฮือที่อียิปต์ เราอาจจะเสนอได้ว่า ส่วนหนึ่งเริ่มจากการประท้วงของกระฎุมพีเงินเดือน (และคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษา ในเรื่องความไม่มั่นคงของอนาคต) แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อต้านระบอบที่กดขี่โดยรวมทั้งหมด แต่ขณะเดียวกัน ในกลุ่มผู้ประท้วงไม่ค่อยมีคนงานยากจนและชาวนา และชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคอิสลามเร็วๆนี้ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าฐานสังคมของการเคลื่อนไหวนั้นเล็ก เป็นการประท้วงที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา – แต่กรีซเป็นกรณีพิเศษ ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา กระฎุมพีเงินเดือนใหม่ (โดยเฉพาะในสังคมที่อำนาจรัฐแผ่ขยายมากจนเกินไปอย่างกรีซ) ได้ถูกสร้างขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากเงินช่วยเหลือของสหภาพยุโรป และการประท้วงเองก็มีแรงผลักอย่างมากจากความกลัวว่าเงินช่วยเหลือนี้จะหยุดลง

การกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพของกระฎุมพีเงินเดือนในระดับล่างๆนั้น เกิดไปพร้อมกับการให้โบนัสแก่พวกผู้บริหารระดับสูงและนักการธนาคารในจำนวนที่สูงอย่างไร้เหตุผล (ไร้เหตุผลเพราะว่าตามที่มีการสอบสวนนั้น สัดส่วนของโบนัสผกผันกับความสำเร็จของบริษัท) แทนที่เราจะมองทิศทางนี้ว่าเป็นการตกต่ำทางศีลธรรม เราควรจะมองว่ามันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ระบบทุนนิยมไม่สามารถดำรงเสถียรภาพได้อีก และกำลังจะไม่มีใครควบคุมมันได้อีกต่อไป

 

 



 

[1] จาก The Revolt of the Salaried Bourgeoisie ใน http://www.lrb.co.uk/v34/n02/slavoj-zizek/the-revolt-of-the-salaried-bourgeoisie

 

[2] http://www.carnetsnord.fr/titre/la-marque-du-sacre

 

[3] http://en.wikipedia.org/wiki/Atlas_Shrugged

 

[4] http://en.wikipedia.org/wiki/2011_England_riots

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สิทธิชุมชน” แค่นโยบาย หรือกฎหมายในกระดาษ?

$
0
0
 
หลังจากทราบข่าวคราวของพี่น้องเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดเมื่อวันที่ 30 มี.ค.55 และเหตุการณ์รื้อถอนสะพานทางเข้าออกหมู่บ้านโดยเจ้าหน้าที่อุทยานเขาปู่-เขาย่าที่บุกทำลายสวนยางพาราของชาวบ้าน บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง และเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายครั้ง ในที่ทำกินซึ่งเป็นพื้นที่ “โฉนดชุมชน” อันเกิดจากแรงผลักดันของประชาชนจนเข้าสู่นโยบายของภาครัฐ
 
ในพื้นที่ 8 ไร่ กับยางพาราอายุ 3 ปี จำนวน 800 ต้นที่ถูกโค่นทำลายไป อย่างไม่มีความหมาย และไร้ซึ่งความรู้สึกใดๆ ของผู้กระทำนั้นทำให้ผู้เขียนอดตั้งคำถามกับตัวเองไม่ได้ว่า แล้วกฎหมายมาตรา 66, 67 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ที่มีหลักการและเจตนารมณ์ที่มุ่งรับรองสิทธิของชาวบ้านที่รวมตัวเป็นชุมชน มีสิทธิบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเองที่มุ่งทำลายฉีกกฎหมายนั้นทิ้งโดยอ้างนโยบายป้องกันการบุกรุกป่า พื้นที่ทับซ้อน เขตป่าอนุรักษ์สารพัดสารพันที่นำมากล่าวอ้างสร้างเงื่อนไขในการทำลาย       
 
เท่าที่ผู้เขียนทราบ ชุมชน “บ้านตระ” และชุมชน “บ้านทับเขือ–ปลักหมู” นั้นความจริงแล้วเป็นชุมชนที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิมก่อนปี พ.ศ.2500 เสียด้วยซ้ำ ปู่ย่า ตายาย เคยทำไร่ปลูกผลไม้ ปลูกยางพาราทำมาหากินมาจนสู่รุ่นลูกหลานสร้างสิทธิในการครอบครองให้ตัวเองและชุมชนตามวิถีชีวิต จนกระทั่งในปี พ.ศ.2510 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ในขณะที่พื้นที่เหล่านั้นยังคงเป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้านอยู่ และกฎหมายเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องบังคับใช้กับคนจนหรือเกษตรกรรายย่อย แต่กลับเปิดโอกาสให้นายทุนคนไทยและต่างชาติเข้ามาขอเช่า หรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ และสัมปทานป่าไม้ ได้ในราคาถูกๆ
 
ชาวบ้านและชุมชนที่อยู่กันมาแต่ดั้งเดิมเริ่มถูกละเมิดและคุกคามสิทธิโดยการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐทำให้ผู้เขียนมีความสงสัยว่าชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยมายาวนาน คนเหล่านั้นใช้หยาดเหงื่อ และแรงกายมาหลายชั่วอายุคนทำมาหากิน ทำการผลิต สร้างรายได้เลี้ยงชีวิตตัวเองจากผลอาสินบนผืนดินที่ว่างเปล่า ยังไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของ ย่อมถือว่าบุคคลเหล่านั้นได้แสดงสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นเจ้าของแล้วโดยพฤตินัย ใช่หรือไม่?
 
คนและผืนดินมีมาก่อน แต่กฎหมายมาทีหลัง ผู้เขียนไม่ได้ดูหมิ่นหรือไม่ยอมรับกฎหมาย แต่มีความเห็นว่ามาตรการในการใช้กฎหมายต้องนำมาใช้ด้วยความเป็นธรรมและพิจารณาจากความเป็นจริง ไม่ควรอ้างกฎหมายมาข่ม และถ้ามองจากความเป็นจริงที่มีอยู่ก่อน การประกาศเป็นเขตป่าสงวนในพื้นที่แห่งนี้ก็ถือว่าเป็นการประกาศพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านและชุมชน
 
ผู้เขียนอยากตั้งคำถามเล่นๆ ว่า รัฐบุกรุกที่ทำกินชาวบ้าน หรือชาวบ้านบุกป่าสงวน มีแต่รัฐคุกคาม ข่มขู่ ฟ้องร้อง ขับไล่ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้อง ขับไล่รัฐ เพราะแม้แต่สิทธิที่ตัวเองสร้างขึ้นจากการใช้แรงงานก็ยังถูกปล้นโดยผู้ที่อ้างว่าถือกฎหมาย ไม่สามารถปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองเอาไว้ได้
 
หลังการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ วิถีชีวิตที่เคยสุขสงบของชาวบ้านในชุมชนก็เริ่มถูกคุกคามโดยกฎหมาย ชาวบ้านต้องคอยหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ในยามต้องออกไปทำไร่ทำสวน การทำมาหากินเริ่มมีความลำบากขึ้นตามลำดับจนกระทั่งมาในปี พ.ศ.2525 ความหายนะทางความรู้สึกก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติกินพื้นที่ อ.ห้วยยอด และ อ.นาโยง ซึ่งการประกาศดังกล่าวนี้มาพร้อมกับบทลงโทษทางกฎหมายที่หนักหนากว่าเดิม ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดีมากขึ้น ทั้งคดีบุกรุก ตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความถนัดในการใช้โอกาส และเหตุการณ์ในการยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับชาวบ้านจนๆ ที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายดีพอ
 
คดีฟ้องร้องต่อชาวบ้าน ล่าสุดที่โด่งดังไปทั่วประเทศ คือคดี “โลกร้อน” นั่นยิ่งทำให้เห็นถึงความไม่มีมาตรฐานของกฎหมายไทยเป็นอย่างยิ่ง หากเปรียบเทียบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เกิดจากการเผาใบยางและกิ่งยางเล็กๆ ของยางพารากับการปล่อยสารพิษ สารเคมีในอากาศ ในน้ำของโรงงานอุตสาหกรรม นักวิชาการย่อมรู้ดีว่าอย่างไหนทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมากกว่ากัน แต่กลับไม่เห็นว่ากฎหมายจะเอาผิดกับผู้ประกอบการเหล่านั้นได้ เพราะนายทุนและผู้มีเงินมีอำนาจสามารถทำให้กฎหมายเบี่ยงเบนได้
 
จากเหตุการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น รวมถึงความรุนแรงล่าสุดที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู หรือแม้แต่ชุมชนบ้านตระในพื้นที่ของพี่น้องเครือข่ายเทือกเขาบรรทัด เราจะเห็นได้ว่ารัฐยังไม่หยุดใช้กฎหมายรังแกประชาชน และนับวันจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น
 
ทั้งที่การใช้อำนาจรัฐ โดยองค์กรของรัฐ มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เหตุไฉนเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือมาทำลายสิทธิ และเสรีภาพที่มนุษย์พึงมี จากการใช้หยาดเหงื่อแรงงานของตัวเองสร้างสิทธิโดยการปลูกสร้าง แล้วอะไรที่เป็นหลักประกันความมั่นคงและเสรีภาพในการประกอบอาชีพกันเล่า
 
.... ดังนั้น เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับทุน และทุนกับอิทธิพลที่ร่วมมือกันกระทำต่อชาวบ้าน ยังคงมีอยู่ตราบเท่าที่กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีความเป็นธรรม และรัฐยังมองเห็นความเดือดร้อนของประชาชนเป็นแค่เกมทางการเมือง
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: ปัญหาของคนงานในอุตสาหกรรมยาง

$
0
0

อุตสาหกรรมยางยานยนต์ อีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญของไทยที่ไม่ควรมองข้าม พบปัญหาทำงานหนัก มีปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัย นายจ้างทุนข้ามชาติไม่ปรึกษาหารือสหภาพแรงงาน และปัญหาแรงงานเหมาช่วงก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายในอุตสาหกรรมนี้


การประท้วงล่าสุดของคนงานในอุตสาหกรรมยาง คือที่บริษัท บริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เฟส 7 ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี จำนวนกว่า 1,400 ตน รวมตัวประท้วงผู้บริหารชาวญี่ปุ่น ที่สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน ตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: ASTV ผู้จัดการออนไลน์)

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเมื่อเดือน ก.พ. 2555 พบว่าผลผลิตกลุ่มยางรถ คิดเป็น 23.7% ของผลผลิตหมวดผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

สำหรับโครงสร้างผู้ผลิตยางรถยนต์ในประเทศไทยนั้นมีประมาณ 20 ราย ผู้ผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)  กลุ่มร่วมทุนกับต่างชาติและเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ คือ กลุ่มยางสยามหรือสยามมิชลิน กรุ๊ป (ไฟร์สโตน) มีผู้ผลิตในกลุ่มนี้ 3 ราย (สยามมิชลิน,ยางสยามอุตสาหกรรมและยางสยามพระประแดง) บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด  และบริษัท ไทยบริดจ์สโตน จำกัด  2)  กลุ่มยางรถบรรทุกและรถโดยสาร เช่น บริษัท ดีสโตน จำกัด บริษัท โอตานิไทร์ จำกัด บริษัทสยามการยาง เป็นต้น  และ 3) กลุ่มผู้ผลิตที่ทำการหล่อดอกยางใหม่สำหรับยางใช้แล้วเพื่อป้อนตลาดยางทดแทน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 80 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ

สำหรับตลาดยางรถยนต์ แบ่งเป็น ตลาดภายในประเทศ 55% ตลาดนำเข้า 5% และตลาดส่งออก 40% จากมูลค่าตลาด รวม 18,000-20,000 ล้านบาท (จากการประเมินในปี 2542) และจากการคาดการณ์การขยายตัวของตลาดยางในปีนี้ แม้ว่าเมื่อปี 2554 ตลาดยางรถยนต์จะชะลอตัวลงจากปัญหาน้ำท่วม แต่เชื่อว่าปีนี้ตลาดจะกลับมาโตอีกครั้ง จะขยายตัว 10% รวม 10 ล้านเส้น

ถึงแม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินสูง แต่ทั้งนี้คนงานในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังคงประสบปัญหาที่ไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ มากนัก โดยในรายงานความก้าวหน้า การวิจัย “การจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงในอุตสาหกรรมยางยานยนต์กรณีศึกษาบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย” ที่เสนอต่อ ICEM CAL Project โดย วรดุลย์ ตุลารักษ์ และวิทยากร บุญเรือ พบประเด็นพิจารณาที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนงานในอุตสาหกรรมยางดังนี้ …

สหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมยางยานยนต์

จากการสำรวจฐานข้อมูลที่มีอยู่พบว่า ในอุตสาหกรรมยางยานยนต์ในประเทศไทยมีสหภาพแรงงานอยู่ 10 แห่งมีสมาชิกรวมกันประมาณ 7,100 คน ส่วนใหญ่เป็นสหภาพแรงงานในบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งมีการลงทุนแยกเป็นบริษัทลูกจำนวนหลายบริษัทและมีโรงงานตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ ในจำนวนบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ บางกลุ่มบริษัทมีบริษัทลูกมากกว่า 10 แห่ง ประกอบกิจการบริษัทผลิตยางยานพาหนะและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ส่วนสภาพแรงงานทั้งหมดเป็นสหภาพแรงงานสถานประกอบการ ดังนั้นจึงพบว่า ในบริษัทข้ามชาติเดียวกันอาจมีสหภาพแรงงานมากกว่า 1 แห่ง หากบริษัทข้ามชาติแห่งนั้นลงทุนตั้งโรงงานในหลายพื้นที่

สถานการณ์แรงงานสัมพันธ์

ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานแทบทุกแห่งในอุตสาหกรรมยางยายยนต์ประสบปัญหาข้อพิพาทกับนายจ้างครอบคลุมในหลายประเด็น นับตั้งแต่ ปัญหาค่าจ้างสวัสดิการ การหักเงินเดือนพนักงาน ปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัย ปัญหาการจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรง โดยสหภาพแรงงานแห่งต่างๆ ก็เคลื่อนไหวจนได้ข้อยุติ และได้รับการหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน กรณีปัญหาความขัดแย้งโดยสังเขปได้แก่

กรณีสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทย

ในปี 2552 บริษัท สยามมิชลิน จำกัด หักเงินเดือนพนักงาน 13.04 % เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 และสามารถตกลงกันได้เมื่อ วันที่ 28 เมษายน 2552 บริษัทฯตกลงจะเรียกพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน แต่เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี บริษัทฯยังเรียกกลับเข้าทำงานไม่หมด ที่ผ่านมาบริษัทฯจะเรียกเข้าเป็นชุดๆ ชุดแรกจะต้องเข้าอบรมที่วัดเป็นเวลา 1 วัน ชุดที่ 2 อบรมเป็นเวลา 3 วัน ชุดที่๓และชุดถัดๆมาอบรมเป็นเวลา 5 วัน ส่วนชุดสุดท้ายซึ่งเป็นชุดที่มีคณะกรรมการสหภาพฯ และ กรรมการลูกจ้าง รวมทั้งหมด 21 คน เข้าอบรมเป็นเวลา 10 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2553 ซึ่งบริษัทฯ (ผู้จัดการบุคคล)ให้สัญญาว่าหลังจากเข้าอบรมที่วัดเสร็จแล้วจะเรียกกลับเข้าทำงานทั้งหมด แต่บริษัทฯมิได้ปฏิบัติเช่นนั้น ผู้จัดการบุคคลได้เดินทางมาพบพนักงานและแจ้งให้ทราบว่าในวันที่ 1 และ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ให้พนักงานเข้าพบเป็นรายบุคคลพร้อมทั้งมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติ โดยแยกผู้ที่ไม่มีคดีทั้งหมด 9 คน ให้ทำในบริษัทฯส่วนรองประธานสหภาพถูกย้ายไปปฏิบัติงานอยู่ที่โกดังส่งยาง NSC สำหรับผู้ที่มีคดีความอีก 12 คนซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้าง ยังคงไม่ให้กลับเข้าทำงานแต่มอบหมายงานให้ไปฝึกอบรมที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 3 ชลบุรี ในหลักสูตรช่างเชื่อม , ช่างกลึงโลหะและช่างอื่นๆ ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน

ที่มา: http://www.thailabordatabase.org/th/file3.php?id=53030201

กรณีสหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 สหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ด้านค่าแรงและโบนัส รวมทั้งความกดดันจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหลายอย่างด้วยกัน เช่น ห้องน้ำไม่เพียงพอ น้ำดื่มไม่สะอาด อุปกรณ์ความปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน และไม่จัดที่ทำงานให้พนักงานที่ตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม ฯลฯ โดยในระหว่างการเจรจาผู้บริหารได้ยื่นข้อเรียกร้องตอบโต้มา เช่น เสนอขอฐานเงินเดือนเพิ่มจาก 6,000บาทเศษ เป็น 8,000 บาทเศษ กลับถูกผู้บริหารตัดค่าโอที และยกเลิกเบี้ยเลี้ยงการผลิต พร้อมกับให้เพิ่มเวลาการทำงานเป็น 3 กะ จึงทำให้ต้องขอปรับฐานเงินเดือนใหม่ เป็น 13,000 บาท ถึง 15,000 บาท กลับถูกผู้บริหาร สั่งปิดโรงงาน โดยอ้างว่าเครื่องจักรเสีย พร้อมกับมีการนำแรงงานต่างชาติกว่า 300 คนเข้ามาทำงานแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การปล่อยลอยแพพนักงาน โดยนำพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาเข้ามาทำงานแทน

ที่มา: บ.แม็กซิสฯ ประกาศเครื่องจักรเสียสั่งหยุดงาน 7 วันระหว่างเจรจา (voicelabour, 29-1-2553) / พนง.ผลิตยางรถยนต์ “บ.แม็กซิส” กว่า 500 คน รวมตัวเรียกร้องเพิ่มเงินโบนัส-สวัสดิการ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-1-2554)

กรณีสหภาพแรงงานบริดจสโตน ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (อมตะนคร)

ในเดือนมีนาคม ปี 2555 สหภาพแรงงานของบริษัทฯ ได้เป็นตัวแทนพนักงานทั้งหมดยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ผู้บริหาร ยกเลิกระบบการคิดเงินเดือนในอัตราค่าจ้างใหม่ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานได้นำระบบกระบอกเงินเดือนแบบโรงงานในประเทศญี่ปุ่นมาใช้ กล่าวคือ เป็นระบบเงินเดือนที่อายุงานยิ่งนาน เงินเดือนยิ่งน้อย และแรงงานที่ทำอยู่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่เคยได้ ทางสหภาพจึงเรียกร้องขอให้บริษัทฯ กลับไปใช้ระบบกระบอกเงินเดือนแบบเดิม คือให้เงินค่าจ้างตามอายุงาน และประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อทางสหภาพฯ ได้ทำหนังสือเรียกร้อง และขอให้ไปเจรจากันที่สำนักงานแรงงานจังหวัดชลบุรี ก็ได้มีการเจรจากันถึง 4 ครั้ง กระทั่งในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคม บริษัทได้สั่งปิดโรงงานแบบกะทันหัน โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมติดป้ายเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายผลิตใหม่ และประกาศให้เงินเดือนสูงกว่าเดิม ในราคาฝึกงาน 300 บาทต่อวัน และหากรับเข้าทำงานใหม่จะได้วันละ 335 บาท ไม่รวมสวัสดิการ ทำให้พนักงานเดิมกว่า 1,400 คน ต้องตกงาน

ที่มา: ปัญหาคนงานบริดจสโตน อมตะนคร ยังไม่ยุติ หลังสหภาพแจ้งความบริษัทปิดงานโดยมิชอบ (ประชาไท, 25-1-2555)

กรณีสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย

ในเดือนกรกฎาคม 2553 สหภาพแรงงานได้มีการยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 15 ข้อ เพื่อขอปรับสภาพการจ้าง ต่อบริษัท โดยหลังจากการเจรจา 12 ครั้ง และพนักงานประนอมข้อพิพาทได้มีการไกล่เกลี่ยแล้ว 9 ครั้ง  นายจ้างได้ประกาศปิดงานพนักงานประมาณ 800 คน ให้พนักงานที่มาทำงานกะเช้าไม่ต้องเข้าโรงงาน โดยได้รับค่าจ้าง จึงทำให้คนงานทั้งหมดต้องชุมนุมชี้แจงกันอยู่หน้าบริเวณบริษัทฯ รอการเจรจากับทางนายจ้าง เพื่อหาข้อยุติ หลังจากนั้น สหภาพแรงงานได้ข้อยุติ อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการจ้างงานระยะสั้น ได้มีการยกเลิกการจ้างงานสัญญาจ้างระยะสั้น 9 เดือนโดยใช้การจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงแทน

ที่มา: นายจ้างคนทำยางสั่งปิดงาน หลังเจรจาลูกจ้างไม่ยุติ (voicelabour, 19-11-2553)

 

ปัญหาของคนงานในบรรษัทข้ามชาติของอุตสาหกรรมยางยานยนต์

จากงานวิจัยพบว่าบริษัทข้ามชาติมีบทบาทสูงขึ้นในอุตสาหกรรมยางยานยนต์ในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น โดยงานวิจัยได้นำเสนอตัวอย่างการปัญหาของคนงานใน 3 บริษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น โดยพบปัญหาดังต่อไปนี้  

  • ระบบการจ้างงานที่หลากหลาย จากงานวิจัยพบบริษัทแห่งหนึ่งใช้การจ้างงานถึง 5 รูปแบบซึ่งแต่ละรูปแบบมีค่าจ้างและสวัสดิการไม่เท่ากัน กล่าวคือ: 1. การจ้างเหมาช่วง (outsourced workers) 2. การจ้างเหมาค่าแรง (agency workers) 3. การจ้างงานแบบประจำรายเดือน4. การจ้างรายวันโดยตรงโดยมีสัญญาจ้างระยะสั้น เช่น 1 ปี 5. การจ้างรายวันโดยตรงแต่ไม่มีระยะเวลาของสัญญาจ้าง
  • พบการจ้างแรงงานข้ามชาติเข้ามาใหม่ ในทำงานในหน้าที่ที่ทำงานหนัก เช่น ยกยาง โหลดยางในโกดัง
  • แรงงานประจำและแรงงาน sub-contract ได้รับสวัสดิการไม่เท่ากัน
  • พบปัญหาการบาดเจ็บของคนงาน เช่น คนงานชั่วคราวที่เป็นผู้หญิงซึ่งทำงานในประเภทยกของหนักเกิดขึ้นบ่อยครั้งยังไม่ได้รับการป้องกันหรือแก้ไข อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับคนงานประจำและคนงานชายในลักษณะเดียวกันด้วย 
  • พบปัญหาความร้อนในโรงงานซึ่งบริษัทไม่ยอมลงทุนปรับปรุงให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและดีขึ้น
  • พบปัญหาฝ่ายบริหารไม่เคยปรึกษาหารือกับสหภาพในกระบวนการการจ้างคนงานจ้างเหมาช่วง
  • พบปัญหาสุขภาพความปลอดภัยของคนงานชั่วคราวอยู่ในระดับที่สูงกว่าคนงานประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบหมายงานประเภทที่หนักและเสี่ยงอันตรายให้แก่คนงานชั่วคราวก่อน เช่น การโหลดยางในโกดังซึ่งเป็นงานที่หนักรวมทั้งงานที่ต้องสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย

ข้อเสนอแนะจากสหภาพแรงงาน

จากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดของสหภาพแรงงานในกลุ่มภาคตะวันออก (เดือนธันวาคม 2554) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนสหภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยางรถยนต์ มีการร่วมกันหาแนวทางการรับมือกับการจ้างงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงโดยมีแนวทางโดยสังเขปดังนี้

  • สนับสนุนคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงที่ยังไม่ได้เข้าร่วมสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างพร้อมกันกับสหภาพแรงงานในนามของพนักงานเพื่อให้นายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างให้เท่าเทียมกับพนักงานประจำ

  • ให้สหภาพแรงงานแก้ไขข้อบังคับให้รับคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

  • สหภาพแรงงานควรเข้าถึงคนงานเหมาช่วงเหมาค่าแรงมากขึ้นและอธิบายถึงปัญหาการจ้างงานที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยให้คนงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกับคนงานประจำดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 11/1 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่สหภาพแรงงานตีความว่าคนงานต้องได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเทียมกัน โดยอาจมีแนวทางที่พุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐก่อนกล่าวคือ ร้องเรียนให้แรงงานจังหวัดออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ และ/หรือ หากแรงงานจังหวัดไม่มีคำสั่ง ก็ให้คนงานจ้างเหมาฟ้องศาลปกครองว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือแรงงานจังหวัดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมาย  

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กอ.รมน.ภาค 4 เดินหน้า ‘ทำดีมีอาชีพ’ หางบก้อนใหม่หนุนชาวบ้าน

$
0
0

กอ.รมน.ปลื้มโครงการทำดีมีอาชีพได้ผล หมดงบไทยเข้มแข็งจะยังเดินหน้าหาเงินทำโครงการต่อ เผย 3 ปี จัดตั้งกลุ่มอาชีพไปแล้วกว่า 700 กลุ่ม แม่บ้านโต๊ะแนปาสบช่อง ตั้งกลุ่มทำไอศกรีมขายหารายได้เสริม

 
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการทำดีมีอาชีพของรัฐบาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การดำเนินการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ได้จัดตั้งกลุ่มอาชีพไปแล้ว 741 กลุ่ม มีการตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกตำบลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลารวม 290 สหกรณ์ ทั้ง 290 ตำบล มีการตั้งฟาร์มประจำตำบล
 
สำหรับโครงการทำดีมีอาชีพ เดิมใช้งบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ตั้งแต่ปี 2551 ระยะเวลาโครงการ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เป้าหมายคือการฝึกอาชีพให้เยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 20,000 คน จนสามารถจัดตั้งกลุ่มอาชีพได้
 
ปัจจุบันโครงการทำดีมีอาชีพได้ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งหมดแล้ว ขณะที่โครงการบางส่วนยังต้องเดินหน้าต่อ เพื่อให้กลุ่มอาชีพต่างๆ มีความเข้มแข็ง สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงจัดงบประมาณมาสนับสนุนโครงการต่อไป และขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เช่น สถานศึกษา เป็นต้น
 
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีความเข้มแข็งมาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จะไม่สนับสนุนงบประมาณอีกต่อไป เนื่องจากสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ต้องช่วยประคับประคอง ส่วนกลุ่มที่ล้มเหลวก็ต้องล้มเลิกไป
 
ด้านนางสารีป๊ะ สาและ รองประธานกลุ่มสตรีทำไอศครีมหมู่บ้านโต๊ะแนปา หมู่ที่ 6 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส หนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการทำดีมีอาชีพ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนจากโครงการผ่านหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส หรือฉก.30 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ได้รับงบประมาณดำเนินการ 40,000 บาท ขณะที่หมู่บ้านใกล้เคียงได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ทำขนม แต่ตอนนี้เลิกโครงการไปแล้ว เพราะไม่มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ
 
นางสารีป๊ะ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีในกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 10 คน มีนางรอบีย๊ะ แยนา เป็นประธานกลุ่ม และนางสารีปะ สาและ เป็นรองประธานกลุ่ม โดยสตรีในหมู่บ้านอีก 8 คนทำหน้าที่ผลิตไอศกรีม
 
คนสั่งทำทุกวัน ทั้งนอกและในหมู่บ้าน ถ้าหมู่บ้านใกล้ๆ สั่งทำก็จะไปส่งถึงที่ แต่ถ้าไกลจะให้คนสั่งมารับเอง ถ้าให้ไปส่งจะคิดค่าส่งถังละ 300 บาท ทางกลุ่มไม่ขายปลีก ตอนนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า ยังส่งเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมเดือนละครั้ง
 
นางสารีป๊ะ กล่าวอีกว่า ช่วงที่มีคนสั่งทำมากที่สุดคือวันรายอ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม และวันแข่งกีฬาสีของโรงเรียนตาดีกา หรือช่วงแข่งขันกีฬาที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดขึ้น มีผู้สั่งทำ 8–9 ถัง แต่ต้องใช้เวลาทำ ตั้งแต่ 14.00 น. ถึง 02.00 น.
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมยศ ขึ้นเบิกความวันนี้-ผู้หญิงทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ ชูป้าย “NO มาตรา 112″

$
0
0

 

1 พ.ค.55  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา จะมีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรกในคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยนายสมยศจะขึ้นให้การเป็นปากแรก  จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) จะเป็นปากของปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ขณะที่วานนี้ (30 เม.ย.) กลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย นำโดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้เผยแพร่โปสเตอร์รณรงค์เป็นภาพผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ถือป้าย No มาตรา 112 เพื่อเรียกร้องให้ไทยยอมรับเสรีภาพในการแสดงออก ในวาระที่มีการพิพากษาคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.ประชาไทในวันดังกล่าว (ศาลเลื่อนเป็น 30 พ.ค.) และในวันที่ 30 เม.ย. เมื่อปี 2554 ยังเป็นวันที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมและคุมขังนับแต่นั้นมาโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ในฐานะที่เป็น บก.นิตยสารที่นำเสนอบทความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์

รายละเอียดมีดังนี้

 

 

เราเลือกที่จะเผยแพร่โปสเตอร์นี้ไนวันที่ 30 เมษายน ด้วยสองเหตุผล

ตั้งแต่การถูกจับครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และขออนุญาติประกันตัวหลายครั้ง ในวันที่ 30 เมษายนนี้ จีรนุช เปรมชัยพร เวบมาสเตอร์ของสำนักข่าวประชาไท ผู้ได้รับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญประจำปี 2555″ จะต้องรับฟังคำตัดสินคดีเธอที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ภายใต้พระราชบัญญัติิว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ศ.2550) ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาเพื่อควบคุมเสรีภาพทางอินเตอร์เนต และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย เมื่อ 30 เมษายน 2554 สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักแรงงานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกส่งเข้าเรือนจำโดยทันที เขาถูกกลั่นแกล้ง บีบบังคับโดยหลายฝ่ายเพื่อให้ยอมสารภาพผิด สมยศยืนยันจะสู้เพื่อความยุติธรรมจนถึงที่สุด ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัวเขามาแล้วถึง  8 ครั้ง

ARTICLE 19 (อาร์ติเคิล 19 หรือ มาตรา 19) องค์กรที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดที่เคยมีมาจนถึงตอนนี้ว่าทำไมกฎหมายหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพของไทยจึงละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรขององค์กร ARTICLE 19 ที่มีความยาว 18 หน้า เกี่ยวกับคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อาร์ติเคิล 19 ได้สรุปว่า “–จากความคิดเห็นที่ได้กล่าวมาในเอกสารชิ้นนี้ ด้วยความเคารพ พวกเราขอนำเสนอความคิดเห็นว่า ศาลควรจะยุติทุกคดีฟ้องร้องต่อนายสมยศ และสั่งให้ปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำโดยปราศจากเงื่อนไข ในการกระทำเช่นนี้ ศาลควรจะทำความคิดเห็นออกมาด้วยว่า บทลงโทษกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคดี ควรจะได้มีการทบทวนโดยศาลรัฐธรรมนูญของไทย และดำเนินการเพิกถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย”

ในเวทีผู้หญิงนานาชาติครั้งที่ 12 ที่จัดโดย AWID (สมาคมเพื่อการพัฒนาผู้หญิงนานาชาติ) ที่อีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน 2555 มีผู้หญิง (และผู้ชายจำนวนหนึ่ง) ร่วม 2,500 คน จาก 154 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมในเวทีนี้พร้อมด้วยความวิตกกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจของคน 99% มาพร้อมกับเรื่องราวมากมายของการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ และวิตกห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงและแนวการเมืองแบบทหาร

เวทีการประชุมนานาชาตินี้ ได้เปิดพื้นที่ให้การการดูแลชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิง และจะทำอย่างไร ผู้หญิงในฐานะประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะสามารถมีส่วนร่วมในการนำโลกไปสู่ สภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม พลังแห่งการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ และการเข้ารวมของผู้หญิงจากภาคตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ (MENA) ในเวทีนี้เป็นที่ประทับใจของทุกคน

ภายใต้คำขวัญของ AWID “แปรเปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างความก้าวหน้าทางเรื่องสิทธิและสังคมที่ยุติธรรมต่อผู้หญิง” เวที AWID ครั้งนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ทั้ง LGBTQI และหญิงชายทั้งหลายได้พูด แลกเปลี่ยน แสดงนิทรรศการ และลงมือปฏิบัติการร่วมกัน วิทยากรหลายคนพูดย้ำกันมากเรื่อง “หยุดกลัว” กันได้แล้ว

ในวันสุดท้าย ผู้เขียนตัดสินใจทำป้าย ‘NO มาตรา 112′ และชาร์ตแบตกล้องจนเต็ม เพื่อเดินไปหาเพื่อนๆ และผู้เข้าร่วมประชุม ให้ถือป้ายนี้สำหรับถ่ายรูปเพื่อทำโปสเตอร์ เพื่อร่วมสนับสนุนการต่อสู้ที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในประเทศไทย ผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าหลายคนรู้เรื่องพิษภัยของมาตรา 112 มาบ้างแล้ว และบางคนยังได้ทักทายผู้เขียนด้วยคำ “สวัสดี” และ “ขอบคุณค่ะ/ครับ” บางคนทำงานองค์กรที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ก็ยังขอมีส่วนร่วมด้วยการชูป้าย “NO มาตรา 112” ขึ้นบังหน้าเพื่อให้ถ่ายรูป

ผู้เขียนยินดีมากที่ได้พูดคุยกับคนเยอะมากช่วงถ่ายรูปเหล่านี้ ทั้งเพื่อนเก่่าเพื่อนแก่ที่รู้จักและเห็นหน้ากันมาหลายปี หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่พากันช่วยเพื่อนๆ มาถ่ายรูปด้วย จำได้ขึ้นใจต่อคำพูดของสาวน้อยคนสวยผู้หญิงที่ชูภาพด้วยความมั่นใจและถามว่า “นี่คือประเทศที่เหยียบธนบัตรก็ติดคุกได้ใช่ไหม?” และยังบอกว่า “ถ้ามีอะไรที่ฉันทำได้อีกบอกมาได้เลย”

ขอบคุณทั้ง 150 หญิงชาย ผู้เปิดหน้าและถือป้ายเพื่อยืนยันในเสรีภาพในการแสดงออก  ขอบคุณทุกคนด้วยหัวใจ

ในนามกลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ

* * * * * * * *

นอกจากโปสเตอร์แล้ว ทางผู้เขียนและองค์กร CCC ได้ทำแฟลชม๊อบ ‘Free Somyot‘ ในที่ประชุมแห่งนี้อีกด้วย 

ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้อง Petition: ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นฯ

* * * * * * * * *

เอกสารเพิ่มเติม:

เกี่ยวกับแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
มาตรา 112
The Librarian of Bangkok Prison
จีรนุช เปรมชัยพร and Prachatai:
การรณรงค์กรณีของจีรนุช Asian Human Right Commission has an appeal for Chiranuch
ARTICLE 19
Association of Women in Development (AWID)

This post is also available in: อังกฤษ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อคาเดมิคสปริง: วงวิชาการต้านสำนักพิมพ์ขูดรีด

$
0
0

ปัญหาว่าความรู้ควรจะเป็นของซื้อของขายหรือไม่นั้นอยู่มาคู่กับภูมิปัญญาตะวันตกมาอย่างต่ำๆ ก็ตั้งแต่ที่ต้นตำรับนักปรัชญาอย่างโสเครติสถกเถียงกับเหล่าพ่อค้าความรู้อย่างพวกโซฟิสต์ในสมัยกรีกโบราณแล้ว ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการขายความรู้นี้ก็มีมาอย่างต่อเนื่องประปรายเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดีภายหลังการปฏิวัติการพิมพ์ ทุนนิยมก็ค่อยๆ ทำให้ความรู้กลายมาเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์ที่มีขายทั่วไปในตลาดอย่างช้าๆ และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ขึ้นครองอำนาจในโลกของการเผยแพร่ความรู้อย่างแทบจะไร้ข้อกังขาในโลกที่วัฒนธรรมการอ่าน/เขียนได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้หลักแทนการถ่ายทอดความรู้แบบมุขปาถะของโลกดั้งเดิม และอำนาจการควบคุมการเผยแพร่ความรู้นี่เองที่เป็นพื้นฐานเป็นกระบวนการที่ขูดรีดในระดับที่นายทุนสุดขูดรีดที่ไหนในโลกเห็นแล้วควรจะอาย

กระบวนการขูดรีดดังกล่าวอยู่ในกระบวนการผลิตบทความวิชาการในยุคบัจจุบันนี่เอง กระบวนการพื้นฐานในการสร้างบทความวิชาการในปัจจุบันเริ่มจากการที่นักวิชาการเสนอโครงร่างงานวิจัยให้แหล่งทุนซึ่งมักจะเป็นของรัฐ ถ้าโครงร่างผ่านก็เขาก็จะรับเงินจากแหล่งทุนมาทำการวิจัย หลังจากทำการวิจัยเสร็จ เงื่อนไขความก้าวหน้าของวิชาชีพและเงื่อนไขการประเมินผลจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็บีบให้เขาต้องมีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารทางวิชาการ นี่เป็นจุดที่สำนักพิมพ์วิชาการเข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ความรู้ กระบวนการตีพิมพ์งานวิชาการพื้นฐานก็คือการส่งบทความ (ที่มักจะเป็นบทสรุปของงานวิจัยชิ้นใหญ่) ไปที่วารสารทางวิชาการหนึ่งๆ ที่อยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ แล้วสำนักพิมพ์ก็จะส่งไปให้ฝ่ายบรรณาธิการพิจารณา ถ้าฝ่ายบรรณาธิการพบว่าบทความมีความน่าสนใจ พวกเขาก็จะส่งให้นักวิชาการคนอื่นอ่านเพื่อทำการวิจารณ์ หลังจากนั้นผู้เขียนก็รับบทความพร้อมคำวิจารณ์กลับมาแก้ไข ก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์พร้อมมอบลิขสิทธิ์บทความให้สำนักพิมพ์ในขั้นสุดท้าย

นี่ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรเลยถ้าสำนักพิมพ์วิชาการให้บางสิ่งกลับไปแก้ผู้ที่เข้าร่วมกระบวนการบ้าง แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่ทั้งนักวิชาการที่เป็นผู้เขียน นักวิชาการที่เป็นผู้วิจารณ์ และนักวิชาการที่เป็นที่ทำงานบรรณาธิการจะให้บริการเขียนบทความ วิจารณ์บทความ และทำงานบรรณาธิการบทความฟรีๆ แก่สำนักพิมพ์วิชาการ การที่สำนักพิมพ์วิชาการจะไม่จ่ายเงินให้กับนักวิชาการในกระบวนการอันได้มาซึ่งต้นฉบับงานวิชาการพร้อมตีพิมพ์นั้นไม่ใช่เรื่องปกติในโลกตะวันตก นี่ทำให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ทั้งต้นฉบับและลิขสิทธิ์บทความวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐซึ่งผ่านกระบวนการขัดเกลาบทความแบบอาสาสมัครของเหล่านักวิชาการมาฟรีๆ ก่อนที่จะนำมาขายเอากำไรในท้องตลาด ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสำนักพิมพ์วิชาการก็คงจะหนีไม่พ้นห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักนอกจากจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเพื่อรับวารสารทางวิชาการทั้งหมดของสำนักพิมพ์เหล่านี้ซึ่งมักจะขายแบบพ่วง งบประมาณของห้องสมุดในอังกฤษราวๆ 65% หมดไปกับการลงทะเบียนกับวารสารวิชาการเหล่านี้ [1] นี่เป็นงบประมาณมหาศาล อย่างไรก็ดีห้องสมุดก็ไม่มีทางเลือกมากนักเพราะถ้าห้องสมุดไม่รับวารสารเหล่านี้ทางนักวิชาการของมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถที่จะติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อไปได้ ซึ่งในที่สุดงานวิจัยใหม่ๆ มันก็จะผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้สำนักพิมพ์วิชาการได้ต้นฉบับมาตีพิมพ์อย่างฟรีๆ อีกครั้ง ...นี่คือแหล่งที่มาสำคัญของอัตราผลกำไรของอุตสาหกรรมการตีพิมพ์งานวิชาการในโลกตะวันตกที่สูงถึง 35% [2]

การหากินแบบกึ่งผูกขาดของสำนักพิมพ์วิชาการก็ไม่ได้รับเม็ดเงินหล่อเลี้ยงมาจากที่ไหนนอกจากเงินของรัฐที่อุดหนุนงานวิจัยและห้องสมุด [3] นี่เป็นการเกาะกินเงินของรัฐอย่างเลวร้ายที่หลายๆ ฝ่ายไม่ตั้งคำถามมานมนานว่าการที่สุดท้ายงานวิจัยที่รัฐสนับสนุนเองต้องกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปฟรีๆ แถมสถาบันของรัฐอย่างห้องสมุดก็ต้องจ่ายเงินซื้อมันกลับมาจากเอกชนอีกทีเป็นเรื่องสมเหตุสมผลแค่ไหน ซึ่งนี่ก็ยังไม่รวมปัญหาที่ว่าเงินทั้งหมดก็เกิดจากภาษีประชาชนแต่ประชาชนก็กลับไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระด้วยซ้ำ ทั้งที่บทความวิชาการมีผู้จ่ายเงินสนับสนุนและผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ไม่สอดคล้องเช่นนี้ แต่ในสหรัฐอเมริกาต้นปี 2012 ที่ผ่านมาก็ได้มีการพยายามออกกฎหมายใหม่นาม Research Works Act ขึ้นเพื่อควบคุมการเผยแพร่งานวิจัย และในกฎหมายฉบับนี้ก็มีข้อบัญญัติหนึ่งที่ห้ามไม่ได้งานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ที่ผู้คนเข้าถึงได้โดยเสรี หรือที่เรียกว่า Open Access [4] แม้กฎหมายตัวนี้สร้างคำวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่วงวิชาการอเมริกันมากในความคับแคบของมัน แต่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการก็ออกมาสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้กันอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งในตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าหนึ่งในผู้สนับสนุนอย่างสำนักพิมพ์ Elsevier จะเกี่ยวข้องกับการลุกฮือครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

จุดเริ่มของการลุกฮือไม่ได้เกิดจากนักสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่ไหน แต่มันเริ่มจากนักคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cambridge ที่ได้รางวัลระดับเดียวกับโนเบลของสาขาคณิตศาสตร์นามศาสตราจารย์ Timothy Grover การลุกฮือเริ่มจากที่ Grover ออกมาประกาศจะบอยคอตต์สำนักพิมพ์ Elsevier ในบล็อกส่วนตัวของเขา ด้วยสามเหตุผลคือ 1. Elsevier คิดราคาผลิตภัณฑ์แพงเกินไป 2. Elsevier มักจะทำการขายวารสารพ่วงเป็นชุดใหญ่ที่ทำให้ห้องสมุดต้องจ่ายเงินซื้อวารสารที่ตนไม่ต้องการด้วย 3. Elsevier สนับสนุน Research Works Act ที่เป็นกฏหมายซึ่งกีดกันไม่ให้สาธารณชนเข้าถึงงานวิจัยที่เกิดจากเงินของรัฐอย่างชัดเจน [5]  มีนักวิชาการมากมายเห็นด้วยกับเขาและไม่กี่วันต่อมาเว็บไซต์ http://thecostofknowledge.com/ ก็ถือกำเนิดขึ้นให้นักวิชาการจากทั่วโลกได้มาลงชื่อเพื่อแสดงเจตจำนงที่จะไม่ตีพิมพ์บทความ ไม่ช่วยงานอ่านและวิจารณ์บทความ และไม่ช่วยงานบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์ Elsevier ในตอนนี้นักวิชาการจากทั่วโลกก็ลงชื่อไปกว่า 10,000 คนแล้ว [6] และกระแสคลื่นการต่อต้านสำนักพิมพ์วิชาการอันเริ่มจากอังกฤษนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า อคาเดมิคสปริง (Academic Spring) อันเป็นการตั้งชื่อล้อกับการลุกฮือทางการเมืองในโลกอาหารที่ถูกขนานนามว่าอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งก็ล้อกับปรากสปริง (Prague Spring) อีกที

การริเริ่มของ Grover ดูจะทำให้เกิดผลที่ใหญ่โตมาก มีบทความจำนวนนับไม่ถ้วนออกมาทั้งโจมตีและแฉการขูดรีดของบรรดาสำนักพิมพ์วิชาการอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีจะหยุดลง ในที่สุด Elsevier ก็ยกเลิกการสนับสนุน Research Works Act หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่จากวงวิชาการที่ดำเนินอยู่นี้ อย่างไรก็ดีนี่ก็ยังไม่ดีพอสำหรับโลกวิชาการ เพราะค่าลงทะเบียนวารสารอันสูงลิบก็ไม่ได้ลดลง เรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายๆ ฝ่ายพร้อมๆ กันก็คือ การที่ในที่สุดห้องสมุดที่งบประมาณสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอย่างห้องสมุดมหาวิทยาลัย Harvard ก็ประกาศออกมาแล้วว่าห้องสมุดไม่สามารถจะแบกรับค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนวารสารวิชาการของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ได้อีกต่อไปแล้ว เหตุผลที่ห้องสมุดให้ไว้ก็ใกล้เคียงกับ Grover มาก ห้องสมุดเน้นว่าปัญหาเกิดจากการการขายที่สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ขายวารสารวิชาการหลายฉบับพ่วงเข้าด้วยกันและคิดค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการสูงลิบ นอกจากนี้ทางห้องสมุดของ Harvard ก็เน้นด้วยว่าค่าลงทะเบียนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเร็วกว่าอัตราการขึ้นดัชนีราคาผู้บริโภค หรือกระทั่งดัชนีราคาการศึกษาขั้นสูงและห้องสมุดด้วยซ้ำ [7] หรือพูดง่ายๆ ก็คือค่าลงทะเบียนวารสารเหล่านี้ขึ้นเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ทาง Robert Darnton นักประวัติศาสตร์หนังสือชื่อดังซึ่งนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการห้องสมุดได้ออกมากล่าวว่า

"ผมหวังว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะทำแบบนี้เช่นกัน เราก็เจอความย้อนแย้งนี้กันหมด อาจารย์ทำวิจัย เขียนเปเปอร์ ให้นักวิจัยคนอื่นตรวจงานให้เรา ทุกอย่างทำฟรีๆ หมด ...และเราก็ซื้อผลผลิตของแรงงานของเรากลับมาในราคาอันบ้าคลั่งจากพวกสำนักพิมพ์วิชาการ

ระบบมันน่าขันสิ้นดี และมันก็ทำร้ายห้องสมุดอย่างมาก การจดทะเบียนรับ The Journal of Comparative Neurology เป็นเวลาหนึ่งปีมันราคาพอๆ กับซื้อหนังสือสัก 300 เล่มได้ เราไม่สามารถจะจ่ายค่าลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นได้อีกแล้ว ในระยะยาว ทางออกของเราคือการทำให้การตีพิมพ์วารสารวิชาการสามารถเข้าถึงได้โดยเสรีโดยทุกคน แต่เราต้องพยายามเพื่อจะไปถึงตรงนั้นให้ได้" [8]

ทางออกของวงจรอุบาทว์อันขูดรีดนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การตีพิมพ์งานในบรรดาวารสารวิชาการออนไลน์เสรีที่ทุกคนเข้าถึงได้ก็ไม่ได้ปราศจากปัญหา มีการโต้เถียงเรื่องคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเหล่านี้อยู่มากว่า มันไม่ได้ผ่านกระบวนการวิจารณ์โดยนักวิจารณ์คนอื่นๆ ก่อนตีพิมพ์ออกมาและก็มีคำวิจารณ์ว่าวารสารเหล่านี้บังคับให้ผู้เขียนจ่ายแทนที่จะบังคับให้ผู้บริโภคจ่ายเช่นกัน ข้อเท็จจริงคือคุณภาพและนโยบายของวารสารเหล่านี้ก็มีคละเคล้ากันไป วารสารออนไลน์เสรีที่มีกระบวนการวิจารณ์หรือกระบวนการคัดกรองเพื่อบทความคุณภาพก็มีอยู่แน่ๆ และวารสารที่ไม่เก็บค่าตีพิมพ์กับผู้ตีพิมพ์ก็มีเช่นกัน ดังนั้นนี่ไม่ใช่ปัญหาของวารสารออนไลน์เสรีโดยตัวมันเองแต่มันเป็นปัญหาของวารสารบางฉบับมากกว่า

สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดของวารสารออนไลน์เสรีคือ มันจะเป็นการลดต้นทุนการเผยแพร่งานวิชาการโดยรวมๆ ลงจากที่บรรดาสำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ๆ ใช้มาก ซึ่งงบประมาณที่ลดลงก็อาจถึงแปดเท่าทีเดียว [9] นี่ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรกับโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ต้นทุนของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารควรจะต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้น และที่สำคัญที่สุดก็คือกระแสวารสารออนไลน์เสรีทั้งหมดก็เปิดโอกาสให้มีการใช้โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ ในการเผยแพร่งานวิชาการทางอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่างานสำนักพิมพ์วิชาการก็จะไม่ชอบมันแน่ๆ ซึ่งไม่ต่างจากปฏิกิริยาโต้ตอบของบรรดาค่ายเพลงเมื่อมันต้องเผชิญหน้ากับการเผยแพร่งานดนตรีทางอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด

ทั้งนี้สำนักพิมพ์วิชาการใหญ่ในโลกมี 3 สำนักพิมพ์คือ Elsevier, Springer และ Wiley ซึ่งทั้งสามบริษัทถือครองลิขสิทธิ์บทความวิชาการ 42% ที่ได้รับการตีพิมพ์กันออกมาในวารสารวิชาการทั้งหมด [10] บริษัทสิ่งพิมพ์เหล่านี้พร้อมทั้งบริษัทอื่นๆ ต้องดิ้นรนที่จะดำรงอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ตที่การเผยแพร่ออนไลน์กำลังจะทำลายรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และเราก็คาดหวังได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้ จะดิ้นรนอย่างถึงที่สุดเพื่อเอาตัวรอดในธุรกิจที่เปลี่ยนภูมิทัศน์ไป ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรหนึ่งในผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley จะริเริ่มดำเนินการฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดหนังสือ อันเป็นการฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านการดาวน์โหลดครั้งแรกของอุตสาหกรรมหนังสือ และการฟ้องนี่ล่าสุดก็ไม่ใช่ฟ้องกันแค่คนเดียวแต่ฟ้องเป็นร้อยๆ คน ตรงนี้เราก็ไม่ลืมเช่นกันว่าคงไม่มีใครคิดว่าการฟ้อง “คนโหลดเพลง” รอบแรกของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกาในปี 2003 จำนวนหลักร้อยคนจะทวีจำนวนขึ้นมาเป็นหมื่นคดีไปแล้ว ในปัจจุบัน การฟ้องที่มีมาเหล่านี้ของอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าเป็นการฟ้องทางแพ่งเพื่อรีดเงินค่ายอมความ ที่เป็นรายได้เสริมชั้นดีในยุคที่การทำมาค้าขายของลิขสิทธิ์ในแบบเดิมยากลำบากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล ในแง่นี้การฟ้องคนโหลดหนังสือของสำนักพิมพ์วิชาการอย่าง Wiley ก็ยิ่งจะดูเป็นการตอกย้ำภาพของนายทุกขูดรีดที่ผูกขาดแสวงกำไรกับแรงงานอาสาสมัครของนักวิชาการและเงินของรัฐอันเป็นหนทางแสวงรายได้หลักของสำนักพิมพ์ขึ้นไปอีก

...สำนักพิมพ์ Wiley ที่ว่าเริ่มฟ้องการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิตัลเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมการพิมพ์ในอเมริกา ก็คือ Wiley เดียวกับที่ฟ้องนักศึกษาไทยที่เอาตำราจากสิงคโปร์ไปขายในอเมริกานี่แหละครับ ซึ่งเราก็เดาไม่ยากเลยว่าอีกต่อไป Wiley จะมีบทบาทมากในการสู้เพื่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยไม่ใส่ใจทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิผู้บริโภคใดๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นที่อุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันได้เป็นมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์รีดค่ายอมความกับผู้โหลดหนังสือ หรือการขึ้นราคาค่าลงทะเบียนวารสารวิชาการ มันก็เป็นกลยุทธโดยรวมในการอยู่รอดในยุคนี้ของอุตสาหกรรมอันขูดรีดนี่เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

  1. ดู http://www.economist.com/node/18744177
  2. ซึ่งเป็นอัตรากำไรที่สูงมากๆ ดู http://www.guardian.co.uk/commentisfree/2011/aug/29/academic-publishers-murdoch-socialist
  3. อีกส่วนหนึ่งคือค่าเทอมของนักศึกษาที่ส่วนหนึ่งจะเป็นค่าบำรุงห้องสมุด
  4. นี่ตรงข้ามกับอังกฤษในช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐพยายามจะมีแนวนโยบาย Innovation and Research Strategy for Growth ที่จะบังคับให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับเงินสนับสนุนทั้งหมดจากรัฐต้องตีพิมพ์ในวารสารที่ผู้คนเข้าถึงได้อย่างสาธารณะ
  5. แต่ที่คนมักจะไม่รู้กันก็คือ Elsevier สนับสนุนกฎหมายกีดกันอินเทอร์เน็ตอันฉาวโฉ่ที่ตกไปแล้วอย่าง SOPA และ PIPA ด้วย
  6. ข้อมูลวันที่ 27-04-2012
  7. ดู http://isites.harvard.edu/icb/icb.do?keyword=k77982&tabgroupid=icb.tabgroup143448
  8. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/24/harvard-university-journal-publishers-prices
  9. http://www.guardian.co.uk/science/blog/2012/apr/17/persistent-myths-open-access-scientific-publishing
  10. ดู http://www.guardian.co.uk/science/2012/apr/09/frustrated-blogpost-boycott-scientific-journals
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมยศเบิกความ ชี้ “จักรภพ เพ็ญแข” ตัวจริงเขียนบทความ อ่านแล้วตีความแค่ “อำมาตย์”

$
0
0

สมยศเบิกความระบุ “จิตร พลจันทร์” นามแฝงของ “จักรภพ เพ็ญแข” เขียนบทความที่ถูกฟ้อง เขียนมาก่อนเขาเป็นบก. พร้อมแจงอ่านบทความคร่าวๆ เห็นว่าหมายถึง “อำมาตย์” ไม่อาจโยงถึงกษัตริย์ได้ ด้านทนายชี้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ฉบับใหม่ บก.ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบเนื้อหา ดีเอสไอจับคนเขียนไม่ได้ จึงโยงจับสมยศ

 

1 พ.ค.55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรก ในคดีที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีที่นายสมยศเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Voice of Taksin ที่มีการตีพิมพ์บทความ 2 เรื่องที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112

จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่า ในปี 2552 เป็นเพียงผู้เขียนคนหนึ่งใน นิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาเมื่อถึงฉบับที่ 9 จึงมารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) ต่อจากนายประแสง มงคลสิริ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ-ประชาไท) โดยได้ค่าจ้าง 25,000 บาท นิตยสารเล่มนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด เนื่องจากร่วมกันหลายหุ้นและช่วยๆ กันทำ ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะเหตุผลทางการตลาด มีแนวทางในการวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์ เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย กระทั่งถูกสั่งปิดซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะมีเนื้อหาวิพากษ์การโยกย้ายนายพลในช่วงเวลานั้นอย่างหนัก  

สำหรับบทความที่ตีพิมพ์นั้น แบ่งเป็นบทความประจำที่ลงต่อเนื่อง และบทความใหม่ๆ ที่ต้องทำเพิ่มให้ทันสถานการณ์ ในส่วนบทความประจำจะมีทั้งผู้เขียนที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝง โดยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมจะได้รับการลงพิมพ์ทั้งหมดโดยไม่มีการตัดทอนบทความแต่อย่างใด โดยปกติตนมีหน้าที่อ่านเพียงคร่าวๆ เนื่องจากมีบทความต้องพิจารณามาก และต้องเร่งให้ทันการปิดเล่ม

เมื่อถามว่า “จิตร พลจันทร์” เจ้าของบทความที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องคือใคร สมยศ ตอบว่า จักรภพ เพ็ญแข ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารตั้งแต่ฉบับแรกๆ ก่อนที่เขาจะมาทำหน้าที่เป็น บก.บห. โดยผู้ประสานงานติดต่อให้จักรภพมาเป็นคอลัมนิสต์คือ นายประแสง

เมื่ออัยการถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความในขั้นสุดท้าย สมยศขอดูรายชื่อกรรมการในนิตยสารอีกครั้งพร้อมระบุว่า ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ จากนั้นอัยการได้ซักถามเพิ่มเติมจนสุดท้ายสมยศตอบว่า ผู้มีสิทธิตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการลงบทความ ก็คือตัวนักเขียนเอง ตนมีหน้าที่นำไปส่งโรงพิมพ์

ในด้านเนื้อหาของบทความ นายสมยศตอบทนายว่า เมื่ออ่านบทความของจิตรฯ แล้วคิดว่าสื่อถึง “อำมาตย์” ไม่คิดว่าจะสื่อความถึงสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งภาพประกอบบทความก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด ไม่น่าจะทำให้ผู้อ่านโน้มเอียงไปในทางนั้นได้ ในส่วนที่พยานอื่นระบุว่าหมายถึงพระเจ้าตากสิน เขาไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากไม่มีการเอ่ยอ้างถึงท่อนจันทร์ แต่กล่าวถึงถุงแดงซึ่งเขาไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร การกล่าวถึงผู้อยู่ชั้นบนของโรงพยาบาลพระรามเก้าก็ไม่เกี่ยวข้องกษัตริย์ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด ส่วนการกล่าวถึงตัวละคร “หลวงนฤบาล” ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ เพราะตำแหน่งหลวงนั้นต่ำกว่า อีกทั้งบทความยังระบุว่าหลวงนฤบาลสอพลอทหารใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงนายทหารที่ยศต่ำกว่าจอมพลฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเชื่อว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน  

นอกจากนี้ยังมีการเบิกความเกี่ยวกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยสมยศเบิกความว่า เนื่องจากเป็นสื่อมวลชน ก็ได้ศึกษาข้อกฎหมายอยู่บ้าง โดยรู้ว่าตาม พ.ร.บ.สิ่งพิมพ์ 2484  บก.ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาของหนังสือที่จัดพิมพ์ แต่ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ได้ระบุว่าให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ

สุวิทย์ ทองนวล ทนายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการสืบพยานว่า กฎหมายใหม่ไม่ได้ระบุว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบด้วย หากบทความเข้าข่ายความผิดผู้เขียนต้องรับผิดชอบ การที่เจ้าหน้าที่จับตัวผู้เขียนไม่ได้ ก็ไม่ใช่ความผิดของเรา หรือต่อให้ยืนยันว่าบรรณาธิการต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตีพิมพ์ก็ยังไม่ใช่นายสมยศอยู่ดี เพราะมีบรรณาธิการอีกคนหนึ่งซึ่งมีชื่อปรากฏอยู่ในหนังสือ แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดี เพราะดีเอสไออ้างว่านายสมยศแสดงตนเสมือนเป็นบรรณาธิการ

สำหรับประวัติการทำงานที่ผ่านมา สมยศเบิกความต่อศาลว่า เคยทำสำนักพิมพ์สยามปริทัศน์และหนังสืออื่นๆ มาก่อนจะมาทำนิตยสาร Voice of Taksin หลังจากโดนศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สั่งปิด ก็มาเป็นบรรณาธิการของนิตยสาร Red Power ต่อในเดือน ก.ค.53

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 สมยศและสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประชาธิปัตย์รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ จากนั้นทั้งสองก็ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายทหาร โดยสุธาชัยถูกควบคุมตัว 7 วัน สมยศถูกควบคุมตัว 21 วัน โดยไม่มีการสั่งฟ้องคดีใดๆ ระหว่างนั้น Voice of Taksin ถูกปิด ทีมงานเดิมจึงเปิด Red Power ขึ้นมาใหม่โดยตีพิมพ์ได้ 5 เล่ม ก็ถูกสั่งปิดโรงพิมพ์ จึงได้ไปจ้างพิมพ์ที่ประเทศกัมพูชาแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทย พร้อมๆ กับการจัดทัวร์ท่องเที่ยวกัมพูชาด้วย

สมยศ ระบุว่า เขาเชื่อว่าการจับกุมเขามีที่มาจากผังล้มเจ้า ซึ่งระบุถึงหนังสือ Voice of Taksin และผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมถึงสุธาชัยด้วย ซึ่งภายหลังสุธาชัยได้ฟ้องหมิ่นประมาท พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ผู้ประกาศผังล้มเจ้า จนสุดท้าย พ.อ.สรรเสริญ ยอมรับว่าผังไม่มีมูล จึงได้มียอมความกันไป

ในทัศนะของสมยศ เขาคิดว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้ง และยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ ซึ่งย้อนไปในอดีตจะพบว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณจนนำมาสู่การรัฐประหาร โดยมีข้ออ้างว่ารัฐบาลทักษิณไม่จงรักภักดี และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จนมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาต่อต้านและถูกจับกุมด้วยข้อหาไม่จงรักภักดีจำนวนมาก ทั้งที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่าพระมหากษัตริย์นั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอความจริง กระนั้นตนก็ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันเหมือนประชาชนทั่วไป เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 และเห็นว่ามันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายฝ่ายอื่น อีกทั้งโทษ 3-15 ปีก็สูงเกินกว่าเหตุ และขัดต่อหลักสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงหลักนิติรัฐ ส่วนพฤติกรรมที่ผ่านมา เคยแถลงข่าวถึงปัญหาเรื่องนี้และเสนอการรวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิกมาตรา112 แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการก็ถูกจับกุมคุมขังในสัปดาห์ถัดมา

“ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว” สมยศให้สัมภาษณ์ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานในช่วงเช้า

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความของ “จิตร พลจันทร์” ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ โดยตีพิมพ์ในฉบับที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชื่อ “แผนนองเลือดกับยิงข้ามรุ่น”  และในฉบับที่ 16 เดือนมีนาคม 2553 ชื่อ เรื่อง 6 ตุลา แห่ง พ.ศ.2553 ซึ่งตามคำฟ้องระบุความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91, 112 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4

หลังจากถูกจับกุมเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นขอประกันถึง 9 ครั้ง ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯและจะสืบพยานจำเลยในวันที่ 1-3 พ.ค.55 โดยในวันพรุ่งนี้ช่วงเช้านายปิยบุตร แสงกนกกุล จากกลุ่มนิติราษฎร์ จะขึ้นให้การเป็นพยาน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: นักสิทธิฯ อยู่ไหน.. ตะลึง!!! คนงานเขียนคำร้องกว่า 500 คดีต่อปี

$
0
0

ปัญหาด้านกฎหมายกับคนงาน ‘นักสิทธิ-สภาทนายความ’ ยังไม่ให้ความสนใจ เมื่อไม่มีใครช่วยคนงานก็ต้องช่วยกัน ‘บุญยืน สุขใหม่’ คนงานที่เขียนคำร้องให้กับเพื่อนคนงานมากกว่า 500 คดี


 บุญยืน สุขใหม่

1 พ.ค. 55 – ชื่อ ‘บุญยืน สุขใหม่’ อาจจะไม่คุ้นหูในวงกว้างมากนักทั้งตามหน้าสื่อ ทั้งในกระแสหรือทวนกระแส แต่สำหรับคนงาน นักสหภาพ นักกิจกรรม ในแวดวงแรงงาน จะรู้จักชื่อนี้ดี โดยเฉพาะคนงานในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ถึงกับมีการขนานนามเขาว่าเป็น ‘อาจารย์’ ของกลุ่มคนงาน

รวมถึงนักวิจัย เอ็นจีโอ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่หากต้องทำเรื่องเกี่ยวกับแรงงานแล้ว ชื่อของ ‘บุญยืน’ จะเป็นชื่อแรกๆ ที่คนเหล่านี้จะนึกถึง เพราะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับประเด็นแรงงาน เนื่องจากบุญยืนอาจจะเป็นเพียงนักสหภาพเพียงไม่กี่คนที่เก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาต่างๆ ของคนงานไว้มากที่สุด

การเป็นนักสหภาพที่แข็งขันของบุญยืนในพื้นที่ภาคตะวันออก เริ่มจากปี 2535 บุญยืนได้ย้ายมาทำงานที่ จ.ระยอง ซึ่งในสมัยนั้นในภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพียงแห่งเดียว ได้เห็นสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทั้งจากนายจ้างและผู้บังคับบัญชา คนงานจึงได้ร่วมกับเพื่อนหารือกันในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในปี 2536 ได้ตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเป็นแห่งแรกในจังหวัดระยองขึ้น  

ในปี 2536-2538 บุญยืนได้เข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายจัดตั้งและคุ้มครองแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และก้าวเดินไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ตามเส้นทางของนักสหภาพ ไม่ว่าจะเป็น รองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (ระหว่าง ปี 2548 ถึง 2550), เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (ระหว่าง ปี 2550 ถึง 2552), เลขาธิการคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (ระหว่าง ปี 2548 ถึง 2550), ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (ระหว่าง ปี 2550 ถึง 2552), รองประธาน(ฝ่ายวิชาการ) สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ ปี 2553 ถึง2554) และผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ตั้งแต่ (ปี 2552 ถึงปัจจุบัน)

ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 บุญยืนซึ่งมีทัศนะคติที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงได้แยกตัวออกมาจากกลุ่มองค์กรแรงงานที่มีแนวทางโน้มเอียงไปทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาตั้งกลุ่มกับเพื่อนคนงาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานในพื้นที่โดยเคารพระบบประชาธิปไตยแบบสหภาพแรงงาน อย่างกลุ่ม ‘พัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก’ อันเป็นกลุ่มฐานรากก่อนที่จะมีการก่อตั้งสภาแรงงานสภาล่าสุดอย่าง ‘สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย’

“เราทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) และสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นพันธมิตรกัน เห็นเหมือนกันเรื่องไม่ต้องการรัฐบาลทักษิณ เพราะเป็นรัฐบาลนายทุน เราไม่เคยได้อะไรจากรัฐบาลทักษิณ พยายามยื่นข้อเรียกร้องไม่รู้กี่ครั้ง หน้าทำเนียบก็ไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้อย่างที่คาดหวัง ที่เห็นต่างคือเรื่องคืนพระราชอำนาจ และเรียกให้ทหารออกมาทำรัฐประหาร ” -- บุญยืน สุขใหม่ 

“ปกติช่วงสิงหาถึงพฤศจิกาเป็นฤดูยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเราได้รับผลกระทบหนักยิ่งกว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไปที่ไหน ชุมนุมที่ไหนเจอแต่กระบอกปืน พูดไม่ได้เลย โดยเฉพาะครั้งที่ฟอร์ดและมาสด้านัดหยุดงาน แกนนำโดนล็อคตลอด ใช้เวลา 10 กว่าชั่วโมงกว่าจะถึงหน้ากระทรวง โดนทั้งตำรวจและทหารสกัด ที่หน้ากระทรวงเขาก็ใช้ทหารเกเร ขี้เมาเข้ามาหาเรื่อง ในพื้นที่ก็เอาทหารมาป้วนเปี้ยนหน้าบ้านตลอด ไปนอนที่หน้าศูนย์ราชการ จ.ระยอง ก็เอาทหารถือเอ็ม 16 ไปล้อมตลอดเหมือนเราเป็นนักโทษ เราทำอะไรไม่ได้เลย  แม้กระทั่งจัดชุมนุมไฮปาร์คธรรมดาให้กำลังใจกันเมื่อบางสหภาพแรงงานมีปัญหาหนักๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ให้สิทธิเต็มที่ แต่พอรัฐประหาร แรกๆ ก็โดนยึดเวที ยึดเครื่องเสียง  แกนนำโดน มทบ.14 ที่ดูแลภาคตะวันออกเรียกไปคุย” -- บุญยืน สุขใหม่

ปัจจุบัน บุญยืน ยังเป็นคนงานเต็มเวลาของโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง แต่หลังจากเลิกงานประมาณ 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม เขาจะไปประจำอยู่ที่บ้านที่ (อันเป็นศูนย์กลางการจัดตั้งสหภาพแรงงานของกลุ่ม) หรือไม่ก็ตระเวนไปยังที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาคนงานที่ประสบปัญหาได้รับค่าแรงต่ำ ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารงานสหภาพแรงงาน ทำสำนวนฟ้อง คำร้อง คัดค้าน รวมทั้งลงไปร่วมกิจกรรมกับคนงานในพื้นที่ที่มีปัญหา 

จากข้อมูลที่บุญยืนได้รวบรวม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 – วันที่ 20 มี.ค. 2555 พบว่าบุญยืนได้เขียนคำแนะนำและคำร้องให้แก่ลูกจ้างแล้วกว่า 1,650 คดี เมื่อถามว่าเคยติดต่อให้สภาทนายความมาช่วยเหลือหรือไม่ บุญยืนตอบว่าเคยขอไปที่สภาทนายความจังหวัด แต่กลับได้รับการตอบมาว่าไม่มีคน และบุญยืนกล่าวว่าเรื่องกฎหมายนั้นคนงานจะไม่สนใจไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เพราะถึงเราไม่ใช้นายจ้างก็จะใช้ช่องว่างทางกฎหมายเล่นงานคนงานอยู่ดี

คดีที่ที่บุญยืนให้คำแนะนำลูกจ้างยื่น ในกรณีที่นายจ้างละเมิดกฎหมาย (4 ปีล่าสุด)



พ.ศ. 2552


พ.ศ. 2553


พ.ศ. 2554


พ.ศ. 2555 (20 มี.ค.)


554 คดี


470 คดี


579 คดี


47 คดี

โดยปัญหาแรงงานนั้นในสายตานักสิทธิมนุษยชนอาจจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจ (ถ้าหากไม่นับปัญหาเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ดูสลดหดหู่ชัดเจน)

แต่ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมไปแล้ว มีคนหนุ่มสาวมุ่งตรงสู่โรงงานหลายล้านคน และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง … ในสถานการณ์เช่นนี้เอ็นจีโอกับนักสิทธิมนุษยชนเพียงจะมุ่งตรงไปหาคนชายขอบที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ตามป่าตามเขา เท่านั้นหรือ?

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

$
0
0

หน่อแอะ มีมิ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ถูกอุทยานเผาไล่ที เดินหน้าฟ้องแพ่งอุทยานแห่งชาติ และกระทรวงทรัพย์ฯ ฐานละเมิด โดยสภาทนายจัดหาทนายความให้ เผยชาวกะเหรี่ยงเตรียมร้องศาลปกครองอีกคดี

วันที่ 1 พ.ค. 2555 นายหน่อเอะ มีมิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยบน และได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่าเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่ผ่านมา เดินทางมายังศาลแพ่ง เพื่อยื่นฟ้องต่อ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำเลยที่ 1 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยที่ 2 ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,622,500 โดยมีนายธนู เอกโชติ ทนายความจากสภาทนายความเป็นผู้ว่าความให้

กระเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

โดยคำบรรยายฟ้องระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 5-9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้มีการปฏิบัติการตามแผนโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่า ได้กระทำผิดกฎหมายและละเมิดต่อโจทก์และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยตอนบน ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนไดรับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน เสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการบุกรุก รื้อทำลาย และเผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เมื่อกระทำการดังกล่าวแล้วยังให้ข่าวกับนักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักว่า โจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (KNU) เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศเพื่อนบ้าน ได้บุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเกี่ยวข้องกับยาเสพติดซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้ผู้ที่ได้รับชมข่าว ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือผู้อื่นซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงเกลียดชังและเชื่อว่าชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดังกล่าวบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และยังมีการเอาข้าวเปลือก เสื้อผ้า เงินทองของโจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงไป

กระเหรี่ยงแก่งกระจานเดินหน้าฟ้องอุทยานฯ เหตุเผาไล่ที่

เมื่อโจทก์และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้มาร้องขอคววามช่วยเหลือทางกฎหมายต่อสภาพทนายความฯ จึงได้มีคำสั่งที่ 11/2554 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยคณะทำงานได้แบ่งการพิจารณาออกเป็นคดีอาญา ปกครองและแพ่ง และเห็นว่า การกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง วันนี้จึงได้มอบหมายให้ นายธนู เอกโชติ นำคำฟ้องมาฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ทั้งนี้จำเลยได้ร้องขอให้ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียม และได้ร้องขอภายหลังจากที่ยื่นคำฟ้องและคำร้องแล้ว ศาลได้เปิดไต่สวนคำร้องทันที โดยทนายเผยว่า ศาลได้ย้ำต่อโจทก์ว่า ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นายหน่อแอะต้องรู้และเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเอง โดยทนายได้อธิบายต่อศาลว่านายหน่อแอะนั้นมีความตั้งใจที่จะดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในด้านภาษาก็ตาม

นายสุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การดำเนินการฟ้องแพ่งในวันนี้ เป็นการทำงานต่อเนื่องหลังจากที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ยื่นคำร้องมายังสภาทนายความ จากนั้นสภาทนายความจึงได้แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติละเมิดกฎหมายและสร้างความเสียหายแก่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยจริง จึงทำความเข้าใจและสื่อสารกับผู้ได้รับผลกระทบให้เข้าใจถึงสิทธิและข้อกฎหมาย โดยหลังจากนี้จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

เหตุการณ์เผาไล่ที่ชาวบ้านที่หมู่บ้านบางกลอยบน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีปฏิบัติการผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่แนวชายแดนไทยพม่าอย่างต่อเนื่อง และมีการร้องขอกำลังสนับสนุนจากกองทัพบก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ฮ.ตกที่แก่งกระจาน มีนายทหารเสียชีวิต 17 ราย เป็นข่าวใหญ่ในปีที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซีเรีย: เกิดระเบิดใกล้กองบัญชาการทหารในเมืองอิดลิบ

$
0
0

มีรายงานเหตุระเบิดในซีเรีย ทางช่องโทรทัศน์รัฐบาลรายงานว่าเป็นระเบิดพลีชีพใกล้กับกองบัญชาการจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่หลายราย แม้คณะผู้ตรวจการจากยูเอ็นจะลงตรวจสอบการหยุดยิงในพื้นที่ของซีเรียแล้ว

30 เม.ย. 2012 - ทั้งนักกิจกรรมและสถานีโทรทัศน์ซีเรียรายงานว่ามีเหตุระเบิดในเมืองอิดลิบทางตอนเหนือของซีเรีย ทำให้มีประชาชนจำนวนหนึ่งเสียชีวิต

ทางสถานีโทรทัศน์รายงานว่าเหตุระเบิดพลีชีพ 2 ครั้งเป็นเหตุทำให้ประชาชน 8 รายเสียชีวิต ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนของซีเรียบอกว่ามีประชาชนเสียชีวิต 20 รายจากการโจมตีมุ่งเป้าไปยังทหารรักษาความปลอดภัย

ด้านสหประชาชาติกำลังวางแผนส่งคณะผู้ตรวจการการหยุดยิงไปเพิ่มอีก 30 ราย และทางยูเอ็นยังบอกอีกว่า พวกเขาต้องการคนตรวจสอบมากกว่านี้อีก

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนในซีเรียกล่าวว่าเหตุระเบิดเกิดขึ้นในอิดลิบใกล้กับกองบัญชาการหน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศ และหน่วยข่าวกรองกองทัพบก ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนของหน่วยรักษาความสงบ

โทรทัศน์รัฐบาลซีเรียรายงานว่า การระเบิดพลีชีพของผู้ก่อการร้ายสองรายในอิดลิบ สังหารประชาชนไป 8 ราย และทำให้อีกหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บทั้งพลเรือนและทหาร

โทรทัศน์รัฐบาลยังได้แพร่ภาพความเสียหายโดยมีภาพสิ่งก่อสร้างบางส่วนพังลงมา ท้องถนนเต็มไปด้วยเศษอิฐเศษปูน ซากยานพาหนะ และกองเลือด แรงระเบิดทำให้เศษซากกระจายออกไปหลายร้อยเมตร

นักกิจกรรมรายหนึ่งบอกว่าแหล่งระเบิดทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันหลายร้อยเมตร และระยะเวลาระเบิดห่างกัน 5 นาที 

ก่อนที่ต่อมากลุ่มนักสิทธิฯ จะเปิดเผยเพิ่มเติมว่ามีการระเบิดครั้งที่ 3 ในอิดลิบใกล้กับมหาวิทยาลัย ทำให้หลายคนได้รับบาดเจ็บ พวกเขาบอกอีกว่ามีรายงานเหตุระเบิดในกรุงดามัสกัสจนทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย แต่ยังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้

ทางสถานีโทรทัศน์ของซีเรียเปิดเผยว่ามีเหตุชายสามคนใช้เครื่องยิงจรวดโจมตีใส่ธนาคารกลางของซีเรียชั่วข้ามคืนที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่มีแหล่งข่าวยืนยันอย่างชัดเจนได้ในกรณีนี้อีกเช่นกัน

จิม เมอร์ ผู้สื่อข่าว BBC รายงานว่า เมืองอิดลิบเป็นเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างที่รู้กันดี แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาค่อนข้างสงบสุขเนื่องจากมีคณะผู้ตรวจการของยูเอ็นประจำอยู่ที่นี่สองคน

นักกิจกรรมเปิดเผยว่า แหล่งระเบิดจุดหนึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมที่คณะผู้ตรวจการพำนักอยู่เพียง 200 เมตรเท่านั้น ขณะที่สำนักข่าวซานาของรัฐบาลรายงานว่าคณะผู้ตรวจการได้ไปเยือนสถานที่ที่ถูกระเบิดในเวลาต่อมา

 

ที่มา

Syria unrest: Deadly blasts rock Idlib, BBC, 30-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-17892505 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถิติและเซ็กส์ กับคุณครูภาวนา

$
0
0

 

ในห้องเรียนสถิติบ่ายวันหนึ่งที่อากาศอบอ้าว ท่ามกลางนักเรียนที่ง่วงหงาวหาวนอน เพราะตัวเลขสถิติเยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นค่ามัธยฐาน ค่ากลาง ค่าเฉลี่ย ค่าแปรปรวน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ระดับความเชื่อมั่น นัยสำคัญ และอื่นๆ อีกมากมาย นักเรียนแปลความหมายถูกบ้าง ไม่ถูกบ้าง ไม่รู้แปลว่าอะไรบ้าง

คุณครูภาวนา เห็นว่า ถ้าจะสอนต่อ คงไม่รู้เรื่อง และนักเรียนคงหลับแน่ๆ คุณครูภาวนาก็เลยเอาเรื่อง 10 Surprising Sex Statistics หรือ 10 สถิติเกี่ยวกับเซ็กส์ที่น่าประหลาดใจ ที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อวาน มาเล่าให้นักเรียนฟัง

ครั้งที่แล้ว คุณครูภาวนาสอนเรื่องค่าเฉลี่ย โดยยกตัวอย่าง ขนาดจู๋ของคนไทยเฉลี่ย 10.1 เซนติเมตร ใหญ่กว่าจู๋สัญชาติเกาหลีใต้ และเล็กกว่าจู๋ญี่ปุ่นนั้น เด็กๆ สงสัยว่า แปลว่าอะไร จู๋คนไทยทุกคนยาว 10.1 เซนติเมตรหมดเลยหรือเปล่า

คุณครูภาวนา อธิบายโดยใช้หลักการสถิติว่า เป็นค่าเฉลี่ย ณ ช่วงเวลาที่วัด นั่นคือ เอาขนาดความยาวของจู๋ของทุกคนที่ถูกถามในวันนั้นมาบวกกัน แล้วก็หารด้วยจำนวนจู๋ทั้งหมด ซึ่งการวัดขนาดความยาวอาจจะคลาดเคลื่อนได้ บางคนก็วัดตอนจู๋ไม่แข็ง บางคนวัดตอนแข็ง ซึ่งก็อาจจะมีตั้งแต่ 5 เซนติเมตร ถึง 15 เซนติเมตร ก็ได้ แต่ข้อมูลที่บอก บอกเพียงขนาดเฉลี่ย ไม่ได้บอกว่าจากกลุ่มตัวอย่างกี่คน อายุเท่าไหร่

หรือวัยรุ่นหญิงไทยคลอดลูกเฉลี่ยวันละ 336 คน ก็เป็นค่าเฉลี่ยที่นับได้จากโรงพยาบาลที่เก็บตัวเลข ณ ปี 2553 ซึ่งข้อมูลจริงๆ อาจจะมากกว่า 336 ก็ได้

สถิติเกี่ยวกับเซ็กส์ที่คุณครูภาวนา เอามาสอนเด็กวันนี้ มาจากเว็บไซต์ http://www.livescience.com/11387-10-surprising-sex-statistics.html

เรามาลองดูว่า 10 เรื่องเซ็กส์ที่เกี่ยวข้องกับสถิติมีเรื่องอะไรบ้าง และเรารู้มากน้อยแค่ไหน


HPV

50% หรือครึ่งหนึ่งของทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะติดเชื้อเอชพีวี (HPV) ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงที่จะติดเชื้อนี้อย่างที่เข้าใจ

HPV มาจากคำเต็มๆ ว่า Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยที่ 90 % ของการติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดเชื้อนี้ออกไปในเวลา 2 ปี ส่วนอีก 10 % กำจัดไม่ได้ ถ้าเราเจอไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ไม่อันตรายก็จะเป็นแค่โรคธรรมดา เช่น หูดที่อวัยวะเพศ แต่ถ้าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายก็จะเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก หรือ มะเร็งอื่นๆ (ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา)

คุณครูภาวนาเสริมว่า ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว โดยฉีด 3 เข็ม เข็มที่ 2 และ 3 ห่างจากเข็มแรก 2 และ 4 เดือนตามลำดับ องค์การอาหารและยาของอเมริกาแนะนำว่า ให้เริ่มฉีดเมื่ออายุประมาณ 11-12 ปี แต่อาจจะฉีดเมื่ออายุ 9 ปีก็ได้ เนื่องจากเด็กในช่วงอายุดังกล่าวยังไม่มีการติดเชื้อ HPV และช่วงดังกล่าวเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มที่

แต่วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจะสร้างภูมิต่อเชื้อ HPV ชนิด 6 11 16 และ 18 ดังนั้นถ้าใครยังไม่ได้รับเชื้อ 4 ตัวนี้ก็จะได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีน และใครที่ชอบเปลี่ยนคู่นอน จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อไปแล้ว และอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้


ลาคลอดลูก

2 ใน 3 หรือ 67% ของผู้หญิงที่คลอดลูกระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึง 2546 ท้องไปด้วย ทำงานไปด้วย และมากไปกว่านั้น 80% ของหญิงสาวรักงานเหล่านี้ กลับไปทำงานหลังจากคลอดลูกภายใน 1 เดือนหรือน้อยกว่า

เรามาดูกันว่า ย้อนหลังไป 40 ปี คือปี พ.ศ. 2504 ถึง 2508 มีเพียง 44 % ของผู้หญิงที่ทำงานระหว่างท้อง และ 35% กลับไปทำงานหลังจากคลอดลูกภายใน 1 เดือนหรือน้อยกว่า (ข้อมูลจากสำมะโนประชากร สหรัฐอเมริกา)

คุณครูภาวนา ถามนักเรียนว่า เราจะแปลตัวเลขนี้อย่างไร แปลว่า ผู้หญิงปี 2544-2546 แข็งแรงกว่าผู้หญิงปี 2504-2508 ขยันทำงานกว่า ชอบทำงานมากกว่าเลี้ยงลูก หรือความจำเป็นบังคับ หรือมีคนเลี้ยงลูก

หรือสามีใช้สิทธิลาช่วยเลี้ยงลูกแทน หรือ...

เรามีเซ็กส์กับใคร กี่คน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติสาธารณสุขแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ที่สำรวจชายและหญิงอายุระหว่าง 20 – 59 ปี พบว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงมีเซ็กส์กับคน 4 คน ขณะที่ผู้ชายมีกับ 7 คน ณ นับถึงเวลาที่ถามคำถามนี้

คุณครูภาวนาได้ทีเสริมว่า ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเซ็กส์นะคะ จะได้ไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้อง ส่วนตัวเลขสถิติของนักเรียนคือเลขอะไร ไม่ต้องบอกครูก็ได้ แต่ทางที่ดี ไม่ต้องทำแต้มแข่งกัน จะดีกว่านะคะ

เซ็กส์กับเพื่อน

2 ใน 3 ของนักเรียนระดับวิทยาลัยในอเมริกามีเซ็กส์กับเพื่อน

มากกว่า 50% ของคนที่มีเซ็กส์กับเพื่อนบอกว่า มีเซ็กส์ได้ทุกรูปแบบ

22.7 % บอกว่า มีเฉพาะการสอดใส่

8 % ทำทุกอย่างยกเว้นการสอดใส่ (ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัย Wayne State และ มหาวิทยาลัย Michigan State)

คุณครูภาวนาย้ำอีกครั้งว่า ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเซ็กส์นะคะ ไม่ว่าจะกับใคร จะได้ไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และท้อง เราไว้ใจใครไม่ได้เลยนะคะในเรื่องนี้ ต่อให้เป็นเพื่อนก็เถอะ

ถึงจุดสุดยอดทุกครั้งไหม

75 % ของผู้ชายถึงจุดสุดยอดระหว่างที่มีเซ็กส์ ขณะที่ผู้หญิงมีเพียง 29 %

ผู้หญิงส่วนมากจะไม่ถึงจุดสุดยอดในการมีเซ็กส์แบบสอดใส่ แต่เป็นการถึงจุดสุดยอดโดยการกระตุ้นคลิตอริส (ข้อมูลจาก การสำรวจชีวิตทางสังคมและสุขภาพแห่งชาติ)

นักเรียนสงสัย ทำไม และเพราะอะไร เก็บไปคุยกันต่อในห้องเรียนเพศศึกษาดีกว่า

นอนกันยังไง

1 ใน 10 ของคู่แต่งงานบอกว่า โดยปกตินอนคนเดียว (ข้อมูล สมาคมการนอนหลับแห่งชาติ)

นักเรียน : สงสัยว่านอนกรนเลยต้องแยกกันนอน ส่วนอีก 9 คน ต่างคนต่างนอนกรนก็เลยนอนด้วยกันได้ เพราะไม่รู้ว่าใครกรน


ครั้งแรก...เมื่อไหร่

โดยเฉลี่ย ผู้ชายจะมีเซ็กส์ครั้งแรก เมื่ออายุ 16.9 ปี ผู้หญิงแก่กว่าเมื่อ 17.4 ปี

การศึกษาใหม่ๆ พบว่า ยีนอาจจะเป็นตัวที่ทำให้คน อยาก หรือ ไม่อยาก หรือ อยากมาก หรืออยากน้อย ที่จะมีเซ็กส์ในช่วงอายุน้อยๆ (ข้อมูล Kinsey Institute, California State University)

นักเรียน : จริงเปล่านี่ จะไปลองถาม คุณครูสอนชีวะ ดู

ต้องการ “ผู้ช่วย”

ราวๆ 5 % ของผู้ชายอายุ 40 ปี และ 15-25 % ของชายอายุ 65 ปี เคยมีประสบการณ์หย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ข้อมูลจาก National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases)

นักเรียน : รุ่นพ่อกับปู่เลยนะนั่น ไปถามพ่อกับปู่จะอธิบายให้ฟังไหมนี่ ลองดูว่า "เรื่องเพศ คุยกันได้" จริงหรือเปล่า

ขนาด สำคัญไฉน

จู๋ของอเมริกันชน ตอนแข็งตัวโดยเฉลี่ยยาว 5 – 7 นิ้ว และขนาดรอบจู๋ 4 - 6 นิ้ว (ข้อมูลจาก Kinsey Institute)

นักเรียน : มันยาวกว่าไทยหรือเปล่าหว่า ต้องแปลงนิ้วเป็นเซ็น หรือ เซ็นเป็นนิ้ว แล้วเทียบดู ว่าแต่ 1 นิ้ว มีกี่เซ็น

คุณครูภาวนา : 1 นิ้ว เท่ากับ 2.54 เซ็น

นักเรียน : จู๋ของคนอเมริกัน ขนาด 12.7 - 17.8 เซ็น ใหญ่นะนี่

ทำไมพวกเขาถึงทำกันขนาดนี้

ศตวรรษที่ 18 หญิงชาวรัสเซียสร้างสถิติโลก โดยการคลอดลูก 69 คนจากการตั้งท้อง 27 ครั้ง เป็นแฝดสอง 16 คู่ แฝดสาม 7 คู่ และแฝดสี่ 4 คู่ แต่สถิตินี้ก็ยังน้อยกว่ากษัตริย์โมร็อคโค ในปี 1721 ที่มีลูกสาว 342 คน และลูกชาย 700 คน ข้อมูลจาก "Why Evolution Is True" (Viking, 2009)

นักเรียน : คนสมัยก่อนสงสัยว่าง ถ้าอยู่ในประเทศไทยต้องไปเตะบอลจนเหนื่อยเลยนะนี่ ;)

จากที่ง่วงๆ นักเรียนตาสว่าง และสนุกกับตัวเลขเหล่านี้ เมื่อหมดชั่วโมงสถิติที่ไม่น่าเบื่อ นักเรียนบอกคุณครูภาวนาว่า คราวหน้า ขอเรียนแบบนี้อีกนะครับ / ค่ะ

 


ที่มา: โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ http://www.teenpath.net/content.asp?ID=15035#.T5-8SmbcnM5

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: คนงานลำพูนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ชี้ยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา

$
0
0

คนงานลำพูนร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติ หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ชี้ยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา ยื่นหนังสือถึงนายกผ่านผู้ว่าฯ ให้ช่วยแก้ปัญหา

 

นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนให้ช่วยลงมาแก้ไขปัญหาที่แรงงานลำพูนเผชิญอยู่

1 พ.ค. 55 – ที่โรงเรียนจักรคำคณาทร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน ได้มีการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 โดยมีนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในการจัดงาน

นายวชิระ ศรีบัวชุม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานจากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดลำพูน ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเล่นกีฬาร่วมกัน พร้อมทั้งให้พนักงาน ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ได้แสดงพลังความสามัคคี และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่กลไกลในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในการจัดงานครั้งนี้ ได้ใช้ชื่อว่าแรงงานไทย ร่วมใจสดุดี ราชวงศ์จักรี รักสามัคคีเพื่อแผ่นดินในปีนี้มีผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั้งจากภายในและภายนอกการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ(กนอ.)หมู่ 4 ต.บ้านกลาง และ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ หมู่ 15 ต.ป่าสัก อ.เมือง รวม 30 แห่ง ประมาณ 1 พันคนมาร่วมกิจกรรมร่วมกันในวันนี้

ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดนั้นบรรดาสถานประกอบการได้มีการเดินรณรงค์ ไปตามถนนสายต่างๆ ก่อนเข้ามาสู่โรงเรียนจักรคำคณาทร ซึ่งภายในขบวนได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้รักสามัคคี และต้านยาเสพติด โดยเฉพาะในสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วันแรงงานแห่งชาติจังหวัดลำพูน ประจำปี 2555 ที่จัดให้กับผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคคล 

องค์กรแรงงานออกแถลงการณ์ หนุนนโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท

ทั้งนี้องค์กรแรงงานในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์, สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์, กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ, สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน ได้ออกแถลงการณ์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..

แถลงการณ์วันกรรมกรสากล

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวิตที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ

สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน

เผยคนงานลำพูนยังมีปัญหาเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างตลอดเวลา

ด้านนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สหภาพแรงงานโฮย่า) นิคม อุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของแรงงานยังไม่ดีขึ้น แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแต่ยังเสี่ยงต่อการถูก เลิกจ้างตลอดเวลา ขณะที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเลิกจ้างสูงขึ้น ปัญหาดังกล่าวไม่ใช้ความผิดพลาดของรัฐบาลที่ต้องการดูแลแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่เป็นเรื่องของนายจ้างที่ต้องการลด ภาระค่าใช้จ่าย โดยเลือกเลิกจ้างกลุ่มแรงงานที่มีอายุมาก หรือมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เพราะฐานค่าจ้างและเงินเดือนสูงอยู่แล้ว หากปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบายของรัฐบาลก็จะทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงแก่แรงงานสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนปัญหาหาการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท โฮย่า กลาสดิสค์ ประเทศไทย จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน กว่า 1,000 คน ล่าสุดเหลือพนักงานเพียง 153 คนเท่านั้นที่ไม่ยินยอมเซ็นเอกสารตามข้อเสนอของบริษัทฯ คือนอกจากเงินชดเชยตามอายุงาน ยังเพิ่มเติมให้อีก 2 เดือน ขณะที่ตัวแทนพนักงานและสหภาพฯได้เดินทางไปพบกับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้ แทนราษฎร ซึ่งคณะกรรมาธิการฯมีมติให้บริษัท โฮย่า รับแรงงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานภายใน 1 เดือน แต่ล่าสุดบริษัทฯกลับปฎิเสธทำตามและไม่ยอมเจรจา

นอกจากนี้ตนเองยังถูกบริษัทฯเลิกจ้างเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า สร้างความเสื่อมเสียให้แก่บริษัทฯ ตนเองและพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมทั้ง 153 คน จึงต้องเดินหน้าฟ้องร้องบริษัทฯเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยและให้รับกลับเข้าทำงาน

"สาเหตุที่บริษัทฯเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ได้ให้เหตุผลว่าประสบปัญหาขาดทุนเพราะโรงงานถูกน้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริง จากการตรวจสอบงบดุลบริษัทฯมีผลกำไรมาโดยตลอด ไม่ได้ประสบปัญหาเหมือนโรงงานอื่นๆที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งสาเหตุที่เลิกจ้างเพราะ เดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ บริษัทฯมีการเปลี่ยนสายการผลิตใหม่จึงมีการปรับปรุงโรงงานและเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทั้งหมด ทำให้ บริษัทฯวางแผนเลิกจ้างพนักงานโดยเลือกพนักงานที่มีอายุงานมาก และกลุ่มที่มีอายุสูงวัย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และปลายเดือนพฤษภาคมเมื่อโรงงานแล้วเสร็จจะเปิดรับพนักงานใหม่ทั้งหมด"

ทั้งนี้นายอัครเดช ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนให้ช่วยลงมาแก้ไขปัญหาที่แรงงานเผชิญอยู่ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ..

ที่ สออส.และสหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

วันที่ 1 พฤษภาคม 2555

เรื่อง ข้อเรียกร้องในโอกาสวันกรรมกรสากล 

เรียน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

เนื่องด้วยวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ”วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่ผู้ใช้แรงงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแรงงาน สิทธิอันชอบธรรมที่ผู้ใช้แรงงานสมควรจะได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนคนกลุ่มอื่นๆ และในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานถือเป็นฝ่ายผลิตที่สำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้า

ในปี พ.ศ.2555 นี้ องค์กรผู้ใช้แรงงานและองค์กรส่งเสริมสิทธิผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ได้ประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม มีข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการ และนโยบาย ผลักดันให้ บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด รับพนักงานเข้าทำงานตามเดิม จำนวน 153 คน เนื่องจากพนักงานดังกล่าวไม่ยินยอมเข้าโครงการเลิกจ้างของบริษัทฯ และกำลังเป็นความฟ้องร้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อเป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากการเลิกจ้างและการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม

2. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย มิให้บริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้มาตรา 75 (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) หรือข้ออ้างอื่นๆของนายจ้างเพื่อเลิกจ้างพนักงาน ต้องไม่มีการเอาเปรียบลูกจ้าง และให้พิจารณาวัตถุประสงค์ของนายจ้างให้เป็นไปแบบสมเหตุสมผล ตลอดทั้ง มิใช่เพื่อทำลายสหภาพแรงงานซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย 

3. เราขอสนับสนุน นโยบายค่าจ้างขั้นตำ 300 บาท ทั่วประเทศในต้นปี 2556 เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น แม้ว่าสมาคมนายจ้างแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯและองค์กรของนายทุนต่างๆ ที่เห็นแต่ผลประโยชน์ส่วนตนจะคัดค้านนโยบายนี้ก็ตาม แต่รัฐบาลต้องยืนยันนโยบายนี้ ตามที่หาเสียงไว้ ควรฟังเสียงของผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก

4. ขอให้รัฐบาล พิจารณาและควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้คงที่ ไม่มีการขยับราคาขึ้นเกินความเป็นจริง

5. ขอให้รัฐบาล มีมาตรการและนโยบาย ให้สำนักงานประกันสังคม ลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมร้อยละ 5 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 3 ของค่าจ้าง ให้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน

6. ขอให้ทางรัฐบาลพิจารณารับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานได้อย่างเสรี ตามหลักการประชาธิปไตยและเหมือนดั่งอารยประเทศที่พึงกระทำ

7. ขอสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพื่อไม่ให้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยแทรกแซงทางการเมือง เพื่อ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ตลอดทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ผู้ใช้แรงงาน คือ ขอเสนอให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ ตามสภาพเงื่อนไขการดำรงชีวติที่เป็นจริงของผู้ใช้แรงงาน 

8. ขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกชนชั้น ทุกกลุ่มชน ร่วมกันผลักดันสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ ครบวงจร ระบอบเดียวเสมอภาค กันถ้วนหน้า โดยมาตรการเก็บภาษีที่ก้าวหน้า เพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม

9. ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ นโยบาย และกฎหมาย ที่เปิดให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิเท่าเทียมกับ

ผู้ใช้แรงงานไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร

ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์

นายอัครเดช ชอบดี

ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์

 

ที่มาข่าวบางส่วนจาก: เนชั่นทันข่าว

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีวันแรงงานในกรีซ-ฝรั่งเศส กลายเป็นการขับเคี่ยวทางการเมือง

$
0
0

การชุมนุมวันแรงงานสากลในกรีซ ผู้ชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายรัดเข้มขัดของรัฐบาลปัจจุบัน ด้านฝรั่งเศสผู้ลงสมัครเลือกตั้งสามพรรคใช้เวทีวันแรงงานปราศรัยทางการเมือง ทั้งสองประเทศจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ค. นี้

 
1 พ.ค. 2012 - เหล่าแรงงานจากหลายพื้นที่ทั้วโลกได้มาชุมนุมกันในวันแรงงานสากล ซึ่งสำนักข่าว BBC รายงานข่าววันแรงงานโดยเน้นถึงการชุมนุมในประเทศแถบยุโรปที่กำลังเริ่มมีการลุกฮือมากขึ้นในหลายประเทศ และมีเบื้องหลังความไม่พอใจจากนโยบายลดงบประมาณ
 
BBC รายงานว่า ในสเปนและโปรตุเกส จะมีผู้ชุมนุมหลายพันคนเดินขบวนเรียกร้องในเรื่องการดิ้นรนเพื่อชดใช้หนี้สิน ด้านแรงงานในประเทศอาเซียนก็ออกมาเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสถาะการทำงานที่ดีขึ้น
 
ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ววันแรงงานสากลถือเป็นวันหยุดประจำชาติ และในบางประเทศก็มีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการ
 
 
ประท้วงต้านนโยบายรัดเข็มขัดในกรีซ
คนงาน ลูกจ้าง และนักศึกษาชาวกรีซหลายพันคน ต่างก็เดินขบวนอย่างสงบไปยังรัฐสภาในกรุงเอเธนส์ ถือป้ายว่า "ปฏิวัติ ณ บัดนี้" และ "เพิ่มภาษีคนรวย"
 
ผู้สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของกรีซรวมตัวกันในเขตอุตสาหกรรมอัสโปรปิกอส เพื่อให้กำลังใจคนงานโรงงานเหล็กที่หยุดงานประท้วงมาหลายเดือนแล้ว
 
ผู้ชุมนุมต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดก็ออกมาร่วมชุมนุมหยุดงานทั่วประเทศกรีซ
มาร์ค โลเวน ผู้สื่อข่าว BBC รายงานจากกรุงเอเธนสืว่า การชุมนุมประท้วงในวันที่ 1 พ.ค. ของที่นี่ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เนื่องจากคนงานทั้งในภาคส่วนของรัฐและเอกชนต่างพากันนัดหยุดงาน
 
ผู้สื่อข่าว BBC กล่าวว่า การชุมนุมในครั้งนี้ดูมีความรุนแรงน้อยกว่าการชุมนุมโดยทั่วไปในกรีซ เนื่องจากจิตใจของผู้ชุมนุมอยู่ที่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 พ.ค. ที่จะถึงนี้ ที่ชาวกรีกจำนวนมากจะได้ระบายความไม่พอใจต่อมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
 
เวทีขับเคี่ยวทางการเมืองในฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศสเองก็เน้นถึงการเลือกตั้งในวันที่ 6 นี้เช่นกัน โดยนาง เลอ ป็อง จะนำขบวนผู้ชุมนุมในกรุงปารีสไปยังอนุสาวรีย์โจน ออฟ อาร์ค วีรสตรีของฝรั่งเศส
 
เลอ ป็อง ได้รับคะแนนเสียงเป้นลำดับที่สามในการเลือกตั้งรอบแรก เธอกล่าวปราศรัยว่าสนับสนุนพรรคชาตินิยมควรเลือกตั้งอย่างมีสำนึก ด้านผู้นำพรรคอีกสองพรรคคือประธานาธิบดี นิโกลา ซาร์โคซี่ กับผู้สมัครพรรคสังคมนิยม ฟรานซัวส์ ออลลองค์ กลายเป็นผู้ที่ขับเคี่ยวกันในการเลือกตั้งรอบแรก
 
เลอ ป็อง กล่าวโจมตีการทำงานตลอดวาระ 5 ปีของซาร์โคซี่ และบอกว่าตัวเธอเองจะโหวต 'ไม่ลงคะแนนเสียง'
 
ด้าน ซาร์โคซี่ วางแผนจะร่วมการชุมนุมที่จัตุรัสโทรคาเดโร ขณะที่สหภาพแรงงานฝรั่งเศสจะเดินขบวนไปที่คุกบาสติล ซาร์โกซี่กล่าวถึงการเดินขบวนของตนว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึง "การทำงานอย่างแม้จริง"
 
ส่วนนาย ออลลองค์ จากพรรคสังคมนิยมได้ปราศรัยในเมืองเนเวอร์ส ในที่ชุมนุมของนักสหภาพแรงงาน โดยกล่าวว่า "เมื่อคุณเป็นแรงงาน คุณก็เป้นนักสหภาพแรงงานด้วย คุณรู้ดีว่าภาวะเงินเฟ้อเป็นความเลวร้านที่กัดเซาะคุณอยู่"
 
พื้นที่อื่นๆ
BBC รายงานอีกว่ากลุ่ม Occupy เรียกร้องให้ทั่วโลกประท้วงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ โดยออกแถลงการณ์ว่า "กลุ่ม Occupy เรียกร้องให้วันที่ 1 พ.ค. 2012 เป็นวันที่คน 99 เปอร์เซนต์อย่างพวกเราหายไป (A Day Without the 99%)" ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มคนร่ำรวยเพียง 1 เปอร์เซนต์ ที่คอยปกครองกลุ่มคนไม่มีอำนาจ 99 เปอร์เซนต์อยู่
 
ในฮ่องกง มีคนงานราว 5,000 คนเดินขบวนเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอินโดนีเซีย มีคนงาน 9,000 คน เดินขบวนเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างและการคุ้มครองแรงงานที่ดีกว่า ขณะที่ในฟิลิปปินส์คนงาน 8,000 คนก็ออกมาเรียกร้องขึ้นค่าแรงเช่นกัน
 
 
 
ที่มา
Europe focus of global May Day labour protests, 01-05-2012, BBC
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท MAY DAY 2012: หยาดเหงื่อเราถูกปล้น

$
0
0

 

 

 

หยาดเหงื่อเราถูกปล้น
เก็บไว้บนตึกตระกานฟ้า
ขูดรีดแรงงานด้วยเงินตรา
ผูกค่าความเป็นคนบนเงินเดือ



ปากท้องเราถูกปล้น
แขวนวันอดหวังวันอิ่มบนหลักเลื่
อน
ชักหน้าไม่ถึงหลังหวังทั้งเดือน
โศกสะเทือนสุขสงัดกลัดกล้ำกลืน



แรงงานเราถูกปล้น
บนกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกแผ่นผื
ทุนนิยมปนศักดินาฟื้นคืน
หน้าระรื่นดูดชีวิตด้วยกฏรั



เคียวฆ้อนเราถูกปล้น
การต่อสู้ฝังบนความสงัด
ไรเสียงโห่สรรเสริญจากภาครั
เป็นเพียงวันหยุดที่ถูกยัดบนปฏิ
ทิน


.....

วาดดาว

วันแรงงานสากล ปี ๕๕

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โสภณ พรโชคชัย: ศาสนาไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวในการปราบปรามการทุจริต

$
0
0

        ประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนากลับมีดัชนีความโปร่งใสต่ำ แต่หลายประเทศที่ประชากรจำนวนมากระบุว่า “ไม่มีศาสนา” กลับมีความโปร่งใสสูง  ศาสนาจึงไม่ใช่เครื่องมือที่จะสามารถใช้เพื่อการปราบทุจริตและประพฤติมิชอบ  กระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนต่างหากที่เป็นหลักประกันความโปร่งใส

        ผมได้เดินทางไปทัศนศึกษายังประเทศอินเดียในฐานะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช  ผมสังเกตว่าประชาชนที่นั่นส่วนใหญ่ต่างยึดถือศาสนาอย่างเหนียวแน่น  แต่กลับมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perception Indexs (CPI) ก็ค่อนข้างต่ำ คือได้คะแนนเพียง 3.1 เต็ม 10 

        ผมได้เรียนถามท่านวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่นำคณะทัศนศึกษาในครั้งนี้  ท่านให้ความกระจ่างว่า ศาสนานั้นน่าจะมีส่วนในแง่ของการป้องกัน  แต่เรื่องปราบปรามแล้วใช้ศาสนาอย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ ต้องมีปัจจัยอื่นเสริมความเข้มแข็งด้วย

        ผมได้นำข้อมูลดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2554 <1> มาพิจารณาร่วมกับอัตราของผู้ไม่มีศาสนาในแต่ละประเทศ <2> พบว่าประเทศที่มีการทุจริต ขาดความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นเกาหลีเหนือ) ประชากรเกือบทั้งหมด (99.4%) ต่างนับถือศาสนา มีเพียง 0.6% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีศาสนา  แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นนอร์เวย์และเดนมาร์ก) ปรากฏว่ามีประชากรถึง 30% ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใด

        เมื่อพิจารณาในรายละเอียด เช่นในกรณีศาสนาพุทธที่ไทยคุ้นเคย จะพบว่าประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ล้วนเป็นประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธเช่นประเทศไทย แต่ก็มีดัชนีความโปร่งใสต่ำมาก  ประเทศที่เหนียวแน่วในศาสนาฮินดู เช่น เนปาล และอินเดีย ก็มีปัญหาการทุจริตมากมายเช่นกัน  แต่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ระบุว่า ‘ไม่นับถือศาสนา’ กลับมีดัชนีความโปร่งใสสูงอยู่ระดับต้น ๆ ของโลก ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น เชค เอสโทเนีย เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้  นอกจากนี้ ประเทศที่มีประชากรเกินหนึ่งในสามจนถึงเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่มีศาสนา แต่ประเทศโปร่งใสมากประกอบด้วย ฝรั่งเศส มาเก๊า เบลเยียม เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร

        ประเทศที่ในอดีตขึ้นชื่อด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะฮ่องกง <3> ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ถึงกับเชิญมาแสดงปาฐกถาเมื่อปี 2553 นั้น ไม่ได้ใช้ศาสนามากล่อมเกลาให้หยุดการทุจริต  เพราะประชาชนส่วนใหญ่ระบุชัดว่าไม่ได้นับถือศาสนาไหน  ความสำเร็จของการปราบปรามการทุจริตเกิดจากการที่หน่วยงานปรามปรามการทุจริตเร่งดำเนินการอย่างจริงจังโดยมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ทำให้โอกาสการทุจริตมีน้อยลงและค่อย ๆ ลดลงไปในที่สุด

        กลับกันมาดูประเทศที่อุดมด้วยศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว พม่า เขมร เนปาล อินเดีย  ศาสนสถานก็มีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน  มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่องเคร่งครัด  แต่การที่ประชากรในประเทศเหล่านี้ระบุว่าตนเป็นศาสนิกชนก็ใช่ว่าจะปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีที่ไม่กระทำการทุจริต  บางครั้งศาสนิกชนที่ดีบางส่วนก็อาจถือว่า ‘ธุระไม่ใช่’ จึงไม่ขัดขวางการทุจริตหรือไม่ร่วมกับสังคมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การทุจริตจึงเกิดขึ้นดาดดื่นในประเทศเหล่านี้เสมือนหนึ่งเป็นประเทศที่ไร้ศีลธรรมจรรยา

        ในอีกนัยหนึ่ง ศาสนาอาจเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองประเทศ ดูอย่างในประเทศอินเดีย ความเชื่อทางศาสนาสามารถใช้ควบคุมประชาชนให้อยู่ในกรอบ  แม้ประชาชนผู้อยู่ในวรรณะระดับล่างสุดก็ยังยึดถือในคำสอนของศาสนาโดยเคร่งครัดโดยไม่กล้ากบฏหรือปฏิวัติความคิดของตนเอง  การยึดมั่นในชนชั้นวรรณะตามหลักศาสนากลับเป็นการช่วยชนชั้นผู้ได้เปรียบได้มีโอกาสอยู่ในสถานะนี้นาน ๆ มากกว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์ทางโลกแก่ประชาชนส่วนใหญ่

        อย่างไรก็ตามบางท่านอาจโต้แย้งว่า คนที่ระบุตนว่าเป็นศาสนิกชนนั้น อาจเป็นเฉพาะในนามเท่านั้น แต่ไม่ปฏิบัติธรรม จึงไม่ได้นำคำสอนที่ดีงามต่าง ๆ ตามหลักศาสนาของตนมาใช้  แต่ก็น่าแปลกที่บุคคลที่ระบุว่าตนว่าไม่นับถือศาสนาใด กลับดูประหนึ่งมีธรรมในหัวใจ ปฏิบัติตนตามทำนองคลองธรรมได้อย่างไร 

        การรณรงค์กล่อมเกลาคนด้วยศาสนานั้น คงได้ผลกับเยาวชนเป็นหลัก  ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี เป็นมาตรการป้องกันในระยะยาว แต่ในท่ามกลางการทำสงครามกับการปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการที่ประเทศชาติต้องเอาชนะให้ได้โดยเร็วก่อนจะสายเกินแก้นั้น  การปราบปรามมีความสำคัญที่สุด และเครื่องมือในการปราบปรามรวมทั้งการป้องกันก็คือ การมีระบบตรวจสอบการทุจริตที่มีประสิทธิภาพสูง ทันการและเที่ยงธรรม

        ยิ่งกว่านั้น ท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ ยังได้ให้ข้อคิดสำคัญว่านอกจากการตรวจสอบแล้วก็ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการคุ้มครองพยาน และการไม่มีอายุความในคดีทุจริต เป็นต้น

        ประเทศไทยต้องเร่งรณรงค์ปราบปรามการทุจริตให้เข้มแข็ง ต้อง ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ คอยตรวจสอบ ตรวจจับการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง-เกาะติด เผยแพร่ความรู้และเร่งสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนต่อการร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การจุดไฟให้สว่าง สร้างความโปร่งใสให้ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ความมืดก็จะหมดไป

        ผีย่อมกลัวแสงสว่าง!

 

 

หมายเหตุ

<1> ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ซึ่งดำเนินการทุกปีโดย the Transparency International โดยผลการสำรวจปีล่าสุด ปรากฏที่ http://cpi.transparency.org/cpi2011/results/#CountryResults

<2> Wikipedia. Religions by Country. http://en.wikipedia.org/wiki/Religions_by_country

<3> Change Fusion. แนวทางต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : ฮ่องกง & เกาหลีใต้ ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ http://www.spt-th.com/attachments/2403_8_%20Change%20Fusion.pdf

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: 1 ปีอธรรม คุมขังสมยศ

$
0
0

เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2554 ขณะที่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน และประธานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการนำเที่ยวกัมพูชา กำลังดำเนินการตามขั้นตอนของการตรวจคนเข้าเมือง ที่อรัญประเทศ  เพื่อที่จะนำคณะท่องเที่ยวไปยังกัมพูชา ก็ได้ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า คุณสนยศถูกออกหมายจับโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากนั้น ทนายความของคุณสมยศก็ได้ยื่นขอประกันตัว แต่ในที่สุดศาลไม่พิจารณาให้ประกันตัว คุณสมยศจึงต้องอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การจับกุมคุณสมยศในขณะนั้น เป็นการดำเนินการภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เห็นคุณสมยศเป็นศัตรูทางการเมืองของตน และนี้เป็นการจับกุมคณสมยศครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้จับกุมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2553 ในข้อหาละเมิดภาวะฉุกเฉิน แล้วคุมขังอยู่ 21 วัน ดูเหมือนว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามใบสั่ง เพราะนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอธิบายว่า ส่วนสืบสวนสะกดรอย ของดีเอสไอ เข้าจับกุมคุณสมยศ ที่ได้กระทำผิดในคดีต่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีลักษณะการกระทำผิดเป็นเครือข่ายโดยใช้เครื่องมือสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต แต่เอาเข้าจริง ในระยะต่อมา ทางการดีเอสไอ.ไม่ได้ฟ้องในเรื่องอินเตอร์เนตเลย แต่ฟ้องในฐานะที่คุณสมยศเป็นบรรณาธิการหนังสือวอยส์ออฟทักษิณ ในฉบับที่ 15 มีบทความเรื่อง“แผนนองเลือด” ในคอลัมน์ คมความคิด ที่เขียนโดยผู้ใช้นามแฝง “จิตร พลจันทร์”ที่ถูกตีความว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

การจับกุมคุณสมยศดังกล่าว ถือได้ว่า เป็นการตั้งใจใช้อำนาจในการคุกคามสื่อมวลชนฝ่ายค้าน ด้วยการใช้ข้อหาตามมาตรา 112 เป็นเครื่องมือ แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น ก็คือการริดรอนสิทธิในการประกันตัว ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด จนกระทั่งศาลได้ตัดสินว่ามีความผิดแล้ว ซึ่งหลักการนี้ ก็ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาควรที่จะต้องมีสิทธิประกันตัวมาสู้คดี และในปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการยื่นขอประกันตัวคุณสมยศถึง 8 ครั้ง แต่ศาลก็ยืนกรานที่ไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างอย่างเดียวว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ถ้าให้ประกันตัวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ในที่สุดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของคุณสมยศ ก็ได้อดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญา 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวของบิดา  แต่ศาลก็ยังคงเมินเฉยอยู่นั่นเอง

กรณีจับกุมคุณสมยศด้วยข้อหา 112 ในทางระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และขัดหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ จึงเกิดการเคลื่อนไหวขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรกรรมการนานาชาติ เรียกร้องให้ปล่อยตัวคุณสมยศอย่างไม่มีเงื่อนไข ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2554 สหภาพแรงงานประเทศเนปาล ได้ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีของไทยให้ปล่อยตัวคุณสมยศโดยทันที และล่าสุด ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2555 นี้ สหภาพแรงงานกลางของเกาหลีใต้ และ สหภาพแรงงานรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ก็ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานศาลฎีกาไทย ให้ปล่อยตัวสมยศโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า คุณสมยศถูกถูกจับกุมดำเนินคดี ในข้อหาที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำ แต่ถูกจับให้เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะบรรณาธิการ ที่น่าสนใจก็คือ ในระหว่างการดำเนินคดี คุณสมยศถูกกลั่นแกล้ง โดยให้เดินทางไปสืบพยานต่างจังหวัด เช่น จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2555 และ ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ต่อมา จึงเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ การย้ายที่คุมขังและสืบพยานลักษณะนี้ สร้างความลำบากอย่างมากแก่ผู้ต้องขัง เพราะเดินทางไปในรถที่ไม่สะดวก และต้องไปปรับการใช้ชีวิตใหม่ในเรือนจำต่างจังหวัด การดำเนินการเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิของคุณสมยศ ซึ่งการตระเวนส่งตัวไปสืบพยานยังหลายจังหวัดเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในการพิจารณาคดีในประเทศไทย

การคุมขังคุณสมยศด้วยความผิดตามมาตรา 112 นี้ เป็นการสะท้อนถึงความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกลายเป็นเรื่องปกติ ดังเป็นที่ทราบกันดีว่า มีประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และขณะนี้ยังในคุก ตัวอย่างเช่น

คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ถูกจับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 จนถึงขณะนี้ ถูกคุมขังมาแล้วเกือบ 4 ปี

คุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ถูกจับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 ขณะนี้ติดคุกมาแล้ว 14 เดือน โดยคุณสุรชัยถูกฟ้องคดี 112 ทั้งหมด 7 คดี คุณสุรชัยจึงขอต่อศาลให้รวมคดีเข้าด้วยกัน เพื่อจะได้สารภาพแล้งจบคดีโดยเร็ว

คุณเลอพงษ์ วิชัยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน ชาวอเมริกันสัญชาติไทย ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือ King never smile จากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย ลงในคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ ศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดลงเหลือ 2 ปีครึ่ง

คุณอำพน ตั้งนพคุณ หรือ อากง ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เป็นข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

ฯลฯ

ปัญหาร่วมจากความไม่เป็นธรรมของผู้ต้องคดีก็คือ การไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในแทบทุกกรณี และการที่ศาลมีแนวโน้มจะตัดสินให้ผู้ต้องหามีความผิดทั้งที่หลักฐานอ่อน เช่น กรณีของคุณอำพน หลักฐานอ่อนมาก และโจทย์ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยซ้ำว่า คุณอำพนเป็นคนส่งข้อความ ทั้งยังมีเหตุที่อธิบายได้ว่า คุณอำพนอาจจะใช้เอสเอ็มเอสไม่เป็นเลย แต่ศาลก็อ้างว่า กรณีนี้โจทย์ไม่ต้องพิสูจน์เพราะ “ผู้ที่กระทำความผิดลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้” กรณีโจ กอร์ดอนซึ่งอยู่ต่างประเทศมานาน และใช้พิมพ์ดีดไทยไม่เป็น คีบอร์ดคอมพิวเตอร์ที่จับมาได้ ก็ไม่มีอักษรภาษาไทย การจะแปลหนังสือลงอินเตอร์เนตคงเป็นเรื่องยาก และยิ่งกว่านั้น หนังสือเรื่อง King never smile ก็เป็นหนังสือวิชาการที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเยล และวางขายอย่างเปิดเผยในต่างประเทศ แต่ศาลก็อ้างให้เป็นไปตามคำฟ้อง แล้วก็ตัดสินไปตามที่จำเลยสารภาพ

ปัญหาความไม่เป็นธรรมของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่จะต้องติดคุกทันทีเมื่อถูกกล่าวหา และมีแนวโน้มที่จะต้องอยู่ในคุกนาน จึงทำให้เกิดความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น ผู้ต้องหาหลายคน ตัดสินใจรับสารภาพ ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะไม่สู้คดีแล้วให้การพิจารณาคดีจบ แล้วรอคอยความหวังจากการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จึงแสดงท่าทีต่อกรณีนี้ว่า จะไม่รับสารภาพและขอพระราชทานอภัยโทษ  เนื่องจากตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรับสารภาพก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ คุณสมยศกล่าวว่า “คนที่เขารับสารภาพเพราะเขาไม่เชื่อมั่น สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แค่สิทธิในการประกันตัวก็ยังไม่มี ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังไม่เคยปรากฏตัวในชั้นศาลซักครั้ง ที่เราสู้ เพราะอยากรู้ด้วยตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับคดี 112 ยังหลงเหลืออยู่ไหม” คุณสมยศย้ำว่า ผลการแพ้ชนะคดีสำหรับเขาแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะหากได้ออกจากเรือนจำก็ยังเจอกรงขังที่ใหญ่กว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศแล้ว มีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่พลเมืองที่ดีควรจะเป็น

ดังนั้น ในโอกาส 1 ปีในคุกของคุณสมยศ จึงขอสดุดีจิตใจของนักต่อสู้ของคุณสมยศอย่างจริงจัง และฝากใจไปถึงเหยื่อของกรณี 112 ทั้งหมดด้วย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images