Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

ศาลฎีกาอ่านคำสั่งกรณีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ 1 ส.ค. นี้

$
0
0

ทนายสิทธิมนุษยชนเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีตากใบ กรณีญาติผู้เสียชีวิตร้องขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการตาย ที่ศาลฎีกา รัชดา วันที่ 1 ส.ค. นี้ 

 
29 ก.ค. 56 - ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากทนายที่เกี่ยวข้องในกรณีการฟังคำสั่งศาลฎีกาคดีตากใบ กรณีญาติผู้เสียชีวิตร้องขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ในคดีไต่สวนการตาย โดยมีเนื้อหาดังนี้
           
สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547  ต่อมาศาลจังหวัดสงขลาได้พิจารณาคดีไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 78 คน ซึ่งตายในระหว่างทำการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร  แล้วศาลมีคำสั่งถึงสาเหตุการตายว่า ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่  คดีหมายเลขดำ ช.16/2548  หมายเลขแดงที่ ช.8/2552    เป็นเหตุให้ญาติผู้ตายเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย  
 
ญาติผู้ตายจำนวน 34 คน จึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญา(ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาแล้วพิจารณาทำคำสั่งใหม่ให้ถูกต้อง เป็นธรรม โดยผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งศาลจังหวัดสงขลาไม่ได้กล่าวถึงพฤติการณ์ที่ตาย ใครเป็นผู้ทำให้ตาย  ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้ตายทั้ง 78 คน ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม โดยบังคับให้ถอดเสื้อและมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ หลายชั้น มีการทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ หายใจไม่ออก และเสียชีวิตในระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร
 
ต่อมาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าเมื่อศาลจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญารับคดีไว้และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก    ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น    ต่อมาผู้ร้องจึงยื่นฎีกา
 
บัดนี้ศาลฎีกาพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว  จึงมีกำหนดนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2556  เวลา 9.00 น.  ที่ศาลอาญา(ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ) คดีหมายเลขดำที่ ษ.43/2552  หมายเลขแดงที่ ษ.42/2552
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจอังกฤษจับผู้ต้องสงสัยขู่ข่มขืนนักสตรีนิยมทางทวิตเตอร์

$
0
0

แคโรไลน์ เครียโด-เปเรซ ผู้รณรงค์ให้มีรูปผู้หญิงบนธนบัตรอังกฤษถูกข่มขู่ด้วยข้อความทางทวิตเตอร์จนกระทั่งไปฟ้องตำรวจ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยอายุ 21 ปีเอาไว้ได้ ขณะที่ทางทวิตเตอร์ให้สัญญาว่าจะพัฒนาระบบการรายงานแจ้งการใช้งานแบบผิดๆ ที่ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2013 สื่อในอังกฤษรายงานว่า ชายอายุ 21 ปีถูกตำรวจอังกฤษจับกุมตัวหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยส่งข้อความขู่ว่าจะข่มขืนนักกิจกรรมสตรีนิยมผู้ที่รณรงค์ให้มีรูปผู้หญิงบนธนบัตรเป็นผลสำเร็จ

แคโรไลน์ เครียโด-เปเรซ ผู้สื่อข่าวอิสระและนักสตรีนิยมได้รับข้อความต่อต้านทางทวิตเตอร์จำนวนมากรวมถึงข้อความขู่ว่าจะข่มขืนและสังหารเธอหลังจากที่เธอดำเนินการรณรงค์ล่ารายชื่อแสดงความไม่พอใจที่ทางธนาคารอังกฤษเปลี่ยนภาพบนธนบัตร 5 ปอนด์จากภาพของอลิซาเบธ ฟราย (ผู้ปฏิรูประบบเรือนจำให้มีการปฏิบัติต่อนักโทษอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น) เป็นภาพของวินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำให้บนธนบัตรของอังกฤษไม่มีภาพผู้หญิงคนอื่นอยู่เลยนอกจากภาพพระราชินีอังกฤษ

มีคน 35,500 คนร่วมลงชื่อรณรงค์กับแคโรไลน์จนทำให้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางธนาคารอังกฤษได้สัญญาว่าจะมีการเปลี่ยนรูปบนธนบัตรใบละ 10 ปอนด์ จากรูปชาร์ล ดาร์วิน เป็นรูปของเจน ออสเตน นักเขียนนิยายรัก

โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวชายอายุ 21 ปีในแมนเชสเตอร์ ซึ่งเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งข้อความทวิตเตอร์ต่อต้านแคโรไลน์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีการพิจารณาข้อความทวิตเตอร์หลายร้อยข้อความเพื่อหาว่าเป็นการกระทำผิดตามกฏหมายการสื่อสารในเชิงประสงค์ร้าย (Malicious Communications Act)

นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้เว็บไซต์ทวิตเตอร์มีปุ่มที่สามารถรายงานการใช้งานในทางที่ผิดได้โดยทันที ซึ่งในตอนนี้มีจำนวนผู้ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org มากกว่า 60,000 รายชื่อแล้ว

โทนี่ หวัง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัททวิตเตอร์อังกฤษกล่าวว่า ทางบริษัทมีความเข้มงวดจริงจังกับการใช้งานอย่างไม่เหมาะสมทางอินเตอร์เน็ต และขอให้ผู้ใช้รายงานการละเมิดกฏการใช้ทวิตเตอร์ให้พวกเขาทราบ หวังบอกอีกว่าทางทวิตเตอร์กำลังทดสอบวิธีการที่ทำให้การรายงานทำได้ง่ายขึ้น เช่นการใช้ปุ่ม report tweet บนหน้าจอแบบโทรศัพท์มือถือ และจะมีการยกเลิกบัญชีผู้ใช้ที่กระทำผิดกฏชั่วคราว

โดย อีเวทท์ คูเปอร์ รัฐมนตรีเงากระทรวงมหาดไทยได้เขียนไปต่อว่าทางทวิตเตอร์ว่า พวกเขาตอบสนองต่อเรื่องกรณีของแคโรไลน์อ่อนเกินไป จากการที่ทางทวิตเตอร์บอกให้แคโรไลน์ไปแจ้งตำรวจ โดยอีเวทท์คิดว่าแม้การแจ้งตำรวจจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่ทางทวิตเตอร์เองควรมีการสืบสวนและติดตามคดีนี้ด้วย


เรียบเรียงจาก
Man arrested over rape threats against Caroline Criado-Perez on Twitter, The Independent, 28-07-2013

Man held after banknote campaigner receives rape threats on Twitter, The Guardian, 28-07-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองงานเขียน 'คำ ผกา' สะท้อนภาพสตรี-การเมืองไทย

$
0
0
เปิดวงวิจารณ์งานเขียนคำ ผกา นักวิจารณ์ชี้ 'กระทู้ดอกทอง' เสนอทางเลือกใหม่ของความเป็นหญิงในสังคมไทย ในขณะที่ 'ก็ไพร่นี่คะ' สะท้อนแนวคิดหลักของคำ ผกาที่เปลี่ยนจากเฟมินิสต์มาสู่ชาตินิยมทางการเมือง จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

 
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 56 โครงการปริญญาโท สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์อ่าน และกองทุนนพพร ประชากุล  จัดงานสัมมนาในหัวข้อ "ชาตินิยม สตรีนิยาม ประโลมโลกย์นิยาย ใน ก็ไพร่นี่คะ และกระทู้ดอกทอง" โดยมีวิทยากรได้แก่ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สุธิดา วิมุตติโกศล จากภาคภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ และเสนาะ เจริญพร จากคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี โดยร่วมกันวิจารณ์งานเขียนของลักขณา ปันวิชัย ที่ใช้นามปากกา "คำ ผกา" ผ่านแนวคิดชาตินิยมและสตรีนิยม 
 
เวียงรัฐ เนติโพธิ์ วิจารณ์งานเขียน "ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความของคำ ผกา ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างปี 2550-2554 ว่าสะท้อนถึงการเริ่มก่อตัวของความเป็นชาตินิยมทางการเมืองของลักขณา ปันวิชัย โดยเฉพาะในช่วงการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 ทำให้เธอค่อยๆ เปลี่ยนจากนักเขียนที่จับเรื่องเพศสภาวะเป็นหลัก หันมาวิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองอย่างจัดจ้าน 
 

"ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ 2 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เวียงรัฐยกตัวอย่างจากบทหนึ่งในหนังสือที่ชื่อว่า "นับแต่นี้ไป ไม่เหมือนเดิม" ซึ่งคำ ผกาได้ไปคุยกับชาวบ้าน จากอำเภอสันคะยอม จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของเธอ และพบว่า มีชาวบ้านธรรมดาๆ จำนวนมากที่ตื่นตัวทางการเมือง แสดงการคัดค้านรัฐประหารและความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และมองพรรคการเมืองในฐานะผู้ให้บริการทางนโยบาย ต่างกับภาพเก่าๆ ที่คนส่วนมากเชื่อว่าชาวบ้านยังคงซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง หรือไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้คำ ผกา หันมาเป็นผู้หญิงแถวหน้าที่ต่อสู้เรื่องการเมือง ร่วมกับชาวบ้านธรรมดาๆ โดยใช้ปากกาเป็นอาวุธ วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและศัตรูของประชาธิปไตยผ่านงานเขียน
 
จากชาตินิยมทางวัฒนธรรมสู่ชาตินิยมทางการเมือง
 
อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ อธิบายถึงอุดมการณ์ในงานเขียนของคำ ผกาว่า ก่อนหน้านี้ คำ ผกา มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนด้านชาตินิยมทางวัฒนธรรม ซึ่งตั้งคำถามเรื่องชาตินิยมไทย ความเป็นไทย และวัฒนธรรมเชื้อชาตินิยมของไทย ในขณะเดียวกันก็เสนอทางเลือกและให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา ความเป็นท้องถิ่น 
 
"พอมองจากตรงนี้ กระทู้ดอกทองจึงเปรียบเหมือนเป็นความพยายาม redefine ความเป็นหญิงในสังคมไทย ไม่ใช่แบบคุณหญิงกีรติ ผู้ชายก็ไม่ใช่แบบในนิยายน้ำเน่าอีกต่อไป คือพยายามโจมตีสิ่งที่มีอยู่แล้วพยายาม struggle ที่จะ redefine แต่การ redefine มันอาจจะยังไม่ชัดเจน มันอาจจะยังเป็นผ้าขาวม้า กางเกงใน ผ้าซิ่น และนมอยู่ ส่วนชุดไทยโดนด่า" เวียงรัฐกล่าว 
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2552-2553 ก็ทำให้เธอกลายมาเป็น "นักชาตินิยมทางการเมือง" อย่างเต็มตัว โดยเวียงรัฐอธิบายความหมายของคำนี้ว่า เป็นอุดมการณ์ของชาติที่ตั้งอยู่บนความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ในกรณีของคำ ผกา สามารถกล่าวได้ว่าเป็นความคิดแนวเสรีนิยมแบบกลางๆ ที่ประกอบไปด้วยอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย ความเป็นพลเมือง สิทธิ การเลือกตั้ง และความเท่าเทียม ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐเข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ไปจนถึงการขนส่งมวลชน
 
จากตรงนั้นเอง ที่คำผกา เริ่มเห็นศัตรูทางการเมืองของเธอ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายอนุรักษ์นิยม พวกขวาจัด โดยเฉพาะ "ผู้ใหญ่" และ "คนดี" ของบ้านเมือง รวมถึงศาสนาที่ล้าหลัง สื่อเนียน สื่อเสี้ยม และความเป็นราชาชาตินิยม 
 

จากซ้ายไปขวา: เสนาะ เจริญพร สุธิดา วิมุตติโกศล และลักขณา ปันวิชัย
 
สิ่งที่อาจดูย้อนแย้งสำหรับคำ ผกา สำหรับหลายๆ คน อาจเป็นเพราะความเป็นหญิงของเธอที่แสดงออกมาผ่านสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งปกนิตยสารจีเอ็ม หรือมติชนสุดสัปดาห์ ที่เปิดเผยเรือนร่างอย่างชัดเจน และการแสดงตัวตนของตนเองว่าเป็น "หญิงดอกทองสามานย์ วันๆ เอาแต่อ่านนิยายประโลมโลกย์" มีแต่ความโลกีย์และความชั่วที่ขัดกับหลักพุทธศาสนาหรือแบบฉบับของกุลสตรีไทย แต่กลับมาวิพากษ์วิจารณ์และพูดคุยเรื่องปัญหาการเมืองไทยอย่างถึงพริกถึงขิง  
 
"ที่ว่าย้อนแย้งนั้น ดิฉันมองว่าไม่ย้อนแย้งเพราะเขามีข้อเสนอที่ชัดเจน มีเป้าหมายที่ชัดเจน  แต่ความย้อนแย้งมันเกิดขึ้นเพราะความเป็น extreme แห่งเรือนร่าง และวาจา ด้วยเรือนร่างและวาจา เธออยู่ตรงข้าง extreme แต่ข้อเสนอของเธอมันอยู่เพียง middle of the road ไม่ได้อยู่เป็น extreme เพราะฉะนั้น เราจึงอาจรู้สึกว่ามันเป็น paradox แต่ข้อเสนอของเธอนั้นคงเส้นคงวาที่อยู่ตรงกลาง" เวียงรัฐกล่าว 
 
"ความเป็นเอ็กซ์ตรีมอีกอันหนึ่งคือโครงสร้างของสังคมไทย ที่เธอพูดเองว่าหลายๆ เรื่องตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 19 ศตวรรษที่ 18 บางเรื่อง 15, 14 นู่น ไสยศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม มันทำให้ข้อเสนอที่อยู่ตรงกลางมันดูเป็นเอ็กซ์ตรีมไป ดังนั้น ความย้อนแย้งในตัวเองที่มันเกิดขึ้นอย่างบ้าคลั่ง มันเกิดเพราะเราดูจากคำพูด จากเรือนร่าง กับอีกอันหนึ่งเราเอามาเปรียบเทียบกับสังคมไทย แต่จริงๆ แล้วข้อเสนอของเธอเป็นแบบ moderate" 
 
อ่านสตรีไทยใน "กระทู้ดอกทอง"
 
หนังสือ "กระทู้ดอกทอง" เป็นหนังสือรวมเล่มบทความของคำ ผกา ในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในช่วงปี 2544-2546 เป็นงานวิจารณ์วรรณกรรมและภาพยนตร์จากมุมมองสตรีนิยม ซึ่งคำ ผกา ได้วิจารณ์และตั้งคำถามกับการเป็นกุลสตรีและนางเอกไทยในอุดมคติภายใต้อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในสังคม ผ่านตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในงานวรรณกรรมของไทย อาทิ ข้างหลังภาพ หรือสี่แผ่นดิน เป็นต้น 
 

"กระทู้ดอกทอง" โดยคำ ผกา ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน
 
เสนาะ เจริญพร มองการวิจารณ์วรรณกรรมของคำ ผกา ในหนังสือเล่มนี้ว่า มีการหยิบกรอบคิดที่น่าสนใจมาวิจารณ์ตัวบท อาทิ การเปรียบความสัมพันธ์ของชายและหญิง เสมือนกับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและพลเมือง ที่ผู้มีอำนาจมักเอาความทรงจำ ความรักใคร่มากล่อมเกลาให้เกิดความเชื่องและสยบยอม อย่างในเรื่อง "นอบ" ที่แต่งโดยศรีบูรพา เมื่อปี 2481 ที่ตัวละครสามีในเรื่องใช้ความทรงจำมากล่อมภรรยาไม่ให้คิดกบฎ เช่นเดียวกับการสร้างอนุสาวรีย์หรือพิธีกรรมที่เอาการเมืองของความทรงจำมากล่อมเกลาคนในชาติ 
 
ในขณะที่สุธิดา วิมุตติโกศล สรุปภาพผู้หญิงในวรรณกรรมที่อยู่ใน "กระทู้ดอกทอง" ได้เป็นสามแบบใหญ่ๆ ได้แก่ นางเอกสยบยอม อย่างคุณหญิงกีรติจากนวนิยายเรื่องข้างหลังภาพ หรือคุณพลอย จากเรื่องสี่แผ่นดิน มีลักษณะสง่า น่าเทิดทูน บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถึงแม้ว่านางเอกจะมีลักษณะแก่นเซี้ยวบ้าง แต่สุดท้ายก็จะถูกพระเอกกำราบลงได้ สตรีลักษณะนี้ จะถูกคำ ผกา วิจารณ์และถอดรื้อไว้เยอะมาก 
 
ส่วนอีกสองแบบ คือนางเอกขบถ อย่างเช่น นางลำยอง ที่มีจุดจบด้วยการเสียชีวิตจากโรคที่สำส่อน แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงแบบนี้ไม่เป็นที่ต้องการ หรือเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อสังคม นางเอกลักษณะนี้จะมีลักษณะตรงข้ามจากนางเอกแม่แบบอย่างชัดเจน และถึงแม้จะมีลักษณะขบถบ้าง ก็จะยังติดอยู่ในอุดมการณ์ที่ชายเป็นใหญ่อยู่ดี ส่วนอีกแบบเป็นผู้หญิงที่ไว้แทนความเป็นชาติของไทย 
 
เสนอทางเลือกให้สตรี ต่างจากขนบประเพณีเดิม
 
สุธิดาสรุปว่า งานเขียนของคำ ผกา ที่วิจารณ์ขนบของสตรีไทยในนวนิยาย เป็นการเสนอและสร้างข้อเสนอ และทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้หญิงไทย ด้วยการขับเน้นขั้วตรงข้ามระหว่างสาวบริสุทธิ์ผุดผ่องและหญิงโสเภณี ซึ่งคำ ผกา ในฐานะตัวละครตัวหนึ่ง จึงต้องถูกสร้างให้มีลักษณะเป็น"ดอกทอง" ไม่มีการศึกษาสูงมากมาย เป็นคนบ้านนอก และเสรีเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็วิจารณ์เฟมินิสต์กระแสหลัก ซึ่งชอบมองสตรีว่าเป็นผู้ถูกกระทำเพียงอย่างเดียวด้วย 
 
อาจารย์ด้านวรรณคดีอังกฤษ ได้ฉายภาพสตรีในนิยายไทยที่ผ่านมาให้เห็นว่า ในช่วงพ.ศ. 2470-2490 นางเอกยังเป็นพื้นที่การแข่งขันของตัวละครในนวนิยายว่าผู้หญิงที่ดีต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร ในขณะเดียวกันก็สร้างขึ้นมาพร้อมกับความเป็นชาติของไทย ที่เริ่มมีแบบแผนของกุลสตรีที่ชัดเจนขึ้น ต่อมาในช่วง 2500-2510 ก็เริ่มมีคนอย่างโบตั๋น จากฝั่ง "ดอกทอง" หรือนางเอกที่ไม่ใช่แบบฉบับเข้ามาปะทะกับกุลสตรีไทย ต่อมา 2520-2530 ดอกทองจะเริ่มมีความสับสน ว่าจะแหกกรอบดีหรือไม่ 
 
แต่เมื่อมาถึงปี 2540 จนถึงร่วมสมัยมาทุกวันนี้ นางเอกจะมีความบริสุทธิ์ใสสะอาด ยิ่งกว่าในช่วงเริ่มต้น รวมถึงพล็อตนิยายก็เป็นไปตามกรอบดั้งเดิมมาก ละครเรื่องสุภาพบุรุษจุทาเทพ อาจจะเป็นภาพสะท้อนถึงนางเอกในตอนนี้ได้ดีที่สุด ที่ย้อนกลับไปหาขนบแบบเก่า แต่ในขณะเดียกัน สุธิดาก็ชี้ว่า ยังมีนางเอกแบบในละครเรื่องฮอร์โมน ที่มีแข่งออกมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นสตรีก็ถูกแข่งขันได้อยู่ตลอดเวลาในสังคม
 
ด้านคำ ผกา กล่าวย้อนไปถึงที่ตีพิมพ์กระทู้ดอกทองในช่วงแรกว่า ตอนนั้นเป็นช่วงหลังที่มีรัฐธรรมนูญ 2540 รู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองไม่มีปัญหา ตนจึงอยากจะพูดเรื่องที่คนยังไม่พูดคือเรื่อง "จู๋กับจิ๋ม" หรือเรื่องเพศสภาวะ ในขณะที่ในแวดวงนักวิชาการก็เริ่มหยิบเรื่องโพสต์โมเดิร์นมาคุยมาศึกษามากขึ้น แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 ตนจึงรู้สึกว่าจำเป็นต้องหันมาพูดเรื่องปัญหาทางการเมืองที่พื้นฐานแทน เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. ความเท่าเทียม เรื่องประชาธิปไตย   
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์: อำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ต่อกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800

$
0
0

โดยเหตุที่สัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือคลื่น 1800 MHz ระหว่างบริษัท บมจ.กสท กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และระหว่าง บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ซึ่งหลังจากที่สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว คาดหมายกันว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่งค้างอยู่ในระบบ และในกรณีที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานดังกล่าว จนผู้ใช้บริการไม่ได้เตรียมตัวที่จะโยกย้ายไปรับบริการในระบบอื่น กรณีย่อมคาดหมายได้ว่าจะมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงได้ออก“ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.....”เพื่อจะแก้ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นเนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้อำนาจของ กสทช.ในลักษณะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของทั้งผู้ให้สัมปทานตามสัญญา (บมจ.กสท) ผู้รับสัมปทานตามสัญญา (ทรูมูฟ และดิจิตอลโฟน) ผู้รับบริการ ตลอดจนผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดโทรคมนาคมหลายประการ อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบ “ใบอนุญาต” แล้ว จะต้องนำคลื่นดังกล่าวมาจัดสรรกันใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ที่กล่าวถึงข้างต้น หากได้รับการประกาศใช้จริง จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยเหตุที่ร่างประกาศดังกล่าวสัมพันธ์กับอำนาจในการถือครองและใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz  หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวนี้ให้ยุติเสียก่อน (1.) แล้วจึงวินิจฉัยอำนาจของ กสทช. ในการออกประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ (2.) และเนื้อหาของร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ในประการสุดท้าย (3.)

 

1. ใครมีอำนาจถือครองคลื่นความถี่ 1800 MHz  หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการถือครองและใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ภายหลังสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. กสท.กับบริษัทดิจิตอลโฟน สิ้นสุดลงนั้น มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าเมื่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว สิทธิถือครองและใช้คลื่นความถี่จะคืนกลับไปยัง บมจ.กสท  ซึ่งเป็นผู้ให้สัญญาสัมปทานหรือไม่

หากพิจารณาตามหลักธรรมดา ในกรณีที่ระบบกฎหมายยังคงสภาพการประกอบกิจการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะเดิม คือ “ระบบสัมปทาน” ที่องค์กรของรัฐเป็นผู้ให้สัมปทานและเอกชนผู้รับสัมปทานตกลงเข้าร่วมการงานประกอบกิจการโทรคมนาคมตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาแล้ว เมื่อสัญญาสัมปทานหรือสัญญาร่วมการงานสิ้นสุดลง องค์กรของรัฐที่ทรงอำนาจซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน ย่อมสามารถนำคลื่นดังกล่าวไปให้สัมปทานใหม่อีกได้ หรือจะดำเนินกิจการโทรคมนาคมด้วยตนเอง คือถือครองและใช้คลื่นเองก็ย่อมทำได้

อย่างไรก็ตาม ระบบกฎหมายไทยได้เปลี่ยนสภาพการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบที่องค์กรของรัฐให้สัมปทานเอกชนหรือให้เอกชนเข้าร่วมการงานเป็นระบบ “ใบอนุญาต” มีการแยกหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมออกจากหน่วยงานที่ดำเนินกิจการโทรคมนาคม ดังจะเห็นได้จากการตั้ง กสทช. ให้ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการเปลี่ยนสภาพองค์กรของรัฐที่เคยทำหน้าที่ดังกล่าวพร้อมๆ กับการเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในรูปรัฐวิสาหกิจ ไปเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมแต่ประการเดียว พร้อมทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นให้เป็นบริษัทเอกชนด้วย สถานะของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานคลื่น 1800 MHz แก่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน จึงกลายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ในชื่อของ บมจ.กสท  เพียงแต่ระบบกฎหมายกำหนดให้ บมจ.กสท เป็นผู้สืบทอดสิทธิหน้าที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อไม่ให้สัญญาสัมปทานที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยทำกับบริษัทเอกชนสิ้นสุดลงทันที อันจะมีผลเท่ากับรัฐไม่คุ้มครองสิทธิตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนและเท่ากับรัฐใช้อำนาจที่มีผลเสมือนการเวนคืนสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน (สิทธิที่จะประกอบการต่อไปจนสิ้นสุดสัญญา) โดยไม่มีการจ่ายค่าทดแทนความเสียหาย รัฐธรรมนูญจึงกำหนดการคุ้มครองคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไว้ว่าการเปลี่ยนระบบการกำกับและการประกอบกิจการโทรคมนาคมจากระบบ “สัมปทาน” เป็นระบบ “ใบอนุญาต” นั้นไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้ทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล (รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 305)

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ บมจ.กสท ที่แปรรูปมาจากการสื่อสารแห่งประเทศสามารถเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้ บทเฉพาะกาล มาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 จึงบัญญัติให้คณะกรรมการในเวลานั้นออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย (บมจ.กสท)รวมทั้งอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งนี้จนกว่าจะถึงกำหนดที่จะต้องคืนคลื่น โดยใบอนุญาตที่ บมจ. กสท.ได้รับนั้นมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2568

ปัญหาที่โต้แย้งกันก็คือ หลังจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท และบริษัททรูมูฟ จำกัด และสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท และบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด สิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 แล้ว คลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวจะกลับคืนไปยัง บมจ.กสท และ บมจ.กสท มีสิทธิถือครองและใช้คลื่นดังกล่าวจนกว่าจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตในวันที่ 3 สิงหาคม 2569 หรือคลื่นดังกล่าวจะไม่คืนกลับไปยัง บมจ.กสท แล้ว แต่จะต้องนำไปให้ กสทช.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับกิจการโทรคมนาคมดำเนินการจัดสรรคลื่นตามระบบใบอนุญาตต่อไป

เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับสถานะของคลื่นความถี่ตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญฯ มาตรา 47 บัญญัติให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำหนดให้จัดตั้งองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติให้การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม ให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยการประมูลคลื่นความถี่ และเมื่อสำรวจตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วไม่พบบทบัญญัติใดเลยที่บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานสามารถถือครองคลื่นและใช้คลื่นได้ต่อไปภายหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้ว

แม้หากจะมีผู้กล่าวอ้างว่า บมจ.กสท ซึ่งแปรรูปมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จึงสมควรให้ บมจ.กสท ถือครองคลื่นต่อไป เพราะสามารถนำคลื่นที่ได้รับกลับคืนมานั้นไปใช้ได้ทันที เนื่องจากหากให้มีการประมูล ก็ไม่เป็นที่แน่ใจได้ว่า บมจ.กสท จะยอมให้ผู้ชนะการประมูลใช้โครงข่ายตลอดจนเครื่องและอุปกรณ์ของตนหรือไม่ ข้อกล่าวอ้างนี้ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น การที่ บมจ.กสท มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ไม่เกี่ยวพันกับการถือครองและใช้คลื่นแต่อย่างใดทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่ บมจ.กสท มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2568 ก็ไม่ใช่เหตุที่สามารถนำมาใช้กล่าวอ้างว่าคลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวต้องกลับคืนไปยัง บมจ.กสท เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้วได้ เนื่องจากใบอนุญาตที่ บมจ.กสท ได้รับนั้น ระบบกฎหมายมุ่งหมายเพียงรับรองให้ บมจ.กสท มีฐานะเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมเหมือนผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นบริษัทเอกชนทั่วไป เพื่อความสามารถในการใช้คลื่นที่ตนเองประกอบกิจการอยู่เท่านั้น

สำหรับคลื่นที่ให้สัมปทานไปนั้น เมื่อระยะเวลาคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชนตามสัญญาสิ้นสุดลงแล้ว หากตีความว่าคลื่นดังกล่าวกลับคืนไปยัง บมจ.กสท  ที่ บมจ.กสท สามารถถือครองและใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ก็จะเกิดผลประหลาดและขัดแย้งกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมในระบบ “ใบอนุญาต” ที่ระบบกฎหมายไทยและรัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งขึ้นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้น คลื่นดังกล่าวจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็น “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ได้เลย แต่จะกลายเป็นทรัพย์สินของ บมจ.กสท  ซึ่งบัดนี้ก็ไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอีกต่อไปแล้ว แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและเป็นผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมเสมอกับผู้ประกอบกิจการที่เป็นเอกชนรายอื่น  เพียงแต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้รัฐยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่เท่านั้น 

นอกจากนี้หากคลื่นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวกลับคืนไปยัง บมจ. กสท. และให้ บมจ.กสท เป็นผู้ถือครองและใช้คลื่น หาก บมจ.กสท ใช้สิทธิในฐานะผู้ถือครองและใช้คลื่นตกลงทำสัญญาให้บริษัทเอกชนใช้คลื่นต่อไป โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ตน (ไม่ว่าจะออกแบบสัญญาในลักษณะอย่างไรหรือเรียกชื่อค่าตอบแทนอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ) ผลก็คือจะเกิดระบบ “สัมปทานจำแลง” ต่อไปภายใต้ระบบใบอนุญาตซึ่งประหลาดอย่างยิ่ง 

หรือแม้หาก บมจ.กสท ใช้คลื่นประกอบกิจการด้วยตนเอง ผลก็คือ คลื่นดังกล่าวจะไม่มีโอกาสที่จะได้รับการจัดสรรต่อไปได้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และหากตีความกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  กับ บริษัททรูมูฟ และ บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟนไปในลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานกับสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมอื่นๆ ที่จะทยอยสิ้นสุดลง และในที่สุดแล้วคลื่นจำนวนมากจะกลับไปสู่การครอบครองของ “อดีตรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในกิจการโทรคมนาคม” ซึ่งบัดนี้กลายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนไปหมดแล้ว และ กสทช.ก็จะไม่สามารถนำคลื่นจำนวนมากดังกล่าวนั้นออกจัดสรรโดยวิธีการประมูลคลื่นได้

การตีความในลักษณะเช่นนี้นอกจากจะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับอย่างชัดแจ้งแล้ว ยังกระทบต่อประโยชน์สาธารณะอย่างรุนแรง ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ในสัญญาสัมปทานเท่านั้น และในที่สุดแล้วจะส่งผลกัดเซาะระบบ “ใบอนุญาต” ที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะก่อตั้งด้วย เนื่องจากระบบใบอนุญาตจะมีได้เฉพาะแต่คลื่นที่ “อดีตรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในกิจการโทรคมนาคม” ไม่เคยถือครองเท่านั้น ซึ่งไม่ถูกต้อง

อนึ่ง หากพิจารณาตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่แล้ว จะพบว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 83 และมาตรา 84 บัญญัติให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงคืนความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ประกอบกับการคุ้มครองสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 305 (1) ได้รับรองไว้แล้ว ย่อมจะพบว่า กสทช.สามารถกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ได้เฉพาะกรณีของคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯจะได้รับการประกาศใช้เท่านั้น

โดยเหตุผลของเรื่อง เมื่อคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดเวลา ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่เมื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาตและมีองค์กรของรัฐทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่แล้ว องค์กรของรัฐดังกล่าวย่อมจะต้องกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้ชัดเจน เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ต่อไป ซึ่งการกำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นให้ชัดเจนแน่นอนลงไปนี้ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 83 วรรคสามกำหนดเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจไว้ด้วยว่า กสทช.ต้องใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่นั้น โดยจะต้องนำเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ที่ผู้ถือครองได้แจ้งไว้มาประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย กสทช.จะใช้ดุลพินิจกำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นความถี่ตามอำเภอใจหรือโดยปราศจากเหตุผลหาได้ไม่

อย่างไรก็ตามการกำหนดระยะเวลาคืนคลื่นที่กล่าวมานี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบกับระบบการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เป็นระบบใบอนุญาตแล้ว จะพบว่าใช้บังคับกับกรณีของการใช้คลื่นความถี่ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาเท่านั้น หาได้หมายความถึงกรณีของการใช้คลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจนแน่นอนแล้วไม่

กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อระยะเวลาการใช้คลื่นตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับการรับรองเพื่อคุ้มครองสิทธิตามสัญญาของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามบทเฉพาะกาลสิ้นสุดลงแล้ว คลื่นก็จะต้องคืนกลับมาเพื่อให้ กสทช.ดำเนินการจัดสรรใหม่โดยอัตโนมัติ กสทช.ไม่อาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้ต้องคืนคลื่นดังกล่าวในระยะเวลาก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงหรือให้ต้องคืนคลื่นดังกล่าวในระยะเวลาหลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงแล้วได้ เพราะจะขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

การให้เหตุผลทางกฎหมายว่าทำไม กสทช.ไม่อาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นตามสัญญาสัมปทานได้ อาจกระทำได้ในสองลักษณะ ซึ่งให้ผลทางกฎหมายไม่ต่างกัน คือ

1. ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่นั้น ใช้กับกรณีของคลื่นความถี่ที่มีผู้ใช้อยู่โดยไม่มีกำหนดเวลาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับคลื่นตามสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลาสิ้นสุดการใช้ที่แน่นอน

2. ให้เหตุผลว่าบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปใช้จัดสรรใหม่นั้นมีลักษณะเป็นบทกฎหมายทั่วไป (lex generalis) ในขณะที่กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองสัญญาสัมปทานและการกำหนดให้สิทธิการใช้คลื่นตามสัญญาสัมปทานต้องสิ้นสุดลง มีลักษณะเป็นบทกฎหมายเฉพาะ (lex specialis) ซึ่งต้องถือตามหลักการทั่วไปในการใช้กฎหมายว่า “บทกฎหมายเฉพาะย่อมตัดบทกฎหมายทั่วไปมิให้ใช้บังคับในเรื่องเดียวกัน” (lex specialis derogate legi generali)

ผลจากการตีความดังกล่าว ไม่ว่าจะให้เหตุผลในลักษณะใดก็คือ กสทช. ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นตามสัญญาสัมปทานได้ เนื่องจากระยะเวลาการใช้คลื่นดังกล่าวได้รับการกำหนดไว้แล้วในกฎหมายระดับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ ด้วยเหตุนี้แม้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯจะกำหนดให้ กสทช.มีอำนาจจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และให้กำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก็ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นแม้ กสทช.ต้องการจะขยายระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานออกไป กสทช.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

กล่าวโดยสรุป เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท บมจ.กสท กับบริษัทดิจิตอลโฟน แล้ว คลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานดังกล่าวย่อมต้องคืนกลับมาเพื่อให้ กสทช.นำออกจัดสรรด้วยวิธีการประมูลต่อไป ทั้งนี้โดย กสทช.ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการคืนคลื่นให้แตกต่างไปจากระยะเวลาสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานดังกล่าว คือ วันที่ 15 กันยายน 2556 ได้

 

2. กสทช. มีอำนาจวางกฎในลักษณะเช่นที่ปรากฏในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.....” ได้หรือไม่

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการออกประกาศ กสทช. ว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงนั้น โดยเหตุที่ในขณะนี้ กสทช.ได้ออก “ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.....” เพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว การทำความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.ในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จึงจะใช้ร่างประกาศฉบับดังกล่าวเป็นฐาน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากร่างประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว อาจพิจารณาให้ความเห็นได้เป็นลำดับไปดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์ของการออกประกาศดังกล่าว ได้รับการบัญญัติไว้ในตอนต้นของร่างประกาศฯ ว่า “เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว ให้มีความต่อเนื่องในการให้บริการ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ได้รับประโยชน์และใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องปราศจากข้อจำกัดในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการขึ้นเพื่อใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง มิให้การได้รับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลง...” และ “...จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการขึ้นเพื่อมิให้การรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ใช้บริการได้รับตามปกติต้องสะดุดหยุดลง จึงกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการไว้ดังนี้”ซึ่งจะเห็นได้ว่า ร่างประกาศฉบับนี้อ้างเฉพาะแต่เหตุผลในการคุ้มครองผู้ใช้บริการประการเดียว โดยไม่มีการพิจารณาคุณค่าอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคมมาประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งการอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น ยังไม่มีการพิเคราะห์ถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้ใช้บริการในความคงอยู่ของสัญญาสัมปทานประกอบการออกประกาศฉบับนี้เลย การกำหนดวัตถุประสงค์ในการออกประกาศฉบับนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการใช้ดุลพินิจอย่างครบถ้วนรอบด้าน

2. โดยเหตุที่ประกาศฉบับนี้ มีลักษณะเป็นกฎ ถึงแม้ว่า กสทช. จะเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ แต่ในการออกประกาศที่มีลักษณะเป็นกฎ กสทช.ย่อมไม่มีอำนาจโดยตนเองในการออกกฎเรื่องใดๆมาใช้บังคับในกิจการโทรคมนาคมได้ ความเป็นองค์กรอิสระของ กสทช. มีความหมายในระบบกฎหมายแต่เพียงว่า กสทช.ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่โดยลักษณะของภารกิจย่อมต้องถือว่า กสทช.เป็นองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารประเภทที่ใช้อำนาจปกครอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง กสทช. เป็นองค์กรฝ่ายปกครองที่เป็นอิสระ ในการออกกฎขึ้นใช้บังคับ จึงจำเป็นที่ กสทช.จะต้องอาศัยฐานอำนาจในการออกกฎจากกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ กสทช.จะออกกฎให้ขัดหรือแย้งกับกฎหมายแม่บทที่เป็นฐานอำนาจในการออกกฎไม่ได้ นอกจากนี้ กสทช.จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในทางแบบพิธีตลอดจนเงื่อนไขในทางเนื้อหาในการออกกฎอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้กฎดังกล่าวเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎดังกล่าวเป็นการทั่วไปได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบกับมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสาม

3. ตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ กสทช.ได้อ้างแหล่งอำนาจในการประกาศจากมาตรา 27 (4) (6) และ (13) และมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ประกอบกับมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งเมื่อพิจารณามาตราต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ไม่พบว่ามาตราต่างๆ เหล่านี้สามารถเป็นฐานในการออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ฉบับนี้ได้ ซึ่งอาจแยกพิจารณาได้ ดังนี้

3.1 บทบัญญัติมาตรา 27 (13) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ทั่วไปให้แก่ กสทช.ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมเท่านั้น หาใช่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เป็นฐานของการออกกฎไม่

3.2 บทบัญญัติมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ก็เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจ กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ต้องปฏิบัติจนกว่าจะถึงกำหนดเวลาคืนคลื่นความถี่เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติให้อำนาจ กสทช.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ได้รับคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ต้องปฏิบัติภายหลังจากการคืนคลื่นนั้นแล้ว ดังที่ปรากฏในร่างประกาศฉบับนี้

3.3 บทบัญญัติมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ว่าผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหาก กสทช.จะออกกฎเรื่องดังกล่าวก็ต้องเป็นกฎที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการพักหรือหยุดการให้บริการทั้งหมดหรือบางส่วน อันมีลักษณะเป็นการวางกฎเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการพักหรือหยุดการให้บริการ ไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องให้บริการต่อไปดังที่ปรากฏในร่างประกาศฉบับที่กำลังพิเคราะห์อยู่นี้เช่นกัน

3.4 มาตรา 27 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯนั้น เป็นเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น หาใช่เป็นฐานทางกฎหมายในการให้อำนาจ กสทช. ออกกฎเกณฑ์กำหนดให้คู่สัญญาตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วมีหน้าที่ในการให้บริการต่อไปไม่ ดังนั้นมาตรา 27 (4) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงไม่อาจเป็นฐานทางกฎหมายในการออกประกาศฉบับนี้ได้เช่นเดียวกัน

4. แม้จะมีผู้ใดพยายามตีความบทบัญญัติต่างๆ ที่ กสทช.กล่าวอ้างในร่างประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ว่าเป็นฐานทางกฎหมายได้ แต่การอ้างฐานทางกฎหมายเหล่านั้นในที่สุดแล้วก็ไม่อาจเป็นไปได้อยู่ดี เนื่องจากจะขัดต่อหลัก “ความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง” ที่ว่า “การกระทำทางปกครองต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย” เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากเมื่อคลื่น 1800 MHz ตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัทดิจิตอลโฟน ต้องกลับคืนมาเพื่อให้ กสทช.ดำเนินการจัดสรรใหม่ตามที่ได้วิเคราะห์มาแล้วข้างต้น กสทช.ย่อมจะต้องนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปจัดสรรโดยวิธีการประมูลเท่านั้น การดำเนินการต่อคลื่นความถี่ที่สิ้นสุดลงตามสัญญาสัมปทานในลักษณะอื่นใดนอกจากการนำมาจัดสรรโดยวิธีการประมูล แม้จะอ้างว่าเป็นการกระทำในระยะเวลาเพียงชั่วคราวเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ การกระทำเช่นว่านั้นย่อมขัดต่อกฎหมายทั้งสิ้น การอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างลอยๆโดยไม่วิเคราะห์แยกแยะความเชื่อโดยสุจริตของผู้ใช้บริการในความคงอยู่ของสัญญาสัมปทานมาประกอบด้วย ย่อมไม่มีผลทำให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับฟื้นคืนมาเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

5. นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว หากพิจารณาโครงสร้างของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ประกอบกับสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว จะเห็นได้ว่าร่างประกาศ กสทช.ฉบับนี้กำหนดสิทธิหน้าที่ในความสัมพันธ์ถึงสี่เส้าด้วยกัน คือ 1) กสทช. 2) บมจ.กสท  3) บริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน 4) ผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ของบริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟน หาใช่การกำหนดนิติสัมพันธ์ทางปกครองระหว่างผู้ออกกฎกับผู้ที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎแบบปกติธรรมดาทั่วๆ ไปไม่

โดยลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว แม้ กสทช.จะยืนยันว่าการออกประกาศนี้เป็นเพียงการกำหนดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวต่อไปเพียงหนึ่งปีหลังจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว “เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่อาจโยกย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้และเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการประมูลคลื่นความถี่และการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปสู่ผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่”ก็ตาม (ข้อ 3 ของร่างประกาศฯ) แต่โดยเนื้อแท้แล้วร่างประกาศฉบับนี้มีผลเสมือนเป็นการขยายอายุสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้วออกไปอีกหนึ่งปีถึงแม้ว่าในทางรูปแบบจะดูเหมือนว่าสัญญาสัมปทานไม่มีอยู่แล้วเนื่องจากหากประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ บมจ.กสท และบริษัททรูมูฟ กับ บมจ.กสท และบริษัทดิจิตอลโฟน จะยังคงมีนิติสัมพันธ์กันต่อไปอีกภายใต้วัตถุแห่งสัญญาเดิม (คลื่นความถี่ 1800 MHz)

ถึงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญา แต่ก็จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ค่าตอบแทนการใช้คลื่นวิทยุ ฯลฯ ซึ่งรวมแล้วน่าจะอยู่ประมาณไม่เกินร้อยละหกของรายได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดค่าสัมปทานที่บริษัททรูมูฟและบริษัทดิจิตอลโฟนต้องชำระตามสัญญาสัมปทานเดิมจากที่จะต้องจ่ายร้อยละสามสิบของรายได้ลง  อันจะทำให้บริษัททั้งสองได้ประโยชน์ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายได้

อนึ่ง ตามร่างประกาศฯฉบับนี้ยังไม่แน่ชัดว่า บมจ.กสท จะได้รับประโยชน์อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์จากการยอมให้ใช้เครื่องและอุปกรณ์ของ บมจ.กสท ในการให้บริการ และจะเป็นปัญหาต่อไปว่า บมจ.กสท อาจไม่ยินยอมให้ใช้เครื่องและอุปกรณ์ตามสัญญา แต่ถ้า บมจ.กสท ยอมให้ใช้โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนในลักษณะค่าเช่า กรณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นว่าร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีผลเป็นการขยายระยะเวลาของนิติสัมพันธ์ระหว่างระหว่าง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ และ บมจ.กสท  และบริษัทดิจิตอลโฟน ออกไป การกระทำที่โดยเนื้อแท้แล้วมีผลเสมือนเป็นการขยายอายุสัมปทานออกไปเช่นนี้เป็นสิ่งที่ กสทช.ไม่มีอำนาจและไม่อาจกระทำได้

6. ในแง่ของการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในกิจการโทรคมนาคม กสทช.จะต้องคำนึงว่าผู้ประกอบการในตลาดโทรคมนาคมแต่ละรายย่อมทราบล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้วว่าสัญญาสัมปทานแต่ละฉบับนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ข้อมูลการได้มาซึ่งสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน และระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานแต่ละสัญญาเป็นข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการวางแผนทางธุรกิจและการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหากเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้วก็จะก่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ตามหลักกฎหมายปกครอง รัฐโดยหน่วยงานที่กำกับกิจการโทรคมนาคมซึ่งก็คือ กสทช. ย่อมมีหน้าที่คุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจในประโยชน์อันเอกชนผู้ประกอบการอาจคาดหมายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพของข้อเท็จจริงในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่มีผลเป็นฝ่าฝืนความเชื่อถือและไว้วางใจของเอกชนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากจะไม่เอื้ออำนวยการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว ยังจะส่งผลให้รัฐเกิดความรับผิดตามมาอีกด้วย

7. โดยอาศัยเหตุผลทั้งปวงที่ได้แสดงให้เห็นข้างต้น จึงเห็นว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ หากได้รับการประกาศใช้แล้ว ย่อมจะต้องถือว่าเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

3. เนื้อหาในร่างประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า กสทช. ไม่สามารถออกประกาศในลักษณะดังกล่าวได้ ย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องพิเคราะห์เนื้อหาของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ ต่อไปอีกว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สมควรตั้งข้อสังเกตบางประการที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของร่างประกาศฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้

1. ในร่างประกาศฉบับนี้ กสทช. นิยามความหมายของ “ผู้ให้บริการ” ว่า หมายความว่า ผู้ให้สัมปทานและหรือผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่สิ้นสุด ตามที่คณะกรรมการกำหนด  การกำหนดนิยามในลักษณะดังกล่าวขาดความชัดเจนแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าตกลงแล้ว ผู้ให้บริการ ตามร่างประกาศฉบับนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงกรณีของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สิ้นสุดลง หมายถึง บมจ. กสท. หรือ บริษัททรูมูฟ/บริษัทดิจิตอลโฟน หรือหมายถึงทั้ง บมจ.กสท  และบริษัททรูมูฟ/บริษัทดิจิตอลโฟน พร้อมกัน จะต้องรอให้ กสทช.มีมติกำหนดก่อน ทั้งๆที่ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการไว้แล้วว่ามีอะไรบ้าง แต่ปรากฏว่าตัวบุคคลผู้มีหน้าที่ตามร่างประกาศนี้กลับยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน

2. ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่ของบุคคลหลายคนไว้ หน้าที่ที่ได้รับการกำหนดไว้ในร่างประกาศฉบับนี้มีผลเป็นก้าวล่วงสิทธิของบุคคล เช่น หน้าที่ของ “ผู้ให้บริการ” ที่จะต้องให้บริการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ถือว่า บมจ.กสท  ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงมีหน้าที่ต้องให้บริการ ซึ่งเท่ากับว่า บมจ.กสท มีหน้าที่ที่จะต้องยอมให้ใช้โครงข่าย เครื่องและอุปกรณ์ ย่อมมีปัญหาว่าหาก บมจ. กสท.ไม่ยินยอมให้ใช้ จะมีมาตรการบังคับอย่างไร หาก กสทช. บังคับให้ บมจ.กสท  ยอมให้ใช้ กรณีจะกำหนดค่าตอบแทนการใช้เครื่องและอุปกรณ์อย่างไร และ กสทช.จะอาศัยอำนาจอะไรมาบังคับให้ บมจ.กสท ต้องยอมตาม

3. ร่างประกาศฉบับนี้กำหนดหน้าที่บางประการไว้อย่างชัดแจ้งให้บุคคลผู้มีหน้าที่ตามประกาศนี้ต้องปฏิบัติ แต่ไม่กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ เช่น กำหนดให้ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิรับผู้ขอใช้บริการรายใหม่ ให้รักษาคุณภาพการให้บริการและกำหนดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขการคุ้มครอง หรือให้เร่งรัดการโอนผู้ใช้บริการ ฯลฯ ซึ่งหน้าที่ตามร่างประกาศนี้ เป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการอาจไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติโดยไม่สมบูรณ์ เช่นนี้หากเกิดการฝ่าฝืน ไม่มีความชัดเจนว่า กสทช.จะดำเนินการบังคับอย่างไร

เมื่อพิจารณาจากแนวทางแก้ปัญหากรณีมีผู้ค้างบริการอยู่ในระบบตามสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดลงตามร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้แล้ว เห็นว่า หากร่างประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ กรณีย่อมเท่ากับ กสทช. ใช้วิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการแก้ปัญหาโดยอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งๆที่ กสทช.ในฐานะองค์กรที่กำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ย่อมต้องทราบตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่แล้วว่าสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เป็นปัญหาให้ต้องพิเคราะห์นี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 แต่ กสทช.ก็หาได้เร่งรัดดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาไม่ คงปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินไปจนใกล้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน จึงพยายามหาทางแก้ปัญหาโดยการอ้างการคุ้มครองผู้ใช้บริการ การอ้างเหตุดังกล่าว แม้ในด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า กสทช.ต้องการคุ้มครองผู้บริโภคจริง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถมองได้เช่นกันว่า กสทช.ย่อมเล็งเห็นแล้วว่าหากบุคคลใดคัดค้านวิธีการแก้ปัญหาตามร่างประกาศนี้ บุคคลดังกล่าวอาจถูกกล่าวหาว่าไม่แยแสไยดีความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ อันจะมีผลเป็นการ “ปิดปาก” ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาโดยวิธีการที่มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายนี้โดยปริยาย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามประเด็นหนึ่งที่ กสทช.ยากที่จะอธิบายก็คือ การแก้ปัญหาตามวิธีการที่ กสทช. เสนอตามร่างประกาศนี้ จะมีผลเป็นการเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของค่า “สัมปทาน” จากร้อยละสามสิบเหลือประมาณร้อยละหก ของคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานเดิมดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผลจากการนี้ทำให้ กสทช. นอกจากจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องในคดีปกครอง (การฟ้องเพิกถอนประกาศ กสทช.) แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องในคดีอาญาด้วย

เมื่อแนวทางแก้ปัญหาตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ มีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้ว กสทช.ย่อมต้องหาวิธีการแก้ปัญหาในลักษณะอื่นเพื่อป้องกันการเกิดกรณี “ซิมดับ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ย่อมได้แก่ การเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดลงของสัญญาสัมปทานและให้ผู้ใช้บริการย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นในตลาดโทรคมนาคม โดยในระหว่างระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกสองเดือนเศษนี้ กสทช.ต้องกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมขยายศักยภาพในการรับโอนผู้ใช้บริการตามสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดให้มากที่สุด อย่างเต็มกำลังความสามารถ และต้องกระทำอย่างจริงจังโดยเสมอภาคกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่อยู่ในตลาดโทรคมนาคมทุกราย

เมื่อได้มีการประชาสัมพันธ์และดำเนินการรับโอนผู้ใช้บริการอย่างเต็มศักยภาพแล้ว หากยังมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบเนื่องจากบุคคลนั้นไม่แสดงความจำนงย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่น หากเกิดกรณีซิมดับ ก็ย่อมจะต้องถือว่าบุคคลนั้นมีส่วนผิดในการไม่แสดงเจตจำนงย้ายไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นเอง

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้น ระบบกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างสัมบูรณ์และโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ได้ แต่การคุ้มครองผู้ใช้บริการจะต้องตกอยู่ภายใต้หลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจ อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปในกฎหมายปกครอง เช่น ระบบกฎหมายย่อมไม่สามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ต้องใช้บริการในเทคโนโลยีเดิมตลอดไปได้ หากปรากฏว่าเทคโนโลยีนั้นพ้นสมัยเสียแล้ว การรักษาไว้ซึ่งบริการตามเทคโนโลยีเดิมจะมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากซึ่งไม่อาจคาดหมายจากผู้ให้บริการที่จะต้องให้บริการในเทคโนโลยีดังกล่าวไปตลอดกาลได้ นอกจากนี้การคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยหลักแล้วจะต้องคุ้มครองบนฐานของการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย จะคุ้มครองบนฐานของการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่

สำหรับกรณีที่ผู้ใช้บริการได้แสดงเจตจำนงในการโอนย้ายแล้ว เมื่อใกล้จะครบกำหนดแล้วปรากฏว่ายังไม่สามารถโอนย้ายได้หมด กสทช.อาจต้องประสานกับคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามสัญญาสัมปทานเพื่อดำเนินการให้มีการโอนย้ายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดพร้อมกัน (ย้ายยกล๊อต) ไปยังคลื่นความถี่อื่นที่สามารถรับการโอนย้ายส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดได้ เพื่อป้องกันกรณีซิมดับ แต่กรณีนี้สมควรเป็นทางเลือกสุดท้าย (ultima ratio) เมื่อโอนส่วนที่เหลือทั้งหมดเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่องแล้ว  ก็จะต้องเร่งโอนย้ายผู้ให้บริการตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการที่ได้แสดงเจตจำนงไว้แล้วให้เสร็จสิ้นต่อไป

กล่าวโดยสรุปผู้ทำความเห็น เห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการออกประกาศตามร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ และเสนอให้แก้ปัญหาโดยเร่งประชาสัมพันธ์และเพิ่มขีดความสามารถในการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปยังผู้ให้บริการรายอื่นให้เต็มศักยภาพในระยะเวลาสองเดือนเศษก่อนที่สัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่เป็นปัญหาอยู่นี้จะสิ้นสุดลง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรีนพีซจี้รัฐทบทวนนโยบายพลังงานที่ครอบงำโดยอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล

$
0
0
จากกรณีน้ำมันดิบปริมาณมหาศาลรั่วไหลลงสู่ทะเลแถบระยองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายด้านพลังงาน และยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

 
28 ก.ค. 56 - จากเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลรั่ว ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (1)
 
“ทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของไทย ถูกคุกคามมาตลอดจากการรั่วไหลของน้ำมันตามเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล ในบริเวณที่มีการขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือจากการดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ล่าสุดในเหตุน้ำมันรั่วไหลกว่า 200 ครั้ง ที่เกิดขึ้นในทะเลไทยในช่วง 30 ปีนี้ ปตท. ควรออกมารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล แต่ควรจะเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้กับระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยวของไทย” พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
 
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการที่กำหนดไว้ในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ (2) ซึ่งระบุว่า การแก้ปัญหาและขจัดคราบน้ำมันนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ถ้าการขจัดคราบน้ำมันนั้นอยู่นอกเหนือความสามารถของประเทศไทยที่จะจัดการได้ ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากองค์กรสากลได้
 
“บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ตามมาในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และควรต้องมีการดำเนินการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการว่าด้วยการฟื้นฟูและการประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากมลพิษจากน้ำมัน” พลาย ภิรมย์ กล่าวเสริม
 
การขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวของแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทอย่างน้อย 39 บริษัท ที่กำลังดำเนินการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
 
การรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยมีการจัดการเกี่ยวกับนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ต้องพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาก เราไม่ควรอนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของเราตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งๆ ที่เราก็มีมาตรการในการพัฒนาพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนอยู่แล้ว การเริ่มต้นในวงกว้างในเรื่องยานพาหนะที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับยานพาหนะทุกประเภทต้องไม่ใช่แค่เพียงเพื่อประหยัดน้ำมันนับล้านๆ บาร์เรล แต่ต้องลดความต้องการใช้น้ำมัน และทำให้การเกิดน้ำมันรั่วไหลน้อยลงด้วย” พลาย ภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติม
 
หมายเหตุ
 
1)  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยในอดีต เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจผลิตและสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั่วโลก ทั้งในเมียนมาร์ ออสเตรเลีย (แหล่งผลิตน้ำมันมอนทารา ในทะเลติมอร์) รวมถึงแหล่งผลิตทรายน้ำมันในแคนาดา บริษัท ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 65 ใน ปตท.สผ. คิดเป็นร้อยละ 32 ของธุรกิจผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย บริษัท ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ประกอบธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจร เป็นเจ้าของท่อส่งก๊าซใต้น้ำขนาดใหญ่ในอ่าวไทย เป็นเครือข่ายของสถานี LPG ทั่วประเทศ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการผลิตไฟฟ้า การผลิตปิโตรเคมี การสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจขายส่งน้ำมันเบนซิน บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, พีทีที เอเชีย แปซิฟิก ไมนิง และ ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
 
2)  รายละเอียดเกี่ยวกับแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ดูได้ที่  http://www.md.go.th/asean-ospar_files/national_plan_new.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบาย ตปท.ของไทย

$
0
0

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อภิปรายนโยบายต่างประเทศของรัฐไทย จากยุคอาณานิคมถึงยุคหลังสงครามเย็น ทั้ง “ไผ่ลู่ลม” การทูตนิ่งเงียบของอาเซียน การทูตยุคชาติชาย-ทักษิณ ที่ลดบทบาทข้าราชการ และเน้นความสำคัญเศรษฐกิจมากกว่าความมั่นคง พร้อมวิจารณ์นโยบายต่างประเทศรัฐบาลปัจจุบันที่ยังไม่สร้างสรรค์ และกลับไปฟังข้าราชการมากขึ้น จนแนวอนุรักษ์นิยมกลับมามีบทบาท

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา มีวงเสวนาที่ Book Re:public ในหัวข้อ “เจ้าโลก มหาอำนาจ ระเบียบภูมิภาค และนโยบายต่างประเทศของไทย”โดยมีวิทยากรคือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

ปวินเริ่มต้นโดยการกล่าวถึงคำศัพท์และแนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้แก่ กระบวนการสร้างระเบียบโลก (world order/system) โดยถ้าหากโลกมีระเบียบ ก็เป็นไปได้ที่โลกจะมีสันติภาพ แต่เมื่อใดที่ระเบียบโลกเกิดปัญหา ก็มักจะนำไปสู่สงคราม โดยการกำหนดระเบียบโลกส่วนใหญ่ได้อิทธิพลมาจากประเทศมหาอำนาจ หรือ Superpower ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศภายในโลกที่ไม่เท่าเทียมกัน อย่างไทยก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศขนาดกลาง มีความสามารถทำได้บางอย่าง แต่บางอย่างเราก็ไม่มีศักยภาพ (capability)

ศักยภาพของแต่ละประเทศสัมพันธ์กับผลประโยชน์แห่งชาติ (national interests) โดยการที่จะบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติได้จำเป็นต้องดูศักยภาพของประเทศตนเอง จะสามารถทำอะไรในเวทีโลกได้มากน้อยแค่ไหน การกำหนดนโยบายต่างประเทศจึงต้องสอดคล้องกับทั้งระเบียบโลก ศักยภาพของประเทศ และผลประโยชน์แห่งชาติ

นอกจากนั้น การกำหนดนโยบายต่างประเทศยังมีหลายแบบ เช่น การสร้างพันธมิตร (Alliance) ซึ่งไทยเน้นนโยบายนี้มาตลอด ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือทำให้เราขาดความเป็นตัวเอง ข้อดีอาจได้ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือนโยบายแบบใครไปไหนไปด้วย (Bangwagoning) รวมทั้งนโยบายแบบโดดเดี่ยวตนเอง (Isolation)

ปวินกล่าวต่อถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ประเทศตั้งแต่ในช่วงยุคอาณานิคม ซึ่งมหาอำนาจจะอยู่ในยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ที่ยิ่งใหญ่จากกองทัพเรือ จนสามารถล่าอาณานิคมได้เกือบครึ่งโลก การตอบสนองต่อมหาอำนาจของแต่ละประเทศก็จะต่างกันไป อย่างพม่าก็เลือกจะต่อสู้กับการยึดครองของอาณานิคม แต่ก็ไม่สามารถต่อสู้กับอังกฤษได้ หรือเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศส

ขณะที่ไทยตอบสนองแตกต่างออกไป ทำให้เราเป็นประเทศเดียวที่ไม่ตกเป็นอาณานิคม แต่อันนี้ก็ถูกโต้เถียงแล้วในเรื่องการตกเป็นอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการของไทย โดยทฤษฎีต่างๆ ที่พยายามอธิบายสาเหตุที่ไทยไม่เคยตกเป็นอาณานิคม เช่น จุดที่ตั้งยุทธศาสตร์ใจกลางของภูมิภาค หรือคำอธิบายเรื่องการมองการณ์ไกลของพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดก็กลายเป็น myth ไป

ปวินกล่าวว่านโยบายต่างประเทศของไทยมีลักษณะที่ถูกเรียกว่าเป็นแบบ “ไผ่ลู่ลม” คือลมมาทางไหนก็ไปทางนั้น เช่น อังกฤษมาก็ไปตามอังกฤษ ฝรั่งเศสมาก็ไปตามฝรั่งเศส หรือมีการใช้อังกฤษต่อสู้กับฝรั่งเศส หรือฝรั่งเศสสู้กับอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทั้งหมด หรืออาจอธิบายว่าเป็นการทูตแบบสองหน้า (Two-faced diplomacy) ซึ่งต่อหน้าทำแบบหนึ่ง ลับหลังก็ทำแบบหนึ่ง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็สะท้อนภาพของการเอนไปเอนมาของนโยบายของไทย พอญี่ปุ่นเข้ามา เราคิดว่าสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ ก็ไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่พอเห็นว่าญี่ปุ่นกำลังแพ้ ก็หันไปหาอเมริกา โดยการอาศัยจุดยืนของเสรีไทยในการอ้างอิง การฑูตแบบของไทยจะหันไปหันมาแบบนี้ได้ตลอด

จนสมัยสงครามเย็น ซึ่งสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ไทยหันไปเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ในช่วงระหว่างการต่อสู้ระหว่างเวียดนามกับฝรั่งเศส และสหรัฐได้เข้ามาช่วยฝรั่งเศส ขณะเดียวกันสหภาพโซเวียตก็เข้ามาช่วยเวียดนาม ทำให้กลายเป็นสงครามแบบตัวแทน จนเมื่อเวียดนามสามารถเอาชนะทั้งฝรั่งเศสและสหรัฐได้ นำไปสู่ความพยายามที่เวียดนามจะเทคโอเวอร์ของอินโดจีน โดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต เวียดนามจึงรุกรานกัมพูชาในปี 1979

หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงทฤษฎีโดมิโน เมื่อเห็นประเทศข้างเคียงเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คิดว่าไทยจะเป็นโดมิโนตัวต่อไป และต้องหันไปหาสหรัฐฯ มากขึ้น โดยรัฐบาลในช่วงสงครามเย็นที่อยู่ภายใต้การครอบงำของทหาร ก็ขยายทฤษฎีนี้ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความหวาดกลัว ซึ่งส่งผลดีต่อการสร้างระเบียบภายในประเทศ ทำให้ผู้นำสามารถที่จะจูงจมูกได้ สงครามเย็นได้ให้บทบาทอันนี้กับกองทัพ รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไปเชื่อมกับคอมมิวนิสต์ภายในประเทศ ผ่านการวาดภาพลักษณะของคอมมิวนิสต์ว่าเป็นศัตรู เป็นภัยต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ในช่วงเดียวกับที่เวียดนามได้ชัยชนะนั้น จีนกับสหภาพโซเวียตก็แตกคอกัน โดยจีนได้กำหนดนโยบายใหม่ ที่ตบหน้าโซเวียต โดยให้การสนับสนุนกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กับเวียดนามในกัมพูชา คือกลุ่มเขมรแดง ซึ่งไทยก็สนับสนุนด้วย นำไปสู่สงครามในกัมพูชา

เป็นเรื่องตลกเหมือนกัน ที่เราวาดภาพให้คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูอันดับหนึ่ง แต่หันกลับไปผูกมิตรแบบจีน แต่ไม่เอาคอมมิวนิสต์แบบโซเวียต ขณะเดียวกันก็ไม่เอาคอมมิวนิสต์ในไทย ทำให้เห็นว่าการวาดภาพของคอมมิวนิสต์มันหลวม ทั้งหมดเพื่อนำไปรับใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับผู้นำ

ปี 1975 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้สถาปนาความสัมพันธ์การทูตกับจีน สะท้อนนโยบายไผ่ลู่ลม เช่นเดียวกับสหรัฐ ที่เห็นว่าโซเวียตเป็นภัยมากกว่าจีน ก็หันกลับไปสร้างความสัมพันธ์กับจีนเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ก็ยังคงส่งเงินกลับมาสนับสนุนกองทัพไทย สถานการณ์นี้ยาวนานไปถึงช่วงจบสงครามเย็น

นอกจากนั้น ในช่วงนี้ยังมีการทูตแบบพหุพาคี ซึ่งมักจะออกมาแบบเป็นองค์การต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสงครามเย็น เช่น ในค่ายคอมมิวนิสต์ มีการรวมกันของโคมินเทิร์น (COMINTERN 1919-1943) หรือกลุ่มที่ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด (Non-Alignment) คือฝ่ายที่อยากเป็นกลาง แต่ก็ไม่ค่อยประสบสำเร็จเท่าไร ได้แก่ จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย

ส่วนโลกเสรีก็มีความร่วมมือมากมาย ส่วนใหญ่เป็นความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น ASA (Association of SEA 1961--67) เพื่อต่อต้านจีนและโซเวียต หรือ SEATO (1954-77) ซึ่งตั้งขึ้นเป็นพี่น้องกับ NATO ในยุโรป แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีแค่สองประเทศในภูมิภาคนี้เข้าร่วมคือ ไทย, ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่สนับสนุน โดยมององค์กรนี้ด้วยความระแวงสงสัย ว่าตะวันตกจะจูงจมูกและมีวาระชัดเกินไปในการต่อต้านคอมมิวนิสต์

แต่ในช่วงนี้ก็มีการก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) ขึ้นในปี 1967 โดยสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) เหตุที่องค์การนี้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่ง เพราะไม่มีมหาอำนาจต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นจุดแข็งของอาเซียนมาถึงทุกวันนี้ จุดมุ่งหมายแม้ไม่ได้พูดชัดเจน แต่ลึกๆ ก็ตั้งขึ้นมาเพี่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ อีกประการหนึ่งคือความสำเร็จในการสร้างศัตรูร่วมกัน นำไปสู่การลดความระแวงสงสัยในประเทศสมาชิกด้วย

ความคิดของอาเซียนนี้เริ่มต้นมาจากประเทศไทย เริ่มจากคุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีต่างประเทศ ที่เห็นว่าการที่ไทยจะอยู่รอดได้ ปลอดจากการเข้าแทรกแซงของคอมมิวนิสต์ ก็ต้องรวมตัวกันกับเพื่อนบ้าน แล้วพยายามขายไอเดียนี้ให้กับประเทศอื่น แล้วเขาก็เอาด้วย

ปวินให้ความเห็นว่า ข้อจำกัดของอาเซียนคือมีลักษณะกฎระเบียบหยุมหยิมมากมาย ทุกอย่างต้องใช้ฉันทามติหมด โดยไม่มีระบบโหวต ไม่มีการใช้วีโต้ ภายใต้ฐานคิดว่าเพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเดินไปช้ามาก หรือการใช้วิธีการไม่พูดกันในเรื่องความขัดแย้งต่างๆ (quiet diplomacy) แม้แต่ในเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเป็นมาจนถึงทุกวันนี้

นอกจากนั้นความร่วมมือยังมีลักษณะเป็นไปตามความคุ้นเคยของตัวบุคคลระหว่างผู้นำ (personal familiarity) ซึ่งก็สร้างปัญหาในเชิงระบบให้กับองค์กร และอันที่สำคัญคือกฎการไม่แทรกแซงกิจการภายในต่อกัน (non-interference) เพราะกลัวประเทศอื่นๆ มายุ่งในประเทศ เราเลยไม่ยุ่งกับคนอื่น ซึ่งกลายไปเป็นบรรทัดฐานของอาเซียน แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามปรับปรุงแล้วก็ตาม

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุด พร้อมการแตกสลายของโซเวียต อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ลดน้อยลงในภูมิภาคนี้ โดยถอนฐานทัพออกไปส่วนใหญ่ เกิดประเทศเอกราชต่างๆ รวมถึงการมาถึงของโลกโลกาภิวัตน์ และการไหลเวียนของข่าวสารต่างๆ

ในช่วงนี้มีทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศที่พยายามอธิบายการเมืองใหม่ในช่วงนั้น เช่น เรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรม (clash of civilizations -Huntington) โดยเสนอว่ายุคหลังสงครามเย็น ความขัดแย้งที่เคยถูกกดเก็บเอาไว้ในช่วงการต่อสู้ทางอุดมการณ์จะโผล่ขึ้นมา อารยธรรมนี้วางอยู่บนเรื่องศาสนา วัฒนธรรม หรือชาติพันธุ์ต่างๆ หรือความคิดจุดจบของประวัติศาสตร์ (The End of History -Fukuyama) ที่เห็นว่าการที่โลกเสรีได้รับชัยชนะ สะท้อนว่าโลกมาสู่จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ คือพิสูจน์ให้เห็นว่าประชาธิปไตยต่อให้ไม่สมบูรณ์แบบอย่างไร แต่ถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของวิวัฒนาการของระบบการเมืองของโลก ประชาธิปไตยกลายเป็นจุดสิ้นสุดของโลก โดยที่โลกจะมีสันติภาพ ก็ต่อเมื่อประเทศทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย

ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสงครามเย็นถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยการสิ้นสุดของความขัดแย้งในกัมพูชา นำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ฮุนเซนได้รับความชอบธรรมจากชัยชนะ ส่วนเวียดนามเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น เป็นการปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังเห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยเลือกเปิดเศรษฐกิจเสรี แต่ยังปิดการเมืองไว้ก่อน

ขณะเดียวกัน ก็มีความรู้สึกไม่แน่นอนจากระเบียบโลกที่ยังไม่ชัดเจน และโลกมีลักษณะหลายขั้วมากขึ้น (multi-polar) ซึ่งสร้างตัวเลือกด้านการต่างประเทศให้มากขึ้น มีเสรีในการกำหนดนโยบายต่างประเทศมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งมหาอำนาจประเทศเดียว รวมทั้งความเป็นโลกาภิวัตน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ในอาเซียนก็มีการกำหนดท่าทีใหม่ มีการรับสมาชิกใหม่ คือ พม่า (1997), กัมพูชา (1999) แม้ทั้งสองประเทศจะยังไม่พร้อมก็ตาม มีการพัฒนาองค์การภายใน มีการวางกรอบความร่วมมือที่แตกย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังวิกฤติการเงิน (1997) นำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยไม่ต้องพึ่งองค์กรต่างๆ หากมีปัญหาด้านการเงิน รวมทั้งการขยายกรอบไปเป็นอาเซียน+3 (เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น)

ส่วนในประเทศไทย ทศวรรษ 1990 มีความเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองภายใน ยุคของเปรมจบลง พลเอกชาติชายเข้ามาพร้อมความคิดใหม่เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มีการจัดตั้งกลุ่มบ้านพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มหัวกะทิในการทำวิสัยทัศน์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องพึ่งข้าราชการประจำของกระทรวงต่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีลักษณะยึดติดและเป็นอนุรักษ์นิยม

ชาติชายได้เสนอนโยบายใหม่ที่เปลี่ยนจากเน้นเรื่องความมั่นคงไปเป็นด้านเศรษฐกิจ คือนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่นโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อตัวแสดงเก่าๆ โดยเฉพาะทหาร ที่ไม่เหลือบทบาทให้เล่นอีกต่อไป เรื่องนโยบายต่างประเทศจึงน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่รัฐประหาร 2534

หลังยุคชาติชาย ไทยยังมีบทบาทในการตั้ง AFTA (1992) หรือ ARF (1994) ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูเรื่องความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งการเสนอนโยบายเรื่องพม่า Constructive engagement policy คือการเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองในพม่า วิพากษ์วิจารณ์การเมืองพม่าได้ โดยในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่มี สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชนกลุ่มน้อย ที่ถูกรัฐบาลพม่าผลักดันให้อพยพเข้ามาในไทย แต่เรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนผิดหวังกับคุณสุรินทร์ เมื่อมาเป็นเลขาธิการของอาเซียน แต่ไม่ได้ผลักดันเรื่องพม่าเลย

ในช่วงนี้สหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มาก แต่ไปทุ่มให้ประเทศในตะวันออกกลาง โดยไม่เคยส่งผู้นำระดับสูงมาประชุมในภูมิภาคนี้เลยเป็นเวลาหลายปี ขณะเดียวกันบทบาทของจีนเพิ่มขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร ซึ่งปัจจัยนี้เองก็กลับทำให้สหรัฐฯ กลับมาในภูมิภาคนี้อีกครั้งในช่วงโอบามา รวมทั้งอินเดียเองก็เติบโตขึ้น จากนโยบายมองตะวันออก (Look East 1991)

จนหลังศตวรรษใหม่ บริบทของเหตุการณ์ 9/11 และสงครามการก่อการร้าย สหรัฐฯ กลับมาพร้อมการช่วยเหลือทางทหาร มีการจัดการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐในไทย (cobra gold) ซึ่งทำให้ไทยได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐด้านการทหาร และต่อสู้กับภัยจากการก่อการร้าย แม้จะเกิดรัฐประหารในไทย และสหรัฐจะงดความร่วมมือต่างๆ หลายด้านหลังรัฐประหาร แต่ก็ยังมีการซ้อมรบร่วมอยู่ ส่วนจีนได้เสนอความร่วมมือด้านการทหารด้วย แม้จะเล็กกว่า รวมทั้งการลงนาม FTA ในปี 2003 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่จีนและอินเดียลงนามด้วยภูมิภาคนี้

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ได้หันมาเน้นความสัมพันธ์ด้านธุรกิจ กลายเป็นการทูตเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับด้านความมั่นคงน้อยลง นั่นเท่ากับบทบาทของกองทัพที่มีต่อนโยบายต่างประเทศน้อยลงเช่นกัน ในช่วงนี้ ทักษิณทำในสิ่งที่ผู้นำไทยไม่เคยทำ การคิดนโยบายใหม่ๆ เช่น การเสนอ ACD รวมประเทศในเอเชียมาไว้ด้วยกัน โดยไทยมีศูนย์กลางสำคัญ แต่ไม่สำเร็จ, จัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS หรือยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างลุ่มน้ำอิรวดี แม่โขง และเจ้าพระยา ที่ไทยเข้าไปให้ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ให้เงินกู้ หรือให้ความช่วยเหลือโครงการต่างๆ

และนโยบายต่างประเทศยังสอดคล้องกับนโยบายประชานิยมในประเทศด้วย โดยการอ้างเรื่องการเปิดตลาดให้กับสินค้า OTOP คือยิงนกนัดเดียวได้นกสองตัว ได้ทั้งในแง่พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และเสริมผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นด้วย แต่ก็มีความเป็นชาตินิยมมากๆ เช่น เรื่องการประกาศเอกราชเมื่อสามารถคืนหนี้ให้กับ IMF

ปวินกล่าวต่อถึงบทบาทของกระทรวงต่างประเทศ ว่าถูกท้าทายมาตลอดเวลาในช่วงที่รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลมองข้ามกระทรวงไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีสิทธิ์จะทำนโยบายเอง ข้าราชการประจำต่างหากที่ต้องทำนโยบายเสริมรัฐบาล แต่ความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยกระทรวงก็มีการเมืองภายใน และมีลักษณะความเป็นเจ้าขุนมูลนายมานาน ทำให้ปฏิเสธจะเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในบางเรื่อง รวมทั้งปัญหาการกำหนดนโยบายโดยไม่เข้าใจความเป็นจริงที่อยู่ในท้องถิ่น ไปจนถึงภายใต้ความแตกแยกทางการเมืองแบบนี้ ยิ่งสร้างความแตกแยกภายในระหว่างกลุ่มที่ฝักฝ่ายกลุ่มสีต่างๆ และไม่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนั้น ความขัดแย้งภายในประเทศยังนำไปสู่ Linkage Politic คือความเกี่ยวโยงระหว่างการเมืองภายในกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยใช้การเมืองระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำลายคู่ต่อสู้หรือสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองในการเมืองภายใน เช่น การยกเลิกนโยบายต่างประเทศสมัยทักษิณทั้งหมดหลังรัฐประหาร หรือประเด็นเขาพระวิหาร นโยบายต่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การเมืองภายใน และกำจัดศัตรู, ปฏิเสธการเข้ามาตั้งของ NASA

ปวินทิ้งท้ายว่าในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้ ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีนโยบายต่างประเทศหรือไม่ ด้วยทั้งยังไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ เลย และขาดความสนใจในนโยบายต่างประเทศ อาจเนื่องเพราะปัญหาการเมืองภายในเอง นอกจากนั้นยังทำให้กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทกลับขึ้นมาได้ โดยรัฐบาลหันกลับมาฟังกระทรวงมากขึ้น ทำให้นโยบายอนุรักษ์นิยมกลับมามีอิทธิพลต่อนโยบายต่างประเทศมากขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเลื่อนสอบพธม.กรณีปิดสนามบินไป 2 ธ.ค.

$
0
0
ศาลเลื่อนสอบคำให้การ พธม. ปิดสนามบิน 2 ธ.ค.นี้ กำชับ พธม.ห้ามปลุกระดมประชาชน ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ขณะที่ "จำลอง" นัดถก พธม.พรุ่งนี้ ด้าน "ตุลย์" ยันร่วมชุมนุม แต่ไม่ผิดเงื่่อนไข

 
เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29  ก.ค. 2556 ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมปิดสนามบิน รวม 8 สำนวน คดีหมายเลขดำที่ อ.973/2556, อ.1067/2556, อ.1204/2556, อ.1279 /2556, อ.1316/2556, อ.1406/2556, อ.1522/2556 และ อ.1559/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ พธม. กับพวก รวม 96 คน
 
ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกัน มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย, ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 กรณีร่วมกับแกนนำพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุม ปิดล้อมท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.2551
 
โดยวันนี้ พล.ต.จำลอง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก จำนวน 93 คน เดินทางมาศาล ขณะที่จำเลยไม่มาศาล จำนวน 3 คน และยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณา ประกอบด้วย นายปราโมทย์ หอยมุกข์ ระบุประสบเหตุลื่นล้มในห้องน้ำเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา, นายคงกฤษณ์ คงสัมพันธ์ ต้องเก็บอัฐิบุตรชายที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา และนางลักขณา ดิษยะศริน สาเหตุเนื่องจากได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์ ให้เดินทางไปร่วมงานบุตรรับปริญญาบัตร ประเทศสหรัฐอเมริกา จนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 3 คนติดภารกิจส่วนตัว ไม่มีเหตุจงใจหลบหนีหรือไม่มาศาล ขณะที่จำเลยบางคนยังไม่ได้แต่งตั้งทนายความ ประกอบกับคดีมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยจำเลยประสงค์จะแต่งตั้งทนายความเอง ดังนั้น เมื่อยังไม่มีทนายความจึงไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ ศาลจึงอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดีตรวจพยานหลักฐานและสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 2 ธ.ค. เวลา 09.30 น. และกำชับให้จำเลยที่ยังไม่มีทนายความแต่งตั้งทนายความให้เสร็จ เนื่องจากคดีนี้เลื่อนมาเป็นเวลา 2 ครั้งแล้ว 
 
ส่วนที่อัยการโจทก์ได้แถลงขอรวมคดีทั้ง 8 สำนวน เข้าเป็นคดีเดียวกัน เนื่องจากพยานหลักฐานเป็นชุดเดียวกัน และจำเลยในคดีนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งศาลได้สอบถามทนายจำเลยแล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้รวมเป็นคดีเดียวกัน โดยให้ยึดสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อ.973 /2556 ที่มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เป็นหลัก
 
ขณะที่ศาลได้กำชับจำเลยทั้ง 96 คน ไม่ให้กระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความวุ่นวายทางบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลตามเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้
 
ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน ศาลได้เรียก นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จำเลยร่วมในคดีนี้มาสอบถามถึงพฤติกรรมและข้อเท็จจริง กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อปิดล้อมไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพิธีภายในกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่า อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเคลื่อนไหวดังกล่าวจริง ศาลจึงแจ้งว่าการที่ศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งสองได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างที่พิจารณาคดี ศาลต้องพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่ปรากฏไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 คือ ภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการปล่อยชั่วคราวนั้นมีหรือไม่เพียงใด ซึ่งในคดีนี้ เมื่อศาลได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งคดี รวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ตามมาตราดังกล่าวแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสอง ได้รับการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากศาลตั้งการให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว อันเป็นสิทธิของจำเลยในกระบวนการยุติธรรม
 
นอกจากนี้ ศาลยังเชื่อถือจำเลยทั้งสองว่าจะไม่หลบหนี ไม่ยุ่งกับพยานหลักฐานหรือไม่ก่อเหตุอันตราย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฐานความผิดที่จำเลยทั้งสองถูกฟ้องในคดีนี้เป็นฐานความผิดร้ายแรง และมีอัตราโทษสูง ศาลจึงต้องกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง
 
ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า วันนี้ศาลได้เรียกสอบถามพฤติกรรมตนเอง กรณีที่ไปชุมนุมปิดล้อมที่กระทรวงกลาโหม ในเรื่องนี้ศาลได้เคยมีเงื่อนไขกับตนไว้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง จึงห้ามตนไปกระทำการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ซึ่งศาลก็ได้เตือนให้เคร่งครัดในเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว และไม่ให้ตนกระทำการในลักษณะเช่นนี้อีก ส่วนเรื่องการชุมนุมในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ตนจะต้องไปปรึกษานักกฎหมายและทนายความความว่าจะสามารถเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพ โดยที่ไม่ขัดเงื่อนไขของศาลได้หรือไม่
 
พร้อมกันนี้ นายไชยวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในวันที่มีการชุมนุม ตนได้เตือนมวลชนให้ชุมนุมอยู่ที่บริเวณภายนอกกระทรวง กลาโหม และชุมนุมภายในใต้กฎหมายกำหนด ขณะที่ตนมองว่า คำสั่งของศาลในวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานให้กับจำเลยในคดีปิดสนามบินรายอื่นๆ ว่าต่อไปจะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างไรบ้าง
 
ส่วน พล.ต.จำลอง แกนนำ พธม. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ จะเรียกประชุมแกนนำ พธม. เพื่อหารือและกำหนดท่าทีในการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง ที่อาจจะมีผลต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเวลา 10. 00 น. ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ จะเข้าร่วมด้วยในวันที่ 4 สค.นี้หรือไม่ ขึ้นอยู่การประชุมในวันพรุ่งนี้ ว่าจะมีมติเป็นอย่างไร
 
ขณะเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กล่าวว่า ในวันที่ 4 ส.ค.นี้ กลุ่มเสื้อหลากสีจะไปร่วมชุมนุมอย่างแน่นอน แต่จะไม่ทำอะไรที่จะผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล.
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โสภณ พรโชคชัย: ไฮไลท์อสังหาริมทรัพย์นานาชาติ

$
0
0

วันนี้ขอฉายภาพหลายกรณีศึกษาอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่พึงศึกษาไว้ เพื่อพัฒนาประเทศชาติของเราเอง ตั้งแต่ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาล่าสุด การล่มสลายของนครดีทรอยท์ การพัฒนาปากแม่น้ำสิงคโปร์ให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และท่าเรือน้ำลึกมาเลเซียที่มุ่งแข่งกับสิงคโปร์

ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา

ราคาที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นเดือนล่าสุดที่สำรวจ เพิ่มขึ้น 0.7% และเดือนเมษายน ก็เพิ่มขึ้น 0.5%  ทั้งนี้ราคาบ้านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 15 เดือนติดต่อกันแล้ว  แสดงชัดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว ซึ่งมีปัจจัยมาจากเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว จึงมีกำลังซื้อบ้านกลับเข้ามาใหม่ จนดันราคาบ้านเพิ่มขึ้น

อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พฤษภาคม 2555-2556 ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาบ้านในกรุงเทพมหานครที่ประมาณ 5% เสียอีก  อย่างไรก็ตามราคาบ้าน ณ เดือนเมษายน 2556 หรือเดือนล่าสุดนี้ ยังต่ำกว่าราคาที่เคยขึ้นสูงสุด ณ เดือนเมษายน 2550 อยู่ประมาณ 11.2%  ราคาบ้านล่าสุดนี้เท่ากับราคาบ้านเมื่อเดือนมกราคม 2548 หรือ 27 เดือนก่อนที่ราคาบ้านจะขึ้นสูงสุดและดิ่งเหวลงมา

การตกต่ำของราคาบ้านในสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ที่ราคาบ้านสูงสุด จนถึงเดือนมีนาคม 2554 เป็นเวลารวมกันถึงเกือบ 4 ปี (46 เดือน) นับแต่เดือนพฤษภาคม 2550 แล้ว ราคาบ้านก็ทรง ๆ ต่อมาจนถึงเดือนมกราคม 2555 เป็นเวลา 7 เดือน และหลังจากนั้น ราคาบ้านก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นจนถึงเดือนพฤษภาคม2556 ที่สำรวจล่าสุด

โดยที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัว ก็น่าจะส่งผลดีต่อโลก ทำให้มีกำลังในการซื้อสินค้าและบริการจากทั่วโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย  คาดว่าประเทศไทยจะได้รับผลดีตามไปด้วยในอนาคต และประเทศไทยควรรณรงค์เชิญชวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศให้มากขึ้น

 

การล้มละลายของนครดีทรอยต์

ไม่กี่วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ลงข่าวกันพอสมควรถึงการล้มละลายของนครดีทรอยต์ที่เคยเป็นมหานครใหญ่อันดับหนึ่งในห้าของสหรัฐอเมริกาที่เป็นศูนย์รวมผลิตรถยนต์ของประเทศ  แต่ขณะนี้ ตกต่ำอย่างหนักจนนครแห่งนี้มีหนี้ท่วมถึง 450,000 ล้านบาท บริการสาธารณะต่าง ๆ ก็ต้องปิดไป หรือไม่ก็มีบริการที่ไม่เพียงพอ  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ด้อยลงอย่างมาก  เดือนหน้าผมจะไปถ่ายรูปมาให้ดูครับ เพราะผมมีคิวไปบรรยายในนครใกล้ ๆ

นครแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2353 หรือ 202 ปีก่อน มีอายุน้อยกว่ากรุงเทพมหานครเล็กน้อย ปีที่มีประชากรสูงสุดคือปี พ.ศ.2503 โดยในเขตนครมีประชากรถึง 1,670,144 คน ณ ขนาดเมืองที่ 359 ตารางกิโลเมตร แต่ลดลงเหลือเพียง 713,777 คนในการสัมโนล่าสุด พ.ศ.2553 และล่าสุดเหลือประมาณ 700,000 คน เท่านั้น การที่ประชากรลดก็เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ย่ำแย่ลง คนจึงย้ายออก  อย่างไรก็ตามในภูมิภาคมหานครและปริมณฑล ประชากรกลับพอ ๆ กันเมื่อเทียบกับ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แสดงว่าประชากรย้ายออกชานเมือง ซึ่งยิ่งทำให้เมืองมีปัญหาในทุกวันนี้ ด้วยสาธารณูปโภคไม่สามารถขยายตัวได้ทั่วถึงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

กรุงเทพมหานครที่เคยได้ชื่อว่าเป็น "ดีทรอยต์แห่งเอเซีย" ก็ต้องสำเหนียกไว้เช่นกัน เพราะหากประเทศเพื่อนบ้านเติบใหญ่  ท่าเรือหลักอยู่ที่โฮชิมินห์ซิตี้ สิงคโปร์และทะวาย  ประเทศต่าง ๆ บินติดต่อกันเองโดยไม่พึ่งพิงกรุงเทพมหานครเป็นตัวเชื่อม  โรงงานหลักๆ ย้ายออกไปตั้งอยู่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์  ประกอบกับความไม่สงบภายในประเทศ ก็อาจทำให้กรุงเทพมหานครของเราหงอยไปถนัดตาก็ได้  หวังว่าฝันนี้จะไม่เป็นจริง

 

ท่าเรือน้ำลึกจาฮอร์

พอดีเร็ว ๆ นี้ผมมีคิวไปบรรยายในการสัมมนานานาชาติด้านที่อยู่อาศัย ที่รัฐจาฮอร์ มาเลเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษชื่อ Iskandar Malaysia หรือชื่อเดิมว่า Iskandar Region ซึ่งเพิ่งพัฒนาเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมานี้เอง เพราะมาเลเซียต้องการแข่งขันด้านการท่าเรือแข่งกับสิงคโปร์ โดยมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ชื่อ Iskandar Regional Development Authority เป็นผู้ดำเนินการพัฒนา

ขนาดของเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ใหญ่ถึง 2,217 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่นี้มีการก่อสร้างศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองขึ้นมาใหม่ มีเขตที่อยู่อาศัย เขตอุตสาหกรรม เขตท่าเรือน้ำลึก โดยมุ่งหวังให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์สุขภาพของโลก เพราะมีโรงพยาบาลดี ๆ เป็นเมืองการศึกษาโดยให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดตั้งในพื้นที่นี้  ที่พิเศษและน่าสนใจยิ่งก็คือในพื้นที่พิเศษนี้ชาวสิงคโปร์ สามารถเข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตใด ๆ ถือว่าเป็นประชากรของพื้นทื่นี้เพื่อจูงใจให้ความเจริญไหลมาที่มาเลเซียบ้าง

มาเลเซียลงทุนเต็มที่ ชวนบริษัทเดินเรืออันดับหนึ่งให้ทิ้งสิงคโปร์มาใช้ที่นี่ จูงใจประชาชน ทำให้ชาวสิงคโปร์มาซื้อบ้านในที่นี้เป็นบ้านหลังที่สอง และต้อนรับนักลงทุนจากทุกชาติ มีการเดินสายแนะนำโครงการโดยตลอด  ข้างฝ่ายสิงคโปร์ก็รุกรับกันน่าดู  จนขณะนี้สิงคโปร์ก็เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาโครงการนี้แล้ว  นึกแล้วทำให้ท้อใจเพราะในกรณีประเทศไทย การคิดนอกกรอบและคิดการใหญ่เช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้น  แล้วต่อไปไทยก็คงแข่งกับชาติอื่นได้ยาก

 

อ่างเก็บน้ำจืดปากแม่น้ำสิงคโปร์

ในที่นี้หมายถึง the Marina Reservoir ซึ่งเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำสิงคโปร์ เริ่มดำเนินการในวันที่ 30 ตุลาคม 2551 และเริ่มเปลี่ยนเป็นน้ำจืดในวันที่ 20 พฤศจิกายน2553  พื้นที่แห่งนี้สามารถเก็บน้ำไว้ผลิตประปาให้ใช้ได้ประมาณ 10% ของความต้องการใช้น้ำในสิงคโปร์  การที่สิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งตนเองเรื่องน้ำเพราะที่ผ่านมาซื้อน้ำมาจากมาเลเซีย ทำให้ต้องขึ้นต่อมาเลเซียเป็นอย่างมาก

ลองนึกถึงประเทศไทย หากปิดแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นปากอ่าวไทยเพื่อเก็บเป็นน้ำจืด คงแทบนึกไม่ออก เพราะในความเป็นจริง ประเทศไทยไม่ขาดแคลนน้ำจืด  แต่ในอีกแง่หนึ่งสิงคโปร์สามารถจัดการไม่ให้ชาวบ้าน โรงงานหรือใครก็ตามปล่อยน้ำเสียลงไปในแม่น้ำอย่างเด็ดขาด จึงทำให้สามารถกั้นปากอ่าวให้กลายเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์  นี่คือความยิ่งใหญ่ของผู้บริหารผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลบนเกาะกะจิดริดอย่างสิงคโปร์ที่ไทยพึงเรียนรู้

ทุกวันนี้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำดังกล่าวยังใช้เล่นกีฬาพายเรือ แต่ไม่อนุญาตให้ว่ายน้ำ เพราะจะเก็บน้ำไว้ทำประปา  แต่แม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครนั้น สกปรกลงทุกวัน ใช้เพื่อการขนส่งสินค้าและระบายน้ำเสียจากในเมืองเป็นสำคัญ  นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าไทยควรพัฒนาไปกว่านี้

อย่าลืมเอาเยี่ยงกา แต่ใช้ต้องเอาอย่างกาไปเสียทุกอย่าง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘อุทัย’ วอนถอน กม.นิรโทษฯ เลี่ยงปะทะ ขอผู้มีอำนาจเร่งช่วยเหลือง-แดงพ้นคุก

$
0
0

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก วอนให้ถอนร่างกฎหมายปรองดอง-นิรโทษกรรม หวั่นคนไทยปะทะกัน ขอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเร่งช่วยทั้งพันธมิตรฯ และ นปช.ออกจากคุก

30 ก.ค.56 มติชนออนไลน์รายงานว่า วันนี้นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่องความปรองดองแห่งชาติส่งถึงประชาชน ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ มีใจความโดยสรุปว่า

ในฐานะทำงานการเมืองมานาน มีความห่วงใยกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันอย่างยิ่งที่ประชาชนและผู้มีอำนาจทั้งหลายในแผ่นดิน กำลังสับสนในเรื่องของความสามัคคี เสนอกฎหมายในลักษณะ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ความผิดทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน

ผมเห็นว่าแทนที่จะก่อให้เกิดความปรองดอง หรือความสามัคคีของคนในชาติ กลับจะทำให้ความแตกแยกขยายวงความรุนแรง จนอาจเกิดความไม่สงบที่ยากจะเยียวยาได้ ซึ่งเริ่มตั้งเค้าต่อต้านการเสนอกฎหมายทั้ง 2 รูปแบบ หากพิจารณาให้ดีและมองเรื่องนี้อย่างไตร่ตรองแล้ว จะเห็นว่าเรื่องที่เสนอนี้ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมองว่าสังคมปัจจุบันเป็นปกติอยู่แล้ว

นายอุทัยกล่าวว่า มีความจำเป็นใดที่จะเสนอ พ.ร.บ.ทั้ง 2 เรื่องให้เกิดเรื่องขึ้นมา ได้โปรดอย่าทำได้ไหม ถอนญัตติทั้ง 2 รูปแบบออกจากสภาฯ เสีย ถ้าเห็นแก่ความสามัคคีปรองดองอย่างจริงใจ แต่ยอมรับว่ายังมีคนประมาณ 200-300 คน ถูกจับกุมคุมขัง ถูกดำเนินคดีในศาล บางส่วนเดือดร้อนอยู่ คนเหล่านี้รักชาติ ไม่ว่าจะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนไม่เกิน 300 คนนี้ต่างหาก ที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะดำเนินการอย่างไรกับเขาให้จบๆ โดยไม่ต้องเอาคนทั้งประเทศมาตั้งขบวนปะทะกัน ดังนั้นควรรีบเร่งพิจารณาโดยด่วน

กระบวนการยุติธรรมต้องอย่าเช้าชามเย็นชาม เอาคดีเหล่านี้มาเป็นคดีสำคัญของสังคม เมื่อเขาขอประกันก็ควรใช้ดุลยพินิจให้ประกันทันที โดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์

อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร หากผิดกฎหมายก็ว่าไปตามความเหมาะสมของโทษและการกระทำ อย่างนี้บ้านเมืองจึงจะได้ชื่อว่ามีขื่อมีแปและการเมืองภาคประชาชนก็จะเข้มแข็ง ความแตกแยกที่ตั้งเค้าอยู่จะได้สลายไป อย่าทำแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าเลย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมวาทะ 108 เหตุผล ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง?

$
0
0

วันที่ 26 ก.ค. 2556 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) จัดเสวนาหัวข้อ 108 เหตุผลทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน ซึ่งมีผู้ร่วมให้เหตุผลไว้ ดังนี้

ชาญวิทย์ เกษตรศิริศาสตราจารย์ประจำและอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ที่เรามารวมตัวกันที่นี้ เพื่อบอกว่า นักโทษการเมือง จะต้องหมดไปจากประเทศไทยด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขณะเดียวกัน การนิรโทษกรรมในปี 2556 ต้องไม่ใช่การนิรโทษกรรมเช่นใน เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เป็นการนิรโทษกรรมแบบ "เหมาเข่ง" ที่ผู้ก่อความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราชัดเจนว่า ตราบใดที่ผู้กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ ก็จะมีความุรนแรงตามมา อย่าให้ประวัติศาสตร์สอนเราว่า เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาตร์ต่อไปอีกเลย"

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“การนิรโทษกรรมในอดีตที่ผ่านมา 81 ปี ของประชาธิปไตยไทย เป็นการนิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน เป็นการนิรโทษกรรมในการทำร้ายประชาชน”

“การนิรโทษกรรมนั้นเป็นสถานปนาความยั่งยืนของประชาธิปไตย จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่แตกแยกกลับมาสร้างความเป็นพลเมืองเป็นพลเมืองที่รอบรู้และเท่าทันเพราะเราไม่สามารรถจะตัดสินใจหรือตัดสินได้ว่าจะเกิดรัฐประหารหรือเปล่า หรือเกิดความวุ่นวายทางกรเมืองหรือเปล่า สิ่งที่ขยายไปทางอีสานและภาคเหนือ พบว่าความเสียหายต่อพวกเราที่เกิดขึ้นจากความเสียสละ การนิรโทษกรรมนี้ต้องยืนหยัดปกป้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิในการชุมนุม สิทธิในการแสดงความเห็น อารยะขัดขืนต่อความฉ้อฉลทางการเมือง สิ่งนี้สำคัญต้องยืนหยัดในการเคลื่อนไหว ไม่ให้บุคคลที่แปลกปลอมทางการเมืองเข้ามาครอบงำ”

“สิ่งที่เป็นปัญหาในระบบของการร่างกฎหมายคือรัฐสภา ร่างฯ ของภาคประชาชนเข้าสู่สภาแต่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับไหนประสบความสำเร็จเลย ไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน ประกันสังคม ….”

“มีแต่พวกเราเท่านั้นภาคประชาชนทีได้รับผลกระทบทุกสีทุกกลุ่มต้องผนึกกำลังสังคมให้นิรโทษกรรมเป็นกฎหมายภาคประชาชน และทำให้การเมืองตะหนักว่าการเมืองมวลชนตื่นตัวรู้เท่าทันในการเรียกร้องสิทธิที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างแท้จริง”

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“หนังเรื่อง only god forgives แปล่าวมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ให้อภัย แปลว่ามนุษย์ไม่ ในหนังก็พูดแบบเดียวกัน ประเด็นของมันก็คือว่าในที่สุดแล้วคนซึ่งอย่าจะแก้แค้นก็ไม่ยอมให้อภัย ไม่ยอมคิดถึงเรื่องของการนิรโทษกรรม 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกันแต่ก็พันกันอยู่ ดังนั้นในหนังก็เลยอธิบายว่าในสังคมนี้ก็ไม่สามารถจัดการความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ยกเว้นต้องใช้ความรุนแรงด้วยกันเอง ดังนั้นมีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่จะให้อภัยได้”

“ทำไมการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในสังคมไทยจึงยาก ในสังคมไทยถ้ามองไป ผมคิดว่าถ้าดูจากพุทธประวัติ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าเทวทัต ที่สัมพันธ์กับพุทธองค์นี่ ในที่สุดแล้วทั้ง 2 ซึ่งเคยขอยกกรรมซึ่งเคยทำไว้ แม้แต่พระพทธองค์ก็ไม่สามารถที่จะยกกรรมที่พวกเขาทำไว้ได้ ในระบบของจักรวาลวิทยาแบบพุทธนี่การยกโทษจากกรรมการนิรโทษจากกรรมคงทำได้ยากกว่าในศาสนาอื่น”

นิรโทษกรรมในภาษาฝรั่งใช้คำว่า “Amnesty” คำนี้เป็นญาติกับอีกคำหนึ่ง คำนั้นคือคำว่า “Amnesia” แปลว่าความหลงลืม ปัญหาอยู่ที่ว่าในสังคมต่างๆ ซึ่งถ้าจะคิดเรื่อการนิรโทษกรรมแล้วมันพันกับความหลงลืม บางที่กลายเป็นว่าจะต้อลืมบางอย่าง คำถามที่น่าสนใจในทางสังคมศาสตร์ก็คือว่า ความทรงจำเป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้ก็คงจะเห็นว่าประเด็นเรื่องความทรงจำมันเปลี่ยนไป หลายสำนักคิดก็พูดว่าจริงๆการหลงลืมก็สำคัญพอกัน ดังนั้นการหลงลืมเป็นฐานของสังคมการเมืองได้ไหม ก็ได้นะครับ”

“เวลาเราคิดเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เรากำลังพูดถึง ความแตกต่างในสังคม เรากำลังพูดถึงการจัดการคามแตกต่างในสังคม เรากำลังพูดถึงสังคมนี้ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการใช้ความรุนแรงจัดการกับความแตกต่างในสังคมการเมือง กับความคิดความอ่านทั้งหลาย พอทำไปแล้วปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วจะอยู่ต่อไปอย่างไร ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งในชีวิตของทมนุษย์คือว่าเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต สิ่งที่ตามมาก็คือมันแก้ไม่ได้ ชีวิตของคุณทั้งกลายที่เดินผ่านมาในอดีตมันกลับไปเปลี่ยนไม่ได้แล้ว คำถามเลยกลายเป็นว่าถ้ามันเปลี่ยนไม่ได้แล้วจะอยู่กับมันอย่างไร ด้วยเหตุนี้การคิดเรื่องการนิรโทษกรรม การคิดเรื่องการให้อภัย การคิดเรื่องวิธีการจัดการกับอดีตเลยกลายเป็นเรื่องสำคัญในทางสังคมการเมือง”

“สังคมนี้ปล่อยให้มีโรคภัยบางอย่าง โรคภัยนี้คือการบอกว่าถ้าเราคิดต่างกันทางการเมืองคนนั้นเป็นอันตราย เราเชื่ออย่างนี้กันมาตลอด โรคภัยนี้นำมาสู่การจัดการคนซึ่งคิดต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะด้วยใช้ยี่ห้ออะไร แล้วในที่สุดจะกลายเป็นต้องปราบ จับกุม ทำร้าย ความทุกข์ทรมานก็เต็มไป ทางออกก็คือเราสงสัยต้องหาวิธีดิ้นให้หลุดจากกับดักทางประวัติศาสตร์ กับดักที่เราไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเรา ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยต้องคิดถึงว่าในประเทศนี้มีความเห็นต่างจริงๆ แล้วมันอาจจะต้องคิดต่อไปว่าสิ่งซึ่งเราคิดว่าเป็นความเห็นทางการเมืองแท้จริงเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน”

จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย

“การนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนจำนวนมากในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นและเกิดขึ้นโดยง่ายก็เป็นการนิรโทษผู้ที่ทำรัฐประหาร นิรโทษตัวเอง นอกจากนั้นก็เป็นการนิรโทษผู้มีอำนาจด้วยกันเอง เช่นผู้ก่อกบฏและผู้ปราบได้ ไม่อยากให้ทะเลาะกันต่อไปก็นิรโทษกรรมกันไปเสีย เป็นการนิรโทษคนระดับสูงในสังคม ส่วนการนิรโทษที่นานๆ จะมีครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยและเกิดขึ้นได้ยากมากก็คิดการนิรโทษประชาชน ผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ผู้ที่เป็นจำเลยหรือผู้ที่ถูกคุมจังทางการเมือง”

“การนิรโทษกรรมเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ ไม่ใช่ประชาชนกับรัฐบาล การปล่อยสภาพที่เป็นอยู่มันทำให้คนเผชิญหน้ากับรัฐ และความไม่เท่าเทียมกันมันก่อให้เกิดความโกรธแค้นต่อกันและกัน ไม่เท่าเทียมในการใช้กฎหมาย”

“การนิรโทษเป็นการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรมแบบรวดเร็ว เนื่องจากเขาไม่มีฐานจากการต้องการใช้ความรุนแรงมาแต่ต้นอยู่แล้วด้วย”

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มหาวิทยาลัยแห่งชาติ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกียวโต

“ปรองดองกันไม่ได้เมื่อความจริงยังไม่จบ เราทิ้งไว้ข้างหลังแล้วไม่หันกลับไปดู คุณพูดได้เพราะเขามีญาติผู้เสียชีวิต เขาลืมไม่ลง ความจริงต้องปรากฏก่อนที่เราจะเกินไหน้าไปข้างหน้า ดังนั้นตองมีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และนักโทษการเมืองต้องได้รับการพิจาณาคดีอย่างเป็นธรรม “

“ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมชิกของประชาคมโลกก็มีพันธกรณีในการกป้องสิทธิมนุษยชนของตัวเอง ในอาเซียนมีสามประเทศที่เดินหน้าในเรื่องนี้อย่างมาก (อินโดนีเซีย, พม่า, กัมพูชา) ไทยก็ควรต้องแสดงให้เห็นว่าไทยปกป้องงสิทธิมนุษยชน อาเซียนเองก็มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และมีการพูดคุยกัยฝ่ายไทยขอให้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ไทยเองก็ได้รับแรงกดดดันจากประเทศอื่นเช่นสหภาพยุโรป เมื่อไหร่ที่มีการเจรจาก็จถถูกหยิบยกมาถกเสมอ เราจะเลื่อนการตัดสินใจเรื่องนี้ได้นานแค่ไหน”

“ตอนนี้มู้ดทั้งหมดของคนทั่วไปอยู่ที่คนที่ถูกจับกุมจากการสลายการชุมนุม แต่คนที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันคือ 112 ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองแบบหนึ่งและสะท้อนให้เห็นความผิดปกติของสังคมไทยเป็นอย่างมาก ที่ใช้มาตรานี้อย่างพร่ำเพรื่อ มากมาก ใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ใช้ปิดกปากคนทื่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันทางด้านการเมือง นอกจากนี้คนที่ถูกจับกุมไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายที่อมนุษยธรรมมาก นี่เป็นประเทศที่บอกว่ารักสถาบันกษัตริย์ แต่มีกฎหมายที่โหดร้ายรุนแรงมากๆ และผมอายมากๆ ที่เป็นพลเมืองจากประเทศไทยที่ยังพูดอยู่ลอดเวลาว่าเราเป็นประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เนื้อแท้ไม่ใช่”

อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ เจ้าของ รางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63

“ผมพูดในฐานะคนสร้างภาพที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีกิจกรรมหลักคือการสร้างภาพ และเป็นประเทศที่ตอแหลใส่กันจนสร้างความลำบากแก่กันอย่างมาก เมื่อไหร่ที่ไทยจะเลิกตอแหลใส่กัน”

“เราทุกคนตอแหลกันจนเป็นสันดาล และในการตอแหลของเราสร้างความลำบากให้พี่น้องประชาชนอีกมากมาย มันเหมือนน้ำที่หยดลงหิน สิ่งที่เราไม่อยากทำแต่เราต้องทำ จนทำให้สามัญสำนึกของเราสึกกร่อน นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอกว่าสิ่งสำคัญที่หายไปจากชีวิตเราก็คือสามัญสำนึก”

“เมื่อเรามาดูร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับต่างๆ ที่เราคุยกัน ผมคิดว่าทุกฉบับยังมีความไม่ชัดเจน หรือไม่ก็ปัดความเกี่ยวข้องกับนักโทษคดี 112 ไปเลย โดยระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับศาลจะตีความว่าเกี่ยวกับการขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ผมคิดว่าเราแสดงความขลาดและการเอาตัวรอดโดยหวังลมๆแล้งๆ ว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้ พวกคุณคิดหรือว่าเขาจะให้ความเป็นธรรมกับนักโทษ 112 แน่นอนสำหรับผมคดีนี้เป็นการเมืองยิ่งกว่าการเมืองอีก”

 “รัฐได้กระทำอาชญากรรมทางความคิดแก่ประชาชน ในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐได้ประโหมประโคมเยินยอภาพลักษณ์ขงสถาบันกษัตริย์จนล้นปรี่ จนทำให้ตรรกะต่างๆ มันวิบัติ แล้วคุณไม่คิดหรือในเวลา 50 ปี จะมีสักกลุ่มคนหนึ่ง ที่พยายามดึงให้ตรรกะเข้ารูปเข้ารอย หรือแม้จะถามคำถาม แต่สิ่บที่รัฐทำกับคนพวกนี้ ก็คือการอ้างว่าละเมิด ปิดปาก จับเข้าคุก นี่คือความเสื่อมในสำนึกของรัฐอย่างหนึ่ง”

“ผมอยากจะเห็นศาลที่เชิดชูการเห็นต่าง เราไม่จำเป็นต้องปรองดอง ตัวผมผมไม่อยากปรองดองกับใครเลย คือเราอยู่ด้วยกันได้ คุณมีสิทธิพูดเขียนทำหนัง จะเชิดชูฝักใฝ่พรรคการเมืองไหนคุณก็แสดงออกมาคุณต้องโชว์ออกมา แล้วเราไม่เห็นชอบร่วมกันก็ไม่ทำให้ชาติสลาย”

“ที่ผ่านมานักโทษการเมืองเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากนักโทษการมเองที่เป็นเจ้า สมัยกบฎบวรเดช จนถึงนักศึกษา จนเป็นนักเขียน นักคิด จนถึงขณะนี้นักโทษการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้าน ผู้ซึ่งสำนึกแล้วว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศที่แท้จริง”

“สังคมไทยมีอาการสามัญสำนึกเสื่อม เราอยู่ในประเทศไทยเหมือนตกนรก เราร่วมชะตากรรมและคนทั้งประเทศอยู่กับเรา ให้เราได้คิดว่าอะไรคือความเป็นไทย อะไรคือความเมตตาอย่างแท้จริง พรบ. นิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในการแก้ปมที่บรรพบุรุษและเราได้สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะบีบรัดกันและกัน เราต้องสร้างรัฐที่เคารพความเป็นคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเชื่อสิ่งใดก็ตาม และเมื่อนั้นเราจะได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง”

อภินันท์ บัวหภักดีนักเขียน-ช่างภาพ อนุสาร อสท. อดีตนักโทษการเมืองจาก ม.112 สมัย 6 ต.ค.19

“ในการทำสงครามสมัยก่อนถ้าแฟร์ๆกันจริงๆ หัวหน้าต่อหัวหน้าเขาก็มาสู้กัน เขาไม่ปล่อยให้ลูกน้องเป็นอะไร หวัหน้าต่อหัวหน้ามาฟันกันเลย เพราะฉะนั้นบรรดาหญ้าแพรกทั้งหลายปล่อยเขาไปเถอะครับ ช้างสารชนกันก็ให้ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็ปล่อยเขาไปเถอะครับ”

วาสนา มาบุษย์มารดาของนักโทษการเมือง นส.ปัทมา มูลมิล

“ตลอดสามปีไม่เคยได้รับความเป็นธรรม ไม่เคยได้รับการประกันตัว ศาลก็ไม่เคยไต่สวนว่าลูกสาวทำผิดอะไร ตำรวจ ก็จับตามสำนวน  อยากขอร้องผู้มีอำนาจให้ปล่อยลูกสาวดิฉันด้วย”

สุดา รังกุพันธ์อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะแกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลและกลุ่ม 29 ม.ค.หมื่นปลดปล่อย

“การนิรโทษกรรมไม่มีรายละเอียดมากมายที่เราจะต้องมาถกเถียง มีแค่หัวใจของคุณที่เป็นมนุษย์คนหนี่งก็พอแล้วค่ะ”

“ภาพของการจับกุมที่ใช้เจ้าหน้าที่ทหารแทนที่จะใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามภาวะปกติ เป็นต้นทางของความอยุติธรรมทั้งปวง เราคงไม่ต้องบอกว่าทำไมเราถึงเรียกร้องการนิรโทษกรรม เมื่อต้นทางมันไม่เคยเป็นธรรม”

“การปล่อยนักโทษการเมืองไม่เพียงแค่คืนความเป็นธรรมให้กับพวกเขา นักสู้ที่มีความปราถนาดีต่อประเทศชาติเท่านั้น แต่มันกำลังจะเป็นก้าวแรกของสังคมไทยที่จะสามารถร่วมมือกันได้ในทุกๆฝ่าย จะเป็นก้าวแรกของการปรองดองที่จะทำให้สังคมไทยกลับมาไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกครั้ง”

ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา

“มีเหตุผลอยู่ร้อยแปดพันเก้า แต่สุดท้ายแล้วประมวลได้เหตุผลเดียวเท่านั้นคือ ความอยุติธรรม ความอยุติธรรมปรากฏตั้งแต่เรื่องการนิรโทษกรรมในเมืองไทยที่หลายครั้งเป็นการนริโทษกรรมให้กับผู้ก่อรัฐประหาร เป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อความขัดแย้งกันเอง ผู้มีอำนาจกันเอง มันสะท้อนว่ามีชนชั้นคนที่ไม่เท่ากันในสังคม เมื่อไหร่ทีเป็นความขัดแย่งในหมู่ชนชั้นนำ ผู้มีอำนาจกันเองเขานิรโทษกรรมกันเองง่ายเหลือเกิน โดยเฉพาะการก่อรัฐประหารทีเป็นความผิดฐานกบฏ เป็นความผิดที่ลบล้างกันได้ แต่ถ้าคุณเกิดผิดชนชั้นการะทำการกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ตอบโต้ความอยุตธิรรมของรัฐ คุณถูกจับดำเนินความผิด การลบล้างนั้นยากเหลือเกิน”

“การดำรงอยู่ของกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างทีผ่านมาก็สะท้อนภาพสังคมคือความอยุติธรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐาน การกระทำใดๆ ที่จะได้รับนิรโทษกรรมนั้นขึ้นกับชนชั้น ความอยุตธิรรมประการที่สองที่สำคัญมาก คือกระบวนการยุติธรรม แต่ทุกวันนี้เราน่าจะพูดกันชัดๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมอันไม่เที่ยงธรรมซึ่งคือกระบวนกรรอยุติธรรม”

“ปัญหานักโทษการเมืองหรือการนิรโทษกรรมมีหลักง่ายๆ คือเมื่อไหร่มีนักโทษการเมือง ควรจะปล่อย เพราะในประเทศอารยะ ประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าอยากให้เชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ควรมีนักโทษการเมือง ถ้าหากรัฐบาลนี้ยอมรับหรือรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ยอมรับว่ามีนักโทษการเมืองก็ต้องปล่อย เพราประเทศที่ต้องการจะเป็นประชาธิปไตยไม่ต้องมีนักโทษการเมือง และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการลงโทษคนอันเนื่องมารจากเหตุผลทางการเมืองหรือคาวมคิดที่แตกต่างกัน ถ้าต้องการเป็นประเทศอารยะ ถ้าพยายามจะเป็นประชาธิปไตย คำตอบคือปล่อยทันที เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความผิด”

“ทำไมในต่างประเทศจึงสนใจคดี 112 มองเป็นเลนส์ในการมทองประเทศไทยเพราะต้องการดูว่าประเทศไทยจะสามารถลบล้างความป่าเถื่อนที่ดำรงอยู่ได้หรือเปล่า คุณอาจจะด่าว่าเขาไม่เข้าใจความเป็นไทย ผมคิดว่าเขาไม่สนใจ เขามองว่าประเทศไทยยังป่าเถื่อนอยู่”

“ถ้ากระบวนการยุติธรรมทีเป็นธรรมมีอยู่จริง เราไม่ต้องกลัว แต่เพราะกระบวนการมันไม่ยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมเชื่อถือไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นที่พึ่งกุญแจอยู่ตรงนี้ กระบวนการยติธรรมที่คนดำเนินไปและจัดการได้ แต่เราเห้นอยู่ว่กระบวนกรยติธรรมในประเทศไทยเป็นอย่างไร เอื้ออำนวยให้ผ็มีอำนาจ เอื้ออำนวยให้ชนชั้นหนึ่ง แม้แต่คนที่ตอบโต้กับการกระทำของรัฐที่ไม่ยุติธรรม ก็ยากเหลือเกินที่จะเคลียร์ความผิดให้คนเหล่านี้”

“ตุลาการของไทยยึดฝ่าย ยึดอำนาจ ยึดว่าตัวเองเป็นตุลาการของพระราชา แต่ต้องยึดหลักเดียวคือหลักยุติธรรม ความเที่ยงธรรม แต่กรณีที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง ตุลาการของไทยยึดหลักเข้าข้างอำนาจ นี่เป็นมาตลอดก่อนยุคเสื้อแดงหลายทศวรรษแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ ที่นานาชาติไม่เข้าใจคือการไม่ยอมให้ประกันตัว นี่เป็นเรื่องแสนสามัญ เรื่อวที่สุดแสนจะเบื้องต้น แต่การไม่ให้ประกันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดกับเสื้อแดง”

“คนเหล่านี้ไม่ควรอยู่ในคุกอยู่แล้ว ถ้าหากมองย้อนกลับมา การนิรโทษกรรมที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นคือการคืนสามัญสำนึกกลับสู่สภาวะที่ควรจะเป็น คือการคืนความยุติธรรม ไม่ใช่การลบล้างความผิดให้แก่ผู้ชุมนุม”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.อนุมัติหลักการเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน เห็นชอบร่าง พรบ.ปรับปรุงภาษีเงินได้

$
0
0

ครม.อนุมัติหลักการร่าง พรก.เว้นภาษีธุรกิจเฉพาะกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


30 ก.ค.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง) และเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมและให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ)

โดย ครม.พิจารณาตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะแก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี

สาระสำคัญของร่าง พรก.ดังกล่าว กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะเฉพาะการกู้ยืมของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยสาระสำคัญ คือ การปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ดังนี้

สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ ให้เสียภาษีเงินได้สุทธิ ร้อยละ 20 สำหรับคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้เสียภาษีจากเงินได้พึงประเมิน ร้อยละ 20 โดยกำหนดให้ มีผลใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมิน ประจำปีภาษี พ.ศ.2556 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2557 เป็นต้นไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลิ่มหลี: โลกเรานั้นล้วนเหยียดหยามกัน

$
0
0

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาสู่โลกของเสรีชน ที่เรียกตัวเองว่า ลิเบอรัล Liberal ก็เป็นครั้งแรกที่หลิ่มหลีได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า การเรียกร้องความเท่าเทียมหลายเรื่องราวที่หลิ่มหลีไม่ได้รู้ว่ามันมีอยู่...

ไล่นึกดู ... การเรียกร้องความเท่าเทียม มันก็ต้องเกิดเนื่องมาจากการเหยียดหยาม และคนที่ถูกเหยียดหยามก็ต้องยืนหยัดขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดกันทางเพศ การเมือง ศาสนา สีผิว หลากหลายการเหยียดหยาม ทำให้การเรียกร้องมีความหลากหลาย มีกลุ่มต่างๆ มากมายที่มาจากเหล่าคนที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิ่งเหล่านี้

จากโลกที่สวยใสก็ได้รับรู้ว่า ในโลกสวยๆ ใบนี้ หลิ่มหลีก็ได้เห็นมุมมืดมากมายที่มาจากจิตใจของคนในการดูถูกเหยียดหยามกัน

จริงๆ แล้วโลกของสลิ่มอย่างเราๆ หรือชนชั้นกลางที่ไม่เข้าใจการเมืองอย่างลึกซึ้ง ก็เข้าใจหลักของการเหยียดหยามกันอยู่บ้าง แต่เราไม่ปฏิบัติกัน และมันเป็นแค่ความคิดในใจที่เราจะไม่แสดงออกมา

เราเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกสวย แสดงความสวยงามของจิตใจต่อครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อนรอบข้าง เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้เราดูสวยงามทั้งกายและใจ เราศึกษาการฝึกให้สวยงามด้วยสิ่งเหล่านี้จากหนังสือหลายอย่าง เช่น Chicken Soup หรือหนังสือของนิ้วกลม เป็นต้น

อย่างน้อย ทัศนคติการมองโลกในแง่ดีที่เราบังคับไว้ในใจ ก็จะบังคับให้เราพูดแต่สิ่งดีดีออกมา จนเราเคยชิน

การเป็นคนที่ต้องอยู่ในโลกสวยทำให้เราต้องทำจิตใจให้สวยและกิริยาทุกอย่างให้สวย ไม่ว่า พูด เขียน หรือแม้กระทั่งด่า ก็ด่าในรูปแบบที่สวยงาม (ยกตัวอย่างเช่น “การตบหัวลูบหลัง” เราต้อง ลูบหลังก่อนแล้วตบหัวแล้วลูบหลังอีกครั้ง)

จนกระทั่งโลกสวยๆ ในกรุงเทพฯ ที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่อยู่อาศัยกัน เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยคนเสื้อแดงที่มาเรียกร้องความเท่าเทียมกันในระบอบการเมือง ที่เรียกกันว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย

คำหยาบคาย จิตใจโสมม การดูถูกเหยียดหยามมากล้นมากมายพรั่งพรูออกมาจากในชนชั้นกลาง หรือสลิ่มอย่างพวกเรา

สลิ่มอย่างเรายอมรับว่า เราพลาด เราเคยสวย เราเคยงดงาม แต่เราพลาด มันก็เพราะเราโดนรุกล้ำพื้นที่โลกสวยๆ ของเรา กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยรถติด ขยะ สิ่งสกปรก และคนต่างจังหวัดที่มากิน ขี้ ปี้ นอนกลางถนนกลางกรุงเทพฯ

การด่าทอเป็นไปอย่างเข้มข้นจนกระทั่งเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53 เสียงกระสุนทำให้เราหยุดด่า ...เราช็อค... เราก็ได้เห็นภาพคนตายเช่นกัน แต่เพื่อความรักษาหน้าเพราะเราเลือกด่าไปแล้ว ทำให้เราเลือกที่จะยับยั้งความเห็นอกเห็นใจผู้เจ็บและผู้ตายแล้วเข้าสู่กระบวนการ Together We Can แล้วหันไปโทษคนเผาบ้านเผาเมือง เผาห้างของเรา

แล้วเราเงียบงัน จนกระทั่งการเลือกตั้งผ่านเข้ามา แล้วผ่านไป เราพ่ายแพ้ พรรคของเราพ่ายแพ้ (การบอกว่าพรรคของเรา เพราะอีกพรรคเป็นของคนเสื้อแดงที่เราด่า แล้วเราไม่มีพรรคที่สามที่ดีพอและเก๋พอให้เราเลือก... เราบางคนก็จำใจเหมือนกัน)

สลิ่มโลกสวยอย่างเราก็พ่ายแพ้มาหลากหลายครั้ง เราไม่แปลกใจหรอก แล้วเราก็ไม่ได้สะเทือนอะไรมากมายกับความพ่ายแพ้นั้น เราไม่ได้เรียนเก่งที่สุดในห้อง เราไม่ได้สอบได้มหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลก เราไม่ได้ที่ทำงานที่ยอดเยี่ยม เงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน เรายังไม่ได้ก้าวเข้ากลุ่มชนชั้นสูงหรือชนชั้นศักดินาเลย ดังนั้น เราก็ยังไม่ได้ชนะ เราออกจะเป็นผู้แพ้ในชีวิตของเราด้วยซ้ำ แต่เราก็เลียแผลช้ำๆ ของเราด้วยโลกสวยๆ ของเรา เช่น ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง ซื้อของแพงๆ เท่าที่เงินเราจะทำได้ เท่านี้ก็พอแล้วเราก็ลืมๆ มันไป

วิกฤติทางการเมืองผ่านพ้นไป (อย่างน้อยก็ในสายตาของสลิ่มอย่างหลิ่มหลี) เราไม่มีอะไรจะด่า เพราะทุกอย่างเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องแล้ว มันก็ไม่มีใครสมควรจะด่าใครอีกแล้ว ...ไม่ใช่หรือ

สลิ่มอย่างเราพร้อมที่จะกลับไปสู่โลกของการทำงาน ทำมาหากิน โลกของชนชั้นกลาง โลกทุนนิยม โลกของเงินเดือน โลกของรถติดเพราะทุกคนไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ

สำหรับสลิ่มอย่างหลิ่มหลีและเพื่อนๆ หลายคน ....เราจบแล้ว เรากลับไปทำงาน หาเงิน เที่ยว ช้อปปิ้ง ดูคอนเสิร์ต ดินเนอร์เก๋ๆ ท้ายสุดเราก็กลับมาสู่โลกสวยๆ ของเราต่อไป

แต่สำหรับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย สำหรับหลากหลายคน มันไม่จบแฮะ !!!

การเริ่มต้นในโลกเสรีชนของสลิ่มแท้ๆ อย่างหลิ่มหลีได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนด้วยความอยากรู้อยากเห็น

ในขณะที่สลิ่มกลับไปโลกสวย มันเป็นความโชคดีที่หลิ่มหลีก็ได้มีโอกาสพิจารณาโลกเสรีชน เช่นกัน

หลิ่มหลีได้อ่าน ได้ฟัง ได้สนทนา หรือแม้แค่รับคำทักทาย ในฐานะ สลิ่มโลกสวย สลิ่มที่เป็นเสื้อแดงแต่ก็ยังเป็นสลิ่มผู้ไม่รู้เรื่องอะไรอย่างลึกซึ้ง

หลิ่มหลีได้เข้าไปสัมผัสโลกของคนเหล่านี้ โดยเริ่มจากการไม่รู้จักใครสักคน อาศัยหน้าด้านล้วนๆ อาศัยใบบุญประชาไทเข้าไปก็หลายครั้ง

ได้พบบุคคลมากมาย ล้วนแล้วแต่การศึกษาดีดี จบทางด้าน นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์แขนงต่างๆ ปรัชญา อักษร นิเทศ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุขต่างๆ ฯลฯ

ได้พบผู้คนมากมาย นักกฏหมาย อาจารย์ แม่ค้า นักเขียน ศิลปิน นักข่าว NGO บอกอ ผู้กำกับ นักแปล แท็กซี่ ผู้บริหารระดับสูง พิธีกร นักคิด(? อาชีพอะไร?) หลากหลาย

ทุกคนเต็มไปด้วยน้ำจิตน้ำใจที่จะบอกเล่าเก้าสิบให้ได้รู้ว่า
ทำไมพวกเขาเหล่าเสรีชน ยังต้องเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบกันอยู่
ทำไมพวกเขายังต้องเรียกร้องให้ปฏิรูประบบกษัตริย์
ทำไมพวกเขาต้องการให้รื้อถอนระบบยุติธรรม
ทำไมพวกเขายังต้องให้ความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กับประชาชน
(โลกเราล้วนสวยคนละแบบนะคะ ฝันของพวกเขา สลิ่มอย่างเราก็ไม่เห็นหนทางเหมือนกัน)

น้ำใจเหล่านี้มาจากการพบปะบ้าง มาจากการอ่านหน้าเฟซบุ๊กบ้าง

โดยไม่รู้ตัวของพวกเขา น้ำใจเหล่านี้ ... มันแฝงด้วยบางอย่างที่เป็นการเหยียดโดยที่เขาไม่รู้ตัว

ในโลกแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย มันน่าจะเป็นโลกแห่งเสรีภาพในทุกๆ แง่มุม ทุกๆ ความคิด และทุกๆ ชนชั้น ทุกๆ ฐานะ ทุกๆ รสนิยม ทุกๆ ทัศนคติ มันน่าจะเป็นโลกที่รับได้ทุกอย่าง อยู่กันให้ได้กับความแตกต่างในทุกแง่ที่กล่าวมาข้างต้น

แต่แล้ว หลิ่มหลีกลับพบว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของไทย หรือที่เรียกตัวเองเกร๋ๆ ว่า เสรีชน มักจะมีคำเรียกคนคิดต่างที่ออกไปในทางเหยียดหยาม และมีการเหยียดความไม่รู้ ความรู้น้อย หรือความรู้เท่าไม่ถึงการ รสนิยม ทัศนคติของคนอื่น อย่างไม่รู้ตัว

ในลักษณะของการเบื่อหน่ายการคิดต่างหรือเบื่อหน่ายความไม่รู้ ก็ยังมีน้ำใจที่จะมอบข้อมูลที่ถูกต้องแต่มันก็แอบแฝงความเหยียดหยันไปในตัว อย่างไม่รู้ตัว

จากการเข้าคลุกคลี (แหม เสี่ยงเสียเพื่อนจริงๆ ที่เขียนเรื่องนี้) ...จากการเข้าคลุกคลีเหล่าเสรีชนที่ต้องการจะเรียกร้องประชาธิปไตยหรือที่ต้องการจะเปลี่ยนโลกกะลาที่ชื่อประเทศไทยให้เป็นแบบที่ตนอยู่ได้ ทำให้หลิ่มหลีค้นพบว่า เราสองสามฝ่ายต่างก็มีโลกสวยไม่แพ้กัน

ในขณะที่โลกของสลิ่มสวยกลวงเห็นแก่ตัว โลกของเสรีชนก็เต็มไปด้วยความอยากมีอยากได้บนความขาดแคลน มันเหมือนจะเป็นโลกของคนที่พ่ายแพ้ในโลกของสลิ่มแล้วไม่มีที่ยืนในสังคม แต่ก็โชคดีที่มีเหตุบ้านการเมืองที่ทำให้เขาได้โอกาสที่จะมายืนหยัดเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองพ่ายแพ้ ได้มีโอกาสที่จะโลกสวยกะเขาเหมือนกันนั่นแหละ

ดีกรีความเหยียดหยามล้วนแล้วแต่แตกต่างกันไปตามปัจเจก และความอยากเป็นซัมบอดี้ (somebody) ของแต่ละคน บางคนหาที่ยืนอย่างทุลักทุเรศ บางคนกระเสือกกระสนอย่างกระหาย ซึ่งล้วนแล้วแต่กระทบกระเทือนต่อความคิดของตัวเองโดยแสดงความแรงของการเหยียดหยามออกมาอย่างไม่รู้ตัว

การเหยียดหยามคนโลกสวยอย่างไม่รู้ตัวของคนเสรีชนก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงสำหรับหลิ่มหลีในตอนแรกๆ แต่ก็ชินซะแล้วกับการโดนเหยียด แอบฝังใจมาโดยตลอดด้วย ไม่ว่าการไม่อ่านหนังสือที่ถูกจริตเสรีชน (ใช่ซี้ ฉันมันอ่านแต่หนังสือจาก สนพ. แจ่มใสนิ) ไม่ว่าจะรสนิยมที่ดูหนังได้ไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะรสนิยมการบริโภคสิ่งรอบด้านที่ป๊อปดัดจริตเกินไป หรือแม้แต่การดำรงชีวิตที่ชิวๆ จนน่าหมั่นไส้

เพียงแค่พวกเขาไม่รู้ตัวว่าในสายตา ในคำพูด ในตัวหนังสือ ล้วนแล้วแต่มีความขบขัน เบื่อหน่าย แกมเหยียดหยันซ่อนอยู่เช่นกัน โดยที่ไม่ได้เรียนรู้เลยว่า เสรีชนนั้นถ้าได้เหยียดหยามในเรื่องรสนิยมส่วนตัวกันแล้วนั้น มันน่ารังเกียจเป็นที่สุด และคุณไม่ใช่เสรีชน

ลึกๆ แล้วนั้น มันก็ต้องทำใจกันจริงๆ เพราะส่วนลึกของจิตใจ คนเราล้วนเหยียดหยามซึ่งกันและกัน

โลกเรานั้นล้วนเหยียดหยามกัน

 

หลิ่มหลี
(อย่าสะเทือนกันไปซะทุกคนนะคะ หึหึ)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัสเซียเตรียมติดตั้งระบบอ่านซิมมือถือในสถานีรถไฟใต้ดิน

$
0
0

ตำรวจกรุงมอสโควประกาศติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับซึ่งสามารถอ่านข้อมูลซิมการ์ด อ้างหวังลดอาชญากรรมล้วงกระเป๋า

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียประกาศว่าจะมีการติดตั้งระบบอ่านข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการที่ "น่าสงสัย"

ผู้บังคับการตำรวจกรุงมอสโคว อังดรี โมคอฟ เปิดเผยว่าทางการรัสเซียจะมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ตรวจจับซึ่งสามารถอ่านข้อมูลจากซิมการ์ดของมือถือเพื่อเป็นตรวจสอบว่าโทรศัพท์นั้นถูกขโมยมาหรือไม่

อังดรีอ้างว่าระบบตรวจสอบทำไปเพื่อลดอาชญากรรมการล้วงกระเป๋าในสถานีรถไฟใต้ดิน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่ารัฐบาลรัสเซียอาจจะมีเจตนาซ่อนเร้นในเรื่องนี้

อเล็กซานเดอร์ อีวานเชงโก ประธานสมาคมอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงของรัสเซียคาดเดาว่าทางการรัสเซียต้องการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีอำนาจในการควบคุมเพิ่มมากขึ้น

"เห็นได้ชัดว่าราคาที่ต้องจ่ายเพื่อติดตั้งระบบนี้ไม่คุ้มกับมูลค่าของโทรศัพท์มือถือที่ถูกขโมยไป" อเล็กซานเดอร์กล่าว

สำนักข่าว Globalpost กล่าวว่ารัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงใหญ่ที่สุดในโลก โดยหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (FSB) ก็กลับมาเติมโตในสมัยของประธานาธิบดีวลามิเมียร์ ปูติน

อังดรี โมคอฟ กล่าวว่าระบบตรวจจับชุดใหม่นี้ไม่ได้เป็นการละเมิดกฏหมายใดๆ โดยแม้ว่าตามกฏหมายของรัสเซียจะไม่อนุญาตให้มีการติดตามสืบค้นตัวบุคคลหนึ่งๆ โดยไม่มีหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับอนุญาตให้สามารถสืบค้น "ทรัพย์สินของบริษัท" ซึ่งในกรณีนี้คือซิมการ์ดซึ่งจัดเป็นทรัพย์สินของผู้ให้บริการเครือข่ายได้

ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า ทางการรัสเซียต้องการอาศัยระบบดังกล่าวนี้ในการสืบหาผู้ก่อการร้าย โดย Globalpost ระบุว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ก่อการร้ายในรัสเซียเพิ่มขึ้น รวมถึงการระเบิดพลีชีพในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งทำให้ประชาชน 40 คนเสียชีวิตเมื่อปี 2010

 

เรียบเรียงจาก
The Moscow Metro will be watching you, Global Post, 29-07-2013

Moscow Subway To Use Devices To Read Data On Phones, Radio Free Europe, 29-07-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศล้มร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม แรงงานขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ

$
0
0
กลุ่มแรงงาน-ภาคประชาชน ประกาศค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับรัฐบาล -ส.ส.เรวัต ‘วิไลวรรณ’ จวกกฎหมายอัปลักษณ์ ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม ด้าน คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้กฎหมายเข้าชื่อฯ ฉบับใหม่ส่อแววเป็นอุปสรรค์
 
 
ประกาศล้มร่างกฎหมายประกันสังคม ขู่ชุมนุมสกัดไม่ให้ผ่านสภาฯ
 
วันนี้ (30 ก.ค.56) เมื่อเวลา 12.00 น.ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงท่าทีคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างประกันสังคมแล้วและอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายฉบับที่มีการเข้าชื่อของประชาชน 14,264 รายชื่อ ไม่ถูกรับพิจารณา
 
ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ซึ่งมาจากตัวแทนภาคแรงงานเพียงคนเดียว กล่าวถึงเนื้อหาในแถลงการณ์ว่า แรงงานและภาคประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาแล้วนั้น มีสาระสำคัญหลายประการที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และไม่ก่อให้เกิดการปฏิรูปปรับปรุงให้ระบบประกันสังคมดีขึ้น ทั้งบางประเด็นกลับยิ่งก่อปัญหาเพิ่มขึ้น
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า 1.ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตนราว 10 ล้านคน เพราะไม่กำหนดแนวทางให้มีการคัดเลือกตัวแทนผู้ประกันตนโดยตรงอย่างกว้างขวาง และร่างดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ประกันสังคม ซึ่งมีอำนาจในการออกระเบียบการเลือกตั้งคณะกรมการฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง รวมทั้งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการครอบงำสำนักงานกองทุนประกันสังคม (สปส.) จากนักการเมืองที่อาจเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้
 
2.ขาดกลไกในการตรวจสอบการบริหารงานของบอร์ดประกันสังคม เพราะในร่างที่ผ่านการพิจารณาไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำให้กองทุนประกันสังคมจำนวนมหาศาลกว่า 1 ล้านล้านในปัจจุบันไม่เกิดการทุจริต มีความโปร่งใสและบริหารงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง และ 3.ไม่ครอบคลุมลูกจ้างทุกกลุ่ม
 
ชาลี กล่าวถึงมาตรการที่จะมีการเคลื่อนไหว ดังนี้ 1.จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน เข้าพิจารณาในสภาฯ 2.จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และ 3.จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง
 
ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุด้วยว่า หากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร
 
 
จวกกฎหมายอัปลักษณ์-ค้านหนัก รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม
 
วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในการเสวนา “กฎหมายประกันสังคมกับอนาคตผู้ประกันตน???” ในช่วงเช้าวันเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชนที่เคลื่อนกันมาตั้งแต่ปี 2552 มีความครบถ้วน ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเรื่องสิทธิประโยชน์ การมีส่วนร่วม และมีโครงสร้างผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ แต่กลับถูกสภาฯ ปฏิเสธไม่รับพิจารณาวาระแรก
 
เหตุผลเพราะร่างดังกล่าวแตกต่างกันอย่างมากทั้งเรื่องหลักการ องค์กร และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเมื่อเทียบกับร่างฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างฉบับของนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่สภาฯ รับพิจารณา ซึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวของภาคประชาชนผ่านไปได้ สัดส่วนของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 1 ใน 3 จะเป็นของภาคประชาชน ทำให้รัฐบาลกังวลว่าภาคประชาชนจะไปร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จนมีเสียงเป็น 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้ข้อเสนอได้รับการพิจารณา
 
วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับของภาคประชาชนได้เดินสายพูดคุยกับฝ่ายการเมืองแล้ว แต่ในวันลงคะแนน ส.ส.จำนวน 250 คน ของพรรคเพื่อไทยกลับปฏิเสธที่จะรับพิจารณา มีเพียง 5 คนที่ให้คะแนนเสียง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าไม่สามารถพึ่งตัวแทนในสภาผู้แทนฯ ได้เลย ทำให้ต้องหันกลับมามองว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งต่อไป กลุ่มแรงงานต้องคิดให้มากขึ้น
 
ส่วนการดำเนินการที่ผ่านมาภายหลังร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนถูกปัดตก วิไลวรรณให้ข้อมูลว่า กลุ่มแรงงานได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านกรณีดังกล่าวถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และยื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาซึ่งมีความเกี่ยวข้องในการพิจารณากฎหมายในชั้นต่อไป รวมทั้งยื่นหนังสือต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแช่งชาติ และได้มีการปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายถึงช่องทางที่จะเดินหน้าต่อไปด้วย
 
วิไลวรรณ กล่าวต่อมาว่า การผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวแรงงานได้ทุ่มเทกันอย่างมากที่สุด แต่สุดท้ายกลับไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และสาระสำคัญที่เป็นหัวใจไม่ถูกบรรจุไว้เลย โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานบอร์ดประกันสังคม ทำให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งผู้แทนของแรงงาน และมีอำนาจในการสรรหาผู้มีคุณวุฒิ โดยอำนาจของประธานเป็นอำนาจแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมด ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน อีกทั้งเปิดช่องให้นำเงินกองทุนประกันสังคมไปใช้ในสิ่งที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ประกันตน
 
“ถามว่ากฎหมายประกันสังคมที่ออกมาหน้าตาอัปลักษณ์แบบนี้เราจะรับได้หรือ แล้วมันจะนำไปสู่ความหายนะของกองทุนประกันสังคมในอนาคตอย่างแน่นอน ดิฉันมีความเชื่อมั่นอย่างนั้น” วิไลวรรณกล่าว
 
 
คปก.แนะแนวทางการสู้ต่อ-ชี้ร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฉบับใหม่อาจเป็นอุปสรรค์
 
ด้านสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนว่า รัฐธรรมนูญ 40 ได้บุกเบิกมาจากการผลักดันของประชาชนในการให้สิทธิประชาธิปไตยทางตรง คือ เข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,000 ชื่อ แต่เมื่อออกกฎหมายลูกในปี 42 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542) ก็มีความผิดเพี้ยนไป ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่น ต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ต้องใช้เงินจำนวนมากในการล่ารายชื่อ ทำให้มีกฎหมายหลายฉบับตกไปเพราะไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อ 50,000 ชื่อได้ รวมถึงกฎหมายสถาบันความปลอดภัย (ร่าง พ.ร.บ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เสนอโดยสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย)
 
ต่อมารัฐธรรมนูญปี 50 มีการปรับให้เป็นการเข้าชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 10,000 ชื่อ ซึ่งทำให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนมากมาย และก่อนหน้านี้มีร่างกฎหมายเข้าชื่อของกฎหมายแก้ไขกฎหมายเข้าชื่อปี 42 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดีขึ้น โดยใช้บัตรประชาชน ไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน และสู้ในอีกหลายเรื่อง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังคงมีประเด็นปัญหาอยู่ ซึ่งร่างกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 มี 2 ฉบับและวันนี้ยังไม่ผ่านรัฐสภา
 
ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ซ้อนว่าการเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนนั้นใช้กฎหมายฉบับเก่า โดยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 และใช้กฎหมายเข้าชื่อปี 42 ซึ่งกำหนดให้เข้าชื่อ 10,000 รายชื่อและให้สิทธิ์เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ 1 ใน 3 เข้าไปถกเถียงในสภา แต่สุดท้ายกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านการพิจารณาวาระ 1 กลับออกมาดูไม่ดีนัก ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ คปก.เคยออกมาแถลงหลายครั้งว่าการที่ไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับภาคประชาชนถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก และส่งผลอย่างยิ่งต่อกฎหมายเข้าชื่อของภาคประชาชนฉบับอื่นๆ ที่ในอนาคตที่อาจถูกปัดตกได้
 
สุนี กล่าวต่อมาถึงการต่อสู้ต่อไปที่จะต้องผ่านด่านต่างๆ ว่า แม้จะดูเหมือนการไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับภาคประชาชนขัดรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนผู้เสนอกฎหมายไม่สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะในรัฐธรรมนูญ 50 เขียนเอาไว้ว่าการยื่นเรื่องต้องผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้ตรวจการแผ่นดินก่อน ส่วนด่านต่อมาคือการตีความซึ่งนักกฎหมายถกเถียงกันอยู่ว่าจะสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุถึงการวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่การไม่รับหลักการนั้นยังเป็นร่างกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการตีกรอบ เรามีสิทธิในการแสดงเจตนารมณ์ในการยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน หากไม่มีการส่งต่อก็สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือช่องทางที่ 2 หากกฎหมายผ่านไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ส.ส.หรือ ส.ว.มีสิทธิที่จะเข้าชื่อเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตามกลไกที่ออกแบบไวในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ช่องทางที่ 3 มีการเสนอจากกลุ่มนักกฎหมายกลุ่มหนึ่งว่าเมื่อสภาผู้แทนอ้างเหตุผลว่าร่างของภาคประชาชนมีหลักการไม่ตรงกับร่างของรัฐบาล เพราะฉะนั้นก็สามารถนำกลับไปเสนอใหม่ได้ โดยใช้ชื่อเดิม และช่องทางสุดท้ายคือการใช้สิทธิในการชุมนุม
 
รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน หากจะใช้วิธีการยื่นเสนอกฎหมายต่อสภาฯ อีกครั้ง อาจไปชนกับที่กฎหมายเข้าชื่อฉบับใหม่ที่กำลังรอออกบังคับใช้อยู่ ซึ่งหลักการของกฎหมายจะไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องเจอกับ 2 ปัญหา คือ 1.กฎหมายจะต้องตกไปเพราะเป็นคนละช่วงเวลา 2.กระบวนการของกฎหมายใหม่แม้จะมีหลายเรื่องดีขึ้น แต่ก็มีอุปสรรคคือต้องมีคนริเริ่มอย่างน้อย 20 คน ในการเสนอกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้อนุมัติในหลักการว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญจึงจะมีสิทธิทำการล่ารายชื่อ และมีบทลงโทษสำหรับการข่มขู่ จูงใจให้มีการเข้าชื่อ ดังนั้น การเลือกใช้วิธีการใดๆ ต้องพิจารณาให้ดี
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนงานฟาสต์ฟู้ดอเมริกันประท้วงขอเพิ่มค่าจ้างเป็น 15 เหรียญต่อชั่วโมง

$
0
0
คนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐอเมริกาในหลายเมืองใหญ่ ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง สุดทนค่าแรงต่ำเพียงแค่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

 
 
การประท้วงที่นิวยอร์คเมื่อเช้าของวันที่ 29 ก.ค. 56 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น (ที่มาภาพ: twitter.com/JackieKessel)
 
 
การประท้วงที่มิลวอคกี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: Light Brigading / Flickr / Creative Commons)
 
 
อินโฟกราฟฟิคแสดงความไม่เป็นธรรมต่อคนงานของอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด (ที่มาอินโฟกราฟฟิค: fastfoodforward.org)
 
เมื่อเช้าของวันที่ 29 ก.ค. 56 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าคนงานในร้านฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐอเมริกา เช่น แมคโดนัลด์ (McDonald's), พิซซ่าฮัท (Pizza Hut), เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ,เคเอฟซี (KFC) และเวนดี้ (Wendy's) ในนิวยอร์ก, เซนต์หลุยส์, แคนซัสและอีกหลายเมืองใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
 
คนงานแม็คโดนัลด์ประจำสาขาบรู๊คลิน นิวยอร์ก คนหนึ่งระบุว่าเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าแรงเพียงแค่ 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยผู้จัดการประท้วงระบุว่ามีคนงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดที่เข้าร่วมการประท้วงที่นิวยอร์ควันนี้กว่า 500 คน ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคนงานร้านฟาสต์ฟู้ดในชิคาโก้, มิลวอคกี้ และดีทรอยด์ ก็ได้ออกมารวมตัวเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน
 
คนงานในอุตสาหกรรมนี้บางคนได้ค่าแรงต่ำเตี้ยถึง 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อเที่ยบกับอัตราเงินเฟ้อแล้วปรากฏว่าจ้างนี้ต่ำกว่า 22 % ในปี ค.ศ.1968 (9.27 ดอลลาร์) และต่ำกว่า 7% ในปี ค.ศ.2009 (7.78 ดอลลาร์)
 
เหล่าบริษัทฟาสต์ฟู้ดได้ออกมาตอบโต้ว่าการขึ้นค่าแรงขึ้นตามข้อเรียกร้องของคนงาน (15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง) ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่จะไม่สามารถสร้างจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ ในสภาวะที่การหางานยังเป็นเรื่องที่ลำบากของคนอเมริกันในขณะนี้ รวมทั้งการขึ้นค่าแรงอาจจะกระทบต่อราคาอาหารฟาสต์ฟู้ดให้สูงขึ้น
 
แต่แคมเปญรณรงค์ Fast Food Forward ระบุว่าธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของอเมริกันที่มีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านดอลลาร์นั้น คนงานในอุตสาหกรรมนี้ (ตัวเลขประมาณการของคนงานในนิวยอร์ค) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 11,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนประธานฝ่ายบริหารสูงสุดของบริษัท (CEO) ในอุตสาหกรรมนี้มีรายได้ถึง 25,000 ดอลลาร์ต่อวัน (คนงานต้องทำงานสองปีกว่าถึงจะได้รายได้เท่ากับที่ CEO ทำหนึ่งวัน)
 
ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของคนงานในอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดนี้ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนกลุ่มน้อย (ผิวสีและแรงงานที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก) ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสหภาพแรงงาน ชุมชน เอ็นจีโอและองค์กรทางศาสนา และมีการประท้วงขึ้นในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก: 
 
http://www.chicagotribune.com/news/sns-rt-us-usa-fastfood-protests-20130729,0,4209372.story
http://inthesetimes.com/working/entry/15366/fast_food_slow_burn/
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Patani Forum: นักศึกษากับงานสันติภาพ สัมภาษณ์สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

$
0
0

ปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 และต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ซึ่งในสถานการณ์ของความรุนแรงนั้น ได้เกิดกลุ่มคนหลายกลุ่ม ซึ่งมีความพยายามที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในลดน้อยลง เช่นเดียวกันกับกลุ่มนักศึกษาที่มีแสดงบทบาทต่อการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพอย่างแข็งขัน ทั้งการทำกิจกรรมส่งเสริมกระบวนสันติภาพ การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องการลิดรอนสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมที่เกิดขึ้น ทางปาตานี ฟอรั่ม ได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิกแกนนำนักศึกษาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรน้องใหม่ ที่ออกมามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ที่มาของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

อัซฮาร์  สารีมะเจ๊ะ นักศึกษาจาก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ปัจจุบันก็ยังคงทำกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ และสร้างพื้นที่พูดคุย “เสียงของประชาชนปัตตานี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดสมาพันธ์ก็คือการชุมนุมใหญ่ของแกนนำนักศึกษา และประชาชนที่มัสยิดกลางปัตตานี ในปี 2550 หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม คล้ายมีฉันทามติจากประชาชน ให้มีกลไกที่จะขับเคลื่อนภารกิจนี้ต่อ”

 

งานขององค์กร

กิจกรรมของกลุ่มมีการรณรงค์ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับโลกมุสลิม ชุมชนมุสลิมต่างๆ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องหลักที่เราสนใจเนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง คือเรื่องของในพื้นที่ปัตตานี โดยเราพยายามเป็นคนต้นคิดและเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ที่ให้ นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมและ

โดยพื้นที่ของการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งค่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือค่ายสร้างเพื่อริเริ่มความคิดหรือพื้นทีในการแก้ไขปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 9 ปีมานี้ ในช่วงแรกความรุนแรงจะมุ่งเป้าไปที่โรงเรียนบ้าง ครูบ้าง การก่อเหตุที่มุ่งเป้าไปสู่อุลามะห์บ้าง พอเรามีการจัดกิจกรรมสนับสนุนมากขึ้น เราก็ดีใจถ้าส่วนหนึ่งจะช่วยทำให้การก่อเหตุมุ่งเป้าไปสถานที่แบบนี้น้อยลง

 

นักศึกษากับภาพที่ถูกมองในแง่ลบ

โดยส่วนตัวคิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้มีประเด็นซ้อนอยู่สองอันใหญ่ๆ คือ กระแสของโลกที่เป็นโรคกลัวอิสลาม หลัง 911 ที่มุสลิมตกเป็นเป้าทุกพื้นที่ในโลก นักศึกษา หรือองค์กร นักศึกษา มุสลิมจะถูกมองโดยความกลัวมากๆ เรื่องที่สองเราอยู่ในประเทศไทยและเกี่ยวข้องกับปัตตานีด้วย พออกมาเคลื่อนไหวเลยทำให้ถูกมองในภาพลบ

หลายๆ ครั้งถูกมองว่าเราทำงานในเรื่องตรงข้ามกับความมั่นคงของรัฐ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องปัตตานี โรฮิงยาก็เช่นเดียวกัน  เช่นเดียวกับเรื่องปัตตานีที่เราทำ เน้นเรื่องการศึกษา ถูกมองว่าเราไปสนับสนุนขบวนการไหม ตรงนี้ผมคิดว่าไม่แปลก จุดยืนของ นักศึกษา อย่างเราชัดเจนว่าจะร่วมมือกับองค์กร นักศึกษา อื่นๆ นำเสียงของประชาชนฉายออกมาให้สาธารณชนรับรู้มากที่สุด

บางประเด็นบางกรณีที่กระทบต่อประชาชน รัฐก็ให้การเยียวยาที่ดี ออกมารับผิดชอบ ปกป้องพอสมควร แต่เราเห็นบางกลุ่มไม่ได้รับเยียวยา ดูแลจากรัฐเท่าที่ควร ในเมื่อเขาถูกกระทำ นักศึกษา เลยจำเป็นต้องทำ ตรงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คนมองว่าเราสนับสนุนขบวนการหรือไม่ หลายคนมองว่าเราสนับสนุนให้แนวคิดของขบวนการเผยแพร่มากขึ้นหรือไม่

 

นักศึกษากับการเคลื่อนไหวเพื่อกระบวนการสันติภาพ

สิ่งที่ นักศึกษา พยายามทำคือสร้างพื้นที่ตรงกลาง ให้ความคิดสุดโต่งมากที่สุดมาคุยกันโดยไม่ใช้อาวุธ สิ่งที่เราชูมาตลอดก็คือสันติภาพของประชาชน แต่เป้าหมายอาจจะยังต้องถกเถียงกัน หรือท้ายที่สุดเหมือนกับพวกเราก็คือสันติภาพที่จะเกิดกับปัตตานี ประชาชนต่างหากที่จะออกมานิยามว่าสันติภาพที่เขาต้องการคืออะไร

ทางออกของความขัดแย้ง 80-90% ยุติด้วยการพูดคุยเจรจา ปัตตานีก็เช่นเดียวกัน เราจะต้องมีการพูดคุยเจรจา ตอนนี้ก็เริ่มแล้วที่มาเลเซีย พอเริ่มขึ้นแบบสาธารณะ พวกเราเองคาดหวัง เรียกร้องมากๆ ให้มีการพูดคุย ในขณะรูปแบบการพูดคุยเพื่อให้มีประสิทธิผลมากที่สุดก็ต้องถกเถียงกันได้ อาจมีแบบสาธารณะบ้าง ปิดลับบ้าง ที่เราหวังคือต้องเป็นการคุยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นสากลมากที่สุด มีการรับรองจากสาธารณประเทศมากที่สุด

เราคาดหวังผลของการเจรจานี้จะส่งผลดีต่อสันติภาพของปัตตานี เราคาดหวังเพื่อให้ภาคประชาชนออกมานิยามสันติภาพของเขาได้

การมาพูดคุยของทั้งสองฝั่ง เป็นการใช้แนวทางที่ถูกต้องในการยุติความขัดแย้งโดยการพูดคุยกันของคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐและขบวนการ แต่สิ่งที่เราถกเหถียงกันได้คือรูปแบบและวิธีที่ใช้ในการพูดคุย ถกเกถียงกันได้เพื่อให้มีความยั่งยืน

ในเรื่องที่ขบวนการอาจจะว่าเรา เพราะเราสนับสนุนรัฐไทย สาเหตุหลักๆ ที่เราอาจจะถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ หรือรัฐมองว่าไม่ดี รัฐอาจจะมองว่าเราทำอะไรที่เป็นการสนับสนุนขบวนการ เช่น การที่เราเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นแบบสุดโต่งอย่างขบวนการที่ต้องการจะปลดปล่อยปาตานี โดยเรานำมาให้คุยในพื้นที่สาธารณะได้  เหมือนกับเป็นการขยายแนวความคิดนั้นหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองในลักษณะเดียวกันนี้  มันสามารถมองได้กันว่า เรากำลังสนับสนุนรัฐไทย ซึ่งเป็นไปได้ว่าขบวนการก็อาจจะไม่ชอบเรา  เพราะหลายๆ ครั้งที่เราออกมาพูด ออกมาทำกิจกรรมนี้  เราได้ออกมาบอกว่า คุณต้องให้เสรีภาพทั้งหมด ถ้าคนนี้มาบอกว่าอยากจะอยู่กับรัฐไทย เราไม่ต้องปลดปล่อย มันก็หมายความว่าขบวนการเองก็ไม่ต้องไปคุกคามเขา และในขณะเดียวกันรัฐเองก็ห้ามไปกระทำต่อผู้ที่ที่คิดต่างไปจากรัฐ มองในลักษณะนี้อาจจะเป็นจะเหมือนทั้งในกรณีของรัฐและในกรณีของขบวนการด้วยซ้ำไป

ถ้ากล่าวให้ชัดในเชิงเป้าหมาย รัฐเองก็อยากจะให้เกิดสันติภาพ  ขบวนการก็ต้องการสันติภาพเช่นเดียวกัน แต่นิยามอาจจะเป็นคนละแบบ สิ่งที่นักศึกษามาทำก็เช่นเดียวกัน สนับสนุนให้เกิดสันติภาพ โดยที่เอานิยามของทุกคนมาคุยกัน โดยเอาพื้นฐานจากชาวบ้านมาคุยกัน ดังนั้นการมองว่าเราเกี่ยวข้องกับขบวนการนั้นเป็นการมองที่ยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเรา แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้แปลกใจที่เราถูกมองเช่นนี้ เพราะนักศึกษาก็ประกาศตัวชัดเจนว่า เราทำงานด้านการเมือง เราทำกิจกรรมร่วมกับภาคประชาชน เพื่อผลักวาระประเด็นทางการเมืองด้วย เพราะอิสลามไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการเมือง อิสลามมีคำสอนเรื่องการเมือง และการเมืองที่ดีต้องมีศาสนาเป็นตัวรองรับและเป็นตัวให้คำอธิบาย และสมาพันธ์ก็ทำเรื่องนี้ด้วย

 

บทบาทของผู้หญิงในสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย

ต่อมา วนิสา ร่าหีม ฝ่ายกิจการสตรี สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงต่อการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพเหล่านี้ ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับผู้หญิงที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยมีการเริ่มต้นการพูดคุย สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และอาจจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางสมาพันธ์จัดขึ้น รวมทั้งองค์กรเครือข่ายต่างๆ เพื่อที่สร้างเข้าใจและตระหนักมากยิ่งขึ้น

โดยส่วนตัวแล้วการทำกิจกรรมแล้ว มันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกัน ความหวังของประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้เราเป็นกระบอกเสียง เป็นเสียงที่สำคัญในการพูดคุยแทนชาวบ้าน ที่เรามีโอกาสมาพูดคุยในตรงนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรารู้สึกว่าดูรุนแรงมาก นั่นก็คือ เหตุการณ์ของนูรฮายาตี ครูสอนตาดีกา เขาโดนทหารข่มขืนและฆ่า ในปี 2551 ในส่วนของสื่อออกมาหลังจากนั้นเป็นเวลาสองปี ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้บอกเราว่า เราจะนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นพี่น้องเขา แต่เราก็ต้องออกมาพูดเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา

ความหวังของเราในพื้นที่คือเราต้องการให้พื้นที่มีความสงบ มีสันติภาพเข้าไปในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพ และการเจรจาที่เกิดขึ้นอาจจะใช้เวลานานพอสมควร เพราะมีหลายฝ่ายที่เข้ามา ทั้งนี้สมาพันธ์จะทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีการร่วมด้วยช่วยกัน และมาร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน เปิดพื้นที่ให้กับนิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ

ต่อไปข้างหน้า เราจบไปได้รับปริญญา แต่เราไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้เลย ซึ่งมันจะเป็นที่น่าเสียดาย หากเราได้ทั้งใบปริญญาและสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำ อย่าลืมว่า เราเป็นความหวังของชาวบ้าน เพราะว่าเราได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาตรงนี้ เราก็ต้องช่วยเหลือชาวบ้าน

การที่เราเป็นผู้หญิง ซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหา หากถึงสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างเต็มที่ เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป ในส่วนของสมาพันธ์เปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้มากพอสมควร ซึ่งมีพื้นที่มากในการทำงานในด้านกิจการสตรี สมาพันธ์ของเราเปรียบเสมือนกับการทำงานเชิงรุก โดยส่วนตัวแล้ว ปีนี้ได้มาทำเป็นปีที่สอง ในงานที่ทำก็เป็นลักษณะของการจัดทำฮาลากอฮ์ (วงกลมเรียนรู้ศาสนา)

ทั้งหมดนี้เป็นบางส่วน บางตอน จากความคิด รูปแบบการเคลื่อนไหว/กิจกรรม ของนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาสาเข้ามามีบทบาทในการสรรค์สร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรีนพีซเผยภาพคราบน้ำมันบนชายหาดอ่าวพร้าว ที่เกาะเสม็ด เมื่อ 30 ก.ค. 56

$
0
0

เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) กรีนพีซเผยแพร่ภาพ น้ำมันดิบที่กำลังถูกเก็บกู้บนชาดหาดด้านอ่าวพร้าว บนเกาะเสม็ด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จากบริษัท ปตท. กำลังเร่งปูกระดาษซับน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว เพื่อกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด

โดยเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่ จ.ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ กรีนพีซระบุข้อเรียกร้องด้วยว่า กรีนพีซต้องการให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายด้านพลังงาน และยุติการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย

(30 ก.ค. 56)  ซากปลาตายเกยตื้นถูกพบเห็นบนหาดด้านอ่าวพร้าว ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) ปูที่อาศัยตามโขดหินบริเวณหน้าหาด พยายามตะกายหาทางออกจากคราบน้ำมันที่ติดตามตัว เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม และจากบริษัท ปตท. ร่วมกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม และจากบริษัท ปตท. ร่วมกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม และจากบริษัท ปตท. ร่วมกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม และจากบริษัท ปตท. ร่วมกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

(30 ก.ค. 56) เจ้าหน้าที่จากบริษัท ปตท. กำลังเร่งปูกระดาษซับน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว เพื่อกำจัดคราบน้ำมันบนชายหาดด้านอ่าวพร้าว  ทางตะวันตกของเกาะเสม็ด เหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบกลางทะเลรั่วลงสู่ทะเลครั้งนี้เกิดขึ้นที่จังหวัด ระยองในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำมันดิบปริมาณกว่า 50,000 ลิตร ไหลลงสู่ทะเลห่างจากฝั่งท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 20 กิโลเมตร และพัดขึ้นชายฝั่งเกาะเสม็ดไม่นานนี้ ท่อส่งน้ำมันดิบนี้เป็นของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) / ที่มาของภาพ (c)เริงฤทธิ์ คงเมือง/กรีนพีซ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

$
0
0

"หัวใจของ พ.ร.บ. 2 ล้านล้านนี้คือเรื่องเวลา ไม่ใช่เรื่องเงิน เราต้องทำเวลาให้พร้อมต่อการพัฒนาของโลก"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "เชื่อมภาค เชื่อมชีวิตบูรณาการทุกทิศสู่ความเจริญ" ในงานสัมมนา "Moving Forward 2 ล้านล้าน ขับเคลื่อนไทยทัดเทียมโลก"

ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ความมั่นคง รับมือม็อบหน้าสภา 1-10 ส.ค. 3 เขตกทม.

$
0
0

ครม.ชุดเล็กประชุมด่วนประกาศพื้นที่อันกระทบต่อความมั่นคง  ดุสิต-พระนคร-ป้อมปราบฯ ให้ กอ.รมน.ดูแล อ้างเตรียมรับมือการชุมนุมหน้าสภาต้านร่างนิรโทษกรรม ส่วนกวป.ประกาศยุติชุมนุม ด้านพงศ์เทพชี้ม็อบไม่มีอำนาจยื่นศาลปกครองขวางครม.ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง

31 ก.ค. 56  เมื่อเวลา 13.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กซึ่งใช้จำนวนครม.1 ใน 3 ของทั้งหมด เพื่อพิจารณาวาระเร่งด่วนในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภาย ในราชอาณาจักรในช่วงของการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคมว่า  ที่ประชุมเห็นสมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่เขตดุสิต พระนครและป้อมปราบศัตรูพ่าย มีกำหนดระหว่างวันที่ 1-10 สิงหาคม โดยให้อยู่ในอำนาจของ กอรมน. ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยมีผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ท.ภราดร กล่าวด้วยว่า มูลเหตุที่ครม.มีการประกาศดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่มีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มประกาศชุมนุมไม่เห็นด้วยกับการพิจารณา กฎหมายของรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยการชุมนุมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะระดมมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และอาจชุมนุมยืดเยื้อ รวมทั้งลุกลามไปถึงการยึดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ หรืออาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุแทรกซ้อน เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง เพื่อหวังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือขัดขวางการทำหน้าที่ของฝายนิติบัญญัติ เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม แก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ไม่ให้เกิดความเดือดร้อนหรืออันตรายต่อประชาชน ให้สมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย และเป็นการป้องกันและป้องปรามภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน และไม่ให้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลมีความหลากหลาย รวดเร็ว จนสามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิติบัญญัติ ระบบบริหารราชการแผ่นดิน และความสงบเรียบร้อยในประเทศ สมควรประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

ทั้งนี้ มาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระบุว่า ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งอยู่ในอำนาจของหน่วยงานหลายหน่วย ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจมอบหมายให้กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปรามเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนการประชุมครม.ครั้งนี้ เป็นครม. “ชุดเล็ก” ประกอบด้วยบุคคลสำคัญ เช่น นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม รวมทั้งยังมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกฯ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที รวมถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทุกคน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.อ.อุดมเดช สูตบุตร เสนาธิการทหารบกและตน โดยมติที่ประชุมวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศได้รับทราบมติในการประชุมครั้ง นี้แล้ว

เลขาธิการ สมช.กล่าวว่า หลังจากที่มมติ ครม.เห็นชอบแนวทางและมาตรการ จากนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อเห็นชอบแผนและมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สตช.) ที่จะเสนอให้ที่ประชุม กอ.รมน.เห็นชอบ จากนั้นก็จะมีการออกคำสั่งให้ตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติโดย ผบ.ตร.จะเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ทั้งหมด สำหรับมาตารการและการจัดกำลังของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นที่วางในพื้นที่สำคัญมีการเตรียมการไว้แล้วน่าจะสามารถป้องกันได้

 พล.ท.ภราดร ได้กล่าวถึงการประเมินตัวเลขผู้มาร่วมชุมนุมว่า ยังระบุจำนวนตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะเมื่อมีการเริ่มเปิดสภาแล้ว ผู้ชุมนุมจะเริ่มทยอยเข้าร่วม และเนื่องจากมีจำนวนหลายกลุ่มและมีความหลากหลาย ซึ่งมีโอกาสที่จะรวมกันได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการป้องกัน เพื่อไม่ให้กลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเผชิญหน้ากัน ส่วนจำนวนกลุ่มใหญ่ๆของฝ่ายเห็นด้วยน่าจะมีหลักๆแค่ 1 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยประมาณ 3-4 กลุ่ม 

"ในตอนนี้มีมาตรการที่จะป้องกันเพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างเผชิญหน้า กัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบได้ แล้วตรงนี้จะเป็นเหตุให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงได้ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่มีการใช้อาวุธอยู่แล้ว จะมีเพียงแค่โล่ และกระบองเท่านั้น และตอนนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สมช.) ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด" พล.ท.ภราดร  กล่าว

'พงศ์เทพ' ชี้ม็อบไร้อำนาจยื่นศาลปค. ยกเลิกประกาศพรบ.ความมั่นคง
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม.ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อคัดค้านการประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจที่จะไปยื่นให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้ เนื่องจากเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของฝ่ายบริหารที่จะพิจารณาประกาศใช้ และที่ไม่สามารถไปยื่นให้ยกเลิกคำสั่งได้ เพราะได้ผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากครม.แล้ว แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปยื่นก็ต้องไปยื่นที่ศาลยุติธรรม และให้ยกคัดได้เฉพาะรายละเอียดการปฏิบัติไม่ใช่ยื่นให้ยกเลิกประกาศ

กวป.ประกาศยุติชุมนุมหน้าสภาฯ หลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง
พล.ต.ต. วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล1 (ผบก.น.1) ได้เดินทางมายังพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมชุมสื่อวิทยุประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย (กวป.) ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเจรจากับแกนนำกวป. ให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ในพื้นที่เขตดุสิต เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยภายหลังการเจรจา นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษก กวป. ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะยุติการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในเวลา 24.00 น. นี้ และจะย้ายไปปักหลักชุมนุมต่อที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้จะติดตามการประชุมสภาต่อไป หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถปกป้องพื้นที่อาคารรัฐสภาได้ จะนำมวลชนมาหน้ารัฐสภาอีก

 

เรียงเรียง จากเว็บไซต์คมชัดลึกเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเว็บไซต์ไอลอว์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติพท.พิจารณาเฉพาะร่าง'วรชัย' – แดงลพบุรีเสนอร่างนิรโทษใหม่อีก

$
0
0

 


วันที่ 31 ก.ค. ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า  นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงผลการประชุมพรรคว่า ที่ประชุมพรรคมีมติให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยในวันที่ 7-8 สิงหาคม เพียงฉบับเดียวเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกที่เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาฯ เสนอร่างประกบโดยเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ไม่รวมแกนนำ ผู้สั่งการ และพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ ส.ส.ทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองและเริ่มต้นลดทอนปัญหาให้กับประชาชนที่เป็นเหยื่อ ทางการเมืองให้เกิดรูปธรรม ภายหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลมา 2 ปี

ทั้ง นี้ ได้มอบหมายให้ประธานวิปรัฐบาลประสานนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ทำการถอนร่างนิรโทษกรรมฉบับของนายนิยมออกจากสภาฯ เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากร่างของนายนิยมและของนายวรชัยมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อแถลงข่าวตลอดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อป้องกันการบิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมยืนยันว่าวันที่ 1 สิงหาคมจะพิจารณาเพียงวาระกระทู้ถามเท่านั้น ไม่ลักไก่นำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าพิจารณาแน่  และจะเป็นการพิจารณาตามวาระปกติ ไม่ใช่สามวาระรวดตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา  อย่างไรก็ตามในเวลา 17.30 น. แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะแถลงข่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่วมกันอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุรัฐบาลลิดลอนสิทธิ ประชาชนกรณีประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคง  โฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุเป็นการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงและพรรคเพื่อไทยที่มีข้อมูลตรงกันว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายตรงข้ามได้ปลุกระดมมวลชนและระดมคนให้เข้าร่วมชุมนุม  เห็นได้จากการประกาศของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ประกาศคัดค้านทั้งในและนอกสภาฯ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องป้องกันให้สถานการณ์อยู่ในความเรียบร้อย  ยืนยันการประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยประกาศใช้ตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเคยประกาศใช้ถึง 7 ครั้ง ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธ์ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงและพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกือบ 18 ครั้ง

นายพร้อมพงศ์ ระบุด้วยว่าจะส่งตัวแทนยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีปราศรัยปลุดระมให้คนมาร่วมชุมนุม เท่ากับขัดขวางการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย.

 

พรรคร่วม รบ.มีมติเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับวรชัย

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อเวลา 17.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิด ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ในวันที่ 1 สิงหาคม โดยในการประชุมมีแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รองนายกรัฐมนตรี  ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย  นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทองพรรคชาติไทยพัฒนา  และนายนิกร จำนงค์ อดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคม เข้าร่วมประชุม

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายจารุพงศ์ ได้แถลงผลการประชุม โดยอ่านแถลงการณ์ถึงมติของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ว่า จากสภาพปัญหาสังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือการให้โอกาส ประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราช บัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งก็คือร่างของนายวรชัย เหมะและคณะโดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกันซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออก ทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

นายจารุพงศ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะและคณะมีหลักการคือ "ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว" ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ "ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น" อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าจะไม่นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าประชุมในวันที่ 1สิงหาคมนี้อย่างแน่นอน
 

สุชาติ ลายน้ำเงิน ยื่น 19,000 รายชื่อ เสนอร่าง ก.ม.นิรโทษกรรมคดีอาญา

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. มีรายงานว่า ที่รัฐสภา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ได้นำประชาชนจาก จ.ลพบุรี ประมาณ 200 คน มาชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าอาคาที่รัฐสภาเพื่อยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้ง หรือการรัฐประหารเกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548-2554 พร้อมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนจำนวน 19,999 รายชื่อ ต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นผู้รับหนังสือแทน

โดย นายสุชาติ กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 หมวด 3 และหมวด 5 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2542 ซึ่งอยากเห็นการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ภายหลังประเทศ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่มาจากความเห็นต่างของประชาชน จึงควรช่วยเหลือผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือต้องคำพิพากษาว่า กระทำผิดอาญาที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2554

ด้าน นายเจริญ กล่าวว่า ตนจะนำร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ ซึ่งอยากให้ประชาชนติดตามที่ประชุมที่จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยให้ติดตามได้ ทางการถ่ายทอดสดของสถานีโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภา แต่หากคนใดว่าง ก็สามารถมาติดตามการประชุมได้ที่หน้ารัฐสภาได้
 

เปิดสาระร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับเสื้อแดงลพบุรี นำโดยสุชาติ ลายน้ำเงิน

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานถึงสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุน จำนวน 10,999 คน ที่นำยื่นโดย นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน ฐานะแกนนำคนเสื้อแดงจ.ลพบุรี ระบุว่าให้ประกาศว่าโดยที่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีมูลเหตุ มาจากความเห็นที่แตกต่างกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน บั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาสงบสุขดังเดิม และพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ และนำมาซึ่งความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทย จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีการนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลทั้งหลายทุกฝ่าย โดยการคืนสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดอาญาซึ่งมีมูล เหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหรือสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้น ระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 ถึง พ.ศ.2554”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำผิดอาญาทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับซึ่งได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับการเมืองหรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือได้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นระหว่างนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดอาญาที่มีมูลเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือการรัฐประหารที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2548 - 2554 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำในระหว่างวันที่กล่าวหรือก่อน หรือหลังวันที่กล่าว หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากการกระทำผิดทางอาญาโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสาระในมาตรา 3 ที่ระบุตามร่างกฎหมายดังกล่าว หากมีการพิจารณาจริง จะทำให้บุคคลที่ถูกยื่นฟ้องหรือดำเนินคดี โดย คตส. จะได้รับการนิรโทษกรรมตามผลของร่างกฎหมายนี้ ซึ่งหมายรวมถึงคดีอาญาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วย

 

"อภิสิทธิ์-สุเทพ" นำ 80 ส.ส.ขึ้นเวทีผ่าความจริง ปลุกคนต้าน "นิรโทษกรรม"

ไทยรัฐออนไลน์รายงานความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อม ส.ส.พรรคกว่า 80 คน ได้ออกเดินทางไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS อารีย์ เพื่อเดินทางไปยังลานสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้า BTS ช่องนนทรี เพื่อร่วมขึ้นเวทีผ่าความจริง โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคฯ นายไตรรงค์ สุวรรณคิรี นายศิริโชค โสภา และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค โดยมีประชาชนขอลายเซ็นและถ่ายรูปจำนวนมาก ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีตำรวจจาก บก.น.5 มาดูแลรักษาความปลอดภัย 1 กองร้อย

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีผ่าความจริงในทุกวันเสาร์ แต่ช่วงใกล้เปิดสภาฯ ที่จะพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคได้จัดเวทีถี่ขึ้น เพื่อปลุกกระแสให้ประชาชนออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่รัฐบาลจะนำเข้าสภาฯ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live


Latest Images