Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ชุมชนโคกยาว–บ่อแก้ว ผวา คำสั่ง64/57 พ่นพิษซ้ำสอง ขีดเส้นตายไล่รื้อ 25 ต.ค.

$
0
0

23 ต.ค.2557 นายนิด ต่อทุน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แจ้งว่า ตามที่นายอำเภอคอนสารได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม อ.คอนสาร เมื่อวันที่ 8 ต.ค.57 และในที่ประชุมมีมติให้ชาวบ้านรื้อถอนออกเองภายใน 19 วัน หากไม่ปฎิบัติตามกำหนด ทางจังหวัดจะเข้ามาดำเนินการขั้นเข็ดขาดนับตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.57 ทุกวันนี้พวกเรานัดหมายประชุมกันทั้งวัน แม้ในคืนนี้ (22 ต.ค.57) ยามดึกก็ยังเรียกประชุมพี่น้อง พร้อมกับร่วมกันเฝ้าระวังภัยกันภายในชุมชนตลอดเวลา เพราะแน่นอนว่าสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มีผลทำให้เกิดความกังวลใจ รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ถือว่าเป็นการข่มแหง คุกคาม เป็นการรังแกชาวบ้านระลอกใหม่

นายนิด กล่าวอีกว่า พี่น้องบ้านบ่อแก้ว และชุมชนโคกยาว ได้เดินทางไปขอเข้าพบนายอำเภอ ในวันที่ 15 ต.ค.57 เพื่อชี้แจงถึงกระบวนการแก้ปัญหาว่าอยู่ในระหว่างการดำเนิน โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้มีการประชุมร่วมกับตัวแทนภาครัฐโดยมี ปนัดดา ดิษกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯและ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีมติการประชุมร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างภาครัฐกับ ขปส. ว่า ให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชนออกไปก่อน ปรากฏว่านายอำเภอไม่อยู่ และได้คุยกับปลัดอาวุโส ได้ความว่าจังหวัดเรียกไปประชุมในเรื่องกรณีปัญหาที่ดิน ขณะเดียวกันปลัดอาวุโสแจ้งให้พวกตนทราบอีกว่าว่านายอำเภอจะลางานต่ออีกเป็นเวลา 3 วัน

“จากกำหนดไล่รื้อชุมชนบ่อแก้ว ในวันที่ 25 ก.ย.57 ตามคำสั่งที่ 64/57 ที่เข้ามาปิดป้ายประกาศวันที่ 26 ส.ค.57 ถึงขณะนี้ สถานการณ์ยังไม่มีการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่เข้ามาแต่อย่างใด แต่ขณะนี้ความหวาดระแวง กลับย้อนเข้ามากระทบชีวิตอีกระลอก ตลอดทั้งคืนพวกเราต่างช่วยกันเฝ้าระวังภัยกันตลอดเวลา จนทุกวันนี้ไม่เป็นอันจะทำอะไรกันแล้ว ลูกหลานก็ไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งกลัวและกังวล ห่วงเหมือนกันว่าบ้านตัวเองจะถูกทหารเข้ามาไล่รื้อ พ่อกับแม่จะไม่มีที่อยู่ ดังนั้นพวกเราจึงมีการประชุมกันทุกคืน และตกลงกันว่าพรุ่งนี้ (24 ต.ค.57) จะไปขอเข้าพบนายอำเภอ เพื่อขอให้พิจารณาประกาศดังกล่าว ที่จะทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบและขาดความเป็นสุขในการดำเนินชีวิตอีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาพวกเราไปหา ก็พบแต่ปลัดอำเภออาวุโส ซึ่งไม่สามารถให้คำตอบเป็นที่แน่นอนได้” นายนิดกล่าว

ด้านนายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า หลังจากวันที่ 25 ส.ค. 57 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครองกว่า 10 นาย ได้เข้าปิดป้ายประกาศคำสั่ง ให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ทั้งพวกตนและพี่น้องบ้านบ่อแก้วได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในจังหวัดชัยภูมิและสำนักนายกรัฐมนตรี  กระทั่ง 10 ก.ย.57 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือเชิญไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา จนในที่ประชุมมีมติให้ชะลอการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ในวันที่ 8 ก.ย.57 ออกไปก่อน

นายเด่น กล่าวอีกว่า มันเหมือนเป็นลางสังหรณ์เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 57 เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) กว่า 10 นาย นำแผ่นป้ายมาติดตั้งบริเวณทางเข้าชุมชนคู่กับป้ายคำสั่งที่ 64/57 ที่ถูกติดตั้งก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งไล่รื้อภายในวันที่หรือตามเวลาที่กำหนดแต่อย่างใด โดยมีใจความว่า  "ทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม” และลงท้ายว่าเป็นคำสั่งของกองทัพภาคที่สอง

“จากที่ไม่แน่ใจว่าเป้าหมายในพื้นที่ 80 กว่าไร่ที่ระบุตามป้ายนั้นเป็นพื้นที่บริเวณใด ขณะนี้พอเข้าใจแล้วว่าต้องเป็นในพื้นที่ชุมชนโคกยาวแน่นอน ถือว่าเป็นการสร้างความหวาดผวา ทำให้ชาวบ้านหวั่นถึงภัยที่จะเกิดขึ้นอีก ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดนายอำเภอจึงมีคำสั่งในมติที่ประชุมว่าจะทำการไล่รื้อภายในกำหนด 19 วันอีก และจะครบกำหนดให้รื้อถอน วันที่ 25 ต.ค.ที่จะถึงนี้ ทั้งที่ในพื้นที่พิพาทนั้นอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ในขณะนี้ก็มีการเฝ้าระวังมากขึ้นกว่าเดิม หลายชีวิตต่างอยู่ในความวิตก หลายวันกันแล้วที่ทำให้นอนไม่ค่อยหลับไปตามๆ กัน และในวันพรุ่งนี้พวกตนจะไปขอเข้าพบนายอำเภอร่วมกับพี่น้องบ่อแก้วอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันให้กับความปลอดภัยของชีวิตพวกตนได้เลย ” นายเด่น กล่าวเพิ่ม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาทนายความคุย 2 ผู้ต้องหาพม่าคดีเกาะเต่า ขอความเป็นธรรมอัยการ

$
0
0

 

23 ต.ค. องค์กรพัฒนาเอกชนหลายหน่วยงานแถลงข่าวสนับสนุนการตั้งคณะทำงานของสภาทนายความช่วยเหลือทางคดีแก่ชาวพม่า 2 รายในคดีเกาะเต่า

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนสภาทนายความ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือคดีที่ผู้ต้องหาชาวพม่าสองราย

นายวิน หรือเนวิน และนายซอ ถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา จากเหตุการณ์ฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ นายเดวิด มิลเลอร์ วัย 24 ปี และนางสาวฮันนาห์ วิทเธอริดจ์ วัย 23 ปี ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2557 โดยมีนายสุรพงษ์ กองจันทึกเป็นหัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีและประเด็นอื่นๆที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาในคดีอาญา โดยมีทนายความอาวุโสจำนวนหนึ่งร่วมเป็นคณะทำงานดังกล่าวด้วย

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ทนายความของคณะทำงานดังกล่าวได้เข้าพบผู้ต้องหาเพื่อสอบข้อเท็จจริง โดยทางเรือนจำอำเภอเกาะสมุยได้จัดพื้นที่ให้คณะทนายความได้พูดคุยกับผู้ต้องหาได้อย่างเป็นอิสระ การสอบข้อเท็จจริงใช้ระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง และผู้ต้องหาทั้งสองรายได้ร้องขอให้ทีมทนายความยื่นคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเกาะสมุยโดยปฏิเสธข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนที่ว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการข่มขืนและการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษสาเหตุที่ตนให้การรับสารภาพนั้น เนื่องจากระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ต้องหาทั้งสองได้ถูกเจ้าหน้าที่บางคนและล่ามของเจ้าหน้าที่ร่วมกันกระทำการทรมานเพื่อให้รับสารภาพในวันที่ 2 ตุลาคม 2557จากนั้นนพักงานตำรวจจึงได้ขอให้ศาลออกหมายจับและนำผู้ต้องหาทั้งสองลงพื้นที่เกิดเหตุเพื่อจัดทำแผนประกอบคำรับสารภาพในวันที่ 3 ตุลาคม 2557 ซึ่งได้มีข่าวปรากฎแพร่หลายตามสื่อโทรทัศน์สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ การยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการครั้งนี้เพื่อขอให้พนักงานอัยการดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องการบังคับให้ผู้ต้องหารับสารภาพและสอบสวนพยานของผู้ต้องหาประกอบด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและนำผู้กระทำความผิดที่แท้จริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

มสพ.ระบุว่า ในกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายนั้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียหายในคดีอาญา ญาติของผู้เสียหาย และต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดอาญานั้นได้รับโทษตามสมควรแก่ความผิดที่ได้กระทำและเพื่อเป็นมาตรการมิให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลหรืออยู่เหนือกฎหมายอันจะสร้างความหวาดกลัว ความไม่ปลอดภัยต่อคดีอาชญากรรมที่สร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนในสังคม เช่น เหตุการณ์ฆาตกรรมในพื้นที่เกาะเต่าซึ่งมีผู้เสียหายเป็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษและมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยมีหน้าที่หลักโดยตรงในการติดตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมที่มาตรฐานทางกฎหมายอาญาทั้งภายในและระหว่างประเทศได้รับรองไว้ทั้งในขั้นตอนก่อนการพิจารณา เช่น ในการสืบสวน การจับกุม ควบคุมตัวเพื่อทำการสอบสวน ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล กระบวนการรับฟังพยานหลักฐาน รวมถึงการคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีอันเป็นมาตรการป้องกันมิให้เกิดการละเมิดกฎหมายหรือหลักการด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา

จากการเยี่ยมโดยคณะทำงานและตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม พบว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ได้ถูกใส่โซ่ตรวนไว้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในขณะที่ผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำและระหว่างที่เดินทางมายังศาลซึ่งศาลปกครองเคยมีคำพิพาษาเพื่อสร้างบรรทัดฐานด้านการตรวนผู้ต้องขังตลอด24 ชั่วโมงนั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง

มสพ.ระบุในตอนท้ายว่า คดีดังกล่าวนี้ นับว่าเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation-HRDF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network-MRWRN) มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation of Education and Development-FED) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation-CrCF) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชน ขอให้การสนับสนุนการทำงานของสภาทนายความและรณรงค์เพื่อให้เกิดการความยุติธรรม ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม หลักนิติธรรมในประเทศไทย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานฯ โวย รบ. ทหาร เปิดสัมปทานปิโตรเลียม - ขึ้นราคาLPG

$
0
0

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน ชี้รัฐบาลควรหยุดให้สัมปทานปิโตรเลียม แนะสปช.แก้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมก่อน ห่วงรัฐบาลขึ้นราคาLPG อาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย

23 ต.ค. 57 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ได้จัดแถลงข่าว เนื่องจากกรณีในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เมื่อวาน(22 ต.ค.) ได้มีมติเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม 29 แปลง โดยจะมีการเปิดให้เอกชนยื่นเรื่องภายใน 18 ก.พ. 58  และมีนโยบายที่จะทยอยปรับราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ตามขั้นบันได ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

“ดิฉันคิดว่า การให้พื้นที่สัมปทานรอบที่ 21 นี้ คือการเปิดช่องให้กลุ่มทุนพลังงานขนาดใหญ่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาผูกขาดพื้นที่ในประเทศไทย”รสนา โตสิตระกูล

รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่าหลังจากที่รัฐบาลที่มติเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเมื่อวาน อาจจะเป็นการนำพาประเทศไทยกลับไปเป็นทาสของทุนต่างชาติอีกครั้ง เพราะการให้สัมปทานปิโตรเลียมกับเอกชนไปนั้น รัฐไม่สามารถที่จะเข้าไปควบคุมดูแลทรัพยากรพลังงานได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจเพราะทรัพยากรพลังงานนั้นเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่ของกระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเท่านั้น พร้อมเสนอว่ารัฐบาลควรจะชะลอการเปิดสัมปทานครั้งนี้ไปก่อน ทั้งยังแนะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติให้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ด้วย ซึ่งรสนาย้ำว่าเรื่องนี้ควรเป็นวาระเร่งด่วน

ในส่วนของการที่กระทรวงพลังงานออกมาให้ข้อมูลว่า จำเป็นต้องรีบให้สัมปทานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เพราะเกรงว่าพลังงานปิโตรเลียมจะหมดภายใน 8 ปี รสนามองว่าเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และจงใจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะแท้จริงแล้วการอ้างว่าปิโตรเลียมของไทยจะหมดนั้น เป็นเพียงการวางหมากเพื่อที่แก้กฎหมายเพื่อที่จะต่อสัญญาให้กับบริษัทที่เคยได้รับสัมปทาน

ขณะเดียวกันการที่รัฐบาลเปิดสัมปทาน โดยมีการให้แหล่งปิโตรเลียมใหม่คือแปลงที่ G 1/57 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่พิพาทด้านพลังงานระหว่างไทยกับกัมพูชา รสนาตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นการวางแผน เพื่อจะเป็นการยอมรับในพื้นที่พิพาท โดยจะเป็นการเปิดช่องให้มีการเจรจากับประเทศกัมพูชาต่อไปหรือไม่

“ต้องบอกว่ารับประหารครั้งนี้มาเพื่อจะแก้ปัญหาการฆ่ากัน ความไม่สงบ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องที่คุณจะมาตัดสินเกี่ยวกับเรื่องของการให้สัมปทานเลย…”รสนากล่าวทิ้งทาย

“ดิฉันคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องการปฏิรูป การปิดปากประชาชน การใช้กฎอัยการศึกมาปิดปากประชาชน หัวใจสำคัญสัญญากันไว้อย่างไร เข้ามาเพื่อปฏิรูป แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเลยก็มีการตกลงกันเสร็จหมดแล้ว”บุญยืน ศิริธรรมกล่าวถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปหาที่บ้านพัก เมื่อวานนี้ก่อนที่จะมาแถลงข่าว

บุญยืน  ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม เห็นว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปคือการปฏิรูปด้านพลัง โดยตอนที่ทหารเข้ามาควบคุมอำนาจก็ได้เห็นความหวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่ได้พบคือ เมื่อออกมาเคลื่อนไหวส่งเสียงไปยังรัฐบาล เพื่อที่จะให้มีการปฏิรูปพลังงานที่เป็นธรรม กลับถูกควบคุมตัวไป และถึงที่สุดก็ได้มีการลงมติเปิดให้สัมปทานครั้งที่ 21 บุญยื่นตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า การที่ทหารเข้ามาเพื่อที่จะคืนความสุขให้ประชาชน แต่แท้จริงแล้วเป็นการคืนความสุขให้ใครกันแน่ การที่พลเอกประยุทธ์ บอกว่าจะจัดการกับการคอรัปชัน แต่กับเรื่องปิโตรเลียมทั้งที่เห็นอยู่ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการคอร์รัปชันในกระบวนการมากมาย ทำไมทหารยังไม่จัดการ   

“เราไม่ได้มาร่วมตัวเพื่อที่เรียกร้องของราคาถูก เรารวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ถ้าทุกคนต้องจ่ายLPG ราคาเดียว ขอถามกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีว่ากล้าจ่ายหรือไม่ ก่อนที่ปิโตรเคมีจะบอกว่ากล้าจ่ายหรือไม่ รัฐบาลกล้าบอกหรือไม่ว่าปิโตรเคมีใช้LPG ที่ราคาเท่าไหร่”เดชรัตน์ สุขกำเนิด

เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า การใช้LPG ในประเทศไทยสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้หลักได้ 4 กลุ่มคือ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ปริมาณร้อยละ 35 รองมาคือ กลุ่มครัวเรือนใช้ปริมาณร้อยละ 29 รองสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ใช้ปริมาณร้อยละ 28  และสุดท้ายคือ กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆอีกร้อยละ 8 ซึ่งในแต่ละกลุ่มนั้นมีการใช้LPG ในราคาที่ต่างกันคือ รถยนต์ใช้ที่ราคาประมาณ 21 บาท ครัวเรือนใช้ที่ราคา 22.60 ส่วนภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใช้ที่ราคา 29 บาท โดยที่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้มีการเปิดเผยว่าใช้ที่ราคาเท่าไหร่ หลังจากเมื่อวานนี้รัฐบาลประกาศว่าจะให้มีการใช้ในราคาเดียวกัน เพราะฉะนั้นจะมีการขึ้นราคาก๊าชLPG อาจจะไปอยู่ที่ราคา 27 – 28 บาทต่อกิโลกรัม โดยเดชรัตน์ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นไปตามนี้ เท่ากับว่าเป็นการผลักให้กลุ่มครัวเรือน และรถยนต์ต้องใช้ก๊าชLPG ที่ราคาสูงขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับได้ใช้ในราคาที่ถูกลง และในขณะเดียวกันกลับไม่ได้มีการพูดถึงผู้ใช้LPG ในปริมาณมากที่สุดอย่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเลย

เดชรัตน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การได้มาซึ่งก๊าซหุงต้มนั้น มีที่มาจาก 3 แหล่ง คือร้อยละ 50 ของก๊าซLPG ที่ใช้ในประเทศไทยได้มาจากโรงแยกก๊าช ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม แหล่งที่สองร้อยละ 25 ได้มาจากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งต้นทุนการผลิตที่  27 บาทต่อกิโลกรัม และแหล่งสุดท้ายคือการนำเข้าอีกร้อย 25 มีต้นทุนการผลิตที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ตอนนี้กำลังจะมีการขึ้นราคา ซึ่งประชาชนจะต้องจ่ายในราคา 27 – 28 บาท คำถามที่รัฐบาลต้องให้ความชัดเจนคือ กำไรจากส่วนต่างที่จะเกิดขึ้นนี้จะตกเป็นของใคร เพราะทรัพยากรที่ออกมาจากโรงแยกก๊าซเป็นก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถ้าจะต้องใช้ราคาเดียวกันจริงๆ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกำไรจากต้นทุน 18 บาท และจะมีการขายในราคา 27 – 28 บาท กำไรส่วนนี้ต้องเป็นของรัฐ ไม่ใช่ตกเป็นของบริษัทผู้ผลิต ไม่เช่นนั้นการกระทำนี้จะเข้าข่ายการทุจริตในเชิงนโยบาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสูงสุดยืนยกฟ้องคดีมะละกอจีเอ็มโอ

$
0
0
 
 
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2557 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ที่ศาลปกครองกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่พิพากษายืนให้ยกฟ้อง คดีที่มูลนิธิเพื่อสันติภาพเขียว (กรีนพีซ เอส อี เอ) ยื่นฟ้อง กรมวิชาการเกษตรและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 เรื่องละเลยต่อหน้าที่ปล่อยให้มีการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ นอกพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ส่วนแยกพืชสวน ต.ท่าพระ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นเหตุให้พันธุ์มะละกอดังกล่าวออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมไปสู่แปลงเพาะปลูกของเกษตรกร จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องที่อนุญาตให้ทดลองปลูกมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม(จีเอ็มโอ) ในภาคสนามหรือในสภาพพื้นที่เปิดและให้ผู้ถูกฟ้องดำเนินการตรวจสอบสอบมะละกอในแปลงเกษตรกรซ้ำทั้งหมด รวมทั้งผู้ได้รับการจำหน่าย จ่ายแจกจากผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเกษตรที่ได้รับต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้รับจำหน่าย จ่าย แจก โดยให้กำหนดมาตรการในการควบคุม แพร่กระจายมะละกอตัดต่อสารพันธุกรรมไปสู่แปลงเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมด้วย
 
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ 1(1) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี2545 ในการดำเนินโครงการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษาทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอ เพื่อการศึกษาวิจัยตามที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้นำเข้าซึ่งสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 8 พ.ร.บ.กักพืช ปี 2507 โดยไม่ได้เป็นการดำเนินการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ขณะที่ข้อเท็จจริง ยังรับฟังได้ว่ากรมวิชาการเกษตร ได้ยุติการทดลองมะละกอจีเอ็มโอแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.47 และแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอที่เกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรที่ไม่อาจปฏิเสธผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการครอบครองสิ่งต้องห้ามที่เป็นวัตถุเสี่ยงภัยของหน่วยงานทางปกครอง ที่ต้องถือว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการทดลองมะละกอตัดต่อพันธุกรรม แต่ภายหลังเมื่อปรากฏข่าวทางสื่อว่าพบการปนเปื้อนดังกล่าว ต่อมาอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ค. 47 ให้หยุดจำหน่าย จ่ายแจกเมล็ดพันธุ์และต้นกล้าพันธุ์มะละกอทุกชนิด และให้ตรวจสอบการจำหน่ายจ่ายแจกเมล็ดและต้นกล้าพันธุ์มะละกอที่แจกจ่ายไป รวมถึงการตรวจสอบทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอในพื้นที่ต่าง ดังนั้นเมื่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 ได้ดำเนินการดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ยุติการทดลองทั้งหมดแล้ว ถือว่าผู้ถูกฟ้องได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบและทำลายการปนเปื้อนสารตัดต่อพันธุกรรมในมะละกอแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง
 
ภายหลัง นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า แม้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปนเปื้อนขอพืชจีเอ็มโอจะหมดไป ตรงกันข้าม กลับพบว่ามีการขยายเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ และเชื่อว่ากรมวิชาการเกษตรจะใช้คำพิพากษานี้ไปสร้างความชอบธรรมในการทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิดต่อไป
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารบุกบ้าน ‘บุญยืน ศิริธรรม’ อ้างปลุกระดมคนไปชุมนุม ร่ำรวยผิดปกติ

$
0
0

ทหาร 8 นายบุกบ้าน บุญยืน ศิริธรรม อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้บริโภคและปฏิรูปพลังงาน อ้างปลุกระดมคนไปชุมนุม ร่ำรวยผิดปกติ เจ้าตัวชี้เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน พร้อมอัดการข่าวทหารมั่ว

ภาพทหารที่บุกมาบ้านบุญยืน ซึ่งหลานของบุญยืนส่งมาให้เธอ ก่อนที่ทหารจะขอให้ลบภาพทั้งหมด

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2557 บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้บริโภคและปฏิรูปพลังงาน โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Boonyuen Siritum’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์และมาที่บ้านของตนเอง ที่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ช่วงเช้า(22 ต.ค.) โดยกล่าวหาว่าตนเป็นผู้ปลุกระดมคนไปชุมนุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสอบถาม บุญยืน กล่าวว่า ในวันเกิดเหตุนั้น กลุ่มหมอกมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี จะไปยื่นจดหมายคัดค้านการอนุญาตสัมปทานบ่อขุดเจาะปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตนก็รับทราบและไปทำงานปกติ โดยออกจากบ้านแต่เช้า ระหว่างทางได้รับโทรศัพท์จากหลานที่บ้านแจ้งว่าทหารโทรหาและกล่าวหาว่าตนปลุกระดมคน ตนจึงให้หลานแจ้งกับทหารว่าไปประชุมที่สำนักงาน กสทช.

หลังจากนั้นยังไม่ทันได้ประชุมหลานก็โทรมาแจ้งอีกว่าทหารมาเต็มบ้านแล้ว โดยเข้ามา 2 คัน รวม 8 นาย มาในเครื่องแบบ พร้อมอ้างกฎอัยการศึกไม่ต้องใช้หมายค้นและไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ตนจึงขอให้หลานยื่นโทรศัพท์ให้คุยกับทหาร และได้ถามถึงสาเหตุที่มา ทหารจึงแจ้งว่าจะเข้ามาคุยว่าตนปลุกระดมคน ตนจึงบอกว่าข่าวทหารมั่วเกินไปแล้ว ตอนนี้มาประชุมเพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานตรวจสอบคูปองทีวีดิจิตอล การที่ทหารมาแบบนี้ทำให้ญาติพี่น้องก็ตกใจมาก รวมทั้งทหารยังอ้างด้วยว่ามีคนแจ้งเข้ามาว่าบ้านบุญยืนนี้ร่ำรวยผิดปกติ

“การข่าวทหารเป็นยังไง หาว่าเราระดมคน ใครถูกเราระดม ระดมด้วยวิธีไหน ทหารเขาบอกว่ามาจากองทัพบกราชบุรี บอกว่ามีคำสั่งจากส่วนกลาง อยากจะรู้ว่าส่วนกลางคือใคร” บุญยืน กล่าว นอกจากนี้ ยังวิจารณ์การข่าวของทหารด้วยว่าเป็นแบบนี้จึงทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่สงบ พร้อมกล่าวด้วยว่า “อำนาจอย่าใช้ฟุ่มเฟือย และอำนาจควรจะใช้กับคนเลวไม่ใช่ใช้กับคนดี”

“เรามีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหนก็ได้ตราบใดที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร ดังนั้นจึงรู้สึกว่านี่เป็นการคุกคาม” บุญยืนกล่าว พร้อมระบุด้วยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างความไม่พอใจกับตนเป็นอยางมาก

“ถ้าเป็นคนเลวร้ายชาวบ้านจะเลือกไหม เป็น ส.ว.สมุทรสงครามที่ไม่ต้องใช้เงินเลย เป็นแม่กลองโมเดล แล้วคุณมาทำอย่างนี้หรือ ล่าสุด ท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง ให้คนโทรมาทาบทามเป็นที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์ด้านการเมือง ไม่ได้ต้องการจะใช้เส้นสาย เป็นคนตรงไปตรงมา งานที่ทำอยู่นั้นมั่นใจว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตนแอบแฝงเลย” บุญยืน กล่าว

หนังสือเชิญประชุมตรวจสอบคูปองทีวีดิจิตอล ซึ่งบุญยืน โพสต์ชี้แจงในเฟซบุ๊ก 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา บุญยืน พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย รวม 8 คน ถูกกักตัวไว้ที่ห้องขังกองปราบปราม ตามอำนาจ กฎอัยการศึก หลังร่วมเดินประชาสัมพันธ์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา

 

 

/p>

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ถามตอบเกี่ยวกับอาจารย์สุลักษณ์และคดีอาญามาตรา 112

$
0
0

 

1.มีคนสงสัยนายพลทั้ง 2 ท่านว่างมากหรือไรที่ไปแจ้งความเล่นงานอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์กรณีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวร

ขอตอบว่า ไม่ใช่ว่างมากหรอก เพราะผู้เขียนบังเอิญรู้จักกับหนึ่งในนั้นซึ่งเป็นนายพลเกษียณอายุไปหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถนำไปเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ได้ว่านายพลที่ยังประจำการในกองทัพไทยซึ่งมีจำนวนมากกว่านายพลในกองทัพอเมริกันเสียอีกว่ามีเวลาว่างมากน้อยเพียงใด (1)   ถึงแม้ผู้เขียนจะรู้จักกับนายพลท่านนั้นไม่สนิทนักแต่ก็รู้ว่าท่านมีความสนใจในประวัติศาสตร์ เพราะที่บ้านท่านมีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยหลายเล่ม (หนึ่งในนั้นผู้เขียนจำได้แม่นยำว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475  ของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์)  แต่จะบอกว่าท่านมีความรู้ในประวัติศาสตร์อย่างดีก็พูดไม่เต็มปากนักเพราะผู้เขียนไม่เคยเสวนากับท่านอย่างจริงจังในเรื่องนี้จึงไม่ทราบว่าท่านอ่านหนังสือเหล่านั้นครบถ้วนจนสามารถนำไปครุ่นคิดได้ความรู้ใหม่ๆ หรือไม่
 

2.อย่างน้อยถ้าสนใจประวัติศาสตร์ไทยแล้วเหตุใดจึงใจคอคับแคบเช่นนี้

อดีตนายพลท่านนั้นเคยประจำอยู่ในค่ายทหารที่พิษณุโลกซึ่งถือว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นวีรบุรุษประจำท้องถิ่นที่ต้องเชิดชูอย่างสูง เหมือนความเคารพอย่างล้นพ้นที่ชาวโคราชมีต่อย่าโมหรือชาวอุตรดิตถ์มีต่อพระยาพิชัยดาบหัก  เป็นธรรมชาติสำหรับคนที่สนใจและศึกษาประวัติศาสตร์ แม้จะดีแค่ไหนก็อาจไปติดอยู่กับบางแง่มุมทางประวัติศาสตร์ไปตามความเชื่อหรือโลกทัศน์ที่ตัวเองยึดถืออยู่ผสมกับลัทธิบูชาบุคคลซึ่งจะกลายเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ตัวเองพัฒนาแนวคิดไกลไปกว่านั้น กับดักเช่นนี้แม้แต่นักคิดเสรีนิยมเองก็เจอมามากแล้วจากการเชิดชูบุคคลนอกกระแสหลักของรัฐเช่น คณะราษฎร นายปรีดี พนมยงค์ ท่านพุทธทาสหรือนายป๋วย อึ๊งภากรณ์จนไม่ยอมให้ใครมากล่าวถึงในด้านลบ

สำหรับมวลชนแล้ว เมื่อประวัติศาสตร์ได้ก้าวเลยไปสู่การเป็นกระบวนทัศน์ของคนในท้องที่หนึ่งๆ ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ความเชื่อหลักหลายประการจะสถิติอยู่อย่างมั่นคงในสำนึกของคนเหล่านั้นอย่างเช่น พระนเรศวรทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยหรือพระองค์ทรงทำยุทธหัตถีบนหลังช้างอย่างกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ฯลฯ  แม้เนื้อหารองอื่นๆ จะมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปดังเช่นภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีการระดมใส่ฉากจากจินตนาการเข้าไปมากมายก็ตามแต่ก็ไม่ได้ถูกโจมตีจากคนที่เชิดชูพระนเรศวร ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนความเชื่อหลักเหล่านั้น(2)

ดังนั้น สำหรับสังคมไทยหากแนวคิดหรืองานเขียนทางประวัติศาสตร์ออกมาท้าทายหรือหักล้างความเชื่อหลักก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรต่อสาธารณชนในวงกว้าง ราวกับประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ส่วนดำรงอยู่กันคนละมิติที่ขนานกันไป (3)  ยิ่งความเชื่อหลักของมวลชนได้ผสมผสานกับอารมณ์ความรู้สึก ความภาคภูมิใจ ความรักชาติ  ประพรมด้วยความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ บารมีและชาติภพ จนความเชื่อเหล่านั้นได้กลายมาเป็น       อัตลักษณ์หรือภาพตัวแทนของผู้ยึดถือ (ดังที่เราเห็นจากสติกเกอร์ติดหลังรถที่ว่า "ลูกองค์ดำ" หรือ "หลานย่าโม"หรือมีหลายปีก่อนที่คนพิษณุโลกคนหนึ่งได้บอกกับผู้เขียนว่าในอดีตชาติเขาเคยเป็นทหารเอกของพระนเรศวรมาก่อน)   ประวัติศาสตร์ตรงจุดนี้จึงกลายเป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ และกลายเป็นโทษต่อผู้ท้าทายเหล่านั้น    กรณีของอาจารย์สุลักษณ์ไม่ใช่กรณีแรกดังเช่นกรณีที่คนถูกดำเนินคดีหมิ่นรัชกาลที่ 4  หรือมีความพยายามที่จะฟ้องคนเขียนหนังสือ “นายใน”   แม้แต่กรณีสามัญชนในอดีตก็ตามอย่างกรณีคุณสายพิณ แก้วงามประเสริฐที่ถูกชาวโคราชออกมาเดินขบวนไล่เพราะวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับย่าโม

ในกรณีของคุณสายพิณนั้น เคยเห็นเธอแสดงความท้อใจต่อความล้มเหลวของวงการประวัติศาสตร์ไทย ผู้เขียนกลับคิดอีกอย่างว่าเธอควรภูมิใจว่า ความเป็นปรปักษ์ของคนในท้องถิ่นสะท้อนว่างานของเธอนั้นได้เป็น Masterpiece หรืองานยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเข้าไปคัดง้างกับการทำงานของกลไกอันมหึมาของความเชื่อมวลชนที่แอบอิงกับทุกอย่างที่ได้ยกมาเช่นอารมณ์ ชาตินิยม อัตลักษณ์ เสียมากกว่าเรื่องเหตุผล ยิ่งพวกเขาไม่พอใจเท่าไร ก็สะท้อนว่างานของเธอได้เป็น “ภัยคุกคาม” ที่จะทำลายอัตลักษณ์ของตนมากเท่านั้น  ในยุคกลาง มีนักคิดชาวยุโรปมากมายต้องเสียชีวิตหรือถูกคุมขังเพราะนำเสนอความคิดที่ท้าทายต่ออำนาจรัฐหรือกระบวนทัศน์หลัก กว่าคนจะเชื่อว่าโลกกลมและหมุนรอบพระอาทิตย์ ก็ต้องมีการเสียเลือดเสียเนื้อไปมากโข


3.ตกลงนายพลทั้ง 2 ท่านผิดหรือไม่

ผู้เขียนไม่อยากบอกว่าประวัติศาสตร์ที่อาจารย์สุลักษณ์นำเสนอในงานเสวนากับประวัติศาสตร์ชุดที่นายพลท่านนั้นยึดถือใครถูกใครผิด เพราะเรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นมาผ่านพงศาวดารนั้นมีความหลากหลายและไม่ชัดเจน ผ่านการตีความมากมาย  แต่ขอสรุปว่ามักเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของคนทั่วไปที่ว่าประวัติศาสตร์คือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง  อย่าว่าแต่เหตุการณ์เรื่องพระนเรศวรเมื่อ 400 ปีเลย แค่เหตุการณ์ยึดอำนาจของคสช.เมื่อหลายเดือนก่อนก็มีคนตีความกันไม่เหมือนกันแล้ว   ประวัติศาสตร์นั้นคือการสนทนาอย่างไม่รู้จบระหว่างอดีตและปัจจุบัน นั้นคือเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ความรู้จากปัจจุบันในการตีความอดีตไปได้  ยิ่งบริบทรอบตัวเราอยู่เปลี่ยนแปลงไปเท่าใด ประวัติศาสตร์ชุดเดิมที่เราคิดว่าหยุดนิ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะการตีความของเราที่มีผลจากบริบทรอบตัวนั้นรวมไปถึงปัจจัยที่ว่าใครเป็นผู้ตีความ จากมุมมองใด ชาติใด (เช่นคนพม่าก็มองพระนเรศวรอีกแบบหนึ่ง)  เราจึงไม่สามารถอ้างได้ว่าเราสามารถผูกขาดความเป็นจริงได้แต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้นเราจึงต้องตำหนิท่านนายพลว่าไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ในเชิงวิพากษ์หรือต้องการตั้งคำถามใหม่ๆ ต่อประวัติศาสตร์ (Skeptical mind)  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้วงการประวัติศาสตร์มีความก้าวหน้า (หรืออย่างน้อยก็มีการเคลื่อนไหว)  เช่นเดียวกับการเปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง หากท่านนายพลถือว่าตนเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นก็คงยืนอยู่แค่ตรงกลางระหว่างชาวบ้านที่เชื่อตามกระแส กับนักวิชาการทางประวัติศาสตร์  ทั้งนี้ก็ต้องเห็นใจท่านนายพลในระดับหนึ่งว่า อาจารย์ สุลักษณ์เป็นที่รู้จักกันดีว่ามักใช้คำรุนแรงและขวานผ่าซาก อันอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจอย่างสูง (สมมติว่าเป็นนักวิชาการคนอื่นที่ใช้คำนิ่มนวลและมีลักษณะเป็นวิชาการกว่านี้ ก็อาจจะไม่โดนฟ้องก็ได้)

แต่ท่านนายพลยังต้องถูกต่อว่าไม่ได้เข้าใจต่อตัวกฎหมายมาตรา 112 ให้ดีว่าเฉพาะเจาะจงกษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการซึ่งดำรงตำแหน่งในปัจจุบันเท่านั้น แต่ก็น่าสนใจว่าแม้กฎหมายอาญามาตรานี้จะมีการถูกระบุไว้อย่างชัดเจนแต่ก็เป็นเพียงตัวหนังสือที่ไม่ทรงพลังเท่ากับความเข้าใจหรือการสื่อสารกันบนความเชื่อซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดราชาชาตินิยมที่สามารถเลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงจนเกินจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์เหมือนดังคดีนี้   ผู้เขียนเคยอ่านกระทู้ที่กล่าวถึงกรณีอาจารย์สุลักษณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ บางคนยังเข้าใจว่ากฎหมายนี้ครอบคลุมกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี  ซ้ำร้ายเมื่อปีก่อนมีภาพอื้อฉาวที่นักข่าวของไทยซึ่งไปทำข่าวงานศพของกษัตริย์สีหนุที่กัมพูชาและเผลอเอารูปของพระองค์ไว้ที่ปลายเท้า ภาพเช่นนี้ถูกแชร์กันในเฟซบุ๊คและมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งหวั่นเกรงต่อความสัมพันธ์กับกัมพูชาออกมาขู่ว่า ถ้าแชร์หรือกดไลค์อาจถูกดำเนินคดีหมิ่นเบื้องสูง

หรือเราสามารถมองอีกแง่หนึ่งว่าท่านนายพลอาจทราบถึงตัวกฎหมายดีแต่อาจต้องการแอบผลักดันหรือลุ้นให้กฎหมายครอบคลุมถึงกษัตริย์ในอดีตด้วยเพราะทราบดีว่าปัจจุบันศาลมีอำนาจในการตีความคดีอย่างมากและมักใช้ความเชื่อที่อิงกับแนวคิดราชาชาตินิยมดังกล่าวเพื่อพิจารณาคดีหมิ่นเบื้องสูง ยิ่งเป็นศาลทหารในยุคของคสช.ด้วยแล้ว


4.คดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับ คสช.หรือไม่ และสะท้อนความไม่มั่นคงของทหารจริงหรือเปล่า

ผู้เขียนไม่อยากกล่าวหาว่าคสช.มีส่วนเกี่ยวข้องดังข้อสงสัยของใครหลายคน เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน เป็นเรื่องจริงที่ว่าคสช.พยายามใช้ภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง แต่คสช.นั้นไม่ใช่ตัวแทนของทหารเสียทั้งหมด นายพลทั้ง 2 ท่านก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับคสช.ในการทำรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ ต่อให้คสช.ล่มสลายวันนี้ และรัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจแทน  กฎหมายมาตรา 112 ก็ยังอยู่เช่นเดียวกับอิทธิพลอันยิ่งใหญ่กองทัพซึ่งยังคงฝังอยู่กับสังคมไทยและยังคงยึดภาพของพระนเรศวรเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของตนมาหลายทศวรรษแม้ว่าจะมีความสับสนในเรื่องข้อมูลบางประการดังเช่นการกำหนดว่าวันไหนที่พระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช เพราะนั้นเป็นเพียงความเชื่อรองที่มวลชนพร้อมจะไม่ใส่ใจเท่าไรนักแม้ว่าอาจจะขัดกับสามัญสำนึกในบางกรณีก็ตาม ดังนั้นไม่ว่ายุคไหน ก็สามารถมีนายทหาร (หรือพลเรือน) มาฟ้องคนที่หมิ่นพระนเรศวรด้วยมาตรา 112 เหมือนครั้งนี้ได้เรื่อยๆ  เราไม่สามารถบอกได้เลยทีเดียวว่าเพราะทหารมีความไม่มั่นคงจึงไม่กล้ายอมรับประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง

เป็นที่น่าสนใจว่ากองทัพดูจะเลือกพระนเรศวรเป็นภาพอันสูงส่งของอัตลักษณ์ตนทั้งที่พระองค์นั้นได้สิ้นพระชนม์ไปนานกว่า 400 ปี อันส่งผลต่อการทหารและการเมืองไทยในปัจจุบันได้น้อยมาก ไม่อาจเทียบได้กับกษัตริย์นักรบพระองค์อื่นซึ่งกลับได้รับความสำคัญน้อยกว่าเช่น  พระเจ้าตากสิน  รัชกาลที่ 1 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงให้กำเนิดกองทัพตามแบบตะวันตก แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าทรงให้กำเนิดโรงเรียนนายร้อยเสียมากกว่า แม้แต่จอมพล ป.พิบูลสงครามเองซึ่งมีส่วนสำคัญให้กองทัพยุคใหม่เข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมืองและวิถีชีวิตของคนไทยก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าไร

ผู้เขียนคิดว่าโครงเรื่อง (Plot) ของการต่อสู้และพระชนม์ชีพของสมเด็จพระนเรศวรนั้นพอเหมาะพอเจาะสำหรับการสร้างอารมณ์ร่วมของชาตินิยมได้ดีที่สุดและยังสามารถถูกปรุงแต่งในรายละเอียดหลายส่วนได้อย่างแนบเนียนเพื่อเหมาะกับคติความนิยมของคนไทยที่มีต่อผู้นำในปัจจุบัน เช่นเป็นเลือดกษัตริย์แต่ต้องมาเป็นตัวประกันของศัตรู ได้รับการฝึกปรือฝีมือจนกลายเป็นแม่ทัพผู้กล้าในการกู้อิสรภาพของชาติ  อุปนิสัยเป็นคนดุ เด็ดขาด แต่แฝงด้วยความอ่อนโยนและมีเมตตา

ความสำคัญของมหาบุรุษหรือมหาสตรีในประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อรัฐยุคปัจจุบัน แต่เป็นภาพลักษณ์และเรื่องราวของเขาหรือเธอจะสามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรัฐหรืออีกนัยหนึ่งคือทำให้ประชาชนรู้สึกภักดีต่อรัฐที่อาศัยภาพของบุคคลสำคัญเหล่านั้นได้อย่างไรเสียมากกว่า


5.จะเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์สุลักษณ์และวงการประวัติศาสตร์ไทย

อาจารย์สุลักษณ์เคยบอกกับตัวผู้เขียนเองว่าท่านเป็นอภิสิทธิชน ท่านเคยโดนคดีทำนองนี้มาหลายคดีและดูเหมือนกระบวนการทางกฎหมายจะหยุดชะงัก ไม่มีการกล่าวถึงอีก ยิ่งคดีหมิ่นพระนเรศวรก็ดูเป็นไปได้น้อยมากที่ท่านจะถูกลงโทษ (นอกจากนี้ยังน่าสนใจว่าสำนักข่าวกระแสหลักราวกับตั้งใจหุบปากไม่ยอมเสนอข่าวนี้กันเป็นแถว)   ผู้เขียนคิดว่ารัฐนั้นเข้าใจดีว่าการยอมปล่อยให้เนื้อหาของมาตรา 112 หลุดไปจนหาขอบเขตย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อดุลทางอำนาจ แต่การทำให้เนื้อหากฎหมายมีความชัดเจนแก่ประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องเป็นคุณอีกเช่นกัน การปล่อยให้คดีความเงียบหายไปหรือขึ้นอยู่กับการตีความของศาลจนกลายเป็นตัวกฎหมายเสียเองจะดีกว่า  กฎหมายมาตรา 112 โดยเฉพาะต่อกษัตริย์ในอดีตจึงกลายเป็นสิ่งที่รัฐสามารถเลือกจะใช้หรือไม่ใช้กับใครก็ได้ (4)  ซึ่งย่อมไม่ดีต่อภาวะนิติรัฐซึ่งแทบจะไม่มีอยู่เลยในยุคนี้

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ได้ต่อวงวิชาการย่อมมหาศาลนักหากเราไปดูงานประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะกลายเป็นวัตถุดิบสำหรับการฟ้องในมาตรานี้ เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ผลิตผลงานอาจเกิดความหวาดกลัวหรือไม่สบายใจจึงไม่กล้าผลิตงานทางประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึกอีกต่อไปเพราะพวกเขาไม่ใช่อาจารย์สุลักษณ์(ยกเว้นจะลุ้นเอาว่าการนำเสนอแบบนิ่มนวลและแยบยลจะทำให้ตัวเองไม่โดนฟ้อง) ตามความคิดของผู้เขียนแล้ว การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์อย่างอิสระไม่ใช่สิ่งที่น่าอภิรมย์สำหรับรัฐนัก ประวัติศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการสร้างความทรงจำร่วมเชิงบังคับอันนำไปสู่การจองจำประชาชนให้เป็นเครื่องจักรกลที่เชื่องๆ ของรัฐ ยิ่งมาผสมกับคดีมาตรา 112 ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือใครสามารถฟ้องใครก็ได้ อีกทั้งศาลมีอำนาจอย่างล้นพ้นในการตีความกฎหมายด้วยแล้ว คดีอาจารย์สุลักษณ์จึงเป็นการโหมโรงของรัฐในการเข้าโจมตีและยึดครองพื้นที่เสรีของวงการประวัติศาสตร์ซึ่งเหลือไม่มากนักจากการที่รัฐได้เข้ายึดครองหนังสือตำราเรียนสำหรับเยาวชนอย่างเหนียวแน่นมานานแล้ว

 

หมายเหตุ

(1)  หากคำนวณดูจากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะกำลังพลและภัยคุกคามจากภายนอกแล้วจะพบว่าจำนวนของนายพลของไทยนั้นดูมีจำนวนมากจนเกินจริง อย่างไรก็ตามหลายทศวรรษที่ผ่านมา กองทัพได้ขยายความหมายของความมั่นคงเสียใหม่จนเป็นการล้ำพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานอื่นเช่นตำรวจ หน่วยงานเกี่ยวกับการพัฒนา  หน่วยข่าวกรอง ศาล ฯลฯ   โดยเฉพาะภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ดูเหมือนคสช.จะพยายามทำให้ภาพระหว่างกองทัพกับตำรวจนั้นมีความไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการกับกลุ่มที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร  และที่สำคัญรวมไปถึงการเข้าครอบครองพื้นที่ทางการเมืองซึ่งเคยเป็นของพลเมือง อันกลายเป็นการเพิ่มงานและผลประโยชน์ให้กับทหารในทุกระดับรวมไปถึงนายพลได้ เพราะฉะนั้นจึงพอเดาได้ว่าโอกาสของการว่างงานของนายพลก็น่าจะมีน้อยลงมากและคำว่า “ทหารแตงโม” ก็พลอยหายไปด้วย

(2)  กระนั้นเองหม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคลก็ได้เล่าในเว็บพันธ์ทิพย์ซึ่งท่านเป็นสมาชิกว่าท่านก็ถูกตำหนิว่าวางตัวผู้แสดงเป็นพระนเรศวรไม่ค่อยเหมาะสมนัก นอกจากนี้ท่านยังแสดงความหนักใจที่จะต้องแสดงฉากที่พระนเรศวรทรงสั่งให้ประหารแม่ทัพนายกองของตัวเองเป็นจำนวนมากเพราะจะเป็นแสดงภาพลบของพระองค์ไปโดยปริยาย  ทั้งนี้ผู้เขียนได้ติดตามชมภาพยนตร์ของท่านเพียง 2 ภาคแรก จึงไม่ทราบว่าท่านได้ใส่ฉากนี้ลงไปด้วยหรือไม่ หรือจะเขียนบทแก้ต่างแทนพระองค์อย่างไร

(3)   เส้นสองเส้นนี้อาจจะบรรจบกันก็ได้ในอนาคตเช่นความรู้ทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ของวงวิชาการอาจหักล้างกับความเชื่อเดิมจนได้รับการยอมรับจากมวลชนในที่สุด แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมไทย

(4)    ดังนั้นจึงพอสบายใจได้สำหรับคนช่างสงสัยที่ว่าอนาคต หากมีผู้ฟ้องกันในคดีหมิ่นพ่อขุนรามคำแหง  พญางำเมือง หรือพระเจ้าเอกทัศน์  รวมไปถึงจิ๋นซี ฮ่องเต้  หรือพระเจ้านโปเลียนจะเกิดอะไรขึ้น เพราะรัฐจะไม่ยอมให้กฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้เสื่อมไปเป็นอันขาดด้วยคดีที่ไร้สาระ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฎหมายแร่ที่ไม่ยึดโยงประชาชนโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

$
0
0

 

 

ก่อนคณะรัฐมนตรี คสช.  จะมีมติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557  อนุมัติหลักการ ‘ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….’  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติ (สนช.) แห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอ สนช. พิจารณาต่อไปนั้น  มีร่างกฎหมายแร่อีก 4 ฉบับ ที่ถูกเสนอมาแล้วในช่วงรัฐบาลก่อนหน้า  ดังนี้

1. ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (2551)  กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์  พิจารณาเมื่อเดือนตุลาคม 2551  และขอถอนร่างฯ ออกจากชั้น ครม. เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552  ซึ่งเป็นร่างฯ ที่ขอแก้ไขเพียงมาตราเดียว

2. ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ พ.ศ. …. (2552)  เป็นร่างฯ จากการที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยมี รศ.ทัชชมัย ฤกษะสุต เป็นหัวหน้าโครงการ จัดทำขึ้น  โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2552  และขอถอนร่างฯ ออกจากชั้น ครม. หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีการตรวจพิจารณาแล้ว  เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553  ซึ่งเป็นร่างฯ ใหม่ทั้งฉบับ  เพื่อนำมาใช้แทนพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

3. ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. (2555)  เป็นร่างฯ ใหม่ทั้งฉบับเช่นเดียวกันกับข้อ 2.  แต่ยังไม่ถูกนำเสนอต่อ ครม. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อพิจารณา  เป็นเพียงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยมี ศ.ดร. อำนาจ วงศ์บัณฑิต เป็นหัวหน้าโครงการ จัดทำขึ้น

4. ร่างพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (2556)  โดยคณะอนุกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐสภา  ได้จัดทำขึ้นจนเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556  เพื่อส่งให้กับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิจารณาและตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

โดยร่างกฎหมายแร่ทั้ง 4 ฉบับ  ยังไม่ถูกตราเป็นพระราชบัญญัติใช้บังคับด้วยเหตุผลที่เป็นข้อดีที่สำคัญประการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจฝ่ายการเมืองยึดโยงกับประชาชนโดยการเลือกตั้ง  จึงทำให้ประชาชนได้เห็นเนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ  สามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจ คิด วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอข้อคิดเห็นของภาคประชาชนที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้โดยชอบก่อนจะเข้าสู่กลไกการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมายตั้งแต่ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในชั้น ครม.  จึงทำให้ร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับถูกทบทวนและชะลอเวลา  ไม่เร่งรีบผลักดันมากเกินไป

แต่การผลักดันร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. ฉบับ คสช. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557  ไม่เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้  มีการปิดเงียบเนื้อหาในร่างฯ ตั้งแต่ต้นทางที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ทำหนังสือสอบถามต่อ กพร. เมื่อเดือนสิงหาคม 2557  ถึงความคืบหน้าของร่างกฎหมายแร่ที่ กพร. กำลังแก้ไขปรับปรุงใหม่อีกครั้งว่าหากเสร็จเรียบร้อยแล้วขอให้จัดส่งแก่ คปก. เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วย  ซึ่ง กพร. ตอบกลับมาเพียงแค่ว่าได้แก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว  แต่ไม่สามารถจัดส่งให้ได้  หาก คปก. ประสงค์จะได้ขอให้ทำหนังสือขอต่อ ครม. หรือ สนช. เอง

แม้กระทั่งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ทีมงานของรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องเข้าประชุม ครม. ในวันที่ 21 ตุลาคม 2557  ยังได้อ่านเอกสารเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ….  ก่อนวันประชุม ครม. เพียงวันเดียวเท่านั้น    

ข้อสงสัยจึงมีว่าร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. …. ฉบับ คสช.  มีเนื้อหาสาระสำคัญใดที่ ‘ลับ’  ถึงขั้นที่ไม่สามารถให้ประชาชนดูได้ก่อนเข้าสู่การพิจารณากฎหมายตั้งแต่ชั้น ครม. 

เสมือนว่าเนื้อหาสาระสำคัญที่เป็นชั้นความลับ  ต่อไปการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่คงต้องให้กันอย่างลับ ๆ ด้วย


การลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตให้สั้นลง

อุปสรรคสำคัญที่มีความพยายามมายาวนาน ก็คือ ทำอย่างไรที่จะย่นระยะเวลาการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ (อาชญาบัตรและประทานบัตร) ให้รวดเร็ว สั้น สะดวก ง่าย ต่อผู้ประกอบการ  ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการและขั้นตอนการขอประทานบัตรไปจนถึงได้รับประทานบัตรตามระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หากไม่ติดขัดขั้นตอนใดเลย จะใช้เวลาประมาณ 310 วัน  แต่ร่างฯ ฉบับ คสช. จะใช้เวลาเพียง 100 - 150 วันเท่านั้น

โดยกำจัดความเกี่ยวข้องของฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ/อนุญาตออกไปจนหมดสิ้น  ให้เป็นเพียงหน้าที่ของข้าราชการประจำเป็นผู้ออกประทานบัตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประทานบัตรการทำเหมืองขนาดเล็กในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่  โดยผู้ว่าราชการจังหวัด  ขนาดกลางในเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ โดยอธิบดี กพร.  และขนาดใหญ่ที่เป็นการทำเหมืองในทะเลและเหมืองใต้ดินที่มีขนาดใหญ่กว่าสองประเภทแรกโดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม 

ดุลพินิจของฝ่ายการเมืองในชั้น ครม. ที่เกี่ยวกับการอนุญาตใช้ป่าต้นน้ำหรือป่าน้ำซีับซึม  และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2  เพื่อทำเหมืองแร่ได้ถูกตัดออกไป  ให้เป็นอำนาจของข้าราชการประจำเพียงลำพังฝ่ายเดียว


เขตศักยภาพแร่ (Mining zone)

เนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯ ฉบับ คสช.  ในส่วนของความต้องการเข้าไปทำเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าไม้ (ทั้งป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเฉพาะหรือตามมติคณะรัฐมนตรี) และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายฉบับอื่นที่ห้ามใช้พื้นที่เพื่อการทำเหมืองแร่  ได้บัญญัติเนื้อหาเอาไว้ในหมวด ‘การบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษ’ คล้าย ๆ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษในกฎหมายการค้าการลงทุนที่ยกเว้นมาตรการบังคับบางอย่างและให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจการลงทุน  โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น

เบื้องแรก ประกาศกำหนดให้แร่ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ รวมถึงพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมตามมาตรา 6 จัตวา ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน  เป็น ‘เขตแหล่งแร่’ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม

หลังจากประกาศ ‘เขตแหล่งแร่’ แล้ว ก็จะทำการประกาศให้เอกชนมาประมูลเขตแหล่งแร่เพื่อขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ต่อไป

ต่อจากนั้นยังเปิดโอกาสให้เอกชนที่ชนะการประมูลได้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตแหล่งแร่ไม่ต้องขออนุญาตหรือขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ (อาชญาบัตรและประทานบัตร) ตามกฎหมายแร่ได้อีกด้วย

รวมทั้งหากไม่ต้องขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่แล้ว  ก็จะถูกยกเว้นให้ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ 2550  แล้วแต่กรณีไปโดยปริยาย

ก็เพราะว่าบทบัญญัติในร่างฯ ฉบับ คสช. ได้เปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน จนเป็นเหตุจูงใจให้รัฐสามารถออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้แร่บางชนิด/ประเภท และการทำเหมืองบางขนาดถูกยกเว้นจากการขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้  และก็จะถูกยกเว้นให้ไม่ต้องทำ EIA หรือ EHIA แล้วแต่กรณีไปโดยปริยายด้วย  

ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้บัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับการลดขั้นตอนในการขออนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่เอาไว้ด้วย กล่าวคือ โดยปกติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การเข้าไปขอสัมปทานสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ หากติดเงื่อนไขว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1  ซึ่งโดยทั่วไปภายในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง แต่พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ บางลุ่มน้ำอาจมีข้อยกเว้น ในกรณีที่หากมีการอนุญาตให้เอกชนใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อกิจการเหมืองแร่ไปก่อนจะมีการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ หรือกรณีแหล่งแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และหินประดับชนิดหินอ่อนและหินแกรนิต ซึ่งรัฐมีข้อผูกพันเป็นประทานบัตร หรือได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA อยู่ก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ  ส่วนในเขตลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี จะมีมาตรการการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการทำเหมืองแร่และกิจการอื่นแตกต่างกันไปในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งในกรณีที่มีความจำเป็นต้องอนุญาตประทานบัตร หรือต่ออายุประทานบัตร หรือขอสิทธิ หรือขอใบอนุญาตอื่นใดในกิจการเหมืองแร่ต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเสนอ ครม. อนุมัติเป็นราย ๆ ไป ซึ่งจะทำให้มีขั้นตอนและระยะเวลาเพิ่มเติมจากคำขอสัมปทานสำรวจแร่หรือทำเหมืองแร่ปกติที่อยู่นอกเขตพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1  แต่บทบัญญัติในร่างฯ ฉบับ คสช. สามารถนำแร่ในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่หวงห้ามหรือพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามการทำเหมืองแร่ ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ที่หวงห้ามไว้ออกมาให้สัมปทานได้โดยไม่ต้องผ่านมติ ครม. อีกต่อไป โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดี กพร. โดยตรง 

สุดท้ายบทบัญญัติที่เกี่ยวพันกันในหลายมาตราของหมวดว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ในพื้นที่พิเศษของร่างฯ ฉบับ คสช. ยังสามารถกำหนดพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ  ที่ปัจจุบันกำหนดให้เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง  โดยห้ามมิให้มีการทำเหมืองแร่หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าเป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาด สามารถถูกแก้ไขโดยนำพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ดังกล่าว มาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้อีกด้วย

ตัวอย่างสำคัญพื้นที่หนึ่งของไทยคือความพยายามของกรมทรัพยากรธรณีและ กพร. ที่จะกันเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 2 บริเวณ ประมาณ 77 ตารางกิโลเมตร (48,125 ไร่) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ซึ่งมีหมู่บ้านคลิตี้ล่างและบนที่ประสบปัญหาพิษสารตะกั่วจากการทำเหมืองแร่ตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้อยู่ในขณะนี้ เป็นเขตเศรษฐกิจแร่ตะกั่ว  เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ทำเหมืองแร่ตะกั่วต่อไป

โดยไม่คำนึงถึงการทำเหมืองแร่ตะกั่วและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้ที่ผ่านมา ว่าได้เกิดการปนเปื้อนและแพร่กระจายของตะกอนหางแร่ตะกั่วในลำห้วยดังกล่าวจนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างรุนแรงอย่างไรบ้าง

แม้กระแสต่อต้านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา  จนในที่สุด  เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาสั่งกรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 ราย คนละ 1.77 แสนบาท  พร้อมสั่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้  และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ  ก็หาได้เป็นบทเรียนแก่รัฐ-ราชการและนักลงทุนแต่อย่างใด  ยังคงมีความพยายามผลักดันเดินหน้าเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เอกชนเข้าไปลงทุนขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่ศักยภาพแร่ตะกั่ว 77 ตารางกิโลเมตร ต่อไป


บริการจุดเดียว (One stop service)

ต่อเนื่องจากเขตศักยภาพแร่  นอกจากจะบัญญัติให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศให้เขตแหล่งแร่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตประกอบการเหมืองแร่ และภายในเขตประกอบการเหมืองแร่ รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดการประกอบธุรกิจแร่บางขนาดหรือบางชนิดที่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้แล้วนั้น  เพื่อประโยชน์ในการลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน หากการประกอบกิจการแร่หรือการประกอบธุรกิจแร่ใดภายในเขตประกอบการเหมืองแร่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นด้วย  ให้ผู้ประกอบกิจการแร่หรือการประกอบธุรกิจแร่ยื่นคำขอต่ออธิบดี กพร.

เมื่ออธิบดี กพร. ได้รับคำขอแล้ว  ให้ส่งคำขอไปยังหน่วยงานผู้อนุญาตตามกฎหมายอื่นและประสานงานให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายอื่นนั้นเพื่อร่วมกันพิจารณาการอนุญาตโดยเร็ว

และในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้รัฐมนตรีหรืออธิบดี กพร. แล้วแต่กรณี เป็นผู้ใช้อำนาจในการอนุญาตแทนรัฐมนตรีหรืออธิบดีหรือผู้อนุญาตแล้วแต่กรณี ตามกฎหมายอื่นได้ภายในเขตประกอบการเหมืองแร่.


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ก.พลังงานย้ำหากไม่เปิดสัมปทานไทยต้องพึ่ง LPG ทั้งหมด

$
0
0
สปช.พลังงานเสียงแตกไม่เห็นด้วย หากนำสัมปทานปิโตรเลียม 21 มาพิจารณาเพราะแทรกแซงการบริหารงานของรัฐ ระบุควรปฏิรูปเพื่อวางยุทธศาสตร์ระยะยาว รองปลัดกระทรวงพลังงานย้ำหากไม่เปิดสัมปทาน 21 ไทยต้องพึ่งแอลเอ็นจีทั้งหมด กระทบค่าครองชีพพุ่ง

 
24 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเครือข่ายที่เรียกตัวเองว่าภาคประชาชนที่มี น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิก สปช.ร่วมด้วยออกมาเรียกร้องให้นำเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เข้าสู่ที่ประชุม สปช. เนื่องจากการทำงานของ สปช.เป็นเรื่องปฏิรูปที่ควรมองไปถึงการวางแผนงานระยะยาวของประเทศ แต่การเปิดสัมปทานรอบ 21 เป็นเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล โดยหาก นำเรื่องการบริหารงานของทุกกระทรวงเข้าสู่ที่ประชุม สปช. รัฐบาลจะทำงานไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายต่อประเทศชาติ
 
ส่วนกรณีที่มีการให้ข้อมูลของเครือข่ายคัดค้านสัมปทานรอบ 21 ออกมาว่าที่ผ่านมาเอกชนจ่ายผลตอบแทนภาครัฐไม่ครบถ้วน แบ่งได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นนั้น นายมนูญ  กล่าวว่า  ผู้ให้ข้อมูลต้องมองข้อมูลให้ครบถ้วน กำไรจะต้องเกิดจากเม็ดเงินลงทุนหักจากรายได้ ต้องมองถึงรายได้สุทธิเป็นหลักและน่าจะมองด้วยว่าอนาคตประเทศจะเป็นอย่างไร หากไม่มีแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ขึ้นมา ผลกระทบจะเป็นอย่างไร โดยในที่ประชุม สปช.ตนจะเสนอให้ที่ประชุมมองถึงยุทธศาสตร์ของประเทศระยะยาวและจะปฏิรูปอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วนในสังคมนี้ และต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เท็จจริง ไม่ใช่นำข้อมูลมาสร้างความสับสนและเกิดความแตกแยกต่อสังคม
 
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุประเทศไทยเปิดสัมปทานปิโตรเลียมไปแล้ว 20 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2514 เดิมจะเปิดทุก ๆ 2-3 ปี แต่ครั้งที่ 21 เปิดล่าช้ามาถึง 7 ปี เนื่องจากมีการคัดค้านการเปิดสัมปทาน โดยสำรองก๊าซในขั้นพิสูจน์แล้วเมื่อสิ้นปี  2556 มี  8.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ความต้องการใช้สูงถึง 1.7 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุตต่อปี หรือหากใช้ก๊าซฯ เฉพาะในประเทศไม่รวมนำเข้าจะเหลือแค่ 4.9 ปี แต่หากรวมนำเข้าจากเมียนมาร์และเอลเอ็นจีราคาปัจจุบันก๊าซอ่าวไทยจะใช้ได้ 6-8 ปี
 
“หากไม่เปิดสัมปทานใหม่ ก็ไม่มีการสำรวจและผลิตจากแหล่งในประเทศ ก็ต้องนำเข้าก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะข้อมูลขณะนี้ตั้งแต่ปี 2561-2562 ยังไม่มีแหล่งก๊าซฯ คอนเฟิร์มชัดเจน เมียนมาร์ก็มีนโยบายในอนาคตไม่ส่งออกก๊าซฯ หากนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งหมดจะกระทบต่อประชาชนนักลงทุนค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันแอลเอ็นจี มีราคาถึงประเทศไทย 15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ขณะเดียวกันต้องเจรจากับกัมพูชา เพื่อหาทางร่วมกันพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน” นายคุรุจิต กล่าว 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารขับมอเตอร์ไซค์ถ่ายบ้าน ‘สนธิ ลิ้มฯ’ อ้างมาหาผู้นำชุมชน

$
0
0

จิตตนาถ ลิ้มทองกุล เผยทหาร 4 นายขับมอเตอร์ไซค์ ทำท่าทีลับๆ ล่อๆ  ถ่ายรูปบ้านพักของ ‘สนธิ ลิ้มทองกุล’ อ้าง “มาหาผู้นำชุมชน” 

เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2557 ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ผู้บริหารสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ เปิดเผยว่า ช่วงเย็นวันนี้มีทหารกลุ่มหนึ่งรวม 4 นาย ซ้อนมอเตอร์ไซค์ 2 คัน เข้ามายังบริเวณบ้านพักของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ก่อตั้งสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะทำท่าทีลับๆ ล่อๆ โดยหยิบกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายทั้งด้านหน้า และด้านในบริเวณบ้านพัก

ภาพเหตุการณ์เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (23 ต.ค. 57)

“เมื่อเย็นวันนี้ราวห้าโมงกว่าๆ หลังจากคุยกับคุณสนธิ ผมได้ออกมานั่งหน้าบ้านบริเวนถนน สักพักมีทหาร 4 คนซ้อนมอเตอร์ไซค์สองคันเข้ามาจากทางถนนสุโขทัย ขับตรงมาจอดเทียบข้างหน้าบ้าน จากนั้นทหาร 4 คน ได้ลงมาแล้วล้วงทั้งกล้องถ่ายรูป รวมถึงโทรศัพท์มือถือออกมา ทำทีจะถ่ายออกไปทางเข้าจากปลายซอยทั้งสองด้าน แต่กลับกระหน่ำถ่ายภาพบ้านพักคุณสนธิ ที่ประตูรั้วเป็นหลัก จากนั้นมีการแยกย้ายเดินไปตามแนวรั้วแล้วถ่ายภาพเข้าไปในบริเวณบ้าน

“เมื่อมีคนงานเปิดประตูรั้วออกมา ทหารก็กรูกันเข้ามาที่ประตู พยายามชะเง้อดูว่าสภาพในบ้านเป็นอย่างไร ผมเห็นว่ามันดูผิดปกติ จึงถ่ายรูปพวกทหารดังกล่าวเก็บไว้ เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าถูกถ่ายรูป จึงหยุดการถ่ายรูปทำเป็นเดินสำรวจตามแนวรั้ว ซึ่งก็ไม่ได้ไปไกลกว่าบริเวณรั้วบ้าน” บุตรชายนายสนธิ ระบุ

ต่อมาเมื่อมีการสอบถามถึงสาเหตุการมาถ่ายภาพที่บ้านพักดังกล่าว และมีคำสั่งเพื่อดำเนินการอะไรหรือไม่ นายทหารคนหนึ่งก็แสดงท่าทีอึกอัก จากนั้นจึงตอบกลับมาว่า “มาหาผู้นำชุมชน” เมื่อผู้ดูแลบ้านแจ้งกลับไปว่า ผู้นำชุมชนอยู่อีกซอยหนึ่ง ทหารกลุ่มดังกล่าวจึงขึ้นมอเตอร์ไซค์ขี่กลับออกไปทางเดิม

ด้านผู้ดูแลบ้านยังเปิดเผยด้วยว่า ไม่กี่วันก่อนก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้ว โดยมีกลุ่มทหารเจาะจงมาจอดรถบริเวณหน้าบ้าน เพื่อถ่ายรูปโดยบอกว่ามาพบผู้นำชุมชน

“ผมได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกประหลาดในพฤติกรรมทหารในลักษณะนี้ ที่เจาะจงมาถ่ายรูปและพยามเช็กสภาพภายในบ้านคุณสนธิ คิดว่าเขาต้องมีเป้ารู้อยู่แล้วว่าบ้านใคร บ้านคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ก็ไม่ไกลก็ไม่เห็นไปตรวจสอบ ชุมชนอะไรตรงนี้ก็ไม่มี ซ้ำทางเข้าจากอีกฝั่งถนน ก็มีทหารประจำการประจำอยู่แล้ว และละแวกนั้นก็มีทหารเฝ้าอยู่หมด มันจะเป็นไปได้หรือไม่รู้ไม่ประสานว่าชุมชนที่มาตามหาอยู่ถนนไหน

“ผมเล่าเหตุการณ์และเอารูปให้คุณสนธิดูหมดแล้ว ส่วนรูปและคลิปจากวงจรปิด ก็เตรียมไว้แล้ว ซึ่งผมเป็นห่วงความปลอดภัยคุณสนธิมาก เพราะครั้งที่แล้วเมื่อปี 2552 ที่คุณสนธิถูกยิงก็ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เหมือนที่ปัจจุบันประกาศใช้กฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่แกอยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแอ็กชันอะไร ก็บอกคำเดียวถ้าผมหรือคุณสนธิเป็นอะไรไป ผมถือว่าผู้ใหญ่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องรับผิดชอบในสวัสดิภาพของประชาชนอย่างพวกผม เพราะถือว่าท่านเอ็นดูเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องที่ห้องทำงานผมโดนยิงตอนออกกฎอัยการศึกก่อนปฏิวัติใหม่ๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจจะช่วยกันสืบค้นเลย” นายจิตตนาถ กล่าวทิ้งท้าย 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จับตาแก้ไข พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

$
0
0
 
เมื่อวันพฤหัสบดี (23 ต.ค.) ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ได้แก่ ฉบับที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์ ด้วยคะแนน 184 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และฉบับที่เพิ่มการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ ด้วยคะแนน 182 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 15 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน กรอบเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน
 
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ … พ.ศ….. (ความผิดเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอในโรงภาพยนตร์) ได้เพิ่มให้การทำซ้ำ ด้วยการบันทึกภาพและเสียงจากภาพยนตร์ในระหว่างการฉายโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมเพิ่มโทษให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ของคนพิการทางการมองเห็น การได้ยิน และสติปัญญา รวมทั้งคนพิการประเภทอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ที่จะสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ตามความจำเป็น
 
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ … พ.ศ….. (คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ) เพิ่มการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ และมาตรการทางเทคโนโลยี รวมทั้งกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของนักแสดงเพิ่มขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้น ตลอดจนมีอำนาจสั่งทำลายสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดได้
 
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า โดยเนื้อหาแล้วร่างที่เข้า สนช.ไม่ได้ต่างจากร่างก่อนรัฐประหาร โดยร่างดังกล่าวได้ผ่านกฤษฎีกา มีร่างของ คปก. มีการรับฟังความเห็น ซึ่งเกิดก่อนรัฐประหารอยู่แล้ว ความต่างจึงอยู่ที่การเข้าสภาปกติกับ สนช. ที่มาจากการรัฐประหาร ซึ่งว่ากันว่าดูเหมือนว่าตอนนี้อะไรที่ผ่านเข้าไปก็มีแนวโน้มจะออกมาทั้งอย่างนั้น นอกจากนี้ยังเห็นกระบวนการเร่งรัดให้ผ่านกฎหมาย เห็นได้จากที่มีการกำหนดให้ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ซึ่งนับเป็นกระบวนการที่เร็วกว่าปกติ ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะมีการอนุญาตให้เกิดการมีส่วนร่วมได้มากแค่ไหน 
 
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ครั้งนี้ เขามองว่า แง่ผู้บริโภคไม่ได้มีอะไรดีขึ้นหรือแย่ลง หากแต่เพิ่มความคุ้มครองให้เจ้าของลิขสิทธิ์ในการจัดการสิทธิ เช่น กำหนดการใช้งานเนื้อหา กำหนดการเข้าถึงเนื้อหาได้ นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้ผู้ให้บริการมีความผิด กรณีผู้ใช้บริการละเมิดสิทธิ์ผ่านบริการของตน เช่น มีการดาวน์โหลดเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็จะผิดไปด้วย ซึ่งตรงนี้จะเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ให้บริการติดตั้งเครื่องมือบางอย่างที่สามารถอ่านเนื้อหาของผู้ใช้เพื่อตรวจสอบดาวน์โหลด ให้จำกัดการเข้าถึงได้ทัน ก็น่าเป็นห่วงผลกระทบที่อาจตามมา 
 
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ระบุว่าได้ชวนเครือข่ายผู้ที่สนใจและนักวิชาการ มาระดมความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอสู่สาธารณะต่อไป
 
 

บทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดย อธิป จิตตฤกษ์

ที่มา รายงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ปี 2556
 
1. เพิ่มนิยาม “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ไปจนถึงนิยามการละเมิดและข้อยกเว้นในการละเมิด และวางบทกำหนดโทษไว้เท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์: 
 
“ข้อมูลบริหารสิทธิ” ในทางปฏิบัติหมายถึงสิทธิในการประกาศตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ตัวอย่างข้อมูลบริหารสิทธิ เช่น ลายเซ็น ลายน้ำ ลายเซ็น ชื่อไฟล์ เป็นต้น และการละเมิดก็คือการไปแก้ไขข้อมูลต่างๆ ที่ติดมากับตัวงาน การนำลายเซ็นหรือลายน้ำออกจากรูปภาพ ไปจนถึงการแก้ไข/เปลี่ยนชื่อไฟล์ไปจนถึงเมทาเดตา (metadata) ของไฟล์ ก็อาจจะถือเป็นการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิด้วย 
 
ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า การตั้งชื่อไฟล์ที่มีลิขสิทธิ์ทั้งหมดจะนับเป็นการละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิหรือไม่ บทบัญญัติระบุว่าการกระทำดังกล่าวที่ผู้กระทำ “รู้อยู่แล้ว” ว่าจะนำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้นถึงจะนับเป็นการละเมิด ซึ่งนี่ก็เป็นข้อกำหนดที่คลุมเครือ 
 
นอกจากนี้ในบรรดาข้อยกเว้นในการละเมิดนั้นก็ยังมีเพียงแต่ข้อยกเว้นแค่การแก้ไข “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ของสถาบันการศึกษา ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น นี่หมายความว่ากฎหมายไม่ได้รับรองการแก้ไขชื่อไฟล์ที่ได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยซ้ำว่าไม่เป็นการละเมิด “ข้อมูลบริหารสิทธิ” นี่ดูจะไม่เป็นการเคารพสิทธิของผู้บริโภคเท่าที่ควรในระดับหลักการ แม้ว่าในทางปฏิบัติการดำเนินคดีกับผู้บริโภคในลักษณะนี้จะไม่น่าเกิดขึ้นก็ตาม แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าวันดีคืนดีเจ้าของลิขสิทธิ์จะเอาเรื่องขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่นหากมีผู้ซื้อรูปวาดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วไปลบชื่อผู้เขียนออกด้วยเหตุผลบางประการ แล้ววันหนึ่งตัวจิตรกรรู้เข้า ตัวจิตรกรก็อาจฟ้องได้ว่าผู้ที่ซื้อภาพมานั้นละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ 
 
ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยดั้งเดิมไม่มีสิ่งที่ในระบบกฎหมายอเมริกาเรียกว่า “หลักการขายครั้งแรก” หรือ “First Sale Doctrine” ซึ่งในหลักการใหญ่แล้วมันคือหลักการที่ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะ “เสียลิขสิทธิ์” บางประการไปให้ผู้ซื้อสินค้าอันมีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายทันที และหากปราศจากหลักการนี้ในกฎหมายที่ครอบคลุมก็น่าจะต้องถือว่า “ข้อมูลบริหารสิทธิ” จะยังคงอยู่กับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างครบถ้วน และมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้บริโภคดังที่ได้ยกตัวอย่างมา 
 
ทั้งนี้สิ่งที่อาจต้องสังเกตด้วยก็คือแม้ว่าจะมีการเพิ่มหลักการคล้ายคลึงกับหลักการขายครั้งแรกในระบบกฎหมายเข้ามาในฐานะของข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มเติม (โปรดอ่านต่อไปในการเปลี่ยนแปลง ข้อ 5) แต่การคุ้มครองของข้อยกเว้นนี้ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงการละเมิด “ข้อมูลบริหารสิทธิ” ดังนั้นสถานการณ์ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาก็ยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่
 
2. เพิ่มนิยาม “การคุ้มครองทางเทคโนโลยี” ไปจนถึงนิยามการละเมิดและข้อยกเว้นในการละเมิด และวางบทกำหนดโทษไว้เท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์: 
 
บทบัญญัตินี้เป็นน่าจะเทียบเท่ากับการบัญญัติสิ่งที่รู้จักกันในโลกภาษาอังกฤษว่า Digital Rights Management หรือ DRM ไว้ในกฎหมาย กล่าวคือกฎหมายได้ยอมรับความชอบธรรมของมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์แบบดิจิทัลต่างๆ ของเจ้าของลิขสิทธิ์ ในทางปฏิบัติคือ แคร็ก (crack) และแฮกไฟล์และโปรแกรมต่างๆ นั้นก็จะมีความผิดเท่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้ไฟล์ที่ใช้ได้ในเวลาจำกัดใช้ได้ไม่จำกัด ไปจนถึงการแคร็กโปรแกรมอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด 
 
ทั้งนี้ข้อยกเว้นการละเมิด “การคุ้มครองทางเทคโนโลยี” นั้นก็มีการระบุไว้อย่างค่อนข้างกว้างตั้งแต่การละเมิดที่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ตาม “ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์” อยู่แล้ว ไปจนถึงการละเมิดเพื่อการศึกษาค้นคว้าที่ผู้ค้นคว้าได้พยายามขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว 
 
ตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าไม่ควรจะบัญญัติว่าการค้นคว้าจะต้องผ่าน “การขออนุญาต” ด้วยซ้ำ เพราะภายใต้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ปกติ การค้นคว้าอ้างอิงใดๆ ก็ทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ถ้านักวิชาการสามารถ “หาข้อบกพร่อง” ของงานวิชาการของผู้อื่นได้ในนามของการศึกษา ผู้เขียนก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดๆ ที่โปรแกรมเมอร์จะไม่สามารถ “หาข้อบกพร่อง” ในโปรแกรมของผู้อื่นได้ในนามของการศึกษาเช่นเดียวกัน
 
นัยของข้อกำหนดของการ “ขออนุญาต” นี้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากในการศึกษาวิจัยได้ เพราะสุดท้ายโดยทั่วไปก็คงไม่มีนักเข้ารหัสเพื่อล็อคข้อมูลใดๆ ที่จะต้องการให้คนมาถอดรหัสของตนได้สำเร็จ และนี่จะเป็นการทำให้นักวิจัยการถอดรหัสกลายเป็นอาชญากรกันไปหมด หากทำการวิจัยต่อไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ดูจะเป็นมาตรการที่ตลกหากเป็นการมุ่งไปเพื่อให้ไม่เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ได้ต่างจากการออกกฎหมายการห้ามค้นคว้าการทำกุญแจผีโดยหวังให้กฎหมายนี้ทำให้ “การปล้นบ้าน” หายไป (ซึ่งสิ่งเราก็ต้องไม่ลืมเช่นกันคือ การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นไม่เคยเท่ากับ “การขโมย” หรือโจรกรรม อย่างน้อยๆ ก็ไม่มีกฎหมายที่ใดในโลกยืนยันเช่นนั้น)
 
3. ระบุแบบปฏิบัติการขอคำสั่งศาลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือตัวกลาง (Intermediary) เพื่อระงับการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้ขอบเขตอำนาจของตน:
 
มาตรการนี้เป็นไปเพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถระงับยับยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตผ่านอำนาจศาลได้ ในกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับเก่าภาระรับผิดชอบการละเมิดลิขสิทธิ์ของตัวกลางไม่มีความชัดเจน ซึ่งเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีใครฟ้องตัวกลางฐานละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้เขตอำนาจศาลไทย ทั้งที่จริงๆ แล้วในทางเทคนิคนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำซ้ำภายในระบบคอมพิวเตอร์โดยอัตโนมัติโดยที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่รู้ตัวได้ อย่างไรก็ดีการทำซ้ำแบบอัตโนมัตินี้ก็ดูจะเป็นสิ่งที่คลุมเครือเกินไป และมันก็มีความจำเป็นต่อการทำงานปกติในการประมวลผลในระบบคอมพิวเตอร์ (โปรดอ่านเพิ่มเติมในส่วนของการเปลี่ยนแปลงข้อ 4) ซึ่งมันก็ทำให้การเอาผิดการ “ทำซ้ำ” ในรูปแบบนี้ก็ดูจะขัดกับสามัญสำนึกของผู้คนที่คุ้นเคยกับ “วัฒนธรรมคอมพิวเตอร์”
 
บทบัญญัติใหม่นี้ดูจะเป็นการทำให้บทบัญญัติกว้างๆ แบบเดิมที่ไม่ระบุภาระหน้าที่ของตัวผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ชัดเจน มีความชัดเจนขึ้น เพราะได้มีการร่างแบบปฏิบัติในการให้เจ้าของลิขสิทธิ์ขอคำสั่งศาลเพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนำเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งก็มีข้อกำหนดอีกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะไม่มีความผิดใดๆ หากเขาไม่ใช่ผู้ริเริ่มหรือสามารถควบคุมการนำเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์นี้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และนำเนื้อหาอันละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ภาพในเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งแนวปฏิบัตินี้เทียบเท่าหลัก “อ่าวปลอดภัย” (safe harbour) ในกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกา ที่มุ่งคุ้มครองตัวกลางในบริบทของกฎหมายลิขสิทธิ์นั่นเอง
 
4. เพิ่มข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ว่าการทำซ้ำข้อมูลที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามปกติไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์:
 
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าด้วยมาตรฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ทั่วไปในโลก หากไม่มีข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนสำหรับกิจกรรมหนึ่งๆ ที่มากกว่าข้อกำหนดของการใช้อย่างชอบธรรมแล้ว ผู้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้ทั้งนั้นไม่ว่ากิจกรรมของพวกเขานั้นจะเป็นกิจกรรมที่กระทำอย่างแพร่หลายเพียงไร และไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นกิจกรรมที่วิญญูชนเข้าใจได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างใด ดังนั้นข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนจึงเป็นหลักประกันที่สำคัญในการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างปลอดภัยสำหรับสาธารณชน และผู้บริโภค
 
ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปของคอมพิวเตอร์ทำให้กระบวนการ “ทำซ้ำ” ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องปกติเช่นการ “ย้าย” ไฟล์ในคอมพิวเตอร์ด้วยการตัดและวาง ในทางเทคนิคนั้นก็คือการทำซ้ำไฟล์คอมพิวเตอร์ในพื้นที่เสมือนใหม่และลบไฟล์เก่าในพื้นที่เสมือนเดิมทิ้ง หรือแม้แต่การนำแผ่นโปรแกรมที่ซื้อมาอย่างถูกต้องมาติดตั้งในคอมพิวเตอร์ก็คือการ “ทำซ้ำ” โปรแกรมจากแผ่นดิสก์ลงไปในคอมพิวเตอร์นั่นเอง อย่างไรก็ดีด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์แบบดั้งเดิม การทำซ้ำดังกล่าวนี้ก็เข้านิยามการละเมิดลิขสิทธิ์และบทบัญญัติข้อยกเว้นในการละเมิดก็ไม่มีความชัดเจน (แม้อาจตีความตามบางส่วนของบทบัญญัติว่าไม่เป็นการละเมิดได้ตามสามัญสำนึกของวิญญูชนก็ตามที) 
การบัญญัติให้ชัดเจนนี้ก็ดูจะช่วยให้การทำซ้ำโดยทั่วไปในระบบคอมพิวเตอร์มีสถานะที่ถูกต้องทางกฎหมายอย่างชัดเจน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์อันเป็นต้นฉบับนั้นต้องได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย
 
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดอันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการครอบคลุมกิจกรรมจำพวกการสำรอง (backup) ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองข้อมูลลงในเอ็กซ์เทอร์นัลฮาร์ดดิสก์หรือบนอินเทอร์เน็ตตามบริการคลาวด์ต่างๆ 
 
ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ในกฎหมายใหม่นี้ดูจะยังไม่คุ้มครองกิจกรรมเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็คงจะไม่มีใครต้องการที่จะให้หนัง เพลง เกม หรือโปรแกรมที่เขาเสียเงินดาวน์โหลดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องสาบสูญไปพร้อมๆ กับข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเขาในยามสิ้นอายุขัยของฮาร์ดดิสก์
 
5. เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย: 
 
ข้อยกเว้นนี้คล้ายคลึงกับหลักการขายครั้งแรกในกฎหมายอเมริกาที่ระบุว่าเจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิในการผูกขาดการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ (17 USC § 106 (3)) แต่สิทธินี้จะหมดสิ้นไปเมื่อมีผู้ได้ซื้อมันมาแล้ว (17 USC § 109 (a)) อย่างไรก็ดี ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย สิทธิในการผูกขาดดังกล่าวดูเหมือนจะไม่มีบัญญัติไว้ในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ (มาตรา 15) แต่จริงๆ แล้วหากดูนิยามของ “การเผยแพร่ต่อสาธารณชน” (มาตรา 4) ก็จะพบว่ามันรวม “การจำหน่าย” ไว้ด้วย ดังนั้นภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยดั้งเดิม สิทธิในการขายสินค้าอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมดจึงเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีข้อยกเว้น 
 
ในทางปฏิบัติแล้ว นี่หมายความว่าสินค้าลิขสิทธิ์ทั้งหลายไม่สามารถถูกนำมาขายในท้องตลาดโดยปราศจากใบอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ถึงแม้ว่าการได้มาโดยสินค้านั้นจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม นี่หมายความว่าการนำขายเทปมือสอง การ์ตูนมือสอง ดีวีดีมือสอง ไปจนถึงเสื้อผ้ามือสอง ฯลฯ ล้วนมีความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์และถูกดำเนินคดีได้จากเจ้าของลิขสิทธิ์ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ผลิตมาอย่างถูกลิขสิทธิ์และได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม 
 
กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นซีดีลิขสิทธิ์มือสองหรือซีดีเถื่อน หากนำมาขายในท้องตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกด้านสิทธิของผู้บริโภค ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ภายใต้หลักการขายครั้งแรกคือหลักประกันให้การซื้อขายสินค้าลิขสิทธิ์มือสองเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
 
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าร่างแก้ใขกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับนี้ของไทยมีลักษณะที่จะเป็นการนำหลักต่างๆ ของ Digital Millennium Copyright Act หรือ DMCA ของสหรัฐอเมริกาที่ออกมาเมื่อปี 2541 ที่ออกมาเพื่อเตรียมพร้อมสังคมอเมริกันในการเข้าสู่ยุคดิจิทัลเข้ามาใช้กับระบบกฎหมายไทย 
 
อย่างไรก็ดี นี่ก็อาจจะเป็นการแก้กฎหมายที่จะล้าสมัยไปอย่างรวดเร็วก็ได้ เพราะในขณะที่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยฉบับทางการจะยังไม่ออกมาสู่สายตาสาธารณชน ทางสหรัฐอเมริกาก็มีการริเริ่มที่จะแก้กฎหมายลิขสิทธิ์แล้วเนื่องจากข้อกำหนดต่างๆ ก็เริ่มล้าสมัยและไม่เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว โดยมีการริเริ่มจากผู้อำนวยการสำนักงานลิขสิทธิ์และทางสภาก็ได้ขานรับในที่สุด อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้กระบวนการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาอยู่ในขั้นตอนระดมความเห็นเท่านั้นและทิศการของการแก้กฎหมายก็ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากกลุ่มผลประโยชน์ด้านต่างๆ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากเกี่ยวกับทิศทางของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เหมาะสม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสนอตั้ง สภ.เกาะเต่า ห้ามแรงงานต่างด้าวดื่มกินปนกับนักท่องเที่ยว

$
0
0

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าพล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยผู้สื่อข่าวหลังเกิดเหตุฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษบนเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน นั้นในส่วนของการเฝ้าระวังคุมเข้มความปลอดภัยตามหมู่เกาะต่าง ๆ เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล คสช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนโยบายผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่สั่งการให้ตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีวางมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวบนเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย
 
โดยตอนนี้ได้มอบหมาย ให้ตำรวจ สภ.เกาะสมุย และ สภ.บ่อผุด ที่รับผิดชอบพื้นที่ อ.เกาะสมุย และ สภ.เกาพะงัน ที่รับผิดชอบ อ. เกาะพะงัน หมู่เกาะนางยวน และ เกาะเต่า ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่กำลังพลแต่ละ สถานีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะพะงันและเกาะเต่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามานับหมื่นคนในแต่ละเดือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ สภ.ย่อยตำบลเกาะเต่ามีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่เพียง 7 นาย ทำให้ไม่สามารถดูแลพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
 
ล่าสุดได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดตั้งสถานีตำรวจเกาะเต่าและคาดว่าจะอนุมัติอย่างเร่งด่วนภายในปีงบประมาณนี้ ซึ่งในเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลังเกิดเหตุตนได้สั่งเพิ่มกำลังพลอีก 7 นาย รวมเป็น 14 นายประจำพื้นที่เกาะเต่าดูแลรับผิดชอบพื้นที่เกาะเต่า โดยมีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมจัดรถยนต์สายตรวจขับเคลื่อน 4 ล้อ 1 คัน รถสายตรวจจักรยานยนต์ 2 คัน พร้อมทั้งจัดกำลังชุดสายตรวจรถยนต์ สายตรวจรถจักรยานยนต์และชุดสายตรวจดินเท้า
 
พร้อมตั้งจุดตรวจจุดสกัดตรวจค้นบุคคลที่น่าสงสัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาพักผ่อนบนเกาะเต่า และประสานกับตำรวจท่องเที่ยว ตม.ทั้งในพื้นที่และส่วนกลางลงมาดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวบริเวณหาดทรายรีและจุดเสี่ยงในพื้นที่ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดกำลังเป็น 3 ชุดผลัดละ 12 ชั่วโมง พร้อมทั้งตรวจสอบเข้มการเดินทางเข้าออกบริเวณท่าเรือ
 
สำหรับในส่วนของ อ.เกาะสมุยก็เช่นเดียวกันได้สั่งการให้ ผู้กำกับแต่ละสถานีจัดชุดออกตรวจตราดูแลป้องกันเหตุอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเวลาหลังเที่ยงคืนไปแล้ว พร้อมสั่งการให้สายงานป้องกันปราบปรามจัดทำข้อมูลท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ เพื่อรวบรวมไว้เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของตำรวจใช้ในการป้องกันอาชญากรรมได้ถูกเป้าหมาย และสามารถตรวจสอบเป้าหมายได้ว่ากลุ่มใดบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดอาชญากรรมได้ในพื้นที่ ก็ให้เจ้าหน้าที่เข้าประกบติดตามพฤติกรรมยับยั้งก่อนที่จะก่อเหตุ
 
ในส่วนมาตรการการควบคุมแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เกาะเต่า ในกรณีที่แรงงานต่างด้าวบนเกาะเต่าใช้ชีวิตกันอย่างเสรี หลังเลิกงานแล้วมีการออกมาหาความสำราญดื่มกินปะปนกับนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงหรือชายหาดนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก ตนจะได้นำปัญหาดังกล่าวเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีเพื่อหามาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในกรอบของกฎหมายต่อไป
 
รายงานข่าวแจ้งว่านายอู ทัน ทัน ไต (U Tun Tun Htike) และ นางอู ซอ เอ หม่อง (U Zaw Aye Maung) พ่อแม่ของนายวิน ซอ ตุน (Ko Win Zaw Htun) ผู้ต้องหาแรงงานพม่าคนแรกวัย 21 ปี และนางดาว์ ฟิว ชเว นู (Daw Phyu Shwe Nu) แม่ และนายอู เทียนชเว อ่อง (U thein Shwe Aung) ลุงของซอ ลิน (Ko Zaw Lin Oo) ผู้ต้องหาแรงงานพม่าคนที่ 2 วัย 21 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า ได้เดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ไปยังเกาะสมุย ในเวลา 16.35 น.และมีกำหนดถึงสนามบินนานาชาติเกาะสมุยในเวลา 17.35 น. และจะเข้าเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำอำเภอเกาะสมุยใน 09.00 น.ในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.57)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายความสิทธิชี้อัยการศึกทำกระบวนการยุติธรรมไทยไม่น่าเชื่อถือ

$
0
0
 
24 ต.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ "การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ" ระบุการใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์
การใช้กฎอัยการศึกท่ามกลางการปฏิรูปประเทศ
 
จากกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมตัวประชาชนอย่างต่อเนื่อง นับจากช่วง 10 วันที่ผ่านมา (15 ตุลาคม – 24 ตุลาคม 2557) ได้มีการใช้อำนาจดังกล่าวอย่างน้อย 5 ครั้ง ได้แก่ 1. การจับกุมนาย อ. ในวันที่ 15 ตุลาคม ด้วยความผิดตามมาตรา 112 โดยไม่ผ่านการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2. การจับกุมนาย น. เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยไม่มีหมายจับ[1] 3. การควบคุมตัว เจ้าหนี้นอกระบบที่จังหวัดมหาสารคาม ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด[2] 4. การควบคุมนาง พ. เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีอาชญากรรม การหายตัวไปของครูญี่ปุ่น[3]และ 5. การบุกค้นบ้านของนาย บ. เพราะเกรงว่าจะปลุกระดมผู้คน โดยไม่มีหมายค้น[4]
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของไทย ในกรณีดังต่อไปนี้
 
1. การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ
 
ในคดีอาญา ผู้ถูกกล่าวหาถือเป็นประธานแห่งคดี ย่อมมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในการมีทนายความช่วยเหลือคดี สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมและสิทธิในการแก้ข้อกล่าวหา
 
แต่การสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก ฝ่ายทหารปฏิเสธสิทธิการมีทนายความเข้าช่วยเหลือคดี ปฏิเสธที่จะแจ้งว่าได้ควบคุมตัวบุคคล ณ ที่ใด ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือการติดต่อกับโลกภายนอก ขาดโอกาสในการเตรียมคดี ส่งผลให้ผู้ถูกควบคุมตัวขาดเจตจำนงอิสระในการให้การ ทั้งต่อเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมลดลง
 
2. การควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ขาดกลไกการตรวจสอบ
 
ภายใต้กฎอัยการศึก มาตรา 15 ทวิ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจกักตัวบุคคลเพื่อสอบสวนไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน กรณีที่ผู้นั้นมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
 
กรณีการควบคุมตัวเพียงอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งในรัฐที่เป็นนิติรัฐ การควบคุมตัวต้องผ่านการออกหมายโดยใช้อำนาจของศาลเท่านั้น เพื่อให้กระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลสามารถตรวจสอบได้ และไม่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานฝ่ายใดมากเกินไป
 
3. การใช้กฎอัยการศึกในกระบวนการยุติธรรม ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ
 
อำนาจตามกฎอัยการศึก ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศใช้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทำการตรวจค้น กักตัวบุคคล สอบสวน ออกคำสั่งห้ามกระทำการต่างๆ และประกาศอำนาจศาลทหาร
 
กรณีดังกล่าว ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 ที่เป็นหลักประกันความยุติธรรมว่า ประชาชนทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา มีสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เปิดเผย มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีความสะดวกในการเตรียมการต่อสู้คดี มีทนายความ และมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา
 
4. การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
เจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก มีไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากภัยสงครามหรือการจลาจล  โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็ม เหนือฝ่ายพลเรือน สามารถใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อรักษาอธิปไตยของรัฐ ปราศจากราชศัตรู โดยเร็วที่สุด
 
แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หาใช่เรื่องภัยสงครามหรือการจลาจลไม่ แต่เป็นเพียงการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ความแตกต่างทางความคิด หรือการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ซึ่งสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายปกติจัดการได้ การประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงไม่ตรงกับเจตนารมณ์
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศ ยกเลิกการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และออกประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้กลับเข้าสู่บรรยากาศประชาธิปไตย และประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่เพื่อเป็นผลดีต่อประเทศตามวิถีทางอันดีของระบอบประชาธิปไตย
 
ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 
 
 
 
[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1413778981
 
[2] http://news.springnewstv.tv/56873/ทหารบุกรวบแก๊งเงินกู้มหาสารคาม-คิดดอกเบี้ยสุดโหด
 
[3] http://thairath.co.th/content/458129
 
[4] http://www.prachatai.com/journal/2014/10/56169
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สาระ+ภาพ: ไทยติดอันดับ 7 - ชาติน่าอยู่สำหรับชาวต่างชาติ

$
0
0

ชมภาพขนาดเต็มคลิกที่นี่

24 ต.ค. 2557 - ไทยติดอันดับที่ 7 จากการจัดอันดับของ HSBC ซึ่งทำการสำรวจจากชาวต่างชาติ 9,288 คนใน 100 ประเทศ โดยประเด็นที่นำมาพิจารณาประกอบด้วย คุณภาพชีวิต ค่าจ้าง และโอกาสในการเลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยคุณภาพชีวิตและการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่วนอันดับหนึ่ง ได้แก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศเอเชียติดอันดับมากขึ้นในปีนี้ เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงอนาคตทางเศรษฐกิจในด้านบวกของประเทศแถบนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา 3 ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์แล้ว แม้พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะคืบหน้า แต่ระดับคุณภาพชีวิตในประเทศแถบเอเชียก็ยังคงตามหลังเศรษฐกิจอยู่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กอ.รมน. เตรียมเปิดเวทีฟังความเห็นประชาชนเรื่องปฏิรูปทั่วประเทศ

$
0
0
24 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยเห็นว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มีศักยภาพที่จะดำเนินการเรื่องนี้ได้ เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ปัจจุบันศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของ กอ.รมน. ยังคงดำเนินการอยู่ในปีงบประมาณ 2558 โดยเน้นให้ตรงกับโรดแมประยะที่ 2 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 
โฆษกกอ.รมน. กล่าวว่า พันธกิจส่วนหนึ่งจะส่งเสริมให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนาและปฏิรูปประเทศตามกรอบการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ขณะนี้กำลังจัดทำแผนงาน โครงการและกิจกรรม ซึ่งขับเคลื่อนโดยศปป.ภาค 1-4 และประสานความร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล สถานศึกษา และองค์กรวิชาชีพต่างๆ เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศในเรื่องต่างๆ ตามกรอบแนวทางปฏิรูป 11 ด้านภายใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ระหว่าง พ.ย.2557-มี.ค.2558
 
“การดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ขจัดความขัดแย้งภายในชุมชน และตกผลึกแนวความคิดร่วมกัน เพื่อนำเสนอ คสช.และ สปช. ผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป (สปป.) อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะจัดโครงการภายใต้ชื่อว่า “คนไทยหัวใจเดียวกัน” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนเสนอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ต.ค.นี้ และคิดว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” พ.อ.บรรพต กล่าว
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บ่อแก้ว-โคกยาว เฮ ! นายอำเภอยอมหยุดเส้นตายไล่รื้อ 25 ต.ค.นี้

$
0
0

ชาวบ้าน ‘บ่อแก้ว-โคกยาว’ จ.ชัยภูมิ เฮ หลังนายอำเภอคอนสารสนองนโยบายจากการประชุมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนชาวบ้านเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 57 ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน

วันนี้ (24 ต.ค. 57 ) ตัวแทนชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร และชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กว่า 30 คน  เดินทางเข้าพบนายเจนเจตน์ เจนนาวิน นายอำเภอคอนสาร เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ถึงแนวทางทางแก้ไขปัญหาผลกระทบความเดือดร้อน ให้ชะลอ ยุติการดำเนินการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

นายเด่น คำแหล่ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว กล่าวว่า นายอำเภอคอนสาร พร้อมปลัดอาวุโส ได้ลงมารับหนังสือด้วยตนเอง รวมทั้งได้ร่วมประชุมกับพี่น้องถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าได้รับหนังสือจากทางสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี และจากจังหวัดชัยภูมิ ถึงผลการประชุมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทน ขปส. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา  ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายเด่น กล่าวอีกว่า ตามที่นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม อ.คอนสาร เมื่อวันที่ 8 ต.ค.57 และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง หลังจากวันที่ 25 ต.ค.57 ในวันนี้ตามที่นายอำเภอแจ้งแต่พวกตนในที่ประชุมว่า เข้าใจปัญหาร่วมกันแล้ว พร้อมกับจะดำเนินตามนโยบายร่วมกันต่อไป นอกจากนี้ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) แล้วว่าจะไม่ให้มีการไล่รื้อชุมชนทั้งสองพื้นที่แต่อย่างใด เพราะเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่น ต้องสนองรับทำตามแนวนโยบายตามคำสั่งที่ ให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ เป็นการต่อไป

“มาถึงขณะนี้พวกเราทั้งพี่น้องบ้านบ่อแก้ว ต่างแสดงออกถึงความดีใจกันมาก ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ รับทราบและเข้าใจถึงปัญหา พร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขผลกระทบ ด้วยความเป็นธรรม ถูกต้องและยั่งยืนต่อไปนั้น ความหวาดระแวง ที่ต่างกลัวกันว่าจะถูกกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ ก็พอคลายความกังวลลงกันไปบ้าง หลายวันแล้วที่ทำให้นอนไม่ค่อยหลับ จากนี้ไปความปกติสุขของพวกตนก็จะคงคืนกลับมาถึงความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตอีกครั้ง” นายเด่น กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิปสปช. ชี้ดึง 5 คนนอกเข้า กมธ.ยกร่างฯ ยังต้องรอมติ เหตุคนในเห็นแย้ง

$
0
0

24 ต.ค. 57 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มสปช. ในเรื่องการดึงคนนอกเข้ามาเป็นกมธ.ยกร่างฯ  และตนเองไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เนื่องจากขัดต่อหลักการ และต้องการทราบถึงเหตุผลของนำคนนอกเข้ามาเป็นกมธ.ยกร่างฯ พร้อมเสนอว่าการที่จะดึงนักการเมืองมาเป็นกมธ.ยกร่างฯ นั้นถือว่าขัดกับหลักการ เพราะไม่ต้องการให้ผู้มีส่วนได้เสียอย่างนักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม และการเข้ามานั้นถือเป็นนอมินีของพรรคและเป็นเรื่องที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การประชุมสปช.ครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 ต.ค. ซึ่งจะมีวาระสำคัญเร่งด่วนในการเร่งสรรหาบุคคลไปทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน ตนเห็นว่าสัดส่วน 20 คน ควรมาจากสมาชิก สปช.ทั้งหมด ซึ่งในวันดังกล่าวตนและเพื่อนสมาชิกจะอภิปรายในเรื่องนี้ และจะยื่นญัตติให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งตนเชื่อในดุลยพินิจของเพื่อนสมาชิกว่าจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว

ด้านนายวันชัย สอนศิริ สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในฐานะวิปสปช. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่า การเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนในสปช. 15 คน และคนนอก 5 คนนั้น เป็นเพียงกรอบที่เสนอไว้เท่านั้น เพราะต้องการให้เกิดการมีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญมักจะไม่เป็นที่ยอมรับจากคู่ขัดแข้ง เนื่องจากไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เราจึงเปิดโอกาสตรงนี้ไว้ให้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทย หรือพรรคอื่นๆ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมถึงคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม 

จึงได้วางแนวทางไว้เช่นนี้ เพื่อให้ที่ประชุมสปช. ได้อภิปรายและลงมติกันว่าจะเห็นด้วยตามที่วิปฯเสนอ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวมีสมาชิก สปช.ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ จึงอยากให้มาอภิปรายกันในที่ประชุม แล้วก็ลงมติกัน โดยจะยึดมติตามเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม

ที่มา : มติชนออนไลน์, ASTVผู้จัดการออนไลน์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลให้ประกัน 2 ผู้ต้องขังคดีขอนแก่นโมเดล

$
0
0



 

24 ต.ค.2557  เวลาประมาณ 18.00 น. ที่หน้าเรือนจำจังหวัดขอนแก่น ญาติผู้ต้องขังคดีขอนแก่นโมเดล 2 ราย คือ นายดำรงศักดิ์ สุทธิสิน 39 ปี และนายพรหมพัฒน์ ธนกุลพิพัฒน์ 48 ปี มารอรับตัวผู้ต้องขังทั้งสองกลับบ้าน หลังศาลขอนแก่นมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวในวันนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 ต.ค.เบญจ รัตน์ มีเทียน และ กรกช บุตรสิม ทนายความของผู้ต้องขังทั้งสองได้ยื่นประกันผู้ต้องขังโดยอ้างถึงปัญหาสุขภาพ และโรคประจำตัว พร้อมวางเงินสดรายละ 4 แสนบาทเป็นหลักทรัพย์ ศาลได้เรียกเอกสารใบรับรองแพทย์เพิ่มเติมและมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวในวันนี้

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีดังกล่าวมีทั้งหมด 26 ราย ในจำนวนนี้เป็นหญิง 2 ราย ทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่วันที่ถูกจับกุม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจับกุมวันที่ 23 พ.ค.57 และได้รับประกันตัวในวันนี้ 2 ราย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความจริงกับ นพ.กิติภูมิ : ขอคืนอำนาจให้ข้าราชการ

$
0
0

เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2557 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ โพสต์วิดีโอคลิปชื่อ ‘ขอคืนอำนาจให้ข้าราชการ’ ซึ่งเป็นการสนทนากับ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นการสนทนาไว้เมื่อ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา

นพ.กิติภูมิ เป็นผู้ทำกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ และได้ติดตามและร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง มาตลอดร่วม 3 ทศวรรษ บทสนทนาชิ้นนี้นอกจากการวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมุมมอง แพทย์ชนบท คนหนึ่ง แล้วในฐานะข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข นพ.กิติภูมิ ยังได้ให้ความเห็นต่อการที่ ระบบข้าราชการกลับมามีบทบาทสูงขึ้นอีกครั้งและเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

นอกจากนี้ นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิตยังได้ให้มุมมองต่อมายาคติโดยทั่วไปว่า นักการเมืองโกงกินและนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจะไม่มีทางมาจากรัฐบาลที่มีนักการเมืองฉ้อฉลได้ ว่าจริงหรือไม่ อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิวแมนไรท์วอทช์จี้ยูเออีคุ้มครองแม่บ้านจากต่างชาติ

$
0
0

 

 

 

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2014 ที่ผ่านมาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เผยแพร่รายงาน “I Already Bought You” Abuse and Exploitation of Female Migrant Domestic Workers in the United Arab Emiratesซึ่งเรียกร้องให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปฏิรูประบบการออกวีซ่าที่มีความเข้มงวด และให้สาวใช้สามารถเปลี่ยนงานได้โดยไม่มีความผิด รวมทั้งแก้ไขกฎหมายแรงงานให้เพิ่มการคุ้มครองแก่ผู้ประกอบอาชีพแม่บ้าน รวมทั้งจำกัดชั่วโมงการทำงานไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และมีวันหยุดอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีคนทำงานบ้านจากต่างชาติจำนวน 146,000 คน ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และ เอธิโอเปีย โดยแม่บ้านฟิลิปปินส์รายหนึ่งระบุว่านายจ้างได้ซื้อตัวเธอมาอีกทอดหนึ่ง เธอไม่มีสิทธิ์ปริปากบ่นใดๆ ทั้งสิ้น แต่ละเดือนเธอจะได้รับค่าจ้างเพียง 800 เดอห์แฮม (ประมาณ 218 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งน้อยกว่าในสัญญาว่าจ้างที่ระบุไว้ที่เดือนละ 1,000 เดอห์แฮม (ประมาณ 272 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนแม่บ้านฟิลิปปินส์อีกรายหนึ่งเปิดเผยว่าเธอถูกแม่ของนายจ้างคนเก่านำเหล็กร้อนมาทาบที่แขน เพียงเพราะปฏิเสธที่จะนำลูกเกดไปตากแดด

นอกจากนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้สถานฑูตของแต่ละประเทศเพิ่มการตรวจสอบ และแจ้งประชาชนให้ทราบถึงสิทธิ และช่องทางการแจ้งเหตุกับสถานฑูตหากเกิดการล่วงละเมิดขึ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กร 'อังกฤษ-กัมพูชา' ส่งจดหมายถึงบริษัทน้ำตาล วอนเจรจาชาวบ้านโปร่งใส

$
0
0
24 ตุลาคม 2557 - บริษัทที่ปรึกษากฎหมายจากกรุงลอนดอน และศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน (Community Legal Education Centre ; CLEC) ในนามตัวแทนของชาวบ้านจำนวน 200 ครอบครัวในจังหวัดเกาะกงของกัมพูชาเพื่อดำเนินการทางกฏหมายในข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลเกาะกง (Koh Kong Sugar Industry Company) บริษัทสวนป่าเกาะกง (Koh Kong Plantation Company) และเทตแอนด์ไลล์ (Tate & Lyle) บริษัทน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ส่งจดหมายถึงบริษัทน้ำตาลเกาะกง เชื้อเชิญให้ทำการพูดคุยอย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขข้อพิพาท
 
ชาวบ้านกัมพูชา ในขณะนี้กล่าวหาบริษัทน้ำตาลเกาะกงว่าละเมิดกฏหมายกัมพูชาโดยการขับไล่ประชาชนออกจากที่ดินของพวกเขาเอง และกล่าวหาบริษัทเทตแอนด์ไลล์ว่า แสวงหาผลกำไรจากการกระทำอันผิดกฏหมายในการไล่ที่ชาวบ้านโดยผิดกฎหมาย
 
บริษัทที่ปรึกษากฏหมายที่ตั้งในสหราชอาณาจักร ลี เดย์ (Leigh Day) เป็นตัวแทนชาวบ้านในกัมพูชา ในการดำเนินการกับบริษัทเทตแอนด์ไลล์และบริษัทน้ำตาลทีแอนด์แอล (T&L) ซึ่งตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ในขณะที่ศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน (CLEC) เป็นตัวแทนประชาชน ช่วยเหลือในการดำเนินคดีกับบริษัทน้ำตาลเกาะกงในประเทศกัมพูชา
 
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรทั้งสองร่วมกันส่งจดหมายเชิญให้บริษัทน้ำตาลเกาะกง เข้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ย ซึ่งทั้งสององค์กรเสนอให้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการก่อนสิ้นปีนี้ในกัมพูชา และตรวจสอบร่วมกันว่าจะแก้ปัญหร่วมกันได้หรือไม่
 
ทั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานส่งจดหมายเพื่อตอบสนองกับการที่บริษัทน้ำตาลเกาะกงส่งจดหมายของบริษัทไปก่อนหน้านี้ เชื้อเชิญเอ็นจีโอต่าง ๆ ให้มาเป็นประจักษ์พยานในการจัดงานเพื่อ "ตกลงกันและให้ค่าชดเชย" กับชาวบ้านในวันพรุ่งนี้ (25 ตุลาคม 2557) ทั้งนี้ บริษัทกลับไม่ได้ส่งจดหมายเชิญถึงบรรดาตัวแทนทางกฏหมายของประชาชนทั้งสององค์กรแต่อย่างใด ทั้งนี้จดหมายของบริษัทระบุว่า ในที่ประชุมวันพรุ่งนี้ จะมีการให้เงินจำนวนหนึ่งชาวบ้าน แต่ไม่ได้บอกจำนวนเงินที่แน่นอน และระบุว่าเงินที่บริษัทจะให้ จะใหกับชาวบ้านที่สามารถแสดงให้เห็นว่ามีสิทธิ์จะเรียกร้องค่าชดเชยในที่ดินที่ปัจจุบันกลายเป็นที่ดินของบริษัทอยู่หรือไม่
 
ด้านนางสาวเทสซา เกรกอรี ทนายความของลีเดย์ระบุว่า
 
"เรายินดีที่ได้เห็นว่า บริษัทน้ำตาลเกาะกงเริ่มแสดงความมุ่งมั่นในการยุติข้อพิพาดที่ยืดเยื้อมามากกว่า 8 ปี
 
"อย่างไรก็ตามการเจรจาใด ๆ ที่เกี่ยวกับข้อตกลง ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วม
 
"ลูกความของเราจะต้องทราบว่าบริษัทเสนออะไรให้พวกเขา และต้องได้เวลา และโอกาสที่จะขอคำแนะนำว่าข้อเสนอดังกล่าวหมายถึงอะไร โดยเฉพาะในขณะนี้ เรื่องกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฏหมาย”
 
"เราจึงมีจดหมายถึงบริษัทน้ำตาลเกาะกง, และบริษัทแม่คือบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (KSL) และบริษัทเทตแอนด์ไลล์ด้วย เพื่อเชิญใหบริษัทเหล่านี้ให้เข้ามาในที่ประชุมที่พวกเราจะจัดขึ้นเร็ว ๆ นี้อย่างเป็นทางการ เพื่อมาไกล่เกลี่ยกับเราและลูกความ เพื่อพยายามหาข้อยุติความขัดแย้ง"
 
นายอัน ไฮยา (An Haiya) หนึ่งในตัวแทนชุมชนของประชาชน 200 ครอบครัวในกรณีดังกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทน้ำตาลเลือกใช้ตามที่เห็นในขณะนี้ โดยกล่าวว่า
 
"พวกเราประชาชนในชุมชน สู้กันมานานเพื่อร้องขอความยุติธรรมในเรื่องที่พวกเราโดนปล้นที่ดินไป แน่นอนว่าพวกเราก็อยากให้ข้อพิพาทจบลงเสียที แต่มันคงจบไม่ได้จนกว่าบริษัทจะตกลงนั่งลงคุยกับพวกเราชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุก ๆ คนอย่างเปิดเผย แล้วหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ไขสถานการณ์ สำหรับพวกเราชาวบ้าน การคุยกันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่มันเป็นเรื่องของแผ่นดินของเรา
                    
"เราก็ได้แต่หวังว่า บริษัทน้ำตาลเกาะกง น้ำตาลขอนแก่นและบริษัทเทตแอนด์ไลล์จะฟังคำร้องขอ และตกลงมาพบกับเรากับทีมทนายความ"
 
นายวิเรียะ เยง (Virek Yeng) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษากฏหมายเพื่อชุมชน กล่าวว่า
 
"หลายครอบครัวที่เสียที่ดินไปตั้งแต่ปี 2006 ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังจริงๆ แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดเพื่อต่อสู้ในทางกฏหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรม และได้รับความช่วยเหลือที่ยุติธรรม”
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images