Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

แนะรัฐเร่งดันนโยบายเงินอุดหนุนเด็ก ชี้สร้างโอกาสในการพัฒนาอย่างเท่าเทียม

$
0
0

ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอเผย ภาครัฐควรเร่งผลักดันให้มีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับเด็ก และเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียม ระบุการให้การอุดหนุนเด็กโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย ถือว่าเป็นการลงทุนด้านสังคมที่คุ้มค่าที่สุด

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงข้อเสนอ “เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก” ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์การภาคประชาชน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และองค์การยูนิเซฟ กำลังผลักดันเพื่อให้ออกมาเป็นนโยบายภายในปีนี้ว่า เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และเข้าถึงโอกาสการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน ถือเป็น “การคุ้มครองเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะถูกละเลยไม่ได้ ซึ่งประเทศใกล้เคียง เช่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน มองโกเลีย และศรีลังกา ล้วนมีเด็กเล็กมากมายกำลังเติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแล้ว

เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็ก เป็นการคุ้มครองทางสังคมอย่างหนึ่งภายใต้ระบบสวัสดิการเพื่อการคุ้มครองทางสังคมในระบบสากล โดยผู้รับไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ สำหรับกรณีของประเทศไทยนับตั้งแต่อดีต มีการดูแลให้มีการบริการรักษาพยาบาลฟรีถ้วนหน้า เรียนฟรีถ้วนหน้า เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า แต่กลับไม่มีเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กมาก่อน ทั้งที่ถือว่าเป็นการลงทุนด้านสังคมที่คุ้มค่าที่สุด โดยมีผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง ศ. ดร. เจมส์ เจ เฮคแมน สนับสนุนอีกเสียงหนึ่งว่าการลงทุนพัฒนาเด็กโดยเฉพาะช่วงปฐมวัย จะให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตถึง 7-10 เท่า นับเป็นการลงทุนที่ให้ผลแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว

เมื่อเด็กได้รับเงินอุดหนุนจะก่อให้เกิดผลดี 3 ด้าน คือ 1. ด้านทรัพยากรมนุษย์ เด็กจะมีผลการเรียนดีขึ้น สำเร็จการศึกษามากขึ้น และเงินอุดหนุนเด็กครอบคลุมค่าใช้จ่ายเบื้องต้นคือค่าอาหาร จะทำให้เด็กมีภาวะโภชนาการที่ดี ลดการเกิดโรคต่างๆ จนถึงวัยชรา 2. ด้านเศรษฐกิจ เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะช่วยสร้างแรงงานคุณภาพให้เป็นผู้เสียภาษีที่มีศักยภาพ เม็ดเงินที่ไหลไปสู่มือของประชาชนจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับชาติและท้องถิ่น  อีกทั้งงบประมาณเพื่ออุดหนุนเด็ก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้เพื่อผู้สูงอายุ จะมีแนวโน้มที่ลดลงในอนาคต เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 3. ด้านความสมานฉันท์ทางสังคม เงินอุดหนุนเด็กช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสของเด็กในการพัฒนาด้านต่างๆ และช่วยลดโอกาสในการที่พ่อหรือแม่จะละทิ้งลูกให้อยู่กับคนอื่น

เนื่องจากนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กจะดำเนินการผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด ทำให้เกิดข้อกังวลถึงงบประมาณในการดำเนินการของนโยบายนี้ โดยข้อเสนอเงินอุดหนุนเด็กต่อหัวจากที่เสนอไว้ประมาณ 600 บาท/คน/เดือน ถูกปรับเหลือเป็น 400 บาท/คน/เดือน และช่วงอายุเด็กที่หารือกันและนำเสนอไป คือ 0-6 ปี ถูกปรับเหลือเพียง 0-1 ปี

ความคืบหน้าล่าสุดของการผลักดันข้อเสนอนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา  ทาง พม. และสภาพัฒน์ได้ร่วมกันในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น เพื่อจะนำข้อเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีในวาระต่อไป เนื้อหาสำคัญที่นำเสนอ คือ โครงการนำร่องสำหรับเงินอุดหนุนจะให้กับแม่ที่ยากจน อยู่ในครัวเรือนยากจนและเสี่ยงต่อความยากจนแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้แม่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และฝากครรภ์ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึง 30 ต.ค. 2559 ส่วนการดำเนินงานจะเป็นการแจกสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพของเด็กที่ต้องบันทึกรายละเอียดการรับวัคซีนด้วย การรับสมุดบันทึกการตรวจสุขภาพของแม่จะเท่ากับเด็กได้เข้ามาสู่ระบบที่สามารถรับเงินอุดหนุนเด็กได้ โดยรูปแบบตามที่ พม. และสภาพัฒน์นำเสนอ แตกต่างไปจากข้อเสนอที่เครือข่ายองค์การภาคสังคม ยูนิเซฟ และทีดีอารืไอได้เสนอไว้เมื่อแรกเริ่ม คือวิธี U1T2 (universal first, targeting second) โดยเสนอว่าเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนนี้ในเบื้องต้น แต่หากตรวจสอบข้อมูลแล้ว พบว่าพ่อแม่ของเด็กอยู่ในฐานภาษีสูง หรือเป็นผู้ประกันตนที่มีรายได้สูง เด็กจึงจะถูกตัดสิทธิรับเงิน

ดร. สมชัย  ระบุ 2 ข้อควรระวังจากข้อเสนอล่าสุด คือ ปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง (exclusion error) เพราะกลุ่มเป้าหมายคือแม่ที่ยากจนขาดการรับรู้ข่าวสาร หรือถูกเลือกปฏิบัติจากผู้นำชุมชนที่อาจมีส่วนในการรับรองให้แม่ที่ยากจนเข้าร่วมในระบบ  และอีกปัญหาคือ การให้เด็กได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะในช่วง 0-1 ปี อาจเป็นเรื่องยากที่จะวัดระดับสติปัญญาของเด็ก หรือประโยชน์ที่เด็กได้รับจากเงินอุดหนุนอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากภาครัฐสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง และเร่งเก็บข้อมูลที่จะนำมาเป็นตัวชี้วัด อาทิเช่น น้ำหนักหรือส่วนสูงของเด็ก น่าจะแก้ปัญหาข้างต้นได้.

http://tdri.or.th/tdri-insight/subsidy-for-children-treatment/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ไม่ซื้อแนวคิดเว้นวรรคการเมืองแม่น้ำ 5 สาย เพราะจะไม่มีคนทำงาน

$
0
0

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ซื้อแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลให้แม่น้ำ 5 สาย ครม.-คสช.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่าง เว้นวรรคการเมือง 2 ปี เพราะจะไม่มีคนทำงาน โดยจะยึด รธน.ชั่วคราวที่ คสช. ร่างเป็นหลัก - ด้านเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่าง ยอมรับว่าเป็นผู้เสนอเอง เพราะเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สายไม่คิดสืบทอดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ/เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

5 มี.ค. 2558 - กรณีที่ เจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะอนุกรรมาธิการร่างบทเฉพาะกาล เสนอแนวคิดตัดสิทธิหรือเว้นวรรคทางการเมือง แม่น้ำ 5 สาย หรือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าแม่น้ำทั้ง 5 เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง อีกทั้งกลัวว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไป จึงเห็นว่าควรมีการเว้นวรรคช่วงหนึ่ง และเชื่อว่า แม่น้ำ 5 สายไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจแน่นอน

ล่าสุด วันนี้ (5 มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยใน เพจของวาสนา นาน่วมผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์ระบุว่า "หากหวาดระแวงผม ผมไม่จำเป็นต้องคืนอำนาจก็ได้" โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า คสช. และ ครม. จะขอยึดรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ ห้ามแต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคนทำงาน โดยยืนยันว่า หัวหน้า คสช. เป็นคนออกรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็ยึดตามนั้น โดยขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปหาทางอื่นกันแทน

"เอาตามนั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราว ห้ามแต่ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ เสนอมาก็เสนอไปๆ ผมเอาตามนั้น นี่จะเอาทั้งหมด ห้ามแบบนี้ไม่มีใครทำงาน หามาตรการอื่น จะมาหวาดระแวงอะไรผม ผมไม่คืนอำนาจให้ ก็จบแล้ว ผมเอาตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมเอาอย่างนี้ คนอื่นว่าไง ก็ไปว่ามา"

ในเฟสบุ๊คของวาสนาระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เตือน กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญบางคน พูดมาก อย่าสร้างขัดแย้ง ควรพูดน้อย

ทั้งนี้ ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายเจษฎ์ โทณะวณิก หนึ่งใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยอมรับว่าแนวคิดตัดสิทธิ์หรือเว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 สาย เป็นข้อเสนอของเขาเอง เนื่องจากต้องการให้ประชาชนมั่นใจว่าแม่น้ำทั้ง 5 เข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติจริง อีกทั้งกลัวว่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองต่อไป จึงเห็นว่าควรมีการเว้นวรรคช่วงหนึ่ง และเชื่อว่าแม่น้ำ 5 สายไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจแน่นอน

ส่วนสาเหตุที่ตัดสิทธิ์ 2 ปี เนื่องจากเมื่อตัวเองดูเวลาแล้วพบว่าการทำงานของแม่น้ำ 5 สายมีเวลาราว 2 ปี ดังนั้นก็ควรมีการตัดสิทธิ์ในระยะเวลาเท่ากัน โดยการตัดสิทธิ์จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ดำรงตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย พ้นวาระจากตำแหน่ง และจะมีผลย้อนหลังทุกกรณี รวมถึง นางทิชา ณ นคร ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช.ด้วย ซึ่งการตัดสิทธิ์จะตัดสิทธิ์ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ยังสามารถทำหน้าที่สรรหา ส.ว.หรือดำรงตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองได้ เช่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ซี่งตนเองจะนำเสนอแนวคิดนี้ในวันนี้

อย่างไรก็ตามคิดว่าแนวคิดนี้คงไม่ผ่านการยอมรับจากคณะ กมธ.ยกร่างฯ และยังไม่ได้มีการพูดคุยกับสมาชิก สนช. และ สปช.ถึงแนวคิดนี้ด้วย ส่วนการยกร่างบทเฉพาะกาลคาดว่าจะมีทั้งหมด 20 มาตรา คงพิจารณาแล้วเสร็จวันพรุ่งนี้ โดยยังเหลือการพิจารณาประเด็นสำคัญใน 3-4 ประเด็น เช่น บทบาทของแม่น้ำ 5 สายหลังพ้นตำแหน่ง และแนวทางการส่งต่อบทบาทหน้าที่ในรัฐบาลชุดต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

$
0
0

"ถ้าหวาดระแวงผมเหรอ ผมก็ไม่คืนอำนาจให้ก็จบแล้ว"

5 มี.ค.58 กล่าวถึงข้อเสนอเว้นวรรคทางการเมือง คสช. แม่น้ำ 5 สาย 2 ปี เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ

สุรพศ ทวีศักดิ์: ตำรวจธรรมวินัย-ตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐ

$
0
0

 

มีคำถามกันมากว่า การอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระ กำลังมีลักษณะเป็น “เผด็จการธรรมวินัย” มี “ตำรวจธรรมวินัย” คอยจับผิดพระว่าอย่างนั้นอย่างนี้ทำไม่ได้ ส่งผลให้ไม่มีเสรีภาพในการตีความธรรมวินัย ขาดความหลากหลาย ความมีชีวิตชีวาในพุทธศาสนาไทยๆ เป็นต้น


สิทธิอำนาจและผลประโยชน์จากการอ้างธรรมวินัย

แต่ข้อเท็จจริงคือ พระสงฆ์ไทยทุกนิกาย ทุกกลุ่ม ไม่ว่าพระในและนอกสังกัดมหาเถรสมาคม ต่างอ้างว่าตนเองเป็น “เถรวาท” และถือวินัยสงฆ์ (ศีลพระ) เถรวาท 227 ข้อ การอ้างเช่นนี้ทำให้พระมีอภิสิทธิ์ (สิทธิพิเศษ) ต่างๆ เหนือคนธรรมดามากมาย เช่น มีสถานะภาพสูงกว่าชาวบ้าน เป็นที่ศรัทธากราบไหว้ของผู้คน มีสิทธิอำนาจในการสอนศีลธรรม เป็น “เนื้อนาบุญ” รับบริจาคปัจจัยสี่จากชาวบ้าน กินฟรีอยู่ฟรี และ ฯลฯ

ถามว่าพระเป็น “ผู้ผลิต” หรือไม่? ตอบว่าเป็น เช่น เป็นผู้สอนศีลธรรม ให้บริการด้านกิจกรรมปฏิบัติธรรม พิธีกรรมและอื่นๆ แต่ทั้งหมดนั้นเป็นการให้ “ฟรีๆ” หรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าพระจะสอนธรรม เขียนหนังสือธรรมะ เสวนาธรรม บรรยาย อภิปรายธรรมในเวทีวิชาการ จัดค่ายปฏิบัติธรรม ให้บริการด้านพิธีกรรม หรือทำการเผยแผ่พุทธศาสนาด้วยวิธีใดๆ แทบทั้งหมดนั้นมี “ค่าตอบแทน” ทั้งสิ้น แต่เราเรียกว่า “เงินทำบุญ” และพระก็รับเงินทำบุญนั้นเป็น “ของส่วนตัว” ได้ด้วย

แต่ตามวินัยสงฆ์ พระรับเงินเป็นสมบัติส่วนตัวไม่ได้ ถ้ารับก็ต้องอาบัติ “นิคสัคคีย์ปาจิตตีย์” ต้องปลงอาบัติ หรือแก้การผิดวินัยสงฆ์ข้อนี้ได้ด้วยการ “สละคืนให้สงฆ์” คือต้องมอบเงินนั้นให้เป็นของสงฆ์หรือของส่วนรวม สำหรับใช้เพื่อกิจการส่วนรวมของวัด หรือให้พระทุกรูปมีสิทธิ์เบิกใช้ยามจำเป็น เช่นค่ารักษาพยาบาลยามป่วยไข้เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง พระสงฆ์ไทยสามารถมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้เป็นร้อยๆ ล้าน รับโอนเงินใน “ชื่อตัวเอง” ได้เป็นร้อยๆ ล้าน พันล้าน โดยไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องถูกรัฐตรวจสอบเรื่องร่ำรวยผิดปกติ ฯลฯ เพียงเพราะอ้างว่านั่นคือ “เงินบริจาคทำบุญ”

สำหรับบรรดาลูกศิษย์พระรวยๆ เช่นนั้น ก็ไม่ได้สนใจจะตรวจสอบอยู่แล้ว เพราะเชื่อใจท่าน ยิ่งถูกกล่อมเกลาให้เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส กระทั่งมี “ญาณวิเศษ” หยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ด้วยแล้ว ยิ่งเชื่อต่อไปว่าการที่ท่านมีบัญชีเงินฝากในชื่อตัวเองเป็นร้อยเป็นพันล้าน นั่นก็ยิ่งแสดงถึงบุญบารมีอันสูงส่งของท่าน ใครคิดสงสัยหรือจะตรวจสอบความโปร่งใสของท่าน ย่อมมี “จิตอกุศล” เกิดขึ้น เป็นบาปกรรมแก่ตัวเองเปล่าๆ ไม่บังควรคิดเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง

 

ตรรกะของการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระ (และที่พอทำได้เพียงน้อยนิด)

อย่างไรก็ตาม แม้พระสงฆ์ทุกกลุ่มจะอ้างความชอบธรรมในสถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ทางนามธรรมและทางวัตถุจากการถือวินัยสงฆ์ หรือศีลพระ 227 ข้อ แต่ในความเป็นจริงชาวพุทธไทยก็ให้ความสนใจ หรือสามารถตรวจสอบพระได้จริงๆ ด้วยการอ้างวินัยสงฆ์เพียง 4 ข้อ หรือ “ปาราชิก 4 ข้อ” ที่ถ้าพระละเมิดแล้วจะขาดจากความเป็นพระเท่านั้น แปลว่าศีลพระอีก 223 ข้อ เป็นเรื่องที่แต่ละวัด แต่ละสำนักจะตรวจสอบกันเอง (แต่เราเคยเห็น “การตรวจสอบกันเอง” หรือไม่ ส่วนใหญ่เรารู้เมื่อเป็น “ข่าว”)

ตรรกะของการอ้างวินัยสงฆ์ตรวจสอบพระ คือการที่ชาวบ้านเรียกร้อง-ต่อรอง “ความรับผิดชอบ-accountability ทางศีลธรรม” จากพระ หมายความว่าเมื่อพระอ้างธรรมวินัยอะไรให้ความชอบธรรมแก่สถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ตัวท่านควรได้รับ ประชาชนก็มีสิทธิอ้างธรรมวินัยที่ท่านอ้างนั้นมาเรียกร้องความรับผิดชอบกับท่านได้ แต่ที่ชาวพุทธไทยอ้างตรวจสอบพระได้จริงๆ คือ 4 ข้อนี้เท่านั้น

1. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่ฆ่าคน ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามฆ่ามนุษย์” (ปาราชิกข้อที่ 1)

2. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่คอรัปทรัพย์สินคนอื่น ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ไม่ถือเอาของคนอื่นที่มีราคาตั้งแต่ 5 มาสก หรือ 1 บาทขึ้นไป” (ปาราชิกข้อ 2)

3. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามเสพเมถุนหรือมีเพศสัมพันธ์” (ปาราชิกข้อ 3)

4. ชาวพุทธมีสิทธิ์ตั้งคำถามได้ว่า เป็นพระต้องไม่คอรัปศรัทธาหรือหลอกลวงหากินกับศรัทธาของพระชาชน ในเมื่อพระอ้างว่าถือวินัยสงฆ์ “ห้ามอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน” อันเป็นการห้ามอ้างคุณวิเศษหลอกลวงหากินกับศรัทธาของประชาชน (ปาราชิกข้อ 4)

จะเห็นว่า หากเทียบกับสถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ทั้งทางนามธรรมและวัตถุที่พระได้รับ การเรียกร้อง “ความรับผิดชอบ” จากพระเพียง 4 ข้อนี้ เป็นการเรียกร้องที่ “น้อยมาก” ข้อ 1, 2 และ 4 เป็นจริยธรรมพื้นฐานที่แม้แต่ฆราวาสก็ต้องปฏิบัติกันทุกองค์กรอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่มีองค์กรหรือสถาบันทางสังคมอารยะที่ไหนอนุญาตให้สมาชิกองค์กร/สถาบันฆ่าคน โกง หรือโฆษณาตัวเองเกินจริงเพื่อหลอกลวงหากินเอาเปรียบประชาชนได้ สิ่งที่ต่างจากชาวบ้านก็มีเพียงข้อ 3 พระต้องถือพรหมจรรย์เท่านั้น (แต่ถ้าท่านจะไม่ถือพรหมจรรย์ ก็ต้องประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าท่านเป็นนิกายหรือกลุ่มสงฆ์ที่พระมีเมียได้ หากชาวบ้านเขาศรัทธา สนับสนุนก็อยู่ได้ จะไม่มีใครอ้างวินัยสงฆ์เถรวาทเรื่อง “ห้ามเสพเมถุน” ไปเอาผิดท่านได้)

ฉะนั้น การอ้างปาราชิก 4 ข้อ ตรวจสอบพระ เป็น “อำนาจต่อรองน้อยนิด” ที่ชาวบ้านพอจะมีอยู่จริงๆ ขณะที่พระไทยไม่ต้องถูกชาวบ้านตรวจสอบวินัยสงฆ์อีกตั้ง 223 ข้อ และยังมีอภิสิทธิ์ต่างๆอีกมากดังกล่าวแล้ว เช่นมีเงินในชื่อตัวเองหรือส่วนตัวได้เป็นร้อยๆ ล้าน โดยไม่ถูกชาวบ้านตั้งคำถามทั้งๆ ที่ผิดวินัยสงฆ์ชัดเจน ไม่ต้องเสียภาษี หรือถูกตรวจสอบเรื่องรวยผิดปกติ ฯลฯ


ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระไม่ make sense?

มีข้อโต้แย้งว่า ระบบปกครองสงฆ์ที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นการอ้างธรรมวินัยตรวจสอบพระภายใต้ระบบเช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากการอ้าง 112 ไปเอาผิดคนอื่นๆ

ความเข้าใจเช่นนี้ เพราะไปคิดว่าระบบมหาเถรสมาคมไม่ต่างอะไร หรือ “เท่ากับ” อำนาจเผด็จการรัฐประหาร แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะอำนาจเผด็จการรัฐประหารนั้นฉีกรัฐธรรมทิ้ง และตั้งกฎการปกครองขึ้นมาใหม่ แล้วเอาผิดคนอื่นๆ ภายใต้กฎที่ตนเองตั้งขึ้น

แต่มหาเถรสมาคมนั้นแม้จะถูกสถาปนาขึ้นโดยอำนาจรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็จริง แต่ไม่ได้ฉีก “ธรรมวินัย” ทิ้ง และไม่ได้บัญญัติธรรมวินัยขึ้นมาใหม่ได้ ธรรมวินัยมีอยู่ในพระไตรปิฎก ซึ่งพระไตรปิฎกก็ไม่ใช่มหาเถรสมาคมเขียนขึ้น แต่มีอยู่ก่อน และที่ชาวพุทธไทยถือกันคือ “พระไตรปิฎกภาษาบาลี” ที่เขียนขึ้นในศรีลังการาว 500 ปี หลังพุทธปรินิพพาน (ซึ่งยังถืออย่างเทียบเคียงกับฉบับสันสกฤต และฉบับอักษรโรมันเป็นต้นด้วยเพื่อเทียบเคียงความสอดคล้องกัน ซึ่งแปลได้ในระดับหนึ่งว่าคณะสงฆ์ไทยเอง “ผูกขาด” ความถูกต้องของพระไตรปิฎกไม่ได้จริง)

ถึงจะเป็นเช่นนั้น มหาเถรสมาคมก็มีอำนาจ “ผูกขาด” การตีความ? ก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ แต่ “ผูกขาดอย่างสิ้นเชิง” ได้จริงๆหรือ? ถ้าได้ ทำไมมีการตีความพระไตรปิฎกแบบพุทธทาส, หลวงพ่อชา (ขณะปฏิบัติวิปัสสนาในสายหลวงพ่อชา-พระอาจารย์มั่น ท่านห้ามพระอ่านพระไตรปิฎกและหนังสือใดๆ ให้ใช้สติและปัญญาพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของตนเองโดยตรงเท่านั้น) แบบธรรมกาย สันติอโศก ฯลฯ เกิดขึ้นได้

แปลว่า ถึงมหาเถรสมาคมจะพยายามผูกขาด แต่ก็ไม่สามารถอ้างธรรมวินัยมาเอาผิดการตีความต่างกันได้ เพราะพุทธะไม่ได้บัญญัติไว้ในธรรมวินัยให้เอาผิดการตีความคำสอนต่างกัน หรือแม้แต่ตีความผิด หากพระจะผิดก็เฉพาะกรณีละเมิดวินัยสงฆ์เท่านั้น (ซึ่งหลังสมัยพุทธกาลก็ขึ้นอยู่กับวินัยสงฆ์ของแต่ละนิกาย ไม่ใช่อ้างวินัยสงฆ์ของนิกายหนึ่งไปตัดสินนิกายอื่นได้)

ฉะนั้น ธรรมวินัยที่สงฆ์กลุ่มไหน นิกายไหนอ้างความชอบธรรมให้กับตัวเองนั่นแหละ คือธรรมวินัยที่ประชาชนมีสิทธิ์อ้างตรวจสอบพระสงฆ์กลุ่มนั้น นิกายนั้น และในเมื่อพระสงฆ์ไทยทุกกลุ่ม ทุกนิกายต่างอ้างวินัยสงฆ์เถรวาท ซึ่งตามหลักการของวินัยสงฆ์เถรวาทที่อ้างกันนั้น ก็สามารถอ้างตรวจสอบพระทุกรูปตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาถึงพระธรรมดาได้ใน “มาตรฐานเดียวกัน” ฉะนั้นย่อมชอบธรรมที่ชาวพุทธจะอ้างวินัยสงฆ์ดังกล่าวตรวจสอบพระสงฆ์ไทย แม้จะยังไม่แยกศาสนาออกจากรัฐก็ตาม

เพราะตรรกะของ “การแยกศาสนาจากรัฐ” ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการที่ศาสนาใดๆ จะตรวจสอบกันตามหลักการเฉพาะของศาสนานั้นๆ แต่ตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐเป็นส่วนหนึ่งของไอเดีย secularism-ฆราวาสนิยม ที่ต้องการทำให้ทุกเรื่องอยู่ภายใต้กติกาทางโลก หรือทำให้การปกครองของรัฐ-การเมือง เศรษฐกิจ สังคมอยู่ภายใต้หลักการ กติกาทางโลก ที่มี rationality-ความเป็นเหตุผล มีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามได้ เถียงได้ วิจารณ์ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ไม่ทำให้เรื่องของรัฐ การเมือง เศรษฐกิจสังคม หรือกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ อยู่ภายใต้ความเชื่อทางศาสนา หรือความจริงสูงสุดที่เถียงไม่ได้ แตะไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ เอา “ความเป็นศาสนา” ออกไปจาการเมือง หรือกิจกรรมสาธารณะเช่นเรื่องสิทธิ ความยุติธรรมเป็นต้นให้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่อง “อุดมคติ” ที่แต่ละสังคมอาจยังบรรลุถึงได้ไม่เท่ากัน

ส่วนเรื่องศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รัฐต้องรับรองเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา แต่ถ้าหากศาสนา นิกายศาสนา หรือกลุ่มศาสนาต่างๆ จะถือหลักการหรือกติกาทางศาสนาบางอย่างร่วมกัน และตัดสินผิด ถูกตามกติกานั้นๆ เช่นสงฆ์เถรวาทตัดสินว่า พระขาดจากความเป็นพระเพราะต้องอาบัติปาราชิกข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อ ก็เป็นเรื่องข้อตกลงทางศาสนากันเอง รัฐไม่เกี่ยวข้อง ไม่เข้าไปแทรกแซงว่าทำอย่างนี้ถูกหรือผิด นักเสรีนิยมเองก็ไม่ไปยุ่งด้วย เพราะเป็นสิทธิทางศาสนาที่ต้องได้รับการเคารพ

ณ ปัจจุบัน สังคมไทยยังไม่แยกศาสนาจากรัฐ ก็ยังไม่มีกติกาห้ามรัฐเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของศาสนา แต่ประเด็นคือ การที่รัฐเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของศาสนานั้นมัน “ผิด” หลักการของ “รัฐฆราวาส” แน่นอนแต่ก็ไม่ได้เท่ากับว่าไม่สามารถปรับอาบัติพระที่ทำผิดวินัยสงฆ์ได้ หากอธิบายได้ว่ากระบวนการตัดสินพระทำผิดวินัยสงฆ์ได้ดำเนินไปตามกรอบธรรมวินัย

เช่น หากมีการกล่าวหาว่า “พระภิกษุ ก.จ้างวานฆ่าคนอื่นตาย” ถ้ามีการดำเนินการตามหลัก “สัมมุขาวินัย” คือให้ผู้กล่าวหามาให้การ แสดงพยานหลักฐาน และให้ผู้ถูกกล่าวหามาแก้ต่าง แสดงพยานหลักฐานหักล้าง และคณะสงฆ์ที่เป็นกลางตัดสินออกมาอย่างเปิดเผยและยุติธรรม การตัดสินเอาผิดทางวินัยสงฆ์ว่าพระ ก.ต้องอาบัติปาราชิก และให้สึกจากพระ ก็ย่อมชอบธรรมตามธรรมวินัย แม้พุทธศาสนาจะยังไม่แยกจากรัฐก็ตาม

หากอ้างว่า “ถ้ายังไม่แยกศาสนาจากรัฐ จะดำเนินการกับพระ ก.เช่นนั้นไม่ได้” ก็เท่ากับกำลังอ้างหลักการแยกศาสนาจากรัฐเป็น “หลักการสูงสุด” ของความชอบธรรมในการแก้ปัญหาภายในของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และเท่ากับกำลังยืนยันว่าพระสงฆ์ปัจจุบันสมควรได้สถานะ สิทธิอำนาจ ผลประโยชน์ต่างๆ จากการอ้างความชอบธรรมจากธรรมวินัย แต่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อธรรมวินัยนั้นเลย

ตรรกะแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลและไม่สามารถปฏิบัติได้จริงอยู่แล้ว และหาก “ปฏิบัติได้จริง” ก็เท่ากับว่าถึงพุทธศาสนาจะยังไม่แยกจากรัฐ  รัฐ(โดยมหาเถรฯ) ก็ไม่มีสิทธิ์อ้างวินัยสงฆ์ดำเนินการใดๆ แก่พระทำผิดวินัย ปล่อยให้พระแต่ละวัดตรวจสอบกันเอง หากเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าสิ่งที่ผู้อ้างตรรกะเช่นนี้ต้องการก็เกิดขึ้นได้จริงๆ แล้ว (คือพระสงฆ์แต่ละวัดมีอิสระตรวจสอบกันเอง) ก็ไม่จำเป็นต้องแยกศาสนาจากรัฐ

แต่เนื่องจากตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐ ไม่เกี่ยวกับเรื่องตรวจสอบพระทำถูก ทำผิดวินัยสงฆ์โดยตรง ฉะนั้นแม้ (ถ้า)ในความเป็นจริงมหาเถรฯ จะปล่อยให้พระแต่ละวัดตรวจสอบกันเองอย่างอิสระ การแยกศาสนาจากรัฐก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอยู่นั่นเอง ตราบที่เราต้องการให้รัฐเป็นรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

พูดให้ชัดๆ คือ ตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการทำถูก ทำผิดหลักการภายในศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวโดยตรงกับความเจริญหรือเสื่อมของศาสนาใดๆ โดยเฉพาะ ถ้ายืนยันตรรกะการแยกศาสนาจากรัฐจริงๆ ถึงแม้ถ้าแยกศาสนาจากรัฐวันนี้แล้วพุทธศาสนาจะหมดไปจากสังคมไทยทันที ก็ต้องแยกให้ได้ เพื่อให้รัฐไทยเป็นรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยให้ได้

แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่า พุทธศาสนาที่อยู่ภายในรัฐฆราวาส/เสรีประชาธิปไตยจะมีอิสระคลี่คลาย งอกงามมีชีวิตชีวาอย่างตอบสนองต่อวิถีชีวิตสมัยใหม่มากกว่าปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้ายังไม่แยกพุทธศาสนาจากรัฐแล้ว จะอ้างธรรมวินัยตรวจสอบความรับผิดชอบของพระสงฆ์ไม่ได้เลย        

 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มน.ศ.พิทักษ์ประชาธิปไตย ม.ราม จี้ 'สนช.ที่ตั้งญาติช่วยงาน' ลาออก-เรียกคืนเงินเดือนผู้ช่วย

$
0
0

กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย ม.ราม ยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. เรียกร้องให้ สนช.ที่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัว ให้รับตำแหน่งผู้ช่วยฯ ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมให้บุคคลเหล่านั้นคืนเงินเดือน


5 มี.ค. 2558 กลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือ DSRU ยื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อเรียกร้องให้ สมาชิก สนช.ที่แต่งตั้งบุคคลในครอบครัว เครือญาติ และคนสนิท ให้รับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ชำนาญการประจำตัว และผู้ช่วยดำเนินการประจำตัว ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากขัดต่อหลักจริยธรรม สนช. ที่สมาชิกต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง และขัดต่อหลักเกณฑ์การแต่งตั้งบุคคลปฏิบัติงานใน สนช. ตามที่ประธาน สนช.ได้เป็นผู้ลงนามคำสั่งกำหนดคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา

และเรียกร้องให้บุคคลในครอบครัว เครือญาติ และคนสนิท ของสมาชิก สนช. ที่ได้รับตำแหน่งประจำตัว สนช. อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม ด้วยการคืนเงินภาษีประชาชนที่ได้รับเป็นรายเดือนคืนสู่ประเทศชาติ

โดยนายพงษ์นรินทร์ นนท์ก่ำ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระบุว่า การแต่งตั้งบุคคลในครอบครัว เครือญาติ และคนสนิทเข้ารับตำแหน่งประจำตัว สนช. ถือว่าขัดต่อจริยธรรมของ สนช. และขัดต่อหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ลงนามโดยประธาน สนช. อย่างชัดเจน ดังนั้นเห็นว่า สนช.ควรแสดงความผิดชอบทางจริยธรรมด้วยการลาออก เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อฝ่ายนิติบัญญัติ

ด้านนายวีรชัย เฟ้นดี้ ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงความชอบธรรมของสนช.ต่อกรณีพิจารณาการถอดถอน 38 ส.ว.กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจาก สนช.ไม่ได้มาจากเสียงประชาชน ดังนั้นเห็นว่า สนช.จึงไม่มีความชอบธรรมในการพิจารณา

ขณะที่นายกัมปนาท บุญเหลือง ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงการที่นายตวง อันทะไชย อดีต ส.ว.สรรหา และสมาชิก สนช. ที่ออกมาระบุว่าการตรวจสอบการตั้งเครือญาติและคนสนิทเป็นการทำลายความชอบธรรมว่า เป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องจากการกระทำที่ขัดหลักจริยธรรม ก็ต้องว่าไปตามหลักการ ส่วนการแต่งตั้งเครือญาติ หากไม่ขัดก็ควรแสดงความจริงใจในการถูกตรวจสอบ



 

 

ที่มา:
เพจกลุ่มนักศึกษาพิทักษ์ประชาธิปไตยและ เฟซบุ๊ก บารมี ชัยรัตน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วิชัย วิวิตเสวี' รับ ป.ป.ช.หารือต่ออายุจริง-เพราะเกรงทำคดีไม่ต่อเนื่อง

$
0
0

กรณี ป.ป.ช.หารือเรื่องต่ออายุการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากจะมี ป.ป.ช. พ้นวาระปีนี้ 5 คนรวดนั้น 'วิชา มหาคุณ' ระบุเรื่องนี้สื่อรายงานไปเอง สงสัยว่าไปได้ข้อมูลมาจากที่ใด ขณะที่ 'วิชัย วิวิตเสวี' ยอมรับว่ามีการหารือเรื่องต่ออายุจริงใน ป.ป.ช. เพราะหากหมดวาระพร้อมกัน 5 คน จะเกิดชะงัก-ป.ป.ช.ที่เหลือจะทำคดีความไม่ต่อเนื่อง

5 มี.ค. 2558 - ตามที่มีข่าวเผยแพร่ใน มติชนออนไลน์ เมื่อวานนี้ ระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้หารือเรื่องต่ออายุการดำรงตำแหน่งกับ คสช. เนื่องจากในปี 58 โดยกรรมการ ป.ป.ช.จะต้องพ้นวาระถึง 5 คน ได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ที่ต้องพ้นวาระ เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี ในเดือนพฤษภาคม ส่วนนายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ในเดือนกันยายนนั้น

ล่าสุดวันนี้ (5 มี.ค.) เนชั่นทันข่าวระบุคำให้สัมภาษณ์ของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่ยืนยันว่าทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยมีการปรึกษาหารือหรือมีมติในเรื่องดังกล่าว โดยกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการรายงานของสื่อมวลชนเองตนจึงสงสัยและอยากถามว่าผู้ที่รายงานนั้นไปได้ข้อมูลเรื่องนี้จากที่ใด

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ ป.ป.ช. ออกมายอมรับว่าเสนอเรื่องดังกล่าวจริง โดยวันนี้ ใน ไทยรัฐออนไลน์ลงคำให้สัมภาษณ์ของ วิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. โดยยอมรับว่ามีการคุยเรื่องการต่ออายุดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จริง โดยแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องดังกล่าวมีการคุยกันในที่ประชุม ป.ป.ช.นานแล้ว ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรให้ไปสอบถามนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. และนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.

สำหรับเหตุผลที่ต้องต่ออายุ เนื่องจากหากกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คน หมดวาระไป จะเหลือกรรมการอยู่ 4 คน หากจะทำเรื่องคดีก็ไม่มีความต่อเนื่อง จะเกิดการชะงัก หากมีคนมารับงานสืบเนื่องไป ก็ไม่น่าห่วง แต่หากหมดวาระไป 5 คน เหลือยู่แค่ 4 คน จะทำงานไม่ได้ ปัญหาจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ ไม่ห่วงกระแสวิจารณ์เรื่องการต่ออายุว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการทำเพื่อความจำเป็นให้นำงานมาทำต่อ ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนาน มันจะมีอำนาจอะไร มีแค่การยื่นคำร้องถอดถอน และชี้มูลความผิดเท่านั้น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความทรงจำ ความหวังและ “วันพรุ่งนี้”

$
0
0

                                               

                                                                        

น่าทึ่งมากนะครับที่คุณประภาส ชลศรานนท์ ได้แต่งเพลง “ วันพรุ่งนี้”ขึ้นมา โดยได้ผนวกรวมเอา “ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” ไว้ด้วยกันอย่างแยบคาย การเลือกให้เด็กทวงถาม “ ความทรงจำ” เพื่อนำไปสู่การกระตุกเตือนให้ผู้คนหวนกลับไประลึกถึงการบอกเล่า/สอนสั่งในเรื่องความดีงามของความสัมพันธ์ทางสังคมในครั้งเก่าก่อน ขณะเดียวกันก็โยงมาสู่ปัจจุบันที่ผู้คนเหล่านั้นไม่ได้ทำตามสิ่งที่บอกเล่า/สอนสั่งมา และได้โยงไปสู่ความหวังในอนาคตว่าหากพี่ป้าน้าอาปู่ย่าตายายที่ขัดแย้งกันในวันนี้หวนระลึกและใช้ความทรงจำเก่ามาคืนความสามัคคี ลูกหลานก็จะปฏิบัติตามและอนาคตก็ย่อมสดสวยเหมือนเดิม

กล่าวได้ว่าความปรารถนาของมนุษย์ในการสร้างสังคมที่ดีกว่าก็จะต้องจำเป็นที่จะต้อง “ ควบรวม”อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกันเช่นนี้แหละ เพราะการทำความเข้าใจปัจจุบันได้ก็จำเป็นต้องสร้างการอธิบายอดีต พร้อมกันนี้การมองเห็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่เคลื่อนจากอดีตมาปัจจุบันก็จะทำให้มองเห็นแนวทางในการสร้าง “ ความหวัง” ให้แก่อนาคต

นักทฤษฏีสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์จำนวนไม่น้อยพยายามที่จะเขียนหนังสือเพื่อชักชวนให้ผู้อ่านมองเห็นความสำคัญของการมองต่อเนื่องระหว่าง อดีต ปัจจุบัน กับอนาคต แต่บทเพลงสั้นๆนี้ได้สรุปความหมายและได้เชื่อมต่อเอาไว้อย่างครบถ้วนทีเดียว

แต่ความปรารถนาของเด็กน้อยที่หวังจะกระตุกเตือนญาติผู้ใหญ่ทั้งหมดก็คงจะไม่มีพลังอย่างที่คุณประภาสคาดหวัง  เพราะความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปี  ได้ทำให้ “ อดีต”ของผู้ใหญ่แต่ละกลุ่มเป็นอดีตที่ไม่เหมือนกันอีกแล้ว ผู้ใหญ่บางกลุ่มอาจจะตอบแก่เด็กน้อยว่า “ เขาไม่ลืมหรอก” แต่เขาก็จะบอกต่อไปว่าเมื่อก่อนที่เขาเชื่อเช่นนั้นและสอนสั่งไปเพราะถูกทำให้เชื่อว่าสังคมเป็นเช่นนั้น  แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว  ผู้ใหญบางกลุ่มก็อาจจะเน้นย้ำอดีตว่าเป็นอ่ย่างนั้นจริงๆ แต่ปัจจุบันไม่สามารถกลับคืนได้อีกแล้วเพราะทนอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้

“ อดีต” ไม่ใช่เรื่องที่ตายตัว  หรือไม่ใช่เพียงแค่ถาวรวัตถุทีคงที่ตลอดกาล  หากแต่เป็นกระบวนการการให้”ความหมาย” แก่อดีต  การให้ความหมายแก่อดีตก็ไม่ใช่เพียงเพราะค้นพบหลักฐานใหม่ๆ แต่ความเปลี่ยนแปลงของการดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในปัจจุบัน จึงทำให้ผู้คนให้ “ ความหมาย” ต่ออดีตไปในทิศทางที่สอดคล้องไปกับปัจจุบันกาลของเขา

“ความทรงจำ” ซึ่งเป็นสาระสำคัญของสังคมก็เช่นเดียวกัน   “ ความทรงจำ” ชุดหนึ่งเคยหล่อเลี้ยงความหวังในวันนี้และวันข้างหน้าจึงมีโอกาสที่จะหมดพลังไปในยามที่ผู้คนได้เริ่มเปลี่ยนความหมายของตนเองซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความหมายต่ออดีตไปพร้อมๆกัน

“ความทรงจำ” ชุดที่ปรากฏในเพลง “วันพรุ่งนี้ “ เป็นความทรงจำชุดที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อมานานมานี้เอง หากคุณประภาสกลับไปอ่านขุนช้างขุนแผนหรือไปพักอาศัยกับพี่น้องชาวบ้านจริงๆ (ที่ไม่ได้ทำรีสอร์ตสวยๆขายนักท่องเที่ยวผู้โหยหาอดีต)  ก็จะพบว่าความเรียบง่ายในแบบของชุดความทรงจำที่บรรจุไว้ในบทเพลงนั้นไม่มีจริง   นักศึกษาที่เดินทางเข้าป่าไปสบทบกับพรรคคอมมิวนิสต์หหลัง 2519 จำนวนไม่น้อยที่เข้าป่าไปพร้อมกับความเชื่อว่าชาวบ้านน่ารักและบริสุทธิ์ก็อกหักกลับมาไม่น้อยเพราะมนุษย์ทุกแห่งหนล้วนไม่เคยมีใครสมบูรณแบบ

“ความทรงจำ”ถึงอดีตที่แสนงามจึงเป็นเพียงภาพและบทเพลงที่ไม่สามารถจะกระตุ้นเตือนให้ใครได้หวนกลับสู่ความสัมพันธ์แบบเดิมอีกแล้ว นอกจากเสพความรู้สึกเพื่อเติมความโหยหาในบางช่วงเวลาเท่านั้น

เป็นไปไม่ได้เลย ที่เราจะผลัก “ ความทรงจำ” ชุดเดิมให้มีปฏิบัติการแบบเดิมในสังคมที่แปรเปลี่ยนจนระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดไม่เหมือนเดิมไปแล้ว และเราจะหวังผลักให้ความสัมพันธ์จริงๆทีแปรเปลี่ยนไปแล้วให้กลับมาอย่างเดิม ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน

 “ความทรงจำ” เป็นฐานที่สำคัญที่สุดของการจัดตั้งสังคมของมนุษย์  คนแต่ละคนที่จดจำอะไรไว้มากมายไม่ได้จดจำในฐานะของปัจเจกชนเท่านั้น หากแต่สายใยที่เกาะเกี่ยวผู้คนในสังคมได้ทำให้ “ความทรง”ของคนแต่ละรุ่นแต่ละช่วงเวลามีส่วนร่วมกันจนกล่าวได้ว่า “ความทรงจำ”ทั้งหมดเป็น”ความทรงจำร่วม”ของสังคมในระดับใดระดับหนึ่ง

“ความทรงจำร่วม” ของคนในสังคมจะนำให้เกิดการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมนั้นๆและการจัดวางนี่ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความหวังว่าอนาคตจะเดินไปอย่างไร

ในวันนี้ นอกจากความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทอดยาวมานานกว่าสิบปี  ลึกลงไปสังคมไทยกำลังต้องการการให้ความหมายแก่ “ อดีต”กันใหม่  เพื่อที่จะร่วมกันสร้าง “ความทรงจำร่วม” ชุดใหม่อันจะเป็นฐานให้แก่สังคมที่งดงามในอนาคต 

ปัญหาที่สำคัญ ก็คือ  เราจะสัมพันธ์กับ “อดีต” เพื่อสร้าง “ ความทรงจำร่วม” กันอย่างไรในการนำสังคมไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่านี้   เพราะ“ อดีต” หรือ “ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่เรื่องราวความรู้เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมาแล้วอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจกัน  หากแต่ความรู้เรื่อง “อดีต” ล้วนแล้วแต่เป็นพลังทางภูมิปัญญาของคนในยุคปัจจุบันกาลหนึ่งๆที่เริ่มมองเห็นว่าสังคม ณ เวลานั้นมีปัญหาเกิดขึ้นและเขาไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเกิดขึ้น ความปรารถนาที่จะเข้าใจปัญหาในปัจจุบันกาลจะชังจูงให้ผู้คนหันกลับไปอธิบาย “อดีต” กันใหม่เพื่อที่จะให้สามารถทำเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้มองเห็นบทบาทของสามัญชนคนธรรมดาในการสร้างประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดการศึกษาประวัติศาสตร์ของผู้คนโดยทั่วไป และส่งผลให้เกิดประวัติศาสตร์สังคม  ประวัติศาสตร์ของสังคม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมทั้งประวัติศาสตร์ของชนชั้นรองที่ถูกกดขี่( Subaltern) 

การเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์ที่มุ่งอธิบายบทบาทของผู้คนทั่วไปว่ามีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น  ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้หลักฐานในการเขียนประวัติศาสตร์โดยเริ่มไปใช้ความทรงจำมากขึ้น

ตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในการเขียนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมในสังคมไทย  เช่น คำนำในงานเขียนเรื่อง “ ตำนานเสนาบดีกรุงรัตนโกสินทร์ “ ของขุนวรกิจพิศาล ( เปล่ง สุวรรณจิตติ  พิมพ์ในปี พ.ศ. 2463)  ที่แสดงให้เห็นว่า “ ในชั้นแรก ก็แลเห็นแต่ปฐมเหตุข้อเดียวว่า เพราะพระมหากษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดิน พระองค์เป็นผู้ทรงรวบรวมกู้ให้คนมีขึ้นอย่างเดิม...มานึกดูอีกครั้งหนึ่งว่า...พระองค์ท่านพระองค์เดียวจะทรงปกป้องประเทศและชาติให้เจริญถาวรคงอยู่ได้เช่นนั้นหรือ  จำเป็นจะต้องมีเสนาอำมาตย์ราชเสวกช่วย...เมื่อแลเห็นความจริงฉะนี้แล้ว  ก็ทวีความรู้สึกมากขึ้นอยากจะทราบว่าใครเป็นผู้ช่วยเหลือในราชการแผ่นดินมาแต่ก่อนบ้าง...”

กล่าวได้ว่าเมื่อเกิดการขยายตัวของระบบราชการ สามัญชนที่ก้าวขึ้นมาเป็นข้าราชการระดับสูงก็ได้เกิดความสำนึกที่ว่าตนเองก็มีส่วนในการบริหารบ้านเมือง และความรู้สึกนี้เป็นแรงผลักดันให้กลับไปศึกษา “ อดีต” กันใหม่  ตัวอย่างลักษณะนี้มีอีกมากมาย ที่น่าสนใจอีกหนึ่งปรากฏการณ์ได้แก่ ข้อสงสัยของสมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ในบทบาทของท่านผู้หญิงโม้ที่ว่าในพงศาวดารนั้น “ ไม่เห็นแสดงอิทธิฤทธิ์อะไร” คำตอบของสมเด็จกรมพระดำรงราชานุภาพแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอดีตความว่า “ การสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้น เป็นอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยเก่า” ( สาส์นสมเด็จ เล่ม 4 หน้า 267  )

ความเปลี่ยนแปลงของการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์เช่นนี้ ได้แก่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง  ได้แก่  การทำให้เกิดการสร้าง “ ความทรงจำร่วม” ( Collective Memory ) ของคนในชาติ  ได้แก่  การสร้างความคิดนามธรรมในการอธิบายลักษณะเฉพาะของชนชาติไทยในประวัติศาสตร์ที่ทำให้ชาติไทยดำเนินมาได้ถึง ณ ปัจจุบันกาล 

แกนกลางของ“ความทรงจำร่วม” นี้ ได้แก่  “ความสามัคคี” กันของคนในอดีตที่ได้นำพาให้ชาติไทยพ้นภัยกันมาได้ เมื่อใดที่แตกสามัคคีก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา  ภายใต้ความทรงจำร่วมเรื่องความสามัคคีก็จะเติมและสานไว้ด้วยความรัก/ประสานประโยชน์/แบ่งปัน ฯลฯ อันเป็นกลไกที่ทำให้ความสามัคคีดำเนินต่อไปได้

“ความทรงจำร่วม” ชุดนี้ส่งผลทำให้เกิดการกระทำรวมหมู่ของสังคมมาเนิ่นนาน  เพราะสามารถใช้ยึดโยงผู้คนในสังคมที่ยังมีการแตกตัวทางชนชั้นและสถานะไม่ชัดเจน  ความสามัคคีจึงป็นนามธรรมของปฏิบัติการณ์ทางสังคมของระบบอุปถัมภ์ที่เป็นจริงในสังคมไทย

แต่ในยี่สิบปีที่ผ่านมา  ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ของผู้คนในสังคมที่หลากหลายมากขึ้น  แม้ว่าในคำกล่าวเชิงลบทำนองว่าคนไทยปัจจุบันนับถือคนมีเงินแม้ว่าเงินได้มาจากการโกงกิน ฯลฯ  แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เห็นความเปลี่ยนแปลงสถานภาพของผู้คนในสังคมว่ามีมากมายและลึกซึ้ง

ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นฐานการจัดตั้งทางสังคมก็ไม่มีพลังหลงเหลืออยู่  เพราะการเข้าถึงทรัพยากรได้กระจายมากขึ้นจนระบบอุปถัมภ์เปลี่ยนแปลงไปจนอาจจะเรียกไม่ได้แล้วว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ เพราะกลายเป็นการแลกเปลี่ยนชั่วคราวกันเป็นส่วนใหญ่  การใช้ถ้อนคำที่แสดงนัยยะว่าเป็น “ อุปถัมภ์” เป็นเพียงฉากบังไม่ให้การแลกเปลี่ยนบาดความรู้สึกเท่านั้น  

ปฏิบัติการณ์ทางสังคมที่เป็นจริงของคนกลุ่มต่างๆหลายหลายสถานะและชนชั้น  ได้ทำให้ “ ความทรงจำร่วม” ของสังคมไทยอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ  เพราะแกนกลางของ “ความทรงจำร่วม”  อันได้แก่ ความสามัคคี/การแบ่งปัน/ประสานผลประโยชน์ฯลฯลักษณะเดิม เริ่มไม่มีความหมายต่อจิตใจของผู้คนไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว

เพราะการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไปพบว่า  หากจะยึดมั่นความสามัคคีกันแล้วกลับทำให้คนบางกลุ่มฉวยเอาไปใช้หาประโยชน์เข้าตนเองได้มากกว่า 

ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เกิดขึ้นและทอดยาวมานานกว่าสิบปีเกิดขึ้นมาจากการสูญเสียพลังของ “ความทรงจำร่วม” ชุดเดิม  สังคมไทยกำลังต้องการการให้ความหมายแก่ “ อดีต”กันใหม่  เพื่อที่จะร่วมกันสร้าง “ความทรงจำร่วม” ชุดใหม่อันจะเป็นฐานให้แก่สังคมที่งดงามในอนาคต 

หากจะคิดถึงการใช้ความทรงจำร่วมกันในเรื่องความสามัคคีในการรักษาความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้ความทรงจำร่วมชุดนี้มีความหมายต่อผู้คนให้มากที่สุด    ท่ามกลางการแตกตัวทางชนชี้นและสถานะจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ผู้คนทั้งหลายมองเห็น “ความสามัคคีอย่างเสมอภาค” ว่าเป็นแกนกลางของความทรงจำร่วมในอดีตที่ผ่านมา

บทเพลง “วันพรุ่งนี้” คงจะเป็นได้เพียงแค่บทเพลงที่ถูกบังคับให้ร้องกันในโรงเรียนในช่วงเวลาที่รัฐบาลและทหารกลุ่มนี้อยู่ในอำนาจเท่านั้น ( นักศึกษาของผมล้อว่า “เปลี่ยนช่องได้ไหม” เวลาต้องฟังเพลงนี้ทางโทรทัศน์ครับ)  ศิลปิน /นักแต่งเพลง/ผู้สร้างงานศิลปท่านอื่นๆทั้งหลายอาจจะช่วยกันทดลองสร้างหรือเสนอ “ความทรงจำร่วม” กันชุดใหม่ๆ ที่อาจจะกินใจผู้คนในสังคมจนก่อรูปเป็นพลังทางสังคมก็ได้นะครับ

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลพัทยาสั่งจำคุก 4 ปี 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีล้มประชุมอาเซียน ปี 52

$
0
0

ศาลพัทยาตัดสินจำคุกแกนนำเสื้อแดง 15 คน กรณีนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท ไม่รอลงอาญา

5 มี.ค. 2558มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลจังหวัดพัทยาได้ตัดสินจำคุก 15 แกนนำเสื้อแดง กรณีเป็นแกนนำพากลุ่มคนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียน ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท เมืองพัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ซึ่งมีพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 4 ปี ไม่รอลงอาญา ได้แก่

1.นายนิสิต สินธุไพร 2.นายสำเริง ประจำเรือ 3.นายนพพร นามเชียงใต้ 4.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 5.นายสมญศฆ์ พรมมา 6.นายสิงห์ทอง บัวชุม 7.นายธนกฤต หรือวันชนะ ชะเอมน้อย หรือเกิดดี 8.นายวรชัย เหมะ 9.นายพายัพ ปั้นเกตุ 10.นายธรชัย ศักมังกร 11.นายศักดา นพสิทธิ์ 12.นายวัลลภ ยังตรง 13.นายพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 14.นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และ 15.พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์  โดยนายสุรชัย และพ.ต.ต.เสงี่ยม ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวแต่อย่างใด ขณะที่ พ.ต.อ.สมพล รัฐกาญจน์ และ “มังกรดำ” ศาลยกฟ้อง ส่วนนางศิริวรรณ์ นิมิตรศิลปะ นั้น ให้จำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่เคยเข้าสู่กระบวนการตั้งแต่แรก

ด้านนายสิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำเรื่องประกันตัวอยู่ที่ศาลจังหวัดพัทยา โดยได้เดินทางมาศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. จนขณะนี้ก็ยังไม่ได้ออกไปไหน อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีกำลังใจดี ไม่ได้กังวลอะไร เคารพการตัดสินของศาล และพร้อมที่จะสู้โดยการยื่นอุทธรณ์ต่อ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจพม่าสลายชุมนุม-จับกุมนักศึกษาประท้วงที่ย่างกุ้ง

$
0
0

นักศึกษาที่ย่างกุ้งประท้วงกรณีตำรวจขวางนักศึกษาอีกกลุ่มที่ประท้วงกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ที่ภาคพะโค อย่างไรก็ตามตำรวจตัดสินใจสลายการชุมนุมนักศึกษาที่ย่างกุ้ง โดยผู้ที่ถูกควบคุมตัวมีนักรณรงค์สิทธิสตรีพม่ารวมอยู่ด้วย

5 มี.ค. 2558 - สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมนักศึกษาและนักกิจกรรมที่ชุมนุมกันราว 200 คน ซึ่งจัดการประท้วงบริเวณย่านสวนมหาพันธุละ ใกล้ศาลาว่าการนครย่างกุ้ง โดยมีรายงานว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกตำรวจควบคุมตัว มีนักรณรงค์สิทธิสตรีรวม "นีละเต่ง" อยู่ในนั้นด้วย

ทั้งนี้การชุมนุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวกีดขวางผู้ประท้วงที่เมืองเล็ตปะตั่น ภาคพะโค ห่างจากย่างกุ้งราว 120 กม. โดยที่นั่นมีการประท้วงของนักศึกษาอีกกลุ่มที่ประท้วงกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านสภาเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมของนักศึกษาที่ย่างกุ้ง โดยเมื่อเวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กระบองทุบตีผู้ประท้วง ภายหลังจากที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามายุยงแทรกแซงการประท้วง ทั้งนี้จากคำให้สัมภาษณ์ของโป่ต๊ะ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดะโกง ที่ร่วมการชุมนุม โดยเขาให้สัมภาษณ์กับอิระวดีขณะที่อยู่ในรถควบคุมตัว

"ในรถควบคุมตัว มีคน 8 คน รวมไปถึงผู้นำนักศึกษารุ่น 88 (หมายถึง "กลุ่มนักศึกษารุ่น 88 เพื่อสันติภาพและสังคมเปิด")" โป่ต๊ะกล่าว และระบุด้วยว่า มีนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรีชื่อ "นีละเต่ง" ถูกควบคุมตัวด้วย

ผู้สื่อข่าวอิระวดีที่เห็นเหตุการณ์ ระบุว่า ผู้ประท้วงถูกควบคุมตัวในรถบรรทุก 2 คัน ซึ่งจอดอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีการประท้วง และมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 2 คนจากการสลายการชุมนุม

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.บุกสอบปากคำ อ.มหาสารคาม สงสัยมือแขวนป้ายต้านเผด็จการใน ม.

$
0
0

ตร.เข้าสอบปากคำ วินัย ผลเจริญ อาจารย์ ม.มหาสารคาม สงสัยเป็นมือแขวนป้ายผ้าต้านเผด็จการใน ม. หลังเจ้าตัวโพสต์ภาพป้ายผ้าลงเฟซบุ๊ก ด้านวินัยปัด ไม่ได้ทำ แค่เห็นด้วย จึงเซฟมาโพสต์

5 มี.ค. 2558 วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนาย หนึ่งในนั้นยศพันตำรวจตรี เข้ามาที่ห้องทำงานที่วิทยาลัย เพื่อขอสอบปากคำตนเอง เพราะสงสัยว่าเป็นผู้แขวนฝ้ายผ้า "เผด็จการจงบรรลัย ประชาธิปไตยจงเจริญ" ในบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากเขาโพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าวเมื่อช่วงสายวานนี้ในเฟซบุ๊ก

อย่างไรก็ตาม วินัย กล่าวว่า เขาได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนทำ เพียงแต่เห็นด้วยกับข้อความเท่านั้น ส่วนใครจะทำนั้นไม่รู้จริงๆ ทั้งนี้ เขาเห็นภาพป้ายผ้าดังกล่าวในเฟซบุ๊กแล้วอยากแชร์ แต่ระบบขึ้นคำเตือนว่าอาจมีคนไม่เห็น จึงเซฟแล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองแทน ทั้งนี้ ทราบจากเพื่อนที่ทำงานว่า เมื่อวานมีตำรวจและทหารมาที่ ม. จำนวนมาก ซึ่งเขาเข้าใจว่าคงมาดูแลความเรียบร้อยงานลงนามความร่วมมือระหว่างศาลรัฐธรรมนูญและวิทยาลัยการเมืองการปกครองที่จะจัดในวันนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อนของเขายืนยันว่ามีการถามหาเขา รวมถึงอาจจะมาหาที่บ้านด้วย แต่มีผู้ทักท้วงไว้ก่อน

เขากล่าวว่า เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย 2-3 คน คงเพราะแชร์ภาพดังกล่าว โดยหนึ่งในผู้ต้องสงสัยคือ ศนปท. อย่างไรก็ตาม เขาได้บอกไปว่า ศนปท.น่าจะไม่เกี่ยว เพราะอยู่กรุงเทพฯ

เขากล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าได้ตรวจสอบลายนิ้วมือและลายนิ้วมือแฝงของผู้ต้องสงสัยไว้เปรียบเทียบแล้ว เขาจึงถามว่าจะตรวจลายนิ้วของเขาด้วยไหม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่ายังไม่ตรวจ เพียงแค่มาสอบปากคำตามหน้าที่เท่านั้น และว่าทหารบอกให้มา ทั้งนี้ ถ้าจำเป็นจะมาขอตรวจลายนิ้วมืออีกครั้ง ก่อนจะขอถ่ายรูปเขาและกลับไป

เมื่อถามว่าเหตุใดตำรวจจึงมาหาเขาได้เร็ว ทั้งที่เพิ่งโพสต์ไปเมื่อวาน วินัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยถูกเรียกรายงานตัว 2 ครั้งหลังรัฐประหาร เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งใน 118 คนที่ร่วมลงชื่อกับ ครก.112 ซึ่งรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และมักโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 จัดกิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้ง กิจกรรมรำลึก 24 มิ.ย. หรือแสดงความเห็นทางการเมือง ทำให้เขาถูกจับตาอยู่แล้ว พอมีเรื่องเกิดขึ้น เลยอาจจะถูกสงสัย ก็เข้าใจได้ 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.ยกร่างฯ เผยกำลังร่างบทเฉพาะกาล ประเด็นเว้นวรรค 2 ปี แม่น้ำ 5 สาย ยังคุยไม่จบ

$
0
0

คำนูน เผย กมธ.ยกร่างฯ กำลังพิจารณาบทเฉพาะกาล คาดรัฐธรรมนูญ คาดทั้งฉบับมี 315 มาตรา พร้อมชี้ว่า หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จะต้องวันเลือกส.ส.ใน 180วัน ส่วนประเด็นเว้นวรรค 2 ปี แม่น้ำ 5 สาย ยังไม่ได้ข้อสรุป

5 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมกำลังพิจารณาบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 10 มาตรา และจะทำให้รัฐธรรมนูญทั้งเล่มมี ประมาณ 315 มาตรา  โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 308 กำหนดไว้ว่าให้การเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญนี้แล้วเสร็จภายใน 90วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้

ซึ่งทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วจากนั้นต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายใน 30 วัน ดังนั้นจึงชัดเจนว่าหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้จะต้องจัดการเลือกตั้ง ภายใน 180 วัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาภายใน 240 วัน      

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาลยังได้ระบุรายละเอียดถึงขั้นตอนการควบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน และพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ และให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินยังคงปฏิบัติหน้าที่ ต่อไปจนกว่าจะมีการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญนี้     

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ตัวแทนแม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองภายใน 2 ปี หลังจากพ้นตำแหน่งนั้น คำนูณ กล่าวว่า เรื่องนี้ได้แขวนเอาไว้ โดยจะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (6 มี.ค. 2558) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป้ายค้าน ม.นอกระบบ โผล่ ม.เกษตรฯ นิสิตเสรีนนทรี ชี้ขาดการมีส่วนร่วม หวั่นค่าเทอมขึ้นเท่าตัว

$
0
0

หลังจากเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ล่าสุดวันนี้(5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บริเวณในมหาวิทยาลัยเกษตรฯ และรั้วฝั่งงามวงศ์วาน บางเขน พบป้ายผ้าและป้ายกระดาษที่มีข้อความในลักษณะการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยในข้อความระบุชื่อกลุ่มเสรีนนทรี ม.เกษตรศาสตร์ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระของนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรฯ

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังกลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา นิสิต ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าจะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ เคยมีเวทีรับฟังความคิดเห็น เมื่อตอนที่มีกระแสคัดค้าน แต่เวทีเหล่านั้นก็มีธงตั้งไว้อยู่แล้ว สุดท้ายเป็นเพียงแค่เวทีให้ข้อมูล เหมือนการปรับทัศนคติ จัดเวทีให้เสร็จๆไป ว่ามีความชอบธรรมแล้ว

“การนำมหาลัยออกนอกระบบในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ออกตอนมีรัฐบาลไม่ปรกติทั้งนั้น หรือรัฐบาลเผด็จการ อธิการบดี หรือ สภามหาวิทยาลัยบางคนเข้าไปนั่งในตำแหน่ง สนช. ร่าง พ.ร.บ. เอง ชงร่างเอง และ โหวตเอง แสดงให้เห็นว่าเมื่อขั้นตอนเริ่มต้นไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย ละเลยการรับความความคิดเห็น สุดท้ายก็จบลงด้วย การผ่านร่าง พ.ร.บ. ในสมัยรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ

กลุ่มเสรีนนทรีฯ ยังระบุด้วยว่า การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมีข้อควรกังวลหลายอย่าง เช่น ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยที่สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจสูงสุด ที่ปราศจากการตรวจสอบ การทุจริตอาจทำได้ง่ายขึ้น จากกรณีสถาบันเทคโนโลยีฯแห่งหนึ่งที่ออกนอกระบบไปแล้ว มีทุจริตโกงเงินกว่า 1500 ล้านบาท หรือความกังวลของนิสิตส่วนใหญ่คือเรื่อง ค่าเทอม จริงอยู่ที่ปัจจุบันค่าเทอมก็มีการขึ้นอยู่ตลอดเวลาบางก็อ้างว่าขึ้นตามสภาวะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะออกหรือไม่ออกก็มีการปรับอยู่ตลอด แต่การนำมหาวทิยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้ค่าเทอมถูกปรับขึ้นได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วทางภาคตะวันออก ค่าเทอมคณะเภสัชฯ มีการเก็บค่าเทอมเหมาจ่ายที่สูงถึง 75,000 บาท จากเดิม เมื่อปี 53 มีการเรียกเก็บ 40,000 บาท ผ่านไป 2 ปี ขึ้นเกือบเท่าตัว กรรมการสภามหาวิทยาลัย มีอำนาจเต็มในการออกระเบียบกำหนดค่าเทอม

“หัวใจหลักของการคัดค้านคือเรื่องของการนำมหาวิทยาลัยออกในสภาวะไม่ปรกติ ผู้บริหารเข้าไปนั่งเป็น สนช. อีกทั้ง ยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้าไปนั่งด้วย และกำลังจะมีการผลักดันมหาวิทยาลัยที่ตนดูเอง ออกนอกระบบ ถ้า ม.นอกระบบดีจริง ไม่ควรต้องใช้วิธีการแบบนี้” กลุ่มเสรีนนทรีฯ ระบุ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทียนฉาย เห็นด้วยให้ สปช. เว้นวรรค 2 ปี พร้อมระบุ สปช. ตั้งญาติช่วยงานไม่ผิด

$
0
0

ปธ. สปช. เห็นด้วยให้ สปช. เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี เพราะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบร่าง รธน. พร้อมระบุ สปช. ตั้งเครือญาติช่วยงานไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามีคุณสมบัติตรงที่กำหนด และทำงานได้ หากผิดจริงพร้อมให้ผู้ช่วยลาออก

5 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า เทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงกรณีกระแสวิจารณ์ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ ผู้อยู่ในแม่น้ำทั้ง  5 สาย คือ สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คณะรัฐมนตรี(ครม.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ว่า ตนไม่สามารถตอบแทนใครได้เพราะมีที่มาต่างกัน แต่ในส่วนของ สปช. นับเป็นผู้มีส่วนในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวเหมาะสม

ทั้งนี้ เทียนฉาย ยังได้กล่าวถึงกรณี สมาชิก สนช.และ สปช. แต่งตั้งเครือญาติ เข้าช่วยดำเนินงานด้วยว่า หากยึดตามระเบียบข้อบังคับเดิมของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งนำมาใช้กับ สปช.โดยอนุโลม มีการกำหนดคุณสมบัติไว้และหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ย่อมถือว่าถูกต้อง ส่วนสิ่งที่ไม่ถูกต้องคือ หนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง การแต่งตั้งผู้เข้ามาช่วยดำเนินงาน ภายใต้เวลาการทำงานที่มีไม่มาก หากบุคคลดังกล่าวที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและเป็นญาติของสมาชิก ย่อมทำได้ แต่หากแต่งตั้งแล้วไม่ได้ทำงานจริงก็ถือเป็นอีกประเด็น เรื่องดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัว ส่วนกรณี วิป สนช. แนะให้ผู้เข้าข่ายเครือญาติลาออกนั้น ทาง สปช. คงจะดำเนินการด้วยทำนองเดียวกัน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปบทเรียน 22 พ.ค. 2557 (4): ขบวนนิสิตนักศึกษา

$
0
0

 

รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญขั้นประวัติศาสตร์ของขบวนประชาธิปไตย รัฐประหารได้ทำให้ตระกูลชินวัตร พรรคเพื่อไทยอ่อนแอลงอย่างมากและสูญเสียสถานะการต่อรองไปจนหมด และทำให้ขบวนคนเสื้อแดงซึ่งเกิดการแตกแยกอย่างถึงรากมาตั้งแต่กรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก เครือข่ายกลุ่มคนเสื้อแดงของพรรคเพื่อไทยเกิดการสลายตัวอย่างช้า ๆ ขณะที่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ปฏิเสธนิรโทษกรรมเหมาเข่งก็แยกทางเดินไปโดยอิสระ

แต่รัฐประหารครั้งนี้ ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนิสิตนักศึกษาปัญญาชนเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างสำคัญในหมู่นิสิตนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการโยนภาระหน้าที่การเป็นกองทัพหน้าในการต่อต้านเผด็จการ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ลงมาบนหน้าตักของพวกเขาโดยตรงอีกด้วย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชียตะวันออกไม่กี่ประเทศ ที่มี “ตำนาน” การต่อสู้ทางการเมืองของนักศึกษาปัญญาชน  เช่น ประเทศจีนนับจากการเคลื่อนไหวใหญ่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 ถึงการประท้วงของนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 2532 กระทั่งล่าสุดคือ การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาฮ่องกงในปลายปี 2557 นักศึกษาเกาหลีใต้ที่ยืนหยัดต่อต้านเผด็จการทหารอย่างต่อเนื่องยาวนานจนได้ประชาธิปไตยในปี 2530 นักศึกษาใต้หวันชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติทางตรงอย่างเสรีจนได้ประชาธิปไตยในปี 2533 รวมทั้งนักศึกษาประชาชนอินโดนีเซียเดินขบวนขับไล่เผด็จการซูฮาร์โต้เป็นผลสำเร็จในปี 2541 ขณะที่ประเทศไทยก็มี “ตำนาน” การต่อสู้ของนักศึกษาปัญญาชน ตั้งแต่การเดินขบวน “ทวงมหาวิทยาลัยคืน” โดยนักศึกษาธรรมศาสตร์จากการยึดครองของทหารในปี 2494 จนถึงขบวนการนิสิตนักศึกษาช่วงปี 2516-2519

บทบาทของนิสิตนักศึกษาในช่วงปี 2516-19 ที่พวกเขาหันไปสู่ประเด็นปัญหาความเป็นธรรมทางสังคม สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกรรมกร ชาวนา สลัม ไปสู่โรงงานและชนบท บางส่วนได้รับอิทธิพลทางความคิดจากลัทธิสังคมนิยม จนพวกจารีตนิยมต้องกระทำการสังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เหล่านี้ทำให้พวกเขาสรุปบทเรียนว่า มหาวิทยาลัยอาจเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดอิสระที่ท้าทายและเป็นอันตรายต่อการปกครองแบบอำนาจนิยมของพวกเขาได้ ด้วยเหตุนี้ ตลอดยุค 2520 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงถูกกลุ่มจารีตนิยมแทรกแซงครอบงำอย่างเป็นระบบผ่านอำนาจราชการและเครือข่ายผู้บริหารที่รับใช้เผด็จการมาทุกยุคทุกสมัย ทำให้พวกจารีตนิยมประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จในการครอบงำมึนชานักศึกษา ให้หมกมุ่นอยู่แต่เสพสุขนิยม ละเลยปัญหาการเมืองและสังคมทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยโดยสิ้นเชิงยาวนานถึงสี่สิบปี

พวกจารีตนิยมยังประสบความสำเร็จในการปลูกฝังลัทธิชนชั้นนำในหมู่นิสิตนักศึกษา ทำให้พวกเขาเต็มไปด้วยทัศนะดูถูกประชาชน ยกย่องบูชาชนชั้นสูงจารีตนิยม เกลียดชังระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง พรรคการเมืองและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังจะเห็นได้ว่า แม้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะมีผลไปกระตุ้นให้นักศึกษาปัญญาชนจำนวนหนึ่งเกิดการตื่นตัวทางการเมืองในทางประชาธิปไตย แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่แล้ว พวกเขายังคงมึนชาต่อเผด็จการ และอีกจำนวนหนึ่งก็สนับสนุนรัฐประหารอีกด้วย

เหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลสะเทือนต่อนักศึกษาปัญญาชนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็คือ การชุมนุมใหญ่ของขบวนคนเสื้อแดงในช่วง มี.ค.-พ.ค. 2553 ซึ่งจบลงด้วยการเข่นฆ่าประชาชนอย่างนองเลือด เหล่านี้ได้กระตุ้นให้นักศึกษาปัญญาชนเหล่านี้สงสัย ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบต่อวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่ต่อหน้าพวกเขา ได้เรียนรู้และเก็บรับบทเรียนอันนองเลือดจากการต่อสู้เสียสละของขบวนคนเสือแดง จนพวกเขาเกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างช้า ๆ

รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นการปลุกให้นิสิตนักศึกษาปัญญาชนกลุ่มใหญ่ “สดุ้งตื่นขึ้นจากภาวะหลับใหล” พวกเขาได้เผชิญกับอำนาจเผด็จการที่เปล่าเปลือย ไร้ยางอาย กดขี่ ละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก การตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาแต่ละแห่ง มีจำนวนคนเพียงเล็กน้อย แต่มีกระจัดกระจายอยู่ในวิทยาเขตทั่วประเทศ และนับแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา พวกเขาคือกลุ่มพลังทางสังคมเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเคลื่อนไหวของพวกเขาที่มีจำนวนน้อยและการกดขี่ของเผด็จการกำลังทำให้เกิดการตื่นตัวทางประชาธิปไตยแพร่กระจายไปในหมู่นิสิตนักศึกษาวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ขบวนนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่นี้มีลักษณะเด่นสำคัญหลายประการที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

ประการแรกหัวหอกของนิสิตนักศึกษาปัจจุบันจำนวนหนึ่งตื่นตัวมาจากการรับรู้ “การกดขี่และอยุติธรรม” ที่เกิดกับคนเสื้อแดงในช่วงปี 2553 ไปสู่การรับรู้ลักษณะเผด็จการของพวกจารีตนิยมและท้ายสุดคือ เผด็จการทหารเต็มรูปที่มีพวกจารีตนิยมเป็นเสาค้ำ นัยหนึ่ง จุดแข็งของพวกเขาคือ ความชัดเจนในความรับรู้ทางการเมืองไปถึงรากเง่าและเสาค้ำของเผด็จการ ข้อนี้แตกต่างกับขบวนนิสิตนักศึกษา 14 ตุลา 16 ที่รับรู้เผด็จการทหารของถนอม-ประภาส แต่ไม่รับรู้หรือไม่ชัดเจนในอำนาจที่แท้จริงของพวกจารีตนิยม ซึ่งเป็นผลให้ดอกผลแห่งการต่อสู้ของพวกเขาถูกปล้นชิงไปโดยพวกจารีตนิยมในที่สุด

ประการที่สองนิสิตนักศึกษาปัจจุบันเติบโตมาในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นกระแสหลัก เมื่อพวกเขาตื่นตัวทางการเมืองครั้งแรก ก็เป็น “เสรีนิยมและประชาธิปไตย” อย่างชัดเจนแต่ต้น มีเพียงส่วนน้อยที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดที่ปฏิเสธเสรีนิยม นัยหนึ่ง จุดแข็งของพวกเขาคือ “ความเป็นเสรีประชาธิปไตย” ที่ทำให้พวกเขามีลักษณะก้าวหน้า มีความชอบธรรม ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนและจากประชาคมโลก ประเด็นนี้ พวกเขาต่างจากนักศึกษา “เดือนตุลาฯ” ที่เติบโตมาในยุคสงครามเย็น ได้รับอิทธิพลจากลัทธิสังคมนิยมมาแต่ต้น และปฏิเสธเสรีนิยม

ประการที่สามการที่นิสิตนักศึกษาปัจจุบันเป็น “เสรีนิยม” อย่างยิ่ง ก็ได้ทำให้พวกเขาเป็น “ปัจเจกชนนิยม” อย่างยิ่งไปด้วย ซึ่งมีผลต่อรูปแบบการจัดตั้งและวิธีการเคลื่อนไหวของพวกเขา ที่มีลักษณะกระจัดกระจายเป็นปัจเจกชนเสรี ฉะนั้น แม้พวกเขาจะสามารถท้าทายเผด็จการและสร้างผลสะเทือนได้ระดับหนึ่ง แต่ก็จะยังไม่สามารถขยายตัวเติบใหญ่จนเข้มแข็งพอที่จะสั่นคลอนระบอบเผด็จการได้แม้แต่น้อย

ประการที่สี่ แม้ว่า ในหมู่นิสิตนักศึกษาวงกว้างจะมีอารมณ์ที่ไม่พอใจเผด็จการอยู่ทั่วไปและมีปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แต่นิสิตนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอย่างเอาการเอางานกลับยังมีจำนวนน้อยมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากข้อสามข้างต้น คือ นิสิตนักศึกษาที่เป็นหัวหอกและเอาการเอางานนั้น ยังขาดรูปแบบการจัดตั้งและวิธีการทำงานที่สามารถดึงเอามวลชนนิสิตนักศึกษาจำนวนมากให้เข้ามาร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความท้าทายเบื้องหน้าของนิสิตนักศึกษาที่ต่อต้านเผด็จการคือ จะต้องลดทอนและแก้ไขจุดอ่อนสองประการหลัง จะต้องพัฒนารูปแบบการจัดตั้งและวิธีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมต่อลักษณะทางชนชั้นของพวกเขา ที่ยังเป็นเสรีนิยมและปัจเจกชน แต่ก็มีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย และที่สำคัญคือ ต้องเปิดกว้างให้นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ เมื่อนั้น ขบวนนิสิตนักศึกษาเสรีประชาธิปไตยก็จะขยายตัว มีบทบาทและมีพลังที่จะเป็น “กองหน้าของขบวนประชาธิปไตย” ที่ประชาชนส่วนข้างจะให้การสนับสนุนได้อย่างแท้จริง

 

เผยแพร่ครั้งแรกในครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข”
ฉบับวันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสรีภาพสื่อ...กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

$
0
0

 

จากบทความ "เสรีภาพสื่อ" ในมติชน วันก่อน ได้เปิดเผยดัชนีสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนและผู้สื่อข่าวทั่วโลก ประจำ พ.ศ.2558 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเขตออกเป็นกลุ่มสี คือกลุ่ม "สีดำ" เป็นกลุ่มที่มีสิทธิเสรีภาพอยู่ในขั้นเลวร้ายแบบมืดมน อนธการ กลุ่ม "สีแดง" คือกลุ่มที่ไม่มีเสรีภาพแต่ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายสุดสุด กลุ่ม "สีเหลืองเข้ม" เป็นกลุ่มพอใช้ ตามด้วยกลุ่ม "สีเหลืองอ่อน" อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี และกลุ่ม "สีขาว" คือกลุ่มที่มีสิทธิเสรีภาพในระดับดีที่สุด

สำหรับกลุ่มสีขาว คือกลุ่มประเทศสิทธิเสรีภาพ สื่อมวลชนในขั้นเกณฑ์ "ดีมาก" เรียงตามนี้คือ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา จาเมกา เอสโทเนีย ไอร์แลนด์ เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย เบลเยียม คอสตาริกา นามิเบีย โปแลนด์ ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์

ไทยแลนด์ในยุคปัจจุบันอยู่อันดับ 134 ติดกลุ่มแดง คือกลุ่มที่ไม่มีเสรีภาพ แต่ยังไม่ถึงขั้นเลวร้ายที่สุด

ทำให้หวนคิดถึงจดหมายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจำกัดสิทธิเสรีภาพ ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ทุบแท่นพิมพ์ และคำสั่งห้ามในหลายกรณี จนได้ชื่อว่าเป็นยุคเผด็จการที่สื่อถูกจำกัดสิทธิมากที่สุดในสมัยนั้น

นั่นคือ...หนังสือเรื่อง "ตำนานลึก (ไม่) ลับฉบับฅนทระนงหนังสือพิมพ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่ใช้สำนวนกะทัดรัดแต่เปี่ยมด้วยเนื้อหาสาระโดยนักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่ชื่อ "แถมสิน รัตนพันธุ์" ผู้เหยียบบาทก้าวแรกสู่แวดวงนักเขียนนักหนังสือพิมพ์อย่างมากด้วยความหลงใหลใฝ่ฝัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 และที่สำคัญยิ่ง "อมตะ" รับใช้ชาติในตำแหน่ง สนช. อยู่ขณะนี้ด้วยวัยต้นๆ แห่งการชรา

ในงานเลี้ยงสังสรรค์ค่ำวันหนึ่ง "พี่แถม" ได้มอบหนังสือดังกล่าว พร้อมเขียนด้วยลายมืออันงดงามว่า... "มอบให้คุณพี่ไพรัช วรปาณิ ด้วยรักสนิท"

นับว่าเป็นหนังสือที่คุยเฟื่องเรื่องของคนทระนง ของวงการหนังสือพิมพ์ในอดีตแบบหมดเปลือก รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนักหนังสือพิมพ์หลายท่าน พร้อมกับวิถีชีวิตการต่อสู้ของบุคคลผู้น่ายกย่อง เช่น "ป๊ะ" กำพล วัชรพล และชีวประวัติของ อิศรา อมันตกุล เป็นอาทิ

Content ในเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ "อดีตกาลแห่งการแทรกสื่อ" ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวของ "ท่านเจ้าคุณ" พระยาศราภัยพิพัฒน์ เขียนอำลาผ่าน น.ส.พ. "ปิยมิตร" แต่...ไปเสียดแทงใจของ จอมพลสฤษดิ์เข้า จนต้องเขียนจดหมายห้ามเลิก (เขียนบทความวิจารณ์การเมือง) ด้วยสำนวนกินใจ แสดงถึงความใจกว้าง ตรงไปตรงมา เยี่ยงชายชาติทหาร! อย่างน่าทึ่ง...

น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เคยต้องโทษการเมืองติดคุกมาก่อน) เขียนวิเคราะห์การเมืองให้ น.ส.พ.ปิยมิตร โดยใช้นามปากกา "ศราภัย" พาดพิงถึงเรือนจำลาดยาวว่า เป็นสถานที่ราชการที่ไม่มีวันเดือนปี กล่าวคือ มีผู้ต้องคุมขังในคดีการเมืองถูกจองจำอยู่อีกมาก โดยไม่มีวันล่วงรู้ว่าเมื่อใด วันเดือนปีไหนจะได้รับอิสรภาพ

วันต่อมาตำรวจสันติบาลได้เรียก บก. "ปิยมิตร" ไปไต่สวนปากคำเป็นเชิงจะเอาผิดในข้อความเหล่านั้น เพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่คนหนังสือพิมพ์ "ปิยมิตร" และครอบครัว ท่านเจ้าคุณหรือศราภัยจึงเขียนคำอำลาขอหยุดคอลัมน์นี้ตั้งแต่ฉบับนั้นเป็นต้นไป

พลันก็มีจดหมายถึง "ท่านเจ้าคุณ" เป็นจดหมายประวัติศาสตร์จากจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีแห่งปี พ.ศ.2503 ที่นั่งควบเก้าอี้ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารด้วย

คำอำลาของศราภัย (โดยย่อ) ดังนี้

"ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยการเขียนเป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพโดยเฉพาะเพียงแต่เคยทำ น.ส.พ.มาเมื่อ 28 ปีมาแล้ว แต่การขีดเขียนเป็นงานอดิเรกที่รักมาตั้งแต่หนุ่มๆ กอปรด้วยความหวังดีที่อยากเห็นบ้านเมืองของตนเจริญวัฒนาสถาพร ทั้งรัฐบาลก็ได้มีใจกว้างขวางเปิดโอกาสวิจารณ์การเมืองใน "ปิยมิตร" ถ้าหากจะมีข้อตำหนิติเตียนบ้างก็เป็นการติเพื่อก่อ ที่เคยส่งเสริมสนับสนุนรัฐบาลและชมเชยตัวบุคคลในวงการรัฐบาลก็มีอยู่เสมอ ฯลฯ

ข้าฯ ได้เขียนบทวิจารณ์ ม.17 นั้นก็เพราะเห็นว่าท่านจอมพลสฤษดิ์ เผยทรรศนะว่า ม.17 จะทำให้ท่านเสียคนและมีความเมตตาปรานีแก่ผู้ต้องขังอยู่ที่ลาดยาว ฯลฯ

ตามทัณฑวิทยา นานาประเทศ ที่ทางการได้มองไว้ให้ ก็ปรากฏว่าผู้ที่ไม่มีความผิดต้องโทษเพราะการปรักปรำ ซัดทอด และพยานเท็จประมาณ 5% ด้วยเหตุนี้ จึงทราบจิตใจของผู้ต้องขังได้เป็นอย่างดี ถ้ามีคนเมตตาเข้าสักเล็กน้อย ก็รู้สึกชุ่มชื่น มิใช่แต่ตัวเขาเท่านั้น ลูกเมีย พ่อแม่ทราบเข้าก็พลอยชุ่มชื่นด้วย ข้าฯ เป็นนักโทษที่ไม่อัตคัดในเรื่องอาหารการรับประทาน พอได้ยินเสียงตะโกนว่า มีผู้นำแกงหรือข้าวเหนียวมะม่วง มาเลี้ยงนักโทษการเมือง น้ำตาก็ไหลพรูออกมาด้วยความปลาบปลื้ม ชุ่มชื่นใจ ที่คิดว่าในโลกนี้ก็ยังมีคนเมตตากรุณาทุคตะชนอันแสนเข็ญเหล่านี้อยู่บ้างเหมือนกัน

อย่างน้อยก็ทำให้ใจพวกนี้แช่มชื่น สยบความฟุ้งซ่าน กลับใจประพฤติตัวดี อันเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาและชาติบ้านเมืองสืบไปเบื้องหน้า นับว่าเป็นจิตวิทยาของการปกครองผู้ต้องขังที่นิยมกันอยู่ทั่วไป"

 

จอมพลสฤษดิ์ได้ตอบ จ.ม. ขอร้องให้อย่าเลิกเขียน มีความตอนหนึ่งว่า

"...ผมเองขอเรียนด้วยความสัตย์จริงว่า มีความนิยมชมชอบในความเป็นผู้รอบรู้ คงแก่เรียนของท่านเจ้าคุณอยู่เป็นอันมากและเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในห้วงความคิดของผมมานานแล้ว เว้นเสียแต่ว่าผมไม่สามารถที่จะกล่าวอะไรออกมาให้เป็นที่เข้าใจกันโดยเปิดเผยได้เท่านั้น เพราะรู้สึกว่าจะมิใช่หน้าที่ของผมที่จะโฆษณาความรู้สึกของผมให้ผู้ใดทราบ ฯลฯ

ฉะนั้น ผมก็จำต้องปล่อยให้เขาดำเนินการไปตามวิธีการหรือหลักการสอบสวนของเขา ขอท่านเจ้าคุณได้กรุณาเห็นใจผมในข้อนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ผมใคร่ที่จะเรียนต่อท่านเจ้าคุณว่า ผมจะเป็นหลักประกันสำหรับความยุติธรรมแก่พลเมือง ทุกรูปทุกนาม ท่านเจ้าคุณก็คงทราบนิสัยใจคอของผมดีอยู่แล้วว่า ผมรักความยุติธรรมเพียงใด เป็นคนหูหนักเพียงใด ขอยืนยันว่าถ้าผมเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่ายแล้ว ป่านนี้เมืองไทยจะอลเวงยุ่งยากมากทีเดียว

ฉะนั้น ผมจึงเชื่ออย่างยิ่งว่า ท่านเจ้าคุณคงทราบถึงเจตนาอันเป็นเบื้องลึกแห่งหัวใจผมในประการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี "เรื่องบทความของท่านเจ้าคุณ ผมได้อ่านแล้วรู้สึกว่าท่านมีเจตนาดี ฉะนั้น ถึงแม้คนอื่นหมื่นแสนเขาจะเข้าใจผิด ผมก็ใคร่ขอเรียนว่า ยังมีผมอีกคนหนึ่งที่ยังเข้าใจเจตนาท่านเจ้าคุณอยู่เสมอ ฉะนั้น ขอให้ท่านเจ้าคุณได้คลายความกังวล จัดการว่ากล่าวและพิจารณาเรื่องนี้ด้วยตนเองต่อไป และขอได้โปรดนึกว่า เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องธรรมดาเสมือนลิ้นกับฟัน ซึ่งอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างเป็นนิจศีล"

หมายเหตุ ท้ายจดหมายตอนหนึ่งว่า

"...ผมใคร่ขอร้องและยืนยันว่าเป็นเจตนาของผมโดยแท้จริง มิได้มีอะไรเคลือบแฝงเลยแม้แต่น้อย โปรดเขียนความเห็นของท่าน โดยบริสุทธิ์ใจเป็นการช่วยชาติต่อไปเถิด และหากว่าท่านจะบอกผู้ใดหรือประกาศไปว่าผมขอร้องให้เขียน ผมก็ไม่ขัดข้องแม้แต่จดหมายฉบับนี้ ผมก็ไม่ขัดข้องที่เจ้าคุณจะนำไปเปิดเผยได้ หากเป็นความปรารถนาของเจ้าคุณ ผมหวังเป็นอย่างมากว่าท่านเจ้าคุณคงมีเมตตาปรานีแก่ผม และผมหวังว่าท่านคงจะเป็นนักต่อสู้ต่อไปตามสายตาของผม ขอให้ท่านจงอย่าท้อถอย จงใช้ชีวิตของท่านเจ้าคุณตามใจรักด้วยการเขียน เพื่อช่วยกันสร้างชาติต่อไปเถิด โปรดระลึกเสมอว่า คงได้รับเกียรติยศอันนี้ด้วยความวางใจจากท่านเจ้าคุณ"

"แม้ชาติย่อยยับอับจน ทุกคนจะเป็นสุขได้อย่างไร"

 

รักและเคารพด้วยความจริงใจ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 12 ก.ย. 03

 

จะเห็นได้ว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (ม.17) ในสมัยนั้น นอกจากมีจุดเด่นในการรู้จักใช้คน (เก่ง) และในขณะเดียวกันยังมีความเข้าอกเข้าใจต่อสื่อมวลชนที่เขียนบทวิจารณ์การเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ อีกด้วย

มาในยุคนี้ สิทธิเสรีภาพของสื่อ แม้จะไม่สามารถติดอยู่ในกลุ่ม "สีขาว" หรือ "สีเหลืองอ่อน" แต่ก็หวังว่าจะได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในระดับกลุ่ม "สีเหลือง" ....ย่อมเป็นคุณ

อย่างไรก็ตาม จากการให้สัมภาษณ์ของ "บิ๊กตู่" ผู้นำรัฐบาล (หน.คสช.) ในปัจจุบันยังส่อให้เห็นว่า ท่าน...มีเจตนาหวังดีที่จะกู้วิกฤตของชาติ...

จึงเป็นโอกาสที่จะใช้ "หลักเมตตาธรรม" โดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ม.44) ปลดปล่อยเหล่าทุคตะชน (นักโทษการเมือง) ที่ถูกจองจำจากเหตุการณ์ 2553 และ พ.ศ.2556-2557 ซึ่งทนทุกข์ทรมานอยู่ในแดนทุคติยาภูมินั้นให้ออกจากความมืดมน ได้มาเห็นแสงแห่งตะวัน ซึ่งเป็นก้าวย่างสำคัญในการขจัดความขัดแย้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งการปรองดองของคนในชาติอย่างเป็นรูปธรรม

"อันอาจจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ได้รับการยกย่องทั่วสารทิศ!"


 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน 5 มีนาคม 2558

ที่มา:มติชนออนไลน์

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แถลงยุติการทำงาน กก.ปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา

$
0
0

สปช. ไพบูลย์ แถลงข่าวยุติการทำงานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา รับมีกระแสกดดัน แต่ไม่ใช่ปัจจัย



6 มี.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา แถลงข่าวยุติการทำงานของคณะกรรมการฯ หลังปฏิบัติหน้าที่มาร่วม 1 เดือน โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว กรรมการฯ ได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่ต้องปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเนื่องจากเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน ทั้งเรื่องศาสนสมบัติของวัดและพระภิกษุสงฆ์ปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เรื่องการทำผิดพระวินัยและความประพฤติ รวมทั้งปกป้องคุ้มครองกิจการของฝ่ายศาสนจักร ซึ่งถือว่าทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมจะเสนอผลการพิจารณาให้ประธาน สปช.ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ยอมรับว่ามีกระแสกดดันให้ยุบกรรมการฯ ชุดนี้ ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่ให้ต้องยุติการทำงาน แต่เป็นเพราะภารกิจเสร็จสิ้นมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะสามารถให้พุทธบริษัทและพุทธศาสนิกชนตื่นตัว ออกมาปกป้องพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม จะยังคงทำงาน ประสานงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายเพื่อติดตามเส้นทางการเงินของวัดพระธรรมกายต่อไป” นายไพบูลย์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน กุมภาพันธ์ 2558

ร้องกองปราบเอาผิดพระพุทธะอิสระ

$
0
0

สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ร้องกองปราบเอาผิด พระพุทธะอิสระ ผิด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กรณีนำมวลชน บุกวัดปากน้ำ ภาษีเจริญและพฤติการณ์อื่นๆ ชี้ เข้าข่ายอาบัติปาราชิกแล้ว

6 มี.ค. 2559 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายเสถียร วิพรมหา (วิ-พร-มะ-หา) รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) พร้อมด้วยพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ปรึกษา สนพ. เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับพระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ผิดตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ และมาตรา 44 ตรี เนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ทั้งการแสดงออกผ่าน facebook และนำมวลชนไปคุกคามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยนำสังฆทานที่บรรจุสิ่งของไม่เหมาะสม อาทิ กางเกงในและดอกไม้จัน เข้าไปภายในวัด จึงต้องการให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้

พระมหาโชว์ กล่าวต่อว่า พฤติกรรมของพระพุทธอิสระ จงใจกระทำการไม่เหมาะสม ปลุกระดมประชาชนข่มขู่ ให้ร้าย ผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และคณะสงฆ์ โดยใช้ถ้อยคำรุนแรง เพื่อให้เกิดความแตกแยก โดยมีเจ้าหนที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปภายในวัด และเห็นว่าพระพุทธอิสระ เข้าข่ายอาบัติปาราชิกแล้ว ตั้งแต่การขัดขวางการเลือกตั้ง และการนำมวลชนไปยังโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อเรียกรับเงิน

สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ ระบุว่าผู้ใดหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 44 ตรี ระบุว่าผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'เคท ครั้งพิบูลย์' จี้อธิการ มธ. ตอบ กรณียังไม่บรรจุอาจารย์ หวั่นถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นสาวประเภทสอง

$
0
0

เคท ครั้งพิบูลย์ ยื่นหนังสือถึงอธิการ มธ. เพื่อสอบถามความคืบหน้าการบรรจุเข้าเป็นอาจารย์ภายใน 15 วัน หลังผ่านมากว่า 242 วัน ยังไม่มีความคืบหน้า คาดสาเหตุอาจเกิดจากเธอเป็นสาวประเภทสอง



6 มีนาคม 2558 เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ หมวดวิชานโยบายและบริหารงานสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ยื่นหนังสือถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. ณ  มธ.ท่าพระจันทร์ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศผลการคัดเลือกพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  มธ. ครั้งที่ 1/2557

เคท ครั้งพิบูลย์กล่าวว่า เธอได้ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นพนักงาน ตำแหน่งอาจารย์ตามที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปฏิบัติงาน ณ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ศูนย์ลำปาง โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557  และประกาศผลการคัดเลือกตามประกาศคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. เรื่องการประกาศผลการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์  คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ครั้งที่ 1/2557  ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2557  จนบัดนี้รวมแล้วเป็นระยะเวลา 242 วัน หรือ 10 เดือนกว่านับตั้งแต่มีการประกาศผล แต่ปรากฏว่ายังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อเข้ารับการบรรจุเป็นอาจารย์แต่อย่างใด แม้ว่าจะพยายามติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากทางคณะและมหาวิทยาลัยตลอดเวลา จึงใคร่สอบถามความคืบหน้าการดำเนินการตามประกาศผลการคัดเลือกพนักงานดังกล่าว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับทราบผลการพิจารณาภายใน 15 วันและหากยังไม่ได้รับคำตอบก็จะทวงถามอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้รับคำตอบโดยเร็วที่สุด

เคทกล่าวต่อว่า สาวประเภทสองในสังคมมักถูกเลือกปฏิบัติ โดยการไม่ได้รับการพิจารณาให้เข้าทำงาน ซึ่งเธอเป็นกังวลว่าทาง มธ. จะพิจารณาในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ หากทาง มธ. ใช้เรื่องเพศเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นอาจารย์ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนเรื่องการนำข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับตำแหน่งอาจารย์นั้น ต้องมาพิจารณาว่าในระเบียบการรับสมัครมีการระบุเอาไว้หรือไม่ หรือถูกระบุขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งเธอไม่มีความกังวลต่อเรื่องนี้ เพราะยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบการรับสมัครทุกประการ

“แน่นอนเราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครชอบหรือไม่ชอบเรา แต่เรื่องการพิจารณามันก็ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ ต้องให้ความเป็นธรรมกับดิฉัน โดยส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้เกณฑ์เรื่องเพศมาเป็นเกณฑ์และมาตัดสิน ซึ่งในหลายๆ ประเทศคนที่เป็นสาวประเภทสองก็ไม่ได้รับการจ้างงานเพราะใช้เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศเป็นฐานในการตัดสิน ดิฉันขอให้ประชาคมธรรมศาสตร์ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของดิฉัน แต่เป็นเรื่องบรรทัดฐานทางสังคมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” เคทกล่าว
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.ยกร่างฯ สรุปไม่เว้นวรรค 2 ปี แม่น้ำ 5 สาย พร้อมตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป และ กก.ยุทธศาสตร์การปฏิรูป ควบคู่ รบ. เลือกตั้ง

$
0
0

กมธ.ยกร่าง ไม่เห็นชอบให้เว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 พร้อมตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 120 คน จาก สปช. 60 สนช. 30 ผู้เชี่ยวชาญ 30 และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ไม่เกิน 15 คน จากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์<--break- />

 

6 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นชอบข้อเสนอของ เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ให้เว้นวรรคทางการเมืองของแม่น้ำ 5 สาย เป็นเวลา 2 ปี โดยมีมติให้ยืนตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เว้นวรรคทางการเมืองเฉพาะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งหลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว ห้ามดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เป็นเวลา 2 ปี โดยกรรมาธิการเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา รวมถึง แม่น้ำอีก 4 สายไม่ทราบเงื่อนไขดังกล่าว แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสรรหาคณะต่างๆ ที่จะตั้งขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การ ปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จำนวนไม่เกิน 120 คน มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. 30 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูป 30 คน 

ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูป จำนวนไม่เกิน 15 คน มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ โดยทั้ง 2 ชุด จะทำหน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูปต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม โดยต้องศึกษากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก่อนว่า จะตั้งคณะกรรมการชุดนี้ได้เมื่อใด ขณะที่ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่นเดียวกับนักการเมืองด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live


Latest Images