Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

ปัญญาชนมุสลิมอังกฤษเรียกร้อง 'ไอซิส' ปล่อยตัวประกัน

0
0

ชาวนิกายซาลาฟี 3 คนในอังกฤษทำวิดีโอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไอซิสปล่อยตัวประกันนักช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชื่ออลัน เฮนนิง ซึ่งถูกข่มขู่ว่าจะถูกสังหารเป็นรายต่อไป โดยบอกว่าการสังหารคนและจับคนเป็นตัวประกันนั้นผิดหลักคัมภีร์อัลกุรอาน


20 ก.ย. 2557 ปัญญาชนชาวมุสลิมนิกายซาลาฟีในอังกฤษเผยแพร่วิดีโอเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธไอซิสปล่อยตัวอลัน เฮนนิง ผู้ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวอังกฤษผู้ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธขู่ตัดคอสังหาร โดยระบุว่าการสังหารผู้คนถือว่าผิดกฎของอิสลาม

วิดีโอดังกล่าวจัดทำโดยปัญญาชนชาวมุสลิม 3 คน จากนิกายซาลาฟี ซึ่งเป็นนิกายที่มักจะถูกชาวตะวันตกมองว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง พวกเขาเรียกร้องแทนเฮนนิงซึ่งเป็นเพื่อนกับช่างภาพข่าวชาวอังกฤษชื่อจอห์น แคนไทล์ ผู้ที่ถูกไอซิสบังคับให้จัดทำวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อซึ่งปรากฏผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (18 ก.ย.)

ในวิดีโอของแคทไทล์ เขาพูดต่อหน้ากล้องด้วยการอ่านสคริปต์โดยที่ยังอยู่ภายใต้การข่มขู่ เขาพูดในทำนองว่าถูกทอดทิ้งจากรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศเจรจากับไอซิสที่จับกุมตัวเขาไว้ ในวิดีโอแคนไทล์ยังได้อ่านสคริปต์ที่ระบุว่าจะมีการ "เปิดโปงความจริง" เกี่ยวกับไอซิสและปฏิบัติการทางทหารของชาติตะวันตกในพื้นที่

เพื่อนร่วมงานของแคทไทล์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งสงสัยว่าสิ่งที่แคทไทล์กำลังทำอยู่คือการพยายามช่วยให้ตัวเองรอดชีวิตโดยเสนอตัวว่าจะช่วยทำวิดีโอให้กับกลุ่มไอซิส

ปัญญาชนชาวมุสลิมซึ่งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเฮนนิงกล่าวว่าการกักกันตัวเขาขัดต่อหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน อีกทั้งยังเป็นความอยุติธรรมในระดับเดียวกับที่ชาวมุสลิมถูกขังอยู่ในคุกกวนตานาโมของสหรัฐฯ และผู้ที่ถูกทางการอังกฤษกุมขังโดยไม่มีการพิจารณาคดี

มีอยู่ 2 คนที่ปรากฏตัวในวิดีโอเคยถูกกล่าวหาว่ามีความเห็นใจกลุ่มหัวรุนแรงซึ่งพวกเขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ พวกเขาบอกว่าเฮนนิงเป็นผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งเดินทางไปซีเรียเพื่อช่วยเหลือชาวมุสลิม พวกเขาหวังว่าชื่อเสียงทางการเมืองและการศึกษาด้านเทววิทยาของพวกเขาจะทำให้ไอซิสยอมทำตามได้ และหวังว่าพวกไอซิสจะเห็นวิดีโอของพวกเขาผ่านทางโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นช่องทางถนัดของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้

เฮนนิงเป็นคนขับแท็กซี่อายุ 47 ปีที่แต่งงานแล้วมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น 2 คน เขาเดินทางไปซีเรียกับเพื่อนชาวมุสลิมก่อนจะถูกไอซิสจับตัวไว้ขณะเดินทางอยู่ในรถลำเลียงความช่วยเหลือเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (2556) ขณะที่กลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมข้ามผ่านแดนจากตุรกีได้ไม่นาน

ทั้งนี้ ไอซิสแสดงวิดีโอการสังหารตัวประกันเป็นรายที่สามคือผู้ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวสก็อตแลนด์ชื่อ เดวิด ไฮเนส เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข่มขู่ว่าจะสังหารเฮนนิงเป็นรายต่อไป

อิหม่าม ชาคีล เบ็กก์ จากศูนย์อิสลามลูอิสแฮมในลอนดอนเรียกผู้ที่ลักพาตัวว่าเป็น "พี่น้องร่วมศาสนาอิสลาม" เขากล่าวอ้างถึงเนื้อความในคัมภีร์อัลกุรอานเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการปล่อยตัวเฮนนิงโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ


เรียบเรียงจาก

British Muslim scholars tell Isis that holding hostage goes against Qur'an, The Guardian, 19-09-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/sep/19/isis-muslim-scholars-call-release-alan-henning-hostage

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยทหารสั่งงดจัดเสวนา คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

0
0

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ในการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จัดโดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมเสวนา นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม นายกฤษณ์พัชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 25 กันยายน นั้น ล่าสุดได้รับการประสานจากทางทหาร ให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิแรงงานระบุมาเลเซียใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมไอที

0
0

 

21 ก.ย. 2557 องค์กรสิทธิแรงงานในสหรัฐฯ ระบุว่ามีการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซีย โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกขูดรีดค่านายหน้าหนักตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่มาเลเซีย

เมื่อกลางเดือนกันยายน 2014 ที่ผ่านมา Verité องค์กรด้านสิทธิแรงงานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลวิจัย "Forced Labor in the Production of Electronic Goods in Malaysia: A Comprehensive Study of Scope and Characteristics" ความยาว 244 หน้า ระบุว่าคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาเลเซียเกือบร้อยละ 28 ตกอยู่ในสภาพยากลำบากไม่ต่างจากทาสแรงงาน ทั้งสภาพการจ้างงานและสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย รวมทั้งถูกขูดรีดจากค่านายหน้าโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย

ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของมาเลเซียมีแรงงานงานทั้งชายและหญิงจากอินโดนีเซีย, เนปาล, อินเดีย, เวียดนาม, บังกลาเทศ และพม่า เกือบประมาณ 1 ใน 3 จากจำนวนคนงานทั้งหมดในอุตสาหกรรม 350,000 คน

จากการสัมภาษณ์คนงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ 501 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ กว่าร้อยละ 94 ระบุว่าพวกเขาถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตไว้ ร้อยละ 71 ระบุว่าไม่มีทางที่นายจ้างจะคืนพาสปอร์ตให้พวกเขาอย่างแน่นอน

โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังต้องจ่ายค่านายหน้าจัดหางานทั้งประเทศต้นทางและปลายทางที่มาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกินกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่เป็นหนี้ และบ่อยครั้งนายหน้ามักจะหลอกลวงเรื่องสภาพการทำงาน อัตราเงินเดือนและสวัสดิการ ซ้ำร้ายกว่านั้นเมื่อมาถึงมาเลเซียพวกเขากลับพบว่าไม่มีงานให้ทำ และต้องหางานใหม่ที่ต้องจ่ายค่านายหน้าอีกครั้ง

งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จับตากระบวนการผลิตสินค้าในต่างประเทศที่ใช้แรงงานบังคับ เพื่อประกอบการตัดสินใจคว่ำบาตรสินค้าเหล่านั้น ทั้งนี้มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Apple, Samsung, Sony และอื่นๆ แต่ในงานวิจัยฉบับนี้ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าแบรนด์ใดบ้างที่ใช้แรงงานทาสเหล่านั้น

อนึ่งปัญหาการกดขี่แรงงานข้ามชาติในมาเลเซียนั้นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ โดยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาศูนย์สิทธิแรงงานต่างชาติจากพม่า (Myanmar Migrants Rights Centre - MMRC) ระบุว่าพนักงานชาวพม่าของบริษัทโซนี (Sony EMCs) ในประเทศมาเลเซียคนหนึ่งถูกบังคับให้เซ็นชื่อยอมรับการไล่ออก และถูกนำตัวออกจากโรงงานไปกักขังไว้ในรถก่อนนำตัวไปส่งยังที่พัก โดยพนักงานคนดังกล่าวเป็นหนึ่งใน 32 คนที่ถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตไว้เมื่อต้นปี 2014 โดยในครั้งนั้นฝ่ายบุคคลของบริษัทระบุว่าเป็นการรวบรวมพาสปอร์ตของพนักงานไว้เพื่อขอต่ออายุการทำงานในประเทศมาเลเซียให้แก่พนักงาน

 

ที่มาเรียบเรียงจาก

‘Modern slavery’ in Malaysia electronics factories
http://en.prothom-alo.com/international/news/53748/%E2%80%98Modern-slavery%E2%80%99-in-Malaysia-electronics-factories

Forced Labor in the Production of Electronic Goods in Malaysia: A Comprehensive Study of Scope and Characteristics
http://www.verite.org/sites/default/files/images/VeriteForcedLaborMalaysianElectronics2014.pdf

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

60 นักวิชาการ จาก 16 สถาบัน ประณาม คสช. คุกคามอาจารย์-นักศึกษา

0
0

นักวิชาการ 60 คนจากมหาวิทยาลัย 16 แห่งทั่วประเทศ ออกจดหมายเปิดผนึกประณามทหาร-ตำรวจ ที่ใช้กำลังเข้ายุติงานเสวนาวิชาการ พร้อมคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษา ถึงภายในเขตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

21 กันยายน 2557 นักวิชาการ 60 ท่านจากมหาวิทยาลัย 16 แห่งทั่วประเทศ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกประณามการที่ทหารและตำรวจบังคับให้นักวิชาการและนักศึกษายุติงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมทั้งควบคุมตัวนักศึกษาและวิทยากรไปสถานีตำรวจ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา  นักวิชาการกล่าวในจดหมายว่า การกระทำของทหารและตำรวจครั้งนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง ผู้ลงนามในจดหมายยังเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดคุกคามนักวิชาการและนักศึกษาโดยทันทีด้วย  นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อประกอบด้วยอาจารย์ประจำจาก 31 คณะ 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  

อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อ ให้ความเห็นว่า "ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ว่าเขามีอำนาจเข้าควบคุมได้เพราะกฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่ามีอำนาจคุกคาม แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม"  ส่วน ดร.กนกรัตน์ สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งผู้ร่วมลงชื่อ กล่าวด้วยว่า "การที่ตำรวจบังคับให้นักวิชาการต้องเซ็นเอกสารว่าจะยินยอมส่งหัวข้อการเสวนาทุกๆ ครั้งให้ทหารอนุมัติก่อนนั้น เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน งานวิชาการที่เนื้อหาถูกควบคุมนั้นไม่เรียกว่าเป็นงานวิชาการที่แท้จริง"

๐๐๐๐

จดหมายเปิดผนึกประณามการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ
21 กันยายน 2557 
เรื่อง ประณามการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและการควบคุมตัวอาจารย์และนักศึกษา 

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ได้มีทหารและตำรวจเข้าบังคับนักวิชาการและนักศึกษา ให้ยุติงานเสวนาวิชาการ "ห้องเรียนประชาธิปไตย: บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ทหารและตำรวจยังได้ควบคุมตัวนักศึกษาที่จัดงาน รวมทั้งวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ ได้แก่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ  และ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ไปที่สถานีตำรวจนครบาลคลองหลวง 

เราในฐานะนักวิชาการ ขอประณามการกระทำของทหารและตำรวจ ที่ใช้อำนาจคุกคามนักศึกษาและนักวิชาการถึงในพื้นที่มหาวิทยาลัย การกระทำดังกล่าวคุกคามสิทธิเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน และเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง 

ข้ออ้างที่ว่ากฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้นเป็นเพียงการประกาศว่าทหารและตำรวจมี "อำนาจ" จะคุกคามได้ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม ส่วนข้ออ้างที่ว่างานเสวนาวิชาการนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงนั้นก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น การจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะการเมืองในประเทศหรือการเมืองต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง และที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยปรากฏเลยว่างานเสวนาวิชาการลักษณะนี้กระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ 

เราขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดใช้อำนาจคุกคามนักวิชาการและนักศึกษา และหยุดคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ หากสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการแลกเปลี่ยนทางปัญญาในสถานศึกษายังไม่ได้รับการเคารพ เราก็ย่อมไม่มีทางหวังได้เลยว่าประเทศไทยภายหลังการปฏิรูปของ คสช. จะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน  

 

รายนามนักวิชาการที่ลงชื่อ (ตามตัวอักษร): 

1.  ดร.กนกรัตน์ สถิตนิรามัย, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.  ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3.  คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
4.  ผศ.ดร.คำแหง วิสุทธางกูร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5.  ดร.จักรกริช สังขมณี, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6.  จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
7.  ผศ.ดร.จิตร์ทัศน์ ฝักเจริญผล, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
8.  ดร.ชนิสร เหง้าจำปา, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
9.  ดร.ชลัท ศานติวรางคณา, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
10. ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
11. ดร.ณรงค์ อาจสมิติ, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
12. ณภัค เสรีรักษ์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
13. ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
14. ดร.ธร ปีติดล, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
15. ธาริตา อินทนาม, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
16. ธานินทร์ สาลาม, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
17. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
18. รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
19. นพพร ขุนค้า, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
20. บัณฑิต ไกรวิจิตร, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
21. บัณฑูร ราชมณี, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22. ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
23. ปฐม ตาคะนานันท์, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
24. ประไพพิศ มุทิตาเจริญ, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25. ปราชญ์ ปัญจคุณาธร, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
26. ปรีดี หงษ์สตัน, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
27. รศ.พงศ์จิตติมา หินเธาว์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
28. พชรวรรณ บุญพร้อมกุล, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
29. พิพัฒน์ สุยะ, คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
30. พุทธพล มงคลวรวรรณ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
31. ภัทธิพงษ์ ศิริปัญญา, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
32. มนวัธน์ พรหมรัตน์, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
33. ดร.มิเชลล์ แทน, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
34. ดร.มูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
35. รชฏ ศาสตราวุธ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
36. ดร.ลลิตา หาญวงษ์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
37. ผศ.ดร.วรยุทธ ศรีวรกุล, คณะปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
38. ดร.วิโรจน์ อาลี, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
39. ดร.ศิริจิต สุนันต๊ะ, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
40. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
41. ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
42. สมัคร์ กอเซ็ม, ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
43. ดร.สายัณห์ แดงกลม, คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
44. ผศ.ดร.สิริเพ็ญ พิริยจิตรกรกิจ, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
45. ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี, สถาบันศาสนาและวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
46. สุธิดา วิมุตติโกศล, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
47. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
48. สุรัยยา สุไลมาน, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
49. รศ.ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
50. อนุสรณ์ ติปยานนท์, คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
51. ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
52. ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
53. อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
54. อสมา มังกรชัย, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
55. อันธิฌา แสงชัย, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
56. อัมพร หมาดเด็น, สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
57. อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์
58. ผศ.อาชัญ นักสอน, คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
59. เอกรินทร์ ต่วนศิริ, คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
60. ดร.ฮารา ชินทาโร่, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำ ผกา: ชีวิตต้องง่าย เป็นโฆษณาชวนเชื่อ

0
0

ได้ฟัง คุณโจน จันได พูดในเวที Ted Talk สำหรับคนที่สนใจเปิดไปฟังได้ที่ http://m.youtube.com/watch?v=LovmKLQcQw4

ตัวฉันเองรู้จักคุณโจน ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าพี่โจน มักจะเห็นพี่โจนใส่เสื้อเก่าๆ ขาดๆ อย่างที่พี่เขาพูดบนเวทีนั่นแหละ

เคยไปบ้านดินของพี่โจนที่แม่แตง ยอมรับว่าพี่โจนไม่ใช่คน fake ไม่ใช่คนที่เทศนาให้คนอื่นอยู่แบบสมถะแต่ตัวเองรับเงินเดือนเป็นแสนเป็นล้าน

พี่โจนเขาใช้ชีวิตอย่างที่เขาพูดนั่นแหละ จำได้ว่าครั้งหนึ่งไปนั่งคุยกันบ้านพี่โจน แล้วก็นั่งฟังเสียงปลวกกินเสื่ออะไรสักอย่างในบ้านไปด้วยดังกร๊วบๆ กร๊วบๆ น่าอร่อยมาก

จำได้อีกว่าที่ศูนย์การเรียนรู้พันพันของพี่โจนนั้น แม้จะมีห้องน้ำที่ "พอใช้ได้" สำหรับคนที่ไปอยู่ที่นั่น แต่ห้องน้ำที่พี่โจนกับครอบครัวใช้เองเป็นส้วมหลุมตัวจริงเสียงจริง (แต่นั่นหลายปีแล้ว)

ความรู้สึกของฉันที่ไปบ้านพันพันของพี่โจน และเห็น "ฝรั่ง" กินมังสวิรัติ พยายามปลุกปั้นอบขนมเค้กกล้วยหอมจากเตาอบที่ใช้ฟืนคือ "ฮิปปี้"

ใน งานของ Ted Talk นั้น เขาแนะนำว่าพี่โจนคือคนที่อยู่กับเศรษฐกิจแบบยั่งยืนหรือ self sufficient economy ในภาษาไทยพยายามยัดเยียดตำแหน่ง "ปราชญ์" ให้พี่โจน ซึ่งฉันก็เชื่อว่าพี่โจนคงลำบากใจน่าดูกับฉายานี้

เพราะสำหรับฉัน พี่โจนไม่ใช่ปราชญ์ ไม่ใช่ผู้นำเศรษฐกิจแบบยั่งยืน แต่พี่โจนเป็นฮิปปี้

ฮิปปี้ ในความหมายของขบวนการคนหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นในอเมริกายุคปลาย 60s เป็นต้นมา คือกลุ่มคนที่กบฏต่อวิถีชีวิตกระแสหลักที่บอกว่าคนเราเกิดมาต้องเรียน หนังสือ เข้ามหาวิทยาลัย ไปโบสถ์ หางานดีๆ ทำ แต่งงาน ซื้อบ้าน ซื้อรถ มีลูก เลี้ยงหมา

จากนั้นวนกลับมาที่รูปเดิมคือ ส่งลูกเรียนหนังสือดี ให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัย ลูกของเราก็จะทำงานดีๆ แต่งงาน ซื้อรถ ซื้อบ้าน มีลูก เลี้ยงหมา วนไปอย่างนี้ไม่ที่สิ้นสุด

พวกฮิปปี้เขาเห็นว่าวิถี ชีวิตอย่างนี้คือกระบวนการที่ผูกคนให้เชื่องต่อกลไกการทำงานของรัฐที่เกี่ยว กันไปกับระบบเศรษฐกิจแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาคือระบบตลาดเสรี

พูดให้หยาบ คือ มันดึงเราไปอยู่ในห่วงโซ่ของการขูดรีดผู้อื่นและตัวเอง และยั่วยวนเราไว้ด้วยความสุขสบายจากลัทธิบริโภคนิยม

คนเหล่านี้เลยปลดแอกตัวเองด้วยออกมาทำการผลิตเอง พยายามปลูกผักเอง ไม่สนใจแฟชั่น แต่งตัวง่ายๆ ยับๆ จะได้ไม่ต้องรีดผ้าให้เปลืองไฟ วิถีชีวิตของฮิปปี้ที่พัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดในระบบทุนนิยม (มันช่างย้อนแย้งอย่างน่าขัน) คือกระแส eco ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นอีโคลิฟวิ่ง อีโคทัวริสซึ่ม อีโค่แฟชั่น ตลาดสินค้าออร์แกนิกที่มีมูลค่ามหาศาล

และสุดท้าย มันเป็นอย่างที่ บูดิเยอร์ อธิบายเรื่อง ชนชั้นกับรสนิยมในการบริโภค ว่า

ถ้าคุณเป็นคนชั้นกลางบ้านๆ คุณก็เดินห้างสรรพสินค้ากระแสหลัก คาร์ฟูร์ โลตัส กินบุฟเฟ่ต์ในโรงแรม บุฟเฟ่ต์โออิชิอะไรก็ว่าไป ถ้าเป็นชนชั้นกระแดะหน่อยก็กินมิชลินสตาร์

ถ้าคุณเป็นคนชั้นสูง คุณก็มี vineyard เป็นของตัวเองไปเลย มีไร่ มีฟาร์มอิชาบาลาโกะ กินอาหารง่ายๆ แต่หายาก เพราะผลิตมาเฉพาะของในไร่นาของตระกูลเท่านั้น

ส่วนบรรดาชนชั้นกลางปัญญาชนที่โดยมากจะรายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง เพราะเสือกเรียนมาเยอะ รู้เยอะ อ่านเยอะ ก็ต้องการ "แยก" ตัวเองออกจากชนชั้นกลางบ้านๆ กับชนชั้นสูงรวยๆ ก็มักจะหันมาหาไลฟ์สไตล์แบบไม่ต้องใช้เงินเยอะแต่เข้าถึงยากนิดนึง

เช่นบรรดาคนที่ไปกินอาหารร้านพันพันของพี่โจนนั่นแหละ คือคนแบบฉันแบบเพื่อนๆ ของฉันอีกหลายคน ที่เราพยายามจะกวนแยมกินเอง ทำขนมปังกินเอง เย็บผ้าเองบ้าง ปั้นเซรามิกเองบ้าง อยากจะลองปลูกกาแฟสักต้นสองต้น เก็บเองคั่วเองบดเอง หาไวน์ออร์กานิกยังงี้อย่างงั้นมากิน หาผลไม้มาดองเหล้าเองเก๋ๆ เพื่อจะบอกว่า "ไม่รวยแต่มีรสนิยมนะจ๊ะ"

แต่ไอ้ประโยค "ไม่รวยแต่มีรสนิยม" เนี่ยะ โดยมากเราไม่ได้พูดออกมาดังๆ และเราก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นอย่างนั้นด้วย

โดยมากเราเชื่อว่าเราทำไปเพราะเราคือผู้บริโภคที่มี awareness ต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่ใช้แรงงานทาสเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรต่างหากว้อยยย

อีกอย่างเราก็ไม่อยากกินผักจีเอ็มโอ หรือบุฟเฟ่ต์ห่วยๆ ที่ผลิตมาจากวัตถุดิบห่วยๆ ที่พวกชนชั้นกลางบ้านๆ เขาไปกินกันจริงๆ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พี่โจนเป็น สิ่งที่พวกเราชนชั้นที่มักคิดว่าเรามี awareness รู้เท่าทันระบบตลาด เศรษฐกิจ ทุน บ้าบอคอแตกอะไรเหล่านี้มันคือเสรีภาพของมนุษย์ที่จะมี choice หรือทางเลือกที่จะใช้ชีวิต มันคือไลฟ์สไตล์ ทว่ามันไม่ใช่ "ศีลธรรม"

ความอึดอัดใจของฉันในขณะทีฟังพี่โจนพูดในเวที Ted Talk คือภาวะปริ่มๆ ของการพิพากษาว่า เฮ้ย พวกคุณที่ทำงานเก็บเงินซื้อบ้านซื้อรถเนี่ย พวกคุณแม่ง ทั้งโง่ทั้งบ้า

ในแง่นี้ ถ้าพ้นจากภาวะปริ่มๆ นี้ สิ่งที่พี่โจนพูดจะอันตรายมาก เพราะพี่โจนกำลังจะสถาปนาทางเลือกในการใช้ชีวิตของตนเอง ว่ามัน "ถูกต้อง" กว่าทางเลือกอื่นๆ ของมนุษย์คนอื่นๆ

แน่นอนว่าเราวิพากษ์ระบบทุนได้ เราวิพากษ์การครอบงำของมันได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องแทนที่ระบบที่เราวิพากษ์นั้นด้วยการบอกว่ามันมีอีก ระบบหนึ่งที่ถูกต้องและระบบนั้นคือสิ่งที่ "ผิด" โดยสิ้นเชิงด้วยตัวของมันเอง

ก่อนที่จะวิจารณ์ว่า ในสิ่งที่พี่โจนพูดมันจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดต่อประเด็นใดบ้าง จะสรุปเนื้อหาในการพูดก่อน ถ้าสรุปผิดพลาดไป ก็จะถือเป็นความรับผิดชอบของฉันเอง

พี่โจนพยายามบอกว่า ชีวิตมันง่ายจะตายไป ปัญหาคือคนเราทุกวันนี้ไปทำให้ชีวิตมันซับซ้อนมันยากไปเอง

พี่โจนยกตัวอย่างว่าสมัยพี่โจนเป็นเด็กอยู่บ้านนอก ชีวิตมันง่ายมาก มันสนุกมาก แต่ชีวิตเริ่มยาก เมื่อมีไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้มาบอกว่าไอ้ชีวิตง่ายๆ เนี่ยเขาเรียกว่า "จน" และ "ไม่พัฒนา" พี่โจนเลยพยายามตะเกียกตะกายออกไปจากความจนด้วยการไปกรุงเทพฯ ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ไปทำงานหนักมาก

แต่พบว่ายิ่งทำงานหนักก็ยิ่งจน ชีวิตก็ยิ่งลำบากมากขึ้น ไอ้ความสำเร็จที่ว่าก็ไม่เห็นมาถึงหรือมีอยู่จริง

สุดท้ายจึงกลับบ้าน และตระหนักว่าชีวิตชาวบ้านนอกจนๆ ทำงานปีละสองเดือนมีเวลาว่างเยอะๆ ต่างหาก คือความสุข

"คน บ้านนอกเราทำนาปีละสองเดือน มีข้าวกินทั้งปี คนบ้านนอกเลยมีเทศกาลงานบุญเยอะแยะไปหมด เพราะเขามีเวลามาก เมื่อเขามีเวลามากเขาก็มีเวลาที่จะมาทำความเข้าใจตัวเอง ทำให้เขารู้ว่าเขาต้องการอะไรในชีวิต และนั่นทำให้พวกเขารู้ว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุข เมื่อเขามีความสุข มีเวลา เขาก็สามารถทำงานสวยๆ ออกมาได้ เช่น การแกะสลัก การสานกระบุงตะกร้าสวยๆ การทอผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปจากวิถีชีวิตชาวบ้านไปแล้ว"

พี่โจนยังบอกอีกว่า พี่โจนทำนาปีละสองเดือน ทำสวนผักที่ใช้เวลาดูแลแค่วันละสิบห้านาที สรุปคือพี่โจนทำงานปีละสองเดือน ทำสวนวันละสิบห้านาที มีอาหารเลี้ยงคนหกคนในบ้านสบายๆ มีข้าวเหลือขาย (ส่วนฉันฟังก็อ้าปากหวอ อะเมซซิ่งมาก)

จากนั้นพี่โจนก็ทำบ้านดิน บ้านดินของพี่โจนง่ายมาก เด็กๆ ก็ทำได้ ทำวันละสองชั่วโมง สามเดือนก็เสร็จ ไม่ต้องผ่อนบ้านสามสิบปี มีความสุขจัง (แต่บ้านดินพี่โจนปลวกกินกร๊วบๆ เลยนะ บ้านดินของเพื่อนฉันก็มีดินร่วงลงมาตลอดเวลา แต่หลายๆ คนมีความสุขกับการอยู่บ้านแบบนี้ และฉันผิดตรงไหนฟะ ที่ยอมเป็นหนี้สามสิบปี เพราะอยากอยู่บ้านไม่มีปลวก และ "มาตรฐาน" ในแบบที่ฉันชอบ)

ให้ตายเถอะ บ้านดินแปดสิบเปอร์เซ็นต์ที่ฉันเคยเห็น เป็นบ้านที่อยู่ "ไม่สบาย" เผลอๆ อยู่ไม่ได้จริง

ส่วนบ้านดินที่สวยและอยู่ได้จริง โดยมากสร้างโดยนักสร้างบ้านมืออาชีพและต้องผสมผสานไปกับความรู้แบบสถาปนิก มืออาชีพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น เทคนิคในการทำหลังคาและการใช้วัสดุที่ไม่ "ธรรมชาติ" ผสมสิ่งเหล่านี้เข้าไป บ้านดินก็จะเป็นบ้านอยู่ได้จริงและสบาย

และแน่นอนว่าจะทำบ้านดินที่อยู่ได้สบายนี้มันไม่ได้ "ง่าย" และ "ถูก" อย่างที่พี่โจนพยายามบอกว่า โอ๊ยยย ทำเลย ใครๆ ก็ทำบ้านดินได้ เว้นแต่ว่าเราจะลาออกจากงาน อุทิศตัวให้กับการฝึกทำบ้านดิน ลองผิดลองถูก ทำไปสักยี่สิบหลัง เราก็จะได้ความชำนาญในการสร้างบ้านดิน บ้านดินหลังที่ยี่สบเอ็ดของเรา อาจจะเป็นบ้านที่อยู่ได้จริงขึ้นมาก็เป็นได้

แล้วไอ้กระบวนการฝึกทำบ้านดินด้วยตนเองสักยี่สิบสามสิบหลังจนสามรถตกผลึกในวิชา สร้างบ้านให้ตอบสนองความต้องการของตนเอง และได้บ้านที่ "อยู่ได้" มันก็ตือกระบวนการที่มนุษย์เราได้ค่อยสั่งสมความรู้มาตั้งแต่ยุคอยู่ถ้ำ อยู่เรือนชั่วคราว ค่อยๆ พัฒนาองค์ความรู้มาเป็นวิชาสถาปัตยกรรม วิศวกรรม

พัฒนาการ ของความรู้เรื่องการสร้างบ้าน สร้างอาคารของเรา ก็คือเพื่อจะตอบโจทย์ว่า สร้างบ้านอย่างไรให้ปกป้องเราจาก มด งู หนู แมลง จากอากาศร้อน อากาศหนาว พายุ ทำบ้านอย่างไรไม่ให้พายุมาแล้วพังครืนทันที

หรือสร้างบ้านอย่าง ไรไม่ต้องขึ้นไปเปลี่ยนหญ้าคาบนหลังคาทุกปี และนี่คือสิ่งที่พี่โจนบอกในการพูดบนเวทีนี้ว่า วิชาความรู้ที่สอนกันในมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ destructive มากกกว่าจะ productive

วิชาพวกสถาปัตยกรรม วิศวกรรม มีแต่จะทำลายล้างผลาญโลก ทำให้ระเบิดภูเขามากขึ้น ฯลฯ

ฉันฟังแล้วรู้สึกว่า ไม่เถียงเรื่องนี้กับพี่โจนและผู้ฟังทุกคนที่ปรบมือชื่นชมพี่โจนในวันนั้นไม่ได้

แน่นอนว่าสิ่งที่โจนเลือกเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม

ไม่มีใครเถียงว่าพี่โจนกล้าหาญมากที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างนั้น

แต่ข้อเสนอของพี่โจนจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดหลายอย่าง

อย่างแรกที่สำคัญมากคือ พี่โจนกำลังสร้างคู่ตรงกันข้ามระหว่างธรรมกับอธรรม

นั่นคือ ชนบทดี กรุงเทพฯ เลว

วิถีชีวิตดั้งเดิมดี การพัฒนาเลว

ภูมิปัญญาท้องถิ่นดี ความรู้สมัยใหม่เลว

แต่ชีวิตโดยเฉพาะชีวิตทางสังคมการเมืองของเรามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น

และหากจะพูดให้ถึงที่สุด ชีวิตจริงของเรามันไม่ง่าย และมนุษย์เราต้อง complicate

ต่อให้เราหนีไปสร้างบ้านดิน ปลูกผัก ทำนากินเอง แต่ในยุคที่เรามี "รัฐ" สมัยใหม่ มีความเป็น "พลเมือง" พี่โจนจะเดินทางก็ต้องมีพาสปอร์ต วีซ่า

เพราะฉะนั้น "เรา" ไม่ได้กำหนดชีวิตของตัวเราตามลำพัง แต่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กำกับชะตากรรมของเราอยู่เสมอ

แต่ ทั้งหมดที่พี่โจนพูดบนเวที Ted Talk พี่โจนกำลังเคลมความสำเร็จนี้ว่ามาจากศักยภาพของปัจเจกบุคคลที่เพียงแต่คุณ กล้าหาญจะเดินออกจากบ้านมาปลูกผักทำบ้านดิน คุณก็จะมีความสุขแบบผม

พอพูดแบบนี้ปุ๊บ ความเข้าใจที่ตามมาคือ บรรดาชาวบ้าน ชาวนาที่ทำนา แต่ยังจน เพราะว่าคุณไม่รู้จักพอเพียง?

เพราะว่าคุณเฝ้าตามแฟชั่น?

คำถามของฉันคือ มีคนจำนวนมากที่ทำเหมือนพี่โจนมาหลายชั่วอายุคนและยังยากจน เป็นหนี้เพราะเขาไม่รู้จักพอ?

เพราะเขาใช้สารเคมีมากเกินไป?

เพราะเขาทะเยอทะยานอยากส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัย?

เพราะเขาไม่อยู่บ้านดิน?

เพราะเขากินเหล้า?

หรือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้จน และมีคนมาบอกว่าเขาจน เขาเลยมีความทุกข์?

ฉัน ไม่เคยทำนา แต่ถ้าชีวิตชาวนามันสบายแบบที่พี่โจนบอก คือทำงานปีละสองเดือนที่เหลือเต้นระบำรำฟ้อน มีความสุขสนุกสนาน มีวิตชาวบ้านมีแต่งานบุญงานรื่นเริง ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ฉันคิดว่าป่านนี้เราคงมีชาวนาสักร้อยละเก้าสิบของประเทศ

แต่เท่าที่ รู้คือ ไม่มีชาวนาคนไหนอยากให้ลูกเป็นชาวนา ค่านิยมแบบไทยๆ ที่อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคนก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าการเป็นชาวนามัน "สบาย" มัน "สนุก" จริง คนเราต้องอยากให้ลูกหลานเป็นชาวนานี่แหละ ไม่มีวันอยากให้ลูกเป็นอย่างอื่น

ชีวิตชาวนามัน "ชิล" เป่าขลุ่ยบนหลังควาย มีสายลมเย็นกับช่อดอกโสนสีเหลืองลออโบกล้อกับเราระหว่างไถนา จริงหรือ?

เทศกาล งานบุญมากมายของชาวบ้านชาวนาที่พี่โจนว่ามานั้น ล้วนแต่เป็นกลไกของพิธีกรรมที่ช่วยให้ชาวบ้าน ชาวนา สามารถรับมือกับทุพภิกขภัยของชีวิตที่ไร้หลักประกันใด เพื่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรักพย์สินหรือไม่ใช่? ทั้งแห่นางแมวขอฝน บุญบั้งไฟ และอื่นๆ อันเกี่ยวมากับความ "กลัว" ว่าจะเกิดความแห้งแล้ง ความไม่อุดมสมบูรณ์ สภาวะธรรมชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้

ฉันไม่ได้บอกว่า โอ๊ยยยย เป็นชาวนามันแย่ เราควรเลิกเป็น ชาวนาควรหันไปทำอาชีพอื่น

แต่กำลังจะบอกว่า ข้อเสนอของพี่โจนที่บอกว่า - ไอ้พวกคนในเมือง คนในกรุงเทพฯ มันทุกข์ มันเหนื่อย เพราะมันไม่รู้ออกไปทำนา ขุดบ่อปลา สร้างบ้านดิน มันมัวแต่เรียนวิชาบ้าๆ บอๆ ในมหาวิทยาลัย มันเลยทุกข์

ถ้าข้อเสนอนี้จริง ทำไมชาวนาถึงไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา ทำไมลูกหลานชาวนาจำนวนมากไม่อยากเป็นชาวนา?

เวลาพี่โจนพูดว่าทำสวนผักวันละสิบห้านาที ทำนาปีละสองเดือน ฟังแล้วมันชวนเคลิ้มนะ ราวกับว่าโลกนี้คุณภาพดินสมบูรณ์เท่ากันหมดทั่วโลก โลกนี้ไม่มีศัตรูพืช โลกนี้ไม่มีน้ำท่วม โลกนี้ไม่มีฝนแล้ง และโลกนี้ทุกคนมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง

ประสบการณ์ของฉันอาจจะผิด แต่ชาวนา ชาวบ้านนอกที่ฉันรู้จัก เขาไม่เคยวิ่งตามแฟชั่น เขาไม่เคยซื้อกางเกงยีนส์ เขาอยู่บ้านที่สร้างเอง เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนพี่โจนทุกอย่างนั่นแหละ รวมทั้งเก็บเมล็ดพันธุ์พืชผักต่างๆ และไม่มีใครเชิญเขาขึ้นเวที Ted Talk ด้วย

เพราะว่าพวกเขาจนจริง ป่วยจริง ตายจริง และสมุนไพรก็ไม่ช่วยอะไร (สามสิบบาทรักษาทุกโรคต่างหากที่ช่วยได้จริง)


พี่โจนคะ โลกก่อนการพัฒนาและก่อนกำเนิดความรู้สารพัดที่พี่โจนบอกว่ามัน destructive นั้น คนมีอายุขัยเฉลี่ยแค่ไม่เกิน 40 นะ เพราะแค่เป็นหวัด หรือ ท้องร่วงก็ตายแล้ว คนครึ่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซายส์ก็หน้าปรุเพราะเป็นฝีดาษ

สิ่งที่พี่โจนควรจะพูดบนเวที Ted Talk คือ เงื่อนไขหรือปัจจัยอะไรที่ทำให้ "ทางเลือก" ของพี่โจนเป็นไปได้สำหรับพี่โจน แต่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนอื่น!

นอกเหนือไปจากเงื่อนไขแบบ อ๋อ เพราะผมรู้เท่าทันทุนนิยม

อ๋อ เพราะผมเลิกตามแฟชั่น อ๋อ เพราะผมเป็นตัวของตัวเอง

คน ฟังน่าจะอยากรู้ว่า พี่โจนมาทำที่แม่แตงได้อย่างไร ซื้อที่ดินอย่างไร ราคาเท่าไหร่ มีหลักในการเลือกที่ดินอย่างไร บริหารเงิน แรงงานของตนเองและครอบครัวอย่างไร เผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้าง

จะแตกต่างไหม ถ้าพี่โจนไม่ได้เลือกเชียงใหม่ แต่เลือกจังหวัดอื่น?

ถ้าพันพันไม่ได้เปิดที่วัดสวนดอกในตอนแรก แต่ไปเปิดที่บึงกาฬแทน มันจะเวิร์กไหม

และหากฉันเป็นชาวนาที่บีงกาฬ ฉันอยากทำเหมือนพี่โจน ฉันต้องทำอย่างไร เงื่อนไขของครอบครัวมีผลต่อการเลือกวิถีชีวิตอย่างนี้หรือไม่?

ระหว่างมีแฟนเป็นเอ็นจีโอ เป็นชาวนา เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ แฟนอาชีพไหนจะเหมาะที่สุดสำหรับทางเลือกแบบนี้?

ถ้าแฟนเรามีภาระเลี้ยงน้อง ส่งน้องเรียนหนังสือ แม่ป่วย พ่อเป็นอัลไซเมอร์ เราควรเปลี่ยนแฟน หรือสั่งให้น้องแฟนออกจากมหาวิทยาลัย มาช่วยทำนา? แล้วเอาสมุนไพรไปรักษาแม่?

ฯลฯ

เหล่านี้คือตัวอย่างคำถาม สำหรับ "เงื่อนไข" ที่มากไปกว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะดั๊นนนน โง่ ไม่รู้เท่าทันทุนนิยมที่มันหลอกให้เราทำงานหนักและตามล่าหาความสำเร็จใน ชีวิตอย่างที่พี่โจนพยายามจะบอก

สุดท้าย ฉันไม่เห็นด้วยอย่างแรง ว่าวิทยาการความรู้สมัยใหม่มัน destructive - ฉันนั่งอยู่ที่เกียวโตตอนนี้ เมืองที่มีการจัดการเมืองได้น่าอยู่ที่สุด สิ่งแวดล้อมดีที่สุด ผังเมืองงดงามที่สุด เป็นมิตร โอบอุ้มมนุษย์มากที่สุด

เบื้องหลังมันคือความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม การวางผังเมืองที่ก้าวหน้าที่สุด ทันสมัยที่สุดต่างหาก หาใช่ภูมิปัญญา ชาวนา ซามูไรพื้นบ้านไม่

สองฝั่งแม่น้ำคาโม่ที่สวยกริ๊บ เป็นพื้นที่สาธารณะที่จรรโลงใจ เกิดขึ้นได้เพราะฝีมือของวิศวกร สถาปนิก นักออกแบบภูมิสถาปัตย์ เครื่องจักร เครื่องกลของงานก่อสร้างที่ทันสมัย แรงงานของผู้คนที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีในระบบ "สมัยใหม่"

และฉัน เชื่อว่าเมืองที่น่าอยู่เมืองอื่นๆ ในโลกนี้ ก็ล้วนแต่ถูกชำแรกความบริสุทธิ์โดยนักออกแบบเมืองและนักวางผังเมืองกันมา แล้วทั้งนั้น

เมืองสวยๆ ที่เราเห็นทั้งโลก ไม่ได้สวยอย่างนี้ตาม "ธรรมชาติ"

แต่สวยด้วยการจัดการและ "วิชาการ" ย้ำว่าเป็นวิชาการสมัยใหม่มากๆ ด้วย

สิ่งที่พี่โจนและผู้ฟังในเวที Ted Talk วันนั้น ไม่ได้ตระหนักเลยก็คือ ทุน และความเป็นสมัยใหม่ ไม่ได้ "เลว" แต่อุดมการณ์ในสังคมที่กำกับความรู้เหล่านั้นต่างหาก ที่จะแปรผันสิ่งเหล่านี้ให้ดีหรือเลว ให้ยุติธรรมหรืออยุติธรรม

น่าเสียดาย และน่าเสียใจ ที่อุดมการณ์ที่กำกับองค์ความรู้ของพี่โจน ผู้มีวิถีชีวิตตามความเป็นจริงที่น่านับถือยิ่งในคืนนั้น กลับคืออุดมการณ์ที่กำกับและผดุงความอยุติธรรมในสังคมไทยเอาไว้ภายใต้การ สร้างมายาคติว่าด้วยชนบทอันงดงาม VS ปีศาจของทุนและความรู้ตะวันตก

มึงจนเพราะมึงไม่รู้จักพอ

มึงทุกข์เพราะมึงทะเยอทะยาน

ย้ำ : ชีวิตที่ง่ายไม่จำเป็นต้องทิ้งความซับซ้อน โดยเฉพาะในวิธีคิด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12-18 กันยายน 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : กระแสต้านสตรีนิยม

0
0

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ ‘คำ ผกา’ และ ‘อรรถ บุนนาค’ มาคุยกันถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับ ‘สตรีนิยม’ ในต่างประเทศที่เพิ่งมีการต่อต้านจากสตรีด้วยกัน ด้วยการรณรงค์ปฏิเสธสตรีนิยม การรณรงค์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในช่วงราว 2 เดือนเศษที่ผ่านมาบนโลกสังคมออนไลน์ เมื่อมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งถ่ายภาพคู่กับกระดาษที่เขียนข้อความขึ้นต้นว่า ‘I don’t need feminism’ และบรรยายเหตุผลต่างๆ ของการปฏิเสธกระแสสตรีนิยม และเผยแพร่ไปบนอินเตอร์เน็ต

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ จับกระแสความเคลื่อนไหวต่อต้านสตรีนิยมมาวิเคราะห์ และพูดคุยถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสตรีนิยมซึ่งนับถอยหลังไปได้ไกลถึงเกือบหนึ่งศตวรรษ โดยเป็นขบวนการต่อสู้ในสังคมตะวันตกเพื่อให้ผู้หญิงมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับผู้ชาย จนกระทั่งการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในเรื่องอื่นๆ รวมถึงการต่อสู้เพื่อจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องจากความเป็นผู้หญิง

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.จัดทีมใหม่-รวมสมาชิก 15 คน "พล.อ.ประวิตร" ขึ้นรอง คสช.

0
0

พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามประกาศ คสช. 122/2557 จัดทีม 15 คสช. เพิ่ม "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" เป็นรองหัวหน้า คสช. - พล.ต.อ.สมยศ - พล.อ.ไพบูลย์ - มีชัย ฤชุพันธุ์ - สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ฯลฯ เป็นสมาชิก คสช.

ภาพก่อนเข้ารายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน เป็นภาพสมาชิก คสช.  ที่ปรับตำแหน่งใหม่ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 122/2557 เรียงกันเป็นรูปหัวใจ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี อยู่ตรงกลาง

 

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนพิเศษ 181 ง เผยแพร่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 122/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 122/2557
เรื่อง แต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 42 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2557 เรื่อง แต่งตั้งผู้ดํารงตําแหน่งสําคัญในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557

ข้อ 2 แต่งตั้งให้บุคคลดังต่อไปนี้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
2. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
3. พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็น รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
4. พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็น รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
5. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เป็น รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
6. พลตํารวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
7. พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
8. พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
9. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
10. พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
11. พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
12. พลตํารวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
13. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
14. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
15. พลเอก อุดมเดช สีตบุตร เป็น เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ข้อ 3 ให้สํานักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทําหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พุทธศักราช 2557
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อโลกเป็นไข้และรัฐไทยไปประชุมผู้นำยูเอ็นเรื่องโลกร้อน

0
0

 


 

วันอังคารที่ 23 กันยายน ที่จะถึงนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ หรือ UN Climate Summit ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมีชื่อเป็นผู้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์อยู่รายชื่อสุดท้ายของช่วงบ่าย และนี่ถือเป็นการเยือนประเทศตะวันตกของรัฐบาลปัจจุบันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

 

เมื่อความมุ่งมั่นของผู้นำโลกขาดแคลน

การประชุมโลกร้อนครั้งนี้เป็นนัดพิเศษที่จัดขึ้นโดยนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อกระตุ้นให้ผู้นำระดับโลกแสดงเจตนารมณ์ว่ายังจริงจังกับการหยุดภาวะโลกร้อนอยู่ โดยเปิดโอกาศให้เหล่าผู้นำกล่าวสุนทรพจน์แสดงวิศัยทัศน์และแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคนละ 4 นาที เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเจรจาเพื่อหาหนทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ “กรอบอนุสัญญาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (UNFCCC)” ซึ่งดำเนินมากว่าสองทศวรรษ ปรากฏสัญญานชัดว่า ผู้นำโลกโดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่และประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมไปไกลแล้วต่างขาด “ความมุ่งมั่นทางการเมือง”  ทั้งที่จะต้องเจรจาหาข้อตกลงใหม่ร่วมกันเพื่อกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในปีหน้า 

อย่างไรก็ดี ภาวะที่น่ากังวลในขณะนี้คือ แม้จะมีการประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซฯ ของประเทศต่างๆ แต่เมื่อนำมารวมกันแล้วก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรษได้ ในทางกลับกัน เรากำลังเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่จะพาเราไปสู่โลกที่ร้อนขึ้น 4-6 องศา ขณะที่ประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากรวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา ต่างยังไม่ยอมให้การลดการปล่อยก๊าซฯ ของตนเป็นพันธะผูกพันทางกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

 

เสียงของประชาชนเรียกร้อง หยุดโลกร้อนให้ทันอย่างถูกวิธี

กล่าวในส่วนการตื่นตัวของภาคประชาชน วันอาทิตย์ที่ 21 กันยายน ก่อนการประชุมผู้นำเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ กระบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วโลกพร้อมใจกันจัดการเดินขบวนเรื่องโลกร้อนครั้งใหญ่(ที่สุด) ภายใต้ชื่อ People's Climate March หรือ #PeolplesClimate โดยคาดว่ามีผู้เข้าร่วมการเดินขบวนกว่า 100,000 คนในนิวยอร์ค และอีกกว่า 100,000 คนในเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น เบอร์ลิน ปารีส ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม ฯลฯ ขณะที่นักกิจกรรมอีกส่วนหนึ่งกำหนดการเดินขบวนในวันจันทร์ที่ 22 กันยายน ณ ถนนวอลล์สตรีท ศูนย์กลางการเงินการธนาคารของสหรัฐอเมริกาและโลก ภายใต้แคมเปญ #FloodWallStreet เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักถึงอิทธิพลของกลุ่มทุน ต่อการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและการขัดขวางการลดโลกร้อนอย่างจริงจัง

ในโอกาสนี้ คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม (Thai Climate Justice) ร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวและกลุ่มองค์กรประชาชนกว่า 340 องค์กรทั่วโลก ได้ออกแถลงการรวมพลังและขับเคลื่อนเพื่อ “หยุดยั้งและป้องกันโลกป่วยไข้” ระบุเหตุพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เพราะระบบการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ปัจจุบันพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลมากเกินไป คิดว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งของที่ซื้อขายได้ไม่สิ้นสุด และไม่ยอมรับว่าโลกมีข้อจำกัด  ในขณะเดียวกัน เราปล่อยให้คนไม่กี่กลุ่มควบคุมทิศทางการพัฒนา ทำให้ผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรและการพัฒนาไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม  ยิ่งไปกว่านั้น เราปล่อยให้นักการเมืองและผู้มีอำนาจตัดสินใจ ฟังและอุ้มนักธุรกิจมากกว่าประชาชน ดังนั้นหนทางแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนคือการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และตอบโจทย์ประชากรส่วนใหญ่ของสังคม  ขณะที่ประชาชนและชุมชนต้องถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจและควบคุมระบบพลังงงาน-การผลิต-การบริโภค กลับคืนมาจากผู้มีอำนาจและกลุ่มธุรกิจที่อยู่เบื้องหลัง

แถลงการดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศษ สเปญ โปรตุเกส และไทย นำเสนอว่า ถึงเวลาที่สังคมมนุษย์ต้องรีบ “ทบทวนนิยาม คุณภาพชีวิต การกินดีอยู่ดี และความเจริญรุ่งเรือง ใหม่ เพื่อให้มนุษย์ดำรงอยู่ได้อย่างเคารพและกลมกลืนกับธรรมชาติ สรรพชีวิต และขีดจำกัดของโลก" โดยนำเสนอทางออกในระยะยาวคือ "การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนารูปแบบใหม่ ที่หลุดกรอบการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล มุ่งหน้าพัฒนาพลังงานสะอาด และให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ไม่คำนึงแต่ผลกำไรของภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม”  ทั้งยังนำเสนอทางออกที่ควรทำได้ทันทีอย่างน้อย 10 ประการ เช่น แต่ละประเทศต้องให้พันธะสัญญาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันโดยทันที, ไม่นำเชื้อเพลิงฟอสซิลสำรองที่ค้นพบแล้วกว่า 80% ขึ้นมาเผา, หยุดโครงการสำรวจและขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ใหม่ทั้งหมด, หยุดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นและมิได้ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นตัวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและทำลายธรรมชาติ เช่น โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ทางด่วน-ถนนขนาดใหญ่, และส่งเสริมการผลิตในท้องถิ่นและการบริโภคผลิตภัณฑ์คงทนที่จะตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นต้น

 

ความจริงจังของรัฐไทยในการหยุดโลกร้อน

สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศต่อที่ประชุมประจำปีภาคีอนุสัญญา UNFCCC เมื่อปีที่แล้ว (2556) ว่ามีแผนโดยสมัครใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7-20% ภายในปี 2020 (ในอีก 6 ปีข้างหน้า) โดยเตรียมนำเสนอแผนปฏิบัติการที่จะเน้นภาคพลังงานและภาคขนส่งในปีนี้  อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังไม่เคยมีการถกเถียงในทางสาธารณะอย่างกว้างขวางเพียงพอ ว่าการตั้งเป้าหมายเหล่านี้มีผลอย่างไรต่อการกำหนดทิศทางกาพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน และเราจะต้องมีปฏิบัติการอะไรบ้างเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนมาดูทิศทางนโยบายพลังงานของกระทรวงพลังงานภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน ยังคงเป็นไปในทางเพิ่มและพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่ยั่งยืนเป็นหลัก ดังที่ได้มีการประกาศนโยบายสำคัญได้แก่ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 21 การเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศอีก 10,000 เมกกะวัตต์ การเดินหน้าโครงการโรงไฟ้านิวเคลียร์ การนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ในขณะที่ คสช. เพิ่งจะอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเพิ่มเติมอีก 600 เมกกะวัตต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงชูนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่รวมทั้งการทำเหมือนแร่ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีเหลือน้อยอยู่แล้ว โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

แนวทางการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในขณะนี้ ยังคงไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำพาประเทศไทยไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้ต้องการความร่วมมือของทุกประเทศเพ่ือเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดโดยเริ่มต้นในทันที เพื่อป้องกันหายนะภัยจากภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้ การเดินหน้าพัฒนาแบบเดิมๆ ด้วยความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตได้ต้องเอาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาเผา เป็นการละเลยต่อขีดจำกัดของโลกและทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเป็นการเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนที่เริ่มมีการตื่นตัวต้องการเห็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน อยู่บนฐานพลังงานสะอาดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

แก้โลกร้อน ต้องส่งเสริมประชาธิปไตยในกระบวนการนโยบายสาธารณะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ประชาชนทั่วโลกมีความตื่นตัวเป็นอย่างยิ่ง ว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง จะต้องทำให้ระบบพลังงานและระบบการผลิตต่างๆ กระจายศูนย์โดยให้ชุมชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ทำให้การควบคุมนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นประชาธิปไตยขึ้น จึงไม่อาจปฏิเสธว่าเรื่องพลังงาน-ทิศทางการพัฒนา-โลกร้อน มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง เป็นการเมืองเชิงอำนาจ เพราะการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจการตัดสินใจจากนักการเมืองและบรรษัทเอกชนมาเป็นของประชาชนและชุมชน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมไทยต้องช่วยกันคิด

น่าเศร้าว่าสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ การออกเดินขบวนและรณรงค์ของกลุ่มประชาชน ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างระบบพลังงานไทยและนโยบายสาธารณะอื่นๆ กลับถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงความเห็น และยิ่งถูกปราบปรามอย่างหนักภายใต้กฎอัยการศึก ในขณะที่ตัวแทนของกลุ่มธุรกิจพลังงาน (เชื้อเพลิงฟอสซิล) และวิสาหกิจพลังงานขนาดใหญ่ มีพื้นที่อย่างมั่นคงในคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการสรรหาสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดังนั้น สุทรพจน์แสดงวิสัยทัศน์เรื่องโลกร้อนของของรัฐมนตรีต่างประเทศที่จะแถลงในที่ประชุมสหประชาชาติในวันอังคารนี้ ซึ่งต้องสอดคล้องกับทิศทางของนโยบายรัฐบาลปัจจุบันดังได้กล่าวมา คงจะเป็นเพียงลมปากที่ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาแบบใหม่ที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มายาคติเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศ

0
0

 

ต่อไปนี้เป็นมายาคติหรือความเข้าใจผิดของคนไทยจำนวนมากเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมืองของไทยทางอ้อมเพราะคนไทยจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น คสช. นักวิชาการ ชนชั้นกลางหรือแม้แต่ชาวบ้านได้นำความเข้าใจเช่นนี้มาเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในการสร้างความชอบธรรมให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองสนับสนุนหรือไว้สำหรับโจมตีแนวคิดอื่นที่ตัวเองเกลียดชัง พฤติกรรมเช่นนี้พบมากในบรรดาผู้ที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย  

1.ประชาธิปไตยคือสหรัฐอเมริกา

ความเชื่อเช่นนี้ดูน่าเชื่อถืออย่างมากในช่วงสงครามเย็นที่กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ของโลกยังไม่แพร่หลายอย่างเช่นในปัจจุบันนี้ สงครามเย็นได้ทำให้สหรัฐอเมริกาโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยเพื่อเอาชนะสหภาพ โซเวียตเช่นเดียวกับความพยายามในการครอบงำชาวโลก  การโฆษณาเช่นนี้ก็ถือได้ว่าทรงพลังเพราะระบบการเมืองของสหรัฐฯ มีลักษณะอันโดดเด่นไม่ว่า การกระจายอำนาจแบบสหพันธรัฐ การคานอำนาจระหว่างสถาบันต่างๆ   รัฐธรรมของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกได้ทำให้เกิดการแพร่หลายของขบวนการประชาสังคม การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยในทศวรรษที่ 60  และ 70 ฯลฯ   ภาพเงาเช่นนี้ย่อมทำให้คนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือสหรัฐ ฯ  สหรัฐ ฯ คือประชาธิปไตย มาตลอดเวลา  เมื่อสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ถูกโจมตีอย่างมากในความลดถอยของประชาธิปไตย ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยและความน่าเชื่อถือในเวทีโลก ก็ทำให้คนที่ต้องการต่อต้านประชาธิปไตยมักจะใช้สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวในการโจมตีแบบเหมารวมว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เรื่องและไม่เหมาะกับประเทศไทยเป็นอันขาด

ตามความจริงแล้วประชาธิปไตยนั้นเจริญเติบโตและงอกงามในยุโรปและมีความเจริญกว่าสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมากมาย ดังจะดูได้จากการจัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยและความโปร่งใสในปัจจุบันว่าประเทศในยุโรปย่านสแกนดิเนเวียรวมไปถึงประเทศเล็กๆ ดังเช่นนิวซีแลนด์นั้นมีอันดับสูงกว่าสหรัฐ ฯ มากมายนัก  ซึ่งเป็นข้อมูลที่คนสนับสนุนเผด็จการมักมองข้ามไม่ยอมพูดถึงนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการทำรัฐประหารของไทย

2.การสนับสนุนประชาธิปไตยของตะวันตกเป็นเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ความเข้าใจเช่นนี้อาจดูสมเหตุสมผลเพราะรัฐบาลตะวันตกก็ได้ใช้ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยในการต่อรองเรื่องผลประโยชน์ และมีอยู่มากมายหลายครั้งที่รัฐบาลตะวันตกทำตนเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล” ดังกรณีท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศอียิปต์ แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งนโยบายต่างประเทศของตะวันตกส่วนหนึ่งก็ได้รับการผลักดันจากความศรัทธาและความต้องการเผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังเช่นการที่สหรัฐฯ บุกอัฟกานิสถานและอิรักนั้น มักมีคำอธิบายว่าสหรัฐฯต้องการขยายอิทธิพลและวงผลประโยชน์เหนือตะวันออกกลางจนหลงลืมไปว่ากลุ่ม นวอนุรักษ์นิยม (Neo-conservative)  ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลของบุชก็มีความเชื่อมั่นในเรื่องการใช้กำลังทางทหารเพื่อทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศที่เป็นเผด็จการ

ในทางกลับกัน วาระเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปใช้กดดันประเทศซึ่งมีปัญหาด้านประชาธิปไตยดังเช่นไทยและพม่าก็ได้ส่งผลทางบวกให้กับประชาชนในประเทศนั้นเป็นอย่างมาก เพราะทำให้รัฐบาลเผด็จการระมัดระวังไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนจนโจ่งแจ้งมากไปและการกดดันของตะวันตกก็อาจนำไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคตในที่สุด (ถึงแม้อาจจะปลอมๆก็ตาม)  เหตุผลสำคัญที่ทำให้คสช. พยายามเลี่ยงบาลีในการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกทางวิชาการหรือทางการเมืองโดยการหันไปเป็นการปรับทัศนคติหรือการข่มขู่ด้วยรอยยิ้มแบบเสแสร้งมากกว่าการคุมขังและการอุ้มหาย  ก็เพราะไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกโจมตีและอาจเป็นข้ออ้างในการประณามและนำไปสู่การคว่ำบาตรที่ร้ายแรงกว่าเดิม หากไม่เช่นนั้นแล้ว คสช.คงหันไปใช้วิธีการแบบ จอมพลสฤษดิ์        ธนะรัชต์อย่างแน่นอน (แน่นอนว่าในยุคจอมพลสฤษดิ์ สหรัฐฯก็เฝ้าจับตาไทยเหมือนกัน แต่ปัจจุบันบริบททางการเมืองได้เปลี่ยนไปอย่างมากมายไม่ว่าการสิ้นสุดของสงครามเย็นและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกี่ยวกับการสื่อสาร)  นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเหตุใดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงต้องกล่าวคำขอโทษต่อหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ  ไม่ว่ากรณีการสวมบิกีนีของนักท่องเที่ยวหรือการพาดพิงถึงผู้หญิงคนหนึ่งด้วยคำหยาบคาย (คำตอบก็คืออิทธิพลทางอ้อมของสิทธิสตรี)

3.ชาวตะวันตกรักและชื่นชอบระบบการเมืองของตนเอง

เป็นความเข้าใจผิดโดยเฉพาะนักคิดเสรีนิยมที่ต้องการนำมุมมองนี้มาสนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตย ตามความจริงแล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยทั้งในสหรัฐฯและตะวันตกต่างท้อแท้และสิ้นหวังในระบบการเมืองของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯในช่วงของจอร์จ ดับเบิลยู บุชซึ่งมีคนอเมริกันจำนวนมากอยากจะให้เขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษที่ไม่อยู่ในรูปแบบประชาธิปไตยเพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประธานาธิบดีอเมริกันออกจากตำแหน่งเหมือนนายกรัฐมนตรีแม้จะดำเนินงานบริหารผิดพลาด (ยกเว้นเป็นกรณีที่กระทำความผิดขั้นร้ายแรงจนต้องถูกไต่สวน หรือ Impeachment)   กรณีดังเช่นการนำสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามในอิรักก็ยังไม่สามารถทำให้บุชออกจากตำแหน่งหรือถูกดำเนินคดีได้ อันสะท้อนถึงความเน่าเฟะของการเมืองอเมริกัน ข้อกล่าวหานี้ยังเกิดกับนายโทนี แบลร์อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายการทหารอิงกับรัฐบาลของนายบุช

นอกจากนี้ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการคานอำนาจมากจนเกินไปอันส่งผลถึงการกลายเป็นการชะชักงันทางอำนาจเพราะพรรคการเมือง 2 พรรคงัดข้อกันเองจนไม่สามารถออกกฎหมายอันได้ทำให้เกิดวิกฤตในยุคของนายบารัก โอบามา จนรัฐบาลต้องปิดทำการชั่วคราวเพราะรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันเรื่องงบประมาณของประเทศได้เช่นเดียวกับการกำหนดเพดานหนี้จนเกือบทำให้สหรัฐฯต้องพบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง จนนักวิชาการหลายคนต้องการให้สหรัฐฯ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดีซึ่งมาเป็นระบอบรัฐสภาเพื่อให้สามารถเปลี่ยนผู้นำได้ง่ายและกฎหมายสามารถถูกออกเพื่อนำมาใช้ได้ง่ายกว่านี้

ชาวตะวันตกจำนวนมากก็มีความคิดเหมือนกับคนไทยอีกหลายคนที่เสื่อมศรัทธาในนักการเมืองอยากให้ประเทศตนปกครองด้วยเผด็จการที่แสนดี ฉลาดและเปี่ยมด้วยความสามารถ (ดังความคิดของนักปรัชญาเช่นลีโอ สตราส ซึ่งผลิตซ้ำแนวคิดของเปลโตมา)  ในทางกลับกันก็มีชาวตะวันตกอีกพอสมควรที่นิยมแนวคิดแบบอนาธิปไตยคือต่อต้าน อยากยุบรัฐบาล และให้ประชาชนและชุมชนปกครองตัวเองเพราะเห็นว่ารัฐบาลนั้นเป็นของคนรวย โดยคนรวยและเพื่อคนรวย  แนวคิดนี้ย่อมส่งผลมาถึงคนไทยจำนวนมากที่ได้รับสารจากชาวตะวันตกเหล่านั้น

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยของตะวันตกแม้แต่ประเทศในย่านสแกนดิเนเวียหรือนิวซีแลนด์ที่ได้คะแนนด้านประชาธิปไตยสูงๆ นั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์หากแต่เป็นกระบวนการที่ยังบกพร่อง มีการเดินถอยหลังและต้องอาศัยปฏิรูปอีกไปเรื่อยๆ ไปตามอุดมการณ์หรือจุดหมายที่ประเทศเหล่านั้นได้วางไว้เอง ซึ่งเราจะนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เพราะอย่างน้อยที่สุดเราควรศรัทธาในตัวของอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสากลที่ประเทศเหล่านั้นพร่ำบอกมากกว่าตัวของประเทศเองเช่นเดียวกับที่ชาวพุทธยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องดูว่าพฤติกรรมของพระสงฆ์และองค์กรของสงฆ์ในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร

4.เผด็จการอำนาจนิยมเป็นเรื่องดีดูอย่างลัทธิปูตินสิ

ฉากทางการเมืองสำคัญที่เป็นการโฆษณาลัทธิปูตินหรือเผด็จการอำนาจนิยมตามแบบประธานาธิบดีรัสเซียคือวลาดิเมียร์ ปูตินได้อย่างดีในบรรดาคนเกลียดสหรัฐ ฯ   (และเลยไปถึงลัทธิประชาธิปไตยได้)  คือการแสดงแสนยานุภาพของทหารในกรณียูเครน ภาพตามสายตาของนงนุช สิงหเดชะ  ปูตินเป็นบุรุษเหล็ก ทำให้รัสเซียมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและการเมือง 

ตามความเป็นจริง ปูตินก็เป็นเผด็จการที่สกปรกไม่แพ้กับคนอื่นที่เรารู้จักและรังเกียจในประวัติศาสตร์ เขาทำให้ประชาธิปไตยของรัสเซียเสื่อมถอยโดยการเข้ากุมอำนาจในสถาบันทางการเมืองที่สำคัญทั้ง 3 สถาบันคือนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ สังคมรัสเซียเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาชญากรรมและมาเฟียเต็มบ้านเต็มเมืองโดยเจ้าพ่อเหล่านั้นก็มีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างยาวนานก็เพราะเขาสามารถใช้อำนาจมืดในการสะกดการเคลื่อนไหวของมวลชนได้เช่นเดียวกับความชาญฉลาดในการสร้างภาพครอบงำมวลชนกลุ่มอื่นให้นิยมชมชอบ นอกจากนี้ตะวันตกก็เห็นว่าปูตินมีข้ออาชญกรรมไม่แพ้กับเผด็จการคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์เช่น

ปูตินใช้อำนาจของรัฐในการแทรกแซงตุลาการเพื่อเล่นงานพวกคนรวยหรือ Oligarchy เก่าในยุคของเยลต์ซินในทางกฎหมายเช่นยัดเหยียดข้อหาให้เจ้าของยูคอสคือนายมิกคาอิล           คอร์โดคอฟสกีจนต้องติดคุกเป็นเวลานาน

ปูตินถูกแฉโดยวิกีลิกว่าแอบยักยอกเงินจากรัฐเอาไปเก็บไว้ในบัญชีต่างประเทศ

ปูตินใช้หน่วย FSB มีอำนาจและโยงใยกับกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ  ร่วมกับมาเฟียเช่นสังหารนายอาเล็กซานเดอร์  ลิตวินเนนโกที่กรุงลอนดอนปี 2006  ปีเดียวกับที่นักข่าวคือแอนนา โปลิตกอฟสกายา ซึ่งเขียนหนังสือโจมตีปูตินถูกยิงตายที่กรุงมอสโคว์

นอกจากนี้สาเหตุที่เศรษฐกิจของรัสเซียรุ่งเรืองอีกครั้ง ไม่ใช่เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปูตินเช่น state capitalism (ระบบทุนนิยมทีรัฐเป็นนายทุนใหญ่) เพียงอย่างเดียวแต่เพราะความร่ำรวยของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียเป็นสำคัญเช่นเดียวกับการวางรากฐานเศรษฐกิจของบอริส เยลต์ซินที่เศรษฐกิจรัสเซียผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจากคอมมิวนิสต์มาเป็นทุนนิยมหรือ Shock มาในทศวรรษที่ 90 ทำให้ย่ำแย่ แต่ก็ฟื้นตัวในภายหลังและเป็นช่วงที่ปูตินขึ้นมาบริหารประเทศมาพอดี (และปัญหาคือทำไมเราไม่ยกย่องผลงานของ ดมีทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีอีกคนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ปูตินจะมีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แต่ดมีทรีอาจจะมีบทบาทหลายอย่างในช่วง 4  ปีต่อการทำให้รัสเซียดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เศรษฐกิจของรัสเซียกำลังอยู่ในภาวะทดถอย มีอัตราความเจริญเติบโตเพียงร้อยละ  1.3  ในปี 2013 ยิ่งถูกการคว่ำบาตรจากตะวันตกไปเรื่อยๆ ก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง  นอกจากนี้การทหารที่แข็งแกร่งของรัสเซียจนสามารถทัดทานกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรปก็อาจจะไม่ได้บอกความเข้มแข็งของประเทศเสมอไปเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตในอดีตที่ทุ่มเงินไปกับการทหารเป็นจำนวนมากแต่ก็ต้องล่มสลายเพราะปัจจัยหนึ่งมาจากปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด

5.ประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นเรื่องวุ่นวาย ไร้ระเบียบ

ความคิดแบบดึกดำบรรพ์เช่นนี้ย่อมฝังแน่นในชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจนยากจะถอนออกได้ภายใต้ข้ออ้างถึงความมั่นคงหรือความเป็นระเบียบของชาติ  ซึ่งมันก็ได้สำแดงเดชเมื่อไม่กี่วันมานี้โดยการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปยุติเสวนาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำ  โดยผู้เขียนคิดการกระทำเช่นนี้เป็นการล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์ในสังคมยุคใหม่ขั้นร้ายแรง เพราะการแสดงออกทางวิชาการที่ปราศจาก hate speech หรือการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะได้แสดงออกสิ่งที่อยู่ในความคิดของเขาและทำให้คนที่ได้รับรู้ข่าวสารนั้นเกิดความรู้ที่หลากหลายอันเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยถึงแม้จะมีความแตกต่างจากอุดมการณ์หลักของรัฐและอาจนำไปสู่วิวาทะก็ตามดังที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตก 

มีคนมากมายมักยกย่องเผด็จการโดยเข้าใจว่าการตัดสินใจโดยคนเดียวๆ อย่างเด็ดขาด ปราศจากความวุ่นวายสับสนจากเสียงนกเสียงกาย่อมทำให้ประเทศเกิดความเจริญรุ่งเรืองโดยดูโมเดลเพียงจีนและสิงคโปร์ โดยไม่สำเนียกว่าแนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนาซี  อิตาลียุคมุสโสลินี สเปนในยุคของฟรานซิสโก ฟรังโก  อาเจนตินาและหลายประเทศในละตินอเมริกายุคทศวรรษที่ 70  หรือฟิลิปปินส์ในยุคของเฟอร์ดินันท์ มาร์คอส  หรือยุคปัจจุบันเช่นประเทศในเอเชียกลางหรือซิมบับเวในยุคของโรเบิร์ต  มูกาเบ   ซึ่งผู้นำเผด็จการของประเทศเหล่านั้น (ซึ่งมักไม่เรียกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองแต่เป็น “ผู้รับใช้เมือง”(?) ) ถ้าไม่นำความเดือดร้อนอย่างมากมายให้กับประชาชน ก็นำความหายนะให้กับประเทศชาติเสียพอๆ หรือ ยิ่งกว่านักการเมืองชั่วๆ ที่ส่งเสียงโวยวายหรือต่อสู้กันในสภาดังผู้ต่อต้านประชาธิปไตยมักโจมตีอยู่เสมอ

ขอปิดท้ายด้วยความคิดคำนึงของผู้เขียนต่อนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับกลุ่มนิติราษฎรทั้งที่เป็นอาจารย์อยู่ในคณะเดียวกัน ท่านได้ประกาศตนต่อต้านระบอบทักษิณมาตลอดเวลา และมักกล่าวเป็นนัยๆ ว่าทักษิณนั้นเหมือนกับเป็นฮิตเลอร์ซึ่งจะนำประเทศไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกับเยอรมันนาซี แต่เมื่อ คสช.ขึ้นมามีอำนาจและได้ปกครองประเทศเป็นเผด็จการเสียยิ่งกว่ายุคของทักษิณ ท่านก็ได้หุบปากเสียแน่นอันสะท้อนให้เห็นว่าท่านนั้นไม่มีความศรัทธาหรืออาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ท่านมักโฆษณาป่าวประกาศเสมอมาก็เป็นได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: ไทยคืนดีกัมพูชา และชะตากรรมของผู้ลี้ภัย

0
0

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนล่าสุด ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำกัมพูชา ในโอกาสนี้ พลเอกธนะศักดิ์ได้มีโอกาสหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และพลเอกเตียบันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา บรรยากาศของการเฉลิมฉลองการปรับความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้น่าอภิรมย์อย่างยิ่ง

ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น กัมพูชายังคงเป็นประเทศที่ไทยเป็นห่วงกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณีข้อพิพาทเหนือปราสาทเขาพระวิหาร หรือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปัญหาคลางแคลงใจเหล่านี้ได้สร้างความกระอักกระอ่วนใจในสายตาของผู้นำไทยอย่างมาก จนถึงจุดที่ว่า การทำสงครามกับกัมพูชานั้นกลายมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ดังที่เราได้เห็นในปี 2554

หลังจากการหารือทวิภาคีระหว่างสองฝ่าย พลเอกเตียบันห์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กัมพูชาและไทยตกลงที่จะร่วมมือกันยกระดับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ต่างให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนของสองประเทศ และร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดจากอาชญกรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือการที่ทางกัมพูชาได้ขอร้องให้ฝ่ายไทย “ดูแล” แรงงานกัมพูชาในไทย ซึ่งเรื่องนี้ พลเอกธนะศักดิ์ได้ตอบกลับว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และสัญญาว่า จะพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงกฏระเบียบในการปกป้องสิทธิของแรงงานต่างชาติในไทย

แต่ขณะเดียวกัน ทั้งไทยและกัมพูชาก็ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตีความคำพิพากษาเกี่ยวกับกรณีเขาพระวิหารเมื่อปี 2505 อีกครั้งหนึ่ง ตามที่ได้รับการร้องขอจากกัมพูชา หลังจากัมพูชาเห็นว่า ปัญหายังคงยืดเยื้อและฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทเขาพระวิหาร ในการตีความใหม่รอบนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยืนยันว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสมบัติที่ถูกต้องตามกฏหมายของกัมพูชา และเรียกร้องให้กองทัพของทั้งสองประเทศถอนทหารออกจากเขตพื้นที่ทับซ้อนที่มีขนาด 4.6 ตารางกิโลเมตร เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเอกเตียบันห์ให้ความเห็นว่า กัมพูชาเชื่อว่า ปัญหาเหนือพื้นที่ทับซ้อนในบริเวณประสาทเขาพระวิหารนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอีกต่อไป

ในการเดินทางเยือนกัมพูชาในครั้งนี้ ได้มีคณะติดตามพลเอกธนะศักดิ์อีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงอีกจำนวนหนึ่ง โดยคณะทั้งหมดได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เพื่อหาหนทางในการกระชับความสัมพันธ์ในภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ เพราะเหตุใด พลเอกธนะศักดิ์จึงต้องเดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างรีบเร่ง เพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ในระหว่างที่เดินทางไปเยือนกัมพูชานั้น ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา สถานการณ์ได้บังคับให้ไทยต้องหามิตรเพิ่มเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชอบธรรมให้กับ คสช. พันธมิตรดั้งเดิมของไทยในโลกตะวันตกล้วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหาร และได้ประกาศใช้นโยบายคว่ำบาตรต่อ คสช ด้วย

ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาได้ยุติการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทัพไทย ซึ่งเป็นข้อกฏหมายที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ในกรณีที่พันธมิตรของสหรัฐฯ ได้มีการทำรัฐประหาร จึงจำเป็นต้องมีการตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะยังจัดให้มีการฝึกซ้อมรบทางทหารร่วมกับไทยในกรอบ “คอบร้าโกล์ด” ด้วยหรือไม่ปีนี้ ไม่แน่ชัดว่าจะมีการย้ายสถานที่ฝึกซ้อมรบไปยังออสเตรเลียหรือไม่ และไทยจะได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในกิจกรรมนี้หรือไม่ ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ได้ประกาศยุติความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับไทย โดยเฉพาะการยุติการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสองฝ่าย ทั้งสหภาพยุโรปและออสเตรเลียยังได้ประกาศห้ามผู้นำระดับสูงของ คสช เดินทางเข้าไปยังยุโรปและออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้ต่อการทำรัฐประหารของกองทัพไทย

ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ การสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การสนับสนุน คสช ในความเป็นจริง จีนได้ใช้โอกาสที่ไทยเผชิญปัญหาทางการเมือง ในการกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารของไทย เพื่อที่จะลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ พม่ายังได้ส่งผู้นำระดับสูงมาเยือนไทยด้วย โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พลเอกอาวุโส มิน อ่อง เลง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางมาเยือยไทย และได้กล่าวว่า คสช กำลังทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว นั่นคือ การยึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

แต่ทั้งนี้ การสนับสนุนที่มาจากกัมพูชายังมีความสำคัญเกือบจะมากที่สุด ความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชายังมีความซับซ้อน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชายังคงมีความละเอียดอ่อน ในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้มีการปล่อยข่าวลือถึงการที่ไทยจะส่งแรงงานผิดกฏหมายกัมพูชากลับประเทศ ข่าวลือดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน ที่สำคัญ ส่งผลต่อสถานะของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่การคงอยู่ทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับคะแนนความนิยมที่ชาวกัมพูชามีให้กับตัวนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเอง ด้วยเหตุนี้ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของการที่ฮุนเซนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับไทย เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานกัมพูชาและเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับมาจากสาธารณชนกัมพูชา ในแง่ที่ว่า ผู้นำสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ในหลายปีที่ผ่านมา กัมพูชาได้กลายเป็นที่พักพิงหรือแม้แต่เป็นพื้นที่ของคนบางกลุ่มที่ใช้ต่อต้านกลุ่มการเมืองในเมืองไทย อาทิ กลุ่มเสื้อแดงส่วนหนึ่ง หรือแแม้แต่กลุ่มที่ต่อต้าน คสช ในปัจจุบัน ความหวาดกลัวจึงเกิดขึ้นทันทีในกลุ่มของผู้ที่หลบหนีอยู่ในกัมพูชา โดยเฉพาะต่อความเป็นไปได้ที่ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในระดับรัฐบาลของสองประเทศจะส่งผลกระทบต่อสถานะของตนเอง อาจมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะขอความร่วมมือในการส่งตัวผู้ลี้ภัยในกัมพูชาเหล่านี้กลับสู่ประเทศไทย

ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับกัมพูชา ซึ่งได้สร้างพันธกรณีของการส่งตัวผู้ร้ายกลับสุ่ประเทศภูมิลำเนาของบุคคลหนึ่งๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยและกัมพูชาจะลงนามในสนธิสัญญานี้ต่อกัน แต่หลักปฏิบัติสากลได้ชี้อย่างชัดเจนว่า แทบจะไม่มีประเทศใดยินยอมส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นๆ มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หมายความว่า ในสถานการณ์ปกติ กัมพูชากลับต้องให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วยซ้ำ ทั้งในแง่ของการมอบสถานะผู้ลี้ภัยและแหล่งพักพิง หรือการส่งตัวผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม

แต่ในที่สุด การเมืองก็คือการเมือง ไม่ว่าที่นี่ หรือที่ไหน การเมืองก็เปรียบเสมือนเรือที่ล่องอยู่ในทะเลที่อาจต้องประสบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่เสมอ ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลฮุนเซนมองเรื่องนี้อย่างไร และจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชาได้นานเท่าใด ในทางหนึ่ง นายกรัฐมนตรีฮุนเซนอาจต้องการใช้โอกาสนี้ในการคืนดีกับไทย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงตามแนวพรมแดน แต่อีกทางหนึ่ง ฮุนเซนอาจพิจารณาว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ยังมีประโยชน์ต่อกัมพูชาอย่างมาก ในแง่ของการเป็นปัจจัยต่อรองกับ คสช ได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลฏีกาอนุญาตประกัน ‘เจ๋ง ดอกจิก’ คดี 112 ทนายยื่นหลักทรัพย์พรุ่งนี้

0
0

22 ก.ย.2557  เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) แจ้งว่าวันนี้ (22 ก.ย.) ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หลังจากที่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมาทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลชั้นต้นพร้อมหลักทรัพย์เงินสด 500,000 บาทและศาลชั้นต้นระบุว่าต้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัย

ทั้งนี้ เจ๋ง ดอกจิก ถูกดำเนินคดีจากกรณีการปราศรัยบนเวที นปช. เชิงสะพานมัฆวาน เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2553 โดยเขาได้กล่าวปราศรัยทางการเมืองและไม่ได้พาดพิงใครแต่มีการชี้นิ้วขึ้นด้านบน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อ 17 ม.ค.2556 ให้เขามีความผิดตามมาตรา 112 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้นเจ๋ง ดอกจิกได้ยื่นอุทธรณ์จนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2557 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ทำให้เขาต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำนับตั้งแต่นั้น หลังจากที่สามารถประกันตัวสู้คดีได้ตลอดมา

วิญญัติกล่าวว่า คาดว่าจะสามารถยื่นเรื่องประกันเรียบร้อยและเจ๋ง ดอกจิก น่าจะได้รับการปล่อยตัวภายในเย็นวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.)  

ทนายความจาก กนส.กล่าวด้วยว่า หลังจากศาลอุทธรณ์พิพากษา จำเลยได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมทั้งยื่นประกันตัวไปแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวมาแล้วในครั้งนั้น โดยระบุเหตุผลว่าเป็นคดีต้องห้าม อีกทั้งยังไม่มีการอนุญาตให้ฎีกา ดังนั้นทางทีมทนายความจึงได้ยื่นขอรับรองอนุญาตให้ฎีกา ต่อมาศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเมื่อราวเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เมื่อครบเงื่อนไขตามกฎหมายแล้วทีมทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง และครั้งนี้ศาลฏีกาก็ให้ประกันตัว โดยไม่มีเงื่อนไขใด

 

อ่านรายละเอียดคดี เจ๋ง ดอกจิก ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/43#detail

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ ที่ท้าให้คุณร้อง

0
0

รายงานบทสัมภาษณ์ ‘แก้วใส-ชูเวช’ 2 ผู้แต่ง ‘บทเพลงของสามัญชน’ เพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้ เพื่อมอบให้กับผู้ถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพ กับปรากฏการณ์ท้าให้ร้องผ่านยูทูบ 

ชูเวช(ซ้าย) แก้วใส(ขวา)

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีกระแสโดยเฉพาะในบรรดานักกิจกรรมทางสังคมออกมาร้องเพลงที่มีชื่อว่า “บทเพลงของสามัญชน” ในหลากหลายรูปแบบและมีการท้าส่งต่อให้คนอื่นร้องตาม พร้อมเผยแพร่ผ่านทางยูทูบ กว่า 50 คลิป

โดยครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เพลงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โพสต์โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ ซึ่งในการเผยแพร่ครั้งแรกนั้นยังไม่มีชื่อเพลง ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ในแบบร้องหมู่พร้อมชื่อบทเพลงอีกครั้งเมื่อวันที 25 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ‘Jeerapa Mooncommee’ โดยเนื้อเพลงเป็นการให้กำลังใจกับคนที่ถูกคุกคามเสรีภาพ

 

การร้องหมู่ คนซ้ายสุดคือแก้วใส 1 ในผู้แต่งเพลงนี้

ประชาไท สัมภาษณ์ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ อายุ 22 ปี นักศึกษาปริญญาโทสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ แก้วใส สามัญชน 2 ผู้แต่งเพลงดังกล่าว เพื่อดูถึงที่มาและความหมายของบทเพลง รวมทั้งมุมมองต่อปรากฏการณ์ที่มีการร้องต่อผ่านยูทูบ

00000

ชูเวช เดชดิษฐรักษ์

ประชาไท : ทำไมถึงได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา?

ชูเวช : ตอนนั้นเพื่อนของเราถูกเรียกตัวหลังจากรัฐประหารไม่กี่วันแล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเผชิญกับอะไรบ้างด้วยความเป็นห่วงเราก็เริ่มแต่งเพลงที่อยากจะให้เพื่อนเราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในนั้นอย่างเข้มแข็งแต่สุดท้ายก็แต่งไม่ทันจบคนที่เราแต่งให้ก็ได้รับการปล่อยตัวมาเสียก่อน

พอเหตุการณ์เริ่มบานปลายมีการคุกคาม กุมขังนักกิจกรมรุ่นใหม่จำนวนมาก บุกค้นบ้านเรือนพร้อมอาวุธครบมือยามวิกาล ยึดทรัพย์สิน หรือ ขับไล่ที่อยู่อาศัยชาวบ้านไปก็มาก ความกลัวเริ่มแผ่ขยายปกคลุมไปทั่ว เราก็คิดว่าสิ่งที่เราน่าจะทำได้ดีที่สุดคือแต่งเพลงเพื่อมอบให้ทุกคนที่กำลังถูกคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยกันโดยเฉพาะคนที่ยังอยู่ในกรงขัง

ทำไมถึงคิดว่าปัญหาการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ?

ชูเวช : หากเราฝันถึงสังคมที่ทุกคนเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกันและกัน แต่เราเลือกทำให้เสียงของใครที่เราไม่อยากได้ยินหายไป เราก็คงไม่มีวันที่จะสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมาได้ และหากเราตีความความหมายของความมั่นคงแห่งรัฐนั้นคือความมั่นคงในคุณภาพของประชาชน แต่เรากลับสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่บังคับให้ซุกปัญหาต่างๆของประชาชนไว้ใต้พรม ทำให้แม้แต่เสรีภาพที่จะพูดถึงปัญหาของตัวเองยังกลายเป็นเรื่องผิดบาป ลดทอนความสำคัญของปัญหาให้กลายเป็นเรื่องตลก อันจะนำไปสู่การบ่มเพาะความขัดแย้งในระดับวัฒนธรรมที่ซึมลึกเรื้อรังก่อตัวเป็นความรุนแรงในที่สุด ดังนั้นเราคงจะอ้างความชอบธรรมของปฏิบัติการดังกล่าวในนามของความมั่นคงแห่งรัฐคงไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่คนที่อ้างเรื่องมาตรการความมั่นคงต่างๆ นานาควรจะคำนึงถึงเรื่องนี้

แก้วใส สามัญชน

ทำไมถึงชื่อ 'บทเพลงของสามัญชน' ?

แก้วใส : ก็อยากให้เพลงนี้เป็นเพลงของสามัญชนคนธรรมดาทุกคน ที่ใครๆ ก็ร้องได้เพื่อถ่ายทอดสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกอย่างไม่ต้องใครมาจำกัด

ชูเวช : เดิมทีผมกับพี่แก้วใสยังไม่ทันได้ตั้งชื่อเพลงเลย แต่ส่วนหนึ่งเราเองก็ตั้งใจแต่งเพลงเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ตามเจตนารมณ์ของพรรคสามัญชนที่เชื่อว่าคนธรรมดาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ วันหนึ่งมีคนเอาเพลงเราไปร้องต่อเรื่อยๆ แล้วมีคนโพสว่า “บทเพลงของสามัญชน” ไม่รู้ใครเริ่มเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่สุดท้ายทุกคนก็จำชื่อนี้ไปแล้ว เราเองก็เห็นดีด้วยไม่ได้ซีเรียสเรื่องพวกนั้นเท่าไหร่สำคัญที่คนที่ร้องได้ร่วมกันส่งต่อเรื่องราวความรู้สึกในบทเพลงนี้ถึงสามัญชนด้วยกันก็เพียงพอแล้ว

คำว่า "สามัญชน" ในมุมมองของคุณคืออะไร?

ชูเวช : คนธรรมดาทุกคน ไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิ การศึกษา ฐานะ ชื่อเสียง ความเชื่อวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ หรือ ภูมิภาค

มันเกิดการร้องที่กระจายไปทั่วได้อย่างไร และมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

แก้วใส : ตอนแรกก็เริ่มจากการที่เราอยากร้องเพลงนี้ให้กับคนที่โดนจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ว่าจะเป็นทั้งทางกายภาพและทั้งทางความคิดและก็ร้องเพลงนี้ลงอินเทอร์เน็ต และก็มีพี่ๆ เพื่อนๆ ชอบและเราก็ทำคลิปอีก ลงอินเทอร์เน็ตอีก จนมีเพื่อนเห็นว่าน่าจะให้คนอื่นๆ ร้องเพลงนี้เพื่อส่งข้อความนี้ออกไปให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย ประกอบกับกระแส ice bucket challenge กำลังมา ก็เลยมีคนคิดและถ้าให้เพื่อนคนอื่นๆ ร้องกัน เราเองก็ชวนคนอื่นร้องเล่นไปเรื่อยๆ

ผมเองก็ไม่รู้มีใครบ้างบางทีบางคนก็ไม่รู้จักเขา ถ้าถามว่ามองปรากฏการณ์นี้ยังไง ผมก็คงบอกว่าก็คงมีคนคิดและรู้สึกเหมือนเราอยู่ไม่ใช่น้อยและอยากสื่อสารข้อความนี้ต่อออกไปอีก แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าข้อความที่สื่อออกไปนั้นจะเข้าใจตรงกับสิ่งที่ผมต้องการสื่อสารออกไปตอนแรกหรือเปล่า แต่คงไม่ได้ซีเรียสหรือห้ามอะไรได้ว่าสารมันจะเพี้ยนไป สุดท้ายอย่างที่บอกไปเพลงนี้มันคือเพลงของสามัญชนทุกคนที่อยากจะสื่อสารเรื่องราวและอารมณ์ต่อเหตุการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันมาจำกัดสิทธิกดทับผู้คนให้อยู่ภายใต้อำนาจใครก็ไม่รู้มากระทำกับเราสามัญชน

Cover โดย สหาย Romeo

คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่มีคนเอาเพลงที่คุณแต่งไปร้องต่อกัน?

ชูเวช : การบันทึกประวัติศาสตร์ของสามัญชน แน่นอนว่าคงรอให้กระทรวงศึกษาธิการมาบันทึกเข้าไปในหนังสือเรียนคงไม่ได้ คงต้องเป็นการเขียนบันทึกประวัติศาสตร์โดยน้ำพักน้ำแรงของพวกเราสามัญชนด้วยกันเอง หลายๆ เวอร์ชั่นผมก็ชอบมากๆ เลยครับเปิดฟังบ่อยๆ รู้สึกเป็นเกียรติมากที่เพลงที่เราแต่งมีความหมายกับใครหลายๆคน เราจำวันที่เราแต่งเสร็จได้ว่าตอนที่ร้องท่อนฮุกว่า “กี่ลมฝันที่พัดละออง....” ตอนนั้นเราเป็นห่วงเพื่อนๆ พี่ๆ เราจริงๆ นะ และเชื่อว่าคนที่ร้องเพลงนี้ก็คงมีความรู้สึกบางอย่างที่อยากจะถ่ายทอดเช่นกัน หวังว่าสักวันเราจะได้มีโอกาสร้องเพลงนี้จากทั่วทุกสารทิศด้วยกันสักครั้ง

ท่อนที่ว่า "ปลูกผู้คน ปลูกฝันสู่วันของเรา" ฝันที่ว่านั้นคืออะไร?

ชูเวช : เพื่อให้เห็นกระบวนการว่าฝันของเราไม่สามารถไปถึงได้ด้วยจำนวนคนที่มีอยู่ เรายังมีภารกิจที่จะต้องขยายแนวร่วมกันไปด้วยวิธีต่างๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ใช้คำว่า “ปลูก” ส่วนที่ว่าความฝันนั้นคืออะไร ก็ขอตอบแบบอุดมคติไปเลยละกัน

ผมฝันว่าเราจะมีประชาธิปไตยแบบถกแถลง ประชาธิปไตยที่จะไม่ทิ้งรอยบาดแผลของสามัญชนไว้ข้างหลังระหว่างที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ทุกปัญหาของทุกคน เจ้าของปัญหาต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไข ลดทอนกลไกจากอำนาจการคิดแทนจากรัฐส่วนกลาง ด้วยรัฐสวัสดิการสามัญชนจะมีความมั่นคงในชีวิต แน่นอนว่ารัฐสวัสดิการดังกล่าวสามัญชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างเสถียรภาพในนโยบายรัฐสวัสดิการนั้นๆ เองด้วย และด้วยการตื่นจากภวังค์สามัญชนจะมีจิตใจที่มั่นคงพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ มั่นคงพอที่จะไม่ถูกมอมเมาโดยโฆษณาชวนเชื่อใน MV เพลงซึ้งๆ สารคดี ฟุตบาธ สะพานลอย ป้ายหน้าสำนักงานราชการ ของนักการเมือง

แน่นอนว่าผมฝันถึงวันที่สามัญชนจะตระหนักว่ามีใครอีกบ้างที่มีสถานภาพความเป็นนักการเมืองแบบหลบซ่อน ใครอีกบ้างที่มีอำนาจในการนำภาษีของเราไปใช้บริหารจัดการกิจการต่างๆ มองให้เห็นถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สวามิภักดิ์ต่อชนชั้นนำทุกฝ่าย และร่วมกันทำลายความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของสามัญชนมาโดยตลอด

ผมฝันว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40-50 ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากการปราบปราม บังคับสูญหาย ซ้อมทรมาน ขับไล่จากที่พำนักอาศัยและผู้ลี้ภัยไปต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาโดยเฉพาะการตีแผ่ความจริงที่ถูกทำให้หายไปอย่างเป็นธรรม รวมถึงประชาชนมีความเข้มแข็งพอที่จะป้องกันตนเอง

ผมฝันว่าจะเห็นการทบทวนปรับปรุงโครงสร้างของรัฐที่สร้างผลกระทบกับสามัญชนไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ การสัมปทานป่าไม้ที่ดินเหมืองแร่ การกำหนดเขตอุทยาน การจัดสรรทรัพยากรที่ดิน หลักประกันสุขภาพ ระบบบำนาญ สิทธิบัตรยา สิทธิบัตรทางพันธุกรรม การควบคุมมลพิษและการนำเข้าสารพิษในอุตสาหกรรมการเกษตร สิทธิเด็ก สตรี และ คนพิการ รวมไปถึงการปฏิรูปสำนักงานทรัพย์สินฯให้มีสถานภาพเป็นของรัฐชัดเจน

แถมยังฝันต่อไปอีกว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างค่ามาตรฐานทางความคิดความเชื่อวัฒนธรรมแบบไทยๆในอดีต นำไปสู่รัฐโลกวิสัย มีพื้นที่ทางความคิดและความหลากหลายโดยไม่ต้องหวั่นเกรงที่จะกลายเป็นคนผิดบาปตราบใดที่มิได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

ผมอยากเห็นชัยชนะของสามัญชนที่เราจะชนะไปด้วยกัน ผมฝันว่าเราจะไม่พายุคสมัยของพวกเรากลับไปสู่การจับอาวุธเข่นฆ่าสามัญชนกันเอง ฟังแล้วดูอุดมคติใช่ไหม ผมก็คิดอย่างนั้น แต่เราควรไปให้ไกลกว่าชัยชนะทางการเมือง

ร้องโดย 'สามัญชนนักกิจกรรมมูลนิธิโกมลคีมทอง'

สรุปเนื้อเพลงขึ้นต้นด้วยคำว่า "หาก.." หรือ "อยาก.."

ชูเวช : ท่อนแรกร้องว่า “อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้” แต่ยอมรับว่าร้องว่า “หาก” ก็เพราะดีนะ แต่ตอนนั้นเราแต่งเพื่อเพื่อนๆ ของเรา แน่นอนว่าเราอยากใช้คำที่ฟังแล้วรู้สึกสบายๆ กันเองๆ สักหน่อยเพราะเรากำลังคุยกับเพื่อน แต่ยังไงก็ไม่ซีเรียสว่าจะร้องแบบไหนสำคัญที่เนื้อหา

มันสะท้อนว่าวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างมันเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ครั้นจะไปบังคับกำหนดมาตรฐานอะไรให้มันวุ่นวายก็คงต้องเปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “บทเพลงของอนุรักษ์นิยม” (หัวเราะ)

ร้องโดย 'ธีร์ อันมัย'

ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรม มองการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมขณะนี้ว่าอย่างไร ในประเด็นที่เกี่ยวกับการถูกจับกุมคุมขัง?

แก้วใส : มองว่าการทำงานหรือกิจกรรมเพื่อสังคมตอนนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าทำอะไรได้ลำบากมาก อย่าว่าแต่นักกิจกรรมเลย แม้แต่องค์กรที่ทำประเด็นเรื่องสิทธิก็ยังถูกจำกัดสิทธิ แต่ผมก็ยังมีความหวัง ส่วนในประเด็นการถูกจับกุมนั้น ผมคงพูดอะไรได้ไม่มากและหวังว่าสักวันคงพูดเรื่องนี้ได้เต็มปากขึ้น ผมจึงขอพูดผ่านเพลงแล้วกัน(หัวเราะ)

ในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลง อยากให้ใครร้องและอยากให้ใครฟังเพลงนี้มากที่สุด?

ชูเวช : ถ้าแรกเริ่มเลยคือเราแต่งให้กับทุกคนที่กำลังเผชิญกับสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังรัฐประหาร ภายหลังมีคนต่อยอดนำไปรณรงค์เพื่อปล่อยนักโทษการเมือง เรื่องนี้เราก็เห็นด้วยเพราะลงชื่อสนับสนุนไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนตัวแม้ไม่ใช่คนเสื้อแดงแต่เข้าใจว่าสถานการณ์นี้คนเสื้อแดงเป็นผู้ที่รู้สึกมากที่สุด จึงเป็นผู้ที่ถ่ายทอดบทเพลงนี้ได้ถึงแก่นมาก รวมถึงหากในอนาคตฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ตาสว่างจากเผด็จการแล้วจะนำบทเพลงนี้ไปใช้ปลุกปลอบความบอบช้ำจากความพ่ายแพ้ของสามัญชนในแนวทางที่คาดหวังต่อชนชั้นนำก็ถือว่าเป็นประโยชน์ 

ร้องโดย 'วงไฟเย็น'

ที่สุดแล้วต้องการอะไรถึงแต่งเพลงและเอามาร้องกันในยูทูบ?

แก้วใส : ที่สุดแล้วต้องการสื่อสารสิ่งที่เราคิดความรู้สึกและส่งต่อให้กับสามัยชนทุกคนได้รับรู้และส่งต่อกันไปและอยากบอกคนที่ถูกจองจำว่าเธอม่ได้อยู่โดดเดี่ยว พวกเรายังไม่ได้ไปไหน รอวันที่เสียงเพลงที่เราเคยร้องให้กันฟังจะกลับมาดังกระหึ่มอีกครั้ง

ร้องโดย 'กลุ่มลูกชาวบ้าน'

เยาวชนบ้านหนองบัว

เพื่อนเทียนฮักสังคม

กลุ่ม At north

วันใหม่

สามัญชนดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน

ชมรมคนแบกเป้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทั่วโลกชุมนุมเรื่อง 'โลกร้อน' มากเป็นประวัติการณ์

0
0

ผู้จัดการชุมนุมในนิวยอร์กซิตี้เผยว่ามีผู้คนราว 310,000 คนร่วมเดินขบวนเนื่องในวันปฏิบัติการรณรงค์ประเด็นโลกร้อนสากล และยังมีการชุมนุมในประเทศอื่นอีก โดยมีคนดังเข้าร่วมเช่นบังคีมูน เลขาฯ ยูเอ็น ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ ดาราฮอลลิวูด

22 ก.ย. 2557 ประชาชนในเมืองนิวยอร์กซิตี้ประเทศสหรัฐฯ หลายแสนคนออกมาเดินขบวนเนื่องในวันปฏิบัติการรณรงค์ประเด็นโลกร้อนสากล

ผู้จัดการเดินขบวนประเมินว่ามีประชาชนราว 310,000 คน เข้าร่วมเดินขบวนซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่ผู้จัดคาดการณ์ไว้และถือว่าเป็นการชุมนุมประท้วงในประเด็นโลกร้อนที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยการชุมนุมในวันนี้ (22 ก.ย.) ถูกจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมสุดยอดในประเด็นเรื่องการปล่อยสารคาร์บอนนำในวันอังคารที่จะถึงนี้ (23 ก.ย.) ซึ่งเป็นการจัดประชุมนำโดยสหประชาชาติ

ในการเดินขบวนใหญ่มีผู้เข้าร่วมที่มีชื่อเสียงอาทิเช่น บังคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ อัลกอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลีโอนาโด ดีคาปรีโอ นักแสดงฮอลลิวูด และเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากในสหรัฐฯ แล้วยังมีประชาชนอีก 166 ประเทศทั่วโลกเช่น ออสเตรเลีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อัฟกานิสถาน, เม็กซิโก และบัลแกเรีย เว็บไซต์เอบีซีนิวส์ระบุว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่า 10,000 คนในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

บังคีมูนเดินขบวนโดยสวมเสื้อยืดสีน้ำเงินที่มีคำขวัญเขียนว่า "ผมมาเพื่อปฏิบัติการประเด็นโลกร้อน" เขาบอกว่าโลกนี้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นต่อไปพวกเราไม่มีแผยสำรองเพราะไม่มีดาวสำรองดวงอื่น

ทางด้านดีคาปรีโอเป็นผู้เดินนำขบวนร่วมกับสมาชิกชนเผ่าชาวเอกวาดอร์ผู้ที่ต่อสู้กับบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่างเชฟรอนมาเป็นเวลาหลายปีในเรื่องมลภาวะในเขตป่าอเมซอน โดยดีคาปรีโอบอกว่าประเด็นเรื่องโลกร้อนเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของพวกเรา

ผู้จัดระบุว่าการชุมนุมในครั้งนี้ถือว่าใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การชุมนุมในปี 2552 ที่มีคนหลายหมื่นไปชุมนุมที่กรุงโคเปนฮาเกนซึ่งในการประท้วงบางส่วนก็มีความดุเดือดมากจนทำให้มีการจับกุมผู้ประท้วงไป 2,000 ราย

เมื่อไม่นานมานี้องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุในรายงานเมื่อเดือน ส.ค. 2557 ว่าโลกร้อนขึ้นในระดับสูงสุด โดยมีอุณหภูมิสูงขึ้น 0.75 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหถูมิโดยเฉลี่ยของโลกยุคศตวรรษที่ 20 คือ 15.6 องศาเซลเซียส

บิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนิวยอร์กกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ก.ย.) ว่าเขามีแผนการปรับปรุงเมืองเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 80 จากระดับในปี 2548 ให้ได้ภายในปี 2593 บลาซิโอเปิดเผยว่าจะมีการปรับอาคารในเมืองใหญ่ 3,000 แห่ง เพื่อให้มีรูปแบบการอนุรักษ์พลังงาน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือด้านการลงทุนและจากเจ้าของที่ดินเอกชนด้วย


เรียบเรียงจาก

People's Climate March: Hundreds of thousands march in rallies calling for action on climate change, ABCNews, 22-09-2014
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชินทาโร ฮารา: ภาษามลายู การแปลและการเมือง

0
0

การนำเสนอหัวข้อ "ภาษามลายู การแปลและการเมือง" โดย ชินทาโร ฮารา

ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผอ.ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้ร่วมเสวนา

ระหว่างวันที่ 13 - 14 ก.ย. 2557 มีการจัดเวทีวิชาการ "มุสลิมและกระแสอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" จัดโดย ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ วารสารธรรมศาสตร์และกองบริหารการวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

ในวันที่ 14 ก.ย. หัวข้อที่ 4 "การเมือง-วัฒนธรรมมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ชินทาโร ฮารา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้นำเสนอหัวข้อ "ภาษามลายู การแปลและการเมือง"

ในตอนท้าย ชินทาโร กล่าวถึงความท้าทายในกระบวนการสันติภาพว่า อยู่ที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องการใช้ภาษา ฝ่ายขบวนการก็ใช้ภาษาเชิง Manipulation มาก เราจะสามารถเข้าใจเขาได้มากน้อยแค่ไหน และเขาก็ต้องเขาใจเราด้วย

อีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับฟังความเป็นมาและเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าหากว่าต้องการเจรจา ก็ต้องฟังเหตุผลของอีกฝ่าย รวมไปถึงความเป็นมา ส่วนฝ่ายที่มีความคิดสุดโต่ง (Extremist) ทั้งฝ่ายที่ต้องการเอกราชล้วน และฝ่ายที่ต้องการปราบฝ่ายที่ต้องการเอกราช เราจะจัดการอย่างไรกับพวกนี้ นี่เป็นข้อท้าทายอีกอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ไขที่เราจำเป็นต้องหา คือ (1) Realistic วิธีการมีความเป็นจริง ไม่ใช่สายโลกสวย (2) Politcal แก้ไขด้วยวิธีทางการเมือง ไม่ใช่ทางอาวุธ (3) Feasible solution วิธีแก้ไขปฏิบัติการได้จริงๆ บรรลุได้จริงๆ

ในส่วนของสื่อ สื่อก็มีความสำคัญ ผู้ทำลายสันติภาพ (Peace spoiler) หรือ สื่อสันติภาพ (Peace media) ก่อนหน้านี้มีแต่สื่อที่เป็น Peace spoiler แทบจะไม่มีสื่อที่เป็น Peace media แต่สื่อจำเป็นต้องเรียนรู้ ถ้าสื่อทำหน้าที่แต่การเป็น Peace spoiler เท่านั้น สันติภาพไม่อาจจะเกิดขึ้น ทำอย่างไรสื่อนี้จะชักชวน รวมไปถึงนักวิชาการด้วย เราสามารถชักชวนคนอื่น คนในสังคม เพื่อให้เกิดแรงกดดันในทางสร้างสรรค์สันติภาพด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฉบับเต็ม: วิพากษ์หนังสือ 'รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ' ของอภิชาต สถิตนิรามัย

0
0

15 ก.ย.2557 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดงานเรื่อง “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและวิจารณ์หนังสือเรื่อง  “รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540”  เขียนโดย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. วิทยากรภายในงานได้แก่ ดร.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) Tokyo และ ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. งานนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน อาจารย์นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมจนเต็มห้องประชุมชั้น 5

หนังสือเล่มดังกล่าวจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว เป็นการต่อยอดวิทยานิพนธ์และการทำวิจัยของผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคตั้งแต่ทศวรรษ 2490 โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งรวมทั้งการใช้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 ต่อสู้ในศาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนกระทั่งสามารถเข้าสืบค้นข้อมูลในหอจดหมายเหตุของ ธปท.ได้

ชมวิดีโอทั้งหมด พร้อมถอดเทปคำบรรยายด้านล่าง 

ตอน 1

ตอน 2

ตอน 3

อภิชาต สถิตนิรามัย

หนังสือเล่มนี้ คอนเซ็ปต์หลักๆ ที่ใช้เป็นคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ว่า ความเข้มแข็งและความอ่อนแอของรัฐแยกไม่ออกจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ของไทยที่ผ่านมา

ผมเชื่อว่ารัฐเป็นพลังสำคัญอันหนึ่งในการชี้นำเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายในบริบทของประเทศด้อยพัฒนาที่กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรม รัฐเป็นพลังที่มีความสำคัญอันหนึ่งในการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจได้ และจะชี้นำเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสำคัญของรัฐใน 2 ประการ พูดอีกอย่างเราอาจนิยามถึงความเข้มแข็งของรัฐได้จาก หนึ่ง รัฐที่มีความเป็นอิสระทางนโยบายจากกลุ่มพลังทางสังคมค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุน ถ้านโยบายของรัฐถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนรัฐก็ไม่สามารถชี้นำทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างที่ควรจะเป็น ถ้ารัฐถูกยึดกุมโดยกลุ่มทุนแสดงว่ามีความเป็นอิสระทางนโยบายต่ำ พูดอีกแบบคือ รัฐที่มีความเป็นอิสระทางนโยบายคือรัฐที่สามารถกำหนดเนื้อหาเชิงนโยบายที่จะชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจไปในทิศทางข้างหน้าได้ อีกลักษณะที่คุณสมบัติของความเข้มแข็งของรัฐ คือ ความสามารถของรัฐ (capability) ที่จะชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าคุณสามารถกำหนดเนื้อหาทางนโยบาย แต่ไม่สามารถผลักดันสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้ เนื้อหาทางนโยบายนั้นก็เป็นจริงแค่บนกระดาษเท่านั้น

รัฐที่อ่อนแอก็คือตรงกันข้าม

ข้อเสนอในงานก็คือ ความเข้มแข็งและอ่อนแอในลักษณะนี้ในยุคต่างๆ ของรัฐไทย ตั้งแต่ 2490 ยุคจอมพล ป.ที่สอง จนกระทั่งถึง 2550 ผมคิดว่าความเข้มแข็งและอ่อนแอของรัฐในแต่ละยุคเป็นตัวแปรในการอธิบายความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการชี้นำทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคได้พอสมควร

ผมใช้มโนทัศน์นี้เป็นแกนในการดำเนินเรื่อง ผมเสนอว่าในช่วงรอยต่อของจอมพล ป.และจอมพลสฤษดิ์ มันถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งในเชิงสถาบัน คือ กฎเกณฑ์ กติกา และการปรับองค์กร re-engineering ของรัฐไทยหลายอย่าง รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการในยุคสฤษดิ์ด้วย รวมทั้งการที่สฤษดิ์สามารถจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในยุคก่อนหน้านั้นได้ ทำให้ยุคที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปตัวรัฐ ผมเรียกตามอาจารย์อัมมาร (สยามวาลา) ว่า เป็นยุคทุนนิยมนายธนาคาร หรือวิถีทางสะสมทุนแบบใหม่ขึ้นมาได้ ก็คือ นายธนาคารหรือเจ้าสัวนายธนาคารเป็นหนึ่งในพันธมิตรสามเส้าที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในยุครอยต่อตรงนั้น เป็นสามพลังที่ช่วยกันสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร ก็คือ นายธนาคารมีหน้าที่จัดสรรทุน ระดมเงินฝากมาแล้วประสาน จัดสรรการลงทุน, หน้าที่ของชนชั้นนำทางอำนาจ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ก็คือขุนศึกในยุคนั้น ทำหน้าที่ปกครอง สร้างเสถียรภาพทางการเมือง กดปราบพลังทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับการลงทุนของทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบทดแทนการนำเข้าในช่วงแรก แล้วพัฒนาต่อมาเป็นอุตสากรรมส่งเสริมการส่งออก สามก็คือ เทคโนแครต พวกนี้รับความไว้วางใจจากขุนศึก ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงิน การคลัง อัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ให้การเติบโตเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ให้มีเงินเฟ้อต่ำ มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่ ไม่หวือหวา กดดันทำให้ธนาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการรองรับความเสี่ยงที่ดีขึ้นในการระดมทุนจากระบบเศรษฐกิจไปจัดสรรทุนต่อให้นายทุนในภาค real sector สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างพอสมควร

พูดง่ายๆ ยุคทุนนิยมนายธนาคารเกิดจากพลังสามเส้านี้ที่ประนีประนอมกันได้ ตกลงกันได้ ในยุคจอมพล ป.ยังตกลงกันไม่ได้ว่ารูปแบบการสะสมทุนจะเป็นไปอย่างไร ดังนั้น ในยุคจอมพลป.เรายังเห็นนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม แอนตี้นักธุรกิจ แอนตี้จีน จนกระทั่งปลายยุคจอมพล ป.นักธุรกิจหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจจึงยอมร่วมมือขุนศึกหรือชนชั้นนำทางอำนาจแล้วก็เทคโนแครต หรือขุนนางนักวิชาการ ที่ตกลงกันได้และสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร ระบบนี้ทำงานของมันมาและค่อนข้างประสบความสำเร็จทีเดียว

ผมกำลัง argue ว่าระบบทุนนิยมนายธนาคารที่ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นแยกไม่ออกจากการปรับตัวของรัฐไทยในทิศทางที่ทำให้มันมีอิสระทางนโยบายมากขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ร่างกฎเกณฑ์ กติกา ใหม่ๆ ออกมาเต็มไปหมด เช่น พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 พ.ร.บ.การงบประมาณ พ.ศ.2502 มีการเปลี่ยนกติกาเต็มไปหมดเพื่อสร้างระบบทุนนิยมนายธนาคาร การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การสร้างบีโอไอ เป็นต้น รัฐในยุครอยต่อจอมพล ป.ถึงสฤษดิ์ มันถูกจัดวางใหม่ จบยุคที่หนึ่งอย่างรวดเร็ว

การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่ประมาณ 2502 เป็นต้นมา เติบโตในอัตราที่สูง มันได้ผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นคนชั้นกลาง มีพลังทางสังคมรุ่นใหม่ขึ้นมา ที่ทำให้พันธมิตรสามเส้าเดิมมันคับแคบเกินไปที่จะ accommodate คนรุ่นนี้ มันจึงระเบิดในทางการเมืองเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น พลังชนชั้นกลางที่เป็นผลผลิตจากการพัฒนาของยุคสฤษดิ์ช่วยผลักดันกระบวนการ democratization ในเมืองไทย ตั้งแต่หลัง 2516 เป็นต้นมา แต่ว่าขบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดในความหมายว่าเป็นการสร้างกติกา สถาบันทางการเมืองชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อแทนที่ระบบแบบสฤษดิ์แบบถนอม กระบวนการแบบนี้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมาจนถึงก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 มันมีลักษณะเด่นอันหนึ่งคือ เป็นรัฐธรรมที่ผลิตสถาบันทางการเมืองที่ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่จงใจก็แล้วแต่ มันทำให้เกิดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคซึ่งทำให้รัฐบาลอายุสั้น มีเสถียรภาพต่ำ มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการผลักดันทางนโยบายที่แย่ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบันที่ทำให้รัฐไทย ในทัศนะของผมมันค่อนข้างจะอ่อนแอลง นับตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา อีกทางหนึ่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบนี้ มันทำให้พันธมิตรสามเส้าเดิม คือ เทคโนแครต โดยเฉพาะในแบงก์ชาติ ในเศรษฐกิจมหภาคทั้งหลายที่เคยเป็นมันสมองที่อยู่เบื้องหลังความเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคสฤษดิ์เสื่อมสลายลง เพราะเทคโนแครตเริ่มกระโดดลงมาเล่นการเมือง โดยเฉพาะการเมืองแบบ party politic เมื่อเทคโนแครตกระโดดลงมาเล่นการเมืองก็ทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดพลาดทางนโยบายเกี่ยวกับการเปิดเสรีทางการเงินที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา เปิดในทิศทางที่ทำให้เงินทุนไหลท่วมเข้ามาในประเทศไทยด้วยความผิดพลาดทางนโยบายหลายๆ อย่าง ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่จนนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540

ผมกำลังพูดว่า การอ่อนตัวลงของรัฐไทยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

หลังจากเราได้บทเรียนอันนี้แล้ว สิ่งที่มันเป็นผลพวงที่ตามมาคือ การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 40 โดยการออกแบบหรือความตั้งใจของคนร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องการให้เกิด strong government หรือ strong executive สิ่งที่เราได้ตามมาคือ รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทักษิณพยายามจะปฏิรูประบบราชการ มีนโยบายหลายอย่างตามมา ในแง่หนึ่งทำให้เกิดการตื่นตัวของคนอีกชุดหนึ่งที่ผมเรียกว่า “คนชั้นกลางรุ่นใหม่” พวกนี้เริ่มตระหนักว่าประชานิยมมันกินได้ กินได้ในความหมายที่ว่า บัตรเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นพลังการกำหนดนโยบายได้ นักการเมืองต้องกำหนดนโยบายที่ให้ประโยชน์กับชาวบ้านด้วย อันนี้เป็นพลังใหม่ที่เกิดขึ้นมาในสมการทางการเมืองของไทย ในอีกแง่หนึ่ง รัฐธรรมนูญ40 ต้องการให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ตรงนี้ทำให้รัฐสามารถแทรกแซงลงไปจัดการในระบบเศรษฐกิจหรือพลังทางสังคมได้อย่างหนาแน่นมากขึ้น พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญ40 รวมทั้งการปฏิรูประบบราชการของทักษิณด้วยทำให้ความสามารถของรัฐไทยในยุคทักษิณมันสูงขึ้น ซึ่ง argue ได้ว่าความเป็นอิสระของรัฐบาลทักษิณนั้นมันถูกตีกินด้วยกลุ่มทุนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร แง่นี้เราอาจเห็นไม่ชัดว่าดีขึ้น รัฐบาลทักษิณก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลอื่นที่นโยบายหลายๆ อย่างก็ถูกกำหนดโดยกลุ่มทุน แต่ในอีกแง่ เนื่องจากรัฐบาลทักษิณมีอำนาจมากขึ้น การกระจุกตัวในอำนาจทางการเมืองก็ได้ทำลายสมดุลของอำนาจเดิมที่มีการแชร์กันอยู่ในหมู่ชนชั้นนำหลายๆ ฝ่าย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ผลพวงที่ตามมาก็คือ มีความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นในความหมายนี้ การอ่อนตัวลงของรัฐไทยและการที่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปตัวรัฐในการเป็นผู้ชี้นำการพัฒนาของไทยต่อไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้เรายังติดอยู่กับยุคปัจจุบัน ที่บอกว่ายุคทุนนิยมนายธนาคารมันล่มไปแล้ว แล้วสิ่งใหม่ที่มาแทนคืออะไร ผมยังไม่คิดว่าเรามีสิ่งใหม่อันนั้น

ปรากฏการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบันก็คือ เราเห็นการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลงไปครึ่งหนึ่ง จากเดิมเคยเป็น 40% เว่อร์เกินไปทำให้เกิดฟองสบู่ แต่ปัจจุบันมันเหลือเพียง 20% ตรงนี้เป็นตัวสะท้อนว่าระบบการสะสมทุนของไทยยังมีปัญหาอยู่

 

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

วันนี้เตรียมมา 3 ประเด็น หนึ่ง จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่และคุณูปการของหนังสือเล่มนี้อย่างไร สอง บทวิพากษ์เชิงทฤษฎีและมุมมองจากกรอบของเอเชียตะวันออก สาม ข้อเสนอคร่าวๆ ต่อการศึกษารัฐไทยในอนาคต

เรื่องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของงานเล่มนี้

เวลากล่าวถึงคำว่าอธิชาต จะหมายถึงเฉพาะเล่มนี้เป็นหลัก ในเล่มนี้เราสามารถแบ่งการให้เหตุผลในเชิงคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์การเมืองได้เป็นสองส่วนดังที่อาจารย์พยายามจะทำ  ปลายทางคือ ความสำเร็จและความล้มเหลวของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งอาจารย์แบ่งเป็น 3 ส่วน การพัฒนาเศรษฐกิจยุคแรกคือยุคป.-ยุคสฤษดิ์ , วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540, การปฏิรูปจากปี 2540 ถามว่าใช้อะไรเป็นตัวแปรในการวัดความสำเร็จหรือความล้มเหลว งานชิ้นนี้เสนอว่าอยู่ที่ความเข้มแข็งของรัฐ ถามว่าอะไรที่เป็นรากฐานอธิบายความเข้มแข็งของรัฐในระดับที่ลึกที่สุด อาจารย์เสนอว่ามันคือการต่อสู้ ความขัดแย้ง ผลประโยชน์และอุดมการณ์ของกลุ่มพลังทางสังคม

ทีนี้เราจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ทางวิชาการของหนังสือเล่มนี้อย่างไร ผมคิดว่าเราสามารถเทียบเคียงได้กับงาน 3 ชิ้น คือ ผลงานของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ “มองเศรษฐกิจการเมืองไทยผ่านการเคลื่อนไหวของสมาคมทางธุรกิจ” มีจุดร่วมกันคือ ทั้งงานของอภิชาตและเอนกพยายามตอบว่าเราจะมองการเปลี่ยนผ่านจากยุคอำมาตยาธิปไตยมาเป็นอะไรในสังคมไทยหลังจากนั้น ซึ่งเอนกเสนอว่า เป็นภาคีรัฐสังคมแบบเสรีโดยเฉพาะในยุครัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ในขณะที่อภิชาต เสนอว่าเราควรเรียกมันว่าทุนนิยมนายธนาคาร ผ่านความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างทหาร เทคโนแครตและนายธนาคารเอกชน ซึ่งแน่นอนว่าอภิชาตได้ประโยชน์จากการศึกษาหลังเอนกราว 2 ทศวรรษ ดังนั้นคำอธิบายนี้จึงมีความสมเหตุสมผลกว่า

งานชิ้นนี้ยังเทียบเคียงได้กับ ผาสุก พงษ์ไพจิตร “พัฒนาการอุตสาหกรรมและพัฒนาการเศรษฐกิจ” เพราะว่าในงานชิ้นนั้นผาสุกเสนอว่ารัฐไทยเป็นรัฐขั้นกลาง ไม่ได้อ่อนแอมากและไม่ได้เข้มแข็งมาก ดังนั้นจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าประเทศในละตินอเมริกาเช่น บราซิล แต่ก็ด้อยกว่าประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้ แต่จุดต่างกันคือ อภิชาตจะเน้นบทาทของเทคโนแครตต่อการกำหนดโยบายเศรษฐกิจมหาภาค ไม่ใช่นโยบายอุตสาหกรรม

และที่ใกล้เคียงที่สุดคือ งานของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ “กระบวนการกำหนดโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย” พิมพ์ครั้งแรกปี 2532 รังสรรค์มองว่า เทคโนแครตเป็นส่วนหนึ่งในอุปทานของการกำหนดนโยบายที่จะต้องปะทะประสานกับตัวแปรอื่น โครงสร้างส่วนบนและระบบทุนนิยมโลก และผมเห็นว่าแม้อาจารย์รังสรรค์จะใช้คำว่า “ตลาดนโยบายเศรษฐกิจ” แต่ในแง่การให้เหตุให้ผลเชิงคำอธิบาย งานของอาจารย์รังสรรค์ก็ใช้การต่อสู้ของพลังทางสังคมมาอธิบายเช่นกัน แต่ไม่ผ่านกรอบมโนทัศน์รัฐอ่อนรัฐแข็ง

นี่คือการจัดวางในวงวิชาการไทย

ถ้าจะจัดวางในวงวิชาการนานาชาติ เรามักจะจัดวางตามทฤษฎี ซึ่งถ้าเรายึดตามกรอบของ Kevin Hewison ที่แบ่งการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองไทยเป็นสี่สำนัก คือ สำนักการทำให้ทันสมัย สำนักทฤษฎีพึ่งพิง สำนักเสรีนิยมใหม่ สำนักสถาบันนิยม งานชิ้นนี้ก็จะจัดได้อย่างชัดเจนว่าอยู่ในสายของสำนักสถาบันนิยม ซึ่งมีงานอย่างเช่น งานของ Christensen อัมมาร สยามวาลาและคณะ, Doner and Ransey และ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ เป็นต้น ลักษณะร่วมของงานสายสถาบันนิยมคือ ยึดถือมโนทัศน์ทวิรัฐ หมายความว่า งานสายสถาบันนิยมจะมองเศรษฐกิจการเมืองแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนเมคโคร และไมโคร แล้วมองว่าส่วนแมคโครเป็นส่วนที่สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ส่วนที่อ่อนแอคือส่วนไมโคร เกิดการแทรกแซง การแสวงหาค่าเช่าผ่านกระทรวงต่าง ที่ไม่ใช่กระทรวงมหภาค

ในส่วนคุณูปการและการกำหนดนโยบาย นอกเหนือไปจากการแสวงหาฐานข้อมูลใหม่ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอันเกิดจากความอุตสาหะของผู้เขียนเองในการค้นคว้าวิจัยแล้ว ผมคิดว่าผลกระทบที่ลึกซึ้งนั้นมี 4 ประการ คือ

1.การฟื้นฟูมโนทัศน์เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องรัฐ ในช่วงเวลาที่การศึกษาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแทบจะละเลยหรือไม่พูดเรื่องบทบาทของรัฐแล้ว นี่จึงเป็นคุณูปการที่สำคัญมากที่ทำให้มโนทัศน์เรื่องรัฐไทยกลับมามีที่ยืนอีกครั้ง ดังเช่นที่อาจารย์อัมมารและอาจารย์ผาสุกเสนอไว้ในคำประกาศเกียรติคุณในหนังสือเล่มนี้

“งานเล่มนี้อ่อนไหวต่อบริบทการเมืองมากกว่านักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป จุดเด่นที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ในบทที่ 4 ซึ่งมีการวิเคราะห์ที่โดดเด่นมาก” อัมมาร

“เราจะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของรัฐไทย ระบบเศรษฐกิจ ผ่านพลังทางสังคมต่างๆ และการจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัว” ผาสุก

2.งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจมหภาค มันเริ่มในยุคสมัยของจอมพล ป. ตัวอย่างเช่น การยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา การควบคุมสินค้านำเข้า กฎหมายสวัสดิการสังคม เป็นต้น ซึ่งต่างจากเดิมที่เศรษฐศาสตร์การเมืองไทยมักเริ่มหมุดหมายในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ดังนั้น ในแง่นี้งานของอภิชาตจึงอยู่ในกระแสใหม่ของสังคมศาสตร์ไทยที่กลับมาฟื้นฟูความเข้าใจต่อยุคสมัยจอมพลป. โดยเปิดประเด็นมิติทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากประวัติศาสตร์และการเมือง ที่นำโดยอาจารย์ณัฐพล ใจจริง

3.ข้อเสนอที่เด็ดเดี่ยวมากของงานชิ้นนี้คือ สภาวะการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาดการกำหนดนโยบาย ไม่ใช่แรงกดดันจากภายนอก ไม่ใช่แม้แต่ระบบทุนนิยมโลก ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปยุคจอมพลป. เกิดกจากที่จอมพลป.ต้องการเอาตัวรอดจากฐานการเมืองอันง่อนแง่น สหรัฐอเมริกาจึงเป็นแนวร่วมที่จอมพลป.ต้องไขว่คว้าเอาไว้ ส่วนยุคจอมพลสฤษดิ์จำเป็นจะต้องอ้างสิทธิธรรมในการปกครองใหม่รวมถึงสภาวะสงครามเย็นและสงครามอินโดจีน ดังนั้น การฟันธงว่าการเมืองภายในเป็นตัวชี้ขาด จึงเป็นคุณูปการอีกอันหนึ่งในการให้เหตุให้ผล ถ้าตัวผมเองหรือผู้วิจารณ์จะปรับข้อเสนอนี้ให้แหลมคมยิ่งขึ้นก็อาจจะปรับได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไม่เคยเป็นเป้าหมายหลักของชนชั้นนำไทย เป็นแต่เพียงผลพลอยได้ของการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น

4.เป็นคุณูปการเชิงนโยบาย ในขณะที่เรื่องการปฏิรูปถูกพูดถึงมากอย่างหลักลอย ใครที่ชูธงการปฏิรูป มันการันตีว่าตัวเขาไม่ต้องปฏิรูปตัวเขาเอง ดังนั้น การอ่านงานชิ้นนี้ผมรู้สึกว่า ถ้าคุณจะเริ่มปฏิรูปแล้วต้องการผลสำเร็จ คุณต้องกลับมามองที่ตัวรัฐเองด้วย อาจารย์อภิชาตกล่าวถึงระบบราชการที่แยกส่วน ความเสื่อมถอยทางคุณธรรมของเทคโนแครต อำนาจเผด็จการของผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัจจัยให้เกิดความล้มเหลวในการปฏิรูป ประเด็นคือ เวลาเรากล่าวถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่าปัญหาและต้นตอมันอยู่ในตัวรัฐเองด้วย

ข้อวิพากษ์

เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการและทฤษฎี ผมขอเสนอบทวิพากษ์มาจากเชิงทฤษฎีและมุมมองของประเทศเอเชียตะวันออก ผมพบว่า งานชิ้นนี้ยังมีปัญหาอยู่ 3 ประการ คือ ปัจจัยอธิบาย สมมติฐานต่อเทคโนแครต บทบาทของรัฐและลำดับความสำคัญ

ประการแรก หลังจากอ่านงานชิ้นนี้แล้ว ผมเกิดคำถามว่า อะไรเป็นตัวกำหนดรัฐอ่อนรัฐแข็งกันแน่ แล้วรัฐอ่อนรัฐแข็งมันสำคัญแค่ไหน อย่างไร เพราะในบทที่หนึ่ง อาจารย์อภิชาตเสนอว่าตัวกำหนดความแข็งอ่อนของรัฐคือการต่อสู้ของกลุ่มพลังทางสังคม แต่พอถึงบทที่ห้า อาจารย์ลดทอนการต่อสู้ดังกล่าวเหลือแค่การเสื่อมสลายของปทัสถานของเหล่าขุนนางนักวิชาการ ในขณะที่บทที่ 6 และ7 สิ่งที่กลับมาเป็นตัวแปรสำคัญใหญ่คือรัฐธรรมนูญ สรุปแล้วมันคือพลังทางสังคม เทคโนแครต หรือรัฐธรรมนูญกันแน่ที่เป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการฏิรูป ที่เป็นปัญหาเพราะงานสายสถาบันนิยมโดยทั่วไปมักจะฟันธงลงไปเลยว่า อะไรเป็นตัวการ เช่นงานบางชิ้นเสนอว่า democratization นี่แหละที่ทำให้เศรษฐกิจมหภาคแย่ บางชิ้นเสนอว่าระบอบอาณานิคมของญี่ปุ่นนี่แหละที่ทำให้รัฐเกาหลีเข้มแข็งขึ้นมา แต่งานชิ้นนี้ยังมีความคลุมเครืออยู่ ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่อาจารย์อภิชาตแยกส่วนการวิเคราะห์ความสำเร็จและความล้มเหลวออกจากกันมากเกินไป ทำให้มองไม่เห็นความลักลั่น ปะปนระหว่างความสำเร็จและล้มเหลว หรือแม้แต่ผลกระทบทางอ้อมของชุดนโยบาย โดยเฉพาะหากเราเปรียบเทียบกับเอเชียตะวันออก และยังมองไม่เห็นข้อจำกัดภายในอันเกิดจากองค์ประกอบภายในของแนวร่วมผู้นำทางการเมืองเองนี่แหละ เพราะว่าพันธมิตรทหาร เทคโนแครต นายธนาคาร เอาเข้าจริงแล้วในวงวิชาการต่างประเทศจะเรียกว่า มันเกิดจากการต่อรองโดยนัย (implicit bargains) ที่มีทั้งต้นทุนและผลได้ของมันเองอยู่แล้ว เทคโนแครตเองก็มีส่วนหนึ่งในแนวร่วมนี้ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ ในแง่นี้เราอาจมองว่ามันเป็นแพ็คเกจที่มาด้วยกัน คือ ความล้มเหลวในการปฏิรูปก็มาจากพันธมิตรหรือรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนี้นั่นเอง เป็นต้นทุนของการหล่อเลี้ยงเผด็จการทหารและเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคนั่นเอง ถ้าในการตีความของผม ถ้าอ่านงานชิ้นนี้แล้วเราอาจพูดได้ว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยนั้นอธิบายได้จากองค์ประกอบของแนวร่วมเลย โดยความอ่อนความแข็งของรัฐอาจจะไม่มีนัยสำคัญเลยด้วยซ้ำ เพราะเรื่องรัฐอ่อนรัฐแข็งนั้นมีวิธีวัดที่ค่อนข้างลำบาก งานในปัจจุบันก็พยายามจะเสนอทางออก เช่นงานชิ้นนี้ของนักรัฐศาสตร์ชาวเวียดนามที่สอนอยู่ที่อเมริกา เปรียบเทียบเกาหลี เวียดนาม จีนและอินโดนีเซีย พยายามจะแยกองค์ประกอบของรัฐแข็งหรือรัฐพัฒนา เป็นส่วนที่มากขึ้นกว่าความเข้มแข็งซึ่งมันวัดยาก โดยดูว่าระบบ centralize ขึ้นไหม องค์กรทางการเมืองเข้มแข็งแค่ไหน และความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐเป็นอย่างไร หรือแม้แต่นำมิติเชิงอุดมการณ์มาพิจารณาด้วยว่า รัฐอาจจะแข็งแต่อุดมการณ์หรือทิศทางที่กำลังไปนั้นไปในทิศทางไหน คือ ไม่ใช่ capability แต่เป็น priority ของรัฐด้วยเช่นกัน ขณะที่งานระยะหลังๆ ก็ชี้ให้เห็นด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นและผลต่อโครงสร้างรัฐนั้นไม่ได้เป็นเส้นตรง มันยอกย้อนกว่านั้น หมายความว่า การที่ elite หรือชนชั้นนำพยายามประนีประนอมกันนั้น เอาเข้าจริงแล้วแล้ว พบว่า เป็นผลลบต่อความเข้มแข็งของรัฐด้วยซ้ำ ในขณะที่ถ้าชนชั้นนำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะเป็นผลบวกต่อความเข้มแข็งของรัฐ แต่ผลบวกนั้นไม่มากเท่ากับการที่ชนชั้นนำแตกหักกัน ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ มันทำให้แต่ละฝ่ายต้องเร่งสร้างองค์กร สร้างความสามารถมาต่อสู้กัน ดังนั้น ไม่ได้หมายความว่าการประนีประนอมนั้นจะสร้างผลดีเสมอไป อันนี้ดูจากประเทศเอเชียประเทศอื่น

ปัญหาประการที่สอง สมมติฐานต่อเทคโนแครต อาจารย์รังสรรค์ตั้งสมมติฐานก่อนหน้านี้ว่า ขุนนางนักวิชาการไทยเป็นปุถุชนที่มีกิเลสตัณหามีความเห็นแก่ตัวและแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดดุจดังมนุษย์ทั่วไป แต่ถ้าอ่านงานชิ้นนี้จะค่อนข้างไปทางบวกกว่า บางหน้าอาจารย์อภิชาตเสนอว่า เทคโนแครตไทยมีพฤติกรรมอนุรักษ์นิยม ซื่อสัตย์ และมีความกลมเกลียวภายในสูง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมเห็นว่าการตั้งสมมติฐานแบบอาจารย์รังสรรค์มีความสมเหตุสมผลกว่า เพราะเราควรจะนำผลประโยชน์และมิติทางอุดมการณ์ของเทคโนแครตเข้ามาวิเคราะห์ด้วย ผลประโยชน์เช่นอะไร มีงานชิ้นหนึ่งของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในอเมริกาพบว่า เราไม่ควรจะหลงเข้าใจผิดว่าเทคโนแครตมีความเป็นกลางในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในธนาคารกลาง แต่อาชีพที่เขาดำเนินมาในอดีตหรือ sector ที่เขาคาดหวังจะไปดำเนินในอนาคต มีผลต่อการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางเอง ส่วนมิติด้านอุดมการณ์ หากเรานำเข้ามาพิจารณาด้วย ปัญหาบางอย่างที่อาจารย์อภิชาตเห็นว่าสำคัญ เช่น ทำไมเทคโนแครตที่ได้ชื่อว่ามีพฤติกรรมอนุรักษ์นิยม ซื่อสัตย์ กลมเกลียวภายในสูง จึงเปิดเสรีการเงินและตั้งใจกระตุ้นให้มีการนำเข้าเงินทุนขนานใหญ่ หากเอาอุดมการณ์มาพิจารณา ตรงนี้อาจไม่เป็นประเด็นด้วยซ้ำ เพราะอุดมการณ์ของเทคโนแครตเสรีนิยมใหม่ทั่วโลกในทศวรรษ 2530 ต่างก็เลิกแนวทางเปิดเสรีทางการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องซื่อสัตย์หรือกลมเกลียวแต่อย่างใด

ประเด็นหลัก ผมคิดว่าความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมถอยของเทคโนแครตไม่ควรผูกโยงเข้ากับความสำเร็จหรือล้มเหลวของเศรษฐกิจอย่างเป็นเส้นตรง เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหากเทคโนแครตไทยมีอำนาจกว่าที่เคยได้รับ พวกเขาจะไม่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเปิดเสรีมากกว่านี้ ดังเช่นที่เราพบในละตินอเมริกา ซึ่งนายพลให้อำนาจเทคโนแครตเสรีนิยมใหม่มากกว่านายพลไทย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอีกประการที่เราลืมไปก็คือ ถ้าเราดูเทคโนแครตในเอเชียตะวันออก กลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินใจในทิศทางเศรษฐกิจในยุค 1960-80 พวกเขาเป็นใคร ในญี่ปุ่นเป็นพวกจบนิติศาสตร์, ในไต้หวันเป็นวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์, ในเกาหลีใต้เป็นนักเศรษฐศาสตร์แต่เป็นสายมาร์กซิสม์ที่เชื่อมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักของประเทศ นั่นหมายความว่าถ้าเราเอาอุดมการณ์ของเทคโนแครตเข้ามาพิจารณาด้วยเราจะเห็นทิศทางการพัฒนาได้ดีขึ้น

ประการสุดท้าย ปัญหาบทบาทของรัฐและการจัดอันดับความสำคัญ ถ้าถามว่าหลังจากอ่านงานชิ้นนี้จบแล้ว แก่นคืออะไร งานชิ้นนี้คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนแครตกับทุนธนาคาร ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเมืองไทย รัฐพัฒนาอาจจะไม่ใช่แก่นกลางของงานชิ้นนี้ด้วยซ้ำ เพราะในทางจุดกำเนิดของรัฐอ่อนรัฐแข็งมันเกิดมาจากฐานของประเทศเอเชียตะวันออกเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ที่พยายามจะคานวิธีคิดจากวอชิงตันหรือเสรีนิยมใหม่ที่พยายามเสนอว่ารัฐไม่ต้องมีบทบาทมาก ดังนั้น จุดเริ่มต้นของทฤษฎีรัฐอ่อนรัฐแข็งและรัฐพัฒนานั้นมาจากประสบการณ์ของเอเชียตะวันออกที่รัฐเหล่านี้เลือกการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าที่จะเลือกรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ช่วงพัฒนาอุตสาหกรรม 1960-70 ถ้ารัฐบาลเกาหลีใต้หรือรัฐบาลปักจุงฮีต้องเลือกระหว่างให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอีกและเศรษฐกิจยังคงเติบโต ปักจุงฮีจะเลือกอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลไทยจะเลือกเงินเฟ้อต่ำ ข้อถกเถียงว่าประเทศไหนเจริญเติบโตมาได้อย่างไรมันขึ้นกับทฤษฎีที่เราเลือกใช้ ถ้าเลือกใช้ทฤษฎีอย่างหนึ่งก็ได้รับผลแบบหนึ่ง แต่หากเราเลือกใช้ทฤษฎีรัฐอ่อน รัฐแข็ง รัฐพัฒนา เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะที่มาและประสบการณ์ empirical ของงานเหล่านี้มาจากการเอเชียตะวันออกที่มาจากการเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลัก ไม่ใช่การเน้นการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค

ส่วนสุดท้าย คงกล่าวสั้นๆ ถามว่าเราจะศึกษารัฐไทยอย่างไรเพื่อต่อยอดทางทฤษฎีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้อถกเถียงในวงวิชาการนานาชาติเรื่องรัฐพัฒนา มีอยู่ 3 ประเด็นหลักๆ สายหนึ่งยังคงเชื่อว่าคุณจำเป็นต้องมีอาณานิคม มันยังจำเป็นสำหรับการสร้างรัฐ อีกสายหนึ่งเน้นภัยคุกคาม หมายความว่า ชนชั้นนำจะพัฒนาประเทศก็ต่อเมื่อมีภัยคุกคามต่อเนื่องและรุนแรง อีกสายหนึ่ง จะเน้นเรื่องการเมืองระหว่างชนชั้นนำกันเองที่มีผลต่อการกำหนดรัฐพัฒนา

งานเหล่านี้ก็ยังคงมองเห็นรัฐอ่อนรัฐแข็งมิติเดียว งานหลังๆ ก็พยายามจะศึกษาว่า เราจำเป็นต้องแยกความเข้มแข็งของรัฐ บางรัฐอาจเก่งทางด้านการคลังแต่อ่อนการบริหาร บางรัฐเก่งด้านอุตสาหกรรมแต่อ่อนด้านการคลัง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมองรัฐให้มีความหลากหลายมิติมากขึ้น

นอกจากนี้คือความหลากหลายของระบบทุนนิยม แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศในเอเชียตะวันออก ประเทศกำลังพัฒนาก็ควรมีความหลากหลายของระบบทุนนิยม สุดท้ายคือ คำอธิบายเรื่องกับดักรายได้ขนาดกลางหรือ medium income trap งานสายหนึ่งก็ยังเน้นว่าต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ ดังนั้น การศึกษารัฐไทยในอนาคตจำเป็นต้องให้น้ำหนักกับกรองทฤษฎีและการศึกษาเปรียบเทียบมากขึ้น

 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

มีประเด็นที่อยากอภิปรายอยู่ 4 ประเด็น อรรถาธิบายว่าด้วยรัฐอ่อนรัฐแข็ง , การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ, อรรถาธิบายว่าด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา, การยกย่องจอมพลป.เกินกว่าความเป็นจริง อันนี้เห็นตรงกันข้ามกับอาจารย์วีระยุทธ

ประเด็นแรกว่าด้วยมโนทัศน์รัฐเข้มแข็ง-รัฐอ่อนแอ อาจารย์อภิชาตนำมโนทัศน์นี้มาใช้ในการอธิบายเรื่องการดำเนินนโยบายของรัฐไทยในช่วง 60 ปีเศษที่ผ่านมา คำถามพื้นฐานมีอยู่ว่า แบบจำลองรัฐอ่อนรัฐแข็ง ดีกว่า new classical model หรือไม่ อย่างไร เป็นแบบจำลองที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในไทยดีขึ้นหรือเปล่า ในทางกลับกัน แบบจำลองของสำนักนีโอคลาสสิค สามารถจะ incorporate แนวความคิดว่าด้วยรัฐอ่อนแอรัฐเข้มแข็งเข้าไปในคำอธิบายได้หรือไม่ ซึ่งผมเอียงไปข้างที่บอกว่าได้ แต่แขวนไว้ก่อน

เวลาที่เราพูดถึงรัฐเข้มแข็ง รัฐอ่อนแอ คำอธิบายก็มีหลาหลายว่าอะไรเป็นปัจจัยกำหนดความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของรัฐ คำอธิบายจะแตกต่างกันมากระหว่างนักรัฐศาสตร์กับนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์อาจจะบอกว่า การมี sovereignty เป็นเงื่อนไขอันจำเป็นของการที่จะมีรัฐเข้มแข็ง แล้วก็พานักเศรษฐศาสตร์เข้าป่าไป

อาจารย์อภิชาตใช้ตัวแปรสองตัวในการวัดความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของรัฐ ตัวหนึ่งก็คือ state autonomy อีกตัวคือ state capacity ผมมีข้อสังเกตสองประการ ประการแรกคือ เส้นแบ่งระหว่างรัฐเข้มแข็งและอ่อนแอมันไม่ใช่เส้นสีดำ ไม่สามารถฟันโชะลงไปแล้วบอกได้ว่านี่เป็นรัฐอ่อนแอ นี่เป็นรัฐเข้มแข็ง มันเป็นแถบสีเทาในการแบ่ง ดังนั้นเราจะพบว่าอาจารย์อภิชาตไม่กล้าฟันธงว่ายุคสมัยไหนรัฐไทยอ่อนแอหรือเข้มแข็ง ฟันธงไม่ได้เพราะไม่ได้นำเสนอตัวแปรในการชี้วัดว่าความเข้มแข็งและอ่อนแอของรัฐมันถูกกำหนดด้วยอะไร และการไม่สามารถที่จะมีตัวชี้วัดได้ว่าเมื่อไรเข้มแข็งเมื่อไรอ่อนแอทำให้การวิเคราะห์ในหลายๆ ตอนไม่สามารถชักจูงให้เราเชื่อได้

ประเด็นที่สอง periodization เรื่องการจำแนกยุค เมื่อคุณเอาเรื่องความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของรัฐเป็นตัวอธิบายที่สำคัญ การจำแนกยุคก็ควรจะจำแนกยุคก็ควรจำแนกโดยยึดความอ่อนแอหรือเข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ถ้าเราอ่านบทสรุปของอ.อภิชาต บอกว่า “ความสำเร็จของการปฏิรูปเศรษฐกิจ ยุค พ.ศ.2493-2506 เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลจอมพลป. กับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ แต่ความไม่สำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจหลัง 2540 เป็นเพราะความล้มเหลวในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐ” การจำแนกยุคที่ค่อนข้างกว้างขวาง 2493-2506 มันก่อให้เกิดคำถามมากมาย 2493-2506   รัฐไทยเข้มแข็งอย่างที่อ.อภิชาตอ้างหรือเปล่า  2493 เป็นช่วงที่จอมพลป.พิบูลสงครามล้มลุกคลุกคลาน ต้องต่อสู้กับกลุ่มรอยัลลิสต์ แล้วจอมพลป.ทำท่าจะแพ้ จึงทำรัฐประหาร 2494 ล้มรัฐธรรมนูญ 2492 นำเอารัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 กลับมาใช้ ไม่สามารถพูดได้เลยว่า รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม อยู่ในยุคที่รัฐไทยเข้มแข็ง ผมไม่คิดว่าพูดได้ 

อยากจะกลับไปอ่านงานของ Daron Acemoglu (ดารอน อาเซโมกลู) เขียนเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเตอร์กี เชื้อสายอัลมาเนีย จบปริญญาตรีจากยอร์ค ยูนิเวอร์ซิตี้ ปริญญาโทและเอกจากลอนดอนสคูล เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานถูกอ้างอิงมากที่สุด 1ใน10คนแรกของโลก และกำลังเข้าคิวจะรับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในงาน Politics and economics in weak and strong state เขาบอกว่า รัฐที่อ่อนแอเกินไปกับรัฐที่เข้มแข็งเกินไป มันสร้างปัญหา ก่อให้เกิดการบิดเบือนการใช้ทรัพยากร รัฐที่เข้มแข็งเกินไปอาจมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงมากจนกระทั่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน ในอีกด้านหนึ่ง รัฐที่อ่อนแอมากเกินไปอาจทำให้รัฐไม่ลงทุนในเรื่องสินค้าสาธารณะเท่าที่ควรจะเป็น เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะลงทุนในด้านนั้น บทความนี้อาเซโมกลูแยกระหว่างความเข้มแข็งทางการเมืองกับความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ รัฐที่เข้มแข็งทางการเมืองอาจจะอ่อนแอทางเศรษฐกิจได้ ทำนองเดียวกันรัฐที่อ่อนแอทางการเมืองอาจจะเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้ การจำแนกสองมิตินี้ช่วยให้เราเห็นภาพได้ดีขึ้น ในสังคมมนุษย์ประชาชนมี exit option มีทางเลือกที่ออกไปจากรัฐ เช่น แทนที่จะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน formal sector ก็ออกไปอยู่ใน informal sector ถ้าหากว่าทางเลือก หรือ exit option มีน้อย รัฐก็จะเก็บภาษีในอัตราสูง แต่ถ้า exit option มีมาก รัฐที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจไม่สามารถเก็บภาษีในอัตราสูงได้ ดังนั้นก็อาจ under invest ในด้านสินค้าสาธารณะ เป็นต้น

ผมต้องการชี้ให้เห็นว่า การจำแนกประเภทระหว่างรัฐเข้มแข็งกับรัฐอ่อนแอมันมีปัญหา และนี่ไม่ใช่ปัญหาของนักรัฐศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ด้วย

ประเด็นที่สอง เป็นประเด็นที่อ.วีระยุทธส่งเสริมให้อ.อภิชาตหลงผิด คือ การลดทอนปัจจัยภายนอกประเทศ นี่อาจเป็นจารีตของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่พยายามจะบอกกับเราว่า ทุกอย่างเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ และปัจจัยภายนอกประเทศไม่มีความสำคัญหรือสำคัญนอก ทั้งที่ปัจจัยภายนอกประเทศสามารถมีอิทธิพลและส่งผลกระทบกับกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ตัวอย่างของปัจจัยภายนอกได้แก่ ระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อตกลงระหว่างประเทศ องค์กรโลกบาล ประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น แต่อ.อภิชาตพยายามลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ โดยไม่ได้เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกประเทศอย่างเป็นกิจจะลักษณะเท่าที่ควร การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศดังกล่าวนี้ ทำให้พลาดการวิเคราะห์ประเด็นหลักหลายประเทศ ทำให้บทวิเคราะห์ไม่รอบด้านและในหลายกรณีทำให้การวิเคราะห์พลาดประเด็นหลักอย่างไม่น่าจะเป็น

มีอยู่สามเรื่องที่อยากจะพูดถึงคือ หนึ่งการเดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม สอง การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ สาม การละทิ้งระบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

เรื่องแรก การเดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม อ.อภิชาตเสนอการวิเคราะห์ว่าสภาวะการเมืองภายในประเทศเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจช่วงปลายรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ต่อเนื่องกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศเป็นปัจจัยรอง สหรัฐอเมริกาและองค์การระหว่างประเทศมิได้มีบทบาทหลักในการกดดันให้ไทยเดินตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีนิยมอย่างมีประสิทธิผล อ.อภิชาตไม่ได้เสนอนิยามให้กระจ่างชัดว่าปัจจัยหลักแตกต่างจากปัจจัยรองอย่างไร ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เนื้อหาบางตอนของหนังสือพยายามจะเชิดชูจอมพลป.ว่าเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจเสรีนิยมในประเทศไทย แต่การอ้างการตรากฎหมาย 4 ฉบับ เป็นการอ้างที่ผิด พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม 2497 ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ เนื้อหาบางตอนสื่อนัยว่าจอมพลป.เป็นผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แต่เอกสารภายในธนาคารโลกบ่งบอกว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกบางคนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายฉบับนี้ ในข้อเท็จจริงหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มิได้มีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนเอกชนเลย ความข้อนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ ดร.ชมเพลิน จันทร์เรืองเพ็ญ กฎหมายส่งเสริมอุตสหากรรม 2497 มันออกมาในช่วงรัฐบาลจอมพลป.กำลังเดินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม นโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมจะต้องต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของต่างชาติ แต่กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะส่งเสริมการลงทุนจากเอกชนแล้วที่สำคัญคือส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมันเป็นหมุดหมายที่บอกว่าจอมพลป.กำลังจะละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม

มีกฎหมายอีกสามฉบับซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่อ.อภิชาตตีขลุมว่าเป็นกฎหมายเศรษฐกิจเสรีนิยม คือ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2497  พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อความเป็นธรรม 2497 พ.ร.บ.จัดอาชีวะศึกษาสำหรับบุคคลบางจำพวก 2497 เหล่านี้เป็นกฎหมายซึ่งเป็นกลไกสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ได้เป็นกลไกสำหรับการขับเคลื่อนขบวนการเศรษฐกิจเสรีนิยม

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยไปสู่แนวทางเสรีนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะต้องถือเอาการยุบสำนักงานข้าวเป็นหมุดหมาย เพราะข้าวถือเป็นสินค้าออกรายการสำคัญที่สุดของสังคมเศรษฐกิจไทย และสำนักงานข้าวผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศ การผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศของสำนักงานข้าว จึงทำให้การค้าระหว่างประเทศของไทยมิได้เป็นไปแบบเสรีนิยมในสัดส่วนสำคัญ การเลิกสำนักงานข้าวจึงเสมือนหนึ่งการเลิกการผูกขาดการค้าข้าวระหว่างประเทศโดยรัฐ

ข้อที่น่าสังเกตคือ อ.อภิชาตกล่าวถึงสำนักงานข้าวแบบผ่านๆ และมองไม่เห็นความสำคัญว่าการยุบสำนักงานข้าวเป็นหมุดหมายของการเดินบนเส้นทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ  หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อ้างอิงหนังสืองานศพของนายเกษม ศรีพยัคฆ์ หนังสือชื่อนโยบายการเงินการคลัง 2498-2502 พื้นฐานความเจริญทางเศรษฐกิจปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เข้าใจหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในช่วงนี้ได้ดีขึ้น คำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบคือ เหตุใดจอมพลป.พิบูลสงครามจึงปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากชาตินิยมมาสู่เสรีนิยม จอมพลป.เป็นผู้บงการให้ยุบสำนักงานข้าวด้วยตัวเองหรือไม่ คำตอบเบื้องต้นที่มีก็คือ จอมพลป.ต้องการการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจล้วนไม่พึงพอใจนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมของรัฐบาลไทย ความข้อนี้รู้สึกได้จากการอ่านบันทึกความทรงจำของเซอร์โจซาย ครอสบี้ (Sir Josiah Crosby) Siam the crossroads อดีตทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย เมื่อล่วงถึงปลายทศวรรษ 2490 จอมพลป.ตระหนักชัดแล้วว่า อำนาจทางการเมืองกำลังหลุดลอยไปสู่กลุ่มซอยราชครู ซึ่งมี พล.ต.อ.ผิณ ชุณหะวัณ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นผู้นำ กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้นำ จอมพลป.จำเป็นต้องเข้าหาฐานมวลชน ด้วยการเปิดให้ประชาชนมีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ทั้งในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะที่เรียกว่า ไฮด์ปาร์ก การจัดตั้งพรรคการเมือง การจัดตั้งสหภาพแรงงาน และด้วยการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการเพื่ออำนวยความผาสุกแก่ประชาชน นอกจากนี้การปรับนโยบายเศรษฐกิจไปสู่แนวทางเสรีนิยมยังความพึงพอใจในหมู่ประเทศมหาอำนาจอีกด้วย

รัฐบาลไทยมีพันธะระหว่างประเทศที่จะต้องละทิ้งนโยบายชาตินิยมและหันสยามรัฐนาวาไปสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก เพราะองค์กรโลกบาลทั้งสองล้วนยึดปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม พันธะดังกล่าวนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งเมื่อรัฐบาลไทยทำความตกลงความเชื่อเหลือทางวิชาการและทางเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน 2493 ซึ่งอ.อภิชาตได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้โดยละเอียด

จอมพลป.เป็นผู้บงการให้ยุบสำนักงานข้าวด้วยตัวเองหรือไม่ ผมไม่พบงานวิชาการที่ศึกษาประเด็นนี้ แต่ประเด็นที่เป็นไปได้มากกว่าคือ การกดดันผ่านบทสนทนาระหว่างเทคโนแครตรัฐบาลอเมริกัน องค์กรโลกบาล กับเทคโนแครตไทย บทสนทนาดังกล่าวนี้เป็นกลไกส่งผ่านความคิดเรื่องนโยบายโดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เมื่อรัฐบาลอเมริกันและองค์กรโลกบาลต้องการให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องใด ก็มีบทสนทนากับเทคโนแครตไทยในเรื่องนั้น ข้างฝ่ายเทคโนแครตไทยเมื่อไม่สามารถผลักดันทำให้รัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนนโยบายได้ ก็บอกผ่านเทคโนแครตรัฐบาลอเมริกันและองค์กรโลกบาลให้ช่วยสร้างแรงกดดันรัฐบาลของตน ทั้งนี้ปรากฏในหนังสือของพระบริพันธ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอมพลป. ส่งถึงธนาคารโลกให้สร้างแรงกดดันรัฐบาลจอมพลป.ให้รัดเข็มขัดทางการคลังในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนแครตไทย เทคโนแครตอเมริกัน และองค์กรระหว่างประเทศ ปรากฎอย่างชัดเจนในเหลียวหลังแลหน้า บันทึกความทรงจำของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้วยเหตุดังนี้การลดทอนความสำคัญของปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้เราเกิดความเข้าใจการก่อเกิดและการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน

ประเด็นที่สอง การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ อ.อภิชาตให้ความสำคัญแก่องค์กรโลกบาลในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทยค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ได้สนใจศึกษา policy conditionalities ที่ผูกติดมากับเงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลไทยกู้มาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ stand by arrangement และเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างที่รัฐบาลไทยกู้จากธนาคารโลก structural adjustment loan ทั้งๆ ที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายเหล่านี้อยู่ในปริมณฑลของการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ การขอเงินกู้ทั้งสองประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจไทยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ กระบวนการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบายมิใช่กระบวนการสั่งการจากองค์กรโลกบาลมายังรัฐบาลไทย หากแต่เป็นกระบวนการต่อรองระหว่างองค์กรโลกบาลกับรัฐบาล อำนาจต่อรองขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใด อำนาจต่อรองของรัฐบาลยิ่งมีน้อยมากเพียงนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษ 2490 รัฐบาลไทยยังมีอำนาจต่อรองอยู่บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤตในปี 2540 รัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรองเลย ขอให้เปรียบเทียบ policy conditionalities ที่ปรากฏใน SBA1981 SBA1982 SBA1985 เทียบกับ SBA1997 ความเข้มข้นและความเข้มงวดของเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจ หากวิกฤตเศรษฐกิจยิ่งร้ายแรงมากเพียงใด เงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจก็จะยิ่งเข้มข้นและเข้มงวดมากเพียงนั้น โดยที่ความร้ายแรงของวิกฤตเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับความเข้มแข็งหรือความอ่อนแอของรัฐ รัฐที่อ่อนแอมีแนวโน้มที่จะนำรัฐนาวาไปสู่วิกฤตได้โดยง่าย โดยที่ภาวะวิกฤตบั่นทอนความเข้มแข็งของรัฐได้อย่างสำคัญ รัฐที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตย่อมอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องยอมรับเงื่อนไขการปฏิรูปเศรษฐกิจขององค์กรโลกบาลทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก มีกลไกจัดสรรเงินให้กู้เป็นงวดและเมื่อใกล้สิ้นเวลาแต่ละงวดก็จะมีการประเมินว่ารัฐบาลลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายมากน้อยเพียงใด หากมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัดส่วนสำคัญจึงยอมให้เบิกเงินกู้งวดถัดไปหากไม่มีหรือมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินนโยบายน้อยเกินไปก็จะยุติการเบิกเงินให้กู้ รัฐบาลไทยเคยกู้เงินกู้ฉุกเฉินกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2524 เนื่องจากเผชิญกับปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้ายแรง แต่ถูกตัดเงินกู้เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม policy conditionalities เมื่อกู้เงินฉุกเฉินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศภายหลังวิกฤต 2540 คราวนี้รัฐบาลชวน หลีกภัย ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเชื่องๆ โดยมิได้คำนึงว่าเงื่อนไขการดำเนินนโยบายบางข้อเป็นการให้ยาผิด ดังเช่น การดำเนินนโยบายงบประมาณเกินดุล และบางข้อมิได้เกี่ยวข้องกับการแก้วิกฤต ดังเช่นการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (privatization) การดำเนินนโยบายตามเงื่อนไขใน SBA1997 อย่างเชื่องๆ มีผลในการบั่นทอนทุนทางการเมืองของรัฐบาลชวนและพรรคประชาธิปัตย์อย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจหลังวิกฤตดังกล่าวหลายต่อหลายเรื่องอยู่ในเงื่อนไขการดำเนินนโยบายของเงินกู้ฉุกเฉินนี้

ความเข้มแข็งโดยเปรียบเทียบของรัฐบาลทักษิณ ปรากฏเมื่อรัฐบาลชวนปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินโยบาย SBA1997ไปมากแล้ว

ประเด็นที่สาม ประเด็นที่อ.อภิชาตไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอกประเทศอีกอัน คือ การละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา อ.อภิชาตให้เครดิตกับกลุ่มเทคโนแครตในการผลักดันให้ละทิ้ง multiple exchange rate system และหันมาใช้ single exchange rate system การให้เครดิตนี้ไม่ได้ผิดข้อเท็จจริง แต่ถูกไม่หมด

เพราะไทยเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2492 ในฐานะสมาชิกไทยต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีกฎกติกาที่ชัดเจนข้อหนึ่งว่า ห้ามสมาชิกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา รัฐบาลไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรามาตั้งแต่ปี 2489 กว่าจะละทิ้งระบบนี้ก็ในปี 2498 กินเวลา 6 ปีหลังจากที่เป็นภาคีสมาชิกของไอเอ็มเอฟ ระหว่างนี้ไอเอ็มเอฟก็กดดันให้ไทยหันไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอันตราเดียว ผ่าน dialogue ระหว่างไอเอ็มเอฟกับเทคโนแครตไทย อ.อภิชาตไม่ให้ความสำคัญกับระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศในการวิเคราะห์ จึงไม่ได้ตระหนักว่ามาตรา 8 วรรค 3 แห่ง article agreement of IMF เป็นชนักติดหลังที่รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตาม คือ ต้องเลิกmultiple exchange rate system

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ multiple exchange rate system อย่างเป็นกิจจะลักษณะทำให้การวิเคราะห์หลายต่อหลายตอน สร้างความฉงนฉงายแก่ผู้อ่านจำนวนมาก มีประเด็นที่อยากพูดถึงอยู่สองประเด็น

ประเด็นแรก เหตุใด ธปท.จึงเลือกใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

ประเด็นสอง นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราอย่างไร

อ.อภิชาตยืนยันว่า ธปท.ต้องการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราเป็นกลไกสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากเงินสำรองระหว่างประเทศหร่อยหรอไปมากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ความรู้เศรษฐศาสตร์เบื้องต้นบอกแก่เราว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นก็ต่อเมื่อดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุล ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า หากดุลการชำระเงินระหว่างประเทศขาดดุล เงินสำรองระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าสังคมเศรษฐกิจไทยจะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบใด ทั้งยังไม่มีกลไกอะไรรับประกันว่าระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราจะช่วยให้ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุลได้

ผมเรียนรู้มาเป็นเวลาช้านานว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาใช้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อโดยผ่านกลไกอย่างน้อยสองกลไก กลไกแรก คือ การลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ กลไกที่สอง คือ การกดราคาสินค้าออกบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว การบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศได้จากการส่งออกสินค้าออกรายงานสำคัญ โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนทางการซึ่งน้อยกว่าอัตราตลาด ทำให้เงินบาทออกสู่การหมุนเวียนน้อยกว่าที่ควร การลดปริมาณเงินที่หมุนเวียนมีผลในการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ ในอีกด้านหนึ่งสินค้าที่ถูกบังคับขายในอัตราต่ำกว่าอัตราตลาดย่อมขายได้ราคาเป็นเงินบาทต่ำกว่าที่ควร ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราจึงมีผลในการกดราคารสินค้าออกที่ถูกบังคับ เมื่อระบบนี้ใช้กับข้าวย่อมมีผลในการกดราคาข้าวในประเทศ ทำให้ค่าครองชีพในประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เครื่องมือของระบบอัตรแลกเปลี่ยนหลายอัตรามีอย่างน้อย 3 ประเภท หนึ่ง รายการสินค้าออกที่บังคับซื้อเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ สอง อัตราส่วนของเงินตราต่างประเทศที่ซื้อจากการส่งออกที่ถูกบังคับซื้อในอัตราทางการ สาม timing ในการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

อ.อภิชาตกล่าวซ้ำในหลายกรรมหลายวาระว่า นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราและย้ำว่าการละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราเป็นการทุบหม้อข้าวนักการเมือง แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่านักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากการระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราได้อย่างไร หากนักการเมืองจะหาประโยชน์จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา นักการเมืองต้องเข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เช่น การเลือกประเภทสินค้าส่งออกที่จะบังคับซื้อเงินตราต่างประเทศที่ได้จากการส่งออก รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนเงินตราต่างประเทศที่จะบังคับซื้อ การเลือกรายการสินค้านำเข้าที่จะขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ แต่ผู้เขียนไม่ได้ให้ข้อมูลเหล่านี้ และผมไม่พบงานวิชาการที่ให้ข้อมูลประเด็นนี้ ตามความเข้าใจของผม ผู้ส่งออกสินค้าที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับให้ขายเงินตราต่างประเทศในอัตราทางการ ส่วนหนึ่งขายตรงธปท. อีกส่วนหนึ่งขายผ่านธนาคาพาณิชย์ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจ จากนั้นธนาคารพาณิชย์จึงขายต่อให้ธปท. ธนาคารพาณิชย์สามารถหากำไรจากความแตกต่างของเงินตราต่างประเทศได้ก็โดยการรายงานอัตราที่รับซื้อต่ำกว่าความเป็นจริง หากธปท.จับได้ก็จะมีการลงโทษด้วยมาตรการต่างๆ ดังเช่นการปรับ สหธนาคารกรุงเทพ ถูกธปท.สั่งปรับด้วยกรณีเช่นนี้ สหธนาคารกรุงเทพวิ่งเต้นนักการเมืองเพื่อให้ช่วยกดดันให้ธปท.ลดค่าปรับ จอมพลสฤษดิ์บอกให้ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รองผู้ว่าธปท.ขณะนั้นช่วยลดค่าปรับโดยอ้างว่าจอมพลสฤษดิ์ และพล.ต.อ.เผ่า จะเข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารนี้ อ.ป๋วยเสนอให้ผู้ทรงอำนาจทั้งสองนำเรื่องเข้าครม.เพื่อให้มีมติยกเว้นหรือลดหย่อนค่าปรับ ต่อมาอ.ป๋วยถูกปลดจากรองผู้ว่าธปท.ในเดือนธันวาคม 2496 กรณีนี้เป็นกรณีที่อภิชาตยกมากล่าวอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่านักการเมืองหาประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ทั้งๆ ที่นายธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ที่หาประโยชน์โดยตรง นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลเป็นผู้ปกป้องนายธนาคารอีกทอดหนึ่ง  เมื่อรัฐบาลละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ประกอบกับการยุบสำนักงานข้าว มาตรการที่นำมาใช้ทดแทนเพื่อมิให้ราคาธัญพืชเพิ่มสูงมากจนเกินไป ได้แก่ภาษีสินค้าเกษตรส่งออกรายการสำคัญ รวมทั้งการเก็บพรีเมี่ยมข้าว อ.อภิชาตเสนอการวิเคราะห์ว่า จอมพลป.ยอมรับการละทิ้งระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราตามเมนูนโยบายนี้เพราะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีส่งออกและพรีเมี่ยมข้าวเพิ่มขึ้น หลงลืมไปว่ากำไรที่ธปท.ได้รับจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ส่วนสำคัญ ธปท.นำส่งเป็นรายได้ของรัฐในรายการส่วนแบ่งกำไรจากธปท.เมื่อเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา รายการส่วนแบ่งกำไรจากธปท.ก็จะต้องลดน้อยไป ในอีกด้านหนึ่งเมื่อยังมีสนง.ข้าว กำไรจากสนง.ข้าวก็เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญไม่น้อยของรัฐ เมื่อยุบสนง.ข้าวรัฐก็สูญเสียรายได้แหล่งนี้ไปด้วย ความสำคัญของกำไรจากระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราและกำไรจากสนง.ข้าวปรากฏอยู่ในหนังสืออังเดร มุสนี่

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงก็คือ การยกย่องจอมพลป.พิบูลสงคราม เกินกว่าความเป็นจริง อันนี้เป็นประเด็นที่ตรงกันข้าวมกับที่อ.วีระยุทธพูด

ผู้เขียนกล่าวว่า “ในขณะที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ต่อยุคจอมพลป.นั้นคือ ยุคทุนนิยมขุนนาง หรือยุคทุนนิยมข้าราชการที่รัฐมีบทบาทแทรกแซงระบบเศรษฐกิจอย่างสูง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การรัฐประหารโค่นล้มจอมพลป.จึงเป็นการล้มทุนนิยมขุนนางและเข้าสู่ยุคสมัยทุนนิยมเสรี หรือทุนนิยมนายธนาคาร ความทรงจำหลักนี้ถือได้ว่าถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันความทรงจำหลักนี้ก็มองข้ามหน่ออ่อนของการพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.”

ข้อถกเถียงหลักในด้านข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า จอมพลป.เป็นผู้ปลูกหน่ออ่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเองหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ข้อที่ประจักษ์ชัดก็คือ หนังสืออาจารย์อภิชาตยกย่องจอมพลป.พิบูลสงครามเกินกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกย่องว่าจอมพลป.เป็นผู้ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจหลักจากนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมมาสู่เสรีนิยม โดยมิได้คำนึงถึงพันธะที่รัฐบาลไทยมีต่อไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก รวมทั้งพันธะที่มีต่อสหรัฐอเมริกาภายใต้ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการและเศรษฐกิจ 2493 อีกทั้งยังลดทอนบทบาทของขุนนางวิชาการที่ผลักดันสังคมเศรษฐกิจไทยไปสู่เส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยม นอกจากนี้การแบ่งยุคการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของผู้เขียน ซึ่งยึดปี 2493 ซึ่งเป็นปีที่มีความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางวิชาการและเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา สื่อสารว่าปี 2493 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนเมนูนโยบายเศรษฐกิจทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงระหว่างปี 2493-2496 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการแทรกแซงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจอมพลป.ในสำเนียงส่อไปในทางยกย่อง จอมพลป.ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ มิพักต้องกล่าวถึงความรู้ด้านการเงินระหว่างประเทศ  อ.อภิชาตไม่นำพาที่จะอธิบายเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ของธปท.ในการกำหนดนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอันนำไปสู่การลาออกของผู้ว่า ธปท. ทั้งพระองค์เจ้าวิวัฒนชัยในปี 2492  และหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ในปี 2495 วงวิชาการเศรษฐศาสตร์กระแสหลักยืนอยู่ข้างธปท.ในกรณีทั้งสองมากกว่ายืนอยู่ข้างจอมพลป. หนังสือไม่ได้กล่าวถึงบุคคลและคณะบุคคลที่เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของจอมพลป. การกล่าวถึงกระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในยุคของจอมพลป.ไม่มีชีวิตชีวามากเท่ากับการนำเสนอบทวิเคราะห์ว่าด้วยความเสื่อมถอยของกลุ่มขุนนางนักวิชาการในบทที่ 5 และการแก้ปัญหาหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ในบทที่ 6 หากจอมพลป.มีอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดังที่ผู้เขียนกล่าวเป็นนัย เหตุใดจอมพลป.จึงไม่ผลักดันให้สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งสถาปนาตั้งแต่ปี 2493 มีบทบาทที่กระฉับกระเฉงมากกว่าที่เป็นอยู่จริงโดยที่มิได้เป็นหน่ออ่อนแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจแม้เพียงแต่น้อย ด้วยเหตุดังนี้ ตลอดทศวรรษ 2490 เกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของเศรษฐกิจไทยเลย และอาจจะช่วยให้เข้าใจได้อีกว่า ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงไม่เกิดขึ้นในยุคจอมพลป.

ผมมีบทวิพากษ์เพียงแค่นี้ ไม่อย่างนั้นจะยาวกว่านี้เยอะ

 

อภิชาต ตอบ

 ต้องขอขอบคุณผู้วิจารณ์ทั้งสอง ที่เสียสละเวลาอ่านและคอมเม้นท์อย่างละเอียด

อันที่หนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คอนเซ็ปต์การแบ่งรัฐแข็งรัฐอ่อนแอรวมถึงเรื่องตัวชี้วัดมันยังไม่ชัด  เป็นจุดอ่อน แต่มันเกินกว่าจะเยียวยาในตอนพิมพ์ ตรงนี้เป็นข้อวิจารณ์ที่ตรงกันระหว่างสองท่าน

เรื่องอื่น ขอตอบอ.รังสรรค์ก่อนเท่าที่จะตอบได้ อ.รังสรรค์วิจารณ์เรื่องปัจจัยภายนอกประเทศว่าฟันธงให้น้ำหนักกว่าปัจจัยภายนอกประเทศน้อยเกินไป แม้ฟังแล้วผมก็ยังยืนยันว่า ปัจจัยภายในมีอิทธิพลมากกว่า ผมอาจมีความพลาดในการเลือกตัวบ่งชี้ เช่น สำนักงานข้าว ผมพูดแบบผ่านๆ ไปจริงๆ แต่เรื่อง multiple exchange rate เหตุใดทำให้จอมพลป.ยอมรับข้อเสนอของเทคโนแครตที่จะให้เปลี่ยนเป็น single exchange rate ซึ่งมีมานานแล้ว แต่มันถูกยกเลิกวันที่ 1  ม.ค.2498 ประเด็นคือเราต้องไปดูที่ 2497 ที่มีการตกลงกัน ประเด็นที่เราเห็นร่วมกันคือ ตอนนั้นจอมพลป.เริ่ม shift นโยบายมาหา popularity มากขึ้นเนื่องจากกลุ่มซอยราชครู และสี่เสาเทเวศร์สามารถจะรัฐประหารจอมพลป.ได้ตลอดเวลา จอมพลเผ่าถึงกับเข้าไปสถานทูตอเมริกาเพื่อขอนุญาตทำรัฐประหารแต่อเมริกาไม่อนุญาติ ดังนั้น จอมพลป.รู้ ผมไม่ได้บอกว่าปัจจัยภายนอกไม่สำคัญเลย แต่ผมยังยืนยันอยู่ว่า การที่จอมพลป.รู้สึกถึงความง่อนแง่นแล้วจึงหันมาเล่นเกมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะว่าบรรยากาศการเล่มเกมประชาธิปไตยนี่แหละ จึงทำให้จอมพลป.รับนโยบายของเทคโนแครต ซึ่งนำมาซึ่งการยกเลิก multiple exchange rate  ปัจจัยหลักมันมาจากการต้องการเอาตัวรอดของจอมพลป.นั่นเอง อันที่ฟันว่าอเมริกาเป็นปัจจัยรองก็คือกลับมาที่การเซ็นสัญญา 2493 จอมพลป.ต้องการเงินช่วยเหลือโดยเฉพาะทางทหารและเศรษฐกิจเป็นของแถม ผมอาจเขียนไม่ละเอียด ผมไม่ได้บอกว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจเริ่มที่ปี 2493 แต่ผมเริ่มที่ปี 2497 สัญญาณที่ชัดเจนก็คือ การยกเลิก multiple exchange rate พ.ร.บ.อุตสาหกรรม และพ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นหนึ่งในแพ็กเกจที่ทำให้เห็นว่าจากที่จอมพลป.แต่เดิมไม่แคร์ชาวบ้านก็ต้องเปลี่ยนมาเล่นเกมเอาใจคนเลือกตั้ง แต่ผมไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมอันนั้นเป็นตัวแทนเสรีนิยม

ผมเขียนเรื่องพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนเสรีนิยม เป็นไปได้มากอย่างที่อ.รังสรรค์พูดถึงบทสนทนาของเทคโนแครตไทยกับเทคโนแครตเวิลด์แบงก์ แต่คิดว่าอิทธิพลเชิง instrumental รับอยู่แล้ว จากที่เรียนรู้จากอาจารย์ เทคโนแครตไทยใช้ต่างประเทศบีบรัฐบาลตลอดเวลาอยากได้อะไร ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ประเด็นที่ผม argue คือ ถ้าจอมพลป.ยังสามารถยืนอยู่ได้ในการเมืองแบบเดิมในยุคสามทหารเสือก่อนที่กลุ่มราชครู สฤษดิ์จะชนกันขนาดนั้น ถ้าการเมืองอันนั้นไม่เปลี่ยนจอมพลป.จะยอมเปลี่ยนนโยบายหรือเปล่า ในปี 2497 การเปลี่ยนนโยบายไม่ใช่เฉพาะการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่จอมพลป.สั่งให้รมต.ที่นั่งในตำแหน่งทางเศรษฐกิจ ตามบริษัทต่างๆ ถอนตัวออกจากตำแหน่งอันนั้น ก็เพื่อที่จะสร้างความนิยม เอาทหารออกจากธนาคาร แต่ไม่มีใครทำ รมต.ของจอมพลป.ก็นั่งต่อไป แต่ชัดเจนว่าประมาณ 2497 การแอนตี้จีน แอนตี้นักธุรกิจ ของจอมพลป.เปลี่ยนชัดเจน ซึ่งอันนี้แหละที่ฟันว่าเป็นอิทธิพลจากการเมืองภายใน เพราะผม argue ว่าในขณะที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในปี 2493 ที่เซ็นไว้มีข้อหนึ่งชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเดินตามทิศทางเศรษฐกิจเสรีนิยม และเป็นอย่างที่อาจารย์บอกว่าถูกตะวันตกตีก้นอยู่ตลอดเวลาให้เดินในทิศทางนี้ แต่ประเด็นของผมคือ timing ทำไมจอมพลป.จึงเลือกที่จะเดินตามก้นในปี 2497  ทำไมไม่ก่อนหน้านั้น เพราะไอเอ็มเอฟ อเมริกา ธนาคารโลกก็บีบมาก่อนอยู่แล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่ timing ผมอธิบาย timing นี้จากการเมืองภายใน จึงบอกว่ามันเป็นหลัก ไม่ได้เป็นรอง อันนี้เป็นการตีความที่แตกต่างกันระหว่างผมกับอาจารย์รังสรรค์

เรื่องที่ว่าชมจอมพลป.มากเกินไป จอมพลป.ไม่รู้เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ผมเขียนไปก่อนหน้านั้นไม่ใช่หรือว่ากรณีการขึ้นค่าเงินปอนด์ การลาออกหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ลาออก ผมก็เขียน แล้วก็ยังเขียนเรื่องพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ ที่ลาออก กรณีที่ป๋วย ถูกกดดันให้ลาออก ผมก็เขียน จะบอกว่าผมชมจอมพลป.หรือ ผมก็ด่าจอมพลป.ไม่ใช่หรือ

ตัวอย่างเรื่อง multiple exchange rate ผมใช้กรณีนี้เพื่อเป็นหมุดหมายว่าเป็นครั้งแรกที่เทคโนแครตประสบความสำเร็จทางนโยบาย ไม่ใช่จอมพลสฤษดิ์เท่านั้นที่เทคโนแครตได้รับการยอมรับ ความสำเร็จของเทคโนแครตมันเริ่มต้นตั้งแต่ปลายยุคจอมพลป. แล้ว พร้อมๆ กับที่ป.ปรับทิศทางสู่การหันมาเล่นเกมประชาธิปไตย ผมใช้เรื่องนี้แม้จะอ่อนด้อยในประเด็นอื่นเช่นไม่ได้ลงรายละเอียดว่านักการเมืองหากินกับมันยังไง แต่ผมใช้มันเป็นแค่หมุดหมายของอิทธิพลเชิงนโยบายของตัวละครใหม่ทางเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้นแล้วนะ ในกรณีนี้คือเทคโนแครต ไม่ได้เกิดพร้อมกับยุคสฤษดิ์ แต่เกิดก่อนแล้ว

ประเด็นเรื่อง หน่ออ่อน ในฟุตโน้ตที่อาจาย์อ่านก็ชัดเจน ผมเห็นว่าภาพหลักของจอมพลป.ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เขียนชัดแล้วไม่ใช่หรือ ผมยอมรับว่าจอมพลป.ไม่ใช่ผู้ที่เป็นนักพัฒนาประเทศ ในความหมายของการก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเด็นหลักก็ยังเป็นยุคของทุนนิยมข้าราชการอยู่ ยังแอนตี้ธุรกิจอยู่ แต่ผมเสนอ fact ที่ตามมาหลังจากนั้นว่ามีอีกด้านหนึ่งที่เราหลงลืมไป เช่น การจัดตั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดตั้ง กสว. คณะกรรมการวางผังเศรษฐกิจ หรือหน่ออ่อนของสภาพัฒน์ ในยุคจอมพลป. รับทุนการรับความช่วยเหลือจากอเมริกาในปี 2493 ทำให้รัฐบาลไทยส่งนักเรียนจำนวนมากไปเรียนต่อ และนักเรียนที่ไปเรียนต่อในยุคจอมพลป. กลับมาทันใช้พอดีในยุคจอมพลสฤษดิ์ ในการพัฒนาประเทศ ผมใช้ว่าเป็นหน่ออ่อนในความหมายแบบนี้

ในยุคนี้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว เริ่มในยุคจอมพลป.แล้วมาออกดอกผลในยุคสฤษดิ์ ระบบบัญชีของกรมบัญชีกลาง มีการเอา GIS  กลับมาปรับระบบ ผมพูดในความหมายนี้

สันนิษฐานต่อเทคโนแครต เรื่องความซื่อสัตย์ คือ ภาพลักษณ์ความเป็นอนุรักษ์นิยมทางการเมืองของแบงก์ชาติเราเห็นร่วมกันอยู่ ผมเลยสงสัยว่าการที่เปิดเสรีในปี 2532 ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมเสื่อมไปได้อย่างไร ผมอธิบายว่าเป็นเกี่ยวกับโครงสร้างแรงจูงใจของพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศมันปรับไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น ที่บอกว่าผู้ว่าแบงก์ชาติมีอำนาจมาก มีอำนาจเผด็จการได้ในธปท. แต่ขณะเดียวกันก็สามารถถูกปลดได้ทุกเมื่อจากรมว.คลัง ตรงนี้ผมอธิบายว่ามันทำให้โครงสร้างทางอำนาจไม่เปลี่ยน แต่การเมืองข้างนอกเปลี่ยน มันจึงเปลี่ยนพฤติกรรมของเทคโนแครต จากการที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยมไปสู่การที่เปิดเสรีโดยมีความระมัดระวังน้อยลง

อันนี้อาจเป็นจุดบอดโดยไม่รู้ตัว คำว่าซื่อสัตย์ ผมพูดในความหมายการสั่งสมชื่อเสียงของแบงก์ชาติผ่านตัวบุคคล ตั้งแต่การลาออกของผู้ว่าเก่าๆ ภาพพจน์ความซื่อสัตย์เหล่านี้จึงได้รับการชื่นชมจากสาธารณะ กลายเป็นเกราะที่มาป้องกัน ให้แบงก์ชาติมีอิทธิพลทางนโยบาย

 

(ช่วงถามตอบ กรุณาดูในคลิปตอนที่ 3 นาทีที่ 18 เป็นต้นไป)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิธิ เอียวศรีวงศ์

0
0

"..สังคมไทยจะต้องเรียนรู้เสียทีว่า ที่เรียกว่าความรู้นั้นที่จริงก็คือความเห็น ไม่ได้มีอะไรต่างกัน ดังนั้น การศึกษาเล่าเรียน คือการทำความเข้าใจความเห็นของคนอื่นอย่างถึงแก่น แล้วพยายามมองหาจุดแข็ง จุดอ่อนของความเห็นนั้น โดยไม่เกี่ยวว่าความเห็นนั้นเป็นของคนที่ได้รับยกย่องให้เป็นปราชญ์หรือไม่ เป็น "บิดา" ของวิชาโน้นวิชานี้หรือไม่ หรือสวมเสื้อสีอะไร.."

22 ก.ย. 57 ใน อวสานของนักวิชาการ

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

0
0

“ปี๊บถือเป็นจุดริเริ่มที่ดีที่ทำให้แวดวงนักวิชาการมหาวิทยาลัยผู้ชอบเข้าไปมีบทบาทพัฒนาประเทศร่วมกับคณะรัฐประหารได้ตระหนักว่าแท้จริงแล้วตนไม่ได้มีความชอบธรรมมากไปกว่านักการเมืองและควรนำเวลาที่ควบตำแหน่งไปรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ทางการศึกษาทำให้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยกระเตื้องขึ้นมาจะดีกว่า”

22 ก.ย.57 อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการปิดกั้นการจัดงานเสวนาทางวิชาการ

ประยุทธ์ย้ำห้ามนักวิชาการพูดการเมือง แนะสอนค่านิยม 12 ประการ

0
0

23 ก.ย.2557  พ.อ. วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ได้ขอความร่วมมือให้กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเนื่องจาก ในช่วงนี้มีหลายฝ่ายกังวล เกรงว่าบางกิจกรรมสามารถถูกนำไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการพิจารณาด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้ก็เพื่อบรรยากาศในเชิงบวก สอดคล้องแนวทางความสงบเรียบร้อย รวมถึงเจ้าหน้าที่จำป็นต้องขอทราบในรายละเอียดของประเด็นเนื้อหา รวมถึงรายละเอียดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ชัดเจน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อให้กิจกรรมนั้นๆ มีความเรียบร้อย เสริมบรรยากาศการพัฒนาที่ดี และต้องคอยระมัดระวังไม่ให้บางบุคคลแฝงเข้ามาเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ ที่อาจขัดแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาพรวม

สำหรับกรณีที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลรายละเอียดกิจกรรม รวมถึงได้พูดคุยทำความเข้าใจถึงแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งทางกลุ่มมีความประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงเวลานี้ว่าควรมีขั้นตอนอย่างไร เช่น อาจต้องมีการกำหนดรายละเอียดรูปแบบเนื้อหาที่ชัดเจน มาตรการป้องกันมีการแอบแฝงออกนอกประเด็นผิดไปจากเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ การแลกเปลี่ยนความเห็นควรเน้นเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การแก้ไขหรือพัฒนาสังคม ไม่ใช่นำไปสู่ความโกรธแค้น หรือเกลียดชังกัน รวมทั้งขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการว่ากล่าวให้ร้าย หรือกล่าวพาดพึงบุคคลอื่น เป็นต้น

"ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปิดกั้นหรือคุกคามเสรีภาพทางวิชาการใดๆ กรณีเสนอแนะ หรือสะท้อนปัญหาสามารถดำเนินการได้ในช่องทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่อยากให้นำกรณีดังกล่าวไปแปลงเจตนา คสช. คลาดเคลื่อนไป" พ.อ.วินธัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมโฆษก คสช. กล่าวต่อว่า ขอเรียนอีกครั้งว่าในช่วงเวลาแห่งการแก้ไขปัญหา เดินหน้าปฏิรูปประเทศ และสร้างความปรองดองความรักสามัคคีของคนในชาติ ตามโรดแม็ป ระยะที่ 2 และ 3 นี้ ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.ต้องขอความร่วมมือจากทุกส่วน ในการละเว้น ชะลอการจัดกิจกรรมใดๆ ในเชิงการเมือง ที่หมิ่นเหม่ ล่อแหลมต่อการสร้างปมขัดแย้งและอาจทำให้เกิดความอ่อนไหวต่อการรับรู้ของสังคม ส่งผลให้สถานการณ์ของประเทศไม่นิ่ง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาประเทศในภาพรวม

ทั้งนี้ที่ผ่านมา คสช.ต้องขอขอบคุณสถาบัน องค์กร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานการเมือง อาทิ พรรคการเมือง ผู้ทำงานการเมืองภาคประชาชน องค์กรเอกชนต่างๆ ภาคประชาชนและนักวิชาการส่วนใหญ่ ที่เข้าใจในสถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ และเข้าใจในเจตนาของ คสช. โดยไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองตามที่ คสช. ขอความร่วมมือ ถือว่าเป็นการให้โอกาส คสช.ได้ทำงานตามที่ได้ประกาศให้ประชาชนรับทราบ จึงหวังว่าทุกภาคส่วนจะได้ให้โอกาส คสช.เช่นกัน ทั้งนี้หากภาควิชาการจะมีข้อเสนอแนะเชิงวิชาการต่อการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนประเทศ ก็น่าจะเรื่องที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของประเทศในขณะนี้

ขอไม่สัมมนาเรื่องการเมือง

วันเดียวกัน เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นักวิชาการ 60 คน ล่าชื่อออกมาเรียกร้องให้เปิดเวทีการแสดงความคิดได้ว่า เราไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น จะจัดเสวนาอะไรก็ให้ขอมา แต่ไม่ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ส่วนที่มีเสียงบ่นว่าหากไม่ให้พูดดังกล่าว แล้วจะสอนอะไรนั้น ตนมองว่ามีเรื่องให้สอนจำนวนมาก อย่างเรื่องค่านิยม 12 ประการ

"อยากถามว่าระหว่างที่ให้ คสช.เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ ในการปราบปรามการทุจริต ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า หรือจะเลือกการแสดงความคิดเห็น" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์



ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์และ เดลินิวส์ออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ อาลี กับเหตุผลของปี๊บ ที่มีมากกว่า “งั่ง”

0
0

หลังจากเกิดสภาวะปี๊บระบาด เริ่มต้นด้วย "ปี๊บมหิดล” ล่าสุดเชื้อแพร่กระจายมาถึง "ปี๊บธรรมศาสตร์” และไล่ลามขึ้นภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการจัดเสวนาเสรีภาพทางวิชาการ โดยชื่อหัวข้อว่า “ปี๊บ”  ดูเหมือน ว่า “ปี๊บ” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ถูกหยิบจับเอามาใช้ในการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย

ประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์วิโรจน์  อาลี ถึงเหตุผลของของการคลุมปี๊บ จุดยืนต่อเสรีภาพทางวิชาการ และทัศนะคติจุดมุ่งหมายของการเป็นมหาวิทยาลัย และดูเหมือนจะมีเหตุผลที่สำคัญ และมีอะไรมีมากไปกว่า "งั่ง"

“ผมผิดหวังกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้มากผมสมควร
แล้วมันก็กลับมาทำให้ผมตั้งคำถามถึง ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งมันเป็นพื้นที่ของการใช้เหตุใช้ผล พื้นที่ของการให้ความรู้ และมันพื้นที่ที่จะให้เราโต้เถียงกันได้
แก้ไขความขัดแย้งกันด้วยหลักการที่วางอยู่บนเหตุและผล
ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกเขาให้ความสำคัญที่จะรักษาสภาวะศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เอาไว้”

 

ประชาไท:  สาเหตุของการคลุมปี๊บครั้งนี้คืออะไรครับ

วิโรจน์:คืออย่างนี้ครับ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ผมก็รออยู่ว่าทางผู้บริหารจะออกมาแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง ต่อประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ แต่ที่นี้คือตอบที่ได้จากท่านอาจารย์สมคิดก็คือ ผมโดนว่าจากทุกทาง นักศึกษาอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ก็ว่าผม ที่สนช. ทหารก็ว่าผมทำไมไม่จัดการดูแลเรื่องนี้ให้ดี อะไรทำนองนี้ พอผมได้ฟังคอมเม้นตอนนั้นผมก็รู้สึกหงุดหงิดน่ะ ผมก็เลยโพสต์ลงไปในเฟซบุ๊กว่าใครมีปี๊บเอามาให้ผมด้วย  แล้วนักศึกษาเขาก็เอามาให้จริงๆ (หัวเราะ) ผมก็เอามาสวม ซึ่งก็ถึงว่าเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหว อารยะขัดขืนแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงว่าผมผิดหวังกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในเรื่องนี้มากผมสมควร แล้วมันก็กลับมาทำให้ผมตั้งคำถามถึง ความสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมันเป็นพื้นที่ของการใช้เหตุใช้ผล พื้นที่ของการให้ความรู้ และมันพื้นที่ที่จะให้เราโต้เถียงกันได้ แก้ไขความขัดแย้งกันด้วยหลักการที่วางอยู่บนเหตุและผล ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกเขาให้ความสำคัญที่จะรักษาสภาวะศักดิ์สิทธิ์ตรงนี้เอาไว้  แต่ที่นี่ผมกลับรู้สึกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับไม่ได้มีจุดยืนที่จะปกป้องเรื่องนี้เลย การพูดออกมาของท่านอาจารย์สมคิดก็คือการสับสนในจุดยืนของตัวเองว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่ของการให้ความรู้ หรือต้องรักษาไว้ซึ่งตำแหน่ง หรือบทบาทของตัวเองในฐานะสมาชิก สนช.

ประชาไท: แล้วสิ่งที่ต้องการบอกกับผู้บริหารในครั้งนี้คืออะไรครับ

วิโรจน์:  ก็อยากให้ท่านอาจารย์ แถลงจุดยืนที่ชัดเจนมานิดหนึ่ง หรือถ้าเลือกได้ ก็อยากให้ท่านตัดสินใจเอาว่าท่านจะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปในฐานะที่เราเลือกท่าน ก็คือว่าอาจารย์สมคิดการมาจากการเลือกตั้งนะครับ แม้จะมีกระบวนการสรรหาแต่เราก็ได้มีการลงเสียงให้ท่าน แล้วเราก็คาดหวังว่าท่านจะบริหารและรักษาคุณค่าของมหาวิทยาลัยไว้ด้วย แต่ถ้าท่านไม่มีจุดยืนในเรื่องนี้ เราก็อยากให้ท่านตัดสินใจเอา ถ้ามันเป็นผลประโยชน์มากกว่าที่ท่านจะทำได้กับการเข้าไปอยู่กับสนช. ก็ให้ท่านตัดสินใจเอาว่าจะอยู่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่อไป หรือจะเข้าไปทำงานแบบ Full time

ประชาไท : อาจารย์คิดว่าอย่างไร เพราะในขณะเดียวกัน มีงานเสวนาวิชาการซึ่งเรื่องการเมืองอยู่ด้วยกลับสามารถจัดได้ แต่ห้องเรียนประชาธิปไตย หรืองานเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลับถูกยกเลิก

วิโรจน์ : ผมว่าอันนี้เป็นประเด็นของขีดจำกัด ของเส้นที่พยายามจะขีดขึ้นมาว่าอะไรเป็นการเมือง อะไรไม่เป็นการเมือง ผมคิดว่าอันนี้มันยังไม่มีความชัดเจน เมื่อมันยังไม่มีความชัดเจน  ทางฝ่ายนักศึกษาก็คิดว่ามันไม่ใช่การเมืองเท่าไหร่ มันเป็น approach แบบวิชาการล้วนๆ  แต่ทางฝ่ายผู้มีอำนาจอาจจะไม่ถูกใจ ฝ่ายที่ดูแลเรื่องความมั่นคงอยู่อะไรทำนองนั้น  ในส่วนนี้เราก็คิดว่าต้องการความชัดเจนด้วย อะไรที่ท่านคิดว่าเป็นการเมือง อะไรที่คิดว่าจัดได้จัดไม่ได้  ควรจะมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นด้วย

ประชาไท: ถ้าพูดแบบนี้ได้ไหมว่า งานเสวนาส่วนมากที่สามารถจัดได้แล้วมีการแตะประเด็นทางการเมือง ส่วนมากจะมีลักษณะที่เป็นไปในทางเดียวกับคสช.หรือเปล่าครับ

วิโรจน์:ผมก็คิดว่าอย่างนั้น ถ้าไม่โน้มเอียงไปทางคสช. ก็ต้องหลุดประเด็นออกไปเลย คือไม่มีการพูดถึงคสช.เลย ซึ่งนั้นผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เค้าต้องการ ส่วนตัวเราก็คิดการกระทำในลักษณะนี้ คือมันกำลังทำให้พลังของมหาวิทยาลัย แวดวงความรู้ หรือคำอธิบาย การทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ มันไม่สามารถทำงานได้ เป็นแบบนี้ต่อไปมันก็เหนื่อยเหมือนกัน

ประชาไท: แล้วอย่างนี้พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือใครก็ตาม เรายังพอจะมีพื้นที่แบบนี้อยู่หรือไม่

วิโรจน์:  คือผมคิดว่า มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นปราการด้านสุดท้าย  ซึ่งผมก็คาดหวังว่ามันจะเป็นพื้นที่ที่เราจะใช้เหตุผล ใช้มุมมองทางวิชาการตอบคำถามที่เป็นข้อสงสัยต่อสังคม หรืออธิบายปรากฏการณ์อะไรบางอย่างในสังคมอะไรทำนองนี้ ก็คือถ้าดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์รังสิต ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามหาวิทยาลัย ไม่มีพื้นที่ตรงนั้นอยู่แล้วก็ได้

ประชาไท: ถ้าเป็นอย่างนั้น นี่คือบรรทัดฐานใหม่ ของเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้การควบคุมของคสช. เลยหรือไม่

วิโรจน์:อาจจะไม่ถึงขนาดนั้นนะ เราก็ตอบไม่ได้ว่าสภาวะแบบนี้มันจะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ คือทุกครั้งทางเจ้าหน้าที่เขาก็พยายามอธิบายว่าช่วงนี้ขอความร่วมมือก่อน  แต่มันก็ไม่น่าจะถาวรในความรู้สึกของผม แต่ประเด็นคือมันจะเปิดเมื่อไหร่ มันหยุดได้ไหมเรื่องประเด็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ ซึ่งสำหรับผมมันหยุดไม่ได้ไง เพราะถ้าหยุดพื้นที่ตรงนี้ไป มหาวิทยาลัยมันก็ไม่มีประโยชน์   ห้องเรียนมันก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่สามารถจัดเสวนาให้ทุกคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมันก็ไม่ได้มีอะไร ทุกคนก็อาจจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ซึ่งก็อาจจะมีการตั้งคำถาม มีการแสดงความคิดเห็นนิดหน่อยแล้วทุกคนก็กลับบ้านน่ะ (หัวเราะ)  ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราควรจะรักษาไว้ เพราะผลกระทบในทางการเมือง ในแง่ของความมั่นคงมันแทบจะไม่มีเลย น้อยมาก

000

ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังคงยืนยันถึงจุดยืน และคุณค่าของการเป็นมหาวิทยาลัย อันเป็นสถานที่ของการใช้เหตุผล ให้ความรู้กับสังคม และควรจะเป็นพื้นที่ที่ควรจะรักษาไว้  พร้อมทั้งตั้งคำถามไปยังคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าจุดยืนต่อการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยของพวกท่านคืออะไร ซึ่งนี่คงเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ ถึงที่มาที่ไป เรื่องของการคลุมปี๊บได้ดีพอสมควร

ปกติเราคลุมปี๊บเพราะความอับอาย แต่วันนี้เราคลุมปี๊บเพราะเราต้องการต่อสู้อย่างสันติ ส่วนเรื่อง ใครจะ “’งั่ง” หรือไม่คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านตัดสินเอาเอง อย่างน้อยๆ ก็ด้วยเสรีภาพทางความคิดของท่าน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม" ประยุทธ์ตอบหลังนักข่าวถาม จะเป็นนายกฯจากรัฐประหารเท่านั้นหรือ

0
0

ประยุทธ์ระบุ 4 เดือนรัฐประหาร ประชาชนมีความสุขขึ้น แต่ คสช.-ครม.มีความทุกข์ เพราะมีปัญหาต้องแก้จำนวนมาก ปัด ไม่คิดเป็นนายกฯเลือกตั้ง


23 ก.ย.2557 เว็บไซต์ นสพ.เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม. ถึงภาพรวมตลอด 4 เดือนหลังมีการยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. จนถึงปัจจุบัน ว่า รู้สึกว่าประชาชนมีความสุขมากขึ้น แต่ คสช. และครม.มีความทุกข์ เพราะมีปัญหาต่างๆ ให้ต้องแก้มากมาย และการทำงานต้องโปร่งใส กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และต้องเดินหน้าทำงานต่อไป สำหรับมุมมองของต่างประเทศนั้น ขณะนี้เขามองว่าสถานการณ์บ้านเราดีขึ้น ติดอย่างเดียวว่าเราไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

สำหรับรายชื่อการสรรหา สปช.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ส่งรายชื่อผู้ที่คณะกรรมการสรรหาฯ เลือกไว้ 550 คน มาแล้ว ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่องการล็อกสเปกนั้น ตนไม่รู้เลยว่าจะมีการล็อกสเปกได้อย่างไร เพราะรายชื่อแต่ละคน ตนเองไม่รู้จักเลย

ผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีเชื่อมีหมอดูหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า หมอดูพูดอะไรไว้ก็ต้องฟัง การฟังหมอดูไว้ไม่เสียหายอะไร แต่ต้องดูว่าฟังอย่างไร หากหมอดูบอกว่าจะเป็นนายกฯ แล้วไม่ทำความดี ก็จะเป็นได้อย่างไร ฟังไว้ แต่อย่าไปงมงาย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว พร้อมแซวผู้สื่อข่าวกลับว่า หมอดูเตือนไว้อย่างเดียวว่าจะมีอุบัติเหตุ คือการปะทะกับนักข่าว เมื่อผู้พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเข้ามาช่วยคงไม่ใช่มาพีอาร์ แต่อาจจะเป็นการเข้ามาช่วยเรื่องการกุศล ซึ่งภรรยาของตนไม่อยากทำให้ตนเสียหาย แต่หากเป็นเรื่องการกุศลอาจจะต้องไปขอร้องให้มาช่วย เพราะขณะนี้ก็ทำงานอยู่ในหลายสมาคม

เมื่อถามว่าคิดจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ส่ายหน้า พร้อมกับบอกว่า ไม่ คิดว่าชะตาของบ้านเมือง มีอยู่แล้ว พระสยามเทวาธิราชเห็นอยู่ เมื่อถามอีกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารเท่านั้นหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า "เดี๋ยวทุ่มด้วยโพเดี้ยม" จากนั้นเดินเข้าห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าทันที

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live