Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ถอดเล่น “ประชาธิปไตย” ในรัฑโรแมนติก

$
0
0


 

หมายเหตุ ผู้เขียนต้องการแนะนำเบื้องต้นให้ผู้อ่านรู้จักการความพลิ้วไหวในภาษาที่ผูกโยงเข้ากับอำนาจ ตามข้อเสนอของนักคิดสำคัญหลายคน ที่เป็นผลให้เกิดขบวนการเสรีประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ


เกริ่นนำ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 วิชาภาษาไทย ในส่วนของตัวชี้วัดช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระบุว่า นักเรียนสามารถ “อธิบายธรรมชาติของภาษา พลังของภาษา และลักษณะของภาษา รวมถึง วิเคราะห์หลักการสร้างคำในภาษาไทย”[1] ได้อย่างถูกต้อง แต่เรื่องของ “ภาษา” ในศตวรรษที่ 21 นอกจากเป็นเรื่องของการวิเคราะห์โครงสร้างและศาสตร์แห่งการตีความแล้ว (Analytic & Hermeneutic) ยังต้องรวมถึง “ภาษา” ในฐานะ “วัตถุคิด” (object) สำหรับนักคิดหลังโครงสร้างอีกด้วย ซึ่งผลจากความสร้างสรรค์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากมากมาย เช่น ถ้าเราจะอ่านคำว่า “ประชาธิปไตย” (ในบทบาทรูปสัญญะ-Signifier) เสียงอ่านนี้จะนำผู้อ่านไปสู่ความคิดเกี่ยวกับคำว่า ประชาธิปไตย (ในบทบาทความหมายสัญญะ-Signified) ได้อย่างถูกต้องแม่นตรงหรือไม่?  เพราะปัญหาคืออะไรคือความหมายที่ถูกต้องแม่นตรง? ถ้าเราจะจัดการถกเถียงอภิปรายในเรื่องนี้ เราจะได้มาซึ่งความหมายที่ถูกต้องหรือไม่?  ถ้าเราขุดคุ้ยลึกไปกว่านั้น ตกลงคำว่า “ประชาธิปไตย” มีกี่ความหมาย สมมติว่าเราจะทดลองเล่นคำ (play) แบบเด็กซนด้วยการรื้อค้นคำว่า “ประชา”, “อธิปัตย์”, “อธิปไตย” จะช่วยให้เราเห็นความไม่ตายตัวของความหมายที่ซ่อนอยู่ได้หรือไม่ แม้แต่การทำให้พยัญชนะกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะทำให้เราได้อะไร? ซึ่งภาวะยุ่งเหยิงและดูน่าสับสนนี้ (undecidability) กลับเป็นวิถีทางหนึ่งที่ช่วยเปิดเปลือยให้เราสร้างตัวบทหรือความหมายขึ้นใหม่ (Reconstruct) เพราะ “ผู้อ่านทุกคนย่อมเป็นผู้สร้างตัวบทของตัวเอง” [2] ดังนั้น เมื่อเราอ่าน “ประชาธิปไตย” เราย่อมสร้างความหมายของประชาธิปไตยได้เสมอ แต่ “เสรีภาพในการสร้างสรรค์ความหมาย” มักขัดกับค่านิยมและกฎเกณฑ์ที่ฝังรากลงไปในระดับจิตใต้สำนึก เราอาจอ่อนแอมากพอที่จะพ่ายแพ้ และสมัครใจที่จะไม่สร้างอะไรขบถขึ้นมาอีกเลย ถ้าเราถูกครอบงำในรัฑที่ความหมายมีการหมุดความหมายให้ตรึงแน่น มากจนกระทั่ง ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงความหมายใดๆ แล้ว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดอะไรที่เป็นผลร้ายได้บ้าง? ที่แน่ๆ การห้ามลักษณะนี้เป็นปัญหากับการตีความประชาธิปไตยในยุคหลังๆ ของระบบความคิดทางปรัชญา เพราะปัญหาได้แสดงตัวตนผ่านประวัติศาสตร์ไปแล้ว


ถ้าการสร้างความหมายใหม่เป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึก?

นั่นอาจเพราะเราเชื่อว่าเราจะเข้าถึง “ความหมายบริสุทธิ์” นั่นคือ สักวันหนึ่งเราจะเข้าถึงความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมต่างๆ คำพูดนี้หมายถึง ผู้คิดเช่นนั้นเชื่อว่า ความหมายบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้คิดยังหาไม่เจอ ซึ่งหลายคนอาจเชื่ออย่างจริงจังอีกว่า สักวันหนึ่งเราจะได้พบกับ “ความรู้แจ้งที่ปราศจากมายาคติ” นั่นเองทำให้นึกถึงคำพูดของ Descombes ที่ว่า “ที่สุดของมายาคติ คือ คิดว่ามีความรู้ที่ปราศจากมายาคติ”[3] นั่นคือเรากำลังเชื่อว่ามีสิ่งที่คงที่แน่นอน เป็นโครงสร้าง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เลื่อนไหล ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้เท่านั้น และไม่อาจเป็นแบบอื่นได้ ซึ่งการสร้างความหมายใหม่ก็จะทำให้ขัดต่อความรู้สึก เป็นลักษณะที่ขบถ เป็นการเข้าปะทะกับอำนาจวาทกรรม หรือเรื่องเล่ากระแสหลักที่ผลิตซ้ำคำว่า "ประชาธิปไตย” ที่จริงเรารู้สึกฝืน เพราะเรากลัว


ทรราชและบรรดาสมุนแห่งโลกอุดมคติ?

ในหนังสือ Mythologies นักคิดอย่าง Barthes ใช้คำว่า ทรราชแห่งโลกอุดมคติ (The tyranny of an ideal)[4] เพื่อสรุปการอธิบายหัวข้อ “ภาพผู้สมัครกับการหาเสียง” โดย  Barthes อธิบายว่า ภาพถ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นการแบล็กเมล์คุณค่าและศีลธรรม [5] คือ การกดบังคับให้ผู้เห็นภาพจำต้องรับการผลิตซ้ำค่านิยมผ่านรูปภาพ เป็นต้นว่า การยัดเยียด ความเป็นชาติ กองทัพ เกียรติยศ และความเป็นวีรบุรุษ นั่นจะเป็นการลวงหลอกให้ผู้รับชมการโฆษณาถูกทำให้เคลิบเคลิ้มไปต่างๆนานา เช่น  ความเข้าใจผิดที่ว่าบุคคลในภาพจะเป็นผู้เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะท่าทีที่มุ่งมั่นและภาพลักษณ์ที่มั่นคงเด็ดขาด ซึ่งที่จริงก็เป็นเพียงเรื่องของช่างภาพเท่านั้น หมายความว่า เราอาจสยบยอมต่อพลังแห่งการโฆษณาก็เป็นได้โดยไม่รู้ตัว บางที เราอาจกำลังกลัว “เสือ” ทั้งที่เราเองก็ไม่ใช่ “วัว” เพราะสิ่งที่ภาพเหล่านั้นสื่อออกมา ก็เป็นแต่สิ่งที่อุดมคติทั้งสิ้น นั่นคือ ภาพไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำจริง เช่น ภาพลักษณ์“ใจซื่อมือสะอาด” แต่พฤติกรรมกลับสวนทางกัน นี่เอง คือ การลวงหลอกด้วยมายา (illusion) ทำให้เกิดมายาคติ (Myth) เช่น การสร้างภาพลักษณ์นักประชาธิปไตย ทั้งที่พฤติกรรมจริงกลับตรงกันข้าม และหลายคนก็พร้อมที่จะเชื่อการโฆษนานั้น เมื่ออำนาจได้สถาปนาวาทกรรมซึ่งอำพรางไว้ภายใต้ภาพลักษณ์ดีงามอย่างมั่นคงเช่นนี้ ความน่าสะพรึงกลัวย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าใครสักคนบังอาจอภิปรายว่า ภาพลักษณ์นั้นเป็นสิ่งถูกสร้าง ไม่ใช่ความเป็นจริง เพราะทรราชเหล่านี้ย่อมมีสาวกหรือลูกสมุนมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพวกโหยหาโลกในอุดมคติทั้งสิ้น


ประชาธิปไตยในอุดมคติ ? อุตมรัฐ?

เป็นอะไรที่น่าพิจารณา เพราะเรายอมรับหรือยังว่า ประชาธิปไตยในอุดมคติ หรือ อุตมรัฐ เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ หรือเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นหรือไม่  โดยไม่คิดแบบโรแมนติก ประวัติศาสตร์โลกยังไม่เคยมีประชาธิปไตยหรือการปกครองใดๆ ที่สมบูรณ์ขนาดนั้น เนื่องจาก ชุดความหมายที่จะถูกหยิบไปใช้ถูกเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆตามบริบทของเหตุการณ์เฉพาะหน้า ดังนั้น ทุกๆสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงเสมอไม่หยุดนิ่งและไม่ตายตัว เริ่มจากในระดับความหมาย (becoming) ซึ่งแต่เดิมเราพยายามเข้าใจความหมายในลักษณะที่ว่ามันคืออะไร (being) แต่บัดนี้ หลายคนเสนอว่า เป็นไปไม่ได้ที่ความหมายจะหยุดนิ่งตายตัว มันจะพลิกไปอย่างไรก็ได้ ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอนถ้าคนกลุ่มหนึ่งมีชุดความคิดที่โหยหาอุตมรัฐ คิดว่าเมื่อจัดการปีศาจร้ายตัวนี้แล้ว โลกจะพ้นจากความชั่วร้าย วิธีคิดแบบนี้นอกจากไม่เข้าใจ การเลื่อนไหลของคำว่า “อุตมรัฐ” ตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว ยังผูกขาดการตีความไว้กับความหมายที่แน่นอนตายตัว พูดให้ชัดคือต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นเป็นแบบอื่นไม่ได้ แล้วเช่นนี้จะเกิดความแตกต่างหลากหลายอันเป็นที่มาของประชาธิปไตยได้อย่างไร เห็นได้ชัดว่า เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง และน่าแปลกว่าในบางรัฑโรแมนติกเราพบลักษณาการเช่นนี้ในหลายสำนักคิด


ประชาธิปไตยคำใหญ่ที่ถูกผลิตซ้ำและยัดเยียดความหมาย

คำใหญ่ (Big word) สะท้อนให้เห็นลักษณะที่ใหญ่แต่กลวง เป็นลักษณะที่ผูกขาดความหมายใหญ่ที่ตนคิดว่าถูกต้องที่สุดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายโดยใครก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นคำใหญ่ที่ถูกผลิตซ้ำในบางรัฑที่ไม่มีประชาธิปไตย บางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตย=การเลือกตั้งระบบตัวแทน บางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตย ต้องไม่มีลักษณะอย่างคอมมิวนิสต์ หรือบางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตยต้องไม่มีการโกงกิน ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียม แต่ปัญหาคือ ในทุกครั้งที่ “ประชาธิปไตย” ถูกใช้ในลักษณะของการรับใช้อำนาจนักปกครอง การให้ความหมายดังกล่าวเคยบริสุทธิ์หรือไม่? คำตอบคือ ไม่เคยมีความบริสุทธิ์อยู่แท้จริง (หลายคนเปรียบเปรยว่า ถ้าอยากบริสุทธิ์ขนาดที่ว่าต้องไปนิพพาน ซึ่งก็เห็นจะจริง) ดูเหมือนว่าวิธีคิดแบบตัดสินอะไรไม่ได้เลย (undecidability) จะชวนให้เกิดความหงุดหงิด แต่ความพยายามที่จะตัดสินให้น้อยที่สุดจะช่วยเปิดหนทางแห่งความเป็นไปได้ ดังนั้น ถ้าเราให้ความหลากหลายมีมากพอในรัฑ มันก็อาจจะเบียดแทรกอำนาจผูกขาดให้ถอยกำลังลงได้ แต่ต้องเป็นตัวเราเองที่ย้อนกลับเข้ามาพิจารณาตัวบท มิใช่เพื่อเข้าใจความหมายของตัวบท (แบบที่ชอบหล่อหลอมกันเรื่องอ่านเอาความ) แต่เพื่อสร้างตัวบทขึ้นใหม่ หรือแสวงหากลวิธีในการเปิดเผยอีกด้านหนึ่งของตัวบทที่ Derrida เรียกวิธีนี้ว่า “การทำให้ความหมายเลื่อนไหล” ถ้าคุณให้ทุกอย่างมันเลื่อนไหล มันก็จะไม่มีคำใหญ่ และเมื่อไม่มีคำใหญ่ การอ้างถึงย่อมน้อยลง ในเมื่อทุกสิ่งแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและถูกอ้างอย่างสุ่ม การอ้างคำใหญ่เพื่อกดบังคับผู้อื่นก็ไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป หากแต่ว่า วิธีการเช่นนี้ใช้ความรับผิดชอบตัวเองอย่างมาก นั่นเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บางรัฑอ้างว่า ประชาชนไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเองแบบนี้ ทั้งที่การรับผิดชอบนั้น คือ การรับทั้งผิดและชอบ นั่นคือ การลองผิดลองถูกอย่างเป็นพลวัตด้วยการเรียนรู้จักความเปลี่ยนแปลงด้วยการเผชิญหน้า (En-counter)


ถอดเล่น “ประชาธิปไตย” ในบางรัฑ

Democracy-Dēmokratía-Dêmos/Kratos ถูกแปลเป็นคำว่า “ประชาธิปไตย” มีนักคิดเสนอว่าถูกแปลใช้และปรากฎอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 / 9 พฤษภาคม 2489 [6] ซึ่งมาจากคำว่า ประชา สมาสแบบสนธิกับคำว่า อธิปไตย (คำนี้ถูกใช้ขึ้นก่อนในปี 2475) คำนี้ในภาษาปาลีบ่งนัยถึงความเป็น “อธิปัตย์” (sovereignty) คือ ภาวะความใหญ่ยิ่ง (อธิปตฺเตยฺย= อธิปติ + เณยฺย) เริ่มต้นการแปลคำนี้ ก็เป็นว่า “อำนาจใหญ่ยิ่ง” ซึ่งในขณะที่สถาปนาอำนาจใหญ่ยิ่งดังกล่าวนี้ ยังไม่มี “ประชา” เข้ามาเกี่ยวข้องบัญญัติ (ราว 14 ปีที่ประชายังไม่มีตัวตนทางนิตินัย)  เมื่อเป็นแบบนี้ “อำนาจ” (Kratos) มาก่อนประชา (Demos) และเป็นพวกเราก็ใช้คำว่า “อำนาจ” (Power) ดังกล่าว เราสังเกตการณ์ผลิตซ้ำจากสื่อที่บ่งบอกผ่านสัญญะว่า “อำนาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นอภิสิทธิ์ชน” ซึ่งนักคิดบางคน เช่น Foucault ได้กล่าวย้ำในทำนองว่า อำนาจเกิดจากการสถาปนาวาทกรรมครอบงำขึ้นมา และทำให้ประชาชนเชื่องภายใต้การกล่อมเกลานั้น มาถึงจุดนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมทุกอย่างจึงอยู่ในวังวนของอำนาจ เพราะที่จริงเป็นวังวนของการครองอำนาจ นั่นคือ บัลลังก์ต้องไม่ว่างเว้นจากผู้ปกครอง ในขณะที่นักคิดอย่าง Derrida เสนอว่า เป็นไปไม่ได้หรือที่พวกเราจะพยายามให้บัลลังก์ไม่มีผู้ครอบครอง (Empty chair) [7][8] แน่นอนวิธีคิดแบบนี้ย่อมทำให้ใครก็ตามที่มีจิตใต้สำนึกแบบผู้สมัครใจให้ถูกกดบังคับด้วยอำนาจจะรู้สึกงุนงนสับสนและฝืนความรู้สึก อาจพาลให้เกิดมิจฉาทิฐิว่า ความคิดหลังสมัยใหม่ทำนองนี้จะเข้ามาทำลายสิ่งที่ตนรักและหวงแหน ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นแต่มายาของความหมายเท่านั้น ซึ่งที่ควรจะนำเสนอให้แตกต่างออกไป Kratos ควรจะหมายถึง “ศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลง” (Becoming) เป็นพลังที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในแต่ละเหตุการณ์อย่างมีเสรีภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในฐานะข้อตกลงว่า ชีวิตมนุษย์ควรอยู่ร่วมกันอย่างไรในขั้นพื้นฐาน แน่นอนมันต้องเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ผูกขาดจนเกินไป ทุกอย่างเป็นไปอย่างหลวมๆ และประนีประนอมรอมชอม และถ้าแปลแบบนี้ Dēmokratía ควรจะมีความหมายว่า “ศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในปวงประชาแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งไม่ใช่อำนาจในตน ในเชิงที่ทำให้ไปเข้าใจถึงวาสนาบารมี และไม่ใช่อำนาจที่มาจากวิธีคิดแบบทหาร เพราะศักยภาพดังกล่าวไม่ตายตัว เลื่อนไหล ไม่คงรูป ไม่ต้องการสัญญะ ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าในเหตุการณ์ จะดำรงอยู่ก่อน (being) หรือไม่ก็ได้ แต่มันกำลังจะกลายเป็นอะไรสักอย่างแน่นอน (becoming) [9] นั่นคือ “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชองปวงประชาทั้งหมด นับรวมชะตากรรมของคนไร้เสียง ไร้อำนาจด้วย” (จึงเป็นเหตุผลว่า หลายประเทศที่เข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มักให้ความสำคัญกับคนไร้เสียง ไร้อำนาจ ซึ่งไม่ใช่ การมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชาไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วตู่ว่าเป็น โอกาส)


สรุป

คงเป็นเรื่องแปลกถ้าจะกล่าวว่า “คุณมีสิทธิเขียนในขณะที่กำลังอ่าน” ใช่แล้ว คุณคิดเห็นอะไรที่น่าสนใจมากมายในขณะที่กำลังอ่าน นั่นเป็นเพราะ คุณกำลังถักทอความหมายและสร้างตัวบทของคุณ (Cutting) และการที่คุณได้ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากการอภิปรายซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ที่ความพยายามที่จะไม่ตัดสิน อาจทำให้คุณเห็น “ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (Fragment-อนุภาค) ที่เป็นความหลากหลายในตัวมันเอง อันจะเป็นผลลัพธ์ของการหลอมรวมทางวัฒนธรรมและระบบคิดที่อาจครอบงำคุณด้วยความเป็นเอกภาพปรองดองมาโดยตลอด แต่ด้วยความรู้สึกซุกซนก็เป็นธรรมดาที่เราจะทำการถอดเล่น (Play) คำใหญ่ต่างๆ ที่นิยมใช้กันอยู่เพื่อดู “โบราณคดี” ของคำเหล่านั้น  เพื่อเป็นการตัดข้าม แยกออก สลับคำ ทำให้กระจัดกระจายในฐานะนายของภาษา เป็นต้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ดังที่ได้ถอดเล่นไปแล้วนั้น ซึ่งก็น่าแปลกเมื่อเราถอดคำใหญ่บางคำเล่นๆ เรากลับพบ “เงี่ยนงำ”(Trace) อะไรบางอย่าง นั่นคือ อำนาจกดบังคับจากวัฒนธรรมระดับเข้มข้น เช่น วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ที่บัญญัติ ตีตรา และครอบงำเราไว้ตั้งแต่แรกอย่างเบ็ดเสร็จในระดับชีวะ (Biopolitik) ทำให้เราเพิกเฉยกับคนไร้เสียง ไร้อำนาจ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ถูกทำให้ปรากฏในความรับรู้ และเราไม่พยายามที่จะเสาะแสวงหาพวกเขา ที่สำคัญเราผูกขาดอยู่กับอำนาจ ซึ่งจะทำให้เราจัดตัวเองเข้าไปสู่ระบบชนชั้นทางสังคมที่วัดกันด้วยอำนาจราชศักดิ์ (เราจะถูกเรียกว่าไพร่ในระบบนั้น) ทั้งที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นแต่เรื่องเฉพาะหน้า (ปัจจุบันขณะ) ซึ่งยืนมั่นคงอยู่บนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ละคน  ควรเข้าใจว่า “คุณมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเท่ากับคนอื่น ไม่ขึ้นกับการศึกษา ความน่าเชื่อถือ หรือจำนวนเงินในตลาดทุน”  คุณมีสิทธิที่จะคิดแบบคนเร่ร่อน หรือคิดแบบจิตเภทก็เป็นไปได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คุณต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ซึ่งการกระทำนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นอะไร สมมติว่า คุณกำลังดูถูกความเป็นคน นั่นจะทำให้คุณกลายเป็นอะไร?

เกือบลืมว่า เรายังอยู่กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 วิชาภาษาไทย ในส่วนของตัวชี้วัดช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระบุว่า นักเรียนสามารถ “อธิบายธรรมชาติของภาษา พลังของภาษา และลักษณะของภาษา รวมถึง วิเคราะห์หลักการสร้างคำในภาษาไทย”ได้อย่างถูกต้อง????????

 

อ้างอิง
[1] กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (available online)
http://www.psc.ac.th/docs/laws/education_core2551.pdf
[2] นักคิดอย่าง Roland Barthes ใช้คำว่า “le scriptible" (Writerly text) เพื่ออธิบายว่า ผู้อ่านมีเสรีที่จะเสพการอ่านและสร้างความหมายอย่างอิสระโดยแท้ ไม่อยู่ภายใต้การกดบังคับของชุดกฎเกณฑ์ทางภาษา ดูเพิ่มเติมที่  Éditions du Seuil, 1970, collection « Tel quel », p. 10
[3] Descombes, Vincent Modern French Philosophy (1980) P.92  (available online)
http://www.scribd.com/doc/62978747/Descombes-Vincent-Modern-French-Philosophy-1980
[4] Roland Barthes. (1972). Mythologies , P.93 (available online)
http://soundenvironments.files.wordpress.com/2011/11/roland-barthes-mythologies.pdf
[5] lbid., P.92
[6] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล.  ความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (available online)
http://www.pratedthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=270990&Ntype=2
[7] Claudia W. Ruitenberg. (2011). The Empty Chair: Education in an Ethic of Hospitality (available online)
http://ojs.ed.uiuc.edu/index.php/pes/article/viewFile/3247/1150
[8] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. (2014). บทวิเคราะห์: เพลโต้-แดริดา และเก้าอี้ในระบอบประชาธิปไตย (available online)
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4756
[9] โปรดดูแนวคิดเบื้องต้น เรื่อง Being/Becoming ของ deleuze
http://www.iep.utm.edu/deleuze/
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คุยกับชาวบ้าน: จับตาเส้นตายวันนี้ ไล่รื้อชุมชนคลองไทรพัฒนา สุราษฎร์ฯ

$
0
0

 

1 ต.ค. 2557 จะถึงกำหนดครบรอบ 7 วัน หลังจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในชุมชนซึ่งมีนายทุนร่วมขบวน เมื่อวันที่24 ก.ย. 2557 พร้อมขีดเส้นตายสั่งให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ โดยไม่มีหนังสือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร

อ่านที่

ทหารไล่รื้อชุมชนคลองไทรฯ จี้ย้ายออกใน 7 วัน–องค์กรสิทธิฯ ระหว่างประเทศ ร้อง DSI คุ้มครอง
สกต.ร้องกรรมการสิทธิ เร่งสอบทหาร-นายทุนไล่ที่ชุมชนสุราษฎร์

ข้อมูลชุมชนคลองไทรพัฒนา

ชุมชนคลองไทรพัฒนาตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตําบลไทรทอง อําเภอชัยบุรี  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีสมาชิกชุมชนทั้งหมด จํานวน 45 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ตามกฎหมายที่เป็น ส.ป.ก. มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 906 ไร่ เมื่อปี 2550 ส.ป.ก. ได้ยื่นฟ้องบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด เนื่องจากบริษัทไม่ยอมออกนอกพื้นที่หลังจากหมดสัญญาเช่า ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้บริษัทและบริวารออกจากพื้นที่ แต่ทางบริษัทยื่นอุทธรณ์ทุเลาบังคับคดี ส่งผลให้บริษัทสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ได้อยู่ ขณะนี้ขบวนการยังอยู่ขั้นตอนของศาลฎีกา ซึ่งผ่านมาแล้ว 3 ปี ยังไม่มีคำพิพากษาออกมา

ประชาไทสัมภาษณ์กลุ่มตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ และกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (กสต.) ถึงมุมมองต่อคำสั่งคสชที่ 64และ66/2557และความกังวลต่อสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจน

พวกเขากล่าวว่า เป็นคำสั่งที่เขียนเอาไว้เป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติกลับสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกิน หรือผู้ยากจนมากยิ่งกว่าจะเป็นการจัดการกับพื้นที่ซึ่งถูกนายทุนรุกล้ำ

ขณะเดียวกันก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมชาวบ้านในชุมชนจึงถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ทั้งที่ชุมชนไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ หากแต่อยู่ในพื้นที่ตามกฎหมาย ส.ป.ก. ซึ่งทางชาวบ้านได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ซึ่งรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินอาศัยอยู่ในพื้นที่ไปก่อน หลังจากนายทุนหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับรัฐตั้งแต่ปี 2546  ทาง สกต.ได้ยื่นขอใช้ประโยชน์จาก ส.ป.ก. แล้ว และล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทาง ส.ป.ก. ส่งเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินแล้ว แต่ติดขัดที่ยังมีคดีค้างอยู่ที่ศาลฏีกา จึงจัดสรรให้เกษตรกรไม่ได้

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2557 เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาในพื้นที่และประกาศให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ใน 7 วัน โดยอ้างอิงนโยบายของ คสช.ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านผิดหวังและสงสัยกันมากว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงมาพร้อมกับนายทุนในพื้นที่

“นี่เป็นสิ่งที่เรารู้สึกแย่ที่สุด เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาขับไล่เราพร้อมกับนายทุนที่เคยทำร้ายพวกเรา และมันสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับพวกเราเข้าไปอีกเพราะเจ้าหน้าที่มากับคนที่เคยทำร้ายเรา ทุกวันนี้เราเองก็ยังกังวลในเรื่องความปลอดภัยอยู่ เพราะทางเข้าออกชุมชนมีเพียงทางเดียว ซึ่งเป็นทางที่ต้องผ่านที่ดินของนายทุน” ตัวแทนชุมชนกล่าว

(อ่านข่าวเก่า ‘สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้’ ร้อง ปจช.เร่งสางปมความรุนแรงใน ‘พื้นที่โฉนดชุมชน’)


แกนนำชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากปมขัดแย้งกรณีที่ดิน

ชาวบ้าน และ สกต. เล่าถึงความกังวลว่า มีความเป็นไปได้ที่นายทุนกำลังใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และปล่อยให้นายทุนหาผลประโยชน์จากพื้นที่แค่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีมาตรการที่จะปกป้องคนในชุมชน

เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชนและความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ตัวแทนชาวบ้านจึงได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องเรียนกับหล่ายหน่วยงาน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าหลังจากวันที่ 1 ต.ค. พวกเขายังอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้หรือไม่

“ตลอด 6 วันที่ผ่านมาเราก็ได้ไปยื่นหนังสือทั้งคณะกรรมการสิทธิฯ ศูนย์ดำรงธรรม องค์การสหประชาชาติ และทำเนียบรัฐบาล แต่ละที่ต่างก็รับปากว่าจะรีบประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ทางกรรมการสิทธิฯ ก็ได้ส่งหนังสือด่วนไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และผอ.กอ.รมน. แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าหนังสือไปถึงท่านหรือยัง แต่หมอนิรันดร์ก็รับปากว่าจะลงพื้นที่ตรวจสอบเร็วๆ นี้ ทาง UN ก็รับเรื่องและจะเร่งขอคำอธิบายกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยการเชิญรัฐมนตรีกระทรวงการต่างเทศมาให้ข้อมูล แต่ตอนนี้เราเองก็ยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น” ตัวแทนจากชุมชนคลองไทรกล่าว


ตัวแทนชาวบ้านยื่นเรื่องกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ขณะเดียวกันระหว่างเดินทางไปให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ตัวแทนชุมชนได้มีโอกาสพบกับนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้เล่าเรื่องราวความเดือดร้อนของคนในชุมชนให้ฟัง ซึ่งนายอภิสิทธิ์รับว่าจะช่วยพูดคุยและประสานไปยังอดีต ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยครองที่นั่งทุกเขตในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองไทรฯ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ในจังหวัด

ก่อนเกิดรัฐประหาร ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ไม่เคยมีกระทำลักษณะนี้จากทางเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจมาก่อน ไม่เคยมีการเข้ามากดดันให้ชาวชุมชนย้ายออกจากพื้นที่แต่อย่างใด ในขณะที่รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลนี้ก็มีแนวทางในการจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านโดยเมื่อปี 2552 มีคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรีที่ 71/52 แต่งตั้งคณะกรรมการอํานวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 9 มีนาคม 2552 ลงนามโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทํากินในที่ดินตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ และชุมชนคลองไทรฯ เองก็เป็นหนึ่งในชุมชนนำร่องโฉนดชุมชนอยู่ด้วยจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน

“นั่นหมายความว่ากระบวนการที่เราได้ประสานกับ 4 รัฐบาลมาก่อนหน้านี้ไม่มีความหมายเลยใช่ไหม” ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้กล่าว

ถึงที่สุดแล้วทั้งตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ และตัว กสต. ก็ยังไม่แน่ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ยังยืนยันที่จะสู้เพื่อปกป้องผืนดินของตนเองต่อไป

“เราเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นวันพรุ่งนี้ แต่อย่างไรเราก็ต้องสู้ต่อไป เราจะไม่ไปไหน ที่เราไม่ไปไหนไม่ใช่เพราะว่าเราไม่กลัว แต่เราไม่มีที่ไป เราเอาทุกอย่างมาอยู่ในชุมชนนี้แล้ว ลูก เมีย อาชีพ ที่ดินที่จะเป็นอนาคตของลูก อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราก็ไม่มีทางเลือกเหมือนกัน ”

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านตอนนี้ การเข้ามาไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างไม่เป็นธรรมแบบนี้ มันไม่ใช่การคืนความสุขที่แท้จริง” ตัวแทนชุมชนกล่าวทิ้งทาย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดคำอุทธรณ์จากผู้บาดเจ็บ-ญาติคนตาย กรณี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สั่งสลายแดงปี 53

$
0
0

ผู้บาดเจ็บและญาติคนตายยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นกรณีไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ สลายการชุมนุม นปช. ปี 53 พร้อมอุทธรณ์คำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เปิดอ่านคำอุทธรณ์ประวัติศาตร์

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญา นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของของโจทก์ร่วม คือ นายสมร ไหมทอง อาชีพขับรถตู้ ผู้ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสคืนวันที่ 14 ต่อวันที่ 15 พ.ค.53 และนางหนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เดี่ยวกับนายสมร ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้ยื่นอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีตผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ระหว่าง เม.ย.-พ.ค. 53 ส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย คดีดังกล่าวศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย

หนูชิด คำกอง ภรรยาของนายพัน คำกอง (ผู้เสียชีวิต) โจทก์ร่วม (ภาพเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งว่านายพัน เสียชีวิตจากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของ ศอฉ. คลิ๊ก อ่านรายละเอียดคำสังศาล)

นายโชคชัย กล่าวว่า “คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา เพราะว่าข้อหาที่ฟ้องเป็นข้อหาความผิดต่อชีวิต ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ไม่มีอำนาจสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับข้อหานี้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนเฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ และเราก็เห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจรับคดีจาก ป.ป.ช. คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่”

“แม้จำเลยทั้งสองจะกระทำในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ แต่ก็เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้งสองสั่งการฆ่าผู้ใดได้ทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพียงแต่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และรองนายกฯ” นายโชคชัยกล่าวและว่า โจทก์ร่วมทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา จึงขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในประเด็นข้อกฎหมาย โดยขอถือเอาความเห็นแย้งของนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองด้วย จึงขอให้ศาลอุทธรณ์โปรดพิจารณาพิพากษากลับคำสั่งของศาลอาญาและให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม

 

โดยคำอุทธรณ์ของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต ดังนี้

อุทธรณ์คำพิพากษา คดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 หมายเลขแดงที่ อ.2911/2557 และ อ.2917/2557

ด้วยความเคารพอย่างยิ่งต่อคำพิพากษาของศาลอาญา โจทย์ร่วมทั้ง 2 ยังไม่เห็นฟ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอาญา และขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลอาญาในปัญหาข้อกฏหมาย ดังที่จะด้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ต่อไปนี้

1. เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้มีความเห็นแย้งดังกล่าวข้างต้น และพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย. 2557 คัดค้านคำพิพากษาศาลอาญาแล้ว โจทก์ร่วมทั้ง 2 จึงขอถือเอาความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอุทธรณ์ของพนักงานอัยการฯ ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ด้วย

ตามที่ศาลอาญาได้พิจารณาคำฟ้องและที่โจทก์แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนการพิจารณาฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2557 และวันที่ 28 ก.ค. 2557 แล้วเห็นว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมเพื่อการผลักดันชุมนุมก็ดี สลายการชุมนุมก็ดี กระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ก็ดี ดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหามานั้น ล้วนแล้วแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในฐานนายกฯ จำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกฯ และในฐานะ ผอ.ศอฉ. ในวระต่างๆ กัน ภายหลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีจึงหาใช่เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือเป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขงจำเลยทั้ง / ดังข้อคัดค้านของโจทก์ไม่

ทั้งนี้ ตามวัตถุประสงค์ของหารใช้อำนาจตามกฏมายของกฏหมายฉบับนี้ก็เพื่อให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าน้าที่ฝ่ายพลเรือหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารภายใต้การสั่งการของจำเลยทั้ง 2 ในการร่วมป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฏหมาย ความปลอดภัย และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของระชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม และเมื่อตรวจดูจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ประกอบสเนาคำสั่งศาลในการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ถึง 7 ก็ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มีความรุนแรง ลุกลามบานปลายมากขึ้น ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน

จำเลยทั้ง 2 จึงออกคำสั่งตามกฎหมายข้างต้น เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น การออกคำสั่งใดๆ ของจำเลยทั้ง 2 นั้น ในการกำหนดมาตรการ หรือข้อกำหนดต่างๆ ไม่ว่าเพื่อเป็นการป้องกัน แก้ไขหรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะกระทำเช่นใดได้บ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายฉบับนี้บัญญัติไว้ มิใช่การออกคำสั่งได้โดยอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรงหรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วนนั้น หากการออกคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนดหรือไม่มีความเหมาะสมหรือให้มีการกระทำเกินกว่าความจำเป็น ไม่พอสมควรแก่เหตุเหมือนดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหา โดยอ้างว่าตามแนวทางปฏิบัติสากลในการควบคุมฝูงชนและปราบจราจล เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริง ซึ่งขั้นตอนของการใช้กำลังนั้นจะมีเพียงการใช้แก๊สน้ำตา และปืนลูกซองกระสุนยางเท่านั้น

เช่นนี้ การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 ซึ่งถือเป็นผูดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการออกคำสั่งดังฟ้องจึงอาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฏหมายอาญาและกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นมูลแห่งความผิดคดีหลัก ที่ต่อมาภายหลังจากการออกคำสั่งเช่นว่านั้นได้ก่อผลให้บุคคลจำนวนมากถึงแความตาย อันถือเป็นคดีเกี่ยวเนื่องจากการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยหน้าที่ข้างต้น ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลประโยชน์หรือย่อมเล็งเห็นผลของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายของบุคคลดังกล่าวนั่นเอง แต่ก็หาใช่เป็นการกระทำที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่และกลายเป็นคดีอาชญากรรมโดยส่วนเดียวดังที่โจทก์เข้าใจไม่ และที่โดยการวินิจฉัยถึงความรับผิดในทางอาญาของจำเลยทั้ง 2 ต่อความตายและบาดเจ็บของบุคคลต่างๆ อันเป็นคดีเกี่ยวเนื่องดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ มีข้อที่พิจารณาในมูลแห่งคดีว่ามีการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ดังเช่นที่มีการฟ้องกล่าวหามานั้นอันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ตามกฏหมายและถือเป็นการกระทำความผิดต่อตำหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เสียก่อน กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแหร่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวน พร้อมทั้งทำความเห็นว่าการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ข้างต้นเป็นการมิชอบดว้ยหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการหรือไม่ ซึ่งหากข้อกล่าวหามีมูลจึงค่อยส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณาพิพากษาต่อไปตามมาตรา 70 แห่งบทบัญญัติของกฏหมายข้างต้นและตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557

ด้วยเหตุนี้เมื่อได้พิเคราะคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว แม้โจทก์จะขอให้ศาลลงโทษจำเลยทั้ง 2 จากผลที่มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจากกรณีการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงกับผู้ชุมนุมโดยมีเจตนาฆ่า แต่ก็เห็นได้ว่ามูลแห่งคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 มานี้ แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฏหมายอื่น คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ด้วยการออกคำสั่งอันไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือมิชอบด้วยน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการผลักดัน สลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่หรือขอคืนพื้นที่ด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลนั่นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9(1) หาใช่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาไม่

ส่วนคดีความผิดเกี่ยวเนื่องฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือพยายามฆ่านั้นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสั่งการในตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 2 ตาม คือ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จึงกถือเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาพิพากษาโดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ประกอบด้วยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 11/2557 และฉบับที่ 24/2557 ซึ่งทำให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฏหมายนี้ที่ไม่ประสงค์จะให้มีการเลือกฟ้องในฐานความผิดเกี่ยวเนื่องอันมีที่มาจากการกระทำผิดในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวกันต่อศาลอื่นได้นอกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพียงศาลเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบังเกิดผลเชิงรูปธรรมอย่างจริงจัง ไม่ถูกบิดเบือนไปจนทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมืองนั้นหลุดพ้นไปจากการตรวจสอบโดยอาศัยหลักกฏหมายเรื่องที่บุคคลควรได้รับการพิจารณาและลงโทษเพียงครั้งเดียวจากการกระทำในครั้งเดียวกันนั้นได้ ด้วยเหตุผลดังวินิจฉัยมา

ศาลอาญาจึงมิใช่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการรับชำระคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้ได้ การที่ศาลรับฟ้องโจทก์ทั้ง 2 สำนวนนี้ไว้เพื่อพิจารณาจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ย่อมไม่อาจยื่นคำร้องของเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ นั้น

โจทก์ร่วมทั้ง 2 ขอประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดที่ 1 ว่าด้วยความผิดต่อชีวิต ในลักษณะ 10 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย มีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15 ถึง 20 ปี ซึ่งความผิดที่โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษดังกล่าวมิใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด

โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19(2) และ (3) ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับอำนาจการไต่สวนและวินิจฉัยโดยมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเพื่อส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามหมวด 6 และไต่สวนวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าดว้ยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการปกครอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 147 ถึงมาตรา 166 ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 200 ถึงมาตรา 205

ดังนั้น ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจไต่สวนการกระทำความผิดในข้อหาความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกายตามประมวลกฏหมายอาญาแต่อย่างใด

อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9(1) และ(2) ได้กำหนดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีขอศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฏหมายอื่น และคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 9(1) หรือบุคคลอื่นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนให้กระทำความผิดทางอาญาตามมาตรา 9(1) 

จึงเห็นได้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองอื่น เฉพาะคดีอาญาที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฏหมายอาญาหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในลักษณะที่ 2 ว่าด้วยความผิดเกี่ยกับการปกครอง ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ในลักษณะที่ 3 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม เท่านั้น

และในคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในขอหาการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญาหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตตามกฏหมายอื่นแต่อย่างใด

แม้ศาลอาญาจะเห็นว่าความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันมีมูลมาจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้ง 2 ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่การกระทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

และยังปรากฏว่าภายหลังจากศาลจากที่ศาลได้มีคำสั่งไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิตตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 โดยเฉพาะการตายของนายพัน คำกอง สามีโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ แลได้สั่งสำนวนไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการเพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดี และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในข้อาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288, 83 และ 84 อันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้ง 2 การฟ้องคดีของโจทก์ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 143

และโจทก์ร่วมทั้ง 2 ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 30 จึงได้ของยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2557 และศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว อันเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ชอบด้วยกฏหมาย

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งอยู่ในระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น

ขณะนี้ยังไม่ปรากฏผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. และโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อความผิดตามข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288, 83 และ 84 ต่อศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลอาญาจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาคดีนี้ต่อไป ซึ่งไม่เกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157

โดยความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 157 ต่างมีองค์ประกอบความผิดที่ไม่เหมือนกัน และมีอัตราโทษที่ไม่เท่ากัน ซึ่งความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 เป็นความผิดที่มีโทษหนักและสูงกว่า และการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เฉพาะความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น หากจะดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฏหมายมาตรา 157 เพียงข้อหาเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายและทำให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดไป และความผิดข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 ในคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำในขณะดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 2 กระทำในขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็ตาม แต่เป็นความผิดนอกเหนือตำแหน่งหน้าที่ เพราะไม่มีกฏหมายใดอนุญาตให้จำเลยทั้ง 2 สั่งการฆ่าผู้ใดทั้งสิ้น ข้อหาฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 288 จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เพี่ยงแต่จำเลยทั้ง 2 กระทำความผิดในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ส่วนในความผิดเกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 หาก ป.ป.ช. จะมีการชี้มูลหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องการดำเนินการอีกส่วนหนึ่ง ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ย่อมไม่เป็นารตัดสิทธิโจทก์หรือผู้เสียหายและโจทก์ร่วมทั้ง 2 ที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้ง 2 ในข้อหาตามฟ้องนี้ได้

ที่ศาลอาญาวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฏหมายเบื้องต้นแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมทั้ง 2 โดยยังมิได้มีการฟังข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้ง 2 เสียก่อนว่า จำเลยทั้ง 2 กระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากฟังว่าจำเลยทั้ง 2 สั่งการโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลถึงการตายของผู้ตาย ย่อมไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่ศาลวินิจฉัยว่าการกรทำความผิดในข้อหาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 2 เป็นการกรทำความผิดกรรมเดียวกับข้อหาปฏิบัติที่มิชอบตามประมวลกฏหมาย มาตรา 157 จึงอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยังคลาดเคลื่อนต่อข้อกฏหมายอยู่

ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมทั้ง 2 ได้ประทานกราบเรียนต่อศาลอุทธรณ์มาแล้วข้างต้น ขอศ่าลอุทธรณ์ได้โปรดพิจาณาพิพากษากลับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอาญา ให้ศาลอาญารับคดีนี้ไว้พิจารณาและให้รับคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมทั้ง 2 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4552/2556 แล้วให้ศาลอาญาดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพาษาต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

 

สำหรับในคดีนี้ อัยการสูงสุดยื่นอุทธรณืไปก่อนหน้า โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อัยการสูงสุดได้ยื่นขออุทธรณ์คดีที่ศาลมีคำสั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดสั่งสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

โดยอัยการสูงสุดขออุทธรณ์ในประเด็นทางข้อกฎหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามกฎหมายอาญามาตรา 157

หากศาลอุทธรณ์พิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งหมายแจ้งนัดวันให้คู่ความทั้งสองฝ่ายรับทราบ เพื่อเดินทางมาฟังคำพิพากษาต่อไป ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ยังไม่สามารถระบุได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จะเสร็จสิ้นเมื่อใด    

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เลื่อนนัดพร้อมคดี 112 คนขายปุ๋ยเกษตร รอผลตรวจอาการทางจิต

$
0
0



1 ต.ค.2557 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่า ศาลนัดพร้อม สอบคำให้การ นายธเนศ หรือ ทะเนช (สงวนนามสกุล) จำเลยคดี 112 ในวันนี้ แต่ทางทนายได้ขอเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปเนื่องจากต้องรอผลการตรวจอาการทางจิตของจำเลย ศาลจึงนัดสอบคำให้การครั้งใหม่ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้

ทนายความกล่าวด้วยว่า หลังจากศูนย์ทนายได้ส่งตัวแทนทนายเข้าพูดคุยกับจำเลยในเรือนจำเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายทำให้ทราบอาการของจำเลยและได้ทำหนังสือไปยังเรือนจำเพื่อขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจ ต่อมาเรือนจำได้ส่งตัวจำเลยไปยังสถาบันกัลยาราชนครินทร์ ในวันที่ 22 ก.ย.และ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจซึ่งแพทย์ผู้ตรวจคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ราวสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ธเนศ หรือ ทะเนช อายุ 45 ปีพื้นเพเป็นชาวเพชรบูรณ์ มีอาชียขายอาหารเสริมบำรุงพืชผลทางการเกษตรทางอินเตอร์เน็ต เขาถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักเมื่อวันที่ 2 ก.ค.57 จากนั้นถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารจังหวัดเพชรบูรณ์จนครบ 7 วันก่อนจะส่งตัวมายังกองบังคับการปราบรามอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขาส่งอีเมล์ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นฯ ให้กับผู้ต้องหาที่อาฯยอยู่ประเทศสเปน ชื่อ Emillio Estaban ผู้ใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเขาได้เข้าถึงอีเมล์ของ Estaban และพบการส่งอีเมล์ของทะเนชในช่วงเดือนมิถุนายนปี 2553 เขาถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยญาติไม่มีหลักทรัพย์ยื่นประกันตัว และถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความไร้ตัวตนของประชาชนใน MOU เหมืองทองเลยภายใต้กฎอัยการศึก

$
0
0

 

บทเริ่มต้นของ MOU คือท่าทีแข็งกร้าวของพันเอกสวราชย์ แสงผล รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 และในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวง ได้กล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ในการเจรจาครั้งแรกกับประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านในท้องที่ตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมืองเพื่อขนแร่ทองคำ”[1]และแร่พลอยได้อื่นออกมา ในครั้งนั้นถึงกับทำให้ชาวบ้านกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะสะเทือนใจกับพฤติกรรมไม่เป็นมิตรของนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจเขาหลวงตั้งแต่การเจอกันครั้งแรก ว่ามาเจรจาช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุการณ์ถูกทำร้ายร่างกายในคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 โดยชายฉกรรจ์อำพรางใบหน้า 300 นาย ใช้กำลังประทุษร้ายชาวบ้านเพื่อขนแร่ทองแดงที่มีทองคำและเงินเจือปนออกไปจากเหมืองแร่ หรือมาเจรจาเพื่อขนแร่รอบใหม่ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด

ไม่กี่วันต่อมา ทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการ +  3 คณะอนุกรรมการ ขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 อันประกอบด้วย คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ คณะอนุกรรมการรวบรวมปัญหาความต้องการของประชาชน คณะอนุกรรมการประสานความต้องการของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม จนนำมาซึ่งชาวบ้านในนามกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำของบริษัทฯ ทำหนังสือเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บัญชาการทหารบกจังหวัดเลย พล.ต.วรทัต สุพัฒนนานนท์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุดดังกล่าว เพราะไม่พอใจที่คณะกรรมการและอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดดังกล่าว ไม่มีประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการแม้สักคนเดียว

และเริ่มเห็นเค้าลางว่าทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยไม่จริงใจที่จะให้คณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ทำหน้าที่อย่างจริงจัง แต่มีวาระซ่อนเร้นด้วยการเอาคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด มาสร้างความชอบธรรมให้กับการขนแร่รอบใหม่มากกว่า อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยไล่ชาวบ้านที่ต้องการแสดงความเห็นให้มีการเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯ ออกจากที่ประชุมรับฟังความเห็นของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยไม่ต้องการฟังความเห็นที่ต่างจากแนวทางที่ปักธงเอาไว้แล้ว

ส่วนตัวตนของประชาชนผู้เดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำนั้น มีเพียงแค่การเชิญด้วยวาจากปากเปล่าผ่านทางโทรศัพท์ประสานงานเชิงบังคับให้เข้าร่วมประชุมในเวทีต่าง ๆ ของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ก็เพียงเพื่อเอาประชาชนมาร่วมพิธีกรรมเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับโครงสร้างของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด หรือสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนร่วมมือและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด  

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจอันล้นเกินของทหารและข้าราชการภายใต้กฎอัยการศึกไม่พยายามทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และความต้องการของประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ที่พยายามนำเสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับใช้วิธีบีบบังคับให้ประชาชนต้องยอมรับแนวทางของทหารที่ร่วมมือกับข้าราชการและบริษัทแต่ฝ่ายเดียว ถือว่าไม่ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง

ความไม่พอใจของชาวบ้านไม่เพียงเฉพาะหนังสือคัดค้านที่ส่งออกไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แต่ยังแสดงออกด้วยการจัดทำประชาคมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 ด้วย โดยมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 491 คน จากทั้ง 6 หมู่บ้าน ร่วมลงชื่อในการทำประชาคมโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า “ไม่ยอมรับการแต่งตั้งและผลการดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุด ที่แต่งตั้งโดยผู้แทนทหาร คสช. และไม่เอาเหมือง”

แต่ทหาร คสช. และข้าราชการในพื้นที่จังหวัดเลยยังไม่หยุดยั้งความพยายาม นอกจากทำหนังสือเรียกมารายงานตัวและประสานงานทางวาจากับประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดในเชิงข่มขู่ว่าการไม่ยอมรับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ที่ทหารแต่งตั้งเท่ากับไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหารแล้ว ยังสร้างกระบวนการ MOU หรือบันทึกข้อตกลงขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์การปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด

 

เปรียบเทียบร่าง MOU ฉบับแรกและฉบับที่สอง

หมายเหตุ: โปรดดูตารางเปรียบเทียบร่าง MOU ฉบับแรกและฉบับที่สองในตารางท้ายบทความนี้ เพื่อประกอบการอ่าน

ร่าง MOU ฉบับแรกเขียนขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ประชาชนปฏิเสธความร่วมมือกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ตามที่ได้กล่าวมา โดยระบุหลักการว่า “บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายสัญญานี้ …” แต่ก็ไม่อาจซื้อใจประชาชนได้อีกต่อไป เพราะสิ่งสำคัญของ MOU มันมากกว่าการลงนามของราษฎร กล่าวคือ เนื้อหาทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ใน MOU ฉบับแรกมีเป้าหมายซ่อนเร้นอยู่ที่การขนแร่ที่เหลืออยู่ในเขตเหมืองแร่เป็นหลัก ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่มีหลักประกันใดเลยว่า ทหาร คสช. และส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเลย และบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมลงนามจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ อย่างไร หากไม่ดำเนินการแล้วจะบังคับเอาผิดกับใครได้ สถานภาพของ MOU มีผลบังคับใช้หรือผลในทางกฎหมายแค่ไหน อย่างไร 

จึงส่งผลให้ร่าง MOU ฉบับแรกที่นัดประชุมใหญ่ของคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 ถูกประชาชนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดปฏิเสธเข้าร่วม

ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแก้ไขสถานการณ์การปฏิเสธความร่วมมือของประชาชนกับคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด ด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางในการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของราษฎร กรณีได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ตามคำสั่งจังหวัดเลยที่ 3774/2557 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 โดยมีประชาชนซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดร่วมเป็นกรรมการจำนวน 3 คน โดยให้มีหน้าที่ หนึ่ง พิจารณานำข้อเรียกร้องจากราษฎร ต่อกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำภูทับฟ้า มาหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎร ตลอดจนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ สอง สำรวจ รวบรวม ข้อมูล ตามข้อเรียกร้องของราษฎรเพื่อนำมาวิเคราะห์ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดแนวทางการดำเนินการเพื่อขจัด ป้องกันและแก้ไขปัญหา อย่างยั่งยืน โดยอาจเสนอให้มีการพิจารณาตั้งคณะทำงานเพื่อมาทำงานเรื่องนี้ได้เป็นการเฉพาะ ซึ่งมีการจัดประชุมคณะกรรมการฯ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 เพื่อกำหนดกรอบการทำงานด้านต่าง ๆ 

แต่ขณะที่คณะกรรมการชุดนี้กำลังเริ่มต้นทำงาน กลับมีการจัดทำประชาคมขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ร่าง MOU ฉบับที่สองได้ลบราษฎรหรือประชาชนออกไปจากเนื้อหาที่ระบุไว้ในหลักการว่า “บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงในฐานะตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 2 และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายบันทึกข้อตกลงนี้ …” โดยเพิ่มนายก อบต.เขาหลวงเข้ามาเป็นตัวแทนปลอมของราษฎร และเพิ่มผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 2 เข้ามาเป็นผู้เล่นฝ่ายทหารให้ชัดขึ้น

ดังนั้น การที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเชิญประชาชนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมประชุมการจัดทำประชาคมเพื่อรับรอง MOU ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 จึงเป็นการสร้างละครตบตาขึ้นมา ก็เพราะว่าร่าง MOU ฉบับที่สองไม่มีตัวตนของประชาชนอยู่ในนั้นตั้งแต่ต้น ผู้ลงนามใน MOU ฉบับที่สองมีเพียงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.เขาหลวง ผู้แทนบริษัทฯ ผู้แทนทหาร และผู้แทนส่วนราชการจังหวัดเลยเท่านั้น ไม่ปรากฎว่ามีประชาชนคนใดต้องร่วมลงนามใน MOU ฉบับที่สองนี้

และประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือในข้อ 3.1 และ 3.2 ของ MOU ฉบับที่สอง ทหารได้แสดงตัวชัดเจนว่าขอมีส่วนร่วมในการขนแร่รอบใหม่ด้วย ดังรายละเอียดตามเนื้อหาข้อ 3.1 ว่า “ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ ผู้แทนกองทัพภาคที่ 2องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่” ซึ่งแตกต่างจาก MOU ฉบับแรกที่มีประชาชนร่วมอยู่ในเนื้อหาของข้อ 3.1 ด้วยว่า “ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวงและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่”

สิ่งที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยต้องการจึงไม่ได้สนใจว่าร่าง MOU ฉบับที่สองจะมีการลงมติโดยประชาชนในวันจัดทำประชาคมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 หรือไม่ แต่จัดประชุมขึ้นเพียงเพื่อสร้างพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ให้กับโครงสร้างอำนาจของระบบราชการ หรือสร้างภาพให้เห็นว่าประชาชนร่วมมือและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของระบบราชการโดยผ่านคณะกรรมการและอนุกรรมการ 4 ชุด + คณะกรรมการอีกหนึ่งชุดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยแต่งตั้งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การจัดทำประชาคมเพื่อรับรองร่าง MOU ฉบับที่สองก็ล้มเหลว เพราะมีประชาชนเข้าร่วมประมาณสิบคนเท่านั้น

 

ตัวตนของประชาชน ?

นอกจากโครงสร้างอำนาจของระบบราชการที่กดหัวประชาชนเสมอมา ไม่ต้องการนั่งร่วมกับประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่มีความรู้ด้านเทคนิควิชาการน้อย โดยเหยียดหยามข้อเสนอต่าง ๆ ของประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นสิ่งเลื่อนลอย หรือใช้ความรู้สึกและอารมณ์เป็นหลัก ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่มาจากภูมิปัญญาของนักเทคนิควิชาการใด ๆ  อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กระบวนการร่าง MOU เห็นประชาชนเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหรือเบี้ยของโครงสร้างอำนาจของระบบราชการที่มีอำนาจเหนือหัวแล้ว อีกสองเหตุผลยิ่งทำให้ตัวตนของประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำยิ่งไร้ค่ามากยิ่งขึ้น คือ

หนึ่ง การที่รัฐไทยถูกผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของทุ่งคำฟ้องตามกลไก ISDS[2]ซึ่งเป็นกลไกระหว่างประเทศในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ว่าถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลั่นแกล้งจากการแขวนหุ้นของทุ่งคาฯ ไม่ให้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปีที่สามติดต่อกันนั้น โดยสภาพหรือโดยพฤตินัย หรืออาจจะโดยนิตินัยด้วยก็ได้ ทำให้รัฐไทยตีตัวออกห่างจากประชาชนตนเองมากยิ่งขึ้น เพื่อเอาใจนักลงทุนเอกชน    

การฟ้องตามกลไก ISDS นี้ รัฐไทยถูกบีบให้สู้คดีหรือให้พิสูจน์เจตนาตัวเองเพียงแค่ว่ารัฐได้ออกมาตรการ นโยบาย หรือกฎ ระเบียบ กฎหมายใดที่ขัดขวางสร้างอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคเอกชนหรือไม่ อย่างไร ดังนั้น รัฐจึงไม่สามารถแสดงความใกล้ชิดประชาชนของตนด้วยการสนับสนุนให้พิสูจน์หาสาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษ หรือเรียกร้องความรับผิดชอบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้อย่างเต็มกำลัง เพราะ เป็นพฤติการณ์ที่ขัดใจนักลงทุนเอกชน ที่ทำได้ก็เพียงแค่ตรวจวัดว่าสารพิษและโลหะหนักต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายและสภาพแวดล้อมไม่เกินค่ามาตรฐานเท่านั้น

สองสัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ที่รัฐไทยทำไว้กับบริษัททุ่งคาฯ และทุ่งคำ นั้น มีเจตนารมณ์ในตัวอักษรให้เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนเอกชนอย่างถึงที่สุดเพื่อให้ได้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้ได้ ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคปัญหาใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากประชาชนในรัฐของตนเอง

 

หลัง MOU ?

หลังจากการประชุมเพื่อจัดทำประชาคมรองรับร่าง MOU ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2557 ล้มเหลว รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยประกาศยกเลิกกระบวนการ MOU ทั้งหมด โดยจะนำเนื้อหาซึ่งเป็นมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำในร่าง MOU ฉบับที่สองมาเป็นแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการจังหวัดเลย นั่นก็หมายความว่ากำลังจะมีการขนแร่รอบใหม่ในเร็ววันนี้โดยมีทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยคุ้มกันการขนแร่รอบใหม่นี้

การขนแร่ครั้งก่อนเมื่อคืนวันที่ 15 ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 โดยใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าประมาณ 300 คน เข้าทุบตีทำร้ายร่างกายชาวบ้านด้วยมีด ไม้ และอาวุธปืน เป็นผลงานของแก๊งทหารผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ส่วนการขนแร่รอบใหม่ที่จะมีขึ้นหลัง MOU จะทำให้ทหาร คสช. ในพื้นที่จังหวัดเลยกลายเป็นแก๊งทหารผลประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาแย่งงานแก๊งทหารผลประโยชน์กลุ่มแรกหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน.

 

ร่าง MOU ฉบับแรก

(4 กันยายน 2557)

ร่าง บันทึกข้อตกลงเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

ร่าง MOU ฉบับที่สอง

(27 กันยายน 2557)

ร่าง บันทึกข้อตกลงเพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนและป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตามข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

 เนื่องจากมีกรณีสงสัยว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ว่าอาจจะเป็นอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประกอบกับได้มีการยื่นฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส.1544/2556 จึงได้มีข้อยุติร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้หยุดการประกอบการทำเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นการชั่วคราว และในระหว่างที่หยุดการประกอบการชั่วคราวนี้ ควรจะได้มีการกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะบันทึกข้อตกลงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันที่จะปกป้อง และแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ

 เนื่องจากมีเหตุร้องเรียนว่าการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้สร้างปัญหาผลกระทบที่ทำให้เป็นอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชน วิถีการดำรงชีวิต ตลอดจนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในพื้นที่ของหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประกอบกับได้มีการยื่นฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต่อศาลปกครองกลาง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส.1544/2556 จึงได้มีข้อยุติร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้หยุดการประกอบการทำเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นการชั่วคราว และในระหว่างที่หยุดการประกอบการชั่วคราวนี้ ควรจะได้มีการกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการตามมาตรการที่เป็นรูปธรรมในลักษณะบันทึกข้อตกลงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชน และป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ

 บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายสัญญานี้ ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดมาตรการและการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการ ทำเหมืองชั่วคราว โดยข้อตกลงนี้ประกอบด้วย

 บันทึกนี้จัดทำขึ้นระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงในฐานะตัวแทนจากราษฎรหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย กับผู้แทนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้แทนจากกองทัพภาคที่ 2 และผู้แทนจากส่วนราชการของจังหวัดเลย ตามรายชื่อที่ลงนามในท้ายบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดมาตรการและการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด สำหรับการเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชนและป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำตามข้อร้องเรียนของประชาชน ในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยข้อตกลงนี้ประกอบด้วย

 1. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการ เพื่อมิให้มีการประกอบการทำเหมือง ดังนี้

 1. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการ เพื่อมิให้มีการประกอบการทำเหมือง ดังนี้

 1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อเครื่องจักรที่ใช้ในการทำเหมืองในทุก ๆ กระบวนการของการผลิต ยกเว้นการดำเนินนั้นเป็นไปเพื่อการเข้าไปบำรุงรักษาเพื่อมิให้เครื่องจักรเกิดความชำรุดเสียหาย โดยในกรณีนี้บริษัทฯ จะต้องทำการขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยก่อน และเมื่อได้รับอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลโดยผู้แทนของส่วนราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง และกำนันตำบลเขาหลวง รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลเขาหลวงทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนวันที่จะเข้าดำเนินการ

 1.1 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อเครื่องจักรที่ใช้ในการทำเหมืองในทุก ๆ กระบวนการของการผลิต ยกเว้นการดำเนินนั้นเป็นไปเพื่อการเข้าไปบำรุงรักษาเพื่อมิให้เครื่องจักรเกิดความชำรุดเสียหาย โดยบริษัทฯ จะจัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร เสนอขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลยล่วงหน้า และในการจะเข้าบำรุงรักษา จะต้องมีการกำกับดูแลโดยผู้แทนของส่วนราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนันตำบลเขาหลวง ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน รวมทั้งต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ตำบลเขาหลวงทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนวันที่จะเข้าดำเนินการ

 1.2 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องเข้าไปดำเนินการเพื่อควบคุมบ่อกักเก็บกากแร่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนด โดยการดำเนินการให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกันข้อ 1.1

 1.2 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องจัดทำแผนการบำรุงรักษาบ่อเก็บกากแร่ และจะต้องจัดเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับตัวแทนราษฎรที่ได้รับการคัดเลือกจากกำนันและผู้ใหญ่บ้านของตำบลเขาหลวง จำนวน 2 คน เพื่อให้เข้าไปปฏิบัติงานประจำทุกวันในการตรวจสอบและควบคุมบ่อกักเก็บกากแร่ ตลอดจนพื้นส่วนอื่น ๆ ที่อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนด

 1.3 บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่จะเป็นการขออนุมัติ หรือขออนุญาต เพื่อประกอบการทำเหมือง ต่อส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ยกเว้นเฉพาะกรณีการขออนุมัติ อนุญาตในส่วนที่มีการระบุให้ดำเนินการได้ในสัญญานี้เท่านั้น

 1.3 ภายในระยะเวลา 9 เดือน นับจากวันที่ทุกฝ่ายลงนามในบันทึกข้อตกลงนี้ และศาลปกครองกลางยังไม่มีคำพิพากษา บริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่จะเป็นการขออนุมัติ หรือขออนุญาต เพื่อประกอบการทำเหมืองเดิม หรือขอประทานบัตรแปลงใหม่ ในพื้นที่ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ต่อทุกหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต และหลังจากครบกำหนดดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ สามารถร้องขอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ให้จัดทำประชาคมประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 12 และหมู่ที่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อขอทราบความเห็นที่จะไปประกอบการที่บริษัทฯ จะเริ่มขออนุมัติ ขออนุญาต ประกอบการทำเหมืองอีกครั้งหนึ่งได้ โดยส่วนราชการของจังหวัดจะนำผลการประชาคมไปพิจารณาประกอบการอนุมัติหรืออนุญาตต่อไป

 อนึ่ง หากมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งดำเนินการในลักษณะที่จะขัดขวางไม่ให้เกิดการทำประชาคมในหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่ง หรือจะมีผลทำให้ประชาชนที่มาเข้าร่วมการประชาคมนั้น ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยบริสุทธิ์ใจ ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเลยในการกำหนดแนวทางเข้าไปดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

 2. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อการป้องกันปัญหาและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำเหมืองทองคำ ดังนี้

 2. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชน และป้องกันและแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชน ดังนี้

 2.1 ให้ (ระบุหน่วยงาน) ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เข้าทำการคัดกรองผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงที่คาดว่าอาจเป็นผลจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อนำมาตรวจร่างกายและดำเนินการรักษา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงดังกล่าว

 2.1 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการคัดกรองผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพ ที่อาจเป็นผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เพื่อนำมาตรวจร่างกายและดำเนินการรักษา หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อควบคุมและลดความเสี่ยงดังกล่าว

 2.2 ให้ (ระบุหน่วยงาน) โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เข้าสำรวจและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำและความเสียหายอื่น ๆ บริเวณเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ที่ครอบคลุมและเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิชาการบนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะมี คุณภาพชีวิตและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และจะต้องมีข้อเสนอแนะในเชิงมาตรการและวิธีการดำเนินการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน............วัน นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

 2.2 ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการมีส่วนร่วมของตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เข้าสำรวจ และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำและความเสียหายอื่น ๆ บริเวณเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง ที่ครอบคลุมและเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิชาการบนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะมีคุณภาพชีวิตและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และจะต้องมีข้อเสนอแนะในเชิงมาตรการ และวิธีการดำเนินการที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

 2.3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันนำรายงานและข้อเสนอแนะตามข้อ 2.1 มาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำภายใน...............วัน หลังจากได้รับรายงานผลตามข้อ 2.2 และแผนปฏิบัติการนี้จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ก่อน จึงจะนำมาใช้ได้

 2.3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันนำรายงานและข้อเสนอแนะตามข้อ 2.2 มาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำภายใน 30 วัน หลังจากได้รับรายงานผลตามข้อ 2.2 และแผนปฏิบัติการนี้จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็น และได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ก่อน จึงจะนำมาใช้ได้

 2.4 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตามข้อ 2.1 และ 2.3 นอกเหนือจากการดำเนินการ โดยระบบงบประมาณปกติของส่วนราชการ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงแล้ว จะต้องมีการจัดตั้ง “กองทุนเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยแหล่งที่มาของเงินที่จะจัดตั้งกองทุนฯ นี้ ให้มาจากเงินที่เกิดจากการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนปิดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้

 (1) เงินค่าภาคหลวงที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลจากสินแร่ดังกล่าว

 (2) เงินสมทบเพิ่มเติมจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ได้จากสินแร่ดังกล่าว จำนวน……………………..บาท

 (3) เงินจากแหล่งอื่นที่สามารถนำมาใช้เป็นกองทุนได้ (ถ้ามี)

 

 ทั้งนี้ การจัดตั้งและการบริหารจัดการเงินกองทุนนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบ กฎหมาย ที่มีอยู่ และการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวงอีกครั้งหนึ่งภายใน.............วัน หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

 2.4 ในการดำเนินการตาม ข้อ 2.1 และแผนปฏิบัติการตามข้อ 2.3 นอกเหนือจากการดำเนินการ โดยระบบงบประมาณปกติของทางราชการแล้ว จะต้องมีการจัดตั้ง “ระบบงบประมาณเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเยียวยาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย” เพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยแหล่งที่มาของเงินที่จะจัดตั้งระบบงบประมาณเร่งด่วนนี้ ให้มาจากเงินที่เกิดจากการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนปิดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้

 (1) เงินค่าภาคหลวงที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลจากสินแร่ดังกล่าว

 (2) เงินสมทบเพิ่มเติมโดยความสมัครใจและไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น จากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่ได้จากสินแร่ดังกล่าว เพื่อแสดงความร่วมมือในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาจำนวน 2,000,000 บาท (สองล้านบาทถ้วน)

 (3) เงินสมทบจากแหล่งอื่น (ถ้ามี)

 

 ทั้งนี้ การจัดตั้งและการบริหารจัดการระบบงบประมาณเร่งด่วนนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของระเบียบ กฎหมาย ที่มีอยู่ และการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของทุกหมู่บ้านตำบลเขาหลวง อีกครั้งหนึ่งภายใน 15 วัน หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

 

 2.5 ให้ (ระบุหน่วยงาน) นำข้อมูลจากรายงานตามข้อ 2.2 มาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อติดตามตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการทุกระยะ 3 เดือน พร้อมทั้งให้นำเสนอให้ประชาชนทราบด้วย

 2.5 ให้อุตสาหกรรมจังหวัดเลยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลจากรายงานตามข้อ 2.2 มาใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อติดตามตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการทุกระยะ 3 เดือน พร้อมทั้งให้นำเสนอให้ประชาชนทราบด้วย

 

 2.6 ให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด สามารถเสนอสิ่งที่บริษัทฯ จะดำเนินการเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากการทำเหมืองต่อผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่จะเข้าดำเนินการ และหากได้รับความยินยอมก็สามารถเข้าดำเนินการได้

 3. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อประกอบการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนหยุดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้

 3. ในระหว่างที่มีการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว จะมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อประกอบการอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ที่มีอยู่เดิมก่อนหยุดการทำเหมืองชั่วคราวออกจากพื้นที่ ดังนี้

 3.1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง ตัวแทนประชาชนจากทุกหมู่บ้านของตำบลเขาหลวงและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่

 3.1 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันจากส่วนราชการ ผู้แทนกองทัพภาคที่ 2องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของตำบลเขาหลวง และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อสำรวจและกำหนดสินแร่ที่จะอนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนออกนอกพื้นที่

 3.2 การขนแร่ออกจากพื้นที่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดในทุกเรื่องอย่างเคร่งครัด และทำการขนย้ายเฉพาะภายในเวลากลางวันเท่านั้น รวมทั้งก่อนทำการขนย้ายจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการตามข้อ 3.1 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า...........วัน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ

 3.2 การขนแร่ออกจากพื้นที่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะต้องดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย ที่กำหนดในทุกเรื่องอย่างเคร่งครัด และทำการขนย้ายเฉพาะภายในเวลากลางวันเท่านั้น รวมทั้งก่อนทำการขนย้ายจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการตามข้อ 3.1 ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนการยื่นขออนุญาตต่อสำนักงาานอุตสาหกรรมจังหวัดเลย เพื่อร่วมกันตรวจสอบและกำกับดูแล

 3.3 การขนแร่ออจากพื้นที่ จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจฯ ตามข้อ 2.4 เรียบร้อยแล้ว

 3.3 การขนแร่ออจากพื้นที่ จะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ข้อยุติเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบงบประมาณเร่งด่วนฯ ตามข้อ 2.4 เรียบร้อยแล้ว

 4. กรณีราษฎรที่ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลจังหวัดเลย ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาทุกคดี จะต้องจัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างราษฎรที่ถูกฟ้องคดีกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

 4. กรณีราษฎรที่ถูกบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลจังหวัดเลย ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เชิญคู่กรณีมาเจรจาหารือกันเพื่อตกลงไกล่เกลี่ยประนีประนอม

 5. การดำเนินการอื่นใดที่อาจจะมีผลเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายต่อการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่ยังเป็นเพียงการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว ให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครอง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส.1544/2556

 5. การดำเนินการอื่นใดที่อาจจะมีผลเป็นข้อผูกพันตามกฎหมายต่อการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ รวมทั้งข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่ยังเป็นเพียงการหยุดการประกอบการทำเหมืองชั่วคราว ให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครอง ตามคดีหมายเลขดำ ที่ ส.1544/2556 แล้วจึงนำมาพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

 

 6. บันทึกข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือประชาชน และป้องกันและแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนในระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุและผู้ที่ทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไม่นำข้อความและเนื้อหาตามบันทึกนี้ไปใช้ในทางกฎหมาย เพื่อกล่าวหาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือปฏิเสธความรับผิดชอบในทางกฎหมายที่ฝ่ายตนอาจจะต้องรับผิดชอบในภายหลัง

 

 




[1]
                        [1]เผยแพร่ทางออนไลน์ที่ ...เลยไทม์ออนไลน์ สืบค้นข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/loeitimetoday/photos/a.140889282724565.47443.134862343327259/485791161567707/?type=1คัดลอกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557ตัวหนังสือที่ปรากฎอยู่ในวงเล็บว่า “พร้อมใช้กฎอัยการศึกเปิดทางเข้าเหมืองเพื่อขนแร่ทองคำ” ผู้เขียนได้หยิบยกถ้อยคำดังกล่าวที่ปรากฏอยู่ใน น.ส.พ.เลยไทม์ออนไลน์ มาใส่ในวงเล็บด้วยตนเอง

[2]
                        [2]การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor - State Dispute Settlement – ISDS) เป็นกลไกภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Bilateral Investment Treaties – BITs) หรือความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreements – FTAs) กับรัฐบาลของประเทศที่ตนเข้าไปลงทุน เช่น หากรัฐภาคีละเมิดพันธกรณีตามที่กำหนดในความตกลงฯ และส่งผลให้การลงทุนของนักลงทุนได้รับความเสียหายอย่างแท้จริง นักลงทุนก็จะมีสิทธิใช้กลไก ISDS ในการระงับข้อพิพาท ซึ่งได้แก่ กระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions - ADR) และกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International Arbitration) ภายใต้องค์กรและกฎระเบียบและวิธีดำเนินการที่กำหนดในความตกลงฯ เช่น UNCITRAL Arbitration Rules ของสหประชาชาติ หรือ ICSID Additional Facility ของธนาคารโลกในส่วนของกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolutions – ADR) คือการระงับข้อพิพาทนอกศาลโดsยอาจใช้วิธีการเจรจาและการหารือ (Consultation and Negotiation) การไกล่เกลี่ย (Mediation) และการประนีประนอมยอมความ (Conciliation) เช่น การระบุให้มีบุคคลที่สามเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทโดยใช้วิธีการเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายมากกว่าการใช้ข้อบทกฎหมาย การใช้วิธีการระงับข้อพิพาทนอกศาลเป็นแนวทางใหม่ในการบังคับใช้พันธกรณีการคุ้มครองการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาท และทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นกลไกที่นักลงทุนและรัฐผู้รับการลงทุนชะลอการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้

                ข้อความในเชิงอรรคนี้คัดลอกจากแผ่นพับเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ‘การคุ้มครองการลงทุนและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน’ จัดทำโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. 5/28/14 สืบค้นข้อมูลออนไลน์ได้ที่ http://www.mfa.go.th/business/contents/files/customize-20140602-100942-243117.pdf   คัดลอกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ร่างพ.ร.บ.อุ้มบุญ : การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ!!

$
0
0

 

2 ตค. 2557 ที่ห้องบงกชรัตน์ บี โรงแรมรอยัลริเวอร์  คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ : กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ขึ้น เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ามีผลกระทบอย่างไร ต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ รวมทั้งคนโสดทั่วไป

สาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศได้แก่ในหมวด 3 การตั้งครรภ์แทน มาตรา 21 ข้อ 1 เขียนไว้ว่า "สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้ที่ประสงค์ จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน ต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่จะเป็นบิดามารดาของเด็ก"

นั่นหมายความคนที่จะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ตามร่างพ.ร.บ.นี้ จะต้องเป็น "สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น" ทำให้คู่เพศเดียวกัน รวมถึงสามีภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ถูกเลือกปฏิบัติในทันที โดยเฉพาะในคู่เพศเดียวกัน ที่ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ได้มีสถานะ "สามีและภรรยา" แต่เป็น "คู่ชีวิต" แทน

ส่วนข้อ 3 เขียนว่า "หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้วเท่านั้น ถ้าหญิงนั้นมีสามีจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย" นั่นหมายความว่าหญิงโสด หรือหญิงรักหญิงจะถูกตัดสิทธิดังกล่าวนี้ทันที เนื่องจากหญิงในกลุ่มนี้ย่อมไม่เคยมีสามีมาก่อน หรือหากเคยมีสามีมาแล้ว ก็ไม่อยู่ในสถานะ"สมรส" หรือใช้ชีวิตร่วมกัน นอกจากนั้น ในข้อนี้ก็ยังจะเป็นอุปสรรคต่อคู่หญิงรักหญิงในแง่ที่ว่าหากในคู่ชีวิตต้องการให้คนหนึ่งคนใดตั้งท้อง โดยการขอบริจาค สเปิร์มจากชายอื่น เพื่อนำมาผสมกับไข่ตัวเอง ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน

2 ข้อ นี้เป็นเพียงบางส่วนในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ที่แสดงให้เห็นการจำกัดสิทธิบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอาจรวมไปถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่ต้องการมีบุตรด้วย และยังสร้างให้เกิดอคติ ลดคุณค่าต่อชายรักชาย หรือกลุ่มคนข้ามเพศ/แปลงเพศ ที่ไม่สามารถมีบุตรได้

ทั้งที่ปัจจุบันนี้มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันจำนวนมากที่ใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวเฉกเช่น คู่ชายหญิงทั่วไป และมีความพร้อมและความสามารถในการมีบุตรทั้งในรูปแบบการขอรับอุปการะเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรม และใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เพื่อมีบุตร

และตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบครอบครัวตามธรรมชาติ หรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม

สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนทั้งตามกฎหมายภายใน และกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.1966 รวมทั้งในหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ 24 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า

“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัว โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ ห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฎิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ จากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัว"

รัฐจัก:
ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติ ทางปกครอง และอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัว รวมทั้งให้มีโอกาสในการอุปการะบุตรบุญธรรม หรือการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วย (รวมถึงการผสมเทียม) โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ”

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. .... จึงไม่ได้ช่วยสนับสนุนเพื่อให้เกิดครอบครัวที่มีความหลากหลายตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมแต่ประการใด แต่กลับกีดกัน ตีตราจำกัดสิทธิ และเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศแทน.

 

 

หมายเหตุ: ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือให้ข้อเสนอแนะได้ที่

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
4 ซอยเพชรเกษม 24 แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กทม.10160
Email : forsogi.thai@gmail.com,TKFthai@gmail.com
โทรศัพท์/โทรสาร: 02 868-4344

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม. ออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือน 3.6 แสนล้าน

$
0
0

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือน เน้นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยงบประมาณรวม 3.24 แสนล้าน งบประมาณเพิ่มรายได้ช่วยต้นทุนด้านการผลิตแก่ชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้าน

1 ต.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ได้ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือน คือ เดือนตุลาคมถึง ธันวาคม 2557 ใช้งบประมาณ 364,465.4 ล้านบาท โดยแยกเป็นมาตรการสร้างงาน 324,465.4 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือชาวนา เรื่องต้นทุนการผลิต 40,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมกระเตื้องขึ้น ซึ่งจะใช้งบประมาณคงค้างของปี 2557 และปี 2558

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตัวเลขการส่งออกของเดือนสิงหาคมต่ำสุดในรอบ 32 เดือน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง จึงต้องมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยขยายตลาด ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้เวลา โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ( GDP) ที่ต้องรอติดตามภายหลังเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีแต่ละคน กำกับดูแลตรวจสอบแต่ละโครงการในพื้นที่ไม่ให้มีการทุจริต หากพบจะมีมาตรการลงโทษทันที

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนกระต้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่เน้นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยงบประมาณรวม 3.24 แสนล้านบาท ส่วนงบประมาณเพิ่มรายได้ช่วยต้นทุนด้านการผลิตแก่ชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรการ เพื่อให้เกิดการสร้างงานทั่วประเทศ ได้แก่

1.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งเซ็นสัญญาจ้างงานโครงการเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการทันงบประมาณปี 2557 ซึ่งเป็นงบคงค้าง 142,000 ล้านบาท

2.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม เร่งเซ็นสัญญาจ้างงานในงบลงทุนของปี 2558 จำนวน 129,000 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งคาดหวังว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ร้อยละ 30-40

3.ใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง 15,000 ล้านบาท และงบกลางปี 2555-2557 จำนวน 7,800 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 23,000 ล้านบาท ไปซ่อมโรงเรียน และบ้านพักข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงบ้านพักข้าราชการกระทรวงกลาโหม

4.ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม จัดทำรายละเอียดของโครงการ เพื่อมาเบิกจ่ายงบกลางปี 2548-2556 จำนวน 24,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำมาเก็บไว้

5.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาที่มีรายได้น้อย โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา จำนวน 40,000 ล้านบาท

สำหรับชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท แต่หากเกิน 15 ไร่ จะช่วยเหลือเพียง 15 ไร่เท่านั้น โดยมีชาวนาจำนวน 3.4 ล้านครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ รวมงบประมาณทั้งหมด 2.9 แสนล้านบาท

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯ นำรายชื่อ สปช.ขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว

$
0
0

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 ยืนยันนำรายชื่อ สปช.ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ตามรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอมา ไม่เปลี่ยนแปลง 

1 ต.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ได้ลงนามและนำรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จำนวน 250 คน นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ขณะที่ไม่ทราบว่ารายชื่อที่ถูกเผยแพร่มีที่มาอย่างไร ซึ่งรายชื่อที่ออกมาไม่ตรงกับรายชื่อที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทั้งหมด โดยเห็นว่าบางรายชื่อพอจะคาดการณ์ได้

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้านการเสนอรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และจะไม่เปลี่ยนแปลงรายชื่อที่กรรมการคัดสรรเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว โดยคสช.พิจารณาตามที่กรรมการสรรหาเสนอมา

พล.อ.อนุพงษ์ รมว.มหาดไทย ยังกล่าวถึงกรณีลูกจ้างองค์การปกครองท้องถิ่น (อปท.) ร้องเรียนถูกเลิกจ้างเพราะได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดการใช้งบประมาณว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะไม่ได้ปรับลดงบรายจ่ายประจำ ส่วนงบอุดหนุนต้องให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ ไม่ให้รั่วไหลหรือมีแผนงานที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น วิธีพิจารณางบอุดหนุนจะต้องมีโครงการการใช้งบประมาณที่ชัดเจน

“ส่วนงบประจำที่เกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้างไม่น่าจะมีผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล แต่ต้องดูรายละเอียดเป็นรายๆ ทั้งนี้ในภาพรวมงบประจำที่เกี่ยวกับเงินเดือนของ อปท.ยังคงอยูที่ร้อยละ 40 ของวงเงินงบประมาณ สำหรับผลกระทบจะต้องศึกษาอีกครั้ง จะเหมารวมทั้งหมดไม่ได้ ในหลักการงบฯที่ผ่านสภาได้พิจารณาอย่างดี การควบคุมงบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่ งบประจำที่วางไว้น่าจะพอ การร้องเรียนต้องไปดูเป็นราย อบต.คงไม่ใช่ทั้งหมด " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษา ศนปท. ให้กำลังใจ 'การปฏิวัติร่ม' ในฮ่องกง

$
0
0

1 ต.ค. 2557 - เมื่อเวลา 14.00 น. นักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เดินทางมายังหน้าสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กำลังใจนักศึกษาและประชาชนในฮ่องกงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิการเลือกตั้ง มีการติดโปสเตอร์แสดงความสนับสนุนขบวนการนักศึกษาฮ่องกงที่กำแพงหน้าสถานทูตจีนด้วยก่อนเดินทางกลับ

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในเพจของ ศนปท.ระบุด้วยว่า "เราทราบข่าว และติดตามการลุกขึ้นต่อสู้ของพวกคุณมาตลอด ได้เห็นถึงความกล้าหาญ และมุ่งมั่นของพวกคุณ ซึ่งผมเชื่อว่าอีกไม่นานชัยชนะจะเป็นของพวกคุณ ซึ่งต่างจากในประเทศของผม ที่เพิ่งผ่านการรัฐประหารไปไม่กี่เดือน บรรยากาศที่นี่เต็มไปด้วยความเผด็จการของทหาร และได้แต่ฝันว่าเราจะได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนๆ นักศึกษาของเรา เหมือนที่พวกคุณกำลังทำ ขอให้ปลอดภัย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวฮ่องกงยังปักหลักประท้วงคู่ขนานไปกับพิธีครบรอบ 65 ปีปฏิวัติจีน

$
0
0

ผู้บริหารสุงสุดของฮ่องกงขึ้นปราศรัยในงานวันชาติจีนเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการ 'ปฏิรูป' การเลือกตั้งของทางการจีน ขณะที่ผู้ประท้วงโดยรอบยังคงรวมตัวชุมนุมกันอย่างสงบในช่วงกลางวันโดยโบก 'ธงเสรีภาพ' แทนธงชาติจีน

1 ต.ค. 2557 สำนักข่าวบีบีซี รายงานบรรยากาศการประท้วงในฮ่องกง ช่วงที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบการปฏิวัติสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งถือเป็นวันชาติของจีนด้วย โดยระบุว่ามีการเตรียมรับมือกับผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเอาไว้ด้วย

ในงานพิธีการผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเหลียงชุนอิงได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยอมรับการปฏิรูปการเลือกตั้งที่ทางการจีนกำหนดไว้ โดยทางการจีนต้องการให้พวกตนเป็นฝ่ายคัดเลือกผู้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดในปี 2560 แทนการรับสมัครทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนหนึ่งไม่พอใจเพราะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีตามหลักสากล

พิธีการในช่วงกลางวันดำเนินไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตามทางการจีนได้ยกเลิกการจุดพลุเฉลิมฉลอง

เหลียงกล่าวปราศรัยว่า แม้ผู้คนจะมีความต้องการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งในฮ่องกงต่างกันไปแต่การมีสิทธิที่จะได้เลือกตั้งก็ดีกว่าไม่มีเลย อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกับรัฐบาลจีนด้วยความสงบสันติ มีเหตุผล เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติได้จริง เพื่อการพัฒนาก้าวต่อไปข้างหน้า

แคร์รี่ เกรซี บรรณาธิการข่าวประเด็นเกี่ยวกับประเทศจีนของบีบีซี รายงานบรรยากาศงานเฉลิมฉลองครบรอบ 65 ปี การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในงานอนุญาตให้คนที่สวมเสื้อยืดและสวมหมวกแก๊บสีแดงโบกธงชาติจีนเท่านั้นที่เข้างานได้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรอบรักษาความปลอดภัยในขณะที่เหลียงชุนอิงผู้บริหารสูงสุดกล่าวปราศรัยเน้นย้ำว่าฮ่องกงอยู่ในสถานะพิเศษภายใต้การปกครอง "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ของจีน

เกรซีรายงานบรรยากาศอีกว่าฝ่ายผู้ประท้วงทางการจีนพยายามแสดงตัวให้เห็น มีบางคนอยู่นอกพิธีการโดยหันหลังให้กับธงชาติจีน ผ้ประท้วงส่วนหนึ่งยังพากันเข้าไปในลานที่ตอนนี้พวกเขาเรียกว่าเป็นจัตุรัสประชาธิปไตย (Democracy Square) ซึ่งเต็มไปด้วยร่มและ "ธงเสรีภาพ" (freedom flags) โดยไม่มีธงชาติจีนอยู่เลย

ผู้ชุมนุมได้ปักหลักอยู่ตามย่านธุรกิจสำคัญในฮ่องกง มีผู้คนเริ่มมารวมตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันอังคาร (30 ก.ย.) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้สนับสนุนกลุ่มยึดครองย่านศูนย์กลาง รวมถึงผู้ที่ไม่พอใจการใช้กำลังของตำรวจเข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่าทางการจีนคงไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วงง่ายๆ เนื่องจากผู้นำมองเป็นเรื่องการเมืองเชิงพื้นที่และกลัวว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยจะลามไปถึงในจีนแผ่นดินใหญ่

ส่วนทางการสหรัฐฯ เริ่มปรับท่าทีต่อการประท้วงในจีน โดยระบุว่าการให้มีตัวเลือกอย่างแท้จริงสำหรับผู้สมัครลงเลือกตั้งผู้บริหารสุงสุดย่อมทำให้การเลือกตั้งในฮ่องกงดูมีความชอบธรรมมากกว่า กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้แถลงเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมาอีกว่า จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ต้องการหารือกับ หวางอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในเรื่องเกี่ยวกับการประท้วงในครั้งนี้


เรียบเรียงจาก

Hong Kong braced for huge National Day democracy protests, BBC, 01-10-2014
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกาะติดร่างพ.ร.บ.ศุลากร หวั่นเปิดช่องไล่จับทำลายยาชื่อสามัญ

$
0
0

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พรบ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ...วาระแรกเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2557 โดยเพิ่มมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อยู่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ โดยมีวงเล็บ (3) กว้างๆ ไว้ว่า ของนั้นเป็นของที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรมนั้น

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ศุลกากร ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นประธาน ได้ให้กรมศุลกากรไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทางกรมศุลกากรยืนยันว่า มาตรา 58/1 ที่ให้อำนาจพนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมาย 12 ฉบับที่ให้อำนาจอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่ไม่ได้อนุญาตไว้

“ในการหารือร่วม ทางนิติกรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ย้ำถามหลายครั้ง กฎหมายไทยเป็นไปตามความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกที่ไม่รวมถึงการถ่ายลำและผ่านแดน แม้แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ก็อนุญาตให้ตรวจยึดแค่การนำเข้าและส่งออกเท่านั้น ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้ยืนยัน ดังนั้น เราจะรอดูรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่จะส่งกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ 2-3 ที่ต้องระบุเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะกฎหมายเมื่อตราออกมาแล้ว การจะย้อนกลับไปดูเจตนาและความครอบคลุมจำเป็นต้องอ้างอิงรายงานคณะกรรมาธิการซึ่งเรื่องสำคัญเช่นนี้ต้องระบุไว้ ไม่ควรปล่อยให้ อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรม”

ทั้งนี้กฎหมายทั้ง 12 ฉบับที่มีสาระให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบ ตรวจค้น สินค้าถ่ายลำและผ่านแดน ในขณะนี้ตามข้อมูลของกรมศุลกากร ประกอบไปด้วย พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499, พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์, พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ.2590, พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518, พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งอาวุธยุทธภัณฑ์และสิ่งที่ใช้ในการสงคราม พ.ศ.2495, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530, พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522, พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ เรียกร้องให้ สนช.ช่วยกันตรวจสอบด้วย เพราะหากปล่อยกฎหมายให้มีช่องโหว่เช่นนี้ จะทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลก และทำร้ายผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไปพร้อมๆกัน ดังที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป ที่มีการยึดจับยารักษาโรคช่วยชีวิตที่ส่งจากอินเดียจะไปประเทศกำลังพัฒนาปลายทางมากถึง 18 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยที่รอคอยยารักษาโรคที่ปลายทางจะเป็นเช่นไร

 ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากข้อเสนอในความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ค้าต่อการสาธารณสุข: ประเด็นผลกระทบด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา  โดย ดร.คมน์ธนงชัย ฉายไพโรจน์ และคณะ ซึ่งเอฟทีเอ ว็อทช์ได้มอบให้คณะกรรมาธิการวันนี้ ระบุว่า สําหรับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนเกี่ยวกับการยึดสินค้าละเมิดสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรยา หรือเวชภัณฑ์ด้านสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันในกฎหมายศุลกากรยังไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกําหนดใดๆ ที่ให้อํานาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรทําการยึดจับกุมยาหรือเวชภัณฑ์ที่ละเมิดหรือสงสัยว่าจะละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยตรงและเป็นเอกเทศ หากกรมศุลกากรต้องการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการตรวจสอบสินค้าไม่ควรเกี่ยวโยงกับประเด็นสิทธิบัตร เนื่องจาก ในการที่จะพิจารณาว่าเป็นของปลอมหรือละเมิดสิทธิบัตรไม่นั้น ทําได้ยาก ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการพิสูจน์ที่ซับซ้อน จึงมีข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายศุลกากรควรยึดหลักการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมิให้มีผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงยา และไม่เป็นการบั่นทอนโอกาสในการมีสุขภาพดี และผลประโยชน์ด้านสุขอนามัยด้านอื่นๆ ของคนในประเทศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สมาคมต้านโลกร้อนฟ้องศาลปกครอง จี้รัฐประกาศเขตควบคุมมลพิษระยอง

$
0
0

1 ต.ค.2557 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า สมาคมฯร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดระยองหลายร้อยคนเดินทางไปที่ศาลปกครองระยอง เพื่อยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งแวดล้อม 2535 ประกอบ มาตรา 9 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542

ทั้งนี้สืบเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม/ชุมชนอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจำนวนมากในจังหวัดระยองซึ่งมีมากกว่า 28 แห่งและกำลังขออนุญาตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันภายนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมก็มีการปล่อยให้มีการสร้างโรงงานอย่างสะเปะสะปะเต็มพื้นที่จังหวัดมากกว่า 2,700 โรงในปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้วมีเพียง 1,810 โรงเท่านั้น

การมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้ขาดการติดตาม ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินงานกันอย่างอิสระจนสร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อชาวบ้านเป็นจำนวนมากทั้งการแอบปล่อยน้ำเสีย สารโลหะหนักลงในแหล่งน้ำประปาของชาวบ้าน การรั่วไหลของสารเคมีอันตราย แต่ไม่สามารถจับมือใครดมได้ การแอบให้มีการลักลอบเอากากอุตสาหกรรมไปทิ้งในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แหล่งต้นน้ำ การเกิดการรั่วไหลของน้ำมันในทะเล และการเกิดคราบน้ำมันบ่อยครั้งในบริเวณชายหาดท่องเที่ยวต่าง ๆ ฯลฯ เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่จะต้องใช้อำนาจตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประกาศให้พื้นที่ทั้งจังหวัดระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษตามมาตรา 59 และประกาศให้เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำทับไปอีกด้วยตามมาตรา 43 แต่เมื่อ กก.วล.ไม่ยอมดำเนินการใด สมาคมฯและชาวระยองจึงจำต้องขอใช้อำนาจศาลปกครองเพื่อมีคำพิพากษาเข้มงวดต่อการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดทันที นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

 

=============

คำขอท้ายคำฟ้อง

1)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่จังหวัดระยองทั้งหมดทั้งบนบกและในทะเลอาณาเขต (ยกเว้นพื้นที่ที่ได้ประกาศไปแล้วตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552)) เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษตามกฎหมายข้างต้นทั้งหมดโดยเร็ว ตามที่ศาลกำหนดต่อไป

2)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ออกกฎกระทรวงให้พื้นที่ในท้องที่จังหวัดระยองทั้งจังหวัดทั้งบนบกและในทะเลอาณาเขตเป็น “เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” และดำเนินการตามมาตรา 44 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

3)ขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 แนะนำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) เป็น“เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม” และดำเนินการตามมาตรา 44 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

At the Death House Door: การสลาย"อคติ"ของ"ความเป็นอื่น"ในนาทีสุดท้ายของนักโทษประหาร

$
0
0

 

"บ้านใครไม่โดน ไม่รู้หรอก"

นี่คือประเด็นที่มักจะถูกตั้งขึ้นหากมีการเรียกร้องให้เพิ่มโทษทางอาชญากรรมกับ "ฆาตกร" ผู้โหดเหี้ยมไร้ความเมตตาปราณี ซึ่งมันเป็นความโกรธแค้นที่พอจะเข้าใจได้เพราะหากพบเจอกับบ้านของใคร คน ๆ นั้นย่อมบันดาลโทสะแบบนี้ออกมาได้เสมอ

แต่ในโลกของความเป็นจริง กฎหมาย อันเป็นข้อตกลงในการอยู่รวมกันอย่างสงบสุขในสังคม มีมันหลักการ มีเหตุมีผลในการให้โทษคนร้ายตามเหตุที่สมควร แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อความสะใจของใครคนหนึ่งแบบ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" โดยเฉพาะ

นายแคร์โรว์ พิคเก็ต ศาสนาจารย์ที่เรือนจำฮันท์สวิลล์ ที่รัฐเท็กซัส เคยคิดเช่นนั้น เขาเคยเป็นศาสนาจารย์ที่โบสถ์ชุมชน แล้วเคยเจอเหตุการณ์สะเทือนใจ นั่นคือ มีนักโทษจับครูและบรรณารักษ์ของเรือนจำฮันท์สวิลล์ เป็นตัวประกัน เขาเข้าร่วมงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้กำลังใจตัวประกันเหล่านี้ แต่สุดท้าย มีผู้บริสุทธิ์ 2 คนที่เป็นลูกศิษย์ประจำโบสถ์ของเขาถูกคนร้ายสังหาร ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่พิคเก็ตยอมรับได้ยากจริง ๆ ทำให้เขาคิดว่า โทษประหารชีวิตของคนร้ายในคดีอุกฉกรรจ์เป็นเรื่องที่สมควร

แต่หลังจากที่วิคเก็ตรับงานศาสนาจารย์ที่เรือนจำฮันท์สวิลล์ แล้วมีหน้าที่ให้สติและชี้ทางแก่นักโทษก่อนจะถูกประหาร เขาบันทึกคำพูดของพวกเขาเหล่านั้นผ่านเครื่องอัดเสียงซึ่งตลอดชีวิตการทำงานที่นี่ 15 ปี ระหว่างปี ค.ศ.1982 1995 วิคเก็ตได้บันทึกความในใจของนักโทษประหารที่ถูกบันทึกไว้ในนาทีสุดท้ายของพวกเขาเป็นจำนวนถึง 95 คนด้วยกัน

การนั่งคุยกับคนที่ใกล้ตายเพราะโทษประหาร ทำให้พิคเก็ตมองเห็นแง่มุมในความเป็น "มนุษย์" อีกแง่มุมหนึ่งที่เหมือนกับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่อยู่นอกเรือนจำ จนท้ายที่สุด หลังจากที่เขาไม่ได้ทำหน้าที่เป็นศาสนาจารย์แล้ว พิคเก็ตก็เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อนักโทษประหาร และเป็นหนึ่งในแนวร่วมที่ต่อต้านการประหารชีวิตนักโทษ

นี่คือเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง At the Death House Door(2008) หนังสารคดีผลงานกำกับของ สตีฟ เจมส์ และปีเตอร์ กิลเบิร์ท ที่ตามติดชีวิตของแคร์โรว์ พิคเก็ต ศาสนจารย์ผู้สอนศาสนาในรั้วเรือนจำ สถานที่สนธยาที่บุคคลภายนอกไม่รู้จัก

เราต่างได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าฟังมากมาย จนกลายเป็นภาพจำว่า สภาพความเป็นอยู่และผู้คนในเรือนจำดูไม่น่าไว้วางใจ ทั้งที่ว่า มันอาจจะมีทั้งภาพเสื่อมทรามและภาพดีงามอยู่ในนั้นก็ได้ เพียงแต่ว่ามันถูกเป็นสถานที่โดดเดี่ยวไร้ซึ่งการรับรู้แบบเปิดเผยเหมือนสถานที่อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ เรือนจำ หรือ คุก จึงถูกทำให้ "เป็นอื่น" ทั้งเรื่องคนสถานที่ และนักโทษ

กระบวนการสร้างความเป็นอื่น เหมือนกับการผลักตัวเองออกไปเป็น "พวกเขา" และ "พวกเรา" ซึ่งมันง่ายต่อการทำให้เกิดอคติที่จะมองว่า อีกฝ่ายไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา เหมือนอย่างตอนช่วงสงครามเวียดนาม ในช่วงทศวรรษที่ 50-70 ที่ทางกองทัพอเมริกันพยายามสอนทหารว่า คนเวียดนามทานเนื้อสุนัข ซึ่งสำหรับคนอเมริกันแล้ว สุนัขเป็นเหมือนคนสำคัญในครอบครัว การตอกย้ำภาพอันเลวร้ายในฐานคิดแบบ (กองทัพ) อเมริกัน ผลักให้เกิดความรู้สึกเป็นอื่นต่อฝั่งตรงข้ามที่เป็นชาวเวียดนาม ซึ่งกองทัพอเมริกันเชื่อว่ามันจะมีมากพอที่จะทำให้ทหารของพวกเขากล้าที่จะเอาปืนจ่อหน้าศัตรูในสมรภูมิสงครามเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ At the Death House Door นำเสนอ กลับพยายามละลาย “ความเป็นอื่น” แล้วดึงเราให้เข้าใกล้นักโทษเพื่อทำความรู้จักกับพวกเขามากขึ้น หากเราไม่มองแบบเหมารวมว่า พวกนักโทษดูเลวร้ายไปเสียหมด ก็จะมีนักโทษอีกหลายคนที่อยู่ในกระบวนการสำนึกผิดเพื่อกลับมาใช้ชีวิตนอกรั้วสูง ๆ โดยหนังได้เจาะลงไปในหลาย ๆ กิจกรรมของแคร์โรว์ พิคเก็ต อย่างเช่น การฝึกร้องเพลงคอรัส จนนักโทษเหล่านั้นสามารถออกมาจากโบสถ์ชั่วคราวเพื่อทำการแสดงเล็ก ๆ บริเวณภายนอกได้

At the Death House Door ได้พยายามสลายอคติ "ความเป็นอื่น" ที่คนภายนอกเรือนจำก่อขึ้นมาในใจด้วยมุมมองหลายมุมมอง ที่นอกจากนักโทษเหล่านี้จะมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างการร้องเพลงคอรัสแล้ว ช่วงที่แหลมคมที่สุดช่วงหนึ่งในหนัง At the Death House Door นั่นคือ การเปิดลังที่เก็บบันทึกเสียงของนักโทษทั้ง 95 คน ว่าก่อนตายเขาได้พูดอะไรบ้าง? เป็นคนแบบไหน? มีความฝันอย่างไร? ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่า แม้แต่คนทำผิดที่โดนโทษสูงสุดที่รัฐหยิบยื่นให้ นั่นคือ โทษประหาร เขาก็ยังมีแง่มุมของความเป็น "มนุษย์" มีความกลัว ความเสียใจ ความสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป

แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แคร์โรว์ พิคเก็ตออกมาร่วมขบวนต่อต้านการประหารชีวิต นั่นก็เพราะกรณีของคาร์ลอส เดลูน่า ที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปปล้นร้านค้าและฆ่าพนักงานในร้าน ในปี 1989 แต่ภายหลังทีมข่าวอาชญากรรมของชิคาโก ทริบูน ได้แสดงหลักฐานว่า คาร์ลอส เดลูน่า คือ ผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการฆาตรกรรมในครั้งนั้น

เพราะมนุษย์สามารถผิดพลาดได้เสมอ การตัดสินของกระบวนการยุติธรรม คือการตัดสินจากมนุษย์ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะตัดสินพลาดแล้วคนที่เป็น "แพะ" ก็ได้รับความโชคร้ายไป เราจะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะประเด็นนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตายของคน ความผิดพลาดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ควรเกิดขึ้น กรณีของคาร์ลอส เดลูน่า จึงค่อนข้างจะกระทบจิตใจของพิคเก็ต ในทำนองที่ว่า โทษประหารชีวิตอาจจะทำให้คนอีกหลายคนไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า ไม่ได้กระทำความผิด หรือหากเป็นคดีที่ร้ายแรงมาก ๆ โทษจำคุกตลอดชีวิตก็คงจะทำให้นักโทษได้ใช้เวลาทบทวนตัวเองภายในพื้นที่ที่ถูกกักกันไว้ชั่วอายุหนึ่ง ก็เป็นทางเลือกในการลงโทษอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ

สำหรับหลายคน การงดเว้นโทษประหารชีวิต อาจจะเป็นเรื่องไม่เห็นด้วย มันไม่น่าแปลกใจ เพราะอคติของเรามันผลักนักโทษออกไปจากการอยู่ฝั่ง "พวกเรา" ไปแล้ว แต่หากจะเปิดใจสักนิด การให้ "โอกาส" ให้กับคนที่เดินทางผิดมาก่อน ก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างหนึ่งในการสร้างสรรค์สังคมร่วมกันของคนในรัฐเช่นกัน

มันไม่ใช่การมองแบบ "โลกสวย" ต่อคนทำผิด และไม่ใช่เพียงการยกระดับศีลธรรมทางจิตในให้เหนือขึ้นไปด้วยการ "ให้อภัย" แต่มันคือความจำเป็นทางการเมือง ในการทำความเข้าใจในหลักการอยู่ร่วมกันว่า กฎหมายบ้านเมืองซึ่งถือเอาเป็นหลักการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นที่ตั้ง การลงโทษคนผิดในฐานะ "มนุษย์" ที่มีจิตใจเหมือนกัน ต้องทำอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลเช่นกัน

 

 

 

***ชวนดูหนังฟรี "At the Death House Door" ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 2551 โดยการกำกับของ ปีเตอร์ กิลเบิร์ต และ สตีฟ เจมส์ ที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองแอตแลนตา และเข้าชิงรางวัลสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมด้านสารคดีจากสมาพันธ์ผู้กำกับแห่งอเมริกา (DGA)

 

ฉายครั้งแรกและครั้งเดียวในเมืองไทย

10 ตุลาคม 2557 เวลา 18.00 น. โรงภาพยนตร์ SF World Cinema ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 กรุงเทพ ฯ


จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษารับบริจาคหน้า สน.ปทุมวัน - เสียค่าปรับ 2 พัน ติดป้ายรำลึก 19 กันยา

$
0
0

1 ต.ค. 2557 - เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ สน.ปทุมวัน ณัฐิสา ปัทมภรณ์พงศ์ นิสิตคณะครุศาสตร์ และนายฐาปกร แก้วลังกา นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกกลุ่ม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย หรือ ศนปท. และทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเสียค่าปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 10 ด้วยโทษปรับ 1,000 บาท รวมทั้งสิ้น 2,000 บาท จากกรณีแขวนป้ายผ้ารำลึกถึงการการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และนายนวมทอง ไพรวัลย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา

โดยในขณะที่นักศึกษาและทีมทนาย อยู่ในห้องสอบสวนตามขั้นตอน มีสมาชิก ศนปท. คนหนึ่งใส่หน้ากาก “นวมทอง ไพรวัลย์” พร้อมถือปี๊บขอรับบริจาคเงินเพื่อนำมาชำระค่าปรับ โดยมีประชาชนร่วมบริจาคเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8,600 บาท โดย ศนปท. ระบุว่า เมื่อหักเป็นค่าปรับแล้ว ทาง ศนปท. จะนำเงินที่เหลือเข้ากองทุนปติวัฒน์ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความจริงกับวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง : การจะไปเอาเป็นเอาตายกับงานศิลปะมันบ้าไปหน่อย

$
0
0

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา เฟชบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ โพสต์วิดีโอคลิปชื่อ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง : การจะไปเอาเป็นเอาตายกับงานศิลปะมันบ้าไปหน่อย” ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ ‘วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนบทภาพยนตร์ ที่เติบโตมาจากงานโฆษณา เช่นเดียวกับ เป็นเอก รัตนเรือง, นนทรีย์ นิมิบุตร ฯลฯ ซึ่งถือเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย งานของ วิศิษฏ์ จะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แนวจินตนาการเหนือจริงและใช้สีสันฉูดฉาด และในหลายฉากที่เขากำกับมักจะยกย่องความคลาสสิกของหนังไทยในยุคเก่าอยู่เสมอๆ อย่างเช่นในเรื่อง ฟ้าทะลายโจร

วิศิษฏ์ : ศิลปะจริงๆ แล้วก็คือสิ่งเดียวกับเสรีภาพอยู่แล้ว เพราะว่างานศิลปะจริงๆ มันมีทั้งผู้ผลิตหรือผู้ส่งสารกับผู้รับสาร จริงๆ มันไม่ได้จบแค่คนผลิต คือ คนรับสารจะต้องไปตีความต่อจากนั้น ศิลปะก็คือแต่ละคนก็ตีความกันไปคนละทาง เวลาเสพงานเดียวกันเราสามารถคิดไปคนละทางได้ อันนั้นมันคือเสรีภาพอยู่แล้ว

อันดับแรกคนทำงานศิลปะต้องการเสรีภาพในการคิดก่อน เสรีภาพในการผลิตชิ้นงานเพื่อจะสื่อสารให้คน คนทำงานส่วนใหญ่เขาไม่ได้สนใจขนาดว่า คนรับสารคนดูต้องคิดแบบที่เขาคิด เขาต้องการให้งานเผยแพร่ออกไป แต่เขาไม่เคยไปบังคับว่าจะต้องคิดแบบนี้ นั่นคือเสรีภาพในการตีความ ขณะเดียวกันคนทำงานเขาก็ต้องการเสรีภาพในการสร้างผลงานเหมือนกัน ไม่ใช่แบบว่า คนรับสารมาบอกว่า “เห้ย มึงทำแบบนี้ดิ กูชอบดู” คนดูไม่มีสิทธิที่จะให้คนสร้างงานมาบอกว่า “ทำแบบนี้สิ”

เหมือนกัน คนคนสร้างงานก็ไม่มีสิทธิจะบอกคนดูว่า “มึงคิดแบบกูนะ มันถึงจะถูกต้อง” เพราะฉะนั้นในระหว่างคนทำงานกับคนเสพงานมีอิสระภาพ มีเสรีภาพ ที่จะทั้งทำและตีความอยู่แล้ว

ส่วนตัวรู้สึกว่างานศิลปะมันเป็นงานที่ เรียกว่ามันถูกแปลงสารอยู่แล้ว ทุกอย่างมันไม่ได้เอามาเป็นดุ้นๆ เป็นชัดๆ ขนาดนั้น งานศิลปะมันถูกแปลงสารทุกครั้งอยู่แล้ว ภาพมันไม่ใช่มีความหมายแค่นั้น เพราะฉะนั้นผมรู้สึกว่าจะไปเอาเป็นเอาตายกับงานศิลปะมันบ้าไปหน่อย คือหมายความว่ามันถูกแปลงจนกระทั่งเรียกว่าบางทีมันไม่ได้มีพิษภัยอยู่แล้ว หรือบางทีมันเป็นนัยยะที่ซ่อนอยู่ มันไม่ได้ร้ายแรง มันไม่ได้เป็นของร้ายแรง มันไม่เหมือนเอาปืนไปยิงคน มันแน่นอน อันนั้นไม่ต้องสงสัยว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงแน่ๆ แต่นี่มันเป็นงานศิลปะ มันเป็นภาพวาด เป็นการแสดงละครที่พูดภาษาชาวบ้านคือติ๊ต่างว่า ติ๊ต่างขึ้นมา มึงจะเอาอะไรกับการติ๊ต่าง มันคือบ้าไปหน่อย

ผมคิดว่าการที่ทำให้คนได้เสพงานได้รับรู้กับมันแล้วก็ได้เอาไปคิดต่อมันไม่ได้ทำให้อะไรได้พังทลายลงไปหรอกครับ เพราะถ้ามันพังทลายโลกนี้มันพังทลายหมดแล้ว เพราะว่างานทั้งโลกนี้มันเต็มไปด้วยการพยายามจะวิพากษ์สังคม พยามจะวิพากษ์สิ่งต่างๆ พยายามจะให้คนคิด คือผมคิดว่ามันก็ทำให้โลกพัฒนาขึ้นในแง่ความคิด แต่มันไม่ได้ทำให้โลกแตกไป เพราะฉะนั้นเกี่ยวกับกรณีเรื่องเฉพาะบางเรื่องมันก็ไม่ได้มีผลกับสิ่งนั้น ต่อให้เราวิพากษ์ภูเขายังไง ด่าไปให้ตาย ภูเขาก็ไม่ล่มแตกสลายลงมา แต่เราอาจจะได้มุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับภูเขาบ้าง

ในแง่ของเมืองไทยจริงๆ งานศิลปะของเรานี่หน่อมแน้มมาก มันไม่เคยท้าทายอำนาจรัฐประหาร มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว มีบ้างแต่ไม่มาก ตัวผมก็ไม่ได้ทำงานท้าทายอำนาจหรือวิพากษ์สังคม แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดการทำงานศิลปะ เพราะงานศิลปะมันก็แค่ชิ้นงาน มันไมได้ทำร้ายใคร ยกเว้นจะเอากรอบรูปไปตีหัวใครมันถึงจะเกิดอันตราย เพราะฉะนั้นงานศิลปะควรจะมีเสรีภาพในการแสดงออกต่อให้เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ควรให้เขาได้แสดงออก

โลกนี้ไม่ใช่มากำหนดด้วยตัวเรา มันเป็นโลกของทุกคน ทุกคนมีสิทธิที่จะกำหนด Subject ของตัวเอง เราไม่ชอบก็เดินหนีไปไม่ต้องดู ไม่ใช่ไม่ชอบก็เอามันออกไปจากตรงนี้ กูต้องไม่เห็นมัน หายไปจากโลก หายไปจาประเทศ คนทำงานศิลปะคนนั้นที่กูไม่ชอบมึงต้องออกไปเลย ไล่ไปแบบนี้ ไม่ได้ มันไม่มีสิทธิ ผมก็ไม่ชอบงานของคนตั้งเยอะ แต่ผมก็ไม่ได้ไปไล่เขา

เพราะฉะนั้นภายใต้รัฐประหารนี้ มันยิ่งต้องแสดงออก เราไม่ได้เป็นคนทำงานด้านสังคม พูดง่ายๆ เราทำงานบรรเทิงหน่อมแน้มไปตามเรื่อง ทำงานโฆษณา แต่เมื่อถูกควบคุมเราจะเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้เสพบางอย่าง หรือเวลาเราพูดอะไรออกไปเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอันนี้น่ากลัวที่สุด ภายใต้ประชาธิปไตยเราพูดอะไรได้เต็มที่เรามีสิทธิที่จะพูด โอเคถ้าไปกระทบใครเดี๋ยวเขาฟ้องเราเอง ไม่ต้องห่วง แต่ภายใต้รัฐประหารนี่บางทีเราพูดว่า “กูอยากกินแซนด์วิช” ไม่รู้กูจะโดนจับหรือเปล่า มันกลายเป็นเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ตอนนี้คนทำงานศิลปะอาจจะเริ่มรู้สึกแล้วว่าสิ่งที่มันหายไป คือมันมีคนทำงานศิลปะที่มันเสือกไปเรียกร้องรัฐประหารเยอะมาก (หัวเราะ) อาจจะคิดว่าทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เป็นไร แต่วันหนึ่งเขาห้ามมึงวาดรูปขึ้นมา ต่อให้เราวาดรูปเชียร์รัฐประหารยังไง แต่เขาไม่ชอบขึ้นมา เขาก็สั่งเอารูปคุณออกได้ เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกว่า เสรีภาพที่มึงต้องการมันหายไปแล้ว

ที่บอกว่า “อย่าให้รัฐประหารเสียของ” จำคำนี้เอาไว้ให้ดี มันก็เหมือนกับถ้าผู้หญิงโดนข่มขืน แล้วบอกว่าอย่าให้มันเสียของเลยแล้วกัน เมื่อโดนข่มขืนก็มันกับมันไปด้วยเลย(หัวเราะ) มันเลวไหมคำนี้ คำนี้มันแย่ที่สุด คือ “อย่าให้รัฐประหารเสียของ” มีหลายคนเลยที่พูดแบบนี้ ไหนๆ ก็ทำแล้ว ก็อย่าให้มันเสียของ เราก็พยายามทำให้มันสร้างสรรค์ นั่นก็เหมือนกับว่าโดนข่มขืนแล้วก็มันไปกับการโดนข่มขืนไปด้วยเลยแล้วกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หลังเส้นตาย ผู้ว่าสุราษฎร์สั่งตั้งกรรมการแก้ปมชุมชนคลองไทรฯ ใน 15 วัน

$
0
0

2 ต.ค. 2557  หลังจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.กรมน.) เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและประสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งชุมชนครองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าพื้นที่และสั่งให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเป็นที่ ส.ป.ก.ภายใน 7 วัน ครบกำหนดในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด สั่งการให้เร่งดำเนินการเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจาหาข้อตกลงในช่วงเช้าวันนี้ (2 ต.ค.) ภายหลังการเจรจา ตัวแทน สกต. เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในชุมชนคลองไทรฯ โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ ข้าราชการ ชาวบ้านในชุมชนและสกต. และฝ่ายผู้ร้องทุกข์ คือ กลุ่มผู้ซื้อที่ดินของ ส.ป.ก. ที่ถูกแบ่งขายโดยนายทุน โดยกำหนดให้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการภายใน 15 วัน

ในการเจรจาครั้งนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการเจรจา พร้อมรองผอ.กอ.รมน. นายอำเภอชัยบุรี ตัวแทนส.ป.ก. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทนชุมชนคลองไทรฯ และสกต. เข้าร่วมเจรจา

ในเวลาเดียว ชาวบ้านในชุมชนเล่าว่า ในช่วงที่ตัวแทนชุมชนเดินทางออกไปเจรจากับผู้ว่าฯ ณ ที่ว่าการอำเภอชัยบุรี ชาวบ้านพบรถกระบะจำนวน 10 คันพร้อมมีชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน จอดอยู่ที่แคมป์คนงานของบริษัท จิวกังจุ้ย จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนคลองไทรฯ สร้างความหวาดระแวงให้ชาวบ้าน เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยพบเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนจึงได้ติดต่อไปยังตัวแทนชุมที่เข้าเจรจาให้ประสานเจ้าหน้าที่เข้ามาในชุมชนเพื่อช่วยตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนผู้ว่าฯ จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการ ชาวบ้านได้ติดตามหนังสือโดยสอบถามย้ำไปยังห้องสารบัญรับเรื่องของผู้ว่าราชการจังหวัด หลังทราบว่าหนังสือจากคณะกรรมการสิทธิฯ ยังไม่ถึงมือผู้ว่าฯ จากนั้นผู้ว่าฯ จึงได้รับหนังสือและสั่งการให้เร่งดำเนินการเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจาหาข้อตกลงในช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค.

หลังจากนั้นตัวแทนชาวบ้านและสกต. ยังได้เดินทางไปติดตามหนังสืออีก 1 ฉบับ ที่ได้ยื่นแก่เจ้าหน้าที่ไว้ที่ค่ายวิภาวดีรังสิต กรมทหารราบที่ 25 จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้พบกับ พ.อ.สมบัติ ประสานเกษม รองผอ.กอ.รมน.และ จ.ส.อ.สมศักดิ์ กล่อมเอี่ยม นายทหารที่เข้าไปประกาศให้ชาวบ้านออกจากชุมชนภายใน 7 วัน เจ้าหน้าที่ทหารทั้งสองนายชี้แจงว่าในวันที่ 16 ส.ค. และวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เข้าไปโดยทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา พร้อมทั้งอ้างว่าช่วงนี้ยังอยู่ในกฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่ทหารไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าหรือนำป้ายไปติดประกาศ และสามารถนำกำลังเข้าไปตรวจสอบได้เลย

ชาวบ้านกล่าวด้วยว่า ในระหว่างการเจรจาเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่ามีใบคำสั่งในการเข้าตรวจสอบลงมาแล้วให้เข้าไปตรวจสอบความชอบธรรมของชาวบ้านและสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ว่าได้รับอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการทำประวัติสมาชิกในแต่ละชุมชนเพื่อตรวจสอบว่ามีความชอบธรรมที่จะได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินหรือไม่ ขณะนี้รอเช็คกำลังพลในการเข้าไปพื้นที่และจะอยู่ในบริเวณชุมชนเพื่อรอตรวจสอบการใช้พื้นที่ หากพบว่าชุมชนเข้าใช้พื้นที่ไม่ถูกต้องก็จำเป็นต้องผลักดันออกให้หมดเพื่อนำที่ดินไปจัดสรรต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เว็บ "นสพ.อิระวดี" ถูกแฮ็กโดยกลุ่มสนับสนุน "พระวีระตุ๊"

$
0
0

แฮ็กเกอร์กลุ่ม "BHG" ลงมือแฮ็กเว็บหนังสือพิมพ์พม่า "อิระวดี" และเรียกร้องให้ขอโทษ หลังลงข่าว "พระวีระตุ๊" ผู้นำกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงในพม่า "969" เยือนศรีลังกาและทำข้อตกลงกับกลุ่ม "พุทธิพละเสนา" โดยพระวีระตุ๊อ้างว่าเพื่อปกป้องภัยจากกลุ่ม "ญิฮาด" - ทั้งนี้การแฮ็กเกิดขึ้นหลังจาก บก.อิระวดี ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ

หน้าแรกของเว็บไซต์อิระวดีภาคภาษาพม่า ทั้งนี้เว็บดังกล่าวถูกแฮ็กในช่วงเช้าวันนี้ (2 ต.ค.) โดยแฮ็กเกอร์กลุ่ม "BHG" ที่ไม่พอใจการนำเสนอข่าว "พระวีระตุ๊" ผู้นำกลุ่ม "969" เยือนศรีลังกา

 

เว็บไซต์ของนิตยสารอิระวดี ถูกบล็อกในช่วงเช้าของวันที่ 2 ต.ค. โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "Blink Hacker Group" หรือ "BHG" โดยอ้างว่านิตยสารอิระวดีต้องขอโทษ ที่ลงบทความเกี่ยวกับการเยือนศรีลังกาของ "พระวีระตุ๊" ทั้งนี้ตามรายงานของเว็บไซต์มิซซิมา

ทั้งนี้เว็บไซต์อิระวดีถูกเปลี่ยนแบนเนอร์เป็นคำว่า "รายงานข่าวมุสลิมและมุสลิมสุดโต่ง" แทนข้อความเดิมคือ "รายงานข่าวในเบอร์ม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

นอกจากนี้ยังเขียนว่า "อิระวดีสนับสนุนพวกญิฮาดและมุสลิมหัวรุนแรง เพื่อปกป้องมุสลิมและอัลเลาะห์ อิรวะดียังใช้สื่อในการโจมตีชาวพุทธและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม"

ทั้งนี้ข้อความที่มีการแฮ็กดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อปกป้องกลุ่ม "พุทธิพละเสนา" ของศรีลังกา ซึ่งมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ทำข้อตกลงกับกลุ่ม "969" ของพระวีระตุ๊ ซึ่งย่อมาจาก "พุทธคุณ 9 ธรรมคุณ 6 สังฆคุณ 9"

โดยวีระตุ๊ระบุในข่าวว่าการทำข้อตกลงดังกล่าว "เพื่อปกป้องและป้องกันชาวพุทธโลก ซึ่งถูกคุกคามจากกลุ่มญิฮาด"

แฮกเกอร์กลุ่ม "BHG" ยังวิจารณ์อิระวดี และอ้างว่าการแฮ็กนี้เป็นการใช้ "เสรีภาพในการพูด"  และ "เสรีภาพของการแฮ็ก"

ออง ซอ บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง "อิระวดี" ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ ประจำปี 2014 จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนระหว่างประเทศ (ที่มา: Irrawaddy)

อนึ่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ก่อนหน้าที่เว็บไซต์อิระวดี จะถูกแฮ็ก มีรายงานข่าว "ออง ซอ" นักข่าวชาวพม่าผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของนิตยสารอิระวดี เป็นหนึ่งในสี่นักข่าวต่างประเทศ ที่ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ (International Press Freedom Awards) จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนระหว่างประเทศ (CPJ)

สำหรับรางวัลซึ่งมอบเป็นประจำทุกปีดังกล่าว เป็นรางวัลสำหรับการรายงานข่าวที่กล้าหาญ และส่งเสริมงานของนักข่าวซึ่งเผชิญกับการจองจำ ความรุนแรง และการถูกเซ็นเซอร์ โดยในปีนี้นอกจากบรรณาธิการจากอิระวดีแล้วมีนักข่าวที่ได้รับรางวัลจากอิหร่าน รัสเซีย และแอฟริกาใต้

CPJ ระบุด้วยว่า อิระวดี เหมือนกับสื่อพม่าอื่นๆ "ที่ยังคงถูกกดดันภายใต้รัฐบาลพม่าปัจจุบันนี้"

ผู้อำนวยการ CPJ โจเอล ไซมอน กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวทั่วโลกเผชิญหน้ากับความรุนแรงและการกดดันต่อสื่อมวลชน และมีการสังหารอย่างทารุณต่อผู้สื่อข่าวระหว่างวิกฤตซีเรีย "ผู้สื่อข่าวที่ CPJ มอบรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติคือผู้ที่ไม่ย่อท้อและไม่ยอมแพ้ พวกเขาเสี่ยงทุกวิถีทางเพื่อนำข่าวมาให้เรา"

ก่อนหน้านี้ออง ซอ อดีตนักศึกษารุ่น 88 ซึ่งผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารข่าวพลัดถิ่น "อิระวดี" ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2536 เมื่อปีที่แล้ว เขายังได้รับรางวัล Shorenstein Journalism Award จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมื่อปีก่อนด้วย "สำหรับการที่เขาอุทิศตัวเพื่อสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยในพม่า"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จัดดัชนีความกินดีอยู่ดีผู้สูงอายุสากล ไทยติดอยู่ที่ 36 จาก 91 ประเทศ

$
0
0

2 ต.ค.2557 ในโอกาสที่วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุสากล องค์การเฮลป์เอจ อินเตอร์เนชั่นแนล (HelpAge International) รวบรวมและจัดอันดับความอยู่ดีกินดีของผู้สูงอายุในประเทศต่างๆ 91 ประเทศ ครอบคลุมประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 89 ของประชากรสูงอายุทั้งโลก โดยมีเกณฑ์พิจารณา 4 ด้าน ดังนี้ 1. ความมั่นคงทางรายได้ 2. สถานะทางสุขภาพ 3. การจ้างงานและการศึกษา และ 4. สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

สำหรับภาพรวมการถูกจัดอันดับของประเทศไทยในปี 2557 ประกอบด้วย

เกณฑ์ที่ 1: ความมั่นคงทางรายได้
ประเทศไทยอยู่ในครึ่งบนของตารางที่อันดับ 36 ขยับขึ้น 6 อันดับจากปีก่อน ในประเทศเอเชียด้วยกันจัดอยู่ในอันดับที่ 3 โดยมีญี่ปุ่นมีอันดับสูงสุด ที่อันดับ 9 ตามมาด้วยไซปรัสที่อันดับ 34 โดยได้อันดับด้านสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในอันดับ 2 แต่อันดับที่ต่ำมากในด้านการจ้างงานและการศึกษาที่อันดับ 73 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ ที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 14 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในเวลาอีกไม่ถึง 3 ทศวรรษ ภาวะการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุนี้ ได้รับความใส่ใจจากผู้กำหนดนโยบาย โดยสะท้อนให้เห็นจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2556 - 2560)

เกณฑ์ด้านความคุ้มครองทางสังคมได้รับการปรับปรุงขึ้นเล็กน้อย 1 อันดับจากปี 2556 แต่ยังคงอยู่ในครึ่งล่างของตางรางที่อันดับ 58

ในขณะที่ความครอบคลุมของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ใช่ปัญหาหลักอีกต่อไป แต่ความเพียงพอในระยะยาวคือปัญหาหลัก จำนวนของเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีจำนวนเพียง 1 ใน 3 ของเส้นความยากจนของประเทศ ความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุผ่านการปรับปรุงเบี้ยยังชีพ เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของกิจกรรมเสียงสะท้อนของผู้สูงอายุ (ADA) ในประเทศที่มีเครือข่ายการทำงานของเฮลป์เอจ

เกณฑ์ที่ 2: สถานะทางสุขภาพ
เกณฑ์ด้านสุขภาพค่อนข้างได้รับการปรับปรุงโดยขยับขึ้น 5 อันดับจากปี 2556 และอยู่ในครึ่งตารางบนที่อันดับ 41 การดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้ประชาชน รวมไปถึงผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ส่งผลถึงการยกระดับสุขภาพ และอายุขัยเฉลี่ย สำนักงานปลักประกันสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขเอาใจใส่มากขึ้นกับการดูแลสุขภาพและการสนับสนุนผู้สูงอายุ และการเตรียมตัวเพื่อการมีสุขภาพดีในยามชราภาพ

การเพิ่มขึ้นของการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้สูงอายุส่งเสริมให้ภาวะทางอารมณ์และร่างกายดีขึ้น ผู้สูงอายุสามารถติดต่อกับลูกหลานที่ย้ายบ้านเพื่อไปหางานทำได้

เกณฑ์ที่ 3: การจ้างงาน และการศึกษา
ถึงแม้ว่าอันดับจะต่ำจนเกือบสุดท้ายที่ 73 แต่ก็คล้ายกับเกณฑ์ทางด้านสุขภาพ โดยเกณฑ์ด้านการเข้าถึงการจ้างงาน และการศึกษาขยับขึ้น 5 อันดับ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ ปี 2546 และ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2545 - 2564) และการสนับสนุนผู้สูงอายุในกิจกรรมสร้างรายได้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการแนะนำจากนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้สูงอายุได้เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงแรงงาน (การมีงานทำ/การจ้างงานในวัยสูงอายุ) และกระทรวงการศึกษา (การฝึกอาชีพ) ปัจจุบันผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ยังคงทำงานอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งประสบปัญหาทัศนคติทางลบต่อผู้สูงอายุ ตำแหน่งไม่มั่นคงและงานที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากขาดกลไกความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้ใช้แรงงานสูงอายุ

ในภาพรวมแล้วการปรับปรุงด้านระดับการศึกษาของประชากรจะพัฒนาไปในด้านบวก เนื่องจากประชากรที่อายุน้อยกว่าและมีการศึกษาสูงกว่าจะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคต

เกณฑ์ที่ 4: สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
ในปี 2556 ประเทศไทยได้อันดับต้นๆ ของทวีปเอเชียในเกณฑ์ด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ด้วยอันดับที่ 8 มาในปีนี้อันดับได้ตกลงไป 4 อันดับเป็นรองประเทศอินโดนีเซีย ด้วยระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของสังคมไทย โดยเฉพาะในชนบทที่มีจำนวนผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาศัยอยู่ รัฐบาลและสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ได้สนับสนุนให้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุและเครือข่าย อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่เปราะบางก็ได้ก่อตั้งและสนับสนุนเช่นกัน โครงสร้างในระดับชุมชนนี้สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และทำให้ผู้สูงอายุที่เข้มแข้งกับผู้สูงอายุที่เปราะบางได้มีปฏิสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งยังขยายวงกว้างออกไปยังกลุ่มประชากรอื่นอีกด้วย

การลดราคา หรือให้เปล่ากับผู้สูงอายุเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะได้ สภาพถนนที่ดีขึ้นทั่วประเทศก็ทำให้เกิดผลในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางร่างกาย ที่เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงของผู้สูงอายุในชุมชนเมืองเป็นปัจจัยที่ทำให้ถูกลดอันดับลง

สำหรับดัชนีความกินดีอยู่ดีของผู้สูงอายุสากล (Global AgeWatch Index) ได้รับการพัฒนาและสร้างขึ้นโดย องค์การเฮลป์เอจ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยใช้ข้อมูลของประเทศต่างๆ จาก กรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN DESA), ธนาคารโลก (Wolrd Bank), องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ Gallup World Poll

เกณฑ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลและจัดอันดับ มีดังนี้
เกณฑ์ที่ 1: ความมั่นคงทางรายได้
1.1 การมีเบี้ยยังชีพ และความครอบคลุม
1.2 อัตราความยากจนในวัยสูงอายุ โดยใช้เกณฑ์ของธนาคารโลก
1.3 สวัสดิการอื่นๆ ของผู้สูงอายุโดยดูจาก รายรับ/รายจ่าย ของผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่น
1.4 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ

เกณฑ์ที่ 2: สถานะทางสุขภาพ
2.1 อายุคาดเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี หมายถึง (Life expectancy at 60) เมื่อมีอายุได้ 60 ปีแล้ว คาดว่าจะมีอายุต่อไปได้อีกกี่ปีจึงจะเสียชีวิต
2.2 อายุคาดหวังที่มีสุขภาพดีเมื่ออายุ 60 ปี (Healthy life expectancy at 60) หมายถึง เมื่ออายุ 60 ปีแล้ว คาดว่าจะมีสุขภาพดีไปได้อีกกี่ปี
2.3 สุขภาวะทางจิต ในที่นี้ทำการเปรียบเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุที่คิดว่าชีวิตตนเองมีความหมาย เทียบกับประชากรอายุ 35-49 ปี ที่คิดเหมือนกัน

เกณฑ์ที่ 3: การจ้างงาน และการศึกษา
3.1 การจ้างงานในผู้สูงอายุ สัดส่วนของประชาการอายุ 55 - 64 ที่ได้รับการจ้างงาน
3.2 การได้รับการศึกษาของผู้สูงอายุ สัดส่วนของผู้สูงอายุที่ได้รับการศึกษาระดับมัธยม หรือสูงกว่า

เกณฑ์ที่ 4: สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
4.1 ความสัมพันธ์กับชุมชน สัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีญาติหรือเพื่อนที่สามารถพึ่งพาได้เมื่อเกิดปัญหา
4.2 ความปลอดภัยทางร่างกาย สัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 50 ปี ที่คิดว่าตนเองปลอดภัยหากเดินคนเดียวในเมือง หรือย่านที่ตนเองอาศัย
4.3 อิสรภาพ สัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่พอใจกับอิสรภาพในชีวิตของตน
4.4 การเข้าถึงขนส่งสาธารณะ สัดส่วนของผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่พอใจกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ


ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://www.helpage.org/global-agewatch/
http://ageingasia.org/


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่อผู้ประท้วงฮ่องกงท้าทายการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตจากจีน

$
0
0

มีอยู่แง่มุมหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าการประท้วงในฮ่องกงประสบความสำเร็จคือการสามารถนำเสนอภาพให้กับชาวโลกได้รับรู้ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตหลายอย่าง รวมถึงการพยายามหลีกเลี่ยงการสอดแนม การควบคุม หรือการปิดกั้น จากทางการจีนด้วยวิธีการต่างๆ


30 ก.ย. 2557 เว็บไซต์เดอะเวิร์จ วิเคราะห์เรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยสื่อสารของกลุ่มผู้ประท้วงทางการจีนในฮ่องกง โดยตั้งคำถามว่าการใช้เทคโนโลยีเช่นสมาร์ทโฟนในกลุ่มผู้ประท้วงจะทำให้ขบวนการเข้มแข็งขึ้นหรือถูกควบคุมได้ง่ายขึ้นหรือไม่ และเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงฝูงชนหรือทำเป็นสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจฝูงชนกันแน่

เดอะ เวิร์จระบุว่า การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงในฮ่องกงมัลักษณะเดียวกับการเคลื่อนไหวในยุคสมัยใหม่ส่วนใหญ่คือมีการนำเสนอให้เห็นผ่านสื่อออนไลน์จำนวนมาก มีการเผยแพร่แถลงการณ์และหลักการพื้นฐาน รวมถึงคู่มือการอารยะขัดขืนผ่านเว็บล็อกของกลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กอื่นๆ เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก ถ้าลองค้นหาด้วย #occupycentral หรือ "umbrella revolution" (การปฏิวัติด้วยร่ม) จะพบภาพการประท้วงจำนวนมาก ทำให้พวกเขาสามารถดึงความสนใจจากชาวโลกได้โดยไม่ต้องง้อสื่อในประเทศ

ขณะเดียวกันฝ่ายทางการจีนซึ่งมีการควบคุมคัดกรองข่าวสารที่จะอนุญาตให้เผยแพร่ในเขตจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเข้มงวดก็ไม่ยอมให้ภาพการประท้วงที่มีคนเนืองแน่น รวมถึงมีรูปคนถือร่มยืนอยู่หน้ารถถังที่สื่อถึงเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 แต่การปิดกั้นสื่อที่ถูกเรียกว่า "เดอะเกรทไฟร์วอลล์" (The Great Fire Wall) ก็ไม่สามารถปิดกั้นครอบคลุมไปถึงฮ่องกงและเว็บไซต์ทวิตเตอร์ได้

ทำให้ทางการจีนต้องหันไปจำกัดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ในจีนแทน เช่นการบล็อกอินสตาแกรมภายในประเทศจีนเพื่อลดการแพร่กระจายรูปภาพการประท้วง ในจีนมีเว็บไมโครบล็อกที่คล้ายทวิตเตอร์ชื่อ "ซีนา เว่ยป๋อ" (Sina Weibo) ซึ่งดำเนินการโดยรัฐ แต่ก็มีการลบโพสต์ไปจำนวนหนึ่งนับตั้งแต่มีการประท้วงโดยเฉพาะที่มีคำว่า "การปฏิวัติด้วยร่ม"

อย่างไรก็ตามเดอะเวิร์จระบุว่าผู้ประท้วงยังได้เตรียมรับมือกับการถูกจำกัดหรือคัดกรองการใช้อินเทอร์เน็ตภายในพื้นที่ชุมนุม ด้วยการแห่กันสมัครใช้โปรแกรมส่งข้อความไฟรแชต (Firechat) ซึ่งเป็นการส่งข้อความจากโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งแทนการส่งเข้าศูนย์ข้อมูลกลาง อีกทั้งยังสามารถใช้ได้แม้จะมีการปิดกั้นการเข้าเว็บไซต์ ซึ่งเคนเกิดขึ้นมาก่อนในการประท้วงที่อียิปต์ ตุรกี และยูเครน

ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าโปรแกรมหลบเลี่ยงการปิดกั้นอย่างทอร์ (Tor) มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นราว 500 คนในช่วงที่มีการประท้วงในวันเสาร์ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมมีความพยายามหลบเลี่ยงการสอดส่องทางอินเทอร์เน็ต

แต่ก็มีอันตรายในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อกลุ่มโค้ดฟอร์ฮ่องกง (Code for Hong Kong) ได้ค้นพบว่ามีโปรแกรมแชตปลอมที่ถูกออกแบบมาเพื่อส่งมัลแวร์ (โปรแกรมอันตราย) ไปยังเครื่องของผู้ประท้วงโดยอาศัยระบบเครือข่ายเปิดสำหรับผู้ใช้ร่วมกันเป็นแหล่งโจมตี

เดอะเวิร์จ ระบุอีกว่าภายในการประท้วงเพียง 3 วัน ผู้ประท้วงในฮ่องกงก็ประสบความสำเร็จในการทำให้เรื่องราวเผยแพร่ไปสู่สายตาชาวโลกแม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านไม่แพ้กันจากสื่อภายในประเทศ กลุ่มผู้ประท้วงยังสามารถสร้างสัญลักษณ์เป็นร่มเปิดซึ่งสามารถรับรู้ได้ในทางสากลและจะเป็นที่รู้จักไปอีกหลายปี

แต่แม้ว่าพวกเขาจะใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดียจนทำให้สามารถแพร่กระจายข่าวได้รวดเร็ว แต่ก็ยังไม่อาจคาดเดาผลของการประท้วงได้ อย่างไรก็ตามมันก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติการที่ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุดในรอบหลายสิบปีสำหรับภูมิภาคนี้ ในฐานะเมืองสุดท้ายของจีนที่อยู่ภายนอกการปิดกั้นทางอินเทอร์เน็ต

เรียบเรียงจาก

Hong Kong's protests are putting Chinese web censorship to the test, The Verge, 29-09-2014
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดรายงาน กก.สิทธิ ชี้ จนท.อุทยานแก่งกระจานละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยง

$
0
0

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกรายงาน ชี้การกระทำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และชาวกะเหรี่ยงอยู่มาดั้งเดิมก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติ และส่งมาตรการการป้องกันทั้งแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ


2 ต.ค. 2557 จากเหตุการณ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าผลักดัน เผาบ้าน เผายุ้งฉาง ชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน  จนนำมาสู่เฮลิคอปเตอร์ทหารตก 3 ลำ มีนายทหาร ทหารและสื่อมวลชนเสียชีวิต 17 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2554

ต่อมาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ร้องเรียนต่อสภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ระหว่างมิถุนายน 2553 ถึงกรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารได้ดำเนินการผลักดัน รื้อถอน และทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม จำนวนหลายสิบหลัง

สภาทนายความ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น ตรวจสอบแล้วพบว่า ชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงมีบัตรประจำตัวประชาชน ที่ระบุว่าเป็นคนไทยโดยกำเนิด มีถิ่นฐานบ้านเรือนและทรัพย์สินจริง และมีความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จริง โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจเข้ามาเผาทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของประชาชน จึงมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เรียกเงินชดเชยค่าเสียหายและขอให้ประชาชนได้กลับไปทำกินในภูมิลำเนาเดิม ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล

ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ได้พิจารณาและดำเนินการตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขายืนยันว่า ราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ประชากรมีอาชีพเพาะปลูกเพื่อยังชีพเป็นหลักรวมทั้งการหาของป่า มีการสำรวจมาตั้งแต่ พ.ศ.2526 ต่อมามีการจัดทำทะเบียนราษฎรชาวไทยภูเขา เมื่อเดือนเมษายน 2531 มีรวมทั้งสิ้น 71 ครอบครัว 367 คน รวมถึงนายโคอี้ มีมิ อายุกว่า 100 ปีและครอบครัว

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่าจึงเห็นว่า การอยู่อาศัยของราษฎรชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน มีลักษณะเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เนื่องจากได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นที่ตั้งบ้านเรือน และใช้เป็นที่ทำกินหรือพื้นที่ทางการเกษตร มีวิถีการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลานาน มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งย่อมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้  และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

การกระทำที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของชาวกะเหรี่ยง ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้  โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสาระสำคัญอยู่ที่การได้อยู่อาศัยในชุมชนของตน และการได้เลือกที่จะมีวิถีชีวิตแห่งตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี  เมื่อผู้ถูกร้อง (นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) รับว่า ได้เข้ารื้อถอนและเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวจริง

การใช้มาตรการเผาทำลายทรัพย์สิน จึงเป็นการใช้อำนาจเกินกว่ากรณี  เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ใช้อำนาจ  ดังนั้น การใช้มาตรการในการเผาทรัพย์สินจึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มผู้ร้อง

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่า การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของผู้ถูกร้อง ในการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 4 มาตรา 41 และมาตรา 66 จึงเห็นควรกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหา และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการดังนี้

1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมควรตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินของผู้ถูกร้องให้แล้วเสร็จ  และสมควรยุติการดำเนินการ จับกุม ข่มขู่ คุกคาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และผ่อนผันให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมทันที  จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

2. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินทำกินของกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

3. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจากการเข้ารื้อถอน เผาทำลายทรัพย์สินของผู้ถูกร้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

4. ให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

5. ให้กรมการปกครองโดยอำเภอแก่งกระจาน จัดทำโครงการเคลื่อนที่ เร่งรัดการสำรวจ และให้สัญชาติไทยแก่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images