Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ทีดีอาร์ไอหนุน กม.ควบคุมโฆษณาของภาครัฐ ลดคอร์รัปชั่น

$
0
0

ทีดีอาร์ไอหนุนห้ามข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำทำป้ายคัตเอาต์โชว์ตัวบุคคล หรือการทำป้ายให้ประชาชนยกสนับสนุนในลักษณะหาเสียง พบภาพรวมค่าใช้จ่ายโฆษณาของรัฐปี 2556 ใช้เงินถึง 7,985 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ


19 ก.ย. 2557 จากการประกาศนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ทำป้ายคัตเอาต์โชว์ตัวบุคคล หรือการทำป้ายให้ประชาชนยกสนับสนุนในลักษณะหาเสียง อย่างที่นักการเมืองในยุคก่อนหน้านี้นำเสนอกันจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  ถือได้ว่านโยบายที่ต้องการล้างพฤติกรรมการใช้งบประมาณของรัฐที่ไม่คุ้มค่าและอาจจะเอื้อต่อการคอร์รัปชั่นแฝงจากการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงงานวิจัยในหัวข้อ “การครอบงำสื่อสาธารณะของภาคการเมือง” โดยระบุว่า การทำวิจัยเรื่องนี้มีแนวคิดมาจากการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ซึ่งประเด็น “การซื้อสื่อของภาครัฐ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาย่อยของการทุจริตในภาครัฐที่พบในรูปแบบการใช้งบประมาณที่ไม่ระบุแน่ชัดว่านำไปใช้เพื่ออะไร เนื่องจากงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่มีมาตรฐานหรือราคาที่แน่นอน จึงง่ายต่อการกลบเกลื่อนการใช้งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันในส่วนของสื่อซึ่งถือว่าเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน หากถูกครอบงำโดยรัฐจะทำให้การนำเสนอข่าวหรือการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเป็นไปด้วยวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมา สูญเสียความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เปิดเผยหรือการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ

ซึ่งช่องทางของรัฐในการแทรกแซงสื่อมี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เป็นเจ้าของสื่อเองโดยตรงอย่างโทรทัศน์และวิทยุ ทำให้การครอบงำสื่อของรัฐเป็นไปค่อนข้างง่าย และสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด 2.เป็นผู้ให้สัมปทานสื่อในช่องโทรทัศน์และวิทยุ แต่ปัจจุบันมีการประมูล Digital TV ส่งผลให้อำนาจดังกล่าวลดน้อยลง 3.ซื้อสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่น่าห่วงที่สุดที่จะถูกครอบงำโดยรัฐ เพราะเป็นธุรกิจเสรีมีการแข่งขันสูงและอาจถูกซื้อได้มากว่าสื่ออื่นๆประกอบกับรัฐไม่มีธุรกิจนี้เป็นของตัวเองและ มีแนวโน้มว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะเข้าถึงประชาชนได้เร็วมากขึ้นจากการปรับตัวเพื่อสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและในหลายช่องทาง อาทิ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ หนังสือพิมพ์แจกฟรี เป็นต้น  

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังระบุว่า จากข้อมูลของบริษัท Nielsen Company พบว่าในภาพรวมค่าใช้จ่ายโฆษณาของรัฐปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา รัฐใช้เงินงบประมาณถึง 7,985 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ โดยครึ่งหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ และพบว่าหน่วยงานราชการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในการประชาสัมพันธ์ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี มีค่าโฆษณาอยู่ที่ 506 ล้านบาท รองลงมาคือกระทรวงอุตสาหกรรม ค่าโฆษณาอยู่ที่ 468 ล้านบาท ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใช้งบประมาณมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารออมสิน อสมท.และ ปตท. ตามลำดับ

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถลดปัญหาการทุจริตในงบประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณของรัฐหาเสียงส่วนตัว เช่น ห้ามมีรูป ชื่อ เสียง ของนักการเมืองหรือข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐและสโลแกนหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองในสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของหน่วยงานรัฐ ซึ่งข้อห้ามนี้ไม่รวมพื้นที่ในเว็บไซต์ของรัฐ ส่วนหนังสือข้าราชการสามารถมีลายเซนต์และชื่อผู้รับผิดชอบได้ รวมทั้งหากมีการใช้พื้นที่การประชาสัมพันธ์ในสื่อควรมีลักษณะไม่มุ่งเน้นหรือสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม และควรระบุว่าเป็นโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐพร้อมระบุชื่อหน่วยงานผู้ลงโฆษณา ขณะเดียวกันรัฐต้องจัดทำสรุปผลการดำเนินงานประจำปีและเปิดเผยต่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน และหากฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทลงโทษพร้อมกรอบระยะเวลา โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ ขณะที่ในส่วนของสื่อมวลชนเองต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลภาควิชาชีพตามกรอบจรรยาบรรณและตามหลักจริยธรรม ภายใต้กฎหมายที่มีการบังคับใช้

อย่างไรก็ตามนักวิจัยทีดีอาร์ไอมองว่า ในอนาคตการที่รัฐจะครอบงำสื่อโดยตรงจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เนื่องจากการสิ้นสุดระบบสัมปทาน และการเปิดเสรีในธุรกิจโทรทัศน์เคเบิลและดาวเทียม ทำให้มีสื่อที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งการสื่อสารในโลกออนไลน์หรือโซเซียลเนตเวิร์คของสำนักข่าวต่างๆจะทำให้ประชาชนมีสื่อทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ตัวองค์กรสื่อเองต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเองในการดำรงความอิสระและทำหน้าที่ในฐานะผู้ติดตามและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ให้สังคมรับทราบอย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน


หมายเหตุ :ดูผลวิจัยฉบับเต็มการซื้อสื่อของภาครัฐ  ได้ที่ http://tdri.or.th/research/government-advertise/
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวกระบี่ยื่นหนังสือจี้ระงับเวทีรับฟังความเห็นครั้ง 3 ท่าเทียบเรือขนถ่านหิน

$
0
0

19 ก.ย.2557 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่อำเภอเหนือคลอง ชาวบ้าน ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จำนวนประมาณ 30 คน ได้เข้าพบ ว่าที่ร้อยตรีวิกรม จากที่ นายอำเภอเหนือคลอง พร้อมยื่นหนังสือขอให้ระงับการจัดทำเวทีประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ งานนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัททีม คอลซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2557

หนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากการจัดทำเวทีประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ผ่านมา คือครั้งที่ 2 ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็น และสอบถามข้อกังวลของโครงการแต่ประการใด แต่บริษัทเลือกใช้วิธีลงพื้นที่พบปะผู้นำบางส่วน และร่วมกิจกรรมในชุมชน แล้วถ่ายรูปพร้อมลายมือชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่ได้บอกความจริงว่ามาเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นกลุ่มย่อย ซึ่งสอบถามผู้นำหมู่บ้าน และชุมชนก็ไม่รู้ว่าการที่ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา ลงพื้นที่มาชวนพูดคุยนั่นคือการทำเวทีครั้งที่2 และ กฟผ. จะลงพื้นที่เฉพาะกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับโครงการเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ทาง กฟผ. ก็ประกาศว่าการรับฟังการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2 ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางชุมชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา ละเมิดสิทธิของชุมชน อีกทั้ง ไม่ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมาย ขาดความโปร่งใส ขาดความชอบธรรม และขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างรุนแรง

นายสัมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย กล่าวว่า จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่มีธรรมชาติที่สมบูรณ์ โดยปากแม่น้ำกระบี่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาแรมซ่าร์ (Ramsar Site) ในส่วนวิสัยทัศน์ของจังหวัดกระบี่กำหนดให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือกระบี่เมืองสีเขียว (Krabi Greencity) ซึ่งการนำถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ เป็นการสวนทางวิสัยทัศน์ของจังหวัดกระบี่ เนื่องจากถ่านหินมีพิษภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมมากมายเหลือเกิน และสุดจะยับยั้งได้ เห็นได้จากในหลายประเทศมีปัญหากับถ่านหิน เช่น ประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยก็ได้รับบทเรียนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

“เราขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด ภายใต้โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งคณะกรรมาธิการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภาได้วินิจฉัยไว้ว่าทั้งสองโครงการไม่อาจแบ่งแยกกันได้ เพราะฉะนั้นการแบ่งแยกกันรับฟังความคิดเห็น ทำให้ความรู้ที่ประมวลข้อกังวลของผู้ที่มีผลกระทบทั้งตัวโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการมีปัญหาในอนาคต” นายสมศักดิ์กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' แจงเหตุล้มเสวนาใน มธ. ลั่น 'ผมเคยทำประเทศชาติเสียหายหรือยัง'

$
0
0

19 ก.ย. 2557 เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 11.00 น. ที่ด้านหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการชื่อดัง และพวกรวม 7 คน ภายหลังจากจัดเสวนาทางการเมือง ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ว่าเรื่องนี้ได้มีการเชิญมาพูดหลายครั้งแล้ว และได้ขอร้องแล้วว่า อย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้เลย เพราะบ้านเมืองกำลังเดินอยู่ วันนี้เรากำลังทำ 3 เรื่อง คือ บริหารประเทศ ปฏิรูป และการปรองดอง เพราะฉะนั้นนำเรื่องไปพูดพอขยายก็จะเป็นเรื่อง เมื่อคนที่หนึ่งพูดได้ คนที่สองสามสี่ ก็จะตามมา ตนก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี แล้วจะเข้ามาทำไม

"ผมรู้ตัวดีว่าผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงต้องเข้าใจผมด้วย ที่ผ่านมาได้ขอกันมานานแล้ว เราไม่ได้จับกุมตัว เพียงแต่เชิญตัวมา ตอนนี้ก็ได้ปล่อยตัวกลับไปหมดแล้ว" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


เมื่อถามว่ากลัวหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่รู้ขั้นตอนการปฏิบัติแล้วจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า

"ผมกลัวกว่าคนอื่นอีก แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้วิธีปฏิบัติกันดีอยู่แล้ว เพราะทำมาตลอด แทบจะบอกได้เลยว่าเดินซ้ายหรือขวาก่อน ทุกคนรู้ดี ไม่ใช่อยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่เข้าไปล็อคคอ ขอร้องไปแล้ว ขออนุญาตก็ไม่ขออนุญาต สิ่งที่พูดเป็นเรื่องการเมืองทั้งสิ้น ไม่ได้ห้ามแต่ขอว่าอย่าเพิ่งพูดในตอนนี้"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่เปิดให้มีการพูดหรือแสดงความเห็นด้านการเมืองใช่หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คำสั่งคสช.ทุกอย่างยังมีเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่มีอะไรยกเลิกสักอย่าง

เมื่อถามต่อว่าทำไมไม่เปิดช่องให้บางกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นพล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นี่ก็เปิดอยู่ไม่เคยปิด เปิดให้สื่อถามอยู่ตลอด ซึ่งต้องดูว่าเขาพูดเรื่องอะไร เช่นนี่เรื่องประชาธิปไตย ก็อย่าไปขยายความ

เมื่อถามต่อว่า ถ้ามีการส่งเค้าโครงเรื่องก่อนจะมีการตรวจสอบแล้วเปิดเวทีให้พูดหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีคณะกรรมการตรวจอยู่แล้ว ตนไม่ได้ตรวจคนเดียว แต่ต้องดูว่าเรื่องไหนพูดได้หรือไม่ หากพูดเรื่องประชาธิปไตยการเลือกตั้ง รัฐบาลเป็นอย่างไรนั้น ยังพูดไม่ได้ตอนนี้

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้อนถามผู้สื่อข่าวด้วยว่า ขอถามหน่อยว่า ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ได้ทำอะไรให้ประเทศชาติเสียหายบ้างแล้วหรือไม่ เมื่อผู้สื่อข่าวตอบว่า ยังไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวสั้นๆว่า “งั้นจบ สวัสดีครับ”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: 8 ปี รัฐประหาร 2549 'เสียของ' หรือ 'ไม่เสียของ'

$
0
0


การรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการรัฐประหารครั้งอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นการรัฐประหารที่ไม่มีผลเด็ดขาดไปทางใดทางหนึ่ง คือ ไม่ใช่รัฐประหารแล้วผู้ทำรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปหลายๆ ปี และก็ไม่ใช่รัฐประหารที่อยู่ได้สั้นๆ แล้วถูกต่อต้านคัดค้านจนต้องม้วนเสื่อถอยไป และยอมให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากๆ แต่เป็นการรัฐประหารที่คาราคาซัง ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนอยู่ในสภาพเหมือนชักเย่อยื้อกันไปยื้อกันมา ไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่งเป็นเวลานาน

การรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน จึงเป็นการรัฐประหารที่มีการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบต่อเนื่องมากที่สุด ทั้งในเวลาที่มีการพูดถึงการเมืองไทย และในโอกาสครบรอบปีทุกๆ ปี

ในการประเมินผลกระทบจากการรัฐประหารปี 49 นั้น สามารถดูจากข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และสิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการจะทำเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะพบว่าในแต่ละปีที่ผ่านมา การวิเคราะห์ประเมินผลของการรัฐประหารปี 49 จะได้ข้อสรุปที่คงเส้นคงวามาตลอด การมาประเมินกันในปีนี้ ข้อสรุปนอกจากจะสอดคล้องกับข้อสรุปในปีก่อนๆ แล้ว ยังน่าจะเป็นการตอกย้ำทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่สำคัญมีอยู่ 4 ข้อ

ข้ออ้างข้อที่ 1 เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่นเราจะพบว่า ถึงแม้คณะรัฐประหารจะใช้ คตส. ซึ่งเป็นเครื่องมือในกระบวนการที่ไม่ปรกติเข้าตรวจสอบ แต่ก็สามารถดำเนินคดีลงโทษบุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารได้น้อยมาก ส่วนระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่สร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ไม่เป็นกลาง และเลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้น้อยมากเช่นกัน ทั้งยังไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ในสังคมด้วย

ข้ออ้างข้อที่ 2 เรื่องมีการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯหลังรัฐประหารแล้วไม่มีการดำเนินคดีที่เป็นที่ยุติได้ว่า บุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารกระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่รายเดียว มีแต่ผู้ที่กล่าวหาคนในรัฐบาลถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และถูกศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาทจริง ก่อนการรัฐประหาร มีกรณีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มาก แต่หลังการรัฐประหารเรื่อยมามีการกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาล้มเจ้าบ้าง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ้างมากกว่าก่อนการรัฐประหารหลายสิบเท่า

ข้ออ้างข้อที่ 3 การบริหารแผ่นดินแทรกแซงองค์กรอิสระหลังการรัฐประหารกลับมีองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระเลยแม้แต่น้อย หากเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งหรือเห็นชอบโดยคณะรัฐประหารที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องกันมา โดยปราศจากความเป็นกลาง เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นที่ยอมรับ จนมีคำถามในภายหลังว่าองค์กรไหนมีความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะดำรงอยู่มากน้อยเพียงใด

ข้ออ้างข้อที่ 4 ความขัดแย้งแตกแยกในสังคมหลังรัฐประหารความขัดแย้งแตกแยกกลับยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งจากเรื่องเดิมที่ว่าใครควรเป็นรัฐบาล และเรื่องกฎกติกาของบ้านเมือง ระบบยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีอยู่ในทุกระดับของสังคม และขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าก่อนการรัฐประหารปี 49 จนกระทั่งกลายเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารในครั้งล่าสุด ซึ่งก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ และยังอาจเพิ่มประเด็นที่สังคมมีความเห็นแตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับสิ่งที่คณะรัฐประหารปี 49 ต้องการทำเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้ตรงกับข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ ก็คือ การทำตามบันไดสี่ขั้น ซึ่งต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ การทำลายพรรคไทยรักไทย ทำทุกอย่างเพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสายทักษิณ ไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาล และเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล สร้างรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และผู้มีอำนาจแท้จริงตามรัฐธรรมนูญจะสามารถหักล้างมติมหาชนจากการเลือกตั้งได้โดยง่าย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามแผนบันไดสี่ขั้น เพราะประชาชนไม่เออออด้วย การใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญหักล้างมติมหาชนจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อประชาชนพยายามแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถทำได้ กระบวนการปกป้องรัฐธรรมนูญ และการจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้พัฒนาเกินเลยไป จนกลายเป็นการสร้างระบบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงไปอีก เกิดเป็นความเสียหายต่อระบบยุติธรรม และเมื่อใช้วิธีการทุกอย่างที่สามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 แล้วก็ยังไม่เป็นผล การรัฐประหารก็เกิดขึ้นในที่สุด

มีการพูดกันมากว่า การรัฐประหารเมื่อปี 49 นั้นเป็นการ "เสียของ" เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมองที่แตกต่างกันไป

จะบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ไม่ประสบความสำเร็จตามข้ออ้าง 4 ข้อ จึงถือว่าล้มเหลวและเสียของคงไม่ได้ เพราะข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ จริงๆ แล้วก็เป็นเพียง "ข้ออ้าง" ที่เป็นสูตรสำเร็จ ที่มักใช้กันเสมอๆ เวลาที่จะมีรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้ว ก็หาได้พยายามทำอะไรจริงจังตามข้ออ้างแต่อย่างใดไม่

ถ้าดูจากสิ่งที่คณะรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน หมายมั่นปั้นมือจะทำให้สำเร็จแล้วไม่สำเร็จ ก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญอยู่ที่การฝืนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร

คงไม่มีใครบอกได้ว่า ถ้าพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน กับพวกเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกันเสียเอง และใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่ทำไปแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร คณะรัฐประหารจะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ หรืออาจจะล้มเหลวยิ่งกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้

ปัญหายังอยู่ที่คำว่า "เสียของ" เราจะมองอย่างไร คำว่า "เสียของ" หมายความว่าอย่างไร

บางคนอาจมองว่า การที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถกวาดล้างคุณทักษิณกับพวกให้สิ้นซากไปจากการเมืองไทย และล้มเหลวที่ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร 

แต่นั่นเป็นการ "เสียของ" จริงหรือ ถ้า "เสียของ" ใครเสียของ

หากคณะรัฐประหารทำสำเร็จในการกำจัดคุณทักษิณกับพวกให้หมดไป อาจต้องเกิดจากการทำลายระบบการเมืองการปกครองและระบบยุติธรรมให้ย่อยยับลงไปยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ สังคมไทยอาจตกอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งและความรุนแรงยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้มิใช่หรือ

ถ้าคณะรัฐประหารปี 49 ทำสำเร็จในการสร้างระบบที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้ว ใครคือผู้เสียประโยชน์ มิใช่ประชาชนทั้งประเทศหรือ?

ถ้าบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ ก็คงจะต้องดูให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการรัฐประหารนั้น ไม่ใช่มุ่งแก้ความขัดแย้งมาแต่ต้น ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นได้ซ้ำเติมให้ความขัดแย้งยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีกเสียมากกว่า ว่าไปแล้วการรัฐประหารปี 49 เองนั่นแหละ คือต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย และโดยธรรมชาติแล้วการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีทางที่ช่วยแก้ความขัดแย้งในสังคมไทยได้เลย เมื่อประกอบกับเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหารที่เต็มไปด้วยมโนทุจริตด้วยแล้ว การรัฐประหารปี 49 จึงทำให้ความขัดแย้งยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ถ้าจะสรุปว่า การรัฐประหารเป็นการ "เสียของ" ที่ทำอะไรหลายอย่างไม่สำเร็จ ก็อาจมองได้ แต่ถ้าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกันแล้ว ที่ "เสียของ" ไปก็ดีแล้ว ถ้า"ไม่เสียของ"สิ จะเสียหายมากกว่าที่เสียหายกันไปแล้วอีกมากนัก

หากใครจะคิดทำให้การรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ "ไม่เสียของ" คงต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่าคำว่า "เสียของ" หรือ "ไม่เสียของ" นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี : บัวใหญ่ โคราชเล็ก?

$
0
0

 

เป็นชาวโคราชจะเอาแต่พูดเรื่องยางพาราก็ใช่ที่ เพราะเพื่อนๆเขากำลังเถียงกันว่าจะแยกสก็อตแลนด์จากสหราชอาณาจักรดีหรือว่าให้บัวใหญ่รวมอยู่กับโคราชต่อไปกันแน่

ปัญหาที่เขาเถียงกันคือ โคราชใหญ่เกินไปในแง่ของขนาดพื้นที่ ทำให้บริการของรัฐจากอำเภอเมืองเข้าไปค่อยถึงอำเภอชายขอบ ดังนั้นแยกตัวออกไปตั้งจังหวัดใหม่ดีกว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่า ถ้าแยกออกไปชาวบัวใหญ่จะสูญเสียความเป็นหลานย่าโมทันที ส่วนย่าโมคงจะว่า "กูละเอิมไอ้พวกลูกหลานหน่าสะเมอลึ่มพวกนี้แท้ๆ"

มาคิดดูแล้ว ถ้าเถียงกันแบบนี้น่าจะแยกโลกกันเลยจะดีกว่า เพราะพูดกันคนละเรื่อง กล่าวคือ

ประการแรก การแยกหรือไม่แยกอำเภอใดออกไปเป็นจังหวัดใหม่นั้น เป็นปัญหาเรื่องกิเลสตัณหาของข้าราชการและนักการเมืองล้วนๆ การตั้งจังหวัดใหม่นั้นทำให้อำเภอบัวใหญ่และใกล้เคียงที่ถูกดึงไปอยู่ด้วยนั้น กลายเป็นหน่วยการปกครองใหม่ของรัฐ ก็แปลว่า กระทรวงมหาดไทยได้ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและตำแหน่งอื่นๆเพิ่มขึ้น กระทรวงอื่นๆก็พลอยได้ เพราะเกษตรอำเภอ พัฒนากรอำเภอ ฯลฯ ก็กลายเป็นตำแหน่งประจำจังหวัด ก็ขยายระบบราชการเพิ่มขึ้น ก็แค่นั้นเอง

ปัญหาเรื่องไกลปืนเที่ยงนั้น ไม่ใช่ปัญหาของโลกยุคปัจจุบันสักเท่าไหร่ บัวใหญ่ไกลจากอำเภอเมืองก็จริง แต่หนทางไปมาก็สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก หมายความว่าบริการของรัฐที่จะส่งจากอำเภอเมืองไปถึงบัวใหญ่ ถ้าเทียบกับประทายหรือปากช่อง โชคชัย ครบุรี คงไม่ต่างกันมากนัก

ถ้าจะเถียงว่ายกระดับอำเภอเป็นจังหวัดแล้วโรงพยาบาลบัวใหญ่ก็จะได้เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดให้บริการทางการแพทย์ดีขึ้นเท่ากับโรงพยาบาลมหาราชหรือก็คงไม่ใช่ เพราะโรงพยาบาลมหาราชก็ให้บริการคนจากจังหวัดชัยภูมิและบุรีรัมย์ด้วย ทั้งๆที่พวกเขาก็มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดเหมือนกัน คนบัวใหญ่ที่มีจังหวัดเป็นของตัวเองก็อาจจะยังจำเป็นต้องไปเข้าโรงพยาบาลมหาราชอยู่อย่างเดิมก็ได้หรือบางทีพวกเขาก็จะไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่นก็ได้ ไม่แน่ ถ้าบัวใหญ่ที่เป็นจังหวัดแล้วให้บริการไม่ได้

ประการที่สอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับประการแรก ความเป็นหลานย่าโมนั้นคืออะไร ย่าโม เป็นใคร การเป็นหลานของท่านจึงมีความหมายและทำไมมันมีหรือไม่มีความหมายเพียงแค่การแบ่งหน่วยการปกครองของกระทรวงมหาดไทย

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนั้นสร้างขึ้นเมื่อ 81 ปีก่อน (สร้างหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้ว 81 ปีเลยทีเดียว) นัยว่าเพื่อเชิดชูเกียรติคุณหญิงโม ภรรยาปลัดทองคำ เมืองนครราชสีมา ในวีรกรรมต่อสู้กับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ สมัยรัชกาลที่ 3 โน่น วีรกรรมในคราวนั้นถกเถียงกันมากว่ามีอยู่จริงหรือไม่ในประวัติศาสตร์ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ไม่สำคัญสำหรับชาวโคราช เพราะเราไม่ได้นับถือย่าโมแบบนั้น

ย่าโม ในสำนึกของชาวโคราชคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมือง คนโคราชสมัยนี้กราบไว้บูชาอนุุสาวรีย์ย่าโม ก่อนที่จะรู้จักอย่างถ่องแท้ว่า ย่าโมคือใครด้วยซ้ำไป ความเข้าใจของคนทั่วไปคือ ย่าโม เป็นเสาหลักเมืองของโคราช ในขณะที่เสาหลักเมืองจริงๆที่ตั้งอยู่ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันออกอีกหน่อยนั้น คนส่วนใหญ่ไม่ได้ไปไหว้

เวลาเราไหว้ย่าโม เราขอโชคลาภจากท่านเป็นส่วนใหญ่ บ้างก็ขอให้สอบได้เป็นโน่นเป็นนี่ บ้างก็ขอให้รำรวย ถูกหวย ล๊อตเตอลี่ บ้างก็ขอให้ได้ผัวได้เมีย ถ้ามีแฟนแล้วอยากได้อยู่ด้วยกันจริงๆให้พาไปไหว้ย่าโม เสร็จแล้วให้พาเขาหรือเธอไปลอดซุ้มประตูชุมพล (โปรดทราบว่าให้พาลอดเข้าสู่ตัวเมืองเท่านั้น) ใครบนบานศาลกล่าวย่าโมแล้วได้ดังใจหวัง ต้องแก้บนด้วยเพลงโคราช เพราะท่านชอบฟัง พวกที่แก้บนด้วยอย่างอื่นแปลว่าไม่ใช่ชาวโคราช ดูท่าคงจะได้สมหวังกันไม่น้อย เพราะหมอเพลงโคราชมีงานอยู่ไม่ค่อยขาด

ย่าโมจึงอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของชาวโคราชแบบนี้เรื่อยมา และระยะหลังๆนี่ดูเหมือนจะใกล้ชิดกับย่าโมมากขึ้น เมื่อก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเรียกท่านว่าคุณหญิงโม ทำให้ท่านดูเป็นผู้ปกครอง เป็นเจ้าเป็นนายมากไป เดี๋ยวนี้เรียกย่ากันเป็นแถว เพราะต้องการสร้างความรู้สึกเป็นญาติ เป็นลูกเป็นหลานกับท่าน โดยไม่แคร์ว่าลูกหลานท่านจริงๆอยู่ไหนหรือมีหรือไม่ บ้างว่าย่าโม นั้นมีครอบครัวก็จริงแต่ท่านไม่มีบุตรธิดาเลย ดังนั้นใครๆก็เป็นหลานย่าโมได้ ขอให้เกิดในโคราชก็พอ หรือ ต่อให้ไม่เกิดโคราช ก็ย้ายไปอยู่โคราช (ที่ไหนก็ได้ในโคราช) ก็เป็นหลานย่าโมได้ ชาวบัวใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกจังหวัดก็อาจจะรู้สึกแบบนี้ก็ได้ว่า คือ ไม่รู้จะนับญาติกับย่าโมอย่างไร แต่ก็น่าจะรู้ความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ความเป็นหลานย่าโมโดยกำเนิดนั้นลงว่าได้เป็นแล้ว ย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ยังเป็นอยู่ ดังนั้นชาวบัวใหญ่ยังอ้างได้ว่าเราเคยเกิดอยู่และเป็นส่วนหนึ่งของเมืองย่าโมก็เป็นหลานย่าโมเหมือนกัน ในชีวิตจริงเราก็ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับย่าตั้งแต่เกิดจนตายกันเสียเมื่อไหร่

ปัญหาที่จะต้องพิจารณาคือ ย่าโมในฐานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นท่านมีความลำเอียงให้แต่เฉพาะหลานย่าโมหรือเรื่องนี้เราก็ไม่เคยรู้แน่ชัดนัก ก็คงจะมีคนที่ไม่ได้เป็นชาวโคราชบนย่าโมแล้วสำเร็จและก็อาจจะมีชาวโคราชไม่น้อยที่บนแล้วไม่ได้อะไรเลย ถ้าเป็นเช่นนั้นย่าโมก็ไม่ได้ลำเอียงและความเป็นหลานย่าโมก็คงไม่ได้ทำให้มีอภิสิทธิ์ใดๆ เช่นนั้นแล้วคนบัวใหญ่จะห่วงอะไร ถ้าจะแยกไปตั้งจังหวัดใหม่ แล้วไม่ได้เป็นหลานย่าโม ในเมืองของย่าโม นี่ยังไม่นับว่าความเป็นเมืองย่าโมก็ค่อนข้างคลุมเครืออยู่เหมือนกัน

บางคนว่า ย่าโมเป็นอัตลักษณ์ของชาวโคราช คือคนโคราชพูดได้เต็มปากว่าเป็นหลานย่าโม แต่เรื่องนี้ก็อธิบายยากว่าเป็นหลานย่าโมแล้วยังไง ไม่เป็นแล้วยังไง อัตลักษณ์แบบนี้ออกจะบางเบาอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับอย่างอื่นโดยเฉพาะภาษาซึ่งแตกต่างและโดดเด่น ภาษาโคราชนั้นอยู่กึ่งๆระหว่างลาวกับไทย แต่ก็มีศัพท์แสงของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนในจังหวัดนครราชสีมาทุกคนพูดภาษานี้และคนพูดภาษานี้ก็ไม่ได้เป็นชาวนครราชสีมากันทุกคน แถวบัวใหญ่จำนวนหนึ่งก็พูดลาว แถวนางรองหนองกี่ซึ่งอยู่บุรีรัมย์กลับพูดภาษาโคราช พูดโคราชเท่ากับเป็นหลานย่าโมหรืออย่างไร แต่ถ้าพูดโคราชแต่อยู่นางรองล่ะ เป็นหลานย่าโมได้หรือเปล่า ?

ไม่มีคำตอบหรือความหมายอะไรที่ชัดเจนนักว่า ความเป็นคนโคราช อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นหลานย่าโม พูดโคราช แต่อยู่จังหวัดอื่น หรือ แม้แต่ที่อื่นในโลก แล้วมันเป็นอะไรสักอย่างที่พิเศษแตกต่างกับคนอื่นๆอย่างไร มันจะเป็นอัตลักษณ์ที่มีความหมายต่อชีวิตจริงๆสักแค่ไหน

ดังนั้น ถ้าคนบัวใหญ่อยากจะแยกจังหวัดเป็นของตัวเองก็ได้ แต่คงก็ต้องหาวิธีสำรวจความเห็นกันให้ได้เอกภาพเหมือนชาวสก๊อตก็ได้ว่า อยากจะแยกกันจริงๆหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ว่าพวกข้าราชการ นักการเมือง อ้างย่าโมสร้างความชอบธรรมกันเรื่อยเปื่อยแบบที่กำลังเถียงกันอยู่ การแยกจังหวัดมีเงื่อนไขง่ายๆแค่ว่า รัฐมีงบประมาณเพียงพอสำหรับขยายระบบราชการหรือเปล่าแค่นั้นแหละ

บัวใหญ่อยากจะแยกตัวไปเป็นจังหวัดใหม่เฉยๆ มันเป็นเรื่องธรรมดาๆ ถ้าโคราชอยากตั้งสาธารณรัฐใหม่เมื่อไหร่ สงสัยเราต้องคุยกันยาว-- Republic of Koraja น่าอยู่กว่ากันเยอะ ส่งยางไปขายดาวอังคาร ร่ำรวยกันทุกรูปทุกนาม

ปล. สุภาพสตรีที่นี่ ใส่บิกินี่กันทุกคน ปลอดภัยไร้กังวล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (22): เจตนารมณ์ลิขสิทธิ์ในรัฐธรรมนูญอเมริกาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

$
0
0

"[สภาคองเกรสมีอำนาจในการ]สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์โดยการรับประกันสิทธิพิเศษในระยะเวลาจำกัดเหนืองานเขียนต่างๆ และการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ของนักเขียนและนักประดิษฐ์"

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ส่วนที่ภายหลังเรียกกันว่าบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร (1789)

หลังจากรัฐคอนเนตทิกัตออกฎหมายลิขสิทธิ์มาหลังปฏิวัติหมาดๆ รัฐต่างๆ ของประเทศใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาแทบทุกรัฐ (ในเวลานั้นมีแค่ 13 รัฐ) ก็ออกกฎหมายลิขสิทธิ์ตามๆ กันมาซึ่งตัวต้นแบบกฎหมายก็คือ Statute of Anne อันเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกของเจ้าอาณานิคมเก่าอย่างอังกฤษนั่นเอง ซึ่งปรากฏการณ์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละรัฐดาหน้ากันมาอย่างไม่ได้นัดหมายก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญอเมริกายังไม่เสร็จสิ้นและยังไม่มีประธานาธิบดีด้วยซ้ำ

ถ้ากฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกานั้นเลียนแบบกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษมา ก็น่าจะอนุมานได้ว่ามีเจตนารมณ์แบบเดียวกันก็คือการสนับสนุนให้คนในชาติมีความรู้ผ่านการกระตุ้นให้มีงานเขียนผ่านการออกกฎหมาย [1]วิธีคิดแบบนี้ดูจะชัดเจนกว่าอังกฤษด้วยซ้ำเมื่อในปี 1789 ทางสภาคองเกรสก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเพื่อให้สภาคองเกรสมีอำนาจในการ "สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์" โดยให้อภิสิทธิ์ประพันธกรในเวลาที่จำกัด และปี 1790 กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของรัฐบาลกลางสหรัฐฉบับแรกก็ออกมาสู่โลก ซึ่งนี่ก็เป็นการรองรับลิขสิทธิ์ของอเมริกันชนซึ่งมีผลการบังคับใช้ในทุกรัฐผ่านการขึ้นทะเบียนงานตามที่กฎหมายกำหนด

ภายใต้กรอบคิดของยุคนั้น วลี "สนับสนุนวิทยาศาสตร์และศิลปะที่มีประโยชน์" ดูจะมีความหมายที่ชัดเจนมากว่ากฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกาเป็นกฎหมายเพื่อสนับสนุนการสร้างความรู้ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งมันก็ไม่สนสิ่งที่ไม่ใช่ความรู้ด้วย เพราะถึงคำว่า “ศิลปะ” ในศตวรรษที่ 18 จะเริ่มมีความหมายแบบวิจิตรศิลป์ (fine art) บ้างแล้วในหมู่แวดวงปัญญาชนในอังกฤษและภาคพื้นทวีป  [2]แต่ความหมายของศิลปะในแบบนี้ก็ไม่ใช่ความหมายที่จะแพร่หลายในคนทั่วไปที่ “ศิลปะ” (art) ในความหมายของอเมริกาตอนนั้นก็ไม่น่าจะต่างจากความหมายของคำว่า “ศิลปะ” ที่ใช้กันในชีวิตประจำวันของชาวยุโรปที่หมายถึงงานหรือทักษะที่ผ่านการฝึกฝนมาที่มนุษย์เท่านั้นจะทำได้ ซึ่งความหมายของศิลปะก็เป็นคนละเรื่องกับ “งานศิลปะ” ทุกวันนี้ เพราะในความหมายของ “ศิลปะ” พวกนี้ ทักษะทางการทหาร ทักษะทางการต่อสู้ ทักษะทางการปกครอง ยันทักษะในการซ่อมโต๊ะ ทักษะทำอาหาร ทักษะการทำนาฬิกา และทักษะถลกหนังสัตว์ ก็ล้วนนับเป็น “ศิลปะ” นี่เป็นความหมายของคำนี้ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น [3]

ในกรอบของความหมายแบบนี้รัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดเพิ่มไปอีกว่าศิลปะที่ว่าต้อง “มีประโยชน์” ดังนั้นมันจึงยิ่งชัดเจนมากว่าภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญอเมริกา ทางสภาคองเกรสก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะออกกฎหมายมาคุ้มครองศิลปะที่ “ไม่มีประโยชน์” อย่างไรก็ดีผ่านมาจากนั้นสองร้อยปีเราก็คงจะพบว่า “ศิลปะที่มีประโยชน์” ของทางสภาคองเกรสก็ดูจะมีความหมายกว้างในระดับที่แทบจะควานหาสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ไม่เจอ

แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาจะผ่านมาด้วยเจตนาที่ดีไม่ต่างจากอังกฤษ แต่สิ่งที่จะพบก็คือมันก็เป็นกฎหมายที่ไม่มีใครสนใจซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากที่เกิดขึ้นในอังกฤษเช่นกัน ดังที่จะเห็นว่าในทศวรรษ 1790 มีหนังสือตีพิมพ์ออกมาไม่ต่ำกว่า 13,000 เล่ม แต่มีเพียง 500 เล่มเท่านั้นที่นำไปขึ้นทะเบียนเพื่อให้มีลิขสิทธิ์ (คิดเป็นไม่ถึง 4% ของงานที่ตีพิมพ์ออกมาทั้งหมด) [4]ซึ่งในกรอบแบบนี้เราก็จะเห็นได้ว่า สภาคองเกรสไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจใดๆ ด้วยซ้ำในการให้อภิสิทธิ์แก่นักเขียนเหนืองานเขียนเพื่อกระตุ้นให้นักเขียนผลิตงานที่มีประโยชน์ออกมา

ทำไมพวกนักเขียนและสำนักพิมพ์อเมริกันไม่ต้องการลิขสิทธิ์? คำตอบง่ายๆ คือในโลกของสำนักพิมพ์การทำข้อตกลงระหว่างกันและการจัดสรรปันส่วนการพิมพ์อย่างเหมาะสมดูจะเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการทำธุรกิจแบบไม่สนใจโดยไปจดลิขสิทธิ์แล้วค่อยฟ้องร้องยามที่มีเรื่องมีราวในที่สุด

พวกสำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งก็ต้องย้ำว่าตอนนั้นหมายถึงแค่รัฐไม่กี่รัฐในแถบชายฝั่งตะวันออก) มีการประชุมและรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1790 และ 1800 ซึ่งผลที่ได้ก็คือระบบการพิมพ์ที่เหล่าสำนักพิมพ์ตกลงที่จะไม่ “ละเมิดลิขสิทธิ์” กันและกันโดยไม่ต้องใช้กฎหมายลิขสิทธิ์มากำกับให้วุ่นวาย สำนักพิมพ์พวกนี้ตกลงกันเองว่าจะไม่ตีพิมพ์งานที่สำนักพิมพ์อื่นๆ ที่เป็นภาคีได้พิมพ์ไปแล้ว โดยผู้ละเมิดข้อกำหนดนั้นจะมีโทษทางการค้าจากเหล่าภาคีผู้ทำข้อตกลงกัน [5]ซึ่งแนวทางแบบนี้เป็นแนวทางที่ได้ผลไม่น้อยในการ “คุ้มครอง” สิทธิในการผูกขาดการพิมพ์และขายหนังสือของสำนักพิมพ์ในพื้นที่หนึ่งๆ แต่ปัญหา “การละเมิดลิขสิทธิ์” ของผู้ผลิตหนังสือในถิ่นอื่นๆ ซึ่งถือว่าอยู่นอกข้อตกลงก็ดูจะเกิดขึ้นเนืองๆ เช่นกัน

ที่ตลกคือ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ที่ว่านี้ที่หนักข้อมากๆ ก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์ของนักเขียนอังกฤษ ที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำในอเมริกา ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าชาติเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้มีนักเขียนมากมาย งานที่คนอเมริกันอ่านส่วนใหญ่ก็เป็นงานที่เจ้าอาณานิคมเก่าอย่างอังกฤษเขียน ซึ่งใต้กรอบกฎหมายลิขสิทธิ์อเมริกันก็ไม่ได้ต่างจากกฎหมายลิขสิทธิ์ยุคแรกๆ ทั้งหมดที่มีขอบเขตการคุ้มครองเพียงแค่ประชาชนของชาติๆ เท่านั้น ชาวต่างชาติไม่เกี่ยว

นี่ทำให้หนังสือจากอังกฤษสามารถถูกตีพิมพ์ในอเมริกาได้โดยเสรี ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค แต่มันก็หมายถึงภาวะที่สำนักพิมพ์ต้อง “แย่งกันพิมพ์” อย่างไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ กำกับยกเว้นแต่ข้อตกลงที่สำนักพิมพ์มีต่อกันที่มีขอบเขตแค่ในท้องถิ่นเท่านั้น นี่ทำให้สำนักพิมพ์ต่างถิ่นกันต้องแย่งกันตีพิมพ์งานจากทางฝั่งอังกฤษอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว ซึ่งนี่นำไปสู่ระบบการส่ง “ตัวแทน” (agent) ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ไปประจำอยู่ที่อังกฤษ เพื่อให้ส่งหนังสือที่พิมพ์ใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ มาอเมริกาให้เร็วที่สุดเพื่อสำนักพิมพ์จะได้รีบไปรับต้นฉบับที่ท่าเรือมาพิมพ์ในอเมริกา ซึ่งในบางครั้งระบบนั้นก็นำไปสู่การที่ “ตัวแทน” ทั้งหลายจ่ายเงินค่าต้นฉบับให้เหล่านักเขียนดังๆ ของอังกฤษด้วยซ้ำเพื่อที่จะได้ต้นฉบับมาพิมพ์ในอเมริกาโดยไม่ต้องรอให้หนังสือตีพิมพ์ในอังกฤษก่อน [6]

อย่างไรก็ดีระบบนี้โดยรวมๆ ก็สร้างความหายนะให้เหล่าสำนักพิมพ์ ตลอดช่วงทศวรรษ 1820 ถึง 1840 ซึ่งการตีพิมพ์หนังสือจากฝั่งอังกฤษออกมาซ้ำซ้อนกันเป็นเรื่องปกติ และมันก็สร้างความเสียหายจากการที่หนังสือค้างสต็อกเป็นปริมาณมหาศาล จนในที่สุดทางสำนักพิมพ์ต่างถิ่นกัน (ที่โดดเด่นที่สุดคือกลุ่มสำนักพิมพ์จากนิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย) ก็ต้องมาทำข้อตกลง “มารยาททางการค้า” (trade courtesy) กันเพื่อให้การพิมพ์ซ้ำซ้อนนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก่อนเกิดสงครามกลางเมืองเล็กน้อย

ข้อตกลงนี้ประกอบไปด้วยเงื่อนไข เช่น สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานใดใหม่ก็ต้องมีต้นฉบับอยู่ในมือแล้วประกาศก่อน สำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานของนักเขียนคนใดไปแล้วก็จะได้สิทธิตีพิมพ์งานชิ้นต่อไปของนักเขียนคนนั้นๆ ไปจนถึงข้อตกลงพื้นๆ อย่าง การที่สำนักพิมพ์พิมพ์งานใดไปแล้วก็จะได้สิทธิในการตีพิมพ์งานนั้นๆ ต่อไป ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็ได้กลายมาเป็น “กฎของเกม” ในการตีพิมพ์งานจากฝั่งอังกฤษที่ไร้ลิขสิทธิ์ในอเมริกามาจนอเมริกายอมออกกฎหมายลิขสิทธิ์นานาชาติและยอมรับลิทธิของนักเขียนอังกฤษในที่สุดในปี 1891

 

[1] Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004) 

[2] Martha Woodmansee, The Author, Art, and the Market: Rereading the History of Aesthetics, (New York: Columbia University Press, 1994)
 
[3] William H. Sewell, Jr., Work and Revolution in France: The Language of Labor from the old Regime to 1848, (New York: Cambridge University Press, 1980), pp. 22
 
[4] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), p. 196

[5] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 195-203
 
[6] Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), pp. 295-302

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ทีวีตายแล้ว

$
0
0

 

Steven Rosenbaum คอลัมนิสต์ของ Forbes บอกดังๆ ผ่านคอลัมน์ของเขาว่า “ทีวีตายแล้ว” บทความเขาชื่อ “Why the television is dead.” ขณะที่ก่อนหน้านี้ราวๆ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ ผมได้ยินเพื่อนจากแม็คคลีน (เวอร์จิเนีย) คนหนึ่งพูดเรื่องเดียวกันนี้  เขาบอกว่าทำเนียบขาวกำลังโปรแกรมเรื่องการสื่อสารกับสื่อมวลชนใหม่โดยระบบเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ เพราะเห็นว่าวิธีการสื่อสารสมัยใหม่สามารถสื่อสารกับมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนอาชีพ โดยเฉพาะสื่อมวลชนอาชีพที่หมายถึงสื่อโทรทัศน์ หรือทีวี ที่มีอิทธิพลมายาวนาน

จุดอ่อนและจุดแข็งของสื่อทีวี คือ เป็นสื่อแบบการสื่อสารทางเดียว ซึ่งการเป็นสื่อแบบดังกล่าวทำให้ไม่สามารถสื่อสารแบบสองทางได้ แต่การไม่สามารถสื่อสารแบบสองทางได้ก็ทำให้ทีวีได้อยู่แบบไม่ต้องกังวลผลสะท้อนกลับของผู้รับชม

แต่ในยุคดิจิตัลนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ การผลิตซอฟท์แวร์ประยุกต์หรือแอพลิเคชั่นหลายอย่างขึ้นมา นับว่าเป็นการท้าทายต่อธุรกิจทีวีทั้งสิ้น อย่างเช่น ยูทูบ (youtube)  หรือเว็บไซต์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ 

ไม่แต่เท่านั้นระบบออนไลน์ในปัจจุบันได้ทำให้แทบทุกคนและแทบทุกองค์กรสามารถผลิตสื่อเป็นของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่ง (ผ่าน) สื่ออาชีพอีกต่อไป เช่น การผลิตวีดีโอข่าวสารข้อมูลแล้วใส่ไว้ในโปรแกรมประยุกต์ขององค์กรของตนเอง หรือจะฝากไว้กับยูทูบก็ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าว เป็นการลดการพึ่งพาทีวีทั่วไปลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมคำถามว่า “ทำไมคุณจะต้องไปพึ่งสื่อทีวีอีก”ในเมื่อคุณสามารถผลิตสื่อของคุณเองได้

ที่สำคัญการผลิตสื่อเองโดยไม่ผ่านทีวีทั่วไปเหล่านี้ ตอบสนองรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสื่อยุคใหม่ที่ลักษณะเป็นการสื่อสารแบบไร้พรมแดน สื่อสมัยใหม่เป็นช่องทางที่ทำให้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ด้วยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้าสู่ยุค “การเจาะเฉพาะกลุ่ม”เพราะข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้มีมากมายมหาศาลจนทะลักล้น  ไม่มีใครมานั่งรอดูรายการที่ตนเองสนใจในขณะที่มีรายการอื่นคั่นอยู่ พัฒนาของการนำเสนอของสื่อสมัยใหม่จึงเน้นเป้าหมายการสื่อสารถึงกลุ่มคน กลุ่มองค์กร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น วิธีการนำเสนอของทีวีทั่วไปจึงพร่าเลือน

นอกจากนี้การสื่อสารสมัยใหม่ยังเป็นการสื่อสารมวลชนแบบการสื่อสารในแนวนอน ซึ่งเป็นรูปแบบของการสื่อสารด้วยความเท่าเทียมกัน ปราศจากเงื่อนไขด้านสถานภาพบุคคล เวลาที่ทำการสื่อสารกันจะไร้ซึ่งตำแหน่ง ชนชั้น ไม่ใช่การสื่อสารแบบเจ้านายกับลูกน้อง หรือต้องผ่านระเบียบขั้นตอน ซึ่งการสื่อสารมวลชนรูปแบบดังกล่าวยังเป็นรูปแบบการสื่อสารของทีวีอยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่เป็นการสื่อสารมวลชนแบบสองทาง  เป็นรูปแบบการสนทนา ตอบปัญหาหรือโต้ตอบกันไปมาในช่วงเวลานั้นๆ เพราะฉะนั้นใครหรือรัฐบาลใด คิดว่าจะสื่อสารทางเดียวให้คนอื่นฟังตนเพียงอย่างเดียว นับเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ และจะประสบกับความล้มเหลวในการสื่อสาร ซึ่งในแง่นี้วัฒนธรรมการสื่อสารแบบทางเดียวของทีวีกำลังจะตกยุค ทำให้การสื่อสารผ่านทีวีมีคนสนใจน้อยลง เหมือนสื่อหนังสือพิมพ์ (กระดาษ) ที่แปลงกายเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์กันแทบจะหมดแล้ว หรือนึกไม่ออกแล้วว่าสื่อหนังสือพิมพ์แบบไหนที่ไม่ผันตัวเองเข้าหาระบบออนไลน์

ทีวีในอเมริกา เป็นนกรู้ในเรื่องนี้ พวกเขาได้ปรับตัวเองด้วยการพาช่องทีวีไปสู่ระบบออนไลน์กันทุกเจ้า หลายรายลงทุนพัฒนาซอฟท์แวร์ของตนเองเพื่อให้ผลิตรายการในรูปแบบจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น คอข่าวการเมืองก็สามารถคลิกเพื่อฟังการสัมภาษณ์บุคคลทางการเมืองที่ตนเองสนใจได้ทันที ดังนั้น ในตอนนี้จึงเสมือนยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างทีวีแบบเดิมที่มีเครื่องรับตามบ้านกับทีวีอินเทอร์เน็ตที่มีเครื่องรับ คือ คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

จึงเห็นได้ว่าระบบทีวีแบบเดิมๆ มีช่องในการทำมาหากินแคบลงทุกที ขณะที่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น ทั้งเครื่องอุปกรณ์และค่าจ้างพนักงานในองค์กร

สื่อสมัยใหม่ อย่างระบบออนไลน์โดยผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังตอบสนองต่อสังคมมนุษย์ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ความไร้กาลเวลาและสถานที่ กล่าวคือ มนุษย์บนโลกนี้มีกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง และเคลื่อนมาย้ายไปในทุกๆ ที่ โลกสมัยใหม่ไม่เคยมีกลางวันหรือกลางคืน  วิธีการสื่อสารสมัยใหม่ “หลังยุคทีวี” จึงเป็นวิธีการสื่อสารมวลชนที่ไร้ทั้งพื้นที่และเวลาไปด้วย  เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งผู้รับสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทุกสถานที่ที่มีคลื่นสัญญาณและตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ไม่ว่าวิธีการสื่อสารยุคไหน ล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เป็นการสื่อสารมวลชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านธุรกิจหรือมีผลประโยชน์เชิงธุรกิจไม่ว่าจะอ้างว่าตนเองทำหน้าที่สื่อของรัฐหรือขององค์กรไม่หวังผลกำไร หรือแม้จะเป็นการสื่อสารมวลชนด้านศาสนาก็ตาม ทั้งหมดมีมีต้นทุนทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวีหรือสื่อออนไลน์สมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นมัลติมีเดีย

Wilbur Schramm ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านสื่อสารอเมริกัน กล่าวไว้ใน How communication works. ว่า ช่องทางการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ช่วยให้สารที่สื่อออกไปถึงกลุ่มคนต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น ผู้รับข้อมูลข่าวสารไม่ต้องตีความมาก  เพราะเป็นการสื่อแบบตรงๆ เหมือนพุดคุกันธรรมดา เพียงแต่เปลี่ยนจากการพูดคุยแบบธรรมดาๆ นั้นเป็นการพูดคุย (สื่อสาร) กับคนจำนวนมาก โดยนัยนี้วิธีการสื่อสารมวลชนในโลกปัจจุบันจึงมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและรวดเร็วกว่าการสื่อสารในยุคเก่า ซึ่งผมขอตีความตาม Steven Rosenbaum ด้วยว่า ทีวีก็อยู่ในยุคเก่านั้นด้วย

ในหนังสือของ Ann N. Crigler และ Klaus Bruhn Jensen ชื่อ Discourses on politic: talking about public issues in the United States and Denmark ชี้ว่าการสื่อสารแบบใหม่จึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปในด้านต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม  เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทำความหมายของพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เปลี่ยนไป จากแต่เดิมเป็นการสื่อสารพื้นที่นอกบ้านและในบ้าน กลายเป็นทุกคนถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) ไปโดยปริยาย อิทธิพลของการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่จึงมีมาก การรับข้อมูลข่าวสารเป็นประจำบ่อยๆ ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนๆ นั้น โดยไม่รู้สึกตัว

ขณะเดียวกันสื่อสมัยยังรองรับต่อกระแสเสรีประชาธิปไตยที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อกลางแบบสองทาง มวลชนทั่วโลกสามารถสื่อสารถึงกันไปมาอย่างสะดวกและรวดเร็ว กระจกและตะเกียงส่องหาความจริงไม่ต้องไปหาที่ไหน แต่หาได้จากเสียงสะท้อนผ่านบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่อยู่บนระบบออนไลน์นั้นโดยตรง

สำหรับทีวีในอเมริกา จึงเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนตนเองอย่างขนานใหญ่ เหมือนที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้เปลี่ยนตัวเองไปก่อนหน้านี้

Steven Rosenbaum บอกว่า สื่อทีวีแบบใหม่ที่เรียกว่า T/V = television /video หรือทีวีภาคออนไลน์หรือกำลังมาแรง ถึงขนาดมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการใช้เงินเพื่อการลงทุนเพิ่มจากจำนวน 4.14  พันล้านดอลลาร์ในปีนี้เป็น 8.04 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016

ในอเมริกาเวลานี้ ถ้าสังเกตจะเห็นป้ายโฆษณาตัวเองของช่องทีวีต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปมากขึ้น ทั้งแถวฟรีเวย์สำคัญๆ และตามเมืองใหญ่ เพราะทีวีก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง การสื่อสารโดยทีวีรูปแบบเดิม เช่น ผ่านดาวเทียม หรือเคเบิล กำลังอยู่ในภาวะร่วงโรยถดถอย ขณะที่ T/V รูปแบบใหม่กำลังมาแรง.
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดปาฐกถาครึ่งเดียวของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ในห้องเรียนประชาธิปไตยที่ถูกยกเลิก

$
0
0

30 นาทีกับปาฐกถานิธิก่อนถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจทั้งลูกศิษย์-อาจารย์ นิธิพูดถึงลักษณะของเผด็จการในแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง เสียดายที่ไม่มี 'อนาคตของเผด็จการ'  (บรรยายไม่จบ) 

เย็นวันที่ 18 ก.ย. 57 ในที่สุดห้องเรียนประชาธิปไตยครั้งที่ 2 ตอนการล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศก็ถูกจัดขึ้นอย่างทุลักทุเล บริเวณใต้อาคารบรรยายรวม 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รังสิต ด้วยเหตุผลว่าทางมหาวิทยาลัยได้รับคำสั่งจากกองบังคับการควบคุม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ลงชื่อโดยพันเอก พัลลภ  เฟื่องฟู สั่งให้มหาวิทยาลัยระงับกิจกรรมดังกล่าว ต่อมาได้มีคำสั่งจากทางมหาวิทยาลัยประกาศงดใช้ห้องเรียนสำหรับการจัดกิจกรรมวิชาการ ทำให้กลุ่มผู้จัดงานตัดสินใจย้ายที่จัดลงมาบริเวณใต้อาคารเรียนในทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า “การจัดงานเสวนาวิชาการ เป็นสิทธิเสรีภาพ ที่พึงมีในระบอบประชาธิปไตย” ก่อนจะถูกยกเลิกไปในที่สุด

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสไปร่วมงาน ทั้งผู้ที่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยและพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยมานานแล้วก็ตาม ประชาไทขอหยิบบันทึกแบบเรียน นำเสนอโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ เนื่องจากโชคดีเล็กน้อยที่เขาสามารถกล่าวปาฐกถาได้ราว 30 นาทีก่อนตำรวจจะขอให้ยุติการจัดงาน และเชิญตัวทั้งนักศึกษาผู้จัดและอาจารย์ที่ร่วมเสวนาไปที่สถานีตำรวจ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราชแต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย
เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้”

“การรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ  ครั้งของประเทศไทย เป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้จะมีก็เพียงสองครั้งคือ รัฐประหารปี49 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี57  ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วยและเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติมันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดน และกลไกของรัฐเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ  เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไหร่ก็สามารถยึดได้แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกของคน คุณต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วยซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี49 นั้นล้มเหลวเพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับปีนี้ เขาไม่ให้พูด ผมก็ไม่พูด”

 

นิยามให้ชัด เผด็จการ(dictator) คืออะไร?

แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการพูดในวันนี้จะอยู่ที่อนาคตของเผด็จการ แต่เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีนิยามให้ชัดเสียก่อนว่าเผด็จการหมายถึงอะไร ประเด็นแรกที่ผมฟันธงคือ เผด็จการนั้นเป็นผลผลิตจากรัฐสมัยใหม่ เพราะในรัฐโบราณมีเพียงแต่ทรราช(tyrant)เท่านั้น ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่มักจะทำอะไรตามอำเภอใจ โหดร้าย โหดเหี้ยม รังแกคนมาก ทรราชนี่สามารถที่จะเป็นราชาหรือไม่ใช่ราชาก็ได้ คนเหล่านี้ผมมองว่าไม่ใช่เผด็จการด้วยเหตุผล 3 ประการ

1.ในโลกสมัยโบราณ ทรราชมีอำนาจจำกัด คือขาดระบบราชการ เครื่องมือในการสื่อสารคมนาคม ขาดกองทัพประจำการ หมายความว่า อาจจะมีกองทัพอยู่แต่เป็นเพียงกองทัพเล็กๆ  ซึ่งใหญ่กว่าคนอื่น แต่คนอื่นๆ  เขาก็มีกองทัพด้วย ทำให้ทรราชไม่สามารถจะผูกขาดความรุนแรงได้ ถ้าเป็นเผด็จการแล้วไม่ผูกขาดความรุนแรงเป็นไปไม่ได้  นอกจากนี้ยังขาดกลไกอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าสู่รายละเอียดในการควบคุมประชาชนได้ ฉะนั้นทรราชก็ได้แต่แสดงอำนาจอยู่กับคนใกล้ตัวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะแผลงฤทธิ์ หรือแสดงความไม่ฉลาดของตนให้ปรากฏแก่สาธารณชนได้เท่าเผด็จการ โดยสรุปก็คือการที่ขาดเครื่องมือต่างๆ  นั้นไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้ เพราะความสะพรึงกลัวนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของเผด็จการ ทรราชนั้นไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนก็แล้วแต่มันไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้

2.ในระบอบปกครองของทรราช ยังมีอำนาจอื่นเหลืออยู่อีกมาก เช่น อำนาจท้องถิ่น ศาสนา ขุนนาง ประเพณี และอื่นๆ  อีกหลายประการ ซึ่งทรราชไม่มีกำลังพอที่จะไปปราบอำนาจเหล่านั้นได้ วิธีเดียวที่ทรราชจะอยู่ได้คือต้องมีการประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ  เหล่านั้น เพราะฉะนั้นโดยปกติราชาธิราชทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าท่านอยากจะมีอำนาจมากแค่ไหน จะเหี้ยมโหดแค่ไหนก็ตาม มันจะมีอำนาจอื่นคอยขวางอยู่ตลอดเวลาทำให้ทรราชนั้นต้องประนีประนอมด้วย เพราะฉะนั้นเผด็จการจึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ เพราะมันไม่มีเครื่องมือต่างๆ  ที่ทำให้เกิดความสะพรึงกลัว

3.อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทรราชแตกต่างจากเผด็จการก็คือ ในรัฐโบราณไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาติ หรือรัฐชาติ ซึ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญมากๆ  ฉะนั้นถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐชาติด้วย โอกาสจะเกิดเผด็จการนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะชาติไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ดินแดนและกลไกของรัฐเท่านั้น แม้จะยึดดินแดน ยึดกลไกของรัฐได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าจะยึดชาติได้ เพราะชาติมีมากกว่าดินแดน และกลไกของรัฐ คือชาติมีสำนึกร่วมกันถึงอัตลักษณ์ของคนด้วย มีสำนึกของความคิดถึงอนาคตร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐเฉยๆ  ไม่มี  เพราะฉะนั้นเผด็จการที่แท้จริงจะต้องมีชาติอยู่ด้วย

ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราช แต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้ ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นชาติของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมันไม่เท่ากัน

การจะมีสำนึกความเป็นชาติร่วมกันได้ จะต้องยอมรับเสียก่อนว่า พลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ถ้ายอมรับข้อนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า มีเพียงแค่รัฐที่ไร้ชาติ

สำหรับชาติไทยนั้นมีพัฒนาการความเป็นชาติที่ช้ากว่าชาติอเมริกัน ชาติฝรั่งเศส แต่เรากำลังก้าวเดินสู่ความเป็นชาติเข้าไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มมีสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีเพียงศูนย์กลางที่กรุงเทพ ข้าราชการ และชนชั้นนำของประเทศ ชาวนาเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

และด้วยเหตุนี้ ผมมองว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้งของประเทศไทย จึงเป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้ จะมีก็เพียงสองครั้งคือ รัฐประหารปี49 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี57  ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติ มันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดนและกลไกของรัฐ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไรก็สามารถยึดได้ แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกของคน ต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วย ซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี49 นั้นล้มเหลว เพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับปีนี้ เขาไม่ให้พูด ผมก็ไม่พูด

การสร้างความน่าสะพรึงกลัว เครื่องมือของเผด็จการ

“ความน่าสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการในรัฐสมัยใหม่จึงแตกต่างจากความน่าสะพรึงกลัวของโจรหรือความน่าสะพรึงกลัวของทรราช… แต่เผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ทำแบบนั้นเหตุผลสำคัญก็เพราะจุดมุ่งหมายของการสร้างความน่าสะพรึงกลัวก็คือ… Total Domination การยึดกุมคนจนสุดจิตสุดใจ หรือยอมจำนนอย่างสุดตัว”

สิ่งที่เผด็จการสมัยใหม่ใช้เป็นเครื่องมือนั้นมีอยู่สองสิ่ง คือความน่าสะพรึงกลัว กับอุดมการณ์บางอย่างที่ทำให้ความน่าสะพรึงกลัวเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องทำงานควบคู่กันไป ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้

ความน่าสะพรึงกลัวเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว พระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณเวลาจะประหารคนนั้นไม่ได้มีวิธีการเอานักโทษเข้าไปฉีดยาแล้วปล่อยให้ตายในห้อง แต่เวลาจะประหารนักโทษท่านสั่งให้จับคนคนนั้นเข้าไปใส่ไว้ในตะกร้อแล้วให้ช้างเตะจนตาย ต่อหน้าคนหลายๆ คน ซึ่งนี่เป็นการสร้างความน่าสะพรึงกลัวในฐานที่ห้ามไม่ให้เกิดการละเมิดพระราชอำนาจ แต่กับเผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ความน่าสะพรึงกลัวในรัฐสมัยใหม่นั้นเป็นการสร้างความน่าสะพรึงที่ไม่มีการแยกแยะ คือไม่ได้ใช้กับคนที่คิดจะล้มอำนาจเผด็จการเพียงอย่างเดียว แต่ใช้กับคนเล็กคนน้อยใช้ทั่วไปหมด เช่นคุณสวมเสื้อผิดสี คุณก็มีความผิด ซึ่งนี่เป็นความน่าสะพรึงกลัวที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบเผด็จการสมัยใหม่ คือมีการทำร้าย ลงโทษคนอื่นทั่วไปหมดโดยไม่คำนึงว่าคนๆ นั้นเป็นศัตรูหรือไม่ ซึ่งในโซเวียตสมัยสตาลิน การลงโทษแบบไม่เลือกหน้าแบบนี้มีการทำกับพรรคพวกตัวเองด้วย ไม่ใช่เพราะพรรคพวกของตนจะหันกลับมาทำร้ายตัวเอง แต่ต้องทำเพราะให้ความน่าสะพรึงกลัวแพร่กระจายออกไป โดยทำให้คนรับรู้ว่าไม่มีทางรอดออกไปได้ง่ายๆ

ในส่วนต่อมา การใช้ความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการในรัฐสมัยใหม่นั้นมีลักษณะที่เป็นการสร้างความน่าสะพรึงกลัวคือ ต้องมีการทำลายคนจำนวนมาก เช่นสิ่งที่นาซีกระทำกับชาวยิวและชนชาติอื่นๆ …ซึ่งมันเป็นการสูญเสียจำนวนมาก และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้เพราะประชากรมีน้อยเกินไป ฉะนั้นจึงเป็นได้เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น  นอกจากนี้แล้วการทำร้ายคนเผด็จการจะไม่ทำร้ายคนๆ เดียว แต่จะทำร้ายเครือข่ายของคนๆ นั้นด้วย ให้เกิดความทุกข์อย่างแสนสาหัสมาก เช่นในประเทศชิลีและอาร์เจนตินา ซึ่งเคยมีการจับคนแล้วหายไปเลย โดยไม่มีใครรู้ว่าคนๆ หนึ่งหายไปไหน ซึ่งการที่หายไปเฉยๆ โดยไม่รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่หลังตายไปแล้ว ส่งผลให้คนที่เหลืออยู่ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้

ความน่าสะพรึงกลัวอีกอย่างหนึ่ง คือมันทำให้เราไม่สามารถไว้ใจใครได้ กรณีเช่นนักไวโอลินฝีมือเอกของโลกที่ชื่อออย สตาร์ค ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโซเวียตสมัยสตาลิน ร่วมกับเพื่อนที่เป็นนักเชลโล ชื่อรอส ทรอโพรวิชท์ วันแรกที่ทั้งสองคนไปถึงปารีสก็ได้เดินออกมาเที่ยวชมที่เมืองปารีส เมื่อมาถึงออย สตาร์ค ก็ได้สารภาพกับรอส ทรอโพรวิชท์ ว่าก่อนจะออกเดินทางมาปารีส ตนได้เขียนบทความโจมตีรอส ทรอโพรวิชท์ อย่างแหลกลาญเลย และในวันพรุ่งนี้บทความเหล่านั้นจะตีพิมพ์ แต่ทั้งสองคนก็เข้าใจกันว่าสตาลินต้องการที่จะให้ตัวรอส ทรอโพรวิชท์ออกนอกประเทศไป จึงได้สั่งให้นักดนตรีที่มีชื่อเสียงพอๆ กันเขียนบทความโจมตีรอส ทรอโพรวิชท์ สรุปก็คือความน่าสะพรึงกลัวนี้ มันกำลังทำใครคุณไม่สามารถไว้ใจใครได้ ให้คนรู้สึกถึงความอ่อนแอเมื่อรู้สึกขาดเครือข่ายโดยสิ้นเชิง  

อีกประการหนึ่งของความน่าสะพรึงกลัวของเผด็จการในโลกสมัยใหม่ คือมันทำให้คนไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ถูกเลย คนไม่สามารถคิดได้ว่าจะทำอะไรได้มากน้อยเพียงไหน ทำอะไรถึงจะถูกหรือทำอะไรถึงจะผิด สุดท้ายจึงส่งผลให้คนหลายๆ คนเซ็นเซอร์ตัวเองไปมากกว่าเส้นที่ผู้มีอำนาจได้ขีดไว้ และนี่คือประโยชน์ของความน่าสะพรึงกลัวของโลกสมัยใหม่

ทั้งหมดนี้ทำได้อย่างไร โดยสรุปก็คือเผด็จการขุดเอากิเลสที่ฝังลึกในใจมนุษย์นั้นออกมา คือมนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัวกันหมด พอเราวางใจใครไม่ได้ เราก็เหลือแต่ความเป็นปัจเจกคนเดียว และนั่นทำให้เราอ่อนแอถึงที่สุด

เพราะฉะนั้นความน่าสะพรึงกลัวของระบอบเผด็จการในรัฐสมัยใหม่จึงแตกต่างจากความน่าสะพรึงกลัวของโจร หรือความน่าสะพรึงกลัวของทรราช… แต่เผด็จการในรัฐสมัยใหม่ไม่ทำแบบนั้น  เหตุผลสำคัญก็เพราะจุดมุ่งหมายของการสร้างความน่าสะพรึงกลัวก็คือ… Total Domination การยึดกุมคนจนสุดจิตสุดใจ หรือยอมจำนนอย่างสุดตัว…

อุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงความชอบธรรมให้ความน่าสะพรึงกลัว

“เผด็จการทั่วไปทำทุกอย่างที่เหมือนกับทรราชทำคือ
พยายามหันกลับไปรื้อฟื้นระเบียบเหล่านี้ซึ่งทำให้มันไม่แตกต่างกับทรราช”

“เมื่อไรที่คุณยึดอำนาจกลายเป็นเผด็จการคุณจะรู้สึกหวั่นไหวที่ข้อมูลข่าวสารจะหลั่งไหลอย่างอิสระจากที่ต่างๆ ในโลกเข้ามาข้างในถ้าบล็อคได้คุณก็บล็อค ถ้าบล็อคไม่ได้คุณก็หาทางแก้โดยวิธีต่างๆอันนี้เป็นลักษณะที่เราพบอยู่ทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันคุณกลัวการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของสังคม”

เหตุใดการสร้างความสะพรึงกลัวในลักษณะดังกล่าวจึงถูกยอมรับ  เหตุผลสำคัญคือมันมีอุดมการณ์ และอุดมการณ์ของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งหลายในโลกนั้น มันแตกต่างจากอุดมการณ์ของพวกทรราช คือพวกทรราชไหนก็ต้องมีอุดมการณ์ทั้งนั้น พระเจ้าปราสาททองยึดราชบัลลังก์จากลูกชายพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนหน้านั้นที่เป็นเด็กตัวเล็กๆ  แล้วท่านก็บอกว่า ไอ้นี้เป็นเด็กเล็กเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เล่นชนแพะชนทั้งวันแล้วบ้านเมืองจะไปได้ยังไง อุดมการณ์จะปล่อยให้ไปตกในมือเด็กเล็กๆ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นกูยึดเองดีกว่า กูเป็นเอง นี้คืออุดมการณ์ รัชกาลที่1 ท่านก็บอกว่าจะขึ้นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นี่ก็คืออุดมการณ์เหมือนกัน

แต่เผด็จการไม่ใช้อุดมการณ์แบบนี้ อุดมการณ์ของทรราชหรืออุดมการณ์ของเผด็จการที่มันไม่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ มันเป็นอุดมการณ์ที่จะกลับไปย้อนหาอดีต อดีตที่จริงหรือไม่จริง คือการพยายามรักษาสิ่งที่เชื่อว่าดีในอดีต มีระเบียบสังคมที่ดี สงบเรียบร้อยอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ดีในอดีต เผด็จการเพื่อรักษาสิ่งที่ดีในอดีตเอาไว้ แต่เผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ใช่จะรักษาสิ่งที่ดีในอดีต แต่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ให้แก่โลกปัจจุบันและอนาคต เช่น คอมมิวนิสต์ของโซเวียต ที่พยายามจะสร้างเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งประวัติศาสตร์มันบังคับ บ่งบอกว่ายังไงก็ไม่มีทางหนีพ้น คนที่พยายามจะหนีจะถูกกงล้อของประวัติศาสตร์ทับตาย

ฮิตเลอร์บอกว่ามันมีชนชั้นในทางชีววิทยา มีชนชั้นที่เป็นนาย ถึงยังไงชนชั้นนี้ก็เป็นนาย เผด็จการเบ็ดเสร็จต้องการสร้างคนชนิดใหม่ขึ้นมา ไม่ได้ต้องการรักษาคนดีเอาไว้ ต้องเป็นคนชนิดใหม่ถึงจะเหมาะสมที่จะอยู่ถึงโลกยุคใหม่ ในขณะที่เผด็จการทรราช เผด็จการธรรมดาจะพยายามกับไปรื้อระเบียบสังคมเก่าอยู่ตลอดเวลา อุดมการณ์ที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่จะสร้างอนาคตใหม่ มันมีพลังมากเพราะมันควบคุมอดีตควบคุมปัจจุบันควบคุมอนาคตไว้ได้ ลองคิดถึงวิธีอธิบายการต่อสู้กันทางชนชั้น ซึ่งมันอธิบายไล่ย้อนกลับไปถึงอดีตพัฒนาเป็นปัจจุบันและอนาคต อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงเป็นอื่น เป็นสิ่งที่มีพลังมาก

แน่นอน เผด็จการที่ไม่ใช่เผด็จการแบบเบ็ดเสร็จไม่สามารถที่จะมีอุดมการณ์ระดับนี้ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามหันกลับไปยึดการรื้อฟื้นระเบียบเก่าของสังคม ระเบียบเก่าเหล่านี้ตัวเองก็ได้ประโยชน์หรือพรรคพวกตัวเองก็ได้ประโยชน์ เช่น ในแอฟริกา เผด็จการหลายแห่ง เป็นเรื่องของการต่อสู้ของชนเผ่าหลายๆ ชนเผ่า ชนเผ่าที่เคยครอบงำผลประโยชน์มากที่สุด คนในชนเผ่านี้บางคนเคยเป็นทหารและทำการยึดอำนาจได้ ชนเผ่านี้ก็พยายามยืนยันว่าจะกับไปสู่ระเบียบสังคมแบบเก่าที่มันมีความสงบสุข

ในลาตินอเมริกากองทัพร่วมมือกับพวกกระฎุมพีหรือกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของกองทัพและรักษาชนชั้นกลางเอาไว้ ก็อ้างว่าเรากับไปสู่ระเบียบที่มันสงบเรียบร้อยเหมือนเดิม ในฟิลิปปินส์กองทัพร่วมมือกับเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อรักษาตัวระเบียบสังคมที่เชื่อว่ามันดี

เผด็จการทั่วไปทำทุกอย่างที่เหมือนกับทรราชทำ คือพยายามหันกลับไปรื้อฟื้นระเบียบเหล่านี้ ซึ่งทำให้มันไม่แตกต่างกับทรราช เมื่อไรที่เราพูดถึงเผด็จการในปัจจุบัน ไม่นับฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา เราจะนึกถึงเผด็จการที่มีลักษณะที่เป็นแบบทรราช ซึ่งเอื้อผลประโยชน์ของคนชนกลุ่มน้อย เพราะสังคมทุกสังคมในโลกมันเอื้อประโยชน์แก่ชนกลุ่มน้อยก่อนเสมอ ดังนั้นมันเป็นเผด็จการที่ตามทัศนะของผมเป็นเผด็จการที่ล้าสมัย พูดง่ายๆ คือโลกปัจจุบันไม่อนุญาตต่อเผด็จการธรรมดา แต่อาจจะอนุญาตเผด็จการแบบฮิตเลอร์ แต่เผด็จการที่ทำตัวเองเป็นทรราชเมื่อสองพันปีไปแล้วคงไม่ค่อยเอื้อเท่าไร อุดมการณ์อันเดียวที่เผด็จการทั่วไปทั้งหลายที่ไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จมักจะทำ คือ ชาตินิยม ผมต้องเข้ามาเพื่อรักษาชาติเอาไว้ ซึ่งความเป็นชาติของเขาจะสอดคล้องกับการรื้อฟื้นระเบียบแบบเก่า เพราะว่าชาติของประเทศที่มีเผด็จการทั้งหลาย ไม่ว่าจะแอฟริกา  เอเชีย ลาตินอเมริกา มันเป็นชาติที่สร้างระเบียบสังคม ชนิดที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนจำนวนน้อยตลอดเวลา ฉะนั้นที่บอกคุณรักชาติก็คือการพยายามจะรักษาตัวระเบียบของสังคมเอาไว้ให้มันเหมือนเดิม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือพลังในชาติของโลกปัจจุบันมันอ่อนไปแล้ว มันถูกตีความได้หลายอย่าง รักชาติแบบมึง รักชาติแบบกู ฉะนั้นตัวชาตินิยมที่เฉยๆ มันจึงกลัวการไหลของข้อมูลข่าวสารที่เสรี

เมื่อไรที่คุณยึดอำนาจกลายเป็นเผด็จการ คุณจะรู้สึกหวั่นไหวที่ข้อมูลข่าวสารจะหลั่งไหลอย่างอิสระจากที่ต่างๆ ในโลกเข้ามาข้างใน ถ้าบล็อคได้คุณก็บล็อค ถ้าบล็อคไม่ได้คุณก็หาทางแก้โดยวิธีต่างๆ  อันนี้เป็นลักษณะที่เราพบอยู่ทั่วๆ ไป ในขณะเดียวกันคุณกลัวการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบของสังคม

อย่าลืมว่าตามคำนิยาม ชาติคืออะไร  ชาติก็คือสังคมนั่นเอง เพราะเราพูดถึงชาติคือ รัฐที่ยอมรับความเป็นเจ้าของประเทศที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเผด็จการจะกลัวการเคลื่อนไหวของสังคมทุกรูปแบบ ไม่ว่าคุณจะเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เคลื่อนไหวในเชิงวิชาการ คุณจะรู้สึกหวั่นไหวในการเคลื่อนไหวในสังคม

เพราะชาติที่คุณยึดได้มันไม่มีในตัวสังคมที่พูดถึง ขอกลับย้อนไปย้ำสิ่งที่พูดว่า ถ้าคุณยึดได้แต่เพียงรัฐ ยึดชาติไม่ได้ เมื่อไรที่ชาติมันเริ่มแสดงตัวขึ้นมาเมื่อนั้นคุณจะหวั่นไหวกับมันอย่างมากที่สุด ที่น่าสนใจคือคุณจะทำอย่างไรกับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ก็ต้องปราบปรามด้วยความน่าสะพรึงกลัว เหมือนกับเผด็จการเบ็ดเสร็จใช้นั่นเอง แต่ความน่าสะพรึงกลัวที่ขาดอุดมการณ์รองรับ นอกจากที่ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา มันทำให้เผด็จการมันกลายเป็นทรราชอีก อย่าลืมว่าความน่าสะพรึงกลัวที่ฮิตเลอร์ สตาลิน ใช้ เป็นความน่าสะพรึงกลัวที่ถูกรองรับด้วยอุดมการณ์ที่คิดถึงอนาคต ไม่ใช่การกลับไปรักษาอดีต และคนจำนวนหนึ่งที่จำนวนมากพอสมควรยอมรับกับการใช้ความน่าสะพรึงกลัว แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณใช้ความน่าสะพรึงกลัวเพื่อรักษาอำนาจของตนเอง คุณก็กลายมาเป็นทรราชอย่างเก่า ซึ่งมันไม่สามารถจะอยู่ได้ มันล้าสมัยไปแล้วในโลกปัจจุบันนี้ คุณก็ต้องหันไปหาความชอบธรรมอื่นๆ เช่น การสร้างประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ การกำจัดคอรัปชั่น การรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิรูปการเมือง การรักษาสถาบันศาสนา การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ อะไรก็ตามแต่เป็นความชอบธรรมทางการเมืองซึ่งเอามาทดแทนอุดมการณ์ ซึ่งถ้าอุดมการณ์ที่เป็นการรักษาอดีตแต่เพียงอย่างเดียว มันไม่มีพลังพอที่คุณจะใช้ความน่าสะพรึงกลัวอย่างเต็มได้

อนาคตของเผด็จการ กับปัญหาที่ต้องเผชิญ บทเรียนที่ต้องยุติ

พอมาถึงเรื่องของอนาคตของเผด็จการ ประเด็นแรกที่อยากจะพูดถึงก็คือ เผด็จการที่พูดถึงเป็นเผด็จการทั่วไปไม่ใช่เผด็จการเบ็ดเสร็จ

ประเด็นที่1 มีนักวิชาการชาวต่างชาติที่พูดถึงเรื่องของความงอกงามเติบโตของประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา และเหตุผลสำคัญคือโลกาภิวัตน์ รัฐในโลกปัจจุบันไม่ใช่รัฐแบบเก่าที่พร้อมจะปิดประเทศเพื่อที่จะอยู่คนเดียว มันเป็นรัฐที่ประเทศอื่นๆ  เข้ามาแทรกวางนโยบายสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง เราไปคิดเพียงแต่ว่าเปิดตลาดให้จีน ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดจีนจะสามารถใช้ประโยชน์จากการผลิตในจีน ใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูงได้เท่าไร ซึ่งยังไม่แน่ใจอาจจะแค่ขายราง ขายหัวจักรรถไฟ แต่ที่จริงรถไฟความเร็วสูงมันหมายถึงการขยายตัวของการบริโภค หรือสินค้าอื่นที่คนจำนวนมากและชนชั้นกลางจะเข้าถึงง่ายๆ  เพราะฉะนั้นพอมีรถไฟความเร็วสูง จะมีคำถามขึ้นมาว่าสินค้าจะไหลไปจีนเพียงอย่างเดียวหรือจะมีสินค้าจากโลกข้างนอกที่เจริญกว่าจีน และไหลไปทางรถไฟเข้าไปสู่คนอีสาน เหนือ ใต้ ได้เร็วมากขึ้น จึงมีความหมายเป็นนโยบายสาธารณะของประเทศไทย แต่เป็นผลประโยชน์ทั้งของจีนและประเทศอื่นๆ  ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเทศไทยอย่างเดียว

ประเด็นที่2 ปัญหาความมั่นคงด้านนโยบายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญกับประเทศมหาอำนาจ สมัยสงครามเย็นความมั่นคงด้านนโยบายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา แค่คุณวางนโยบายว่าจะต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใครจะมาจากการเลือกตั้ง มาจากการยึดอำนาจรัฐประหารก็ได้ทั้งนั้น เพียงแค่มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในโลกปัจจุบันปัญหาความมั่นคงด้านนโยบาย มันมาจากการที่คุณต้องมีรัฐบาลทหารคอยกำกับให้เป็นนโยบายอย่างนั้นหรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว ความมั่นคงด้านนโยบายกลับเกิดขึ้นจากการต่อต้านที่มีขีดจำกัด เช่น นโยบายที่มาจากการถกเถียงโต้แย้ง จนในที่สุดสามารถผ่านออกมาได้ แต่จะเป็นนโยบายที่มั่นคงกว่า นโยบายที่มาจากเผด็จการและสามารถวางนโยบายภายใน 3 เดือน ถ้าคิดว่ามหาอำนาจต้องการความมั่นคงทางด้านนโยบายของประเทศเล็กๆ ที่กล่าวมา ผมคิดว่าประชาชนเขาน่าจะพอใจกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า  อันนี้ไม่เกี่ยวว่ามหาอำนาจเหล่านั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย  จีนเองนี่อย่างที่ทุกท่านทราบอยู่แล้ว ประสบปัญหาการแปลงเปลี่ยน นโยบายในพม่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำเหมือง นโยบายพลังงาน หรือแม้แต่นโยบายทางการทหาร ซึ่งครั้งกองทัพพม่าซื้อแต่อาวุธจีนตลอดเวลา ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว แต่เริ่มซื้ออาวุธฝรั่งบ้างเหมือนกัน เพราะฉะนั้นความมั่นคงด้านนโยบายจะมีความสำคัญต่อมหาอำนาจ ไม่ใช่ ฉะนั้นมหาอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเท่านั้น แต่มหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างก็ต้องการความมั่นคงทางนโยบายจากประเทศอื่นทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 2 ที่ผมอย่างจะพูดถึงอนาคตของเผด็จการ คือผมคิดว่ารัฐชาติกำลังเปลี่ยนอาจจะไม่ถึงกับสลายลงไป แต่มันเปลี่ยนแน่ๆ  เพราะรัฐชาติในทุกวันนี้คุณต้องอยู่กับองค์กรข้ามชาติระหว่างประเทศแยะมาก ไม่ว่าจะเป็น EU ไม่ว่าจะเป็นASEAN ไม่ว่าจะเป็นFTA ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามอีกร้อยแปดพันประการ องค์กรเหล่านี้ข้อตกลงขององค์เหล่านี้ข้ามอธิปไตยของปวงชนด้วย อย่างที่ทุกท่านทราบ เช่นเรื่องEU มันข้ามกฎหมายของทุกประเทศเลยที่เป็นสมาชิกของEU เพราะมันมีกฎหมายของมันเอง เพราะฉะนั้น…………………………………

 

#########

(เจ้าหน้าที่เดินเข้ามาแจ้งนิธิโดยตรง ขอให้ยกเลิกการจัดกิจกรรม)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลับลำผลศึกษา ยอมรับคลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มีความเสี่ยง

$
0
0
นักวิชาการลาดกระบังยอมรับผลวิจัยที่เคยเผยแพร่เรื่องผลกระทบของการแผ่คลื่นคลาดเคลื่อน ชี้การศึกษาเป็นแค่การวัดคลื่น ไม่ครอบคลุมผลกระทบด้านสุขภาพ ดังนั้นไม่อาจสรุปได้ว่าคลื่นจากเสาส่งสัญญาณมือถือปลอดภัย

                
19 ก.ย. 2557 ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าโทรคมนาคม กล่าวในงานเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ 4/2557 เรื่อง “ปัญหาและทางออก กรณีผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ณ โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ ระบุถึงความเสี่ยงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าว่า ความแตกต่างระหว่างผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือกับการอยู่ใกล้เสาสัญญาณคือ ผู้ใช้โทรศัพท์ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานนานมากน้อยแค่ไหน แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เสาสัญญาณไม่มีสิทธิเลือก และอยู่ในสภาพจำยอมต้องรับคลื่นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการตั้งเสาสัญญาณจึงเข้าข่ายการละเมิดสิทธิ
                
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า การศึกษาผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีมานานแล้ว โดยมีการค้นพบว่ามีผลกระทบต่อระบบชีวภาพของมนุษย์ คือสามารถทำลายเซลล์สิ่งมีชีวิตให้ชำรุดได้ โดยทำให้สายพันธุกรรมแตกขาด ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณมากหรือต่อเนื่อง ถ้าร่างกายซ่อมแซมไม่ทันหรือซ่อมแซมผิดจากที่ควรจะเป็น ก็จะทำให้เกิดมะเร็งและโรคอื่นๆ ได้
                
“ผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่อชีวภาพมนุษย์ นักวิชาการรู้กันมาตั้งแต่ปี 1998 ตั้งแต่สมัยที่การใช้โทรศัพท์มือถือยังไม่แพร่หลาย แต่ในระยะหลังๆ มีการค้นพบหลักฐานและงานวิจัยมากขึ้น และมีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมคนที่อยู่ใกล้เสามีจำนวนคนเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น” ดร.สุเมธกล่าว
                
นพ.พิบูล อิสสระพันธุ์ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการตั้งเสาสัญญาณมีความซับซ้อน เพราะมีประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากหลายกรณีขาดการสื่อสารกับชาวบ้านและการทำประชาพิจารณ์ ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกได้จัดให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสารก่อมะเร็งประเภท 2B คือเป็นสารอาจก่อมะเร็ง
                
“องค์การอนามัยยังไม่ยอมรับว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะในอนาคตหากมีข้อค้นพบมากขึ้น ก็จะปรับให้เป็นสารก่อมะเร็งได้ ดังนั้นคนที่อยู่ใกล้เสา ถ้าสมัครใจก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าชุมชนไหนไม่พอใจเสา ก็ควรพยายามต่อยอดองค์ความรู้จากองค์การอนามัยโลกโดยใช้หลักการป้องกันไว้ก่อน และคงต้องอาศัยการผลักดันทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเจรจาและแก้ปัญหา” นพ.พิบูลกล่าว
                
สำหรับงานวิจัยที่สำนักงาน กสทช. ได้เคยจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังศึกษาถึงผลกระทบของการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐาน ซึ่งได้มีการแถลงผลการศึกษาไปเมื่อ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสรุปว่า การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งเสาสัญญาณ
                
นายธัชชัย พุ่มพวง นักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในฐานะนักวิจัยในโครงการดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็นเพียงการวัดระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งพบว่าจากการวัดระดับความแรงของคลื่นจากสถานีฐานจำนวน 40 สถานี มีค่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ กสทช. กำหนด ส่วนผลกระทบทางด้านสุขภาพยังจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ละเอียดยิ่งขึ้น งานศึกษาที่ทีมวิจัยทำเป็นเพียงงานวิจัยเชิงฟิสิกส์ ไม่ใช่งานวิจัยทางการแพทย์ จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าการแผ่คลื่นจากเสาสัญญาณมีความปลอดภัย เป็นเพียงการอนุมานได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ
                
“ผมยอมรับว่าทุกคนมีความกลัว ในปัจจุบันถ้าชุมชนใดมีความกลัวความกังวลสูง ทุกฝ่ายก็ต้องใช้วิธีการหาทางออกร่วมกัน อะไรที่เป็นเรื่องความปลอดภัย ก็ควรมีการหาทางออกร่วมกัน” นายธัชชัยกล่าว
                
ส่วนประเด็นทางออกของปัญหาการตั้งเสาส่งสัญญาณ ดร.สุเมธ กล่าวว่า สิ่งที่ กสทช. ควรทำ คือทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และหามาตรการลดความเสี่ยง โดยยึดหลักของสหประชาชาติเรื่องมาตรการป้องกันไว้ก่อน
                
ดร.สุเมธ เสนอว่า ในพื้นที่ชนบทนอกเขตเทศบาลหรือชุมชนหนาแน่นควรให้ขีดจำกัดความหนาแน่นของกำลังคลื่นลดลงจากมาตรฐานปัจจุบัน 1,000 เท่า หรือในระดับไม่เกิน 10 มิลลิวัตต์/ตารางเมตร ส่วนในเขตเทศบาลและชุมชนหนาแน่น ให้ลดลง 10,000 เท่า หรือในระดับไม่เกิน 1 มิลลิวัตต์/ตารางเมตร รวมทั้งไม่อนุญาตให้ติดตั้งเสาใกล้กับโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยที่มีประชาชนอยู่หนาแน่น สำหรับแนวทางการขยายโครงข่ายในเขตเทศบาล อำเภอ จังหวัด ให้ใช้สถานีฐานแบบไมโครเซลล์หรือพิโคเซลล์ ซึ่งเป็นเสาส่งขนาดเล็ก และในชนบทที่ยังจำเป็นต้องใช้แมคโครเซลล์ ที่เป็นเสาส่งขนาดใหญ่ ก็จะต้องไม่ตั้งอยู่กลางชุมชนหรือในหมู่บ้าน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กิจกรรม ‘8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.’ ไม่เกิด เหตุ จนท.คุมเข้มเต็มพื้นที่

$
0
0

กิจกรรมรำลึก ‘8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.’ ช่วงเย็นวันนี้ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังเต็มพื้นที่ตั้งแต่ช่วงบ่าย มีคำสั่งชัดใครทำกิจกรรมถูกควบคุมตัวทั้งหมด 

19 ก.ย.2557 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามรายงานข่าวกิจกรรมวางดอกไม้และจุดเทียนแดงรำลึก ‘ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.49’ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ซึ่งกำหนดเวลา 18.00 น. โดยก่อนหน้ามีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การจัดกิจกรรมดังกล่าวบนเฟซบุค

เมื่อเดินทางไปถึงในเวลา 17.30 น.พบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณทางเท้ารอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งด้านหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยมีรถควบคุมตัว 1 คันจอดอยู่ และมีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกภาพวิดีโอผู้ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่นั้นเกือบตลอดเวลา ขณะที่มีประชาชนสัญจรไปมาและส่วนหนึ่งนั่งทานอาหารอยู่ภายในร้าน ส่วนบริเวณด้านนอกมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศมาติดตามรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก


 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พูดคุยกับผู้ที่มารอร่วมกิจกรรมรายหนึ่งซึ่งกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการเมืองไทยมาโดยตลอด และอยากเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ อยากเห็นประชาชนกินดีอยู่ดี มีงานทำ มีการเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และกล่าวด้วยว่าไม่รู้สึกว่ามีความหวังกับการปฏิรูปประเทศในแบบที่กำลังดำเนินอยู่ และยังไม่รู้สึกว่าประเทศกำลังดีขึ้น

เมื่อถึงเวลา 18.00 น.ยังไม่ปรากฏว่ามีการเริ่มกิจกรรมตามเวลานัดหมาย ขณะที่มีรถกระบะนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาสมทบอีก 1 คันรถ และเริ่มมีเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนเดินทางมาในพื้นที่

ร.อ.กิตติ อุตมกูล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เดินทางมาดูแลความเรียบร้อย และกล่าวว่าขณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง ผู้สื่อข่าวถามว่าหากญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 มาร่วมกิจกรรมในวันนี้จะทำอย่างไร ร.อ.กิตติ กล่าวว่าอยากขอให้ไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตมากกว่า นอกจากนี้ ยังเชิญชวนผู้สื่อข่าวให้มารายงานข่าวขบวนจักรยานในกิจกรรม Bangkok car free day ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ย.นี้ ซึ่งจะใช้เส้นทางถนนราชดำเนินเป็นทางผ่าน หลังจากนั้น ร.อ.กิตติ ได้ซื้อไอศกรีมจากรถเข็นขายไอศกรีมแจกจ่ายให้กับผู้สื่อข่าวอีกด้วย

เวลาประมาณ 20.00 น.เศษ ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่บางส่วนเริ่มถอนกำลังกลับ ขณะที่ยังไม่ปรากฏวี่แววว่าจะมีการทำกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้น จนกระทั่งเวลาประมาณ 21.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับทราบจากผู้มาร่วมกิจกรรมว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ามีคำสั่งเด็ดขาดจากผู้บังคับบัญชาให้ควบคุมตัวผู้ที่ทำกิจกรรมทุกราย จึงเป็นเหตุให้ต้องยกเลิกกิจกรรมในวันนี้ ในขณะที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบางส่วนพร้อมรถควบคุมตัวยังคงควบคุมพื้นที่อยู่ต่อไป

 

 

เวลาประมาณ 23.30 น.ของวันที่ 19 ก.ย. มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบนเฟซบุค เป็นภาพของนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือ ‘พ่อน้องเฌอ’ กำลังวิ่งรอบฐานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเดินตามและส่องไฟฉายไปที่ตัวของนายพันธ์ศักดิ์

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว มีภาพขณะนายพันธ์ศักดิ์กำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งบอกว่ามาสอบถามข้อมูล โดยที่มีนายทหาร ยืนคุมอยู่ด้านหลัง 2 นาย นายพันธ์ศักดิ์กล่าวว่า เขามาวิ่งแก้บน เนื่องจากบนบานไว้ว่าหากครบรอบของการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และประเทศไทยยังไม่กลับเข้าสู่ประชาธิปไตย เขาจะวิ่งแก้บนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 1 รอบ และวันนี้ก็มาวิ่งแก้บน และหลังจากวิ่งแล้วจะกลับไปทานอาหารต่อกับกลุ่มเพื่อน จากนั้นนายพันธ์ศักดิ์ได้เดินออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยมีเจ้าหน้าที่และช่างภาพจำนวนหนึ่งเดินพร้อมกันไปด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ขอโทษ 'นักท่องเที่ยว-กริชสุดา' ระบุชินกับการพูดแบบทหาร

$
0
0
รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลเริ่มเดินหน้าทำงานแล้ว พร้อมทั้งขอโทษครอบครัวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ-กริชสุดา ที่พูดไม่สุภาพ ระบุชินกับการพูดคุยแบบทหาร เน้นตามจับกุมผู้ร้ายก่อเหตุฆาตกรรมนักท่องเที่ยวให้ได้ เพราะทำให้ประเทศเสียหายเป็นแสนล้าน 
 
 
19 ก.ย. 2557 เวลา 20.15 น.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยตอนหนึ่งว่า
 
"บางครั้งที่ผมพูดหรือกล่าวอะไรไป อาจใช้คำพูดไม่สุภาพบ้างหรือแรงไปบ้าง เพียงต้องการให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของผมของทุกคนในชาติ แล้วมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่สำคัญทุก ๆ เรื่อง ผมก็พยายามปรับปรุงตัวเองไปเรื่อย ๆ ผมเป็นทหารมาเกือบทั้งชีวิต 38 ปี ในกองทัพบก ก็อยู่กับลูกน้องส่วนใหญ่ที่เป็นทหาร เป็นผู้ชาย ต้องขอโทษ ถ้าพูดไม่สุภาพบ้าง อะไรบ้าง ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ"
 
“เรื่องที่ผมกล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่แต่งกายล่อแหลม หรือใส่บิกินี่ ผมไม่ได้ไปโทษท่าน ไม่ได้ไปให้ร้ายท่าน ไม่ได้เจตนาอย่างอื่น เพียงแต่ต้องการจะเตือนเท่านั้นเองว่า บางเวลา บางสถานที่ อาจจะมีความจำเป็นเพราะว่ายังไม่ปลอดภัยมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกาล ผมก็เสียใจที่คำพูดของผมอาจจะทำให้หลายคนไม่สบายใจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น ผมเสียใจเป็นที่สุดกับครอบครัวชาวต่างชาติที่เสียชีวิต ทุกคนที่เสียชีวิต ผมเสียใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างชาติ อะไรที่พูดแรงไป ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ผมเป็นสุภาพบุรุษ ฉะนั้นเมื่อผมพูดผิด ทำอะไรผิด ต้องรับผิดชอบ ก็ขอโทษท่าน ต้องการให้เป็นแบบอย่างกับทุก ๆ คนด้วย”
 
“อีกที อย่าพูดอะไรที่เป็นการให้ร้ายเจ้าหน้าที่เลย เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งนั้น ไม่ใช่ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด ฉะนั้นคุณเป็นสุภาพสตรี ผมต้องขอโทษบางครั้งพูดแรงไป ก็มีอารมณ์เหมือนกัน เพราะว่าท่านให้ร้ายกองทัพให้ร้ายอะไรต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้องขอโทษด้วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสุภาพเรียบร้อย” พลเอกประยุทธ์กล่าว
 
โดยรายละเอียดของรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยวันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2557 เวลา 20.15 น. ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
 
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2557 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรัก สัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กันยายน 2557 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน เพื่อทรงฟื้นฟูพระวรกาย หลังจากที่เสด็จฯ ประทับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทรงตรวจพระวรกายตามการถวายคำแนะนำของคณะแพทย์ พสกนิกรต่างพร้อมใจกันถือธงชาติและธง ภปร. รับเสด็จฯ เนื่องแน่นตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมกับเปล่งเสียงทรงพระเจริญเพื่อถวายความจงรักภักดี ทั้งสองพระองค์ได้ทรงโบกพระหัตถ์ และแย้มพระสรวล ซึ่งสร้างความปีติยินดีให้กับพสกนิกรที่มารับเสด็จและประชาชนคนไทยทุกหมู่เหล่าเป็นล้นพ้น
 
สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นสัปดาห์แรกที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ได้ทำงานในการบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่ได้แถลงนโยบายแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้แบ่งมอบงานให้กับรองนายกรัฐมนตรี ทั้ง 5 ท่าน กำกับดูแลงานของกระทรวงต่าง ๆ โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง (กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจ (กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ท่าน ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านสังคมจิตวิทยา (กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศ และกิจการอื่น ๆ (กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม) ท่าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม) ผมเองก็ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการต่าง ๆ ไปแล้ว พวกเราทั้งหมด ทั้งรัฐบาล ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ก็จะปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มความสามารถ ในการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนทุกคน อย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม
 
เรื่องของการปฏิรูป เมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกด้านได้ประชุมหารือกัน วางแนวทาง หลักเกณฑ์ คัดเลือก สปช. แต่ละด้านไปแล้ว และในวันที่ 15 กันยายน 2557 ได้มีการประชุมนัดที่สอง เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ถูกเสนอชื่อเข้าสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คาดว่าจะมีการประชุม 2-3 ครั้ง เพื่อจะคัดเลือกให้เหลือด้านละ 50 รายชื่อ ก่อนที่จะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้พิจารณาคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย การสรรหา สปช. ประจำจังหวัด ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่รอการประชุมเพื่อคัดเลือกรายชื่อที่จะเสนอต่อ คสช. จังหวัดละ 5 คน จากนั้น คสช. ก็จะคัดเลือกที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา ด้านต่าง ๆ ทั้ง 11 ด้าน 550 คน และจากจังหวัด ๆ ละ 5 คน 385 คน โดยจะคัดสรรให้ได้ผู้แทน ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ จากทุกภาคส่วน และทุกภาคของประเทศไทย จนเหลือ 250 คน ซึ่งประกอบไปด้วยด้านต่าง ๆ 173 คน จากจังหวัด 77 คน จากนั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปทั้ง 11 เรื่องต่อไป โดยจะต้องครอบคลุมในทุกเรื่อง เราจะต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศ สร้างประเทศให้มั่นคงต่อไป
 
สำหรับสถานการณ์จากภาวะฝนตกในหลายพื้นที่ ในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด รวม 77 อำเภอ 204 ตำบล 826 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 2 หมื่นครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว 25 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 4 จังหวัด 10 อำเภอ 45 ตำบล 241 หมู่บ้าน อันได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
 
สำหรับสภาพอากาศในห้วงนี้ยังคงน่าเป็นห่วง ยังคงต้องระมัดระวังกันต่อไป ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ขอเรียนว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ห่วงใย ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนได้รับฟังข้อมูลทางด้านอากาศด้วย เพื่อจะได้มีการระมัดระวังในทุกภาคส่วน รวมทั้งได้สั่งการเน้นส่วนราชการที่มีหน้าที่ในการแจ้งเตือนไปแล้ว ให้แจ้งเตือนให้ทันเวลา เพื่อให้เกิดการป้องกันก่อนที่จะแก้ไขในภายหลังให้ประชาชนได้รับทราบ และปลอดภัย หน่วยงานของรัฐจะต้องสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ในช่วงวันที่ 15 - 18 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการแจ้งเตือน 18 จังหวัด ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ก็ขอให้แจ้งเตือน มีการเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรือประมง เรือขนาดเล็ก เรือท่องเที่ยวต่าง ๆ ต้องระมัดระวังอย่าให้มีการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำโดยเด็ดขาด
 
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ผมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งได้นำส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร และอธิบดีกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงไปตรวจเยี่ยมและพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งได้รับการเสนอแนะจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนในพื้นที่ ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำมา 4 ข้อ ประกอบไปด้วย การเพิ่มแก้มลิงและพัฒนาพื้นที่แก้มลิง ทบทวนเกณฑ์การผันน้ำในลุ่มน้ำยมและน่าน ระบบรายงานสถานการณ์ฝนในทุกจังหวัด การขยายความจุลำน้ำ โดยการขุดลอก ซึ่งในสิ้นเดือนนี้จะมีการนำแผนการบริหารจัดการน้ำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 ที่เหลือจากรัฐบาลที่แล้วประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเศษ มาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำยม และอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นความเร่งด่วนมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ 1. เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำสายหลักลงสู่แก้มลิงให้ได้โดยเร็ว 2. ขุดลอกแม่น้ำเพื่อจะช่วยให้ระบายน้ำให้เร็วขึ้น และกักเก็บน้ำไว้ได้ในท้องน้ำที่มีความลึกและได้มีการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย จะมีการขุดท่อเจาะช่องระบายน้ำบริเวณถนนในหลายจุด ซึ่งเป็นคันกั้นน้ำอยู่หลาย ๆ จุดในเวลานี้ 3. กรณีของการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมหรือลุ่มน้ำอื่น ๆ นั้น ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น จะต้องมีการพิจารณาพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากน้อยเพียงใด และมีประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ ประชาชนพอใจหรือไม่ด้วย อันนี้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง อย่าเพิ่งไปพูดหรือไปคิดอะไรกันในเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาในการแก้ปัญหาทั้งระบบต่อไป
 
กรณีเกิดเหตุการณ์น่าสลดกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และได้รับอันตรายจนกระทั่งเสียชีวิตที่เกาะเต่านั้น เรื่องนี้ผมถือว่าสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และชื่อเสียงของประเทศชาติเป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้เร่งติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็ว ขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าผู้กระทำเป็นใคร แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความคืบหน้ามาโดยตลอด ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลความปลอดภัยตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ร่วมกับประชาชน อาสาสมัครต้องช่วยกันและดูแลเรื่องความปลอดภัยให้มากกว่านี้ เพราะว่ามีผลกระบทต่อการท่องเที่ยวในประเทศและในท้องถิ่นด้วย
ความคืบหน้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ
 
ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนและการตลาด การดำเนินการด้านเศรษฐกิจนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วนต้องดำเนินการโดยทันที ระยะต่อไปต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ค้างคาอยู่เป็นจำนวนมาก และระยะยาวที่ต้องวางรากฐานเพื่อการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเข้มแข็ง ในขณะนี้ได้กระตุ้นการลงทุน ด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพที่นักลงทุนยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ในช่วง 8 เดือนของปี 2557 ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม 2557 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 886 โครงการ เงินลงทุนรวม 416,500 ล้านบาท มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามพบว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 นั้น เป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในประเทศไทยจำนวน 458 โครงการ หรือร้อยละ 52 ของจำนวนคำขอทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนรายใหม่เริ่มมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
 
ด้านการปรับปรุงการให้บริการของรัฐแก่ประชาชน จากนโยบายของ คสช. และรัฐบาลในปัจจุบัน ในด้านการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของประชาชน ส่วนราชการต่าง ๆ ในลักษณะ One stop service มีคำแนะนำ ให้ความรู้ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยมีทั้งศูนย์ดำรงธรรม จัดตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่าง ๆ ส่วนราชการต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในหลายจังหวัด หลายอำเภอ ต้องขอชื่นชมเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณมาก ๆ อย่างไรก็ตาม การให้การบริการประชาชนนั้น จะต้องพัฒนาต่อไป ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทราบว่ากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดจัดทำโครงการ “ฝึกอบรมเพิ่มทักษะเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล การร้องทุกข์ผ่านระบบสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่ Call Center สายด่วน 1567 ในการให้บริการประชาชนของศูนย์ดำรงธรรม” ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 200 คน ก็คาดหวังว่าศูนย์ดำรงธรรมจะสามารถช่วยเหลือ และบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยความพึงพอใจของประชาชน
 
ด้านการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ตามที่ คสช. ได้จัดระเบียบในระยะแรกไว้แล้วนั้น ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปยอดรวมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันรวมจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,088,306 คน (แรงงานเป็นต่างด้าว 1,024,686 คน ผู้ติดตาม 63,620 คน) จำนวนนายจ้าง 206,678 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 232,119 คน ชลบุรี 76,330 คน และสมุทรสาคร 75,659 คน
สำหรับประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง 451,564 คน เกษตรและปศุสัตว์ 209,024 คน และการให้บริการต่าง ๆ 127,631 คน
 
ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานธุรกรรมทางด้านการเงิน (AMFICs= AMLO FINANCIAL INFORMATION CORPERATION SYSTEM) เพื่อเป็นการลดภาระและเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของสถาบันการเงินให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอให้ภาคธุรกิจธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาคมธนาคารไทยกรุณาให้ความร่วมมือด้วย ในการจัดทำหรือจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม หากได้รับการร้องขอตามกฎหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และความผิดเกี่ยวกับการทุจริต โดยกระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรการทางสากลให้เป็นมาตรฐาน การออกร่างกฎหมายว่าด้วยการพิสูจน์พยานหลักฐานทางการเงินและทางบัญชี ให้เกิดความรวดเร็วต่อการสืบสวน ค้นหา ผู้กระทำความผิดของหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในคดีที่มีความซับซ้อน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ยาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของ คสช. และรัฐบาล
 
สำหรับการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ในระยะต่อไปนั้น มีความสำคัญมากนะครับกับประเทศของเราทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูป การปรองดองสมานฉันท์ ตามที่ผมได้เคยกล่าวไปแล้วหลายครั้ง ๆ สิ่งที่เราคาดหวังไว้สำคัญ ๆ ได้แก่ การลดความขัดแย้งอย่างยั่งยืน การสร้างความรักใคร่ สามัคคีของคนในชาติ การขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกมิติ การปฏิรูปให้เกิดผลยั่งยืนในทุกด้าน การทำตามความคาดหวังของประชาชนทุกเรื่องให้ได้มากที่สุด การปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ การปลูกฝัง และสร้างความจงรักภักดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การยกระดับรายได้ของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การเพิ่มคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเพิ่มความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมโลก ด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง ร่วมมือกันในทุกมิติ ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ระหว่าง รัฐ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน โดยมีข้าราชการเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผู้ขับเคลื่อนเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องให้การบริการอย่างเต็มสติกำลัง
 
การขับเคลื่อนประเทศชาติในทุกมิตินั้น ทั้ง 3 เสาหลัก จะต้องมีความเข้มแข็ง ทัดเทียม นานาอารยะประเทศ เรามีทั้งวิกฤติและโอกาส เรามีทั้งเป็นหุ้นส่วนและก็เป็นผู้แข่งขันทางการค้าด้วย ต้องเร่งรัดในเรื่องนี้ การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม
 
สำหรับการแก้ปัญหาที่ดินทำกินนั้น มีปัญหามากมายรวมทั้งการบุกรุกเขตป่าไม้ อุทยาน ราชพัสดุ จะต้องมีการบูรณาการทางกฎหมาย กฎ กติกา ปรับให้เกิดความเหมาะสม เป็นธรรม แก้ปัญหาประชาชนไม่มีที่ดินทำกินให้ได้โดยเร็ว
 
เรื่อง การใช้สื่อต่าง ๆ เรื่องนี้สำคัญ พบว่าสื่อมวลชนบางฉบับ หรือบางสำนัก ยังมีปรับปรุงน้อยนะครับ ยังคงมีการเขียนให้ร้ายกันในบางคอลัมน์ ก็ขอย้อนกลับไปดูที่ผ่านมานั้น ว่าอะไรที่เป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์ วารสาร โทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โซเชียลมีเดีย วิทยุชุมชน บางช่อง บางคน บางท่านก็อ้างว่า เพื่อด้วยความรักชาติ ด้วยความเป็นธรรม เพื่อประชาธิปไตย หรืออะไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก มีความขัดแย้งเกิดขึ้นปฏิรูปไม่ได้ ท่านก็ต้องร่วมกับเราในการรับผิดชอบด้วย เพราะว่า หากเป็นสาเหตุในความขัดแย้งต่อไปด้วยการสร้างข้อมูลเท็จ ต้องขอร้องกันนะครับ กรุณาอย่าให้เราต้องบังคับใช้กฎหมายกันมากนักเลย จะมีความเดือดร้อน ไปทั้งพนักงานของสำนักพิมพ์ สถานีทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ต่าง ๆ ก็ที่ผ่านมาก็เดือดร้อนกันหมดในกรณีที่ท่านทำผิดกติกาที่ตกลงกันไว้กับหน่วยงานที่ควบคุมอยู่ในปัจจุบัน
 
ขอเรียนว่าการที่สื่อต่าง ๆ บางสื่อนั้น มีการกล่าวให้ร้ายนี้ จะบิดเบือนข้อเท็จจริงบางอย่างก็เป็นเรื่องเล็กน้อย บางอย่างก็ขยายความไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ บางอย่างยังไม่มีการดำเนินคดีหรือตัดสินให้ถูกต่อกระบวนการยุติธรรม หากไม่ได้กลั่นกรองแล้วออกไป ทำให้คนเข้าใจผิด ทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอ้างหรือกล่าวหานั้นเสียหาย ยังไม่จบขั้นตอนก็ขอให้ใจเย็น ๆ รอเวลา รอกระบวนการยุติธรรมเขาทำงานให้เรียบร้อยก่อน พวกเรานั้น รัฐบาล ก็ยังไม่ได้หวั่นไหวอะไร เพียงแต่บางครั้งก็รำคาญใจเหมือนกัน เพราะทำให้เราคิดอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนได้ ก็ติด ๆ ขัด ๆ ไปทั้งหมด พอจะเริ่มทำ เริ่มคิดก็ติดแล้ว ก็ฟังก่อนว่าเขาไปถึงไหนอย่างไร เขาจะแก้ไขปัญหาอย่างไรและค่อยไปดูว่าในขบวนการขั้นตอนเหล่านั้น ถูกต้องไหม พอใจกันไหม ถ้าเริ่มก็ติดหมดไปไม่ได้ก็จะอยู่เหมือนเก่าเหมือนเดิม ปัญหาเราก็ไม่ได้แก้ก็ฝากดูแลกันด้วย ช่วยกันดูแลด้วยว่าใครบ้างที่ยังมีพฤติกรรม ซึ่งไม่ร่วมกันสร้างบ้านเมือง ไม่ร่วมกันปฏิรูปปรองดอง
 
ในขณะนี้ ผลสำรวจดุสิตโพลล์หรือโพลล์ต่าง ๆ ก็ออกมาแล้วว่าประชาชนนั้น ไม่อยากให้มีความขัดแย้งอีกต่อไปและพอใจกับการปรองดองสมานฉันท์ การรณรงค์ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมและพร้อมร่วมที่จะสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเหมาะสมกับประเทศไทยของเรา บางคนนั้นบอกว่าทหารเดี๋ยวนี้ประชาสัมพันธ์เก่ง ผมเรียนว่า ทหารนี้ตามหลักนิยมทางทหารต้องทำก่อนแล้วค่อยพูด ก็ดีกว่าบางคนพูดแล้วไม่ทำ หลายท่านก็ชอบพูดหรือกล่าวให้ร้ายในหลายประเด็นด้วยกัน
 
คำว่าประชานิยมนั้น ไม่มีปัญหาหรอก ถ้าหากว่าไม่สร้างปัญหาในอนาคตผมไม่อาจไปกล่าวว่าดีหรือไม่ดี หากทำแล้วรัฐบาลต้องมาหาเงินใช้หนี้ มีเงินกู้เพิ่มหนี้สาธารณะโดยไม่จำเป็นหรือมีผู้ที่ได้ประโยชน์มากกว่าประชาชนที่แท้จริง จากการทุจริต ไม่โปร่งใสในขั้นตอนต่าง ๆ ประชาชนได้แต่เพียงส่วนน้อยต้องไป ด้วยว่าประชาชนได้จริง ๆ เท่าไร ได้ทุนได้ไหม หรือข้าราชการที่ทุจริตได้ไหม หรือใครจะได้อีกต่อไปก็แล้วแต่ ไปดูว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วนั้น เป็นปัญหาต่อไปในระยะยาวหรือไม่ เพราะว่าเราถูกเป็นเครื่องมือหรือเปล่า
 
เรื่องปัจจัย 4 ที่เป็นของทฤษฎีในการที่จะทำให้ประชาชนนั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่จะต้องไม่เป็นประชานิยมในลักษณะที่ว่า เมื่อซื้อไปแล้วไม่มีแรงผ่อนต่อ ก็เกิดปัญหาหนี้สินรุงรัง วันนี้ก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้อีกเหมือนกัน หนี้ประชาชน หนี้ครัวเรือนต่าง ๆ มากมาย เราไม่ต้องการให้มีการสร้าง Demand เทียมในการผลิต คือความต้องการที่เกินจากข้อเท็จจริงไป บางคนกล่าวว่า ผมคิดแบบนักการเมือง ผมเรียนว่า ผมคิดแบบทหาร ทหารทำอะไรต้องมีผลสัมฤทธิ์ เพราะเรามีเวลา มีงบประมาณจำกัด เพราะฉะนั้นอีกอย่างหนึ่งที่มาเติมในขณะนี้ ที่ผมเติมมาก็คือผมคิดแบบประชาชน ต้องไม่มีผลประโยชน์ ไม่ต้องนึกถึงพรรค ไม่ต้องหาเงินเข้าพรรคไปบริหาร อะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องรักษาฐานเสียง พวกเรามาขับเคลื่อนทุกองคาพยพให้ทำงาน ด้วยสติปัญญาของผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ทุกคน หลาย ๆ คนมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ร่วมกับข้าราชการทุกฝ่าย และฟังเสียงประชาชนด้วย เราจะไม่ใช้เงินภาษีของประชาชนหรืองบประมาณของแผ่นดิน ให้เกิดเป็นปัญหาระยะยาว ไม่สร้างหนี้สาธารณะให้มากนัก เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้องใช้หนี้ไปเรื่อย ๆ จนในอนาคตนั้น สรุปแล้วงบประมาณประจำปีจะไม่ได้นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้นำมาดูแลพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึง
 
รัฐบาลนี้จะจัดลำดับงานตามลำดับความเร่งด่วน อะไรทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์ และจะส่งต่อให้กับรัฐบาลต่อไปอย่างยั่งยืน ขอให้นักการเมืองในอนาคตเตรียมการให้ดี อะไรที่เราทำไม่เสร็จในระยะสั้น ท่านก็ต้องทำต่อ ประชาชนต้องช่วยกันตัดสิน ดูแล เฝ้าระวัง ช่วยกันประเมินผลสัมฤทธิ์ที่จะตามมาในภายหลังที่สำคัญ ถ้าหากใครเตรียมการไม่ดี ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง หากได้รับเลือกเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ก็จะเป็นปัญหาอีกต่อไปในอนาคต ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม
 
อีกเรื่อง บางครั้งที่ผมพูดหรือกล่าวอะไรไป อาจใช้คำพูดไม่สุภาพบ้างหรือแรงไปบ้าง เพียงต้องการให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของผม ของทุกคนในชาติ แล้วมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาที่สำคัญทุก ๆ เรื่อง ผมก็พยายามปรับปรุงตัวเองไปเรื่อย ๆ ผมเป็นทหารมาเกือบทั้งชีวิต 38 ปี ในกองทัพบก ก็อยู่กับลูกน้องส่วนใหญ่ที่เป็นทหาร เป็นผู้ชาย ต้องขอโทษ ถ้าพูดไม่สุภาพบ้าง อะไรบ้าง ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ
 
เรื่องที่ผมกล่าวถึงนักท่องเที่ยวที่แต่งกายล่อแหลม หรือใส่บิกินี่ ผมไม่ได้ไปโทษท่าน ไม่ได้ไปให้ร้ายท่าน ไม่ได้เจตนาอย่างอื่น เพียงแต่ต้องการจะเตือนเท่านั้นเองว่า บางเวลา บางสถานที่ อาจจะมีความจำเป็นเพราะว่ายังไม่ปลอดภัยมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาวิกาล ผมก็เสียใจที่คำพูดของผมอาจจะทำให้หลายคนไม่สบายใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น ผมเสียใจเป็นที่สุดกับครอบครัวชาวต่างชาติที่เสียชีวิต ทุกคนที่เสียชีวิต ผมเสียใจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างชาติ อะไรที่พูดแรงไป ต้องขอโทษด้วย ไม่ได้เจตนา ผมเป็นสุภาพบุรุษ ฉะนั้นเมื่อผมพูดผิด ทำอะไรผิด ต้องรับผิดชอบ ก็ต้องขอโทษท่าน ต้องการให้เป็นแบบอย่างกับทุก ๆ คนด้วย
 
เรื่องคุณกริชสุดา ผมขอร้องอีกที อย่าพูดอะไรที่เป็นการให้ร้ายเจ้าหน้าที่เลย เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องไม่จริงทั้งนั้น ไม่ใช่ส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมด ฉะนั้นคุณเป็นสุภาพสตรี ผมต้องขอโทษ บางครั้งพูดแรงไป ก็มีอารมณ์เหมือนกัน เพราะว่าท่านให้ร้ายกองทัพให้ร้ายอะไรต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ต้องขอโทษด้วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องสุภาพเรียบร้อย
 
สำหรับเหตุการณ์ทำร้ายนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการตีกันของเด็กนักเรียน นักศึกษา คิดว่าต้องไม่มีอีกแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันดูแล ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ประชาสังคมต้องช่วยกัน สร้างการเรียนรู้ สร้างว่า รับทราบว่าผลประโยชน์แห่งชาติอยู่ตรงไหน การท่องเที่ยวปีหนึ่งเป็นแสนล้านบาท ถ้าเกิดขึ้นเช่นนี้บ่อย ๆ อีกหน่อยใครก็ไม่มาเที่ยวประเทศไทย ไม่ปลอดภัย เขาจะมาเที่ยวชายหาด เขาจะมาพักผ่อน ประเทศไทยก็ได้ขับเคลื่อนในด้านท่องเที่ยว การบริการ อาหาร มากมาย ที่จะทำให้ประเทศชาติเราดีขึ้นในอนาคต ถ้าเรายังคงต้องมีเรื่องแบบนี้ ก็ทำให้เราเสียงบประมาณ เจ้าหน้าที่ก็มีงานเพิ่ม เสียอนาคตเด็กเยาวชนด้วย เรื่องตีกัน ทำให้เสียโอกาส เสียรายได้การท่องเที่ยว เสียชื่อเสียงในสังคมโลก วันนี้เราใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ทุกคนทราบดี แต่เหตุการณ์เหล่านี้ทำไมยังเกิดขึ้นอีก สิ่งนี้น่าสงสัย น่าแปลกใจ ไปหาทางคิดดูว่า ถ้ากฎหมายแรงอย่างนี้ แล้วยังเกิดอย่างนี้ แสดงว่าคนเหล่านี้ไม่เกรงกลัวกฎหมาย แล้วจะทำอย่างไรต่อไป เมื่อใช้กฎหมายปกติอย่างเดียว แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า ไปหามาตรการมาว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ผมไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นอีก ทุกคนในชาติก็ไม่ต้องการให้เกิด สงสารคนตาย คนเสียชีวิต คนบาดเจ็บ เหล่านี้ไม่ได้ ทุกคนในชาติต้องเข้มงวด ให้ความสำคัญอย่าปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนกับวัวหายแล้วล้อมคอกทุกครั้ง เราต้องทำตั้งแต่ เช่น ป้องกัน ป้องปราม มากกว่าแก้ไข เพราะหมายถึงชีวิตของคน เรื่องที่ผมต้องการพูดก็คงทยอยพูดไปเรื่อย ๆ วันนี้ก็ขอโทษ ขอโทษจริง ๆ ที่พูดจาอาจจะเร็วไปบ้าง หรือพูดแรงไปบ้าง ก็ขอโทษไปแล้ว ขอเพียงแต่ขอความร่วมมือจากทั้งสองฝ่าย ผมก็ขอโทษท่านให้เกียรติท่าน ท่านก็ให้เกียรติผมบ้าง การที่ให้สื่อช่วยระมัดระวังเรื่องการนำรูปผมไปดัดแปลง บางรูปดูไม่ได้เลย ไม่ใช่ดัดแปลงผมเสียหาย นำรูปประชาชนมาประกอบกับผม โดยแกล้งนำรูปจริง ๆ มา แล้วใส่เข้าไป บิดเบือน ทำให้เสียหายไปถึงสถาบันเบื้องสูงด้วย อะไรเหล่านี้ ผมว่าไม่สมควร จะทำทำไมไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
 
เรื่องภาษี เรื่องอะไรต่าง ๆ ยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น กำลังพิจารณากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมรดก ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินอะไรต่าง ๆ ก็ไปว่ามา เหมาะสมไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของสภานิติบัญญัติ ผมก็เพียงคิดริเริ่ม ศึกษา จากข้อมูลที่ส่วนราชการเขาทำขึ้นมา ผมก็ให้แนวทางไป ว่าจะเกิดอย่างไร ทั้งหมดต้องเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมีรายได้น้อย อย่าพึ่งไปกลัว แม้ว่าจะต้อง เรื่องไปขายที่ดินมาเสียภาษี ไม่ใช่แบบนั้นเลย แสดงว่ามีคนที่ปลุกปั่นในเรื่องเหล่านี้อยู่ ไม่เข้าใจ ก็รอฟังเขาก่อน เมื่อถึงเวลานั้นค่อยว่ากัน จะแก้ไขก็ว่ากัน พอเริ่มพูดก็มีปัญหามาโดยตลอด ไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ในเมื่อเราต้องการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชั่นทุจริตในทุกมิติแล้ว ก็ต้องช่วยผมเฝ้าระวังตรงโน้น ดีกว่าที่จะ สิ่งนี้ เดี๋ยวจะทุจริตอีกก็ไม่ต้องทำ อย่างนี้จะไปอย่างไร ประเทศชาติไม่มีอนาคต วันนี้เราวางยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้ว ว่าเราจะเดินหน้าไปอย่างไรในห้วง 5 ปี 10 ปี 15 ปี ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ละ 5 ปี จะทำอย่างไรถึงจะต่อเนื่องได้ 3 แผนได้ไหม ในเรื่องของการลงทุน สาธารณูปโภค พื้นฐานในการพัฒนา หรือปฏิรูปในทุกมิติ ต้องมีความต่อเนื่อง วันนี้เราทำได้แต่เรื่องเร่งด่วนแล้วก็วางรากฐานของประเทศไปให้ได้ ก็เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ชาติ ต้องเป็นไปตามนโยบายชาติ แล้วก็ยุทธศาสตร์ชาติ ฝ่ายความมั่นคง หรือฝ่ายเศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา เหล่านี้ก็ต้องเสริมกันขึ้นมา ร่วมพลังกันขึ้นมาแล้วขับเคลื่อนประเทศชาติไปตามยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ ทุกคนต้องการความก้าวหน้า ต้องการพัฒนาประเทศ เดี๋ยวปีหน้าเกิดประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อน โดยในเรื่องของเศรษฐกิจอาเซียน AEC นี้จะเหนื่อยเล็กน้อย ต้องมีการแข่งขัน เป็นหุ้นส่วนกันก็เป็น แข่งขันกันก็ต้องแข่ง การเคลื่อนย้ายทรัพยากรบุคคล มนุษย์ และในเรื่องของฐานที่ตั้งเศรษฐกิจการค้า จะไม่มีข้อจำกัด เราต้องสร้างความมั่นคง สร้างความเป็นปึกแผ่นของเราในวันนี้ให้ได้ สร้างความเข้มแข็งให้สู้เขาให้ได้ ไม่อย่างนั้นวันหน้าเราจะสู้เขาไม่ได้ ทั้งคน ทั้งความรู้ ทั้งการประกอบการ ทั้งนวัตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องรีบผลิตออกมา ผมเห็นว่ามีหลาย ๆ ธุรกิจประกอบการมีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องการให้ทำให้ตรงแบบที่ประเทศชาติจะเดินไปข้างหน้า เขาจะเดินไปทางไหนก็ทำตรงนั้น ขอขอบคุณ วันนี้ก็มีเรื่องพูดคุยเพียงเท่านี้ ขอบคุณ สวัสดี
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้ตรวจการแผ่นดินยกคำร้องสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญค้าน 'ประยุทธ์' เป็นนายก

$
0
0
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ 2 เสียงยกคำร้องกรณีสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญยื่นสอบ สนช.แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ ระบุถือเป็นเรื่องของการกระทำของ สนช. ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะสามารถพิจารณาได้

 
19 ก.ย. 2557 นายเฉลิมศักดิ์  จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ร้องขอให้ตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่มีความหลากหลาย และเอื้อประโยชน์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557และกรณีที่ขอให้ตรวจสอบ สนช.ที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าร่วมเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่ายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน และขัดต่อประมวลจริยธรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
 
โดยนายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า การพิจารณาคำร้องดังกล่าวต้องเข้าใจว่าขณะนี้รัฐธรรมนูญ 50 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวถูกประกาศใช้ ซึ่งการพิจารณาก็ต้องยึดตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยเหตุที่ยกคำร้องเนื่องจาก ในประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ ตั้ง สนช.นั้น เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น  ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ในขณะที่แต่งตั้ง สนช.เป็นหัวหน้า คสช. ที่ไม่ได้มีสถานะเป็นข้าราชการ หรือบุคคลตามมาตรา 13 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนที่คำร้องอ้างว่าการกระทำของหัวหน้า คสช.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น  ก็เห็นว่า มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดให้บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. หรือคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ได้ประกาศในระหว่างวันที่ 22 พ.ค. จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุด ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าประกาศแต่งตั้ง สนช.ของพล.อ.ประยุทธ์ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
ส่วนในเรื่องที่ สนช.มีมติเสนอพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ได้ให้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะกรณีบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่การแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ของ สนช.ถือเป็นเรื่องของการกระทำของ สนช.ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติกฎหมาย จึงไม่อยู่ในอำนาจที่ผู้ตรวจฯ จะพิจารณาได้  ขณะที่ในประเด็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสปช.นั้น  ผู้ตรวจฯ เห็นว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหาสปช. ที่กำหนดให้นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน และองค์กรภาครัฐมีสิทธิที่จะเสนอบุคคลเข้ารับการสรรหา  ดังนั้นกรณีนี้การที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้าเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหานั้นเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และไม่ได้เป็นปัญหาต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
“การที่ผู้ร้องในลักษณะนี้เพราะกลัวว่าบรรดาองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะใช้โอกาสนี้เข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จึงกลัวว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ในการเสนอชื่อเป็นแค่ขั้นตอนเบื้องต้นของการสรรหา และไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นสปช. เพราะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา อีกทั้งตามกฎหมายก็ได้ระบุให้สมาชิก สปช.มีแค่ 250 คน การที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญเสนอชื่อได้แค่ 2 คน คงไม่มีอำนาจที่จะไปกำหนดให้ใครทำอะไรอย่างไรได้  ในทางกลับกัน การที่มีบุคคลในองค์กรตามรัฐธรรมนูญได้รับการสรรหาเข้าไปอยู่ในสปช.น่าจะเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์ อย่างเช่น องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีภาระหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและสร้างมาตรฐานความเป็นธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็น่าที่จะเป็นองค์กรที่เข้าไปมีส่วนร่วม หรือมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและอาจเข้าไปมีส่วนร่วมออกข้อเสนอในชั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่มีการกระทำหรือข้อเท็จจริงใดที่เรื่องดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ”
 
อย่างไรก็ตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดินในครั้งนี้เป็นเพียงมติจากเพียง 2 เสียงเท่านั้นคือนางผานิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจฯ และนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจฯ เนื่องจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้ลาออกไปก่อนและแม้ก่อนลาออกก็ได้แสดงตนว่าจะไม่ร่วมพิจารณาในคำร้องดังกล่าวเพราะถือว่ามีส่วนได้เสีย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: รอยย่ำ

$
0
0

 

๐ บนรอยทางวาดหวังเมื่อครั้งเก่า

กี่’สิบเก้า’สืบย่ำ ซ้ำรอยฝัน

กี่’แปด’เปื้อนปีเปล่า เงาคืนวัน

วนเวียนบั่น-บากผู้ สู้ท่ามทาง


๐ กลางกระแสสงบเชื้อ__โชนใน

เย็นนอกรอคืนไฟ__คุฟื้น

แรงหาญโชตินำใจ__ผจญมุ่ง

มิสยบเพียงต่ำตื้น__แต่เบื้องบนสุม


๐ แรมรอนในรางเลือน__แลบางเหมือนกระจ่างกุม

สิบก้าวกลับย่างรุม__กระหน่ำเท้าท้าวทางเดิม


๐ คงเพิ่มแท้__ทางยุทธ์

ตามคอยฉุด__สู่ใต้

ตีนฤาผลุด__ผงาดฝ่า

รอยย่ำให้__อย่าหือ ฯ

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุดา รังกุพันธุ์: ทำรัฐประหาร 49 “เสียของ” อำมาตย์จึงต้องปล้นซ้ำ ปี 57

$
0
0

 


ออกมายอมรับกันอย่างไร้ยางอายในหมู่ผู้ร่วมปล้นชาติ เมื่อ 19 กันยา 2549 ว่ารัฐประหาร 8 ปีก่อนนั้น เป็นการรัฐประหารที่ “เสียของ” โดยเฉพาะโจรกบฏระดับนำอย่าง ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับอัปยศ ปี 50 วาทะ “เสียของ” ถูกตอกย้ำโดย โจรกบฏระดับลูกน้องประสงค์ อย่าง สมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อัปยศ 50 ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยนัยยะเดียวกัน แต่เปลี่ยนไปใช้คำตามวัจนลีลาดัดจริตว่า “สูญเปล่า”


ประเด็นที่เหล่าสมุนโจรกบฏรุ่น 49 เห็นว่าเป็นการเสียของอย่างมาก ก็คือ การที่คณะโจรกบฏรุ่น 49 ไม่สามารถ “กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย” มากพอ ทำให้กลับมาทวงคืนอำนาจส่วนหนึ่งกลับไปได้สำเร็จหลายต่อหลายครั้ง
คำพูดและความคิดดังกล่าว ได้สะท้อนความโหดเหี้ยมอำมหิตของอำมาตย์อย่างชัดเจน การสูญเสียชีวิตของประชาชนมากมาย ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่ผ่านมา ดูเหมือนยังไม่สามารถกระตุกต่อมสำนึกของเผด็จการอำมาตย์เหล่านี้ได้


31 ตุลาคม 2549 “นวมทอง ไพรวัลย์” กระทำการสละชีพ เพื่อยืนยันให้โลกรู้ว่าประชาชนยอมสละชีพได้เพื่อประชาธิปไตย ได้ทำลายมายาภาพของรัฐประหารที่ไม่เสียเลือดเนื้อ (bloodless coup) ที่โจรกบฏและสมุน 49 อัดเงินภาษีประชาชนให้ทีมโฆษณาชวนเชื่อตระเวนไปตามประเทศสำคัญๆ เพื่อกล่อมให้ผู้นำประเทศหลงเชื่อว่าคนไทยยินดีต้อนรับการปล้นอำนาจครั้งนั้นเป็นอย่างดี


กระแสการต่อต้านรัฐประหาร 49 ได้ก่อตัวและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนฝ่ายโจรกบฏจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนการคืนอำนาจให้ประชาชน นำมาซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปในปีถัดมา แต่เมื่อประชาชนได้ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองเดิมที่ถูกปล้นอำนาจไปเมื่อปี 49 ฝ่ายอำมาตย์ก็ได้พยายามก่อสงครามมวลชนขึ้น จนเกิดการล้มรัฐบาลของประชาชน โดยการสมรู้ร่วมคิดของ “ขบวนการตุลาการวิบัติ” ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา การใช้สงครามมวลชนร่วมกับตุลาการวิบัติ หลายกลุ่ม หลายรอบ มาจนโจรกบฏก็ได้เข้ามาปิดเกม “ปล้นอำนาจซ้ำ” อีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภา 57


ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา การกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งโดยการล้อมฆ่าโดยกองกำลังทหารหลายหมื่นนาย ใช้อาวุธและกระสุนหลายแสนนัด ในเหตุการณ์ 10 เมษา 53 และพฤษภา 53, การกราดยิงใส่ประชาชนในวัดปทุมวนาราม เมื่อ 20 พฤษภา 53, การไล่ยิงผู้ชุมนุมในปี 52, การลอบสังหาร กรณีเสธ.แดง และไม้หนึ่ง ก.กุนที, การอุ้มฆ่า กรณีคนเสื้อแดงหลายราย หลังราชประสงค์แตก, และการอุ้มหาย และการตายอย่างมีเงื่อนงำอีกมากมายของคนเสื้อแดง ตลอด 8 ปี ที่ทำให้จำนวนศพไม่มีญาติเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกต

นี่ยังไม่นับรวมถึงการสูญเสียชีวิตประชาชนของทุกฝ่าย จากการที่โจรกบฏได้การใช้ทหารนอกเครื่องแบบปะปนเป็นผู้ชุมนุม ฝึกฝนและติดอาวุธให้การ์ด ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมยึดสะพานมัฆวาน ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ปี 2551 หรือการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ (Shut Down Bangkok) ปี 2556-57 ซึ่งชัดเจนว่าได้มีการใช้ทหารติดอาวุธปะปนทำตัวเป็นผู้ชุมนุม ที่พร้อมจะยั่วยุให้เกิดการปะทะ หรือทำร้ายเข่นฆ่าเจ้าหน้าที่หรือประชาชนในฝ่ายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ดังที่ได้เกิดความสูญเสียกับ “ณรงศักดิ์ กรอบไธสง” หรือถึงแก่อัมพาต กรณี “ลุงอะแกว” รวมทั้งความสูญเสียจากการปะทะอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกรณี “โบว์ อังคณา” และผู้ชุมนุมพันธมิตร, กปปส. และกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องเข้าเสี่ยงชีวิตระงับเหตุต่างๆ

ความสูญเสียมากมายของชีวิตพี่น้องประชาชนหลายร้อยชีวิต บาดเจ็บหลายพันคน ส่งผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิดและครอบครัวนับหมื่นคน ที่กล่าวมานี้ยังไม่ใช่ข้อมูลตัวเลขที่สมบูรณ์ เช่นนี้ ยังเรียกว่า กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มากพออีกหรือ? เผด็จการอำมาตย์ยังกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยและทำลายชีวิตประชาชนไม่มากพอจนถึงกับสรุปว่ารัฐประหาร 49 เป็นเรื่องเสียของกระนั้นหรือ?


แม้การตายและบาดเจ็บจะมากมายเพียงนี้แล้ว ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของการกวาดล้างของเผด็จการอำมาตย์ “การตีตรวน” ประชาชนหลายพันคน การล่ามฝ่ายประชาธิปไตยไว้กับคดีการเมืองมากมายตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความสูญเสียทั้งที่ถึงแก่ชีวิต อย่างกรณี อากง, วันชัย, สุรกริช และนักโทษการเมืองอีกหลายคนที่เสียชีวิตไม่นานหลังได้รับอิสรภาพ จากการใช้ชีวิตในคุกไทย ที่มีสภาพเป็นการซ้อมทรมานผู้ต้องขัง โดยเฉพาะกับผู้ที่ยากจน

เฉพาะในปี 2553 เผด็จการอำมาตย์ได้กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยการจับกุมดำเนินคดีทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดงมากถึง 1,857 คน ไม่ใช่เฉพาะจำนวนที่มากมาย แต่วิธีการที่เผด็จการอำมาตย์รวมหัวกับ “ขบวนการตุลาการวิบัติ” บังคับใช้กฎหมายอย่าง 2 มาตรฐาน ตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุม การตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงเกินจริง การปิดกั้นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การไม่ให้สิทธิประกันตัว การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมกับจำเลยฝ่ายประชาธิปไตย ไปจนถึงการลงโทษทัณฑ์อย่างไร้ความปราณี กรณีคนเสื้อแดงชุมนุมที่ศาลากลางอุบลราชธานี และเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ในปี 53 ถูกจับกุม ดำเนินคดีหลายสิบคน และบางคดีถูกพิพากษาจำคุกสูงถึง 34 ปี

ความเลวร้ายของขบวนการตุลาการวิบัติ ที่สมรู้ร่วมคิดกับเผด็จการอำมาตย์ เป็นที่ประจักษ์จนตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายประชาธิปไตยหลายร้อยคน ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่นอกประเทศไทย

และการกวาดล้าง ที่ยังไม่เคยเห็นการรวบรวมข้อมูลตัวเลข คือ การทำให้สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน โอกาสทางธุรกิจ การต้องออกจากสถานศึกษากลางครัน และความเสียหาย ที่ยังไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ

จากที่กล่าวมานี้ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ ได้ใช้ความเหนือกว่าในกลไกอำนาจรัฐ ที่มีอำนาจกองทัพหนุนหลัง หรือออกหน้า ร่วมกับอิทธิพลทางเครือข่ายอนุรักษ์นิยม ทำให้กลุ่มทุนหลายกลุ่มที่ร่วมสนับสนุนการปล้นชาติ ทำลายประชาธิปไตย ของฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ เครือข่ายเหล่านี้ ได้ร่วมกัน “กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย” ในหลายรูปแบบ สร้างความเสียหายมากมายมหาศาล

เช่นนี้ ยังเรียกว่า กวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มากพออีกหรือ? เผด็จการอำมาตย์ยังกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยและทำลายชีวิตประชาชนไม่มากพอจนถึงกับสรุปว่ารัฐประหาร 49 เป็นเรื่องเสียของกระนั้นหรือ?

หรือว่า การตาย บาดเจ็บ ติดคุก ลี้ภัย เสียอาชีพ สิ้นเนื้อประดาตัว ฯลฯ ยังไม่สาแก่ใจของฝ่ายเผด็จการอำมาตย์ เพราะแม้จะสูญเสียมากมายเช่นนี้ ประชาชนก็ยังคงลุกขึ้นต่อสู้ทวงคืนอำนาจอธิปไตยอันเป็นของพวกเขาโดยชอบธรรม ครั้งแล้วครั้งเล่า จนดูเหมือนจะทำให้ฝ่ายโจรกบฏขัดเคืองใจ ไม่เว้นแม้แต่โจรกบฏในคราบอาจารย์ นักวิชาการ ผู้บริหารอุดมศึกษา อันสูงส่ง “สมคิด เลิศไพฑูรย์” ที่หลุดคำพูดเดียวกับหัวหน้าเก่า “ประสงค์ สุ่นศิริ” ที่ร่วมกันร่างกฎโจร ปี 50 ออกมาว่า “บทเรียนจากรัฐประหารเมื่อปี 2549 ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร หลายคนก็บ่นว่าเสียดายของ”

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ยังรำพึง “เสียดายของ” แต่ไม่เอ่ยแม้น้อยนิดถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนหลายหมื่นหลายแสนคน ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาจากการกวาดล้างของโจรกบฏ 49 ทั้งนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง ความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย ที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในชาติ และเพื่อนบ้านในภูมิภาค

และสิ่งที่สมุนโจรกบฏ 49 ดาหน้ากันออกมาย้ำว่าการปล้นอำนาจเมื่อปี 49 เป็นการเสียของ ขณะที่คนพวกนี้ช่วยกันผลักดันให้เกิดการปล้นอำนาจซ้ำอีกครั้งในปี 57 เขาก็ช่วยกันตอกย้ำให้การปล้นในรอบนี้ ต้องใช้อำนาจกับฝ่ายประชาธิปไตยให้เต็มที่

นั่นคือ ต้องกวาดล้างฝ่ายประชาธิปไตยให้สิ้นซาก!

สิ่งที่เผด็จการอำมาตย์ ควรทบทวนบทเรียน 8 ปี นี้ คือ

เหตุใดกองทัพและอำมาตย์ทั้งเครือข่าย ใช้อำนาจรัฐและเหนือรัฐกวาดล้างฝ่ายประชาชนมากมายเพียงนี้ จึงยังมีประชาชนลุกขึ้นต่อสู้ทวงคืนอำนาจอันชอบธรรมของพวกเขาอย่างไม่เสียดายชีวิต มากขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น และกล้าแข็งขึ้นทุกที และควรเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ประชาชนจะไม่ปล่อยให้อำนาจของเขาถูกปล้นตลอดไป !!!

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกเลิกกรรมการเลือก สปช. เหตุ รธน.ให้เป็นอำนาจ คสช.

$
0
0

คสช.มีคำสั่งยกเลิกการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก สปช. ทั้ง 14 คน ระบุเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้เป็นอำนาจของ คสช. อยู่แล้ว





20 ก.ย. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 121/2557 เรื่อง ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 117/2557 ใจความ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 117/2557 ลงวันที่ 17 ส.ค. 2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือก สปช. จำนวนไม่เกิน 250 คน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 มาตรา 30 วรรค 6 ได้กำหนดให้ คสช. คัดเลือก สปช. จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอจำนวนไม่เกิน 250 คน

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 121/2557 เรื่อง ยกเลิกคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 117/2557 ที่ได้กําหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทําหน้าที่พิจารณาคัดเลือกบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นั้น โดยที่มาตรา 30 (6) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้กําหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ จํานวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน ดังนั้น อํานาจในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติให้เหลือจํานวนดังกล่าว จึงเป็นอํานาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามที่รัฐธรรมนูญกําหนด
       
เพื่อให้กระบวนการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งให้ยกเลิกคําสั่งดังกล่าว สั่ง ณ วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
       
อนึ่งคำสั่งที่ 117 ได้กำหนดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขึ้นมา 14 คน ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ หัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฎิรูป กห. พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ รอง ผบ.ทร. พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ รองผบ.ทอ. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการผบ.ตร. และพล.อ.อุทิศ สุนทร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายและสั่งการของผู้บังคับบัญชาในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่เพื่อพิจารณาคัดเลือกบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สปช.จากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน และในแต่ละด้าน พร้อมทั้งนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเสนอต่อหัวหน้า คสช. เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพลล์เผยความนิยมพรรค 'ประชาธิปัตย์' เหนือ 'เพื่อไทย'

$
0
0

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจเรื่อง  “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พบ "อภิสิทธิ์-พรรคประชาธิปัตย์" มีความนิยมเหนือ "ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย"



20 ก.ย. 2557 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังจัดตั้งรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,170 คน พบว่า

คะแนนนิยมนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 24.0 เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 5.6 (จากเดิมร้อยละ 18.4) ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมอยู่ที่ร้อยละ 22.3 ลดลงจากผลสำรวจครั้งก่อนร้อยละ 4.5 (จากเดิมร้อยละ 26.8)

นอกจากนี้เมื่อถามความเห็นว่า “หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกพรรคการเมืองใด” ร้อยละ 27.4 บอกว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจครั้งก่อนร้อยละ 8.4) รองลงมาร้อยละ 23.5 บอกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย (ลดลงร้อยละ 5.8) และร้อยละ 2.8 บอกว่าจะเลือกพรรคชาติไทยพัฒนา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3)

ด้านความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า “อยากให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีระยะเวลาการทำงานเป็นอย่างไร” ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.4 อยากให้ทำงานจนกว่าประเทศจะเรียบร้อยในทุกๆ ด้าน โดยอาจจะมากกว่า 1 ปี ขณะที่ร้อยละ 33.6 อยากให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 1 ปี และจัดให้มีการเลือกตั้ง

สุดท้ายเมื่อถามว่าปัญหาที่อยากให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีมากที่สุดคือ ปัญหาการคอร์รัปชั่น (ร้อยละ 30.8) รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ (ร้อยละ 30.1) และปัญหาความแตกแยกในสังคม (ร้อยละ 19.8)  
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปาฐกถา 30 นาทีที่ มธ.ศูนย์รังสิตโดย 'นิธิ เอียวศรีวงศ์'

$
0
0

18 ก.ย. 2557 - 30 นาทีกับ ปาฐกถานิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานเสวนา 'ห้องเรียนประชาธิปไตย ตอนที่ 2' 'การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ' ที่ใต้ถุนอาคารเรียน บร.2 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดย LLTD ทั้งนี้นิธิได้ปาฐกถาเป็นเวลา 30 นาที ก่อนที่ผู้จัดงานและวิทยากรได้ถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจ

 

นิธิเริ่มการเสวนาว่า แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการพูดในวันนี้จะอยู่ที่อนาคตของเผด็จการ แต่เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีนิยามให้ชัดเสียก่อนว่าเผด็จการหมายถึงอะไร ประเด็นแรกที่ผมฟันธงคือ เผด็จการนั้นเป็นผลผลิตจากรัฐสมัยใหม่ เพราะในรัฐโบราณมีเพียงแต่ทรราช (tyrant) เท่านั้น ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่มักจะทำอะไรตามอำเภอใจ โหดร้าย โหดเหี้ยม รังแกคนมาก ทรราชนี่สามารถที่จะเป็นราชาหรือไม่ใช่ราชาก็ได้ คนเหล่านี้ผมมองว่าไม่ใช่เผด็จการด้วยเหตุผล 3 ประการ หนึ่ง ในโลกสมัยโบราณ ทรราชมีอำนาจจำกัด คือขาดระบบราชการ เครื่องมือในการสื่อสารคมนาคม ขาดกองทัพประจำการ หมายความว่า อาจจะมีกองทัพอยู่แต่เป็นเพียงกองทัพเล็กๆ  ซึ่งใหญ่กว่าคนอื่น แต่คนอื่นๆ  เขาก็มีกองทัพด้วย ทำให้ทรราชไม่สามารถจะผูกขาดความรุนแรงได้ ถ้าเป็นเผด็จการแล้วไม่ผูกขาดความรุนแรงเป็นไปไม่ได้  นอกจากนี้ยังขาดกลไกอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าสู่รายละเอียดในการควบคุมประชาชนได้ ฉะนั้นทรราชก็ได้แต่แสดงอำนาจ "มันๆ ไป" อยู่กับคนใกล้ตัวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะแผลงฤทธิ์ หรือแสดงความไม่ฉลาดของตนให้ปรากฏแก่สาธารณชนได้เท่าเผด็จการ

โดยสรุปก็คือการที่ขาดระบบราชการรวมศูนย์ ขาดกองทัพ ขาดอะไรก็แล้วแต่ คุณไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้ เพราะความสะพรึงกลัวนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของเผด็จการ ทรราชนั้นไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนก็แล้วแต่มันไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้

สอง ในระบอบปกครองของทรราช ยังมีอำนาจอื่นเหลืออยู่อีกมาก เช่น อำนาจท้องถิ่น ศาสนา ขุนนาง ประเพณี และอื่นๆ  อีกหลายประการ ซึ่งทรราชไม่มีกำลังพอที่จะไปปราบอำนาจเหล่านั้นได้ วิธีเดียวที่ทรราชจะอยู่ได้คือต้องมีการประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ  เหล่านั้น เพราะฉะนั้นโดยปกติราชาธิราชทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าท่านอยากจะมีอำนาจมากแค่ไหน จะเหี้ยมโหดแค่ไหนก็ตาม มันจะมีอำนาจอื่นคอยขวางอยู่ตลอดเวลาทำให้ทรราชนั้นต้องประนีประนอมด้วย เพราะฉะนั้นเผด็จการจึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ เพราะมันไม่มีเครื่องมือต่างๆ  ที่ทำให้เกิดความสะพรึงกลัว

สาม อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทรราชแตกต่างจากเผด็จการก็คือ ในรัฐโบราณไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาติ หรือรัฐชาติ ซึ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญมากๆ  ฉะนั้นถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐชาติด้วย โอกาสจะเกิดเผด็จการนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะชาติไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ดินแดนและกลไกของรัฐเท่านั้น แม้จะยึดดินแดน ยึดกลไกของรัฐได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าจะยึดชาติได้ เพราะชาติมีมากกว่าดินแดน และกลไกของรัฐ คือชาติมีสำนึกร่วมกันถึงอัตลักษณ์ของคนด้วย มีสำนึกของความคิดถึงอนาคตร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐเฉยๆ  ไม่มี  เพราะฉะนั้นเผด็จการที่แท้จริงจะต้องมีชาติอยู่ด้วย

ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราช แต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้ ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นชาติของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมันไม่เท่ากัน

การจะมีสำนึกความเป็นชาติร่วมกันได้ จะต้องยอมรับเสียก่อนว่า พลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ถ้ายอมรับข้อนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า มีเพียงแค่รัฐที่ไร้ชาติ

สำหรับชาติไทยนั้นมีพัฒนาการความเป็นชาติที่ช้ากว่าชาติอเมริกัน ชาติฝรั่งเศส แต่เรากำลังก้าวเดินสู่ความเป็นชาติเข้าไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มมีสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีเพียงศูนย์กลางที่กรุงเทพ ข้าราชการ และชนชั้นนำของประเทศ ชาวนาเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

และด้วยเหตุนี้ ผมมองว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้งของประเทศไทย จึงเป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้ จะมีก็เพียงสองครั้งคือ รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2557  ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติ มันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดนและกลไกของรัฐ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไรก็สามารถยึดได้ แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกของคน ต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วย ซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี 2549 นั้นล้มเหลว "ล้มเหลวไม่ใช่เสียของนะครับ ล้มเหลวเพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับครั้งนี้ เขาไม่ให้พูด ผมก็ไม่พูด"

อ่านบทรายงานปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่นี่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครอบครัวนักข่าวที่ถูกไอซิสสังหาร ตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ถูกจับเป็นตัวประกัน

$
0
0

ครอบครัวเจมส์ โฟลีย์ ผู้ถูกกลุ่มติดอาวุธไอซิสจับเป็นตัวประกันและสังหารเผยแพร่ผ่านวิดีโอ ตั้งกองทุนเพื่อเป็นเกียรติแก่ลูกและเพื่อช่วยเหลือนักข่าวรวมถึงญาติของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องควรให้เงินประกันเพื่อไถ่ตัวประกันจากกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่


20 ก.ย. 2557 ครอบครัวของเจมส์ โฟลีย์ นักข่าวชาวอเมริกันที่ถูกกลุ่มติดอาวุธไอซิสจับเป็นตัวประกันและสังหารโหดเผยแพร่ผ่านวิดีโอตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมนักข่าวชาวอเมริกันที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ความช่วยเหลือครอบครัวชาวอเมริกันที่มีญาติถูกจับเป็นตัวประกัน และส่งเสริมโอกาสการศึกษาของวัยรุ่นในเมือง

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 ก.ย.) จอห์น และไดแอน โฟลีย์ พ่อและแม่ของเจมส์ประกาศก่อตั้งกองทุนเจมส์ ดับเบิลยู โฟลีย์ "เพื่อส่งเสริมความใฝ่ฝันและอุดมคติของคนยุคอนาคต"

หลังข่าวการสังหารโฟลีย์โด่งดังไปทั่วโลกครอบครัวโฟลีย์ซึ่งอาศัยในเขตนิวอิงแลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ก็กลายเป็นที่สนใจของสาธารณชนและได้ร่วมถกเถียงว่าจะจัดการกับปัญหาการลักพาตัวและเรียกค่าไถ่โดยกลุ่มติดอาวุธไอซิสอย่างไร

ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เจมส์ โฟลีย์ ถูกจับตัวไปขณะกำลังทำข่าวความขัดแย้งอยู่ในซีเรีย ในช่วงเวลานั้นเขาถูกทุบตีและทารุณกรรมจนกระทั่งถูกสังหารโดยกลุ่มไอซิสในที่สุด แต่กองทุนของโฟลีย์ซึ่งถูกตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องทนทุกข์กับการที่ญาติถูกจับเป็นตัวประกัน ก็ทำให้นักข่าวผู้กล้าคนนี้เสมือนได้รับการเชิดชูเกียรติ

ครอบครัวโฟลีย์แถลงข่าวว่า "เป้าหมายอย่างแรกของกองทุนคือการสร้างศูนย์ทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของตัวประกันชาวอเมริกันในขณะที่พวกเขาต่อสู้เพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รักของตนได้กลับบ้าน"

นี่เป็นประเด็นที่ครอบครัวโฟลีย์มีความรู้สึกร่วมอย่างลึกซึ้งกับครอบครัวที่ถูกกลุ่มไอซิส รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มอาชญากรอื่นๆ จับเป็นตัวประกัน

กองทุนของเจมส์ โฟลีย์ ไม่เพียงแค่ต้องการช่วยเหลือญาติของผู้ถูกลักพาตัวเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เกียรติสิ่งที่โฟลีย์เคยทำไว้เช่นการเป็นครูสอนผู้ด้อยโอกาส


ข้อถกเถียงเรื่องเงินประกันตัว

ก่อนหน้านี้ครอบครัวโฟลีย์กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายสำนักโดยได้พูดถึงความไม่พอใจเรื่องที่ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือมากนักในการสืบสวนเพื่อปลดปล่อยตัวประกัน ทำให้พวกเขามีความรู้สึกโกรธแค้นและเศร้าเสียใจมาเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งครอบครัวอื่นๆ ที่มีญาติถูกจับเป็นตัวประกันก็แสดงความผิดหวังและไม่พอใจความไร้สมรรถภาพของการต่างประเทศสหรัฐฯ และทำเนียบขาวในการจัดการปัญหาตัวประกันเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษอ้างว่าพวกเขาหรือครอบครัวของตัวประกันไม่สามารถจ่ายเงินให้กับกลุ่มไอซิสเป็นค่าไถ่เพื่อให้ปล่อยตัวประกันได้เนื่องจากเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศของพวกเขา ซึ่งกฎหมายทำนองนี้มีขึ้นเพราะไม่ต้องการแสดงการสนับสนุนให้มีการลักพาตัวเพิ่มขึ้น สำนักข่าวบางสำนักเช่นโกลบอลโพสต์ บีบีซี และสำนักข่าวใหญ่ๆ ก็มีนโยบายไม่จ่ายเงินค่าไถ่ แต่จะติดต่อกับทางการให้ช่วยดำเนินการเรื่องตัวประกัน

แม้กฎหมายในสหรัฐฯ จะห้าม แต่ในประเทศยุโรปบางประเทศเช่นฝรั่งเศสและสเปนก็มีการพยายามรวบรวมเงินเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน ซึ่งไดแอนก็พยายามทำอย่างเดียวกัน

นอกจากนี้ยังมีพนักงานสืบสวนเอกชนที่ไม่ประสงค์ออกนามผู้หนึ่งวิพากษ์วิจารณ์การนำมาปฏิบัติอย่างสับสนและไม่คงที่ในกรณีนโยบายตัวประกัน เช่นกรณีหนึ่งที่พวกเขาปล่อยตัวนักโทษตอลีบาน 5 คน จากคุกกวนตานาโมเพื่อแลกกับการปล่อยตัวทหารยศสิบโทรายหนึ่ง

พนักงานสืบสวนเอกชนกล่าวอีกว่าครอบครัวผู้ถูกลักพาตัวควรมีสิทธิที่จะจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกกับอิสรภาพของคนในครอบครัวพวกเขา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความรู้สึกปกติของมนุษย์ต่อคนที่ตัวเองรัก

อลัน เดอโชวิตซ์ ศาตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายกล่าวว่าเรื่องที่พ่อแม่ต้องการจะช่วยชีวิตลูกตัวเองเป็นเรื่องปกติและพวกเขาควรจะมีสิทธิช่วยเหลือ ซึ่งทางการอาจจะจ่ายค่าไถ่แต่ในอีกทางหนึ่งก็คิดถึงการทำลายกลุ่มก่อการร้ายไปด้วยได้

เดวิด โรห์ด นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ที่เคยถูกจับโดยกลุ่มตอลีบานและสามารถแอบหลบหนีออกมาได้เขียนบทความเรียกร้องให้เรื่องการถกเถียงเรื่องเงินค่าไถ่ของคนที่ถูกจับโดยคนต่างชาติกลายเป็นเรื่องที่ยกมาพูดในที่สาธารณะได้โดยไม่มีการปกปิด อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้ชาติตะวันตกมีการโต้ตอบการลักพาตัวอย่างคงเส้นคงวามากกว่านี้ ความไม่คงเส้นคงวาของพวกเขาทำให้เสี่ยงต่อความผิดพลาด


เรียบเรียงจาก

Foley family honors son with new nonprofit, Globalpost, 16-09-2014
http://www.globalpost.com/dispatches/globalpost-blogs/groundtruth/foley-family-honors-son-legacy-fund 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สูญเสียนักสันติวิธีชายแดนใต้ 'อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง'

$
0
0

สูญเสียอีกหนึ่งนักสันติวิธีชายแดนใต้คนสำคัญ นายอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง เสียชีวิตกะทันหันที่ประเทศสวีเดนอาการหัวใจวายขณะเดินทาง ด้วยภารกิจเพื่อสร้างสันติภาพจนวาระสุดท้ายของชีวิต

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง (แฟ้มภาพ)

รายงานข่าวแจ้งว่า นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นักสันติวิธีคนสำคัญที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันขณะเดินทางด้วยรถไฟอยู่ในประเทศสวีเดน โดยมีอาการแน่นหน้าอก จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล Helsingborg Lasarett เมือง Lund ในช่วงเช้าวันที่ 20 กันยายน 2557

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 กันยายน ไปประเทศสวีเดน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรภาคประชาสังคมในการประสานกับตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ซึ่งหลังจากญาติๆที่จังหวัดปัตตานีทราบข่าว ได้มารวมตัวกันที่บ้านพักของนายอัฮหมัดสมบูรณ์ที่บ้านเลขที่ 23 ม.6 ต.ปูยุด อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อหารือถึงการสูญเสียดังกล่าว ท่ามกลางบรรยากาศที่เศร้า โดยญาติต้องการให้นำศพกลับมาประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลามที่จังหวัดปัตตานี แต่อาจต้องใช้เวลาดำเนินการ 2-3 วัน

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ เดินทางไปประเทศสวีเดนรวมทั้งประเทศต่างๆ บ่อยครั้งเพื่อพบปะกับตัวแทนกลุ่มขบวนการต่อสู่กับรัฐไทยที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศ เพื่อหาทางออกในเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเขามักยืนยันต่อแกนนำขบวนการหลายคนถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง

นายอัฮหมัดสมบูรณ์ นอกจากจะเป็นนักวิชาการอิสระแล้ว เขายังเป็นนักประชาสังคมและทำงานชุมชนมานานหลายปี ที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ตำแหน่งล่าสุดที่เขาเป็นคือ ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสันติสุขของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งการเสียชีวิตของเขานับเป็นการสูญเสียบุคคลากรที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุ่มเทอย่างจริงจังในการทำหน้าที่เพื่อสันติภาพจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 กสท.เตรียมเสนอผ่าทางตัน กรณีช่อง 3 จันทร์นี้

$
0
0

ยืนยันต้องทำตามกฎหมาย มีทางออกให้คนดูหลังจอดำ คือให้ช่องยอมออกคู่ขนานอนาล็อก-ดิจิตอล เหมือนช่อง7 ช่อง9

20 ก.ย.2557  สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 22 ก.ย. นี้ ในการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ตนเองและ กสท.อีก 2 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เตรียมเสนอวาระแนวทางการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบแอนาล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอล ตามที่บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ยื่นหนังสือพร้อมมีข้อเสนอแนะที่ยินดีจะออกอากาศช่อง 3 คู่ขนานทั้งระบบแอนาล็อกและดิจิตอล แต่ขอมีข้อยกเว้น หรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงข้อปัญหาที่ว่า ช่อง 3 แอนาล็อก คนละนิติบุคคลกับช่อง 3 ดิจิตอล ที่ช่อง 3 อ้างมานั้น วันจันทร์นี้ กสท.จะเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดเจน

สุภิญญา กล่าวว่า ได้เตรียมข้อเสนอทางออกภาพรวมต่อการเปลี่ยนผ่านเพื่อเยียวยาทุกช่องที่ออกคู่ขนาน 2 ระบบ และดูแลช่องใหม่อย่างเป็นธรรมด้วย ภายหลังหากได้ข้อสรุปแล้ว จะเชิญตัวแทนช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 รวมทั้งทุกช่องใหม่ดิจิตอล มาพบตามลำดับ เพื่อถามและหาบทสรุปร่วมกัน จะแก้ปมปัญหาให้จบภายในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าสุดท้ายทางช่อง 3 ยังไม่ประสงค์จะร่วมมือเดินตามกติกา กสทช. เรื่องนี้ก็คงต้องไปจบลงที่ศาลจริงๆ

ส่วนปัญหาโครงข่าย (MUX) โทรทัศน์ดิจิตอลของ บริษัท อสมท.จำกัด(มหาชน) ขัดข้องเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้มีการนำวาระเรื่องนี้เข้าพิจารณาแก้ปัญหา รวมทั้งจะมีการหารือกับ 3 ช่องที่เป็นผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ MUX ขัดข้อง ในวันจันทร์นี้ช่วงบ่าย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images