Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

ประกาศจุฬาราชมนตรี-28 ก.ค. เป็นวันอีฏิ้ลฟิตริ

0
0

จุฬาราชมนตรีประกาศว่าวันอีฏิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ตรงกับวันจันทร์ที่ 28 ก.ค.

28 ก.ค. 2557 - เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ค. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เผยแพร่ ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กำหนดวันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 มีรายละเอียดดังนี้

000

ประกาศจุฬาราชมนตรี เรื่อง กำหนดวันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435

ตามที่ได้ประกาศให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมทั่วประเทศดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้านั้น ปรากฏว่า ในวันและเวลาดังกล่าว มีผู้เห็นดวงจันทร์

จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า วันอีฎิ้ลฟิตริ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ตรงกับวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม 2557

ประกาศ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

(นายอาศิส พิทักษ์คุมพล)
จุฬาราชมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับฮิวแมนไรท์ วอทช์: สถานการณ์สิทธิมนุษยชน 2 เดือนหลังรัฐประหาร

0
0

 

อาจมีข้อกังขาต่อเรื่องความสม่ำเสมอในการติดตามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและแนวการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของ’รัฐ’ในแต่ละช่วงสมัยจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนไทย  แต่สำหรับองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์Human Right Watch ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากลแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์จนอาจถูกทำให้มองเหมือนกับเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและ’รัฐไทย’มาโดยตลอด นับจากกรณีสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในยุครัฐบาลสมัครและรัฐบาลอภิสิทธิ การผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์การขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557โดยกลุ่มนิยมกษัตริย์  เรื่อยขึ้นมาถึง การประกาศกฏอัยการศึก และการทำรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

สุณัย ผาสุข นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์การเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เป็นผู้ที่เกาะติดสถานการณ์สิทธิในไทยมาโดยตลอด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับประชาไท ถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย กับ 2 เดือน หลังการรัฐประหาร คสช
 

 

ประชาไท: Human Right Watch มองสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยหลังรัฐประหารเป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: ผมมองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงประกาศกฎอัยการศึกก่อนรัฐประหารแล้ว เพราะมันคือการดึงอำนาจจากประชาชนให้กลับไปอยู่กับกองทัพ เปรียบเหมือนกับการรัฐประหารโดยไม่มีรถถัง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนถูกลิดรอน ซึ่งทาง Human Right Watch ก็ได้ออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดการรัฐประหาร การละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มแกนนำของฝ่ายการเมืองต่างๆ ที่เข้าไปนั่งประชุมในเย็นวันที่เกิดรัฐประหาร และกลุ่มที่ถูกเรียกตัวมาภายหลัง ซึ่งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัวดังกล่าวก็เพื่อขยายผลไปสู่การจับกุมเครือข่ายเสื้อแดงทั่วประเทศอีกทั้งรูปแบบการเรียกรายงานตัวก็มีปัญหาเช่นกัน ประการแรกคือ เป็นการใช้อำนาจบังคับให้บุคคลมารายงานตัวในลักษณะไม่มาไม่ได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึก

ประการที่สองคือ หลังจากเรียกไปรายงานตัวแล้ว กองทัพทำอะไรกับคนเหล่านี้ เนื่องจากกองทัพไม่เปิดเผยอะไรเลย ทั้งเป้าหมายของการเรียกรายงานตัว สถานที่ควบคุมตัว ไม่อนุญาตให้ติดต่อกับโลกภายนอก การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการบังคับควบคุมตัวโดยพลการในสถานที่ไม่เปิดเผย ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย โดยสรุปแล้วเราจะสามารถเห็นได้ว่า ขอบเขตการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพเริ่มจากภาพกว้างคือการประกาศกฎอัยการศึกซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนทั้งประเทศ และภาพย่อยคือการเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยไม่แจงเหตุผล ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้มีมากกว่า 300 คนแล้ว ยอดดังกล่าวยังไม่รวมคนที่ถูกจับกุม หรือคนที่ถูกเรียกรายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ

ประชาไท: บุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวส่วนมากมีทัศนะทางการเมืองไปในในทิศทางใด

สุณัย: ในช่วงแรกจะเป็นทีมงาน และนักการเมืองของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเริ่มขยายออกไปสู่แกนนำเสื้อแดงกลุ่มต่างๆ จนไปถึงคนที่ไม่ใช่เสื้อแดง แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ คุณธนาพล อิ่วสกุล แม้จะมีการเรียกแกนนำ นักวิชาการ กปปส. คปท. และพรรคประชาธิปัตย์ไปรายงานตัวด้วยเช่นกัน แต่ก็ในจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายเสื้อแดง ทั้งจำนวนผู้ที่ถูกเรียกรายงานตัว และระยะเวลาที่ควบคุมตัว ซึ่งมันแสดงให้เห็นถึงความลำเอียงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราจะเห็นกองทัพออกมาแถลงข่าวเรื่องการตรวจพบอาวุธจากฝ่ายเสื้อแดงเยอะมาก ในขณะที่แทบไม่เห็นอาวุธจากทางฝ่าย กปปส. เลย ทั้งๆ ที่อาวุธใน คปท. กับ กปปส. ก็มีจำนวนมากไม่แพ้กัน

ประชาไท: มีกรณีใดบ้างที่ Human Right Watch คิดว่ารุนแรงที่สุด

สุณัย:กรณีของ กฤชสุดา ถือว่าหนักที่สุด เพราะมีการควบคุมตัวนานเกิน 7 วัน อีกทั้งยังมีสื่อสามารถจับภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมได้ กรณีของกฤชสุดาน่าสนใจ เนื่องจากจริงอยู่ที่เธอเป็นนักเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักที่กองทัพต้องการตัว เหตุใดจึงต้องควบคุมนานเกินกว่า 7 วันด้วย ซึ่งทางญาติของเธอก็ได้เข้ามาติดต่อกับทาง Human Right Watch ทีมงานของเราก็ออกไปตามหาตามเรือนจำต่างๆ ที่กองทัพมักจะนำคนไปฝากขังก็ไม่เจอ แสดงว่าไม่มีการส่งฟ้อง เมื่อถามไปกับกองทัพก็ได้คำตอบแค่ว่าปลอดภัยดี แต่ไม่ยอมให้ข้อมูลกับหน่วยงานใดๆ ถึงแม้ทุกวันนี้กฤชสุดาได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการทำงาน (Due Process) ของกองทัพ และนำไปสู่คำถามที่ว่า ยังมีคนอย่างกฤชสุดาอีกกี่คนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว เพราะหากไม่มีนักข่าวสามารถถ่ายภาพเธอได้ในวันนั้น เธออาจจะยังหายสาบสูญอยู่ก็ได้ แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ การที่กฤชสุดาออกมาบอกว่า เธอเป็นคนที่ขออยู่ต่อเองหลังจากครบกำหนด 7 วัน โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทาง Human Right Watch จึงอยากจะคุยกับกฤชสุดามากว่าอะไรเป็นเหตุให้เธอหวาดกลัวขนาดนั้น จนถึงขั้นยอมละทิ้งอิสรภาพ

นอกจากกรณีของกฤชสุดาแล้ว การจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงทั้งสิ้น หลังจากที่กองทัพออกแถลงการณ์มาว่า การกระทำใดๆ อันเป็นการต่อต้านกองทัพไม่สามารถทำได้ ก็เริ่มมีการจับกุมผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการจับกุมซึ่งหน้า ณ จุดที่ชุมนุม จนกลายเป็นการตามไปจับนอกสถานที่ชุมนุม ซึ่งทางกองทัพใช้คำว่า “ปรับทัศนคติ” อีกทั้ง ยังมีการนำประชาชนขึ้นศาลทหารอีกด้วย ถึงแม้จะให้รอลงอาญา แต่ก็ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการนำตัวพลเมืองขึ้นศาลทหาร และมีการตัดสินโทษด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่สามารถทำได้

ประชาไท:  บทบาทการทำงานของ Human Right Watch ต่อการรัฐประหารในครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สุณัย: จริงๆ แล้วก็มิได้มีอะไรเป็นพิเศษ เราแค่ทำเหมือนมาตรฐานที่ผ่านมา คือเรายืนหยัดอยู่บนหลักการประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เชื่อว่า คนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน คนเมืองหรือชนบท ซึ่งเราออกมาตั้งคำถามในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ กปปส. รวมถึงต่อต้านการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เราออกมาทุกครั้งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเราก็ยืนอยู่บนหลักการนี้มาโดยตลอดอย่างไม่มีการลำเอียงใดๆ ซึ่งเราก็ต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เราพยายามชี้ให้เห็นว่าการกระทำใดคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กองทัพก็มักจะตอบกลับมาว่า มันเป็นข้อจำกัดของเขา แต่เราถือว่ามันคือการละเมิด

กองทัพในครั้งนี้ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมันกระทบต่อภาพลักษณ์ในเวทีนานาชาติ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เขาใช้เกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนในการปรับระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองทัพจึงยังไม่ได้สั่งปิดหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนมากนัก แต่ใช้วิธีการแถลงข่าวตอบโต้แทน เราจึงยังพอที่จะทำงานได้ท่ามกลางแรงกดดันที่มีเข้ามาตลอดเวลา และในบรรยากาศแบบนี้เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจึงควรจะออกมาแสดงท่าทีได้แล้ว

 

ประชาไท: ปฏิกิริยาของต่างชาติในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลต่อการทำงานของกองทัพอย่างไร

สุณัย:จะเห็นได้ว่าในตอนนี้ต่างชาติยังทำแค่ลดระดับความสัมพันธ์ และระงับความช่วยเหลือในบางด้าน เพื่อแสดงออกว่าไม่พอใจกับกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เรายังไม่เห็นภาพการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบในพม่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวจะกินเวลายาวนานหลายทศวรรษ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะทางกองทัพก็ออกมากำหนดเงื่อนเวลาชัดเจนว่าจะใช้เวลา 15 เดือน ซึ่งประกาศตรงนี้ก็ช่วยลดความตึงเครียดกับนานาชาติลงได้พอสมควร แต่ก็ต้องดูต่อไปอีกว่าธรรมนูญชั่วคราวที่จะออกมา จะเป็นการวางรากฐานอำนาจให้กองทัพสามารถอยู่ในอำนาจต่อหลังจาก 15 เดือนนี้หรือเปล่า

ประชาไท: รู้สึกแปลกใจไหมที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ออกมาเคลื่อนไหวมากเท่าที่ควร

สุณัย:  ไม่แปลกใจ แต่ผิดหวัง เพราะองค์กรเหล่านี้ก็โดนสั่งห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพอยู่แล้ว หรือแม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า พวกเขายอมรับอำนาจของกองทัพ และละทิ้งหลักการของตัวเองหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง เช่น องค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ออกมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเหมืองแร่เมืองเลย ซึ่งถูกกดดันจนเงียบลงไปมากหลังการรัฐประหาร หรือกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุขที่ปกติจะเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งมากเมื่อมีการปรับโครงสร้างสาธารณสุขของประเทศ แต่ครั้งนี้กลับแผ่วๆ กับการที่ คสช. ประกาศจะยกเลิกโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บ้านเก้าบาตร ก็ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มใดเลย ทั้งๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของคนในชุมชนอย่างชัดเจน แนวคิดเรื่องการจัดการตนเองก็ต้องหยุดชะงัก แต่เหล่าองค์กรที่เรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจก็นิ่งเฉย ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนท้องถิ่นเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มันเหมือนกับว่าตอนนี้ประเทศกำลังถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศแห่งความกลัว จริงอยู่ว่ากลุ่มเหล่านี้ในบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง จนกองทัพอ้างว่าจะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยหาทางออกร่วมกัน แต่นี่คือการไปหยุดกระบวนการทุกอย่าง แล้วก็ตัดสินใจเองแทนเขา โดยที่ไม่มีใครกล้าแย้ง ซึ่งผมแปลกใจมาก เพราะกองทัพก็ยังไม่ได้มีท่าทีในการใช้ความรุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการใช้อาวุธสงครามสังหารประชาชนอย่างชัดเจน แต่ก็ยังมีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ในครั้งนี้กลับเงียบกันหมดซึ่งมันทำให้การเก็บข้อมูลทำได้ยากมาก จึงน่าสนใจว่าพวกเขากลัวอะไรกันอยู่

ประชาไท:  หลังจากการรัฐประหาร มีคนที่โดนจับในข้อหาคดี 112 เยอะมาก จนถึงตอนนี้ 16 คนแล้ว ทาง Human Right Watch มีความเห็นอย่างไรบ้าง

สุณัย:  มันทำให้เราเห็นถึงแนวโน้มใหม่ของกองทัพ เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะโดนคดี 112 มาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว แต่ก็มาเร่งรัดกันในช่วงรัฐประหาร ซึ่งทางเราก็เห็นถึงปัญหาในประเด็นนี้มานานแล้ว ในเรื่องของความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคดี สิทธิในการประกันตัวที่ขัดต่อหลักการสากล

ประชาไท:  คุณสุณัยเคยให้สัมภาษณ์ว่า ทักษิณใช้ล็อบบี้ยิสต์ในการทำให้สหรัฐฯ เชิญตัวไปอธิบายสถานการณ์รัฐประหารในประเทศไทย อยากให้ช่วยขยายความประเด็นนี้หน่อย

สุณัย: เป็นการลงข่าวที่ไม่มีบริบทใดๆ เลย ผมไม่ได้บอกว่าทักษิณคนเดียวที่ใช้ล็อบบี้ยิสต์ ใครๆ ก็ใช้กันทั้งนั้น ทั้งกองทัพ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย เพียงแค่ล็อบบี้ยิสต์ของทักษิณเขาเก่งกว่า ใจถึงกว่า เพราะค่าตัวสูงกว่า ทักษิณก็เลยถูกเชิญไป ล็อบบี้ยิสต์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย มันเป็นสิ่งจำเป็นด้วยซ้ำในการเมืองระหว่างประเทศ และทุกอย่างก็ทำภายใต้กรอบกฎหมายสามารถตรวจสอบได้

ประชาไท: คิดว่าปัญหาของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ณ ขณะนี้คืออะไร

สุณัย:  ผมว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือ เรื่องทัศนคติของคนทั่วไป NGO ถูกคาดหวังจากสังคมให้ต้องสังกัดฝ่ายการเมืองใดการเมืองหนึ่ง และไม่สามารถแย้งได้ เคยมีเหมือนกันที่ NGO ออกมาแย้งฝ่ายที่ตัวเองเคยเชียร์ ผลสุดท้ายคือ โดนด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนี้การทำงานของ NGO จะลำบากมาก เพราะพวกเราทำงานโดยยืนอยู่บนหลักการที่เป็นกลาง เราวิพากษ์วิจารณ์ทุกฝ่ายที่ทำผิดไปจากหลักการของเรา เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพเช่นนี้ การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนก็จะยิ่งลำบากเข้าไปใหญ่ เพราะอำนาจทุกอย่างถูกรวบไว้กับกองทัพ และไม่มีใครสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ยิ่งการรวมอำนาจมีมากขึ้นเท่าไหร่ แนวโน้มที่รัฐบาลจะคืนอำนาจสู่ประชาชนก็จะน้อยลงเท่านั้น การปกครองประเทศด้วยความกลัวเช่นนี้ มันไม่ใช่การสลายสีเสื้อเหมือนที่กองทัพพยายามพูด แต่มันคือการปิดปากประชาชน

ประชาไท: คิดอย่างไรกับกลุ่ม NGO ที่ออกมาสนับสนุนกองทัพ

สุณัย:  ผมคิดว่า มันเป็นภาพสะท้อนของอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจ กลุ่มเหล่านี้เริ่มไม่เห็นด้วยกับกระบวนการประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงที่ กปปส. ชุมนุมแล้ว รวมไปถึงเชื่อในแนวคิดคนไม่เท่ากันด้วย มันน่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนความคิด อาจเป็นเพราะแนวคิดเรื่องคนเท่ากันยังไม่เคยเป็นที่พูดถึงมากนักในประวัติศาสตร์การถกเถียงทางการเมืองไทย

 

หมายเหตุ:ภายหลังการสัมภาษณ์ ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ได้มีแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษย์ชนไทยออกมาด้วยเนื้อหาดังนี้ 
 

*******************

ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจอย่างกว้างขวาง
ผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครองจากการรับผิด

(นิวยอร์ก 24 กรกฎาคม 2557) – ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า คณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองของไทยควรแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ประกาศใช้ และให้อำนาจกับพวกตนอย่างกว้างขวาง โดยปราศจากการต้องรับผิด หรือมาตรการสำหรับป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน 


เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมี 48 มาตรา และได้รับการลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนึ่ง คณะที่ปรึกษาของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครองได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ขึ้นโดยปราศจากการหารือใดๆ กับสาธารณะ 

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า "รัฐธรรมนูญชั่วคราวพยายามให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับอำนาจที่กว้างขวาง และปราศจากการต้องรับผิดของคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง" "แทนที่จะปูทางไปสู้การฟื้นฟูประชาธิปไตย คณะทหารกลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบแก่พวกตนในการที่แทบจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามต้องการ ซึ่งรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด" 

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีเนื้อหาที่อ่อนมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และยังอนุญาตให้ คสช. สามารถดำเนินนโยบาย และมาตรการต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมที่มีประสิทธิภาพเพือป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นก็ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆ ทั้งนี้ ถึงแม้มาตรา 4 จะให้การยอมรับอย่างกว้างๆ ต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพตามประเพณีประชาธิปไตย และพันธะกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย แต่ คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 และ 47 ในการจำกัด ระงับ หรือยับยั้งการปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน 

มาตรา 44 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อ คสช.ในการออกคำสั่ง และดำเนินการต่างๆ ตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ตาม กล่าวคือ "ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร" ให้หัวหน้า คสช. มีอํานาจ "สั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทําการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่ง หรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ... ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด" อย่างไรก็ตาม อำนาจที่กว้างขวางเช่นนี้ไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการ หรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่ต้องรายงานการดําเนินการดังกล่าวให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีทราบหลังจากนั้นเท่านั้น 

มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การกระทำทั้งหลายของสมาชิก คสช. และผู้ที่กระทำการในนาม คสช. ซึ่งรวมถึงการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม "พ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง" ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าววว่า ถึงแม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรานี้ แต่กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรับรองสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้รัฐบาลต้องสอบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 6, 30 และ 32 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้สร้างระบบการเมืองแบบปิด และไม่เป็นประชาธิปไตย โดย คสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีข้อกำหนดให้ต้องทำการหารือใดๆ กับสาธารณะ หรือต้องผ่านการทำประชามติ ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีหน้าที่ศึกษา และเสนอแนะเพื่อให้เกิดการสร้างความเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม และการปฏิรูปในด้านต่างๆ 

มาตรา 8 และ 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมาสามารถเป็นมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. ทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะที่ยังคงมีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น

ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เก็บบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากที่เกิดขึ้นโดยคณะทหารผู้ยึดอำนาจการปกครอง คสช. ซึ่งประกอบด้วยเหล่าทัพต่างๆ และตำรวจได้ปิดกั้นการแสดงออกอย่างกว้างขวาง ควบคุมตัวบุคคลต่างๆ มากกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการตั้งข้อหาความผิด ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะ และออกคำสั่งที่มีลักษณะกดขี่ข่มเหงต่อนักกิจกรรม และกลุ่มรากหญ้า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยระบุว่า ประกาศ หรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติทั้งหมดของ คสช. ตั้งแต่ที่มีการยึด และควบคุมอํานาจการปกครองแผ่นดิน "ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด"

แบรด อดัมส์ กล่าวว่า "คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้นเป็นฉากบังหน้าให้คณะทหารควบคุมอำนาจต่อไป" "โดยการกระชับอำนาจการควบคุมมากขึ้น บรรดานายพลกำลังทำผิดคำสัญญาที่จะฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการ"


 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ฉลาด วรฉัตร' มอบตัวฐานต้าน คสช. ตร.แจงยังไม่คุมตัว ต้องสอบสวนก่อน

0
0


แฟ้มภาพ
 

28 ก.ค.2557 ร.ต.ฉลาด วรฉัตร นักเคลื่อนไหววัย 71 ปีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ขณะนี้อยู่ที่ สน.ดุสิต เพื่อเข้ามอบตัวต่อพนง.สส.ในข้อหาต่อต้าน คสช. หลังจากก่อนหน้านี้มีการรื้อเต๊นท์หน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภา

"ยังไงก็ต้องมารื้อกันอีก จับก็ไม่จับ ไม่ผิดแล้วมารื้อทำไม" ฉลาดกล่าวพร้อมบอกว่า มาให้จับเพื่อพิสูจน์ชะตากรรมประเทศ หากถูกจำคุก 20 ปีในข้อหากบฏแผ่นดินที่ต่อต้านรัฐบาลจากรัฐประหาร

ด้าน พ.ต.ท.จารุภัทร ทองโกมล รอง ผกก.สส.บก.น.1 กล่าวว่า นายฉลาดประสงค์เข้ามอบตัวเนื่องจากมองว่าตนเองขัดขืนคำสั่งห้ามต่อต้าน คสช. แต่เนื่องจากไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า ตำรวจก็ต้องทำการสอบสวนก่อน จะให้คุมตัวหรือส่งไปที่ไหนเลยคงไม่ใช่ ทั้งนี้มีขั้นตอนอยู่ เช่น หากการกระทำไม่รุนแรงก็พูดคุยปรับทัศนคติ แล้วก็ให้กลับ หากมีการขัดคำสั่งเรียกรายงานตัว ก็เข้าค่าย หรือกระทำผิดกฎหมายก็ส่งศาลดำเนินคดี

พ.ต.ท.จารุภัทร กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายฉลาดต่อต้านอย่างสงบมาตลอด มีหลักฐานเป็นเอกสาร เป็นภาพที่เผยแพร่ตามสื่อ ก็ต้องให้ พนง.สส.สอบสวนก่อน เบื้องต้น ก็คงลงบันทึกประจำวัน เหมือนรายอื่นๆ ที่ออกมาต่อต้าน คสช.ก่อนหน้านี้ 

อนึ่ง ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ฉลาด วรฉัตร อดอาหารประท้วงการรัฐประหารบริเวณเต๊นท์หน้าสวนสัตว์ดุสิต ตรงข้ามรัฐสภาเป็นเวลากว่า 45 วันก่อนจะประกาศยุติอดอาหารเมื่อวันที่ 6 ก.ค. หลังต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.วชิระ 2 ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพ แต่ยังคงนั่งประท้วงอยู่ที่เต๊นท์ต่อจนกระทั่งเริ่มมีการรื้อเต๊นท์ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"ประยุทธ์"คาดโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง สนช. ภายในสิ้นเดือนนี้

0
0

หัวหน้า คสช. คาด ไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจัดกิจกรรมวันเฉลิมฯ ให้ประชาชนเที่ยวชมงานวันที่ 8-13 สิงหาคม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า 

28 กรกฎาคม 2557 ไทยพีบีเอสรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ก่อนที่ สนช.จะเริ่มต้นปฏิบัติงานมีการเปิดประชุมได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม จากนั้นก็จะมีการดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการรับสมัครสมาชิกสภาปฏิรูป โดยก่อนจะมีสภาปฏิรูปได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการจัดงานคิกออฟเปิดตัวสภาปฏิรูปแล้ว ที่สโมสรทหารบก วิภาวดี คาดว่าจะดำเนินการได้ไม่เกินวันที่ 10 สิงหาคมนี้ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพื่อทำการปฏิรูปประเทศให้เสร็จในเวลา 10 เดือน รวมถึงยังได้มอบหมายงานให้เร่งดำเนินการจัดทำคำแถลงนโยบายรัฐบาลและคำแถลงงบประมาณ ให้เสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

นอกจากนี้ การจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาระหว่างวันที่ 8-13 สิงหาคมนั้นจะมีการจัดงานขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จะมีรูปแบบการจัดงานคล้ายกับที่ท้องสนามหลวง เพื่อให้ประชาชนได้เที่ยวชมงานและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งขอให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรมอย่างดีที่สุด

หัวหน้า คสช.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า ขอให้เจ้าหน้าเร่งดำเนินการจับกุมตัวผู้กระทำผิดใช้อาวุธสงครามสร้างความรุนแรงต่อประชาชนมาลงโทษ และทำการทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัย อาทิ เรื่องของที่จอดรถ การตรวจสอบจุดเสี่ยงต่าง ๆ  พร้อมยืนยันว่าการที่ผู้ก่อความไม่สงบจะดำเนินการแบ่งแยกประเทศนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
 
ขณะที่ในเรื่องของสื่อบางส่วนที่ยังมีการละเมิดประกาศของ คสช.อยู่ ได้ขอให้สมาคมสื่อได้ไปกำกับดูแลกันเอง เพื่อให้การทำงานของทั้งสื่อและ คสช.สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุบแล้วคุกการเมือง! ย้ายเงียบผู้ต้องขังไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

0
0


รูปจากเฟซบุ๊ก ธิดา ถาวรเศรษฐ

 

28 ก.ค.2557  รายงานข่าวแจ้งว่า ที่เรือนจำหลักสี่ซึ่งคุมขังนักโทษการเมืองทั้งสิ้น 22 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 2 ราย ได้ทำการย้ายผู้ต้องขังเกือบทั้งหมดไปยังเรือนจำทั่วไป โดยนำผู้ต้องขังชายเกือบทั้งหมดไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนำตัวผู้ต้องขังหญิง 1 รายคือ นางสาวนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ ไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง คงเหลือผู้ต้องขังชาย 5 รายและหญิง 1 ราย รวม 6 รายที่ยังถูกคุมขังที่เรือนจำหลักสี่ โดยทั้ง 6 เป็นผู้ต้องขังจากจังหวัดอุบลราชธานี (4 ราย) และมหาสารคาม (2 ราย)

ผู้สื่อข่ายรายงานด้วยว่า ญาติผู้ต้องขังส่วนใหญ่ทราบข่าวเรื่องนี้มาราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่เจ้าหน้าที่ที่เรือนจำหลักสี่ปฏิเสธว่าไม่มีคำสั่งย้ายแต่อย่างใด และญาติทั้งหมดไม่ทราบข่าวว่าจะมีการย้ายผู้ต้องขัง ทำให้ญาติบางรายไปรอเยี่ยมเก้อและมีรายหนึ่งถึงกับร่ำไห้เมื่อตามมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงบ่ายแต่ไม่ได้เข้าเยี่ยม โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่ายังส่งตัวไม่เรียบร้อย 

ญาติผู้ต้องขังจากจังหวัดมหาสารคามรายหนึ่งแจ้งว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้โทรแจ้งเธอแล้วว่าจะส่งตัวผู้ต้องขังจากจังหวัดมหาสารคาม 2 รายกลับไปคุมขังยังภูมิลำเนาในวันที่ 30 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทั้ง 22 รายเป็นผู้ต้องขังคดีทางการเมืองสืบเนื่องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และถูกนำตัวจากเรือนจำทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาขังรวมกันที่เรือนจำหลักสี่เป็นการเฉพาะเมื่อ 17 ม.ค.2555 ตามคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่เสนอให้แยกขังผู้ต้องขังที่กระทำผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่รวมกับอาชญากรโดยทั่วไป

ด้านเฟซบุ๊กของธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ระบุว่า

“(ทีมงาน)
รายงานข่าวจากเรือนจำพิเศษหลักสี่ว่าวันนี้ (28/7/57) เวลา 10.00 น. มีการย้ายผู้ถูกคุมขังชายไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 13 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 1 คน (นฤมล วรุณรุ่งโรจน์) เรือนจำธัญบุรี 1 คน และเรือนจำพิเศษธนบุรี 1 คน ยังคงเหลืออีก6 คน ที่อยู่ระหว่างรอย้ายไปคุมขังยังภูมิลำเนาเดิมคือจังหวัดอุบลราชธานี 4 คน และมหาสารคาม 2 คน วันนี้เรือนจำพิเศษหลักสี่คงเหลือไว้เพียงความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง”

ด้านสำนักข่าวทีนิวส์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ได้อนุมัติให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่จำนวน 22 คน เป็นผู้ต้องขังชาย 20 คน ผู้ต้องขังหญิง 2 คนกลับไปคุมยังเรือนจำตามภูมิลำเนาตามที่นายสรสิทธิ์ จงเจริญ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯเสนอแล้วโดยเห็นว่าผู้ต้องขังในเรือนดังกล่าว เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลและมีกำหนดโทษชัดเจนแล้ว ส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เพราะก่อคดีที่มีโทษสูง เช่น วางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัด คดียิงเฮลิคอร์ปเตอร์ทหาร คดีครอบครองอาวุธ ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์แล้วว่าผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่เป็นผู้ต้องขังคดีอาญาทั่วไปจึงสมควรย้ายกลับคุมขังยังเรือนจำที่มีอำนาจควบคุมนอกจากนี้เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ใช้คุมขังผู้ต้องขังจำนวนน้อยมาก แต่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจโดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบาท ตนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงอนุมัติให้ย้ายได้ ส่วนสถานที่ดังกล่าวจะปิดการใช้งาน

 

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเวลา 19.45 น. (28 ก.ค.)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จากโศกนาฏกรรม MH17 นักวิชาการวิเคราะห์ปมขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

0
0

เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคมที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ถนนสู่โศกนาฏกรรม MH17: ไขปมวิกฤตยูเครน-รัสเซีย” โดยมีผู้บรรยายคืออาจารย์จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และดร.ไบรอัน เคนเนดี้ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จิตติภัทรกล่าวว่า จะขอพูดถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้ที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรม MH17 ซึ่งมีต้นตอมาจากปัญหาในยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา เครื่องบิน MH17 ตกที่เมืองโดเนช บริเวณพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครนติดกับรัสเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการต่อสู้ปะทะกันอยู่ระหว่างกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนและรัฐบาลยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่ MH17 ถูกยิงโดยขีปนาวุธของกลุ่มกบฎนี้ แต่คงไม่ได้เป็นการยิงอย่างตั้งใจ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มกบฎก็ยิงเครื่องบินรบ และเฮลิคอปเตอร์ที่ผ่านเข้ามาในน่านฟ้าบริเวณดังกล่าวตกไปหลายลำ ซึ่งสาเหตุของความขัดแย้งในครั้งนี้เกิดจากปัญหาของประเทศยูเครนที่มีอยู่สองระดับคือระดับโครงสร้าง และระดับเฉพาะหน้า ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของกระแสต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2013

ความขัดแย้งภายในประเทศยูเครนเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานตั้งแต่แยกประเทศออกจากรัสเซีย คนในภาคตะวันตกของประเทศพูดภาษายูเครนส่วนใหญ่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม เป็นฝ่ายนิยมตะวันตกหรือสหภาพยุโรป ส่วนคนในภาคตะวันออกและใต้พูดรัสเซีย มีรายได้หลักมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายนิยมตะวันออกหรือรัสเซีย  ซึ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ปัญหาทางการเมือง การแข่งขันระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่มักจะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคที่นิยมสหภาพยุโรปกับพรรคที่นิยมรัสเซีย เมื่อประธานาธิปดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมาจากพรรคฝ่ายนิยมรัสเซียต้องตัดสินใจว่าจะต้องลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฝ่ายรัสเซียหรือสหภาพยุโรป ผลปรากฏว่าข้อเสนอของทางฝ่ายรัสเซียดีกว่าทั้งจำนวนเงินที่มากกว่า และข้อผูกมัดที่น้อยกว่า ยานูโควิชจึงตัดสินใจลงนามกับรัสเซียและชะลอการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปออกไปก่อน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2013 โดยใช้ชื่อว่า “ยูโรไมเดน (Euro-maiden)” ที่กินระยะเวลานาน 3 เดือน มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ 3 ครั้ง ซึ่งในการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2014 มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน หลังจากการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้าย มีการตกลงกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่าจะมีการปฏิรูปทางการเมือง แต่หลังจากนั้นพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการณ์อยู่ในขณะนั้นกลับยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว และแถลงนโยบายที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับคนในภาคตะวันออกของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เช่น ประกาศยกเลิกภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ และประกาศไม่ให้รัสเซียเช่าฐานทัพในเมืองนาวาสโทโพลในคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซียในตอนใต้ รัสเซียจึงอยู่เฉยไม่ได้จึงออกมาสนับสนุนขบวนการ แอนไท-ไมเดน (Anti-Maiden) ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลรักษาการณ์ โดยพื้นที่ที่มีกระแสต่อต้านรุนแรงคือในคาบสมุทรไครเมียซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว กับในพรมแดนภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่ MH17 ถูกยิงตก หลายฝ่ายเกิดคำถามว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มีรัสเซียให้การสนับสนุน หรือออกมาด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะทางฝ่ายรัสเซียก็เห็นดีเห็นงามกับขบวนการดังกล่าวอย่างออกนอกหน้า แต่สิทธิ์ของคนเหล่านี้ก็ถูกละเมิดจริงๆ เหตุผลที่รัสเซียต้องเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งภายในประเทศยูเครนมีอยู่ 4 เหตุผล 1. รัสเซียประกาศนโยบายต่างประเทศว่าจะจะปกป้องคนรัสเซีย ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลรักษาการณ์ก็เป็นการละเลิดสิทธิ์ของคนรัสเซียในยูเครนจริงๆ 2. คือเรื่องฐานทัพเรือในไครเมีย 3. คือผลประโยชน์ด้านพลังงานเพราะยูเครนเป็นทางผ่านส่งท่อก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปตะวันออก 4. รัสเซียไม่อยากให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นสมาชิก NATO

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไครเมียกับในพรมแดนภาคตะวันออก ในกรณีของไครเมีย รัสเซียเข้าไปแทรกแซงอย่างเต็มตัวเลยเพราะมีผลประโยชน์และคนรัสเซียอาศัยอยู่เยอะ ทำให้กระบวนแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทั้งกระบวนการประชามติที่มีมติเห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนถล่มทลายถึง 96.7% มีผู้มาใช้สิทธิ์มากถึง 83% การทำประชามติเกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม และการลงนามในข้อตกลงรวมประเทศเกิดขึ้นในอีก 2 วันต่อมา แต่ในกรณีพรมแดนยูเครนภาคตะวันออกในเมืองลูฮานซ์ กับโดเนซ แม้จะเกิดเหตุการณ์คลายๆ กับในไครเมีย คือมีกระแสต่อต้านรัฐบาลรักษาการณ์มีการยึดสถานที่ราชการ และมีการลงประชามติขอแบ่งแยกประเทศไปรวมกับรัสเซีย แต่รัสเซียกลับไม่ยอมรับการลงประชามติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ และจำนวนคนรัสเซียภายในพื้นที่มีไม่มากเท่าในคาบสมุทรไครเมีย อีกทั้งผลของการลงประชามติก็ไม่ถล่มทลายเท่าในไครเมียด้วย โศกนาฏกรรม MH 17 จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานความขัดแย้งทางภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีการสู้รับกันอยู่

ไบรอันกล่าวว่า ประเทศตะวันตก และสหรัฐฯ อ่อนต่อโลกมากที่คิดว่า ว่ารัสเซียจะกลายมาเป็นพันธมิตรของพวกเขา ไม่พยายามตั้งตัวเป็นประเทศมหาอำนาจหลังจากจบสงครามเย็น เพราะปัญหาที่ทำให้รัสเซียมีพฤติกรรมแสวงหาอำนาจไม่ใช่เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์แต่เป็นเพราะปัญหาภายในประเทศรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียยังคงมีความเปราะบางอยู่ หลังจากประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซินพยายามจะเปิดประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการเมือง หลายประเทศจึงมองว่ารัสเซียกำลังจะกลายเป็นประชาธิปไตยและคิดว่าโลกจะสงบสุข บางคนถึงกับคิดว่ารัสเซียจะกลายมาเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เลยด้วยซ้ำ  แต่รัสเซียก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรื้อรังมานานตั้งแต่ตอนยังเป็นสหภาพโซเวียต ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจนต้องเข้าไปต้องแสวงหาทรัพยากรในประเทศจีน อีกทั้งโศกนาฏกรรม 9/11 ก็ได้กระตุ้นกระแสผู้ก่อการร้ายในรัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐก็มักจะขึ้นๆ ลงๆ แต่ส่วนมากจะค่อนไปทางที่ไม่สู้ดีนัก แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีผลประโยชน์ทางการทหารที่ขัดแย้งกัน

ในแง่ของข้อมูลด้านสถิติ เปรียบเทียบการเติบโตด้านประชากร (population growth) ของรัสเซียหลังสิ้นสุดสงครามเย็นมีสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเครือสหภาพโซเวียต สูงกว่ายูเครนในขณะนั้นถึง 3 เท่า แต่กลับมีอัตตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่อพยพจากประเทศในสหภาพโซเวียตกลับมาอยู่รัสเซีย ทำให้รัสเซียในปัจจุบันประสบปัญหาด้านประชากร ค่าจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) ของรัสเซียแม้จะเพิ่มขึ้นหลังสงครามเย็น แต่ก็ยังถือว่าต่ำ ต่ำกว่าประเทศไทยและจีน รายได้หลักของรัสเซียมาจากอุตสหกรรมทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive industries) เช่นเพชร น้ำมัน เหมืองยูเรเนี่ยม ซึ่งประเทศที่มีทรัพยากรแบบนี้เยอะจะอัตราการคอรัปชั่นจะสูง เช่นในกลุ่มประเทศอาหรับ รัสเซียก็เช่นกัน การเมืองภายในประเทศรัสเซียมีเป้าหมายคือช่วงชิงสิทธิ์ในการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ และมุ่งห้ำหั่นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ลดราวาศอก ระบบการเมืองเช่นนี้จึงสร้างนักการเมืองอย่างวาลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นมา จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดรูปแบบการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของรัสเซียจึงมีลักษณะแข็งกร้าวและยอมหักไม่ยอมงอเช่นนี้ ซึ่งในกรณีของ MH17 นี้เราก็จะได้เห็นว่ารัสเซียไม่แสดงท่าที หรือความรับผิดชอบใดๆ แม้จะมีคำครหาว่ารัสเซียมีส่วนในการสนับสนุนอาวุธให้กับกลุ่มกบฏซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยรายใหญ่ก็ตาม

ไบรอันกล่าวทิ้งท้ายว่า “อุบัติเหตุในครั้งนี้ มันก็เหมือนเอากุญแจรถ กับวิสกี้ไปให้กับเด็กวัยรุน เรื่องวุ่นวายย่อมเกิดขึ้นตามมาเสมอ”

หลังจากการบรรยาย วิทยากรทั้ง 2 ท่านได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาซักถาม โดยมีคำถามนี่น่าสนใจดังนี้

คำถาม: การที่รัสเซียมีท่าที่ไม่ชัดเจนในการสนับสนุนในกลุ่มกบฏในยูเครนตะวันออกจะส่งผลอย่างไรต่อไป

ตอบ: แน่นอนว่ามันทำให้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรัง และไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัสเซียก็คงยืนยันที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ของรัสเซียในพื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่มากพอ ที่ผ่านมาในกรณีความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาเมเนียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย รัสเซียก็มิได้ทำอะไร มีอยู่เงื่อนไขเดียวก็คือมีคนรัสเซียเสียชีวิตในพื้นที่ เช่นในกรณีของจอเจียร์ที่แม้รัสเซียจะไม่ได้มีผลประโยชน์ในพื้นที่ แต่เมื่อมีคนรัสเซียเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง รัสเซียก็เข้าแทรกแซง

คำถาม: แนวทางของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนจะเป็นอย่างไรต่อไป

คำตอบ: มีความเป็นไปได้อยู่ 3 ทาง 1. คือรวมดินแดนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะรัสเซียก็ไม่อยากจะยุ่งเท่าไร 2. คือการกระจายอำนาจ และตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ ผ่านกระบวนการเจรจาซึ่งอันนี้มีความเป็นไปได้มาก 3. คือส่งกองกำลังพิเศษจากนานาชาติเข้าไปเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไปได้อีกเช่นกัน เพราะไม่มีแรงจูงใจที่รัสเซียจะทำ อีกทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีก 1 ประเทศที่มีศักยภาพในการส่งกองกำลัง ก็ไม่น่าจะเข้ามายุ่งด้วยเช่นกัน เพราะแค่ปัญหาอิสราเอลในตอนนี้ก็ถือว่าน่าปวดหัวพอแล้ว

คำถาม: เหตุใดกรณี MH17 จึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่า MH370 และหากผลการสอบสวนออกมาพบว่ากลุ่มกบฏเป็นผู้ยิงขีปนาวุธจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มกบฏ

ตอบ: ในประเด็นความสนใจ ผมคิดว่าเป็นปัญหาของสื่อมากกว่า สื่อในไทยอาจจะไม่ให้ความสนใจมากนัก แต่สื่อต่างชาติให้ความสนใจประเด็นนี้มาก และมีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสื่อระหว่างประเทศเขาค่อนข้างเป็นกลาง และละเอียดอ่อนในประเด็นนี้มากจึงยังไม่รีบลงความเห็นว่าใครยิง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นกลุ่มกบฏ แต่ก็น่าจะเป็นการยิงแบบไม่ตั้งใจ เนื่องจากเทคโนโลยีของกลุ่มกบฏยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะแยกแยะเครื่องบินรบกับเครื่องบินพาณิชย์ได้ ซึ่งหากผลการสอบสวนออกมาในลักษณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการยอมรับของกลุ่มกบฎในประชาคมระหว่างประเทศอย่างแน่นอน อีกทั้งยังทำให้รัสเซียดูแย่ด้วย เนื่องจากรัสเซียไม่แสดงท่าทีใดๆ เลย แต่รัสเซียก็คงจะไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะปูตินไม่ได้ให้ความสำคัญกับความนิยมของประชาคมระหว่างประเทศ เขาต้องการแค่ความยำเกรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลเลื่อนชี้ ‘โอน’ คดี ‘อภิสิทธิ์-สุทเพ’ สลายชุมนุม53 ให้ ป.ป.ช. 28 ส.ค.นี้

0
0

ศาลอนุญาตรวมสำนวน ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ คดีร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าฯ กรณีสลายแดงปี 53 ขณะนี้เลื่อนชี้โอนคดีไปให้ ป.ป.ช.ไป 28 ส.ค.นี้ ศาลแพ่งอนุญาต ‘สุเทพ’ ขยายเวลายื่นคำให้การคดีม็อบปิด ก.คลัง

28 ก.ค. 2557 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลนัดพร้อมสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน คดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และคดีหมายเลขดำที่ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 โดยจำเลยทั้งคู่เดินทางมาศาลตามนัด ซึ่งนายสุเทพได้บวชเป็นพระภิกษุ

และเวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์สอบคำให้การตามคำฟ้องกับพระสุเทพ แต่พระสุเทพให้การปฏิเสธ ส่วนที่อัยการยื่นคำร้องขอให้อนุญาตรวมพิจารณาคดีของนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพเป็นคดีเดียวกันนั้น ศาลเห็นว่าคดีของนายอภิสิทธิ์และพระสุเทพมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว จึงอนุญาตให้รวมสำนวนของนายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเป็นสำนวนเดียวกัน โดยให้สำนวนของนายอภิสิทธิ์เป็นสำนวนคดีหลัก โดยนายอภิสิทธิ์เป็นจำเลยที่ 1 และนายสุเทพเป็นจำเลยที่ 2

พร้อมกันนี้พระสุเทพได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบสวนเช่นเดียวกับคำร้องของนายอภิสิทธิ์ที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ แต่ฝ่ายโจทก์ขอคัดค้าน ศาลเห็นว่าต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าดีเอสไอมีอำนาจสอบสวนหรือไม่ จึงนัดฟังคำพิพากษาและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 ส.ค. เวลา 09.00 น.

 

ศาลแพ่งอนุญาต ‘พระสุเทพ’ ขยายเวลายื่นคำให้การ คดีม็อบปิด ก.คลัง

วันเดียวกัน พระสุเทพ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. มอบอำนาจให้ทนายความ เป็นผู้แทนเดินทางมายังศาลแพ่ง ถนนรัชดาฯ เพื่อฟังคำสั่ง คำร้องขอขยายเวลาในการต่อสู้คดีที่กระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรื่องขับไล่ที่ พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่า 530,000 บาท กรณีกระทำการละเมิดนำกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. บุกเข้าไปในพื้นที่กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง เมื่อปลายปี 56 ที่ผ่านมา

ศาลพิเคราะห์ตามคำไต่สวนของโจทก์ ประกอบเอกสารและคำซักค้าน ได้ความว่า วันที่เจ้าหน้าที่ศาล จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำหมายเรียกสำเนาคำฟ้องไปปิดที่พักพระสุเทพ แต่ปรากฏว่า พระสุเทพ ไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว แต่พักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์ชักชวนให้ประชาชน ร่วมชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร และไม่มีผู้ใดแจ้งให้พระสุเทพทราบว่าถูกฟ้อง พฤติการณ์น่าเชื่อว่า พระสุเทพ ไม่จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่ศาลแพ่งสั่งว่าพระสุเทพขาดนัด ยื่นคำให้การ และอนุญาตให้พระสุเทพ ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรได้ภายใน 15 วัน นับจากวันนี้

ขณะที่ นายวิโรจน์ ภูมิศิริสวัสดิ์ ทนายความกล่าวว่า คดีนี้ทนายความได้เตรียมคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรไว้แล้ว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่า พระสุเทพ ไม่ได้นำมวลชนไปบุกยึดกระทรวงการคลังตามที่โจทก์ฟ้อง แต่รายละเอียดในคำให้การต้องตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งศาลนัดชี้สองสถานวันที่ 29 ก.ย. นี้ เวลา 13.30 น

 

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทยและ ข่าวสดออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ในมิติป้องกัน ปราบปรามและคุ้มครอง

0
0

 

“ทางการไทยประเมินว่าในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ถึงมิถุนายน พ.ศ. 2556 มีหนังสือเดินทางไทยและต่างประเทศที่ได้รับรายงานว่าถูกขโมยหรือสูญหายในประเทศไทยจำนวนกว่า 60,000 เล่ม"[1]

ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นทั้งดินแดนสวรรค์ของนักเดินทางและ “นักปลอมหนังสือเดินทาง” ซึ่งดำเนินธุรกิจปลอมหนังสือเดินทางให้แก่คนต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง โดยในหลายกรณีเป็นการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย แต่ในบางกรณีมิได้เป็นการลักลอบให้คนต่างด้าวเข้ามาดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการหลอกลวงคนต่างด้าวให้เข้ามา “ติดกับ” เพื่อเรียกเอาทรัพย์จากบุคคลเหล่านั้น เช่น การลวงให้ผู้ลี้ภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยด้วยหนังสือเดินทางปลอม[2]แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บุคคลต่างด้าวเข้ามาในประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม การปลอมหนังสือเดินทางคือภัยอันตรายที่คุกคามความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและสิทธิของบุคคลผู้ถือหนังสือเดินทางที่แท้จริง ประเทศจึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดอาญานี้ และเพื่อป้องกันการกระทำความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่แฝงเข้ามา

อย่างไรก็ดี นับแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปลอมและแปลงหนังสือเดินทางไว้เป็นการเฉพาะ (มาตรา 269/8 – 269/15) จวบจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลาถึง 7 ปี ความท้าทายของประเทศในการปราบปรามการกระทำความผิดอาญานี้มิได้มีความเบาบางเลย ทั้งนี้กลับมีความเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังคงถูกนานาอารยะประเทศโจมตีว่าเป็นแหล่งของขบวนการปลอมหนังสือเดินทางเช่นเดิม โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2557 ภายหลังหนึ่งวันที่เครื่องบินสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH 370 หายไปอย่างลึกลับ ตำรวจสากล (INTERPOL) รายงานว่าพบว่ามีผู้โดยสารในเที่ยวบินสวมใช้หนังสือเดินทางสัญชาติออสเตรียและอิตาลีซึ่งถูกลักไปในประเทศไทย[3]หรือในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานก่อการร้ายข้ามชาติโดยชาวอิหร่านที่ระเบิดซอยสุขุมวิท 71 สามจุด พบว่ามีการใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อกระทำความผิด[4]หรือย้อนหลังไปจนถึง ปี พ.ศ. 2548 ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... (ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง) ให้มีอัตราโทษสูงกว่าการปลอมแปลงเอกสารทั่วไปครั้งแรกนั้น ก็สืบเนื่องจากความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบต่อชื่อเสียงและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากจะกระทบต่อภาพลักษณ์และความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาทับซ้อนอื่นๆ ที่ตามมาโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น ปัญหาขบวนการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารากฐานความคิดในการเพิ่มเติมบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยในฐานปลอมหนังสือเดินทาง หลักการป้องกันและปราบปรามความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางที่เป็นสากล และข้อเสนอแนะเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาตินี้

 

ก.  หลักการและรากฐานความคิดของประเทศไทย

ไม่มีหลักฐานใดแสดงหลักการและรากฐานความคิดเกี่ยวกับความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางได้อย่างชัดเจนเท่ากับ “บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ....” [5]ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มีนาคม 2548 โดยกระทรวงยุติธรรมแสดงหลักการของกฎหมายไว้สามประการคือ

1. กำหนดความหมายของหนังสือเดินทาง ให้ชัดเจนว่าหมายถึงเอกสารประจำตัวที่รัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศออกให้แก่พลเมืองชาติของตนและ ให้ครอบคลุมรวมถึงหนังสือเดินทางราชการ การลงตราหรือวีซ่า

2. กำหนดให้ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรที่ต้องให้ได้รับผิดในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดประเภทหนึ่งในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ

3. กำหนดโทษสำหรับความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางให้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าฐานความผิดปลอมเอกสารทั่วไป

นอกจากนี้ ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังได้แสดงสาระสำคัญของเหตุผลของกฎหมายหลายประการ โดยประการที่สำคัญซึ่งผู้เขียนสามารถจำแนกออกเป็นสองประการ

ประการแรก คือ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเนื่องจาก อาชญากรรมข้ามชาติมักจะใช้หนังสือเดินทางปลอมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ซึ่งส่งผลกระทบทั้งความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความปลอดภัยของสังคมระหว่างประเทศ โดยประเทศในกลุ่ม G8 ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาการปลอมหนังสือเดินทางในประเทศ และในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาดังกล่าวจะสอดคล้องกับหลักการของปฏิญญากรุงเทพ (หรือ ปฏิญญาอาเซียน) ในเรื่องที่เกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อป้องกันการก่อการร้ายอีกด้วย[6]

ประการที่สอง คือ เพื่อให้สอดคล้องกับการ(เตรียม)เข้าเป็นภาคีสมาชิกในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air, Supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime)

อย่างไรก็ดี เมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการพิจารณาโดยหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรากฏว่าเหตุผลของกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ถูกตัดทอนให้สั้นไปจากเดิม และไม่ปรากฏร่องรอยของหลักฐานที่สำคัญเกี่ยวกับพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทะเล และอากาศฯ ไว้อยู่เลย คงไว้เพียงแต่เหตุผลทางด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภัยของการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเพียงเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2550 จึงไม่ปรากฏร่องรอยของรากฐานความคิดเกี่ยวกับพิธีสารฉบับดังกล่าว[7]กฎหมายอาญาในฐานความผิดปลอมหนังสือเดินทางของประเทศไทยจึงมีเพียงมุมมองเดียวคือ การปราบปรามการกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพื่อเป็นการป้องกันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ปราศจากมิติของ “การป้องกัน” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง และขาดมิติของ “การคุ้มครองเหยื่อ” ของการกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง ซึ่งสอดแทรกอยู่ในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทะเล และอากาศฯ ไว้อย่างน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

 

ข. หลักการและแนวคิดของสากล

หากจะกล่าวถึงกฎหมายเพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่เป็นสากล คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime) และพิธีสารเสริมอนุสัญญาอีกสามฉบับ กล่าวคือ

  • พิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็ก (Protocol to Prevent, Suppress, and Punish Trafficking in Persons, Especially Women and Children)
  • พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air) และ
     
  • พิธีสารเพื่อต่อต้านการผลิตและลักลอบค้าอาวุธ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และเครื่องกระสุนโดยผิดกฎหมาย (Protocol against the Illicit Manufacturing of and Trafficking in Firearms, Their Parts and Component and Ammunition)

ทั้งนี้ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกันและปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการค้าหญิงและเด็ก ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ส่วนพิธีสารที่เหลืออีกสองฉบับ ประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคี คงไว้เพียงการลงนาม และรอการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพียงเท่านั้น[8]

ซึ่งโดยหลักการของพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ที่สำคัญนอกเหนือไปจากการปราบปรามการกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งรวมถึงการปลอมหนังสือเดินทางให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังมีหลักการของกฎหมายในมิติด้านการป้องกันการกระทำความผิดและการคุ้มครองผู้เสียหายจากอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าวอีกด้วย โดยพิธีสารฉบับดังกล่าว กำหนดให้รัฐภาคี ดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิด ในฐานความผิด “ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” [9]ดังต่อไปนี้

1.การกระทำที่ก่อให้เกิดการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน (การจัดให้มีการลักลอบเข้าเมืองของบุคคลอื่นเข้าไปในประเทศภาคีสมาชิกของพิธีสารฉบับนี้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้มีสัญชาติหรือมิได้มีสิทธิอาศัยถาวร เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือวัตถุตอบแทน) [ข้อ 3 (ก) และข้อ 6 อนุ 1 (ก) ของพิธีสารฯ]

2.การปลอม การจัดหา การจัดให้ หรือการใช้หนังสือเดินทางปลอมหรือเอกสารประจำตัวปลอมในขณะที่กระทำความผิดเพื่อให้มีการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน [ข้อ 6 อนุ 1 (ข) ของพิธีสารฯ]

3.การช่วยให้บุคคลอยู่ในประเทศซึ่งบุคคลนั้นมิได้มีสัญชาติหรือสิทธิอาศัยถาวรโดยฝ่าฝืนกฎหมายภายในของประเทศด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย [ข้อ 6 อนุ 1 (ค) ของพิธีสารฯ]

4.การจัดให้มีหรือการกำกับการกระทำส่วนหนึ่งส่วนใดของฐานความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ค) ของพิธีสารฯ]

5.การพยายามกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ก) ของพิธีสารฯ]

6.การมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว [ข้อ 6 อนุ 2 (ข) ของพิธีสารฯ]

7.การกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้รับการทรมานหรือทารุณกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องได้รับโทษที่หนักขึ้น [ข้อ 6 อนุ 3 ของพิธีสารฯ]

นอกจากนี้ พิธีสารฯ ยังได้จำแนก “ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” ที่ถือได้ว่าเป็น “ผู้เสียหาย” ออกจากการกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดย ข้อ 5 แห่งพิธีสารฯ กำหนดว่า “ห้ามมิให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานต้องได้รับโทษทางอาญาภายในพิธีสารฉบับนี้สำหรับข้อเท็จจริงที่ว่าผู้โยกย้ายถิ่นฐานเป็นผู้ถูกกระทำ[10]  ในฐานความผิดที่กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งพิธีสารฯ นี้”

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เห็นว่า นอกจากใน “มิติด้านการปราบปราม” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประเภทการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังมี “มิติด้านการคุ้มครอง” ผู้เสียหายที่นอกเหนือไปจากรัฐและประชาชนทั่วไป กล่าวคือ ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยนั่นเอง ซึ่งการคุ้มครองที่นอกเหนือไปจากการคุ้มครองทางกฎหมายมิให้ต้องได้โทษฐานปลอมหนังสือเดินทางแล้ว ยังมีการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่เป็นผู้เสียหายในด้านต่างๆ อีก อาทิ การให้การคุ้มครองต่อชีวิต[11]การคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน[12]และการช่วยเหลือด้านการส่งกลับประเทศต้นทาง[13] (ในกรณีที่มิใช่ผู้ลี้ภัย) เป็นต้น

ส่วนใน “มิติทางด้านการป้องกัน” ข้อ 10 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะ วิธีการและข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในฐานการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ข้อ 11 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีกำหนดวิธีการโดยกฎหมายเพื่อป้องกันการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยผู้ประกอบกิจการขนส่งพาณิชย์ ข้อ 12 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคีมีมาตรการความปลอดภัยมิให้ทำปลอมหนังสือเดินทางแห่งรัฐตนได้โดยง่าย ข้อ 13 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้รัฐภาคียืนยันความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทางแห่งรัฐตนโดยไม่ชักช้า เมื่อรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งร้องขอ ข้อ 14 แห่งพิธีสารฯ กำหนดให้มีการฝึกอบรมและการร่วมมือทางด้านเทคนิคแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐภาคี

หลักการและแนวคิดที่เป็นสากลในการต่อต้านการปลอมหนังสือเดินทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่ลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่น ที่ปรากฏใน พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งเดิมปรากฏอยู่ในเหตุผลของ“บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ....” ซึ่งเสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 มีนาคม 2548 แต่ในตอนหลังถูกตัดตอนออกไป จึงมิได้มีเพียงแต่มิติของการ “ปราบปราม” การกระทำความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติของการ “คุ้มครอง” ผู้เสียหายของการกระทำความผิดของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ที่ดำเนินธุรกิจปลอมหนังสือเดินทางเพื่อลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และดำเนินกิจกรรมข้ามชาติอื่นที่ผิดกฎหมายในลักษณะอาชญากรกลุ่ม อีกทั้งขาดมิติของการ “ป้องกัน” การกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งตัวบทบัญญัติของกฎหมายอาญาที่มีอยู่ก็ดี การใช้การตีความกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เองก็ดี ล้วนแล้วแต่มุ่งปราบปรามผู้กระทำความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอย่างแข็งทื่อ มิได้ปรับใช้กฎหมายให้ตรงตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอย่างเป็นระบบ[14]จึงทำให้หลายคดีแทนที่จำเลยจะเป็นขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ กลับกลายเป็น “เหยื่อขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติตกเป็นจำเลย” [15]เสียเอง

และที่สำคัญที่สุด ใน ปี พ.ศ. 2557 นี้ ประเทศไทยได้ถูกจัดอันดับโดยประเทศสหรัฐอเมริกาในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ให้อยู่ในลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นลำดับสำหรับประเทศที่มีมาตรการการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานระดับแย่ที่สุด โดยก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะถูกจัดให้อยู่ลำดับที่ 3 ประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวไว้ในรายงานว่าประเทศไทยควรต้องปรับปรุงการคัดแยกและการคุ้มครองผู้เสียหายหรือผู้อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เนื่องจากยังมีผู้เสียหายหรือผู้อาจเป็นผู้เสียหายจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมือง ทั้งที่ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายภายในที่ใช้เพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ไว้เป็นการเฉพาะแล้วเป็นเวลากว่า 6 ปี และนอกจากนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแท้จริงแล้วข้อแตกต่างระหว่างการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการค้ามนุษย์อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจนในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “การลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน” อาจกลายสภาพไปเป็นการ “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” [16]ต่อตัวผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ได้ทุกเมื่อหากมีพฤติการณ์ที่ “บังคับ” อันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้การค้ามนุษย์มีความแตกต่างจากลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การใช้และการตีความกฎหมายอาญาที่มุ่งประสงค์แต่การปราบปรามการปลอมและการใช้หนังสือเดินทางปลอมต่อตัวผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยมิได้พิจารณาถึงมิติของการ “คุ้มครองผู้เสียหายจากขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ” และ “การป้องกันขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ” อย่างเป็นระบบซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องหรือเป็นกลุ่มเดียวกันกับขบวนการค้ามนุษย์ก็ยิ่งอาจทำให้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาความมั่นคงภายในรัฐและอาจถูกโจมตีโดยสังคมระหว่างประเทศ กลับกลายเป็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์แห่งกฎหมายของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2550 ฐานปลอมหนังสือเดินทางเสียอีก

 

ค.สรุปผลและเสนอแนะ

ซึ่งหากพิจารณาให้รอบด้านแล้ว นับว่าน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่นอกจากกฎหมายอาญาของประเทศไทยในฐานความผิดปลอมหนังสือเดินทางจะไม่ปรากฏหลักการของพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศแล้ว ประเทศไทยยังมิได้เข้าเป็นภาคีหรือนำหลักการในพิธีสารฉบับดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายใน จึงทำให้ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางขาดมิติด้านการป้องกันการกระทำความผิดดังกล่าว และมิติด้านการคุ้มครองบุคคลที่ถือเป็นเหยื่อของขบวนการปลอมหนังสือเดินทาง ซึ่งนอกเหนือจากรัฐผู้เป็นเจ้าของสัญชาติหนังสือเดินทางปลอม รัฐที่เป็นเจ้าของดินแดนที่อธิปไตยที่ถูกละเมิด และเจ้าของหนังสือเดินทางที่แท้จริง (กรณีที่ใช้สวมหนังสือเดินทาง) แล้ว ยังมีคนเข้าเมืองที่บางส่วนมิได้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติแต่เป็นเพียงผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยที่ถูกหลอกโดยขบวนการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ให้ใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อไปลี้ภัยในประเทศที่สาม เมื่อกฎหมายมิได้แยก “อาชญากรที่แท้จริง” กล่าวคือ อาชญากรข้ามชาติที่ใช้หนังสือเดินทางปลอมเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ออกจาก “เหยื่อ” กล่าวคือ “ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัย” จึงเป็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัย จำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีและถูกศาลตัดสินให้ต้องรับโทษฐานปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งมีอัตราโทษที่สูง ทั้งที่บุคคลดังกล่าวมีเหตุจำเป็นที่จะต้องกระทำความผิดกฎหมายบ้านเมืองเพื่อปกป้องชีวิตของตน และทั้งที่แท้จริงแล้วบุคคลดังกล่าวเป็นผู้เสียหายของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติเสียด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ พิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ยังกำหนดหลักการของกฎหมาย ในมิติของการ “ป้องกัน” การกระทำความผิดฐานลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานซึ่งรวมถึงความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทางด้วย และเมื่อการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน มีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ การตัดตอนพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศออกไปจากหลักคิดของการดำเนินคดีอาญาฐานปลอมหนังสือเดินทางจะทำให้เกิด “ความอยุติธรรม” ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในด้าน “การปราบปรามการกระทำความผิด” (เนื่องจากผู้กระทำความผิดจริง – ผู้ปลอมหนังสือเดินทางตัวจริง ยังคงลอยนวล) “การคุ้มครองผู้เสียหายจากการกระทำความผิด” (ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ถูกหลอกให้ใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อลี้ภัย) และ “การป้องกันการกระทำความผิด” (ซึ่งรวมถึงการศึกษาทำความเข้าใจขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติในภาพรวมอย่างเป็นระบบ) ที่อาจมีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่น

ผู้เขียนจึงขอเสนอว่า แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายอาญา ควรใช้และตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเป็นระบบ และคุ้มครองผู้เสียหายจากอาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือ ประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพิ่มเติมอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Protocol against the Smuggling of Migrants by Land, Sea, and Air, Supplementing the United Nations Convention against Transnational Organized Crime) ตามเจตนารมณ์ที่มีแต่เดิมและปรับปรุงกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับหลักการอันเป็นสากลในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินคดีในความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง มีความบริบูรณ์พร้อมทั้งในมิติด้านป้องกัน ปราบปราม และการคุ้มครอง




เกี่ยวกับผู้เขียน: กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม เป็นทนายความในคณะทำงานคดีผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนักศึกษาทุนระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิต แห่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในอดีตเคยทำงานให้กับองค์การระหว่างประเทศและองค์การพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 5 ปี

[1] Stastna, Kazi (12 March 2014). “Malaysia Airlines Affair Raises Security Concerns Over Passport Trafficking.” CBC News (Online). Retrieved from http://www.cbc.ca/m/touch/news/story/1.2568491. [Accessed 12 March 2014].

[2]โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014). “Refugees Thwarted En Route to Sweden.” Bangkok Post (Online). Retrieved from http://m.bangkokpost.com/topstories/402116. [Accessed 25 July 2014]., Paritta Wangkiat (11 July 2014). “LCT Calls for Action on Trafficking Gangs.” Bangkok Post (Online). Retrieved from http://www.bangkokpost.com/news/local/419960/lct-calls-for-action-on-trafficking-gangs. [Accessed 27 July 2014]., Kohnwilai Teppunkoonngam (24 April 2014). “‘Don’t Lose Hope’ – Law, Policy and Syrian Refugees in Thailand.” Prachathai (Online). Retrieved from http://www.prachatai.com/english/node/3935. [Accessed 25 July 2014]. และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557). "ผู้ลี้ภัยทางอากาศจากซีเรีย : เหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่," ThaiNGO.Org (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.thaingo.org/thaingo/node/2812. [สืบค้น 25 ก.ค. 2557].

[3] INTERPOL. (9 March 2014). “INTERPOL Confirms At Least Two Stolen Passports Used By Passengers on Missing Malaysian Airlines flight 370 were Registered in Its Databases.” Retrieved http://www.interpol.int/News-and-media/News/2014/N2014-038. [Accessed 25 July 2014].

[4]จำนง ศรีนคร (10 มีนาคม 2557). “เที่ยวบิน มาเลย์ ล่องหน ไทย แดนสวรรค์พาสปอร์ตปลอมจริงหรือ.” สำนักข่าวอิศรา (ออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.isranews.org/isranews-article/item/27788-plan.html. [สืบค้น 25 ก.ค. 2557].

[5]โปรดดูเอกสารประกอบมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 มีนาคม 2548 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... (ความผิดฐานปลอมหนังสือเดินทาง)

[6]“ด้วยการควบคุมพรมแดนและการออกเอกสารแสดงตัวและเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการปลอมหรือการใช้เอกสารแสดงตัวและเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางปลอม” โปรดดู ข้อ 6.1.ง แห่งปฏิญญาอาเซียน (Declaration on the Establishment of the Association of South-East Asian Nations)

[7]โดยหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ กำหนดว่า “โดยที่ในปัจจุบันการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติได้ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และได้มีการใช้หนังสือเดินทางเป็นเครื่องมือในการกระทำดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศและต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขวางขึ้น สมควรขยายขอบเขตของการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางให้กว้างขึ้นและสมควรกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับความผิด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

[8]ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเพื่อต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นฐานโดยทางบก ทางทะเล และอากาศ เมื่อดำเนินกระบวนการภายในเป็นที่สำเร็จเรียบร้อย

[9] United Nations Office on Drugs and Crime (2010). “Toolkit to Combat Smuggling of Migrants. Tool 5 Legislative Framework” p. 5.

[10]“ถูกนำพาโดยลักลอบ” หรือมิได้มีส่วนในการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานคนอื่น

[11]ข้อ 16 ของพิธีสารฯ

[12]ข้อ 24 ของพิธีสารฯ

[13]ข้อ 18 ของพิธีสารฯ

[14]เช่น มิได้นำบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กในคดีอาญามาใช้ ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเด็ก มิได้นำบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาใช้คุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาอาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ มิได้ใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น มาใช้แก่กรณีของผู้ลี้ภัยที่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางปลอมเพื่อลี้ภัยและรักษาชีวิตของตนให้รอดพ้นจากภัยสงคราม เป็นต้น

[15]โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014), Paritta Wangkiat (11 July 2014), Kohnwilai Teppunkoonngam (24 April 2014) และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557) อ้างแล้ว

[16]เช่นการหลอกให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัย มอบตัวบุตรให้แก่นายหน้าในประเทศไทยในระหว่างที่ถูกจับกุมตัว และดำเนินคดีเพื่อขูดรีดเงินจากผู้โยกย้ายถิ่นฐานและญาติเป็นค่าเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น โปรดดู Achara Ashayagachat (27 March 2014), Paritta Wangkiat (11 July 2014), และ กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม (2557) อ้างแล้ว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: กเวี่ย..!!!

0
0

 

หากฉันเป็นกวี
จะบันทึก สิ่งนี้ และสิ่งโน้น
ร่วมบันทึกทุกเรื่องราว ที่มันโดน
ด้วยภาษาหยาบโลน แห่งหัวใจ

หากฉันเป็นกวี
ฉันจะดื่มถี่ๆ ของฟรีทั้งนั้น
ทั้งไวน์เหล้าเบียร์ สาระพัน
ฉันจะรับของกำนัล เป็นเศษเงิน

หากฉันเป็นกวี
ความชิบหายประเทศนี้ เป็นเพียงเหยื่อ
ให้สำรอกภาษา อันคลุมเครือ
สร้างความเบื้อบื้อใบ้ ด้วยบทกวี

หากฉันเป็นกวี
ฉันจะเขียนแผ่นดินนี้ เพื่อหลุดพ้น
ใช้อัตตากดข่ม ทุกผู้คน
ฉันจะปล้นประชาชน ด้วยบทกวี

แต่บังเอิญฉันเป็น เพียง'กเวี่ย'
เป็นกวีเหี้ยๆ ที่สำส่อน
เป็นสถุลเสริมส่ง ฐานันดร
บทกวีอันเผ็ดร้อน (จึง)สาปประชาฯ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุ่ม เรดนนท์ ร้ององค์กรสิทธิ ระบุ คสช.คุกคามครอบครัว บีบให้รายงานตัว

0
0

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เรดนนท์ อดีตผู้ต้องขังคดี112 ร้ององค์กรสิทธิมนุษยชนสากล กรณีคนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่ ข่มขู่ คุกคาม ต่อกรณีที่ตนไม่ไปรายงานตัว ตามคำสั่งของ คสช. ให้เหตุผล คสช. ไม่มีความชอบธรรมได้อำนาจจากปลายกระบอกปืน ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาอารยะประเทศ จึงไม่เข้ารายงานตัว

<--break- />ธันย์ฐวุฒิ  ผู้ใช้นามแฝงในโลกออนไลน์ว่า"หนุ่ม เรดนนท์" วัย 42 ปี อดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตาม กม.อาญา ม.112  ที่ถูกตัดสินให้ถูกจำคุก 13 ปี โดยได้ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน 15 วัน และได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงองค์กรสิทธิมนุษย์ชนทั่วโลก ระบุว่าหลังจากที่ตนเองได้หลบซ่อนตัวไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร คสช. ครอบครัวของตน อาทิ บิดา มารดาที่ชราภาพ พี่น้อง รวมทั้งบุตรชายของธันย์ฐวุฒิ ได้ถูกคุกคาม ข่มขู่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้อำนาจของ คสช.ตามกฎอัยการศึก

เหตุการณ์การคุกคามดังกล่าวได้เกิดขึ้นโดยการที่ได้มีการส่งเจ้าหน้าตำรวจ ทหาร เข้าไปพบครอบครัวของเขา โดย จนท. ได้แจ้งว่าจะดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ตลอดไปจนกว่า ธันย์ฐวุฒิจะเข้าไปรายงานตัวกับทาง คสช. โดยการไปพบครอบครัวของเจ้าหน้าที่จะเข้าไปแทบจะทุกวัน โดยในบางวันจะไปถึง 2 เวลาเช้าเย็น  

ธันย์ฐวุฒิ ได้ระบุต่อว่าผลจากการคุกคามดังกล่าวได้สร้างความตึงเครียดกับสมาชิกในครอบครัวจนเป็นผลให้มารดาของธันย์ฐวุฒิล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล 

อนึ่ง ธันย์ฐวุฒิ ได้ให้เหตุผลในการที่จะปฏิเสธไม่เข้าไปรายงานตัวเนื่องจากว่า "คสช. ไม่มีความชอบธรรม และอำนาจที่พวกเขาได้มานั้น เป็นอำนาจจากปลายกระบอกปืน ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาอารยะประเทศ"
 

 

๐๐๐๐

 

(เนื้อความ)

 

จดหมายเปิดผนึก ถึงองค์กรสิทธิ์ทั่วโลก กรณีครอบครัวของผู้ไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ถูกข่มขู่ คุกคาม

28 กรกฎาคม 2557


เรื่อง  ขอให้ช่วยปกป้อง คุ้มครอง สิทธิมนุษยชน กรณีคนในครอบครัว ของผู้ที่ไม่ไปรายงานตัว ตามคำสั่งของ คสช. ถูกข่มขู่ คุกคาม
เรียน  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย - Asian Human Rights Commision (AHRC), Human Rights Watch, Amnesty International


กระผม นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล อายุ 42 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เป็นอดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกตัดสินให้ถูกจำคุก 13 ปี และถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน 15 วัน และได้พ้นโทษออกมา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 โดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษรายบุคคล

ภายหลังจากที่กระผมได้พ้นโทษออกมาแล้ว ก็ได้เริ่มต้นประกอบอาชีพเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้กระผมต้องถูกจองจำอีกเลย กระผมเพียงแต่เข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง ในกิจกรรมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย บ้างเป็นครั้งคราว ตามสิทธิที่ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินนี้พึงมี

ภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการยึดอำนาจการบริหาร จากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการเรียกบุคคลเข้าไปรายงานตัวจำนวนมาก รวมทั้งตัวกระผมด้วยเช่นกัน ด้วยคำสั่งฉบับที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

จากคำสั่งดังกล่าว กระผมเลือกที่จะหลบซ่อน ไม่ไปรายงานตัว เพราะคิดว่า คสช. ไม่มีความชอบธรรม และอำนาจที่พวกเขาได้มานั้น เป็นอำนาจจากปลายกระบอกปืน ไม่เป็นที่ยอมรับจากนานาอารยะประเทศ

แต่หลังจากที่ผมได้หลบซ่อนตัวได้ระยะหนึ่ง บิดา มารดา ที่ชราภาพ พี่น้อง รวมทั้งลูกชายของกระผม ได้ถูกคุกคาม ข่มขู่ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎอัยการศึก ของ คสช. โดยการส่งเจ้าหน้าตำรวจ ทหาร แวะเวียนเข้าไปแทบจะทุกวัน บางวัน 2 เวลาเช้าเย็น สร้างความทุกข์ทรมาน ให้กับคนในครอบครัวกระผม โดยเฉพาะมารดาของผม ถึงขั้นเครียดจนต้องเข้าโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปพบครอบครัวกระผมกล่าวว่า จะไปพบเช่นนี้ตลอดไปจนกว่ากระผมจะเข้าไปรายงานตัวกับทาง คสช. 

พฤติกรรมดังกล่าวนี้ เป็นการกระทำที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพราะมีการใช้อำนาจกับบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องน่าละอายมาก ที่คณะผู้ยึดอำนาจ ใช้กระทำกับบุคคลที่เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา

กระผมจึงขอเรียกร้องมายังท่าน ได้โปรดช่วยเหลือ ปกป้อง คุ้มครองคนในครอบครัวของกระผม ให้ได้รับความปลอดภัยด้วย อีกทั้งขอให้ท่านช่วยผลักดัน ให้มีการหยุดการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปคุกคาม ข่มขู่ คนในครอบครัวกระผม รวมถึงครอบครัวอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ คสช. ในทันที

กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การร้องขอของกระผมนี้ จะได้รับการพิจาณาจากท่าน




ขอแสดงความนับถือ

นายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล
ประชาชนไทยที่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ       

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ' คุ ณ คิ ด สิ่ ง ใ ด ' ??

0
0

 

แค่คุณหวังเพียงชนะคะคานเขา
คุณเลือกเผาป่าพังไปทั้งป่า
กี่ยกคุณพ่ายพับลงกับตา
จนไม่เหลือราคา คุณค่าใด

ยิ่งหมัดเท้าเข่าศอก ออกอาวุธ
ที่จะหยุด รัก-ศรัทธา หามิได้
คุณโง่เง่าเต่าตุ่นของคุณไป
ถาม..คุณคิดอะไร ในใจคุณ

คืนความสุข เพื่อใครได้ความสุข
ท่ามเพลิงลุก ลามระอุ ใครคุกรุ่น
ดวงใจเขาหรือใคร ไหม้เป็นจุณ
แอบว้าวุ่น ใหญ่หลวง ฟาดงวงงา

คืนความสุข เพื่อใครได้ความสุข
ขณะ 'ความยุติธรรม' ซุก อยู่ต่อหน้า
หมากกล คุณยิ่งคิด ยิ่งติดคา
ป่วยการหวังศรัทธาประชาชน

'อย่าหมายสุขแห่ง คนปล้นความสุข'
คุณก็ทุกข์แท้แท้ มาแต่ต้น
หวังชนะเช่นนี้มากี่คน
คุณยังความมืดมน และจนกระดาน

...รักมิอาจเงียบฟังคำสั่งใด
อยู่ที่ใจพร้อมจะรัก ใช่หักหาญ
คุณพ่ายแพ้เช่นนั้น..จากวันวาน
และยังการพ่ายนั้น..ตราบวันนี้ !!

 

** เทศกาลของความพ่ายแพ้อันราบคาบ 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 2557

0
0
 
สปส.เพิ่มสิทธิบำบัดสารเสพติด
 
ดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดสารเสพติดด้วยสารเมทาโดน ให้ได้รับสิทธิครอบคลุมการเบิกจ่าย โดยผู้ประกันตน จะต้องเป็นผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น และอนุพันธ์ของฝิ่น ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาซึ่งหากต้องการใช้สิทธิต้องเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดและการบำบัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่ง สปส. จะจ่ายเป็นค่าสารเมทาโดนให้แก่สถานพยาบาลตามจริงในอัตราไม่เกิน 30 บาทต่อวัน สถานพยาบาลที่มีสิทธิเบิกค่าสารเมทาโดนจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่ผ่านการอนุญาต ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่เข้าโครงการใช้สารเมทาโดนระยะยาวรวมถึงมีการบันทึกค่าสารเมทาโดนผ่านโปรแกรม E-Claim โดยใช้โปรแกรมร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
“หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่งทุกจังหวัด สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร. 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยบริการที่ให้การบำบัดรักษาด้วยสารเมทาโดน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1165” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
แรงงานนอกระบบ ขอมีส่วนร่วมในบอร์ดประกันสังคม
 
แรงงานนอกระบบ เสนอ ก.แรงงาน จัดงบจัดงานวันแรงงาน หนุนกิจกรรมแรงงานนอกระบบ - ร่วมเป็นบอร์ดประกันสังคม ด้าน รองปลัด ก.แรงงาน แนะทำแผนงานโครงการเสนอของบ ชี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขเปิดช่องให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เผยร่างกฎหมายต่อกฤษฎีกาไปแล้ว ลุ้น สนช. ไฟเขียว
       
วันนื้ (23 ก.ค.) นางอรุณี ศรีโต กรรมการยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ กล่าวภายหลังเข้าพบ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ว่า ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 25 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยอาจจะรวมกับแรงงานในระบบ หรือแยกให้งบจัดงานเฉพาะแรงงานนอกระบบ รวมทั้งขอให้ กสร. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนในการจัดกิจกรรมของแรงงานนอกระบบ รวมถึงจัดบุคคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการของแรงงานนอกระบบ เช่น การจัดประชุมต่างๆ ที่บางครั้งยังขาดแคลนทรัพยากร การประชุมเพื่อให้ความรู้ประกันสังคมมาตรา 40 ขาดบุคลากร นอกจากนี้ อยากให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานและงานด้านประกันสังคม มาตรา 40 และอยากให้ สปส. ประสานงานกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ช่วยรวบรวมเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 ส่งต่อมายัง สปส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แรงงานนอกระบบในพื้นที่ทุรกันดารจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองมาจ่ายเงินสมทบ
       
ด้านนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติในเรื่องการมีส่วนร่วมกำหนดกิจกรรมและงบประมาณจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้น เนื่องจากงบประมาณจัดงานในวันแรงงานแห่งชาติปีงบประมาณ 2558 ซึ่งตั้งไว้ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท ได้มีการเสนอของบประมาณต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว ทั้งเรื่องของงบการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ รวมถึงงบสนับสนุนกิจกรรม โครงการต่างๆ ของแรงงานนอกระบบขอให้กลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติจัดทำแผนงานกิจกรรมและโครงการเสนอมายัง กสร. และ สปส. โดยในส่วนของงบการจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นอยากให้เสนอแผนงานของบภายในเดือนตุลาคมนี้
       
นายพีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการร่วมเป็นตัวแทนของแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคมนั้น ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขได้กำหนดไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งร่างกฎหมายก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายต้องยุติไป ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียกผู้แทน สปส. ไปยืนยันว่าจะยังคงใช้ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขที่ผ่านสภา วาระ 1 หรือไม่ ทาง สปส. ก็ได้ยืนยันไปว่าเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฉบับเดิม ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขมีสาระสำคัญในเรื่องกรรมการประกันสังคมโดยเปลี่ยนคำว่าผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้แทนผู้ประกันตนแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานนอกระบบซึ่งอยู่ในประกันสังคมมาตรา 40 รวมทั้งผู้แทนผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ประกันตนเองเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทาง กสร. จะแก้ไขร่างระเบียบการเลือกตั้งและสัดส่วนกรรมการประกันสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหากฎหมายที่แก้ไข
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุโจมตีทางอากาศแล้ว 1 ราย
 
(23 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศออกมายืนยันว่า มีคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ 1 ราย โดยสถานทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตและบริษัทนายจ้างแล้วเพื่อเตรียมนำศพกลับไทย ขณะเดียวกันได้แจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลให้พิจารณาย้ายแรงงานคนไทยออกจากบริเวณใกล้เคียงฉนวนกาซาไปยังพื้นที่ปลอดภัย
       
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าวันนี้มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ 1 ราย ทราบชื่อ นายนรากร กิตติยังกุล ชาว อ.ปัว จ.น่าน โดยเสียชีวิตที่โมชาฟ เนติฟฮาซาว่า เขต Hof - Ashkelon ห่างจากกรุงเทลอาวีฟประมาณ 70 กิโลเมตร
       
ทั้งนี้ ได้แจ้งไปยังญาติของผู้เสียชีวิตให้ทราบแล้ว พร้อมประสานไปยังนายจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ การส่งศพกลับมายังประเทศไทย พร้อมแจ้งทางอิสราเอลให้พิจารณาย้ายแรงงานไทยจากจุดดังกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
อพยพแรงงานไทยกว่า 4 พันในอิสราเอล ออกนอกพื้นที่เสี่ยง
 
(24 ก.ค.) นายสุเมธ  มโหสถ   อธิบดีกรมการจัดหางงาน (กกจ.) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับรายงานว่ามีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล เสียชีวิต 1 ราย จากเหตุโจมตีทางอากาศเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ในเวลา 12.15 น. ตามเวลาในอิสราเอล หรือประมาณ 15.00 น. ของไทย ขณะนี้ทราบชื่อแล้ว คือ นายนรากร  กิตติยังกุล อายุ 36 ปี เป็นชาวตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เบื้องต้นได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดน่าน เดินทางไปพบกับ นายบัญชา กิตติยังกุล บิดาของผู้เสียชีวิต เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ทางการอิสราเอลพร้อมให้ความช่วยเหลือในการเดินทางไปรับศพผู้เสียชีวิต แต่ทางญาติแจ้งว่าไม่สะดวกในการเดินทาง กกจ. จึงได้ประสานให้ทางการอิสราเอล ส่งตศพแรงงานกลับมายังประเทศไทยก่อน และจะรับช่วงในการส่งศพผู้เสียชีวิต ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดน่าน 
       
อธิบดีกรมการจัดหางงาน กล่าวอีกว่า กกจ. ได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการหารือตกลงกับทางการอิสราเอล เพื่อขอเคลื่อนย้ายแรงงานไทยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดประมาณ 4,200 คน ไปกระจายอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราวแล้ว ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ก่อนที่จะมีเหตุการณ์สู้รบเกิดขึ้น โดยญาติจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท รวมทั้งเงินค่าประกันชีวิต จากบริษัทประกันภัยด้วย
       
ด้าน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ประสานกับญาติผู้เสียชีวิตแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเคลื่อนย้ายศพ นอกจากนี้ ยังมีคนไทย 38 คน ประสงค์ขอย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งสถานทูตไทยได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนายจ้างในนิคมการเกษตร 96 แห่ง ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่กาซา พร้อมคนไทยกว่า 4 พันคน ให้ย้ายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย รัศมีห่างประมาณ 10 - 20 กิโลเมตร โดยมีข้อแม้และให้ยุติการทำงานชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล ซึ่งสถานทูตไทยจะติดตามสถานการณ์และดูแลคนไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-7-2557)
 
มติการบินไทยให้พนักงาน 900 คน เกษียณก่อนกำหนดตามสมัครใจ
 
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานกว่า 25,000 คน โดยมติที่ให้พนักงาน 900 คน เกษียณอายุก่อนกำหนด ตามแผนฟื้นฟูโครงการ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้ขึ้นอยู่ความสมัครใจส่วนบุคคล เชื่อว่าจะสามารถลดรายจ่ายของบริษัททั้งเงินเดือนและค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้พนักงานในกลุ่มนี้มีทั้งไม่ต้องการทำงานกับบริษัท พนักงานที่เจ็บป่วย ลาบ่อย โดยมีฐานะเงินเดือนสูงเฉลี่ย 70,000-80,000 บาทขึ้นไป อายุงานเฉลี่ย 15-20 ปี
 
อย่างไรก็ตาม นายดำรงค์ยังระบุอีกว่า ในช่วงเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา การบินไทยประสบปัญหาขาดทุน 3 ครั้ง  คือ ปี 2551 ขาดทุนกว่า 20,000 ล้านบาท , ปี 2554 และปี 2557 ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากการบริหารจัดการและปัญหาทางการเมือง โดยเห็นว่าสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ระดับบริหารจะต้องดำเนินการคือ การสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากพนักงาน โดยเป็นการชี้แจงและรับฟังปัญหาจากพนักงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 25-7-2557)
 
กสม.ชี้ ตรวจเลือดหา HIV คนสมัครงาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
วันที่ 25 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนกรณีการกำหนดให้บุคคลตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อเป็นเงื่อนไขในการสมัครเข้าทำงาน รวมทั้งได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
 
ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพในหลายรูปแบบ ที่สำคัญ คือ การกำหนดให้ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี และใช้ผลตรวจเลือดเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจ้างงาน
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาและมีมติว่า การที่นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี และใช้เป็นเงื่อนไขในการจ้างงานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการละเมิดต่อสิทธิในร่างกายหากไม่ได้รับการยินยอมของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การตีตราตัวเอง (self-stigma) และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัว
 
ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอให้นายจ้างทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่กำหนดให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี เป็นเงื่อนไขในการรับสมัครงาน และหากบุคคลใด ได้รับการกระทำในกรณีเช่นดังกล่าวนี้ สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สายด่วน 1377 หรือ ทางอีเมล์ help@nhrc.or.th
 
(ไทยรัฐ, 25-7-2557)
 
กรมจัดหางานเผย ยอดลงทะเบียน “แรงงานต่างด้าว” ต่ำ
 
นายพิชิต นิลทองคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติเจ้าของเรือประมงและแรงงานในภาคประมง ที่นำคนงานมายังสำนักจัดหางานจังหวัดต่างๆ ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อยื่นเรื่องขึ้นบัญชีแรงงานเรือประมง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า มีเจ้าของเรือประมง มายื่นเรื่องทั้งหมด 3,315 คน แบ่งเป็นลูกจ้าง 61,709 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 6,920 คน แรงงานต่างด้าว 54,789 คน
 
ทั้งนี้ ในส่วนของแรงงานต่างด้าว แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 10,432 คน และแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน 44,357 คน ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลด้านประมงเจ้าของเรือประมงนับหมื่นคน กระทรวงแรงงาน จึงขอความร่วมมือจากเจ้าของเรือประมงที่ไม่ได้มายื่นบัญชีจำนวนและคนชื่อแรงงาน รวมทั้งเจ้าของเรือประมงที่มีลูกจ้างต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ให้นำลูกจ้าง ไปจดทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว แบบเบ็ดเสร็จ หรือ วันสตอปเซอร์วิส ใน 22 จังหวัด ติดชายฝั่งทะเล โดยหากออกเรือไปหาปลาและไปเทียบท่าที่จังหวัดใดจังหวัด 1 ใน 22 จังหวัดข้างต้น ก็สามารถไปจดทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจดทะเบียนลูกจ้างต่างด้าว ในจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนเรือไว้ โดยทั้งหมด ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้
 
(โลกวันนี้, 27-7-2557)
 
ญาติเศร้า รับศพแรงงานไทยเสียชีวิตในอิสราเอล
 
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 28 ก.ค.2557 ที่อาคารคลังสินค้าระหว่างประเทศของ บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน บริเวณเขตปลอดอากร สนง.ศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายวินัย รุ่งโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมบัติ นิเวศวัฒน์ ผอ.สนง.บริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ จนท.สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน และ นางวันเพ็ญ ยาอุด พี่สาวของ นายนรากร กิตติยังกุล แรงงานไทยวัย 36 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 ที่ผ่านมา และญาติ ได้เดินทางมารอรับศพ พร้อมกับภาพถ่ายของนายนรากรด้วย
 
ทั้งนี้ ศพแรงงานไทย ได้มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.40 น. ด้วยเที่ยวบิน LY 081 สายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เมื่อเจ้าหน้าที่การบินไทยได้ใช้รถนำศพของแรงงานไทยใส่รถออกมาบริเวณด้านนอกที่มีญาติรออยู่ บรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำร่างของแรงงงานไทยขึ้นไปไว้ในรถตู้ที่จะนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่ อ.ปัว จ.น่าน
 
นางวันเพ็ญ ยาอุด อายุ 42 ปี พี่สาวของผู้ตาย ซึ่งยังอยู่ในอาการโศกเศร้า เผยว่า ตอนนี้ที่บ้านใน จ.น่าน ได้จัดเตรียมสถานที่ กางเต็นท์ไว้เพื่อทำพิธี รวมถึงเตรียมขุดหลุมเพื่อเตรียมฝังร่างของน้องชาย โดยจะทำพิธีแบบชาวม้ง ตั้งแต่วันที่ 29-31 ก.ค.นี้และจะฝังในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ก.ค. ส่วนเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ 200,000 บาท ตอนนี้ยังคิดไม่ออก เพราะทุกคนยังอยู่ในอาการเสียใจ แต่ก็อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าทำศพด้วย ต่อจากนี้พี่น้องที่เหลืออยู่คงต้องช่วยดูแลพ่อต่อไป
 
ด้าน นายวินัย รุ่งโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การช่วยเหลือของทางกระทรวงนั้นจะมอบเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท และจะดำเนินการตามเงินค่าจ้างที่แรงงานไทยไปทำงานได้ประมาณ 1 เดือน จากนายจ้างที่ประเทศอิสราเอลอีกราว 20,000 บาท รวมทั้งยังได้ค่าใช้จ่ายที่ไปทำงานในต่างประเทศไม่ถึงปี ราว 44,000 บาท เงินช่วยเหลือจากสถานทูตอิสราเอลและนายจ้างอีก 60,000 บาท นอกจากนี้หากแรงงานมีบุตร ก็จะมีเงินช่วยเหลือบุตรคนละ 10,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์
 
"ส่วนแผนการอพยพแรงงานนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีแผนรองรับไว้แล้วและหากการสู้รบในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะพิจารณาใช้แผนอพยพที่เตรียมการไว้ทางทางบกและทางเรือ ส่วนการประชาสัมพันธ์ในการดำเนินชีวิตแก่แรงงานไทยนั้น ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากมีการสู้รบเกิดขึ้นก็จะแนะวิธีการป้องกันให้ เพื่อความปลอดภัยในตัวของแรงงานเอง" นายวินัย กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 29-7-2557)
 
กต.เปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย พร้อมอพยพแรงงานไทยทั้ง 1,500 คนไปที่ปลอดภัย
 
29 ก.ค.57 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ศูนย์ปฏิบัติการและประสานงานช่วยเหลือคนไทยในลิเบียได้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ และยืนยันความพร้อมระบบการสื่อสารและประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงตริโปลี โดยศูนย์ฯอยู่ภายใต้การดูแลกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา ทั้งนี้จะเปิดทำการตั้งแต่ 09.00 น. -21.00 น. ของทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยมีตนเป็นประธานฝ่ายอำนวยการ และมีนายมานพชัย วงศ์ภักดี อธิบดีกรมเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ นอกจากนี้ มีผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน 2 คน คอยช่วยประสานงานในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในลิเบียมาประจำการอยู่ที่ศูนย์นี้ด้วย
 
นายณัฎฐวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดเตรียมชุดแรกเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ 5 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และคณะแพทย์ โดยมีนายสุวัฒน์ แก้วสุข เป็นหัวหน้าชุด เตรียมเดินทางไปทำหน้าที่สนับสนุนการดูแลคนไทยที่เมืองตูนิส ประเทศตูนีเซีย ซึ่งจะเป็นพื้นที่หลักที่ให้การพักพิงกับแรงงานไทยที่เดินทางออกจากลิเบีย ทั้งนี้ นายณัฎฐวุฒิ ระบุว่า แรงงานไทยที่กรุงตริโปลี กับเมืองเบงกาซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอยู่สูง ทางสถานทูตได้พิจารณาอพยพแรงงานไทยใน 2 เมืองนี้ก่อน ส่วนแรงงานไทยที่พักในเมืองอื่นห่างไกลจากเขตสู้รบจะดำเนินการอพยพตามลำดับ
 
นายณัฎฐวุฒิ กล่าวอีกว่า เส้นทางอพยพแรงงานไทยในลิเบียจะใช้เส้นทาง ทางบก จากกรุงตริโปลี เดินทางด้วยรถยนต์ข้ามชายแดนมายังประเทศตูนีเซีย มีระยะทางประมาณ 150 ก.ม. โดยจะพักยังจุดที่สถานทูตได้เตรียมไว้ ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
 
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้วางแผนให้คนไทยเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานนานาชาติที่กรุงตูนิส และท่าอากาศยานที่เมืองเจอร์บา ประเทศตูนีเซีย โดย 2 สนามบินนี้ห่างกันประมาณ 300 ก.ม. แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการอพยพคนไทย ทั้งนี้ภายหลังที่แรงงานไทยขึ้นเครื่องบินออกไปยังตูนีเซียแล้ว จะบินต่อไปยังประเทศที่มีสายการบินไทย เพื่อบินตรงมายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การจัดส่งคนไทยในลิเบียล็อตแรก จำนวน 41 คน เป็นนักศึกษาไทย 11 คน และแรงงาน 30 คน เดินทางออกมายังประเทศตูนีเซียโดยเร็วที่สุด
 
"สภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในลิเบียค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก และเป็นไปอย่างอัตคัด โดยทางสถานทูตได้พยายามให้การดูแลเรื่องอาหารกับคนไทยที่นั่นอย่างทั่วถึง ขณะที่มีนักศึกษาไทยบางส่วนได้เข้ามาพักอาศัยในสถานทูต เพื่อความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย" นายณัฏฐวุฒิ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดศูนย์ฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2643-5259 (เริ่มใช้ตั้งแต่บัดนี้) และโทร. 0-2644-7245 (เริ่มใช้ 30 ก.ค.) หมายเลขโทรสาร  0-2643-5522 ติดตามสถานการณ์ล่าสุดได้ที่ Twitter@ MFAThai
 
(คมชัดลึก, 29-7-2557)
 
แรงงานกัมพูชา กลับเข้าทำงานในไทย ยังบางตา ด้านนายจ้างบางส่วน ยังไม่รู้ขั้นตอน แจ้งขอรับแรงงาน
 
29 ก.ค. ที่สำนักงานศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ 2 กองกำลังสุรนารี ด่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ใช้เป็นศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) มีเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง และเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี ได้บูรณาการในการจัดทำทะเบียนประวัติ และนายจ้างมารับตัวแรงงานกลับเข้าไปทำงาน ในเขตประเทศไทย ในวันนี้มีนายจ้าง 5 ราย เดินทางมารับตัวแรงงานชาวกัมพูชา กลับเข้าไปทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 45 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในส่วนคนงานก่อสร้าง
 
ทั้งนี้ ยังพบว่ามีนายจ้างไม่ทราบขั้นตอนการรับแรงงานชาวกัมพูชา กลับเข้ามาทำงาน โดยไม่ได้แจ้งให้จัดหางานจังหวัดทราบ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการรับแรงงานกลับเข้าทำงานดังกล่าว
 
(ไอเอ็นเอ็น, 29-7-2557)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยหนังสือ คสช.ไม่พอใจ "ผจก.สุดสัปดาห์" ลงข้อความ "บิ๊กตู่ คสช.พ่อทุกสถาบัน"

0
0

คสช.ส่งหนังสือถึงสภาการ นสพ.เพื่อให้สอบ "เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์" ฉบับที่ 251 เนื่องจากลงข้อความซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าหัวหน้า คสช. อยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง - ข้อความว่าคนชื่อ "น้องตาล" มาเลือกเครื่องสุขภัณฑ์ให้ทำเนียบ - และเปรียบการสรรหา สนช. เป็นการ "แบ่งเค้ก"

29 ก.ค. 2557 - ตามที่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม โดยระบุว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 253 วันที่ 26 ก.ค. - 1 ส.ค. 2557 ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของ คสช. ในคำสั่ง คสช. ให้ตักเตือนผู้เขียนบทความ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดังกล่าว หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งให้องค์กรวิชาชีพดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพต่อบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลการดำเนินการให้ คสช.ทราบโดยเร็วนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ล่าสุด เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า คสช. โดยคณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คสช. ได้ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์ ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 108/2557 เลขหนังสือ คสช.(สลธ) 1.10/55 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ทำให้สภาการหนังสือพิมพ์มีการเรียกประชุมด่วนในช่วงเช้าวันนี้ สำหรับรายละเอียดของจดหมายฉบับดังกล่าวมีดังนี้

เรียน ประธานคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 จำนวน 1 ฉบับ

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 อันสืบเนื่องจากกรณีที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2557 ได้มีการตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง เช่น บนหน้าปกหนังสือ และในหน้า 4 ซึ่งมีข้อความว่า “ธรรมนูญ “บิ๊กตู่” คสช.พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งเป็นข้อความที่เสียดสี และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง และในหน้าที่ 16 ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ส่วนคนที่ได้รับอำนาจตรงในการเลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์นั้น ไม่ใช่ “บิ๊ก คสช.” อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นทายาทของ “บิ๊ก คสช.” รายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “น้องตาล” ฟังผิวเผินชื่อ “ตาล” คล้ายกับชื่อ “ตู่” ที่มี ต.เต่า เหมือนกัน จนนึกไปว่า “น้องตาล” เป็นลูก “บิ๊กตู่” แต่หากลองคลิกเข้าไปใน “อาจารย์กูเกิล” แล้วคงจะถึงบางอ้อว่า “บิ๊กตู่” มีลูก 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน และไม่ได้ชื่อใกล้เคียงกับ “ตาล” เลย แต่ “น้องตาล” กลับเป็นชื่อทายาทของ “บิ๊ก คสช.” ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้ “ลูกตาล” ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน “ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า” อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.” ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่” อย่างที่คาดเดากัน แต่มี “ตาอยู่” ที่ “บิ๊กตู่” วางใจให้มาสานงานต่อ ก็เป็นได้ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล”

กับข้อความในหน้า 18 ซึ่งมีข้อความที่กล่าวถึง “การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก” ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เรื่องการให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 รายละเอียดปรากฎตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณาดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และรายงานผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ ทั้งนี้ ขอขอบคุณในความร่วมมือมา ณ โอกาสนี้ด้วย”

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ล่าสุด เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (29 ก.ค.) นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรจาก คสช.เรียบร้อยและมีมติให้นำนายสิทธิโชค ศรีเมือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ นำเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2540 และข้อบังคับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 ทั้งนี้ ทางตัวแทนของเอเอสทีวีผู้จัดการที่เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่ายินดีที่จะชี้แจงและจะไม่เข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้หากผลสอบสวนของสภาการหนังสือพิมพ์ออกมาเป็นเช่นไรก็พร้อมปฏิบัติตาม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บทความแปล: เหตุใดมหาเศรษฐีถึงต้องการรัฐบาล

0
0

 

สก็อต เอฟ. ฟิตเจอรัลด์ (Scott F. Fitzgerald) เขียนข้อความที่เป็นที่รู้จักกันดีไว้ว่า พวกมหาเศรษฐีนั้น “แตกต่างจากคุณและผม” ความมั่งคั่งทำให้พวกเขา “ถากถางในสิ่งที่เราเชื่อมั่น” และทำให้พวกเขาคิดว่า “ตนเองนั้นดีเลิศกว่าใคร ๆ” หากถ้อยความเหล่านี้ดูคล้ายจะเป็นจริงอยู่ในขณะนี้ บางทีอาจเป็นเพราะเมื่อตอนที่ฟิตเจอรัลด์เขียนไว้ในปี 1926 ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐอเมริกาได้ทะยานสูงเทียบเท่ากับปัจจุบัน

เกือบตลอดช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงทศวรรษ 1980s ความเหลื่อมล้ำในประเทศชั้นแนวหน้าอยู่ในระดับปานกลาง ช่องว่างระหว่างมหาเศรษฐีกับคนส่วนอื่นของสังคม ไม่เฉพาะด้านของรายได้และความมั่งคั่ง แต่รวมถึงความผูกพันทางอารมณ์และเป้าหมายทางสังคม ดูไม่ค่อยใหญ่โตอะไรมากนัก แน่นอน คนรวยมีเงินทองมากกว่า แต่พวกเขายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกันกับคนยากคนจน โดยตระหนักว่า สภาพภูมิศาสตร์และความเป็นพลเมืองทำให้พวกเขาต้องร่วมแบ่งปันชะตากรรมร่วมกัน

ตามที่มาร์ก มิซรูชิ (Mark Mizruchi) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขาชนชั้นนำในบรรษัทต่าง ๆ (corporate elite) ในยุคหลังสงคราม มี “จริยธรรมสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคมและตระหนักถึงปัญหาของของการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” พวกเขาร่วมมือกับสหภาพแรงงานและสนับสนุนบทบาทที่เข้มแข็งของรัฐบาลในการกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพให้กับตลาด พวกเขาเข้าใจดีถึงความจำเป็นในการจ่ายภาษีเพื่อนำไปสร้างสินค้าสาธารณะที่สำคัญ ๆ อาทิ ทางหลวงเชื่อมระหว่างรัฐ และโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้กับคนยากคนจนและคนชรา

ในช่วงเวลานั้น ชนชั้นนำในภาคธุรกิจไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองมากมายนัก แต่พวกเขาใช้อิทธิพลของตนในการผลักดันระเบียบวาระต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ

ตรงกันข้าม มหาเศรษฐีในทุกวันนี้เป็นพวกที่ซูโรวีคกี (Surowiecki) เรียกว่า “เศรษฐีขี้โวยวาย” (Moaning moguls) ตัวอย่างที่ดีที่เขายกมาคือ สตีเฟน ชวาร์ซแมน (Stephen Schwarzman) ประธานและผู้บริหารสูงสุดของ Blackstone Group บริษัทลงทุนหุ้นนอกตลาด (Private equity firm) ผู้มีมูลค่าสินทรัพย์ส่วนตัวสูงกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 3.2 แสนล้านบาท)

ชวาร์ซแมนทำราวกับ “ตัวเองถูกรุมเร้าโดยรัฐบาลที่จุ้นจ้านและจ้องแต่จะเก็บภาษี กับพวกคนขี้อิจฉาที่เอาแต่ร้องครวญคราง” เขาเสนอว่า “คงเป็นเรื่องดีที่จะเก็บภาษีรายได้จากคนจนให้มากขึ้น เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้ “มีส่วนได้ส่วนเสีย” (had skin in the  game) ทั้งยังโจมตีแผนการอุดช่องโหว่ของการเก็บภาษีกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (carried-interest tax) ซึ่งตัวเขาเองเคยได้ประโยชน์ ว่าไม่ต่างอะไรกับการที่เยอรมันยกทัพบุกโปแลนด์” ตัวอย่างอื่น ๆ สำหรับซูโรวีคกีคือ “ทอม เพอร์กินส์ (Tom Perkins) และเคนเนธ แลงกอน (Kenneth Langone) สองนายทุนร่วมลงทุนผู้ร่วมก่อตั้ง Home Depot ซึ่งต่างก็เปรียบเทียบการที่ประชาชนโจมตีคนรวยว่าเหมือนกับนาซีโจมตีชาวยิว”

ซูโรวีคกีคิดว่า ทัศนคติของชนชั้นนำที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับโลกาภิวัตน์ ทุกวันนี้ บรรษัทและธนาคารขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกันได้ตะลอนไปทั่วโลกอย่างอิสระ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศอีกต่อไป สุขภาพของชนชั้นกลางชาวอเมริกันเป็นเรื่องที่พวกเขาแทบจะไม่แยแสอีกแล้ว ซูโรวีคกีโต้แย้งว่า ยิ่งไปกว่านั้น สังคมนิยมเองกลับกลายเป็นเรื่องล้าสมัย จนทำให้พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องไปร่วมมือกับชนชั้นแรงงาน

กระนั้น หากพวกเศรษฐีในบรรษัทต่าง ๆ คิดว่าตนเองไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรัฐบาลของตนอีกต่อไป พวกเขาก็กำลังเข้าใจผิดอย่างรุนแรง สภาพความเป็นจริงคือ เสถียรภาพและความเปิดกว้างของตลาดอันเป็นที่มาของความมั่งคั่งของพวกเขา ไม่เคยพึ่งพิงการดำเนินการของรัฐบาลมากเท่าที่เป็นอยู่เลย

ในช่วงเวลาของความสงบ บทบาทของรัฐในการร่างและสนับสนุนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้ตลาดทำงานได้อาจจะคลุมเครือ จนดูเหมือนตลาดเป็นเครื่องบินไร้คนขับที่ควรหลีกเลี่ยงการรบกวนจากรัฐบาลให้มากที่สุด

แต่เมื่อเมฆดำของวิกฤตเศรษฐกิจปกคลุมเส้นขอบฟ้า ทุกคนกลับพยายามมองหาที่กำบังภายใต้ชายคาของรัฐบาล ช่วงเวลานี้เองที่ความสัมพันธ์ที่โยงใยบรรษัทขนาดใหญ่กับแหล่งกำเนิดของมันปรากฏให้เห็นเด่นชัด อย่างที่อดีตผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ เมอร์วิน คิง (Mervyn King) พูดถึงบริบททางการเงินเอาไว้ว่า  “ธนาคารระหว่างประเทศนั้นมีชีวิตอยู่ทั่วโลก แต่มีความตายอยู่ในประเทศ”

ลองพิจารณาดูว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยื่นมือเข้าไปช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ด้วยวิธีการอย่างไร หากรัฐบาลไม่ช่วยอุ้มทั้งธนาคารขนาดใหญ่ บรรษัทประกันยักษ์ใหญ่อย่าง AIG และอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่อัดฉีดเงินเข้าไปในกระตุ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของพวกมหาเศรษฐีคงพังทลายไปหมดแล้ว หลายคนโต้แย้งว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้เป็นเจ้าของบ้านมากกว่า ทว่าแทนที่จะเป็นเช่นนั้น รัฐบาลกลับเลือกสนับสนุนธนาคารต่าง ๆ อันเป็นแนวนโยบายที่ชนชั้นนำทางการเงินได้ประโยชน์มากที่สุด

พวกมหาเศรษฐีพึ่งพิงการสนับสนุนและการดำเนินการของรัฐบาลไม่เว้นกระทั่งช่วงเวลาปกติ รัฐบาลนี่เองที่ให้การสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่การทำวิจัยที่นำมาสู่การปฏิวัติเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและบริษัทน้อยใหญ่ที่เกิดตามมา (อย่างเช่น Apple และ Microsoft)

รัฐบาลยังออกและบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าที่คอยคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และรับรองการผูกขาดผลกำไรในระยะยาวให้กับผู้สรรค์สร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลยังอุดหนุนสถาบันการศึกษาระดับสูงเพื่อฝึกอบรมกำลังแรงงานที่มีฝีมือ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเจรจาต่อรองข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ เพื่อรับรองว่า บริษัทในประเทศของตนจะสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้

หากมหาเศรษฐีทั้งหลายเชื่อว่าพวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและแทบจะไม่ต้องการรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว ก็ไม่ใช่เพราะความเชื่อนี้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงภายนอก แต่เพราะเรื่องเล่าที่ได้ยินกันทั่วไปในยุคสมัยของเรา ได้ฉายภาพของตลาดในฐานะสิ่งที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองและขับเคลื่อนไปด้วยตัวมันเอง นี่เป็นเรื่องเล่าที่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วนของสังคม และกระทบกับชั้นกลางไม่น้อยไปกว่าคนรวย

ไม่มีเหตุผลให้คาดหวังว่า มหาเศรษฐีจะเห็นแก่ตัวน้อยลงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ กระนั้น การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาไม่ได้ขัดขวางการส่งเสริมความเท่าเทียมกันและการสร้างโอกาสให้กับทุกคนอย่างเป็นธรรมมากมายนัก สิ่งกีดขวางที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ การไม่ตระหนักว่า ตลาดไม่อาจสร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้กับใครหน้าไหนได้ยาวนานนัก เว้นแต่มันจะได้รับการสนับสนุนจากสังคมที่เข้มแข็งและจากการกำกับดูแลกิจการและทรัพยากรสาธารณะที่ดี

 

หมายเหตุ: 

แปลจาก Dani Rodrik “Why the Super-Rich Need Governments” Social Europe Journal. http://www.social-europe.eu/2014/07/super-rich/

ดานี โรดริก (Dani Rodrik) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวตุรกี และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ ประจำสถาบันการศึกษาระดับสูง (Institute for Advanced Study) ปรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สนง.วุฒิสภาเตรียมสถานที่รองรับการทำงาน สนช.เรียบร้อยแล้ว

0
0

สำนักงานวุฒิสภา เตรียมสถานที่รองรับการทำงานของ สนช.เรียบร้อยแล้ว มีการเปลี่ยนป้ายห้องประธานและรองวุฒิสภา เป็นห้องประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ได้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติครบถ้วน

29 ก.ค. 2557 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า สำนักงานวุฒิสภาได้เตรียมสถานที่รองรับการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยล่าสุดได้เปลี่ยนป้ายบริเวณหน้าห้องประธานและรองประธานวุฒิสภา เป็นประธานและรองประธานนิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมเตรียมห้องโถงสำหรับการรายงานตัวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทันทีที่มีพระบรมโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

ส่วนอาคารรัฐสภา 1 ซึ่งเป็นห้องทำงานของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายบริเวณหน้าห้องออกไปหมดแล้ว และเตรียมห้องไว้รองรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติจะแต่งตั้งล่าช้ากว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีการติดป้ายใหม่ แต่ได้เตรียมความพร้อมในส่วนของห้องรับรองและห้องทำงานไว้เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันนี้ทั้ง 2 สภา ได้ประชุมนัดสุดท้ายเพื่อสรุปการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการทำงานของ สนช. และ สปช.ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของการเตรียมข้อมูล กฎระเบียบข้อบังคับการประชุมต่างๆ สถานที่ทำงาน และห้องประชุม

ทั้งนี้ วันพรุ่งนี้ (30ก.ค.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ จะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมของทั้ง 2 สภา ในเวลาประมาณ 09.00 น. ขณะที่คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันภาษาไทยแห่งชาติ: หัวหน้า คสช. ย้ำเตือนชาวไทย-ประเทศไทยมีภาษาของตนเอง

0
0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติให้ประชาชนและเยาวชนพึงระลึกว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเอง และมีมานาน 700 ปี ขอเชิญชวนทุกคนรักษาภาษาไทยให้ธำรงอยู่คู่ชาติตลอดไป

29 ก.ค. 2557 - เวลา 12.00 น. วันนี้ (29 ก.ค.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ NBT เผยแพร่คำกล่าวปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. มีรายละเอียดดังนี้

000

คำกล่าวปราศรัย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม 2557 เวลา 12.00 น.

สวัสดีพี่น้องชาวไทยที่รักทุกคน

วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ซึ่งเป็นวันสำคัญที่คนไทยทุกคน จะได้ตระหนักถึงคุณค่า ทำนุบำรุง ส่งเสริมภาษาไทย อันเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และแสดงถึงความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงร่วมประชุมและทรงร่วมอภิปรายทางวิชาการ เรื่องปัญหาการใช้คำไทย โดยชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2505 ซึ่งได้ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้งแตกฉาน โดยได้พระราชทานพระราชดำริหลายประการ เพื่อให้ปวงชนชาวไทย ได้รักษา และใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน เหมาะสม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ต่อวงวิชาการภาษาไทยและประเทศชาติ

ในโอกาสที่วันภาษาไทยแห่งชาติ เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ผมขอย้ำเตือนให้ประชาชนและเยาวชนของชาติ พึงระลึกอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลก ที่มีภาษาเป็นของตนเอง ทั้งภาษาเขียนและภาษาพูดอย่างสมบูรณ์ สืบทอดเป็นมรดกอันล้ำค่า นานกว่า 700 ปี ทุกคนจึงควรภาคภูมิใจ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และบุญคุณของบรรพบุรุษ ที่อุตสาหะสร้างสรรค์อักษรและภาษาไทย ให้ตกทอดสืบมาจนถึงปัจจุบัน และขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน รักษาภาษาไทย ให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม และธำรงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

สวัสดีครับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านเหมืองทอง จ.เลย ถูกเรียกรายงานตัว นศ.ลงพื้นที่โดนด้วย

0
0

29 ก.ค.2557 สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทหารหลังถูกคำสั่งเรียก จากกรณีส่งหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ไม่ยอมรับคณะกรรมการและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัด ขณะที่นักศึกษากลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกเรียกรายงานตัวหลังลงพื้นที่เก็บข้อมูล

เฟซบุคเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ รายงานว่า พรทิพย์ หงชัย และภัทราภรณ์ แก่งจำปา สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เข้ารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ ที่ว่าการอำเภอวังสะพุง จ.เลย เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ตามคำสั่งเรียกของ คสช. ลงชื่อโดยพันเอกสวราชย์ แสงผล ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ซึ่งได้รับมอบภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ตำบลเขาหลวงฯ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชุมชน 6 หมู่บ้าน กับเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.2557

พรทิพย์กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ซักถามถึงรายละเอียดของเนื้อหาในหนังสือที่ออกโดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด (อร.0182/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557) เรื่อง “ไม่ยอมรับคณะกรรมการและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดที่แต่งตั้งโดยทหาร” เช่น ข้อความที่ระบุว่า “ถูกบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับแนวทางของทหารที่ร่วมมือกับราชการโดยฝ่ายเดียว” และ “ทหารที่เข้าควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่กลับทำเกินหน้าที่” โดยเจ้าหน้าที่แจ้งผู้เข้ารายงานตัวทั้งสองว่า การทำหนังสือไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการดังกล่าว ถือเป็นการไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เป็นการขัดคำสั่ง ซึ่งสามารถดำเนินคดีตามกฎอัยการศึกได้

พรทิพย์ กล่าวถึงเหตุที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ไม่ยอมรับคณะกรรมการที่ทหารแต่งตั้งขึ้นว่า ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ให้ความร่วมมือหรือขัดคำสั่งของทหาร  แต่เนื่องจากคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ตั้งขึ้นมาโดยที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และไม่มี่ส่วนในการกำหนดกระบวนการ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามปรับทัศนคติของผู้เข้ารายงานตัว ว่าทหารกับชาวบ้านสามารถทำงานร่วมกันหรือคู่ขนานกันไปได้ และการที่ทหารเข้ามาแล้วก็น่าจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ได้แก่ 1) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำเลย มี พล.ต.วรทัต สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย เป็นประธาน 2) คณะกรรมการน้ำ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด, อุตสากรรมจังหวัดเลย, สิ่งแวดล้อมภาค, กรมควบคุมมลพิษ 3) คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน และ 4)คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและทหารเพื่อให้เกิดการเจรจาระหว่าง ประชาชน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

นอกจากนี้ เฟซบุคเพจ ‘เหมืองแร่ เมืองเลย’ รายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มดาวดิน จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้านต่อเนื่องมาหลายปี เดินทางลงพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อเก็บข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงที่กลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธบุกเข้ามาทำร้ายชาวบ้านเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2557 และเก็บข้อมูลประกอบคดีที่ชาวบ้านโดนบริษัททุ่งคำ ฟ้องร้อง

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของนักศึกษาทั้ง 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ให้ไปรายงานตัวและถ่ายสำเนาบัตรประชาชน รวมถึงสอบถามวัตถุประสงค์ในการลงพื้นที่พร้อมกับบันทึกวีดีโอ และมีการเก็บบัตรประชาชนของนักศึกษาไว้ในขณะอยู่ในพื้นที่ โดยทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ระบุว่าเป็นระเบียบใหม่ที่ได้รับคำสั่งมา โดยที่ชาวบ้านและนักศึกษาไม่ทราบมาก่อน และการลงพื้นที่ของกลุ่มนักศึกษาถูกเรียกรายงานตัวด้วยท่าทีที่เข้มงวดมากขึ้น


ที่มาเฟซบุค เหมืองแร่ เมืองเลย
 




 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: การอนุมัติงบประมาณในโครงการต่างของ คสช.

0
0

คลิกเพื่อดูรูปขนาดใหญ่

การอนุมัติงบประมาณในโครงการต่างๆ โดยที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 28 กรกฎาคม 2557 มีรายละเอียดดังนี้

17 มิ.ย. 2557 - ภายหลังจากที่ คสช. อนุมัติช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. แถลงปิดบัญชีหนี้้ค้างชำระโครงการจำนำข้าวฤดูกาล 2556/2557 ให้ชาวนา 838,538  ราย รวม 89,931 ล้านบาท โดยมาจากเงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และ การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย [1], [2], ไทยพับลิกา)

17 มิ.ย. 2557 - อนุมัติงบประมาณ 5,400 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ 5.8 แสนราย ซึ่งเป็นโครงการตกค้างในการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2555 และปี 2556 จนถึงปัจจุบัน (เว็บไซต์รัฐบาลไทย, ผลการประชุม คสช. 24 มิ.ย. 2557)

24 มิ.ย. 2557 - อนุมัติงบประมาณ 8,357 ล้านบาท ให้โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จำนวน 396 โครงการ (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)

24 มิ.ย. 2557 - อนุมัติงบกลาง 96 ล้านบาท ให้กรมประมง กระทรวงเกษตรจัดหาพันธุ์กุ้ง แก้ปัญหาโรคกุ้งตายด่วนให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง

28 มิ.ย. 2557 - คสช. ให้ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้งบประมาณด้านบริหารจัดการน้ำในปีงบประมาณ 2557 ที่ค้างอยู่ 17,000 ล้านบาท ไปดำเนินการแก้ไขน้ำท่วมให้ทันปีงบประมาณ 2557 โดยงบประมาณก้อนนี้ให้กันไว้ 3,000 ล้านบาทเพื่อใช้จ่ายในปี 2558

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวว่า โครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลอง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง (ที่มา: สำนักข่าวไทย)

4 ก.ค. 2557 - อนุมัติให้หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร พิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ใช้งบประมาณ 2,455 ล้านบาทเศษ ซึ่งในปีงบประมาณ 2557 นี้ใช้งบกลางของรัฐบาล สำหรับงบประมาณปี 2558 - 2560 ให้บรรจุไว้ในงบประมาณปกติของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป (เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์)

9 ก.ค. 2557 - คณะกรรมการ ธ.ก.ส. มีมติเห็นชอบช่วยเหลือชาวนาฤดูกาลผลิต 2557/58 โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตให้เกษตรปลูกข้าวนาปีลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. แทนเกษตรกร คิดเป็นวงเงิน 2,292 ล้านบาท (คาดมีเกษตรเข้าร่วม 3.57 ล้านราย) (ธกส., รายการคืนความสุขให้คนในชาติ, 20 มิถุนายน 2557)

22 ก.ค. 2557 -  ที่ประชุม คสช.ได้อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงิน เพื่อนำไปชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าเหมาซ่อมสำหรับปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,401 ล้านบาทเศษ แบ่งเป็น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 2,870 ล้านบาทเศษ และค่าเหมาซ่อม 1,531 ล้านบาทเศษ เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และให้เกิดการประหยัดดอกเบี้ยจ่ายกรณีผิดนัดชำระหนี้ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงินตามที่ ขสมก.เสนอ (สำนักข่าวไทย)

22 ก.ค. 2557 - อนุมัติงบประมาณ 252 ล้านบาท โครงการพัฒนาปรับปรุงทำเนียบรัฐบาลและบ้านพิษณุโลก ตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เสนอขออนุมัติงบประมาณ โดยอยู่ในส่วนค่าใช้จ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รัฐบาล คสช. (ไทยรัฐ)

22 ก.ค. 2557 - คสช.เห็นชอบโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสนับสนุนงบกลาง 1,300,624,760 บาท เพื่อการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำนวน 15,441 โรงเรียน ทั่วประเทศ (เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

22 ก.ค. 2557 - ที่ประชุม คสช. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 119,153,000 บาท ให้แก่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาทุน 300 คน ของปีการศึกษา 2556 และ 2557

ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้ให้การสนับสนุนงบประมาณกับทางเอไอทีไปแล้ว 3 ปี คือปี 2553-2555 ต่อมาเอไอทีได้ปรับเปลี่ยนสถานะไปเป็นองค์การระหว่างประเทศ มีการจัดทำกฎบัตรฉบับใหม่ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 30 มกราคม 2555 แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันกฎบัตรดังกล่าว และยังไม่มีการออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ที่จะให้การรองรับการให้ความคุ้มครองเอไอที ในฐานะองค์การระหว่างประเทศ ทำให้สถานภาพความเป็นนิติบุคคลของเอไอทีดังกล่าวยังไม่ชัดเจน สำนักงบประมาณจึงเห็นว่าไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณให้แก่เอไอทีในฐานะรัฐภาคีสมาชิกได้ ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 56-57 ไม่มีการจัดสรรงบประมาณให้แก่เอไอที ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งยืนยันสถานภาพของเอไอที และองค์กรต่างๆ ภายใต้เอไอที รวมทั้งคณะกรรมการอำนวยการ มีสถานะตามเดิม และปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พ.ศ.2510 ในเรื่องดังกล่าว คสช.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ไปตกลงรายละเอียดกับสำนักงบประมาณต่อไป (เอเอสทีวี)

25 ก.ค. 2557 - อนุมัติงบผูกพันวงเงิน 200 ล้านบาท ให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรและคอมพิวเตอร์ (SMART SME) 

28 ก.ค. 2557 - ในรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานของ คสช. เดือนที่ 2 (ห้วงวันที่ 21 มิถุนายน - 22 กรกฎาคม 2557) มีการรายงานการใช้งบประมาณของ คสช. ในด้านที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเช่น กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดโครงการธงฟ้าราคาประหยัด 21 ครั้ง สามารถลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน คิดเป็นมูลค่า 27 ล้านบาท ทั้งนี้มีการขอความร่วมมือผู้ประกอบการ และห้างค้าปลีกค้าส่งกว่า 1,000 ราย ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นจำนวน 205 รายการเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งขอความร่วมมือให้ลดราคาจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จที่ประชาชนนิยมบริโภค 10 รายการอยู่ที่จานหรือ ชามละ 35 – 40 บาท

อนุมัติงบประมาณ 163 ล้านบาท เพื่อกระจายผลไม้ออกสู่ตลาดนอกแหล่งผลิต ได้แก่ ลำไยจาก 8 จังหวัดภาคเหนือ 74.5 ล้านบาท เงาะและลองกองจากภาคตะวันออก 51 ล้านบาท มังคุดและลองกองจากภาคใต้จำนวน 37.5 ล้านบาท

อนุมัติงบประมาณกว่า 6,160 ล้านบาทให้กับเกษตรกรปลูกยางพารา 112,253 ราย เพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท เฉพาะที่เปิดกรีดแล้ว

ทั้งนี้ยังไม่รวมงบประมาณ ที่ใช้จัดกิจกรรมเสริมสร้างบรรยากาศปรองดองสมานฉันท์ โดย "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป" ของ กอ.รมน. ภาค 1 – 4 รวม 84,252 ครั้ง จัดทำ MOU ระหว่างผู้นำทางความคิดที่เคยเห็นต่างกันในแต่ละพื้นที่ 177 ฉบับ ครอบคลุมกว่า 403 แกนนำ จัดเวทีเสวนา 176 เวที ครอบคลุม 30,842 หมู่บ้าน

 

ขอขอบคุณไอเดียคุณ GunGun Buriyer ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, ผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ,  สรุปผลการปฏิบัติงานของ คสช. เดือนที่ 2, สำนักข่าวไทย และไทยรัฐออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนหนุนรถเมล์ชานต่ำ-ตอบโจทย์สังคมสูงอายุ

0
0

"เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคัน" จัดเสวนาพุธนี้ หวังผลักดัน ขสมก. จัดซื้อ "รถเมล์ชานต่ำ" ตามแผนจัดซื้อ 3,500 คัน เพื่อให้ทุกคนโดยสารรถเมล์ได้ ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ลุ้น ขสมก. เคาะทีโออาร์จัดซื้อใหม่

29 ก.ค. 2557 - เว็บไซต์ change.org รายงานว่า นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคัน กล่าวว่า จากการที่ทางเครือข่ายได้ขับเคลื่อนผลักดันการจัดซื้อรถโดยสารสาธารณะ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผ่าน www.change.org/bus4all เพื่อให้การจัดซื้อครั้งนี้เป็นไปตามแนวคิดUniversal Design เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 8 ปีข้างหน้า ที่ทางเครือข่ายฯ เล็งเห็นว่าแนวโน้มประชากรในประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่รถโดยสารประจำทางซึ่งเป็นการขนส่งมวลชนที่ราคาถูกและครอบคลุมที่สุดในจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดความทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งก็คือการพัฒนารถโดยสารสาธารณะให้เป็น “รถชานต่ำ” ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นทางเครือข่ายจึงเตรียมจัดงานเสวนาเรื่อง “วิกฤตรถโดยสารสาธารณะกรุงเทพ ในสังคมผู้สูงอายุ” ในวันที่ 30 ก.ค. นี้ตั้งแต่เวลา 12.30 น. ถึง 16.30 น. ณ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กทม.ฯ) เพื่อจุดประกายสังคมโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 

นายธีรยุทธ สุคนธวิท เลขานุการเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน กล่าวว่า หลังจากที่เครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชน ทุกคนขึ้นได้ทุกคัน ได้เข้าพบ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว โดยปลัดกระทรวงคมนาคมได้ให้การบ้าน ขสมก.ไปพิจารณาการจัดซื้อรถเมล์ว่าจะมีแนวทางในการจัดซื้อรถเมล์ 3,500 คัน ตามคำสั่งใหม่ของ คสช.อย่างไร จะใช้ร่างจัดซื้อจัดจ้างเดิม (ทีโออาร์) เดิม ที่มีการจัดซื้อรถชานสูง หรือจะพิจารณาตามข้อเสนอของคนพิการที่เสนอว่าการซื้อรถเมล์ครั้งนี้ควรเป็น “รถเมล์ชานต่ำ”ทั้งหมด ซึ่งทางเครือข่ายฯกำลังรอคำตอบจาก ขสมก.อยู่ ว่าจะทำทีโออาร์ออกมาในรูปแบบใด

ทั้งนี้กำหนดการในเสวนา  จะมีการ ปาฐกถาพิเศษ โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ นายกสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย และ ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง (KMITL) จากนั้นจะมีการ เสวนา โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นางหนูเกน อินทจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายสลัมสี่ภาค  นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนทุกคนขึ้นได้ทุกคัน นางกษมา แย้มตรี สถาปนิกชุมชน ผู้ก่อตั้งบริษัทตาแสงจำกัด และ นายสุร แก้วเกาะสะบ้า เครือข่ายคนรุ่นใหม่ใจอาสา Gen-V ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล กลุ่มเพื่อนประชาชน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ‘พุทธอิสระ’ขอถอนหมายจับขวางเลือกตั้ง

0
0

29 ก.ค.2557 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำสั่งกรณีที่พระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอเพิกถอนหมายจับ ในข้อหาผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550 กรณีนำกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสำนักงานหลักสี่ ขัดขวางการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา

โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกหมายจับเป็นอำนาจของศาลชั้นต้น ที่หากมีเหตุฉุกเฉินซึ่งหน้า สามารถพิจารณาออกหมายจับได้ทันที ดังนั้นตามที่ศาลชั้นต้น ออกหมายจับพระพุทธอิสระ หากมีเหตุให้เสียหายในภายหลัง ให้ผู้ร้องขอออกหมายจับ คือ พนักงานสอบสวนดำเนินการเยียวยาในภายหลังได้ ศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของพระพุทธอิสระ หมายจับจึงยังคงอยู่

โดยในวันนี้มีเพียงทนายความ เดินทางมาศาลพร้อมเปิดเผยว่า ขณะนี้พระพุทธอิสระ ยังมีหมายจับข้อหากบฏและขัดขวางการเลือกตั้ง และพระพุทธอิสระ ยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม ส่วนจะเข้ามอบตัวหรือไม่เป็นการพิจารณาของพระพุทธอิสระ


ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live