Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

'ประยุทธ์' ดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน รางคู่-รถไฟฟ้า กทม.เสร็จใน 8 ปี

$
0
0
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุเดินหน้าผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน ย้ำสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ คมนาคมเน้นการลงทุนร่วม ทั้งราง รถไฟ การจัดการน้ำ ดันรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า กทม.เสร็จภายใน 8 ปี จะจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทุกประเทศ

 
 
 
24 ต.ค. 2557 ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ระบุตอนหนึ่งว่าจะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน พร้อมย้ำสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการคมนาคมที่จะเน้นการลงทุนร่วม ทั้งราง รถไฟ การจัดการน้ำ และทวาย ดันรถไฟทางคู่-รถไฟฟ้ากทม.เสร็จภายใน 8 ปี ขณะที่จะจัดทำเขตศก.พิเศษบริเวณพื้นที่ชายแดนกับทุกประเทศ และยืนยันความสัมพันธ์กับต่างประเทศราบรื่น โดยเฉพาะบาห์เรนที่จะพร้อมจะสนับสนุนไทยในเวทีโลก ด้านปัญหาหนี้นอกระบบ เตรียมให้เกษตรกรพักชำระหนี้สหกรณ์ 1 ปี และกำลังพิจารณา นาโนไฟแนนซ์ดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชนทั่วไป
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของรายการมีดังต่อไปนี้
 
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 24 ตุลาคม 2557 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
 
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็น “วันปิยะมหาราช” ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่นานัปการ และทรงเป็นที่รักของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า
 
หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งข้าราชการ และภาคเอกชนต่างร่วมวางพวงมาลาสักการะพระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5 รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการเชิงวิชาการเกี่ยวกับพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ในโอกาสพิเศษนี้ ผมก็ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกท่าน ได้ร่วมน้อมจิตอธิษฐาน และแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการรู้รักสามัคคี มุ่งมั่นปรองดอง และร่วมสร้างอนาคตของชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมกันในการปฏิรูปประเทศ “เดินหน้าประเทศไทย”  ในบทบาทและหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสมต่อไปครับ
 
ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ได้มีโอกาสให้ผมในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาลได้ถวายการต้อนรับเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ซึ่งถือว่าเป็นมิตรเก่าแก่และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดของไทย ในกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนเอง ก็ทรงเล่าว่าได้มาเยือนเมืองไทยบ่อยครั้ง และเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ได้ทรงชื่นชมว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความปลอดภัย ทรงเห็นว่าประชาชนชาวไทยนั้นดำรงชีวิตอย่างมีความสุขเป็นปกติ ทรงให้ความเห็นว่าความปลอดภัย ความมั่นคง เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ บาห์เรนมีความต้องการที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับเราในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่บาห์เรนพร้อมจะรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งข้าวจากไทย โดยเห็นพ้องที่จะสร้างกลไกความร่วมมือในทุกระดับ และจะเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในเรื่องของอาหารและเกษตรกรรม ในโอกาสเดียวกันนี้ ผมก็ได้เน้นย้ำการให้ความสำคัญ ในการร่วมมือดูแลภาคเกษตรกรรมในภูมิภาคเอเชียให้เข้มแข็ง เพื่อใช้ในการต่อรองทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีบาห์เรนก็ทรงขานรับ ได้ทรงกล่าวว่าบาห์เรนพร้อมเป็นประเทศผู้ประสานงาน ระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ ในแถบตะวันออกกลาง และสนับสนุนบทบาทของไทยในเวทีโลกอีกด้วยครับ
 
ในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 10 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ห้วงวันที่ 16-17 ตุลาคม 2557 ผมและคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม “ผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM)” ครั้งที่ 10 ณ นครมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี
 
การประชุมครั้งนี้ มีผู้นำประเทศและผู้แทนองค์กรภูมิภาค เข้าร่วมการประชุม รวมทั้งสิ้น 53 คณะ โดยผมในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทย ก็ได้มีโอกาสกล่าวต่อที่ประชุมถึงความพร้อม และศักยภาพของประเทศไทย ในการที่จะเป็น “ศูนย์กลางแห่งอาเซียน” และได้ผลักดัน ประเด็นสำคัญ 3 ประการ ต่อที่ประชุม ASEM ได้แก่
 
หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยจะใช้โอกาสที่ไทยจะรับหน้าที่ผู้ประสานความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป ปี 2558 – 2561 เพื่อจะผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไปสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ในปี 2558 บนพื้นฐานของการลดช่องว่างการพัฒนา การส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างกัน และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลภาคเกษตรกรรม และการพยุงราคาสินค้าเกษตร ซึ่งผมได้กล่าวให้ที่ประชุมรับทราบถึงความสำคัญในการจะร่วมมือกันระหว่างสหภาพยุโรปและเอเชีย โดยให้สหภาพยุโรปได้เข้ามาช่วยเหลือดูแลภาคการเกษตรในเอเชียบ้าง และให้เอเชียช่วยผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชอาหารและพลังงานทดแทนแก่สหภาพยุโรป อันจะช่วยลดปัญหาความยากจนในเอเชีย และลดความขัดแย้งจากการขาดแคลนอาหารและพลังงานที่อาจจะเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศโลกได้อีกด้วย
 
ข้อเสนอต่อไปคือริเริ่มให้มีการประชุม เพื่อวางทิศทางการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนการลดอุปสรรคทางการค้า ผ่านการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า การลงทุน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคี ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) การระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และการขยายช่องทางติดต่อชายแดน 5 ช่องทาง เชื่อมต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลาง (HUB)” และ การกระชับความร่วมมือและการสนับสนุนการถ่ายโอนองค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ในเรื่องต่อไปคือการบริหารจัดการความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งวันนี้เป็นสิ่งท้าทายระดับโลก ประเทศไทย เอเชีย และอียู  จะต้องร่วมกันขบคิดในประชาคมระหว่างประเทศ เช่น ในเรื่องของโรคระบาดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ลัทธิสุดโต่งกับการก่อการร้าย ปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ในการเข้าร่วมการประชุม ASEM  ผมได้มีโอกาสพบปะ เพื่อแนะนำตัว และทำความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย กับผู้นำหลายท่าน จากประเทศต่าง ๆ ซึ่งก็ได้รับสัญญาณที่ดีกลับมา ผู้นำหลายท่านได้แสดงความเข้าใจ และชื่นชมข้อเสนอเชิงรุกของเราในการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน
 
อีกทั้งผมได้มีโอกาสเข้าหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำหลายประเทศด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย กัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งผลการหารือก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกันมากในอนาคต นอกจากนั้นจะนำไปสู่ความร่วมมือที่จะช่วยพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่งผมได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจและความจริงใจ ในการปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาล ซึ่งผู้นำทุกท่านก็ได้ชื่นชม และให้กำลังใจในการทำงานของพวกเรา อีกทั้งได้มีการพูดคุยหารือกันในหลายเรื่อง เช่น ในเรื่องของการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการค้าการลงทุน โดยการลดขั้นตอนหรือข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การจัดตั้ง Single Window หรือ One Stop Service เพื่อช่วยให้การดำเนินธุรกิจของนักลงทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการดูแลนักลงทุน การบังคับใช้กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ของ BOI ที่เหมาะสมกับนักลงทุน ผมได้เชิญชวนนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และการแปรรูปสินค้าการเกษตร หลาย ๆ ประเทศก็ตอบรับเป็นอย่างดีครับ
 
ในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค อันเป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย กับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผมได้หารือถึงการลงทุนร่วมกันในโครงสร้างพื้นฐานในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งระบบราง รถไฟ และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วม และให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ในการทำการเกษตร ซึ่งทางญี่ปุ่นและจีน พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
 
นอกจากนี้ยังได้มีการเชิญชวนอินเดียและสิงคโปร์ เข้าร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ซึ่งมีท่าทีตอบรับที่ค่อนข้างดี รวมทั้งหารือความเป็นไปได้ ในการลงทุนร่วมกันในด้านอื่น ๆ อีกหลายประเทศ เช่น ด้านดาวเทียม หรืออะไรก็ตามที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น ด้านพลังงานถ่านหินที่มีคุณภาพ พลังงานสะอาด ด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาแปรรูปสินค้านวัตกรรม และที่สำคัญคือการลงทุนร่วมกันในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
 
การค้าชายแดนและการดูแลแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน  ผมได้เสนอแนวความคิด คือให้ “เส้นเขตแดนนั้นเป็น เส้นแห่งความร่วมมือ” ในทุกมิติ เพื่อจะส่งเสริมการพัฒนาและแสวงประโยชน์ร่วมกัน อย่าให้เขตแดนเป็นอุปสรรค ได้มีการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ให้มีสถานที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งการค้า โรงแรม สถานประกอบการ เช่น ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชาตรงข้ามปอยเปต ก็สามารถพัฒนาให้มีโรงงานบริเวณชายแดน เพื่อให้ชาวกัมพูชาสามารถข้ามเข้ามาทำงานได้สะดวก ใกล้บ้าน และทางการกัมพูชาอาจพิจารณาจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในลักษณะเดียวกัน แบบคู่ขนาน – เป็นเมืองคู่แฝด อันนี้ก็คงรอบ ๆ บ้าน ไปทั้งหมดทุกประเทศด้วย
 
สำหรับในพื้นที่ติดกัน เช่น บริเวณชายแดนประเทศลาว ไทยกับลาวก็จะได้ร่วมมือกันพัฒนาสร้างเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย - ลาว เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค อันจะช่วยส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้นำทุก ๆ ประเทศที่ให้เกียรติกับผม ให้เกียรติกับคนไทย ประเทศไทยได้มีโอกาสพบปะหารือและเชิญให้ผมได้ไปเยือนประเทศของท่าน ซึ่งผมคงหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อไปเยือนในเร็ววันนี้ เพราะบางครั้งก็ไม่ตรงกัน
 
เรื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
 
ในสัปดาห์นี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 เป็นแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแบ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทั้งหมด 5 ด้าน อันนี้ก็เป็น 8 ปี เราจะทำเมื่อไรอย่างไรก็ว่ากันอีกครั้งหนึ่ง อันนี้ ได้แก่  การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง
 
การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร   การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ  และการพัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางอากาศ  ผมขอขยายความเล็กน้อยเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้เข้าใจพอสังเขป ดังนี้
 
เรื่องการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง จะมีการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ที่จะแยกเป็นโครงการระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 903 กิโลเมตร (กม.) คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2561 และโครงการระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 อีก 8 เส้นทาง คิดเป็นระยะทางรวม 1,626 กม.  นอกจากนั้น จะพัฒนาทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร อีก 3 เส้นทาง ที่จะเน้นการขนส่งเชื่อมโยงไปยังเขตอุตสาหกรรมและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กรุงเทพฯ - นครราชสีมา - มาบตาพุด กรุงเทพฯ – ระยอง  และ นครราชสีมา – หนองคาย  คิดเป็นระยะทาง 705 กม.
 
นอกจากนั้น  กระทรวงคมนาคมจะเร่งการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในพื้นที่ ระยะแรกจะเร่งรัดการก่อสร้างใน 4 สาย ได้แก่ สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ จะรีบดำเนินการให้เสร็จก่อนปี 2560  สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ หัวลำโพง-บางแค สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต จะเร่งให้แล้วเสร็จในปี 2562  สายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ จะให้เสร็จในปี 2563  ทั้งนี้ รัฐบาลจะเร่งกระบวนการประกวดราคา และศึกษารายละเอียดอีก 7 เส้นทางเพิ่มเติม โดยจะพยายามเร่งการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การเดินทางของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตปริมณฑลได้สะดวกมากขึ้น  ทั้งนี้ ผมได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาในเรื่องของรถรางไฟฟ้า ในเขตปริมณฑลที่เชื่อมโยงพื้นที่ทำมาหากินของประชาชน ซึ่งไม่น่าจะใช้เงินลงทุนมาก และจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางเลือกในการสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น
 
สำหรับแผนการก่อสร้างและบูรณะขยายช่องการจราจรทางถนน ทั้งในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน และภาคตะวันออก จะพัฒนาให้เชื่อมโยงไปทุกภูมิภาค และจะเชื่อมต่อไปยังจุดผ่านแดนต่าง ๆ โดยจะเร่งให้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560
 
ในเรื่องของการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะให้มีการรองรับเรือได้มากยิ่งขึ้น และจะพัฒนาให้เป็น “ศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ” จะเริ่มดำเนินการในปีหน้าจะให้แล้วเสร็จในปี 2560  นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ จะพัฒนาตลิ่งท่าเทียบเรือและร่องน้ำในเขตแม่น้ำป่าสัก ให้สามารถขนส่งสินค้าทางเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
สำหรับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิจะให้มีพื้นที่ Terminal ลานจอดเครื่องบิน และอุโมงค์เชื่อมต่อทางวิ่งสำรองและอาคารจอดรถที่พักผู้โดยสารเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการในปี 2558 นี้  และการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยการสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มอีก 15 หลุม ซึ่งจะให้แล้วเสร็จในปีหน้า และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมที่มีแผนจะเริ่มดำเนินการในปีหน้าเช่นเดียวกัน
 
แผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้นั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ช่วยให้การคมนาคมขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้น พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ทั้งนี้ก็จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศและเป็นการเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจภูมิภาคด้วย  ทั้งนี้ ผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินงานนั้นต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส การจัดสรรงบประมาณประจำปีต้องทำตามแผนงานและต่อเนื่อง
 
ในเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร
 
ในวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ( ธ.ก.ส.) เริ่มดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องชาวนาตามมติที่ ครม.อนุมัติ ก็จะทยอยจ่ายเงินพี่น้องชาวนาให้ทั่วถึง หากท่านใดยังไม่ได้ไปลงทะเบียน ก็ขอให้ไปตรวจสอบลงทะเบียนให้เรียบร้อย หากท่านใดลงทะเบียนแล้วยังไม่ได้รับเงิน ก็ขอให้อดใจรอสักเล็กน้อย เพราะทาง ธ.ก.ส. เองจะทยอยจ่ายเงินให้ท่านให้ครบทุกคนแน่ครับ ก็ขอให้มั่นใจและก็ช่วยกันแก้ไขในเรื่องของการทุจริตต่าง ๆ ด้วยอย่าไปเชื่อใครทั้งสิ้นท่านต้องรับเงินด้วยมือของท่านเอง สำหรับผู้ที่ทำนาจริง
 
สำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด ครม. ได้อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือชาวสวนยางขั้นต้นตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอ ใน 4 โครงการ ได้แก่  โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยจะช่วยให้มีการรับซื้อยางในราคาเป้าหมายที่  60 บาท ต่อกิโลกรัม ในชั้นต้น โครงการชดเชยรายได้พี่น้องชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่  โครงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบ รายละไม่เกิน 1 แสนบาท และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง  ทั้งนี้ ผมได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดูแล ศึกษารายละเอียดในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น และโปร่งใส  คาดว่าอีกไม่นานนี้ ความช่วยเหลือต่าง ๆ เหล่านั้น คงจะถึงมือพี่น้องชาวสวนยางแน่ ๆ นะครับ
 
โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือปัญหาหนี้นอกระบบนั้น เป็นปัญหาสำคัญสำหรับพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยที่มีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน แต่ก็ไม่สามารถที่จะไปกู้ยืมเงินผ่านธนาคารทั่วไปได้ ผมก็อยากให้ทุกท่านทราบว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่พร้อมให้การสนับสนุนและสามารถช่วยเหลือท่านได้เป็นอย่างดีในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการเงินชุมชน กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ในพื้นที่  ในสัปดาห์นี้ ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบการจ่ายดอกเบี้ยชดเชยให้กับสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรตามโครงการพักหนี้เกษตรกร รายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท  โครงการนี้ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นลูกหนี้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรในการพักชำระหนี้ในปี 2557 ทั้งนี้ก็เพื่อบรรเทาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชน  เราจะใช้งบกลางของปี 2556 จากกรอบวงเงินเดิมที่เหลืออยู่ จำนวน  610  ล้านบาท และงบประมาณปี 2558 ที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมอีกประมาณ  89.8  ล้านบาท ไปชดเชยดอกเบี้ย  รัฐบาลจะพยายามเต็มที่เพื่อจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
 
ทั้งนี้ ก็อยากจะขอความร่วมมือ ขอให้ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินอย่าได้ไปกู้ยืมเงินจากนายทุนนอกระบบไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นนอกจากจะเสียเงินดอกเบี้ยสูงแล้ว รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะเข้าช่วยบรรเทาภาระของท่านได้  ขณะนี้ รัฐบาลโดยฝ่ายเศรษฐกิจก็กำลังเร่งพิจารณารายละเอียดในการจัดตั้ง “นาโนไฟแนนซ์” ซึ่งก็ต้องพิจารณากันว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ตรงความต้องการหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้พี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนั้น ก็คาดว่าจะถูกกว่าการกู้ยืมนอกระบบมาก พร้อมทั้งการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 2 แล้ว ก็คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้  ซึ่งหลังจากที่กฎหมายผ่านแล้ว ท่านที่จะทำธุรกิจทวงหนี้ ก็จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง และหากท่านมีการข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรงกับลูกหนี้ หรือมีการทวงหนี้ยามวิกาล มีการระรานไปยังที่ทำงานหรือทวงหนี้กับญาติพี่น้อง ท่านก็อาจจะมีความผิดในทันที บทลงโทษสูงสุดก็
 
คือการจำคุก ก็ขอเตือนนายทุนนอกระบบทั้งหลายว่ากรุณาอย่าได้ข่มขู่หรือทำการใด ๆ ที่รุนแรงกับลูกหนี้ ให้ความเมตตา ให้ความเข้าใจกับผู้ที่มีรายได้น้อยด้วย อย่าเอาแต่ประโยชน์อย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันเรื่องที่เกี่ยวกับหนี้สินนอกระบบนั้นมีกฎหมายอยู่หลายฉบับ ต่อไปนี้จะใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้นด้วย นอกจากกฎหมายใหม่แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า วันนี้เราต้องมีชีวิตอยู่อย่างเพียงพอตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย เพราะฉะนั้นทั้งพ่อแม่ ลูกหลาน ก็ต้องช่วยกัน วันนี้หนี้สินส่วนใหญ่เกิดมาจากลูกหลานทั้งสิ้น ไปเรียนหนังสือบ้าง ซื้อของที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์บ้าง ฉะนั้นถ้าเรามีเงินน้อยเราก็ซื้อของใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ต้องทันสมัยมากมายนักหรือเป็นของที่มียี่ห้อ มีชื่อเสียงมากนัก เราต้องเห็นใจพ่อแม่ ถ้าเราเรียกร้องมาก ๆ พ่อแม่ก็ไปเป็นหนี้เป็นสินเขา ถึงเวลาเรียนหนังสือก็ต้องไปกู้เงินมาเรียนหนังสืออีก วันหน้าที่ทางต่าง ๆ ก็ต้องขายหมด เพราะฉะนั้นต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิตด้วย เมื่อท่านแข็งแรงมีเงินมาก ท่านก็ใช้มากไปไม่มีใครว่าอะไร
 
สำหรับการจัดระเบียบพื้นที่ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า Zoning นั้น ในที่ประชุม ครม. ผมได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมมือกันในลักษณะของการบูรณาการ จะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนใน 2 เรื่อง
 
ก็คือในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ใด มีสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ เหมาะสมกับพืชชนิดใด หน่วยงานของรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และการฝึกอบรม อย่ารอให้เกิดปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดขณะนี้ก็คือพื้นที่ที่แล้งซ้ำซาก น้ำก็น้อย ดินก็ไม่ดี แต่ก็ยังคงต้องเพาะปลูกพื้นที่ทางการเกษตร เช่น ข้าว ก็ไม่ได้ผลทุกปี ฉะนั้นต้องเร่งเข้าไปดำเนินการตั้งแต่การจัดสรรพื้นที่เพาะปลูก ไปจนถึงการดูแลตลาดให้กับเกษตรกรด้วย กรณีที่เปลี่ยนเป็นพืชอย่างอื่น และเราก็ไม่ได้บังคับใครทั้งสิ้น เราเป็นห่วง นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาคนหรือชาวนาให้มีอาชีพเสริมแล้ว ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า พื้นที่น้อยผลผลิตมาก อะไรทำนองนี้
 
การแยกพื้นที่เพาะปลูกกับนิคมอุตสาหกรรมนั้นมีความจำเป็น เพราะบางพื้นที่นั้นไม่เหมาะจะไปตั้งโรงงาน ก็เหมาะจะใช้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า มีน้ำ มีดินดี ใกล้การขนส่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นก็ขัดแย้งกันมาตลอด วันนี้ต้องขอความกรุณา ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับในส่วนของภาคการผลิตพืชผลทางการเกษตร แหล่งน้ำกินน้ำใช้ สิ่งนี้จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใด ๆ จะต้องไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตในชุมชน ต้องดูแลชุมชนด้วย โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในอนาคตนั้น ต้องมองในภาพรวม ต้องพิจารณาเรื่องเส้นทางคมนาคมขนส่งด้วย ทั้งหมดนี้อย่าตื่นตระหนก ไม่ใช่เราจะไปเปลี่ยนอาชีพอะไรของท่าน เพียงแต่จะเข้าไปดูแลท่านให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น และไม่ได้เป็นการบังคับ แล้วแต่ความสมัครใจเพราะฉะนั้นต้องการให้ประชาชนที่เป็นภาคเกษตรกรรมนั้นทราบว่า พื้นที่ใดของประเทศไทยเหมาะสมจะปลูกพืชอะไร ทั้งนี้ก็แล้วแต่ท่าน
 
เรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำ
 
ผมต้องขอความร่วมมือและขอทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวนาในพื้นที่ภัยแล้งทุกท่าน ตามที่คาดการณ์ว่าปัจจุบันจนถึงกลางปีหน้า เราจะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค – บริโภค ผลิตน้ำประปา การเกษตร และใช้สำหรับการผลักดันน้ำทะเล เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลนั้น จำเป็นต้องสร้างสมดุลในทุกมิติ  แม้ว่าการระงับการส่งน้ำเพื่อการทำนาปรัง ก็มีความจำเป็น รัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหา มีมาตรการเสริมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมการเพาะปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งการจ้างแรงงานในการขุดลอกคูคลอง หรืออะไรก็ได้ที่จะเกิดผลประโยชน์กับประชาชน และการสร้างแหล่งน้ำใหม่ให้มากขึ้น ต้องใช้เวลา ฉะนั้นปีหน้าอยากจะขอความร่วมมือตรงนี้ อย่าตื่นตระหนก ปัญหาที่ผมเป็นห่วงก็คือน้ำประปาของเราจะขาด เพราะน้ำทะเลจะเข้ามา น้ำทะเลเข้ามาน้ำก็จะกร่อย การทำน้ำประปาก็มีปัญหา ก็ขอให้ทุกท่านได้เข้าไปใช้บริการ ขอข้อมูล รับคำแนะนำ และความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมได้ทุกแห่ง รวมไปถึงศูนย์อื่น ๆ ด้วย ทั้งการเกษตรก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์มา 800 กว่าศูนย์แล้ว
 
เมื่อวันอังคารที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น ประธานชมรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอดแห่งประเทศไทย และคณะได้เดินทางมาพบผมก่อนเข้าประชุม ครม. ได้มอบเข็มที่ระลึก เนื่องใน “วันไม้เท้าขาวสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี โดยขอให้รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม และการเคลื่อนไหว เพื่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเภทความพิการทางการมองเห็น ในที่ประชุม ครม. ผมก็ได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ที่มีโครงการใด ๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ด้อยโอกาสทางร่างกายทุกประเภทด้วยครับ ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมของเรา
 
สำหรับเรื่องในการกีฬา ซึ่งขอให้ทุกคนได้ร่วมกันส่งแรงใจไปกับผมด้วย ไปเชียร์กองทัพนักกีฬาไทย ขอขอบคุณที่สร้างความสุขให้กับคนไทย มีการชิงเหรียญรางวัลมากมาย ก็คงจะนำมาฝากพี่น้องชาวไทยของเราให้ชื่นใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ นักกีฬาทุกท่านนั้น เป็นสัญลักษณ์ของ “ผู้ที่ไม่พ่ายแพ้” กับใครในการกีฬา ก็ขอให้รักษาแนวคิดเหล่านี้ไว้ เพื่อเราจะได้เพิ่มศักยภาพในเรื่องด้านการกีฬาของเรามากขึ้น
 
มีอีก 2 เรื่อง ผมต้องการจะเพิ่มเติมด้วยความห่วงใย เมื่อเช้าผมติดตามเห็นข่าวออกมาทางสื่อว่า เอกอัครราชทูตหลายประเทศของ EU ได้พูดถึงประเด็นการเสนอข่าวของสื่อไทย ซึ่งบางครั้งก็เป็นการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นของผู้เสียหาย หรือผู้กระทำก็ตาม ที่ผ่านมาผมเห็นมีการพูดคุยกันระหว่างคณะทูตกับผู้แทนของสมาคมผู้สื่อข่าวประเทศไทย ก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะเป็นการสร้างการรับรู้ไปยังต่างประเทศ นี้ก็มีผลต่อเนื่องไปหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน เช่น ในส่วนของเรื่องการสมัครสมาชิก UN ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ถึงแม้เราจะไม่ได้รับการคัดเลือก ขอให้ทุกคนได้ภูมิใจว่าเราไม่ได้แพ้มากมาย สูงสุดก็ 162 ก่อนหน้าเราก็ 142 ของเราก็ 136 ประเทศสนับสนุน ผมถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เข้ามาพิจารณาด้วยก็คือ ในส่วนของสถานการณ์ในการเดินหน้าประเทศเราตอนนี้ ก็อาจจะมีประเด็นหลัก ๆ อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าสื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งที่ดี ในสิ่งที่เคยเป็นปัญหา ในสิ่งที่เราแก้ไข ผมว่าเขาก็เข้าใจได้ สิ่งนี้ผมก็ไม่ไปก้าวล่วงท่าน เพราะฉะนั้นท่านก็ไปพิจารณาว่าท่านควรจะต้องแก้ไขหรือทำอะไรอย่างไรต่อไป เพื่อช่วยประเทศไทยในการเดินหน้า และสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศให้เราด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือในส่วนของการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลในเวลานี้ ผมก็เรียนว่าเราก็พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่ในทุก ๆ มิติ ก็ขอให้ทุกคนได้ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันกับการทำงานของเรา ถ้าเราไม่ร่วมมือกันวันนี้ก็เดินหน้าไปไม่ได้ และเราแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน และให้คำแนะนำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ดีไม่เข้าใจ ผมยินดีน้อมรับทุกเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข แต่หลาย ๆ อย่างก็คงต้องใช้เวลา ไม่สามารถจะแก้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างไรก็ตามก็ขอขอบพระคุณในกำลังใจที่ให้กับพวกเราเสมอมา เราก็จะทำหน้าที่ของพวกเราให้ดีที่สุด ขอบคุณ สวัสดีครับ
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมสิงคโปร์ 6 คน ถูกหมายเรียกรายงานตัวกรณีประท้วง #ReturnOurCPF

$
0
0

นักกิจกรรมและบล็อกเกอร์ผู้จัดการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (CPF) ถูกตำรวจตั้งข้อหา "ก่อกวนความสงบต่อสาธารณะ" จากการประท้วงเมื่อเดือน ก.ย. แม้ว่าเจ้าของสถานที่จะอนุญาตให้พวกเขาจัดการชุมนุมและไม่มีกฎห้ามชูป้ายหรือธงประท้วง

24 ต.ค. 2557 บทบรรณาธิการเว็บไซต์เดอะเรียลสิงคโปร์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาชาวสิงคโปร์ 6 คนรวมถึงบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมที่ชื่อฮันฮุยฮุยและรอย เงิง  ด้วยข้อหา "ก่อกวนความสงบต่อสาธารณะ" จากการที่พวกเขาเกี่ยวข้องกับการประท้วง #ReturnOurCPF เมื่อช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ตำรวจสิงคโปร์ออกคำสั่งเรียกให้ชาวสิงค์โปร์ทั้ง 6 คนไปรายงานตัวต่อศาลภายในวันที่ 27 ต.ค. ที่จะถึงนี้เพื่อรับทราบและชี้แจงต่อข้อกล่าวหาและจะมีการออกหมายจับถ้าหากพวกเขาไม่ไปรายงานตัวต่อศาล

นอกจากนี้ยังมีชาวสิงคโปร์อีก 4 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเตือนจากการที่พวกเขาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อในเรื่องการประท้วง โดยมีการจับกุมตัวพวกเขาก่อนจะปล่อยตัวไปพร้อมคำเตือน

ตำรวจสิงคโปร์ทำการสืบสวนชาวสิงคโปร์ทั้ง 10 คนเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน รวมถึงฮันฮุยฮุยซึ่งเป็นผู้จัดการประท้วงและรอย เงิง ผู้กล่าวปราศรัยในการชุมนุมและถูกนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท เจ้าหน้าที่ยังได้สืบสวนเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อตั้งข้อหา "ชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย"

เจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวสิงคโปร์ 6 คนที่ถูกตั้งข้อหาก่อกวนงานพิธีการขององค์กรวายเอ็มซีเอและสร้างความรบกวนต่อสาธารณะได้กระทำการดังต่อไปนี้คือการเดินขบวนโดยรอบงานพิธีของวายเอ็มซีเอ ตะโกนเสียงดัง กล่าวคำขวัญแบบประสานเสียง โบกธง ถือป้าย เป่านกหวีด และตีกลอง

ในกฎหมายของสิงคโปร์มาตรา 224 หมวด 268 ระบุว่า "บุคคลที่มีความผิดฐานรบกวนความสงบต่อสาธารณะคือผู้ที่กระทำหรือปล่อยปละละเลยอย่างผิดกฎหมายจนทำให้เกิดการบาดเจ็บ เกิดอันตรายหรือความรำคาญต่อสาธารณะหรือต่อบุคคลที่อาศัยหรือดำรงอยู่ในที่ดินแถบใกล้เคียง รวมถึงผู้ที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บ การขัดขวาง อันตราย หรือการรบกวนต่อบุคคลที่มีโอกาสใช้สิทธิ์สาธารณะ"

อย่างไรก็ตามอาจจะมีคนตั้งคำถามว่าการใช้สิทธิเพื่อการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสปีกเกอร์สคอร์เนอร์มีความเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่อง "ก่อกวนความสงบต่อสาธารณะ" จริงหรือไม่ เนื่องจากตามธรรมชาติของการชุมนุมประท้วงต้องมีการตะโกนประสานเสียงคำขวัญและการถือป้ายกันอยู่แล้ว แต่การกระทำเหล่านี้กลับถูกอ้างเพื่อใช้ตั้งข้อกล่าวหาต่อพวกเขา ซึ่งจริงๆ แล้วในกฎข้อบังคับการใช้พื้นที่ที่พวกเขาประท้วงอนุญาตให้ใช้ป้ายหรือธงได้ ทำให้การตั้งข้อหาของตำรวจในเรื่องการใช้พื้นที่ประท้วงดูขัดแย้งในตัวเอง

ในบทบรรณาธิการของเดอะเรียลสิงคโปร์ระบุอีกว่าข้อหา 2 ข้อหาที่ตำรวจใช้กล่าวหาผู้ชุมนุมคือ "การชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย" และ "การก่อกวนความสงบต่อสาธารณะ" มีความหมายต่างกันโดยในสิงคโปร์การชุมนุมอย่างผิดกฎหมายคือ "การชุมนุมของกลุ่มคน 5 คนขึ้นไป...เพื่อข่มขวัญหรือแสดงกำลังในรูปแบบอาชญากรรม" โดยเดอะเรียลสิงคโปร์ระบุว่าการชุมนุมในวาระ #ReturnOurCPF เป็นการชุมนุมอย่างถูกกฎหมายตำรวจเลยหันมาเล่นงานด้วยอีกข้อหาหนึ่งแทน

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมวายเอ็มซีเอกับพรรครัฐบาลของสิงคโปร์ เนื่องจากการใช้พื้นที่เดียวกันจัดงานแต่เพราะเหตุใดถึงไม่ถือว่างานพิธีของวายเอ็มซีเอรบกวนการประท้วงของ #ReturnOurCPF ทั้งๆ ที่เจ้าของพื้นที่อนุญาตให้มีการจัดงานทั้งสองงานในที่เดียวกันได้

การประท้วง #ReturnOurCPF เป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับ 'กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง' ซึ่งเป็นระบบบังคับให้มีการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณและใช้กับโครงการต่างๆ เช่นการรักษาพยาบาลได้ แต่เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเพิ่มเกณฑ์เงินรายได้ขั้นต่ำ (Minimum Sum) ของผู้มีสิทธิ์ใช้กองทุนร้อยละ 4.7 ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมกังวลว่าจะเป้นการผลักคนบางกลุ่มไม่สามารถใช้กองทุนนี้ได้เนื่องจากค่าจ้างโดยเฉลี่ยของชาวสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เท่านั้น

ในการรณรงค์ "Return Our CPF!" หรือ "ทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางกลับมาเป็นของเรา" ภายในเว็บไซต์ change.org ระบุถึงข้อเรียกร้อง 4 ประการเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางอีกทั้งยังเรียกร้องให้มีความโปร่งใสและการตรวจสอบการจัดการของกองทุนซึ่งถือเป็นสิทธิของประชาชน


เรียบเรียงจาก

HAN HUI HUI, ROY NGERNG AND FOUR OTHERS TO BE CHARGED IN COURT FOR PUBLIC NUISANCE, The Real Singapore
โครงการรณรงค์ "Return Our CPF!"ใน change.org
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางของสิงคโปร์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เภสัชกรใต้ให้กำลังใจ 'รัชตะ ' ดัน พ.ร.บ.ยา คุ้มครองผู้บริโภค

$
0
0
เภสัชกรภาคใต้ มอบดอกไม้ให้กำลังใจ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ช่วยผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ยา กลับมายืนบนหลักการคุ้มครองผู้บริโภค

 
 
เมื่อวานนี้ (24 ต.ค. 2557) ที่โรงแรมหรรษาเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เวลาประมาณ 20.00 น. กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ นำโดย เภสัชกรหญิงวนิดา บัวแย้ม หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช ในฐานะประธานกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ได้เป็นตัวแทนเภสัชกรในภาคใต้ (เครือข่ายเภสัชกรที่มาได้แก่ตัวแทนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, เภสัชกรจาก  รพช. สสจ. ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา เภสัชกรการตลาดและนักศึกษาเภสัชศาสตร์) มอบดอกไม้แสดงความขอบคุณและให้กำลังใจกับรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ให้ยืนบนหลักการของการคุ้มครองผู้บริโภคและหลักความปลอดภัยทางยาอันเป็นหลักสากล
 
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในเบื้องต้น แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม ได้ร่วมปรับแก้ให้ร่างพระราชบัญญัติยาในแปดประเด็นที่เคยนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วในระดับหนึ่ง  แต่กลุ่มวิชาชีพเภสัชกรก็ยังมีความห่วงกังวลอยู่ในอีกหลายขั้นตอนต่อไปจากนี้ อันได้แก่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 2 เวทีคือ หนึ่ง เวทีกับบริษัทยา ภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน และสองเวทีรับฟังความเห็นจากสหวิชาชีพ ซึ่งมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างในการทำความเข้าใจร่วมกัน เนื่องจากฉบับที่มีการคัดค้านนั้น ได้เปิดช่องในการร่วมจ่ายยา ผสมยา หรือขายยาได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งเมื่อแก้ไขบนหลักคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว การเปิดช่องดังกล่าวก็ลดน้อยลงไป  และหากสามารถทำความเข้าใจกันได้ดีก็จะทำให้ร่างฉบับใหม่นี้มีความสมบูรณ์ ก่อนจะผ่านจากมือกระทรวงสาธารณสุขไป
 
หลังจากกนั้นร่างจะถูกส่งกลับไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไป ซึ่งขั้นตอนใน กฤษฎีกา และ สนช.นั้น ทางกลุ่มเภสัชกรก็คาดหวังให้เป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันให้มีการแก้ไขที่น้อยที่สุด เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่มีความสมบูรณ์มากที่สุดและเป็นความหวังของประชาชนคนไทย ในการมีระบบยาที่ปลอดภัยและยืนบนหลักสากลในการคุ้มครองผู้บริโภค
 
ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมต.ว่าการกระทรวสาธารณสุขก็รับปากว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ โดยใช้เวลาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์และความเห็นประมาณ 20 นาที
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนสุรินทร์สุดทน อบจ.สร้างถนนผิดที่ ร้องส่วนกลางตรวจสอบ

$
0
0
อบจ.สุรินทร์ชุ่ย-ร่อนหนังสือโครงการสร้างถนนผิดที่ หลอกให้ชาวบ้าน-นักเรียน ตชด.ชายแดนดีใจไม่พอ ยังนำป้ายชื่อโครงการไปติดตั้งถนนเส้นทางอื่น ชาวบ้านรวมตัวกันเผาประชด พร้อมเรียกร้องหน่วยงานระดับสูงตรวจสอบ เหตุหน่วยงานในพื้นที่ระดับจังหวัดพึ่งพาไม่ได้

 
 
 
 
24 ต.ค. 2557 ชาวบ้านในพื้นที่ 2 ตำบล ประกอบด้วย ต.เทพรักษา และชาวบ้านภูมินิยมพัฒนา ต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กว่า 50 คน ได้รวมตัวกันเผาป้ายโครงการสร้างถนนประชด โดยไม่ได้เผาจริงแต่อย่างใด เพื่อทวงคืนถนน โครงการจาก อบจ.สุรินทร์ที่หายไปกว่า 2 ปี ก่อนที่ชาวบ้านจะเห็นป้ายโครงการมาโผล่อีกพื้นที่หนึ่ง โดยป้ายโครงการดังกล่าว เป็นของ อบจ.สุรินทร์ ซึ่งระบุในป้ายว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์สิ้นสุดโครงการ ซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต โดยวิธี Pavement-Place Recycling สาย บ.ตาแตรว ต.เทพรักษา-บ.ภูมินิยม ต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ระยะทาง 3.350 กิโลเมตร” แต่กลับไปซ่อมสร้างถนนและปักป้ายโครงการที่บริเวณบ้านภูมิขนุน ม.8 ต.ดม อ.สังขะ และเป็นจุดสิ้นสุดการซ่อมสร้างถนน โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณ 4 แยกไก่อบ บ.โชคชัยสามัคคี ม.10 ต.ชบ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ และก็มีป้ายโครงการขนาดใหญ่ระบุข้อความเดียวกันอีก ที่จุดเริ่มโครงการซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าป้ายโครงการที่จุดสิ้นสุดโครงการ  และมีการระบุวันเวลาและงบประมาณการสร้างอีกอย่างชัดเจนด้วยว่า” ระยะทาง 3.350 กิโลเมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.00 เมตร งบประมาณ 13,215,500  ระยะเวลาดำเนินการ 19 เมษายน 2555 สิ้นสุด 15 ตุลาคม 255” อีกด้วย ซึ่งเป็นคนละพื้นที่ ไม่ใช่เส้นทางหมู่บ้านและตำบลที่ระบุในป้ายแต่อย่างใด
 
ขณะที่ชาวบ้านต่างระบุว่าป้ายดังกล่าวเหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกให้ชาวบ้าน หลังจาก อบจ.สุรินทร์ส่งหนังสือแจ้งดำเนินโครงการเส้นทางที่ระบุในป้าย ด้วยวงเงินค่าก่อสร้าง 13,215,500 บาท (สิบสามล้านสองแสนหนึ่งหมื่นห้าพันห้าร้อยบาทถ้วน) โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ 180 วัน เริ่มต้นสัญญาจ้างวันที่ 19 เม.ย.2555 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 ต.ค.ซึ่งมีบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่งมีชื่อระบุอย่างชัดเจน มายัง อบต.เทพรักษา อ.สังขะ ก่อนที่ อบต.เทพรักษาจะประกาศให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการสร้างถนนตามที่ระบุ และได้สร้างความดีใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป้นอย่างยิ่งและพากันตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะได้ใช้ถนนสัญจรอย่างสะดวก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตาแตรว ซึ่งมีนักเรียนจากหลายหมู่บ้านที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเดินทางมาโรงเรียนอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะหน้าฝนที่ถนนถูกตัดขาด บางวันนักเรียนไม่สามารถเดินทางมาเรียนได้และต้องขาดเรียน รวมไปถึงการสัญจรของชาวบ้านและเกษตรกรที่บรรทุกพืชผลทางการเกษตรก็ไม่สามารถสัญจรได้  
 
ทำให้ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ 2 ตำบล พยายามร้องเรียนขอความเห็นใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วหลายปี แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล จนชาวบ้านในพื้นที่ทำหนังสือถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จมาพระปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่ ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตาแตรว จนต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้ส่งเรื่องมาให้จังหวัดสุรินทร์ดำเนินการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาช่วยเหลือราษฎร ถึงแม้พื้นที่ถนนดังกล่าวบางจุดจะเป็นพื้นที่ สปก.ก็ตาม แต่ก็ได้มีการอนุญาตให้มีการสร้างถนนได้เพื่อการช่วยเหลือประชาชนและเด็กนักเรียนที่เดือดร้อนจน อบจ.สุรินทร์ มีโครงการสร้างถนนให้ชาวบ้านและได้ส่งหนังสือประกาศให้ชาวบ้านทราบก่อนที่โครงการจะหายไปกว่า 2 ปีและมาพบสร้างอีกพื้นที่หนึ่งดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ นำโดยนายวรชัย ศรีสุวรรณวัฒนา ป้องกันจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียกหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อประชุมชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นที่ อบต.เทพรักษา โดยมีตัวแทนจาก อบจ.สุรินทร์ คือนายประพณ นิวัฒน์บรรณหาร นายช่างโยธา อบจ.สุรินทร์ และนายไพทูรย์  ชมชื่น นายช่างโยธา อบจ.สุรินทร์ นางสาวนฤมล เมธาศรี ปลัดอำเภอสังขะ ตัวแทนจากสำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดสุรินทร์, นายเต็ม  สามสี นายก อบต.เทพรักษา พร้อมด้วยนายสำราญ  เมินดี สมาชิก อบต.เทพรักษา และสมาชิก อบต.เทพรักษาอีกหลายคนรวมถึงตัวแทนชาวบ้าน มาร่วมประชุมกว่า 30 คน
 
โดยตัวแทนจาก อบจ.สุรินทร์ได้ยอมรับว่า อบจ.สุรินทร์ได้ส่งหนังสือแจ้งดำเนินโครงการไปยัง อบต.เทพรักษาผิดที่ โดยโครงการสร้างถนนที่ส่งไปยัง อบต.เทพรักษาดังกล่าว เป็นโครงการสร้างถนนในพื้นที่ ต.บ้านชบ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ ขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ก็ได้รับปากกับตัวแทนชาวบ้านว่าจะติดตามและตรวจสอบโครงการดังกล่าว จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบและเงียบหายไปอีก
 
ทั้งนี้ชาวบ้านต่างตั้งข้อสังเกตว่า หลังจาก อบจ.สุรินทร์ระบุว่าส่งหนังสือผิดที่กลับไม่มีหน่วยงานระดับจังหวัดเข้าไปตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่อย่างไร อีกทั้ง อบจ.สุรินทร์ ระบุว่าส่งหนังสือโครงการส่งผิดที่นั้น แต่กลับยังมีป้ายโครงการ ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้าน-ตำบล ของชาวบ้านที่เดือดร้อนไปปัก ยังอีกพื้นอีกพื้นที่หนึ่ง  ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาหลอกลวงชาวบ้านได้อย่างชัดเจน จึงรวมตัวกันเดินทางไปประท้วงเผาป้ายประชดในครั้งนี้ และต่างฝากถึงหน่วยงานระดับประเทศให้ช่วยลงมาตรวจสอบ เพราะชาวบ้านไม่เชื่อมั่นหน่วยงานในระดับจังหวัดอีกแล้ว
 
นายสำราญ  เมินดี สมาชิก อบต.บ้านตาไท ต.เทพรักษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ตนได้นำชาวบ้านมาดูเส้นทางและป้ายที่ อบจ.สุรินทร์บอกว่าร่อนเอกสารไปผิดที่มันเป็นยังไง น่าจะมีการโยกโครงการมาทั้งหมด ถ้า อบจ.สุรินทร์ ไม่คิดจะช่วยชาวบ้าน ก็อย่าทำอย่างนี้เลยมันน่าน้อยใจ  ถ้าจะทำถนนที่อื่นก็ใช้ชื่อป้ายโครงการของที่นั่น ไม่น่าจะเอาชื่อป้ายโครงการของ ต.เทพรักษา-ต.ตาตุม มาตั้งไว้แบบนี้ แล้วพื้นที่ที่ตั้งป้ายก็ไม่ใช่พื้นที่ ต.ตาตุม-ต.เทพรักษา เลย มันเป็นเส้นทางระหว่าง ต.ดม กับ ต.ชบ อ.สังขะ ชาวบ้านที่เขาเดือดร้อนจริงๆพอมาเห็นป้ายแล้ว ชาวบ้านน้อยใจแทบจะร้องไห้แล้ว ไม่สร้างก็ไม่ว่า แต่อย่าทำอย่างนี้เลย ขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทุจริตให้ช่วยตรวจสอบว่าการทำแบบนี้เป็นการทุจริตหรือเปล่า พอที่ประชุมที่ผ่านมาก็บอกว่า ไม่ต้องการเจรจาหาคนผิด ซึ่งจริงๆชาวบ้านก็อยากให้หาคนผิดมารับผิดชอบด้วย
 
นายณเรศ  พูดจางาม  ชาวบ้านภูมินิยม ต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่าตาอยากจะขอร้องผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะ อบจ.หรือผู้ที่มีอำนาจต่างๆที่เกี่ยวกับถนนเส้นนี้ อยากให้มาดูว่าถนนที่สร้างถูกจุดตรงตามแผนที่หรือไม่ ซึ่งป้ายระบุว่าเป็นถนนระหว่างบ้านตาแตรว ต.เทพรักษา เชื่อมกับบ้านภูมินิยม ต.ตาตุม แต่กลับมาปักไว้อีกพื้นที่  อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบหรือทำอะไรก็ได้ให้ถนนที่ระบุในป้ายซึ่งเป็นพื้นที่จริง สามารถที่จะสัญจรได้เหมือนที่อื่น ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย ถนนไม่สร้าง จนน้ำเซาะขาด หลุมท่วมหัว อยากขอร้องให้ อบจ.สุรินทร์มาดูแลให้ด้วย  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่จะต้องเดินทางไปเรียนโรงเรียน ตชด.บ้านตาแตรว ที่เดินทางยากลำบาก บางวันถนนขาดไปไม่ได้ก็ต้องขาดเรียนอีกด้วย
 
นายเพลิน พะสุรัมย์  อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 136 ม.10 บ้านภูมนิยม ต.ตาตุม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ป้ายที่เห็นนั้นปักผิดสถานที่ เคยปักป้ายผิดมาครั้งหนึ่งแล้ว ผิดแล้วผิดเล่าผิดไม่ยอมเลิกยอมลา ถนนที่เดือดร้อนจริงๆในป้าย ชาวบ้าน-นักเรียนเขาเดือดร้อนจริง ก็ยังเอาโครงการมาสร้างซ้ำถนนที่มีอยู่แล้วอีก ให้มาดูป้ายเอาเองว่าป้ายตั้งอยู่ที่ไหน  อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ อยากให้นายก อบจ.ลงมาดูป้าย มาดูเส้นทางจริงๆว่าผิดที่และชาวบ้านเดือดร้อนจริงหรือไม่ ไม่ได้แกล้งเอาประชาชนมายืนชี้ ให้ท่านมาดูเอง ถนนเป็นหลุมลึก รถบรรทุกผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยางพารา ก็สัญจรผ่านไม่ได้ ยังดีที่เด็กนักเรียนปิดเทอมอยู่
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีดีโอ: พลวัตรวิวัฒนาการกิจกรรม ‘25 ตุลา รำลึกตากใบ’

$
0
0
วีดีโอที่ผู้จัดทำพยายามจะนำเสนอถึงการเคลื่อนไหวและการรณรงค์ของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 9 ของการรำลึกถึงวีรชนเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลา

 

 
เหตุการณ์สลายการชุมนุมตากใบเกิดขึ้นเมื่อมีราษฎรชาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจำนวน 6 คนถูกจับกุม และมีการเดินขบวนเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้ง 6 คน ดังกล่าวในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีการเรียกกองกำลังเสริมจากกองทัพทหาร จึงมีการพูดคุยต่อรองกันให้สลายการชุมนุม แต่ด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียด ผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายการชุมนุมจนกว่าจะมีการปล่อยตัวทั้ง 6 คน ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงใช้แก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม
 
หลังจากนั้นประชาชนในพื้นที่หลายร้อยคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ถูกถอดเสื้อ ผูกมือไพล่หลังด้วยเสื้อผ้าของเขาเอง ถูกจัดท่าให้นอนราบลงกับพื้น และนำขึ้นบนรถจีเอ็มซีทับกันหลายชั้นออกจากสถานีตำรวจภูธรตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี โดยมีระยะทางไกลถึง 120 กิโลเมตร ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตถึง 78 ราย หลังจากถูกยิงเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ 6 ราย
 
ทั้งฝ่ายรัฐบาล และทหาร โดย พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาชี้แจงพร้อมกับกระทรวงกลาโหมว่า "ไม่มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ชุมนุมแต่อย่างใด แต่การเสียชีวิตของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเกิดจากความหิวในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด มีอาการเสียเหงื่อมาก จึงทำให้เกิดอาการช็อก"
 
ต่อมาคลิปวิดีโอภาพเคลื่อนไหวที่ถูกถ่ายไว้เผยแพร่สู่สาธารณชน ได้แสดงภาพทหารเตะ ทุบตีประชาชนที่ถูกจับมัดไว้เรียบร้อยแล้ว และนอนอยู่บนพื้นโดยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อมาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ผู้ที่ถูกจับกุมถูกทหารโยนเข้าไปในรถบรรทุก ซึ่งจะนำไปส่งยังค่ายทหารในจังหวัดปัตตานี ผู้ที่ถูกจับกุมนอนทับกันถึงห้าหรือหกชั้นในรถบรรทุก และเมื่อรถบรรทุกดังกล่าวมาถึงค่ายทหารในอีกสามชั่วโมงถัดมา หลายคนก็เสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากขาดอากาศหายใจ
 
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนในพื้นที่รับไม่ได้กับการกระทำอย่างไร้มนุษยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงมีการรณรงค์และรำลึกทุกๆปีของวันที่ 25 เดือนตุลาคม เพื่อให้รัฐและสังคมรับรู้ไว้ว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการใช้ความรุนแรง มันส่งผลเสียมากกว่าผลดีอย่างมหาศาล
 
ในวีดีโอชิ้นนี้ ผู้จัดทำ พยายามจะนำเสนอถึงการเคลื่อนไหวและการรณรงค์ของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1 จนถึงปีที่ 9 ของการรำลึกถึงวีรชนเหตุการณ์ตากใบ 25 ตุลา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ กม.สิทธิฯ อบรมชาวบ้านรอบเขตภูพาน ชูความเข้าใจในสิทธิที่ดิน

$
0
0

เมื่อวันที่ 22 - 23 ต.ค.57 ณ เทศบาลตำบลคำบ่อ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร จัดเวทีเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิจัดการทรัพยากรในชุมชนและสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยมีชาวบ้านดานเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา บ้านโนนเจริญ ต.กกปลาซิว อ.ภูพาน จ.สกลนคร รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกว่า 60 คน

นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ ปัญหาดังกล่าวถูกสั่งสมมายาวนานจนกลายมาเป็นรากเหง้าแห่งปัญหาทางสังคม ทั้งนี้หากพิจารณาตามสภาพปัญหาก็อาจแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาในหลักธรรมชาติว่าด้วย สิทธิมนุษย์ มักไม่ถูกอธิบายให้เป็นไปในทางธรรมชาติของชุมชนในท้องถิ่น หรือไม่อาจสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงในระบบวิถีชุมชน โดยมักถูกอธิบายแยกส่วนว่าสิทธิเกิดขึ้นได้จากผู้มีอำนาจ จากผู้ปกครองเป็นผู้กำหนดสถานะแห่งสิทธิ เสมือนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือชาวบ้านถูกกำหนดว่าไม่มีสถานภาพพอที่จะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้

 ผ.อ.ศูนย์ ฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์ประกอบที่สำคัญ คือการสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อเติมเต็มความเป็นธรรมให้แก่สังคม ทางศูนย์ฯ จึงร่วมกับองค์กรชาวบ้านจัดเวทีเรียนรู้เรื่องสิทธิที่ทุกคนต้องมีความเข้าใจในสิทธิโดยธรรมชาติของตนและชุมชนถิ่นฐาน พร้อมกับเติมเต็มกระบวนการเรียนรู้กฎหมาย รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลในการที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางชั้นศาล ด้วยว่าชาวบ้านในพื้นที่ มีข้อพิพาทในเรื่องที่ดินทำกินกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในขณะนี้ชาวบ้านก็ยังถูกดำเนินคดี

ด้านนายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถานการณ์ชาวบ้านด่านเม็ก อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูพาน บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน ดงกระเฌอ แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าชุมชนได้ตั้งถิ่นฐานมาก่อนและมีการจัดการทรัพยากรอย่างยังยืน ตลอดมาก็ตาม แต่ยังถูกหน่วยงานของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมาย มาดำเนินคดีพี่น้องชาวบ้าน ส่งผลให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 40 ราย และยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนอีกเป็นจำนวนมาก

“ อีกทั้งยังถูกหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอาศัยอำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช.ที่ 64/57 มีคำสั่งให้ตรวจยึดพื้นที่ ไล่รื้อ และข่มขู่คุกคามชาวบ้านไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในขณะนี้ กรณีปัญหาที่พิพาทดังกล่าวเริ่มหนักหน่วง ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าว ทางศูนย์ ฯ จึงได้จัดเวทีเรียนรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิจัดการทรัพยากรในชุมชนและสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ร่วมกับชาวบ้าน และเป็นการสร้างความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อร่วมกันทางออกทาง และเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยังยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน และท้องถิ่น” ทนายประจำศูนย์กล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ปนัดดา' ระบุยังสรุปผลตรวจสตอกข้าวไม่ได้ รอตรวจ DNA ก่อน

$
0
0
“ม.ล.ปนัดดา” ยอมรับผลการตรวจสตอกข้าวรัฐบาลยังไม่สมบูรณ์  สรุปผลยังไม่ได้ ต้องตรวจดีเอ็นเอเพิ่ม แต่จะทำอย่างรวดเร็ว วอนอย่ามองเป็นการจับผิดโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่อความรอบคอบ

 
25 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ให้สัมภาณ์ ถึงความชัดเจนในการตรวจสอบข้าวในสตอกของรัฐบาลว่า ขณะนี้การตรวจสอบปริมาณข้าวในสตอกที่เก็บอยู่ในโกดังต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า เพื่อให้ครอบคลุมทุกกระบวนการ และสอดคล้องกับความต้องการของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การตรวจสอบข้าว มีความสมบูรณ์ครบถ้วน คณะอนุกรรมการจึงขอให้นักวิชาการจากกระทรวงพาณิชย์ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  มาตรวจสอบดีเอ็นเอของข้าวด้วย ว่าเป็นข้าวในประเทศไทย หรือ มีการนำข้าวต่างประเทศมาสวนสิทธิ์หรือไม่
 
ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า  การตรวจสอบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดำเนินการด้วยความรอบคอบ จึงต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ ไม่สามารถกำหนดกรอบหรือเร่งรัดได้ แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการด้วยความรวดเร็ว และเมื่อทุกขั้นตอนดำเนินการเสร็จสิ้น จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการ
 
“ตอนนี้การตรวจสอบอยู่นอกเหนืออำนาจของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและคณะอนุกรรมการแล้ว เป็นขั้นตอนให้นักวิชาการช่วยตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งจะเร่งรัดไม่ได้ แต่จะทำงานอย่างเต็มที่ เพราะจะต้องมีเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งออกข้าว และขออย่ามองว่า การตรวจดีเอ็นเอเป็นการจับผิดโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์เท่านั้น และเมื่อได้ความชัดเจน จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)” ม.ล.ปนัดดา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพซูซูกิเจรจาข้อเรียกร้องครั้งแรกยังไม่ได้ข้อสรุป นัดอีก 29 ต.ค. นี้

$
0
0
25 ต.ค. 2557 สหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมาทางสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ได้เจรจานัดแรกกับบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถตกลงในรายละเอียดของข้อตกลงสภาพการจ้างฉบับใหม่ได้ จึงได้มีการนัดเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. 2557 นี้
 
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง และสวัสดิการของบริษัทฯ ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งสหภาพแรงงานฯ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อนั้นก็มีอาทิเช่น การขอให้บริษัทฯ ช่วยจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน, ปรับขึ้นค่าอาหาร, ปรับขึ้นเบี้ยขยัน, ปรับโครงสร้างฐานเงินเดือนให้กับพนักงานทุกตำแหน่ง, ขอโบนัสขั้นต่ำ 6 เดือน เป็นต้น 
 
อนึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 500/121 หมู่ที่ 3 ต.ตาสิทธิ์ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ประกอบธุรกิจในหมวดการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล โดยการผลิตยานยนต์และเครื่องยนต์ มีทุนจดทะเบียน 12,681,870,000 บาท ซึ่งเป็นการลงทุนสัญชาติญี่ปุ่น 100% และในปี 2556 ที่ผ่านมามีกำไรสุทธิถึง 1,697,082,724 บาท
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ลอบยิงแกนนำ กปปส. ระยอง คนสนิทสาธิต ปิตุเตชะ

$
0
0

"วิษณุ เกตุสุริยา" สมาชิก ส.อบจ.ระยอง และทีมงาน "สาธิต ปิตุเตชะ" ถูกยิงเสียชีวิตข้างรถยนต์ริมถนนทับมา-เขาโบสถ์ ตำรวจเร่งตรวจสอบกล้องวงจรปิด และสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง

25 ต.ค. 2557 - เวลา 04.00 น. วันที่ 25 ต.ค. นายวิษณุ เกตุสุริยา สมาชิก ส.อบจ.ระยอง แกนนำ กปปส. ระยอง และคนสนิท สาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส. และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกยิงเสียชีวิตข้างรถยนต์ส่วนตัว ริมถนนสายทับมา-เขาโบสถ์ หมู่ 7 ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง

ล่าสุด มติชนออนไลน์รายงานว่า จากการสอบปากคำโดย สภ.จ.ระยอง และ สภ.เมืองระยอง นางยุวดี แสนเพ็ชร อายุ 33 ปี  เจ้าของบาร์เหล้า Y 33 ถนนราษฎร์บำรุง ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง ให้ปากคำว่า ก่อนเกิดเหตุนายวิษณุมานั่งดื่มเบียร์ ตั้งแต่หัวค่ำจนกระทั่งดึก ขณะนั้น มีลูกค้าชาวต่างชาติได้มานั่งดื่มสุราจนเมาไม่ได้สติลุกขึ้นเดินจนล้มกองกับพื้น นายวิษณุได้รับอาสาจะขับรถไปส่งลูกค้าชาวฝรั่งที่บ้านพัก ระหว่างนั้นนายวิษณุได้โทรบอกว่าฝรั่งจำไม่ได้ว่าบ้านพักอยู่ที่ไหน จึงต้องนำฝรั่งกลับมาส่งที่ร้าน ระหว่างทางฝรั่งได้หมุนกระจกข้างซ้ายลงเพื่อจะอาเจียน และได้ทิ้งถุงขยะ ลงไปถูกรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า สีขาว ที่วิ่งตามหลังมา ทำให้คนขับรถยนต์เก๋งไม่พอใจ เร่งเครื่องขึ้นแซงทางขวา แล้วลดกระจกข้างซ้ายลงชักอาวุธปืนเล็งมาที่นายวิษณุ และมีการตะโกนท้าทายกันมาตลอดทาง  หลังนายวิษณุ กลับมาถึงร้านและให้ฝรั่งลงจากรถพร้อมเอาปืนขนาด .11 มม. ที่ฝากไว้กับเจ้าของร้านบาร์ แล้วขับขับรถยนต์ออกไปก่อนจะถูกยิงเสียชีวิต

ทั้งนี้ พ.ต.ท.พิชิต ฟื้นแสน สว.อก.ภ.2 ช่วยราชการสืบสวน ภ.2 นำกำลังเข้าตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามไหล่ทางที่คาดว่าคนร้ายหลบหนีตามเส้นทางสายทับมา - เขาโบสถ์ ต.ทับมา พร้อมติดตามตัวชาวต่างชาติมาสอบปากคำ แต่ยังไม่สามารถติดตามตัวได้ ขณะที่หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้มูลนิธิสว่างกุศลระยอง นำศพนายวิษณุ เกตุสุริยา ไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช กทม.

สำหรับนายวิษณุ ภายหลังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.อบจ. ได้ให้ลูกน้องมาทำหน้าที่สัปเหร่องานศพแทน ส่วนตัวเขาก็หันมาเป็นพิธีกร มาระยะหลังเป็นคนสนิทของนาย จ.ระยอง ร่วมชุมนุมกับ กปปส. และ เคยถูก คสช. เรียกให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ วันที่ 18 มิ.ย. 2557 ตามคำสั่ง คสช. 68/2557 ลำดับที่ 29 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนรายงานใน ไทยรัฐออนไลน์นายธารา ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ และญาตินายสาธิต กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวได้ติดต่อกับนายสาธิต แต่ยังไม่สามารถติดต่อส่งข่าวได้ โดยนายสาธิตกำลังพาครอบครัวไปเที่ยวประเทศแถบยุโรป ในเรื่องคดีนั้นทราบตามที่เป็นข่าว ยังไม่ได้พบญาติผู้เสียชีวิต และให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเข้าใจว่า เหตุลอบสังหารนายวิษณุ ไม่น่าจะมาจากประเด็นเรื่องการเมืองในพื้นที่ จ.ระยอง เพราะรู้จักกันดี และไม่น่าจะมีคู่อริทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา นายวิษณุเคยสมัครเป็นการ์ดของกลุ่ม กปปส. ขณะที่มีการชุมนุม และคงต้องหารือกันอีกครั้ง หากนายสาธิตเดินทางกลับถึงไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอร่วมถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ: ทุกฝ่ายเรียนรู้อะไรบ้าง

$
0
0
เวที 10 ปีตากใบโดนทหารขอเลิกจัดงาน แต่ต่อรองให้เสร็จภายในเวลาบ่ายสอง คนทำสื่อชายแดนใต้ตั้งคำถามกองทัพไทยเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ตากใบ?
 
 
 
เมื่อวันเสาร์ ที่ 25 ตุลาคม 2557 ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบ สู่อนาคตปาตานี” การจัดงานเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เนื่องในโอกาส ครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของรัฐ ที่ สภ.อ.ตากใบ อันมีผลทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต รวมจำนวนเกือบร้อยคน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง
 
อิสมาแอ เตะ ประธานโครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นประธานองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีกล่าวว่า “การจัดงานรำลึกครบรอบ 10 ปี ตากใบ เพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย และเป็นบทเรียนในอนาคตว่า การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนนั้นไม่ควรที่จะเกิดขึ้นอีกวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการตื่นตัวในประเด็นเนื้อหาทางการเมือง สร้างจิตสำนึกกับเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นที่ตากใบและเพื่อแสดงท่าทีการปฏิเสธการใช้ความรุนแรง” นายอิสมาแอกล่าว
 
อัสมามี บือเฮง เลขานุการ โครงการรำลึก 10 ปี ตากใบ และเป็นรองประธาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เพื่อรำลึกเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้นที่ตากใบ”
 
ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมเสวนาได้สะท้อนถึงความคิดเห็นต่อบทเรียนสิบปีตากใบ ดังนี้
 
นายอัซฮัร ลูเละ เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า "เราไม่อยากเห็นการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์การสลายการชุมนุม เหมือนในอดีต เพราะบทเรียนครั้งนั้นเป็นบทเรียนราคาแพง" นายอัซฮัร กล่าว
 
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนากล่าวว่า “การใช้สิทธิทางการเมืองแบบสันติวิธีของผู้ร่วมชุมนุมที่ตากใบ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับให้ข้อมูลไปอีกแบบหนึ่ง โดยฝ่ายความมั่นคงมองว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อเปิดทางให้ตนเองชอบธรรมในการสลายการชุมนุม” นายตูแวดานียา กล่าว
 
นางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายก สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพกล่าวว่า “ความหมายของการเยียวยา คืออะไร คือ การชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากที่มีอยู่เดิมอย่างนั้นหรือ แต่ ณ ตากใบสิ่งที่ขาดหายไปมันคือ สิทธิความเป็นเป็นมนุษย์ ชีวิตของความครัว พ่อ สามี ผู้นำ หรือผู้ที่เป็นเสาหลักของบ้านหายไปทั้งคน” นางสาวรุซดา กล่าว
 
นางสาวรุซดา สะเด็ง กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากเหตุการณในวันนั้นเรายังไม่เคยลืม ผู้ชุมนุมถูกกระทำ ถูกจับมือไขว้หลัง แล้วถูกโยนทับซ้อนกันหลายๆ ชั้น ในที่สุดพวกเขาก็ทนความเจ็บปวดและความหิวโหยไม่ไหวจนต้องขาดลมหายใจ
 
หากเรามาร่วมตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงต้องมาร่วมลำลึกตากใบอยู่ทุกๆ ปี รำลึกแล้ว รำลึกอีก คนในพื้นที่ก็ตื่นตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐอย่างชัดเจน คำตอบที่ได้ทุกครั้ง คือ พวกเขาตายเพราะขาดอากาศหายใจเช่นเดิม” นางสาวรุซดา กล่าว
 
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า “25 ตุลา ที่ตากใบยังไม่มีนโยบาย แต่ 6 ตุลา ที่กรุงเทพ มีนโยบายขึ้นมาแล้ว กรณีตากใบเราน่าจะมีข้อเสนออะไรที่เราต้องการ และเหตุการณ์อื่นๆที่เราจะนำเสนอขึ้นมาคืออะไร
 
รัฐไทยบอกว่ารัฐเสียงบประมาณมากในช่วง 25 ตุลา กรณีเหตุการณ์ตากใบ จะคล้ายกันกับกรณี 6 ตุลา ว่า “อากาศเป็นคนฆ่าให้ตาย” ถามต่อว่าแล้วใครล่ะเป็นคนทำ” นางชลิดา กล่าว
 
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)  มองว่า ถ้าตีความแบบง่ายๆ ตากใบมีจุดเน้นอยู่ 2 ชุดหลักๆ ชุดแรกคือการแทรกแซงของมือที่สามมายุย่งปลูกปั่นและก่อให้เกิดความรุนแรง วันดีคืนดีไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมที่ตากใบเป็นพันๆ คน และไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ความทรงจำในลักษณะนี้ยังมีอยู่เพราะเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมันมีอะไรมากมาย
 
อีกด้านหนึ่งมีความทรงจำในเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลในระยะใกล้ด้วย ก็คือก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างปาตานีกับสยาม และมีเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ทารุณกรรมเยอะแยะมากมาย เหตุการณ์ตากใบมันทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ใกล้ชิดตัวโดยที่ไม่ต้องย้อนไปร้อยๆ ปี และเป็นการยืนยันชุดความคิดอีกชุดหนึ่งว่า รัฐไทยไม่สามารถปกครองพื้นที่แห่งนี้ด้วยความยุติธรรมได้
 
นายรอมฎอน กล่าวเพิ่มเติมว่า “คำถามสำหรับกองทัพไทย คือ กองทัพเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ตากใบ”
 
กิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะมีการเสนาในช่วงเช้าแล้ว ยังมีกิจกรรม อื่นๆ อีกมาก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่าย แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มาขอสั่งให้ยกเลิกการจัดงานในวันนี้ ทางผู้จัดงานจึงได้ต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อจะจัดงานตามกำหนดการเดิม สุดท้ายได้ข้อตกลงว่า ต้องจัดงานให้เสร็จสิ้นภายในเวลาบ่ายสอง
 
 
 
หมายเหตุ มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เวลา 15.00 น.(26 ต.ค.57)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ผุด "จำนำยุ้งฉาง" หอมมะลิตันละ 15,400 บาท

$
0
0

นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เผยเตรียมหามาตรการดูแลไม่ให้ราคาผลผลิตตกต่ำ และจะหาทางระบายข้าวตามสัญญาเดิม เพราะข้าวเก็บไว้นานจะเสื่อมราคา ด้าน นบข. จะจ่ายเงินสินเชื่อชะลอการขายบวกจ่ายค่าเก็บรักษาข้าว โดยรวมข้าวหอมมะลิจะได้ตันละ 15,400 บาท ข้าวเหนียวตันละ 12,700 บาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (แฟ้มภาพ/ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

24 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เมื่อเวลา 16.15 น. ณ บริเวณทางเชื่อมตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่ารัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา และชาวไร่ ชาวสวน วันนี้เป็นการหารือว่าจะมีมาตรการในการดูแลเกษตรกรชาวนาอย่างไร เพื่อไม่ให้ผลผลิตราคาตกต่ำ ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีหลายมาตรการด้วยกัน และกระทรวงพาณิชย์จะชี้แจงจำนวนดังกล่าว ต่อไปจะดูแลเรื่องของข้าวหอมมะลิ และให้ความสำคัญทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้ ราคาตลาดทุกวันนี้ปรับเปลี่ยนไปหมด จึงต้องติดตามสถานการณ์โลกด้วย จึงจะได้เปรียบเทียบกันได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการระบายข้าวว่า ตอนนี้เป็นการระบายตามสัญญาเดิมที่มีอยู่ ส่วนการระบายข้าวสัญญาใหม่นั้น จะไม่มีอย่างแน่นอนจนกว่าจะมีการตรวจสอบปริมาณข้าวคงเหลือจากการรับจำนำข้าวเสร็จสิ้น ซึ่งขณะนี้ยังมีการตรวจสอบหลายอย่างที่ยังไม่เรียบร้อย เช่น การตรวจสอบดีเอ็นเอข้าว ไม่ใช่ตรวจสอบทางกายภาพอย่างเดียว ขณะนี้จำนวนข้าวแบบไม่เป็นทางการออกมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่อยากพูดตอนนี้ ขอพูดทีเดียว โดยคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อการระบายข้าวจะสรุปขึ้นมา แล้ว นบข.จะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดูอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับข้าวจำนวนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่สุดคือต้องระมัดระวังเรื่องการเสื่อมราคา เพราะข้าวเก็บไว้นานก็เป็นปัญหา ทั้งนี้ก็ต้องรอให้ฝ่ายกฎหมายยืนยันมาก่อน

ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/58 ในส่วนของข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากเดิม ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินสินเชื่อชะลอการขายให้ชาวนาคิดเป็น 80% ของราคาตลาด ขยับขึ้นเป็น 90% ของราคาเป้าหมาย ส่งผลให้ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิที่ราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 16,000 บาท ชาวนาจะได้รับเงินสินเชื่อเพื่อชะลอการขายตันละ 14,400 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียวราคาเป้าหมายอยู่ที่ตันละ 13,000 บาท ชาวนาจะได้รับสินเชื่อเพื่อชะลอการขายที่ตันละ 11,700 บาท รายละไม่เกินวงเงิน 300,000 บาท โดยมีเป้าหมาย 2 ล้านตัน

ขณะเดียวกันที่ประชุม นบข.ยังได้อนุมัติให้จ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกกับชาวนาหรือสหกรณ์ในราคาตันละ 1,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางไม่น้อยกว่า 30 วัน และเก็บรักษาโดยวิธีบรรจุกระสอบป่าน ดังนั้นจะส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินค่าข้าวเพิ่มอีกตันละ 1,000 บาท รวมเป็นข้าวหอมมะลิตันละ 15,400 บาทและข้าวเหนียวตันละ 12,700 บาท ระยะเวลาเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2557-28 ก.พ.2558

อย่างไรก็ตาม พบว่าในการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้รถเกี่ยวข้าวซึ่งมีต้นทุนประมาณ 700-800 บาท แต่กรณีใช้แรงงานเกี่ยวต้นทุนไร่ละ 1,800-2,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เก็บเกี่ยวข้าวเพื่อมาเก็บในยุ้งฉางโดยใช้แรงงานที่ประชุม นบข.จึงเห็นชอบให้เกษตรกรกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อใช้เป็นเงินทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาท เป้าหมาย 6.787 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 2 เดือน วงเงินสินเชื่อเฉพาะส่วนนี้รวม 13,574 ล้านบาท

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พยาบาลผู้หายป่วยจาก 'อีโบลา' สวมกอดทักทายโอบามา

$
0
0

นีนา ฟาม พยาบาลชาวสหรัฐเชื้อสายเวียดนาม ผู้เคยติดเชื้ออีโบลาจากการช่วยรักษาผู้ป่วย ขณะนี้อาการหายจากเชื้ออีโบลาแล้ว และยังได้รับเชิญจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา เข้าพบที่ทำเนียบขาว

ที่มาของภาพ: Official White House Photo by Pete Souza

26 ต.ค. 2557 - เว็บไซต์ทำเนียบขาวของทางการสหรัฐอเมริกา รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ต.ค.) ว่านีนา ฟาม พยาบาลชาวสหรัฐอเมริกา เชื้อสายเวียดนาม ผู้ได้รับการรักษาจนปลอดเชื้ออีโบลา ได้เข้าพบปะและสวมกอดทักทายกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ห้องสำนักงานประธานาธิบดี

นีนา ฟาม เป็นพยาบาลอายุ 26 ปี จากเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ผู้ที่คอยดูแลผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสอีโบลาชื่อโธมัส อิริค ดันแคน แต่ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเธอกลับติดเชื้อไวรัสไปด้วยทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเท็กซัส ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่ศูนย์คลินิคของสถาบันสุขภาพแห่งชาติในเมืองเบเธสดา รัฐแมริแลนด์

แต่ 15 วันหลังจากนั้นแผมก็ได้รับการรักษาจนหายจากเชื้อไวรัสอีโบลา หลังจากที่เธอจากโรงพยาบาลไม่นาน บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ชวนเธอพบปะพูดคุยที่สำนักงานในทำเนียบขาว

แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐฯ ประกาศจากศูนย์คลินิคเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ฟามได้เข้ารับการตรวจสอบ 5 ครั้ง จนแน่ใจว่าเธอปลอดจากเชื้ออีโบลาแล้ว ทางด้านฟามกล่าวว่าเธอรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสหายจากโรค

"ฉันอยากเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณพระเจ้า ครอบครัว และเพื่อนของฉัน ในบททดสอบที่ฉันต้องผ่านมานี้ ฉันฝากความเชื่อมั่นไว้ในตัวพระเจ้าและทีมแพทย์พยาบาลผู้รักษาฉัน ฉันกำลังอยู่ในระหว่างพักฟื้น แม้ว่าฉันจะรับรู้ว่ามีคนอื่นๆ ที่ไม่โชคดีเท่าฉันก็ตาม"

เว็บไซต์ทำเนียบขาวระบุอีกว่าทางการสหรัฐอเมริกา จะยังคงเดินหน้าเตรียมการป้องกันสถานการณ์อีโบล่าภายในประเทศด้วยความครอบคลุมและเตรียมการต่อสู้กับแหล่งที่เกิดการระบาดหนักในแอฟริกาตะวันตก

 

เรียบเรียงจาก

After Beating Ebola, Nurse Nina Pham Shares a Hug with the President, White House, 24-10-2014

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : การต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในอเมริกา

$
0
0

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’ และพิธีกรรับเชิญ ‘ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาคุยกันในประเด็นที่ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยสัปดาห์นี้จะสนทนากันถึงประวัติศาสตร์ของขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคของสิทธิพลเมืองในสหรัฐอเมริกา

ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ประกาศเลิกทาสในปี ค.ศ.1863 แล้ว คนผิวสีก็ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนผิวขาวในทันที ยังต้องมีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวสีมาเป็นเวลาอีกต่อเนื่องยาวนาน เช่นเดียวกับการเรียกร้องความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงและชาย ก็มีขบวนการต่อสู้ต่อเนื่องยาวนานจนผู้หญิงได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสิทธิอื่นๆ เสมอภาคกับผู้ชาย  กรณีของโรซ่า พาร์ค สตรีผิวสีซึ่งไม่ยอมสละที่นั่งบนรถประจำทางให้กับคนผิวขาวตามที่กฎหมายของรัฐอลาบามากำหนด เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1955 และได้เปิดพื้นที่การต่อสู้ในเรื่องสิทธิพลเมืองของคนผิวสีมากขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่การยอมรับความเท่าเทียมกันของคนผิวสีและคนผิวขาว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มความหลากหลายทางเพศ อย่าง LGBT ก็มีขบวนการเรียกร้องจนได้รับสิทธิความเสมอภาคทางเพศอีกด้วย

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช. ‘อมร วาณิชวิวัฒน์’ แจ้งความโดนปลอมเฟซบุ๊ก

$
0
0

อมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ สปช. ปฏิเสธโพสต์เฟซบุ๊ก "การรับใช้ชาติบ้านเมืองย่อมมาก่อนการสอนหนังสือ" ยันงาน สปช. ไม่กระทบการสอน พร้อมเข้าแจ้งความกับ ปอท. เหตุโดนปลอมเฟซบุ๊ก

26 ต.ค.2557 ไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปฏิเสธโพสต์เฟซบุ๊ก "การรับใช้ชาติบ้านเมืองย่อมมาก่อนการสอนหนังสือ" ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ เผยมีผู้แอบอ้างใช้ชื่อโพสต์ข้อความ เตรียมแจ้งความ

ข้อความดังกล่าวมีการส่งต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.57) โดยมีผู้อ้างว่านำมาจากเฟซบุ๊กของนายอมร เป็นข้อความที่เขียนถึงนิสิตในวิชาสังคมปริทัศน์ว่า เนื่องจาก สปช.จะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค.57) ตนจึงของดการเรียนการสอนและมอบหมายให้นิสิตเขียนความเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ ข้อความดังกล่าวยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เหตุที่งดการสอนเพราะการรับใช้ชาติบ้านเมืองย่อมมาก่อนการสอนหนังสือ

โดย นายอมร ซึ่งปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความดังกล่าว และจากการตรวจสอบพบว่าข้อความนี้ปรากฏอยู่เฟซบุ๊กของผู้ที่แอบอ้างเป็นตน พร้อมกล่าวด้วยว่า "ได้ติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวมา 2 วัน และได้เตรียมนำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในวันนี้ (26 ต.ค.2557) เพราะข้อความดังกล่าวนอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังพาดพิงถึงบุคคลและหน่วยงานอื่นด้วย ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมาก"

นายอมร กล่าวเพิ่มเติมว่าที่ผ่านมาการประชุมหรือการทำหน้าที่ สปช.ยังไม่เคยตรงกับเวลาสอนหนังสือ มีเพียงวันจันทร์นี้ (27 ต.ค.) เท่านั้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการนัดเรียนเวลาอื่นแทน ไม่จำต้องยกเลิกการสอนโดยสิ้นเชิง รวมถึงที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยขาดสอนเลยสักครั้ง และคิดว่าการทำหน้าที่ สปช.จะไม่กระทบต่อการสอนหนังสือ

แจ้งความกับ ปอท. โดนปลอมเฟซบุ๊ก

ล่าสุด มติชนออนไลน์รายงานว่า นายอมร เดินทางมาแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เนื่องจากถูกปลอมเฟซบุ๊ก

โดย นายอมร กล่าวว่า ได้มีผู้ที่สร้างเพจเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อว่า "ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์-สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ" และมีการโพสต์ข้อความอ้างเป็นตนเอง พร้อมมีการเชิญชวนกลุ่มลูกศิษย์ของตน เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพจดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพาดพิงบุคคลที่ 3 อาทิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และภรรยา จึงต้องออกมาแจ้งความเพื่อปกป้องการละเมิดสิทธิ์ และไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ลูกศิษย์ของตน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ขณะเดียวกันบุคคลที่กระทำผิดได้ลบเว็บเพจไปแล้ว จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไป ส่วนบุคคลที่มีการเข้ามากดไลค์ หรือแสดงความคิดเห็น ไม่ขอเอาผิดใดใดทั้งสิ้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก คสช. ชี้แจงคลิปทหารแบกปืนไปศาลภูเก็ต-ไม่มีเจตนาก้าวร้าวศาล

$
0
0

พ.อ.วินธัย สุวารี ชี้แจงคลิปทหารแบกปืนไปศาลภูเก็ตว่าเป็นกรณีที่กำลังพลที่เพิ่งกลับจากปฏิบัติภารกิจมารอผู้บังคับบัญชาที่มาศาลคดีจัดระเบียบชายหาดและบุกรุกป่า และไม่สามารถฝากอาวุธได้จึงต้องรักษาอาวุธปืนไว้กับตัว ยืนยันไม่มีเจตนาก้าวร้าว และสามารถปรับปรุงได้

คลิปทหารนำอาวุติดตัวไปศาลจังหวัดภูเก็ต ล่าสุดทีมงานโฆษก คสช. ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีเจตนานำอาวุธมาศาล และจะกำชับการปฏิบัติของกำลังพล (ที่มา: YouTube)

26 ต.ค. 2557 - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกรณีคลิปทหารนำอาวุธติดตัวเข้าไปในพื้นที่เขตที่ทำการศาลจังหวัดภูเก็ต ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนา โดยวันดังกล่าวเป็นการไปขึ้นให้การต่อศาลฯ ของผู้บังคับหน่วยทหารเรือในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ในคดีเรื่องการจัดระเบียบชายหาด การรุกป่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ

ทั้งนี้ ผู้บังคับหน่วยอยู่ในห้องพิจารณาและไม่มีอาวุธ ขณะที่กำลังพลของหน่วยเพิ่งเสร็จจากการปฎิบัติภารกิจในพื้นที่อื่น และติดอาวุธประจำกายมาด้วย ขณะมารอพบผู้บังคับบัญชาด้านนอกอาคาร ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติประจำของหน่วย ไม่สามารถฝากอาวุธไว้ที่ใดได้ จำเป็นต้องรักษาอาวุธปืนไว้กับตัว จึงทำให้มองได้ว่ามีเจตนาแสดงความก้าวร้าว หรือไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติของเขตที่ทำการศาลฯ เป็นเรื่องของการขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติตามข้อห้ามของสถานที่มากกว่า และสามารถปรับชี้แจงกันได้ เนื่องจากเป็นส่วนราชการเช่นกัน

ทีมโฆษก กล่าวด้วยว่า เมื่อเกิดความไม่เข้าใจขึ้น ผู้บังคับหน่วยที่เข้ามาเจรจา และดำเนินการตามข้อแนะนำ ไม่ได้มีท่าทีใดที่เป็นการเสียมารยาท แม้ในคลิปจะถูกต่อว่าในลักษณะรุนแรงก็ตาม อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ เห็นว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์กำลังพล ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถปรับและกำชับการปฏิบัติตนได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิโรจน์ ณ ระนอง วิพากษ์นโยบายโซนนิ่งภาคเกษตร

$
0
0

วิโรจน์ ณ ระนอง นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ทีดีอาร์ไอ แนะเลิกคิดพึ่งมาตรการโซนนิ่ง ชี้ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ ถึงแม้ควบคุมได้ก็ไม่สามารถช่วยให้เรากำหนดราคาในตลาดโลกได้

หลังจากเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งถึงการโซนนิ่งเกษตร ว่า ยางพารา ให้ไปดูความต้องการในประเทศ แต่วันนี้ในหลายประเทศปลูกยางมากขึ้น ประเทศใหญ่ ๆ เขาไปปลูกที่อื่นแล้ว ไปสนับสนุนในประเทศอื่น ๆ ประเทศไทยมีมากแล้ว ฉะนั้นถ้าไปปลูกที่อื่นค่าใช้จ่ายลดลง ถูกลง ราคายางต้องตกลง อยากให้พี่น้องสวนยางเข้าใจตรงนี้ด้วย และมาดูว่าจะทำอย่างไร เราจะลดต้นทุนลงไปได้ ท่านมีกำไรบ้างพอสมควร ไม่ใช่กำไรมากจนเกินไป อันนั้นเป็นการสร้าง Demand (อุปสงค์) เทียม ฉะนั้นต้องควบคุมทั้ง อุปสงค์ - อุปทาน ถ้าไปตัด ทั้ง อุปสงค์อุปทาน ต้องพอเพียงต่อกันและเป็นข้อเท็จจริง มีการสำรวจที่มีฐานข้อมูลที่ตรงกันที่ชัดเจนไม่โกหกกัน ถ้าแบบนั้นจะวางแผนได้ เราจะได้วางแผนและใช้เวลาแก้ไขวาง Road map ว่า เราจะแก้เรื่องยางอย่างไร พื้นที่ตรงนี้ควรจะปลูกเพิ่มหรือไม่ ในเมื่อปริมาณที่ต้องการในตลาดไทย ตลาดโลก ลดลงและเราจะปลูกไปและจะทำอย่างไร วันหน้าถ้าปลูกไปเรื่อย ๆ เห็นรายได้ดี ก็มารุมกันปลูก ไม่ได้

"ฉะนั้นต้องมีการ Zoning แน่นอน Zoning นี้ ผมเตือนไว้แล้วว่าจะต้องมีการ Zoning ตั้งแต่วันนี้แต่จะบังคับใช้เมื่อใดไปว่ากันอีกที" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าย้ำด้วยว่า ขอสร้างความเข้าใจกันก่อนว่า ถ้าท่านบอกว่าอยากจะปลูกอันนี้ และท่านเรียกร้องว่าราคาต้องสูงแบบนี้ ไม่มีใครทำได้ในโลกนี้ ไม่มี ฉะนั้นค่อยคุยกัน ตรงไหนจะ Zoning ปลูกอะไร ตามความต้องการเท่าใด ตรงไหนจะต้องแปลงไปเป็นอะไร มีตั้งหลายอย่าง ปลูกพืชทดแทน ปลูกพืชหมุนเวียนหรือไปทำอุตสาหกรรมอย่างอื่น หรือยกระดับอุตสาหกรรมในท้องถิ่นและโรงงานแปรรูปขนาดเล็ก

วิโรจน์ ณ ระนอง

สำหรับนโยบายการจัดโซนนิ่งภาคเกษตรกรรมนั้น  เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการออนไลน์ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตรของทีดีอาร์ไอ โดยมีความตอนหนึ่งได้วิจารณ์นโยบายดังกล่าวนี้ว่า รัฐบาลนี้วางแผนเรื่องการโซนนิ่ง โดยเชื่อว่าถ้ากำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เรามีผลผลิตออกมาในจำนวนที่สมดุลกับความต้องการ และทำให้เกษตรกรได้ราคาที่น่าพอใจ

การกำหนดโซนนิ่งว่าพื้นที่ไหนปลูกอะไร ส่วนหนึ่งมาจากการประเมินของกรมพัฒนาที่ดินว่าพื้นที่ไหนน่าจะเหมาะกับพืชใด และเมื่อรัฐบาลเห็นว่าประเทศเราปลูกข้าวและยางมากเกินไป (ทั้งที่เคยส่งเสริมให้ขยายการปลูกยางในอีสานเมื่อสิบปีก่อนนี้เอง) ก็มาดูว่าพื้นที่ไหนที่ควรเลิกปลูกข้าวและยางแล้วกันไปปลูกอ้อยและปาล์มน้ำมันแทน

วิโรจน์ มองว่าแนวคิดเรื่องโซนนิ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ จริงๆ แล้วมีสถานะเกือบเหมือนศาสนาในคนที่เรียนและเติบโตมาในสายเกษตรจำนวนมาก ซึ่งพูดเรื่องนี้มาตลอดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในหลายประเทศก็มีการใช้แนวทางนี้ แต่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยคือการบังคับหรือกะเกณฑ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ไหนปลูก(หรือห้ามปลูก) พืชอะไร เป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ผ่านมาผู้ที่เสนอแนวคิดนี้จึงไม่เคยมีใครกล้าเสนอให้บังคับเกษตรกร แต่บอกว่าเมื่อทำแล้วรัฐบาลจะช่วยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในโซนที่รัฐบาลแนะนำ

ตัวอย่างหนึ่งที่ควรนำมาดูประกอบการพิจารณาแนวคิดเรื่องโซนนิ่งภาคเกษตรไทยคืออ้อย ที่ผ่านมา “อ้อย” เป็นพืชเกษตรตัวอย่างที่มีกฎหมายกำหนด บังคับไว้ทุกอย่าง ตั้งแต่การลงทะเบียนชาวไร่ กำหนดพื้นที่การตั้งโรงงานต้องขออนุญาต เพื่อต้องการรักษาเสถียรภาพ โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงที่อ้อยล้นตลาดในปี 2526 แต่เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี การปลูกอ้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้นจาก 20-30 ล้านตันมาเป็นมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี

นอกจากรัฐบาลไม่ได้ควบคุมผลผลิตอ้อย (และกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล) แล้ว ถ้าลองย้อนกลับไปดูว่าถ้ามีการจัดโซนให้อ้อยเมื่อ 31 ปีก่อน ตามแนวพื้นที่ที่ปลูกกันมากในช่วงนั้น คือแถบจังหวัดกาญจนบุรีและชลบุรี เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่ปลูกอ้อยหลักของเราในปัจจุบัน (คืออีสาน) ก็จะกลายเป็นนอกโซน และเกษตรกรอีสานก็จะกลายเป็นชาวไร่ชั้น 2 ที่อาจจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะอยู่นอกโซน ขณะที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งในระยะหลังคนกลับไม่สนใจปลูกอ้อย หากจะให้รักษาโซนนี้ (ซึ่งคงมีพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อย) ให้คงอยู่ ก็คงต้องหามาตรการไปอุดหนุนชาวไร่ส่วนน้อยมากในแถบนั้น กลายเป็นมาตรการนี้จะมองว่าละเลยคนนอกโซนอ้อย ซึ่งต่อไปอาจกลายเป็นคนส่วนใหญ่ที่ปลูกอ้อยก็เป็นได้

ในเชิงวิชาการนั้น วิโรจน์กล่าวว่า นโยบายโซนนิ่งในภาคเกษตร ซึ่งถูกโฆษณาว่าจะสามารถแก้ปัญหาผลผลิตไม่สมดุลกับความต้องการนั้น ไม่ได้มีหลักวิชาการอะไรมารองรับหรืออ้างอิงเลยว่า ประเทศเราจะต้องผลิตอะไรแค่ไหนถึงสมดุล อย่างน้ำตาลเราผลิต 4 เท่าของที่เราบริโภค แต่รัฐบาลบอกว่าควรขยาย (แต่ควรลดการผลิตข้าว ซึ่งปัจจุบันเราผลิตได้ประมาณ 2 เท่ากว่าของที่เราบริโภค) และที่อ้อยอาจจะดูมีปัญหาน้อยกว่าก็อาจเป็นเพราะราคาอ้อยมีส่วนที่ได้รับการอุดหนุนจากผู้บริโภคด้วย

นอกจากนี้ ถามว่าถ้าเราสามารถกำหนดได้จริงว่าพื้นที่ไหนปลูกอะไร จะทำให้เรามีผลผลิตที่ “สมดุล” หรือไม่ คำตอบก็คือ ถึงแม้เราจะรู้ว่ามีการปลูกข้าวในพื้นที่ไหนบ้าง เราก็ยังไม่สามารถ “กำหนด” ปริมาณผลผลิตได้ เพราะพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศเป็นเกษตรน้ำฝน ซึ่งปริมาณน้ำฝนและเวลาที่ฝนตกจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดปริมาณผลผลิตในแต่ละปี

คำถามต่อไปก็คือ ถ้าเราสามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำว่าในปีนี้เราจะมีผลผลิตเท่าไรต่อปีจะทำให้เราสามารถส่งออกได้ในราคาที่เราพอใจหรือไม่ คำตอบก็คือเราไม่สามารถกำหนดราคาส่งออกเองได้อยู่ดี เพราะตราบใดที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องส่งออกสินค้าอย่างข้าวและน้ำตาลในปริมาณมาก ราคาส่งออกของเราก็จะขึ้นกับราคาตลาดโลก (และถ้ารัฐบาลไม่ไปอุดหนุน ราคาในประเทศของเราก็จะต้องขึ้นกับตลาดโลกด้วย) แน่นอนว่าในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญรายหนึ่ง ราคาตลาดโลกก็อาจขึ้นกับปริมาณผลผลิตของเราด้วย แต่ปกติแล้ว ราคาตลาดโลกจะขึ้นกับปริมาณความต้องการ ผลผลิต และสต๊อกรวมของทั้งโลก แม้เราจะรักษาผลผลิตของเราให้คงที่ แต่ผลผลิตของประเทศอื่นเพิ่มขึ้นหรือลดลงมาก ก็อาจมีผลกระทบต่อราคาอย่างรุนแรงอยู่ดี

ข้าวเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่หลายท่าน (รวมทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณ) ที่คิดว่าเราเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ ถ้าเราหยุดส่งออก นานาประเทศก็จะต้องหันมาขอซื้อข้าวจากไทยในราคาแพง แต่ในความเป็นจริง ผลผลิตข้าวทั้งโลกในแต่ละปีมีประมาณ 475 ล้านตัน จีนผลิตข้าวปีละประมาณ 144 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตของไทยมีเพียง 20 ล้านตันต่อปี (และเราส่งออกมากที่สุด 11 ล้านตันต่อปี) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตรวมของโลก ดังนั้น ถ้าผลผลิตข้าวของจีนเสียหายหรือผลิตได้เพิ่มขึ้น 10% ก็จะเป็นปริมาณที่มากกว่าข้าวที่ประเทศไทยส่งออกทั้งปี และน่าจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาตลาดโลกในปีนั้น ถึงแม้ว่าในปีนั้นประเทศไทยอาจจะสามารถควบคุมผลผลิตให้ได้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าตามมาตรการโซนนิ่งก็ตาม

ในกรณีผลผลิตน้ำตาลก็เช่นกัน เราเป็นผู้ส่งออกอันดับสองมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว แต่เราผลิตได้แค่ 3-4% และส่งออกเพียงประมาณ 2-3% ของผลผลิตโลกเท่านั้น

“ดังนั้น ผมจึงไม่เคยเข้าใจเลยว่า ทำไมถึงมีคนจำนวนมากที่ศรัทธาและเชื่อว่ามาตรการโซนนิ่งจะเป็นมาตรการที่เมื่อทำแล้วจะสามารถรักษาราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพ และจะช่วยให้เกษตรกรได้ราคาที่น่าพอใจ อย่างที่หลายท่านโฆษณาหรือตั้งความหวังเอาไว้เป็นอย่างสูง ..และในทางปฎิบัตินั้น นโยบายโซนนิ่งไม่ได้ทำให้เราควบคุมผลผลิตในประเทศได้ และถึงแม้ควบคุมได้ก็ไม่สามารถช่วยให้เรากำหนดราคาในตลาดโลกได้” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าดูเผินๆ มาตรการโซนนิ่งเป็นการนำวิชาการมาวิเคราะห์ว่าที่ดินที่ไหนเหมาะสำหรับปลูกพืชอะไร เช่น การเสนอมาตรการนี้อ้างอิงผลการวิจัยว่าพื้นที่ไหนไม่เหมาะกับการปลูกข้าว เพื่อให้เลิกปลูกข้าวในพื้นที่นั้น แต่ “ความเหมาะสม” อาจมีตัววัดอื่นที่มากกว่าคุณสมบัติทางกายภาพของดิน (หรือแหล่งน้ำที่จะหาได้) ซึ่งหากไม่เหมาะ ไม่คุ้มจริงๆ คนจะเลิกปลูกกันไปเอง นอกจากจะไปสร้างนโยบายอะไรที่ชักนำให้มีการปลูก (เช่นตอนนี้รัฐบาลนี้มีนโยบายว่า เกษตรกรที่มีนาข้าวเป็นของตัวเองจะได้รับเงินไร่ละ 1 พันบาท)

แต่ถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงราคา หากว่าในระยะยาวพื้นที่ตรงนี้ปลูกแล้วไม่คุ้ม และถ้ารัฐบาลไม่ไปขัดขวาง เกษตรกรก็จะเลิกปลูกในพื้นที่นั้นไปเอง

ยกตัวอย่างเช่น นักเกษตรและ NGO มักกล่าวถึงกรณีหมู่บ้านจัดสรรรุกล้ำพื้นที่การเกษตร (เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่หายไป) ซึ่งในระบบที่ไม่มีโซนนิ่งนั้น การที่เจ้าของที่ดินจะนำที่ไปทำอะไร ก็ย่อมพิจารณาจากผลตอบแทนที่ได้จากทางเลือกต่างๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าทุเรียนเมืองนนท์สามารถทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ (เช่นตามข่าวที่ระบุว่าขายทุเรียนได้ลูกละ 1,500 บาท) และการทำสวนทุเรียนคุ้มกว่าการเอาพื้นที่ผันไปทำอย่างอื่น สวนทุเรียนนนท์ก็จะยังอยู่ หรือข้าวหอมมะลิ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เริ่มปลูกอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แต่อยู่ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ทุกวันนี้ฉะเชิงเทราก็ไม่ได้ปลูกข้าวหอมมะลิมากเหมือนเดิม เพราะสามารถนำที่ดินไปทำอย่างอื่นที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสนใจกับตัวแปรอื่นๆที่สำคัญ แล้วมากำหนดและบังคับให้เกิดโซนโดยดูแค่ความเหมาะสมของพื้นที่ในด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว มาตรการโซนนิ่งก็อาจส่งผลสะเทือนด้านลบต่อภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของประเทศก็เป็นได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพแรงงานไทยเรยอน ไม่เคยแพ้...

$
0
0

"ในที่สุด สร.ไทยเรย่อนก็พ่ายแพ้ เพราะไม่เน้นแรงงานสัมพันธ์"จากปากประธานสภาแรงงานฯ คนหนึ่งที่เมาแล้วพ่นออกมาพร้อมกลิ่นแอลกอฮอล์และควันบุหรี่ และบางคนที่ไม่เคยไปเหยียบที่ชุมนุม แต่ดันสรุปว่า สร.ไทยเรย่อนพ่ายแพ้ อยากบอกผ่านเพจนี้ว่า คนที่พูดเยี่ยงนี้ ไปตักขี้ในส้วมกินซะ เผื่อยังจะได้กากใยไปสร้างสมองดีๆ ขึ้นมาสัก1% คนพวกนี้ฟังแต่พวกราชการแล้วคล้อยตาม เอามาว่ากันเพื่อบั่นทอน ดิฉันถือว่าคนเหล่านี้ เป็นเครื่องมือนายจ้าง ไม่ใช่นักสหภาพแรงงานที่แท้จริง

..การต่อสู้ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ เรื่องการสูญเสียนั้นมีอยู่แล้วไม่มากก็น้อย ฉะนั้นการสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าศึกนั้นแพ้หรือชนะ ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยเรย่อนมีมากถึง 36 ข้อใหญ่ หรือมากกว่า 100 ข้อย่อย ข้อตกลงที่ตกลงโดยรวมที่ได้ก็เป็นที่น่าพึงพอใจของสมาชิก ยกเว้นโบนัส ซึ่งเรื่องโบนัสก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้

ดังนี้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าโบนัสของไทยเรย่อนไม่เคยมีในข้อตกลงสภาพการจ้าง(โบนัสถูกเจรจานอกรอบเมื่อใกล้สิ้นปีของทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นโบนัสขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของฝ่ายนายจ้างเพียงฝ่ายเดียว พูดฟังง่ายๆ คือถ้านายจ้างไม่ให้โบนัสสักบาท นายจ้างก็สามารถกระทำได้ จะเห็นได้ว่าช่วงหลัง คนงานมีการกดดันอย่างหนักในการเจรจาโบนัส แม้มวลสมาชิกจะเข้มแข็งกดดันจนได้โบนัสซึ่งเป็นตัวเลขที่พึงพอใจ แต่การกดดันดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ล่อแหลมต่อการกระทำผิดต่อกฎหมาย) ฉะนั้นนั่นหมายถึงว่า ก่อนหน้านี้ในข้อตกลงสภาพการจ้างโบนัสเป็นศูนย์ สหภาพแรงงานฯ จึงบรรจุไว้ในข้อเรียกร้องเพื่อหวังให้โบนัสถูกเขียนบันทึกไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้างซึ่งด้วยวิธีนี้ นายจ้างไม่สามารถเบี้ยวการได้จ่ายโบนัสได้ เมื่อนายจ้างถูกเรียกร้องให้กำหนดไว้ แน่ล่ะข้อตกลงสภาพการจ้างจึงเป็นการการันตีไว้ที่ขั้นต่ำ โดยที่นายจ้างไม่กล้าให้เป็นตัวเลขเดิม เพราะคราวนี้ถ้าไม่จ่ายโบนัสตามที่ระบุ นั่นหมายถึงอาจติดคุกได้เลย จึงให้ไว้เป็นขั้นต่ำ และจะมีการเพิ่มโบนัสให้คนงานอีกตามผลกำไรที่ถูกระบุไว้ตามข้อตกลง จากที่เล่ามาคงเห็นภาพรวมของการได้มาซึ่งการเรียกร้อง

ส่วนบางคำที่หลายคนพูดว่า "ได้ ไม่คุ้มเสีย" คงต้องแยกออกจากคำว่าแพ้หรือชนะ ขอตั้งคำถามเช่นนี้ว่า การนัดหยุดงาน 4 เดือน ทำให้เงินกองทุนนัดหยุดงานหมดไปราวๆ 18 ล้านบาทนั้น หมดไปกับอะไร? กับใคร? ถ้าคำตอบคือส่วนใหญ่หมดไปกับการจ่ายเป็นค่าบรรเทาความเดือดร้อนของมวลสมาชิกช่วงชุมนุม เราจะต้องเสียดายไปใย เมื่อวัตถุประสงค์ของกองทุนก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเก็บกันมาเพื่ออะไร

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อสู้แล้ว หัวใจคุณได้อะไร คุณเห็นอะไร คุณจะปรับปรุงการต่อสู้ในอนาคตอย่างไร และมีแผนอะไรต่อไป คุณได้เรียนรู้อะไร สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีค่าซึ่งได้มานอกเหนือจากข้อตกลงสภาพการจ้าง สำหรับการต่อสู้ของพี่น้องคนงานทุกๆ ที่ สามารถวิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่การเย้ยหยัน เพราะมันคงเป็นสิ่งไม่สร้างสรรค์ วันนี้เพียงแค่อยากบอกผู้ที่เย้ยหยันว่า สร.พวกคุณ สภาฯ พวกคุณ ต่อให้มีเงินมากกว่า สร.ไทยเรยอน ก็ขอให้สู้ได้เหนียวแน่น ได้สักครึ่งหนึ่งของพี่น้อง สร.ไทยเรย่อน เถอะ จะกราบงามๆ

 

หมายเหตุ : สำหรับข้อพิพาทแรงงานของบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) กับสหภาพแรงงานไทยเรยอนนั้น ได้เกิดขึ้นมาจนทางสหภาพได้นัดหยุดงานมาแล้ว 4 เดือน  มีการเจรจากันรวม 49 ครั้ง จึงสามารถตกลงกันได้เมื่อ เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มเติม : ไกล่เกลี่ย 'ไทยเรยอน' ยุติบริษัทตกลงจ่ายโบนัส)

ข้อเขียนของศรีไพรนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Sriprai Nonsee’ เมื่อวันที่ 23 ต.ค.57

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกถ้อยคำต่อคดี–ทัศนคติต่อชีวิตและสังคม ของ ข.ญ.ภรณ์ทิพย์

$
0
0

หมายเหตุ  ภรณ์ทิพย์ หรือ กอลฟ์ และปติวัฒน์ หรือแบงก์ เป็นสองผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกรณีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ทั้งคู่ถูกฝากขังครบ 7 ผลัดและอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ในวันดังกล่าวยังมิได้นำตัวจำเลยมาศาลเพื่อรับฟังคำฟ้องและสอบคำให้การ ดังนั้นในวันจันทร์นี้ (27 ต.ค.57) ทั้งคู่จะถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อรับฟังคำฟ้องและสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือไม่ และทนายจำเลยจะได้เห็นคำฟ้องของอัยการในวันนี้เช่นกัน

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2557 ข้าพเจ้าถูกจับกุมที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขณะที่กำลังจะเดินทางไปแสดงละครเวทีที่สตูดิโอของเพื่อนชาวมาเลเซีย และมีแผนการเดินทางต่อไปยังซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียด้วยวีซ่า work and holiday เพื่อทำตามความฝันของข้าพเจ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดูแลข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะที่ถูกจับกุมนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามีหมายจับมาก่อน

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม 2 นาย เดินทางไปรับข้าพเจ้าด้วยเครื่องบินพาณิชย์และนั่งแท็กซี่โดยสารพาข้าพเจ้ามาถึง สน. ข้าพเจ้าพบว่ามีเพื่อนๆ มากมายมารอรับข้าพเจ้าตั้งแต่เวลาหัวค่ำ แต่กว่าข้าพเจ้าจะเดินทางไปถึงก็เวลาประมาณสี่ถึงห้าทุ่มแล้ว

รุ่งเช้าข้าพเจ้าได้เดินทางไปศาลอาญารัชดา โดยขณะเดินทางนั้นข้าพเจ้าต้องถูกคลุมใบหน้าเพื่อหลบสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าถูกนำขึ้นรถตำรวจแต่มิได้นั่งรวมกับนักโทษอื่นๆ ข้าพเจ้าถูกแยกไปนั่งที่แคปของรถคันนั้น ข้าพเจ้ามาทบทวนดูแล้วข้าพเจ้าสบายกว่าคนอื่นๆ ตั้งแต่การไปรับด้วยเครื่องบินพาณิชย์จนถึงการนั่งเบาะและรับแอร์ในขณะเดินทางไปศาล ช่างเป็นโชคดีของข้าพเจ้าจริงๆ

หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งตัวข้าพเจ้ารู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางได้ประกันตัว ข้าพเจ้าร้องไห้อย่างหนัก แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้แล้วว่าร้องไห้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง เพราะคงจะมีหลายเรื่องหมุนเวียนอยู่ในหัวของข้าพเจ้า เพื่อนๆ และผู้คนมากมายรอส่งข้าพเจ้าเข้าเรือนจำ ซึ่งถึงเวลานั้นข้าพเจ้าหยุดร้องไห้แล้ว ก่อนที่จะเข้าเรือนจำข้าพเจ้าพยายามสอบถามเรื่องการใช้ชีวิตในเรือนจำจากเพื่อนผู้ต้องขังบางคนที่เคยอยู่ที่นั่นมาก่อนแล้วเพื่อเตรียมตัวพร้อมรับสภาพใหม่ ข้าพเจ้าผ่านเข้าเรือนจำตามขั้นตอนเหมือนผู้ต้องขังคนอื่นๆ มีผู้ต้องขังที่มาพร้อมกับข้าพเจ้ามากเหมือนกัน ทั้งๆ ที่วันนั้นเป็นวันเสาร์

คืนแรกในเรือนจำข้าพเจ้าไม่ร้องไห้เลย เพราะข้าพเจ้าตระหนักได้แล้วว่า สิ่งที่จะรักษาหัวใจของข้าพเจ้าได้คือรอยยิ้มของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าจึงเริ่มยิ้มให้กับทุกคนเพราะหากเราไม่ยิ้มให้กับตัวเองก็จะไม่มีใครยิ้มให้กับเรา เมื่อข้าพเจ้ายิ้มได้ข้าพเจ้าก็มีแรงในการปลอบประโลมคนอื่นๆ บางคนร้องไห้ บางคนเครียดมาก แต่เราทุกคนก็ต้องผ่านคืนแรกไปพร้อมๆ กัน ไม่มีประโยชน์ที่จะร้องไห้หรือเครียดกับสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว หลับและตื่นขึ้นมาเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตดีกว่า

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเป็นตาแดง ข้าพเจ้ารู้ว่าคนข้างนอกกระวนกระวายใจและเป็นห่วงข้าพเจ้า  โชคชะตาทำร้ายข้าพเจ้ามากเกินพอแล้ว จึงไม่มีอะไรอยากทำร้ายข้าพเจ้าอีกแล้ว

คำแนะนำจากเพื่อนผู้ต้องขังเกิดขึ้นกับข้าพเจ้ามากมาย หลายคนบอกว่าข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่ไม่นานก็จะได้กลับบ้านแล้ว แต่ข้าพเจ้าเองรู้ดี และเตรียมอกเตรียมใจไว้แล้วว่าคดีของข้าพเจ้านั้นไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ข้าพเจ้าได้แต่ยิ้มขอบคุณพวกเขาเพราะข้าพเจ้าเองก็เหนื่อยล้าเกินไปที่จะอธิบายอะไรเสียแล้ว

เมื่อวันพุธที่ 20 สิงหาคม ข้าพเจ้าได้ร่วมมือกับพวกเขาฆ่านกน้อยในหัวใจของข้าพเจ้าไปเสียแล้ว...

ข้าพเจ้าไม่อาจอดทนหรือเผชิญหน้ากับความกลัวได้อีกต่อไป “อย่าร้องไห้ต่อหน้าศัตรูของเรา” คือคำที่ข้าพเจ้าเคยบอกแก่มิตรสหายเอาไว้ แต่ตัวข้าพเจ้าเองกลับทำมันไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่มีหน้าจะไปกล่าวอะไรกับใครอีกแล้ว นกน้อยในหัวใจของข้าพเจ้าถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมด้วยมือของข้าพเจ้าเอง และอีกไม่นานตัวของข้าพเจ้าก็จะถูกทอดทิ้งไว้ในที่ๆ ผู้คนไปไม่ถึง... ต่อไปจากนี้ข้าพเจ้าจะกลายเป็นตัวอะไร ที่ทางของข้าพเจ้าจอยู่ที่ไหนกัน ความฝันของข้าพเจ้าจะยังคงอยู่ไหม โรงเรียนของเด็กๆ จะยังมีอีกไหม... แม้ว่าคนรักของข้าพเจ้าจะรับปากว่าเขาจะทำทุกสิ่งอย่างในความฝันนั้นแทนข้าพเจ้า แต่มันจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อนกน้อยของข้าพเจ้าตายลงไปเสียแล้ว

เมื่อวันที่ 2 กันยายน นอกจากข้าพเจ้าจะฆ่านกน้อยในหัวใจของข้าพเจ้าด้วยการร่วมมือกับศัตรูของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ายังเอาศพของมันผูกด้วยเชือกแล้วจูงลากไปเรื่อยๆ ข้าพเจ้าโบยตีศพของมันแล้วชำแหละศพนั้นออกเป็นชิ้นๆ นกน้อยเหลือแต่เพียงซากขนจมกองเลือด ข้าพเจ้ามิอาจทำอะไรได้มากไปกว่านี้ ณ เวลานี้ข้าพเจ้าไม่ได้มีพลังมากพอจะปกป้องใครๆ ได้อีกแล้ว ราวกับว่าการแสดงบนเวทีจบลง แท้จริงแล้วข้าพเจ้าไม่เคยแสดงเป็นใครอื่นเลย

หลายคนบริจาคเงินให้ข้าพเจ้าผ่านกลุ่ม-องค์กรต่างๆ แต่นั่นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองช่างเป็นภาระของคนอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าลดความศรัทธาในตัวเองลงไปไม่น้อยทีเดียว

คนรักของข้าพเจ้าพยายามเพื่อข้าพเจ้ามากมายเหลือเกิน เพื่อนผู้ต้องขังหลายคนยินดีกับข้าพเจ้าที่มีทั้งคนรักและมิตรสหายมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ ข้าพเจ้ามีผู้ชายที่รักและพร้อมจะต่อสู้ไปกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีมิตรแท้ที่ไม่เคยทิ้งข้าพเจ้าไปไหน แม้ว่าข้าพเจ้าจะทำตัวร้ายกาจเพียงใด ข้าพเจ้ามีพ่อแม่ที่สอนให้ข้าพเจ้าเข้มแข็งไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา จริงๆ แล้วข้าพเจ้ารู้ว่ามีผู้ชายอีกหลายคนหลงรักข้าพเจ้า แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้พวกเขายังรักข้าพเจ้าอยู่ไหมและเมื่อข้าพเจ้าออกไปแล้วจะยังเหลือคนที่รักข้าพเจ้าอยู่

พวกเราหลายคนตั้งคำถามเสมอว่าทำไมไม่มีใครมาเยี่ยมพวกเขาเลย ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้แต่ปลอบใจว่าข้างนอกนั้นวุ่นวาย จึงมีคนมาเยี่ยมได้ยาก ไม่มีใครทอดทิ้งพวกเขาหรอก แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยแน่ใจเลยว่า นานวันไปจะยังมีใครมาสนใจใยดีข้าพเจ้าอยู่ไหม

หลายคนเตือนข้าพเจ้าว่าอย่าไว้ใจใครง่ายๆ เพราะทุกคนล้วนเห็นแก่ตัวและเอาตัวรอดด้วยกันทั้งนั้น แต่ข้าพเจ้ายังเชื่อเสมอว่า มนุษย์ทุกคนมีความดีหลงเหลืออยู่เสมอ หากเราเชื่อมั่นในความดีของมนุษย์เราก็จะไม่ลังเลที่จะทำดีต่อคนอื่นเลย ยูเฟรเซีย บอกว่ารอยยิ้มของข้าพเจ้าทำให้เธอสามารถยิ้มได้ ทำให้เธอสดใสได้ในทุกๆ วัน ข้าพเจ้ารู้ดีว่ารอยยิ้มนั้นมีพลังรักษาคนได้

ผู้ที่ไร้ที่พึ่งพร้อมใจกันเดินเข้าไปหาที่ใดก็ตามที่เขารู้ว่าสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เขาได้ หากว่าข้าพเจ้าวางตัวเป็นคนเห็นแก่ตัวและนิ่งเฉยต่อความทุกข์ของผู้อื่นก็คงไม่มีใครอยากเดินเข้ามาหาข้าพเจ้า

อีกสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับคือ การสรุปบทเรียนแห่งความผิดพลาดของคนอื่น นี่คือแหล่งเรียนรู้แหล่งใหญ่ของข้าพเจ้า ที่เดียวได้ครบเกือบทุกอย่าง และที่สำคัญกว่าคือการสรุปบทเรียนความผิดพลาดของตัวข้าพเจ้าเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การสรุปบทเรียนของตัวเองนั้นก็ไม่เคยสมบูรณ์ เพราะข้าพเจ้ากระหายในเรื่องราวของผู้คนมากกว่านิ่งจมอยู่กับความผิดพลาด และการสรุปบทเรียนนั้นควรสรุปด้วยกันกับคนข้างนอก เพราะนี่มิใช่แค่เรื่องของข้าพเจ้าคนเดียว

ข้าพเจ้ารับฟังประวัติศาสตร์บอกเล่าในสนามรบจากปากของคนธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าคุณยายแก่ๆ คนหนึ่งจะรู้จักกับครูครอง จันดาวงศ์ คำบอกเล่าเหล่านี้ชะโลมหัวใจของข้าพเจ้าราวกับการนั่งฟังยายเล่านิทานให้ฟังตอนเด็กๆ มีในหนังสือบ้าง ไม่มีในหนังสือบ้าง เรื่องราวของผู้คนในยุคสงครามคอมมิวนิสต์นี่ฟังกี่ครั้งก็สนุกทุกที ข้าพเจ้าเห็นภาพว่า ในภาวะสงคราม ข้าวของล้วนหายากและมีราคาแพงเกินความเป็นจริง ช่วงเวลานั้นคนที่ได้ประโยชน์คือผู้ครองตลาดและมองเห็นช่องทางการค้า แต่คนที่ลำบากซ้ำซากคือคนจน อย่างไรเสียคนจนและคนไร้อำนาจก็ลำบากที่สุดเสมอไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน ข้าพเจ้าอดกลับไปคิดไม่ได้ว่าถ้าหากข้าพเจ้ารวยกว่านี้ ข้าพเจ้าก็อาจไม่ต้องเข้ามาอยู่ที่นี่ก็ได้ แม้รู้ว่าคิดแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่มันทำให้ข้าพเจ้าตระหนักได้ว่าข้าพเจ้าต้องรวยให้ได้เพื่อจะเป็นหลักยึดให้กับคนอื่นๆ จะมีประโยชน์อะไรหากข้าพเจ้าเป็นเพียงต้นหญ้าเล็กๆ ไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาแก่ผู้อื่น แต่มามองดูอีกทีหากขาดต้นหญ้าเล็กๆ แล้ว ผืนดินที่จะให้ต้นไม้ใหญ่เติบโตก็อาจถูกกัดเซาะทำลายลงได้ ข้าพเจ้ามีความสุขกับการได้เป็นทั้งสองอย่าง แต่คนเราควรเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่หลายๆ อย่าง แต่ใครจะไปรู้ อาจมีคนทำได้ แต่ข้าพเจ้ายังหาเขาไม่เจอ...

การมาเยี่ยมข้าพเจ้าแต่ละครั้ง ช่างเป็นช่วงเวลาที่เพื่อนๆ ต้องใช้เวลามากๆ พวกเขายังมาเยี่ยมข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอบคุณเหลือเกิน

ใครๆ ก็อยากรู้ชะตาชีวิตของตัวเอง ใครๆ ก็อยากกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ด้วยวิธีที่ตามองไม่เห็น แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำต่างหากที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเขา ไม่ใช่เพียงการกระทำของเรา แต่ยังรวมไปถึงการกระทำของผู้อื่นที่กระทำต่อเราด้วย หากผู้กระทำนั้นมีอำนาจมากกว่าเรา นั่นแปลว่าเขาจะกลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของเรา หากเรายอมจำนนต่อการกำหนดนั้น ชีวิตเราก็จะถูกขีดเส้นด้วยผู้มีอำนาจอันกระทำต่อเรา แต่หากเราไม่ได้ให้ความยินยอมเสียอย่าง ชะตากรรมที่คนอื่นขีดไว้ให้เราก็เพียงอุปสรรคของชีวิต

นี่อาจเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสามารถคิดวางแผนชีวิตใหม่ได้ดีกว่าเดิม บางครั้งการพุ่งชนกับอุปสรรคก็อาจทำให้เราผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น ในความจริงแล้วอุปสรรคเป็นเพียงบททดสอบของชีวิต วิกฤตมาพร้อมโอกาสเสมอ อย่างดีที่สุดตอนนี้ชื่อของข้าพเจ้าก็เป็นที่รู้จักในระดับสากล ความฝันที่จะได้ออกเดินทางเปิดการแสดงทั่วโลกคงไม่ไกลเกินไป ความฝันที่จะมีโรงเรียนให้เด็กๆ คงไม่ยากเกินไป บางทีโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตของข้าพเจ้าอาจจะมั่นคงและลงเสาเข็มได้ง่ายขึ้น

ช่วงอายุ 26-27 ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้ากลับต้องเข้ามาอยู่ในคุก หรือบางทีมันอาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในชีวิตข้าพเจ้าก็ได้ ความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างอาจไม่ได้เดินตามดวงเสมอไป แต่เดินตามการกระทำและสถานการณ์ ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีผู้เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา เราเกี่ยวข้องกับชีวิตคนอื่นๆ ทุกคนล้วนเป็นผู้ทำให้ชะตากรรมหรือดวงของกันและกันเปลี่ยนแปลงและเป็นไป และหากวิธีคิดของเราเป็นเช่นไร ก็จะกำหนดชีวิตของเราให้เป็นเช่นนั้น วิธีคิดของเรามาจากไหน ก็มาจากสภาพแวดล้อมของเรา มาจากผู้คนรอบข้างเรา มาจากความสนใจของเราที่จะกำหนดการตัดสินใจของเราในแต่ละช่วงของชีวิต ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจว่า ดวง-เส้นลายมือ เดินตามการกระทำของเราหรือเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจของเรา นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าต้องหาคำตอบต่อไป

สิ่งที่คนอื่นนิยามตัวเรา หรือสิ่งที่เราแสดงออกต่อคนอื่นด้วยการกระทำของเรา อะไรคือตัวกำหนดตัวตนของเรากันนะ ... ข้าพเจ้าเกิดข้อสงสัยนี้จากกรณีของหมอดูเพราะเวลาที่มีคนดูหมอดูมาแล้ว ทักว่าเค้าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมนั้นชัดเจนมากขึ้น หรืออาจเพราะคนเราต้องการการสนับสนุนพฤติกรรมเพื่อกำหนดตัวตนของตัวเอง

ข้าพเจ้าคิดถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับมากกว่าสิ่งที่เสียไป แต่การถูกจองจำก็ไม่ควรนานเกินไป ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์ สูตรขนม และผู้คนที่หลากหลาย เทคนิคการนวดแบบมาดากัส ความจริงแล้วข้าพเจ้ามีปีศาจสิงอยู่ในหัวใจเสมอ เพียงแต่บางครั้งมันแอบซ่อนอยู่ และความงดงามของชีวตมีอยู่ทุกที่ เด็กสาวอายุ 18 จากชุมแพนำความฉะฉานมาสู่ข้าพเจ้า เธออ้าแขนโอบกอดปกป้องข้าพเจ้าจากอันตราย

การรอคอยญาติมาเยี่ยมเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างเฝ้ารอ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่ามันจะทรมานขนาดไหนหากไม่มีใครมาเยี่ยมเรานานๆ ตัวของเราคงหดเล็กลงเหลือเท่ากับมด ข้าพเจ้าเกลียดการรอคอย เกลียดการไม่รักษาคำพูด แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าต้องรอคอยซ้ำๆ การรอคอยที่โหดร้ายที่สุดคือ การรอคอยที่ไม่สมหวัง... เมื่อถึงวันเสาร์ข้าพเจ้ารอคอยวันอาทิตย์ เมื่อถึงวันอาทิตย์ข้าพเจ้ารอคอยวันจันทร์

ข้าพเจ้าเฝ้าตั้งคำถามเสมอว่าทำไมผู้ใหญ่ไม่ช่วยข้าพเจ้าบ้าง หรือจะช่วยข้าพเจ้าให้สุดทางดังเช่นที่เขาช่วยคนอื่นๆ พวกเขาเกรงกลัวอะไรที่จะช่วยข้าพเจ้าให้ปลอดภัย มีมิตรสหายเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่คอยช่วยข้าพเจ้าอย่างจริงจัง ข้าพเจ้าไม่สำคัญหรือ ข้าพเจ้าไม่ทุ่มเทมากพอหรือ ข้าพเจ้าไม่มีค่าพอหรือ พวกเขาจึงทอดทิ้งข้าพเจ้าไว้... ข้าพเจ้าไม่ให้อภัย

สุดท้ายพวกมนุษย์ผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนกันหมดไม่ว่าฝ่ายไหน พวกเขาพร้อมจะยืนอยู่บนความสำเร็จ เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง โดยไม่สนใจว่าต้องใช้ใคร ใช้ความเชื่อใจของใครเพื่อเดินไปถึงจุดที่พวกเขาต้องการ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าต่อไปจากนี้ข้าพเจ้าจะไว้ใจหรือเชื่อใจใครได้อีก มีใครไหมไม่หวังเอาประโยชน์จากความเชื่อมั่นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคงทำให้บางคนหวาดกัว และมองความเชื่อมั่นนั้นเป็นอันตรายต่อพวกเขา ข้าพเจ้าไม่รู้ความจริงคืออะไร ใครพูดจริง ใครพูดโกหก

ข้าพเจ้ากลัวการโตเป็นผู้ใหญ่จับใจ ผู้ใหญ่ซับซ้อนเกินไป พวกเขาไม่ตรงไปตรงมา พวกเขาไม่สนใจความทุกข์ของคนอื่น พวกเขาเห็นแก่ตัวมากกว่าแบ่งปัน ข้าพเจ้าไม่อยากโตไปมากกว่านี้ การเป็นผู้ใหญ่มีความทุกข์มากมายเหลือเกิน

ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรหรือใช้ชีวิตตามความคาดหวังของใคร ข้าพเจ้าเป็นข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าไม่อยากสูญเสียเวลามากมายไปกับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกอย่างจบเร็วที่สุด แต่มันควรจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนบ้าง ข้าพเจ้าไม่อยากให้การถูกจองจำของข้าพเจ้าสูญเปล่า อย่างน้อยๆ ข้าพเจ้าควรยืนยันในสิทธิการตีความทางศิลปะเสียก่อนที่จะยอมรับสารภาพ

เพราะตอนนี้สถานะของข้าพเจ้าเปลี่ยนไปเล็กน้อย จากเด็กผู้หญิงที่รักในการเล่นละครและเชื่อมั่นในพลังของมัน กลายเป็น นักต่อสู้ผ่านงานศิลปะ แต่ตัวข้าพเจ้ารู้ดีว่าข้าพเจ้าไม่ใช่นักต่อสู้ ข้าพเจ้าเป็นเพียงนักแสดง ข้าพเจ้าต้องทบทวนว่าสถานะใหม่ที่พวกเขามอบให้ข้าพเจ้านั้นเป็นประโยชน์หรือโทษกับข้าพเจ้ามากเพียงใด ข้าพเจ้าต้องรอบคอบกับชีวิตกว่าเดิม

แต่ไม่ว่าอย่างไร สิ่งที่ข้าพเจ้ายังเชื่อมั่นและเชื่อมั่นมากกว่าเดิม คือ “ละครเปลี่ยนสังคมนี้ได้” ละครไม่ใช่แค่เครื่องบันเทิง ละครเข้าถึงผู้คนรากหญ้า หาใช่ศิลปะของคนชั้นสูง

หากข้าพเจ้าตัดสินใจยอมรับสารภาพจะยังมีใครรักและชื่นชมข้าพเจ้าต่อไปไหม พวกเขาจะยังดูแลครอบครัวของข้าพเจ้าไหม เมื่อวานข้าพเจ้าอิ่มเอมกับการได้รับกำลังใจ แต่ลึกๆ แล้วข้าพเจ้าต้องการใช้ชีวิตมากกว่า หากข้าพเจ้าตัดสินใจจะรับสารภาพแล้วข้าพเจ้าจะให้เพื่อนๆ หาหลักฐานหรืออะไรมากมายไปเพื่ออะไรกัน เมื่อตัวข้าพเจ้าเลือกจะยอมแพ้แล้วก็ไม่ควรให้พวกเขาต้องมาเหนื่อยเพราะข้าพเจ้าอีก

ข้าพเจ้าไม่สามารถปกป้องใครได้อีกต่อไป แม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองข้าพเจ้าก็ปกป้องไม่ได้ ความฝังใจถึงคำโกหกของพวกผู้ใหญ่ การไร้ความจริงใจของพวกเขายังติดอยู่ในทุกๆ มโนสำนึกของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเต็มไปด้วยความหวาดระแวง เมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้าไร้ประโยชน์ ไม่สามารถช่วยใครได้อีก ข้าพเจ้าก็เป็นแค่คนไร้ค่าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ ข้างในหรือข้างนอก ข้าพเจ้าพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ พยายามสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อที่พวกเขาจะให้คุณค่าแก่ข้าพเจ้า เพราะตัวข้าพเจ้าไม่อาจอยู่ได้โดยไร้คุณค่า ข้าพเจ้าขาดความรัก ขาดการมอบคุณค่า ข้าพเจ้าจึงแสวงหามันมากกว่าคนอื่นๆ แต่สุดท้ายข้าพเจ้าก็ไม่ได้อะไรกลับมา

มีผู้คนมากมายเสียสละมากกว่าข้าพเจ้า พวกเขายอมแลกแม้แต่ชีวิตและอิสรภาพ เหตุใดพวกเขาจึงไม่ได้รับการดูแลเลย อะไรคือสิ่งตอบแทนสำหรับนักต่อสู้ ข้าพเข้ายิ่งหดหู่เมื่อมองเห็นชะตากรรมที่พวกเขาได้รับ สิ่งที่ข้าพเจ้าทำได้คือการเติมกำลังใจและคอยปลอบใจพวกเขา ทั้งๆ ที่หัวใจข้าพเจ้าเองก็บอบช้ำ แน่นอนว่าข้าพเจ้ารู้ดีว่านักการเมืองนั้นไม่เคยอยู่ข้างประชาชน พวกเขารอคอยแต่การเลือกตั้ง ผู้คนมากมายยังคงเชื่อมั่นในคุณทักษิณ ข้าพเจ้าเองก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงเชื่อมั่นในคนที่ชอบผลักคนอื่นไปตายแทน แล้วตัวเองก็ยังใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ ข้าพเจ้าไม่เคยเชื่อว่าคนคนนั้นจะยอมแลกชีวิตกับประชาชนจริงๆ เขาเพียงแต่เอาประชาชนมาเป็นโล่กำบังกระสุนให้กับตัวเองเท่านั้น น่าสงสารก็แต่ประชาชน จน-เจ็บ-ตาย เจ็บ-จน-ตาย ไม่มีใครให้ความจริงใจ เป็นเพียงแค่เหยื่อในสงครามของชนชั้นนำ ความอยุติธรรมและความกระหายอำนาจ เมื่อไรหนอประชาชนจะเลิกงมงายกับวีรบุรุษเสียที ไม่มีจริง

ข้าพเจ้าอาจจะต้องลองทำความเข้าใจสถานะของตัวเองใหม่ นั่นคือ ตอนนี้ข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เล่น ข้าพเจ้าเป็นเพียงตุ๊กตาที่เขาจับมาใส่กล่องไว้

ราวกับว่าปีกสองข้างของข้าพเจ้าถูกยื้อ ดึง จากคนสองฝั่ง หากฝั่งใดฝั่งหนึ่งชนะ ข้าพเจ้าก็พิการอยู่ดี... เวลาที่ข้าพเจ้าต้องการคำปรึกษา พวกเขามักมาไม่ทันเสมอ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไรดี

การชนะอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าชนะใจศัตรู แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย เพราะสิ่งยิ่งใหญ่ได้มายากเสมอ ข้าพเจ้ายังคิดไม่ออกว่าข้าพเจ้าจะทำได้อย่างไรกัน ยิ่งข้าพเจ้าจะต้องปกป้องตัวเองไปพร้อมๆ กับปกป้องคนอื่นๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อความต้องการเอาตัวรอดมาปะทะกับความรับผิดชอบ

นี่ไม่ใช่สงครามของเรา การต่อสู้ที่มีแต่เอาประชาชนไปตายเปล่าช่างสร้างความเจ็บปวดมากมายเหลือเกิน ในยุคของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะเห็นผู้คนตายเปล่าอีกแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ผู้คนตกไปเป็นเครื่องมือของพวกเห็นแก่ตัว ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะเอาชีวิตประชาชนมากมายมาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะในความเป็นจริง ผู้มีอำนาจสามารถประกาศการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ด้วยปากของพวกเขาเอง มิใช่เอาซากศพประชาชนมาเป็นข้ออ้างใดๆ

การกลายเพศของมนุษย์เกิดขึ้นได้เหมือนกับสัตว์อื่นๆ หรือบางทีอาจเกิดขึ้นก่อน ข้าพเจ้าเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่งว่ามีปลาบางชนิดจะกลายเพศหากในบ่อมีเพียงเพศเดียว ในสังคมมนุษย์ก็เช่นกัน ข้าพเจ้ายังหาเหตุผลไม่ได้ว่าเพราะความสมดุลตามธรรมชาติ หรือเพราะความมั่นคงในจิตใจกันแน่

มนุษย์ทุกคนต้องการการปฏิบัติที่ดีต่อตัวเอง แต่เมื่อมีโอกาส มนุษย์มักจะปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันด้วยความทารุณเสมอ ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเพราะอะไรจึงทำให้มนุษย์กระทำสิ่งตรงกันข้ามกับที่ตัวเองต้องการกับผู้อื่น

เมื่อหมดเวลาการต่อรอง ความตึงเครียดก็ลดน้อยง แน่นอนที่สุด เพราะทุกๆ อย่างจะได้เดินไปตามเส้นทางของมันเสียที

ข้าพเจ้าต้องรู้จักการรอคอย และฝึกฝนความอดทน ขอบคุณที่ทำให้คนที่ไม่เคยรอคอยและความอดทนน้อยเช่นข้าพเจ้าได้ฝึกฝน ข้าพเจ้ารับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ที่รอคอย พวกเขาคอยวันแล้ววันเล่า ยอมจำนนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าจะไม่มีญาติมาเยี่ยม ไม่มีทนาย ไม่รู้กฎหมาย สิ่งเหล่านี้เองทำให้ผู้คนต้องยอมจำนน

ความมหัศจรรย์เกิดขึ้นในชีวิตของข้าพเจ้าตลอดเวลา ข้าพเจ้าได้ไปศาลในตอนบ่าย

สมองของข้าพเจ้าคิดนิทานได้เร็วกว่าคำแถลงของศาลเสียอีก อาจเป็นเพราะข้าพเจ้ามีหัวใจเบิกบาน ข้าพเจ้าจึงใช้เวลาวาดรูปและแต่งนิทาน

ไม่มีคำทำนายใดเป็นนิรันดร์ ข้าพเจ้าเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคดีความและชีวิตของข้าพเจ้านั้นขึ้นอยู่กับคำตัดสิน ผู้มีอำนาจเหนือข้าพเจ้าจะใช้เหตุผลใดมาจองจำข้าพเจ้าย่อมได้ แต่สิ่งที่เขามิอาจจองจำได้คือ นกน้อยของข้าพเจ้า มันกำลังบินวนเวียนอยู่เพื่อรอให้หัวใจข้าพเจ้าสะอาดเสียก่อน

มีผู้คนเข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นผู้เขียนบทละครเรื่องนั้น ข้าพเจ้าอยากจะให้พวกเขาเอางานเก่าๆ ของข้าพเจ้ามาเทียบดูเสียจริงๆ หากงานนั้นเป็นของข้าพเจ้าอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าคงภูมิใจมากกว่านี้ ข้าพเจ้าไม่อาจหาประโยชน์จากสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ภูมิใจ ข้าพเจ้าต้องปกป้องคนที่ข้าพเจ้าต้องปกป้อง นกน้อยหัวเราะเยาะไปกับข้าพเจ้า

หากเรามองว่าปัญหาทุกอย่างในชีวิตล้วนเป็นเรื่องมหัศจรรย์แล้ว เราจะไม่ทุกข์ร้อนมากมายนัก ข้าพเจ้าเพิ่มเข้าใจว่าความมหัศจรรย์เกิดกับเราตลอดเวลา

มนุษย์ที่เป็นแม่คงเจ็บปวดที่สุดเพราะคิดถึงลูก แม่หลายคนที่ข้าพเจ้าพบเจอมีลูกน้อยต้องดูแล แม่ของข้าพเจ้าก็เช่นกัน แม่คงคิดถึงข้าพเจ้ามากมาย ข้าพเจ้ากับแม่ไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน ข้าพเจ้าจึงไม่คิดถึงแม่มากนัก นี่เป็นการดีสำหรับหัวใจของข้าพเจ้า ความคิดถึงทำร้ายเราได้มากพอๆ กับความโกรธ-ความแค้น และความหวาดระแวง

ผู้คนที่นี่ขาดแคลนรอยยิ้ม ไม่ใช่รอยยิ้มบนใบหน้า แต่เป็นรอยยิ้มให้กับตัวเอง หากข้าพเจ้าจะเขียนหนังสือกสักเล่ม ข้าพเจ้าคงเขียนถึงมุมมองที่จะสร้างประโยชน์ในการใช้เวลาให้คุ้มค่า มากกว่าการเตือนใครๆ ก็ตามว่าไม่ควรทำตัวไม่ดี เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ถูกจองจำ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าในสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียมนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเดินเข้าไปสู่การถูกจองจำด้วยกันทั้งนั้น

หลายคนไม่อยากให้ข้าพเจ้ากลับมาอีกหลังจากการออกไปศาลหลายๆ ครั้งของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าก็กลับมา ความจริงข้าพเจ้าเองก็ยังรู้สึกสนุกกับการอยู่ในที่ที่มีความหลากหลายมากมายเช่นที่นี่ มีเรื่องราวมากมายให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ เพื่อเป็นวัตถุดิบและต้นทุนในชีวิต ข้าพเจ้าไม่ใช่เพียงเรียนรู้จากหนังสืออีกแล้ว แต่ข้าพเจ้าสัมผัสมันจริงๆ

วันที่ 9 กันยายน พวกเขามาหาข้าพเจ้าอีก...ข้าพเจ้าไม่ร้องไห้อีกแล้ว....

ยิ่งถูกจำกัดมากเท่าใดความคิดสร้างสรรค์และสัญชาตญาณยิ่งถูกขับออกมามากเท่านั้น

หากเราใช้ศาสนาเพื่อกล่อมเกลาผู้คนอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพผู้คนจะไม่หันกลับไปทำสิ่งที่ผิดอีก และหากมีการบริหารจัดการทรัพยากรที่เพียงพอ ผู้คนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครขาด ไม่มีใครเกิน ไม่มีใครถูกกดขี่ข่มเหง ก็จะไม่มีใครต้องลักขโมย ต้องค้ายาเสพติด แต่หากจะมีก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นเพราะความโลภและความอยากได้อยากมีที่อยู่ในใจของพวกเขาเอง เราจึงสามารถต่อว่าเขาเป็นนใจหยาบได้อย่างเต็มที่ แต่หากว่าระบบการจัดการทรัพยากรไม่สมบูรณ์ เราจะกล่าวโทษผู้คนว่าเป็นผู้โฉดชั่วและกระทำความผิดบาปทั้งหมดนั้นได้อย่างไรกัน

บัดนี้ในสายตาของคนบางคน ข้าพเจ้าคงกลายเป็นผู้โฉดชั่วให้ร้ายแก่ผู้อื่น และเห็นแก่ตัวเป็นที่สุด ข้าพเจ้าจะคงความศรัทธาในตัวข้าพเจ้าเองได้อย่างไร พวกเขาจะมองข้าพเจ้าด้วยสายตาร้ายกาจเพียงใด และตัวข้าพเจ้าเองจะอดทนต่อสายตาเช่นนั้นได้หรือไม่ แต่ถึงอย่างไรหากพวกเขามองข้าพเจ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าความจริงคืออะไร เมื่อย้อนมองถึงความงามของมัน ข้าพเจ้าก็ปล่อยให้มันติดอยู่ที่นี่พร้อมกับข้าพเจ้า

นกน้อยยังคงลังเลที่จะบินเข้ามาอยู่ในหัวใจของข้าพเจ้า เพระมันอาจจะยังไม่สะอาดและแข็งแรงเพียงพอ หัวใจของข้าพเจ้าขุ่นมัวเกินไป

ความเชื่อเยียวยาหัวใจมนุษย์ได้ดีกว่าหลักการและเหตุผล มิใช่เพียงความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึงความเชื่อมั่นต่อตนเองด้วย มนุษย์ล้วนต้องการการรับรองความเชื่อในจิตใจเสมอ เพราะมนุษย์นั้นเปราะบาง จึงต้องมีศาสนาไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวและสนับสนุนความเชื่อมั่นของตนเอง

ราวกับว่าพวกเขาประณามข้าพเจ้าที่ข้าพเจ้าเอ่ยชื่อน้องน้อย พวกเขาคิดว่าข้าพเจ้าควรทำอะไรได้มากกว่านี้หรือ คิดว่า ณ เวลานั้นข้าพเจ้ามีพลังมากพอจะปกป้องใครๆ อย่างนั้นหรือ เอาเข้าจริง ข้าพเจ้าสามารถทำลายผู้คนได้มากกว่านี้ เวลาที่ข้าพเจ้าถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำร้ายข้าพเจ้าหรือแม้แต่การนิ่งเฉยต่อการขอความช่วยเหลือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะฆ่าเขาทิ้งเสียจากหัวใจของข้าพเจ้า พวกเขาไม่สมควรจะได้รับการปกป้องจากข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิอาจกางแขนปกป้องคนที่เฉยเมยต่อความเจ็บปวดของข้าพเจ้าได้ พวกเขาก็ไม่ต่างไปจากศัตรูของข้าพเจ้าเลย หากใครมองว่าข้าพเจ้านั้นเห็นแก่ตัวก็ขอให้ข้าพเจ้าเป็นกระจกส่งสะท้อนไปถึงพวกเขาเถิดว่าตัวพวกเขาเองก็เห็นแก่ตัวไปไม่น้อยกว่าข้าพเจ้า

เมื่อคุณยอมเป็นทาสเสียครั้งหนึ่งแล้ว คุณก็จปฏิเสธการเป็นทาสต่อไปไม่ได้อีก การจะทำให้ความเป็นทาสสิ้นสุดลงคงมีอยู่ไม่กี่ทาง คือนายทาสเอ่ยปากให้เป็นไท หรือหมดลมหายใจไปเสีย การฆ่าตัวตายอาจฟังดูไร้ศักดิ์ศรี แต่การตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีที่มีอยู่น้อยนิดก็พึงทำได้ ไม่ใช่เพื่อตัวข้าพเจ้าเอง เพื่อหัวใจของข้าพเจ้า

“ออกไปแล้วจะยังคงเล่นละครอยู่อีกไหม” เป็นคำถามที่คอยตอกย้ำคำตอบในหัวใจของข้าพเจ้าเสมอ บางครั้งข้าพเจ้าก็กลัวการแสดงจับใจ แต่บางครั้งข้าพเจ้าก็ปรารถนาและกระหายที่จะแสดง เมื่อออกไปแล้วข้าพเจ้าจะไม่ใช่คนธรรมดาอีกต่อไป หลายคนบอกกับข้าพเจ้าอย่างนั้น แต่นี่แค่ระยะแรกเท่านั้น วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่สามารถรู้ได้ ดังนั้นการพึ่งพาตัวเองอย่างที่เป็นมาเสมอจึงจะดีที่สุด แม้หากจะต้องเริ่มนับศูนย์ใหม่ ข้าพเจ้าก็ต้องทำ

ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับคนรักถึงความกังวลใจของข้าพเจ้า ถึงอนาคตของเรา ข้าพเจ้ามักพูดจากระทบความรู้สึกของเขา เราต่างไม่สบายใจ บางครั้งข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าการถมเอาความรู้สึกแย่ๆ ทั้งหมดลงไปที่เขานั้นทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่นั่นคือการทำร้ายกัน ไม่มีใครรักข้าพเจ้าเท่ากับเขา แต่พอข้าพเจ้าคิดถึงความผิดพลาดในชีวิต ข้าพเจ้าก็จะมองเห็นเขาในเหตุการณ์เหล่านั้นเสมอ คงเป็นเพราะเขาอยู่ข้างกายข้าพเจ้าในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต ข้าพเจ้าจึงมองเห็นแต่เขา เขาบอกให้ข้าพเจ้าปล่อยความผิดนั้นไปเสีย แต่ข้าพเจ้าทำไม่ได้ เขาและข้าพเจ้าเจ็บปวดมากมายพอๆ กัน บาดแผลเกิดขึ้นกับเรามากมายพอๆ กัน ข้าพเจ้าไม่ควรเอามีดไปกรีดหัวใจเขาซ้ำอีก

ข้าพเจ้าเพิ่งเข้าใจถึงแผนการของพระเจ้าที่มีต่อข้าพเจ้า เพราะพระองค์มีแผนการที่ดีกว่าสำหรับเราเสมอ ข้าพเจ้าแค่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเท่านั้น

เมื่อข้าพเจ้ามีรอยยิ้ม เพื่อนข้างนอกก็ยิ้มได้ ความจริงแล้วข้าพเจ้ายิ้มเสมอแต่เวลาเจอพวกเขา เรามักจะร้องไห้ ครั้งต่อไปเราจะร้องเพลงด้วยกัน

สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มิใช่บทสวดใดๆ หากแต่เป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิตต่างหาก การแบ่งปันและการให้เป็นสิ่งที่ดีแต่ต้องสำหรับคนที่รู้จักพอเท่านั้น

กำลังใจจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาสัมผัสหัวใจของข้าพเจ้า บางทีการประกาศยอมรับความผิดนั้นอาจเป็นการยืนยันในการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างก็เป็นได้

ข้าพเจ้าสงสารพี่ชมพูนุช พนักงานสอบสวนในคดีของข้าพเจ้าเหลือเกิน การทำหน้าที่ท่ามกลางความกดดันนั้นไม่เป็นที่ปรารถนาของใครทั้งนั้น ไม่มีใครอยากเป็นศัตรูกัน แต่เราต่างมีหน้าที่ที่จะต้องทำ

ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าผู้คนที่ทุกข์จะกดทับตัวเองด้วยความทุกข์ไปเพื่ออะไร ไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก นอกจากจะทุกข์เพิ่มขึ้นเท่านั้น และเมื่อมนุษย์ไม่มีความสุขในการอยู่ที่ใด มนุษย์ก็จะไม่มีความอยากพัฒนามันให้ดีขึ้น

เมื่อเราอยู่ในหลุมลึกมืดดำทำให้เรามองเห็นความสว่างของแร่ธาตุหลากหลายมากยิ่งขึ้น ความหลากหลายงดงามเสมอ หากคุณเชื่อมั่นในความหลากหลายของมนุษย์คุณย่อมอยู่ในทุกที่ด้วยความชื่นชมยินดี

เรารู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพมากมายเมื่อเราไม่รู้ว่าคนลุ่มอื่นมีมากกว่าเราเพียงใด ประชาชนในเกาหลีเหนือก็เช่นกัน บางครั้งข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าเสรีภาพที่ข้าพเจ้าได้รับเพียงพออยู่แล้ว จนกระทั่งที่คนข้างนอกเคาะกระจกปลุกข้าพเจ้า

ภายใต้กระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ข้าพเจ้าไม่มีทางชนะ เปล่าประโยชน์ที่จะทำให้ทุกอย่างยืดเยื้อและเปลืองเวลา เพียงแต่ข้าพเจ้าต้องต่อรองทุกๆ อย่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ข้าพเจ้าไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไป ไม่ว่าอย่างไรทุกๆ อย่างก็คงมิอาจเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีโอกาสที่รัฐบาลที่ผู้คนเลือกสรร หรือต่อให้เพื่อไทยชนะ มันก็ไม่มีความหวังอะไรสำหรับเรา ข้าพเจ้าไม่อาจหวังให้ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ไม่อาจคาดหวังให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ข้าพเจ้าทำได้เพียงรอคอยและรอคอยให้เวลาทุกข์นั้นผ่านไป ไม่ใช่ความทุกข์ของข้าพเจ้า แต่เป็นความทุกข์ของขบวนแห่งนี้ต่างหาก ข้าพเจ้าเดินถอยหลังออกจากขบวนนี้ได้ .. เมื่อข้าพเจ้าเป็นอิสระและเหนื่อยเกินไป แต่น่าแปลกที่ข้าพเจ้าไม่เหนื่อยเลยแม้จะต้องอยู่ที่นี่ เหมือนทุกอย่างกระโดดโลดเต้นอยู่ในหัวของข้าพเจ้า แต่ไม่รู้ว่ามันจะหมดแรงลงไปเมื่อใดเหมือนกัน 

เราจะมีบทเพลงในยุคของเรา  บทเพลงแห่งช่วงเวลาของเรา เราะจะมีวรรณกรรมในยุคของเรา เราจะมีบทกวีในยุคของเรา ข้าพเจ้าช่างชื่นบาน หากยุคต่อไปจะมีเรื่องราวของพวกเรา เราหมกมุ่นและพร่ำร้องบทพลงของคนยุคเก่ามานานเกินไป เราฝังใจอยู่กับวิถีของพวกเขามานานเกินไป

บ่อยครั้งที่ข้าพเจ้าคำนึงถึงอนาคตของตัวเองว่าวันหนึ่งข้าพเจ้าจะได้ไปต่างประเทศตามที่ข้าพเจ้าอยากไปหรือไม่ ข้าพเจ้าจะต้องใช้เวลาทุกนาทีที่อยู่ที่นี่สร้างต้นทุนให้กับชีวิตมากที่สุด และอาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนข้างนอกด้วย

โดยความเป็นจริงแล้วข้าพเจ้าไม่เคยเห็นคนธรรมดาที่ต้องถูกจองจำในคดีเช่นเดียวกับข้าพเจ้าออกไปแล้วมีอนาคตที่ดีเลย พวกเขายังต้องหลบซ่อน ไม่มีงานทำ รับเงินบริจาคที่มีคนหักหัวคิว ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ข้าพเจ้าจะเป็นเช่นนั้นไหม ข้าพเจ้าไม่อยากอับจนเช่นนั้นเลย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตของตัวเองให้มากๆ

บางครั้งศัตรูของเรามาพบเจอเรามากกว่ามิตร การทำให้คนชังนั้นไม่ยาก แต่การทำให้เรารักตลอดไปนั้นยากกว่า ชายคนหนึ่งเลิกรักข้าพเจ้า แต่มิใช่ทุกคนจะเลิกรักข้าพเจ้า

เนื่องจากละครเรื่องนั้นไม่ได้งดงามเพียงพอ ข้าพเจ้าจึงไม่กล้าเรียกมันว่างานศิลปะ และต่อสู้ด้วยการกล่าวอ้างความเป็นศิลปะได้ และหากใครจะคิดว่างานชิ้นนั้นได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่ยินดีที่จะรับมันไว้ เพราะข้าพเจ้ารู้ดีว่าข้าพเจ้ามิควรแอบอ้างเอาสิ่งที่ตัวเองไม่ควรได้รับมาเป็นของตัวเองเลยแม้แต่น้อย ข้าพเจ้ายังคงลังเลว่าจะยืดตัวแถลงข่าวว่านั่นคืองานศิลปะได้อย่างไรกัน

ข้าพเจ้าใฝ่ฝันเสมอว่าจะมีโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้หรอกว่าข้าพเจ้าจะไปเอาเงินมาจากไหน ข้าพเจ้าคิดได้เพียงว่าข้าพเจ้าจะทำงานหาเงินสะสมมาให้ได้เยอะๆ เพื่อวันนึงจะสร้างโรงเรียนได้ แต่ตอนนี้ข้าพเจ้าก็ทำงานไม่ได้แล้ว

โรงเรียนของข้าพเจ้าจะไม่มีตึก ไม่มีห้องเรียน ไม่มีโต๊ะเขียนหนังสือเรียงกันเป็นแถว ไม่มีกระดานดำ  แต่จะมีต้นไม้ มีบ้านดิน บ้านไม้หลังเล็กๆ ให้เด็กๆ ช่วยกันดูแล เด็กๆ จะได้เรียนศิลปะเป็นวิชาแรก แต่ศิลปะจะถูกสอนไปพร้อมๆ กันกับทุกวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา การปกครอง ศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมทุกๆ ศาสตร์เข้าหากัน พวกเราถูกแยกให้เรียนแต่ละอย่างมากเกินไป จนไม่สามารถบูรณาการทุกๆ อย่างได้เลย เด็กๆ จะได้เรียนและรู้จักศาสนาทุกๆ ศาสนา ก่อนที่พวกเขาจะเลือกว่าจะนับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถืออะไรเลยก็ตาม เด็กๆ จะได้เรียนรู้และสรุปบทเรียนที่ได้ในแต่ละวันด้วยตัวของพวกเขาเอง เพื่อจะให้พวกเขาคุ้นเคยกับการตั้งคำถามและสังเกต เด็กๆ จะไม่ต้องท่องจำอะไรทั้งนั้น ทุกคนจะได้พัฒนาความถนัดของตัวเองอย่างเต็มที่

ข้าพเจ้าฝันเฟื่องมากเกินไป แต่ถ้าข้าพเจ้าเนรมิตรอะไรได้ นี่ก็จะเป็นสิ่งแรกที่ข้าพเจ้าจะทำต่อไป ถ้าข้าพเจ้าจะได้ออกไป ข้าพเจ้าจะต้องเริ่มต้นทำความฝันของข้าพเจ้าให้สำเร็จ ตอนนี้ข้าพเจ้าคงได้แต่ฝากความฝันเอาไว้กับมิตรสหาย เพราะเมื่อถึงวันที่ข้าพเข้าออกไปสู่โลกจริงแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าจะยังจำมันได้อยู่หรือไม่ และหัวใจของข้าพเจ้าจะยังเข้มแข็งอยู่อีกไหม เพราะข้าพเจ้าไม่ได้ฝันว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงอายุของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องเตรียมทุกๆ อย่างให้พร้อมสำหรับคนรุ่นต่อไป

 ข.ญ.ภรณ์ทิพย์

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ว่าด้วยสภาปฏิรูปลวง

$
0
0

 

เมื่อถูกถามถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีต ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ได้อธิบายในวันที่ 15 ตุลาคม ว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ถืออำนาจก็ทำกันตามสบาย จะไม่ไปขัดขวาง แต่ตนไม่สนใจและติดตามข่าว สปช. ไม่ได้อ่านรายชื่อด้วยช้ำว่าเขาเลือกใครมาใช้บ้าง และไม่ดูแม้แต่ใครมาเป็นรัฐมนตรีบ้าง เพราะไม่ได้มาจากประชาชน และไม่มีค่าพอที่จะไปใส่ใจ และเมื่อถามว่า ถ้า คสช. มีอำนาจนานเกิน 1 ปีจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เขาจะอยู่กี่ปีก็ตามใจเขา เพราะเขามีอำนาจ ไม่เช่นนั้นจะมาอ้างอีกว่าเวลาน้อย

ตามธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ คสช.ที่ถูกบังคับใช้กันอยู่ในขณะนี้นั้น ได้กำหนดให้มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีจำนวนไม่เกิน 250 คน จากคณะกรรมการสรรหาจังหวัดจำนวน 77 คน และคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่หัวหน้าคณะ คสช.แต่งตั้ง รวม 11 คณะเสนอมาอีกจำนวน 173 คน และสุดท้าย คณะคสช.ก็เป็นผู้คัดเลือกแล้วนำทูลเกล้าเสนอแต่งตั้ง ผู้จะมาเป็นสมาชิกต้องทำการสมัคร แต่ผู้สมัครมีคุณสมบัติข้อหนึ่งว่า จะต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเท่ากับเป็นการกีดกันอดีตสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนมากที่เคยโดนคดีเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ทั้งที่การเพิกถอนสิทธินั้นไม่ได้มีความเป็นธรรม

ตามธรรมนูญชั่วคราวระบุไว้ด้วยว่า สภา สปช.นี้จะทำหน้าที่ “ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เพื่อเสนอต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หน้าที่สำคัญของสภานี้ คือการนำเสนอกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธาน สปช.จะเป็นผู้แต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ส่วน สภา สปช.ก็จะทำหน้าที่เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น

แต่กระนั้น ในกระบวนการทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า สภาปฏิรูปชุดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนและยอมรับเลยจากฝ่ายพลังประชาธิปไตย ในปีกของคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย หรือกลุ่มนักวิชาการประชาธิปไตย ปัญหาใหญ่ที่สุดก็เป็นเพราะที่มาของกระบวนการทั้งหมดไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่มาจากการรัฐประหารที่ล้มล้างประชาธิปไตย และการสถาปนาอำนาจของคณะทหาร ทำให้ข้ออ้างที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกลายเป็นสิ่งเหลือเชื่อ เพราะย่อมเป็นไปได้ยากที่ประชาธิปไตยอันแท้จริงจะคลอดมาจากการรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตย (เข้าข่ายที่ว่า งาช้างคงไม่งอกมาจากปากสุนัข)

ยิ่งกว่านั้น ถ้าย้อนไปก่อนหน้าการรัฐประหาร ประเด็นสำคัญที่ขัดแย้งกันในขณะนั้น คือ ฝ่าย กปปส.และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เสนอหลักการในการโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ให้”ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แต่ฝ่ายนักวิชาการประชาธิปไตยเสนอให้”เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ดังนั้น การดำเนินการทั้งหมดของสภา สปช.นี้ ก็คือ การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งตามข้อเสนอของฝ่ายนายสุเทพนั่นเอง หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือ สภา สปช. มีหน้าที่โดยตรงในการเลื่อนการเลือกตั้งให้นานที่สุด และชอบธรรมที่สุด ในข้ออ้างอย่างง่ายก็คือ การปฏิรูปประเทศยังไม่เรียบร้อย

เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเป็นประเด็นที่พูดกันมานาน ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากที่ปราบปราบเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 ก็ได้พยายามสร้างความชอบธรรมโดยการตั้งคณะกรรมปฏิรูปขึ้นมาถึง 2 ชุด คือ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศ(คปร.) โดย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป โดย มี นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการทั้งสองชุดล้วนแต่ประกอบด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และเอ็นจีโอ คนสำคัญ ใช้เงินงบประมาณเป็นเงินเดือน เบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายอื่น ไปมากกว่าหกร้อยล้านบาท เพื่อได้ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองมาเก็บไว้ในลิ้นชัก ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2553 ก็ยังผ่านกฎหมายเพื่อก่อตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานมาจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นมีการปฏิรูปกฎหมายหรือการศาลที่จะให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้มากขึ้นแต่อย่างใด

จึงอาจสรุปได้เลยว่า ข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปการเมืองทั้งหมดที่มีการนำเสนออยู่โดยกลุ่มชนชั้นนำ ก็คือ กระบวนการที่จะมาลดทอนหรือทำลายประชาธิปไตยเสียงข้างมากของประชาชน เพราะกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีข้อสมมตฐานที่ยึดถือกันว่า การเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้น เป็นที่มาของนักการเมืองชั่ว และเป็นการเปิดทางให้คนทุจริตเหล่านี้มาปกครองประเทศ และเมื่อนักการเมืองเหล่านี้บริหารประเทศ ก็ใช้นโยบายประชานิยมหลอกลวงประชาชนที่โง่เขลา ให้เลือกพวกเขาอยู่ในอำนาจต่อไป กลายเป็นวงจรอุบาทย์ทางการเมืองไม่จบสิ้น จึงต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อควบคุมนักการเมือง ควบคุมนโยบายประชานิยม และทำให้ประชาชนฉลาดที่จะไม่เชื่อถือนักการเมือง

ปัญหาคือ ข้อสมมตฐานนี้ผิด เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้น นักการเมืองกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกจับตาและตรวจสอบมากที่สุดเสมอมา ดังนั้น นักการเมืองจึงไม่ได้เป็นแหล่งเดียวที่นำมาซึ่งความเลวร้ายอันจะต้องปฏิรูป สถาบันอื่นในสังคมก็มีส่วนช่วยค้ำจุนระบอบอันไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น ตั้งแต่ ข้าราชการ ศาลและระบบกฎหมาย กองทัพ สื่อมวลชนกระแสหลัก องค์กรธุรกิจผูกขาด ชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ เป็นต้น แต่สถาบันและกลุ่มทางสังคมเหล่านี้กลับถูกตรวจสอบน้อยมาก และบางองค์การ เช่น องค์กรตุลาการ ก็กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ห้ามตรวจสอบ ต้องศรัทธาในความยุติธรรมที่จะได้รับแต่เพียงอย่างเดียว ความผิดพลาดประการต่อมาก็คือ ประชาชนไทยไม่ได้โง่เขลา แต่รู้จักปรับตัวเลือกรับประโยชน์จากประชาธิปไตย ประชาชนจึงมีความคุ้นเคยกับประชาธิปไตยยิ่งกว่าชนชั้นนำ

ยกตัวอย่างประเด็นในการปฏิรูปสังคมไทย เช่น การปฏิรูปในด้านความยุติธรรม ควรจะต้องครอบคลุมถึงการยกเลิกกฎหมายเผด็จการ คำสั่งคณะรัฐประหาร การใช้กฎหมายสองมาตรฐาน การลงโทษผู้กระทำผิดอันเกิดกว่าเหตุ และ การใช้กฎหมายขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เป็นต้น หรือการปฏิรูปกองทัพ ต้องครอบคลุมถึงการลดขนาดของกองทัพ การยกเลิกเกณฑ์ทหาร และการยุติการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพ การปฏิรูปที่ปราศจากเรื่องเหล่านี้ ย่อมเป็นการปฏิรูปอันปราศจากความหมาย

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า จะฝากความหวังได้หรือไม่ว่า สมาชิก สปช. เหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยคนดีมีความรู้ที่คัดเลือกแล้วโดยฝ่ายทหาร จะสามารถสร้างสิ่งที่ดีอันนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านได้ คำตอบคือเป็นไปได้ยากมาก ก็ในเมื่อ สปช.ชุดนี้รวบรวมเอาคนที่มีความคิดในด้านเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทั้งหมดก็มาจากฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านประชาธิปไตย มีทางแต่จะเป็นไปได้ว่า จะมีมาตรการใหม่ในการจำกัดสิทธิในทางการเมืองของประชาชนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้เพราะกระบวนการชอง สปช.ทั้งหมดล้วนคับแคบ และมาผิดทิศทาง คำอธิบายของนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ที่ว่า สภานี้ไม่มีค่าควรแก่การใส่ใจ ก็เป็นไปตามนั้น

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 485 วันที่ 25 ตุลาคม 2557
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เวทีถอดบทเรียน 10 ปี ตากใบ “คืนอากาศให้ตากใบ โอกาสกับสันติภาพ”

$
0
0

ประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานี จัดเสวนา “ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี”ในงาน “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ย้อนความหลังวันวิปโยค คือบทเรียนราคาแพง ชี้บริบทความรุนแรงในปี 2547 ถูกทำให้มองผู้ชุมนุมเป็นอื่นนำมาสู่ความรุนแรง เผยชุดเหตุการณ์สร้างอคติ ความเกลียนชัง ตอกย้ำความทรงจำ 2 ด้าน ชี้บทเรียนของรัฐ คือผลักดันให้มีศัตรูเพิ่ม ต้องให้อากาศตากใบ ให้โอกาสสันติภาพ ทางออกของความขัดแย้ง ทหารห้ามนักศึกษาแสดงละครตากใบ ต่อรองได้แค่ชูป้าย




เมื่อเวลา 10.00 น. วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม 2557 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพปาตานีจัดเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนตากใบสู่อนาคตปาตานี” เนื่องในงาน  “รำลึก 10 ปี ตากใบ” ณ หอประชุม สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งตรงกับวันเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนรวม 85 คน โดยมีนายสุไฮมิง ดุละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (PERMAS) เป็นผู้ดำเนินรายการ

3 เหตุการณ์ใหญ่ในเดือนตุลา

นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) กล่าวว่า กล่าวว่า ในเดือนตุลาคมมีเหตุการณ์ใหญ่ๆ 3 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 และ 25 ตุลา 2547 แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ 2 เหตุการณ์แรกได้รับการยกย่องจากสังคมไทยว่าเป็นวีรชน แต่เหตุการณ์ตากใบไม่ได้รับการยกย่องเทียบเท่า 2 เหตุการณ์แรก แม้มีความสูญเสียเหมือนกัน อาจเป็นเพราะเป็นประเด็นอัตลักษณ์ หมายถึงไม่มีคนไทยพุทธหรือคนมลายูที่เป็นพุทธสูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ

นายตูแวดานียา มองว่า บางส่วนอาจมองว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบโดยตรงคือผู้สูญเสียหรือญาติ แต่ตนมองว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และเสียงสะท้อนจากชาวบ้านก็คือแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าอะไรทำให้เสียชีวิต เราน่าจะตั้งคำถามว่าใครทำให้เสียชีวิตมากกว่า ประเด็นต่อมาเรื่องหลักมนุษยธรรม เมื่อมองไปยังเหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น ภาพมันเหมือนกับเจ้าหน้าที่เจตนาที่จะให้เกิดเช่นนั้น แต่ลึกๆ เราไม่อาจทราบได้ คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้ฝ่ายนโยบายเห็นด้วยกับฝ่ายปฏิบัติการ

บริบทของปี 2547 ถูกทำให้มองเป็นอื่น

นายตูแวดานียา กล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ตากใบ ต้องย้อนไปดูเหตุการณ์ในช่วงต้นปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามจรยุทธ์ครั้งใหม่ หลังจากการปล้นปืนก็คือการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิต ต่อมาเป็นเหตุการณ์กรือเซะ จากนั้นจึงมีเหตุการณ์ 25 ตุลา จึงไม่แปลกที่เจ้าหน้าที่จะมองว่าไม่ใช่กลุ่มคนปกติที่มาร่วมชุมนุม เพราะส่วนหนึ่งไม่มีแกนนำที่ชัดเจน

“ถ้าวิเคราะห์โดยทั่วไป ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจจะวิเคราะห์ไปอีกแบบ และมีการสื่อสารออกไปสู่สาธารณะว่าการชุมนุมถูกจัดตั้งขึ้นมา ซึ่งการสื่อสารด้านเดียวสามารถครอบงำผู้คนได้” นายตูแวดานียา กล่าว

นายตูแวดานียา มองว่า ประชาชนที่ไปร่วมการชุมนุมก็เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และใช้รูปแบบสันติวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่การที่ประชาชนขาดประสบการณ์ ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน รวมไปถึงไม่มีการสื่อสารออกสู่สาธารณะที่ชัดเจน ไม่มีเครือข่ายกับองค์อื่นๆ ที่เห็นด้วยกับประเด็นความไม่เป็นธรรม ประชาชนจึงเคลื่อนไหวอย่างลำพังเพื่อที่จะสร้างหลักประกันความยุติธรรม หลักประกันสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของพื้นที่ความปลอดภัยและพื้นที่ทางการเมือง นี่คือเจตนาของพี่น้องตากใบที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ ณ เวลานั้นภาวะวิสัยของฝ่ายความมั่นคงมองว่า ไม่ใช่และให้ไม่ได้

เวทีที่ขาด 3 คนที่สำคัญ
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ตากใบ เวทีนี้ขาดคนไป 3 คนที่น่าสนใจ ก็คือ นักกฎหมาย เพราะเรื่องตากใบโยงไปถึงกระบวนการยุติธรรมและคดีความ อีกคนคือทหาร เพราะจะได้รู้ว่ากองทัพและรัฐไทยเรียนรู้บทเรียนจากตากใบอย่างไร และคนที่สามก็คือตัวแทนจาก BRN เพราะเขาเป็นตัวแสดงที่สำคัญมากในสงครามหรือในความขัดแย้งครั้งนี้

นายรอมฎอน กล่าวต่อไปว่า แม้ข้อมูลเรื่องตากใบในอินเตอร์เน็ตที่มีจะต่างหรือไม่ต่างกัน แต่ต่อให้อ่านข้อมูลเดียวกันความเข้าใจของคนต่างกันในแง่การทำงานด้านความคิด แต่คนมักจะเลือกอธิบายความเป็นจริงที่อยู่บนจุดยืนทางการเมืองบางอย่างกับมุมมองที่แตกต่างกัน

ชุดเหตุการณ์สร้างอคติ

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า เมื่อย้อนไปยังบริบทของปี 2547 ดังที่ตูแวดานียาย้อนให้ฟังนั้นยังขาดเหตุการณ์สำคัญอีก 2 ชุด คือ เหตุการณ์เกิดระเบิดที่เยอะมาก สะเก็ตระเบิดไม่อาจถามคนได้ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน การระเบิดจึงมีนัยยะทางการเมืองมาก

“อีกประการคือ วันที่ 22 มกราคม มีการสังหารพระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งเปลี่ยนหน้าการต่อสู้ในปาตานีในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะพระสงฆ์ไม่ใช่คนธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาหรือสัญลักษณ์ทางความดีของผู้คนอีกจำนวนมาก นั่นเป็นการเกิดขึ้นของกระแสอคติเกลียดชังเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทย”

ตอกย้ำความทรงจำ 2 ด้าน

นายรอมฎอน มองว่า ถ้าตีความแบบง่ายๆ ตากใบมีจุดเน้นอยู่ 2 ชุดหลักๆ ชุดแรกคือการแทรกแซงของมือที่สามมายุย่งปลูกปั่นและก่อให้เกิดความรุนแรง วันดีคืนดีไม่มีใครเคยคิดว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมที่ตากใบเป็นพันๆ คน และไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ความทรงจำในลักษณะนี้ยังมีอยู่เพราะเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นมันมีอะไรมากมาย

อีกด้านหนึ่งมีความทรงจำในเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลในระยะใกล้ด้วย ก็คือก่อนหน้านี้ประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างปาตานีกับสยาม และมีเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ทารุณกรรมเยอะแยะมากมาย เหตุการณ์ตากใบมันทำให้ประวัติศาสตร์เหล่านี้ใกล้ชิดตัวโดยที่ไม่ต้องย้อนไปร้อยๆ ปี และเป็นการยืนยันชุดความคิดอีกชุดหนึ่งว่า รัฐไทยไม่สามารถปกครองพื้นที่แห่งนี้ด้วยความยุติธรรมได้

บทเรียนของรัฐ คือผลักดันให้มีศัตรูเพิ่ม

นายรอมฎอน สะท้อนว่า เมื่อพูดถึงบทเรียน ในมุมของรัฐจากที่ได้ไปคุยมาปรากฏว่าเขาหวาดกลัวตากใบ 2 มาก เพราะไม่รู้จะรับมือกับการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้อย่างไร ซึ่งในช่วงตากใบนั้นต้องเผชิญกับ 2 เหตุ คือ เหตุซึ่งหน้าและการขนย้าย แต่ประเด็นที่ยากคือการตายภายในการดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก

“รัฐเองก็ประเมินแล้วว่าไม่น่าจะทำอย่างนั้น เพราะสิ่งที่ตามก็คือก่อกำเนิดนักรบรุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดารใจและมีอุดมการณ์ร่วม คล้ายกับ 6 ตุลา 19 ที่กลายเป็นรัฐไปผลักดันให้ศัตรูของรัฐเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเราไม่สามารถแยกเหตุการณ์ต่างๆ ออกจากกัน แต่เราต้องมองมันเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และเราจะเห็นว่า การเห็นเป็นระบบในลักษณะนี้สำคัญในทางการเมืองอย่างไร”

ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน

นายรอมฎอน กล่าวว่า ประเด็นต่อมาคือเรื่องความยุติธรรม กล่าวคือไม่มีความยุติธรรมเป็นดุ้นๆ ที่เราต้องการเพราะความยุติธรรมก็เป็นการเมืองอย่างหนึ่ง และในภาวะที่มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธมันทำให้ความยุติธรรมทำงานไม่ได้ นี่คือข้อสรุปที่น่าสนใจมาก ข้อสรุปนี้ได้ยินมาจากนักสิทธิมนุษยชนหรือนักกฎหมายเอง

“ความยุติธรรมไม่มีสูตรสำเร็จ โดยเฉพาะความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน อย่างกรณีราวันดาที่มีการฆ่ากันเป็นแสนๆ คน จะนำคนผิดไปขึ้นศาลทั้งหมดคงไม่ได้ แต่จะต้องมีกระบวนการเพื่อให้ผู้เสียหายรู้สึกว่า ได้รับความเป็นธรรม อาจจะรวมถึงการเยียวยาด้วย”

นายรอมฎอน กล่าว่าต่อว่า จะทำอย่างไรให้ตากใบเป็นเรื่องราวสาธารณะ ไม่ใช่แค่ประชาชนแต่รวมถึงภาครัฐด้วย เพื่อจะได้เข้าถึงกระบวนการสันติภาพที่เรียกว่า การแสวงหาทางออกในทางการเมือง เวทีวันนี้ถือว่ารัฐใจกว้างมากที่เปิดโอกาสให้มีการจัดได้ ในขณะที่ภาคอื่นๆ อาจมีปัญหาหากจัดกิจกรรมในทางการเมืองในลักษณะนี้

อากาศตากใบ-โอกาสสันติภาพ

“หลังเหตุการณ์ตากใบก็มีการชุมนุมเกิดขึ้นมากมาย รัฐเองก็พยายามที่จะรับมือเพื่อไม่ให้บานปลาย เขามีการพัฒนาเหมือนกัน พวกเราบอกว่าออกซิเจนฆ่าคนที่ตากใบ แต่เราอย่าให้ออกซิเจนฆ่าพวกเราด้วย กล่าวคืออย่ามองเรื่องตากใบหรือความรุนแรงโดยรัฐ หรือโดย BRN เอง มันจำกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง มันทำให้เราต้องระมัดระวัง เราต้องสร้างความเป็นไปได้ในทางการเมือง”

นายรอมฎอน เสนอว่า เราต้องให้อากาศตากใบ และให้โอกาสกับกระบวนการสันติภาพในการเปิดพื้นที่ในการที่จะถกเถียงอภิปราย เพราะมันมีแค่วิธีการนี้เท่านั้น ที่มันจะทำให้อำนาจต่อรองของคนที่ไม่ใช้อาวุธ ไม่ว่าจะฝ่ายใดมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น เพราะหากว่าคุณยังอนุญาตให้ผู้ที่ใช้กำลังทั้งสองฝ่ายเป็นใหญ่ ความตายก็จะอยู่ที่พวกเราเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นคุณจะต้องยิ่งให้อากาศมากขึ้น ให้โอกาสมากขึ้น
“เราต้องทำให้ตากใบมีชีวิตชีวาให้คนมีการอภิปรายมีการถกเถียง เราเจ็บได้ แต่เราต้องเปลี่ยนจากโดนกระทำมาเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ มาเคลื่อนไหวด้วย เพราะอากาศมันทำงานได้ดีในสิ่งที่มีชิวิต เราจึงต้องทำให้คนเคลื่อนไหวได้อย่างมีอิสระ”

วีรชนในสายตาประชาชน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเดือนตุลาเรามักจะนึกถึง 3 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังที่หลายคนกล่าวมาแล้ว แต่ทั้ง 3 เหตุการณ์มีความแตกต่างกัน เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถือเป็นวันมหาปิติ เพราะคนเรือนแสนออกมาชุมนุมบนท้องถนน และประชาชนเป็นฝ่ายชนะจนมีการร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ถือเป็นวันมหาวิปโยค เพราะหลังจากขบวนการนักศึกษาเติบโตในเรื่องประชาธิปไตย รัฐกังวลในเรื่องความเข้มแข็งของนักศึกษา และหลังจากการชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การล้อมปราบนักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม

นางชลิดา สะท้อนว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ข้างต้น ผู้ชุมนุมถูกเรียกว่าเป็นวีรชนจากฝ่ายประชาชน แต่ไม่ได้เป็นวีรชนในสายตาของรัฐ ดังนั้นกรณีตากใบหากจะเรียกว่าเป็นวีรชนก็เรียกไปเลย เพราะคงไม่ได้เป็นวีรชนในสายตารัฐเช่นเดียวกัน

ยังไม่มีทางออกที่ดีสำหรับตากใบ

นางชลิดา กล่าวว่า กรณีตากใบคล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เพราะหลังจากเหตุการณ์นั้น มีนักศึกษาหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก รัฐสูญเสียกองกำลังและงบมหาศาลในการใช้ต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความเข้มแข็งมากที่สุดในช่วงนั้น ก่อนที่จะมีนโยบาย 66/23 มีการนิรโทษกรรม รวมไปถึงความแตกแยกภายในพรรคคอมมิวนิสต์เอง ถือเป็นทางออกของปัญหาในครั้งนั้น หากแต่หลังเหตุการณ์ตากใบยังไม่มีทางออกที่ดีจนถึงปัจจุบัน

“กรณีตากใบหากจะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว ควรจะหาว่าใครเป็นคนสั่งการ กล้าเข้ากระบวนการยุติธรรมหรือไม่ เพราะเงินซื้อความยุติธรรมไม่ได้” นางชลิดากล่าว

นางชลิดา กล่าวต่อไปว่า การจัดเวทีในลักษณะนี้ไม่ใช่การต่อต้านรัฐ แต่เป็นการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจ และลบล้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ที่สำคัญพื้นที่เสวนาควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดอาวุธ และเมื่อเสวนาเสร็จแล้วกลับบ้านไปไม่มีผู้ติดตามภายหลัง เจ้าหน้าที่ควรเคารพคนทำงานด้านสันติภาพ

นางชลิดา เสนอว่า รัฐควรปล่อยนักโทษการเมือง หรือนักโทษทางความคิด ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ อย่างกรณีอันวาร์ เพราะเขาไม่เคยก่อเหตุความรุนแรงใดๆ เลย และรัฐควรปรับทัศนคติและต้องมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหา เพราะพวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายแต่เป้นผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐในทางการเมือง

“ชลิดา”เสนอให้ทำประชามติ

นางชลิดา เสนอต่อไปว่า รัฐจะต้องจัดการเรื่องการทำประชามติของประชาชน จะดำเนินก่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขหรือหลังจากนั้นก็ตาม เพราะเวทีเสวนาบีจารอปาตานี ที่ผ่านมา ประชาชนมีความสนใจประเด็นการทำประชามติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีสก็อตแลนด์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประชามติก็คือการแสดงทัศนะของประชาชนนั้นเอง
นางชลิดา กล่าวว่า ประเด็นสุดท้าย ประชาชนจะต้องเป็นส่วนกลาง กระบวนการสร้างสันติภาพจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีบทบาทให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วประชาชนจะต้องมีองค์ความรู้และมีความกล้าหาญ เพื่อที่จะปกป้องผลประโยนช์มหาศาลในพื้นที่แห่งนี้

ย้อนความหลังวันวิปโยค

นายอัซฮัร ลูเละ ผู้สื่อข่าว สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน (MEDIA SELATAN) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ตากใบด้วย เล่าว่า ในวันนั้นตัวเขาและเพื่อนๆ ได้ไปร่วมชุมนุมด้วย ด้วยความรู้สึกว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แม้มีความกลัวอยู่บ้าง โดยไปชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวบ้านที่ถูกจับกุมข้อหาให้อาวุธของรัฐแก่คนร้าย ขณะชุมนุมได้ยินเสียงปืนดังไม่ขาดสาย จากนั้นช่วงประมาณบ่ายสามกระสุนปืนได้พุ่งมาทางผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตาย
นายอัซฮัร เล่าต่อไปว่า ส่วนคนที่เหลือถูกจับมัดมือไขว้หลังด้วยเสื้อ เข็มขัดหรือเชือก แล้วถูกเอาขึ้นไปซ้อนบนรถจีเอ็มซีของเจ้าหน้าที่ นอนคว่ำหน้าซ้อนทับกันถึง 4 ชั้น ถูกนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก ทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 80 คน ซึ่งคดีนี้ศาลชี้ว่าขาดอากาศหายใจ และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก ถือเป็นวันวิปโยค ที่อาจเกิดจากความระแว้งที่มีต่อประชาชนจนเกินเหตุ

คือบทเรียนราคาแพง

“ผมไม่อยากเห็นการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ในวันนั้นอีก เพราะนี่คือบทเรียนที่ราคาแพง ที่เกิดจากความอคติ หรือการมองคนอื่นในแง่ลบ สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าเรายังมีอคติต่อกัน ดังนั้นผมมองว่าผู้ที่มีอำนาจจะต้องคุยกัน” นายอัซฮัร กล่าว

นางสาวรุซดา สะเด็ง อุปนายกสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERWANI) เล่าว่า ในช่วงเกิดเหตุ ตนดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และเกิดคำถามขึ้นมาว่า ในช่วงเดือนถือศีลอดขณะนั้น คนไปทำอะไรเป็นพันๆ คนทั้งที่หิวและกระหาย ตอนนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิมนุษยชน และสิทธิอื่นๆ หากเข้าใจตั้งแต่ตอนนั้น ตนก็คิดว่าคงจะไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วย และปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับตากใบมากมายในอินเตอร์เน็ต ซึ่งเมื่อเราค้นก็จะพบข้อมูลที่ไม่ต่างกัน

นางรุซดา มองว่า ไม่แปลกที่จะมีคนคิดว่าการชุมมีการจัดตั้งหรือเปล่า เพราะมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก ส่วนตัวมองว่าประชาชนตื่นตัวกับการกดขี่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เพียงแค่มีข้อมูลว่ามีแกนนำประมาณ 100 คน ปะปนกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าจึงใช้เหตุผลนี้ในการสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตทันที 6 คน เสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ที่เหลือถูกจับซ้อนทับบนรถ 5 ชั่วโมง ในระยะทาง 150 กิโลเมตร จนมีผู้สียชีวิตที่บางรายงานระบุว่า 89 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก

เยียวยากับความยุติธรรมคนละประเด็นกัน

นางสาวรุซดา กล่าวว่า การกระทำข้างต้นถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือประมาท และไม่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากไปกว่านั้นมีชุมชุม 58 คนถูกฟ้องก่อนที่จะถอนฟ้องในภายหลัง และมีการเยียวยาด้วยเงินรวมกว่า 700 ล้านบาท การเยียวยาคือการชดเชยในสิ่งที่มีอยู่และถูกทำให้หายไป นั่นคือ ชีวิตของผู้เป็นพ่อ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ รวมถึงมิตรสหาย จากที่มีชีวิตอยู่ถูกทำให้หายไปจากโลกนี้ ถึงต้องเยียวยามากกว่า 700 ล้านบาทก็จำเป็นต้องทำ แต่ถึงกระนั้นคดีความก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะนี่คือคดีอาญา มันคนละประเด็นกับการเยียวยา
ทหารห้ามแสดงละครตากใบ ต่อรองได้แค่ชูป้าย

จากนั้นในงานมีการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านบทกวี โดยนักกวี และนักเขียนในพื้นที่ ส่วนในช่วงมีการจัดกิจกรรมภาคสนาม : Flash Mob & Action หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีที่อยู่ใกล้สถานที่จัดเสวนา แต่ปรากฏว่า มีนายทหารยศ พ.อ.คนหนึ่งจากหหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีได้มาขอให้หยุดกิจกรรมเคลื่อนไหวนี้ โดยระบุว่าเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา แต่กลุ่มนักศึกษาที่มาจัดกิจกรรมได้ขอต่อรองเพราะเป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธี พ.อ.จึงอนุญให้ได้แค่การชูป้ายเท่านั้น ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีคณะบิ๊กไบต์จากประเทศมาเลเซียมาเยี่ยมชมมัสยิดกลางปัตตานีด้วย
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live




Latest Images