Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

$
0
0

ผมมีหน้าที่พูดในข้อเท็จจริง ถ้าพูดแล้วเขาจะลงโทษก็ไม่เป็นไร ถือว่าชีวิตนี้ทำหน้าที่แล้ว จบแล้ว

1 พ.ค.55 ศาลอาญา

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(4)

$
0
0

จากตอนที่แล้วแนวความคิดของดวอร์กินช่วยพัฒนาทฤษฎีความยุติธรรมไปอีกขั้นหนึ่งโดยยกมิติความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลขึ้นมาพิจารณาด้วย ซึ่งรอว์ลและเซนไม่ได้พูดถึง ความยุติธรรมของดวอร์กินจากการกระจายอย่างเท่าเทียมกันของทรัพยากรเริ่มต้นเพื่อให้ปัจเจกชนทุกคนเข้าไปสู่ระบบตลาดเสรีและเกิดการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันจนกระทั่งระบบถึงสมดุลย์คือ ทุกคนไม่มีความอิจฉาริษยาต่อกัน ซึ่งนอกจากการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นเท่ากันแล้วทั้งนี้สังคมต้องรับผิดชอบการกระจายความสามารถและโชคส่วนบุคคลเช่นกัน

สำหรับดวอร์กินแล้วรัฐต้องทำหน้าที่ในการกระจายทรัพยากรเริ่มต้นให้กับคนเท่าๆกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบว่าแต่ละคนจะไปถึงยังจุดที่ต้องการหรือไม่ ไม่จำเป็นที่ว่าทุกคนจะต้องมีผลลัพธ์จากการใช้ทรัพยากรเท่าๆกัน ชีวิตก็เหมือนการพนัน เมื่อคนตัดสินใจด้วยตนเองแล้วว่าอยากเป็นอะไรก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะสำเร็จหรือสมหวัง ในง่นี้ดวอร์กินจึงมองว่าการเลือกวิถีชีวิตและเป้าหมายของคนจึงเป็น option luck (โชคที่ทราบความเสี่ยงในการเล่นและผลตอบแทนที่ได้ชัดเจน) ที่ทุกคนเข้ามาเดิมพัน และรัฐจึงไม่จำเป็นต้องมารับผิดชอบ

กรณีความสามารถดวอร์กินมองว่าเป็นปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งซึ่งต้องทำการกระจายอย่างเท่าเทียมกันเฉกเช่นทรัพยากรภายนอกที่จำเป็นต่อการผลิต ยกตัวอย่างเช่น มีคนสองคนที่มีรสนิยมการใช้ชีวิตเหมือนกันคือ อยากเป็นชาวนา แต่ว่าคนแรกมีความสามารถในการทำนามากกว่าและส่งผลให้ผลผลิตของคนแรกมากกว่าคนที่สอง ดังนั้นสังคมจึงต้องกระจายผลผลิตให้เท่าๆกันเพื่อให้เกิดการโอนถ่ายความสามารถจากคนที่เก่งกว่าไปสู่คนที่ด้อยกว่า แต่ถ้าเป็นกรณีเช่น สองคนนั้นเป็นฝาแฝดที่มีความสามารถเหมือนกันทุกอย่าง แต่คนแรกมีพื้นที่นาที่เพาะปลูกดีกว่าคนที่สอง ส่งผลให้ฝาแฝดคนแรกมีผลผลิตที่มากกว่า ดังนั้นรัฐต้องทำการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกันโดยเช่น การกระจายพื้นที่นาที่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน หรือกรณีที่ทำไม่ได้ก็ให้มีการชดเชยโดยใช้ผลผลิต

อย่างไรก็ตามแนวความคิดของดวอร์กินก็ถูกวิพากษ์จาก John Roemer -โรเมอร์วิพากษ์เรื่องต้องอาศัยระบบประกันในฝันของดวอร์กินที่เปลี่ยน brut luck (โชคที่ไม่ทราบความเสี่ยงและผลตอบแทนได้ชัดเจน เช่นการเกิดอุบัติเหตุ) เป็น optional luck เพื่อให้สังคมรับผิดชอบเฉพาะส่วนที่เป็น brut luck เท่านั้น โดยระบบประกันหรือการโอนถ่ายภาษีทำหน้าที่โอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยชดเชยให้กับผู้ประสบภัย โรเมอร์ยกตัวอย่างเช่น กรณีเกิดมหันตภัยขึ้น เช่น แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คาดไม่ได้ว่าจะเกิด เราไม่จำเป็นต้องซื้อระบบประกันภัยก็ได้แต่สามารถเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเช่น การเลือกพื้นที่อื่นที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย แล้วกรณีเช่นนี้ควรจะถือว่าเป็น brut luck หรือ optional luck ถ้ามีคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วประสบอุบัติเหตุแล้วควรจะมีการโอนถ่ายทรัพยากรจากผู้ไม่ประสบภัยให้ผู้ประสบภัยในกรณีนี้หรือไม่ การเกิดเหตุครั้งนี้มีสาเหตุบางส่วนมาจากการตัดสินใจส่วนบุคคลหรือไม่ สำหรับโรเมอร์แล้วเขาเน้นว่าต้องแยกให้ออกชัดเจนว่าสิ่งใดควรจะเป็นสิ่งที่ปัจเจกชนรับผิดชอบและสิ่งใดที่ปัจเจกชนไม่ต้องรับผิดชอบ

กรณีที่สองโรเมอร์แย้งดวอร์กินในเรื่องการกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมกัน สำหรับดวอร์กินแล้วเขาคิดว่าถ้าปัจเจกชนใดมีความชอบ รสนิยม ต่างๆเหมือนกันแล้วต้องได้รับทรัพยากรที่เท่ากัน แต่ในกรณีของโรเมอร์คิดว่ากรณีที่ปัจเจกชนมีปัจจัยที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบเหมือนกันเช่นมีรสนิยมต่างๆเหมือนกัน และเลือกตัดสินใจทำในสิ่งเดียวกันแล้วต้องได้รับผลลัพธ์ที่เท่ากัน (equality responsibility, equality of outcome) เช่น กรณีคนสองคนที่มีความชอบเหมือนกันได้ซื้แประกันสุขภาพเหมือนกัน แต่คนแรกปลอดภัยดีส่วนคนที่สองประสบอุบัติเหตุ ดังนั้นสำหรับดวอร์กินแล้วจะต้องมีการกระจายทรัพยากรจากคนแรกไปให้คนที่สองเพื่อชดเชยแต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์สวัสดิภาพโดยรวมยังคงไม่เท่ากัน ในขณะที่สำหรับโรเมอร์แล้วต้องมีการกระขายทรัพยากรเพื่อให้ทั้งสองคนมีสวัสดิภาพที่เท่ากัน เช่นถ้ากรณีแรกแล้วมีแต่การให้เงินแก่ผู้พิการแต่ไม่มีสิ่งอื่นๆมาอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่มีการสร้างลิฟท์ให้ขึ้นลงในเมโทร ไปไหนมาไหนไม่ได้ สวัสดิภาพของผู้พิการย่อมไม่เท่ากับคนปกติเป็นต้น

สำหรับโรเมอร์ผลลัพธ์ต่างๆมาจากตัวแปรสองชนิดคือ circumstance variables ซึ่งเป็นตัวแปรที่สังคมต้องรับผิดชอบ กับ effort variables คือตัวแปรที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ

ภาคภูมิ แสงกนกกุล: ความยุติธรรมในบริบทของเศรษฐศาสตร์(4)

ความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ circumstance variables เป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ไม่ชอบธรรมและต้องได้รับการแก้ไข ส่วนความไม่เท่าเทียมกันของผลลัพธ์เนื่องมาจากสาเหตุ effort variables เป็นความไม่เท่าเทียมที่ชอบธรรมและยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น สุขภาพเป็นผลลัพธ์สวัสดิภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของสุขภาพมีหลายสาเหตุเช่น การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่ากันระหว่างคนรวยกับคนจน หรือขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การชอบออกกำลังกายหรือรักษาสุขภาพ ซึ่งถ้าสังคมมองว่าความไม่เท่าเทียมกันจากสาเหตุความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการรักษาระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นเป็นการรับไม่ได้ การเข้าถึงการรักษาจึงเป็น circumstance variables ผลลัพธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนสองกลุ่มจึงต้องถูกแก้ไขโดยคนรวยต้องชดเชย(compensate) ให้คนจน ส่วนกรณีที่ความไม่เท่าเทียมกันด้านสุขภาพเป็นสาเหตุมาจากนิสัยชอบการออกกำลังกายที่ไม่เท่ากันโดยคนที่มีสุขภาพดีกว่าคือคนชอบออกกำลังกาย ปัจจัยด้านนิสัยหรือความชอบส่วนตัวเป็นสิ่งที่ปัจจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบเองและในสังคมเสรีประชิปไตยหลากหลายวัฒนธรรมมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่รับได้และไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง หรือนิสัยการออกกำลังกายนี้เป็น effort variables ดังนั้นการที่ผลลัพธ์สุขภาพที่ไม่เท่ากันระหว่างคนสองกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ คนที่มีสุขภาพดีกว่าจากการออกกำลังมากกว่าเสมือนว่าเป็นผลตอบแทน(reward) จากความพยายามของเขาเอง

สำหรับสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ หรือ effort variables นั้น โรเมอร์เห็นต่างจาก รอว์และดวอร์กินที่ว่า ความชอบส่วนบุคคล(preference)เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบ โรเมอร์แย้งว่า ความชอบส่วนบุคคลนั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดลอมที่เป็น circumstance variables ยกตัวอย่างเช่น การที่เด็กเอเชียมีความขยันเรียนหนังสือมากกว่าเพราะมีสภาพแวดล้อมที่กดดันให้เขาต้องเรียนหนังสือเช่นจากการบังคับของพ่อแม่ โดยที่ไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจอย่างอิสระของตัวเด็ก สำหรับโรเมอร์แล้ว ปัจเจกชนต้องรับผิดชอบกับผลลัพธ์ต่างๆที่มาจากการตัดสินใจโดยปัจเจกชนอย่างอิสระแท้จริงโดยปราศจากอิทธิพลปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ และสังคมมีหน้าที่กระจายให้ทุกคนมีโอกาสตัดสินใจเลือกได้เท่าๆกัน (equality of choice)

เชิงอรรถ

  • DWORKIN R., « What is Equality ? Part 2: Equality of Resources », Philosophy and Public Affairs, 10, 1981.
  • FLEURBAEY M., SCHOKKAERT E., « Equity in Health and Health Care », ECORE Discussion Paper, 2011.
  • ROEMER J.E., Theories of Distributive Justice, Harvard University Press, 1998.
  • ROUX V., Le Mirage de l’Etat providence, Paris, L’Harmattan, 2007.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012: เดินรณรงค์หลากประเด็นวันกรรมกรสากล

$
0
0

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 55 ซึ่งตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนรณรงค์ โดยมีผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมหลายพันคน  ทางด้านกลุ่มองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสภาองค์การลูกจ้าง 13 แห่ง และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งเข้าร่วม และกระทรวงแรงงานสนับสนุนงบประมาณ 5.1 ล้านบาท เดินขบวนไปยังท้องสนามหลวง โดยมีการนำช้างซึ่งระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติจำนวน 9 เชือกมานำขบวนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมพรรษา84 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

 
ส่วนกลุ่มซึ่งนำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) มีจุดหมายอยู่ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ได้แก่ 1.รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน 2.รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 3.รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และเพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 4.รัฐต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 แก้ไขฉบับที่ 4 พ.ศ.2550 มาตรา 9(5) กลับไปใช้บทบัญญัติเดิม เนื่องจากลิดรอนสิทธิของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและเป็นการเลือกปฎิบัติ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

กลุ่มสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย เดินขบวนเป็นกลุ่มสุดท้าย โดยมีจุดมุ่งหมายคือบริเวณหน้าศาลฎีกา ซึ่งผู้ใช้แรงงานที่มาร่วมเดินขบวนส่วนใหญ่ติดสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความสีแดงว่า Free Somyot เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาคดีมาตรา 112

ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าวมีข้อเรียกร้องให้ 1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยเลือกตั้งประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยตรง 2) ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 3) กระบวนยุติธรรมกับผู้ต้องหา ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 4) นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง และ 5) จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หลักประกันที่ดินทำกิน หลักประกันที่อยู่อาศัย เรียนฟรีทุกระดับ รพ.พยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค และระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม

นายกฯ เตรียมยกระดับคนงาน รับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวคำปราศรัย ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2555 โดยกล่าวขอบคุณผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของชาติตลอดมา พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับกำลังแรงงานทุกสาขาอาชีพทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกเพศทุกวัยให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม ทำงานอย่างปลอดภัย มีอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี อาทิ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการแล้ว 7 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบทุกจังหวัดในปี 2556

ในส่วนของผู้ประกอบกิจการ จัดให้มีโครงการโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมสีขาวเพื่อป้องกันยาเสพติด ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย พร้อมส่งเสริมและพัฒนางานด้านสวัสดิการแรงงานต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ภายใต้กรอบของกฎหมาย

ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ รัฐบาลก็ได้ให้การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ได้รับตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งดูแลการจัดส่งไปทำงาน และติดตามดูแลช่วยเหลือกรณีประสบปัญหา

ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลจะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและทักษะด้านภาษาของแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานไทยที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคง ภูมิคุ้มกันและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ใช้แรงงานสืบต่อไป
 

 

หมายเหตุ: ภาพโดย พิสิษฐ์ ดิษะธนะสิทธิ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีไทยรัฐฟ้องหมิ่นประมาท "สนธิ" ยอมความได้แล้ว เตรียมประกาศขออภัย 3 วันติด

$
0
0

 "สนธิ ลิ้มทองกุล" ไกล่เกลี่ย-ตกลงกับ “ไทยรัฐ” ได้แล้วในคดีฟ้องหมิ่นประมาท หลังกล่าวโจมตีไทยรัฐออกเอเอสทีวีช่วงเดือน ก.ค. ปี 2550 โดยเตรียมประกาศขออภัยตีพิมพ์ลงในไทยรัฐ-เอเอสทีวีผู้จัดการเป็นเวลา 3 วัน

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลนัดสืบพยานโจทก์หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ในคดีหมายเลขดำ อ.3680/2550 ที่ บริษัท วัชรพล จำกัด โดยนายกมล ศรีวัฒนา ผู้รับมอบอำนาจที่ 1 และนายไพฑูรย์ สุนทร โดยนายกมล ศรีวัฒนา ผู้รับมอบอำนาจที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ บริษัทไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด นายปัญจภัทร อังคสุวรรณ นายขุนทอง ลอเสรีวาณิช และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

คดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้กล่าวข้อความอันเป็นเท็จ หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทั้งสอง ระหว่างวันที่  13  ก.ค. 50 ถึงวันที่ 15 ก.ค. 50 โดยนายสนธิได้กล่าวในรายการด้วยว่าให้ประชาชนเลิกซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยกล่าวหาว่าเป็นอัปมงคล ต่อมาจำเลยที่ 2 นำไปเผยแพร่โฆษณาในทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม จำเลยที่ 3 นำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ จำเลยที่ 4 นำไปเผยแพร่บทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นเจ้าของนั้น เป็นการแสดงเจตนาที่จะมุ่งร้ายใส่ความโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เสื่อมเสียต่อเกียรติยศชื่อเสียง ฐานะทางสังคม และส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างร้ายแรงรวม 3 ครั้ง ขอให้ศาลลงโทษตามกฎหมายและลงโฆษณาคำพิพากษา

โดยในวันนัดดังกล่าว ทั้งนายสราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล มาพร้อมกันที่ห้องพิจารณาแล้วแถลงต่อศาลว่า โจทก์จำเลยตกลงกันได้แล้ว ต่อมาศาลจึงมีคำสั่งรายงานกระบวนพิจารณาว่า นัดสืบพยานโจทก์หรือนัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความวันนี้ โจทก์จำเลยมาศาล นายสราวุธ วัชรพล ผู้บริหารระดับสูงของโจทก์ และจำเลยที่ 1 มาศาล แถลงร่วมกันว่าสามารถตกลงยอมความกับจำเลยทั้ง 5 ได้แล้ว โดยจำเลยจะลงโฆษณาประกาศขออภัยรายละเอียดตามประกาศที่ยื่นต่อศาลทางหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 วัน และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 3 วัน และไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อไป ศาลจึงสอบจำเลยทั้ง 5 แล้วแถลงไม่คัดค้านการถอนฟ้อง ศาลเห็นว่าคู่ความสามารถตกลงกันได้แล้ว และขอถอนฟ้องแล้ว จึงอนุญาตให้ถอนฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความต่อไป

สำหรับข้อความประกาศขออภัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล มีใจความว่า ตามที่ตนได้เคยพูดออกอากาศในรายการยามเฝ้าแผ่นดินทางเอเอสทีวี และกล่าวหาว่า “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐอยู่ในขบวนการล้มล้างระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือเปล่า” และข้อความว่า คอลัมนิสต์ไทยรัฐกินเงินเดือนพรรคไทยรักไทย กับมีข้อความกล่าวหาคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล กล่าวหานายสราวุธ วัชรพล กับข้อความอื่นๆ บัดนี้ตนยอมรับว่าข้อความดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ข้อความดังกล่าวทำให้คุณหญิงประณีตศิลป์และ นสพ.ไทยรัฐ ได้รับความเข้าใจผิดจากสังคมอย่างมาก ตนเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขออภัยต่อคุณหญิงประณีตศิลป์ และ นสพ.ไทยรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครูเบน แอนเดอร์สัน: ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก

$
0
0

เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ มีนาคมศกนี้ ครูเบน หรือ เบเนดิคท์ แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์ Aaron L. Binenkorb ด้านการศึกษาระหว่างประเทศและศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งคณะการปกครอง มหาวิทยาลัยคอร์แนล(Department of Government, Cornell University) สหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถานำเรื่อง “Modern Monarchies in a Global Comparative Perspective” (ราชาธิปไตยสมัยใหม่ในมุมมองเปรียบเทียบระดับโลก) ในการประชุมวิชาการเรื่อง Democracy and Crisis in Thailand จัดโดยมหาวิทยาลัย McGill ของแคนาดา ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปกรำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปาฐกถานำของครูเบนมีเนื้อหากว้างขวางเจาะลึกชวนคิดน่าสนใจยิ่ง ผมขออนุญาตถอดความเรียบเรียงมาเสนอต่ออีกทีตามที่ถ่ายทอดบันทึกไว้ในเว็บยูทูบตามลิงค์ด้านล่างนี้:

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“ก่อนอื่นผมใคร่ขอแสดงความขอบคุณและรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถานำที่นี่ และผมอยากขอบคุณเป็นพิเศษต่อคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ, ผู้จัดการประชุมคุณอีริค ซึ่งผมรู้จักมาตั้ง ๑๐ - ๑๒ ปีแล้วกระมัง, อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์และท่านอื่น ๆ , ผมยังอยากขอบคุณเป็นพิเศษต่อผู้ช่วยออกแบบภาพพาวเวอร์พอยท์ประกอบซึ่งคงจะขึ้นจอให้ท่านได้ชมดูด้วยความทรมานสายตาในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขาผู้นั้นก็คือนายวุฒิที่ยืนอยู่ข้างหลัง ผมคอยช่วยเหลือเผื่อผมเดินเครื่องผิดพลาดยุ่งเหยิงขึ้นมา เขาเก่งเหมือนพ่อมดเลยทีเดียวในเรื่องทำนองนี้

“ผมขอเริ่มโดยพูดบางอย่างที่คงจะเป็นที่แจ่มแจ้งชัดเจนอยู่แล้วสำหรับท่านทั้งหลายแต่ผมคิดว่าควรจะกล่าวย้ำเพื่อให้มั่นใจจะดีกว่า ท่านคงเห็นได้ว่าในบัญชีรายชื่อระบอบราชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ปัจจุบัน ๒๗ ประเทศนั้นมีบางอย่างแปลกพิกลอยู่ตอนท้ายบัญชี กล่าวคือมีจักรพรรดิในญี่ปุ่นแม้ว่าพระองค์หาได้มีจักรวรรดิไม่ และยังมีเจ้าชาย, เจ้าผู้ครองนคร, และเจ้าแคว้นอีกบางองค์ (princes, grand dukes, emirs) ซึ่งเอาเข้าจริงก็ดูไม่เหมือนกษัตริย์ในความหมายเดิมสักเท่าไหร่

“แต่ทว่าราชาธิปไตยนั้นหมายถึงการปกครองโดยคน ๆ เดียว ต่างจากคณาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยคนไม่กี่คน และประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยคนจำนวนมาก ดังนั้นบรรดารัฐนคร (principalities) ที่ผมกำลังคิดถึงอย่างเช่น โมนาโก, ลิกเตนสไตน์, ลักเซมเบิร์ก แม้จะเล็กมากเสียจนกระทั่งจริง ๆ แล้วก็ไม่จัดเข้าข่ายราชอาณาจักร แต่เอาเข้าจริงรัฐนครเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นตามหลักราชวงศ์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับราชาธิปไตย กล่าวคือการที่วงศ์ตระกูลหนึ่งได้ควบคุมการนำเชิงสัญลักษณ์ของรัฐไว้ ดังนั้นก็อย่าแปลกใจนะครับถ้าท่านมีจักรพรรดิที่ปราศจากจักรวรรดิ, และเจ้าชายบางองค์ในบัญชีรายชื่อนี้

“ทีนี้ถ้าท่านดูบัญชีรายชื่อนี้ ทางซ้ายมือท่านจะเห็นการจัดอันดับประเทศราชาธิปไตยทั้ง ๒๗ ประเทศตามขนาดพื้นที่จากใหญ่ด้านบนไปสู่เล็กด้านล่าง และท่านจะเห็นว่ามันมีแง่มุมบางอย่างที่น่าสงสัยนิดหน่อยเกี่ยวกับตารางนี้ อันหนึ่งก็คือซาอุดีอาระเบียเป็นราชอาณาจักรขนาดใหญ่ที่สุด ทว่าภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายที่อยู่อาศัยไม่ได้ ดังนั้นมันจึงดูใหญ่กว่าที่เป็นจริงมากและในกรณีโมร็อกโก ผมเชื่อว่าท่านย่อมตระหนักว่าสาเหตุที่ประเทศนี้มีอาณาเขตใหญ่ปานนั้นก็เพราะกษัตริย์ฮัสซันที่สองรุกรานและยึดครองพื้นที่ผืนใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และจนถึงทุกวันนี้ทางสหประชาชาติก็ยังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ไม่แล้วเสร็จในความพยายามจะสร้างสภาวการณ์ที่เปิดโอกาสให้ชาวซาฮาราตะวันตกได้ก่อตั้งประเทศของตัวเองขึ้นมาในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าโมร็อกโกอาจจะหดเล็กลงเหลือแค่ใกล้เคียงกับนอร์เวย์หรือสวีเดนเท่านั้น

“ทางขวามือ ท่านก็จะเห็นบางอย่างที่น่าสงสัยเล็กน้อยด้วยเหมือนกัน อาทิเช่นชั่ว ๔ ปีหลังนี้ประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พุ่งสูงขึ้นจาก ๔ ล้านเป็น ๘ ล้านคน และผมค้นพบว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกวันนี้ ๘๘ % ของประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามา นั่นแปลว่าประชาชนจริง ๆ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแค่ราว ๑๒%

“ผมยังคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่จะลองพิจารณาดูกรณีกรุงเทพฯเปรียบเทียบกับรัฐจริง ๆ ทั้งหลายด้วย และท่านจะพบว่าถ้าหากกรุงเทพฯเป็นรัฐอิสระ - และเราน่าจะยอมรับความจริงว่าบ่อยครั้งกรุงเทพฯเองก็ชอบประพฤติตัวราวกับเป็นรัฐแยกต่างหากออกมาด้วย - กรุงเทพฯ จะจัดอยู่ประมาณอันดับที่ ๑๐ หรืออยู่ในครึ่งบนของบรรดาประเทศราชาธิปไตยของโลก

“สิ่งสำคัญยิ่งเกี่ยวกับบรรดาประเทศราชาธิปไตยเหล่านี้คือทั้งหมดรวมกันแล้วจัดเป็นกลุ่มข้างน้อยที่เล็กมากในองค์การสหประชาชาติ คือ ๒๗ จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐ ประเทศ คิดสะระตะแล้วเรากำลังพูดถึงราว ๑๓% ท่านจึงพึงตระหนักว่า ๘๗ หรือ ๘๘% ของบรรดาชาติทั้งหลายในสหประชาชาติไม่ใช่ราชาธิปไตย และนี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างพิเศษยิ่งจากเมื่อราวร้อยปีก่อนตอนจวนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยนั้นเกือบทุกประเทศในโลกที่มีฐานะอิสระอยู่บ้างแล้วต่างก็ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยกันทั้งสิ้น

“สุดท้าย ผมอยากชวนท่านลงไปดู...ด้านล่างสุดของตารางนี้คือยอดจำนวนประชากรของบรรดาประเทศราชาธิปไตยทั้งหมดรวมกัน เราจะได้ต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านคนเล็กน้อย และอาณาเขตภูมิศาสตร์ประมาณ ๒.๕ ล้านตารางไมล์ แต่ถ้าท่านมองต่ำลงมาอีกหน่อย ท่านจะพบว่าต่อให้เอาพื้นที่ทั้งหมดของบรรดาประเทศราชาธิปไตยในโลกมารวมกันก็จะได้แค่ ๒ ใน ๓ ของขนาดพื้นที่ประเทศบราซิลเท่านั้น และถ้าท่านดูจำนวนประชากรอินเดีย ท่านจะพบว่าประชาชนทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยในโลกรวมกันก็ยังไม่ถึงครึ่งของประชากรอินเดียทุกวันนี้ไม่มีประเทศขนาดใหญ่จริง ๆ ประเทศใดที่ปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่านี่เป็นกลุ่มที่เล็กจริง ๆ และเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของโลกแล้ว ก็จัดเป็นประเทศแคระทั้งในทางประชากรและภูมิศาสตร์

“ประการสุดท้าย เราอาจดูแบบแผนการกระจายตัวของบรรดาประเทศราชาธิปไตยว่าไปอยู่ในภูมิภาคไหนกันบ้าง และท่านจะพบว่าในจำนวน ๒๗ ประเทศนี้ อยู่ในยุโรปตะวันตก ๑๐ ประเทศเกือบทั้งหมดยกเว้นสเปนล้วนอยู่เหนือเทือกเขาแอลป์ขึ้นไป นั่นคือไม่มีประเทศราชาธิปไตยอยู่ในยุโรปใต้และยุโรปตะวันออกเลย กลุ่มประเทศราชาธิปไตยใหญ่ที่สุดอันดับสองมาจากตะวันออกกลาง ทั้งหมดล้วนเป็นประเทศอาหรับและมุสลิม และถ้าจะนับรวมโมร็อกโกซึ่งอันที่จริงอยู่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยแล้ว คุณก็จะได้รวม ๘ ประเทศ แต่ผมเองชอบที่จะจัดให้โมร็อกโกอยู่ในทวีปแอฟริกามากกว่า ถัดไปคือเอเชียอาคเนย์ซึ่งมี ๔ ประเทศ แอฟริกามีอยู่ ๓ ประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ๑ ประเทศได้แก่จักรวรรดิแห่งจักรพรรดิญี่ปุ่น เอเชียใต้มี ๑ ประเทศได้แก่ภูฏานและโอเชียเนีย ๑ ประเทศคือตองกา ส่วนอเมริกาเหนือ, กลางและใต้นั้น ไม่มีประเทศราชาธิปไตยอยู่เลยและไม่มีมานานกว่าศตวรรษแล้ว ดังนั้นซีกโลกตะวันตกจึงปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐล้วน ๆ แอฟริกาและเอชียก็ไม่ได้มีระบอบราชาธิปไตยมากนัก มีแต่ตะวันออกกลางและยุโรปนั่นแหละที่เป็นแหล่งรวมหลักของประเทศราชาธิปไตย“พูดดังนี้แล้ว ท่านคงได้ข้อคิดเชิงสถิติบางอย่างเกี่ยวกับการกระจายตัว, ขนาด, ความสำคัญ ฯลฯลฯลฯ ของราชาธิปไตยในโลกทุกวันนี้ ก่อนจะว่าต่อไป ผมอยากชวนให้ท่านสังเกตว่าเอาเข้าจริงประเทศไทยจัดอยู่เกือบอันดับยอดของบรรดาประเทศราชาธิปไตยทั้งหลายทั้งในแง่ประชากรและพื้นที่ภูมิศาสตร์ และแน่นอนนั่นทำให้หัวข้อเรื่องราชาธิปไตยไทยค่อนข้างน่าสนใจ

“ภาระหน้าที่ของผมตอนนี้คือหันไปพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอันพิเศษยิ่งที่พลิกเปลี่ยนโลกซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย ไปเป็นโลกที่ปกครองด้วยระบอบที่ไม่ใช่ราชาธิปไตยในรอบเกือบร้อยปีที่ผ่านมา และผมอยากพูดถึงมันเป็นขั้นเป็นตอน โดยหวังว่าท่านจะอนุญาตให้ผมเริ่มจากตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.15 PM

ภาพวาดพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นจักรพรรดิของนโปเลียน โบนาปาร์ต“นี่เป็นจังหวะก้าวเริ่มแรกของช่วงเวลาที่โดยพื้นฐานแล้วอยู่ภายใต้การครอบงำของจักรวรรดิอันกว้างใหญ่, การปกครองโดยจักรพรรดิและมหากษัตริย์ ในแง่หนึ่งในช่วงเวลาที่ว่านี้กล่าวได้ว่าระบอบราชาธิปไตยมั่นคงทีเดียว อย่างน้อยจนกระทั่งถึงเสี้ยวสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษดังกล่าว หลักหมายสำคัญแห่งระยะเริ่มแรกของช่วงนี้ได้แก่กระบวนการที่นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้เป็นสามัญชนจากเกาะคอร์สิกาและนักการสงครามที่ปราดเปรื่อง ได้กลายเป็นจอมเผด็จการของฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติในตอนแรก และต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ก็ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ระหว่างที่เขาขยายอำนาจด้วยแสนยานุภาพไปทั่วยุโรปนั้น ในที่สุดเขาก็สถาปนาน้องชายของตนเป็นกษัตริย์แห่งฮอลแลนด์, อิตาลีทางใต้, และสเปน ฯลฯ ความสำคัญของโบนาปาร์ตอยู่ตรงนี่เป็นครั้งแรกในช่วงเวลาอันยาวนานที่สามัญชนคนหนึ่งและมิหนำซ้ำยังมีเชื้อสายอิตาเลียนด้วยสามารถเรืองอำนาจขึ้นและตั้งตนเป็นจักรพรรดิได้จริง ๆ ภายในเวลาชั่วไม่กี่ปี ในบางด้านท่านอาจเปรียบเขาเหมือนกับพระเจ้าตากสินมหาราช - ไม่ใช่ทักษิณคนปัจจุบันนะครับ แต่เป็นคนก่อนนู่น - ผู้เริ่มจากตัวเปล่าแล้วกลายมาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญของไทย เพียงแต่โบนาปาร์ตจัดอยู่ในระดับที่ใหญ่โตกว่า

“นโปเลียนทำให้ประเทศมหาอำนาจราชาธิปไตยต่าง ๆ ของยุโรปหวาดกลัวมากเสียจนกระทั่งในที่สุดเขาถูกจับไปปล่อยเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกจนสิ้นชีวิต อย่างไรก็แล้วแต่ในระยะที่เหลือของศตวรรษนั้น บรรดากษัตริย์ยุโรปทั้งหลายก็ปักใจเด็ดเดี่ยวที่จะปราบปรามสิ่งที่กำลังอุบัติตามมาให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ อันได้แก่มรดกตกทอดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส, ความเป็นปฏิปักษ์ต่ออภิชนาธิปไตยยุโรป, และเหนืออื่นใดคือชาตินิยมที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูงในจักรวรรดิอันใหญ่โตทั้งหลายไม่ว่าจักรวรรดิรัสเซีย, ออสเตรีย-ฮังการี, เยอรมัน, อังกฤษ, และออตโตมัน ซึ่งล้วนแต่กอปรด้วยคนหลากชาติพันธุ์หลายประชาชาติทั้งสิ้น

“ทีนี้เราอาจมองปฏิบัติการดังกล่าวจากมุมอนุรักษ์นิยมว่าเป็นฝีมือของพวกราชาธิปัตย์ปฏิปักษ์ปฏิวัติทั่วโลกซึ่งลงมือกันทันทีหลังนโปเลียนสิ้นอำนาจ ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งซึ่งจะเห็นได้จากตารางข้างบนนี้คือการตัดสินใจบังคับกะเกณฑ์ให้ฮอลแลนด์ยอมมีกษัตริย์ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วอังกฤษเป็นผู้เลือกให้ เนเธอร์แลนด์เป็นกรณีค่อนข้างผิดปกติวิสัยของยุโรปตรงที่ไม่เคยมีกษัตริย์ของตนเองมาก่อน หากเป็นสาธารณรัฐมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หรือคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อังกฤษเห็นว่าไม่เข้าที จึงจัดแจงเอากระทาชายชาวดัตช์นายหนึ่งขึ้นนั่งบัลลังก์เป็นกษัตริย์วิลเลียมที่หนึ่งแห่งเนเธอร์แลนด์และแสดงความเอื้อเฟื้อโดยยกเบลเยียมซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีให้ในทำนองว่า...ใช่ ท่านจะเอาเบลเยียมไปก็ได้ เชิญเลย...แต่ปรากฏว่าชาวเบลเยียมไม่ชอบใจก็เลยพากันก่อกบฎต่อกษัตริย์วิลเลียมที่หนึ่ง อังกฤษจึงบอกชาวเบลเยียมว่า... เอาล่ะตกลง พวกเอ็งจะเอาราชาธิปไตยของตัวเองก็ได้ นี่อีตาคนนี้เป็นชาวเยอรมันนิสัยดีซึ่งนับญาติได้กับกษัตริย์ของเรา เขาจะมาเป็นกษัตริย์ของพวกเอ็ง

“สิ่งที่น่าหลากใจเกี่ยวกับทั้งสองกรณีนี้คืออังกฤษเป็นตัวการสำคัญในการผลักดันให้เกิดระบอบราชาธิปไตยเล็ก ๆ ขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้พี่เบิ้มปรัสเซียหรือนัยหนึ่งเยอรมนีและพี่เบิ้มฝรั่งเศสเข้าควบคุมอาณาเขตที่ทางลอนดอนคิดว่าสำคัญมากทางยุทธศาสตร์ต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ

“ขณะเดียวกันจักรวรรดิออตโตมันทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรปซึ่งทุกวันนี้เรียกกันว่าคาบสมุทรบอลข่านก็กำลังตกต่ำเสื่อมทรุดลงตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มันสะใจดีที่จะหวนระลึกว่าจักรวรรดิออตโตมันถูกขนานนามว่า “คนป่วย” ไม่ใช่ของเอเชียหรือตะวันออกกลางนะครับ แต่“ของยุโรป” และในขณะที่อำนาจของจักรวรรดิแห่งนี้เสื่อมทรุดลงและประชากรท้องถิ่นที่ไม่ใช่มุสลิมทั้งหลายอย่างเช่นชาวกรีซ บัลแกเรียและอื่น ๆ เริ่มก่อหวอดขึ้น บรรดามหาอำนาจก็เคลื่อนตัวเข้ามาแล้วบอกตามแบบฉบับเลยว่า...พวกเอ็งจะมีราชอาณาจักรของตัวเองก็ได้ และใช่แล้วเราจะจัดหากษัตริย์ดี ๆ มาให้พวกเอ็งจากเดนมาร์กเอย เยอรมนีเอย ฯลฯ กล่าวคือกลายเป็นแบบฉบับเลยว่ากษัตริย์ที่เอามานั่งบัลลังก์นั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น ผมไม่ได้รวมกษัตริย์บอลข่านเหล่านี้ไว้ในตารางด้วย ก็เพราะล้วนอยู่ได้ไม่ยืดนักและเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ช่วยเผยให้เห็นอะไรสักเท่าไหร่

“ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เรื่องราวก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจมากทีเดียว ก่อนอื่นเลยก็คือในปี ค.ศ. ๑๘๗๐ - ๗๑ ระบอบราชาธิปไตยในฝรั่งเศสก็ถูกโค่นเป็นการถาวรเนื่องจากความโง่เขลาของหลานของนโปเลียน อันได้แก่นโปเลียนที่สามผู้ดันไปประกาศสงครามกับปรัสเซียหรือเยอรมนีซึ่งมีกำลังทหารดีที่สุดเมื่อเทียบกับที่ใดก็ตามในยุโรป เขารบแพ้ราบคาบกระทั่งถูกจับเป็นเชลยด้วยซ้ำแล้วก็ถูกเนรเทศ จากนั้นมาฝรั่งเศสก็ไม่มีกษัตริย์อีกเลย และนี่เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะนับเป็นมหาอำนาจยุโรปประเทศแรกที่ได้ปกครองในระบอบสาธารณรัฐอย่างมีเสถียรภาพนับแต่สิ้นสุดระบอบสาธารณรัฐในฮอลแลนด์เป็นต้นมา

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.28 PM

จักรพรรดิเปโดรที่สองแห่งบราซิล

“สิ่งน่าสนใจประการที่สองซึ่งท่านจะเห็นได้จากตารางข้างบนก็คือการล้มของระบอบจักรพรรดิในบราซิล และบราซิลในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ นั้นเป็นแห่งเดียวในซีกโลกตะวันตกที่มีระบอบราชาธิปไตยอันมีเสถียรภาพ เจ้านายเหล่านี้ไม่ใช่ชาวอเมริกาใต้หรือบราซิลท้องถิ่น หากมาจากราชวงศ์ของโปรตุเกส ตลกร้ายก็คือจักรพรรดิเปโดรที่สองซึ่งอันที่จริงเป็นคนดีมากและเล็งการณ์ไกลทีเดียวนั้นทรงละอายพระทัยยิ่งที่บราซิลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีระบบทาสโดยถูกกฎหมายเป็นฐานรองรับระเบียบสังคมและเศรษฐกิจอยู่ ดังนั้นในปี ค.ศ. ๑๘๘๘ พระองค์จึงตรัสว่าเราต้องหยุดสิ่งนี้และทรงเลิกทาสทั้งหมดในบราซิลรวมทั้งปลดปล่อยพวกเขาเป็นอิสระ ปีถัดมาเจ้าที่ดินใหญ่ผู้โกรธแค้นกับนายทหารผู้มักใหญ่ใฝ่สูงก็บอกว่าเราไม่ต้องการจักรพรรดิแบบนี้ และดังนั้นพระองค์ก็เลยถูกโค่นด้วยรัฐประหารและต้องเสด็จกลับยุโรป ฉะนั้นจึงเป็นอันว่ามีสองประเทศใหญ่ที่กลายเป็นสาธารณรัฐในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙

“แต่ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าและในบางแง่ก็น่าสนใจกว่านี้อีก กล่าวคือในตอนปลายเสี้ยวสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ระบอบราชาธิปไตยโดยเฉพาะในยุโรปตกเป็นเป้าประทุษร้ายทางกายภาพโดยตรงเนื่องจากการปรากฏขึ้นของขบวนการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนโดยเฉพาะขบวนการอนาธิปไตยรวมทั้งขบวนการชาตินิยมที่พิโรธโกรธแค้นมาก ผมใคร่เตือนความจำท่านว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันดำเนินมาอย่างไรเพื่อที่ท่านจะเห็นได้ว่ามันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากมายขนาดนั้นมาก่อนในยุโรป

“ค.ศ. ๑๘๘๑ นักอนาธิปไตยขว้างระเบิดปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่สองแห่งรัสเซีย
“ค.ศ. ๑๘๙๘ นักอนาธิปไตยชาวอิตาเลียนแทงจักรพรรดินีอลิซาเบ็ธแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีสิ้นพระชนม์
“ค.ศ. ๑๙๐๐ กษัตริย์อุมแบร์โตแห่งอิตาลีถูกนักอนาธิปไตยชาวอิตาเลียนอีกคนยิง 8
“ค.ศ. ๑๙๐๓ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์แห่งเซอร์เบียถูกทหารชาตินิยมนายหนึ่งยิง
“ค.ศ. ๑๙๐๘ กษัตริย์คาร์ลอสแห่งโปรตุเกสถูกสังหารโดยผู้นิยมสาธารณรัฐหัวรุนแรงชาวโปรตุเกส
“ค.ศ. ๑๙๑๔ เจ้าชายฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกนักชาตินิยมชาวเซอร์เบียยิง และเราก็ทราบว่าการกระทำครั้งนั้นโดยพื้นฐานแล้วนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

“เพื่อทำความเข้าใจวิกฤตระดับโลกที่กำเริบร้ายแรงซึ่งแสดงออกในยุโรปเป็นหลักนี้ เราต้องเข้าใจบางอย่างที่เป็นเรื่องพื้นฐานมาก กล่าวคือกษัตริย์ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกตนเองเป็นอภิมหากษัตริย์หรือจักรพรรดินั้นมิได้ถือตนเป็นประมุขของชาติ ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาทำสงครามกันไม่หยุดหย่อนเพื่อแย่งยึดดินแดนและประชาชนมากขึ้น ๆ และด้วยเหตุนี้เอง ถึงตอนนั้นพวกเขาจึงล่อแหลมต่อการถูกต่อต้านและการเคลื่อนไหวของนักปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยประชาชาติเฉพาะเจาะจงหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวโปแลนด์, ชาวเช็ก, ชาวฮังการี, ชาวฟินแลนด์, ชาวยูเครน เป็นต้น

“นั่นคือความโลภโมโทสันอยากได้ใคร่มีอำนาจมากขึ้นและมากขึ้น ความโลภโมโทสันอยากได้ใคร่มีดินแดนมากขึ้นและมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติวิสัยของบรรดามหาอำนาจสำคัญในยุโรปนั้น ได้ถูกบ่อนทำลายหรือเริ่มถูกบ่อนทำลายลงโดยพลังชาตินิยมแล้ว

“และเหตุมูลฐานของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอันหายนะนั้นก็คือการปักใจแข่งขันช่วงชิงกันในหมู่อภิมหาราชาธิปไตยทั้งหลายซึ่งได้แก่ลอนดอน, เวียนนา, เบอร์ลิน, อีสตันบูล, และมอสโก...”

“ที่นี้เราก็หันไปดูตอนเริ่มต้นของระยะที่สองได้แล้ว.....
“ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งนาน ๑๒ ปีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๑ ถึง ๑๙๒๓ นั้นประสบกับบางอย่างที่ไม่เคยมีใครอาจคาดเดาได้ล่วงหน้ามาก่อน
“ก่อนอื่นเลยก็คือราชวงศ์ชิงในจีนล้มลงใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ด้วยน้ำมือพวกชาตินิยม
“ค.ศ. ๑๙๑๗ ราชาธิปไตยรัสเซียก็ล่มจมด้วยฝีมือของคนอย่างเลนินและคนอื่น ๆ อีกมากหน้าหลายตา
“ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อท้ายที่สุดเยอรมนีปราชัยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้ว ระบอบจักรพรรดิก็มีอันสลายหายวับไปและองค์จักรพรรดิก็ต้องเสด็จหนีไปฮอลแลนด์
“ค.ศ. ๑๙๑๙ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล้มลง
“และใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ก็ถึงคราวจักรวรรดิออตโตมันล้มลงบ้าง

“ประเทศทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ลงเอยกลายเป็นสาธารณรัฐในท้ายที่สุดและหดเล็กลงกว่าเก่าเอามาก ๆ เมื่อเทียบกับสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชีวิตผู้คนทุกฝ่ายต้องสูญเสียไปนับล้าน ๆ ทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งน่าจะเป็นสงครามที่ก่อหายนะภัยร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติจวบจนถึงตอนนั้น และบรรดาจักรพรรดิผู้แพ้สงครามทั้งหลายก็ไม่เคยได้อโหสิกรรมจากอาณาประชาราษฎร์เลย ดังนั้นประเทศมหาอำนาจราชาธิปไตยที่อยู่รอดมาได้ก็คือพวกที่เป็นฝ่ายชนะสงครามทั้งนั้น ได้แก่อังกฤษและญี่ปุ่น

Screen Shot 2555-05-01 at 9.33.52 PM
ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา

“จากความล่มสลายลงของจักรวรรดิเหล่านี้ ก็บังเกิดประดารัฐชาตินิยมขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วปกครองในระบอบสาธารณรัฐผุดขึ้นมาเยอะแยะมากมาย ซึ่งการปรากฏขึ้นของรัฐต่าง ๆ เหล่านี้ก็กลายเป็นสาเหตุสำคัญให้ก่อตั้งสันนิบาตชาติขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๒๐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอเมริกัน วูดโรว์ วิลสัน

“ความคิดเรื่องสันนิบาตชาตินับว่าแปลกใหม่อย่างน่า ประหลาดใจในตอนนั้น ทั้งนี้ก็เพราะในสมัยก่อน ท่านไม่อาจจินตนาการว่าจะมี “สันนิบาตจักรพรรดิ” หรือ “______________สันนิบาตราชา” ขึ้นมาได้, เหมือนที่ทุกวันนี้ ท่านก็ไม่อาจจินตนาการว่าจะมี “สันนิบาตศาสนา” หรือ “สหศาสนา” ได้เช่นกัน ชาติเป็นหน่วยชนิดเดียวเท่านั้นที่ทำให้เป็นไปได้ในอันที่จะมีตัวแทนของหน่วยดังกล่าวในบางแบบจากทั่วโลกมาอยู่ในองค์การหนึ่งเดียว และอันที่จริงการก่อตัวของสหประชาชาติรวมทั้งสันนิบาตชาติก็แสดงให้เห็นชัดยิ่งว่าบัดนี้ชาตินิยมเป็นพลังมูลฐานที่สุดและได้เข้าแทนที่ราชาธิปไตยในระดับรากฐานแล้ว

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“จากนี้เราก็เดินเรื่องต่อในช่วง ๒๐ ปีถัดไประหว่างสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปจนเริ่ม

สงครามโลกครั้งที่สอง มี ๒ เรื่องที่ผมควรกล่าวไว้ตอนนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสเปนและประเทศไทยนั้นเอาเข้าจริงแสดงให้ท่านเห็นผลจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและลางร้ายว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองในภายภาคหน้า

“ในสเปนต้นคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๓๐ กษัตริย์อัลฟองโซถูกบังคับให้สละราชสมบัติโดยพวกนิยมสาธารณรัฐ, สังคมนิยม, เสรีนิยม ฯลฯ เนื่องจากพระองค์สัมพันธ์ใกล้ชิดกับจอมเผด็จการทหาร 10 พรีโม เดอ รีเวรา ในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ พวกอนุรักษ์นิยมและขวาจัดพยายามก่อรัฐประหารซึ่งในที่สุดนำไปสู่การเริ่มสงครามกลางเมือง ฝ่ายขวาภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลฟรังโกที่ได้อาวุธและเงินสนับสนุนจากผู้นำฟาสซิสต์ของเยอรมนีและอิตาลีเป็นฝ่ายชนะในที่สุด

“ระหว่างนั้น ญี่ปุ่นก็เข้ายึดแมนจูเรียและรุกรานจีน แล้วตั้งเจ้านายเชื้อสายแมนจูขึ้นเป็นหุ่นเชิดปกครองรัฐแมนจูกัวเอกราชที่จอมปลอม

“ในคริสต์ทศวรรษเดียวกัน มุสโสลินีก็รุกรานเอธิโอเปียและขับไล่จักรพรรดิไฮเลเซลัสซีไปลี้ภัยในอังกฤษ

“ช่วงเดียวกันนั้น ในสยาม ระบอบกษัตริย์ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ยังบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่เสร็จเสียที ได้ถูกโค่นโดยแนวร่วมอันประกอบไปด้วยสามัญชน, นายทหารและพลเรือนชาตินิยม ซึ่งปกครองประเทศอยู่จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๔๔ - ๑๙๔๕ ในหลวงรัชกาลที่ ๗ เสด็จนิราศไปอังกฤษ อันเป็นที่ซึ่งกษัตริย์ผู้ประสบความเดือดร้อนทั้งหลายมักจะไปกัน แล้วสละราชสมบัติตอนกลางคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๓๐

“ผู้นำสำคัญที่สุด ๒ คนของคณะราษฎรอันได้แก่ปรีดี พนมยงค์และแปลก พิบูลสงครามล้วนได้รับการศึกษาในประเทศสาธารณรัฐชาตินิยมฝรั่งเศส ไม่ใช่ในอังกฤษหรือรัฐราชาธิปไตยแห่งอื่นในยุโรป ท่านอาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกนับแต่ช่วงหลังพม่าเข้ายึดครองหมาด ๆ เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมาที่เอาเข้าจริงไม่มีกษัตริย์ทรงปกครองอยู่ในประเทศไทยเอง

“มีอีก ๒ ระยะที่เราอยากพิจารณา ก่อนจะสรุปจบโดยอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของอังกฤษในเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมดโดยสังเขป

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.04 PM

ท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์

“สงครามโลกครั้งที่สองและสภาพหลังจากนั้นก็เหมือนกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตรงที่นำมาซึ่งการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ผมคิดว่าสงครามใหญ่ล้วนแต่อันตรายมากเสมอสำหรับราชาธิปไตย อยู่อย่างสันติจะดีกว่า ตัวละครหลักตอนนั้นได้แก่อดอล์ฟ ฮิตเล่อร์ และน่าตื่นใจว่าเวลาเขาเอ่ยอ้างถึงที่ ๆ อยู่ภายใต้การปกครองของเขานั้น เขาพูดถึง “อาณาจักรไรช์ที่สาม” ซึ่งแปลว่า “ราชอาณาจักรที่สาม” หรือ “จักรวรรดิที่สาม” และเขาบรรยายว่ามันเป็นทายาทสืบต่อจาก “จักรวรรดิที่สอง” ซึ่งล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจาก “จักรวรรดิที่หนึ่ง” เมื่อครั้งปรัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจสำคัญของยุโรปภายใต้พระอัจฉริยภาพทางทหารของเฟรเดอริคมหาราช

“ความหมายนัยของการเรียกหน่วยภายใต้การรับผิดชอบของตนว่า “จักรวรรดิที่สาม” บ่งชี้ว่าฮิตเล่อร์ตั้งใจจะให้เยอรมนีขยายดินแดนไปครอบคลุมยุโรปกลางและตะวันออกทั้งหมด แต่เขาไม่มีเจตนาจะฟื้นฟูราชวงศ์ฮอเฮนซอลเลินเก่า และเขาก็ไม่มีแนวคิดใด ๆ ที่จะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิอย่างนโปเลียนเลย แทนที่จะทำเช่นนั้น เขากลับเรียกตัวเองว่า “ท่านผู้นำ” หรือ“ฟูเรอห์” อันเป็นสมญานามใหม่ที่มีแง่มุมประชานิยมและเชื้อชาตินิยมอย่างแรงกล้า

“ในกรณีฮิตเล่อร์นี้ ผมคิดว่าเราอาจเห็นบางอย่างที่สำคัญมาก กล่าวคือถึงตอนนั้น แนวคิดที่ว่าจะมีใครสร้างระบอบราชาธิปไตยใหม่ขึ้นมากำลังกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ นั่นคือเราอาจบอกได้จริง ๆ เลยว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งมรณกรรมของระบอบราชาธิปไตย ณ จังหวะที่ธรรมเนียมเก่าแก่ที่ว่ามีคนหน้าใหม่เข้ามาทำลายราชวงศ์เก่าแล้วสร้างราชวงศ์ใหม่ของตนขึ้นนั้นได้สิ้นสุดยุติลง

“เราอาจเห็นประเด็นนี้ได้ชัดเจนยิ่งในกรณีประเทศจีนภายหลังราชวงศ์ชิงถูกโค่น นายพลภาคเหนือจีนผู้ทรงอำนาจนามหยวนซีไขจัดแจงแต่งตั้งให้ตัวเองเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. ๑๙๑๒ แต่แล้วเขาก็รื้อคิดว่าเป็นจักรพรรดิของจีนด้วยจะมิดีกว่าหรือ? เขาจึงเริ่มจัดตั้งการรณรงค์ให้ตนเองได้เป็นผู้นำราชวงศ์ใหม่ แต่มันล้มเหลวไม่เป็นท่า เกิดกบฎขึ้น เขาถูกบีบให้เลิกล้มแผนนั้นไปและกระทำอัตวินิบาตกรรมใน ค.ศ. ๑๙๑๖

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.15 PM

จักรพรรดิโบกัสซาแห่งจักรวรรดิแอฟริกากลาง

“ระบอบราชาธิปไตยหนึ่งเดียวที่น่าสนใจแถมเอาเข้าจริงยังแปลกพิลึกที่สุดด้วยซึ่งท่านจะเห็นได้อย่างรวบรัดต่อไปเป็นดังนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ จอมเผด็จการทหารโหดผู้กุมอำนาจมายาวนานแห่งสาธารณรัฐแอฟริกากลางอันกระจิริดซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ ได้ตัดสินใจว่าเป็นแค่ประธานาธิบดีของประเทศนี้ยังไม่พอ ชายผู้นี้มีภูมิหลังอันน่าสนใจ เขาชื่อ ฌอง เบเดล โบกัสซาเคยเป็นนายสิบในกองกำลังฝรั่งเศสที่พยายามกลับเข้ามายึดครองเวียดนามในอินโดจีนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นว่าไปแล้วเขาก็เป็นแค่ทหารรับจ้างของฝรั่งเศสเท่านั้นเอง

“เมื่อประเทศของเขาได้เอกราช เขาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกทันที และหลังจากนั้นไม่นานก็เข้ารวบอำนาจขึ้นเป็นประธานาธิบดีเสียเอง แต่ใน ค.ศ. ๑๙๗๖ เขาก็บอกว่า... เฮ้ยข้าอยากเป็นจักรพรรดิโว้ย... ดังนั้นเขาก็เลยสั่งตัดฉลองพระองค์แพงหูฉี่สำหรับพิธีราชาภิเษกซึ่งลอกแบบมาโดยตรงจากภาพวาดของนโปเลียน การณ์จึงกลายเป็นว่าในทวีปแอฟริกาที่ร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหลไคลย้อยนั้น โบกัสซากลับใส่ชุดเสื้อคลุมขนสัตว์สีขาวสำหรับฤดูหนาวแบบที่นโปเลียนเคยใส่ และเขายังสั่งร้านอัญมณีราคาแพงในปารีสให้ทำมงกุฎประดับเพชรงามวิเศษแพรวพราวมาด้วย แล้วจัดเดินขบวนแห่แหนเฉลิมฉลองใหญ่กลางเมืองหลวงบังกีโดยมีวงดนตรีออเคสตร้าจากฝรั่งเศสคอยบรรเลงเพลงของโมสาร์ตตามประกบ

“แน่ล่ะครับว่าพอกลายเป็นจักรพรรดิแล้ว โบกัสซาก็ยิ่งเลวร้ายกว่าเก่าอีกและเรียกประเทศของตนว่าจักรวรรดิแอฟริกากลาง นี่ทำให้ผู้คนหัวร่อเย้ยไยไพไปทั่วแม้กระทั่งในฝรั่งเศสเอง และสามปีต่อมา ผู้คนอดรนทนไม่ไหวอีกต่อไป เขาก็เลยถูกโค่นแล้วก็หายหน้าหายตาไป

“ความหมายนัยของเรื่องนี้ก็คือคุณทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าหากราชวงศ์หนึ่งถูกโค่นลง ก็จะไม่มีราชวงศ์ในรัฐนั้นอีกต่อไป”

“ที่นี้ถ้าท่านมองดูยุโรประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านต้องระลึกว่าตอนนั้นฮิตเล่อร์ก็กำลังยุ่งกับการยึดครองและผนวกกลืนออสเตรีย, เช็กโกสโลวาเกีย, และพิชิตโปแลนด์ ฯลฯ อยู่แล้วต่อมาแสนยานุภาพเยอรมันก็บุกยึดฮอลแลนด์, เบลเยียม, ยูโกสลาเวีย, กรีซ ฯลฯ และฮิตเล่อร์ยังกำลังดำเนินการร่วมกับพันธมิตรได้แก่มุสโสลินีในอิตาลีและระบอบทหารในญี่ปุ่นด้วย

“ที่แห่งเดียวที่เขาไม่ประสบความสำเร็จอย่างน้อยในตอนเริ่มแรกก็คือความพยายามในอันที่จะรุกรานและพิชิตสหราชอาณาจักร ซึ่งเคราะห์ดีที่เป็นเกาะอันมีทัพเรือเข้มแข็ง

“ทว่าในภาคพื้นทวีปยุโรป ระบอบราชาธิปไตยที่ยังดำรงอยู่ต้องเผชิญทางเลือกที่ไม่น่าอภิรมย์ยิ่ง ทางหนึ่งก็คือหนีไปเสียภายหลังเยอรมนีเข้ายึดครอง ทางนี้ถูกเลือกโดยราชินีเนเธอร์แลนด์, เจ้าผู้ครองนครลักเซมเบิร์ก, กษัตริย์นอร์เวย์ซึ่งเสด็จไปลอนดอนโดยเรือดำน้ำอังกฤษ และกษัตริย์กรีซ เจ้านายทั้งหลายนี้ล้วนไปประทับอยู่ในอังกฤษและกลับขึ้นครองราชย์ได้หลังสงครามอย่างน้อยก็ชั่วระยะหนึ่ง

“แต่กษัตริย์องค์อื่น ๆ ทรงรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกนอกจากเข้ากับฮิตเล่อร์ไม่ว่าจะอย่างเอาจริงเอาจังหรือเพียงเพราะไม่เห็นทางเลือกอื่นก็ตาม ได้แก่กรณีกษัตริย์เบลเยียม, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, ยูโกสลาเวีย, และอิตาลี เจ้านายเหล่านี้ต่างประสบเคราะห์กรรม กล่าวคือหลายองค์ถูกโค่นอย่างถาวรโดยประชาชน, กลุ่มกู้ชาติติดอาวุธ, หรือบางแห่งก็โดยกองทัพแดงของสตาลินที่ยาตรามาถึงตอนสิ้นสงคราม กษัตริย์เบลเยียมถูกบังคับให้สละราชสมบัติแก่โอรส สวีเดนพยายามเป็นกลางระหว่างสงคราม จึงหลีกเลี่ยงการถูกยึดครองไปได้ แต่ก็ผ่านประสบการณ์นี้มาอย่างไม่ราบรื่นนัก

“น่าสนใจว่าสตาลินซึ่งมีโอกาสและแสนยานุภาพที่จะผนวกรวมอาณาดินแดนทั้งปวงในยุโรปตะวันออกเข้ามาเป็นรัฐสมาชิกของสหภาพโซเวียต กลับตัดสินใจว่ามันจะเป็นการผิดพลาดถ้าขืนทำเช่นนั้น ดังนั้นท่านผู้ฟังก็เลยได้เห็นบรรดารัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งชาติทั้งหลายแหล่เป็นครั้งแรก แน่ล่ะว่าพวกเขาล้วนอยู่ใต้การควบคุมของสตาลิน แต่ก็ส่งผลให้ไม่มีระบอบราชาธิปไตยเหลืออยู่ในยุโรปตะวันออกอีกต่อไป

“แต่เอาเข้าจริงการคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ที่น่าสนใจที่สุดซึ่งเกิดขึ้นกลับไม่ใช่อยู่ในยุโรป หากอยู่ในเอเชีย จากกฎเกณฑ์ทั่วไปที่ผมได้อภิปรายมา ท่านทั้งหลายอาจคาดหมายว่าความย่อยยับอัปราชัยของญี่ปุ่นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากที่ได้รุกรานจีนอย่างป่าเถื่อน รุกรานเอเชียอาคเนย์หลายแห่งอย่างโหดเหี้ยม ฯลฯ จะทำให้องค์จักรพรรดิถูกโค่นโดยมหาอำนาจสัมพันธมิตรผู้พิชิตศึก

Screen Shot 2555-05-01 at 9.34.28 PM

จักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่น

“ทว่าสิ่งนี้ไม่บังเกิดขึ้นแม้ว่าฮิโรฮิโตเองจะได้สนับสนุนการรุกรานจีน การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ และการพิชิตเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่อย่างแข็งขันก็ตาม มีคนญี่ปุ่นต้องสละชีวิตเพื่อการนี้หลายล้าน และยังประชาชนท้องถิ่นที่ถูกรุกรานซึ่งต้องสูญเสียชีวิตไปหลายต่อหลายล้านอีกเล่ายังไม่ต้องพูดถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิอันน่าอเนจอนาถซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะองค์จักรพรรดิไม่ยอมจำนนทั้งที่ไม่มีความหวังว่าจะเหลือรอดอยู่ต่อไปได้อีกแล้ว

“แต่อเมริกาโดยผ่านตัวนายพลแม็คอาเธอร์ได้ตัดสินใจที่จะกอบกู้และปกป้องเจ้าหมอนี่ไว้ในที่สุดเขาก็ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษผิดทั้งปวง และคนที่ถูกแขวนคอหรือประหารชีวิตฐานก่ออาชญากรรมสงครามได้แก่ผู้นำสุดยอดทางทหารและการเมืองแต่ไม่รวมองค์จักรพรรดิเองด้วย

“ท่านผู้ฟังอาจลองถามตัวเองดูว่าทำไมชาวอเมริกันที่มีประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบสาธารณรัฐมายาวนานจึงตัดสินใจสนับสนุนและธำรงรักษาสถาบันจักรพรรดิไว้เล่า? เราต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่ว่านี้กำลังเกิดขึ้นตอนช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น กล่าวคือสองวันหลังการทิ้งระเบิดเมืองฮิโรชิมา รัสเซียก็ตัดสินใจละเมิดข้อตกลงไม่รุกรานกันกับญี่ปุ่น แล้วรีบรุกรานแมนจูเรียและกำลังมุ่งหน้าสู่เกาหลีรวมทั้งอาจบุกญี่ปุ่นด้วยในที่สุด

“ฝ่ายอเมริกาก็ปักใจเด็ดเดี่ยวจะควบคุมญี่ปุ่นโดยปลอดการก้าวก่ายแทรกแซงใด ๆ ให้จงได้และการปรากฏตัวขึ้นของรัสเซีย รวมทั้งการก่อตั้งบรรดาสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเอียงซ้ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนในประเทศญี่ปุ่นซึ่งประสบความเสียหายอย่างหนักนั้น ก็ทำให้อเมริกาได้คิดว่า... จะว่าไปแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ใช้ได้ถนัดมือดีในการปราบปรามไอ้พวกนี้นี่นา... และคนจำนวนมากที่เอาเข้าจริงเป็นอาชญากรสงครามก็เลยถูกอเมริกาเกณฑ์ไปเป็นสมัครพรรคพวกเพื่อถล่มสหภาพแรงงานและองค์กรอื่น ๆ ให้ราบคาบ จากนั้นญี่ปุ่นจึงกลายเป็นพันธมิตรที่ซื่อตรงจงรักของอเมริกาเรื่อยมา

“มันน่าสนใจว่าอันที่จริง “เทนโน” (คำเรียกขานจักรพรรดิญี่ปุ่น แปลว่าเจ้าสวรรค์) ซาบซึ้งตื้นตันใจเรื่องนี้อย่างยิ่ง พระองค์ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทรงบอกอาณาประชาราษฎร์ว่าพระองค์ไม่ใช่เทพศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งก็น่าจะเห็น ๆ กันได้อยู่ และทรงยอมรับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่โดยพื้นฐานแล้วอเมริกาบังคับยัดเยียดให้ประชาชนญี่ปุ่น ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เลวนัก

“ดังนั้นสถานการณ์ซึ่งผิดแปลกแตกต่างกันนี้จึงแสดงให้ท่านผู้ฟังเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ว่าระบอบราชาธิปไตยที่ล้มเหลวย่อมถูกโค่นนั้นใช่ว่าจะถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซนต์เสียทีเดียว ถ้าเผื่อท่านมีอเมริกาในยุคสงครามเย็นคอยหนุนหลังละก็ ท่านอาจแพ้สงครามแต่ก็ยังอยู่รอดได้

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

“ระยะสุดท้ายที่ท่านเห็นได้จากตารางข้างบนนี้โดยพื้นฐานแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านจะเห็นว่าราชาธิปไตยเวียดนาม, ราชาธิปไตยอิตาลี, ราชาธิปไตยยูโกสลาเวีย ฯลฯ ต่างถูกทำลายลง

“ผลของสงครามโลกครั้งที่สองก็คือบรรดามหาอำนาจจักรวรรดิตัวหลัก ๆ แต่เดิม ต่อให้เป็นฝ่ายชนะสงครามก็ตาม ล้วนตกอยู่ในภาวะพิการทางเศรษฐกิจและอ่อนแอกว่าสมัยคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๒๐ และ ๑๙๓๐ มาก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียมและฝรั่งเศสได้ถูกฮิตเล่อร์ยึดครองและจริง ๆ แล้วประเทศเหล่านี้ก็ไม่มีวัตถุปัจจัยที่จะไปสงวนรักษาจักรวรรดิโพ้นทะเลของตนไว้อีกต่อไป ส่วนบรรดาประเทศมหาอำนาจใหม่อันได้แก่สหรัฐฯและสหภาพโซเวียตนั้นพูดกันอย่างเคร่งครัดแล้วก็ไม่ใช่มหาอำนาจอาณานิคมหรือจักรวรรดิ

“ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการชาตินิยมในเอเชียและแอฟริกาเติบใหญ่แข็งกล้าขึ้น และเมื่อสิ้นสงคราม ก็เป็นที่แจ้งชัดแล้วว่าการยกเลิกระบบอาณานิคมขนานใหญ่จะต้องเกิดขึ้นแน่ และเราก็สามารถเห็นสิ่งนี้ได้แต่เนิ่นเมื่ออาณานิคมที่ใหญ่โตที่สุดในโลกอันได้แก่อินเดียของอังกฤษถูกแบ่งออกเป็นรัฐเอกราช ๒ รัฐ คืออินเดียที่มีขนาดเล็กลงและปากีสถาน ส่วนศรีลังกาและพม่าก็ได้สถานะรัฐเอกราชเช่นเดียวกันนั้นในเวลาเดียวกัน

“นี่มิได้หมายความว่าอังกฤษไม่พร้อมจะเล่นบทโหดถ้าสามารถเล่นได้ ตัวอย่างเช่นมีความพยายามใช้การปราบปรามอย่างรุนแรงในเคนยาและประสบความสำเร็จที่จำกัดระดับหนึ่ง และอังกฤษยังใช้ความพยายามมหาศาลในการปราบปรามกบฎพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและในการสร้างประเทศมลายาที่เป็นเอกราชขึ้นหลังจากนั้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๗ ภายใต้ระบบการปกครองอันแปลกประหลาดยิ่งที่ให้ราชาท้องถิ่นเล็ก ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครอง

“ประเทศบรูไนซึ่งอุดมด้วยน้ำมันถูกลอนดอนเก็บเอาไว้ควบคุมต่อไป แต่เอาเข้าจริงแล้วก็อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทน้ำมันเชลล์มากกว่าจนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ฝรั่งเศสส่งกองทัพมหึมาเพื่อพยายามยึดอินโดจีนคืนแต่กลับรบแพ้อย่างราบคาบในปี ค.ศ. ๑๙๕๔ สงครามปราบปรามพวกต่อต้านอาณานิคมอันน่าสยดสยองอีกกรณีหนึ่งในแอลจีเรียก็ล้มเหลวในที่สุดด้วย ฝรั่งเศสถูกบีบบังคับให้จำต้องรับรองประเทศแอลจีเรียที่เป็นเอกราช และในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ นายพลเดอโกลล์ก็บอกกล่าวกับบรรดาประเทศแอฟริกันใต้การปกครองของฝรั่งเศสทั้งหลายโดยพื้นฐานว่า... บัดนี้พวกท่านเป็นเอกราชแล้ว แต่ท่านต้องเข้าเป็นสมาชิกเครือจักรภพนานาชาติอันน่ารักของฝรั่งเศสนะ

“พวกดัตช์พยายามกอบกู้สถานะของตนในอินโดนีเซียแต่ล้มเหลวและต้องยอมเลิกราไปในปลายปี ค.ศ. ๑๙๔๙ และท้ายที่สุดจักรวรรดิของโปรตุเกสในแอฟริกาก็สลายหายไปในปี ค.ศ.๑๙๗๕ ภายหลังดำเนินสงครามจักรวรรดินิยมที่วิบัติหายนะและไม่ประสบความสำเร็จครั้งต่าง ๆ กันถึง ๓ ครั้ง”

“ผมอยากจะหยุดตรงนี้สักครู่เพื่อเน้นย้ำผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งของการยกเลิกระบบอาณานิคม เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็นมากนักและน่าจะเป็นสิ่งที่ปลุกขวัญกำลังใจระบอบราชาธิปไตยที่เหลือรอดอยู่ทั้งหลาย นั่นคือการยกเลิกระบบอาณานิคมและการขยายตัวอย่างใหญ่โตของสหประชาชาติหมายความว่าอาณาเขตของชาติกลายเป็นสิ่งที่มีเสถียรภาพและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นกว่าก่อนมาก

“นับแต่ราว ค.ศ. ๑๙๔๗ เป็นต้นมาไม่มีสมาชิกองค์การสหประชาชาติประเทศใดสามารถเพิ่มเติมอาณาดินแดนทางภูมิศาสตร์ของตนให้มากขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำเลย และนี่หมายความว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบราชาธิปไตยจำนวนมากถูกทำลายลงก่อนหน้านี้ อันได้แก่ความหิวกระหายที่จะขยายราชอาณาจักรและหมกมุ่นอยู่แต่กับศึกสงครามนั้น ได้จบสิ้นลงแล้วโดยพื้นฐาน

“ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าถ้าหากกษัตริย์ทรงปรีชาและมีสายพระเนตรยาวไกล พระองค์ก็อาจทรงช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดที่นำไปสู่ลัทธิแบ่งแยกดินแดน อันเป็นลัทธิที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจยิ่งสำหรับคนบางกลุ่ม ทว่าน่าสยดสยองสำหรับคนกลุ่มอื่น ๆ ได้ ดังที่ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นได้จากการแตกแยกตัวของยูโกสลาเวีย, การแตกแยกตัวของเอธิโอเปีย, การแตกแยกตัวของปากีสถาน,การแตกแยกตัวของจักรวรรดิ โซเวียต ฯลฯ และบางทีอาจรวมถึงการแตกแยกตัวของจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคตด้วย

“ดังนั้นพึงระลึกไว้นะครับว่าอาณาเขตแห่งชาตินับวันแต่จะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นท่านก็ไม่จำต้องมีกองทัพใหญ่โต เพราะระบบโลกจะไม่ปล่อยให้ท่านถูกยึดครองโดยรัฐอื่น”

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.04 PM

นัสเซอร์ กัดดาฟี ลอนนอล

“ผลลัพธ์ประการหนึ่งของความเสื่อมทรุดแห่งระบอบอาณานิคมและการปรากฏตัวขึ้นของรัฐบาลแห่งชาติเอกราชทั้งหลายถือเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจ และนั่นก็คือในสภาพที่ไม่มีเจ้าอาณานิคมอีกต่อไป พลังการเมืองสำคัญที่สุดในหลายต่อหลายที่ได้แก่กำลังทหารในท้องถิ่นซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมักได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศสและอังกฤษ ทว่ากลับอวดอ้างว่าเป็นปากเสียงแท้จริงของประชาชน

“ในช่วงนี้นี่เองที่เราได้พบเห็นกำลังทหารท้องถิ่นพากันล้มเจ้าในที่ต่าง ๆ:
“ เริ่มด้วยอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อกษัตริย์ฟารุคถูกขับไล่ไสส่งโดยนัสเซอร์และเพื่อนพ้อง
“ค.ศ. ๑๙๕๘ เจ้าผู้ปกครองที่อังกฤษยัดเยียดให้อิรักถูกปลงพระชนม์โดยการลุกฮือของทหาร
“สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นที่ลิเบียใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ด้วยฝีมือทหารนำโดยกัดดาฟี
“ที่กัมพูชาใน ค.ศ. ๑๙๗๐ โดยลอนนอล
“อัฟกานิสถานใน ค.ศ. ๑๙๗๓
“และเอธิโอเปียใน ค.ศ. ๑๙๗๔
“นั่นนับเป็นการทำลายระบอบราชาธิปไตยอย่างขนานใหญ่เลยทีเดียว
“เฉพาะในลาวและเวียดนามเท่านั้นที่เรากล่าวได้ว่าคอมมิวนิสต์เป็นผู้ทำลายระบอบการปกครองของราชวงศ์ท้องถิ่น
“ในการมองหาสาเหตุหรือผู้ก่อการโค่นระบอบราชาธิปไตย สิ่งที่น่าตื่นใจคือทหารเป็นตัวการสำคัญกว่าพวกมีความคิดจะเปลี่ยนแปลงอย่างขุดรากถอนโคนที่มาจากคนชั้นล่าง”

“เวลาใกล้จะหมดแล้ว ผมใคร่ขอหันไปพูดเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญมากโดยสังเขปอย่างรวดเร็ว

"ถ้าท่านดูบนตาราง ท่านจะพบสิ่งที่น่าสนใจมาก นั่นคือขอให้ดูการปรากฏขึ้นของบรรดาระบอบราชาธิปไตยเอกราชซึ่งแต่ก่อนไม่ได้เป็นระบอบนั้นในจังหวะเฉพาะเจาะจงราว ค.ศ. ๑๙๖๘

“และตรงนี้ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างซึ่งน่าสนใจมากกล่าวคือราชาธิปไตยอังกฤษไม่เหมือนราชาธิปไตยอื่น ๆ ในยุโรปหรือญี่ปุ่นเอาเลยทีเดียว อังกฤษนั้นถูกปกครองมานับพันปีโดยชาวนอร์มัน, เวลส์, สก๊อต, ดัตช์, และเยอรมัน หากมิใช่โดยชาวอังกฤษเอง และแบบแผนของการมีสถาบันกษัตริย์ต่างชาติต่างภาษาทั้งหลายแหล่มาปกครองตลอดช่วงเวลานี้หมายความว่าระบอบราชาธิปไตยของอังกฤษมีลักษณะยืดหยุ่นพลิกแพลงที่เป็นไปได้ต่าง ๆ นานามากกว่าในที่อื่น ๆ ไม่เหมือนอย่างของฝรั่งเศส, เยอรมนีและโดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น มันเป็นประโยชน์มากทีเดียวที่ได้ราชวงศ์ต่างชาติมาปกครอง นั่นหมายความว่าเอาเข้าจริงคนท้องถิ่นที่เป็นขุนนางและอภิสิทธิ์ชนต่างหากที่เป็นผู้บริหารจัดการระบบ

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.33 PM

พระเจ้าจอร์จที่ห้าแห่งอังกฤษ พระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธปัจจุบัน ผู้ทรงเปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นวินด์เซอร์

“อันที่จริงมันน่าสนใจที่ราชวงศ์อังกฤษปัจจุบันนี้ยังคงเรียกตนเองว่า “ชาวฮาโนเวอร์” อันเป็นรัฐเยอรมันเล็ก ๆ ที่ซึ่งพวกเขาจากมาเพื่อรับเชิญไปเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษใน ค.ศ. ๑๗๑๔ พวกเขาดำรงตนเป็นชาวเยอรมันอย่างอยู่ดีมีสุขสมบูรณ์สืบมาจนกระทั่งระหว่างสงครามกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างสงครามนั้นเอง พระอัยกาเจ้าของพระราชินีอลิซาเบ็ธก็ตรัสด้วยความขวยพระทัยว่า...เราจะเปลี่ยนชื่อของเรา เราจะเรียกชื่อตัวเองใหม่ว่าราชวงศ์วินด์เซอร์... ซึ่งเป็นชื่อปราสาทแห่งหนึ่งนอกกรุงลอนดอน และเอาเข้าจริงสมาชิกราชวงศ์นี้รุ่นแรก ๆ พูดอังกฤษไม่ได้ด้วยซ้ำไป หากพูดแต่ภาษาเยอรมัน

“นับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ราว ค.ศ. ๑๘๗๐ เป็นต้นมา อังกฤษเป็นมหาอำนาจจักรวรรดิเดียวที่มีผลประโยชน์ผูกพันขนานใหญ่กับระบอบราชาธิปไตยในเอเชียและแอฟริกา ตอนนั้นฝรั่งเศสกลายเป็นสาธารณรัฐเรียบร้อยแล้ว เยอรมนีไม่ได้มีจักรวรรดิโพ้นทะเลมากเท่าไรนักและเท่าที่มีก็สูญเสียไปอย่างรวดเร็วในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อเมริกาก็สาละวนอยู่ในฟิลิปปินส์และไม่มีอะไรมากกว่านี้เท่าไหร่ และรัสเซียก็อยู่ในฐานะคล้ายกัน ญี่ปุ่นเป็นจักรวรรดิใหญ่อีกเพียงประเทศเดียวที่พยายามขยายอำนาจอย่างรวดเร็ว แต่ยกเว้นกรณีแมนจูเรียแล้ว ชาวญี่ปุ่นก็หมกมุ่นอยู่แต่กับราชวงศ์อายุ ๓,๐๐๐ ปีอันน่ามหัศจรรย์ของตนเกินไปจนลงมือกวาดล้างราชาธิปไตยเกาหลีทิ้งอย่างเหี้ยมเกรียมและยึดเอาเกาหลีเป็นเมืองขึ้นโดยไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนปรนใด ๆ ให้กับราชธรรมเนียมประเพณีของประเทศเก่าแก่แต่โบราณแห่งนั้นเลย

“แต่อังกฤษนั้นแตกต่างออกไป กล่าวคืออังกฤษเห็นแต่เนิ่นทีเดียวว่ามันเป็นประโยชน์ที่จะมีระบอบราชาธิปไตยที่ยอมสวามิภักดิ์คอยปกป้องผลประโยชน์ทั่วโลกของตน สาเหตุง่าย ๆ ๒ ประการเรื่องนี้ก็คือ: -

“ประการแรกก่อนอื่นใด จักรวรรดิอังกฤษนั้นใหญ่โตมโหฬารเสียจนกระทั่งจริง ๆ แล้วตนเองก็ไม่มีประชากรมากพอจะไปปกครองหลายพื้นที่ได้โดยตรง มันต้นทุนย่อมเยาว์และเข้าทีกว่ามากที่จะปกครองผ่านราชาธิปไตยท้องถิ่นที่เชื่อฟังสั่งได้รายย่อย ๆ หรือไม่ย่อยเท่าใดนัก และปกติหรือบ่อยครั้งทีเดียวระบบดังกล่าวไม่ได้ถูกเรียกว่าอาณานิคม หากเรียกว่ารัฐในอารักขา โดยมีตัวเราเป็นผู้อารักขาท่านไว้นั่นเอง แต่ระบบรัฐในอารักขานี้เอาเข้าจริงเปิดช่องให้อังกฤษสร้างระบอบราชาธิปไตยขึ้นได้หากต้องการ และอังกฤษก็ได้ทำเช่นนั้นในอิรัก, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์, จอร์แดน ฯลฯ

“ขณะเดียวกันก็ดำเนินการให้มั่นใจว่ากษัตริย์ทั้งใหม่และเก่าเหล่านี้ควบคุมประชากรท้องถิ่นได้ แต่ยอมปล่อยให้อังกฤษตัดสินใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพื้นฐาน, นโยบายความมั่นคงและป้องกันประเทศพื้นฐาน, และเหนือสิ่งอื่นใดคือยอมให้อังกฤษเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในตะวันออกกลางเห็นได้ชัดว่านี่ย่อมหมายถึงน้ำมัน

“ดังนั้นสิ่งที่ท่านเห็นในกระบวนการใช้การปกครองโดยอ้อมแทนที่จะเป็นโดยตรงซึ่งผมจะบรรยายผ่าน ๆ อย่างรวบรัดตามตารางโดยเน้นบางประเด็น ก็คือ:

“จอร์แดนซึ่งเป็นราชอาณาจักรที่อังกฤษสร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ในที่สุดก็ได้เอกราชใน ค.ศ. ๑๙๔๖
“อียิปต์ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญจอมปลอมซึ่งอังกฤษสร้างขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๒ หลังจากเคยเป็นรัฐในอารักขาอยู่ระยะหนึ่ง ก็มีอันสูญสลายไปใน ค.ศ. ๑๙๕๒
“เราได้พูดถึงมาเลเซียใน ค.ศ. ๑๙๕๗, เราได้พูดถึงราชาธิปไตยที่อังกฤษสร้างขึ้นในอิรักซึ่งล้มไปใน ค.ศ. ๑๙๕๘
“จากนั้นก็มีสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดตามมาในระยะหลังนี้ซึ่งผมจะอธิบายสาเหตุของมันให้ฟังในอึดใจข้างหน้า
“ค.ศ. ๑๙๖๑ คูเวตซึ่งเคยเป็นรัฐในอารักขามาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๔ กลายเป็นแคว้นเอกราชภายใต้รัฐธรรมนูญ
“ค.ศ. ๑๙๗๐ ตองกากลายเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญภายหลังเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษมา ๙๐ ปี
“ค.ศ. ๑๙๗๑ หลังจากบาห์เรนเป็นรัฐในอารักขามาร่วมร้อยปีก็ได้เอกราช และในที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญมาใน ค.ศ. ๒๐๐๒
“กาตาร์พ้นสภาพรัฐในอารักขาแล้วได้เอกราชในเวลาเดียวกัน แต่ยืนกรานปฏิเสธไม่เอารัฐธรรมนูญใด ๆ
“สิ่งเดียวกันเกิดขึ้นในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งบรูไนที่ซึ่งสุลต่านได้เอกราชจากกรุงลอนดอน, เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ, แต่แน่ล่ะว่าหาได้เป็นอิสระจากบริษัทน้ำมันเชลล์ไม่, และกระบวนการเดียวกันก็เกิดขึ้นในเลโซโทและสวาซิแลนด์ด้วย

“ฉะนั้นสิ่งที่ท่านเห็นตรงนี้จึงชวนตื่นใจยิ่งกล่าวคือการปรากฏตัวขึ้นอย่างน่าจับตาของบรรดารัฐขนาดจิ๋วซึ่งเป็นรัฐในอารักขาและปกครองโดยวงศ์ตระกูลต่าง ๆ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นผลผลิตของนโยบายที่ยืนนานของอังกฤษในอันที่จะปกครองผ่านระบอบราชาธิปไตยซึ่งอนุรักษ์นิยมและเชื่อฟังสั่งได้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

Screen Shot 2555-05-01 at 9.35.43 PM

นายฮาโรลด์ วิลสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษสังกัดพรรคแรงงาน ค.ศ. ๑๙๖๔-๗๐ และ ๑๙๗๔-๗๖

“และเหตุผลที่จู่ ๆ รัฐเหล่านี้ก็เริ่มได้เอกราชกันในคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ นั้นก็เพราะในปลายคริสต์ทศวรรษที่ ๑๙๖๐ รัฐบาลอังกฤษใต้การนำของฮาโรลด์ วิลสันตอนนั้นได้ประกาศต่อโลกว่าอังกฤษไม่มีปัญญาความสามารถที่จะธำรงรักษาแสนยานุภาพที่ตนเคยมีโดยเฉพาะในเอเชียอีกต่อไป

“เดิมทีอังกฤษมีผลประโยชน์เหนืออื่นใดในอันที่จะธำรงรักษาการควบคุมช่องทางเดินเรือทะเลทั้งหลาย อันได้แก่จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ผ่านทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย ช่องแคบมะละกา ต่อไปยังทะเลจีนและลงไปออสเตรเลีย สิ่งนี้สำคัญคับขันยิ่งต่อจักรวรรดิอังกฤษ และถึงค.ศ. ๑๙๖๘ อังกฤษก็ไม่มีสมรรถนะและแสนยานุภาพหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่จะทำสิ่งนี้อีกแล้ว และท่านก็อาจกล่าวได้ว่า ณ จุดนี้เองที่อเมริกาก้าวเข้ามาแทน

“แต่บรรดารัฐเอกราช/ราชาธิปไตยใหม่ที่โผล่ขึ้นมาเหล่านั้น - ซึ่งท่านย่อมทราบว่าผู้ปกครองบางรายก็ไม่ได้เป็นกษัตริย์มาก่อนจนกระทั่งอังกฤษจัดแจงให้ได้เป็นนั้น - มันเป็นมาตรการตอบรับความล่มสลายของจักรวรรดิอังกฤษในบั้นปลายอย่างหนึ่ง ฉะนั้นถ้าท่านแปลกใจว่าไฉนจู่ ๆจึงเกิดมีระบอบราชาธิปไตยใหม่โผล่ขึ้นมาเป็นทิวแถวละก็ นี่คือสาเหตุที่มาของมัน ทว่าระบอบดังกล่าวจะอยู่ยืนนานเพียงใดในระยะของการเคลื่อนไหวลุกขึ้นสู้ของมวลชนแผ่กว้างขนานใหญ่ที่เรียกว่าฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับปัจจุบัน นั่นเป็นเรื่องที่เราต้องรอดูต่อไป

“ดังนั้นประเด็นที่ผมใคร่จะเตือนให้ท่านระลึกไว้ก็มีเพียงว่าในประวัติศาสตร์ทั้งหมดของราชาธิปไตยโลกนั้น ตัวการใจกลางคือสหราชอาณาจักร อันเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเดียวที่มีผลประโยชน์ในอันที่จะสร้าง ค้ำชู ฯลฯ รัฐในอารักขาหรือราชาธิปไตยในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกแล้วรัฐเหล่านั้นก็เข้าสู่องค์การสหประชาชาติในที่สุด

“ผมหยุดแค่นี้ดีกว่า ผมไม่ได้พูดถึงประเทศไทย แต่ใคร่จะเสนอแนะว่าถ้าท่านสนใจใคร่รู้ว่าประเทศไทยสอดรับกับแบบแผนที่กล่าวมาตรงไหนละก็ ที่ ๆ ควรเริ่มดูคือลอนดอน ขอบคุณครับ”_

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

CORE Respondence : จอม เพชรประดับ – จักรภพ เพ็ญแข

$
0
0

จอม เพชรประดับ ผู้ดำเนินรายการจาก Voice TV สัมภาษณ์จักรภพ เพ็ญแข ถึงมุมมองต่อการเมืองไทยในช่วงที่มีความขัดแย้งและการเข้าสู่บรรยากาศปรองดอง คุยกันถึงมุมมองต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 และบทบาทสถาบันกษัตริย์กับการเมืองและขบวนการประชาธิปไตยไทย การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูประบบยุติธรรม และฟังการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคณะนิติราษฎร์กับคนเสื้อแดงและขบวนการประชาธิปไตย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TDRI ชี้ 300 บาท ช็อกโครงสร้างรายได้ทั้งประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ

$
0
0

ชัดเจนว่าการนโยบายค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวันและเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทของรัฐบาลครั้งนี้ มีผลกระทบมาก เกิดการปรับในขนานใหญ่ของฝ่ายนายจ้าง เพื่อลดภาระต้นทุน รักษาส่วนต่างกำไรไม่ให้น้อยลง แต่หากไม่วิตกกับผลกระทบด้านลบจนเกินไป การช็อกโครงสร้างค่าจ้าง ก็มีผลในด้านดีที่คาดไม่ถึงเช่นกัน เพราะเป็นการยกโครงสร้างรายได้ทั้งประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันการปรับตัวให้รอดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการค้าการลงทุน ให้กับเขาในโลกการค้าเสรีที่กำลังเกิดขึ้นได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การช็อกค่าจ้างไปอย่างรุนแรงนี้ มีผลทำให้ทุกคนตื่นตัวและเห็นว่าค่าจ้างเป็นส่วนที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจในอันที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนขายแรงงาน ขณะเดียวกันโครงสร้างแรงงานในฝ่ายต้องการใช้แรงงานซึ่งไม่ได้ปรับตัวมานานก็เกิดการปรับตัว จากปัจจัยนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงและมาตรการฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจปรับปรุงกิจการครั้งใหญ่

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้มีผู้ประกอบการหรือนายจ้างบางกลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องเลิกกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป โดยอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตประกอบอย่างเดียวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นายจ้างจึงต้องตื่นตัวและเร่งปรับตัวจึงจะอยู่รอด แต่บางส่วนที่ปรับตัวไม่ได้หรือปรับปรุงกิจการใช้เทคโนโลยีคู่แรงงาน ปรับโครงสร้างภายในแล้วยังไม่สามารถลดต้นทุนได้เพียงพอและยังเป็นกิจการที่ใช้แรงงานเป็นหลัก มีเรื่องค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญ ก็อาจพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปในประเทศใกล้เคียงที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่า เช่น พม่า กัมพูชา ฯลฯ

มีข้อมูลที่รับรู้กัน(ไม่เป็นทางการ) เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านคือ พม่า 30-45 บาทต่อวัน กัมพูชา 50-60 บาท เวียดนาม 67-96 บาท อินโดนีเซียอยู่ที่ 90-230 บาท ไทยเฉลี่ย 250 บาทต่อวัน ขณะที่การสำรวจค่าจ้างรายเดือนของภาคอุตสาหกรรมจริง ๆ (จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศแห่งหนึ่งในปี 2555) เฉลี่ยต่อเดือนพบว่า สิงคโปร์สูงกว่าไทย 11 เท่า มาเลเชียสูงกว่าไทย 1.7 เท่า ฟิลิปปินส์ใกล้เคียงกับไทยโดยต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 0.3% อินโดนีเซียต่ำกว่า 47% เวียดนามต่ำกว่า 44% จีนสูงกว่าไทย 68% เป็นต้น

แต่การตัดสินใจลงทุนยังต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกมาก เอสเอ็มอีไทยต้องเรียนรู้และเอาตัวรอด เปิดโลกทัศน์การลงทุน (มีความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่ น การเงิน การปกครอง กฏหมายให้มากกว่านี้) ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะการลงทุนในประเทศเท่านั้น เนื่องจากต่อไปจะเป็นการค้าเสรีภายใต้ชุมชนเศรษฐกิจอาเซียนมากขึ้น เราต้องคิดการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกทางเลือกที่มีค่าจ้างต่ำกว่าไทยอีกมากดังสุภาษิตจีนที่ว่า “ขาขวายังอยู่เมืองไทยแต่ขาซ้ายก้าวไปประเทศอาเซียน” ถ้าจะพลาดก็คงไม่ถึงตาย

ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า หากมองในแง่แรงงานอย่างเดียว ส่วนตัวคิดว่าการปรับค่าจ้างสูง (มาก)จะไม่มีผลเลวร้ายอย่างที่คิด เนื่องจากผู้ใช้แรงงานจะเกิดการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน โดยหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุนมีการจัดฝึกอบรมหรือรีเทรนด์นิ่งครบวงจร เอสเอ็มอีกลุ่มเสี่ยงอาจเน้นเป็นการอบรมเพื่อเปลี่ยนอาชีพไปเลย ขณะที่ฝ่ายแรงงานซึ่งบางส่วนถูกเลิกจ้าง เกิดการว่างงานเฉพาะกลุ่ม ขณะที่นายจ้างเมื่อปรับปรุงก็ต้องการแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะเช่นกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ ต้องมีความเข้มข้นในการจัดฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพแรงงานตามที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยทั้งตัวแรงงานและนายจ้างปรับตัวให้รอดได้ โดยมีเงื่อนที่นายจ้างกลุ่มเสี่ยงก็ต้องให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันด้วย และการอบรมควรเน้นไปที่คนที่จะเข้ามาแทนคนที่ขาดหรือถูกปรับออก

ในสถานการณ์นี้ลูกจ้างเมื่อตกงานก็ยังสามารถไปทำงานที่อื่นหรือกลับไปสู่ภาคเกษตรที่รองรับได้ แต่ผลกระทบกับนายจ้างที่ปรับตัวไม่รอด การตกงานของนายจ้างจึงเป็นการเปลี่ยนสถานะจากนายจ้างไปเป็นลูกจ้างในสถานประขนาดใหญ่หรือมาฝึกอบรมเพื่อเปลี่ยนอาชีพไปเลย ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการสร้างโอกาสเช่นกัน.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

May Day 2012 : ขบวนการแรงงานไทย ‘นับถอยหลังสู่จุดจบ’

$
0
0

ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ‘ขบวนการแรงงาน’ ซึ่งไม่ใช่เป็นมุมมองของตัวคนงาน นักสหภาพ หรือนักกิจกรรมด้านแรงงาน อาจจะมองประเด็นไม่ครบถ้วน และพร้อมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อขบวนการแรงงานไทย

โดยทรรศนะของผู้เขียนคิดว่า  ขบวนการแรงงานไทยกำลัง ‘นับถอยหลังสู่จุดจบ’ โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้

ความอ่อนแอของสหภาพแรงงานเอง

ปัจจุบันพบว่าการริเริ่มรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่คนงานพบปัญหาก่อน เช่น นายจ้างไม่จ่ายโบนัส หรือนายจ้างปรับลดสวัสดิการต่างๆ และเมื่อตั้งสหภาพแล้ว นายจ้างยังใช้มาตรการโต้กลับต่างๆ เช่น การเลิกจ้างแกนนำ ไม่ให้ความร่วมมือในการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน สิ่งเหล่านี้มักจะทำให้คนงานเกิดอาการ ‘ถอดใจ’

รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและความเข้าใจต่อสหภาพแรงงานในแง่ลบ ก็เป็นปัจจัยที่ทำคนงานไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้หากจะมีการตั้งสหภาพแรงงาน จะต้องคำนึงถึงการดำเนินการระยะยาว รวมถึงการประคองให้สหภาพแรงงานคงอยู่และดำเนินกิจกรรมได้เท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างในปัจจุบัน

การรุกคืบของ ‘ลัทธิเอ็นจีโอ’

การรุกเข้ามาขององค์กรให้ทุนต่างๆ เช่น ทุนทางด้านสุขภาพ (ที่เรียกรวมๆ ว่าเรื่อง ‘สุขภาวะ’ ) ทุนด้านการเมืองต่างๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมการเขียนขอทุนให้กับองค์กรแรงงานหรือนักสหภาพแรงงานแทน

ทั้งนี้วัฒนธรรม ‘การจ่ายเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง’ ของสหภาพแรงงาน ถูกกลับหัวกลับหางมาเป็น วัฒนธรรม ‘การขอเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง’ แทน ซึ่งจะเป็นผลเสียในระยะยาวขององค์กรสหภาพแรงงาน ละเลยการจัดการบริหารองค์กรที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งสมาชิกใหม่ๆ การจัดการศึกษา และการเก็บค่าสมาชิกเป็นต้น

รวมถึงความต่อเนื่องในการให้ทุนการต่อทุนโครงการปีต่อปี (หรือมากกว่านั้น) ซึ่งหากองค์กรแรงงานแขวนชีวิตไว้กับการขอทุนก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้เมื่อ ‘แหล่งทุนไม่ต่อโครงการ’

ทั้งนี้องค์กรสหภาพแรงงานเป็นองค์กรที่ต้องมีเป้าหมายในระยะยาว ดำเนินกิจกรรมด้วยลำแข้งตนเอง การเพิ่มปริมาณสมาชิกและการจัดเก็บค่าสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ทรัพยากร ‘นักสหภาพแรงงาน’ ถูกดึงเข้าสู่ภาค ‘เอ็นจีโอ’

ผู้นำสหภาพและแกนนำคนงาน ถูกดึงไปร่วมโครงการต่างๆ ของเอ็นจีโอ เช่น การปฎิรูปกฎหมายในภาพกว้าง เวทีเสวนาในส่วนกลาง ทำให้ผู้นำสหภาพและแกนนำคนงานทิ้งพื้นที่ปัญหา ละเลยการจัดตั้งในพื้นที่ของตัวเอง ละเลยการทำงานให้กับสหภาพแรงงานหรือกลุ่มแรงงานฐาน เป็นต้น

เล่นบทบาทที่ผิดฝาผิดตัว

ตัวอย่างเช่น บทบาทของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่มาเล่นบทบาทการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ผลักดันนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ส่วนปัญหาหลักของคนงานในภาครัฐวิสาหกิจไทยคือการแปรรูป และประสิทธิภาพขององค์กรรัฐวิสาหกิจ และการเข้ามาของคนงานจ้างเหมาช่วงในกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งควรขับเคลื่อนปัญหาหลักขององค์กรก่อน

ทั้งนี้องค์กรสหภาพแรงงานควรทำการจัดตั้งเอาแรงงานข้ามชาติเข้าสู่สหภาพแรงงาน เช่นเดียวกับคนงานจ้างเหมาช่วง คนงานสัญญาระยะสั้นต่างๆ ส่วนบทบาทนักสังคมสงเคราะห์ควรให้องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติทำแทน (ร้องเรียนเรื่องปัญหาปัจเจกต่างๆ)

หรือประเด็นการนำองค์กรแรงงานเข้าไปทำงานร่วมในประเด็นที่กว้างเกินไป เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น

ไม่มีการสร้างองค์ความรู้ด้าน ‘สหภาพแรงงาน’

สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่มีหลักสูตรการสอนเรื่องสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน มีแต่เป็นหัวข้อในวิชารัฐศาสตร์ หรือในวิชาบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์

ปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง

เทรนด์ในระดับโลกสำหรับเรื่องการจ้างงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คือการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น การทำให้ต้นทุนในการจ้างเป็นต้นทุนที่ไม่คงที่ นายจ้างสามารถปรับลดคนงานออกได้ตลอดเวลา การจ้างงานแบบประจำจะหายไป เนื่องจากการทำงานในระยะเวลาที่นานขึ้น สวัสดิการต่างๆ ก็จะสูงขึ้น

การจ้างงานไม่มั่นคงแบบนี้เป็นผลเสียต่อองค์กรสหภาพแรงงานเนื่องจากมีการเปลี่ยนคนงานเข้าออกตลอดเวลา ส่งผลกระทบให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง และความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานก็จะหายไป 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ครม.เคาะงบเหมาจ่าย สปสช. ปี 56 ลดลง 4.9%

$
0
0

แพทย์ชนบทเผยเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีของระบบบัตรทองที่งบเหมาจ่ายรายหัวลดลง ชี้กระทบระบบ 30 บาทครั้งใหญ่ 

คณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ 1 พค.ที่ผ่านมา  เห็นชอบตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวระบบสปสช.ปีงบ 2556 อยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อหัว  ลดจากปีนี้ 141 บาทต่อหัว  หรือลดลง 4.9 % และลดงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวาน  ความดันโลหิตสูง   6.3%  แพทย์ชนบทชี้เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีของระบบบัตรทองที่งบเหมาจ่ายรายหัวลดลง  จะสร้างปัญหาให้กับหน่วยบริการและทำให้เป็นระบบสำหรับผู้ป่วยอนาถาเหมือนในอดีตสวนทางกับนโยบายรัฐบาล

ก่อนหน้านี้บอร์ดสปสช.มีมติเห็นชอบให้เสนอรัฐมนตรีตั้งงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2556  อยู่ที่ 2,939.73 บาทต่อคน  และในอดีตที่ผ่านมามีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวตามการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปีละ 3%  และเงินเดือนเพิ่มเฉลี่ย 6% โดยปี 2553 งบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น 9%   ปี 2554 เพิ่มขึ้น 6%  และปี 2555 สมัยรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ อนุมัติให้เพิ่ม 13.8%

นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกีรยติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ชี้ว่า  การอนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2556  ลดลงประมาณ 5% รวมทั้งลดงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกกว่า 6% จะทำให้กระทบต่อฐานะการเงิน  และการให้บริการของหน่วยบริการเพราะมีค่าใช้จ่ายจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ป่วย สปสช.เข้าไม่ถึงการบริการ การบริการมีคุณภาพต่ำลง กลายเป็นผู้ป่วยอนาถา เพราะผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม  รัฐบาลให้งบประมาณต่อหัวมากกว่า  คือเป็นการตั้งงบประมาณที่สวนทางกับที่รัฐบาลประกาศว่าจะสร้างความเท่าเทียมระหว่างกองทุนทั้งสามกองทุน   โดยเพิ่มคุณภาพการบริการของระบบ 30 บาท  และให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพและป้องกันโรค

“นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ต้องตอบคำถามสังคมและคนไทยว่า  ในยุคสมัยของรัฐบาลนี้ที่ต้องการสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุน  ต้องการให้ระบบ 30 บาทมีคุณภาพมากขึ้นต้องการเน้นป้องกันมากกว่าการรักษา  ทำไมกลับตัดงบเหมาจ่ายรายหัวและงบส่งเสริมป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงลง และเป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีส่งสัญญาณล้มระบบบัตรทอง”  ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทความ ‘แด่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในวาระครบรอบวันเกิดปีที่ 20’

$
0
0

เนื่องในวันพรุ่งนี้ เป็นวันครบรอบ 20 ปีการสถาปนากรมทรัพย์สินทางปัญญา คงไม่มีสิ่งใดจะดีไปกว่าการให้สติแก่กันฉันกัลยาณมิตร

“ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่าตื่นตระหนกกับรายงานมาตรการพิเศษ 301 ของสหรัฐฯ จนยอมตามข้อเรียกร้องที่ไม่ธรรมและสร้างปัญญาให้กับการสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว แนะกรมฯ ตั้งสติควรยึดหลักความสมดุลย์ระหว่างการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของภาคธุรกิจและคุ้มครองสาธารณประโยชน์ของประชาชน”

ทุกๆ ปี ก่อนวันเกิดของกรมฯ สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯจะออกรายงานมาตรการพิเศษ  301 (Special 301 Report) ประจำปี ปรากฎว่า ปีนี้ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ  PWL (Priority Watch List) เช่นเดียวกับอีก 12 ประเทศ

ประเทศไทยถูกกล่าวหาและขึ้นบัญชีว่าเป็นประเทศที่ “ด้อยประสิทธิภาพ” ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ มาหลายวาระหลายโอกาส และด้วยข้อหารุนแรงที่ต่างระดับกันไป  ในปีนี้ไทยถูกจัดกลุ่มเป็น “ประเทศที่ต้องจับตามอง” เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลังจากที่ไทยนำมาตรการใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตร หรือมาตรการซีแอล มาใช้เพื่อลดราคายาจำเป็น เช่น ยารักษาเอชไอวี โรคหลอดเลือดตีบตัน และโรคมะเร็ง โดยนำเข้ายาชื่อสามัญในราคาที่ถูกกว่าแต่มีคุณภาพเทียบเท่ามาจากอินเดีย มาใช้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ โดยยื่นข้อเสนอจ่ายค่าใช้สิทธิ์ให้กับเจ้าของสิทธิบัตร   ในครั้งนั้น สหรัฐฯ แจ้งเหตุผลชัดเจนว่า จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเพราะไทยนำมาตรการยืดหยุ่นนี้มาใช้ ทั้งๆ ที่มาตรการนี้อยู่ในข้อตกลงสากลว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทาง ปัญญา หรือข้อตกลงทริปส์ และกฎหมายสิทธิบัตรของไทย และประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ ก็นำมาใช้เช่นกันเป็นเรื่องปกติ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯเอง

หลังจากนั้น ไทยก็ถูกแขวนอยู่ในบัญชี PWL เรื่อยมา ด้วยข้อหาเดิมๆ ที่นิยมถูกขุดขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เนืองๆ เมื่อต้องการกดดันประเทศไทย ข้อหาเดิมๆ ก็ไม่พ้นเรื่องของลิขสิทธิ์เทปผีซีดีเถื่อน แต่สหรัฐฯ ไม่กล้าอ้างเรื่องการใช้มาตรการซีแอลกับยาจำเป็นในรายงานมาตรการพิเศษ 301 อีก เพราะเรื่องซีแอลของไทยกลายเป็นกระแสทั่วโลกและเกิดแรงกดดันประนามสหรัฐฯ จึงทำให้อเมริกาจำต้องละไม่เอ่ยถึงเรื่องซีแอล แต่หันมาใช้ข้อกล่าวหาเรื่องอื่นแทน

ในปีนี้มีข้อเรียกร้องใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา และดูเหมือนว่า จะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจริงๆ คือ ต้องการให้ประเทศไทยต้องลงนามในสนธิสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาสากลหรือ WIPO (World Intellectual Property Organization) ซึ่งจะมีผลทำให้ไทยต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงแบบทริปส์พลัส และไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น เนื่องจากไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกและปฎิบัติตามข้อตกลงต่างๆตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว

สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง หรือ ACTA (Anti-counterfeiting Trade Agreement) สหรัฐฯ ไม่ได้พูดตรงๆ ในรายงาน แต่พูดว่าไทยต้องปรับปรุงเรื่องสินค้าปลอมแปลง  นัยสำคัญของเรื่องนี้ คือ ยาชื่อสามัญที่ปลอดภัยและมีคุณภาพจะถูกเหมารวมว่าเป็นยาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ ได้ง่ายๆแม้เพียงแค่ต้องสงสัย และจะถูกยึด ส่งกลับ หรือทำลาย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องยาหรือทรัพย์สินทางปัญญา  นอกจากนี้ ยังให้อำนาจสามารถยึดจับยาที่อยู่ในระหว่างการขนส่ง ทั้งๆ ที่ยาดังกล่าวไม่มีสิทธิบัตรในประเทศต้นทางและปลายทาง  ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการละเมิดข้อตกลงทริปส์และขัดขวางการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา

สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยมี  “การผูกขาดข้อมูลทางยา” หรือ  Data Exclusivity (DE) ซึ่งจะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับการสาธารณสุขของไทย เพราะจะเป็นการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยจะให้มีการผูกขาดตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก 5-13 ปี ทั้งๆ ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรอยู่แล้ว 20 ปีตามกฎหมายสากลและไทย  เช่นเดียวกัน อเมริกาไม่ได้อ้างตรงๆ ว่าเป็น DE แต่สามารถอ่านออกได้ไม่ยากว่าอะไรคือวาระซ่อนเร้น ทั้งนี้ ทางนักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เคยทำวิจัยประเมินพบว่า หากไทยต้องยอมให้มีการผูกขาดข้อมูลทางยา 5 ปี และ 10 ปี จะส่งผลให้ใน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดผลกระทบ คือ ราคายาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน ร้อยละ 13 และ 27 ตามลำดับ, ค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์พื้นฐาน 190,682.94 และ 325,264.49 ล้านบาท ตามลำดับ, ส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่า 38,800.30   และ 94,586.44 ล้านบาท ตามลำดับ และนี่ทำให้ข้อสรุปของงานวิจัยผลกระทบของทริปส์พลัสชิ้นนี้ระบุว่า “การผูกขาดข้อมูลทางยา” คือข้อเรียกร้องแบบทริปส์พลัสที่ร้ายแรงที่สุด

นอกจากนี้ สหรัฐฯยังเรียกร้องให้บรรษัทหรือหน่วยงานในอาณัติของตนต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณานโยบาย หรือกฎหมายในทุกขั้นตอน โดยอ้างเรื่อง “ความโปร่งใส” ทั้งๆ เรื่องนี้เป็นอธิปไตยของประเทศและรัฐควรจะมีสิทธิและอำนาจจัดการได้เอง ขณะที่ขั้นตอนต่างๆในการจัดทำรายงานของสหรัฐฯ ไม่มีความโปร่งใส

มาตรการพิเศษ 301 เป็นมาตรการที่เรียกได้ว่าเป็นการ “กระทำฝ่ายเดียว” นั่นหมายความว่า “ข้าดูเอง พิจารณาเอง กล่าวหาเอง และตัดสินเอง”  ประเทศคู่ค้าไม่สิทธิโต้เถียง เพียงแต่ทำตามที่สั่งเท่านั้นพอ  ถึงแม้จะมีการแก้ไขให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและภาครัฐใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนเป็นเพียงละครสร้างภาพความใจกว้างและความชอบธรรมให้สหรัฐฯ เท่านั้นสิ่งที่รัฐบาลของแต่ละประเทศที่เป็นคู่ค้ากับอเมริกามักเป็นกังวล  จนบางครั้งสติแตกเหมือนกับประเทศไทยในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา คือ เกรงว่า มาตรการพิเศษ 301 จะนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้น ที่สหรัฐฯ มักจะขู่นำมาใช้ “ลงโทษ” แบบศาลเตี้ย เช่น การตัดสิทธิพิเศษด้านการส่งออก หรือ GSP  หลายรัฐบาลยอมที่จะถูกกดขี่และทำตามสิ่งที่อเมริกาเรียกร้อง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านการส่งออกและเสียสละประโยชน์ของคนบางกลุ่มใน ประเทศ ซึ่งไม่พ้นคนยากจนและไร้อำนาจต่อรอง

ทั้งๆ ที่ทั้งโลกมีข้อตกลงด้านการค้าหลายๆ ฉบับอยู่ภายใต้องค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นเวทีสากลที่ประเทศเกือบทั้งโลกเป็นสมาชิกอยู่  แต่เนื่องจากเวทีองค์การการค้าโลกเป็นเวทีแบบพหุภาคี และข้อตกลงใดๆ ก็ตามต้องเป็นเอกฉันท์ของประเทศสมาชิกทั้งหมด  จึงไม่ง่ายสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจะเรียกร้องสิ่งต่างๆ ได้ตามอำเภอใจในเวทีนี้ และหันมาใช้วิธีไล่บี้เป็นรายประเทศโดยถือว่าตนเองมีอำนาจทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจที่เหนือกว่า ดังเช่นมาตรการพิเศษ 301 และข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ

รัฐบาลไทยควรจะกล้าหาญและเท่าทันมากขึ้น และกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรทำหน้าที่ทางปัญญาให้แก่ผู้กำหนดนโยบายว่า ไม่จำเป็นต้องไปตื่นตระหนกไปกับรายงานฯ ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับนักการเมืองหรือข้าราชการ 

ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้วที่ประเทศไทยถูกกดดันเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรสรุปบทเรียนเรื่องมาตรการพิเศษ 301 เสียทีว่า แท้จริงแล้วเราเสีย “ค่าโง่” ยอมให้สหรัฐฯ ไปแบบได้ไม่คุ้มเสียหรือเปล่า ควรสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยที่เป็นกลางที่ศึกษาและพิสูจน์ผลกระทบและประโยชน์ต่างๆ ที่ได้และที่ต้องเสียให้กับสหรัฐฯ จากมาตรการพิเศษ 301 รวมทั้งกลับไปยึดมาตรฐานความตกลงขององค์การการค้าโลกที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ และที่สำคัญที่สุด ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตระหนักในพันธกิจของตัวเองในฐานะหน่วยราชการที่ดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญานั้น มีหน้าที่ทั้งรักษาผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและด้านรักษาประโยชน์ของสาธารณะซึ่งกรมฯมีหน้าที่ทำทั้งสองด้านให้สมดุลย์กัน

 

 

สามารถดูรายงานมาตรการพิเศษ  301 ปีปัจจุบันได้ที่ http://www.ustr.gov/sites/default/files/2012%20Special%20301%20Report_0.pdf

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา ‘ผลกระทบคนงานลำพูนกับค่าจ้าง 300 บาท’ ระบุนายจ้างใช้เรื่องการขึ้นค่าแรงตัดลดสวัสดิการ

$
0
0
 
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน, สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.)  และสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ได้จัดงานเสวนา “ผลกระทบคนงานลำพูนกับค่าจ้าง 300 บาท” ณ ห้องประชุม โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ จังหวัดลำพูน 
 
วิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ กล่าวว่าผลกระทบต่อคนงานลำพูนกับนโยบายการขึ้นค่าแรง 40% ทั่วประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อคนงานคือถูกนายจ้างตัดสวัสดิการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการขึ้นค่าแรง โดยบริษัทใช้วิธีการแนบเนียนทำให้พนักงานยินยอมตัดสวัสดิการ เช่นที่บริษัทที่ตนทำงานอยู่ ทั้งนี้การต่อรองกับนายจ้างยังไม่มีพลังพอเพราะการรวมตัวของสหภาพยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร แต่ในอนาคตสหภาพก็จะมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อไป 
 
อัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทโฮยาฯ โดยประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ที่โรงงานเลิกจ้าง เพราะอ้างขาดทุนจากน้ำท่วม ผู้บริหารใช้เทคนิคการเลิกจ้าง ให้หยุดอยู่บ้านก่อน ถ้าใครยินยอมจะได้เงินเพิ่ม 2 เดือน เป็นเทคนิคที่จูงใจให้คนงานยินยอมเอง ดูเหมือนไม่ได้บังคับ แต่และล่าสุดบริษัทได้เลิกจ้างตน ซึ่งเป็นประธานสหภาพฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัทอ้างว่าตนขาดงาน ทั้งที่ตนลางานถูกต้องตามระเบียบ 
 
ทั้งนี้อัครเดชวิเคราะห์ว่าอาจเป็นการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้บริษัทรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้กลับเข้ามาทำงาน จึงถูกเลิกจ้างในที่สุด
 
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นการต่อสู้ของคนงานว่าการสู้กับทุนด้วยวิธีทางกฎหมายส่วนใหญ่จะทำได้ยาก การฟ้องศาลเพื่อให้รับแรงงานกลับเข้าไปทำงาน แต่ท้ายสุดแล้วอำนาจการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับคนงานกลับเข้าทำงานกลับไปอยู่ที่นายจ้าง ไม่ใช่อยู่ที่ศาลหรือผู้พิพากษา ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ามีน้อยมากที่คนงานจะได้กลับเข้าไปทำต่อ การต่อสู้ของคนงานจึงจะใช้เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ 
 
เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน กล่าวว่างานของสหภาพแรงงานเรื่องการจัดตั้งทางความคิดสำคัญมาก โดยเฉพาะสหภาพแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ต้องมีจิตสำนึกเป็นผู้นำ มีวุฒิภาวะ เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ ค้องสร้างความเข้มแข็งให้สหภาพแรงงานของตนรวมทั้งขยายเครือข่ายจัดตั้งไปยังโรงงานอื่นๆ
 
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงตัวอย่างการรวมกลุ่มของคนงานที่ได้รับความเจ็บป่วยที่ฮ่องกงที่เข้าไปสู้ในกระบวนการของศาล นอกจากนี้แล้วยังมีการเคลื่อนไหวรณรงค์เป็นประเด็นสาธารณะ 
 
“ที่สำคัญคุณต้องมีจิตใจ คุณต้องออกมาเดินขบวน คุณต้องอยู่ในสื่อตลอดเวลา สร้างพื้นที่ และจิตสำนึกการต่อสู้ คุณต้องรักผู้นำ คุณต้องรักสหภาพฯ โดยให้ทุกคนมีวิธีคิดกระบวนการ ใช้ทุกวิธีการให้คนเกิดจิตสำนึก เคลื่อนต่อสู้ตลอดเป็นข่าวให้ได้” วรวิทย์กล่าว
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิยบุตร-สุดสงวน อาจารย์มธ.เบิกความ คดี “สมยศ”

$
0
0

 

2 พ.ค.55 การสืบพยานในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin  ในช่วงเช้า มีพยานฝ่ายจำเลยเข้าเบิกความ 2 ปาก คือ
ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ .) รศ.สุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ปิยบุตร เบิกความกับทนายจำเลยว่า ตนกับอาจารย์อีก 5 คน เริ่มก่อตั้งคณะเพื่อทำงานด้านกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2543 โดยมีจุดประสงค์เพื่อจะรณรงค์ ขยายความคิดด้านกฎหมายแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับหลักนิติรัฐและ ประชาธิปไตย เรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เป็นสิ่งหนึ่งที่ให้ความสนใจมามากกว่า 1 ปีแล้ว  พบว่ากฎหมายนี้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในลักษณะที่การกำหนดโทษรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพราะคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เพิ่มโทษกฎหมายหมิ่นฯ ทั้งระบบเพื่อจะกำจัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของนักศึกษา

ในส่วนของการตีความกฎหมาย ปิยบุตรเห็นว่า คำว่าหมิ่นประมาท ดูหมิ่น  แสดงความอาฆาตมาดร้าย ในมาตรา112 ก็มีความหมายเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในมาตรา 326  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท และมาตรา392 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท จึงเห็นได้ว่าแม้การตีความจะไม่ต่างกันแต่การกำหนดโทษกลับรุนแรงกว่ามาก (มาตรา112 มีโทษจำคุก3-15ปี) ทั้งที่จริงแล้วก็ไม่มีการนิยามลักษณะความผิดของมาตรา112 ไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด  นอกจากนี้มาตรา112 ยังไม่มีเหตุยกเว้นความผิดในกรณีที่วิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตใจ และยังถูกจัดไว้ในหมวดความมั่นคง ซึ่งถือว่าขัดกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ และไม่รักษาสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

ปิยบุตรขยายความในประเด็นการจัดมาตรา112 ไว้ในหมวดความมั่นคงว่า  การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง เพราะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อเสียชื่อเสียงเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การกำหนดโทษหมิ่นพระมหากษัตริย์ให้สูงกว่าบุคคลทั่วไป เป็นสิ่งที่สามารถทำได้แต่ไม่ควรสูงมากเกินไป หรือมากเท่าปัจจุบัน ซึ่งในต่างประเทศก็มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับมาตรา112 แต่มีโทษน้อยกว่า ที่สำคัญยังมีการยังมีการดำเนินคดีและลงโทษน้อยมาก อาจลงโทษแค่ปรับ ตัวกฎหมายนี้แม้ว่ามีอยู่แต่ก็เสมือนตายไปแล้ว ซ้ำเมื่อศาลมีคำพิพากษาก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้

ทนายถามถึงนิตยสาร Voice of Taksin  ปิยบุตรเห็นว่า มีบทความที่เนื้อหาก้าวหน้ากว่านิตยสารเล่มอื่นๆ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครองในเอเชีย  ส่วนในเนื้อหาบทความที่พบการกระทำความผิด  ปิยบุตรเห็นว่า คนที่ผู้เขียน คือจิตร พลจันทร์ ต้องการกล่าวถึงอำมาตย์  ซึ่งหมายถึงบุคคลชนชั้นหนึ่งที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมาตลอด ในบทความแผนนองเลือดที่กล่าวถึงการวางแผนฆ่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี  ปิยบุตรเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการเตือนว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก และเตือนว่าอำมาตย์อย่าทำแบบนี้เลย โดยเมื่ออ่านบทความทั้งหมดแล้ว ไม่ได้ทำให้นึกถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และบทความ 6ตุลา แห่ง2553 นั้น หลวงนฤบาลเป็นสัญลักษณ์แทนอำมาตย์ ไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปิยบุตรให้ความเห็น เกี่ยวกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆ มิได้ โดยเขาเห็นว่า คำว่า”เคารพสักการะ” เขียนขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ไว้บังคับให้ประชาชนทำ และ “ละเมิดมิได้” หมายถึง ห้ามฟ้องร้อง ไม่ใช่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา48 ที่บัญญัติให้ บก.หนังสือต้องรับผิดชอบต่อบทความที่ตีพิมพ์ ปิยบุตรทราบว่าได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แทน ซึ่งระบุว่าบก.และผู้พิมพ์โฆษณาไม่ต้องรับผิดชอบเนื้อหาบทความ แม้ว่าจะเป็นผู้เผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาหมิ่นก็ตาม

พนักงานอัยการโจทย์กล่าวถึงประวัติศาสตร์รอยต่อของกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีสติฟั่นเฟือน จึงถูกรัชกาลที่1 ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ ปิยบุตรเห็นว่านำมาเชื่อมโยงกับบทที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ และผู้เขียนบทความก็ไม่มีเจตนาอาฆาตมาดร้าย เพียงแต่เล่าเรื่องไปตามปกติ

ทนายจำเลยถามติงอีกครั้ง  ปิยบุตรเห็นว่า การดำเนินคดีนี้ คนที่มีหน้าที่หาผู้กระทำผิดมาลงโทษก็คือเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยซึ่งเคยเป็น บก. และในประเด็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่อยู่ในกระแสหลักและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปก็อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

ต่อมา รศ.สุดสงวน สุธีสร เบิกความถึงชื่อนิตยสาร Voice of Taksin ว่าเป็นชื่อที่ตั้งมาเพื่อกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ตนอ่านTaksin ว่าตากสิน ไม่ใช่ทักษิณ ในส่วนเนื้อหาบทความ สุดสงวนเห็นว่าทั้งสองบทความเขียนไปในลักษณะการเล่า เป็นวรรณกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้อิงกับหลักวิชาหรือประวัติศาสตร์ เขียนตามใจผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่า หลวงนฤบาล หมายถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ทนายถามถึงสถาบันกษัตริย์กับรัฐธรรมนูญ สุดสงวนทราบว่าพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ทราบว่าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีคดีนี้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ทราบว่ากฎหมายนี้มีความร้ายแรงต่อความรู้สึกและกำหนดโทษหนักมาก สุดสงวนเห็นว่าการถูกดำเนินคดีตามาตรา112 ถือเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป่าไม้รุกหนัก บุกรื้อบ้าน “ซาไก” ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด

$
0
0

วันนี้ (2 พ.ค.55) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อประมาณ 11.00 น.หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ได้นำกำลังไปรื้อถอนขนำ (ที่พักชั่วคราว) ของซาไกในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

เมื่อเวลา 14.00 น. มีความชัดเจนว่า ที่เกิดเหตุคือ บ้านท่าเขา ม.5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งถูกเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดประกาศทับซ้อนพื้นที่ และมีหน่วยงานป่าไม้อยู่ในหมู่บ้าน

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด นำกำลัง 50 นาย ปิดทางเข้าหมู่บ้าน และทำการรื้อถอนสะพานทางเข้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งขนำ 2 หลัง เป็นขนำชาวบ้าน 1 หลัง และเป็นขนำของซาไกที่มาช่วยทำงานให้ชาวบ้าน 1 หลัง

ทั้งนี้ ชนเผ่าซาไก หรือมันนิ ที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาบรรทัดในพื้นที่ จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.สตูล ถือเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม สำหรับ จ.ตรัง ชนเผ่าซาไกที่อาศัยในพื้นที่ อ.ปะเหลียน จากการสำรวจเมื่อปี 2552 มีจำนวน 99 คน อยู่ใน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคลองตง หมู่ 2 ต.ปะเหลียน กลุ่มควนไม้ดำ หมู่ 2 ต.ปะเหลียน กลุ่มเจ้าพระ หมู่ 14 ต.ปะเหลียน และกลุ่มท่าเขา หมู่ 5 ต.ลิพัง อ.ปะเหลียน

วิถีชีวิตของชนเผ่าซาไก ชอบความเป็นอิสระ มีการอพยพย้ายถิ่นฐานบ่อยครั้งไม่ชอบคบหาสมาคม ยอมรับหรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับคนกลุ่มอื่น ส่งผลให้กลุ่มเผ่าซาไกตกหล่นจากการสำรวจการจัดทำทะเบียนราษฎรของหน่วยงานรัฐ และขาดซึ่งสิทธิในสวัสดิการสังคม

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านอุดรฯ ชุมนุมหน้า กพร.ถามความคืบหน้า 5,800 ชื่อ ยื่นค้านประทานบัตรเหมืองโปแตช

$
0
0
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชุมนุมหน้า กพร.จี้ชี้แจงกรณียืนรายชื่อคัดค้านโครงการเหมืองแต่เงียบหาย หลังร่วมประชุม กพร.ได้ข้อสรุปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหา-พิสูจน์ข้อเท็จจริงร่วมกัน กรณีใบไต่สวนที่เป็นเท็จ
 
 
 
2 พ.ค.55 เวลา 08.00 น.ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน เดินทางมาชุมนุมกันบริเวณหน้ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ เพื่อทวงถามถึงกรณีที่กลุ่มชาวบ้านจำนวนกว่า 5,800 รายชื่อ ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ระยะเวลาผ่านไปกว่า 4 เดือน ยังไม่ได้รับตอบคำจาก กพร.ตามประเด็นที่คัดค้าน
 
ขบวนของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เดินทางมาถึง กพร.ในตอนเช้ามืด ซึ่งชาวบ้านทุกคนได้จัดการสถานที่ หุงหาอาหาร และปฏิบัติภารกิจส่วนตัวแล้วเสร็จ หลังจากนั้นการชุมนุมจึงได้เริ่มขึ้นในภาคเช้า โดยแกนนำชาวบ้านได้สลับกันขึ้นปราศรัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ และทำความเข้าใจกับสาธารณชนที่ผ่านไปมาให้รับรู้ถึงที่มาของการเข้ามาชุมนุมในวันนี้
 
หลังจากนั้นในตอนบ่ายกลุ่มชาวบ้านจึงได้รับการประสานงานจากตัวแทน กพร.ในการจัดเวทีเจรจาระหว่าง กลุ่มชาวบ้าน กับ อธิบดี กพร.และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ ของ กพร.เพื่อหาทางออกของการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
 
นางมณี บุณรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ชี้แจงถึงการที่ชาวบ้านต้องมาร่วมกันปักหลักชุมนุมที่ กพร.ในครั้งนี้ว่า เมื่อ 4 เดือนที่แล้วชาวบ้านได้ยื่นรายชื่อชาวบ้านจำนวนกว่า 5,800 รายชื่อ และหนังสือคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชที่ จ.อุดรธานี เพราะในใบไต่สวนของทั้ง 4 แปลงข้อมูลคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทางกลุ่มชาวบ้านจึงได้ทำการคัดค้านตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดไว้
 
“แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 4 เดือนชาวบ้านไม่ได้รับคำตอบหรือการชี้แจงในประเด็นการคัดค้านของชาวบ้านแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงได้พากันมาทวงถาม และขอคำชี้แจงจาก กพร.ในวันนี้” แกนนำชาวบ้านกล่าว
 
ด้าน นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ชี้แจงและตอบข้อคำถามของชาวบ้านถึงประเด็นการคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตรว่า ประเด็นในการตอบคำถามต่างๆ ของชาวบ้านที่ส่งมาเพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรนั้น เพิ่งจะทำแล้วเสร็จในช่วงกลางคืนที่ผ่านมา จึงนำมาชี้แจงเป็นรายประเด็นในวันนี้
 
“ในส่วนการปิดประกาศเขตคำขอประธานบัตรเหมืองแร่ฯ นั้นเมื่อมีคนมาคัดค้านก็ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งการที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ มีการโต้แย้งใบไต่สวนว่ามีข้อมูลผิดพลาดไปจากสภาพข้อจริงในพื้นที่ ก็จำต้องมีการพิสูจน์ความจริงให้เกิดขึ้น ถ้าหากว่าเป็นการกระทำผิดจริงโดยเจ้าหน้าที่ก็ต้องว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ถ้าหากว่าผิดจริงก็ว่ากันไปตามความผิด” นายสมเกียรติกล่าว
 
ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ข้อเท็จจริงจากการคัดค้านการประกาศคำขอประทานบัตรของชาวบ้าน กพร. ต้องยุติการดำเนินการทุกกระบวนการ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีใบไต่สวนที่เป็นเท็จก็ต้องมีคนรับผิด จะต้องมีการหารือกันทางกฎหมายในกรณีที่มีการโกหกในใบไต่สวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชการที่มีส่วนรู้เห็นจะต้องได้รับโทษ ทั้งนี้ในความเป็นจริงข้าราชการน่าจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อยึดผลประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายนายทุน
 
นายสุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่วมกันระหว่างฝ่ายชาวบ้าน นักวิชาการ กพร. และ ตัวแทนจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น จะเป็นชุดที่จะมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งถ้าหากการดำเนินการข้อพิสูจน์จบกระบวนการจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ถ้าหากข้อพิสูจน์ไม่เสร็จสิ้นการขับเคลื่อนโครงการก็ไม่สามารถดำเนินการไปได้ และหากคณะกรรมการพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาเสร็จสิ้นก็จะเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบรรลุข้อตกลงในเวทีเจรจาระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับ กพร. จึงได้มีมติและจัดทำบันทึกข้อตกลงในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบปัญหาการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี และพิสูจน์ข้อเท็จจริงร่วมกันในกรณีใบไต่สวนที่เป็นเท็จ ชาวบ้านจึงพึงพอใจต่อผลที่ออกมาตามข้อเรียกร้อง
 
ทั้งนี้ ในช่วงค่ำ ได้มีกลุ่มเยาวชนคนฮักถิ่น ได้อาสาในการเดินตระเวนแจกใบปลิวในบริเวณรอบกระทรวงอุตสาหกรรม ให้กับเจ้าหน้าที่ข้าราชการ และผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาเพื่อให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจต่อการมาชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านในวันนี้ด้วย
 
บัญทึกการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช มีดังนี้
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กสทช.โชว์ผลงานเด่น 6 เดือน ตั้งเป้าประมูล 3G ก.ย.นี้

$
0
0

กสทช.โชว์วิสัยทัศน์ ตั้งเป้าหมายสู่การพลิกสังคมไทยสู่ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ ในปี 2558 สอดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ยันคนไทยมี 3จี ใช้ปีนี้แน่นอน พร้อมระบบทีวีดิจิตอลเริ่มแล้วปีนี้

(2 พ.ค.55) พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ประธาน กสทช. แถลงผลการดำเนินงานใน 6 เดือน ว่า หลังจาก กสทช. ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา กสทช.ได้เดินหน้าวางรากฐานการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงการสื่อสารครั้งสำคัญของประเทศไทยภายในปีนี้ ซึ่งจะประมูลคลื่น 3 จี ภายในเดือนกันยายน เริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในปีนี้ และจะสมบูรณ์ภายใน 4 ปี การจัดระเบียบเคเบิ้ลทีวี การแก้ปัญหาวิทยุชุมชน การกำหนดมาตรการป้องกันคลื่นรบกวนการบิน และเน้นการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค

ผลงานชิ้นสำคัญของ กสทช. ในการวางรากฐานไปสู่เป้าหมายดังกล่าว คือ การจัดทำ 3 แผนแม่บทหลัก ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ได้แก่ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะเปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสาร ด้านอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือในภาคประชาชนได้เตรียมความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายสู่การพลิกสังคมไทยสู่ระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ ในปี 2558

พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า สาระสำคัญของแผนแม่บทแต่ละฉบับจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ จะขอเรียกคืนไลเซ่นที่ได้รับตามสัมปทานของโอเปอเรเตอร์ทุกราย ซึ่งจะต้องส่งคืนคลื่นที่ถือครองอยู่กลับมายัง กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่ทันทีที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง และนำคลื่นที่ได้รับคืนดังกล่าวมาจัดสรรในรูปแบบใบอนุญาตใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันเสรีและปฏิรูปกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยผลักดันให้เกิดรูปแบบการตั้งบริษัทให้บริการเสาโทรคมนาคม สถานีฐาน (Tower Co) บริการเช่าโครงข่าย (Network Co) และบริการเช่าไฟเบอร์ออปติค (Fiber Co) ซึ่งจะเป็นการเช่าใช้โครงข่ายพื้นฐานระหว่างกัน (Infrastructure Sharing) โดยออกหลักเกณฑ์ หรือใบอนุญาตให้เอกชนทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีโครงข่ายของตัวเองเข้ามาเช่าใช้เพื่อลดต้นทุน และสร้างตลาดให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่

ด้านแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ มีเป้าหมายพลิกระบบทีวีอนาล็อกสู่ระบบทีวีดิจิตอล เพื่อให้ใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในเบื้องต้นจะนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ และไม่ได้ใช้งาน เช่น ช่อง 2, 4, 6, 8 มาจัดสรรเพื่อทดลองออกอากาศ ซึ่งจะสามารถแพร่ภาพได้มากกว่า 50 ช่อง โดยมีเป้าหมายเริ่มทดลองการแพร่ภาพในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ และจะเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลได้ภายในต้นปี 2556 และคาดว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า กิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

สำหรับกระบวนการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ช่วงที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2557 จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่ 2 จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 2559 โดยมีเป้าหมายการยกเลิกการออกอากาศทีวีอนาล็อคในต้นปี 2558 สำหรับด้านกระบวนการออกใบอนุญาตทีวีมือถือ หรือโมบายทีวีจะเริ่มในกลางปี 2556 ถึงกลางปี 2557

ประธาน กสทช. กล่าวต่อไปว่า กสทช. ยังอยู่ในระหว่างการจัดระเบียบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และเคเบิ้ลทีวี โดยการร่างกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 2 ประเภท และให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบมาเข้าระบบใบอนุญาตฯ โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม

ที่สำคัญระบบบนทีวีดิจิตอล จะเอื้อต่อการเผยแพร่ระบบเตือนภัยพิบัติ เพื่อประกาศให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลโดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ซึ่งจะเผยแพร่ได้แม่นยำ เที่ยงตรง เข้าถึงทุกครัวเรือน โดยเรื่องของการเตือนภัยนั้นจะกำหนดไว้ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาตที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกรายจะต้องปฏิบัติ

สำหรับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม มุ่งเดินหน้าเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ รองรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ความเร็วสูงสุด 100 Mbps โดยมีเป้าหมายเปิดประมูลภายในเดือนกันยายน

กสทช. ยังให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิในการใช้บริการ และเข้าถึงข่าวสารอย่างเท่าเทียมกันของผู้บริโภค โดยได้กำหนดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดจากบริการด้านโทรคมนาคม อาทิ การโฆษณาเกินจริงทางทีวีดาวเทียม การกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์มือถือประเภทเสียงให้เก็บได้ไม่เกิน 0.99 บาทต่อนาที และการออกประกาศอัตราค่าบริการขั้นสูงของข้อมูล เช่น เอสเอ็มเอส (SMS) เอ็มเอ็มเอส (MMS) รวมถึงการใช้อินเทอร์เน็ตบนคลื่นความถี่เดิมที่ไม่ใช่ 3G ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกประกาศได้ในปีนี้ โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมหลายประการ อาทิ ประชาชนจะสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้มากขึ้น โดยคาดว่าผู้บริโภคจะมีความต้องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นกว่า 60% จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้ต้นทุนในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงกว่า 13%

นอกจากนี้ กสทช. ยังได้ร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กำหนดมาตรการป้องกันการรบกวนวิทยุสื่อสารที่มีคลื่นแทรก เพื่อให้การติดต่อสื่อสารระหว่างนักบินและผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเป็นไปอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางการบิน ซึ่งหลังจากการกวดขันอย่างเข้มงวดทำให้สามารถลด อัตราการรบกวนคลื่นวิทยุลดถึง 65%

“กสทช. กำลังเดินหน้าผลักดันงานด้านการกำกับต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้รับประโยชน์จากทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติอย่างสูงสุด ทั้งในด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้อนาคตของชาวไทยทุกคนมีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ประธาน กสทช. กล่าว

 

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันเสรีภาพสื่อโลก: แอมเนสตี้ฯ ระบุการทำร้ายผู้สื่อข่าวยังเกิดขึ้นทั่วโลก

$
0
0



เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 3 พ.ค. ของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สรุปสถานการณ์สื่อทั่วโลก ชี้การทำร้ายผู้สื่อข่าวยังเกิดขึ้นทั่วโลก รายละเอียดมีดังนี้ 
 

 
 

                                                                                            00000


ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสื่อมวลชนทั่วไปทั้งที่ปากีสถานถึงโคลัมเบีย เม็กซิโกถึงซูดานและประเทศส่วนใหญ่ทั่วทั้งยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง ยังต้องเผชิญการคุกคาม การทำร้าย การสั่งคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ถึงแม้กระทั่งความตาย อันเป็นผลเนื่องมาจากการทำงานของตนเอง

อเมริกา
ผู้สื่อข่าวพยายามเปิดโปงการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริต พวกเขามักตกเป็นเป้าหมายการโจมตีและการคุกคามทั่วทั้งทวีปละตินอเมริกาและแคริบเบียน

จากเม็กซิโกถึงโคลอมเบีย คิวบา ฮอนดูรัส และเวเนซูเอลล่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือและอาชญากรรมต่างๆ มุ่งโจมตีผู้สื่อข่าวซึ่งรายงานปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การฉ้อฉลอำนาจและการทุจริต

เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายมากสุดในทวีปอเมริกาสำหรับผู้ทำงานด้านสื่อ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน มีผู้พบศพเรจีนา มาร์ติเนซ (Regina Martinez) ผู้สื่อข่าวอยู่ในบ้านของเธอเองที่เมือง Veracruz เรจีนาเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมืองของนิตยสาร Proceso และในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้รายงานข่าวปัญหาความมั่นคง การค้ายาเสพติดและการทุจริต หน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นระบุว่ากำลังจะสอบสวนเหตุฆาตกรรมครั้งนี้

ในขณะเดียวกัน สภาสูงของเม็กซิโกได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่เพื่อคุ้มครองผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม

แต่เม็กซิโกไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่คนทำงานด้านสื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างเหลือเชื่อจากการทำงานของตนเอง
ดีนา เมซา (Dina Meza) ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวฮอนดูรัสถูกคุกคามทางเพศหลายครั้งตั้งแต่ต้นปี 2555 ในวันที่ 6 เมษายน ระหว่างที่เดินกับลูกแถวๆ บ้าน ก็สังเกตเห็นผู้ชายสองคนแอบถ่ายรูปเธอกับลูก

แอฟริกา
แอฟริกาเป็นพื้นที่อันตรายมากสุดแห่งหนึ่งสำหรับผู้สื่อข่าว ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น เอธิโอเปียและแกมเบีย หน่วยงานความมั่นคงจับตามองเว็บไซต์และสถานีโทรทัศน์และวิทยุอย่างเข้มงวด พร้อมจะปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างจากรัฐ
ในรวันด้าและเอธิโอเปียมีการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีการสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลานานต่อผู้สื่อข่าวที่วิจารณ์นโยบายของรัฐ ผู้สื่อข่าวที่รายงานการรณรงค์ให้มีการประท้วงอย่างสงบ หรือผู้สื่อข่าวที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงทุจริต

ทางการในซูดานใช้วิธีใหม่ๆ เพื่อจัดการผู้สื่อข่าวอิสระ รวมทั้งการใช้กฎหมายอย่างมิชอบเพื่อป้องกันและมีการสั่งปรับผู้ที่รายงานข่าวต่อต้านรัฐบาล

ในแกมเบียและโซมาเลีย สถานการณ์ของผู้สื่อข่าวอันตรายมาก หลายคนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย คนที่เหลืออยู่ต้องเผชิญกับมาตรการสั่งห้ามไม่ให้มีการรายงานข่าวอย่างอิสระในประเทศ นับแต่ปี 2550 มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 27 คนที่ถูกสังหารในโซมาเลีย สามคนถูกสังหารจากการโจมตีโดยตรงที่กรุง Mogadishu เมืองหลวงในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา

อาลี อาเหม็ด อับดี (Ali Ahmed Abdi) ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์และสถานีวิทยุ Radio Galkayo ถูกมือปืนสามคนยิงจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ในเมือง Galkayo ภาคกลางของโซมาเลีย ในวันที่ 5 เมษายน มาหัด ซาลัด อาดาน (Mahad Salad Adan) ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุ Radio Shabelle ถูกคนร้ายสามคนยิงจนเสียชีวิตที่เมือง Beletweyne ใกล้กับพรมแดนติดกับประเทศเอธิโอเปีย ทางการยังไม่สามารถลงโทษบุคคลใดที่เกี่ยวข้องในการฆาตกรรมเหล่านี้เลย


เอเชีย-แปซิฟิก

ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศอันตรายมากสุดในโลกสำหรับผู้สื่อข่าว เฉพาะในปี 2554 มีผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารอย่างน้อย 15 คน

ในปีนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม มูคาร์ราม อาติฟ (Mukarram Aatif) ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ Dunya TV และสถานีวิทยุ Deewa radio ถูกสมาชิกกลุ่มฏอลีบันปากีสถานยิงจนเสียชีวิตระหว่างทำละหมาดในตอนค่ำที่เมือง Shabqada ประมาณ 30 กม.จากเมือง Peshawar เมืองหลวงของแคว้น Khyber Pakhtunkhwa

โฆษกกลุ่มฏอลีบันแถลงในเวลาต่อมาว่า พวกเขาได้เตือนนายอาติฟ “หลายครั้งแล้วให้หยุดรายงานข่าวต่อต้านกลุ่มฏอลีบัน แต่เขาก็ไม่ยอม สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตเช่นนี้”

เช่นเดียวกับในจีน ผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในศรีลังกาก็ต้องทำงานในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว เพราะรู้ดีว่าทางการน่าจะติดตามตรวจสอบอีเมลและโทรศัพท์ที่พวกเขาใช้

ในประเทศส่วนใหญ่ ทางการไม่สามารถสอบสวนอย่างเต็มที่เมื่อเกิดการละเมิดกับผู้สื่อข่าว อย่างเช่นในฟิลิปปินส์ นับแต่รัฐบาลนายอควิโนเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อปี 2553 มีผู้สื่อข่าว 12 คนที่ถูกคนร้ายไม่ทราบชื่อสังหาร แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการสั่งลงโทษผู้ใด

ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตก็ตกเป็นเป้าการละเมิดในหลายประเทศทั่วเอเชียในปี 2554

ในจีนซึ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 513 ล้านคน ทางการควบคุมสอดส่องอย่างเข้มงวดในสิ่งที่ประชาชนอ่านและแลกเปลี่ยนทางอินเทอร์เน็ต

ผู้จัดทำเว็บบล็อกที่มักเขียนประเด็นซึ่งรัฐบาลมองว่าอ่อนไหว จะถูกจับตามอง ถูกสอบสวนและถูกคุกคามอย่างเข้มงวดเป็นประจำโดยฝ่ายความมั่นคง และในบางกรณีก็หายตัวไปเลย

แต่นักเคลื่อนไหวทางอินเทอร์เน็ตของจีนก็ฉลาดพอที่จะหาวิธีการที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐ ผู้ที่สนับสนุนนายเฉิงกวงเชิง (Cheng Guangcheng) นักเคลื่อนไหวที่ตาบอด ได้พากันโพสต์รูปตัวเองใส่แว่นตาดำ หรือบางคนก็ได้เปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองให้เป็นรูปใส่แว่นตาดำ

ยุโรป
ปี 2555 เป็นปีที่รัฐบาลเผด็จการในอดีตประเทศสหภาพโซเวียตได้กระชับอำนาจของตนเองมากขึ้น มีการปรับ มีการปราบปรามผู้เห็นต่าง ปราบปรามเสียงวิจารณ์และการประท้วง ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับเสรีภาพของการแสดงออกเลย

ในเบลารุส มีการปราบปรามภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปี 2554 ต่อเนื่องมาถึงปี 2555 เป็นเหตุให้นักเคลื่อนไหวในฝ่ายค้านและผู้นำเอ็นจีโอคนสำคัญหลายคนถูกสั่งขังคุก

ในอาเซอร์ไบจาน การลุกฮือรอบใหม่จากแรงบันดาลใจที่ได้ของการลุกฮือในตะวันออกกลางเป็นเหตุให้รัฐบาลปราบปราม มีการสั่งห้ามการประท้วงต่อต้านรัฐบาล และมีการตัดสินจำคุกแกนนำ 14 คนเป็นเวลานาน ตลอดทั้งปี ผู้สื่อข่าวและนักเคลื่อนไหวต้องเผชิญการคุกคามและการควบคุมตัว เนื่องจากไปเปิดโปงความฉ้อฉลของรัฐ โดยรัฐใช้ข้อหาที่กุขึ้นมาเอง
อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถานยังคงปราบปรามเสียงที่แสดงออกอย่างเป็นอิสระ มีการปกปิดเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มงวด

ในรัสเซียมีภาพที่ค่อนข้างหลากหลาย ข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เป็นเหตุให้มีการประท้วงครั้งใหญ่สุดนับแต่ปี 2534 แม้ว่าทางการจะอนุญาตให้มีการประท้วงซึ่งดำเนินผ่านไปอย่างสงบ แต่ก็มักปราบปรามการชุมนุมรายย่อย และจับกุมผู้ที่เข้าร่วม

ตะวันออกกลาง
แม้ว่าในประเทศที่มีการลุกฮือเมื่อปี 2554 อย่างเช่น ตูนิเซียและลิเบีย จะมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในการแสดงความเห็นของสื่อ แต่มาตรการควบคุมเสรีภาพสื่อทั้งด้านกฎหมายและอื่นๆ ยังดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวางในภูมิภาคนี้ ที่อิหร่าน ทางการยังคงควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด มีการติดตั้งระบบตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ตแบบใหม่ (Cyber Police) ทั่วประเทศ ที่ซาอุดิอาระเบีย มีการนำบทลงโทษใหม่มาใช้สำหรับผู้ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลที่ต่อต้านหรือขัดแย้งกับคำตัดสินตามกฎหมายอิสลาม

การโจมตีทำร้ายผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวถูกสังหารหรือถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกทรมานหรือถูกคุกคามในช่วงที่มีการลุกฮืออย่างต่อเนื่องในซีเรีย ในช่วงที่มีความขัดแย้งที่ลิเบียเมื่อปี 2554 และระหว่างการลุกฮือของประชาชนในตูนิเซีย อียิปต์ เยเมน และบาห์เรน การละเมิดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าการลุกฮือของประชาชนจะยุติลงแล้ว ผู้สื่อข่าวและผู้จัดทำเว็บบล็อกในอียิปต์ที่วิจารณ์หน่วยงานทหาร จะถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำ ผู้ทำงานด้านสื่อในตูนิเซียถูกตั้งข้อหาก่อความไม่สงบหรือกระทำการที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี

ผู้สื่อข่าวและนักเขียนยังถูกควบคุมตัวโดยพลการหรือถูกคุกคามในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งที่อิหร่าน อิรัก จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และพื้นที่ยึดครองปาเลสไตน์ (Occupied Palestinian Territories) อันเป็นผลเนื่องมาจากการแสดงความเห็นต่อต้านทางการ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาการโฮโมโฟเบียในรัฐสภาไทย

$
0
0

 

จากกรณีที่ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เรียกนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ว่าเจ๊ และมีอาการแต๋วแตก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ (จากเหตุการณ์ประท้วงประธานสภาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แล้วก็ทำท่าและพูดว่าไฮฮิตเลอร์ จนต้องถูกเชิญออกจากห้องประชุมคืนก่อน) และถูกนายบุญยอดโต้ตอบกลับว่าเขาไม่ได้เป็น สามารถพิสูจน์ได้ แต่ที่พรรคเพื่อไทยนั่นต่างหากที่มีคนเป็นมากกว่า นั้นแสดงถึงอาการโฮโมโฟเบียของ ส.ส.ทั้งสองคนเป็นอย่างดี

อาการโฮโมเบียคืออะไร โฮโมโฟเบีย (Homophobia) หมายถึงความรู้สึกเกลียดกลัวต่อคนหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล (หรืออาจจะมีเหตุผลแอบแฝงอยู่ลึกๆ ที่เราพยายามปฏิเสธมัน)

และหมายรวมไปถึงการดูถูกเหยียดหยาม หรือใช้คำเรียกแบบสลับเพศ เช่นกรณีที่จ่าประสิทธิเรียกนายบุญยอดว่าเจ๊ ตามความเชื่อความคิดของคนทั่วไปที่เคยชินกับระบบสองเพศ ที่คิดว่าหากผู้ชายคนหนึ่งชอบผู้ชายอีกคน เขาจะต้องอยากจะเป็นผู้หญิง หรือเจ๊ อย่างที่จ่าประสิทธิ์เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่ เพราะผู้ชายสามารถรักใคร่ผู้ชายด้วยกันได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกว่าเป็นเพศหญิง

ในเวทีไฮปาร์กทางการเมืองก็เช่นกัน ภาพผู้นำคนสำคัญของพรรคการเมือง จะถูกพรรคฝ่ายตรงกันข้ามนำมาตกแต่งให้เป็นตุ๊ดแต๋วกะเทยในลักษณะที่น่ารังเกียจพร้อมกับคำอธิบายภาพในแบบหยาบคาย แสดงความถ่อยเถื่อนกันอย่างโจ่งแจ้งตามระดับความเข้มข้นของอาการโฮโมโฟเบียในแต่ละบุคคล

ขณะเดียวกันนั้น โฮโมโฟเบียก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนรักต่างเพศเช่นจ่าประสิทธิเท่านั้น

ในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย คนข้ามเพศ คนรักสองเพศ ก็อาจเป็นโฮโมโฟเบียได้เช่นกัน เรียกว่าโฮโมโฟเบียภายใน (Internalized Homophobia) ที่เกิดจากทัศนคติด้านลบที่สังคมมีต่อคนเหล่านี้ ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบจากทัศนคติของสังคม นำมาสู่ความรู้สึกรังเกียจต่อตัวเองอยู่ลึกๆ อาจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว

เช่นไม่ยอมรับว่าตัวเองรักเพศเดียวกัน หรือไม่กล้าที่จะเปิดเผย บอกว่าตัวเองเป็นคนรักเพศเดียวกันเป็นต้น

กรณีที่นายบุญยอดปฎิเสธว่าเขาไม่ใช่แต๋ว พร้อมที่จะให้พิสูจน์ ก็เช่นกัน แถมยังบอกว่าที่พรรคเพื่อไทยมีคนเป็นคนหลากหลายทางเพศมากกว่าอีก ก็เป็นโฮโมโฟเบียเช่นกัน และเป็นอาการที่พบได้โดยทั่วไปในสังคมไทย ไม่ใช่เพียงแต่ในรัฐสภาเท่านั้น

เพียงแต่การที่ประเด็นตุ๊ดแต๋ว กะเทย ทอมดี้เกิดขึ้นในรัฐสภาไทยนั้น มันสามารถบอกได้ว่าเรื่องเพศสภาวะของมนุษย์ที่แตกต่างจากความเคยชินของสังคมไทย (จริงๆ ก็น่าจะชินนะ เพราะกะเทยคืออัตลักษณ์อันโบราณนานมาของไทยเรา) สามารถใช้เป็นอาวุธทำลายล้างกันทางการเมืองได้ และมันยังสามารถสั่นสะเทือนสถานะทางการเมืองของบุคคลได้ สังคมไทยจึงรับรู้อย่างไม่เป็นทางการมาตลอดว่านายกรัฐมนตรีคนไหนที่เป็นชายรักชาย หรือสส.หญิงคนไหนที่เป็นหญิงรักหญิง

การโต้เถียงเรื่องเพศของ ส.ส.สองคนนี้ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

ใหญ่ยิ่งกว่าประเด็นที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย แสดงท่าไฮฮิตเลอร์ล้อเลียนประธานสภานั่นเสียอีก!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Ban That Scene! หนังสั้นกล้าท้าแฉวงการแผ่นฟิล์มพม่า

$
0
0

 

หมายเหตุ: 
สาละวินนิวส์ออนไลน์ แปลจาก
Burma Comedy Shows Changing Censorship Rules โดย TODD PITMAN จาก Irrawaddy วันที่ 2 พฤษภาคม 2555
เผยแพร่ครั้งแรกที่ 
http://salweennews.org/home/?p=4355 


เมื่อผู้กำกับภาพยนตร์ชาวพม่าอย่าง ทุนซอว์วิน หรือ วิน ลุกขึ้นมาสร้างหนังตลกเสียดสีวงการภาพยนตร์ในประเทศ ที่กว่าจะมาสู่สายตาประชาชนต้องผ่านขั้นตอนที่ทั้งแปลกประหลาดอะไรมาบ้าง เขารู้ดีว่าสิ่งที่จะถูกหยิบมาใส่ในหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน “ชีวิตจริง” นี่แหละ

หนังสั้นเรื่อง Ban That Scene! (ตัดฉากนั้นซะ!) กล้าท้าทายล้อเลียนคณะกรรมการเซ็นเซอร์หนังได้อย่างเจ็บแสบ ซึ่งคณะกรรมการแต่ละคนในเรื่อง พยายามจะปกป้องภาพพจน์ของประเทศกันสุดฤทธิ์ได้อย่างฮา

เมื่อคณะกรรมการแต่ละคนนั่งประจำที่ลงบนเก้าอี้เบาะนวม เผชิญหน้ากับเงาภาพที่พุ่งออกมาจากเครื่องโปรเจ็กเตอร์ ท่ามกลางความมืดสลัวในโรงหนังของรัฐบาล พวกเขาก็เริ่มโจมตีทุกอย่างที่ปรากฏบนจอภาพ ทั้งฉากภาพขอทาน การคอรัปชั่น ฉากไฟฟ้าดับ ไม่เว้นแม้กระทั่งฉากต่อสู้กันบนถนน เพราะฉากที่ว่ามาล้วนแล้วจะทำให้ “ภาพพจน์” ของประเทศแปดเปื้อนเสื่อมเสียได้ จึงมีเสียงของหัวหน้าคณะกรรมการตะโกนฝ่าความมืดออกมาว่า “ตัดฉากนี้ ตัดออกไปเลย” อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

การทำหนังเรื่องออกมาโดยที่ผู้กำกับอย่าง วิน ยังอยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกจับเข้าคุก ก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ศิลปินบางส่วนเริ่มที่จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ในยุคของรัฐบาลชุดใหม่ที่ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกอย่างเสรีมากขึ้น หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้กฎเหล็กของเผด็จการมานานหลายทศวรรษ แต่ขณะเดียวกัน หนังก็สะท้อนให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างในพม่าที่ยังไม่เปลี่ยน ผู้กำกับไม่ได้ส่งหนังเรื่องนี้ให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์หนังพิจารณาเพราะรู้ดีว่ายังไงก็ต้องถูกแบนแน่นอน

ทว่า คณะกรรมการเซ็นเซอร์มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะหนังที่สร้างออกมาเพื่อจำหน่ายเท่านั้น วินจึงต้องยอมตัดใจเรื่องผลกำไร แล้วแจกให้ดูกันฟรีๆ ไปเลย เพื่อไม่ให้หนังถูกแบน โดยเขาบอกว่า จำเป็นต้องเสียสละเพื่อให้ผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้ว่า คนทำหนังพม่าต้องพบเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง

Ban That Scene ถูกฉายครั้งแรกในเทศกาลหนัง “Art of Freedom” ณ กรุงย่างกุ้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเทศกาลหนังดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยนางอองซานซูจี และซากานาร์ นักแสดงตลกและผู้กำกับหนังชื่อดัง นอกเหนือจากนี้ วินยังได้เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ยูทูป และทำเป็นดีวีดีจำนวน 1 หมื่นแผ่น ออกมาแจกประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ความโดดเด่นของหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งกันระหว่างภาพลักษณ์อันสวยงามของประเทศที่รัฐบาลพยายามนำเสนอออกสู่สายตาโลกภายนอก กับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมที่ไม่น่าอภิรมย์ ซึ่งล้วนเป็นผลงานของรัฐบาลเผด็จการทั้งสิ้น อย่างเช่น ฉากที่ชายพิการคนหนึ่ง เดินขอทานเพื่อหาเงินไปทำงานต่างประเทศ ที่ทำให้หัวหน้าคณะกรรมการเซ็นเซอร์ถึงกับตาโตด้วยความตกใจเมื่อเห็นฉากนี้ “เสียภาพพจน์ของประเทศหมด ถ้าชาวต่างชาติเห็นเข้า เขาคงจะคิดว่าประเทศเรามีขอทานด้วย” ขณะที่คณะกรรมการอีกคนแย้งว่า ใครๆ เขาก็รู้ทั้งนั้นว่าที่นี่มีขอทานจริงๆ แต่ท่านหัวหน้าก็เถียงข้างๆ คูๆ ว่า “ในชีวิตจริงน่ะมีได้ แต่ไม่ใช่ในหนัง”

มีอยู่ฉากหนึ่ง ซึ่งเป็นฉากเลิฟซีนระหว่างพระเอกกับนางเอก แต่อยู่ๆ ไฟ (ในหนัง) ก็ดับขึ้นมา ซึ่งอาจทำให้กระทรวงไฟฟ้าเสื่อมเสียได้ คณะกรรมการคนหนึ่งบอกว่า จริงๆ เรื่องไฟดับก็เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ฟังอย่างนี้แล้ว มีหรือที่หัวหน้าคณะกรรมการจะนิ่งเฉย เขารีบเถียงว่า พม่าไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้าเสียหน่อย จริงๆ แล้วเรามีไฟฟ้าเหลือเฟือจนต้องส่งออกไปขายต่างประเทศไงล่ะ (แต่ความจริงอันน่าเศร้ามีอยู่ว่า ประชาชนพม่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์ต้องใช้ชีวิตในยามค่ำคืนท่ามกลางความมืด ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่รัฐบาลขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้ต่างประเทศไปเกือบหมด)

ขณะที่คณะกรรมการกำลังเถียงกันอยู่นั้น อยู่ๆ ไฟฟ้าในโรงหนังก็เกิดดับพรึบขึ้นมา จนต้องพึ่งเครื่องปั่นไฟฉายหนังกันต่อ ในขณะที่เครื่องปั่นไฟเริ่มทำงาน เสียงกรนของคณะกรรมการท่านหนึ่งก็ดังขึ้นมาพร้อมๆ กัน

ผู้กำกับบอกว่า เขารู้สึกเซอร์ไพรส์มากเมื่อรู้ว่า หนังของเขาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงบางท่าน โดยหนึ่งในจำนวนนั้นบอกเขาว่า “มันเป็นสิ่งที่ควรจะให้สาธารณชนได้ดู ประชาชนควรจะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้ายังคงมีการตัดฉากแบบนี้ออกไป ก็คงไม่เหลืออะไรให้ดูแล้ว”

ซากานาร์ได้กล่าวว่า หนังเสียดสีวงการภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ศิลปินได้อิสรภาพในการสร้างสรรค์ผลงานกลับคืนมาอีกครั้ง

ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกับดีว่า การสร้างหนังซักเรื่องหนึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อย ซึ่งไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายในเรื่องโปรดักชั่น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้จัดอันดับให้พม่าเป็นประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ซึ่งวินบอกว่า แม้แต่ฉากที่ถูกแบนก็ยังสามารถสร้างได้ ถ้าจ่ายเงินใต้โต๊ะ ซึ่งในหนังก็มีอยู่ฉากหนึ่งที่กระเช้าของขวัญถูกส่งมามอบให้คณะกรรมการถึงโรงหนัง ซึ่งทุกคนต่างดีใจเมื่อเห็นว่ากระเช้าของขวัญมีทั้งช่อดอกไม้และวิสกี้ต่างประเทศ เป็นของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ผลิตหนังรายหนึ่ง

ในตอนจบของหนัง ผู้กำกับปิดท้ายด้วยข้อความสั้นๆ กลางจอว่า “We can change” (เราเปลี่ยนได้)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เล็ง บัญชาเมฆ บิดาของบัวขาว ป.ประมุข

$
0
0

ที่ค่าย ป.ประมุขฟ้องเรียกเอาเงิน 100 ล้านบาท ตนมีฐานะยากจนจะขายที่นาก็ได้ไม่เท่าไหร่ คิดว่ามาฆ่าให้ตายจะง่ายกว่า

เดลินิวส์, 3 พ.ค. 2555

May Day 2012: ว่าด้วยตัวเลขสถานการณ์แรงงานไทยที่น่าสนใจ

$
0
0

พบผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน ภาคกลางว่างงานสูงที่สุด อัตราส่วนสถานประกอบการทุก 100,000 แห่ง จะมีสหภาพแรงงานเพียง 398–399 แห่ง สำนักวิจัยต่างประเทศชี้ไทยอยู่ใน 9 ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก

ภาวะการมีงานทำ

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบผู้ที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.80 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.84 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2554 จำนวน 7.2 แสนคน (จาก 38.08 ล้านคน เป็น 38.80 ล้านคน)

โดยผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2554 จำนวน 5.1 แสนคน (จาก 37.55 ล้านคน เป็น 38.06 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้

ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาการเกษตร เพิ่มขึ้น 5.2 แสนคน (จาก 12.93 ล้านคน เป็น 13.45 ล้านคน) สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน (จาก 5.42 ล้านคน เป็น 5.98 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับเพิ่มขึ้น 6.0 หมื่นคน (จาก 1.62 ล้านคน เป็น 1.68 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัยเพิ่มขึ้น 5.0 หมื่นคน (จาก 0.38 ล้านคน เป็น 0.43 ล้านคน) ตามลำดับ

ส่วน ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาการก่อสร้าง ลดลง 1.80 แสนคน (จาก 2.72 ล้านคน เป็น 2.54 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 1.50 แสนคน (จาก 2.51 ล้านคน เป็น 2.36 ล้านคน) สาขาการศึกษา 1.1 แสนคน (จาก 1.39 ล้านคน เป็น 1.28 ล้านคน) สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 8.0 หมื่นคน (จาก 6.19 ล้านคน เป็น 6.11 ล้านคน) สาขากิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกายการดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น 3.0 หมื่นคน (จาก 1.75 ล้านคน เป็น 0.72 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 2.0 หมื่นคน (จาก 1.07 ล้านคน เป็น 1.05 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 2.0 หมื่นคน (จาก 0.66 ล้านคน เป็น 0.64 ล้านคน) และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 1.0 หมื่นคน (จาก 0.11 ล้านคน เป็น 0.10 ล้านคน) ตามลำดับ

สำหรับผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 2.56 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 1.2 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2554) ประกอบด้วยผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 8.3 หมื่นคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.73 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการบริการและการค้า 8.0 หมื่นคน ภาคการผลิต 6.3 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 3.0 หมื่นคน

โดยผู้ว่างงานที่มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา จำนวน 8.8 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.8 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 3.1 หมื่นคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน ตามลำดับ

ทั้งนี้ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 7.2 หมื่นคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.8 หมื่นคน ภาคเหนือ 5.3 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 3.3 หมื่นคน และภาคใต้ 3.0 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงานกรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงสุด ร้อยละ 0.8 ส่วนภาคที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.5

คนงานในอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่าอัตราการจ้างงานจำแนกตามอาชีพ 5 อันดับแรก ปี 2554 ภาคเกษตร 13,793,927 คน ภาคบริการ 7,536,882 คน ผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือ 4,499,637 คน อาชีพพื้นฐานต่างๆ 4,181,230 และผู้ปฏิบัติการโรงงานและเครื่องจักร 3,081,625 คน

ส่วนผู้มีงานทำจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคการบริหารราชการ 1.55 ล้านคน (ร้อยละ 6.62) ภาคการก่อสร้าง 2.31 ล้านคน (ร้อยละ 9.85) ภาคกิจการโรงแรม 2.61 ล้านคน (ร้อยละ 11.13) ภาคการผลิต 5.32 ล้านคน (ร้อยละ 22.65) ภาคการขายส่ง 5.99 ล้านคน (ร้อยละ 25.51)

องค์กรแรงงาน

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 จำนวนองค์กรแรงงาน มีทั้งสิ้น 1,766 แห่ง จากสถานประกอบกิจการทั้ง หมด 344,578 แห่ง ลูกจ้าง 7,514,875 คน มีองค์กรลูกจ้าง 1,406 แห่ง ประกอบด้วย สภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง สภาพแรงงานในกิจการเอกชน 1,329 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง สหพันธ์แรงงาน 19 แห่ง สภาองค์กรลูกจ้าง 13 แห่ง

โดยที่อัตราสหภาพแรงงานต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง อยู่ที่ 398.46 อัตรา เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 จากปี 2553 เฉลี่ยแล้วสถานประกอบการทุก 100,000 แห่ง จะมีสหภาพแรงงาน 398–399 สหภาพ

ส่วนอัตราสหพันธ์แรงงานต่อสหภาพแรงงานทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 1.38 อัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงจากปี 2553 ร้อยละ 9.50 แสดงว่าทุกสหภาพแรงงาน 100 สหภาพ จะมีการรวมตัวกันขึ้นมาเป็นสหพันธ์แรงงาน 1–2 สหพันธ์แรงงาน

ส่วนอัตราการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (ในสถานประกอบกิจการที่มีสหภาพแรงงาน) ต่อจำนวนลูกจ้างทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 7.42 เป็นอัตราเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 11.13 แสดงว่าลูกจ้างทุกๆ 100 คนจะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน 11–12 คน

ปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์

กรณีปัญหาแรงงานสัมพันธ์มีระดับปัญหาจำแนกไว้ 2 ระดับ ได้แก่ ข้อขัดแย้ง และ ข้อพิพาทแรงงาน ทั้งนี้ข้อขัดแย้งหมายถึง ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ไม่ถือว่าเป็นข้อพิพาท สำหรับข้อพิพาทแรงงาน หมายถึงปัญหาอันเกิดขึ้นจากการขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งมีการแจ้งข้อเรียกร้อง และมีการเจรจากันแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ หรือไม่มีการเจรจากันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (3 วัน) และฝ่ายที่แจ้ง ข้อเรียกร้องได้แจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบ

จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า อัตราการเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง ในปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 69.07 อัตราเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1 2.4 0 แสดงว่าสถานประกอบการทุก 100,000 แห่ง จะเกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ 69 – 70 แห่ง หากจำแนกเฉพาะข้อพิพาทแรงงานพบว่ามีอัตราการเกิด ข้อพิพาทต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง อยู่ที่ 22.93 ซึ่งคิดเป็นอัตราเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 28.63 แสดงว่าสถานประกอบการทุก 100,000 แห่ง จะเกิดข้อพิพาท 22–23 แห่ง

สำหรับข้อขัดแย้ง พบว่ามีอัตราการเกิดข้อขัดแย้งต่อสถานประกอบกิจการ 100,000 แห่ง อยู่ที่ 46.14 เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 5.77 แสดงว่าสถานประกอบการทุก 100,000 แห่ง จะเกิดข้อขัดแย้ง 46 – 47 แห่ง

ตัวเลขอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ค่าแรงขั้นต่ำในเขตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของไทย (ก่อนและหลังการนโยบายขึ้นค่าแรง 40%)



เขตอุตสาหกรรม


ก่อนนโยบายขึ้นค่าแรง 40%


หลังนโยบายขึ้นค่าแรง 40%


ลำพูน


169


236


ระยอง


189


264


อยุธยา


190


265


สระบุรี


193


269


ฉะเชิงเทรา


193


269


ชลบุรี


196


273


ปทุมธานี 


215


300


สมุทรปราการ


215


300


กรุงเทพมหานคร 


215


300

 

ค่าแรง ‘คอปกขาว’ ในอุตสาหกรรมต่างๆ (ก่อนนโยบายขึ้นค่าแรง 40%)

จากการสำรวจ Thailand Salary Guide 2012 โดย Adecco Group Thailand สำรวจตัวอย่างคนทำงานในแผนกต่างๆ พบฐานเงินค่าตอบแทนต่ำสุดและสูงสุดของพนักงานใหม่หรือทำงานน้อยกว่า 5 ปี ได้ดังนี้



ลักษณะงาน


ค่าตอบแทนต่ำสุด (บาท)


ค่าตอบแทนสูงสุด (บาท)


ฝ่ายกฎหมาย


10,000


50,000


ฝ่ายจัดการ


10,000


60,000


ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์


10,000


60,000


ฝ่ายบัญชี


10,000


80,000


ฝ่ายขาย


10,000


80,000


ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์


10,000


80,000


ฝ่ายไอที


10,000


100,000


ฝ่ายเทคนิคอุตสาหกรรม


12,000


40,000


ฝ่ายบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์


12,000


45,000


ฝ่ายการเงิน


13,000


45,000


ฝ่ายวิจัย


15,000


25,000


วิศวกร


15,000


60,000


ฝ่ายซัพพลายเชน


15,000


60,000


ฝ่ายลอจิสติกส์


18,000


30,000

สำนักวิจัยต่างประเทศชี้ไทยอยู่ใน 9 ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก

สำนักวิจัยต่างประเทศอย่าง Gallup รายงานผลการสำรวจอัตราการว่างงานประจำปี ค.ศ. 2011 (2011 global unemployment report) ซึ่งสำรวจใน 148 ประเทศและเขตปกครองพิเศษทั่วโลก พบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 9 ประเทศทั่วโลก ที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุด หรือต่ำกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปีที่ผ่านมา ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ไทยเป็นแดนสวรรค์ในด้านแรงงาน

โดย 9 ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก ประกอบไปด้วย 4 ประเทศในยุโรป คือ ออสเตรีย เบลารุส มอนเตเนโกร และยูเครน, และอีก 5 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และประเทศไทย



1. Austria

> Unemployment: <5%

> GDP: $351.4 billion (35th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $41,700 (18th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


2. Belarus

> Unemployment: <5%

> GDP: $141.2 billion (60th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $14,900 (85th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


3. China

> Unemployment: <5%

> GDP: $11.3 trillion (2nd highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $8,400 (119th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 30% – 39%


4. Japan

> Unemployment: <5%

> GDP: $4.4 trillion (4th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $34,300 (37th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


5. Montenegro

> Unemployment: <5%

> GDP: $7.0 billion (152nd highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $11,200 (104th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


6. Taiwan

> Unemployment: <5%

> GDP: $885.3 billion (19th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $37,900 (28th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


7. Thailand

> Unemployment: <5%

> GDP: $601.4 billion (24th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $9,700 (112th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 20% – 29%


8. Ukraine

> Unemployment: <5%

> GDP: $329.0 billion (38th highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $7,200 (132nd highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 50%+


9. Vietnam

> Unemployment: <5%

> GDP: $299.2 (42nd highest, out of 225)

> GDP per capita (PPP): $3,300 (167th highest, out of 226)

> Pct. working full-time for an employer: 20% – 29%

 

ตารางแสดง 9 ประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุด หรือต่ำกว่าร้อยละ 5 จากการสำรวจ 2011 global unemployment report ของ Gallup

ในรายงานระบุว่า ประเทศไทยซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อตัวของประชากรราว 9,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (299,479 บาท) ต่อคนต่อปีนั้น และการที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำ ก็เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยมีการพัฒนาอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังมีตัวขับเคลื่อนสำคัญ คือ รายได้จากการส่งออก ที่มีสัดส่วนครอบคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติของไทย รวมถึงเม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากต่างประเทศ

ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารโลกก็ระบุว่า อัตราการว่างงานเฉลี่ยของไทยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียงแค่ร้อยละ 2 ของประชากรเท่านั้น

 

ที่มา:

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
กระทรวงแรงงาน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
Adecco Group Thailand
http://www.foxbusiness.com

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>