Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

พบสารพิษตกค้างในผักเพียบ กระเพราะหนักสุด เกินมาตรฐาน 62%

$
0
0

 

26 มี.ค.58 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพได้จัดประชุมวิชาการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประจำปี 2558 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯได้เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักว่า ได้เก็บตัวอย่างผักผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิดประกอบไปด้วยคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะพริกแดงกะเพรา กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน โดยเก็บตัวอย่างผักจากโมเดิร์นเทรด ซึ่งประกอบไปด้วยห้างเทสโก บิ๊กซี แมคโคร และผักที่มีตราเครื่องหมาย Q รับรอง และจากตลาดสดจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ตลาดไท ปากคลองตลาด สี่มุมเมือง และตลาดบางใหญ่ ปรากฏว่าพบโดยภาพรวมมีผักที่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน (ค่าเอ็มอาร์แอล) ของกระทรวงสาธารณสุขสูงถึง 25%

จากการตรวจสอบพบว่า ผักที่พบการปนเปื้อนมากที่สุดคือกะเพรา พบว่าสารพิษเกินมาตรฐานถึง 62.5% ถั่วฝักยาวและคะน้าพบ 32.5% ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง และมะเขือเปราะพบตกค้าง 25% แตงกวาและพริกแดงพบค่อนข้างน้อยคือ 12.5% ส่วนผักกาดขาวปลี และกะหล่ำปลีไม่พบการตกค้างเลย

นางสาวปรกชลได้เปิดเผยว่าแม้จะพบการปนเปื้อนในระดับสูงแต่ผลการตรวจในปีนี้ถือว่าน้อยกว่าในปี 2557 ที่ผ่านมา โดยในปีที่ผ่านมามีการตรวจพบการปนเปื้อนในผักเกินมาตรฐานในห้างโมเดิร์นเทรดและผักที่ได้ตรามาตรฐาน Q สูงถึง 53.33% โดยในปีนี้พบการตกค้างเกินมาตรฐานเพียง 20% ในขณะที่ตลาดสดกลับพบว่ามีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเฉลี่ย 30%โดยตลาดบางใหญ่พบตัวอย่างผักที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานถึง 40% ในขณะที่ผักที่ปากคลองตลาดมีสารตกค้างเฉลี่ย 20% เท่าๆกับโมเดิร์นเทรด

“การที่ภาคสังคมได้รวมตัวกันเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้โดยได้เผยแพร่ผลการตรวจ และได้รับความร่วมมือจากสมาคมค้าปลีกและสมาคมตลาดสดไทย ตลอดจนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร โดยได้ประชุมกันหลายครั้งในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการแก้ปัญหานี้ในระดับหนึ่ง แต่ในฐานะผู้บริโภคเราคิดว่าตัวเลขการตกค้างของสารพิษในระดับ 25% ยังเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป”นางสาวปรกชลกล่าว

นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคความปลอดภัยด้านอาหารภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นพันธมิตรในการดำเนินการเฝ้าระวังได้เปิดเผยการดำเนินการต่อไปว่า “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนัดหมายผู้ประกอบการทั้งสมาคมค้าปลีกไทย สมาคมตลาดสดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)เพื่อหารือการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยครั้งนี้จะมีการหยิบยกมาตรการทางกฎหมายมาดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้กระทำความผิดซ้ำซาก เพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนได้มีโอกาสบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย ไม่ตายผ่อนส่งเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ธีรยุทธ บุญมี’ ชี้ คสช. ควรใช้อำนาจพิเศษให้เต็มที่ ในสถานการณ์พิเศษ

$
0
0

นักวิชาการเสื้อกั๊ก ‘ธีรยุทธ บุญมี’ กล่าวปาฐกถา แนะ คสช. ควรใช้อำนาจพิเศษให้เต็มที่ เพื่อจัดการกลุ่มอิทธิพลนอกระบบ ในสถานการณ์พิเศษ เพราะกว่าจะได้มาซึ่งความพิเศษนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ

 

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 26มี.ค.2558 เว็บไซต์สำนักข่าวอิศราได้รายงานว่า ในวันนี้คณะสังคมศาสตร์ฯ ม.มหิดล จัดอภิปราย “ปฏิรูปประเทศไทย” การเมือง กฎหมายและเศรษฐกิจ โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการ และนายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ และผู้อำนายการสถาบัญสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายธีรยุทธได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคณะผู้บริหารในคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับ “การใช้อำนาจพิเศษ” ในหัวข้อ “ธีรยุทธ บุญมี : ปฏิรูปการเมืองไทย มองจากประสบการณ์ชีวิต” ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ใจความว่า

00000

1. คสช. มองปัญหาประเทศไทยอย่างไร?

คสช. เก่งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีทางทหาร คือ เลือกวางตัวตามแนวกฎหมายว่าโดยการไว้วางใจในการปกป้องคุ้มครอง (fiduciary หรือ trusteeship) คือการต้องปกป้องคุ้มครองตามสถานะ หน้าที่ และประเพณี ตามแบบที่สหประชาชาติใช้เป็นเหตุผลเวลาเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งภายในบาง ประเทศไม่ให้เกิดเป็นสงครามการเมือง การปะทะนองเลือดยืดเยื้อ

ในแง่นี้ถือว่า คสช. ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มั่นใจว่า คสช. วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น มองปัญหาว่าภารกิจใหญ่จริง ๆ ของคนไทยทั้งประเทศ และเส้นทางจริง ๆ ที่ประเทศควรก้าวเดินเป็นอย่างไร ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่

ที่ผ่านมากระบวนทัศน์ความคิดของ คสช. ดูจะต่างไปจากนักวิชาการการเมือง ปัญญาชนอย่างมาก ผมจึงไม่แน่ใจว่าเมื่อให้ road map ดำเนินไปสิ้นสุด คสช. หมดภารกิจ แต่ปัญหาวิกฤติประเทศไทยจะคลี่คลายตัวไปหรือไม่

การถือเอาการสร้างความปรองดองเป็นภารกิจหลัก ซึ่งถูกต้อง จำเป็น มีประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์การทหาร เพราะทำให้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่สำหรับการปฏิรูปการเมืองแม้จะมีคนกลุ่มสำคัญ ๆ หลากหลายเรียกร้อง แต่ก็ไม่ถูกมองเป็นภารกิจหลักของ คสช.

นักวิชาการและผู้ห่วงใยการเมืองไทยอีกจำนวนมากจึงมองว่า นั่นเป็นการมองการเมืองในกรอบรัฐ-ชาตินิยมของทหาร คือ เอาความเข้มแข็ง ความสามัคคีของคนในชาติเป็นศูนย์กลาง ทว่าในศาสตร์ทางการเมืองหรือประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ การรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ (juste-milieu หรือ politics of the middle way) การสนทนาต่อรอง (dialogue and negotiation) เพื่อเกิดความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ แต่ไม่ใช่การประนีประนอมจอมปลอมระหว่างถูก-ผิด หรือความชั่ว-ดี

ความสามัคคีปรองดองเป็นภาวะปกติของคนในสังคมเดียวกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดเป็นปัญหาในระดับร้ายแรงแล้วก็สะท้อนว่า ระบบ กระบวนการ และกลไกต่างๆ ในประเทศผิดพลาดอย่างแรง จนเป็นต้นตอให้เกิดภาวะวิกฤติต่อเนื่องยาวนานมากอย่างไม่มีคนคาดคิดมาก่อน

สาเหตุหลักไม่ได้มาจากการไม่รักสามัคคีกัน แต่เกิดจากคนจำนวนมากมองการใช้อำนาจไม่ชอบและการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ เป็นปัจจัยทำลายทำร้ายประเทศ และเป็นอุปสรรคต่อการก้าวต่อไปของประเทศไทย

2. ทบทวนภาพโดยกว้างประเทศไทย

ประวัติศาสตร์โลกแนวใหม่บอกว่า ทั้งโลกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมาประมาณ 500 ปีแล้ว ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดขึ้นในที่หนึ่ง เช่น การปฏิวัติประชาธิปไตย การปฏิวัติเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในอังกฤษ ฝรั่งเศส ทุกประเทศทั่วโลกก็ต้องปฏิวัติหรือปฏิรูปตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราแบ่งประเทศที่ต้องพัฒนาตัวให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก ปรากฏเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา คือประเทศในยุโรปและอเมริกา

กลุ่มสอง ปรากฏราว 150-100 ปีที่ผ่านมา คือ รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน ไทย กลุ่ม

กลุ่มสุดท้าย คือประเทศอาณานิคมทั่วโลก ปฏิรูปเมื่อราว 50 ปี ที่ผ่านมา

การปฏิรูปให้เป็นสมัยใหม่ ให้เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหรือทุนนิยม และเป็น “ประชาธิปไตย” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้งโลกกดดันซึ่งกันและกัน

สำหรับประเทศไทยมีการปฏิรูปที่สัมฤทธิผลเพียง 2 ครั้ง และก็เป็นเพียงการปฏิรูปเฉพาะด้าน ครั้งแรกคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งปฏิรูปแนวทางการปกครองและวิถีชีวิตทางมารยาทประเพณีของคนไทย (เช่น เลิกทาส ไม่หมอบคลาน แต่งตัวสมัยใหม่)

ที่สำเร็จครั้งที่ 2 คือการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉุดไทยจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศกึ่งเกษตรกรรม กึ่งอุตสาหกรรม กึ่งบริการในปัจจุบัน

ประเทศที่ประสบความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

(1) การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้สถาบันกษัตริย์ ขุนนาง และกลุ่มทุน ประนีประนอมให้เกิดระบบรัฐสภาขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป

(2) บางประเทศต้องผ่านเจตนารมณ์ (political will) ที่มุ่งมั่น เช่น ฝรั่งเศสต้องผ่านการปฏิวัติ สหรัฐอเมริกาต้องผ่านสงครามอิสรภาพ ญี่ปุ่นอาศัยอดีตซามูไร สิงคโปร์อาศัยลีกวนยู เป็นต้น

(3) ต้องการกรอบความคิดการพัฒนาที่ถูกกาละ ถูกยุคสมัย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี

(4) ผู้นำการปฏิรูปต้องมีอำนาจบารมีที่จะนำพาความคิดการปฏิรูปไปปฏิบัติได้อย่าง ต่อเนื่อง เช่น กรณีรัชกาลที่ 5 และ จอมพลสฤษดิ์ ทั้งยังใช้คนได้ถูกต้อง เช่น จอมพลสฤษดิ์ใช้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ พจน์ สารสิน ถนัด คอมันตร์ เกษม จาติกวณิช ฯ

การที่ประเทศปฏิรูปทีละด้าน คนละช่วงเวลา ไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยแท้จริงเหมือนประเทศตะวันตก ทำให้โครงสร้างอำนาจของประเทศไทยไม่เคยมีภาวะสมดุล การตรวจสอบถ่วงดุลทางอำนาจจึงเป็นเพียงทฤษฎีไม่เป็นผลจริงจัง ทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสูญเสียอำนาจกับฝ่ายได้อำนาจ เช่น การปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์ อำนาจตกอยู่กับเจ้านายจนเกิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น

ต่อมาในปี 2475 กลุ่มเจ้านายสูญเสียอำนาจ กลุ่มข้าราชการทหาร พลเรือน ได้อำนาจและผลประโยชน์ จนสถาปนาเผด็จการทหารขึ้นได้ ต่อมาการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยสฤษดิ์และเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดกลุ่มได้อำนาจ ผลประโยชน์ และการควบคุมทรัพยากรกลุ่มใหม่เกิดขึ้น คือ กลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุน โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน โลกเสรีทางการเงิน ทำให้เกิดวิสาหกิจของรัฐและเศรษฐกิจภาคสาธารณะ เช่น การติดต่อสื่อสาร การบริการต่างๆ มากมาย นักการเมืองและกลุ่มทุนก็ยิ่งมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สภาพโดยรวมที่เรากำลังเห็นคือ การแบ่งคนไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือพวก super haves คือพวกอภิทุน อภิเศรษฐี อภิรวย กับพวก have nots คือพวกชาวบ้านที่เป็นพวกอภิจนหรือจนซ้ำซาก

ส่วนข้าราชการเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการเลื่อนสถานะจาก “เจ้านายคน” ในอดีต มาเป็น “ลูกจ้างของรัฐ” หรือ “ผู้รับใช้” นายทุนและนักการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแผ่ขยายของคอร์รัปชั่นจะเกิดมากขึ้น เพราะข้าราชการผู้น้อยรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับชนชั้นที่ร่ำรวยกว่ากลายเป็น ชนชั้นคนจนได้

เราอาจมองเห็นภาพปัญหาของประเทศชัดเจนขึ้น ถ้าเลือกมองดัชนีชี้วัดความเสื่อมว่าเพิ่มขึ้นเท่าไร เช่น การคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ระบาดเข้าไปในสถาบันระดับอุดมศึกษา สหกรณ์ ซึ่งเกี่ยวพันกับวัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง และโยงใยไปถึงองค์กรระดับสูงของสถาบันศาสนา หรือดูปัญหาในด้านการศึกษา ในช่วง พ.ศ.2500 มีเฉพาะเรียนกวดวิชาเข้าเตรียมทหาร (ซึ่งเป็นวิชาชีพพิเศษ) แต่ในปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชา การเก็งข้อสอบ ขายชีต ผูกขาดตำรา ในเกือบทุกสถาบันการศึกษา ในทุกสาขาวิชา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ในทุกระดับตั้งแต่ปริญญาโทไปจนถึง ป.1 และเข้าอนุบาล

ที่น่าห่อเหี่ยวกว่านั้นคือการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ การเขียน paper (โดยอาจารย์ก็มี) ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ลงไปจนถึงขั้นมัธยมปลาย มัธยมต้น จนปัจจุบันไปถึงชั้นประถมศึกษา

ที่น่าหดหู่กว่านั้นคือการคัดลอกวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีและโท เพื่อหลอกลวงหรือสมคบกับครูอาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา

หรือถ้าจะดูภาพความซับซ้อนของการพัฒนา บางด้าน เช่น การขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ก็ลองนึกถึงภาพรถ BRT ซึ่งจัดช่องทางพิเศษให้วิ่งอย่างหรูหรา รถปรับอากาศอย่างดีหลากยี่ห้อ ถึงรถธรรมดา (รถร้อนที่เก่าแก่บุโรทั่ง) รถโดยสารฟรี รถร่วมบริการ รถเมล์เล็กหลากบริษัท หลากคุณภาพการบริการ หลากระเบียบวินัยในการขับขี่

ไปจนถึงรถตุ๊กตุ๊กซึ่งยอมรับผู้โดยสารเฉพาะ “ชาวต่างชาติ” รถกะป๊อ รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ตามถนนหรือในซอย รวมถึงการคอร์รัปชั่นที่มีอยู่ทุกขั้นตอนของระบบ เช่น การขอใบอนุญาตการต่อทะเบียนรถ การฉีกตั๋ว ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายจัดซื้ออะไหล่ ฝ่ายซ่อม ฝ่ายจำหน่ายเศษซากรถ

ยิ่งถ้านับรวมส่วนที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การซ่อมถนน ทางเท้า ท่อน้ำ สายโทรศัพท์ รถซาเล้ง รถเข็น พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย วณิพก ขอทาน คนไร้บ้าน ที่แย่งชิงพื้นที่สาธารณะ ก็ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก

3. ความเห็นต่างในเรื่องการปฏิรูปประเทศ

แม้จะมีตัวอย่างความเสื่อมทรามที่พัฒนาขึ้นมากมาย แต่ก็ยังจะมีความต่างในการมองการปฏิรูปการเมืองไทยเป็น 2 ส่วนคือ

1. ประเทศไทยอยู่กันอย่างนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว จะไม่มีวันเสื่อมทรุดจนเจอปัญหาที่คลี่คลายไม่ได้ ปัญหาหมักหมมร้ายแรงต่างๆ ที่ผู้ต้องการปฏิรูปการเมืองไทยนั้น เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกยกมาต่อเติมเสริมแต่งจนเกิดเป็นกระแสทำให้เกิดการ ชุมนุม วุ่นวาย ความไม่รู้รักสามัคคีขึ้น?

แนวคิดเช่นนี้ศัพท์วิชาการเรียกว่า แนวคิด Romantic คือ การหวัง คาดฝันไปเองว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเชื่อว่าทำได้ขอให้ลองนำเสนอแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมออกมา?

2. ปัญหาในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่เกินไป มากเกินไป ซับซ้อนเกินกว่าจะหาวิธีแก้ไขได้ คงต้องใช้วิธีเช่นที่ผ่านมา คือทดลองแก้ไขกันไปเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันไป หรือถือคติว่าถ้านักการเมืองคอร์รัปชั่นแล้วมีผลงานก็ถือว่ายอมรับได้ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็คำนับกราบไหว้นักการเมือง ข้าราชการที่โกงกิน ให้เป็นประธานงานบวช งานแต่ง งานศพ อยู่เป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว?

ผมเองอาจเป็นพวกโรแมนติก ยังมีความหวังกับโลก จึงเชื่อมาโดยตลอดว่าเราน่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยเราได้ โดยเขียนบทความไว้หลายชิ้น ตั้งแต่ปี 2540

ประเด็นสำคัญที่ผมเสนอไว้คือ พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนจะสอดคล้องกับค่านิยมหรือความเชื่อของเขา และถัดมา ค่านิยม ความเชื่อของเขาก็จะต้องสอดคล้องกับโครงสร้างของสังคม เช่น สังคมที่โครงสร้างอำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จะให้ชาวบ้านที่ไร้อำนาจมีความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตัวเองเสมอภาค เท่าเทียมกับคนรวยหรือเจ้าใหญ่นายโต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

การสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสังคม ไทยจริงๆ จึงต้องปฏิรูปทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่ทหารซึ่งวิชาชีพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แม้แต่เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหาร เมื่อเจอสภาพความจริงแล้วก็จะเกิดความท้อถอยเป็นส่วนใหญ่

4. ข้อคิดในการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง

1. ผมคิดว่าการปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปได้ แต่ก็คล้ายกับการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากสภาพด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนา ซึ่งไม่ใช่การใช้เงินทุน แรงกาย แรงใจลงไปในทุกๆ เรื่อง แต่ต้องเลือกลงทุนอุตสาหกรรมบางด้านที่เป็นจุดแข็งของประเทศ จนเศรษฐกิจดี Take off ได้ การปฏิรูปการเมืองก็เช่นกัน ต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อนเท่านั้น

2. ประเทศไทยใช้ความพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2540 และ 2550 แต่ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เกิดผลดีบางอย่าง เกิดผลเสียบางอย่าง ความพยายามในครั้งที่ 3 นี้ก็คงอยู่ในลักษณะคล้ายคลึงกัน

การจะสร้างประชาธิปไตยที่พอใช้ได้ใน เมืองไทย ต้องอยู่ที่การเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรมการเมืองคนไทย จากอุปถัมภ์มาเป็นแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะเกิดได้ทางเดียวคือให้ประชาชนเป็นผู้ปฏิบัติในการตรวจสอบผู้มีอำนาจ รักษาผลประโยชน์ของตนเองด้วยตนเอง

กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเสริมการมีอำนาจ เข้าถึงข่าวสารอย่างง่าย มีโอกาส พื้นที่ อำนาจในการตรวจสอบ องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นหรือบทบาทกองทัพเองต้องแข็งแรงพอจะประคับ ประคอง ดูแลความปลอดภัย ค้ำประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3. ช่วงปัจจุบันเริ่มมีความไม่นิ่งทางอารมณ์ ความเชื่อมั่นในตัวบุคคล ความคิด แนวทางแก้ปัญหา ทั้งในคณะทำงานของรัฐเอง และในหมู่สื่อมวลชน ประชาชนบางส่วน ทั้งนี้เพราะพันธกิจชอบธรรม (mandate) ที่กองทัพได้รับคือการคลี่คลายความสงบภายใน แต่ไม่ได้เป็นอัตโนมัติว่ากองทัพจะต้องทำหน้าที่รัฐบาลด้วย การเป็นรัฐบาลเป็นภารกิจที่คณะนายทหารรับเข้ามาเอง ถ้าทำได้ดีก็เป็นโบนัสที่คนชื่นชม แต่ถ้าล้มเหลวก็เป็นเงื่อนไขที่จะถูกวิจารณ์โจมตีได้ง่าย

4. ในสังคมประชาธิปไตยการที่จะนิยามประเทศว่าอยู่ในสถานการณ์พิเศษจนต้องใช้ กลไกพิเศษ อำนาจพิเศษนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องลงทุนลงแรงมข้อเท็จจริงประจักษ์ชัด คนจึงจะยอมรับ (เช่นกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ กรณี 9/11 ที่มีคนตายหลายพันคน จน Bush, Blair และอีกหลายประเทศนำภารกิจพิเศษและมาตรการพิเศษมาใช้)

ถ้าสังเกตจะพบว่าเมื่อเริ่มต้นที่ คสช. เข้ามารักษาความสงบ มีการจัดการอำนาจมาเฟียนอกระบบ การคอร์รัปชั่นของนักการเมือง และจัดระเบียบธุรกิจสีเทาต่างๆ มีเสียงชื่นชมและกดเสียงวิจารณ์ลงไปโดยอัตโนมัติ

ถ้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ คือทุ่มกำลังทั้งปวงไปกับการจัดการกับอิทธิพลอำนาจนอกระบบ เปิดเผยแจกแจงข้อมูลข่าวสาร ลงโทษผู้กระทำผิด แม้ด้วยอำนาจพิเศษ โดยไม่ต้องกังวลหรือหงุดหงิด หรือคอยขู่ว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกับสื่อ นักศึกษา นักวิชาการที่คอยวิจารณ์ คนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง

นายกฯ ได้กำหนดชัดเจนถึงช่วงเวลาเลือกตั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และถ้าตอกย้ำไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการสืบทอดอำนาจไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใด ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง

นายกฯ ควรเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนต้องเป็นผู้กำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของ นักการเมือง ข้าราชการ ด้วยตัวของพวกเขาเอง เพราะไม่มีทางที่ทหารจะแสดงบทบาทในสถานการณ์พิเศษได้บ่อยครั้ง

ถ้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นายกฯ ทุ่มเทแรงกายแรงใจออกไปพบประชาชนทุกภาค สนับสนุนเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนออกมาตรวจสอบควบคุมดูแลระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ร้านค้าซูเปอร์สโตร์ การก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นของตน เพื่อเป็นการฝึกฝนวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาล

“สถานการณ์พิเศษ” ไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริงๆ”

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เตรียมถ่ายทอดสด สปช. อภิปรายร่างแรก รธน. 7 วัน

$
0
0

วิป สปช. มีมติยืน ให้อภิปรายร่างแรกรัฐธรรมนูญ 7 วัน เริ่ม 20 – 26 เม.ย. นี้ พร้อมให้มีการถ่ายทอดสดตลอดการประชุม รวม 79 ชั่วโมง

 

26 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า วันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ(วิป สปช.)  แถลงภายหลังการประชุมร่วมกัน ระหว่าง วิป สปช. กับตัวแทนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าที่ประชุมมีมติไม่ขยายวันอภิปรายร่างแรกของรัฐธรรมนูญตามที่สมาชิกยื่น ญัตติเสนอขอขยายเวลาจาก 7 วันเป็น 9 วัน เนื่องจากตามข้อบังคับการประชุม สมาชิกต้องศึกษาร่างกฎหมายเป็นเวลา อย่างน้อย 3 วัน ทำให้สามารถเริ่มอภิปรายได้ใน วันที่ 20 - 26 เมษายน 2558  

โดยเริ่มตั้งแต่ 9.00 น. ถึง 21.00 น.  ยกเว้น วันที่ 23 เมษายน จะเริ่มประชุมเวลา 14.00 น. ซึ่งรวมเวลาอภิปรายทั้งหมด 79 ชั่วโมง ส่วนการจัดสรรเวลา จะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอภิปราย 15 ชั่วโมง สภาปฎิรูปแห่งชาติ 64 ชั่วโมงแบ่งเป็น ของคณะกรรมาธิการปฎิรูปทั้ง 18 คณะ คณะละ 2 ชั่วโมง รวม 36 ชั่วโมง และ สมาชิก สปช. ที่จะอภิปรายภาพรวมและแสดงความเห็นตามเนื้อหาที่ตนเองศึกษาหรือถนัด 28 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับว่า สมาชิก 1 คนจะได้อภิปรายคนละ 12 นาที  

ทั้งนี้นอกจาการถ่ายทอดสดทางวิทยุรัฐสภาและโทรทัศน์รัฐสภาตลอดการประชุม 7 วันแล้ว ที่ประชุมยังกำหนดให้มีการถ่ายทอดสด ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ ช่อง 11 ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มชาติพันธุ์ ร้อง กสม. ได้รับผลกระทบแผนแม่บทป่าไม้-คำสั่ง คสช.

$
0
0

กลุ่มชาติพันธุ์เชียงใหม่-เชียงราย ยื่นหนังสือร้อง กสม. หลังได้รับผลกระทบแผนแม่บทป่าไม้-คำสั่ง คสช.ที่ 64/57 รายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาครอบครองไม้หวงห้าม อีกรายถูกปักป้ายไล่ที่ทำกิน

26 มี.ค. 2558 ที่โรงแรมเดอะปาร์ค จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการสิทธิด้านที่ดินและป่า ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีชาวบ้านบนพื้นที่สูงจากพื้นที่ร่วมพูดคุยถึงผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ ปัญหาเรื่องที่ดินป่าไม้ในมุมมองของชุมชน และระดมความคิดเห็นการจัดทำแผนแม่บทการจัดการป่าจากมุมมองของภาคประชาชน

ขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ก็ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ขอให้มีการปกปิดชื่อผู้ร้องเรียนเอาไว้ก่อน โดยแยกเป็นสองกรณี

กรณีแรก ได้แก่ กรณีชายชาวลีซอ อายุ 26 ปี จากบ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่า 50 นาย เข้าจับกุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย.57 และถูกดำเนินคดีในข้อหามีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง จำนวน 3.74 ลบ.ม. โดยเจ้าหน้าที่มีการอ้างการจับกุมว่าดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 ทั้งที่ไม้ดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมาจากบิดา ซึ่งได้เก็บสะสมตามกำลังเงินเพื่อจะสร้างบ้าน เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว ตนในฐานะบุตรชายคนโตที่ได้รับไม้เป็นมรดก จึงทำการรื้อไม้เพื่อนำไปสร้างบ้านหลังใหม่ ระหว่างที่กองไม้ไว้ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม จนต้องเช่าหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท มายื่นขอประกันตัว

กรณีที่สอง ได้แก่ กรณีบ้านสบเลิม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.58 ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนาเข้ามาติดป้ายขอยึดพื้นที่ของชาวบ้านชาติพันธุ์ลีซอ 1 ราย โดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า พร้อมอ้างว่าเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่ ซึ่งได้มีผู้ร้องเรียนการบุกรุก ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านยืนยันว่าถูกใช้ทำกินมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี และจากการตรวจสอบโดยการจับจีพีเอส ก็พบว่ามีการทำกินมาตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2542 แล้ว โดยขณะนี้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน

ขณะเดียวกันชาวบ้านจากอ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ก็ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ ในประเด็นเรื่องการตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน พร้อมกันอีกด้วย

นายแพทย์นิรันดร์ กล่าวว่า ทั้งสามเรื่องกรรมการสิทธิฯ จะเข้าไปตรวจสอบ โดยทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิชุมชนที่ล้วนถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 แม้จะไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปัจจุบัน แต่ก็ยังเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่จะใช้เรียกร้องสิทธิในการใช้ประโยชน์เหนือที่ทำกินได้ ยังคงมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะเดียวกันกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีแนวโน้มว่าไม่ได้มีการขยายความเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างในรัฐธรรมนูญสองฉบับก่อนหน้านี้ เป็นการลดเจตนารมณ์ของการต่อสู้ด้านสิทธิชุมชนในอดีตที่ผ่านมาลง ซึ่งประชาชนจำเป็นจะต้องร่วมกันตรวจสอบและเรียกร้องต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชาวบ้านถามปืนที่ศพมาจากไหน? ทหารยันทำตามขั้นตอนปิดล้อมปะทะวิสามัญทุ่งยางแดง

$
0
0

ชาวบ้านโต๊ะชูดโวยผู้เสียชีวิตจากเหตุปิดล้อมตรวจค้นปะและวิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบ ถามปืนที่ศพเอามาจากไหน ด้านทหารยันทำตามขั้นตอน ถ้าไม่ถูกยิงก่อนและไม่มีคนวิ่งหนีก็ไม่เกิดเหตุร้าย เผยจุดเกิดเหตุมีปัญหาเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติด ผู้ว่ายืนยันพร้อมหาความเป็นธรรมทุกฝ่าย ตำรวจเผยบางคนมีคดีติดตัว

เมื่อเวลา 15.00 น. ที่โรงเรียนบ้านโต๊ะชูด ม. 6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี นายวีรพงษ์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วย นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอทุ่งยางแดง พ.อ.ชินกาจ รัตนจิตติ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางไปพบชาวบ้านโต๊ะชูด เพื่อทำความเข้าใจและรับเรื่องร้องเรียนกรณีเหตุเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีสำคัญของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้( ศชต.) ร่วมกับกองกำลังทหารพราน41 เข้าปิดล้อมพื้นที่จนเกิดการยิงปะทะบริเวณบ้านที่กำลังก่อสร้างไม่มีเลขที่ โดยเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิตไป 4 ราย และสามารถควบคุมตัวอีก 22 รายเหตุเกิดเมื่อช่วงเย็นวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

ในขณะที่ชาวบ้านหลายคนไม่พอใจต่อการวิสามัญดังกล่าว เนื่องจากเชื่อว่าผู้เสียชีวิตไม่น่าจะเป็นกลุ่มผู้ก่อนเหตุรุนแรง แต่กลับถูกวิสามัญเสียชีวิตโดยมีอาวุธปืนอยู่ด้วย

โดยนายวีรพงษ์ กล่าวว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามการข่าวที่แจ้งว้ามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงและแนวร่วมเพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายในพื้นที่ อย่างไรก็จตามจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวต้องพิสูจน์ทราบก่อนจึงจะสามารถปล่อยตัวได้

ด้านพี่ชายของนายซัดดัม วานุ หนึ่งในผู้เสียชีวิตได้ลุกขึ้นถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จึงเขามายิงทันทันโดยไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านหรือผู้ใหญ่บ้านทราบก่อน และปืนที่พบที่คนตายเอามาจากไหน ยอมรับว่าน้องชายติดยาเสพติด แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ

พ.อ.ชินกาจ กล่าวว่า การเข้าปิดล้อมตรวจค้นดังกล่าวมีการยิงออกมาจากกลุ่มคนร้ายก่อน เจ้าหน้าที่จึงต้องยิงออกไปจนเกิดการปะทะกันและมีการสูญเสีย ในขณะที่นายทหารจากกำลังทหารพราน 41 อธิบายว่า ขณะเข้าปิดล้อม ยังไม่ทันได้ปฏิบัติตามขั้นตอนก็ถูกยิงออกมาก่อน เจ้าหน้าที่จึงต้องวิสามัญ

ส่วนพ.ท.วัชรพงษ์ บุญรัตน์ ผบ.ฉก.ปัตตานี 25 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้กราดยิงใส่ ส่วนคนที่ถูกยิงเสียชีวิตนั้น เนื่องจากวิ่งหลบหนี หากไม่หนีเหตุร้ายก็คงไม่เกิดขึ้น

นายเศวต เพชรนุ้ย นายอำเภอทุ่งยางแดง กล่าวว่า ขอให้มีการพิสูจน์หลักฐานก่อนจึงจะทราบว่าปืนดังกล่าวมาจากไหน ใช้ก่อเหตุในคดีใดบ้าง คาดว่าภายใน 2 วันจะได้คำตอบ

สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนดังกล่าว ได้แก่ นายสุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี อยู่หมู่ที่ 3 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง, นายคอลิด มาแม็ง อายุ 24 ปี อยู่ หมู่ที่ 7 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง, นายมะดารี แมเราะ อายุ 23 ปี อยู่หมู่ที่ 4 ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และนายซัดดัม วานุ อายุ 24 ปี อยู่หมู่ที่ 6 ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง

ทั้งจุดที่ทั้ง 4 คนเสียชีวิตอยู่ในสวนยางพาราห่างจากบ้านที่ถูกปิดล้อมประมาณ 300 เมตร โดยพ.ต.อ.มานะ เดชาวิริษฏ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจทุ่งยางแดง กล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่มั่วสุ่มยาเสพติดเป็นหลัก และข้อมูลเชิงลึกของสายข่าวก็พบว่ามีกลุ่มก่อความไม่สงบเข้ามาเคลื่อนไหวอยู่ด้วย

พ.ต.อ.มานะ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ สำหรับนายสุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีคดีติดตัวอยู่คือคดีพยายามฆ่า ส่วนนายซัดดัมน่าจะเพิ่งพ้นคดียาเสพติด เป็นไปได้ว่า วันเกิดเหตุมีทั้งวงประชุมวางแผนก่อเหตุและวงดื่มน้ำกระท่อม

นายนาแซ ดอคอ ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโต๊ะชุด กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุตนไปทำธุระที่ จ.ยะลา หลังได้รับแจ้งเหตุก็รีบกลับมาถึงบ้านประมาณ 5 โมงแล้วรีบไปที่เกิดเหตุทันทีแต่เข้าไปไม่ได้ จนกระทั่งเวลาประมาณ 3 ทุ่มจึงเข้าไปได้พร้อมปลัดอาวุโส ก็พบว่าที่ศพนายซัดดัมมีปืนด้วย จึงสงสัยว่าเขาเพิ่งหลุดคดียาเสพติดจะมีปืนสงครามได้อย่างไร คิดว่าไม่น่าจะใช่ของเขา

“ไม่เชื่อว่าซัดดัมจะเกี่ยวของกับความมั่นคง ส่วนเจ้าบ้านที่เกิดเหตุมีส่วนเกี่ยวข้องการค้ายาเสพติด ที่นั้นจึงเป็นแหล่งมั่วสุ่มยาเสพติด ส่วนตัวเขาเองเจ้าหน้าที่ก็เชื่อว่าเป็นแนวร่วมเช่นกัน”

ด้านญาติของนายซัดดัม เปิดเผยว่า คาดว่าตอนทหารมาปิดล้อมนั้น นายซัดดัมกำลังเสพน้ำกระท่อมกับเพื่อนอยู่ไม่กี่คน ส่วนคนอื่นนั่งพูดคุยอยู่บนบ้าน ซึ่งไม่รู้ว่าคนเรื่องอะไร แต่เท่าที่ทราบมาในตอนเช้าวันนั้นว่าจะมีคนมายึดรถชาวบ้านคนหนึ่ง เพราะติดหนี้แต่ไม่มีเงินจ่ายคืน

“ที่น่าเจ็บใจก็คือ พอเขาเสียชีวิตแล้วมีข่าวว่าเขาคือนายอานูวา ดือราแม ผู้ก่อความไม่สงบคนหนึ่งทั้งที่ไม่ใช่ เป็นการใส่ร้ายชัดๆซึ่งรับไม่ได้”

สำหรับจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นบ้านที่กำลังก่อสร้างดังกล่าวนั้น หลังบ้านมีเพิ่งที่ใช้สำหรับมั่วสุมเสพยาเสพติดอยู่ด้วย ขณะที่เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุอีกครั้งในช่วงเช้า

วันเดียวกัน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รม น.ภาค 4 สน.) เปิดเผยว่า การปิดล้อมดังกล่าวเนื่องจากมีข่าวว่ากลุ่มแกนนำก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการเข้ามากบดานอยู่ในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุ ขณะเจ้าหน้าที่เข้าปิดล้อมบ้านต้องสงสัยได้เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มคนร้าย เป็นเหตุให้มีคนร้ายเสียชีวิต 4 ราย พร้อมอาวุธปืนสงครามอาก้า 3 กระบอก ปืนพกสั้น 1 กระบอก และลูกระเบิดชนิดขว้าง 1 ลูก รวมทั้งควบคุมตัวกลุ่มวัยรุ่นต้องสงสัยรวม 22 คน

“กอ.รม น.ภาค 4 สน. ขอแสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 4 คน ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 22 คน ได้แยกไปควบคุมตัวที่หน่วยซักถาม ฉก.ทพ.41 จำนวน 6 คน, ฉก.ทพ.43 จำนวน 6 คน และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า 10 คน โดยในขั้นต้นพบว่าบางคนอยู่ในระหว่างประกันตัวคดีความมั่นคง สำหรับอาวุธปืนที่ยึดได้เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบหลักฐานทางนิติวิทยา ศาสตร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่นๆต่อไป”

สำหรับรายชื่อผู้เสียชีวิตและถูกควบคุมตัวมีดังนี้ ผู้เสียชีวิต 4 ราย ได้แก่ 1.นายสุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี 2.นายคอลิด มาแม็ง อายุ 24 ปี 3.นายมะดารี แม้เราะ อายุ 23 ปี 4.นายซัดดัม วานุ อายุ 24 ปี

ถูกควบคุมตัว 22 ราย ได้แก่ 1.นายอาหามะ บาราเฮง อายุ 41 ปี 2.นายอัมมาน สามะ อายุ 38 ปี 3.นายมาราดี หะยีเตะ อายุ 29 ปี 4.นายฮาราบี้ แวอาโละ อายุ 43 ปี 5.นายอำรี หะยีจิ อายุ 30 ปี 6.นายมุสลิม หะยีจิ อายุ 24 ปี 7.นายอัมมาน มะลี อายุ 38 ปี 8.นายรุสดี มะเส็ง อายุ 25 ปี

9.นายมารูดี สะนิ อายุ 33 ปี 10.นายมะรอฆือซี ตาเยะ อายุ 23 ปี 11.นายสมาน วาเด็ง อายุ 24 ปี 12.นายอิบรอฮิม หามะ อายุ 29 ปี 13.นายอูเซ็น ตอคอ อายุ 60 ปี 14.นายมะอูเซ็ง เจะอาแว อายุ 28 ปี 15.นายสุกรี สนิ อายุ 30 ปี 16.นายอาเซ็ง กาเจ อายุ 25 ปี 17.นายบาราเฮง มางู อายุ 29 ปี 18.นายมาโซ เปาจิ อายุ 41 ปี 19.นายยะห์ยา เจะเตะ อายุ 22 ปี 20.นายอิสมาแอล โตะชาย อายุ 46 ปี 21.นายฮูบ ยามา อายุ 31 ปี 22.นายรูกี กะลูเป๊ะ อายุ 21 ปี ทั้งหมดมีภูมิลำเนาใน อ.ทุ่งยางแดง

ส่วนอาวุธที่ตรวจยึดได้ ได้แก่ 1.อาวุธปืนอาก้า 3 กระบอก 2.อาวุธปืนพกขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก 3.ลูกระเบิดขว้าง 1 ลูก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศใช้แล้ว พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

$
0
0

26 มี.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

(1) รณรงค์ ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเองชุมชนและสังคม

(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(5) ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(6) ส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อให้มีการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

(7) ดำเนินการและส่งเสริมให้มีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง

โดยกองทุนนี้จะนำมาเงินมาจาก เงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และอื่นๆ ตามที่ พ.ร.บ.กำหนด
คณะกรรมการกองทุนฯ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน เพื่อทำหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ได้กำหนดไว้

AttachmentSize
พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.2558108.29 KB
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Fast & .. กมธ.ยกร่างรธน.ใช้เวลาเพียง 30 วิ ผ่านบทนิรโทษกรรม 'คสช.'

$
0
0

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา คมชัดลึกออนไลน์รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาวาระทบทวนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และบันทึกเจตนารมณ์ โดยการประชุมมีประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ คือ มาตรา 315 ว่าด้วย "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้น และการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้" สำหรับเจตนารมณ์นั้น ได้รับการบันทึกว่า "เป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550" โดยที่ประชุมได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาไม่ถึง 30 วินาที ไม่มีการอภิปรายเพื่อขอให้พิจารณาตัวบทบัญญัติ หรือเจตนารมณ์ ทั้งที่ก่อนหน้ามี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบางคน แสดงความเห็นกับสื่อมวลชนนอกรอบการประชุมอย่างดุเดือดว่าจะเสนอให้แก้ไข เพราะเป็นการเขียนข้อความที่ไม่ถูก เช่น การอ้างอิงเจตนารมณ์จากรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสืบในคลังข้อมูลห้องสมุดรัฐสภา ในหมวดว่าด้วยรัฐธรรมนูญ พบว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 309 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นเขียนไว้ว่า "เจตนารมณ์เพื่อรองรับการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การพิจารณาทบทวนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราและบันทึกเจตนารมณ์ ยังคงค้างการพิจารณาอยู่อีก 4 มาตรา ในหมวดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน เนื่องจากต้องรอ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เชี่ยวชาญด้านดังกล่าวกลับมาร่วมประชุมก่อน เบื้องต้นคาดว่า จะนำกลับมาพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า รวมถึงบางประเด็นที่ยังรอการพิจารณาปรับปรุง และการตัดสินเรื่องการกำหนดบทบัญญัติว่าด้วยสัดส่วน 1 ใน 3 ของเพศตรงข้ามที่ต้องได้รับสิทธิ์เข้าร่วมเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งนี้การประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สัปดาห์หน้า จะถือเป็นการประชุมภายใน งดสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์เพื่อรายงานข่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มฟน.ออกแถลงการณ์ ยืนยัน 2 นักศึกษาถูกวิสามัญที่ทุ่งยางแดง ไม่มีประวัติเป็นภัยต่อความมั่นคง

$
0
0

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี (มฟน.) ออกแถลงการณ์ยืนยัน 2 นักศึกษาที่ถูกวิสามัญที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ไม่มีประวัติเป็นภัยต่อความมั่นคง พร้อมขอให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง วอนสื่อตรวจข่าวก่อนนำเสนอและงดข่าวที่ส่งผลกระทบ ขอให้ทุกฝ่ายจริงใจ พร้อมยืนยันจะร่วมแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มีความยุติธรรม

วันที่ 27 มีนาคม 2558 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี (มฟน.) อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ออกแถลงแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น.วันที่ 25 มีนาคม 2558 โดยระบุว่า ผู้เสียชีวิต 2 คน จากทั้งหมด 4 คน เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนีพร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ก่อความไม่สงบ มีอาวุธและต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

แถลงการณ์ยังเสนอข้อเท็จจริง 5 ข้อ โดยสรุปว่า นักศึกษา 2 คนไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคง มหาวิทยาลัยฟาฎอนีขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันในเรื่องนี้ เรียกร้องให้สื่อมวลชนตรวจสอบข่าวที่จำนำเสนอและงดนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียหายและมหาวิทยาลัย ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

“มหาวิทยาลัยฟาฏอนีขอยืนยันที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย และเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มีความยุติธรรม การให้เกียรติ ความรอบคอบ ปราศจากอคติและผลประโยชน์ใดๆทับซ้อน”

สำหรับแถลงการณ์ฉบับเต็ม มีดังนี้

ด้วยนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ปราณี และเมตตาเสมอ

แถลงแถลงการณ์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ฉบับที่ 1

เรื่อง การเสียชีวิตของนักศึกษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 เวลาประมาณ 17.20 น. มีการสนธิกำลังระหว่างฉก.ปัตตานี 25 นปพ. 431 ฉก ทพ.41 กำลังตำรวจจากสภ.ทุ่งยางแดง จนท.ฝ่ายปกครอง และ ทหารจากร้อย ร.35314 ฉก.ปัตตานี ได้เข้าปฏิบัติการตรวจสอบความผิดปกติในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี การปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมประชาชนจำนวน 22 คน และวิสามัญฆาตกรรม จนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุจำนวน 4 ศพ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คน คือ นายคอลิด สาแม็ง และนายมะดารี แม้เราะ โดยสื่อกระแสหลักได้มีการให้ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ (RKK) มีอาวุธและได้ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งข่าวดังกล่าวเป็นเท็จและได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต และ ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก

มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จึงขอเสนอข้อเท็จจริง เพื่อจะได้นำไปประกอบการพิจารณาคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งที่ดำเนินอยู่และมีแนวโน้มที่จะลุกลามขยายตัวต่อไป ดังต่อไปนี้

1. นักศึกษาที่เสียชีวิตทั้ง 2 คน อยู่ระหว่างการศึกษาในชั้นปีที่ 4 ประวัติการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคงและเป็นแนวร่วม RKK แต่อย่างใด และทั้งสองคนไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงใดๆ และมหาวิทยาลัยไม่เคยได้รับหนังสือเตือนจากฝ่ายความมั่นคงที่ระบุว่านักศึกษาทั้งสองคนมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

2. เพื่อร่วมกันดำรงรักษาความปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่ตามนโยบาย คสช.และรัฐบาล มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ขอให้มีการตั้งกรรมการกลางขึ้นสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยคณะกรรมการกลางฯดังกล่าวประกอบขึ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีผู้เแทนมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการกลางฯดังกล่าวด้วย เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงอันที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

3. ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวที่ได้ตรวจสอบแล้วอย่างเป็นกลางด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ งดการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้เสียหายและมหาวิทยาลัยในระหว่างที่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการสรุป

4. ขอให้ทุกฝ่ายแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และยึดมั่นนโยบายพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย “ทุ่งยางแดงโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม

5. มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ขอยืนยันที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่สามารถสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย และเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่มีความยุติธรรม การให้เกียรติ ความรอบคอบ ปราศจากอคติและผลประโยชน์ใดๆทับซ้อน

ด้วยความจริงและสันติภาพ

27 มีนาคม พ.ศ. 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

38 กลุ่มประชาสังคม คัดค้าน สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

$
0
0

กลุ่มประชาสังคม 38 องค์กรยื่นหนังสือถึงรองประธาน สนช. ค้านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยชี้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น จะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพ และเสนอให้พิจารณากฎหมายภายใต้กรอบ รธน. ฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนเท่านั้น

27 มี.ค. 2558 - กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา "ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ..." นั้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. กลุ่มประชาสังคม 38 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ยุติการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย  รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าวไว้

ภายหลังจากรับหนังสือ นายสุรชัยได้กล่าวขอบคุณทั้ง 38 องค์กรที่ช่วยกันแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในการพิจารณากฎหมายของ สนช. เป็นการทำหน้าที่โดยการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของชาติ สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ นั้น  สนช. ได้รับหลักการแล้ว  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ   หลังจากที่ได้รับเรื่องวันนี้จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาต่อไป และเสนอให้องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่มายื่นหนังสือในวันนี้คัดเลือกตัวแทน 5 คน มาฟังการพิจารณากฎหมายในห้องประชุมกรรมาธิการเพื่อรับทราบความคืบหน้า

โดยหนังสือที่องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนทั้ง 38 องค์กรได้ยื่นต่อ สนช. ในวันนี้  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

000

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ   พ.ศ. ....  เมื่อวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2558 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวภายใน 30 วันนั้น องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว เห็นว่า กระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้เป็นการเร่งรัดเสนอกฎหมายของหน่วยงานราชการโดยไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงในกระบวนการออกกฎหมาย   อีกทั้งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปฏิรูปและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น  การพิจารณาออกกฎหมายซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรที่จะรอให้มีรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงเสียก่อน รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงก่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว  และเมื่อพิจารณาเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวแล้ว  พบว่ามีลักษณะในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะมากกว่าการส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการประชาธิปไตย  ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างขวางมากเกินไป  เนื่องจากนิยามตามมาตรา 4 ประกอบกับมาตรา10 วรรคสอง ครอบคลุมถึงผู้ที่เชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แต่การบัญญัติให้รวมถึงบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการบัญญัติที่มีความหมายอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะตีความรวมไปถึงผู้ซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์นัดหมายให้มีการชุมนุม หรือเห็นด้วยกับการชุมนุมและช่วยประชาสัมพันธ์แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมในความเป็นจริง ซึ่งการเป็นผู้จัดการชุมนุมนั้นจะมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายตามมา

2. นิยามศาลและการตัดเขตอำนาจศาลปกครอง ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดนิยามของศาลว่าหมายถึงศาลแพ่งและศาลจังหวัด รวมถึงมาตรา 13 และมาตรา 26 กำหนดให้คำสั่งและการกระทำของเจ้าพนักงานไม่เป็นคำสั่ง หรือการกระทำทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลสองประการคือ ไม่สามารถนำมาตรฐานวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้ และศาลปกครองไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบคำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น

3. การกำหนดห้ามชุมนุมภายในรัฐสภา ทำเนียบ ศาลและห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ  ตามที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดพื้นที่ชุมนุมไว้ในมาตรา7 และมาตรา 8 นั้น เนื่องจากการชุมนุมของภาคประชาชนส่วนใหญ่นั้น เป็นไปเพื่อเรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหา หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย การห้ามชุมนุมในสถานที่หรือบริเวณดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากประชาชนต้องการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่แล้ว การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เลย

4. การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง ตามที่มีการกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ถึงมาตรา 14 นั้น ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติในการชุมนุม เนื่องจากบางกรณีเป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เช่น การชุมนุมของแรงงานซึ่งนายจ้างปิดสถานประกอบการโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า การชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างในพื้นที่ชุมชน แม้จะขอผ่อนผันระยะเวลาการชุมนุมได้แต่ระยะเวลาในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ยังคงสามารถใช้ระยะเวลาได้ถึง 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน รวมถึงหากไม่แจ้งการชุมนุมเจ้าพนักงานสามารถมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุมได้ทันทีทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายก็ได้

5. การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด ในมาตรา 15 ต้องไม่ปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00 - 06.00 น. อาจทำให้เป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุม เนื่องจากหากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากแต่ไม่สามารถสื่อสารได้ทั่วถึงได้ การชุมนุมจะไม่เป็นเอกภาพและจะยิ่งก่อความไม่สะดวกแก่ประชาชนในการใช้พื้นที่

6. การเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ซึ่งต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง การจำกัดการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ตามมาตรา 16 ถึงมาตรา 18 ซึ่งในบางกรณีผู้ชุมนุมนั้น เริ่มการชุมนุมในพื้นที่ต่างจังหวัดและเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในช่วงกลางคืนเพื่อมาให้ถึงตอนเช้า

7. การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้เลิกการชุมนุม ตามมาตรา  21  และมาตรา 22 นั้น อาจทำให้ศาลกลายเป็นคู่กรณีกับประชาชนในการชุมนุม ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหากประชาชนต้องการฟ้องว่าการสั่งให้เลิกการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นอาจทำให้เป็นปัญหาในภายหลัง

8. การกำหนดโทษทางอาญา ดังปรากฏในมาตรา 27 ถึงมาตรา 35 เนื่องจากการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา โทษที่รุนแรงที่สุดตามพระราชบัญญัตินี้นั้นควรเป็นการสั่งเลิกการชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินคดีด้วยกฎหมายว่าด้วยการนั้น

องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนรายชื่อข้างท้ายหนังสือฉบับนี้  จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว  เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพความคิดเห็น การแสดงออกขั้นพื้นฐานจะทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพและยังมีปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งไม่อาจแสดงความเห็นได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติยุติการดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.  .... ในช่วงเวลานี้ หากหน่วยงานรัฐต้องการผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความชัดเจนในการใช้สิทธิเสรีภาพ หน่วยงานดังกล่าวควรมีการรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลาย ดำเนินการออกกฎหมายภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและกระทำโดยผ่านสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

1. กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย
2. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
3. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
4. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
5. เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม
6. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
7. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดกระบี่
8. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
9. ศูนย์ข้อมูลชุมชน
10. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
11. เครือข่ายสลัมสี่ภาค
12. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.)
13. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน(ศศส.)
14. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
15. กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
16. คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้า อุดรธานี
17. กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลำน้ำโขง
18. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีสาน
19. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
20. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

21. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
22. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
23. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
24. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
25. กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
26. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
27. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
28. ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานภาคใต้
29. เครือข่ายพลเมืองสงขลา
30. เครือข่ายปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารภาคใต้
31. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
32. เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
33. ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
34. กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำชีตอนนล่าง
35. กลุ่มสายธาร
36. กลุ่มบ้านสันติภาพ
37. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค
38. Rubber Watch (กลุ่มจับตานโยบายยางพารา ภาคใต้)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สรุปร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนอีสาน

$
0
0

ภาคประชาชนอีสาน ร่วมจัดเวทีข้อเสนอ ระดมความคิดเห็น จัดทำยกร่างแผนแม่บทป่าไม้ภาคประชาชน หมอนิรันดร์ แจงจุดประสงค์การจัดทำร่างแผนภาคประชาชน เตรียมเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาขณะที่ปราโมทย์ เผย ปัญหาที่เรื้อรัง เป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆในยุค คจก.ด้านนักวิชาการ ชี้ รากเหง้าอีสาน สูญสลายไปกับการพัฒนา โดยรัฐขาดความเข้าใจนิเวศของคนอีสาน

เมื่อวันที่ 19– 20 มี.ค.2558 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจริญธานี  จังหวัดขอนแก่นตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน กว่า 100 คน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ร่วมจัดเวทีสัมมนา “ยกร่างแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภาคประชาชนเพื่อระดมความคิดเห็นการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน

 

ผลสรุปเวทีระดมความเห็นยกร่างแผนจัดการป่าไม้-ที่ดินโดยชุมชน

รัฐควรกระจายอำนาจสู่ชุมชนให้ท้องถิ่นมีสิทธิส่วนร่วมในการ โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมสนับสนุนแผนการจัดการทรัพยากรตามสิทธิชุมชน อีกทั้งให้ผู้มีอำนาจสั่งการยกเลิกคำสั่ง 64/2557สืบเนื่องมาจากหน่วยงานภาครัฐได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากแผนปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ควรยุติการยึดคืนผืนป่า การจับกุม ไล่รื้อ และตัดฟันพืชผลอาสินจากประชาชนผู้ยากไร้รวมทั้งให้มีการชดเชย เยียวยา กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว

เวทีแผนการจัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ให้ภาครัฐมีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐที่ประกาศทับซ้อนชุมชนและพื้นที่ทำกิน จัดทำแนวเขตและจำแนกที่ดิน (zoning)ให้ชัดเจน จัดสรรที่ดินและรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับราษฎรที่ยากจนและส่งเสริม สนับสนุนการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนท้องถิ่นโดยให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจประชาชนในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในรูปแบบป่าชุมชน ป่าครอบครัว หรือการใช้แนวคิดในระบบนิเวศวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการฟื้นฟูฐานทรัพยากรโดยชุมชน รวมทั้งเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น

 

หมอนิรันดร์ แจง ถึงจุดประสงค์การจัดทำร่างแผนภาคประชาชน

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่ากล่าวถึงการจัดการที่ดินถือเป็นปัญหาอันดับ 1 ของประเทศ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างรัฐบาลกับคนจนและนายทุนที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด อีกทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันกลับมีการกำหนดแผนแม่บทป่าไม้ฯ และคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 มากระหน่ำซ้ำไล่รื้อคนจนออกจากพื้นที่โดยไม่ได้ดูบริบทของคำสั่ง ฉบับที่ 66/2557 ที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ภายหลังจากมีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯทางคณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับหนังสือร้องเรียนถึงผลกระทบส่งมามากกว่า 40 เรื่อง จากทั่วประเทศ จึงเป็นความประสงค์หลักของการจัดเวทีเชิญตัวแทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านป่าไม้ที่ดินในภาคอีสาน เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็น พร้อมข้อเสนอจากภาคประชาชนที่ร่วมกันร่างแผนแม่บทการจัดการป่าไม้ภาคประชาชน เสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเป็นการต่อไป

 

ปราโมทย์เผย ถือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆยุค คจก.

ขณะที่ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ร่วมอภิปรายถึง สถานการณ์ความเคลื่อนไหวแผนแม่บทฯ และกรอบความคิดในการยกร่างแผนแม่บทฯว่า จากการประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ฯ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนแม่บทดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ แต่จากสถานการณ์การทวงคืนผืนป่า กลับพุ่งเป้าตรงมายังชาวบ้านก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้มากมาย  เช่น ในพื้นที่ชุมชนโคกยาว ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร ชัยภูมิ  ถูกเจ้าหน้าที่ติดป้ายไล่รื้อออกจากพื้นที่ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษรวมทั้งพื้นที่พิพาทอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาหลายยุครัฐบาล

ขณะเดียวกัน แผนดังกล่าวได้รุกคืบและขยายวงไปอย่างกว้าง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วประเทศ โดนสถานการณ์ไม่ต่างกับเป็นการรื้อฟื้นกลับคืนมาของโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม หรือ คจก. ที่ได้เคยสร้างปัญหาและส่งผกระทบความไม่ชอบธรรมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ได้เกิดปรากฎการณ์การชุมนุมเรียกร้องเพื่อคัดค้าน ผลักดันล้มโครงการ คจก. เมื่อช่วงปี 2535

ในความไม่แตกต่างในโครงการ คจก.กับแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ ในยุค คสช.นั้น คือเป็นการฟื้นหลักการเดิมๆ ความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะทั้งกรอบความคิดและแนวปฏิบัติในการจัดสรรที่ดินของรัฐ จะผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

ฉะนั้นปัญหาความไม่เป็นธรรม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจบานปลายออกไปได้ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐควรหานโยบายอื่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ทวงคืนจากชาวบ้าน นอกจากนี้ภาครัฐควรเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการให้ชุมชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ตามสิทธิชุมชนของพวกเขาเองด้วย

ดังนั้น จึงเสนอให้การดำเนินนโยบายตามแผนแม่บททวงคืนผืนป่าฯ ควรให้ภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยและต้องไม่มีการปราบปราม รัฐควรหยุดการอพยพ ยุติไล่รื้อคนออกจากที่ทำมาหากิน หรือใช้วิธีการเดิมๆ แต่ต้องกำหนดให้มีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

 

นักวิชาการชี้เหตุรากเหง้าอีสาน ต้องสลายไปกับการพัฒนา

นอกจากนี้ อาจารย์สันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีนำเสนอ “นิเวศวัฒนธรรมของชุมชนอีสาน และพัฒนาการชุมชนในเขตป่า”กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ และคนกับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความผูกพันมาแต่อดีต และความผูกพันระหว่างคนกับคน เช่น ประเพณี ฮีต12 คอง14 ปรากฏว่าความผูกพันดังกล่าว เริ่มล่าถอยและทยอยสูญสลายมากว่า 50 ปี อาจเป็นไปได้ว่าเพราะมีอำนาจรัฐเข้ามาจัดการกำหนดกฎเกณฑ์ แยกคนออกจากป่า ออกจากธรรมชาติและออกจารีตประเพณีที่สืบทอดมาจากรากเหง้า ดั้งเดิมเช่น นำกฎหมายป่าไม้เข้ามาจัดการ และการประกาศเขตป่าต่างๆ โดยขาดการจำแนกพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาครัฐไม่ได้มองบริบทนิเวศของคนอีสานอย่างเข้าใจ และอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ระบบนิเวศและสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเปลี่ยนทำให้คนอีสานเริ่มสูญสลายถูกอพยพออกจากพื้นที่

ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอันอุดม ที่เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่เคยใช้ประโยชน์ร่วมกัน, จากผลกระทบเกิดจากการพัฒนาประเทศเพื่อความทันสมัยในด้านการผลิตที่พุ่งเป้าไปสู่กระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมการพัฒนาสมัยใหม่ที่ใช้ไม่ถูกกับศักยภาพพื้นที่ทำให้ความเป็นชุมชนอีสาน ที่หลากหลายวัฒนธรรม และมากค่าด้วยทรัพยากร พื้นที่ที่สมบูรณ์ในระบบนิเวศน์จึงกลายเป็นเหมืองแร่ กลายเป็นสวนยางพารา ไร่อ้อย ไร่มัน ป่ายูคาลิปตัส ฯลฯหรือวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมบนพื้นที่ลุ่มน้ำแหล่งหากินจากป่าบุ่งป่าทามที่เปรียบเป็นโรงครัวใหญ่ของชุมชน ถูกกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจกลายมาเป็นเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย ตามมาด้วยนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ชุมชนประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ หนี้สิน ขาดความมั่นคงทางอาหาร ความอบอุ่นของครอบครัวเริ่มสลาย และสูญไปในที่สุด

จากบทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่าการจัดการที่ไม่ถูกกับสภาพนิเวศและวิถีวัฒนธรรม โดยรัฐบาลรวมศูนย์อำนาจจัดการทรัพยากรโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรมชุมชนปัญหาจึงเกิดขึ้นและผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตป่า ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ทั้งที่ลุ่ม โคก ดอนผลกระทบและปัญหาเหล่านั้นชาวบ้านมักเป็นผู้ถูกกระทำมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับภาครัฐดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดอะการ์เดียนเทียบผู้นำไทยเป็นจอมเผด็จการ 'บิ๊กบราเธอร์'

$
0
0

เดอะการ์เดียนสะท้อนบรรยากาศการบีบบังคับและปราบปรามทางการเมืองในไทยหลังรัฐประหาร ระบุถึงความกังวลของผู้คนที่ไม่เป็นไปตาม "อุดมคติ" ของผู้นำเผด็จการ การเซนเซอร์ตัวเองของสื่อ และการต่อสู้ด้วยกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร

26 มี.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานถึงสถานการณ์ในประเทศไทย สะท้อนว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารจะมีความพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ๆ มี "ความสุข" แต่สิ่งที่เขาทำมีแต่การลิดรอนเสรีภาพพลเมือง ทำให้เกิดการเติบโตของระบอบเผด็จการที่มีลักษณะ "เหนือจริง" (surreal)

ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนรายงานถึงการจัดงาน "2558 ปีท่องเที่ยววิถีไทย" (2015 Discover Thainess) ซึ่งจัดขึ้นที่สวนลุมพินีเมื่อไม่นานมานี้เพื่อพยายามแสดงให้เห็นว่าคนไทยมี "ความสุข" แม้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่ความคิดเห็นของประชาชนกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียนได้สัมภาษณ์คนทำงานเป็นหัวหน้าพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งนามสมมติว่า 'ดรีม' เธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (Transgender) ในขณะที่งานท่องเที่ยววิถีไทยพยายามนำเสนอภาพคนในภาคเหนือแต่งตัวเป็นชาวนาถ่ายภาพกับควายจำลอง ส่วนคนในภาคกลางแต่งตัวดูมีสง่า ดรีมให้สัมภาษณ์ว่าตัวเธอมาจากจังหวัดในภาคเหนือ แม้ว่าพ่อแม่เธอจะเป็นชาวนาชาวไร่แต่เธอเรียนดีและเข้าไปทำงานที่โรงแรมในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 18 ปี เพราะต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เธอสวมชุดที่ดูทันสมัยไปเที่ยวงาน แม้เธอจะบอกว่างานนี้สนุกแต่บอกว่ามันไม่ได้สะท้อนภาพของไทยในปัจจุบันแต่เป็นเมืองไทยเมื่อ 20 หรือ 30 ปีที่แล้ว

เดอะการ์เดียนระบุว่าการจัดงานที่ดูเหมือนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้มีการแฝงโฆษณาชวนเชื่อให้คนในประเทศไปด้วยโดยการนำเสนอภาพอดีตในอุดมคติในขณะที่ประชาธิปไตยถูกระงับควบคุม

"ไม่มีอะไรที่เป็นการละเมิดหลักนิติธรรมไปมากกว่าการใช้ปืนจี้ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งแม้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีข้อเสียก็ตาม" เดอะการ์เดียนระบุในรายงาน

แม้ว่าประยุทธ์จะจะยืนยันว่าเป้าหมายของเขาคือการสร้างความปรองดองในชาติ แต่ดรีมกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลจากการรัฐประหารทำจะยิ่งเป็นการกีดกันคนไทยจำนวนมาก และในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศเธอกลัวว่าสักวันหนึ่งกองทัพอาจจะปราบปรามคนอย่างเธอก็เป็นได้ เพราะเธอไม่เข้ากับอุดมคติที่พวกเขาตั้งไว้

รายงานของเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประยุทธ์มักจะแสดงท่าทางเหมือนคนมีอาการจุกเสียด อีกทั้งยังมักจะแสดงท่าทีฉุนเฉียวต่อสื่อที่ตั้งคำถามกับเขา นอกจากนี้กลุ่มเผด็จการทหารในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ทำการลงโทษคนที่เห็นต่าง มีการห้ามกิจกรรมทางการเมืองและเซนเซอร์สื่อ ทำให้สิทธิมนุษยชนในไทยถดถอยอย่างหนัก โดยมีข้อกล่าวหาเรื่องการทารุณกรรมและมีการอ้างใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการ์เดียนระบุว่าเทียบกับการรัฐประหารในปี 2549 แล้ว ตอนนั้นยังมีการปราบปรามน้อยกว่า

เดอะการ์เดียนระบุว่านับตั้งแต่ปี 2549 กลุ่มรากหญ้าที่ให้การสนับสนุนทักษิณมีการรวมตัวเป็นระบบมากขึ้น แต่ในขณะที่ฝ่ายเผด็จการมุ่งทำลายการสนับสนุนตระกูลชินวัตร พวกเขาก็ไม่ทันได้คิดว่าหลายคนมองตระกูลชินวัตรเพียงหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเท่าเทียม มีกลุ่มผู้ประท้วงเชิงสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบหลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งการประท้วงอ่านหนังสือ "1984" ของจอร์จ ออร์เวลล์ การชูสามนิ้วเลียนแบบ "เดอะฮังเกอร์เกมส์" การร่วมทานแซนด์วิชในที่สาธารณะจนทำให้เผด็จการทหารประกาศห้าม รวมถึงล่าสุดมีการจับกุมชายที่เดินประท้วงเดี่ยว "พลเมืองรุกเดิน" ในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้รายงานของเดอร์การ์เดียนยังระบุว่าสิ่งที่เหล่าผู้นำจากการรัฐประหารพูดมักจะมีอะไรที่ฟังดูย้อนแย้ง เช่นการที่บอกอนุญาตให้จัดทำโพลได้แต่ต้องไม่ใช่โพลที่ต้าน คสช. หรือคำกล่าวอ้างว่าพวกเขาไม่ได้จำกัดเสรีภาพสื่อแต่เสรีภาพจะต้องมีการจำกัด

ในแง่การเซนเซอร์สื่อ ผู้ใช้นามสมมติชื่อ 'เชอร์รี่' ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนระบุว่าในไทยมักจะมีลักษณะการเซนเซอร์ตัวเองเกี่ยวกับเรื่องอ่อนไหว และเผด็จการทหารหลังรับประหาร 2557 ก็ใช้วิธี "ขอ" ไม่ให้สื่อรายงานสิ่งที่จะสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณะรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งไม่ได้ขีดเส้นชัดเจนทำให้สื่อต้องเซนเซอร์ตัวเองและมีความหวาดระแวงเกินกว่าเหตุ สื่อที่เชอร์รี่ทำงานด้วยโดนปิดชั่วคราวเพื่อเป็นการเตือนว่ามีการ "รายงานข่าวอย่างไม่เหมาะสม" และตัวเธอเองก็เคยถูกสถานีระงับออกรายการหลังจากที่เธอโพสต์ข้อความสร้างแรงบรรดาลใจให้ผู้หญิงลุกขึ้นเรียกร้องเพื่อตัวเองพร้อมรูปที่เธอเคยไปเข้าร่วมกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเพราะสถานีกลัวว่าเธอจะวิจารณ์ทหารออกสื่อ

เดอะการ์เดียนยังวิจารณ์การที่ผู้นำเผด็จการเลื่อนวันเลือกตั้งไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังคงกฎอัยการศึกไว้ต่อไปโดยอ้างเรื่องความมั่นคงในขณะที่เศรษฐกิจไทยซบเซาและภาพลักษณ์ในสายตาต่างชาติก็ดูสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ เดอะการ์เดียนระบุในรายงานอีกว่า ลักษณะการเป็นผู้นำของประยุทธ์เองไม่เพียงดูแปลกประหลาดแต่ยังขาดความสามารถในการประชาสัมพันธ์จนทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเห็นเป็นเรื่องตลกขำขันคลายเครียดเล็กๆ น้อยๆ ดูจากการพูดถึงปัญหาต่างๆ ผ่านสื่อ จนแม้แต่ผู้เขียนบทและกำกับรายการ "เจาะข่าวตื้น" อย่าง จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ ยังให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะสร้างตลกเสียดสีในเมื่อเป้าหมายที่คุณต้องการเสียดสีทำตัวน่าขันมากระดับเลยขีดของการเสียดสีไปแล้วในชีวิตจริง

นอกจากนี้เดอะการ์เดียนยังพูดถึง วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ "จอห์น วิญญู" และณัฐพงศ์ เทียนดี หรือ "พ่อหมอ" ผู้จัดรายการเจาะข่าวตื้นร่วมกัน โดยจอห์น วิญญู ให้สัมภาษณ์ต่อเดอะการ์เดียนว่า การเสียดสีเป็นเครื่องมือที่ดีเพราะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีอยู่ในอารมณ์ขันแบบไทย พวกเขาระบุถึงการล้อเลียนเสียดสีความตกต่ำและไร้เหตุผลของ สนช. ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจากการรัฐประหาร มีผู้สนับสนุนการรัฐประหารบางคนไม่พอใจพวกเขาแต่จอห์นก็บอกว่าการได้ทำรายการเป็น "การบำบัด" ความรู้สึกไม่พอใจอย่างหนึ่งและหวังว่าคนดูจะรู้สึกเช่นนั้นด้วย

รายงานของเดอะการ์เดียนยังระบุถึงกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" ในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมรายหนึ่งสวมเสื้อยืดต้านรัฐประหารถือดอกกุหลาบสีแดงกล่าวให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาต้องการเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคมให้กับทุกคนในประเทศในฐานะที่เป็นวันแห่งความรักสำหรับคนไทยทุกคน แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามขัดขวางการทำกิจกรรมจนกระทั่งจับตัวผู้ประท้วงส่วนหนึ่งไป

"เมื่องานจบลง ทุกคนกลับบ้านไปแล้ว มีนักช้อปเดินออกมาตามพื้นคอนกรีตที่คดเคี้ยวอยู่เหนือลานกว้าง สิ่งที่อยู่ภายใต้พวกเขาในระดับพื้นถนนคือดอกกุหลาบแดงที่ถูกเหยียบย่ำกระจัดกระจาย" เดอะการ์เดียนระบุในรายงาน

 

เรียบเรียงจาก

Bangkok’s Big Brother is watching you, The Guardian, 22-03-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/mar/22/bangkok-big-brother-politics-ruling-party-democracy

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมือง 'เซาเปาโล' เล็งออกกฎหมายเอาผิดคนเหยียดผู้หญิงให้นมลูก

$
0
0

ในต่างประเทศมีเหตุการณ์ที่คนสั่งห้ามหรือเหยียดหยามผู้หญิงที่ให้นมลูกในที่สาธารณะเกิดขึ้นหลายที่ ทั้งๆ ที่นมแม่เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่จะทำให้เด็กสุขภาพดีและฉลาด ทางการเมืองเซาเปาโล ในบราซิล เล็งออกกฎสั่งปรับคนที่เหยียดหรือห้ามผู้หญิงให้นมลูกในที่สาธารณะ


25 มี.ค. 2558 นมแม่เป็นแหล่งรวมสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กตามที่ระบุโดยองค์การอนามัยโลก นอกจากนี้งานวิจัยบางชิ้นยังบ่งบอกอีกว่าเด็กที่ได้รับนมแม่จะมีภูมิต้านทานโรคและมีระดับสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่

แต่แม่ในบางสังคมก็อาจจะประสบความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกด้วยนมตนเองโดยเฉพาะถ้าหากต้องออกไปนอกบ้าน เพราะผู้คนในหลายสังคมยังคงตื่นตระหนกหรือต่อต้านการที่แม่บางคนเผยส่วนหนึ่งของหน้าอกตัวเองให้ลูกได้ดื่มนมในที่สาธารณะ และบางแห่งอาจจะแย่ถึงขั้นมีการเหยียดหยามผู้หญิงที่ให้นมลูกเช่นที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ทางการเมืองเซาเปาโลผ่านร่างกฎหมายห้ามไม่ให้กลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นองค์กร ธุรกิจของรัฐหรือเอกชนใดๆ ต่อต้านการให้นมลูกในที่สาธารณะ โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นวงเงินราว 150 ดอลลาร์ (ราว 4,800 บาท) ซึ่งเหลือแค่ขั้นตอนให้นายกเทศมนตรีลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ภายในสัปดาห์หน้า

แม้ว่าสิทธิในการให้นมลูกในที่สาธารณะจะเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายในหลายประเทศ แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ผู้หญิงซึ่งให้นมลูกในที่สาธารณะถูกตำหนิหรือถูกเหยียดโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้พบเห็นคนอื่นๆ มีกรณีที่ดังมากเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วในเซาเปาโล เมื่อนางแบบชื่อพริสซิลา นาร์วาร์โร บูเอโน ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยตะคอกใส่เพราะเธอให้นมลูกสาวอายุ 7 เดือนของเธอนอกพิพิธภัณฑ์อิมเมจแอนด์ซาวน์ในเซาเปาโลซึ่งกำลังมีงานจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับเดวิด โบวี่ นักร้องชาวอังกฤษ

นารืวาดร บูเอโน กล่าวว่า "สังคมมีความเคร่งครัดศีลธรรมมากเกินไป ในขณะที่ผู้หญิงสามารถโชว์หน้าอกได้ในงานคาร์นิวาล แต่พวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงนมลูกตัวเอง มันเป็นเรื่องไร้สาระที่ผู้หญิงต้องให้นมลูกในห้องปิด"

นอกจากนี้ยังเคยมีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในประเทศแคนาดาและอังกฤษ ในกรณีอังกฤษเกิดขึ้นเมื่อเดือน ธ.ค. 2557 เมื่อโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในลอนดอนสั่งให้คุณแม่คนหนึ่งเอาผ้าเช็ดปากคลุมตัวขณะที่เธอให้นมลูกอยู่ จนเกิดการประท้วงหมู่โดยมีกลุ่มแม่หลายคนพากันมาให้นมลูกนอกโรงแรมห้าดาวดังกล่าว

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าแม้ว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายแห่งในโลกในช่วงที่ผ่านมา แต่กลุ่มแม่ก็ยังต่อสู้เพื่อปกป้องการเลี้ยงนมลูกของพวกตน

โดยในบราซิลยังมีกลุ่มแม่ที่จัดการประท้วงประจำปีที่ชื่อว่า "Mamaço Time" ซึ่งในปีที่แล้วมีแม่เข้าร่วมประท้วง 40 คน ที่อาคารอเวนิดา เปาลิสตา ในย่านใจกลางเมืองเซาเปาโล โดยมีการให้นมลูกและเปล่งคำขวัญร่วมกันว่า "การให้นมลูกเป็นสิทธิของพวกเรา"

คำประกาศขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าถ้าหากมีเด็กทุกคนได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่จนถึงอายุ 2 ปี จะช่วยให้มีเด็กรอดชีวิตมากขึ้นราว 800,000 คน ทำให้บางประเทศสนใจปัญหานี้จริงจังจนนำมาปรับเป็นนโยบาย ซึ่งปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่น้อยกว่าร้อยละ 40 เท่านั้น ถ้าหากต้องการทำให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ต้องหยุดยั้งไม่ให้มีการเหยียดผู้ให้นมลูกในที่สาธารณะ


เรียบเรียงจาก

Sao Paulo will now fine people who shame breastfeeding moms, Globalpost, 20-03-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/regions/americas/united-states/150320/breastfeeding

São Paulo breastfeeding law would fine those who try to stop nursing mothers, The Guardian, 19-03-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/mar/19/brazil-law-breastfeeding-mothers-fine-sao-paulo

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

22 เม.ย.ฟังคำสั่งอัยการทหารคดี‘4 ผู้ต้องหาเลือกตั้งที่ลัก’ สอบพยาน 4 นักวิชาการเพิ่ม

$
0
0

27 มี.ค.58 ที่ศาลทหาร นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายวรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาคดีจัดงานเลือกตั้งที่(รัก)ลัก มารายงานตัวกับอัยการทหารตามนัดหมาย ส่วนนายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ รายการตัวไปก่อนหน้านี้เนื่องจากมติดภารกิจในวันนี้

ภายหลังการรายงานตัวอานนท์กล่าวว่า อัยการทหารนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 22 เม.ย.เนื่องจากจะต้องมีการสอบปากคำพยานตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องไว้ 4 คนตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอบสวน คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล และประภาส ปิ่นตบแต่ง

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ทั้ง 4 คนถูกนำตัวจากพื้นที่กิจกรรมไปยัง สน.ปทุมวัน จากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 7/2553 จากนั้นมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับอานนท์ ผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวม 5 กรรม จากนั้นพันธ์ศักดิ์ริเริ่ม ‘พลเมืองรุกเดิน’ มาให้ปากคำเพิ่มเติมที่สน.ปทุมวัน และศาลทหารจนถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุมตัวยามวิกาลและถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม คือ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาวิชาชีพข่าวฯ ชี้ 'ประยุทธ์' ไม่เข้าใจการทำงานของสื่อ

$
0
0
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนระบุ "ประยุทธ์" เข้าใจการทำงานของสื่อคลาดเคลื่อนกรณีฐปณีย์ทำข่าวลูกเรือประมงไทย  ชี้ท่าทีเกรี้ยวกราดและคำพูดที่รุนแรงต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่อสาธารณะนั้นถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่นายกจะถูกเข้าใจว่าเป็นเผด็จการได้

 
 
 
27 มี.ค. 2558 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
 
จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ รัฐบาล รวมทั้งการนำเสนอข่าวลูกเรือประมงไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย ของนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ดังปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศนั้น ชี้ชัดว่านายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจต่อการทำงานของสื่อมวลชนที่คลาดเคลื่อน
 
การนำเสนอข่าวของเพื่อนร่วมชาติที่ต้องทนทุกข์ทรมานในต่างแดน ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อ นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อหวังให้เกิดการแก้ไข ส่วนผลกระทบที่จะตามมาในประเด็นการค้ามนุษย์ตามที่นายกรัฐมนตรีกังวลนั้น ไม่น่าจะเกิดจากการรายงานข่าวดังกล่าวเนื่องจาก ประเทศหรือองค์กรที่ทำงานด้านการค้ามนุษย์นั้นมีข้อมูลที่หลากหลายจากแหล่งต่าง ๆ
 
นอกจากนี้การแสดงอาการไม่พอใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้อธิบายว่าตนเองเป็นมนุษย์ มีความรู้สึก เป็นสิ่งที่สังคมสามารถเข้าใจได้ หากแต่การแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและคำพูดที่รุนแรงต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่อ สาธารณะนั้น ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีจะถูกเข้าใจว่า เป็นเผด็จการ ไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองรวมทั้งประเทศชาติด้วย
 
การนำเสนอข่าวสาร ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไร้จรรยาบรรณ ไม่ว่าใครในประเทศนี้ล้วนมีสิทธิ์ทักท้วง ตำหนิ ติติง ร้องเรียนไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ หากไม่พอใจในการกำกับดูแลกันเองของสื่อก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ที่สำคัญการชี้แจงให้สังคมทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร สื่อนำเสนอคลาดเคลื่อน หรือบิดเบือนตรงไหน เป็นวิธีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องที่ได้ผล ยิ่งผู้ชี้แจงมีตำแหน่งถึงนายกรัฐมนตรีย่อมมีความน่าเชื่อถือสูง
 
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศช่วงนี้มีความละเอียดอ่อนจำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือรัฐบาลจะต้องช่วยกันประคับประคอง การเปิดกว้าง รับฟัง และเข้าใจในการทำหน้าที่ที่อาจแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อ ประโยชน์ของประเทศชาติ จะทำให้เราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
 
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
27 มีนาคม 2558
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ' แย้มใช้ ม.44 ออกคำสั่งใหม่แทนอัยการศึก แต่ยังไม่ถึงเวลา

$
0
0
พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อถึงเวลา เบื้องต้นจะอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม. 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อออกคำสั่งใหม่มาใช้แทนกฎอัยการศึก แต่ยังไม่ระบุเวลาที่แน่ชัดโดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน

 
27 มี.ค. 2558  ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งแรก ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง  โดย พล.อ.ประยุทธ์ แถลงขอบคุณชาวหัวหินและประจวบคีรีขันธ์ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นความบริสุทธิ์ใจของประชาชน อย่ามองเป็นเรื่องการเมือง เราต้องเดินหน้าปฏิรูปต่อไป เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
 
ส่วนกรณีประเทศญี่ปุ่นสั่งห้ามเที่ยวบินของไทยเข้าญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องของการขอเพิ่มเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และเกี่ยวกับมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ที่มีการเตือนมาหลายครั้ง แต่ไม่มีการแก้ไข รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ จะต้องมีการเจรจาโดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่รัฐบาลที่มาผ่านไม่ดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการย้ายอธิบดีกรมการบินพลเรือน เพราะเป็นเรื่องนโยบาย
 
สำหรับเรื่องการยกเลิกกฎอัยการศึก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นผู้พิจารณาเองเมื่อเห็นสมควร แต่เบื้องต้นจะอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อออกคำสั่งใหม่มาใช้แทนกฎอัยการศึก แต่ยังไม่ระบุเวลาที่แน่ชัด โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
 
“ผมออกเอง ต้องคุมสถานการณ์ให้อยู่ ออกมาแล้ว อย่าต่อต้านแล้วกัน เพราะถือว่าผมลดลงให้แล้ว คำสั่งที่จะออกมา ไม่ใช่กฎหมายใหม่ ไม่ใช่ พ.ร.บ. เป็นคำสั่ง คสช. ที่ออกมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เหมือนเดิม สร้างความปลอดภัยให้กับทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน เพราะคำสั่ง คสช.อยู่เหนือทุกอย่าง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่แถลงข่าวเสร็จ นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดนิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเอสเอ็มอีและเกษตรกร ที่แสดงถึงความก้าวหน้านวัตกรรมและงานวิจัยของคนไทย กว่า 300 ชิ้น โดยนิทรรศการดังกล่าวจัดภายในสวนสนประดิพัทธ์ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมจนถึงวันพรุ่งนี้ (28 มี.ค.)
 
นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจสอบถามทุกบูธที่นำมาแสดง แต่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องของการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาทำเป็นแผ่นรองถนนคอนกรีต และหมอนรองรางรถไฟ ซึ่งจะช่วยลดพื้นที่ในการเก็บสตอกยางพารา นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งรัฐบาลได้มีแผนยุทธศาสตร์ ทั้งความมั่นคงด้านการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำท่วม การขนส่งทางราง
 
ทั้งนี้ ระหว่างชมบูธของกรมหม่อนไหม นายกรัฐมนตรีได้ทดลองกินถังเช่าแบบสด ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นบาท พร้อมระบุว่า ไม่ได้กินเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ แต่เพราะมีสรรพคุณในการดูแลระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยการพักผ่อนให้ดีขึ้น ส่วนคุณสมบัติช่วยเรื่องจำ ต้องนำไปให้คนที่ต่อต้านรัฐบาลกิน เพราะเป็นพวกสมองเสียพูดและไม่รู้จักฟัง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่น่าสนใจวันนี้ (27 มี.ค.) อาทิ กำหนดให้การท่องเที่ยวสงกรานต์ปี 2558 เป็นการท่องเที่ยวสงกรานต์แบบวิถีไทย รณรงค์ใน 8 เรื่อง อาทิ แต่งกายสุภาพ  ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง กำหนดเวลาเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของไทย นอกจากนี้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงไอซีที และ กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่ 1,800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในเดือนสิงหาคมนี้ รองรับการใช้มือถือระบบ 4 G  และยังเห็นชอบเปิดด่านสิงขรให้เป็นจุดผ่อนปรนการค้าพิเศษชายแดน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องปักปันเขตแดนร่วมกัน ระหว่างไทยและเมียร์มาน จึงยังไม่สามรถเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวร
 
พล.อ.ประวิตร ยันไม่มีการหารือเรื่องลดระดับการบังคับใช้กฎอัยการศึก
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่าว่าสถานการณ์ขณะนี้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะที่การหารือกับภาคเอกชนและนักธุรกิจเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (26 มี.ค.) ไม่มีการเสนอยกเลิกกฎอัยการศึก
 
“เหตุที่รัฐบาลไทยจะทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ต้องการให้ปรับเปลี่ยนการใช้กฎหมายอื่น ซึ่งรัฐบาลโดยฝ่ายกฎหมายก็มีการเสนอแนวทางมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ขอย้ำว่าสถานการณ์ความวุ่นวายขณะนี้ลดลง แต่มีการเฝ้าระวังทุกจุดอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้นอีก” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
พล.อ.ประวิตร ยังแสดงความไม่พอใจเมื่อถูกถามว่าเหตุรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างสถานการณ์โดยฝ่ายรัฐบาล  พร้อมระบุว่า เป็นผู้รักษากฎหมายจะสร้างสถานการณ์เพื่ออะไร พร้อมตำหนิสื่อมวลชนอย่างรุนแรงว่าใช้คำถามที่ไม่สร้างสรรค์ สร้างความเสียหายต่อประเทศ
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ขอโทษผู้ที่สุภาพ หากบางครั้งมีโมโหสื่อ

$
0
0

รายการคืนความสุขให้คนในชาติ "พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำหน้าที่สื่อ ต้องเตือนหากมี ขรก.-นักการเมืองทุจริต แต่ไม่ใช่สร้างความหวาดระแวง ชี้สื่อเขียนส่งเดช จะไม่ให้โมโหได้อย่างไร พร้อมขอโทษหากบางจังหวะมีอารมณ์รุนแรง หวังให้คนเห็นใจบ้าง

 
27 มี.ค. 2558 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2558 เวลา 20.15 น. โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม 2558
 
สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
 
ก่อนอื่นผมในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุดกับพี่น้องประชาชนชาวสิงคโปร์ที่ต้องสูญเสียเอกบุรุษของประเทศไป ในช่วงเวลานี้ ฯพณฯ ท่าน นาย ลี กวน ยู อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์สมัยใหม่” ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ท่านได้ใช้วิสัยทัศน์อันยาวไกลของท่านนำพาความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่งและมั่นคงทางเศรษฐกิจมายังประเทศสิงคโปร์ ทำให้ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ผมมั่นใจว่า ฯพณฯ ท่าน นายลี กวน ยู ยังคงจะได้รับความจดจำว่าเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของเอเชียอีกด้วย ซึ่งผมก็จะได้เดินทางไปเคารพศพท่านในวันอาทิตย์นี้
 
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมและคณะได้เดินทางไปประเทศบรูไนอย่างเป็นทางการ ซึ่งในโอกาสนี้ ได้เข้าเฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนอย่างใกล้ชิดทั้งคณะ  ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้พระราชทานวโรกาสนี้ โดยสมเด็จพระราชาธิบดี ได้ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง จากนั้น ได้มีการหารือทวิภาคีในหลายประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ การกระชับความร่วมมือทางด้านการค้า การลงทุน มีการลงนามกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรกรรม  การกระชับความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  นอกจากนั้น ได้มีการหารือกันถึงความสำคัญของความมั่นคงทางด้านราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในกลุ่มประเทศอาเซียน  ซึ่งเราเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก รวมทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาไฟป่าในภูมิภาคอาเซียน การปลูกป่าอาเซียนด้วย
 
สำหรับเรื่องการศึกษา รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ผมได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เพื่อทำหน้าที่เป็นซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา ในการร่วมกันหารือและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการศึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ นี้ มุ่งเน้นใน  3 ภารกิจหลัก คือ 1. การดำเนินงานตามภารกิจประจำ 2. การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และ 3. การดำเนินงานสำหรับการวางรากฐานเพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้ จะดำเนินการทั้งในด้านการศึกษา การปรับหลักสูตร การพัฒนาคุณภาพครูและผู้เรียน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การใช้จ่ายงบประมาณ และการกระจายอำนาจ เน้นให้มีทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติ โดยจะพิจารณานำแนวทางการดำเนินงานจากต่างประเทศมาปรับใช้  ตามความเหมาะสม ซึ่งผมได้มอบหมายให้หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาดำเนินการ และนำไปเสนอต่อผม ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ เพื่อจะพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
 
ในที่ประชุมได้มีการแสดงความคิดเห็นกัน และสรุปว่าเห็นตรงกันว่าการพัฒนาการศึกษา ต้องมีความสอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่ด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ไม่ใช่มารวมกันอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ หรือในกรุงเทพฯ อย่างเดียว รวมถึงต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การศึกษาทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการประเมินผลการพัฒนาการศึกษาในประเทศ และเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จ
 
ทั้งนี้ ต่อไปเรากำลังเข้าสู่การมีเศรษฐกิจดิจิตอล จะนำมาสนับสนุนการพัฒนาการศึกษานี้ด้วย โดยอาศัยครูที่มีประสบการณ์ ที่อาจจะมีการเรียน การสอนที่นักเรียนชอบและทำให้เข้าใจง่าย ๆ ซึ่งวันนี้ก็ไปสอนตามโรงเรียนกวดวิชา เป็นจำนวนมาก ก็จะนำมาช่วยด้วย ขอร้องกันให้มาช่วยกัน ใช้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เผยแพร่ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็น่าที่จะได้รับความสนใจจากประชาชนที่อยู่ทางบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ ลูก อาจจะนั่งฟังด้วยกันก็ได้ เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวด้วย อีกอันที่ผมเห็นเป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องการสอนทางโซเชียลมีเดียนี้ หรือทางระบบดิจิตอล ผมว่าเราต้องสอนให้คนรู้จักว่าเราจะใช้ประโยชน์อย่างไร ถ้าเราใช้ในทางที่ผิด และไปคาดหวังกับระบบอย่างเดียว โดยไม่สนใจครู ไม่สนใจผู้ปกครอง ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการพัฒนาการของสังคม ท่านอยู่กับคอมพิวเตอร์อย่างเดียวไม่ได้ ฝากไว้ด้วย
 
ในส่วนของการพัฒนาเผยแพร่เทคโนโลยีสารสนเทศนั้น ต้องกำหนดการพัฒนาเส้นทางอาชีพของครูในกลุ่มนี้ ปัญหาคือครู อาจจะไม่เพียงพอและสอนไม่ตรงวุฒิการศึกษาที่จบมา ตอนนี้ได้สั่งให้ไปเตรียมการ และดำเนินการแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ครูเก่า ครูใหม่ ต่าง ๆ ผมได้สั่งไปหมดแล้ว และจะได้สร้างแรงจูงใจ
 
การสอนโดยใช้สื่อดิจิตอลนั้น จะเป็นสื่อการสอนที่มีความสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพเข้าสู่ทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงการศึกษา การดำเนินการในระยะต้นที่ผ่านมานั้น เราได้ทำมาแล้ว โดยได้ให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติมในเรื่องของการใช้ศูนย์การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology : DLIT) เพิ่มเติมเป็นศูนย์กลางในการผลิตสื่อสารการสอนโดยครูเก่ง ครูที่ได้รับความนิยมเหล่านี้ เพื่อจะเผยแพร่ให้โรงเรียนในสังกัดอย่างแพร่หลาย คือเพิ่มเติมสาระต่าง ๆ ที่สำคัญเพิ่มเติมไปจากในส่วนของโครงการทางไกลผ่านดาวเทียม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ให้เกิดความที่ช่วยกันพัฒนาสนใจร่วมมือกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดี
 
นอกจากนั้น ได้มีการหารือแนวทางที่จะผนวกการพัฒนาการศึกษาเข้ากับเงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุน คือการลงทุนต่างประเทศ ถ้าเราสามารถที่จะนำมาร่วมมือกัน กับในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือในเขตภูมิภาค การให้เขาไปดูแลในส่วนของมหาวิทยาลัย วิทยาลัยต่าง ๆ เป็นลักษณะเป็นทวิภาคี ผมว่าน่าจะใช้ได้ ตอนนี้ก็คิดแล้ว แล้วก็สั่งการไปพิจารณาดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ให้สอดคล้องกันระหว่างโครงการภาครัฐขนาดใหญ่ และการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในแต่ละภูมิภาคด้วย ก็จะเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญ เราก็ควรสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้นได้มีข้อตกลงทำความร่วมมือจัดการศึกษาแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรมแรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งเราขาดแคลนเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวด้วย
 
สำหรับการศึกษาระดับอาชีวศึกษา คณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ ที่ต้องการผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่หลากหลาย การอาชีวศึกษาต้องดูแนวโน้มการผลิตคนให้สอดคล้อง  อะไรขาด อะไรเกินต้องมีลิมิต แล้วก็ควบคุมให้ได้ ทั้งนี้ ควรนำประสบการณ์ต่างประเทศเช่นด้วยกัน ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษามาเป็นกรณีศึกษา เช่น ประเทศสิงคโปร์ จะมี Institute of Technical Education (ITE) ซึ่งเป็นสถาบันที่จัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องการทักษะทางช่าง และช่างผีมือ
 
การศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ยังมีปัญหาในการจัดหลักสูตรและบุคลากรในการสอน ขาดงานวิจัยและพัฒนาที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาจจะเปิดการเรียนการสอนที่เหมือนกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงการสนับสนุนการพัฒนาในภูมิภาคนั้น ๆ คือตรงกับความต้องการของพื้นที่ ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้วย เพื่อผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับคลัสเตอร์ ในการพัฒนาประเทศและโครงการขนาดใหญ่ ก็จะต้องช่วยยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ เพิ่มการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนด้วย
 
อีกเรื่องหนึ่ง อย่างที่ผมได้เคยกล่าวไว้ในงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าของประเทศไทย” ว่า การจะทำให้อุตสาหกรรมของไทยเข้มแข็งต่อไป อย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกัน วันนี้รัฐบาลได้ทำให้ประเทศกลับมาสงบสุข สถานการณ์ทุกอย่างที่ไม่ดีชะลอลงตามลำดับ แต่ยังคงมีประชาชนที่ไม่เข้าใจอยู่  โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจสีเทาที่ไม่ค่อยถูกกฎหมายในประเทศที่ถูกลดจำนวนลง อาจจะทำให้ประชาชนส่วนนี้ขาดรายได้ รัฐบาลเห็นใจ แต่ประเทศจะต้องมีการจัดระเบียบไม่อย่างนั้น ก็ไม่มีความเป็นธรรมกับคนอื่นที่เขาทำถูก ต้องลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าเราปล่อยต่อไปไม่ได้ แต่เราต้องหาทางว่าจะทำอย่างไร ให้เขามีที่ทำกินมีที่ค้าขายให้ได้ กำลังทำอยู่ก็ต้องยอมรับกันบ้าง เพราะท่านทำอยู่มันผิด แล้ววันหน้าถ้าเข้มแข็งได้ จะได้เข้าสู่การพัฒนาตนเอง เพิ่มความก้าวหน้าในหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าเริ่มลงทุน ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันใช่หรือไม่ พอมีรายได้มากมายพอ ก็สามารถมาช่วยเหลือประเทศชาติได้ ภาษีก็มีโอกาสที่จะเสียภาษีได้ อย่าหนีจากระบบภาษี ผมอยากให้ทุกคนมีหมายเลข การเสียภาษีทุกคน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเก็บทุกคน ปัญหาที่ผมทราบขณะนี้ก็คือ หลายคนก็ไม่อยากจะมีหลักฐานทางภาษี จะทำอย่างไร อย่าตำหนิรัฐบาลอย่างเดียว เราคิดทุกมิติ ว่าเขาจะไม่เดือดร้อนได้อย่างไร เราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร เราจะจัดกลุ่มคนเดือดร้อนมากเดือดร้อนน้อย คนยากจนได้อย่างไร ปรากฎว่าไม่ได้เพราะว่าฐานข้อมูลไม่มี และประชาชนหลายส่วนไม่ยอมเข้าในระบบ ไม่ต้องกลัว ถ้าท่านมีรายได้น้อย ใครจะไปเก็บภาษีท่านได้ ภาษีก็ต้องเก็บตามรายได้ ที่มีอยู่ตามหลักเกณฑ์ ถ้าไม่ถึงก็เก็บไม่ได้อยู่แล้ว อย่าหาว่าผมมารีดเลือดกับท่าน เป็นการวางอนาคต วันหน้าต้องให้ทุกคน ถ้าเข้าระบบภาษีได้ก็คือทุกคนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอ ถึงวันนั้นน่าจะต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่บัดนี้ ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้
 
อีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งทำเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นตลาดภายในประเทศ ในทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด เป็นลักษณะให้เกษตรกรมาขายสินค้าเกษตรให้กับประชาชน ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้ว ช่วยกันไปดูหน่อย ไปอุดหนุนหน่อย มีสัก 2,000 กว่าแห่งแล้วตอนนี้ ว่าเดินหน้าได้แค่ไหน ไปได้อย่างไร ถ้าหากขายสินค้าแล้วจะมีการให้พี่น้องนำอย่างอื่นมาได้หรือไม่ ของเก่า ของใช้แล้ว ของอะไรที่อาจจะไม่มีความจำเป็นในการใช้ของเรา แต่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ทีวีเก่า อะไรเก่าต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นการเผื่อแผ่แบ่งปัน กระติกน้ำร้อนเก่า วิทยุเก่า ที่เราไปซื้อขนาดดีมาแล้ว ของเก่าทิ้งไว้หลังบ้าน มาบริจาค มาอะไรให้กับคนในพื้นที่เขา จะสร้างความรักความสามัคคี
 
ในส่วนของเกษตรกร วันนี้ก็ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงเพราะราคาผลิตผลตกต่ำ คงจะต้องแก้ไขระบบให้ได้โดยเร็ว นี่ก็กำลังเตรียมการเพื่อจะช่วยเหลือดูแลในครอปใหม่ว่าจะทำอย่างไร ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ไปหารือกันอยู่ ในเรื่องของต่างประเทศผมก็พูดคุยกับท่าน สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ด้วยบอกให้ช่วยตรงนี้ด้วย ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำอาวุโสสูงสุดในอาเซียน ว่าทำอย่างไรว่าอาเซียนจะพูดคุยกันได้ ในเรื่องของจำหน่ายขายสินค้า เพราะถ้าแข่งขันกันเองทั้งหมดยิ่งไปไม่ได้ทั้งหมด ราคาก็ตกไปเรื่อย ๆ เรื่องข้าว เรื่องยาง อะไรก็แล้วแต่ เราต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ ทุกประเทศไม่ใช่แค่ 2-3 ประเทศ ทุกประเทศที่มีการปลูกยาง ปลูกข้าวต่าง ๆ เพราะเราไม่ใช่คู่แข่งขันกันแล้ววันนี้เราเป็นพันธมิตร หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
 
เรื่องสำคัญก็คือขอฝากให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนดำเนินการในสิ่งใหม่ ๆ ที่ผมกล่าวมาแล้วด้วย เรื่องนี้ ภาครัฐกับภาคเอกชนจะต้องดำเนินการร่วมกันตั้งแต่การเริ่มต้น แก้ไขปัญหา รับทราบปัญหาร่วมกัน ทำงานสอดประสานช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างห่วงโซ่ ห่วงโซ่ทางอาหาร ห่วงโซ่เศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมสีเขียว ให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ อะไรทำนองนี้ คือไม่สร้างอะไรที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้วย อันนี้เป็นประเด็นที่โลกให้ความสำคัญอยู่แล้วก็ให้มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนสินค้า เดินทางสัญจรไปมา แล้วก็การท่องเที่ยวก็ไปได้หมด เพราะว่าเราเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว วันหน้าอย่างไร เขาพูดว่าวันหน้าโลกเราจะไร้พรมแดน รวมทั้งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี วิจัย วิเคราะห์พัฒนา วันนี้ผมก็ให้มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาของไทย รู้สึกจะมีอยู่หลาย เป็น 1,000 ๆ อย่างที่มาที่หัวหิน ได้รับรายงานว่าคนสนใจ แล้วเราก็จะได้อธิบายเขาว่า SMEs เราเตรียมการสนับสนุนอย่างไรให้เป็นรูปธรรม ถ้าทุกคนไปบ่นอย่างเดียว ผมได้รับ ผมติดตามมามากแล้วเรื่องของการพูดคุย เรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทย ผมพยายามจะอธิบายแต่บางครั้ง ผมว่าการรับรู้ยังไม่ได้ ผมยังเห็นในหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็จะมีพวกนายกฯ สมาคมผู้ประกอบการต่าง ๆ จะไปบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้ อะไรต่าง ๆ แล้วก็พูดมาว่ารัฐบาลยังไม่เห็นทำอะไรเลย ผมก็เสียใจ แล้วก็เมื่อวานนี้ เนื่องจากผมไปบรูไน ผมก็เลยให้ท่าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นคณะขับเคลื่อนของผมแล้ว ไปพบปะเขาดูซิ ปรากฏว่าท่านก็ถามว่าต้องการอะไร อยากให้รัฐบาลทำอะไร ที่เขาพูด เขาพูดในสิ่งที่เราทำไปแล้ว แสดงว่าการรับรู้ไม่ได้เลย ไม่ได้ ผมว่ายังมีปัญหาอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมาย ไม่ว่าจะเรื่องข้อบังคับเราปลดล็อคไปตั้งมากมายแล้ว ตั้งแต่ รง. 4  (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) ตั้งแต่ระเบียบ BOI ใหม่ ตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ แล้วก็เกี่ยวกับเรื่องลดขั้นตอน และก็มีศูนย์ติดต่อ One Stop Service ในแต่ละธุรกิจ ก็ขอให้กระทรวงไปช่วยกันหน่อย เพราะผมพูดหลายครั้งแล้ว ท่านก็บอกว่าท่านส่งต่อ ท่านก็ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว แต่ยังไม่ถึง ผมไม่รู้ว่าติดอยู่ตรงไหน ข้อสำคัญก็คือผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องติดตาม ว่ารัฐบาลเขาทำอะไรไปแล้ว แล้วท่านก็ไปที่กระทรวงก็ได้ อะไรก็ได้ ไปถามเขาก็ได้ ผมก็พูด รัฐมนตรีก็ออกมาพูด หน่วยงานเขาออกมาพูด แต่ท่านไม่ได้ฟัง แล้วท่านก็กลับไปตำหนิติเตียนพวกเราอยู่ในหนังสือพิมพ์
 
วันนี้ทำทุกอย่าง ที่ผ่านมา ทำน้อย เพราะอย่างนั้นขอให้เข้าใจกันบ้าง อย่ามาบ่นอีก เมื่อท่านบ่นแล้วก็ทำให้ความมั่นใจการค้าลงทุนในประเทศก็ตกลงไป เพราะไม่มั่นใจในสถานภาพ ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลบอกแล้วว่ามีปัญหาตรงโน้นตรงนี้ ก็จะแก้ให้ ท่านก็ไม่เข้าใจ พอท่านพูดก็ไม่มีใครกล้าลงทุน คนไม่มีความเชื่อมั่น ซึ่งผมต้องการแก้ตรงจุดนี้อยู่แล้ว ทำไปแล้ว แต่ท่านบอกว่าไม่ได้ทำ อย่างนี้ไม่ได้ เสียหายแล้วทำให้ทั้งประเทศปั่นป่วนไปหมด สื่อก็ไปขยายความกันไปใหญ่โต แล้วท่านจะให้ใครเขามาเชื่อมั่น พวกเรากันเองยังไม่รู้เลย ยังไม่เชื่อมั่นเลย ผมก็พูดจนไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว พูดทุกอย่างอยู่แล้ว ฟังหน่อย กรุณาฟังหน่อย อย่าติอย่างเดียว ถ้าท่านพูดดี เพราะเราทำ ผมไม่ได้ให้ท่านไปโกหก ถ้าเราทำแล้วท่านพูดให้ผมหน่อย ว่ารัฐบาลดี เขาทำตรงนี้ ตรงนี้เขายังไม่ดี ผมก็ได้ข้อเสนอแนะ ให้รัฐบาลเขารับไป พูดอย่างนี้เขาเรียกว่าติเพื่อก่อ เข้าใจหรือเปล่า แต่ถ้าติทุกเรื่องไป อย่างนี้ไม่ใช่ สร้างศัตรู
 
เรื่อง “ชุมชนเข้มแข็ง” รัฐบาลให้ความสำคัญมาก หมายความว่าชุมชนที่มีขีดความสามารถในการใช้ศักยภาพของตนเอง เข้าแก้ไขจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ ฉะนั้นต้องเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่มีความสามารถ มีการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีพื้นฐานของจริยธรรม วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา และเศรษฐกิจในพื้นที่ จะทำให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ โดยส่วนหนึ่งอาจได้รับความร่วมมือการสนับสนุนจากรัฐบาล ราชการ อีกส่วนคือองค์กรภายนอก พ่อค้า นักธุรกิจต่าง ๆ อาจจะต้องมาช่วยกันเสียสละ ว่าเราจะดูแลคนยากคนจนเหล่านี้อย่างไร รัฐบาลไปไม่ถึงทั้งหมดเพราะเงินก็มีเท่านี้ จำกัด ต้องใช้มากมาย ปัญหาก็มาก เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนช่วยกันเสียสละรับผิดชอบตรงนี้ตรงนั้น ชุมชนนี้ ชุมชนนั้น ผมว่านี่คือสังคมไทยในอดีต น่าจะทำได้แต่วันนี้ อย่าไปหวังกำไรเต็มที่ เหมือนเดิมต้องกำไรเท่าเดิม ทุกคนบอกว่าเศรษฐกิจตกเพราะ จริง ๆ แล้วผมถามว่าท่านขาดทุนหรือไม่ ท่านก็ไม่ขาดทุน ขาดทุนก็เล็กน้อย ก็เพียงแต่ลดกำไรลงไปหน่อยได้ไหม ผมพูดหลายครั้งแล้ว ถ้าไม่อย่างนี้คนก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย แถมพูดให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นอีก อันนี้เป็นสิ่งที่ผม บางครั้งผมก็อาจจะใช้คำพูดที่แรงไปบ้างขอโทษนะครับ แต่ก็เสียใจ เสียใจที่ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นในทุกจังหวัดจะต้องพึ่งพาอาศัยกันได้แล้วก็เป็นชุมชนเข้มแข็งในจังหวัดตัวเอง แล้วก็เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่เรามีงบประมาณลงไปอีกในเรื่องของกลุ่มจังหวัด เงินงบประมาณรัฐไปหลายทาง ทำไมไม่เจริญสักที ผมก็ไม่เข้าใจ
 
ในปัจจุบันก็มีหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ร้านค้า เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะจัดตั้งนี้จะมากขึ้น ในไม่ช้าความเจริญก็จะเข้ามาแผ่ขยายในพื้นที่รอบ ๆ เหล่านั้น ก็จะเป็นการสร้างอาชีพให้ได้แต่ต้องใช้เวลา แรงงานก็ใช้จากนอกพื้นที่บ้าง ในพื้นที่บ้าง เพราะนั้น ทำอย่างไรท่านต้องเตรียมความเข้มแข็งของชุมชนเหล่านี้ให้พร้อมรับการเจริญเติบโต พร้อมรับกับการขยายทั้งคน ทั้งโรงงาน แน่นอนถ้าท่านไม่ขยายเหล่านี้ การค้า การลงทุนในพื้นที่ของท่านก็น้อยเศรษฐกิจก็ไม่เคลื่อนไหว ถ้าเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างเดียวก็ได้ ท่านก็ต้องจัดสัดส่วนว่า อะไรอยู่ตรงไหน ควรจะมีอย่างไร เท่าไร จะได้เสริมกัน
 
วันนี้การท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญค้าขายอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละจังหวัดถ้ามีสถานที่ท่องเที่ยวด้วย มีการค้าเป็นแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาคที่ตัวเองสามารถทำได้ดีที่สุด เหมือนกับทำ OTOP เหล่านี้ก็จะเป็นชื่อเสียงของจังหวัด จะได้ไม่แก่งแย่งกันแล้วไปหาตลาด รัฐบาลพอจะจัดกลุ่มให้ได้ อย่างเช่น บางอย่างผมบอกลองไปดูจะขายในเครื่องบินได้ไหม ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ ไม่หาตลาดสนับสนุนกัน ผลิตอย่างเดียวจะไปขายให้ใคร แล้วก็บอกว่ารัฐบาลไม่ทำ รัฐบาลนี้จะทำให้  OTOP  สามารถที่จะเข้าสู่การผลิตให้ได้ ท่านก็ต้องไปสร้างความเข้มแข็ง อยากให้ทุกคนอยู่กันท่ามกลางความแตกต่างในอนาคตให้ได้ เพราะอาจจะมีคนนอกพื้นที่ไปอยู่ในพื้นที่ของท่าน เพื่อไปทำงาน เพื่อไปทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง อย่าไปดูถูกซึ่งกันและกัน มีสภาพต่างกันไปรวยบ้าง รายได้มาก รายได้น้อย ทำอย่างไรจากหลาย ๆ สาขาอาชีพ จากหลากหลายพื้นที่จะมาอยู่รวมกัน เป็นชุมชนเข้มแข็ง สามัคคีกันร่วมมือกันให้ได้เพื่อจะร่วมกันพัฒนา ร่วมกันแก้ปัญหาท้องถิ่นของตนเองแล้วก็ ในเรื่องเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่สร้างความเข้มแข้งตรงนี้ไว้ก่อน ขณะกำลังเกิดภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติจะมีปัญหามากต่างคนก็ต่างอยู่ไม่ร่วมมือกัน บ้านติดกันไม่คุยกัน ที่ผ่านมาก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาอีก ทำให้มีปัญหาหมดแล้วเวลามีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะพบว่ามีคนจากภายนอกเข้ามาอยู่ใหม่ เช่น ในหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่ ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรท่านเพียงแต่ว่า เท่าที่รับรายงานมามักไม่ค่อยมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เพราะท่านมาจากข้างนอก การกระจายอำนาจ การมอบหมายความรับผิดชอบไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ เพราะต่างคนต่างอยู่ สังคมชนบทอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งไม่ยากก็เป็นความร่วมมือกัน ระหว่างผู้คนในชุมชนเองอย่างแท้จริง
 
เรื่องปรองดอง ทุกคนต้องมีจิตใจอยากปรองดอง ไม่ใช่ถูกบังคับให้ปรองดอง ให้มีกฎหมายให้ปรองดอง ต้องใช้กฎหมายทุกเรื่องเลยหรือไง ท่านต้องมีจิตใจเอง เพราะบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ปรองดองกัน ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร บังคับท่านไม่ได้อย่ามาพูดเรื่องนี้อีกแล้วต้องต่อเนื่องด้วยการทำของท่าน เขาเรียกว่าการกระจายอำนาจ การกระจายความรับผิดชอบ กระจายหน้าที่แล้วสิทธิ์ก็จะตามมา เพราะว่าเข้มแข็งแล้วไง หัวใจสำคัญของการมีชุมชนที่เข้มแข็งคงต้องใช้ปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” บางคนบอกว่ารัฐบาลนี้บอกว่าใช้ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่เห็นใช้อะไรเลยเศรษฐกิจ ท่านไปดูความหมายเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ท่านอาจจะมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้คือทำให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ท่านไปดูความหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงรับสั่งไว้ว่าคืออะไร ผมเห็นเมื่อสองสามวันในบางสื่อ ในบางคอลัมนิสต์เขียนออกมา ที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะ ไม่นำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้
 
ผมบอกแล้วว่ารัฐบาลนี้ นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักการในการทำงาน ผมเคยพูดตั้งแต่ต้นไปดูคำพูดเก่า ๆ ได้ว่า มีอยู่ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ย่อ ๆ มีความรู้ มีคุณธรรมถึงจะเข้มแข็ง เมื่อเข้มแข็งแล้วทำอย่างที่ผมว่าเมื่อสักครู่เศรษฐกิจก็จะดีขึ้น ไม่ใช่ทุกคนจะต้องเป็นเถ้าแก่หมดทุกคน เป็นไปไม่ได้ อันไหนดีก็ไปก่อน อันไหนไม่ดี มีภูมิคุ้มกันไง หาความรู้ ดูเขา เมื่อพร้อมเราก็ก้าวอีกอยากเป็นเถ้าแก่ อันดับ 2 อะไรทำนองนี้ หาเงิน หาทอง ดูตัวอย่างเขา นี่คือหลักการใช้เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ให้ประหยัด ไม่ใช่ให้อดออม เข้าใจสักทีไม่อย่างนั้นทุกคนบอกว่ารัฐบาลใช้เศรษฐกิจพอเพียง พวกบอกว่าสอนให้ทุกคนอดออม คนละเรื่อง อันนั้นเป็นเรื่องการออม อันนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ได้ทุกอย่างการดำรงชีวิตก็ได้ การจับจ่ายใช้สอยก็ได้ การผลิตก็ได้ ต้องเข้มแข็งก่อนถึงจะลงทุนให้มากขึ้น ถ้ายังไม่เข้มแข็งก็ทำให้ดีขึ้น แก้ปัญหาให้ได้ พอกินแล้วก็แลกเปลี่ยนกัน จากนั้นก็ไปขายจากขายก็ไปตั้งโรงงาน มีปัญหาทางเศรษฐกิจเงินทอง อย่างเช่นตอนนี้ บางอันก็ไปไม่ไหวก็ต้องหยุดรอไว้ก่อน เป็นไปไม่ได้ถ้าโลกตกต่ำแล้ว เพราะฉะนั้นจะเกิดขึ้นด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ หรือลงทุนโดยพ่อค้ารายใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนเขาพร้อมที่จะลงทุน แต่ท่านก็พูดจนเข้าใจกันผิดไปหมด เรื่องธุรกิจรถยนต์ก็กระเตื้องขึ้น ผมจะไม่พูดเรื่องเก่า
 
คำว่าต้องมีการพัฒนา ผมไม่หมายความว่าจะให้เกิดวันนี้ ผมพูดให้คนคิดตามผมว่า อนาคตวันหน้าอาจจะ 20 ปี 30 ปี ก็ได้อีกหน่อยอาจจะใช้พลังไฮโดรเจนหรือใช้แสงแดดกับรถหรือไฟฟ้าทั้งหมด โน้นเราต้องเตรียมไปสู่ตรงโน้น วันนี้เรามีอีโคคาร์ก็ทำไปกี่โครงการผมไม่ว่า จะทำกี่ปีก็ทำไป แต่ต้องเตรียมการไว้ก่อน เขาเรียกว่านั้นคือภูมิคุ้มกัน ใช่ไหม ผมพูดนี่คือภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่วันนี้ มีบางคนบอกว่าผมพูดทำให้การค้ารถยนต์ตกต่ำ ต่างประเทศไม่เชื่อมั่น วันนี้ผมเชิญเขามาเลยมาสร้างอีโคคาร์ สอง สาม  สี่ ห้า ก็ทำไป แต่ท่านก็ต้องมีส่วนหนึ่งที่คิดค้นคว้า วิจัยไปแล้วใครจะมาทำ วันหน้าโลกเขาเปลี่ยนท่านยังไม่มีเลย ไม่มีความรู้เลย ขุดเจาะน้ำมันก็เหมือนกันที่จะเจาะเอง ทำอง สำรวจเองก็ยังไม่พร้อมสักอย่าง แต่ไม่ได้ ไม่เข้าใจ ดูหนังเหมือนดูไม่จบเรื่อง ดูไม่จบเรื่องแล้วก็วิจารณ์หนัง ไม่ถูก ไม่รู้จะลงทุนไปทำไม ผู้ทำหนังก็เสียใจ เพราะฉะนั้น ก็อยากจะนำมาเล่าให้พี่น้องประชาชนฟัง
 
เรื่องสหกรณ์การเกษตรพิมาย เป็นตัวอย่างจังหวัดนครราชสีมา ที่ผมไปเยือนมาแล้ว สหกรณ์ตั้งมากว่า 40 ปีแล้ว เริ่มจากสมาชิกกว่า 2,000 คน วันนี้มีสมาชิกกว่า 11,000 คน 80% ของเกษตรกรในพื้นที่ มีหลายกิจกรรม คือ ผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมด มีเงินทุนมากถึง 350 ล้านบาท มีสินทรัพย์กว่า 1,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
 
อีกตัวอย่างที่ผมพบก็คือ การให้จัดกิจกรรมในทำนองที่ว่า “เมืองนี้ฉันรัก (We Love Cities)” ของกองทุนสัตว์ป่าโลก เป็นกิจกรรมที่ได้เชิญชวนให้เมืองต่าง ๆ รอบโลกเข้าร่วมในการสร้างความยั่งยืน ช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยคณะกรรมการจะพิจารณามาตรการต่าง ๆ รวมถึงพันธสัญญาของเมืองจากรายงานที่แต่ละเมืองจัดทำขึ้นเพื่อคัดเลือกเมืองต้นแบบของแต่ละประเทศสำหรับรางวัล “National Earth Hour Capital” ซึ่งจะมีการมอบรางวัลในวันที่ 9 เมษายนนี้ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แล้วที่ประทับใจอันนี้เป็นการคัดเลือกโดยต่างประเทศ ประเทศไทยของเรามีเมืองที่ได้รับเลือกเข้าร่วมกิจกรรมนี้ถึง 3 เมืองด้วยกัน น่าภูมิใจไหมล่ะครับ  เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และเทศบาลตำบลมาบอำมฤต จังหวัดชุมพร เป็น 3 ใน 44 เมือง จาก 16 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายจากทั้งหมด 163 ประเทศ เข้าไปได้แค่นี้ผมก็ดีใจแล้ว จากอีกกี่เมืองนี้ 3 จังหวัดเอง มีตั้ง 77 จังหวัด ทำอย่างไร 76 บวกกับกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไร ไปดูซิ แต่ละเมืองจะมีวิธีการจัดการเมืองอย่างยั่งยืนแตกต่างกันไป ผ่านการริเริ่มการมีส่วนร่วมของเทศบาล ชุมชน โรงเรียน ภาคเอกชน เรามีทั้งหมดบ้าน วัด โรงเรียน ใช่ไหม  อาทิ ในเรื่องของการใช้พลังงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากมูลสัตว์ ขยะ การฟื้นฟูป่าชายเลน ป่าไม้ การผลิตพลังงานชีวภาพจากน้ำมันที่เหลือใช้ ระบบการจัดการขยะ แยกขยะ ธนาคารขยะ แล้วก็การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ น่าสนใจนะครับ
 
เพราะฉะนั้น ผมก็อยากให้ผู้นำชุมชนที่สนใจที่ท่านอยากจะกระจายอำนาจไปดูก่อน ว่าท่านทำได้อย่างนี้หรือเปล่า ถ้าทำได้ผมว่าไม่มีปัญหาจะทำอย่างไรก็ได้ วันหน้า วันนี้ยังไม่พร้อม กระจายความรับผิดชอบไปก่อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น เพราะเราต้องใช้เงินจำนวนมาก ขอให้ไปดู ศึกษารายละเอียดข้อมูล ถ้าใครยังไม่ได้ทำอย่างที่ว่าก็แสดงว่ายังไม่มีการพัฒนาแล้วเราก็จะถูกบริหารจัดการโดยการเมืองทั้งสิ้น วันนี้มี 2 เรื่อง ที่คนสนใจ วันนี้เศรษฐกิจไม่ดี สองเลือกตั้ง ผมไม่เห็นจะทำให้ดีขึ้นเท่าไหร่เลย เรื่องเลือกตั้งก็แล้วแต่ท่านแล้วกัน ผมก็บอกไปหลายที ถ้าเลือกมาแล้วดีกว่าเดิมก็เอา ก็ทำเถอะ ถ้าไม่ดีกว่าเดิมใครจะมาช่วยท่าน ไม่มีแล้ว ไปว่ามา
 
เพราะฉะนั้น ช่วยกันโหวตให้เมืองเหล่านี้ด้วย คือยังไม่ได้ตัดสิน ใช่ไหม ตอนนี้เป็นการเสนอเข้ามาคัดรอบแรก รอบสุดท้ายคัดเลือกมีเราเข้ามา 3 จังหวัด ขอให้ทุกคนช่วยไปโหวตลงคะแนน ตามเว็บไซต์ด้านล่าง นี้นะครับ www.welovecities.org อันนี้อ่านแล้วก็ทำตามนั้น
 
ที่น่าสนใจ ที่ได้ทราบกับสื่อสร้างสรรค์ ก็คือ การส่งเสริมสถาบันการเงินชุมชน อันนี้คือตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ จังหวัดจันทบุรี และ สถาบันการเงินชุมชนสุขสำราญ ของ อบต. รับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ก็สามารถช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ห่างไกล ให้มีเงินทุนหมุนเวียนอย่างเพียงพอในการประกอบอาชีพ ไม่ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้จักอดออม จะเล็กจะน้อยจะกี่บาทไม่รู้ ทำบัญชีครัวเรือนให้ได้ เป็นหนี้อยู่ก็ไม่เป็นไรจะได้รู้ว่าที่เป็นหนี้อยู่ใช้อะไรที่เกินความจำเป็นไหม มีเหตุมีผลไหม พอประมาณไหมแล้วเราก็หยุดใช้ตรงนั้นไปหน่อยหนึ่ง อย่างน้อยหนี้ก็ลดลง ไม่ไปสร้างหนี้ใหม่ เพราะหนี้ที่ผ่านมานั้นอาจจะเป็นหนี้ เพราะความจำเป็นบ้าง ไม่จำเป็นบ้าง ธรรมดามนุษย์ก็อยากจะซื้อความสะดวกสบายบ้าง แต่ถ้าเราทำแล้วมีปัญหา เราก็ต้องลดลงการใช้จ่ายเหล่านั้น
 
อย่างวันนี้ทุกคนก็เป็นกังวลเป็นคำว่าหนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงขึ้นคงไม่ใช่เลวร้ายทั้งหมด เพราะการที่จะไปกู้หนี้ ยืมสินจากใครเขาได้แสดงว่า ตัวเขาต้องสามารถใช้หนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารอะไรต่าง ๆ ก็ต้องมีหลักมีฐานไปกู้เขา เว้นแต่ไปกู้เงินนอกระบบ อันนั้นเราออกกฎหมายไปช่วยท่านแล้ว พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทวงถามหนี้ แล้วก็เจ้าหน้าที่ทุกคนก็พร้อมที่จะดูแลให้มาบอก แต่ในเรื่องของหนี้ครัวเรือน ผมเห็นบางประเทศมีหนี้ครัวเรือน 200 กว่าเปอร์เซ็นต์ ของเราเท่าไหร่ 89 – 90 พูดไปจนร้ายแรงไปหมด เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ต้องมีหนี้ ผมคิดว่าท่านไม่ได้เกิดมาเป็นลูกท่านหลานเธอ ใช่ไหม ไม่มีมรดกก็ต้องเป็นหนี้ละมั่ง การที่จะมีอะไรสักอย่าง เพราะซื้อไม่ได้ต้องผ่อน ผมไม่อยากให้สังคมมองเรื่องนี้อย่างเดียว พอมองเรื่องเงินทุกคนก็อยากจะได้เงิน ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็อยากได้เงิน ทุกคนนับถือหน้าตาด้วยเงินทองฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่ ความเป็นคนดี มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีธรรมาภิบาลนั้นเป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพนับถือ คนเหล่านี้เขาอาจจะไม่ได้อะไรมากนักแต่การที่เขาทำตนเป็นคนดีเขาได้กุศล ทางศาสนาก็ตอบแทนด้วยความสุขในอนาคต คนร่ำรวยแล้วไม่ทำก็สิ่งตอบแทนบางทีทำผิดมาก ๆ ก็มีคดีความติดคุกอะไรก็ว่าไป นั้นละเขาเรียกว่าตอบแทนไง
 
เพราะฉะนั้นขอให้ช่วยกันจัดสวัสดิการตอบแทนให้กับชุมชน แล้วนำดอกเบี้ยนั้นมาเป็นสวัสดิการให้ชาวบ้านทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาล การให้ทุนการศึกษาบุตรหลานในชุมชน  สร้างความเข้มแข็ง ท่านทำเองได้ทั้งหมดแต่ท่านไม่ค่อยทำกัน รอ อบต. จะทำไหม อบจ. จะทำหรือเปล่า จังหวัดจะทำไหม รัฐบาลจะนำเงินมาช่วยเมื่อไหร่ ท่านก็มีเงินกัน เพราะฉะนั้นท่านก็เก็บเล็กน้อยคนละ 5 บาท 10 บาท สมัยก่อนเขาเรียกอะไร ธนาคารใช่ไหม ธนาคารชุมชนก็เหมือนกับธนาคารอาหาร ที่ธนาคารข้าวก็แบบเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านก็ทรงมีพระราชดำริเหล่านี้ อดออมกันตั้งสมาชิกขึ้นมา 5 บาท 10 บาทลงไปก่อนวันหน้าก็เป็น 10 บาท วันต่อไปก็ 100 บาทก็มากขึ้น ๆ ดูแลคนได้มากขึ้น ไม่เริ่มต้นจะไปได้อะไร รอนี่ รอโน่น พอไม่ได้ก็โทษโน่นนี่ ผมว่าไม่น่าคิดแบบนี้ ไม่ได้ ต่างประเทศที่เขาเจริญเขาเลิกคิดไปแล้ว เขาไม่มารอหวังประเทศชาติอย่างเดียว ให้ประเทศชาติไปพัฒนาใหญ่ ๆ เล็ก ๆ ก็ต้องช่วยตัวเองบ้าง เงินทองก็รัฐสนับสนุนบ้าง สร้างอำนวยความสะดวกหาโอกาสให้อะไรให้ ต่างประเทศเขาไปโน่นแล้ว เรายังมานั่งต้องช่วยเหลือค่าการเกษตร ค่าอะไรต่าง ๆ แล้วผมถามว่าที่ผ่านมาการบริหารบ้านเมืองทำอะไรกันมา ผมว่าวันนี้คิดใหม่ ให้ประชาชนก็ต้องร่วมมือกับผม ไม่ใช่ วันนี้จะวันนี้จะต้องได้วันนี้ พรุ่งนี้ ไม่ได้หรอกครับ เพราะไม่เข้มแข็ง ไม่ได้เตรียมพื้นฐานไว้เลยก็ทำเป็นชิ้น ๆ มาแบบนี้ก็เป็นอยู่มาแบบนี้ เข้าใจสักที
 
นอกจากในเรื่องนี้แล้วก็อยากให้มีการจัดทีมงานลงพื้นที่ด้วยแล้วไปตรวจสอบดูว่าอะไรที่เขาควรจะต้องปรับปรุง อะไรที่ควรสนับสนุนก็ทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน สหกรณ์ จังหวัด มีทุกหน่วยงาน แต่ท่านทำงานให้ได้ผลมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่อยู่ต่างจังหวัดแล้วก็ทำไปแกน ๆ ไม่ได้ วันนี้ต้องช่วย รัฐบาลทำแทบตายแล้วท่านไม่ทำ ท่านไม่ได้ช่วยทุ่มเท ไม่ได้ ให้รัฐมนตรีก็ไม่ได้ ท่านอยู่กับประชาชน เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนเรียกร้องขึ้นมาว่า ข้าราชการจังหวัดนี้ จังหวัดโน้นมีทุจริตผมจะต้องจัดการ อย่าหาว่าผมไปขู่ท่านเลย แต่ไม่ไหวถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ แล้วไม่เกิดอะไรขึ้นมาเลย ที่อื่นทำไมเขาทำได้ ทำไมที่นี่ไม่ทำ ไม่มีผลงาน ไม่มีอะไรปรากฏก็ คนดี ๆ อย่าเสียใจ เสียกำลังใจไม่ได้
 
การผลิตปุ๋ยต้องทำอย่างไร ปุ๋ยอินทรีย์ขายกันเองภายในกลุ่ม ตั้งธนาคารปุ๋ย ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืช ทำจุลินทรีย์ ทำของใช้ที่จำเป็นแจกจ่ายชุมชนลดค่าใช้จ่าย ช่วงนี้เงินไม่ดีอย่าเพิ่งซื้อของข้างนอกเลยแพง เรานำมาทำอะไรที่จำเป็นต้องใช้ตะกร้า กระเป๋าก็ทำไปก่อน พอวันหน้าดีขึ้นเศรษฐกิจดีขึ้นค่อยไปซื้อแพง ๆ นี้เขาเรียกว่ามีภูมิคุ้มกันต้องเข้าใจ วันนี้ถ้าหากว่าเป็นไปได้ผมเห็นหลายพื้นที่มีการลงทุนกันแล้วก็ซื้อที่เก็บไว้แล้วก็ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีที่ทำกินลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะไปแจกทุกคนคงไม่ได้ลักษณะเป็นนารวมเป็นพื้นที่รวมทางการเกษตรแล้วแบ่งปันกันรายได้ภายในชุมชนแล้วก็สร้างสถาบันการเงินให้เข้มแข็ง เด็ก ๆ คนในพื้นที่เรียนจบ มีความรู้ความสามารถก็อยากที่จะกลับมาทำงานในชุมชนที่มีอนาคต เพราะฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองช่วยกันเหมือนกับการทำงานในเมือง ต้องมีรายได้แล้วก็อดออม รู้จักมีภูมิคุ้มกัน เมื่อไหร่จะเดินหน้า เมื่อไหร่จะหยุดรอไว้ก่อนอะไรทำนองนี้ สำหรับผู้ริเริ่มโครงการเหล่านี้ ผมขอชื่นชมทุกคน ผมอาจจะกล่าวได้ไม่หมด หลายจังหวัดหลายพื้นที่ หลายอำเภอ หลายตำบล หลายหมู่บ้านมีอีกมาก เขาไม่บ่นอะไร เพียงแต่ว่าเขาสร้างความเข้มแข็งแล้วผมสะท้อน  เพียงแต่ว่า เขาสร้างความเข้มแข็ง ผมเห็นในทีวีแล้วผมสะท้อนใจ คนเหล่านี้ทำไมเขาไม่บ่นอะไรเลย เราต้องช่วยกันอย่างนี้ มาในฐานะอะไรอย่างนี้ เขาไม่มาด่าว่า บ่นรัฐบาลเลย เพราะอะไร เขาก็เป็นเกษตรกรเหมือนกัน เขาบอกว่าวันนี้เป็นอย่างนี้ เราก็ต้องช่วยกัน เราเป็นคนไทย ผมฟังเขาพูด ผมน้ำตาตกเหมือนกัน กลับอีกพวกหนึ่งบ่นทั้งวัน เศรษฐกิจไม่ดี รัฐบาลเข้ามาทำให้เกิดปัญหา ไปดูสิว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ผมกำลังทำให้ เพราะฉะนั้นช่วยกัน ขยายให้ทุกชุมชนเขาด้วย
 
เรื่องแรงงานประมงวันนี้อาจจะมีหลายท่านไม่เข้าใจ ว่ามีปัญหามายาวนานพอสมควรเป็น 10 ๆ ปี  เรื่องการค้ามนุษย์มีปัญหา ผมได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกกับผม ช่วยดำเนินการในการขับเคลื่อนทางนี้ ในภาคประมงแล้ว อยากจะเรียนว่า รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องส่งคณะทำงานไปที่เกาะ Benjina (เบน-จิ-น่า) แล้วก็หารือกับฝ่ายอินโดนีเซีย เพื่อจะร่วมกันและเร่งหาข้อมูลผู้ประกอบการ และการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด คนไทยที่ไปถูกจับที่โน่น ที่ข่าวออกมาเป็นจำนวนมากหลายร้อยคน เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็ทยอยทำมาเรื่อย แต่เราไม่อยากประชาสัมพันธ์มาก เพราะคนเหล่านี้ไปทำความผิดในประเทศเขา ใช่ไหม และทุกคนก็เป็นเหยื่อ ต้องถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้ามาดู องค์กรระหว่างประเทศมาดู และประเทศต้องรับผิดชอบ ท่านก็ต้องมาบอกเรา ว่าที่ไหนอย่างไร แนะนำตรงไหนเพิ่มเติม เราจะได้ไปหาทางช่วยกันให้ได้ เพราะว่าวันนี้ผมทราบว่า บางทีไปทำงานแล้วถูกจับไปแล้ว  เจ้าของผู้ประกอบกิจการไม่สนใจ เขาจับ จับไป เรือมีตั้งหลายลำ ไปเสียค่าไถ่ก็ไม่ยอมเสีย ช่วยลูกเรือก็ไม่ช่วย แล้วโยนให้รัฐบาลดู ครั้งที่ผ่านมา 5 ปี ถูกจับไปที่โซมาเลีย แล้วพึ่งกลับมา เหมือนกับตายไปแล้วเกิดใหม่
 
เพราะฉะนั้นถ้าเรายังมีการเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์อยู่แบบนี้ ผมกำหนดไปแล้วว่า ไม่สมควรให้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการใด ๆ อีกต่อไปในประเทศไทย และต้องได้รับโทษทางกฎหมาย คือต้องเข้มงวดกัน ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกติดตามประเมินผลด้วย ไม่ว่าจะประมง กรมเจ้าท่า อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ครบจดทะเบียน ติดเครื่องมือ และแก้ปัญหาในเรื่องของการทำประมงร่วม Joint Venture กับประเทศโน้นประเทศนี้ ผมก็เดินหน้าเรื่องนี้มาโดยตลอด วันนี้ก็เตรียมตัวทำ Joint Venture กับอินโดนีเซีย มีปลามาก แต่เราชอบเข้าไปตรงที่เขาไม่ให้เข้า แล้วมาบอกว่าก็ขอให้ยกเว้นหน่อยแล้วกัน เพราะว่าเป็นอาชีพเขารายได้น้อย แล้วกฎหมายอยู่ตรงไหน ประเทศเขาก็มีกฎหมาย ถ้าผมอนุโลมท่าน ไม่จับกุม ไม่ดำเนินคดี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วท้ายที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น ท่านรู้ไหม เรื่องสินค้าประมง เขาจะมีมาตรการไม่ให้เราขาย วันนั้นผมบอกว่า 2 แสนกว่าล้านบาท ไม่ใช่ 2 แสนกว่าล้านตัน ท่านไม่จับให้ตรง ผมพูดเสียงดัง ถ้า IUU (Illegal Unreported and Unregulated fishing หรือ IUU Fishing) ที่เราผิดอยู่นี่ทั้งหมด ค้ามนุษย์ด้วย อะไรด้วย ทางยุโรป ทางอเมริกาเขาบอกว่าเราค้ามนุษย์อยู่ แล้วทำนี่ก็ผิดกฎหมาย ละเมิดน่านน้ำ เขาบอกว่าต่อไปนี้ไม่รับซื้อสินค้าจากไทย เริ่มจากสินค้าประมงก่อน ต่อไปก็เป็นเรื่องที่ผิด ๆ ก็ลากพาไปสู่เรื่องผลไม้ ข้าว ยาง ไปหมด คนเหล่านี้ที่ทำความผิดตรงนี้ ต้องสำนึกตนเอง ทำมานานแล้ว หลายปีแล้ว ทุกรัฐบาลไม่เคยทำได้ รัฐบาลนี้จะทำกับท่าน อย่าหาว่าผมใจร้าย เอาเปรียบคนอื่นเขาได้อย่างไร ผู้ประกอบการบางคนรวยไม่รู้จะรวยอย่างไร มีเรือเป็นสิบ ๆ ลำ ทำตามกฎหมายบ้าง
 
เราจะจริงจังกับนโยบาย zero tolerance ในทุกคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และก็ทำเต็มที่เพื่อให้ปัญหาค้ามนุษย์หมดไปจากแผ่นดินไทย ต้องไปพูดคุย ไปเจราจาว่าเรากำลังดำเนินการอยู่เป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ เราไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาที่ยาวนานมาเป็น 10 กว่าปี มาในช่วงเวลาเพียง 7 – 8 เดือนนี้ได้ แล้วที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่แก้ หลายปีมาแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้อย่าบอกว่าไม่รู้เรื่องอีก เรื่องค้ามนุษย์ ก็ชอบไปบ่นว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลยต่าง ๆ ทุกเรื่องมีปัญหาไปหมด ลืมไปทั้งหมดแล้ว ก่อน 22 พฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร วันนี้จะเดินหน้าไปสู่ความขัดแย้งใหม่อีกแล้ว เรากำหนดให้มีการปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ วาระแห่งชาติคืออะไร ทุกหน่วยงานทุกคน ประชาชนต้องร่วมมือร่วมใจกัน เหมือนกับเรื่องยาเสพติด อะไรทำนองนี้ ใช้กฎหมายบังคับใช้ให้ได้ ต้องเตรียมการต้องมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน และร่วมมือกันกับรัฐบาลเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซีย เมื่อวานผมก็ได้พูดกับสมเด็จพระราชาธิบดีบูรไนด้วยว่า เราจะต้องทำประมงร่วมกัน ฟิลิปปินส์ ใช่ไหม ที่อยู่น่านน้ำแถวนี้ รอบ ๆ บ้านเรา กัมพูชา จะทำกันอย่างไร  Joint Venture กันอย่างไร กองเรือเราก็มีมากมาย ต้องรู้จักแบ่งปันบ้าง วันนี้เราเป็นพันธมิตรกัน แข่งขันไม่ได้ เดี๋ยวก็ไปโดนจับ ทะเลาะเบาะแว้งกัน ยิงกันไปยิงกันมาอีก นี่เราก็จับเขาเหมือนกัน แต่เขาจับเรามากกว่า
 
เรื่องนี้ผมทราบว่าสื่อมวลชนไทย ต่างประเทศได้ช่วยกันรายงานหน้าที่เต็มที่ ขอบคุณ หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของสื่อ คือการเฝ้าระวัง ผมไม่ใช่ศัตรูกับสื่อ ทุกสื่อ ทุกคน หน้าที่ของสื่อต้องมีหน้าที่เหมือนกับเฝ้าบ้าน ต้องคอยแจ้งเตือนเจ้าของบ้าน เหมือนเครื่องมือสักอย่าง เหมือนกล้อง cctv หรือในตาวิเศษอะไรสักอย่าง เพราะเวลามีเหตุร้ายมีโจร ขโมยขึ้นบ้าน หรือจะเห็นการทุจริตผิดกฎหมาย สื่อทำหน้าที่คอยเตือนประชาชน เมื่อไหร่ก็ตามที่มีนักการเมือง ข้าราชการโกงทุจริตต้องเตือนตอนนั้น หรือมีนักบริหารออกนโยบายที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศ แต่ไม่ใช่สื่อมาทำให้เกิดความระแวงกันเอง เพราะท่านมีหน้าที่ในการดูแลบ้านหลังนี้ เจ้าของบ้านเขาให้ท่านดู ติดตั้งท่าน อะไรท่าน เหมือนกับสื่อคอยดูแทน แล้วปรากฏว่าท่านไม่ดู ท่านกลับมาเล่นงานเจ้าของบ้าน กลับมาเล่นงานคนในบ้าน แล้วโจรก็เข้ามาได้ นั้นคือเรื่องธรรมดา ผมไม่อยากยกตัวอย่างเป็นอย่างอื่น แม้กระทั้งให้คนในบ้านแตกความสามัคคี สร้างความเดือดร้อนเสียหาย บางครั้งอาจจะมีความผิดพลาดบ้างในการติดต่อสื่อสาร แต่ให้รู้ความตั้งใจของรัฐบาลของทุกกระทรวงมานี้ อาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ตรง ไม่เข้าใจกันบ้าง หนักนิดเบาหน่อยก็ให้อภัยกัน วันนี้เราอยู่ทีมเดียวกัน ท่านบอกว่าท่านมีหน้าที่ ท่านบอกว่าท่านมีสิทธิและหน้าที่ของสื่อ จะต้องนี่ต้องโน่นผมไม่ได้ขัดแย้งท่าน ท่านนายกสมาคมสื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย (ส.น.ว.ท.) บอกว่า ขอร้องให้ผมเข้าใจสื่อ เป็นการทำงานของสื่อ เพื่อติติงอะไรก็ได้ ผมไม่ได้ว่าเลย ถ้าท่านทำอย่างนั้นดีอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านอีกอย่างเหมือนกับเล่นงานผมทุกเรื่องไปเลย ผมว่าไม่เป็นธรรมกับผม แล้วพอผมบอกให้ท่านไปดูแลกันเอง ตอบผมว่าอย่างไร สำหรับสื่อที่เป็นสมาชิกของสมาคมดังกล่าว จะดำเนินการต่อไปตามปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากมีสื่อหลายสื่อ ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม อันนี้ไม่สามารถจะรับผิดชอบได้ ท่านไปทำสิครับ หรือไม่ จะให้ผมต้องออกกฎหมายว่า สื่อทุกสื่อต้องเป็นสมาชิกของสมาคมท่าน สมาคมหนังสือพิมพ์ สมาคมสื่อ เอาไหม ผมจะทำให้ ไม่อย่างนั้นก็อ้างอยู่อย่างนี้ บางสื่อก็คุมไม่ได้ อะไรไม่ได้ เขียนไปเรื่อย แล้วจะไม่ให้ผมโมโหมีอารมณ์รุนแรงได้อย่างไรในบางครั้ง ผมขอโทษผู้ที่สุภาพอาจจะไม่ชอบ แต่ท่านต้องเห็นใจผม พอบอกให้ไปดูแล บอกไม่เห็นผิดตรงไหนเลย ผิดตรงไหนไปอ่านดูที่เขียน อันนี้สร้างสรรค์ สนับสนุนท่านทุกอย่าง โอ้โหด่าทุกวัน บอกว่านี่เป็นการติติง ก็ผมทำไปแล้ว กำลังทำ ท่านก็บอกว่าผมไม่ทำอะไร ยกตัวอย่างง่าย ๆ หรือไม่ก็ เรื่องนี้ไม่รู้จะกล้าทำหรือเปล่า ถ้าไม่กล้าทำผมไม่เข้ามาเอาอย่างนี้แล้วกัน เพียงแต่ว่าจะทำได้เมื่อไหร่ ผมไม่อยากจะไปบังคับขู่เข็นคนมากนัก ผมฝากพี่น้องประชาชนทั่วไปแล้วกัน จะให้ผมทำอย่างไรบอกมา จะให้หนักกว่านี้ หรือเบากว่านี้ ใช้อำนาจมากกว่านี้ว่ามา ผมจะไปพิจารณาอีกที ผมเข้ามาแล้วก็อยากให้สำเร็จ การปฏิรูปอีกมากมาย ไม่ได้จบภายในปีหนึ่ง ปีหนึ่งแค่ลดความขัดแย้ง แค่คิดไว้ว่าจะทำอะไรต่อไปในวันข้างหน้า ผมว่าอีก 10 ปียังไม่ทันเลย สิงคโปร์เขาทำ 30 ปี เอาง่าย ๆ แล้วเขาเลยเวลาเหล่านั้นมาแล้ว วันนี้เขาเข้มแข็งหมดทุกอัน บางคนบอกว่าไทยทำไม่ได้หรอก เพราะเรามีคนมากกว่า เขามีพื้นที่เล็กกว่าเรา เรายิ่งใหญ่ ไปดูในแผนที่ว่าใหญ่ขนาดไหน มีคน 60 – 70 ล้านคน ก็ใช่ แต่ 60 ล้านคน รวมกันได้เป็นหนึ่งไหม รวมเป็นไม้ไผ่ก้อนเดียวได้ไหม ไม่ได้ 60 กว่าล้านคน 60 กว่าความคิด มีกลุ่มชุมชน วันนี้ไม่ใช่แค่ประชาชนแล้ว เป็นกลุ่มชน เป็นของคนนี้ ของคนนั้น ของพวกนี้ พวกนั้น เป็นกลุ่ม แล้วคนเหล่านี้ก็เข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็เรียกร้องกับรัฐบาล เรียกร้องความต้องการจากรัฐบาลจนไม่มีความเพียงพอ เมื่อไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ต้องมาดูแลเป็นพิเศษ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมีปัญหาการบริหารราชการ ใช่ไหม คนอื่นก็ไม่ต้องได้ นี่แหละคือปัญหาของประชาธิปไตยไทย ท่านจะทำอย่างไรไปทำ วันนี้ผมจะทำให้ทั่วถึงก่อน วันหน้าจะให้ส่งต่อให้ระบบแข็งแรง ข้าราชการ หรือการเมืองแข็งแรงกว่านี้ ที่ผ่านมาไม่รู้จะโทษใคร
 
เรื่องเศรษฐกิจสำคัญขอให้เข้าใจ ผมพูดไปหลายครั้งแล้ว มีปัญหามาสอบถามผมก็ได้ มายื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมเดี๋ยวเขาส่งให้ผมดู ว่านี่ไม่เข้าใจก็ต้องไปชี้แจงเขา ทั้ง ๆ ที่ผมพูดทุกอาทิตย์ พูดทุกวัน ไม่เคยฟัง แล้วใครจะฟังผม บอกให้ไปฟังกระทรวงก็ไม่ฟัง มีแต่เรียกร้องอย่างเดียว ทำไมเป็นคนอย่างนี้ คนเหล่านี้ ผู้อื่นเขาดี ๆ ตั้งมากมาย หลายกิจการเขาดีไม่เคยบ่นไม่เคยว่า มีแต่ให้กำลังใจ ท่านทำต่อไปให้ดี สร้างความเชื่อมั่นให้ผมด้วย เขาอาจจะไม่รู้เรื่องเหมือนท่าน แต่เขายังพูดอย่างนี้ ท่านไม่รู้เรื่องแล้วก็ยังด่าว่าผม แล้วจะเป็นอย่างไร ท่านจะเอาอย่างไรกับผม เข้ามาทำให้ทั้งสิ้น
 
สุดท้ายนี้ อีกไม่นานพวกเราคนไทยก็จะได้ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวันปีใหม่ของไทย หรือเรียกว่าวันสงกรานต์ และยังเป็นช่วงวันครอบครับอีกด้วย หยุดหลายวันผมอยากขอให้ทุกท่านใช้วันหยุดในช่วงเทศกาลนี้ด้วยการเดินทางกลับบ้าน อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันกับครอบครัว พากันไปกราบไหว้รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ สอนให้เยาวชนรู้ถึงขนบธรรมเนียมที่ถูกต้อง การเล่นสาดน้ำที่ถือเป็นธรรมเนียมของวันสงกรานต์ แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง อย่าทำให้คนอื่นต้องเจ็บตัวหรือเดือดร้อน เมาสุรา ใช้แป้งอะไรต่าง ๆ ที่ดูไม่ดี ไม่สุภาพ ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย ต่างชาติเขามาสนุกจริง แต่ภาพออกมาไม่งดงามเลย นำไปป้าย เขาไม่ได้อยากเล่นด้วย บางคนเขาเล่นด้วยก็ว่าไป แต่งตัวไม่สุภาพ แต่งตัวไม่งดงามเหล่านี้ อย่าให้เห็น ผมคิดว่าจะต้องดูแลกันให้เต็มที่ ไม่อย่างนั้นประเทศไทย ไปอย่างไรไม่รู้ ความเป็นไทยอยู่ได้ เป็นสิ่งหนึ่งที่คนโบราณเขาทำไว้ให้เรา สถาบันพระมหากษัตริย์ทำไว้ให้เรา ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้การท่องเที่ยว อาคารบ้านช่อง พิพิธภัณฑ์เป็นของเก่าทั้งนั้น ของใหม่มีใครเขาอยากมา ธรรมชาติก็ช่วยกันรักษาไว้ ป่าไม้ น้ำอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ รัฐบาลได้สั่งการไปแล้วให้ทุกจังหวัดจัดพื้นที่ในการเฉลิมฉลองด้วย รวมความไปถึงอาทิตย์หน้าวันที่ 2 เมษายนด้วย เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วยกันด้วยดูแลกัน เป็นวันแห่งมงคลด้วย ขอให้มีการจัดเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครช่วยกันดูแลความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำเส้นทาง จุดจอดพักรถ เวลาง่วง อย่าให้เกิดอุบัติเหตุเลย บางทีเสียชีวิตไป 1. เสียดาย 2. สงสาร เห็นใจ และ 3. แล้วจะโทษใคร บางทีทั้งครอบครัวก็ไปหมด บางทีก็พ่อสูญเสีย แม่สูญเสีย ลูกสูญเสีย แล้วเราจะดื่มสุราขับรถทำไม ปัญหาอยู่ที่ดื่มสุราจนไม่มีสติ มอเตอร์ไซค์ตายไม่รู้เท่าไหร่ แก้อะไรได้ แก้ด้วยกฎหมายได้ไหม จับท่านก็เดือดร้อนอีก ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เขาไม่มีปัญหากับเรา ไม่ผิดกฎหมายเขาก็ไม่ยุ่งกับเรา ท่านก็สนุกสนานของท่านไป ท่านชอบเลยเถิด กฎหมายอยู่ไหนไม่รู้ไม่สนใจ จะทำซะอย่างคนไทย เป็นเวลาแห่งความสุขไม่น่าจะมาห้ามกัน ชอบพูดแบบนี้ไม่รู้จะว่าอย่างไร
 
ช่วงนี้เด็ก ๆ ปิดเทอม อากาศก็อาจจะร้อน ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ รวมถึงผู้นำชุมชนสำรวจแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เยาวชน จะไปเล่นคลายร้อน ให้ทำป้ายเตือน จัดหามาตรการป้องกัน ตรงไหนลึก ตรงไหนตื้น ทำป้ายให้เขาเห็น มีนกหวีด มีระฆังไว้ในรอบ ๆ แหล่งน้ำต่าง ๆ  ใช้ที่อื่นด้วยก็ได้ ในป่าในเขา ตรงไหนอันตราย ตรงไหนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ จะได้เคาะระฆังส่งสัญญาณได้ ยกตัวอย่างคราวที่แล้ว 3 วัน ใช่ไหม เด็กวัยรุ่นวิ่งไปแล้วไม่เห็น ตกไปอยู่ในนั้น 3 – 4 วัน ถ้ารถเขาไม่มาจอดตรงนั้น ไม่ได้ยินเสียงเรียก ตายไปแล้วเหมือนกัน 4 วัน แช่น้ำอยู่นั้น แล้วจะเรียกอย่างไร โทรศัพท์หลุดอยู่ข้างบน เพราะฉะนั้นระมัดระวังไปเล่นน้ำควรมีผู้ใหญ่ไปด้วย เด็กที่ว่ายน้ำไม่แข็งไม่เป็นต้องกำชับให้ตามเพื่อน ๆ  ไป ดูแลเขา จับคู่ Buddy จะไปไหนไปด้วยกันอะไรทำนองนี้ และข้อสำคัญอย่าไปเผาป่า ไปเที่ยวป่าก็ทิ้งก้นบุหรี่ จุดไฟเล่น ทิ้งขยะเกลื่อนเมือง เกลื่อนป่า จับสัตว์กินเข้าไป ปวดท้องตายอีก ต้องนึกถึงส่วนรวมด้วย ต้องตั้งอุดมการณ์ของคนในชาติไว้ให้ได้ว่าเราจะต้องนึกถึงส่วนรวมประกอบพร้อมไปกับประโยชน์ส่วนตนด้วย และรู้จักเสียสละ เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคนไทยไม่รวมกันให้ได้ แล้วก็ไม่มีอุดมการณ์ว่าจะทำอย่างไรให้ชาติบ้าง และเร่งพัฒนาตนเองอย่างเร่งด่วน ผมคิดว่าสิงคโปร์เขาใช้ 20 ปี ประเทศเล็ก ต้องบอกว่าเป็นประเทศเล็ก เขาใช้ตั้ง 30 ปี เราประเทศใหญ่กว่าเขาใช่ไหม เราต้องใช้ระยะเวลานานกว่านั้นไหม แล้วเวลาวันนี้เราจะทันเขาหรือเปล่ายังไม่รู้เลย เราทำไมไม่ใช้โอกาสที่เรามีอยู่ในขณะนี้ทำ ไม่ใช่ไปทะเลาะเบาะแว้ง เรื่องเลือกตั้งอะไรต่าง ๆ กินได้ไหม เลือกตั้งมาแล้วเป็นอย่างไรผมไม่รู้ แต่สิ่งที่มีปัญหาอยู่ทั้งหมด ผมก็พยายามแก้ให้ทั้งหมด ถ้าเราจะพัฒนาประเทศ ถ้าจะฟื้นฟู ถ้าจะสร้างใหม่ วันนี้ผมบอกแล้วว่าผมเข้ามา เพราะบ้านเมืองเรากำลังจะล้มลงอะไรทำนองนี้ ผมก็ต้องขนอิฐ หิน ปูน ทราย มาช่วยกันก่อขึ้นไป อาจจะเป็นปราสาททรายก็ได้ สร้างบ้านเป็นปราสาท ปราสาททรายที่อนาคตอาจจะพังอีกก็ได้ เราก็ต้องนำความเข้มแข็ง นำความรักความสามัคคี อุดมการณ์ค่านิยมของคนไทยเติมเข้าไปนี่คือเหตุผลของผม พวกนี้ก็คือปูน หิน ที่ไปเสริมความเข้มแข็งของทรายเหล่านั้น อาจจะมีโครงเหล็กเข้าไปบ้างมีกฎหมายอะไรเข้าไป ถึงจะก่อมาเป็นปราสาทขึ้นมาได้ แล้วจะไม่ยุบลงมาอีก ถ้าคิดตามผมก็จะเข้าใจ ก็ขอให้ทุกคนมีความสุขและปลอดภัย ทุกทิวาราตรี ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักข่าวพม่าประท้วงเงียบรัฐมนตรี-จากเหตุตำรวจทุบนักข่าว-นักศึกษาภาคพะโค

$
0
0

หลังเครือข่ายสื่อมวลชนในพม่ามีมติคว่ำบาตรไม่รายงานข่าวรัฐมนตรี-จนท.รัฐที่เกี่ยวข้องเหตุสลายชุมนุมนักศึกษาที่ภาคพะโคเมื่อ 11 มี.ค. ล่าสุดในงานสัมมนาสื่อมวลชนนานาชาติที่มีรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารมาเปิดงาน ได้มีนักข่าวชูป้ายประท้วงเรียกร้องให้หยุดทุบตี-จับกุมสื่อ

นักข่าวหนุ่มชาวพม่า ชูป้ายกลางงานสัมมนาที่จัดโดยสถาบันสื่อมวลชนนานาชาติ (IPI) จัดที่โรงแรมชาเทรียม นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นี้ เพื่อประท้วงรัฐมนตรีกระทรวงข่าวสาร "เยตุด" โดยเรียกร้องให้หยุดทำร้าย และจับกุมสื่อ จากกรณีเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมที่เล็ตปาดั่น ภาคพะโค (ที่มา: facebook/Kaung Htet)

 

27 มี.ค. 2558 - หลังจากที่มีผู้สื่อข่าวบาดเจ็บและถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมของนักศึกษาพม่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. และต่อมาเครือข่ายสื่อพม่าได้มีมติคว่ำบาตรไม่รายงานข่าวของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับคำสั่งสลายชุมนุม ตามมาด้วยมติขององค์กรสื่อว่าจะไม่ร่วมในงาน "IPI World Congress 2015" ซึ่งจัดโดยสถาบันสื่อมวลชนนานาชาติ (International Press Institute - IPI) ระหว่างวันที่ 27 ถึง 29 มี.ค. 2015 เนื่องจากในการสัมมนาดังกล่าว มีการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสาร "เยตุด" และผู้นำฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมด้วย

ล่าสุดเช้าวันเปิดงานสัมมนา (27 มี.ค.) นักข่าวหนุ่มรายหนึ่งปฏิบัติการประท้วงเงียบ โดยในระหว่าง เยตุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารกำลังกล่าวเปิดงาน นักข่าวหนุ่มรายนี้ก็ชูป้ายเรียกร้องหยุดทำร้าย จับกุมและคุมขังสื่อ

ในงานดังกล่าว "มงมงเมียต" ผู้สื่อข่าวอาวุโสในพม่าได้ลุกขึ้นถามรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารด้วยว่า "ท่านรัฐมนตรีจะจับผู้สื่อข่าวที่ประท้วงการสัมมนานี้ ซึ่งพวกเขาอยู่ตรงประตูทางเข้าโรงแรม โดยอาศัยมาตรา 18 (กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมและสมาคมอย่างสงบ) ในความผิดฐานไม่ยอมขออนุญาตชุมนุมหรือไม่"

โดยในเฟซบุ๊คบัญชีส่วนตัวของ มงมงเมียต เปิดเผยด้วยว่า เยตุตตอบว่าถ้าให้เขาตัดสินใจ เขาจะไม่ยอมจับประชาชนเพื่อให้เขามีเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่ผมจะทำความเข้าใจ โดย มงมงเมียต ทิ้งท้ายในเฟซบุ๊คว่า "ก็ลองดูละกัน"

โดยในงาน "IPI World Congress 2015" ดังกล่าว ซึ่งจัดที่โรงแรมชาเทรียม ในนครย่างกุ้งนั้น ด้านหน้าของโรงแรมก็มีผู้สื่อข่าวอีกกลุ่มหนึ่งยืนถือป้ายประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามสื่อ

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมของนักศึกษาที่เล็ตปะดัน ภาคพะโข เมื่อวันที่ 11 มี.ค. เยตุต กล่าวถึงคลิปวิดีโอที่ปรากฏภาพตำรวจทุบตีผู้สื่อข่าวและผู้ประท้วง โดยระบุว่าวิดีโอนี้ทำขึ้นมาเพื่อต่อต้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ฝ่ายสนับสนุนนักศึกษาและผู้สื่อข่าวในพม่าไม่พอใจอย่างมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เรียนเล่นเล่น #7: สถานการณ์พุทธเถรวาทในสังคมไทย โดยวิจักขณ์ พานิช

$
0
0


27 มี.ค. 2558 วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา บรรยายใน "เรียนเล่นเล่น" คาบที่ 7 หัวข้อ สถานการณ์พุทธเถรวาทในสังคมไทย ประชาไทสรุปความมานำเสนอ

0000

พุทธเถรวาทจริงๆ แล้วคืออะไร เป็นคำถามที่คนจำนวนมากยังตั้งคำถามอยู่ ซึ่งเขามองว่า เป็นการพยายามสร้างความบริสุทธิ์โดยอ้างอิงกับวิถี ธรรมวินัย ธรรมบัญญัติ พยายามอ้างวิถีในอดีตเพื่ออ้างอิงว่าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้ถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่แปลก ทุกศาสนาจะต้องมีกลุ่มที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่มีในทุกศาสนา แต่พุทธเถรวาทนั้นเป็นความพยายามที่จะรักษาวัตรปฏิบัติ

คำถามที่น่าสนใจคือ พุทธเถรวาทอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ทำไมเมื่อขยับไปข้างบนถึงเป็นมหายาน ซึ่งเขามองว่าการพยายามจะรักษาบริบท ความดั้งเดิมของรูปแบบวิถีหรือการตีความบางอย่างที่ยึดอยู่กับอดีตต้องการบริบททางสังคมหรือสภาพอากาศคล้ายๆ กัน เช่น พระต้องห่มอย่างนี้ มีศีลเท่านี้ ซึ่งเป็นประเทศในแถบภูมิอากาศเดียวกัน สังคมที่คล้ายกัน เช่น สังคมเกษตร สังคมหมู่บ้าน ที่ช่วยให้การรักษาธรรมวินัยแบบดั้งเดิมเป็นไปได้

แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ถ้าเถรวาทพยายามรักษาวัตรปฏิบัติไว้แบบดั้งเดิมจริงๆ นั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรักษาวัตรปฏิบัตินั้นในสังคมยุคปัจจุบัน  สิ่งที่ตามมาคือความเลื่อนไหลของการอ้างอิงและตีความวัตรปฏิบัติระหว่างในวัดกับนอกวัด ทำให้พระต้องมีความกะล่อนไปตามสถานการณ์ และถูกตั้งคำถามว่าตกลงแล้วคุณรักษาวัตรแบบดั้งเดิมจริงหรือไม่

ลักษณะของการเรียนรู้ศาสนาของพุทธเถรวาทนั้นเป็นการเรียนจากครูอาจารย์ เป็นการเรียนจากครู เป็นรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม ในจินตนาการของเขา มองเถรวาทไม่เหมือนคนอื่น ยังคงมีความเคารพในพุทธเถรวาท ยังคงถือว่าตัวเองเป็นเถรวาท แต่เป็นแบบไม่เป็นทางการเพราะมีคนที่เป็นแบบทางการที่พยายามรักษาอัตลักษณ์บางอย่าง แต่ส่วนตัวเขามีอาจารย์พุทธสายเถรวาทอยู่

จินตนาการเกี่ยวกับเถรวาทสำหรับวิจักขณ์ คือ การเรียนแบบอาจริยวาท คือ นักเรียนเรียนกับครู ถ้าเราต้องการจะเรียนกับอาจารย์ แต่ไม่มีอำนาจของรัฐเข้ามาควบคุมว่าเราควรเรียนจากใคร  เป็นจินตนาการของเถรวาทในอดีตสำหรับเขา นั่นคือ มีอาจารย์หลากหลายสาย มีการแตกแขนงของคำสอน ตามแต่สถานการณ์ ประสบการณ์ และ passion ของอาจารย์ เป็นรูปแบบของการเรียนที่เป็นมนุษย์ สัมพันธ์กับประสบการณ์จริง

อย่างไรก็ตามมีแก่นแกนอยู่ที่การอ้างอิงคำสอน หรือหลักธรรม พุทธวจนะ อ้างอิงคำสอน พระไตรปิฎก แต่รูปแบบการเรียนนั้นอิสระ การตีความคำสอนของอาจารย์แต่ละคนต่างกัน หรือแม้แต่การตีความแบบเดียวกันก็ปฏิบัติต่างกัน ในฐานะศิษย์สามารถเลือกครูได้ ว่าชอบอาจารย์คนนี้ รู้สึกว่าคนนี้พูดแล้วเข้าไปในหัวใจของเราได้

การบวชจึงไม่ใช่เรื่องพิธี สมมติเช่น วันหนึ่งมีพระเข้ามาในหมู่บ้าน เหมือน Backpacker เข้ามาแล้วบอกว่าชีวิตมันไม่เที่ยง ความหมายของชีวิตคือการเดินทาง ต้องออกเดินทางไปเผชิญ คนที่อยู่ในหมู่บ้านที่เคยแต่ขุดดินจับจอบก็อาจจะมีแรงบันดาลใจ อยากเดินตามคนนี้ไป

แต่คำถามคือจินตนาการนี้หายไปได้อย่างไรในสังคมไทย ซึ่งเขาเห็นว่าความพยายามทำให้ศาสนาพุทธบริสุทธิ์นั้นมีส่วนทำให้หายไป สถาบันทางศาสนาที่ผูกโยงกับอำนาจบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถสังคายนาได้ เขาเรียกรูปแบบการทำให้ศาสนาพุทธบริสุทธิ์เป็น ศาสนาเชิงสถาบัน ซึ่งจะมีประวีติศาสตร์การสังคายนาต่างๆ ซึ่งเขาไม่สนใจประวัติศาสตร์ชุดนี้เท่าไหร่ เป็นเพียงการอ้างอิงรูปแบบของเถรวาทแบบทางการแบบนี้

แต่อำนาจของสถาบันที่จะสังคายนากรอบในจินตนาการแบบนี้มีมากแค่ไหนในอดีต เขามองว่าสถาบันเหล่านี้ในอดีตไม่น่าจะมีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะในความจริงมีลักษณะที่กระจายตัวกว่านั้น และรูปแบบของวิถี เช่น พระธุดงค์ ไม่มีใครไปควบคุมได้ เพราะวิถีชีวิตที่เขาเลือกคือสิ่งที่เขาต้องการเลือกเป็นอิสระ ฉะนั้นจินตนาการของศาสนาที่พยายามจะจัดการ (organize) คนอื่น มีอิทธิพลน้อยมาก

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ รัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เสรีภาพของสงฆ์ลดลง

ในอดีตพระบางรูปมีคำสอนที่น่าสนใจ เจ้าอาจจะดึงตัวพระที่ธุดงค์ หรือพระในหัวเมืองมาช่วยงานในส่วนกลาง ซึ่งพระเหล่านี้ก็เข้ามามีส่วนกับอำนาจในศูนย์กลางบ้าง แต่น้อยกว่าทุกวันนี้

ขณะที่รูปแบบเถรวาทสมัยนี้ที่มีอำนาจมาก เป็นผลจากการเกิดของรัฐชาติสมัยใหม่ เปลี่ยนจินตนาการอย่างรุนแรงเพราะอำนาจศูนย์กลางมีอิทธิพลมากในการควบคุมและจัดการศาสนา สิ่งที่มีผลมากต่อจินตนาการคือ เรื่องของเสรีภาพ ถูกรัฐเข้ามาควบคุมจัดการโครงสร้างของคณะสงฆ์ พระทุกรูปต้องขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์
ในกรณีของการมีพระอุปัชฌาย์ จะต้องได้รับการรับรองจากคณะสงฆ์

แต่จริงๆ ศาสนาพุทธเป็นอะไรที่ควบคุมยาก เพราะพูดเรื่องความไม่มีตัวตน จึงกลายเป็นเรื่องประหลาดมากๆ ที่จะพยายามสร้างอะไรขึ้นมา เพราะว่า หลักของศาสนาพุทธคือการบอกว่าไม่มีตัวตน ศาสนาพุทธนั้นมีความชัดเจนในเรื่องความเป็นอิสระ วางกรอบได้ยาก เป็นศาสนาแบบอเทวนิยม

ที่มาของการสร้างอัตลักษณ์ของศาสนาพุทธในไทย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างรัฐชาติ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ และอิทธิพลจากความกลัวของภัยภายนอกคือตะวันตกที่เป็นความกลัวร่วมของประเทศแถบนี้ เพราะการเข้ามาของโลกาภิวัตน์นั้นมาพร้อมปืนและศาสนาคริสต์ จึงต้องหาอัตลักษณ์ของชาติที่จะสู้กับภัยภายนอก จึงต้องมีความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีความกลัวภัยตลอดเวลาเช่น วัตถุนิยม ทุนนิยม คอมมิวนิสต์ ทักษิณ ธรรมกาย เป็นต้น ซึ่งสามารถหาภัยภายนอกได้หมด

คำถามว่า ผู้หญิงเป็นภัยของศาสนาพุทธตั้งแต่เมื่อไหร่
“ผู้หญิงไม่ใช่ภัยของผม แต่จินตนาการของศาสนาแบบเป็นทางการ ที่เคร่งเครียดเคร่งครัดได้ค่อยๆ สร้างภัยจากความกลัวของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง อารมณ์ความรู้สึก ร่างกาย ความ Chaos ของชีวิต ความพยายามที่จะหาหลักการมา organize ให้เกิดการรวมศูนย์ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ศาสนานั้นเคร่งเครียดและเคร่งขรึม”

ต่อคำถามว่า ธรรมกายก็สร้างความกลัวภัยภายนอกเหมือนกัน
เขาบอกว่า คนพุทธส่วนหนึ่งกลัวธรรมกายว่าสอนอย่างบิดเบือนคำสอน แต่ตัวธรรมกายเองก็มีความกลัว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างไปจากพุทธทางการ มี Mentality แบบพุทธสายอื่น จริงๆ ธรรมกายควรจะเป็นศาสนาประจำชาติด้วยซ้ำไป ไปด้วยกันได้ดีสังคมไทยมาก  ถามว่ามีความเปิดกว้างในเรื่องคำสอนไหม ผมก็คิดว่าไม่มี มีคำสอนเรื่องโลก เสรีนิยม ความหลากหลายทางเพศ เป็นธรรม หรือเท่าเทียมไหม ก็ไม่มี

กรณีของอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ พุทธทาสเป็นพระบ้านนอก แต่สนใจในศาสนธรรม จนวันหนึ่งก็เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดความคิดเปรียบเทียบกับต่างจังหวัดว่าด้วยความที่สังคมสงฆ์ในต่างจังหวัดเป็นชุมชนเล็กๆ ทำให้มีการตรวจสอบกันตลอดเวลา ขณะที่พระในกรุงเทพฯ ผิดศีลกันระนาว แต่ยังสร้างความบริสุทธิ์ให้ตัวเองได้ โดยอ้างธรรมวินัยอย่างเป็นทางการ เป็นการเรียนที่เต็มไปด้วยความแข็ง ตายตัว เรียนแล้วทำให้พระเป็นเจ้า ระบบโครงสร้างนี้ทำให้เกิดความสะเทือนใจและตัดสินใจไม่เรียนและกลับบ้านนอก และไปอยู่วัดร้าง และการตั้งสวนโมกข์ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าอาจารย์พุทธทาสนั้นทำให้เห็นว่ามีจินตนาการบงอย่างเกี่ยวกับเถรวาท คือมีความเรียบง่าย การสร้างสวนโมกข์คือการท้าทายจินตนาการของพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการอย่าง Radical มาก คือเน้นความเรียบง่าย ซึ่งสิ่งที่พุทธทาสทำนั้นพระผู้ใหญ่เห็นและเข้าใจ เห็นได้จากการมาเยี่ยมเยียน แต่ในปัจจุบันก็ได้พัฒนาขึ้นไปอีก ความเป็นทางการ  และอำนาจนั้นทำให้เกิดคำถามต่อความเข้าใจของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในรัฐ

สวนโมกข์ที่พุทธทาสพยายามสร้างจินตนาการใหม่ และออกไปอยู่กับความเรียบง่าย พยายาม reform พุทธธรรมในแง่ของวัฒนธรรม แต่กลับอยู่ได้เพียงชั่วรุ่นเดียว ทำให้เห็นว่าคนไม่เข้าใจแก ว่าแกทำอะไร พูดง่ายๆ ว่าแกโดดเดี่ยว แม้แต่ลูกศิษย์แกก็ไม่เข้าใจ ปัจจุบันสวนโมกข์กลายเป็นวัดทั่วๆ ไป มีเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ คนที่อยู่ตามเคานเตอร์ต่างๆ มีเงินเดือน มีกล้องวงจรปิด เป็นสิ่งที่พบได้ตามวัดของประเทศไทย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าความเข้าใจเรื่องศาสนาบ้านเรามันรวมศูนย์

ศาสนากลายเป็นการขายของ เราอยากได้สินค้าอะไร ก็ไปเลือกสินค้านั้น เป็นลักษณะของการเลือกแบบฉาบฉวย ปรากฏการณ์ของคนที่ชื่นชมศาสนา หรือพระ เขาอาจจะฆ่ากันได้ แต่เขาต้องการใช้พระ เสพพระในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนที่เขาไม่ต้องการเขาก็ทิ้งไป เช่นเราไปหาพระรูปหนึ่ง พระเขาเตือนเราเราก็อาจจะไม่ฟัง กรณีของสวนโมกข์นั้นประชาชนที่เข้าไปศรัทธาสวนโมกข์ก็อาจจะเลือกตัดพุทธทาสทิ้งไป

คำถามว่า ชาวบ้านจินตนาการเรื่องพระ สิ่งหนึ่งที่เขาจินตนาการคือความหวังที่จะได้เขยิบฐานะ ทำมาสู่การศรัทธาพระที่ให้หวยแม่น
ฟังก์ชั่นพวกนี้ต้องตอบโจทย์พวกนี้ถ้ายังปนเปื้อนอยู่กับโลก แต่ต้องผูกโยงกับโลกกุตระด้วย ไม่ใช่ตัดขาดจากกัน ซึ่งกลับมาสู่ประเด็นเรื่องการมีเสรีภาพ ถ้ามีเสรีภาพ การตั้งคำถามกับปรากฏการณ์เหล่านี้ก็จะเปิดกว้าง และเปิดกว้างสำหรับการตั้งคำถามในมิติอื่นๆ

ปรากฏการณ์ของศาสนาพุทธตอนนี้มันงง และเข้าใจแบบงงๆ ต่างคนต่างหลอกกัน ซึ่งในความสัมพันธ์แบบศิษย์กับครูบาอาจารย์ เราจะทะเลาะกันตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้เป็นการสัมพันธ์กันแบบคุณอยากได้อะไรฉันให้คุณหมด ความสัมพันธ์เชิงกัลยาณมิตร ความใกล้ชิด การตักเตือนกันได้ มันหมดไป จนผมก็ไม่รู้ว่าพุทธแบบทางการมันเหลืออะไรที่ควรรักษาไว้บ้าง

คำถามว่า ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อ แต่มันมีฟังก์ชั่นอย่างไร เพราะดูเหมือนมันทำหน้าที่ให้คนยอมรับสถานะของตนเองไม่ต่อสู้ มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนทางศาสนาหรือไม่
วิจักขณ์มองว่า ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเกิดจินตนาการไปกับมัน และทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันสำคัญ แต่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าไหม มันไม่ใช่ และถ้าถามว่ามันมีการตีความอย่างอื่นไหม มันก็มีแต่ทำไมเรายึดกับไตรภูมิพระร่วง

แต่การสร้างให้ไตรภูมิพระร่างมีความเป็นสถาบันขึ้นมาได้ ก็เพราะมันมาตอบโจทย์เรื่องนี้ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบไว้ อ่านแล้วก็อิน แล้วก็รู้สึกว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์มีกรรม มีอิทธิพลในฟังก์ชั่นนี้ ทำให้ศาสนาพุทธมีความยิ่งใหญ่มี originality

อนาคตของเถรวาทในสังคมไทย
เถรวาทนั้นเป็นพุทธของชนชั้นนำ ที่ต้องหล่อหลอมจินตนาการของคน คนที่ศึกษาพุทธแบบนี้ต้องวิพากษ์วิจารณ์มัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเจ้า

พัฒนาการของพุทธแบบสถาบันมีความพยายามที่จะทำให้มันแข็งตัวมากขึ้น งี่เง่ามากขึ้น แต่พุทธแบบนี้เพิ่งเกิดมาได้เพียงร้อยกว่าปีมานี้เอง อย่างศาสนาคริสต์เองก็มีประวัติศาสตร์มายาวนานและปรับตัว ในอดีต ศาสนาคริสต์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ โป๊ปคนปัจจุบันก็มีความ amazing มาก

ขณะที่พุทธของไทยในปัจจุบันนี้น่าสนใจมากเพราะมันไม่มั่นคง เพราะยึดโยงกับสถาบันอื่นๆ ด้วยซึ่งก็ไม่มั่นคงพอกัน ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวปกป้องศาสนาพุทธด้วยข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติปกป้องพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นก็น่าสนใจ เพราะแสดงว่าความกลัวภัยนั้นเพิ่มขึ้น และกำลังทำให้ศาสนาที่เป็นอเทวนิยมกลายเป็นเทวนิยม

แต่อเทวนิยมนั้นกำลังผันเป็นเทวนิยม เพราะไปดึงอำนาจนอกตัวมาปกป้อง และทำให้อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่สูงสุด ดีงามที่สุดแทนที่ศาสนาพุทธจะทำให้คนได้ทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ขึ้นกลับกลายเป็นการรับใช้ความดีที่สูงกว่า เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน หรือในกรณีของพม่า ฆ่าโรฮิงญาไม่บาป หรือฆ่าปลาใส่บาตรพระไม่บาป ทำให้เราอยู่ในวาทกรรมแบบนี้ ทำให้คนรุนแรงมากขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่สะสมความรุนแรงมาก พร้อมจะรับใช้ความดีที่สูงกว่า

ถามว่าศาสนาพุทธรับใช้เพื่อนมนุษย์ไหม มันไม่มีมิติที่จะรับใช้คนด้วยกันตรงๆ เลย ทำดีหวังชาติหน้า ทำให้สงสัยว่านี่เป็นพุทธภาษาอะไร ซึ่งเขามองเปรียบเทียบกรณีพุทธที่สุดโต่งในเมียนมาร์ ก็สะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างในประเทศแถบนี้ว่ามีลักษณะร่วมของความรู้สึก Postcolonial ที่ยังไปไม่พ้นความรู้สึกนี้

อะไรเป็นความกลัวของพุทธวันนี้
ประการแรก คือ ความกลัวอิสลาม มีความกลัวว่าจะถูกกลืน แม้แต่การตั้งธนาคารอิสลาม และมีความพยายามจะตั้งธนาคารพุทธมาสู้

ประการต่อมา คือความกลัวฮินดู เพราะฮินดูจะใช้วีธีกลืนเทวะของศาสนาอื่นๆ ไม่ปฏิเสธ ยอมรับคนอื่นก่อน และสุดท้ายก็จะสามารถกลืนเข้าด้วยกัน ซึ่งจริงๆ เป็นวิธีเดียวกับพุทธสมัยก่อน ที่พยายามยอมรับคนอื่น แต่ปัจจุบันมีความพยามยามอธิบายและรักษาวิถีพุทธดั้งเดิม ซึ่งส่วนตัวเขาคิดว่าคำว่าสังคายนาในศาสนาพุทธนั้น เขาไม่ค่อยรู้สึกร่วมด้วย การสังคายนาแบบทางการเป็นสิ่งที่ตลกเพราะไม่รู้ว่าพุทธแท้คืออะไร

ประการที่สาม คือ กลัวการแตกนิกาย มีการอ้างประวัติศาสตร์ความเสื่อมของพุทธในอินเดีย ว่าเป็นเพราะพุทธตันตระเข้ามา หรือมีพุทธแบบทิเบตเข้ามา ไม่ได้มีความ critical มากพอที่จะยอมรับ ที่ไปเที่ยวทิเบตกัน ก็ไปดูเขาพูดถึงดาไลลามะ หรือ ติช นัท ฮันห์ แล้วน้ำตาไหล แต่ไม่รู้ว่านั่นเขาเป็นสายมหายาน ที่มีการเผชิญรูปแบบชีวิต สัญญะที่ละเอียดมากขึ้น เราไม่ตีความในแง่นั้น ทำให้เราเสียโอกาสในการเรียนรู้จากคนอื่นมาก ทำให้เรา ignorance มากขึ้น

ความกลัวอื่นๆ ก็เช่น กลัวผู้หญิง เชื่อว่าถ้าอนุญาตให้ผู้หญิงมาบวช ศาสนาจะเสื่อมภายใน 500 ปี เป็นต้น

สุดท้ายถ้าเราก้าวข้ามมายาคติเหล่านี้ไปได้เราไม่ต้องเป็นพุทธก็ได้ ถ้าเราเป็นคนปฏิบัติจริง ถ้าเราเริ่มเรียนอย่างปัจเจกก็จะเริ่มเข้าใจว่าอดีตเขาเรียนกันอย่างไร มหายานปนกับเถรวาท พุทธปนผี ปนไสยศาสตร์ ปะปนกันไปหมด

 

หมายเหตุการเสวนานี้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบันทึกวิดีโอการเสวนา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

$
0
0

"ไม่ใช่สื่อมาทำให้เกิดความระแวงกันเอง เพราะท่านมีหน้าที่ในการดูแลบ้านหลังนี้ เจ้าของบ้านเขาให้ท่านดู ติดตั้งท่าน อะไรท่าน เหมือนกับสื่อคอยดูแทน แล้วปรากฏว่าท่านไม่ดู ท่านกลับมาเล่นงานเจ้าของบ้าน กลับมาเล่นงานคนในบ้าน แล้วโจรก็เข้ามาได้"

กล่าวในรายการคืนความสุขฯ 27 มี.ค.58

ตั้งกรรมการสอบเหตุ ‘ทุ่งยางแดงเดือด’- อธิการ มฟน.ย้ำอย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ

$
0
0

แม่ทัพภาค 4 ตั้งกรรมการสอบเหตุปิดล้อมปะทะที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดง ให้รายงานข้อเท็จจริงใน 7 วัน อธิการ มฟน.ย้ำอย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ ชี้ปัญหาภาคใต้ไม่มีวันจบหากเจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรง

เวลา 09.30 น.วันที่ 28 มีนาคม 2558 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย พล.ต.ท.อนิรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายเกรียงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการดำเนินการกรณีเหตุปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และถูกควบคุมตัว 22 ราย

ทั้งนี้ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้แสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 22 ราย ขณะนี้ได้ปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาแล้ว 13 ราย ส่วนที่เหลือจะเร่งรัดการสอบสวนเพิ่มเติม หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเร่งส่งตัวกลับต่อไป

พล.ท.ปราการ ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. น้อมรับทุกข้อสงสัยของพี่น้องประชาชน และหลายๆ ฝ่าย รวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีตามที่ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน

พล.ท.ปราการ แถลงว่า ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์นี้ โดยจะประกอบด้วยผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้แทนองค์กรศาสนา สภาทนายความภาค 9 ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผู้แทนของจังหวัดปัตตานี ผู้แทน ศอ.บต. ผู้แทน ศชต. และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยมีนายแวดือราแม มะมิงจิ เป็นประธาน นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรมเป็นเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงในทุกๆ เรื่อง และรายงานข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน เพื่อแจ้งให้พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน โดยกอ.รมน.ภาค 4 สน.และส่วนราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันที่จะให้ความเป็นธรรมโดยยึดหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ปราศจากการแทรกแซง หรืออคติใดๆ เพราะพวกเราเชื่อว่า สันติสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างถาวรโดยสันติวิธี

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 มหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยยืนยันว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคง และได้ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันในเรื่องนี้

 

อย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ

ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี

ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น.วันเดียวกัน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานีว่า มั่นใจว่าผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะให้ความเป็นธรรมได้ แต่อย่าให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะทุกฝ่ายกำลังพยายามในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ด้วยดี แต่เหตุการณ์นี้มาสะกิดถึงการทำงานของรัฐ

“มหาวิทยาลัยฟาฏอนีเป็นมหาวิทยาลัยสีขาว ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ทุกคนช่วยกันตักเตือนและพยายามใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง เพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนตระหนักอยู่แล้ว”ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าว

ผศ.โสรัตน์ อับดุลสตา คณบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี แถลงด้วยว่า นักศึกษาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ทั้ง 2 คน เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เสียชีวิตในขณะที่ยังอยู่ในชุดนักศึกษา เพราะก่อนเกิดเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ ไม่ได้วางแผนเรื่องการก่อเหตุร้าย ซึ่งนักศึกษาของที่นี่ทุกคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน สามารถตรวจสอบได้

 

จุฬาราชมนตรีชี้ปัญหาภาคใต้ไม่มีวันจบหากเจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรง

สำหรับความเคลื่อนไหวที่เกิดข้องกับเรื่อง สามารถประมวลข่าวที่เกี่ยวข้องโดยสรุป ดังนี้  เริ่มจากบีบีซีไทย - BBC Thai ได้รายงานความเห็นของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีต่อกรณีนี้ว่า หากเจ้าหน้าที่ยังคงใช้ความรุนแรง การจัดการปัญหาภาคใต้ก็คงจะไม่จบสิ้น จุฬาราชมนตรีเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจ เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ และรู้ว่าปัญหาภาคใต้มีความซับซ้อนหลายประการ มีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข

“ที่สำคัญคือความยุติธรรมต้องทำให้ประชาชนแน่ใจได้ว่ารัฐมีความยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติผิดพลาดอยู่เรื่อย ชาวบ้านก็ย่อมคิดว่าไปรังแกเขา ทางการต้องทำความเข้าใจ ดึงชาวบ้านส่วนน้อยให้กลับคืนมา” นายอาศิส กล่าว และว่าการเจรจาพูดคุยเป็นหนทางเดียวที่จะยุติปัญหา หรือทำให้คลี่คลายลง

“แต่ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้การดูแลของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทางสำนักจุฬาฯ ยังไม่ได้รับการติดต่อให้เข้าร่วมพูดคุยใด ๆ เขาอาจจะเข้าใจว่าเข้าใจปัญหาดีแล้ว แต่เท่าที่มองรัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้แก้ปัญหาได้เป็นพิเศษ หากเข้ามาคุยเราก็จะให้คำแนะนำไป” นายอาศิส กล่าว

(ที่มา https://www.facebook.com/BBCThai?fref=nf)

 

ผู้การปัตตานีลุยตั้งข้อหา จนท.วิสามัญฯ 4 ศพ

ส่วนสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พล.ท.ปราการ ได้เดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุเมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 27 มีนาคมและรับปากกับครอบครัวผู้เสียชีวิตว่าจะดูแลเรื่องค่าเสียหายและจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อความเป็นธรรม โดยมีรายงานว่าทางราชการอาจจ่ายเงินเยียวยาเบื้องต้นให้กับญาติผู้ตายรายละ 5 แสนบาท

พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เบื้องต้นจะแจ้งข้อหากับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามในข้อหาฆ่าผู้อื่น แต่ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องบ้าง

(ที่มา http://www.isranews.org/south-news/other-news/item/37536-army_37536.html)

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านถามปืนที่ศพมาจากไหน? – ทหารยันทำตามขั้นตอนปิดล้อมปะทะวิสามัญทุ่งยางแดง

มฟน.ออกแถลงการณ์ ยืนยัน 2 นักศึกษาถูกวิสามัญที่ทุ่งยางแดง ไม่มีประวัติเป็นภัยต่อความมั่นคง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images