Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

สหภาพฟูจิคูระชุมนุมต่อเนื่อง หลังประนอมข้อพิพาทไม่บรรลุผล

$
0
0
สมาชิก‎สหภาพแรงงานฟูจิคูระยังคงรวมตัวชุมนุมหน้าโรงงานเรียกร้องโบนัสและสวัสดิการต่อ หลังประกาศใช้สิทธินัดหยุดงานเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 
 
16 ธ.ค. 2557 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ‎สหภาพแรงงานฟูจิคูระได้แจ้งการนัดหยุดงานแก่กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาพระนครศรีอยุธยา โดย‎สหภาพแรงงานฟูจิคูระระบุว่าตามที่ลูกจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อ บริษัท ฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ฉบับลงวันที่ 24 ก.ย. 2557 โดยได้มีการเจรจากันหลายครั้ง จนนำไปสู่ข้อพิพาทแรงงาน ทางพนักงานประนอมพิพาทแรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการนัดเจรจามาหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 แต่ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ดังนั้นลูกจ้างจึงขอใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยการนัดหยุดงานในวันที่ 15 ธันวาคม 2557
 
จากนั้นในวันที่ 13 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา บริษัท ฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด สาขาพระนครศรีอยุธยา ได้ขอใช้สิทธิปิดงานต่อตัวแทนพนักงานและพนักงานที่ยื่นข้อเรียกร้อง ฉบับลงวันที่ 24 ก.ย. 2557 โดยระบุว่า ตามที่ตัวแทนพนักงานและพนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทฯ เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2557 นั้น ปรากฎว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2557 ตัวแทนพนักงานและพนักงานได้มีหนังสือแจ้งต่อบริษัทฯ เพื่อขอใช้สิทธินัดหยุดงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2557 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอใช้สิทธิปิดงานเฉพาะตัวแทนพนักงานและพนักงานที่ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2557 เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป
 
มาวันนี้ (16 ธ.ค.) สมาชิก‎สหภาพแรงงานฟูจิคูระ ก็ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้าโรงงานฟูจิคูระอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งอยู่เลขที่ 1/80 ม.5 ต.คานหาม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากไม่พอใจฝ่ายนายจ้างที่ไม่สนองตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มที่ขอให้เพิ่มเงินค่าโบนัสพิเศษประจำปี 2557 และค่าสวัสดิการต่าง ๆ จากข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานรวม 5 ข้อ ดังนี้
 
1. ขอให้บริษัทจ่ายเงินค่าครองชีพ ให้กับลูกจ้าง คนละ 1,000 บาทต่อเดือน 
 
2. ขอให้บริษัทจ่ายเงินค่าเบี้ยขยันเพิ่มให้กับลูกจ้าง ทุกคนโดยเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเบี้ยขยันดังนี้ เดือนแรกจากเดิม 700 บาทต่อเดือนเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน เดือนที่ 2 เพิ่มเป็น900 บาทต่อเดือน เดือนที่ 3 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน 
 
3.ขอให้บริษัทจ่ายเงินค่าอาหารให้กับลูกจ้างทุกคนจากเดิมคนละ 20 บาทต่อวันเพิ่มเป็น 40 บาทต่อวัน 
 
4.ขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัสให้กับลูกจ้างทุกคนๆละไม่น้อยกว่า 90 วันบวกเงินพิเศษคนละ10,000 บาทโดยไม่มีเงื่อนไข  
 
5.สภาพการจ้าง สวัสดิการผลประโยชน์อื่นใด ที่ลูกจ้างเคยได้รับอยู่แล้ว และไม่มีอยู่ในข้อเรียกร้องฉบับนี้ขอให้บริษัทฯปฏิบัติไว้คงเดิม
 
โดยผลการประนอมข้อพิพาทเมื่อวาน (15 ธ.ค.) ระหว่าง นายจ้างลูกจ้าง และ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ฯ เป็นครั้งที่ 7 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไอซีทีเตรียมแจกสติกเกอร์ไลน์ ‘ค่านิยม 12 ประการ’ ฟรี เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน

$
0
0

16 ธ.ค.2557 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานเมื่อวานนี้ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังจัดทำสติกเกอร์ ‘ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ’ ให้โหลดฟรีผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน พร้อมให้โหลดวันที่ 30 ธ.ค.นี้

เดลินิวส์รายงานว่า นางทรงพร โกมลสุรเดช รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และโฆษกกระทรวงไอซีที กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีอยู่ระหว่างจัดทำสติกเกอร์ให้โหลดฟรีผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ “ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ” ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนคนไทยที่นิยมส่งสติกเกอร์ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ได้แสดงความรู้สึกต่างๆ ถึงกันในปี 2558 หรือ ปีใหม่ที่จะถึงนี้

รองปลัดไอซีทีกล่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีได้ให้ทุกหน่วยงานประสานงานไปยังสำนักงานเลขาธิการนายกฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลและว่าจ้างบริษัทเอกชนเพื่อออกแบบสติกเกอร์ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่สุด โดยจะสรุปรูปแบบที่ชัดเจนกลางเดือนนี้เพื่อดำเนินการจัดทำและพร้อมให้โหลดฟรีในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

สำหรับค่านิยม 12 ประการ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีนำเสนอไว้เมือวันที่ 11 ก.ค.2557  ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติในปัจจุบัน
2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
3. กตัญญู ต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษา เล่าเรียน ทางตรงและทางอ้อม
5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
7. เข้าใจ เรียนรู้ การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
9. มีสติ รู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่าย จำหน่าย และขยายกิจการ เมื่อมีความพร้อม โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ตามหลักของศาสนา
12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และต่อชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง

ที่มา เดลินิวส์, ประชาไท
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 10 - 16 ธ.ค. 2557

$
0
0
 
บอร์ดค่าจ้างยันไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานวอนรัฐคุมราคาสินค้าหลังเพิ่มเงิน ขรก.
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างมีมติยืนยันให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทั่วประเทศไปจนถึงปลายปี 2558 ตามมติเดิม เนื่องจากวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้วพบว่า ขณะนี้ค่าครองชีพไม่มีการปรับขึ้น ราคาน้ำมันลดลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ส่วนข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานที่เรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 321 บาท นั้น ยังไม่มีการยื่นหนังสือมายังบอร์ดค่าจ้างอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการหยิบยกมาพิจารณาร่วมด้วย ส่วนกรณีที่แรงงานเป็นห่วงว่าราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าครองชีพให้แก่ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีอัตราเงินเดือนไม่ถึง 9,000 และ 13,000 บาทนั้น ที่ประชุมพิจารณาว่ามีการปรับขึ้นแต่ค่าครองชีพเท่านั้นและเป็นจำนวนไม่มาก อีกทั้งรัฐบาลได้ให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ปรับขึ้น ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างจะมีการหารือกันอีกครั้งในช่วงปลายปี 2558
       
ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากค่าครองชีพไม่มีการปรับขึ้นแล้วไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีปัญหา แต่หากมีการปรับขึ้นค่าครองชีพก็ควรจะปรับให้กับแรงงานเพราะที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องนี้มาตลอด ทั้งนี้ คิดว่า จะมีการสำรวจค่าครองชีพในช่วงต้นปีหน้าในเดือนมกราคมถึงมีนาคม จากกลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนกว่า 1,000 คน ว่า การที่น้ำมันลดราคาลงแล้วทำให้ค่าครองชีพปรับลดลงด้วยหรือไม่ หากสำรวจแล้วมีผลกระทบก็จะเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงาน ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้นมองว่าอาจจะมีการฉวยโอกาสของพ่อค้าแม่ค้าบางกลุ่มที่ปรับขึ้นราคาสินค้า เพราะเห็นว่ามีการขึ้นเงินเดือน อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไว้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-12-2557)
 
สปส.ขยายเวลาสมัครประกันตน มาตรา 40
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า หลังการปิดรับสมัครผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ายังมีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่สามารถสมัครได้ทันภายในเวลาที่กำหนด  นายกรัฐมนตรี จึงมีนโยบายขอให้กระทรวงแรงงาน ไปดำเนินการแก้พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ตามมาตรา 40 เพื่อขยายระยะเวลาการเปิดรับสมัครให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยเบื้องตน จะขยายระยะเวลาการรับสมัครให้อีก 10 วัน ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่เสร็จสิ้นการแก้ไข พ.ร.ฎ. คาดว่าจะดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนเทศกาลปีใหม่นี้ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
 
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ระบุว่าวันพรุ่งนี้จะเสนอหนังสือการแก้ไขพระราชกฤษฎีกา เพื่อเปิดให้ผู้สูงอายุ มาลงทะเบียนผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานฯ และ จะเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า คาคมีผู้สูงอายุสมัครเพิ่มไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ระบุว่ามาตรา 40 โดยเฉพาะทางเลือกที่ 3 ต้องการให้ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี ได้ออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้น ผู้ประกันตนในส่วนของเงินชราภาพ ที่สมัครแล้วจ่ายย้อนหลังไปถึงเดือน พ.ค. 2555 จำนวน 3,200 บาท และ รัฐทบให้อีกเท่าตัวนั้น ถ้าไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรถอนเงินออกมาใช้ ขอให้เก็บเงินก้อนนี้ไว้ในยามจำเป็นจริงๆ
 
อย่างไรก็ตาม หลังสำนักงานประกันสังคม ปิดรับลงทะเบียนผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากลงทะเบียนไม่ทัน ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ขยายเวลาออกไป จึงยังคงรอความหวังจากรัฐบาลว่าจะไปยื่นขอลงทะเบียนได้เมื่อใด
 
(ครอบครัวข่าว, 10-12-2557)
 
พนง.โรงงานอุตสาหกรรมปราจีนฯผละงานประท้วงขอเพิ่มโบนัส
 
เมื่อเวลา 0.20 น.วันนี้ 10 ธ.ค.57 พนักงานโรงงานอุตสาหกรรม สองแห่งในนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ผละงานประท้วงในปลายปีนี้ ไม่พอใจผู้บริหารตัดเงินโบนัสลง จนเกิดการ นัดหยุดงาน ตั้งช่วงสายวันนี้จรดยันดึกเที่ยงคืน  ทั้งนี้ มีพนักงานโรงงานซันชาย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตหัวเชื้อน้ำส้มกว่าหนึ่งร้อยคน จากพนักงานทั้งหมดสี่ร้อยกว่าไม่ยอมเข้าทำงาทนตามปกติ หลังทราบว่าทางผู้บริหารซึ่งเป็นชาวจีน ได้ปรับลดเงินโบนัสจาก สองเดือน เหลือ เพียง 1.6 เดือน และยังมีการแบ่งจ่าย ซึ่งสร้างความไม่พอใจ จึงมีการหยุดงาน พร้อมมีการตั้งเต๊นท์ร้องรำทำเพลง พร้อมทั้งมีการขัดขวางพนักงานบางคนที่ไม่ทราบเรื่อง และจะเข้าไปทำงานตามปกติ สุดท้ายหลังมีการส่งตัวแทนข้าเจรจา โดยมีทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี เข้าพูดคุยจนทางผู้บริหารยอมจ่ายโบนัสให้เท่าปีที่ผ่านมา คือ 2 เดือนแต่ขอจ่ายให้สองครั้งคือ สิ้นเดือนธันวาคม 57 และอีกงวดคือสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากทางบริษัทอยู่ในระหว่างการก่อสร้างขยายการผลิต พนักงานส่วนหนึ่งที่ออกมาประท้วงจึงไม่พอใจและคงปักหลักประท้วงต่อ
 
ขณะที่อีกแห่ง บริษัท ยาโน่ อีเล็คทริก (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ถ่ายภาพ และแผงวงจรอีเล็กทรอนิกส์ เริ่มมีการรวมตัวของพนักงานปละปลายตั้งแต่ช่วงกลางวันจนกระทั่งค่ำที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานกะกลางวัน จะออกกะสลับกับ กะกลางคืน(ดึก) ได้เกิดการผละงานประท้วงผู้บริหารที่จะมีการปรับลดโบนัสลงเหลือ 3 เดือนจากที่เคยได้รับ 4 เดือน โดยอ้างเหตุผล บริษัทตกอยู่ในสถานะขาดทุนสินค้าส่งออกไม่ได้โดยไม่ได้ทำความเข้าใจกับพนักงาน จึงมีการผละงานของพนักงานทั้งสองกะ กว่า 800 คน จนทางโรงงานต้องสั่งหยุดการเดินการผลิต พร้อมเจรจากับตัวแทนพนักงาน โดยมี ส่วนราชการทั้ง ฝ่ายปกครองอ.ศรีมหาโพธิ และ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจ.ปราจีนบุรีวิ่งวุ่น เข้าไปเป็นสักขีพยานในการเจรจา โดยเบื้องต้นทางโรงงานขอเพิ่มให้เป็น 3.6 แต่ทางพนักงานไม่ยอมขอเป็นเท่าเดิมคือ 4 เดือน และไม่ต้องจัดเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งล่าสุดการเจรจายังไม่บรรลุผล
 
โดยทางพนักงานที่ผละงานต่างจับกลุ่มอยู่ด้านหน้าเพื่อรอคำตอบ ขณะที่บางส่วนอาศัยสนามหน้าโรงงานนั่งจับกลุ่มพูดคุย พร้อมกับพนักงานกะกลางคืน ที่อยู่ด้านนอก ต่างโห่ร้องปรบมือเชียร์ให้กำลังใจแกนนำที่เข้าไปเจรจา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการเจรจาที่ยืดเยื้อเนื่องจากทางผู้บริหารยังคงยืนกราน 3.6 เท่าเดิม
 
ซึ่งตลอดเวลามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี คอยดูแลรักษาความปลอดภัยเนื่องจากมีพนักงานบางกลุ่มตั้งวงดื่มสุรา จนเวลาผ่านไปนานหลาย ชั่วโมง ในที่สุดการเจรจาเป็นผลสำเร็จโดยทางบริษัทยอมจ่ายให้ตจามที่พนักงานร้องขอ หลังจากนั้นพนักงานต่างแยกย้ายกลับ
 
(คมชัดลึก, 10-12-2557)
 
ไทยแอร์โรว์ 2 พันคน ประท้วงหยุดงาน เรียกร้องโบนัส 7 เดือน
 
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงงานบริษัทไทยแอร์โรว์ จำกัด ม.7 ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พนักงานไทยแอร์โรว์ กะเช้า กว่า 2,000 คน ได้นัดหยุดงานประท้วง ไม่เข้าทำงาน โดยรวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าโรงงาน เรียกร้องผู้บริหาร ขอเงินโบนัสเพิ่ม ซึ่งเบื้องต้นปีนี้บริษัทจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงาน จำนวน 6 เท่าของเงินเดือน บวกเงินอีก 5,500 บาท แต่พนักงานเรียกร้องขอโบนัส 7 เท่าของเงินเดือน บวก 10,000 บาท 
 
ขณะที่ปีที่แล้ว บริษัทจ่ายโบนัสให้พนักงาน 7.8 เท่าของเงินเดือน บวกเงิน 12,000 บาท ทั้งนี้พนักงานยังคงปักหลักประท้วง มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิการแรงงานเดินทางเข้าไปยังภายใน โดยเบื้องต้นยังไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
 
ทั้งนี้บริษัทไทยแอร์โรว์ จำกัด เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดใน จ.พิษณุโลก ผลิตระบบสายไฟและอุปกรณ์ มีพนักงานประมาณ 4,200 คน 
 
(ข่าวสด, 11-12-2557)
 
แจงออก พ.ร.ฎ. ขยายยื่น ม.40 ใช้เวลากว่า 2 ด.คาดรับสมัคร 7-16 ก.พ
 
วันที่ 11 ธ.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี การเปิดรับสมัครผู้ประกันตน มาตรา 40 สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ปรากฏว่า มีผู้สูงอายุให้ความสนใจ สมัครเป็นจำนวนมาก และมีส่วนหนึ่งพลาดโอกาส จึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมขยายเวลารับสมัคร
 
ล่าสุด ในการประชุมครม.วันที่ 9 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ขยายเวลา โดยขณะนี้ทางสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแก้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคล ซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554 (มาตรา 40) เพื่อขยายระยะเวลาการเปิดรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปี ที่ตกค้างไม่สามารถสมัครได้ทัน ซึ่งได้หารือกับฝ่ายกฎหมายและได้แจ้งว่า จะขยายระยะเวลาการรับสมัครให้อีก 10 วัน ภายหลังการแก้ไข พ.ร.ฎ. เสร็จสิ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญให้ประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยขั้นตอนต้องใช้เวลา คาดว่าจะไม่ทันก่อนปีใหม่ โดยสำนักประกันสังคม ได้ทำเอกสารแจงขั้นตอนดำเนินงานแก้ไข พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ระบุว่า ได้ทำเอกสารเสนอคณะกรรมการประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ได้ทำหนังสือเสนอปลัดกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม.คาดว่าวันที่ 30 ธ.ค.นี้ จากนั้นนำไปสู่ขั้นตอนต่างๆ ตามกระบวนการ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 ม.ค. 2558
 
ทั้งนี้ ได้มีการคาดว่า จะสามารถรับสมัครผู้ประกันตนกลุ่มใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 7-16 กุมภาพันธ์ 2558 ตามเป้าหมาย แต่ขั้นตอนการลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.ฎ.นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กลับลงมา ส่วนกรณีที่กระทรวงแรงงานสามารถนำนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คาดระยะเวลาอาจสำเร็จในเวลารวดเร็วกว่าที่กำหนด
 
(ไทยรัฐ, 11-12-2557)
 
หนุนผู้พิการมีงานทำ เร่งแก้กม. จ้างผู้พิการเข้าทำงาน เผยนายจ้างมีความต้องการแรงงานกว่า 3 หมื่นคน
 
(11 ธ.ค. ) นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมการส่งเสริมการจ้างผู้พิการ โดยมีผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถานประกอบการ และตัวแทนผู้พิการ ว่า ในที่ประชุมมีการหารือถึงการมีงานทำของคนพิการซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายให้คนไทยมีงานทำ ของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเน้นแนวทางให้ผู้พิการเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการแต่สามารถทำงานอยู่ที่บ้าน ลดปัญหาการเดินทางเนื่องจากระบบสาธารณูปโภคยังไม่เพียงพอรวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย และได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม
       
“ปัจจุบันผู้พิการในฐานข้อมูล 1.5 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นวัยทำงาน 700,000 คน ในมีศักยภาพทำงานได้จริง 500,000 คน โดยปัจจุบันนายจ้างมีความต้องการจ้างผู้พิการจำนวน 30,000 คน ขณะที่ผู้พิการเสนอให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้พิการให้มากขึ้น และพัฒนาระบบขนส่งสำหรับคนพิการโดยเร็ว โดยกระทรวงแรงงานจะเร่งให้มีการจ้างงานและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคจากการจ้างงานและการทำงานของผู้พิการ โดยเร็ว” นายนพดล กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-12-2557)
 
พนักงานบริษัท 'ฮิตาชิ' ประท้วงปิดหน้าโรงงาน ขอขึ้นเงินโบนัส-โอที
 
เวลา 19.00 น. วันที่ 12 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงาน บริษัท HGST หรือ ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จับกลุ่มประท้วงบริเวณหน้าโรงงาน ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับเงินโบนัสประจำปี จำนวน 8 ข้อ
 
ทั้งนี้ บริเวณหน้าโรงงาน พนักงานจำนวนกว่าพันคนรวมตัวกัน เรียกร้องให้ทางโรงงานปรับเงินโบนัส เงินโอที หรือ ทำงานค่าล่วงเวลา รวมทั้งเงินพิเศษจำนวน 8 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอโอทีในอัตรา 3.5 ชั่วโมง 2. ยกเลิกโบนัสตัดเกรด เป็นจ่ายทีเดียวสิ้นปี ขอ4เดือนทุกปี 3. โอทีวันหยุดขอเป็น 11.5 ชั่วโมงต่อคืน 4.ขอค่าข้าวรายวันและค่าข้าวโอทีเป็น 50 บาท 5.ค่ากะเพิ่ม 100 บาท 6.ขอเงินพิเศษคืน 7.พนักงานอายุ 5 ปี ขอปรับขึ้นเป็นรายเดือน 8.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ6% ทั้งรายวันรายเดือน
 
โดยทางกลุ่มผู้ประท้วงได้ยื่นหนังสือให้กับตัวแทนของบริษัทในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. แต่ไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ ทำให้กลุ่มพนักงานยังคงปลักหลักกันอยู่บริเวณหน้าโรงงาน
 
กระทั่งเวลา 18.00 น. ทางคณะกรรมการสวัสดิการ บริษัทฯ ได้ร่วมประชุมหารือกับกรรมการผู้จัดการ มีข้อสรุปร่วมกันคือ จะจ่ายเงินรางวัลพิเศษให้กับพนักงานทุกคน คนละ 5,000 บาท แต่ปรากฏว่ากลุ่มผู้ประท้วงไม่ยอมรับข้อเสนอ ทางผู้บริหารโรงงานจึงให้ทางกลุ่มผู้ประท้วงส่งตัวแทน 5-10 คน เข้าพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ แต่ทางกลุ่มผู้ประท้วงไม่ยอมส่งตัวแทนเข้าประชุม แต่ต้องการให้ผู้บริหารออกมาคุยที่หน้าโรงงาน และต้องการให้บริษัททำตามข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อ เท่านั้น
 
สถานการณ์ล่าสุด ยังหาข้อยุติของ2ฝ่ายไม่ได้ และกลุ่มพนักงานยืนยันจะประท้วงปิดหน้าโรงงาน จนกว่าทางบริษัทจะยินยอมทำตามข้อเสนอทั้งหมด
 
(ไทยรัฐ, 12-12-2557)
 
พนง.ฮิตาชิยุติประท้วง ตกลงจ่ายโบนัส 2 เดือน
 
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า หลังจากพนักงานบริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ( HGST ) กว่า 1,000 คน ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ได้ร่วมกันปักหลักประท้วง ตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 12 ต่อ เนื่องมาถึงเช้าวันที่ 13 โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานรายวัน ซึ่งต้องการสวัสดิการ ประกอบด้วย 1. ขอเงินล่วงเวลา (โอที) ในอัตรา 3.5 ชั่วโมง 2. ยกเลิกโบนัสตัดเกรด เป็นจ่ายทีเดียวสิ้นปี รวม 4 เดือน 3. เงินล่วงเวลาวันหยุดขอเป็น 11.5 ชั่วโมง ต่อคืน 4.ค่าอาหารรายวัน เป็น 50 บาท 5.ขอค่ากะเพิ่ม 100 บาท 6.ขอเงินพิเศษคืน 7.พนักงานอายุ 5 ปี ขอปรับขึ้นเป็นรายเดือน การเจรจาจากเดิมจาก 7 ข้อ ลดลงเหลือ 3 ข้อ คือ 1.ให้มีการเพิ่มค่ากะจาก60 บาท เป็น 100 บาท 2. เพิ่มค่าอาหารจาก 20 บาทเป็น 50 บาท และ 3.โบนัสขอเป็น 4 เดือน อย่างไรก็ตามในการหารือ ระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุม โดยมีนายนคร ตั้งสุจริตกุล รองกรรมการผู้จัดบริษัท รวมถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานร่วมกับสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งชาติ ได้ข้อสรุปเป็นทางการคือให้โบนัส พนักงาน 2 เดือน และรวมถึงเงินพิเศษ 5,000 บาท โดยข้อตกลงนี้สร้างความพอใจให้กับพนักงาน ส่วนอีก 7 ข้อที่เหลืออีกภายใน 3 เดือน ทางบริษัทจะมีการหารือกันอีกครั้งเมื่อผู้ชุมนุมทราบผลจึงยอมเจรจา
 
(เนชั่นทันข่าว, 13-12-2557)
 
เครือข่ายแรงงานจี้ปฏิรูปประกันสังคม
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า คสรท. และเครือข่ายแรงงานได้สรุปข้อเสนอนโยบายด้านแรงงานในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสนอต่อ พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงานเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณานำข้อเสนอปฏิรูปด้านแรงงาน 3 ข้อ ไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ 1. ด้านการคุ้มครองแรงงาน รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนมีหลักประกันในการทำงานอย่างมั่นคง แรงงานทุกสาขาอาชีพได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ทั้งแรงงานเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ให้ได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ปรับโครงสร้างค่าจ้างที่เป็นธรรม รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงานเพื่อเป็นหลักประกันการถูกเลิกจ้างให้ได้รับค่าชดเชยและพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ
       
2. ด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยรัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง รวมถึงอนุสัญญาฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพรัฐต้องให้สิทธิเสรีภาพรวมทั้งส่งเสริมในการรวมตัวของแรงงานทุกสาขาอาชีพ และรัฐต้องออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ให้ครอบคลุมแรงงานทุกประเภทและสอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศรวมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง
       
และ 3. ด้านสวัสดิการแรงงานรัฐต้องปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยประธานกรรมการและเลขาธิการ สปส. ต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหาและผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารโดยตรง รัฐต้องเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน นอกจากนี้ รัฐต้องบังคับใช้พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เพื่อสร้างวินัยการออมในวัยทำงาน พร้อมทั้งจัดให้มีที่พักของคนงานและจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้แก่แรงงานในบริเวณอุตสาหกรรม จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-12-2557)
 
คาดอีก 5 ปี ขาดแคลนแรงงานกว่า 5 แสนคน หนุนอาชีวะฝึกงานสถานที่จริงเรียนจบทำงานทันที
 
( 15 ธ.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมหารือถึงความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วม เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าร่วม ว่า ผู้แทนภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าในอนาคต 3 - 5 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนแรงงานประมาณ 3 - 5 แสนคน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประมาณการว่าสภาพเศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ซึ่งต้องเพิ่มกำลังแรงงาน แต่หากมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นก็อาจจะช่วยลดความต้องการกำลังแรงงานลงได้ เนื่องจากสามารถทำงานได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น
       
“ตัวแทนภาคอุตสาหกรรม อยากให้พัฒนาคุณภาพนักศึกษาอาชีวะ ให้สามารถทำงานได้ทันทีเมื่อเรียนจบ โดยการร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม สถานศึกษาและกระทรวงแรงงาน นำเด็กเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อให้มีประสบการณ์” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และคณะทำงานศึกษาการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยมี นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมต่างๆ เข้าร่วม เช่น แรงงานประมงที่ขาดแคลนเป็นจำนวนมากและคนไทยไม่นิยมทำ ก็อาจจะต้องหาแรงงานจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานแทน ส่วนกรณีแนวคิดการนำผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษมาทำงานประมงนั้น ขอยืนยันว่าเป็นเพียงทางเลือกในการฝึกอาชีพรองรับการพ้นโทษเพื่อไม่ให้กลับไปทำผิดซ้ำเท่านั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคประมง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15-12-2557)
 
เครือข่ายแรงงานนอกระบบยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้พิจารณายืดระยะเวลาการเข้าถึงการประกันสังคม ตามมาตรา 40
 
สภาเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กว่า 50 คน นำโดย นายสมคิด ด้วงเงิน นายกสมาคมเครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณายืดระยะเวลาการเข้าถึงการประกันสังคมตามมาตรา 40 และประกาศขยายระยะเวลาให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนเพิ่มอีก 10 วันนั้น ขอให้มีการขยายเวลาให้ถึงสิ้นปี 2558 เนื่องจากการขยายเวลาเพียง 10 วันนั้น จะทำให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ตามชนบทหรือชานเมือง ยังไม่ได้รับข่าวสารและไม่สามารถมาทันตามกำหนดได้ เพื่อทำให้แรงงานนอกระบบได้รับสวัสดิการสังคมที่รองรับความเสี่ยง เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุหลายหมื่นคนต่อไป
 
ทั้งนี้ นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน เป็นผู้รับเรื่องไว้เพื่อส่งไปยังนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
 
(สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15-12-2557)
 
เตือนแรงงาน ระวังถูกหลอกไปสร้างเขื่อน-สนามบินในลาว
 
น.ส.ปัทมพร ผุดเพชรแก้ว จัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการชักชวนคนหางานในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้สมัครไปทำงานก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ สนามบินนานาชาติ และสร้างรถไฟทางคู่ มูลค่าหลายแสนล้านบาทใน สปป.ลาว โดยอ้างว่าบริษัทของตนได้รับสัมปทานก่อสร้างโครงการ ต้องการคนงานในตำแหน่งโฟร์แมน แม่ครัว ช่างก่ออิฐ ช่างปูกระเบื้อง ช่างไม้ ช่างผูกเหล็ก ช่างประปา ช่างเชื่อม ช่างทาสี
       
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าผู้สนใจจะไปทำงานต้องจ่ายค่านายหน้าใช้ดำเนินการคนละ 20,000 บาท และจะได้ค่าจ้างเดือนละ 30,000-45,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบในระบบจัดหางานของกรมแรงงานแล้วปรากฏไม่มีโครงการก่อสร้างดังกล่าว และไม่มีบริษัทใดประกาศหาคนงานไปทำงานใน สปป.ลาว จึงขอเตือนแรงงานอย่าได้หลงเชื่อกลุ่มนายหน้าเถื่อน เพราะไม่สามารถจัดส่งคนงานไปทำงานตามที่อ้างได้จริง
       
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบตำแหน่งงานที่ว่างและต้องการคนงาน ให้มาตรวจสอบกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุบลราชธานี ที่ถนนเลี่ยงเมือง ต.แจระแม อ.เมือง โทร. 0-4520-6226 เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและสูญเสียเงินให้กลุ่มผู้หลอกลวง 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-12-2557)
 
คลังจ่อปรับเงินเดือน 37 รัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. 2หมื่นคนรอเฮ! ควัก 60 ล้านบาทจ่ายเพิ่ม
 
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็ว ๆ นี้ เรื่องปรับโครงสร้างเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ที่ต้องอาศัยอำนาจ ครม.กำหนดโครงสร้างเงินเดือนให้ ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องอัตราค่าครองชีพ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท/เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจบางส่วนได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีพนักงานใหม่ได้รับเงินเดือนค่าจ้างในระดับที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกับพนักงานเดิม
 
"รัฐวิสาหกิจจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก กำหนดโครงสร้างเงินเดือนได้เองกลุ่มที่สอง การกำหนดโครงสร้างเงินเดือนต้องเสนอ ครม.ด้วย โดยกลุ่มนี้หากจะดำเนินการก็จะพิจารณาเป็นรายแห่งไป และกลุ่มที่สาม ต้องให้ ครม.กำหนดโครงสร้างเงินเดือนให้ ซึ่งกลุ่มหลังนี้มี 37 แห่ง ที่ต้องให้ ครม.เห็นชอบพร้อมกัน"
 
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจ 37 แห่งที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น
 
ขณะที่รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ ครม.ให้สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้างและสวัสดิการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ อาทิ บมจ.ปตท. บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทีโอที บมจ.อสมท บมจ.การบินไทย เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี 13 แห่ง
 
ส่วนกลุ่มที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตัวเอง มี 16 แห่ง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน เป็นต้น
 
ก่อนหน้านี้มีข้อเรียกร้องจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ขอให้รัฐบาลปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง ที่มี 58 ขั้น เนื่องจากโครงสร้างปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเงินเดือนขั้นที่ 1 อยู่แค่ 5,780 บาท และขั้นที่ 58 อยู่ที่ 113,520 บาท ดังนั้น สรส.จึงได้เสนอขอปรับปรุงบัญชีเงินเดือนอัตราค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจใหม่ โดยกำหนดให้ขั้นที่ 1 อยู่ที่ 9,040 บาท ส่วนขั้นต่อไปปรับขึ้นเฉลี่ยในอัตรา 4.3% ของฐานเงินเดือน ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเดือนขั้นที่ 58 อยู่ที่ 189,330 บาท
 
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาทางภาครัฐมีการพิจารณาแนวทางการปรับบัญชีโครงสร้างเงินเดือนใหม่ โดยอาจจะปรับจากเดิมที่มี 58 ขั้น เป็น 70 ขั้นด้วย
 
ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.กล่าวว่า ธ.ก.ส.เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถกำหนดโครงสร้างเงินเดือนได้เอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอกระทรวงการคลังอนุมัติปรับเงินเดือนพนักงานแรกเข้าเป็น 1.7 หมื่นบาทต่อเดือน และปรับฐานให้พนักงานเก่าด้วย ซึ่งเป็นข้อเสนอมาตั้งแต่ปี 2556 หลังมีการปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ พนักงาน ธ.ก.ส.มีทั้งสิ้นเกือบ 2 หมื่นคน ซึ่งจะได้ปรับฐานหมด
 
"ครั้งนี้ ธ.ก.ส.ขอปรับขั้นต้น โดยให้เงินเดือนแรกเข้าพนักงานวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 1.7 หมื่นบาทต่อเดือน ใช้งบฯดำเนินการกว่า 30 ล้านบาท และอีกส่วนจะต้องปรับฐานให้กับพนักงานเก่าที่ต้องขยับขึ้นไปให้หนีพนักงานใหม่ น่าจะใช้เงินอีกกว่า 10 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมด 60 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของเงินที่จ่ายเงินเดือนปัจจุบัน"
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 16-12-2557)
 
กมธ.แรงงาน เสนอ 7 ข้อป้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน พร้อมหนุนการออม
 
วันที่ 16 ธ.ค. พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธาน กมธ.ปฏิรูปการแรงงาน สปช. กล่าวรายงานความเห็นและข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุม สปช.ว่า ปัจจุบันมีแรงงานทั้งหมดในประเทศคือ แรงงานนอกระบบมีรวม 24.1 ล้านคน หรือร้อยละ 62.3 แรงงานในระบบมีจำนวน 14.6 ล้านคน หรือร้อยละ 37.7 กมธ.คิดถึงการช่วยเหลือภาคแรงงานที่อยู่ในระบบ และแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระจึงเสนอ 7 ประเด็นสำคัญ ที่ควรบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ คือ
 
1.ประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการใช้แรงงาน ต้องได้รับสิทธิที่ไม่ถูกบังคับให้ทำงาน หรือต้องทำงานโดยไม่มีทางเลือก หรือที่ผิดจากข้อตกลง หรือการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อให้สิทธิของแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานสากล 2.ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเข้าถึงกระบวนการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกสาขาอาชีพและการเข้าถึงข้อมูลตลาดแรงงาน
 
3.ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการคุ้มครอง ความปลอดภัยในการทำงาน และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม รวมถึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสตรีที่มีครอบครัว แรงงานพิการ แรงงานสูงวัย ย้ำสงวนอาชีพให้คนท้องถิ่น 4.นายจ้างและลูกจ้างมีเสรีภาพในการจัดตั้งและเข้าร่วมองค์การของตนเองตามที่กฎหมายบัญญัติ 5.ต้องมีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมถึงแรงงานที่ขาดรายได้ และส่งเสริมการออมในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน 6.ต้องคุ้มครองและสงวนอาชีพให้กับคนท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทการบริหารจัดการตามที่กฎหมายบัญญัติ
 
7.สำหรับการจัดนโยบาย หรือมาตรการเกี่ยวกับแรงงาน โดยรัฐ ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ สปช.ชงตั้งธนาคารแรงงานสร้างหลักประกัน นางกูไซหม๊ะวันซาฟิหน๊ะ มนูญทวี และนายสรณะ เทพเนาว์ สปช. ได้อภิปรายมีสาระสำคัญ คือ ให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งธนาคารแรงงาน ที่มีองค์ประกอบและความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่
 
รัฐบาล สถาบันการเงิน ประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน และอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่วางแผน พัฒนา สร้างหลักประกัน เพิ่มศักยภาพที่เหมาะสมกับแรงงาน ให้องค์ความรู้ด้านสิทธิและกฎหมายแรงงาน เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย และขอให้มีข้อกำหนดการออกใบรับรองแรงงานที่มีฝีมือของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 เพื่อรองรับการเคลื่อนย้านแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียน
 
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. กล่าวว่า ขอเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ ระบุถึงระบบคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทยให้เป็นหนึ่งในแนวนโยบายพื้นฐานที่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล ที่รัฐต้องสนับสนุนการจัดสรรงบฯ ส่วนหนึ่งช่วยพัฒนาแรงงาน ร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการต่างๆ พร้อมเปิดหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพตามคุณวุฒิสาขาวิชาชีพแรงงาน มีใบรับรองวิชาชีพแรงงาน เพื่อเพิ่มสมรรถนะความสามารถในการทำงานและยกระดับฝีมือแรงงาน กมธ.ยกร่างฯเห็นพ้องธนาคารแรงงาน
 
ด้าน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวสรุปว่า ข้อเสนอการปฏิรูปแรงงาน อาทิ การประกันสังคม การไม่บังคับแรงงานทำงาน การสิทธิในการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ของแรงงาน เช่น สหภาพแรงงานต่างๆ การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นสาระสำคัญที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนแนวคิดตั้งธนาคารแรงงาน กมธ.ยกร่างฯ จะรับไปพิจารณา เพื่อประโยชน์ต่อแรงงาน รวมถึงการคุ้มครองแรงงานในท้องถิ่น ซึ่งตรงกับหลักการกระจายอำนาจในท้องถิ่น
 
(ไทยรัฐ, 16-12-2557)
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ว่าด้วยภาษีมรดก

$
0
0

คนไทยส่วนใหญ่น่าจะดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการตราภาษีมรดก ในอดีตประเทศไทยเคยประกาศใช้ภาษีมรดกมาแล้วขณะนั้นเรียกว่า “พระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช 2476” เป็นการเรียกเก็บภาษีจากทั้งผู้ตายทางหนึ่งและเก็บจากทายาทผู้รับมรดกอีกทางหนึ่ง แต่ด้วยความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีมรดกดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไป ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีหลังจากนั้นสังคมไทยก็ท้าทายรัฐบาลชุดต่างๆ ให้นำภาษีมรดกกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดมีความกล้าหาญพอจนกระทั่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีมรดกอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีผู้ใดทราบรายละเอียดเพราะต้องรอการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ อย่างไรก็ตามการจัดเก็บภาษีมรดกที่รัฐบาลเสนอนั้นมีข้อกำหนดที่สำคัญ 3 ประการคือ

ประการที่หนึ่ง ภาษีมรดกกำหนดให้ทายาทที่รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10ซึ่งการกำหนดฐานภาษีและอัตราภาษีดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีมรดกน้อยมากจากฐานข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2556 พบว่าจากจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมด 22.63 ล้านครัวเรือน มีครอบครัวที่มีทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาทเพียง 17,655 ครัวเรือนเท่านั้น ในจำนวนนี้หากนำจำนวนบุตรมาหารพบว่ามีจำนวนทายาทที่รับมรดกเกิน 50 ล้านบาทเพียง 5,626 คน โดยทายาทแต่ละคนจะรับมรดกเฉลี่ยคนละ 93.61 ล้านบาท เมื่อทายาทเหล่านี้ต้องเสียภาษีมรดกเฉพาะในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทพบว่าทายาทแต่ละคนต้องเสียภาษีให้รัฐเฉลี่ยคนละ 7.67 ล้านบาทซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังมีรายได้จากภาษีมรดกทั้งสิ้น43,473 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้จะต้องทยอยจ่ายให้กระทรวงการคลังเพราะครอบครัวที่พึงต้องเสียภาษีมรดกทั้งหมดคงไม่เสียชีวิตพร้อมๆ  กันในปีเดียว ดังนั้น หากสมมติให้ครอบครัวเหล่านี้ทยอยเสียชีวิตในช่วงระยะเวลา 20 ปีก็จะทำให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีมรดกได้เพียงปีละประมาณ 2,174 ล้านบาท หากเทียบกับรายได้ภาษีทั้งหมดที่กระทรวงการคลังเก็บได้ในปี 2556 คิดเป็นเงิน2,157,474 ล้านบาท รายได้จากภาษีมรดกจะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐที่มีความสำคัญน้อยที่สุดเพราะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.01ของรายได้ภาษีทั้งหมดของประเทศ

ประการที่สอง ถึงแม้กลุ่มเป้าหมายหลักที่พึงต้องเสียภาษีมรดกคือทายาทที่รับมรดกเกิน 50 ล้านบาท แต่รัฐบาลก็เกรงว่าจะมีการทยอยโอนทรัพย์สินให้ทายาทก่อนเสียชีวิต ดังนั้นรัฐบาลจึงเสนอให้มีการแก้ประมวลรัษฎากรโอนทรัพย์สินให้บุตรในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทโดยให้ต้องเสียภาษีการให้อีกร้อยละ 5 ด้วยการเก็บภาษีในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทเพิ่มมาด้วยนี้คงช่วยป้องกันการโอนมรดกให้ทายาทก่อนเสียชีวิตได้บ้าง แต่ผลกระทบก็คือครอบครัวที่มีทรัพย์สินเกิน 10 ล้านบาท แต่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทซึ่งมิได้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่พึงเสียภาษีมรดกกลับต้องมาแบกรับภาระเสียภาษีด้วยหากมีการให้มรดกกันก่อนเสียชีวิต ดังนั้นสิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นคือครอบครัวที่มีมรดกเกิน 10 ล้านบาทแต่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทจะโอนมรดกให้ทายาทหลังที่ตนเสียชีวิตแล้วเพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีมรดก ส่วนครอบครัวที่มีทรัพย์สินมากกว่า 50 ล้านบาทจะทยอยโอนมรดกให้ทายาทก่อนเสียชีวิตเพื่อลดภาระภาษีแต่ที่แน่ๆ  คือครอบครัวจำนวนมากจะเริ่มทยอยโอนทรัพย์สินให้ทายาททุกๆ  ปีละ 9.99 ล้านบาทเพราะจะได้ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย หรือไม่ก็จะออมด้วยการซื้อทรัพย์สินต่างๆ  แต่ใส่ชื่อลูกๆ  แทน หรือไม่ก็ทำสัญญาเงินกู้กันระหว่างพ่อกับลูก

ประการที่สาม ภาษีมรดกที่กระทรวงการคลังเสนอให้สภานิติบัญญัติพิจารณาจะเรียกเก็บไม่เฉพาะทรัพย์สินที่จดทะเบียนเท่านั้น เช่น บ้าน ที่ดิน หุ้น รถยนต์ หรือเงินในบัญชี แต่จะเก็บจากทรัพย์สินทุกประเภทที่เจ้าพนักงานทราบรวมทั้งแก้ว แหวน เงิน ทอง นาฬีกา ภาพวาด หรือพระเครื่อง การเก็บภาษีมรดกในลักษณะนี้คงจะมีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะเจ้าพนักงานสรรพากรคงต้องเหน็ดเหนื่อยในการรวบรวมทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกทั้งหลายและทำการประเมินมูลค่า แค่ทรัพย์สมบัติของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์คนเดียวก็ทำบัญชีรายการประเมินมูลค่ากันไม่หวาดไม่ไหวแล้ว ดังนั้นหากต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินของทุกคนก็คงจะเป็นภาระกิจที่ยุ่งยากพอควรสำหรับกระทรวงการคลัง แต่ที่สำคัญคือการเก็บภาษีมรดกทุกรายการอาจนำไปสู่การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในการพิจารณาว่าจะตรวจทรัพย์สมบัติของทายาทผู้รับมรดกแต่ละรายอย่างเท่าเทียมกันอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่ามีหลายประเทศที่เก็บภาษีมรดก แต่ก็มีหลายประเทศเช่นกันที่ไม่เก็บภาษีมรดก และยังมีหลายประเทศที่ในอดีตเคยเก็บภาษีมรดกแต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว สถาบันอนาคตไทยศึกษาได้รวบรวมข้อมูลรายประเทศทั้งที่มีและไม่มีการเก็บภาษีมรดกพบว่ามีเพียง 13 ประเทศจาก 45 ประเทศที่ทำการสำรวจมีการเก็บภาษีมรดกและส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ในเอเชียมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่เก็บภาษีมรดก คือ ญี่ปุ่น จีน-ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่ไม่มีการเก็บภาษีมรดก ได้แก่ประเทศอาร์เจนตินา โคลอมเบีย จีน อินเดีย นิวซีแลนด์ และสวีเดน นอกจากนั้นพบว่ามี 5 ประเทศที่เคยมีการเก็บภาษีมรดกแต่ยกเลิกไปแล้ว ได้แก่ จีน-ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนนาดา และนอร์เวย์ซึ่งสาเหตุที่ประเทศเหล่านี้ยกเลิกการเก็บภาษีมรดกเป็นเพราะต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศภาษีมรดกสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายและเป็นภาษีที่สร้างรายได้ให้รัฐได้น้อย

อย่างไรก็ตามความสำเร็จในการเก็บภาษีมรดกของประเทศไทยครั้งนี้คงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะเก็บภาษีได้เงินเข้ารัฐเท่าไหร่หรือรายรับภาษีที่เก็บได้จะคุ้มกับต้นทุนการจัดเก็บหรือไม่ แต่คำถามสำคัญในการตราพระราชบัญญัติภาษีมรดกครั้งนี้คือการตอบโจทย์สำคัญของประเทศว่า “ภาษีมรดกจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่”ด้วยเหตุนี้ หากรัฐต้องการเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยรัฐบาลควรเริ่มที่ต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งมีสาเหตุหลัก 8 ประการ ได้แก่

1. ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา คุณภาพของโรงเรียนต่างๆ  ในประเทศไทยที่มีความแตกต่างกันมากทำให้นักเรียนแต่ละคนมีระดับทุนมนุษย์และความสามารถในการประกอบอาชีพแตกต่างกัน ปัญหานี้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระดับมหาวิทยาลัยเมื่อรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเพราะเงินสนับสนุนนี้กลับไปตกกับลูกคนรวยที่มีเงินเรียนกวดวิชาสารพัดจนสามารถสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐได้และยังจ่ายค่าหน่วยกิตในอัตราที่ต่ำด้วยในขณะที่ลูกคนที่มีรายได้น้อยแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐเลยเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินจ่ายค่ากวดวิชาเพื่อให้สามารถสอบแข่งขันจนเข้าเรียนได้

2. ความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดยังเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยได้รับการแก้ไขทำให้เกิดความแตกต่างทางโอกาสในหลายๆ  ด้าน เช่น โอกาสทางการศึกษาเมื่อคนต่างจังหวัดจำนวนมากมีภาระส่งลูกหลานมาเรียนในกรุงเทพฯ พ่อแม่เองก็ต้องเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ความแตกต่างนี้ยังพบเห็นในการให้บริการอื่นๆ ของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกันเช่นคุณภาพของการรักษาพยาบาลด้านบริการด้านสาธารณูปโภค ระดับการพัฒนาของจังหวัดต่างๆ  และโอกาสในการทำธุรกิจ

3. การผูกขาดทางธุรกิจการค้าและการแข่งขันน้อยรายเป็นปัญหาที่สังคมไทยละเลยมานานจนทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวของผลตอบแทนทางธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงผู้ประกอบการในธุรกิจบางประเภทมีอำนาจตลาดจากการมีคู่แข่งน้อยรายนี้นำไปสู่การกอบโกยกำไรจำนวนมากจนสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเกินกว่าจะเยียวยาได้ดังจะพบเห็นได้ในธุรกิจอาหารสัตว์ เคเบิลทีวี โทรคมนาคม ดาวเทียมพลังงาน ไฟฟ้า และธนาคารพาณิชย์ ถึงแม้ประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์แต่กฎหมายดังกล่าวก็ขาดการบังคับใช้และยังมีข้อยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจสามารถผูกขาดทางการค้าได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการผูกขาดตลาดและการมีอำนาจตลาดนอกจากจะสร้างความกระจุกตัวของรายได้แล้ว ยังนำไปสู่การกระจุกตัวของการครอบครองที่ดินในกลุ่มคนรวยซึ่งเป็นปัญหาตามมาอีกด้วย

4. การคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมืองและระบบราชการเป็นกลไกที่นำไปสู่ความแตกต่างทางเศรษฐกิจในสังคมไทย การคอร์รัปชั่นทางการเมืองทำให้นักธุรกิจจำนวนมากหันเข้าสู่วงการการเมืองไม่ใช่เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนแต่เพื่อแสวงช่องทางในการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ  เหตุการณ์ค่าโง่ทางด่วนหรือค่าโง่คลองด่านเป็นตัวอย่างการคอร์รัปชั่นที่มีให้เห็นทั่วไป นอกจากนั้นยังมีปัญหาเงินทอนจากการประมูลงานในโครงการต่างๆ  ของรัฐ การคอร์รัปชั่นในรูปการจ่ายเงินซื้อตำแหน่งทางราชการยังเป็นปัญหาที่บั่นทอนประสิทธิภาพกลไกภาครัฐอีกด้วยท้ายสุดที่เป็นข่าวให้ได้เห็นเป็นประจำคือการรีดไถเก็บส่วยโดยผู้มีอิทธิพลและเจ้าพนักงานของรัฐจากการดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ เช่นการค้ายาเสพติดน้ำมันเถื่อนการเปิดบ่อนการพนันหรือการลักลอบตัดไม้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งนั้น

5. การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมจากฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวผู้มีอันจะกินสามารถกอบโกยทรัพย์สินของชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ในขณะที่ผู้ยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติได้ ตัวอย่างที่พบเห็นได้แก่กลุ่มทุนรายใหญ่มักจะมีโอกาสมากกว่าในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจของกลุ่มทุนการทำเหมืองแร่หรือการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อนุรักษ์เป็นต้น สิ่งที่พบเห็นเสมอคือ เมื่อประเทศประสบปัญหาภัยแล้งเกษตรกรจะเป็นคนกลุ่มแรกที่รัฐบาลจะประกาศงดการจ่ายน้ำเพื่อทำนาปลัง ในขณะที่รัฐบาลไม่เคยปฏิเสธการจัดสรรน้ำให้นิคมอุตสาหกรรม โรงแรม หรือภาคบริการ

6. การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกันเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในประเทศไทยตัวอย่างที่เกิดขึ้นได้แก่การรับทราบข้อมูลการลดค่าเงินบาทก่อนคนอื่นได้ทำให้บางคนสามารถตักตวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลจากการแปลงสภาพหนี้จากหนี้ในรูปเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท นอกจากนั้น การทราบข้อมูลการด้านคมนาคม เช่น การตัดถนนสายต่างๆ  การทราบเส้นทางรถไฟฟ้า ข้อมูลการประมูลของรัฐ หรือข้อมูลการเปิดขายหุ้นรัฐวิสาหกิจก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ได้รับข้อมูลก่อนสามารถตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจได้อย่างมหาศาลในขณะที่ประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจเหล่านี้ได้

7. ความยุติธรรมสองมาตรฐานการอธิบายกลไกการทำงานของระบบความยุติธรรมในประเทศไทยเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากเพราะเกี่ยวข้องกับกลไกการทำงานที่หลากหลายตั้งแต่การจับกุม การไต่สวนการส่งฟ้องและการดำเนินคดีถึงแม้บางกลไกในกระบวนการยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งของสังคมได้อยู่ แต่บางกลไกคงต้องมีการยกเครื่องขนานใหญ่มิฉะนั้นคงไม่เกิดปัญหาสองมาตรฐานในระบบความยุติธรรมและเป็นบ่อเกิดของความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ สังคมยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมแม่ลูกที่นำแผ่นซีดีเก่ามาขายเพียงไม่กี่แผ่นต้องรับโทษติดคุก 2 ปี ในขณะที่ลูกคนรวยขับรถด้วยความประมาทชนคนตายกลับถูกลงโทษเพียงบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เอาไม้กอล์ฟตีหัวภรรยาจนตายก็ไม่ต้องติดคุกหรือแม้แต่ลูกผู้มีอิทธิพลที่ยิงคนคนตายกลางผับท่ามกลางสายตาของคนจำนวนมากกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเอาผิดได้สิ่งต่างๆ  เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมและเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

8. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดรูปแบบการพัฒนาในพื้นที่และการพัฒนาประเทศเป็นอีกหนึ่งกลไกที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทิศทางและรูปแบบการพัฒนาประเทศส่วนมากมักถูกกำหนดโดยข้าราชการระดับสูงนักวิชาการและการชี้นำโดยองค์กรระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น การกำหนดโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่ จ.สงขลา เป็นโครงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคใต้ไม่ต้องการเลยแต่เป็นโครงการที่รัฐบาลส่วนกลางและกลุ่มธุรกิจต่างๆ  อยากได้และพยายามผลักดันให้มีการลงทุนในโครงการนี้ ดังนั้นหากโครงการในลักษณะเช่นนี้ได้รับการอนุมัติผู้ที่ได้ประโยชน์จะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่จะไม่ได้รับอะไรเลยนอกจากปัญหามลพิษที่จะเกิดขึ้น หากประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสในการกำหนดทิศทางและรูปแบบการพัฒนาประเทศที่ตนเองต้องการประชาชนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับอะไรจากการพัฒนา

โดยสรุป การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะที่ผ่านมาความร่ำรวยของบางครอบครัวได้ทำลายประเทศชาติเป็นอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำนำไปสู่การซื้อนักการเมืองซื้อส.ส. ทำลายกลไกการบริหารราชการที่ดีรวมทั้งทำลายระบบความยุติธรรมต่างๆ ของประเทศด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่สูงมากสำหรับประเทศไทยความตั้งใจแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นก้าวสำคัญที่ควรได้รับการดูแลที่ต้นตอปัญหาอย่างแท้จริง การนำภาษีมรดกมาใช้เป็นการแสดงถึงเจตนาที่ดีของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ควรมีแผนงานด้านความเหลื่อมล้ำที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างจริงจังด้วยมิฉะนั้นการตราภาษีมรดกเพียงอย่างเดียวก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงการฉุดการพัฒนาประเทศให้ก้าวถอยหลังกลับไปปี 2476เท่านั้นเอง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

#illridewithyou ต้านกระแสเกลียดชังชาวมุสลิมหลังเหตุจับตัวประกันในซิดนีย์

$
0
0

เกิดแฮชแท็ก #illridewithyou หลังจากที่ชาวมุสลิมในออสเตรเลียกังวลว่าจะถูกปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังและหวาดกลัวอย่างไม่มีเหตุผล ผลพวงจากกรณีผู้ก่อเหตุจับตัวประกันในคาเฟ่ที่ซิดนีย์อ้างว่าเป็นคนหัวรุนแรงทางศาสนา แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าแฮชแท็กนี้เน้นย้ำความไม่เท่าเทียมกันของคนผิวขาวและคนชายขอบ

16 ธ.ค. 2557 จากเหตุการณ์ที่มีชายผู้หนึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามจับพนักงานและลูกค้าเป็นตัวประกันในร้านลินด์คาเฟ่ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำให้ผู้คนบางส่วนเกรงว่าจะเกิดการเหมารวมผู้นับถือศาสนาอิสลามและการฉวยโอกาสของกลุ่มขวาจัด จึงมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งพยายามต้านทานกระแสความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลด้วยแฮชแท็ก #illridewithyou

หลังเหตุการณ์ที่ลินด์คาเฟมีตัวประกันเสียชีวิต 2 คน และอีกหลายคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตในขณะที่มีการพยายามเข้าช่วยตัวประกัน ผู้ก่อเหตุมีชื่อว่า มาน ฮารอน โมนีส์ ซึ่งน่าจะเป็นผู้นับถืออิสลามนิกายซุนนีแบบสุดโต่งเมื่อดูจากเนื้อหาในโซเชียลมีเดียของเขา ทางด้านโทนี แอบบอตต์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวว่าโมนีส์เป็นคนที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรง เป็นคนหัวรุนแรงและมีจิตใจไม่ปกติ อย่างไรก็ตามชายผู้นี้ปฏิบัติการด้วยตนเองและไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่ม 'ไอซิส' หรือ 'ไอเอส'

เหตุการณ์นี้ยังทำให้ชาวมุสลิมในออสเตรเลียรู้สึกหวาดวิตกว่าพวกตนเองจะถูกเกลียดชังเพราะถูกมองอย่างเหมารวมกับผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดหัวรุนแรง ในช่วงที่กำลังมีรายงานข่าวการจับกุมตัวประกันแบบมีผู้หญิงที่สวมฮิญาบถูกถ่มน้ำลายใส่และมีกลุ่มขวาจัดเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อต้านตามมัสยิด ทำให้มีผู้คนจำนวนหนึ่งสร้างแฮชแท็ก #illridewithyou ที่แปลว่า "ฉันจะไปด้วยกันกับเธอ" เพื่อแสดงความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างและต่อต้านการเหยียดชาวมุสลิม ซึ่งประโยคดังกล่าวได้แรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชื่อ 'Rachael Jacobs'

ผู้ใช้ 'Rachael Jacobs' เล่าว่ามีผู้หญิงซึ่งคาดว่าเป็นชาวมุสลิมนั่งข้างๆ เขาในรถไฟค่อยๆ ถอดฮิญาบลงอย่างเงียบๆ จากนั้นเมื่ออยู่ที่สถานีรถไฟเขาวิ่งตามเธอไปแล้วพูดให้เธอสวมฮิญาบไว้แบบเดิมและเขาจะเดินไปด้วยกันกับเธอเองจากนั้นหญิงผู้นั้นก็เริ่มร้องไห้แล้วกอดเขาไว้ประมาณ 1 นาทีจากนั้นจึงเดินออกไปคนเดียว

จากเรื่องราวดังกล่าวนี้ทำให้มีชาวออสเตรเลียราวหลายหมื่นคนร่วมแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวมุสลิมที่อยู่ร่วมประเทศด้วยแฮชแท็ก #illridewithyou ซึ่งมีคำอธิบายแฮชแท็กนี้ว่าเป็นการโต้ตอบการเหยียดเชื้อชาติศาสนาและความเกลียดชัง เนื่องจากหลังเกิดเหตุจับตัวประกันในคาเฟ่ลินด์ชาวออสเตรเลียบางคนที่ "ดูเหมือนชาวมุสลิม" หรือมีการแต่งกายบ่งบอกศาสนาไม่อยากใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเพราะกลัวถูกเหมารวม จึงขอให้ผู้ที่ต้องการเดินทางด้วยบริการสาธารณะที่ต้องการเพื่อนร่วมเดินทางด้วยโพสต์แฮชแท็กดังกล่าว

แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่ดูดีแต่ #illridewithyou ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยคนบางส่วนว่าเป็นการเน้นย้ำอภิสิทธิ์ของประชากรที่เป็นผู้ชายผิวขาวในฐานะเป็นผู้ที่มีสิทธิ "ปกป้อง" ชนชายขอบในสังคม อีกทั้งยังไม่ได้ทำให้เกิดการหารือกันอย่างจริงจังในเรื่องความเป็นธรรมในสังคมสำหรับผู้ที่มีเชื้อชาติและศาสนาต่างกัน อย่างไรก็ตามมีผู้โต้แย้งคำวิจารณ์ว่าคนที่ริเริ่ม #illridewithyou เป็นคนแรกเป็นคนผิวสี และการรณรงค์นี้ก็อาจจะทำให้ประชาชนบางกลุ่มรู้สึกปลอดภัยขึ้น


เรียบเรียงจาก

With two hostages and gunman dead, grim investigation starts in Sydney, CNN, 16-12-2014
http://edition.cnn.com/2014/12/15/world/asia/australia-sydney-hostage-situation/

#illridewithyou is trending because some Australians refuse to blame Muslims for #sydneysiege, Globalpost, 15-12-2014
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/141215/illridewithyou-trending-because-some-australians-refuse-bl

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตอลีบันปากีสถานโจมตีโรงเรียนทำให้มีผู้เสียชีวิต 145 ราย

$
0
0

มือปืนกลุ่มตอลีบันในปากีสถานซึ่งกำลังถูกฝ่ายรัฐบาลปราบหนัก-ได้บุกโจมตีโรงเรียนซึ่งดำเนินงานโดยกองทัพปากีสถาน ผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 145 ราย ส่วนมากเป็นนักเรียนในโรงเรียน ขณะที่มือปืนเสียชีวิต 9 ราย หลังกองกำลังฝ่ายรัฐบาลเข้าควบคุมสถานการณ์

บริเวณโรงเรียนรัฐบาล "The Army Public School and Degree College" ในเมืองเปชาวาร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งถูกมือปืนกลุ่มตอลีบันโจมตี ทำให้นักเรียนเสียชีวิต 145 ราย (ที่มา: Google Maps)

16 ธ.ค. 2557 - เกิดเหตุมือปืนกลุ่มตอลีบันปากีสถาน บุกยิงโรงเรียนรัฐบาล "The Army Public School and Degree College" ที่เมืองเปชาวาร์ ห่างจากกรุงอิสลามาบัดไปทางทิศตะวันตก ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวดำเนินงานโดยกองทัพปากีสถาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 145 ราย ส่วนมากเป็นนักเรียนของโรงเรียน ทั้งนี้กลุ่มมือปืนมีการปะทะกับฝ่ายความมั่นคงปากีสถานด้วยโดยการปะทะกินเวลากว่า 8 ชั่วโมง

โดยพื้นที่ซึ่งมีความสูญเสียมากที่สุดคือหอประชุมใหญ่ของโรงเรียน ที่มีครูจากกองทัพปากีสถานเข้ามาสอนการปฐมพยาบาลให้กับนักเรียน

ขณะที่หลังเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์ทำให้ฝ่ายมือปืนเสียชีวิต 9 ราย ส่วนใหญ่ถูกสังหารโดนหน่วยคอมมานโดของรัฐบาล แต่มือปืนบางรายเลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการจุดระเบิดพลีชีพ

ทั้งนี้โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนประมาณ 2,5000 คน โดยโรงเรียนซึ่งตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มมือปืนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเครือข่ายที่ตั้งอยู่ทั่วไปในปากีสถานในเมืองที่มีครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหารพักอาศัย ทั้งนี้นักเรียนที่มาจากครอบครัวทหารมีสิทธิพิเศษในการเข้าเรียน อย่างไรก็ตามนักเรียนจำนวนมากและครูในโรงเรียนมาจากพลเรือน

กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานออกแถลงการณ์ว่าประณามเหตุโจมตีดังกล่าว โดยระบุว่า "ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เป็นศัตรูของปากีสถาน, ศัตรูของอิสลาม และศัตรูของมนุษยชาติ"

สำหรับกลุ่มตอลีบันปากีสถาน เป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีเครือข่ายหลวมๆ และถูกกดดันอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากการแตกออกเป็นขั้วอำนาจภายใน และปฏิบัติการทางทหารของกองทัพปากีสถานบริเวณวาซีรีสถานเหนือ พื้นที่ตั้งของปากีสถานตอลีบัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตามมาด้วยการที่กลุ่มตอลีบันปากีสถานก่อเหตุบุกโจมตีสนามบินการาจีเป็นการตอบโต้

ปฏิบัติการของกองทัพปากีสถานภายใต้รหัส Zarb-e-Azb ทำให้ฝ่ายปากีสถานตอลีบันเสียชีวิตมากกว่า 1,800 นาย และสามารถเข้าควบคุมพื้นที่วาซีรีสถานเหนือซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มตอลีบันปากีสถาน

โดยเหตุโจมตีโรงเรียนในเปชาวาร์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตอลีบันยังมีศักยภาพในการโจมตีเป้าหมายพลเรือ

 

 

นักเรียนในโรงเรียนขณะแย่งกันอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิต หลังเหตุมือปืนกลุ่มปากีสถานตอลีบันบุกยิงนักเรียนที่เปชาวาร์ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. (Twitter/@AmberRShamsi)

 
แปลบางส่วนจาก Pakistani Taliban Attack on Peshawar School Leaves 145 Dead, New York Times, Dec 16, 2014
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"สามนิ้ว" กลยุทธ์การช่วงชิงความหมายของมวลชนที่รัฐบาลทหารตามไม่ทัน

$
0
0

จริง ๆ แล้วบทความดังกล่าวนี้ต้องการที่จะเกาะกระแสช่วงที่สัญลักษณ์สามนิ้วและภาพยนตร์ The Hunger Games ภาคใหม่กำลังเข้าฉายและกำลังคึกคักอยู่ในแวดวงข่าวและสังคม แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายรัฐบาล ผู้เขียนจึงรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรกับสัญลักษณ์ทางการเมืองอันใหม่นี้ แต่เวลาก็ได้ผ่านมาพอสมควรแล้ว และผู้เขียนคิดว่าคงไม่มีท่าทีที่จะดูสร้างสรรค์อะไรจากทางฝั่งรัฐบาล จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องรออีกต่อไป

กล่าวได้ว่าจากข่าวคราวความวุ่นวายที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ตอนนี้ นอกจากปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซา ความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเรื่องเปลี่ยนสามีภรรยาของใครก็ตามแต่ ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยนั้นต่างทราบกันดีก็คือกระแสการลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารของเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่ได้แพร่กระจายออกเป็นวงกว้างในสังคมไทยและต่างประเทศ เหล่าบรรดาผู้ต่อต้านการรัฐประหารได้นำสัญลักษณ์การโชว์สามนิ้วมาเป็นสัญญะในการต่อต้านอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ

สัญลักษณ์ดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่กำลังได้รับความนิยม โดยภาพยนตร์ดังกล่าวได้นำเสนอภาพของการต่อต้านอำนาจรัฐของทั้ง 13 เขต และตัวละครหลักของเรื่องได้มีการชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์เด่น ๆ ของเรื่อง โดยความหมายของสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้สามารถที่จะแปลความหมายได้ทั้งการขอบคุณ ชื่นชม และอำลา ซึ่งความหมายดังกล่าวได้นำมาสู่สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอำนาจรัฐบาลของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยและฮ่องกง

อย่างไรก็ดีการใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองก็ใช่ว่าเพิ่งเคยเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย เพราะก่อนหน้านั้นได้เกิดสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างมากมาย อาทิเช่น การใช้สีเหลือง สีแดง สีชมพู หลากสี เป็นต้น หรือการใช้อุปกรณ์เช่นมือตบ ตีนตบ หรือนกหวีด เป็นต้น แต่ความแตกต่างกันก็คือกลุ่มการเมืองดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองมวลชนอย่างแท้จริง เพราะเนื่องจากถูกนำโดยเหล่าแกนนำที่เป็นกลุ่มกระฎุมพี หรือไม่ก็เป็นพรรคการเมืองที่มวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเพียงน้อยนิด แต่กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มการเมืองมวลชน ที่ไม่ได้ถูกครอบงำจากเหล่ากระฎุมพีหรือพรรคการเมืองใด ๆ สัญลักษณ์ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมานี้จึงมีความน่าสนใจแตกต่างกับสัญลักษณ์ที่แล้วมา

ความน่าสนใจของสัญลักษณ์สามนิ้วก็คือการถูกนำมาใช้และแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วผ่านสื่อออนไลน์ โดยปราศจากองค์กรใด ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเผยแพร่ หรือแม้แต่แกนนำของการต่อต้านในครั้งนี้ก็ไม่สามารถที่จะระบุตัวตนได้ สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้จึงถือได้ว่าเกิดขึ้นมาได้จากความกล้าหาญของเหล่านิสิตนักศึกษาและประชาชน เพราะเมื่อมีการจับกุมนิสิตนักศึกษาหรือประชาชนที่ได้แสดงสัญลักษณ์สามนิ้วครั้งใด การแพร่ขยายและความนิยมในสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ก็แพร่ขยายตามไปด้วย ดังนั้นจึงถือได้ว่าสัญลักษณ์สามนิ้วเกิดขึ้นและแพร่ขยายไปได้เพราะความกล้าหาญของนิสิตนักศึกษาและประชาชนอย่างแท้จริง

แต่ก็ยังมีความสงสัยในการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้อยู่พอสมควร เพราะเนื่องจากสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้มาจากภาพยนตร์ และในเนื้อเรื่อง สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านแต่อย่างใด แต่เป็นการขอบคุณ ชื่นชม อำลาคนที่รักหรือคนที่เสียสละ ซึ่งสัญลักษณ์สามนิ้วจริงๆ แล้วก็เหมือนและคล้ายๆกับการส่งจูบแล้วโบกมือให้ ซึ่งหากจะพูดว่ากลุ่มมวลชนเข้าใจความหมายของภาพยนตร์ผิดก็ไม่น่าจะใช่ ผู้เขียนจึงมองว่านี่คือ"การช่วงชิงความหมาย" (Contested Meaning) ในสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้

หากยังจำได้เราจะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหารใหม่ ๆ ได้มีประชาชน นิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ชูสามนิ้วซึ่งมีนัยที่เป็นการต่อต้านอำนาจของทหาร โดยมวลชนกลุ่มนั้นได้ให้ความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วดังกล่าวเอาไว้ซึ่งคล้องจองกับคำขวัญของประเทศฝรั่งเศสว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" ซึ่งคำดังกล่าวนี้มีกลิ่นอายแห่งการปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศส สัญลักษณ์สามนิ้วจึงเป็นสิ่งแทนคำขวัญดังกล่าว เพื่อประท้วงเรียกร้องสามสิ่งที่ขาดหายไปในสังคม

ซึ่งหลังจากนั้นสัญลักษณ์สามนิ้วก็ได้แพร่หลายไปในสังคม และกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ได้นำสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ไปใช้โดยให้ความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มหรือบุคคล แต่ความหมายโดยรวมนั้นก็มุ่งเน้นไปที่การต่อต้านการรัฐประหาร เราจะพบเห็นได้ว่าการชูสามนิ้วดังกล่าวนี้ไม่ได้มีแกนนำ หรือผู้ให้ความหมายที่ชัดเจนว่ามันคืออะไรหรือแปลว่าอะไร แต่ที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการให้ความหมายนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ความหมายโดยรวมนั้นก็ยังเป็นการต่อต้านรัฐประหาร นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงการเป็นสัญลักษณ์ของมวลชน ที่ปราศจากการครอบงำใด ๆ ทั้งสิ้น

ถึงแม้ว่าสัญลักษณ์สามนิ้วจะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่กล่าวได้ว่าคณะรัฐบาลรัฐประหารก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการ เพราะเนื่องมาจาก "กลยุทธ์" ของกลุ่มทหารที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคม และยังคงใช้แนวความคิดวิธีแบบทหารในการเข้าปกครองประเทศ ด้วยการเข้าจับกุมบุคคลที่ได้แสดงสัญลักษณ์สามนิ้วและคุกคามด้วยอำนาจต่าง ๆ ต่อผู้ที่แสดงสัญลักษณ์ดังกล่าว

ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าคณะรัฐประหารเองที่เป็นเสมือนบุคคลที่สร้างความชอบธรรมให้กับสัญลักษณ์สามนิ้ว ให้กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตนเอง และใช้กลยุทธ์แบบทหารเข้าจัดการกับสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วยการจับกุมหรือใช้วิธีกดดันใด ๆ ก็ตาม ซึ่งผลดังกล่าวก็ได้สะท้อนผลเสียให้กลับมาตกอยู่ที่รัฐบาล เพราะการจับกุมแต่ละครั้งย่อมเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั้งภายในและนอกประเทศยิ่งทำให้สัญลักษณ์ดังกล่าวแพร่ขยายตัวไปเร็วขึ้น และยิ่งการกระทำดังกล่าวได้เป็นการแสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลเสียความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลใช้กลยุทธ์ที่ล้าสมัยในการจัดการกับการท้าทาย ผลสุดท้ายฝ่ายที่เสียหายก็คือรัฐบาลเอง

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่าสัญลักษณ์สามนิ้วถึงแม้ว่าจะไม่ได้แปลถึงการต่อต้านอำนาจรัฐมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถึงกับหลัง ๆ มีผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลทหารพยายามจะทำสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้ให้เกิดการเสื่อมพลังในตัวเอง และไม่ให้เกิดการชอบธรรมในการใช้สัญลักษณ์ โดยการออกมาชี้แจงผ่านสื่อต่าง ๆ ว่านิสิตนักศึกษาตีความสัญลักษณ์สามนิ้วจากภาพยนตร์ผิด หรือการจะบอกว่าสามนิ้วไม่ใช่ของไทยเป็นของฝรั่ง ดังนั้นสามนิ้วจึงไม่ได้มีความหมายใด ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอ

อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วว่ากลุ่มมวลชนดังกล่าวได้ช่วงชิงความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วมาเป็นสัญญะในการต่อต้านการรัฐประหารไว้ได้ตั้งแต่แรกแล้ว อีกทั้งความหมายของสามนิ้วก็เป็นไปตามความคิดของแต่ละบุคคลที่จะให้ความหมาย ดังนั้นสัญลักษณ์ที่กลุ่มมวลชนได้ช่วงชิงมาจึงมีความหมายในตัวของมันเองเกินขอบเขตที่ภาพยนตร์ได้ให้ความหมายเอาไว้ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามจะช่วงชิงความหมายดังกล่าวให้กลับมาอยู่ในกรอบของภาพยนตร์แต่ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะทำเช่นนั้นได้ อีกทั้งถึงแม้ทางฝ่ายรัฐบาลทหารเองจะพยายามช่วงชิงความหมาย(ที่พึ่งรู้สึกตัวว่าสายเกินไป) แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลทหารก็กลับไปตอกย้ำความชอบธรรมในสัญลักษณ์ดังกล่าวด้วยการเที่ยวกวาดล้างจับกุมบุคคลที่แสดงสัญลักษณ์ นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพ่ายแพ้ให้กับกลยุทธ์ดังกล่าวของมวลชนและย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลทหารปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ยิ่งชี้ให้เห็นว่าทหารนั้นยึดได้ แต่ปกครองไม่ได้

การปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลทหารไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงทศวรรษ 2510 และการปรับตัวไม่ทันของรัฐบาลในสมัยนั้นก็มีส่วนในการนำมาซึ่งความล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหารในปี พ.ศ. 2516 ซึ่งสวนหนึ่งนั้นก็เป็นผลมาจากการปรับตัวไม่ทันของรัฐบาลหารนั่นเอง[1]

เราทราบกันดีว่าในช่วงยุคสมัยดังกล่าวนั้นเป็นยุคของสงครามเย็น ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสหรัฐอเมริกา โดยในสมัยนั้นมีการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแพร่หลาย ข่าวสารต่าง ๆ ได้ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร และการควบคุมข่าวสารดังกล่าวนี้ก็ถือว่าเป็นงานสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งข่าวสารที่รัฐบาลได้ทำการปกปิดนั้นได้แก่การที่รัฐบาลนำพาสังคมไทยไปพัวพันในสงครามอินโดจีน แต่การปฏิบัติการทุกอย่างนั้นได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้าไปแทรกแซงกิจการในลาวร่วมกับสหรัฐอเมริกา ต่อมารัฐบาลไทยก็ได้เข้าไปพัวพันและแทรกแซงกิจการในประเทศเวียดนาม เกิดการสร้างฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาขึ้นในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนี้กลับถูกปิดไว้เป็นความลับ[2]

อีกทั้งการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐบาลไทยตลอดในช่วงที่พัวพันในสงครามอินโดจีนนั้น ไม่ได้ถูกทำการตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้ปลอดภัยแก่รัฐบาลจากข้อกล่าวหาในการเข้าไปมีส่วนร่วมในอินโดจีน ดังเช่นการมีอยู่ของฐานทัพอเมริกา ซึ่งสถานะภาพการเป็นเจ้าของฐานทัพไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นของใคร และไม่ได้ระบุว่าแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิอย่างไรในขอบเขตในการใช้ฐานทัพ จึงนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาภาพพจน์ว่ารัฐบาลไทยนั้นมีอำนาจในการคุมฐานทัพดังกล่าวอย่างเป็นทางการ จึงแสดงสัญลักษณ์เช่นธงชาติไทยในฐานทัพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าฐานทัพดังกล่าวเป็นของไทยเพียงแต่อเมริกันได้รับการอำนวยความสะดวกจากการใช้ฐานทัพแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าไม่เคยมีการแถลงอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยเกี่ยวกับฐานทัพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในสงครามอินโดจีน[3]

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ารัฐบาลทหารในยุคนั้นจะสามารถปิดกั้นข่าวสารได้ แต่ก็เป็นแค่เพียงข่าวสารภายในประเทศแต่เพียงเท่านั้น เพราะเนื่องจากในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเผชิญกับข้อมูลข่าวสารที่มาจากต่างประเทศ ทั้งจากฝั่งโลกเสรีและฝั่งคอมมิวนิสต์ ซึ่งมักจะนำเสนอทัศนะที่แตกต่างจากทางรัฐบาลและมีแนวโน้มที่น่าเชื่อถือกว่ารัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลไทยเองก็หวั่นไหวต่อข่าวสารดังกล่าวเป็นอย่างมาก มีการใช้มาตรการทำลายความน่าเชื่อถือของของแหล่งข้อมูล มาตรการในการปฏิเสธซึ่งเป็นการโต้ตอบของรัฐบาล ชี้ให้เห็นถึงการไม่ยอมปรับตัวของรัฐบาลเผด็จการทหารในการควบคุมความคิดของสังคม ซึ่งการโต้ตอบโดยใช้กลยุทธ์เดิม ๆ ดังที่ได้กล่าวมาของรัฐบาลทหารทำให้ข่าวสารดังกล่าวได้กระจายไปสู่สังคม และข่าวสารจากต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล ก็ทำให้สังคมไทยได้รับรู้ข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น[4]

ขณะเดียวกันผู้ที่บริโภคข้อมูลข่าวสารดังกล่าวนี้ก็ได้แก่กลุ่มนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน ซึ่งได้อาศัยข้อมูลดังกล่าวและนำไปสู่การทำความเข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลทหารได้ปกปิดความลับในการเข้าไปแทรกแซงประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังยอมให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศในการตั้งฐานทัพอีกด้วย จึงนำไปสู่การต่อต้านอำนาจและการกระทำของรัฐบาลทหารในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่าการทำลายความน่าเชื่อถือ การปิดกั้นข่าวสาร การปฏิเสธ ของรัฐบาลทหารในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นกลยุทธ์ที่ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะเนื่องจากรัฐบาลทหารในช่วงนั้นไม่ได้ตระหนักถึงสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงในตัวเองอยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะถูกควบคุมโดยทหาร อีกทั้งรัฐบาลทหารยังมีความคิดที่ใช้เพียงแค่กำลังและอำนาจปิดกั้นข่าวสารเอาไว้ไม่ให้รั่วไหล แต่เมื่อต้องเผชิญกับข่าวสารจากภายนอกที่กำลังและอำนาจของรัฐบาลทหารไม่สามารถแผ่ไปได้ถึง รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับข่าวสารที่รั่วไหลสู่สังคมได้

ด้วยเหตุนี้ก็ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลก็ยิ่งเสื่อมลงไป ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามแต่เนื่องมาจากกลยุทธของรัฐบาลเองที่ไม่ยอมปรับตัวและปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นความคล้ายคลึงกับรัฐบาลทหารในยุคปัจจุบัน ถึงแม้ว่ารูปแบบสังคมจะเปลี่ยนไป หรือวิทยาการต่าง ๆ ของสังคมนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่โมเดลของรัฐบาลทหารในยุคนั้นกับยุคนี้แทบที่จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย อีกทั้งยังไม่มีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคม มุ่งแต่จะพาสังคมให้กลับไปสู่อดีตอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทหารทำพลาดกับสัญลักษณ์สามนิ้ว ก็คือการไม่ยอมที่จะเข้าไปช่วงชิงความหมายจากนิสิตนักศึกษา ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทุกอย่าง ทั้งในเรื่องของการควบคุมหรือการใช้สื่อ แต่กลับเพียงแค่ไปทำให้สัญลักษณ์ดังกล่าวนี้เกิดการเสื่อมพลังโดยแค่ไปจำกัดให้อยู่ในกรอบของภาพยนตร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ก็ยังถือว่าสายเกินไปและเสียของ เพราะเนื่องจากมวลชนได้ช่วงชิงความหมายนั้นพ้นมาจากกรอบภาพยนตร์เสียแล้ว รัฐบาลจึงทำได้แค่ต้องยอมรับในสัญลักษณ์สามนิ้วที่ถือว่าตนเองนั้นก็ได้มีส่วนสร้างขึ้น และหากรัฐบาลยังคงใช้กลยุทธ์เดิม ๆ เช่นการจับกุม คุกคามต่อสัญลักษณ์นี้ต่อไป ต่อให้ต้องจับไปปรับทัศนคติอีกกี่คนก็จะไม่มีวันหมดสิ้น

ซึ่งผู้เขียนเองก็ได้ทราบทัศนคติจากกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่หัวก้าวหน้าบางกลุ่ม โดยพวกเขาเองก็มีความพยายามที่จะช่วงชิงความหมายของสามนิ้วให้มีความหมายว่า "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" แต่เมื่อจั่วหัวซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ไม่ได้มีทีท่าต่อการสนับสนุนการช่วงชิงความหมายดังกล่าว แนวความคิดนี้ก็เป็นอันต้องพับลงไป และก็คงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องไปยืนชูสามนิ้วอันเป็นอีกความหมายล่อทหารที่มุ่งมั่นแต่จะจับประชาชนเพียงอย่างเดียวโดยไม่ลืมหูลืมตา

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ในเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น การมีพลังและอำนาจแต่เพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะปกครองและนำพาประเทศได้ จำเป็นที่จะต้องมีสมองและมีความคิดในการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชาติด้วย เพราะเนื่องจากประเทศไม่ใช่ของคนเพียงคนเดียวและของใครแค่คนหนึ่ง ถึงแม้ว่าฐานะทางเศรษฐกิจหรือระดับการศึกษาของคนในสังคมไทยวันนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่มันก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้สิทธิของคนในสังคมไทยไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นประชาธิปไตยจึงเป็นกลไกเดียวเท่านั้นที่จะทำให้สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

 

 

 




เชิงอรรถ

            [1] หากท่านผู้อ่านสนใจนโยบายของรัฐบาลทหารในช่วงยุคสมัยทศวรรษ 2510 และวัฒนธรรมหรือการก่อตัวทางความคิดในยุคสมัยดังกล่าว โปรดดู ประจักษ์ ก้องกีรติ.(2556).  และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ. นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน. 

            [2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองและวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, (นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน, 2556) ,หน้า 138-142

            [3] เรื่องเดียวกัน หน้า 151-153

            [4] เรื่องเดียวกัน หน้า 204-205 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชนาวุธ บริรักษ์ เป็นนิสิตปริญญาตรี ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คมนาคมยกเว้นค่ามอเตอร์เวย์ช่วงปีใหม่-รถไฟฟ้าใต้ดินเปิดถึงตีสอง

$
0
0

มติ ครม. อนุมัติ "ของขวัญปีใหม่" จากกระทรวงคมนาคม ยกเว้นค่าผ่านทางกรุงเทพ-ชลบุรี, บางปะอิน-บางพลี, บางพลี-สุขสวัสดิ์, บางนา-ชลบุรี - รถไฟฟ้าใต้ดินวิ่งถึงตีสอง - การบินไทยให้โหลดสัมภาระเพิ่ม 10 กก. - ส่วนกรมเจ้าท่าจะลอกผักตบชวาในแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ลพบุรี-ท่าจีน ฯลฯ รวม 1.75 แสนตัน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (16 ธ.ค. 2557) (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

17 ธ.ค. 2557 - ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 ตอนหนึ่ง ครม. มีการอนุมัติเรื่อง ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2558 ให้แก่ประชาชน ของกระทรวงคมนาคม มีรายละเอียดตามที่รายงานใน เว็บไซต์รัฐบาลไทยดังนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2558 ให้แก่ประชาชน ของกระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด จัดเตรียมโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยมีของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2558 จำนวน 69 โครงการ ประกอบด้วย

- ด้านนโยบายและแผน จำนวน 2 โครงการ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร     
- ด้านการขนส่งทางบก จำนวน  33 โครงการ ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก จำนวน 11 โครงการ  กรมทางหลวง จำนวน 11 โครงการ กรมทางหลวงชนบท จำนวน 3 โครงการ  การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำนวน 2 โครงการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 3 โครงการ และบริษัท ขนส่ง จำกัด จำนวน 3 โครงการ
- ด้านการขนส่งทางราง จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 4 โครงการ  และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 2 โครงการ
- ด้านการขนส่งทางน้ำ จำนวน  18 โครงการ ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า จำนวน 3 โครงการ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 15 โครงการ
- ด้านการขนส่งทางอากาศ จำนวน 10 โครงการ ประกอบด้วย บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) จำนวน 6 โครงการ  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 โครงการ และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ

2. ของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2558 ให้แก่ประชาชน ของกระทรวงคมนาคม ที่สำคัญ ได้แก่

2.1 กรมการขนส่งทางบก

(1) เปิดให้จองทะเบียนรถออนไลน์ เพื่ออำนวยสะดวกประชาชนในการจองทะเบียนรถ
(2) ขนส่งห่วงใย ใส่ใจผู้พิการ มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการที่ประสบภัยจากการใช้รถใช้ถนนทั่วประเทศ จำนวน 2,500 คน
(3) Smart Driver Model นำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมพฤติกรรมพนักงานขับรถในรถโดยสารประจำทางของบริษัท ขนส่ง จำกัด จำนวน 60 คัน
(4) จักรยานยนต์สาธารณะปลอดภัยเป็นมิตร เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีมาตรฐานความปลอดภัยในราคาที่เป็นธรรม
(5) รถตู้โดยสาร ใส่ใจบริการ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและเก็บค่าโดยสารในอัตราที่ทางราชการกำหนด

2.2 กรมทางหลวง

(1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (สายกรุงเทพฯ -ชลบุรี) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (สายบางปะอิน-บางพลี) ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2558 ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เวลา 16.00 น. ถึงวันที่ 4 มกราคม 2558 เวลา 24.00 น.
(2) โครงการจัดทำช่องจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยแก่ประชาชนและสนับสนุนการท่องเที่ยว/ การออกกำลังกาย ใน 4 จังหวัด (เชียงใหม่  นครนายก พังงา และมุกดาหาร

2.3 กรมทางหลวงชนบท

(1) เร่งรัดโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบุรี 1 จังหวัดนนทบุรี (จาก ถนนนนทบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกถนนราชพฤกษ์) โดยเร่งรัดให้เปิดเส้นทางให้ประชาชนสัญจร ในวันที่ 28 ธันวาคม 2557 ซึ่งตามสัญญาจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2558
(2) ปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทที่ผ่านหน้าโรงเรียนในต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยติดตั้งป้ายสัญญาณไฟกระพริบและตีเส้นจราจรเพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2558 จะดำเนินการ จำนวน 100 แห่ง

2.4 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

(1) ยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี) ทางยกระดับด้านทิศใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก  (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถีในช่วงเทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เวลา 00.01 น.  ถึงวันที่ 4 มกราคม 2558 เวลา 24.00 น.
(2) อำนวยความสะดวกในการเดินทางช่วงปีใหม่ 2558 โดยตั้งจุดบริการประชาชน ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษที่กำหนด

2.5 บริษัท ขนส่ง จำกัด

(1) จัดพื้นที่บริการสำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะ (Lady Zone) โดยจัดผังที่นั่งสำหรับสุภาพสตรีโดยเฉพาะ (Lady Zone) จำนวน 10 ที่นั่ง ด้านหน้ารถโดยสาร [รถโดยสารหมวด 4 ข (ปรับอากาศ 2 ชั้น)] สายกรุงเทพฯ-นครพนม และสายกรุงเทพฯ-สกลนคร เพื่อให้สุภาพสตรีมีความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการให้บริการ

2.6 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ติดตั้งระบบสัญญาณ WIFI บนรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 3 เส้นทาง

2.7 การรถไฟแห่งประเทศไทย

ติดตั้ง CCTV บน Lady Car ขบวนรถสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และสายกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง

2.8 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ขยายเวลาเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นจากเวลาปกติ 2 ชั่วโมง ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ต่อเนื่องวันที่ 1 มกราคม 2558 คือ จากเดิมเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 24.00 น. ขยายเป็น 06.00 – 02.00 น.

2.9  กรมเจ้าท่า

(1) โครงการชูชีพเก่าแลกใหม่ปลอดภัยได้มาตรฐาน โดยดำเนินการที่จังหวัดภูเก็ต และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
(2) โครงการร่วมรักษ์แม่น้ำ กำจัดผักตบชวาเพื่อประชาสุขใจ ดำเนินการในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี แม่น้ำลพบุรี จังหวัดลพบุรี แม่น้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำป่าสัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี และแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี  จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสุมทรสาคร คาดว่าจะกำจัดผักตบชวาได้ 175,000 ตัน

2.10 การท่าเรือแห่งประเทศไทย

โครงการห้องสมุดปันความรัก เพิ่มความรู้สู่ชุมชน เพื่อมอบเงินทุนสร้างห้องสมุดให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน

2.11 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ปรับเพิ่มน้ำหนักกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารอีก 10 กิโลกรัม ในทุกเส้นทางการบิน (ยกเว้นเส้นทางไปสหรัฐอเมริกา) และทุกชั้นผู้โดยสาร

2.12 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

(1) โครงการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบไร้สาย (Airport Free WIFI)  ในท่าอากาศยาน 6 แห่ง (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และหาดใหญ่)
(2) พัฒนาและปรับปรุงลู่ปั่นจักรยานบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครม.เห็นชอบแก้ กม.-เพิ่มอำนาจสันติบาลขอหมายค้นต่อศาล

$
0
0

มติ ครม. เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแก้ไข กม.แบ่งส่วนราชการตำรวจ 2 ฉบับ โดยเพิ่มอำนาจตำรวจสันติบาลให้ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อให้สามารถขอหมายค้นต่อศาลได้เมื่อมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

 

หน้าเว็บไซต์กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (ที่มาภาพประกอบ: http://www.sbpolice.go.th/)

17 ธ.ค. 2557 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอแก้ไขกฎหมาย ได้แก่ ร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้  

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอว่า ในปัจจุบันกองบัญชาการตำรวจสันติบาลซึ่งมีภารกิจในการสืบสวนหาข่าวด้านความมั่นคงของประเทศ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นเหตุให้เมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำการค้นโดยเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลไม่สามารถขอออกหมายค้นได้ ทำให้การปฏิบัติงานสืบสวนหาข่าวเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดความคล่องตัว

ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น สมควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองบัญชาการตำรวจสันติบาล รวมทั้งหน่วยงานระดับกองบังคับการในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวน ให้สามารถปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ที่ สกค. ตรวจพิจารณาแล้วมาดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง

1. แก้ไขปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 มาตรา 5 ดังนี้

เดิม

มาตรา 5 ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

ข. กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(22) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ฉ) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศตามอำนาจหน้าที่

 

ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ขอแก้ไข

มาตรา 5 ส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

ข. กองบัญชาการหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากองบัญชาการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(22) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(ฉ) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศตามอำนาจหน้าที่

ฯลฯ

2. แก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานำตรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ข้อ 3 ดังนี้

เดิม

ข้อ 3 ส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

2. กองบัญชาการ

(14) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

(ก) กองบังคับการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

8) ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกฎหมายอื่นที่ให้มีอำนาจหน้าที่หรือดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ

(ข) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ต่อไปนี้

1) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านการข่าวของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในเขตอำนาจการรับผิดชอบ

(ค) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไป

1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการข่าวเฉพาะด้านตลอดจนงานการข่าวอาชญากรรม   ข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล งานการข่าวระหว่างประเทศ  ตลอดจนการประสานงานการข่าวระหว่างประเทศ

(จ) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 4 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวางแผน กำหนดหัวข้อข่าว  รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ประมวลผลและประเมินสถานการณ์ข่าวกรอง  รวมถึงงานการผลิตและกระจายข่าวกรองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ขอแก้ไข

ข้อ 3 ส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

2. กองบัญชาการ

(14) กองบัญชาการตำรวจสันติบาล

(ก) กองบังคับการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

8) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  กฎหมายว่าด้วยสัญชาติและกฎหมายอื่นที่ให้มีอำนาจหน้าที่หรือดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประเทศ

(ข) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ต่อไปนี้

1) ดำเนินงานเกี่ยวกับงานด้านการข่าวของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในเขตอำนาจการรับผิดชอบ

3) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(ค) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไป

1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านการข่าวเฉพาะด้านตลอดจนงานการข่าวอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้ายสากล งานการข่าวระหว่างประเทศ  ตลอดจนการประสานงานการข่าวระหว่างประเทศ

2) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(จ) กองบังคับการตำรวจสันติบาล 4 มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวางแผน กำหนดหัวข้อข่าว  รวบรวม จัดเก็บ วิเคราะห์ประมวลผล และประเมินสถานการณ์ข่าวกรอง  รวมถึงงานการผลิตและกระจายข่าวกรองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2) ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จอม’ แจงเป็น "แพะรับบาปทางการเมือง" หลังถูกกล่าวหาเป็นเหตุ ‘ข่าวลือ’ จนหุ้นตก

$
0
0

จอม เพชรประดับ เผยคำชี้แจงกรณีถูกกล่าวหา เป็นเหตุก่อข่าวลือจนทำให้หุ้นไทยร่วงรุนแรง หลังเปิดเผยบทสัมภาษณ์อ้างแหล่งข่าวระดับสูงในราชสำนัก และ สัมภาษณ์จักรภพ ระบุทำหน้าที่สื่อมวลชน และตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วยความรัก ความศรัทธา

หลังจากเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นปิดตลาดลบ 36.46 จุด ดัชนี 1,478 จุด มูลค่าซื้อขาย 1 แสนล้าน โดยลงอย่างหนักในช่วงบ่ายกว่า 130 จุด จนกระทั่งวันต่อมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการเทขายหุ้นดังกล่าว โดยอ้างว่ามีสาเหตุมาจาก รายการ Thaivoicemedia โดย จอม เพชรประดับ ที่เปิดเผยบทสัมภาษณ์อ้างแหล่งข่าวระดับสูงในราชสำนัก และ สัมภาษณ์จักรภพ เพ็ญแข ทำให้เกิดข่าวลือไม่เหมาะสม ส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดปัญหา

ล่าสุด จอม เพชรประดับ ได้เผยแพร่คำชี้แจงของตนเองถึงกรณีที่ถูก พล.ต.สรรเสริญ กล่าวหาดังกล่าว ในเว็บไซต์ Thaivoicemedia.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ถูก ICT ระงับการเข้าถึงในไทยมาก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุดังกล่าวนานแล้ว และ เฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Jom Petchpradab’ โดยระบุว่า “เป็นอีกครั้งครับ ที่ผมต้องกลายเป็น "แพะรับบาปทางการเมือง" ในสงครามการแย่งอำนาจของการเมืองไทย ขอโปรดให้ความเป็นธรรม และกรุณารับฟังคำชี้แจงนี้ของผมบ้างครับ”

คำชี้แจง

จอม เพชรประดับ

กรณีถูกกล่าวหา เป็นเหตุทำให้หุ้นไทยร่วงรุนแรง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557

 

กรณี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล ให้สัมภาษณ์สื่อในประเทศไทยว่า ผม (นายจอม เพชรประดับ) เป็นสาเหตุของการปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนสร้างความตื่นตระหนก ทำให้หุ้นไทยร่วงลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี เรื่องนี้ สร้างความไม่สบายใจและเป็นกังวลให้กับผมอย่างยิ่ง เพื่อความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพของผมเอง และบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงในการสัมภาษณ์ของผม จึงขอใช้โอกาสนี้ ชี้แจงทำความเข้าใจดังนี้

 

ประเด็นแรก– เรื่องข่าว “เบื้องหลัง สมเด็จพระบรม ทรงหย่า กับหม่อมศรีรัศมิ์” ที่อยู่ในเวปไซด์ “Thaivoicemedia.com” นั้น เป็นการอ้างแหล่งข่าวระดับสูงในราชวงศ์ ซึ่งข่าวนี้ ผมได้พูดคุยกับบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวระดับสูงในราชวงศ์จริง และเหตุที่ได้นำเสนอข่าวนี้ออกไป เพราะเห็นว่า เป็นข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าใจกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในราชวงศ์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจและต้องการที่จะรับรู้อย่างยิ่ง อีกทั้งเห็นว่า เป็นข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ สมเด็จพระบรมฯ มากยิ่งขึ้น เพราะข่าวที่ออกมาโดยส่วนใหญ่อาจจะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ว่า “หม่อมศรีรัศม์” เป็นฝ่ายถูกกระทำ

 

รวมทั้งการพูดถึงพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่ทรงมีพระอาการดีขึ้นเป็นลำดับแล้วนั้น ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับคนไทย

 

ผมตระหนักดีว่า จำเป็นที่จะต้องระบุชื่อแหล่งข่าวอย่างชัดเจน ในทุกข่าวที่นำเสนอ แต่กรณีนี้ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า หากระบุชื่อจริงลงไป ก็จะสร้างความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อบุคคลที่เป็นแหล่งข่าวอย่างมาก แม้จะเป็นการพูดด้วยความปรารถนาดีและด้วยความรัก ห่วงใยต่อองค์รัชทายาทก็ตาม ซึ่งนี่ก็คือความรับผิดชอบที่สำคัญของสื่อมวลชนด้วยเช่นเดียวกัน

 

ประการที่สอง – เกี่ยวกับ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ผมได้แสดงทรรศนะ ความคิด ความเชื่อของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้ง ผมยืนยันอีกครั้งว่า ผมเป็นคนไทย คนหนึ่ง ที่มีสำนึกรักและศรัทธา สถาบันพระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด แต่ในความเป็นสื่อมวลชน ก็ต้องอยู่กับข้อเท็จจริง ความเปลี่ยนแปลงผลิกผันของสังคมโลกยุคใหม่ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน ที่ต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ ในทุกเรื่อง ทุกประเด็นที่ส่งผลและเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตของพวกเขา

 

“สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย” ซึ่งถูกสร้างให้กลายเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาสูงสุดของคนไทยทั้งชาติ เป็นใจกลางของความเป็นประเทศไทย จึงถูกท้าทายด้วยปรากฎการณ์ใหม่นี้ วัฒนธรรมของสังคมใหม่ ที่เน้นการตั้งคำถาม การตรวจสอบ การวิพากษ์วิจารณ์ เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ ในฐานะของสื่อมวลชน ซึ่งต้องทำงานบนพื้นฐานความสนใจและความเปลี่ยนแปลงใน สังคมโลกยุคปัจจุบัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเสนอ หรือพูดถึงปรากฎการณ์ดังกล่าว

 

แม้เป็น “สื่อมวลชน” แต่ด้วยความเป็น “คนไทย” การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เป็นไปด้วยความรัก ความศรัทธา และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย” ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในผืนแผ่นดินไทย การที่คนไทยจำนวนมากให้ความสนใจใคร่รู้ในสถาบันอันเป็นสิ่งศรัทธาสูงสุดเวลานี้ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบ การตั้งคำถาม ล้วนแล้วอยู่บนความปรารถนาดีที่ต้องการช่วย พยุงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปให้ได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง นี่คือความเชื่อมั่นและความรู้สึกนึกคิดของผมต่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย”

 

ประการที่สาม– การสัมภาษณ์ คุณจักรภพ เพ็ญแข อดีตนักการเมือง ที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ในประเด็น “ความเปราะบางของสถาบันกษัตริย์ไทย” เป็นเหตุผลที่ต่อเนื่องจากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้น และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คุณจักรภพ ให้สัมภาษณ์ในเชิงการตั้งคำถาม การวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์ไทย แต่ได้ทำมาแล้วหลายครั้ง ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งร่วงลงอย่างที่สุดแต่อย่างใด

 

ประการที่สี่– คุณสรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือแม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารไทย พยายามยัดเยียดให้ผมเป็น “ทาสรับใช้ระบอบทักษิณ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชิงชังอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ผมพยายามอธิบาย ชี้แจง และได้พิสูจน์ตัวเองในเรื่องนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

 

การทำหน้าที่สื่อมวลชนของผม ต้องใช้ความอดทน และพยายามอย่างยิ่ง ที่ต้องมั่นคงอยู่กับข้อเท็จจริง สร้างความเป็นธรรม และพยายามรักษาปกป้อง สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามวิถีทางประชาธิปไตย แต่ก็ไม่วายต้องถูกต้องผลักไสให้ไปอยู่กับฝ่ายฝั่งตรงกันข้ามเสียทุกครั้ง

 

คงจำกันได้ ในยามที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจของ “ระบอบทักษิณ” ผมเองก็ถูกกระทำและถูกขัดขวางการทำหน้าที่สื่อมวลชน จนไม่อาจปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้จากอำนาจของฝ่าย “ระบอบทักษิณ” ด้วยเหมือนกัน

เป็นความไม่เป็นธรรมสำหรับผม อย่างยิ่ง ที่กลุ่มอำนาจทั้งหลายที่ขัดแย้ง และพยายามแย่งอำนาจกันเอง แต่กลับทำให้ผมกลายเป็น “แพะทางการเมือง” เสียทุกครั้ง แม้ในยามนี้ที่ชีวิตของผมต้องประสบกับความยากลำบากอย่างที่สุด ในเวลานี้ ผมไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ จาก คุณทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่กลุ่มการเมืองใด ๆ เลย มีเพียงเพื่อนพี่น้องคนไทยที่ห่วงใย และรักในบ้านเมืองไทยเท่านั้นเองที่คอยให้ความเมตตาช่วยเหลือผมอยู่ในขณะนี้

 

ผมขอวิงวอนว่า อย่าทำให้การปฎิบัติหน้าที่สื่อมวลชนของผมไปให้เครดิตกับ ระบอบทักษิณ หรือกลุ่มการเมืองใดอีกเลย

 

ประการสุดท้าย– ความผิดพลาด และล้มเหลวในการบริหารประเทศ ของ รัฐบาลเผด็จการทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหลายเรื่อง หลายประเด็น ล้วนแล้วสร้างความเสียหายต่อคนไทยอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ และบุคคลที่อยู่ในคณะรัฐบาลควรจะหันกลับมาพิจารณาตัวเองมากว่า แทนที่จะโยนความผิดพลาดนี้ให้กับ ผม หรือ บุคคลอื่น

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อำนาจสูงสุดมาด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว แต่หากต้องพิสูจน์ความเสียสละและความจริงใจที่ต้องการทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ และด้วยจิตใจที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้น กรณีหุ้นดิ่งลงเหวอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องโยนความรับผิดชอบนี้ไปที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ในฐานะผู้รับผิดชอบเบื้องต้นมากกว่า แทนที่จะเอา ผม ไปเป็นแพะ เหมือนกับความล้มเหลวอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ท่านมีอำนาจสูงสุดในประเทศ

 

ขอย้ำและขอยืนยันอีกครั้งว่า แม้ผมไม่สามารถอยู่ในประเทศอันเป็นที่รักของผมได้ แต่ก็ยังคงยืนยันที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชนไทย เพื่อเรียกร้อง ปกป้อง สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ให้กับคนไทยทั้งแผ่นดินต่อไป เพื่อวันหนึ่งคนไทยทั้งประเทศจะได้ภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของประเทศไทยที่แท้จริง แม้สุดท้ายผมเองอาจจะไม่มีวันกลับมาตายในแผ่นดินอันเป็นที่รักของตัวเองก็ตาม

ด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อทุกคน

 

จอม เพชรประดับ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

3 เครือข่ายคนจนรุมทวงสัญญา คสช.

$
0
0

พีมูฟ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล รุมถามเมื่อไรถึง "จะทำตามสัญญา" พร้อมออกแถลงการณ์ ชี้รัฐต้องเคารพสิทธิชุมชน

17 ธ.ค. 2557 – วันนี้กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล และกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กระจายตัวเข้าทวงสัญญาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และรัฐสภา พร้อมเสนอให้มีการพลักดันการออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ และเร่งการดำเนินการเแก้ไขปัญหากรณีเขื่อนปากมูล

ที่รัฐสภา เวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ ได้เข้ายื่นหนังสือ ต่อนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการแก้ไขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ66/2557 และแผ่นแม่บทป่าไม้  และได้เข้ายื่นหนังสือต่อ สมชาย แสวงการ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้มีการระงับและทบทวนการบังคับใช้แผนแม่บท บัญญัติสิทธิชุมชนไว้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งให้มีการผลักดันการออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน 4 ฉบับ (พรบ.สิทธิชุมชนฯ พรบ.ธนาคารที่ดิน พรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พรบ.กองทุนยุติธรรม)

ที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (ส.ก.น) ได้ทำกิจกรรมเดินก้าวที่ 4 มายังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อติดตามผลการเจรจา ซึ่งตัวแทนรัฐบาลรับปากว่าจะมีการทบทวนแผนแม่บทป่าไม้ พ.ศ.2557 ตามข้อเสนอของ สกน. และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แต่วันนี้ผ่านมา 1 เดือนแล้วยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ อีกทั้ง เดินก้าวที่ 4 ไปยังมลฑลทหารบก 33 เพื่อยื่นหนังสือถึงหัวหน้า คสช.

ที่จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ราว 20 คน ได้เดินทางเข้ามาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี และขอเข้าพบกับ เสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อขอให้ทางจังหวัดประสานกับ ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึง ปนัดดา เมื่อหนึ่งเดือนก่อน เพื่อขอให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีเขื่อนปากมูล แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือพูดคุยเจรจากันแต่อย่างใด พร้อมฝากคำถามไปยัง ปนัดดา ว่าจะสามารถเปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาได้เมื่อใด

ขณะเดียวกันก็ได้มีการยื่นหนังสืออีกฉบับ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีในการคัดค้านให้ รัฐบาลลาว ชะลอการสร้างเขื่อนดอนสะฮอง เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของพันธ์ปลาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา เพราะจะทำให้เส้นทางการเดินทางเพื่อวางไข่ และสืบพันธุ์ของปลาจะถูกปิดกั้นลง และถึงที่สุดจะส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่ชาวปากมูนเข้าไปยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรอพบผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการเปิดห้องรับรองให้ชาวบ้านเข้าไปนั่งรอ แต่มีชาวบ้านพบว่าผู้ว่าฯ กำลังจะลงลิฟต์เพื่อออกจากตึก จึงได้เข้าไปสอบถาม และได้มีการตกลงกับชาวบ้านว่า จะให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับเรื่องไว้แทน เนื่องจากตนติดภาระกิจ

ภายหลังจากการพูดคุยกับ คันฉัตร ต้นเสถียร รองผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีข้อตกลงว่าจะมีการประสานงานให้รัฐบาลรับทราบ และจะแจ้งความคืบหน้าภายใน 15 วัน  

ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ได้ร่วมกันประกาศแถลงการณ์ ต่อกรณีผลกระทบจากการประกาศใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

 

แถลงการณ์ฉบับที่ 6

รัฐต้องหยุด !!! เข่นฆ่า คุกคาม ชุมชนด้วยแผนแม่บทป่าไม้

ยืนหยัดเพื่อ “สิทธิชุมชน” หยุด “ปล้นที่ดินคนจน”

พวกเราขบวนการประชานเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐภายใต้คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 / 2557 รวมทั้งแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้เผชิญกับประสบการณ์อันโหดร้าย เจ็บปวด  รวมถึงความสูญเสียที่ได้รับจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งยึดแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยทำกินมาแต่บรรพบุรุษ ด้วยการจับกุม ข่มขู่ คุกคาม ทำลายบ้านเรือนทรัพย์สิน และพืชผลอาสิน ของเราอยู่ตลอดเวลา

ภายใต้การต่อสู้เรียกร้องอันยาวนานของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และองค์กรเครือข่าย พวกเราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในท่ามกลางภาวะวิกฤติ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก อันเกี่ยวข้องกับการลดลงของทรัพยากรป่าไม้  การแย่งยึดที่ดินในนามของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และข้อกล่าวอ้างในการพัฒนา การก่อสร้าง และการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อความเจริญของประเทศชาติ การแสวงหาผลกำไรสูงสุดของภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ การทำเหมืองแร่ การก่อสร้างเขื่อน การพัฒนาเมือง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ผลักไสให้คนจนและเกษตรกรรายย่อยต้องตกเป็นจำเลยของสังคมและเผชิญกับชะตากรรมอันเลวร้ายเพียงลำพัง

การปราศจากซึ่งรัฐธรรมนูญที่ให้ความเคารพและคุ้มครอง “สิทธิชุมชน” ส่งผลให้การปฏิบัติการตามคำสั่ง คสช. และแผนแม่บทดังกล่าว เป็นไปด้วยความรุนแรงและไร้ความปราณี ชุมชนเกษตรกรรายย่อย ชาวไร่ ชาวนา บนที่สูง ที่ราบ และชายฝั่ง  หรือแม้กระทั่งคนจนเมืองต่างถูกกีดกัน  ผลักดัน ให้อพยพโยกย้าย และละเมิดสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร ชีวิต ทรัพย์สิน และอิสรภาพในชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน เราพบว่ามีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ยากไร้ถูกดำเนินคดีแล้วมากกว่า 300 คน ในข้อหาบุกรุก และอีกกว่า 1,700 ครอบครัว ที่ถูกประกาศยึดคืนพื้นที่ทำกิน และออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา และคาดว่าในเดือนมกราคม ถึงเดือน มีนาคม 2558 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 35,000 ครอบครัว

การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินไปอย่างเลือดเย็นและไร้ความเป็นธรรม การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมระหว่างชุมชนผู้ยากไร้กับนักลงทุน และผู้มีอิทธิพล

ผลกระทบจากแผนแม่บทฯและการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ในนามการหยุดยั้งการบุกรุกและการทวงคืน “ผืนป่า” อันเป็นแผ่นดินและถิ่นอาศัยของพวกเรา ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำรงวิถีชีวิตอย่างปกติสุขของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ชนเผ่า คนพื้นเมือง และชาติพันธ์ ที่อ่อนไหวเปราะบางต่อการอพยพโยกย้าย อันเนืองมาจากการไล่รื้อบ้านเรือน และยึดคืนผืนดินทำกิน

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากส่งผลโดยตรงต่อวิถีการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ แล้วยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของคนจน รวมทั้งการดำรงอยู่  และการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมอีกด้วย

การข่มขู่ จับกุมคมขัง การใช้กฎหมายและวิธีการนอกกฎหมาย จากการปฏิบัติการนอกเหนือจากส่งผลสะเทือนต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าสากล ขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิของพลเมืองในประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและความเชื่อมั่นต่อแนวทางการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่อีกด้วย

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งอยู่ในขบวนการต่อสู้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป การจัดการทรัพยากร ด้วยการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม การสร้างแนวคิด สิทธิ รูปแบบใหม่ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม หรือโฉนดชุมชน เพื่อแก้ปัญหาที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

เราขอเรียกร้องรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1.ยุติปฏิบัติการทั้งหมดที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิต ที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน ของประชาชน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างยุติธรรม ชะลอการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายในคดีความอันเนื่องมาจากปฏิบัติการฯ

2.ระงับและทบทวนการบังคับใช้แผนแม่บท และจัดกระบวนการให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนและแก้ไขแผนแม่บทอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

3.ในระดับนโยบาย ผลักดันให้บัญญัติสิทธิชุมชน รวมทั้งคุ้มครองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

4.ในเชิงกลไก ให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริม คุ้มครอง การจัดการที่ดินโดยภาคประชาชน ได้แก่ พรบ.จัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า , พรบ.จัดตั้งธนาคารที่ดิน และพรบ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร

 

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน

17 ธันวาคม 2557

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (ขปส.)

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.)     

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)

สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)     

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้(สกต.)          

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)

เครือข่ายสลัม 4 ภาค

เครือข่ายป่าชุมขนรอยต่อ5จังหวัดภาคตะวันออก

เครือข่ายปัญหาที่ดินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จอม เพชรประดับ

$
0
0

"อย่าทำให้การปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนของผมไปให้เครดิตกับ ระบอบทักษิณ หรือกลุ่มการเมืองใดอีกเลย"

ใน คำชี้แจง กรณีถูกกล่าวหา เป็นเหตุทำให้หุ้นไทยร่วงรุนแรง

‘พล.อ.ประวิตร’ สั่งประสานขอตัว ‘สมศักดิ์ เจียมฯ’ ชี้ต่างประเทศไม่มี ม.112 อุปสรรคตามตัว

$
0
0

‘พล.อ.ประวิตร’ สั่งประสานขอตัว ‘สมศักดิ์ เจียมฯ’ ชี้ต่างประเทศไม่มี กม. 112 เป็นอุปสรรคในการตามตัว โฆษกสตช. ยันดำเนินการกับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงเด็ดขาด-ต่อเนื่อง พบบางส่วน เกี่ยวข้องกับการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหตุให้หุ้นตก

17 ธ.ค.2557 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกะทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล  อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ที่หลบหนีและโพสข้อความทางเฟซบุ๊คไปในทางเสียหายต่อประเทศไทย ว่า กำลังสั่งการแจ้งไปยังประเทศเหล่านั้นให้ช่วยติดตามแล้ว และดูว่ากฎหมายแต่ละประเทศเป็นอย่างไร โดยจะติดตามและดำเนินการตามกฎหมาย และดำเนินการกับทุกคนที่กระทำผิดมาตราดังกล่าว แม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศ โดยการทำหนังสือประสานและขอตัว

“เราต้องชี้แจงไปให้ประเทศนั้น ได้เข้าใจว่าเขาเหล่านั้นผิดกฎหมายอย่างไรตามกฎหมายของไทย” พล.อ.ประวิตร กล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธที่จะระบุถึงจำนวนผู้ที่ต้องติดตามและประเทศที่มีการประสานงานไป แต่ยืนยันว่าจะเน้นติดตามบุคคลที่กระทำผิดมาตรา 112 แต่ก็ยอมรับว่า ในบางประเทศที่ไม่มีกฎหมายครอบคลุมการกระทำผิดมาตรา 112 ก็อาจเป็นอุปสรรคในการดำเนินการติดตามตัว

ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่ปล่อยข่าวลือที่ทำให้ตลาดหุ้นตก พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าได้กระทำการเช่นนี้ และไม่ควรเชื่อข่าวลือเหล่านั้น ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ากลุ่มที่ปล่อยข่าวมุ่งหวังต้องการให้รัฐบาลเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาสร้างความเสียหายให้ประเทศ และสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน

โฆษกสตช. ยันดำเนินการกับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงเด็ดขาด-ต่อเนื่อง

พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวกรณี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 อย่างเด็ดขาด ว่า ที่ผ่านมา ตำรวจได้มีการดำเนินการคดีลักษณะนี้มาโดยตลอด และมีการประสานให้ปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมไปจำนวนหนึ่ง แต่ยอมรับว่า ในบางเว็บไซต์ มีการจดทะเบียนในต่างประเทศ จึงทำให้การดำเนินการทำได้ยาก

สำหรับการติดตามตัวผู้ถูกออกหมายจับในคดีนี้ และหลบหนีอยู่ภายนอกประเทศ ยอมรับว่า มีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมาย ที่ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงทำให้การประสานนำตัวกลับมาดำเนินคดีทำได้ยาก และต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นๆ

ส่วนกรณีที่มีการปล่อยข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนทำให้หุ้นตก นั้น หากพบว่า มีการกระทำผิดปล่อยข่าวลือจริง ตำรวจสามารถดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ได้ จากการตรวจสอบ เบื้องต้น พบการปล่อยข่าวไม่ได้ทำเป็นขบวนการ แต่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ที่กระทำผิดตาม มาตรา 112 ส่วนจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยปล่อยข่าวลือในลักษณะนี้ เมื่อปี 2552 หรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ณัฐ’ รับสารภาพคดีขัดคำสั่งรายงานตัวของ คสช. นัดพิพากษา 22 ม.ค.

$
0
0

17 ธ.ค.2557 ที่ศาลแขวงดุสิต มีการนัดสอบคำให้การคดีที่นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยณัฐได้ถอนคำให้การและยอมรับสารภาพ ศาลสั่งให้มีการสืบเสาะพฤติการณ์จำเลย โดยให้พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลภายใน 30 วัน นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 22 ม.ค. 2558 เวลา 9.00 น.

ทนายของณัฐกล่าวว่า เหตุที่คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลอาญา ไม่ใช่ศาลทหารเนื่องจากคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช.ฉบับที่มีชื่อณัฐนั้นออกมาก่อนที่จะมีคำสั่งให้การกระทำผิดลักษณะนี้ต้องขึ้นศาลทหาร  นอกจากนี้ทนายความยังแสดงความกังวลกรณีที่อัยการได้ขอให้ศาลพิจารณาเพิ่มโทษจำเลยด้วย โดยอ้างว่าณัฐมีคดีเก่าคือ คดี 112 และเพิ่งพ้นโทษมายังไม่เกิน 5 ปีแล้วไปกระทำผิดซ้ำอีก

รายงานข่าวแจ้งว่า ณัฐทำงานเป็นพนักงานขายในร้านขายเครื่องสุขภัณฑ์ รายได้วันละ 350 บาท ชื่อของเขาอยู่ในคำสั่งเรียกรายงานตัวของคสช. ฉบับที่ 5/2557 วันที่ 24 พ.ค.2557 ต่อมาเขาถูกจับกุมที่บ้านพักในเวลาราว 1.00 น.ของวันที่ 7 มิ.ย.57 จากนั้นถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร 7 วันก่อนจะปล่อยตัวและแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

ณัฐ คืออดีตผู้ต้องโทษในคดี 112 ในปี 2552 เขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปีจากกรณีส่งอีเมล์เข้าข่ายหมิ่นให้นายอีมิลิโอ เอสเทแบน (Emilio Esteban)  ชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจำคุกจึงเหลือ 3 ปี 18 เดือน จากนั้นระหว่างถูกคุมขังเขาได้รับการลดโทษจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวาระพิเศษต่างๆ รวมถึงเป็นนักโทษชั้นดีที่ได้รับลดวันต้องโทษ ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนด วันที่ 19 เม.ย.2555 รวมระยะถูกคุมขัง 2 ปี 4 เดือน จากนั้นก็ออกมารับจ้างเป็นล่าม และทำธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเป็นลูกจ้างตามร้านขายของ

ณัฐเคยให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษชนว่า ในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนั้น เขาถูกใช้ผ้าปิดตาและควบคุมตัวในบ้านหลังหนึ่งคาดว่าในค่ายทหาร มีการสอบสวนหลายครั้งนอกรอบ แต่ในการสอบสวนอย่างเป็นทางการซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน คำถามหลักที่เจ้าหน้าที่ต้องการทราบคือเรื่องการสนับสนุนเงินแก่นักโทษการเมือง และการรวมตัวกันของอดีตผู้ต้องขังคดี 112 ที่มักไปพบปะกันตามงานต่างๆ แล้วถ่ายรูปร่วมกันสร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานความมั่นคง แต่เขาระบุว่าเป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวหลังจากรู้จักกันในเรือนจำและไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ที่ประชุม กปร. เห็นชอม งบฯ ปี58 หนุน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 44 โครงการ

$
0
0

ที่ประชุมประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) โดยมี ‘พล.อ.ประยุทธ์’ เป็นประธาน เห็นชอบงบฯ สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปีงบประมาณ 2558 จำนวน 44 โครงการ

17 ธ.ค.2557 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นประธานการประชุม กปร. ครั้งที่ 1/2557 โดยมี นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ที่ปรึกษา กปร.  หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการ กปร. และคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุมฯ  เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โดย กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษกได้เผยแพร่ผลสรุปการประชุมดังนี้

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานและการสนับสนุนงบประมาณโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปีงบประมาณ 2557 จำนวน 211 โครงการ วงเงิน 2,781.32 ล้านบาทประกอบด้วย ภาคกลาง จำนวน 44 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 โครงการ ภาคเหนือ จำนวน 68 โครงการ ภาคใต้ จำนวน 41 โครงการ และไม่ระบุภาค จำนวน 8 โครงการ

ส่วนการดำเนินงานของสำนักงาน กปร. ในช่วงปีงบประมาณ 2557 นั้น มีภารกิจที่สำคัญ ๆคือ การตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับสนองพระราชดำริ และการติดตามองคมนตรีในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วทุกภาค

นอกจากนี้ ยังมีการจัดประชุมคณะกรรมการต่าง ๆ และการประชุมสัมมนาที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  คณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  การประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสัญจร ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร  ตลอดจนการสัมมนาเครือข่ายคนรักแฝกและการประชุมวิชาการ “23 ปี: มหัศจรรย์หญ้าแฝก โอบน้ำ อุ้มดิน อิ่มท้อง”  เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อนแนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ รวม 47 แห่ง ใน 10 ด้าน แบ่งเป็น ภาคกลาง จำนวน 19 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 11 แห่ง ภาคเหนือ จำนวน 10 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 7 แห่ง อีกทั้งมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อหาแนวทางในการขยายผลแนวพระราชดำริ การขยายผลด้านการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเชิงบูรณาการจำนวน 10 จังหวัดทั่วประเทศ และนำกลุ่มผู้ใช้น้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาอบรมด้านอาชีพในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่กับการส่งเสริมให้ชุมชนได้มีการรวมกลุ่มและมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนา และการบำรุงรักษาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ตลอดจนการลงนามความร่วมมือ (MOU) สร้างเครือข่ายขับเคลื่อนขยายผลแนวพระราชดำริในปี 2557 รวม 11 หน่วยงาน และได้ขยายผลการพัฒนาไปยังกลุ่มเยาวชน โดยการจัดโครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ จำนวน 8 ครั้ง ในพื้นที่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและศูนย์สาขา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบงบประมาณสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปีงบประมาณ 2558 จำนวน 44 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ จำนวน 21 โครงการ โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 9 โครงการ โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ จำนวน 3 โครงการ โครงการพัฒนาด้านบูรณาการและอื่น ๆ จำนวน 11 โครงการ  และจะได้พิจารณาการขับเคลื่อนขยายผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ที่ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย และขยายผลตามแนวพระราชดำริมาเป็นเวลาถึง 33 ปี พร้อมทำหน้าที่เครือข่ายเผยแพร่องค์ความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำสั่ง คสช.64, 66 กระทบหนัก ฟ้องชาวบ้าน 500 คดี อีสานอ่วม-นัดถก ‘ดาวพงษ์’ พรุ่งนี้

$
0
0

ภาคประชาชนแถลงผลกระทบ คำสั่ง คสช.64-66-แผนแม่บทป่าไม้ ชาวบ้านเจอฟ้อง 500 คดี อีสานหนักสุดเรียกรับข้อกล่าวหา 1,764 ครอบครัว เตรียมถก ‘ดาวพงษ์’  รมว.กระทรวงทรัพฯ พรุ่งนี้

17 ธ.ค.2557 องค์กรภาคประชาชนกรณีปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ จัดแถลงข่าวผลกระทบอันเนื่องจากคำสั่ง คสช.ที่ 64, 66 และแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจากภาคเหนือ อีสาน ใต้ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ร่วมแถลงข่าว

ประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64 และ 66 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีการดำเนินคดีมากกว่า 500 คดี และมีครอบครัวที่ถูกประกาศเรียกรายงานตัวเพื่อยึดคืนพื้นที่มากกว่า 1,700 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ

ที่ปรึกษาพีมูฟ อ้างคำแถลงของ กอ.รมน.ที่กล่าวว่า ในการดำเนินคดีกับชาวบ้านข้อหามีไม้ไว้ในครอบครอง 500 คดีเศษนั้น พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่นายทุนหรือผู้บุกรุกรายใหญ่และไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้ ซึ่งการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทป่าไม้และคำสั่ง คสช.ที่ 66 ซึ่งระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบต่อผู้ยากไร้และผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นก่อนวันที่ 17 มิ.ย.57

ประยงค์กล่าวด้วยว่า สิ่งองค์กรภาคประชาชนมีความกังวลอยู่ในขณะนี้คือ การที่อาจไม่มีการบรรจุประเด็นเรื่อง ‘สิทธิชุมชน’ ไว้ในกรอบของร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่พบอยู่ในข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่าง ทั้งที่สิทธิชุมชนเคยได้รับการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับคือ ฉบับปี 2540 และ 2550

เหลาไท นิลนวล จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนในภาคอีสาน 20 จังหวัดได้ติดตามผลกระทบการใช้คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 ในช่วง 6 เดือนเศษที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะยากจนถูกดำเนินคดีโดยคดีที่ขึ้นการพิจารณาของศาลแล้วอย่างน้อย 103 ครอบครัว ขณะนี้ชาวบ้านกำลังมีความกังวลว่าจะตกเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินในทันที

ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า กลุ่มคนที่น่าเป็นห่วงคือคนที่อยู่ระหว่างถูกหมายเรียกตัวให้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งมีจำนวนถึง 1,764 ครอบครัว ที่หนักหนาสาหัสอยู่ในจังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และในพื้นที่เทือกเขาภูพาน ซึ่งขณะนี้ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ทำกินแล้ว

เหลาไทกล่าวว่า คำสั่งของ คสช.และแผนแม่บทป่าไม้ ไม่มีกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิ หรือให้สิทธิประชาชนในการนำเสนอข้อมูล แต่เป็นการดำเนินการโดยใช้กฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือ

“การใช้กฎอัยการศึก เป็นปัญหามากในการละเมิดสิทธิของชุมชนและของชาวบ้านผู้ยากไร้ และแนวโน้มบอกได้ว่าความรุนแรงจะเพิ่มขึ้น” เหลาไทกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในทวงคืนพื้นที่ป่าในลักษณะที่เป็น 2 มาตรฐาน โดยเขากล่าวว่า มีการยึดคืนเฉพาะพื้นที่ของเกษตรกรรายย่อย ในขณะที่ไม่มีการแตะต้องพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร ในขณะที่การยึดคืนพื้นที่ป่ากลับเป็นการควบรวมและเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานป่าไม้ของรัฐ รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณ โดยปราศจากการสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชนในการร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ป่า

“ประกาศชัดเจนว่าจะร่วมกับพี่น้องทั้ง 4 ภาค ต้องมีการปฏิรูปนโยบายฐานทรัพยากร เรื่องของคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ คือ 64 และ 66 และนโยบายแผนแม่บทของป่าไม้” ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานกล่าว

กรณีของภาคใต้ กันยา ปันกิตติ จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) กล่าวว่า หลังมีคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66  สถานการณ์ในพื้นที่เทือกเขาบรรทัดทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ได้ ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้น ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่สวนยางที่ปลูกไว้ได้และเสียสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์สวนยาง และในบางพื้นที่ของ จ.สุราษฎร์ธานี และกระบี่ มีการตัดฟันและทำลายต้นยางของชาวบ้านด้วย

ส่วนผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้อื่นๆ วิษณุ เหล่าธนะถาวร จากเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) กล่าวว่า มีชุมชนอย่างน้อย 2 แห่งใน จ.ภูเก็ต คือ ที่มะลิแก้วและหลีเป๊ะ ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด โดยนายทุนได้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ วิษณุกล่าวว่าต้องยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 และต้องปรับปรุงแผนแม่บทป่าไม้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ในตอนท้ายของการแถลงข่าว มีการอ่านแถลงการณ์ถึงกรณีผลกระทบจากการประกาศใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ (อ่านแถลงการณ์) โดยหลังจากนี้ ตัวแทนองค์กรภาคประชาชนจะเดินทางไปประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนแม่บทป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ร่วมกับพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันพรุ่งนี้ (18 ธ.ค.) เวลา 9.30 น.ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงาน ก.พ.เดิมด้วย


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพจอร์จี้ แจ้งพิพาทแรงงาน-ขอพนักงานประนอมจากส่วนกลาง

$
0
0
สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู แจ้งข้อพิพาทแรงงาน เพื่อให้บริษัทฯ กลับสู่โต๊ะเจรจา ขอพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจากส่วนกลาง ระบุพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเชียงใหม่อาจไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานได้อย่างเป็นกลาง

 
 
 
17 ธ.ค. 2557 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด เปิดเผยว่าจากที่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 และได้มีการเจรจาครั้งแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 ครั้งที่สองในวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และครั้งที่สามในวันที่ 16 ธันวาคม 2557ตั้งแต่เวลา 15.00 - 15.30 น. และบริษัทฯ ยืนยันที่จะไม่มีการเจรจาครั้งต่อไป 
 
สหภาพแรงงานฯ จึงได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานในวันที่ 17 ธันวาคม 2557 แต่เนื่องจากสหภาพแรงงานฯ มีความเห็นว่าพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจังหวัดเชียงใหม่อาจไม่สามารถดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานได้อย่างเป็นกลางได้ ซึ่งสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่งไปเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา และกำลังรอการตอบรับจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในส่วนกลาง
 
อนึ่งข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ได้ยื่นต่อบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
1. ปัจจุบันอัตราค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพนักงานสูงขึ้นไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้พนักงานบริษัทจอร์จี้แอนด์ลู จำกัดได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงขอ ให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานตามอัตราดังต่อไปนี้ 
1.1 พนักงานรายเดือนขั้นต่ำเดือนละ 11,000 บาท 
1.2 พนักงานรายวัน วันละ 320 บาท 
1.3 พนักงานรายชิ้นตามที่ทำได้จริง และต่อวันต้องมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 320 บาท
 
2. การทำงานของพนักงานบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ในปีที่ผ่านมา ทุกคนได้ทำงานอย่างตั้งใจ เพื่อให้บริษัทฯ มีความก้าวหน้า ดังนั้นเพื่อเป็นกำลังใจกับพนักงานทุกคน จึงขอให้ให้บริษัทจ่ายโบนัสประจำปี 2557 ให้กับพนักงานทุกคนไม่ต่ำกว่า 2 เท่าของรายได้
 
3. ที่ผ่านมาบริษัทฯได้กำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปี ให้กับพนักงานที่ทำงานครบหนึ่งปีเป็นจำนวน 6 วัน ซึ่งสหภาพแรงงานฯ เห็นว่าหากบริษัทฯ กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้กับคนงานมากกว่านี้ก็จะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน ดังนั้นจึงขอให้บริษัทฯ เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีดังนี้
3.1 พนักงานที่ทำงานติดต่อ 1 เดือน ถึง 1 ปี 6 วัน
3.2 พนักงานที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 1 ปี  ถึง 2 ปี 7 วัน
3.3 พนักงานที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 2 ปี  ถึง 3 ปี 8 วัน
3.4 พนักงานที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 3 ปี ถึง 4 ปี 9 วัน
3.5 พนักงนที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 4 ปี ถึง 5 ปี 10 วัน
3.6 พนักงานที่ทำงานติดต่อกันตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป 12 วัน
 
4. ปัจจุบันบริษัทฯ มีข้อตกลงให้พนักงานลากิจโดยได้รับค่าจ้าง 4 วันต่อปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานทุกคน จึงขอให้บริษัทฯ ปรับเพิ่มวันลากิจโดยได้รับค่าจ้างเป็น 6 วันต่อปี  
 
5. ปัจจุบันบริษัทฯ ได้สร้างเงื่อนไขในการแจ้งการลาล่วงหน้าสำหรับลากิจและลาหยุดพักผ่อนประจำปี โดยให้พนักงานต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับประเพณีปฏิบัติเดิม เพื่อสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดี จึงขอบริษัทฯ ปฏิบัติตามประเพณีปฏิบัติเดิม โดยให้มีการแจ้งการลาล่วงหน้าเพียง 3 วันเท่านั้น
 
6. สิทธิประโยชน์และสภาพการจ้างอื่นใดที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันนอกเหนือจากข้อเรียกร้องนี้ ให้บริษัทฯ ปฏิบัติไว้คงเดิม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหภาพฟูจิคูระยุติชุมนุมแล้ว หลังบรรลุข้อตกลงกับนายจ้าง

$
0
0
 

 

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานฟูจิคูระ เปิดเผยว่าบรรลุข้อตกลงในการเจรจากับบริษัทแล้ว ดังนี้ ข้อ 1. เงินโบนัส 2.75 เงื่อนไขที่ทางนายจ้างยกเว้นให้คือ ลาป่วยไม่เกิน 30 วัน และลากิจเข้าเงื่อนไข 4 วัน ข้อ 2. เบี้ยขยันขั้นบันได 800, 900 และ 1,000 บาท และข้อ 3. พนักงานที่ออกมาเรียกร้องจะได้รับค่าจ้างและเบี้ยขยันตามปกติ ตั้งแต่วันแรกที่นัดหยุดงานและไม่มีความผิดใดๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานได้ยุติการนัดหยุดงานและการชุมนุมเรียกร้องหน้าโรงงานในวันนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโออีสานเรียกร้องพรรคพวกทบทวน ปฏิรูปโดยไร้เสรีภาพ? เหตุจากกรณีบ้านดอนแดง

$
0
0

17 ธ.ค.2557 เอ็นจีโออีสาน 33 รายลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงเอ็นจีโอในอีสานด้วยกัน ระบุให้ทบทวนการยอมรับคำสั่งทหารที่ไม่ให้จัดเวทีประชุมเครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ในพื้นที่บ้านดอนแดง จ.มหาสารคาม 

"ห้ามปรามการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ผู้เป็นเจ้าของปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้-ที่ดิน น้ำ และเหมืองแร่ รวมถึงคุกคามการทำงานของเอ็นจีโอ และเครือข่ายองค์กรประชาชน ดังนั้นขบวนเอ็นจีโออีสาน จะต้องกลับมาทบทวนบทบาทและทิศทาง การทำงาน ของตัวเอง หรือเราจัดทำข้อเสนอเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปที่พี่น้องเราไม่มีสิทธิ เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นใดๆ หรือเราจะใช้ วิธีล็อบบี้ นำข้อเรียกร้องไปให้ผู้มีอำนาจ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ดอนแดงกระจ่างชัดแล้วว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ไม่ใช่ใครสั่งให้เงียบ และทางใครทางมัน !!!"

รายละเอียดมีดังนี้ 

จดหมายเปิดผนึกถึง พี่ น้อง อพช. ภาคอีสาน

เหตุเกิดที่ดอนแดง !!! เราต้องทบทวนท่าทีต่อการปฏิรูป

จากเหตุการณ์เมื่อตอนเย็นของวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีกองกำลังทหาร ตำรวจ และกองอาสารักษาดินแดน (อส.) จังหวัดมหาสารคาม มากกว่า 60 นาย เข้าไปภายในบริเวณอาศรมไทบ้านดอนแดง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พร้อมกับตรึงกำลังหน้าประตูทางเข้าอาศรมฯ เพื่อไม่ให้กลุ่มชาวบ้านในนาม "เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ภาคอีสาน" เข้าไปจัดการประชุมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. ภายใต้ชื่องาน "ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ฉบับประชาชน ภาคอีสาน" เมื่อได้รับสัญญาณแจ้งเตือนจากงานข่าวกองกำลังทั้ง 3 ฝ่าย ก็ไม่นิ่งนอนใจ เร่งรุดไประงับเหตุโดยทันที

เนื่องจากการรวมตัวกันของเครือข่ายกรณีปัญหาป่าไม้-ที่ดิน เป็นชาวบ้านกลุ่มใหญ่และมีเครือข่ายกระจายตัวอยู่ทั่วภาคอีสาน มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มาอย่างยาวนานและโชกโชน บนปัญหาปากท้อง ที่ดินทำกิน และที่สำคัญก็คือมีหัวขบวนที่เป็นเอ็นจีโอและแกนนำหลายคนเคยร่วมกระบวนการต่อสู้ตั้งแต่ยุค คจก. (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เสื่อมโทรม (ช่วงปีพ.ศ.2534 –2535) ) เมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่พอมาถึงยุคที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก  และตามมาด้วยประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 /2557 ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านผู้อาศัยในที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่าชุมชนมาก่อนทั่วประเทศ ซึ่งจากการรวบรวมประเด็นปัญหาพบว่า ชาวบ้านในอีสานถูกดำเนินคดีจากนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าแล้ว103 ราย มีผู้ถูกออกหมายเรียก 1,764 ราย ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงฯ ไม่เชื่อว่าการประชุมดังกล่าว จะไม่มีการพูดคุยในเรื่องการเมือง หรือ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.และวิจารณ์นโยบายของรัฐบาล จึงมีคำสั่งห้ามจัดการประชุมทันที !!!

จากการพูดคุยเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ (ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และนายอำเภอบรบือ) และแกนนำผู้จัดงาน จึงได้มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันโดยฝ่ายประชาชนยอมรับทุกเงื่อนไข ทำให้ไม่สามารถจัดเวทีได้ตามความมุ่งหมายเพื่อจะจัดทำข้อเสนอต่อกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหาป่าไม้-ที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาคอีสาน เสนอต่อรัฐบาล และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลับกลายเป็นการทำความสะอาด ซ่อมแซมอาศรม พร้อมกำชับให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง อย่างเคร่งครัด และเที่ยงวันให้แยกย้ายกลับบ้าน

เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในภาคอีสานและทั่วประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามปรามการเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ผู้เป็นเจ้าของปัญหาความเดือดร้อนจากโครงการพัฒนา และนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าไม้-ที่ดิน น้ำ และเหมืองแร่ รวมถึงคุกคามการทำงานของเอ็นจีโอ และเครือข่ายองค์กรประชาชน ดังนั้นขบวนเอ็นจีโออีสาน จะต้องกลับมาทบทวนบทบาทและทิศทาง การทำงาน ของตัวเอง หรือเราจัดทำข้อเสนอเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปที่พี่น้องเราไม่มีสิทธิ เสรีภาพในแสดงความคิดเห็นใดๆ หรือเราจะใช้ วิธีล็อบบี้ นำข้อเรียกร้องไปให้ผู้มีอำนาจ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ดอนแดงกระจ่างชัดแล้วว่า “ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง ไม่ใช่ใครสั่งให้เงียบ และทางใครทางมัน !!!

ขอแสดงความนับถือ

17 ธันวาคม  2557

 

ลงชื่อ

1.  นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์

2.  นายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์

3.  นายสิริศักดิ์  สะดวก

4.  นายปัญญา  คำลาภ

5.  นายเดชา  คำเบ้าเมือง

6.  นายศิระศักดิ์  คชสวัสดิ์

7.  น.ส.ชลธิชา  ตั้งวรมงคล

8.  นายวิทูวัจน์ ทองบุ

9.  น.ส.ณัฐพร อาจหาญ

10.  นายอดิศักดิ์  ตุ้มอ่อน

11.  นายนิติกร  ค้ำชู

12.  นายยงยุทธ  ดงประถา

13.  น.ส.ศิรินาฏ  มาตรา

14.  น.ส.พิณทอง  เลห์กันต์

15.  นายอภินันต์  บุญทอน

16.  น.ส.คำปิ่น  อักษร

17.  นายจิรศักดิ์  ตรีเดช

18.  นายวีรพล  ป้านภูมิ

19.  น.ส.วงเดือน  มาลีหวล

20.  นายณัฐวุฒิ กรมภักดี

21.  นายสมพงศ์ อาษากิจ

22.  นายยงยุทธ พงสาลี

23.  นายกิตติชัย แสงศรี

24.  นายสุทธิศักดิ์ ดีรักษา

25.  น.ส.พรไพลิน แก้ววังปา

26.  นายหัสพงษ์ แจ้งทองไทย

27.  น.ส.วลีรัตน์  ชูวา

28.  นายธนศักดิ์  โพธิ์ศรีกุล

29.  น.ส.สดใส  สร่างโสก

30.  นายพงศธร  กาพมณีย์

31.  นายณัฐิวุฒิ  นาจอมทอง

32. น.ส.มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ

33.  น.ส.กมลชนก  โจทย์ครบุรี

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประชุมซุปเปอร์บอร์ดรับทราบกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.7 แสนล้านปี 58

$
0
0

 

17 ธ.ค.2557 เว็บไซต์ thaigov.go.thรายงานว่า ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2558 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นกรรมการและเลขานุการก่อนเปิดการประชุม

หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้แถลงผลการประชุมฯ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมรับทราบการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้รวม 222,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 65  จากเป้าหมายที่วงเงิน 342,583 ล้านบาท และรับทราบกรอบงบลงทุนประจำปี 2558  ของรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 373,252 ล้านบาท โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 10,126 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ  53 จากเป้าหมายที่วงเงิน 19,162  ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้นำระบบ PFMS – SOEs ซึ่งเป็นการติดตามในลักษณะรายสัญญาโครงการ มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการกรอบการดำเนินงานของโครงการโทรคมนาคมของประเทศ โดยให้ภาครัฐคงบทบาทการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ และด้านบริการ Fixed Line อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์  และลดบทบาทภาครัฐกลุ่มบทบาทด้าน IDC และ Cloud  สำหรับกลุ่มเสาโทรคมนาคมและโทรศัพท์เคลื่อนที่  ซึ่งควรมีการศึกษาความเป็นไปได้เพิ่มเติมอีก โดยให้มีการศึกษากรอบดังกล่าวข้างต้นและนำเสนอในที่ประชุมฯ ในครั้งต่อไป  สำหรับแผนแก้ไขปัญหาของ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควรเพิ่มเติมการลดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และให้กำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบเหตุผลและทางเลือกในการปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจเสนอ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้คณะอนุกรรมการดังกล่าว ศึกษารูปแบบหน่วยงานที่จะกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้เป็นลักษณะรวมศูนย์ และนำเสนอที่ประชุมคราวต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาและมีมติในหลักการเรื่องแก้ไขแบบรายละเอียดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ – รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้สถานีบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถไฟแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และสามารถรองรับรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จะวิ่งเข้าสถานีบางซื่อไว้ในคราวเดียวกัน โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตให้พิจารณาเพิ่มเติมในการแก้ไขแบบของรถไฟฟ้าสายสีแดงสอดคล้องกับโครงการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ  พร้อมทั้งให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างให้มีความเหมาะสมและโปร่งใส โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการกำหนดราคาไว้ด้วย

ตลอดจนที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นโครงการลงทุนนำร่องของระบบ Smart Grid  เพื่อปรับใช้กับพื้นที่อื่น ในวงเงินลงทุนรวม 1,069 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินกู้ในประเทศวงเงิน 800 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กฟภ. วงเงิน 269 ล้านบาท และให้ กฟภ. ทยอยกู้เงินตามความจำเป็น

ในตอนท้ายของการประชุมฯ ที่ประชุมได้รับทราบข้อเสนอการปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจไทย ตามที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เสนอ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาเพื่อปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images

<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>
<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596344.js" async> </script>