Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ผบ.ตำรวจนครบาล เชื่อ ‘ระเบิดปลอม’ ย่านพัฒนาการ หวังสร้างสถานการณ์

$
0
0

พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิด ย่านพัฒนาการเป็นของปลอม เชื่อเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกตื่น จากนี้จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือแฝง

1 เม.ย.2558 เมื่อ เวลา 10.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่าพบวัตถุต้องสงสัยคล้ายระเบิดผูกติดกับเสาไฟฟ้าบริเวณปากซอยพัฒนาการ 65 จึงทำการปิดการจราจรและเข้าตรวจสอบ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดตรวจสอบพบว่ามีลักษณะคล้ายระเบิดไดนาไมท์ และมีสายไฟรวมทั้งแผงวงจรติดอยู่ด้วย

ต่อมาจากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นระเบิดปลอม โดยมีการใช้กระดาษม้วนเป็นแท่งคล้ายระเบิด แต่ไม่มีดินระเบิดภายใน รวมทั้งมีการนำแผงวงจรมาประกอบ แต่ไม่มีการต่อวงจร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บกู้แล้ว

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี เปิดเผยว่าวัตถุระเบิดปลอมที่พบเป็นสิ่งเทียมอาวุธที่ทำขึ้นมาคล้ายระเบิดชนิด “โฮคบอมบ์” (Hoaxbomb) จากการตรวจสอบคาดเป็นนาฬิกาปลุกที่ทำรูปทรงคล้ายระเบิด เพราะยังขาดอุปกรณ์หลายชนิดที่จะประกอบเป็นระเบิดได้

ด้าน พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเดินทางมาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ยืนยันระเบิดที่พบเป็นระเบิดปลอม เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความแตกตื่น จากนี้จะนำไปตรวจหาดีเอ็นเอ ลายนิ้วมือแฝง พร้อมตรวจสอบภาพจากล้องวงจรปิด เพื่อเร่งติดตามผู้ที่นำมาวางไว้ โดยมีความผิดเข้าข่ายมีสิ่งเทียมอาวุธผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตนไม่ขอเตือนผู้ไม่หวังดีให้เลิกสร้างสถานการณ์ ยืนยันตำรวจมีหน้าที่จับอย่างเดียว

เรียกเรียงจาก สำนักข่าวไทยและ โพสต์ทูเดย์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: พิสูจน์การทรมานด้วยพิธีสารอิสตันบูล

$
0
0

 

ข่าวคราวที่อื้อฉาวในช่วงระยะหลังๆที่ทำให้องค์การด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์การออกมาท้วงติงการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐไทยที่มีต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังว่ามี"การทรมาน"เกิดขึ้น จนมีการตอบโต้อย่างรุนแรงและแข็งกร้าวจากผู้นำของรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างข้อมูลของฝ่ายตนเองมาสนับสนุนและโต้แย้ง ซึ่งอันที่จริงเรื่องดังกล่าวนี้มีวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ชัดเจนอยู่แล้วก็คือสิ่งที่เรียกว่า "พิธีสารอิสตันบูล: คู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีการทรมาน และ การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)" นั่นเอง

พิธีสารอิสตันบูลนี้ได้ถูกนำเสนอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 และไทยเราก็ได้ลงนามและให้สัตยาบันต่อออนุสัญญาต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ(UN Convention against Torture)หรือเรียกย่อๆว่า CAT ไปแล้วเมื่อปี 2550 กอปรกัปมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 57 (ฉบับชั่วคราว)ก็ให้การยืนยันที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อองค์การระหว่างประเทศไว้ ไทยเราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตาม

พิธีสารอิสตันบูลนี้เกิดจากความร่วมมือของนักนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อวางหลักการมาตรฐานในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกทรมานเพื่อการคุ้มครองและเยียวยา และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจต่อศาลอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

การนำนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic science) และนิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic psychiatry) เป็นเครื่องมือและกลไกหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการยุติธรรมต่อเหยื่อผู้รอดพ้นจากการทรมาน จะเกิดประสิทธิผลอันทำให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและได้รับการเยียวยาได้ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่าย สำหรับนิติจิตเวชศาสตร์เป็นองค์ความรู้ใหม่ในสังคมไทยที่จะนำมาใช้กับเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมานไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบและจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจ

นิติวิทยาศาสตร์และนิติจิตเวชศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะสามารถคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเหยื่อผู้เสียหายด้านการทรมานและการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมควรได้รับความรู้ ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและการเยียวยาความเสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากกระทรวงยุติธรรม

เนื้อหาในพิธีสารนั้นมีครบถ้วนกระบวนความในอันที่จะพิสูจน์การทรมาน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกาย ผิวหนัง ใบหน้า ทรวงอกและช่องท้อง ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ระบบสืบพันธุ์และปัสสาวะ ระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย รวมไปถึงการตรวจร่างกายและประเมินผลที่ได้รับจากการทรมานในรูปแบบต่างๆอีกด้วย เช่น การทุบตีและการกระแทกด้วยวัตถุไม่มีคม การทุบตีเท้า การแขวน การทรมานด้วยการจี้ การทรมานที่เกิดกับฟัน การขาดอากาศหายใจ การทรมานทางเพศซึ่งรวมถึงการกระทำชำเรา

พิธีสารฯนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดย American Bar Rule Of Law Initiative (ABA ROLI) หรือเนติบัณฑิตยสภาแห่งอเมริกาเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไรที่อุทิศตนเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และเป็นส่วนย่อยจาก American Bar Association (ABA) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพนักกฎมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 400,000 คน ทั้งผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ทนายความ นักกฏหมายและอาจารย์ด้านกฎหมายที่ได้อาสาและให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางกฎหมาย (pro bono)

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ABA ROLI ได้มีโครงการและดำเนินงานในการปฏิรูปกฎหมาย เสริมสร้างระบบกระบวนการยุติธรรม ให้ความรู้ด้านกฎหมาย และมีโครงการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนใน ๔๐ ประเทศทั่วโลก ABA ROLI มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของเหยื่อผู้เสียหาย และการตรวจสอบรวบรวมหลักฐานด้วยนิติวิทยาศาสตร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เนปาล ฟิลิปปินส์รวมถึงประเทศไทยเราด้วย
ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าไม่ต้องมาเถียงกันให้เปลืองน้ำลายให้มากความ เพราะเป็นหน้าทีที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว เนื้อหาสาระฉบับเต็มก็ไม่ต้องซื้อหาให้ยุ่งยากแต่อย่างใดเพราะมีให้ดาวน์โหลดฟรีอยู่แล้ว

ถามว่าเซ็นสัญญาและให้สัตยาบันแล้วไม่ปฏิบัติตามได้ไหม ก็ต้องตอบว่าได้เพราะเราเป็นรัฐเอกราชมีอธิปไตยเป็นของตนเองและคิดว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลกไม่คบหาสมาคมกับใครอีกแล้วในโลกนี้ ขนาดรัสเซียที่เคยยิ่งใหญ่เจอกรณียูเครนเข้าไปตอนนี้ยังสะบักสะบอม ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยเหมือนกัน

 


หมายเหตุ:

1) เนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่นำมาจาก voicefromthais.wordpress.com ซึ่งผมขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ
2) เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 1 เมษายน 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โฆษก ตร. เผยเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวคดีปาระเบิดศาลเพิ่ม

$
0
0

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยกำลังรวบรวบพยานหลักฐานขอหมายจับผู้ต้องหาผู้เกี่ยวข้องคดีปาระเบิดศาลเพิ่มเติม ส่วน ‘อเนก ซานฟราน’ ยังไม่สามารถดำเนินการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้

1 เม.ย.2558 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีลอบปาระเบิดศาลอาญา รัชดาภิเษก ว่า พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวบพยานหลักฐานขอหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติม คาดว่าในเร็ววันนี้จะออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องได้เพิ่มอีก 1 คน โดยนายธราเทพ มิตรอารักษ์ บุตรชายของนางสุภาพร มิตรอารักษ์ หรือเดียร์ 1 ในผู้ต้องหาในส่วนของผู้จ้างวาน เป็น 1 ในคนที่กำลังถูกพิจารณาขอออกหมายจับ

ส่วนความคืบหน้าในการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะนายมนูญ ชัยชนะ หรือ อเนก ซานฟราน และนายธณาวุฒิ อภินันท์ถาวร ผู้ต้องหาที่ยังอยู่ในต่างประเทศนั้น เนื่องจากคดีนี้ยังไม่ได้ส่งฟ้องจึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามได้มีการแปลหมายจับส่งให้ตำรวจสากล หรือ อินเตอร์โปลช่วยติดตามและเฝ้าระวังแล้ว

ที่มาสำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผู้เชี่ยวชาญยูเอ็นไม่ขำถ้อยคำ 'พล.อ.ประยุทธ์' คุกคามนักข่าว-ระบุผิดหวังและเสียใจ

$
0
0

กรณีถ้อยคำ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ล่าสุด 'เดวิด ไคย์' ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิเสรีภาพ ระบุว่าความคิดที่จะสังหารนักข่าวหรือปิดสื่อเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล แถมนำมาทำเป็นเรื่องตลกนั้นถือเป็นสิ่งน่าประณาม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกห่างจากถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อ และดำเนินการทันทีเพื่อให้มีพื้นที่แสดงความเห็น

เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก (ซ้าย) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. (ที่มา: OHCHR/เว็บไซต์รัฐบาลไทย/แฟ้มภาพ)

1 เม.ย. 2558 - มีรายงานว่า เดวิด ไคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งอยู่ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตัวออกห่างอย่างชัดเจนต่อถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อของผู้นำรัฐบาลไทย และดำเนินมาตรการโดยพลันเพื่ออนุญาตให้มีพื้นที่อภิปรายถกเถียงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (อ่านแถลงการณ์ในเว็บของ OHCHR)

ในใบแถลงข่าวยังระบุว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2557 กล่าวถึงนักข่าวที่วิพากวิจารณ์ตนหรือ "สร้างความแตกแยก" ว่าอาจถูกลงโทษประหารชีวิตและกล่าวว่าตน "มีอำนาจในการปิดสื่อทุกสื่อ จับ และ ยิงเป้า"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกกล่าวย้ำว่า "ผมขอประณามถ้อยคำดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่มีเงื่อนไข ในรอบปีที่ผ่านมามีการสังหารและใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวทั่วโลก การกล่าวถ้อยคำลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุด้วยว่า "เราได้รับรายงานจากทั่วทุกมุมโลกเกี่ยวกับการโจมตี สังหาร และจำคุกนักข่าวจำนวนมาก "การกระทำเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อปิดการวิพากษ์วิจารณ์และปฏิเสธมิให้พลเมืองเข้าถึงสิทธิในข้อมูลข่าวสาร"

นายเดวิดกล่าวว่า "นักข่าวทุกๆ ประเภททำหน้าที่สำคัญที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย" นั่นคือ "ฉายภาพให้เห็นว่ารัฐบาลได้ปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักนิติธรรม หรือมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ การข่มขู่คุกคามนักข่าวจึงเป็นการโจมตีสิทธิของสาธารณะที่จะได้รับรู้ข้อมูล"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติกล่าวด้วยว่า "ไม่มีข้อมูลใดที่บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำดังกล่าวอย่างเป็นเรื่องตลก แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวในลักษณะนั้น การที่ความคิดในการสังหารนักข่าวหรือการปิดสื่อเพียงเพราะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสามารถนำมาทำเป็นเรื่องตลกได้นั้นเป็นสิ่งที่น่าประณาม"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยควรดำเนินมาตรการเพื่อยกเลิกการบังคับใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) มาบังคับใช้ ซึ่งมาตรานี้จะให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการสั่งการใดๆ ซึ่งมีผลบังคับทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ

นายเดวิดกล่าวย้ำว่า "เสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่จะสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตอบโต้แก้แค้น ช่วยส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงสาธารณะ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่มีความบูรณาการและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวรวมถึงสิทธิที่ทุกคนจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐได้"

"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงต้องเคารพบทบาทหน้าที่ของนักข่าวเท่านั้น แต่ควรจะต้องประณามอย่างเปิดเผยต่อการข่มขู่คุกคาม การโจมตีนักข่าวในทุกๆ รูปแบบโดยผู้มีตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงสุด และรับประกันไม่ให้ใครสามารถถูกข่มขู่คุกคามได้" ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนกล่าวย้ำ

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ยังแสดงความกังวลต่อการจับกุมคุมขังประชาชนตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่มีความเห็นต่าง และยังกล่าวด้วยว่า "สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในช่วงเวลาที่มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต"

สำหรับนายเดวิด ไคย์ เป็นชาวสหรัฐอเมริกา ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

โดยผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเป็นส่วนหนึ่งของกลไกพิเศษ หรือ Special Procedure ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กลไกพิเศษซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งมีหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนประเด็นหนึ่งทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญของกลไกพิเศษดำเนินงานในฐานะอาสาสมัคร เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการทำงาน เป็นอิสระจากรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ และทำงานภายใต้ศักยภาพส่วนบุคคล

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เดวิด ไคย์

$
0
0

"เสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนที่จะสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตอบโต้แก้แค้น ช่วยส่งเสริมการอภิปรายถกเถียงสาธารณะ และเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างสังคมที่มีความบูรณาการและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวรวมถึงสิทธิที่ทุกคนจะแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐได้"

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงตัวออกห่างอย่างชัดเจนต่อถ้อยคำคุกคามเสรีภาพสื่อของผู้นำรัฐบาลไทย

แดนทอง บรีน มอง 'ลีกวนยู' ทำสิงคโปร์เป็นประเทศที่หยุดโต

$
0
0

ประธานที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนวิพากษ์ ลีกวนยู ไม่ใช่รัฐบุรุษ แต่เหมือนนักฉวยโอกาสที่หวาดระแวง สร้างชาติจากการเป็นตัวกลางการค้าอย่างเดียว ทำให้นอกจากเรื่องการค้าแล้วสิงคโปร์แทบจะไม่มีสิ่งยึดโยงด้านอื่นกับประชาคมโลกเลย


31 มี.ค. 2558 แดนทอง บรีน ประธานที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เขียนบทความเชิงวิเคราะห์และวิจารณ์ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ผู้ที่มักจะถูกมองว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ให้กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญเช่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามบรีนเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดที่ถูกเผยแพร่ต่อกันมาเป็นทอดๆ

"ความเข้าใจผิดที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อกันในทุกวันนี้คือการบอกว่าลีกวนยูเป็นคนสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจจากอากาศในโลกยุคหลังอาณานิคม" บรีนระบุในบทความ

แต่ที่สิงคโปร์เป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เพราะปาฏิหาริย์ บรีนระบุว่าความมั่งคั่งและการเติบโตของสิงคโปร์มาจากรายได้จากสงครามเกาหลีครั้งที่ 1 และสงครามเวียดนามจากการที่สิงคโปร์เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องบินทิ้งระเบิด B59 ซึ่งทำลายประเทศในเอเชียประเทศอื่น นอกจากสงครามแล้วในเวลาต่อมาสิงคโปร์ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างประเทศในเอเชียที่แบ่งแยกโดยอุดมการณ์ที่ต่างกัน เช่นกับกลุ่มประเทศพันธมิตรในยุคสงครามเย็นจะถูกห้ามค้าขายกับจีน สิงคโปร์ก็เสนอเป็นตัวกลางให้โดยเป็นผู้รับซื้อจากจีนแล้วขายต่อให้กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ใช้ความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้งในการค้าขายสินค้าที่ได้รับความนิยม

บรีนระบุว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ที่หลังการเสียชีวิตลีกวนยูจะได้รับการยกยอถึงแม้ว่าเขาจะสนับสนุนการปิดกั้นสื่อก็ตาม เพราะนโยบายของลีกวนยูเป็นไปตามจุดยืนของตะวันตกในช่วงสงครามเย็นรวมถึงนโยบายโลกาภิวัตน์ที่ตามมา บรีนมองว่าในขณะที่ลีกวนยูวางมาดให้น่าชื่นชมในเวทีโลกแต่ในความเป็นจริงลีกวนยูเหมือนคนที่เล่นละครหุ่นแสดงการยึดกุมอำนาจในรัฐเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ถ้าประวัติศาสตร์บิดผันไปสิงคโปร์อาจจะกลายเป็นเมืองท่าของสหพันธรัฐมาลายาซึ่งเป็นรัฐสืบทอดต่อจากอาณานิคมอังกฤษไปแล้ว

"ลีกวนยูเป็นนักเผด็จการ เขาวางแผนและชักใยนครรัฐของเขา เขาไม่เคยเป็นรัฐบุรุษเลย" บรีนระบุในบทความ

บรีนบรรยายลักษณะเมืองของสิงคโปร์ว่าเป็นพื้นที่ๆ ไม่มีเขตห่างไกลความเจริญทำให้รัฐไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนชนบทและแรงงานพึ่งพา สิงคโปร์เคยอาศัยแรงงานจากชาวมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนกับการศึกษาหรือการฝึกอบรมแรงงาน ต่อมาชาวมาเลเซียเริ่มอายุมากขึ้นหรือเริ่มล้มป่วยแล้วจึงพากันกลับบ้านในมาเลเซียโดยไม่กลายเป็นผู้ถ่วงเศรษฐกิจของสิงคโปร์ แรงงานส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ในตอนนี้จึงเป็นชาวจีนที่อพยพไปอยู่ในสิงคโปร์แทน

บรีนวิจารณ์ลีกวนยูว่าเขาไม่มีอะไรเลยที่จะเรียกได้ว่าเป็นรัฐบุรุษนอกจากท่าทีหยิ่งยโสในการทำให้สิงคโปร์เป็นจุดเชื่อมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ลีกวนยูกลับไม่เข้าใจพลวัตที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีนโยบายของสหรัฐฯ ครองงำอยู่ นโยบายของลีกวนยูช่วยสงครามเวียดนามเป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อผลประโยชน์ของตนโดยเกื้อหนุนการแทรกแซงของสหรัฐฯ ในขณะที่วางท่าทีแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในแง่นี้ชวนให้ตั้งคำถามต่อด้วยว่าเขาเป็นรัฐบุรุษของอาเซียนได้อย่างไรโดยที่ดำเนินนโยบายแบบปกป้องรัฐของตนเองแต่ยับยั้งภูมิภาคอาเซียนไม่ให้มีการพัฒนาอย่างแท้จริง

บรีนยังมองว่าสิ่งที่ลีกวนยูเสนอเรื่อง 'เมืองโลก' (Global City) ตามแนวคิดแบบโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่เพ้อฝันเพราะสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเกษตรเป็นหลัก การเชื่อตามลีกวนยูจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและทรัพยากรส่งออกสำคัญอย่างข้าว

บรีนระบุว่าการที่เขาไม่รู้สึกยกย่องลีกวนยูเป็นการส่วนตัวมาจากการที่คนรุ่นหนุ่มสาวเติบโตมาโดยไม่หลงเชื่อเรื่องของลีกวนยู คนหนุ่มสาวที่เรียนจบมหาวิทยาลัยมีอุดมคติถึงอนาคตที่ปฏิบัติได้จริงแทนการ 'เล่นพนัน' ทางเศรษฐกิจแบบในปัจจุบัน พอเห็นว่าพวกเขาไม่มีความหวังหรือเสรีภาพในดินแดนของลีกวนยูพวกคนเก่งๆ ฉลาดๆ ก็พากันอพยพออกจากประเทศ แม้ว่าจะมีบางส่วนที่เห็นด้วยและชื่นชมการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของลีกวนยูโดยไม่ตั้งคำถาม ขณะที่คนจำนวนมากที่ต่อต้านถูกทำให้กลายเป็นชายขอบ บีบให้อยู่ภายใต้อำนาจนำของพรรคกิจประชาชน (PAP) ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นที่ๆ น่าเบื่อที่สุดในโลก

ในประวัติศาสตร์มาเลเซีย-สิงคโปร์ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการพยายามรวบรวมเป็นสหพันธรัฐมาลายาแต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติทำให้มีการแยกประเทศ แต่บรีนมองว่าแทนที่สิงคโปร์จะพัฒนาร่วมกันแบบสหพันธรัฐได้ลีกวนยูกลับ "มีความทะเยอทะยานแบบเจงกิสข่าน" "มีแผนความมั่นคงแบบกองกำลังที่แยกอยู่โดดเดี่ยวอย่างอิสราเอล" รวมถึง "การทูตแบบหวาดระแวง" โดยไม่เข้าร่วม ไม่ช่วยเหลือหรือรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ

บรีนระบุว่าการเมืองในสิงคโปร์ไม่เคยเติบโตเลย ลีกวนยูอาศัยแต่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาทำก็เต็มไปด้วยการชักใย การเป็นพันธมิตรในเวลาสั้นๆ และความระแวงว่าจะมีการท้าทายอำนาจการนำของเขาทำให้เขาไม่เชื่อใจและขับไล่พันธมิตรเดิมออกไป เขาไม่เชื่อใจใครเลยได้แต่สืบทอดอำนาจไปให้ลูกตัวเองเหมือนคนทรยศที่ไร้ความสามารถในการรวมกลุ่มผู้นำให้ดีได้ แล้วตอนนี้สิงคโปร์ที่ไม่มีลีกวนยูก็มีผู้สืบทอดที่ไม่มีความสามารถในการประสานงานเลย

"สิงคโปร์เองในตอนนี้เปรียบเสมือนคนแคระหยุดโตในแถบทวีปเอเชีย โดยไม่มีความเคารพผูกพันธ์และความเข้าใจร่วมกันที่จะเชื่อมโยงประเทศอื่นในโลกได้" บรีนระบุในบทความ

บทความของบรีนประเมินว่าสิงคโปร์กำลังเผชิญปัญหาจากการขาดทรัพยากรความมั่นคงเพื่อรับมือกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งลีกวนยูยังทำให้เด็กรุ่นใหม่ขาดวิสัยทัศน์มีแต่การสอนให้ฉวยโอกาสและเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นนักการขายที่คอยชักใยทางเศรษฐกิจ

"สิงคโปร์จะสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ให้กับผู้ก่อตั้งประเทศหรือไม่ จะมีถนนหนทาง มหาวิทยาลัย ห้องแล็บอวกาศชื่อลีกวนยูผุดเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นไปได้ยาก สิ่งที่จะมีอยู่คือความฝันอันว่างเปล่าและการตื่นจากภาพลวงตาโดยมีจินตภาพรางๆ ของคนแคระทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ เขาเป็นคนฉลาดอย่างไม่เต็มที่แต่ไม่เคยมีสติปัญญา ไม่มีความสามารถในการรู้สึกร่วมหรือเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง" บรีนระบุในบทความ

บรีนยังได้เล่าถึงเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของลีกวนยูในสายตาของเขา คือตอนที่ลีกวนยูไปอัดคำปราศรัยก่อนวันชาติสิงคโปร์ 1 วัน เขาบอกให้ผู้อำนวยการของสตูดิโอแก้ปัญหาแมลงวันที่บินรบกวนสมาธิเขาแต่ผู้อำนวยการสตูดิโอก็บอกว่าเขาช่วยอะไรไม่ได้ ลีกวนยูจึงสั่งให้ทุกคนเปิดประตูภายในให้หมดแล้วหาหนังสือพิมพ์มาให้เขาหนึ่งฉบับ หลังจากเปิดประตูทุกบานแมลงวันก็บินเข้าไปในห้องน้ำ ลีกวนยูถือหนังสือพิมพ์ตามเข้าไปตบแมลงวันด้วยม้วนหนังสือพิมพ์จากนั้นจึงเอาแมลงวันออกมาวางบนโต๊ะผู้อำนวยการแล้วยิ้มเยาะ จากนั้นเขาก็สั่งให้ทีมถ่ายทำไปที่บ้านของเขาในตอนเย็นเพื่อถ่ายทำที่นั่นแทน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ปี 57

$
0
0

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ประจำปี 2557 ระบุมีการใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ หลังจากรัฐบาลหันมาใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรมและการก่อการร้าย โดยจีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้  รองลงมาคือ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และสหรัฐฯ

·       รัฐได้ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรม การก่อการร้าย และจัดการกับความไม่สงบในประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการที่มีข้อบกพร่อง
·       จำนวนโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอียิปต์และไนจีเรีย โดยทั่วโลกมีการใช้โทษประหารชีวิต 2,466 ครั้ง เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2556
·       จากข้อมูลที่บันทึกได้ มีการประหารชีวิต 607 ครั้ง ลดลงเกือบ 22% เมื่อเทียบกับปี 2556 (ไม่นับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งมากกว่าจำนวนการประหารชีวิตทั้งโลกรวมกัน)
·       จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตยังอยู่ที่ 22 ประเทศ เท่ากับปี 2556


ปี 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานสถานการณ์และโทษประหารชีวิตทั่วโลก ระบุมีจำนวนประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตมากอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรือเป็นสิ่งที่คิด ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย อาชญากรรม และการก่อความไม่สงบในประเทศ
           
จำนวนโทษประหารชีวิตที่มีการบันทึกข้อมูลได้ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเกือบ 500 ครั้งเมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นอย่างมากในอียิปต์และไนจีเรีย รวมทั้งการสั่งลงโทษประหารชีวิตคนจำนวนมากในทั้งสองประเทศในบริบทของการก่อความไม่สงบในประเทศและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
           
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า รัฐบาลที่ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมกำลังหลอกตัวเอง ไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่าการประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยในการป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษชนิดอื่น 

“แนวโน้มที่มืดมนของการใช้โทษประหารชีวิตของรัฐบาลทั้งๆ ที่ไม่ได้ผล ในการรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่เป็นจริงหรือที่คิดเอง และเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นแนวโน้มที่ชัดเจนในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าละอายที่รัฐจำนวนมากทั่วโลกกำลังเอาชีวิตประชาชนมาล้อเล่น ทั้งนี้โดยการสั่งประหารชีวิตคนเพราะ “การก่อการร้าย” หรือการปราบปรามการก่อความไม่สงบโดยเชื่อว่าเป็นมาตรการในการป้องปรามทั้ง ๆ ที่เป็นการเข้าใจผิด”
           
แต่มีข่าวดีในปี 2557 เช่นกัน เนื่องจากจำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ หลายประเทศยังหันมาใช้แนวทางเชิงบวกเพื่อมุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต

ประเทศที่ประหารชีวิตมากสุด
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกรวมกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีการประหารชีวิตหลายพันคน และการลงโทษประหารชีวิตในจีนทุกปี แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้
           
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เป็นห้าอันดับแรกของประเทศที่มีการประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากในปี 2557 ได้แก่ อิหร่าน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 289 ครั้ง แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 454 ครั้งหรือกว่านั้น แต่ทางการไม่ได้ยอมรับ) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 90 ครั้ง) อิรัก (อย่างน้อย 61 ครั้ง) และสหรัฐฯ (35 ครั้ง)
           
ยกเว้นประเทศจีน มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 607 ครั้งในปี 2557 เปรียบเทียบกับ 778 ครั้งในปี 2556 ลดลงกว่า 20%

มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตใน 22 ประเทศในปี 2557 เท่ากับจำนวนประเทศในปีก่อนหน้านี้ ถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อนในปี 2538 ซึ่งในขณะนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นได้ 42 ประเทศ ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในระดับโลกของรัฐต่างๆ ที่ออกห่างจากโทษประหารชีวิต
           
“ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตกำลังกลายเป็นอดีต มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตประชาชน ซึ่งพวกเขาต้องส่องกระจกทบทวนอย่างจริงจัง และถามตัวเองว่ายังคงต้องการจะละเมิดสิทธิการมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ หรือจะเข้าร่วมกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ละทิ้งการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดเช่นนี้” ซาลิล เช็ตติกล่าว

โทษประหารชีวิตประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 31 มกราคม 2558 มีนักโทษประหารรวมทุกประเภทจำนวน 649 คน ชาย 597 คน หญิง 52 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะสำหรับเมืองไทย ดังนี้

·     ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด

·     เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต

·     ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน

$
0
0

1 เม.ย.2558 สมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 106.33 ลดลงร้อยละ 0.57 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปีก่อน ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี 6 เดือน จากเดือนกันยายน 2552 ที่ติดลบร้อยละ 1 สาเหตุหลักมาจากหมวดเชื้อเพลิงลดลงมากถึงร้อยละ 19.49 ซึ่งหมวดเชื้อเพลิงมีสัดส่วนในการคำนวณดัชนีฯ ถึงร้อยละ 10 จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปีนี้ แม้จะติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนแรก และมีแนวโน้มจะยังคงติดลบต่อไตรมาส 2 แต่เชื่อว่าไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะยังมีเงินเฟ้อระดับอ่อน ๆ ราคาสินค้ายังปรับเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังคงมีการใช้จ่าย ผู้ผลิตสินค้ายังผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงปรับขึ้น แต่ไม่เร็วเท่ากับที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6-1.3 ภายใต้สมมติฐาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3-4 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เตรียมประเมินทิศทางหลัง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คาดส่งออกโตร้อยละ 0

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยจะมีการประเมินตัวเลขส่งออกตลอดปี 2558 เติบโตเพียงร้อยละ 0 แตกต่างจากกระทรวงพาณิชย์ โดยภายในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์และทิศทางการส่งออก การดูแลประเทศคู่ค้าทั้งตลาดเก่าและใหม่ ดังนั้น จึงขอประชุมหารือทบทวนตัวเลขส่งออกทั้งหมดก่อนจะแถลงประเมินสถานการณ์ส่งออกปีนี้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางการส่งออกโดยเฉพาะภาพรวมเศรษฐกิจโลกหลายตลาดที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) จีน ญี่ปุ่น อินเดีย แม้การส่งออกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแต่ละประเทศจะติดลบ แต่ในส่วนของอียูหรือสหรัฐภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดเหล่านี้มีสัญญาณดีขึ้น จึงอยากให้หลายฝ่ายอย่าพึ่งวิตกกังวลว่าการส่งออกปีนี้จะไม่ขยายตัว เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังเชื่อว่าการส่งออกไตรมาสแรกทุกปีจะชะลอตัวลงหรือติดลบ และจะดีขึ้นไตรมาส 2 และ 3 รวมถึงไตรมาส 4 ทำให้กระทรวงพาณิชย์จะต้องกำหนดแนวทางและปรับกลยุทธ์โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและการหาตลาด

ลดราคาสินค้ารับเปิดเทอมสูงสุดถึงร้อยละ 70-80

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังหารือผู้ผลิตสินค้าและผู้แทนห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ว่า เพื่อขอความร่วมมือการจัดงาน “เทใจ คืนสุข ต้อนรับเปิดเทอม” ระหว่างวันที่ 30เมษา ถึง 10 พฤษภาคมนี้ เพื่อจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องเขียน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพประชาชน โดยเป็นการลดราคาสูงสุดร้อยละ 70-80 โดยจะจัดพร้อมกันทั่วประเทศ

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้า ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นเรื่องขอปรับราคาสินค้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้ผลิตยังไม่กล้าปรับขึ้นราคา รวมทั้งสินคัาเกษตร เช่น ไข่ไก่ เนื้อหมู ราคาก็ปรับลดลง พร้อมอยากให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล เพราะยังไม่มีสินค้ารายการใด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้นราคา ซึ่งการลดราคาครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ได้ระบายสินค้าออกสู่ตลาด ขณะที่ผู้บริโภคจะได้ลดค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมที่จะต้องมีการจับจ่ายสูง

คณะกรรมการปฏิรูปภาษี ดึง สปช.เข้าร่วมเป็นกรรมการ

สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษี   เพื่อเดินหน้าศึกษาแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง โดยที่ประชุมได้เสนอแนะและข้อท้วงติงในหลายประเด็น เช่น อัตราการจัดเก็บภาษี ทำให้ต้องมีการหารืออีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้  โดยต้องนำร่าง พ.ร.บ. ที่ดินและส่ิงปลูกสร้างรับฟังความเห็นชอบให้นักวิชาการ และ ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจากนี้จะประชุมคณะกรรมการปฏิรูปภาษีเป็นประจำทุกเดือน  และคาดว่าแนวทางการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังจะมีความชีดเจนในอีก 4 เดือนข้างหน้า

ลวรณ แสงสนิท เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปภาษีกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประขุมในวันนี้มีการหารือใน 3 ประเด็น คือ การร่างแผนปฏิรูปภาษีทั้งระบบของประเทศ โดยนำข้อเสนอของกระทรวงการคลัง และ ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปในการจัดทำแผนปฏิรูปภาษี  ประเด็นต่อมา เป็นการหารือแนวทางจูงใจเพื่อให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)  ที่อยู่นอกระบบฐานภาษี เข้าสู่ระบบมากขึ้น ด้วยการหาแนวทางด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นผ่านการลงทะเบียน ตามนโยบายของภาครัฐ เช่น การให้ประชาชนแสดงรายได้และนำข้อมูลใส่ไว้ในบัตรประชาชน

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง กล่าวว่า กล่าวว่า ที่ประชุมได้เชิญนายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจฯ สปช. เข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อนำเข้าเสนอเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูประบบภาษี  และการแยกระบบการจัดเก็บภาษีออกเป็น 2 ส่วนคือ อัตราภาษีระดับชาติ และการจัดเก็บภาษีระดับท้องถิ่น ด้วยการเพิ่มบทบาทองค์กรบริหารท้องถิ่น เพื่อให้มีอำนาจในการ จัดเก็บธรรมเนียม หรือภาษีสำหรับท้องถิ่น เพื่อให้มีรายได้พัฒนาท้องถิ่นมาได้มากขึ้น  เช่น รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อไปรัฐบาลจะได้จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นลดลง เพื่อลดความรู้สึกว่าจ่ายภาษีให้รัฐบาลกลาง ประชาชนในชุมชนจะได้ติดตามผลการบริหารขององค์กรท้องถิ่นในการใช้งบประมาณพัฒนาถนน สะพาน ได้ใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อได้รับฟังความเห็นจากส่วนต่างๆ จะทำให้ขั้นตอนการออกกฎหมายที่ดินและส่ิงปลูกสร้างมีความชัดเจนมากขึ้น

หุ้นพุ่ง 19.64 จุด

ตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 1,525.58 จุด เพิ่มขึ้น 19.64 จุด หรือร้อยละ 1.30 มูลค่าการซื้อขาย 38,003.45 ล้านบาทการซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยแตะจุดสูงสุดของวันที่ระดับ 1,525.63 จุด ส่วนจุดต่ำสุดของวันอยู่ที่ 1,502.74 จุด

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่บ้านเอธิโอเปียร้องสภาทนายฯ ถูกนายจ้างทำร้าย-จนท.อนามัยโลกรู้เห็น

$
0
0

หญิงชาวเอธิโอเปีย วัย 25 ปี ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หลังตกลงเดินทางเข้ามาทำงานบ้านกับครอบครัวนายจ้างชาวเอธิโอเปียซึ่งทำงานในองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ประจำประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปี 8 เดือน ถูกยึดพาสปอร์ต กักขัง ทำร้ายร่างกายและจิตใจ ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงทาส ไม่จ่ายค่าแรงตามสัญญาก่อนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านและเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีไว้ที่สถานีตำรวจภูธร ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยความช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรีและสภาทนายความ

1 เมษายน 2558 ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน เขตราชเทวี นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรี กรณี เอนเน็ต (นามสมมติ) หญิงชาวเอธิโอเปีย วัย 25 ปี ซึ่งได้เดินทางเข้ามาทำงานบ้านภายในบ้านพักย่านปากเกร็ดกับนายจ้างชาวเอธิโอเปียซึ่งทำงานอยู่ในองค์การอนามัยโลกหรือ WHO (World Health Organization) ประจำประเทศไทย ว่า เอนเน็ตเดินทางเข้ามายังประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2556 ผ่านการชักชวนจากนายหน้าชาวเอธิโอเปียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่รู้จักกับภรรยานายจ้างชาวเอธิโอเปียคนดังกล่าวและให้สัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าแรงในการทำงานบ้าน เป็นจำนวน 2,000 เบอร์/เดือน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,000 บาท) และให้หยุดวันเสาร์-อาทิตย์แต่เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยกลับถูกยึดพาสปอร์ตและบังคับให้ทำงานตั้งแต่เวลา 05.00 น.-24.00 น. ของทุกวันโดยไม่มีวันหยุดและไม่ได้รับค่าแรงเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน

เอนเน็ตแจ้งว่า นายจ้างอ้างว่าจ่ายเงินผ่านนายหน้าเป็นจำนวน 5,000 เบอร์ (ประมาณ 8,000 บาท) ให้แก่ลุงของเธอเพียงครั้งเดียวและตลอดการเดินทางภรรยานายจ้างเป็นผู้ถือพาสปอร์ตและออกหนังสือเดินทางด้วยเอกสิทธิ์พิเศษทางการฑูตในฐานะเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ

เอนเน็ต แจ้งว่า เมื่อมาถึงประเทศไทย ภรรยาของนายจ้างซึ่งเป็นชาวเอธิโอเปียเช่นเดียวกันได้ทำการยึดพาสปอร์ต เมื่อทวงถาม กลับมีการบ่ายเบี่ยง ข่มขู่ รวมทั้งกักขังไม่ให้ออกจากบ้าน ภรรยาของนายจ้างคนดังกล่าวมักจะด่าว่าและทำร้ายร่างกายตนต่อหน้าลูกและสามีหรือใช้ถ้อยคำเหยียดหยามต่อหน้าแขกที่มาเยี่ยมบ้าน รวมทั้งให้นอนในห้องร่วมกับสุนัขเลี้ยงภายในบ้าน ไม่ให้ออกไปนอกบ้านและให้กินข้าวเปล่าตลอดระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน โดยภรรยาของนายจ้างจะเป็นผู้ลงมือทำร้ายร่างกายเสียเป็นส่วนใหญ่

จนกระทั่ง วันที่ 8 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เอนเน็ตถูกทำร้ายและขับไล่ก่อนได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน ต่อมาจึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในวันที่ 18 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

ทางด้าน กรวไล เทพพันธกุลงาม ทนายความจากสภาทนายความ เล่าว่า จากข้อมูลที่ได้รับมา เอนเน็ตเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในประเทศเอธิโอเปียที่รัฐบาลเอธิโอเปียกำลังปราบปราม ครอบครัวของเอนเน็ตเสียชีวิตทั้งหมด นอกจากนี้ หญิงสาวยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำร้าย มูลเหตุจากความรุนแรงนี้เป็นแรงผลักดันให้เอนเน็ตหาวิธีเดินทางออกนอกประเทศจนกระทั่งไปเจอกับนายหน้าคนดังกล่าวและชักนำให้รู้จักกับภรรยาของนายจ้างชาวเอธิโอเปีย ซึ่งในทางคดี สภาทนายความและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสตรีได้แจ้งความเพื่อเอาผิดกับนายจ้างชาวเอธิโอเปีย 4 ข้อกล่าวหา คือ กักขังหน่วงเหนี่ยว กระทำการใดๆ ให้ขาดเสรีภาพทางร่างกาย เอาคนลงเป็นทาส ค้ามนุษย์และยักยอกทรัพย์

ต่อเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ให้ความเห็นว่า กรณีนี้เข้าข่ายการค้ามนุษย์เพราะมีการกักขังเอาตัวคนลงเป็นทาส ซึ่งจะได้รับสิทธิคุ้มครองให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ส่วนในระยะยาวอาจดำเนินการเพื่อขอเป็นผู้ลี้ภัย ถึงแม้ว่า ตามข้อมูลที่ได้รับมานายจ้างชาวเอธิโอเปียผู้เป็นสามีจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำร้ายด้วยตนเองแต่เมื่อยินยอมให้เกิดเหตุความรุนแรงเช่นนี้ขึ้นก็เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายของไทย แม้ว่า นายจ้างจะเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ภายใต้สังกัดสหประชาชาติหรือ UN ก็ต้องมีการตรวจสอบเพราะเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศจะต้องได้รับการคัดกรองประวัติมาเป็นอย่างดีและมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องต่อการทำงานองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นส่วนตนของนายจ้างชาวเอธิโอเปียและภรรยาเท่านั้น ดังนั้น นายสุรพงษ์ เชื่อว่า UN จะไม่แทรกแซงการดำเนินการทางคดี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเร่งรัดสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด ย้อนรอยโมเดลทุ่งยางแดง

$
0
0

ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี กับ “ผู้ใหญ่บ้านไข่” ชุมชนสุดท้ายปลายสุดของตำบลพิเทน ที่นี่เป็นชุมชนคนไทยพุทธที่ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน คนในพื้นที่จะรู้จักบ้านโต๊ะชูดพร้อมๆ กับรับรู้ว่าที่นี่เป็นหมู่บ้านที่มีคนไทยพุทธเป็นผู้ใหญ่บ้าน และเป็นพื้นที่ที่มีความสงบสุขมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดินหน้าหาข้อมูลกรณีปิดล้อมปะทะ 4 ศพ

ย้อนอดีตบ้านโต๊ะชูดกับผู้ใหญ่ไข่

นายสมควร ดำแก้ว อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่ทุกคนรู้จักในนาม “ผู้ใหญ่ไข่” ในวัย 70 ปี เล่าว่า ตนเกิดที่บ้านโต๊ะชูดแห่งนี้ โดยพ่อเป็นคนบ้านควน อ.ปะนาเระ บ้านเดิมของพ่ออยู่บริเวณหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.ปาลัส ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดแวะพักรถที่สำคัญของพื้นที่ สมัยนั้นการเดินทางจากโต๊ะชูดไปปะนาเระมีเพียงทางช้างเดินตามถนนสายโต๊ะชูด-เตราะปลิงปัจจุบัน สมัยเด็ก การเดินทางไปตลาดนัดปาลัสวันพุธเพื่อซื้อข้าวของ ซื้อปลาต้องขี่ช้างไปเท่านั้น ต้องเตรียมข้าวห่อออกจากบ้านแต่เช้า แวะกินข้าวห่อบนสันเขาเตราะปลิงก่อนเดินทางลงไปตลาด

ผู้ใหญ่ไข่บอกว่าตนมาเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2514 เมื่ออายุ 26 ปี หลังจากกลับจากเกณฑ์ทหาร ปะจูมะอีซอกับเปาะเตะเลาะ ท่าธง ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในสมัยนั้นตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ในสมัยนั้นการปกครองยังขึ้นกับอำเภอมายอ หลังจากนั้นอีกหลายปีกว่าจะมีการตั้งเป็นกิ่ง อ.ทุ่งยางแดง โดยในช่วงนั้นชาวบ้านที่มาอยู่โต๊ะชูดส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างถิ่นมาจับจองพื้นที่ทำกินบริเวณที่เป็นบ้านโต๊ะชูดปัจจุบัน

ในขณะนั้นมีคนไทยพุทธมาอาศัยอยู่ที่นี่ 28 ครัวเรือน อยู่ร่วมกันกับคนมลายูมุสลิมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่ที่นี่ไปทางบ้านพิเทนลงไป กลุ่มคนไทยพุทธที่นี่จะพูดภาษาไทยใต้ ในขณะที่คนมลายูจะพูดภาษาไทยพิเทน แต่ทุกคนที่นี่พูดภาษามลายูได้เป็นอย่างดีและอยู่ด้วยกันเหมือนญาติพี่น้อง

ผู้ใหญ่ไข่เล่าว่า ตั้งแต่ตนเป็นผู้ใหญ่บ้านมา 34 ปี เกษียณ ปี 2548 บ้านโต๊ะชูดไม่เคยมีความขัดแย้งระหว่างคนไทยพุทธกับคนมุสลิม ต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสงบ

“ย้อนกลับไปสมัยที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่รุ่น มะอีซอ หรือครูเปาะสู หรือช่วงที่เซ็ง ท่าน้ำ มีอิทธิพล ก็ไม่เคยมีปัญหาความขัดแย้งหรือความรุนแรงเกิดขึ้นที่บ้านโต๊ะชูดเลย”

หรือช่วงเวลาหลังปี 2547 ที่เกิดความรุนแรงรอบใหม่ ที่บ้านโต๊ะชูดมีเพียงเหตุการณ์ลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนครั้งหนึ่ง แต่ไม่มีความเสียหายอะไรมาก ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ถึงแม้ว่าตนจะเกษียณจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านมาแล้วแต่ก็ยังมีคนเคารพนับถือ แวะเวียนมาที่บ้านตลอดเวลา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ผู้ใหญ่ไข่บอกว่า ตนรู้จักกับนายซัดดัม ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นอย่างดี สนิทสนมเหมือนลูกหลาน โดยเขาจะมารับซื้อขี้ยางของครอบครัวเป็นประจำ บ่อยครั้งที่ตนเคยตักเตือนเรื่องที่นายซัดดัมติดยาเสพติด บางครั้งนายซัดดัมถึงกับร้องไห้เวลาที่เขาตักเตือน แต่ก็ยังเลิกไม่ได้เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ยาเสพติด

ส่วนเรื่องที่นายซัดดัมเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบนั้น ผู้ใหญ่ไข่บอกว่าเขาไม่เชื่อเด็ดขาด โดยบอกว่าเด็กพวกนี้คงคิดเรื่องแบบนั้นไม่เป็นด้วยซ้ำไป

ทุกวันนี้ผู้ใหญ่ไข่บอกว่าที่นี่มีคนไทยพุทธอยู่ 14 ครัวเรือน ลูกๆ ของเขาก็อยู่ที่นี่ มีหลานหลายคนที่อยู่ด้วยกัน ที่หมู่บ้านไม่มีวัด แต่ก็มีศาลาสำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเพียงพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย พิธีสวดศพโดยนิมนต์พระสงฆ์จากที่อื่นมาทำพิธี

ย้อนรอยเหตุการณ์โต๊ะชูด ย้อนแย้งโมเดลทุ่งบางแดง

เวลา 9 โมงเช้าของวันสิ้นเดือนมีนาคม ชาวบ้านจำนวนหนึ่งรวมตัวกันที่สำนักงาน อบต.พิเทน เนื่องจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ปะทะที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง นัดหมายกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์ปะทะและได้รับการปล่อยตัวมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกันที่นี่ ขณะเดียวกันชาวบ้านที่เป็นญาติๆ เพื่อนบ้าน ต่างมารวมตัวกันที่ อบต.พิเทน อย่างล้นหลาม โดยคณะกรรมการที่เดินทางมาครั้งนี้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเป็นประธานและประชุมสอบถามผู้ที่ได้รับเชิญมาที่ห้องประชุมชั้น 2 ของสำนักงาน อบต.

กลุ่มชาวบ้านที่มายังคงสอบถามสารทุกข์ของกันและกันอย่างต่อเนื่องด้วยใบหน้าที่ยังหมองเศร้า ไม่ปรากฏรอยยิ้มให้เห็นมากนักแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของ อบต.ให้การต้อนรับอย่างดีและพยายามสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น บิดาของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้สองคนยังคงร้องไห้น้ำตานองหน้าเมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่ต้องสูญเสียลูกชาย ในที่เดียวกันมีนักข่าวทั้งที่เป็นสตริงเกอร์จากพื้นที่และนักข่าวโทรทัศน์จากกรุงเทพส่วนหนึ่งยังคงเดินทางมาที่นี่เพื่อเกาะติดสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในห้องประชุมแต่อย่างใด

นายซาการียา สาแม็ง บิดาของนาย คอลิด สาแม็ง นักศึกษามหาวิทยาลัยฟาตอนีที่เสียชีวิตบอกว่าเขาต้องการความเป็นธรรมให้กับลูกชายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะเรื่องที่ลูกชายมีอาวุธปืนในการปะทะกับเจ้าหน้าที่จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต โดยเล่าว่าในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 15.30 น. ลูกชายได้ไปฉีดยาที่โรงพยาบาลทุ่งยางแดง เนื่องจากปวดเมื่อยจากที่ต้องช่วยครอบครัวขนข้าวเปลือกในนามาสองวันแล้ว กลับจากโรงพยาบาลได้เข้ามาละหมาดที่บ้านและทำธุระหลายอย่างก่อนออกจากบ้านในช่วงเย็นไปกับเพื่อน ซึ่งเมื่อดูช่วงเวลาที่เกิดเหตุแล้วไม่สมเหตุสมผลที่จะไปก่อเหตุใหญ่ขนาดนั้นได้ ในขณะที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์นี้ที่เดินทางมาตามนัดหมายของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างอยู่ในอารมณ์เคร่งเครียดกันทุกคน

ชาวบ้านจากหมู่บ้านโต๊ะชูดหลายคนต่างเล่าเหตุการณ์ในมุมที่ตนเองรับรู้ โดยบอกว่าที่บ้านดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของชาวบ้านว่าเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นโดยเฉพาะเป็นที่ต้มน้ำกระท่อมกัน โดยหลังบ้านมีกระต๊อบหลังเล็ก 2 หลังไว้เป็นที่พักผ่อน มีโต๊ะไม้ที่ทำจากรากไม้ขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลังบ้าน บิดานายซัดดัมที่เสียชีวิตเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวโดยที่นายซัดดัมเองก็เป็นช่างไม้ที่ทำงานกับพ่อในงานรับเหมาสร้างบ้านหลังนี้ ซึ่งในวันดังกล่าวได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านใกล้เคียงมาเพื่อยกเสาไม้ที่เป็นไม้เก่าขนาดใหญ่ประมาณ 10 คน

นายอูเซ็น ตอคอ อายุ 60 ปีที่ถูกควบคุมตัวเล่าว่าตนเลี้ยงแพะอยู่ไม่ไกลจากที่นั่น และมักจะแวะมาดูกิจกรรมสร้างบ้านและยกเสาไม้ ซึ่งในวันนั้นตนก็เดินไปดูกลุ่มคนที่รวมตัวอยู่ที่นั่น แต่ไม่ได้ไปช่วยยกเสาเพราะไม่มีแรง เมื่อไปถึงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมจึงต้องถูกควบคุมตัวไปด้วย

ด้านนายฮาราบี แวฮาโละ บอกว่าเขากับเพื่อน 6 คนมาจากบ้านปากูโดยมาถึงที่บ้านนี้ประมาณสามโมงครึ่ง เพื่อเจรจาเรื่องจ่ายค่าประกันรถ เนื่องจากตนเป็นคนค้ำประกันรถซึ่งเจ้าของรถขับรถชนเสียหายยับทั้งคัน เมื่อได้เงินจากประกันแล้วไม่จ่ายค่าเสียหาย เจรจามาหลายครั้งยังไม่สำเร็จ ครั้งนี้นัดกันมาเจรจาที่นี่ โดยนั่งคุยอยู่ชั้นบนของบ้าน

“ช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้นกลุ่มของตนได้พูดคุยกันเสร็จแล้วกำลังจะเตรียมตัวกลับเมื่อมีเจ้าหน้าที่มาปิดล้อม ขณะที่หนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มต้มน้ำกระท่อมที่อยู่หลังบ้านบอกว่ากลุ่มของพวกเขาที่ไม่หนีไปในการปิดล้อมครั้งนี้เพราะวิ่งหนีไม่ทัน เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาปิดล้อมทุกด้านทำให้ต้องวิ่งเข้าไปในบ้านอย่างเดียว ส่วนคนที่หนีไปและเสียชีวิตนั้นตนไม่ทันเห็นว่าวิ่งไปทางไหนเวลาไหน” นายฮาราบี กล่าว

เรื่องเล่ายังคงพรั่งพรูพร้อมๆ กับการสอบถามความเป็นไปเพราะยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ดูเหมือนว่าทุกคนยังคงมึนงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านหลายคนบอกว่าช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง กรีดยางไม่ค่อยได้อยู่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ในหมู่บ้านทำให้ไม่กล้าออกไปกรีดยาง ทำให้ขาดรายได้ ดูเหมือนว่าสิ่งที่ทุกคนรอคอยคือเมื่อไรที่เรื่องร้ายนี้จะผ่านพ้นไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ ยูเอ็น แนะพิจารณาข้อเสนอควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการใหม่

$
0
0

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะหากไทยพิจารณาควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ ใหม่ ย้ำหากจะควบรวม ต้องสอดคล้องหลักการปารีส คงอำนาจเรียกเอกสาร-บุคคลมาให้ถ้อยคำ

1 เม.ย. 2558  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำความเห็นทางเทคนิคเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 โดยตอนหนึ่ง มีคำแนะนำให้ กมธ.ยกร่างฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) พิจารณาข้อเสนอในการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ อีกครั้ง โดยหากตัดสินใจว่าจะคง กสม.ไว้ โดยไม่รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ กสม. ด้วยการให้มีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการเงินอย่างมีอิสระ

แต่หากตัดสินใจควบรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คณะกรรมการใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นสถาบันสิทธิมนุษยแห่งชาติ ที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักการปารีส รวมทั้งมีบทบัญญัติชัดเจนระบุรายละเอียดว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการชุดใหม่ จะทำภารกิจที่ต่างจากเดิมได้อย่างไร รวมถึงต้องคงอำนาจทั้งหมดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550  และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเรียกเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ

ทั้งนี้ ระบุด้วยว่าไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขอให้จัดการสรรหาใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการปารีสสำหรับหน่วยงานที่เป็นอิสระ รวมถึงให้มีตัวแทนที่มีความหลากหลายโดยรวมถึงภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียสำคัญๆ กลุ่มอื่นโดยคณะกรรมการคัดเลือก กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนในขั้นตอนยื่นใบสมัครคัดกรอง และคัดเลือก และจัดทำเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีรายละเอียดในการประเมินความสามารถของผู้สมัครที่มีสิทธิเพื่อให้มีการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยพิจารณาประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือของผู้สมัครในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงประกันว่า กสม.จะเป็นตัวแทนของประชากรจากสังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ และภูมิภาคที่มีความหลากหลายในประเทศไทย

และก่อนที่การยกร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น ขอให้หารือกับสมาชิกภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดจนปัจเจกชน หรือชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติอย่างกว้างขวางด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกฯยกเลิกกฎอัยการศึก ขณะที่หัวหน้าคสช.ใช้ ม.44 ออก 14 คำสั่งเหล็กแทน

$
0
0

ตั้งนายทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยให้นายทหารป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิด ม.112 ความมั่นคงของรัฐ กฎหมายว่าด้วยอาวุธ ฝืนคำสั่ง คสช. ฯลฯ ให้เกิดผลโดยเร็ว โดยให้ถือเป็นพนักงานสอบสวน

1 เม.ย.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศ เลิกใช้กฎอัยการศึก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกใช้กฎอัยการศึกตามประกาศทั้งสองฉบับ คือประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พ.ค.2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค.2557 ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ 19 พ.ค.2557

และในวันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยระบุว่าเนื่องจากมีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรแล้ว สมควรมีมาตรการในการดําเนินการกับการกระทําอันเป็นการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ การฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการกระทําความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งคุกคามความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทําดังกล่าวให้ลดน้อยหรือหมดสิ้นลงโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุจริตชนและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป

โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในคําสั่งนี้

“เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ขึ้นไป ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้

“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” หมายความว่า ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรี ลงมา ซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้

ข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิด ดังต่อไปนี้ ให้เกิดผลโดยเร็ว

(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 107 ถึงมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(2) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(3) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด สําหรับใช้เฉพาะแต่ในการสงคราม

(4) ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ข้อ 4 ในการดําเนินการตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวต่อเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามข้อ 3

(2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการต่อไป

(3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวนในความผิดตามข้อ 3 ในการเข้าร่วมดังกล่าวให้ถือว่าเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

(4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทําความผิดตามข้อ 3 หลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สิน ซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดตามข้อ 3 หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่า เนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอา หมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม

(5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบตาม (4)

(6) กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

ข้อ 5 ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนให้ยุติลงโดยเร็ว หรือป้องกันมิให้สถานการณ์รุนแรงขึ้นให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการออกคําสั่งดังกล่าวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจะกําหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามคําสั่งด้วยก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะกําหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยก็ได้

ข้อ 6 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามข้อ 3 ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอํานาจเรียกตัวบุคคลนั้นมาเพื่อสอบถามข้อมูลหรือให้ถ้อยคําอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินการตามข้อ 3 และในกรณีที่ยังสอบถามไม่แล้วเสร็จจะควบคุมตัวบุคคลนั้นไว้ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวดังกล่าวต้องควบคุมไว้ในสถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตํารวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจํา และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้

เมื่อมีเหตุอันจะต้องดําเนินคดีต่อบุคคลที่กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งในฐานะเป็นผู้ต้องหาให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในฐานะเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจดําเนินการต่อไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 7 ให้ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ตามที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสั่งการหรือมอบหมาย

ข้อ 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ 9 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามข้อ 4 (1) ข้อ 5 หรือข้อ 6 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ 10 ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ 11 ในกรณีที่บุคคลใดถูกควบคุมตัวตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง เนื่องจากการกระทําความผิดตามข้อ 3 (4) เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอาจปล่อยตัวไปโดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ เงื่อนไขในการปล่อยตัวตามวรรคหนึ่ง หมายถึง การกําหนดวิธีการเพื่อความปลอดภัยตามมาตรา 39 (2) ถึง (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือการสั่งระงับธุรกรรมทางการเงิน

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ 12 ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขตามข้อ 11 วรรคสอง ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2529

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการปล่อยตัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ข้อ 13 การกระทําตามคําสั่งนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

ข้อ 14 เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยที่กระทําการไปตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจําเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 17 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พิจารณายกร่าง 20-26 เม.ย.-เปิด สปช.เข้าชื่อยื่นญัตติแก้รธน.

$
0
0

ประธาน สปช. แจงอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ 20-26 เม.ย. ให้ สปช. เข้าชื่อยื่นญัตติแก้ รธน. รับ เห็นด้วยกับนายกฯ ที่กำชับไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ร่าง รธน. เพราะเกรงจะเป็นประเด็นขัดแย้ง

1 มี.ค. 2558 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า วันที่ 6 เมษายนนี้ สปช.จะจัดสัมมนาเกี่ยวกับกระบวนการวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเชิญคณะกรรมาธิการยกร่างฯ มาพบปะพูดคุย เตรียมความพร้อมสำหรับการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก วันที่ 20 - 26 เมษายนนี้

โดยในวันแรกจะให้คณะกรรมาธิการยกร่างชี้แจงเนื้อหาในภาพรวมทั้งหมด 2 ชั่วโมง และแต่ละวันจะกำหนดให้ กมธ.ยกร่างชี้แจงวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่วนสมาชิกทั้งหมด ให้คณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 18 คณะอภิปราย 2 ชั่วโมง และจะมีการเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. เข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามขั้นตอน

และเมื่อสุดท้ายแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญที่มีการยกร่างขึ้นไม่ได้รับการยอมรับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็จะต้องเริ่มกระบวนการขั้นตอนใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มที่การสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิก สปช. ชุดใหม่ทั้งหมด

ส่วนในเรื่องการทำประชามตินั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง และ สปช. ยังไม่มีการหารือกันในเรื่องดังกล่าว หากในอนาคตจะมีการทำประชามติหรือไม่นั้น ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ สปช.

ทั้งนี้ เทียนฉาย ระบุด้วยว่า เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ที่กำชับไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่า จะเป็นประเด็นขัดแย้ง ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า แม้ สปช. ต้องทำงานควบคู่กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เหมือนลงเรือลำเดียวกัน แต่ก็ไม่รู้สึกกดดัน ว่าจำเป็นต้องมีความเห็นคล้อยตามกรรมาธิการยกร่างฯ ทุกเรื่อง เพียงแต่ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

 

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น และวอยซ์ทีวี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กมธ.ยกร่าง รธน. แก้ที่มานายกฯ คนนอก ใช้เสียงโหวต ส.ส. 2 ใน 3

$
0
0

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ที่มานายกฯ คนนอกกำหนดต้องใช้ 2 ใน 3 ของ ส.ส. พร้อมปรับที่มา ส.ว. กำหนดให้มี 3 กลุ่ม เลือกตั้ง-เลือกกันเอง-สรรหา


1 เม.ย. 2558 เว็บสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า  พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในการการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาปรับแก้ไข 2 ประเด็นหลักคือที่มานายกรัฐมนตรี และที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

โดยเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี ในมาตรา 182 ที่จากเดิมจะใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด กรรมาธิการมีมติให้เปลี่ยนเป็นสองกรณี คือหากผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.แล้ว จะใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด แต่หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากบุคคลภายนอก จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งสาเหตุของการปรับแก้ไขเพื่อต้องการเปิดช่องในยามวิกฤติที่สภาต้องการคนนอกมาทำหน้าที่ เช่น ในเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 ที่บ้านเมืองไม่มีทางออกจนนำมาสู่การรัฐประหาร

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึงเรื่องที่มา ส.ว. ตามมาตรา 121 ว่า ที่ประชุมได้มีการปรับแก้ไขที่มา ส.ว.โดยกำหนดให้ วุฒิสภามี 200 คน มาจาก 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรก มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อมาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครในแต่ละด้านและคัดให้เหลือผู้สมัคร 10 คน จาก 10 ด้าน เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยรายละเอียดคณะกรรมการและคุณสมบัติของผู้สมัครจะบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาในสัปดาห์หน้า

กลุ่มที่สอง มาจากการเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คน  คือ อดีตข้าราชการพลเรือน ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารจำนวนไม่เกิน 10 คน  ข้าราชการฝ่ายทหารที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพที่เลือกตั้งกันเองในแต่ละประเภท จำนวนไม่เกิน 10 คน  ผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้งไม่เกิน 15 คน และจากการเลือกตั้งกันเองของผู้แทนองค์กรด้านเกษตร ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชนและท้องถิ่น จำนวนไม่เกิน 30 คน

ส่วนกลุ่มที่สาม คือการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 58 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน  กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา การสาธารณสุข การเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผังเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม คุ้มครองผุ้บริโภค ด้านเด็กและเยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และด้านอื่นๆ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเช่นกัน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง ส.ว. อยู่ได้ถึง 6 ปี แต่ใน 3 ปีแรกจะให้พ้นจากตำแหน่งจำนวน 100 คน โดยไม่เกี่ยวกับ ส.ว. เลือกตั้ง 77 คน รวมถึง กลุ่ม ส.ว.จากการเลือกตั้งกันเอง จำนวน 65 คน ให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดเช่นกัน ขณะที่ ส.ว.จากการสรรหา 58 คนนั้น จะใช้วิธีจับสลากออกจากตำแหน่ง 35 คน รวมเป็น 100 คน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง สามารถกลับมาใช้สิทธิลงสมัครเป็น ส.ว. ได้อีกโดยจะอยู่ในวาระ 6 ปี  เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร.-ดีเอสไอตั้งทีมสอบสวนคดี 99 ศพ ชุดใหม่

$
0
0

1 เม.ย.2558 ข่าวสดออนไลน์รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีคำสั่งที่ 68/2558 ลงวันที่ 2 มี.ค.2558 เรื่องแต่งตั้งคณะสอบสวนตำรวจ นำโดยพล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. เพื่อร่วมสอบสวนกับนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพนักงานอัยการ วางกรอบแนวทางการสอบสวนในคดี 99 ศพที่ค้างอยู่ให้เสร็จ ขณะนี้เหลือสำนวน 87 ศพ เนื่องจากดีเอสไอส่งสำนวนที่พิจารณาเสร็จ 2 ศพ ประกอบด้วย นายพัน คำกอง ชาว จ.ยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ ให้อัยการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2556

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากนายอภิสิทธิ์ ร่วมกับ พระสุเทพ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กระทำความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ด้วยการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน และแยกราชประสงค์จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย.-19 พ.ค.2553

รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานได้ประชุมเพื่อวางแนวทางการสอบสวนและทบทวน เพื่อแต่งตั้งพนักงานสอบสวนชุดใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและดีเอสไอที่อยู่ในชุดพนักงานสอบสวนชุดเก่า ได้ปรับเปลี่ยนโยกย้ายและเกษียณไปตามวาระ ดังนั้น เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเกิดความต่อเนื่อง จึงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น โดยดีเอสไอแต่งตั้งให้พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว และพ.ต.ท.ไพศิษฐ์ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ เข้ามาดูแลการสืบสวนสอบสวนในสำนวนคดีที่เหลือ โดยมีนางสุวณาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน พล.ต.ท.ศรีวราห์และรองอธิบดีทั้ง 3 คน เป็นรองหัวหน้าพนักงานสอบสวน

ในที่ประชุมได้แบ่งพื้นที่สืบสวนสอบสวนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แต่งตั้งให้พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ และผบก.น.2 เป็นหัวหน้าชุดรับผิดชอบ พื้นที่แยกคอกวัว, ถ.ตะนาว, ถ.ดินสอ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจุดดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 26 ศพ รวม 8 คดี

กลุ่มที่ 2 แต่งตั้งให้พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ และผบก.น.1 เป็นหัวหน้าชุดรับผิดชอบพื้นที่ ถ.ราชปารภ, ย่านดินแดง และซอยรางน้ำ ซึ่งในจุดนี้มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ รวม 4 คดี และกลุ่มที่ 3 แต่งตั้งให้พ.ต.ท.วรรณพงษ์ และผบก.น.5 เป็นหัวหน้าชุดรับผิดชอบ บริเวณ ถ.พระรามที่ 4, ศาลาแดง, ลุมพินี และบ่อนไก่ จุดนี้มีผู้เสียชีวิต 36 ศพ รวม 22 คดี และในส่วนของ 6 ศพ ที่เสียชีวิตในบริเวณวัดปทุมวนาราม รวม 89 ศพ 34 คดี

รายงานข่าวแจ้งว่า ในดคีเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายแล้ว 28 ศพ โดยดีเอสไอสรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้ว 10 ศพ และอยู่ระหว่างสอบสวนของดีเอสไอ 18 ศพ โดยในจำนวน 10 ศพ ประกอบด้วย 6 ศพ วัดปทุมวนาราม, นายพัน คำกอง, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ, นายชาติชาย ซาเหลา และนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี

ทั้งนี้ ยังเหลือสำนวนที่ดีเอสไอส่งให้ บชน. ไปชันสูตรพลิกศพให้ครบถ้วนตามขั้นตอนกฎหมาย 56 ศพ ซึ่งขณะนี้ บชน.ยังไม่ได้ส่งสำนวนกลับมาให้ดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม ยังมีสำนวนคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนการตายของศาล 5 ศพ ซึ่ง 1 ใน 5 ศพ คือนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' สรุป 15 ประเด็น ว่าด้วยมาตรา 44

$
0
0


สนามเป้า 24 พ.ค.2557
แฟ้มภาพ: ประชาไท

2 เม.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เอกสารทำความเข้าใจผลของการยกเลิกกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ซึ่งนำมาบังคับใช้แทน ตั้งคำถามดีกว่าจริงหรือไม่ มีรายละเอียด ดังนี้

1.       พื้นที่ซึ่งประกาศกฎอัยการศึกก่อนวันที่ 20 พ.ค. 57 เช่น พื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคอื่นๆ ยังคงประกาศกฎอัยการศึกต่อไปไม่ได้ยกเลิก

2.       พลเรือนยังคงต้องขึ้นศาลทหารต่อไปในคดีตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 37/57, 38/57, และ 50/57

3.       ศาลทหารในยามปกติสามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ แต่ต้องเป็นคดีที่เกิดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป คดีซึ่งเกิดระหว่างวันที่ 25 พ.ค. 57 – 31 มี.ค.58 ยังคงไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ตามมาตรา 61 พระราชบัญญัติพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498

4.       เดิมมาตรา 15 ทวิ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน หากมีคดีหลังจากนั้นต้องส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่สอบสวน แต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจ “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารยศนายร้อยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ไม่เคยมีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเป็นพนักงานสอบสวนมาก่อน)

5.       กล่าวคือ ในคดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความผิดต่อความมั่นคง ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัว เข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวน (ตามคำสั่งฉบับนี้) ส่งฟ้องโดยอัยการทหาร และตัดสินโดยศาลทหาร (ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/57, 38/57, 50/57)

6.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน ในสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานที่คุมขัง และปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ต้องหาไม่ได้  เช่นเดียวกับกฎอัยการศึกซึ่งเจ้าหน้าที่ตีความว่าผู้ถูกกักตัวไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ต้องหาคือ ไม่มีสิทธิพบญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความในช่วงเวลาดังกล่าว

7.       กรณีถูกควบคุมตัวไม่เกินเจ็ดวันเนื่องจากเหตุความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไข (1) ห้ามเข้าเขตที่กำหนด (2) เรียกประกันทัณฑ์บน (3) คุมตัวไว้ในสถานพยานบาล (4) ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง (5) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต (6) ระงับธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มากไปกว่าเงื่อนไขท้ายประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557

8.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุม ควบคุมตัว ค้น ยึด อายัด กระทำการใดๆตามคำสั่ง คสช.และเป็นพนักงานสอบสวนตามความผิด 4 ประเภทข้างต้น

9.       เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้ แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบ เรียบร้อยของประชาชน

10.   กำหนดให้การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเป็นความผิด และหากผู้กระทำความผิดดังกล่าวสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเจ็ดวันและเจ้าพนักงานเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขและให้คดีอาญาเลิกกัน (แนวความคิดเช่นเดียวกับมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551  ในขณะที่พ.ร.บ.ดังกล่าวมีองค์กรตุลาการเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยแต่คำสั่งฉบับนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเท่านั้น)

11.   การกระทำตามคำสั่งฉบับนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

12.   มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้อำนาจเฉพาะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวคือเป็นการขยายเขตแดนในการใช้อำนาจให้มากยิ่งขึ้น

13.   เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

14.   แม้ข้อ 14 ตามคำสั่งฉบับนี้จะไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แต่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด

15.   กล่าวโดยสรุป คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามกฎอัยการศึก แต่เพิ่มเติมเรื่องการอบรมตามแนวทางพระราชบัญญัติความมั่นคง การยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเพิ่มอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีบทบัญญัติรับรองความชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามมาตรา  44

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงานประจำสัปดาห์ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 2558

$
0
0
ชุด ฉก.บินช่วยแรงงานไทย เกาะอัมบน คาดตกค้างกว่า 2 พันชีวิต
 
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 27 มี.ค. ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชุดเฉพาะกิจของรัฐบาลไทย ที่จะเดินทางไปช่วยเหลือแรงงานประมงที่ตกค้างอยู่ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ได้เดินทางมาขึ้นเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 433 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังกรุงจาการ์ตา เพื่อเข้าพบเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงจาการ์ตา หารือถึงแนวทางการส่งกลับแรงงานประมงไทย และจะเดินทางต่อไปยังเกาะอัมบน เพื่อปฏิบัติภารกิจพาคนไทยกลับบ้าน โดยมีกำหนดการเดินทางตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 5 เมษายน
 
สำหรับชุดเฉพาะกิจของรัฐบาลไทยที่เดินทางในวันนี้ มี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนางสาวสุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหัวหน้าคณะ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่คุ้มครองแรงงาน ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่จากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปในครั้งนี้ด้วย
 
ภารกิจพาคนไทยกลับบ้านในครั้งนี้ นอกจากจะไปช่วยเหลือเยียวยาแรงงานประมงไทยที่ตกค้าง ยังต้องมีการคัดแยกแรงงานประมง ว่าแต่ละคนจัดอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มเหยื่อค้ามนุษย์ กลุ่มแรงงานที่ตกค้างเนื่องจากการระงับหาปลาในเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย และกลุ่มอื่นๆ
 
จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่าจะมีแรงงานประมงตกค้างไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ซึ่งหากการลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่า มียอดแรงงานประมงตกค้างตามที่ประเมินไว้จริง ก็ได้ประสานกับกองทัพอากาศในการพาแรงงานประมงกลับประเทศไทยไว้แล้ว นอกจากนี้ การลงพื้นที่เกาะอัมบน ก็ยังเป็นการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับระบบการทำประมงในเชิงลึก เพื่อนำกลับมาแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน และเป็นระบบต่อไป
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อินโดนีเซีย ประจำเมืองอัมบน ได้พากลุ่มแรงงานประมงไทยถูกหลอกไปใช้แรงงานทาสจับปลาในน่านน้ำอินโดนีเซีย จำนวน 21 คน ประกอบด้วย นายสมหมาย จิราภักดี นายจตุรงค์ พรมดี นายวุฒิชัย โยธาศรี นายรัว สายกระสุน นายปรีชา ศรีเมืองล้ำ นายบุญเชิด บุญครอง นายสามารถ เสนาสุ นายสมปอง หนิลศรี นายอาทิตย์ แซ่ตัน นายเสอิม มูลหลวง นายอัครเดช ศรีลือ นายเหมันต์ ลาทวี นายชูเกียรติ พิมพ์ทอง นายภูมิ ดอนถวิล นายคมสัน มูลตรีปฐม นายสุทัศน์ สานคำ นายเดจพงษ์ ชัยสวนียากรณ์ นายชิษณุพงค์ สุวรรณโมก นายมีชัย สุวรรณโมก นายเชิดศักดิ์ สุขทั่ว และนายจรัญ กรนาค ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (เอสเอซี) มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอัมบน ให้การช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการส่งกลับประเทศไทย ออกจากเซฟเฮาส์ ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอัมบน เดินทางไปขึ้นเครื่องบินสายการบินการูด้าที่สนามบินอัมบน ในเวลา 07.15 น. ก่อนเดินทางต่อไปยังสนามบินซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา เพื่อรอเดินทางกลับประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา คอยดูแลอำนวยความสะดวก อยู่ที่สนามบินซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา
 
ด้าน นายสมพงศ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิแอลพีเอ็น ซึ่งเดินทางไปดูแลเหยื่อแรงงานประมงที่เกาะอัมบน กล่าวว่า จำนวนแรงงานลูกเรือประมงที่ “ตกเรือ” “ประสบความทุกข์ได้ยาก” ณ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ที่มูลนิธิแอลพีเอ็น และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล ศรีราชา สามารถเข้าถึงและได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ ตม.อัมบน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และกรมการกงสุล ให้การช่วยเหลือเข้าสู่กระบวนการส่งกลับประเทศไทย ช่วงระหว่างวันที่ 12-27 มี.ค. มีคนไทย 31 คน คนพม่า 13 คน คนกัมพูชา 6 คน คนลาว 2 คน รวม 52 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานลูกเรือไทยกลับประเทศไทยก่อนในวันนี้ (27 มี.ค.) จำนวน 21 คน ยังเหลืออีก 10 คน ในจำนวน 10 คนที่เหลือ มีแรงงานเด็กไทย 1 คน ที่มาทำงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้อายุ 21 ปี มีปัญหาสุขภาพ และมีแรงงานเด็กกัมพูชา 2 คน มาตั้งแต่อายุ 11 และ 13 ปี เคยทำงานที่เกาะเบนจินา 6 ปี ตอนนี้ขอความช่วยเหลือที่เกาะอัมบน ถูกส่งกลับและถูกนำมาขายครั้งที่สอง ตอนนี้ถูกพามามากกว่า 10 ปี และยังไม่ได้กลับบ้านไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้ กลุ่มนี้ที่รอความช่วยเหลือและบางคนมีอาการทางจิตประสาท เนื่องจากการถูกกระทำ และทำร้ายร่างกายเป็นเวลายาวนาน
 
“จากการสัมภาษณ์พูดคุย จำนวน คน คือ แรงงานประมงทั้งหมดใช้หนังสือประจำตัวคนเรือปลอม โดยกระบวนการจัดการคนงานทำงานในเรือ และบางรายมีนายจ้างและผู้ประกอบการร่วมด้วย ทำให้แรงงานประมงตกอยู่ในสภาพการถูกบังคับทำงาน ไม่สามารถที่จะเดินทางกลับประเทศได้ และเอกสารประจำตัวเช่นบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน ของแรงงานประมง ถูก ไต๋เรือและนายจ้างเก็บไว้ บางรายถูกโยนทิ้งน้ำ แรงงานประมงต้องทำงานโดยที่ไม่ได้กลับประเทศเป็นเวลายาวนานกว่า 3 ปีขึ้นไป บางรายถูกทิ้งไว้ 5-19 ปี โดยไม่สามารถกลับบ้านได้ และไม่สามารถติดต่อทางครอบครัวได้ กระเป๋าสตางค์และเอกสารหาย ไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์ และจดจำเบอร์ติดต่อทางบ้านไม่ได้” นายสมพงศ์ กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 27/03/2558)
 
21 แรงงานไทยในอินโดกลับถึงไทยแล้ว
 
กลุ่มลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 21 คน เดินทางกลับถึงไทยโดยสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน QZ252 เมื่อเวลา 20.15 น.วานนี้ หลังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ รวมถึงครอบครัวและญาติของกลุ่มลูกเรือที่มารอรับ
 
แรงงานทั้งหมดนี้เคยถูกกลุ่มนายหน้าหลอกไปขึ้นเรือประมงที่ จ.สมุทรสาคร โดยเสนอค่าจ้างเป็นเงินจำนวนมาก แลกกับทำงานบนเรือประมง จะถูกส่งไปบนเรือประมงในน่านน้ำเกาะอัมบน และถูกใช้แรงงานอย่างหนัก จนสามารถหลบหนีมาขอความช่วยเหลือได้
 
นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ บอกว่า หลังจากนี้นำแรงงานประมงไทยทั้ง 21 คน ไปพักที่สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อทำการเก็บข้อมูลจากลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เนื่องจากแรงงานที่ได้ทำการช่วยเหลือมาครั้งนี้มีทั้งกลุ่มที่ไม่สมัครใจไปทำงาน โดยถูกหลอกไป ส่วนอีกกลุ่มสมัครใจไป แต่อาจจะไม่ได้รับเงินตามที่ตกลงกัน จึงต้องมีการสอบประวัติ คัดแยกแรงงานที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์
 
นอกจากนี้ ยังมีแรงงานประมงไทยที่ถูกช่วยเหลือมาแล้ว แต่ยังตกค้างอยู่ที่อินโดนีเซีย อีก 10 คนซึ่ง อีก 6 คน จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ส่วนแรงงานประมงไทยอีก 4 คน อยู่ในช่วงการพิสูจน์สัญชาติ
 
ขณะที่นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางการไทยได้ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย โดยในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะมีแรงงานไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาเพิ่มอีก 6 คน ส่วนแรงงานที่อยู่ในเกาะเบจินา 5 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติจากตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถช่วยเหลือกลับไทยได้ ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ช่วยเหลือและส่งลูกเรือประมงไทยที่สมัครใจกลับไทยแล้ว 169 คน แต่ยังไม่ทราบตัวเลขของแรงงานตกค้างที่แน่ชัด เพราะอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ
 
(Now26, 28/03/2558)
 
แรงงานชี้ 3 ปัจจัย แก้กฎกระทรวงลดการค้ามนุษย์
 
ดร.นพดล กรรณิกา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า 3 ปัจจัยลดปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แก้แรงงานเด็ก สางปัญหาแรงงานทาส และต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้ได้ผลสำเร็จตามหลักการทำก่อน ทำจริง ทำทันที หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เร่งแก้กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลมีผลบังคับใช้กว่า 2 เดือนที่ผ่านมาและมีการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลปัจจุบันออกตรวจเรือประมงได้ 869 ลำ
 
แต่รัฐบาลในอดีตออกตรวจเรือประมงในห้วงเวลาเดียวกันได้เพียง 152 ลำ และรัฐบาลปัจจุบันเอาผิดเรือประมงทั้งการดำเนินคดีและการออกคำสั่งจำนวน 65 ลำโดยดำเนินคดีเรื่องการใช้แรงงานเด็ก การสั่งให้จ่ายค่าจ้างและสวัดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ลูกจ้างให้อยู่ดีกินดีมีเวลาพักผ่อน ในขณะที่รัฐบาลในอดีตดำเนินการเรือที่ทำผิดได้เพียง ๑ ลำเท่านั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่าการตัดสินใจปรับปรุงกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลทำให้ได้ผลสำเร็จและความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลปัจจุบันแตกต่างไปจากรัฐบาลในอดีต
 
"กฎกระทรวงนี้เป็นมาตรการที่ทำให้พบการกระทำผิดของเรือประมงเพื่อประเทศไทยจะได้หลุดจากการคาดโทษว่าไม่มีมาตรฐานในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ แต่ตอนนี้เรามีกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานที่เรือประมงทะเลต้องทำตาม เช่น การทำสัญญาจ้าง การจ้างแรงงานขั้นต่ำ ห้ามจ้างคนอายุต่ำกว่า 18 ปี การจัดเวลาพักและเวลาทำงาน ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วย และการนำตัวลูกจ้างมารายงานตัวปีละครั้ง เป็นต้น จะทำให้ช่วยลดปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส" ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าว
 
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลจากการมีกฎกระทรวงนี้เอง วันนี้เรามี “เรือประมงต้นแบบ” ที่มีห้องนอนติดแอร์ ห้องพยบาบาลและบุรุษพยาบาลประจำเรือ มีการติดตั้งระบบติดตามเรือหรือ VMS และเรือประมงต้นแบบยังได้ปฏิบัติตามกฎหมายการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงอย่างถูกต้อง ทำประมงเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานและมีการรายงานจำนวนปลาที่จับได้ จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากการถูกคาดโทษการทำประมงที่ผิดกฎหมายแบบ IUU ตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่ทุกคนในชาติต้องเข้าใจว่า ถ้าเราถูกกีดกันการค้าระหว่างประเทศจะทำให้ทุกคนในชาติเดือดร้อนเรื่องเงินในกระเป๋าของแต่ละคนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกคนในชาติต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ผู้ประกอบการนายจ้างต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 29/03/2558)
 
สปส.เผยเพิ่มสิทธิแต่ไม่ปรับเงินสมทบทำรายรับ-รายจ่ายขาดสมดุล เร่งศึกษาจัดการกองทุนให้มั่นคง
 
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ศึกษาการแยกกองทุนระหว่างคนไทยและแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะต้องศึกษาการจัดการของต่างประเทศเพื่อนำมาพิจารณาว่าไทยควรทำอย่างไรจึงเหมาะสม โดย สปส. จะไปแยกบัญชีการส่งเงินสมทบของแรงงานต่างด้าวจำนวน 450,000 คน ออกจากบัญชีเงินสมทบของคนไทย รวมทั้งศึกษาระบบคณิตศาสตร์ประกันภัย เช่น ศึกษาการเก็บเงินสมทบว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้กองทุนอยู่ได้ในระยะยาว หากไม่มีการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบจะต้องวางระบบอย่างไรเพื่อรองรับการแก้ปัญหา ทั้งนี้ การเก็บเงินสมทบของไทยเอง มีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เก็บจากระบบภาษี ส่วนประเทศไทยจะเก็บจาก 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และ รัฐบาล ซึ่งนับแต่การก่อตั้งระบบประกันสังคมไทยยังไม่เคยปรับอัตราเก็บเงินสมทบเพิ่มเติม ขณะที่มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในทุกปี เช่นการรักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มไปแล้วกว่า 100 เรื่อง ทำให้สถานะรายรับรายจ่ายปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล
       
นางปราณิน กล่าวอีกว่า ต้องพิจารณาว่าหากจะมีการเพิ่มอัตราเงินสมทบต้องทำในลักษณะใดเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และไม่เป็นภาระของผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินสมทบเฉลี่ยอยู่ที่ 83 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ตามมาตรฐานของไอแอลโอระบุว่าทุกประเทศควรมีการปรับอัตราเงินสมทบขึ้นทุกๆ 3 ปี นอกจากนี้ จะต้องศึกษาว่า สิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณีของ สปส. ในปัจจุบัน มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไรที่ต้องปรับปรุง
       
“การรักษาพยาบาลถือเป็นจุดอ่อนของ สปส. เพราะต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ทำให้ยืนด้วยตัวเองลำบาก อยากให้ สปส. เป็นฝ่ายเก็บเงินอย่างเดียวแล้วไปหาคนรับช่วงต่อ ส่วนกรณีชราภาพนั้นก็ให้ศึกษาวิเคราะห์ว่าการจะทำให้กองทุนอยู่ได้และไม่ล้มใน 30 ปีข้างหน้า ควรต้อง ขยายเพดานอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 - 65 ปี หรือต้องจัดเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยไอแอลโอจะสรุปผลการศึกษาส่งให้ สปส. ภายในเดือนสิงหาคมนี้”  เลขาธิการ สปส. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/03/2558)
 
แรงงานกระอัก! ค่าครองชีพปี 58 พุ่ง ชงปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท
 
(31 มี.ค.) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจค่าครองชีพในปี 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 12 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี นนทบุรี โดยเปรียบเทียบค่าครองชีพในปี 2556 กับปี 2558 พบว่า ปี 2558 แรงงานต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เช่น ค่าไฟจากเดิมแค่ 20 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 40 บาทต่อวัน ค่าโทรศัพท์เดิม 18 บาทต่อวัน มาเป็น 30 บาทต่อวัน ค่าของใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน จากเดิม 23 บาท ขณะนี้เพิ่มเป็น 28 บาท ทำให้แรงงานต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อเพิ่มชั่วโมงทำโอที โดยเฉลี่ยแล้วแรงงานจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำถึงวันละ 360 บาท จึงจะเพียงพอกับค่าครองชีพ 
       
ทั้งนี้ จากผลสำรวจค่าครองชีพดังกล่าว คสรท. ขอเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด แล้วจัดทำโครงสร้างค่าจ้างให้ชัดเจน และสร้างกลไกในการคุ้มครองแรงงานที่ทำงานที่ทำงานเกินหนึ่งปี ให้มีการปรับค่าจ้าง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/03/2558)
 
พม.เร่งช่วยลูกเรือทาสอินโดฯ
 
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม. กล่าวว่า ทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เดินทางไปถึงเกาะอัมบนแล้ว และได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกาะอัมบนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้พบลูกเรือประมง 43 คน เป็นคนไทย 33 คนและอีก 10 คนเป็นแรงงานเมียนมาร์ โดย 38 คนมาจากเรือประมง ส่วนอีก 5 คนมาจากการตระเวนค้นหาโดยทีมชุดเฉพาะกิจ ที่มีภารกิจหลัก 4 ประการ คือ 1.ให้การช่วยเหลือคนไทยที่กระจายอยู่บนเกาะ 2.ช่วยเหลือแรงงานบนเรือที่อาจเป็นผู้เสียหายหรือคนที่ต้องการกลับบ้าน 3.ตรวจสอบผู้เสียชีวิตในสุสาน และ 4.ดำเนินการส่งกลับ
 
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ทีมชุดเฉพาะกิจจะลงพื้นที่เกาะเบนจิน่า เพื่อค้นหาลูกเรือประมงตกค้างและต้องการความช่วยเหลือ ในวันที่ 3 เม.ย.นี้ จะทราบตัวเลขสรุปลูกเรือประมงที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะเร่งขั้นตอนการนำส่งลูกเรือประมงให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วคาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ และพม. พร้อมจัดทีมสหวิชาชีพร่วมรับตัวลูกเรือประมงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว 
 
"ส่วนลูกเรือประมงไทย 21 คน ที่เดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น จากการสัมภาษณ์คัดแยกผู้เสียหาย พบว่ามีลูกเรือประมงที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 5 คน ซึ่ง พม.มอบเงินกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นค่าครองชีพและการเดินทางกลับภูมิลำเนา คนละ 3,000 บาท และประสานเจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อดูแลช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ให้กับลูกเรือประมงทั้งหมดก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา จะติดตามดูแลครอบครัวตามภูมิลำเนาเดิมของลูกเรือประมงไทยทั้งหมด เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง" รมว.พม. กล่าว
 
(ข่าวสด, 31/03/2558)
 
ดีเอสไอจ่อออกหมายจับตัวการค้ามนุษย์บนเกาะอัมบน
 
พันตำรวจโท วรพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เป็นประธานเปิดการสัมมนา ปัญหาและแนวทางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เชิงรุก ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด และ องค์กรอิสระ จำนวน 140 คน เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ หลังประเทศสหรัฐอเมริกาปรับลดอันดับประเทศไทย จากกลุ่ม TIER 2 ลงมาอยู่ในกลุ่ม TIER 3 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และ แนวโน้มการลงทุนอุตสาหกรรม ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ อย่างอุตสาหกรรมประมง 
 
พันตำรวจโท ไพศิษฐ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ. กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานประมงคนไทย ที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ดีเอสไอได้รับเป็นคดีพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ได้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แล้ว 3 คน ซึ่งติดตามจับกุมได้แล้ว 2 คน ล่าสุด พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ.เตรียมรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้บงการใหญ่ ซึ่งเป็นชาวไทยเพิ่มเติมอย่างน้อยอีก 1 คน โดยต้องประสานความร่วมมือกับอัยการสูงสุด ในการจับกุมตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีดังกล่าวเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย 
 
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ได้ง่าย 
 
(ครอบครัวข่าว, 31/03/2558)
 
แรงงานเอธิโอเปียร้อง โดนกดขี่แรงงานโดนทำร้ายร่างกาย
 
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 เม.ย.58 ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถื่น สภาทนายความ แถลงข่าวหลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีแรงงานหญิงงานชาวเอธิโอเปีย ทราบชื่อ น.ส.แอนเนต(นามสมมติ) อายุ 24 ถูกนายจ้างสองสามีภรรยาที่เป็นชาวเอธิโอเปียด้วยกัน กักขัง กดขี่ข่มเหงรังแก ซึ่งฝ่ายชายมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก(WHO) อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่มีแต่คนต่างชาติอาศัยในย่านปากเกร็ด ทั้งนี้ น.ส.แอนเนต ได้คุยกับนายจ้างฝ่ายหญิงซึ่งผ่านการติดต่อจากนายหน้า ได้ชักชวนให้ไปช่วยทำงานบ้าน และสัญญาว่าจะได้รับการดูแลอย่างดีและงานไม่หนัก ก่อนตกลงให้ค่าใช้จ่ายประมาณ 3000 บาทต่อเดือน จึงหลงเชื่อและเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยตั้งแต่เดือน ก.ค.56 โดยนายจ้างไปรับที่ประเทศเอธิโอเปียและเก็บหนังสือเดินทางของน.ส.แอนเนตไว้
 
โดยนายสรุพงษ์ กล่าวต่อว่า เมื่อน.ส.แอนเนต มาถึงแล้วนายจ้างกลับให้ทำงานตั้งแต่ ตีห้าถึงเที่ยงคืน ส่วนที่พักเป็นห้องแคบนอนกับสุนัขตัวใหญ่ ไม่จ่ายเงินเดือนให้ อาหารให้กินแต่ข้าวเปล่า ถูกทุบตีต่อหน้าลูกของนายจ้าง และยังถูกกังขังในแบบไม่ให้ออกจากบ้าน และไม่ให้เข้าบ้าน ซึ่งนายจ้างฝ่ายหญิงมักเอาตำแหน่งสามีมาขู่ จนน.ส.แอนเนตไม่สามารถทำอะไรได้ และเมื่อขอพาสปอตคืนทางนายจ้างก็บ่ายเบี่ยง จนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา น.ส.แอนเนต ถูกทุบตีอย่างไม่ทราบสาเหตุ และถูกไล่ออกจากบ้าน ด้วยความเศร้าหมองจึงมีความคิดจะโดดบ่อน้ำในหมู่บ้านเพื่อฆ่าตัวตาย แต่ก็มาเจอกับเพื่อนชาติเดียวกันที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน พาไปพบองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่ดูแลเรื่องสิทธิสตรีและเด็ก เพื่อคุ้มครองและพาไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สถานีตำรวจภูธร ปากเกร็ดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ใน4ข้อหา ซึ่งมีเรื่องข้อหาการค้ามนุษย์รวมอยู่ด้วย และแจ้งความอีกครั้งเรื่องยึดพาสปอร์ต เมื่อ วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา 
 
ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ กล่าวอีกว่า หลังจากที่แจ้งความแล้ว ทาง น.ส.แอนเนตได้เดินทางมายังสภาทนายความ และก็มาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่าควรช่วยเหลือ ก็นำนำข้อมูลทั้งหมดยื่นให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ของสภาทนายความ เพื่อเอาเข้าที่ประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และทางสภาทนายความจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเชิงลึก เพื่อจะช่วยเหลือหญิงสาวชาวเอธิโอเปียรายนี้ต่อไป
 
(บ้านเมือง, 1/04/2558)
 
เบรคหัวทิ่ม! เพิ่ม ค่าเเรงขั้นต่ำ 360 บาท หากไตรภาคี เคาะจริง! หวั่นทำธุรกิจขาดทุน 
 
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. ได้มีการเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็นวันละ 360 บาท
 
เพราะที่ผ่านมาประเทศไทย มีค่าครองชีพสูงขึ้นตามลำดับ และมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ ของคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะกำหนดค่าแรงในปี 2559 ใหม่ อย่างไรก็ดี นายวัลลภ มองว่า ตัวเลขที่เสนอมีการปรับขึ้นถึง 20% ซึ่งเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป
 
ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีจะต้องพิจารณาแนวทางให้ รอบคอบหากจะมาการปรับค่าเเรงขึ้นจริง เพราะอาจจะกระทบต่อ ธุรกิจที่เพิ่งปรับตัวรับมือค่าแรง 300 บาทต่อวัน ไปช่วงก่อนหน้านี้
 
รวมทั้งกลุ่มนี้ ก็เป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีกำไรมากนัก อาจเกิดปัญหา การขาดทุนทางธุรกิจ และเกิดการปิดกิจการ เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจในประเทศก็ไม่ได้มีเเนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากนัก
 
อย่างไรก็ตาม นายวัลลภอัตรา ค่าแรง 300 บาทต่อวันในขณะนี้ของไทยถือว่าเป็นระดับค่าแรงที่อยู่ระดับแพง เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จึงทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมา ทยอยปรับตัวด้วยการหันไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านแทน
 
(MThai News, 1/04/2558)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ฯ วิพากษ์คำตัดสิน 'ไม่ปกติ' จำคุก 25 ปีคดี 112

$
0
0

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล วิพากษ์การตัดสินลงโทษและสั่งจำคุกนักธุรกิจไทย 25 ปี ฐานวิจารณ์ราชวงศ์ผ่านเฟซบุ๊ก เป็นคำตัดสินที่ไม่ปรกติ ชี้ไทยจำเป็นต้องแก้ไข กม.หมิ่นที่ล้าสมัย   

2 เม.ย. 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มี.ค. เรื่อง "บทลงโทษจำคุก 25 ปีที่ไม่ปรกติสำหรับการวิจารณ์ราชวงศ์ ท่ามกลางแผนการยกเลิกกฎอัยการศึก" 
       
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่า การตัดสินลงโทษและสั่งจำคุกนักธุรกิจไทยในเช้าวันที่ 31 มีนาคม 2558 เป็นเวลา 25 ปี ฐานการวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ผ่านข้อความในเฟซบุ๊ก เป็นคำตัดสินที่ไม่ปรกติ และแสดงให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ล้าสมัย
       
ศาลทหารของไทยมีความเห็นว่า นายเธียรสุธรรม (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี มีความผิดห้ากระทงฐานโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2557
       
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ว่า ในวันเดียวกับที่มีการตัดสินคดีนี้ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชามีคำขอพระบรมราชโองการเพื่อประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมอบอำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีที่จะประกาศใช้กฎหมายใหม่แทนกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ
       
นับแต่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในไทยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ประชาชนหลายร้อยคนได้ถูกควบคุมตัวโดยพลการ และอีกหลายสิบคนต้องเข้ารับการไต่สวนในศาลทหาร เนื่องจากใช้สิทธิการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบ
       
รูเพิร์ต แอ็บบอตต์ (Rupert Abbott) รองผู้อำนวยการงานวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า การยกเลิกกฎอัยการศึกจะไม่ช่วยให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยดีขึ้น หากมีการนำกฎหมายที่กดขี่ปราบปรามฉบับนี้มาใช้ แทนที่จะทำเช่นนั้น รัฐบาลไทยควรฟื้นฟูหลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากรัฐประหารเมื่อปี 2557
       
“การตัดสินลงโทษนายเธียรสุธรรมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในบทลงโทษรุนแรงที่สุดที่ทางเราได้เห็นมา แสดงถึงสัญญาณที่น่ากังวลว่าทางการไทยมุ่งปราบปรามบุคคลที่แสดงความเห็นต่าง”
       
“เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ในศตวรรษที่ 21 นี้ยังมีการคุมขังบุคคลเป็นเวลาหลายทศวรรษเพียงเพราะการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ การแสดงความเห็นอย่างสงบไม่ใช่อาชญากรรม นายเธียรสุธรรมต้องได้รับการปล่อยตัวทันที และต้องมีการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนของไทย”
       
ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกนายเธียรสุธรรม 50 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพผิด เขาไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้
       
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นักธุรกิจคนดังกล่าวได้ถูกทหารควบคุมตัวเป็นเวลาห้าวันโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่เป็นการอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวโดยพลการและสอบปากคำจนกระทั่งเขายอมรับสารภาพต่อความผิดตามข้อกล่าวหา ในระหว่างนั้นเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับทนายความหรือครอบครัว
       
ในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 นายเธียรสุธรรมถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการว่าละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) โดยถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และถูกคัดค้านการประกันตัว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้าหลวงใหญ่สิทธิ UN เรียกร้อง รบ.ไทยใช้ 'อำนาจพิเศษ' อย่างยับยั้งชั่งใจ

$
0
0

ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหวั่นรัฐบาลไทยประกาศใช้อำนาจที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ชี้เป็นการเปิดประตูสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง

2 เม.ย. 2558 กรุงเจนีวา - นายซาอิด ราด อัล-ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความหวาดวิตกที่รัฐบาลทหารไทยประกาศใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ซึ่งให้อำนาจอย่างอิสระต่อหัวหน้ารัฐบาลทหาร มาตราดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ทหารต่อพลเรือน และมีแนวโน้มที่จะล้มล้างสิทธิมนุษยชนที่ประกันไว้ในกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รัฐบาลทหารที่นำโดย นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับอนุญาตในการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก และแทนที่โดยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)

ข้าหลวงใหญ่ฯ กล่าวว่า “โดยปกติแล้วผมจะแสดงความยินดีอย่างยิ่งเมื่อมีการยกเลิกใช้กฎอัยการศึก และที่ผ่านมาได้ผลักดันอย่างเข้มแข็งให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในประเทศไทย"

“แต่ผมรู้สึกตื่นตระหนกกับการตัดสินใจที่จะแทนที่กฎอัยการศึกด้วยอำนาจที่มีความรุนแรงยิ่งกว่า ซึ่งให้อำนาจอย่างไม่มีขอบเขตกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ จากฝ่ายตุลาการ นี่เป็นการเปิดประตูไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระดับที่ร้ายแรง ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันว่าอำนาจพิเศษนี้แม้ว่าจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ตามจะไม่นำไปใช้อย่างไม่มีความยับยั้ง”

ภายใต้คำสั่งที่ออกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการดำเนินการตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ทหารที่มียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรีขึ้นไปถูกกำหนดให้เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง รวมถึง การตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการ นอกเหนือจากนั้น เจ้าพนักงานดังกล่าวยังมีอำนาจ “กระทำการอื่นใด” ตามที่คสช.มอบหมาย

มาตรา 44 ให้อำนาจแก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในการออกคำสั่งซึ่งมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ โดยคำสั่งดังกล่าวและการกระทำการใดๆ ตามคำสั่งนี้ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุด การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายภายในประเทศก็จะถูกถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีช่องทางที่จะตรวจสอบได้เลย เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยได้รับการคุ้มครองที่จะไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย จากการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ตามคำสั่งดังกล่าว

นายซาอิด กล่าวเพิ่มเติมว่า “คำสั่งของ คสช. ที่ประกาศเมื่อวันพุธยังจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยในการออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน เสรีภาพในการชุมนุมยังถูกจำกัดอย่างเข้มงวดต่อไป โดยมีการกำหนดบทลงโทษหนักต่อผู้ชุมนุมที่รวมตัวกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป”

นายซาอิด กล่าวว่า “ผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวหมายถึงการขจัดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลในทุกรูปแบบ และทำให้การประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย”

นายซาอิด กล่าวว่า “ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนำประเทศกลับสู่การปกครองของพลเรือนตามหลักนิติธรรมโดยเร็ว ตามที่รัฐบาลได้ให้คำมั่นไว้หลังการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา”
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 องค์กรวิชาชีพสื่อแถลงการณ์กรณีคำสั่ง 3/2558 แนะออกนโยบายให้ชัด ห่วงกระทบสิทธิพื้นฐาน

$
0
0

2 เม.ย. 2558 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน 4 แห่ง ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ชี้ ข้อ 5 ของคำสั่ง ซึ่งให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ  สิ่งพิมพ์  หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก

"หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ควรให้นโยบายที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจในวรรคสองของข้อ 5 ที่ชัดเจน" แถลงการณ์ร่วมระบุ

 

แถลงการณ์ร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต่อคำสั่งที่ 3/2558 ของหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ
       
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งที่ 3/2558 โดยในข้อ 5 ของคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ  สิ่งพิมพ์  หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น คำสั่งนี้มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก

ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้นถ้าการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียใดถูกตีความว่า เป็นการกระทำตามข้อ 5 เป็นข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารฯลฯ ต้องได้รับโทษดังกล่าว ส่วนสื่อมวลชนก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่าการออกคำสั่งในข้อดังกล่าว เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง หากไม่มีหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจว่าข้อความใดทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น อาจนำไปสู่การปฏิบัติ ที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่ง

4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน มีความเห็นร่วมกันว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ควรให้นโยบายที่ชัดเจนต่อเจ้าหน้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย หรือกำหนดมาตรการหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามอำนาจในวรรคสองของข้อ 5 ที่ชัดเจน เพื่อประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนทุกแขนงซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว จะได้มีความสบายใจขึ้นว่าการใช้อำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ดังที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้สัญญาประชาคมไว้ เพราะคำสั่งดังกล่าวกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ขอแสดงความห่วงใยต่อการใช้อำนาจดังกล่าวว่าควรเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวังอย่างถึงที่สุด เพราะกรณีนี้น่าจะกระทบต่อการประเมินสถานะของประเทศในด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนของประชาคมโลก และจะเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลกวันที่ 3 พฤษภาคมนี้

สมาคมนักข่าวนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
2 เมษายน 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images