Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58130 articles
Browse latest View live

กองทัพเรือ vs ภูเก็ตหวาน: ทำไมต้อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์?

$
0
0


ภาพโดย orangesparrow  (CC BY-NC-ND 2.0)

 

 

วันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดภูเก็ต ได้มีคำสั่งปล่อยตัว อลัน มอริสัน และ ชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการและผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเป็นการชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวมูลค่าคนละหนึ่งแสนบาท

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเว็บไซต์ภูเก็ตหวานหรือ Phuketwan ลงข่าวเรื่องทหารเรือไทยบางคน มีส่วนได้ส่วนเสียกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยรับสินบนหากไม่จับกุมการค้ามนุษย์ดังกล่าว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ได้สัมภาษณ์ชาวโรฮิงญาที่รอดมาได้ ทำให้ต่อมา กองทัพเรือฟ้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวาน ตามมาตรา 14(1) ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกอบกับมาตรา 326 และมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยกองทัพเรืออ้างว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

ก่อนที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จะมีผลประกาศใช้ คดีนี้คงเป็นเพียงการฟ้องร้องตาม มาตรา 326 และมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ได้ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งมีอัตราโทษสูงสุดคือ ปรับและจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และสองปีตามลำดับ แต่เนื่องจากข่าวดังกล่าว เป็นการตีพิมพ์ออนไลน์ จึงได้ทำให้ถูกฟ้องร้องตามมาตรา 14(1) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย ซึ่งมาตราดังกล่าวมีความว่า

“ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน...”

นอกจากมาตรา 14(1) นี้จะมีเนื้อหาซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา ความคลุมเครือของมาตรา 14 ทั้งมาตรา และมาตรา 15 ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระวางโทษที่สูงถึงห้าปี ทำให้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกตีความให้เกินไปกว่าเจตนารมณ์เดิมของกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และจัดการกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ แต่กลับถูกใช้คุกคามเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไป

จากหลายกรณีที่ผ่านมา ที่มีการนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาคุกคามสื่อ ด้วยความกว้างของกฎหมาย ที่แทบจะตีความให้ครอบคลุมได้หลากหลายกรณี เป็นการทำให้สื่อมวลชนทำงานได้ยากลำบาก และมีข้อจำกัดมากขึ้น ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดแจ้ง และระวางโทษที่สูงกว่าการหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาถึงสามปี เป็นเรื่องน่าคิดว่าเป็นอัตราโทษที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ สำหรับความผิดฐานดังกล่าว ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์รัฐ เป็นเรื่องที่ทำให้สื่อมวลชนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อโทษจำคุกมากขึ้น

องค์กรระหว่างประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับกองทัพเรือในการดำเนินคดีนี้ สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกมาประณามกองทัพเรือในการดำเนินคดีดังกล่าว และแทนที่จะคุกคามสื่อรายเล็กๆ รัฐไทยควรพิสูจน์ความจริง ว่ากองทัพเรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่ออกแถลงการณ์ว่าการลงโทษจำคุกไม่ใช่มาตรฐานที่เหมาะสมกับความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อ

กองทัพเรือในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐ มีหลายวิธีในการรับมือกับกรณีเช่นนี้ ไม่ว่าจะชี้แจงกับเว็บไซต์ภูเก็ตหวานเพื่อแก้ข่าว ซึ่งที่ผ่านมา ภูเก็ตหวานก็เคยชี้แจงในกรณีที่กองทัพเรือถูกกล่าวหาว่ากระทำทารุณต่อชาวโรฮิงญาว่าไม่เป็นความจริง หรือกองทัพเรือเองก็มีสิทธิในการจัดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง แต่กลับเลือกวิธี ใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาที่ยังถกเถียงกันในวงกว้าง ว่ามีเนื้อหาขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มาใช้ในการคุกคามสื่อ

ตั้งแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้ในปีพ.ศ. 2550 ได้พิสูจน์แล้วว่า กฎหมายฉบับนี้มีปัญหา และได้ถูกใช้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ดั้งเดิมหลายต่อหลายครั้ง แทนที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ออนไลน์ แต่กลับเป็นภัยคุกคามเสรีภาพของพื้นที่ออนไลน์เสียเอง ถึงเวลาหรือยัง ที่รัฐไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างจริงจังเสียที


 

ข้อมูลจาก
http://freedom.ilaw.or.th/case/554#detail

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กระทรวงสาธารณสุข เป็นของใคร

$
0
0

<--break- />

 



สิ่งที่น่าอนาถใจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาในสังคมไทยคือข้าราชการถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมกับกระบวนการทางการเมือง  กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่พ้นจากวังวนนี้ แต่ที่น่าสังเวชยิ่งกว่าคือจากการที่เคยเป็นกระทรวงที่มีลักษณะก้าวหน้าที่สุด กล้าหาญที่สุดที่จะปฏิรูปตัวเองและปฏิรูปสังคม แต่ที่สุดแล้วความลุแก่อำนาจ การได้กำกับควบคุมประชาชนเป็นสิ่งที่หอมหวานกว่า เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นในสังคมไทย กระทรวงสาธารณสุขโดยหัวหน้ากระทรวง หมอในกระทรวง ซึ่งเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการก่อเกิดระบบนี้ ยอมเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นเทพเจ้าผู้ใจดีมีอำนาจในการรักษาชีวิตมาเป็นผู้ให้บริการทำหน้าที่บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยที่เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนพึงได้รับ โดยยึดหลักรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบจัดระบบให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุดให้กับประชาชน ดังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่บริการประชาชน

แต่สิ่งที่ปลัดกระทรวงปัจจุบันและผู้บริหารบางส่วนร่วมกับกลุ่มหมอออกมาแถลงข่าวฟาดหัวฟาดหางว่าตนเองถูกท้วงติงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ว่าปล่อยให้ลูกน้องสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ใช้เงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เหมาะสมไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ เลยออกมาขู่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะไม่ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โรงพยาบาลในสังกัด ให้บริการประชาชนอีกต่อไปหากไม่ยุติการโอนเงินไปให้ สสจ. แล้วโอนเงินตรงไปให้กระทรวงจัดการเองแทน ถือเป็นคนละเรื่องกันเลย เมื่อตนเองถูกตรวจสอบก็ควรจะต้องพิจารณาจัดการแก้ไขตามข้อท้วงติงจาก สตง. และต้องปรึกษาหารือกับ สปสช.ว่าจะร่วมกันรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร จะทำให้รัดกุมขึ้นอย่างไร จะแก้ปัญหาไม่ให้เกิดการคอรัปชั่นได้อย่างไร ไม่ใช่มาเอาประชาชนเป็นตัวประกันว่าจะไม่ให้บริการเพราะไม่พอใจระบบหลักประกันสุขภาพ 

ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดระบบหนึ่งในสังคมไทยและในอารยะประเทศที่รัฐทำหน้าที่จัดการบริหารภาษีของประชาชนพลเมืองทั้งมวลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้หลักการความเป็นธรรม ความเสมอภาค รัฐทำหน้าที่รับประกันว่าประชาชนทุกคนเมื่อต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพ การดูแลรักษา การฟื้นฟูเยียวยา

ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับบริการนั้นทันทีอย่างเหมาะสมทุกคนด้วยมาตรฐานคุณภาพเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นคนจนคนรวยเมื่อไปรับบริการไม่ต้องถูกเรียกเก็บเงิน ไม่ต้องถูกปฏิเสธการรักษา ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือในฐานะผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป นี่เป็นการบริหารของรัฐที่ยึดมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หมอจึงไม่ใช่เทพเจ้าแต่เป็นผู้ให้บริการประชาชนด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพและมีหัวใจอาสาสาธารณะ ซึ่งการสั่งสอนวิชาชีพหมอก็ควรปรับตัวให้เข้ากับจิตตารมณ์นี้เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพในแง่การบริหารจึงจำเป็นต้องแยกผู้มีส่วนได้เสียออกจากกัน กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความชำนาญในการเป็นผู้ดูแลรักษาจึงควรเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดของประเทศ(Health Provider) ไม่ควรต้องทำหน้าที่ในการบริหารงบประมาณซึ่งเป็นงบค่าใช้จ่ายที่ประชาชนเป็นเจ้าของ(ภาษี) ประชาชนควรเป็นผู้บริหารงบประมาณนั้นเอง โดยมีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่นี้ ซึ่งในปัจจุบันคือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเป็นกรรมการทั้งจากประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากหน่วยงานรัฐอื่นๆร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และจากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข คือ รัฐมนตรี และปลัดกระทรวง คณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดนโยบายให้ประชาชนได้รับการบริการอย่างดีที่สุดมีคุณภาพและคุ้มค่างบประมาณที่ใช้ในแต่ละปี กำหนดชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาซึ่งก็คือกำหนดงบประมาณในแต่ละปี กระตุ้นให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิประชาชนให้ได้รับหลักประกันว่าจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ได้รับการส่งต่อตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม การออกแบบระบบแยกผู้ให้บริการออกจากผู้บริหารงบเพื่อจัดหาบริการให้ประชาชนออกจากกันเพื่อให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้

แต่ปัญหาคือกระทรวงสาธารณสุขยังเล่นบทบาททับซ้อนกันอยู่ คืออยากเป็นทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับนโยบาย ผู้บริหารงบและอื่นๆนั่นคือขอทำตัวเหมือนกับ 10 ปีที่แล้วที่ยังไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพ ความเป็นกระทรวงที่ก้าวหน้า มีการปฏิรูปตนเอง เลือนหายไป ขณะที่ปากก็ป่าวร้องว่าต้องปฏิรูปประเทศ ( ดูจากเปิดกระทรวงต้อนรับ กลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปที่เดินสายไปหา)  แต่การกระทำกลับถอยหลังเข้าคลอง หากมีรัฐบาลใหม่เราจะไว้ใจได้อย่างไรหากปลัดกระทรวง หรือหมอในกระทรวงที่ฟาดหัวฟาดหางที่อาจได้เป็นใหญ่ขั้นรัฐมนตรี แต่ระบบหลักประกันสุขภาพต้องการผู้บริหารที่หัวก้าวหน้ามากกว่าเป็นนักอนุรักษ์นิยม

ยุคการปฏิรูปคือการที่ประชาชนเป็นพลเมืองที่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันและควรได้รับการบริการบนหลักการสิทธิ และโปร่งใส กระทรวงสาธารณสุขควรทำตัวหดเล็กลง ทำหน้าที่ด้านวิชาการกำกับทิศทางการดูแลรักษาให้ทันสมัยก้าวหน้า ขณะที่โรงพยาบาลควรมีอิสระปฏิรูปถ่ายโอนเป็นองค์กรมหาชนที่ประชาชนเข้าไปถือหุ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบดูแล ให้บริการสอดคล้องสอดรับกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพในพื้นที่นั้นๆ หรือเขตสุขภาพนั้นๆ 

แต่เฉพาะหน้านี้ หากกระทรวงไม่ยอมให้บริการ มีการสั่งการให้โรงพยาบาลไม่รับเงินจาก สปสช.โดยตรง ประชาชนเป็นตัวประกันเพราะเจ็บป่วยต้องไปรักษาแต่จะถูกเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาล หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เราต้องเตรียมตัวฟ้องศาลปกครองกันแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ปฏิบัติหน้าที่ หวังว่าศาลปกครองจะรับฟ้องและคุ้มครองชั่วคราวโดยพลัน 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปวันเดียว 5 เหตุตาย 5 - ยิง ผช.ผญบ.กลางตลาดนัด และยิงพ่อลูกที่บันนังสตา

$
0
0
สรุปเหตุรุนแรงวันเดียวมี 5 เหตุการณ์ ยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกลางตลาดนัด วางระเบิดตำรวจสุไหงปาดี ที่เหลือเป็นเหตุยิงชาวบ้านตายรวม 5 โดยที่บันนังสตามีเหตุยิงชาวบ้านที่มีหมายจับ ตายพร้อมลูกชายอายุ 6 ขวบ

ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) ได้สรุปเหตุรุนแรงเบื้องต้นประจำวันที่ 17 เมษายน 2557 พบว่ามีทั้งหมด 5 เหตุการณ์ เป็นเหตุการณ์ยิง 4 เหตุการณ์ ระเบิด 1 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 5 คน บาดเจ็บ 2 คน โดยเป็นตำรวจ 1 นาย

โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อเวลา 06.50 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนพก ไม่ทราบขนาด ยิงนายศราวุธ มณีโชติ อายุ 29 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ม.7 ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อยู่บ้านเลขที่ 15 ม.7 ต.บ่อทอง กระสุนถูกบริเวณศีรษะ ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดขณะที่นายศราวุธเดินซื้อกับข้าวในตลาดนัดบ้านบ่อทอง

เหตุการณที่ 2 ได้รับแจ้งเหตุจากกลุ่ม LINE ภาคประชาชนว่า เมื่อเวลา 16.10 น. คนร้ายลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทําให้ ส.ต.ท.นพรัตน์ มากชูชิต อายุ 35 ปี สังกัด นปพ.สภ.สากอ ถูกสะเก็ดระบิดบริเวณไหล่และแขน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย นําส่งโรงพยาบาลสุไหงปาดี เหตุเกิดขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตร.สภ.สากอ นำรถมาจอดไว้ใกล้สนามฟุตบอลสาธารณะ จากนั้นได้ลงจากรถ เพื่อจะเดินไปร่วมแข่งขันกีฬาอบต.สากอคัพต้านภัยยาเสพติด แรงระเบิดยังทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย ชื่อนายซูกีฟลี สามูมิง อายุ 15 ปี จากการตรวจสอบพบเป็นระเบิดแสวงเครื่อง บรรจุในถังแก๊สปิกนิก ขนาด 5 กก. จุดชนวนด้วยวิทยุสื่อสาร โดยคนร้ายมาฝังไว้บริเวณลานจอดรถ

เหตุการณ์ที่ 3 เวลา 19.15 น. คนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้อาวุธปืนพกไม่ทราบขนาด ยิงนายอดิศักดิ์ ลาเตะ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29/2 บ้านโคกโหนด ม.3 ต.คอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะนายอดิศักดิ์กำลังเดินออกจากมัสยิดบ้านโคกโหนด กระสุนถูกบริเวณลำตัวเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ หลังก่อเหตุคนร้ายได้วิ่งไปขึ้นรถจักรยานยนต์ขับขี่หลบหนีไป เจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุเป็นเรื่องส่วนตัว ขัดแย้งเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

เหตุการณ์ที่ 4 ได้รับแจ้งจากกลุ่ม LINE ภาคประชาชนว่า เมื่อเวลา 19.00 น.คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้ปืนยังนายมุกตาร์ อาลีมามะ อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 บ้านบาเจาะ ม.2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ โดยใช้ชื่อนายอุสมาน อภิบาลแบ และมีหมายจับ นอกจากนี้คนร้ายยังยิง ด.ช.ลุกมาน อภิบาลแบ บุตรชายอายุ 6 ปีเสียชีวิต

จากการสอบถามทราบว่า นายมุกตาร์ได้เข้าไปทำสวนในตอนเช้า กระทั่งเวลา 18.00 น. มีชาวบ้านเข้าไปตัดไม้พบว่าทั้งสองคนถูกยิง โดยนายมุกตาร์เสียชีวิต ส่วนด.ช.ลุกมานได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกนำส่งโรงพยาบาลบันนังสตาตาก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ญาติไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่นำศพไปชันสูตร

เหตุการณ์ที่ 5 ได้รับแจ้งจากกลุ่ม LINE ภาคประชาชนว่า เมื่อเวลา 20.30 น.คนร้ายยิงนายอัซฮา ยูโซ๊ะ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 12/2 บ้านกาแระ ม.2 ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะพักผ่อนในบ้านภรรยา เหตุเกิดที่บ้านโต๊ะอีแต ม.8 ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เหตุเกิดที่บ้านบือยอ ม.4 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อนาคตสันติภาพ ของเหยื่อคาร์บอมบ์ยะลา

$
0
0

หลังเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ครั้งล่าสุดกลางเมืองยะลาในช่วงก่อนสงกรานต์ วันนี้ทางเทศบาลนครยะลาได้เริ่มส่งเครื่องจักรหนักเข้าเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเตรียมก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาแทน

เหตุคาร์บอมบ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อคนร้ายจุดชนวนระเบิดที่บรรจุในถังแก๊สน้ำหนักประมาณ 100 กก.ซุกในรถยนต์กระบะมาสด้า บีที 50 สีขาวที่มาจอดหน้าร้านราชาเฟอร์นิเจอร์ ถ.สิโรรส อ.เมือง จ.ยะลา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 28 ราย อีกทั้งยังวางระเบิดอีกหลายจุด ซึ่งเหตุเกิด 2 วันต่อเนื่องกันในวันที่ 6 และ 7 เมษายน 2557

เป็นเหตุไม่สงบที่สร้างความเสียหายมหาศาลอีกครั้งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโกดังศรีสมัยที่ถูกเพลิงไหม้จากเหตุระเบิดจนได้รับความเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

ทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องหลายครั้งด้วยกัน

 

เป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นางวราพรณ์ ศิริไชย เถ้าแก่โกดังศรีสมัย เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ธุรกิจของตนได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบ 8 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แต่ไม่อยากพูดว่าที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลเท่าไร เพราะพูดไปแล้วเจ็บใจเปล่าๆ

นางวราพรณ์ เจ้าของธุรกิจหลายอย่างและหลายแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งร้านค้าขายส่ง ห้างและโกดัง บอกว่า “รู้สึกหมดกำลังใจจริงๆ คิดอะไรไม่ออกว่าอนาคตจะเอาอย่างไรสำหรับธุรกิจของดิฉัน แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะช่วยเหลืออย่างไร หากช่วยเหลือดี ก็จะดำเนินการธุรกิจต่อไปได้ แต่หากช่วยเหลือไม่ดีก็อาจจะต้องถอย

สำหรับธุรกิจอีกอย่างหนึ่งของตระกูลศิริไชยที่มักได้รับผลกระทบมาตลอดก็คือ ร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ซึ่งทุกสาขาใน 3 จังหวัดชายแดภาคใต้ ยกเว้นสาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. รวมมากกว่า 60 สาขา เป็นธุรกิจของพวกเขา

ส่วนห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์อีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวที่มีสาขาอยู่ทั้ง 3 จังหวัด คือสาขาปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ก็เคยถูกระเบิดและเพลิงไหม้เสียหายอย่างหนักมาแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะสาขาปัตตานีที่ถูกระเบิดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ส่วนสาขานราธิวาสถูกระเบิดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน

ขณะที่ร้านศรีสมัยค้าส่งเองก็เคยถูกจักรยานยนต์บอมบ์หน้าร้าน มาแล้วเมื่อปี 2547 มีผู้หญิงผู้เสียชีวิต 1 ราย

สิ่งที่เถ้าแก่วราพรณ์อยากเรียกร้องคือ ขอให้รัฐบาลให้ช่วยเหลือเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างดี เพื่อเป็นกำลังใจในการทำธุรกิจในพื้นที่ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ขอเรียกร้องต่อผู้ก่อเหตุด้วยว่า “อย่าทำร้ายเราเลย เพราะเราเป็นคนหาเช้ากินค่ำ และต้องเลี้ยงดูลูกน้องรวมๆ กว่า 2,000 คน ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแล้วจะให้พวกเขาทำอะไรเลี้ยงครอบครัว”

ส่วนการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นะหรือ เธอบอกว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตนเองไม่มีความรู้หรอกว่าจะบอกให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างไร แค่คนที่หาเช้ากินค่ำ

 

อนาคตสันติภาพอยู่ที่ประชาชน

ขณะที่เจ้าหน้าร้านแต้ชุนกวงถูกเพลิงเผาวอดไปในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่า ความไม่สงบในพื้นที่แก้ได้ด้วยการพูดคุยระหว่างประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมีทั้งคนจีน คนพุทธและมุสลิม

“ดิฉันหวังว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการพูดคุยกันได้ระหว่างประชาชนด้วยกัน”

“เหตุการณ์นี้มีคนมุสลิมบาดเจ็บจำนวนมาก ดังนั้นอยากให้ประชาชนในพื้นที่มานั่งคุยกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแบ่งแยกศาสนา”

เจ้าหน้าร้านแต้ชุนกวง ย้ำว่า “หากคนในพื้นที่ต้องการให้เป็นเขตปกครองพิเศษก็ให้พูดคุยกัน อย่ามาก่อเหตุอย่างนี้เลย มันเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง”

สำหรับเจ้าของร้านแต้ชุนกวงแห่งนี้ เคยถูกระเบิดมาแล้ว 2 ครั้ง แต่เธอก็ย้ำว่าจะอยู่ที่นี่ต่อไป เพราะเกิดที่นี่และครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่มา 70 ปีแล้ว

ร้านแต้ชุนกวงขายเครื่องสังฆภัณฑ์หรือสิ่งของไหว้เจ้า เปิดร้านมาตั้งแต่รุ่นอากงหรือ 70 ปีมาแล้ว มีลูกค้ามีทั้งคนจีน พุทธและมุสลิม เหตุระเบิดทำให้ร้านเสียหายย่อยยับ เธอไม่สามารถประเมินมูลค่าได้

ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับขบวนการ BRN ที่มีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เจ้าของร้านรายนี้ ย้ำว่า รัฐบาลต้องพูดคุยกับกลุ่มบุคคลที่คิดต่างจากรัฐด้วยความจริงจัง หากไม่จริงจัง ประชาชนในพื้นที่นั่นแหละที่จะเดือดร้อนไปเรื่อยๆ

“อยากให้รัฐบาลกับขบวนการ BRN ตั้งองค์กรประสานงานระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้การพูดคุยสันติภาพสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลเอาประชาชนในพื้นที่เข้าไปอยู่ในคณะพูดคุยสันติภาพด้วย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม”

เธอบอกว่า ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับขบวนการ BRN นั้น รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในทางบวกของการพูดคุยสันติภาพ เพราะจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

“การพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมาประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น เพราะระหว่างการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินอยู่ ก็ยังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่เป็นประจำ”

แม้ภาพอนาคตสันติภาพจะเป็นอย่างไรต่อไปในสายตาพวกเขา สิ่งที่ไม่อยากให้เป็นก็คือนั่งมองเครื่องจักรรื้อซากแล้วสร้างใหม่ขึ้นมาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแน่ๆ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองปราบประชุมตั้งชุดติดตามจับกุมคดีหมิ่น

$
0
0
ตำรวจกองปราบฯ ประชุมคดี “โกตี๋”  หมิ่นเบื้องสูง ซึ่งมีความชัดเจนแล้ว 4-5 คดี โดยจะเร่งรัดทำคดีและตั้งชุดทำงานติดตามจับกุม ส่วนคดี "โรส" อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานตรวจสอบ หากอยู่อังกฤษอาจใช้สนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

 
18 เม.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา รักษาการผู้บังคับการกองปราบปราม ประชุมพนักงานสอบสวนคดีนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ หมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยวันนี้เป็นการรวบรวมคดี ตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระที่เกิดขึ้นในอดีต หากพบมีความผิดเพิ่มเติมจะพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่ม รวมถึงคดีของบุคคลอื่นที่เข้าข่ายลักษณะเดียวกัน ซึ่งคดีโกตี๋มีความชัดเจนแล้ว 4-5 คดี และเมื่อวานได้ชี้แจงต่อกรรมธิการตำรวจ หลังมีความเห็นว่าคดีล่าช้า ซึ่งจากการชี้แจงกรรมมาธิการตำรวจมีแนวโน้มพอใจการดำเนินคดี
 
ทั้งนี้ ยืนยันจะเร่งรัดคดีและทำอย่างรัดกุม เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ส่วนการติดตามตัวนายโกตี๋มีการตั้งชุดทำงาน โดยมี พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าชุด พร้อมส่งหมายจับไปทุกหน่วยงานทั่วประเทศ คาดตัวยังอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน
 
ส่วนการติดตามคดีของ น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ โรส อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานตรวจสอบคลิปวิดีโอ เชื่อว่าอยู่ที่ต่างประเทศ โดยจะทำสำนวนส่งอัยการ หากพิสูจน์ว่าอยู่อังกฤษจริง จะใช้สนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมงัดแบบเรียนภาษาไทย 2499 แก้ปัญหาเด็กอ่านเขียนไม่ออก

$
0
0

สพฐ.เผยเตรียมนำแบบเรียนเร็วฉบับสังข์ พุกกะเวส พ.ศ. 2499 มาเป็นแบบเรียน ป.1-3 เน้นสะกดคำ แก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เริ่มใช้ภาคเรียนแรกปี 2557 นี้ พร้อมให้รวบรวมผลงาน "รัชนี ศรีไพรวรรณ" ผู้แต่ง "มานีมานะ" เป็นผลงานชั้นเยี่ยม

แบบหัดอ่านหนังสือไทย สำหรับชั้นประถมปีที่ 1 เล่ม 1 ผลงานของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) (ที่มา: Baanbaimai.com)

อำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) ผู้แต่งแบบหัดอ่านหนังสือไทย พ.ศ. 2499 (ที่มา: เว็บไซต์ ร.ร.เบญจมราชูทิศ จันทบุรี)

 

18 เม.ย. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ว่า นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เตรียมนำแบบหัดอ่านหนังสือไทย หรือแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น กลาง และปลาย ของ อำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) มาเป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 2 และ 3

สำหรับแบบเรียนดังกล่าว เป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ และได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนมาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2499 ซึ่งเป็นแบบเรียนที่อ่านง่าย เน้นการสะกดคำแจกลูกประโยคไว้ชัดเจน ทำให้เด็กอ่าน ออก เขียนได้ และจดจำได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน โรงเรียนไม่เน้นการสอนแบบแจกคำ เมื่อเด็กเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถอ่านประโยคได้ จึงเชื่อว่าเมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้อย่างแน่นอน

นายอภิชาติระบุด้วยว่า จุดประสงค์ของการรื้อฟื้นแบบเรียนเร็วใหม่ เพื่อต้องการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยจะให้โรงเรียนแจ้งความประสงค์ และ สพฐ.จะจัดเสริมให้ เพราะจากการหารือกับครูภาษาไทย พบว่า แบบเรียนเร็วใหม่มีความน่าสนใจ ซึ่งมีบางโรงเรียนนำร่องใช้แบบเรียนนี้แล้ว ทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนภาษาไทยดีขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าภายใน 1-2 ปี จะสามารถแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เริ่มพิมพ์แบบเรียนเร็วใหม่แล้ว 600,000 เล่ม งบประมาณ 10 ล้านบาท โดยจะเริ่มใช้เรียนตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ทันที

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานเพิ่มเติมว่า นายอภิชาติกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักวิชาการและมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปรวบรวมผลงานวิชาการของ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ เจ้าของหนังสือเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษา (ป.1 - ป.6 ชุดมานี มานะ ปิติ ชูใจ) ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ใช้ในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างปี 2521 - 2537 เพื่อยกย่องให้เป็นผลงานชั้นเยี่ยม เนื่องจากสมัยอดีต อาจารย์รัชนี เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ผลิตผลงานระดับคุณภาพออกมาอย่างแพร่หลาย

ส่วนจะรื้อฟื้นแบบเรียนภาษาไทยของอาจารย์รัชนีขึ้นมาใหม่อีกครั้งหรือไม่นั้น หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดมานี มานะ ปิตี ชูใจ เป็นแบบเรียนแห่งความทรงจำ และ สพฐ. ไม่ได้ยกเลิก แต่จะไปอยู่ในหมวดหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กประถมศึกษา ซึ่งมีผู้พิมพ์แบบเรียนออกจำหน่ายน้อยมาก เนื่องจากครูและเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักหนังสือเรียนดังกล่าวว่ามีความเป็นมาอย่างไร ขณะเดียวกัน ครูก็ไม่ได้มีการส่งเสริมให้ใช้เท่าที่ควร ซึ่งความประทับใจขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคนมากกว่า เพราะครูบางคนเห็นคุณค่า แต่ก็มีครูอีกหลายคน กลับไม่เห็นคุณค่า และแบบเรียนดังกล่าวใช้อยู่ไม่กี่ปีเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แดงเชียงใหม่แจ้งจับ 'สุเทพ' หมิ่นสถาบัน-ล้มประชาธิปไตย

$
0
0
เสื้อแดงเชียงใหม่ขึ้นโรงพักแจ้งจับ “สุเทพ” หมิ่นสถาบัน-ปลุกระดมมวลชนล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจากแนวคิด “รัฏฐาธิปัตย์” พร้อมประกาศยึดศาลากลางเชียงใหม่หากมีการยึดอำนาจ หรือตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง

 
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าที่ สภ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายวรวุฒิ รุจนาภินันท์ หรือ “แดง สองแคว” แกนนำเสื้อแดงกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำคนเสื้อแดงเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีต่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ฐานความผิดหมิ่นสถาบัน และปลุกระดมให้มีการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีที่นายสุเทพกล่าวปราศรัยแนวคิดเกี่ยวกับ “รัฏฐาธิปัตย์”
       
นายวรวุฒิกล่าวว่า การที่นายสุเทพเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “รัฏฐาธิปัตย์” เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายตามมาตรา 112, 113 และ 117 ซึ่งหากนายสุเทพยังคงปลุกระดมมวลชนอย่างต่อเนื่องอีก ทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็พร้อมที่จะมีการระดมมวลชนออกมาต่อต้านเช่นกัน เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย
       
สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่นั้น เบื้องต้นรอดูท่าทีของแกนนำเสื้อแดงส่วนกลางว่าจะกำหนดการเคลื่อนไหวอย่างไร หากมีการประกาศนัดรวมพลก็พร้อมที่จะระดมมวลชนจากเชียงใหม่เข้าร่วมตลอดเวลา และจะเคลื่อนไหวในพื้นที่ควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้หากมีการยึดอำนาจหรือการตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางขึ้น กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ก็พร้อมที่จะระดมมวลชนบุกเข้ายึดศาลากลางจังหวัดทันทีเพื่อเป็นการแสดงพลังต่อต้านอำนาจนอกระบบ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง: ประชาธิปไตยทางตรงที่ชุมชนจะกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง

$
0
0
ประชาธิปไตยทางตรงในชุมชนเพื่อปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น กรณีตัวอย่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง การยกระดับการต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐาน ตามวิถีทางประชาธิปไตยทางตรง ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 
 
 
 
 
“...ข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง คือการยกระดับการต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐาน สู่การใช้สิทธิตามวิถีทางประชาธิปไตยทางตรง ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นได้กำหนดความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต” วิทูวัจน์ ทองบุ จาก ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
 
ภายใต้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการแย่งชิงทรัพยากรของชนบทสู่เมือง สถานการณ์เหล่านี้ได้สั่งสมมาและแสดงความรุนแรงให้เห็นอย่างชัดแจ้งในท้องที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนนำไปสู่หลักการในการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจท้องถิ่นได้บริหารจัดการและกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง นับเป็นพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาคกันของประชาชน
 
ภายใต้โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับอำนาจในการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานต่างๆ กว่า 275 รายการ ในกว่า 11 กระทรวง หัวใจสำคัญหลัก คือ การจัดการบริการสาธารณะและการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้แก่ประชาชน หรือที่เรียกว่าประเด็นปัญหาสาธารณะ ซึ่งในเขตตำบลเขาหลวงประชาชนในท้องถิ่นมีประเด็นปัญหาที่หลากหลาย ทั้งสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มลพิษทางดินน้ำอากาศ การคมนาคม การใช้ถนน การขนส่งผลิตผลทางการเกษตร และสาธารณะสุข
 
ประเด็นปัญหาสาธารณะในหลายๆ ด้านเหล่านี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งในพื้นที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นเป้าหมายเพื่อจะนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ด้านหนึ่งก็เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในตำบล ทั้งทางด้านประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
 
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังการประกาศใช้ ระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก โดยห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตัน ใช้ถนนสาธารณะของชุมชนในการขนสารเคมีอันตราย และการขนแร่จากแหล่งอื่นผ่านถนนในชุมชน ซึ่งเป็นประชามติจาก 6 หมู่บ้าน
 
และหลังการปรึกษาหารือของชุมชนโดยรอบในเรื่องความต้องการที่จะยกร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงตามความต้องการของชุมชนมาจนสุกงอม กระบวนการในการจัดทำร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงได้เริ่มต้น
 
วิทูวัจน์ ทองบุ นักกฎหมายจาก ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่อาสามาเป็นกระบวนกรในการร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง แสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวในการออกข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงครั้งนี้มีที่มาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ที่เป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน ซึ่งรัฐต้องมีมาตราการควบคุมดูแลเป็นพิเศษ แต่การรวมศูนย์ในการตัดสินใจและการควบคุมดูแลนั้นแสดงให้เห็นชัดในท้องถิ่นว่า ไม่มีประสิทธิภาพ คุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ได้
 
“ความล้มเหลวจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐส่วนกลางที่ละเลยสิทธิของประชาชน สิทธิของชุมชน และความตระหนักของชุมชนที่เห็นความสำคัญของหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นการบริหารจัดการท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาที่มีในชุมชนได้อย่างแท้จริง ข้อบัญญัติตำบลเขาหลวง คือการยกระดับการต่อสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐาน สู่การใช้สิทธิตามวิถีทางประชาธิปไตยทางตรง ด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน เพื่อให้ท้องถิ่นได้กำหนดความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต”
 
ตลอดเวลากว่าสามเดือนที่ผ่านมา คณะทำงานจากชุมชนในตำบล ร่วมกับสมาชิกสภา อบต. เขาหลวง ได้เริ่มวางเค้าโครงกิจกรรมเพื่อร่างข้อบัญญัติฯ โดยยึดมั่นในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งด้านการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน การรับฟังความคิดเห็นต่อปัญหาและความต้องการอย่างทั่วถึง การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อเสนอในเรื่องต่างๆ เข้าสู่การพิจารณาที่จะต้องเปิดกว้างให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และสุดท้ายที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการเสริมอำนาจให้แก่ประชาชน โดยการให้อำนาจการตัดสินใจแก่ประชาชนต่อการแสดงความเห็น หรือพิจารณาต่อร่างข้อบัญญัติฯ ได้อย่างทั่วถึงทั้งตำบลอย่างอิสระ
 
ส่วนขั้นตอนระหว่างการทำความเข้าใจในรายละเอียดเรื่องข้อบัญญัติฯ ให้กับชุมชน คณะทำงานจะเชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้ง อาจารย์ทางกฎหมาย นักวิชาการ นักกฎหมายจากภายนอกมาให้ความรู้และช่วยตรวจสอบช่องว่างและความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเข้มข้น
 
รวมทั้งจะมีนักศึกษากฎหมาย ดาวดิน และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีความสนใจในประเด็นปัญหาในตำบลเขาหลวงมาลงพื้นที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ รวมรวบความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสาธารณะ และทำความเข้าใจกับประชาชนในท้องถิ่นในการจัดทำข้อบัญญัติฯ แบบเจาะลึก 
 
ฉัตรชัย แก่งจำปา สมาชิกสภาตำบล หนึ่งในคณะทำงานกล่าวถึงข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงในครั้งนี้ คือ “อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของชุมชนที่สามารถจะออกมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน”
 
ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อบัญญัติฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการบริการสาธารณะแก่ชุมชนของตนเองที่ประชาชนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อให้ความต้องการของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกันได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับสภาพและความต้องการที่แตกต่างกันไปของแต่ละชุมชน ซึ่งจะมีทั้งปัญหาเฉพาะชุมชน ปัญหาสาธารณะที่ชุมชนมีร่วมกัน การดูแลป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจจะมีการเพิ่มมาตราการอื่นๆ ในข้อบัญญัติฯ อันไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย เช่น การเพิ่มกลไกการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน โดยกำหนดระเบียบการทำการประชามติให้ชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนและการตัดสินตามเจตจำนงของชุมชนมาเป็นอันดับแรก หรือจะเป็นการเพิ่มกลไกคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน หรือตำบล ในการตัดสินใจต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ในอำนาจของ อปท.
 
ด้าน มนตรี คำไล้ สมาชิกสภาตำบล อีกหนึ่งในคณะทำงาน ยกตัวอย่างผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ปัญหาใหญ่ของชุมชนในตำบลเขาหลวง ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล และกฎหมายจากส่วนกลางที่หน่วยงานราชการทำขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนโดยไม่คำนึงว่าจะสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้ชุมชนในพื้นที่อย่างไร ดังจะเห็นได้ว่า หลายปีที่ผ่านมาผลกระทบจากกิจการเหมืองทองไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากร สุขภาพ และวิถีชีวิตของตนกลับถูกฟ้องคดีแพ่งและอาญาถึง 7 คดี เรียกค่าเสียหาย 270 ล้านบาท
 
เมื่อรัฐธรรมนูญให้อำนาจชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือสุขภาพอนามัยของชุมชนทั้งในพื้นที่ของคนเองและนอกพื้นที่ ซึ่งรับรองสิทธิของประชาชนในชุมชนที่จะเสนอข้อบัญญัติชุมชน ตามมาตรา 286 โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภาท้องถิ่น เพื่อให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นได้
 
ข้อบัญญัติฯ ที่ยกร่างขึ้นมานี้ก็จะเป็นก้าวแรกแห่งความเสมอภาคกันตามกฎหมายของประชาชนที่ประชาชนเองเป็นผู้สร้างขึ้น และจะเป็นเครื่องมือที่ชุมชนท้องถิ่นนำมาใช้ในการดูแล ควบคุม ปกป้องสิทธิ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตไม่ให้ถูกละเมิดหรือถูกทำลายเหมือนอดีตที่ผ่านมา
 
“เมื่อได้ร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงที่มีที่มาและกระบวนการในการทำร่างฯ มาจากความต้องการของประชาชนในตำบลเขาหลวงแล้ว ก็จะมีขั้นตอนตรวจสอบร่างฯ โดยนำร่างฯ ที่ได้มาไปเสนอต่อชุมชนผ่านเวทีวิพากษ์ร่างข้อบัญญัติ เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนเพิ่มเติมในทุกหมู่บ้าน จากนั้นสมาชิกสภาตำบลจะนำร่างข้อบัญญัติตำบลเขาหลวงที่ได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาตำบลตามกระบวนการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
 
“หากข้อบัญญัติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประชาชนทุกคนต้องการและทำร่วมกันมาผ่านขั้นตอนต่างๆ จนมีการประกาศใช้ ก็จะช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนได้ตามหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างแท้จริง” มนตรี กล่าว
 
ติดตาม ลำดับเหตุการณ์ ความคืบหน้าคดี สถานการณ์เหมืองทองเมืองเลย ได้ที่ loeiminingtown.org และ https://www.facebook.com/loeiminingtown

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอแบคโพลล์เผยในรอบ 10 ปีประชาชนพึงพอใจหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

$
0
0
18 เม.ย. 2557 นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภารกิจของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งถือเป็นภาระกิจสำคัญ และหลังจากที่ สปสช.ดำเนินการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 ได้มีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี 2556 ประชาชนมีความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา นับจากที่เคยมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2546 โดยเฉพาะในช่วงปี 2551-2554 เป็นที่ระดับความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 4 ปี จากร้อยละ 88.37 เพิ่มเป็นร้อยละ 89.32 , 89.76 และ 92.75 (ตามลำดับปี 2551-2554) จนกระทั่งในปี 2556 ระดับความพึ่งพอใจได้ขึ้นมาอยู่ที่ 95.49 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่มีอัตราความพึงพอใจสูงสุดเท่าที่มีการสำรวจมา
 
นพ.จรัล กล่าวต่อว่า สำหรับการสำรวจ ในปี 2556 นี้ จากที่ทาง สปสช. ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน หรือ เอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ทำการสำรวจ “ความคิดเห็นของประชาชนและผู้ให้บริการ ต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2556” ซึ่งได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี ขึ้นไป ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก 13 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,730 คน แยกเป็นกลุ่มตัวอย่างภาคเหนือ 524 คน ภาคกลาง 612 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 956 คน ภาคใต้ 425 คน และกรุงเทพมหานคร 213 คน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน เฉพาะผู้ที่เคยเข้ารับบริการในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในปี 2556 นี้ สูงถึงร้อยละ 95.49 นับเป็นผลสำรวจที่ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา  
 
นพ.จรัล กล่าวว่า เมื่อแยกดูผลสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ร้อยละ 56.6 มีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 38.9 ค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 3.8 เฉยๆ ร้อยละ 0.2 ไม่ค่อยพอใจ และร้อยละ 0.5 ไม่พึงพอใจเลย ขณะที่การสำรวจความพึงพอใจเมื่อแยกตามกลุ่มอายุพบว่า มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 50-59 ปี และพบว่าเมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่ากลุ่มผู้ว่างงาน พ่อบ้านและแม่บ้านจะมีความพึงพอใจมากกว่าผู้รับบริการในอาชีพอื่นๆ และเมื่อแยกผลสำรวจความพึงพอใจรายภาคพบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความพึงพอใจมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร
 
นพ.จรัล กล่าวต่อว่า เมื่อสำรวจถึงการประสบปัญหาการเข้ารับบริการสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า มีผู้ที่เคยประสบปัญหาจากการเข้ารับบริการร้อยละ 21.0 ขณะที่ร้อยละ 79 ไม่เคยประสบปัญหารับในการเข้ารับบริการเลย และเมื่อถามถึงความตั้งใจที่จะไปรับบริการสถานพยาบาลในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งต่อไป ปรากฎว่า ร้อยละ 97.6 มีความตั้งใจจะไปใช้บริการอีก มีเพียงแค่ร้อยละ 2.4 เท่านั้นที่ไม่ต้องการไปใช้บริการ นอกจากนี้เมื่อถามถึงการรับรู้สิทธิรักษาพยาบาล ร้อยละ 70.6 รับรู้ว่าคนไทยที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลในสิทธิอื่น จะเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีร้อยละ 29.4 ที่ยังไม่ทราบ และเมื่อถามถึงความเข้าใจลักษณะของสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า มีเพียงร้อยละ 29.8 ที่รู้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ส่วนที่เหลือร้อยละ 70.2 เข้าใจว่าเป็นโครงการสงเคราะห์
 
“ผลการสำรวจความเห็นประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังคงยอมรับและนิยมรับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลสำรวจความพึงพอใจการเข้ารับสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการเข้ารับบริการในระบบ รวมไปถึงความตั้งใจในการเข้ารับบริการครั้งต่อไปซึ่งมีอัตราส่วนความพึงพอใจในระดับที่ดี”
 
นพ.จรัล กล่าวต่อว่า แม้ว่าผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 95.49 แต่ยังมีในหลายประเด็นที่ สปสช.ต้องปรับปรุงเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของประชาชนให้มากขึ้น ไม่ว่าการปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาล ความเสมอภาคการเข้ารับบริการให้เทียบเท่ากับสิทธิรักษาพยาบาลอื่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเด็นซึ่งเข้าใจที่ว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบการสงเคราะห์ ซึ่งสูงถึงร้อยละ 70.2 เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิที่ประชาชนได้รับตามกฎหมาย ซึ่งในประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครอบครัวแห่โลงศพประท้วงเรือนจำรัตนบุรี จ.สุรินทร์ ข้องใจเหตุลูกชายเสียชีวิตในคุก

$
0
0

ประธาน นปช.อำเภอรัตนบุรีนำญาติร่วม 100 คนแห่โลงศพประท้วงเรือนจำรัตนบุรี-พร้อมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าเร่งสั่งติดตามคดี หลังครอบครัวติดใจการเสียชีวิตของลูกชาย อ้างถูกซ้อมในเรือนจำแต่เรือนจำกลับปิดบังไม่ยอมบอก

18 เม.ย. 2557 เมื่อเวลา 10.30 น.ที่หน้าศาลากลาง จ.สุรินทร์ นางคำนวน แสงสว่าง อายุ 62 ปี พร้อมด้วย พระสุวรรณ แสงสว่าง อายุ 63 ปี พระลูกวัดบ้านโนนสะเดา อยู่บ้านเลขที่ 7 ม.11 บ.โนนสะเดา ต.หนองเทพ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ ได้นำโลงศพบุตรชาย คือนายครรชิต แสงสว่าง อายุ 22 ปีขึ้น บรรทุกใส่รถตู้ของหน่วยกู้ชีพสลักได เดินทางมาพร้อมญาติพี่น้องและชาวบ้านด้วยรถกระบะอีกนับ 10 คัน รวม กว่า 100 คน มายังศาลากลาง จ.สุรินทร์ เพื่อแห่โลงศพประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับบุตรชาย พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมใบผ่าชันสูตรของแพทย์ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ให้ช่วยเร่งรัดติดตามคดี กรณีการเสียชีวิตที่แท้จริง ของบุตรชาย โดยทั้งหมดได้นำป้ายเขียนข้อความโจมตีและขอความตอบที่ชัดเจนจากเรือนจำรัตนบุรีต่างๆนาๆถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของนายครรชิต แสงสว่าง

นายประยงค์ สร้อยศรีหา ประธาน นปช.อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนขอร้องเรียนของความเป็น ผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเชียอัพเดท และช่องทางสื่อของคนเสื้อแดง ตนเป็น นปช.รุ่นแรกนำพาพี่น้องมาร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เพราะขณะนี้เกิดความเป็นเป็นธรรมเกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งเขาเหล่านั้นยังไม่ถึงเวลาอันควรที่จะต้องถึงแก่ความตาย เมื่อมีคดีความได้ถูกจับติดคุกจองจำตามกฎหมายแล้ว พอกำลังจะได้ขึ้นศาลเพื่อพิพากษาคดี ที่เรือนจำรัตนบุรี ได้นำผู้ต้องหาไปคุมขัง มีการซ้อมจนตับแตกตาย วิงวอนของความเป็นธรรมถึงท่านณัฐวุฒิ ใส่เกื้อ และท่านจตุพร พรหมพันธุ์ ขอให้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา เพราะพี่น้องชาวรากหญ้าที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักไทยในอดีต ขอให้ท่าดูแลความเดือนร้อนของชาวบ้านและพี่น้องคนเสื้อแดงด้วย

นางดวงจันทร์ แสงทอง อายุ 41 ปี พี่สาวผู้เสียชีวิต อยู่บ้านเลขที่ 37 /3577 หมู่บ้านพฤกษา 13 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 เม.ย.57 ที่ผ่านมา นายครรชิต แสงสว่าง ผู้เสียชีวิตถูกคุมขังด้วยคดีตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด เนื่องจากตรวจพบปัสสาวะสีม่วง และถูกนำตัวออกจากเรือนจำไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัตนบุรี ก่อนถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสุรินทร์ อาคาร 4/3 โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น.ของวันเดียวกันครอบครัวและญาติพี่น้องพึ่งได้รับแจ้งจากเรือนจำรัตนบุรีว่า ผู้ตายถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ โดยระบุว่าเกิดอาการลงแดง อยากยาเสพติด อย่างรุนแรง จากนั้นครอบครัวและญาติพี่น้องจึงเดินทางไปเยี่ยมผู้ตายที่โรงพยาบาลสุรินทร์ พอไปถึงผู้ตายพูดไม่ได้แต่ยังรู้สึกตัว และถามว่าเจ็บปวดตรงไหน ผู้ตายจึงชี้ให้ดูว่า เจ็บบริเวณท้อง และซี่โครง รวมทั้งที่คางและแก้ม พวกตนจึงถามหมอที่รักษา ก็บอกว่าเอ็กซเรย์สมองแล้วไม่เป็นอะไร ทั้งที่ผู้ตายไม่ปวดหัว บอกปวดท้องและที่อื่น ก็ไม่ยอมเอ็กเซรย์ดู และขอย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลรวมแพทย์ก็ไม่ให้ย้ายอีก

จากนั้นวันที่ 15 เม.ย.นายครรชิต จึงเสียชีวิตลง ญาติพี่น้องจึงติดใจ ต้องการให้แพทย์ผ่าพิสูจน์ สุดท้ายแพทย์จึงผ่าพิสูจน์และลงความเห็นเพื่อลงบันทึกในใบมรณะบัตรว่า ตับแตกเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งตรงกันกับที่ผู้ตายเคยบอกกับพ่อและแม่ของผู้ตายขณะนำอาหารเข้าเยี่ยมลูกชายเมื่อวันที่ 31 มี.ค.โดยนายครรชิต ได้บอกกับพ่อแม่ขณะนั้นว่า ช่วยประกันตนเองออกไปที เพราะถูกซ้อม จนอ้วกเป็นเลือด แต่พ่อและแม่ของผู้ตายไม่ได้ถามว่าถูกใครซ้อม ประกอบกับเงินประกันตัวไม่มีต้องใช้เงินประกันตัวออกมาถึง 4.9 แสนบาท โดยที่มารดาเองก็รู้สึกสงสารและอยู่ระหว่างหาเงินประกันตัวแต่ลูกชายกลับต้องมาตายเสียก่อน

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุก็ไม่พบว่ามีการแสดงความรับผิดชอบจากเรือนจำ แม้แต่พวงหรีดสักอันก็ไม่มี มาทราบตอนหลังจากเรือนจำว่าได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้วว่า สาเหตุของการตายเกิดจากการทะเลาะวิวาทย์ของผู้ตายกับผู้ต้องขังรายอื่น แต่ครอบครัวติดใจทำไมต้องปกปิดตั้งแต่แรก บอกว่านายครรชิตลงแดงอยากยา ทำไมต้องปิดบังแม้กระทั่งไปถึงโรงพยาบาลสุรินทร์ก็ไม่ยอมบอกจนเสียชีวิต ทั้งที่ก่อนหน้าที่ผู้ตายจะถูกส่งตัวมาคุมขังไว้ที่เรือนจำรัตนบุรี ก็ถูกคุมขังที่เรือนจำโคกตะบัล อ.เมือง จ.สุรินทร์ ถึง 21 วันแล้ว ก็ไม่เห็นมีอาการลงแดงอยากยา เป็นไปไม่ได้ที่นายครรชิตจะพึ่งมาลงแดงที่เรือนจำรัตนบุรี แถมหลังนายครรชิต เสียชีวิต จากการตรวจปัสสาวะก็ไม่พบว่ามีสารเสพติดอีกด้วย

และหากถูกผู้ต้องขังด้วยกันซ้อม แล้วทำไมผู้คุมจึงไม่ช่วยและห้ามปราบ ก็แค่พูดความจริงมาครอบครัวคงไม่ติดใจอะไรกับเรือนจำ จึงทนไม่ได้ที่เรือนจำนิ่งเฉยเกินไปและไม่ให้ความชัดเจนตั้งแต่แรก ครอบครัวและญาติพี่น้องจึงต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากเรือนจำรัตนบุรีในวันนี้ และต้องการตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริง

จากนั้น นายวรชัย ศรีสุวรรณวัฒนา ป้องกันจังหวัดสุรินทร์ ได้เป็นตัวแทนผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ลงมารับหนังสือแทน พร้อมรับปากว่า หลังจากได้รับหนังสือแล้วจะนำเสนอถึง นายนิรันทร์ กัลยาณมิตร ผวจ.สุรินทร์ เพื่อให้รับทราบ พร้อมส่งเรื่องถึงศูนย์อำนวยความเป็นธรรม ซึ่งจะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงและต้องรู้ผลภายใน 15 วัน

หลังจากนั้นครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต จึงพอใจและได้นำโลงศพนายครรชิต กลับบ้านเกิด เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตอไป และจะมีพิธีฌาปณกิจศพในวันที่ 20 เม.ย.57 นี้ สำหรับนายครรชิต มีบุตรสาว 1 คน และได้แยกทางกันกับภรรยาแล้ว

ทั้งนี้ครอบครัวผู้ตายได้เข้าแจ้งความร้องทุกต่อ ร.ต.ท.เสฏฐวุฒิ นิลจันทร์ ร้อยเวร สภ.โนนนารายณ์ อ.โนนนารายณ์ จ.สุรินทร์ แล้ว เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ลงพื้นที่เรือนจำรัตนบุรีเพื่อสืบสวนสอบสวน เพื่อหาตัวคนผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

30 พรรคการเมืองขนาดเล็กเสนอเลือกตั้ง 15 มิ.ย. ปลัดยุติธรรมแนะเลือกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ

$
0
0
ประชุมพรรคการเมืองขนาดเล็ก 30 พรรค เสนอเลือกตั้ง 15 มิ.ย.นี้ เรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ร่วมหารือกับ กกต. ด้าน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ถึงเวลาทุกฝ่ายต้องคุยกัน ก่อนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แนะแนวทางเลือกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป ทำข้อตกลงกับรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง หากไม่มีฝ่ายค้านยิ่งเป็นผลดีต่อการปฏิรูป

 
 
18 เม.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พรรคการเมืองขนาดเล็ก 30 พรรค รวมตัวกันโดยใช้ชื่อกลุ่มสหพรรคประชาธิปไตย จัดประชุมหารือหัวข้อ “ประชาชนปฏิรูป” โดยนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ แถลงว่า ที่ประชุมเสนอทางออกประเทศไทย สนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ พร้อมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ 3 คน ประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายศุภชัย พานิชภักดิ์ และ นพ.บุญ วนาสิน แต่ทั้งนี้ บุคคลเหล่านี้ต้องเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งด้วย
 
ทั้งนี้ นายสุรทิน ยืนยันกลุ่มสหพรรคประชาธิปไตยจะเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 22 เมษายนนี้ และเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งและรูปแบบการรับสมัครผู้สมัคร ส.ส.
 
ปลัด ยธ.เสนอแนวคิดแก้ขัดแย้ง เลือกตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูป
 
สำนักข่าวไทยยังรายงานว่านายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยว่า ในช่วงเวลานี้ ที่ยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และจะมีการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งกับพรรคการเมือง ในวันที่ 22 เมษายนนี้ ตนมองว่ายังเป็นเวลาที่ทุกฝ่ายคุยกันได้ก่อนที่เส้นทางจะตีบตัน ถ้าทุกพรรคเห็นปัญหาขัดแย้ง และเปลี่ยนกรอบความคิดเรื่องการช่วงชิงมาทำเพื่อบ้านเมือง โดยทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเป็นการเลือกตั้งรัฐบาลเพื่อการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลนี้จะอยู่ไม่นานและมีภารกิจเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศเท่านั้น เท่าที่ตนได้ฟังจากทุกฝ่าย ก็พบว่าเวลานี้ทุกฝ่ายต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ กปปส.เท่านั้นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง โดยหากกำหนดและประกาศชัดเจนเลือกเพื่อเป็นรัฐบาลเฉพาะเพื่อการปฏิรูป เชื่อว่าจะทำให้โฉมหน้าของผู้สมัครทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตของทุกพรรคเปลี่ยนไป ใครที่เป็นคนที่มีปัญหาก็ถอยออกจากปาร์ตี้ลิสต์ และควรมีการตกลงกันก่อนที่จะกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะถ้ากำหนดวันเลือกตั้งไปและนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ ก็ไม่เป็นประโยชน์
 
นายกิตติพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเพื่อการปฏิรูป จะเป็นรัฐบาลช่วงเวลาสั้นๆ ทำภารกิจเพื่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ระบบต่างๆ ของประเทศดีขึ้น ซึ่งเป็นตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบสากล ที่มีตัวอย่างในหลายประเทศ โดยให้มีการเลือกตั้งก่อน และเมื่อได้เลือกตั้งมาแล้ว ก็ตั้งเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลผสม  (Multiparty) จากทุกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมา ถ้าไม่มีฝ่ายค้านเลยก็ยิ่งเป็นผลดีต่อการปฏิรูป เพราะมีอาเจนด้าเดียวกัน สำหรับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ หากมีระยะเวลาทอดยาวถึง 90 วันก็อาจทำให้ได้ทำประชามติไปควบคู่ได้ด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลือกตั้งอินเดีย คำถามประชาธิปไตยไทย ?

$
0
0

 

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีรากฐานหลายประการมาจากอินเดีย แต่ก็มักจะชอบทำให้เป็นไทยๆ เสีย และเมื่อพูดถึงการทำความเข้าใจเรื่องอินเดียในปัจจุบัน ก็มักจะไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือเราสนใจเฉพาะบางเรื่องบางราวในสังคมอินเดีย แต่บางเรื่องเราก็เลือกที่จะสนใจและเข้าใจ ทั้งที่อินเดียก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านเราและเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา

ถ้าจะพูดให้ดูยุ่งยากนิดหนึ่ง เรามีทั้งทฤษฎีที่ว่าด้วยการที่เราถูกทำให้เป็นอินเดีย (Indianization ของ เซเดย์) คือเราเป็นส่วนขยายต่อจากอินเดีย และเรามีทั้งทฤษฎีที่ว่าด้วยชนชั้นนำท้องถิ่นในละแวกนี้ที่ "เลือกรับและปรับเปลี่ยน" วัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งอินเดียเพื่อให้เหมาะสมกับการปกครองและการสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นนำเหล่านี้ต่อคนในพื้นที่ (ทฤษฎีของ O.W. Wolters)

พูดให้ง่ายขึ้นหน่อย เราเฉลิมฉลองเรื่องอารยธรรมพุทธศาสนา แต่ไม่สนใจว่าทำไมพุทธศาสนาถึงไม่ตอบโจทย์กับคนในอินเดีย หรือเราฟูมฟายกราบกรานคานธี แต่ไม่สนใจว่าว่า คานธีถูกวิจารณ์จากคนยากคนจน และเป็นอริกับพลังประชาธิปไตยอย่างไรนั่นแหละครับ

การติดตามข่าวและความเป็นไปของการเลือกตั้งในอินเดียจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งในระดับโลกเอง และในลักษณะของการสนทนากับการรับรู้ที่เรามีต่ออินเดียและต่อประชาธิปไตยนานัปการ ข้อดีในการพยายามติดตามสนใจเรื่องประชาธิปไตยในอินเดียก็คือการที่เราอาจจะไม่ต้องยกย่องอินเดียเป็นต้นแบบเหมือนพวกประชาธิปไตยผิวขาว แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็น่าจะเรียนรู้ถึงหลากหลายเรื่องราวที่เราคิดว่ามันจะต้องเป็นไปเช่นนั้น เช่นนี้ แต่ในอินเดียนั้นเขาพยายามต่อสู้ข้ามผ่านเรื่องราวเช่นที่ว่าไปได้อย่างไร

ผมอยากจะขอแบ่งเรื่องราวการนำเสนอในพื้นที่นี้ออกเป็นสามส่วน หนึ่งคือ ข้อมูลพื้นฐานที่น่าสนใจของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอินเดีย สองคือ รากฐานของประชาธิปไตยในอินเดียสมัยใหม่ และสามคือ ประเด็นท้าทายในประชาธิปไตยร่วมสมัยของอินเดีย

ข้อมูลที่น่าสนใจของการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอินเดีย : อินเดียถือเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หากวัดด้วยประชากรของประเทศ ซึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 814 คน (ซึ่งมากกว่าทวีปยุโรป จากการเปรียบเทียบของ CNN.com) และการเลือกตั้งในรอบนี้ (ซึ่งจัดทุกห้าปี) นั้นมีจำนวนผู้มีสิทธิที่มากกว่ารอบที่แล้วถึงร้อยล้านคน (ซึ่งเทียบเท่ากับประชากรถึงหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกา) ตลอดจนมีประชากรที่อยู่ในวัยเยาวชนที่จะได้ลงคะแนนเสียงครั้งแรกถึง 23 ล้านคน (เทียบเท่ากับประชากรของออสเตรเลีย)

ที่สำคัญการเลือกตั้งของอินเดียนั้นใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์กว่าจะสิ้นสุดลง โดยไม่ต้องมานั่งคิดให้เมื่อยตุ้มว่าการเลือกตั้งนั้นจัดในวันเดียวกันหรือไม่ (เริ่มจาก 7 เมษา ถึง 12 พฤษภา) มีคูหาเลือกตั้ง 930,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องถึง 11 ล้านคน และมีเครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์ 1.7 ล้านเครื่อง ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศที่ใช้เครื่องมือเลือกตั้งสมัยใหม่เต็มรูปแบบ และเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้งของอินเดีย ที่หาญกล้าลบคำสบประมาทว่าอินเดียนั้นเป็นประเทศยากจนและด้อยการศึกษาจะมาใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนเช่นนี้ได้อย่างไร (มีการให้แต่ละพรรคนั้นมีสัญลักษณ์พรรคในบัตรเลือกตั้ง และในรอบนี้เป็นครั้งแรกที่สามารถเลือกแบบไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียงได้)

และที่สำคัญก็คือ กกต.อินเดียนั้นทรงอิทธิพลมากเพราะเอาจริงกับการจัดการกับการทุจริตการเลือกตั้ง ในการสอยนักการเมือง แต่ที่ทำได้ก็เพราะเขามาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีผ่านการเสนอชื่อของสภา และสามารถถูกถอดถอนโดยสภาด้วยเสียง 2 ใน 3 กกต อินเดียจึงเป็นต้นแบบของ กกต. ที่มีอำนาจสอยนักการเมืองได้

รากฐานของประชาธิปไตยในอินเดียสมัยใหม่ : อินเดียได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมมอบอำนาจให้ประชาชนที่ไม่รู้หนังสือนั้นมีอำนจทางการเมือง ทั้งนี้ ในปี 1952 นั้น ประธาน กกต.ของอินเดีย (Sukumar Sen) เชื่อว่าการมอบสิทธิทางการเมืองให้กับประชาชนในประเทศแม้ว่าจะไม่รู้หนังสือนั้นถือเป็นการทดลองทางประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งที่การมอบสิทธิดังกล่าวให้กับประชาชนเหล่านี้นั้นถูกวิจารณ์อย่างมากมายว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะเชื่อว่าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไม่สามารถอ่านและเขียนได้เขาก็น่าจะถูกหลอกด้วยข้อมูลที่ผิดๆ ดังนั้น ในช่วงต้นของการนำเสนอเรื่องประชาธิปไตยในอินเดียนั้นจึงมีคนที่เสนอตามสูตรว่าจะปลอดภัยขึ้นหากประชาธิปไตยนั้นควรจะถูกนำเข้าทีละเล็กละน้อยโดยผู้นำที่มีความเข้มแข็งจนกว่าอินเดียจะพร้อมมีประชาธิปไตย

รัฐบุรุษที่มีความสำคัญในการวางรากฐานของประชาธิปไตยในอินเดีย ที่บ้านเราไม่ค่อยสนใจก็คือ ดร.อัมเพทการ์ (Dr. B.R. Ambedkar) ในฐานะของสถาปนิกแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย (และเป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดในโลก) นั้นมีศรัทธาในการมอบอำนาจให้กับประชาชนผู้ถูกปกครอง เขาเชื่อว่าถ้าต้องการให้ประชาธิปไตยนั้นทำงาน ก็จำเป็นจะต้องละทิ้ง "มรรควิธีแบบคานธี" ที่เคยมอบอำนาจให้กับประชาชนนับล้านผ่านการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในแบบอารยขัดขืน การไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ(บาล) และอำนาจทางจิตใจในการยืนหยัดต่อความจริง (satyahraha)

อัมเพทการ์มองว่ามรรควิธีของคานธีเหล่านี้เป็น "ไวยากรณ์ของอนาธิปไตย" และจำเป็นจะต้องถูกละทิ้งให้เร็วที่สุด และแทนที่สิ่งเหล่านี้ด้วยการมอบสิทธิในการเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้คนที่เสียเปรียบและคนชั้นล่างของอินเดียมีโอกาสที่จะทำลายระบบวรรณะและเปลี่ยนแปลงสถานทางสังคมของพวกเขาที่ถูกตอกตรึงเอาไว้ชั่วนิรันดร์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรขยายความในสองประเด็น หนึ่งคือ อัมเพทการ์ นั้นเป็นรัฐบุรุษที่มีความสำคัญของอินเดีย ในฐานะของคนที่เกิดในวรรณะจัณฑาลหรือวรรณะที่ต่ำที่สุด และเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาจนจบระดับปริญญาโททางกฎหมายและปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ จากอินเดีย อเมริกา และอังกฤษ ตามลำดับ ที่สำคัญเขาเป็นผู้นำชาวจัณฑาลหันมานับถือพุทธศาสนา และส่งเสริมการนับถือพุทธศาสนาในอินเดียสมัยใหม่ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าที่ไม่ได้ละเลยคนยากคนจนในสังคมอินเดีย

และการตั้งคำถามกับการถ่ายทอดคำสอนแบบอิงพุทธประวัติและการตีความแบบภายในโลกของพุทธศาสนาเองโดยละเลยการตั้งคำถามสมัยใหม่ และคำถามจากผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธมาก่อน ในช่วงระยะหลังนี้ผมเห็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีที่มีความสนใจที่จะศึกษาประวัติของอัมเพทการ์ในสังคมไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่นักคิดทางพุทธศาสนาของเรามากขึ้น

ประการต่อมาก็คือ จุดใหญ่ใจความหนึ่งของการต่อสู้ของอัมเพทการณ์นั้นไม่ใช่แค่ขับไล่อาณานิคมจากภายนอกแบบคานธี แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางสังคมอินเดียตั้งแต่ก่อนอาณานิคม นั่นก็คือระบบวรรณะ และระบบคิดทางศาสนาฮินดูที่ผูกติดกับระบบวรรณะ โดยย้อนกลับไปทั้งจากการตีความศาสนาพุทธซึ่งกำเนิดจากทวีปอินเดียเอง และการพยายามนำเอาความเป็นสมัยใหม่ทางการเมืองอย่างการร่างรัฐธรรมนูญ การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และการสถาปนาอำนาจประชาธิปไตยผ่านหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงให้สถิตสถาพร (หรือสร้างให้เป็นสถาบันในภาษาของรัฐศาสตร์กระแสหลัก) ในอินเดีย ที่ต่อกรกับความเชื่ออันทรงพลังว่าประชาธิปไตยนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีความพร้อมทางการศึกษาและฐานะเสียก่อน

ธรรมะสำหรับอัมเพทการ์จึงไม่ได้รับใช้สังคมที่ไม่เป็นธรรม แต่ต้องรับใช้และชี้ทางให้ผู้ทุกข์ยากเคียงข้างไปกับการสร้างสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่ที่รองรับความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมโดยยกเลิกระบบที่สืบทอดความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมในสังคมเสียด้วยนั่นแหละครับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอินเดียจึงไม่ใช่แค่เรื่องของ "จิตนิยม" คือการขัดเกลาจิตใจและสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ผ่านการ "ลุกฮือ" ของประชาชน แต่จะต้องหมายถึงการขัดเกลาและเปลี่ยนแปลง "สภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ" ผ่านการสถาปนากฏกติการ่วมกันและคำนึงถึงความเท่ากันของประชาชนในหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียงเสียด้วย หรือพูดอีกอย่างก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองและการสถาปนาประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่แค่การล้มกติกาเก่า แต่ต้องหมายถึงการสร้างกติกาใหม่ให้ยั่งยืนและยอมรับกันทุกฝ่ายบนรากฐานของความเท่าเทียมด้วย

ประเด็นท้าทายในประชาธิปไตยร่วมสมัยของอินเดีย : จะว่าไปแล้วในฐานะคนนอกอย่างผม ผมก็ไม่ได้คิดว่าคานธี หรืออัมเพทการ์นั้นถูกกว่ากัน แต่ผมคิดว่าอินเดียนั้นได้ประโยชน์จากการมีทั้งการต่อสู้แบบคานธี คือความยืนหยัดในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมผ่านความกล้าหาญทางจิตใจ แต่ก็ต้องมีการสร้างสถาบันที่ยั่งยืนและคำนึงถึงความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมที่เป็นรากเหง้าของสังคมแบบอัมเพทการ์ด้วย

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบมาโดยอัมเพทการ์นั้นก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุด และในพัฒนาการของการเมืองอินเดียเองนั้น พูดง่ายๆ ก็คือประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งในสังคมที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นแบบที่เป็นอยู่ก็นำมาสู่ปัญหาทั้งการสืบทอดอำนาจใน "วงศ์" ของนักการเมืองเอง (dynasty politics) และลักษณะประชานิยมที่ขาดหลักธรรมภิบาลอยู่เช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามเราก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียอย่างเข้าอกเข้าใจ อาทิ ลักษณะของการเลือกตั้งที่มีคนลงคะแนนเสียงสูงกว่าการเลือกตั้งในประเทศตะวันตก ทั้งนี้ ก็เพราะประชาชนนั้นเห็นว่าประชาธิปไตยนั้นให้ในสิ่งที่นักการเมืองเหล่านั้นสัญญาไว้กับประชาชนได้

ที่สำคัญสถาบันทหารนั้นไม่ได้มีบทบาทในการครอบงำประชาธิปไตย ตลอดจนสื่อมวลชนก็ทำงานอย่างเต็มที่ และนักวิชาการก็มีเสรีภาพในการวิจารณ์และนำเสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย แต่กระนั้นก็ดี นักวิชาการบางคนก็ให้คำนิยามสังคมประชาธิปไตยแบบอินเดียไว้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาของการเมืองอินเดียนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้นำนันไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อพวกเขาได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ยังขาดระบบการตรวจสอบที่ดีและต้องรอจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือพูดง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยในอินเดียนั้นทำงาน แต่เป็นประชาธิปไตยที่ขาดหลักธรรมาภิบาล (Democracy functions, but governance does not.)

สิ่งที่ได้กล่าวไปนี้จึงน่าสนใจที่จะพบว่าการต่อสู้กันในครั้งนี้ของการเมืองอินเดียจึงเป็นการต่อสู้ที่ท้าทายการเข้าใจและการพัฒนาประชาธิปไตยในอินเดียและในโลก ก็เพราะการมีพรรคการเมืองที่แข่งกันสามพรรค ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ได้อย่างมาก นั่นก็คือ หนึ่ง พรรคคองเกรส ที่ยังสืบทอดธรรมเนียมการปกครองจากวงศ์เนรูห์-คานธี ในฐานะผู้ปกครองประเทศที่ยาวนานในอินเดียสมัยใหม่ และอ้างอิงถึงความเป็นประชานิยมกับประชาชน

สอง พรรคบีเจพี (Baratiya Janata) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ก็มีผลงานการพัฒนาทางเศรษฐกิจในบางรัฐที่เป็นที่น่าเลื่อมใส แต่ขณะเดียวกันก็มีการจุดอ่อนตรงการปล่อยให้เกิดความรุนแรงทางศาสนา

และ สาม พรรคทางเลือกที่มีจุดยืนของการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (พรรค Aam Aadmi - AAP) ซึ่งจะเป็นตัวสอดแทรกที่สำคัญสำหรับคนที่ไม่ศรัทธาในระบอบนักการเมืองที่มีอยู่ แต่ก็ยังศรัทธาในการเลือกตั้งและการต่อสู้ในระบบอยู่เช่นกัน และเมื่อเทียบกับสมาชิกพรรคคองเกรสแล้ว พรรคใหม่ๆ นั้นมีลักษณะของการสืบทอดวงศ์ตระกูลน้อยกว่า ซึ่งก็เป็นประเด็นท้าทายในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตยในพรรคและการคัดเลือกผู้สมัครเช่นกัน ไม่ใช่แค่การมีประชาธิปไตยท่ามกลางตัวเลือกที่สืบทอดวงศ์ตระกูลและมีข้อหาในการใช้เงินทองมากมายในการเลือกตั้ง

แน่นอนว่าการเลือกตั้งอาจไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยของอินเดียอาจจะดูยุ่งเหยิง วุ่นวายและเต็มไปด้วยความรุนแรงในหลายพื้นที่ อาทิ ข่าวระเบิดในพื้นที่บางแห่ง แต่เราก็ควรจะพิจารณาการเลือกตั้งและประชาธิปไตยของอินเดียในฐานะพัฒนาการในอารยธรรมประชาธิปไตยทั้งในประเทศของเขาและในระดับโลก ที่มีคุณูปการมากมาย

แทนที่จะเชื่อหรือไขว่คว้าหา "ตัวแบบบริสุทธิ์" ที่จะนำมาถอดรื้อปรับปรุงใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญบ้านเรา เราควรพิจารณาถึงจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นของผู้คนที่มากมายในแต่ละสังคมที่พยายามต่อสู้ผลักดันให้ประชาธิปไตยนั้นทำงานและเชิดชูคุณค่าความดีงามของความเท่าเทียมกันทางการเมืองท่ามกลางขวากหนามและอุปสรรคมากมายที่เกิดขึ้น

 


หมายเหตุ: นอกเหนือจากข้อมูลข่าวจากเว็บไซต์ข่าวการเลือกตั้งในอินเดียแล้ว หากท่านสนใจงานของอัมเพทการ์ ควรพิจารณาคำถามสำคัญของเขาใน Buddha and His Dhamma (1957) และ The Annihilation of Caste (1936) ขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับบทความของ Patrick French. "Parsing the Grammar of Anarchy" ใน Reimagining India : Unlocking the Potential of Asia′s Next Superpower. Simon & Schuster. และ คุณจิตอนงค์ สารภีเพ็ชร แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู สำหรับการสนทนาและข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ผมสนใจเรื่องวิวาทะของอัมเพทการ์กับคานธี

 

ที่มา: มติชนออนไลน์

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 15 เมษายน 2557

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลังงานและการลุกขึ้นสู้ (รัสเซีย) ของยูเครน

$
0
0



ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนภายหลังการลงประชามติแบ่งแยกเขตการปกครองตนเองไครเมีย ดูราวกับไม่มีท่าทีจะยุติความขัดแย้งลงภายในระบบได้ง่ายๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในรอบล่าสุดที่เริ่มต้นขึ้นจากปลายปี พ.ศ. 2556 บทบาทของยูเครนมักเป็นฝ่ายตั้งรับต่อการรุกของรัสเซีย จนกระทั้งมีคำประกาศจากรักษาการนายกรัฐมนตรียูเครนที่อนุมัติให้เริ่มมีการใช้ปฏิบัติการทางการทหาร เพื่อตอบโต้ความพยายามแบ่งแยกดินแดนในหลายเมืองฝั่งตะวันออกของยูเครน ซึ่งดูราวกับจะเป็นปฏิบัติการรุกกลับครั้งแรกของยูเครนในวิกฤติการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามปฏิบัติการทางการทหารของรัฐบาลรักษาการยูเครน ที่ส่งกองทัพเข้าไปยึดคืนพื้นที่ในเมืองฝั่งตะวันออกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนนั้น อาจไม่ใช่ปฏิบัติการลุกขึ้นสู้ หรือเป็นความพยายามรุกกลับครั้งแรกของยูเครน ด้วยเหตุว่ามีปรากฏการณ์เล็กๆ ที่ไม่ถูกกล่าวถึงและให้ความสำคัญมากนัก แต่เป็นปฏิบัติการชุดแรกๆ ของยูเครนในการลุกขึ้นสู้กับรัสเซียในวิกฤติความขัดแย้งรอบนี้ นั้นก็คือ ความพยายามปลดแอกทางพลังงานจากรัสเซีย และสร้างอิสระทางพลังงานให้เกิดขึ้นของยูเครน  

พลังงานถูกหยิบใช้มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองและต่อสู้ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในทุกรอบที่มีความขัดแย้ง รวมถึงความขัดแย้งในรอบปัจจุบันรัสเซียก็ได้นำประเด็นพลังงานเข้ามาใช้ในเกมส์ความขัดแย้งเช่นเคยกล่าวคือ รัสเซียได้ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อตอบโต้การโค่นล้มระบอบปกครองซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนรัสเซีย การขึ้นราคาดังกล่าวทำให้ยูเครนเผชิญวิกฤตที่จะต้องซื้อก๊าซปริมาตร 1,000 ลูกบาศก์เมตร ในราคาถึง 485.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 15,700 บาท) จากเดิมที่ 268.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 8,700 บาท) โดยรัสเซียประกาศขึ้นราคาถึงสองรอบในช่วงเวลาเพียง 3 วัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรักษาการของยูเครนได้ดำเนินการแก้ไขกรณีปัญหาดังกล่าวด้วยการทบทวนสมดุลพลังงาน และเชื้อเพลิงสำหรับปี 2014 โดยพิจารณาถึงการหันมาใช้ถ่านหินแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีการใช้ประเด็นพลังงานเข้ามาต่อรองและต่อสู้กันในพื้นที่ความขัดแย้ง สะท้อนให้เห็นนัยที่สำคัญทางการเมืองเรื่องพลังงานอย่างน้อยใน 2 ประเด็นหลัก กล่าวคือ พลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และพลังงานกับความเป็นอิสระ (Independence) 

ประเด็นที่หนึ่ง พลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์ หากจะทำความเข้าใจอย่างย่นย่อแล้วภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจถึงความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ หรือความได้เปรียบในเชิงกายภาพของพื้นที่ที่อาจส่งผลต่อ หรือเอื้อประโยชน์ต่อความสามารถในการสร้างอำนาจทางการเมืองให้มีเหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน จะพบว่ารัสเซียสามารถสร้างอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่ายูเครนผ่านภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน ด้วยการวางท่อส่งก๊าซผ่านเข้าไปในพื้นที่ทั่วประเทศยูเครน และส่งต่อเข้าไปยังประเทศในยุโรป ดังจะเห็นได้จากแผนที่โครงข่ายท่อก๊าซด้านล่าง 


ที่มาภาพ: สำนักข่าว i24News (เข้าถึงผ่าน http://www.i24news.tv/en/news/international/europe/140405-ukraine-eyes-coal-after-russian-gas-price-hike)

โครงข่ายท่อก๊าซที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ในประเทศรัสเซีย เป็นการใช้ภูมิรัฐศาสตร์ทางพลังงานของรัสเซียเพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่ายูเครน จากประเด็นดังกล่าวอาจมีจุดที่น่าสนใจอยู่ 2 ประการสำคัญกล่าวคือ ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมาการพิจารณาถึงภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อตัดสินว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพ ที่จะนำไปใช้ในการสร้างอำนาจทางการเมืองได้เหนือกว่าพื้นที่อื่นๆ มักพิจารณาจากสภาพของภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ หรือถึงแม้ว่าจะมีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์นั้น แต่ก็เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องบนพื้นฐานตามธรรมชาติเป็นหลัก เช่น มีพื้นที่ติดทะเล หรือเป็นพื้นที่ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยแผ่นดิน (Landlocked) พื้นที่ตั้งอยู่ในที่สูง หรือตั้งอยู่ในที่ราบลุ่ม รูปร่างของพื้นที่ขนาดใหญ่หรือกะทัดรัด พื้นที่อยู่ศูนย์กลาง (Heartland) หรือชายขอบ (Rim land) รวมถึงเขตแดน หรือพรมแดน ฯลฯ แต่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงานที่รัสเซียมีเหนือยูเครนนี้เกิดจากภูมิศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง โดยมีปัจจัยตามธรรมชาติมากำกับอยู่น้อย ศักยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในการสร้างอำนาจทางการเมืองให้มีเหนือกว่ายูเครนจึงมีผลสัมฤทธิ์สูงมาก

ประการที่สอง ความน่าสนใจอยู่ที่พลวัตรหรือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวพลังงาน กล่าวคือ ในช่วงหนึ่งพลังงานทำให้เกิดสงครามเพื่อการแย่งชิงแหล่งพลังงาน อาทิ สงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือสงครามอิรักกับคูเวต ฯลฯ หรือในอีกช่วงหนึ่งพลังงานเป็นประเด็นสำคัญมากในระบบของการป้องกันประเทศ และกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพของบรรดาประเทศมหาอำนาจ ทั้งกองทัพของสหรัฐอเมริกา กองทัพของรัสเซีย กองทัพของจีน รวมถึงกองทัพของตะวันออกกลาง ที่การขับเคลื่อนกองทัพจำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นทรัพยากรสำคัญ ในขณะที่ปัจจุบันบทบาทของพลังงานได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ด้วยการไปกำหนดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พลังงานไม่ได้แต่เพียงกำหนดสงคราม และความเป็นไปของกองทัพเท่านั้น หากแต่ได้กลายตัวมาเป็นปัจจัยในการกำหนดความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความสามารถในการสร้างอำนาจทางการเหมืองที่เหนือกว่า
 
ประเด็นที่สองพลังงานกับความเป็นอิสระ (Independence) แนวคิดความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) เป็นแนวคิดที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการถกเถียงเพื่อหาแนวทางในการจัดหาแหล่งผลิตพลังงาน เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง อาทิ เมื่อเปิดไฟ ไฟต้องติด และมีใช้เสมอเมื่อต้องการ แต่ในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับยูเครน ความมั่นคงทางพลังงานอาจไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาสำคัญ หากแต่แก่นแกนของปัญหาอาจอยู่ที่ความเป็นอิสระทางพลังงาน กล่าวคือ ความเป็นอิสระทางพลังงานนอกจากจะสร้างความมั่งคั่งและรับรองความมั่นคงทางพลังงานได้แล้ว ความเป็นอิสระทางพลังงานยังต้องทำให้เกิดการสร้างสันติภาพและการสร้างเสถียรภาพได้อีกด้วย ในกรณีของยูเครนแม้จะมีความพยายามสร้างความเป็นอิสระทางพลังงานด้วยการนำถ่านหินเข้ามาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากรัสเซีย แต่การกระทำดังกล่าวอาจไม่ได้รับรองความเป็นอิสระทางพลังงานให้กับยูเครนได้ ด้วยเหตุว่าแม้ยูเครนจะมีการทำอุตสาหกรรมถ่านหินอยู่เป็นจำนวนมากในเมืองฝั่งตะวันออก และอาจคาดการณ์ได้ว่ามีถ่านหินเพียงพอที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถ่านหินจะนำไปสู่สันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ในขณะนี้

การคาดการณ์ต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในรอบนี้ ถูกมองจากนักวิเคราะห์จำนวนมากว่าเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและไม่ง่ายนักที่จะยุติลง รวมไปถึงมีการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะถูกแบ่งแยกประเทศ การคาดการณ์ในทางกลับที่สำคัญประการหนึ่ง และไม่ค่อยปรากฏนักคือ แล้วยูเครนเริ่มกระบวนการแบ่งแยกตนเองออกจากรัสเซียแล้วหรือยัง ความพยายามหันไปหายุโรปและอเมริกาของยูเครน โดยเนื้อแท้แล้วอาจเป็นเพียงกระบวนการที่ยูเครนพยายามปรับสมดุลทางอำนาจใหม่กับรัสเซีย แต่ความพยายามปลดแอกพันธะทางพลังงานที่รัสเซียมีเหนือยูเครนนั้น อาจเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการโต้กลับและในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การแบ่งแยกยูเครนออกจากรัสเซีย

 

 

หมายเหตุ: ขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่กรุณาให้ความเห็นในการเขียนบทความชิ้นนี้

อ้างอิง:
- Gijs Graafland, Energy Politics, Amsterdam: Planck Foundation, 2010.
- Bert Chapman. Geopolitics Guide to the Issues: Contemporary Military, Strategic, and Security Issues. California: Praeger, 2011. 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เจาะองค์การมหาชน ‘พิงคนคร’ (1) : โครงสร้างบริหารกับแนวคิดการจัดการเมืองท่องเที่ยว

$
0
0

ในช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน)พ.ศ.2556 เพื่อดูแลและพัฒนาพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง ความน่าสนใจของการตั้งองค์กรแห่งนี้คือ จะเป็นองค์กรมหาชนแห่งแรกจาก 50 กว่าองค์กรที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เฉพาะในท้องถิ่น และมีอำนาจที่มากไปกว่าการประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการทำกิจการต่างๆ โดยมีอำนาจวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม การขนส่ง และการสาธารณูปโภค

รายงานชิ้นนี้ จึงเป็นความพยายามที่จะสืบเสาะเข้าไปเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างองค์การมหาชนแบบใหม่นั้นมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นแนวคิดเบื้องหลัง ปฏิบัติการจากอำนาจขององค์กรนี้จะเข้าไปชนกับอำนาจของท้องถิ่นอย่างไร  จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และท้ายที่สุดแนวโน้มข้างหน้าขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร

 

ก่อนจะมีพิงคนคร : นโยบายการท่องเที่ยวไทยกับการสร้าง ‘เชียงใหม่เวิลด์’

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540  รัฐบาลไทยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2541-2542 ประกาศให้เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) สองปีถัดมาหลังจากนั้น มีการรณรงค์การท่องเที่ยวภายใต้สโลแกนที่ว่า ‘Unseen Thailand’

ในปี 2545 มีการรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบมากขึ้นโดยเฉพาะการลงไปเที่ยวใน ‘ชนบท’

และในปี 2547 มีการให้มาตรฐานโฮมสเตย์ หรือเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท’

ล่าสุดในปี 2556 มีการผลักดันการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับการจัดงานประชุม หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘MICE’ (Meetings, incentives, conferences, and exhibitions)

ด้วยนโยบายเหล่านี้ทำให้เกิดการผลักดันและพัฒนาสถานที่ต่างๆ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติสวยงาม ผนวกกับมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ฯลฯ ก็ถูกทุ่มงบประมาณลงไปเพื่อให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก

กรณีของเชียงใหม่ มีแนวคิดที่จะทำโครงการ ‘เชียงใหม่เวิลด์’ ซึ่งได้ไอเดียมาจาก ‘Man made destination’ คือ การทำให้สถานที่ที่ไม่มีจุดเด่นอะไร สามารถกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อกระฉ่อนได้ด้วยการสร้างของมนุษย์ ซึ่งในสมัยนั้น รัฐบาลทักษิณได้ไปเห็นตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ประเทศที่ไม่มีจุดเด่นอะไร แต่ก็สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ เช่น แสดงสัตว์เวลากลางคืน สิงคโปรอาย (ชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ชมทิวทัศน์ของเมือง) กระเช้าชมเมือง เป็นต้น 

ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้เกิดแผนการการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองระดับโลกในช่วงปี 2548-2549 ได้แก่ [1]

  1. โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,155.9 ล้านบาท  
  2. โครงการอุทยานช้าง ในเนื้อที่ 6.000 ไร่ ติดกับไนท์ซาฟารี 600 ล้านบาท  
  3. โครงการพืชสวนโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   งบประมาณ 500 ล้านบาท  
  4. โครงการสปา ระดับโลก   ใกล้โครงการพืชสวนโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)  
  5. โครงการอควาเรี่ยม ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ 300 ล้านบาท  
  6. โครงการพัฒนาลานครูบาศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อเป็นคอมเพล็กซ์รับสถานีรถไฟฟ้า  
  7. โครงการธีมปาร์ค  หรือสวนสนุกและเครื่องเล่นระดับโลก (ไม่ทราบงบประมาณ)  
  8. โครงการพัฒนระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) เชื่อมระหว่างเชิงดอยสุเทพเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ 200 ล้านบาท  
  9. โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ 1,450 ล้านบาท  
  10. โครงการศูนย์กลางไม้ตัดต่อประดับพืชเกษตร 300 ล้านบาท  
  11. โครงการถนนวงแหวน ด้านตะวันตกหางดง-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 322 ล้านบาท  
  12. โครงการถนนเลี่ยงเส้นทางหลักเชียงใหม่-แม่ริม 4 ช่องจราจร จากกองพันสัตว์ต่าง โค้งผ่านป่าสมบูรณ์ของดอยสุเทพ-ฟาร์มงูแม่ริม 340 ล้านบาท
  13. โครงการห้องพักสไตล์รีสอร์ท-ร้านอาหารภายในสวนสัตว์ 715 ล้านบาท  
  14. โครงการกระเช้าลอยฟ้า เชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ รอบดอยสุเทพ ระยะทาง 15 กิโลเมตร 8 สถานี  ได้แก่  ไนท์ซาฟารี-อุทยานช้าง-น้ำตกห้วยแก้ว-สวนสัตว์เชียงใหม่-ธีมปาร์ค-สปา-พืชสวนโลก-ลานครูบา   โดยจะเป็นเคเบิลคาร์ที่วิ่งสวนกันไปมางบประมาณ 1,000 ล้านบาท  
  15. โครงการกระเช้าไฟฟ้าเชียงดาว  
  16. โครงการทุบรื้อฝายเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำ  

ปัจจุบัน ในจำนวนโครงการเหล่านี้มีบางโครงการที่สำเร็จไปแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน)  โครงการพืชสวนโลก (อุทยานราชพฤกษ์) โครงการอควาเรี่ยมภายในสวนสัตว์เชียงใหม่  โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯและแสดงสินค้านานาชาติ โครงการถนนวงแหวน ด้านตะวันตกหางดง-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กำลังสร้างต่อเชื่อมไปถึงถนนเชียงใหม่-จอมทอง บริเวณ อ.ดอยหล่อ) ส่วนโครงการที่เหลือนั้นอยู่ในแผน แต่ยังไม่ได้สร้าง

อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก โดยการสร้างเมกะโปรเจ็คก็ถูกท้วงติงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะโครงการพืชสวนโลกและเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี [2]เป็นต้นว่า โครงการเหล่านี้จะทำลายสภาพแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงถึงธรรมชาติและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนบริเวณนั้น อาทิ ปัญหาขยะและการแย่งชิงน้ำไปใช้ ส่อแววคอรัปชั่นโดยเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย รวมถึงขั้นตอนที่รวบรัด ขาดการประเมินผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีข้อท้วงติงประการสำคัญ คือการบริหารและจัดการพื้นที่โครงการระยะยาว ในส่วนของพืชสวนโลกนั้น มีความพยายามผลักดันให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์  แต่ก็มีการทักท้วงอีกว่า จะหาเงินหมุนเวียนมาดูแลบำรุงรักษาอย่างไร เพราะมีพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้งบประมาณต่อปีค่อนข้างสูง

ส่วนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก็มีข้อท้วงติงถึงความล้มเหลวในการจัดการ นอกจากสภาวะการขาดทุนอย่างหนักไม่สมกับราคาคุยตั้งแต่ต้นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนด้วย

นอกจากนี้ยังได้เสนอการจัดการ 3 รูปแบบ [3]รูปแบบแรกคือ ให้ทางไนท์ซาฟารีดำเนินการต่อไปโดยเปลี่ยนทีมผู้บริหารและเป็นผู้ดำเนินการภายในองค์การเองทั้งหมด รูปแบบที่สองคือ ไนท์ซาฟารีดำเนินงานต่อ แต่จะทำเฉพาะในเรื่องที่ถนัดเท่านั้น เช่น เรื่องสัตว์ การดูแลสัตว์ การให้อาหารสัตว์ ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ก็ให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจเข้ามาดูแล และรูปแบบที่สาม คือให้เอกชนที่มีความรู้ความสามารถเป็นผู้บริหารเพื่อตัดปัญหาการดำเนินงานทางธุรกิจ

อาจกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้รัฐต้องคิดวิธีจัดการกับโครงการเมกะโปรเจ็คที่ลงไปมากขึ้น ในแง่หนึ่งเพื่อทำให้เกิดการบริหารแบบมืออาชีพ และทำให้เกิดข้อวิจารณ์โดยเฉพาะแง่ของการบริหารจัดการให้น้อยที่สุด ในอีกแง่หนึ่ง รัฐก็เห็นว่า การบริหารจัดการดูแลโครงการขนาดใหญ่ภายใต้ระบบราชการคงไม่เพียงพอเช่นกัน จึงนำมาสู่แนวคิดการจัดการภายใต้ ‘องค์กรมหาชน’ ทางหนึ่ง และ ‘เอกชน’ อีกทางหนึ่งด้วย

 

‘องค์กรมหาชน’ The chosen one ของรัฐ

อันที่จริง รัฐบาลทราบดีว่า การบริหารภายใต้ระบบราชการไม่สามารถที่จะดูแลจัดการการท่องเที่ยวที่จะให้เป็นโมเดลระดับโลกได้ ดังจะเห็นได้จากการตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)หรือ อพท.เพื่อมาบริหารกิจการการท่องเที่ยวพิเศษ

อพท. เป็นองค์การมหาชนของไทย สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2546 ได้รับงบประมาณ 437.9442 ล้านบาท (ข้อมูลล่าสุดปี 2555) [4]มีหน้าที่บริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ เป็นองค์กรกลางประสานงานกับท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ปัจจุบันดำเนินการกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดเลย

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในช่วงแรกเริ่ม ถูกโอนให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2556 จึงได้โอนไปเป็นภารกิจของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

คำถามที่น่าสนใจคือ เหตุใดรัฐจึงเลือก ‘องค์กรมหาชน’ เพราะมันง่ายและตอบสนองได้รวดเร็วจริงหรือ หรือแท้ที่จริงเป็นตัวเลือกเดียวและดีกว่าตัวเลือกอื่นที่รัฐจะพึงสามารถจัดการได้ หรือว่าเพราะเหตุใดกันแน่

หากเราสำรวจดูแนวคิดและหลักการของการตั้งองค์กรมหาชนในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 จะพบว่า องค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยประเภทที่สาม นอกเหนือจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนเพื่อบูรณาการให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ และประสานงานกันเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงานที่ต้องอาศัยความเร่งด่วน

นอกจากนี้องค์การมหาชนเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 [5]และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงาน กำหนดขึ้นเพื่อทำบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องการประสิทธิภาพสูง เฉพาะด้านที่ภาครัฐยังจำเป็นต้องดำเนินการและจัดให้มี หรือภาครัฐต้องมีบทบาทให้การสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ เพื่อให้เกิดการดำเนินงาน เป็นบริการในส่วนที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือเป็นบทบาทของรัฐในการให้บริการ การแทรกแซงตลาด หรือบริการที่ภาคเอกชนยังไม่สนใจหรือมีศักยภาพที่จะดำเนินการ โดยมิได้ค้ากำไรจากการบริการ มีวัฒนธรรมองค์กรเหมือนภาคธุรกิจ ที่สามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งมิอาจดำเนินการได้ในส่วนราชการซึ่งเป็นองค์การแบบราชการ (Bureaucratic model)

หลักเกณฑ์พื้นฐานในการจัดตั้งองค์การมหาชน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 [6]ซึ่งสามารถแยกแยะองค์ประกอบในการจัดตั้งได้ 3 ประการ คือ 1) เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ 2) แผนงานการจัดทำบริการสาธารณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ 3) การจัดตั้งหน่วยบริหารขึ้นใหม่นั้น มีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ณัฐกร วิทิตานนท์อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิเคราะห์ว่า องค์กรมหาชนเป็นส่วนราชการอย่างหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนระบบวิธีบริหารและการจ้างงาน กฎหมายนี้เกิดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากเห็นว่า ระบบราชการมันใหญ่ไป และมีภารกิจบางอย่างที่ไม่สามารถใช้โครงสร้างของระบบราชการและรัฐวิสหกิจบริหารได้

“ตอนนั้นมีกระแสการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หมายถึงว่า มันมีองค์กรของรัฐส่วนหนึ่งที่เป็นองค์กรทำกำไร ทั้งที่เป็นองค์กรแบบเดิมอย่างรัฐวิสาหกิจ และองค์กรแบบใหม่ แต่ภารกิจใหม่ที่ต้องทำมันนอกเหนือไปจากเดิม ซึ่งไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร จึงจัดตั้งรูปแบบรัฐวิสาหกิจไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่ององค์การมหาชนเพื่อมาอุดช่องว่าง คือจะเป็นราชการก็ไม่ได้ จะเป็นรัฐวิสาหกิจก็ไม่ไหวเพราะบางอย่างก็ไม่ใช่องค์กรทำรายได้”

อาจกล่าวได้ว่า องค์กรมหาชน กลายเป็นตัวเลือกเดียวของรัฐ หากจะต้องการการบริหารที่ก้าวข้ามความเป็นระบบราชการ เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการบริหาร นอกจากนี้รัฐอาจจะคำนวณบ้างแล้วว่า โมเดลการบริหารสถานที่ท่องเที่ยวประเภทนี้ เป็นบริการที่ ‘ภาคเอกชนยังไม่สนใจหรือมีศักยภาพที่จะดำเนินการ’ เนื่องจากยังไม่สามารถคำนวณกำไร ขาดทุน หรือคำนวณแล้วไม่คุ้มก็เป็นได้ และในช่วงแรกเริ่มของโครงการเหล่านี้ก็ต้องใช้งบประมาณรัฐเข้าไปสนับสนุนจำนวนมาก ซึ่งเราอาจเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อมองไปพร้อมกับบริบทการตั้ง ‘สำนักงานพิงคนคร’ องค์กรมหาชนล่าสุด ที่ตั้งขึ้นมาบริหารต่อยอดโครงการเมะโปรเจ็คในเชียงใหม่ที่ค้างคาไว้

 

‘พิงคนคร’ กับแนวคิดเรื่องการจัดการเมืองเชียงใหม่

นอกเหนือจากความพยายามสานต่อความต่อเนื่องโครงการที่ขาดตอนไปในช่วงที่มีการรัฐประหารปี 2549 ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงนคร ยังมีที่มาจากแนวคิดการจัดการเมืองเชียงใหม่ด้วย ซึ่งแนวคิดนี้มีมาพร้อมๆ กับโครงการก่อนหน้าการรัฐประหาร หรือเพิ่งมามีที่หลังนั้นมิอาจพิสูจน์ได้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า แนวคิดนี้ถูกนำเสนอต่อสาธารณะเมื่อปลายปี 2555 และค่อนข้างเป็นเอกภาพระหว่างกลุ่มการเมืองที่ครองอำนาจในท้องถิ่น และกลุ่มการเมืองระดับชาติ ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มการเมืองเหล่านี้ก็แยกไม่ออกจากกลุ่มทุนท้องถิ่นและในระดับประเทศ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นการก่อตัวของแนวคิดการจัดการเมืองที่ค่อนข้างมีเอกภาพ คือเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 มีการประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกแห่งล้านนา (The Glory of Lanna Heritage) โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ [7]ซึ่งมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เขต 3 เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิทางการเมืองนั่งเป็นประธานข้างนายธานินท์ สุภาแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดขณะนั้น พร้อมด้วยนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ส.ส. และตัวแทนจากหลายหน่วยงาน

ในการประชุมครั้งนั้นมีการนำเสนอโครงการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อทําให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว การศึกษา การทํางานและการลงทุน และการสร้างสมดุลวิถีชีวิตล้านนากับยุคสมัยปัจจุบัน และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ การยกระดับองค์การมหาชนด้านท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็น ‘สำนักงานพัฒนาพิงคนคร’ (ซึ่งขณะนั้นอย่รูะหว่างการยกร่างพระราชกฤษฎีกาของรัฐบาล) โดยจะมีการควบรวมการบริหารเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และอุทยานหลวงราชพฤกษ์หรือพืชสวนโลกเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเอกภาพในเชิงการบริหารจัดการด้านท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ยังมีการวางกรอบร่วมกันในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมือง การจัดระบบผังเมืองให้ตอบสนองความต้องการและการใช้ประโยชน์ของเมือง การจัดโซนนิ่งสถานบริการและสถานบันเทิง การนําสายไฟและเคเบิลสื่อสารลงใต้ดิน การพัฒนาคูเมืองที่จะไม่ให้มีการติดตั้งป้ายโฆษณาทุกประเภท ยกเว้นป้ายประชาสัมพันธ์งานเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การปรับภูมิทัศน์รอบคูเมือง และการปลูกตันไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ความร่มรื่น การสร้าง Branding เชียงใหม่ที่คงกลิ่นอายความเป็นล้านนา การพัฒนาข่วงเวียงหรือลานเมือง การแก้ไขปัญหาการบุกรุกกําแพงดิน การพัฒนาโบราณสถานเวียงกุมกาม การนําของดี 25 อำเภอมาจัดแสดงไว้ในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ และการรณรงค์ให้รักษาเอกลักษณ์การแต่งกายพื้นเมืองและอู้กำเมือง

หลังการประชุมครั้งนั้น มีการรับลูกจากทางจังหวัด อบจ, เทศบาลนครเชียงใหม่กันอย่างแข็งขัน

11 กุมภาพันธ์ 2556 ครม.ประกาศจัดตั้งสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 [8]พัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี

9 เมษายน 2556 เทศบาลนครเชียงใหม่เสนอร่างเทศบัญญัติคุมตึกสูงฯ [9]โดยทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างเทศบัญญัติ กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารบางชนิด หรือบางประเภท ในท้องที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และผ่านมติที่ประชุมในเวลาต่อมา

สาระสำคัญของร่างเทศบัญญัติฉบับนี้ คือ ในสี่เหลี่ยมคูเมือง จะทำให้ตึกมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร และรูปแบบของตึกจะต้องมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมล้านนา สีของอาคารจะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือหากเป็นโทนน้ำตาลก็ต้องโทนน้ำตาลเหมือนกัน ส่วนพื้นที่นอกบริเวณสี่เหลี่ยมคูเมืองทุกจุดในจังหวัดเชียงใหม่ จะควบคุมตึกสูง คือจะไม่ให้เกิน 23 เมตร ส่วนบริเวณศาสนสถานสำคัญบางแห่งในรัศมี 200 เมตร ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร และศาสนสถานอื่นๆ อีกบางแห่งในรัศมี 100 เมตร ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีความสูงเกิน 12 เมตร(รายละเอียดร่างเทศบัญญัติฯ นี้ สามารถโหลดได้ที่ลิงก์ฝากไฟล์ด้านล่าง [10] )

4 พฤษภาคม 2556 บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เสนอแนวคิดเรื่องระบบขนส่งมวลชน ดันรถไฟฟ้ารางเดี่ยว มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท [11]ระยะเวลาสร้างเสร็จภายใน 5 ปี  โดยแบ่งการเดินรถออกเป็น 2 เส้นทาง เชื่อมต่อในเขต อ.เมือง ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตร จะเริ่มต้นเส้นทางตั้งแต่บริเวณอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ปลายทางศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดยผ่านรอบคูเมืองเชียงใหม่และท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว

รถไฟฟ้าดังกล่าวจะเป็นรางเดี่ยว ให้บริการเที่ยวละ 3 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้โบกี้ละ 40 คน แต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ 120 คน หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน จะเพิ่มโบกี้อีก 2 โบกี้ ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 200 คน ความเร็ว 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะจอดรถไฟฟ้าทุกๆ 500 เมตร ซึ่งจะกำหนดเวลาและจุดจอดรถไฟฟ้าอย่างชัดเจน เบื้องต้นคาดการณ์ว่า แต่ละรอบจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที โดยรถไฟฟ้าดังกล่าว จะควบคุมด้วยระบบสัญญาณจราจร เมื่อถึงสี่แยกไฟแดงจะได้รับสิทธิ์ให้ไปก่อนไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร

หลังแนวคิดนี้ออกมาได้ไม่นานก็ถูกโจมตียับว่า นึกถึงแต่เรื่องท่องเที่ยว จึงถูกปรับให้มี 4 เส้นทางในเวลาต่อมาโดยเชื่อมจากวงแหวนรอบสองเข้ามาในเมือง [12]เริ่มจาก A1 สายสีทอง สนามกีฬา 700 ปี – เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี A2 สายสีทับทิม สนามกีฬา 700 ปี-ตลาดสามแยก A3 สายสีไพลิน สวนสัตว์เชียงใหม่-บวกครก A4 สายสีมรกต ท่าแพ-เจริญประเทศ และช้างคลาน

ทั้ง 4 เส้นทางนี้จะครอบคลุมพื้นที่ในเขตเทศบาลเชียงใหม่และเชื่อมต่อไปยังเขตอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การเดินทางของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งรถไฟฟ้ารางเดี่ยวที่ว่านี้จะให้บริการเที่ยวละ 3 โบกี้ รองรับผู้โดยสารได้โบกี้ละ 40 คน แต่ละเที่ยวจะรองรับผู้โดยสารได้ 120 คน แต่หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนจะเพิ่มโบกี้อีก 2 โบกี้ ทำให้รับผู้โดยสารได้ถึง 200 คน โดยใช้ความเร็วเพียงแค่ 28 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะจอดรับผู้โดยสารทุกๆ 500 เมตร โดยกำหนดจุดจอดรถที่ชัดเจน คาดว่าในแต่ละรอบจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที

 


ภาพ-แผนเส้นทางเชื่อมรถไฟฟ้าโมโนเรล (ที่มา : รายการครอบครัวข่าว 3)

 

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวคิดในการจัดทำวงแหวนรอบที่ 4 และวงแหวนรอบที่ 5 เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณชานเมืองไม่ให้เข้ามาในตัวเมือง และได้วางแนวทางและสำรวจเส้นทางแล้ว โดยจุดแรกจะเริ่มต้นจาก อ.หางดง อ.สารภี อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย และสิ้นสุด อ.แม่ริม ส่วนจุดตัดยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะเลยจาก อ.แม่ริมไปเล็กน้อย

17 กรกฎาคม 2556 มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘เส้นทางสู่มรดกโลก’ เพื่อหาแนวทางผลักดัน ‘เชียงใหม่-ลำพูน’ สู่การเป็นมรดกโลก [13]ซึ่งเป็นโครงการประชุมสัมมนาสืบสานและผลักดันเมืองเชียงใหม่-ลำพูนสู่มรดกโลก ภายใต้โครงการ A Tale of Two Cities (ตำนานสองนคร เชียงใหม่-ลำพูน) ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางจังหวัด

ภาพที่นำเสนอ จะเห็นว่า ‘สำนักงานพิงคนคร’ เป็นสับเซตหนึ่งของแนวคิดพัฒนาเมืองเพื่อทำให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยว การศึกษา การทํางาน และการลงทุน ซึ่งแนวคิดนี้นอกจากจะเชื่อมโยงกับโครงการเมกะโปรเจ็คเดิมที่คั่งค้างอยู่แล้ว ยังน่าจะเชื่อมโยงกับนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเมืองให้เชื่อมโยงกับนโยบายรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะเข้ามา หรือการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะนโยบายเหล่านี้จะนำมาซึ่งความความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ตั้งแต่มูลค่าพื้นที่ของเมือง จนถึงการเคลื่อนย้ายของคน ซึ่งหากเร่งปรับให้รองรับ และให้เข้าทางกับการประกอบการธุรกิจของกลุ่มตน ย่อมนำมาซึ่งผลกำไรอย่างมหาศาล ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไปในบทท้ายๆ

 

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน): โครงสร้างองค์กรและการบริหาร

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค. (Pinkanakorn Development Agency (Public Organization)) เรียกโดยย่อว่า ‘PDA’ เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี   โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวกับทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยทดลองดำเนินกิจการ 5 ปี จากนั้นจึงจะมีการประเมินผลความคุ้มค่าอีกครั้ง

พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 [14]ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการตั้งสำนักงานนี้ คือ

  1. วางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ (พิงคนคร หมายถึงจุดมุ่งหมายที่กล่าวข้างต้น)
  2. พัฒนาโครงข่ายการคมนาคม  การขนส่ง และการสาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมภารกิจตามข้อ 1)
  3. ประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาพิงคนคร
  4. อนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะ จารีตประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นในพื้นที่การพัฒนาพิงคนคร
  5. ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่การพัฒนาพิงคนคร โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน

และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว พรฎ.ฉบับนี้ได้ให้สำนักงานนี้มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง  และทรัพยสินต่างๆ สามารถทํานิติกรรมได้ทุกประเภท รวมถึงทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถจัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดําเนินงานของสํานักงาน สามารถเข้าร่วมทุนกับนิติบุคคลอื่นในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของสํานักงาน สามารถกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวัตถุประสงค์ของสํานักงาน และสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียม  ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน  หรือค่าบริการในการดําเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของสํานักงาน (ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการกําหนด)

งบประมาณ

ในส่วนของงบประมาณและรายได้ มาตรา 9 10  11 และ 12 ของ พรฎ.ฉบับนี้ [15]ระบุโดยมีสาระสำคัญ คือ เงินทุน รายได้ หรือทรัพย์สินของสำนักงานพัฒนาพิงคนครในส่วนของรัฐมาจาก 1) การโอนย้ายทรัพย์สินและงบประมาณของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่เดิมอยู่กับที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)   2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งงบประมาณในปี 2557 นั้น อยู่ในวงเงิน 744.3119 ล้านบาท [16] 3) เงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ไม่บังคับ)

ในส่วนของเอกชน เปิดให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร สามารถรับเงินอุดหนุนจากเอกชน องค์กรจากต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ได้ โดยมีข้อแม้ว่า ต้องไม่สูญเสียความเป็นอิสระและความเป็นกลางของสำนักงาน

ส่วนทรัพย์สินและเงินรายได้อีกส่วน มาจากการดำเนินกิจการของสำนักงานเอง เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน ค่าบริการ ฯลฯ โดยรายได้เหล่านี้ไม่ต้องส่งคืนให้รัฐ

โครงสร้างการบริหาร

โครงสร้างองค์กร ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 [17]กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร เรียกว่า ‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’  รวม 11 คนประกอบไปด้วย

  1. ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
  2. กรรมการโดยตําแหน่งจํานวนสามคน ได้แก่ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
  3. กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากภาคเอกชนในพื้นที่การพัฒนาพิงคนครจํานวนสามคน
  4. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  จํานวนไม่เกินสามคน  ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารจัดการ  การเกษตร  การพัฒนาสังคมกฎหมาย การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การประชุม หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสํานักงาน  โดยในจํานวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมิใช่ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่มีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําร่วมอยู่ด้วย
  5. ผู้อำนวยการที่ถูกแต่งตั้งจากคณะกรรมการชุดนี้  (ดูผังประกอบ)

ซึ่งประธานกรรมการและกรรมการมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ดำรงตำแหน่งไม่เกินสองวาระติด

ในช่วงโยกย้ายข้าราชการปลายปี 2556 ครม.ได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร จำนวน 7 ราย ตามที่สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) [18]เสนอ ได้แก่ 1.นายอุดม พัวสกุล เป็นประธานกรรมการ 2.นางชูจิรา กองแก้ว เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3.นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4.น.ส.เสาวนีย์ จิรพวุฒิกุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5.นายชัยธวัช เสาวพนธ์ เป็นกรรมการภาคเอกชน 6.นางอรกนงค์ มณีกาญจน์ เป็นกรรมการภาคเอกชน และ 7.นายโชติโรจน์ วงศ์วรรณ เป็นกรรมการภาคเอกชน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป

 


ภาพแผนผังคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร
[19]

 

‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’ มีอํานาจหน้าที่ควบคุมดูแลสํานักงานให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่กําหนดไว้  อาทิ กําหนดนโยบายการบริหารงานและให้ความเห็นชอบแผนการดําเนินงานของสํานักงาน   อนุมัติแผนการลงทุน แผนการเงิน โครงการ  และงบประมาณประจําปีของสํานักงาน ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดเก็บและอัตราค่าธรรมเนียม  ค่าบํารุง  ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดําเนินกิจการของสํานักงาน ควบคุมดูแลการดําเนินงานและการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เป็นต้น

ในส่วนของการบริหารนั้น คกก.พิงคนคร จะแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงาน และผู้อำนวยการสำนักงาน แต่งตั้งรองผู้อำนวยการ (โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ) อีกครั้งหนึ่ง

จากนั้นวางแผนการบริหารโดยจ้างเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง (ผู้ซึ่งปฏิบัติงานโดยได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างจากงบประมาณของสํานักงาน) ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ (ผู้ซึ่งสํานักงานจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญโดยมีสัญญาจ้าง) และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมาปฏิบัติงานของสํานักงานเป็นการชั่วคราว เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามแผนงานต่างๆ

ในการบริหารนั้น ผู้อํานวยการมีหน้าที่บริหารกิจการของสํานักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ของสํานักงาน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกําหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตําแหน่ง  เว้นแต่ผู้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจสอบภายใน รวมถึงต้องเสนอแผนงาน เป้าหมาย และโครงการต่อคณะกรรมการทุกปี พร้อมทั้งเสนอรายงานประจําปีเกี่ยวกับผลการดําเนินงานด้านต่าง ๆ ของสํานักงาน  และความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการและการดําเนินงานของสํานักงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี  ตลอดจนเสนอแผนการเงินและงบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาด้วย

 


ภาพโครงสร้างการบริหารของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ตามที่บัญญัติไว้ในพรก.ฯและปรากฏ ณ ตอนนี้

 

การตรวจสอบ

ในหมวด 5-6 ของ พรฎ.ฯ [20] ระบุให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน  การบัญชี  และการพัสดุของสํานักงาน  ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ในการตรวจสอบภายใน ให้มีผู้ปฏิบัติงานของสํานักงานทําหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะ และให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบหรือข้อบังคับที่คณะกรรมการกําหนด

และในทุกรอบปี ให้สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือบุคคลภายนอกตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสํานักงาน  โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด และได้ผลตามเป้าหมายเพียงใด  แล้วทําบันทึกรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการ

นอกจากนี้ ให้สํานักงานจัดให้มีการประเมินผลการดําเนินงานตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกําหนด แต่ต้องไม่นานกว่า 3 ปีและต้องจัดทําโดยสถาบัน  หน่วยงาน  องค์กร  หรือคณะบุคคลที่เป็นกลางและมีความเชี่ยวชาญในด้านการประเมินผลการดําเนินงาน โดยมีการคัดเลือกหรือแต่งตั้งตามวิธีการที่คณะกรรมการกําหนด

ด้านการกำกับดูแล มาตรา 38 -39 ระบุว่า ให้รัฐมนตรีมีอํานาจหน้าที่กํากับดูแลการดําเนินกิจการของสํานักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสํานักงาน  นโยบายของรัฐบาล และมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสํานักงาน โดยให้รัฐมนตรีมีอํานาจสั่งให้สํานักงานชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทํารายงาน หรือยับยั้งการกระทําของสํานักงานที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสํานักงาน นโยบายของรัฐบาลหรือมติของคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับสํานักงาน ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดําเนินการของสํานักงานได้

นอกเหนือจากโครงสร้างดังกล่าว นายอุดม พัวสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร ยังเปิดเผยถึงแผนงานในการบริหารของคณะกรรมการ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 [21]ว่า แนวคิดการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตามหากใช้กระบวนการดำเนินงานตามปกติอาจจะทำให้การพัฒนาไม่ต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดในการจัดตั้งองค์การมหาชนเข้ามาดูแลเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัวและต่อเนื่อง

“ในเบื้องต้นสำนักงานพัฒนาพิงคนครจะเป็นเหมือนบริษัทแม่ โดยมีบริษัทลูกในเครือ 2 องค์กร ได้แก่ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ซึ่งหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร คือทำให้องค์กรที่อยู่ในสังกัดมีความแข็งแรงและสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ รวมทั้งพัฒนาให้ไปสู่จุดหมายทั้งในด้านการท่องเที่ยวและด้านอื่นๆ อีกหลายด้านตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ และในอนาคตก็จะมีการนำองค์กรอื่นๆ เข้ามาอยู่ในสังกัดเพิ่มขึ้นอีกตามความเหมาะสม”

โปรดติดตามตอนต่อไป  เจาะองค์การมหาชน ‘พิงคนคร’ (2) : ปฏิบัติการทางอำนาจ: ความเหลื่อมซ้อนระหว่างอำนาจส่วนกลาง-ภูมิภาค-ท้องถิ่น?-รอยปะทะและความขัดแย้ง กรณีสวนสัตว์เชียงใหม่ ข่วงหลวงเวียงแก้ว กระเช้าลอยฟ้า

 

อ้างอิง:

  1. สิริมงคล จันทร์ขาว. 2549. เมื่อ  ‘ทักษิณ’...ทําผิด ‘ทักษา’.. ความ ‘ขึด’ จึงบังเกิด. แหล่งที่มา : http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content2/show.pl?0399. 3 พฤศจิกายน 2556
  2. ประชาธรรม. 2550. คนเชียงใหม่ถกแนวทางจัดการพื้นที่พืชสวนโลก. แหล่งที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_06032007_02 . 3 พฤศจิกายน 2556
  3. ประชาธรรม. 2550. ฮักเจียงใหม่แนะ ‘ปิดไนท์ซาฟารี’ ระบุระยะยาวได้ไม่คุ้มเสีย. แหล่งที่มา : http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_30112007_01 . 3 พฤศจิกายน 2556
  4. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). 2546. แหล่งที่มา. http://www.dasta.or.th/th/aboutus.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  5. พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542.  (2542,13 กุมภาพันธ์).  ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 116  ตอนที่ 9ก.,  หน้า 5-16.
  6. เรื่องเดียวกันกับเชิงอรรถที่ 5
  7. สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่. 2555. เชียงใหม่ถกยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกแห่งล้านนา (The Glory of Lanna Heritage ). แหล่งที่มา : http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=121021165908 . 4 พฤศจิกายน 2556
  8. วิกิพีเดีย. 2556. สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน). แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3_(%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99) . 4 พฤศจิกายน 2556
  9. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556. ทน.เชียงใหม่ขยับคุมตึกสูง เดินหน้าร่างเทศบัญญัติแล้ว. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000043449 . 4 พฤศจิกายน 2556
  10. ทัศนัย บูรณุปกรณ์.  2556. ร่างเทศร่างเทศบัญญัติเรื่องกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง หรือดัดแปลง อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในท้องที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ฯ. http://www.4shared.com/office/bHp0CxY7/__online.html . 5 ตุลาคม 2556
  11. คมชัดลึกออนไลน์. 2556. 'บุญเลิศ'ขายฝัน'รถไฟฟ้ารางเดี่ยว'. แหล่งที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20130504/157601/%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  12. ครอบครัวข่าวสาม. 2556. สกู๊ป..ขายฝันระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่. แหล่งที่มา : http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/76625/%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%8A%E0%B8%9B--%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.html . 4 พฤศจิกายน 2556
  13. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556.  เชียงใหม่จัดเสวนานำร่อง ‘เชียงใหม่-ลำพูน’ มรดกโลก นักวิชาการแนะต้องเตรียมพร้อมหลายด้าน. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9560000087677&Html=1&TabID=3& . 4 พฤศจิกายน 2556
  14. อ้างแล้ว
  15. อ้างแล้ว
  16. พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557. (2556,11 ตุลาคม). เล่ม 130 ตอนที่ 93ก, หน้า 6.
  17. อ้างแล้ว
  18. มติครม.1 ตุลาคม 2556. ‘การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร’
  19. เขียนขึ้นโดยผู้เขียนจากการอ่านพรก.ฉบับนี้
  20. อ้างแล้ว
  21. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2556.  ปธ.บอร์ด ‘พิงคนคร’ แจงยังไม่คุยเรื่องโอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่-ดูแค่ไนท์ซาฟารี-ศูนย์ประชุมฯ. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Local/viewnews.aspx?NewsID=9560000128074 . 8 พฤศจิกายน 2556

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึกได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการสะพาน โดยการสนับสนุนจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนง.ศาลรธน. โต้แถลงศอ.รส.แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่

$
0
0

สนง.ศาลรธน. โต้แถลงการณ์ ศอ.รส.กรณีเรียกร้องให้วินิจฉัยนายกฯ ปม ‘ถวิล’ อย่างตรงไปตรงมาและไม่เกินเลย ระบุเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่องค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตาม รธน.

19 เม.ย.2557 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าว ลงวันที่ 18 เม.ย. 57 เพื่อชี้แจงกรณีที่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรองผู้อำนวยการศอ.รส. และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเลขาธิการ ศอ.รส. ได้ร่วมกันแถลงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาและมีคำวินิจฉัยในกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อย่างตรงไปตรงมา และจะต้องไม่วินิจฉัยเกินเลยไปถึงขนาดว่า หากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดแล้ว คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 โดยจะอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัตินหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 อีกไม่ได้ นั้น

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขอเรียนว่า การออกแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลข่าวสารของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการหรือเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ศอ.รส.มีอำนาจหน้าที่หลักรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 การแถลงการณ์ของ ศอ.รส. ดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีลักษณะคุกคาม ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจของตุลาการและศาล ซึ่งมีผลเป็นการทำลายชื่อเสียง ความเชื่อถือศรัทธาของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกระทำที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่กำหนดให้ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติเพื่อป้องกันภยันตรายอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้น

เอกสารข่าวดังกล่าวระบุด้วยว่า การพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา 197 วรรคหนึ่งได้บัญญัติไว้ และต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ การปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากการดำเนินการของศอ.รส. กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จึงแถลงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ช่างภาพเล่านาทีชีวิตในอิหร่าน พ่อแม่เหยื่อช่วยผู้ต้องหาไม่ให้ถูกประหาร

$
0
0
ในประเทศที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณชนอย่างอิหร่าน เกิดเหตุไม่คาดฝันเมื่อพ่อแม่ของผู้ถูกสังหารได้ยับยั้งการประหารชีวิตผู้ต้องหาในนาทีสุดท้าย พร้อมทั้งกอดคอร่ำไห้กับมารดาของฝ่ายผู้ต้องหา

 
18 เม.ย.2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานเรื่องของชายชาวอิหร่านที่กำลังจะถูกแขวนคอต่อหน้าสาธารณชนในข้อหาฆาตกรรม แต่กลับไปรับการไว้ชีวิตจากมารดาของเหยื่อในวินาทีสุดท้าย เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
เหตุการณ์ย้อนความจากเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ชายที่ชื่อบาลัล ราว อายุ 20 กว่าปี แทงชายที่ชื่อ อับดอลลาห์ ฮอสเซนซาดีห์ เสียชีวิตขณะที่มีเรื่องชกต่อยกันกลางท้องถนนในเมืองเล็กๆ ของจังหวัดมาซานดารัน ทางตอนเหนือของอิหร่าน
 
เดอะการ์เดียนระบุว่า ในอิหร่านมีการนำส่วนหนึ่งของกฎหมายชะรีอะฮ์มาใช้อย่างตรงไปตรงมาคือกฎข้อที่ให้ครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรมมีส่วนร่วมในการประหารชีวิตแแบบแขวนคอ โดยให้ครอบครัวเหยื่อเป็นผู้ดันเก้าอี้เพื่อให้อาชญากรถูกเชือกรัดคอ
 
แต่กรณีของบาลัลกลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยระหว่างการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ แม่ของเหยื่อโผเข้าไปตบหน้าผู้ต้องหาและยอมให้อภัยผู้ที่สังหารลูกชายเธอ ส่วนพ่อของบาลัลก็เข้าไปนำห่วงคล้องคอออกเพื่อไว้ชีวิตเขา
 
ภาพถ่ายของ อาราช กามูจี ผู้ทำงานให้กับสำนักข่าวอิสนาแสดงให้เห็นภาพแม่ของบาลัลกอดคอแม่ของเหยื่อผู้เสียใจต่อการจากไปของลูกชาย ทั้งสองคนต่างก็ร้องไห้ ก่อนหน้านี้แม่ของฮอสเซนซาดีห์ก็เคยสูญเสียลูกชายอายุ 11 ปีจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์
 
กามูจี เล่าฉากเหตุการณ์ว่าขณะที่รอการประหาร แม่ของบาลัลลงไปนั่งอยู่กับพื้นเหมือนคนไม่มีเรี่ยวแรงเมื่อได้รู้ว่าลูกของตนกำลังจะถูกสังหาร ขณะที่บาลัลถูกนำตัวมาที่ลานประหาร เขาก็ร้องตะโกนและสวดภาวนาเสียงดังจนกระทั่งเงียบไป
 
แม่ของเหยื่อบอกกับกามูจีว่าเธอฝันร้ายมาโดยตลอดหลังจากเสียลูกชายทำให้เธอไม่สามารถให้อภัยผู้สังหารลูกชายเธอได้ จากนั้นเธอจึงเดินไปที่บาลัล ขอเก้าอี้ให้เธอยืนสูงขึ้น เธอก้าวขึ้นบนเก้าอี้แล้วตบหน้าบาลัลก่อนจะบอกว่า "ให้อภัยแล้ว"
 
แม่ของเหยื่อเล่าถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายถูกสังหารว่า ขณะที่อับดอลลาห์กำลังเดินอยู่ในตลาดกับเพื่อน บาลัลก็เป็นคนผลักเขา ทำให้อับดอลลาห์รู้สึกไม่พอใจจึงได้เตะบาลัล แต่บาลัลก็ตอบโต้ด้วยการนำมีดที่ซ่อนอยู่ในถุงเท้าทำร้ายอับดอลลาห์จนเสียชีวิต ก่อนที่จะพยายามหลบหนีแต่ก็ถูกตำรวจจับกุมตัวไว้ได้ มีการดำเนินคดีในชั้นศาลเป็นเวลา 6 ปีถึงได้มีการตัดสินโทษประหารชีวิตในที่สุด
 
อย่างไรก็ตามพ่อของเหยื่อคิดว่าบาลัลก่อเหตุโดยไม่ได้เจตนา นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าก่อนหน้ากำหนดการประหาร 3 วัน ภรรยาของเขาฝันว่าได้พบลูกชายที่ถูกสังหารเขาบอกว่าได้อยู่ในที่ๆ ดีแล้ว และไม่อยากให้แก้แค้นแทน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แม่ของเหยื่อได้ไตร่ตรองถึงเรื่องการประหารชีวิต ผู้มีชื่อเสียงในอิหร่านหลายคนยังได้เรียกร้องให้พวกเขาให้อภัยผู้ต้องหาด้วย
 
อย่างไรก็ตามแม้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตจะไม่ปฏิบัติตามกระบวนการประหาร แต่บาลัลก็อาจจะไม่ถูกปล่อยตัว เนื่องจากภายใต้กฎหมายของอิหร่านครอบครัวของเหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการประหารเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนในกระบวนการกุมขัง
 
นักสิทธิฯ วิจารณ์ทางการอิหร่านเรื่องโทษประหารชีวิต
 
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการอิหร่านถูกวิจารณ์โดยนักสิทธิมนุษยชนเรื่องอัตราการประหารชีวิตที่สูง บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติก็กล่าวโทษว่า ฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีของอิหร่านทำให้ประเทศมีพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนต่ำมากโดยเฉพาะเรื่องโทษประหารชีวิต
 
องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเปิดเผยว่าในปี 2557 ที่เพิ่งผ่านมาเกือบ 4 เดือนมีการประหารชีวิตไปแล้ว 199 กรณี ซึ่งคิดเฉลี่ยราว 2 กรณีต่อวัน เมื่อปี 2556 ทางการอิหร่านเปิดเผยว่ามีการประหารชีวิต 369 กรณี แต่แอมเนสตี้ฯ บอกว่ามีประชาชนอีกหลายร้อยคนถูกประหารอย่างลับๆ ทำให้ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ราว 700 กรณี นอกจากนี้อิหร่านยังถูกวิจารณ์เรื่องการประหารต่อหน้าสาธารณชนซึ่งมีคนมาชมการประหารรวมถึงเด็กด้วย
 
บาฮาเรห์ ดาวิส เจ้าหน้าที่องค์กรแอมเนสตี้กล่าวแสดงความยินดีที่บาลัลได้รับการไว้ชีวิต เธอยังวิจารณ์กฎหมายของอิหร่านอีกว่าเป็นการตัดสินประหารชีวิตโดยไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาเรียกร้องลดโทษหรือขออภัยโทษจากทางการได้ อีกทั้งการตัดสินประหารชีวิตยังมีความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ การให้สาธารณชนเข้าชมการประหารยังถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้ยอมรับความรุนแรง
 
เรียบเรียงจาก
 
Iranian killer's execution halted at last minute by victim's parents, The Guardian, 16-04-2014
 
Photos show victim's mother forgive killer, halt hanging in Iran, CNN, 18-04-2014
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยสายด่วน 1669 ช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุรอดสูง

$
0
0
สพฉ.วิเคราะห์สถิติสงกรานต์พบตายคาที่สูง ระบุผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือถูกวิธีผ่านสายด่วน 1669 มีอัตรารอดสูงถึงร้อยละ 97 ย้ำการรณรงค์ลดอุบัติเหตุต้องทำอย่างต่อเนื่อง

 
19 เม.ย. 2557 นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน พบว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ 2.992 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 23,494 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมา 3,898 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 14.00 และจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องนอนโรงพยาบาล 5,441 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมา 798 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 13.00  โดยพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 74  ซึ่งในจำนวนนี้ไม่สวมหมวกนิรภัยมากถึงร้อยละ 46.20  นอกจากนี้ผู้ป่วยฉุกเฉินที่ประสบอุบัติเหตุยังดื่มสุรามากถึงร้อยละ 33.2  และกลุ่มอายุที่บาดเจ็บมากที่สุดคือ อายุระหว่าง 21-29 ปี คิดเป็น 20.3 % และช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ เวลา  11:01-21:00 น. คิดเป็น 60.8 %
 
สำหรับการใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ในรอบ 7 วันอันตรายนั้น พบว่าประชาชนใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 มากขึ้น และใช้มากที่สุดในวันที่ 13 เมษายน  และพบว่าจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการนำส่งโดยรถปฏิบัติการฉุกเฉิน มีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ  97.04  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการช่วยเหลือที่ถูกวิธี จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น แต่ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ยังมีผู้เสียชีวิตสูง เป็นเพราะมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 60.4 แสดงให้เห็นว่าอัตราความรุนแรงของอุบัติเหตุมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องเร่งรณรงค์คือการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่รณรงค์เฉพาะช่วงเทศกาลแต่จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีสถิติสูงติดอันดับโลก  รวมทั้งต้องหามาตรการที่เข็มแข็งมากขึ้น อาทิ ทบทวนความปลอดภัยของถนน จัดการจุดอันตรายและผลักดันให้มีการปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และในส่วนของการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเองก็ต้องมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเพิ่มความครอบคลุมของหน่วยบริการให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันกาล และที่สำคัญจะต้องเร่งการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนใช้บริการจากสายด่วน 1669 มากขึ้นด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุป 7 วันอันตรายตาย 322 ศพ บาดเจ็บ 3,225 คน

$
0
0
เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง เพิ่มขึ้น 164 ครั้ง ร้อยละ 5.80 ผู้เสียชีวิตรวม 322 ราย ลดลง 1 ราย ร้อยละ 0.31 ผู้บาดเจ็บรวม 3,225 คน เพิ่มขึ้น 185 คน ร้อยละ 6.09 โคราชครองแชมป์ 14 ศพ เมาซิ่งและสิงห์มอเตอร์ไซค์ยังเป็นต้นเหตุอันดับแรก 

 
19 เม.ย. 2557 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 เม.ย.ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย แถลงปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 17 เม.ย.วันสุดท้ายของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 238 ครั้ง เสียชีวิต 43 ราย และบาดเจ็บ 299 คน ส่วนตัวเลขของอุบัติเหตุรวม 7 วันตั้งแต่วันที่ 11-17 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,992 ครั้ง เพิ่มขึ้น 164 ครั้ง ร้อยละ 5.80 ผู้เสียชีวิตรวม 322 ราย ลดลง 1 ราย ร้อยละ 0.31 ผู้บาดเจ็บรวม 3,225 คน เพิ่มขึ้น 185 คน ร้อยละ 6.09
 
รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ เมาแล้วขับ ร้อยละ 36.76 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.47 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.14 รถปิกอัพ ร้อยละ 11.39 พฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 21.99 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 116 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 144 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท เพชรบุรี อ่างทอง พังงา และยะลา อำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 664 อำเภอ พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 44 เขต
 
“ภาพรวมการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ด้วยการผลักดันกลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว ควบคู่กับการจัดอาสาสมัครปฏิบัติงาน เร่งสร้างความรู้ปลูกจิตสำนึก เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563 ที่มีเป้าหมายในการลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน” นายจารุพงศ์กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

$
0
0

"การออกแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลข่าวสารของ ศอ.รส. ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการหรือเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร มีลักษณะเป็นการก้าวก่ายและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นองค์กรตุลาการหนึ่งในอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ.."

18 เม.ย. 57 แถลงกรณี ศอ.รส.เรียกร้องให้ ศาล รธน. วินิจฉัย นายกฯ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เกินเลย

สาระ+ภาพ: สถิตินักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมถูกสังหารในรอบ 10 ปี เผยไทยสูงสุดอันดับสองในเอเชีย

$
0
0

เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์กร Global Witness องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน เปิดเผยรายงานชื่อว่า Deadly Environmentซึ่งบันทึกการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของ 35 ประเทศในโลก ตั้งแต่ปี 2002-2013 พบว่ามีอย่างน้อย 908 รายที่ถูกสังหารโดยวิธีการนอกกฎหมาย ทั้งโดยรัฐบาล การจ้างวานของบริษัท รวมถึงกองกำลังทหารและตำรวจ และจากกรณีทั้งหมด มีกระทำผิด 10 รายเท่านั้นที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
 
 
บราซิล เป็นประเทศที่มีนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมถูกสังหารมากที่สุดคือ 448 ราย ตามมาด้วยฮอนดูรัส 109 ราย และฟิลิปปินส์ 67 ราย ส่วนประเทศไทยคือ 16 ราย นับว่าสูงที่สุดอันดับสองในเอเชียรองจากฟิลิปปินส์
 
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า จำนวนการสังหารจริงอาจจะสูงกว่านี้ แต่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้เนื่องจากไม่มีการบันทึก หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลในชนบทต่อกลุ่มประชากรพื้นเมือง เป็นต้น  
 
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การสังหารนอกกฎหมายต่อนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2012 เพียงปีเดียว มีนักเคลื่อนไหวที่ถูกฆ่าสูงเป็นสามเท่าของจำนวนคนถูกฆ่าใน 10 ปีก่อนหน้ารวมกัน เนื่องจากแรงกดดันและความต้องการทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากรัฐและเอกชน ทำให้นักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้ประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องการไล่ที่ การยึดที่ดิน การทำเหมืองแร่ การตัดป่าไม้ และการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องเผชิญกับการคุกคามที่รุนแรงขึ้น  
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58130 articles
Browse latest View live




Latest Images