Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

การเมืองของการผลิต(วัฒนธรรม)อินดี้ในบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย

0
0

สำหรับวัยรุ่นที่โตในยุค 1990 คงคุ้นเคยกับคำว่า“อินดี้”เป็นอย่างดี  หากเราใช้ช่วงปีที่เกิดเป็นการแบ่ง“รุ่น”อย่างคร่าวๆอาจกล่าวได้ว่าอินดี้คือคนที่เกิดหลังสงครามเวียดนาม(ยุติในปี ค.ศ.1975) ฉะนั้นหากนับถึงปัจจุบันคนรุ่นนี้ก็อยู่ในช่วงวัยกลาง 30 ขึ้นไป  ที่จริงปรากฏการณ์ของรุ่นอินดี้เป็นที่สนใจศึกษาในงานวิชาการด้านวัฒนธรรมศึกษาและสังคมวิทยา ในแง่ของชนชั้นกับการผลิตและการบริโภควัฒนธรรมมาตั้งแต่ปลายยุค 1990  โดยส่วนใหญ่เป็นงานศึกษาในบริบทของสังคมตะวันตก  สำหรับงานศึกษานอกบริบทตะวันตกเพิ่งเริ่มมีในช่วงไม่ถึง 10 ปี สำหรับข้อเขียนสั้นๆชิ้นนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงคนรุ่นอินดี้ในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียกับการผลิตวัฒนธรรมผ่านความหลากหลายของรูปแบบวัฒนธรรม(cultural forms)และความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจของการดำเนินชีวิต(economic of life)

 (1)

เมืองบันดุงอยู่ในชวาตะวันตก เกาะชวา เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ต้าและสุราบายา บันดุงเป็นเมืองที่สร้างโดยดัชท์ อีสต์ อินเดีย (เนเธอแลนด์)ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18  และช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ดัชท์ อีสต์ อินเดีย เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ต้ามาที่บันดุง ปัจจุบันเมืองบันดุงมีประชากรราว 2.4 ล้านคน ในจำนวนนั้นราว 1.5 ล้านคนเป็นคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี หากคุยกับคนอินโดนีเซียพวกเขาจะกล่าวถึงบันดุงในแง่ของเป็นเมืองของคน(ท้องถิ่น)รุ่นใหม่และทันสมัย ต่างไปจากจาการ์ต้าที่เป็นเมืองหลวงและเมืองการค้า  ยอร์คยาการ์ต้าเป็นเมืองเก่า ในขณะบาหลีเป็นเมืองท่องเที่ยว ขณะเดียวกันบันดุงก็เป็นเมืองแห่งการช็อปปิ้งแบบที่พ่อค้าหัวใสทำเสื้อยืดสกรีน “Bandung, You Never Shop Alone”ขายกันเต็มเมือง ด้วยเวลาเดินทางจากจาการ์ต้าไปบันดุงเพียงแค่ 3 ชั่วโมงกว่า ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เมืองบันดุงจึงเต็มไปด้วยนักช็อปปิ้งมือเติบจากเมืองหลวง ย่านดาโก้และถนนเชียแฮมพลาสซึ่งมี Factory Outlet ของแบรนด์เนมดังนับ 10 แห่งจะเต็มไปด้วยลูกค้าที่มาจับจ่ายสินค้า แต่หากเราลัดเลาะจากย่านดาโกไปตามถนนเรียวและซอยเล็กซอยน้อยในถนนเรียว โลกของการช็อปปิ้งจะเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งในทันที่ เพราะย่านนี้คือย่านของอินดี้

(2)

อินดี้และชุมชนการผลิตวัฒนธรรมในบันดุงเกิดขึ้นในช่วงกลาง ค.ศ. 1990 จุดเริ่มต้นของอินดี้มาจากดนตรี( พั๊งค์, เฮฟวี่เมตัลและอินดี้ป็อป)และสตรีทแฟชั่น วงดนตรีอินดี้ป็อปชื่อดังอย่าง Pure Saturday ออกอัลบั้มแรกในปี ค.ศ. 1996 งานรวมเพลงวงพั๊งค์ Bandung’s Burning ออกในปี ค.ศ. 1997 โดย Riotic Record ซึ่งต่อมาเริ่มออกแบบเสื้อผ้าในแบรนด์ Riotic พร้อมกับเปิด Distros ( Distributor Store) เป็นร้านที่ขายทั้งเสื้อผ้าแฟชั่นและเทปเพลงไปในตัว รวมทั้งใช้เป็นที่แสดงดนตรีในบ้างครั้ง ก่อนหน้านี้ ในปี ค.ศ.1996 UNKL347( ใช้ชื่อในตอนแรกเปิดว่า 347) แบรนด์เนมของสตีทแฟชั่นที่ถือว่าเป็นแรงบันดัลใจให้กับอินดี้รุ่นหลังๆ ก็ถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มวัยรุ่นสเก็ตบอร์ดที่คิดสนุกออกแบบเสื้อผ้าให้กับเพื่อนๆกันเอง การเชื่อมโยงของดนตรี(band)และแบรนด์สินค้า(brand)เกิดขึ้นผ่าน Distro ที่เป็นห้องแถวคูหาขนาดเล็กๆที่พวกวัยรุ่นใช้เป็นที่วางขายงานสินค้าแฟชั่นและงานเพลง  ต่อมาได้กลายเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าระหว่างกลุ่ม Distro นับ 100 แห่งอันเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตทางวัฒนธรรมในยุคเริ่มแรกของอินดี้ในบันดุง  

Distro ได้กลายสถานที่ที่พวกวัยรุ่นบันดุงมาสุมหัวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ที่สำคัญ Distro เหล่านี้เกิดขึ้นมามีนัยยะของการโต้ตอบกับ Factory Outlet ของสินค้าแบรนด์เนมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในบันดุงเช่นกัน เนื่องจากบันดุงเป็นเมืองของอุตสาหกรรมสิ่งทอและการ์เมนต์เช่นเดียวกับอีกหลายๆเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่มีแรงงานราคาถูกเป็นจุดดึงดุดการลงทุนของบริษัทเสื้อผ้าและสิ่งทอข้ามชาติ  แต่โรงงานของสินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้ไม่ได้สร้างนักออกแบบแฟชั่นท้องถิ่น Distro จึงได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะและที่ที่สร้างโอกาสให้กับนักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่าง  เราจะพบว่านักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่จำนวนมากทั้งในบันดุงส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาด้านออกแบบแฟชั่นหรือด้านศิลปินแต่อย่างใด  จำนวนหนึ่งเคยเป็นเด็กขายของใน Distro มาก่อน พวกเขาเรียนรู้การออกแบบด้วยตนเองจากแมกกาซีนในยุค 1990 และผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตในยุคกลาง 2000  พวกเขาเพิ่มทักษะการออกแบบด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่วนมากในช่วงแรกเรียนรู้สไตล์การออกแบบของแฟชั่นในกระแสนิยมในโลกตะวันตกแล้วก็ปรับและออกแบบเพิ่มให้เป็นในสไตล์ของตนเอง อาจกล่าวได้ว่า Distro เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองบันดุง เป็นแหล่งชุมนุมพบปะของกลุ่มคนในแวดวงดนตรี การออกแบบแฟชั่น ศิลปะและกิจกรรมวัฒนธรรมซึ่งเท่ากับเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้และยังช่วยสร้างการขยายพื้นที่สร้างสรรค์ของงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้กระจายตัวมากขึ้นมากขึ้น

อาจกล่าวได้ว่า Distro คือพื้นที่ที่ก่อให้เกิดการอย่างแบบมีส่วนร่วม(active participant) และเปรียบเสมือนการสร้างชีวิตประชาธิปไตยทางวัฒนธรรมด้วยตนเองและเพื่อตนเองแบบกลุ่มอินดี้ที่เติบโตในยุคหลังเผด็จการซูฮาร์โต  ยิ่งในยุคหลังเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1997 การสื่อสารในชุมชนอินดี้ยิ่งเกิดมากขึ้นการเกิดขึ้นของนิตยสาร Ripple Magazine (ปี 1999 -2003)ช่วยเป็นช่องทางในการแนะนำสินค้าและดนตรีใหม่ให้กับชุมชนอินดี้ รวมทั้งการเกิดขึ้นของอาร์ทสเปซต่างๆเช่น If Venue, BTW SPACE ,Common Room และ Bandung Creative City Forum ได้ช่วยสร้างพื้นที่ทางการเมืองในชีวิตประจำวันของอินดี้ในบันดุงเป็นอย่างมากขึ้นนอกเหนือจาก Distro ในช่วงก่อนหน้านั้น

(3)

การเกิดขึ้นของอินดี้ในบันดุงยังเป็นช่วงรอยต่อของเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองของอินโดนีเซียจากการเป็นสังคมเผด็จ(ในยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต)สู่สังคมประชาธิปไตย ทั้งในแง่การเมืองเชิงโครงสร้างและการเมืองในชีวิตประจำวัน ในยุคเผด็จการซูฮาร์โตการจำกัดเสรีภาพของการใช้สื่อและการผลิตสื่อทั้งในส่วนของสื่อกระจายเสีย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดนตรีมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แม้จะเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารที่นำพาเอาคอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยค่อยๆกะเทาะกำแพงขวางกั้น ข้อมูลข่าวสารระหว่าง “ท้องถิ่น”และ “โลก(ภายนอก)” แต่ในอินโดนีเซียในยุคนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้ง่ายและรวดเร็วดังเช่นประเทศอื่นๆในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ ที่เข้าถึงเทคโนโลยีในยุคข้อมูลข่าวสารได้ก่อนอินโดนีเซีย  ปี ค.ศ. 1997 การล้มสะลายของเผด็จการซูฮาร์โตอันมีปัจจัยสำคัญจากการคอรัปชั่นและเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชีย  ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเบ่งบานพร้อมๆกับการเกิดขึ้นเปิดเสรีในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เยาวชนในอินโดนีเซียได้มีโอกาสเข้าถึงและเรียนรู้ปรากฏการทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายนอกมากขึ้น Distro เหล่านี้จะเสมือนเป็น “การรื้อสร้าง”และ “สร้างความหมายใหม่”ให้กับ“ความเป็นท้องถิ่น”ของบันดุง(locality)กับประเทศอินโดนีเซียและโลก หากเราเดินไปตาม Distro ต่างๆในย่านถนนเรียวผู้เขียนบอกได้เลยเราไม่มีทางเจอเสื้อยืดสกรีนแบบ I Love Bandung แน่นอน เสื้อยืดที่เราจะเจอจะเป็นเสื้อในสไตล์แบบโลโก้วงดนตรีร็อกต่างๆ(ทั้งวงท้องถิ่นและวงต่างประเทศ) สไตล์ฮิป ฮอป (หรือเสื้อในสไตล์แบบ global subculture) และอีกหลากสไตล์ที่ดูมีความ “ร่วม”กับวัฒนธรรมโลก นอกจากนี้ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยม Dsitro ของแบรนด์ Homeless Dawg ที่ตั้งอยู่ในชุมชนเขตชานเมืองบันดุง และพบว่าเขามีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากมายเยี่ยมร้านของเขา(ที่เขายินดีเรียกว่าเพื่อน) ภายในร้านเขาตบแต่งด้วยรูปถ่ายของลูกค้าที่มาเยี่ยมร้าน พร้อมๆกันนั้นเขาก็เรื่องเล่ามากมายถึงเพื่อนเหล่านั้นที่ยังติดต่อกันอยู่ Distro เล็กๆเก่าๆแห่งนี้จึงเหมือนเป็นการย่อชุมชนโลกเข้ามาไว้ด้วยกัน

แม้อินโดนีเซียจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในยุคหลังปี 2000 แต่การผลิตทางวัฒนธรรมของอินดี้(ดนตรี, แฟชั่น, ศิลปะ)ส่วนใหญ่เป็นงานและ/หรือกิจกรรมที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของอินโดนีเซีย ดังนั้น การที่เยาวชนจำนวนมากในบันดุง (รวมทั้ง จาการ์ต้า ยอร์คยาจาร์ต้าและบาหลี)สร้างตัวตนจากพื้นที่ดนตรีจึงเป็นการสร้างตัวตนบนพื้นที่ที่เป็นอิสระจากการจัดการและควบคุมของรัฐ(ยุคหลังซูฮาร์โต)ค่อนข้างมาก แม้ว่าบ้างครั้งรัฐจะเข้ามาควบคุมในบ้างครั้งในแง่ของการเผยแพร่และการจัดการแสดงดนตรี(โดยเฉพาะกับแทรช เมตัล) แต่นั้นเป็นการควบคุมการใช้สื่อและการสื่อสาร แต่ไม่อาจควบคุมการรูปแบบทางวัฒนธรรมได้ทั้งหมด  การรวมกลุ่มและการสร้างสรรค์งานไม่ว่างานเพลง, แฟชั่นงาน, กราฟฟิค ยังคงดำเนินอยู่ พวกเขารวมกลุ่มและสร้างแนวร่วมที่อาจเรียกได้ว่ามีความเป็นชุมชน(Komunitas) แต่ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้มีความยั่งยืนในตนเอง เพราะในขณะ UNKL347 ได้กลายเป็นสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อดังในตลาดแฟชั่นโลก ปัจจุบันมีสาขา 7 แห่งในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก Riotic หนึ่งในตำนานอินดี้ของบันดุงกลับต้องปิด Distro ของตนเองไป( มีข่าวว่ากำลังเตรียมจะกลับมาเปิดอีกครั้ง) นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ในบันดุงหลายคนเห็นว่า UNKL 347 กลายเป็นสินค้าโหล( mass product)และเกิดกระแส Anti-distro

(4)

ผ่านมา 20 ปีชุมชนอินดี้ในบันดุงกำลังก้าวเข้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงอีกขั้นหนึ่ง แผนงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอินโดนีเซียที่ประกาศในปี ค.ศ.2011 อาศัยโมเดลจากเมืองบันดุง ผู้ว่าการรัฐบันดุงคนปัจจุบันริดวาน คามิล(เพิ่งได้รับเลือกเมื่อปี 2013)เป็นสถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้ง Bandung Creative City Forum ได้ให้การสนับสนุนแผนงาน Creative Bandung อย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะสนับสนุนให้บันดุงเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน Creative City ของ UNESCO  และอาจจะไม่น่าแปลกใจหากอินโดนีเซียมีนโยบายระดับชาติที่หนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มที่เพราะโจโค่ จาโควีได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มอินดี้จำนวนมากแปลกใจที่กุสตาฟแต่สำหรับกุสตาฟ อิสคันดาร์นักกิจกรรมวัฒนธรรมจาก Common Room Network เห็นว่าอินดี้ในบันดุงเป็น “ขบวนการคิดเอง ทำเอง”(DIY movement)ที่มีรากฐานมาจากวัยรุ่นชนชั้นล่าง  เขาเห็นว่าโครงการต่างๆของรัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดกับอินดี้เป็นสิ่งที่ท้าทายของการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนอินดี้ในบันดุง  ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไป

จริงๆแล้วปรากฎการณ์ของการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของอินดี้ในบันดุง นั้นมีทั้งลักษณะเฉพาะและลักษณะร่วมกับอินดี้ที่เกิดขึ้นในเอเชียไม่ว่าจะเป็นในไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย ลาวฯลฯ คนรุ่นอินดี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมและเสรีนิยมใหม่  ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เรายังไม่ได้ศึกษากันมากนัก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปัจจุบันมีคนรุ่นหนุ่มสาวอยู่กว่า 100 ล้านคน ทั้งหมดนี้อาจจะไม่ใช่คนที่แสดงตัวตนร่วมในวัฒนธรรมอินดี้  แต่จำนวนหนึ่งแสดงตนอย่างแน่นอนเช่นในบันดุงที่ได้กล่าวมา

 

 


[1]ส่วนหนึ่งของงานวิจัย Creative City and the Sustainable Life: A Study on the Making of Cultural Spaces in Osaka and Bandung โครงการปัญญาชนสาธารณะเอเชีย( 2013-2014) มูลนิธินิปปอน  

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'นิพิฏฐ์' เตือน ไม่ควรนำตุลาการเข้าสู่วังวนการเมือง หวั่นวิกฤตรอบใหม่

0
0

30 ต.ค. 2557 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีแนวคิดขอคนในฝ่ายตุลาการ หรือศาล มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ทั้งที่ นายสราวุฒิ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงย้ำถึงจริยธรรมศาล ผู้พิพากษาว่า ไม่ควรไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมือง ว่า ตนขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงตั้งหลักให้ดี ในการจะขอบุคคลจากศาล หรือผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน เพราะที่สุดแล้วจะเป็นการทำลายระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมไทยซ้ำเติมลงไปอีก เนื่องจาก คสช.ไม่ทราบถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ปี 2549 ที่ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักในระบอบประชาธิปไตยไทย เข้ามาช่วยพยุงอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

นายนิพิฏฐ์ กล่าววต่อว่า ขณะนั้น มีการให้ฝ่ายศาลเข้ามาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมือง จนถูกเรียกว่า ยุคตุลาการภิวัฒน์ จนฝ่ายการเมืองไม่ยอม และสร้างวาทกรรมโจมตีฝ่ายตุลาการว่า ยุติธรรม 2 มาตรฐาน ที่สุดระบบการปกครองของไทย จึงพังระเนระนาดทั้งระบบ วันนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจาก คสช.ยังพยายามดึงเอาบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาในวังวนของการเมือง ทั้งที่ฝ่ายตุลาการได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนไปยัง คสช.ว่า หากจะยังพยายามดึงบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาอีก ที่สุดจะเป็นการทำผิดซ้ำซ้อนและสร้างวิกฤติตุลาการรอบใหม่ขึ้น แม้กระทั่งนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คสช.และประธาน สนช. เช่นวันนี้ ตนยังรู้สึกไม่สบายใจ และขอเตือนถึง สปช.หรือ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ต้องเอาศาลหรือบุคลากรฝ่ายตุลาการออกจากกระบวนการ หรือวังวนทางการเมืองให้หมด ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤติใดขึ้นจะไม่เหลืออำนาจใดไว้พยุง โดยเฉพาะฝ่ายศาลก็จะพังลงทั้งระบบ เพราะอำนาจหลักทั้ง 3 ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

รองเลขาฯ ศาลยุติธรรม ย้ำประมวลจริยธรรมศาล ชี้ผู้พิพากษาไม่ควรเป็นขรก.การเมือง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแต่งตั้งผู้พิพากษาไปเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. และผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. ว่า ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 59 กำหนดว่า ข้าราชการตุลาการต้องไม่เป็นข้าราชการทางการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 41 ระบุว่าสามารถยกเว้นได้นั้น แต่ผู้พิพากษามีประมวลจริยธรรมกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งซึ่งสูงกว่ากฎหมายเพราะเป็นข้อห้ามเรื่องการไปประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติตาม แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่มติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นหลัก หากมติ ก.ต. ไม่เห็นชอบในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะมีการประกาศแต่งตั้งไปแล้วหรือโปรดเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่ผู้พิพากษาก็คงไม่สามารถไปรับตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งคงจะต้องรอดูความชัดเจนในที่ประชุม ก.ต. ในวันที่ 17 พ.ย.นี้

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ท่านก็ได้แสดงจุดยืนชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา ว่าต้องมีความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการและมีความเป็นกลาง ต้องปฏิบัติตัวตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการ และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทาง ก.ต. จะนำมาประกอบการพิจารณาด้วยทั้งหมด ซึ่งถ้าหากอยู่ในสถานการณ์ปกติไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 41 ยกเว้นไว้ เรื่องดังกล่าวก็คงไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว

 

ที่มา:ไทยรัฐออนไลน์ และมติชนออนไลน์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธาน-รองประธาน สปช.

0
0
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 218 ง. ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง ‘เทียนฉาย กีระนันทน์’ ประธาน สปช.  ‘บวรศักดิ์-ทัศนา’ นั่งรองประธาน สปช.
 
 
30 ต.ค. 2557 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 131 ตอนพิเศษ 218 ง. ได้เผยแพร่ ประกาศแต่งตั้ง ประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื้อหาดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 เลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เป็นประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ

1.นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
2.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่หนึ่ง
3.นางสาวทัศนา บุญทอง  เป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่สอง
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตร 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  จึงแต่งตั้งให้ผู้มีนามดังกล่าวเป็นประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 30 ต.ค. 2557 เป็นปีที่ 69 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนดจัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 3 พ.ย. 2557 เวลา 08.00 น. ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา 1
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.เชิญทหารประชุมร่วมชาวบ้านคลองไทรฯ แนะใช้ กม. ให้เป็นธรรม

0
0

นพ.นิรันดร์ เชิญรองผอ.รมน. สุราษฎร์ ชาวคลองไทรฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังข้อเท็จจริงปัญหาข้อพิพาท และปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชุมชนคลองไทร ด้านชาวบ้านถามทำไมทหารไม่เข้าตรวจสอบสิทธิ์นายทุนบ้าง

30 ต.ค. 2557 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมถกปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ในกรณีข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและการเมือง เป็นประธานในที่ประชุม โดยได้มีการเชิญพันเอกสมบัติ ประสานเกษม รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ชาวชุมคลองไทรพัฒนา และกลุ่มสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย

การเข้าให้ข้อเท็จจริงปัญหาความรุนแรง และร่วมถกปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในกรณีข้อพิพาทบนที่ดิน ส.ป.ก ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่หวังดีได้ยิงปืนขมขู่ชาวบ้าน และทหารที่ประจำการอยู่ในชุมชนเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่นี่)การประชุมครั้งนี้เกิดจากการเข้าร้องของชาวชุมชนในนามของ สกต. ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ โดยการประชุมร่วมกันครั้งนี้ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง  

ในที่ประชุมนายเพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ สมาชิกสกต. ได้เล่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมทั้งได้ตั้งคำถามต่อการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารตลอดช่วงเวลาที่ผ่าน โดยได้มีการถามถึงการเข้าตรวจค้นในพื้นที่โดยไม่มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเพราะเหตุใดจึงมีการสั่งบังคับจากเจ้าหน้าที่ทหารให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน

ด้านพันเอกสมบัติ ตอบข้อสงสัยนี้ว่า เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ดังนั้นการเข้าตรวจสอบ เข้าค้นที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทหารไม่จำเป็นต้องมีหมายคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร และการเข้าตรวจค้นที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม เนื่องมาจากมีผู้ร้องเข้ามาว่า ชาวบ้านในชุมชนคลองไทรฯเข้าบุกรุกพื้นที่ของเขา จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย จึงได้มีการนำกำลังเข้าตรวจสอบ  และเหตุที่มีคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน นั้นเป็นการสั่งเฉพาะผู้ที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย หากชาวบ้านในชุมชนคลองไทรสามารถยืนยันได้ว่าเข้ามาอย่างไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวอะไร

อย่างไรก็ตาม นางเรวดี วิชิตยุทธภูมิ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่กรมป่าไม้ได้ให้ที่ดินผืนนี้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ยากจนต่อไป แต่ทางส.ป.ก. ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากบริษัทผู้เช่าอยู่เดิมไม่ยอมออกจากพื้นที่ จึงได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว จนถึงปัจจุบันคดียังอยู่ในขั้นฎีกา ซึ่งจะมีการพิจารณาคดีในวันที่ 11 พ.ย. 2557

เรวดีให้ข้อมูลต่อไปว่า ปัจจุบันในพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและมีปัญหาความรุนแรงนี้ มีคนอย่างน้อยสองกลุ่มหลักๆ ที่เข้าอยู่ในพื้นที่ โดยคนกลุ่มแรกคนชาวบ้านที่เข้าไปตั้งรกราก สร้างที่ทำกิน โดยได้รับความชอบธรรมจากมติครม. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งรัฐอนุญาตให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ทำกินอาศัยอยู่ในพื้นที่ไปก่อน จนกว่านายทุนจะออกจากพื้นที่และสามารถจัดสรรที่ดินทำกินได้ และคนกลุ่มที่สองคน กลุ่มผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากกลุ่มนายทุน ซึ่งในทางกฎหมายนั้นไม่สามารถทำการซื้อขายที่ดินได้ เพราะเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. ฉะนั้นหากอ้างตามมติครม. ชาวชุมชนคลองไทรฯจึงมีความชอบธรรมในพื้นที่มากกว่า กลุ่มผู้ร้อง 13 ราย ที่ได้ร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งทางส.ป.ก เองก็ได้ทำการประกาศเตือนผู้ที่อาจจะหลงเชื่อการประกาศขายที่ดินอย่างเป็นทางการแล้ว

ทั้งนี้ด้านนายวัชรินทร์ พุ่มจิตร์ นายอำเภอชัยบุรี ได้กล่าวว่าปัญหากรณีพื้นที่พิพาทระหว่างชุมชนกับบริษัทและผู้ที่ซื้อที่ดินต่อจากบริษัทนั้นเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามล่าสุดทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานีได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และกำลังจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อหาทางออกในวันที่ 3 พ.ย. นี้

วัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขปัญหานั้นจะมีการดำเนินที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายให้มากที่สุด จะไม่มีความเห็นโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใด แต่จะพิจารณาไปตามหลักการและเหตุผล

ด้านนายสุพจน์ กาฬสงค์ หนึ่งในชาวชุมคลองไทรฯ ได้เล่าถึงเหตุการณ์พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่า ก่อนหน้านี้ได้เกิดเหตุฆาตกรรมชาวบ้านในชุมชนไปถึง 3 ราย โดยรายแรกถูกยิงเมื่อปี 2553 และอีก 2 รายต่อมาถูกยิงเมื่อ 2555 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้ และหนึ่งในผู้ก่อเหตุยังเดินทางเข้ามาในชุมชนพร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 16 ส.ค. และ 24 ก.ย. อีกด้วย และกล่าวต่อว่า เหตุใดทางเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเข้ามาตรวจสอบ ตรวจค้นในชุมชน จึงมั่นใจว่าที่เข้ามาร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ที่เข้าอยู่ในพื้นที่อย่างถูกต้อง และทำไมจึงไม่มีการตรวจสอบสิทธิ์เข้าอยู่ในพื้นที่ของฝ่ายผู้ร้องบ้าง

ต่อกรณีเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้าน 3 ราย ตัวแทนจากกรมสืบสวนคดีพิเศษซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยได้ให้ข้อมูลว่า ในกรณีการฆาตกรรมชาวบ้านทั้ง 3 รายนั้น จากข้อมูลของทีมสืบสวนที่ตนมีอยู่ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ยังได้กล่าวว่ายินดีที่จะดำเนินการให้ โดยขอข้อมูลเบื้องต้นจากตัวแทนชาวชุมชนคลองไทรฯไว้ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุม

ด้านนพ.นิรันดร์ ได้ให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหากรณีชุมชนคลองไทรฯ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า การเข้าแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ทหารนั้นควรมีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย และควรจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และรอบด้าน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย พร้อมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ทหารเร่งหามาตรการดูแลความปลอดภัยของคนในชุมชนคลองไทรฯ เพราะมีความกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากใกล้ถึงวันที่ ศาลฎีกาจะพิจารณาคดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผบ.ทบ.ยันไม่เลิก 'อัยการศึก' ชี้ไม่กระทบชีวิตประจำวัน

0
0
ผู้บัญชาการทหารบก แจงสถานการณ์ยังไม่สงบจึงต้องคงกฏอัยการศึกไว้ก่อน เชื่อทุกฝ่ายเข้าใจ-ไม่ส่งผลกระทบชีวิตประจำวัน
 
30 ต.ค. 2557  สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมีความเข้าใจถึงข้อเรียกร้อง ในการขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศแล้ว มองว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้แนวทางที่จะทำให้มีความสงบมากที่สุด จึงยังคงต้องใช้กฎหมายพิเศษนี้ ซึ่งหากยกเลิกไป อาจจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจ เพราะไม่ส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้หากย้อนกลับไป 6 - 7 เดือนที่แล้ว จะเห็นว่าสถานการณ์ภายในประเทศมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพยายามทำงานให้ดีที่สุด เพื่อเดินหน้าประเทศไทย จึงขอให้ทุกฝ่ายให้โอกาสและเวลา พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงาน

สำหรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2447 ทั่วราชอาณาจักร เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พ.ค. 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์เยือนกัมพูชา - ภริยาเยี่ยมศูนย์การสอนภาษาไทย

0
0

พล.อ.ประยุทธ์ - ฮุน เซน ลงนามความเข้าใจ 3 ฉบับ หวังร่วมมือเศรษฐกิจ พัฒนาชายแดน ด้านภริยา พล.อ.ประยุทธ์ ชมศูนย์การสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ และย้ำว่ารู้ภาษาไทยจะมีโอกาสทั้งเรียนต่อและทำงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 (ที่มา: เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล)

 

ประยุทธ์เยือนกัมพูชา ลงนามความเข้าใจ 3 ฉบับ หวังร่วมมือชายแดน-เศรษฐกิจการลงทุน

30 ต.ค. 2557 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า อภิสิทธิ์ จันทร์เต็ม ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งร่วมเดินทางไปรายงานภารกิจนายกรัฐมนตรี รายงานจากราชอาณาจักรกัมพูชาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูง เข้าพบและหารือข้อราชการเต็มคณะ กับ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณที่กัมพูชาเข้าใจและสนับสนุนรัฐบาลต่อสถานการณ์การเมืองไทย โดยเห็นว่า ความสัมพันธ์กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมาก ซึ่งไทยประสงค์ที่จะเห็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและความเชื่อมโยงระหว่างกัน (connectivity) รวมถึงส่งเสริมสายสัมพันธ์ของประชาชนให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในอนาคต พร้อมเสนอให้มีการจัดการประชุมระดับผู้นำประจำปีอย่างไม่เป็นทางการ (Annual Leaders’ Retreat) และใช้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม (JCBD) ไทย-กัมพูชา ซึ่งไทยพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 2 ที่เสนอให้จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ ได้เน้นย้ำความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ที่ไทยมุ่งผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในส่วนที่ติดกับกัมพูชาที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดตราด และเสนอให้ตั้งคณะทำงานภายใต้กลไก JCBD ตลอดจนการพิจารณาปรับปรุงระบบการสัญจรข้ามแดนให้สะดวกรวดเร็ว ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม รวมถึงหารือเกี่ยวกับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท ซึ่งฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบรายละเอียด และโครงการสร้างสะพานรถไฟไทย-กัมพูชา เพื่อเชื่อมต่อบ้านคลองลึก – ปอยเปต

ส่วนการค้าการลงทุนนั้น กัมพูชานับเป็นจุดหมายสำคัญของนักธุรกิจไทย ทั้งในแง่การเป็นตลาดสินค้า และแหล่งลงทุน จึงขอให้มีการเร่งขจัดอุปสรรคต่อความร่วมมือ ส่วนการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลิตผลการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นความริเริ่มระหว่างการหารือกันที่นครมิลานนั้น ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เกิดการหารือในระดับคณะทำงาน นอกจากนี้ ยังหารือความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว สกัดกั้นอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบตัดไม้

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณกัมพูชา ที่ส่งทีมเคลื่อนที่มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวกัมพูชาในไทย ขณะที่โครงการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยยืนยันความร่วมมือ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า จะต้องแก้ปัญหาผ่านการเจรจา ไม่ให้ปัญหาที่คั่งค้างเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ เน้นการสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว

ภายหลังการหารือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ณ พระบรมมหาราชวัง และช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและภริยา เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี

 

ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ เยี่ยมชมศูนย์การสอนภาษาไทยในพนมเปญ

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานด้วยว่า รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยภริยานายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางเยี่ยมชมศูนย์การสอนภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ พร้อมรับฟังรายงานความเป็นมาของศูนย์การสอนภาษาไทย

โดยภริยานายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่ภาษาไทยเป็นที่นิยมของนักศึกษา และขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา และผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ผลักดันให้มีการเปิดภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาของประเทศในอาเซียนภาษาแรก ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยพนมเปญ ซึ่งการเรียนรู้ภาษาไทยจะช่วยให้มีโอกาสในการศึกษาต่อและการทำงาน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยให้ความสำคัญกับภาษากัมพูชา ในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ชายแดนที่ติดต่อกับกัมพูชา นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม และเพิ่มพูนความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือการฑูตภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้ หลังการเยี่ยมชมแล้ว ภริยานายกรัฐมนตรี มอบอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่ศูนย์การสอนภาษาไทย โดยมีผู้แทนนักศึกษา กล่าวขอบคุณภริยานายกรัฐมนตรี เป็นภาษาไทย จากนั้นภริยานายกรัฐมนตรี เดินทางออกจากโรงแรมที่พัก ไปยังพระราชวังเขมรินทร์ เพื่อเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ร่วมกับนายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลลำปางนัด 2 ธ.ค.พิพากษาคดี ‘ลุงเผ่าอาข่า’ บุกรุกป่าสงวน

0
0
ผลคำสั่ง คสช.64/2557 สั่งปราบปราม-หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าไม้ อัยการส่งฟ้องคดีนายอาแม อามอ ลุงเผ่าอาข่า กล่าวหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ศาลลำปางสั่งสืบเสาะข้อเท็จจริง ก่อนนัดพิพากษา 2 ธ.ค.นี้
 
30 ต.ค. 2557 ที่ศาลจังหวัดลำปาง พนักงานอัยการจังหวัดลำปางได้ยื่นฟ้อง นายอาแม อามอ ชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันต้นยางพารา ทุเรียน และเงาะในพื้นที่ดังกล่าว ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 และได้ดำเนินคดีกับนายอาแม
 
สำหรับคำฟ้องในกรณีนี้ ได้แยกเป็น 3 คดี ในข้อหาเดียวกัน คือฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในการแผ้วถาง ก่นสร้าง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไมได้รับอนุญาต และยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต
 
ในแต่ละคดีนั้น ได้ระบุถึงพื้นที่ที่ถูกบุกรุกต่างแปลงกันไป โดยทั้งหมดอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง รวมแล้วเป็นพื้นที่ 80 กว่าไร่ และเป็นค่าเสียหายต่อรัฐราว 4.6 ล้านบาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพนักงานอัยการสั่งฟ้อง นายอาแมได้ถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำใต้ถุนศาล จากนั้นเจ้าหน้าที่ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลย โดยไม่ได้มีการนำตัวขึ้นมายังห้องพิจารณาคดีแต่อย่างใด และจำเลยได้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งไม่ได้มีล่ามในระหว่างการสอบถาม มีแต่เพียงการให้เจ้าหน้าที่เชิญญาติคนหนึ่งลงไปร่วมสอบถามในช่วงท้าย โดยนายอาแมมีปัญหาในการอ่านและสื่อสารภาษาไทย
 
จากนั้น ศาลได้สั่งให้มีการสืบเสาะ โดยให้พนักงานคุมความประพฤติได้ดำเนินการสืบเสาะข้อเท็จจริง ทั้งพฤติการณ์ของจำเลย และข้อเท็จจริงของการใช้ที่ดินดังกล่าว พร้อมนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ธ.ค. 2557 ก่อนที่ญาติของนายอาแมจะใช้โฉนดที่ดินและหลักทรัพย์เช่า จำนวนรวม 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัว
 
นายอาแม อามอ (รูปภาพจากเพจ พลิกฟื้นผืนดินไทย)
 
ทั้งนี้ นายอาแม อามอ อายุ 71 ปี เป็นชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์อาข่า มีอาชีพทำนาทำไร่อยู่ที่บ้านห้วยน้ำตื้น ต.ปงเตา อ.งาว จ.ลำปาง จากคำบอกเล่าของนายอาแมและลูกชาย นายอาแมได้ทำนาข้าวและปลูกข้าวโพดในพื้นที่ราว 30 ไร่ มาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ก่อนที่จะหันมาปลูกยางพาราตามนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน จนต้นยางโตพอที่จะกรีดได้แล้ว รวมทั้งยังปลูกทุเรียนและเงาะในพื้นที่ที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ดังกล่าวด้วย โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็เคยมีการมาตรวจดูพื้นที่ แต่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
 
จนกระทั้งมีการประกาศใช้คำสั่งคสช.ฉบับที่ 64/2557เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ (ลงวันที่ 14 มิ.ย.57) ในวันที่ 14 ก.ค. 57 เจ้าหน้าป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.งาว ได้มีการดำเนินการติดป้ายประกาศทวงคืนหลายพื้นที่ในบริเวณอุทยาน เนื่องจากเป็นพื้นที่เตรียมการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า
 
จากนั้นในวันที่ 22 ก.ค.57 ได้มีการสนธิกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมแล้วหลายร้อยนาย เข้าตัดฟันยางพาราจำนวนกว่า 3,200 ต้น ต้นทุเรียน 208 ต้น และต้นเงาะอีกหลายสิบต้น ทั้งต่อมาได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อนายอามอในการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน
 
ป้ายประกาศทวงคืนพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
 
สำหรับพื้นที่ป่าแม่โป่งนั้น ได้มีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับที่ 866 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
 
อนึ่ง คำสั่งคสช.ฉบับที่ 66/2557ได้ระบุด้วยว่าการดำเนินการใดๆ ในการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวน และพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชาธรรม: เครือข่ายเกษตรทางเลือกฮือค้านทดลองพืช GMOs ในแปลงเปิด-ปลูกเพื่อพาณิชย์

0
0
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกค้านทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด-พาณิชย์ จนกว่าไทยจะมีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ พร้อมให้ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒน์ฯ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรยั่งยืน-เกษตรอินทรีย์ โดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
 
 
30 ต.ค. 2557 เวลา 13:00 น. ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ อาทิ นครสวรรค์ เชียงใหม่ มหาสารคาม ขอนแก่น ยโสธร สุรินทร์ สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทราสงขลา พัทลุง เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และศาลากลางจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการทบทวนนโยบายการทดทดลองการปลูกพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด และการอนุญาตให้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์
 
สำหรับเนื้อหาของจดหมายมีดังนี้ ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการให้มีการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs: Genetically Modified Organisms) ในแปลงเปิด รวมไปจนถึงการปลูกในเชิงพาณิชย์นั้น
 
องค์กรเกษตรกร องค์กรผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ซึ่งได้ติดตามการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในประเทศต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์มีผลกระทบเชิงลบมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับดังนี้
 
 
ประการแรก เทคโนโลยีในการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรมส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่บริษัท ตัวอย่างเช่น พืชดัดแปรพันธุกรรมสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ข้าวโพด ถั่วเหลือง และฝ้ายที่ปลูกในสหรัฐอเมริกามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีบริษัทมอนซานโต้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร การตัดสินใจเปลี่ยนเกษตรกรรมของประเทศไปใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมจะทำให้ระบบเกษตรและอาหารของประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของบรรษัทขนาดใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของเกษตรกร ผู้บริโภค และประเทศไทยโดยรวม
 
ประการที่สอง ประชาชนและผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มีแนวโน้มต่อต้านผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส สูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ และ 84 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง มีประชาชนถึง 54 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิเสธอาหารดัดแปรพันธุกรรม และมีการเรียกร้องให้ติดฉลากสินค้าที่มาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม นั่นแสดงให้เห็นว่าตลาดที่จะรับซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากพืชดัดแปรพันธุกรรมกำลังลดลงเป็นลำดับ
 
ประการที่สาม ขณะนี้ผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยถูกตีกลับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศยุโรป และญี่ปุ่นเมื่อถูกตรวจสอบพบว่ามาจากพืชดัดแปรพันธุกรรม และหากอนุญาตให้มีการทดลองปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในแปลงเปิดหรือปลูกในเชิงพาณิชย์ จะทำให้ประเทศคู่ค้าจับตาผลผลิตที่ส่งออกจากประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการตรวจสอบและการจัดการเพิ่มขึ้นทั้งระบบ
 
ประการที่สี่ ประเทศไทยไม่สามารถปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมร่วม (Coexist) ไปกับการพืชทั่วไปและการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรเฉลี่ยมีพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 15 ถึง 20 ไร่เท่านั้น ทำให้การแบ่งแยกพื้นที่ไม่ให้มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการปนเปื้อนทางพันธุกรรมจากการที่เกิดจากการผสมเกสรของแมลงหรือลม แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเกษตรกรมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่และมีระบบการจัดการที่ดีกว่ากลับพบว่าไม่สามารถควบคุมการปนเปื้อนได้ ดังกรณีข้าวโพดสตาร์ลิงค์ (2543) ข้าวลิเบอร์ตี้ลิงค์ (2549) และข้าวโพดวิปเทอร่า (2557) ต้องจ่ายค่าเสียหายรวมกันหลายหมื่นล้านบาท
 
ในกรณีประเทศไทย การปนเปื้อนทางพันธุกรรมยังทำให้ยีนแปลกปลอมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรโดยบรรษัทขนาดใหญ่ไปผสมปนเปื้อนกับทรัพยากรชีวภาพของประเทศ โดยไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ (Irreversible) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศในระยะยาว
 
ประการที่ห้า การปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ทำให้มีการเพิ่มการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากมีผลเร่งกระบวนการวิวัฒนาการของศัตรูพืชเพื่อพัฒนาการต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาทิ ทำให้เกิดวัชพืชที่ต้านทานสารเคมีกำจัดวัชพืช และแมลงที่ต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การศึกษาที่ใช้ข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐเองพบว่าระหว่างปี 1996 ถึง 2011 มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นถึง 183 ล้านกิโลกรัม
 
ประการที่หก สำหรับคำกล่าวอ้างว่าเทคโนโลยีการดัดแปรพันธุกรรมสามารถทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้เป็นความจริง เพราะพืชดัดแปรพันธุกรรมทั้งหมดที่มีการนำมาใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเพียงการนำยีนที่ผลิตสารพิษและยีนที่ต้านทานสารเคมีปราบวัชพืชตัดต่อใส่ในพืชผลผลิตสูงที่ผสมพันธุ์โดยวิธีปกติเท่านั้น ไม่ได้เพิ่มศักยภาพของพืชในการเพิ่มผลผลิตแต่ประการใด งานศึกษาเชิงเปรียบเทียบล่าสุดยังพบด้วยว่าการปลูกข้าวโพดสายพันธุ์ทั่วไปของประเทศในสหภาพยุโรปยังได้ผลผลิตมากกว่าข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
 
ประการที่เจ็ด แม้มีความพยายามในการผลักดันให้มีการปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมมาโดยต่อเนื่องตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันพื้นที่ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมยังมีสัดส่วนเพียง 12 เปอร์เซ็นต์ของโลกเท่านั้น โดย 90 เปอร์เซ็นต์กระจุกตัวอยู่ในเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ในระยะหลังอัตราการขยายตัวของพื้นที่ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากปัญหาหลายประการดังที่ได้กล่าวแล้ว
 
ประการที่แปด ประชาคมวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมจะปลอดภัยต่อสุขภาพและจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว ดังที่พบว่ามีงานศึกษาที่เป็นอิสระจำนวนหนึ่งได้รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบมาเป็นระยะ ในขณะที่สมาคมทางการแพทย์สำคัญๆ เช่น British Medical Association, German Medical Association , American Public Health Association, California Medical Association, American College of Physicians เป็นต้น เสนอแนะให้รัฐบาลบังคับติดฉลากสินค้าดัดแปรพันธุกรรม เพื่อติดตามความเสี่ยงระยะยาว
 
ประการที่เก้า พืชดัดแปรพันธุกรรมที่ผลักดันให้มีการทดลองภาคสนามในประเทศไทย นับตั้งแต่ฝ้ายบีทีมอนซานโต้ มะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวนคอร์แนล และข้าวโพดจีเอ็มโอมอนซานโต้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรที่มีต่างชาติเป็นผู้ครอบครอง ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีของเราเองแต่ประการใด การอนุญาตให้ปลูกทดลองในแปลงเปิดเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่จะได้ปลูกเชิงพาณิชย์เท่านั้น
 
ประการที่สิบ ประเทศไทยสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาการเกษตรที่ดีกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้บริโภคให้การยอมรับมากกว่า โดยให้ความสำคัญกับการผลิตที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ อาทิเช่น การวิจัยเพื่อฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ การส่งเสริมให้บริษัทท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีปกติจนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้เอง ตัวอย่างกรณีของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์และผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน เป็นต้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ซึ่งเป็นแนวทางที่เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ผลักดันร่วมกันมานับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 และล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
 
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว องค์กรซึ่งมีรายชื่อตามจดหมายนี้จึงขอเสนอต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้โปรดทบทวนนโยบายและการดำเนินการเกี่ยวกับพืชดัดแปรพันธุกรรมดังต่อไปนี้
 
หนึ่ง ขอให้ยับยั้งการอนุญาตให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในแปลงเปิด จนกว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งกำหนดให้มีการชดเชยความเสียหายและรับผิดชอบกรณีที่เจ้าของหรือผู้ปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมทำให้เกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรมกับพืชทั่วไป พืชที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ หรือทำให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพ/ทรัพยากรธรรมชาติในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายข้างต้น ให้มีการอนุญาตในการปลูกทดลองพืชดัดแปรพันธุกรรมในโรงเรือนทดลอง หรือให้ห้องปฏิบัติการเท่านั้น
 
สองขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ภายใต้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ ทั้งนี้โดยให้มีตัวแทนของผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเครือข่ายเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น องค์กรสาธารณประโยชน์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของประเทศสามารถเชื่อมโยงประสานกันโดยไม่ขัดแย้งกัน
 
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรยั่งยืน จากพื้นที่ 14 อำเภอในเชียงใหม่ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,000 ครัวเรือน ได้ยื่นหนังสือผ่านทางนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยตัวแทนเกษตรกรรายหนึ่งกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีการทบทวน ตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรใช้เพาะปลูกกันทุกวันนี้เราก็ไม่รู้ว่ามันมาจากไหน ทั้งหมดต้องเป็นไปเพื่อรักษาอธิปไตยทางอาหาร และความยั่งยืนของเกษตรกร
 
 
- ชมบรรยากาศการยื่นหนังสือที่ศาลากลาง จ.เชียงใหม่: http://youtu.be/_ad3lwXT6xU
- ชมการเนื้อหาการเสวนา เดินหน้า GMO บรรษัทกำไร ประชาชนไทยล่มจม?: http://www.youtube.com/playlist?list=PLs7l-zYsBZRjRqsXy9OjD9h0Nvi4D4boT
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายแรงงานชุมนุม-ยื่นหนังสือ สนช.ชะลอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม เปิดเวทีรับฟังความเห็น

0
0

เครือข่ายประกันสังคมประกาศเดินหน้าปฏิรูปประกันสังคมเพื่อคนทำงาน สปช. ชี้หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงผู้ประกันตน ถือว่าเป็นการลักไก่ไม่ชอบธรรม ด้าน สนช.เดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมต่อ ตอบหยุดไม่ได้เพราะคำสั่ง ครม.หากจะเบรกต้องให้รัฐมนตรีแรงงานดึงกลับไปสร้างการมีส่วนร่วมเองประกาศพรุ่งนี้ (31) เข้าพิจารณา เสนอตั้งนายมนัส โกศล และเครือข่ายอีก 6 คน เป็นกรรมาธิการ

30 ต.ค. 2557 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ประกอบด้วย 14 องค์กรด้านแรงงาน ราว 100 คน ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อรองประธานสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญชัย เพื่อให้ชะลอการนำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่..)พ.ศ. ….ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอเข้าวาระการประชุมของ สนช.

นายมนัส โกศล ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า ด้วยทราบว่าสนช.มีการบรรจุร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 19/2557 วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ซึ่งมีสาระสําคัญส่วนใหญ่คล้ายกับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับคณะรัฐมนตรีเสนอก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม 2556 โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมในการพิจารณา เสนอแนะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ ในขณะที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกําลังจะเร่งพิจารณา

ในการนี้ เครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) ได้ศึกษาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับดังกล่าวแล้ว จึงมีข้อเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติดังนี้

(1) ควรชะลอเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) และขอให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่เกี่ยวของ ทั้งฝ่ายผู้ประกันตน (มาตรา 33, มาตรา 39 และมาตรา 40) ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายสถานพยาบาล และหน่วยราชการต่างๆ เช่นกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

(2) ด้วยร่างกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวมีหลายประเด็นไม่สอดคล้องกับหลักการ 4 ประการ เพื่อการปฏิรูปประกันสังคม “หลักประกันเพื่อคืนความสุขสู่ประชาชน” ที่เครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) เคยเข้าพบหารือกับรองประธานสภานิติบัญญัติ (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 แม้บางประเด็นในร่างกฎหมายได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถที่จะปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายประกันสังคมให้ดีไปอีกตามหลักการการปฏิรูปประเทศ โดยขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนเครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) ซึ่งประกอบด้วย 14 องค์กร เข้าร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคม

(3) เนื่องจากกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเครือข่ายประกันสังคมคนทํางาน (คปค.) เข้าสู่การพิจารณาคู่ขนานไปด้วยกัน ทําให้การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย อาจไม่มีข้อมูลและความเห็นรอบด้านและเป็นปัจจุบัน จึงขอให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะนําไปสู่การลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวให้ใช้บังคับต่อไป

โดยทางนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่การประชุมเพื่อพิจารณา แต่จะเข้าสู่การพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ซึ่งคงยับยั้งหรือชะลอการนำเข้าพิจาารณาไม่ได้ ด้วยทางคณะรัฐมนตรีมีมติให้นำเข้า หากเครือข่ายฯต้องการให้ชะลอต้องบอกให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานดึงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมออกไปก่อนเพื่อรับฟังข้อเสนอ เมื่อมาสู่การพิจาณาของ สนช.ก็คงอยู่ที่ว่าสมาชิกสภาฯจะเห็นว่าอย่างไร ซึ่งทาง สนช.ก็จะมีการเว้นเรื่องระเบียบข้อบังคับเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขได้ในขั้นกรรมาธิการแรงงาน โดยได้เสนอให้มีนายมนัส โกศล เข้าไปเป็นตัวแทน และมีสัดส่วนของแรงงานอีก 6 คน ซึ่งก็ให้เสนอเข้ามาว่าเป็นใครบ้าง

ทั้งนี้ในวันเดียวกันเครือข่ายฯได้ยื่นหนังสือต่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้ทราบว่าทางคณะรัฐมนตรีได้บรรจุร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเข้า สนช.แล้ว และต้องการให้ สปช.สนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประกันสังคมคนทำงานของแรงงานด้วยโดยมี นางสารี อ๋องสมหวัง นายวิทยา กุลสมบูรณ์ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มารับหนังสือ

โดยนางสารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช.กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกันตนคนหนึ่งก็ได้เห็นถึงความเสียเปรียบของผู้ประกันตนในด้านสิทธิ สวัสดิการ การเข้าถึงสิทธิของกองทุน และเห็นถึงจุดอ่อนของการบริหารจัดการกองทุน และร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตน ด้วยสถานการณ์ที่มีการนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมเข้าสู่วาระการประชุมหากผ่านวาระที่ 1 การแก้ไขเพื่อนำเอาข้อเสนอของตัวแทนผู้ประกันตนที่มาร้องในวันนี้เข้าสู่การพิจารณาหลักการใหญ่คงไม่ได้แน่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติของ สนช.

สารี ระบุว่า เห็นด้วยกับการนำร่างออกมาเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ทำได้คือการชะลอร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ก่อน เพื่อสร้างหลักการที่สอดคล้องกัน เพราะบางประเด็นก็ต้องปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมที่มีอยู่ไม่ใช่ลดลง การที่นำร่างกฎหมายประกันสังคมเข้าโดยเร่งด่วนเช่นนี้ถือเป็นการลักไก่ประชาชนผู้ประกันตน

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว สมาชิก สปช. กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองจะเข้าไปเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดว่าหลักการกระบวนการร่างกฎหมายของภาคประชาชนเพื่อสร้างแนวทางการมีส่วนร่วม โดยการล่าลายมือชื่อต้องทำได้จริง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ขบวนแรงงานร่วมกับภาคประชาชนช่วยกันลงลายมือชื่อนั้นดีอยู่ในหลักการแต่กลับไม่ได้รับการพิจารณา วันนี้เพียงที่จะนำหลักการมาเสนอต่อ สนช.ให้ชะลอร่างแล้วมาทำกระบวนการร่วมกันใหม่ ตนคิดว่า สนช.ต้องรับฟังข้อเสนอและนำร่างออกมาก่อน ช่วยกันพิจารณาอย่างมีส่วนร่วม

จากนั้นก็มีการประกาศเจตนารมณ์โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ว่าตามที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กรได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมนั้น บัดนี้ทางครม.ได้มีมติในการนำร่างกฎหมายประกันสังคมเร่งเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งเห็นว่าเนื้อหายังไม่ใช่การปฏิรูปหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง หากต้องการปฏิรูปจริงต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนได้มีส่วนร่วมปฏิรูปในครั้งนี้ด้วยการฟังเสียงผู้ประกันตน หากทาง สนช.ยังคงเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับนี้ ทางเครือข่ายฯจะร่วมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิรูประบบประกันสังคมต่อไปเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้ประกันตน
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใบตองแห้งออนไลน์: วิบากกรรม NGO

0
0


 

สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่วันพฤหัสบดีนี้ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม คาดว่า สนช.จะผ่านฉลุย มิไยที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กรคัดค้าน ต้องการ "มีส่วนร่วม" แก้ไขประเด็นสำคัญๆ เช่นให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกผู้บริหารกองทุน ไม่ให้อยู่ใต้ระบบราชการกระทรวงแรงงาน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันเดียวกัน ยังเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แร่ ซึ่งองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบออกมาค้านเซ็งแซ่ว่า "เอื้อประโยชน์นายทุน" กฎหมายนี้มุ่งตัดอำนาจ "นักการเมืองชั่ว" โดย "กระจายอำนาจ" ออกประทานบัตร ให้ผู้ว่าฯ อธิบดี ปลัดกระทรวง อนุมัติเป็นกรณี จากเดิมที่เรื่องต้องถึงรัฐมนตรี ตอนนี้จะทำ One Stop Service แต่ชาวบ้านบอกว่า Fast Food เสียมากกว่า เพราะบางกรณียังยกเว้นไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือต่อให้ทับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ก็ให้อำนาจอธิบดีอนุมัติโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (นักการเมืองชั่ว)

นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ จนตั้งสนช. ตั้งคณะรัฐมนตรี มีประกาศ คำสั่ง และกฎหมายหลายฉบับ ที่ถูกคัดค้านจาก NGO "ภาคประชาชน" ซึ่งก็ค้านได้เพียงบางเรื่อง แต่หลายเรื่องค้านไม่ได้ ค้านไม่ทัน หรือเกือบไม่รู้ด้วยซ้ำ ภายใต้อัตราฉับไว 5 เดือนมีกฎหมายเข้า สนช. 57 ฉบับ

กระบวนการอนุมัติใน ครม.ยุคกองทัพ ทั้งเฉียบขาด รวดเร็ว และปิดลับ รัฐมนตรีต่างกระทรวงได้อ่านเอกสารก่อนประชุมวันเดียว ไม่มีข่าวรั่วไหลให้สื่อรู้ตาม "ประเพณีประชาธิปไตย" ว่าวันอังคารนี้ ครม.จะพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง NGO จะได้ยกพลมาค้าน ขณะที่สภาซึ่งมีทหารร่วมครึ่ง ก็เชื่อว่ากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ที่เป็น "ผู้บังคับบัญชา" อยู่ด้วย น่าจะถูกต้องชอบธรรมแล้ว

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกฎอัยการศึก เอาแค่ความรวบรัด อย่างร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งมาตรา 7 ให้อำนาจศุลกากรตรวจค้นสินค้าผ่านแดนหรือถ่ายลำโดยไม่ต้องมีหมายค้น หากเชื่อได้ว่าเป็นภัยก่อการร้ายหรือผิดกฎหมาย ให้ยึดได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล กฎหมายนี้ผ่านสภาโดยแปรญัตติเพียง 7 วัน FTA Watch ต้องไปตามขอคำมั่นว่าจะไม่บังคับใช้กับยา เพราะบริษัทยาข้ามชาติอาจฉวยโอกาสใช้ยึดยาสามัญที่ไม่มีสิทธิบัตร

กฎหมาย ที่ค้านได้ก็อย่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งวิชาชีพเภสัชกรออกมาต้านอื้ออึง เนื่องจากอนุญาตให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์และเภสัชกรจ่ายยาได้ รวมทั้งเปิดช่องให้พวกคลินิกความงาม คลินิกผิวหนัง กวนยาขายเอง

ถามว่าผู้นำ คสช.ผู้นำรัฐบาลรู้เรื่องไหม ไม่รู้หรอกครับ หลายเรื่องไม่รู้หรือรู้บ้างแต่ไม่รู้รายละเอียด แล้วกฎหมายออกมาได้ไง ก็ส่วนราชการชงขึ้นมาให้ บางเรื่องก็เสนอมาจากภาคธุรกิจ เพราะเมื่อ คสช.ยึดอำนาจก็ใช้ระบบราชการทำงาน และด้วยความที่กลัวปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องการเป็นรัฐประหาร "ปิดประเทศ" ก็เปิดรับฟังภาคธุรกิจขนานใหญ่ แล้วใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการปัญหา ในแนวทางที่ท่านคิดว่าถูกต้อง

ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งเสนอโดย อย. เป็นกฎหมายที่คั่งค้างมานาน NGO พยายามเสนอกฎหมายประกบแต่ตกไปในยุครัฐบาลเลือกตั้ง พอ คสช.เข้ามาก็ตั้งใจจะเคลียร์ให้เสร็จสรรพ แต่พอผ่านกฤษฎีกาไม่ทราบว่าเนื้อหางอกมาจากไหน กลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้หมอคลินิกไปเสียได้

ความรวบรัดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งอย่างน้อยก็ยังค้านได้ ยังมีเวลา มีโอกาส

อันที่จริงอยากจะบอกว่า "สมน้ำหน้า NGO" เพราะ NGO จำนวนมากมีบทบาทโค่นรัฐบาลเลือกตั้ง ผู้นำแรงงานที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมบางคนก็เป่านกหวีดสนั่น ด้วยความเกลียดนักการเมือง เกลียด "ทุนสามานย์" เพ้อฝันว่าจะมี "ปฏิวัติประชาชน" หรือ "สภาประชาชน" กระทั่งเกิดรัฐประหารก็ยังหวังจะ "มีส่วนร่วม" ปฏิรูป

แล้วเป็นไง ปฏิรูปพลังงาน ก็ได้ รสนา โตสิตระกูล เข้าไปคนเดียวโด่เด่ กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังดีที่ปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่งั้นแพทย์ชนบทขี้แตกกระเจิง

ภายใต้รัฐราชการ เผลอๆ "ภาคประชาชน" เดือดร้อนกว่าเสื้อแดงด้วยซ้ำ ตั้งแต่คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 แผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ ฉวยมาใช้ไล่รื้อชุมชน ผลักดันชาวบ้านออกจากป่า และป่านฉะนี้ยัง "ตามหาบิลลี่" ไม่เจอ กรณีพิพาทตั้งแต่เหนือจดใต้ โฉนดชุมชน เหมืองแร่ ปากบารา ฯลฯ เมื่อข้าราชการเป็นใหญ่ NGO ก็ร้องไม่ออก

นี่ได้ยินว่ายังจะต่อต้านนโยบายพืช GMO ที่รัฐบาลจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ยังจะค้านไหวหรือ

ใจหนึ่งอยากบอกว่าสมน้ำหน้า ไหนว่าอยากปฏิรูปกับกองทัพ ก็เจรจากับทหารเองสิครับ แต่ก็พูดเต็มปากไม่ได้อีก เพราะ NGO อีกมากไม่ได้เป่านกหวีด และท้ายที่สุดคนเดือดร้อนคือประชาชน

กระนั้นมาถึงขั้นนี้แล้วทำไง ไม่มีใครช่วยได้ ก็เก็บรับบทเรียนกันไปเถอะว่า "กระบวนการประชาธิปไตย" เท่านั้นที่เป็นหลักประกันให้ภาคประชาชน

 

ที่มาข่าวสดออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พื้นที่พูดคุยเพื่อการหนุนเสริมสันติภาพ

0
0

 

ปฏิบัติ การที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในกรณีปัญหาความไม่สงบ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงการพูดคุยกับกลุ่มขบวนการ BRN ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งในอีกหลายกลุ่มที่เรียกร้องความเป็นอัตลักษณ์ของรัฐปัตตานีด้วยการให้ได้มาซึ่งเอกราชของความเป็นมลายูปัตตานี จากการพบปะชาวบ้าน นักวิชาการ นักพัฒนาจากองค์กรเอกชนหลายภาคส่วน บางส่วนเห็นด้วยกับมิติที่รวดเร็ว ทันด่วน ของรัฐบาลเพื่อไทยที่เกิดกระบวนการลงนามเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา เพื่อนำไปสู่กระบวนการการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ ถึงแม้ว่ายังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเนื้อหาอะไรแอบอยู่ข้างใน และยังคงมีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามว่าเกาถูกที่คันไหม หมายถึงว่าได้แก้ปัญหาตรงจุด ตรงประเด็นหรือไม่ หรือเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อเป็นการขายภาพประชานิยม สร้างความเชื่อมั่นทางฐานเสียงทางการเมืองซึ่งได้กระทำการแต่งตั้งกลุ่มการ เมืองต่างๆ เป็นที่ปรึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นทั้งฝ่ายทางการไทยและมาเลเซีย

กระบวนการพูดคุยเริ่มมีมานานแล้ว อย่างน้อยที่เป็นจริงและไม่น้อยกว่าสิบปี ซึ่งเป็นมีการพูดคุยเป็นรูปแบบไม่เป็นทาง (Informal Dialogue) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความจริงใจของฝ่ายรัฐและฝ่ายกลุ่มขบวนการฯ แต่ไม่สามารถหาความจริงใจได้จากทั้งสองฝ่าย เพราะต่างยืนกระต่ายขาเดียวแสดงจุดยืน (Position) ของตนเองอย่างชัดเจน, มีการปะทะด้านแนวคิดตลอดเวลา รวมถึงการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเข้ามาห้ำหั่น แย่งชิงมวลชนและผลประโยชน์กัน  ผลการกระทำเหล่านี้แทบทั้งสิ้นผู้รับชะตากรรมคือชาวบ้านในพื้นที่ไม่ว่าจะ เป็นไทยพุทธหรือมุสลิม ทั้งการปฏิเสธการประนีประนอม (compromise) เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันในแนวทางที่ต่างได้รับตอบแทน(win-win) ที่จะไปนำสู่การแก้ปัญหา (Problems solving) จึงไม่สามารถเปิดพื้นที่พูดคุยได้ เพราะไม่มีระบบหรือแนวทางที่จะสามารถรับรองว่าเมื่อมีการเปิดการพูดคุย ทั้งสองฝ่ายจะปลอดภัยจากการถูกลอบทำร้าย

การ เปิดพื้นที่พูดคุยเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำมานานแล้วสำหรับระดับนโยบายคือ รัฐบาล ประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนักคือไม่ควรลงนามกับทีมใดทีมหนึ่งทีมเดียว ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและก่อให้เกิดความรุนแรง ประเด็นที่รัฐควรทำความเข้าใจในขณะนี้คือการพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนในสังคม ไทยที่ยังขาดความเข้าใจ ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขาดความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ความเป็นรอยยิ้มสยาม ที่ลบเลือนหายไป และประกอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นประชากรเกือบค่อนประเทศอยู่บนพื้นฐานของ ความสะใจ มีประชากรน้อยมากที่จะอยู่บนพื้นฐานของความเห็นใจ เพราะรับฟังข่าวด้านเดียว เช่นคนไทยทั้งประเทศรับข้อมูลตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชน คงมีเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดปัญหา เท่านั้นที่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในขณะนี้

สิ่งที่อยากเสนอให้รัฐบาลควรทำในขณะนี้

  • สร้างพื้นที่ความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความวางใจแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการเปิดพื้นที่การพูดคุยรับฟังกับประชาชนทุกภาคส่วน
  • ในการเปิดพื้นที่พูดคุยควรมีเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงได้และสามารถประสานงานกันได้
  • ต้องยอมรับว่ากระบวนการสร้างสันติภาพเป็นแนวทางความดีร่วมกันทุกฝ่าย

ผู้ เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการจัดเวทีพูดคุยของภาคประชาสังคมในปัตตานีหลายต่อ หลายครั้ง ในประเด็นการพิจารณาหาทางออกร่วมกันว่าเราควรเดินทางไหน สรุปสาระสำคัญคือการสร้างพื้นที่ความปลอดภัยในการพูดคุยเพื่อหาทางออกอย่าง แท้จริง มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา โดยประเด็นปัญหาทั้งหมดที่กล่าวยกมาต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ใช้ความ รุนแรงและใช้แนวทางสันติวิธีเพื่อให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง   

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจห้ามจัดกิจกรรมระลึกลุงนวมทองแท็กซี่ประชาธิปไตย

0
0

ตำรวจกว่าร้อยคนตรึงกำลังสะพานลอยนวมทอง หน้า นสพ.ไทยรัฐ ห้ามจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 8 ปี 'นวมทอง ไพรวัลย์' กระทำอัตวินิบาตกรรม

31 ต.ค. 57 เมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 100 คน เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสะพานลอยนวมทอง หน้า สำนักพิมพ์ไทยรัฐ และอ้างกฏอัยการศึก สั่งห้ามจัดกิจกรรมใดๆ ที่เป็นการต้านรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงการจัดกิจกรรมระลึกถึง นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ซึ่งผูกคอตายที่สะพานลอยแห่งนี้ เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

แกนนำนักศึกษาจาก ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) จำนวนเจ็ดคนได้เดินทางมาที่สะพานลอยดังกล่าว เพื่อวางหรีด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ยอมให้พวกเขาเข้าไปบริเวณสะพานลอย นึกษาจึงยืนสงบนิ่งไว้อาลัยหนึ่งชม. เพื่อทดสอบความอดทนของรัฐ ก่อนจะถูกนำตัวไปเจรจาบริเวณศาลาใกล้เคียงเป็นเวลาประมาณสองชม. สุดท้ายเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมวางหรีด โดยก่อนที่จะเดินทางกลับได้ยืนไว้อาลัยประมาณ 1 นาที

อย่างไรก็ตาม อานนท์ นำภา ทนายความนักโทษการเมือง ได้รับอนุญาตให้ไปวางหรีด หลังจากทำการเจรจากับตำรวจนานถึงครึ่งชั่วโมง และยังมีหญิงไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปวางดอกไม้ด้วยเช่นกัน 

 
 
 
 
 


 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปธน.บูร์กินาฟาโซประกาศภาวะฉุกเฉิน-ยุบสภา

0
0

เหตุประท้วงในกรุงวากาดูกูไม่พอใจประธานาธิบดีซึ่งครองอำนาจหลังรัฐประหาร 27 ปี เตรียมแก้ไขกฎหมายเลิกข้อจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง - การชุมนุมบานปลายเป็นจลาจลบุกรัฐสภา สุดท้ายประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินให้ผู้นำกองทัพควบคุมสถานการณ์และยุบสภา ยอมเจรจากับฝ่ายค้าน ขณะที่สถานการณ์ยังไม่แน่ชัดว่าจะคลี่คลายไปทิศทางใด

(ซ้าย) แบลส คอมปาโอเร ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ซึ่งครองอำนาจมานานถึง 27 ปี และ (ขวา) ธงชาติของบูร์กินาฟาโซ (ที่มา: วิกิพีเดีย/cc)

30 ต.ค. 2557 - ในบล็อกรายงานสดของบีบีซี ที่กรุงวากาดูกู เมืองหลวงของประเทศบูร์กินาฟาโซ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ผู้ชุมนุมได้ยึดถนนในกรุงอูกาดูกู จุดไฟเผาอาคารรัฐสภา และบุกสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาโกรธที่จะมีการลงมติในสภาเพื่อขยายวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี แบลส คอมปาโอเร ซึ่งครองอำนาจมา 27 ปี นับตั้งแต่ทำรัฐประหารในปี 2530

โดยในขณะที่สถานการณ์ยังคงสับสน ผู้นำฝ่ายค้านของบูร์กินาฟาโซ เซฟิริน ดิอาเบร ได้ทวีตด้วยว่า "พวกเราไม่ยอมรับการขึ้นสู่อำนาจด้วยการใช้กำลังอาวุธ พวกเราขอให้ท่านเคารพหลักประชาธิปไตย"

 

 

ด้านสหภาพแอฟริกา ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของชาติในทวีปแอฟริกา ได้ทวีตเช่นกันว่า "พวกเรากำลังติดตามสถานการณ์และขอให้ชาวบูกินาฟาร์โซอยู่ในความสงบ"

มีรายงานด้วยว่าบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ จะส่งผู้แทนพิเศษเข้ามาสังเกตการณ์บูร์กินาฟาโซด้วย

ขณะที่จำนวนผู้ร่วมชุมนุมในวากาดูกู สามารถชมได้วิดีโอที่โจ เพนนี ช่างภาพรอยเตอร์ ทวีต

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวบีบีซี ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ทหารในบูกินาฟาร์โซใช้กระสุนจริงยิงผู้ชุมนุมที่บุกเข้าไปในรัฐสภาด้วย และมีผู้เสียชีวิต 5 ราย โดยมีรายงานด้วยว่า สนามบินของวากาดูกูถูกปิด เที่ยวบินทั้งหมดถูกยกเลิก

ในเวลา 17.07 น. ตามเวลาท้องถิ่น ประธานาธิบดีบูร์กินาฟาโซ ได้กล่าวผ่านทางสถานีวิทยุ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้ผู้บัญชาการกองทัพเป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ประธานาธิบดียังประกาศยุบสภาเพื่อที่จะเจรจากับผู้ประท้วงด้วย และขอให้ผู้นำฝ่ายค้านยุติการประท้วง "ผมขอรับประกันว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไปจะเปิดการเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง"

สำหรับประธานาธิบดี แบลส คอมปาโอเร ครองอำนาจมา 27 ปี นับตั้งแต่ทำรัฐประหารในปี 2530 หลังจากประธานาธิบดีโธมัส ซานคาราถูกสังหารโดยฝีมือของทหารกลุ่มหนึ่ง จากนั้นประธานาธิบดีคอมปาโอเร ได้รับเลือกตั้งในปี 2534 และ 2541 

ชนวนที่ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองรอบใหม่ขึ้นนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการนัดอภิปรายในสภาในวันที่ 30 ต.ค. ในวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบใหม่ในปีหน้า ทำให้ผู้ประท้วงฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดีคอมปาโอเรไม่พอใจ โดยพยายามบุกรัฐสภา และเผาอาคารในรัฐสภา

นอกจากนี้ในรอบปีมานี้เกิดภาวะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นในประเทศแห่งนี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เภสัชใต้จี้ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับปรับปรุงใหม่ก่อนส่ง ครม.

0
0

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 มีการประชุมหารือของกลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งในขณะนี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) ได้หารือร่วมกับสภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย ภาคประชาชน สภาวิชาชีพต่างๆ ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ดูแลคุ้มครองสุขภาพระดับภูมิภาคและได้ร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากทุกกลุ่มทุกวิชาชีพมาอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นร่างที่มีจุดยืนในการปกป้องและคุ้มครองผู้บริโภค
 
อย่างไรก็ตามในการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ในวันนี้ กลุ่มเภสัชกรภาคใต้เห็นว่า “ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขจากสหวิชาชีพและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มแล้ว แต่ในขั้นตอนจากนี้ไปทาง อย.ควรนำข้อสรุปจากการหารือดังกล่าวมาจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับแก้ไขปรับปรุง แล้วนำส่งร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับแก้ไขปรับปรุงนี้เข้าสู่สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอพิจารณาในที่ประชุม ครม. แต่กลับปรากฏว่า ทาง อย.จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับเดิมแนบข้อสรุปการแก้ไขที่ได้พิจารณาร่วมกันระหว่าง อย.และสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้มีความยากในการทำความเข้าใจและขาดน้ำหนักเมื่อเข้าสู่การประชุม ครม. 
 
ทางกลุ่มเภสัชกรภาคใต้จึงได้ออก “แถลงการณ์กลุ่มเภสัชกรภาคใต้ ฉบับที่ 3” เรื่องยืนยันการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยาฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกระทรวงสาธารณสุขส่งร่างพระราชบัญญัติยาที่มีการปรับแก้และเห็นชอบแล้วของสหวิชาชีพ ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติยาฉบับที่มีการแก้ไขโดยสหวิชาชีพแล้วและนำเข้าสู่กระบวนการในการออกกฏหมายต่อไป ไม่ใช่นำร่างฉบับกฤษฎีกาแล้วแนบด้วยข้อสรุปจากวิชาชีพและองค์กรต่างๆ นำส่ง ครม.”
 
ทั้งนี้ทางกลุ่มเภสัชกรภาคมใต้จะหาโอกาสสร้างความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและตัวแทนของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในสายสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขต่อไปในสัปดาห์หน้า
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกฟ้องคดีโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทรัฐบาลยิ่งลักษณ์

0
0
ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องในคดีบริหารงานโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

 
31 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องในคดีบริหารงานโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
โดยคดีนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก 45 คน ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 4 คน โดยศาลพิเคราะห์เห็นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ยังไม่กระทบต่อประชาชน เป็นเพียงแผนแม่บทเท่านั้น และแผนไม่ได้กระทบต่อผังเมืองและภาคประชาชน ยังไม่มีการเวนคืนที่ดิน ส่วนประเด็นที่ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้จัดโครงการประชาพิจารณ์ ที่ผู้ฟ้องอ้างว่าอาจมิชอบนั้น ศาลเห็นว่าบริษัทเอกชนที่ว่าจ้าง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล หากมีความไม่โปร่งใส ก็เป็นอำนาจของรัฐที่จะกำกับดูแลอยู่แล้ว ส่วนการเอาผิดทางอาญา ศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ตามมาตรา 157
 
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาว่า รู้สึกเสียใจ ภาคประชาชนต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่จากคำพิพาษาวันนี้ จะเป็นบรรทัดฐานที่ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ตรวจสอบการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน พร้อมเดินหน้าตรวจสอบโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกโครงการ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: นวมทอง ไพรวัลย์

0
0

 

นวม สวมใส่ใจสู้รู้เกณฑ์กฎ

ทอง นั้นคืออนาคตผู้ทุกข์เข็ญ

ไพร ไกลห่างชนชั้นล่างผู้ลำเค็ญ

วัลย์ เลื้อยเด่นเป็นผู้นำปูทาง

 

นวม สวมชกตามกติกาประชาธิปไตย

ทอง เหรียญชัยมอบให้หัวใจกว้าง

ไพร ทั้งผืนตื่นตามลำดับพลาง

วัลย์ ที่นำทางผลิชูช่องาม

 

นวม ที่สวมแขวนแล้วอาลัยนัก

ทอง อนาคตที่ฟูมฟักถูกยักษ์ย่ำ

ไพร ไม่มีให้หลบหลีกเลียปีกช้ำ

วัลย์ ผลผลิตนำเป็นพลวัต

 

นวม จึงถูกหยิบสวมต่อแล้วขึ้นชก

ทอง นั้นคืออนาคตแม้รกชัฏ

ไพร หรือไพร่ตื่นสู้รู้ปฏิบัติ

วัลย์ คืบคลานปฏิวัติ "ประชาชน"

 

 

31 ตุลาคม 2557

ครบรอบ 8 ปีการจากไปของ "นวมทอง ไพรวัลย์"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช. เปิดทรัพย์สิน ครม. พบ 'ประยุทธ์-คู่สมรส' มี 128 ล้านบาท

0
0
ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคู่สมรสมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128 ล้านบาท ขณะที่หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมีทรัพย์สินมากที่สุด 1.3 พันล้านบาท

 
31 ต.ค. 2557 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน พร้อมเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2557 จำนวน 33 ราย 35 ตำแหน่ง
 
โดยนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 128 ล้านบาท พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีทรัพย์สิน 87,373,757 บาท ไม่มีหนี้สิน หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 1,378,394,902.62 บาท ไม่มีหนี้สิน ซึ่งถือว่า มากที่สุดในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ รองลงมาคือ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคู่สมรสมีทรัพย์สิน 1,315,332,228 บาท ไม่มีหนี้สิน
 
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ไม่มีหนี้สิน อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 116,847,346.51 บาท พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 186,033,607.07 บาท พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 37,709,130.47 บาท พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 54,634,679.28 บาท
 
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 51,789,420.88 บาท พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 93,959,333.05 บาท นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคู่สมรส มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 830,523,789.33 บาท พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคู่สมรส มีทรัพย์สิน 33,280,755.90 บาท ไม่มีหนี้สิน พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 6,948,378.27 บาท ซึ่งถือว่ามีทรัพย์สินน้อยที่สุดในรัฐบาลชุดนี้
 
ทั้งนี้ ป.ป.ช. กำหนดเปิดแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินดังกล่าว ไปจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ระหว่างเวลา 08.30 น.–16.30 น. ที่ห้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี หรือ เว็บไซต์ของสำนักงา ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช. แถลงเปิดคดีถอดถอน 'ยิ่งลักษณ์' ต่อ สนช. 12 พ.ย. นี้

0
0
"ปานเทพ" ประธาน ป.ป.ช. ระบุรัฐบาลสามารถขอข้าวที่ไม่เกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบไปขายก่อนได้ พร้อมทำหนังสือถึงรัฐบาลขอตรวจสอบสต็อกข้าว พร้อมส่งตัวแทนแถลงเปิดคดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ต่อที่ประชุม สนช. 12 พ.ย.นี้

 
31 ต.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสต็อกข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เบื้องต้น ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบสต็อกข้าว ซึ่งจะนำมาประกอบในการพิจารณาคดี ทั้งการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยเน้นที่การทุจริตเป็นหลัก เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารกลับจากรัฐบาล ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะขอข้าวไปจำหน่ายก่อนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นข้าวที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบหรือไม่ หากไม่เกี่ยวข้องน่าจะสามารถอนุมัติให้ขายได้ แต่ต้องรอให้รัฐบาลประสานมาก่อน
 
“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการเร่งระบายข้าวก่อนที่จะเกิดการเสื่อมสภาพ และเกิดความเสียหาย ซึ่งทาง ป.ป.ช.พร้อมนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมทันทีหากรัฐบาลประสานมา ส่วนเรื่องข้าวหายจะใช้คณะกรรมการชุดเดิมในการตรวจสอบ” นายปานเทพ กล่าว
 
นายปานเทพ ยังกล่าวถึงสำนวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเข้าสู่วาระการประชุมพิเศษของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ว่า ป.ป.ช.จะส่งตัวแทนไปแถลงเปิดคดีที่รัฐสภา ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถส่งตัวแทนไปรับฟังคำแถลงเปิดคดีแทนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลไม่ให้ประกัน รอบสอง คดี 112 ลุงวัย 67 ปีเขียนผนังห้องน้ำห้าง

0
0

ที่ศาลทหาร เจ้าหน้าที่นำตัวนายโอภาส (สงวนนามสกุล) อายุ 67 ปี  ผู้ต้องหาคดี 112 จากกรณีเขียนข้อความในผนังห้องน้ำห้างสีคอนสแควร์ โดยผู้ต้องหาถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.และถูกคุมขังมาจนปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวไปแล้วครั้งหนึ่งโดยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5   ล้านบาทแต่ศาลไม่อนุญาต

ในวันนี้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ที่ศาลทหารในช่วงเช้า ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยคัดค้านว่าพนักงานสอบสวนไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน คำให้การของผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนก็เป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีนี้แล้ว ไม่มีเหตุที่ผูต้องหาจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้อีก สอบผู้ร้องแล้วยืนยันตามคำร้องฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่ยื่นต่อศาล

จากนั้นมีการสอบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนได้เร่งรัดทำการสอบสวนมาโดยตลอด แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลการพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหาจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องถูกหล่าวหาว่ากระทำผิดข้อหาร้ายแรงตามคำแถลงของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่ายังมีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในระหว่างสอบสวนต่อไป

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความผู้ต้องหาแจ้งว่าในช่วงบ่ายได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิม พร้อมแหตุผลประกอบด้านปัญหาสุขภาพ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นโรคเส้นเลือดในจอรับภาพบวมซึ่งอาจแตกและทำให้ตาบอด ซึ่งโดยปกติผู้ต้องหาต้องพบแพทย์ทุก 2-3 เดือนหากพบว่ามีอาการจะยิงเลเซอร์เพื่อทำการรักษา

ต่อมาเวลาประมาณ 16.00  น.ศาลทหารมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยระบุว่า

“พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีนี้ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งผู้ต้องหาและผู้ยื่นคำร้องทราบ”

ทั้งนี้ โอภาสถูกจับวันที่ 15 ต.ค.โดยเจ้าหน้าที่ของห้างซีคอนสแควร์เป็นผู้นำตัวส่งหทาร หลังเขายอมรับและเสียค่าปรับทำห้องน้ำห้างสกปรก 2,000 บาท ต่อมาพ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญได้นำตัวโอภาสมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่กองบังคับการปราบปรามก่อนนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหาร

โอภาส เป็นชายวัย 67  ปีชาวกรุงเทพฯ มีอาชีพขายของเบ็ดเตล็ด เขากล่าวว่า ไม่เคยร่วมชุมนุมแต่อย่างใด และเป็นผู้ติดตามการเมืองเพียงห่างๆ จนกระทั่งในราวปี 2552 ได้เจอคลื่นวิทยุชุมชนทั้งฝ่ายเหลืองและฝ่ายแดงโดยบังเอิญจึงรับฟังมานับแต่นั้นมา และพบว่าชอบฟังสถานีของฝ่ายเสื้อแดงมากกว่า แต่ก็จะเลือกฟังเฉพาะดีเจบางคน เขายืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมองจากวิทยุชุมชนตามที่เจ้าหน้าที่ทหารพยายามแถลงข่าวไปในแนวทางดังกล่าว 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่า ในปัจจุบันคดี 112 มีอยู่เกือบ 20 คดี ผู้ต้องหาเกือบทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว ในจำนวนนี้มีอยู่ 6 คดีที่ถูกส่งไปดำเนินคดียังศาลทหาร คดีล่าสุดคือคดีของโอภาสนับเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดหลังรัฐประหาร (คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดเชียงรายนับเป็นกรณีแรก) นอกเหนือจากนั้นเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

5 วิธีใช้ 'โดรน' ให้เป็นประโยชน์ต่อโลก

0
0

แม้ว่า 'โดรน' หรือเครื่องบินไร้คนขับมักจะถูกใช้เป็นอาวุธโจมตีจนกลายเป็นกรณีอื้อฉาวสำหรับกองทัพสหรัฐฯ แต่สื่อต่างประเทศก็นำเสนอการใช้เทคโนโลยีนี้ในมุมอื่นๆ ที่บางมุมก็เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เช่นการใช้ช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติ หรือช่วยพัฒนาด้านการขนส่งลำเลียง


ภาพโดย Don McCullough (CC BY 2.0)
 

30 ต.ค. 2557 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องบินไร้คนขับควบคุมจากระยะไกลหรือ 'โดรน' โดยระบุว่าแม้โดรนจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธอันตรายที่สังหารคนจำนวนมาก แต่ก็มี 5 วิธีการที่จะทำให้เทคโนโลยีโดรนกลายเป็นประโยชน์ต่อผู้คนได้

สำนักงานข่าวสืบสวนสอบสวนของอังกฤษซึ่งเป็นผู้คอยติดตามเฝ้าระวังการใช้งานโดรนระบุว่ามีคนจำนวนมากถูกโดรนสังหารเช่นในประเทศปากีสถาน โซมาเลีย และเยเมน อย่างไรก็ตามในตอนนี้กำลังมีการจับตาโดรนในบทบาทใหม่ซึ่งไม่ใช่การสังหารผู้คนแต่เป็นการช่วยเหลือทำให้โลกดีขึ้น รวมถึงการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น โครงการ 'ไพร์มแอร์' ของอมาซอน และโครงการ 'โปรเจกต์วิง' ของกูเกิลซึ่งกำลังทดลองใช้โดรนในการช่วยส่งสินค้าตามบ้าน

ทางด้านนักช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็กำลังศึกษาการใช้โดรนเพื่อช่วยงานในด้านนี้โดยมีการศึกษาประสิทธิภาพและผลกระทบเช่นงานศึกษาจากศูนย์วิจัยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนอร์เวย์

แพทริก ไมเออร์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสังคมจากสถาบันวิจัยวิชาการคอมพิวเตอร์ของกาตาร์ประเมินว่าการใช้โดรนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนพบเห็นได้ทั่วไป จากช่วงเริ่มต้นที่อาจจะมีราคาสูงมากหลายแสนดอลลาร์ แต่จะเริ่มถูกขึ้นจนเท่ากับราคาโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการใช้งานอัตโนมัติมากขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น ขณะที่ขนาดจะเล็กลง เบาลง และปลอดภัยมากขึ้น

แต่ก็มีกรณีที่ผู้มีอำนาจควบคุมพยายามควบคุมการใช้โดรนและนักวิจัยก็ยังมีความกังวลว่าผู้ผลิตให้กองทัพอาจจะฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อขยายตลาดใหม่ในขณะที่ทำให้ตัวเองมีภาพลักษณ์ดูดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นการเอาป้ายแปะโดรนที่ตนเองต้องการจะโปรโมทว่า "เป็นการใช้ช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม"

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำเสนอวิธีการใช้งานโดรนในทางที่ไม่ใช่การสังหารผู้คนเอาไว้ 5 วิธีดังนี้


1. ใช้โดรนเพื่อคุ้มกันสัตว์ป่า

นักกิจกรรมด้านสัตว์ที่เป็นขาโหดอาจจะอยากได้โดรนล่าสังหารไว้จัดการกับพวกล่าช้างล่าแรด แต่ที่จะกล่าวถึงในตอนนี้ไม่ใช่โดรนจำพวกนั้น แต่เป็นโดรนที่ใช้ในการติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ เช่นในองค์กรอนุรักษ์โอลเพฮาตาที่ประเทศเคนยามีการทดลองใช้โดรนขนาดกว้าง 6 ฟุตครึ่งเพื่อติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนใช้โดรนในการติดตามการบุกรุกล่าสัตว์ในพื้นที่ 90,000 เอเคอร์ ซึ่งถือว่ากว้างมาก หรือใช้โดรนเพื่อปฏิบัติงานประจำวันของอุทยาน ช่วยเหลือนำทางนักท่องเที่ยว รวมถึงช่วยงานเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งเป็นงานอันตรายเช่นการขับไล่ผู้บุกรุกล่าสัตว์

นอกจากในเคนยาแล้วประเทศนามิเบียและอินเดียยังวางแผนจะนำโดรนมาใช้ในการคุ้มครองสัตว์ป่าด้วย


2. ใช้ในการรับมือเชิงมนุษยธรรม

ถึงแม้ว่าคริสติน แซนด์วิค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของนอร์เวย์จะกล่าวว่า "การระบุถึงปัญหาวิกฤติด้านมนุษยธรรมเป็นคำถามเชิงการเมืองและการใช้โดรนจะไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราด้านข้อจำกัดทางการเมืองหรือทรัพยากรได้" แต่ก็เริ่มมีการนิยมใช้โดรนเพิ่มมากขึ้นในการรับมือเชิงมนุษยธรรมแล้ว

ทางด้านแพทริก ไมเออร์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยเครื่องบินไร้คนขับหรือ UAViators กล่าวว่า ในตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับการใช้โดรนให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การใช้โดรนในการนี้ก็สามารถช่วยชีวิตคนได้จริง และเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาสำนักงานสหประชาชาติในนิวยอร์กก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของเหล่าผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิต และคนทำงานให้ความช่วยเหลือ เพื่อหารือเรื่องการใช้โดรนในทางมนุษยธรรม ซึ่งไมเออร์บอกว่ามีหน่วยงานราว 20 หน่วยงานที่สนใจการใช้โดรนในแง่นี้

วิธีการใช้โดรนในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ได้แก่ การช่วยฟื้นฟูและดูแลด้านสุขภาวะหลังเกิดภัยพิบัติ การทำแผนที่วิกฤตการณ์เพื่อส่งความช่วยเหลือ ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงการสอดส่องดูแลด้านสิทธิมนุษยชน ในบางกรณีโดรนยังอาจช่วยเหลือร่วมกับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลาย อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงวัตถุในสถานที่ๆ เข้าถึงยากหรือมีอันตรายด้วย


3. ใช้กับงานด้าน "รักษาสันติภาพ"

เมื่อเดือน ธ.ค. 2556 สหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ใช้โดรนของพวกเขาเป็นครั้งแรกที่ทางภาคตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกซึ่งเป็นเขตที่เต็มไปด้วยป่าเขามีกองกำลังติดอาวุธหลากหลายทั้งกลุ่มเล็กและใหญ่ ซึ่งถือเป็นการขยายผลภารกิจรักษาสันติภาพของยูเอ็น

โดรนที่ใช้นี้ไม่ใช่โดรนล่าสังหารแต่เป็นโดรนรุ่น 'เซเล็กซ์อีเอส ฟัลโค' (Selex-ES Falco) ซึ่งนำมาใช้ลาดตระเวนสอดส่องการค้าอาวุธผิดกฎหมายหรือการเคลื่อนพลของกลุ่มติดอาวุธ นอกจากนี้ยังช่วยค้นหาการค่ายของกลุ่มติดอาวุธเพื่อชี้นำปฏิบัติการของกองกำลังรักษาสันติภาพของยูเอ็นและกองทัพคองโก ช่วงที่โดรนของยูเอ็นบินกลับในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีการพบเหตุเรือล่มระหว่างทางที่ทะเลสาบคีวูจนพวกเขาสามารถส่งเรือกู้ภัยช่วยเหลือคนได้ 17 คน

กลุ่มให้ความช่วยเหลือบางส่วนยังคงไม่ไว้ใจการใช้โดรนโดยปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลเพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง แต่ฝ่ายปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็นเชื่อว่าพวกเขาประสบความสำเร็จโดยมีคองโกตะวันออกเป็น "หนูทดลอง" ซึ่งตอนนี้พวกเขายังได้นำโดรนไปใช้กับประเทศมาลี และกำลังวางแผนใช้กับสาธารณรัฐแอฟริกากลางรวมถึงปฏิบัติการในที่อื่นๆ ทั่วโลก


4. ใช้เพื่อขนส่งพัสดุ

ขณะที่กลุ่มให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกำลังพิจารณาใช้โดรนในการช่วยเหลือลำเลียงสิ่งให้ความช่วยเหลือไปในเขตที่เกิดภัยพิบัติ องค์กรบางแห่งก็กำลังคิดนำโดรนมาใช้กับการขนส่งเครื่องใช้ประจำวัน บ้างก็คิดว่าจะใช้โดรนในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานในระดับก้าวกระโดด เช่น โครงการ "ลาบินได้" ที่พยายามดัดแปลงการขนส่งสินค้าในเคนยาด้วยการใช้โดรนแทนลา ผู้นำเสนอพยายามอธิบายกับคนแก่ในเคนยาว่าโดรนก็เปรียบเสมือนลาที่บินบนท้องฟ้าได้

บริษัทอโฟรเทควางแผนออกแบบโดรนไว้ใช้ในเคนยาเพื่อ "ขนส่งพัสดุในระดับกลางเดินทางในระยะทางระดับกลางเพื่อส่งไปในเมืองระดับกลาง" แต่เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาความพยายามทดสอบโดรนนี้ก็ถูกทางการเคนยาควบคุมการดำเนินการ แต่ผู้วางแผนใช้โดรนยังคงเดินหน้าผลักดันให้มีการใช้ในประเทศใกล้เคียง

เจ.เอ็ม เลดการ์ด ผู้วางแผนริเริ่มใช้โดรนในประเทศแถบแอฟริกาบอกว่าเขามีเป้าหมายต้องการวางเส้นทางบินของโดรนเพื่อการค้าเป็นแห่งแรกในแอฟริกาภายในปี 2559 โดยพัสดุที่โดรนจะนำส่งอย่างแรกคือคลังโลหิตที่ใช้ถ่ายให้ผู้ป่วยหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยชีวิตโดยวางเส้นทางนำส่งเป็นระยะทาง 50 ไมล์ หลังจากนั้นจะพัฒนาให้สามารถขนน้ำหนักได้มากขึ้นเป็น 44 ปอนด์ และมีระยะการเดินทางหลายร้อยไมล์เพื่อขนส่งพัสดุในเส้นทางกันดาร


5. ใช้เพื่อทำแผนที่วิกฤตการณ์

หลังเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มฟิลิปปินส์ในเดือน ก.ย. ปี 2556 มีการใช้โดรนแบบ 4 ใบพัดเพื่อช่วยระบุตำแหน่งแก่นักให้ความช่วยเหลือว่าควรจะตั้งแคมป์ตรงไหนและมีจุดไหนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ขณะที่โดรนแบบปีกเครื่องบินจะทำหน้าที่เก็บภาพถ่ายทางอากาศเพื่อทำแผนที่รายละเอียดในแบบ 2D และ 3D ในเรื่องผลกระทบจากไต้ฝุ่นที่มีต่อเมืองทาโคลบาน

การทำแผนที่วิกฤตการณ์ด้วยโดรนจะช่วยให้การรับมือต่อเหตุฉุกเฉินของคนทำงานให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้พวกเขาไปยังสถานที่ซึ่งต้องการความช่วยเหลือได้เร็วขึ้น แซนด์วิคกล่าวว่ากรณีในเมืองทาโคลบานเป็นข้อพิสูจน์ว่าเครื่องบินโดรนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องนี้ได้จริง
 


เรียบเรียงจาก

5 ways drones are making the world a better place (without killing anyone), Globalpost, 25-10-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/business/innovation/141024/drones-wildlife-humanitarian-peacekeepers

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live