Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ตอบ “ลม เปลี่ยนทิศ”: รถไฟความเร็วสูงคืออนาคตของประเทศจริง

$
0
0
 
ไม่ทราบว่า เมื่อคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ฟังท่านรัฐมนตรีคมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์เดินสายพูดถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” แอบหลับไปช่วงไหนบ้างหรือไม่? ทั้งตัวโครงการและรัฐมนตรีคมนาคมพูดชัดเจนว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากโครงการนี้ผ่านรัฐสภา การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อพัฒนารถไฟธรรมดา(Conventional Train) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รถไฟรางคู่” ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ความสำคัญของรถไฟธรรมดานั้นไม่ได้ตกหล่นหดหายไปไหน หรือหากจะมองภาพรวมของโครงการนี้แล้ว รถไฟธรรมดาต่างหากที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
 
หรือหากจะพลิกไปดูไทยรัฐ หน้า 8 ฉบับเดียวกัน จะเห็นความคืบหน้าของโครงการรถไฟทางคู่(“รฟท. เล็งเพิ่มความถี่การเดินรถ 15 นาทีต่อขบวน เดินหน้ารถไฟรางคู่เต็มสูบ”)
 
คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” สับสนแน่นอนเมื่อเขียนบทความนี้ คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นอนาคตหรือไม่ กลับจบบทความด้วยการบอกว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นอาจจะไม่ “คุ้มทุน” คำถามว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นอนาคตจริงหรือไม่? กับรถไฟความเร็วสูงนั้น“คุ้มทุน” หรือไม่? เป็นคนละคำถามกัน
 
 
อนาคตของการส่งสินค้า
 
ข้อเสนอทางนโยบายของรัฐบาลนี้ที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงขนของขนาดเบา (Light Cargo) นั้นวางอยู่บนการมองอนาคตว่า การให้บริการขนส่งของขนาดเล็กที่ต้องการความรวดเร็วนั้นจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นมาก การขนส่งของขนาดดังกล่าวผ่านระบบไปรษณีย์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากไปรษณีย์ไทยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การส่ง EMS จาก 64 ล้านชิ้นในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 78 ล้านชิ้นในปี 2554 ซึ่งการเจริญเติบโตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการขยายตัวของ E-Commerceด้วย ดังนั้น ศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงที่ในฐานะส่วนสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดกลาง ไปจนถึง OTOPs ทั้งหลายจึงเห็นได้ชัดอย่างยิ่ง การขนส่งสินค้าประเภทดังกล่าวผ่านรถไฟความเร็วสูงจึงสามารถเข้าแทนที่การใช้รถบรรทุกซึ่งช้ากว่าและเครื่องบินซึ่ง
ราคาแพงกว่าได้
 
รถไฟความเร็วสูง ซึ่งวิ่งอยู่บนราง Standard Gauge ที่ใช้กันส่วนใหญ่ในจีนและยุโรปนั้น ไม่ได้เชื่อมต่อแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ต้องชื่นชมคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ที่มีวิสัยทัศน์เห็นศักยภาพการเชื่อมต่อรางกับประเทศจีน บทความ “ไปดูรถไฟจีน” วันที่ 29 มิถุนายน 2552 คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” เขียนไว้อย่างถูกต้องว่า ถ้าประเทศไทยไม่
ลงทุนระบบรางเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน ประเทศไทยจะโดนโดดเดี่ยว“ไปเยือนจีนครั้งนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ชักชวน บริษัทไชน่า เรลเวย์ เอ็นจิเนียร์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจเจ้าของกิจการรถไฟส่วนใหญ่ของจีน ให้มาลงทุนระบบรางในไทย เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟไทยกับภูมิภาค ซึ่งจีนได้ลงทุนสร้างทางรถไฟลงมาเชื่อมต่อกับเวียดนามและกัมพูชาไปแล้ว ก่อนที่ไทยจะกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวแห่งภูมิภาค”
 
แน่นอนว่า การเชื่อมต่อดังกล่าวไม่สามารถใช้รางขนาด 1 เมตรของรถไฟธรรมดาปัจจุบันได้แต่ต้องใช้รางขนาด 1.435 เมตรหรือ Standard Gauge ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่มหาศาลนั้น จึงเป็นอนาคตในประเทศอย่างแน่นอน หากการขนส่งสินค้าขนาดเบาผ่าน E-Commerce ในประเทศไทยนั้นเป็นศักยภาพของผู้ประกอบการไทยแล้ว การขนส่งสินค้ากับ 3 มณฑลภาคใต้ของประเทศจีนนั้นยิ่งเป็นศักยภาพทางธุรกิจที่น่าสนใจขึ้นไปอีก McKinsey รายงานว่าธุรกิจ E-Commerce ในจีนนั้นโตขึ้นกว่า 100 เปอร์เซนต์โอกาสที่จะเชื่อมต่อการขนส่งทางรางเข้ากับตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนนั้น น่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยที่คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ต้องเห็นด้วยแน่ ๆ
 
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันมีโครงการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างจีนและยุโรปด้วย เส้นทางสายไหมใหม่ (The New Silk Road) บริษัท Hewlett-Packard ใช้รถไฟขนส่งของจากแหล่งผลิตในจีนมายังยุโรปตะวันตก ในขณะที่สินค้าจากยุโรปไปจีนมักจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์, ไวน์ และสินค้าหรูหราอื่น ๆ จะเห็นว่า การเชื่อมต่อรางผ่าน Eurasian Land Bridge นั้น อาจจะไม่ใช่การฝันเฟื่องจนเกินไปนัก และจากที่คณะทำงานของประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไทยได้พบปะพูดคุยกับที่ปรึกษาของประธานาธิบดีจีนและรัสเซียนั้น ประเทศทั้งสองต่างเห็นศักยภาพของการเชื่อมต่อสิงคโปร์-กรุงเทพ-ปักกิ่ง-มอสโคว์-ปารีส ตรงกัน
 
 
อนาคตของการขนส่งคน
 
เป็นที่น่าประหลาดใจนักที่คุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ในบทความในปี 2552เห็นความก้าวหน้าในการเชื่อมต่อเมืองต่าง ๆ ของรถไฟความเร็วสูงในประเทศจีนแล้ว ใน พ.ศ. นี้กลับไม่เห็นอนาคตของประเทศไทยในการเชื่อมต่อชุมชนเมืองใหญ่ในประเทศไทย ในปี 2012 สถานีรถไฟซึ่งบริษัท Japan Rail East (JR East) เป็นเจ้าของนั้นมี “คนธรรมดา” ใช้งาน 4 แสนกว่าคนต่อวัน เช่นเดียวกัน ในปัจจุบัน การเชื่อมต่อเมืองใหญ่ในประเทศไทยนั้นวางอยู่บนการใช้ถนนและเครื่องบิน Low Cost เป็นส่วนใหญ่ “คนธรรมดา” จำนวนมากจึงต้องไปแออัดกันอยู่ในรถและสนามบิน
 
หากคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ”ยังมีจินตภาพ “คนธรรมดา” ของไทยว่ายังคงเป็นไพร่ฟ้าหน้าใสใช้ชีวิตกันอย่างพอเพียง ทางเราวิงวอนให้หันมาดูสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจว่า “คนธรรมดา” ในปัจจุบันนั้นมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นขนาดไหน
และมีศักยภาพที่จะใช้รถไฟความเร็วสูงในชีวิตประจำวันหรือไม่? (HINT: ลองไล่ดูการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ดูย้อนหลัง 10 ปีขึ้นมา)
 
อนาคตของ “คนธรรมดา” ในไทยที่จะเดินทางหรือส่งของ กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-อุดรฯ ได้ภายใน 3 ชั่วโมงครึ่ง กรุงเทพ-หาดใหญ่ภายใน 4 ชั่วโมงนั้น น่าจะเป็นอนาคตของประเทศด้วยศักยภาพที่จะเดินทางจากจังหวัดรอบข้างเพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ภายในหนึ่งชั่วโมงโดยแทนที่จะรถติดอยู่ในเมืองด้วยระยะเวลาเดียวกันนั้น น่าจะสามารถสร้างอนาคตใหม่ให้กับ “คนธรรมดา” จำนวนมหาศาล จะน่าเสียดายยิ่งถ้าอนาคตเหล่านี้จะถูกปฏิเสธไปในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 10 สายนั้นไม่มีใครตั้งคำถามอย่างจริงจังด้วยตรรกะเดียวกันว่า “คนธรรมดา” จะได้ใช้
หรือไม่? จะ “คุ้มทุน” หรือไม่?
 
ดังนั้น รถไฟความเร็วสูงในฐานะอนาคตของประเทศไทยจึงไม่ใช่แค่อนาคตของคนซื้อตั๋ว แต่อนาคตของเมืองและชุมชนต่าง ๆ ที่รถไฟความเร็วสูงตัดผ่านจะมีโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การท่องเที่ยว, การพัฒนาพื้นที่, ไปจนถึงธุรกิจท้องถิ่นที่อาจได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของคนและสิ่งของ รถไฟความเร็วสูงคืออนาคตของประเทศไทยจริง
 
 
 
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ก.ค. - 5 ส.ค. 2556

$
0
0

ตัวแทนแรงงานไม่เห็นด้วย รมว.แรงงาน นั่งควบ ปธ.บอร์ดประกันสังคม

30 ก.ค. 56 - คสรท. คัดค้าน รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ดประกันสังคม ยืนยันต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานอื่นเพื่อคานอำนาจ พ้อนายกรัฐมนตรีไม่เห็นความสำคัญของแรงงานไทย ส่งรัฐมนตรีมาทำงานไม่ตรงจุด ย้ำ 2 เดือน ไม่เห็นผลงานเตรียมยกระดับการชุมนุม
  
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ จัดเวทีเสวนา “กฎหมายประกันสังคม กับอนาคตผู้ประกันตน?” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยมีตัวแทนกลุ่มแรงงานจากหลากหลายพื้นที่ อาทิ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กลุ่มสหภาพแรงงานตะวันออก นักวิชาการ ร่วมงานเสวนาจำนวนมาก

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. กล่าวถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายประกันสังคม ที่ผ่านกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ว่าขณะนี้มีประเด็นที่ไม่เห็นด้วยอย่างมากคือ ประเด็นแก้องค์ประกอบกรรมการ-สิทธิประโยชน์ ด้วยการให้รัฐมนตรีแรงงานรับตำแหน่งประธานบริหารประกันสังคม จะถือเป็นการยึดอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ ง่ายต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ในเงินประกันสังคม หากประธานกรรมการเป็นรัฐมนตรีเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในการบริหารได้ เพราะรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะตัดสินบริหารนโยบายได้เอง และอาจใช้อำนาจหน้าที่ในการแทรกแซงการบริหาร จึงต้องการให้เปลี่ยนประธานกรรมการ ต้องการให้เป็นการสรรหามากกว่า โดยมาจากกระทรวงอื่นๆ หรือผู้ทรงคุณวุฒิน่าจะดีกว่ารัฐมนตรีแรงงาน เพราะต้องการหาคนมาคานอำนาจการดูแลสิทธิของแรงงานที่จ่ายค่าประกันสังคมกว่า 10 ล้านคน

ขณะเดียวกันประชาชนผู้ใช้แรงงานควรจะต้องเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการ ประกันสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้เหมือนโดนจำกัดสิทธิอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นการเลือกตั้งตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างควรจะเป็นรูปแบบ 1 คนต่อ 1 เสียง ไม่ใช่จำกัดสิทธิ 1 สหภาพต่อ 1 เสียง

นายชาลีกล่าวถึง รมว.แรงงานคนใหม่ว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นผลงานที่ได้กล่าวออกตามสื่อต่างๆ อาทิ โรงงานสีขาว การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการอยู่แล้ว มองว่า รมว.แรงงาน ยังทำงานไม่ถูกจุด และยังไม่ทำงานในส่วนที่เดือดร้อนตามความต้องการจริงๆ ของแรงงาน เช่น ปัญหาโรงงานที่กำลังปิดตัวลงผู้ใช้แรงงานมีแนวโน้มจะถูกเลิกจ้างอีกเป็น จำนวนมาก โดยที่ผ่านมาตนได้ทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบและทราบถึงนโยบายการทำงานของ รัฐมนตรีคนใหม่ แต่เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากรัฐมนตรีติดประชุม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตอบรับกลับมาว่าจะให้เข้าพบเมื่อไร ดังนั้น กลุ่มตัวแทนแรงงานจะขอดูผลงาน 2 เดือน หากยังไม่คืบหน้าก็จะรวมตัวเคลื่อนไหว

“รัฐมนตรีคนใหม่เหมือนถูกส่งลงมา ไม่ถูกจุด ตนคงจะไม่โทษในส่วนของ ร.ต.อ.เฉลิม ถ้าจะกล่าวโทษจะโทษนายกรัฐมนตรีที่ไม่เห็นความสำคัญของกระทรวงแรงงาน เหมือนดูถูกผู้ใช้แรงงานกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ ตอนนี้มีกระทรวงแรงงานก็เหมือนไม่มีเปลี่ยนเป็นกรมดีกว่า” นายชาลี กล่าว

(สำนักข่าวไทย, 30-7-2556)

 

กลุ่มแรงงานออกแถลงการณ์ค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล

30 ก.ค.-กลุ่มแรงงานออกแถลงการณ์ค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญหลายอย่างไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ ประกันตน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวแถลงการณ์กำหนดมาตรการผลักดันเพื่อไม่ให้รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ ออกมาบังคับใช้ เพราะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญหลายอย่างไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้ ประกันตน โดยกำหนดมาตรการเคลื่อนไหวดังนี้

1.จะยื่นหนังสือให้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญด้านสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เพื่อตรวจสอบที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน เข้าพิจารณาในสภา

2.จะยื่นหนังสือให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับภาคประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมืองภาคพลเมืองของประชาชนตามกฎหมายรัฐ ธรรมนูญ และ

3.จะนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับเข้าชื่อของภาคประชาชน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และหากระหว่างนี้มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับของรัฐบาล และ ส.ส.เรวัต อารีรอบ กับคณะ เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายภาคประชาชน จะไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อคัดค้านไม่ให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎร

(สำนักข่าวไทย, 30-7-2556)

 

บุรีรัมย์เตือนแรงงานถูกหลอกเชิดเงิน อ้างส่งไปทำงานญี่ปุ่น-อิสราเอล

จัดหางานบุรีรัมย์เตือนแรงงานระวังตกเป็นเหยื่อสายนายหน้าเถื่อน และแก๊งมิจฉาชีพ หลอกลวงเรียกรับเงินค่าหัวอ้างสามารถจัดส่งไปทำงานประเทศญี่ปุ่น และอิสราเอลที่กำลังเปิดรับสมัครได้ หากพบให้แจ้ง จนท.ตรวจจับดำเนินคดีตาม กม.ทันที

วันนี้ (30 ก.ค.) นายอนันต์ กลั่นขยัน จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งเตือนแรงงานและผู้ที่สนใจจะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ให้ระมัดระวังจะตกเป็นเหยื่อสายนายหน้าเถื่อน หรือกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสในช่วงที่รัฐบาลไทย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กับรัฐบาลญี่ปุ่น และรัฐบาลอิสราเอล ได้เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกงานด้านเทคนิค ในประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-6 ส.ค. 2556 และรับสมัครบุคคลเพื่อสุ่มคัดเลือกคนหางานไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ระหว่างวันที่ 1-9 สิงหาคม 2556 ที่จะถึงนี้

โดยกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวจะใช้ทั้งกลอุบาย เล่ห์เหลี่ยม หรือวิธีการต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อก่อนจะเรียกเงินค่าหัวในอัตราที่สูงตั้งแต่ รายละ 200,000-300,000 บาท โดยอ้างว่าจะสามารถจัดส่งหรือช่วยเหลือให้ผ่านการคัดเลือกไปทำงานที่ประเทศ ญี่ปุ่น และประเทศอิสราเอลที่กำลังเปิดรับสมัครได้ ซึ่งยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะโครงการดังกล่าวเป็นการจัดส่งระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อต้องการให้ผู้ที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศได้รับความเป็นธรรมด้านค่า ใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังป้องกันการถูกหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

“หากแรงงานรายใดพบเห็นสายนายหน้าเถื่อน หรือผู้ที่มีพฤติกรรมหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ถูกต้องให้แจ้ง เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ใกล้บ้าน เพื่อที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและดำเนินการเอาผิดต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าวตาม กฎหมาย ซึ่งจากสถิติทุกปีที่ผ่านมามีแรงงานตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวงไปขายแรงงานต่าง ประเทศหลายราย และสูญเงินไปรายละหลายแสนบาท” นายอนันต์กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30-7-2556)

 

ก.แรงงาน ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานเก็บค่าใช้จ่ายเกิน 6 บริษัท

31 ก.ค.-ก.แรงงาน ยกเลิกใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ 6 บริษัท โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เนื่องจากจัดเก็บค่าใช้จ่ายเกินกว่าอัตราที่กำหนด

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศรายงานว่า กรมการจัดหางานแจ้งว่านายทะเบียนจัดหางานกลางได้พิจารณายกเลิกใบอนุญาตจัดหา งานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 6 บริษัท โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย บริษัทจัดหางาน พี.อาร์.รีครูทเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัทจัดหางาน เอม อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส จำกัด, บริษัทจัดหางาน ดีไลท์ มาเนจเมนท์ จำกัด, บริษัทจัดหางาน สยาม แอดว๊านซ์ เซอร์วิชเซส จำกัด, บริษัทจัดหางาน นิวไทยชาญ เซอร์วิส จำกัด และบริษัทจัดหางาน เทวาสหพัฒน จำกัด รวมถึงสั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางาน ไทยโกลบอลเมริท จำกัด บริษัทจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากมีหลักฐานยืนยันว่าบริษัทได้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากคนหางานเป็น จำนวนเงิน 45,000-71,500 บาทต่อคน ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เกินกว่าอัตราที่กำหนด เป็นเวลา 120 วัน

นอกจากนี้ยังมีบริษัทจัดหางาน ซุปเปอร์จ๊อบ 1999 จำกัด สิ้นสภาพการเป็นบริษัทจัดหางานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 เพราะไม่ได้มีการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงาน ต่างประเทศตามกำหนด

ทั้งนี้ หากผู้ใดมีเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับบริษัทจัดหางานของทั้ง 6 บริษัทดังกล่าวสามารถแจ้งนายทะเบียนจัดหางานกลางให้ทราบภายใน 30 วัน เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และหากต้องการหางานสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือโทร.สายด่วน 1694

(สำนักข่าวไทย, 31-7-2556)

 

"เฉลิม" รับช่วยขยายโครงการโรงงานปลอดเหล้า

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.  นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยนายจ้างและกลุ่มสหภาพแรงงานกว่า 30 คน จากจ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และจ.นนทบุรีร่วมกันยื่นหนังสือให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบ การอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมขอให้กระทรวงแรงงานร่วมรณรงค์ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานงดเหล้าเข้าพรรษาใน ช่วง 3 เดือน

นายจะเด็จ กล่าวว่า แอลกอฮอล์เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับการทำงาน โดยจากข้อมูลปี 2553  พบว่าแรงงานกว่าร้อยละ  39.2 เสียค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1,000 บาท และแรงงานกว่าร้อยละ60 ยังสามารถหาซื้อเครื่องดื่มได้ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้มีกฎหมายบังคับห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถาน ประกอบการจึงอยากให้กระทรวงแรงงานขยายผลโครงการโรงงานปลอดเหล้าที่ปัจจุบัน มีการดำเนินโครงการในหลายจังหวัด เช่น สมุทรสาคร นนทบุรี  ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหายาเสพติดด้วย รวมทั้งรณรงค์ให้แรงงานงดเหล้าเข้าพรรษา นอกจากนี้อยากให้ร.ต.อ.เฉลิมเป็นต้นแบบของผู้ใช้แรงงานในการไม่ดื่มเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ยินดีที่จะเป็นต้นแบบให้แก่ผู้ใช้แรงงานในการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานแล้ว หากเป็นสมัยก่อนคงทำได้ลำบาก ขณะเดียวกันจะให้กระทรวงแรงงานรณรงค์ให้สถานประกอบการปลอดจากการขายและดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์   ทั้งนี้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ประชาชนต้องประสบ อุบัติเหตุจนบาดเจ็บ พิการ เสียชีวิตและเสียทรัพย์สิน ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาพยาบาลและดูแลเป็นจำนวนมากโดย เฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์.

(เดลินิวส์, 31-7-2556)

 

ขรก.ไทยรอบำนาญไร้แผนออม กบข.เผยปีเดียวใช้เงินก้อนหมด เตือนวางแผนลงทุนหลังเกษียณ

นางโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวในงานสัมมนา เรื่อง บี-ซีเนียร์ ชีวิตดีๆ ยามเกษียณ ที่จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด ว่า ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการวางแผนการเกษียณอายุน้อยมาก โดยเฉพาะข้าราชการที่หวังว่าจะเข้ามารับราชการและจะได้รับเงินบำนาญหลังจาก อายุ 60 ปี การรักษาพยาบาลหลังจากเกษียณอายุโดยหวังว่าจะมีความมั่นคง แต่แท้จริงแล้วอาจไม่มีความมั่นคงอย่างที่คิด โดยมีตัวอย่างในประเทศกลุ่มยุโรป ที่มีปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและรัฐบาลต้องตัดลดบำนาญไปมาก ทำให้เห็นถึงความไม่แน่นอน ซึ่งข้าราชการจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการเกษียณอายุมากขึ้น

นางโสภาวดีกล่าวว่า จากการสำรวจของ กบข.พบว่า ข้าราชการวัยเกษียณ มักจะใช้บำนาญที่ได้รับเป็นเงินก้อนที่ได้รับหลังจากการเกษียณอายุหมดภายใน 1 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้าราชการเหล่านี้ไม่มีความพร้อมและวางแผนที่จะเกษียณอายุ ดังนั้น ผู้ที่รับราชการจะต้องวางแผนการเกษียณอายุ และมีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีหลังเกษียณด้วย

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในส่วนพนักงานบริษัทเอกชนนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการรับมือแรงงานภาคเอกชนที่จะเกษียณ ซึ่งมีความแตกต่างจากข้าราชการอย่างมาก ทั้งที่ภาคเอกชนเป็นผู้เสียภาษีสูงมากแต่กลับได้แค่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาทเท่านั้น แม้บริษัทเอกชนจะเริ่มมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเก็บออมให้พนักงาน แต่หลายบริษัทไม่มีการตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลควรจะให้ความสำคัญในส่วนนี้มากขึ้น

นายสันติกล่าวว่า ขณะที่พนักงานเอกชนเอง ควรมีการวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ เช่น การลงทุนในตลาดทุน เพราะที่ผ่านมาตลาดทุนพิสูจน์แล้วว่า ให้ผลตอบแทนดีที่สุด รวมถึงกองทุนอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ซึ่งจะช่วยให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณได้

(ประชาชาติธุรกิจ, 1-8-2556)

 

พนง.มหาวิทยาลัยจี้ สธ. ตั้งกองทุนรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ นำตัวแทนกว่า 20 คน เข้าพบ นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อหารือถึงแนวทางการตั้งกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับพนักงานมหาวิทยาลัย เนื่องจากต้องการให้ได้สวัสดิการเหมือนกองทุนค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว หรือพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

รศ.วีรชัย เปิดเผยว่า เมื่อปี 2542 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ ส่งผลให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนต้องปรับเปลี่ยนสถานะตั้งแต่นั้น แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นข้าราชการเดิมและถูกปรับสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ก็ยังคงได้รับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเดิม เพียงแต่กลุ่มที่เป็นนักเรียนทุน ซึ่งต้องบรรจุใหม่จะไม่ได้สิทธิรักษาแบบข้าราชการ แต่จะเป็นสิทธิรักษาตามกองทุนประกันสังคม ซึ่งยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก

"จากข้อมูลบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (สกอ.) มีจำนวน 165,341 คน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ 16 แห่ง 63,415 คน มหาวิทยาลัยในกำกับ สกอ.14 แห่ง 59,848 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง 28,592 คน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง 13,486 คน ทั้งนี้ ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยมี 65,992 คน คิดเป็นร้อยละ 39.91 ของบุคลากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม หากเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ที่มีโรงเรียนแพทย์อยู่ในสังกัด มักไม่มีปัญหา เพราะใช้สิทธิรักษาได้ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยที่ไม่มีโรงเรียนแพทย์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 40 แห่ง จะมีปัญหา เพราะไม่ได้สิทธิรักษาแบบข้าราชการ" รศ.วีรชัยกล่าว และว่า เบื้องต้นมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดขอมีกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลเหมือนพนักงาน ส่วนท้องถิ่น หรือพนักงาน อปท. โดยมี สปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ ซึ่งจากการหารือกับ สธ. และ สปสช. เบื้องต้นจะตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนสำหรับ พนักงานมหาวิทยาลัย และในวันที่ 6 สิงหาคม จะขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พนักงานมหาวิทยาลัยจะให้ สปสช.บริหารและจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลขัดกับกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย หรือไม่ รศ.วีรชัยกล่าวว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้ปิดกั้น แต่ในส่วนของพนักงานมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะเข้าร่วมหรือไม่ต้องสอบถามอีกครั้ง

ด้าน นพ.วินัยกล่าวว่า ต้องมีการสอบถามพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศว่า มีผู้สนใจเข้ากองทุนมีจำนวนเท่าใด และเงินที่จะมาใช้ในกองทุนจะมาจากแหล่งใด

(มติชนออนไลน์, 1-8-2556)

 

วอน สปส.เพิ่มสิทธิ-รัฐจ่ายสมทบ 5%

น.ส.ธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เปิดเผยว่า กลุ่มได้สำรวจความคิดเห็นของแรงงานเกี่ยวกับการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของ ระบบประกันสังคม 6 กรณี โดยมีกลุ่มตัวอย่างใน จ.สมุทรปราการ สระบุรี ชลบุรี และระยอง รวมทั้งหมด 2,100 คน ช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2555 ซึ่งผลสำรวจสรุปว่า โดยภาพรวมผู้ประกันตนเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อย ละ 2.75 เพิ่มเป็นร้อยละ 5 เท่ากับนายจ้างและลูกจ้าง อยากให้สิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ เกิดขึ้นทันทีเมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ตายนอกจากนี้ อยากให้เพิ่มสิทธิกลไกคุ้มครอง มีกลไกการให้ความรู้แก่ผู้ประกันตนที่ไม่ใช้การอบรมแบบเดิม รวมทั้งกรณีพิเศษ เช่น กรณีพิพาทหรือหยุดงานเพราะมีเหตุวิกฤตให้คงสิทธิประกันสังคมไว้ และมีการแจ้งสิทธิประโยชน์ เช่น การคำนวณเงินชราภาพ เงินสะสมหรือดอกเบี้ยที่ประกาศแต่ละปี อยากให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระและให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการดูแลกองทุนประกันสังค มมากกว่าเดิม
       
น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า หากแยกเป็นรายสิทธิประโยชน์ได้แก่ 1.กรณีการรักษาพยาบาลต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับระบบสุขภาพอื่นๆ และการทำฟันต้องไม่กำหนดเพดานและเงื่อนไขให้เป็นไปตามความจำเป็นและบัตร รับรองสิทธิใบเดียวสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้กับโรงพยาบาลคู่สัญญาของ สปส.ทุกแห่ง รวมทั้งเพิ่มเวลาการให้บริการที่สอดคล้องกับชีวิตแรงงาน ทั้งนี้ ถ้า สปส.สามารถดำเนินการได้ อยากให้เก็บเงินสมทบในส่วนของการรักษาพยาบาลแต่ให้นำไปใช้เงินสมทบในส่วนนี้ ไปสมทบและเพิ่มสิทธิอื่นๆ 2.กรณีคลอดบุตรนั้น สปส.ควรจ่ายตามความจำเป็นและคงเงินการคลอดบุตรไว้ที่ 1.3 หมื่นบาท 3.กรณีสงเคราะห์บุตรให้เพิ่มวงเงินเป็น 3 พันบาทต่อเดือนจากปัจจุบันเดือนละ 400 บาทต่อคน โดยให้คราวละไม่เกิน 2 คน และให้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี ขยายอายุบุตรเป็น 12 ปี หรือ 16 ปี หรือ18 ปี ไม่จำกัดจำนวนบุตรที่รับสิทธิและสิทธิให้เกิดสิทธิตามจำนวนพ่อแม่โดยไม่ จำกัดแค่ให้พ่อหรือแม่เป็นผู้รับสิทธิ 4.กรณีตายขอให้เพิ่มเงินสงเคราะห์เป็น 1 แสนบาทยกเลิกเงื่อนไขส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีถึงเกิดสิทธิรับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 5.กรณีว่างงานขอให้ไม่นำเรื่องความผิดจากการถูกสถานประกอบการลงโทษมาเป็น เงื่อนไขจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ เปิดช่องทางรายงานตัวแบบใหม่โดยไม่ต้องให้ผู้ประกันตนมาแสดงตัวที่สำนักงาน สปส.จังหวัดและเมื่อส่งเงินสมทบ 1 เดือนก็ให้เกิดสิทธ์และ6.กรณีชราภาพขอให้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ไม่มีเพดานการจ่ายเงินสมทบ เงื่อนไขการรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญเป็นสิทธิของผู้ประกันตน หากผู้ประกันตนที่มีสิทธิรับเงินชราภาพเสียชีวิตก็ให้ขยายผู้รับประโยชน์ หรือเขียนพินัยกรรมให้ใครก็ได้ รวมทั้งการคำนวณบำนาญให้ใช้เงินเดือนในเดือนสุดท้ายโดยไม่ต้องคำนวณจาก 60 เดือนสุดท้าย และแก้ไขสูตรคำนวณ นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานต่างด้าวเมื่อครบกำหนดทำงานในไทยครบ 4 ปีต้องกลับประเทศควรจ่ายให้เป็นเงินบำเหน็จ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-8-2556)

 

ชี้แรงงานฝีมือ 3 จว.ใต้หายสิ้น

นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช ประธานคณะกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ สภาที่ปรึกษาบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจครัวเรือนของประชาชนในภาคใต้ยังมีกำลังซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะอ่อนตัวลงมากก็ตาม การลงทุนกันเองของคนในพื้นที่ขยายตัวได้ดี แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ที่สวนทางคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย ที่ดิน ราคาค่อนข้างดี เพราะมีการซื้อสะสม

ขณะเดียวกันด้านแรงงานค่อนข้างขาดแคลน เพราะแรงงานฝีมือหันเข้าภาครัฐสมัครเป็น อส. ทหารพรานและตำรวจกันมาก โดยผู้ที่สำเร็จปริญญาตรีได้หันไปเป็นลูกจ้างในโครงการของรัฐ เป็นบัณฑิตอาสาในโครงการต่างๆ ไม่ได้เกิดทักษะกับที่เรียนมาในสาขานั้น ส่วนวัยเข้าสู่แรงงานที่มีอยู่จำนวนมาก เมื่อไม่มีการลงทุนรายใหม่เกิดขึ้นมารองรับ จึงหันไปทำงานในประเทศมาเลเซียที่ได้อัตราค่าแรงที่สูงกว่า ซึ่งปัญหานี้จะต้องเร่งแก้ไข เพราะจะเกิดผลกระทบทางด้านนี้ในระยะยาวอีก 10-20 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน.

(โพสต์ทูเดย์, 1-8-2556)

 

นครปฐมเปิดคัดแรงงานภายใต้โครงการ "ความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ครั้งที่ 4"

นางศุภนา คุ้มวงศ์ดี จัดหางานจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสุ่มคัดเลือกให้ไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการ "ความร่วมมือ ไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน ครั้งที่ 4" โดยเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 9 ส.ค. นี้ มีคุณสมบัติดังนี้ 1.สัญชาติไทย กรณีผู้สมัครเป็นผู้ชายต้องพ้นภาระการรับราชการทหาร 2.อายุระหว่าง 23-39 ปี ผู้สมัครที่โครงการได้รับลงทะเบียนและบันทึกไว้ในฐานข้อมูลแล้ว จะมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของโครงการจนอายุครบ 41 ปีบริบูรณ์ 3.ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่เคยทำงานในประเทศอิสราเอล 4.คู่สมรส บุตร บิดา หรือมารดา ไม่พำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล 5.สุขภาพแข็งแรง พร้อมทำงานภาคเกษตร ไม่ตาบอดสี และไม่เป็นโรคติดต่อ ได้แก่ วัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบบี และซี โรคเอดส์ กามโรค ซิฟิลิส และโรคเบาหวาน

นางศุภนากล่าวต่อว่า แรงงานที่มีคุณสมบัติดังกล่าวที่สนใจจะไปทำงาน ขอให้ส่งหลักฐานการสมัคร ได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน เขตดินแดง กรุงเทพฯ หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม เลขที่ 898/7-9 ถ.เพชรเกษม ต.ห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครคัดเลือก หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือก รวมทั้งค่าตอบแทนที่จะได้รับจากการทำงาน สามารถดาวน์โหลดได้ทาง www.overseas. doe.go.th หรือสอบถามได้ที่ โทร.0-3425-0861-2 ต่อ 23

(ข่าวสด, 2-8-2556)

 

ชง ครม.เปิดทางลูกจ้างใช้บำเหน็จค้ำเงินกู้

รายงานข่าว จากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าในการประชุมครม.วันที่ 6 ส.ค.ทางกระทรวงการคลังจะเสนอเรื่อง ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะ รัฐมนตรีตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ให้เหตุผลเสนอเรื่องร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ให้ครม.พิจารณาว่า เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พ.ศ. 2519 แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2552 กำหนดให้ลูกจ้างประจำขอรับบำเหน็จรายเดือน หรือบำเหน็จพิเศษรายเดือนแล้วแต่กรณีได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเพื่อให้ผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือบำนาญพิเศษ รายเดือนดำรงชีพอยู่ได้โดยเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

การดำเนินการดังกล่าวสามารถช่วยเหลือลูกจ้างประจำ ผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือลูกจ้างประจำผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนได้เพียง บางส่วน เนื่องจากยังมีลูกจ้างประจำผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือลูกจ้างประจำผู้รับ บำเหน็จพิเศษรายเดือนจำนวนมาก ที่ได้รับบำเหน็จรายเดือนในอัตราต่ำ จึงมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ สมควรกำหนดให้ลูกจ้างประจำผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือลูกจ้างประจำ ผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือน สามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับสถาบันการ เงินได้ ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เป็นการเพิ่มเติมหมวด 3/3 การนำสิทธิในบำเหน็จตกทอด ไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน ดังนี้ 1. กำหนดกรณีผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนสามารถนำ สิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

2.กำหนดกรณีผู้รับบำเหน็จรายเดือน หรือผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือน ที่นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ในการประกันการกู้เงินถึงแก่ความ ตายหรือผิดสัญญากู้เงิน จนต้องบังคับเอาสิทธิในบำเหน็จตกทอด ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินให้แก่สถาบันการเงินเท่ากับจำนวนที่ถูกบังคับ แต่ไม่เกินจำนวนที่นำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ประกันการกู้เงิน ทั้งนี้ การจ่ายเงินให้สถาบันการเงินดังกล่าวให้กระทรวงการคลังจ่ายจากงบประมาณที่ ตั้งไว้สำหรับการเบิกจ่ายบำเหน็จตกทอด

3.กำหนดกรณีกระทรวงการคลัง ได้จ่ายเงินแก่สถาบันการเงิน เนื่องจากผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนถึงแก่ความ ตายหรือผิดสัญญาเงินกู้ ให้กระทรวงการคลัง หักจำนวนเงินนั้นออกจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดเท่ากับจำนวนที่จ่ายให้สถาบันการ เงิน หากกระทรวงการคลังไม่สามารถหักเงินจำนวนดังกล่าวจากสิทธิในบำเหน็จตกทอดได้ ให้กระทรวงการคลังเรียกเงินคืนจากผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือผู้รับบำเหน็จ พิเศษรายเดือนหรือจากกองมรดกของผู้นั้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด

4.กำหนดกรณีที่การกู้เงินตามสัญญากู้เงินสิ้นสุดลง โดยไม่มีการบังคับเอาสิทธิในบำเหน็จตกทอด เมื่อผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือบำเหน็จพิเศษรายเดือนถึงแก่ความตายทายาทมี สิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเต็มตามจำนวนที่มีสิทธิ แต่หากผู้รับบำเหน็จรายเดือนหรือผู้รับบำเหน็จพิเศษรายเดือนถึงแก่ความตาย ก่อนหรือสัญญากู้เงินสิ้นสุดลง แล้วมีการบังคับเอากับสิทธิในบำเหน็จตกทอด ทายาทมีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดเท่ากับจำนวนที่เหลือหลังจากที่กระทรวงการ คลังได้หักจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่สถาบันการเงินออกจากสิทธิในบำเหน็จตกทอด แล้ว

(กรุงเทพธุรกิจ, 2-8-2556)

 

หามาตรฐานกลางดูแล 'ความปลอดภัยในการทำงาน'

อาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการบริหารกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดอุบัติเหตุจากการทำงานอย่างยั่งยืนว่า กรมจะดูแลด้านความปลอดภัยในการทำงานของผู้ใช้แรงงาน ภายใต้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยไม่แยกว่า เป็นแรงงานประเภทไหน รวมถึงต่างด้าวด้วย โดยเฉพาะอีก 2 ปีข้างหน้า ที่จะเข้าสู่การเปิดเสรีการค้าอาเซียน (เออีซี) กรมต้องเตรียมความพร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงทางด้านแรงงานด้วย
              
"ประเทศไทยประชุมหารือร่วมกับประเทศในกลุ่มเออีซี เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องแรงงาน ซึ่งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา กรมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือร่วมกันด้านแรงงาน ซึ่งมีการประชุมทุกปี และเชิญ 3 ประเทศที่มีความพร้อมทางด้านความปลอดภัยในการทำงาน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี มาเป็นผู้สังเกตการณ์ ปีนี้ประเทศไทยรับผิดชอบด้านสื่อประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากนี้ไทยได้เสนอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนจัดกิจกรรมเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ เข้ากับการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน หรือ บาลานซ์สกอร์การ์ด ให้เป็นรูปธรรมด้วย"
              
การทำบาลานซ์สกอร์การ์ด คือ การหาข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน เช่น กำหนดตัวเลขอันตรายจากการทำงาน เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากมีการไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียน จะได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีประเทศไทยเป็นผู้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ที่จำเป็นในเรื่องการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน เช่น จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน การหยุดงานที่เกิดจากการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น จากนั้นจะนำไปหารือร่วมกันเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจนอีกครั้ง
              
ทางด้านสวัสดิการของแรงงาน ณ ปัจจุบัน มีสถานประกอบการประมาณ 4 แสนกว่าแห่ง มีลูกจ้างคนไทยประมาณ 10 ล้านกว่าคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ 2 ล้านคน มีเจ้าหน้าที่ตรวจความปลอดภัยในการทำงานประมาณ 200 คนทั่วประเทศ แต่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน กรมได้ทำเรื่องขออัตรากำลังคนอีก 300 คน เสนอไปยังรัฐบาล อยู่ระหว่างการพิจารณา เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมทั่วไปในสถานที่ ประกอบการที่ไม่ปลอดภัยในการทำงาน ความไม่เข้าใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอธิบาย ไปชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน
              
สำหรับ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อธิบดีกรมส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ยังต้องมีการพิจารณายกร่างอีกหลายฉบับหลายเรื่อง เช่น การทำงานก่อสร้าง การทำงานที่เสี่ยงอันตราย เพื่อให้ออกเป็นกฎหมายลูกที่สมบูรณ์ มีบทลงโทษสูงสุดสำหรับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท มีการแบ่งนายจ้างออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในการทำงาานมากที่สุด กลุ่มสถานประกอบการระดับกลาง ที่มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงานไม่มากนัก ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ด้านกฎหมายเพิ่มเติม และกลุ่มที่ทำความผิดด้านความปลอดภัยในการทำงานบ่อยครั้ง กลุ่มนี้ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ตักเตือนอย่างเข้มงวด และให้ความรู้การบังคับใช้ข้อกฎหมายอย่างจริงจัง หรือเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เช่น สถานประกอบการที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ
              
"การเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มีการเข้มงวดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ปีนี้มีการดำเนินการปรับนายจ้างที่ไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ.2554 ไปแล้ว จำนวน 240 ราย เป็นเงินค่าปรับประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานเน้นย้ำอย่างมาก นายจ้างส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจทำผิดกฎหมาย แต่อาจจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเหล่านี้น้อยไป จึงต้องให้เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยในการทำงานลงไปตรวจสอบ และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่นายจ้าง"
              
อธิบดีอาทิตย์ ยกตัวอย่างมาตราสำคัญใน พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ให้ฟังว่า มาตรา 24 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 8 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน รวมทั้งชุดจำนวน 29 คน ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีลงมา เช่น ให้คำปรึกษาการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในที่สูง มีความเสี่ยงสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลด้านความปลอดภัยในแต่ละจังหวัด และนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อหามาตรการดูแลความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน
              
ส่วน มาตรา 14 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน และแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคน ก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน มาตรานี้ถือเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องใส่ใจลูกจ้าง ต้องเน้นถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน หรือจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายในการทำงานให้แก่ลูกจ้างสวมใส่ขณะทำงาน ขั้นตอนการทำงาน การย้ายสถานที่ทำงานของลูกจ้าง เป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบจนกระจ่างทุกครั้ง เช่น ช่างซ่อมบำรุง ช่างก่อสร้าง ส่วนงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรอันตราย เป็นต้น
              
อีกมาตราที่มีความสำคัญ คือ มาตรา 16 ให้นายจ้างจัดให้ผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างน้อย 12 ชั่วโมง เพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย ในกรณีที่นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน เป็นหลักสูตร 1-2 วัน แล้วแต่ความเหมาะสม
              
ทำงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร และให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร แจ้งเป็นหนังสือต่อนายจ้างโดยไม่ชักช้า
              
อธิบดีกรมส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน กรมตั้งเป้าการลดจำนวนอุบัติเหตุจากการทำงานว่า ตั้งเป้าไว้ที่จะลดลงปีละประมาณ 2% เพราะถือเป็นตัวชี้วัดในการทำงานของกรมตัวหนึ่ง นอกจากนี้ยังมี กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกองทุน ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมความปอลดภัยของลูกจ้าง และโครงการสนับสนุนกิจกรรมของนายจ้าง เพื่อให้นายจ้างกู้เงินไปปรับปรุงการทำงานให้ปลอดภัย โดยกองทุนนี้รัฐบาลมอบเงินให้ 80 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งมาจากกองทุนประกันสังคม และอีกส่วนหนึ่งมาจากค่าปรับสถานประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย
               
"ขอฝากถึงผู้ใช้แรงงานด้วยว่า หากพบว่าสถานประกอบการใดไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน หรือเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย ให้แจ้งไปทำกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สายด่วนผู้ใช้แรงงาน 1546 ทางกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความปลอดภัยในการทำงานทันที"

(คมชัดลึก, 4-8-2556)

 

ตั้งเป้าดึงผู้พิการเข้า รร. 1 ล้านคน คุยผู้ประกอบการรับแรงงานพิการเข้าทำงาน

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยภายหลังประชุมหารือกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาพิเศษ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รมว.ศธ.ได้เรียกองค์กรหลักทั้ง 5 แท่ง มาหารือเพื่อกำหนดรายละเอียดการจัดการศึกษาพิเศษให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมอบการบ้านให้ทุกองค์กรหลักกลับไปหาแนวทางคือ 1.ทำอย่างไรถึงจะผลิตครูสายการศึกษาพิเศษให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน และเพียงพอต่อความต้องการที่แท้จริง 2.ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้พิการมีอาชีพที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอิสระ หรือการทำงานในสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ 3.ทำอย่างไรให้ผู้พิการวัยเรียนทั่วประเทศที่มีอยู่เกือบ 1 ล้านคน แต่เข้ารับการศึกษาแค่ 340,000 คน โดยเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ได้มีโอกาสได้เรียนมากขึ้น และ 4.ทำอย่าง ไรให้ผู้พิการที่ไม่ได้อยู่ในวัยเรียนได้รับการส่ง เสริมให้ประกอบอาชีพได้

เบื้องต้นในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอในที่ประชุมว่าจะประสานกับสถานประกอบการรายใหญ่ที่มีพนักงานเกิน 100 คน เพื่อส่งเสริมให้รับผู้พิการเข้าไปทำงาน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่การบีบสถานประกอบการ เนื่องจาก กม.แรงงานกำหนดให้สถานประกอบการที่มีคนงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมีสัดส่วนพนักงานที่เป็นผู้พิการ 100:1 หากไม่มีต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี ส่วนผู้พิการที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเอง สอศ.จะส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่เป็นแกนหลัก จะจัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในวันที่ 19 ส.ค.นี้.

(ไทยโพสต์, 5-8-2555)

 

สภาอุตฯเผยใน 5 ปีต้องการแรงงานอีกเกือบ 7 แสน

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(กช.) ได้หารือร่วมกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของ ประเทศ ซึ่ง ส.อ.ท.ได้ให้ข้อมูลความต้องการแรงงานใน 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ช่วง 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2556-2560) ประกอบด้วยกลุ่มพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กลุ่มเซรามิก และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ว่า ในปีนี้มีจำนวนแรงงานใน 14 กลุ่มดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 3,399,922 คน แต่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 681,836 คน ในจำนวนนี้เป็นความต้องการของแรงงานที่จบไม่เกิน ม.6 จำนวน 395,772 คน หรือ ร้อยละ 11.64 รองลงมาคือ ระดับ ปวช./ปวส. 199,395 คน คิดเป็นร้อยละ 5.86 และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 86,669 คน คิดเป็นร้อยละ 2.55

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า เมื่อแยกเป็นรายสาขา พบว่า ระดับอาชีวศึกษา สาขาที่เป็นความต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ช่างกลโรงงาน 50% ช่างเชื่อม 20% และสาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์ และแม่พิมพ์ สาขาละ 10%  ส่วนระดับอุดมศึกษา สาขาที่เป็นความต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ วิศวกรรม 70% การตลาด และคอมพิวเตอร์ 20% บัญชีการเงิน กฎหมายและธุรการทั่วไป 10% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจำเป็นที่ผู้ผลิตกำลังคนของภาครัฐ เช่น  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต้องมาวางแผนทำงานร่วมกับภาคเอกชนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งควรทบทวนกฎระเบียบกติกาต่างๆ ให้ผ่อนคลายลง เพื่อเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาให้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานใน 5 ปีข้างหน้าให้ได้มากที่สุด

“ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ด้านการจัดทำหลักสูตร การฝึกอบรมและพัฒนา จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศ ให้มาร่วมกันกำหนดหลักสูตร คุณลักษณะ สมรรถนะหลัก และมาตรฐานฝีมือของแรงงานที่ต้องการในสาขาต่างๆ  รวมถึงสร้างเครือข่าย เพื่อให้บริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมทำงานด้วยกันมากขึ้น จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Workshop เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของ ประเทศร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเน้นให้สังคมตื่นตัวและเห็นความสำคัญของการเรียนสายอาชีพในอนาคต ที่จบแล้วมีงาน มีรายได้สูง โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครอง ซึ่งจะส่งผลต่อสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรง งานได้”นายจาตุรนต์กล่าว

(เดลินิวส์, 5-8-2556)

 

ม็อบลูกจ้างบุก สธ.ขอเพิ่มค่าจ้าง หลังถูกจ่อปรับเป็น พนง.แล้วเงินเดือนลด

วันนี้ (5 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ประมาณ 200 คน รวมตัวประท้วงที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดย นายโอสถ สุวรรณ์เศวต รองประธาน สสลท.กล่าวว่า สมาพันธ์ฯขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งแก้ปัญหาลูกจ้างชั่วคราว สธ.4 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับค่าจ้างต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างปัจจุบันและบวกค่าประสบการณ์ตามอายุ การทำงาน 2.ผู้ที่ทำงานมาก่อนจะมีระเบียบว่าด้วยพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) บังคับใช้ต้องมีการคุ้มครองเฉพาะ เช่น กรณีพนักงานคอมพิวเตอร์ ที่ไม่ได้จบมาตรงสายก็ต้องได้รับการคุ้มครอง 3.เพิ่มกรรมการบริหาร พกส.จาก 12 คน เป็น 15 คน และต้องมีฝ่ายลูกจ้างเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการด้วยจำนวน 7 คน โดยต้องเป็นคนที่ สสลท.เป็นผู้สรรหา และ 4.ลูกจ้างชั่วคราวทุกคนต้องได้ปรับเป็น พกส.ทั้งนี้ หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้องก็จะไม่เลิกชุมนุมและจะมีคนเดินทางมาร่วมชุมนุม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 10.00 น. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังหารือร่วมกับตัวแทน สสลท.ว่า การหารือเป็นไปด้วยดีและและมีข้อสรุปร่วมกันว่า สธ.จะดำเนินการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวในสังกัด สธ.ให้เป็น พกส.ควบคู่กับการขอรับการบรรจุเป็นข้าราชการ ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนด ในการขอตำแหน่งข้าราชการเพิ่ม และจะพยายามบรรจุลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด 128 สายงาน ให้เป็น พกส.ให้เสร็จภายในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดยอมสลายการชุมนุม
      
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สธ.รับรู้มาโดยตลอด แต่เรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา และถ้า สธ.จะทำทุกเรื่องทั้งที่บางเรื่องยังไม่ชัดเจนก็จะทำให้คนส่วนใหญ่เสียโอกาส เพราะฉะนั้นจึงมีการตกลงกันว่าจะมีการแก้ไขโดยค่อยๆ แก้ไขที่ละเรื่อง ซึ่งในการบรรจุเป็น พกส.ก็มีคณะกรรมการที่คอยดูแลอยู่แล้วนั้น แต่ในเมื่อมีการเรียกร้องว่าค่าตอบแทนลดลงกว่าเดิม ทาง สธ.ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นอีกชุด โดยจะให้มีตัวแทนของ พกส.เข้ามาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้ ซี่งจะมาคอยดูแลในเรื่องของมาตรการเยียวยาโดยเฉพาะ เพื่อให้แล้วเสร็จภายใน ก.ย.นี้ และให้สามารถเดินหน้าเข้าสู่ตำแหน่ง พกส.ใน 1 ต.ค.
      
“หากลูกจ้างชั่วคราวคนใดไม่มั่นใจที่จะเข้าสู่ตำแหน่ง พกส.ก็สามารถเลือกดำรงสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราวไปก่อนได้ โดยได้รับสิทธิเดิม อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการเรียกร้องพร้อมกล่าวว่าผมรับปากเรื่องค่าตอบแทน อยากให้มองว่าการรับปากก็ต้องมีการกลับไปคิดทบทวนต่อด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต แต่ สธ.ก็เชื่อว่าถ้าได้รับผลกระทบก็จะต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอยู่แล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า สำหรับกรณีการขอเพิ่มค่าตอบแทน สธ.ต้องไปดูเรื่องระเบียบกระทรวงการคลังด้วย เนื่องจากหากผิดระเบียบของกระทรวงการคลังก็คงทำไม่ได้ แต่ก็ต้องหาวิธีเยียวยารูปแบบอื่น เช่น การให้ค่าครองชีพเฉพาะกาล แต่ตรงนี้ก็ต้องมีการมาหารือกันอีกครั้ง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-8-2556)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาสังคมจี้ประเด็นปตท.ต้องตอบสาธารณะ

$
0
0

องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม 25 องค์กร แถลงปตท. ต้องแสดงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานต่อสาธารณะ ทั้งปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล การตอบสนองภาวะฉุกเฉิน การใช้สารเคมี 

 
5 ส.ค. 56 - องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม 25 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตอบคำถามในประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่ระยอง โดยเฉพาะปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล สาเหตุและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน เป็นต้น
 
0000
 
“คำถามที่ พีทีที โกลบอล เคมิคอล ต้องตอบต่อสาธารณะ:
กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลระยอง”
 
5 สิงหาคม 2556
 
จากกรณีน้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีซีจี รั่วไหลลงสู่ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยอง ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2556 และในวันนี้ (5 สิงหาคม 2556) ซึ่งคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อซักถามฝ่ายจัดการของพีทีทีซีจีถึงกรณีดังกล่าว
 
องค์กรภาคประชาสังคมที่ลงนามท้ายแถลงการณ์นี้มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความไม่ชัดเจนของข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงขอเรียกร้องให้ พีทีทีจีซี ตอบคำถามในประเด็นต่อไปนี้ด้วยข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานต่อสาธารณะ โดยด่วนที่สุด
 
ประเด็นปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล
1. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่รั่วไหลเท่ากับเท่าไหร่ (แสดงหลักฐาน)
2. ปริมาณที่แท้จริงน้ำมันดิบที่คงเหลือในเรือ (แสดงหลักฐาน)
3. เหตุใดน้ำมันดิบจึงเข้าสู่อ่าวพร้าว (อธิบายโดยละเอียด)
4. น้ำมันดิบทั้งหมดที่รั่วไหล ได้ถูกกำจัดและแพร่กระจายไปยังที่ใดบ้าง เป็นปริมาณเท่าใด อาทิ ปริมาณที่ถูกกำจัดโดยการโปรยสารเคมี ปริมาณที่เก็บกู้ได้ ปริมาณที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น (แสดงหลักฐานและอธิบายโดยละเอียด)
 
ประเด็นสาเหตุและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน
5. ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลทั้งหมดกี่ครั้ง มีการจัดการอย่างไร
6. การรั่วไหลในครั้งนี้มีสาเหตุจากอะไร เช่น เป็นอุบัติเหตุ หรือเกิดจากอุปกรณ์เสื่อมคุณภาพ
7. ระบบการควบคุมการปิดวาว์ลแบบอัตโนมัติเป็นอย่างไร วาล์วถูกปิดหลังจากการรั่วไหลเป็นเวลานานเท่าใด
8. นับแต่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ตลอดปฏิบัติการ ทั้งในทะเลและบนฝั่ง ได้มีการดำเนินการแต่ละขั้นตอนอย่างไรบ้าง เมื่อใด ใครเป็นผู้ควบคุม/สั่งการ
9. ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนการจัดการอุบัติภัยหรือไม่ และเคยมีการซักซ้อมหรือไม่ อย่างไร เหตุใดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการอุบัติภัยของบริษัทจึงมีน้อยมาก
10. เหตุใดจึงต้องใช้บุคลากรจากหน่วยงานนอกเครือ ปตท. (เช่น กองทัพเรือ จิตอาสา) เข้าไปปฏิบัติการแทน เจ้าหน้าที่ของบริษัทเอง ที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงในการรับมือต่อเหตุ
11. บุคลากรจากภายนอกมทั้งหมดได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการรับมือต่อเหตุ และการจัดการสารอันตรายหรือไม่ อย่างไร และได้รับการควบคุมดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงานมากน้อยเพียงใด
12. ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในปฏิบัติการนี้ (รวมถึงการยืมตัวบุคลากรจากหน่วยงานราชการต่างๆ)
13. บริษัทต้องเปิดเผยและชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามมาตรการลดและขจัดมลพิษจากการรั่วไหลของน้ำมันที่ระบุไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการ หรือไม่
 
ประเด็นขั้นตอนการระงับเหตุก่อนนำไปสู่การตัดสินใจใช้สารเคมี
 
14. เหตุใดจึงใช้ทุ่นขนาดสั้น (120 เมตร) เพื่อบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันก่อนใช้สารเคมีโปรยเท่านั้น – เหตุใดจึงไม่มีการใช้ทุ่น “ขนาดยาว” ล้อมคราบน้ำมันที่รั่วไหลเพื่อ “ดูดกลับ” (ดังตัวอย่างการซ้อมรับมือเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลอลาสก้า ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีมาทำลายสิ่งแวดล้อม)
15. การกำจัดคราบน้ำมันโดยการใช้สารเคมี เป็นวิธีที่ควรใช้เป็นขั้นตอนสุดท้ายเมื่อไม่มีแนวทางอื่นที่เหมาะสมกว่าเท่านั้น – บริษัทควรชี้แจงเหตุผลและที่มาของการตัดสินใจลัดขั้นตอนโดยใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มต้น และใช้ในปริมาณที่มากถึง 32,000 ลิตร
 
ประเด็นสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน
16. การขออนุญาตใช้สารเคมีจำนวน 25,000 ลิตร จากกรมควบคุมมลพิษ มีการคำนวณหรือประมาณการณ์อย่างไร
17. ปริมาณสารเคมีที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้คือ 5,000 ลิตร แต่ระบุว่าใช้ไปทั้งหมด 32,000 ลิตร – เหตุใดจึงมีการใช้โดยไม่มีการขออนุญาต
18. สารเคมีทั้งหมดที่ใช้มีกี่ชนิด มีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละชนิดมีปริมาณเท่าใด ได้มาจากแหล่งใดบ้าง – (แสดงหลักฐานการได้มา ทั้งใบเสร็จและใบยืม)
19. ขั้นตอนการใช้สารเคมีทั้งหมด อาทิ วันและช่วงเวลาที่โปรย สถานที่โปรย ลักษณะวิธีการโปรยเป็นอย่างไร
20. ต้องแสดงข้อมูลความเป็นพิษและความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้ และผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
21. น้ำมันที่เก็บกวาดไปจากอ่าวพร้าว ซึ่งแจ้งว่าถูกนำไปจัดการที่มาบตาพุด ต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าจะนำไปกำจัดที่ไหนและอย่างไรบ้าง
 
การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงในรายละเอียดดังกล่าวข้างต้น เป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม และมีความสำคัญยิ่งต่อการหาสาเหตุการปนเปื้อนที่แท้จริง การประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในระยะยาว การเยียวยาความเสียหายที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงมาตรการป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
 
 
ลงชื่อ
1. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
2. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
3. กรีนพีซเอเชีตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia)
4. คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม
5. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 
6. สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
7. กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
8. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
9. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
10. เครือข่ายแรงงานนอกระบบ
11. เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
12. เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
13. มูลนิธิพัฒนาอีสาน
14. เครือข่ายผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี
15. สมาคมผู้บริโภคสงขลา 
16. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้
17. ศูนย์สร้างจิตสำนีกนิเวศวิทยา (สจน.)
18. สหพันธุองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก
19. สมาคมรักษ์ทะเลไทย
20. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
21. มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
22. คณะกรรมการบริหารสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.)
23. มูลนิธิอันดามัน
24. เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม (Civil Society Planning Network)
25. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สันติภาพของยะโก๊ป หร่ายมณี

$
0
0

มุมมองต่อความขัดแย้งและข้อเสนอสุดท้ายของ อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานีก่อนที่จะถูกสังหารใจกลางเมืองปัตตานีในเวลาต่อมา


ยะโก๊ป หร่ายมณี กับมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่ตระหง่านอยู่ด้านหลัง
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา โดย แวลีเมาะ ปูซู ได้สัมภาษณ์ ยะโก๊ป หร่ายมณี โต๊ะอีหม่าม มัสยิดกลางปัตตานี ในประเด็นสันติภาพและศาสนาโดยเผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.isranews.org เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม 2556 และต่อมาในวันที่  5 สิงหาคม 2556 เวลา 16.35 น. ยะโก๊ป หร่ายมณี ได้ถูกผู้ก่อเหตุสองคนสังหารด้วยอาวุธปืน ย่านชุมชน ใจกลางเมืองปัตตานี
 
ข้อความดังต่อไปนี้เป็นทัศนะและข้อเสนอด้านสันติภาพของผู้นำทางศาสนที่ได้จบชีวิตลงด้วยความรุนแรง
 
*****************************************************************
 
@ รอมฎอนกับการเจรจาสันติภาพ การหยุดความรุนแรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีหรือไม่?
 
          ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกฝ่ายจะสงบ แต่ตามหลักของศาสนาอิสลาม ใครก็ตามที่เป็นอิสลามแล้ว ด้วยจิตสำนึกและวิญญาณความเป็นมุสลิมเต็มร้อย ต้องหยุดหมดโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปต่อรอง เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่พระเจ้าทรงให้ความโปรดปรานกับมนุษย์ ผมพูดตามหลักศาสนา แต่ใครจะไปพูดคุยให้เกิดความสงบสุขก็เป็นการดี แต่ด้วยจิตสำนึกความเป็นอิสลามที่แท้จริงเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าลืมว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความประเสริฐ เป็นเดือนที่ทำความดี ฉะนั้นเรื่องที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปทำ การคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพในเดือนรอมฎอนถือเป็นเรื่องดี ขอสนับสนุนให้เกิดการพูดคุย
 
@ มีความเห็นอย่างไรบ้างกับข้อเรียกร้องแต่ละข้อของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ และรัฐเองควรมีท่าทีอย่างไรเพื่อนำไปสู่การพูดคุยและสันติสุข?
 
          จริงๆ ในส่วนของรัฐเอง ผมว่าน่าจะเอาคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงไปคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ประเภทต่อรองกันได้แล้วจบ ไม่ใช่พูดเสร็จแล้วกลับมาถามพี่น้องประชาชนอีก แต่ทุกอย่างต้องจบบนโต๊ะ ถือเป็นการให้เกียติรซึ่งกันและกัน
 
          ข้อเสนอบางข้อ (เงื่อนไขแลกยุติเหตุรุนแรงของบีอาร์เอ็น มี 7-8 ข้อ) อย่างกรณีให้อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กระทำละหมาด คนเหล่านี้ก็ละหมาดเป็นปกติอยู่แล้ว หรือไม่ให้ขายเหล้า ถ้ามุสลิมขายเหล้าก็หะรอมอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมกระทำได้ เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลาย คนพุทธห้ามขายหมูมันไม่ใช่ เราต้องเข้าใจว่าอัตลักษณ์ของศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาของเขาก็ของเขา ของเราก็ของเรา ในเรื่องวิถีชีวิต สังคม เราอยู่ร่วมกันได้ อันไหนที่ทำได้ก็ทำ อันไหนที่ขัดกับระบบอิสลามกำหนดก็มาว่ากันไป
 
@ อิหม่ามเห็นด้วยกับการเจรจาหรือไม่?
 
          เห็นด้วย นั่นคือการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ศาสนาอิสลามเน้นย้ำเรื่องการพูดคุย ตักเตือนซึ่งกันและกัน ศาสดามูฮำหมัดไม่เคยไปรุกรานใคร การใช้กำลังถือเป็นเรื่องสุดท้าย ผมจึงบอกว่าไปศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามให้ดี อิสลามสอนอะไรกับเรา
 
@ คิดว่าบีอาร์เอ็นสามารถคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้จริงหรือไม่?
 
          ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายมิติ และมีหลายกลุ่มเกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มอาร์เคเค เป็นต้น ถามว่าคนที่มีผลประโยชน์แต่ไม่มีอักษรย่อ พวกเรารู้จักหรือไม่ เขาจะยอมหรือเปล่าในเมื่อมีผลตอบแทนมหาศาล บางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็เข้าไปมีส่วนเสียเอง ตราบใดที่น้ำข้างบนขุ่น สกปรก กรองมากี่ชั้น เมื่อลงมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงขุ่นอยู่วันยังค่ำ
 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 
 

หมายเหตุ: อ่านทัศนะของ ยะโก๊ป หร่ายมณี ในด้านศาสนาวัฒนธรรมเพิ่มเติมได้ที่ http://www.isranews.org
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปสช. เตรียมยุทธศาสตร์ดูแลผู้สูงอายุระยะยาว

$
0
0

มติบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุ ตั้งเป้าทุกชุมชน/สถานพยาบาลมีระบบรองรับเตรียมเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบก่อนเดินหน้าปี 57

 
มติบอร์ดสปสช.เห็นชอบยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว แจงสัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้น ต้องมีการจัดระบบการดูแลที่เหมาะสม ตั้งเป้าผู้สูงอายุได้รับการดูแลในชุมชน สถานพยาบาลมีระบบรองรับ  ท้องถิ่นมีหน้าที่จัดระบบในชุมชน ภาครัฐสนับสนุน เตรียมเดินหน้าปี 57 ทั้งจัดชุดสิทธิประโยชน์ พัฒนาบุคลากร และงบประมาณ คาดใช้งบพัฒนาระบบบริการ 2,109 ล้านบาท และพัฒนาระบบตามยุทธศาสตร์ 2,701 ล้านบาท เตรียมเสนอครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป
 
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่อง แผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 
 
นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง กล่าวว่า จากสถานการณ์ของไทยที่สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 12.2 ในปี 2554 อาจะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 และ 24 ของประชากรรวมในอีก 10 ปีและ 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทั้งระดับรายได้ต่อหัวที่จะลดลง การออมลดลงจากภาระการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการลงทุนของภาครัฐเพื่อจัดบริการด้านสังคมให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯได้จัดทำยุทธศาสตร์ระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีเป้าประสงค์ คือ บุคคล ครอบครัวและชุมชน ได้รับการสนับสนุนให้มีขีดความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีในครอบครัวและชุมชน โดยเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพและบริการทางสังคม อย่างมีประสิทธิภาพ
 
“เป้าหมาย ผู้สูงอายุทุกคน ได้รับการคัดกรอง และมีระบบส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูและการดูแลระยะยาวในชุมชน มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลครบวงจร ทุกชุมชนมีระบบสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ ให้อยู่ในครอบครัวได้อย่างมีความสุข เช่นมี nursing home สถานพยาบาลทุกแห่งมีระบบสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและครอบครัว ท้องถิ่นมีหน้าที่จัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนมีระบบข้อมูล ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานของท้องถิ่น มีกองทุนในระดับท้องถิ่นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ โดยบูรณาการแหล่งเงินต่างๆ ที่ลงไปในชุมชน”
 
นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการคือ การคัดกรองผู้สูงอายุ และพัฒนาฐานข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชน การพัฒนาระบบบริการดูแลระยะยาวในชุมชนเพื่อการส่งเสริมป้องกัน การพัฒนาระบบการเงินการคลัง และ ชุดสิทธิประโยชน์ การพัฒนากำลังคนเพื่อการจัดบริการดูแลระยะยาวในชุมชน การสร้าง การจัดการความรู้ และการติดตามประเมินผล การพัฒนากฎหมาย/ระเบียบ/ มาตรฐาน และการบริหารจัดการ งบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้ เริ่มจากในปี 2557 งบพัฒนาระบบตามยุทธศาสตร์ 2,701 ล้านบาท และงบบริการดูแลระยะยาว 2,109 ล้านบาท
 
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและได้มอบสปสช.และอปท. ดำเนินการโดยใช้งบค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มผู้สูงอายุและงบกองทุนท้องถิ่น ในการตรวจคัดกรองและทำทะเบียนเพื่อจัดกลุ่มผู้สูงอายุตามระดับการพึ่งพิง ตลอดจนจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันภาวะทุพลภาพ ขณะเดียวกันเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบบริการตามแผนยุทธศาสตร์ จัดให้มีแหล่งการคลังสำหรับจัดบริการดูแลระยะยาวที่ยั่งยืน และมอบหมายหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผอ.ซีป้าแนะ รบ.หยุดเอาผิดคนโพสต์ข่าวลือปฏิวัติ

$
0
0

ปธ.สภาการ นสพ. แนะ 'เสริมสุข' ปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ยืนยันเสรีภาพสื่อ ส่วนเครือข่ายพลเมืองเน็ต ย้ำ แชร์-ไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม ด้าน 'ธิดา' ฟ้องแกนนำกลุ่มกองทัพปชช.โค่นทักษิณด้วยพ.ร.บ.คอม-ม.112

(5 ส.ค.56) พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) นำรายชื่อ 4 บุคคล ที่เป็นผู้โพสต์ข้อความในลักษณะจะมีการปฏิวัติรัฐประหารและขอให้ประชาชนกักตุนน้ำและอาหารให้พร้อม  ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก มาเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยรายชื่อ ประกอบไปด้วย

1.นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
2.นางสาววารุณี คำดวงศรี ใช้นามแผง warunee khamduangsri
3.Yo onsine เคยร่วมงานทำรายการ แดดร่มชมตลาด
4.นายเดชา ธีรพิริยะ แกนนำ นปช.ชลบุรี นามแฝง ปุ๊ชลบุรี นักสู้ธุลีดิน

พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ บุคคลทั้ง 4 เป็นผู้โพสข้อความด้วยตนเองและในวันนี้จะออกหมายเรียก ทั้ง 4 คน มาสอบสวน หากพบว่ากระทำผิดจริงทางพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหา ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องระวางโทษไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000บาท และความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 116 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่กฏหมายแผ่นดิน เกิดความปั่นป่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร

นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบว่า มีผู้ใช้นามแผงว่า เดอะ เลดี้  และคณะเสนาธิการร่วม ได้โพสข้อความดังกล่าวและอยู่ระหว่างพิสูจน์ตัวบุคคล พร้อมฝากเตือนไปยังประชาชนห้ามโพส กดไลค์ หรือส่งต่อข้อความที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะถือผู้ว่าเป็นผู้กระทำผิดร่วม

วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เปิดเผยว่า ทาง ศอ.รส.ได้รับรายงานจาก พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่โพสต์ หรือส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จ หรืออันจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน หรือน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพสื่อ แนะรัฐหยุดเอาผิดคนใช้เน็ต
กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน ผู้อำนวยการองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยมีพลวัตและแปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง มีคนกลุ่มต่างๆ ที่แสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลผ่านการประท้วง และก็เห็นเป็นที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การที่คนกลุ่มหนึ่งแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย และถูกมองว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือก่อความวุ่นวายนั้น นับเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล และวิธีการเช่นนี้ ก็เป็นวิธีที่รัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมือกับโซเชียลมีเดีย ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

เธอกล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน แน่นอนว่าประชาชนต้องการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง และรัฐควรมองว่าการแสดงออกนั้นเป็นสิทธิพื้นฐาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติเช่นนี้

"ทางออกคือต้องให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน และยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น การพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียถือเป็นการกระทำฉวยประโยชน์ทางการเมือง และเกินความจำเป็นของประโยชน์สาธารณะ" กายาทรีย์กล่าว


ปธ.สภาการ นสพ. แนะ 'เสริมสุข' ปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ยืนยันเสรีภาพสื่อ  
จักรกฤษ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีที่ เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถูก ปอท. เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาว่า ไม่ว่าคำสั่งแท้จริงที่อยู่เบื้องหลังพนักงานสอบสวน ที่ระบุความผิดของเสริมสุข จะมาจากผู้ใด แต่มีความเห็นทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ยืนยันว่า เสริมสุขต้องปฏิเสธการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในครั้งนี้ทุกกรณี และยืนยันว่านี่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสื่อ ไม่ใช่บุคคลใด โดยมีเหตุผล ได้แก่
     
1.ความผิดที่พนักงานสอบสวน ใช้เป็นฐานในการเตรียมแจ้งข้อหากับเสริมสุข คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าข้อความใดที่นายเสริมสุขโพสต์จะเป็นความผิด เพราะเป็นการอ้างถ้อยคำจากแผ่นปลิว ซึ่งนายเสริมสุข ขยายความต่อมาว่า เขาไม่เห็นด้วย กรณีจึงไม่ครบองค์ประกอบ คือทั้งเจตนาภายนอกในการแสดงออกซึ่งข้อความ และเจตนาภายในในการแพร่กระจายข้อความอันจะกระทบต่อความมั่นคง
      
2.เมื่อมีความชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และโดยสามัญสำนึกพนักงานสอบสวนย่อมรู้ดีว่ากรณีมิใช่การกระทำความผิด กรณีจึงน่าจะเป็นตรงกันข้าม คือพนักงานสอบสวนกำลังกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 คือการกระทำที่จะแกล้งให้บุคคลต้องรับโทษ ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งกฎหมายต้องการคุ้มครองผู้สุจริต เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าคิดว่า ผู้ถูกกระทำจะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเองในเรื่องนี้ได้หรือไม่ อย่างไร
     
3.พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับ กรณีที่มีหมายเรียกสองครั้งแล้ว ผู้ต้องหายังไม่ได้มารายงานตัว และมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี จึงจะไปขออำนาจศาลออกหมายจับ แต่อาการลุกลี้ลุกลน คล้ายจะออกหมายจับในทันทีโดยยังไม่มีเหตุตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับ และไม่ควรปฏิบัติตามอำนาจที่ไม่ชอบธรรม
      
4.หากพนักงานสอบสวน ยืนยันที่จะทำตามหน้าที่ ก็ขอให้มาสอบสวน ณ ที่ทำการของผู้ต้องหา ต่อหน้าผู้บังคับบัญชา ทนายความ และเพื่อนสื่อมวลชน เพื่อให้กระบวนการยุติธรรม ดำเนินไปด้วยความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถทำได้


รมว.ไอซีที เตือนอีก ระวัง ไลค์-แชร์ ข้อความเท็จ อาจผิด พ.ร.บ.คอม
ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีในโซเชียลมีเดีย โพสต์ข้อความปลุกระดมหรือสร้างกระแสเกี่ยวกับการเมืองว่า ในการโพสต์ข้อความลักษณะดังกล่าว เข้าใจว่ามีความผิดเข้าข่าย พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งตามหลักการแล้วการกระทำใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงจะมีเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายยับยั้งข้อความและดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ การกระทำความผิดดังกล่าวจะมีตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีทีดูแลอยู่แล้ว โดยหากเจ้าหน้าที่มองว่าข้อความที่โพสต์ และเผยแพร่มีผลกระทบต่อความมั่นคงก็ถือว่ามีความผิดทาง พ.ร.บ.ความมั่นคง และยังต้องตรวจสอบอีกว่ามีความผิดใน พ.ร.บ.อื่นๆ อีกหรือไม่ โดยสุดแล้วแต่ว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนจะระบุว่ามีความผิดอะไร

"กระทรวงไอซีทีไม่ได้มีหน้าที่ระบุความผิดโดยตรง แต่เป็นผู้ให้ข้อมูล เพราะศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) มีหน่วยงานตรวจสอบครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาว่ามีความผิดทาง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ร้ายแรง เจ้าหน้าที่จะต้องเสนอนิติกรกระทรวงไอซีที เพื่อให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายพิจารณาขอความเห็นชอบจากรมต.ไอซีที ขออำนาจศาลเพื่อออกคำสั่งปิดเว็บเพจของผู้โพสต์" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว           

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงกลุ่มคนที่กดไลค์ หรือ กดแชร์ข้อความดังกล่าว อาจเข้าข่ายมีความผิดเช่นเดียวกับผู้โพสต์ แต่ต้องดูที่เจตนา ที่ต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยาก ควรระมัดระวังเพราะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะมีมาตรการควบคุมการนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จ ดังนั้น จึงอยากฝากไปยังประชาชนในเรื่องของการแสดงความเห็นทางการเมืองที่เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนสามารถแสดงสิทธิหรือข้อคิดเห็นได้ แต่ต้องคำนึงข้อกฎหมาย เพราะการใช้สิทธิช่องทางดังกล่าวไปละเมิดและขัดต่อกฎหมายก็ไม่ควรกระทำ ตอบ ส่งต่อ

 

เครือข่ายพลเมืองเน็ต ย้ำ กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม
ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุในเพจเฟซบุ๊ก ถึงกรณี รมว.ไอซีที ออกมาเตือนผู้ใช้เน็ต ไม่ให้กดถูกใจหรือแบ่งปันลิงก์ข่าวลือรัฐประหาร เพราะอาจผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำแถลงการณ์ของกลุ่ม เรื่อง "กดไลค์ ไม่ใช่อาชญากรรม"ที่เผยแพร่ครั้งแรกปี 2554 มาเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าเหตุใดการกดไลค์ไม่ควรผิดกฎหมาย

โดยแถลงการณ์ดังกล่าว ออกเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 54 สืบเนื่องจากกรณี น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรี ไอซีที ระบุว่า การกดถูกใจ หรือแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก ถือเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อม อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้เขียน และกล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงกำลัง “ขอความร่วมมือ” ไปยังเฟซบุ๊กและยูทูบ เพื่อปิด “เพจหมิ่น” “วิดีโอหมิ่น” และสืบหาตัวผู้เขียนเนื้อหา และต่อมา มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังได้เสนอให้ปิดเฟซบุ๊กและยูทูบทั้งเว็บไซต์ หากกระทรวงไอซีทีไม่สามารถจัดการไม่ให้มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันกษัตริย์ในเว็บไซต์ดังกล่าวได้

โดยเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า ท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ใช้เน็ตหลายประการ

เครือข่ายพลเมืองเน็ตแสดงจุดยืนว่า การกดไลค์ไม่ใช่อาชญากรรม โดยรัฐธรรมนูญไทยได้รับรองสิทธิของประชาชนในการแสดงออกถึงความคิดความรู้สึก นอกจากนี้ อินเทอร์เน็ตนั้นคือการลิงก์ รัฐต้องไม่เอาผิดการแบ่งปันลิงก์ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ผู้ใช้ไม่สามารถล่วงรู้และควบคุมการใช้งานได้ทั้งหมด ดังนั้น การระวางโทษกับการกดถูกใจ แสดงความเห็น หรือการกระทำอื่นใด ซึ่งผู้ใช้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะทำให้เกิดการเผยแพร่ต่อหรือไม่ จึงขัดกับธรรมชาติของระบบ ทำให้ผู้ใช้ตกอยู่ในความกลัว และไม่สามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างปกติ

 

'ธิดา' ฟ้อง พ.ร.บ.คอม-112 แกนนำกองทัพปชช.โค่นระบอบทักษิณ
ด้าน ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.  อารี ไกรนรา ที่ปรึกษา รมช.พาณิชย์ และแกนนำส่วนกลาง พร้อมทีมทนายความ นปช. เดินทางเข้าพบ พล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ผบก.ปอท. ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ ไทกร พลสุวรรณ คณะเสนาธิการร่วม ในฐานะโฆษกกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กับพวกรวม 7 คน ในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยกรณีดังกล่าว มีบุคคลโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของคณะเสนาธิการร่วม กล่าวหา ธิดาและกลุ่ม นปช. ด้วยถ้อยคำว่า “ธิดาเรียกร้องเปลี่ยนการปกครองไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ไร้กษัตริย์” ซึ่งเป็นเท็จโดยสิ้นเชิง และยังมีการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คกองทัพประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณ กล่าวหา ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ อารีย์  ไกรนรา ว่ามีพฤติกรรมไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง อันเป็นการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนเพื่อที่จะดำเนินคดีกับบุคคลที่ดำเนินการเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นการปลุกระดมให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เพื่อสร้างสถานการณ์ดังกล่าว

 

 

บางส่วนจาก แนวหน้าเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์บล็อก นปช., เดลินิวส์ และ เพจเครือข่ายพลเมืองเน็ต 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลุ้นตัดสินคดีรถดับเพลิงวันนี้ อ.จุฬาฯ ชี้เป็นโอกาสศาลปฏิเสธอำนาจรัฐประหาร

$
0
0

ในวันที่ 6 ส.ค.56  เวลา 9.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายธานิศ เกศวพิทักษ์ รองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ไต่สวนนัดสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย , นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ , พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. , บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด หรือ STEYR-DAIMLER-PUCH Spezial fahrzeug AG&CO KG (ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ) และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่ากรุงเทพมหานคร  เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยกทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเวทีเสวนา “หลักนิติรัฐนิติธรรมกับการวางรากฐานประชาธิปไตย” ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาชนธิปไตย ว่า คำพิพากษาคดีนี้สำคัญมากเพราะเป็นโอกาสที่ศาลจะสามารถปฏิเสธการรัฐประหารได้ โดยรื้อแนวศาลฏีกาที่เคยวางไว้ในปี 2502 ที่ใช้ในการรองรับรัฐประหารเรื่อยมา

ทั้งนี้ แนวศาลฎีกาดังกล่าวคือคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2502 ระบุว่า “ในคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2502 “ศาลฎีกาเห็นว่าคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนต้องถือว่าเป็นกฎหมาย”

นันทวัฒน์กล่าวว่า คดีรถดับเพลิงเกิดขึ้นในปี 2546 เริ่มต้นจากการร้องเรียนผ่านดีเอสไอ ป.ป.ช. ในปี 2549  ดีเอสไอส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. แล้วก็เกิดการรัฐประหาร มีการตั้ง ป.ป.ช.ชุดใหม่ รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือคตส. ที่มาทำประเด็นรถดับเพลิง เมื่อครบวาระ คตส.ได้ส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.ทำต่อเมื่อส่งให้อัยการ อัยการส่งกลับโดยระบุว่าข้อเท็จจริงไม่ครบ แต่ ป.ป.ช.ก็ให้สภาทนายความเป็นผู้ฟ้องร้องเอง จะเห็นว่าคณะรัฐประหารไปเกี่ยวข้องทั้งกับการตั้ง คตส. และป.ป.ช.

เขากล่าวด้วยว่า แนวคำพิพากษาในการรองรับรัฐประหารไม่เคยเปลี่ยน จนกระทั่งในปี 2552 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินคดีของคุณยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา 9 คน มีผู้พิพากษาอยู่ 1 คนที่เสียงแตกออกไป โดยมีประเด็นหลักที่น่าสนใจในคำวินิจฉัยส่วนตัว 5 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

ประเด็นที่ 1 อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชนย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน  

ประเด็นที่ 2 การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไต

ประเด็นที่ 3 หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์แล้วเท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักษ์รักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักนิติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตัวเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ

ประเด็นที่ 4 ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้น เมื่อกาละและเทศเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ศาลจึงไม่อาจรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์

ประเด็นที่ 5 ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองคือคณะของ คปค. แต่คปค.เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังหาได้ก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดๆ อย่างรัฎฐาธิปัตย์

“ทั้งห้าประการนี้อยู่ในคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษาท่านหนึ่ง ตอนที่เห็นหนแรกเราก็มีความรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะว่าเรายืนหลักการเดิมมาตลอด แต่พอเห็นความเห็นนี้ก็มานั่งนึกดูว่าทำไมแค่หนึ่ง ถ้าเป็นสองเป็นสามหรือเป็นสี่ แล้วถ้าเป็นห้า มันจะเกิดอะไรขึ้น....ในคำวินิจฉันส่วนตนเราก็จะเห็นแล้วว่าศาลสามารถเลือกที่จะเดินไปในช่องทางที่จะคุ้มครองประชาธิปไตยได้ เพราฉะนั้นถ้าในวันอัที่ 6 สิงหาคม เราเห็นคำพิพากษาออกมาปฏิเสธเรื่องการรัฐประหารก็น่าจะดีใจ เพราะว่าต่อจากนี้ไปการรัฐประหารก็จะถูกรับรองโดยศาลว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้วก็กระทบกับระบบประชาธิปไตยของประเทศ” นันทวัฒน์ กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโทษคดี 112 หนุนนิรโทษกรรมรวมคดีทางมโนธรรม ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.56   ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ระบุว่าหลังจากไปเยี่ยมเพื่อนผู้ต้องขังคดี 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันนี้  พวกเขาได้ฝากจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนรัฐบาลในการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมโดยระบุว่าคดี 112 เป็นคดีทางมโนธรรมไม่ใช่อาชญากร เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็น หากรัฐสภาไทยนิรโทษกรรมให้กับคดีเหล่นี้ด้วยทุกฝ่ายจะได้รับความชื่นชมจากนานาอารยประเทศ  

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 หรือที่เรียกกันว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 4 ราย ได้แก่ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ โทษจำคุก 12 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างขอพระราชทานอภัยโทษ, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โทษจำคุก 10 ปี อยู่ระหว่างอุทธรณ์, นายเอกชัย หงส์กังวาน โทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน อยู่ระหว่างอุทธรณ์, นายยุทธภูมิ (สงวนนามสกุล) คดีอยู่ระหว่างพิจารณา จะมีการสืบพยานในวันที่ 20 ส.ค.นี้ที่ศาลอาญา รัชดา  นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องขังหญิงในคดีนี้อีก 1 คนที่ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 15 ปี ขณะนี้เตรียมทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ

 

รายละเอียดจดหมาย มีดังนี้

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ - 5 สิงหาคม 2556

 ตามที่สภาผู้แทน ราษฎร จะได้มีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม แก่ผู้กระทำความผิด อันเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน ในวันที่ 7 สิงหาคม 2556 นี้ พวกเรา ผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีส่วนได้เสียตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ใคร่ขอเสนอความคิดเห็นต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ กล่าวคือ

 พวกเราขอสนับสนุนการ นิรโทษกรรม เพราะเป็นความผิดที่ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เป็นคดีทางมโนธรรม อันเป็นสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอเสนอความคิดเห็นให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาอย่างมีเหตุผล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน ดังนี้

1. ถ้าสภาผู้แทนราษฎร ผ่านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยกีดกันยกเว้นผู้ต้องขังมาตรา 112 สภาผู้แทนราษฎรไทย จะได้รับการชื่นชมจากชาวโลก ผู้มีมนุษยธรรม นักสิทธิมนุษยชน และอารยประเทศทั่วโลกหรือไม่ รัฐบาลไทย ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน จะได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศทั่วโลกหรือไม่ สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จะได้รับการแซ่ซ้อง สรรเสริญหรือไม่ พระเกียรติยศ และพระบารมี ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ผู้มีทศพิธราชธรรม และเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา อันปวงชนชาวไทย ให้ความจงรักภักดีเสมอมา จะได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่

2. การพิจาณา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ที่เป็นกฎหมายระดับประเทศ ที่กำลังถูกจับตาจากชาวโลก แต่กลับกีดกันคนเพียง 4-5 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในคุก เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่

จึงขอฝากข้อคิดเห็นดังกล่าว ในการพิจาณาเห็นชอบต่อพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองให้หมดไป เพื่อให้ทุกฝ่าย ได้มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

 

ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112

5 สิงหาคม 2556

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลตุรกีตัดสินโทษสมาชิกกลุ่มสมคบคิดก่อรัฐประหาร

$
0
0

นายพลเกษียณอายุและผู้คนในอาชีพอื่นๆ 275 คน ในตุรกีผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่ม "แอเกเนกอน" ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นกลุ่มสมคบคิดเบื้องหลังเพื่อล้มล้างรัฐบาล ขณะที่บางคนอาจจะเห็นว่ารัฐบาลฝ่ายอิสลามของพรรค AKP สามารถลดอำนาจกองทัพซึ่งเคยก่อการรัฐประหารไว้มากในตุรกีลงได้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่พรรค AKP จะฉวยโอกาสกำจัดศัตรูทางการเมือง

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ศาลตุรกีดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาสมคบคิดก่อการรัฐประหารในนามกลุ่ม "แอเกเนกอน" (Ergenegon) โดยศาลตุรกีได้ตัดสินให้ผู้ต้องหา 21 คนพ้นโทษ ขณะที่อดีตผู้นำกองทัพได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หลังจากมีการดำเนินคดีกินเวลายาวนาน 5 ปี

BBC เปิดเผยว่าในกลุ่มผู้ที่ถูกตัดสินให้มีความผิดประกอบด้วยอดีตผู้นำกองทัพ นายพล อิลค์แกร์ บาซบูก์, เจ้าหน้าที่ทหารรายอื่นๆ, นักกฏหมาย, นักวิชาการ และนักข่าว รวม 275 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมใน "แผนการแอเกเนกอน" ที่เป็นการสมคบคิดเพื่อล้มล้างรัฐบาลพรรค AKP โดยที่นายพลบาซบูก์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพตุรกีในช่วงปี 2008 ถึง 2010 ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ผู้ต้องหาในคดีนี้ถูกกล่าวหาในเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแอเกเนกอน ซึ่งมีการอ้างว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายก่อการร้ายใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีข้อหามีอาวุธในครอบครองอย่างผิดกฎหมาย และยุยงให้เกิดการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธเพื่อโค่นล้มพรรค AKP ทางอัยการได้เรียกร้องให้มีการตัดสินให้อดีตผู้นำกองทัพและผู้ต้องหาอีก 63 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารอีก 9 รายถูกสั่งจำคุกตลอดชีวิต

โดยก่อนหน้าที่จะมีการตัดสินคดี ทางการตุรกีสั่งห้ามไม่ให้มีการประท้วงที่ศาลซึ่งตั้งอยู่ที่ทำการเรือนจำซิลิวรี ทางฝั่งตะวันตกของเมืองอิสตันบูลโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านสกัดกั้นไว้ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มีการบุกจับกุมที่ทำการพรรคการเมืองและสถานีโทรทัศน์ฝ่ายฆราวาสนิยม และจับกุมบุคคล 20 คนฐานเรียกร้องให้มีการชุมนุม

แต่ในวันจันทร์ที่มีการตัดสินคดีก็ยังคงมีผู้ชุมนุมราว 10,000 คน ชุมนุมใกล้กับศาล ผู้ชุมนุมได้ขว้างปาก้อนหินใส่ตำรวจปราบจลาจล ทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่โต้ตอบด้วยปืนน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง เพื่อสลายการชุมนุมที่กีดขวางทางจราจร โดยในระหว่างที่ผู้ชุมนุมเดินขบวนไปยังศาล พวกเขาพากันตะโกนคำขวัญว่า "พวกเราคือทหารของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก" ผู้ก่อตั้งตุรกียุคใหม่

นอกจากนายพลบาซบูก์แล้ว ยังมีผู้ต้องหาอีกหลายคนทั้งนักข่าว ทนายความ และนักการเมืองพรรคฝ่ายค้าน ถูกตัดสินต้องโทษจำคุก และมีส่วนหนึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ในข้อหาอย่าง "การต่อต้านความเป็นตุรกี" หรือข้อหายุยงโดยนำเอาหลักการสังคมนิยมมาผสมกับแนวคิดชาตินิยมจัด

เจมส์ เรย์โนลด์ ผู้สื่อข่าว BBC ในตุรกี กล่าวว่าคดีนี้เกิดจากความเชื่อว่ามีเครือข่ายของกองทัพ นักธุรกิจ นักฆราวาสนิยม และกลุ่มชาตินิยมจัด สมคบคิดกันเพื่อก่อความไม่สงบซึ่งจะนำพาไปสู่การรัฐประหาร และการตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ทหารอย่างหนักแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเปลี่ยนไป

"หลายทศวรรษที่ผ่านมากองทัพทำตัวเป็นผู้ชี้ขาดขั้นสุดท้ายในการเมืองของตุรกี โดยตั้งแต่ปี 1960 ถึง 1997 กองทัพได้โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากประชาชน 4 ครั้ง แต่เออร์โดแกนได้ทำให้อำนาจของพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ" เจมส์ เรย์โนลด์กล่าว


การลดอำนาจกองทัพ หรือ "การล่าแม่มด" ?

BBC กล่าวว่าคดีนี้เป็นบททดลองสำคัญของนายกรัฐมนตรี เรเซป ตอย์ยิป เออร์โดแกน ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ต่อต้านซึ่งเป็นกลุ่มกองทัพและกลุ่มฆราวาสนิยม นับตังแต่เออร์โดแกนได้รับตำแหน่งในปี 2002 ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากถูกสั่งจับกุมตัว โดยกองทัพของตุรกีมองว่าตัวเองเป็นผู้รับรองรัฐธรรมนูญแบบฆราวาสนิยม

อย่างไรก็ตาม มีนักวิจารณ์กล่าวว่าการดำเนินคดีในครั้งนี้มีหลักฐานเพียงน้อยนิด ซึ่งรัฐบาลอาจพยายามทำให้ผู้ต่อต้านกลุ่มฆราวาสนิยมเงียบเสียง และการสืบสวนคดีแอเกเนกอนของรัฐบาลก็มีการมุ่งเป้าไปที่ศัตรูของพรรคการเมือง AKP ซึ่งเป็นพรรคนิยมอิสลาม แต่ทางรัฐบาลปฏิเสธว่าไม่ได้มีแรงจูงใจอย่างที่ถูกวิจารณ์

ผู้สื่อข่าว BBC ภาคตุรกี กูนีย์ ยิลดิซกล่าววิเคราะห์ว่า สำหรับบางคนคดีในครั้งนี้อาจเป็นก้าวสำคัญในการทำให้กองทัพซึ่งเคยทำตัวอยู่เหนือกฎหมายมาอยู่ภายใต้การควบคุมของประชาชน อย่างไรก็ตามมีบางคนคิดว่าคดีนี้ถูกทำให้กลายเป็น "การล่าแม่มด" เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ยิลดิซกล่าวอีกว่า มีบางคนคิดว่าจำเลยส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 1990 แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิในอดีตเลย ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนแสดงความกังวลเรื่องการกักขังผู้ต้องหาก่อนการดำเนินคดีเป็นเวลานานเกินไปก่อนที่จะมีการดำเนินคดีจริง

ก่อนหน้านี้ในปี 2012 ศาลตุรกีก็เคยตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่ทหารมากกว่า 300 นายด้วยข้อหาวางแผนก่อการรัฐประหารนายกฯ เออร์โดแกนในปี 2003

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Turkey Ergenekon case: Ex-army chief Basbug gets life, BBC, 05-08-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-23571739

Conspiracy trial verdict due in Turkey, Aljazeera, 05-08-2013
http://www.aljazeera.com/video/europe/2013/08/201384172910303684.html

Clashes erupt after Turkey trial verdicts, aljazeera, 05-08-2013
http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/08/201385145137288375.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮัสซัน ตอยิบ ปัดถูกปลด ยันพูดคุยสันติภาพเดินหน้าต่อ

$
0
0

แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ปฏิเสธถูกปลดจากหัวทีมพูดคุยสันติภาพ ชี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายไทยไม่ช่วยให้การพูดคุยสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 

นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่ประเทศมาเลเซียว่า การปลดตนออกจากการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายไทยไม่ช่วยให้การพูดคุยสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะเป็นการปลดเพื่อตัดตอนไม่ให้สามารถเชื่อมต่อไปยังคนอื่นๆในขบวนการบีอาร์เอ็น หากจากมีการพูดคุยสันติภาพต่อไปฝ่ายไทยก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่

นายฮัสซัน กล่าวต่อไปว่า เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพให้สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยสนับสนุนทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย เพราะจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่สามารถที่จะจบลงในสนามรบได้ แต่จะจบลงบนโต๊ะเจรจา พร้อมกับยืนยันว่าการพูดคุยสันติภาพจะดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ ในวันเดียวกันนั้น ได้มีกระแสข่าวจากสื่อหลายสำนักในกรุงเทพมหานครว่า นายฮัสซัน ตอยิบ ได้ถูกขบวนการบีอาร์เอ็นปลดออกจากการเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับฝ่ายไทย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยิงอิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานีดับกลางตลาด ทั้งวันมีบึ้มทหาร-ชาวบ้านเจ็บ11

$
0
0

คนร้ายลอบยิงอิหม่ามมัสยิดกลางปัตตานีกลาง ขว้างระเบิดใส่ร้านอาหารที่มายอ และวางระเบิดชุดคุ้มครองครูยะลา

ชาวมุสลิมร่วมละหมาดศพของนายยะโก๊บ หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ที่ถูกยิงกลางตลาดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 สิงหาคม 2556

เวลา 16.40 น.วันที่ 5 สิงหาคม 2556 คนร้ายยิงนายยะโก๊บ หร่ายมณี โต๊ะอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีเสียชีวิตขณะเดินซื้ออาหารที่ตลาดจะบังติกอ เขตเทศบาลเมืองปัตตานี โดยคนร้าย 4 คนขับขี่รถจักรยานยนตร์ประกบยิงจนเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล วันเดียวกันเวลา 15.50 น. คนร้ายลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยครูโรงเรียนบ้านซาไก บ้านเจะซีโป๊ะ ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา โดยนำระเบิดซ่อนในรถจักรยานยนตร์นำมาจอดไว้ข้างทาง แรงระเบิดทำให้ ร.ต.ต.อมร สุขเกษม ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

ก่อนหน้านี้ เวลา 13.20 น. คนร้ายขว้างระเบิดใส่ร้านขายอาหารที่บ้านมายอ ต.มายอ อ.มายอ จ.ปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 รายคือ นายเจริญดำประเสริฐ เจ้าของร้าน นางขวัญกมล สิทธิเชน ผอ.โรงเรียนบ้านบูดน นายสุวิทย์ โรจน์สุวรรณ ผอ.โรงเรียนบ้านถนน นายสุทร ศรีสมปอง ครูโรงเรียนบ้านถนน และนายอนน ไชยบุราช พนักงานขับรถเทศบาลมายอ
เวลา 8.50 น.คนร้ายลอบวางระเบิดชุดคุ้มครองครูขณะปฏิบัติหน้าที่ด้วยการเดินเท้าที่บ้านลำดา ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา โดนนำระเบิดซุกซ่อนริมถนน แรงระเบิดทำให้เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 5 นายโดยบาดเจ็บสาหัส 2 นาย คือ ส.อ.อำนาจ คงมนต์ และพลทหารคมสันต์ ประดู่ และอีก 3 คนได้รับบาดเจ็บคือ พลทหารอิสมะแอ นิหวัง พลทหารอดิสรณ์ เกื้อขำ และ พลทหารชินชัย โสภา
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลสั่ง 6 ศพวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากทหาร-ไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ

$
0
0
 
วันนี้ (6 ส.ค.56) 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำสั่งกรณี ไต่สวนคําร้องชันสูตรการเสียชีวิต ในคดีที่พนักงาน อัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคําร้องขอให้ ศาลไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี อาชีพเกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1, นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแห่ง ผู้เสียชีวิตที่ 2, นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ผู้เสีย ชีวิตที่ 3, นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี อาชีพพนักงานขับ รถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4, น.ส.กมนเกด ฮัคอาด อายุ 25 ปี อาชีพพยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5, และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 โดยทั้ง 6 ศพ ถูกยิงเสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
 
ศาลสั่งว่าผู้ตายที่ 1,3-6 ถึงแก่ความตายเนื่องจากกระสุนปืน .223 จากทหารกองพันจู่โจมพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ จ.ลพบุรี ที่ประจำอยู่บริเวณรางรถไฟฟ้า BTS หน้าวัดปทุมฯ ขณะเกิดเหตุ
 
ส่วนผู้ตายที่ 2 ตายจากกระสุน .223 จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ที่ประจำการอยู่บริเวณถนนพระราม 1 ช่วงเกิดเหตุ ภายใต้คำสั่งของ ศอฉ.  และผลการตรวจจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่พบร่องรอยการยิงปืนของมือทั้ง 6 ศพ จึงเชื่อว่าทั้ง 6 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อาวุธปืน รวมทั้งขณะเกิดเหตุมีด่านเจ้าหน้าที่ตรวจค้นอาวุธแน่นหนา 
 
นอกจากนี้ศาลยังระบุด้วยว่าไม่มีชายชุดดำในที่เกิดเหตุ
 
สั่งให้ส่งคำสั่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีต่อไป
 


 
 
 
ติดตามอ่านรายละเอียดคำสั่งทางประชาไทเร็วๆ นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อภิสิทธิ์ขอพรรคเพื่อไทยเลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วจะไปคุยด้วย

$
0
0

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมเพราะไม่ต้องการให้บ้านเมืองนั้นสร้างบรรทัดฐานว่า ใช้อาวุธ-ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ใครมีอำนาจสามารถที่จะลบล้างความผิดให้เป็นความถูกได้ ซึ่งเป็นการทำลายพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์รายงานวันนี้ (6 ส.ค.) ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการเตรียมตัวก่อนถึงวันประชุมสภาพรุ่งนี้ (7 ส.ค.) ว่า วันนี้จะมีการประชุมวิปฝ่ายค้านในช่วงเช้า ในช่วงบ่ายจะมีการประชุม ส.ส. ของพรรคฯ และช่วงเย็นเริ่มต้นเวทีผ่าความจริงตามเวลาปกติ แต่จะเลิกในเวลาไม่ปกติ

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า "เวลานี้รัฐบาลเป็นคนสร้างความตื่นตระหนก หรือฝ่ายรัฐบาลสร้างความตื่นตระหนกทั้งหมด ผมยังบอกว่า วันก่อนนั้นที่เขาบอกว่า ใครไปสร้างความตื่นตระหนกนั้นมีโทษตามกฎหมายใช่มั้ย ผมก็ไม่เห็นไปจับคนที่บอกว่า จะมีการไปจับตัวนายกฯ จับตัวประธานสภา แล้วก็ประวัติของแกนนำเสื้อแดงที่พูดว่าจะมีการปฏิวัติ จะมีการทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเยอะแยะไปหมด ถ้าเกิดอยากจะไปจับคนที่ชอบสร้างข่าวให้ตื่นตระหนก น่าจะไปจับคนกลุ่มนั้น แล้วก็เมื่อวานนี้พอเริ่มจับจริงๆ ก็เจอจริงๆ ใช่มั้ย มีคนเสื้อแดงถูกจับอยู่ หรือว่าถูกดำเนินการอยู่ในเรื่องของการที่จะไปโพสต์ข้อความอ้างข่าวลือปฏิวัติอะไรต่างๆ ด้วย"

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า "รัฐบาลเป็นคนสร้างปมความขัดแย้งในบ้านเมือง ด้วยการผลักดันกฎหมายที่จะล้างผิดให้กับพรรคพวกของตนเอง แล้วก็ตรงนี้ก็ ทั้งๆ ที่ฝ่ายค้าน และหลายฝ่ายก็เปิดโอกาสแล้วบอกว่า มาพูดคุยกัน หยุดเรื่องนี้ไว้แล้วมาพูดคุยกัน แต่รัฐบาลไม่สนใจเพราะรัฐบาลต้องการที่จะเดินหน้า"

"แล้วก็เวลานี้ก็จะเห็นนะครับอย่างเมื่อวานนี้ไปทาบทามเชิญคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ท่านก็แนะนำให้ถอน แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลก็ยังไม่ได้สนใจใยดีต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่นำมาต่อสิ่งเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นไปบอกว่า คนอื่นอย่ามาตั้งเงื่อนไข ก็เงื่อนไขความขัดแย้งมันอยู่ที่การเริ่มของรัฐบาลในการผลักดันกฎหมายนี้ ทำไมไม่ปลดเงื่อนไขตรงนี้เสียก่อน แล้วบ้านเมืองนั้นจะได้มาคุยกันว่าเราจะเดินไปข้างหน้ากันอย่างไร"

"ก็ยืนยันนะครับว่า เงื่อนความขัดแย้งทั้งหมดอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลที่เป็นผู้ก่อขึ้น ดังนั้นการที่จะพยายามไปเบี่ยงเบนว่า มาคุยกันนะ แต่อย่าคุยเรื่องนี้ ขอเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความจริงใจในการที่จะลดความขัดแย้งในสังคมของรัฐบาล ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้น ไม่ได้มีจริง ถ้ามีจริงนะ ง่ายๆ นะ คำเดียวเท่านั้นเอง วันนี้บอกว่า เอาละไปปรึกษากันในพรรคเพื่อไทย บอกเรื่องนี้ขอเลื่อนไปก่อน เพื่อรอการพูดคุยในการหาทางออกให้กับประเทศ พวกผมก็บอกพร้อมเลยที่จะเดินเข้าไปในการพูดคุยกัน ก็มีเท่านั้นเอง ไม่ได้ยากเย็นอะไร แล้วก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากมายเลย กับงานของรัฐบาล อย่าลืมว่ากฎหมายนี้ไม่ใช่แม้แต่กฎหมายของรัฐบาลนะ ถ้าเกิดสมมติบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน ปรากฎว่า กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ใช่กฎหมายของรัฐบาลนะครับ เป็นกฎหมายของ สส. ซึ่งเป็นแกนนำเสื้อแดงคนหนึ่ง เสนอเข้าสู่สภา แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้มาก ถึงขั้นที่ว่าการจะหาทางออกให้กับประเทศนั้น แทนที่จะหากันอย่างจริงจัง ก็ต้องหลีก เพื่อที่จะให้กฎหมายฉบับนี้มันเดินหน้า นี่คือข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้น"

"ตอนนี้ผมเดินทางมา ขณะนี้ผมมาที่ศาลอาญาใต้ เพราะว่ามีการไต่สวน การเสียชีวิตของช่างกล้องชาวญี่ปุ่น คงนึกออก ในวันที่ 10 เมษายน ก็ถูกต้องละครับ กระบวนการยุติธรรมก็ต้องเดินอย่างนี้ ทีนี้ตอนนี้ก็แปลกมั้ยล่ะครับว่า ถ้าไต่สวนไป ไต่สวนมา บอกว่างานนี้ สมมติมาบอกว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ สมมตินะครับ ก็ต้องส่งไปให้ตำรวจดำเนินคดีอะไรต่างๆ ต่อไป เกิดสรุปออกมาว่า ทำไปทำมา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่ว่าเป็นชายชุดดำ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาบอก อย่างนี้ไม่ต้องไปดำเนินคดีกับชายชุดดำ นี่แหละครับ เรากำลังพาบ้านเมืองไปสู่จุดแบบนี้แหละครับ"

"การที่จะลดความขัดแย้ง การที่จะอำนวยความยุติธรรมก็คือการทำอย่างไรที่จะค้นหาความจริงออกมาเสียก่อน แล้วก็ให้แต่ละฝ่ายนั้นได้รับรู้รับทราบถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายของตนเอง แล้วก็เดินตามนั้นไป ถ้าจะมีการบอกให้อภัย หลักเมตตาธรรม ก็ไปว่ากันด้วยกระบวนการของการขอให้มีการอภัยโทษ หรือลดโทษ ถูกมั้ยครับ นี่คือหลักของมัน"

"แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะบอกว่า ถ้าเกิดเป็นชายชุดดำ ยิงใครตาย ไม่มีความผิด แต่ว่าถ้าทหาร ถ้าเกิดเป็นการยิงที่เกิดขึ้นจากทางทหาร ต้องดำเนินคดีต่อไป ก็แปลกมั้ยล่ะครับ"

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ใช้คำว่าสุกดิบ เพราะว่า "วันพรุ่งนี้พวกเราก็ต้องไปทำหน้าที่กันในสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้นวันนี้ก็จะระดมคนกันไปในการปราศรัย ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเรียกว่าจนถึงการประชุมสภากันเลย เพราะฉะนั้นก็มี สส. ที่ต้องเตรียมตัวในการที่จะขึ้นพูดจาปราศรัยกันเยอะละครับ"

อภิสิทธิ์กล่าวถึงเหตุผลที่ฝ่ายค้านต่อสู้ในเวลานี้ว่า "พวกผมไม่ได้มีประโยชน์ได้เสียโดยตรงกับเรื่องนี้ พวกผมกำลังต่อสู้เพื่อรักษาหลักการของบ้านเมือง แล้วไม่ต้องการให้บ้านเมืองนั้นสร้างบรรทัดฐานว่า คนสามารถที่จะเอาอาวุธ แล้วก็มาใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ไม่ต้องการสร้างบรรทัดฐานว่า ใครมีอำนาจสามารถที่จะลบล้างความผิดให้เป็นความถูกได้ เกิดการเลือกปฏิบัติ แล้วก็ทำลายพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย"

"เมื่อวานนี้องค์กรสิทธิมนุษยชนของสากล Human Rights Watch ที่เป็น NGO เขาก็ออกแถลงข่าวมาจากสหรัฐฯ เลย ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายแบบนี้ เพราะมันเป็นการอยู่ดีๆ ไปล้างความผิดคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้ถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ประโยชน์อะไร จากการที่ต่อต้าน หรือคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีประโยชน์ได้เสียอะไรเลยในโดยตรง แต่เป็นการรักษาประโยชน์ของบ้านเมือง"

"ขณะที่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ถามว่าทำเพื่ออะไร ก็คือทำเพื่อล้างความผิดพรรคพวกของตัวเอง เพราะเป็นคนยุยงส่งเสริมให้เขาทำ แล้วก็อาจจะอ้างว่ามีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามา ซึ่งบอกว่าเหมือนเป็นตัวประกัน ซึ่งผมก็บอกแล้วว่า กรณีผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้น ถ้ามาตั้งโต๊ะคุยกัน ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นไม่มีใครคัดค้านหรอก แล้วก็มิหนำซ้ำรู้สึกเมื่อวานนี้ก็เริ่มพูดกันอีกว่า แปรญัตตินั้น เดี๋ยวอาจจะมีกลับมาถึงทักษิณอีกใช่มั้ยครับ เพราะฉะนั้นมันก็ชัดว่าฝ่ายหนึ่งกำลังเดินเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง อีกฝ่ายหนึ่งก็กำลังเพียงแต่รักษาหลักการของบ้านเมือง"

"ถามว่าฝ่ายไหนล่ะที่ควรจะถอยได้ คุณต้องเลือกสิครับว่า วันนี้ผลประโยชน์ของพรรคพวกคุณต้องละไว้ก่อน แล้วก็จบ แล้วมาคุยกัน แล้วก็ทำกฎหมายนี้ให้มันถูกต้องตามหลักการ ซึ่งพวกเราก็พร้อมที่จะพูดคุยครับ" อภิสิทธิ์กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กายาทรีย์ เวนกิตสวารัน

$
0
0

"ทางออกคือต้องให้มีข้อมูลที่เชื่อถือได้เผยแพร่ต่อสาธารณชน และยิ่งมีมากเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้น การพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียถือเป็นการกระทำฉวยประโยชน์ทางการเมือง และเกินความจำเป็นของประโยชน์สาธารณะ"

ผู้อำนวยการองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) แสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐเอาผิดคนโพสต์ข่าวลือปฏิวัติ

แรงงานหนีเข้าเมืองเฮ อยู่ต่อได้ 1 ปี รอปรับสถานะเป็นแรงงานถูกกฎหมาย

$
0
0

ครม.มีมติผ่อนผันแรงงานหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ให้ทำงานและอยู่ต่อในประเทศไม่เกิน 1 ปี ให้ประเทศต้นทางออกเอกสารรับรองปรับสถานะเป็นแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมาย

6 ส.ค.56 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีมติเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงแรงงานในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ที่นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อกับกรมการจัดหางานไว้แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มกราคม 2556 (เรื่อง การผ่อนผันแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองเป็นกรณีพิเศษเพื่อดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) แต่ยังไม่ได้การรับรองสถานะบุคคลจากประเทศต้นทาง ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้ชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับไม่เกิน 1 ปี โดยในระหว่างการผ่อนผัน อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ และให้ประเทศต้นทางเข้ามาพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารรับรองสถานะบุคคล เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะเป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย และสามารถขออนุญาตทำงานในประเทศได้

โดยทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และรายงานผลการดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเป็นระยะ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลและกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมระหว่างประเทศให้ดีขึ้น และกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบดูแลและตรวจโรคให้แก่แรงงานต่างด้าว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ASEAN Weekly: อนุรัฐในพม่า: การเมืองและดุลอำนาจ

$
0
0

ASEAN Weekly ดำเนินรายการโดยดุลยภาค ปรีชารัชช และพงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ สัปดาห์นี้ ร่วมกันมองภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศพม่า หรือมีชื่อประเทศที่ระบุอยู่รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ร่างสมัยรัฐบาลทหารว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์"

โดยในประเทศพม่า ยังแบ่งออกเป็นรัฐของชนกลุ่มน้อย อันเป็นอนุรัฐหรือพหุรัฐที่หลากหลายถึง 7 รัฐ ได้แก่ รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะเรนนี รัฐมอญ รัฐอาระกัน และรัฐชิน โดยมีตัวแสดงต่างๆ อยู่ในระบบการเมืองพม่ามากมายมหาศาล

โดยดุลยภาค กล่าวว่า การปรากฏตัวของพม่าซึ่งมีขนาดมหึมา เกิดจากการรวบรวมหน่วยการเมืองหรือรัฐเล็กรัฐน้อย ประกอบเข้ามาเป็นร่างกายของรัฐพม่า ทีนี้ในมุมมองของนักการทหาร หรือนักปกครองพม่า จะทำอย่างไรกับรัฐคะฉิ่นซึ่งมีขนาดทัดเทียมกับรัฐโปรตุเกสทั้งประเทศ แล้วมีเขตภูมิประเทศแบบหิมาลัย หรือสวิสเซอร์แลนด์ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเท่ากับว่าปฏิบัติการทหารจะสร้างต้นทุนระดับสูง สร้างความเหนื่อยยากให้กับกองทัพพม่า เพราะฉะนั้นการพิชิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ท่ามกลางแรงโน้มถ่วงที่จะให้มาเจรจา จึงเป็นความใฝ่ฝัน หรือชดเชยข้อสูญเสียที่ผ่านมาของรัฐพม่าด้วย นี่จึงอธิบายได้ว่าทำไมสถานการณ์ของรัฐคะฉิ่นจึงเกิดการสู้รบแล้วก็รุนแรง

ขณะเดียวกัน ลักษณะอีกอย่างคือ อาณาเขตที่เป็นประเทศพม่าปัจจุบัน มีการจินตนาการของผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนที่อยากให้มีรัฐใหม่ ผุดขึ้นมาแล้วฉีกตัว อย่างเช่นในอดีตกลุ่มผู้นำชาวกะเหรี่ยงต้องการก่อตั้งรัฐกอทูเลที่กินอาณาเขตรวมรัฐกะเหรี่ยง เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี และรัฐมอญบางส่วนเข้ามาด้วย นี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าไม่ยอม

ส่วนในรัฐฉาน ก็มีกลุ่มอดีตพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์พม่าแตกกระสานซ่านเซ็น ก็กลายเป็นกองกำลังกระจัดกระจาย 4-5 กลุ่มหลักๆ เช่น กลุ่มกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กลุ่มโกก้าง (MNDAA) กลุ่มเมืองลา (NDAA) พวกนี้อยู่ด้วยการค้าชายแดน มีหลังยังพิงจีน

ดังนั้นในมโนทัศน์ของรัฐบาลพม่า แรงแยกออกจากศูนย์กลางยังสั่นสะเทือนแรงรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการเปิดปฏิบัติการทหารของพม่า จึงยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ทัศนะของกองทัพพม่ายังเห็นว่า อำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังต่างๆ ไม่ทัดเทียมกัน โดยพม่าถือว่ากองทัพของตนเป็น "อภิมหาอำนาจ" ทางการทหาร เพราะมีกำลังพล 3-4 แสนนาย และพอจัดลำดับรองๆ มาจะเห็นว่า กองทัพสหรัฐว้า กองทัพรัฐฉานภาคใต้ หรือกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น ก็มีอัตรากำลัง 10,000 - 30,000 นาย ก็เป็น "มหาอำนาจ" ที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาลพม่าอยู่ แต่ก็จะมีกองกำลังขนาด "มัธยะอำนาจ" เช่น กองทัพกะเหรี่ยง DKBA หรือกองทัพกะเหรี่ยง KNU ก็มีกองกำลังหลักพัน หรือ อนุอำนาจ" ที่มีกองกำลังหลักร้อย ที่เป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ละหู่ ปะโอ ลีซอ

โดยแท็กติกของรัฐบาลพม่าก็คือ ดึงกลุ่มที่อ่อนกำลังวังชามาเจรจาหยุดยิง และยื่นข้อเสนอ เท่ากับว่าเพิ่มอำนาจการเจรจาของตน และหลังจากนั้นก็ไต่ระดับมาเจรจากับกลุ่มอำนาจระดับกลาง และใช้วิธียุแหย่ให้ตีกันเองในกลุ่ม ดังจะเห็นได้จากการแตกแยกของกองทัพกะเหรี่ยง DKBA และกะเหรี่ยง KNU ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กองทัพพม่าชิงค่ายมาเนอปลอได้ และเป็นการโดดเดี่ยวทางยุทธศาสตร์กับกลุ่ม KNU

หลังจากนั้นรัฐบาลพม่าก็ไต่ระดับขึ้นมาเจรจากับกลุ่มที่มีกำลังวังชา ดังจะเห็นในข่าวว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เพิ่งรับการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่าเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่า และกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังเลือกตั้งพม่าปี 2553 แต่การเจรจาเริ่มกระบวนการมายาวนานตั้งแต่ปี 2532 โดยเริ่มจากกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วอาศัยการชิงไหวชิงพริบ แล้วกองทัพพม่าเข้าไปควบคุุม

สิ่งสำคัญคือกองทัพพม่ามีการผลิตยุทธศาสตร์การทหาร ซึ่งใช้ได้ผลมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายพลเนวินแล้ว คือ"ยุทธวิธีตัดสี่" คือการตัดอาหาร กองกำลัง คลังวัสดุ และการข่าว ไม่ให้สี่องค์ประกอบรวมตัวกันได้ เพราะจะเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจรัฐ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลพม่าเข้าทำก็คือใช้วิธีกันไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ติดต่อกับกองกำลัง เพื่อให้แนวร่วมระส่ำระสาย มีการย้ายราษฎรในชนบทให้ไปอยู่ใกล้ทหารพม่า ยื่นเงื่อนไขว่าถ้าไม่ย้ายก็เท่ากับชาวบ้านอยู่ข้างกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วกองทัพพม่าก็จะกระทำการรุนแรง พอย้ายมาปุ๊บก็เท่ากับว่ารัฐบาลพม่ามีอำนาจควบคุมมากขึ้น แล้วไปโดดเดี่ยวกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากนี้กองทัพพม่าก็ใช้วิธีแบ่งพื้นที่ในประเทศออกเป็นสามสี คือพื้นที่สีดำ สีน้ำตาล สีขาว

สีดำ คือเป็นเขตของกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ สีน้ำตาล คือเขตที่ยังเผชิญกันระหว่างกองทัพรัฐบาล กับกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ และสีขาว คือเขตปลอดพื้นที่ผู้ก่อการ โดยกองทัพพม่าพยายามเปลี่ยนให้พื้นที่สีดำ และสีน้ำตาล กลายเป็นสีขาว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่าแม้มีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลพม่า และกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก็ยังมีปฏิบัติการทางทหารอยู่

ทั้งนี้ กรณีของพม่า ยังอยู่ในการปะทะประชันกันระหว่างคีย์เวิร์ด "การสร้างรัฐ" กับ "การสร้างสันติภาพ" ซึ่งไปกันไม่ได้ หากจะสร้างสันติภาพเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ มักจะมีปัญหา เพราะเรื่องแรก พม่าถือว่าสร้างรัฐไม่จบ และการสร้างรัฐของพม่าก็คือการใช้โครงสร้างกองทัพบกอันมหึมาเข้าไปกวาดไล่ในพื้นที่ชนบท คือให้ทหารเข้าไปคุมพื้นที่ ใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งก็คือพม่ากลัวว่าหลังเจรจาแล้วกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้าไปเคลื่อนไหวในเมืองใหญ่ กรณีเช่นนี้พม่าเกรงว่าจะมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปในพื้นที่ๆ รัฐบาลคุมไม่ถึง กองทัพพม่าจึงเพิ่มกำลังทหารพม่าในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปิดล้อมฐานที่มั่นของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อสะกดให้แต่ละกลุ่มถอยกลับไปสู่ที่ตั้ง

ดังนั้นในทางปฏิบัติทั้งสองฝ่ายไม่ยอมเสียเหลี่ยมกัน เพราะการสร้างรัฐของพม่ายังไม่จบ โดยการสร้างรัฐของพม่ามาจากการทำสงคราม

และเรื่องที่สอง การจัดประชุมต่างๆ อย่างการประชุมสมัชชาแห่งชาติ รัฐบาลพม่าก็ควบคุม และส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาก็ถือว่ายังสร้างชาติไม่จบ ยังถือว่าอยู่ในช่วงรวมชาติ เพราะยังไม่มีประเทศตามที่พวกเขาต้องการ ประชาชนถูกพม่ากลืน และต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ของตนมีอิทธิพลมากกว่ากลุ่มอื่น

ข้อสุดท้ายที่สำคัญคือ รูปของรัฐที่ถูกออกแบบมาอย่างอิหลักอิเหลื่อ คือรัฐบาลพม่าอยากให้มีรัฐเดี่ยว รัฐบาลกลางกุมอำนาจการปกครอง Centralization หรือ รวมอำนาจผ่านกระทรวง ทบวง กรม แล้วแบ่งอำนาจให้ข้าราชการเข้าไปประจำในพื้นที่ต่างๆ แล้วกระจายอำนาจเพียงเล็กน้อย นี่คือระเบียบปฏิบัติของรัฐพม่า ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์อยากให้มี Decentralization มีการกระจายอำนาจในท้องถิ่นมากขึ้น แต่ตรงนี้ยังคุยไม่ได้ในเรื่องรายละเอียด ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนก็จินตนาการถึงการปรับโครงสร้างรัฐพม่าใหม่ จาก "เอกรัฐ" เป็น "สหพันธรัฐ"  ซึ่งเน้นกระจายอำนาจ เป็นสหภาพที่แท้จริง มีสิทธิเท่ากันตามรัฐธรรมนูญ หมุนเวียนกันเป็นประธานาธิบดี ซึ่งนักการทหารพม่าไม่ชอบ เพราะจะทำให้พม่ามีสภาพเหมือนสหภาพโซเวียต หรือยูโกสลาเวีย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทีดีอาร์ไอเผยผลสำรวจพฤติกรรมอพยพหนีน้ำป่า แนะรัฐเพิ่มข้อมูลพื้นที่เสี่ยง

$
0
0

ทีดีอาร์ไอเผยผลสำรวจรูปแบบการเตือนภัยและพฤติกรรมของผู้ได้รับการเตือนภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน พบมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจอพยพ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพ สถานที่รองรับผู้อพยพในชุมชน ระบุผู้หญิงมีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าผู้ชาย

6 ส.ค.56 ทีดีอาร์ไอโดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากEconomy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) ทำการศึกษาปัจจัยและรูปแบบการเตือนภัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพของประชาชนในพื้นที่น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันโดยถอดบทเรียนจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน 10 จังหวัดภาคใต้ โดยเลือกพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพื้นที่กรณีศึกษา ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอนบพิตำ อำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลาข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการจัดประชุมกลุ่มย่อยและเก็บแบบสอบถามจากประชาชนในพื้นที่

การสำรวจข้อมูลจากแบบสอบถามแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ส่วนแรก ถามเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจอพยพ และส่วนที่สอง ถามเกี่ยวกับรูปแบบสื่อเตือนภัยที่ทำให้ตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยมีจำนวนตัวอย่างที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 332 คน จาก 166 ครัวเรือน แยกเป็นผู้ประสบภัยในอำเภอท่าศาลา 120 คน อำเภอสิชล 122 คน และ อำเภอนบพิตำ 90 คน แบ่งตามสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่

ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 43 (144 คน) ของกลุ่มตัวอย่างตัดสินใจอพยพ โดยเหตุผลของการตัดสินใจไม่อพยพออกจากพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ เชื่อว่าอาศัยอยู่ในที่ที่ปลอดภัยเป็นห่วงที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินว่าจะถูกโจรกรรม ถนนถูกตัดขาด ไม่มีพาหนะในการอพยพ มีเด็กและผู้สูงอายุที่ต้องดูแล อยู่ช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นต้น จากการวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติแสดงให้เห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพประกอบด้วย การได้รับการเตือนภัย การมีสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อรองรับผู้อพยพ เพศ และ รายได้ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเตือนภัย กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับทราบข้อมูลของตำแหน่งและเส้นทางในการอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย หรือกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิงมีโอกาสที่จะตัดสินใจอพยพมากกว่ากลุ่มตัวอย่างอื่นๆ เนื่องจากการเตือนภัยจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความรุนแรงของภัยที่จะเกิดขึ้นและการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่ปลอดภัยทำให้กลุ่มตัวอย่างมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการอพยพ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเพศหญิง มีโอกาสตัดสินใจอพยพมากกว่าเพศชายเนื่องจากมีภาระหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของบุตรหลาน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้สูง มีโอกาสตัดสินใจที่จะไม่อพยพออกจากพื้นที่มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากมีความกังวลว่าบ้านและทรัพย์สินจะถูกโจรกรรมในระหว่างที่อพยพ

การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า การได้รับการเตือนภัยผ่านสื่อเตือนภัยต่างๆ มีความสำคัญแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความกระชั้นชิดของภัยที่เกิดขึ้นและปัจจัยอื่นๆ โดยในระยะเวลากระชั้นชิดที่มีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเกิดขึ้นนั้น สื่อเตือนภัยที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยมากที่สุดคือ วิทยุสื่อสารเนื่องจากก่อนเกิดเหตุการณ์มักจะมีฝนตกหนักและไฟฟ้าดับร่วมด้วย ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจึงไม่สามารถรับการแจ้งเตือนทางโทรทัศน์หรือวิทยุได้ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ สัญญาณโทรศัพท์มือถืออาจล่มติดต่อไม่ได้ และไม่สามารถชาร์ตแบตเตอรี่ได้ ดังนั้น สื่อเตือนภัยที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น คือ วิทยุสื่อสาร ซึ่งการชาร์ตแบตเตอรี่แต่ละครั้งสามารถใช้ได้หลายวัน อย่างไรก็ตาม ในยามฉุกเฉิน “เพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครอบครัว” เป็นสื่อกระจายข่าวที่สำคัญเนื่องจากสามารถเข้าถึงตัวผู้รับการเตือนภัยได้ดีโดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการสำหรับการเตือนภัยผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุนั้น พบว่ามีความเหมาะสมในกรณีที่เหตุการณ์ไม่กระชั้นชิด เป็นการเตือนภัยเพื่อให้ผู้ได้รับการเตือนภัยสามารถเตรียมตัวรับมือได้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบและความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบภัยน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันต้องการในการอพยพประกอบด้วย เชือก เสื้อชูชีพและอาสาสมัครประจำหมู่บ้านที่ให้การช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องข้ามลำคลองขณะที่อพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัย สำหรับพื้นที่ที่ถนนหรือเส้นทางถูกตัดขาดซึ่งส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถอพยพออกจากที่อยู่อาศัยได้ การเตรียมความพร้อมทางด้านเสบียงอาหารมีความสำคัญ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มีบางหมู่บ้านเริ่มมีการจัดตั้งธนาคารอาหารประจำหมู่บ้าน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ ภาครัฐต้องมีช่องทางการในการให้ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแก่ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และควรมีบทบาทในการจัดหาสถานที่รองรับผู้อพยพที่เหมาะสม ปลอดภัย และเพียงพอเพื่อรองรับผู้อพยพในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นสถานที่ที่คนในพื้นที่รู้จัก อาทิ โรงเรียน วัด ศาลาชุมชน ฯลฯ โดยจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับทราบโดยทั่วกัน และควรคำนึงถึงความสะอาดและความเพียงพอของเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคหน่วยงานภาครัฐควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ชุมชนต้องเผชิญ ถ้าเป็นไปได้ควรสนับสนุนและจัดเวทีให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการทำแผนการอพยพของชุมชนเตรียมแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชุมชน มีการซักซ้อมแผนอพยพเป็นระยะอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่นอกจากนี้ควรมีทางออกเพื่อลดข้อกังวลเกี่ยวกับทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานที่ฝากสัตว์เลี้ยง และการจัดตำรวจออกตรวจพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมั่นใจและยอมอพยพออกจากที่อยู่อาศัยควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพสื่อเตือนภัยทั้งวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และวิทยุสื่อสาร โดยเฉพาะบทบาทการให้ข้อมูลที่สร้างองค์ความรู้ให้ผู้รับสารสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างได้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสำหรับวิทยุสื่อสารซึ่งเป็นสื่อที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุดในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินควรมีการกำกับดูแลให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ ซึ่งผู้ใช้ต้องผ่านการอบรมและมีใบอนุญาต

ทีดีอาร์ไอยังเสนอด้วยว่า น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก แต่หากมีระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายลงได้แต่สิ่งสำคัญคือหลังจากภัยนั้นผ่านไปแล้ว ควรมีแผนฟื้นฟูและเตรียมพร้อมหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญอย่างยิ่งคือความเข้มแข็งของชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หากกระบวนการยุติธรรมดี ไม่ต้องมีนิรโทษกรรม

$
0
0

สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันสมัยกลับมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่งเมื่อสภาได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมซึ่งมีหลายเวอร์ชัน บ้างเห็นด้วยบางฉบับ บ้างไม่เห็นด้วยบางฉบับ บ้างเห็นด้วยบางประเด็นไม่เห็นด้วยบางประเด็น บ้างไม่เห็นด้วยสักฉบับบอกว่าบ้านเมืองเราก็สงบดีอยู่แล้วทำไมต้องทำเรื่องให้มันยุ่งอีก บ้างก็บอกว่าลองเอ็งเป็นญาติโกโหติกาของพวกที่ติดคุกอยู่สิจะออกมาตะแบงคัดค้านกันไหม

แต่ละฝ่ายแต่ละคนออกมาให้เหตุผลก็ล้วนแล้วแต่น่าฟังไปหมด ขึ้นอยู่กับเขาหรือเธอผู้นั้นมีทัศนคติหรือความชอบทางการเมืองไปทางใด ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่หาเหตุผลมารองรับหรืออธิบายความชอบธรรมแก่ความเห็นของตนเองโดยลืมไปว่าทุกสิ่งเกิดแต่เหตุ ถ้าดับเหตุได้แล้ว ผลก็จะไม่มี

เราลองมาดูเหตุปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้

1) ศาลฎีกาไทยได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ที่ว่า“... หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย …” และ คำพิพากษาดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นฐานในการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารในฐานะ       รัฏฐาธิปัตย์เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งในโลกนี้อาจจะนับได้ว่านอกจากศาลอียิปต์แล้วคงมีแต่เพียงศาลไทยเรานี่เองกระมัง

2)ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ปี 2547 ยกคำร้องด้วยมติ 8 ต่อ 7 ในคดี "ซุกหุ้น"ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี  แต่กลับมีการนำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงนี้ไปรวมกับคะแนนเสียงอีก 6 เสียงที่วินิจฉัยยกคำร้อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้ และ มิหนำซ้ำยังมีข่าวรั่วว่าตุลาการนายหนึ่งที่วินิจฉัยให้พ้นผิดนั้นด้วยเหตุเพราะประชาชนเลือกเข้ามาด้วยคะแนนเสียงเป็นล้านจะไปวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งได้อย่างไรแทนการวินิจตามหลักกฎหมายเสียอีกแน่ะ

3)คณะตุลาการรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยด้วยการออกกฎหมายย้อนหลังไปเอาผิด และไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์หลังจากสู้กันมาถึงการแถลงปิดคดีที่ผู้คนทั้งประเทศฟังแล้วว่าอย่างไรก็คงไม่รอดแต่การณ์กลับต้องมายกคำร้องด้วยเหตุว่า “นักมวยน้ำหนักเกิน”หรือ กกต.ส่งฟ้องเกินระยะเวลาเล่นเอาคณะตลกหากินไม่ได้ไประยะหนึ่ง

4)ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้อดีตนายกสมัคร สุนทรเวช ตกจากเก้าอี้ด้วยการเอาพจนานุกรรมมาตัดสินคดีและมิหนำซ้ำยังตัดสินคดีเกี่ยวข้อตกลงระหว่างไทยกัมพูชาว่า “อาจจะ”เป็นเหตุให้เสียดินแดนได้

5)ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวมิให้นำมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งที่องค์คณะเดิมมีมติเสียงข้างมากไม่รับไว้พิจารณาแล้วเพราะเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวจน ปปช.มีมติรับเรื่องร้องเรียนไปตั้งแต่ 23 พ.ย.53 ว่ามีการสั่งเปลี่ยนองค์คณะในศาลปกครองสูงสุดโดยมิชอบ แต่ด้วยการไม่ได้รับความร่วมมือและอ้างว่าเป็นอำนาจตุลาการ ปปช.จึงเพิ่งมีมติเมื่อ 28พ.ค.56 นี้เองให้ตั้งอนุ กก.ไต่สวนอดีตประธานศาลปกครองสูงสุดในการกระทำดังกล่าว และต่อด้วยการรับฟ้องคดีจัดการน้ำของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกโดยตีความว่าเป็นผู้เสียหายอย่างกว้างมากๆจนมากที่สุด เล่นเอานักกฎหมายมหาชนพากันส่ายหน้ากันโดยถ้วนทั่ว

6)พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางด้วยหลักฐานจากภาพถ่ายว่าไปยืนมุงดูจนศาลตัดสินจำคุกคนละเป็นหลายสิบปี

7)ศาลไม่ยอมให้ “อากง”ประกันตัวจนต้องตายในคุก ทั้งๆที่โดยรัฐธรรมนูญมาตรา39 วรรคสองและวรรคสามบัญญัติไว้ว่า “ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และสิทธิการประกันตัวนี้เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน จนหลายๆประเทศออกข้อความเตือนพลเมืองของตนเองเมื่อต้องเดินทางมาประเทศไทยว่านอกจากให้ระวังโจรผู้ร้ายโดยทั่วไปแล้วต้องระวังประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ด้วยเช่นกัน

8)ศาลรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายทำหน้าที่นิติบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อ้างว่าขัดต่อมาตรา 68 แต่พอจะมาแก้รายมาตราก็จะทำไม่ได้อีก จนเกิดการประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุทำเกินหน้าที่

                                           ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

มีอีกจนจาระไนไม่หมดถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย

ควรจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่

ซึ่งเมื่อเรากลับไปพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากบุคคลได้รับการปฏิบัติด้วยความยุติธรรมในเบื้องหน้าของกฎหมาย(equal before the law) ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย(no one above the law) ไม่มีการรับรองว่าการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ปี 2552 หรือ 2553 ก็จะไม่เกิดขึ้น

ฉะนั้น ตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมของเรายังบิดเบี้ยวอยู่เช่นนี้ผมจึงเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองอันเป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติขึ้น(mala prohibita) แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมการยึดทำเนียบปิดสนามบินหรือเผาอาคารสถานที่ไม่ว่าจะเป็นของราชการหรือเอกชนก็ตาม เพราะความผิดนี้เป็นความผิดในตัวเอง(mala inse)ไม่ว่าจะเกิดในรัฐไหนในโลก จะมาอ้างว่าเกิดจากเหตุจูงใจทางการเมืองให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้ และความผิดจากการยึดทำเนียบปิดสนามบินหรือเผาอาคารสถานที่นั้นก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะไปงดเว้นโทษหรือนิรโทษกรรม แต่ต้องพิจารณาด้วยความรัดกุมและต้องเป็นผู้ที่กระทำความผิดอย่างแท้จริง มิใช่แค่เป็นเพียงไทยมุงก็โดนติดคุกคนละเป็นหลายสิบปีและตราบใดที่คดียังไม่ถึงที่สุดต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือได้รับการประกันตัว

แน่นอนว่าประเทศเราเคยตัวกับการนิรโทษกรรมมาโดยตลอดและโดยเฉพาะอย่างเป็นการนิรโทษกรรมแก่ชนชั้นนำเสียเกือบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคณะปฏิวัติรัฐประหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปราบปรามประชาชน และกรณี 19 พฤษภา 53 นี้ผมจึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ใช้อาวุธปราบปรามประชาชนจนเสียชีวิตและผู้สั่งการย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมแต่อย่างใดเช่นกัน

ถึงเวลาต้องสะสางกระบวนการยุติธรรมไทยกันแล้วล่ะครับ ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์การเผชิญหน้าจนถึงกับฆ่ากันตายแล้วมานั่งเถียงกันว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมดังเช่นปัจจุบันนี้ก็จะต้องเกิดขึ้นอีกไมรู้จักจบจักสิ้น

 

--------------

หมายเหตุเผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2556

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็น-ฮิวแมนไรท์วอทช์กังวลร่างนิรโทษฯยกผิดคนละเมิดสิทธิสลายชุมนุม 53

$
0
0
6 ส.ค. 56 - โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เซซิล ปุยอิลลิ แสดงความกังวลต่อร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่กำลังจะผ่านเข้าสภาในสัปดาห์นี้ในประเทศไทย โดยระบุว่าหากผ่านกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการสลายการชุมนุมเดือนเม.ย. - พ.ค. 2553 ต้องพ้นความรับผิดชอบ
 
โฆษกข้าหลวงใหญ่ฯ เสนอแนะให้รัฐบาลทำตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และให้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เป็นการวางรากฐานที่ดีในประเทศไทย 
 
"เราเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้แน่ใจว่า การนิรโทษกรรมครั้งไหนๆ ก็ตาม จะไม่รวมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและต้องมีมาตรการที่จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำการดังกล่าว" ปุยอิลลิระบุในการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
 
ในขณะที่วานนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์คัดค้านการนิรโทษกรรมทหารและผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยระบุว่าการดำเนินคดีผู้กระทำผิด จำเป็นต่อการเสริมสร้างสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการปรองดองที่ยั่งยืนของประเทศไทย 
 
ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้อ้างคำพูดของวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย จ.สมุทรปราการว่า ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมดังกล่าว ไม่ได้ระบุให้นิรโทษกรรมให้ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากไม่เคยมีทหารเคยถูกดำเนินคดีเลยตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 เป็นต้นมา 
 
"ร่างของวรชัย ล้มเหลวในการพูดถึงความจำเป็นที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่ทหารและบางส่วนในนปช. โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ "ชายชุดดำ" ที่สร้างความรุนแรงและละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงในปี 2553" แถลงการณ์ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ และชี้ว่า รัฐบาลควรเอาผิดกับกลุ่มที่ใช้อาวุธ และแกนนำนปช.ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงด้วยการใช้คำพูด และสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมเผาและปล้นทรัพย์สินด้วย 
 
ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า สถานะการสอบสวนการกระทำของ "ชายชุดดำ" ตอนนี้ยังคงไม่ชัดเจน และระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ใช้ผังรายชื่อที่ระบุตัวผู้ต้องหากลุ่มชายชุดดำ และโยงความเกี่ยวข้องเข้ากับความรุนแรงในปี 2553 ดังที่เคยแสดงต่อสื่อบ่อยครั้งก่อนหน้านี้ 
 
"ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมของวรชัย นับเป็นการดูถูกต่อเหยื่อและครอบครัวของเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553" แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์กล่าว "มันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งที่คนที่กระทำผิดอย่างร้ายแรง รวมทั้งทหารที่ลั่นไกปืนและผู้สั่งการที่ออกคำสั่ง จะแตะต้องไม่ได้เนื่องจากการนิรโทษกรรม" 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นอกลู่วิ่งของวัยรุ่น: จากพี่มาก ฮอร์โมน ถึงเนติวิทย์

$
0
0

เสียงซุบซิบทางไลน์ดังไปยันข่าวพาดหัวถึงบุคคลไฮไลท์ทั้ง 3 เรื่อง กับความ “เกินงาม” ในบางประเด็น ร้อนถึงแท่นปกครอง จนถึงกระทรวงอ่านเขียน ออกมาวิพากษ์กันทั่วหน้า
    
พี่มากบอกความในตอนไปรบว่า “ไม่เคยคิดถึง “สยามประเทศ” คิดถึงแต่ตะเอง (นางนาก)” ถูกโจมตีเรื่องความไม่รักชาติ จนหูชา หลังโกยรายได้ไปกว่าพันล้าน

หนังฮอร์โมน วัยว้าวุ่นกับฉากสาวสไปร์ทไฟแรงสูงตะโกนใส่เพื่อนชาย “อารมณ์น่ะมี แต่ถ้าไม่มีถุงยางก็อดโว้ย” แล้วผละตัวออกจากใต้โต๊ะห้องเรียนในเครื่องแบบ ม.5 ที่หลุดรุ่ย สร้างแรงสะเทือนไปถึงห้องประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ที่มองเป็นการชี้นำเรื่องเพศ ขณะที่ channel one โกยเรทติ้งของยอดผู้ชมหลักล้าน

เนติวิทย์ นักคิดแนวเสรีนิยมชั้น ม.5 สวมวิญญาณหลาน ดร.ป๋วย แฉ “ปฏิวัติการศึกษาไทย เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่แก้ปากท้องด้านเศรษฐกิจคนไทย เพราะเด็กๆ ยังต้องช่วยพ่อแม่ทำงานแทนที่จะอ่านหนังสือ ยกแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ฉีกกฎแรงโน้มถ่วงของผู้ใหญ่ จนเป็นเป้าสายตาในอีกหลายประเด็น

ทุกอารมณ์ในวัยรุ่น สามารถปะทุขึ้นได้

อารมณ์โดนๆ ที่จงใจกระแทกผู้ใหญ่ให้มองไปที่ “ความจริง” มากกว่า “สิ่งที่รับได้” เป็นโจทย์ให้ใครหลายคนฉุกคิด

หนึ่งในผลจากสังคมแห่งโซเชียลยุคที่ว่า ไม่มีอะไรที่จับต้องไม่ได้ และไม่มีสิ่งใดที่ใครจะมองไม่เห็น ตั้งแต่การเมืองไปจนเรื่องในมุ้งของชาวบ้านล้วนถูกเปิดเผย ล้วงลึก แหวก “ขนบ” ออกมาให้โลกได้ประจักษ์ กรอบอำนาจที่ตกทอดกันมา เช่น กฎระเบียบในโรงเรียน ทรงผม การแต่งเครื่องแบบ กำลังถูกเด็กย้อนถามถึงเหตุผล ซึ่งอยู่ในหนังฮอร์โมนตอนแรก หรือการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเนติวิทย์ ผู้นำที่ทำให้เกิดการรวมตัวของนักเรียนหลายแห่งเป็น “แฟนเพจสมาพันธ์นักเรียนไทย” ร่วมขับเคลื่อนให้ยกเลิกระเบียบบังคับนักเรียนชายตัดผมเกรียน หญิงสั้นเสมอติ่งหู หรือประเด็นหนัง “พี่มาก พระโขนง” ที่ทำให้พระเอกของเรื่อง (พี่มาก) กลายเป็นชายชาติทหารที่มีบุคลิกแบ๊วๆ ง๊องแง๊ง ปะทะกับคติความเชื่อเดิมที่ปลูกฝังว่า ชาย (ไทย) ต้องแข็งแกร่ง และรักชาติ ต้องผ่านการฝึกให้พร้อมรบเมื่อเกิดภาวะสงคราม ขณะที่ในสังคม หลายคนยังไม่ศรัทธา “หน้าที่พลเมือง” ดีพอ จึงเต็มไปด้วยการหมกเม็ดคดีหนีทหารที่มีมานาน แต่ไม่ถูกกล่าวถึง

ทว่า “ความจริง” มักปรากฏเป็นคลื่นใต้น้ำจนเรื่องแดงขึ้นมา สัญญาณเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยคงไม่มีแค่ลู่เดิมๆ อีกต่อไปแล้ว นอกเส้นที่ขีดกรอบ ยังมีทางเลือกใหม่ๆ ต่างเหตุ ต่างผล คำว่า “ถูก” “ผิด” “เหมาะ” “ควร” อาจใช้ไม่ได้ในยุคสมัยหนึ่ง เพราะทุกความคิด ล้วนมีค่าและมีความหมายในตัวมันเองทั้งสิ้น

กลับมาที่ 3 ความดังทะลุฟ้า พี่มาก ฮอร์โมน เนติวิทย์

จะดีกว่าไหม ถ้าเรานำ “จุดแข็ง” ของกระแสเหล่านี้ มาเป็นเครื่องมือดีๆ เพื่อไม่ให้มีอะไร “เสียของ”

ป้ามล หรือทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษกเป็นตัวอย่างของผู้ที่พยายามนำเรื่องรอบตัวมาประยุกต์เป็นเครื่องมือจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กก้าวพลาดที่ต้องโทษคดี มากว่าสิบปี ที่ทดลองกับโจทย์อันแสนยาก ป้ามักหยิบหนัง หรือข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาให้เด็กๆ ช่วยกันคิด แสดงความเห็นกัน ตั้งบอร์ดกระทู้ รับฟังปัญหาบ้าง เขียนเป็นจดหมายบ้าง และอีกหลายวิธี ซึ่งป้าบอกเสมอว่า แรงกดดันทางสังคมทำให้เยาวชนเสียรูปทรงไปบ้าง แต่ป้าก็เชื่อว่า “เด็กน้อยย่อมโตเข้าหาแสง” หากผู้ใหญ่ช่วยสร้างกระบวนการให้เด็กเยาวชนได้คิดวิเคราะห์ และตัดสินใจด้วยตัวเอง รื้อฟื้นเกราะป้องกันในจิตวิญญาณของพวกเขา หรือที่เรียกว่า self-control ดึงแสงสว่างในตัวเด็กออกมา แล้วใส่การชื่นชมลงไปให้พวกเขาเห็นศักยภาพในตัวเขาเอง นั่นเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนา “เยาวชนเชิงบวก” ให้เด็กคืนรูปสู่ตัวตนแท้จริง ซึ่งป้าได้ทดลองกับเด็กมาแล้วหลายรุ่นอย่างอย่างได้ผล

ในกรณีหนังฮอร์โมนว้าวุ่น หากเราฉวยโอกาสกับกระแสนี้ ดึงบางตอนของหนังมา

ตั้งโจทย์ให้วิเคราะห์ในห้องเรียน ฉากที่ “สไปร์ทจะมีอะไรกับเพื่อน” นำขึ้นมาเป็นกระทู้ถกกัน

ว่า “มีเพศสัมพันธ์ตอนอายุเท่านี้ได้หรือไม่” โดยเปิดรับคำตอบทั้ง “ได้” “ใช่เลย” “มีก็ดี” “ห้าม”

“ไม่ควร” “แอบมีได้” “ยังไม่ถึงเวลา” ฯลฯ และเด็กอาจถามต่อว่า พวกเรามีประจำเดือนกันแล้วก็เป็นวัยที่พร้อมเจริญพันธุ์ซึ่งครูควรนิ่งฟัง อย่าเพิ่งดันเรื่อง “รักนวลสงวนตัว” ที่จับต้องไม่ได้เข้าไปให้พวกเขา ไม่ตำหนิ ตีกรอบ หรือชี้นำ ครูมีหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วบ้าง บอกผลลัพท์ของทุกทางเลือก ทุกคำตอบ แล้วช่วยเสริมประเด็นที่เด็กขาด และต้องไม่ลืมจัดบรรยากาศในห้องเรียน ให้เด็กกล้าพูด กล้าถกกันด้วยเหตุผล “ใจครู” ต้องกล้าพอที่จะยอมรับคำตอบที่อาจไม่ตรงกับความรู้สึก อาจขัดกับความเชื่อเดิมของตัวเอง เช่น เด็กอาจตอบว่า มีเพศสัมพันธ์สนุกดี เพราะได้ปลดปล่อยอารมณ์เพศดีกว่าช่วยตัวเอง ฯลฯ แต่ต้องพาเด็กคิดต่อ ชวนคุยให้ลึกขึ้น เช่น ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงรู้เข้าจะเกิดอะไร เราต้องแต่งงานกับใครสักคนตอนนี้มีความพร้อมไหม ต้องเตรียมตัวเป็นพ่อ-แม่มือใหม่อย่างไร หรือการที่แฟนคนนี้อาจยังไม่ใช่เนื้อคู่ที่ต้องการในอนาคตจะทำอย่างไร เป็นต้น

เพราะวัยรุ่นมีโอกาสถลำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงเมื่อใดก็ได้ การเรียนรู้จากการ “ตอบคำถาม” และ “จินตนาการถึงประสบการณ์ที่ท้าทาย” จะช่วยสร้างทักษะการคิดให้พวกเขานำไปใช้ได้จริง เพราะเขาจะรอดได้อย่างไรหากไม่ซ้อม เช่น เมื่อเขาได้อยู่กับแฟนในบรรยากาศที่พร้อมจะมีอะไรกัน ถูกหลอกให้เจอผู้ชายที่ฉวยโอกาส ถูกล่วงละเมิด ฯลฯ เด็กต้องการการเตรียมพร้อมในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเครื่องมือในอดีตที่ครูมักสรุปแทนว่า “เด็กยังไม่ควรมีเพศสัมพันธ์กันในตอนนี้” ควรเปลี่ยนเป็นคำถามทัศนะว่ามองเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นแบบใด หากมีเพศสัมพันธ์ตอน (วัย) นี้ มีข้อดีอะไร ข้อเสียยังไง (ซึ่งเด็กอาจตอบตามแนวผู้ใหญ่ เช่น เสี่ยงท้องหรือติดโรค) แล้วจึงค่อยถามต่อว่า “หนูจะยอมรับโอกาสเสี่ยงได้แค่ไหน” “เชื่อมั่นว่าควบคุมตัวเองได้ 100% ทุกครั้งหรือเปล่า” คำถามแบบนี้จะช่วยสะกิดใจเด็กที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หรือยังลังเลให้หันมาชั่งน้ำหนักว่าเขาจะควบคุมความเสี่ยงนั้นได้ทุกครั้งจริงหรือ ส่วนเด็กที่มีประสบการณ์ทางเพศแล้วก็จะคิดทบทวนดูว่าการป้องกันที่มีอยู่เพียงพอหรือยัง รวมทั้งจัดให้เด็กได้เรียนรู้เรื่อง “ถุงยางอนามัย” การคุมกำเนิดในแบบต่างๆ ทางเลือกเมื่อเกิดพลาดตั้งครรภ์ขึ้น พวกเขาจะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ในโจทย์ของตัวเองอย่างไร

“ไม่ใช่ว่า..เราจะให้เลิกสอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องทักษะชีวิต ควรจัดเข้าไปในส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญกับเด็กจริงๆ เพราะก่อนที่จะเก่งวิชาใดๆ พวกเขาต้องมีชีวิตรอดอย่างปลอดภัยให้ได้ก่อน” ป้ามลกล่าวบนเวทีวิชาการเพศศึกษาเพื่อเยาวชนภาคอีสาน “เพศวิถีศึกษากับการเรียนรู้และทักษะสำหรับโลกศตวรรษที่ 21” เมื่อวันที่  20-21 มิถุนายน 2556 จ.ร้อยเอ็ด ที่ผ่านมา

จุดเน้นคือกระบวนการถ่ายทอดที่ต่างไปจากวิธีเดิม เพราะปัจจุบันทางเลือกมีได้หลายทางมากขึ้น มีลู่วิ่งที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย ครูจึงไม่จำเป็นต้องชี้นำว่า สิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำอีกแล้ว ไม่ตอกย้ำ “คุณค่าแห่งพรหมจรรย์”  (ที่อาจทำให้เด็กที่มีประสบการณ์ทางเพศแล้วถูกตีตรา) หรือขู่ว่า “เธออาจติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์” เพราะเด็กยังมองไม่เห็นว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตนเองได้อย่างไร หรือการบอกว่า “รอให้โตกว่านี้ก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องเพศ” ยิ่งสวนทางกับพัฒนาการทางร่างกายของพวกเขา มิหนำซ้ำเด็กบางคนเลี่ยงครูไปหันเข้าหาแหล่งข้อมูลเสี่ยง หรือความเชื่อแบบผิดๆ เมื่อขาดทักษะ โอกาสพลาดก็มีมากขึ้น และยังต้องฝ่าภัยมืดที่มากับสื่อออนไลน์รุกคืบผ่านสมาร์ทโฟนของพวกเขาอีกด้วย

การออกแบบการเรียนรู้ของ “เพศวิถีศึกษา” เป็นหลักการเดียวในข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด และนี่เองเป็นเหตุผลของความพยายามในการผลักดัน “เพศวิถีศึกษา” เข้าไปในโรงเรียน โดยสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การแพธ กำลังทำงานร่วมกันอยู่ ซึ่งประเทศไทยขณะนี้มีโรงเรียนราว 2,400 แห่งรวมทั้งอาชีวศึกษาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ที่เหลืออีกกว่า 20,000 แห่ง ยังคงรอการสนับสนุนจากแหล่งทุนที่เห็นความสำคัญ

“เพราะเราไม่ได้บอกถูก บอกผิด เวลาสอน บางทียังได้ความรู้จากเด็กอีก เด็กก็สามารถตอบโต้กับเราได้ ในเรื่องการใส่ถุงยางอนามัย การป้องกัน เด็กตอบได้ทันที เราคิดว่าเด็กมีความรู้จริง แต่ทำยังไงให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถวิเคราะห์ แยกแยะได้ ซึ่งที่ผ่านมา โรงเรียนสหศึกษาอย่างเรา พอนักเรียนชายหญิงชอบกัน ผู้ชายบอกเลิก ผู้หญิงมักไม่ยอมรับ มีเรื่องกันในโรงอาหาร เอาก๋วยเตี๋ยวราดกันบ้าง แต่เมื่อนำเพศวิถีศึกษาเข้าไป ก็ไม่เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทด้านชู้สาวอีกเลย หมดเลย หมายถึงพอใครเลิกกับใคร ก็ไม่มีใครเป็นใครตาย” อาจารย์นิภาดา ดำริห์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย จ.นครปฐม ผู้ดูแลงานกิจการนักเรียน เล่าถึงผลจากการนำ “เพศวิถีศึกษา” เข้าไปในโรงเรียนมากว่า 8 ปีแล้ว จนทำให้สถานการณ์ของเด็กๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องท้องในวัยรุ่น ยังรวมถึงปัญหาความรุนแรง และยาเสพติด ให้คลี่คลายลงได้ด้วย*

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการหยิบบางประเด็นมาชี้ให้เห็นว่า กระแสข่าวแรงๆ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้เยาวชนได้ แต่ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายควรช่วยกันจัดสภาพสังคมที่เอื้อให้เด็กแสดงออกได้มากขึ้น ขยายพื้นที่สร้างสรรค์ดึงความสนใจจากพลังอันเหลือเฟือของพวกเขา ใช้ “ทักษะชีวิตและการคิดวิเคราะห์” มากอบกู้จิตวิญญาณความเป็น “หนุ่มสาวรุ่นใหม่” ให้มีภูมิคุ้มชีวิตท่ามกลางกระแสโลกเสรีในขณะนี้ อย่าลืมว่าผู้นั่งแท่นบริหารประเทศต้องอ่านเกมให้ออก ไม่หันเข้าสู่ กับดักเดิมๆ ด้วยความหวังดีแบบ “คิดแทน” คงไม่ต้องดึงเนติวิทย์มาจัดค่ายปลุกพลังวัยรุ่น ไม่เลือกใช้วิธีตามอุด ด้วยมุข “กำกับ” “ระงับ” หรือ “คาดโทษ” หรือปล่อยปละจนเรื่องซาไปเอง เพราะสุดท้ายก็จะต้องวนอยู่กับปัญหาเดิมที่แก้ไม่ตก ขัดกับความหมายของการเป็นกำลังพัฒนาอย่างยิ่ง

ง่ายกว่าไหม ถ้าหันมาตั้งคำถามด้วยกัน แล้วเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเยาวชน..!!

 


หมายเหตุ  *เพราะการเรียนรู้พัฒนาการร่างกายที่มีในวิชาสุขศึกษา เป็นทฤษฎีบอกถึงการรักษาสุขภาพ ซึ่งไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น เช่น สัมพันธภาพ พฤติกรรมทางเพศ ฯลฯ ต่างกับกระบวนการเรียนรู้ “เพศวิถีศึกษา” ที่เน้นสร้างการเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ทั้งกายและใจที่ถูกต้องและรอบด้าน ฝึกทักษะจำเป็นในการดำเนินชีวิตที่ช่วยวัยรุ่นปลอดภัย ผ่านเกม กิจกรรม การตั้งคำถาม และกระบวนการอื่นๆ ที่เยาวชนจะคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ตามช่วงวัย พร้อมสื่อเรียนรู้ที่ตรงความสนใจของวัยรุ่น (ดาวน์โหลด คู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้และสื่อที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ www.teenpath.net)

 

ที่มา:โครงการก้าวย่างอย่างเข้าใจ http://www.teenpath.net/content.asp?ID=17051#.UgEdUpJgfwh

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images