Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ไฟอะริกะโตะ วัฒนธรรมการขอบคุณบนท้องถนนญี่ปุ่น

$
0
0

ประเทศไทยใช้รถยนต์ญี่ปุ่นกันเยอะ หากจะลองเอาวัฒนธรรมการขับรถญี่ปุ่นมาใช้ควบคู่ไปด้วย ท้องถนนบ้านเราอาจจะงดงามขึ้น

ผมสอบใบขับขี่ที่ญี่ปุ่นเสียค่าเล่าเรียนไปประมาณแสนบาทได้ คนไทยฟังแล้วก็คงตกใจทำไมมันแพงขนาดนั้นซึ่งราคานี้รวมการเรียนภาคทฤษฏี 26 ชั่วโมงภาคขับจริง 34 ชั่วโมง สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วทุกคนต้องเข้าโรงเรียนสอนขับรถยกเว้นบ้านใครกว้างมีถนนส่วนตัวอาจไม่ต้องเข้าโรงเรียนก็ได้ แต่ก็ต้องจ้างคนมาสอนอยู่ดี จะไปหัดขับตามถนนสาธารณะแล้วให้พ่อสอนแบบบ้านเราไม่ได้

และแม้ว่าจะสอบใบขับขี่ผ่าน สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือนอกจากกฎระเบียบที่กฎหมายกำหนดแล้ว บนท้องถนนก็มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ได้เขียนในกฎหมายที่ช่วยเพิ่ม รอยยิ้มและความงดงามบนท้องถนน

ธรรมเนียมปฏิบัตินั้นก็คือ ธรรมเนียมการให้สัญญาณ “อะริงะโตะ” ซึ่งเป็นบทเรียนบทแรกที่ผมได้เรียนเมื่อได้ออกสู่ท้องถนนจริง และเป็นบทเรียนที่ผมรู้สึกว่ามันดีมาก ยอดมาก และอยากให้คนบนท้องถนนใช้เยอะๆ

ตอนขับรถใหม่ๆ ผมเองก็ยังขับไม่ค่อยเร็ว การขับบนถนนเลนเดียวนั้น หลายครั้งก็ยังไม่ค่อยกล้าปล่อยความเร็วมากนัก ขับตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด หรือบางครั้งอาจช้าไปนิด

สำหรับคนญี่ปุ่นคนได้ใบขับขี่ในปีแรก จะต้องติดป้ายสัญลักษณ์เขียวเหลืองไว้ท้ายรถและหน้ารถ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รถคันอื่นระวังเรา และเป็นสัญลักษณ์ให้คนขับรถรุ่นพี่ๆทุกคนคอยเป็นกำลังใจให้น้องใหม่ ไม่ตัดหน้าน้องใหม่ ทำใจกว้างๆ เมื่อเห็นน้องใหม่ขับรถยังไม่ได้ดั่งใจเรา ดังนั้นแม้มือใหม่จะขับช้าไปหน่อย รถคันหลังก็จะไม่เปิดไฟไล่ หรือ บีบแตรใส่

ดังนั้นเมื่อเห็นรถตามหลังผมมา ผมจะชะลอเล็กน้อยเปิดไฟเลี้ยวซ้าย เพื่อเป็นสัญญาณให้รถคันหลังแซงออกไป รถทุกคนที่แซงออกไปหลังจากแซงพ้นไปแล้ว ก็จะกดไฟฉุกเฉิน ให้กะพริบสองครั้ง ในความหมายว่า “อะริกะโตะ”

สำหรับคนมือใหม่แล้วรู้สึกอบอุ่น ที่ได้รับไม่ตรีจิตจากรุ่นพี่ร่วมถนน ตอนขับใหม่ๆ วันหนึ่งได้รับคำขอบคุณ หลายสิบครั้ง
การใช้ไฟอะริกะโตะนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมอันงดงามบนท้องถนนที่ผมรู้สึกประทับใจที่สุดตอนขับรถ และผมเองก็ติดนิสัยนี้ทำให้พยายามใช้ทุกครั้งเมื่อได้รับไมตรีจากผู้ร่วมท้องถนน

สาเหตุที่ใช้ไฟฉุกเฉินแทนคำว่าขอบคุณนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า เป็นสัญลักษณ์ที่จะส่งถึงรถคันหลังได้ง่ายที่สุดและเข้าใจง่ายที่สุด

เพราะตอนเราจะเปลี่ยนเลน หากรถคันที่อยู่เลนข้างๆชะลอให้เรา เมื่อเราเข้าไปแล้วเราจะขอบคุณก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้นการกดไฟฉุกเฉินให้กะพริบสองครั้งจึงเป็นช่องทางที่สะดวกที่ดีที่สุด ถ้าอยู่ตรงปากซอยและรถอีกคันจอดให้เราออก เราเห็นหน้ารถคันนั้นคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็จะเปิดกระจกแล้วคำนับให้หรือไม่เปิดกระจกก็จะค้อมหัวให้แล้วค่อยเลี้ยว เลี้ยวเสร็จ หากรถคันนั้นต่อท้ายเราอยู่ เราก็กด “ไฟอะริกะโตะ”ให้อีกรอบ

หรือถ้ารถวิ่งสวนกันแล้วเขาหยุดให้เราเลี้ยวเข้าซอย บางคนก็จะใช้วิธีการตบแตรเบาๆ เพื่อเป็นการขอบคุณ ซึ่งการตบแตรเบาๆและการค้อมหัวให้ หรือการยกมือขวาขึ้นเพื่อขอบคุณมักจะทำเฉพาะในกรณีที่รถสวนกันและเราเห็นหน้าคนขับรถอีกฝ่าย

แต่ในกรณีการขับตามๆ กัน หรือในเวลากลางคืน การขอบคุณโดยวิธีการใช้ไฟฉุกเฉิน จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดและสะดวกสุด

หลังจากขับรถในญี่ปุ่น ซึมซาบวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ผมได้ไปขับที่เมืองไทย สิ่งหนึ่งที่รู้สึกแตกต่างก็คือ บ้านเรารถมักจะติดฟิล์มดำ จนมองไม่ค่อยเห็นกันและกัน การก้มหัวขอบคุณก็แทบจะไม่มีประโยชน์ ต้องเปิดกระจกขอบคุณอย่างเดียว
และหลายครั้งก็ต้องเปลี่ยนเลนซ้ายบ้างขวาบ้าง รถคันหลังที่ชะลอให้เรา เราก็อยากขอบคุณแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จะเปิดประตูออกไปแล้วขอบคุณก็กะไรอยู่ จึงคิดเล่นๆว่า หากบ้านเรา เอารถญี่ปุ่นเข้ามาใช้ เราน่าจะเอาวัฒนธรรมการขับรถแบบญี่ปุ่นมาใช้บ้างก็น่าจะดี

ผมว่าคนไทยเราก็ไม่ได้เป็นคนแล้งน้ำใจหรอก มีคนที่ชะลอให้ เราเปลี่ยนเลนก็พอหาได้ เมื่อเราเปลี่ยนเลนได้แล้วเราก็อยากขอบคุณแต่ไม่รู้จะขอบคุณอย่างไร ตอนที่ผมไปเมืองไทยก็เลยลองเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปใช้ดู แม้รู้ว่าคนไทยจะไม่เข้าใจ แต่คิดว่า หากมีการใช้กันเยอะๆ น่าจะมีคนใช้มากขึ้น

ตอนกลับไปเมืองไทยผมก็เคยคิดอยากรณรงค์โดยคอนเซ็ปท์ที่ว่า นำรถญี่ปุ่นมาขับ แล้ว นำวัฒนธรรมการขับรถแบบญี่ปุ่นมาใช้บ้างก็น่าจะดี โดยสิ่งแรกที่อยากรณรงค์ก็คือ อยากให้ใช้ “ไฟขอบคุณ” หรือ”ไฟอะริงะโตะ” กันเยอะๆ หาก ท้องถนนบ้านเรามีการขอบคุณกันมากขึ้น รถอาจจะติดน้อยลง คนน่าจะมีความสุขมากขึ้น เพราะคนเราเมื่อทำอะไรไปแล้วได้รับคำขอบคุณเรามักแอบภูมิใจเล็กๆ

ใครสนใจร่วมรณรงค์ก็ลองทำดูได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้นะครับ เห็นด้วยช่วยแชร์ก็ได้นะครับ

ใครมาญี่ปุ่นก็อย่าลืมขอบคุณเมื่อคนญี่ปุ่นให้ทางเราด้วยนะครับ

 

ปล.อย่างไรก็ตามการใช้สัญญาณอะริงะโตะ ก็ต้องดูจังหวะ ด้วยหากอยู่กลางสี่แยก หรือกำลังเลี้ยวก็อย่าเพิ่งกด เดี๋ยวจะทำให้เข้าใจสัญญาณ ผิด ให้รถตั้งลำเรียบร้อย ก่อนแล้วค่อยขอบคุณก็ได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความจริงกับปิยบุตร : การเปลี่ยนผ่านรธน. บทเรียนต่างปท. และอนาคต รธน.ชั่วคราว

$
0
0

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ เผยแพร่วิดีโอคลิปบทสนทนากับ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนที่2 ว่าด้วย การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ บทเรียนจากต่างประเทศและ ตอน 3 ปัจจุบันและอนาคตการเมืองไทย ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2557 (ชั่วคราว)

โดยก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่บทสนทนากับปิยบุตร ตอนที่ 1 ว่าด้วย เนติบริกรในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญร่วมสมัยของไทยแล้ว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอชื่อ ประดิษฐ์-ดร.สุรศักดิ์-สมหมาย-จักร์กฤษ สรรหา 'สภาปฏิรูปแห่งชาติ' สายสื่อ

$
0
0


20 ส.ค.2557 นายมานพ ทิพย์โอสถ โฆษกและอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ วันนี้ว่า ที่ประชุมมีมติเสนอชื่อนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวฯและ ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวฯ เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สายสื่อมวลชน

ในวันเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มีมติเสนอชื่อนายสมหมาย ปาริจฉัตต์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยและนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สายสื่อมวลชน

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนและติดตามการทำงานของสื่อมวลชนที่ได้ รับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป และจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทุกแขนงและประชาชนทุกภาคส่วนทั่วไป ร่วมแสดงความเห็นเรื่องการปฏิรูปสื่อ ไม่ว่าผู้แทนจากสมาคมนักข่าวฯจะได้รับการสรรหาหรือไม่ก็ตาม และสมาคมนักข่าวฯพร้อมรับฟังความคิดเห็นและรับทราบถึงข้อห่วงใยและความกังวล ของเพื่อนผู้ร่วมประกอบวิชาชีพต่อสถานการณ์ดังกล่าว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

TDRI แนะบริหารจัดการน้ำยุค คสช.ให้สภาปฏิรูป-ชาวบ้านร่วม

$
0
0

 

19 ส.ค 2557 ในการสัมมนาหัวข้อ ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำประเทศไทย จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเห็นได้ว่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งเมื่อปี 2554 ทุกคนก็ทราบกันดีว่ามีน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย หลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายและแผนการบริหารจัดการน้ำของ คสช.ว่าด้วยในด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากรัฐยังมองว่าโครงการป้องกันน้ำท่วมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้ที่ได้รับผลกระทบควรเป็นผู้ที่เสียสละ ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาก็คือการรวมตัวออกมาคัดค้านของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้ง คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แต่แบ่งหน้าที่ของอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามรายกระทรวง ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลว่า โครงการที่หน่วยงานนำเสนอขึ้นมาจำนวนมาก เป็นรูปแบบของขนมชั้น ที่ขาดการบูรณาการและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

นิพนธ์กล่าวว่า คสช.ไม่ควรเร่งสรุปผลภายใน 15 ต.ค.นี้ และควรให้สภาปฏิรูปร่วมกับ สศช.เดินทางสายรับฟังความเห็นประชาชน ดำเนินการภายใน 1 ปี เพื่อให้ คสช.นำข้อมูลไปประกอบการวางแผน ไม่ให้ซ้ำรอยกับโครงการ 3.5 แสนล้านที่เอาทุกโครงการมารวมกันโดยบางโครงการไม่มีความพร้อมและยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ


“ในอนาคตโครงการป้องกันน้ำท่วม จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อคนที่มีฐานะและชนชั้นกลางที่อาศัยในชานเมืองและชนบท ปัจจุบันจะเห็นว่าชุมชนย่านชานเมืองที่อาศัยนอกคันกั้นน้ำ ล้วนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของชนชั้นกลางและฐานะดี ส่วนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลางและเป็นฐานเสียงที่กลุ่มใหญ่ที่สุด

ชุมชนบางแห่งในพื้นที่จะถูกเวนคืนที่ดิน แต่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีความรู้ความสามารถเนื่องจากคนในชุมชนร่วมมือกัน ปัจจุบันชาวบ้านมีการศึกษาและรายได้เพิ่มขึ้น จึงแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านให้ความสำคัญต่อมูลค่าสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น” 

นิพนธ์ พัวพงศกร กล่าวเพิ่มเติม ปัจจุบันมักจะพบเห็น ชาวบ้าน เอ็นจีโอ นักวิชาการ ออกมาต่อต้านโครงการน้ำท่วมหรือโครงการชลประทาน ยกตัวอย่างเช่นกรณีแก่งเสือเต้น ประชาชนเริ่มออกมาตั้งคำถามว่าใครได้รับผลประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างป้องกันน้ำท่วม ใครแบกรับภาระของการป้องกันน้ำท่วมและมีทางเลือกอื่นในการจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมไหม

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านพลังงานซึ่งคาดการณ์ว่าทรัพยากรธรรมชาติจะหมดภายใน 70 ปี ทางออกคือการซื้อทรัพยากรธรรมชาติจากต่างประเทศ ในอนาคตการพัฒนาคือการขยายตลาด AEC จุดเด่นคือ ธุรกิจขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ และภัยพิบัติมากขึ้นโดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก เนื่องจากมีความต้องการน้ำมากขึ้น น้ำจะเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของประเทศ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้จะต้องมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงภัยที่เพิ่มขึ้นให้เหมาะสม

“ขั้นตอนในการดำเนินการ แยกเป็น 2 โครงการ ด้านโครงการใหญ่ (top down) จัดทำโครงการ พร้อมศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบ อาจรวมถึงการจัดทำประชาพิจารณ์ จัดทำการของบประมาณ ดำเนินโครงการและการบำรุงรักษา ด้านโครงการขนาดเล็ก (ชุมชน) (bottom up) มีการจัดทำเวทีในชุมชน รวมเป็นโครงการใน อปท. เลือกเสนอโครงการผ่าน อปท. จังหวัด หน่วยงาน ในการดำเนินการขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้มา”

สุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องดูว่าศักยภาพแหล่งน้ำของประเทศไทยมีปริมาณเท่าไรถึงจะพอที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน และเห็นว่าควรมีการทบทวนทั้งภาครัฐและประชาชนเพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหา ในการจัดการเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฎิบัติ ควรมีการทำวิจัยเกี่ยวเก็บเรื่องทรัพยากรน้ำไว้เป็นข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลแนวทางการจัดทำนโยบายและการปฎิบัติ

ด้านภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ บุษบงก์ ชาวกัณหา เครือข่ายลุ่มน้ำปราจีน กล่าวว่า นโยบายของประเทศไทยนิยมนำแนวทางของต่างประเทศมาเป็นนโยบายแก้ปัญหา ซึ่งบางอย่างก็ไม่เหมาะสมกับพื้นที่ของประเทศไทย ปัญหาน้ำท่วมที่ภาคตะวันออกได้ส่งผลกระทบต่อการเกษตรเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาคือกระทรวงวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านพบว่ามีการวางท่อใยหิน ซึ่งมีอายุการใช้งานเพียง 20 ปี ปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ อีกทั้งมีการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีการกว้านซื้อที่ดินตอนล่างทำให้ชาวบ้านต้องเช่าที่ทำการเกษตร

“ปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะมีการแก้ปัญหาจากภาครัฐโดยการตั้งเครื่องสูบน้ำจากที่ต่ำไปที่สูง น้ำในอ่างเก็บน้ำก็เก็บไว้ใช้สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังประสบปัญหาเรื่องของน้ำเค็มที่หนุนขึ้นมาทำให้ยากต่อการเจริญเติบโตของพืชผลทางการเกษตร หน่วยงานของรัฐควรจัดอบรมหรือเวทีให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี จุดแข็งคือการปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ อยากให้คำนึงถึงเรื่องปากท้องของชาวบ้านด้วย” บุษบงก์กล่าว


กัมปนาท ภักดีกุล รองศาสตราจารย์คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรให้ความสำคัญกับการผันน้ำระหว่างประเทศ เพราะในอนาคตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีการสร้างเขื่อนผุดขึ้นมาอีกมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกับประเทศไทยในอนาคตอย่างแน่นอน ควรมีการเตรียมตัวรับมือเช่นการออกแบบถนนที่ระบายน้ำท่วม ออกแบบวิจัยบ้านที่รับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากฝากไว้ให้พิจารณา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถอนฟ้องคดีฟ้องชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กระบี่

$
0
0

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง โจทก์ ถอนฟ้อง ชาวบ้าน อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ พร้อมยื่นเงือนไขให้ชาวบ้านฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 60 วัน

20 ส.ค.2557 สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน(Human Rights Lawyers Association) รายงานว่า วันนี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงดุสิต ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง โดยนายนรินทร์ เก่งธนทรัพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ในคดีที่ ยื่นฟ้องชาวบ้าน จังหวัดกระบี่ ประกอบด้วย นายสถิต ยอดพิจิตร์ กับพวกรวม 7 คน ก่อนสืบพยาน ศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสอง โดยโจทก์ประสงค์จะถอนฟ้องชาวบ้าน โดยมีเงือนไขให้จำเลยฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้หน่วยงานราชการเพิกถอนประทานบัตร ภายใน 60 วัน โจทก์และจำเลยทั้ง 7 คน ได้ยอมรับตามเงื่อนไข ศาลจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ทั้งนี้คดีเกิดจาก กรณีที่ชาวบ้าน ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น” ออกมาคัดค้านการออกประทานบัตรการทำเหมืองแร่หินของทางราชการ ที่ออกให้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ซึ่งได้ออกไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 55 แต่ชาวบ้านเห็นว่ากระบวนการออกใบอนุญาตไม่เป็นธรรม กลุ่มชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนไปยังต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่ แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ทราบความดังกล่าว จึงได้แจ้งความต่อชาวบ้าน ในข้อหาแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มจธ.จัดระเบียบ 'สถานศึกษาปลอดเหล้า' ผุดมาตรการคุมประพฤติ โทษสูงสุดถึงพ้นสภาพ นศ.

$
0
0

มจธ. จับมือเครือข่ายฯ จัดระเบียบสถานศึกษาปลอดเหล้านำร่อง เดินหน้าลุยสถานประกอบการร้านค้าและหอพัก ในโครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัย พร้อมร่วมกับตำรวจสน.ราษฎร์บูรณะเตรียมใช้มาตรการพิเศษควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ บทลงโทษตั้งแต่บำเพ็ญประโยชน์จนพ้นสภาพนักศึกษา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักงานเขตทุ่งครุ สถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ และกองพันทหารช่างที่ 9 จัดโครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยฯ และโรงเรียนนาหลวง สังกัดกรุงเทพมหานคร ตามมาตรการสถานศึกษาปลอดเหล้านำร่องตั้งแต่ปี 2555 โดยได้เชิญผู้ประกอบการร้านค้าร้านอาหารและหอพักห้องเช่าในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยมาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ในพื้นที่

สุชาติ เพริดพริ้ง ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวเพื่อต้องการให้ทุกภาคส่วนและทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบสังคมเพื่อให้สังคมและชุมชนของเราน่าอยู่ โดยเฉพาะสถานประกอบการร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และหอพักห้องเช่าที่มีการจำหน่ายอาหารมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอความร่วมมือไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับนักศึกษาและผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ร่วมด้วยสน.ราษฎร์บูรณะมีมาตรการมาใช้ควบคุมนอกจากการรณรงค์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่องทางการร้องเรียนการกระทำผิด การสร้างเครือข่ายนักเรียนและนักศึกษา แกนนำในการเฝ้าระวังการกระทำผิดหรือการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดกิจกรรมประเพณีปลอดเหล้า อีกทั้งยังมีการจัดหน่วยตรวจร่วมกับทหาร ตำรวจ เครือข่ายชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาและหอพัก ซึ่งจะเริ่มรณรงค์ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้

พ.ต.อ. เจษฎา สวยสม ผู้กำกับการ สถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรอบ มจธ. และโรงเรียนนาหลวง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.ราษฎร์บูรณะมีเพิ่มมากขึ้นและการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสถานประกอบการต่างๆ มีนักเรียน นักศึกษานิยมเข้าไปดื่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงคืนวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกฝ่ายทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย สถานีตำรวจนครบาลฯ ทหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายในชุมชน เห็นพ้องร่วมกันต้องการให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของสถานศึกษาปลอดเหล้านำร่อง ควบคุมสถานประกอบการให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อนักศึกษาเด็ก และเยาวชน รวมถึงไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับชุมชน และต้องไม่กระทบกับผู้พักอาศัยใกล้เคียง จึงขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2555  พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาตรวจสอบกรณีร้านค้าหรือสถานประกอบการใดที่มีการส่งเสริมการขายด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การจัดโปรโมชั่นซื้อสุรา 2 แถม 1 เพื่อประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ป้ายโฆษณา การโชว์สินค้า เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ยั่วยุทำให้เยาวชนเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการจำหน่ายสุราให้กับเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี การจำหน่ายสุราโดยไม่มีใบอนุญาต การเปิดและปิดตามเวลาที่กำหนด การปล่อยให้มีการพกพานำอาวุธเข้ามายังสถานประกอบการโดยไม่มีการตรวจสอบดูแล หากตรวจพบหรือมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายทุกข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นจริง หากยังเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือ ถือเป็นการทำร้ายสังคม ก็จำเป็นต้องนำมาตรการตามกฎหมายทุกรูปแบบมาใช้

สำหรับการรณรงค์ป้องกันกลุ่มเยาวชนที่จะเป็นนักดื่มหน้าใหม่ภายในสถานศึกษานั้น พ.ต.อ. เจษฎา กล่าวว่า “ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ราษฎร์บูรณะร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีการกำหนดมาตรการร่วมกันเป็นมาตรการพิเศษเฉพาะในการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักศึกษา นอกเหนือจากมาตรการทางกฏหมายและมาตรการทางวินัยตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยมาตรการพิเศษนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารจะใช้เพื่อควบคุมความประพฤติของเด็กนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัย มีกำหนดบทลงโทษตั้งแต่เบา เช่น การทำกิจกรรม การบำเพ็ญประโยชน์ จนถึงขั้นพ้นสภาพนักศึกษาซึ่งถือเป็นบทลงโทษสูงสุด”

ด้าน ร.อ.ณัฐพงษ์ เสริมสุข นายทหารยุทธการผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่เขตทุ่งครุ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีสื่อที่สร้างค่านิยมให้กับเยาวชนไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาพยนตร์หรือละครมักจะมีภาพที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบทุกเรื่อง  ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงจำเป็นจะต้องปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชน และการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมเยาวชนไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติดก่อนวัยอันควร จึงอยากขอให้ผู้ประกอบการร้านค้าในเขตที่มีสถานศึกษานึกถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวมมากกว่านึกถึงผลประกอบการหรือรายได้ เพราะเยาวชนถือเป็นอนาคตของชาติ หรือแม้แต่หอพักห้องเช่าต้องขอความร่วมมือในการกวดขันเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปีหากพบว่ามีการมั่วสุมของเยาวชนมีการนำเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีสิ่งเสพติดเข้าไปภายในห้องพักให้รีบแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เข้าไปควบคุมตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎระเบียบต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารรวบ ‘ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน’ เข้าค่าย ขณะเดินขบวนมา กทม.

$
0
0

ทหารชี้ ขบวนเดินเท้าข้าหุ้นปฎิรูปพลังงาน ทำผิดกฎหมาย ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน วอนให้ยุติกิจกรรม ก่อนที่ขบวนเดินต่อและถูกรวบเข้าค่ายทหารในเวลาต่อมา

หลังจากเมื่อวานนี้(19 ส.ค.) ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ทหารได้ร้องขอให้ เครือข่ายภาคประชาชน 11 จังหวัดภาคใต้ ยุติการกิจกรรมที่กำลังรวมตัวกันที่บริเวณหอนาฬิกา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เตรียมเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องปฏิรูปพลังงาน ภายใต้ชื่อกิจกรรม ขบวนเดินเท้า “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” โดยเจ้าหน้าที่ทหาร อ้างจะเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นทำตาม อย่างไรก็ตามดขบวนเดินเท้าของเครือข่ายภาคประชาชน ฯ ยังคงยืนยันเดินต่อและถูกทหารบันทึกภาพขณะผ่านด่านตรวจนั้น(อ่านรายละเอียด : ทหารเบรกภาค ปชช.ใต้เดินเท้ามุ่ง กทม.เรียกร้องปฏิรูปพลังงาน)

ล่าสุดวันนี้(20 ส.ค.) ซึ่งเป็นการเดินขบวนวนวันที่ 2 เว็บไซต์คนชายข่าว คนชายขอบรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ตำรวจและทหาร และรถประมาณ 10 คัน ได้เชิญตัวขบวนเดินเท้าประมาณ 15 คน ไปค่ายเสนาณรงค์แล้ว

ภาพจากเฟซบุ๊ก 'ณาตยา แวววีรคุปต์'

โดยเว็บไซต์คนชายข่าวฯ รายงานด้วยว่า เมื่อก่อนหน้านั้น เวลา  12.00 น. ระหว่างที่ขบวนเดินเท้าหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันในปั้มน้ำมันพีแอนซีปิโตเลียม ได้มีนายทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ประมาณ 20 คนทั้งระดับผู้บังคับบัญชา อาทิ พ.อ.วรพล วรพันธ์ เสนาธิการมลทลทหารบกที่ 42 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสัมพันธ์ เนตตกุล นายอำเภอรัตภูมิ เดินทางมาพบคณะเดินเท้า โดยพ.อ.วรพล ได้สั่งการให้ขบวนเดินเท้ายุติการเดิน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทำผิดกฎหมายที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

“ทำไมพวกคุณไม่ไปใช้ช่องทางปฎิรูป เขาไม่จำกัดทุกเพศทุกวัย วิธีการที่พวกคุณทำกันอยู่นี่มันผิด ผมขอให้พวกคุณหยุดแค่นี้แล้วไปนั่งคุยกัน ผมจะเชิญผู้ว่าราชการฯมาร่วมด้วย พวกคุณอยากเสนออะไรก็ไปใช้ช่องทางที่ถูกต้อง รู้มั้ยบ้านเราตอนนี้ไม่มีใครเขาอยากมาเที่ยวแล้ว ผมเข้าใจสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่ แต่มันผิดกฎหมาย ผมไม่อยากบังคับใช้กฎหมาย หยุดตรงนี้แล้วไปหาช่องทางที่ถูกต้อง”พ.อ.วรพล กล่าว

พ.อ.วรพลกล่าวว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่าตอนนี้การบริหารประเทศของคสช.อยู่ในระยะที่ 2 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และกำลังจะมีการคัดเลือกสภาปฎิรูปแห่งชาติ ซึ่งก็สามารถเอาปัญหาเหล่านี้เข้าไปได้ โดยหัวหน้าคสช.ไม่ชอบอะไรที่ทำผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ทางกลุ่มผู้ร่วมขบวนเดินเท้าพยายามชี้แจงว่า การเดินขบวนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องทางการเมือง และเป็นการทำด้วยใจบริสุทธิ์โดยได้เตรียมตัวกันมาระยะหนึ่งแล้ว ที่สำคัญคือไม่เคยเห็นคสช.เป็นศัตรู

“คสช.อย่ามาผูกขาดความรักชาติ วันนี้การเปิดใจกว้างเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเมื่อมีการปฎิรูป และข้อเรียกร้องของพวกเราก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ว่าราชการจะตอบได้ เช่น การให้ยกเลิกสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จริงแล้วตรงนี้เป็นกระแสปฎิรูปที่คสช.ควรช่วยสร้างด้วยซ้ำ พวกเราพยายามไม่ทำผิดกฎหมายเพราะโทรโข่งก็ห้ามเราใช้ ขบวนเราก็จัดให้เหลือเล็กลงแล้ว ทุกคนต่างก็มีหน้าที่ เรามีหน้าที่เดินก็จะเดินต่อไป ถ้าท่านจับพวกเราก็ไปนอนอยู่ข้างใน ถ้าจะให้หยุดก็ต้องหยุดโครงการต่างๆตามที่เราเรียกร้อง”ผู้ประสานงานในทีมเดินเท้ารายหนึ่ง กล่าว

ทั้งนี้การพูดคุยเป็นไปอย่างเคร่งเครียดกว่า 1 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 13.25 น.จึงยุติลงโดยภาคประชาชนยืนยันว่าจะเดินหน้าทำกิจกรรมรณรงค์ต่อไป และยอมถูกควบคุมตัว นอกเสียจากว่าทหารจะยอมประกาศให้มีการยกเลิกโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทุกโครงการ ซึ่งพ.อ.วรพลบอกว่าตนเองไม่มีอำนาจเช่นนั้น และตนขอทำตามหน้าที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เหมืองแร่เมืองเลย แถลงโต้กรณีปั่นข่าวลวงทุ่งคำยอม 'ปิดเหมือง'

$
0
0
กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระดมโฉนดประกันตัวเพื่อนที่ถูกฟ้อ พร้อมแถลง กรณีปั่นข่าวลวงทุ่งคำยอม “ปิดเหมือง” ข้อเท็จจริงรัฐเตรียมดันสัญญาฯ เงียบผ่าน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต.

20 ส.ค.2557 เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาบริเวณหน้าศาลจังหวัดเลย มีประชาชนนำเอาโฉนดที่ดิน และ น.ส.3.ก ซึ่งได้รับการประเมินราคาแล้วมาประกันตัวผู้ต้องหาคดีอาญา จากการที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องชาวบ้านรวมทั้งหมด 33 ราย รวมคดีที่บริษัททุ่งคำฟ้องคดีแพ่งและอาญาชาวบ้าน 7 คดี ซึ่งที่ผ่านมาศาลได้รับฟ้องคดีแล้ว 2 คดี และในวันนี้เป็นการยื่นขอประกันตัวในคดีอาญา 2 คดี

โดยหนึ่งในผู้ต้องหาที่มาทำการประกันตัว คือ นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ที่เพิ่งคลอดลูกสาวอายุไม่ครบเดือน ส่วนสามี นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ เป็นผู้ต้องหาทั้งหมด 7 คดี

ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ออกแถลงการณ์ เพื่อยืนยันกับสาธารณะว่า การเจรจาที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ปัญหาระหว่างชาวบ้านและเหมืองทองของบริษัททุ่งคำฯ ในช่วงที่ผ่านมา "ยังไม่มีข้อยุติใดๆ" รวมถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตรงตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักได้รายงาน แถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้

การที่ข่าวท้องถิ่น ข่าวออนไลน์ และข่าวต่างๆ ออกไปว่า ชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ให้บริษัททุ่งคำ ขนแร่ และขอเปิดทำเหมืองต่ออีก 2 แปลง คือ แปลงภูเหล็ก และแปลงนาโป่ง ต่ออีก 12 ปี นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก การเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐ, ชาวบ้าน, เหมืองทองคำ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถตกลงกันได้

ข้อตกลงจะต้องปฏิบัติตามที่แต่ละข้อ เป็นขั้นเป็นตอน จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ข้ามไปก่อนข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ได้ ฉะนั้น ข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นโดยกระบวนการที่ให้ผู้ใหญ่บ้าน 6 หมู่บ้าน สมาชิก อบต. 6 หมู่บ้าน และชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ร่วมกับเหมือง (บริษัททุ่งคำ) ลงนามในข้อตกลงหรือสัญญา เพื่อให้บริษัทกับชาวบ้านอยู่ร่วมกันนั้น ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น จะขอสู้ตามแนวทางตนเองต่อไป คือ อาศัยความสมัครสามัคคีของฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน เป็นที่ตั้ง

ส่วนเรื่องคดีความระหว่างเหมืองกับชาวบ้าน 6 หมู่บ้านนั้น กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเห็นว่า การจะถอนฟ้องผู้ใดผู้หนึ่งหรือบางคดีความ แล้วเหลือไว้บางคนในบางคดีจะทำไม่ได้ เพราะเราอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเครือญาติพี่น้อง ดังนั้น เราขอสู้ร่วมกับชาวบ้าน 33 คน ที่ถูกฟ้องคดีความ เพื่อปกป้องแผ่นดินบ้านเกิด ต้องปิดเหมืองถาวร คืนภูเขา ป่าไม้ แม่น้ำ สิ่งแวดล้อม ให้กับฅนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 6 หมู่บ้าน

"หากมีการทำสัญญา หรือมีการทำข้อตกลง ระหว่างหน่วยงานรัฐ เหมืองทองคำ และ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. โดยที่ชาวบ้านยังไม่ได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบต่อเนื้อหาในสัญญาหรือข้อตกลงที่จัดทำขึ้น ชาวบ้านจะไม่ยอมรับ และจะคัดค้านการตกลงกันในครั้งนี้ เนื่องจากหากผู้ใหญ่บ้านไปลงนามก็จะเป็นการลงนามในฐานะตัวแทนของฝ่ายรัฐ สมาชิก อบต.หากลงนาม ก็จะเป็นการลงนามในฐานะตัวแทนขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นตัวแทนของชาวบ้านอันรวมตัวกันเป็นชุมชน ดังนั้นสัญญาหรือข้อตกลงที่จะจัดทำขึ้น จะต้องนำมาผ่านความเห็นชอบของชาวบ้านในชุมชน 6 หมู่บ้าน โดยการทำประชาคมเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น" นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกล่าว

 

มติประชาคม 6หมู่บ้าน เมื่อวันที่ 16สิงหาคม 2557

1. ให้มีการปิดเหมืองโดยจัดทำสัญญาขึ้นเป็นสัญญาลายลักษณ์อักษร ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตัวแทนชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย ร่วมลงนามใน “สัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อกำหนดเป็นหลักฐานว่า

1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใดๆ ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ หากไม่ได้รับการยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดในพื้นที่ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป (บรรลุนิติภาวะ)

1.2 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกันพื้นที่ที่เป็น “แหล่งน้ำซับซึม” อันเป็นต้นน้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญในด้านการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค ของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน และในจังหวัดเลย เพื่อเป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม โดยมิให้ใช้ประโยชน์อื่นใดในที่ดินดังกล่าว

1.3 ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการศึกษาสาเหตุของการปนเปื้อนโลหะหนักในพื้นที่เหมืองแร่และพื้นที่โดยรอบเหมืองแร่ 6 หมู่บ้าน จนกว่าจะได้ข้อสรุปการปนเปื้อน ผลประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ค่าภาคหลวงแร่ กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชน และผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA โดยให้นักวิชาการที่ชาวบ้านมีส่วนในการคัดเลือกเป็นผู้ทำการศึกษาตามหลักการของกระบวนการมีส่วนร่วม

1.4 ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หรือ ผู้ประกอบการรายอื่น เปิดการดำเนินกิจการเหมืองแร่ โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

2. เงื่อนไขในการขนแร่ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่

2.1 ให้ถอนฟ้องคดีความ 7 คดี ที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ฟ้องร้อง-กล่าวโทษเอาผิดกับชาวบ้าน 33 ราย

2.2  ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด รื้อถอนและขนย้ายเครื่องจักรออกนอกพื้นที่แปลงประทานบัตร

2.3 ส.ป.ก.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 369 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดินดังกล่าวมอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ

2.4 ทสจ.จังหวัดเลย ต้องไม่ต่อใบอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก จำนวน 6๐8 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา และที่ดินในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา เพื่อใช้ในกิจการเหมืองแร่ทองคำ ที่หมดอายุลง และให้นำที่ดิน ในเขตป่าตามมาตรา 4(1) จำนวน 312 ไร่ 2 งาน 13 ตารางวา มอบให้ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน จัดทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำป่าชุมชนให้กับชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการจาก 6 หมู่บ้าน เป็นผู้ดำเนินการ

2.5 อบต.เขาหลวง ต้องไม่อนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกภูเหล็ก

2.6 ให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ออกนอกพื้นที่ เฉพาะแร่แต่งแล้ว จำนวน 1,942.54 ตัน

2.7 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ ต้องขนแร่โดยปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ระเบียบที่ประกาศโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ทางหลวง และระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก

2.8 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ภายใน 15 วัน หลังจากมีการลงนามในสัญญาฯ นี้ คณะกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน ในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดงบประมาณในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว

2.9 การขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกนอกพื้นที่ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งวันและเวลาในการขนแร่ แก่คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ก่อนการขนแร่ 15 วัน และให้ทำการขนแร่ได้ในเวลากลางวันเท่านั้น

2.10 หากการขนแร่ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีการทำผิดกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตาม ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และข้าราชการที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้ถึงที่สุด

2.11 ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ขึ้นมาใหม่ หากจะอนุญาตให้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้ประกอบการอื่นๆ ประกอบโลหกรรม โดยการจัดทำรายงานฯ ต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

3. เงื่อนไขในการฟื้นฟูผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ให้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดตั้งคณะกรรมการในการศึกษา จัดทำแผน และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน นักวิชาการจากสาขาที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ คัดเลือก แต่งตั้ง โดยนำงบประมาณในการดำเนินการมาจาก กองทุนประกันความเสี่ยง และกองทุนฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองแร่ โดยต้องไม่ให้ผู้ประกอบการที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยขั้นตอนการดำเนินการ ตามมติความต้องการของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ในครั้งนี้ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเลย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1. หลังจากการปิดเหมือง โดยจัดทำสัญญาการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเหมืองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตำรวจ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และตัวแทนชาวบ้าน ลงนามในสัญญาฯ เพื่อเป็นหลักฐานให้เป็นที่เรียบร้อย

ขั้นตอนที่ 2. ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาฯ ให้แล้วเสร็จ และรายงานต่อ คณะกรรมการตรวจสอบการขนแร่ ตามข้อ 2.8 ก่อนจะมีการขนแร่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมให้บริการ WiFi ฟรี ในศาลทั่วไทย

$
0
0

สำนักงานศาลยุติธรรมจับมือกสท. เตรียมให้บริการ WiFi ในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ฟรี

20 ส.ค. 2557  กลุ่มงานโฆษกและเผยแพร่ข่าว สำนักงานศาลยุติธรรม รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ได้จัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (CAT WiFi) แก่ประชาชนและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม โดยนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)   หรือ CAT โดยนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. กสท.โทรคมนาคม เพื่อรองรับ     การให้บริการแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการที่หน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรมทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชนด้วยการอำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลผ่าน ระบบอินเตอร์เน็ต และยังเป็นการขยายช่องทางการให้บริการประชาชนของศาลยุติธรรมผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การให้บริการค้นหาข้อมูลคดีและวันนัดพิจารณาคดีผ่านเว็บไซต์ของศาลยุติธรรม เป็นต้น
 
สำหรับการให้บริการ CAT WiFi นี้ เป็นบริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะแบบไร้สายฟรี สำหรับประชาชนที่มาติดต่อราชการศาลและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม โดยจะดำเนินการติดตั้ง ณ ที่ทำการสำนักงานศาลยุติธรรม และที่ทำการศาลยุติธรรมทั่วประเทศ รวมทั้งบริเวณที่พักอาศัยของทางราชการสำหรับข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่ง CAT เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบเครือข่าย CAT WiFi รวมถึงการจัดการระบบ Log in ให้ง่ายและสะดวกต่อการเข้า  ใช้งาน และการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ (Log file) ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
 
นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า การสื่อสารออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เราอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อระหว่างกัน หรือการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลยุติธรรมและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมด้วยการให้บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และได้มีการติดตั้งระบบนำร่องเพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ทไร้สายแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการบริเวณพื้นที่ให้บริการประชาชน อาคารศาลอาญา ชั้น 2 เมื่อเดือนธ.ค. 56 ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจาก CAT เป็นอย่างดี คาดว่า หลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเป็นพันธมิตรเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ  แบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (CAT WiFi) แก่ประชาชนและข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมทั่วประเทศในวันนี้ จะสามารถให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในศาลยุติธรรมทั่วประเทศได้เร็วๆนี้ 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พล.ต.นักรบ’ ยัน ‘คสช.’ เดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ ฝ่ายความมั่นคงปรับท่าทีหนุน

$
0
0
เสวนา ‘ความมั่นคงของชาติกับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้’ ‘พล.ต.นักรบ’ ยัน คสช.สั่งเดินหน้าการพูดคุยสันติภาพ คาดกระบวนการชัดขึ้นหลังมีรัฐบาลใหม่ เผยเตรียมร่างโรดแมปเปิดเวทีหารือทั่วประเทศ ด้าน ‘ศรีสมภพ’ ย้ำการพูดคุยสันติภาพเปลี่ยนสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นย้ำประชาชนต้องมีส่วนผลักดัน
 
 21 ส.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 วิทยาลัยประชาชน (People’s College) จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ความมั่นคงของชาติกับอนาคตสันติภาพชายแดนใต้’ ที่ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมี พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ร่วมอภิปราย
 
พล.ต.นักรบ กล่าวระหว่างการเสวนาว่า ขอยืนยันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเดินหน้าต่อไป เพราะจากประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 96/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อดำเนินการสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ ในขณะที่นโยบายบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ระบุให้มีการส่งเสริมการพูดคุย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างฉบับใหม่ที่จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่งนโยบายฉบับปัจจุบันก็มีการระบุถึงการส่งเสริมให้มีการพูดคุยสันติภาพ เพียงแต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่เป็นทางการ จึงทำการเปิดตัวยากมาก
 
“ผมคิดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อมีรัฐบาลแล้ว คิดว่าสามารถที่ดำเนินการกระบวนการสันติภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับกระบวนสันติภาพมากที่สุด พร้อมทั้งมีการเดินสายพบปะกับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องกระบวนการสันติภาพ ที่สำคัญหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงจะร่าง Roadmap กระบวนการสันติภาพของรัฐบาลและนำไปรับฟังความเห็นของประชาชน” พล.ต.นักรบ เปิดเผย
 
นายทหารจาก กอ.รมน. กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะต่อต้านเรื่องการพูดคุยกับฝ่ายตรงกันข้าม แต่ก็เป็นธรรมชาติของกลุ่มที่ดูแลเรื่องความมั่นคง หากสังเกตฝ่ายความมั่นคงจะคัดค้านเรื่องการพูดคุยเนื่องจากมองประเด็นปัญหาเป็นเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก กังวลว่าหากดำเนินการไม่ดีแล้วจะเกิดผลกระทบตามมาและฝ่ายตนเองจะต้องรับผิดชอบ แต่หากสังเกตให้ดี ท่าทีของฝ่ายความมั่นคงจากที่เคยแข็งกร้าวในเรื่องนี้ก็กลับเริ่มเปลี่ยนท่าที สำหรับตนนั้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมาก็เฝ้าสังเกตการณ์มาโดยตลอด และเห็นว่าแม้ว่าจะเริ่มต้นได้ดี แต่กระบวนการถือว่าเร็วเกินไป ปัญหาใหญ่คือความเข้าใจเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติภาพว่าในขั้นตอนแรกจำเป็นต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อนเป็นลำดับแรก ตนเห็นว่าที่ผ่านมาหนึ่งปีนั้นไม่ได้ล้มเหลว แต่ก็ถือว่าเดินไปได้ไม่ได้ดีมากนัก
 
“ปัญหาคือเรื่องการสื่อสารที่ไม่สื่อว่าขั้นตอนควรเป็นเช่นไร รัฐควรสื่อสารกับคนทั้งประเทศว่าเห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการสันติภาพที่ภาคใต้ ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยอยู่แล้ว เราจึงจะสามารถดำเนินการได้ ควรเปิด Roadmap ให้ทราบกันทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สื่อสารว่าเรากำลังอยู่ในขั้นที่หนึ่ง คือการสร้างความเชื่อมั่น ในขั้นนี้ก็อาจจะมีขั้นที่ 1.1 1.2 ไปจนถึง 1.100 ซึ่งต้องใช้เวลา จะข้ามแต่ละขั้นก็ต้องมีตัวชี้วัดชัดเจน หากผมเป็นคนที่อยู่กรุงเทพฯ แล้วมีการเซ็นต์สัญญาพูดคุย คนกรุงเทพฯคิดว่าปัญหาภาคใต้จบแล้ว แต่ความจริงคือไปคุยเพียงครั้งแรกนั้นเพื่อไปสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้อย่างไร หากขั้นแรกยังไม่สำเร็จ จะสร้างขั้นสองต่อไปก็ยังไม่ได้”
 
พล.ต.นักรบ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อจากนั้นคือการลงนามในข้อตกลงว่าจะเดินหน้าพูดคุยหรือการเจรจากันต่อ ในตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร จะออกมาเป็นการกระจายอำนาจ การปกครองตนเอง หรือแยกเป็นเอกราชก็ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่มีการตั้งประเด็นว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด เพราะเราต่างก็ไม่รู้ว่าระบบการเมืองแบบใดดีที่สุดหรือเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการร่าง Roadmap ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร
 
พล.ต.นักรบ เปิดเผยอีกว่า สำหรับแผนที่เดินทาง หรือ Roadmap ที่หน่วยงานความมั่นคงจะจัดทำขึ้นนั้นจะยกร่างโดยเอาประสบการณ์การสร้างกระบวนการสันติภาพจากหลายประเทศ เช่น ไอร์แลนด์เหนือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น มาเป็นรูปแบบในการดำเนินการกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ กอ.รมน. อาจจะยกร่างขึ้นมาก่อนแล้วนำมาปรับแก้หลังจากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว
 
“ผมขอเรียนว่าเราเดินต่อไป แต่ขณะนี้รัฐไทยยังไม่พร้อม เราขอเตรียมการดีไซน์รูปแบบและวิธีการทำงานก่อน เพราะตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้อยู่ในสถานะปกติ การเปิดเวทีพูดคุยกับต่างประเทศก็ค่อนข้างยาก เพราะติดที่เรื่องประสานงาน”
 
นายทหารจาก กอ.รมน. กล่าวว่า ความท้าทายและความเสี่ยงที่กระบวนการซึ่งกำลังดำเนินอยู่นี้คือความหวาดระแวงที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เนื่องจากไม่มีการสร้างความไว้วางใจไว้ก่อนที่จะมีการลงนาม ในขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ยังระแวงรัฐบาลมาเลเซียอยู่ ส่วนฝ่ายขบวนการในพื้นที่เองก็ไม่รู้จักผู้นำของกลุ่มตัวเองและมีความเสี่ยงที่จะมีการปฏิวัติภายในองค์กร ซึ่งประเมินได้จากการที่พวกเขาพยายามสื่อสารผ่านยูทูปเพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจให้ตรงกันกับทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการคือการเร่งการพูดคุยให้เร็วมากเกินไปเหมือนกับการพูดคุยครั้งที่ผ่านมา
 
พล.ต.นักรบ กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงที่จะทำให้การพูดคุยไม่ประสบความสำเร็จยังอยู่ที่เอกภาพของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมักจะมีความขัดแย้งกันเอง การแก้ไขปัญหานี้คือการสร้างเอกภาพทางความคิด กล่าวคือทำอย่างไรให้คิดต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งจุดนี้แนวนโยบายฉบับใหม่ที่กำลังยกร่างอยู่จะช่วยได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเอกภาพทางการบริหารที่จะต้องแก้ไขให้ได้
 
ส่วนการพูดคุยสันติสุขจะใช้กรอบการลงนามฉันทมติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ลงนามระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ BRN เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 หรือไม่นั้นต้องให้ผู้ที่เกี่ยวในระดับสูงเป็นผู้ตัดสินใจ แต่ตนมองว่ากรอบดังกล่าวยังมีประโยชน์อยู่ เนื่องจากมีการระบุว่าการพูดคุยต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หากทำกรอบการพูดคุยขึ้นมาใหม่อาจมีปัญหาตามมา
 
ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพในรอบปีที่ผ่านมา แม้จะมีการหยุดชะงักไปแต่ก็ส่งผลอย่างมากต่อสถานการณ์ในพื้นที่ เนื่องจากมีการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้กลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐได้มาพูดคุย ซึ่งอยู่ในกรอบคิดที่ทาง สมช. ได้ระบุไว้ในนโยบาย และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสันติภาพที่มีพลวัตในพื้นที่ ทำให้ผู้คนเริ่มคิดหาทางออกได้โดยไม่ฆ่ากัน
 
ขณะนี้เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยสันติภาพซึ่งเป็นขั้นตอนของการเตรียมการสู่การเจรจาสันติภาพในอนาคต ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเพียงใด แต่ที่รู้แน่ชัดคือกระบวนการสร้างสันติภาพนั้นมีช่องทางอยู่หลากหลาย การเปิดพื้นที่ทางการเมืองในช่องทางเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเครือข่ายหนุนเสริมสันติภาพที่จะทำงานเมื่อถึงคราวที่กระบวนการหยุดชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และประชาชนกลุ่มต่างๆ ร่วมกันผลักดันมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
 
“การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมีความสำคัญมาก หากขาดโครงข่ายรองรับการพูดคุยสันติภาพ จะทำให้การพูดคุยไม่ราบรื่น ไม่ยั่งยืน ต้องมีการดำเนินการจากล่างขึ้นบน จากบนลงล่าง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แบรด อดัมส์

$
0
0

“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ศาลไทยยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ที่รอการไต่สวนในคดี ‘ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์’ การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบต่อผู้ต้องหาคีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะลงโทษพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้ไต่สวนด้วยซ้ำ”

20 ส.ค.57 ผอ.ฝ่ายเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทซ์

กลุ่มนักกฎหมายสิทธิ เรียกร้อง คสช. หยุดคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก

$
0
0

21 ส.ค.2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก ยกตัวอย่างกรณีเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวเครือข่ายประชาชน 11 จังหวัดภาคใต้ 11 คนซึ่งเดินรณรงค์เรื่องการปฏิรูปพลังงานไปยังค่ายเสนาณรงค์ วานนี้ ด้วยเหตุผลว่าชุมนุมเกิน 5 คน และกรณีการห้ามจัดกิจกรรมของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ จ.เชียงใหม่

เนื้อหาแถลงการณ์ มีดังนี้

แถลงการณ์
เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยุติการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก

ตามที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ดำเนินการควบคุมตัวเครือข่ายประชาชน 11  จังหวัดภาคใต้จำนวน 11 คน ไปยังค่ายเสนาณรงค์โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมซึ่งเกินกว่าห้าคน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ซึ่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ร่วมกันเดินเท้าจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาสู่กรุงเทพมหานครเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อการปฏิรูปพลังงานในนามของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” อันเป็นวันที่สองของกิจกรรม  นอกจากนี้ยังพบว่าหลายกิจกรรมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่สามารถจัดได้เช่นเดียวกัน ดังเช่น กิจกรรม Light up Night ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ตอนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซ่า ซึ่งแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้วางแผนจัดงานในวันที่ 17 สิงหาคม 2557 แต่กลับได้รับการแจ้งจากหน่วยทหารในจังหวัดเชียงใหม่ให้ระงับกิจกรรมดังกล่าวเนื่องจากเป็นการละเมิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรข้างท้ายนี้เห็นว่าพฤติกรรมในการคุกคามต่อการจัดกิจกรรมของประชาชนของเจ้าหน้าที่ทหารมีลักษณะเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนและอาจก่อให้เกิดผลกระทบดังต่อไปนี้

1. บุคคลย่อมมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง มีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท ตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีในการปฏิบัติตาม ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ทหารห้ามประชาชนในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเดินเท้าของขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน การจัดกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล หรือกิจกรรมอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ย่อมเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

2. การห้ามกิจกรรมต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นนอกจากจะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อีกนัยหนึ่งคือการจำกัดสิทธิของประชานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือการห้ามแสดงออกนั้นไม่ได้มีผลกระทบเพียงผู้ที่ถูกห้ามกิจกรรมแต่ยังส่งผลต่อความรับรู้ของประชาชนอื่นๆ ซึ่งอาจจะได้จากการกิจกรรมนั้นด้วย

3. นอกจากนี้การห้ามกิจกรรมดังกล่าว ยังส่งผลเป็นการสร้างความหวาดกลัวต่อประชาชนกลุ่มอื่นที่ต้องการแสดงออก หรือต้องการนำข้อเสนอของตนสู่สาธารณะ อันเป็นผลให้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในสังคม แต่กลับถูกจำกัดไว้เฉพาะกลุ่ม หรืออาจทำได้เพียงยื่นข้อเสนอต่อผู้มีอำนาจหน้าที่เท่านั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรข้างท้ายนี้ เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในการรับรู้ข่าวสาร และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพซึ่งได้รับรองในรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยมาตลอด และเป็นเสรีภาพที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่ประชาชนไม่มีตัวแทนในการนำเสนอปัญหาไปยังรัฐสภาโดยตรง การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำข้อเสนอไปสู่การถกเถียง หรือนำไปสู่การปฏิรูปประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งและไม่อาจละเลยได้หากผู้มีอำนาจต้องการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดยุติการคุกคามประชาชนในการจัดกิจกรรม การแสดงออกอันเป็นการยืนยันว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยหนังอาเซียน : Owl and the sparrow

$
0
0

 

รายการ ‘คุยหนังอาเซียนกับฟิล์มกาวัน’ กลับมาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้ง หลังจากห่างหายกันไประยะหนึ่ง ครั้งนี้แนะนำภาพยนตร์จากประเทศเวียดนาม เรื่อง ‘Owl and the sparrow’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ดราม่า นำเสนอแง่มุมและภาพชีวิตอันเปลี่ยวเหงาของคนในสังคมเวียดนามปัจจุบัน ผ่านละครสามตัว คือ Thuy เด็กหญิงกำพร้าวัย 10 ปี, Lan พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และ Hai ผู้ดูแลสวนสัตว์ ทั้งสามบังเอิญมาพบกันและเกิดผูกพันท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองไซ่ง่อน

พบกับชนม์ธิดา อุ้ยกูล และจิรัชฌา อ่อนโอภาส จากกลุ่มฟิล์มกาวัน จะมาแนะนำภาพยนตร์และสนทนากับ อาจารย์มรกตวงศ์ ภูมิพลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม และอาจารย์ประจำศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสภาพสังคมเวียดนามปัจจุบันที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ และความเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์เวียดนามที่เดิมมักยึดโยงกับเรื่องราวของสงครามและวีรบุรุษของชาติ มาเป็นการสะท้อนสภาพปัญหาสังคมของเวียดนามยุคใหม่ เช่น คนเร่ร่อน ความเหงาและโดเดี่ยวของคนเวียดนามในเมืองใหญ่ รวมถึงเสรีภาพของผู้ผลิตภาพยนตร์เวียดนามในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ และกระแสความนิยมภาพยนตร์ไทยในประเทศเวียดนาม

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ไลน์ ประเทศไทย' ถอดสติ๊กเกอร์ 'พระพุทธเจ้า'

$
0
0

21 ส.ค.2557 กรณีมีการรณรงค์ผ่านเว็บ change.org เรียกร้องให้บริษัท Line ถอดสติกเกอร์พระพุทธเจ้าออกจากสติกเกอร์สโตร์ โดยระบุว่า เป็นการไม่ให้ความเคารพในพระพุทธเจ้า อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของขาวพุทธทั่วโลก นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ย.พ.ส.ล.) กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายชาวพุทธ ในกรณีที่มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้นำภาพพระพุทธเจ้ามาทำเป็นสติ๊กเกอร์ไลน์ล้อเลียนในอิริยาบถต่างๆ อาทิ กางแขนกางขา ยกนิ้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายสติ๊กเกอร์ที่ออกแนวล้อเลียนขำขัน หรือติดตลก โดยใช้ชื่อว่า BUDDHA, The Mask Revolution และ Saint Young Men ซึ่งสร้างความสะเทือนใจต่อชาวพุทธที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ย.พ.ส.ล.จึงรณรงค์คัดค้านเรื่องดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลปรากฏว่า ทางบริษัทไลน์ประเทศไทยแจ้งกลับมาว่า ได้มีการยกเลิกการขายสติ๊กเกอร์ในประเทศไทยแล้ว พร้อมถอดออกจากคลังสติ๊กเกอร์ด้วย

นพ.พรชัย กล่าวต่อไปว่า ทาง ย.พ.ส.ล.ยังได้รณรงค์เชิญชวนชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมกันลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org หรือกดไปที่ลิงก์ http://goo.gl/8Iw76w เพื่อคัดค้านการทำสติ๊กเกอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะรูปพระพุทธเจ้าที่เป็นที่ศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก เนื่องจากต้นทางการผลิตสติ๊กเกอร์ไลน์มาจากประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้จะยกเลิกการขายในประเทศไทย แต่บริษัทไลน์ก็อาจจะมีการส่งสติ๊กเกอร์พระพุทธเจ้าขายไปทั่วโลกแล้ว จึงต้องให้ชาวพุทธทั่วโลกที่เห็นสติ๊กเกอร์ดังกล่าวช่วยกันแจ้งกลับไปยังบริษัทไลน์ในประเทศของตนให้ช่วยดำเนินการอย่างประเทศไทย เพื่อเป็นการปกป้องพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังฝากถึงประชาชนหากเจอกรณีที่นำภาพที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาดูหมิ่นอย่างไม่เหมาะสม ก็ช่วยกันแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ช่วยแก้ไขปัญหาให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ สติ๊กเกอร์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นสติ๊กเกอร์ใน LINE Creator Sticker ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ผู้ใช้ส่งสติ๊กเกอร์ที่ออกแบบเองขึ้นไปขายได้ โดยจะมีทีมงานตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ส่วนสติ๊กเกอร์ชุด Saint Young Men เป็นสติ๊กเกอร์จากการ์ตูนชื่อเดียวกัน เกี่ยวกับการพักร้อนของพระพุทธเจ้าและพระเยซู
 

 


 

 

 

ที่มา:เนชั่นทันข่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิสิต ม.สารคามโดนทหารเรียกตัวครั้งที่ 3 เจ้าตัวปัดพบ กังวลความปลอดภัย

$
0
0

จากกรณี เมื่อวันที่ 27 พ.ค 57 นายวรวุฒิ เทือกชัยภูมิ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม 1 ใน 6 คน ซึ่งถูกเรียกเข้ารายงานตัวหลังจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารของ คสช. (รายละเอียด อ่านที่นี่) ความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่าเขาได้รับหนังสือคำสั่งเรียกรายงานตัวอีกครั้งจากกองกับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เจังหวัดมหาสารคามเมื่อวันที่ 19 ส.ค. ผ่านมายังอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อให้นายวรวุฒิเข้ารายงานตัวในวันนี้ (21 ส.ค.) เวลา 10.00 น. ที่หอประชุมจังหวัดมหาสารคาม กองกำกับรักษากองกำลังรักษาความสงบฯ นายวรวุฒิ กล่าวถึงสาเหตุที่ถูกเรียกไปรายงานตัวว่า ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการให้ข้อมูลการเรียกครั้งก่อนกับสื่ออนไลน์หรือไม่ เนื่องจากหนังสือคำสั่งครั้งนี้อ้างเหตุผลว่า “เพื่อให้มาตรการเรื่องความสงบในจังหวัดมหาสารคามเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นอกจากมีหนังสือคำสั่งแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารยังมีการโทรศัพท์ติดต่อโดยตรงมายังเขา รวมถึงติดต่อมายังครอบครัวเพื่อให้เขาเข้าไปรายงานตัว

“มีการส่งหนังสือคำสั่งมา 3 ครั้ง และยังมีการเรียกตัวโดยที่ไม่มีคำสั่งประมาณ 5 ครั้ง มีการขอให้ออกนอกพื้นที่ เราก็ไม่ออกนอกพื้นที่ เพียงบอกว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ไม่มีปัญหาอะไร สำหรับคำสั่งครั้งล่าสุดที่เรียกตัวเข้าไปพบ คงจะไม่ไป เพราะถ้าไปในพื้นที่การควบคุมของทหาร เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีความปลอดภัยแค่ไหน” วรวุฒิกล่าว

นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลักฐานที่ทหารยืนยันว่าเขาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารนั้นเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดของทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผู้ที่พาทหารมาเชิญตัวในครั้งแรกก็คือเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ส่วนอาจารย์ที่คณะที่ก็เพียงแต่ให้คำปรึกษาเท่านั้น 
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สธ.ยัน ยังไม่พบผู้ป่วย-ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา ขณะมี 1 รายอยู่ระหว่างสอบสวนโรค

$
0
0

สธ.ยันยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาในไทย ล่าสุด มีเพียงหญิงรายหนึ่งที่เพิ่งกลับจากประเทศไลบีเรียซึ่งมีเชื้ออีโบลา และกังวลใจจึงขอเข้าระบบคัดกรอง ย้ำ 'อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค' เท่านั้น

21 ส.ค.2557 เมื่อเวลา 18.30 น. ที่ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวกรณีมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลา ว่า ขณะนี้มีหญิง อายุ 48 ปี ซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศไลบีเลีย ​ได้เดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย ​วันที่ 18 ส.ค. เปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเคนยา และ​มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 19 ส.ค.​ ในระหว่างการเดินทางมีอาการปวดหัว และมีผื่นขึ้น แต่ไม่มีไข้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน โดยแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นลมพิษ จากนั้นได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีความกังวล จึงได้โทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เจ้าหน้าที่จึงได้ไปรับตัวมายังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเฝ้าระวัง โดยแพทย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบไข้  ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคอีโบลา แต่ตามมาตรฐานการเฝ้าระวัง​ จึงได้จัดให้เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างสอบสวนโรค ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยว่าป่วย

"ตามมาตรฐานการเฝ้าระวังโรค นอกจากติดตามอาการของหญิงรายดังกล่าว กรมควบคุมโรค ยังได้ติดตามผู้ใกล้ชิดอีก 13 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ญาติผู้ใกล้ชิด และพนักงานในโรงแรมที่หญิงรายดังกล่าวเข้าพัก ซึ่งกระบวนการทั้งหมด เป็นมาตรฐานการเฝ้าระวังโรค ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่นหรือเข้าใจผิด ซึ่งการเปิดเผยถือเป็นการทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวัง" นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.ศุภมิตร ชุณสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารรสุข กล่าวว่า ความจริงแล้วหญิงรายดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเข้ากระบวนการด้วยซ้ำ เพราะไม่มีอาการไข้ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ของโรค แต่เพื่อความสบายใจและทำให้มาตรการเฝ้าระวังเข้มงวด จึงได้รับตัวหญิงรายดังกล่าวมาทำการติดตาม สอบสวนโรคอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์ได้ตรวจสอบไม่พบว่ามีไข้แต่อย่างใด ส่วนผื่นที่พบขึ้นตามตัวเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ซึ่งเบื้องต้นตามผลการตรวจของโรงพยาบาลเอกชน ว่า เป็นเพียงลมพิษ นอกจากนี้ จากการสอบสวนประวัติการสัมผัสก็ไม่พบประวัติสัมผัสกับคนที่มีอาการไข้ ที่ประเทศไลบีเรีย แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรฐานแม้หญิงรายดังกล่าว ไม่ได้ป่วยด้วยโรคอีโบลา แต่กระทรวงสาธารณสุข จะมีการตรวจเชื้อเพื่อยืนยันโรคตามหลักมาตรฐานด้วย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคมี 4 ประเทศ คือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ส่วนกรณีผู้ต้องสงสัยชาวเวียดนามและพม่า 3 ราย กระทรวงสาธารณสุขกำลังประสานกับทั้ง 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งประชาชนทันทีเมื่อได้รับผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา จะใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน รวมถึงการมีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส และมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค เป็นต้น


ที่มา:มติชนออนไลน์และ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ตั้งบอร์ดองค์การเภสัชชุดใหม่แล้ว มีผลตั้งแต่ 19 ส.ค.

$
0
0

21 ส.ค. 2557 เว็บ Hfocus ซึ่งเป็นเว็บข่าวในวงการสาธารณสุข รายงานว่า มีหนังสือจากกระทรวงการคลังเลขที่ กค 0806.1/10855 วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ลงนามโดย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งบอร์ด อภ.ชุดใหม่ ดังมีรายชื่อต่อไปนี้

1.พลโทศุภกร สงวนชาติศรไกร ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง  ประธานกรรมการ

กรรมการได้แก่

2.นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)    

3.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

4.นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน                                         

5.นางญาใจ พัฒนาสุขวสันต์ ผอ.สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) (เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง)

6.ภก.สุนทร วรกุล อดีตรองผอ.อภ. 

7.ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ คณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต

8.นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการสธ.

9.นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ

10.ศ.ดร.อัญญา ขันธวิทย์ ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาการเงินและการธนาคารระดับ 11 และกีรติยาจารย์แห่งมาหวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11.นส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

12.พล.ร.ต.หญิงพิมพ์ใจ ไชยเมืองราช ผู้ชำนาญการกองทัพเรือ

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.57 เป็นต้น อย่างไรก็ตามในบอร์ด อภ.ชุดใหม่นี้นั้น นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ยังคงเป็นบอร์ด อภ.ด้วย เนื่องจากเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เริ่มแล้วประชุมนานาชาติ CCPP มองสันติภาพกับการสื่อสาร

$
0
0
เริ่มแล้วประชุมวิชาการนานาชาติ CCPP ‘การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย’ ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพและการสื่อสารร่วมเป็นองค์ปาฐก
 
 
21 ส.ค. 2557 ที่อาคารนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี ม.อ.ปัตตานี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “เรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP โดยมีนักศึกษา สื่อและนักวิชาการทั้งจากส่วนกลางในในพื้นที่ รวมทั้งภาคประชาสังคม เข้าร่วมจำนวนมาก
 
รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะที่การศึกษาเกี่ยวกับปัญหารากเหง้าและแรงขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงมีจำนวนมาก ทั้งมิติการเมือง วัฒนธรรม และภาคประชาสังคม แต่การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารค่อนข้างมีจำกัด ทั้งที่ความรู้ด้านนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพในเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคของประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมนานาชาติครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับความเข้าใจและเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น
 
การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 21- 22 สิงหาคม 2557 จัดโดย คณะวิทยาการสื่อสาร วิทยาลัยอิสลามศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
 
จุดเด่นๆ ของการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ ในวันแรกได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง จากระเบิดถึงป้ายผ้า ? การเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การไม่ใช้อาวุธโดย ศ.ดร.Stein Tønnesson สถาบันวิจัยสันติภาพแห่งกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์
 
Stein Tønnesson
 
ศ.ดร.Stein Tønnesson เป็นนักวิจัยและนักประวัติศาสตร์ชาวนอร์เวย์ สนใจศึกษาวิจัยด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศในเขตทะเลจีนใต้ รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนามและการสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าโครงการวิจัยด้านสันติภาพในเอเชียตะวันออก ที่มหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน เขายังเป็นรองบรรณาธิการด้านเอเชียของวารสาร Journal of Peace Research และได้รับเชิญเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและสันติภาพในสื่อมวลชนระดับสากล
 
ตามด้วยการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ : การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) โดย Sanjana Yajitha Hattotuwa ศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา
 
Sanjana Hattotuwa
 
สำหรับ Sanjana Hattotuwa เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่อย่างแข็งขัน เขายังเป็นผู้มีบทบาทในการออกแบบและใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ รวมทั้งการศึกษาระบบนิเวศของสื่อมวลชนเพื่อสร้างสันติภาพ การลดความขัดแย้งผ่านสื่อออนไลน์ และการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ
 
เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสื่อของศูนย์ศึกษานโยบายทางเลือก ประเทศศรีลังกา นับตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสันติภาพในเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังทำงานขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤติและการรักษาสันติภาพให้กับองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
 
ในปี 2553 เขาเป็นชาวศรีลังกาคนแรกที่ได้รับรางวัลจาก TED Fellowship และรางวัลด้านผู้ประกอบการข่าวสารและความรู้จากมูลนิธิ Ashoka ทั้งสองรางวัลดังกล่าวยืนยันถึงความทุ่มเทของเขาในการเป็นผู้ริเริ่มใช้พลังของสื่อภาคพลเมืองและสื่อใหม่ในการติดตามสถานการณ์ความรุนแรง การสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ     
 
Jake Lynch
 
ส่วนไฮไลท์ของงานวันที่สอง ได้แก่ การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วารสารศาสตร์สันติภาพเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.Jake Lynch ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความขัดแย้งและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
 
Associate Professor Dr. Jake Lynch เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เขาทุ่มเทเวลากว่าสิบปีเพื่อการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) รวมทั้งมีประสบการณ์ด้านการรายงานข่าวเพื่อสันติภาพทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง
 
ผลงานทางวิชาการที่นักวิจัย นักวิชาการและนักศึกษาด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพในประเทศไทยรู้จักกันดี เช่น Debates in Peace Journalism (Sydney University Press, 2008); Peace Journalism (with Annabel McGoldrick, Hawthorn Press, Stroud, UK, 2005) และบางบทความใน Handbook of Peace and Conflict Studies (Oxford, 2007)
 
จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ เสวนาเรื่อง “บนเส้นทางสันติภาพ : ชายแดนใต้/ปาตานีในสถานการณ์ใหม่” Open discussion : On the (Peace) Road Again. Pa(t)tani in New Conditions
 
 
หมายเหตุ:
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แกนนำผู้ปลูกลำไยเผยแม่ทัพภาค 3 เรียกประชุมอีก 23 ส.ค.นี้ เตรียมใช้ พ.ร.บ.ราคาสินค้า

$
0
0
แกนนำเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยพอใจผลการหารือที่กรุงเทพฯ เผยแม่ทัพภาคที่ 3 เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 23 ส.ค.นี้ อีกครั้ง เตรียมใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กับผู้ประกอบการที่กดราคาลำไย สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเตรียมแก้ปัญหาปีหน้า ชดเชยให้เกษตรกรโค่นลำไยอายุเกิน 20 ปี แก้ปัญหาล้นตลาด

 
21 ส.ค. 2557 แกนนำเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือรายหนึ่งที่ได้เข้ากรุงเทพไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมานั้น ได้เปิดเผยว่าหลังการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วนั้น ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 23 ส.ค. นี้ โดยให้แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งการให้กับจังหวัดเชียงใหม่นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมหารือกำหนดทิศทางราคาลำไยให้ได้ราคาตามที่เคยทำข้อตกลงกันไว้  และหาก "ล้ง" หรือผู้ประกอบการรับซื้อลำไยรายใหญ่ไม่ปฎิบัติตามอีกก็จะใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยใช้จะบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเข้มงวด
 
แกนนำเครือข่ายผู้ปลูกและผลิตลำไยภาคเหนือรายนี้ยังระบุว่ามั่นใจกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย และในขณะนี้ได้แจ้งให้กับสมาชิกงดเก็บลำไย 2 วันเพื่อรอการประชุมในวันที่ 23 ส.ค. นี้ก่อน ซึ่งประมาณการว่าลำไยที่เหลือของเกษตรกรน่าจะเหลือประมาณร้อยละ 30 และยังติงว่าที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐประเมินตัวเลขกันเองเป็นข้อมูลที่ไม่แน่นอน
 
ด้านสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ระบุถึงสถานการณ์ผลผลิตลำไยปี 2557 ว่าจากการติดตามสถานการณ์ การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในฤดูของ 8 จังหวัดภาคเหนือ โดยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจผลไม้ภาคเหนือ ของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ล่าสุดมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 407,672 ตัน คิดเป็นร้อยละ 76.80 ของผลผลิตทั้งหมด 530,802 ตัน
 
ในส่วนของสถานการณ์ราคาลำไยที่ตกต่ำในปีนี้ ขณะนี้กำลังเตรียมมาตรการไว้รองรับในปีหน้า ได้แก่ ให้เกษตรกรเข้าร่วมลดพื้นที่การผลิต โดยให้ตัดต้นลำไยที่มีอายุมากกว่า 20 ปี และจะมีการชดเชยให้บางส่วน นอกจากนี้ จะมีการทำสวนต้นลำไยใหม่ ใช้เวลา 2 ปี ถึงจะเก็บผลผลิตได้ จะแบ่งสัดส่วนออกนอกฤดูออกเป็นร้อยละ 40 ส่วนร้อยละ 60 ในฤดูนั้น จะรับสมัครเกษตรกรทำลำไยคุณภาพ เกรดเอเอ และ เกรดเอปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ให้สหกรณ์ดูความเข้มแข็งของกลุ่ม ให้มีฝ่ายการตลาด ให้สหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีทุนดำเนินการสร้างโรงอบเอง โดยจะมีการเสนอไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้าเป็นไปได้จะขอห้องเย็น เพื่อสำรองเก็บผลผลิตลำไย ขอให้กระทรวงพาณิชย์เปิดตลาดใหม่ เพื่อหาการซื้อขายล่วงหน้ามาให้วิสาหกิจชุมชน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปาฐกถาพิเศษ Sanjana Hattotuwa: จากศรีลังกาสู่ปาตานี เรียนรู้ ‘สื่อใหม่’ เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง

$
0
0
‘Sanjana’ นักเคลื่อนไหวด้านสื่อในศรีลังกา ชี้ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ และการสื่อสารกับสันติภาพต้องไม่แยกออกจากกัน ย้ำเสรีภาพการสื่อสารจะนำไปสู่ฉันทามติในเรื่องต่างๆ แม้รัฐบาลไม่ชอบ
 
 
21 ส.ค. 2557 เวลา 10.40 น. Sanjana Yajitha Hattotuwa นักเคลื่อนไหวทางด้านสื่อสารมวลชนและหัวหน้าหน่วยสื่อ ศูนย์นโยบายทางเลือก (Centre for Policy Alternatives) ประเทศศรีลังกา ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระหว่างสองทางเลือกอันเป็นหายนะ: การใช้ศักยภาพของสื่อใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง (Between Scylla and Charybdis : Harnessing the Potential of New Media for Conflict Transformation) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ. ปัตตานี)
 
 
ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ
 
ซานจานา (Sanjana) เริ่มต้นว่า ปาตานีมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพได้ หน้าที่ของผมก็คือ การกระตุ้นสังคมให้รู้สึกว่า ต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่สันติภาพ ด้วยการใช้วิธีการสื่อสารผ่านสื่อหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่”
 
จากนั้น ซานจาน่าเริ่มอธิบายหัวข้อดังกล่าว โดยยกกรณีปัญหาความขัดแย้งในประเทศศรีลังกาซึงเทคโนโลยีและการสื่อสารมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศว่า ศรีลังกาจมอยู่ในความขัดแย้งมานานหลายปี จึงมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพูดถึงความขัดแย้งและจัดการความขัดแย้งนั้น การใช้สื่อเป็นสิ่งที่เหนื่อยยาก แต่ได้ผลในการที่ทำให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองจากหลายฝ่ายในเรื่องกระบวนการสันติภาพ
 
“วันนี้ผมดีใจที่เห็นภาคใต้ของไทยให้ความสนใจในเรื่องการสื่อสารเพื่อสันติภาพ ผมสงสัยว่าทำไมงานวิชาการครั้งนี้ ถึงแยกออกเป็น 3 ส่วน ระหว่างความขัดแย้ง การสื่อสารและสันติภาพ ทั้งที่จริงทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวต่างก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ”
 
สำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพในความหมายของซานจานา คือ “การใช้ชีวิต” โดยเขาระบุว่า ประเทศศรีลังกามีการใช้ระเบิดพลีชีพในอัตราที่สูงที่สุดในโลก ฉะนั้นการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ ก็คือ การสื่อสาร พูดคุยระหว่างผู้คนในประเทศที่เกิดความขัดแย้งนั้นๆ นอกจากนั้น เราจะต้องดึงคนที่พูดคุยสื่อสารกันในสื่อ ออกมาเจอกันในทางกายภาพด้วย
 
 
หนุนเหยื่อร่วมแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสาร
 
นักเคลื่อนไหวทางด้านสื่อสารกล่าวว่า ทุกวันนี้ ทุกคนต่างใช้โซเชียลมีเดียในการสื่อสาร โดยใช้เทคโนโลยี และเราสามารถเห็นโลกในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เราไม่เคยเห็นข้อมูลข่าวสารของโลกกว้าง แต่สื่อใหม่ทำให้เราเห็น และสามารถสร้างข้อมูลของเรามาแบ่งปันต่อให้คนอื่นๆ รอบโลกได้อ่าน
 
ผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ไม่เพียงแค่เป็นเหยื่อ สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแสดงในการแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วย ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเอง เสนอเรื่องราวเพื่อให้ได้ข้อคิดเห็นหลากหลายมาช่วยจัดการความขัดแย้งนั้นๆ
 
“โทรศัพท์มือถือสามารถใช้เป็นพยานหลักฐาน ต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ได้ แค่เป็นโทรศัพท์ที่อยู่ในมือเรา”
 
 
เสรีภาพการสื่อสารจะนำไปสู่ฉันทามติแต่ถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐ
 
ซานจานา กล่าวต่อมาว่า หลังจากปี 2009 ศรีลังกาได้รับสันติภาพ หลังสงครามสิ้นสุดลง เรากำลังมีอนาคตที่ค่อนข้างสดใส เนื่องจากเรามีความเบิกบานแบบนี้ แต่เราต้องตระหนักด้วยว่า ความขัดแย้งและความเกลียดชังยังคงอยู่ในจิตใจของใครหลายคน เราจะต้องศึกษาศิลปะของการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดยไม่ต้องเข้าเรียนเรียนวิชาการเปลี่ยนความขัดแย้งถึงในมหาวิทยาลัย เพียงแต่ค่อยๆ เรียนรู้ในสังคม หรือจากเพื่อนบ้าน
 
เราต้องทำความเข้าใจเรื่อง New Media ตลอดเวลา เพราะสื่อใหม่นั้นมีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้ให้ท้าทายตัวเราอยู่ตลอดเวลา เราต้องการใช้สื่อในการสืบค้นงานวิจัย และแบ่งปันเรื่องราวความจริง
 
แต่การใช้สื่อใหม่ ก็เป็นการท้าทายต่อรัฐบาลของศรีลังกา โดยมีการถกเถียงกันว่า การมีเสรีภาพทางการสื่อสารนั้นจะนำไปสู่ฉันทามติที่ดีต่อเรื่องต่างๆ แต่รัฐบาลศรีลังกาไม่คิดเช่นนั้น ในทางกลับกันรัฐบาลพยายามหาทางที่จะเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างที่คิดว่าเป็นภัยต่อรัฐบาล
 
เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หล่อหลอมทัศนคติของเราได้ด้วยเช่นกัน ทั่วโลกมีการเข้าเฟสบุ๊ค และทวิตข้อมูลกันจำนวนหลายล้านคน กว่า 100 ล้านเทราไบต์ต่อวัน เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า คนทั่วทุกมุมโลกกำลังตื่นตัวที่จะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ โดยการส่งผ่านข้อมูลจำนวนมากนี้
 
 
แนะแนวทางนักสันติภาพ ติดตามข้อมูลในโลกการสื่อสาร
 
ซานจานา ตั้งคำถามต่อมาว่า แล้วนักสันติภาพต้องทำอย่างไรกับการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่มากมายขนาดนี้บ้าง
ประการแรก เขามองว่า นักสันติวิธีต้องดูว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่เขาคุยกันในสื่อ คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อเหตุการณ์นั้นๆ มีการระบุหรือเปล่าว่าใครเป็นผู้กระทำต่อเหตุการณ์ความขัดแย้งนั้นๆ
 
ซานจานา เล่าว่า ที่ผ่านมาในสื่อใหม่ของศรีลังกาจะให้ความสำคัญกับการพูดถึงเรื่องพุทธศาสนา อัตลักษณ์ของมุสลิม บทบาทหญิงชาย ความแตกแยกระหว่างชุมชนสิงหลกับชุมชนทมิฬ ซึ่งเป็นการพูดถึงหลากหลายแง่มุม เมื่อมีคนพูดถึงขึ้นมา เราก็จะใช้สื่อในการสืบค้นย้อนหลังไปว่า เมื่อ 10 หรือ 20 ปีที่แล้วมีภาพถ่ายหรือข้อมูลใดบ้างที่พูดถึงเรื่องพวกนั้น
 
ทั้งหมดนี้ ซานจานาพยายามจะชี้ให้เห็นว่า การใช้สื่อเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเขาเชื่อว่า ทุกคนสามารถผลิตข้อมูลได้ และใช้ข้อมูลผ่านสื่อเป็น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใช้ภาษาใดก็ตาม เมื่อก่อนเราไม่มีทางทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสงคราม หรือการสู้รบต่างๆ แต่ปัจจุบันเรารู้ทันข่าว เช่น ข่าวความขัดแย้งในตุรกี หรือการลุกฮือที่อาหรับกรณีอาหรับสปริงได้อย่างรวดเร็ว
 
“เราสามารถใช้สื่อในการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นได้แน่นอน”
 
ซานจานา กล่าวด้วยว่า นิวยอร์กไทม์ เคยพาดหัวข่าวและพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในปาตานี ชุมชนหรือคนยากจนมักใช้สื่อในการค้นหาอย่าง google เพื่อหาข้อมูลด้านสุขภาพ ด้านการศาสนา การเล่นเกมส์เป็นส่วนใหญ่ แตกต่างกันกับระดับชนชั้นกลางและกลุ่มคนรวยที่ใช้เทคโนโลยีสืบค้นหาข้อมูลด้านที่พักร้อน ร้านอาหารและภัตตาคารระดับหรู แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกระดับต่างก็มีการใช้เทคโนโลยี
 
ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวนข้อความที่ถูกส่งผ่านสื่อ แสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้ประเทศอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร
 
 
Big Data เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์
 
ซานจานา กล่าวว่า เหล่า Big Data สามารถเก็บข้อมูลที่ผู้คนถกเถียงกันมากที่สุด และทำให้เราเห็นว่า ประเทศศรีลังกาเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ผู้คนเกลียดชังเรื่องอะไร ข้อมูลไหนที่ตั้งขึ้นแล้วไม่มีคนตอบ เราจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านสื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเราในการนำมาวิเคราะห์ได้ อีกทั้งเป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพได้ หรืออาจเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการต่อสู้ก็เป็นได้
 
ยกตัวอย่าง การเลียนแบบรูปการชูมือสามนิ้ว อันเป็นรูปที่แสดงสัญลักษณ์ของการต่อต้าน หลายประเทศอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยเกิดปัญหาอะไร แต่ที่ทราบได้คือมีความไม่ปกติในประเทศไทย โดยสัญลักษณ์ชูมือสามนิ้วคนไทยเองก็สืบเลียนแบบมาจากภาพยนตร์ที่ถูกแชร์ผ่านสื่อเช่นกัน
 
คำถามของ ซานจานา ก็คือ ถ้าเราไม่ติดตามเรื่องสัญลักษณ์พวกนี้ เราจะเป็นนักสันติวิธีได้อย่างไร?
 
 
ยันต้องใช้สื่อและเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่สันติภาพ
 
ซานจานาจบการปาฐกถาครั้งนี้โดยกล่าวว่า “ผมไม่คิดว่าสถาบันต่างๆ ที่ทำงานด้านสันติภาพ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับด้านเทคโนโลยี ที่แย่ที่สุดในเอเชียก็คือ การกลัวศาสนาอิสลาม ในช่วงที่มีความขัดแย้งและความรุนแรงในศรีลังกา มีการปิดกั้นข้อมูลทางสื่ออินเตอร์เน็ต แต่ปรากฏว่ามีผู้คนเข้าค้นหาข้อมูลใน google เพิ่มขึ้น 30% ซึ่งนั่นมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจมากขึ้น”
 
“เรื่องของสื่อไม่สามารถแบ่งแยกออกจากเรื่องสันติภาพ และสังคมการเมืองได้แล้ว ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับเรื่องการใช้สื่อ และการใช้เทคโนโลยีที่การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพให้ได้
 
ซานจานา กล่าวว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นผู้ที่กุมข้อมูลต่างๆ ไว้จำนวนมาก หากเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็คงต้องขอพึ่งพาข้อมูลจากผู้ที่กุมข้อมูล ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบของนักสันติวิธี ทุกวันนี้สังคมต้องการข้อมูลที่ชัดเจนและสั้นๆ ต้องทำงานอย่างรวดเร็ว จะพึ่งพาข้อมูลที่นักวิชาการผลิตออกมาเท่านั้นคงไม่เพียงพอ หากเราจะพูดถึงเรื่องสันติภาพให้สังคมรับรู้และแลกเปลี่ยนกันนั้น
 
ซานจานา ยังกล่าวถึงปีศาจสองตัวจากเทพนิยายกรีก ซึ่งมาจากการมองว่า การที่จะก้าวไปข้างหน้าได้นั้นต้องเดินทางไปสองทางพร้อมๆ กัน คือ ทางที่ศึกษาความขัดแย้ง และทางที่จะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง
 
“เราอย่าไปคิดว่ารัฐบาลจะเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาล เพราะแท้ที่จริงรัฐบาลอาจจะไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้ทุกย่าง ข้อมูลและความจริงที่เรากุมไว้สามารถที่จะส่งต่อได้”
 
ซานจานา กล่าวทิ้งทายว่า เครื่องมือเทคโนโลยีที่อยู่ในกระเป๋าของพวกเรา จะมีส่วนในการนำพวกเราไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมกันได้ในอนาคต
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images