Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

ใบตองแห้งออนไลน์: ประชาธิปไตยพรีเมียม

$
0
0

 

โอ๊ว ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ตอบโต้ยิ่งลักษณ์ได้สะใจแฟนๆ แหม ตัวเองโดนตัดสิทธิเข้าหน่อย บังอาจพูดจ๋อยๆ "ประชาธิปไตยตายแล้ว" ทั้งที่ "เราก็ยังสร้างประชาธิปไตยอยู่ทุกวัน ผมอยากจะบอกว่านี่เป็นประชาธิปไตย ที่ดีกว่าปกติอีก"

ฟังแล้วเป็นปลื้ม ยิ่งกว่าพ่อปลื้ม เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ปกติแต่ดีกว่าปกติ ประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง แต่ได้นายกฯ คนดี มีอำนาจยิ่งกว่า 377 เสียง ประชาธิปไตยที่ไม่ทำร้ายความเห็นต่าง เพราะถ้าใครเห็นต่างก็แค่เชิญมาปรับทัศนคติ ประชาธิปไตยที่เอาใจใส่คนจน เพราะดูแลทุกคนโดยไม่ให้มีปากเสียง

เราอยู่ในระบอบที่ดีกว่าปกติจริงๆ อำนาจจากเลือกตั้งไม่เคยปราบทุจริตได้ อำนาจจากเลือกตั้งไม่เคยสั่งล้างท่อน้ำเหม็น แต่พอยึดอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เลิกรัฐธรรมนูญเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จับทุจริตรัฐบาลเก่าได้ทันใด

แถมท่านยังใจกว้าง ตั้ง สนช. 220 คนมากับมือ แต่เปิดให้ลงมติอย่างอิสระ แล้วพวกเขาก็โหวตกันอย่างเป็นประชาธิปไตย โดยปราศจากแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่ท่านก็ไม่อยากถูกมอง "รังแกผู้หญิง" แต่ทำไงได้ 190 เสียงเป็นใครบ้างก็ไม่รู้

ประชาธิปไตยจริงๆ นะครับ ไม่เชื่อไปถามครูหยุย ยินดีเอาคอเป็นประกัน ไม่มีใครสั่งครูหยุยได้

เสียอย่างเดียว ฝรั่งมันไม่เข้าใจประชาธิปไตย เที่ยวมาเรียกร้องให้เลิกกฎอัยการศึก ทั้งที่ไม่มีใครเดือดร้อน คนไทยมีความสุขจะตาย ข้าราชการรัฐวิสาหกิจได้ขึ้นเงินเดือน นี่ก็จะได้วันหยุดเพิ่มอีก

อย่าว่าแต่คนไทยเลย เห็นไหม เจสสิกา อัลบา สวยขนาดไหนยังนุ่งบิกินีถ่าย IG ได้ เสียดายไม่ยักไปเดินเกาะเต่า

8 เดือนเข้าไปแล้วนะครับ ไอ้กันยังไม่ยอมปรับทัศนคติ ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่จะเชิญท่านไปลงนามรถไฟความเร็วสูง แถมยังมีหน้าอ้างประชาคมโลก ไม่รู้เลยเรอะว่า ชาวโลก 4,700 ล้านคนใน 6,000 ล้านคนเป็นฝ่ายเรา 100%

เจอคำถามสวนว่าถ้าสหรัฐอยู่ในสถานการณ์อย่างประเทศไทย จะใช้กฎอัยการศึกไหม ผู้ช่วยรัฐมนตรีก็ไปไม่เป็น เห็นไหม ฝรั่งโง่กว่าคนไทยอีก เกิดมาทั้งชีวิตไม่เคยเห็นรัฐประหาร เสียชาติเกิด คนไทยสิมีวาสนา เดี๋ยวก็ได้เลือกตั้งเดี๋ยวก็ได้แต่งตั้ง คนดีๆ ในสังคมเราไม่ต้องหาเสียงให้เมื่อยตุ้ม นั่งรอแป๊บๆ ก็มีรัฐประหารชวนมาร่างกติกา

ฝรั่งตีความประชาธิปไตยล้าหลังกว่าเรา ฝรั่งยังเอาประชาธิปไตยปกติ ไม่เอาประชาธิปไตยที่ดีกว่าปกติ ยังให้คุณค่าเสรีภาพ ทั้งที่ศีลธรรมสำคัญกว่า เห็นไหม ให้เสรีภาพ ล้อเลียนศาสนา ถึงโดนฆ่าตายเป็นเบือ คนไทยพากัน สมน้ำหน้า ไม่รู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดี

ประชาธิปไตยแบบฝรั่งมันก็ทื่อๆ อย่างนี้ มันถือว่าต้องมีหลักนิติรัฐ มีความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ถ้ามีใครฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งตัวเป็นกฎหมาย แล้วบอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย มันก็รับไม่ได้ บอกว่าไม่ชอบธรรม ไม่รู้จักแยกแยะความดีความชั่ว ความดีต้องอยู่เหนือกฎหมายสิ

สนช.ตัดสิทธิยิ่งลักษณ์ ไม่สำคัญหรอกใครตั้ง เพราะ สนช.คนดีเสียอย่าง ครูหยุยเคยโกงใครที่ไหน ครูหยุยแค่ขึ้นเวทีม็อบไม่เอาเลือกตั้ง จำนำข้าวโกงเห็นๆ ชาวนาเคยขายข้าวได้ 7-8 พัน รัฐบาลดันรับจำนำ 15,000 ทำให้ชาวนาคับแค้นจนผูกคอตาย ตัดสิทธิแล้วไม่เห็นมีใครไม่พอใจ มีแค่สิงห์ทอง บัวชุม กับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล 2 คน ประเทศไทยไม่เหมือนอเมริกา บิล คลินตัน อื้อฉาวเรื่องโมนิกา เลวินสกี้ ยังไม่มีปัญญา Impeachment

ประชาธิปไตยแบบฝรั่งไม่เข้าใจคนดี อคติมองทุกคนมีผลประโยชน์ ผู้มีอำนาจทุกฝ่ายต้องตรวจสอบได้ ไม่รู้เลยเรอะว่าท่านไม่ได้เอาสมบัติชาติมาเป็นสมบัติตน ไม่รู้เลยเรอะว่าประเทศนี้มีคนดีเยอะรอสมัครสมัชชาคุณธรรมล้น ประชาธิปไตยแบบฝรั่งไม่ไว้ใจนายทุน ไม่ไว้ใจผู้ถืออาวุธ ไม่ไว้ใจผู้มีตำแหน่ง ตรงข้ามความจริงในสังคมไทย คนดีๆ ทั้งนั้นอยู่ในระบบราชการ ในกองทัพ ในบรรษัท CSR ทายาทเบียร์ยังรักชาติยิ่งกว่าใคร

ว่าที่จริงประเทศไทยเป็นเอกราชมาตั้งแต่เทือกเขา อัลไต เรามีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ประชาธิปไตยฝรั่งยังเป็นวุ้น ไม่เห็นจะต้องไปยึดคำว่า Demo-crazy ตามฝรั่ง ใครจะว่าประชาธิปไตยตายแล้วก็ช่างหัวมัน ให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดประกวดคำศัพท์ใหม่ นิยามระบอบการปกครองของคนดีแบบไทยๆ ให้เป็นแบบอย่างแก่ชาวโลก 4,700 ล้านคนดีไหมครับ

อย่าไปใช้มันเลย คำว่าประชาธิปไตยของฝรั่ง

 

 

ที่มา:ข่าวสดออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

iLaw ตอน5: เก็บตกก่อน-หลังรัฐประหาร การเซ็นเซอร์ตัวเอง การปิดกั้นสื่อออนไลน์ วิทยุชุมชนฯลฯ

$
0
0
 
 
ปี 2557 ประเทศไทยเปิดศักราชด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรง โดยเฉพาะการนำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง นำไปสู่การควบคุมสื่อของทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชน สำหรับฝ่ายรัฐ กสทช. ยังคงควบคุมการทำงานของสื่ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ก็พยายามกดดันแทรกแซงการทำงานของสื่อทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อให้นำเสนอข้อมูลตามความเชื่อทางการเมืองของกลุ่มตน 
 
สถานการณ์คุกคามสื่อรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อกองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และได้ออกประกาศควบคุมสื่อ ห้ามก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของกองทัพ ทำให้สื่อไม่มีอิสระในการนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้าน จากนั้นอีกสองวัน กองทัพประกาศยึดอำนาจการปกครองและส่งกำลังเข้าควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ออกประกาศให้ปิดวิทยุขนาดเล็กที่ยังไม่มีใบอนุญาตทั่วประเทศ และปิดกั้นการเข้าถึงสื่ออนไลน์ทั้งวิธีการ "บล็อค" และการขอความร่วมมือ 
 
การออกประกาศควบคุมสื่อของกองทัพอย่างน้อย 8 ฉบับ ปฏิบัติการเยี่ยมเยียนสื่อของเจ้าหน้าที่ทหาร และการละเมิดน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จยังทำให้เกิดบรรยากาศความกลัวจนบางสื่อเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง จนกระทั่งสิ้นปีบรรยากาศแห่งการละเมิดเสรีภาพสื่อและประชาชนก็ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง
 
เก็บตกเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร (1) : กสทช. ยังใช้อำนาจอย่างต่อเนื่อง
 
9 เมษายน 2557 กสทช. เปิดศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย โฆษณาเกินจริง พร้อมจับตารายการที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 
 
12 เมษายน 2557 กสทช. สั่งถอดรายการ "ทุกข์ปัญหามีคำตอบ" ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม H Plus ดำเนินรายการโดย คฑาพล แก้วกาญจน์ ผู้อ้างว่าเป็นเพอร์ซิอุส เนื่องจากมีข้อความที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค
 
เก็บตกเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร (2) : การคุกคามการทำงานของสื่อโดยประชาชนด้วยกันเอง
กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. เป็นตัวแสดงที่มีบทบาทมากในการเมืองไทยตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 ก่อนการรัฐประหาร กลุ่ม กปปส. ซึ่งมีมวลชนสนับสนุนจำนวนมากประกาศปิดกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องการจัดการปกครองรูปแบบใหม่ การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมก็มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อการทำงานอย่างอิสระของสื่อมวลชน
 
16 มกราคม 2557 เกิดเหตุทำร้ายร่างกายฐานิส สุดโต ช่างภาพของเครือเนชั่น ที่บริเวณการชุมนุมของ กปปส.ที่สวนลุมพินี 
 
24 กุมภาพันธ์ 2557 หลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. นำมวลชนปิดทางเข้าออกหน้าสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี พร้อมปราศรัยว่า จะปักหลักค้างคืน จนกว่าจะให้ชาวนาออกรายการของวอยซ์ทีวี เพื่อชี้แจงความจริง
 
4 มีนาคม2557 หลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส. พร้อมผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อยื่นหนังสือขอให้สำนักงาน กสทช. ระงับการออกอากาศช่องเอเชียอัพเดต เนื่องจากนำเสนอข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง และปลุกระดมมวลชนให้เกิดความเข้าใจผิด 
 
18 มีนาคม 2557 แกนนำ กปปส. นำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีโทรทัศน์เอเชียอัพเดตและสถานที่แถลงข่าวของเเนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเเห่งชาติ (นปช.) เพื่อเรียกร้องให้เจ้าของสถานที่ ไม่ให้ นปช. เช่าสถานที่ 
 
7 พฤษภาคม2557 นิค นอสติทซ์ ช่างภาพชาวเยอรมัน ถูกข่มขู่โดยชาย 3 คน ที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญระหว่างรอทำข่าวศาลวินิจฉัยคดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งนิคเข้าใจว่าเป็นการ์ด กปปส. เนื่องจากปรากฏสัญลักษณ์ กปปส. ที่ชายทั้งสาม 
 
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มคนไม่ทราบฝ่าย เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยก่อนการรัฐประหารมีอย่างน้อย 2 เหตุการณ์ 
 
7 กุมภาพันธ์ 2557 มีเหตุคนร้ายปาระเบิดใส่สถานีวิทยุเพื่อมวลชน เรดการ์ด ของ “โกตี๋” ที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ต่อมา 26 มีนาคม 2557 ที่สถานีวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงใน อ.แม่สอด จ.ตาก ของโกตี๋ถูกคนร้ายใช้อาวุธสงครามกราดยิงถล่ม พบปลอกกระสุนปืนอาก้าตกอยู่ที่ถนนฝั่งตรงข้ามจำนวน 20 ปลอก มีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ถูกยิงแขนขวา
 
24 เมษายน 2557 เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงเครื่องยิงระเบิดชนิดเอ็ม 79 เข้าใส่สำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
 
การดำเนินงานของสื่อมวลชนภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวและความคาดหวังจากกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่อยากเห็นสื่อที่เป็นกลางกลับทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเองและพยายามสร้างภาพลักษณ์ของสถานีให้มีความเป็นกลางทางการเมือง เช่น กรณีของ พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้สื่อข่าวช่องโมโน 29 ในเครือโมโนกรุ๊ป ใช้เทปกาวปิดปากตัวเองและถ่ายภาพคู่กับทหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในวันต่อมา ปรากฏว่า บริษัทโมโนกรุ๊ปออกประกาศ ระบุว่าการกระทำของนักข่าวคนดังกล่าวดังเป็นการกระทำและความเห็นส่วนตัว โดยทางบริษัทไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย และพรทิพย์ ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ท้ายจดหมายยังระบุด้วยว่า ช่องโมโน 29 มีความเป็นกลาง ไม่ได้อิงพรรคการเมืองหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
หลังการยึดอำนาจ กองทัพออกประกาศจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน
หลังจากกองทัพบกประกาศใช้ “พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ก็ออกประกาศและคำสั่งเพื่อควบคุมสื่อ โดยระบุเหตุผลในลักษณะเดียวกันว่า “เพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง อันจะส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ” ได้แก่
 
คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ฉบับที่ 3/2557 ห้ามนำเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ ที่ส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
คำสั่ง กอ.รส.ฉบับที่ 9/2557 เรื่องห้ามสร้างความขัดแย้งหรือต่อต้านการปฏิบัติงานของ กอ.รส. โดยห้ามเจ้าของกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ และรายการวิทยุโทรทัศน์ทุกประเภท เชิญบุคคลที่มิได้ดำรงตำแหน่งราชการในปัจจุบัน ให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นที่อาจก่อให้เกิดการขยายความขัดแย้ง และอาจนำไปสู่ความรุนแรงนอกจากนี้ ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจมีอำนาจระงับการชุมนุม หรือกิจกรรมที่ต่อต้านการปฏิบัติงานของ กอ.รส.
 
เมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็มีการออกประกาศที่เกี่ยวกับการขัดขวางเสรีภาพการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อและการแสดงออกของประชาชน ได้แก่
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 4/2557 ขอให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์ สถานีวิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทุกช่อง งดรายการประจำของสถานี และถ่ายทอดรายการจากสถานีวิทยุกองทัพบก เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง 
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557  มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับคำสั่งกอ.รส. ฉบับที่ 9/2557ห้ามสื่อทุกประเภทสัมภาษณ์บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งราชการ และให้อำนาจผู้ว่าฯ และตำรวจ ระงับการชุมนุมหรือกิจกรรมที่ต่อต้านการทำงานของ คสช.
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล จำนวน 14 ช่อง และระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย 
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 18/2557 ให้งดเว้นการนําเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะ เช่น หมิ่นสถาบันฯ ยุยงปลุกปั่นและเป็นภัยต่อความมั่นคงวิจารณ์การทำงานของ คสช. และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ แต่ไม่ได้ระบุโทษของการฝ่าฝืนเอาไว้
 
ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เป็นการนำประกาศฉบับที่ 14 และ 18 มารวมกัน ห้ามบุคคลและสื่อทุกประเภท สัมภาษณ์นักวิชาการ และอดีตข้าราชการจนอาจขยายความขัดแย้งหรือนำไปสู่ความรุนแรง พร้อมทั้งห้ามสื่อทุกประเภทนำเสนอข้อมูลข่าวสาร 7 ลักษณะเหมือนในประกาศฉบับที่ 18 โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนคือ สั่งระงับการจำหน่ายจ่ายแจกระงับรายการ และดำเนินคดีในความผิดฐานนั้นๆ ตามแต่เนื้อหาของรายการ
 
ประกาศ ฉบับที่ 103/2557 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ประกาศฉบับที่ 97 หลังมีเสียงค้านอย่างหนักจากสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เพื่อผ่อนปรนให้สื่อวิจารณ์ได้บ้าง แต่ห้ามวิจารณ์การปฏิบัติงานโดยมีเจตนาไม่สุจริตและทำลายความน่าเชื่อถือด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่จะส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสอบสวนทางจริยธรรม
 
นอกจากนี้ คสช. ยังออกประกาศที่เกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อสังคมออนไลน์ด้วย โดยมีทั้งสิ้น2 ฉบับ คือ ประกาศฉบับที่ 12/2557 ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความ เชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง และ ประกาศ ฉบับที่ 17/2557 ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตาม ตรวจสอบ และระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ยุยงปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
 
 

130

 

เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (1) : รูปธรรมของการใช้อำนาจทหารเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน

22 พฤษภาคม 2557 คสช.ยึดอำนาจการปกครองและออกประกาศฉบับที่ 4/2557 โดยให้งดรายการประจำสถานีของทุกช่อง เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่คืนวันดังกล่าว ไทยพีบีเอสกลับนำเสนอข่าวสารออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป จนกระทั่งทหารสั่งให้ยุติการออกอากาศรายการข่าวออนไลน์และคุมตัววันชัยตันติวิทยาพิทักษ์รองผู้อำนวยสถานีไปค่ายทหารทันที

 
25 พฤษภาคม 2557 คสช.เชิญผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 18 ฉบับ “ร่วมหารือ” ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี 
 
13 มิถุนายน 2557 จำลอง สิงห์โตงาม ผู้อำนวยสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ออกคำสั่งให้เจริญศรี หงส์ประสงค์ ผู้อำนวยการส่วนผลิตข่าวและรายการข่าว ช่อง 11 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากเผยแพร่เนื้อหาที่ละเมิดประกาศคสช. ฉบับที่ 14 และ 18 ว่าด้วยการห้ามสร้างความขัดแย้งหรือการต่อต้านการปฏิบัติงานของคสช. แต่ต่อมาได้ยกเลิกคำสั่งปลดผู้อำนวยการรายดังกล่าวแล้ว
 
26 กรกฎาคม2557 คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 108/2557 เรื่องการตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งฝ่าฝืนข้อห้าม เนื่องจาก ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2557 ตีพิมพ์ข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของคสช. ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนประกาศ ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 จึงออกประกาศเป็นการตักเตือนหลังจากนั้น ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 252 ขึ้นปกดำล้วน และหยุดวางจำหน่าย ผู้จัดการสุดสัปดาห์ เป็นเวลา 1 เดือน
 
14 พฤศจิกายน 2557 นายทหารกลุ่มหนึ่งเข้าพบผู้บริหารไทยพีบีเอสเพื่อขอให้ยุติการนำเสนอรายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป” หลังจากไม่พอใจวิธีการตั้งคำถามและพูดพาดพิงถึงการรัฐประหารของณาตยา แวววีรคุปต์ผู้ดำเนินรายการ โดยผู้บริหารไทยพีบีเอสยอมทำตามข้อเรียกร้องของทหารและถอดณาตยาจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
15 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างการประชุมของผู้บัญชาการทหารบกที่ค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จ.นครราชสีมา ได้เกิดเหตุทหารฝ่ายเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 2 ดึงกระเป๋ากล้องวิดีโอและกระชากตัวผู้สื่อข่าวโมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเข้าไปทำข่าวภายในห้องประชุมให้ออกมาจากห้องทันทีโดยไม่ได้พูดหรือบอกกล่าวแต่อย่างใด วันถัดมา กองกิจการพลเรือน กองทัพภาคที่ 2 ออกหนังสือแถลงการณ์ชี้แจงว่า ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นการกระชากผู้สื่อข่าว มีเฉพาะการใช้มือไปสัมผัสกับสายกระเป๋าสะพายกล้องที่คล้องตัวอยู่ และพยายามแจ้งให้นักข่าวหญิงทราบ และออกจากสถานที่ประชุมฯ นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังขอความกรุณาจากสื่อมวลชนให้เสนอข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อมิให้กระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพด้วย 
 
10 ธันวาคม 2557 พชรปพน พุ่มประพันธ์ ผู้สื่อข่าวช่อง 3SD ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว“@Pacharapapon”เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตะโกนห้ามถ่ายภาพและให้หยุดถ่ายขณะที่เจ้าตัวกำลังรายงานสดเกี่ยวกับความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ของอนุสาวรีย์ฯ ทั้งนี้ ทหารระบุว่า ต้องขออนุญาตก่อนจึงจะถ่ายทำรายการได้ 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (2) : บรรยากาศทางการเมืองทำให้สื่อต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
รูปแบบของการคุกคามเสรีภาพสื่อช่วงหลังรัฐประหารไม่ได้มีแค่การใช้อำนาจรัฐควบคุมสื่อโดยตรงเท่านั้น แต่เมื่อรัฐสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนขึ้นอย่างเป็นระบบผ่านการออกกฎและคำสั่งต่างๆ รวมถึงใช้กำลังทางกายภาพปิดกั้น จับกุมและลงโทษสื่อที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจ ทำให้สื่อจำนวนไม่น้อยเลือกวิธีการเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนจะถูกดำเนินการที่รุนแรงกว่า เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ มีดังนี้
 
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันส่งจดหมายแจ้งสมาชิกวารสารฟ้าเดียวกัน ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ขอชะลอการพิมพ์วารสารฉบับใหม่ โดยระบุว่า หลังการรัฐประหารมีการปิดสื่อและตรวจเนื้อหาอย่างเข้มข้น วารสารฟ้าเดียวกันถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ จนสร้างความหวาดกลัวให้กับทุกส่วนการผลิต เพื่อความปลอดภัยจึงขอชะลอการตีพิมพ์ไปก่อน 
 
10 มิถุนายน 2557 ภิญโญ ไตรสุริยธรรมมา ยุติผลิตรายการ "Amarin Newsnight" หลังออกอากาศได้หนึ่งสัปดาห์ โดยระบุว่า การรัฐประหารทำให้สถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในสถานีเปลี่ยน จึงขอรักษาจุดยืนและหลักการวิชาชีพ ทางด้านผู้บริหารอมรินทร์ระบุยุติเพราะวิธีคิดต่างกัน และยืนยันว่าจากกันด้วยดี
 
Spokedark.tv ผู้ผลิตอินเทอร์เน็ตทีวีรายการ "เจาะข่าวตื้น" ที่วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีในประเด็นสังคมการเมือง ตัดสินใจหยุดผลิตรายการเจาะข่าวตื้นท่ามกลางบรรยากาศการรัฐประหาร รายการเท่าที่ผลิตออกมาตามข้อตกลงกับลูกค้าก็ต้องเปลี่ยนประเด็นการพูดคุยโดยเน้นข่าวต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาออกอากาศเต็มรูปแบบอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2557 
 
15 สิงหาคม 2557 มติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่ 1774 ประจำวันที่ 15-21 สิงหาคม 2557 ไม่มีวางจำหน่ายในแผงหนังสือ เนื่องจากบทกวีในหน้าท้ายๆ ซึ่งแต่งโดยผู้ใช้นามปากกาว่า “ระริน มุข” มีสะกดคำผิดหนึ่งจุด ซึ่งอาจทำให้ถูกตีความว่าผิดกฎหมายได้
 
23 พฤศจิกายน 2557 เว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ “บางกอกโพสต์” เผยแพร่บทสัมภาษณ์ครั้งแรกของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการรัฐประหาร แต่วันต่อมาบทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกลบหายไปจากเว็บไซต์ โดยวาสนา นาน่วม เจ้าของบทความดังกล่าวชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่า บทความดังกล่าวไม่ได้มาจากการให้สัมภาษณ์ของยิ่งลักษณ์ เพียงแต่เป็นการพูดคุยกันและหยิบส่วนที่เป็นเรื่องเบาๆ ว่าชีวิตในแต่ละวันเปลี่ยนไปอย่างไรมาเขียนเท่านั้น เพราะตนทราบดีว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้สัมภาษณ์ในประเด็นทางการเมืองได้ 
 
นอกจากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวยังมีรายงานว่าหลังทหารส่งกำลังเข้าควบคุมสื่อขนาดใหญ่ในวันที่ยึดอำนาจ ทหารยังคงแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งไว้เฝ้าระวังการทำงานของสื่ออยู่เป็นเวลาหลายเดือน เจ้าหน้าที่ทหารนั่งสังเกตการณ์ประจำอยู่ในห้องกองบรรณาธิการของสื่อบางสำนักด้วย และจะคอยทักท้วงเมื่อมีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นผลร้ายต่อคสช. 
 
ยังมีรายงานว่ามีการเรียกตัวผู้บริหารและนักข่าวจากสื่อสำนักต่างๆ ให้ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนายทหารระดับสูงเป็นระยะๆ ขณะที่ กสทช. ก็เรียกประชุมผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งโทรทัศน์และวิทยุ มาพูดคุยตักเตือนเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาที่กระทบต่อ คสช. เป็นระยะเช่นกัน แม้การใช้อำนาจออกคำสั่งเพื่อปิดกั้นสื่อมวลชนอย่างชัดแจ้งยังมีปริมาณเท่าที่สามารถนับได้ แต่ท่ามกลางบรรยากาศที่สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ภายใต้กรอบที่แคบและอ่อนไหว ย่อมส่งผลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างมหาศาล 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (3) : สื่อท้องถิ่นขนาดเล็กต้องปิดตัวตามประกาศ 15/2557 
ภายหลังการรัฐประหาร การควบคุมสื่อท้องถิ่นเป็นไปอย่างเข้มงวดประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเป็นประกาศที่เพ่งเล็งไปที่สื่อท้องถิ่นโดยรูปแบบการควบคุมสื่อท้องถิ่น มีดังนี้
 
มีรายงานจากเกือบทุกพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบุกเข้าตรวจค้นถ่ายรูป และยึดอุปกรณ์ออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางแห่งมีการขอสำเนาบัตรประชาชนและตรวจดีเอ็นเอของผู้เกี่ยวข้องด้วย แม้ว่าสื่อเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในประเด็นการเมือง เช่น วิทยุชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม วิทยุชุมชนในประเด็นศาสนา การกระทำลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เย็นวันที่22 พฤษภาคม ต่อเนื่องเรื่อยมา สื่อบางแห่งถูกทหารเข้าตรวจสอบอยู่เป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่าได้หยุดออกอากาศแล้วจริงๆตัวอย่างเช่น
 
ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ สถานีวิทยุชุมชนรักเชียงใหม่ 51 เอฟเอ็ม 92.5 เมกกะเฮิร์ตซ์ ของ เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล แกนนำกลุ่มเสื้อแดงรักเชียงใหม่ 51มีเจ้าหน้าที่ทหารบุกเข้าตรวจค้นที่สถานีและถูกปิดตั้งแต่รัฐประหาร ใน จ.ลำปาง ทหารเข้าควบคุมสถานีวิทยุชุมชนคนรักประชาธิปไตยและสถานีวิทยุเสียงประชาชนคนท้องถิ่น คลื่น 96.25 เมกกะเฮิร์ตซ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของ นสพ.ท้องถิ่นสะกิดข่าวด้วย นอกจากนี้ แมพเรดิโอ สถานีวิทยุเพื่อเผยแพร่ข่าวสารให้กับคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ทั้งใน อ.แม่สอด และใน จ.เชียงใหม่ ก็ถูกทหารเข้าตรวจค้นทำให้ออกอากาศไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข่าวสารของคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์
 
ภาคอีสาน สถานีวิทยุวอยส์พีเพิ่ลเรดิโอ 100.00 และ 100.75 เมกกะเฮิร์ตซ์ ซึ่งตั้งอยู่ใน จ.อุดรธานี ของ อานนท์ แสนน่าน ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย มีทหารบุกเข้าไปตรวจค้นภายในสถานี และยึดอุปกรณ์การออกอากาศ เช่นเดียวกับสถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร 97.5 เมกกะเฮิร์ตซ์ ที่มีกำลังทหารเข้าไปปิดสถานีตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ทำการรัฐประหาร นอกจากนี้ ที่ จ.อุบลราชธานี “ดีเจต้อย” แกนนำเสื้อแดงกลุ่มชักธงรบ เล่าว่า หลังการรัฐประหาร มีทหารมาที่สำนักงานเพื่อเชิญไปรายงานตัว และถูกกักตัวเป็นเวลา 6 คืน หลังถูกปล่อยตัวยังคงมีทหารแวะมาที่สำนักงานอยู่เป็นระยะ โดยทุกครั้งที่มาก็จะถ่ายภาพดีเจต้อยคู่กับสำนักงานไว้ด้วย
 
ภาคกลาง สถานีวิทยุชุมชนบางใหญ่เรดิโอ จ.นนทบุรี 99.75 เม็กกะเมกกะเฮิร์ตซ์ ที่แม้จะหยุดออกอากาศไปแล้วตั้งแต่วันที่รัฐประหาร แต่ยังคงมีทหารอาศัยอำนาจตามประกาศ คสช. เข้ามาตรวจค้นสถานี ใน จ.เพชรบูรณ์ ทหารเข้าตรวจค้นสถานีวิทยุชุมชนคลื่นไอเดียเรดิโอ 104.25 เมกกะเฮิร์ตซ์ และยึดสิ่งของหลายรายการ ที่ จ.ฉะเชิงเทราสถานีวิทยุชุมชนคนแปลงยาว หลังปิดตัวลงไปไม่นานก็ได้รับอนุญาตจากทหารให้กลับมาออกอากาศต่อได้ แต่ต่อมาก็ถูกทหารอีกหน่วยหนึ่ง ที่ขาดการสื่อสารกันบุกเข้ามามาปิดซ้ำอีกรอบ อ้างว่าไม่เคยมีการอนุญาตให้ออกอากาศได้เลย 
 
ภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี ตำรวจนอกเครื่องแบบจากหน่วยสืบสวนสอบสวนจำนวน 5 นาย บุกตรวจค้นบ้านเช่าของผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุมีเดียสลาตันและนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกโดยไม่มีหมายค้น โดยขอบัตรประชาชนของแต่ละคน พร้อมข้อมูลครอบครัว เพื่อบันทึกข้อมูล ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์สถานีวิทยุชุมชนบ่อนอก ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแวะมาเพื่อตรวจสอบว่าได้หยุดออกอาการแล้วจริงหรือไม่ พร้อมมาถามข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการสถานี
 
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเชิญสื่อมวลชนท้องถิ่นเข้ารับฟังการชี้แจง โดยขอความร่วมมือให้งดการนำเสนอข่าวในลักษณะต่อต้านการทำงานของ คสช. ข่าวสารลักษณะปลุกปั่น การต่อต้านของนักศึกษาที่มีความคิดหัวรุนแรง เช่น ที่ จ.พะเยา และจ.พิษณุโลก
 
หลังประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 สื่อวิทยุชุมชน และเคเบิลท้องถิ่น ที่เคยได้รับการผ่อนผันให้ออกอากาศ โดยกสทช. ต้องปิดตัวลงทั้งหมดทันที สื่อที่ต้องการดำเนินกิจการต่อต้องยื่นเรื่องขออนุญาตกลับมาออกอากาศใหม่ โดยต้องลงชื่อในข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าจะไม่นำเสนอเนื้อหาในประเด็นที่ขัดแย้งกับ คสช. สื่อหลายแห่งได้รับอนุญาตและกลับมาออกอากาศได้แล้วในปัจจุบัน สื่อหลายแห่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ สื่อหลายแห่งเลือกที่จะไม่ขออนุญาตกลับมาออกอากาศเพราะไม่ต้องการออกอากาศในบรรยากาศเช่นนี้ วิทยุชุมชนหลายแห่งไม่มีกำลังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการขออนุญาตซึ่งตกประมาณ 50,000 บาทต่อแห่ง ทำให้ปัจจุบันสื่อระดับท้องถิ่นมีจำนวนลดลงมาก
 
จากวิทยุขนาดเล็กที่ออกอากาศอยู่ก่อนประกาศคสช. ฉบับที่ 15/2557 กว่า 7,000 แห่ง กลับมายื่นขออนุญาตออกอากาศใหม่ประมาณ 5,300 แห่ง และได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศแล้วประมาณ 3,300 แห่ง
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (4) : ข่าวสารและสีสันบนโลกออนไลน์ที่หายไป
 
หลังสื่อกระแสหลักและสื่อชุมชนถูกปิดกั้นอย่างเข้มงวด สื่อออนไลน์จึงเป็นพื้นที่สุดท้ายสำหรับการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารขณะที่ คสช. ก็อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น Dangdd.com,  uddtoday.net, uddred.blogspot.com,   thaipoliticalprisoners.wordpress.com เป็นต้นเว็บไซต์ที่เป็นสื่อทางเลือก เช่น สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าวประชาธรรม หรือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ก็ถูกปิดกั้น ที่น่าสนใจคือเว็บไซต์สำนักข่าวต่างประเทศ อย่างเช่น dailymail.co.uk, standard.co.uk หรือ ข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์บางชิ้น ก็ถูกปิดกั้น
 
28 พฤศจิกายน 2557 เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในเว็บไซต์ของHuman Rights Watch องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ถูกปิดกั้นการเข้าถึง ขณะที่เว็บไซต์ข่าวกีฬา เช่น  www.livescore.com,  www.atpworldtour.comยังถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง สันนิษฐานว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพนัน ส่วนเว็บไซต์ดูภาพยนตร์ออนไลน์ เช่น www.freemovie-hd.com, www2.siam-movie.com ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ สันนิษฐานว่ามีเหตุผลจากการนำสัญลักษณ์การชูสามนิ้ว จากภาพยนตร์เรื่อง Hunger Games ไปใช้เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช.
 
ดูรายงานการปิดกั้นสื่อออนไลน์หลังการรัฐประหาร ได้ที่นี่ >>> http://freedom.ilaw.or.th/blog/OnlineMedia2014
 
บรรยากาศของสื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็เปลี่ยนไป เฟซบุ๊กเพจที่เคยรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยอย่างชัดเจนหลายแห่งปิดตัวลง เช่น เฟซบุ๊กเพจสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 เป็นต้น นักเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์หลายคนหายหน้าไปหรือลดระดับความเข้มข้นของเนื้อหาลง เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นต้น ทำให้สีสันบนสื่อสังคมออนไลน์ลดลงไปอย่างมาก
 
28 พฤษภาคม 2557 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้ด้วยช่องทางปกติเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปลัดกระทรวงไอซีทีให้สัมภาษณ์ว่า คณะรัฐประหารมีคำสั่งให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กชั่วคราวเพื่อระงับเหตุขัดแย้งซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของโฆษก คสช. ที่ปฏิเสธข่าวดังกล่าวต่อมา ปลัดไอซีทีคนดังกล่าวถูก คสช.สั่งปลดออกจากตำแหน่ง
 
เมื่อการใช้อำนาจปิดกั้นเฟซบุ๊กอาจกระทบกับการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากจนเกินไป คสช. จึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการขอความร่วมมือเป็นรายบุคคลแทน
 
4 กรกฎาคม 2557 ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก.วารสารฟ้าเดียวกัน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กระบุว่า คสช. โทรมาขอความร่วมมือไม่ให้โพสต์ข้อความใดๆที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด และมีทัศนคติไม่ดีกับคณะรัฐประหารดังนั้น เจ้าตัวจึงขอไม่โพสต์ข้อความที่จะก่อให้เกิดผลลบต่อคณะรัฐประหารต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารโทรมาแจ้งว่าไม่สบายใจและขอให้ลบข้อความที่เล่าเรื่อง “เก็บตกงานพบปะ สนทนา กับนักเขียน ประจักษ์ ก้องกีรติ” บนเพจเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์ออกไป โดยข้อความในเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุถึงความพยายามของทหารที่จะควบคุมสำนักพิมพ์
 
17 พฤศจิกายน 2557 เฟซบุ๊ก “ร่วมกันเปิดประตูเขื่อนปากมูล ถาวร”ประกาศยุติการเคลื่อนไหว โดยให้เหตุผลว่าเจ้าหน้าที่ทหารใน จ.อุบลราชธานีขอความร่วมมือให้ยุติการเคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก เนื่องจากผู้ใหญ่ไม่สบายใจต่อการแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กนี้และหากไม่ยุติการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ต่อมา 18 พฤศจิกายน 2557 เจ้าหน้าที่ทหารโทรมาอีกครั้งโดยขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวของกฤษกร ศิลารักษ์ ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) กรณีเขื่อนปากมูลเนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม
 
นอกจากการขอความร่วมมือให้ปิดเฟซบุ๊กและลบข้อความทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีกรณีที่ คสช. ขอความร่วมมือให้ประชาชนโพสต์ข้อความตามที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องการบนเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกด้วย เช่น กรณีของวิทูวัจน์ ทองบุ หนึ่งในผู้ลงชื่อในแถลงการณ์ไม่ร่วมการปฏิรูปกับรัฐบาลเผด็จการ ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน โดยเจ้าตัวเปิดเผยว่า ภายหลังจากการรายงานตัวและพูดคุยเจ้าหน้าที่ทหารขอให้ยุติการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐบาลและ คสช.มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนอกจากนี้ ยังขอให้โพสต์ข้อตกลงตามเอกสารที่เจ้าหน้าที่บันทึกมาให้ลงบนเฟซบุ๊กของเจ้าตัว สรุปใจความได้ว่า ตนจะยุติการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบทั้งบนท้องถนน และสื่อสังคมออนไลน์ และจะให้ความร่วมมือในการพัฒนาประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจะสนับสนุนการปฏิรูปตามนโยบายของรัฐบาล และตามช่องทางที่รัฐบาลเปิดพื้นที่ 
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (5): วงการหนังสือกลายเป็นภัยความมั่นคงของรัฐ
ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก มีกระแสข่าวตามโซเชียลเน็ตเวิร์คว่าร้านหนังสือคิโนคูนิยะนำหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทย 6 เล่มออกจากชั้นหนังสือ ได้แก่ 1.Democracy & National Identity in Thailand 2.Legitimacy Crisis in Thailand 3.Bangkok May 2010 4.The Simple Truth 5.Making Democracy 6.Free Thai: The New History
 
หลังการรัฐประหารทหารเข้าตรวจค้นร้าน “Book Re:public” ร้านหนังสือใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งเคยเป็นสถานที่ทำกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตย เจ้าของร้านเล่าว่า ทหารในเครื่องแบบติดอาวุธเข้ามาถ่ายรูปในร้านและหนังสือที่วางขายเกือบทุกเล่ม และห้ามนำภาพโปสเตอร์ของนักการเมืองและแกนนำคนเสื้อแดงชื่อดังคนหนึ่งมาตั้งบริเวณหน้าร้าน การมาสำรวจร้านของทหารเกิดขึ้นเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง นอกจากนี้ ร้านหนังสือ “ฟิลาเดเฟีย” ใน จ.อุบลราชธานีก็ถูกทางทหารจับตามองเช่นกัน เนื่องจากจุดยืนและการจัดกิจกรรมของร้านในอดีต
 
2 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้าประกาศยกเลิก “รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย” ปีที่ 13 ระบุเหตุผลว่า เพื่อความเหมาะสมกับสภาพสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน จึงขอยกเลิกการประกวดดังกล่าว โดยรางวัลพานแว่นฟ้าเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผลงานเขียนวรรณกรรมการเมือง ซึ่งจัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย
 
สำหรับงานสัปดาห์หนังสือที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งเป็นงานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกหลังมีการรัฐประหาร ก็พบการพยายามปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่ทหาร โดย บ.ก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เล่าว่า มีทหารขอเข้ามาตรวจค้นบูทของสำนักพิมพ์ตั้งแต่คืนก่อนเปิดงานโดยอ้างว่ามีหนังสือหมิ่นฯ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้ติดต่อสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เพื่อขอบันทึกภาพวีดีโอและสังเกตการณ์ในงานพบปะสนทนากับนักเขียนที่จัดโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แต่ทางสมาคมฯ ยืนยันสิทธิในการจัดจำหน่ายหนังสือ และปฏิเสธคำขอร้องของเจ้าหน้าที่ทหาร
 
12 พฤศจิกายน 2557 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ห้ามสั่งเข้า หรือนำเข้าหนังสือ “A Kingdom in Crisis” เพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร เนื่องจากเป็นสิ่งพิมพ์ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
 
เก็บตกเหตุการณ์หลังการรัฐประหาร (6) : เมื่ออำนาจเต็มมือ จึงมีการละเมิดหลายรูปแบบ
เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐต้องดำเนินตามนโยบายการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อรักษาภาพลักษณ์การคืนความสุขของ คสช. ไว้ให้เหนียวแน่นที่สุด จึงปรากฏเป็นการใช้อำนาจเข้าละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก และที่ไม่แน่ชัดว่ามีอำนาจกระทำตามกฎหมายหรือไม่ เช่น
 
การขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจในท้องถิ่นตรวจสอบและปลดป้ายการแขวนป้ายประกาศที่แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร การทำงานของรัฐบาล และคสช. เพื่อป้องกันไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งเช่น ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี หรือกรณีการแขวนป้ายแสดงข้อความไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ คสช. ในยะลา โดยมีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 1 คน 
 
การถ่ายบัตรประชาชนของผู้ชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน และตั้งรางวัลนำจับโดยให้ประชาชนบันทึกภาพผู้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้าน คสช. ไว้เป็นหลักฐาน หากภาพดังกล่าวนำไปสู่การจับกุมได้จะได้รับเงินรางวัลจำนวน 500 บาท เช่น กรณีที่ประชาชนมาชุมนุมที่บริเวณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรณีการรวมตัวทำกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ ซึ่งในงานนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงชื่อกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าพื้นที่ทำกิจกรรมและห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมปล่อยลูกโป่งโดยให้เหตุผลว่า เกรงว่าลูกโป่งจะลอยเข้าเขตพระราชฐาน
 
เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย มาสังเกตการณ์และถ่ายรูปผู้มาร่วมทำบุญทุกคนพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน
 
เหตุการณ์ที่น่าจดจำคือ เจ้าหน้าที่ทหารอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าตักเตือนพร้อมยึดอุปกรณ์ประกอบอาชีพเช่น กรณีพ่อค้าขายปลาหมึกทอด ริมถนนทิพเนตร จ.เชียงใหม่ซึ่งสวมเสื้อสีแดงสกรีนภาพใบหน้านายจตุพร พรหมพันธ์ เจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย ขอให้พ่อค้ารายดังกล่าวถอดเสื้อออกโดยไม่มีเสื้อให้เปลี่ยนและยึดเสื้อแดงไปทันที คล้ายกันกับกรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ารื้อเต็นท์และยึดสินค้าจากร้านขายผลิตภัณฑ์สตรอว์เบอร์รีชื่อ “@ PAI” ที่มีเจ้าของเป็นแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่และทำโลโก้เป็นรูปการ์ตูนคนหน้าเหลี่ยม คล้ายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ ยังมีกรณีของร้านอาหาร “สุดสะแนน” ซึ่งทหารราวหนึ่งร้อยนายพร้อมอาวุธบุกเข้าไปในร้านขณะเปิดทำการเนื่องจากมีรายงานว่าจะมีการจัดงานวันเกิดหม่อมเต่านาแต่ก็ไม่พบการจัดงานดังกล่าวแต่อย่างใด
 
 

สรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง

สรุปสถานการณ์ปี 2557 4/5: การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟลัดข้อความถล่มเพจ ‘โอบาม่า-สถานทูตเมกา’ ประกาศก้อง ‘เรามีความสุขกับกฎอัยการศึก’ เตือนอย่าเผือก

$
0
0

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยบางส่วนระดมโพสต์ข้อความซ้ำๆ เพจบารัค โอบามา และสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ยันคนไทยส่วนใหญ่ขอเตือนอเมริกาอย่าแทรกแซงกิจการภายใน ย้ำ ‘เรามีความสุขดีที่มีการใช้กฎอัยการศึก’

หลังจาก แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด) สร้างปฏิกิริยากับฝ่ายต่างๆ จำนวนมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนกระทั่ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญ อุปทูตสหรัฐอเมริกา มาคุยเพื่อพูดคุย(อ่านรายละเอียด) พร้อมแสดงความผิดหวังอย่างมาก ถือเป็นการแทรกเเซงการเมืองไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาจนกระทั่งวันนี้(30 ม.ค.)ที่หน้าเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘U.S. Embassy Bangkok’ ของสถานเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย รวมทั้งเฟซบุ๊กเพจ ‘Barack Obama’ ของบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าไปโพสต์ รวมทั้งแสดงความเห็นใต้โพสต์ของเพจดังกล่าว ด้วยข้อความซ้ำๆจำนวนมากว่า นี่คือราชอาณาจักรไทย เป็นประเทศอิสระ ที่สามารถจัดการเรื่องภายในได้ด้วยตัวเอง จึงไม่มีอะไรที่จะต้องเกี่ยวข้องกับคุณ มันไม่ใช่ธุระกงการอะไรของคุณ พวกเราซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขอเตือนอเมริกา อย่าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย ในเรื่องที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เรามีความสุขดีที่มีการใช้กฎหมายนี้

"Here is the Kingdom of Thailand. We are independent country. We can handle all our internal matters by ourselves. We have nothing to do with you. It’s none of your business. We, the majority of Thai people are warning you, don’t interfere in Thailand’s internal affairs regarding Martial Law. We are very happy with this law as it stands."

ตัวอย่างข้อความทั้ง 2 แฟนเพจ

อย่างไรก็ตามในเพจนี้ก็มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นแย้งกับการโพสต์ข้อความดังกล่าวซ้ำๆ ด้วย

นอกจากนี้กระปุกออนไลน์รายงานด้วยว่า เฟซบุ๊ก V For Thailand ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้นักรบไซเบอร์ทั้งหลาย ทำกิจกรรมบทเรียนสั่งสอนสหรัฐอเมริกา ด้วยการขอให้ทุกคนเข้าไปที่เฟซบุ๊กทั้ง 2 เพจดังกล่าว โพสต์ข้อความภาษาอังกฤษข้างต้น ให้มากที่สุด อีกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จันจิรา สมบัติพูนศิริ : ทำความเข้าใจการเสียดสีผ่านพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

$
0
0

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส จันจิรา ชี้ หากจะเข้าใจชาร์ลี ต้องเข้าใจพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมการเสียดสีของยุโรป

<--break- />

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ : พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ กับความหวาดกลัวของยุโรป

พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ และวัฒธรรมการเสียดสีในยุโรป

เนื่องจากตัวเองเป็นผู้สอนวิชายุโรป และได้ทำงานวิจัยเรื่องอารมณ์ขัน เลยอยากพาดูยุโรปในฐานะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ทางวัฒนธรรมคู่กับพัฒนาการของการสีเสียด (satire) ดังที่จะเห็นได้จากกรณี Charlie Hebdo ว่าตรงนั้นมันสะท้อนให้เห็นภาวะทางอารมณ์ และการปะทะกันของพื้นที่ทางวัฒนธรรมในยุโรปขณะนี้อย่างไรซึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ได้กล่าวไว้ถึงเรื่องความกลัวในยุโรปเราจะมาดูกันว่าเป็นอย่างไร

Charlie Hebdo เป็นนิตยสารการ์ตูน ที่ทำการ์ตูนล้อเลียนโดยเป้าหมายที่สำคัญคือ ศาสนา ดังจะเห็นได้ว่าทุกศาสดาของทุกศาสนาโดนล้อเลียนหมด ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า Charlie Hebdo เป็นนิตยสารที่ไม่พยายามพูดในสิ่งที่ถูกต้องทางการเมือง(politically incorrect) อะไรก็ตามที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราควรจะเคารพความแตกต่างทางศาสนา ควรจะเคารพเรื่องเพศ ควรจะเคารพเรื่องหลักจริยศาสตร์ บางอย่างในสังคม

สิ่งที่ Charlie Hebdo ทำคือการข้าม หรือท้าทายเส้นเหล่านี้ ที่สังคมบอกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) แต่ว่าสิ่งที่ชาร์ลีเอ็บโดทำคือการล้ำเส้น a joke too far การจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องมองตัวการสีเสียด ในสิ่งที่ชาร์ลีเอ็บโดทำว่ามีรากในยุโรป ซึ่งทำให้เรามองเห็นเป็นกระจกของวิธีคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในยุโรปได้เหมือนกัน

การสีเสียด มีที่มาจากนิยายปรัมปราของกรีซจากเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) คือตัวไดโอนีซุสเป็นเทพแห่งการทำลายล้างคือ ทำลายล้าง establishment อะไรที่สังคมยึดถือ เป็นธรรมเนียม เป็นจรรยา เป็นสิ่งที่ดีงาม ตัวไดโอนีซุสมีแนวโน้มที่จะล้อเลียนและถากถาง ทำให้เห็นว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีงามอีกหน้าหนึ่งมันคืออะไร เพราะฉะนั้นตัวไดโอนีซุสเองต่อมาจึงเป็นที่มาของเทศกาลที่เรียกว่า dionysian rites ซึ่งคือการเฉลิมฉลองการละเมิดหลักศีลธรรมจรรยาในสังคมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงพิธีกรรมนั้น

กระทั่งถึงช่วงยุคกลางในยุโรปที่ศาสนาคริสต์มีบทบาทมากขึ้นพิธีกรรมนี้ได้ถูกห้าม ถึงขั้นห้ามหัวเราะที่เกินงามมากๆ ซึ่งการหัวเราะที่เกินงามมากๆ มันจะบ่อนทำลายศาสนา คุณต้องเป็นศาสนิกที่สำรวม โดยตัวศาสนาคริสต์เองในช่วงแรกได้รับอิทธิพลมาจากพิธีกรรมไดโอนีเซียนเล็กน้อย จะมีพิธีกรรมอย่างเทศกาลตูดคือ พิธีกรรมที่อนุญาตให้คนละเมิดเกณฑ์ทางสังคมบางอย่างที่คนยึดถือกัน รวมถึงทำลายขั้นของชนชั้นบางอย่างในสังคมลง เช่นมีการสลับบทบาท ผู้ชายแต่งเป็นผู้หญิงในพิธีกรรมนั้น ผู้หญิงแต่งเป็นผู้ชายและทำพฤติกรรมแบบผู้ชายได้ พระเองก็ทำพฤติกรรมเช่นฆราวาสพฤติกรรมอย่างเช่นเต้นรำ ร้องเพลง ดื่มเหล้า นี่คือทำให้เห็นว่าการสีเสียดมันพัฒนามา โดยมีรากฐานแบบนี้  

ในช่วงที่ยุโรปผ่านยุคกลางมามันกลายเป็นว่า การถางถางเสียดสีมันเปลี่ยนไปจากตัวพฤติกรรมกลายมาเป็น คำพูด ฉะนั้นคำพูด จึงเป็นคำพูดที่มาพร้อมๆ กับภูมิปัญญา และความฉลาด ซึ่งมันแสดงว่าถ้าคุณต้องการมีบทสนทนากับคู่สนทนาได้ในร้านน้ำชาในช่วงที่ยุโรปผ่านยุคกลางมาแล้ว คุณจะต้องมีบทสนทนาที่ชาญฉลาด เป็นการพูดจาตลกๆ ที่มันฉลาดๆ ได้ เพราะฉะนั้นการสีเสียดมันถูกเห็นเป็นเครื่องมือของปัญญาชนบางอย่าง เช่นจะเห็นได้จากขบวนการปัญญาชนบางอย่างที่ต่อต้านฝ่าย establishment ทั้งหลายใช้การเสียดสีล้อเลียนลงในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งหมายความว่าตัวการล้อเลียนเองมันแบกเอากระเป๋าทางประวัติศาสตร์อันนี้มาและเติบโตในบริบทใหญ่ในยุโรปซึ่งมันสู้กับศาสนา ทีนี้เวลาที่คุณสู้กับศาสนาเครื่องมืออันหนึ่งที่คนชอบใช้กันคือ การเสียดสีมันทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ การสู้กับศาสนจักรที่ใหญ่ การเสียดสีล้อเลียนมันจึงมีบทบาทแบบนี้ ตลกเสียดสีแบบนี้มันเป็น การต่อต้านอำนาจในยุโรป เป็นการต่อสู้เพื่อจะหลุดพ้นยุคกลาง ซึ่งอำนาจที่ต่อสู้ด้วยคือ อำนาจจากศาสนจักร

ตอนที่ดิฉัน อ่านบทความของอาจารย์ ‘ชัยวัฒน์’ จบ ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ส่งจดหมายไปหาอาจารย์ชัยวัฒน์ คือเวลาที่อาจารย์เรียกร้องให้มีการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อยากให้มีพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นพื้นที่ซึ่งเราจะไม่ไปแตะต้องด้วยตลกล้อเลียน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งคือยุโรป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณกำลังเอาโลกทัศน์แบบที่ยุโรปบอกว่าผ่านมาแล้ว เคยต่อสู้จนสิ้นสุดไปแล้วกับศาสนา แล้วก็บอกว่าโลกทัศน์แบบนี้มันกลับมาใหม่ เพราะฉะนั้นคนในยุโรปจึงไม่ยอมเพราะ เขาให้พื้นที่กับโลกแบบยุคกลางไม่ได้

สิ่งสำคัญคือ เราต้องดูว่าการล้อเลียนเสียดสีมันเกิดขึ้นที่ไหน คือเกิดขึ้นที่พื้นที่ในยุโรป พื้นที่ทางประวัติศาสตร์มันเป็นแบบไหน คือมันเป็นประวัติศาสตร์ที่อาศัย joke อาศัยการเสียดสีล้อเลียนในการสู้กับศาสนจักร ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ยอมรับในเสรีภาพในการแสดงออกแล้ว สังคมมันเจริญก้าวหน้าแล้ว การที่จะให้กลับไปยอมรับการเคารพรูปปั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เท่ากับว่าเป็นการพาสังคมสู่การก้าวถอยหลังกลับไป จึงอยากพาให้ดูภาพใหญ่ในยุโรปซึ่งไปไกลกว่าดีเบทเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารเสรีภาพในการแสดงความเห็น สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Charlie Hebdo มันเป็นการเตะหมาเข้าปากหมู ต้องบอกว่าตอนนี้ยุโรปมีความกลัวเรื่องความเสื่อม การตกต่ำของอำนาจยุโรป

ความกลัวของยุโรป และความล้มเหลวในการสร้างสังคมที่มีความหมาย กับคนหลายกลุ่ม

ความกลัวประจวบเหมาะกับกระแสชาวมุสลิม ที่อพยพมาจากแอลจีเรีย ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้ทำให้ชาวยุโรปจำนวนหนึ่งมีท่าทีที่จะมองว่าเป็น Islamization มีนวนิยายเล่มหนึ่งที่เพิ่งเขียนขึ้นมาและเป็นประเด็นให้โต้เถียงกันมาก็คือในเนื้อหามันพูดถึงว่าฝรั่งเศสในปี 2022 จะมีประธานาธิบดีเป็นชาวมุสลิมคนแรกและบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ ทีนี้ข้อสรุปของนักเขียนไม่ได้เป็นข้อสรุปแบบฝ่ายขวาที่กลัวชาวมุสลิม แต่ข้อสรุปของเขาคือ สมมุติว่าความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ถ้ามันมีการบังคับใช้กฎหมายแบบนี้ มันจะจำกัดพวกนายทุนหน้าเลือดได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ของเขา แต่พวกฝ่ายขวาเอานวนิยายเล่มนี้ไปตีความในอีกแบบหนึ่งว่า เราจะถูกกระแสอิสลามครอบงำยุโรป ทำไงดีว่ะ ซึ่งอาการ paranoid นี่มันประจวบกับอาการกลัวการตกต่ำของอารยะธรรมยุโรปขนานใหญ่

การเกิดกรณีที่สื่ออย่าง Charlie Hebdo ถูกโจมตี ยิ่งเป็นการตอกย้ำในจินตนาการของฝ่ายขวาในยุโรปให้พวกเค้ารู้สึกจริงยิ่งขึ้น ตอนแรกเพียงแค่กลัวกระแสผู้อพยพชาวมุสลิม ทั้งๆ ที่ชาวมุสลิมในฝรั่งเศส และในปารีสเองเป็น คนกลุ่มน้อยมาก มีฐานะยากจนไม่ได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกับชาวฝรั่งเศสเอง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันต้องข้ามกับจินตนาการที่มีของผู่คนในฝรั่งเศส และในยุโรป

นั่นหมายความว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับ Fundamentalism กับ extremism ทั้งสองฝ่าย สิ่งที่กำลังเจอคือ คนที่ส่องกระจกกันเอง เราจะเจอกับคนที่โกรธกับการถูกเหยียดหยาม โกรธกับการถูกhumiliated และใช้ความรุนแรงโต้กลับ และเมื่อเกิดเหตุแบบนี้ ยิ่งเป็นการเสริมจินตนาการว่าต่อไปนี้เราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเพื่อป้องกันการครอบงำบางอย่างของอิสลามในยุโรป เพราะฉะนั้นไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าจะมีโพลล์ออกมาว่าในปี 2017 มีโอกาสที่ผู้นำทางฝ่ายขวาอย่าง ‘ฌอง-มารี เลอ เป็น’ อาจจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศส คนนี้เป็นฝ่ายขวาที่ไม่ใช่ ‘ซาร์กอซี’ ซึ่งเป็นฝ่ายขวากลาง หากว่า  ‘ฌอง-มารี เลอ เป็น’ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเมื่อไหร่ดอฉันคิดว่าชาวมุสลิมในฝรั่งเศสจะประสบความยุ่งยากไม่น้อย

ฉะนั้นอยากที่ประเด็นไว้ประเด็นไว้อีกนิดหน่อยคือ เมื่อเช้าดิฉันอ่านข่าวและรู้สึกโกรธกับข่าวพระพม่ากลุ่ม 696 ซึ่งเป็นพระกลุ่มชาตินิยม ซึ่งออกมาพูดในสาธารณะว่า “ตัวแทน UN ที่เข้ามารายงานสถานการณ์ชาวโรฮิงญาในพม่าเป็น กระหรี่ คือเป็นการใช้ภาษา sexist ในการเหยียดคนไม่เห็นด้วยกับตนเอง คำถามก็คือ นี่มันไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมมุสลิม หรือเกิดขึ้นในสังคมยุโรปเท่านั้น แต่ภาวะแบบสุดโต่งแบบนี้นี้มันกำลังเกิดขึ้นในหลายที่ทั่วโลก ซึ่งมันสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของคนในโลก มันสะท้อนความกลัว ความไม่แน่นอนในชะตากรรม และรวมถึงความล้มเหลวในการสร้างสังคมที่มีความหมายกับคนหลายกลุ่ม

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณะกรรมการสิทธิค้านควบรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน

$
0
0
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุงานของกรรมการสิทธิฯ มีชัดเจนแตกต่างจากองค์กรอื่น ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นที่ตั้งตามกลไกของสหประชาชาติ

 
30 ม.ค. 2558  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์เรื่อง การยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีรายละเอียด  ดังนี้
 
แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง การยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบรวม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน
 
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและมีการเผยแพร่ กรณีโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แถลงข่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการประชุม เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558  ได้พิจารณาการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  โดยมีมติให้ตั้งคณะทำงานศึกษาข้อดีข้อเสียในการควบรวมองค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกัน  เนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าอำนาจหน้าที่ของทั้งสององค์กรมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ โดยให้คณะทำงานรับฟังความเห็นและข้อมูลจากองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วยนั้น
                               
กสม. ขอเรียนว่า แนวคิดที่จะพิจารณาเรื่องการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินเข้าด้วยกันนั้น อาจสื่อความหมายว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม  คุ้มครองสิทธิมนุษยชนแตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม  กสม. มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว  ดังนี้
 
1. อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีลักษณะที่ชัดเจน และแตกต่างจากองค์กรอื่น กล่าวคือ  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หรือตามกฎหมายไทย หรือดำเนินงานให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และเป็นไปตามหลักการปารีส (Paris Principle) รวมถึงเสนอแนะนโยบาย ข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี  เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่าง   หน่วยราชการ องค์การเอกชน และ องค์การอื่นใดด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ   
 
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ขอบเขตงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมุ่งไปที่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนเป็นที่ตั้ง  และมีหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณีไม่ว่าผู้กระทำละเมิดจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานใด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ  หรือเอกชนก็ตาม  และไม่จำกัดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานดังกล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมาย  แต่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม  ย่อมอยู่ในขอบเขตการทำหน้าที่ของ กสม. ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการตรวจสอบการกระทำหรือละเลยการกระทำ  ซึ่งไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และไม่มีองค์กรอื่นตรวจสอบ  นอกจาก กสม. เท่านั้น โดยเป็นไปตามกลไกของสหประชาชาติ
 
2. กรณีที่กล่าวถึงความซ้ำซ้อนระหว่าง กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเรื่องขั้นตอน วิธีการในการตรวจสอบข้อร้องเรียน ถึงแม้ว่าจะดูเสมือนหนึ่งว่ามีความคล้ายคลึงกันในทางสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน  แต่การทำหน้าที่ดังกล่าว มิได้ซ้ำซ้อนกันในเรื่องของอำนาจหน้าที่ตามภารกิจแต่อย่างใด อีกทั้งการทำหน้าที่ขององค์กรทั้งสองในการตรวจสอบนั้นจะก่อให้เกิดผลดีที่ทุกคำร้องเรียนจะได้รับการตรวจสอบในบริบทและมิติที่แตกต่างกัน
 
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าควรควบรวมสององค์กรดังกล่าวเข้าด้วยกันหรือไม่ ไม่ควรนำวิธีการทำงานของแต่ละองค์กรมาเป็นเหตุผลในการสรุปว่ามีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่   เพราะแม้ว่าทั้งสององค์กรจะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน  แต่เป้าหมายในการตรวจสอบหรือการวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  อีกทั้งย่อมเป็นผลดีต่อสังคมและประชาชนที่จะพึงได้รับประโยชน์จากการทำหน้าที่ที่แตกต่างกันดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 
 
3. การบริหารจัดการองค์กร บุคลากร และทรัพยากร กล่าวคือ สำนักงาน กสม. เป็นหน่วยงานอิสระที่มีโครงสร้างเป็นราชการสังกัดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของ กสม. และฐานะองค์กรไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) หรือฝ่ายอื่นใดทั้งสิ้น และได้มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ส่วนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นหน่วยงานอิสระที่มีพนักงานของรัฐในการสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ดังนั้นการบริหารจัดการองค์กร บุคลากร โดยรวมสำนักงานทั้งสองเข้าด้วยกันอาจมีกรณีที่เป็นปัญหาในการบริหารจัดการ ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรคนละรูปแบบตามที่กล่าว
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยินดีที่จะส่งผู้แทนไปร่วมเสนอข้อมูลและความเห็นในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียในการควบรวมองค์กรดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  ในประการสำคัญ กสม. เห็นด้วยว่า ควรจะได้มีการปรับปรุงองค์ประกอบ  อำนาจหน้าที่ และประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรม เป็นที่คาดหวังและเชื่อมั่นของประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
30  มกราคม  2558           
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: สิทธิความเป็นคน

$
0
0

<--break- />

 

ภาพความคิดความฝันแสนบรรเจิ
จะพริ้งเพริศเพียงใดก็ไร้ค่
สิทธิความเป็นคนบนมายา
ถูกกดขี่บีฑาด้วยโทษทัณฑ์

เมื่อมุ่งหมายป้ายความผิดปิดทางสู้
ด้วยลบหลู่ก้าวล่วงสรวงสวรรค์
จึ่งทวยเทพเทวามารวมกัน
แล้วฟาดฟันฟันฟาดจนขาดใจ

ด้วยสิทธิ์เสียงเพียงไพร่ไร้แรงต้าน
ตุลาการแปลงสารสร้างเงื่อนไ
สิทธิการประกันตนบนหลักใด
ฤากดไว้ให้บอบช้ำต้องจำยอม

ภาพความคิดความฝันแสนบรรเจิ

จะพริ้งเพริศเพียงใดก็ไร้ค่
สิทธิความเป็นคนบนมายา
ถูกกดขี่บีฑาด้วยโทษทัณฑ์

เมื่อมุ่งหมายป้ายความผิดปิดทางสู้
ด้วยลบหลู่ก้าวล่วงสรวงสวรรค์
จึ่งทวยเทพเทวามารวมกัน
แล้วฟาดฟันฟันฟาดจนขาดใจ

ด้วยสิทธิ์เสียงเพียงไพร่ไร้แรงต้าน
ตุลาการแปลงสารสร้างเงื่อนไ
สิทธิการประกันตนบนหลักใด
ฤากดไว้ให้บอบช้ำต้องจำยอม

............................................

สมยศ ชีวิตที่ผ่านไป 2 ปีในคุมขัง
กับความผิดที่ถูกยัดเยียด

แสดงออกอย่างชัดแจ้งถึงสิทธิความเป็นคน
ของพลเมืองประเทศตอแหล

 

 

๐๐๐๐

ข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคุณสมยศตั้งแต่ปี 2549 หลังทหารยึดอำนาจ
พบปะแลกเปลี่ยนความคิดกันหลายครั้งในหลายกิจกรรม
ขอชื่นชมที่คุณสุกัญญาและลูกชายมีความเข้มแข็ง สง่างามในสังคม
ยังระลึกถึงคุณสมยศเสมอ

วันหนึ่งข้างหน้าเราคงได้พบกันพร้อมๆกับคุณสมยศ

Paul Unter

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คปก.เสนอแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม แนะต้องปฏิรูปทั้งระบบ

$
0
0

30 มกราคม 2558  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำโดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานเข้าร่วมอภิปรายอาทิ ตุลากาศาลปกครองสูงสุด ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น ทั้งนี้ คปก.ได้ยื่นข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานนั้นคปก.เสนอให้มีการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มีการแยกศาลปกครองออกจากศาลยุติธรรมตามระบบศาลคู่ของประเทศไทย 
 
ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยว่า การแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมนั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีแรงงานที่มีลักษณะคดีแตกต่างจากคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป อีกทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานลงมาตรวจสอบค้นหาความจริงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากคำพิพากษาคดีแรงงานมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และจะต้องเน้นระบบการพิจารณาคดีแบบไต่สวน โดยจะต้องวางแนวทางให้ศาลชั้นต้นมีลักษณะเป็นศาลพิจารณา (Trial Court) ที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ข้อเท็จจริงยุติที่ศาลชั้นต้น 
 
ด้าน นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพรบ.เกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีการวม 9 ฉบับ โดยมี ร่างพรบ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ....และร่างพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) โดยมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีแรงงานขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีไว้เพื่อลดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเปิดช่องให้มีการฎีกาคดีแรงงานได้โดยการ “ขออนุญาต” ในกรณีเป็นคดีที่อาจกระทบต่อการพัฒนากฎหมายที่เป็นปัญหาสำคัญ 
 
การประชุมในครั้งนี้ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การพัฒนากระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานในระบบไต่สวน” โดยมีข้อเสนอว่าหากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลแรงงานปัจจุบันจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานที่จะต้องแตกต่างจากศาลยุติธรรม ซึ่งรวมถึงคุณสมบัติของผู้พิพากษาศาลแรงงานที่จะต้องสร้างให้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญในคดีแรงงานอย่างแท้จริง  
 
นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด กล่าวแสดงความเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีแรงงานนั้นจะต้องพิจารณาว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้หรือไม่ และสิ่งที่ศาลยุติธรรมแก้ไขในแนวทางดังกล่าวนั้นตอบโจทย์กระบวนยุติธรรมทั้งระบบหรือไม่ ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างของศาลยุติธรรมในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษานั้นไม่อำนวยต่อการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับผู้พิพากษาศาลแรงงาน และการจะนำกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานควรมีขอบเขตและคำนึงถึงความสอดคล้องกับลักษณะของคดีแรงงานด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการพิจารณาคดีของศาลแรงงานเป็นเรื่องสำคัญหากจะแก้ไขต้องคำนึงถึงปัญหาทั้งโครงสร้างรวมถึงสภาพที่เกิดขึ้นจริงของศาลแรงงานในทางปฏิบัติด้วย 
 
ด้านศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 และอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง เปิดเผยว่า ความพยายามแรกเริ่มในการจัดตั้งศาลแรงงานคือต้องการให้เป็นศาลที่มีความแตกต่างจากศาลยุติธรรม โดยวางระบบให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งวิธีพิจารณาคดีและระบบของผู้พิพากษา ศ.เกษมสันต์กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอในการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมเช่นที่ศาลปกครองแยกออกมาเป็นอึกศาลหนึ่งตามระบบศาลคู่ อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นไปได้ยาก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปดูในเนื้อหาสาระการปฏิบัติของศาลแรงงานให้ยึดในระบบไต่สวน เนื่องจากเป็นระบบที่เหมาะสมกับวิธีพิจารณาคดีแรงงานในการทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่มากกว่าและเป็นประโยชน์กว่าระบบกล่าวหา โดยจะต้องมีความยึดโยงความจริงของข้อเท็จจริงให้มากเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลแรงงานเองก็ได้มีความพยายามที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางของคปก.ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจต่อกระบวนการไกล่เกลี่ยว่าโดยหลักการเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องมีเจตนาที่จะร่วมกันให้เกิดความตกลงกันได้ด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม การวางแนวทางของศาลแรงงานนั้นเห็นว่าหากบัญญัติได้ในระดับรัฐธรรมนูญจะเป็นการดี
 
ทางภาคเอกชนนั้นนายชัยปิติ ม่วงกูล กรรมการกฎหมายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะมีการปฏิรูปกระบวนการแรงงานนั้นควรมองเชื่อมโยงในเรื่องเศรษฐกิจและการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ด้วย เนื่องจากในทางการค้าระหว่างประเทศนั้นหากมีคดีแรงงานเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าปัญหาคดีแรงงานจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย
 
นอกจากนี้ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กล่าวว่า ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานประสบนั้นมีทั้งปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี และในช่วงหลังจากผู้ใช้แรงงานถูกนายจ้างเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงานควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการยอมความกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างแท้จริงบนหลักการที่ไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่น้อยลง และเห็นว่าการจัดตั้งศาลแรงงานโดยเฉพาะนั้นยังคงมีความสำคัญ
 
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้นำไปประมวลผลและจัดทำเป็นข้อเสนอในระดับรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระดับองค์กรและตัวบุคคลในกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรมการปกครองมีหนังสือด่วนคุมข้าราชการโพสต์หมิ่นเบื้องสูง

$
0
0
อธิบดีกรมการปกครองร่อนหนังสือถึงผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ควบคุมข้าราชการใช้คอมพิวเตอร์ของราชการในการเล่นโซเชียล์มีเดีย ป้องกันโพสต์หมิ่นเบื้องสูง

 
30 ม.ค. 2558 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือด่วนที่สุดออกมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา เรื่อง "แนวทางการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการ" โดยระบุแนวทางของทางราชการกรมการปกครองว่า ให้บุคลากรใช้คอมพิเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามไม่ให้บุคลากรใช้คอมพิวเตอร์ ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรม โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือการส่งอีเมลล์ ที่เข้าข่ายความผิดอาญา และให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์ หากมีบุคลากรกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย
 
ด้านนายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กล่าวว่า การออกหนังสือดังกล่าว เนื่องจากเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา มีข้าราชการฝ่ายปกครอง อ.เมือง จ.สระแก้ว ใช้ชื่อเฟซบุ๊ก “UnchaUnyo” เผยแพร่รูปภาพ และข้อความที่มีลักษณะหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งต้องดูผลของรูปคดีว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากมีความผิดก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางระเบียบราชการต่อไป อย่างไรก็ตามการออกหนังสือดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพแต่เป็นการป้องกันไม่ให้ใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อของทางราชการ ไปในทางที่ส่อให้เกิดความเสียหาย
 
นายกฎษฎา ได้กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรบหลักสูตรนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557ว่า ขณะนี้ มีผู้ขอยื่นคำร้อง 12 ราย อาทิ ข้อสอบไม่ชัดเจน ทั้งนี้ หลังวันที่ 3 ก.พ.จะมีการรวบรวมคำร้อง พร้อมทั้งจะมีการชี้แจง หากคำร้องเกี่ยวข้องกับข้อสอบ โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ส่วนคำร้องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบ กรมการปกครองจะเป็นชี้แจง ขณะที่ คำร้องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตในการสอบ ม.ธรรมศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ
 
"การสอบครั้งนี้ดูยุ่งยาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่เปิดให้ดูคะแนน ภายหลังการสอบ เพื่อให้ผู้สอบสามารถท้วงติงได้ ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส หากหลังการชี้แจงแล้ว ผู้สอบยังไม่พอใจก็สามารถไปฟ้องต่อศาลปกครองได้"นายกฤษฎา กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'Jaris' เครือข่ายสภานักเรียน มุ่งสร้างพื้นที่กลางเพื่อสันติภาพปาตานี

$
0
0
กำเนิด “Jaris : Jaringan Dewan Siswa Patani” หรือเครือข่ายสภานักเรียนปาตานี องค์กรคนรุ่นใหม่มุ่งเป็นพื้นที่กลางให้สภานักเรียนโรงเรียนอิสลามในชายแดนภาคใต้ เสริมศักยภาพความเป็นผู้นำนักเรียนและชุมชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาสังคม ยาเสพติด ฯลฯ

 
 
มูฮำหมัดคอยรี หะยีบากา ประธาน Jaris
 
ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี ก่อให้เกิดองค์กรภาคประชาสังคมหลายต่อหลายองค์กรขึ้นมาในพื้นที่ที่มีมีเป้าหมายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแก้ปัญหาในพื้นที่ ล่าสุดคือองค์กร “Jaris” มีชื่อเต็มว่า “Jaringan Dewan Siswa Patani” หรือคณะทำงานเครือข่ายนักเรียนปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายสภานักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่
 
Jaris ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งนายมูฮำหมัดคอยรี หะยีบากา ประธาน Jaris เล่าว่า Jaris เกิดจากนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรของวิทยาลัยประชาชน (People College) เมื่อปี 2556 เทอมสุดท้าย ซึ่งขณะนั้นทุกคนต้องไปฝึกงานโดยให้แต่ละคนไปคิดเองว่าจะฝึกงานเรื่องอะไรและที่ไหน
 
นักศึกษาบางกลุ่มเลือกฝึกงานโดยการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยเริ่มจัดอบรมให้กับคณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา ต.กอตอตือร๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
 
จากนั้นในปี 2557 นักศึกษากลุ่มนี้ได้ประชุมถอดบทเรียนจากการที่ฝึกงานดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมคิดว่าการอบรมดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมาก ที่ประชุมจึงมีมติที่จะเดินหน้าในการจัดอบรมเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนต่อไป จึงแต่งตั้งคณะทำงานเครือข่ายสภานักเรียนปาตานีขึ้นมา อย่างไม่เป็นทางการ
 
สำหรับคณะทำงานของ Jaris มาจากอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาและบางส่วนกำลังศึกษาอยู่ในจังหวัดยะลา 
 
นายมูฮำหมัดคอยรี บอกว่า หน้าที่หลักๆ ของ Jaris คือ การเพิ่มศักยภาพแก่คณะกรรมการสภานักเรียนในเรื่องต่างๆ เช่น เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ เทคนิคการการควบคุมนักเรียน เทคนิคการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เทคนิคการสื่อสารกับนักเรียน เป็นต้น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเป็นวิทยากร
 
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความรู้ความสามารถแก่คณะกรรมการสภานักเรียนโรงเรียนต่างๆ เพื่อพวกเขานำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมในโรงเรียนของตัวเองได้ รวมทั้งไปใช้ในการพัฒนาชุมชนของตัวเองได้ด้วย
 
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของ Jaris คือการเปิดพื้นที่กลางให้แก่คณะกรรมการสภานักเรียนของโรงเรียนต่างๆ ได้พื้นที่ในการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยมระหว่างสภานักเรียนของโรงเรียนต่างๆ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
 
นายมูฮำหมัดคอยรี เล่าว่า ที่ผ่านมา Jaris ได้จัดอบรมไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2557 มีคณะกรรมการสภานักเรียนจาก 5 โรงเรียนเข้าร่วม ได้แก่ 1.โรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา 2.โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา 3.โรงเรียนประทีปวิทยา อ.เมือง จ.ปัตตานี 4.โรงเรียนผดุงศาสน์ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 5.โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน อ.มายอ จ.ปัตตานี
 
ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน 2557 จัดที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 อ.เมือง จ.ยะลา มีตัวแทนคณะกรรมการสภานักเรียนจาก 5 โรงเรียนเดิมเข้าร่วม รวมกับตัวแทนโรงเรียนอื่นๆ เช่น โรงเรียนวัฒนธรรมพ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี โรงเรียนอิสลามบาเจาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นต้น
 
 
การอบรมครั้งนี้ได้ให้ความรู้เรื่องบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสภานักเรียน ความรู้ที่ทันสมัย ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมายเบื้องต้น สิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นต้น โดยเชิญตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเครือข่ายอาสาสมัครผู้ช่วยทนายความมาให้ความรู้
 
หลังจากจัดอบรมไปแล้วปรากฏว่ามีอีกหลายโรงเรียนได้ขอให้จัดอบรมด้วย แต่ปัญหาคือทาง Jaris ไม่มีงบประมาณดำเนินการ เพราะการจัดอบรมที่ผ่านมาใช้เงินบริจาคเท่านั้น
 
ถึงแม้ Jaris มีงบประมาณจำกัด แต่ด้วยความที่ทีมงานต้องการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการสภานักเรียน จึงประสานงานกับวิทยาลัยประชาชนให้สนับสนุนการจัดอบรมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 23 – 25 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ Poksu Homestay ริมหาดตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ทั้งงบประมาณและวิทยากร
 
นายมูฮำหมัดคอยรี บอกด้วยว่า จากการถอดบทเรียนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า Jaris เองยังไม่มีเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แต่มีจิตอาสาที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ ดังนั้นการจัดอบรมครั้งล่าสุดนี้ก็เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ Jaris ให้ชัดเจนมากขึ้น
 
เมื่อถามว่าอะไรคือเป้าหมายของ Jaris นายมูฮำหมัดคอยรี ตอบว่า “เราต้องการสร้างพื้นที่กลางสำหรับสภานักเรียนปาตานีได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในประเด็กต่างๆ เพื่อให้สภานักเรียนในฐานะเยาวชนปาตานีได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความขัดแย้งและอื่นๆ รวมทั้งการสร้างคณะกรรมการสภานักเรียนรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ”
 
ส่วนในอนาคตวางแผนไว้ว่า Jaris จะจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ มีสำนักงานและมีคนทำงานมากขึ้น และเพิ่มเครือข่ายให้มากขึ้นด้วย
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนกรีดยางตรังหนุนร่าง พ.ร.บ.การยาง ค้านใส่ไม้ยางแนบท้าย พ.ร.บ.สวนป่า

$
0
0
 
เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 30 มกราคม 2558 ที่ศาลาประชุมหมู่บ้านม.3 ต.นาข้าวเสียอ.นาโยง จ.ตรัง  เครือข่ายคนกรีดยางจ.ตรัง นำโดยนายสุวิทย์ ทองหอม นายสมคิด ทองหนัน นายสาโรช ขำณรงค์ นัดรวมตัวเกษตรกรที่กรีดยางพาราในจังหวัดตรัง ประมาณ 100 คนแถลงการณ์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาในวันเดียวกันและคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา
 
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุเหตุผลของการสนับสนุนว่า  เพราะในร่าง พ.ร.บ.การยางฯ มีการให้คำจำกัดความของคำว่าเกษตรกรสวนยาง รวมถึงผู้กรีดยางพารานอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ. การยางฯ ยังได้บัญญัติถึงการจัดสวัสดิการให้ชาวสวนยางพาราด้วย ซึ่งในร่างเดิมของ พ.ร.บ.นั้นไม่ได้ระบุไว้
 
ส่วนประเด็นคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 นั้น เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ระบุว่า การมีไม้ยางพาราในบัญชีแนบท้าย อาจส่งผลให้มีการตรวจสอบเข้มงวดว่าไม้ยางพาราไหนถูกปลูกในแปลงที่จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.สวนป่าฯ หรือปลูกโดยเกษตรกร อาจส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนในตอนต้องตัดโค่น และขนย้ายไม้ยางพาราได้อย่างลำบากมากขึ้น
 
แถลงการณ์เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ฉบับที่ 1
 
ตามที่คนกรีดยางซึ่งได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” และภาคใต้ ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย โดยให้มี 
 
1.เกษตรกรชาวสวนยาง หมายความว่า ผู้ทำสวนยางและมีสิทธิ์ได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยางที่ทำนั้น และรวมถึงคนกรีดยาง (ความตามร่างเดิมไม่มีคนกรีดยาง)
 
2.ให้มีบทบัญญัติว่าด้วย การจัดสวัสดิการชาวสวนยาง (ซึ่งในร่างเดิมไม่มี)
 
และในวันนี้ (30 มกราคม 2558) กรรมาธิการวิสามัญประจำสภาฯ จะทำการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
 
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยางฯ ต้องการจะสื่อสารไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญว่า พวกเราต้องการสนับสนุนให้มีการพิจารณาเพื่อเห็นชอบให้คนกรีดยาง ได้เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามนิยามแห่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้ชาวสวนยางได้มีสวัสดิการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย
 
พวกเราเครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง ไม่เห็นด้วย และคัดค้าน พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้มีบัญชีแนบท้ายอยู่ด้วย อันอาจจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการตัดโค่น ขนย้ายไม้ยางพาราไม่ได้อย่างมีอิสรเสรี ได้อีกต่อไป
 
ดังนั้น “เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง” ในนาม “แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง” จึงได้นัดรวมตัวกัน เพื่อแสดงพลังให้เห็นว่า
 
1.พวกเราสนับสนุนร่างพ.ร.บ.การยางฯ ดังกล่าวข้างต้น
 
2.คัดค้านพ.ร.บ.สวนป่า ซึ่งมีม้ยางพาราแนบท้ายอยู่ด้วย
 
หากไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์นี้ พวกเราจะรวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องและเจตนารมณ์ของพวกเราข้างต้น อย่างถึงที่สุด
 
ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นในพลังประชาชน
เครือข่ายคนกรีดยาง จ.ตรัง
30 มกราคม 2558
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา ‘ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015’

$
0
0
เสวนาพูดคุยถึงเรื่องกระแสการอ่านในปี 2015 ของเมืองไทยและทั่วโลก การกลับมาและคงอยู่ที่ชัดเจนของหนังสือเล่ม จากที่เคยถูกมองว่าจะถูกกลืนหายไปท่ามกลางการเติบโตของอุปกรณ์การอ่านดิจิตอล

 
 
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ณ อุทยานการเรียนรู้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 มีการเสวนา “ส่องเทรนด์โลกหนังสือ 2015” พูดคุยเพื่อเจาะลึกโดยมีวิทยากร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอสและเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา นายศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน นายโตมร ศุขปรีชา อดีตบรรณาธิการนิตยสารจีเอ็มโดยมี ทราย เจริญปุระ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
เนื้อหาการเสวนาพูดคุยถึงเรื่องกระแสการอ่านในปี 2015 ของเมืองไทยและทั่วโลก เนื่องจากขณะนี้มีการวิจัยจากต่างประเทศหลายสำนักอ้างอิงถึงการกลับมาและคงอยู่ที่ชัดเจนของหนังสือเล่ม จากที่เคยถูกมองว่าจะถูกกลืนหายไปท่ามกลางการเติบโตของอุปกรณ์การอ่านดิจิตอล รวมทั้งแนวหนังสือที่มาแรงของไทยและโลก และวิธีการสร้างวัฒนธรรมการอ่านในสังคมต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ
 
ภาพรวมของวงการหนังสือในเมืองไทย สื่อดิจิตอลที่เข้ามามีบทบาท ส่งผลต่อการเติบโตของวงการหนังสือในเมืองไทยและระดับโลกอย่างไร
 
นายวันชัย กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้การดูกับการอ่านใกล้กันมาก จนกระทั่งการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในเรื่องอินเตอร์เน็ตก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ เราดูมากขึ้นแต่อ่านน้อยลง โดยเฉพาะแท็บเล็ต โน้ตบุค ยิ่งทำให้เราดูมากขึ้น จนกระทั่งอ่านกับดูใกล้กันขึ้นมา ยกตัวอย่างแม็กกาซีนสร้างออกมาเพื่อการดูมากกว่าการอ่าน ทุกวันนี้เราดูหนังสือพิมพ์ ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ นิยามคำว่าการอ่านคือ อ่านไป คิดไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะสังคมทุกวันนี้เป็น Speed of time นี่คือเหตุผลว่าทำไมมันเป็นชัยชนะของเทคโนโลยี ทำไมวันนี้หนังสือพิมพ์ถึงล้มหายตายจากไป หนังสือพิมพ์ก็ต้องมาอยู่รอดโดยการดูผ่านสื่อออนไลน์ ถามว่าทุกวันนี้มีใครอ่านหนังสือพิมพ์ผ่านกระดาษบ้าง รวมถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เมื่อ 2-3 ปีก่อน เคยมีการสำรวจนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ปรากฏว่า 80% ของนักศึกษา อ่านจากอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของเทคโนโลยี นั่นหมายความว่าวิธีการเขียนของหนังสือพิมพ์ในเว็บไซต์ก็เปลี่ยนไปในเว็บไซต์จะกระชับ สั้น เพราะว่าการดูในแท็บเล็ตก็คือดูผ่านๆ แทบจะเรียกว่าเราดูหัวข้อข่าว ทุกวันนี้เราบริโภคข่าวจากเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ ถามว่าทุกวันนี้เรารู้ข่าวจากไหนมีสักกี่เปอร์เซ็นที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ ทุกวันนี้คนบริโภคข่าวผ่านเฟซบุ๊ก ยิ่งเป็นอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตโน๊ตบุ๊ค มันทำให้การอ่านกับการดูรวมเป็นเนื้อเดียวกัน ที่อเมริกา ปัญหาใหญ่ของคนทำทีวีคือไม่มีใครซื้อทีวีแล้ว ปริมาณของการซื้อทีวีลดลงอย่างรวดเร็ว ทิศทางใหญ่ของโลกก็คือการดูการอ่านมันผ่านอุปกรณ์เดียวก็คือแท็บเล็ตพฤติกรรมคนเวลาดูอะไรผ่านเร็วๆก็จะดูผ่านแท็บเล็ต แต่สุดท้ายกระดาษมันจะมีเสน่ห์ของมัน คนที่ต้องการอ่านอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ก็ยังอ่านได้จากกระดาษ หนังสือเล่มยังคงเรียกร้อง แต่หนังสือบางประเภทยังไงก็กู่ไม่กลับอย่างเช่นไกด์บุ๊ก ถึงจุดหนึ่ง คนกลุ่มหนึ่งจะรู้สึกว่าหนังสือน่าจะยังใช้ได้อยู่
 
นายโตมร พูดต่อประเด็นนี้ว่า การอ่านของไทยเป็นวิธีการอ่านแบบที่จะใช้คำว่าดูก็ได้ หรือบริโภคโดยผ่านการเล่า ก็คือเล่าให้ฟัง ผ่านการแสดง ผ่านลำตัด เราถ่ายทอดความจริงผ่านปากต่อปาก เป็นการเล่าให้ฟังหรือการแสดง เพราะฉะนั้นคนไทยเวลาที่บริโภคสื่อ จะคุ้นเคยกับการที่ตนเองนั่งเฉยๆและมีคนมาป้อนข้อมูลให้ แต่วิธีการอ่านหนังสือแบบโลกตะวันตก จะต้องเปิดหนังสือมาอ่านและทำความเข้าใจ มันฝังอยู่ในโครงสร้างของภาษาด้วย ภาษาไทยเป็นภาษาที่สวยงาม ไพเราะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราอ่านวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน ฯ เวลาเราอ่านออกเสียงมามันจะเพราะ มีคำที่ไพเราะ มันมาจากวิธีการถ่ายทอดความรู้ ความงาม ความจริง โดยผ่านการเล่า แต่ว่าของฝรั่ง แค่คำหนึ่งมันก็จะมีความคิด คือจะมีวิธีคิดที่ต่างกัน ด้วยตัวภาษาจะทำให้เราเห็นโลกไม่เหมือนกัน และส่งผลกระทบมาถึงวัฒนธรรมการอ่านด้วย ในสังคมที่วัฒนธรรมการอ่านเข้มแข็ง สังคมก็ให้คุณค่ากับคนผลิต อย่างงานมหกรรมหนังสือ เราอาจจะตื่นเต้นว่ามันหลายร้อยล้าน แต่จริงๆแล้วถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆถือว่าน้อยมาก
 
นายสิริพงษ์ กล่าวเสริมในเรื่องของงานสัปดาห์หนังสือล่าสุดถึงแนวโน้มของยอดขายที่ลดลงว่า คนเยอะขึ้นจริง แต่ยอดขายลดลงทุกสำนักพิมพ์ ตลาดหนังสือไม่ค่อยดี ยอดขายลดลง 20-30เปอร์เซ็นซึ่งน่าตกใจที่ลดมากขนาดนี้ ย้อนหลังไปเมื่อ4-5 ปีก็จะนิ่งๆหรือเพิ่มขึ้นมานิดหน่อยก็ไม่คิดว่ามันจะตกถึงขนาด 20% อาจเป็นเพราะในเรื่องของเศรษฐกิจ คนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย เท่าที่สังเกต คนที่เป็นนักอ่านก็เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อไปเยอะอย่างเห็นได้ชัด คือซื้อเฉพาะเล่มที่จะอ่าน จบแล้วค่อยไปซื้อใหม่ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะซื้อทีละหลายเล่มเก็บไว้ 
 
แนวหนังสือแบบไหนที่กำลังฮิตในตอนนี้
 
นายวันชัย กล่าวว่า ตนว่าหนังสือแนวความเชื่อ ศาสนา กำลังมาแรงมาก หรือหนังสือ How To แนวนี้อมตะนิรันดร์กาล เดี๋ยวนี้คนไทยอยากรวยเร็ว ไม่อยากเป็นลูกจ้าง หุ้นมาก่อนเลย ร้านซีเอ็ด หนังสือ 20 อันดับขายดี 5 เล่มก็คือหุ้น มันก็ชัดเจนและสะท้อนกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ที่จบมาแล้วอยากรวย ความเสี่ยงสูง แต่ขอให้รู้เทคนิค หนังสือหุ้นก็จะเป็นหนังสือ KnowHow ที่ประสบความสำเร็จมาก แน่นอนว่าตอนนี้หนังสือความเชื่อ หนังสือ Know How หรือ How To ขายดีแน่นอน แต่ที่น่าจับตาคือ หนังสือนิยาย วรรณกรรมต่างๆของไทยในช่วงปีที่ผ่านมาขายไม่ดี ยอดขายตกอย่างมีนัยยะสำคัญ จนบางสำนักพิมพ์ต้องปิดตัวไป แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมดีๆก็อีกเรื่องหนึ่งถ้าถามถึงหนังสือขายดีที่สุดในโลกคือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงค์ที่เป็นอมตะนิรันดร์กาลคือแฮรี่พอร์ตเตอร์ยอดขายประมาณเกือบสองร้อยล้านเล่ม ส่วนตัวคิดว่านิยาย วรรณกรรมต่างๆที่พูดมามันมีสูตรสำเร็จบางอย่าง แต่นักเขียนบ้านเรานั้นไปไม่ถึง นักเขียนของฝรั่งที่ประสบความสำเร็จระดับถล่มทลายส่วนใหญ่จะใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ผสมกับจินตนาการ เมื่อมองกลับมายังเมืองไทยตนยังไม่ค่อยเห็น และยังไม่ค่อยเห็นอะไรที่จะทำให้วรรณกรรมไทยกลับฟื้นขึ้นมาได้ เพราะดูแล้ววรรณกรรมของเมืองนอกคนเขียนเขาทำงานหนักมาก เขาไม่ได้จิบกาแฟและเขียนบนโต๊ะ แต่อีกอย่างหนึ่งที่มาแรงคือนิยายจีนกำลังภายในที่เขียนโดยคนไทย อันนี้น่าสนใจ มียอดขายสูงขึ้นเรื่อยๆ
 
นายวันชัย กล่าวต่อว่า วรรณกรรมส่วนใหญ่ของคนยุโรปมันสะท้อนปัญหาของคนในเวลานั้น นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมวรรณกรรมของยุโรปถึงอยู่กับคนยุโรปได้ตลอดเวลา เพราะว่ามันอยู่กับตัวเอง พอย้อนกลับมาของเมืองไทย มันมีไม่กี่วรรณกรรมที่มันสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆในสังคมไทย
 
นายโตมร กล่าวว่า หากมองในโลกของหนังสือที่ขายไม่ดี มันมีกระแสอะไรที่น่าสนใจบ้าง จริงๆนักเขียนรุ่นตนที่อายุสี่สิบกว่าๆ หลังจากรุ่นอายุสี่สิบแทบจะไม่มีนักเขียนที่มาเป็นคลื่น ตอนยุคตนมีผุดมากันเต็ม มาเป็นแผง หลากหลายเต็มไปหมด และหลังจากนั้นมันก็หยุด คนรุ่นถัดจากนั้นไม่เขียนหนังสือกันแล้วหรือยังไง แทบจะไม่มีคลื่นแบบนี้เลย ถ้ามีก็คงจะเป็นนิ้วกลมที่โผล่มา แต่ตนเห็นกระแสอีกอย่างหนึ่งที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึงคือ ตนคิดว่านักเขียนที่อายุยี่สิบแปดขึ้นไป ตอนนี้น่าสนใจมาก รุ่นสี่สิบทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะเขียนงานที่เป็น นอน-ฟิคชั่น แทบจะไม่มีใครเขียนนิยาย เรื่องสั้นเลย แต่เมื่อพอมาถึงรุ่นสามสิบ ตนพบว่า มีนักเขียนที่ลุกขึ้นมาทำงานฟิคชั่น ในกระแสโลกหรือสังคมไทยที่มันถีบฟิคชั่นไป ในสังคมการอ่านของไทยไม่สนใจฟิคชั่นเลย ปรากฏว่าตนเห็นนักเขียนในรุ่นนี้หลายคนมากที่หันมาหาฟิคชั่นและมีอีกกลุ่มหนึ่งในวัยสามสิบที่น่าสนใจคือแนวนักเขียนแซลมอน อะบุ๊ค เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นนักเขียนกำลังมาแรง มีวิธีเขียนไม่เหมือนกับคนยุคสี่สิบ คนยุคสามสิบจะมีการใช้ภาษาบางอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง รู้สึกว่าเป็นการใช้ภาษาที่น่าสนใจดี ตนมองว่าตอนนี้วงการหนังสือรุ่นใหม่มีอนาคต อาจจะยังไม่เป็นหนังสือBest Seller แต่ในอนาคตตนคิดว่ากลุ่มนี้จะโตขึ้น ค่อยๆขยายวงกว้างขึ้น และกลุ่มที่เขียนฟิคชั่น เรื่องสั้น นิยาย ทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยพึ่งตลาด เพราะเดี๋ยวนี้มันมีสิ่งที่เอื้ออำนวยให้นักเขียนรุ่นใหม่ได้เผยแพร่ กระจายผลงานตัวเองได้ผ่านออนไลน์ ตนคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
 
นายสิริพงษ์กล่าวว่า สำนักพิมพ์ในเมืองไทย หนังสือเล่ม หนังสือที่พิมพ์ออกมาใหม่แต่เนื้อหาเป็นเรื่องเก่า โดยเฉพาะงานแปลต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์ วรรณกรรมคลาสสิคที่เริ่มทยอยพิมพ์ออกมามันเริ่มหมดลิขสิทธิ์ และก็มีหลายเล่มที่ทยอยพิมพ์ออกมา จะสังเกตได้ว่าหนังสือไทยเริ่มเกิดสำนักพิมพ์ที่จับงานหมดลิขสิทธิ์ขึ้นมาตีพิมพ์ใหม่ค่อนข้างเยอะ บางเล่มเป็นกระแสด้วย และตีพิมพ์ตรงช่วงจังหวะพอดีไม่ว่าจะด้วยเรื่องหมดลิขสิทธิ์หรือสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่
 
พัฒนาอุปกรณ์ เครื่องมือในการอ่านดีไหม
 
นายสิริพงษ์ กล่าวว่า ถ้าของเมืองไทยที่เห็นก็คือแท็บเล็ตสมาร์ทโฟน เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นเครื่องอ่านแบบอีบุ๊กบ้านเรามันไม่เติบโต เริ่มแรกที่เขาเริ่มทำอีบุ๊กขึ้นมา ในเมืองไทยก็เหมือนต่างประเทศ เปิดปุ๊บก็ได้รับความนิยม แต่ช่วงหลังๆมันก็คงยังดีอยู่ อีบุ๊กจะมีกลุ่มคนอ่านพิเศษชัดเจนอยู่กลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในรุ่นวัยเริ่มต้นทำงาน หนังสือที่ขายดีในรูปแบบอีบุ๊กก็คือหนังสือแนวรักๆ โรมานซ์ ไปดูเบสเซลเลอร์ตลอดทุกปีในบ้านเราเป็นหนังสือพวกนี้ทั้งนั้น สิ่งใหม่อย่างหนึ่งก็คือ อีบุ๊กจะมีนักเขียนเกิดใหม่ นักเขียนเหล่านี้จะไม่มีงานที่พิมพ์เป็นกระดาษ พอเขียนจบก็จะส่งขายผ่านอีบุ๊กไปเลย ในเมืองไทยมีแบบนี้อยู่เยอะพอสมควร และก็เป็นเทรนด์เดียวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เกิดในอเมซอน นักเขียนที่เกิดขึ้นมาและก็มีผลงาน ส่วนหนึ่งก็เขียนบล็อก เขียนเพื่อจะขายแต่ผลิตเป็นอีบุ๊กโครงสร้งของอเมซอนจะมีเพิ่มเติมก็คือ เป็นอีบุ๊กแล้วน่าจะเป็นกระดาษ สามารถสั่งซื้อได้ ของบ้านเรายังไปไม่ถึงตรงจุดนั้น 
 
ตนคิดว่าคนรุ่นใหม่ๆ คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้สึกแปลกกับการอ่านผ่านแท็บเล็ตหรืออะไรก็ตาม แต่ว่ามันมีข้อจำกัดคือมันอ่านนานๆไม่ได้ หากอ่านหนังสือที่มันซีเรียส มานั่งอ่านบนอุปกรณ์แบบแท็บเล็ตก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นแนวหนังสือที่จะอ่านได้คือบันเทิงเริงรมณ์เป็นหลัก หรือไม่ก็หนังสือที่อ่านได้ง่ายๆ ในระดับโลกอีบุ๊กมันเติบโตไปเรื่อยๆ ในอเมริกาตลาดอีบุ๊กสูงที่สุดในโลก กว่า 20 % เป็นอีบุ๊ก ที่เหลือเป็นกระดาษ ปีที่ผ่านมาอีบุ๊กไม่เติบโตแต่เริ่มนิ่ง ขณะที่หนังสือพิมพ์กระดาษก็ยังคงนิ่ง แต่ว่าแนวโน้มในระยะยาว อีบุ๊กยังคงจะเติบโตไปอีก ประมาณสัก 6-7 ปีข้างหน้า ทั่วโลกอีบุ๊กจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณสัก 29% คือเวลาเรามองเห็นตลาดที่มันนิ่งในอเมริกาเพราะตลาดมันเริ่มอิ่มตัวก็จะค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ แต่มันมีตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย เม็กซิโก อีบุ๊กจะเติบโตเพราะว่าการเข้าถึงหนังสือกระดาษของเขามีโอกาสน้อย พอเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ก็สามารถอ่านอีบุ๊กผ่านจอราคาถูกๆได้ ด้วยราคาที่ถูกกว่าหนังสือเล่มสำหรับคนเหล่านั้น การอ่านมันก็เลยขยายตัวไปโดยปริยาย ตนเคยเห็นข้อมูลของยูเนสโกที่ไปสำรวจบางประเทศแถบเอเชียพบว่า เขาใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงหนังสือและอ่านให้ลูกฟัง เพราะฉะนั้นมันถึงได้เติบโต
 
นายสิริพงษ์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ก็ใช้โซเชียลมีเดียกันเยอะ ในด้านมาเก็ตติ้ง การรับฟีดแบ็ค คือมันมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นคนที่ตั้งใจจะใช้มันอย่างจริงจัง ที่เห็นส่วนมากคือจะใช้สร้างตลาด แฟนคลับ แต่ยังไม่เห็นการใช้สำรวจตลาดในเมืองไทยอย่างจริงจัง อย่างที่ปรากฏการณ์ใหม่ๆของบางสำนักพิมพ์ทดลองทำก็คือ หากตอนนี้จะพิมพ์เรื่องนี้ มีใครสนใจก็ให้มาจองไว้ก่อน เพื่อดูปริมาณว่าควรจะพิมพ์มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันก็ช่วยได้เยอะ แต่ที่น่าจะพัฒนาไปกว่านี้ก็คือการสื่อสารที่จริงจังระหว่างสำนักพิมพ์กับคนอ่าน เพื่อให้คนเขียนจะได้นำคอนเทนตรงนี้ไปผลิตหนังสือให้ตรงความต้องการกับคนอ่าน
 
นายโตมร กล่าวว่า คนที่อยู่รอบตัวมีคินเดิลกันหมด แทบทุกคนก็ใช้คินเดิลอ่านหนังสือกันหมด หนังสือส่วนใหญ่ที่ซื้อกันก็เป็นหนังสือที่หายากในเมืองไทย เพราะฉะนั้นจึงซื้อผ่านทางอเมซอน แต่ว่ามีอีกเทรนด์หนึ่งก็คือ บางคนใช้วิธีซื้อหนังสือเสียงของฝรั่ง ซึ่งมันน่าสนใจมากตรงที่ว่าเขาไปจับเอาดาราดังๆมาอ่าน เวลาที่ดาราอ่านเรื่องต่างๆ แล้วมันก็มีการตีความ ซาบซึ้ง เข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น แต่ถ้าฟังไปด้วยเวลาที่ขับรถ หรือเวลาที่เดินออกกำลังกาย หากเป็นหนังสือที่เป็นฟิคชั่นจะไม่ดี ถ้าใจเราไม่อยู่กับหนังสือ พลาดไปตอนหนึ่งก็ต้องย้อนกลับไปใหม่ แต่ถ้าเป็นนอน-ฟิคชั่นก็จะดีหน่อย พลาดอะไรบางอย่างไปมันก็พอจะรู้เรื่องได้บ้างแต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดเหมือนกันคือ คินเดิลไม่สามารถกรีดหน้าแบบหนังสือเล่มได้
 
นายวันชัย กล่าวว่า ถ้าใช้โซเชียลมีเดียอย่างฉลาดก็แทบจะไม่ต้องซื้อสื่อเลย มีนักเขียนจำนวนมากทั้งในและนอกประเทศมีแฟนเพจ ก็อาศัยการขายในออนไลน์ เพราะเขามีแฟนเพจของเขา ถ้าฉลาดในการใช้โซเชียลมีเดีย จะรู้ว่ามันถูก และคุ้มค่าในระยะสั้น ตรงส่วนนี้มีประโยชน์ อีกอย่างหนึ่งคือตนคิดว่าคินเดิลเกิดในเมืองไทยยาก เพราะว่าคนไทยไม่ใช่คนอ่านหนังสือ มันประสบความสำเร็จในแท็บเล็ต แต่ว่ามันใช้ดู ถ้าอ่านจริงๆ ตนคิดว่ามันอาจจะเกิดได้จำนวนหนึ่ง ไม่ได้ถล่มทลาย ในอนาคตมีกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของประเภทหนังสือ ทุกวันนี้สังคมไทยมันก้าวสู่สังคมคนสูงอายุ ประชากรไทยส่วนใหญ่มีลูกกันครอบครัวละคน ข้อดีของคนสูงอายุคือมีเวลาว่าง ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยเป็น ที่สำคัญมีเงินมาก คิดว่าคนเหล่านี้มีการซื้อ เพราะมีเวลาในการอ่าน ที่สำคัญคือเขาเริ่มนิ่ง เขาอยากจะรู้อะไร คนเหล่านี้ส่วนใหญ่สนใจอดีต งานประวัติศาสตร์ งานวรรณกรรมดีๆ อ่านได้ตลอด ตนคิดว่ามีกลุ่มคนที่ซื้องานพวกนี้เยอะมาก ในแง่ของหนังสือตนก็มองว่านี่เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถขายได้เรื่อยๆ มันน่าจะดีกว่าหนังสือหุ้น ที่โผล่มามาและหายไปเลย 
 
ทิศทางของหนังสือในปีนี้จะเป็นอย่างไร นักเขียนจะยังคงอยู่ได้ไหมกับการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท
 
นายโตมร กล่าวว่า เราก็อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ หากพูดถึงโซเชียลมีเดียก็จะนึกถึงเฟซบุ๊กทวิตเตอร์ แต่ว่าจริงๆแล้วมันก็เป็นการใช้โซเชียลมีเดียอีกแบบหนึ่ง ที่น่าจะเกิดประโยชน์กับแวดวงการอ่านได้ ด้วยโซเชียลมีเดีย ในอนาคตจะเหมือนกับว่าเราอยู่ในไบเบิล ก็คือพูดภาษาเดียวกันมากขึ้น ในการพูดภาษาเดียวกัน หนังสือในแบบที่มันพยายามสร้างความเข้าใจคือ เขียนให้มันง่าย ทำให้คนเข้าใจ สิ่งที่เป็นนอน-ฟิคชั่น มันก็พยายามที่จะบอกเราถึงสาระทั้งหลาย มันน่าจะเป็นสื่อกลาง และหลังจากนั้นจะเกิดปฏิสัมพันธ์อะไรต่อไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าน่าจะเป็นเทรนด์ที่สำคัญ
 
นายวันชัย กล่าวปิดท้ายว่า อย่างที่บอกไปว่าฝีมือการเขียนนิยายวรรณกรรมบ้านเรามันยังไม่พัฒนา ตนยังเชื่อว่าสูตรสำเร็จของการเขียนวรรณกรรม มันต้องมีความรู้บวกจินตนาการ ถ้าเราสามารถที่จะพัฒนาความรู้กับจินตนาการมันจะดีขึ้นมากกว่านี้ สุดท้ายอยากจะบอกว่า หนังสือมันก็สะท้อนคุณภาพของคนในสังคม
 
"ถ้าผมเป็นฝรั่งมาเมืองไทย แล้วเห็นชั้นวางหนังสือในร้าน มีแต่หนังสือหุ้นเต็มไปหมด ผมคงคิดว่าเมืองไทยนี่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงและไม่แน่นอนสูงจริงๆ"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

58 ปี ธรณีพี่นี้มอบแร่แด่นายทุน

$
0
0
ช่วงเวลา 58 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.แร่ ในปี 2510 ผ่านร้อนผ่านหนาวกับระบอบประชาธิปไตยและความขัดแย้งของขั้วอำนาจทางการเมือง จนถึงรัฐบาลทหารในปี 2558 เหมืองทอง นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวกับแร่ สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ธุรกิจเหมืองแร่ที่ทุกฝ่ายสมคบคิดโอบอุ้มคุ้มครองกันมาโดยตลอดมีการเติบโตขึ้นภายใต้โครงสร้างที่เอื้อสิทธิและสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักลงทุนกับชนชั้นนำ

 
 
 
 
 
 
 
 
พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 เป็นกฎหมายแร่ฉบับแรกที่เกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ช่วงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกเฟื่องฟู  ในสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร 
 
เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ คือ การนำทรัพยากรธรณีขึ้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศเปิดกว้างการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ผ่านระบบสัมปทานผูกขาดทรัพยากรแร่ไว้เป็นของรัฐ และการขออนุญาตทำเหมืองแร่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ
 
ในประเทศไทยพลังท้าทายอำนาจรัฐครั้งแรกเกิดจากชนวนเหตุแห่งการทุจริตในวงราชการการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ และข่าวซากกระทิงที่ถูกล่าจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจำนวนมากในซากเฮลิคอปเตอร์ที่เกิดอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาในอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม รวมถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมได้สร้างแรงประทุภายในทำให้เกิดการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนในประเทศเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจาก จอมพลถนอม ในปี 2516 และนำไปสู่การเลือกตั้งในปี 2518 นับเป็นการลุกฮือของมวลประชาชนเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 20 ที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยได้สำเร็จ
 
แต่อีกด้านหนึ่งในมิติของทิศทางการพัฒนาประเทศโดยใช้ทฤษฎีทางเศรษฐกิจเป็นธงนำโดยที่ “แร่ยังเป็นของรัฐ” 
 
การจัดการทรัพยากรแร่ การกระตุ้นการลงทุนพัฒนาแหล่งแร่ในประเทศ โดยลดข้อจำกัดในการสำรวจศักยภาพแร่ ความพยายามที่จะขยายเขตทำเหมืองแร่ให้ครอบคลุมสัมปทานแร่ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้รัฐพยายามขยายขอบเขตอำนาจ ซึ่งสะท้อนภาพเด่นชัดจากการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในพรบ.แร่ พ.ศ.2510 รวม5 ฉบับจากปี 2516 ในรัฐบาลจอมพลถนอม ปี 2522 ในรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปี 2526 และ 2528 ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปี 2534 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และปี 2545 ในรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 
 
การแก้ไขกฎหมายแร่ทุกครั้ง หมายถึง การเอื้อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ไม่ว่าจะเป็น การให้สัมปทานทำเหมืองใต้ดินลึกเกิน  100 เมตรได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของที่ดินด้านบนการอนุญาตให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดิน หรือการให้รัฐมนตรีโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจเต็มในการกำหนดพื้นที่ที่ได้สำรวจแล้วว่ามีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมีมูลค่าสูงเป็น “เขตแหล่งแร่” เพื่อให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ได้และยังมีความพยายามที่ยังไม่สำเร็จอีกหลายครั้งที่จะนำพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมซึ่งระบุใน พรบ.แร่ ไม่ให้มีการทำเหมืองแร่มาให้อาชญาบัตรและประทานบัตรแก่นักลงทุนให้ได้
 
นโยบายเศรษฐกิจในการใช้ทรัพยากรแร่โดยระบบสัมปทานที่เปิดทางเอื้อต่อนักลงทุนในลักษณะนี้ มีตัวอย่างจากกรณีศึกษาเหมืองแร่ทองคำที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่งในประเทศ
 
ย้อนกลับไป 30 กว่าปีก่อนในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดย นายประมวล สภาวสุ ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็น รมช.อุตสาหกรรมสมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
 
ส่วน ดร. ประภาส จักกะพาก เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี สมรสภรรยาในตระกูลจูตระกูล กลุ่มธุรกิจเก่าแก่ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงนั้นมีตระกูลธุรกิจไม่กี่ตระกูลที่มีกิจการหลักทรัพย์ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดการเงินของประเทศไทย
 
ในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิงเบอฮัด และ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด ธุรกิจของตระกูล กาญจนะวณิชย์ ได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ในทะเล โดยทำสัญญาให้ผลประโยชน์พิเศษตอบแทนในการอนุญาตทำเหมืองในทะเล ระหว่าง บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ทินเดร็ดยิงเบอฮัด และ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด กับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม โดย มติครม. วันที่ 23 ธันวาคม 2523 แต่งตั้งดร.ประภาส อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้แทนภาครัฐบาลไปเป็นคณะกรรมการในบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ
 
ต่อมา กรมทรัพยากรธรณี กับ บริษัท อ่าวขามไทย จำกัด ธุรกิจของตระกูล ชาญวีรกุล และบริษัท ชลสิน จำกัด ทำสัญญาเกี่ยวกับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 และ มติครม. วันที่ 2 ตุลาคม 2533 แต่งตั้งดร. ประภาส อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้แทนภาครัฐบาลไปเป็นคณะกรรมการในบริษัทชลสินฯ
 
ภาพของกลุ่มธุรกิจที่รวมกลุ่มเป็นพันธมิตรต่อกันในยุคนั้นปรากฏชัดเจนในรายชื่อผู้ถือหุ้นสำคัญๆ ของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงการคลังธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยที่นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ฯ  และนายจิรายุยังได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากปี 2530 มาจนปัจจุบัน
 
ล่วงเลยมาในปี 2531 หลังการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทำให้เกิดวลีโด่งดังที่ใช้เรียกขานในยุคนั้นว่า "โชติช่วงชัชวาล"พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยุบสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนที่17 ชื่อ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มี นายบรรหาร ศิลปอาชาเป็น รมว.อุตสาหกรรม
 
วันที่ 10 ม.ค. 2532 มติครม. อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม ออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษ และประทานบัตร สำหรับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย และบริเวณใกล้เคียง เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง จำนวน 1.51 ล้านไร่ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
 
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมผู้ชงเรื่อง ออกประกาศ กำหนดพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ 4 แปลง ได้แก่ แปลงที่ 1 พื้นที่ภูโล้น-นางิ้ว 400 ตร.กม แปลงที่ 2 พื้นที่ปากชม-หาดคำภีร์ 740 ตร.กม แปลงที่ 3 พื้นที่ถ้ำพระ-ภูหินเหล็กไฟ 740 ตร.กม แปลงที่ 4 พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง 545 ตร.กม ในวันที่ 19 ก.ค. 2532 จากนั้นนำพื้นที่แปลงใหญ่ 4 แปลง เปิดประมูลให้เอกชนสำรวจแร่และทำเหมืองแร่
 
การนำพื้นที่ออกประมูลในครั้งนั้นรัฐบาลได้ค่าตอบแทน 16.07 ล้านบาท จาก บริษัท ผาคำ เอ็กซ์พลอเรชั่นแอนด์ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ทุ่งคาฮาร์เบอร์ จำกัด และบริษัท ภูเทพ จำกัด เอกชนที่ชนะการประมูลพื้นที่ทั้ง 4 แปลง
 
นับเป็นการให้สิทธิผูกขาดแก่ผู้ประกอบการเหมืองแร่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยช่องทางพิเศษ โดยละเมิดกฎหมายที่ดินฉบับอื่นๆ และละเมิดสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินของรัฐ เอกชน หรือที่ดินส่วนบุคคลอย่างชัดเจน เนื่องจากหากผู้ประกอบการรายอื่นจะขอสำรวจหรือทำเหมืองในที่ดินของผู้ประกอบการที่ได้สิทธิพิเศษจากการประมูลนี้ อันดับแรกจะต้องได้รับอนุญาตและผู้ประกอบการที่ได้สิทธิจะต้องทำเรื่องขอถอนที่ดินออกจากอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ก่อน
 
หลังรัฐประหารโค่นรัฐบาลชาติชาย โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ภายใต้ความขัดแย้งทางอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทหารและชนชั้นนำ และการทุจริตคอรัปชั่นในบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอย่างกว้างขวาง ช่วงเวลา 2 ปีนั้น ประเทศไทยเปลี่ยนนายกฯ จาก นายอานันท์ ปันยารชุน พลเอก สุจินดา คราประยูร นายมีชัย ฤชุพันธุ์ จนในที่สุดการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้ง และ นายชวน หลีกภัย เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมว.คลังและนายสิปปนนท์ เกตุทัต เป็น รมว.อุตสาหกรรม 
 
และระหว่างสถานการณ์ทางการเมืองวุ่นวายนั้น บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 พ.ย. 2534 โดย บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ถือหุ้น 95.9% จากนั้นอีก 4 วัน (5 พ.ย. 2534) มีการทำสัญญาว่าด้วย การสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ แปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง โดยไม่ระบุระยะเวลาสิ้นสุด ระหว่าง กรมทรัพยากรธรณี บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ และ บริษัททุ่งคำ โดยที่ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นกรรมการและเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา ของ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์และอยู่ในช่วงที่นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี
 
ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีนายอาณัติ อาภาภิรมเป็น รัฐมนตรีและเคยมีบทบาทอย่างมากในตำแหน่งผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระหว่างปี 2530 ถึง ปี 2534
 
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีมติที่ประชุม วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 อนุมัติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในที่ดินที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวรและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรี ป่าหมายเลข 23 อำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอภูกระดึง อำเภอภูเรือ อำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง และกิ่งอำเภอภูหลวง รวม 18 แปลง เนื้อที่ประมาณ 238,970 ไร่ (พื้นที่ให้ความยินยอมอยู่ในป่าหมายเลข 23 แปลง 9) และ ให้กันพื้นที่เป็นพื้นที่จำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทรัพยากรธรณี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
 
ส่วนกรมป่าไม้ ที่มีนายทิวา สรรพกิจ ดำรงตำแหน่งอธิบดี คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เห็นชอบให้กันเขตแหล่งแร่ในท้องที่จังหวัดเลยออกจากเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม
 
กระบวนการนี้นำไปสู่ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่บางแห่งในอำเภอเชียงคาน อำเภอเมืองเลย อำเภอนาแห้ว อำเภอภูเรือ อำเภอวังสะพุง อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูหลวง อำเภอภูกระดึง และอำเภอผาขาว จังหวัดเลย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ในสมัยพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ขึ้นว่าการเป็น รมว.อุตสาหกรรม และมีผลทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งที่ บริษัททุ่งคำ ได้รับอนุญาตให้ทำการสำรวจแร่ทองคำอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน
 
สถานการณ์ทางจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ในช่วงเวลาเดียวกัน บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ในเครือ Kingsgate Consolidated NL ของออสเตรเลีย จดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2536 และได้อาชญาบัตรพิเศษสำรวจหาแหล่งแร่ทองคำ จากสายแร่ที่พาดผ่านจากตอนบนของอีสาน จากเลย มาสู่รอยต่อเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก บริเวณเขาหม้อ เขาเจ็ดลูก ประทานบัตร 14 แปลงแรก เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ เรียกว่า “เหมืองทองชาตรี”มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเช่นกัน
 
กล่าวได้ว่า การเปิดให้ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถนำไปให้นักลงทุนทำเหมืองแร่ได้ อุบัติในช่วงเวลานั้น
 
ต่อมา พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย นายกร ทัพพะรังสี เป็น รวม.อุตสาหกรรม มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2540 อนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ให้กรมทรัพยากรธรณีแก้ไขสัญญาเกี่ยวกับการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างกรมทรัพยากรธรณี กับบริษัท อ่าวขามไทย จำกัด และบริษัท ชลสิน จำกัด ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระค่าภาคหลวงแร่ทองคำ ให้อัตราค่าภาคหลวงแร่ไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะปรับเปลี่ยนไปตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ
 
ในรัฐบาลชวน 2 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภเป็น รมว.อุตสาหกรรมนายปองพล อดิเรกสารเป็น รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ เลขาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี มีความเคลื่อนไหวทางนโยบายและกฎหมายที่สำคัญๆ คือ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินฯ ออกระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง การให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น พ.ศ. 2541
 
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผู้ประกอบการเหมืองแร่สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อนำไปทำเหมืองแร่ได้ตามกฎหมายโดยจะมีการเรียกเก็บเงินแก่ผู้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 อัตราร้อยละ 2 ของราคาที่ดินคูณด้วยจำนวนปีที่ใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนที่ 2 ให้คิดจำนวนเงินเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวงแร่
 
จากนั้น มติ ครม. วันที่ 6 กรกฎาคม 2542 ให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมทรัพยากรธรณี ดำเนินโครงการเร่งรัดการสำรวจและประเมินศักยภาพทรัพยากรแร่ เป็นระยะเวลา 7 ปี (2543-2549) วงเงินรวม 1,512 ล้านบาท เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่สูง 60 พื้นที่ทั่วประเทศ เนื้อที่ประมาณ 22,750,000 ไร่ โดยจ้างเหมาเอกชนสำรวจแร่ ทั้งนี้ให้ผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีทุกฉบับที่เกี่ยวกับข้อหวงห้ามในการเข้าไปสำรวจ และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม และพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ซึ่งแหล่งแร่ทองคำเป็นเป้าหมายหลัก
 
11 พ.ย. 2542 ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 กำหนดให้กรมทรัพยากรธรณี จัดสรรค่าภาคหลวงแร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดสรรปีละ 4 งวด ทั้งนี้ ค่าภาคหลวงแร่ที่จัดเก็บในแต่ละปี ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 จะส่งเข้าคลัง 40% ส่วนอีก 60% จะจัดสรรให้ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 20% อบต. เจ้าของพื้นที่ที่มีการทำเหมือง 20% อบต. อื่นๆ ในจังหวัดที่มีการทำเหมือง 10% และอบต. อื่นนอกจังหวัด 10%
 
ในปี 2543กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และกระทรวงอุตสาหกรรม ออกตัวเต็มที่ในการชูนโยบายที่จะใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่ของประเทศ สร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและประกอบการกิจการเหมืองแร่ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศในการพัฒนาเหมืองแร่ขนาดใหญ่ เน้นที่ การทำเหมืองแร่ทองคำ โดยการเร่งรัดสำรวจแหล่งทรัพยากรแร่ทั่วประเทศ และจัดทำฐานข้อมูลวัตถุดิบด้านทรัพยากรแร่ ให้มีความพร้อมในเชิงพาณิชย์และเชิงนโยบายซึ่งในปีเดียวกันนั้น บริษัทอัคราไมนิ่ง เริ่มดำเนินการทำเหมืองแร่ทองคำที่แหล่งชาตรี
 
เมื่อเข้ายุครัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.อุตสาหกรรม นายนภดล มัณฑะจิตร เป็น อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก เป็น อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
 
2 ต.ค. 2545 พระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมได้ปรับบทบาทความรับผิดชอบในภารกิจเดิม กระจายเป็น 4 หน่วยงาน คือ งานด้านเหมืองแร่และโลหกรรม สังกัดอยู่ในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง งานด้านสำรวจธรณีวิทยาและศักยภาพแหล่งแร่ สังกัดอยู่ใน กรมทรัพยากรธรณี งานด้านสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาล สังกัดอยู่ในกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และ งานด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดอยู่ในกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน
 
กรมทรัพยากรธรณี ถูกปรับบทบาทเป็นแค่หน่วยงานเพื่อการศึกษาและสำรวจ ส่วนงานบริหารจัดการทั้งหมดและการจัดเก็บรายได้ย้ายไปขึ้นตรงกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
 
ด้านความเคลื่อนไหวของกรมป่าไม้ ในช่วงนายฉัตรชัย รัตโนภาส เป็นอธิบดี วันที่ 17 ม.ค. 2548 มีการออกระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2548 คือ การอนุญาตให้ใช้ที่ป่าเพื่อการทำเหมืองแร่
 
นอกจากนั้น มติ ครม. วันที่ 8 มีนาคม 2548 ให้กรมทรัพยากรธรณีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่เพื่อการทำเหมือง ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (ยกเว้นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) เพื่อให้สามารถอนุญาตประทานบัตรและต่ออายุประทานบัตรแทนการผ่อนผันการทำเหมืองในพื้นที่ดังกล่าวจากคณะรัฐมนตรีเป็นแต่ละรายคำขอ หรือรายผู้ประกอบการ มติ ครม. นี้อยู่ในช่วงที่นายสมศักดิ์ โพธิสัตย์ เป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานเกี่ยวกับการสำรวจทรัพยากรธรณีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CCOP)
 
หลังปี 2549 กระแสราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกิดขึ้นอีกครั้งโดยมี เหมืองทองคำเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ประเทศไทยต้องการให้นักลงทุนต่างชาติ
 
วันที่ 2 มิถุนายน 2549 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ปรับหลักเกณฑ์การเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในการขออาชญาบัตรพิเศษสำหรับการสำรวจแร่ทองคำ ซึ่งมีผลผูกพันเมื่อได้รับอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษ โดยให้ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐตอบแทนการอนุญาตประทานบัตรในพื้นที่สำรวจแร่ตามอาชญาบัตรพิเศษในอัตราก้าวหน้า รวมถึง การขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำในเขตลุ่มน้ำ 1 เอ และ 1 บี ให้ผู้ขอประทานบัตรเสนอผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในอัตราเป็น 2 เท่า
 
กันยายน 2549 บริษัททุ่งคำ ได้รับอนุญาตให้ประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ และเปิดการทำเหมืองแร่
 
และระหว่างที่เหมืองทอง 2 แห่งในประเทศเปิดทำเหมืองได้ด้วยการผลักดันนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความผกผันทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งของประเทศก็อุบัติขึ้นจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประท้วงและขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมีชนวนเหตุหลัก คือ การทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมถึงนโยบายการค้าเสรีกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ถูกเรียกในช่วงเวลานั้นว่า ระบอบทักษิณ ทุนนิยมสามานย์ โกงชาติโกงแผ่นดิน เป็นต้น 
 
อย่างไรก็ตาม การประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ สิ้นสุดลง ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังการก่อรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน
 
ในปี 2550 มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งทั่วไป พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม และ นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก เป็นอธิบดี กพร. แต่เพียง 2 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ กพร. และ บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ บริษัททุ่งคำ ทำสัญญาจ่ายผลประโยชน์พิเศษเป็นเงินแก่รัฐบาล ร้อยละ 1.5 ของกำไรหลังจากชำระค่าภาคหลวงแร่แล้ว เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2550 และเพียงไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้บริษัททุ่งคาฮาเบอร์ สามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่ 4 พ.ค.2550
 
ต่อเนื่องมาในวันที่ 17 ต.ค. 2550 กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศใช้กฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2550 ปรับปรุงพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่บางชนิด จากเดิมที่ใช้อัตราคงที่ร้อยละ 2.5 ของราคาที่อธิบดีประกาศ เป็นอัตราก้าวหน้า โดยอัตราสูงสุดที่ปรับขึ้น คือ ร้อยละ 20 ของราคาทองคำต่อกรัม สำหรับราคาส่วนที่เกิน 1,500 บาทขึ้นไป
 
23 ม.ค.2551 กรมป่าไม้อนุญาตให้ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด เข้าทำประโยชน์ในฟื้นที่ป่า ในช่วงที่นายสมชัย เพียรสถาพร เป็น อธิบดี
 
เข้าสู่สมัยที่ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2551ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายสิทธิพิเศษการลงทุนในกิจการเหมืองแร่แก่นักลงทุนอาเซียน จากที่ไทยเคยให้นักลงทุนอาเซียนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 60 เท่ากับที่ให้แก่นักลงทุนออสเตรเลีย 
 
ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งคาดว่าจะเป็นสถานการณ์สั่นคลอนทางการเมืองที่นักการเมืองต้องรับแรงกดดันทางสังคมอย่างหนัก นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดี กพร. นายมณฑป วัลยะเพ็ชร์ ผอ.สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ขอลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัททุ่งคาฮาร์เบอร์ และ บริษัทชลสิน เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551หลังจากมีตำแหน่งในฐานะกรรมการบริษัทฯ ทั้งสองมา 28 ปี และ 18 ปี ตามลำดับ โดยให้กระทรวงการคลังส่งผู้แทนมาเป็นกรรมการบริษัทฯ ทดแทน
 
ทั้งนี้ ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากคำวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ และ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 กันยายน 2551 โดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันเดียวกันนั้น รัฐบาลมี มติ ครม. วันที่ 9 กันยายน 2551เห็นชอบการกำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ (Mining Zone) ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1A และพื้นที่ป่าอนุรักษ์
 
และในปีเดียวกัน เมื่อปรับ ครม. นายสุวิทย์ คุณกิตติเป็น รมว.อุตสาหกรรม บริษัทอัครไมนิ่งฯ ได้รับอนุญาตในการขอขยายพื้นที่และโรงงานทำเหมืองแร่และผลิตโลหกรรมเพิ่มเติมโดยใช้ชื่อว่า “โครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ”
 
ต่อมาในปี 2553 – 2556 ในช่วงเวลาที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็น รมว. กระทรวงอุตสาหกรรม นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เป็น อธิบดี กพร.
 
13 ธ.ค. 2553 กพร. ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร การออกประทานบัตร การต่ออายุประทานบัตร และการโอนประทานบัตร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2553 เพื่อให้สามารถจัดเก็บเงินค่าตอบแทนการใช้ที่ดินเพื่อทำเหมืองแร่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ข้อ 2.3 ในกรณีผู้ถือประทานบัตรขอขนแร่ออกจากเหมืองแร่ ให้เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินในอัตราเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวงแร่ที่ผู้ถือประทานบัตรชำระให้แก่เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ โดยให้เรียกเก็บพร้อมกับค่าภาคหลวงแร่และนำส่งคลังจังหวัด
 
ประกาศนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ เนื้อหาโดยสรุปที่ระบุไว้ในประกาศ คือในพื้นที่แหล่งแร่ทองคำที่ภาครัฐเป็นผู้สำรวจพบแหล่งแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะดำเนินการเพื่อประกาศกำหนดเขตเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่ โดยจะคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาทำการพัฒนาแหล่งแร่ 
 
การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำให้กระทำโดยการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเท่านั้น และผู้ขอต้องสนองตอบต่อนโยบายการเพิ่มมูลค่าในการทำเป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์ โดยเสนอโครงการผลิตทองคำให้เป็นโลหะบริสุทธิ์ เพื่อรองรับผลผลิตจากโครงการของผู้ขอ หรือสามารถดำเนินการร่วมกับผู้ขอรายอื่น เพื่อให้สอดคล้องตามความเป็นไปได้ของโครงการผลิตทองคำบริสุทธิ์
 
ในกรณีที่พื้นที่การขอสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 พื้นที่ที่ยื่นขอสิทธิสำรวจจะต้องมีศักยภาพเพียงพอ และพื้นที่ที่ยื่นขอทำเหมืองแร่ จะต้องมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 โดยการนำเรื่องเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีเป็นรายๆ ไป
 
รวมถึง กพร. ยังได้บรรจุเรื่อง การแก้ไข พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ไว้ในยุทธศาสตร์ของหน่วยงานอีกครั้ง หัวใจสำคัญของกฎหมายที่ยังคงเดิม คือ “แร่ยังเป็นของรัฐ” โดยรัฐมีสิทธิขาดในการจะนำไปให้นักลงทุนสำรวจหรือให้สัมปทานทำเหมืองได้อย่างเต็มที่ 
 
สาระสำคัญของกฎหมายที่พยายามจะแก้ไข คือ การกำหนดพื้นที่เขตศักยภาพแร่ และการกันเขตศักยภาพแร่ทุกชนิดเพื่อการทำเหมืองแร่ออกจากพื้นที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายเฉพาะหรือตามมติคณะรัฐมนตรี แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม และพื้นที่ที่มีกฎหมายเฉพาะหวงห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ มาประกาศเป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อสามารถนำพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับอนุรักษ์ไปให้เอกชนประมูลเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ได้มากขึ้น รวมถึงเงื่อนไขของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ หรือ 1 บี ซึ่งห้ามไม่ให้การทำเหมืองแร่ แต่เดิมต้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามรายละเอียดของพื้นที่เป็นรายๆ ไป ก็ได้ให้อำนาจกับอธิบดี เพื่อลดขั้นตอนในการขออนุญาตสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี 
 
นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน โดยรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้แร่บางชนิด บางประเภท และการทำเหมืองบางขนาดไม่ต้องขอสัมปทานสำรวจแร่และทำเหมืองแร่ได้ ทำให้เอกชนที่ชนะการประมูลไม่ต้องทำอีไอเอและเอชไอเอ แล้วแต่กรณี
 
ทั้งนี้ ในแผนยุทธศาสตร์กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 – 2557 ระบุไว้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 ที่กำหนดให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการของรัฐมากขึ้น รวมถึง กฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม กฎระเบียบและนโยบายของหน่วยงานภายนอก เช่น กรมทรัพยากรธรณี การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่เขต สปก. กรมป่าไม้ การประกาศพื้นที่โบราณสถานของกรมศิลปากร มติ ครม. การจัดแบ่งเขตชั้นคุณภาพลุ่มน้ำเพิ่มเติม/ ประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์ การกำหนดอายุพื้นที่ป่าไม้ มาตรา 6 ทวิ ของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดคืออุปสรรคต่อภารกิจด้านการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมแร่ของ กพร.
 
เมื่อเข้าสู่สมัยของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรมถูกปรับ 3 ครั้ง ตามลำดับเวลา ได้แก่ รมว.อุตสาหกรรม นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูลหม่อมราชวงศ์พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ และนายประเสริฐ บุญชัยสุข
 
ในเดือนสิงหาคม 2556 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด จำกัด ประกาศแผนการที่จะจดทะเบียนสินทรัพย์ในประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ หากได้รับใบอนุญาตสำรวจเหมืองแร่ทองคำแปลงใหม่ โดยจะเดินหน้าเสนอขายหุ้น บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการอื่นๆ เช่น เหมืองเงินบาวเดนส์ ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งจะเริ่มโครงการในปี 2559
สำหรับภาพรวมของการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ทองคำอธิบดี กพร.เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า ในปี 2556 รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงแร่ทองคำเพียง 468 ล้านบาท
 
ส่วนรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของไทยปี 2555 และแนวโน้มปี 2556 เอกสารของกพร.ได้ให้ข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะการขุดทรัพยากรอันมีค่าของประเทศและใช้แล้วหมดไป รวมถึงการทำลายทิ้งขว้างทรัพยากร ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของผู้คนในชุมชนในประเทศ จากการสกัด ทองคำ 1 บาทหนัก 15.24 กรัมจากหินที่มีสินแร่ชั้นดีปนประมาณ 20 ตัน สร้างรายได้เข้ารัฐจากค่าภาคหลวงแร่ 5 ปี เท่ากับ 2,121 ล้านบาท
 
 
คำถามคือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้นายทุนสร้างกำไรโดยการขุดทองขายให้ต่างชาติ และความคุ้มค่าต่อการให้สัมปทานเหมืองแร่ในประเทศมีราคาเพียงเท่านี้ หรือ มีราคาอีกเท่าไหร่ที่ไม่มีการเปิดเผย?
 
มาในรัฐบาลปัจจุบัน ภายหลังรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมี นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.อุตสาหกรรม และยังเป็นผู้ถือหุ้นในกลุ่ม บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัทอัคราไมนิ่ง และบริษัทอัครา รีซอสเซส ที่ได้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำ และดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ได้มีการอนุมัติปล่อยเงินกู้จำนวนกว่า 4 พันล้านบาทให้กับบริษัทดังกล่าว โดยลาออกจากตำแหน่งเหล่านี้เพียง 3 วันก่อนรับตำแหน่ง ส่วนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คือ นายปณิธาน จินดาภู 
 
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ได้ประกาศว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมใช้นโยบายเหมืองทองคำฉบับใหม่ปี 2558 โดยจัดทำนโยบายการให้สัมปทานแร่ทองคำใหม่ กับผู้ประกอบการเหมืองทอง 300 แปลง มูลค่าลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดมีศักยภาพผลิตทองคำได้ 170 ตัน หลังจากไม่ได้ให้อาชญาบัตรและประทานบัตรแร่ทองคำมาเป็นเวลา 8 ปี และเพิ่มข้อกำหนดผู้ประกอบการที่จะได้รับสัมปทานต้องตั้งโรงงานสกัดทองคำบริสุทธิ์ในไทย
 
ล่าสุดมติ ครม. ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557โดยร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 
 
ประเด็นสำคัญของเนื้อหาในกฎหมาย คือ จะมีการลดขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาอนุมัติ-อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ และ ให้อำนาจเต็มกับข้าราชการประจำเป็นผู้ออกประทานบัตร โดยประทานบัตรการทำเหมืองขนาดเล็กในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ขนาดกลางในเนื้อที่ไม่เกิน 625 ไร่ โดยอธิบดี กพร. และ การทำเหมืองในทะเลและเหมืองใต้ดินที่มีขนาดใหญ่กว่าสองประเภทแรกโดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามโดยการเปิดให้เอกชนประมูลพื้นที่แหล่งแร่นั้น
 
หากประมวลและเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 58 ปีที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.แร่ ในปี 2510 ผ่านร้อนผ่านหนาวกับระบอบประชาธิปไตย และความขัดแย้งของขั้วอำนาจทางการเมือง จนถึงรัฐบาลทหารในปี 2558
 
เหมืองทอง นโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวกับแร่ สะท้อนข้อเท็จจริงว่า ธุรกิจเหมืองแร่ที่ทุกฝ่ายสมคบคิดโอบอุ้มคุ้มครองกันมาโดยตลอดมีการเติบโตขึ้นภายใต้โครงสร้างที่เอื้อสิทธิและสมประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักลงทุนกับชนชั้นนำ โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากส่วนราชการและจากรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย
 
ส่วนผลประโยชน์ที่แท้จริงของชาติ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ก็เป็นแค่เสียงเรียกร้องในมุมเล็กๆ ของประชาชนในชาติกันต่อไป.
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไม่น่ารอด 'บวรศักดิ์' ยันควบรวม 'กรรมการสิทธิ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

$
0
0
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยคณะกรรมาธิการมีมติควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อ "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" พร้อมยืนยันไม่ได้ลดทอนอำนาจของสององค์กร

 
30 ม.ค. 2558 เว็บไซต์วิทยุรัฐสภารายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" เนื่องจากทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อเป็นการยกระดับสององค์กรให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิหรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการหรือการเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปร้องทุกข์ได้ในที่เดียวแบบวันสต็อปเซอร์วิส
 
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันด้วยว่า การควบรวมดังกล่าวไม่ได้มีการลดทอนอำนาจของสององค์กร แต่ยังคงอำนาจของแต่ละองค์กรไว้ตามเดิม โดยไม่กระทบต่อบุคคลากรทั้งสองหน่วยงาน และจะมีการยกระดับกฎหมายขององค์กร ให้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน จะมีจำนวน 11คน  แบ่งงานเป็น 11 ด้าน ตามความเหมาะสมเรื่องสิทธิเสรีภาพและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
 
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558 การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นการพิจารณาหมวดว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐ เรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปรับจำนวนของคณะกรรมการ จากที่กำหนดไว้ 10 คน เป็น 9 คน รวมตำแหน่งประธานกรรมการ มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียวและต้องไม่เคยเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เมื่อมี ส.ส.หรือประชาชนเข้าชื่อร้องขอ และหากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องการกระทำผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ศาลรับคำร้องไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา นอกจากนี้ กำหนดเพิ่มอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการไต่สวน จากเดิมไต่สวนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถไต่สวนและวินิจฉัยกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และตัวการ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
 
ขณะเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กำหนดให้มี จำนวน 7 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีสัดส่วนของชายหญิงที่เหมาะสม และใช้องค์ประกอบของกรรมการสรรหาเช่นเดียวกับคณะกรรมการสรรหา กกต. อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการบางส่วนเสนอให้ปรับองค์ประกอบการสรรหาให้ต่างจากการสรรหา กกต. โดยจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ และมาจากการแนะนำของรัฐสภาเช่นเดิม ซึ่งภายในวันนี้กรรมาธิการจะพิจารณาหมวดว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แล้วเสร็จทั้งหมด
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จแล้วทั้งสิ้นจำนวน 120 มาตรา และพิจารณาต่อในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยได้มีการกำหนดเพิ่มให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรตรวจสอบอื่น พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว จากเดิมกฎหมายบัญญัติให้แค่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดแห่งผลประโยชน์ โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาประกอบการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้นๆ ด้วย
 
พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยังได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งที่เกี่ยวกับการบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่มุ่งหาผลกำไร ตลอดจนจะต้องไม่แทรกแซงหรือก้าวก่าย หรือเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐในโครงการสัมปทานอันมีลักษณะเป็นผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' สั่ง ผบ.ทบ.ตามข่าวเลขาสถานทูตสหรัฐพบเสื้อแดง

$
0
0
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก เผยนายกสั่งตามข่าวเลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐเดินสายภาคอีสานพบแกนนำเสื้อแดง ยืนยันไม่ได้ทำรุนแรงกับผู้ที่ถูกเชิญมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ ไม่ยืนยันว่าจะเชิญใครมาอีกหรือไม่

 
30 ม.ค. 2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อถึงการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาเลเซีย ว่า เป็นการหารือภาพรวมที่เป็นประโยชน์ อาทิ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ส่วนกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่มีรายงานข่าวว่าจะเริ่มในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะพยายามให้มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ซึ่งดูความพร้อม 2 ประเทศ รวมทั้งมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก โดยในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อต้นสัปดาห์ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข หารือกับ สมช.เพื่อวางกรอบการพูดคุยก่อน
 
ส่วนกรณี ที่เชิญบุคคลที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาพูดคุยทำความเข้าใจ นั้น ผู้บัญชาการทหารบก ยืนยัน ไม่ได้กระทำอะไรรุนแรง เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อความร่วมมือและปรับทัศนคติในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งแต่ละคนที่เชิญมามีความเข้าใจ การพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเชิญใครมาพูดคุยทำความเข้าใจอีกหรือไม่
 
“ผมติดตามถึงท่าทีของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน และหวังว่าจากการที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เชิญอุปทูตสหรัฐ มาทำความเข้าใจ เชื่อว่า สหรัฐมีความเข้าใจมากขึ้น ส่วนกรณีการเดินสายภาคอีสานของเลขานุการเอกประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พบแกนนำคนเสื้อแดงนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง” ผู้บัญชาการทหารบก กล่าว
 
ส่วนการเรียกบุคคลเข้ามารายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติของ คสช. วันนี้ มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. หลังพูดคุย 1 ชั่วโมง นายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ว่า พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด้วยอัธยาศัยที่ดี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยเหตุผล และได้ข้อยุติร่วมกันว่าเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งก็ยินดีให้ความร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า หรือเกิดสถานการณ์วุ่นวาย และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
 
 
โฆษก ทบ.หวังเลขาฯทูตสหรัฐมีมารยาททางการทูต ให้เกียรติไทย
 
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเลขานุการเอกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางไปพบแกนนำเสื้อแดงในภาคอีสาน ว่า ยังไม่ทราบในรายละเอียดว่า ไปปฏิบัติงานหรือไปทำกิจกรรมภารกิจอะไร แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามความเหมาะสมอยู่แล้ว ถ้าเรื่องนั้นๆไม่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เชื่อว่าผู้แทนมิตรประเทศหรือนักการทูตทุกคนจะให้เกียรติประเทศที่ตนเองพำนักอยู่ และคงไม่ทำอะไรที่จะทำให้กระทบกับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองหรือการแทรกแซงนโยบาย เพราะอาจจะส่งผลต่อความรู้สึกต่อคนของประเทศที่พำนักอยู่ได้
 
“โดยปกตินักการทูตจะมีธรรมเนียมและมารยาททางการทูตที่เป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว และคิดว่าหลาย ๆ ประเทศให้เกียรติประเทศไทยเสมอมา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีความสัมพันธ์กันมานานกว่าร้อยปี” โฆษกกองทัพบกกล่าว
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทำไมอียิปต์ยังนิยมบังคับผู้หญิง 'ขลิบอวัยวะเพศ' แม้ผิดกฎหมาย

$
0
0

เมื่อประเพณีเก่าแก่และคุณค่าดั้งเดิมถูกอ้างเพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้หญิงในอียิปต์ด้วยการตัดอวัยวะกระตุ้นเร้าทางเพศ (FGM) ตั้งแต่ช่วงย่างเข้าวัยรุ่น ผู้รณรงค์ต่อต้าน FGM เผยว่าแม้จะมีกฎหมายห้ามแต่คนก็ยังทำกันมาก เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นจากความไม่เท่าเทียมกันทางเพศที่ฝังรากลึกและต้องรณรงค์สร้างความตระหนักไปด้วย


29 ม.ค. 2558 หลังจากมีกรณีที่แพทย์ในอียิปต์ถูกตัดสินให้มีความผิดฐานทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตจากการขลิบอวัยวะเพศสตรี (FGM) เป็นครั้งแรกจากการตัดสินของศาลอุทธรณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าประเทศอียิปต์ซึ่งประกาศให้การขลิบอวัยวะเพศสตรีเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 แต่เหตุใดยังคงมีการขลิบอยู่ และดูเหมือนว่าในทางสถิติแล้วอียิปต์เป็นประเทศที่มีการให้ผู้หญิงต้องขลิบมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ในคดีที่ถูกตัดสินเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานอกจากแพทย์ผู้ทำการขลิบอวัยวะเพศแล้วบิดาของเด็กสาวอายุ 13 ปี ที่เป็นคนสั่งให้เธอไปขลิบก็ถูกตัดสินให้มีความผิดเช่นกันแต่ด้วยโทษที่เบาลงคือให้ใช้แรงงานหนักเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนแพทย์ชื่อรัสลัน ฟาดล์ ถูกจำคุกโทษฐานฆาตกรรมและประกอบการศัลยกรรมที่ผิดกฎหมาย

เรื่องนี้นับเป็นชัยชนะของกลุ่มที่ต่อต้านการขลิบอวัยวะเพศหญิงในอียิปต์ ซึ่งแม้ว่าจะมีกฎหมายสั่งห้ามไปแล้วในปี 2551 แต่ก็ไม่เคยมีผู้ใดถูกสั่งลงโทษเมื่อฝ่าฝืนข้อห้าม

ซาอุด อาบู เดย์เยห์ ที่ปรึกษาองค์กรอิควอลิตี้นาว (Equality Now) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีกล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่ต้องการให้มีการขลิบอวิยวะเพศหญิงในอียิปต์

องค์กรยูนิเซฟระบุว่าผู้หญิงในอียิปต์ที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี ร้อยละ 91 ถูกขลิบอวัยวะเพศนับเป็นจำนวน 27.2 ล้านคนจากการสำรวจในปี 2556 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้ว่าจะเคยมีกฎหมายห้ามในเรื่องนี้แล้วตั้งแต่ปี 2551 แต่ก็ยังคงมีการขลิบอย่างกว้างขวางในอียิปต์และมีการรายงานการกระทำเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก โดยแม้ว่าจะมีการฟ้องร้องในเรื่องนี้แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่เรื่องจะไปถึงชั้นศาลเพราะอัยการท้องถิ่นจำนวนมากเชื่อว่าเรื่องการขลิบเป็นเรื่องส่วนบุคคล

ผู้คนในอียิปต์เชื่อว่าการขลิบอวัยวะเพศหญิงเพื่อห้ามไม่ให้ผู้หญิงมีความรู้สึกทางเพศจะทำให้ผู้หญิงมีโอกาสคบชู้น้อยลง แต่จริงๆ แล้วถือเป็นการกระทำที่อันตรายและสร้างความเจ็บปวดแก่สตรี แต่หลายครอบครัวในอียิปต์ก็ยังคงเลือกจะให้มีการขลิบต่อไปโดยไม่สนใจกฎหมายเพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญทางจริยธรรม รวมถึงคิดว่าเป็นประเพณีที่ดีงามที่อนุรักษ์กันมานาน ในอียิปต์ยุคปัจจุบันมีการขลิบผู้หญิงทั้งแบบที่นำส่วนคลิตอริสออกอย่างเดียวรวมถึงบางกรณีมีการนำส่วนของแคมเล็กออกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสั่งให้ขลิบในช่วงอายุ 9 ถึง 13 ปี แต่ก็มีบางรายที่ถูกขลิบตั้งแต่ 9 เดือน

ดีนา อาเดล ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์โกลบอลโพสต์เผยแพร่ประสบการณ์ของผู้หญิงชาวอียิปต์ที่เคยถูกขลิบ ผู้หญิงที่ชื่อโซมายาเล่าว่าในตอนที่เธออายุ 12 ปี คือราว 20 ปีที่แล้วเธอเคยถูกบอกแบบเดียวกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ว่าการขลิบเป็นพิธีกรรมที่จะทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงเต็มตัวและถือเป็นการ "ทำให้บริสุทธิ์" โซมายาเล่าเรื่องตอนที่เธอถูกขลิบในมุมที่ชวนสยดสยอง เธอบอกว่าเธอรู้สึกเจ็บปวดมากมีเลือดอยู่เต็มไปหมด หลังจากหมอนำส่วนคลิตอริสของเธอออกแล้วเธอก็สลบไป เมื่อโซมายาฟื้นขึ้นก็พบว่ายังคงมีเลือดอยู่เต็มไปหมดและเธอนอนอยู่บนพื้นเพราะหมอไม่อยากให้เลือดของเธอเปื้อนเฟอร์นิเจอร์

มีการถกเถียงว่าประเพณีการขลิบนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อใด คนจำนวนมากเชื่อว่าเริ่มมาตั้งแต่ในยุคที่อียิปต์ยังคงปกครองโดยฟาห์โร จากบันทึกในประวัติศาสตร์โดยนักภูมิศาสตร์กรีกชื่อสตราโบผู้ไปเยือนอียิปต์ช่วงปี 518 ระบุว่ามีการขลิบทั้งเพศชายและหญิงเกิดขึ้นในอียิปต์ซึ่งถือเป็นการบันทึกถึงการขลิบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ประเพณีการขลิบในอียิปต์มีคนมองว่าเป็นหน้าที่ทางศาสนาโดยมีทั้งชาวมุสลิมและชาวคริสต์ไปขลิบ แม้ว่าผู้นำทางศาสนาอิสลามในอียิปต์จะเคยกล่าวต่อต้านการขลิบในปี 2549 ที่ผ่านมา

ขณะที่บางส่วนก็มองว่าการขลิบเป็นเรื่องที่ดีในด้านสุขภาวะ แต่ อิมาม อันวาร์ นรีแพทย์ของอียิปต์กล่าวว่าจริงๆ แล้วการขลิบอวัยวะเพศสตรีกลับส่งผลเสียในระยะยาวทั้งการติดเชื้อ การไม่สามารถมีลูก และเกิดปัญหาในการคลอดได้ นอกจากนี้ยังส่งผลในช่วงหลังขลิบใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเลือดออกมากเกินไป ความยากลำบากในการปัสสาวะ หรือบางครั้งก็ทำให้เสียชีวิตได้

นอกจากนี้ในกรณีของโซมายา เธอเล่าว่าการขลิบทำให้เธอเจ็บปวดในการมีเพศสัมพันธ์และทำให้ไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยในเรื่องอารมณ์และเรื่องเพศทำให้ชีวิตครอบครัวเธอกับสามีพังทลาย

ผู้หญิงในอียิปต์มีชีวิตค่อนข้างลำบาก มีผู้หญิงในอียิปต์มากกว่าร้อยละ 99 บอกว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศแบบใดแบบหนึ่งมาก่อน แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ในอียิปต์จะระบุเรื่องสิทธิสตรีโดยสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาและส่งเสริมการเข้าร่วมดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ก็ยังคงมีการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและมีการเหมารวมทางเพศอยู่

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้นักกิจกรรมส่วนหนึ่งมองว่ากฎหมายไม่สามารถเป็นทางออกได้เสมอไปเพราะผู้คนยังมีความเชื่อว่าการให้ผู้หญิงขลิบเป็นเรื่องดีหรือมีความจำเป็นแม้กระทั่งตัวเจ้าหน้าที่อัยการเองทำให้ไม่มีการสั่งฟ้องคดีนี้และก่อนหน้านี้ในกรณีของแพทย์รัสลัน ฟาดล์ เขาและพ่อของเด็กสาวเคยถูกตัดสินให้พ้นผิดมาก่อน จนกระทั่งมีการตัดสินไปในอีกทางหนึ่งในชั้นศาลอุทธรณ์

วิวัน โฟอาด ผู้รณรงค์ต่อต้านการขลิบในสตรีกล่าวว่า กลุ่มผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนมีส่วนในการทำให้คนเชื่ออย่างผิดๆ ว่า ถ้าหากไม่ขลิบผู้หญิงจะทำให้พวกเธอกลายเป็นคนที่เสพติดกามารมณ์ แต่ตัวเธอเองคิดว่าความเชื่อแบบนี้แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงกับชายที่หยั่งรากลึกในทางวัฒนธรรมอียิปต์จากความคิดที่ว่า ผู้ชายควรจะควบคุมผู้หญิงและสัญชาตญาณทางธรรมชาติของพวกเธอ

การต่อสู้ในเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่โฟอาดบอกว่ายังต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่าการขลิบอวัยวะเพศผู้หญิงเป็นสิ่งที่ผิด และยังควรมีการเสริมพลังให้กับผู้หญิงในสังคมอียิปต์มากขึ้น นอกจากนี้โฟอาดมองว่าการขลิบอวัยวะเพศผู้หญิงยังส่งผลทางลบต่อวิถีชีวิตของผู้ชายเองด้วย เช่นในเรื่องความสัมพันธ์อย่างในกรณีของโซมายา

โซมายาเลิกกับสามีในขณะที่ตั้งครรภ์และมีอายุเพียง 19 ปี ตั้งแต่นั้นมาเธอต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวเองจนกระทั่งปัจจุบันลูกของโซมายาอายุได้ 11 ปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงอายุที่หญิงชาวอียิปต์หลายคนถูกกดดันให้ขลิบ แต่โซมายาบอกว่าเธอจะไม่ทำกับเด็กคนนี้แบบเดียวกับที่แม่ของเธอเคยทำไว้กับเธอ

เรียบเรียงจาก

For the first time, Egypt has convicted a doctor for female genital mutilation, Globalpost, 26-01-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/egypt/150126/historic-moment-FGM-egypt-first-conviction

Despite first conviction, female genital mutilation remains common in Egypt, Gobalpost, 27-01-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/middle-east/egypt/150126/fgm-trial-egypt-laws-of-men

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาคประชาชนสงขลาวอน สธ.-สปสช.หยุดขัดแย้ง จับประชาชนเป็นตัวประกัน

$
0
0
ภาคประชาชนสงขลาของบเหมาจ่ายรายหัว 3,300 บาท ไม่ร่วมจ่ายพร้อมเรียกร้อง สธ.และ สปสช.หยุดขัดแย้ง หยุดจับประชาชนเป็นตัวประกัน หลัง สธ.ประกาศกร้าวไม่ทำงานร่วม สปสช.

 
 
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เครือข่ายหลักประกันสุขภาพจังหวัดสงขลาได้จัดประชุมที่โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่ เนื่องจากกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาเกิดความร้าวลึกระหว่าง สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลุกลามไปถึงกรปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรกรแพทย์ในพื้นที่ทั้ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชมรมวิชาชีพต่างๆ อย่างกว้างขวาง 
 
โดยมีผู้เข้าร่วมจากแกนนำเครือข่าย 9 ด้านระดมความคิดเห็นข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ  ซึ่งมีข้อเรียกร้องเร่งด่วนไม่ให้เกิดผลกระทบยากที่จะเยียวยาความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคลากรการแพทย์และผลเสียต่อผู้ป่วยผู้รับบริการลามไปถึงชุมชนในพื้นที่  จึงขอเรียกร้องให้สาธารณสุขหยุดจับประชาชนเป็นตัวประกัน  ยื่นขอเสนอไม่ร่วมจ่าย ยืนยันงบเหมาจ่ายรายหัวการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2558 ต้องเพิ่มเป็น 3,300 บาท หลังถูกแช่แข็งมาเกือบ 5 ปี พร้อมเสนอกระบวนการมีส่วนร่วม ถ่วงดุลย์ตรวจสอบภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลหน่วยบริการ ให้เกิดความโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณะ 
 
ต่อประเด็นภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนได้มีข้อเสนอให้สาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการดูแลการรักษาพยาบาล 3กองทุนใหญ่ เปิดเผยข้อมูล ค่าใช้จ่าย การจัดสรรงบประมาณ โดยมีการจัดเวทีอย่างสม่ำเสมอ และจัดตั้งกลไกระดับเขตมีองค์ประกอบทุกภาคส่วนที่เป็นกลางติดตามตรวจสอบพัฒนาระบบหลักประกันให้มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายสู่การรวมกองทุนรักษาพยาบาลให้ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ดังที่ ขณะนี้มีคณะกรรมาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังดำเนินการโดยหลักการ ลดความเหลื่อมล้ำเช่นกัน 
 
พร้อมกับเสนอให้สนช.ผ่าน  ร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข หลังถูกดองมานานเกือบ 10 ปี ซึ่งจะลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้-เยียวยาผู้เสียหายเป็นธรรมรวดเร็วเหมือนกับมาตรา 41 ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวซึ่งถูกแช่แข็งมาตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ปี หากคสช.แช่แข็งงบบัตรทองต่อคงอัตรา 2,895 บาทต่อหัวทำให้งบขาดกว่า 2.3หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเงินเดือนข้าราชการ 8% บวกกับอัตราเงินเฟ้ออีก 3% ส่งผลค่าใช้จ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เครือข่ายจึงมีข้อเสนอให้ คสช.จัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวประจำปี 2558 เป็นจำนวนเงิน 3,300 บาท ซึ่งก็จะไม่ต้องเกิดการรวมจ่ายและประชาชนกว่า 49 ล้านคนจะเข้าถึงการรักษาไม่เกิดปัญหาครัวเรือนล้มละลายดังอดีตก่อนปี 2545 ที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพ
 
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เน้นถึงกระบวนการมีส่วนร่วม การสร้างความเป็นเจ้าของระบบของทุกภาคส่วน โดยยืนยันว่าการจัดสรรให้เกิดกองทุนสุขภาพท้องถิ่น มีประโยชน์ต่อชุมชนการรักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ลดความแออัดในโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งถือว่าการจัดสรรให้องค์กรภาคประชาชนได้จัดกิจกรรม และร่วมเป็นกรรมการทุกระดับมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในกลไกกองทุนอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมเช่นนี้ หากมีการยุบกองทุนย่อย ก็จะทำให้การรักษาพยาบาลตกเป็นภาระหนักอยู่กับบุคลากรการแพทย์เช่นเดิม ที่ผ่านมาระบบกำลังปรับตัว หากเกิดปัญหาก็ควรมีกลไก เวทีรายงานผลการดำเนินงานของ สปสช.ให้สาธารณะได้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุกไตรมาส ไม่ควรเป็นการสร้างเงื่อนไขขัดแย้งเพื่อยุบรวมกองทุนย่อยที่มีทิศทางดีขึ้นในการพัฒนาระบบบริการที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ให้กลับสู่การรวมอำนาจการจัดการโดยสาธารณสุขเช่นเดิม 
 
ช่วงท้ายการประชุม เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนจังหวัดสงขลา เน้นย้ำว่ากลุ่มคนรักหลักประกันอันเป็นภาระกิจที่ต้องช่วยติดตามพัฒนาพิทักษ์ระบบยังต้องร่วมกันให้เกิดการรับรู้ข้อมูลการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในกลุ่ม ภาคีเครือข่ายที่ยังไม่ทราบและเข้าใจระบบ และร่วมกันถือป้ายยืนยันว่า "เรา...ภาคประชาชนสนับสนุน สาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลและใส่ใจสุขภาพประชาชน"  "อย่า...จับประชาชน  ผู้ป่วยเป็นตัวประกัน" "ประชาชนเสียภาษีต้นทาง...แล้ว ไม่ต้องร่วมจ่ายปลายทาง และของบเหมาจ่ายรายหัวประจำปี 2558 จำนวน 3,300 บาท"
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อนุพงษ์' ห้าม ขรก.ใช้คอมพ์ราชการเล่น 'เฟซบุ๊ก-ไลน์' ยกเว้นจำเป็น

$
0
0
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แจงเหตุสั่งห้ามข้าราชการใช้คอมพิวเตอร์ราชการเล่นเฟซบุ๊ก-ไลน์ แต่อนุโลมได้ถ้าจำเป็นต้องใช้เพื่อการทำงาน

 
31 ม.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่กรมการปกครองออกคำสั่งห้ามข้าราชการใช้คอมพิวเตอร์ของหลวงเล่นโซเชียลมีเดียส่วนตัว อาทิเฟซบุ๊ก ไลน์ ว่า สาเหตุที่ออกคำสั่ง เพราะมีข้าราชการประพฤติตัวไม่เหมาะสม โดยใช้คอมพิวเตอร์ของราชการไปโพสต์ข้อความที่ไม่เหมาะสม จึงต้องออกคำสั่งป้องกันไว้ก่อน เพื่อไม่ให้นำอุปกรณ์ของทางราชการไปกระทำการที่ผิดกฎหมาย หรือใช้ในเรื่องที่เป็นส่วนตัว
 
“แต่หากข้าราชการจำเป็นต้องใช้เฟซบุ๊กหรือไลน์ในการทำงาน สามารถอนุโลมให้ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสม และอยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลในการใช้ในทางที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อการทำงานด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความสุขให้คนในชาติ 'ประยุทธ์' รับยางดิบ 80 บาท ช่วยไม่ไหว

$
0
0
 
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ตอนหนึ่งถึงปัญหาภาคเกษตรกรรมว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในเชิงโครงสร้าง และการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด และไม่มีการสร้างความเข้มแข็ง การใช้จ่ายงบประมาณรัฐอุดหนุนในทางที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของราคาเหมือนกับคนเป็นไข้ที่ถูกเลี้ยงไข้มาโดยตลอด ซึ่งวันนี้รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรจะต้องปรับตัว และรวมกลุ่มกันให้ได้ เพราะหากต่างคนต่างเรียกร้องรัฐดูแลไม่ไหว
 
"ผมก็พูดกับทุกประเทศที่เคยทำมา เขาก็บอกว่าเขาไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นยังหาทางออกไม่ได้ในเรื่องนี้ เขาก็ไปแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น แต่เขาก็ไม่มีการประท้วง ไม่มีการอะไรต่าง ๆ ของเราอย่าไปทำ ไม่เกิดประโยชน์ ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็พยายามทำให้เต็มที่ วันนี้เราก็พยายามผลักดันราคา ยางแผ่นให้ได้ 60 บาทขึ้นไป ก็ไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ช้าบ้างอะไรบ้าง อะไรก็แล้วแต่ แต่ในส่วนของวันนี้ก็มีเรียกร้องเรื่องน้ำยางดิบจะขอ 80 บาท เป็นไปไม่ได้เลย ยางแผ่นยังไม่ได้ แล้วน้ำยางดิบจะทำได้อย่างไร ก็มีบางจังหวัด บางพื้นที่เขาไปทำ ส่งเสริมในเรื่องของการทำน้ำยาง ให้เป็นยางแผ่น เพื่อราคาได้สูงขึ้นเป็น 60 บาท หรือ 60 กว่าบาท อันนี้ถึงจะน่ารัก น่าช่วยเหลือกันซึ่งกันและกัน ถ้าเรียกร้องไปเรื่อย ๆ ก็ช่วยไม่ไหว จะนำเงินที่ไหนมาช่วย"
 
โดยรายละเอียดทั้งหมดของรายการมีดังต่อไปนี้
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2558 เวลา 20.15 น.
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
 
ช่วงนี้ปัญหาภัยหนาวยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นห่วงอยากให้ทุกคนคอยดูแลสุขภาพด้วย และขอให้ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ฟืนไฟด้วย ทั้งประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว ก็ขอให้รับฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดด้วย
 
การแก้ไขปัญหาเดินหน้าประเทศ ในวันนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ รัฐวิสาหกิจ ประชาชนทุกพวก ทุกฝ่าย เกษตรกร   ผู้ประกอบอาชีพรับจ้าง และอื่น ๆ ด้วย ต้องเข้าใจว่าปัญหาเราอยู่ที่ตรงไหน องค์กรของตนเองมีปัญหาอะไรบ้างอยู่บ้าง ทำอย่างไรจะคงอยู่ได้ โดยทุกคนต้องถือว่าหน่วยงานของตนนั้น หรือองค์กรของตน คือ "อู่ข้าว อู่น้ำ" สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หากอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ก็ต้องมีการปรับตัว ยอมรับกันบ้าง ให้มีการปรับตัว ปรับวิธีการ ช่วยเหลือรัฐ รัฐก็ไม่สามารถไปอุ้มไปดูแลได้ทุกอย่าง เพราะถ้าหากว่าธุรกิจใดนั้นเกิดการขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นของรัฐวิสาหกิจ หรือของบริษัททั่วไปก็ตาม เลี้ยงตัวเองไม่ได้แล้ว เจ้าของบริษัท หรือว่ารัฐต้องเอางบประมาณมาอุดหนุนอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปไม่ได้
 
เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องร่วมกันคิดใหม่ ช่วยกันปรับตัวเองไปสู่อนาคต ยอมรับในการปรับปรุงแก้ไขบ้าง และใครมีส่วนตรงไหนก็ช่วยกันตรงนั้น รัฐก็จะพยายามทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ถ้ารัฐไม่แก้ไขอะไรเลย ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี อะไรที่ช่วยได้เราก็ช่วย อะไรที่ต้องช่วยกันทำ คนละฝ่าย คนละไม้ละมือก็ต้องช่วยกัน ถ้าทุกเรียกร้องเอาแต่สิทธิอย่างเดียว ก็ล้มจม ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ ก็เสียหายทั้งหมด เช่น รัฐวิสาหกิจบ้างที่ที่ขาดทุน ไม่มีกำไร แต่จำเป็นต้องคงอยู่ไว้ เราจำเป็นต้องเพื่อเป็นการบริการด้วย อะไรด้วย เพื่อชื่อเสียงประเทศชาติ เราก็ต้องดูแลกัน ต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรที่จะแก้ไขให้ได้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก เป็นแก้ไขระยะสั้น เพราะฉะนั้น สหภาพรัฐวิสาหกิจทุกสหภาพนั้นต้องช่วยกัน ทำความเข้าใจกันให้ดี เราคงไม่ไปเร่งรัดปลดพนักงานอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ คงเป็นขั้นเป็นตอน หาวิธีการลดให้เหมาะสม และยอมรับกันทุกพวกทุกฝ่าย
 
อย่างไรก็ตาม ก็อย่าเพิ่มมาเคลื่อนไหว ขัดแย้ง กันทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้นก็แก้อะไรไม่ได้สักอัน ต้องวางแผนระยะยาว และร่วมมือกันทำ ต้องลดตัวตนกันไปบ้าง ก็ขอให้อดทน ในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาในการเปลี่ยนผ่าน ในการฟื้นฟู เราต้องการทำให้ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เมื่อดีขึ้นผลประโยชน์ก็มีมากขึ้น ผลประโยชน์ของทุกคนก็จะได้รับมากขึ้น ถ้าวันนี้ยังยืนอยู่เหมือนเดิม และไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย ก็แย่ลง แย่ลง และอยู่ไม่ได้ ถ้าท่านร่วมมือกับเราองค์กรก็จะดีขึ้นในอนาคต ถ้าร่วมมือมากก็จะเร็วขึ้น ถ้าเราปล่อยให้ถอยหลังไปอีก ก็เสียหาย ล้มละลาย แล้วพวกเราจะไปทำงานกันที่ไหน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีที่อยู่ที่กินกันอีกต่อไป คนหลายหมื่นคน ในหลายรัฐวิสาหกิจก็เป็นแสนคน ขอร้องในส่วนของสหภาพต่าง ๆ ด้วย ทุกสหภาพต้องช่วยกัน และเข้าใจ เรากำลังวางพื้นฐานประเทศใหม่ ถ้าให้มีรายได้มากขึ้น ท่านก็มีประโยชน์มากขึ้น ในส่วนของลูกจ้าง พนักงานต่าง ๆ
 
ส่วนของภาคเกษตรกรรม ผมถือว่าเป็นโจทย์ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เรามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ในการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาบางประการ การแก้ไขปัญหานั้นไม่ตรงจุด เราไม่ค่อยได้สร้างความเข้มแข็ง ไม่ได้ใช้วิธีการใช้จ่ายงบประมาณรัฐไปอุดหนุนในทางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดช่วยเหลือแบบไม่ยั่งยืน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของราคา เรื่อง demand supply ต่าง  ๆ ก็เหมือนกับคนเป็นไข้ เหมือนถูกเลี้ยงไข้มาโดยตลอด หรือไม่ก็ฉีดยา กินยาผิดซอง โรคก็เป็นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่หาย
 
เพราะฉะนั้น วันนี้รัฐบาลพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มกันให้ได้ ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้ว สหกรณ์ยาง สหกรณ์ข้าว สหกรณ์ชาวนา สมาคมต่าง ๆ รวมกันให้เป็นภาค เป็นสหกรณ์ใหญ่ได้หรือไม่ จะได้ติดต่อดูแล ควบคุมกันได้บ้าง ต่างกันต่างสร้างกัน ต่างคนต่างเรียกร้องกัน รัฐดูแลไม่ไหว เพราะฉะนั้นทุกคนต้อง สร้างความเข้มแข็งของตนเอง รัฐบาลก็สร้างความเข้มแข็งในภาครัฐว่า จะทำอย่างไรจะสนับสนุนได้ ทำอย่างไรจะเป็นการยั่งยืน ไม่ใช่ว่าพอรัฐบาลปัจจุบันออกมาตรการอะไรออกไป ขัดแย้งกับของเดิม ซึ่งความมุ่งหวังของเราต้องการให้ดีกว่าเดิม เราก็ถูกต่อต้าน ก็จะเรียกร้องเหมือนเดิม ซึ่งก็ง่ายดี ถ้ารัฐบาลให้ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ปัญหาก็คือว่าเราจะสร้างปัญหาให้ลูก หลาน เราต่อไปในอนาคตอีกด้วย
 
เพราะฉะนั้น ขอร้องให้ผู้นำทางการเรียกร้องที่ผิด ๆ ที่เข้าใจผิด ๆ อยู่ให้ระมัดระวังด้วย เดือดร้อนต้องรับผิดชอบด้วย วันนี้เราก็มีกฎหมายหลายตัวอยู่เหมือนกัน ท่านต้องมีความรู้ มีหลักเกณฑ์ มีข้อมูลที่เพียงพอ พิสูจน์ได้ จะราคา ปริมาณ ต่าง ๆ ถ้าฟังอย่างเดียว มาคิดเองอะไรเอง เป็นไปไม่ได้ ต้องฟังเหตุฟังผลด้วยกันและกัน และไว้ใจกันบ้าง
 
วันนี้รัฐบาลก็ขับเคลื่อนให้โปร่งใสขึ้นทุกประการ พยายามอย่างเต็มที่ ก็ขอให้เชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ ว่าจะพยายามทุกอย่าง ที่จะดูแลท่านให้ดีที่สุด และต้องใช้เวลาในการปรับตัวเปลี่ยนผ่าน การทำเกษตรของเรานั้นไปสู่การเป็นเกษตรกรรมสมัยใหม่ หากเราเรียกร้องโดยไม่สนใจ เรื่องความเข้มแข็ง เรื่องตลาดในประเทศ นอกประเทศ ราคาอะไร อย่างไร เพราะว่าเป็นการค้าขายกับต่างประเทศทั้งสิ้น ต้องดูข้อเท็จจริงว่าวันนี้ กับวันที่ผ่านมาต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นเหมือนเดิม ข้อผูกพันทางการค้าต่าง ๆ มากมาย ภาษีต่าง ๆ ก็มีปัญหาหมด และทุกประเทศเขาก็ปลูกได้บ้าง อะไรเองบ้าง ไปปลูกที่อื่นบ้าง ราคาก็ลดลงหมด ทุกประเทศก็ลดลง และเราจะไปยืนพื้นราคาเราให้มากขึ้นอย่างไร เราก็ต้องมาแก้กันว่าต้นทุนเราจะลดอย่างไร เมื่อต้นทุนเราลดได้ต่ำสุด หรือต่ำมาก ๆ กำไรก็จะมากขึ้น วันนี้เราต้องใช้เวลาตรงนี้อีกมาก และในระหว่างที่ราคาตก ท่านก็ต้องหาอาชีพเสริมต่าง ๆ เพื่อจะทำให้เลี้ยงครอบครัวได้ เช่น เลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชอื่น ๆ เสริมไปในสวนยางบ้าง อะไรบ้าง ก็มีคำแนะนำมาหมด หลายพื้นที่ แม้กระทั่งพื้นที่ในการปลูกข้าว หลายอำเภอก็ได้มีการไปตรวจเยี่ยม และได้มีการนำเสนอว่าสามารถที่จะปรับพื้นที่การทำนาเป็นการปลูกพื้นชนิดอื่น ๆ และมีรายได้ และสหกรณ์เขาเข้มแข็ง แบบนี้รัฐจะได้ช่วยได้ง่ายขึ้น เราก็พยายามทุกมิติ ทุกมาตรการ ท่านก็ต้องร่วมมือกับเรา เข้าใจในโจทย์ เข้าใจในปัญหา เข้าใจในทุกวิธีการ
 
เพราะฉะนั้น ในวันนี้ประเทศเรามีคนเดือดร้อนมาก จากเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ ฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรรมอย่างเดียว เราก็ต้องแก้ปัญหาของเราให้ได้ หลายประเทศเขาก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งประเทศจีน ผมหารือกับเขาเรื่องราคายางต่าง ๆ เขาบอกราคาก็ตกเหมือนกัน ในขณะนี้เขาก็ไม่สามารถจะทำให้ราคาสูงขึ้นได้ อันนี้เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ท่าน ก็ยังเข้าใจอยู่ว่าถ้าเราคุยกัน 2-3 ประเทศแล้ว จะทำได้ ผมก็พูดกับทุกประเทศที่เคยทำมา เขาก็บอกว่าเขาไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นยังหาทางออกไม่ได้ในเรื่องนี้ เขาก็ไปแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น แต่เขาก็ไม่มีการประท้วง ไม่มีการอะไรต่าง ๆ ของเราอย่าไปทำ ไม่เกิดประโยชน์ ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็พยายามทำให้เต็มที่ ก็เห็นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขาบอกมากบอกว่า วันนี้เราก็พยายามผลักดันราคา ยางแผ่นให้ได้ 60 บาทขึ้นไป ก็ไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็ช้าบ้างอะไรบ้าง อะไรก็แล้วแต่ แต่ในส่วนของวันนี้ก็มีเรียกร้องเรื่องน้ำยางดิบจะขอ 80 บาท เป็นไปไม่ได้เลย ยางแผ่นยังไม่ได้ แล้วน้ำยางดิบจะทำได้อย่างไร ก็มีบางจังหวัด บางพื้นที่เขาไปทำ ส่งเสริมในเรื่องของการทำน้ำยาง ให้เป็นยางแผ่น เพื่อราคาได้สูงขึ้นเป็น 60 บาท หรือ 60 กว่าบาท อันนี้ถึงจะน่ารัก น่าช่วยเหลือกันซึ่งกันและกัน ถ้าเรียกร้องไปเรื่อย ๆ ก็ช่วยไม่ไหว จะนำเงินที่ไหนมาช่วย
 
วันนี้หลายชาติเขาก็ร่วมไม่ไหวเหมือนกัน เพราะเขาก็ต้องแก้ปัญหาประเทศเขาเหมือนกัน เราจะไปบังคับเขาได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นวันนี้เราถึงต้องเดินไปสู่การเป็นประชมอาเซียน เราสร้างความเข้มแข็งของเราเอง มีการใช้ผลผลิตในประเทศ ก็ต้องใช้เวลาสร้างโรงงาน สร้างระบบ ในการใช้วัตถุดิบในประเทศอีก เราต้องแก้ของเราให้ได้ก่อนด้วย เมื่อเราเข้มแข็งแล้วเราจะได้นำในการปรับปรุงแก้ไขในภาพรวมของอาเซียนต่อไป เราต้องสร้างความเข้มแข็งของเราให้มีความยั่งยืน ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ ราคาต้นทุนปลูกยาง ต้นทุนปลูกข้าว เราสูงกว่าทุกประเทศรอบบ้านเรา เพราะฉะนั้นราคาของเราก็แข่งกับเขาลำบาก
 
การกำหนด demand supply ต้องเหมาะสม เพราะฉะนั้นการปลูกที่ผ่านมา ก็อาจจะสนับสนุนให้ประชาชนปลูกมากจนเกินไป คำว่ามากจนเกินไปก็ขายลำบาก แล้วบ้างอันก็ปลูกในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปลูกบนเขาบ้าง ปลูกในพื้นที่ป่าบ้าง และวันนี้ก็ออกมาเรียกร้องทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ต้องถูกดำเนินคดีทั้งหมด เราก็ผ่อนผันอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องเห็นใจ เข้ามาจดทะเบียนอะไรกันให้เรียบร้อย แล้วหาทางออกทางกฎหมายให้ได้แล้วกัน อย่าเรียกร้องกันอย่างเดียว เห็นใจรัฐบาลบ้าง ผมก็ตั้งใจเต็มที่ อย่าลืมว่าประเทศไทยนั้น มีคนหลากหลายอาชีพที่เขาไม่มีรายได้สูงเหมือนกัน มีรายได้ลดลง เขาก็ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เหมือนกัน เช่น ผู้ประกอบการเกษตรอย่างอื่น นอกจากข้าวและยางแล้ว การรับจ้าง อาชีพอิสระ รายได้ลดลงหมด เพราะเศรษฐกิจแย่ลง
 
เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกัน ทำอย่างไรให้ดีขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนผ่าน อดทน ร่วมมือ หามาตรการมา แต่ถ้าให้มา Subsidize กัน ก็ลำบาก ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเหมือนกัน ทำงานให้มากขึ้น ปรับตัวเองให้เข้มแข็ง และอย่าเรียกร้องอะไรจนมากมาย จนเกินข้อเท็จจริง เป็นไปไม่ได้ ให้ความเป็นธรรมกับอาชีพอื่น ๆ เขาด้วย รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องดูแลเขาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าดูแลเฉพาะเสียงส่วนใหญ่ ดูแลเฉพาะชาวนาอย่างเดียว คนอื่นก็เป็นคนไทย ถ้าเราไม่ดูแลเขา นำเงินทั้งหมดมาทุ่มเทตรงนี้หมดเลย จนช่วยตัวเองไม่ได้ แล้วคนอื่นเขาจะทำอย่างไร
 
วันนี้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากมาย และดูแลในเรื่องหนี้สินอีก กำลังคิดกันอยู่ว่าจะดูแลหนี้สินประชาชนได้อย่างไร มีการประนอมหนี้ ชะลอหนี้กันอย่างไร ขึ้นทะเบียนกันอย่างไร ราคาสินค้า การลงทุนต่าง ๆ ก็มีปัญหาหมด เพราะฉะนั้นคนเดือดร้อนหมด ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรอย่างเดียว รัฐก็ต้องใช้งบประมาณเหล่านี้ไปดูแลด้วย
 
การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ในวันนี้นั้น ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก งบประมาณประจำปีที่ตั้งไว้ ก็อย่างที่เรียนไปแล้ว ไม่ได้ใช้ได้เต็มจำนวน ต้องหักส่วนหนึ่งไปใช้หนี้สาธารณะ จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ เงินยืม เงินที่มาช่วยเหลือเกษตรกร และการใช้พัฒนาประเทศ บ้างส่วนก็ต้องกู้เขามา ก็ทำให้เงินก้อนใหญ่ประจำปี รายได้เหลือไม่มากนัก ที่จะนำลงไปใช้งาน ส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำ ที่ราชการเขาวางแผนงานว่าต้องทำอะไรบ้าง ในส่วนที่งบลงทุนก็เช่นใหม่ ๆ การที่จะทำให้ประเทศเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ ต้องมีการลงทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก มีการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำถนนหนทาง รถไฟรถไฟฟ้า ท่าเรือ ท่าอากาศยาน อื่น ๆ อีกมากหลายอย่างก็มีปัญหา รัฐบาลก็ต้องไปอุดหนุนไปดูแลอยู่ เพื่อให้ดูได้ เพราะว่าไม่อย่างนั้นก็หยุดนิ่งไปทั้งหมด ก็อย่างที่เรียนไปแล้ว เป็นแหล่งสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก ถ้าหยุดทั้งหมด ล้มละลายทั้งหมด แล้วใครจะไปทำอย่างไร ประชาชนก็เดือดร้อน เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนคำนึงถึงประเทศชาติโดยรวมด้วย และก็ทำอะไรก็ตามให้นึกถึงคนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศด้วย
 
ฝากพ่อแม่พี่น้องช่วยกันทำความเข้าใจ ใครที่ไม่ได้ทำอาชีพเกษตร หรือทำยาง อะไรต่าง ๆ ปลูกข้าว ช่วยกันคุย ทุกคน พ่อแม่พี่น้องคงไม่ได้ทำทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนอื่นที่รู้จักก็กันช่วยเบา ๆ ลงบ้าง รัฐบาลเร่งทุกอย่าง แต่ก็ไม่ทันใจ เป็นไปไม่ได้ เพราะปัญหาเหล่านี้หมักหมม ทับซ้อนมาหลายปี หลาย 10 ปี ด้วยซ้ำไป แล้วแทนที่วันนี้ควรจะมาพูดกันเรื่องว่าเราจะปรับปรุงข้าวให้มีคุณภาพอย่างไร อย่างเดียว อันนี้ต้องมาไล่แต่ผลิตเลย ตั้งแต่ผลิต ตั้งแต่ตลาด ตั้งแต่พันธุ์ข้าว ตั้งแต่ราคาต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ แล้ววันนี้จะเอากันเร็ว ๆ วัน ๆ คงลำบาก อันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหา ข้อเท็จจริงที่ผ่านมา
 
เรื่องการกระทำทุจริตผิดกฎหมาย ยาเสพติด อาญา อาชญากรรมร้ายแรงต่าง ๆ ทุกเรื่อง รัฐบาลก็จะพยายามเร่งรัดคดีที่มีผลเสียหายร้ายแรง ต้องเข้าใจว่าอะไรที่จะมีผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ กระทบต่อชื่อเสียง ก็ต้องให้ชัดเจนขึ้น ให้เกิดความสงบสุขของประชาชน และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างโปร่งใส เป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรม คดีความอื่น ๆ ระยะต่อไปคงจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีใด ๆ ที่มีความร้ายแรง รุนแรง ผลกระทบต่อสังคมเหล่านี้ แต่ผมก็ไม่ได้ไปใช้อำนาจเข้าไปก้าวก่ายในกระบวนการพิจารณาคดี เป็นเรื่องของศาล อัยการ ผู้พิพากษา ก็ว่าไป ทุกคนสามารถต่อสู้คดีได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว มีทนายต่าง ๆ อะไรก็ว่ามา
 
อันนี้ก็ขอให้เป็นไปตามหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ทุกคดี ถ้าพิสูจน์ได้ ไม่มีการบิดเบือนก็ดำเนินคดีได้หมด เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจกัน ต้องยอมรับในกติกา  ถ้าเราไม่เคารพกติกาของกฎหมาย กระบวนยุติธรรมเลยแล้วจะทำอย่างไร ประเทศชาติต้องอยู่ด้วยกฎหมาย ท่านจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อมั่นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะทำให้อยู่กันยากขึ้นกันไปเรื่อย ๆ กรุณาอย่ามาพูดอะไรต่าง ๆ ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของเรา และก็ประเทศชาติของเรา ผมคงไม่คิดว่าจะมีใครที่อยากจะให้ใช้อำนาจของนอกประเทศ หรือคนอื่น ๆ มา ดำเนินการกับคนไทยของเรา ในประเทศของเรา ถ้าอย่างนั้นผมว่าไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐในวันนี้ ทั้งทุกฝ่ายก็ต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรมไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ผมยืนยันว่าไม่มีข้างก็ผู้ที่ตัดสินก็คือมีแค่ถูกกับผิดโดยศาล โดยกระบวนยุติธรรมเท่านั้น
 
ในเรื่องของการประท้วงของเกษตรกร ผมเข้าใจดีทราบถึงความเดือดร้อนแล้วก็อีกอันก็คือการพูดของอดีตนักการเมือง ที่มีคดีบ้างหรือว่าอยู่ในพรรคการเมืองบ้างก็จะขู่ว่าจะใช้การชุมนุม ขู่กับรัฐบาล ข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐ ว่าจะใช้ความรุนแรง ว่าจะปรองดองไม่ได้หรือว่าจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเหมือนภาคใต้อันนี้อันตราย ผมถือว่าเป็นการพูดในเชิงเหมือนกับลักษณะการก่อการร้าย ถ้าพูดแบบนี้ เพราะฉะนั้น พวกนี้ถูกบันทึกไว้หมดแล้วจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายโดยทันที
 
อันนี้ไม่ใช่การปิดกั้นเสรีภาพ เป็นการพูดที่ทำให้เกิดความผลกระทบที่ทำให้เกิดความมั่นคง ถูกหรือไม่ ถ้าพูดแบบนี้ กฎหมายเขามีไว้ เจ้าหน้าที่เขาก็ต้องทำงาน แล้วมาพูดข่มขู่เจ้าหน้าที่ ประเทศไหนเขาก็รับไม่ได้ แล้วก็อ้างเป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เลยเพราะท่านพูดผิด ท่านทำผิดกฎหมายแล้วท่านบอกการเมืองได้อย่างไร เพราะผมไม่ใช่การเมือง ผมแก้ปัญหาของประเทศชาติอยู่ในขณะนี้
 
อันนี้ผมได้สั่งการไปแล้วสำหรับบุคคลเหล่านั้น ทุกคนทราบดีว่าใครพูดอะไรอย่างไร ก็จะให้ คสช. ได้ประเมินแล้วก็ดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยทันทีกับผู้ที่มีการกระทำดังกล่าว ก็ไม่อยากให้ใครเดือดร้อนโดยเฉพาะครอบครัว ลูกเมียต้องเดือดร้อนทุกคน เสร็จแล้วก็โวยวายว่า เป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของการที่จะต้องการทำลายใคร ผมจะต้องการทำลายใคร ถ้าท่านไม่พูดอะไรผิดหรือทำอะไรที่ผิดกฎหมาย แล้วใครจะทำอะไรท่านได้ แสดงว่าท่านผิด เมื่อท่านผิดก็ต้องดำเนินการ หรือจะปล่อยให้เป็นแบบที่ผ่านมาหรือไม่ต้องดำเนินการอะไร ใครจะยิงกัน ใครจะผิด ใครจะนำอาวุธสงครามออกมาก็ไม่ต้องไปดำเนินการจับกุมดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งว่าไปทำเห็นบ้าง ไม่เห็นบ้างอะไรเหล่านี้ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนได้รับฟังข้อเท็จ รักประเทศชาติกันบ้างเถอะครับ ทุกคนก็มีความยากลำบาก รายได้น้อยเหมือนกัน ทุกคนก็อยากมีความสุข ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเดือดร้อนแต่กลุ่มเดียว ไม่ใช่เดือดร้อนทุกคน ผมเองก็เดือดร้อนผมไม่ได้มีความสุขมากนักอยู่แล้ว ในการทำงานในวันนี้
 
เรื่องของการเพิ่มวันหยุดราชการมีมาตรการ คือของเราก็ต้องขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาในเรื่องของธุรกิจให้บริการ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม  การท่องเที่ยวก็ลดลงไปหมด เราก็จำเป็นต้องมีการปรับบ้างและเป็นมาตรการเฉพาะปีนี้ แล้วมีวันหยุดพอดีกัน ต้องการให้ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณในการท่องเที่ยวในประเทศ แล้วคนที่ได้เงินก็คือใครก็คนไทยนั่นแหละ แล้วทำไมจะต้องต่อต้าน อันนี้ก็เป็นเรื่องของส่วนราชการ เขาก็จะได้ไปขับเคลื่อนแล้วก็ช่วยกันดูแล ทำให้ทุกภาคได้มีความเคลื่อนไหว ในเรื่องของการใช้จ่าย ถ้าเราไม่เร่งรัดเรื่องพวกนี้ก็ไปไม่ได้ คนก็บ่นแต่ไม่มีรายได้ พอผมจะทำให้มีรายได้ก็ค้านอีก ทุกคนก็จะได้มีรายได้มากขึ้น ถ้าทุกคนทำอะไรก็ไม่พอใจ ๆ ผมก็ไม่ต้องทำอะไรดีกว่า ทุกอย่างหยุดชะงักไปอยากจะเรียกร้องก็เรียกไป ใช้กฎหมายบังคับอย่างเดียวแล้วจะเป็นอย่างไร ก็กลับไปที่เดิม ก็พูดหลายครั้งแล้ว แล้วรัฐถ้าไม่ทำ ไม่ดูแล ไม่แก้ไข ก็บอกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลทุกเรื่อง อันนี้ก็เป็นไปคิดเอาแล้วกัน
 
สำหรับความคิดเห็นของผู้แทนมิตรประเทศต่าง ๆ ผมคิดว่าผมก็ฟังได้หมดทุกคน แต่ผมจะให้ความสำคัญแค่ไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่ผมจะต้องใคร่ครวญของผมเอง ผมไม่เคยไปขัดแย้งกับใคร รัฐบาลนี้เข้ามาอย่างไร ผมไม่เคยไปปฏิเสธ ที่ไปที่มา เพียงแต่ว่าผมต้องเข้าใจว่าผมต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่าเราทำเพื่อจะต้องการดูแลประเทศของเรา ประเทศไทยเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคนนี้ ประชาชนคนไทยของเรานี้ไม่ให้เกิดปัญหา ไม่มีการบาดเจ็บล้มตาย แล้วก็ไม่เป็นภาระกับมิตรประเทศถ้าหากว่าเราวันนี้ดูแลกันไม้ได้ แก้ปัญหาไม่ได้ ให้ชาติอื่นเขามาดูแลเราหรือครับ เราเป็นอิสระไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาเป็นกี่ร้อยปีแล้ว วันนี้เราทำไมจะต้องให้คนอื่นเขามาเที่ยวไปฟ้องร้องใครคนโน่นคนนี้ให้เขาช่วยมาแก้ปัญหาให้เรา ผมว่าน่าอายๆ  เราทำไมถึงต้องดึงประเทศเราให้ไปเป็นเหมือนกับหลาย ๆ ประเทศที่เขามีปัญหาอยู่เวลานี้ ผมก็ไม่แน่ใจ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาคิดอย่างไร    เพราะฉะนั้นผมให้โอกาสทุกคนเสมอมา เราก็ร่วมมือกับทุกประเทศในการปฏิบัติเพื่อสันติภาพ Peace Keeping มาตลอดใช้เวลาหลาย 10 ปีมาแล้ว  หลายร้อยภารกิจ ใช้กำลังทหาร พลเรือนหลายหมื่นคนไปทั่วโลก ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งกลับมา ทางเรือก็มี ทางบกก็มีเป็นผลดีทั้งสิ้น
 
วันนี้ ผมก็บอกทุกคนในสังคมโลกว่า ผมขอเวลารัฐบาลนี้ ตัวผมเองขอเวลาทำให้กับคนไทยบ้างได้หรือไม่ ทำให้ประเทศไทยของเราซึ่งมีปัญหาอยู่นี้ ในเมื่อเราไปทำที่อื่นมามากมายแล้ว แล้ววันนี้เราก็ไม่อยากให้ใครต้องมาช่วยเรา ให้เราเข็มแข็ง แล้วเราก็จะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยใช้กฎกติการะเบียบต่าง ๆ เหมือนปกติ เหมือนสากลไม่ได้ใช้อำนาจอะไรมากมาย จำเป็นต้องมีอยู่บ้างเท่านั้นเอง ใครจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่าผมไม่ไปทะเลาะเบาะแว้งด้วย ก็ขอให้ถามคนไทยทั่วประเทศด้วยแล้วกันว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ถามกลุ่มนี้ กลุ่มนั้นมา แล้วก็สรุปเอาเอง ก็ให้ความเป็นธรรมกับคนไทย ประเทศไทย ให้ความเป็นธรรมกับผมบ้าง ในฐานะเป็นผู้นำรัฐบาล แม้กระทั่งตัวผมเอง ผมก็ไม่ค่อยสบายใจ แต่จำเป็น ปล่อยไม่ได้
 
วันนี้ท่านก็เห็นอยู่ วันนี้ก็ยังไม่หยุดยังจะต่อสู้กันไปอะไรนักหนา ผมไม่รู้ ไม่แน่ใจ ทุกเรื่องมีปัญหาไปหมดจะปฏิรูป จะออกกฎหมายอะไรก็ไม่ได้ทั้งที่มันก็ยังไม่เกิดขึ้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเดือดร้อนอะไรกันนักหนา เดือดร้อนแต่เพียงว่า วันหน้าจะเข้ามาใช้อำนาจไม่ได้ ใช้ไม่สะดวกโกงกินไม่ได้หรือป่าว อันนี้ไม่อยากจะเปิดศึก แต่ต้องพูด ไม่อยากนั้นผมถูกพูดอยู่ข้างเดียว เพราะผมเป็นสุภาพบุรุษผมไม่อยากไปกล่าวว่าใคร ไม่อยากไปพูดประเทศไทยเสียหายอย่างไรมาไปโทษคนนั้นคนนี้  ท่านไม่อายเขาหรือไง ท่านเที่ยวไปร้องแรกแหกกระเชอกับต่างประเทศเขาทั่วไปหมด ผมว่าต้องเลิกแล้วนะ
 
เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งทั้งหมดต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ แล้วก็ดูแลบริหารแผ่นดินให้ถูกต้องแล้วก็ดูแล้วต้องดูด้วยว่า รัฐบาลที่มานั้นมาด้วยระบบที่โปร่งใสหรือเปล่า มีธรรมาธิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ เสียงส่วนน้อยเขาว่าอย่างไร ถ้าเสียงส่วนน้อยเขาคัดค้าน เขาไม่เห็นด้วยก็ต้องยอมรับสภาพมิใช่ว่าตัวเองจะทำถูกทั้งหมด หรือผิดทั้งหมด ก็อธิบายและแก้ปัญหาให้ได้ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งก็เกิดขึ้นก็บานปลายไปสู่ความรุนแรง ความขัดแย้ง แล้วเมื่อมีการใช้อาวุธสงคราม ซึ่งทุกประเทศในโลกเขาไม่มีแบบนี้ ประชาชนมาสู้กันเอง มันไม่มี ไม่ใช่แบบนี้ก็แล้วกัน
 
เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐบาลเลือกตั้งบริหารประเทศก็ไม่ได้ การใช้แล้วการอาวุธสงครามก็หาตัวไม่ได้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลเลือกตั้งเมื่อแก้ปัญหาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ประเทศชาติความสงบสุขของประชาชนจะอยู่ที่ไหน แหละนี่คือเหตุผลอันหนึ่งที่ผมต้องเข้ามา ก็เท่านั้นเอง แล้วก็พยายามจะทำต่อไปให้ดีที่สุด แล้วก็ท่านต้องช่วยกัน ต้องมีความหวัง อยากให้ทุกคนมีความหวังกับอนาคตของประเทศไทยเหมือนกับที่ผมมีความหวังกับอนาคตกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นความหวังทั้งสองความหวังนี้ของรัฐบาลของประชาชนต้องไปในความฝันอันเดียวกันว่า หวังจะมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล หวังที่ประเทศชาติมีความสุขสงบ หวังระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง หวังที่จะมีการทำมาค้าขาย การลงทุนมากขึ้น แล้วทำให้อาเซียนเข้มแข็งขึ้น
 
วันหน้าเราก็มีเงินทุนในการพัฒนาประเทศมากขึ้น ลูกหลานเราสำคัญที่สุด ไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองอย่างเดียว เราต้องต่อสู้ทางการเมืองเพื่อจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน นั่นแหละคือสิ่งที่ผมอยากจะฝากนักการเมืองในอดีตและในอนาคตไว้ด้วย ต้องตั้งใจและแถลงให้ได้ว่า เข้ามาแล้วจะทำอะไรให้ละเอียดชัดเจน ถ้าจะให้แต่เพียงอย่างเดียวก็ต้องตอบให้ได้ว่านำเงินมาจากไหน เพราะฉะนั้น ในเมื่อวันนี้รายได้ประเทศก็มีอยู่เท่านี้ ผมไม่เห็นจะมากขึ้นกว่าเดิมเท่าไรเลย เพราะไม่มีช่องทาง การส่งออกก็แย่ลง ๆ ทำอย่างไร วันนี้เรากำลังสร้างตรงนี้ให้ท่านอยู่แล้ว ท่านมาขัดแย้งเราวันนี้ วันหน้าท่านเข้ามา ท่านก็เป็นแบบนี้แย่กว่าเดิมอีก เพราะว่าการยอมรับก็ไม่ได้อีก เพราะหลายพวกหลายฝ่ายเหลือเกิน ต้องแก้ให้ได้ทุกคนขอความร่วมมือ ผมไม่ใช่ศัตรูกับใครทั้งสิ้น
 
สัปดาห์นี้มีความคืบหน้าหลายประการในการดำเนินงานของรัฐบาล อยากจะชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ
 
เรื่องการป้องกันแก้ไขสถานการณ์ “ภัยแล้ง”ผมถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ปีนี้ 2558 จากกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินไว้แล้วว่า ปีนี้จะแล้งกว่าทุก ๆ ปี อาจจะเป็นด้วยโลกเปลี่ยนเปลี่ยน สภาพอากาศโลกเปลี่ยนเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลก็ได้สั่งการไปให้วางแผนเตรียมมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันที่จะป้องกันแล้วก็แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ได้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันเร็ววันนี้ ณ วันนี้ก็เห็นเรียกร้องน้ำ สำหรับปลูกข้าวในพื้นที่ที่ห้ามปลูก ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอาน้ำที่ไหน ก็เรียกร้องให้กรมชลประทานเปิดน้ำเพื่อจะมาเลี้ยงข้าว แล้วบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะทำอาชีพอื่นไม่เป็น    ก็ต้องไปหาเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการ ศูนย์ดำรงธรรมก็ได้ ไปบอกว่าไม่มีรายได้จะให้ทำอะไร ผมคิดว่าเขาคงไม่ไปทรมาน ให้ไปใช้แรงงานจนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็ก คนชรา อะไรก็แล้วแต่ เขาต้องหาทาง หาเงินให้จนได้ เราก็ได้อนุมัติงบประมาณไปเป็นจำนวนมากพอสมควรในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ถ้าโต้แย้งทุกวันมันไม่ได้ แล้วเอาน้ำไปให้ แล้วน้ำประปาก็ลดลง น้ำที่จะผลักดันน้ำทะเลก็ลดลง แล้วจะทำอย่างไร แล้วจะอยู่กันอย่างไร ก็เสียหายพังพินาศกันไปทั้งหมด ทั้งขาดน้ำ ทั้งน้ำเค็มเข้ามากมายไปหมด
 
วันนี้ต้องแก้ทุกอันทั้งระบบ ก็ได้สั่งการไปแล้วในเรื่องน้ำนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยดูแลสถานการณ์ วางแผน ป้องกัน แก้ไข เตรียมมาตรการแก้ไขให้ได้ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นทางการเกษตรก็ต้องไปหาอาชีพเสริมจะทำอย่างไร ทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำบริโภค รถน้ำจะส่งกันอย่างไร โครงการราชรัฐร่วมใจสู้ภัยแล้ง ทหาร ตำรวจ พลเรือน รถน้ำ จะช่วยกันอย่างไร ต่อไปเกิดมีวาตภัยเข้ามาอีก พายุเข้ามา หมอกควัน ไฟป่าเข้าไปอีก การระบาดของแมลงวันนี้ก็มีหลายที่  ตัวเพลี้ยตัวอะไรต่าง ๆ เขาลงไปแล้ว สวนยางก็มี ศัตรูพืชมากมาย รวมไปถึงการระบาดของโรคติดต่อในปศุสัตว์ พออากาศแห้งแล้ง หรืออากาศชื้น ก็มีโรคทั้งนั้น แล้วจะทำอย่างไร วันนี้อย่ามาตั้งหลักตั้งท่าเรียกร้องกันมากมายก็ไปดูแลแก้ไข เตรียมการแก้ปัญหา ปรึกษาเจ้าหน้าที่
 
วันนี้เราก็จะต้องมีการจัดทำฐานข้อมูลสภาพอากาศ น้ำ ดิน พื้นที่เลี่ยงภัย ให้ใช้ในการวิเคราะห์ของส่วนราชการในการประเมินสถานการณ์ จัดทำแผนป้องกัน ซักซ้อม กำหนดงานรับผิดชอบ เร่งให้การช่วยเหลือโดยทันที วันนี้เราก็ได้สั่งการให้มีการมีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 44 เครื่อง ใน 7 จังหวัด รถบรรทุกน้ำ 48 คัน ใน 11 จังหวัด รวมปริมาณน้ำ ประมาณ 2 แสนลูกบาศก์เมตร
 
การปฏิบัติการฝนหลวงก็ทำอยู่ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่นาปรัง พื้นที่เขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง การช่วยเหลือการจ้างแรงงานเกษตรกร ขุดลอกคูคลอง พัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำ การขุดสระเก็บน้ำของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 52% รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา เล็ก ๆ น้อย ๆ ขอให้ขุดกันไปให้หมดทุกที่ ทำอย่างไรจะมีที่เก็บน้ำ วันนี้ไม่มีที่เก็บน้ำ วันหน้าถ้าฝนตก ฤดูกาลหน้าก็มี ถ้าเราไม่ช่วยกันเตรียมการ ประชาชนไม่เตรียมกันเอง รัฐไปช่วยก็ไม่ทั่วถึง ถ้าต่างคนต่างช่วยกันทำก็โอเค ก็จะเร็วขึ้น ปีหน้าก็ทันใช้
 
เราอาจจะรอรับการช่วยเหลือของรัฐจนมากเกินไป จนช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น วันนี้ต้องช่วยกัน แล้วก็อยากฝากข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ลงไปช่วยเขาด้วย เพราะน่าสงสารบางครั้งเขาก็นึกอะไรไม่ออก ชาวไร่ ชาวนา ผู้มีรายได้น้อย ต้องช่วยเขา คิดถึงแววตา คิดถึงหน้าตาที่ต้องตากแดดกล่ำฝน ผมเห็นใจ เหยี่ยวย่นไปทุกคนเลย เขาไม่มีความสุขต้องดูแลเขา กี่ปีกี่เดือนเป็นชาติมาแล้ว ซึ่งทุกกระทรวง ทบวง กรมก็ต้องแก้ไข  กี่ปีมาแล้วที่ยังแก้ไม่ได้เลย ก็แก้ให้ชัดเจนตรงไหนมีได้ มีไม่ได้ เขตชลประทานทำได้แค่ไหน ปริมาณน้ำต้นทุนมีเท่าไร ตรงนี้จะให้ทำอะไร ควรจะเกิดมาตั้งหลายรัฐบาลแล้ว ทำไมไม่เกิด มาเกิดตอนที่จะมาให้ผมทำตอนนี้ พอทำตอนนี้ก็ไม่ทันใจอีกแล้วจะทำอย่างไร แล้วจะรอให้ใครมาทำอีก เพราะฉะนั้นก็ฝากไว้แล้วกัน ช่วยคิดด้วย
 
วันนี้ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินการไปแล้ว 1,514 บ่อ แล้วที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไปแล้ว จำนวน 27,134 ราย ประมาณ 61% ของกลุ่มเป้าหมายที่เราจัดงบประมาณลงไป แล้วก็มีการอบรมอาชีพเสริมด้านการเกษตรจำนวน13,340 ราย ก็ประมาณ 75% ของกลุ่มเป้าหมาย มีการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วและอื่น ๆ อันนี้คงได้เฉพาะพื้นที่ที่ภัยแล้ง พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องเพาะปลูกนาปรังอะไรไม่ได้ทำนองนี้ ปลูกข้าวไม่ได้ เราก็ต้องให้ปลูกพืชทดแทนเพื่อมีรายได้ แต่ตรงไหนที่ปลูกได้อยู่แล้ว เช่น สวนยาง ก็เลี้ยงสัตว์เพิ่มไป ปลูกพืชอย่างอื่นกินได้ปลูกผักปลูกหญ้าอะไรไป มีพืชที่อยู่กันได้หมด ถ้าเราไม่สนใจก็ไม่ได้ ก็ต้องรอรับการช่วยเหลืออยู่แบบนี้ หลาย ๆ จังหวัด หลาย ๆ อำเภอ ก็มีการพัฒนาที่ดีผมเห็นรวมกลุ่มกันปลูกพืช ออร์แกนิกบ้าง ปลูกพืชทดแทนบ้าง แล้วก็หาอาชีพเสริมบ้าง สหกรณ์เข้มแข็ง เงินกู้ เงินอะไรต่าง ๆ ที่มีเขาก็หันไปเป็นระบบแต่ถ้าตรงไหนที่ยากจน ผมให้ไปสำรวจปรากฏว่าไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณที่มีที่รัฐสนับสนุนอย่างเป็นระบบเลย นำไปใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไปซื้อโทรศัพท์มือถือไป อย่างนี้ไม่ได้ แล้วเงินหมุนเวียนก็ไม่เกิด ให้กี่ล้าน ๆ ก็หมด แบบนี้ต้องไปดู เพราะฉะนั้นถ้าไม่ยอมรับในความผิดพลาด ยอมรับในการแก้ไขของท่านด้วย ถ้ารัฐจะต้องดูแลทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้ ถ้าเราเข้มแข็งบ้าง อะไรบ้าง รัฐก็มีกำลังใจในการที่จะไปช่วย
 
การจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพประมง ปศุสัตว์ ก็ต้องเพิ่มเติม วันหน้าถ้ามีบ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำที่ขุดเพิ่มเติมในปีนี้ได้ก็อยากจะให้เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาไว้กินบ้าง อะไรบ้าง ขายบ้าง ก็ช่วยเหลือกันไป วันหน้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เดือดร้อนเราต้องช่วยกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกัน
 
สัปดาห์นี้คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เป็นอีกโครงการหนึ่ง ในพื้นที่แล้งซ้ำซากจำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด คือพื้นที่ที่ทำอะไรไม่ได้ แล้งมาทุกปี ๆ มีการประกันราคามาตลอด ความเสียหายก็เสียหายทุกปี ต้องเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแล้วจะทำอย่างไร แต่ช่วงนี้เดือดร้อนก็จะพิจารณาให้ตำบลละ 1 ล้านบาท ก็ 3 พันกว่าล้านแล้ว ที่ผ่านมาด้านการเกษตรหลายหมื่นล้านเป็นแสนล้านแล้ว ผมคิดว่าที่ให้ไป ผมก็ได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกระทรวงมหาดไทยด้วย และ คสช. ทหารทุกหน่วย ทุกกองทัพภาคต้องเข้าไปดู กำกับดูแลให้โครงการทุกโครงการเป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ถึงครอบครัวผู้ยากไร้ คนแก่ เด็ก ฯลฯ บางครอบครัวทำไร่ ทำนามาตั้งแต่พ่อ – แม่ อายุ 60 – 70 ปี แล้ว ถ้ามาทำแรงงานจะให้เขาทำอะไร ให้เขาทำอะไรที่เบา ๆ แต่เขาก็ได้เงินเหมือนกัน เขาจะได้เลี้ยงครอบครัวใช้จ่าย
 
สิ่งนี้ขอให้ คสช. ไปช่วยเต็มที่ ดูด้วยว่าใครทุจริต ใครไม่จริงจัง ก็เร่งรัดออกให้เร็วด้วย บางทีก็ช้า ขั้นตอนมีมาก เราต้องซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน รัฐก็ซื่อสัตย์ ข้าราชการก็ต้องซื่อสัตย์ ประชาชนก็ต้องซื่อสัตย์ ขึ้นชื่อ ขึ้นทะเบียน ให้ชัดเจนขึ้นไม่ใช่รีรอ ถึงเวลาพอจะจ่ายก็จ่ายไม่ได้ แล้วก็มาเร่งรัดรัฐบาลว่าทำไมจ่ายช้า เพราะบัญชีไม่เรียบร้อย ท่านต้องขึ้นให้เรียบร้อยทุกคน ขอให้ทุกกระทรวง Clear เรื่องข้อมูลต่าง ๆ ให้เรียบร้อยการก่อนเพาะปลูกฤดูการหน้า ต่อไปอาจจะไม่ให้มีการเพิ่มรายชื่ออีกแล้ว ถ้าไม่รวมกลุ่มเป็นกลุ่มแปลงนาขนาดใหญ่มา ไม่รวมเป็นสหกรณ์มา การช่วยเหลือก็จะอยู่ทีหลังหรือให้ไม่ได้ก็ไม่รู้ ต้องมีมาตรการ
 
ถ้าท่านเรียกร้องจากเราอย่างเดียวคงไม่ใช่ คงต้องตั้งกติกากันใหม่บ้างว่า ต้องรวมกันให้ได้ จะได้ไปช่วยได้ถูก ช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร จะหาเครื่องมืออุปกรณ์ไปช่วยเหลือได้ ถ้าให้ไปทุกคนแจกครัวเรือนทุกครัวเรือนทำไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าให้เป็นกลุ่มให้เป็นสหกรณ์หรือไปปรับราคา การที่มาไถอะไรต่าง ๆ ให้ลดราคาลง สามารถทำได้ ถ้าแปลงนาใหญ่ขึ้น แต่ถ้าดูเป็นครอบครัว 5 – 10 ไร่ เขาก็คิดราคาเต็ม แล้วจะให้ผมไปทำตอนไหนได้
 
เรื่องปุ๋ยเหมือนกันก็เร่งรัดปุ๋ยอินทรีย์ให้มากที่สุด วันนี้ก็ผลิตได้มากมาย ก็นำไปใช้ ไปตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช ธนาคารปุ๋ย เบิกปุ๋ยไปใช้เป็นข้าวก็ได้ เบิกข้าวไปใช้เป็นยางก็ได้ อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ต้องเป็นไปตามตัวอักษรทั้งหมด เบิกอะไรต้องใช้สิ่งนั้น ก็สลับกันไป บริหารจัดการให้ดีแล้วกัน
 
ในส่วนของการเพาะปลูก เร็ว ๆ นี้จะเข้ามาอีกแล้ว ขอให้รีบดำเนินการ ในส่วนของการช่วยเหลือมาตรการต่าง ๆ ใช้เงินของรัฐลงไปก็ขอให้มีความโปร่งใส ปราศจากการทุจริต คอร์รัปชั่น เลิกได้แล้ว อย่าพึ่งเลย เพราะเรากำลังเร่งรัดเรื่องนี้อยู่ด้วย ประชาชนเดือดร้อน การทุจริตก็มากมาย วันนี้ก็ลดลงมาจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจมากนัก ตัวเลขลดลงมาน้อยจากการประเมินหรือจากโพลล์อะไรต่าง ๆ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าดีขึ้น ก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนด้วย ถ้าหากว่าพบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดมีการทุจริตขอให้แจ้งเบาะแสให้รัฐบาลด้วย ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น จะได้รู้จะได้ Clear ตัวเองสักที
 
เรื่องการปฏิรูปบริหารราชการเพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น ในเรื่องนี้นั้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในสัปดาห์นี้ได้มีการอนุมัติหลักการเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ  ซึ่งแนวทางนี้ ทาง คนร. ได้มีการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศกับผู้รู้ทั้งหมดเลยทาง Doctor นักวิชาการ ทั้งด้านการเงิน การธนาคาร การบริหารต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมทั้งสิ้น เพื่อจะกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของไทย ท่านทราบอยู่แล้ว 50 กว่าแห่ง เป็นอย่างไร และการบริหารราชการที่ผ่านมามีกำไรขาดทุนอย่างไร รัฐต้องไปดูแลอย่างไร
 
เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอันแรกคือการกำกับดูแลทำอย่างไรไม่ให้ใครเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้ ไม่ใช่คนของคนนั่นคนนี้มาอยู่รัฐวิสาหกิจนี้ ไม่ใช่ เป็นอย่างนั้นต่อไปไม่ได้แล้ว ก็จะเกิดการรั่วไหล เสียหาย ต้องนำมาอุดหนุนกัน อันนี้ตรงไปโปะอันโน้น แทนที่จะมีงบประมาณที่กลับเข้าสู่รัฐมากมายในการพัฒนาประเทศ ก็ไม่มี สิ่งนี้ต้องกำกับการดูแลกันอย่างไร จะยอมรับกันหรือไม่ การบริหารราชการในลักษณะรัฐวิสาหกิจโดยข้าราชการ พอเพียงหรือไม่ จำเป็นหรือไม่  หรือจะต้องมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเข้ามาด้วย หรือจะมีมืออาชีพเข้ามาบริหาร ก็หารือกันทั้งหมด ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเงียบ ๆ ซึ่งไม่ขัดแย้งอะไรกันเลย แต่วันนี้ต้องเดินหน้าไปด้วย หมายความว่าจะแก้ก็แก้โครงสร้างใหม่ก็ทำ กฎหมายต้องไปเข้า สนช. เตรียมการ
 
ในส่วนของการบริหารราชการ วันนี้ต้องทำให้โปร่งใส ไม่เช่นนั้นวันหน้ารัฐบาลเลือกตั้งเข้ามา แล้วจะทำอย่างไร ไม่ใช่จะป้องกันเขา ป้องกันให้มาใช้ในทางที่ผิด เพียงแต่ให้เขาใช้ประโยชน์ดูแลประชาชน เพราะอาสาเข้ามาดูแลประชาชน ขอให้ทุกอย่างนั้น เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพเท่านั้นเอง มีการบริหารทรัพย์สินของชาติให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงที่สุด เดี๋ยวก็ขัดแย้งกันอีก ไม่ไว้ใจกัน ไม่เชื่อมั่นกันก็ขัดแย้งเหมือนเดิม
 
เพราะฉะนั้น การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจึงจำเป็นต้องกำหนดบทบาทและทิศทางการกำกับดูแลให้ชัดเจน โดยมีการแบ่งโครงสร้างเป็น 3 ส่วน สิ่งแรกกระทรวงต้นสังกัด จะเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายในการดำเนินงาน (Policy) สิ่งนี้กระทรวง รัฐมนตรีก็รับไป หน่วยงานกำกับดูแล ก็จะแยกออกมาอีกส่วนหนึ่งคือ Regulator เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คราวนี้จะต้องจัดตั้ง องค์กรเจ้าของ (Owner) ขึ้นมา เพื่อจะทำหน้าที่ในการดูแลความยั่งยืนในภาพรวมว่า จัดอย่างไร นำใครมาตรงนี้ เดี๋ยวไปหาดู กำลังให้กลับไปทำขึ้นมาใหม่ใน 3 ส่วนนี้จะทำงานประสานสอดคล้องกันอย่าไร เกื้อกูลอย่าไร จะแก้กฎหมายกันอย่างไร ตรงไหนบ้าง นี่คือการเปลี่ยนแปลง เราต้องยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ในระหว่างนี้จำเป็น
 
เพราะฉะนั้น วันนี้กำลังศึกษาขั้นตอนอยู่ จะจัดตั้งอย่างไร เร่งร้อนเกินไป คนอื่นไม่ไว้ใจอีก วันนี้อยากให้ไว้ใจเรา เพราะเราไม่ได้คิดเพื่อผลประโยชน์อะไรเลย คิดแต่เพียงว่าจะฟื้นฟูกันอย่างไร แล้ววันหน้าจะเดินหน้าไปอย่างไร จะจัดการบริการประชาชนได้อย่างไร เกิดความโปร่งใสอย่างไร ไม่อย่างนั้นก็จะโทษกันไปโทษกันมาอยู่แบบนี้ ฉะนั้นจะต้องใช้ความโปร่งใส ใช้ระบบบรรษัทภิบาลที่ดี แล้วก็ไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองต่อไปในอนาคตด้วย การบริหารงานต้องมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัว ไม่ใช่ว่าปิดกั้นหรือควบคุมจนกระทั่งทำงานไม่ได้ เดี๋ยวก็มีปัญหาอีก ต้องสมดุลกัน  สิ่งเหล่านี้เป็นการวางรากฐานในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความยั่งยืนตลอดไป เพราะเป็นหน่วยงานที่มีรายได้ให้กับรัฐจำนวนมาก ถ้าทำดี  ๆ
 
เรื่องการช่วยเหลือแรงงาน กระทรวงแรงงานก็ได้เปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย ที่เรียกว่า Smart Job Center ภายใต้ Concept “One-stop-service”  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่มีงานทำและอยู่ระหว่างการหางานทำ จะหาได้ที่ไหน วันนี้เราก็อำนวยความสะดวกตรงนี้หรือใครที่ต้องการเปลี่ยนงาน เราก็จะมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยอำนวยความสะดวกผู้รับบริการเป็นจอ Touch Screen ลดขั้นตอน มีบริการรับขึ้นทะเบียน รายงานตัวผู้ประกันตน ทั้งนี้ประชาชนสามารถรับบริการจากเจ้าหน้าที่หรือจะบริการด้วยตนเองก็ได้ มีจุดบริการสำหรับผู้พิการอีกด้วย บริการสัมภาษณ์งานผ่านระบบ Skype มีห้องสัมภาษณ์สดและบริการถ่ายคลิปวิดีโอแนะนำตัวเองได้ด้วยเพื่อจะให้นายจ้างพิจารณาบุคลิกภาพ  มุมบริการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอาชีพ  ห้องแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ ถือว่าครบวงจร วันนี้ก็อยากให้ประชาชนที่สนใจไปใช้ประโยชน์จากบริการนี้ ต้องรับรู้ทั่ว ๆ กันบอกกันต่อ ๆ ไปด้วย ตั้งอยู่ในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ ช่วยกันเข้าไปดูว่าไปถึงไหนอย่างไร ถ้าดูแล้วไม่ดีก็บอกมา
 
ส่วนของการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่า ปีนี้เป็น “การท่องเที่ยววิถีไทย” ซึ่งจะนำเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาเป็นจุดขายเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวให้มากขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวในบ้านเราเองด้วย ที่ผมเคยใช้คำว่า “ไทยเที่ยว และ เที่ยวไทย” ก็ง่ายดี เพื่อให้สัมผัสกับวิถีไทยต่าง ๆ สิ่งนี้จะมีผลให้คนไทยนั้นมีความรักในวัฒนธรรมไทย ดูแลกัน เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชนชาติไทยของเรา
 
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็รับนโยบายไปว่าจะมีแผนการจัดงานใหญ่ ที่ผมต้องการให้เน้นการแสดงออก “วิถีไทย” ครบทั้ง 12 เดือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะกระจายรายได้ไปทุกภูมิภาคของประเทศ ที่ผ่านมาในเดือนมกราคมนี้ก็ได้เปิดตัวไปแล้วในภาพรวม “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ที่    สวนลุมพินี เป็นการย่อเมืองไทยไว้ที่นั้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการตอบรับเป็นอย่างดีมาก นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาร่วมงานกว่า 6 แสนคน เงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาท ในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เป็นการเปิดการสร้างความเข้าใจ
 
สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ก็จะเน้นที่งานฉลองตรุษจีนที่เยาวราช จะเป็นตรุษจีนพิเศษ มีการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสครบรอบ 60 พรรษา เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพระองค์ท่านทรงเป็นพระมิ่งขวัญไม่เฉพาะชาวไทยเท่านั้น ยังทรงเป็นที่รักและชื่นชมของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนด้วย
 
เดือนมีนาคม จะมีงาน “มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ” และ “มวยไทย ศิลปะไทย มรดกไทย มรดกโลก และไหว้ครูมวยไทยโลก” ณ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มวยไทยมีชื่อเสียงมานานแล้ว ทั่วโลก มาฝึก มาหัด มาแข่งขันกัน ได้รับการยอมรับ ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ ชาวต่างชาติก็บินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาเรียนมาศึกษาศิลปะมวยไทย เพราะฉะนั้นก็คาดว่าจะมีผู้ที่ชื่นชอบบินมาอีกมากมายในช่วงดังกล่าว จากต่างประเทศก็จะเข้ามาร่วมพิธีไว้ครูที่สวยงามนี้เป็นจำนวนมาก ก็เชิญชวนและสนับสนุนให้คนไทย เยาวชนไทยให้มาสนใจและช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรม สร้างร่างกายให้เข้มแข็ง วันนี้คนไทยไม่ค่อยออกกำลัง ไม่ค่อยสนใจกีฬาอะไรต่าง ๆ ที่ใช้ออกแรงมาก ๆ ผู้ชายต้องฝึก ตอนนี้ผู้หญิงเขาฝึกกันมากมายมวยไทย ในประเพณีมวยไทยนี้มีหลายอย่าง มวยคาดเชือกก็มี สิ่งนี้ประเทศไหนก็ไม่เหมือนประเทศไทย เกิดมาก็ชกมวยไทยได้เลย ต่างประเทศก็ต้องหัดตั้งหลายปีกว่าจะเตะได้ กว่าจะใช้ศอกได้ อะไรได้ ก็สนใจมวยไทยบ้าง
 
เดือนเมษายน ปีนี้ก็จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ ในงาน “เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” หลายประเทศก็พยายามจะนำไปเป็นแบบอย่าง เราเป็นต้นตำรับอยู่แล้ว อย่าทอดทิ้งของเราเอง ให้เป็นประเพณีที่ดีงาม ไม่ใช่มีปัญหาผิดกฎหมายกันอีกมากมายไปหมด เราจะจัดที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ และทั่วประเทศด้วย แต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป ช่วงสงกรานต์ของทุกปีชาวต่างชาติก็มาเที่ยวอยู่แล้ว เที่ยวเมืองไทย คนไทยหลายคนก็อาจจะไปเที่ยวต่างประเทศ ผมก็ห้ามไม่ได้อยู่แล้วเป็นเสรีของท่าน และเป็นวันหยุดยาวด้วย ปีนี้ผมก็อยากให้ทุกคนลองเที่ยวในเมืองไทยดีไหม เพราะต่างประเทศหลายประเทศก็มีความวุ่นวาย สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลง เที่ยวเมืองไทยกันสักที มีทั้งหลายที่หลายทาง หลายจังหวัด บางคนก็เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อรดน้ำดำหัวผู้มีพระคุณ ใช้เวลาไปมาหาสู่รับพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ สิ่งนี้ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนกลับมาสู่ประเพณีไทย วันหยุดราชการของข้าราชการบ้าง อันนี้ด้วยเหตุด้วยผล ก็อยากให้มีความสนุกสนาน และมีการเล่นสงกรานต์แบบไทย ๆ ด้วย ในช่วงวันหยุดหลายวันในช่วงสงกรานต์ เงินทองก็ไม่รั่วไหลไปต่างประเทศ คนไทยก็มีความสุข การค้าการบริการ ก็ได้เงินทั้งหมด ใช้จ่ายกันในประเทศ “เรือล้มในหนอง ทองจะไปไหน”
 
เดือนพฤษภาคม ก็จะมี “เทศกาลไทยแลนด์มิวสิก เฟสติวัล” มหกรรมดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ ที่ชายหาดชะอำ เพชรบุรี และในเดือนมิถุนายน มี “มหกรรมThailand Grand Sale” สำหรับครึ่งปีหลังก็จะมีทั้ง “มหกรรมสานศิลป์แห่งแผ่นดินอาเซียน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ “มหกรรมผ้าไหมไทย ร่วมเทิดไท้ราชินี” ณ กรุงเทพมหานคร “มหกรรมอาหารนานาชาติ” ที่จังหวัดภูเก็ต “สีสันแห่งสายน้ำมหกรรมลอยกระทง” ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ และในเดือนธันวาคม เช่นเดียวกันกับทุก ๆ ปี “เทศกาลมหกรรมแห่งความสุข” วันที่ 5 วันเฉลิมพระชนมพรรษา – วันพ่อแห่งชาติ เห็นไหม มีที่ท่องเที่ยวทั้งปีเลย ผมพูดยังเหนื่อยเลย แสดงว่าประเทศไทยมีความหลากหลาย น่าจะภูมิใจ
 
ทั้งนี้ รัฐบาล และ คสช. ได้มีมาตรการส่งเสริมความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวอีก โดยจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 200 ล้านบาท” มีผลใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 โดยให้การคุ้มครองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกคน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งในภาวะปกติ ภาวะวิกฤตในการประกาศกฎอัยการศึก และทำให้เกิดความสูญเสียหรือเสียหายใด ๆ จากการจลาจล การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ การหยุดชะงักของการเดินทาง อาชญากรรม หรือภัยด้านอื่น ๆ โดยที่ไม่ได้เกิดจากความประมาท เจตนา หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายของนักท่องเที่ยว ซึ่งหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือนี้ เป็นไปตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้ การขอรับการช่วยเหลือก็สามารถติดต่อสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาในทุกจังหวัด หรือ “สายด่วน” ตำรวจท่องเที่ยว 1155 ตลอด 24 ชม.
 
รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม รถโดยสาร เรือเจ็ทสกี เกสท์เฮาส์ สถานประกอบการทั่ว ๆ ไป แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ มัคคุเทศก์ เจ้าหน้าที่ แท็กซี่ พ่อค้า - แม่ค้า ช่วยกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีได้ไหม อย่าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย ไปช่อโกงเขา ไปโก่งราคาเขา หรือของปลอมอะไรเหล่านี้ เสียชื่อไปหมด แล้วจะบ่นว่าคนเขาไม่มา ก็ไม่มา เพราะไปโกงเขา ไม่ได้ ต้องปรับปรุงทั้งหมด ให้ช่วยกันเป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับแขก ช่วยกันประชาสัมพันธ์สิ่งดี ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ใช่ไปโฆษณาสิ่งไม่ดีให้เขามาเที่ยว เพราะฉะนั้นก็ขอให้ชาวต่างชาติมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย การดูแล น้ำใจไมตรี รอยยิ้มของคนไทย ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในเมืองไทยเขาก็จะจำได้ ปีต่อไปเขาก็มาอีก ไม่ใช่มาครั้งเดียวแล้วเลิก เพราะเข็ดไม่ใช่ ต้องแก้ไข
 
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 ในการมอบรางวัลนี้เพื่อถวายเป็นพระราชอนุสรณ์และเผยแพร่เกียรติคุณแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย” สำหรับปี 2557 นั้น ก็มีผู้ได้รับรางวัล 2 ท่าน คือศาสตราจารย์ อากิระ เอ็นโด จากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นผู้ค้นพบสารที่สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ นำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของยาลดไขมัน สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทั่วโลก ท่านที่ 2 คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์โดนัล เอ เฮนเดอร์สัน จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นผู้นำของโครงการที่ทำการกวาดล้างโรคไข้ทรพิษ หรือฝีดาษได้สำเร็จ ผมในนามของรัฐบาลไทยก็ขอแสดงความยินดีกับท่านทั้ง 2 ด้วย
 
ขอแสดงความยินดีและชื่นชม น.ส.ณัชชา เจริญทองมั่นคง น.ส.ปวีณา อาชาคีรี และ ด.ช.วทัญญู เจริญทองมั่นคง ซึ่งเป็นเยาวชนชาวไทยเชื้อสายม้ง จากโรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 จังหวัดตากที่สามารถคว้าแชมป์โต้วาทีภาษาอังกฤษระดับประเทศ ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ เป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของความพยายามที่จะพัฒนาตนเอง และขอขอบคุณ นายเหมันต์ ยะอุทัย และ น.ส.วินทร์อร เมืองงำ อาจารย์ภาษาอังกฤษที่เป็นผู้ฝึกสอนด้วย
 
วันอังคารหน้านั้น ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์  เป็น “วันทหารผ่านศึก” ผมขอเชิญพี่น้องประชาชน ร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมของทหารผู้เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินและเอกราชของชาติไทย ด้วยการประดับ “ดอกป๊อปปี้สีแดง” อันเป็นสัญลักษณ์แทน “ทหารผ่านศึก” ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมอุดหนุนดอกป๊อบปี้ หรือบริจาคทุนทรัพย์ ร่วมให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฏิบัติการรบ และครอบครัว โดยรายได้นำไปเป็นสวัสดิการ ดูแลในเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา อวัยวะเทียม การส่งเสริมวิชาชีพ และกองทุนสงเคราะห์กู้ยืมไปประกอบอาชีพ  นอกเหนือไปจากสวัสดิการที่รัฐบาลดูแลให้อยู่แล้ว นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต้องดูแลอีก ฉะนั้นก็ขอเชิญชวนพี่น้องได้ช่วยกันตอบแทนน้ำใจแด่ผู้เสียสละผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ด้วย
 
การที่จะสร้างประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีความร่มเย็น น่าอยู่ น่าอาศัย เป็นที่รักของประชาชนของคนทั้งโลก คนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน และเข้าใจกัน เผื่อแผ่แบ่งปันกันให้ได้ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล : ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง เสรีภาพ กับ Hate speech และอิทธิพลของภาพการ์ตูน

$
0
0

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส พิจิตรา ชี้  Hate speech มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของสังคม และสิ่งที่ท้าทายคือเราอยู่ในโลกที่เชื่อกันคนละแบบ

 

 

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

 

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล : ปัญหาว่าด้วยเรื่อง ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง และการแยกแยะ Hate speech ของสังคม

ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง Freedom of expression กับ Hate speech และความไม่ธรรมดาของภาพการ์ตูน

ประเด็นในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก กับ hate speech ได้มีการถกเถียงกันมานาน งานวิจัยที่เราเคยทำก็ได้เข้าไปศึกษาในเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าเรื่อง Hate speech ถือเป็นกฏเหล็กของคนทำงานสื่อพอสมควร เพราะเรามอง สื่อมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และสามารถสร้างบรรทัดฐาน เหมารวม และสร้างอคติไปถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ด้วย แม้เราจะไม่เคยรู้จักกลุ่มบุคคลเหล่านนั้นมาก่อน  แต่อาจจะเป็นเพราะสื่อที่เข้ามามีส่วนที่สร้างบรรยากาศของความเกลียดชัง และตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถพัฒนา Hate speech ให้ไปถึงขั้น Hate crime ได้ หรือเราอาจจะสามารถใช้ความรุนแรงกับบุคคลแปลกหน้าได้ แม้เราจะไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เพราะถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น เราก็อาจจะมีความเกลียดชังต่อเขาไปแล้ว

จากที่ทำการศึกษาเราพบว่า หลายครั้งสื่อพยายามจะอ้างว่าตัวเองมีเสรีภาพในการสื่อสาร เราสามารถที่จะแสดงออกอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมในระบอบประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้าการแสดงออกนั้นกลายเป็น Hate speech ก็จะเท่ากับว่าสื่ออ้างประชาธิปไตย หรือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อทำลายประชาธิปไตย จากที่เราทำการรวบรวมข้อมูลเฉพาะประเทศไทยพบว่า ในสื่อสิ่งพิมพ์จะมีภาพการ์ตูนที่โดดเด่นออกมาคือ ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ซึ่งดูแล้วเหมือนจะเป็นอะไรที่เบา แต่ก็ไม่เบา แม้จะไม่ใช่ภาพตัดต่อทางคอมพิวเตอร์ แต่มันมีความลุมลึกทางวัฒนธรรมอยู่ เพียงภาพเดียวมันสามารถสะท้อนทัศนคติ และอคติอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติที่เหมารวม

สิ่งที่เราค้นพบคือ ภาพการ์ตูนมีพลังค่อนข้างมาก เมื่อแทบกับภาพตัดต่อ หรือคำพูด ข้อถกเถียงที่ตามมาในเรื่องของ Hate speech คือ โดยตัวมันเองมันเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมด้วย เป็นไปตามบริบทของสังคม เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม และกาลเวลา สมัยก่อนเราพูดถึง “เจ๊ก” คำนี้อาจจะเป็น Hate speech ในช่วงนั้น แต่ในสมัยนี้เด็กรุนใหม่อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ และบริบท นอกจากเรายังพบว่า แต่ละสังคมจะการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ ในกลุ่มของตัวเอง หรือในสังคมตัวเองที่แตกต่างกับสังคมอื่น นอกจากสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันแต่ละสังคมก็จะมีสิ่งที่ห้าม สิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นข้อห้ามต่างๆ ซึ่งก็แตกต่างกันเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ Hate speech ทำงานได้ดีมาก หมายถึงมีประสิทธิภาพในการสร้างความเกลียดชังคือ การใช้ Hate speech โดยที่มีความรักอยู่ในนั้นด้วย และสิ่งที่เราเจอคือ ความเกลียดชังจะพัฒนาเป็นอารมณ์ที่รุนแรงมาก เมื่อมีใครก็ตามมาทำอะไรกับคนที่เราบูชา หรือคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสัญญะของกลุ่ม หรือสัญญะความเป็นพวกพ้อง อย่างตอนที่เราทำวิจัยก็ได้มีการศึกษาสื่อของทั้งฝั่งเสื้อเหลือง และฝั่งเสื้อแดง จะเห็นว่าถ้ามีการด่าทอ เสียดสี พอๆ กัน แต่ถ้าเป็นการเสียดที่มีเป้าหมายเป็น ระบบ ระบอบก็จะไม่สร้างความโกรธเท่ากับ การเสียดสีที่ตัวบุคคลที่เขารู้สึกรัก

Hate speech ที่เราพบเจอ ไม่ได้หมายความว่า มีการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วสามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาชญากรรมได้ แต่ว่าต้องมีการสะสม มีการล้อเลียนเสียดสีไปเรื่อยๆ จนกระทั้งถึงระดับที่มีการสร้างทัศนคติที่มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำผึงหยดเดียว ซึ่งมักเกิดขึ้นง่ายท่ามการสถานการณ์ที่เราได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบ และมีความหวาดกลัวและความหวาดระแวงเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ มันสามารถที่จะกระตุ้นคนในสังคมให้ออกมาปะทะกันได้

Market place of idea ที่มีมารยาทเข้ามากำกับ

กลับมาในเรื่องของเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับ Hate speech เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคมว่าจะมีมุมมองต่อมันอย่างไร ถ้ามองว่าสังคมมีเสรีภาพฉะนั้นทุกคนสามารถแสดงออกได้ แล้วเมื่อแสดงออกมันจะเกิดพื้นที่ ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดของความคิดเห็น และกลไกตลาดทางความคิดมันจะคัดกรองเองว่า อุดมการณ์หรือความคิดใดควรจะดำรงอยู่ในสังคมตัวเอง นี่ก็เป็นแนวคิดแบบ Market place of idea ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก และถ้าใครมีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แย่ๆ ความคิดเห็นเหล่านี้มันจะหายไปเองเพราะมันมีความคิดเห็นอื่นๆ เข้ามาแย้ง ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้เด่นชัดมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆแล้วแม้ว่าอเมริกาจะเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก และ Market place of idea ขนาดไหน แต่ในองค์กรย่อยๆ เช่น สถาบันการศึกษาเองก็จะมีการควบคุม ไม่ให้ใครก็ได้สามารถพูดอะไรก็ได้ อาทิ ห้ามเหยียดสีผิว ห้ามเหยียดเพศ แม้ว่าจะมีเสรีภาพมากขนาดไหน แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่ามารยาทเข้ามากำกับ


Charlie hebdo ในฐานะบทเรียนที่สำคัญ และความท้าทายในโลกที่โยงใยถึงกัน

สำหรับกรณีของ Charlie hebdo เป็นซึ่งนิตยสารซึ่งมีที่มาจากนิตยสาร Hara-kiri ซึ่งเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างสุดขั้ว มีภาพล้อเลียนในลักษณะของการเหยียดเพศ และก็ถูกรัฐบาลสั่งห้ามพิมพ์จนในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็น Charlie hebdo สิ่งที่เรากำลังเผชิญหลังจากกรณีบุกยิงสำนักพิมพ์ Charlie hebdo คือข้อถกเถียงที่ตามมาจากนักวิชาการหลายๆ คน ซึ่งกล่าวว่า คุณค่า หรือวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อในเสรีภาพในการสื่อสาร และนิตยสารฉบับนี้ก็มีจุดยืนลักษณะนี้ และไม่ได้เสียดสีเฉพาะ ศาสนาอิสลาม แต่เสียดสีทุกศาสนา

ถามว่า Charlie hebdo ถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก็เคยแต่ท้ายที่สุด ศาลก็ตัดสินบนคุณค่าแบบฝรั่งเศสคือ ให้คุณค่ากับเสรีภาพในการสื่อสาร และการที่เขาสื่อสารก็เป็นคุณค่าส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ศาลก็ไม่ได้ตัดสินโดยเหมารวมทั้งหมด แต่ดูหน้าปกเป็นรูปๆ ไป และคำตัดสินของศาลคือ ศาลไม่ได้มองว่าภาพที่มีผู้ฟ้องร้องเป็นภาพที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แต่เป็นการต่อต้านผู้ก่อการร้าย กระนั้นก็ตามแม้การสื่อสารจะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ศาสนา แต่การสื่อสารมีภาพที่ไปกระทบกับศาสนาคือ มีภาพของศาสดามูฮัมหมัด

ถึงที่สุดกรณีนี้ของ Charlie hebdo เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่กลายกระจายตัวไปทั่วโลก และตอนนี้ความรุนแรงก็ยังดำเนินอยู่ ทำให้ผู้คนมาฆ่าบนฐานความเชื่อที่ต่างกัน และความเชื่อที่ต่างกันก็มีมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าของสังคมก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นในสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง และในสังคมมุสลิมก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่มุสลิมบอกคือ สื่อย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่บอกรู้สึกว่ามีความเป็น 2 มาตรฐานในการแสดงออกของสื่อด้วย เขามองว่าสื่อสร้างทัศนคติที่แย่ๆ กับคนมุสลิม  ขณะเดียวกันในฝั่งรัฐเองก็เริ่มหันมาควบคุมสื่อมากขึ้นเช่นใน ออสเตเรียก็มีการห้ามเผยแพร่ภาพบางภาพ ซึ่งมีลักษณะต่อต่านคนยิว นี่คือภาพสะท้อนของโลกเสรีที่รัฐเริ่มมีการดูแล และระมัดระวังมากขึ้น

สิ่งที่เราเจออยู่ในตอนนี้คือ สมดุลระหว่างโลกหนึ่งที่เชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก และอีกโลกหนึ่งที่เชื่อคุณค่าของเขา และยิ่งตอนนี้เราอยู่ในสังคมออนไลน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด นี่คือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล : ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง เสรีภาพ กับ Hate speech

$
0
0

ถอดคำบรรยายฉบับเต็ม งานเสวนาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส พิจิตรา ชี้  Hate speech มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของสังคม และสิ่งที่ท้าทายคือเราอยู่ในโลกที่เชื่อกันคนละแบบ

 

 

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 ที่ห้อง ร.102  ชั้น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการ “ทำความเข้าใจปรากฎการณ์ Charlie Hebdo ในประเทศฝรั่งเศส” โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 3 คน ประกอบด้วย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จิติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในงานมีผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนา ราว 150 คน

ประชาไทถอดความคำบรรยายฉบับเต็มของวิทยากรแต่ละคน รวมทั้งช่วงตอบคำถาม แบ่งเป็น 4 ตอน โดยในตอนนี้เป็นคำบรรยายของ พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล

 

พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล : ปัญหาว่าด้วยเรื่อง ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง และการแยกแยะ Hate speech ของสังคม

ความพร่าเลือนของเส้นแบ่ง Freedom of expression กับ Hate speech และความไม่ธรรมดาของภาพการ์ตูน

ประเด็นในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก กับ hate speech ได้มีการถกเถียงกันมานาน งานวิจัยที่เราเคยทำก็ได้เข้าไปศึกษาในเรื่องนี้ด้วย แน่นอนว่าเรื่อง Hate speech ถือเป็นกฏเหล็กของคนทำงานสื่อพอสมควร เพราะเรามอง สื่อมีอิทธิพลค่อนข้างมาก และสามารถสร้างบรรทัดฐาน เหมารวม และสร้างอคติไปถึงกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ด้วย แม้เราจะไม่เคยรู้จักกลุ่มบุคคลเหล่านนั้นมาก่อน  แต่อาจจะเป็นเพราะสื่อที่เข้ามามีส่วนที่สร้างบรรยากาศของความเกลียดชัง และตอกย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถพัฒนา Hate speech ให้ไปถึงขั้น Hate crime ได้ หรือเราอาจจะสามารถใช้ความรุนแรงกับบุคคลแปลกหน้าได้ แม้เราจะไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เพราะถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น เราก็อาจจะมีความเกลียดชังต่อเขาไปแล้ว

จากที่ทำการศึกษาเราพบว่า หลายครั้งสื่อพยายามจะอ้างว่าตัวเองมีเสรีภาพในการสื่อสาร เราสามารถที่จะแสดงออกอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมในระบอบประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดแล้วถ้าการแสดงออกนั้นกลายเป็น Hate speech ก็จะเท่ากับว่าสื่ออ้างประชาธิปไตย หรือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อทำลายประชาธิปไตย จากที่เราทำการรวบรวมข้อมูลเฉพาะประเทศไทยพบว่า ในสื่อสิ่งพิมพ์จะมีภาพการ์ตูนที่โดดเด่นออกมาคือ ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ซึ่งดูแล้วเหมือนจะเป็นอะไรที่เบา แต่ก็ไม่เบา แม้จะไม่ใช่ภาพตัดต่อทางคอมพิวเตอร์ แต่มันมีความลุมลึกทางวัฒนธรรมอยู่ เพียงภาพเดียวมันสามารถสะท้อนทัศนคติ และอคติอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นทัศนคติที่เหมารวม

สิ่งที่เราค้นพบคือ ภาพการ์ตูนมีพลังค่อนข้างมาก เมื่อแทบกับภาพตัดต่อ หรือคำพูด ข้อถกเถียงที่ตามมาในเรื่องของ Hate speech คือ โดยตัวมันเองมันเป็นอะไรที่ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมด้วย เป็นไปตามบริบทของสังคม เปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม และกาลเวลา สมัยก่อนเราพูดถึง “เจ๊ก” คำนี้อาจจะเป็น Hate speech ในช่วงนั้น แต่ในสมัยนี้เด็กรุนใหม่อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมันเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ และบริบท นอกจากเรายังพบว่า แต่ละสังคมจะการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ ในกลุ่มของตัวเอง หรือในสังคมตัวเองที่แตกต่างกับสังคมอื่น นอกจากสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันแต่ละสังคมก็จะมีสิ่งที่ห้าม สิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้ เป็นข้อห้ามต่างๆ ซึ่งก็แตกต่างกันเช่นกัน

สิ่งที่ทำให้ Hate speech ทำงานได้ดีมาก หมายถึงมีประสิทธิภาพในการสร้างความเกลียดชังคือ การใช้ Hate speech โดยที่มีความรักอยู่ในนั้นด้วย และสิ่งที่เราเจอคือ ความเกลียดชังจะพัฒนาเป็นอารมณ์ที่รุนแรงมาก เมื่อมีใครก็ตามมาทำอะไรกับคนที่เราบูชา หรือคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสัญญะของกลุ่ม หรือสัญญะความเป็นพวกพ้อง อย่างตอนที่เราทำวิจัยก็ได้มีการศึกษาสื่อของทั้งฝั่งเสื้อเหลือง และฝั่งเสื้อแดง จะเห็นว่าถ้ามีการด่าทอ เสียดสี พอๆ กัน แต่ถ้าเป็นการเสียดที่มีเป้าหมายเป็น ระบบ ระบอบก็จะไม่สร้างความโกรธเท่ากับ การเสียดสีที่ตัวบุคคลที่เขารู้สึกรัก

Hate speech ที่เราพบเจอ ไม่ได้หมายความว่า มีการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วสามารถกระตุ้นทำให้เกิดอาชญากรรมได้ แต่ว่าต้องมีการสะสม มีการล้อเลียนเสียดสีไปเรื่อยๆ จนกระทั้งถึงระดับที่มีการสร้างทัศนคติที่มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำผึงหยดเดียว ซึ่งมักเกิดขึ้นง่ายท่ามการสถานการณ์ที่เราได้รับข้อมูลข่าวสารไม่ครบ และมีความหวาดกลัวและความหวาดระแวงเกิดขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความรุนแรง แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ มันสามารถที่จะกระตุ้นคนในสังคมให้ออกมาปะทะกันได้

Market place of idea ที่มีมารยาทเข้ามากำกับ

กลับมาในเรื่องของเส้นแบ่งระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับ Hate speech เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสังคมว่าจะมีมุมมองต่อมันอย่างไร ถ้ามองว่าสังคมมีเสรีภาพฉะนั้นทุกคนสามารถแสดงออกได้ แล้วเมื่อแสดงออกมันจะเกิดพื้นที่ ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดของความคิดเห็น และกลไกตลาดทางความคิดมันจะคัดกรองเองว่า อุดมการณ์หรือความคิดใดควรจะดำรงอยู่ในสังคมตัวเอง นี่ก็เป็นแนวคิดแบบ Market place of idea ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก และถ้าใครมีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แย่ๆ ความคิดเห็นเหล่านี้มันจะหายไปเองเพราะมันมีความคิดเห็นอื่นๆ เข้ามาแย้ง ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้เด่นชัดมากที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆแล้วแม้ว่าอเมริกาจะเชิดชูเสรีภาพในการแสดงออก และ Market place of idea ขนาดไหน แต่ในองค์กรย่อยๆ เช่น สถาบันการศึกษาเองก็จะมีการควบคุม ไม่ให้ใครก็ได้สามารถพูดอะไรก็ได้ อาทิ ห้ามเหยียดสีผิว ห้ามเหยียดเพศ แม้ว่าจะมีเสรีภาพมากขนาดไหน แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่ามารยาทเข้ามากำกับ


Charlie hebdo ในฐานะบทเรียนที่สำคัญ และความท้าทายในโลกที่โยงใยถึงกัน

สำหรับกรณีของ Charlie hebdo เป็นซึ่งนิตยสารซึ่งมีที่มาจากนิตยสาร Hara-kiri ซึ่งเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างสุดขั้ว มีภาพล้อเลียนในลักษณะของการเหยียดเพศ และก็ถูกรัฐบาลสั่งห้ามพิมพ์จนในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็น Charlie hebdo สิ่งที่เรากำลังเผชิญหลังจากกรณีบุกยิงสำนักพิมพ์ Charlie hebdo คือข้อถกเถียงที่ตามมาจากนักวิชาการหลายๆ คน ซึ่งกล่าวว่า คุณค่า หรือวัฒนธรรมของชาวฝรั่งเศส ซึ่งเชื่อในเสรีภาพในการสื่อสาร และนิตยสารฉบับนี้ก็มีจุดยืนลักษณะนี้ และไม่ได้เสียดสีเฉพาะ ศาสนาอิสลาม แต่เสียดสีทุกศาสนา

ถามว่า Charlie hebdo ถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก็เคยแต่ท้ายที่สุด ศาลก็ตัดสินบนคุณค่าแบบฝรั่งเศสคือ ให้คุณค่ากับเสรีภาพในการสื่อสาร และการที่เขาสื่อสารก็เป็นคุณค่าส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศสด้วย ทั้งนี้ศาลก็ไม่ได้ตัดสินโดยเหมารวมทั้งหมด แต่ดูหน้าปกเป็นรูปๆ ไป และคำตัดสินของศาลคือ ศาลไม่ได้มองว่าภาพที่มีผู้ฟ้องร้องเป็นภาพที่ดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แต่เป็นการต่อต้านผู้ก่อการร้าย กระนั้นก็ตามแม้การสื่อสารจะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ศาสนา แต่การสื่อสารมีภาพที่ไปกระทบกับศาสนาคือ มีภาพของศาสดามูฮัมหมัด

ถึงที่สุดกรณีนี้ของ Charlie hebdo เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งที่กลายกระจายตัวไปทั่วโลก และตอนนี้ความรุนแรงก็ยังดำเนินอยู่ ทำให้ผู้คนมาฆ่าบนฐานความเชื่อที่ต่างกัน และความเชื่อที่ต่างกันก็มีมุมมองที่ต่างกัน คุณค่าของสังคมก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นในสังคมที่มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง และในสังคมมุสลิมก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง สิ่งที่มุสลิมบอกคือ สื่อย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่บอกรู้สึกว่ามีความเป็น 2 มาตรฐานในการแสดงออกของสื่อด้วย เขามองว่าสื่อสร้างทัศนคติที่แย่ๆ กับคนมุสลิม  ขณะเดียวกันในฝั่งรัฐเองก็เริ่มหันมาควบคุมสื่อมากขึ้นเช่นใน ออสเตเรียก็มีการห้ามเผยแพร่ภาพบางภาพ ซึ่งมีลักษณะต่อต่านคนยิว นี่คือภาพสะท้อนของโลกเสรีที่รัฐเริ่มมีการดูแล และระมัดระวังมากขึ้น

สิ่งที่เราเจออยู่ในตอนนี้คือ สมดุลระหว่างโลกหนึ่งที่เชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก และอีกโลกหนึ่งที่เชื่อคุณค่าของเขา และยิ่งตอนนี้เราอยู่ในสังคมออนไลน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด นี่คือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live




Latest Images