Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

10 ปีประชาไท : ‘นิธิ’ ถอดรหัสอุดมการณ์สื่อเก่ากับความหวังสื่อใหม่อิสระจาก ‘รัฐ-ทุน’

0
0

นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิพากษ์วัฒนธรรมสื่อในฐานเครื่อมือของ ‘รัฐ-ทุน’ สู่อำนาจทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์ผ่านการเซ็นเซอร์ตัวเอง ชี้โฆษณามาพร้อมกับการควบคุมสาร ความบันเทิงถูกใส่รหัสทางอุดมการณ์ และความหวังในสื่อใหม่ที่อิสระจาก ‘รัฐ-ทุน’

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมาในงานครบรอบ 10 ปี ประชาไท นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวปาฐกถาทศวรรษประชาไทในงานดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนสุขุมวิท โดยมีรายละเอียดคำปาฐกถา ดังนี้

0000

วัฒนธรรมสื่อ

เราทุกคนมีชีวิตอยู่ในสิ่งซึ่งฝรั่งเรียกว่า “วัฒนธรรมสื่อ” หมายความว่าครอบครัว โรงเรียน วัด หรือแม้แต่รัฐบาลเองมีความสำคัญน้อยมากเลย สิ่งมันทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ เข้าไปอยู่ในสังคมได้ มีสถานะตนเอง บอกได้ว่าเราคือใคร คือสร้างอัตลักษณ์ตัวเรา ทั้งมดเหล่านี้ผ่านสื่อทั้งนั้นเลย ถ้าเด็กอ่านหนังสือออก เด็กดูทีเป็น เล่นอินเตอร์เน็ตเป็น โรงเรียนเกือบจะไม่มีความหมายแล้ว คุณสามารถให้ทุกอย่างผ่านสื่อทั้งหมด แน่นอนรวมทั้งความบันเทิงด้วย สรุปก็คือเราเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมสื่อ

เครื่องมือกล่อมเกลาให้ยอมรับอุดมการณ์ของรัฐและทุน

แต่ในวัฒนธรรมสื่อนี้ เมื่อเราใช้ได้ รัฐและทุนก็ใช้ได้เหมือนกัน และก็ใช้ได้อย่างค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าประชาชนแต่ละคนที่อยู่ใต้รัฐและทุนด้วยซ้ำ

ถามว่ารัฐใช้อย่างไร ขอสรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐใช้สื่อทุกรูปแบบเพื่อกล่อมเกลาให้ประชาชนยอมรับอุดมการณ์ของรัฐและทุน อุดมการณ์ในที่นี้ขอแปลตามมาร์กซ์ที่ว่ามันหมายถึงชุดความคิดชุดหนึ่งที่ทำให้คนยอมรับอำนาจและการตัดสินใจนโยบายทั้งหมดที่รัฐและทุนวางไว้ให้

ในท่ามกลางวัฒธรรมสื่อ มันเกิดสื่อชนิดใหม่คือพวกสื่ออนไลน์ทั้งหลายที่พึ่งเกิมมาช่วง 20-25 ปี ที่ผ่านมา ที่มันทำให้สื่อออนไลน์เป็นสื่อชนิดใหม่ที่เข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นตลอดเวลา

สื่อในฐานะกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ความเสื่อมโทรมของสื่อ ในวัฒนธรรมสื่อ พวกสื่อเก่าทั้งหลาย สื่อกระดาษ สื่อภาพยนตร์ สื่อเพลง นี่ จริงๆแล้วมันมีความเสื่อมโทรมของสื่อเก่าค่อนข้างมากทีเดียว และคนที่พูดถึงสื่อเก่าหรือวิเคราะห์สื่อไปได้อย่างค่อนข้างจะครบถ้วนมากๆ คือ นอม ชอมสกี จึงอยากนำความคิดของ นอม ชอมสกี เพื่อจะมาพูดถึงความเสื่อมโทรมของสื่อในประเทศไทยอย่างเดียวกัน

สิ่งแรกคือ ชอมสกี พูดถึงสื่อมันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ประเทศไทยครั้งหนึ่งมันเป็นเรื่องชนชั้นกลางตัวเล็กๆ ไม่กี่คนที่มีความคิดแบบเดียวกัน คิดว่าตัวเองควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะของผู้ที่จะเป็นสื่อให้กับสังคม และสร้างสื่อขึ้นมาแล้วทะเราะกับนายทุน แล้วออกย้ายโรงพิมพ์อะไรร้อยแปด แต่ปัจจุบันนี้ครั้งสุดท้ายที่พวกท่านได้ยินว่า บก.ยกทีมลาออก มันตั้งแต่เมื่อไหร่ก็จำไม่ได้

สื่อมันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ยิ่งสื่อทีวีที่ต้องลงทุนสูงมาก ยิ่งต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เจ้าสื่อขนาดใหญ่ขนาดนี้ มันสัมพันธ์กับทุนและรัฐอย่างแยกกันไม่ได้ เพราะเหตุผลที่ว่าสื่อขนาดใหญ่นั้นจำเป็นที่จะต้องได้กำไรจากการโฆษณา ไม่สามารถจะฟื้นคืนทุนได้ถ้าคุณไม่ได้รับเงินรายได้จากการโฆษณา

ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือว่าระหว่างการเลือกการเป็นสื่อที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อสังคมกับการลือกเป็นสื่อที่รับใช้อุดมการณ์ของรัฐและทุน คิดว่าสื่อเก่าทั้งหลายมันไม่มีทางเลือกมากนัก คุณต้องรับใช้อุดมการณ์ของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มีเรื่องหนึ่งที่ ชอมสกี เล่าไว้อย่างน่าสนใจ กรณีวอเตอร์เกท แล้วบอกว่าสื่ออเมริกันมันเก่งมากต่างๆนานาที่สามารถล้วงเข้าไปในคอแล้วเอาข้อมูลลึกลับต่างๆออกมาแฉจนกระทั่งประธานาธิบดีต้องลาออก แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่รัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยสืบราชการลับหรือ FBI อะไรก็ตามแต่ เข้าไปสืบค้นตรวจสอบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ไม่ได้ทำกับพรรคเดโมแครตพรรคเดียว แต่เป็นครั้งแรกที่คุณกล้าทำกับพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคที่ทั้งทุนขนาดใหญ่ทั้งหลายในอเมริกาลงทุนไปกับพรรคนี้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองนโยบายแข่งกันกับพรรครีพลับบิกัน จริงๆแล้วประธานาธิบดีอเมริกาทั้งจากเดโมแครตและรีพลับบิกันได้ส่งทั้ง FBI และหน่วยสืบราชการลับเข้าไปค้นพรรคการเมืองชื่อ The Socialist Worker Party ซึ่งเป็นพรรคที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาก่อนหน้าที่จะเข้าไปในวอเตอร์เกท 10 ปีแล้ว จะกระทั่งกลายเป็นคดีในศาลด้วยซ้ำไป

ฉะนั้นการที่สื่อสหรัฐเข้าไปขุดคุ้ยเรื่องนี้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือเพื่อปกป้องเครื่องมือสำคัญของทุนกลุ่มหนึ่งที่ใช้พรรคเดโมแครตเป็นเครื่องมือในการต่อรองนโยบาย ซึ่งก็ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งสื่อของสหรัฐไม่เคยลงเรื่องของชาวกัมพูชาจำนวนประมาณ 2 แสนคนที่ถูกระเบิดของสหรัฐเองในสงครามอินโดจีนแล้วหนีเข้าไปในพนมเปญ มีผู้สื่อสหรัฐที่อยู่ในพนมเปญไม่เคยสัมภาษณ์คนที่อพยพมา 2 แสนคนนี้ แต่ไปสัมภาษณ์คนในพนมเปญว่ารู้สึกเดือดร้อนไหมที่มีคน 2 แสนคนอพยพมา ซึ่งก็แน่นอนที่จะตอบจะเป็นเดือดร้อน เป็นต้น

ทั้งหมดเหล่านี้ ชอมสกี้ิชี้ให้เห็นว่าเพื่อทำให้ตัวอุดมการณ์หลักของสหรัฐในฐานะผู้ปกป้องสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพ มันไม่ถูกตั้งคำถาม จากประชาชนชาวอเมริกัน เพราะฉะนั้นสื่อก็ทำหน้าที่อย่างนี้ตลอดมา

ซึ่งทำให้เรามาย้อนคิดให้เห็นว่าแล้วสื่อไทยเสนออะไร ในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตอนล่างของประเทศเป็นระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดที่สื่อไทยไม่เคยเข้าไปถึงเหยื่อที่แท้จริง สื่อกระแสหลักไม่ได้พูดถึงเหยื่อเหล่านี้ เหยื่อทั้งหลายไม่ว่าจะถูกอุ้มถูกจับไป ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขในสื่อกระแสหลัก แต่มันไปไม่ถึงตัวเหยื่อและครอบครัวของเขาจริงๆ เพราะฉะนั้นภาพของชาวมุสลิมมาลายูภาคใต้จึงกลายเป็นคนลี้ลับ อยู่ในที่มืด อยู่ในที่ซึ่งเป็นศตรูกับสิ่งที่เราเชื่ออยู่ว่าเป็นอุดมการณ์ของเราเท่าที่รัฐได้สอนเรามาค่อนข้างมาก อย่างกรณีกรือเซะนั้นมีสื่อกระแสหลักบางฉบับถึงขนาดเขียนภาพมีดลงไปในมือเหยื่อที่ถูกฆ่าตายด้วยซ้ำ เพื่อทำให้ภาพขอคนที่ถูกยิงตายในกรือเซะนั้นสอดคล้องกับตัวเนื้อข่าวที่อยู่ข้างๆว่าคนเหล่านี้คือผู้ก่อการเริ่มต้น คือผู้ริเริ่มให้เกิดความรุนแรงขึ้น ความรุนแรงไม่ได้มาจากรัฐแต่มาจากคนกลุ่มนี้

เหตุดังนั้นจึงคิดว่าสื่อไทยกับสื่ออเมริกันก็ไม่ต่างกัน มีหน้าที่รับใช้อุดมการณ์ของรัฐและทุน

สื่อต้องทำอย่างนั้น ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่าสื่อต้องพึ่งกับโฆษณาเป็นอย่างมาก พบว่าสื่อเวลาตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ฝ่ายโฆษณาเป็นฝ่ายที่ให้การตัดสินใจของเขา เพราะฉะนั้นโฆษณาคือตัวที่บังคับกระแสของสื่อค่อนข้างมาก ซึ่งคนทำโฆษณาเป็นคนที่ใกล้ชิดกับทุนที่สุดในบรรดาสื่อทั้งหมด บางที่นั่งอยู่ในกอง บก. ด้วยซ้ำ เท่ากับสื่อกระแสหลักมันมีรัฐและทุนนั่งอยู่ในกองบก.อยู่ตลอดเวลา

การเซ็นเซอร์ตัวเอง

อีกอันที่ชอมสกี พูดไว้และคิดว่าตรงกับไทยก็คืออำนาจทางวัฒนธรรมของอุดมการณ์ คืออุดมการณ์ไม่ได้มากับอำนาจเรียกไปปรับทัศนคติ มันไม่ใช่แค่นั้น ที่ใหญ่กว่าอำนาจดิบแบบนี้ คืออำนาจในทางวัฒนธรรม อำนาจที่ทำให้เราเห็นว่าชีวิตมันไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทางที่อุดมการณ์รัฐและทุนได้วางไว้ และคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่มำให้คนที่ทำสื่อจำเป็นต้องเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ใช่เซนเซอร์ด้วยความกลัว แต่เซนเซอร์ตัวเองด้วยความรู้สึกว่าทำให้เราขาดเพื่อน ทำให้เราไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เราไม่สามารถที่จะไปสมัครงานที่สำนักพิมพ์อื่นได้หากถูกไล่ออก เช่น ถ้ามีประวัติว่าเคยสนใจเจาะลึกกรณีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างจริงจัง ซึ่งจะพบว่าสื่อกระแสหลักของไทยแทบจะไม่รายงานตรงนี้เลย หากคุณจะมารายงานเรื่องนี้ ทำให้เขาไม่เป็นแต่เพียงคนบ้า เป็นคนที่ไร้สติหรือคนที่แหกคอกจนเกินไป แต่ทำให้เขาเป็นมนุษย์ขึ้นมาคนหนึ่งที่มีครอบครัว มีความคิดถูกบ้างผิดบ้างเหมือนอย่างเราท่านทั้งหลาย หากรายงานสิ่งนั้นอาจหางานที่สำนักพิมพ์อื่นทำยาก ไม่ใช่เพราะกลัวที่จะรับ แต่เพราะคนอื่นกลัวที่จะเอาคนต่างดาวมาทำงานด้วย คืออุดมการณ์มันครอบงำจนกระทั่งทำให้คนที่ไม่อยู่ในอุดมการณ์นั้นมันเป็นคนที่ไม่รู้จะดีลกับมันอย่างไร เป็นมนุษย์ต่างดาวไป

เพราะฉะนั้นมันจะมีการเซ็นเซอร์ตัวเองที่น่ากลัวกว่าเซนเซอร์ด้วยความกลัว เพราะเซนเซอร์ด้วยความกลัวมันยังมีการหลบๆหลีกๆได้ แต่เซนเซอร์ด้วยอุดมการณ์ที่เราไม่กล้าที่จะแตกต่างทางอุดมการณ์ ซึ่งอันนี้น่ากลัวกว่า

สื่ออยู่รอดได้ด้วยเงินโฆษณาไม่ใช่ด้วยจำนวนยอดขาย

ในขณะที่สถานะผู้อ่านหรือผู้ชมทีวีเป็นรองอย่างยิ่ง คือจริงๆแล้วหนังสือพิมพ์หรือสื่อที่มีผู้อ่านผู้ชมจำนวนมาก ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่รอด สื่อทั้งหลายอยู่รอดได้ด้วยเงินโฆษณาหรือด้วยธุรกิจโฆษณาไม่ใช่ด้วยจำนวนยอดขาย

มันมีกรณีอันหนึ่งที่น่าสนใจมากที่ชอมสกียกขึ้นมา และคิดว่าน่าตื่นเต้นดี คือเขาพูดถึงหนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งชื่อเดลี่เฮเรล เมื่อสมัยที่ขายดีมันขายดีกว่าหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ เดอะไฟแนสเชียลไทมส์และเดอะการ์เดียน รวมกัน 3 ฉบับ และในท้ายสุดมันก็ปิดตัวเองเพราะมันขายให้กับกรรมกร ทำให้โฆษณาไม่มาลงกับหนังสือพิมพ์นี้ แสดงให้เห็นว่ายอดขายไม่มีความหมาย

ทำให้นึกถึงกรณี ไอทีวี เมื่อครั้งที่ยังมีอยู่นั้น ตลาดทั้งหลายแม่ค้าพ่อค้าจะเปิดไอทีวีคาไว้ ไม่ได้ดูเพลงลูกทุ่งหรือละครช่อง 3 แต่เขาดูไอทีวี ดูข่าว ที่ตรงกันกับการสำรวจทั้งในยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่อยากจะมีรายการข่าวและสาระกว่าที่ทีวีอเมริกันเป็นอยู่ แต่เอเจนซี่โฆษณาไม่เห็นด้วย เหตุดังนั้นไอทีวีก็ถูกเรตติ้งว่าเป็นช่องที่ไม่มีคนดู จึงสงสัยว่าวิธีเรตติ้งในประเทศไทยมันต้งเอียงข้างเข้าชนชั้นที่มีกำลังซื้อเท่านั้นที่ถูกเรต ชนชั้นที่ไม่มีกำลังซื้อถึงจะมีจำนวนมากก็ไม่ถูกเรต จึงไม่ค่อยแน่ใจว่าวิธีการวัดปริมาณผู้ชมทีวีในประเทศไทยยังเที่ยงตรงหรือไม่

ความบันเทิงเป็นวัฒนธรรมที่มีการใส่รหัสทางอุดมการณ์

นักโฆษณาจะเชื่อว่าคนชอบความบันเทิงมากกว่า และฟังดูเหมือนความบันเทิงเป็นสิ่งที่มันไม่ได้แทรกอุดมการณ์อยู่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ความบันเทิงมันเป็นวัฒนธรรม อยู่ๆเกิดมาคุณไม่ได้หัวเราะเอง คุณถูกสอนให้หัวเราะต่างหาก คุณถูกสอนให้รู้ว่าสิ่งนี้คือความสนุก สิ่งนี้ไม่สนุก เพราะฉะนั้นความบันเทิงจึงไม่ใช่ธรรมชาติ และความที่เราถูกสอนให้สนุกกับอะไร ไม่สนุกกับอะไร มันเป็นวัฒนธรรม และในวัฒนธรรมนั้นมันสามารถแทรกสิ่งที่เป็นอุดมการณ์อยู่ เข้ามาว่าอะไรคือความบันเทิงได้ด้วย

และในทุกรัฐในโลกนี้ที่มีสื่อ ความบันเทิงถูกใช้ในการใส่รหัสบางอย่างที่เกี่ยวกับอุดมการณ์ลงไปแยะมากๆเลย อย่างเช่นที่หลายๆคนวิจารณ์ละครทีวีในประเทศไทยมันใส่รหัสการกดขี่ผู้หญิงใส่รหัสชนชั้น การเหยียดชนชั้น การรังเกียจคนอิสาน แยะมากมายในละครทีวี ที่เรารู้สึกตลก สนุกหรืออินอยู่กับละครเหล่านั้น

สื่อใหม่เป็นความหวัง

เหตุดังนั้นจึงคิดว่าสื่อใหม่หรือสื่อที่อยู่ในโลกไซเบอร์เป็นความหวังค่อนข้างมากเลย แต่ถึงอย่างไรหากไม่หวัง สื่อเก่าก็ต้องตายอยู่แล้ว เวลานี้คนก็ดูทีวีน้อยลงเพราะไปดูทีวีที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตมากกว่า คนอ่านหนังสือพิมพ์ยอดขายก็ตกลงทุกฉบับเพราะเราไปอ่านสื่อที่อยู่ในโลกไซเบอรมากกว่าเป็นต้น ฉะนั้นถ้าเราเรียนรู้จากสื่อเก่า จากความเสื่อมและความใกล้ล่มสลายของสื่อเก่าจึงคิดว่าเราเรียนรู้อะไรได้แยะ

โฆษณากับการควบคุมสารแยกจากกันไม่ได้

ประการแรกคือ เรื่องการโฆษณา หลายคนคิดถึงเวลาทำสื่อออนไลน์วาจะทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ในทางธุรกิจ และคิดถึงการโฆษณา ยังมองไม่เห็นว่ามันจะมีหนทางอย่างไรถ้าเรารับโฆษณาและเรายังจะสามารถเป็นอิสระได้อยู่ โฆษณากับการควบคุมสารแยกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องหาทางอยู่ให้ได้โดยไม่มีโฆษณา

ผู้อ่านคือหลักสำคัญที่จะต้องตอบสนอง ไม่ใช่ผู้วางโฆษณา

สื่อออนไลน์ที่ไม่มีโฆษณา มีสื่ออันหนึ่งในฝรังเศสที่น่าสนใจ คือ ‘mediapart’ ที่ทำโดยคนที่ลาออกมาจากเลอม็อง ทำสื่อออนไลน์ วันหนึ่งออก 3 กรอบ ที่สามารถอ่านได้แต่เช้ายันกลางคืน สื่อนี้สามารถขุดคุ้ยการเมืองฝรั่งเศส วิธีจะบอกรับสื่อนี้ เขาให้รับได้ 15 วันในราคา 1 ยูโร แต่ครบ 15 วันหากติดใจ ต้องเป็นสมาชิก โดยค่าสมาชิกอยู่ที่ 9 ยูโร ต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 1 แสนราย นอกจากนั้นมีรายได้ 2.5 ล้านยูโรต่อเดือน ประมาณ 90% ของรายได้ ได้มาจากค่าสมาชิก มาคนทำงาน 30 คน ได้รับเงินเดือนอย่างเดียวกับที่สื่อกระแสหลักได้รับ ดังนั้นมันเป็นไปได้ แม้จะบอกว่าฝรังเศสกับไทยต่างกัน ซึ่งก็เห็นด้วยที่ยังต่างกันอยู่มาก แต่ว่าไม่ใช่ว่ามันไม่มีอนาคตเลย และถ้าเป็นเช่นนั้นมันจะทำให้ผู้อ่านคือหลักสำคัญที่จะต้องตอบสนอง ไม่ใช่ผู้วางโฆษณา

อย่าดูถูกการบริจาค

เวลานี้สื่อออนไลน์ ถ้าไม่นับมติชน ไทยรัฐ ที่เข้ามาในสื่อออนไลน์ สื่อออนไลน์ทั้งหมดได้จากการบริจาค แทนที่จะเป็นเรื่องของการรับสมาชิก เป็นเริ่มจากการรับบริจาคให้มากขึ้น ให้มาให้ความสนใจกับการบริจาคมากขึ้นได้ไหม อย่าดูถูกการบริจาค การบริจาคเป็นการบังคับให้เราต้องทำคุณภาพให้ดีและมีคุณค่ากับผู้อ่านพอที่เขาจะควักเงินจ่ายให้เรา

การบริจาคมีทั้งบริจาคเงิน บริจาคสมองบ้างในการช่วยกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ หากให้ความสนใจด้านนี้จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญและไม่ขัดกับหลักการของเรื่องเสรีภาพของสื่อด้วย

สื่อออนไลน์เปิดโอกาสให้ทดลองในสิ่งที่สื่อเก่าไม่กล้า

ในโลกของสื่อออนไลน์มันเปิดโอกาสให้คุณทดลองได้แยะมาก ในสิ่งที่สื่อเก่าไม่กล้าทดลอง เช่น ถ้ามีทีวีออนไลน์ที่ได้รับการบริจาคเพียงพอ มันมีคนอยากทำละครดี ที่ท้าทายต่ออุดมการณ์เก่า ตัวอย่างเช่น เสนอละครที่แสดงให้เห็นว่าความดีหรือความชัวมันมีเงื่อนไข ไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์ แต่มันมีเงื่อนไขของมัน

พื้นที่การปฎิสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคนเป็นเจ้าของ-ร่วมจ่าย

ลักษณะที่ปฎิสัมพันธ์ของสื่อออนไลน์มันจะช่วยได้มาก การเป็นพื้นที่ให้คนเข้ามาถกเถียงต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ได้ปรับตัว ที่สำคัญมันทำให้สื่อไม่ได้เป็นของคนทำสื่อ แต่มันเป็นของทุกคน เวลาจะคิดถึงการบริจาค คิดถึงค่าสมาชิกก็ต่อเมื่อเขาเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นอย่างแท้จริง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หกประเด็นปัญหา ร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ อวตารของกฎอัยการศึก

0
0

 

ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉบับที่ร่างโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตำรวจซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่หลักในการดูแลควบคุมการชุมนุมทั้งใหญ่และเล็กที่เกิดขึ้น กำลังจะนำประสบการณ์และช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่มาร่างกฎหมายเพื่อหวังเพิ่มเครื่องมือในการทำงานให้กับตัวเอง

หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน อาจมีหลักการหลายอย่างในการจัดการชุมนุมและการควบคุมการชุมนุมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
 

1. การชุมนุมจะต้องแจ้งก่อน และตำรวจอาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งห้ามชุมนุมก็ได้

ในร่างมาตรา11 เขียนไว้ว่า " ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและการชุมนุมนั้นอาจจะกระทบต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง

ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

แม้ภาษาของร่างฉบับนี้จะเขียนว่าผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้อง “มีหนังสือแจ้ง” แต่ขณะเดียวกันในร่างมาตรา 13 ตำรวจมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม “แก้ไข” ได้ ซึ่งหมายความว่าอาจถูกสั่งให้เปลี่ยนสถานที่ หรือวันเวลาการชุมนุม และหากไม่ยอมแก้ไข ตำรวจก็มีอำนาจสั่ง “ห้ามชุมนุม” ได้ ดังนั้นจึงเท่ากับร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้คำว่าต้อง “มีหนังสือแจ้ง” แต่โดยกระบวนการที่กำหนดก็คือการต้อง “ขออนุญาต” นั่นเอง  

 

2. การชุมนุมอาจถูกตีความให้เข้าข่าย “การชุมนุมที่ไม่สงบ” ได้ง่าย

ในร่างมาตรา 7 วรรค 2 เขียนไว้ว่า “การชุมนุมสาธารณะใดมีการขัดขวางหรือกีดขวางมิให้ประชาชนใช้ทางหลวงหรือ ทางสาธารณะได้ตามปกติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทางนั้น หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร หรือมีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือมีการกระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ”

การชุมนุมในที่สาธารณะหรือการออกมาเรียกร้องบนท้องถนน โดยสภาพแล้วย่อมเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้ทางสาธารณะเป็นปกติธรรมดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การบัญญัติถึงขอบเขตเหตุแห่งการชุมนุมสาธารณะที่ไม่สงบกว้างจนเกินไป อย่างเช่นข้อความว่า “หรือมีการกระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ” “ หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร” โดยไม่ชัดเจนว่าอะไรคือความหมายของ “เหตุอันควร” ? และต้องปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ นั้นเป็นอันตรายต่อการตีความในทางที่เป็นผลร้ายต่อการใช้สิทธิของประชาชน

หากวันนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงไว้ได้ ประชาชนเดือดร้อนจากนโยบายการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐ ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินเพราะแผนแม่บทป่าไม้ของรัฐบาล ชาวบ้านได้รับสารเคมีจากการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐส่งเสริม การออกมาชุมนุมปิดถนนเรียกร้องเพราะได้รับผลกระทบเดือดร้อนเรื่องปากท้อง เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากโครงการนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ของรัฐนั้น เช่นนี้จะตีความว่าเป็น “เหตุอันควร” ที่พึงคาดหมายได้แล้วหรือไม่


3. บทลงโทษสำหรับการชุมนุมที่เป็นความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้

สำหรับผู้จัด ผู้เชิญชวน ให้เข้าร่วมการชุมนุม ผู้สนับสนุนช่วยเหลือการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของร่างพ.ร.บ.นี้ มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ขณะที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ รวมไปถึงการทำแฟลชม๊อบ การสวมหน้ากากหรือปิดบังใบหน้า มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ตามร่างกฎหมายนี้ การชุมนุมแทบทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือแสดงออกในเรื่องใดๆ ก็ตาม หากออกมาในพื้นที่สาธารณะหรือบนท้องถนนก็อาจถูกตีตราไว้ก่อนแล้วว่าเป็นการชุมนุมอันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบกฎหมายจึงไม่คุ้มครองการชุมนุมนั้น ทำให้ต้องผ่านกระบวนการ “ขออนุญาต” จากตำรวจก่อน

ประเด็นปัญหาประการแรก การชุมนุมที่ต้องได้รับการอนุญาตจะสามารถเรียกว่าเป็น “การชุมนุม” ได้หรือไม่? เพราะการชุมนุมไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงการแสดงออกที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเท่านั้น แต่การชุมนุมคือการสร้างพื้นที่ต่อรอง กดดัน ให้ภาครัฐรับฟังหรือทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ในกรณีที่ภาครัฐเป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลที่การชุมนุมจะต้องส่งหนังสือเพื่อขอให้คู่กรณีอนุญาตก่อน 

ประเด็นปัญหาประการที่สองการแสดงความคิดเห็น การประท้วงคัดค้าน ต่อกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ  โดยการกีดขวางทางจราจร การนั่ง, นอนประท้วงปิดกั้นทางสาธารณะ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิของปัจเจกชนอื่นๆ ทำให้บุคคลอื่นไม่อาจใช้สิทธิได้ดังในภาวะปกติ แต่สิทธิที่ถูกกระทบกระเทือนนี้ไม่ได้เป็นสิทธิในชีวิต หรือเนื้อตัวร่างกาย เป็นเพียงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ทางสาธารณะ อย่างสะดวกสบายเท่านั้น ซึ่งการกระทบกระเทือนต่อสิทธิก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และยังสามารถเลี่ยงไปใช้ทางสาธารณะทางอื่นได้ เมื่อเทียบกันแล้วการเปิดพื้นที่ให้กับสิทธิในการชุมนุมย่อมสำคัญกว่า

ประเด็นปัญหาประการที่สาม คำว่า “การรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” เป็นคำที่ถูกใช้อ้างเพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อมากจนเกินไป การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือสาเหตุของการที่ประชาชนเดือดร้อนจนต้องมาแสดงออกโดยการชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมเป็นภาพสะท้อนจากข้อผิดพลาดทางนโยบายหรือกฎหมายต่างๆของตัวรัฐเอง การสร้างขอบเขตบรรทัดฐานของการชุมนุมให้อยู่ภายใต้ “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” เช่นนี้ จึงการโยนความรับผิดให้กับผู้ชุมนุมว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาเท่านั้น โดยละเลยที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ประเด็นปัญหาประการที่สี่การบัญญัติหลักการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นหลักการทั่วไปไว้ในรัฐธรรมนูญก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเป็นกรอบในการใช้สิทธิในการแสดงออก หากต้องการแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่มีความรุนแรงไม่ได้ยึดหลักสันติอหิงสา ดังเช่นการชุมนุมทางการเมืองระหว่างสองสีเสื้อที่ผ่านมา ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่าเกิดจากสาเหตุใด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากการไม่มีตัวบทกฎหมายที่ดีพอ หรือเป็นเกมส์ทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐมีเจตนาปล่อยปะละเลย จงใจให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตน

ประเด็นปัญหาประการที่ห้าสิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดก็คือ การผลักให้การชุมนุมขับเคลื่อนของประชาชนเป็นการชุมนุมที่อาจเข้าข่าย “ไม่สงบ” ได้อย่างง่ายดาย หากร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ประกาศใช้ อาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับใช้บทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงในการปิดปากประชาชนฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันกับแนวทางของผู้มีอำนาจในขณะนั้น และอาจเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังจัดการสลายผู้ชุมนุมดังเช่นเหตุการณ์การ “ขอคืนพื้นที่” ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

ประเด็นปัญหาประการที่หก การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือเรียกร้องต่อสาธารณะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ควรที่จะถูกปิดกั้น และไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากผู้ใด โดยเฉพาะในสังคมที่มีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างรุนแรง การพยายามออกกฎหมายเพื่อจำกัดขอบเขตของการชุมนุม ว่าต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและต้องเคารพต่อระบบกฎหมายโดยรวมของรัฐ ย่อมเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ความอยุติธรรมดำรงอยู่ต่อไปแม้กระทั่งหลังมีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วก็ตาม

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีแนวโน้มจะเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าปกป้องดูแลสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งไม่ต่างจากการใช้กฎอัยการศึกควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนจากบทบาทของทหารเป็นตำรวจ และเปลี่ยนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเป็นอำนาจที่มีขั้นตอนแต่ให้ผลไม่ต่างกันเท่านั้นเอง

และเมื่อไม่มีพื้นที่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ก็จะยิ่งปราศจากซึ่งเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการ สวนทางกับแนวทางการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศเพราะการปฏิรูปนั้นไม่สามารถกระทำได้หากไม่มีพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เสียงของประชาชน

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สหรัฐอเมริกากับไทยและชาตินิยมแบบสลิ่ม

0
0

 

กรณีที่สั่นสะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับไทยในยุคหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคมปี 2014 อีกระลอกหนึ่งได้แก่การที่รัฐบาลอเมริกันได้ส่งตัวแทนคือผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศหรือนายแดเนียล รัสเซลมาเยือนไทยและได้พบกับตัวละครทางการเมืองสำคัญๆ ไม่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย รวมไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคือยิ่งลักษณ์และอภิสิทธิ์เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติทางการเมืองไทย อย่างไรก็ตามการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีเนื้อหาที่ทำให้รัฐบาลทหารของไทยแสดงความผิดหวังเพราะสหรัฐฯ ไม่ได้ประกาศสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”  ถึงแม้นายดาเนียลไม่ได้แสดงท่าทีในการตำหนิไทยอย่างรุนแรงนัก แต่จากการกระพืออารมณ์โดยใช้คำทำนองเดียวกับข่าวบันเทิงของสื่อไทยและทฤษฏีสมคบคิดของรัฐบาลคือเห็นว่าสหรัฐฯ เสแสร้งมาสังเกตการณ์เพื่อสร้างความกดดันให้กับรัฐบาลไทย ย่อมทำให้รัฐบาลไทยมองว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในอย่างให้อภัยไม่ได้ (มองกลับกัน ถ้าสหรัฐฯ เอ่ยปากชมไทยก็คงถือว่าไม่แทรกแซง ทั้งที่พฤติกรรมก็เป็นแบบเดียวกัน) โดยเฉพาะประเด็นที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่าการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบย้อนหลังเกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรม[i]

การตอบโต้ทางการทูตของไทยต่อสหรัฐฯ อย่างเข้มข้นหลายอย่างน่าจะช่วยปลุกกระแสชาตินิยมอันจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลที่ผลงานดูไม่สวยงามนักเพราะสามารถตอบรับกับรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีหัวชาตินิยมแบบสุดขั้ว (ภาษาอังกฤษคือ Ultranationalist ซึ่งผู้เขียนจะขอใช้คำแสลงเรียกว่าพวกชาตินิยมแบบสลิ่ม ดังต่อไปนี้) จำนวนมากซึ่งรุกโชนอีกครั้งภายหลังจากที่เคยสำแดงเดชจากกรณีที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้อนุญาตให้พวกล้มเจ้าลี้ภัยอย่างเช่นนายตั้ง อาชีวะ  ความคิดของพวกเขาน่าจะถูกแสดงออกมาสอดคล้องกับประโยคที่คุณดอน ปรมัตถ์วินัยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงบางส่วนที่น่าสนใจต่อไปนี้

 

       "....But Thailand is not a newly born nation. We have our own ways of solving problems and are taking serious steps to bring back democracy."

        "..... แต่ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเพิ่งเกิดใหม่ เรามีวิธีการของเราเองในการแก้ไขปัญหาและกำลังมุ่งหน้าอย่างจริงจังในการนำประชาธิปไตยกลับมา"

คำแถลงเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้ช่วยให้มุมมองของสหรัฐฯหรือตะวันตกที่มีต่อเราเปลี่ยนแปลงไปในด้านดีหรือเกิดความรู้สึกเชื่อถือเท่าไรนักเพราะหากดูประวัติศาสตร์ให้ดีจะพบว่าประเทศเผด็จการ มักจะอ้างเช่นนี้กับสหรัฐฯและตะวันตกเช่นบอกว่าพวกตนมีการปกครองที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมหรือปูมหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของตัวเอง (บางประเทศอาจจะคงการปกครองเช่นนี้ไว้ตลอดไปหรือบางประเทศอาจจะมีโรดแมพเหมือนไทยเช่นอียิปต์ซึ่งปัจจุบันได้ประธานาธิบดีที่มาจากกองทัพผ่านการเลือกตั้งที่ไม่เสรี)  จึงก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกว่าประเทศโลกที่ 3 ซึ่งเป็นเผด็จการนั้นก็มักจะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนานเสียด้วยเช่นอิรักก็คงถูกซัดดัม ฮุสเซนเคยนำมาอ้างอยู่เสมอว่าเป็นแหล่งอารยธรรมโลกคือไทกริส ยูเฟรติสที่ความเป็นมาหลายพันปี เช่นเดียวกับลุ่มแม่น้ำฮวงโหอันแสนน่าภาคภูมิใจของจีนซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีแหล่งกำเนิดจากยุโรป หรือพอๆ กับลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ซึ่งปัจจุบันมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเทียมหรือแบบเดียวกับประเทศในแอฟริกาเช่นซูดาน หรือ เอธิโอเปียซึ่งเป็นรัฐล้มเหลวและเป็นเผด็จการ ทั้งนี้ไม่นับประเทศในอุษาคเนย์อย่างเช่นพม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาวซึ่งดัชนีของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ต่ำเรี่ยตารางก็คงจะใช้ประโยคของคุณดอนเช่นเดียวกับไทยเพื่อตอกหน้าสหรัฐฯ

ตามความเป็นจริงแล้ว คำว่า "ประเทศ" หรือการเป็นรัฐชาติ (Nation-state) ของประเทศเหล่านี้จะเพิ่งเกิดเพียงไม่ถึงศตวรรษ ถ้าหากเทียบกับสหรัฐฯ ก็ถือได้ว่าประเทศโลกที่ 3 เหล่านี้ล้วนแต่ยังอ่อนเยาว์กว่ามากมายนักและซ้ำร้ายกระแสโลกาภิวัฒน์ซึ่งทำให้ระบอบการเมืองของโลกนั้นมีพัฒนาการและความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมทำให้แนวคิดที่ว่า “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ของประเทศเผด็จการเหล่านั้นดูอ่อนพลังลง ในกรณีของไทยนั้น แม้จะไม่เก่าแก่เท่าประเทศทั้งหลายที่กล่าวมา แต่คนไทยมักถูกสอนว่ารัฐชาติของไทยนั้นมีอยู่อย่างยาวนานนับตั้งแต่การอพยพของคนไทมาจากเทือกเขาอัลไตจนถึงอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์โดยไม่เสียตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของต่างชาติ  ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้พวกเสรีนิยมหรือพวกความคิดเชิงวิพากษ์สงสัยว่าแล้วการโจมตีกรุงศรีอยุธยาของพม่าถึง 2 ครั้งโดยเฉพาะครั้งที่ 2 ที่ทำให้อาณาจักรถึงกับราบเป็นหน้ากลองกันเล่า ด้วยตามทฤษฎีของนักประวัติศาสตร์หัววิพากษ์นั้น รัฐชาติของไทยเริ่มมีจุดวิวัฒนาการมาเพียงแค่สมัยรัชกาลที่ 5  คือเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะมาเป็นชาติอย่างเต็มที่หรือการเกิดความรู้สึกพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพเท่ากันหรือในระนาบเดียวกันก็ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24  มิถุนายน ปี 2475  โดยคณะราษฎร ดังนั้นคำพูดของคุณดอนจึงเป็นเพียงการนำกรอบของการเมืองในยุคปัจจุบันมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ไทย ๆ  แบบจอมปลอม

แม้ว่าทฤษฎีเชิงวิพากษ์เช่นนี้ดูมีพลังและเป็นที่ยึดถือจากคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย แต่ผู้เขียนคิดว่าข้อมูลหรือข้อโต้แย้งเช่นนี้ก็คงไม่ได้ทำให้กระบวนทัศน์หลักเกี่ยวกับความเป็นไทยที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มยึดถือสะเทือนเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยที่ว่าด้วยความยิ่งใหญ่ของคนไทยมาเกือบพันปีไม่ได้ล้มเหลวอย่างที่พวกหัวเสรีนิยมโจมตี เพราะเป็นเจตนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่กุมอำนาจรัฐตั้งใจจะให้เป็นการตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของรัฐมากกว่าจะปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความคิดอิสระเป็นของตัวเองโดยเฉพาะผ่านแบบเรียนในโรงเรียน ซึ่งคนไทยทุกคนต้องได้ผ่านเข้ามาในสมองถึงแม้ว่าในระดับมหาวิทยาลัย พวกเขาจะเรียนในคณะอื่นที่ไม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาเหินห่างจากห้องเรียนก็ต้องซึมซับแหล่งอื่นที่เป็นตัวป้อนความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่อาจทรงอิทธิพลกว่าแบบเรียนเสียด้วยซ้ำเช่นภาพยนตร์  ละครโทรทัศน์ หนังสืออ่านประโลมโลก การสนทนาทางเว็บต่างๆ  ฯลฯ ก็ย่อมเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนซึ่งส่วนใหญ่มักถูกรัฐครอบงำหรือถูกผลิตจากคนที่ใช้มักใช้ความรู้ที่ถูกครอบงำจากรัฐมาอธิบาย จึงทำให้คนไทยจำนวนมากมีความเชื่อโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมผสมชาตินิยมทั้งสิ้น ตอกย้ำด้วยจิตวิทยาของคนทั่วไปที่ว่าต้องการมีคุณค่าและศักดิ์ศรีหรือความศักดิ์สิทธิ์ของตนและกลุ่มตนแล้ว (ตัวอย่างอื่นได้แก่ท้องถิ่นซึ่งพยายามรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของตนออกมาอย่างไม่คิดชีวิต)

2.แนวคิดที่บอกว่าประเทศไทยไม่มีตัวตนก่อนรัชกาลที่ 5 เป็นแนวคิดที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มมองว่าเป็นฝรั่งเช่นเดียวกับคำว่าประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน แนวคิดเช่นนี้แม้ดูสมเหตุสมผลแต่อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่าผู้พูดดูหัวรุนแรง อันเป็นผลให้พวกชาตินิยมแบบสลิ่มปฏิเสธและพยายามหาทฤษฎีเข้ามาตอบโต้ พวกเขาอาจเห็นว่า "ความเป็นไทย" นั้นได้ก้าวอยู่บนการสืบต่อกันอย่างไม่เป็นระเบียบของอาณาจักรเหล่านี้และพวกเขาก็ได้สร้างมันขึ้นมาใหม่โดยผ่านลัทธิราชาชาตินิยมเช่นคนไทยในยุคปัจจุบันรู้สึกว่าคนเหนือ คนใต้ คนอีสานเป็นพวกเดียวกับกรุงศรีอยุธยาเพราะพระนเรศวรเป็นกษัตริย์ไทยที่เก่งกล้าสามารถรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ซึ่งก็เป็น "คนไทย" เหมือนกันแต่แตกพลัดกระจัดกระจายระหว่างทางที่อพยพจากเทือกเขาอัลไตให้สวามิภักดิ์กับอยุธยาได้ (ถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่าเมืองใดบ้างแต่ก็คงเยอะพอดู หากใช้จินตนาการเข้าช่วย) ถึงแม้กรุงศรีอยุธยาอาจจะไม่มีเชียงใหม่ดังเช่นในภาพยนตร์พระนเรศวรตอนหนึ่งที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งดูไร้ความเก่งกาจแต่อาจหาญมาต่อสู้กับกรุงศรีอยุธยา (ตัวผู้แสดงคือ ชลิต เฟื่องอารมณ์ซึ่งดูคล้ายกับอาจารย์ยิ่งศักดิ์มากกว่ากษัตริย์)  อันทำให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็เหมือนกับลูกน้องกระจอกที่หลงผิดไปอยู่กับฝ่ายพม่า สักวันเชียงใหม่ต้องซบอกอยุธยาอยู่วันยังค่ำจนมาสำเร็จอย่างจริงจังในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

3.ด้วยกระแสการศึกษาแบบราชาชาตินิยมทำให้พวกชาตินิยมแบบสลิ่มรู้สึกต่อต้านคณะราษฎรผู้สถาปนาความเป็นชาติและหันมาให้ความสำคัญต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ก่อน ปี 2475 ไม่ว่าจะอยู่ในอาณาจักรใดซึ่งมักถูกนำเสนอในด้านบวกผสมกับความยิ่งใหญ่ แม้ว่ามีการนำเสนอถึงความชั่วร้ายหรือความอ่อนแอของกษัตริย์และอาณาจักรในยุคนั้นโดยเฉพาะสมัยอยุธยา แต่ถ้ามีการหักลบกับกษัตริย์ที่ทรงเก่งกาจหลายพระองค์เช่น สมเด็จพระนเรศวร พระเอกาทศรถ  พระนารายณ์  ฯลฯ คนไทยที่ยึดถือลัทธิชาตินิยมแบบสลิ่มย่อมรับไม่ได้ที่จะมาหักล้าง "ประเทศไทย" ให้เหลืออยู่เพียงยุคหลังคณะราษฎรคือเพียง 80 กว่าปี อันมีอายุน้อยยิ่งกว่าประเทศ "ฝรั่ง" โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มมองว่ามีวัฒนธรรมแบบประชานิยม (pop culture) แม้ได้รับความนิยมทั่วโลกแต่ก็หยาบกระด้าง สหรัฐฯ ยังเป็นเจ้าแห่งลัทธิบริโภคนิยม และอาชญากรรม  เยาวชนมั่วเรื่องทางเพศ  เป็นประเทศหน้าไหว้หลังหลอก มีสำนักข่าวกรองที่โยงใยไปทั่วโลกอย่างเช่น ซีไอเอเพื่อตอบสนองความเป็นจักรวรรดินิยมมือเปื้อนเลือด [ii]มีอีกจำนวนไม่น้อยที่นอกจากจะยกย่องชาติไทยแล้วยังยกย่องมหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์กับสหรัฐฯ ไม่ว่าจีนหรือรัสเซียซึ่งน่าเป็นมิตรที่ดีสำหรับไทยเพื่อคานอำนาจกับสหรัฐฯ  บางพวกขุดเอากระแสนิยม (หรือคลั่ง) จีนจากพวกฝ่ายซ้ายเก่าเมื่อหลายทศวรรษก่อนมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ นั้นเริ่มหมดความหมายไปจากเวทีโลกแล้วเช่นเดียวกับทักษิณและเครือข่ายซึ่งบางสื่อของกลุ่มพันธมิตรกล่าวหาว่าเป็นลิ่วล้อหรือหุ่นเชิดของสหรัฐฯ 

ประเด็นนี้เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งในการสร้างอัตลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของไทยซึ่งเริ่มต้นจากการพยายามสร้างภาพในอดีตอันแสนยิ่งใหญ่ เช่นการที่รัชกาลที่ 4 ทรงใช้ศิลาจารึกหมายเลข 1 ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงในการบอกกับชาติตะวันตกว่ากรุงสยามนั้นมีความต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคือเมื่อหลายร้อยปีก่อน (แน่นอนว่าเมื่อมีผู้เสนอว่ารัชกาลที่ 4 ทรงปลอมศิลาจารึกย่อมถูกโจมตีจากพวกอนุรักษ์นิยมหรือในปัจจุบันยังอาจโดนดำเนินคดีอาญามาตรา 112 อีกด้วย)  และในภายหลังชนชั้นนำพยายามปฏิเสธฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งเคยยิ่งใหญ่กว่าตนเช่นสังคมอเมริกันให้แย่หรือโสมมเพียงใด[iii]สังคมแบบเผด็จการจารีตนิยมของไทยก็ยิ่งสามารถสร้างภาพฝันๆ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันของตนให้สวยงามได้เท่านั้นและยิ่งผูกเข้ากับสถาบันกษัตริย์ด้วยแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วสหรัฐฯ มีส่วนในการสร้างอัตลักษณ์แบบไทยๆ ไม่น้อยดังเช่นในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐฯ ให้การช่วยเหลือในการเผยแพร่ค่านิยมแบบไทยๆ เช่น สถาบันกษัตริย์เพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ดังงานวิชาการของณัฐพล ใจจริงได้ระบุไว้หรือแม้แต่แนวคิด วิถีชีวิตหรืออะไรอีกสารพัดที่เราคิดว่าเป็นไทย ถ้าสืบร่องรอยไปแล้วอาจจะได้รับอิทธิพลจากสังคมอเมริกันมาอย่างน่าขนลุก

นอกจากนี้พวกหัวเสรีนิยมอาจยกประเด็นด้านรัฐศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาของนิยามว่า "รัฐ" หรือ "อธิปไตย" ในเชิงรัฐศาสตร์เช่นเราจะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากได้อย่างไรว่าไทยมีอธิปไตยหรือมีอิสระอย่างเต็มที่ในนโยบายภายในประเทศหรือต่างประเทศ เช่นการมาเยือนของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นจะถือว่าเป็นการร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นฉันท์มิตร (ตามโฆษณาชวนเชื่อของละครเรื่องคู่กรรม) ได้หรือไม่ เพราะนอกจากเราต้องเป็นศัตรูกับฝ่ายพันธมิตรแล้ว ญี่ปุ่นยังสามารถยึดสถานที่ราชการของไทยไปใช้เป็นกองบัญชาการของตนตามใจชอบและยังสามารถพิมพ์ธนบัตรมาใช้เองได้โดยไม่ต้องขอทางฝ่ายไทย  หรือในช่วงสงครามเวียดนามที่ไทยเองแม้จะซบอกสหรัฐฯ ด้วยความสมัครใจเพราะได้งบประมาณช่วยเหลือมากมายตั้งแต่สมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายการต่างประเทศของไทยนั้นไม่สามารถถูกกำหนดให้เป็นอย่างอื่นได้ หรืออย่างกรณีที่สหรัฐฯ ใช้เราเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศถึง 13 แห่งในส่งเครื่องบินไปโจมตีเวียดนามเหนือ มีการขึ้นลงของเครื่องบินและการขนส่งอาวุธที่ไม่ต้องขออนุญาตหรือแจ้งทางฝ่ายไทยเสียก่อน หรือกรณีของคนไทยที่มีเรื่องพลั้งมือไปฆ่าทหารอเมริกันและถูกจับขึ้นศาลทหารของสหรัฐฯ โดยไม่อิงกับกระบวนการยุติธรรมของไทย  หรือแม้แต่ปัจจุบันที่กองทัพไทยซึ่งภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่ยุคของพระนเรศวรหรือก่อนหน้านั้นต้องดิ้นพล่านเหมือนกับแมวอยู่บนหลังคาสังกะสีร้อนๆ  (cat on a hot tin roof) เมื่อสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเลิกซ้อมรบคอบราโกลด์หรือจะตัดความช่วยเหลือทางการทหาร  นอกจากนี้รัฐบาลไทยไม่ว่าชุดไหนต้องแสดงความวิตกเมื่อถูกตัดสิทธิทางการค้าจากสหรัฐฯ ไม่ว่าเพราะการละเมิดลิขสิทธิ์หรือการถูกลดอันดับขั้นในเรื่องการค้ามนุษย์  

เราย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็น "การแทรกแซง" นโยบายในทุกด้านของไทยมานานอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ให้ไทยผูกความภักดีต่อสหรัฐฯนับตั้งแต่สงครามเย็นจนมาถึงยุคแห่งการโอบล้อมจีนของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพิ่งเกิดมาเมื่อวันสองวันนี้เอง

แต่ด้วยจินตนาการผสมกับการเลือกเชื่อในประวัติศาสตร์บางส่วน รวมไปถึงความไม่รู้ในหลักรัฐศาสตร์ พวกชาตินิยมแบบสลิ่มก็ย่อมปฏิเสธข้อมูลข้างบน เพราะพวกเขาเลือกจะเชื่อว่าการตกเป็นเมืองขึ้นนั้นมีลักษณะแบบเดียวกับญี่ปุ่นบุกยึดนานกิงของจีนจนเลือดไหลนอง หรือนาซีบุกยึดกรุงปารีสเป็นเวลาหลายปีที่ถึงขั้นบังคับให้มีภาษาเยอรมันอยู่เหนือภาษาฝรั่งเศสในป้ายต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไทยไม่เคยพบอย่างชัดเจนนักนอกจากกรณีของญี่ปุ่นซึ่งผู้เขียนคิดว่าคนไทยหัวชาตินิยมแบบสลิ่มจำนวนมากคงจะรู้จักและซาบซึ้งผ่านละครคู่กรรมซึ่งสร้างภาพของทหารญี่ปุ่นให้ดูสวยงามยิ่ง ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจะมีคนไทยเท่าไรที่เชิดชูวีรกรรมของทหาร ตำรวจ ยุวชนทหารในการต่อสู้กับญี่ปุ่นเท่ากับชาวหมู่บ้านบางระจันที่รบกับพม่าเมื่อ 2 ร้อยปีก่อน จะมีคนไทยจำนวนเท่าไรที่รู้ว่าทหารญี่ปุ่นเคยทำทารุณกรรมกับคนไทยเช่นเกิดกรณีเคยไปตบหน้าพระภิกษุไทยที่จังหวัดราชบุรี จนทำให้คนไทยปะทะกับญี่ปุ่นจนเกือบจะขยายวงไปไกล (ดังที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริได้เล่าไว้ แต่ผู้เขียนเคยอ่านเจอก่อนหน้านี้ในหนังสือ “ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า” ซึ่งเขียนโดยประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎร)  เหตุการณ์เหล่านี้วงการประวัติศาสตร์ไทยก็ไม่ได้ปกปิดแต่ไม่ได้ถูกนำเสนอได้เท่ากับการที่ โกโบริหรือ "พ่อมะลิ" ของ อังศุมาลินปฏิบัติต่อคนไทยอย่างให้เกียรติเยี่ยงมิตร 

สำหรับกรณีสหรัฐฯ และไทยในช่วงสงครามเวียดนามนั้น ในการสร้างภาพยนตร์หรือละครเพื่อสะท้อนนั้นดูเหมือนจะไม่ชัดเจนนักอาจเพราะความเกรงใจต่อสหรัฐฯ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นฝรั่งเศสหรืออังกฤษ (ดังนั้นพม่าจึงเป็นตัวล่อเป้าที่ดีที่สุด) จึงไม่กล้ามีใครกล้าทำภาพยนตร์เพื่อสะท้อนไปในเชิงการเมืองหรือต่อต้านอเมริกันอย่างชัดเจนเพื่อให้ถูกทางการเซ็นเซอร์เท่าไรนัก นอกจากสารคดีในช่องโทรทัศน์บางช่อง ผู้เขียนจำได้คลับคล้ายว่าเคยเห็นแต่ฉากในผับแถวจังหวัดอุดรธานีที่ทหารอเมริกันขี้เมาไปอาละวาดเลยปะทะกับคนไทยเลือดรักชาติ  ตัวอย่างมุมมองของพวกชาตินิยมแบบสลิ่มต่อสหรัฐฯ ที่ชัดเจนท่านหนึ่งคือคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี บุตรีของจอมพลถนอม กิติขจรซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงสงครามเวียดนาม เธอได้ออกมาแถลงในนามของสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกาเป็นทำนองว่าไทยนั้นเป็นเอกราชมายาวนานและมีเกียรติ ทั้งที่ในยุคของบิดาเธอนั้น ไทยได้ถูกสหรัฐฯ เข้าครอบงำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างมหาศาลประการใด (ทั้งที่ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นเธอน่าจะอายุได้  20 กว่าปีซึ่งควรจะรู้ความเกี่ยวกับโลกภายนอกได้ดีระดับหนึ่งแล้ว) แน่นอนว่าคำพูดของเธอในฐานะเป็นพวกไฮโซชอบออกงานสังคมพร้อมสามีซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ย่อมถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยๆ ในนิตยสารสำหรับผู้หญิงซึ่งกลุ่มลูกค้าสำคัญมักเป็นพวกชาตินิยมแบบสลิ่มเช่นกลุ่มกปปส.[iv]

นอกจากนี้หากเราพิจารณาถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่คุณดอนได้กล่าวถึงนั้น คำว่าประชาธิปไตยของไทยนับตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมานั้นหากเปรียบได้กับคนก็เหมือนกับคนที่ย้ำคิดย้ำทำ เดินกลับไปกลับมาโดยปัจจัยสำคัญนั้นก็คือกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยอยู่ตลอดมา ดังเช่นรัฐบาลที่คุณดอนรับใช้อยู่นั้น ย่อมทำให้ไทยนั้นเป็นเพียง born yesterday หรือเด็กเมื่อวานซืนเท่านั้นเองหากเปรียบเทียบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก  ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยของชาติดังกล่าวจะมีปัญหาอยู่มากดังข่าวที่เรารับรู้โดยทั่วไปในสื่อแต่ก็ต้องยอมรับว่าสถาบันต่างๆ ของชาติเหล่านั้นมีพัฒนาการที่มั่นคงและยึดโยงอยู่กับประชาชนไม่มากก็น้อย ส่วนการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญเป็นว่าเล่นและร่างขึ้นมาใหม่ตามใจฉันภายใต้การเสแสร้งว่าเปิดให้มีการระดมความคิด รวมไปถึงการปิดกั้นการเสนอความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชนโดยข้ออ้างถึงความผิดปกติหรืออะไรก็ตามแต่ ก็เป็นข้ออ้างที่ประเทศเผด็จการมักจะอ้างกันอยู่เนืองๆ จากประโยคที่ว่า "เรามีวิธีการของเราเองในการแก้ไขปัญหา"สุดท้ายคำพูดของคุณดอนจึงไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าพวกเทคโนแครตทั้งหลายในรัฐบาลประยุทธ์ซึ่งสมองถูกแช่แข็งไว้ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะสามารถเข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริงอะไรได้

แต่ประโยคข้างบนสามารถถูกปฏิเสธได้จากพวกชาตินิยมแบบสลิ่มเพราะรัฐแบบอนุรักษ์นิยมของไทยได้ปลูกฝังมานานว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งประดิษฐ์ของตะวันตกที่ไม่มีวันเข้ากับสังคมไทยหรือค่านิยมแบบไทยๆ ได้เป็นอันขาด  โดยที่พวกชาตินิยมแบบสลิ่มเองก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร อย่างเช่นกลุ่มกปปส.คิดว่าประชาธิปไตยแบบฝรั่งคือเลือกตั้งซึ่งไม่ได้เรื่อง ดังนั้นจึงต้องแก้แบบไทยๆ คือการไปปิดคูหาเลือกตั้งเพื่อเรียกร้องให้ทหารมายึดอำนาจเพื่อไล่ทักษิณและเครือข่ายออกไป แต่เมื่อพวกเขาถูกซุ่มโจมตี บาดเจ็บบ้าง เสียชีวิตบ้างจึงเรียกร้องหาสิทธิในการชุมนุมทางการเมืองซึ่งเป็นวาทกรรมของประชาธิปไตยแบบตะวันตก  แต่การที่พวกเขามักอ้างว่าเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ควรได้รับสิทธิเช่นนั้นเหมือนพวกตนเพราะคนเหล่านั้นเป็นพวกล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมืองก็สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เข้าใจประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ส่วนพวกทหารก็คิดเพียงอย่างเดียวว่าประชาธิปไตยคือการออกมาประท้วงเพื่อก่อความไม่สงบและเป็นกลยุทธ์ของเครือข่ายทักษิณในการล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว

ดังนั้นกลายเป็นเป็นเรื่องตลกร้ายว่าเมื่อสื่อของพวกสลิ่มถูกทหารคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกเช่นเดียวกับกลุ่มเสื้อแดง ดูเหมือนพวกเขาจะออกมาต่อต้านแบบพองามก่อนจะเงียบหายไปไม่เหมือนกับตอนที่ละครเรื่อง "เหนือเมฆ 2" ต้องพ้นจากผังรายการโทรทัศน์ไปในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์  เพราะนอกจากแรงกดดันจากองทัพแล้ว พวกเขานั้นคงน้ำท่วมปากเพราะคงรู้ตัวดีว่าเคยสนับสนุนกองทัพแต่ก็ออกมาร้องแรกแหกกระเชอเรื่องเสรีภาพ ดังนั้นการสนับสนุนการประท้วงของนักศึกษาที่เกาะฮ่องกงหรือการยกย่องเสรีภาพในการแสดงออกของนิตยสารชาร์ลี เอบโดของพวกที่เคยร่วมชุมนุมกับกปปส.จึงดูสับสนเหมือนคำพูดของ  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ว่าเขามีหัวใจประชาธิปไตยที่ต้องควบคุมอำนาจ (จำกัดประชาธิปไตย) เพื่อรักษาประชาธิปไตยไว้

สังคมไทยในอุดมคติของพวกชาตินิยมแบบสลิ่มก็คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือ Democracy in Thai characteristics  ซึ่งไม่มีวันเหมือนต่างชาติเช่น Democracy in American characteristics เป็นอันขาดและอาจจะไม่ตัวตนอยู่จริงนอกจากฟาสซิสต์แบบจำแลง

พวกชาตินิยมแบบสลิ่มจึงปฏิเสธการกดดันจากนานาชาติหรือการจัดอันดับขององค์กรอิสระเกี่ยวการเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก (แน่นอนว่าในปี 2015 ไทยได้รับการเปลี่ยนประเภทจากประเทศอิสระบางส่วนเป็นประเทศไม่อิสระไปเสียแล้ว) ในเชิงทฤษฎีสมคบคิดว่าเป็นการหวังผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการร่วมกับกลุ่มอำนาจเดิมคือทักษิณในการกดดันให้รัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนดีของคสช.หมดอำนาจไปในที่สุด  พวกชาตินิยมแบบสลิ่มจึงมีแนวโน้มที่จะตอบรับวาทกรรมแบบเพ้อฝันสุดขั้วอย่างเช่นการปิดประเทศหรือการตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและตะวันตกได้อย่างไม่ละอายใจแม้จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดในโลกยุคที่พวกตนยังคงเสพความเป็นตะวันตกเช่นภาพยนตร์ฮอลลีวูด สินค้ามี แบรนด์จากยุโรป  การสื่อสารกันผ่านฮอตเมลและเฟซบุ๊ค หรือยังนิยมส่งลูกส่งหลานไปเรียนยังสหรัฐฯ หรืออังกฤษมากกว่าส่งไปที่จีนหรืออินเดีย

 




[i]ผู้เขียนจำได้ว่าในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสโจมตีว่าการดำเนินคดีของอภิสิทธิ์และสุเทพในกรณีปราบปรามคนเสื้อแดงด้วยความรุนแรงในปี 2553 นั้นมีแรงจูง ใจทางการเมืองแอบแฝง  แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถซื้อหนังสือพิมพ์สำนักนี้อ่านได้ทุกวัน (เพราะอ่านไม่ทัน) จึงไม่แน่ใจว่าบางกอกโพสจะกล่าวถึงกรณีเล่นงานยิ่งลักษณ์เรื่องจำนำข้าวว่าเกิดจากแรงจูงใจอะไรกันแน่ แต่เท่าที่ได้อ่านมาดูเหมือนหนังสือพิมพ์จะไม่ยอมวิจารณ์การกระทำของรัฐบาลทหารเหมือนกับของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่าไรนัก

 

[ii]เป็นเรื่องน่าสนใจว่าความเกลียดชังหรือความรู้สึกต่อต้านสหรัฐฯ นั้นแต่ก่อนเคยถูกผูกขาดโดยฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบตลาดเสรี แต่ในกว่าทศวรรษที่ผ่านมาพวกเขาได้รับการสมทบจากพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งเจ้าหรือชาตินิยมแบบสลิ่มที่ชื่นชอบระบบตลาดเสรีและส่งลูกหลานไปเรียนอเมริกาเข้าทำนองว่าเป็น unlikely alliance หรือพันธมิตรที่ดูเป็นไปไม่ได้ (ดังนั้นกลุ่มซ้ายเก่าจำนวนมากจึงไปอยู่กับกปปส.เป็นจำนวนมาก) นอกจากนี้ตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ซึ่งไม่ได้เป็นฝ่ายซ้ายแต่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมหัวก้าวหน้า อิงกับศาสนาและ ต่อต้านระบบทุนนิยมได้อ้างแนวคิดจากพวกฝ่ายซ้ายเช่นพวกอนาธิปไตยเพื่อวิจารณ์ประชาธิปไตยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะการเลือกตั้งอันจะเป็นการโจมตีทักษิณและเครือข่ายไปด้วย  แม้ว่าสุลักษณ์จะถูกโจมตีจากทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลือง แต่เมื่อสุลักษณ์โจมตีทักษิณเป็นพิเศษ เขาก็จะได้รับการตอบรับจากพวกเสื้อเหลืองเป็นอย่างดีแม้ว่าพวกเสื้อเหลืองจะไม่ถึงขึ้นปฏิเสธระบบตลาดเสรีหรือว่าเป็นพวกเคร่งศาสนาก็ตาม

 

[iii]สังคมไทยมีการมองสหรัฐฯ ในด้านดีและมีการรับเอาวัฒนธรรมแบบอเมริกันมาอย่างแพร่หลายยิ่งกว่าประเทศเจ้าประจำอย่างเช่นอังกฤษหรือฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษที่ 50 จนไปถึงปลายทศวรรษที่ 60  อันเป็นช่วงที่สังคมอเมริกันดู “เรียบร้อย” คือประณีตในเรื่อง ชีวิตความเป็นอยู่ เครื่องแต่งกาย มีการแบ่งบทบาทระหว่างผู้ชายผู้หญิงอย่างเคร่งครัดเช่นผู้ชายไปทำงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือนคอยเลี้ยงลูกหรือเรื่องทางเพศที่หนุ่มสาวต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ  อันเป็นสังคมที่อิงอยู่กับค่านิยมวิกตอเรียนของอังกฤษอย่างมากจนสหรัฐฯ ในบางมุมของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเหมือนกับเป็นยุโรปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20   จนถึงในปลายทศวรรษที่ 60  ที่หนุ่มสาวยุคเบบี้บูมเริ่มขบถทางบ้านและหันไปสร้างวัฒนธรรมแบบกระแสรองอย่างเช่นฮิปปีซึ่งสอดคล้องกับการปฏิวัติทางเพศ ปรากฏการณ์นี้น่าจะทำให้สังคมไทยเริ่มหมดรักสังคมอเมริกันซึ่งมีการเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะความหวาดระแวงว่ากระแสขบถของพวกเบบีบูมได้ทำให้เยาวชนไทยกระด้างกระเดื่องซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยคนหนุ่มสาวดังเช่น 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519  คนไทยเริ่มมองคนอเมริกันว่า “ถ่อย ชอบพูดหยาบคาย บ้าเซ็กซ์ ไร้ศีลธรรม”  ซึ่งจะกลายเป็นภาพที่ติดตาคนไทยโดยเฉพาะพวกชาตินิยมแบบสลิ่มจนถึงปัจจุบันโดยได้รับการเสริมแรงจากภาพยนตร์ฮอลลีวูด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้คนไทยรู้สึกต่อต้านตะวันตก ต่อต้านอเมริกันนอกจากความรังเกียจต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และในปัจจุบันยังคบค้าสมาคมกับทักษิณ “ผู้โกงชาติและล้มเจ้า” อีกด้วย

 

[iv]เป็นเรื่องตลกอย่างไรก็ไม่ทราบว่าผู้เขียนเองได้เรียนประวัติศาสตร์ไทยหรือตะวันตกผ่านนิตยสารสตรีแบบไฮโซไม่ว่า “แพรว” หรือ “ดิฉัน” ตั้งแต่ยังเด็กเพราะคุณแม่รับนิตยสารเหล่านี้เป็นประจำและเท่าที่จำได้ว่าประวัติศาสตร์ในนิตยสารเหล่านั้นซึ่งขาดการอ้างอิงแบบวิชาการและยังเน้นจุดยืนและมุมมองจากพวกเจ้าและพวกนิยมเจ้า  ที่ไม่น่าให้อภัยคือยังผสมระหว่างความเป็นจริงเข้ากับนิยายแบบพาฝันจนคนอ่านแยกไม่ออกระหว่างข้อมูลทางประวัติศาสตร์กับสิ่งที่จินตนาการขึ้น  แต่ที่สารในนิตยสารเหล่านั้นทรงพลังเพราะคนเสพเป็นชนชั้นสูงและกลาง เช่นเดียวกับรูปลักษณะของนิตยสารที่พิมพ์ 4 สีอย่างดี มีดาราชื่อดังถ่ายแบบ และนักเขียนก็มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากสังคม ในกว่าทศวรรษที่ผ่านมาจากการสังเกตของผู้เขียน บทความเกี่ยวกับสถานการณ์โลกที่นิตยสารเหล่านี้มีไว้ 2-3 หน้าเพื่อทำให้ดูมีสาระนอกเหนือจากการนำเสนอเรื่องส่วนตัวของไฮโซ ดารา หรือประวัติศาสตร์ชนิด “บ้านยังดีเมืองยังงาม” จะวิจารณ์พร้อมเสียดสีรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้จอร์จ ดับเบิลยู บุชในช่วงทำสงครามที่อิรักและอัฟกานิสถานเพื่อเป็นการเสริมแรงในการโจมตีทักษิณไปในตัว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมื่ออเมริกันคองเกรสส่อเค้าพิจารณาสถานภาพประเทศไทย

0
0

 

ในโลกประชาธิปไตยตะวันตกที่ผ่านยุคประวัติศาสตร์ของเผด็จการและการรัฐประหารมาสู่รัฐประชาธิปไตยนั้น ประชาชนได้บทเรียนทางการเมืองยึดอำนาจ อย่างน้อยนักลงทุนทั้งในตลาดรองและตลาดจริงเกิดความอ่อนไหวในการลงทุน อาจมีการยับยั้งหรือถอนการลงทุนในประเทศที่เกิดการรัฐประหารนั้น ส่วนหนึ่งเพราะความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือปัญหาการเมืองที่เชื่อมโยงถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  ซึ่งท่าทีของอเมริกันคองเกรสในยุคปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่ายืนอยู่ฟากประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ในรายงานที่เสนอต่อคองเกรสของหน่วยงานวิเคราะห์สถานการณ์ในเอเชียแปซิฟิกเมื่อปลายปีที่แล้ว  (2557) ส่วนหนึ่งระบุเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า  การรัฐประหารได้ส่งผลต่อภาพรวมทางด้านเศรษฐกิจของไทยในแง่ผลของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่สัมพันธ์กับประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีการประเมินปริมาณการลงทุนในเมืองไทยของนักลงทุน (ผู้มาจาก) ต่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายทางการอเมริกันเอง ต้องการให้ไทยแสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งว่าจัดการเลือกได้เมื่อไหร่และอย่างไร 

เรื่องดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมโยงถึงการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่อเมริกันและเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายการเมืองของไทยในเวลาต่อมาไม่นาน และล่าสุดนำมาซึ่งการมาเยือนของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ทั้งนี้หากมองย้อนไปถึงผลกระทบของรัฐประหาร  19  กันยายน 2549 จะเห็นว่า ผลพวงของการรัฐประหารได้ทำให้เศรษฐกิจไทยชะงักและถอยหลังไปหลายปี ที่สำคัญคือการสูญเสียโอกาสในการวางรากฐานการปรับปรุงประสิทธิภาพเศรษฐกิจไทย ให้เข้มแข็งในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงดังกล่าวกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ I.M.F. ประเมินว่าในปี  2548  2549 และ 2550 เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 4.9  5.1 และ  4.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากกว่าเดิม การทำรัฐประหารในปี 2549 ได้เพิ่มต้นทุนความเสี่ยงของไทยในสายตาต่างประเทศให้สูงขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้เมืองไทยว่างเว้นจากการรัฐประหารมานานกว่า 15 ปี

ในแง่ภาพรวมของประเทศอาเซียน ทีมงานของคองเกรสมองว่า บริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียนกำลังเปลี่ยนไป  จากแต่เดิมที่เศรษฐกิจของหลายประเทศอาเซียนถูกควบคุมโดยชนชั้นนำเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่วิถีใหม่ของประชาชาติอาเซียนได้เปลี่ยนไปเป็นการเพิ่มพลังอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนชั้นล่าง (รากหญ้า) มากขึ้นกว่าเดิม แต่บางประเทศ เช่น เวียดนามจะใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ตาม  แต่ระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจนั้นถูกประยุกต์ให้เข้ากับวิถีเศรษฐกิจสมัยที่อิงระบบทุนและการตลาดแบบอาศัยกลไกทุน

รายงานดังกล่าวเสนอด้วยว่า สงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมกับสังคมนิยมได้ยุติไปแล้ว หรือแม้แต่สงครามระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแย่งชิงผลประโยชน์กันแบบเดิมมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ทำให้หลายประเทศได้จัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศมากขึ้น ภัยคุกคามประชาชาติอาเซียนในเวลานี้ คือ การศึกษา การไร้ที่ทำกิน การทำลายสภาพแวดล้อม และการที่คนสมัยใหม่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่เลวลง ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องได้ระดมทั้งสมอง กำลังคน และทรัพยากรไปแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น การสร้างกองทัพให้ใหญ่ขึ้นในสังคมสมัยใหม่จึงก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น  เนื่องจากไปเบียดเบียนงบประมาณด้านอื่นที่สมควรจะใช้พัฒนาเศรษฐกิจ  ในยามที่บรรดาประเทศอาเซียนเองก็มีการแข่งขันและผ่องถ่ายการลงทุนซึ่งกันและกันตลอดเวลาทั้งในส่วนของนักลงทุนในภูมิภาคและนักลงทุนนอกภูมิภาค  อาเซียนจำเป็นจะต้องพัฒนาการจัดองค์กรทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมให้มีประสิทธิภาพเป็นประชาธิปไตย และกระจายความเป็นธรรมมากขึ้น แนวทางการใช้กำลังอำนาจมาต่อรองแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตนแบบเดิมๆ กำลังเปลี่ยนไป

บทวิเคราะห์ในรายงานยังพาดพิงถึงสถานการณ์ในเมืองไทยว่า ประชาชนชั้นกลางและคนในชนบท กำลังทำให้ดุลอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมของไทยเปลี่ยนไปจากระบบราชการหรือระบบของรัฐที่ครอบงำสังคม จะไปสู่กระแสประชาธิปไตยที่ราชการกับประชาสังคมมีความสมดุลกันมากขึ้น เช่นเดียวกับการนำกระบวนการสันติวิธีมาใช้โดยไม่อิงกับมาตรฐานสากล ฝ่ายไทยมีการบัญญัติความหมายของสันติวิธีซึ่งเชื่อมโยงกับหลักสิทธิมนุษยชนเสียใหม่ โดยไม่เชื่อมโยงกับหลักการสากล

หลักการสิทธิมนุษยชน สากล ที่หมายถึงสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพในชีวิตและร่างกาย ตลอดจนความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามกฎหมายทีเกี่ยวข้องและปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กฎบัตรสหประชาชาติหรือตามแนวปฏิบัติของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยร่วมเป็นภาคี และมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม

หากให้ขยายความมุมนี้ ผู้เขียนคิดว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรัฐประหาร มักมีการเสนอทางออกเชิงสันติวิธีอยู่เสมอ  เนื่องจากทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่าสันติวิธี คือทางออกของปัญหา เช่น การหันหน้ามาเจรจากัน  เป็นต้น แต่ปัญหาคือ ความเข้าใจต่อกระบวนการด้านสันติวิธีเพื่อสันติว่า ได้มองในแง่ของ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมและความยุติธรรมหรือไม่ เพราะหากปราศจากความเท่าเทียมและยุติธรรมแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของสังคมเพื่อให้เกิดสันติได้ ทั้งการมองสันติภาพด้วยทัศนะคับแคบดังกล่าว สันติวิธีก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในฐานะเป็นข้ออ้างของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่ขัดแย้งอยู่เสมอ ไม่ทำก่อให้เกิดสันติตามที่ต้องการอย่างแท้จริง สังคมก็ยังคงมีความขัดแย้งอยู่ต่อไป
 
นอกเหนือไปจากอุปสรรคขัดขวางการสร้างสังคมสันติ คือ ลักษณะของอำนาจนิยมทางการเมืองที่เกิดจากบุคลิกอำนาจนิยม (authoritarian personality) ของคนไทย ที่หมายถึงการมีบุคลิกที่มักสยบยอม อ่อนน้อม เชื่อฟัง ต่อบุคคลที่มีอำนาจมากกว่า  หรือเมื่อไม่พอใจผู้มีอำนาจก็ข่มความรู้สึกไว้  ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้ผู้มีอำนาจน้อยกว่า มีความรู้หรืออาวุโสน้อยกว่ามาแสดงความขัดแย้ง หากมีเหตุการณ์ทำนองตรงกันข้ามเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจบังคับหรือข่มขู่  จนเมื่อสังคมเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นรุนแรง สมุฏฐานของปัญหาจึงไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาแก้ไข  เมื่อไม่มีการพูดถึงสมุฏฐานของความขัดแย้งอันเป็นแนวทางสันติวิธี ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของไทยก็คงยังไม่ได้รับการแก้ไข

อย่างไรก็ตาม ผลพวงของการสื่อสารสมัยใหม่ทำให้วัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ ดังกล่าวเปลี่ยนไป เมื่อมีการแสดงออกด้านความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง  แม้การเมืองไทยจะตกอยู่ใน “ระบบปิด” ก็ตาม

การรับรู้ข่าวสารของประชาชนที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง เกิดจากผลพวงของพัฒนาการของเครื่องมือสื่อสารมวลชนที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและเปิดเผยมากขึ้น การปิดกั้นข่าวสารโดยรัฐหรือองค์กรของกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น  กระบวนสันติวิธีเพื่อลดความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลาย คือ การอาศัยกลไกประชาธิปไตยหรือกลไกการเลือกตั้งซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานที่ใช้กันในสากลประเทศ

เป็นหน้าที่สมาชิกคองเกรสที่จะต้องตัดสินใจในการกำหนดท่าทีต่อผลการศึกษาและวิเคราะห์ในรายงานชิ้นนี้ว่าในที่สุดแล้วควรสหรัฐอเมริกาควรมีท่าทีต่อชาติอาเซียน โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” ต่อจากนี้อย่างไร.

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุรชาติ บำรุงสุข

0
0

"ผมคิดว่าถ้ายังมีสติเหลืออยู่จะรู้ว่านโยบายต่างประเทศไม่สามารถเลือกข้างได้ ในสภาพที่มีการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจใหญ่ในภูมิภาค คิดว่าโจทย์ชุดนี้ตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ง่ายที่สุด คือไทยไม่มีสิทธิ์เลือกข้างระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ผมคิดว่าผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของไทย คือไทยต้องอยู่ได้ทั้งกับวอชิงตันและกับปักกิ่ง หรือในภาพรวม ไทยต้องอยู่ได้ ทั้งกับวอชิงตัน ปักกิ่ง และสหภาพยุโรป"

ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ทหารนั่งประกบ วงเสวนา 'สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์'

0
0

1 ก.พ. 2558 ที่ห้องสมุดสันติประชาธรรม มีการจัดเสวนา "สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์" ร่วมเสวนาโดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต และตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และมีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบเข้าฟังการเสวนาข้างๆ วิทยากรด้วย

ทั้งนี้ก่อนหน้างานจะเริ่ม ผู้จัดงานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ทหารว่า ให้สามารถจัดงานต่อไปได้ แต่จะขอเข้ามาฟังการเสวนา บันทึกภาพ พร้อมร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเรียกแกนนำ สกต. ปรับทัศนคติ 3 วัน อ้างนำไปสู่ความปรองดอง

0
0

จังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี เรียก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ แกนนำ สกต. ผู้นำการเรียกร้องสิทธิในที่ดินสวนปาล์มหมดสัญญาเช่าให้กับชาวบ้าน เข้าประทัศนคติ 3 วัน อ้างเพื่อความสงบสุข และความปรองดองในพื้นที่

 

1 ก.พ. 2558 ผู้สื่อได้รับแจ้งจาก เพียรรัตน์ บุญฤทธิ์ แกนนำกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ว่ามีจดหมายเรียกรายงานตัวจาก ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฏร์ธานี ส่งมาที่สำนักงาน สกต. โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดี ในการคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ พร้อมกันนี้ได้มีนโยบายให้หน่วยทหารรับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อสร้างความเข้าใจ ขจัดปัญหาข้อขัดแย้งกับราษฏรในพื้นที่รับผิดชอบ อันนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ตามแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อนำความสุขกลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว โดยในการนี้จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบต่อการปฏิบัติตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีและจังหวัดพังงา

จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี จึงขอเชิญตัวนายเพียรรรัตน์ บุญฤทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 120 หมู่ที่ 1ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี มารายตัวเพื่อปรับทัศนคติเป็นเวลา 3 วัน ณ กองบังคับการ จังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี โดยให้รายงานตัววันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างวันที่ 10.00-11.00 นาฬิกา จักขอบคุณเป็นอย่างสูง”

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เพียรรัตน์  แกนนำกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เป็นผู้นำชาวบ้านในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัย และประกอบอาชีพ ในพื้นที่พิพาทระหว่างบริษัทไทยบุญทอง จำกัด ซึ่งหมดสัญญาเช่าพื้นที่มาแล้ว 14 ปี แต่ยังไม่ได้ย้ายออกนอกพื้นที่ จนกระทั้งชาวบ้านได้เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือน และที่ทำกิน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของสำนักปฏิรูปที่ดิน โดยได้ยึดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2546 ทั้งนี้ได้มีมติจากคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2553 ว่า ส.ป.ก. ได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งการมายัง ส.ป.ก.ให้ผ่อนผันให้ชุมชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้จนกว่า กระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ

หมายเหตุ: ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากเพียรรัตน์ ว่าพร้อมที่จะเข้าไปรายงานตัวในวันที่ 3 ก.พ. นี้

หมายเหตุ2 : ขออภัย เนื่องจากได้มีการแก้ไข้ เปลี่ยนจาก มทบ.22 เป็นจังหวัดทหารบกสุราษฏร์ธานี เพื่อความถูกต้อง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ใน 'สาธารณรัฐซัมซุง' คุณจะมี 'ชีวิตที่ดี' ได้ถ้าสอบผ่าน

0
0

สังคม "บ้าการสอบ" ในเกาหลีใต้ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงมีการเปิดสอบรับคนเข้าทำงานทีละเป็นจำนวนมากซึ่งในแง่ดีคือมันเปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวโดยไม่จำกัดเรื่องชื่อเสียงของสถานศึกษา แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็ทำให้ผู้คนถูกจำกัดและกดดันว่าคุณต้องเข้าทำงานในบริษัทนี้เท่านั้นถึงจะถือว่ามี "ชีวิตที่ดี"


Some rights reserved by samsungtomorrow

31 ม.ค. 2558 เว็บไซต์โกลบอลโพสต์ตีแผ่เรื่องราวชีวิตของเหล่าเยาวชนชาวเกาหลีใต้กับโอกาสที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุง ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้และจากระบบการคัดเลือกเข้าทำงานและการให้สัญญาเรื่อง "ชีวิตที่ดี" กับผู้ที่ร่วมงานของพวกเขาทำให้มีคนตั้งฉายาว่า "สาธารณรัฐซัมซุง"

บริษัทยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้อย่างซัมซุงมีระบบการจ้างงานที่รับพนักงานชาวเกาหลีใต้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีระบบการแข่งขันที่เข้มข้นและมีคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้มุ่งหวังจะเข้าทำงานในซัมซุงนับแสนคน ทำให้ดูเหมือนการเข้าทำงานในซัมซุงแทบจะเป็นเป้าหมายสำคัญในชีวิตของคนหนุ่มสาวในเกาหลี

โดยทุก 6 เดือน จะมีชาวเกาหลีใต้ราว 100,000 คน เข้าสอบเพื่อให้ได้ทำงานในซัมซุง ข้อสอบมีทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การใช้เหตุผล และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสอบตัวอักษรภาษาจีนที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเข้าไปด้วย มีราว 7,000 คนเท่านั้นที่ผ่านการทดสอบ และมีราว 4,000 คนเท่านั้นที่ได้งาน หมายความว่าในทุกๆ 20 ผู้สมัครจะมี 1 คนเท่านั้นที่ได้งาน

มีการเปรียบเทียบกับบรรษัทไอทีต่างประเทศอย่าง 'แอปเปิล' และ 'กูเกิล' ที่ใช้วิธีการคัดกรองจากเอกสารสมัครงานและการสัมภาษณ์ แต่ในสังคมแบบเกาหลีใต้ ข้อสอบเป็นตัวชี้วัดหลักๆ ที่สำคัญ มันสำคัญถึงขนาดถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ชี้วัดทุกอย่างในชีวิต

ในสังคมเกาหลีใต้ เยาวชนมีความตึงเครียดสูงมากจากการถูกกดดันให้เรียนพิเศษช่วงค่ำเพื่อให้ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นสูงเพื่อให้มีโอกาสได้งานสบายๆ และมีเส้นสายทางการเมือง แต่ในกระบวนการเข้าถึงระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้แต่ชนชั้นนำเหล่าคนหนุ่มสาวยุค "Gen Y" ในเกาหลีใต้ ก็ต้องผ่านด่านหลายด่านทั้งการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสมัครเข้าทำงานในบริษัทเอกชนหรือของรัฐ ซึ่งถ้าผิดพลาดก็จะถูกครอบครัวมองว่าเป็นผู้ล้มเหลวในชีวิต ทัศนคติจากคนรอบข้างและสภาพชีวิตของคนหนุ่มสาวเช่นนี้เองที่ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของเยาวชนเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น

การแข่งขันอย่างรุนแรงของชาวเกาหลียุคใหม่ทำให้มีคนไม่พอใจจำนวนมากเมื่อซัมซุงประกาศจะยกเลิกการสอบเข้าทำงานและใช้วิธีการให้มหาวิทยาลัยแนะนำตัวนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเข้าทำงานแทน พวกเขาประกาศเรื่องนี้เมื่อเดือน ม.ค. 2557 แต่ก็ล้มเลิกไปเมื่อโดนทักท้วง นักศึกษาหลายคนกลัวว่าการเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกเข้าทำงานของซัมซุงจะทำให้พวกเขาเสียโอกาสเพราะไม่ได้เรียนในสถานศึกษาที่พวกเขาเล็งไว้ พวกเขากลับมองว่าการเปิดให้สอบโดยไม่สนใจเรื่องคุณสมบัติในใบสมัครถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีความพยายามอย่างหนัก

แต่ความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวเกาหลีใต้ที่อยากเข้าไปทำงานกับซัมซุงนั้นส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกอยากเป็น 'คนพิเศษ' ในแบบที่ชาวเกาหลีเรียกว่า "มนุษย์ซัมซุง" (Samsung Man) ที่เอาไปโอ้อวดกับคนอื่นได้และมีความรู้สึกได้รับการยอมรับเชิดชูจากสังคม

อีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้หนุ่มสาวเกาหลีใต้ตะเกียกตะกายดิ้นรนเข้าไปทำงานในบริษัทไอทีแห่งนี้คือความรู้สึกมั่นคงในชีวิต ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540 มีคนทำงานจำนวนมากได้รับความสูญเสีย แต่ดูเหมือนบริษัทซัมซุงจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าความมั่นคงอย่างหนึ่งมาจากวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อลูกจ้างในองค์กรที่แตกต่างกันระหว่างชาติตะวันตกกับเกาหลีใต้ ขณะที่ในบรรษัทของชาติตะวันตกปฏิบัติกับคนงานเหมือนเป็นสิ่งที่ใช้แล้วทิ้งได้โดยประเมินจากผลงานของคนงานเมื่อไม่นานมานี้ แต่ในเกาหลีใต้พวกเขาตัดสายใยกับลูกจ้างในบริษัทไม่ค่อยขาดเพราะมองพวกเขาเป็นเหมือนครอบครัวแม้แต่ในยามยากที่กำไรของบริษัทถดถอยลง ซึ่งมีบางคนเรียกทัศนคติต่อคนงานในแบบของเกาหลีใต้ว่า "การจัดการแบบขงจื้อ" (Confucian arrangement) บางครั้งก็มีการช่วยเหลือคนในครอบครัวของลูกจ้างถ้าหากลูกจ้างประสบปัญหาทางการเงินหรือเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรด้วย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทสะท้อนถึงความฝันและความมุ่งหวังของชาวเกาหลีใต้ยุคใหม่ที่ยอมทนทุกข์ฝ่าฟันการแข่งขันทำข้อสอบอย่างบ้าคลั่งเพียงเพื่อจะได้เป็นชนชั้นนำใหม่ที่มีชีวิตมั่นคงกว่าคนอื่น


เรียบเรียงจาก

In the Republic of Samsung, here’s the ticket to the good life, Globalpost, 26-01-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/asia-pacific/south-korea/150122/the-republic-samsung-SAT

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มเพื่อนสังคม มมส. ออกค่ายมอบไออุ่น ปันน้ำใจสู่ชุมชนบ่อแก้ว

0
0

กลุ่มเพื่อนสังคม ม.มหาสารคาม จัดค่ายเรียนรู้ชีวิตและปัญหาในชุมชนบ่อแก้ว หวังสานสัมพันธ์ น.ศ. กับชุมชน และเปิดประสบการณ์ใหม่ จากสภาพสังคมจริง

เมื่อวันที่ 30-31 ม.ค.2558 นักศึกษากลุ่มเพื่อนสังคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดค่ายลงพื้นที่มอบไออุ่นสู่ชุมชน โดยมีกิจกรรมมอบเครื่องนุ่งห่ม และร่วมแลกเปลี่ยนตามรอยประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาเรียนรู้ชีวิตชุมชนและปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

 

 

ธีรวัฒน์ ไกรรัตน์  บอกว่า ทั้งเขาและเพื่อนๆ เป็นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ในนามกลุ่มเพื่อนสังคมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 21 คน  แบ่งกันเป็นทีมละ 6-7 คน โบกรถมาจากจังหวัดมหาสารคามนับแต่ช่วงเช้า เพื่อมาร่วมออกค่ายมอบไออุ่นสู่ชุมชนที่บ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในการลงพื้นที่นอกจากได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาของชาวบ้าน ยังทราบว่าบ่อแก้ว มีจำนวน 56 หลังคาเรือน หลายครอบครัวยังขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของชาวบ้าน ประกอบกับช่วงนี้เป็นหน้าหนาว จึงร่วมปรึกษากันในกลุ่มว่า นอกจากไปลงพื้นที่เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนตามรอยประวัติศาสตร์ศึกษาเรียนรู้ชีวิตชุมชนแล้วนั้น ควรนำสิ่งของใช้ คือเครื่องนุ่มห่ม ไปมอบไออุ่น ปันน้ำใจสู้ภัยหนาว สู่ชาวบ้านด้วย

ตัวแทนนักศึกษา บอกอีกว่า ตามกำหนดลงพื้นที่ประมาณช่วงกลางเดือนมกราคม แต่ความตั้งใจที่จะหาเงินเพื่อไปซื้อเครื่องนุ่มห่ม และผ้าห่มนวมนำมาจัดมอบให้ชาวบ้านให้ได้ครบทุก 56 หลังคาเรือนนั้น จำนวนเงินที่ได้รับเงินบริจาค และจากการไปร่วมกันเปิดหมวกทั้งตามตลาดสด ตลาดนัดเปิดท้าย และในบริเวณรอบรั้วมหาลัยมหาสารคาม ยังไม่สามารถหาซื้อปัจจัยดังกล่าวได้ครบตามที่ระบุไว้ จึงได้ร่วมกันไปจัดกิจกรรมเปิดหมวกเป็นเวลาหลายวันถึงได้นำเงินมารวบรวมไปหาซื้อของใช้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ แม้อาจล่าช้าตามกำหนด แต่สิ่งหนึ่งและเป็นหัวใจที่สำคัญยิ่งในไออุ่นครั้งนี้ คือสามารถทำให้นักศึกษาเกิดจิตสำนึกร่วมกับชาวบ้าน ถือเป็นทางเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะส่งผลดีต่อไปในอนาคต

“พวกเราจะนำประสบการณ์จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการเรียน และเผยแพร่ปัญหาของชุมชนต่อไป เพราะชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบความ และรู้สึกยินดีถึงอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความชอบธรรม แม้วันนี้ผลกระทบที่ชาวบ้านบอกว่า จะลดความกังวลใจลงไปได้บ้าง หลังจากมีคำสั่งให้ชะลอไล่รื้อ และยุติการดำเนินการใดๆที่จะทำให้ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนออกไปก่อน แต่ปัญหาที่สั่งสมมานาน จะถูกแก้ไขเพื่อความปกติสุขของชาวบ้านจะคืนกลับมาดังเดิม ยังไม่สามารถหาคำยืนยันจากคำตอบของรัฐบาลได้ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านมักถูกปิดกั้นสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมาโดยตลอด หากถูกไล่ออกไปอีก จะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีผลผลิตให้สามารถนำมาหล่อเลี้ยงความสุขและความอบอุ่นให้กับชีวิตและครอบครัวได้ “ธีรวัฒน์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานมกราคม 2015

0
0

 

 
เทสโก้เตรียมประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่
 
6 ม.ค. 2015 หนังสือพิมพ์ซันเดย์  ไทมส์ของอังกฤษ  รายงานว่า บริษัท  เทสโก้ ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษ  เตรียมประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่ในวันที่ 8 มกราคมนี้  
 
นายเดฟ ลูว์อิส ซีอีโอของเทสโก้ เตรียมประกาศปลดพนักงานจำนวนมากในสำนักงานใหญ่ของเทสโก้ และสำนักงานในภูมิภาค  พร้อมกับปรับเปลี่ยนระบบการทำสัญญากับซัพพลายเออร์   โดยเน้นไปที่ยอดขาย  และหวังว่ายอดขายที่สูงขึ้น  จะทำให้บรรดาซัพพลายเออร์ปรับลดราคาลง
          
เมื่อปีที่ผ่านมา  เทสโก้รายงานตัวเลขกำไรที่สูงเกินจริงถึง 263 ล้านปอนด์  จนทำให้หุ้นตกและเกิดการสอบสวนจากสำนักงานด้านการสอบสวนของอังกฤษ ขณะที่นาย วอร์เร็น บัฟเฟตต์  ได้ขายทิ้งหุ้นเทสโก้ ที่ถือครองไว้ 245 ล้านหุ้น หลังจากสะสมหุ้นเทสโก้ไว้นานกว่า 8 ปี  หลังขายกุ้นทิ้งแล้ว  ทำให้บัฟเฟตต์ เหลือสัดส่วนการถือหุ้นเทสโก้เพียง 3% เท่านั้น 
 
เจ้าของบริษัทขายสินค้าออนไลน์จีน แจกรถ BMWs 4 คัน เป็นรางวัลและโบนัสให้ลูกน้อง
 
6 ม.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานข่าว Niu Mudong หญิงสาวเจ้าของบริษัทขายสินค้าออนไลน์ชาวจีนวัยเพียง 21 ปี ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง จัดหนัก มอบรถยนต์ BMWs จำนวน 4 คันเป็นโบนัสให้กับพนักงานดีเด่น พร้อมของรางวัลอีกมากให้กับลูกน้อง
 
ทั้งนี้สาวเจ้าของธุรกิจรายนี้ เริ่มขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ลดน้ำหนักและสินค้าเกี่ยวกับสุภาพ ในขณะที่เธอกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐ ซึ่งสาเหตุที่เธอตัดสินใจมอบรถยนต์ BWWs กว่า 4 คันเป็นรางวัลให้กับพนักงาน ที่ทำยอดขายให้บริษัทของเธอมากถึง 20 ล้านหยวน ราว 107 ล้านบาท ในเวลาเพียง 2 ปี โดยบริษัทของเธอได้รับความสนใจและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
 
อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า “หญิงสาวทั้ง 4 คนที่ได้รับรถยนต์ BMWs ไปนั้น คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหมด โดยอายุมากสุดอยู่ที่ 22 ปีและเด็กสุดวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถทำเงินให้กับบริษัทได้มากกว่า 10 ล้านหยวน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อมาก พนักงานในบริษัทแห่งนี้สามารถทำเงินได้สูงถึง 200 ล้านหยวนในปีนี้”
 
เยอรมนีเผยตัวเลขว่างงานเดือนธ.ค.แตะนิวโลว์ รับเศรษฐกิจฟื้นตัว
 
6 ม.ค. 2015 สำนักงานแรงงานของเยอรมนีเปิดเผยว่า จำนวนคนว่างงานของเยอรมนีในเดือนธ.ค.ลดลง 27,000 ราย แตะ 2.841 ล้านราย ขณะที่อัตราว่างงานหดตัวแตะ 6.5% ทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจเยอรมนีน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้
 
จำนวนคนว่างงานเดือนธ.ค.ลดลงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้มาก โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า จะลดลงเพียง 5,000 รายเท่านั้น เมื่อแยกตามภูมิภาคแล้ว เยอรมนีตะวันตกมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 17,000 ราย ส่วนเยอรมนีตะวันออกมีจำนวนลดลง 10,000 ราย
 
ทั้งนี้ เศรษฐกิจเยอรมนีเริ่มจะหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเมื่อช่วงกลางปีก่อน จนส่งผลให้เหล่านักธุรกิจและนักลงทุนมีทัศนคติที่ดีต่อเศรษฐกิจเยอรมนีในปีนี้
 
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ร่วงลงทั่วโลกประกอบกับเงินยูโรที่อ่อนค่าลงนั้นยังเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มผู้บริโภคและผู้ส่งออก ขณะที่ทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มว่า จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต
 
ญี่ปุ่นเผยครัวเรือนที่ขอรับสวัสดิการในเดือนต.ค.มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์
 
7 ม.ค. 2015 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนครัวเรือนที่ขอรับสวัสดิการในญี่ปุ่นพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,615,240 ครัวเรือนในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้น 3,287 ครัวเรือนจากเดือนก่อนหน้า
 
รายงานของกระทรวงระบุว่า ครัวเรือนที่ได้รับสวัสดิการมีจำนวน 2,168,393 ครัวเรือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 3,484 ครัวเรือนจากเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อันดับ 2
 
จำนวนครัวเรือนที่ประกอบด้วยผู้สูงอายุอยู่ที่ 761,593 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 47% ของครัวเรือนที่รับสวัสดิการทั้งหมด
 
สำหรับครัวเรือนประเภทอื่นๆนั้น ครัวเรือนที่มีสมาชิกที่สามารถทำงานได้ แต่ขอรับสวัสดิการ มีจำนวน 280,525 ครัวเรือน ขณะที่ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวมีจำนวน 108,881 ครอบครัว
 
เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกล่าวว่า แม้ว่าครัวเรือนประเภทอื่นๆมีจำนวนลดลงทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นในเดือนต.ค.
 
รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนปรับลดงบประมาณด้านสวัสดิการลงในปีงบประมาณใหม่ที่จะเริ่มต้นในเดือนเม.ย. ซึ่งจะพิจารณาทบทวนรายจ่ายด้านที่อยู่อาศัยและเครื่องทำความร้อน โดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
 
บริษัทผู้ประกอบการรถไฟฝรั่งเศส มีแผนจะตัดลดตำแหน่งงานลง 1,000 ตำแหน่ง
 
8 ม.ค. 2015 สื่อต่างประเทศรายงานว่าผู้แทนจากสหภาพแรงงาน บริษัทผู้ประกอบการรถไฟฝรั่งเศส “SNCF” มีแผนในการตัดลดตำแหน่งงานลงกว่า 1,000 ตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณของปีนี้ แม้จะมีการปรับขึ้นราคาค่าบริการเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการให้บริการ ด้านผู้นำแรงงานกล่าวว่า บรรดาผู้แทนของลูกจ้าง ได้คัดค้านงบประมาณดังกล่าว ขณะที่คณะกรรมการบริษัทจะพิจารณางบประมาณในวันนี้
 
จีนเตรียมเปิดตัวนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ
 
12 ม.ค. 2558 นายฉู ซูผิง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารสินทรัพย์ของรัฐบาลจีน (SASAC) กล่าวถึง "ความคืบหน้าที่สำคัญๆ" ในแผนโดยรวมสำหรับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจครั้ง โดยระบุว่า "นโยบายส่วนใหญ่จะมีการเปิดเผยก่อนเทศกาลตรุษจีน" ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์
 
นโยบายทั้ง 10 นโยบาย จะรวมถึง แนวทางสำหรับการปฏิรูป, แผนการทั่วไปสำหรับการบริหารจัดการสินทรัพย์ของรัฐบาล, แผนสำหรับการให้เอกชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของมากขึ้น และการปรับปรุงระบบการประเมิน
 
นางหวาง เต๋า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอสคาดการณ์ว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจของจีนจะดำเนินการผ่านทางมาตรการจูงใจขององค์กรที่ดีขึ้นและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยระบุว่า "เราคาดว่าการปรับโครงสร้างจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับสมดุลระหว่างการขยายตัวและการปรับโครงสร้าง, จัดการกับกระแสต่อต้านจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาในประเด็นการเลิกจ้างและหนี้สิน"
 
เธอยังกล่าวอีกว่า ความยืดหยุ่นโดยทั่วไปในตลาดแรงงานและระบบสวัสดิการสังคมที่ปรับตัวดีขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้รัฐบาลดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้น
 
ทั้งนี้ ผลกำไรรวมของรัฐวิสาหกิจจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2557 ปรับตัวขึ้น 4.5% แตะที่ระดับ 2.24 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 3.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งชะลดลงจากอัตราการเติบโตที่ 8.2% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556
 
แถลงการณ์หลังจากการประชุมดำเนินงานด้านเศรษฐกิจจีนในเดือนธันวาคม ซึ่งมีการกำหนดทิศทางสำหรับปี 2558 ระบุว่าการคลี่คลายปัญหาสำคัญต่างๆจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจจีน
 
เป้าหมายของรัฐบาลกลางคือการให้ตลาดมีบทบาทที่ชัดเจนในการจัดสรรทรัพยากรและยกระดับประสิทธิภาพโดยรวม ขณะที่การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจมีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความมีเสถียรภาพและขยายตัวอย่างยั่งยืน
 
นายลี จิน รองผู้อำนวยการสมาคมปฏิรูปและพัฒนาวิสาหกิจจีน เชื่อมั่นว่าการให้เอกชนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของมากขึ้นจะขจัดระบบผูกขาดและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่นางหวางเห็นพ้องกันว่าการเป็นเจ้าของที่หลากหลายจะเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจด้านการบริหาร, ปรับปรุงศักยภาพในการทำกำไรและกระแสเงินสด อีกทั้งยังเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลด้วย
 
เมื่อปีที่แล้ว ซิโนเปค, ปิโตรไชน่า และสเตท กริด ได้เปิดเผยแผนการที่จะเปิดกว้างธุรกิจบางส่วนให้เอกชนเข้ามาลงทุน ขณะที่รัฐบาลก็ได้ตัดสินใจที่จะอนุมัติสิทธิเพิ่มเติมให้แก่องค์กรธุรกิจในปี 2558 ด้วย
 
นายจาง ยี ประธาน SASAC ได้กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บทบาทของรัฐวิสาหกิจในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระ โดยการให้สิทธิที่เหมาะสมและกำจัดภาระที่ไม่จำเป็น
 
แรงงานหลายพันคน จากอุตสาหรรมรถยนต์ในบราซิล จัดประท้วงใหญ่ต้านแผนปลดคนงานของอุตสาหกรรมนี้
 
13 ม.ค. 2015 สมาชิกจากสหภาพแรงงานในบราซิลราว 20,000 คน จากอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าร่วมการประท้วงใหญ่ในเซาเปาโล หลังเมื่อ 6 วันก่อนหน้านี้ แรงงานในโรงงานผลิตรถยนต์ของโฟล์คสวาเกน ที่เมืองเซาเบอร์นาโด โด คัมโป ได้เริ่มต้นการประท้วงแบบไม่มีกำหนด แสดงความไม่พอใจต่อการประกาศปลดพนักงาน 800 คน ของค่ายรถยนต์รายใหญ่จากเยอรมนี
 
การประท้วงครั้งล่าสุด มีเป้าหมายเพื่อแสดงพลังสนับสนุนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งที่โรงงานของโฟล์คสวาเกน และอีก 244 คน ที่โรงงานของเมอร์เซเดส ผู้ผลิตรถยนต์หรูจากเยอรมนีเช่นกัน
 
ขณะที่โฟล์คสวาเกน ออกแถลงการณ์อธิบายถึงการตัดสินใจข้างต้นว่า เป็นเพราะตลาดงรถยนต์บราซิล ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก ตกอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว กลายเป็นภาระหนักให้กับบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินงานที่โรงงานแอนเชียตา ในเมืองเซาเบอร์นาโด โด คัมโป ที่มีการจ้างงานอยู่ 13,000 คนนั้น มีการผลิตลดลงถึง 15% ผลจากยอดขาย และการส่งออกที่ร่วงลงในปี 2556
 
จีนออกกฎ "โชว์รถ-งดนม" ยกเลิกใช้พริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์
 
12 ม.ค. 2015 ทุกวันนี้แทบจะเรียกได้ว่าบรรดาสาวพริตตี้นั้นเป็นไฮไลท์ เป็นหน้าเป็นตาประจำงานแสดงรถยนต์ หรือ มอเตอร์โชว์เลยก็ว่าได้ แต่ในการจัดงาน "เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์โชว์ 2015" ที่มีกำหนดจะจัดในวันที่ 22 - 29 เมษายนนี้ อาจจะต้องลุ้นกันสักหน่อยว่าผลจะเป็นอย่างไร เมื่อจีนเข้าสู่โหมดคุมเข้มเรื่องการแต่งกายวาบหวิวมากขึ้น และมีใบสั่งเบื้องบนส่งตรงมาว่าให้แต่ละค่ายรถงดใช้พริตตี้ในการโปรโมท ซึ่งทางผู้จัดงานเองก็กำลังพิจารณายกเลิกการใช้พริตตี้ด้วยเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าต้องการชูจุดประสงค์หลักในการจัดงานคือการโชว์เทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ อีกทั้งต้องการสร้างบรรยากาศการเข้าชมงานอย่างผู้มีวัฒนธรรมอีกด้วย เพราะที่ผ่านมาแต่ละค่ายมักจะใช้เหล่าพริตตี้นุ่งน้อยห่มน้อยออกมาประชันกันเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน แทนที่จะเน้นการแข่งขันไปที่คุณภาพสินค้า ซึ่งค่ายรถยนต์หลายค่ายก็ได้ขานรับนโยบายนี้แล้ว
 
อย่างไรก็ตาม กฎเหล็กข้อนี้ส่งผลกระทบต่อบรรดาสาวพริตตี้อย่างจัง เมื่อพวกเธอต้องถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหันแถมยังไม่ได้ค่าชดเชยใดๆ อีกด้วย เพราะทางค่ายรถอ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเอเจนซี่พริตตี้รายหนึ่ง กล่าวว่า น่าจะออกกฎในเรื่องของชุดแต่งกายว่ามีลิมิตสั้น ยาว ลึกแค่ไหน ดีกว่าการสั่งยกเลิกใช้พริตตี้แบบนี้ มันไม่ใช่ทางออกที่ดีเลย เพราะพริตตี้ส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถในด้านอื่น และหลายๆ คนก็หาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจากอาชีพนี้
 
"ยูนิโคล่” แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นถูกโจมตี กรณีซื้อวัตถุดิบจากรง.อันตราย - จ่ายค่าแรงต่ำ
 
13 ม.ค. 2015 องค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีฐานในฮ่องกงออกโรงประณามยูนิโคล่ ในช่วงที่ธุรกิจเจ้านี้กำลังเดินหน้าแผนขยายกำลังการผลิตอย่างมุทะลุดุดัน เพื่อแข่งขันกับแบรนด์ดังระดับนานาชาติอย่าง ซารา เอชแอนด์เอ็ม และแกป
       
ยูนิโคล่ ซึ่งเป็นกิจการในเครือบริษัท “ฟาสต์รีเทลลิง” กล่าวว่า ถึงแม้บริษัทจะมี “ความเห็นไม่ตรงกับบางประเด็นปัญหาที่ปรากฏในรายงาน” ขององค์กรสิทธิมนุษยชน “กลุ่มนักศึกษาและนักวิชาการต่อต้านบรรษัทที่ประพฤติไม่เหมาะสม” (SACOM) แต่ (ยูนิโคล่) ก็เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งยอมรับว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ตรวจพบ “พบปัญหาหลายประการ”
       
SACOM กล่าวหาว่า กิจการผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีชื่อด้านการผลิตเสื้อผ้าที่ทันสมัย และมีราคาถูกเจ้านี้ ได้ซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ 2 เจ้าในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ที่ปล่อยให้ลูกจ้างทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ทั้งจ่ายค่าตอบแทนต่ำ
       
ภายหลังที่ องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งนี้เริ่มสืบสวนกรณีของยูนิโคล่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนถึงพฤศจิกายน 2014 SACOM กล่าวว่า ซัพพลายเออร์ของยูนิโคลมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ทำให้แรงงานเผชิญความทุกข์ยากลำบาก ทั้งยังไม่เปิดช่องให้แรงงานร้องเรียน 
 
SACOM ระบุว่า “โรงงานเหล่านี้ละเลยความปลอดภัยในการทำงาน ปล่อยให้แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยง”
       
องค์กรนี้สำทับว่า “พื้นโรงงานมีอุณหภูมิร้อนระอุมาก และเจิ่งนองไปด้วยน้ำเสีย โรงงานมีสภาพไม่ปลอดภัย อากาศไม่ถ่ายเท เศษผ้าฝ้ายฟุ้งกระจายไปทั่ว อีกทั้งมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว”
       
นอกจากนี้ SACOM ยังสังเกตเห็นว่า ลูกจ้างที่ “ไม่สวมเสื้อต้องแบกสีย้อมผ้าหนักอึ้งเข้าไปในเต็นท์ย้อมผ้าอันร้อนระอุ ทั้งที่ไม่ได้สวมชุดป้องกัน” นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบขององค์กร “ยังพบเห็นแรงงานจำนวนมากตกเก้าอี้ ขณะที่กำลังใช้เครื่องถักนิตติ้ง”
       
“ยูนิโคล่ ซึ่งถือเป็นผู้ซื้อรายสำคัญของโรงงานสองเจ้านี้ได้ละเมิดข้อผูกพันที่ว่า จะร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม” SACOM ระบุในถ้อยแถลง
       
องค์กรแห่งนี้เปิดเผยว่า ลูกจ้างคนหนึ่งต้องทำงานถึงวันละ 14 ชั่วโมง เพื่อรีดเสื้อตั้งแต่ 600 ถึง 700 ตัว โดยได้รับค่าตอบแทนชิ้นละ 0.29 หยวน (ราว 1.50 บาท) 
 
เวียดนามสั่งทบทวนเงินเดือนนักบิน-ช่างเวียดนามแอร์ไลน์สหลังแห่ลาออก
 
14 ม.ค. 2015 กระทรวงคมนาคมเวียดนาม มีคำสั่งให้สายการบินเวียดนาม (Vietnam Airlines) ทบทวนนโยบายเงินเดือนของสายการบิน หลังนักบินจำนวนมากประสงค์จะลาออกจากบริษัทเนื่องจากค่าแรงต่ำ
       
พนักงานของสายการบิน ทั้งนักบิน ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ และช่างฝ่ายซ่อมบำรุง ได้ยื่นใบลาออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ทำให้การดำเนินงานของสายการบินไม่มีเสถียรภาพ ดิ่ง ลา ท้าง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ระบุ
       
และสายการบินแห่งชาติของเวียดนามได้รับคำสั่งให้ปรับเพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการให้แก่พนักงานเหล่านี้ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี ขณะที่ นายลาย ซวน แถ่ง ผู้อำนวยการกรมการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) ได้ปฏิเสธการยื่นคำร้องลาออกจากพนักงานของสายการบินเวียดนามตามคำสั่งของกระทรวง แต่ไม่ได้ยืนยันถึงเหตุผลการลาออกของพนักงานจำนวนมากของสายการบินเวียดนามในครั้งนี้
       
ด้านสื่อท้องถิ่นรายงานอ้างว่า เหตุผลเบื้องหลังของการยื่นใบลาออกนี้คือ ช่องว่างเงินเดือนระหว่างสายการบินเวียดนาม และสายการบินคู่แข่ง และระหว่างนักบินท้องถิ่นกับนักบินต่างชาติ
       
หนังสือพิมพ์เซินจวี๊ รายงานว่า เมื่อเดือน ต.ค.2557 ที่ผ่านมา มีนักบินมากกว่า 10 คน พยายามยื่นใบลาออก แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ใดได้รับอนุญาตให้ลาออก
       
นักบินชาวเวียดนามแต่ละคนของสายการบินเวียดนาม ได้รับเงินเดือนประมาณ 80 ล้านด่งต่อเดือน (3,742 ดอลลาร์) ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และเครื่องบิน ขณะที่นักบินต่างชาติจะได้รับเงินเดือนที่ 8,000-13,000 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งรายได้ต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ 1,890 ดอลลาร์ ในปี 2556 ตามการระบุของธนาคารโลก
       
ความแตกต่างของรายได้ดังกล่าวถูกตั้งคำถามมาหลายปี และสายการบินเวียดนามอธิบายว่า สายการบินไม่ต้องจ่ายค่าฝึกอบรบให้แก่นักบินต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 2,500 ล้านด่ง (117,000 ดอลลาร์)
       
เว็บไซต์ข่าววีเอ็นเอ็กซ์เพรส รายงานอ้างคำกล่าวของนักบินไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่งว่า สายการบินเวียดเจ็ทแอร์ ที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ จ่ายเงินเดือนให้นักบินสูงกว่า 2.5 เท่า และทำการบินน้อยครั้งกว่า
       
สายการบินเวียดเจ็ทแอร์ จ้างนักบิน 300 คน โดยมีอย่างน้อย 10 คน เคยทำงานให้แก่สายการบินเวียดนาม
       
สายการบินเวียดนาม ต้องการให้นักบินแต่ละคนของบริษัทมุ่งมั่นทำงานกับบริษัทอย่างน้อย 15 ปี เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมนักบิน และสายการบินมีนักบินท้องถิ่นอยู่ประมาณ 600 คน ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 70% ของบริษัท. 
 
ฮัลลิเบอร์ตันยักษ์ใหญ่พลังงานสหรัฐ ประกาศลอยแพพนักงานอีกรับมือตลาดซบเซา
 
14 ม.ค. 2015 ฮัลลิเบอร์ตัน บริษัทผู้ให้บริการด้านน้ำมัน และก๊าซของสหรัฐ ประกาศปลดพนักงานในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัสเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเผชิญหน้ากับสภาพตลาดที่ซบเซาในขณะนี้ หลังจากที่เมื่อเดือนก่อน บริษัทได้อกมาประกาศปลดพนักงาน 1,000 ตำแหน่งทั่วทั้งองค์กร
 
ทว่าขณะนี้บริษัทยังไม่ออกมาเปิดเผยถึงตัวเลขจำนวนพนักงานที่ถูกปลดออกครั้งล่าสุดแต่อย่างใด
 
เอมิลี่ เมอร์ โฆษกของฮัลลิเบอร์ตัน ให้สัมภาษณ์แก่สื่อท้องถิ่นว่า บริษัทได้ดำเนินการลดจำนวนพนักงานในฮุสตันไปแล้ว ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากใจเพราะบริษัทเชื่อว่าพนักงานทุกคนมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินกิจการในตลาดที่ท้าทายความสามารถเช่นนี้
 
เอมิลี่ เมอร์ กล่าวว่า "เราจะติดตามสถานการณ์ทางธุรกิจอย่างใกล้ชิด และจะปรับโครงสร้างต้นทุนตามความจำเป็น"
 
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ฮัลลิเบอร์ตันประกาศว่าจะเข้าซื้อกิจการคู่แข่งอย่างเบเกอร์ ฮิวจ์ส ด้วยเงินสด และหุ้นรวมมูลค่า 3.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็น 1 ในการควบรวมกิจการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภาคอุตสาหกรรมบริการด้านบ่อน้ำมัน
 
ฮัลลิเบอร์ตัน และเบเกอร์ ฮิวจ์ส บริษัทผู้ให้บริการแหล่งน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 2 และ 3 ของโลกรองจากสลัมเบอร์เกอร์ มีพนักงานรวมกัน 136,000 คนทั่วโลก พวกเขาระบุว่า การควบรวมกิจการจะช่วยประหยัดต้นทุน และเพิ่มผลประกอบกิจการได้เป็นมูลค่าสูงถึง 2 พันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
 
นักบินสายการบินเวียดนามป่วยกว่าร้อยคน
 
15 ม.ค. 2015 BBC รายงานว่าสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์เริ่มต้นปี 2558 แบบไม่สวยนักเพราะนักบินลาป่วยพร้อมกันถึง 117 คน ทำให้การจัดตารางการบินป่วนไปหมด
 
มีรายงานว่าสาเหตุที่นักบินลาหยุดพร้อมกันเช่นนี้เพราะต้องการลาออกไปทำงานกับสายการบินอื่นซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงกว่า และไม่ต้องการมาหงุดหงิดกับการสร้างความพอใจให้ผู้บริหารสายการบินที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล ตอนนี้เวียดนามแอร์ไลน์กำลังหาทางให้รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงไม่ให้นักบินเหล่านี้ลาออก
 
ดร หงวน เถ อัน นักเศรษฐศาสตร์บอกกับบีบีซีภาษาเวียดนามว่า ความเคลื่อนของนักบินครั้งนี้มีสาเหตุมาจากสายการที่บินเวียดนามเองมีแต่เรื่องอื้อฉาวและยังกังวลเรื่องความปลอดภัยด้วย
 
เขาบอกด้วยว่าสายการบินน่าจะปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อพนักงานเลิกให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง
 
ด้านนาย ฟาม งอก มิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสายการบินเวียดนาม กล่าวกับสื่อว่า กว่า 90% ของนักบินที่ลาป่วยเป็นนักบินที่ขับเครื่องบินแอร์บัส โดยมีนักบินเพียง 10 คนเท่านั้นที่ยื่นใบลาอย่างถูกต้อง
 
ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามเคยโอบอุ้มสายการบินเวียดนามทั้งด้านการเงินและการเมืองเพราะเคยเป็นสายการบินเดียวของประเทศ แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ เริ่มมีคู่แข่งจากการเปิดโอกาสให้เอกชน บริษัทร่วมทุนและต่างชาติมาแข่งขันดำเนินธุรกิจขนส่งทางอากาศ
 
คนรวยกลุ่มน้อยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จะมีทรัพย์สินมากกว่าคนทั้งโลกในปีหน้า
 
19 ม.ค. 2015 ผลการศึกษาขององค์กรการกุศลอ็อกซ์แฟมระบุว่า กลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งมีเพียงร้อยละ 1 ของประชากรโลก จะถือครองทรัพย์สินเกินกว่าร้อยละ 50 ของทั้งโลกในปีหน้า หากอัตราการสะสมความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ยังคงขยายตัวอยู่ต่อไป
 
ทั้งนี้ กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดของโลก ถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 44 ในปี 2552 มาเป็นร้อยละ 48 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานที่จัดทำโดยองค์กรอ็อกซ์แฟมระบุว่า ความไม่เท่าเทียมที่ขยายตัวขึ้นอย่างรุนแรงนี้ จะถ่วงรั้งความพยายามต่อสู้กับความยากจนทั่วโลก
 
ในแถลงการณ์ของอ็อกซ์แฟมที่มีขึ้นก่อนหน้าการประชุมเวทีผู้นำเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอสของสวิสเซอร์แลนด์ระบุว่า ช่องว่างระหว่างกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดกับคนทั้งโลกยิ่งถ่างกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยความมั่งคั่งส่วนที่เหลือร้อยละ 52 ของโลกเมื่อปีที่แล้ว ก็ยังตกเป็นของกลุ่มคนรวยที่สุดที่มีจำนวนหนึ่งในห้าของประชากรโลกถึงเกือบร้อยละ 46 ทำให้ผู้คนที่เหลือถือครองทรัพย์สินได้เพียงร้อยละ 5.5 และมีความมั่งคั่งเฉลี่ยในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่เพียงคนละ 3,851 ดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น
 
อ็อกซ์แฟมยังระบุว่า จะเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหานี้ โดยเริ่มจากจัดการกับปัญหาการเลี่ยงภาษีของกิจการต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐประกาศจะเก็บภาษีคนร่ำรวยให้มากขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนชั้นกลาง
 
บริษัทพลังงานยังเดินหน้าปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง รับมือราคาน้ำมันขาลง
 
20 ม.ค. 2015 นายพาล คิบส์การ์ด หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอของบริษัทชลัมเบอร์เกอร์ ผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก ที่เพิ่งประกาศแผนปลดพนักงานมากถึง 9,000 ตำแหน่ง กล่าวว่า บรรดาผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐ ที่มุ่งเน้นการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่กว่าคู่แข่งในประเทศอื่นๆ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
 
นายคิบส์การ์ด ระบุว่า เห็นได้ชัดเจนว่าราคาน้ำมันในระดับใหม่นี้ กำลังเป็นเครื่องมือทดสอบความยืดหยุ่นของผู้ผลิตน้ำมันจำนวนมากในอเมริกาเหนือ รวมถึง ความสามารถในการหาเงินทุน ความสามารถในการเดินหน้าธุรกิจต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ การลดต้นทุน และความสามารถที่จะรักษาระดับการผลิตในปัจจุบันเอาไว้ให้ได้
 
ในปีนี้ มีบริษัทผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติรายใหญ่สุดของสหรัฐจำนวนหนึ่ง ได้ลดงบการใช้จ่ายลงมาไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งโคเวน แอนด์ โค วาณิชธนกิจท้องถิ่น ระบุว่า บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายลงมา 20% ในปีนี้ และลดเพิ่มอีก 10% ในปีหน้า
 
นายคิบส์การ์ด กล่าวด้วยว่า ชลัมเบอร์เกอร์, ฮัลลิเบอร์ตัน โค และเบเกอร์ ฮิวจ์ อิงค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทที่ช่วยผู้ผลิตพลังงานดำเนินการขุดเจาะ และแฟรคกิ้งบ่อน้ำมัน จำเป็นต้องมีการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพราะลูกค้าของบริษัทต้องการที่จะหั่นราคาลงมา และลดการใช้จ่ายในด้านการขุดเจาะ
 
สำหรับบริษัทของนายคิบส์การ์ดนั้น มีรายได้รายไตรมาสร่วงลงมาแล้วถึง 82% จากค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ที่รวมถึง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลดขนาดกิจการ
 
จนถึงขณะนี้ มีแรงงานในภาคพลังงานที่ต้องถูกเลิกจ้างไปแล้วหลายพันคน โดยบริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ รวมถึง บีพี และรอยัล ดัทช์ เชลล์ ตัดสินใจที่จะปรับลดเงินเดือนพนักงานลงมา ขณะที่ในแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทรายน้ำมันนั้น ผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง ซันคอร์ เอนเนอร์ยี ได้ประกาศปลดพนักงานไปแล้ว 1,000 คน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนอาปาเชา ผู้ผลิตในสหรัฐ กล่าวว่า จะปลดพนักงานราว 5%
 
เช่นเดียวกับเปโตรเลออส เม็กซิกานอส หรือ เปอเม็กซ์ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโก ที่ตั้งเป้าจะประหยัดเงินให้ได้ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายในฝ่ายบริหาร รวมถึง การเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งจนถึงขณะนี้ เปอเม็กซ์ ปลดพนักงานสัญญาจ้างไปแล้ว 1,500 คน และคาดว่าจะมีการปลดพนักงานเพิ่มอีก
 
เมื่อเดือนที่แล้ว ฮัลลิเบอร์ตัน ผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จากสหรัฐ ก็ประกาศปลดพนักงาน 1,000 คน นอกสหรัฐ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังออกมาบอกอีกว่า มีแผนที่จะลดขนาดกิจการใกล้กับบ้านเกิดมากขึ้น
 
ILO เผยคนว่างงานเพิ่มอีก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาและเข้าขั้นถดถอยในหลายประเทศ
 
20 ม.ค. 2015 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แถลงว่าสถิติประชากรโลกซึ่งกำลังว่างงานในปัจจุบันอยู่ที่ 201 ล้านคน แต่ภายในปี 2019 อาจเพิ่มเป็นกว่า 212 ล้านคน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังซบเซาและเข้าขั้นถดถอยในหลายประเทศ
 
ทั้งนี้ ILO เผยรายงานคาดการณ์สถานการณ์แรงงานโลกประจำปีนี้ด้วย ซึ่งมีสาระสำคัญคือการผลิตงานใหม่ออกมาให้ได้อีก 280 ล้านตำแหน่งภายในปี 2019 เพื่อปิดช่องว่างของตลาดแรงงานโลกในปัจจุบัน ซึ่งในเวลานี้มีตำแหน่งงานว่างอยู่เพียง 61 ล้านตำแหน่งเท่านั้น
 
แม้บรรยากาศของตลาดแรงงานในสหรัฐ ญี่ปุ่นและอังกฤษมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือกำลังเติบโตในยุโรปยังมีอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง และประชากรที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เนื่องจากสถิติการว่างงานเฉพาะช่วงวัยนี้เมื่อปีที่แล้วสูงถึงร้อยละ 13 มากกว่าวัยผู้ใหญ่เกือบ 3 เท่า
 
รายงานของไอแอลโอระบุด้วยว่า อัตราการเกิดสงครามและเหตุพิพาทรุนแรงทางทหารบนโลกลดลงมากในยุคทศวรรษที่ 1990 และ 2000 เช่นเดียวกับอัตราการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่แนวโน้มเชิงบวกนั้นกลับดิ่งลงตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์โดยใช่เหตุที่รัฐบาลทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังกว่านี้
 
แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็มจ่อเลิกจ้างรอบใหม่
 
22 ม.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างการแสดงความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ว่า การที่ผู้บริหารของแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม สายการบินรายใหญ่ของยุโรป ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็วๆ นี้ ในเรื่องที่ว่า บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดในวินัยทางการเงินมากขึ้น พร้อมย้ำถึงการเดินหน้าลดค่าใช้จ่ายต่อหน่วยลงให้ได้ ราว 1-1.5% ต่อปี ผ่านการพัฒนาผลผลิตที่ดีขึ้นนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าบริษัทจะมีการปลดพนักงานเพิ่มขึ้นอีก
 
ผู้เชี่ยวชาญภายในอุตสาหกรรมการบินรายหนึ่ง ชี้ว่า คำว่า พัฒนาผลผลิตนั้น เป็นคำพูดที่บรรดาผู้บริหารมักนำมาใช้อยู่บ่อยครั้ง เมื่อจะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้น
 
"เมื่อคุณพูดถึงเรื่องการพัฒนาผลผลิต มักจะหมายความว่าคุณกำลังพูดเกี่ยวกับบุคลากรที่มากเกินไป ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมียื่นข้อเสนอให้มีการสมัครใจลาออก รวมอยู่ในมาตรการต่างๆ ที่ทางสายการบินจะนำมาใช้" นักวิเคราะห์รายนี้ระบุ
 
ทั้งนี้ ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างบริษัท 2558 นั้น แอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ดำเนินการปลดพนักงานไปแล้ว 8,000 คน ในช่วง 3 ปี นับถึงสิ้นปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ผ่านทางการยื่นข้อเสนอให้สมัครใจลาออก ซึ่งพนักงานที่ออกไปนั้น คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของยอดรวมพนักงานทั้งหมด ที่คาดว่าจะมีอยู่ราว 95,000 คน
 
ทางด้านสหภาพแรงงาน ก็คาดการณ์เช่นเดียวกันว่า จะได้รับข่าวร้ายจากการประชุมผู้บริหารของสายการบิน ในวันนี้ (22 ม.ค.) ทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์เลอ ฟิกาโร ของฝรั่งเศส ก็เพิ่งรายงานว่า สายการบินรายนี้มีแผนที่จะปลดพนักงานอีก 5,000 คน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
 
อดีตลูกจ้าง 'แมคโดนัลด์' ฟ้องบริษัทเหยียดผิว
 
23 ม.ค. 2015 อดีตพนักงานของแมคโดนัลด์ 10 คน ยื่นฟ้องยักษ์ใหญ่เชนร้านฟาสต์ฟู้ดส์สหรัฐต่อศาลรัฐเวอร์จิเนีย โดยกล่าวหาว่า กีดกันทางเพศและเชื้อชาติ หลังจากมีพนักงานบางคนถูกร้านแมคโดนัลด์สาขาหนึ่งไล่ออก โดยอ้างว่ามีคนผิวดำมากเกินไป
 
ขณะที่แมคโดนัลด์ ยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ แต่ออกแถลงการณ์ว่า แมคโดนัลด์ มีประวัติอย่างยาวนานเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายของลูกจ้าง แฟรนไชส์อิสระ ลูกค้า และซัพพลายเออร์ และการกีดกันความหลากหลายเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักการของบริษัทอย่างสิ้นเชิง
 
สื่ออังกฤษระบุว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหลายของญี่ปุ่นขายบริการทางเพศให้กัปตันหลังมีรายได้ลดลง
 
24 ม.ค. 2015 เดลิเมล์และเดลีสตาร์ อ้างรายงานของ Shukan Post สื่อมวลชนของญี่ปุ่นระบุว่า แอร์โฮสเตสบนเครื่องบินหลายรายไม่ประสงค์เผยชื่ออ้างว่า พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทำการขายบริการทางเพศและยอมเป็นเพื่อนเที่ยวกับกัปตันเป็นประจำ อันเป็นผลจากรายได้หรือเงินเดือนที่ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นระบุว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในญี่ปุ่นถูกปรับลดค่าจ้างจากที่เคยได้ถึง 42,000 ดอลลาร์ (ราว 1.36 ล้านบาท) ต่อปีในปี 2004 เหลือเพียง 33,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) ในปี 2013
 
สำหรับการขายบริการแต่ละครั้งนั้นอยู่ที่ 450 ดอลลาร์ (ราว 14,600 บาท) ถึง 670 ดอลลาร์ (ราว 22,000 บาท) สำหรับการร่วมหลับนอน 90 นาที ขณะที่แอร์โฮสเตสที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จะสามารถเพิ่มค่าตัวได้ตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินรายหนึ่งให้ข้อมูลต่อว่าหากแอร์โฮสเตสรายใดที่ต้องการจะขายตัว จะมีแอร์รุ่นพี่ทำหน้าเป็น "แม่เล้า" คอยหาลูกค้าซึ่งเป็นนักบินให้
 
สำหรับการติดต่อจะมีการส่งซิกและสัญลักษณ์โดยระหว่างการตรวจสอบก่อนขึ้นบิน ตามระเบียบการแอร์โฮสเตสต้องตั้งแถวต่อหน้านักบินและนักบินผู้ช่วย ระหว่างนั้นนักบินที่สนใจซื้อบริการจะส่งสัญญาณมือ โดยชู 4 นิ้ว หมายถึงเสนอราคา 40,000 เยน หรือ 339 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการหลับนอนที่โรงแรม 1 คืน แอร์โฮสเตสวัย 29 ปีรายหนึ่งบอกว่า จ๊อบขายตัวของเธอมีระยะเวลาหมดอายุ โดยแอร์โอสเตสที่เป็นแม่เล้าจะต้องออกจากวงการเมื่ออายุการเป็นแอร์โฮสเตสของพวกเธอสิ้นสุดลง แต่วงจรนี้ก็จะดำเนินต่อไปเหมือนเดิม เพราะจะมีแอร์โฮสเตสที่อาวุโสขึ้นก้าวขึ้นมาเป็นแม่เล้าแทน ซึ่งวงจรโสเภณีมีมานานหลายปีแล้วตั้งแต่ปี 2007
 
“โซนี่” จ่อปลดพนักงานสาย “สมาร์ทโฟน” อีก 1,000 ตำแหน่ง
 
28 ม.ค. 2015 สื่อต่างประเทศรายงานว่าโซนี่ คอร์ปอเรชัน เตรียมลดพนักงานในสายสมาร์ทโฟนลงอีก 1,000 ตำแหน่ง ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง 
 
โซนี่คาดว่าจะมียอดขาดทุนสุทธิตลอดปีงบประมาณปัจจุบันสูงถึง 230,000 ล้านเยน และจะงดจ่ายเงินปันผลเป็นครั้งแรก ท่ามกลางความซบเซาของธุรกิจสมาร์ทโฟน
 
แหล่งข่าวระบุว่า คำสั่งนี้ถือเป็นการปลดพนักงานระลอกใหม่ หลังจากที่โซนี่เคยลดพนักงานในสายสมาร์ทโฟน 1,000 ตำแหน่งมาแล้วครั้งหนึ่ง
 
หนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิรายงานก่อนหน้านี้ว่า การปรับโครงสร้างจะส่งผลกระทบต่อพนักงานโซนี่ในภูมิภาคยุโรปและจีน ซึ่งจะทำให้จำนวนพนักงานในสายสมาร์ทโฟนลดลงราว 30% เหลือเพียง 5,000 คนภายในสิ้นปีงบประมาณหน้า
 
โซนี่จะประกาศอย่างเป็นทางการในการแถลงผลประกอบการประจำปี วันที่ 4 กุมภาพันธ์
 
ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนราคาแพงจากคู่แข่งรายใหญ่ๆ อย่าง แอปเปิล และซัมซุง
 
โฆษกหญิงของโซนี่ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติม โดยระบุเพียงว่าบริษัทเตรียมประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจระยะกลางหลังสิ้นปีงบประมาณนี้
 
สหภาพแรงงานโตโยต้าเล็งเรียกร้องขึ้นค่าแรงให้พนักงานชั่วคราวในการประชุมเดือนหน้า
 
28 ม.ค. 2015 สหภาพแรงงานของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เตรียมผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงสำหรับพนักงานโรงงานที่ไม่ได้ทำงานประจำ ขณะที่พยายามหาแนวทางเพื่อขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานทั่วไป
 
สหภาพจะเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง 300 เยนต่อวัน สำหรับพนักงานแบบไม่ประจำ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 6,000 เยนต่อเดือน
 
ในการเจรจาเรื่องค่าแรงประจำปีที่จะเริ่มขึ้นในเดือนก.พ.นั้น พนักงานของบริษัทโตโยต้ายังเตรียมที่จะเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง 6,000 เยนสำหรับคนงานประจำ ด้านบริษัทได้วางแผนปรับระบบการคิดเงินค่าแรง โดยจะเน้นที่ความสามารถในการทำงานมากกว่าความอาวุโส
 
ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งกำลังมีการเตรียมการมากขึ้นในการปรับเพิ่มค่าแรง เพื่อตอบรับคำเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะที่ให้ภาคธุรกิจช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูวงจรทางธุรกิจ ซึ่งเผชิญกับภาวะถดถอยในปีที่แล้ว หลังการปรับขึ้นภาษีการบริโภคเมื่อเดือนเม.ย.
 
ภาวะการจ้างงานในญี่ปุ่นกำลังปรับตัวดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยอัตราว่างงานแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องจากมีการจ้างพนักงานไม่ประจำมากขึ้น อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่า แนวโน้มดังกล่าวอาจสกัดการปรับตัวขึ้นของค่าแรงโดยเฉลี่ย สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
 
ILO ชูแผนลงทุนของ EC สามารถสร้างงานใหม่กว่า 2 ล้านตำแหน่งในอีก 3 ปี
 
29 ม.ค. 2015 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานวันนี้ว่า แผนการลงทุนของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เมื่อไม่นานมานี้ จะสามารถสร้างงานใหม่ได้มากกว่า 2.1 ล้านตำแหน่งงานภายในกลางปี 2018 หากแผนการดังกล่าว ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปีมีการออกแบบและดำเนินการที่ดี
 
ILO ระบุว่า แผนของ EC ที่จะใช้เงินทุนอย่างน้อย 3.15 แสนล้านยูโร (3.57 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อลงทุนในโครงการภาครัฐและเอกชนทั่วสหภาพยุโรป (EU) นั้น จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของยุโรป และช่วยแก้วิกฤติการจ้างงาน
 
ILO เชื่อว่าแผนการลงทุนของ EC จะช่วยเสริมเข้ากับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ม.ค.
 
ญี่ปุ่นเผยพนักงานต่างชาติเข้าทำงานสูงเป็นประวัติการณ์ นำโดยจีน
 
30 ม.ค. 2015 กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า คนงานหรือพนักงานชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นมีจำนวน 787,627 ราย ณ สิ้นสุดเดือนต.ค.ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 9.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ และถือเป็นระดับสุงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นที่รัฐบาลกำหนดให้บริษัทต่างๆต้องรายงานจำนวนพนักงานต่างชาติ
 
กระทรวงระบุว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนพนักงานดังกล่าวมาจากการปรับปรุงภาวะการจ้างงาน และความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมการจ้างคนงานที่มีทักษะ และนักศึกษาจากต่างประเทศ ภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
 
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรต่างชาติมีจำนวน 147,296 ราย เพิ่มขึ้น 11.1% ขณะที่นักศึกษาต่างชาติที่ทำงานพาร์ทไทม์มีจำนวน 125,216 ราย เพิ่มขึ้น 22.2%
 
เมื่อแยกตามเชื้อชาติ พบว่า พนักงานชาวจีนมีจำนวนมากที่สุด โดยมีสัดส่วน 40% ของทั้งหมด ตามมาด้วยบราซิล, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และเนปาล
 
เผยพานาโซนิค ยุติการผลิตทีวีในจีน เล็งขายโรงงานในเม็กซิโก
 
31 ม.ค. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าพานาโซนิคตัดสินใจยุติการผลิตโทรทัศน์ในจีน ซึ่งเป็นมาตรการส่วนหนึ่งเพื่อกอบกู้ธุรกิจของบริษัทที่กำลังประสบปัญหาในการทำรายได้
 
ขณะเดียวกัน พานาโซนิคยังเล็งขายโรงงานในเม็กซิโก ซึ่งเป็นฐานผลิตโทรทัศน์ส่งไปตลาดอเมริกาเหนือ
 
ทั้งนี้ พานาโซนิคได้พักการผลิตที่โรงงานในมณฑลซานตงของจีนเมื่อวันศุกร์ ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตโทรทัศน์ LCD ให้บริษัทปีละประมาณ 200,000 เครื่อง
 
แหล่งข่าวระบุว่า บริษัทร่วมทุนที่ร่วมบริหารโรงงานดังกล่าวจะได้รับเงินชดเชยจากพานาโซนิค และจะมีการปลดพนักงานประจำโรงงานแห่งนี้ที่มีอยู่ 300 คน
 
โรงงานในมณฑลซานตงแห่งนี้ ถือเป็นโรงงานผลิตโทรทัศน์แห่งสุดท้ายของพานาโซนิคในจีน หลังจากที่บริษัทตัดสินใจปิดโรงงานโทรทัศน์พลาสมาในเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2556
 
ขณะเดียวการจำหน่ายโทรทัศน์ของพานาโซนิคในจีนจะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่จะเป็นการส่งสินค้าจากโรงงานแห่งอื่นมาจำหน่ายแทน
 
ทั้งนี้ บริษัทผลิตโทรทัศน์หลายแห่งของญี่ปุ่นประปัญหาเดียวกันนี้ และได้ออกมาตรการเพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจโทรทัศน์ โดยชาร์ปได้ถอนการผลิตและการจำหน่ายโทรทัศน์ในยุโรป ขณะที่โตชิบาได้ยุติการพัฒนาและการจำหน่ายในอเมริกาเหนือ สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปการยกร่างรัฐธรรมนูญประจำสัปดาห์ 26 - 30 ม.ค. 2558

0
0

ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน-กสม., ให้อำนาจถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้, ตั้งคณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม และกันรัฐบาลกู้เงินนอก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี

 

 

ประชาไท รวบรวมประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำลังเดินการพิจราณารายมาตรา ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการร่างในประเด็นสำคัญๆ  โดยมีรายระเอียดดังนี้

26 ม.ค.2558

กำหนดให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรม ได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วน ภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

โดยได้มีการกำหนดเพิ่มให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรตรวจสอบอื่น พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว จากเดิมกฎหมายบัญญัติให้แค่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น

27 ม.ค. 2558

รธน.ใหม่ สามารถถอดถอนย้อนหลัง อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) เปิดเผย เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558  ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราต่อในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิทางการเมือง ได้กำหนดหากผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือถูกพลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อร้องขอตามที่ รธน.กำหนด โดยต้องใช้มติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาในการถอดถอน โดยผู้ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่รัฐสภามีมติ และยังสามารถถอดถอนย้อนหลังได้ถึงแม้จะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้วก็ตาม

ให้คณะกรรมสรรหา กกต. มี 12 คน พรรครัฐบาลได้และคณะรัฐมนตรี ได้โควต้าคนละที่นั่ง

ส่วนการพิจารณาองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ประชุมเห็นควรกำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กกต.มีจำนวน 12 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 4 คน โดยเลือกจากที่ประชุมศาลฎีกา จำนวน 2 คนและตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ จากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาล 1คน และพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกโดยอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เลือกโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวน 2 คน

กกต. 6 ปี วาระเดียว และให้การเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง เป็นอำนาจศาลอุทธรณ์

ขณะที่ กกต.จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีได้เพียงวาระเดียว ส่วนการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้งตามที่กำหนดใน รธน.

28 ม.ค. 2558

ให้ ป.ป.ช. เหลือ 9 คน ดำรงตำแหน่ง 9 ปี วาระเดียว และห้ามดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน

การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558  เป็นการพิจารณาหมวดว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐ เรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) โดยปรับจำนวนของคณะกรรมการ จากที่กำหนดไว้ 10 คน เป็น 9 คน รวมตำแหน่งประธานกรรมการ มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียวและต้องไม่เคยเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบคณะกรรมการองค์กรอิสระด้วย

กำหนดเพิ่มอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการไต่สวน จากเดิมไต่สวนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถไต่สวนและวินิจฉัยกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และตัวการ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
 

29 ม.ค. 2558

ปรับนิยาม ‘เงินแผ่นดิน’ ใหม่ รวมเงินกู้เข้าไปด้วย กันรัฐบาลกู้เงินนอก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) กล่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2558 ถึง ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 5 ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณ โดยได้มีการวางหลักการใหม่ของการเงินการคลังใหม่หลายประการ อาทิ ได้มีการปรับนิยามเงินแผ่นดินใหม่ ให้หมายความรวมถึง เงินรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ถือกรรมสิทธิ์หรือครอบครอง เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม พร้อมกันนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติห้ามรัฐบาลกู้เงินโดยไม่ผ่านการตราพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ซึ่งหมายถึงว่าไม่สามารถออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลในอดีตได้ออกกฎหมายพิเศษกู้เงินทำโครงการต่างๆ โดยไม่ผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จนทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการนำงบประมาณกู้เงินดังกล่าวมาใช้นอก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีสามารถทำได้หรือไม่

บัญญัติหลักการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณแผนดิน ใหม่ – งบประมาณประจำปี ต้องรวมทั้งรายจ่าย และรายได้

นอกจากนี้ยังบัญญัติหลักการของการจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยกำหนดตราเป็นร่าง พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อให้หลังจากนี้ไปร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องจัดทำเป็นรูปแบบที่มีรายละเอียดทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบประมาณรายได้ ประจำปี เพื่อเอื้อต่อการออกเป็นกฎหมายลูกในอนาคตต่อไป ขณะที่การจัดสรรงบฯ นอกจากจัดสรรตามหน่วยงาน และภารกิจแล้ว ยังเพิ่มการจัดสรรงบฯ ให้เป็นไปตามพื้นที่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการตามพื้นที่ของประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้การใช้จ่าย การก่อหนี้และภาระผูกพันที่มีผลต่อรายได้แผ่นดินต้องอยู่ภายใต้หลักความคุ้ม ค่า โปร่งใส และการรักษาวินัยทางการคลัง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณของรัฐ

 

30 ม.ค. 58

ควบรวม ผู้ตรวการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน"

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" เนื่องจากทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อเป็นการยกระดับสององค์กรให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิหรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการหรือการเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปร้องทุกข์ได้ในที่เดียวแบบวันสต็อป เซอร์วิส โดยจะมีการยกระดับกฎหมายขององค์กร ให้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน จะมีจำนวน 11คน  แบ่งงานเป็น 11ด้าน ตามความเหมาะสมเรื่องสิทธิเสรีภาพและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ให้อำนาจ ป.ป.ช. สรุปสำนวนยื่นฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลัง และงบประมาณ เองได้เลย

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวถึง ความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาต่อในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ต่อในหมวด 5 ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีการปรับหลักการในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณประจำปีงบประมาณ ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีการแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายการ หรือจำนวนรายการใด แล้ว จะนำไปจัดสรรสำหรับรายการหรือโครงการที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้ และหากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอันวิญญูชนพึง ได้ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาจไต่สวนและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบ ประมาณพิจารณาได้เลย

แต่งตั้งคณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม – ระบบคัดสรรคนดี

ในการพิจารณาในหมวด 6 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชนได้มีการวางหลักการเรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระบบคุณธรรม ใหม่ทั้งระบบ โดยจัดให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมจำนวน 7 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี เพื่อแต่งตั้งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐขึ้น โดยคัดสรรจากบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางทางการเมือง

คณะกรรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม มีอำนาจเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ต่อนายกรัฐมนตีได้ เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรดำรงตำแหน่ง โยกย้าย หรือพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เชื่อว่าการวางหลักการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการก้าวก่าย หรือแทรกแซงทางการเมือง เพื่อคัดสรรคนดีเข้าสู่ระบบข้าราชการ ทั้งนี้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม

จับตาความเคลื่อนไหวสัปดาห์หน้า

องค์กรปกครองส่งนท้องถิ่นจะยุบรวมหรือไม่ ?

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558 ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ได้ยื่นหนังสื่อต่อ กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. เรียกร้องให้ยุบรวมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น

โดยได้มีข้อเสนอให้ยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายไม่ให้เกิดการ ทับซ้อนกัน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับราชการ หลังทางเครือข่ายฯ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบในหลายพื้นที่ในองค์กร อปท.โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วพบว่า การบริหารของ อบจ.หลายแห่งมีการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า มีการกระทำการผิดระเบียบทางราชการและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่อถึงการทุจริตและทำให้ราชการเสียประโยชน์จำนวนมาก และบางแห่งเป็นที่หาผลประโยชน์โดยมิชอบของกลุ่มการเมืองและเป็นแหล่งอิทธิพล อาทิ เกิดการทุจริตในด้านการจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำบัญชีและการเงินการคลัง ดังนั้นจึงขอให้ สปช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายุบรวม อปท. ที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน แก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น รวมถึงการใช้อำนาจและงบประมาณแผ่นดินให้เป็นไปอย่างโปร่งใส

ด้านบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า การประชุมในวันพรุ่งนี้ (2 ก.พ.) จะเข้าสู่การพิจารณาสาระสำคัญในหมวดการปกครองท้องถิ่น (อปท.) โดยภาพรวมจะพิจารณาหลักการและสาระสำคัญ ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมบางส่วนในรายละเอียด แต่เนื่องจากยังไม่เข้าสู่การพิจารณาจึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายได้

“หลักการของหมวดนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 แต่จะปรับปรุงรายละเอียดให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของสังคมมาก ขึ้น อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการฯจะไม่พูดถึงประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่องการยุบรวม องค์การปกครองท้องถิ่น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่เขียนเป็นแนวทางเท่านั้น คาดว่าจะพิจารณาหมวดการปกครองท้องถิ่นให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้าก่อนจะ เข้าสู่การพิจารณาในส่วนของการปฎิรูปต่อไป”

ย้ายเรื่องท้องถื่นไปร่างวันที่ 5-6 ก.พ. ยกเรื่องรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีไปร่างปลาย มี.ค.

คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันที่ 2-4 ก.พ.จะงดประชุมคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากการยกร่างรายมาตราในรายละเอียดเกี่ยวการกระจายอำนาจและการปกครอง ท้องถิ่นยังไม่เรียบร้อย และจะประชุมต่อในวันที่ 5-6 ก.พ.

“ส่วนในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมืองว่าด้วยรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่อง ที่มีเนื้อหารายละเอียดมาก จะพิจารณาในช่วงท้าย โดยคาดว่าประมาณปลายเดือนมีนาคม ดังนั้นจึงยังไม่สรุปว่า ผู้ที่เคยถูกถอดถอนจะสามารถกลับเข้ามาสู่การเมืองได้หรือไม่ เพราะจะต้องหารือกันก่อน แต่ที่พูดกันมากในประเด็นนี้ เพราะเคยมีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่บัญญัติเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่สมัครส.ส.ไว้ว่าจะต้องไม่เคยถูกถอดถอน ซึ่งขณะนี้ถือว่าไม่มีผลแล้ว จึงต้องแล้วแต่คณะกรรมาธิการว่าจะมีความเห็นอย่างไร” โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าว

 

เรียบเรียบจาก : เว็บข่าวรัฐสภา , สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกิดเหตุระเบิดหน้าสยามพารากอน

0
0

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่าเมื่อช่วงค่ำ วันที่ 1 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จส.100 แจ้งว่าเกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดขึ้นตรงหน้าสยามพารากอน พบมีควัน ทำให้ประชาชนแตกตื่นตกใจ เจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบ ไม่พบผู้บาดเจ็บ
 
โดยมีรายงานว่า เวลา 20.10 น. รถไฟฟ้า BTS แจ้งไม่จอดรับส่งสถานีสยาม เนื่องจากมีเหตุระเบิดบริเวณทางเชื่อมสถานีกับพารากอน 
 
ขณะที่ สน.ปทุมวันแจ้งเหตุเสียงดังบน BTS สยาม จนท.กำลังดำเนินการแก้ไข เวลา 20.38 น. สถานี BTS สยามเปิดรับส่งผู้โดยสารตามปกติแล้ว
 
ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.น. 6 ตำรวจสน.ปทุมวัน หน่วยพิสูจน์หลักฐาน และหน่วยเก็บกู้ระเบิด ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอย่างละเอียด พบหลักฐานที่น่าเชื่อว่าเหตุดังกล่าวเป็นระเบิดแสวงเครื่อง โดยเกิดระเบิดขึ้น 2 จุด บริเวณทางเชื่อมบีทีเอสกับห้างพารากอน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้ปิดกั้นพื้นที่ ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปเด็ดขาด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เผยความเห็นที่ปรึกษา กม.กสทช. กรณี SLC ถือหุ้นเนชั่นเข้าบอร์ดพรุ่งนี้

0
0

วาระสำคัญใน กสท.จันทร์นี้ มีความเห็นข้อกฎหมายของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ต่อข้อกฎหมายว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าร่วมการประมูลหรือไม่  สืบเนื่องจากบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1988) จำกัด (มหาชน) หรือ “SLC” (ผู้ถือหุ้นในบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด) เข้าซื้อหุ้นในสื่อเครือเนชั่นและแกรมมี่

1 ก.พ. 2558 นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า  การประชุม กสท. ในวันพรุ่งนี้ สำนักงาน กสทช. นำมติที่ประชุมของคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ให้ความเห็นต่อกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าประมูล  ซึ่งยืนยันแนวคิด กสท.ที่เห็นว่าประกาศทุกฉบับที่มีผลบังคับใช้ก่อนการประมูลมีผลผูกพันที่ต้องใช้ตลอดไปเพราะว่าอ้างอิงตามมาตรา 31 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ป้องกันมิให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งครอบงํากิจการในลักษณะที่เป็นการจํากัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทําการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกันห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกัน หรือครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกําหนด  ทำให้ กสท.ออกแบบว่าทีวีดิจิตอล 24 ช่อง กำหนดสัดส่วนให้ 1 รายถือได้ไม่เกิน 3 ใบอนุญาต และผู้รับใบอนุญาตช่องวาไรตี้ความชัดสูงจะมีใบอนุญาตช่องข่าวสารและสาระไม่ได้ และแต่ละช่อง แต่ละประเภทก็ถือข้ามกันไม่ได้  มีการกำหนดเกณฑ์ไว้ในประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 ในข้อ 7.2 ที่กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัตินิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย 

“ส่วนตัวต้องขอขอบคุณที่ปรึกษากฎหมายที่ช่วยยืนยันหลักการนี้  ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลทีวีดิจิตอลทั้งในปัจจุบันและอนาคต เป็นไปอย่างราบรื่นบนหลักการของการป้องกันการครอบงำ   หลังจากนี้สำนักงาน กสทช. ก็ต้องไปสืบสวนข้อเท็จจจริง แล้วเปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามาชี้แจ้งข้อเท็จจริงตามกระบวนการปกครอง และนำเสนอผลต่อ กสท.อีกครั้ง และจะมีมติเรื่องนี้ต่อไป” นางสาวสุภิญญากล่าว

ในวันพรุ่งนี้เวลา 9.00 น. คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จะมายื่นหนังสือให้ กสท. ก่อนการประชุมบอร์ด  กรณีการเข้าซื้อหุ้นของ SLC ของบริษัทเครือเนชั่นและแกรมมี่ 

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาแนวปฏิบัติทางเทคนิคและการดำเนินการเกี่ยวกับระดับความดังของเสียง  (Audio Loudness)  เพื่อควบคุมให้ระดับความดังของรายการและโฆษณาให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ออกประกาศไปแล้วเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค  และแนวทางปฏิบัติทางเทคนิคและดำเนินการเกี่ยวกับผังรายการอิเล็คทรอนิกส์ (Elecctronic Program Guide:EPG) ซึ่งเป็นการจัดส่งข้อมูลผังรายการของแต่ละช่องรายการผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล  จะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สามารถรับรู้ข้อมูลรายการในปัจจุบันและข้อมูลรายการล่วงหน้าได้ทางหน้าจอโทรทัศน์  และมีการพิจารณากรณีไทยพีบีเอสยื่นฟ้อง กสท.และสำนักงาน กสทช. กรณีรายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย” ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ตอนที่ 1-5 ซึ่งศาลปกครองกลางนัดไต่สวนภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวสเปนหลายหมื่นชุมนุมสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ใจกลางกรุงมาดริด

0
0

ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายซ้ายในกรีซเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวสเปนจำนวนมากที่ไม่พอใจมาตรการลดงบประมาณสาธารณะพากันออกมาชุมนุมแสดงการสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายใหม่ที่ชื่อ 'โปเดมอส' ภายใต้คำขวัญเรื่อง 'การเปลี่ยนแปลง'

1 ก.พ. 2558 ชาวสเปนจัดชุมนุมใหญ่ในกรุงมาดริดเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีผู้เข้าร่วมหลายหมื่นคน โดยผู้ชุมนุมในสเปนได้รับอิทธิพลจากชัยชนะของพรรคฝ่ายซ้าย 'ซีริซา' ในการเลือกตั้งที่ประเทศกรีซเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้พากันออกมาแสดงการสนับสนุนพรรค 'โปเดมอส' ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายในสเปน

เว็บไซต์คอมมอนดรีมส์ระบุว่าผู้คนในสเปนทนไม่ไหวกับนโยบายทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษ์นิยมเมื่อเห็นว่าพรรคฝ่ายซ้ายในประเทศกรีซได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจึงพากันออกมาชุมนุมหลายหมื่นคนกลางท้องถนนกรุงมาดริดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยพากันป่าวประกาศต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นมาตรการลดรายจ่ายของรัฐและลดสวัสดิการทำให้กระทบกับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยผู้ชุมนุมพากันตะโกนคำขวัญว่า "ไม่เอามาตรการรัดเข็มขัด พวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลง"

การชุมนุมในครั้งนี้ถูกเรียกว่า "การเดินขบวนเพื่อการเปลี่ยนแปลง" ถือเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่แสดงการสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายในสเปนชื่อพรรค 'โปเดมอส' ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ชื่อพรรคเป็นภาษาสเปนแปลว่า "เราทำได้"

ผู้ชุมนุมยังพากันตะโกนคำขวัญร่วมกันว่า "ใช่ เราทำได้" และ "ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก" ซึ่งเป็นการเลียนเสียงเคลื่อนเข็มนาฬิกาเหมือนต้องการจะสื่อว่าเวลาของพรรคการเมืองหลักทั้ง 2 พรรคของสเปนมีเวลาเหลือน้อยลงทุกที ผู้ชุมนุมหลายคนยังได้โบกธงกรีซและธงสาธารณรัฐที่สองแห่งสเปน รวมถึงชูป้ายระบุว่า "การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตอนนี้"

ปาโบล อิกเลเซียส ผู้นำพรรคโปเดมอสกล่าวในช่วงที่มีการประกาศจะจัดชุมนุมว่า "การชุมนุมนี้ไม่ใช่การประท้วงหรือเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล แต่เป็นการแสดงออกว่าในปี 2558 จะมีรัฐบาลที่เป็นของประชาชน"

"พวกเราต้องการการเคลื่อนไหวระดับประวัติศาสตร์ พวกเราต้องการให้ผู้คนบอกกับลูกกับหลานพวกเขาได้ว่า 'ฉันเคยไปร่วมเดินขบวนในวันที่ 31 ม.ค. ที่เป็นการบุกเบิกยุคสมัยใหม่ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสเปน' " อิกเลเซียสกล่าว

แอนโตเนีย เฟอร์นานเดส ผู้รับเงินบำนาญอายุ 69 ปีจากกรุงมาดริดกล่าวว่าประชาชนเริ่มทนพวกชนชั้นนำทางการเมืองไม่ไหวแล้ว เธอบอกว่าก่อนหน้านี้เคยสนับสนุนพรรคสังคมนิยมแต่ก็เสื่อมศรัทธาต่อพรรค หลังจากที่เห็นการจัดการวิกฤติเศรษฐกิจและนโยบายรัดเข็มขัดของพรรค เฟอร์นานเดสกล่าวอีกว่าพวกเขาต้องการให้มีการจ้างงานมากขึ้น

พรรคโปเดมอสก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว พวกเขาเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นจากผลพวงของกระแสประชานิยมที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วยุโรป ผู้คนจำนวนมากรู้สึกแปลกใจเมื่อพรรคหน้าใหม่อย่างโปเดมอสได้รับเลือกตั้งจนมีเก้าอี้ในสภายุโรป 5 ที่นั่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค. 2557 และผลสำรวจยังระบุอีกว่าประชากรชาวสเปนเกือบครึ่งหนึ่งพร้อมสนับสนุนอิกเลเซียสถ้าหากเขาลงสมัครเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

อิกเลเซียส หัวหน้าพรรคโปเดมอสเป็นอาจารย์วิชารัฐศาสตร์อายุ 36 ปี เขามักจะถูกเปรียบเทียบกับ อเล็กซิส ซีปราส หัวหน้าพรรคซีริซาในกรีซ พรรคโปเดมอสเองก็มีลักษณะคล้ายซีริซาที่สามารถเรียกร้องความสนใจคนในประเทศได้ด้วยการใช้คำขวัญว่านักการเมืองควรจะ "รับใช้ประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว" และให้คำมั่นว่าจะลดภาวะหนี้สินของสเปนที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานให้ได้

ส่วนหนึ่งที่ให้กำเนิดพรรคโปเดมอสมาจากขบวนการประท้วงชื่อ 'อินดิกนาดอส' ที่ปักหลักชุมนุมในสเปนช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พรรคโปเดมอสสามารถครองใจชาวสเปนที่ไม่พอใจเรื่องอื้อฉาวด้านการทุจริตและนโยบายลดงบประมาณสาธารณะจากพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคสังคมนิยมก่อนหน้านี้

 

เรียบเรียงจาก

Launching 'New Era of Political Change,' Tens of Thousands March in Madrid, Common Dreams, 31-01-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/01/31/launching-new-era-political-change-tens-thousands-march-madrid

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66: ประธาน KNU ขอให้ประชาชนสามัคคีและร่วมสร้างสันติภาพ

0
0

งานรำลึกการต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงปีที่ 66 นายพล "มูตู เซพอ" ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่ยังคงมีการเจรจาอยู่กับรัฐบาลพม่า และสามัคคีกันเพื่อให้บรรลุถึงสิทธิทางการเมือง ได้แก่ ความเสมอภาค การกำหนดอนาคตของตนเอง และมีการปกครองรูปแบบสหพันธรัฐ

2 ก.พ. 2558 - เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จัดงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 หลายพื้นที่ โดยที่บ้านเตเบทะ เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามอำเภอท่าสองยาง จ.ตาก กองบัญชาการของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองพลน้อยที่ 7 โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้ สำนักข่าว Karennewsสัมภาษณ์ เล ทอว์ คณะกรรมการจัดงานฝ่าย KNU ในพื้นที่ซึ่งระบุว่ามีการเชิญกองกำลังกะเหรี่ยงกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมงานด้วย อย่างไรก็ตามยังไม่ได้เตรียมกองทหารเพื่อจัดงานสวนสนามร่วมกัน

บรรยากาศงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ที่กองบัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 7 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2558 (เอื้อเฟื้อภาพโดย จิราพร เหล่าเจริญวงศ์)

พล.อ.จอห์นนี่ ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เดินตรวจแถวทหารสวนสนาม ในงานพิธีครบรอบวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ที่กองบัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 7 บ้านเตเบทะ รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เมื่อ 31 ม.ค. 2558 (เอื้อเฟื้อภาพโดย จิราพร เหล่าเจริญวงศ์)

บรรยากาศงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ที่กองบัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 7 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2558 (เอื้อเฟื้อภาพโดย จิราพร เหล่าเจริญวงศ์)

 

โดยในการจัดงานที่กองบัญชาการ KNLA กองพลน้อยที่ 7 นายพล มูตู เซพอ ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องในวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ทั้งนี้ตอนหนึ่งเขากล่าวว่า วันปฏิวัติกะเหรี่ยงในวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 60 ปีก่อน บางคนอาจพบว่าสถานการณ์ปัจจุบันมี "ข้อยกเว้นซึ่งเป็นแรงผลักดัน" ขณะที่หลายคน "มีความรู้สึกกังวล สงสัย และไม่พอใจ" ทั้งนี้เขากล่าวด้วยว่า แทนที่จะใช้แต่การทหาร บัดนี้เป็นเวลาที่จะเรียนรู้การป้องกันไม่ให้การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธเกิดขึ้น และให้กำลังใจในทุกๆ ด้าน เพื่อความก้าวหน้าในการเจรจากันทางการเมือง "สำคัญอย่างยิ่งที่จะหาทางออกด้วยวิถีทางการเมือง และรักษาการต่อสู้นี้เอาไว้เพื่อสร้างความไว้วางใจ"

ทั้งนี้ นายพลมูตู กล่าวด้วยว่า มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องมีวุฒิภาวะทั้งทางการเมืองและทางการทหาร เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองอย่างสูงที่สุด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่เรียกร้องเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว หรืออยู่บนจุดยืนของตนอย่างหัวรั้นบนพื้นฐานของการไม้ไว้วางใจผู้อื่น ซึ่งผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์ที่เลวร้าย นำมาซึ่งการแตกแยกของเอกภาพแห่งชาติ

ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ยังเรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพ "ผมขอย้ำเตือนชาวกะเหรี่ยง ทั้งผู้นำทางการเมืองและการทหาร และองค์กรชุมชนของชาวกะเหรี่ยง บทบาทที่น่านับถือของพวกท่านในการพยายามทำความเข้าใจต่อกระบวนการในปัจจุบันและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เพื่อที่จะทำงานเพื่อประสานงานกันระหว่างปัจเจกบุคคลและระหว่างแต่ละองค์กรเพื่อการปรองดองแห่งชาติ"

"ผมขอเรียกร้องต่อพวกท่าน ในการพยายามทุกวิถีทางเพื่อสันติภาพ อันสอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลง ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่และความกล้าหาญ "บนโต๊ะเจรจา" อย่างที่เราต่อสู้อย่างกล้าหาญในสมรภูมิ แม้ว่ากำลังของพวกเราจะไม่เทียมเท่าเขาก็ตามที"

นายพลมูตูกล่าวด้วยว่า "จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนกะเหรี่ยงทุกคน, กองกำลังติดอาวุธที่ลุกขึ้นสู้ของชาวกะเหรี่ยงทุกกลุ่ม และองค์กรของชาวกะเหรี่ยงทุกชนชั้น ต้องมีทัศนะที่เป็นบวก สามัคคี เราจำต้องทำงานเพื่อสร้างบทบาทการนำ ด้วยการรับผิดชอบต่อทั้งมุมมองที่เป็นลบและมุมมองที่เป็นบวก"

เขาสรุปในสุนทรพจน์เนื่องในวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 โดยเรียกร้องให้ประชาชนชาวกะเหรี่ยงร่วมมือกันอย่างชาติที่เป็นหนึ่งเดียว "เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุถึงสิทธิทางการเมือง เพื่อความเสมอภาค, หลักกำหนดอนาคตของตนเอง และมีสหภาพที่มีรูปแบบสหพันธรัฐ นี่คือความปรารถนาของพวกเรา"

สำหรับแถลงการณ์ฉบับเต็ม เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) (อ่านเพิ่มเติม)

 

วันปฏิวัติกะเหรี่ยงที่ KNLA กองพลน้อยที่ 5 และ KNDO

สำหรับการจัดงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ในพื้นที่อื่นนั้น มีการจัดงานที่บ้านเดบูนอ เมืองหมื่อตรอ หรือผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นตั้งของกองพลน้อยที่ 5 KNLA โดยมี พล.ท.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) เป็นผู้จัดงาน โดยมีรายงานว่ามีชาวกะเหรี่ยงทั้งในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และชาวกะเหรี่ยงจากฝั่งไทย เดินทางไปร่วมงานจำนวนมาก

ขณะที่เนอดา เมียะ ผู้บัญชาการกององค์กรปกป้องแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) บุตรชายนายพลโบเมียะ อดีตประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งแยกออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ได้จัดงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 66 ที่ฐานที่มั่น KNDO ตรงข้าม ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก

สำหรับวันปฏิวัติกะเหรี่ยง ถือเป็นวันที่รำลึกถึงการที่กองทัพกะเหรี่ยงจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลพม่าเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2492 หรือเมื่อ 66 ปีก่อน ส่วนสถานการณ์ล่าสุด สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และรัฐบาลพม่านำโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ตกลงหยุดยิงกันได้เมื่อ 12 มกราคม 2555 อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายกำลังอยู่ระหว่างเจรจาสันติภาพ และยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องเขตปกครองตนเอง ข้อเสนอหยุดยิงถาวร รวมทั้งหลักปฏิบัติของทหารทั้งสองฝ่ายหากมีการหยุดยิงถาวร

ทั้งนี้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เคยเกิดแตกแยกครั้งใหญ่เมื่อปี 2537 โดย กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army - DKBA) ได้แยกออกจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ทำให้ฝ่ายกะเหรี่ยง KNU และกะเหรี่ยง DKBA ปะทะกันเองหลายครั้ง ขณะที่กลุ่ม DKBA เริ่มกลับมาปรองดองกับ KNU ในปี 2553 และปรับความสัมพันธ์เรื่อยมา

อนึ่ง แต่เดิมกองกำลัง DKBA ใช้ชื่อว่า "Democratic Karen Buddhist Army" ปัจจุบันในชื่อภาษาอังกฤษได้แก้ไขคำว่า "Buddhist" ออกและใช้ชื่อใหม่ว่า "Democratic Karen Benevolent Army" หรือกองกำลังกะเหรี่ยงผู้มีความเมตตา โดยคงชื่อย่อเดิมคือ DKBA

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย : คนข้ามเพศในสังคมไทย

0
0

 

 

รายการ ‘หมายเหตุประเพทไทย’ สัปดาห์นี้สนทนากันเรื่อง ‘คนข้ามเพศ’ ในสังคมไทย คุยกันถึงความเข้าใจของสังคมและพัฒนาการของการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ พบกับ ‘อรรถ บุนนาค’ และแขกรับเชิญ ‘เคท ครั้งพิบูลย์’ หนึ่งในคณะทำงานเครือข่ายเพื่อนกระเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พลเมืองโต้กลับ’ ปล่อยคลิปหีบบัตร ‘วัตถุอันตราย เก็บให้ห่างไกลประชาชน’ 1ปีเลือกตั้ง 2 ก.พ.

0
0

2 ก.พ.2558 ในโอกาสครบ 1 ปี การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557  เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen' ได้เผยแพร่คลิป วัตถุอันตราย !!! เก็บให้ห่างไกลประชาชน  ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา อาจารย์ นักกิจกรรมทางสังคม ญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่รักในเสรีภาพ และประชาธิปไตย ที่ได้รวมกันด้วยวัตถุประสงค์เพื่อ  ทำลายบรรยากาศแห่งความกลัว ที่คณะรัฐประหารได้สร้างขึ้น

คลิป  วัตถุอันตราย !!! เก็บให้ห่างไกลประชาชน  เป็นการบันทึกการแสดงสดของศิลปินนิรนาม กับหีบบัตรเลือกตั้ง ที่ปัจจุบันได้กลายเป็น"วัตถุต้องห้าม"  ในการเมืองไทยภายใต้ระบอบรัฐประหาร    ณ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่เรียกร้องให้ใช้กระบวนการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองอย่างสันติ

อนึ่งทางกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen   จะได้จัดกิจกรรม เลือกตั้งที่ลัก ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558   ณ หอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 16.00-18.00 น.

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรผู้บริโภคยื่น กสท. สอบกรณี SLC ถือหุ้นเนชั่น-แกรมมี่ หวั่น ปชช.ถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

0
0

องค์กรผู้บริโภคขอให้ กสท. ตรวจสอบการถือหุ้น SLC หวั่น ประชาชนถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

2 ก.พ. 2558 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้แก่ นางสาวชลดา บุญเกษม นางมณี จิรโชติมงคลกุล พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 3 คน ได้แก่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เพื่อขอให้ตรวจสอบการเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์(1988) จำกัด (มหาชน)  หรือ SLC

นางสาวชลดา กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีการดำเนินการติดตามสถานการณ์ จากกรณีที่ บ. SLC ได้เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทเครือแกรมมี่  และ บริษัทสื่อเครือเนชั่น โดยที่ บริษัท SLC มีสถานะเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ ช่องข่าวสปริงนิวส์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล และได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่เกินกว่าร้อย 10 ของบริษัทเครือเนชั่น ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารเช่นกัน นอกจากนี้ SLC ได้เข้าไปซื้อหุ้น บริษัทเครือแกรมมี่ ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทใหญ่ของบริษัทที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ช่องจีเอ็มเอ็ม หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(SD) และช่อง One  หมวดหมู่ช่องทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ในสัดส่วนร้อยละ 1.22 นั้น จากกรณีนี้ เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนมีความกังวลว่า การเข้าถือหุ้นในกิจการสื่อเกินกว่าถึง 3 กลุ่มบริษัท อาจขัดต่อเจตนารมณ์ในการป้องกันครอบงำกิจการ และเรื่องผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ตามที่กำหนดไว้ก่อนการประมูลตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556

ทั้งนี้  ข้อ 7.2 ของประกาศฉบับดังกล่าวฯ กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลจะต้องไม่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกันโดยการพิจารณาให้เป็นไปตามภาคผนวก ก และ ข แล้วแต่กรณี โดยในภาคผนวก ข ได้บัญญัติ นิยาม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในผู้เข้าร่วมการประมูลเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้เข้าร่วมการประมูลนั้น การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในข้อ 8.4 กำหนดว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิยื่นคำขอรับใบอนุญาตไม่เกินรายละหนึ่งใบอนุญาตของแต่ละหมวดหมู่ จะเห็นได้ว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ พ.ศ. 2556 และ ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. 2556 ทั้งสองประกาศได้อ้างอิงฐานกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาดไว้อย่างชัดแจ้งตามที่ปรากฏในมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยสาระสำคัญของมาตราดังกล่าว กำหนดว่า เพื่อป้องกันมิให้บุคคลหนึ่งครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่มาจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายหรือกระทำการอันเป็นการผูกขาดการประกอบกิจการสื่อมวลชนหลายประเภทในเวลาเดียวกัน ห้ามผู้รับใบอนุญาตถือครองธุรกิจในกิจการประเภทเดียวกันหรือ ครองสิทธิข้ามสื่อในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่เกินสัดส่วนที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเข้าถือหุ้นเกินกว่าหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลที่ตั้งไว้ในกิจการโทรทัศน์ ประเภทหมวดหมู่ข่าวสารสาระถึง 2 ช่อง เป็นการกระทำที่อาจขัดต่อประกาศ กสทช. และข้อกฎหมายในเรื่องการป้องกันการผูกขาด คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอความร่วมมือมายังหน่วยงานของท่านในฐานะองค์กรกำกับดูแล ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงตามมาตรา 27 (17) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในการกำหนดลักษณะการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้การกระทำที่ผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน โปรดพิจารณานำความเห็นและข้อกังวลของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหานี้เพิ่มเติม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านในการคุ้มครองการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค และ ขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

ด้านนางสาวสุภิญญา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 ก.พ. นี้ ทาง กสทช.จะเปิดเวที เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ชี้แจงข้อมูล รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้หลายๆฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นและข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กฤษฎีกาเสนอ รองนายกฯ นั่ง ปธ.คกก.ดิจิทัลฯ แทนนายกฯ-'พลเมืองเน็ต' เตรียมยื่นรัฐสภา ร้องทบทวน กม.พรุ่งนี้

0
0

กฤษฎีกาเสนอให้รองนายกฯ ด้านศก. นั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการดิจิทัลฯ แทนนายกฯ ที่ปรึกษาปลัดฯ เผย มีคำสั่งยุบ "ซิป้า" แล้ว ตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแทน คาดกฎหมายดิจิทัล 10 ฉบับใช้งานได้ไตรมาส 2 ของปี ด้านเครือข่ายพลเมืองเน็ตเตรียมยื่นหนังสือ ขอให้ทบทวนการร่างกฎหมาย ที่รัฐสภา พรุ่งนี้

2 ก.พ.2558 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายมนู อรดีดลเชษฐ์ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ให้สัมภาษณ์ในงานสัมมนา 360 องศา ดิจิทัล อีโคโนมี จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้เปลี่ยนตำแหน่งประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี จากเดิมที่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.... กำหนดให้ตำแหน่งประธาน คือ นายกรัฐมนตรี แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้เปลี่ยนเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าตำแหน่งนายกฯ อาจมีภารกิจรัดตัว จนไม่มีเวลามาขับเคลื่อนการทำงานดังกล่าว

"ทางคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลอีโคโนมี กำลังพิจารณาว่าจะเปลี่ยนตำแหน่งประธานหรือไม่ เพราะเบื้องต้นคณะทำงานฯ ยังต้องการให้นายกฯ ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ เพื่อแสดงถึงความจริงจังในการขับเคลื่อนนโยบายฯ และการสั่งงานผ่านนายกรัฐมนตรีนั้นมีน้ำหนักมากกว่า แต่หากไม่มีเวลาจริง อาจให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่แทนได้" ที่ปรึกษาปลัดไอซีที กล่าว

นายมนู กล่าวต่อว่า ส่วนการปรับปรุงโครงสร้างของไอซีที ผ่าน พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ขณะนี้ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แล้ว โดยไอซีทีจะยุบสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นแทน เพื่อช่วยคณะกรรมการดิจิตอลอีโคโนมี ขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ โดยโอนพิจารณาโอนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและตรงกับภารกิจมาจากซิป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด การพิจารณากฎหมายเศณษฐกิจดิจิทัล 10 ฉบับ จะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และประกาศใช้ได้เร็วสุดภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

เครือข่ายพลเมืองเน็ตเตรียมยื่นหนังสือ ร้องทบทวนชุดกฎหมาย 'เศรษฐกิจดิจิทัล'
พรุ่งนี้ (3 ก.พ.) เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา สฤณี อาชวานันทกุล ประธานมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง พร้อมด้วย องค์กรเครือข่าย สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน มูลนิธิโลกสีเขียว และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย จะยื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้มีการพิจารณา ทบทวน และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป กรณีร่างกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ต่อ คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วย วสันต์ ภัยหลีกลี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการสมาชิกปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตออกแคมเปญ "หยุดชุดกฎหมาย 'ความมั่นคงดิจิทัล'เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ผ่านทาง change.org โดยล่าสุด มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้ว 20,678 ราย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 2

0
0

เมืองกีดาปาวัน ประเทศฟิลิปปินส์ - มาลู มานาร์ เป็นผู้สื่อข่าววิทยุ เธอจำเป็นต้องสวมผ้าคลุมหัวและเปลี่ยนวิธีการแต่งกายเพื่อหลบเลี่ยงกลุ่มติดอาวุธที่คอยติดตามเธอไปทั่วเมืองโคตาบาโตซิตี้ในช่วงปี 2547

ในปีนั้นเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง การรายงานข่าวของเธอก็ทำให้นักการเมืองรู้สึกโกรธเคืองและไม่พอใจ มีคนโทรมาขู่ฆ่าเธอ แล้วต่อมาก็มีกลุ่มติดอาวุธที่นั่งมาในรถตู้คอยติดตามตัวเธอ

"ฉันรู้ว่าพวกเขาตามตัวฉันเพราะพวกเขารู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน เมื่อฉันไปที่โบสถ์ฉันก็เห็นพวกเขาอยู่ที่นั่น แล้วฉันก็เห็นคนกลุ่มเดียวกันที่สำนักงาน" มานาร์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ในตอนนี้เธอเป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวและข่าวรายวัน ของสถานีวิทยุ DXND-NDBC

มาลู มานาร์ 

มานาร์พยายามหลอกล่อกลุ่มคนที่จ้องคุกคามเธอและอาจจะต้องการสังหารเธอ "ฉันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการแต่งกาย ยกเว้นแว่นตา เพราะฉันมองไม่เห็นถ้าไม่ใส่แว่นตา ฉันเริ่มสวมฮิญาบ สวมชุดตัวยาวๆ นอกจากนี้ฉันยังเปลี่ยนแปลงวิธีการแต่งกายให้ลูกของฉันทั้ง 2 คนด้วย"

เมื่อทางสำนักงานของมานาร์ในเมืองโคโตบาโตซิตี้รู้ว่าเธอมีโอกาสถูกสังหารจึงได้ส่งตัวเธอไปที่สถานีในเมืองกีดาปาวันในจังหวัดนอร์ธโคโตบาโต ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากที่เดิม 120 กม. และห่างไกลจากอันตราย

10 ปีให้หลัง ก็ยังคงมีลักษณะการข่มขู่และการใช้ความรุนแรงแบบเดิมอยู่

นักข่าวจำนวนมากโดยเฉพาะตามจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับการคุกคามแบบเดียวกับที่ทำให้ครอบครัวของมานาร์ต้องย้ายที่อยู่ในปี 2547 การใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวยังไม่หมดไป และผู้บงการก็ยังคงหลบหนีลอยนวลไปได้ เรื่องนี้เป็นการเน้นย้ำบรรยากาศของ "การไม่ต้องรับผิด" (impunity) ที่ทำให้คนผู้มีอิทธิพลและคนร่ำรวยมีอิทธิพลมากขึ้นจากการใช้วิธีการนอกเหนือกฎหมายเพื่อกลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์และปราบปรามนักข่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามกลับมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการโต้ตอบการคุกคามและความพยายามลอบสังหาร โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักข่าวในจังหวัดมากินดาเนาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 58 คน ในจำนวนนั้นมีคนทำงานสื่อ 32 คน

ก่อนหน้านี้เมื่อประสบเหตุคุกคาม ผู้สื่อข่าวจะหายไปหลบซ่อนตัวจนกว่าเหตุการณ์จะเย็นลง หรือใช้วิธีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองเพื่อซ่อนตัวเช่นเดียวกับวิธีการของมานาร์ที่ทำให้กลุ่มติดอาวุธหลงทิศจากการตามล่าเธอ  จนถึงทุกวันนี้ความปลอดภัยอาจจะหมายถึงการพกอาวุธปืนก็ได้

อคีเลส โซนีโอ หนึ่งในนักข่าวที่สามารถหลบหนีจากการสังหารหมู่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

อคีเลส โซนีโอ เป็นนักข่าวที่มีปืนพกซึ่งได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่คร่าชีวิตเพื่อนร่วมงานเขาไปในปี 2552 โซนีโอบอกว่า "ในประเทศนี้ เมื่อคุณถูกข่มขู่คุกคามเอาชีวิตแล้ว นึกไว้ได้เลยว่าคุณจะอยู่ภายใต้การคุกคามไปตลอดชีวิต"

"อย่าได้ประมาท นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมต้องระวังหลังอยู่ตลอดเวลา" โซนีโอกล่าว เขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวที่มีประสบการณ์ของสื่อเดลี่อินไควเรอร์ในฟิลิปปินส์ เขาเคยถูกข่มขู่เอาชีวิตเพราะเปิดโปงเรื่องการทำเหมืองแร่และตัดไม้ซุงอย่างผิดกฎหมายในจังหวัดทางภาคใต้

"ความรู้สึกปลอดภัยไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรู้สึกพึงพอใจกับมัน คุณต้องมีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา คุณต้องคอยติดเรื่องมาตรการความปลอดภัยอยู่เสมอ" โจเซฟ จูเบลัก จากสื่อมินดาเนาบุลเล็ตตินอธิบายในเรื่องนี้

ทั้งโซนีโอและจูเบลักสามารถหลบหนีจากการสังหารหมู่เมื่อ 5 ปีที่แล้วได้ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในขบวนรถหาเสียงของเอสมาเอล มานกูดาดาตู รองนายกเทศมนตรีเมืองบูลวนที่กำลังเดินทางไปลงทะเบียนเป็นผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนา ในตอนนั้นนักข่าวทั้ง 2 คนแยกตัวออกมาจากขบวนรถและคิดว่าจะติดตามขบวนต่อทีหลังแต่จากสัญชาติญาณก็ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจไม่ตามต่อทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้

ครอบครัวของเหยื่อนการสังหารหมู่ที่มากินดาเนา สวดมนตร์ให้กับผู้เสียชีวิต


การอบรมด้านความปลอดภัย

การอบรมด้านความปลอดภัยในหมู่นักข่าวที่ถูกส่งให้ไปทำงานที่ประเทศที่มีสงคราม เช่น อิรักหรือซีเรีย ถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานพื้นฐานในหมู่นักข่าวที่ทำงานให้กับเครือข่ายหรือองค์กรข่าวนานาชาติ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีอยู่ทั่วไปในประเทศอย่างฟิลิปปินส์แม้ว่าคนทำงานสื่อจะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยจากการทำข่าวเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธสายคอมมิวนิสต์และกลุ่มกบฏชาวมุสลิม

การสังหารหมู่ในมากินดาเนาถือเป็นการ "เปิดตา" ให้กับคนทำงานสื่อทั้งหลายไม่เพียงแค่นักข่าวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงบรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ที่ทำงานนั่งโต๊ะทั้งหลายด้วย เรื่องความปลอดภัยกลายเป็นสิ่งที่คนคำนึงถึงและให้ความสำคัญในระดับต้นๆ หลังจากที่เคยเป็นเรื่องแบบคิดเองเออเองอยู่เสมอ

จากที่มีการข่มขู่คุกคามนักข่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ บริษัทสื่อบางแห่งเริ่มเล็งเห็นความจำเป็นของการกำหนดทิศทางด้านสวัสดิภาพและการฝึกฝนด้านความปลอดภัยให้กับนักข่าวในจังหวัดต่างๆ ของฟิลิปปินส์ รวมถึงความปลอดภัยในการส่งตัวนักข่าวไปปฏิบัติงานภาคพิเศษในพื้นที่ขัดแย้ง

จูเบลัก นักข่าวที่เขียนข่าวให้กับสื่อใหญ่ระดับชาติอย่าง  มะนิลา บุลเล็ตติน  กล่าวว่าทุกครั้งที่เขาต้องไปยังพื้นที่ๆ มีความขัดแย้ง เขาต้องศึกษาสภาพความเป็นจริงก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะดำเนินงานต่อหรือไม่ นอกจากนี้เขายังต้องสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ จากคนในท้องถิ่นและจากเจ้าหน้าที่การทหารด้วย

"แน่นอนว่าผมต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนบุคคลเพราะสำหรับพวกเราที่เป็นนักข่าวแล้ว เรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงด้วยตัวเอง คุณไม่สามารถฝากเรื่องสวัสดิภาพไว้กับคนอื่นได้ ตัวคุณจะต้องดูแลความปลอดภัยให้ชีวิตตัวเอง" จูเบลักกล่าว เขาเคยผ่านการฝึกฝนด้านความปลอดภัยมาแล้ว

จอห์น อันซัน ผู้ที่เขียนข่าวให้กับฟิลิปปินส์สตาร์ก็เคยเข้าร่วมการฝึกฝนบางประเภทมาก่อน เขาบอกว่ามีบางช่วงเวลาที่ตำรวจและทหารจะเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยรวมถึงเทคนิคการรักษาชีวิตในพื้นที่ขัดแย้ง พวกเขายังสอนเรื่องการรักษาอาการบาดเจ็บของเพื่อนร่วมงานรวมถึงการรักษาความปลอดภัยและรักษาสภาพร่างกายแบบฉุกเฉินในขณะที่ต้องอยู่ระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาล

"พวกเราหลายคนมีชุดป้องกัน...เช่นเสื้อกันกระสุนเคฟลาร์และหมวกนิรภัย" อันซันอธิบาย "พวกเรายังขออนุญาตจากกองทัพอยู่เสมอ ถ้าพวกเขาบอกว่า 'ไม่ควรไปที่นั่นก่อนที่เราจะเก็บกู้ทุ่นระเบิดบนถนน หรือจนกว่าพวกเราจะทำให้แน่ใจว่าไม่มีกลุ่มกบฏอยู่' พวกเราก็ต้องรอ กองทัพมีการฝึกฝนให้นักข่าวรอจนกว่าพวกเขาจะเคลียร์พื้นที่ให้ปลอดภัย พวกเขาจะไม่ให้คุณไปในพื้นที่ขัดแย้งที่กำลังมีการสู้รบกันอยู่"

อันซันชี้ว่าการประเมินสถานการณ์ก็มีความสำคัญเช่นกัน "พวกเราต้องรู้ว่าเวลาไหนควรหนีหรือควรจะหนีไปที่ใดเวลาที่ตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบหรือในสถานการณ์ที่มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในแบบอื่นๆ" เมื่อถามว่าพวกเขาได้รับการเสนอแนะแนวทางใดๆ จากกองบรรณาธิการ เขาบอกว่ากองบรรณาธิการจะให้คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายต่อคณะทำงานที่เข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง

"บางครั้งพวกเขาจะถึงขั้นไม่สนับสนุนให้คุณไปและบอกให้คุณหาข้อมูลจากแหล่งข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือเอา แต่คุณจะรู้สึกว่ามีความตื่นตัวเหมือนอะดรินาลีนสูบฉีดอยู่ตลอดเวลาและรู้สึกท้าทายอยากจะเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง"

เขาเตือนว่า "ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรอบคอบ คุณจะต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาดอยู่เสมอไม่ว่าคุณจะต้องเข้าไปในพื้นที่ขัดแย้งหรือไม่ ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรไล่ตามทำข่าว เมื่อไหร่ที่ควรจะหยุดไล่ตาม และเมื่อไหร่ที่ควรจะออกไป นั่นคือเรื่องความรอบคอบ การตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และคุณจะต้องพิจารณาด้วยตนเองเป็นอย่างดี"

วิคเตอร์ เรดมอนด์ บาตาริโอ ผู้ประสานงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันความปลอดภัยสื่อนานาชาติซึ่งเป็นองค์กรจากประเทศอังกฤษกล่าวถึงการฝึกฝนนักข่าวให้ทำงานในสภาพการณ์ขัดแย้ง โดยองค์กรของพวกเขามีการฝึกจำลองสถานการณ์สมมติที่อาจจะเกิดขึ้นหลายแบบ (scenario-making) และฝึกปฏิบัติการในแบบที่นำมาใช้ได้จริงคือการเตรียมตัวนักข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉินและในสถานการณ์ที่ตกอยู่ระหว่างการสู้รบ การจัดการกับฝูงชนหรือสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา การตรวจจับและหลีกเลี่ยงการถูกสอดแนม วิธีปฏิบัติตัวขณะอยู่ที่ด่านตรวจ และความตื่นตัวต่อสถานการณ์เสี่ยงโดยทั่วไป

แต่ก่อนที่จะออกเดินทางไปในสถานที่ๆ มีความขัดแย้ง วิคเตอร์ยังกำชับให้นักข่าวหรือคนทำงานสื่ออื่นๆ ควรเตรียมตัวให้มากที่สุดด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่หรือบริเวณที่ต้องไป และหาข้อมูลของคนที่พวกเขาอาจจะต้องพบเจอหรือต้องสัมภาษณ์

"ดูให้ออกว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เคยมีประวัติศาสตร์ความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่หรือไม่ สภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับด้านการเมืองและด้านสังคมเป็นอย่างไร" บาตาริโอกล่าว ตัวบาตาริโอเองเคยเป็นอดีตนักข่าวและยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์เพื่อนักข่าวชุมชนและการพัฒนาด้วย

บาตาริโอกล่าวเสริมอีกว่าให้หาข้อมูลที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับพื้นที่ให้มากที่สุด รวมถึงเรื่องสภาพภูมิอากาศและระยะเวลาที่นักข่าวน่าจะต้องใช้ไปกับการทำข่าวด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาตัดสินใจได้ว่าจะเอาสัมภาระอะไรไป รวมถึงอาหาร น้ำ เครื่องมือสื่อสาร และอุปกรณ์ปฐมพยาบาล


นักข่าวหรือคาวบอย?

การไม่ต้องรับผิด (impunity) จากกรณีสังหารคนทำงานสื่อทำให้นักข่าวต้องระวังเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น แต่มันก็ยังเป็นการส่งเสริมทางเลือกให้มีการพกอาวุธปืนมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะในเขตชนบทซึ่งมีหลักนิติธรรม (rule of law) อ่อนแอและมีผู้นำกองกำลังที่มีกองกำลังส่วนตัวสั่งการสังหารได้

แม้ว่าเรื่องนักข่าวพกอาวุธปืนจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทำงานข่าวในทุกวันนี้จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามภายในชุมชนสื่อด้วยกันเอง

มันเป็นเรื่องยากที่จะถกเถียงเรื่องปืนกับคนที่เคยเฉียดตายแต่รอดมาได้และกับคนที่รู้สึกว่ามีเพียงปืนเท่านั้นที่จะให้ความปลอดภัยแก่เขาได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่คิดว่าการพกปืนจะเป็นทางแก้ที่ดี

โฟรยลัน กัลลาร์โด ช่างภาพข่าวจากมินดานิวส์ที่มีฐานอยู่ที่เมืองดาเนาเป็นผู้ที่มีความเห็นต่อต้านการให้นักข่าวพกอาวุธปืน "ผมไม่พกปืนและไม่มีปืนในครอบครอง" เขาบอกอีกว่า "ผมเชื่อว่านักข่าวที่พกปืนก็เป็นเพียงแค่คนขี้ขลาด หรือไม่ก็แสดงออกตามความฝันในวัยเด็กที่อยากจะเป็นคาวบอย"

"ผมแค่ไม่เข้าใจว่าคนๆ หนึ่งจะทำงานได้อย่างไรโดยที่มีอาวุธปืนเหน็บอยู่ที่เอวหรือซ่อนเอาไว้ในกระเป๋า" กัลลาร์โดกล่าว

กัลลาร์โดโต้แย้งการพกอาวุธปืนอีกว่า "ผมสงสัยว่าคนที่คุณอยากสัมภาษณ์เขาจะเชื่อใจคุณไหมถ้าพวกเขาเห็นคุณพกปืน เท่านั้นยังไม่พอมีนักข่าวจำนวนมากที่พกปืนแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันตัวเองได้จนต้องเสียชีวิต กลุ่มติดอาวุธยังสามารถสังหารพวกเขาได้แม้ว่าพวกเขาจะพกปืนก็ตาม"

บาตาริโอเห็นด้วยว่าการพกอาวุธปืนไม่ใช่สิ่งที่การันตีความปลอดภัยได้ "ผมไม่เชื่อว่ามันจะช่วยปกป้องอะไรได้เลย อย่างดีที่สุดมันก็ทำให้หลอกตัวเองได้ว่ามีความปลอดภัย ผมรู้ว่ามีนักข่าวจำนวนหนึ่งที่ถูกสังหารแม้ว่าจะพกอาวุธปืนหรือมีบอดี้การ์ดพกอาวุธคอยติดตาม"

โรวีนา ปาราน ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NUJP)

โรวีนา ปาราน ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NUJP) เห็นด้วยว่านักข่าวไม่ใช่คนที่ควรพกพาอาวุธปืน และการพกพาอาวุธปืนอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บแทนที่จะเป็นการป้องกันตัว "คุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ (ด้านการใช้อาวุธปืน) คุณไม่ได้ถูกฝึกฝนให้ยิงปืน"

"ผมเป็นคนที่ไม่สนับสนุนให้นักข่าวพกปืนอยู่เสมอมา" บาตาริโอกล่าวยืนยัน "อย่างไรก็ตามผมจะไม่ห้ามนักข่าวถ้าหากพวกเขาจะติดอาวุธให้ตัวเอง หรือคิดว่าการติดอาวุธจะทำให้ตัวเองหลีกเลี่ยงจากการถูกโจมตีได้โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาถูกข่มขู่เอาชีวิต" เขาอธิบาย

ชิโน แกสตัน นักข่าววิทยุกล่าวให้สัมภาษณ์ในกรุงมะนิลาว่าการพกปืนไม่ใช่เรื่องในเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพ "มันเป็นทางเลือกส่วนบุคคล ผมเลือกที่จะพกปืนในเมโทรมะนิลาได้ถ้าหากผมต้องการ เช่นเดียวกับที่นักข่าวในต่างจังหวัดสามารถพกปืนได้ ... ถ้าพวกเขาตกอยู่ภายใต้การคุกคาม"

แกสตันบอกอีกว่า "มันเป็นทางเลือกที่ควรจะให้นักข่าวแต่ละคนเป็นผู้ตัดสินใจเองและไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะบังคับหรือตั้งกฎว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกหลักจรรยาบรรณหรือไม่"

มีกฎหมายใหม่ถูกประกาศใช้ในปี 2557 อนุญาตให้นักข่าวพกพาอาวุธปืนที่จดทะเบียนออกไปภายนอกบ้านได้ กฎหมายดังกล่าวคือ 'กฎหมายแห่งสาธารณรัฐ 10591' (Republic Act 10591) ซึ่งระบุให้นักบวช ทนายความ พยาบาล แพทย์ นักบัญชี วิศวกร เป็น "กลุ่มคนที่เฉียดอันตรายเนื่องจากลักษณะของวิชาชีพ"

ในกฎหมายเดิมก่อนหน้านี้บุคคลที่อยู่ในภาคส่วนวิชาชีพดังกล่าวจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้เช่นเดียวกับพลเรือนคนอื่นว่าพวกเขา "ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจริง" ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้พกปืนได้

แต่กฎหมายใหม่ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำให้ปืนเข้าถึงง่ายขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่สนับสนุนกฎหมายนี้ก็โต้แย้งว่ามันจะทำให้พลเรือนสามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามได้

แกสตัน จากสื่อจีเอ็มเอเน็ตเวิร์กผู้ที่ทำข่าวในพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นประจำกล่าวว่า ในเมืองหลวงกับในชนบทให้ความสำคัญเรื่องการพกอาวุธปืนเพื่อป้องกันตัวต่างกัน

แกสตันบอกว่ามีนักข่าวในย่านใจกลางกรุงมะนิลาพกพาอาวุธปืนน้อยกว่านักข่าวในต่างจังหวัดเพราะว่าพวกเขาไม่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามแบบเดียวกับนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่เขตภาคใต้ เขาบอกอีกว่านักข่าวในเมืองหลวงได้รับข้อความในเชิงข่มขู่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่ไม่ค่อยถูกขู่ฆ่า

"(คนที่ถูกจ้างมาข่มขู่) จะทำรุนแรงถึงขนาดทำลายข้าวของในบ้านของคุณเพื่อทำให้คุณกลัว แต่ก็มีการขู่ฆ่าน้อยมากเพื่อเทียบกับคนที่อยู่ในภาคใต้" แกสตันอธิบาย เขาบอกอีกว่าการบังคับใช้กฎหมายในกรุงมะนิลาทำให้นักข่าวปลอดภัยขึ้นพอสมควร

สำหรับปารานแล้วมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอาวุธปืน คนที่เติบโตมาในต่างจังหวัดจะเห็นอาวุธปืนตั้งแต่เด็ก ทำให้เป็นเรื่องค่อนข้างง่ายที่นักข่าวจะติดอาวุธให้ตัวเอง

"ถ้าหากคุณไปในที่อย่างมินดาเนา มันเป็นเรื่องปกติมาก ธรรมดามาก สำหรับนักข่าวในท้องถิ่นที่จะพกปืนเมื่อเขารู้สึกถูกคุกคาม"

ไม่ว่าจะมีปืนหรือไม่ก็ตามสำหรับบาตาริโอแล้วการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดของนักข่าวคือการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบ

"ผมเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการป้องกันที่ดีที่สุดไม่ว่ากับนักข่าวคนใดก็ตามคือการรายงานข่าวด้วยความรับผิดชอบซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดของวิชาชีพ" บาตาริโออธิบาย "แน่นอน มันไม่ได้รับประกันการป้องกันได้เต็มร้อยแต่มันก็จะช่วยลดโอกาสที่นักข่าวจะตกเป็นเป้าหมายการคุกคามหรือการใช้ความรุนแรง" บาตาริโอกล่าวเสริม

รายชื่อของผู้เสียชีวิตถูกจารึกไว้ที่อนุสรณ์แห่งการสังหารหมู่ที่มากินดาเนา


วงจรแห่งการไม่ต้องรับผิด

การสังหารอย่างเลือดเย็นในจังหวัดมากินดาเนาซึ่งทำให้ชีวิตของคนทำงานสื่อผู้บริสุทธิ์หลายชีวิตต้องถูกพรากไปถือเป็นสิ่งที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ว่าเป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักข่าว ในการจัดอันดับประเทศที่มีการไม่ต้องรับผิดในปี 2557 ซึ่งจัดโดยองค์กรคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากอิรักและโซมาเลีย

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นองค์กรด้านสื่อจากนิวยอร์กระบุว่าตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2556 มีนักข่าวมากกว่า 50 ที่คนถูกสังหารแล้วคดียังไม่คลี่คลาย

ศูนย์เพื่อเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อในฟิลิปปินส์รายงานว่ามีนักข่าวมากกว่า 200 คนถูกฆาตกรรมทั่วฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟิลิปปินส์ฟื้นฟูเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว และมีเพียงแค่ 14 คดีเท่านั้นที่มีการตัดสินลงโทษ พวกเขาระบุอีกว่ามีเพียงคนติดอาวุธเท่านั้นที่ถูกพิพากษาลงโทษและไม่มีผู้บงการเบื้องหลังคนใดเลยที่ถูกพิพากษา

การก่ออาชญากรรมโดยไม่ได้รับการลงโทษส่งผลต่อการละเมิดสิทธิ์ตามกฎหมายของนักข่าว

โซนิโอ กล่าวว่าผู้บงการไม่กลัวที่จะสังหารนักข่าวเพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาจะหลบหนีจากความผิดได้ ในทางตรงกันข้าม หลังจากการสังหารหมู่ที่มากินดาเนาทำให้นักข่าวบางคนในพื้นที่ไม่กล้าทำประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขาน่าจะทำ

ชาร์ลี ซาเซดา จากองค์กรเครือข่ายงานข่าวด้านความขัดแย้งและสันติภาพอธิบายว่า "เมื่อนักข่าวคนอื่นถูกสังหารเพราะพวกเขาเปิดโปงประเด็นการคอร์รัปชั่น นักข่าวอื่นๆ จะเริ่มคิดทบทวนเกี่ยวกับการรายงานประเด็นเหล่านี้"

ในขณะที่การไม่ต้องรับผิดทำให้เกิดความกลัวในจิตใจของนักข่าว มันก็ยิ่งทำให้ผู้บงการมีความอุกอาจมากขึ้น

"เมื่อการกระทำผิดไม่ถูกลงโทษมันก็หมายความว่าคนที่กระทำผิดจะไม่รู้สึกสำนึกถ้าหากต้องกระทำผิดซ้ำ" บาตาริโอกล่าว

ประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน เคยให้คำมั่นไว้ว่าคนที่สังหารผู้สื่อข่าวจะถูกสั่งดำเนินคดีและถูกส่งเข้าคุก แต่ตัวเขาเองก็ยอมรับในการตอบข้อซักถามของนักข่าวเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า "ระบบยุติธรรมในปัจจุบันของพวกเราไม่มีมาตรฐานที่ดีในเรื่องความรวดเร็ว"

สำหรับปารานผู้เป็นประธาน NUJP เรื่องการไม่ต้องรับผิดที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ มีสาเหตุที่ซับซ้อน "อำนาจ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอำนาจ" ปารานกล่าวต่อกลุ่มนักข่าว "การไม่ต้องรับผิดจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากสถาบันต่างๆ ทำหน้าที่ ถ้าหากว่าคนที่อยู่ในอำนาจไม่ยอมปล่อยคนที่ก่ออาชญากรรมไว้"

"ถ้าหากคุณมีรัฐบาลที่สามารถปกป้องประชาชนของพวกเขาได้ คุณก็จะสามารถไปหาตำรวจเพื่อแจ้ง (เรื่องการคุกคาม) นั่นคือหน้าที่อันดับต้นๆ ที่รัฐบาลมีต่อประชาชน" ปารานชี้ให้เห็นในจุดนี้ "แต่เพราะว่าสิ่งที่พูดมามันทำไม่ได้ในที่นี้ คุณจึงต้องพึ่งพาตนเอง พึ่งพาเพื่อนร่วมงานคุณเพื่อช่วยปกป้องคุณ"

ปารานกล่าวว่านักข่าวในต่างจังหวัดมีโอกาสถูกโจมตีมากกว่าเพราะหลักนิติธรรมในเขตต่างจังหวัดอ่อนแอกว่าในเมืองหลวงคือกรุงมะนิลา ปารานกล่าวอีกว่า "ใครก็ตามที่อยู่ในอำนาจเปรียบได้กับพระราชา"

แต่เธอก็อธิบายว่าไม่เพียงแค่สื่อเท่านั้นที่ถูกโจมตี นักกิจกรรมและกลุ่มอื่นๆ ในสังคมเช่นทนายความหรือแม้แต่นักบวชที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อที่มากขึ้นก็ถูกดจมตีเช่นกัน "สิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งที่มาจากโครงการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากการสังหารนักข่าวคือ มีความสนใจต่อกรณีสังหารที่เกิดขึ้นในภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้นด้วย"


บทเรียนสำหรับพม่า

นักข่าวในพม่าต้องเผชิญกับการคุกคามในอีกรูปแบบหนึ่งเมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ ผู้ที่เขียนข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือกองทัพจะถูกสั่งจำคุกหรือถูกสั่งปรับ

ในเดือนตุลาคมมีนักข่าว 3 คนและผู้จัดพิมพ์ 2 คน ของ ไบมอนเตเนย์ (Bi Mon Te Nay) ถูกศาลย่างกุ้งสั่งจำคุก 2 ปีในข้อหาทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อเดือนที่แล้วรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารสั่งฟ้องคณะทำงาน 11 คนของสื่อ ทันดอว์สินท์ (Thandawsint) ด้วยกฎหมายใหม่เกี่ยวกับสื่อที่ผ่านการพิจารณาเมื่อเดือน เม.ย. ที่ระบุให้สั่งปรับผู้กระทำความผิดได้

ขณะเดียวกัน นักข่าว 4 คนและผู้บริหารของวารสาร ยูนิตี้ (Unity) ซึ่งเป็นสื่ออิสระถูกสั่งจำคุก 7 ปีหลังลดโทษแล้วจากข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางราชการ (Official Secrets Act. )

ในเดือนตุลาคมกองทัพพม่ารายงานว่านักข่าวอิสระ อ่อง จ่อ นาย  (Aung Kyaw Naing) ถูกสังหาร "ในขณะพยายามหลบหนี" จากการจับกุมของกองทัพ นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนบอกว่ากรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากองทัพมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดยนักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้มีการสืบสวนกรณีการสังหารอ่อง จ่อ นาย

กองทัพพม่าปกครองประเทศด้วยความโหดเหี้ยมมากว่า 5 ทศวรรษแล้วจนกระทั่งถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 แต่กระบวนการปฏิรูปการเมืองรวมถึงการลดความเข้มงวดต่อสื่อดูเหมือนจะถูกหยุดชะงักลง

เครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ 'ซีป้า' อธิบายว่าการสังหารนักข่าวอิสระถือเป็น "การทดสอบสามัญสำนึกความรับผิดชอบของกองทัพที่เป็นผู้กระทำเรื่องเหล่านี้ และเป็นการทดสอบความแน่วแน่ของรัฐบาลในการคุ้มครองผู้สื่อข่าว"

"เหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าตื่นตระหนกซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานในปีนี้ ... ชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพสื่อในประเทศมีอายุสั้น และจากที่ก่อนหน้านี้มีการกล่าวชมรัฐบาลอย่างมากในเรื่องการลดความเข้มงวดต่อสื่อก็ถือว่าด่วนชมเร็วเกินไป" สมาคมซีปาผู้ติดตามเรื่องสื่อที่มีฐานอยู่ในกรุงเทพกล่าวในแถลงการณ์

การจับกุมตัวและสังหารอ่องจ่อนาย ผู้ที่รายงานข่าวความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในพม่าทำให้เกิดความเป็นห่วงในด้านความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวที่เข้าไปในพื้นที่ขัดแย้ง

"มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยต่อนักข่าวพม่าโดยเฉพาะที่รายงานข่าวความขัดแย้ง" เนียนลินน์ (Nyan Lynn) บรรณาธิการของนิตยสารมาวคุน (Maw Kun) กล่าว "พวกเขาไม่ได้อยู่ภายใต้ภัยคุกคามมากเท่าที่นักข่าวฟิลิปปินส์เผชิญ แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย"

โกสานยูจ่อ (Ko San Yu Kyaw) บรรณาธิการจากวารสารมอร์เดนวีคลีย์เจอนัลกล่าวเพิ่มเติมว่า "พวกเราไม่รู้ว่าจะปกป้องตัวเองอย่างไร พวกเราจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนเคล็ดลับด้านความปลอดภัยในการรายงานข่าวในชีวิตประจำวันของพวกเรา ในพม่าหลังจากเกิดสิ่งที่เรียกกันว่าการปฎิรูป พวกเราก็รู้สึกว่ามีความไม่ปลอดภัยมากขึ้นในขณะที่พวกเรามีประเด็นให้ต้องทำข่าวมากขึ้นและต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น"

เมย์ติงยานเฮียน (May Thingyan Hein) ผู้บริหารสูงสุดของสำนักข่าวมยิต มาคา (Myit Makha) มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับคุณภาพการรายงานข่าวโดยรวมในประเทศพม่า "แม้ว่าพวกเราจะคิดว่าพวกเรารายงานข่าวอย่างมีจรรยาบรรณแล้วจะปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น"

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า "เมื่อพวกเราพยายามหาข่าวจากฝั่งรัฐบาลแล้วพบว่ามันเป็นเรื่องยากพวกเราจึงพยายามหาข้อมูลด้วยวิธีการใดก็ตามที่พวกเราจะทำได้ แต่ก็มีกฎหมายบางฉบับที่อาจจะทำให้เรามีปัญหาได้เช่นกฎหมายการดำเนินธุรกรรมอิเล็กโทรนิก กฎหมายความลับทางราชการก็ถือเป็นภัยคุกคามต่อผู้สื่อข่าวเช่นกัน"

 

*หมายเหตุ

บทความนี้ถูกผลิตขึ้นสำหรับ  Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) fellowship programปี 2014 เอียน คายน์ อู เป็นนักข่าวชาวพม่า ทำงานให้ Voice of America (VOA)  ภาคภาษาพม่า,และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับทุนในปี 2014 หัวข้อของปีนี้คือ การสนับสนุนความเข้าใจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดในการฆาตกรรมนักข่าวในฟิลิปปินส์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live