Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58135 articles
Browse latest View live

นัดพร้อมก่อนพิพากษา 19 ก.ย.คดี “สมยศ” –กก.สิทธิ ชี้บทความแค่เรื่องเล่าโจมตี “เปรม”

$
0
0

 

3 พ.ค. 55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดสุท้าย คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112   โดย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นปากสุดท้าย ก่อนจะมีการนัดพร้อมในวันที่ 19 ก.ย. 55 เพื่อกำหนดวันพิพากษาอีกครั้ง เนื่องจากต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องที่ส่งไปก่อนหน้านี้ว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด้านนายสมยศ  กล่าวว่ารู้สึกพอใจกับการสืบพยานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ขอขอบคุณผู้ที่มาให้กำลังใจทุกๆ คน โดยเฉพาะพยานที่มาให้การตามความเป็นจริง คิดว่าคำให้การของพยานหลายคนจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะคดีของตน แต่รวมไปถึงคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย และหวังว่าทุกคนคงจะร่วมกันสู้ต่อไป

ส่วนการสืบพยาน นพ.นิรันดร์ กรรมการสิทธิฯ และอดีต ส.ว.อุบลราชธานี เบิกความว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ มีเป้าหมายหลักคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ในอดีตได้ทำการตรวจสอบระบอบทักษิณว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายอย่างไรบ้าง ตรวจสอบการฆ่าตัดตอนในคดียาเสพติด และการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

นิรันดร์ กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาคดีอาญา ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรฯ หากยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์  ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกกระทำในลักษณะเดียวกับผู้กระทำความผิดไม่ได้  ในระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับนายสมยศก็เคยเข้าร้องเรียนต่อองค์กรฯ เรื่องที่รัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

นอกจากนี้ กรรมการสิทธิฯ ยังได้รับการร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน  โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นลักษณะเดียวกับการกล่าวหาว่านักศึกษาในสมัย 6 ต.ค. 19 เป็นคอมมิวนิสต์

ในส่วนของบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์  นิรันดร์เห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และไม่อยากให้ใครดึงพระองค์ลงมา แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนมาตรา 112 นั้น มีอัตราโทษรุนแรงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับข้อกล่าวหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งบุคคลใดก็สามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้ จึงมีนักวิชาการจำนวนมากที่ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ เพราะต่างเห็นว่าการบังคับใช้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยเข้าร้องเรียนเรื่องนี้ต่อกรรมการสิทธิฯ เช่นกัน

นิรันดร์เบิกความถึงรูปภาพในนิตยสาร Voice of Taksin ว่าดูจากรูปแล้วเป็นข้าราชการ นักการเมือง อำมาตย์ จึงไม่น่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนเนื้อหาของบทความ แผนนองเลือด ก็เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ การวางแผนฆ่าทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เลย รวมถึงเรื่อง 6 ตุลาแห่ง 2553 ทั้ง2บทความอ่านแล้วก็ไม่พบว่าทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียแต่อย่างใด และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าในหลวงจะอยู่เบื้องหลังความรุนแรงใดๆ การเขียนในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเขียนปรักปรำกล่าวหาโดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือเป็นเรื่องเล่า แต่เข้าใจว่าคนสำคัญที่กลุ่มเสื้อแดงบอกว่าดึงสถาบันลงมาคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  เพราะพบว่าเปรมมีพฤติกรรมเป็นหัวหน้าอำมาตย์ การที่คนพูดเช่นนี้ก็เป็นเพราะไม่อยากให้มีการแทรกแซงทางทหาร อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการดึงเปรมเข้ามา ทำให้สังคมแตกแยก เพราะทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

ทนายกล่าวถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 48 ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์นั้นสามารถทำได้ นิรันดร์ตอบว่า ตนน้อมนำมาเป็นแนวการทำงานเสมอ และเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับหลัก The King can do no wrong โดยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการสอนการตีความและบังคับใช้กฎหมายให้แก่ประชาชนทางอ้อม ส่วนสถาบันกษัตริย์นั้นถือสถาบันหลักของชาติ แต่การที่มาตรา112 จัดอยู่ในหมวดความมั่นคงนั้นถือว่าไม่ควร  อำนาจของรัฐมักมีความมิชอบ ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคง แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องรักษาไว้ในฐานะประมุขของรัฐ

สุธาชัย เบิกความในฐานะนักประวัติศาสตร์ ตีความถ้อยคำตามฟ้อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.55 ในช่วงบ่าย มีการสืบพยานจำเลย โดย ผศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นให้การ

ทนายจำเลยถามพยานเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ สุธาชัยกล่าวว่าหลักฐานชิ้นหนึ่งสามารถนำมาตีความได้หลายอย่าง คนแต่ละฝ่ายก็ตีความแตกต่างกัน คำกล่าวว่าประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะนั้นเป็นจริง แต่ไม่เสมอไป อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ผู้ชนะในอดีตกลับเป็นผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยในช่วงผลัดแผ่นดินจากพระเจ้าตากสินไปยังราชวงศ์จักรีนั้น สุธาชัยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์แบบเดิมได้อธิบายเรื่องบุญบารมีไว้ว่า พระเจ้าตากสินได้หมดบุญแล้ว ผู้อื่นที่สั่งสมบุญบารมีมามากจึงขึ้นมาแทน ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตากสินกับรัชกาลที่ 1 (ก่อนปราบดาภิเษก) คือการร่วมกันรบกับพม่า เรื่องการชิงราชสมบัตินั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์ ในอดีตถือว่าบุญบารมีส่วนหนึ่งวัดด้วยกำลัง เป็นกลไกธรรมดาของการเมืองในสมัยนั้น สมัยอยุธยาก็เต็มไปด้วยการชิงราชสมบัติเช่นกรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์ หรือสมเด็จพระเพทราชา ผู้ใดที่มีความสามารถก็ได้ขึ้นครองราชย์ เวลากล่าวถึงประวัติศาสตร์เรื่องการชิงราชสมบัติจึงไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท

ทนายจำเลยได้ถามถึง “ถุงแดง” ซึ่งบทความ “แผนนองเลือด” ของจิตร พลจันทร์ได้กล่าวถึงผู้ที่โค่นนายตัวเองโดยจับลงถุงแดงแล้วฆ่า สุธาชัยอธิบายว่า ถุงแดง คือสิ่งที่ถูกใช้ในการประหารเจ้านายส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้โลหิตต้องพื้น แต่พระเจ้าตากสินไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านาย เวลาประหารจึงไม่ใช้ถุงแดง แต่ใช้วิธีตัดศีรษะ เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงธนบุรีซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่อยู่ทั่วไป สามารถไปหาอ่านได้ ส่วนเนื้อหาในแบบเรียนนั้นโดยมากจะนำมาจากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ได้ลงละเอียดนัก และนักประวัติศาสตร์แต่ละคนก็ตีความแตกต่างกัน

สุธาชัยตอบคำถามทนายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของตนว่า ได้รับเชิญให้ไปพูดในฐานะนักวิชาการ ไม่ขออ้างว่าตนเป็นกลาง แต่ก็มีกลุ่มที่ชอบเป็นธรรมดา ตนรู้จักสมยศในฐานะนักสหภาพแรงงาน หนึ่งในคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้ใช้แรงงาน  และทราบมาว่าหลังรัฐประหารปี 49 สมยศเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร และคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเห็นว่ามาจากการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 โดยใช้กำลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ในปี 53 ตนและสมยศได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสังหารประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตนได้ถูกจับกุมในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คนตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สุธาชัยกล่าวว่าช่วงเวลานั้นมีข่าวเรื่องผังล้มเจ้า โดยมีพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้นำมาเผยแพร่ ในผังมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นแกนกลาง, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักวิชาการอีกหลายคน ชื่อในผังทั้งหมดเป็นฝ่ายเสื้อแดง หลังจากเห็นว่ามีชื่อตนอยู่ในผัง ก็ได้ยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ศาลได้พยายามไกล่เกลี่ยกระทั่งพันเอกสรรเสริญยอมรับว่าผังล้มเจ้าเกิดจากความคิดเห็นของ ศอฉ. ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจน ผังเพียงแค่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น ไม่ได้แสดงว่าบุคคลเหล่านั้นล้มเจ้าจริง ตนจึงยอมความ ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112

ทนายจำเลยถามถึงประเด็นที่เสื้อแดง นปช. รวมทั้งจำเลยคัดค้าน สุธาชัยตอบว่าพวกเขาคัดค้านระบอบอำมาตยาธิปไตย ใครเป็นหัวขบวนของกลุ่มอำมาตย์ตามประวัติศาสตร์นั้นไม่ระบุชัดเจน หลังปฏิวัติปี 2475 ได้มีกลุ่มนิยมเจ้า หรือ royalist ที่ไม่ยอมรับหลักประชาธิปไตย และพยายามรวมตัวกันคัดค้านประชาธิปไตยของคณะราษฎร ปัจจุบันหัวขบวนอำมาตย์ที่ชัดที่สุดคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ก่อนหน้านี้อาจหมายถึงคนอื่นๆ เช่น กบฏบวรเดช พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่ม royalist ไม่ระบุชัด เสื้อแดงมองว่าพลเอกเปรมเป็นสัญลักษณ์ของอำมาตย์ จากบทบาทการนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 49

เรื่องนิตยสาร Voice of Taksin สุธาชัยกล่าวว่า ตนเคยเขียนบทความลงนิตยสารเรื่องคัดค้านรัฐประหารและอำมาตยาธิปไตย โดยเห็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีหนังสือเป็นอาวุธในการต่อสู้ และเห็นว่าชื่อ Voice of Taksin นั้นมีผลในทางการตลาด เนื่องจากมีคนจำนวนมากนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ ตนใช้ชื่อจริงในการเขียน ส่วนนักเขียนทั่วไปอาจใช้นามจริงหรือนามปากกาก็ได้ ตอนที่ตนเขียนบทความนั้นไม่ทราบว่านามปากกา จิตร พลจันทร์ เป็นใคร

สุธาชัยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทความ “6 ตุลา แห่ง 2553” ในนิตยสาร Voice of Taksin ว่าบทความโจมตีอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังการนองเลือดคล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คำว่า “หลวงนฤบาล” ในบทความ นั้นเป็นตัวละครในเรื่อง “โรงแรมผี” เป็นตัวละครฝ่ายดี จิตใจดี เสียสละ และยังอยู่ในนวนิยาย “ชัยชนะหลวงนฤบาล” ของ ดอกไม้สด ตนคิดว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนฝ่ายอำมาตย์ โยงถึงกษัตริย์ไม่ได้ ในบทความนี้ไม่มีถ้อยคำหรือใจความที่กล่าวถึงกษัตริย์เลย ข้อกล่าวหาเป็นการตีความอย่างเกินเลย การที่บทความกล่าวถึงผู้อยู่เบื้องหลังจอมพลถนอม จอมพลประภาส จอมพลสฤษดิ์ ตนคิดว่าหมายถึงพวกนิยมเจ้าอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ควง อภัยวงศ์, พลเอกสำราญ แพทยกุล และพระองค์เจ้าธานีนิวัต

ส่วนบทความ “แผนนองเลือด” ว่า สุธาชัยเห็นว่าเนื้อความตอนที่กล่าวถึงผู้ที่ฆ่านายตัวเองโดยจับลงถุงแดงนั้น เนื้อความพูดกลางๆ อ่านแล้วหมายถึงใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าปราสาททอง พระเพทราชา ต่างก็เป็นขุนนางมาก่อน การเมืองระบบก่อนปี 2475 เป็นแบบนี้ทั้งสิ้น ต้องไปถามจิตร พลจันทร์ ผู้เขียน ว่าหมายถึงใคร ส่วนเนื้อความที่กล่าวถึงแผนการที่เคาะลงมาจากโรงพยาบาลย่านพระราม 9 นั้น อ่านแล้วไม่ทราบว่าใครอยู่โรงพยาบาลพระราม 9 และไม่ทราบว่าโรงพยาบาลนี้อยู่ที่ใด ตนคิดว่าเรื่องนี้เขียนไม่ดี อ่านแล้วไม่เข้าใจ ต่างจากบทความอื่นของจิตรที่เคยเขียนดีกว่านี้ และที่ไม่เข้าใจที่สุดคือเรื่องนี้เป็นหลักฐานในการเอาผิดคนได้อย่างไร ส่วน“สำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว 2491” ที่ปรากฏในบทความ ที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สุธาชัยกล่าวว่าไม่ใช่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่ปี 2479 ส่วนพฤติกรรม “หลวงของนฤบาล” ที่บทความสื่อว่าทำตัวเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดเวลา สุธาชัยให้ความเห็นว่าไม่แปลก เพราะพวกนิยมเจ้าก็เล่นการเมืองได้

สุธาชัยยังเบิกความถึงสถานการณ์ที่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้นในความขัดแย้งทางการเมือง ว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มาตรา 112 เป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้นเพราะการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยข้อหาหมิ่นฯที่มากขึ้น ทำให้เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ทุกคนล้วนถูกสอนมาให้จงรักภักดีเหมือนกัน แต่มีคนที่อ้างความจงรักภักดีของตัวเองและโจมตีคนอื่นว่าไม่จงรักภักดีอย่างการที่ สนธิ ลิ้มทองกุล โจมตี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ด้วยมาตรา 112 ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นแฟชั่น และยังมีการคิดผังล้มเจ้า เป็นสาเหตุของการรณรงค์เรื่องมาตรา 112 ตอนที่ตนมีชื่อในผังล้มเจ้า มีคนโทรมาด่าว่าเป็นถึงอาจารย์จุฬาฯทำไมทำเช่นนี้ เจ้าหน้าที่คณะรัฐศาสตร์ก็ด่า กระบวนการนี้ก่อให้เกิดการคุกคามจนทำให้ต้องฟ้องร้อง ในอดีตมีบุคคลสำคัญจำนวนมากที่โดนฝ่ายอำมาตย์ใส่ร้ายป้ายสีอย่าง ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ้งภากรณ์, ครูบาศรีวิชัย, บุญสนอง บุณโยทยาน และพระพิมลธรรม สุธาชัยยังกล่าวว่าถึงแม้ว่าจิตร พลจันทร์จะผิดจริง ก็ต้องไปฟ้องจิตรมากกว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 บอกว่าบรรณาธิการไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เขียน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมสมยศถึงต้องโดนจับ

อัยการถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพยานและจักรภพ เพ็ญแข เจ้าของนามปากกา “จิต พลจันทร์” สุธาชัยกล่าวว่าตนเคยคุยกับจักรภพ โดยจักรภพเป็นผู้ที่สนใจเรื่องการต่างประเทศมาก ขึ้นเวทีกับจักรภพ และมีความเห็นทางการเมืองที่สอดคล้องกัน อัยการตั้งคำถามต่อว่า พยานเคยขึ้นเวทีไฮปาร์คด้วยกัน ก็ต้องรู้ว่าบทความใดเป็นของจักรภพใช่หรือไม่ สุธาชัยปฏิเสธว่าไม่จำเป็น ตนกับจักรภพมักคุยกันเรื่องต่างประเทศมากกว่าเรื่องในประเทศ

สุธาชัยตอบคำถามเกี่ยวกับนิตยสาร Voice of Taksin ว่าบทความที่จะนำไปตีพิมพ์ส่งทางอีเมลล์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ทราบรายละเอียดว่าพนักงานของสมยศมีหน้าที่อะไรบ้างเพราะไม่ได้ยุ่งกับกองบรรณาธิการมาก สุธาชัยยอมรับว่าคนที่เป็นแม่งาน ดูแลการลงบทความให้ทันเวลาคือสมยศ อำนาจในการตัดสินใจลงบทความเป็นของสมยศโดยมาก แต่ไม่น่าเป็นคนที่นำงานมาตรวจปรู๊ฟ เพราะคงทำไม่ไหว

ทั้งนี้นายสมยศ ถูกจับในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารVoice of Taksin ซึ่งศอฉ. ตรวจพบว่ามีบทความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์2บทความ จึงส่งให้กรมสืบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ทำการสอบสวน  และถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 ขณะกำลังจะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาพร้อมกับคณะทัวร์ การดำเนินคดีมีการเริ่มสืบพยานมาตั้งแต่วันที่ 21พ.ย. 54 จนสิ้นสุดในวันนี้ รวมมีการนัดสืบพยานทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ 13 ครั้ง โดยที่มีการร้องขอประกันตัวไปแล้วถึง 9 ครั้ง แต่ศาลยกคำร้องทั้งหมด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยะลารับฟ้องคดีแพ่งกรณีทหารสังหาร ‘อาหะมะ มะสีละ’

$
0
0

ศาลยะลารับฟ้องและยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล คดีเรียกค่าเสียหายทางละเมิดกรณีเจ้าหน้าที่ทหารยิงนายอาหะมะ มะสีละ ชาวบ้านเสียชีวิตระหว่างลาดตระเวน อ้างเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการไม่สงบ ครอบครัวยืนยันไม่เกี่ยวข้องฟ้องศาลแพ่ง นัดพร้อม 16 ก.ค.

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555  ศาลจังหวัดยะลาได้นัดไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ในคดีหมายเลขดำที่ 190/2554  ระหว่างนางอูงุง  กูโน  ที่ 1  ด.ช. อับดุลเล๊าะห์  มะสีละ  ที่ 2 ด.ญ.วิลดาน มะสีละ  ที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 1 กระทรวงกลาโหม ที่ 2 กองทัพบกที่ 3 เป็นจำเลย  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดใช้อาวุธปืนยิงทำให้นายอาหะมะ  มะสีละ จนถึงแก่ความตาย ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่

ทนายโจทก์นำพยานเข้าสืบสามปาก  ศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีโดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และมีคำสั่งรับฟ้อง  โดยศาลได้นัดพร้อมในวันที่  16  กรกฎาคม  2555 เวลา 9.00 น.

สำหรับเหตุในคดีนี้ คือ เมื่อวันที่  27 กรกฎาคม 2553 เจ้าหน้าที่ทหารประจำหน่วยเฉพาะกิจยะลา ที่ 12  ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายอาหะมะ  สะสีละ  ในระหว่างออกลาดตระเวนเดินเท้า  จนเป็นเหตุให้นายอาหะมะ  สะสีละ  ถึงแก่ความตาย  และได้เผยแพร่ข่าวว่านายอาหามะ  มะสีละ เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่  ขณะที่ญาติยืนยันว่านายอาหามะ  มะสีละ  มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความเศร้าเสียใจและความสูญเสียแก่ครอบครัวอย่างมาก ทางครอบครัวจึงประสงค์ให้สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในการกระทำละเมิดดังกล่าว  จึงนำคดีมายื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2554          

ต่อมาวันที่  4  สิงหาคม  2554  ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยเห็นว่าเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือการกระทำอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง แต่ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2554 และศาลอุทธรณ์ ภาค 9  ได้มีคำสั่งว่าคดีดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการยิงนายอาหามะ มะสีละ จนถึงแก่ความตาย ข้อพิพาทในคดีจึงเป็นคดีที่มิใช่คดีที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์พิพากษา คุก 2 ปี รอลงอาญา ‘ปกาเกอญอ’ ทนายเตรียมฎีกา “ป่ารุกคน”

$
0
0

 

3 พ.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น. ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษ นายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา14 และมาตรา 31 วรรค 2 (3) ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้ก่อนมีกำหนด 1 ปี พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว  หลังจากศาลจังหวัดแม่สอดมีคำพิพากษายกฟ้องในศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ คณะทำงานด้านกฎหมายเตรียมจะฎีกาทั้งสองคดีต่อไปเพื่อยืนยันสิทธิของชุมชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

สืบเนื่องจากนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล ประชาชนในชุมชนแม่อมกิ  ตำบลแม่วะหลวง  อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นชาวปกาเกอญอได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน   แห่งชาติพ.ศ.2507 ข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด ซึ่งเดิมในศาลชั้นต้นจำเลยได้รับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ประกอบกับขณะนั้นยังไม่มีทนายความ ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1  ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะล่ามไม่ได้สาบานตน ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลย

เมื่อคดีกลับมาพิจารณาคดีอีกครั้งในศาลชั้นต้น จำเลยได้ต่อสู้ว่าตนอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ผ่อนผันให้ราษฎรสามารถอยู่ในบริเวณนั้นๆได้ ระหว่างรอการพิสูจน์สิทธิ และจำเลยมีวิถีการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนซึ่งไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง  มีพยานปากสำคัญเป็นนายอำเภอท่าสองยางและผู้ใหญ่บ้านขณะเกิดเหตุเบิกความสนับสนุนว่าประชาชนในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนมีการประกาศป่าสงวน อีกทั้งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เบิกความถึงรายงานการวิจัยว่าวิถีการทำไร่หมุนเวียนเป็นการผลิตที่สามารถรักษาสมดุลของธรรมชาติไม่ใช่การทำลายป่าไม้ และจากภาพถ่ายที่เกิดเหตุเป็นการทำไร่หมุนเวียน     ศาลจังหวัดแม่สอดจึงมีคำพิพากษายกฟ้องนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุลทั้งสองคดีเนื่องจากเห็นว่าขาดเจตนาในการกระทำความผิด อัยการจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อวันที่  13 มีนาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายกฟ้องนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชา เนื่องจากเชื่อว่าจำเลยอยู่และทำกินมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนตามคำให้การพยาน ทำให้จำเลยสำคัญผิดว่าสามารถเข้าแผ้วถางทำไร่ในที่เกิดเหตุได้ เป็นการขาดเจตนา ยกคำฟ้อง และให้จำเลยออกจากป่าสงวนที่เกิดเหตุเนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่เกิดเหตุ 

ส่วนในคดีนายติแป๊ะโพ (ไม่มีนามสกุล) ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตัดสินให้จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54, 72 ตรี วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา14และมาตรา 31 วรรค 2 (3) แต่การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติหนักสุด คือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้ก่อนมีกำหนด 1 ปี พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้โดยศาลให้เหตุผลในคำพิพากษาว่าจำเลยก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า แล้วยึดถือครอบครองป่านั้นทำประโยชน์เพื่อปลูกพริกและข้าว อันเป็นการเสื่อมเสียแก่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยมีเจตนา เพราะถึงแม้ว่า จำเลยจะได้ทำกินในบริเวณนั้นก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ก็ตาม แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และเมื่อปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแล้ว จำเลยจะอ้างความไม่รู้กฎหมายมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ จำเลยจึงมีความผิดและต้องได้รับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เริ่มแล้ว! ส่ง 2 ผู้ต้องหาป่วนใต้อบรมแทนถูกขัง ตาม ม. 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง

$
0
0

 


 

กิตติ สุระคำแหง 

 

นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ศาลจังหวัดนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มีคำสั่งให้นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจ๊ะมะ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในพื้นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เข้ารับการอบรมแทนการถูกขัง ตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) โดยทั้ง 2 คนยืนยันจะเข้ารับการอบรมและพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ

นายกิตติ เปิดเผยอีกว่า  ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนเริ่มเข้ารับการอบรมที่หน่วยสันติสุข 3 ศูนย์สันติสุขกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายพระปกเกล้าที่ 5 (ป.พัน5) ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นเวลา 6 เดือน

นายกิตติ  เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ในวันที่ศาลจังหวัดนาทวีนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าอบรมตามมาตรา 21 ของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน มีคณะกรรมการตามมาตรา 21 ทั้ง 4 คณะ เข้าร่วมฟังการไต่สวนด้วย ได้แก่ คณะกรรมการรับรายงานตัว คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย และคณะกรรมการกลั่นกรองชุดสุดท้าย ก่อนเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 นอกจากยังมีผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากการกระทำจากผู้ต้องหาทั้ง 2 มาศาลด้วย

“ระหว่างการไต่สวน ผู้เสียหายแถลงต่อศาลว่า ให้อภัยต่อผู้ต้องหาทั้ง 2 คน และ ต้องการให้บุคคลทั้ง 2 กลับมาเป็นคนดีอยู่ในสังคมอย่างสงบสุข ส่วนตนเองก็ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐแล้ว”

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ได้เข้ารายงานตัวของเข้าอบรมตามมาตรา 21 ต่อพล.ต.ธฤทธิ์ สุนทร อดีตผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจสงขลา ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2555

โดยนายรอยาลี บือราเฮง อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีหมายจับของศาลจังหวัดนาทวี คดีร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หลังจากร่วมกับพวกโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 1 นาย

ส่วนนายยาซะ เจะหมะ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 52/6 หมู่ที่ 6 ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีหมายจับของศาลจังหวัดสงขลา ข้อหาร่วมกันก่อการร้ายพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยใช้อาวุธปืนยิง นายสุชาติ อุดม อายุ 45 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดริมถนนสายสะบ้าย้อย-คูหา หมู่ที่ 1 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ChinaAid เผยเฉินกวงเฉิงถูกรัฐบาลจีนขู่ให้ออกจากสถานทูตสหรัฐฯ

$
0
0

หลังจากกรณีที่เฉินกวงเฉิง นักกิจกรรมตาบอดหนีออกจากการกักบริเวณของจีนไปอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ขณะที่ภรรยาเพื่อนของเฉินและองค์กร ChinaAid เผยว่า ครอบครัวเฉินถูกรัฐบาลจีนข่มขู่ ทำให้เขาจำต้องออกจากสภานทูต

 
3 พ.ค. 2012 - เว็บไซต์ ChinaAid รายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่ม ของวันที่ 2 พ.ค.ตามเวลาของจีน เชงจินยาน ภรรยาของหูเจียเพื่อนสนิทของเฉินกวงเฉิง นักกิจกรรมที่หนีการกักบริเวณของรัฐบาลจีน ได้โพสท์ข้อความในทวิตเตอร์บอกว่าสื่อไม่ได้รายงานข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรณีของเฉินกวงเฉิง โดยเฉินไม่ได้ออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ด้วยความประสงค์ของตนเอง
 
มีสื่อบางฉบับในจีนรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และจีน ต่างก็ตกลงร่วมกันในกรณีของเฉิน ซึ่งเป็นเรื่อง "น่าอับอาย"
 
ต่อมา เซง จินยาน กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า กวงเฉินโทรศัพท์หาเธอบอกว่า เขาไม่ได้พูดว่า "ผมอยากจูบ" ฮิลลารี่ คลินตัน ตามที่สื่อรายงาน แต่เขาใช้คำว่า "ผมอยากพบกับ" ฮัลลารี่ คลินตัน รมต.ต่างประเทศ ของสหรัฐฯ
 
ChinaAid เผยครอบครัวเฉินถูกข่มขู่
ทวีตตอบโต้ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สื่อรัฐบาลจีนรายงานข่าวว่า เฉิน กวงเฉิง เดินออกมาจากสถานทูตสหรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองทางการทูตด้วยตนเองเมื่อวันที่ 2 พ.ค.
 
บ็อบ ฟู ประธาน ChinaAid ได้รับโทรศัพท์จาก ไมค์ โพสเนอร์ ผู้ช่วยของฮิลลารี่ คลินตัน ซึ่งจะมาเยือนจีนพร้อมกับฮิลลารี่ โพสเนอร์บอกว่า เขาได้ร่วมเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของเฉินในกรุงปักกิ่ง รวมถึงไปเยี่ยมบางคนในโรงพยาบาล
 
โพสเนอร์กล่าวย้ำว่าทางการสหรัฐฯ มีหน้าที่ดูแลให้ครอบครัวของเฉินปลอดภัยและเป็นอิสระ ขณะเดียวกันก็บอกว่าต้องมีการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทางรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ วางไว้ การแก้ต่างทางกฏหมายของเฉินจึงจะเป็นผล
 
อย่างไรก็ตามทาง ChinaAid ก็ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือบอกว่า เหตุที่เฉินตัดสินใจออกจากสถานทูตสหรัฐฯ เนื่องจากถูกบังคับให้ทำ จากการที่รัฐบาลจีนข่มขู่สมาชิกครอบครัวของเฉิน และจากรายงานที่เกี่ยวข้องกันระบุว่าทางสหรัฐฯ ได้ทอดทิ้งเฉินแล้ว
 
ส่วนทวิตเตอร์ของเชงจินยาน เขียนไว้ว่า "หยวนเว่ยจิง (ภรรยาของเฉิน) บอกเมื่อตอนเที่ยงว่า เธอพบเจอเฉินกวง เจ้าหน้าที่ในเมืองหลินยี่ มณทลซันตง ได้วางกล้องวงจรปิดไว้ในบ้านเฉิน และมียามถือไม้เฝ้าอยู่ในบ้าน ถ้าหากกวงเฉิงไม่ออกจากสถานทูตสหรัฐฯ ภรรยาและลูกของเขาจะถูกส่งตัวกลับไปที่บ้านในเมืองหลินยี่ มณทลซันตงโดยทันที"
 
ทวิตเตอร์ของจินยานเผยอีกว่า "กวงเฉิงไม่ได้ต้องการออกจากสถานทูตสหรัฐฯ แต่เขาไม่มีทางเลือก หากเขาไม่ออก หยวนเว่ยจิง จะถูกส่งกลับซันตงโดยทันที หวาน เว่ยจิง บอกกับฉันว่า 'จินยาน ฉันกลัวมาก' "
 
บ็อบ ฟู บอกว่าพวกเขาเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ของเฉิน หากการที่เขาถูกบีบให้ออกจากสถานทูตสหรัฐฯ เป็นเรื่องจริง และเรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยรายละเอียดการเจรจาในเรื่องเฉินและครอบครัวของเขา เพื่อที่ประชาคมโลกจะสามารถให้ความเชื่อถือต่อต่อทั้งสองฝ่ายได้
 
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า หลังจากที่เฉินออกจากสถานทูตสหรัฐฯ แล้วเขาก็อาศัยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีนในโรงพยาบาลกรุงปักกิ่ง
 
เฉิน เผยอยากออกจากประเทศ 
และเมื่อวันที่ 3 พ.ค. เฉินก็ได้ใช้โทรศัพท์ในโรงพยาบาลคุยกับนักข่าวบอกว่าเขาอยากออกจากประเทศจีน และกลัวเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวเขา หากเขายังคงอยู่ในจีนภายใต้สภาพที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าเขายังรู้สึกมีความสุขดีอยู่
 
"ผมรู้สึกไม่ปลอดภัย สิทธิและสวัสดิภาพของผมไม่มีใครรับรองได้ที่นี่" เฉินกล่าว และเสริมอีกว่าครอบครัวเขาก็สนับสนุนให้เขาเดินทางไปสหรัฐฯ
 
ฮิลลารี่ ไม่ได้กล่าวถึงกรณีเฉิน
ในวันเดียวกัน (3 พ.ค.) ฮิลลารี่ คลินตัน ผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การจับตามองของบุคคลทางการทูต ก็ได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐ-จีน (S&ED) โดยใช้โอกาสนี้กล่าวเรียกร้องให้จีนปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้เน้นย้ำถึงกรณีเฉิน กวงเฉิง
 
ด้านประธานาธิบดีจีน หู จินเทา กล่าวปราศรัยว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ ควรเคารพกันและกันแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกัน
 
"พิจารณาจากสภาพการณ์ของประเทศที่ต่างกันแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะมองในทุกๆ ประเด็นด้วยสายตาที่ตรงกัน" หู กล่าว
 
ทางการจีนร้องสหรัฐฯ ขอโทษ กรณีให้เฉินอยู่นสถานทูต
ทางสำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ทางการจีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ขอโทษในกรณีที่ให้ที่อยู่แก่เฉิน กวงเฉิง โดยหลิว เหว่ยมิน โฆษกการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ทางการจีนรู้สึกไม่พอใจในเรื่องนี้ และการกระทำของสหรัฐฯ ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน
 
 
 
 
เรียบเรียงจาก
Chinese dissident Chen seeks US exile deal
 
ChinaAid Response to Chen Guangcheng “Walking Out of US Embassy”, ChinaAid, 02-05-2012
 
Zeng Jinyan: Chen Guangcheng Talked to Me. What Media Reported Is Wrong., ChinaAid, 02-05-2012
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานร้องศาลปกครอง ได้รับผลกระทบจากการทำงานของอุทยานฯ

$
0
0

ปู่คออี้นำชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองกลาง

ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ (“ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งป่าแก่งกระจาน) อายุ 101 ปี พร้อมชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จะยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยการรื้อทำลาย เผาบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษป่าแก่งกระจาน

ด้วยเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉาง ถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุทธการตะนาวศรี”

นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” (จกอว์ หรือสกอว์) มี “อัตลักษณ์ชาติพันธุ์” เป็นของตัวเอง ตั้งรกรากถิ่นฐานบนพื้นที่สูงบริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบางกลอย ที่ “บ้านบางกลอยบน” ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีนับแต่ครั้งบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนอย่างพอเพียง ซึ่งได้รับการวิจัยและพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทางด้านเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิเวศวิทยา และมานุษยวิทยานิเวศ แล้วว่า เป็นการทำไร่เชิงคุณภาพที่รักษาสมดุลของธรรมชาติ

นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี จึงได้นำคดีมาสู่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะเหตุที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ละทิ้ง/ ออกจากบ้านเรือนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย-บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (l’erreur de fait) นายชัยัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เป็น “ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ทั้งยังรื้อ เผา ทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางปกครอง การกระทำทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ทั้งยังเป็นการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง เพราะตามข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่ามีมาตรการที่เหมาะสมอยู่หลายมาตรการ แต่มาตรการที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะฝ่ายปกครอง เลือกที่จะเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้าน มิใช่มาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีมาตรการอื่นๆ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมายปกครองมากกว่า คือ การยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม, การเพิกถอนพื้นที่ที่รับประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ ป่าสงวน ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว

การกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน และสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียงตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หน่วยงาน ชดใช้ค่าเสียหาย และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

ก่อนหน้านี้นายน่อแอะ หรือหน่อเอะ มีมิ ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบุตรชายนายนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการดังกล่าวเช่นกัน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,622,500 บาท โดยศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พธม.วอนศาลเว้นค่าธรรมเนียมอุทธรณ์คดีปิดสนามบิน ระบุ 13 แกนนำไม่มีรายได้ประจำ

$
0
0
แกนนำพันธมิตรฯไต่สวนคำร้องขอละเว้นค่าธรรมเนียมอุทธรณ์ ร้อยละ 2.5 จากค่าปรับ 522 ล้าน คดีชุมนุมสุวรรณภูมิ ระบุจำเลยทั้ง 13 คน ไม่มีรายได้ประจำจึงไม่สามารถนำเงินมาวางในชั้นอุทธรณ์ได้ 
 
3 พ.ค. 55 - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่าศาลนัดไต่สวนคำร้อง คดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 13 คน จำเลย คดีที่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 6453 /2551 เรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ได้ยื่นขอให้ศาลพิจารณาสั่งละเว้นค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ร้อยละ 2.5 จากวงเงินค่าปรับที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯจ่ายจำนวน 522,160,947 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง 
 
โดยในวันนี้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ ยื่นคำเบิกความของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์,นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่า แกนนำและแนวร่วมพันธมิตรฯ จำเลยทั้ง 13 คน ไม่มีรายได้ประจำ จึงไม่สามารถนำเงินมาวางในชั้นอุทธรณ์ได้ อีกทั้งการฟ้องร้องในคดีนี้ ไม่ได้เป็นการฟ้องเพื่อเรียกหนี้สินส่วนบุคคล แต่การกระทำของแกนนำพันธมิตรฯที่ตกเป็นจำเลยเป็นการทำเพื่อประเทศชาติ ทั้งนี้ศาลแพ่งนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ เวลา 13.00 น.
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การปรองดองแท้จริงต้องควบคู่กับการทำความจริงให้ปรากฎ

$
0
0

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ (รูปประกอบจาก ThaiEnews.blogspot.com)
ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.

 

ถ้าศึกษาการปรองดองในประเทศต่าง ๆ จะพบว่าการเกิดการปรองดองในประเทศใดประเทศหนึ่งได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ที่ผู้เขียนมาทบทวนพิจารณาดังนี้ คือเหตุผลชุดที่หนึ่งที่เป็นขั้นแรก

ประการแรก ความขัดแย้งได้ลุกลามร้าวลึก จนสร้างความเกลียดชังระหว่างกันอย่างรุนแรง

ประการที่สอง มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ มีการเข่นฆ่ากันโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนสองฝ่าย

ประการที่สาม ประเทศนั้น ๆ ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขอีกต่อไป มีโอกาสที่ความขัดแย้งจะลุกลามขยายตัว การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธขยายตัวมีคนล้มตายมากขึ้นเรื่อย ๆ

ประการที่สี่ ถึงเวลาที่คนในสังคมตระหนักว่าอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้

นำมาสู่เหตุผลชุดที่สองขั้นต่อมาเพื่อนำไปสู่การปรองดอง หลังจากที่คนในสังคมตกลงใจว่าจำเป็นต้องปรองดองเพื่อความปกติสุขของสังคม ถ้าคนในสังคมยังไม่สุกงอมที่จะปรองดอง การปรองดองด้วยความคิดของคนส่วนน้อยจะยังไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นอันขาด ดังนั้นการปรองดองจะเกิดได้หรือไม่ต้องมาจากความยินยอมพร้อมใจของคู่ขัดแย้ง การทำความเข้าใจว่าคู่ขัดแย้งหลักและปัญหาหลักของประเทศคืออะไร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ให้ตรงจุด

เมื่อคนส่วนหนึ่งคิดว่าคู่ขัดแย้งหลักในสังคมไทยคือคุณทักษิณ ชินวัตรและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ การแสดงออกของทั้งสองฝ่ายในทิศทางการปรองดอง จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญโด่งดัง และเชื่อว่าจะทำให้จบเรื่องขัดแย้งในสังคมได้ และเมื่อความต้องการให้เกิดการปรองดองขึ้นในประเทศไทยนั้นได้มาจากชัยชนะทางการเมืองในการเลือกตั้ง ทำให้พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ ปรารถนาจะให้ก้าวต่อไปในการบริหารประเทศ มั่นคง แก้ปัญหาของประเทศและผู้ถูกกระทำทั้งหลายทั้งปวง สร้างนิติรัฐ นิติธรรมได้ อย่างรวดเร็ว กระบวนการปรองดองในรูปแบบต่าง ๆ จึงมีความพยายามให้เกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด ในขณะที่กลุ่มเครือข่ายระบอบอำมาตย์ที่มีอำนาจกุมกลไกรัฐและกุมสังคมไทย ยังไม่ยินดีเข้าสู่กระบวนการปรองดอง เห็นได้ชัดจากเวทีรัฐสภาที่มีวุฒิสมาชิกและพรรคประชาธิปัตย์ ที่สำแดงกำลังขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสุดกำลัง ประสานกองกำลังนอกระบบ มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า สส. และ สว. สี่ร้อยกว่าคนทำผิด จึงขอให้ศาลถอดถอน ในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550

หรือกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มสหธรรมิก กลุ่มสารพัดชื่อแปลก ๆ ก็พยายามเคลื่อนไหว (ที่ไม่มีคนร่วม) เพื่อต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่นำไปสู่การให้มี สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แต่ด้วยเหตุที่คุณทักษิณและป๋าเปรมเป็นบุคคลสำคัญในฝ่ายความขัดแย้งสองข้าง การพยายามปรองดองของบุคคลสำคัญจึงเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย และส่งผลต่อกระแสรวมของความขัดแย้งในสังคม จึงเป็นเรื่องน่าพิจารณาว่า เพียงการตกลงใจของสองคนจะทำให้สังคมไทยตกผลึกในเรื่องการปรองดองหรือไม่ คำถามต่อมา คุณเปรมต้องการปรองดอง จริงหรือไม่? และเครือข่ายระบอบอำมาตย์ในระบบราชการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนทั้งหลายต้องการปรองดอง จริงหรือไม่?

ทั้งต้องเน้นที่คำถามสำคัญว่า เครือข่ายอำมาตย์รวมทั้งคุณเปรมยินดีที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชน จริงหรือไม่? ทนได้หรือไม่? ยอมรับได้ไหมที่ประชาชนไทยจะมีอำนาจแท้จริงทางการเมืองการปกครอง โดยให้สิ้นสุดระบอบอำมาตยาธิปไตย

ถ้าคำตอบคือไม่จริงหรอก เช่นนั้น การปรองดองก็เป็นเพียงการต่อรองให้พื้นที่ระบอบอำมาตย์ยังมีอยู่จำนวนหนึ่งใช่หรือไม่? ปรองดองเพื่อแบ่งพื้นที่ของผู้ปกครองสองฝ่ายให้พออยู่ร่วมกันได้ อย่างน้อยชั่วระยะเวลาหนึ่ง นี่จึงไม่ใช่การปรองดองที่แท้จริง เป็นเพียงการปรองดองของผู้ปกครองกันเอง มิใช่การปรองดองของประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยกับผู้ปกครองที่ไม่ต้องการคืนอำนาจให้กับประชาชน และที่จริงประชาชนในโลกนี้ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปรองดองกับผู้ปกครอง ประชาชนมีแต่ถูกปกครองด้วยอำนาจปกครองที่ชอบธรรมหรือไม่ และถูกบังคับให้จำยอมต่ออำนาจปกครองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ สัจธรรมมีว่า มีแต่การต่อสู้ของประชาชนเท่านั้น จึงจะได้อำนาจมาเป็นของประชาชน แต่การปรองดองของรัฐบาลกับคนสำคัญทางระบอบอำมาตยาธิปไตยก็สร้างความสบายใจให้กับประชาชนทั่วไปได้พอสมควร เพราะเป็นการมองในมิติรวมของสังคมไทยตามโพลที่ได้สำรวจกันมา ทั้งชอบธรรมสำหรับรัฐบาล แต่สร้างความไม่สบายใจให้กับคนเสื้อแดงจำนวนไม่ใช่น้อย เพราะประชาชนคนเสื้อแดงยังไม่ยินดีจะปรองดองกับผู้ปกครองในฝ่ายอำมาตยาธิปไตย จนกว่าสังคมรู้ความจริงและเอาคนผิดมาลงโทษ (ลองสอบถามดูได้)

สำหรับกระบวนการปรองดองจะเริ่มต้นนับหนึ่งได้นั้น สังคมไทยต้องมีความรับรู้ร่วมกัน ในระดับใกล้เคียงกัน ในเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อตระหนักถึงความจำเป็นในการเดินไปสู่ทิศทางเดียวกันในอนาคตสังคมไทย

ดังนั้น การทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตั้งแต่มูลเหตุของความขัดแย้ง เปิดเผยการทำรัฐประหาร ใครได้ใครเสียประโยชน์ และความจริงในการเข่นฆ่าประชาชน จนถึงการทำคดีและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่นิติธรรม เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปิดเผยความจริงเหล่านี้ เป็นวาระเร่งด่วน มิฉะนั้นจะเกิดการปรองดองที่แท้จริงไม่ได้นอกจากแสดงลิเก สำหรับคณะ คอป. ที่ตั้งขึ้นมาในยุคประชาธิปัตย์ที่เอาอย่างการแก้ปัญหาในต่างประเทศ ก็ลืมชื่อของตนเองว่าต้องเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ เลยไม่มีผลงานในการค้นหาความจริงออกมาเลย ได้แต่ลอกตัวเลขจากหน่วยงานเกี่ยวกับคดีและคนได้รับผลกระทบ ไม่ได้นึกว่าชื่อองค์กรนี้บ่งถึงภาระหน้าที่สำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไป คือค้นหาและเปิดเผยความจริงเพื่อนำไปสู่การปรองดอง ผู้เขียนได้พยายามสอบถามประชาชนคนเสื้อแดง ทุกคนต้องการทำความจริงให้ปรากฏและเอาคนผิดมาลงโทษทุกคน แต่ก็ยินดีที่จะปรองดอง เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ทำผิด ไม่มีกองกำลังอาวุธ มาเรียกร้องประชาธิปไตยให้ยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งเท่านั้น กระบวนการปรองดองในต่างประเทศก็ต้องเริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการคอป.(TRC) แบบนี้ขึ้น แล้วทำงานเพื่อค้นหาความจริงอย่างจริงจังก่อนเข้าสู่กระบวนการปรองดอง คณะกรรมการ คอป. (TRC) ในต่างประเทศจะเอาการเอางานในการค้นหาความจริง แล้วตีแผ่ในทั้งประเทศและต่างประเทศ

ขณะนี้คดีความที่ไต่สวนในคดีผู้เสียชีวิตก็เริ่มขึ้นแล้ว ชัดเจนว่าการตายของทหารที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยานั้น ตายด้วยระเบิดมือ M67 ที่คนเสื้อแดงไม่มีความสามารถจะไปขว้างได้ในระยะที่หวังผลการขว้าง เพราะอยู่ห่างกันกว่าระยะขว้างระเบิดมือ และเป็นไปไม่ได้ที่คนเสื้อแดงจะมีอาวุธเช่นนั้น นี่เป็นตัวอย่างในกรณีการตายของทหารว่าไม่ได้เกิดจากคนเสื้อแดงหรือ M79 หรืออาร์ก้าจากชายชุดดำ

ความขัดแย้งที่จะคลี่คลายได้ต้องทำให้ความรับรู้ในสังคมค่อนข้างเป็นเอกภาพ บนพื้นฐานของความจริง กระบวนการปรองดองจึงจะขับเคลื่อนต่อไป ถ้าไม่ใส่ใจที่จะทำให้สังคมชัดเจนว่ามีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาการปรองดองก็จะเดินหน้าโดยความขัดแย้งยังมีแต่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกกำลังผู้ปกครองในระบอบอำมาตย์ฯ แทรกแซง สร้างภาพให้กลุ่มตนถูกต้อง ให้ประชาชนเป็นพวกเลวร้าย ผู้ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง จึงจำเป็นต้องทำให้ข้อมูลข่าวสารจริงได้เป็นที่รับรู้ในสังคม ดังนั้นการปฏิรูปสื่อเพื่อประชาชนต้องเกิดขึ้นให้ได้ พร้อมกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ได้นิติรัฐ นิติธรรม เปิดเผยการเข่นฆ่าประชาชนและกระบวนการใส่ร้ายป้ายสี มิใช่เพื่อความอาฆาตมาดร้าย แต่ให้ได้เอกภาพแห่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเรื่องจริง จากนั้นจึงจะปูทางสู่นิติรัฐ นิติธรรมและการปรองดองได้

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลนี้ต้องเร่งขบวนการทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด ทำให้การไต่สวนคดีที่รัฐและประชาชนฟ้องร้องเจ้าหน้าที่และผู้ทำผิดในการเข่นฆ่าประชาชนเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ และดำเนินการโดยเร็ว ให้ประกันและปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมือง

ทบทวนแก้ปัญหาการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม ตั้งข้อหารุนแรงเกินจริง พยานหลักฐานเท็จ บังคับให้สารภาพผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำ สารพัดความเลวร้ายที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์และคนไทยด้วยกัน ที่ยังไม่ได้ทำในยุคนี้ ก็เพียงแต่เผาในถังแดงเท่านั้น ถ้าไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ สังคมไทยไม่มีทางที่จะบรรลุความปรองดอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลล์เผล 68.8% ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้

$
0
0
กรุงเทพโพลล์เผย ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าการนิรโทษกรรม ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ โดยแนะให้นักการเมืองเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภา
4 พ.ค. 55 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,180 คน พบว่า 
 
ประชาชนร้อยละ 37.7 ระบุว่ายังไม่เห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 28.5 ระบุว่าเริ่มเห็นบรรยากาศความปรองดองเกิดขึ้นแล้ว ส่วนร้อยละ 33.8 ระบุว่าไม่แน่ใจ
 
ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดความปรองดอง คือ นักการเมืองต้องเลิกนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ร้อยละ 26.7 รองลงมาคือ นักการเมืองต้องหันหน้าเข้าหากันเลิกทะเลาะกันทั้งในและนอกสภาฯ ร้อยละ 26.5 และคนไทยต้องเคารพและยึดกฎหมายของประเทศเป็นหลัก ร้อยละ 10.9
 
เมื่อถามถึงการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดทางการเมืองว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้หรือไม่ประชาชนร้อยละ 68.8 ระบุว่าไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา อคติยังคงมีอยู่ทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่ยอมกัน ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ และเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึกของคนในชาติ เป็นต้น) ในขณะที่ร้อยละ 31.2 ระบุว่า สามารถสร้างความปรองดองได้ (โดยให้เหตุผลว่า เป็นการให้อภัยกัน เรื่องคงจบ เป็นการเริ่มต้นใหม่โดยหันหน้ามาคุยกัน ให้โอกาสแก่ผู้ทำผิดได้กลับตัว เป็นต้น )
 
ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อการออก พรบ.ปรองดอง ว่ามีความจำเป็นต่อสังคมไทยเพียงใด พบว่า ประชาชนระบุว่าค่อนข้างจำเป็น ร้อยละ 35.4 และจำเป็นมาก ร้อยละ 24.9 ในขณะที่ระบุว่าไม่ค่อยจำเป็น ร้อยละ 19.3 และไม่จำเป็นเลย ร้อยละ 20.4 อย่างไรก็ตาม ประชาชน ร้อยละ 51.5 ระบุว่ารัฐบาลยังไม่มีการสร้างความเข้าใจและรายละเอียดให้ชัดเจนถึงเหตุผล ความจำเป็น และกระบวนการในการออก พรบ.ปรองดอง ร้อยละ 40.4 ระบุว่า เข้าใจแต่ยังไม่ชัดเจน มีเพียงร้อยละ 8.1 ที่ระบุว่าเข้าใจชัดเจนแล้ว
สำหรับความกังวลที่มีต่อการออก พรบ. ความปรองดอง ว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกนั้นประชาชนร้อยละ 42.1 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล และร้อยละ 17.4 กังวลมาก ในขณะที่ ร้อยละ 26.1 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 14.4 ระบุว่าไม่กังวลเลย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม เน้นเสนอภาพการช่วยเหลือระยะสั้น

$
0
0

เสวนาผลการศึกษาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” พบฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น 

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ได้จัดกิจกรรมนำเสนอและรับฟังความเห็นต่อ ผลการศึกษาเรื่อง “ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” ที่ลานกิจกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชั้น 35 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์

เริ่มด้วยการนำเสนอ โดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งกล่าวว่า งานนี้เป็นการศึกษารายการข่าวและรายการพิเศษของฟรีทีวี 6 ช่อง ที่ออกอากาศระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2554  ในช่วงเวลา 20.00 – 24.00 น.  โดยรายการที่ศึกษา คือ ข่าว 3 มิติ (ช่อง 3) จับประเด็นข่าวร้อน (ช่อง 5) ประเด็นเด็ด 7 สี (ช่อง 7) ข่าวข้นคนข่าว (ช่องโมเดิร์นไนน์) สถานีรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม (ช่อง สทท.11) คุยแต่น้ำไม่เอาเนื้อ (ช่องสทท.11) ที่นี่ไทยพีบีเอส (ช่องไทยพีบีเอส) ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม ช่วง 1 และ 2 (ช่องไทยพีบีเอส) กับลุยกรุง (ช่องไทยพีบีเอส) ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาที่ศึกษา คือ มีน้ำท่วมขังตั้งแต่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี  ปทุมธานี  และกรุงเทพมหานคร ที่น้ำเริ่มไหลออกทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่าวไทย

การศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1  การวิเคราะห์เนื้อหารายการที่ศึกษา ใน 7 ประเด็น ซึ่งสรุปผลการศึกษาต่อแต่ละประเด็น ได้ดังนี้

การรายงานสถานการณ์น้ำ พบว่า ฟรีทีวีให้ความสำคัญกับการรายงานระดับน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเฉพาะย่านที่อยู่อาศัยและเส้นทางสัญจรที่สำคัญโดยเฉพาะเขตดอนเมือง-รังสิต  ห้าแยกลาดพร้าว พระราม 2  บางชัน ลาดกระบัง ทั้งที่ในช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่กลับถูกนำเสนอไม่มากนัก

การจัดการปัญหาน้ำท่วม พบการนำเสนอ 8 มิติ ได้แก่ การจัดการสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ การเฝ้าระวังและป้องกันสถานการณ์น้ำ การจัดการปัญหาสภาพแวดล้อม การช่วยเหลือและชดเชยความเสียหาย การจัดการสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการปัญหาความขัดแย้ง การจัดการด้านเศรษฐกิจ และการจัดการร่วมกับองค์กรต่างประเทศ จากการวิเคราะห์รายการที่ศึกษา พบว่าผู้ที่มีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหา คือ ภาครัฐ แต่พบช่องไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะของผู้จัดการปัญหา และมีการนำเสนอข่าวการจัดการเพื่อกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ประสบภัยที่ไม่ได้รับเงินชดเชย

ผลกระทบจากสถานการณ์ พบ 4 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยในมิติเศรษฐกิจ พบว่า มักเน้นภาคเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ด้านสังคมให้ความสำคัญรอบด้านทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ราคาสินค้า และชีวิตความเป็นอยู่ เช่นเดียวกับมิติด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมซึ่งมีทั้งเรื่องปัญหาระบบนิเวศน์ ปัญหามลพิษ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ในขณะที่มีการรายงานผลกระทบต่อโบราณสถานจากช่อง 7 เท่านั้น

ความขัดแย้ง พบความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนจากการจัดการสถานการณ์ เช่น ปัญหาบิ๊กแบ๊ค การแก้ไขสถานการณ์น้ำซึ่งนำเสนอความผิดพลาดของรัฐ และความไม่พอใจของผู้ประสบภัยที่ลงเอยด้วยการรื้อบิ๊กแบ๊คและการฟ้องร้อง นอกจากนี้ยังพบความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองเรื่องการตรวจสอบทุจริตถุงยังชีพ 

การช่วยเหลือ พบว่าฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การให้บริการรถ เรือ และการบริการทางการแพทย์ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระยาว เช่น การปรับปรุงระบบประกันภัยพิบัติ การพักชำระหนี้ และการสร้างถนนพบในช่องสทท.11 และ ไทยพีบีเอส เท่านั้น

การเตือนภัย ในรายการที่ศึกษาพบว่า ฟรีทีวีรายงานข่าวการประกาศอพยพและการประกาศพื้นที่เฝ้าระวังเป็นภาษาไทย และไม่พบการสื่อสารเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน นอกจากนี้พบว่ามีเพียงช่อง 3 และช่องไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีการตรวจสอบการเตือนภัยของรัฐบาล เช่น การสำรวจสถานการณ์น้ำและปฏิกิริยาของประชาชนในพื้นที่ที่มีการเตือนภัย

การฟื้นฟู จากรายการที่ศึกษา พบ 7 มิติ ได้แก่ พื้นที่ ทรัพย์สิน สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศาสนาวัฒนธรรม และอาชีพ แต่มิติที่ฟรีทีวีทุกช่องให้ความสำคัญ คือ มิติด้านพื้นที่โดยเฉพาะกิจกรรม Big Cleaning Day และกิจกรรมทำความสะอาดอื่นๆ ซึ่งจัดโดยภาครัฐ ในขณะที่ช่องไทยพีบีเอสเน้นการฟื้นฟู โดยการทำความสะอาดของภาคประชาชน

ส่วนที่ 2  เป็นการวิเคราะห์ผลการศึกษาส่วนที่ 1 ด้วยแนวคิดเรื่อง สิทธิมนุษยชน และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับการรายงานข่าว สรุปผลการวิเคราะห์ได้ดังนี้

เรื่องของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลครองพื้นที่สื่อ - แม้ว่าฟรีทีวีให้พื้นที่กลุ่มคนที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ธุรกิจ อุตสาหกรรม แรงงานในระบบและนอกระบบ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะช่อง 3 ให้พื้นที่ผู้ประสบภัยหลากหลายกลุ่มทั้ง ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ คนเก็บของเก่า ชาวนา และสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อย่างไรก็ตามฟรีทีวีเน้นนำเสนอบุคคลที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าผู้ที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาเดียวกัน

รัฐ สื่อ ธุรกิจสวมบทเด่น – แม้จากรายการที่ศึกษาจะพบว่ากลุ่มคนที่ปรากฏในสื่อถูกนำเสนอในบทบาทที่แตกต่างกันจนทำให้เกิดภาพลักษณ์เฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ดี พบว่า กลุ่มภาครัฐ กลุ่มสื่อ และกลุ่มธุรกิจถูกนำเสนอในบทบาทการควบคุมสถานการณ์ การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การสั่งระบายน้ำ การกู้เส้นทางจราจร การบริจาคสิ่งของ ฯลฯ ในขณะที่ประชาชนทั่วไป กลุ่มคนพิเศษ เกษตรกร และ ผู้ใช้แรงงาน ถูกนำเสนอในบทบาทของผู้ประสบภัยที่ได้รับความทุกข์จากสถานการณ์น้ำท่วมและการจัดการของภาครัฐ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้เอง ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ  ทั้งพบบทบาทกลุ่มประชาชนที่รื้อบิ๊กแบ๊ค เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีการกระทำที่ใช้อารมณ์

อย่างไรก็ตามช่องไทยพีบีเอสนำเสนอบทบาทของประชาชนที่แตกต่างออกไป คือ เป็นกลุ่มประชาชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองและชุมชนได้ เช่น การวางแผนสร้างทางเดินในชุมชน และการทำอาหารแจกคนในชุมชน รวมถึงการบอกเล่าและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล

ในส่วนบทบาทนักการเมือง พบการจับผิดขั้วตรงข้ามทางการเมือง มากกว่าการช่วยเหลือประชาชน

คนพิการ ชาวต่างชาติถูกมองข้าม – จากรายการที่ศึกษาพบว่าการสื่อสารของฟรีทีวีเป็นแบบ One fits for all หรือการนำเสนอข้อมูลชุดเดียวแก่คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญ เช่น การแจ้งพื้นที่เฝ้าระวังและการแจ้งอพยพที่ไม่มีการแปลภาษาหรือสื่อสารด้วยวิธีการพิเศษสำหรับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามพบว่าช่องไทยพีบีเอสนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มแรงงานโดยใช้ภาษาของแรงงานกลุ่มดังกล่าว

ข้อมูลเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม – จากรายการที่ศึกษา พบว่า ฟรีทีวีรายงานสถานการณ์น้ำเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมและน้ำลด มากกว่าการรายงานภาพรวมเส้นทางน้ำ ปริมาณน้ำ หรืออัตราความเร็วน้ำเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และมีอำนาจควบคุมสถานการณ์ควบคู่ไปกับภาครัฐ ในส่วนของการแจ้งอพยพ พบว่าสื่อรายงานประกาศของภาครัฐโดยไม่มีข้อมูลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย เช่น สถานที่พัก จุดบริการรถรับส่ง เส้นทางจราจร ฯลฯ โดยเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการอพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับประเด็นการช่วยเหลือฟื้นฟู พบการนำเสนอหลายมิติ แต่ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การตั้งเครื่องสูบน้ำ การทำความสะอาด ฯลฯ ในขณะที่แผนระยะยาวมุ่งเน้นมิติเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการปล่อยสินเชื่อ

หลังจากการนำเสนอผลการศึกษา เป็นการเสนอ/ความคิดเห็นจากคณะวิทยากร ดังนี้

อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการศึกษาว่ามีข้อจำกัดเพราะสุ่มเลือกช่วงเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง ในขณะที่ภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ถ้าทำการติดตามศึกษาโดยตลอด จะเห็นวิธีคิดของคนทำข่าว นอกจากจะเป็นการศึกษาในช่วงสั้นแล้ว ยังเลือกประเด็นความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นประเด็นใหญ่

อาจารย์สุภาพร วิเคราะห์ลักษณะการทำงานของสื่อมวลชนที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.ยึดติดกับมายาคติเก่าๆ คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับมหภาค หรือส่วนกลาง มักจะได้พื้นที่และความสำคัญ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าตั้งคำถามกับสื่อมวลชน เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่เหมือนกรณีของสึนามิที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นวิกฤตที่ก่อตัวอย่างช้าๆ และมีเวลาให้จัดการ ดังนั้น วิกฤตน้ำท่วมจึงไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนการขาดความพร้อมของคนไทย และการที่สื่อไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึง “ข้อมูลสำคัญ”

2.โลกทัศน์ของสื่อมวลชน ที่มองว่า “ความคิดทางวิทยาศาสตร์” มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ที่จริงแล้วมีความคิดหลายสำนัก แต่ละสำนักคิดก็มีการให้เหตุผลกับกระบวนการ แตกต่างกัน ในกรณีวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ชี้ว่า การวางบิ๊กแบ็คทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่เหนือและใต้แนวกั้นน้ำ แต่ในเรื่องนี้ ก็มีแนวคิดต่างจากการใช้บิ๊กแบ็คกั้นน้ำ ที่เห็นว่าการกั้นน้ำเป็นการสะสมน้ำ ทำให้น้ำมีเวลารวมตัว ก่อให้ผลกระทบมากกว่าเดิม โจทย์นี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่อยู่บนความแตกต่าง หลากหลาย ซับซ้อน และเคลื่อนที่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มคน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน และมีตัวละครเกี่ยวข้องที่หลากหลาย เป็นความละเอียดอ่อนซึ่งท้าทายสื่อมวลชนยุคนี้ เช่น กรณีอำเภอบางบาล ที่ถูกเลือกให้เป็นแก้มลิง ขณะที่กรุงเทพฯ น้ำแห้งแต่คนบางบาลยังนอนอยู่ริมถนน เป็นพื้นที่ที่ท่วมก่อนแต่แห้งทีหลัง อันนี้เป็นความล่มสลายของชีวิต สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการล่มสลายของชีวิตผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมไม่พอ ทำให้มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของปัญหานี้ สื่อต้องเชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำ สื่อต้องนำเสนอในมิติ Macro (มหภาค) และ Micro (จุลภาค) เช่นในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องมีเรื่องของชุมชนและผู้คนที่ถูกละเลยในพื้นที่สื่อ ซึ่งก็คือ ภาคส่วนที่ถูกลืมและละเลย การศึกษานี้ จึงไม่ใช่ศึกษาเฉพาะส่วนที่สื่อนำเสนอ แต่ต้องค้นหาส่วนที่ขาดหายไป และนั่นคือความเหลื่อมล้ำ

3.ขาดการตั้งคำถาม ในวิกฤตน้ำท่วมนี้รัฐบาลต้องมีการจัดการเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน และมีเอกภาพ แต่สื่อมวลชนไม่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพนั้น สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้รับสารได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การประกาศแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น หรือ ในส่วนของวาทกรรม “ผู้เสียสละ” โดยการประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ สื่อต้องให้ความสนใจว่า การที่ภาครัฐประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำหรือไม่

4.ความอ่อนไหว สื่อมวลชนได้ร่วมกับภาครัฐในการสร้างวาทกรรม “ผู้เสียสละ” ซึ่งคนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่อ่อนแอที่สุด แต่ต้องเสียสละเพื่อคนที่เข้มแข็งกว่า สื่อมวลชนควรสร้างความเช้าใจและเห็นอกเห็นใจ

ท้ายที่สุด อาจารย์สุภาพรตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างคำนึงถึงการให้ความรู้ไปด้วย ทำอย่างไรให้การสื่อสารในวิกฤตแบบนี้ “ไม่มีใครถูกลืม”

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในมิติของนักรัฐศาสตร์ จากที่สื่อมวลชนมักมองคนบางกลุ่มเป็นกลุ่มพิเศษ เช่น เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ทั้งที่ควรมองในหลายมิติมากขึ้น และมองอย่างเท่าเทียมกัน โดยผศ.ดร.ประภาส ได้ให้มุมมองความเหลื่อมล้ำใน 3 มิติ ดังนี้

1.มิติอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำจากอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ มายาคติที่มองเห็นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าชนบท ดังนั้นคนในชนบทจึงต้องเสียสละรับน้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มคนดังกล่าว มีความรุนแรงและส่งผลยาวนานกว่ามาก จนอาจทำให้วิถีชีวิตบางอย่างหายไป เช่น ชาวไร่ชาวสวนในบางพื้นที่ต้องล้มสวนเกือบทั้งหมด ขาดรายได้ 6-7 เดือน และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน จนอาจเลิกปลูกไม้ยืนต้นในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้  จึงมีความซับซ้อนมากกว่าการแจกถุงยังชีพ

2.มิติอำนาจทางการเมือง สังคมมักมองผู้ออกมาเรียกร้อง ผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ต้องการพื้นที่สื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารความเดือดร้อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ทางการเมืองได้

3.มิติอำนาจทางวัฒนธรรม จากผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ สื่อให้ความสำคัญกับมิติวัฒนธรรมเกี่ยวกับโบราณสถาน แต่วัฒนธรรมต้องหมายรวมถึงวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบด้วย นั่นคือ ผลกระทบไม่ได้มีต่อที่อยู่อาศัย หรือเศรษฐกิจเท่านั้น  และอยากให้สื่อมองความไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มคนที่ไม่ถูกพูดถึง เช่น แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่มีสถานะอะไรเลยในสังคม  แต่ควรถูกเห็นคุณค่าความเป็นคนที่มีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ มีตัวตน

ดร.ประภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า “การสร้างระบบเป็นเรื่องสำคัญ หากระบบไม่มีก็รับมือไม่ได้ เช่น ในเรื่องค่าชดเชย กลุ่มใดรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองได้ ก็ได้เงินชดเชยสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ขาดพลังต่อรอง สื่อต้องตรวจสอบระบบ จึงจะเห็นความเหลื่อมล้ำ”

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึง ปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อมวลชนที่ทำการตลาด โดยนำดารามาร่วมทำข่าวนำเสนอความเป็นตัวตน แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำข่าว ซึ่งคนก็ดู เพราะบันเทิง และพบว่าสื่อโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันในการเป็นตัวกลางในการรับของบริจาคจากประชาชน ซึ่งในแง่ของการช่วยเหลือนี้ หากรัฐบาลจัดการเป็น ก็เชิญทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะ และแบ่งว่าใคร

จะลงไปช่วยในพื้นที่ไหน หากพื้นที่ไหนลงไปลำบาก ภาครัฐก็เข้าไปเอง หากทำแบบนี้ก็จะได้เครือข่ายในการช่วยเหลือ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ประเด็นการสร้างลักษณะบุคคลในข่าว พิธีกรถูกสร้างให้เป็นฮีโร่เกือบทุกคน โดยเฉพาะช่อง 3 เน้นเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ และเมื่อช่องต่างๆ แย่งกันเป็นฮีโร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อทุกช่องได้รับการร้องเรียน จะรีบลงพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนการจัดการที่ล้มเหลวของ ศปภ. แต่ไม่มีสื่อใดรายงานว่า ศปภ. มีการทำงานอย่างไรจึงเกิดความล้มเหลวขึ้น

ในเรื่องวิธีการเลือกข่าว เนื่องจากสื่อไม่มีกำลังพอที่จะลงทำข่าวในทุกพื้นที่ สื่อจึงเลือกนำเสนอสิ่งที่มีผลกระทบมากที่สุด หรือในอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ได้คนดูมากที่สุด แม้แต่ไทยพีบีเอส ตอนทำนายเรื่องน้ำท่วม พื้นที่ที่ อ.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ข้อมูลละเอียดที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าแม้แต่ช่องที่เราคิดว่าดีที่สุด ก็ให้ความสำคัญกับกรุงเทพ เพราะรู้ว่าจะได้คนดูมาก การคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดของสื่อสารมวลชนระดับประเทศ และระดับโลกทั้งหมด ทางแก้คือ เราต้องสร้างสื่อชุมชนที่สามารถส่งต่อข้อมูลโดยที่สื่อหลักไม่ต้องส่งทีมลงไปเองทั้งหมด

ส่วนภาพรวมของปัญหาน้ำท่วม คือ สื่อไม่มีการเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้งที่สำคัญมากกว่าการเถียงกันแต่เรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน และไม่มีการพูดถึงเส้นทางน้ำว่าไหลมาอย่างไรเพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาน้ำท่วมของประเทศในครั้งนี้

สุดท้าย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ยอมรับว่า การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านข้อมูลของหน่วยการศึกษา ทั้งยังนำประเด็น”ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาเป็นโจทย์การศึกษาด้วยอย่างไรก็ดี โครงการถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยนำวาระสำคัญของปี 2554 ทั้งในเรื่องวิกฤตน้ำท่วม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาประกอบกันเป็นโจทย์การศึกษา สิ่งที่น่าพอใจ คือ ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูล ที่ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นที่น่าสนใจของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

 

  

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'อภิสิทธิ์' ยันจุดยืนพระปกเกล้าฯ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง

$
0
0
“อภิสิทธิ์” ยันจุดยืนพระปกเกล้าฯ ไม่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ชี้มติครม.จัดสานเสวนา 60 วันต้องผ่านมติสภาสถาบันฯ ห้ามอ้างอิงงานวิจัย
 
4 พ.ค. 55 - กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวภายหลังการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้าว่า  ที่ประชุมได้ยืนยันถึงการทำงานวิจัยของสถาบันฯตามที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ร้องขอจบลงไปแล้ว และสิ่งที่ได้ออกแถลงการณ์ไปเมื่อ 3 เม.ย.ก็ยืนยันที่จะดำเนินการตามนั้น 
 
ส่วนกรณีที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ได้สอบถามในที่ประชุมว่าสถาบันฯจะดำเนินการอย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่ายังไม่่มีการแจ้งหรือร้องขอมายังสถาบันฯอย่างเป็นทางการ ดังนั้นสภาสถาบันฯจึงยังไม่พิจารณาเรื่องนี้ แต่เห็นว่าถ้ามีการร้องขอมาทางฝ่ายบริหารจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาสถาบันฯ โดยจะไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จนกว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาสถาบันฯ 
 
ซึ่งได้มีการหารือในหลักการว่าสถาบันฯไม่ประสงค์ที่จะไปเป็นปมความขัดแย้งหรือเครื่องมือทางการเมืองโดยก็จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ที่แถลงไว้ ส่วนการทำโครงการประชาเสวนาที่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60วัน ในส่วนนี้ผู้บริหารสถาบันยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการอะไรจนกว่าจะได้รับอนุมัติจากสภาสถาบันฯก่อน 
 
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวให้ความเห็นชัดเจนว่ากระบวนการประชาเสวนาที่รัฐบาลกำลังจะทำไม่ตรงกับสิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ เพราะที่เสนอไปเป็นเรื่องของการทำงานของสถาบันนิติบัญญัติ ในการสานต่องานวิจัยของสถาบัน แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารไปดำเนินการ และในมติของครม.ก็อ้างอิงรายงานกมธ.ปรองดอง ไม่สามารถอ้างอิงงานวิจัยของสถาบันฯได้ 
 
แม้ว่าในรายงานของกมธ.ปรองดองจะแนบรายงานวิจัยของสถาบันฯก็ตาม เพราะต้องขออนุญาตอย่างเป็นทางการก่อน และหากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้จนกระทั่งมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมตามมา ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล และไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะอ้างว่าสถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เพราะจุดยืนมีการแถลงไปชัดเจนอยู่แล้ว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอบโลกแรงงานเมษายน 2555

$
0
0

กรีซประท้วงแรงหลังอดีตเภสัชฯ ยิงตัวดับ

การชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน 

ผู้ชุมนุมราว 1,500 คน เดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเอเธนส์ของกรีซ เพื่อเรียกร้องให้นายลูคัส ปาปาเดมอส นายกรัฐมนตรีกรีซ ยกเลิกแผนประหยัดงบประมาณซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เดือน พ.ค.2553 และการชุมนุมทวีความรุนแรงขึ้น หลังอดีตเภสัชกรเพศชาย อายุ 77 ปี ซึ่งในรายงานข่าวมิได้ระบุชื่อ ยิงตัวตายบริเวณใต้ต้นไม้ในจัตุรัสซินแท็กมา กลางกรุงเอเธนส์ พร้อมทิ้งจดหมายลาตายประณามนักการเมืองกรีซว่าเป็นสาเหตุให้ประเทศชาติเผชิญกับวิกฤติการเงิน ทั้งยังระบุด้วยว่ารัฐบาลตัดเงินบำนาญลง ทั้งที่ตนทำงานหนักและจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินบำนาญมานานกว่า 35 ปี จึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ในภาวะคับแค้นเช่นนี้ต่อไปได้

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมวัยรุ่นจำนวนหนึ่งยังได้พยายามขว้างปาก้อนหินและระเบิดขวดใส่ตำรวจ จนเกิดเหตุปะทะทำร้ายร่างกายกัน จึงมีคำสั่งยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ก่อกวนความสงบ ขณะที่ผู้ชุมนุมรายอื่นๆ นำดอกไม้ไปวางไว้ที่จุดเกิดเหตุฆ่าตัวตาย เพื่อไว้อาลัยแก่อดีตเภสัชกรผู้ล่วงลับ ทั้งยังมีผู้เขียนป้ายประท้วงติดไว้บนต้นไม้ว่า ความสูญเสียครั้งนี้มิใช่การฆ่าตัวตาย แต่เป็นการฆาตกรรมโดยรัฐ ขณะที่แผนประหยัดงบประมาณของกรีซ รวมถึงการลดเงินบำนาญผู้เกษียณอายุ การเก็บภาษีเพิ่มเติม และการตัดงบสนับสนุนสวัสดิการสังคม ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก.

ไฟไหม้ตลาดกรุงมอสโก คลอกแรงงานอพยพดับ 17 คน

4 เม.ย. 55 - เจ้าหน้าที่รัสเซียกล่าวว่า ผู้เสียชีวิต 17 คน เป็นแรงงานสัญญาจ้างจากประเทศในอดีตสหภาพโซเวียตในเอเชียกลาง คือ จากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน จากเหตุเพลิงไหม้ที่ตลาดคาชาลอฟสกี้เมื่อเช้าตรู่วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น ในช่วงที่แรงงานนอนอยู่รวมกันและหนีออกมาจากเพิงพักไม่ทัน เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง กว่าจะดับเพลิงไหม้ครั้งนี้ได้ และเตรียมสอบสวนสาเหตุเพลิงไหม้ แต่เบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร 

ทั้งนี้ แรงงานหลายล้านคนจากทาจิกิสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน ต่างมุ่งมาหางานทำในกรุงมอสโกของรัสเซีย หลายคนทำงานก่อสร้างและตลาดค้าขายต่างๆ ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงวัสดุก่อสร้าง

สาวใช้อินโดฯในซาอุฯ รอถูกประหารเพียบ

6 เม.ย. 55 - หนังสือพิมพ์ อาหรับ นิวส์ รายวันฉบับภาษาอังกฤษ ของซาอุดิอาระเบีย รายงานในฉบับวันนี้ว่า แรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย ที่ทำงานอยู่ในซาอุดิอาระเบีย และต้องโทษในคดีต่างๆ กำลังรอการประหารชีวิต 25 ราย ได้รับการอภัยโทษและส่งตัวกลับประเทศแล้ว 22 ราย โดยในจำนวนนักโทษที่รอการถูกประหาร 19 คนอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันตก 6 คนอยู่ในเขตจังหวัดริยาดห์

นายเฮนดราห์ ปรามุตโย โฆษกสถานทูตอินโดนีเซีย ประจำซาอุดิอาระเบีย เผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมส่งคณะเจ้าหน้าที่ 14 คน เดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียในวันที่ 7 เม.ย. เพื่อเจรจากับทางการซาอุดิฯ และเพิ่มความพยายามร่วมกับสถานทูตอินโดฯ ในกรุงริยาดห์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตแรงงานหญิงผู้ช่วยแม่บ้านเหล่านี้ รวมทั้งช่วยเหลือแรงงานอินโดนีเซียในส่วนอื่นๆ ที่ต้องขังอยู่ในเรือนจำต่างๆ ทั่วซาอุดิอาระเบียรวม 1,700 คน.

โซนี่เตรียมตัดลดพนักงานทั่วโลกนับหมื่นหลังปรับองค์กรเพื่อฟื้นกำไร

9 เม.ย. 55 - โซนี่ คอร์ป จะลดการจ้างงานลง 10,000 ตำแหน่ง หรือราว 6% ของแรงงานทั่วโลก ภายในสิ้นปีนี้ หนังสือพิมพ์นิกเกอิเผย ขณะที่ผู้บริหารคนใหม่ถูกกดดันอย่างหนักในการนำพาบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า และบันเทิงยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแห่งนี้ให้กลับมามีกำไรอีกครั้ง หลังตัวเลขติดลบมานานถึง 4 ปี

โซนี่ ซึ่งคาดการณ์ว่าการขาดทุนสุทธิ 220,000 ล้านเยนในปีงบประมาณนี้เพิ่งสิ้นสุดลง ประกาศในเดือนที่ผ่านมา คาซูโอะ ฮิราอิ จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจโทรทัศน์ที่กำลังประสบปัญหา โดยตรงต่อไป ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรทางธุรกิจของบริษัท

ฮิราอิ ผู้รับตำแหน่งประธานบริหาร หรือซีอีโออย่างเป็นทางการ ต่อจากโฮเวิร์ด สตริงเกอร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา จะต้องรายงานสรุปแผนธุรกิจของบริษัทในวันพฤหัสบดี (12) นี้

หนังสือพิมพ์นิกเกอิรายงานว่า การลดจ้างงานครึ่งหนึ่งมาจากการควบรวมกิจการภาคเคมีภัณฑ์ และการผลิตจอแอลซีดีขนาดกลาง และขนาดเล็ก แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะลดตำแหน่งงานในญี่ปุ่น และต่างประเทศ จำนวนเท่าไรบ้าง

นอกจากนี้ โซนี่อาจยังจะร้องขอให้ผู้บริหารระดับสูง 7 คน ที่ทำงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม โดยรวมถึงสตริงเกอร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานในขณะนี้ด้วย คืนเงินโบนัสที่พวกเขาได้รับไป นิกเกอิรายงานเสริมโดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของข่าว

อย่างไรก็ตาม โซนี่ยังคงปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานข่าวนี้

สภาผู้แทนฯ อินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ

12 เม.ย. 55 - สภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานอพยพ เป็นมาตรการใหม่ในการคุ้มครองแรงงานอินโดนีเซียหลายล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ 

ไมแกรนท์แคร์ องค์กรนอกภาครัฐที่ดูแลแรงงานอพยพระบุว่า การให้สัตยาบันของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในต่างประเทศและเมื่อเดินทางกลับประเทศ เป็นก้าวที่สำคัญมากต่อแรงงานหนุ่มสาวที่เสียสละตนเองเพื่อครอบครัวแต่บางครั้งต้องตกเป็นเหยื่อถูกทำร้าย 

ด้านกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียเร่งแก้ไขกฎหมายบางฉบับให้สอดคล้องกับมาตรการคุ้มครองในอนุสัญญาแรงงานอพยพ รวมทั้งผนวกเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ในกระบวนการเข้าเมือง ปรับปรุงการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาลเพื่อให้แรงงานอพยพมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซียประมาณว่า มีชาวอินโดนีเซียทำงานในต่างประเทศมากกว่า 3 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้เพราะแรงงานจำนวนมากไปทำงานโดยไม่มีเอกสาร แรงงานอินโดนีเซียส่วนใหญ่ทำงานค่าแรงต่ำที่กฎหมายดูแลไม่ถึง เช่น งานบ้าน งานภาคเกษตร งานก่อสร้าง ในมาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย และคูเวต

ญี่ปุ่น โซนี่ปรับลดพนักงานหมื่นตำแหน่ง

13 เม.ย. 55 - บริษัทโซนี่ คอร์ปอเรชั่น ของญี่ปุ่น ประกาศปรับลดพนักงานลง 1 หมื่นตำแหน่งของแรงงานทั่วโลกของบริษัท พร้อมประกาศเปลี่ยนแปลงธุรกิจโทรทัศน์ครั้งใหญ่ หลังเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก

นายคาซูโอะ ฮิราอิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของโซนี่ แถลงกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อสื่อมวลชนในกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ โดยให้คำมั่นว่าจะรื้อฟื้นบริษัทโซนี่ขึ้นมาใหม่

การปรับลดตำแหน่งงานของโซนี่ มีขึ้นหลังโซนี่ออกมาประกาศเมื่อต้นสัปดาห์ว่า บริษัทขาดทุนสุทธิประจำปีสำหรับปีงบประมาณที่ผ่านมาจนถึงเดือนที่แล้วถึง 5.2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ถึง 2 เท่า ถือเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันที่โซนี่ประสบภาวะขาดทุนและเป็นการขาดทุนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

โซนี่ ซึ่งมีธุรกิจมากมายตั้งแต่กล้องดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปจนถึงคอนโซลเกมเพลย์สเตชั่นและภาพยนตร์ แต่ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขัน จากทั้ง แอปเปิล อิงค์ และ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป

แผนใหม่เพื่อฟื้นกำไรของบริษัทโซนี่ จะมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งด้วยการเพิ่มการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี ในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เช่น กล้องดิจิตอล เกมส์ และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้โซนี่ยังจะไปแสวงหาการเติบโตใหม่ๆ ในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ อย่างอินเดีย เม็กซิโก และขยายธุรกิจไปยังการผลิตอุปกรณ์การแพทย์อีกด้วย

เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% เริ่ม “เมย์เดย์” 1 พ.ค.

15 เม.ย. 55 - รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาฉบับหนึ่งในสัปดาห์นี้ เพื่อขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากในปัจจุบันตั้งแต่ 830,000 ด่ง จนถึง 1,050,000 ด่ง (52.50 ดอลลาร์) ต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดถึง 25-29% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กีบจังหวัด หรือโซนที่ตั้งของแหล่งจ้างงาน 

และนี่คือ อัตราค่าจ้างที่จะใช้เป็นพื้นฐานใหม่ในการคิดคำนวณค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันและค่าทำงานล่วงเวลา ที่ยังไม่นับรวมสวัสดิการอื่นๆ เข้าไปด้วย ค่าจ้างอัตราใหม่นี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2555 เป็นต้นไปซึ่งเป็นวันแรงงานสากล

อัตราใหม่นี้บังคับใช้กับบริษัทเวียดนามเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับบริษัทลงทุนต่างชาติในโครงการลงทุนโดยตรงหรือ FDI (Foreign Direct Investment) ในเวียดนาม ซึ่งมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 เป็นระหว่าง 1.4-2 ล้านด่ง (70-100 ดอลลาร์)

ตามกฤษฎีการที่ลงวันที่ 12 เม.ย.2555 อัตราค่าจ้างใหม่ ยังบังคับใช้สำหรับการคิดคำนวณเงินอัตราเงินเดือน เงินสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินค่าล่วงเวลา กับเงินชดเชยต่างๆ ของรัฐกร ตำรวจ ทหาร พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ รวมทั้งพนักงานกับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กับองค์กรทางการเมือง และทางสังคมต่างๆ อีกด้วย สื่อของทางการรายงาน

ในทางปฏิบัติ บริษัทเอกชนต่างๆ ในเวียดนามจะจ่ายค่าจ้างให้แก่บรรดาลูกจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้มาก พร้อมจัดสวัสดิการให้ตามกฎหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภท และชนิดของอุตสาหกรรม และแหล่งจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานประเภทที่มีฝีมือนั้น ค่าจ้างจะสูงกว่านี้หลายเท่าตัว เพื่อแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากทางการได้ปรับราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ก.พ.2554 เป็นต้นมา ขณะที่สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า 3 เดือนต้นปีนี้ ดัชนีผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงเรื่อยๆ

เวียดนามก็เช่นเดียวกันกับจีน ปัจจุบันกำลังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมกรรมสำคัญต่างๆ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำมากทำให้ขาดแรงจูงใจ และแรงงานต่างจังหวัดได้หันหลังให้เมืองกลับสู่ชนบท เพื่อทำการผลิตในภาคการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการเข้าทำงานรับจ้าง

ปัญหาขาดแคลนแรงงานซับซ้อนมากขึ้นอีกเมื่อหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดีขึ้น ไม่สนใจที่จะทำงานเป็นลูกจ้าง หรือคนงานที่รับค่าจ้างต่ำๆ เช่น บิดาหรือมารดาของพวกเขาอีกต่อไป.

หมอเปรูประท้วงขึ้นเงินเดือน หลังประธานาธิบดีเบี้ยวนโยบายตอนหาเสียง

21 เม.ย. 55 -  สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าหมอของกระทรวงสาธารณสุขเปรู 15,000 คนประท้วงผละงานเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเรียกร้องการขึ้นเงินเดือน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (20 เม.ย.)

โดยผู้ประท้วงได้เดินขบวนไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้แก่รัฐบาล โดย Cesar Palomino ประธานสมาพันธ์การแพทย์แห่งเปรู ระบุว่าประธานาธิบดี Ollanta Humala ไม่ได้ทำตามนโยบายเมื่อครั้งการรณรงค์หาเลือกตั้งที่จะขึ้นเงินเดือนให้กับหมอที่เป็นลูกจ้างของกระทรวงสาธารณสุข 

ทั้งนี้หมอที่ทำงานให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับเงินเดือนเพียง 530 โซล (ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐ) โดย Palomino เรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นเงินเดือนให้กลุ่มหมอ เหมือนกับที่ขึ้นให้ทหาร ผู้พิพากษาและครู ไปแล้ว

ด้าน Manuel Larrea โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเปรู ระบุว่ายังมีหมออีก 95% จากทั่วประเทศ ที่ยังไม่ได้ประท้วงผละงาน การประท้วงครั้งนี้เป็นเพียงคนส่วนน้อย และหมอในเปรูยังให้บริการเป็นปกติ

พนง.ขนส่งมวลชนอิตาลีหยุดงานประท้วง

21 เม.ย. 55 - พนักงานขนส่งมวลชนของอิตาลี หลายพันคนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่พวกเขามองว่า มาตรการรัดเข็มขัดเป็นความจงใจที่จะอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจในการปลดพนักงานออกได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นางซูซานนา คามัสโซ ผู้นำในการประท้วงได้เรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ หากนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว ซึ่งพนักงานที่ร่วมเดินขบวนประท้วงไปยังย่านใจกลางของกรุงโรม ประกอบไปด้วยพนักงานที่ให้บริการรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน ส่งผลให้การจราจรในช่วงเช้าของอิตาลีต้องสะดุดลง

นอกจากนี้ กลุ่มพนักงานขนส่งมวลชนในเมืองอื่นๆ ของอิตาลี ยังได้ร่วมหยุดงานประท้วงด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มพนักงานและนายจ้างต่างระบุว่า นายมอนติ ประสบความล้มเหลวในการสร้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจอิตาลี ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราว่างงานในอิตาลี พุ่งขึ้นแตะ 9.3% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2544 จากระดับ 9.1% ในเดือนม.ค. ขณะที่จำนวนคนว่างงานอยู่ที่ 2.3 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2547

ในช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลี อนุมัติมาตรการปฏิรูปด้านแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรีมอนติ กล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวจะช่วยลดการว่างงานและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งประสบกับภาวะถดถอย

ร่างกฎหมายดังกล่าว ครอบคลุมถึงการเพิ่มสวัสดิการว่างงาน การลดสัญญาการทำงานชั่วคราว และเพิ่มความยืดหยุ่นเรื่องการไล่พนักงานออก ซึ่งมาตรการสุดท้ายนี้ ถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปไตยกลาง-ซ้าย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนหลักทางการเมืองของรัฐบาลนายมอนติ รวมถึง ซีจีไอแอล ซึ่งเป็นกลุ่มสหภาพการค้าที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี เนื่องจากเกรงว่า จะทำให้การไล่พนักงานออกเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายขึ้น

นายมอนติ กำลังดำเนินมาตรการลดรายจ่ายและขึ้นภาษี เพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณในปีหน้า และลดหนี้สาธารณะ ซึ่งอยู่ในระดับสูงถึง 1.9 ล้านล้านยูโร แต่มาตรการเหล่านี้ กำลังส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจอิตาลีจะหดตัว 1.3% ในปีนี้

ฝ่ายค้านบังกลาเทศระดมผละงานประท้วงทั่วประเทศ

29 เม.ย. 55 -  พรรคชาตินิยมบังกลาเทศแกนนำฝ่ายค้านเป็นผู้นำการประท้วงผละงานทั่วประเทศในวันนี้และวันพรุ่งนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ทางการค้นหา นายเอลิอาส อาลี เลขาธิการพรรค ที่หายตัวไป  ด้านตำรวจและพยาน เปิดเผยว่า เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กปะทุอย่างน้อยแปดครั้งในกรุงธากา ระหว่างการประท้วงวันนี้ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ 

ฝ่ายค้านบังกลาเทศจัดการประท้วงผละงานทั่วประเทศเป็นเวลาสามวัน เพื่อเรียกร้องการค้นหาตัว นายอาลี มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายค้านกล่าวหาทางการและหน่วยงานความมั่นคงของบังกลาเทศว่าอยู่เบื้องหลังการหายไปของ นายอาลี  แต่เจ้าหน้าที่ยืนกรานปฏิเสธ   อีกด้านหนึ่งองค์กรพิทักษ์สิทธิเปิดเผยว่าในปีนี้มีผู้หายตัวไปแล้วอย่างน้อย 22 คน และส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง

ไอแอลโอเตือนมาตรการรัดเข็มขัดทำคนตกงาน 202 ล้านคน

30 เม.ย. 55 - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ออกรายงานสถานการณ์แรงงานทั่วโลกประจำปี 2555 ระบุว่ามาตรการลดรายจ่ายและปฏิรูปตลาดแรงงาน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการจ้างงานทั่วโลก แม้ส่วนใหญ่จะลดการขาดดุลงบประมาณไม่ได้ตามเป้าก็ตาม และเตือนว่ารัฐบาลชาติต่างๆจะเสี่ยงเผชิญกับเหตุการณ์ไม่สงบในสังคม หากไม่ดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดควบคู่ไปกับการสร้างงาน

รายงานระบุว่า แรงงานประมาณ 50 ล้านตำแหน่งหายไปจากตลาดนับจากวิกฤติการเงินในปี 2551 และคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานโลกในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 6.1 หรือคิดเป็นจำนวน 202 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 % หรือราว 6 ล้านคน จากตัวเลขว่างงานโดยประมาณ 196 ล้านคนในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกันยังคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานในปี 2556 จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 6.2 เพราะจะมีผู้ว่างงานเพิ่มอีก 5 ล้านคน

รายงานระบุด้วยว่า ไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกในระยะสองปีข้างหน้า จะขยายตัวในอัตราที่เพียงพอสำหรับการเติมเต็มตำแหน่งงานในปัจจุบัน และจัดหาตำแหน่งงานให้กับคนอีกกว่า 80 ล้านที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ และที่น่าเป็นห่วงมากเป็นพิเศษ คื อยุโรป ภูมิภาคที่ประเทศเกือบสองในสาม เผชิญกับอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นทั้งสิ้นนับจากปี 2553 และตัวเลขการจ้างงานจะยังไม่ดีขึ้นเทียบเท่ากับช่วงก่อนวิกฤติการเงินปี 2551 จนกว่าจะถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานในเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาก็ชะงักงันเช่นกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดคำพิพากษาศาลชั้นต้น “ยกฟ้อง” คดีที่ 2 “สมบัติ” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

$
0
0

 

หลังรัฐประหาร 2549 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เป็นเอ็นจีโอคนดังที่ออกตัวชัดเจนเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารเป็นคนแรกๆ

เขาถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดีแล้ว ไล่ตั้งแต่คดีหมิ่นประมาท พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร โฆษก จากการจัดกิจกรรม “ปาเป้า” ภาพล้อเลียนคณะรัฐประหาร รวมถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

คดีนั้นเขาไม่ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่ 31 ส.ค.-10 ก.ย.50 ก่อนจะตัดสินใจยื่นประกันตัวในภายหลังเพื่อออกไปรณรงค์ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ท้ายที่สุด ศาลสั่งยกฟ้องในวันที่วันที่ 25 ก.ย.51  ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่านายสมบัติเป็นผู้จัดทำป้ายการ์ตูนล้อเลียนนั้น ส่วนการใช้โทรโข่งป่าวประกาศให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวปาเป้าบุคคลทั้งสอง ฝ่ายโจทย์ไม่มีพยานหลักฐานระบุได้ว่านายสมบัติพูดเชิญชวนอย่างไร และการปาเป้านั้นหมิ่นประมาทบุคคลทั้งสองให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังอย่างไร

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2553 ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมภายหลังการนองเลือดครั้งใหญ่ เขายังคงเป็นผู้นำกลุ่มย่อยลุกขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมผูกผ้าแดง จนในวันที่ 26 มิ.ย.53 เขาจึงถูกนำตัวไปควบคุมไว้ที่ค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 คลอง 5 ปทุมธานี นาน 14 วัน  ภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ต่อมาตำรวจดำเนินคดีเขาในความผิด ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา มาตรา 83, 215 และ 216 จากการร่วมชุมนุมทางการเมืองบริเวณใต้ทางด่วนลาดพร้าว 71 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 หลังการสลายการชุมนุม 1 วัน พร้อมทั้งระบุว่ามีการปลุกระดมโดยการปราศรัยให้เกิดการเผายาง มั่วสุมกันโดยไม่ชอบ ทำให้เกิดความวุ่นวาย

อย่างไรก็ตาม นายสมบัติปฏิเสธที่จะรับสารภาพและยืนยันจะใช้สิทธิต่อสู้ทางกฎหมาย โดยในคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลนั้นระบุว่าเหตุการณ์ในวันดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่เขาและประชาชนจำนวนหนึ่งทนไม่ได้ต่อการก่ออาชญากรรมของรัฐทำให้มีคนตายจำนวนมาก จึงออกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ อีกทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็มีการประกาศใช้โดยไม่ชอบ

ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาคดีนี้(คดีดำที่ 1189/2553) เมื่อวันที่ 14 ก.ย.54 ให้ลงโทษจำเลย

โดยระบุว่า

การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวนการที่รัฐใช้กำลังทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดีนี้ ศาลจึงสั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000 บาท โดยโทษจำให้รอลงอาญา

แต่คดีที่สองกลับสร้างความประหลาดใจให้ทุกฝ่าย รวมถึงตัวจำเลยเองด้วยเพราะศาลพิพากษา ยกฟ้อง

คดีที่สองนี้ (คดีหมายเลขแดงที่ 557/2555) เกิดขึ้นจากกรณีที่เขาไปร่วมกล่าวปราศรัยและร่วมจัดกิจกรรมเปลือยเพื่อชีวิต เมื่อ 18 พ.ค.53 ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจากการสลายการชุมนุม ก่อนที่ทุกอย่างจะยุติในวันรุ่งขึ้น

คำพิพากษาในคดีนี้ต่างจากคดีอื่นๆ ที่เกิดในลักษณะเดียวกันอย่างสำคัญ และน่าจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต หากว่าอัยการไม่มีการขอขยายเวลาอุทธรณ์ภายในวันที่ 10 พ.ค.55 นี้ ซึ่งเป็นผลให้คดีถึงที่สุด

‘ประชาไท’ คัดลอกเหตุผล การวินิจฉัยช่วงหนึ่งที่น่าสนใจของศาลแขวงพระนครเหนือมานำเสนอ ดังนี้

 

“นับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นภายในประเทศหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งควรจะเป็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลแย่งชิงและตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์จนเกิดการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำโดยกองทัพอันมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน กับพวก ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล ซึ่งประชาชนได้ให้ฉันทามติในการบริหารประเทศแล้ว นับแต่นั้นความแตกแยกและขัดแย้งทางความคิดทางการเมืองของประชาชนในประเทศยิ่งขยายกว้างออกไป เมื่อคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกองทัพให้การหนุนหลัง รวมทั้งผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบางส่วนสนับสนุนก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาในบ้างเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลซึ่งประชาชนเลือกมาภายหลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จนเปลี่ยนมาเป็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และก่อให้เกิดความเครียดแค้นชิงชังของประชาชน ผู้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยของตนถูกปล้นไปครั้งแล้วครั้งเล่า

จำเลยซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและดำเนินกิจกรรมในฐานะองค์กรพัฒนาสังคมนอกเหนือจากการใช้อำนาจรัฐ และเป็นผู้ที่รังเกียจเดียดฉันท์การยึดอำนาจหรือรัฐประหารรัฐบาลซึ่งประชาชนมอบฉันทามติมาโดยแสดงออกจากการต่อต้านการยึดอำนาจจนกระทั่งถูกหัวหน้าคณะรัฐประหารซึ่งนำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท จำเลยก็ยังคงเดินหน้าต่อสู้เกี่ยวกับความ อยุติธรรมของประชาชนผู้ด้อยโอกาสมาโดยตลอด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยได้ความจากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าจำเลยหาใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ต้น แต่เข้าไปอยู่ในที่ชุมนุมจากการได้รับแต่งตั้งและมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเป็นองค์กรหนึ่งที่มุ่งเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิของประชาชนโดยอำนาจของรัฐ

เมื่อปรากฏว่าในระหว่างเกิดเหตุ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้อำนาจของกองทัพส่งกำลังทหารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. อันเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จำเลยในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอันเป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการหาข้อเท็จจริงของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ย่อมมีเหตุสมควรที่จะเข้าไปในสถานที่ชุมนุมของผู้ชุมนุมดังกล่าว

การที่จำเลยขึ้นกล่าวปราศรับกับประชาชนโดยชักชวนให้ประชาชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช้ชื่อว่า “เราไม่มีอาวุธ” ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 เพื่อแสดงให้รัฐบาลและกองทัพเห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมปราศจากอาวุธที่จะทำอันตรายผู้มีอำนาจรัฐได้

การที่จำเลยกล่าวปราศรัยในทำนองไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลส่งทหารเข้าสลาลการชุมนุมและมีการใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนและผู้เข้าร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เริ่มประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามเอกสารหมาย จ. 1 ถึง จ.3 สอดคล้องกับพันตำรวจโทรณกร และร้อยตำรวจโทภาคิน พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า พยานทั้งสองเห็นทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนจนเสียชีวิตและทหารได้ปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง รวมทั้งปิดกั้นเส้นทางมิให้ผู้เข้าไปในเขตที่ชุมนุมด้วย

นางสาวขวัญระวี วังอุดม พยานจำเลยเบิกความว่า เป็นผู้ชักชวนให้จำเลยจัดกิจกรรมเพื่อแสดงให้รัฐบาลและทหารเห็นว่า ประชาชนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ทั้งช่วยผ่อนคลายความโกธรของประชาชน จึงได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ “เราไม่มีอาวุธ” ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมปราศรัยหรือปิดกั้นเส้นทางจราจร หรือจุดไฟเผายางรถยนต์ดังที่โจทก์ฟ้องมาตั้งแต่ต้น ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุขึ้นกล่าวปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ก็เข้าไปในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงโดยส่งกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ทั้งจำเลยกระทำไปในสถานะที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน

ประกอบกับจำเลยได้ปราศรัยและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันเกิดเหตุ ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.9 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีลักษณะการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบ หรือปลุกระดมให้ประชาชนใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้กำลังปะทะกับทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามโจทก์ฟ้อง แต่การกระทำดังกล่าวกลับทำให้ประชาชนซึ่งกำลังโกธรแค้นและชิงชังรัฐบาลและกองทัพลดความรุนแรงและสงบสติอารมณ์ ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบบรรเทาเบาบางลง อันเป็นวิถีทางหนึ่งซึ่งทำให้สังคมลดความขัดแย้งลงได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นหนทางหนึ่งในการช่วยให้สังคมเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น หาใช่เกิดจากที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายหรือกำลังอาวุธเพื่อยุติการชุมนุมของมวลชนเพียงประการเดียวไม่ เพราะการกระทำเช่นว่านั้น ยิ่งจะก่อให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังต่อทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะรัฐบาลรวมถึงผู้ที่ก่อการให้นายอภิสิทธิ์และพวกขึ้นมาบริหารประเทศ

ซ้ำยังอ้างการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นการเปิดช่องให้กองทัพส่งกำลังทหาร ซึ่งควรมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ เข้ามาสลายการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน โดยรัฐบาลทราบดีอยู่แล้วหากใช้กองทัพซึ่งมิได้ถูกฝึกมาเพื่อควบคุมและยุติการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง รัฐบาลย่อมเล็งเห็นได้ว่าเมื่อใดที่กองทัพใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่พันตำรวจโทรณกร

พยานโจทก์ตอบคำถามค้านรับว่า ทหารได้ใช้ลวดหนามปิดกั้นเส้นทางจราจรและปิดป้ายประกาศเขตใช้กระสุนจริง และยิงผู้ชุมนุมจนเสียชีวิต การที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงเป็นนักกิจกรรมเชิงสันติวิธี ย่อมใช้สิทธิพลเมืองของตนในการแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารและใช้อำนาจรัฐยุติการกระทำเช่นที่ว่านั้นได้ อีกทั้งการกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมมีผลให้ประชาชนมีช่องทางระบายออกถึงความคับแค้นจากการใช้อำนาจรัฐ ให้รัฐบาลหันกลับมามองประชาชนแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและเจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติได้ การที่จำเลยเพียงแต่กล่าวปราศรัยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีประชาชนต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ย่อมเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ว่ากฎหมายหรือกำลังใดๆ ก็หาอาจตัดสิทธิหรือจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ เพราะการใช้สิทธิดังกล่าวหาก่อให้เกิดความรุนแรงหรือความไม่สงบขึ้นมาในการบริหารประเทศแต่อย่างใด

เมื่อโจทก์นำสืบรับฟังได้เพียงว่า จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยในทำนองที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บล้มตาย จำเลยหาได้กระทำการใดๆอันเป็นการประทุษร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายต่อกำลังทหารเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทำการปิดกั้นขีดขวางการจราจรรวมถึงการใช้ความรุนแรงดังฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิที่ชอบโดยพื้นฐานและเป็นไปตามเจตจำนงของการปกครองในระบบประชาธิปไตยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

พิพากษายกฟ้อง

                                                                    

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง...ออนไลน์: เสรีที่จะฆ่าเสรีภาพ (อวยพรย้อนหลังแด่วันเสรีสื่อโลก)

$
0
0

 

ในเสียงร้องก้องโลกปกป้องสื่อ
ยังมีเสียงผีกระสือเป็นกระสาย
หอนโหยหวนแข่งเขาบ้างอย่างไม่อาย
ทั้งที่เป็นตัวทำลายสิทธิเสรี

บรรพสื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ทั้งติดคุกทั้งตายไปเพื่อศักดิ์ศรี
สื่อรุ่นหลังสวมสิทธิได้ดิบดี
ยกตนเป็นปัทมปาณี*ชนชั้นนำ

สื่อกลายเป็นอภิชนคนวิเศษ
ปลุกผีเปรตด่าได้เอาเช้ายันค่ำ
ทั้งการเมืองการมุ้งยุ่งระยำ
มีแต่สื่อที่เลิศล้ำวิสุทธิ์**ชน

สังคมนี้ต้องพิรงพินอบสื่อ
ไม่รู้หรือใครใหญ่คับทุกแห่งหน
ราชการห้างร้านต้องถ่อมตน
ฐานันดรเหนือคนธรรมดา

สื่อชี้ถูกชี้ผิดเสพย์ติดอำนาจ
อยู่เหนือราษฎร์ผู้โง่เขลาเง่าประสา
อ้างมีอุดมการณ์เพื่อประชา
แต่ใครหือลุกขึ้นมา...ยุฆ่ามัน

สื่อไม่ผิดที่ต่อต้านทุนผูกขาด
ใช้อำนาจแทรกแซงแกล้งปิดกั้น
แต่โมหะครอบงำนำดึงดัน
จนปลุกปั่นประหารรัฐเพราะขัดใจ

สื่ออวดอ้างคุณธรรมคำพิทักษ์
ร่วมพวกพรรคเผด็จการบานหน้าใส
เพื่อเสริมสุข สุขสมจิตร สุขถิ่นไทย
ต้องเข่นฆ่าประชาธิปไตยให้วอดวาย

แสวงการงานอำมาตย์ทาสความคิด
เป็นจักรกริชคอยตะแบงแช่งให้ร้าย
เพื่อเกียรติรัตน์วงศ์สกุลหนุนตะพาย
สื่อกลับกลายเป็นผู้ดีเลือดสี(น้ำ)เงิน

เป็นเครื่องมือของอำนาจนอกระบบ
เฝ้าประจบนบเชียร์เลียสรรเสริญ
หน้าร้อนผ่าวแนบก้นจนยับเยิน
กับชาวบ้าน เก่งเกิ๊น ...นี่ไม่กล้า

ไหนว่าสื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ
ไหงหมอบราบให้อำนาจปริศนา
พอมวลชนลุกฮือหือขึ้นมา
สื่อออกใบอนุญาตฆ่าประชาชน

ปลุกความเกลียดเดียดฉันท์สันดานไพร่
ปลุกให้ใช้กระสุนจริงยิงเผาขน
ยัดข้อหา “ล้มเจ้า” จลาจล
จนเกิดเหตุฆ่าคนครั้งร้ายแรง

แค่สองปีสื่อพลิกลิ้นปลิ้นสองแฉก
ยุให้รำยำให้แตกแยกเสแสร้ง
เชิดชูศพ “วีรชน” คนเสื้อแดง
มาโต้แย้งนิรโทษกรรมทำหน้ามึน

สันดานสื่อคือตั้งแง่แถไปเรื่อย
กระดาษเปื่อยทำลืมเลือนเปื้อนหมึกลื่น
พ่นน้ำลายไร้ตรรกะไร้จุดยืน
ลูกไม้ตื้นหลอกสังคมถมเข้าตัว

สื่อคือชนชั้นนำหวงอำนาจ
แม้ประกาศต่อต้านการเมืองชั่ว
แต่ผูกขาดอัตตาหน้ามืดมัว
ใครเห็นต่างหมายหัวขั้วอัปปรีย์

ประชาธิปไตยจะเดินไปถึงจุดหมาย
ต้องสลายอำนาจสื่อถือกดขี่
สื่อทางเลือก สื่อพลเมือง เรืองเสรี
เปิดพื้นที่ประชาชนคนธรรมดา

ต้องปิดฉากยุคทองสื่อครองชาติ
เศษกระดาษเก่าผุปุหมดค่า
โลกออนไลน์รู้ทันสื่อทุกเวลา
ให้ปัญญากว่าเปื้อนหมึกทึกทักเอง

 

ใบตองแห้ง
4 พ.ค.55

 

 

*ปัทมปาณี: พจนานุกรมเปลื้อง ณ นคร แปลว่า ผู้มีบัวในมือ คือพระพรหม, พระวิษณุ
**วิสุทธิ์: พจนานุกรมราชบัณฑิตสถาน แปลว่า สะอาด, ขาว, หมดจด (เลิศวิสุทธิ์ น่าจะแปลว่า “ขาวโอโม่”)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาสวัต บุญศรี: เพลงชาติไทยพูดถึงอะไร ประชาชนไทยรู้หรือไม่?

$
0
0

คงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีวิธีเด็ด ๆ เช็คว่าใครเป็นคนไทยหรือไม่ตามแนวชายแดนด้วยการให้ร้องเพลงชาติไทย ใครร้องได้ถูกต้องเป๊ะ ๆ ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหมอนี่คนไทยแน่ แต่ถ้าร้องผิดเนื้อสลับ มั่วดำน้ำ ก็จัดการส่งกลับประเทศไปโทษฐานหลบหนีเข้าเมือง วิธีแบบนี้สร้างความเฮฮาในรายการคดีเด็ดหลายต่อหลายครั้ง พูดเรื่องนี้ทีไรเป็นได้ยินเสียงหัวเราะทุกที

เอาเป็นว่าเกิดเป็นคนไทย เพลงแรก ๆ ในชีวิตที่ถูกสอนให้ร้องก็คงมีเพลงช้างและเพลงชาติ ร้องกันได้ตั้งแต่เด็กอนุบาล

แต่มันน่าสงสัยนะครับว่าที่ร้อง ๆ กันนี่เคยคิดใคร่ครวญกันหรือเปล่าว่าเพลงชาติที่ร้อง ๆ กันเนื้อหามันคืออะไร

ผมเองลองสำรวจคร่าว ๆ จากคนรู้จัก (ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่สอน) คำตอบที่มักได้รับคือเพลงชาติไทยพูดเรื่องว่าคนไทยนั้นรักสงบแต่ก็รบไม่ขลาด ตอบแบบนี้เสียส่วนใหญ่แถมยังต้องใช้เวลานานมากกว่าจะคิดคำตอบได้ ว่าไปก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เพลงที่เราร้องกันทุกวันกลับแทบไม่มีใครสนใจว่าเนื้อหาของเพลงกำลังพูดถึงอะไรอยู่

ยิ่งเมื่อครั้งที่มีการผลิตภาพประกอบเพลงที่ออกอากาศทางฟรีทีวีช่วงแปดโมงเช้าและหกโมงเย็นขึ้นมาใหม่ ครานั้นเกิดการถกเถียงในเวบไซต์มากมายถึงความเหมาะสมของภาพ บ้างก็ว่าภาพไม่ค่อยเล่าเรื่องเท่าไหร่ บ้างก็ว่าใช้ภาพของพระราชวงศ์ประกอบเพลงน้อยจนเกินไป บ้างก็ถกเถียงกันในประเด็นว่าภาพตรงตามเนื้อเพลงหรือไม่อย่างไร ฯลฯ ผมเองมีโอกาสอ่านก็พบความน่าสนใจไม่น้อยว่าเอาเข้าจริง ท่าน ๆ เถียงอะไรกับครับนี่

เพลงชาติไทยพูดถึงอะไรกันแน่ เรื่องนี้ตอบไม่ยาก เพียงแต่ในการเรียนการสอนระบบปลูกฝังของชาวไทยไม่เคยสอนกันในระดับประถมมัธยม (อย่างน้อยที่สุดก็ในประสบการณ์ของผม) ว่าเพลงชาติไทยพูดถึงเรื่องอะไร เราจึงร้องกันไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองและคิดเอาเองว่าตัวเองเข้าใจเนื้อหาอย่างสมบูรณ์ดีแล้ว ดังนั้นเราจึงมักละเลยที่จะตั้งคำถามต่อเรื่องราวทั้งที่ปรากฎเด่นชัดอยู่

“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ…” เป็นประโยคแก่นแท้ของเพลงชาติ แปลความตรงตามตัวอักษรได้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นรัฐของประชาชน นี่คือแก่นแกนของเนื้อหา เนื่องจากเพลงนี้ถูกสร้างขึ้นภายใต้อุดมการณ์ของคณะราษฎร์ ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อปี พ.ศ. 2482 (คณะราษฎร์สิ้นอำนาจจากการถูกรัฐประหารอันต่อเนื่องด้วยกรณีสวรรคต ปี พ.ศ.2490) ดังนั้นการเทิดทูนไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดอันมาจากอธิปไตยของปวงชนจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดแท้และเป็นการทำลายอำนาจอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อำนาจเต็มนั้นอยู่ในมือของกษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว

เนื้อหาต่อจากประโยคแรกเป็นส่วนต่อขยายภายใต้บริบทการถูกคุมคามจากต่างประเทศ อันนำมาสู่การสร้างนโยบายความสามัคคีของคนในชาติ เนื้อหาในช่วงต่อมาจึงมุ่งเน้นสร้างวาทกรรมให้คนไทยนั้นสามัคคีและไม่รุกรานใครก่อน ทว่าหากใครรุกรานก็พร้อมจะต่อสู้เพื่อรักษาอธิปไตยไว้

สรุปง่าย ๆ สั้น ๆ คือเพลงชาติไทยที่มีความยาวประมาณหนึ่งนาทีนี้ได้กล่าวถึงประเทศไทยที่เป็นประเทศของประชาชนผู้มีความสามัคคี รักสงบแต่ไม่ขลาดหากใครมารุกราน

ดังนั้นการที่เราร้อง (หรือได้ยิน) เพลงชาติกันทุกวันตอนแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น คือตอกย้ำผลิตวาทกรรมอุดมการณ์ประชาธิปไตยของคณะราษฎร์ในช่วงเวลานั้น น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าแท้จริงการยืนตรงเคารพธงชาตินั้นควรเป็นไปเพื่อการเคารพสู่อำนาจอธิปไตยสูงสุดซึ่งเป็นของประชาชน เป็นการเคารพถึงความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศ มิใช่เป็นกลุ่มคนใดโดยเฉพาะเหมือนในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คราวหน้าเรามาดูกันว่าในปัจจุบันนี้อุดมการณ์ที่คณะราษฎร์ทิ้งไว้นั้น เมื่อปรากฎผ่านสื่อทุกวันนี้ผ่าน “มิวสิควิดีโอเพลงชาติ” ถูกผลิตซ้ำหรือบิดเบือนผ่านภาพไปอย่างไรบ้าง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง

$
0
0

ประชาธิปไตยจะเิดินหน้าไปได้ ต้องทำลาย "สถาบันสื่อ" ให้ลงมาจมธรณีอยู่กับความเท่าเทียม ให้ประชาชนรู้่ทันสื่อ ไม่ให้สื่อมีเครดิตชี้นิ้วอีกต่อไป

ใบตองแห้ง...ออนไลน์ 4 พ.ค. 55

ไม่ต้องมีจุดเริ่มต้น: ตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ภาษาพลัดถิ่นไท-ลาวคังในไทย

$
0
0

 

บทคัดย่อ

บทความต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันของบทความวิชาการก่อนหน้านี้สองบทความคือ “สืบค้นไท-ลาวภูคัง/ครัง/คลั่ง/ครั่งอีกครั้ง: ตำแหน่งแห่งที่, ประวัติศาสตร์ และ กระบวนวิธีวิทยา”ตีพิมพ์ในวารสารหน้าจั่วฉบับประวัติศาสตร์เล่ม8 และ บทความเรื่อง “ไท-ลาว ครั่ง-คัง: ชาติพันธุ์จินตกรรม”  ในการประชุมวิชาการ “ศิลปากรวิจัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5: บูรณาการศาสตร์และศิลป์”  โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรและเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)ในเดือนมกราคมปีพ.ศ.2555               

บทความถือเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเรื่อง”การศึกษาแบบองค์รวมของการปรับตัวในบริบทใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวในลุ่มน้ำภาคกลางประเทศไทย”  ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนวิจัยศาสตราจารย์ดีเด่นประจำปีพ.ศ. 2552   จากหน่วยงานทั้งสามคือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัยและ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ ร่วมกันสนับสนุนทุนอุดหนุน สำหรับ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อรศิริ ปาณินท์

แม้ว่าโครงการวิจัยนี้จะอยู่ในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ทว่าการทบทวนเอกสารอย่างรอบคอบได้พบว่า การที่จะได้เลือกใช้มโนทัศน์กลุ่มชาติพันธุ์(ethnic group)กลุ่มลาวครั่งเป็นฐานคติในการศึกษายังมีสภาพของความกำกวมไม่คงที่(inconsistency)และมีต้นเหตุที่ยังเป็นที่สงสัย(questionable cause) จนไม่อาจนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัยต่อได้ จึงมีความจำเป็นที่จะย้อนรอยศึกษาด้วยวิธีวิทยาเชิงประวัติศาสตร์จากหลักฐานชั้นต้นหรือข้อมูลปฐมภูมิ (primary sources) ที่เป็นต้นตอต้นเหตุ ได้แก่ จดหมายเหตุตัวเขียนโบราณรัตนโกสินทร์ได้แก่จดหมายเหตุในรัชกาลที่๒สองรายการและจดหมายเหตุในรัชกาลที่ ๓ อีกหนึ่งรายการ  และเอกสารที่เกี่ยวเนื่องชั้นต่อมาได้แก่การศึกษาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ”ส่วยครั่ง”; การศึกษา “ทำเนียบหัวเมืองรศ.๑๑๘”;และ”วิถีชุมชนนครชัยศรี” เป็นต้น  การศึกษาพบความบกพร่องของการตีความก่อนหน้านี้จึงลดความกำกวมทางประวัติศาตร์ลงได้ ทว่าการถูกนำไปใช้อ้างอิงในวงวิชาการของเอกสารการศึกษาทางประวัติศาสตร์ต้นทางก็มีส่วนด้านกลับกันในการสร้างตัวแบบชาติพันธุ์จินตกรรม “ลาวครั่ง” ขึ้นด้วย   อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นั้นเป็นพื้นฐานทางวิชาการสำหรับการวิจัยชาติพันธุ์วรรณามานุษยวิทยาชาติพันธุ์  และการวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณาหรือมานุษยวิทยาชาติพันธุ์ก็จะเป็นพื้นฐานทางวิชาการที่สนใจวัตถุธรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาอีกต่อหนึ่ง  การย้อนพลวัตศึกษานี้นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ทบทวนซึ่งกันและกันทั้งต่อประวัติศาสตร์มานุษยวิทยาชาติพันธุ์แล้วยังเป็นการเสริมความสามารถของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นศึกษาที่จะเข้าถึงความหมายระดับสูงของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างจะเป็นโอกาสทางวิชาการของสาขาวิชานี้ที่ช่วยให้เข้าใจและแก้ไขวิกฤตการณ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

โปรดดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี่

 

AttachmentSize
Tai-Lao.pdf1.01 MB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้นำกะเหรี่ยงพอใจผลเจรจา แต่หวังพม่าเป็นสหพันธรัฐแท้จริง ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเสียง

$
0
0

ด้านโฆษกคณะเจรจาสันติภาพกะเหรี่ยง หวังผลักดันพม่ายุติสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ ย้ำนานาชาติต้องไม่ลืมพูดคุยกับผู้นำชนกลุ่มน้อย ชี้นานาชาติผ่อนปรนการคว่ำบาตรพม่าเร็วเกิน ทั้งที่ไม่อาจรับประกันได้ว่าการปฏิรูปพม่าจะไม่ไหลย้อนกลับ

เมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา  (3 พ.ค.) นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) พร้อมสมาชิกระดับสูงของทีมเจรจาสันติภาพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจากับรัฐบาลพม่าว่า ถึงแม้การเจรจาสันติภาพระหว่างสหภาพกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่ายังเป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็ยังย้ำว่า การปฏิรูปประเทศของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ก็มิใช่ว่าจะย้อนกลับไม่ได้ และย้ำด้วยว่า ต่างชาติเองควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยและพบปะผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพเป็นไปได้อย่างครอบคลุม

หลังจากที่ KNU เปิดการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงเป็นครั้งแรกกับรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนมกราคม และล่าสุดในเดือนเมษายนที่่ผ่านมา นางซิปโปร่า เส่ง เลขาธิการสหภาพกะเหรี่ยง ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ย่านชิดลม เมื่อ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมองว่า รัฐบาลพม่าน่าจะมีความจริงใจในการเจรจาสงบศึก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางประเด็นที่รัฐบาลจำเป็นต้องบรรลุให้ได้ เช่น การทำให้พม่าเป็นสหพันธรัฐที่แท้จริงซึ่งให้อำนาจปกครองตนเองแก่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ การเจรจาครั้งล่าสุดระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและรัฐบาลพม่า มีขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังการสู้รบอย่างยาวนานในสงครามกลางเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 1950 โดยตัวแทนของ KNU ได้เข้าพบกับคณะเจรจาของฝ่ายรัฐบาลพม่าที่เมืองย่างกุ้งและ ประธานาธิบดีเต็งเส่งในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 6 และ 7 เม.ย.ตามลำดับ และมีข้อตกลงร่วมกัน 13 ข้อ เช่น ให้มีการตั้งคณะสังเกตการณ์หยุดยิงระดับท้องถิ่่น ให้คณะสังเกตการณ์นานาชาติเข้ามาในพื้นที่ การตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับผู้ลี้ภัย เป็นต้น

นายเค ตู่ วิน หนึ่งในมาชิกทีมเจรจาสันติภาพ กล่าวถึงเงื่อนไขในอนาคตหลังการเจรจาสันติภาพของสหภาพกะเหรี่ยงว่ากองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army) ของ KNU อาจเข้าร่วมกับกองกำลังของสหภาพพม่า หากว่าการเจรจาทางการเมืองสัมฤทธิ์ผล และย้ำว่า กว่าจะถึงขั้นนั้น รัฐธรรมนูญของพม่าจำเป็นต้องถูกแก้ไขให้รองรับกับการกระจายอำนาจ เพื่อให้เป็นสหพันธรัฐหรือสหภาพที่ให้อำนาจการปกครองตนเองแก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

ชี้นานาชาติผ่อนปรนคว่ำบาตรเร็วเกิน - ไม่อาจรับประกันการปฏิรูปพม่าจะไม่ไหลย้อนกลับ

ในขณะที่โฆษกคณะเจรจาสันติภาพของ KNU นางเมย์ อู มุตรอว์ ชี้ว่าการผ่อนคลายการคว่ำบาตรของนานาชาติเป็นไปเร็วเกินควร เนื่องจากมองว่า การปฏิรูปของรัฐบาลพม่าที่ดำเนินมา ไม่ได้รับประกันว่าสิ่งต่างๆ จะย้อนกลับไปไม่ได้ 

เธอกล่าวว่า ทางสหภาพกะเหรี่ยงไม่ได้มีโอกาสพบกับเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มุน ในการมาเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเสริมว่าไม่เห็นด้วยนักที่นายบัน คี มุนได้เรียกร้องให้นานาชาติยกเลิกการคว่ำบาตรอย่างสิ้นเชิง เพราะมองว่าการปฏิรูปของรัฐบาลยังไม่ได้ไปถึงจุดที่น่าพอใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังมีการสู้รบกันอยู่

“หากพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลเคยกระทำกับเรา ก็จะเห็นว่ารัฐบาลสามารถที่จะโหดเหี้ยมได้มากแค่ไหน” เมย์ อู มุตรอว์กล่าว “ประชาคมนานาชาติดูจะตื่นเต้นกับการปฏิรูปในพม่ามากกว่าประชาชนชาวพม่าเองเสียอีก และก็ยังแสดงความตื่นเต้นเกินจะจินตนาการได้”

เธอเสริมด้วยว่า นอกจากผู้นำระหว่างประเทศจะเข้าพบผู้นำฝ่ายค้านและรัฐบาลพม่าแล้ว ก็ควรต้องมาพบปะและพูดคุยกับผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ และสามารถให้ความสนับสนุนได้ตามเหมาะสม

ส่วนเรื่องการเจรจาสันติภาพร่วมกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ นั้น โฆษกทีมเจรจาสันติภาพ KNU ระบุว่า เนื่องจากแต่ละกลุ่มยังมีปัญหาของตนเองและข้อเรียกร้องต่างกันไป จึงยังเป็นการเจรจากับรัฐบาลพม่าในระดับปัจเจกอยู่ แต่หากในทางการเมือง ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ยังคงมุ่งเจรจาร่วมกันผ่านสภาชาติสหภาพ (United Nationalities Federal Council) ซึ่งเป็นสภาร่วมระหว่างชนกลุ่มน้อยในพม่า 12 กลุ่ม เช่น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง และคะฉิ่น โดยยึดในหลักการที่จะนำมาซึ่ง “ผลในทางปฏิบัติที่มีความก้าวหน้า” (progressive realization) เพื่อสันติภาพทั่วประเทศต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ปัญหาทางการเมืองของเขื่อนแม่วงก์

$
0
0

กรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนแม่วงก์น่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองอันสำคัญต่อไป กรณีนี้เริ่มจากการที่คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผ่านมติในวันที่ ๑๐ เมษายน ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเหตุผลสำคัญคือ การเชื่อรายงานที่ว่า การสร้างเขื่อนนี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่การชลประทาน และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง และ กรุงเทพมหานครได้ และบริเวณป่าแม่วงก์ก็เป็นป่าเสื่อมโทรมการสร้างเขื่อนจะไม่ส่งผลต่อการทำลายป่า

ในเรื่องโครงการสร้างเขื่อนลักษณะนี้ ถ้าหากเป็นเมื่อระยะเวลา ๓๐ ปีก่อน อาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่านี้ เพราะรัฐบาลไทยหลังการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้มีโครงการสร้างเขื่อนจำนวนมากต่อเนื่องกันมา เป้าหมายของเขื่อนทั้งหลาย มีตั้งแต่การสร้างเขื่อนชลประทาน เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วม และเขื่อนอเนกประสงค์ มีทั้งเขื่อนขนาดเล็ก และเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนสำคัญที่เป็นที่รู้จักแรกสุด คือเขื่อนยันฮี จังหวัดตาก สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๐๗ และมีชื่อทางการว่า เขื่อนภูมิพล จนปัจจุบัน ประเทศมีเขื่อนในระดับใหญ่มากกว่า ๓๐ เขื่อน แต่หลายเขื่อนที่สร้างขึ้นมีการต่อต้านคัดค้าน รัฐบาลก็อ้างความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศก้าวหน้า เพื่อสร้างความชอบธรรม นอกจากนี้ หลายเขื่อนก็อธิบายว่า เป็นเขื่อนตามแนวพระราชดำริ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนปากพนัง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดกระแสต่อต้านคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม กรณีการสร้างเขื่อนได้เริ่มกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอย่างชัดเจนหลัง พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มต้นจากกรณีโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเขื่อนจะก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีผลอย่างมากในการทำลายป่าใจกลางทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเนื้อที่นับหมื่นไร่ และบริเวณนี้เป็นเขตป่าสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โครงการนี้จึงถูกคัดค้านอย่างหนักทั้งจากนักอนุรักษ์ธรรมชาติ จากปัญญาชน สื่อมวลชน และ ประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี ในที่สุด รัฐบาลต้องระงับโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๑

ต่อมา เรื่องที่เป็นกรณีพิพาทอันยืดเยื้อคือการสร้างเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสร้างได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๕๓๗ แต่เขื่อนนี้มีผลอย่างสำคัญในการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณปากแม่น้ำมูลทำให้เกิดการต่อสู้คัดค้านของประชาชนตั้งแต่ต้นจนเป็นกรณียืดเยื้อกว่ายี่สิบปี และยังได้ค้นพบต่อมาว่า เขื่อนปากมูลใช้เงินลงทุนสร้างเขื่อนถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยจนไม่คุ้มค่าในการลงทุน และการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชน เขื่อนปากมูลจึงกลายเป็นกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวในเรื่องของการสร้างเขื่อน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเขื่อนที่สร้างแล้วประสบปัญหากับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก กรณีสำคัญเช่นเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ และมีโครงการสร้างเขื่อนใหม่ที่ประสบปัญหา เพราะถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักจากประชาชน และองค์การพัฒนาเอกชน คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ที่มีโครงการจะสร้าง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะการต่อต้านจากประชาชน

กล่าวโดยสรุปการสร้างเขื่อนในระยะที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการคือ

๑. เขื่อนหลายแห่งทำลายสภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเขตป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ในสภาพที่ป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายลงไปมากแล้ว การสร้างเขื่อนจึงเป็นการเร่งทวีการทำลายป่าให้มากยิ่งขึ้น แม้ฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนจะอ้างเสมอว่า เขื่อนจะก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งชลประทานและการท่องเที่ยว แต่ในทางความเป็นจริงการคงรักษาป่าไม้ไว้ ก็เป็นการรักษาน้ำตามธรรมชาติไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

๒. การเกิดของเขื่อนหลายแห่ง เป็นการทำลายวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งจะส่งผลทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ทำให้คนต้องย้ายถิ่น และยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนในชนบทจะต้องเสียสละวิถีชีวิตเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับคนในเมือง แต่หลายเขื่อนแสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

๓. หลักฐานที่ว่า การสร้างเขื่อนจะเป็นการช่วยป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วม ยังเห็นได้ไม่ชัดเจน หลายเขื่อนที่สร้างขึ้นภายใต้ข้ออ้างว่าจะป้องกันน้ำท่วม เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรากฏว่าหลังจากการสร้างเขื่อน น้ำก็คงท่วมจังหวัดที่เป็นพื้นที่ใต้เขื่อนเช่นเดิม

ปัญหาของโครงการเขื่อนแม่วงก์ เท่าที่เปิดเผยข้อมูลในขณะนี้ ก็เช่น ยังไม่มีการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)อย่างรอบคอบเพียงพอ เพราะ ป่าแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของ“ผืนป่าตะวันตก”มีเขตต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าไม้เขตต้นน้ำลำธาร นอกจากนี้ ฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติยังยืนยันว่า ป่าแม่วงก์ยังเป็นเขตที่มีป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ใกล้สูญพันธ์หลายชนิด

องค์กรสำคัญที่นำการต่อสู้คัดค้านเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ก็คือ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แต่สถานการณ์สลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อ เอ็นจีโอ และ สื่อมวลชนฝ่ายเสื้อเหลืองต่างก็ถือโอกาสระดมต่อต้านนโยบายนี้ ขณะที่ฝ่ายขบวนการเสื้อแดงยังมีท่าทีไม่ชัดเจน 

ขณะที่ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกเช่นกันว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ถือเป็นบ้านที่สงบของสัตว์ป่า รวมถึงเป็นต้นน้ำ ช่วยรับน้ำจากภาวะฝนตกหนัก ทั้งยังผลิตอากาศบริสุทธิ์ ถือเป็น ๑ใน ๑๗ เขตพื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นป่าต่อเนื่องกับห้วยขาแข้ง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำโดยการสร้างเขื่อน นอกจากนี้หากจะสร้างพื้นที่รับน้ำในกรณีป้องกันน้ำท่วม คิดว่าน่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วม

ถามว่าประเทศไทยมีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า ต้องพิจารณาแต่ละพื้นที่สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมจะเหมาะสมมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์มาแล้ว ปริมาณน้ำก็จะเข้าไปท่วมป่าขนาดใหญ่ได้ ๑๐๐เปอร์เซนต์

ในส่วนของภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อย่าง เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก นายอดิศักดิ์ จันทรวิชานุวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก กล่าวว่า ทันทีที่รับทราบข่าวประชาคมในพื้นที่ยังไม่ได้คุยกันรู้สึกตกใจกับท่าทีของรัฐบาล เนื่องจากการอนุมัติของ ครม.ยังไม่ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ทั้งยังไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) หรือมีการจัดทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งทางภาคีเครือข่ายอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้

"ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้เลยการที่ ครม.ออกมติแบบไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาใดๆ เลย อนุมัติได้อย่างไร เราคัดค้านเรื่องนี้ เพราะเป็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากสร้างในพื้นที่ดังกล่าวจะสูญเสียป่าไม้นับหมื่นไร่ แม้ว่าเหตุผลของรัฐบาลเพื่อป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะน้ำแล้งก็ตาม ซึ่งเหตุผลการสร้างเขื่อนมันก็เป็นรูปแบบเดิมๆ คนใน จ.นครสวรรค์ ไม่ได้มองแค่ประเด็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ยังมองว่าที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อป่าไม้และสัตว์ป่า"

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะให้โครงการสร้างเขื่อนนี้บรรลุผลแล้ว คงไม่สามารถที่จะใช้การดำเนินงานตามระบบราชการในลักษณะที่ผ่านมาได้ จะต้องมีกระบวนในการให้ข้อมูลและตอบคำตามในมิติใหม่ ด้วยเหตุผลใหม่ ที่จะทำให้ประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจและเห็นพ้องด้วย แต่ถ้ายังไม่มีข้อมูลอันชัดเจน ก็ระงับโครงการไว้ก่อนดีกว่า อย่างน้อยก็จะได้ไม่ทำลายป่าไม้และสภาพแวดล้อมต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธเนศ วงศ์ยานนาวา ชี้การอ่านในโลกดิจิตอลเหนือการควบคุมของรัฐชาติ

$
0
0

 

 

(5 พ.ค.55) ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ "การอ่านในยุคดิจิตอล" ในค่ายเขียนงานสร้างสรรค์กรุงเทพมหานคร จัดโดย Bookmoby ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า สื่อกระดาษที่เป็นรูปแบบหนึ่งของข้อมูลและเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและอักษรในฐานะเทคโนโลยีแบบหนึ่ง กำลังจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้รูปแบบการอ่านเปลี่ยนไป ปริมาณการอ่านหนังสือผ่านหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งที่เมื่อเทียบกันแล้วการอ่านจากบนจอช้ากว่าการอ่านผ่านกระดาษ 20-30% แต่ในมิติของการเรียนรู้ พบว่า สื่อดิจิตอลจะดึงดูดความสนใจสำหรับเด็กมากกว่า จนทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น

เขากล่าวว่า การอ่านผ่านโลกยุคดิจิตอลในแบบที่ hypertext (การคลิกลิงก์ไปยังข้อความต่างๆ) ที่พร้อมที่จะทำให้เกิดการย้ายตัวบทไปสู่ตัวบทใหม่ๆ เสมอ แสดงให้เห็นถึงความไม่ต่อเนื่องในการอ่าน แต่ก็กลับเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อกับตัวบทที่มีการข้ามตัวบทจากตัวบทหนึ่งไปสู่อีกตัวบทหนึ่ง สถานะของ hypertext จึงไม่มีขั้นตอนว่าอะไรอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าที่จะจำเป็นต้องเข้าถึงก่อนหรือเป็นส่วนสรุปสุดท้าย ซึ่งหมายถึง hypertext ไม่มีลำดับชั้น เมื่อไม่ลำดับขั้นก่อนหลังและสูงต่ำ เส้นทางของความเป็นเสรีประชาธิปไตยในการอ่านก็มีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้การอ่านใน hypertext ก็ทำให้การอ่านอยู่ในโลกของความเป็นอนันต์ (infinity) เพราะอาณาเขตของตัวบทเป็นสิ่งที่กำหนดได้ยาก แต่ละประโยคมีช่องทางออกเสมอ ช่องทางที่จะนำพาผู้อ่านไปสู่โลกใหม่ๆ ที่ไม่มีอาณาเขตของความรู้ ไม่มีการแยกกันระหว่างสาขาต่างๆ เพราะทุกอย่างถูกเชื่อมโยงถึงกันได้หมด แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้เกิดการบูรณาการของความรู้ได้ เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก็ทำให้ทุกอย่างไม่มีจุดเริ่มและไม่มีจุดจบ ทุกๆ ที่เป็นจุดเริ่มและจุดจบได้ในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นอะไรที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็ทำให้ยากจะรู้ว่าสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุดมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร รวมถึงกลับทำให้วิตกกังวลกับอะไรที่ไม่รู้ถึงจุดที่สิ้นสุด ราวกับว่าไม่มีใครสามารถควบคุมมันได้

นอกจากนี้ เมื่อบวกกับความหลากหลายของตัวบทอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องราวต่างๆ ได้ ก็ยิ่งเพิ่มความหลากหลายขึ้นอีก โดยยกตัวอย่างกรณีวิกิพีเดีย ที่ไม่สามารถหาผู้ประพันธ์ได้อย่างแท้จริง เพราะทุกๆ คนเข้าไปแก้ไขได้ แต่ก็ไม่มีใครที่ได้คะแนนหรือเงินจากการประพันธ์ในลักษณะนี้ เพราะทุกคนเป็นผู้ประพันธ์นิรนาม

"พื้นที่ของตัวบทแบบวิกิพีเดียจึงเป็นโลกในอุดมคติของศาสนาที่ไม่มีใครสามารถที่จะแสดงความเป็นเจ้าของ หรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ทุกๆ คนก็เป็นเจ้าของ นี่เป็นอุดมคติของคอมมิวนิสต์ที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในโลกดิจิตอล ทุกๆ คนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองให้กับสถาบันการศึกษาที่นับวันค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาก็มีแต่สูงขึ้น"

ทั้งนี้ การอ่านในโลกคอมพิวเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การอ่านหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการอ่านวัตถุแบบอื่นหรือสื่ออื่นไปพร้อมกันด้วย เช่น การอ่านอีเมล เป็นต้น ผู้อ่านเองพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนไปสู่การอ่านแบบอื่นๆ เพียงเวลาไม่กี่นาที การอ่านในโลกดิจิตอลจึงเป็นการอ่านที่มีเสรีภาพ แม้ว่าเสรีภาพดังกล่าวจะหมายถึงความไม่อดทนต่อการอ่านอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานก็ตาม

นอกจากนี้ในโลกของ hypertext ที่ทุกอย่างไม่ได้พุ่งเป้าไปสู่จุดสุดยอดหรือมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียว สถานะของผู้ประพันธ์จึงไม่ได้มีอำนาจแบบเดิมอีก เพราะผู้อ่านสามารถเริ่มต้นเรื่องราวเรื่องหนึ่งแล้วเดินแยกไปตามแต่ความต้องการของผู้อ่านว่าจะสนใจและต้องการทำความเข้าใจประเด็นใดก่อนหรือหลังได้ด้วย

ธเนศ กล่าวว่า ในโลก hypertext ในโลกของการเขียนแบบนี้ มันไม่สามารถจะทำให้ "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย" อีกแล้ว มันไม่สามารถทำให้คุณมีโฟกัสร่วมกันอีกได้ง่ายๆ แบบเดิม คุณกำหนดไม่ได้เลยว่าคนอ่านจะอ่านอะไร เพราะถึงแม้ว่ากูเกิลจะขึ้นให้คุณ 10 ที่ แต่มันก็สามารถจะพาคุณไปไหนต่อไหนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดแบบง่ายๆ ในนัยยะทางการเมือง คือ คุณเลิกคิดได้แล้วว่าทุกคนจะคิดในแบบเดิม เพราะไม่ต้องพูดถึงเนื้อหา คุณจะบอกว่ารักชาติศาสน์กษัตริย์แบบที่คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) พูด อ่านใน text นี้ แต่มันพาคุณไปไหนก็ไม่รู้ อาจจะไปลงท้ายที่สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ก็ได้ คุณคุมมันไม่ได้ เหมือนกับที่เราบอกว่าอินเทอร์เน็ตคุณคุมมันไม่ได้ มันล็อคอยู่ในโครงสร้าง มันไม่เหมือนเขียนหนังสือที่ฟอร์มของหนังสือมันตายตัว

 

 

 

หมายเหตุ: พบกับฉบับเต็มเร็วๆ นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58135 articles
Browse latest View live




Latest Images