Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ประจิน ผุดไอเดีย ‘ไฮสปีดเทรน’ กทม.-พัทยา และ กทม.-หัวหิน

$
0
0

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ตั้งคณะกรรมการทำงานพิจารณาแนวทางลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-พัทยา-ระยอง และกทม.-หัวหิน คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้

3 มี.ค. 2558 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพมหานคร เชื่อมกับเมืองท่องเที่ยว จำนวน 2 เส้นทาง ประกอบด้วย สายกรุงเทพมหานคร-หัวหิน และกรุงเทพมหานคร-พัทยา-ระยอง ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินผลการศึกษาแล้ว แต่ให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากโครงการเดิมจะมีเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่นโยบายใหม่จะมีเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมได้สั่งการให้ สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบการลงทุนภายในปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพมหานคร-พัทยา-ระยอง จะแยกออกจากระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ที่รัฐบาลมีเป้าหมายจะลงทุนเพื่อเชื่อมระหว่าง 3 สนามบิน คือดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หลังจากที่จะนำมาพัฒนาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 รวมถึงจะเป็นคนละระบบกับรถไฟทางคู่ราง 1.435 เมตร หรือรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 873 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ต่างกัน คือรถไฟไทย-จีนจะขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั่วไปจากหนองคายมาที่มาบตาพุด ส่วนแอร์พอร์ตลิงก์จะเชื่อมการเดินทางจากในเมืองกับระหว่างสนามบิน ด้านรถไฟความเร็วสูงจะรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า พลอากาศเอกประจิน ได้ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ต้องเชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือ เพื่อพิจารณารูปแบบความร่วมมือด้วย ว่าในการดำเนินโครงการจะเป็นรูปแบบไหน เป็นความร่วมมือแบบรัฐและเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) การให้สัมปทาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในพีพีพี หรือเป็นความร่วมมือรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) แบบเดียวกับที่ไทยทำร่วมกับจีน ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ซึ่งต้องให้มีความชัดเจน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พม่าคุมตัวนักข่าวโพสต์ภาพล้อรัฐบาล-ทหาร

$
0
0

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าวเผย "อ่องเนเมียว" นักข่าวพม่าถูกตำรวจถูกจับกุม และกล่าวหาว่าโพสต์ภาพตัดต่อและข้อความเสียดสีเป็นภัย ขัดขวาง และก่อกวนรัฐบาล และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึงมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

3 มี.ค. 2558 - คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists: CPJ) เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนักข่าวในพม่าตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 ก.พ.) จากการโพสต์ภาพเสียดสีรัฐบาลพม่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนจะปล่อยตัวเขาโดยไม่แจ้งข้อหาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (2 มี.ค.)

อ่องเนเมียว ช่างภาพข่าวอิสระถูกจับกุมตัวที่บ้านของเขาในเมืองมงยวะโดยถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 1950 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าค้นบ้านของเขา โดยบอกตอนแรกว่าจะค้นยาเสพติด ก่อนที่ต่อมาจะยึดสมุดบันทึก แลปทอป แฟลชไดรฟ์ และอุปกรณ์โทรทัศน์วงจรปิด

"การควบคุมตัวอ่องเนเมียวโดยไม่มีหมายจับในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการส่งสัญญาณถึงนักข่าวทั้งหลายว่าพวกเขาอาจเป็นรายต่อไปหากยังวิจารณ์สถานการณ์ความมั่นคงที่ย่ำแย่ในพื้นที่ขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มในพม่า” ชอน คริสปิน ตัวแทน CPJ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวและว่า “เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเต็งเส่งหยุดการใช้กฎหมายความมั่นคงภายในในการคุกคามสื่อและเปิดให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากสองฝ่ายในพื้นที่ขัดแย้งอย่างอิสระ”

ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาดังกล่าวมาจากภาพที่อ่องเนเมียวโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเป็นภาพโปสเตอร์หนังเกี่ยวกับการต่อสู้ปี 1971 ระหว่างกบฏคอมมิวนิสต์ที่หนุนหลังโดยจีนและกองทัพพม่า โดยมีภาพผู้นำรัฐบาลพม่าปัจจุบันและภาพมินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ซ้อนขึ้นมาในลักษณะเสียดสี

ภาพดังกล่าวถูกโพสต์หลังจากมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่า “ทหารรับจ้างจีน” ให้ความช่วยเหลือกลุ่มกบฏชาติพันธุ์โกก้าง ใกล้ชายแดนร่วมของสองประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังการปะทะกันของกองกำลังสองฝ่าย ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 70 คน

อ่องเนเมียวถูกจับกุมจากการร้องเรียนของตำรวจสันติบาลไปยังสถานีตำรวจมงยวะโดยระบุว่า ภาพตัดต่อและข้อความเสียดสีเป็นภัย ขัดขวางและก่อกวนรัฐบาล ตำรวจยังจะแจ้งข้อหาเขาและบุคคลซึ่งไม่ระบุชื่อในข้อหาสมรู้ร่วมคิดตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี

งานวิจัยของ CPJ ระบุว่า นักข่าวมักตกเป็นเป้าในพื้นที่ขัดแย้งซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธในพม่า รวมถึงทางตะวันออกของรัฐฉานและทางเหนือของรัฐคะฉิ่น ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า อ่องจ่อนาย ผู้สื่อข่าวอิสระถูกยิงเสียชีวิตที่รัฐมอญเมื่อเดือนตุลาคม ขณะอยู่ในการควบคุมตัวของทหาร ผลชันสูตรศพพบว่าเขาอาจจะถูกซ้อมทรมานก่อนจะถูกสังหาร ทั้งนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารคนใดต้องรับผิดชอบต่อการตายครั้งนี้

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐศาสตร์ มช. ชี้เทคโนโลยี 4G ดันเศรษฐกิจโตมากกว่าแสนล้านต่อปี

$
0
0

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มช. เปิดผลการศึกษา ประเมินหากมีการใช้เทคโนโลยี 4G ในไทย จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อจีดีพีของประเทศในปี 58 คิดเป็นมูลค่า 168,136 ล้านบาท และในปี 59 คิดเป็นมูลค่า 265,274 ล้านบาท

3 มี.ค. 2558 ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลการศึกษาชี้ชัดว่า Mobile Broadband ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งจากการคำนวณผลประโยชน์สุทธิ พบว่าในปี พ.ศ. 2556 มีผลให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ของประเทศเพิ่มขึ้น 430,233 ล้านบาท ขณะที่หากใช้วิธีการคำนวณผลกระทบโดยแยกเป็นรายสาขา พบว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากผลรวมของอุตสาหกรรมรายสาขาและจากมิติการวิเคราะห์รอบด้านมีมูลค่าถึง 464,291 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้คิดเป็นผลประโยชน์ทางตรงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประมาณ 59,875 ล้านบาท

ในส่วนการประเมินผลกระทบของเทคโนโลยี 4G ที่มีต่อเศรษฐกิจ นักวิชาการ มช. ระบุว่า ทำได้เพียงการศึกษาจากการเทียบเคียงตัวเลขและกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยี 4G แล้ว โดยเบื้องต้นประเมินว่า หากมีการนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ให้บริการในประเทศไทย จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อจีดีพีของประเทศในปี พ.ศ. 2558 คิดเป็นมูลค่า 168,136 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นมูลค่า 265,274 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุด้วยว่า Mobile Broadband เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไปในเกือบทุกด้าน ซึ่งการขาด Mobile Broadband ไปจากสังคมจะนำมาซึ่งความโกลาหลในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งเกิดการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงถึงแผนการดำเนินการปี 2558 โดยประเด็นหนึ่งคือ การเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (ของ AIS เดิม) และ 1800 MHz (ของ AIS และ TrueMove เดิม) ซึ่งตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลให้ทันก่อนคลื่น 900 MHz ของ AIS จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ โดยก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ระงับการประมูลคลื่นเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ 17 ก.ค. 2557

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ทดลองขับขี่จักรยานยนต์ก่อนร่วมประชุม ครม.

$
0
0

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมหน่วยบริการตรวจสภาพรถและเครื่องใช้ไฟฟ้าในทำเนียบรัฐบาล ก่อนทดลองขี่จักรยานยนต์ก่อนเข้าประชุม ครม. เผยสมัยเด็กๆ ชอบขับมอเตอร์ไซต์ และต้องระมัดระวังควรใส่หมวกกันน็อกด้วย

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย

3 มี.ค. 2558 - เว็บไซต์รัฐบาลไทยรายงานว่า ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง นำคณะแกนนำเครือข่ายสตรี 4 ภาค เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายสตรี เนื่องในวันสตรีสากล พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมหน่วยบริการตรวจสภาพรถและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าของนักเรียนอาชีวะ และยังทดลองขับขี่รถจักรยานยนต์ ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ด้านหน้าตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ในรายงานของ ฐานเศรษฐกิจพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ชอบขับรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ชอบเครื่องยนต์ "สมัยเด็กพ่ออยากให้เรียนวิศวะ ผมดันอยากเป็นทหาร เลยต้องมาอยู่กับพวกเรานี่ไง เขาเรียกว่าคู่กรรม แต่ต้องระวังนะ ใส่หมวกกันน็อกด้วย ตอนเช้าไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก เคยขี่สมัยเด็ก อยู่ ร.21 รอ. (กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์) ก็ขี่ อยู่ชายแดนก็ขี่ ก็กลัวเหมือนกันนะ เดี๋ยวล้มไปแล้วมีคนถ่ายรูปไว้ หัวเราะกันตายเลย"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ ครม. ปรับเบี้ยเลี้ยงทหารปฏิบัติราชการความมั่นคง-จาก 94 บาทเป็น 200 บาท

$
0
0

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กลาโหมเสนอปรับเบี้ยเลี้ยงทหารเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยกำลังพลที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ปกติได้เพิ่ม 28% พลทหารถึงสิบตรี เพิ่มจาก 75 บาทเป็น 96 บาท ปฏิบัติราชการนอกที่ตั้ง เพิ่มจาก 94 บาทเป็น 120 บาท ส่วนกำลังพลปฏิบัติราชการพิเศษเพื่อความมั่นคงเพิ่มจาก 94 บาท เป็น 200 บาท มีผล 1 ต.ค. นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

3 มี.ค. 2558 - ตามที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นั้น (อ่านเอกสารที่เกี่ยวข้อง)ทั้งนี้เรื่องหนึ่งที่มีการพิจารณาได้แก่ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหม (กห.) ปรับเพิ่มอัตราเบี้ยเลี้ยงทหาร เบี้ยเลี้ยงผู้ต้องขังหรือผู้ถูกควบคุมตัว และค่าอาหารผู้เจ็บป่วย เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 28 เว้นอัตราเบี้ยเลี้ยงทหารกองประจำการ  กรณีไปปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันและปราบปรามนอกที่ตั้งปกติ หรือไปปฏิบัติราชการพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ให้ได้รับอัตราเบี้ยเลี้ยงเพิ่มขึ้น จากเดิมวันละ 94 บาท เป็นวันละ 200 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยมีรายละเอียดการปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงดังนี้

000

สาระสำคัญของเรื่อง

กห. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้อัตราเบี้ยเลี้ยงทหาร เบี้ยเลี้ยงผู้ต้องขังหรือผู้ถูกควบคุมตัว และค่าอาหารผู้เจ็บป่วย มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงสมควรปรับอัตราเพิ่มขึ้นดังนี้

1. กลุ่มที่ 1 กำลังพลที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์ปกติให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (ร้อยละ 18) รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของค่าดำเนินการและการจัดหาในท้องถิ่น (ร้อยละ 10) ดังนี้

1.1 อัตราเบี้ยเลี้ยงสำหรับพลทหาร หรือสิบตรี จ่าตรี และจ่าอากาศตรีกองประจำการ และนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะบรรจุเป็นนายทหารประทวน

(1) เบี้ยเลี้ยงประจำ จาก 75 บาทต่อวัน เป็น 96 บาทต่อวัน
(2) เบี้ยเลี้ยงกรณีเดินทางไปราชการนอกที่ตั้งปกติจาก 94 บาทต่อวัน เป็น 120 บาทต่อวัน

1.2 อัตราเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับนักเรียนช่างฝีมือทหารและนักเรียนช่างกรมอู่ทหารเรือ จาก 87 บาทต่อวัน เป็น 111 บาทต่อวัน

1.3 อัตราเบี้ยเลี้ยงประจำสำหรับนักเรียนทหาร ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะบรรจุเป็นนายทหารสัญญาบัตร อัตราเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และอัตราเบี้ยเลี้ยงสำหรับนักเรียนเตรียมทหาร จาก 106 บาทต่อวัน เป็น 120 บาทต่อวัน

1.4 อัตราเบี้ยเลี้ยงผู้ต้องขังและผู้ถูกควบคุมตัว จาก 52 บาทต่อวัน เป็น 67 บาทต่อวัน

1.5 ค่าอาหารผู้เจ็บป่วย จาก 75 บาทต่อวัน เป็น 96 บาทต่อวัน

2. กลุ่มที่ 2 กำลังพลที่ปฏิบัติงานนอกที่ตั้งปกติตามแผนงานป้องกันประเทศ ได้แก่ เบี้ยเลี้ยงทหารกองประจำการ กรณีไปปฏิบัติราชการเพื่อป้องกันและปราบปรามนอกที่ตั้งปกติหรือไปปฏิบัติราชการพิเศษเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ จาก 94 บาทต่อวัน เป็น 200 บาทต่อวัน โดยเปรียบเทียบกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของข้าราชการทหาร ซึ่งกำหนดอัตราเบี้ยเลี้ยงข้าราชการทหารซึ่งมียศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก อัตราเงินเดือน พันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษขึ้นไป 270 บาทต่อวัน และข้าราชการทหารซึ่งมียศพันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกลงมา 240 บาทต่อวัน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ภาวะการทำงานประชากรไทย ม.ค. 58 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน

$
0
0

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่าไทยมีกำลังแรงงาน 38.01 ล้านคน ผู้ว่างงานเดือนมกราคม 4.04 แสนคน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนมีผู้ว่างงาน 3.61 แสนคน

3 มี.ค. 2558 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (3 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ. 2558 โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 97,860 คน ซึ่งขนาดตัวอย่างดังกล่าวนำเสนอข้อมูลในระดับ ภาค และยอดรวมทั้งประเทศ  สำหรับแนวคิดและคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตามข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นมาตรฐานทางสถิติที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงาน การว่างงาน และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของประชากร ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างประเทศ

สำหรับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2558 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน (จาก 3.61 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557  หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.84 แสนคน (จาก 2.20 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้

1. ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.01 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.47 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน  มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 4.2 แสนคน (จาก 38.43 ล้านคน เป็น 38.01 ล้านคน)

2. ผู้มีงานทำ

ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 4.3 แสนคน (จาก 37.79   ล้านคน เป็น 37.36 ล้านคน) หรือลดลงร้อยละ 1.1 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่างๆ ได้ดังนี้

2.1 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น  ได้แก่ สาขาการผลิต 3.5 แสนคน (จาก 6.30 ล้านคน เป็น 6.65   ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 1.0 แสนคน (จาก 2.18 ล้านคน เป็น 2.28 ล้านคน) สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน   (จาก 0.17 ล้านคน เป็น 0.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 3.0 หมื่นคน (จาก 0.64 ล้านคน เป็น 0.67 ล้านคน)

2.2 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ ผู้ทำงานสาขาภาคเกษตรกรรม 4.8 แสนคน (จาก 11.71 ล้านคน เป็น 11.23 ล้านคน) สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 4.2 แสนคน (จาก 6.71 ล้านคน เป็น 6.29 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 7.0 หมื่นคน (จาก 1.28 ล้านคน เป็น 1.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 6.0 หมื่นคน (จาก 0.59 ล้านคน เป็น 0.53 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 5.0 หมื่นคน (จาก 2.69 ล้านคน เป็น 2.64 ล้านคน)

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 4.04 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม (เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557) ประกอบด้วย  ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.64 แสนคน  อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.40 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคบริการและการค้า 1.19 แสนคน ภาคการผลิต 7.8 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 4.3   หมื่นคน

3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.44 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.5 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.0 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน  

3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 1.41 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.7 หมื่นคน ภาคเหนือ 6.2 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 5.8 หมื่นคน และภาคใต้ 5.6 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคกลางมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.2 รองลงมาเป็น กรุงเทพมหานครและภาคใต้ มีอัตราการว่างงานเท่ากันคือ ร้อยละ 1.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.0  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.9

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปน.ร่อนหนังสือเบรค กอ.รมน.-ป่าไม้โคราช-ออป.ไล่รื้อชุมชน

$
0
0

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ส่งหนังสือขอความร่วมมือส่วนราชการชะลอการดำเนินการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ชุมชนเพิ่มทรัพย์ และโคกหนองสิม ให้พิจารณาแผนจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

3 มี.ค.2558 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) แจ้งหน่วยงานรัฐ ขอความร่วมมือชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุขของประชาชน กรณีคำสั่งไล่รื้อชุมชนโคกยาว จ.ชัยภูมิ กรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์  จ.สุราษฎร์ธานี และกรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม จ.ร้อยเอ็ด และให้พิจารณาแผนจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยกล่าวถึงกรณีที่ได้รับการประสานงานจากนายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ขอเข้าพบรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการไล่รื้อชุมชนในพื้นที่ในอีสานและภาคใต้ ได้แก่ 1. ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 2. ชุมชนเพิ่มทรัพย์ ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี 3. ปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม ต.โพนสูง อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด และหารือเรื่องโครงการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน

ในหนังสือระบุถึง การประชุมปรึกษาหารือร่วมกับ ขปส. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ที่ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เดิม โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้

กรณีปัญหาชุมชนโคกยาว ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจาก ขปส. แจ้งว่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) มีคำสั่งให้ภาคประชาชนออกจากชุมชนภายใน 15 วัน ซึ่งภาคประชาชนได้ยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ตามหนังสือที่ นร.0105/04/1701 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ขอความร่วมมือชะลอการดำเนินการใดๆที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานโครงการโฉนดชุมชน

กรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์  และกรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม ที่ประชุมได้พิจารณากรณีปัญหาเรื่องด่วน และปัญหาความเดือดร้อนกรณีอื่นๆ ของ ขปส. แล้วมีมติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามหนังสือที่ นร.0105.04/1697 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ดังนี้

กรณีชุมชนเพิ่มทรัพย์  เนื่องจาก ขปส. แจ้งว่า ปัจจุบันสมาชิกไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัย ดูแล และเก็บผลอาสินในพื้นที่ได้ จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยอนุญาตให้ประชาชน เข้าไปดูแลและเก็บผลอาสินในพื้นที่ได้ในช่วงเวลากลางวัน

และกรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม เนื่องจาก ขปส. แจ้งว่า วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง มีคำสั่งให้ภาคประชาชนออกจากที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประสานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจังหวัดร้อยเอ็ด ขอความร่วมมือชะลอการดำเนินการใดๆที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

สำหรับการมายื่นหนังสือเพื่อขอให้พิจารณาสั่งการเพื่อยกเลิกหนังสือคำสั่งบังคับให้ออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุดนั้น ทางชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว ร่วมยื่นหนังสือขอให้พิจารณารับรองแผนการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยชุมชน แนบไปด้วย ในที่ประชุมดังกล่าว ได้พิจารณากรณีปัญหาชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ แล้วเห็นว่า (ตามหนังสือ ที่ นร.0105.04/1700 ลงวันที่ 25 ก.พ.58) เนื่องจากขณะนี้ชุมชนบ่อแก้ว อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกับขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) และ ขปส. จึงมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นำส่งข้อมูลโครงการฯ ดังกล่าว ให้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พิจารณาต่อไป

สืบเนื่องจาก วันที่ 6 ก.พ. 58  เจ้าหน้าที่สนธิกองกำลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ จำนวนประมาณ 100 นาย เข้ามาปิดป้ายหนังสือประกาศ โดยคำสั่งที่ ทส.1621.4/2404 ลงวันที่ 26 ม.ค.2558 เรื่อง สั่งให้ผู้ถือครองพื้นที่ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ หรืองดเว้นการกระทำใดๆ หรือรื้อถอน หรือแก้ไข ทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และให้รื้อถอนสิ่งปลุกสร้าง พืชผลอาสินทั้งหมดออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่มีคำสั่ง ทั้งนี้ผู้เดือดร้อนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ภายใน 15  วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง

วันที่ 16 ก.พ.58 ผู้เดือดร้อนได้ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือต่อ 8 หน่วยงานภาครัฐ โดยเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ(ศูนย์ดำรงธรรม) เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย)โดยทาง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย (พ.ต.สุรขัย ชอบยิ่ง) เป็นตัวแทนรับหนังสือ และยื่นหนังสือต่อผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 โดยทางเลขาฯกองอำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 8 เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

วันที่ 17 ก.พ.58 เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กสม.) และที่สำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยคุณ ยู คาโนะสุเอะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน  เป็นตัวแทนรับหนังสือ และที่กระทรวงทรัพยากรฯ โดย นายเกรียงไกร นวนมะณี สร.ทส.(เลขาฯสำนักงานรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติฯ) เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นอกจากนี้ได้เดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา)  และยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  (หม่อมหลวงปนัดดา ดิสกุล) โดยครั้งนี้ปลัดสำนักสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

สำหรับการยื่นที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากเพื่อให้ยกเลิกคำสั่งไล่รื้อชุมชนโคกยาว ได้มีการยื่นหนังสือเพิ่มเติมเพื่อติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กรณีในพื้นที่ชุมชนคลองไทรพัฒนา ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี กรณีนายใช่ บุญทองเล็ก อายุ 61 ปี สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ถูกยิงเสียชีวิต โดยตัวแทน สกต.ยื่นหนังสือ เรียกร้องให้หาคนร้าย และช่วยเหลือครอบครัวที่เสียชีวิต รวมทั้งกรณีโคกหนองสิม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากวันที่ 12 ก.พ. 2558  เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้ามาในพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกหนองสิม ให้ชาวบ้านไปลงชื่อที่ อบต.โพนทอง เพื่อยืนยันถึงการยอมออกจากพื้นที่ภายในวันศุกร์ที่ 13 ก.พ.58




 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติ ครม. ‘ม.เกษตร-สวนดุสิต’ ออกนอกระบบ ‘ศิลปากร-ธรรมศาสตร์-ขอนแก่น’ จ่อคิว

$
0
0

3 มี.ค.2558 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังจากนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และขอนแก่นจ่อคิวเข้า ครม. ขณะที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ระหว่างการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เพื่อบรรจุเป็นวาระในการประชุม ครม. แต่ไม่ทราบว่าเรื่องจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เมื่อใด ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่ระหว่างการพิจารณาของรองนายกรัฐมนตรี

รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งควบรวมระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกัน โดยมีสถานะนิติบุคคล และเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)   

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะสมาชิก สนช. กล่าวว่า จากการหารือในเบื้องต้น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่จะมาดูร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยนอกระบบแต่ละฉบับ จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ โดย กมธ.การศึกษาและกีฬา สนช. จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ และอาจมี กมธ.ชุดอื่นมาร่วมด้วย โดยในส่วนของฝ่ายรัฐบาล จะประกอบด้วยผู้แทนจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าการพิจารณาร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ควรพิจารณาโดย กมธ. ชุดเดียวกันหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นคิดว่าน่าจะเป็นชุดเดียวกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.นอกระบบเป็นกฎหมายลักษณะเดียวกัน และไม่ซับซ้อน  แต่ทางรัฐบาลไม่เห็นด้วย เพราะถ้าเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด กมธ.จะทำงานหนักมาก ดังนั้นจึงอาจต้องตั้ง กมธ. ขึ้น 2-3 ชุดเพื่อมาดูแลเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความรอบคอบ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิจารณ์ Love En Route หนังสั้นส่งเสริมท่องเที่ยวไทย หวั่นสร้างความเข้าใจผิดเรื่องการสต็อกกิ้ง

$
0
0

องค์กรที่ทำประเด็นเรื่องการละเมิดทางดิจิทัลในอังกฤษวิจารณ์หนังสั้นส่งเสริมท่องเที่ยวไทย "Love En Route" ไร้เดียงสาและอาจสร้างความเข้าใจผิดเรื่องการเฝ้าติดตาม (stalking)


3 มี.ค. 2558  องค์กรที่ทำประเด็นเรื่องการละเมิดทางดิจิทัลในอังกฤษวิจารณ์ภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย เรื่อง "Love En Route" (เส้นทางรัก) ไร้เดียงสาและอาจสร้างความเข้าใจผิดเรื่องการเฝ้าติดตาม หรือ stalking

ภาพยนตร์สั้นดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักนายกรัฐมนตรีของไทย มีความยาว 7 และ 16 นาที โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับหนุ่มชาวอเมริกันที่เดินทางมาเมืองไทยเพื่อตามหาหญิงเจ้าของแอคเคาท์ Love En Route ในอินสตาแกรม มีฉากหลังเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย ตรัง และกรุงเทพมหานคร

"การเดินทางครั้งนี้ ผมไม่ได้เดินทางตามคำแนะนำของไกด์บุ๊คเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ผมเดินทางตามรอยรูปภาพในอินสตาแกรมที่มีชื่อว่าเลิฟอองรูท สิ่งที่ผมอยากทำในตอนนี้ ก็คือการตามหาผู้หญิงในภาพนี้ หลังจากที่ได้เดินทางตามรอยเธอมาถึงขนาดนี้ มันคงจะดี ถ้าเราทั้งคู่พบกัน และเป็นเพื่อนกัน" ชายหนุ่มในหนังเล่า

และเมื่อเขาพบหญิงสาวคนดังกล่าว เขาถามว่าเธอคือ Love En Route หรือไม่ แม้ว่าเธอจะปฏิเสธแล้ว แต่เขาก็ยังบอกว่าเขาจำแว่นตาและป้ายที่กระเป๋าของเธอได้ ทำให้เธอปฏิเสธอีกครั้งว่า แว่นตานั้นหาได้ทั่วไปและป้ายนั้นก็มีคนให้มา อย่างไรก็ตาม ต่อมา ทั้งสองได้เป็นเพื่อนกันและได้ท่องเที่ยวไทยไปด้วยกัน ก่อนจะจบลงที่หญิงสาวเขียนลงอินสตาแกรมว่า "ฉันออกเดินทางเพื่อจะจำคนๆ หนึ่ง แต่การเดินทางทำให้ฉันได้พบคนอีกคนหนึ่งที่น่าจดจำ คนที่ฉันคิดว่าเขาอาจจะเป็นคนที่ใช่"

เจนนิเฟอร์ เพอรี่ ผู้บริหารมูลนิธิ Digital-Trust ซึ่งเป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดทางดิจิทัลในอังกฤษ วิจารณ์ถึงความใสซื่อของคนทำวิดีโอที่นำเสนอภาพของการเฝ้าติดตาม (stalking) อย่างมีประสิทธิภาพ

เธอชี้ว่า มีแอปพลิเคชันมากมายที่ถูกปรับใช้ในการทำให้คนได้พบกัน แต่ผู้สร้างก็ไม่ควรคิดใช้มันในทางที่ผิด พร้อมระบุว่า เขาไม่ตระหนักเลยว่าเขากำลังป้อนความเชื่อที่ว่ามันโอเคถ้าจะติดตามใครสักคนแม้ว่าเขาจะปฏิเสธแล้ว

เธอกล่าวว่า ชายในวิดีโอพยายามที่จะหาคนรักทางออนไลน์ด้วยการติดตามรอยบุคคลนั้น หลายครั้งผลมันอาจจะออกมาดี แต่ในโลกที่เธอรับมืออยู่ มีคนน่ากลัวและอันตรายมากกว่าที่คิด

"ในความเป็นจริง คนที่รุนแรงและน่ากลัวมาในรูปแบบของคนที่น่าหลงใหลมาก" เพอรี่กล่าวและเสริมด้วยว่า วิดีโอสะท้อนทัศนคติที่ไร้เดียงสาต่อเรื่องความสัมพันธ์และมันอาจจะมีตอนจบที่ต่างออกไปหากมันสะท้อนความเป็นจริง

"มันเป็นมุมมองที่ไร้เดียงสา สะท้อนว่าผู้หญิงอยากจะถูกติดตาม และตราบเท่าที่คุณตื้อและมีเสน่ห์ คุณก็จะเปลี่ยนใจเธอและลงเอยกับเธอในที่สุด เราเห็นเรื่องเหล่านี้ได้ในหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า ซึ่งมันเป็นความเชื่อที่อันตราย" เพอรี่กล่าว


ภาพยนตร์ "เส้นทางรัก"

 

 

เรียบเรียงจาก

Thailand tourism video Love En Route criticised for featuring Instagram stalker
http://www.independent.co.uk/travel/asia/thailand-tourism-video-love-en-route-criticised-for-featuring-instagram-stalker-10075751.html
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พัฒนาแว่นตาแสงอินฟราเรด ป้องกันถูกถ่ายภาพ-ระบบจดจำใบหน้าในเน็ต

$
0
0

บริษัทแอนตี้ไวรัส เอวีจี นำเสนอตัวอย่างแว่นตาแสงอินฟราเรดที่จะสามารถป้องกันระบบการจดจำใบหน้าในอินเทอร์เน็ตได้ ระบุแม้อยู่ในขั้นทดลองและยังมีข้อจำกัดการใช้งาน แต่หวังว่าจะช่วยสร้างการถกเถียงเรื่องการลุกล้ำความเป็นส่วนตัวด้วยเทคโนโลยี

3 มี.ค. 2558 ในขณะที่หลายคนรู้สึกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันเริ่มล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวมากขึ้นทั้งระบบจดจำหน้าตาในโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงวัฒนธรรมแบบ "มนุษย์กล้อง" ทำให้บริษัทเอวีจีผู้ผลิตซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัสนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการถูกถ่ายภาพใบหน้าได้

บริษัท เอวีจี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ และมีผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์มากกว่า 188 ล้านราย ระบุว่าทีมฝ่ายนวัตกรรมของบริษัทได้พัฒนาแว่นตาที่จะสามารถต่อต้านการถูกถ่ายภาพและการจดจำใบหน้าได้ โดยแว่นตาดังกล่าวจะใช้การติดหลอดแอลอีดีฉายแสงอินฟราเรดในระดับที่สายตามนุษย์มองไม่เห็นแต่จะส่งผลต่อกล้องถ่ายรูปทำให้เห็นหน้าได้ชัดเจนน้อยลงเพราะมีแสงจากแว่นตา

ในเว็บไซต์ของเอวีจีระบุว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้เกิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันโครงการข้อมูลไอทีขนาดใหญ่ เช่น โครงการสตรีทวิวของกูเกิล อาจจะทำให้ใบหน้าของพวกเราปรากฏในพื้นที่สาธารณะทางอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงระบบการจดจำใบหน้าเช่น โปรแกรมดีพเฟซ ของเฟซบุ๊ก ที่ทำให้บรรษัทเอกชนมีอำนาจในการจดจำและเชื่อมโยงใบหน้าของพวกเราได้

นิตยสารป็อบปูลาร์ไซเอนซ์ ระบุว่าเคยมีแนวคิดแบบเดียวกันเกิดขึ้นมาก่อนโดยนักพัฒนา อิซาโอะ อิจิเซน จากสถาบันสารสนเทศแห่งชาติของญี่ปุ่น แต่รูปลักษณ์ของมันดูไม่ใกล้เคียงกับแว่นตาทั่วไปในชีวิตประจำวัน


อิซาโอะ อิจิเซน จากสถาบันสารสนเทศแห่งชาติของญี่ปุ่นแนะนำแว่นป้องกันระบบจดจำใบหน้า
เครดิต : DigInfo TV

อิจิเซนกล่าวไว้ในสื่อเมื่อปี 2556 ว่า การสวมแว่นตาดำไม่เพียงพอต่อการป้องกันโปรแกรมจดจำใบหน้าได้ เพราะโปรแกรมจดจำใบหน้าจะบันทึกข้อมูลของจมูกด้วย แต่เทคโนโลยีการฉายแสงอินฟราเรดนี้จะรบกวนระบบจดจำใบหน้าเนื่องจากทำให้ความเข้มของแสงในส่วนดวงตาและจมูกมีความต่างกัน อย่างไรก็ตามระบบอินฟราเรดดังกล่าวจะยังมีข้อเสีย ถ้าหากเจออุปกรณ์ถ่ายภาพที่สามารถกรองรังสีอินฟราเรดได้

ทั้งนี้ แว่นตาแสงอินฟราเรดดังกล่าวยังอยู่ในระดับการทดลองและมีการนำเสนอตัวอย่างในงานประชุมทางเทคโนโลยีระดับโลกที่บาร์เซโลนาเท่านั้น ทางเอวีจีระบุว่าแว่นตาดังกล่าวอาจจะยังไม่มีการวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นการกระตุ้นให้มีการสนทนากันในเรื่องความพยายามลุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเทคโนโลยีไอทีในปัจจุบันและจะมีการรับมือหรือตอบโต้สิ่งเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีได้อย่างไร

 


เรียบเรียงจาก

THESE GLASSES BLOCK CAMERAS FROM RECOGNIZING YOUR FACE, Popular Science, 03-03-2015
http://www.popsci.com/concept-glasses-stop-cameras-recognizing-your-face

AVG Reveals Invisibility Glasses at Pepcom Barcelona, AVG, 01-03-2015
http://now.avg.com/avg-reveals-invisibility-glasses-at-pepcom-barcelona/

Privacy visor glasses jam facial recognition systems to protect your privacy, DigInfo.tv, 19-03-2013
http://www.diginfo.tv/v/13-0050-r-en.php

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานกุมภาพันธ์ 2015

$
0
0

แม่บ้านในหน่วยงานรัฐของกรีซเฮ รัฐบาลชุดใหม่ประกาศจ้างกลับเข้าทำงานอีกครั้ง หลังรัฐบาลชุดก่อนเลิกจ้าง

1 ก.พ. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเอเธนส์ประเทศกรีซว่าเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดของรัฐบาลที่ถูกปลดออกจากงานในกรีซออกมาฉลองเมื่อวันพุธหลังจากทราบข่าวว่าพวกเธากำลังจะได้รับกลับเข้าทำงานเหมือนเดิมโดยเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดเกือบ600 คนส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงชุมนุมกันด้านนอกกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจตั้งแต่พวกเธอได้รับแจ้งว่าถูกเลิกจ้างในปี2556 ซึ่งตั้งแต่นั้นมาพวกเธอก็ได้ตั้งแคมป์ปักหลักประท้วงกันอยู่ด้านนอกกระทรวงเศรษฐกิจขณะที่คำอุทธรณ์ของพวกเธอที่ระบุว่าการถูกเลิกจ้างดังกล่าวไม่ยุติธรรม ไปถึงศาลสูงสุดแล้วแต่พวกเธอก็แพ้คดี

ผู้หญิงเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำงานภายในอาคารของกระทรวงต่างๆ แต่การสูญเสียงานเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเลิกจ้างตามคำมั่นสัญญาที่รัฐบาลกรีซชุดก่อนให้คำมั่นไว้กับเจ้าหนี้ระหว่างประเทศซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเงินกู้จำนวนมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

พวกเธอกล่าวเมื่อวันพุธว่าดีใจมากที่ได้ทราบว่าพวกเธอจะได้รับกลับเข้าไปทำงานเหมือนเดิมซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวก็หมายถึงบ้านและครอบครัวก็ยินดีด้วยและพวกเราก็มีความฝันอีกครั้ง

แรงงานที่ปักหลักประท้วงอยู่ด้านนอกกระทรวงการคลังซึ่งเมื่อนายยานิส วารูฟาคิสรัฐมนตรีคลังคนใหม่ เดินทางมาถึงเขาก็ถูกจูบและได้รับเสียงปรบมือระหว่างทางที่เดินเข้าอาคารของกระทรวงซึ่งถูกรุมล้อมด้วยผู้ประท้วงและนักข่าว

นายวารูฟาคิสกล่าวกับผู้สื่อข่าวขณะเข้ารับตำแหน่งต่อจากศาสตราจารย์กีคัสฮาร์ดูเวลิส ว่าจะมีการปรับโครงสร้างที่กระทรวงการคลังทันทีซึ่งหนึ่งในการเคลื่อนไหวแรกจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่กระทรวงทันทีตัวอย่างเช่นจำนวนที่ปรึกษาและการลดค่าใช้จ่ายนี้จะนำเงินที่เหลือไปจ้างเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดกลับมาทำงานที่กระทรวงมันจะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง

สหภาพแรงงานน้ำมันสหรัฐสไตรค์วันที่ 2 หวังฝ่ายบริหารทำสัญญาฉบับใหม่ทั่วประเทศ

2 ก.พ. 2015 คนงานของสหภาพแรงงานในโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานเคมีภัณฑ์ 9 แห่ง ทำการผละงานประท้วงเป็นวันที่ 2 ในวันนี้ ขณะที่ต้องการทำสัญญาฉบับใหม่ทั่วประเทศกับบรรดาบริษัทน้ำมันซึ่งจะครอบคลุมถึงพนักงานในโรงงานน้ำมันถึง 63 แห่ง

การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานและฝ่ายบริหารของบริษัทน้ำมันไม่มีความคืบหน้า ท่ามกลางการดิ่งลงของราคาน้ำมันถึงเกือบ 60% นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้บริษัทน้ำมันปรับลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำมัน

การประท้วงดังกล่าวถือเป็นการแสดงออกครั้งแรกเพื่อสนับสนุนการทำสัญญาทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี 1980 โดยพุ่งเป้าไปยังโรงงานน้ำมันที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวมกัน 10%

บริษัทรอยัล ดัทช์ เชลล์ ประกาศตัดงบรายจ่ายด้านการลงทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า หลังเผยกำไรลดลงจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ เชลล์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป แถลงว่า กำไรดิ่งลง 57% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว สู่ระดับ 773 ล้านดอลลาร์ อันเนื่องจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน

พานาโซนิค บริษัทยักษ์ใหญ่อิเล็กทรอนิกส์เตรียมยุบโรงงานในจีนและเม็กซิโก

3 ก.พ. 2015 หนังสือพิมพ์ ‘นิกเกอิ’ ของญี่ปุ่น รายงานข่าวว่า พานาโซนิค บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ จะทยอยปิดโรงงานในประเทศจีน และเม็กซิโก หลังจากประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากยอดขายโทรทัศน์ในอเมริกาเหนือ และจีนที่ลดลงอย่างมาก

ซึ่งการปิดโรงงานในทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว จะส่งผลให้ พานาโซนิค มีกำลังการผลิตโทรทัศน์ในต่างประเทศลดลงถึง 700,000 เครื่องต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตโทรทัศน์ทั้งหมดทั่วโลกของบริษัท

โดยที่มณฑล ซานตง ในจีน พานาโซนิค ได้ยุติการผลิตในโรงงานของบริษัทร่วมทุนไปเมื่อปลายเดือนมกราคม และมีแผนสร้างสภาพคล่อง ด้วยการเลิกจ้างพนักงานอีกหลายร้อยอัตรา โดยจะจ้างบริษัทนอกผลิตโทรทัศน์แทนปีละ 200,000 เครื่อง

ขณะที่ภายในปลายปีนี้ พานาโซนิค จะขายโรงงานในเม็กซิโก ที่ผลิตโทรทัศน์ได้ปีละ 500,000 เครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ และจะหันไปเน้นผลิตโทรทัศน์รุ่นหน้าจอความคมชัดสูง และรุ่นราคาแพงสำหรับตลาดบนต่อไป

ทั้งนี้ปัจจุบัน พานาโซนิค กำลังดิ้นรนเพื่อกระตุ้นรายได้ในธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งประสบภาวะขาดทุนมาตลอด 6 ปี โดยในปีงบการเงินปีล่าสุด สิ้นสุดเดือนมีนาคมปี 57 พานาโซนิค ขาดทุนไปถึง 46,500 ล้านเยน หรือราว 12,740 ล้านบาท

พนักงานขับรถโดยสารเฮติประท้วงรัฐบาล เรียกร้องให้ลดราคาน้ำมันภายในประเทศ

3 ก.พ. 2015 กลุ่มพนักงานขับรถโดยสารเฮติจำนวนมากรวมตัวกันประท้วงรัฐบาล เรียกร้องให้ลดราคาน้ำมันภายในประเทศ เบื้องต้นมีรายงานผู้บาดเจ็บ 3 คน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เผายางรถยนต์ และทำลายรถยนต์ที่จอดอยู่ในพื้นที่ชุมนุม รวมถึงนำกิ่งไม้มาวางกั้นบริเวณท้องถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสลายการชุมนุม

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจเฮติได้เปิดฉากยิงและใช้แก๊สน้ำตาสลายกลุ่มผู้ชุมนุมพนักงานขับรถโดยสารในประเทศ หลังออกมารวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันลง โดยมีรายงานว่าจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมดังกล่าว เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 คน

ทั้งนี้การหยุดงานประท้วงของกลุ่มพนักงานขับรถโดยสารส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมภายในประเทศอย่างหนัก เนื่องจากชาวเฮติส่วนใหญ่อาศัยบริการขนส่งมวลชนในการเดินทางเป็นหลัก

ญี่ปุ่นหารือร่วมกันทั้งภาครัฐ และเอกชน เตรียมออกกฎบังคับพนักงาน ลาพักร้อน อย่างน้อย 5 วันต่อปี

4 ก.พ. 2015 ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนกำลังหารือร่วมกัน ในเรื่องการเตรียมออกกฎที่จะบังคับให้พนักงานลาพักผ่อน หรือ ลาพักร้อน โดยได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 5 วันต่อปี โดยหวังว่าจะสามารถบรรเทาความเครียดทั้งร่างกาย และจิตใจ

โดยคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำงานที่มีวันทำงานมากที่สุดต่อปีประเทศหนึ่งในโลก แถมยังมีชั่วโมงทำงานต่อวันที่ยาวนาน โดยหลังจากการสำรวจของกระทรวงแรงงานญี่ปุ่น พบว่าคนทำงานส่วนใหญ่ใช้วันลาพักผ่อนประจำปี หรือลาพักร้อนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสิทธิที่มี โดยมีการลาพักผ่อนเฉลี่ยเพียง 9 วันเท่านั้น จากจำนวนวันที่ลาได้ทั้งหมด 18 วัน

เจ้านายจีนจัดกิจกรรมล้างเท้าให้พนักงาน ตอบแทนที่ทำงานเหนื่อยหนักมาตลอดทั้งปี

4 ก.พ. 2015  เว็บไซต์ gbtimes  รายงานว่า พนักงานบริษัทไอทีแห่งหนึ่งในประเทศจีน ได้รับโบนัสจากเจ้านายแบบเป็นเกียรติอย่างมาก เมื่อเจ้านายของพวกเขาได้จัดการล้างเท้าให้ ด้วยเหตุผลว่าอยากทำอะไรตอบแทนการทำงานหนักของลูกน้อง

รายงานระบุว่า บริษัทไอทีแห่งนี้ได้จัดกิจกรรมเจ้านายล้างเท้าให้ลูกน้องขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนายเจียว ซีอีโอที่ล้างเท้าให้กับพนักงานได้เปิดเผยว่า เขาเองเป็นหนึ่งในเจ้านายหลายคนในบริษัทที่ล้างเท้าให้ลูกน้อง ซึ่งที่ทำแบบนี้ ก็เพราะว่า นอกจากพนักงานจะได้รับโบนัสตามปกติแล้ว พวกเขาก็ควรจะได้รับอะไรที่มากกว่านั้นเพื่อเป็นสิ่งตอบแทนการทำงานอย่างหนักมาตลอดปีด้วย

"ถ้าคุณไม่คิดว่าพนักงานเป็นคนในครอบครัวจริง ๆ ภาพแบบนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยนะ แต่ถ้าหากคุณคิดว่าพวกเขาเสมือนคนในครอบครัว การล้างเท้าให้พวกเขานับว่าเป็นเรื่องปกติ" นายเจียว กล่าว

อินโดนีเซียประท้วงมาเลเซียอย่างเป็นทางการ แสดงความไม่พอใจที่โฆษณาเครื่องดูดฝุ่นของบริษัทแห่งหนึ่งมีข้อความดูถูกแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย

5 ก.พ. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่าสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ยื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อให้พิจารณาโฆษณาเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติของบริษัท "โรโบว็อก" โดยเร็วที่สุด หลังบริษัทประชาสัมพันธ์คุณภาพสินค้าของตัวเองด้วยข้อความว่า "ไล่แม่บ้านชาวอินโดนีเซียออกได้เลย" อีกทั้งยังขีดเส้นใต้คำว่า "แม่บ้านชาวอินโดนีเซีย" เป็นเชิงเน้นด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นและทำร้ายจิตใจของชาวอินโดนีเซียอย่างมาก
นอกจากนี้ เนื้อหาในจดหมายร้องเรียนเผยเรื่องการเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมายกับบริษัทโรโบว็อก ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงกัวลาลัมเปอร์อย่างเป็นทางการ ในช่วงเย็นของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

แม้มีรายงานว่าบริษัทถอดโฆษณาตัวอื้อฉาวนี้ออกจากสื่อทุกแขนงแล้ว แต่ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมาเลเซียมีแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียอยู่ราว 400,000 คน และทั้งสองประเทศเคยผิดใจกันมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2555 หลังบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งในมาเลเซียโฆษณาด้วยประโยคที่ว่า "ลดราคาแม่บ้านอินโดนีเซีย!" จนรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศต้องโทรศัพท์สายด่วนปรับความเข้าใจกันอยู่นาน

ซีเมนส์ ยืนยันแผนการปลดพนักงาน 7,800 ตำแหน่งทั่วโลก หรือราว 2% ของยอดรวมพนักงานทั้งหมดของบริษัท

9 ก.พ. 2015 ธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมนี "ซีเมนส์" ยืนยันแผนการปลดพนักงาน 7,800 ตำแหน่งทั่วโลก หรือราว 2% ของยอดรวมพนักงานทั้งหมดของบริษัท ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแม้ข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อเร็วๆ นี้ จะแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมของเยอรมนี ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม

บริษัทด้านวิศวกรรมรายใหญ่สุดของยุโรปรายนี้ เริ่มยกเครื่องธุรกิจมาสักพักหนึ่งแล้ว เพื่อทำให้โครงสร้างการบริหารจัดการกระชับขึ้น และเร่งขั้นตอนการตัดสินใจให้รวดเร็วขึ้น โดยซีเมนส์บอกด้วยว่า การปลดพนักงานครั้งนี้ จะทำให้บริษัทประหยัดเงินไปได้ราว 1,000 ล้านยูโร

แต่บรรดานักวิเคราะห์กลับมองว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะน้อยกว่านี้  โดยนักวิเคราะห์ตลาด จากไอจี "นายอลาสแตร์ แมคเคก" มองว่า การเลิกจ้างของซีเมนส์แทบไม่มีผลอะไรเลย เพราะในเวลาเดียวกับที่บริษัทประกาศปลดพนักงานนั้น ตัวเลขการจ้างงานใหม่ของบริษัทในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มียอดรวมอยู่ที่ราว 11,000 คน สูงกว่าการเลิกจ้างข้างต้น และหากซีเมนส์ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมอะไรอีก สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทก็คือ จำนวนพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา ซีเมนส์ ซึ่งผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ไล่ตั้งรถไฟ ไปจนถึง กังหันลม ต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อฟื้นฟูกำไร แม้ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรม และคำสั่งซื้อในบ้านเกิดจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ดี หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารซีเมนส์ "นายโจ เคเซอร์" แสดงความมั่นใจว่า บริษัทของเขาจะสามารถลดช่องว่างในการทำรายได้ กับบรรดาคู่แข่งอย่างเจนเนอรัล อิเลคทริค หรือจีอี ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐ และเอบีบี ของสวิตเซอร์แลนด์ ลงมาได้

ศาลฮ่องกงพิพากษาเอาผิด “นายจ้างหญิง” 18 กระทง ฐานทารุณ “แม่บ้านอินโด” ปางตาย

10 ก.พ. 2015 ศาลฮ่องกงได้ตัดสินให้หญิงฮ่องกงคนหนึ่งมีความผิดฐานทารุณกรรมแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย ในคดีที่สื่อทั่วโลกจับตามอง ทั้งยังจุดประกายให้นานาประเทศพากันโกรธแค้น
       
ผู้พิพากษาอแมนดา วูดค็อก ประกาศ “ให้จำเลยถูกควบคุมตัวเพื่อรอการลงโทษ” ภายหลังการประกาศคำตัดสินในห้องพิจารณาคดีที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนว่า หลอ วันตุง ผู้เป็นนายจ้างของแม่บ้านแดนอิเหนาผู้เคราะห์ร้ายมีความผิด 18 กระทงจากทั้งหมดที่อัยการส่งฟ้อง 20 กระทง เป็นต้นว่า ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส และข่มขู่คุกคาม

“ดิฉันมั่นใจว่าเธอพูดความจริง” ผู้พิพากษาวูดค็อกกล่าวถึง เออร์เวียนา ซูลิสเตียนิงซิห์ อดีตลูกจ้างของหลอ ผู้ให้การต่อศาลว่าถูกหลอ “ทรมาน” โดยรายงานข่าวระบุว่า นายจ้างหญิงวัย 44 ปีของเธอ คว้าข้าวของภายในบ้านไม่ว่าจะเป็นไม้ถูพื้น ไม้บรรทัด หรือไม้แขวนเสื้อ มาเป็นอาวุธทำร้ายร่างกาย ซูลิสเตียนิงซิห์
       
สุลิสเตียนิงซิห์ ผู้มีสีหน้าเบิกบานสวมเสื้อยืดดำสกรีนรูปใบหน้าของเธอ ตลอดจนคำว่า “ความยุติธรรม” กล่าวกับเอเอฟพีหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า เธอก็ “มีความสุขมาก” ก่อนจะหันไปสวมกอดกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิที่อยู่ยืนใกล้ๆ
       
ในขณะเดียวกัน หลอ คุณแม่ลูกสองชาวฮ่องกงได้แต่ก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมอย่างสงบเสงี่ยมข้อกล่าวหาที่เธอได้รับนั้นมีดังเช่น ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัสโดยเจตนา ทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ และไม่จ่ายค่าแรง ส่วนความผิดอีก 2 กระทงที่ศาลประกาศให้เธอพ้นผิดนั้นเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิของแม่บ้านชาวอินโดนีเซียอีก 2 คนที่เข้าไปทำงานก่อนหน้านั้น
       
ทั้งนี้ คดีของสุลิสเตียนิงซิห์ได้จุดชนวนให้แรงงานข้ามชาติในย่านธุรกิจของฮ่องกงออกมารวมตัวประท้วง ตลอดจนยังสะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของแม่บ้านชาวต่างชาติในทวีปเอเชีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ภายหลังที่มีรายงานว่าแรงงานกลุ่มนี้ถูกกระทำทารุณ หรือกระทั่งถูกสังหาร
       
เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว นิตยสารไทม์ได้ยกย่องแม่บ้านชาวอินโดนีเซียผู้นี้เป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2014 เช่นเดียวกับ มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงชาวปากีสถานที่ถูกตอลิบานยิงศีรษะ และ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ
       
ไทม์ยกย่องความกล้าหาญของซูลิสเตียนิงซิห์ วัย 23 ปีที่ออกมาเปิดโปงการกระทำของนายจ้าง และผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพชาวต่างชาตินับแสนคนที่เข้าไปทำงานเป็นคนรับใช้ภายในบ้าน

ครูเม็กซิโกปิดถนนเรียกร้องโบนัส-เงินเดือนที่ยังไม่ได้รับ

10 ก.พ. 2015 กลุ่มครูในเมืองเม็กซิโกชุมนุมปิดถนนกลางกรุงเม็กซิโกซิตีเมืองหลวง เพื่อประท้วงระบบการศึกษาของประเทศ รวมทั้งเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงาน และเรียกร้องเงินเดือนให้ครูกว่า 9,000 คน ที่ยังไม่ได้รับเงินเดือนและโบนัส แกนนำครูยังเรียกร้องให้สหภาพแรงงานอื่นๆ เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับแรงงานทุกสาขาอาชีพ ซึ่งปัจจุบันเม็กซิโกติดอันดับประเทศ ที่ยังประสบปัญหาด้านมาตรฐานการศึกษา

สาวสุดซวย โดนไล่ออกตั้งแต่ยังไม่เริ่มงาน เหตุจากทวิตเตอร์

11 ก.พ. 2015 เว็บไซต์เดลิเมล์ รายงานข่าวกรณีที่สาวเท็กซัสรายหนึ่งซึ่งเธอกำลังจะไปเริ่มงานที่ร้านพิซซ่าเป็นวันแรก แต่ความซวยก็บังเกิดเมื่อ เธอดันมือพล่อยไปทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ บ่นว่าวันพรุ่งนี้จะต้องเป็นการเริ่มต้นงานที่โคตรแย่สุดแน่ๆ

ซึ่งเผอิญว่าพนักงานในร้านพิซซ่าดังกล่าวที่ใช้ทวิตเตอร์มาเห็นพอดีแล้วเอาข้อความไปฟ้องกับเจ้าของร้าน ซึ่งต่อมา ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @RobertWaple เจ้าของร้านพิซซ่าดังกล่าว ได้ตอบโต้ด้วยการส่งข้อความทวิตกลับไปว่า คุณไม่ต้องมาเริ่มงานแล้ววันนี้ ฉันไล่คุณออก โชคดีกับชีวิตที่ไม่มีงาน และไม่มีเงิน

งานนี้เรียกได้ว่าเจ็บแสบเลยทีเดียว ซึ่งก็กลายเป็นอุทาหรณ์ว่าทุกวันนี้โลกโซเชียล เชื่อมถึงกันหมดจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวังกันหน่อย โดยเฉพาะเหล่าบรรดาลูกจ้างที่ชอบระบายเรื่องงานบนโลกโซเชียล อาจจะซวยแบบนี้ได้ ทั้งนี้เรื่องราวดังกล่าวมีคนตั้งข้อสังเกตว่า มันถูกจัดฉากขึ้นมาหรือเปล่า แต่สุดท้ายมันก็ได้รับการยืนยันว่าเจ้าของร้านพิซซ่านี้มีตัวตนอยู่จริง พร้อมกับยืนยันกับคนบนโลกโซเชียลด้วยว่า ทุกอย่างมันเป็นเรื่องจริง และที่ไล่ออกก็เพราะว่า งานตำแหน่งของสาวคนนี้เป็นงานที่ง่ายมากแค่คอยรับโทรศัพท์ ทำน้ำสลัด แถมยังได้กินพิซซ่าอีก แค่นี้ยังบ่นเลยแล้วเธอจะทนกับการทำงานได้ยังไง

เกาหลีใต้เผยจ้างงาน ม.ค.ชะลอตัวต่ำสุดใน 20 เดือน ส่งสัญญาณตลาดแรงงานอ่อนแรง

11 ก.พ. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติของเกาหลีใต้เปิดเผยว่า การขยายตัวของการจ้างงานในเกาหลีใต้ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 20 เดือน บ่งชี้ว่าภาวะตลาดแรงงานที่เคยคึกคักในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มสะดุด

รายงานระบุว่า จำนวนผู้มีงานทำในเกาหลีใต้แตะที่ 25.106 ล้านรายในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 347,000 ราย ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2556 โดยในครั้งนั้น การจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 265,000 ราย

จำนวนผู้มีงานทำในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 รายในเดือนก.ค.และส.ค.ปีที่ผ่านมา แต่ลดลงต่ำกว่าระดับ 500,000 นับตั้งนั้นเป็นต้นมา ก่อนจะลดลงต่ำกว่าระดับ 400,000 ในเดือนม.ค.

สำนักงานสถิติระบุว่า วันขึ้นปีใหม่ของเกาหลีมีผลต่อข้อมูลการจ้างงาน โดยปีที่แล้ว เทศกาลซอลลัลตรงกับช่วงกลางเดือนม.ค. ซึ่งช่วยกระตุ้นการจ้างงานในบางอุตสาหกรรม แต่เทศกาลดังกล่าวตรงกับช่วงกลางเดือนก.พ.ในปีนี้ จึงไม่ส่งผลต่อตัวเลขจ้างงานข้างต้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน

บริษัทในสวีเดนผุดเทคโนโลยีฝังชิพไว้ในมือพนักงาน เพื่อใช้เปิดประตูหรือสั่งการอุปกรณ์ต่างๆในออฟฟิศ

11 ก.พ. 2015 บริษัทแห่งหนึ่งในประเทศสวีเดนผุดเทคโนโลยีสุดล้ำ ฝังชิพไว้ในมือพนักงานแทนการใช้บัตรพนักงานแบบเดิม ๆ โดยชิพดังกล่าวเป็นชิพ RFID (radio-frequency identification) ที่มีขนาดเล็กเกือบเท่าเมล็ดข้าว สามารถฝังไว้ใต้ผิวหนังได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสามารถใช้การชูมือหรือโบกมือเพื่อเปิดประตูออฟฟิศ, สั่งการเครื่องถ่ายเอกสาร และอุปกรณ์อื่น ๆ ภายในออฟฟิศได้ และในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก เช่น ชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มได้ด้วยการแตะมือ

ทั้งนี้นาย Rory Cellan-Jones ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้ไปเยือนออฟฟิศดังกล่าว พร้อมทั้งทดลองฝังชิพลงในมือของเขาด้วย โดยผู้ที่ทำการฝังชิพลงในมือของเขานั้นจะเริ่มนวดผิวหนังบริเวณระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของเขาก่อนที่จะทาด้วยยาฆ่าเชื้อ จากนั้นก็บอกให้เขาหายใจเข้าลึก ๆ และทำการสอดชิพเข้าไปในมือทันที เขารู้สึกเจ็บคล้ายถูกฉีดยา เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ปิดพลาสเตอร์ลงบนมือของเขา

ขณะที่นาย Rory Cellan-Jones ได้ทดลองใช้ชิพที่อยู่ในมือของเขาดูแล้ว ก็พบว่ามันไม่ได้ใช้งานง่ายอย่างที่คิด เขาต้องบิดมือในลักษณะแปลก ๆ เพื่อสั่งให้เครื่องถ่ายเอกสารทำงาน อย่างไรก็ตามการฝังชิพลงในมือนั้นไม่เป็นการบังคับ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพนักงาน ซึ่งในขณะที่มีพนักงานหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะฝังชิพไว้ในมือของตนนั้น ก็มีพนักงานจำนวนหนึ่งที่ไม่อยากฝังชิพไว้ในมือเช่นกัน

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวอาจพัฒนาเพื่อมาแทนที่อุปกรณ์เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้อย่างสายรัดข้อมือหรือแว่นในอนาคตก็เป็นได้ แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่ค่อยปลื้มสักเท่าไหร่ที่จะต้องนำสิ่งแปลกปลอมฝังไว้ในร่างกายของตนเอง

ศาลเยอรมันตัดสินพิพากษาให้หนุ่มรายหนึ่งสามารถพ้นโทษไล่ออกหลังจับหน้าอกพนักงานทำความสะอาด

12 ก.พ. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผู้พิพากษาศาลแรงงานเยอรมันสร้างความอึ้งตะลึง ภายหลังได้พิพากษาให้หนุ่มรายหนึ่งสามารถพ้นโทษไล่ออกเลิกจ้างจากอู่ซ่อมรถยนต์ของนายจ้าง จากกรณีมีพฤติกรรมหื่นจับหน้าอกพนักงานทำความสะอาด

รายงานระบุว่า หนุ่มดังกล่าว วัย 37 ปี ทำหน้าที่เป็นช่างซ่อมรถของอู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง และถูกไล่ออกเลิกจ้างเมื่อปี 2012 จากเหตุการณ์กระทำลามกอนาจาร จากการจับหน้าอกของพนักงานหญิงของโรงรถดังกล่าว และเจ้าตัวได้ขออุทหรณ์คดี ขณะที่ศาลแรงงานชั้นอุทธรณ์สร้างความอึ้งตะลึง หลังตัดสินให้บริษัทรับเขากลับเข้าทำงานตามเดิม ระบุว่า พฤติกรรมของหนุ่มรายนี้เป็นแค่เรื่องสนุก และไม่ได้กระทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จึงถือว่าสมควรจะถูกไล่ออกจากงาน

โดยศาลระบุว่า การรังควานทางเพศในสถานที่ทำงานไม่อาจทำให้บริษัทมีสิทธิไล่เขาออกจากงานได้ โดยหากเอาหลักการกระทำผิดจริยธรรมมาใช้กับลูกจ้าง ก็จะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป และการออกจดหมายเตือนต่อพนักงานดังกล่าวน่าจะสิ่งที่เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะสำหรับลูกจ้างรายนี้ที่ทำงานให้แก่โรงรถแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 16 ปี และการลงโทษพนักงานรายนี้ด้วยการไล่ออกจากงานถือว่ารุนแรงเกินไป อย่างไรก็ตาม ด้านอู่ซ่อมรถแห่งนี้ มีปฎิกิริยาไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลอุทธรณ์นี้ และได้ตัดสินใจจะอุทธรณ์คดีในขั้นสูงสุดต่อไป

ญี่ปุ่นสั่งห้ามครูแชทกับนักเรียนหลังจำนวนครูหื่นพุ่งพรวด

12 ก.พ. 2015  รัฐบาลท้องถิ่น 11จังหวัดของญี่ปุ่นสั่งห้ามครูติดต่อกับนักเรียนเป็นการส่วนตัวผ่านทางอีเมล์ หรือแอปพลิเคชั่น เช่น ไลน์ เพื่อป้องกันพฤติกรรมไม่เหมาะสม หลังจากจำนวนครูที่ล่วงเกินทางเพศนักเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 30 ปี
       
คณะกรรมการการศึกษาประจำ 11 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น เช่น จังหวัดไซตามะ,คากาวะ โออิตะ รวมทั้ง เมืองเกียวโต,ฮิโรชิม่า และโอกายามะ ได้ออกกฎห้ามอาจารย์โรงเรียนมัธยมสื่อสารกับนักเรียนผ่านโปรแกรมทางอินเตอร์เน็ตแบบตัวต่อตัว กฎดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
       
กฎดังกล่าวมีขึ้นหลังจากกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬาและวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น สำรวจพบว่า เมื่อปีที่แล้วมีครูถูกลงโทษเนื่องจากล่วงเกินทางเพศนักเรียนวัยเยาว์มากถึง 205 ราย ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี โดยแอปพลิเคชั่นยอดนิยมอย่าง LINE กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่นำไปสู่เหตุการณ์ไม่เหมาะสม
       
คณะกรรมการการศึกษาเมืองไซตามะ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วได้ลงโทษไล่ออกครู 5 คนในข้อหาลวนลามนักเรียน โดยมีหลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรมไลน์และอีเมล์ กรณีที่รุนแรงที่สุด พบว่า ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งได้เรียกตัวนักเรียนสาวไปพบที่ห้องพักของโรงแรมในยามวิกาล ในระหว่างที่พานักเรียนไปแข่งขันกีฬานอกสถานที่
       
ส่วนที่จังหวัดคากาวะ ครูวัย 50 ปีรายหนึ่งถูกไล่ออก หลังจากทางโรงเรียนพบว่า ครูรายดังกล่าวได้ส่งภาพลามกอนาจารและข้อความที่ไม่เหมาะสมจำนวนมากไปให้นักเรียนสาวทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการศึกษาประจำ 11 จังหวัดของญี่ปุ่น ระบุกรณียกเว้นให้ครูติดต่อออนไลน์กับนักเรียนได้เฉพาะเหตุจำเป็นเร่งด่วน เช่น เมื่อนักเรียนไม่มาเรียนติดต่อกันหลายวัน แต่ทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตจากครูใหญ่ก่อน
       
ด้านคณะกรรมการการศึกษาประจำกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ยังไม่มีมาตรการสั่งห้ามครูติดต่อกับนักเรียนทางออนไลน์อย่างเป็นทางการ เพียงแต่แนะนำว่า ถึงแม้จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ครูต้องหลีกเลี่ยงการติดต่อกับนักเรียนแบบตัวตัวต่อ และให้ใช้การติดต่อแบบ “ข้อความกลุ่ม” แทน

'แจ็ค หม่า'งดแจกอั่งเปาตรุษจีนให้พนักงาน

14 ก.พ. 2015 แจ็ค หม่า นักธุรกิจใหญ่ชาวจีน เจ้าของ “อาลีบาบา” เว็บไซต์ตัวกลางซื้อ-ขายสินค้ารายใหญ่ของโลกประกาศว่า ตรุษจีนหรือปีใหม่จีนปีนี้พนักงานของเขาจะไม่ได้รับอั่งเปา หรือซองแดงใส่เงินขวัญถุงที่มอบให้กันตามธรรมเนียมเช่นปีก่อนๆ เนื่องจากปี 2557 บริษัทไม่ได้มีผลประกอบการดีเด่นเป็นพิเศษ แต่พนักงานจะยังได้รับเงินโบนัสตามปกติ

มหาเศรษฐีรวยที่สุดของจีนระบุผ่านแถลงการณ์ในเว็บไซต์ว่า ความสำเร็จของการเปิดตัวหุ้นของอาลีบาบาเข้าสู่ตลาดหุ้นแม้จะทุบสถิติราคาเปิดขายครั้งแรก หรือไอพีโอของตลาดหุ้นวอลสตรีท แต่ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ เพราะเป็นเพียงผลจากการทำงานหนักของพนักงานอาลีบาบาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา โดยนอกเหนือจากไอพีโอแล้ว ไม่อาจพูดได้ว่ามีสิ่งใดให้เบิกบานใจในปีที่เพิ่งผ่านไป

แถลงการณ์ดังกล่าวสร้างความประหลาดใจพอสมควรเนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าปี 2557 เป็นปีทองของอาลีบาบา จากการที่สามารถระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐได้มากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเข้าสู่ตลาดครั้งแรกในเดือนกันยายนปีก่อน และส่งผลให้นายหม่ามีชื่อติดทำเนียบมหาเศรษฐีจีนในชั่วข้ามคืน

เทสโก้ อาจปลดพนักงานเกือบหมื่นรับยอดขายร่วง

15 ก.พ. 2015 หนังสือพิมพ์ซันเดย์ เทเลกราฟ ของอังกฤษรายงานว่า บริษัทเทสโก้ ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของอังกฤษ อาจปลดพนักงานเกือบ 10,000 ตำแหน่ง อันเป็นผลพวงจากการปิดสำนักงานใหญ่และร้านสาขาที่ไม่ทำกำไร และการปรับโครงสร้างองค์กร

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เทสโก้ วางแผนปิดสำนักงานใหญ่ที่เมืองเชสฮันท์ ประเทศอังกฤษ และร้านสาขาที่ไม่สามารถทำกำไรได้ 43 แห่ง พร้อมทั้งขายสินทรัพย์ต่างๆ อาทิ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล หลังยอดขายปรับตัวลดลง โดยยอดขายที่ไม่นับรวมน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลง 2.9% ในช่วง 19 สัปดาห์จนถึงวันที่ 3 ม.ค.

นอกจากนี้ เทสโก้ได้แต่งตั้งแมท เดวีส์ ซีอีโอบริษัท ฮัลฟอร์ดส์ กรุ๊ป มาดูแลธุรกิจของเทสโก้ในอังกฤษ และจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อฟื้นกิจการ ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของคู่แข่งสัญชาติเยอรมัน

แมท เดวีส์ ซีอีโอของเทสโก้ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า บริษัทได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงบางประการที่มีความยากลำบากอย่างยิ่ง และเขาตระหนักถึงผลพวงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อกลุ่มผู้ถือหุ้นทั้งหมด แต่นั่นคือความเป็นจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าเทสโก้จะยังครองตำแหน่งยักษ์ค้าปลักของอังกฤษ แต่เทสโก้ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ส่วนแบ่งการตลาดที่ร่วงลง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงกับร้านค้าระดับไฮเอนด์ และมาตรการลดราคาต่างๆ ดังนั้น เทสโก้ จึงต้องใช้มาตรการที่จริงจัง เพื่อที่จะพลิกฟื้นกิจการของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ทางเทสโก้ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้

"ฝรั่งเศส" ผ่านกฎหมายเปิดร้านวันอาทิตย์เพิ่ม

15 ก.พ. 2015 สภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ผ่านร่างกฎหมายที่อนุญาตให้ร้านค้าเปิดขายของในวันอาทิตย์บ่อยครั้งขึ้นเป็นปีละ 12 วัน จากปัจจุบันที่อยู่ปีละ 5 วัน โดยให้เป็นการสมัครใจทำงานของลูกจ้าง และให้จ่ายค่าแรงเพิ่มเป็น 2 เท่าจากวันปกติ พร้อมกันนี้ ยังเห็นพ้องให้มีการจัดตั้งเขตพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว ที่จะอนุญาตให้ร้านค้าในเขตที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมาเป็นพิเศษนี้ เปิดขายของได้จนถึงเที่ยงคืน และเปิดขายได้ทุกวันอาทิตย์ นอกเหนือจากการอนุญาตให้ร้านค้าที่อยู่ตามสถานีรถไฟขนาดใหญ่เปิดขายได้ทุกวันอาทิตย์เช่นกัน การเคลื่อนไหวที่ถือเป็นมาตรการล่าสุดในกฎหมายส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่กำลังซบเซาอยู่

รัฐบาลเกาหลีใต้จะเพิ่มจำนวนแรงงานชาวกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าทำงานในภาคการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตรของประเทศขึ้น 2 เท่า

17 ก.พ. 2015 ปัจจุบัน มีแรงงานชาวกัมพูชามากกว่า 35,000 คน ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งส่งเงินกลับประเทศราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในปี 2557 เกาหลีใต้กำหนดโควตาอนุญาตแรงงานชาวกัมพูชาเข้าทำงานในประเทศที่ 4,600 คน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้
       
หลังการหารือครั้งแรกที่อาคารรัฐสภา ระหว่างเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำกัมพูชา ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ และเฮง สัมริน ประธานรัฐสภากัมพูชา เมื่อวันจันทร์ (16) ฝ่ายเกาหลีใต้เห็นชอบที่จะเริ่มรับแรงงานชาวกัมพูชาเพิ่มขึ้น 2 เท่า
       
“เวลานี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มโควตาแรงงานขึ้น 2 เท่า” เจ้าหน้าที่กัมพูชาอ้างคำกล่าวของทูตเกาหลีใต้
       
ด้านเลขานุการโทประจำสถานทูตเกาหลีใต้ ในกรุงพนมเปญ ระบุว่า แม้จำนวนโควตาในขั้นสุดท้ายจะยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
       
“ตัวเลขเจาะจงยังไม่ได้ถูกระบุขึ้น แต่คาดว่าจะประกาศในเร็วๆ นี้ แต่ตามที่เราทราบ จำนวนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก” เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้กล่าวและว่า จำนวนใบอนุญาตที่จะมอบให้นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ
       
“รัฐบาลกัมพูชาได้แสดงความประสงค์ที่จะขอเพิ่มจำนวนแรงงานในหลายโอกาส และรัฐบาลเกาหลีใต้ได้นำเรื่องเข้าพิจารณา”
       
ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ แรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมทางการเกษตรของเกาหลีใต้มักเป็นเหยื่อการล่วงละเมิด โดยในรายงานปีก่อน องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า แรงงานจำนวนหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานจากกัมพูชา ได้รับค่าจ้างต่ำและถูกเอาเปรียบผ่านข้อตกลงที่บังคับให้แรงงานทำงานเป็นเวลานานเกินไป และมีชีวิตอยู่ในสภาพที่เลวร้าย
       
นอกจากจำนวนแรงงานชาวกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้แล้ว ในทางกลับกัน ชาวเกาหลีใต้ในกัมพูชาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน เกาหลีใต้กำลังก่อสร้างสถานทูตแห่งใหม่บนเกาะพิช (เกาะเพชร) จากเดิมที่ใช้วิธีเช่าอาคาร พร้อมทั้งกำลังพิจารณาที่จะเปิดสถานกงสุลใน จ.เสียมราฐ
       
ระหว่างเดือน ม.ค.ถึงเดือน พ.ย. 2557 มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเยือนกัมพูชา 387,000 คน มีสัดส่วนเกือบ 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

"ฟิลลิป มอร์ริส"ฟิลิปปินส์ปลดพนักงานกว่า 600 คน

17 ก.พ. 2015 "ฟิลลิป มอร์ริส" ยักษ์ใหญ่บุหรี่ของสหรัฐ เจ้าของแบรนด์บุหรี่ชื่อดัง "มาร์ลโบโร่" ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดในฟิลิปปินส์ ประกาศปลดพนักงานกว่า 600 คน หลังเจอการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งท้องถิ่น

ประธานบริษัทฟิลลิป มอร์ริส โทแบคโก คอร์ป นายพอล ไรลีย์ กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนของฟิลลิป มอร์ริสในฟิลิปปินส์ เลิกจ้างพนักงาน 640 คน หรือกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 6,000คน ในประเทศ หลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เพราะมีแรงกดดันจากคู่แข่งท้องถิ่นที่ขายบุหรี่ราคาถูก จนทำให้ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทลดลง
ก่อนหน้านี้ นายไรลีย์ เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลโดยเอ่ยชื่อบริษัทไมท์ตี้ คอร์ป ผู้ผลิตบุหรี่คู่แข่งรายเล็กในกรุงมะนิลาว่า กำลังรุกคืบชิงส่วนแบ่งจากฟิลลิป มอร์ริสมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของฟิลลิป มอร์ริสในแดนตากาล็อก ลดลงจากประมาณ 90% เหลือ 70% นับตั้งแต่ปี 2556 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของบริษัทไมท์ตี้ คอร์ป ไต่จากเลขตัวเดียวมาแตะที่ประมาณ 24%

การประกาศปลดคนงานของฟิลลิป มอร์ริสครั้งนี้ มีขึ้นในช่วงที่กระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์ กำลังตรวจสอบไมท์ตี้ คอร์ปว่า รายงานยอดขายต่อรัฐบาลต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อเลี่ยงภาษีหรือไม่ ขณะที่บริษัทไมท์ตี้ ชี้แจงว่า จ่ายภาษีอย่างถูกต้องมาโดยตลอด ส่วนบริษัทฟิลลิป มอร์ริส กล่าวหาว่า บริษัทไมท์ตี้จ่ายภาษีต่ำเกินไป

คนงานราว 4,000 คน ผละงานประท้วงที่โรงงานเสื้อผ้านอกนครย่างกุ้ง เรียกร้องปรับเพิ่มค่าทำงานล่วงเวลา 17 เซ็นต์ต่อชั่วโมง เป็น 2 เท่า

20 ก.พ. 2015 คนงานจากโรงงานในเขตอุตสาหกรรม 2 แห่ง ให้คำมั่นว่าจะตั้งค่ายชุมนุมนอกโรงงานของตัวเองจนกว่าผู้ว่าจ้างจะตอบสนองข้อเรียกร้อง โดยอ้างว่า พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยค่าจ้างเพียง 80,000 จ๊าตต่อเดือน (ประมาณ 2,600 บาท) ขณะที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
       
คนงานรวมตัวกันอยู่ด้านนอกโรงงานรองเท้าของชาวจีน และเกาหลีใต้ บ้างตะโกน และร้องเพลงปลุกใจเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายเฝ้าจับตาสถานการณ์
       
การเจรจาระหว่างเจ้าของโรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงาน พนักงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่มีความเคลื่อนไหว ด้วยทางการขู่ว่าจะสลายการชุมนุมหากคนงานไม่ยกเลิกชุมนุมประท้วง
       
พม่า พึ่งพาแรงงานค่าแรงต่ำพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หลังรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าบริหารประเทศในปี 2554 ที่เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมทั้งการทำให้สหภาพแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย แต่การเติบโตของภาคส่วนนี้ก็ต้องเผชิญต่อการผละงานประท้วงที่เพิ่มขึ้นในหมู่แรงงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปราว 200,000 คนของประเทศ

สหรัฐเผยการชะลอปรับขึ้นค่าจ้างส่งผลกระทบต่อชนชั้นกลางภายในประเทศ

20 ก.พ. 2015 ทีมเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวในอัตราที่รวดเร็วขึ้น นับตั้งแต่ที่เผชิญกับภาวะถดถอยครั้งรุนแรง แต่การชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นกลาง

รายงาน Economic Report of the President ซึ่งทำเนียบขาวนำเสนอต่อรัฐสภาระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวในอัตรา 2.8% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 2.1% ของช่วง 3 ปีแรกที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่ตัวเลขจ้างงานในปี 2557 ขยายตัวเร็วขึ้น 30% จากปี 2556

รายงานระบุว่า "การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานส่งผลให้ชนชั้นกลางได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะชดเชยรายได้ของชนชั้นกลางที่ปรับตัวลดลงเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนหน้านี้"

ทั้งนี้ รายงานได้อ้างถึงการปรับขึ้นค่าจ่างที่อ่อนแอในปี 2516 ซึ่งเป็นปีที่ผลผลิตชะลอตัวลงและความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ โดยนับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ชาวอเมริกันมีส่วนร่วมในภาคแรงงานน้อยลง ซึ่งเพิ่มแรงกดดันในเรื่องค่าจ้างมากขึ้น

"การปรับตัวลดลงของอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวนั้น นับเป็นความท้าทายที่สำคัญ โดยกว่าครึ่งหนึ่งของการปรับตัวลงได้รับแรงผลักดันจากจำนวนประชากรสูงวัย เนื่องจากกลุ่มประชากรในยุคเบบี้บูมเมอร์เริ่มทยอยเกษียณอายุงาน" รายงานระบุ สำนักข่าวซินหัวรายงาน

'วอลมาร์ท' ประกาศขึ้นค่าแรงลูกจ้างสหรัฐ

20 ก.พ. 2015 "วอลมาร์ท" ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของโลกจากสหรัฐ ซึ่งกำลังถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องจ่ายค่าแรงต่ำและสวัสดิการย่ำแย่มาหลายปี ประกาศปรับขึ้นค่าแรง 40% ให้กับพนักงาน 500,000 คนในสหรัฐ เป็นอย่างน้อย 9 ดอลลาร์ หรือราว 273 บาทต่อชั่วโมง ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าแรงมาตรฐานที่รัฐบาลกลางกำหนดไว้ 1.75 ดอลลาร์ และภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พนักงานวอลมาร์ทในสหรัฐจะได้รับค่าแรงเพิ่มอีกเป็น 10 ดอลลาร์ หรือราว 314 บาทต่อชั่วโมง

แรงงานพม่ายังผละงานประท้วงร้องค่าแรงเพิ่มในเขตอุตสาหกรรมย่างกุ้ง

23 ก.พ. 2015 ทางการพม่ายังคงสนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างนายจ้างชาวต่างชาติและบรรดาแรงงานที่ผละงานประท้วง เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในโรงงานต่างๆ ของเขตอุตสาหกรรมนครย่างกุ้งที่ยืดเยื้อนานหลายสัปดาห์

กระทรวงแรงงาน การจ้างงานและสวัสดิการสังคม ออกคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่า ทางการจะดำเนินมาตรการกับผู้ที่ละเมิดกฎหมายและยั่วยุให้มีการละเมิดกฎหมาย และบรรดานายจ้างชาวต่างชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความคุ้มครองแก่โรงงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงงานเป็นไปอย่างปลอดภัย และเตือนว่าความเคลื่อนไหวของแรงงานที่ผละงานประท้วงซึ่งขัดขวางทางเข้าโรงงานบางแห่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายเช่นกัน

"โรงงานบางแห่งในเขตอุตสาหกรรมชเวปยีตาและหล่ายธายากำลังจะถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากหยุดการผลิตมานานกว่า 2 สัปดาห์ เพราะแรงงานผละงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค." คำแถลงระบุ

แม้คนงานที่ผละงานประท้วงส่วนใหญ่ได้บรรลุข้อตกลงกับบรรดานายจ้างระหว่างการเจรจาและกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่ยังคงมีแรงงานบางส่วนนั่งประท้วงอยู่ด้านนอกโรงงาน

เมื่อสัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับแรงงานของโรงงานสิ่งทอที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติในเขตอุตสหากรรมชเวปยีตาที่ผละงานประท้วงกว่า 2,000 คน เรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรง โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวแกนนำพร้อมคนงานอีก 30 คน

ปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นหลายครั้งได้ส่งผลกระทบกับการลงทุนของต่างชาติในประเทศ ซึ่งรัฐบาลเขตย่างกุ้งระบุว่าการชุมนุมประท้วงส่งผลเสียต่อทั้งแรงงานและนายจ้าง
ขณะเดียวกัน การผละงานประท้วงก็เกิดขึ้นในเขตอุตสาหกรรมหล่ายธายาที่แรงงานเรียกร้องการปรับเพิ่มค่าแรงเช่นกัน ซึ่งเขตอุตสหากรรมทั้งสองแห่งนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในนครย่างกุ้ง

แรงงานเหล็ก-นายจ้างเยอรมนีตกลงขึ้นค่าจ้าง

24 ก.พ. 2015 สหภาพแรงงานคนงานเหล็ก "ไอจีเมทัล" ที่มีอำนาจต่อรองสูง ประกาศว่า บรรลุข้อตกลงกับฝ่ายบริหาร เรื่องการขึ้นเงินเดือน 3.4% ให้กับคนงานในรัฐบาเดน-เวอร์ทเทมเบิร์ก หลังจากตัวแทนสหภาพแรงงานและนายจ้างเจรจากันมาถึงสี่รอบ และคาดว่าข้อตกลงนี้จะนำไปใช้กับคนงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และเซมิคอนดักเตอร์ทั่วประเทศจำนวน 4 ล้านคน โดยจะมีผลตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า

สิงคโปร์ออกมาตรการช่วยเหลือชนชั้นกลาง

24 ก.พ. 2015 นายทาร์มาน ชานมูการัตนัม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของสิงคโปร์แถลงแผนการใช้งบประมาณปี 2558 โดยมุ่งช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ปานกลางในด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มเพดานการออมหลังเกษียณให้กับผู้สูงอายุโดยนายจ้างและรัฐจะเพิ่มเงินสมทบลงไปในกองทุนเงินออม การปรับลดภาษีลงครึ่งหนึ่งให้กับครอบครัวที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 16 ปีและจ้างแรงงานต่างชาติ เพื่อลดภาระของครอบครัวเหล่านั้นในการดูแลเด็กและคนชรา รวมถึงสนับสนุนสถานเลี้ยงดูเด็กในประเทศให้พัฒนาคุณภาพการดูแล และควบคุมให้มีการเก็บค่าบริการจากครอบครัวเด็กอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพแรงงาน โดยเริ่มตั้งแต่การจัดผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเรื่องหลักสูตรการเรียนและเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนในโรงเรียนต่างๆ รวมถึงจะให้เงินช่วยเหลือในการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพกับผู้ที่จบการศึกษาไปแล้ว โดยหวังให้ประชาชนได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ที่ทำให้มีโอกาสในการรับค่าแรงเพิ่มขึ้น และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา รายได้ของชนชั้นกลางสิงคโปร์เพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า โดยผู้มีรายได้ปานกลางมีเงินเดือนประมาณ 120,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย ขณะที่รายได้ของแรงงานระดับล่าง เริ่มปรับตัวขึ้นแล้วหลังอยู่ในอัตราคงที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นายทาร์มานเผยว่า หลักคิดสำคัญของรัฐบาลสิงคโปร์ต่อแผนใช้งบประมาณนี้ คือ การสร้างสังคมที่ประชาชนสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความสามารถ และได้รับค่าตอบแทนรวมถึงการดูแลที่เหมาะสมจากรัฐในทุกช่วงของชีวิต

ลูกจ้างมาเลย์จ่อได้ค่าแรงเพิ่มเกิน 10%

25 ก.พ. 2015 ผลสำรวจล่าสุดชี้ ลูกจ้างมาเลเซียบางกลุ่มมีโอกาสได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 3-10% หรืออาจมากกว่านั้น ผลจากนายจ้างต้องการจูงใจให้ลูกจ้างฝีมือดีอยู่กับบริษัทต่อไป

รายงาน"เฮย์ส เอเชีย ซาลารี่ ไกด์" ซึ่งเป็นผลสำรวจค่าจ้างและการจ้างงานทั่วโลกประจำปีของบริษัทเฮย์ส ระบุว่า นายจ้าง 10% ในมาเลเซียมีแผนที่จะขึ้นค่าจ้างมากกว่า 10% ให้กับลูกจ้างในการประเมินรอบที่กำลังจะมาถึง ส่วนนายจ้างอีก 33% จะขึ้นค่าจ้างให้กับลูกจ้าง 6-10%

อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า นายจ้างส่วนใหญ่จะขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างระหว่าง 3-6% ขณะที่นายจ้างอีก 9% จะขึ้นค่าจ้างไม่ถึง 3% และมีนายจ้างเพียง 1% ที่ไม่มีแผนขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน

เมื่อเทียบกับรายงานในปีที่แล้ว พบว่า มีนายจ้าง 3% ไม่ขึ้นค่าจ้างให้พนักงานเลย ขณะที่นายจ้าง 9% ขึ้นค่าจ้างให้ลูกน้องไม่ถึง 3% ส่วนนายจ้างอีก 48% ขึ้นค่าจ้างให้พนักงานระหว่าง 3-6% นายจ้าง 31% ขึ้นค่าจ้างให้พนักงานระหว่าง 6-10% และนายจ้างอีก 9% ขึ้นค่าจ้างให้ลูกจ้างมากกว่า 10%

นอกจากนี้ รายงานเฮย์ส เอเชีย ซาลารี่ ไกด์ ยังเปิดเผยว่า นายจ้างหลายรายในมาเลเซีย ยังใช้หลักแจกเงินโบนัสตามผลงาน นอกเหนือจากการขึ้นค่าจ้าง เพื่อให้รางวัลพนักงานที่ทำงานดีที่สุดในปีนี้ด้วย

ด้านกรรมการบริหารของบริษัทเฮย์ส เอเชีย นางคริสติน ไรท์ กล่าวว่า ความต้องการพนักงานที่มีฝีมือสูง เป็นหนึ่งในเหตุผลที่นายจ้างยังนิยมใช้วิธีการแจกโบนัส ขณะที่นายจ้างที่ไม่สามารถขึ้นค่าจ้างคราวละมาก ๆ ให้กับพนักงานเก่ง ๆ ได้ ก็จะใช้วิธีแจกโบนัสเป็นการตอบแทน เพื่อรั้งตัวคนเหล่านี้ไว้กับองค์กร



ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก:ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช. โหวตลับ ได้ ‘กอบศักดิ์’ นั่ง กมธ.ยกร่างฯ แทน ‘ทิชา’

$
0
0

สปช. ลงคะแนนลับ 119 คะแนน เลือก กอบศักดิ์ ภูตระกูล เป็น กมธ.ยกร่าง รธน. แทน  ‘ทิชา ณ นคร’ ด้านกอบศักดิ์ โชว์วิสัยทัศน์ ลดเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยประสบการณ์ 17 ปี

 

4 มี.ค. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงคะแนนลับ เพื่อเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนของ สปช. แทนตำแหน่งที่ว่าง หลังทิชา ณ นคร ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 

ทั้งนี้มีสมาชิก สปช. ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน ได้แก่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ศิรินา ปวโรฬารวิทยา, จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ และอมร วาณิชวิวัฒน์ ซึ่งผลคะแนนปรากฏว่า กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้คะแนนสูงสุด 119 คะแนน ได้รับเลือกเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยก่อนที่จะมีการลงคะแนนได้มีการเปิดให้ทั้ง 4 คนได้แสดงวิสัยทัศน์เพื่อประกอบการตัดสินใจของสมาชิกสปช. ในการลงคะแนน  

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ได้ชูประเด็นลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ตนมีประสบการณ์และได้ศึกษามากว่า 17 ปี  โดยยืนยันความพร้อมที่จะร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ และร่างกฎหมายลูกอีกหลายฉบับเพื่อประกอบการปฏิรูปเดินหน้าประเทศ 

ด้านศิรินา ปวโรฬารวิทยา กล่าวว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องพร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย และต้องเป็นบุคคลที่โปร่งใส ตวจสอบได้ ขณะเดียวกันเห็นว่า ความเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องสร้างจุดร่วมให้ได้เพื่อให้การเดินหน้าประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ แม้ว่าการเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นงานหนัก แต่ตนยืนยันอย่างเต็มใจที่จะสานงานนี้เพื่อประเทศ  

ขณะที่จุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ กล่าวถึงเหตุผลที่สมัครเข้าร่วมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ว่า เพราะเสียดายการลาออกของทิชา ณ นคร และอีกเหตุผลคือ ตนเชื่อมั่นว่าตนมีความบริสุทธิ์เพียงพอที่จะทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐ ธรรมนูญ เพราะตนเข้ามาเป็น สปช. อย่างโปร่งใส และมีอิสระในตัวเองโดยไม่ขึ้นกับใคร  ทั้งนี้หากตนได้รับเลือกให้เป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ก็เชื่อว่าตนจะสามารถเชื่อมโยงการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้

ส่วนอมร วาณิชวิวัฒน์   มีวิสัยทัศน์แบบสั้น แต่ได้ความกระชับว่า  มุ่งประโยชน์สาธารณะ  ผนึกกำลังแม่น้ำทุกสาย ผนวกองค์ความรู้ควบคู่คุณธรรม นำสู่รัฐธรรมนูญ  เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สลายแดง53 ‘อภิสิทธิ์’ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี ‘พล.อ.ประวิตร’ ปัดไม่ได้ตัดสินใจ ‘สุเทพ’ รับสั่งคนเดียว

$
0
0

ปฏิกิริยาหลัง ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ‘อภิสิทธิ์-สุเทพ’ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ คดีสลายเสื้อแดงปี 53 อภิสิทธิ์ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ยันไม่ใช่คนตัดสินใจ แค่รู้เห็นเท่านั้น ด้านพระสุเทพรับสั่งการคนเดียว

หลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น)  มีพฤติการณ์ส่อกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีสั่งใช้กำลังทหารขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างวันที่ 10 เม.ย. ถึง 19  พ.ค.53 (อ่านรายละเอียด)

อภิสิทธิ์ ชี้ ‘บิ๊กป้อม-ป๊อก-ตู่’ รู้ดี

โดย อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์ถึงคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ยอมรับมติของ ป.ป.ช.ที่เห็นว่าเป็นเหตุเข้าข่ายการถอดถอนออกจากตำแหน่ง พร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และยืนยันว่ามีการปรับหลักการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย แต่กรณีมีผู้ใช้อาวุธไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐบาลมีหน้าที่คืนความสงบให้กับสังคม คนที่ทำงานร่วมกันรู้ดี เช่นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ.ในขณะนั้นด้วย เพราะเข้าร่วมประชุมอยู่ จึงรู้ดีถึงการทำงานในขณะนั้น หาก ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลทั้งหมดพร้อมจะเป็นพยานให้หรือไม่

พระสุเทพรับสั่งการคนเดียว

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์ รายงานปฏิกิริยาจาก สุเทพ หรือพระสุเทพ ด้วย โดยพระสุเทพ กล่าวว่า "อาตมาไม่ต้องอ้างเป็นพยาน เพราะจำได้หมดทุกเรื่องที่ทำมา ทั้งหมดตอบได้เลยว่า อาตมาสั่งการคนเดียว นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมในช่วงนั้น ทุกคนมีมติกัน ได้อภิปรายร่วมกันแล้ว อาตมาเป็นสั่งการ ขอรับผิดชอบในการสั่งการ ถ้าจะผิดหรือถูก อาตมารับผิดชอบ แล้วขอร้องว่า อย่าได้ไปเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ที่เขาทำ เพราะเขาทำตามคำสั่งอาตมา ตรงนี้ต้องให้ชัดเจน การชี้แจงเบื้องต้นจะทำเป็นหนังสือ แต่หาก ป.ป.ช.ต้องการให้ไปชี้แจงด้วยตัวเอง ก็พร้อมที่จะไป เวลานี้ก็รออยู่ และหาก ป.ป.ช. จะทำเรื่องถอดถอนในสภาฯ ก็พร้อมไปชี้แจงในสภาฯ ทั้งผ้าเหลืองเลย ที่ผ่านมาเคยใส่สูทเข้าสภามา 36 ปี เที่ยวนี้ จะห่มผ้าเหลืองเข้าสภาอยู่ และบางทีอาจจะถือโอกาสเทศน์ใหญ่กลางสภาเลย พูดจริงๆ ตอนนี้เตรียมร่างคำเทศน์ไว้แล้ว พร้อมที่จะไปตอบทุกคำถามในสภา ถ้า ป.ป.ช.เสนอให้ถอดถอน ไม่หนีไปด้วยตัวเองไม่ส่งทนายไปชี้แจงแทน"

พล.อ.ประวิตร ยันไม่ใช่คนตัดสินใจ แค่รู้เห็นเท่านั้น

ล่าสุดวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์รายงานปฏิกิริยาของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวยืนยันถึงคดีนี้ว่า จะทำตามที่กฎหมายกำหนด และว่า "ผมไม่ใช่คนตัดสินใจสลายนปช.ปี 53 คนตัดสินใจคือท่านนายกฯ ท่านสุเทพ ผมเป็นอยู่ในกระบวนการรู้เห็นเท่านั้น"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสมอผี: บรรเลงปี่พาทย์โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล

$
0
0

การบรรเลงปี่พาทย์เพลง "เสมอผี" โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างการอภิปรายหัวข้อ ศาสนากับการเมือง โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ

ในการบรรยายหัวข้อ บรรยายสาธารณะ “ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้” จัดโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ที่ห้อง ศศ.107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นั้น ในช่วงการบรรยายหัวข้อ “ศาสนาผีกับการเมือง” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดี เป็นการบรรยายพร้อมด้วยการบรรเลงปี่พาทย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยช่วงหนึ่งมีการบรรเลงเพลง "เสมอผี"

ทั้งนี้สุจิตต์ แนะนำว่า คำว่า "เสมอ" ไม่ใช่ความหมายที่แปลว่า "เท่าเทียม" แต่คำนี้มาจากรากภาษาเขมรที่แปลว่า เดิน หรือ ย่างกราย เพลงเสมอใช้ในพิธีไหว้ครูปี่พาทย์ เพลงหน้าพาทย์ เพลงตระ ใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์ โดยสุจิตต์กล่าวติดตลกด้วยว่า "ขณะนี้ถือว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์เลยจะเชิญผีมาเป็นพยานว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมืองปัจจุบัน แต่ในอนาคตไม่แน่" ทั้งนี้ในช่วงเริ่มบรรเลงปี่พาทย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้พนมมือไหว้ท่วมหัวด้วย (อ่านการอภิปรายของสุจิตต์)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ. - 4 มี.ค. 2558

$
0
0

แนะนายจ้าง-ลูกจ้างตกลงในองค์กร ก่อนหาตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

(26 ก.พ.) ที่ รร.เซนจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนาต้นแบบนายจ้างและลูกจ้างที่มีระบบบริหารจัดการที่ด้านแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ ว่า การที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของนายจ้าง และลูกจ้างได้จำนวนมาก ถือว่าการทำงานของ กสร.ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะความสำเร็จที่แท้จริงนายจ้างและลูกจ้างจะต้องมีช่องทาง หรือกฎระเบียบที่พูดคุยตกลงกันเองภายใน และได้ข้อสรุปโดยไม่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นช่องทางที่ดีกว่าการนำข้อพิพาทมาสู่คนกลาง อย่างกระทรวงแรงงาน หรือนำไปสู่ขั้นตอนของศาลแรงงาน ซึ่งจะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ โดยที่ผ่านมา ยังส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ศาลมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่กลับไม่ได้รับมอบหมายงานให้ทำ แม้จะให้เงินเดือนตามเดิม นำมาสู่ข้อพิพาทว่า ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
       
“การพึ่งพาคนกลาง หรือศาล เมื่อเกิดข้อพิพาทนั้น หากไกล่เกลี่ยโดยคนนอกถามว่ากลับมาทำงานร่วมกันจะได้ไหม จะมองหน้ากันติดหรือเปล่าเพราะเป็นการยุติข้อพิพาทที่ไม่ได้มาจากข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่มาจากกฎหมาย และที่ผ่านมา ศาลสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน นายจ้างก็จ่ายเงินเดือนแต่ไม่มอบหมายงานให้ทำ ลูกจ้างก็มาร้องเรียน กสร.อีกว่า เสียศักดิ์ศรี ซึ่งในเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างมอบหมายงานให้ทำ มีเพียงกฎหมายให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเท่านั้น แต่หากเกิดกรณีนี้ขึ้นจริงก็จะให้เจ้าหน้าที่ กสร.เข้าไปช่วยเจรจา” รมว.แรงงาน กล่าว
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อาจจะให้สหภาพแรงงานที่มีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่สหภาพ หรือลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อกำหนดเป็นช่องทางในการเจรจาข้อพิพาทโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง และจะพยายามลดขนาดของปัญหาลง

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-2-2558)

สปส.เสนอผู้ประกันตน ม.40 โอนสิทธิบำนาญชราภาพเข้า กอช.

(26 ก.พ.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ดำเนินการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หลังจากนั้นจะมีการเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งในส่วนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีความพร้อมโดยเบื้องต้นในส่วนของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในทางเลือกที่ 3 สามารถโอนสิทธิประโยชน์กรณีบำนาญชราภาพ เข้าไปอยู่ในกองทุน กอช.ได้ทันที สำหรับทางเลือกที่ 4 และ 5 ที่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ และสิทธิทดแทนในกรณีอื่นๆ นั้น หากสมัครใจจะโอนไปยัง กอช. ในส่วนสิทธิบำนาญชราภาพได้ แต่สิทธิอื่นๆ นั้นต้องมาศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจะมีแนวทางอย่างไรให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุด
       
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนในมาตรา 40 ตามทางเลือกที่ 3, 4 และ 5 ที่มีอยู่กว่ากว่า 1 ล้านคนไม่ต้องการโอนไปยัง กอช. สามารถลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่ง สปส.พร้อมที่จะจ่ายเงินคืนให้ทั้งในส่วนผู้ที่ประกันตนจ่ายเงินสมทบ และรัฐบาลร่วมสมทบ โดยรัฐบาลได้มีการตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้ ในปี 2558 ที่มีการจ่ายเงินเข้ามาแล้ว จำนวน 1,300 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการจ่ายเงินคืนแก่ผู้ประกันตนต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง โดยระหว่างนี้ผู้ประกันตนที่ยังไม่ลาออกยังสามารถจ่ายเงินสมทบ และได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลต่อไปจนกว่าแนวทางการปฏิบัติของ กอช.จะชัดเจน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-2-2558)

GM เตรียมเลิกผลิต Chevrolet Sonic ในไทยภายในเดือนมิ.ย. พร้อมปลดพนักงาน

บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ประกาศในวันนี้ (27 ก.พ.) ว่าทางบริษัทจะยกเลิกการผลิตรถยนต์รุ่น Chevrolet Sonic ในประเทศไทยภายในเดือนมิ.ย. โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างการดำเนินงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ พนักงานจำนวน 3,200 คนในประเทศไทยจะได้รับแจ้งให้เข้าร่วมโครงการลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งทางบริษัทคาดว่าจะส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนหลายร้อยคน
การประกาศของ GM ในวันนี้ มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้บริษัทเปิดเผยว่าจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย และจะปลดคนงานจำนวน 500 คน

ทั้งนี้ GM ระบุว่า โรงงานเบกาซี ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงจาการ์ตา และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1995 จะถูกปิดลงในเดือนมิ.ย.นี้ เนื่องจากประสบปัญหาค่าใช้จ่ายด้านชิ้นส่วนอะไหล่ที่สูงขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์รุ่น Chevrolet Spin ไม่เป็นไปตามเป้า โดย GM จะมีการนำเข้ารถยนต์รุ่น Chevrolet Orlando จากเกาหลีใต้ ขณะที่ยังคงมีการผลิตรุ่น Trailblazer และ Captiva ในประเทศไทย

(thaipr.net, 27-2-2558)

คปก.เสนอด่วนต่อ ครม. ให้ชะลอร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย ศ.ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยคปก.ขอให้ชะลอการเสนอร่างพรบ.ทั้งสองฉบับไว้ก่อนเพื่อทบทวนหลักการและสาระสำคัญของร่างพรบ. เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในการปรับปรุงร่างกฎหมายสองฉบับดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานจะต้องดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเปิดเผยและทั่วถึง เพื่อให้ระบบแรงงานสัมพันธ์เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่การพัฒนาประเทศทั้งในภาคส่วนอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งสองฉบับมีความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและได้ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนหลายครั้ง อาทิ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมาธิการแรงงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลแรงงานกลาง ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภานายจ้าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ILO) แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ องค์กรภาคประชาสังคม พบว่ามีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่ากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ไม่ทันสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันที่ซับซ้อนและหลากหลาย ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน

คปก.มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่มีการหยิบยกเอาเนื้อหาของร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์พ.ศ.... ฉบับบูรณาการแรงงานที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอค้างอยู่ในสภาแต่มีการยุบสภาไปก่อนมาพิจารณา นอกจากนี้ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการ รวมถึงผู้ทำงานในหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เช่น องค์กรมหาชน หน่วยงานนิติบุคคลของรัฐ องค์กรอิสระของรัฐ เป็นต้น และไม่ควรแบ่งแยกสิทธิในการรวมตัวจัดตั้ง และการเจรจาต่อรองระหว่างภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจเป็นสองฉบับ

ยิ่งไปกว่านั้น คปก.เห็นว่าหลักการและสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองและไม่สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีด้วย อย่างไรก็ตาม คปก.เสนอว่าในระหว่างที่ยังมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว กระทรวงแรงงานและรัฐบาลควรนำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศ

(สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, 3-3-2558)

พบลูกเรือประมงไทยกลับจากโซมาเลีย ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางาน

วันที่ 3 มีนาคม นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้ประสานไปยังกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) เพื่อตรวจสอบเรื่องการจ้าง งาน รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของลูกเรือ ประมงไทย 4 คนถูกโจรสลัดโซมาเลีย ควบคุมตัวและได้รับการช่วยเหลือกลับมาไทยแล้ว

กรมการกงสุลตรวจสอบแล้วพบว่าลูกเรือทั้ง 4 คน ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ จากกองทุนฯ

ส่วนการช่วยเหลือลูก เรือประมงทั้ง 4 คนนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จะเป็นผู้ดูแลในเรื่องเงิน ช่วยเหลือเยียวยา และขณะนี้กกจ.ได้ให้เจ้าหน้าที่ จัดหางานจังหวัดซึ่งลูกเรือประมงทั้ง 4 คนมี ภูมิลำเนาอยู่ คือ จังหวัดระนอง ตราดและบุรีรัมย์ เข้าไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อสอบถามและช่วยเหลือให้มีงานทำหากต้องการทำงานทางกกจ.ก็จะช่วยเหลือ แต่คงต้องให้พักผ่อนระยะหนึ่งก่อนเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจเพื่อให้มีความพร้อมทำงาน

(มติชน, 3-3-2558)

รมว.แรงงาน เผย ครม. เห็นชอบแผนจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ หลังครบกำหนดพิสูจน์สัญชาติ 31 มี.ค.
       
(3 มี.ค.) พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เสนอแผนการจัดการต่างด้าว 3 เรื่อง ได้แก่ การดำเนินการภายหลังครบกำหนดพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ในวันที่ 31 มีนาคมโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2558 จะได้รับการตรวจลงตราและได้รับอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 และสามารถขออนุญาตทำงานต่อได้อีก 2 ปี หลังสิ้นสุดการอนุญาต 31 มีนาคม 2559 (ถึง 31 มีนาคม 2561) 2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สัญชาติ เป็นกลุ่มที่ยื่นแบบบัญชีรายชื่อเพื่อขอรับการตรวจสัญชาติ แต่ยังไม่สามารถเข้ารับการตรวจสัญชาติได้ จะผ่อนผันให้อยู่ในไทยชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับอนุญาตให้อยู่และอนุญาตให้ทำงานต่อไปอีก 2 ปี 3. กลุ่มที่ยังไม่ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติ หากไม่มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่และขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 30มิถุนายน 2558 ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และ4.กลุ่มผู้ติดตาม ที่อายุไม่เกิน 15 ปี ให้มารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่พร้อมกับแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558
       
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่สองการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล แบ่งเป็นระยะสั้น เปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2558 ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสตอปเซอร์วิส) ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล โดยจะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ส่วนระยะยาวจะขออนุมัติให้มีการนำเข้าแรงงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) จากประเทศอื่นๆ ตามความต้องการของนายจ้าง และเรื่องที่สาม สำหรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูและครบกำหนด 4 ปี จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง 3 ปีแล้ว จึงจะกลับมาทำงานในไทยได้อีกครั้ง เป็น 30 วัน ซึ่งกระทรวงแรงงานและกระทรวงมหาดไทยต้องออกประกาศเพื่อรองรับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-3-2558)

สนง.ถสิติ เผยคนว่างงาน ม.ค.58 เพิ่มขึ้น 1.1%, ระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รายงานผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือน ม.ค.58 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  พบว่าภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน จาก 3.61 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 และ หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือน ธ.ค.57 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.84 แสนคน จาก 2.20 แสนคน เป็น 4.04 แสนคน

ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.01 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.47 แสนคน โดยผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน  มีจำนวนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 จำนวน 4.2 แสนคน จาก 38.43 ล้านคน เป็น 38.01 ล้านคน และ  ผู้มีงานทำ 37.36 ล้านคน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 จำนวน 4.3 แสนคน จาก 37.79 ล้านคน เป็น 37.36 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ 1.1

ผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่างๆ ได้ดังนี้ ผู้ทำงานที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต 3.5 แสนคน (จาก 6.30 ล้านคน เป็น 6.65   ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 1.0 แสนคน (จาก 2.18 ล้านคน เป็น 2.28 ล้านคน) สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน   (จาก 0.17 ล้านคน เป็น 0.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 3.0 หมื่นคน (จาก 0.64 ล้านคน เป็น 0.67 ล้านคน)

ส่วนผู้ทำงานลดลง ได้แก่  สาขาภาคเกษตรกรรม 4.8 แสนคน (จาก 11.71  ล้านคน เป็น 11.23 ล้านคน) สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 4.2 แสนคน (จาก 6.71 ล้านคน เป็น 6.29 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 7.0 หมื่นคน (จาก 1.28 ล้านคน เป็น 1.21 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 6.0 หมื่นคน (จาก 0.59 ล้านคน เป็น 0.53 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 5.0 หมื่นคน (จาก 2.69 ล้านคน เป็น 2.64 ล้านคน)

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังพบว่า ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 4.04 แสนคน  คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้น 4.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 57 ประกอบด้วย  ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.64 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 2.40 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคบริการและการค้า 1.19 แสนคน ภาคการผลิต 7.8 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 4.3 หมื่นคน

นอกจากนั้น ยังพบว่า ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.44 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 9.5 หมื่นคน ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 6.6 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.0 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง 1.41 แสนคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.7 หมื่นคน ภาคเหนือ 6.2 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 5.8 หมื่นคน และภาคใต้ 5.6 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคกลางมีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.2 รองลงมาเป็น กรุงเทพมหานครและภาคใต้ มีอัตราการว่างงานเท่ากันคือ ร้อยละ 1.1 ภาคเหนือ ร้อยละ 1.0  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.9

(สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 3-3-2558)

โรงงานรองเท้าขนาดกลางหลายเจ้าระส่ำ! เริ่มขายกิจการ-ลดขนาดธุรกิจ เหตุต้นทุน-ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น

(4 มี.ค.58) นายชนินทร์ จิตโกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มมีผู้ผลิตรองเท้าขนาดกลางในไทยบางรายประกาศขายกิจการซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักหลังจากที่ก่อนหน้านี้โรงงานผลิตรองเท้าในไทยเหล่านี้มีการปรับตัวด้วยการลดขนาดธุรกิจ ลดกำลังการผลิตลงเพื่อที่จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้จากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งในแง่ของวัตถุดิบ ค่าแรงงานที่ปรับขึ้นทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน  รวมถึงการแข่งขันกับต่างประเทศที่สูงขึ้น โรงงานรองเท้าในไทยขนาดกลางที่เน้นรับจ้างผลิตหรือเน้นงานระดับล่างโอกาสที่จะทยอยปิดกิจการจะเพิ่มขึ้นก็ถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักเพราะต้นทุนของไทยภาพรวมไม่สามารถสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามได้ เมื่อเจอภาวะค่าเงินบาทแข็งค่ายิ่งทำให้การแข่งขันตลาดส่งออกไม่ดีตามไปด้วย

นายชนินทร์  กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันปัญหาล่าสุดที่ยังต้องเผชิญคือการขาดแคลนแรงงานฝืมือจำนวนมากเนื่องจากแทบไม่มีแรงงานฝีมือรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มเติมเพราะเป็นงานที่ต้องอดทนและใช้เวลาฝึก ภาพรวมแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมรองเท้าจึงขาดแคลนไม่น้อยกว่า 30,000 - 40,000 คน ทำให้ไม่สามารถขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวหันไปผลิตสินค้าในระดับบนเพื่อความอยู่รอดหากจะคงกิจการเอาไว้

(TNN, 4-3-2558)

ก.แรงงาน เตรียมออกประกาศอาชีพที่ต้องมีหนังสือรับรองก่อนทำงาน เบื้องต้นนำร่อง 2 สาขาอาชีพ ช่างเชื่อม - ไฟฟ้า

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ  อธิบดีกรมพัฒนา ฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพร. อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสมาคมอาชีพต่างๆ กำหนดสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อ สาธารณะ หรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินการ จำนวน 10 สาขาอาชีพ ว่า มีความจำเป็นต้องออกประกาศให้ผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว จะต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถหรือไม่ เช่น อาชีพในสาขาช่างต่างๆ หรืออาชีพที่หากใช้บุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญดำเนินการอาจก่อให้เกิดอันตรายโดยเบื้องต้นจะเสนอ ต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาให้ออกประกาศจำนวน 2 สาขาอาชีพ ได้แก่ ช่างเชื่อม และช่างไฟฟ้าเป็นอาชีพที่ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถซึ่งเบื้องต้นจะต้องมีข้อกำหนดให้ปรับตัวก่อนจะบังคับใช้จริง
       
อธิบดี กพร. กล่าวอีกว่า เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว นายจ้างต้องจ้างบุคคลที่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเท่านั้น โดย กพร. จะเป็นผู้ทดสอบความรู้ความสามารถและออกหนังสือรับรองให้ และหากผู้ประกอบการจ้างบุคคลที่ไม่มีหนังสือรับรองต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และผู้ที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท อย่างไรก็ตาม จะพิจารณาประกาศ รายชื่ออาชีพที่ต้องใช้หนังสือรับรอง ความรู้ความสามารถให้ทันกำหนด พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือ แรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 บังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม นี้

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-3-2558)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มาฆบูชา ถึงวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ

$
0
0

 

 

ถึงเวลาที่สงฆ์ทั่วประเทศจะหันกลับมาทบทวนธรรมวินัยในตนเองแล้ว โดยอาศัยวาระสำคัญคือวัน “มาฆบูชา” ที่จะทำให้อารมณ์ศาสนา (สำนวนอาจารย์นิธิ) หวนกลับคืนมาสู่ความเป็นจริงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้วันมาฆบูชาเป็นเพียง “เทศกาล” เชิญชวนให้คนทำบุญ แท้จริงแล้วเป็น “กิจสงฆ์ล้วนๆ “ ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนแต่อย่างใด โดยสาระสำคัญที่สุดคือ พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทหลัก ๆ ไว้สำหรับพระสงฆ์ทั้งหมด (ในขณะนั้น) จำนวน 1,250 องค์ เพื่อให้ได้ทบทวนตนเองให้จงหนักและทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์เสียก่อน นี่คือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของวันมาฆบูชามิใช่หรือ?

คงไม่ต้องเสียเวลาเล่าท้องเรื่องที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชาว่าคืออะไร มีใครมาประชุม จำนวนกี่องค์ แต่เพื่อต้องการสะท้อนบทบาทของพระสงฆ์ในพ.ศ.นี้ว่าหากจะระลึกถึงวาระนั้น นัยที่แท้จริงในทางปฏิบัติควรทำอย่างไรมากกว่า  มันไม่ใช่ปาฏิหาริย์ของจำนวนคนที่มาร่วมประชุม แต่แท้จริงมันคือ “ปาฏิหาริย์แห่งธรรม” (อนุสานีปาฏิหาริย์) คือการทำให้คำสอนที่พระพุทธองค์ที่ได้ทรงประทานไว้นั้นมาปฏิบัติกันจริงจัง และผลก็จะเกิดตามอย่างแน่นอน  เพราะสาระที่แท้จริงคือการ “เข้าถึงธรรม” จึงจะ “เข้าถึงความจริง”  แต่หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้ววันนี้จะถือเป็น “บุญใหญ่” ได้หรือไม่ โดยถือโอกาสไปทำบุญ  ถวายทานกันอย่างเต็มที่ เกิดการเชิญชวนเข้าวัด ที่จริงก็ดีกว่าเข้าวิก เข้าบ่อน นั่นเป็นสิ่งที่ “ทำได้” แต่ก็ต้องบอกตนเองว่าที่ทำนั้นเป็นเพียง “ความสบายใจ” ชั่วคราว หรือ เป็นการแสวงหา “ความพ้นทุกข์” ที่ถาวร ซึ่งต้องถามตนเอง เราต้องการตอบคำถามแค่ไหน ก็จะได้คำตอบแค่นั้น เพียงแต่พุทธศาสนิกชนเองก็พึงสะท้อนถึงสาระที่แท้จริงด้วย เพราะวันเวลา และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ เป็นวาระแห่งสงฆ์ต่างหากครับ

สาระหลักในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ก็เพื่อให้ที่ประชุมสงฆ์ทั้งมวลให้ยึดเป็นหลักการ รวมถึงเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลักการใหญ่สำคัญ ที่ชาวพุทธมักถือว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา” ได้แก่

1) สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง หมายถึง การไม่กระทำความชั่วทั้งปวง ปาฏิหาริย์คำสอนนี้คือ ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำให้คนกระทำร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่ควรทำคือ “การละเว้น” ต่างหาก 

2) กุสะลัสสูปะสัมปะทา  หมายถึง การทำความดีที่สมบูรณ์ ในขณะที่ชาวพุทธละเว้นที่จะไม่ทำความชั่ว ได้แล้ว ก็ไม่พึงหยุดไว้เท่านั้น แต่ควรเพิ่มด้วยการกระทำที่ดีต่อผู้อื่นด้วย

3) สะจิตตะปะริโยทะปะนัง หมายถึง การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งภารกิจนี้เป็นส่วนบุคคล คือการให้เวลาการทำสมาธิภาวนา หรือการทำใจให้เป็น “มโนสุจริต” ตั้งจิตในทางที่ชอบ ไม่คิดเบียดเบียนรังแกผู้อื่นในทางที่ทุจริต ซึ่งจะส่งผลให้จิตบริสุทธิ์สะอาดได้อีกแนวทางหนึ่ง

แต่การที่ผู้เขียนได้จูงประเด็นว่า “มาฆบูชา” ถึงวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ เนื่องด้วยช่วงจังหวะเวลานี้มีเหตุอันเนื่องด้วยพระสงฆ์ และพระศาสนาอยู่ไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญมีการเรียกร้องหา “แก่นธรรมวินัย” ดังขึ้น ๆ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้เปิดเผย ชี้แจง แสดงให้ประจักษ์ ก็โดยพระสงฆ์ผู้ดำเนินตามรอยพระพุทธองค์มิใช้หรือ ควรถึงเวลาที่ประมุขสงฆ์จะเชิญชวนพระสงฆ์ทั่วสงฆมณฑลไทยได้มาพร้อมเพรียงกัน ณ พุทธมณฑล เพื่อแสดงหลักการ หลักธรรม วิธีการการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการดำรงตนที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ด้วยกันเองนี่แหละ ไม่ใช่การรวมพลญาติโยมเพื่อทำบุญ แต่ถึงเวลาที่ต้องรวมพลังสงฆ์ (ไม่ใช่ขัดหรือแย้งกับประกาศคสช.) เพื่อประกาศพระศาสนาตามหลักการในโอวาทปาฏิโมกข์ต่างหาก

อาจไม่ต้องกล่าวอ้างว่าแต่ละวัดต้องมีกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว เพราะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เวลานี้คำว่า “วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา” คืออะไร?  คือสถานการณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีผู้ก่อรูปให้เป็น “การปฏิรูป” ก่อนที่ฝ่ายรัฐจะปฏิรูปสงฆ์ สงฆ์ก็สามารถปฏิรูปตนเองก่อน เพราะโดยนัยของคำว่าปฏิรูปในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงการทำให้เหมาะ ให้ควรจากสิ่งที่เป็นอยู่ซึ่งอาจไม่อยู่ในภาวะเหมาะควรบางอย่างบางประการ และโดยพระธรรมวินัย ไม่ใช่โดยกฎหมายบังคับ

พระสงฆ์ในฐานะเป็นพระชั้นปกครองตั้งแต่ เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ควรเห็นพ้องเป็นฉันทามติที่จะมาร่วมกันแสดงถึงทิศทาง แนวทางในการประกาศพระศาสนาและการดำรงตนตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ รวมพระสงฆ์โดยพร้อมเพรียง (สมัครใจ) ให้ได้มากที่สุด หากจะมีข้อแม้บ้าง เช่น เจ้าอาวาสต้องอยู่จัดกิจกรรมในวันมาฆบูชาที่วัด  ก็อาจปรับเปลี่ยนให้รองเจ้าอาวาสเป็นผู้กระทำหน้าที่แทนได้  พระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือในฐานะพระปกครองซึ่งมีจำนวนหลักแสน หากดำเนินการได้นี่เป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดและตรงกับแนวทางเดิมตามที่ปรากฏการณ์ในวันมาฆบูชา  ไม่ต้องกังวลว่าจะจัด จะประดับประดาวัดอย่างไร กิจที่ชาวบ้านจะทำก็ให้ดำเนินไป เช่น ไหว้พระ 9 วัด 10 วัดอะไรก็ว่าไป แต่บทบาทของสงฆ์ในวาระนี้ต้องเป็น “วาระสงฆ์แห่งชาติ” หรืออาจอาศัยฐานของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก่อนซึ่งมีจำนวนพระนิสิต นักศึกษาจำนวนเรือนหมื่นแล้ว และเพราะพระสงฆ์เหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการประกาศพระศาสนาในปัจจุบันและอนาคตอยู่แล้ว   หากจะบอกว่าเหลือเวลาวันสองวันจะรวมพลอย่างไร คงตัดปัญหาดังกล่าวไปเลย เพราะในยุคเทคโนโลยี การออกสื่อเพียงครั้งเดียวก็ทั่วถึงทั้งโลกแล้ว พร้อมกันนี้ก็อาจให้สมัชชาสงฆ์ในต่างประเทศร่วมประชุมทางไกลได้ด้วย

สาเหตุที่ผู้เขียนเสนอแนวทางนี้เนื่องมาจากความปรารถนาดีว่าสงฆ์จะต้องแกร่งด้วยสงฆ์ก่อน ส่วนทางโลกหรือรัฐที่สงฆ์เป็นห่วงกังวลว่าจะมาครอบงำนำทางนั้นถือว่าเป็นเรื่องรอง (แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องหลัก)  ฝ่ายศาสนจักรนั้นเป็นอิสระด้วยธรรมและวินัยอยู่แล้ว กฎหมายฝ่ายโลกเป็นสิ่งที่เกิดทีหลัง เป็นกระบวนการจัด หรือทำให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยกติกา แม้ว่าสงฆ์จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ยอมรับกติกา  แต่สิ่งที่สงฆ์ประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ฝ่ายโลกก็ต้องให้ความสำคัญก่อนกฎหมาย เพียงแต่ปัจจุบัน มีเพียงสงฆ์บางรูปเท่านั้นที่มองข้ามกระบวนการตามธรรมวินัย มุ่งอาศัยแต่กฎหมายฝ่ายโลกที่จะจัด หรือทำกับสงฆ์ด้วยกันเอง  เมื่อเป็นดังนี้ ก็ควรถึงเวลาที่สงฆ์จะถือเป็นกิจหลักร่วมกัน เพื่อแสดงทิศทางในการเผยแผ่ การประพฤติปฏิบัติ และการอยู่ร่วมกับสังคมอยู่เข้าใจกันและกัน ไม่ใช่ต่างรูปต่างเผยแผ่ และต่างรูปต่างปฏิบัติไม่ว่าจะขัดหรือไม่ขัดต่อธรรมวินัยหรือไม่ก็ตาม นี่แหละครับ ฝ่ายสงฆ์น่าจะอาศัย “วันมาฆบูชา เป็นวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ”
 
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำถามยอดฮิต "ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร?"

$
0
0

 

“ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร ?” คำถามยอดฮิตที่โต้กับความเป็นส่วนตัว แน่นอนว่าคำถามยอดฮิตก็มีคำตอบยอดฮิตเช่นกัน บทความนี้จึงได้รวบรวมคำตอบยอดฮิตเหล่านี้จากคำตอบสั้น ๆ ที่ฮิตมาก ไปจนถึงคำตอบยาว ๆ ที่ลุ่มลึก

 

1) “งั้นขอรหัสผ่าน Email-Facebook (คนที่ถาม) ได้ไหม ?”

คำตอบนี้เป็นการย้อนสั้น ๆ ที่ได้ประสิทธิผล และอยู่บนพื้นฐานที่ว่าแม้แต่ผู้ออกกฎหมายเองก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัว ทำไมจึงออกกฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นล่ะ ? ข้อเท็จจริงหลายอย่างยังปรากฏว่า ผู้ที่ไม่กังวลต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น กลับกังวลต่อความเป็นส่วนตัวของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ปี 2011 ในขณะที่ Facebook ปรับลดนโยบายความเป็นส่วนตัวลง Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook กลับกว้านซื้อบ้าน 4 หลังรอบบ้านตนเอง เพื่อความเป็นส่วนตัว(http://www.businessinsider.com/mark-zuckerberg-buys-4-homes-for-privacy-2013-10) คำตอบนี้แม้บอกว่า เราทุกคนไม่ได้เป็น “คนดี” ตลอดเวลา แต่ยังไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ ว่า หากสมมติว่าเราทุกคนเป็น “คนดี” ได้ตลอดเวลา ทำไมความเป็นส่วนตัวจึงยังสำคัญ ?

 

2) มีเรื่องน่าอายหรือความลับหลายอย่างที่ไม่ได้ “ผิดกฎหมาย”

การร้องเพลงเพี้ยน ๆ การแต่งตัวแปลก ๆ การเต้นบ้า ๆ รูปในงานปาร์ตี้ การเจรจาทางธุรกิจ การพูดคุยสองต่อสองกับแฟน หรือแม้แต่กิจกรรมทางเพศ กิจกรรมเหล่านี้แม้ว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้เราจึงยังมีเสรีภาพในเคหสถาน หรือเสรีภาพในการสื่อสาร เรื่องนี้เข้าใจได้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงไม่ควรให้รหัสผ่านใครง่าย ๆ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นควรเป็นความลับ เพราะอาจทำให้เราเสียหน้า เสียชื่อเสียง หรือแม้แต่เสียการงานหากเป็นเรื่องทางด้านธุรกิจ คำตอบนี้อาจตอบคำถามได้ครึ่งหนึ่ง เพราะถ้ารัฐอ้างว่าการสอดแนมจะไม่เข้าไปถึงเคหสถานหรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น Chat ส่วนตัว แต่สอดแนมในระดับเดียวกับการเป็น “เพื่อน” ใน Facebook หรือเฉพาะเรื่องที่เราทำกับคนแปลกหน้าได้บ้าง เช่น การแสดงความคิดเห็น คำตอบนี้ก็จะตกไป

 

3) เราอาจไม่ได้ “ทำผิด” ศีลธรรม แต่อาจถูกจับไปเพราะ “เห็นต่าง” จากรัฐ

ผู้ใช้กฎหมายยังเป็นมนุษย์ผู้มีอคติอยู่ เรามั่นใจได้อย่างไรว่าการกระทำของเรา จะไม่ผิดในสายตาเขา ? คำตอบนี้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเกรงว่ากฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว จะถูกใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับคนเห็นต่าง และจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่า เมื่อคุณรู้ตัวว่าถูกสอดส่อง พฤติกรรมของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขัดเกลา (Shape) ความคิดของพลเมืองให้ไปทางเดียวกันกับที่ผู้นำรัฐต้องการ

คำตอบนี้อาจชัดเจนสำหรับเราหลาย ๆ คนที่ไม่อยากให้รัฐละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา แต่สำหรับคนที่ไม่เดือดร้อนต่อการที่รัฐสอดส่องดูแล อาจเป็นเพราะพวกเขาปฏิบัติตนตามที่รัฐต้องการอยู่แล้ว หรือมีความมั่นใจพิเศษว่ารัฐจะไม่จับกุมพวกเขา คำตอบนี้ก็ยังไม่ตอบว่า เหตุใดเขาจึงควรให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ?

 

4) กลัวว่าเราจะดำรงอยู่อย่างไร้ภาคภูมิ

จริง ๆ คำถามที่ว่า “ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร ?” อยู่บนพื้นฐานที่ว่าโลกนี้มีคนสองประเภท คือ “คนดี” กับ “คนร้าย” คนดีในที่นี้คือ คนปกติที่เชื่อฟังคำสั่งรัฐ คนร้ายคือคนที่ต่อต้านรัฐหรือมี “วิธีคิด” ที่รัฐไม่ต้องการ ดังนั้นการพูดว่า “ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร?” ในอีกนัยหนึ่งเป็นคำประกาศสวามิภักดิ์ต่อรัฐว่า เรานั้นเป็น “คนดี” อย่างภาคภูมิ เพราะเราให้รัฐ “สอดแนม” ได้ แต่ในความเป็นจริง ความภาคภูมิย่อมบ่มเพาะจากเสรีภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐออกกฎหมายบังคับให้คนทุกคนต้องบริจาคโลหิต คนที่ออกมาต่อต้านกลุ่มแรก ๆ ก็คือกลุ่มที่บริจาคโลหิตเป็นประจำนั่นเอง แม้ว่าจะอ้างเหตุผลใด ๆ ก็ตาม แต่เหตุผลลึก ๆ ก็คือกฎหมายบังคับให้คนต้องบริจาคโลหิต เป็นการลดความภาคภูมิของคนที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ ฉันใดก็ฉันนั้น หากรัฐออกกฎหมายบังคับให้ทุกคนเป็นคนเปิดเผยข้อมูล คนที่ออกมาต่อต้านกลุ่มแรก ๆ กลับมีบุคลิกภาพเปิดเผยเสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะหากรัฐ “สอดแนม” ได้ ความภาคภูมิแห่งการเป็นคนเปิดเผยก็จะถูกทำลาย เพราะทุกคนเป็น “คนเปิดเผย” โดยบังคับไปเสียหมด ดังนั้นหากท่านเป็นคนเปิดเผย หรือเป็น “คนดีมีคุณธรรม” การสนับสนุนเสรีภาพส่วนบุคคลกลับเป็นการเติมเต็มความภาคภูมิของท่าน ว่าท่านได้เลือกที่จะเป็น “คนดี” ด้วยตัวท่านเองจริง ๆ


หมายเหตุผู้เขียน: อ้างอิงข้อมูลและได้รับแรงบันดาลใจมาจาก http://www.ted.com/talks/glenn_greenwald_why_privacy_matters?language=th)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐธรรมนูญฉบับที่มองไม่เห็นหัวคน

$
0
0

 

ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังร่างๆกันอยู่นี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ “อัปลักษณ์” ที่สุดและจะมี “อายุสั้น”ที่สุดของประเทศไทยด้วยเหตุผลนานัปการ แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือการที่มองเห็นคนไม่เท่ากันหรือมองไม่เห็นหัวคนนั่นเอง

นับแต่เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทตามเจตนารมณ์ของการร่างได้ 2 ประเภทคือ

1)ฉบับชั่วคราวซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อจัดให้มีฉบับถาวรต่อไป โดยส่วนใหญ่จะใช้ชื่อว่า “ธรรมนูญ”หรือมีคำว่า “ชั่วคราว” ประกอบ เช่น ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  เป็นต้น

2)ฉบับถาวร ซึ่งผลสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับอันเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเดิมให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งร่างใหม่ทั้งฉบับโดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 เป็นต้น

อายุการใช้งานของรัฐธรรมนูญไทย

1)สั้นที่สุด คือ ฉบับที่ 1 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 อายุการใช้งานเพียง 5 เดือน 13 วัน (27 มิ.ย.-10 ธ.ค.2475) มี 39 มาตรา

2)ยาวที่สุด คือ ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งถึงแม้จะอยู่ในประเภทรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแต่ก็มีอายุการใช้งาน 9 ปีกับอีก 5 เดือนเต็ม มีเพียง 20 มาตรา หนึ่งในนั้นคือมาตรา 17 ที่ให้อำนาจพิเศษให้แก่นายกรัฐมนตรีในอันที่จะสั่งการหรือกระทำการใดๆก็ได้ เช่น การสั่งให้ประหารชีวิตหรือยึดทรัพย์สินใครก็ได้ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันแปลงร่างมาเป็นมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 นั่นเอง

ฉบับที่ดีที่สุด

ยังไม่มี แต่พออนุโลมได้ว่า ฉบับที่ 10 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และ ฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีไกล้เคียงกันเพราะปรากฎบทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวหน้าและเป็นแบบเสรีประชาธิปไตย กอปรกับอาศัยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการร่างอย่างจริงจังด้วย

ฉบับที่อัปลักษณ์ที่สุด

ถ้าไม่นับช่วงระยะเวลา 101 วัน คือ 20 ตุลาคม 2501 ถึง 28 มกราคม 2502 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญปกครองแผ่นดิน แต่ใช้ประกาศคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เป็นกฎหมายปกครองบ้านเมืองแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับที่อัปลักษณ์ใกล้เคียงกันก็น่าจะเป็น ฉบับที่ 7 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ,ฉบับที่ 9 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 ,ฉบับที่ 11 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519,ฉบับ 12 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 และ ฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่ต่างก็ให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้าคณะรัฐประหาร(ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ตาม)มีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน

เมื่อหันมาดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นในด้านวิธีการที่ได้มาของกรรมาธิการร่างซึ่งสั่งตรงมาจากต้นกำเนิดของแม่น้ำห้าสาย(ไม่ใช่แม่น้ำห้าสายมารวมกันนะครับ) และเนื้อหาที่พิลึกพิลั่น พิสดารพันลึก ทั้งการปะผุจากของเก่า ทั้งการเอาขนมมาผสมน้ำยา ทั้งถอยหลังเข้ารกเข้าพง เช่น นายกฯไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง,สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่เพิ่มอำนาจจนใหญ่คับบ้านคับเมือง ซึ่งนอกจากเสนอกฎหมายโดยเริ่มจากวุฒิสภาได้เองแล้วยังสามารถแทรกแซงฝ่ายบริหารโดยมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐมนตรีก่อนเข้าสู่ตำแหน่งอีกด้วย ,ส่วนส.ส.นั้นเล่าก็ไปลอกระบบการเลือกตั้งจากเยอรมันแต่ลอกมาไม่หมด

ทั้งยังจินตนาการว่าถ้าคนดีซะอย่างทุกอย่างก็จะดีเอง เช่น การตั้งสมัชชาคุณธรรม(คุณ- น่ะ-ทำ แต่ ผม-ไม่-ทำ)แห่งชาติ ที่มีอำนาจล้นฟ้า(จริงๆถ้าทำได้ก็น่าจะดีนะครับโดยกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำต้องเป็นพระอนาคามีหรือเทียบเท่าขึ้นไปสำหรับศาสนิกอื่น ส่วนการเป็นพระอรหันต์นั้นเอาไว้ให้เป็นคุณสมบัติของกรรมการสรรหาเสีย) ,การยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ากับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกลายเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ทั้งๆที่โครงสร้างเดิมภารกิจและอำนาจหน้าที่คนละเรื่องกัน หรือ การล็อกหลายชั้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยแทบจะไม่มีความเป็นไปได้ในการแก้ไขตามวิถีทางปกติ อีกทั้งยังให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆที่โดยลักษณะของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมันต้องขัดกับรัฐธรรมนูญเดิมในตัวเองอยู่แล้ว ไม่งั้นจะไปแก้ไขให้เมื่อยตุ้มทำไม ฯลฯ

จากวิธีการและเนื้อหาที่ย้อนยุคและมองว่าคนเราไม่เท่ากันอีกทั้งยังเอื้อประโยชน์แก่ผู้คนบางกลุ่มบางเหล่าและมีแนวโน้มที่เป็นการปกครองในรูปแบบของรัฐราชการที่ล้าหลัง งุ่มง่าม และสืบทอดอำนาจแล้ว ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อมีการประกาศใช้ไปแล้ว

วิธีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มีอยู่ 2 วิธี คือ

1)การยกเลิกโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญเหมือนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่เมื่อดูจากเนื้อและวิธีการแก้ไขที่วางหมากไว้แล้วทำได้ค่อนข้างยากถึงยากที่สุด แต่ก็เป็นไปได้หากประชาชนเกือบทั้งประเทศเอาด้วยเมื่อเห็นว่าหากขืนดันทุรังใช้ต่อไปจะทำให้ประเทศล่มจมลง

2)การยกเลิกนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญเป็นผลสืบเนื่องมากจากการปฏิวัติ(revolution) อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส  ปฏิวัติรัสเซีย หรือการปฏิวัติ 24 มิถุนายน2475 ของไทย เป็นต้น หรือ เป็นผลมาจาการรัฐประหาร(coup หรือ putsch)ที่ไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ตาม เช่น คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม หรือคณะปฏิรูป คณะรักษาความสงบ ฯลฯ ซึ่งสำหรับเมืองไทยเราแล้วโอกาสที่จะไม่เกิดการยกเลิกนอกวิถีทางรัฐธรรมนูญมีค่าเป็นศูนย์เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าจะเกิดจากการปฏิวัติโดยประชาชนหรือการรัฐประหารโดยกองทัพเท่านั้นเอง

ผมไม่คิดว่าระยะเวลาที่เหลือนี้จะทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงหลักการหรือเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับนี้ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจาก ครม. คสช.หรือสปช.คงเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ และก็คงเข็นกันออกมาจนได้ แล้วเราก็คงได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ “อัปลักษณ์”ที่สุด และ “อายุสั้น”ที่สุด เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มองไม่เห็นหัวคนนั่นเอง

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 4 มีนาคม 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

238 นักวิชาการเรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการในไทย

$
0
0

นักวิชาการ นักเขียน นักคิด จาก19ประเทศ อาทิ นอม ชอมสกี้, แคทเธอรีน โบวี่,ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, เควิน ฮิววิสัน, ดันแคน แม็คคาโก, เจมส์ ซี สก็อต, ไมเคิล บูราวอย ฯลฯ  ชี้จำกัดเสรีภาพทางวิชาการเป็นการขัดขวางการเรียนการสอน จำกัดจินตนาการ ความคิด การทำงาน และขัดขวางการกลับคืนสู่ระบอบที่มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก ประนามไล่สมศักดิ์ออกเป็นความร่วมมือระหว่างธรรมศาสตร์และคณะทหาร  ผู้ลงชื่อทั้ง 238 คน เรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย

000

นักวิชาการ นักเขียน นักคิด เรียกร้องขอให้เสรีภาพทางวิชาการกลับมาในประเทศไทย
(เผยแพร่ วันที่ 4 มีนาคม 2558)

9 เดือนหลังจากที่คณะปฏิรูปแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารครั้งล่าสุดในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้มีกลุ่มนักวิชาการ นักเขียน นักคิด จำนวน 238 คนทำจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องขอให้มีเสรีภาพทางวิชาการในประเทศไทย นักวิชาการกลุ่มนี้เสนอข้อเรียกร้องด้วยจิตวิญญาณภราดรภาพและความเคารพต่อความจริง ก่อนหน้านี้ก็มีนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากที่ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกไล่ออกจากตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรม กลุ่มนักวิชาการ 238 คนนี้ตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสูงและอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง พวกเขาวิจารณ์การไล่ดร.สมศักดิ์ออกว่าเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะทหาร

กลุ่มนักวิชาการ 238 คนนี้ไม่ได้ยกเสรีภาพทางวิชาการว่ามีความสำคัญเหนือกว่าเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกคน หากแต่พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า การลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ยิ่งอันตรายในช่วงระยะที่มีการปกครองแบบเผด็จการ เนื่องจากเป็นการ “ขัดขวางการเรียนการสอนของบรรดาอาจารย์และนักศึกษา ที่ภาระหน้าที่ปกติประจำวันคือการคิดและการพิจารณาความรู้และความหมาย ก่อให้เกิดการจำกัดจินตนาการและการทำงาน และขัดขวางการกลับคืนสู่ระบอบที่มีการปกป้องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก”

กลุ่ม 238 นักวิชาการ นักคิด และนักเขียนนี้มาจาก 19 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศออสเตรเลีย  ออสเตรีย  แคนาดา โคลัมเบีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไต้หวัน ประเทศไทย ตุรกี  อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ในตอนท้ายของจดหมาย นักวิชาการกลุ่มนี้ เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ทุกๆ มหาวิทยาลัยในประเทศไทย “ก้าวออกมาเป็นผู้นำในการสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างกว้างขวาง”พร้อมกับเสนอว่า “การคิดต่างกันไม่ใช่อาชญากรรม ถ้าหากไม่ได้คิดต่างกันในรั้วมหวิทยาลัยอันเป็นพื้นที่การเรียนการสอนและการแสวงหาความจริงแล้ว พื้นที่สำหรับความคิดนอกรั้วมหาวิทยาลัยจะเริ่มหดหายไปเช่นกัน”

000

Scholars, Writers and Thinkers Call for Academic Freedom in Thailand
For immediate release
March 4, 2015

Over nine months after Thailand’s 12th military coup since the end of the absolute monarchy in 1932 was launched by the National Council for Peace and Order (NCPO), 238 scholars, writers and thinkers, issued a call in support of academic freedom in Thailand in solidarity with colleagues inside the country who did so the week before.  Catalyzed by the summary firing of prominent historian Dr. Somsak Jeamteerasakul by Thammasat University, they note that there has been a sharp decline in protection of freedom of expression in Thailand since the coup. They are critical of the summary dismissal of Dr. Somsak and comment that it is an example of alignment between the NCPO and Thammasat University.

They do not privilege academic freedom, but note that attacks on it during dictatorship are particularly dangerous as this, “prevents students and scholars, those whose daily job is to think about knowledge and its implications, from imagining and working to return to a democratic regime founded on the protection of rights and liberties.”

The scholars are from 19 countries, including Australia, Austria, Canada, Colombia, Denmark, France, Germany, Japan, Malaysia, Netherlands, the Philippines, Singapore, South Korea, Sweden, Taiwan, Thailand, Turkey, United Kingdom, United States.  They conclude with a request for Thammasat University and all universities in Thailand, “to take an active and leading role in support of academic freedom and freedom of expression in a broad sense.” They link academic freedom with freedom of thought and human rights more broadly, and note that,  “To think differently is not a crime. If one cannot do so within the walls of the university, spaces of learning and the pursuit of truth, then the space to do so outside those walls will dwindle as well.”

 

A Call for the Protection of Academic Freedom in Thailand

As concerned international observers of Thailand, we stand in solidarity with our colleagues who have condemned the summary dismissal of Dr. Somsak Jeamteerasakul by Thammasat University on 23 February 2015. We have watched with growing concern as the space for freedom of expression has shrunk precipitously in Thailand since the 22 May 2014 coup by the National Council for Peace and Order (NCPO). By choosing to join with the NCPO to attack Dr. Somsak Jeamteerasakul, the Thammasat University administration has abdicated its responsibility to protect academic freedom and nurture critical thinking. While academic freedom is not worthy of protection greater than that of the right to freedom of expression of all citizens, the impact of its destruction during a time of dictatorship is particularly severe as it prevents students and scholars, those whose daily job is to think about knowledge and its implications, from imagining and working to return to a democratic regime founded on the protection of rights and liberties.

For more than twenty years, Dr. Somsak Jeamteerasakul has been a lecturer in the Department of History and has trained and inspired many students at Thammasat University. As a public intellectual, he has produced a significant body of work in modern Thai history that has impacted and challenged Thai society beyond the walls of the university. His critical stance has made those in power uncomfortable, and in 2011 he faced an accusation from the Army of violating Article 112, the section of the Criminal Code that addresses alleged lèse majesté. In February 2014, there was an attempt on his life when armed gunmen shot at his house and car with automatic weapons. Concerned about his life and liberty following the May 2014 coup, Dr. Somsak fled the country. He was subsequently summoned to report by the junta, and when he did not, the NCPO issued a warrant for his arrest and appearance in military court, as examination of violations of the junta’s orders was placed within the jurisdiction of the military court following the coup. In December 2014, he submitted his resignation. However, rather than accept his resignation, Thammasat University fired Dr. Somsak.

We stand in solidarity with our colleagues who note that, at the very least, Dr. Somsak Jeamteerasakul should be permitted to appeal the decision by Thammasat University to summarily dismiss him. In addition, he should be permitted to fight any legal charges against him in the civilian criminal court, not the military court. We further call on Thammasat University and all universities in Thailand to take an active and leading role in support of academic freedom and freedom of expression in a broad sense. To think differently is not a crime. If one cannot do so within the walls of the university, spaces of learning and the pursuit of truth, then the space to do so outside those walls will dwindle as well.

Signed,

1.      ​Patricio N. Abinales, Professor, School of Pacific and Asian Studies, University of Hawaii-Manoa

2.      Jeremy Adelman, Princeton University

3.      Nadje Al-Ali, Professor of Gender Studies, School of Oriental and African Studies, University of London

4.      Robert B. Albritton, Professor Emeritus, Department of Political Science, University of Mississippi

5.      Saowanee T. Alexander, Ubon Ratchathani University, Thailand

6.      Tariq Ali, Author

7.      Aries A. Arugay, Associate Professor, Department of Political Science, University of the Philippines-Diliman

8.      Indrė Balčaitė, PhD candidate, School of Oriental and African Studies, University of London

9.      Joshua Barker, Associate Professor of Anthropology, University of Toronto

10.  Veysel Batmaz, Professor, Istanbul University, Turkey

11.  Bryce Beemer, History Department, Colby College

12.  Trude Bennett, Emeritus Professor, School of Public Health, UNC

13.  Clarinda Berja, Professor and Chair of the Department of Social Sciences, University of the Philippines-Manila.

14.  Kristina Maud Bergeron, Agente de recherche et chercheuse associée, Chaire en entrepreneuriat minier UQAT-UQAM, Université du Québec à Montréal

15.  Chris Berry, Professor, Department of Film Studies, King's College London

16.  Robert J. Bickner, Emeritus Professor (Thai), Department of Languages and Cultures of Asia, University of Wisconsin

17.  David J.H. Blake, Independent Scholar, United Kingdom

18.  John Borneman, Professor of Antbropology, Princeton University

19.  Katherine Bowie, Professor of Anthropology, University of Wisconsin-Madison

20.  Francis R. Bradley, Assistant Professor of History, Pratt Institute

21.  Eloise A. Brière, Professor of French and Francophone Studies Emerita, University at Albany – SUNY

22.  Lisa Brooten, Associate Professor, College of Mass Communication and Media Arts, Southern Illinois University 

23.  Andrew Brown, Lecturer in Political and International Studies, University of New England

24.  James Brown, PhD Candidate, Department of Development Studies, School of Oriental and African Studies, University of London

25.  Din Buadaeng, Université Paris-Diderot (Paris 7)

26.  Michael Burawoy, Professor, University of California, Berkeley

27.  David Camroux, Associate Professor - Senior Researcher, Sciences Po

28.  Rosa Cordillera Castillo, PhD candidate, Freie Universität Berlin

29.  Danielle Celermajer, Professor and Director, Enhancing Human Rights Project, Faculty of Arts and Social Sciences, University of Sydney

30.  Pavin Chachavalpongpun, Associate Professor, Kyoto University

31.  Thak Chaloemtiarana, Professor, Cornell University

32.  Anita Chan, Research Professor, China-Australia Relations Institute (ACRI), University of Technology, Sydney

33.  Pandit Chanrochanakit, Visiting Scholar Thai Studies Program, Asia Center, Harvard University (Faculty of Political Science Ramkhamhaeng University)

34.  Nick Cheesman, Research Fellow, Political and Social Change, Australian National University

35.  Noam Chomsky, Institute Professor & Professor of Linguistics (Emeritus), MIT

36.  Lawrence Chua, Assistant Professor, School of Architecture, Syracuse University

37.  Nerida M. Cook, Ph.D.

38.  Simon Creak, Lecturer in Southeast Asian History, University of Melbourne 

39.  Robert Cribb, Professor of Asian History, Australian National University

40.  Linda Cuadra, MA Student, University of Washington, Jackson School of International Studies

41.  Robert Dayley, Professor of Political Economy, The College of Idaho

42.  Yorgos Dedes, Senior Lecturer in Turkish, School of Oriental and African Studies, University of London

43.  Arif Dirlik, Knight Professor of Social Science, Retired, University of Oregon

44.  Rick Doner, Professor, Department of Political Science, Emory University

45.  Ariel Dorfman, Author and Distinguished Professor, Duke University

46.  Ana Dragojlovic, UQ Postdoctoral Research Fellow, The University of Queensland

47.  Alexis Dudden, Professor of History, University of Connecticut

48.  Richard Dyer, Professor, King's College London and St. Andrews, Fellow of the British Academy

49.  Taylor M. Easum, Assistant Professor of History, University of Wisconsin, Stevens Point

50.  Nancy Eberhardt, Professor and Chair, Department of Anthropology and Sociology, Knox College

 

51.  Eli Elinoff, National University of Singapore 

52.  Olivier Evrard, Insitut de recherche pour le Développement, France & Chiang Mai University, Faculty of Social Sciences

53.  Nicholas Farrelly, Fellow, ANU

54.  Jessica Fields, Associate Professor, Sociology, San Francisco State University

55.  Alfredo Saad Filho, Professor, Department of Development Studies, School of Oriental and African Studies, University of London

56.  Amanda Flaim, Postdoctoral Associate, Duke University, Sanford School of Public Policy

57.  Tim Forsyth, Professor, International Development, London School of Economics and Political Science

58.  Arnika Fuhrmann, Assistant Professor of Asian Studies, Cornell University

59.  V.V. Ganeshananthan, Writer, Bunting Fellow, Radcliffe Institute for Advanced Study, Harvard University

60.   Paul K. Gellert, Associate Professor, University of Tennessee-Knoxville

61.  Charles Geisler, Professor of Development Sociology, Cornell University

62.  Henry Giroux, Author and Professor, McMaster University

63.  Parvis Ghassem-Fachandi, Associate Professor, Department of Anthropology, Rutgers University

64.  Jim Glassman, Professor, University of British Columbia

65.  Lawrence Grossberg, Morris Davis Distinguished Professor of Communication Studies and Cultural Studies, UNC-Chapel Hill

66.  Merly Guanumen, Professor of International Relations, Javeriana University

67.  Tessa Maria Guazon, Assistant Professor, Department of Art Studies College of Arts and Letters University of the Philippines-Diliman

68.  Geoffrey Gunn, Emeritus, Nagasaki University

69.  Tyrell Haberkorn, Fellow, Department of Political and Social Change, Australian National University

70.  Vedi Hadiz, Professor of Asian Societies and Politics, Asia Research Centre, Murdoch University

71.  Jeffrey Hadler, Associate Professor and Chair, Department of South and Southeast Asian Studies, U.C. Berkeley

72.  Paul Handley, Journalist and Author

73.  Eva Hansson, Senior Lecturer, Political Science and Coordinator, Forum for Asian Studies, Stockholm University

74.  Harry Harootunian, Max Palevsky Professor of History, Emeritus, University of Chicago

75.  Gillian Hart, Professor of Geography, University of California-Berkeley

76.  Yoko Hayami, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University

77.  Chris Hedges, Author

78.  Ariel Heryanto, Professor, School of Culture, History, and Language, Australian National University

79.  Michael Herzfeld, Ernest E. Monrad Professor of the Social Sciences, Department of Anthropology, Harvard University

80.  Kevin Hewison, Sir Walter Murdoch Professor of Politics and International Studies, Murdoch University

81.  Allen Hicken, Associate Professor of Political Science, University of Michigan

82.  CJ Hinke, Freedom Against Censorship Thailand (FACT), Independent scholar

83.  Philip Hirsch, Professor of Human Geography, University of Sydney

84.  Tessa J. Houghton, Director, Centre for the Study of Communications and Culture, University of Nottingham Malaysia Campus

85.  May Adadol Ingawanij, Reader, Centre for Research and Education in Arts and Media, University of Westminster

86.  Noboru Ishikawa, Professor, Center for Southeast Asian Studies, Kyoto University

87.  Sunisa Ittichaiyo, Ph.D. student, Faculty of Law, Augsburg University

88.  Soren Ivarsson, Associate Professor, University of Copenhagen, Denmark

89.  Peter A. Jackson, Professor, College of Asia and the Pacific, Australian National University

90.  Arthit Jiamrattanyoo, Ph.D. Student, University of Washington

91.  Lee Jones, Senior Lecturer in International Politics, Queen Mary, University of London

92.  Andrew Alan Johnson, Assistant Professor, Yale-NUS College

93.  Hjorleifur Jonsson, Associate Professor of Anthropology, School of Human Evolution and Social Change, Arizona State University

94.  Teresa Jopson, PhD candidate at the Australian National University

95.  Sarah Joseph, Professor, Castan Centre for Human Rights Law, Monash University

96.  Amanda Joy, Instructor and PhD Candidate, Carleton University

97.  Alexander Karn, Assistant Professor of History, Colgate University

98.  Tatsuki Kataoka, Associate Professor of the Graduate School of Asian and African Area Studies, Kyoto University

99.  Ward Keeler, Associate Professor of Anthropology, University of Texas-Austin

100. Charles Keyes, Professor Emeritus of Anthropology and International Studies, University of Washington

 

101. Akkharaphong Khamkhun, Pridi Banomyong International College, Thammasat University

102. Gaik Cheng Khoo, Associate Professor, University of Nottingham Malaysia Campus

103. Sherryl Kleinman, Professor of Sociology, University of North Carolina, Chapel Hill

104. Lars Peter Laamann, Department of History, School of Oriental and African Studies, University of London

105. John Langer, Independent researcher and broadcaster

106. Tomas Larsson, Lecturer, University of Cambridge

107. Pinkaew Laungaramsri, Visiting Scholar, Harvard Yenching Institute, Harvard University

108. Doreen Lee, Assistant Professor of Anthropology, Northeastern University

109. Namhee Lee, Associate Professor of Modern Korean History, University of California, Los Angeles

110. Terence Lee, Assistant Professor of Political Science, National University of Singapore

111. Christian C. Lentz, Assistant Professor of Geography, University of North Carolina, Chapel Hill

112. Busarin Lertchavalitsakul, PhD Candidate, University of Amsterdam

113. Daniel J. Levine, Assistant Professor of Political Science, The University of Alabama

114. Samson Lim, Assistant Professor, Singapore University of Technology and Design

115. Peter Limqueco, Editor Emeritus, Journal of Contemporary Asia

116. Johan Lindquist, Associate Professor, Department of Social Anthropology, Stockholm University

117. Kah Seng Loh, Assistant Professor at the Institute for East Asian Studies, Sogang University

118. Larry Lohmann, The Corner House

119. Tamara Loos, Associate Professor, History and Southeast Asian Studies, Cornell University

120. Taylor Lowe, PhD Student in Anthropology, the University of Chicago

121. Catherine Lutz, Thomas J. Watson, Jr. Family Professor of Anthropology and International Studies, Brown University

122. Chris Lyttleton, Associate Professor of Anthropology, Macquarie University

123. Regina Estorba Macalandag, Asia Center for Sustainable Futures, Assistant Professor, Holy Name University

124. Andrew MacGregor Marshall, Independent journalist and scholar

125. Ken MacLean Associate Professor of International Development and Social Change, Clark University

126. M F Makeen, Senior Lecturer in Commercial Law, SOAS, University of London

127. Neeranooch Malangpoo, PhD. student, Department of Anthropology, University of Wisconsin-Madison

128. Amporn Marddent, School of Liberal Arts, Walailak University

129. Jovan Maud, Lecturer, Institut für Ethnologie, Georg-August University

130. Duncan McCargo, Professor of Political Science, University of Leeds

131. Mary E. McCoy, Associate Faculty, University of Wisconsin-Madison

132. Kaja McGowan, Associate Professor of Art History, Cornell University

133. Kate McGregor, University of Melbourne

134. Shawn McHale, Associate Professor of History, George Washington University

135. Gayatri Menon, Faculty, Azim Premji University

136. Eugenie Merieau, INALCO, Paris

137. Marcus Mietzner, Associate Professor, Australian National University

138. Elizabeth Miller, Previous Thai language student at Ohio University

139. Owen Miller, Lecturer in Korean Studies, Department of Japan and Korea, School of Oriental and African Studies, University of London

140. Mary Beth Mills, Professor of Anthropology, Colby College

141. Bruce Missingham, Lecturer, Geography & Environmental Science, Monash University

142. Art Mitchells-Urwin, PhD candidate in Thai Studies, School of Oriental and African Studies, University of London

143. Dan Monk, George R. and Myra T. Cooley Professor of Peace and Conflict Studies, Colgate University

144. Michael Montesano, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore

145. Samuel Moyn, Professor of Law and History, Harvard University

146. Marjorie Muecke, Adjunct Professor, Family and Community Health, University of Pennsylvania School of Nursing, Paul G Rogers Ambassador for Global Health Research

147. Yukti Mukdawijitra, Visiting Assistant Professor, Department of Anthropology, University of Wisconsin-Madison

148. Laura Mulvey, Professor, Department of Film, Media and Cultural Studies, School of Arts, Birkbeck, University of London

149. Ben Murtagh, Senior Lecturer in Indonesian and Malay, School of Oriental and African Studies, University of London

150. Fumio Nagai, Professor, Osaka City University

 

151. Kanda Naknoi, Department of Economics, University of Connecticut

152. Andrew Ng, Associate Professor, School of Arts and Social Sciences, Monash University, Malaysia

153. Don Nonini, Professor of Anthropology, University of North Carolina, Chapel Hill

154. Pál Nyiri , Professor of Global History from an Anthropological Perspective, Vrije Universiteit, Amsterdam

155. Rachel O'Toole, Associate Professor of History, University of California, Irvine

156. Akin Oyètádé, Senior Lecturer, School of Oriental and African Studies

157. Jonathan Padwe, Assistant Professor of Anthropology, University of Hawaiˈi at Mānoa

158. Ajay Parasram, Doctoral Candidate, Carleton University Ottawa

159. Eun-Hong Park, Professor, Faculty of Social Science, Sungkonghoe University

160. Prasannan Parthassarathi, Professor of History, Boston College

161. Raj Patel, Research Professor, Lyndon B. Johnson School of Public Affairs, The University of Texas at Austin.

162. Quentin Pearson III, Andrew W. Mellon Postdoctoral Fellow, Wheaton College

163. Thomas Pepinsky, Associate Professor of Government, Cornell University

164. Penchan Phoborisuth, University of Utah

165. Sheldon Pollock, Arvind Raghunathan Professor of Sanskrit and South Asian Studies, Columbia University in the City of New York

166. Chalermpat Pongajarn, PhD candidate, Wageningen University

167. Pitch Pongsawat, Visiting Scholar, Harvard Yenching Institute, Harvard University

168. Tim Rackett, UK

169. Rahul Rao, Senior Lecturer in Politics, SOAS, University of London

170. Malavika Reddy, PhD Candidate, University of Chicago

171. Luke Robinson, Lecturer, University of Sussex

172. Garry Rodan, Professor of Politics & International Studies, Asia Research Centre, Murdoch University

173. John Roosa, Associate Professor, Department of History, University of British Columbia

174. Robin Roth, Associate Professor, Department of Geography, York University

175. Ulrich Karl Rotthoff, Assistant Professor, Asian Center, University of the Philippines

176. Pakpoom Saengkanokkul, PhD student, INALCO, Paris, France

177. Jiratorn Sakulwattana, PhD student

178. Ton Salman, Associate Professor and Head of Department, Department of Social and Cultural Anthropology, Vrije Universiteit Amsterdam

179. Saskia Sassen, Robert S. Lynd Professor of Sociology, Department of Sociology and Chair, Committee on Global Thought, Columbia University

180. Wolfram Schaffar, Professor, Department of Development Studies, University of Vienna

181. Sarah Schulman, City University of New York

182. James C. Scott, Sterling Professor of Political Science and Anthropology, Yale University

183. Raymond Scupin, Director, Center for International and Global Studies, Lindenwood University

184. Laurie J. Sears, Professor of History, Director, Southeast Asia Center, University of Washington

185. Mark Selden, Senior Research Associate, East Asia Program, Cornell University

186. Yeoh Seng-Guan, Monash University Malaysia

187. Bo Kyeong Seo, Australian National University

188. John T. Sidel, Sir Patrick Gillam Professor of International and Comparative Politics, London School of Economics and Political Science

189. Roland G. Simbulan, Professor in Development Studies and Public Management, University of the Philippines

190. Subir Sinha, Senior Lecturer, Department of Development Studies, School of Oriental and African Studies, University of London

191. Aim Sinpeng, Lecturer in Comparative Politics, University of Sydney

192. Aranya Siriphon, Visiting Scholar, Harvard Yenching Institute, Harvard University

193. Dan Slater, Associate Professor, Department of Political Science, University of Chicago

194. Jay M. Smith, Professor of History, UNC-Chapel Hill

195. Claudio Sopranzetti, Postdoctoral Fellow, All Souls College, Oxford University

196. Paul Stasi, Associate Professor and Director of Undergraduate Studies, SUNY-Albany

197. Irene Stengs, Senior Researcher, Meertens Institute/Research and Documentation of Language and Culture in the Netherlands/Royal Netherlands Academy of Arts and Sciences

198. Carolyn Strange, Senior Fellow, School of History, Australian National University

199. Wanrug Suwanwattana, PhD student, Oxford University

200. David Szanton, UC Berkeley, emeritus

 

201. Eduardo Climaco Tadem, Ph.D.,  Professor of Asian Studies, University of the Philippines Diliman

202. Teresa S. Encarnacion Tadem, Ph.D, Professor, Department of Political Science, University of the Philippines Diliman

203. Neferti Tadiar, Professor of Women's, Gender, and Sexuality Studies, Barnard College, Columbia University

204. Danielle Tan, Lecturer, Institute for East Asian Studies (IAO-ENS Lyon), Sciences Po Lyon

205. Michelle Tan

206. Tanabe Shigeharu, Professor Emeritus of Anthropology, National Museum of Ethnology, Osaka, Japan

207. Nicola Tannenbaum, Professor of Anthropology, Lehigh University

208. Nicholas Tapp, Professor Emeritus, Australian National University, Director, Research Institute of Anthropology, East China Normal University

209. Ben Tausig, Assistant Professor, Stony Brook University

210. Nora A. Taylor, Alsdorf Professor of South and South East Asian Art, School of the Art Institute of Chicago

211. Philip Taylor, Senior Fellow, Anthropology, Australian National University

212. Julia Adeney Thomas, Associate Professor, Department of History, University of Notre Dame

213. Barry Trachtenberg, Associate Professor, History Department, Director, Judaic Studies Program, University at Albany

214. Tran Thi Liên, Associate Professor, History of Southeast Asia, University Paris Diderot-Paris 7

215. Andrew Turton, Reader Emeritus in Social Anthropology at the University of London

216. Jonathan Unger, Professor, Department of Political and Social Change, Australian National University

217. Jane Unrue, Harvard College Writing Program, Harvard University

218. Sara Van Fleet, University of Washington

219. Peter Vandergeest, Geography, York University, Toronto

220. Boonlert Visetpricha, PhD candidate at University of Wisconsin- Madison, Department of Anthropology

221. Joel Wainwright, Associate Professor, Department of Geography, Ohio State University

222. Andrew Walker, Professor of Southeast Asian Studies, The Australian National University

223. Kheetanat Wannaboworn, Master's Degree Student, Sciences Po Paris

224. Thomas Weber, DPhil

225. Meredith Weiss, Associate Professor of Political Science, University at Albany, SUNY

226. Marina Welker, Associate Professor, Department of Anthropology

227. Bridget Welsh, Senior Research Associate, Center for East Asia Demcracy, National Taiwan University

228. Marion Werner, Assistant Professor, Department of Geography, University at Buffalo, SUNY

229. Frederick F. Wherry, Professor of Sociology, Yale University

230. Erick White, Visiting Fellow, Southeast Asia Program, Cornell University

231. Dhrista Wichterich, Gastprofessur Geschlechterpolitik, Fachbereich Gesellschaftswissenschaften, Universität Kassel

232. Sutida Wimuttikosol, PhD student, King's College London

233. Thongchai Winichakul, Professor of History, University of Wisconsin-Madison

234. Hiram Woodward, Curator Emeritus, Asian Art, Walters Art Museum

235. Theodore Jun Yoo, University of Hawaii at Manoa

236. Karin Zackari, PhD candidate, Human Rights Studies, Department of History, Lund University

237. Peter Zinoman, Professor of History and Southeast Asian Studies, University of California, Berkeley

238. Rebecca Zorach, Professor of Art History, Romance Languages, and the College, University of Chicago

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คืนความจริงกับ ‘เจษฎา’ : เลือกตั้งคือทางออก และทิ้งประชาธิปไตย ปฏิรูปไม่มีทางสำเร็จ

$
0
0

เมื่อวันที่ 23 และ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘คืนความจริง’ ได้เผยแพร่วิดีโอบทสัมภาษณ์ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ถึงประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการปฏิรูปจำนวน 2 ตอน ในวาระครบรอบ 1 ปีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57

โดยคืนความจริง ได้ยกคำพูดของ เจษฎา ที่กล่าวไว้ในเวทีอภิปราย “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 หรือ 5 วันก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องบรรยายรวม 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ด้วยว่า

"มนุษย์ทุกคนคือพี่น้องกัน ไม่รู้เราจะขัดแย้งกันทำไมในโลกนี้ แม้ทุกคนอาจเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เราได้มาจากความเป็นมนุษย์ที่เหนือจากสัตว์อื่น คือเรามีวัฒนธรรม เรามีประวัติศาสตร์ เรามีการเรียนรู้ เราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกันได้ เราเรียนรู้จากยุคสมัยที่เรามีการปกครองที่บางคนเป็นเพราะเจ้าบางคนเป็นไพร่ เราเรียนรู้วรรณะ เราเรียนรู้มาถึงระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนเท่ากัน เราอาจมีชีวิตในสังคมที่เราไม่เท่ากัน แต่เวลาที่เรามีสิทธิเลือกตั้งทุกคนนั้นเท่ากัน และทุกท่านต่างหากที่เป็นคนกลางของสังคม เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพานายกคนกลาง ลากตั้งมาจากไหน พวกเราเองมีสิทธิที่จะปกครองตัวเราเองได้" เจษฎา กล่าวในเวทีอภิปราย “เลือกตั้งคือทางออก นายกฯเถื่อนคือทางตัน” เจษฎา กล่าว

00000

จะสอนหนังสือลูกศิษย์อย่างไร เมื่อไม่ทำตามกติกา

เจษฎา กล่าวว่า ในประเทศที่เจริญแล้วจะไม่นิยมใช้ความรุนแรงในการหาทางออก แต่จะใช้วิธีการที่เป็นสันติมากกว่า ซึ่งการถามเสียงของคนในประเทศที่เป็นวิธีทางแบบสันติอย่างหนึ่งก็คือการเลือกตั้ง โดยสำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการพัฒนาประชาธิปไตยกันมาไกลแล้ว จึงไม่ควรที่จะย้อนกลับไปใช้วิธีการที่รุนแรงแล้วทำให้เกิดการบาดหมางกันได้ การเลือกตั้งมันจึงเป็นทางออกเพราะอยู่ในกรอบกติกาที่มีอยู่ และเป็นสิ่งที่จะคงไว้ซึ่งประชาธิปไตยให้กับประเทศไทยไว้ได้ แต่ประชาชนบางส่วนกลับไม่ต้องการที่จะทำตามกรอบกติกาที่มีอยู่เพราะคิดว่าวิธีอื่นจะเร็วกว่ารวบรัดกว่า ซึ่งผลที่จะตามมานั้นไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ มันจึงอาจนำไปสู่อะไรที่เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่

“ในมุมของผมเองที่เป็นอาจารย์ผมจะสอนหนังสือลูกศิษย์ต่อไปอย่างไร เพราะทั้งชีวิตเราสอนให้คนเคารพกติกา ทำตามกฎระเบียบ วินัย ที่เรามีอยู่ ทำตามกฎหมาย ทำตามจารีตของสังคม แล้วถึงวันวันหนึ่งเราบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ทำตามกติกาใด ๆ เลย ฉันจะเลือกวิธีนี้ แบบนี้ผมสอนหนังสือลูกศิษย์ต่อไปไม่ได้”

โมฆะการเลือกตั้ง  2 ก.พ.57 สร้างปัญหาเรื้อรัง

เจษฎาได้วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินโมฆะการเลือกตั้ง  2 ก.พ. 57 ของศาลรัฐธรรมนูญว่า ถ้าต่อไปสิ่งนี้กลายเป็นบรรทัดฐานแล้วเมื่อเกิดการปิดคูหาอีกแม้จะซักคูหาเดียวการเลือกตั้งจะต้องโมฆะทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเพระมันจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต ดังนั้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มันจึงสร้างบรรทัดฐานบางอย่างที่มีปัญหาในอนาคตได้

เราปฏิรูปไปพร้อมเลือกตั้งได้

เจษฎา กล่าวว่า คำว่าปฏิรูปเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ซึ่งเป็นคำที่น่าสนใจและเป็นคำที่ดี เพราะเป็นคำซึ่งแสดงว่าเราพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ให้ดีขึ้น ปฏิรูปเป็นคำที่ถูกเอามาใช้ในมุมมองที่เป็นนามอธรรมสูง ซึ่งหากถามผู้คนว่าจะต้องการปฏิรูปอะไร อย่างไรบ้าง คนมักจะตอบไม่ได้แต่รู้ว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ดี

เจษฎากล่าวต่อว่า ในประเด็นการปฏิรูปเป็นที่น่าสนใจว่าควรหันกลับมามองประเด็นในเรื่องกติกาอีกทีหนึ่งว่าเราต้องทำตามกติกาหรือไม่ เช่น พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็เหมือนกับว่ากฎหมายประกาศแล้วว่าต้องเลือกตั้ง ซึ่งหากไม่จัดให้มีการเลือกตั้งมันก็จะผิดต่อกติกาที่มีอยู่ ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถเลือกตั้งและปฏิรูปไปด้วยกันได้ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนโดยหากมีฝ่ายค้านที่มองว่าการเลือกตั้งมันไม่ยุติธรรม เราควรจับเข่าคุยดีกว่าหรือไม่ว่าควรออกกฎกติกาในการเลือกตั้งอย่างไร และการเลือกตั้งที่จัดไปก่อนแล้วก็ให้เป็นการเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์ไปก่อนก็ยังสามารถทำได้ ไม่ใช่ว่าพอเลือกตั้งไปแล้วก็จะเป็นการยึดครองอำนาจที่ฝ่ายคัดค้านการเลือกตั้งกลัวเพราะจะเป็นแค่การเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์ แล้วหลังจากนั้นก็มาใช้เวลาร่วมกันในการปฏิรูป เพราะเป็นที่แน่นอนว่าการจะปฏิรูปนั้นต้องใช้เวลานานพอปฏิรูปเสร็จแล้วก็จัดการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ และยังทำให้กลไกของประชาธิปไตยมันเดินต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องล้มทุกอย่างเพื่อไปสู่การปฏิรูปอย่างที่ว่า ในขณะนี้ประเทศไทยยอมทิ้งประชาธิปไตยไปทั้งหมด เพื่อใช้เส้นทางอื่นเพื่อปฏิรูป คำถามก็คือเมื่อใช้เส้นทางนี้มันจะเกิดความเป็นธรรมจริงหรือ เมื่อปฏิรูปเสร็จเรียบร้อยแล้วผู้คนทั้งหมดจะยอมรับหรือไม่ ไม่ต่างกับเมื่อก่อนนี้ที่บอกว่าหากเลือกตั้งไปแล้วก็จะมีคนไม่ยอมรับ วันนี้ก็เช่นเดียวกันคนอาจลงทุนลงแรงปฏิรูปกันยกใหญ่แล้วยังเป็นคำถามอยู่ว่าคนจะยอมรับหรือไม่ หากคนจำนวนมากในประเทศไม่ยอมรับในสิ่งที่ปฏิรูปมา แม้แต่รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในตอนนี้ก็เหมือนกันถ้าถึงวันที่ต้องลงประชามติคนจำนวนมากไม่ลงประชามติรับ หรือเกิดการคัดค้านตัวรัฐธรรมนูญในภายหลังสังคมก็จะกลายเป็นสังคมที่ขัดแย้งกันไปตลอด

ไม่ใช่ประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตรวจสอบได้

สำหรับปัญหาเรื่องการคอรัปชั่น เจษฎา ตั้งคำถามว่า เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการรัฐประหารจะแก้ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาของนักการเมืองจะไม่ถูกถ่ายโอนไปที่อีกมือหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ใช่ประชาธิปไตยเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะตรวจสอบได้ หากดูจากที่ผ่านมาการที่เรารู้ได้ว่านักการเมืองมีการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ หรือมีการโกง การยักยอกเกิดขึ้น เพราะมันอยู่ในบรรยากาศที่เป็นเสรีภาพเป็นประชาธิปไตยเราสามารถแสดงความเห็นได้เต็มที่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ สื่อสามารถวิจารณ์ได้ คนสามารถค้นหาข้อมูลได้มากขึ้นคนถึงได้รู้ และเมื่อรู้ก็จะหาทางออกร่วมกัน วิธีการที่จะแก้ของประชาชนทั่วไปคือการเลือกตั้ง เพราะประชาชนมองออกว่าใครดี หรือไม่ดี โกง หรือไม่โกง สามารถใช้การไปกากบาตเลือกตั้งในการตัดสิทธิและลงโทษนักการเมือง และที่สำคัญมันมีกลไกอื่น ๆ ที่คอยตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ กกต.ที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้ง ปปช.ที่ดูแลเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น หรือแม้แต่ระบบของศาลเองที่สามารถดำเนินการได้เราจะได้มั่นใจว่านักการเมืองที่จะถูกลงโทษถูกตัดสินมีน้ำหนักจริง ๆ มีข้อมูลจริงไม่ใช่การกล่าวหากัน ซึ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่คนกล่าวหากันได้ตลอด

มองการเมืองไทย หลัง 1 ปีโมฆะเลือกตั้ง

เจษฎา กล่าวว่า ถ้ามองวันนี้เมื่อ 1 ปี ที่แล้วยังไม่มีภาพเลยว่าจะเกิดปฏิวัติขึ้นในประเทศไทย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ในช่วงเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมาทำให้ผู้คนได้เริ่มเรียนรู้ในเส้นทางใหม่ การที่ผู้คนไม่สามารถที่จะพูดในสิ่งที่คิดออกมาได้เต็มที่ คนในสังคมต้องเงียบมากขึ้น เรากลับไปอยู่ในยุคสามสิบสี่สิบปีที่แล้วและกลับไปอยู่ในยุคที่ต้องฟังท่านผู้นำพูดว่าจะต้องเป็นอย่างไร มีกรอบมากขึ้น มีกฎอัยการศึกที่ประกาศออกมาอย่างไม่เหมาะสมเพราะมันยังไม่มีสงครามเกิดขึ้นในประเทศ หากแต่ก็ยังคงบังคับใช้กฎอัยการศึกมาจนถึงวันนี้ สื่อไม่สามารถเชิญนักวิชาการมาพูดและแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันทำให้สังคมย้อนกลับไปอยู่ในโลกที่ไม่มี่สิทธิและเสรีภาพทางการเมือง แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

หากจะมองมุมซึ่งสวยงามอาจพูดได้ว่าเรามีความหวังมากขึ้นมี สนช. เข้ามาช่วยผ่านกฎหมายที่ค้างคาอยู่ให้เร็วขึ้น แต่เรามั่นใจได้แค่ไหนว่าการผ่านกฎหมายที่รวดเร็วแบบนั้นได้ผ่านการไตร่ตรองได้ดีแล้วหรือยัง มีความเป็นธรรมหรือไม่ กฎหมายที่ดีที่ผ่านออกมาได้อย่างรวดเร็วก็ดี แต่ก็มีหลายกฎหมายที่คนเริ่มตั้งคำถามกับสังคมว่ากฎหมายแบบนี้ดีหรือ เพราะตัวกฎหมายยังมีปัญหาอยู่และออกบังคับเป็นกฎหมายแล้ว และไม่สามารถยับยั้งอะไรได้ หรือความหวังจากการมีสภาปฏิรูป เพื่อที่สังคมจะได้มีการปฏิรูปมากขึ้น หากแต่การปฏิรูปเองก็มีความล่าช้า ยังมีการถกเถียงกันมากและไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมจริง ๆ เข้ามาร่วมในการคิด รวมทั้งธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถตอบได้เลยว่ารัฐธรรมนูญเก่ามีปัญหาอย่างไร อะไรคือปัญหา แต่ก็มีการฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วจนต้องมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีโมเดลใหม่ผุดขึ้นมามากมายที่ยังถกเถียงกัน ว่าจะมีการเลือกตั้งนายยกหรือไม่ ซึ่งดีตรงที่ไม่เห็นความวุ่นวายในสังคมคิดว่าจะได้เห็นความปรองดองของทั้งสองฝ่ายที่เห็นต่างกันรึก็เปล่า เพราะมันมีการสร้างความแตกแยกไปแล้ว เมื่อคุณปลุกระดมให้แตกแยกให้เกลียดกันแล้วโอกาสที่มาคืนดีกันมันยากมันฝังใจแน่ ๆ วันนี้กดผู้คนให้ไม่ทะเลาะกันได้ด้วยกฎอัยการศึก แต่เมื่อวันหนึ่งไม่มีกฎอัยการศึกคนก็จะกลับมาทะเลาะกันใหม่ ดังนั้นแทนที่จะใช้เส้นทางที่สันติมาตั้งแต่แรกกลับมาเลือกเส้นทางนี้เราก็จะอยู่บนเส้นทางแบบนี้ที่คุณต้องเก็บที่คุณต้องไม่พูดอะไรมาก

เจษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่รัฐธรรมนูญใหม่ถูกประกาศใช้แล้ว กฎอัยการศึกถูกเลิกใช้ไปปัญหาต่าง ๆ ที่หายไปจากการบังคับใช้กฎอัยการศึกจะกลับมาหรือไม่อย่างไร และจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่จากการที่ถูกกดเอาไว้ หากว่าปีในปี พ.ศ. 2560-61 ยังคงไม่มีรัฐธรรมนูญยังไม่มีการเลือกตั้งจะกดให้ความอดทนของทั้งสองฝ่ายระเบิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าสังคมไทยจะไม่เป็นเช่นนั้น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images