Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live

ทั่วโลกรณรงค์วันแรงงาน 2015

$
0
0
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2015 ที่ผ่านมาเป็นวันแรงงานสากล กลุ่มแรงงานในหลายประเทศมีการรณรงค์เรียกร้องข้อเรียกร้องต่าง ๆ อาทิเช่น
 
สหภาพอินโดนีเซียนัดชุมนุมเนื่องในวันแรงงาน
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
ผู้ประสานงานสหภาพแรงงานเอสพีเอ็นในอินโดนีเซียแถลงว่า สหภาพฯผิดหวังที่มีการปิดถนนทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินขบวนซึ่งถือว่าขัดกับข้อตกลงระหว่างสำนักงานตำรวจจาการ์ตากับเครือข่ายแรงงาน ทำให้รถบัสไม่สามารถฝ่าเข้าไปได้และต้องใช้เส้นทางอื่นแทน ผู้จัดการชุมนุมคาดว่า มีสมาชิกสหภาพเอสพีเอ็นมาร่วมเดินขบวนถึง 20,000 คน
 
ก่อนหน้านี้สำนักงานตำรวจจาการ์ตาแถลงว่า จะจำกัดการเดินขบวนในวันแรงงานเพื่อไม่ให้การจราจรติดขัด โดยให้ใช้เส้นทางได้ในถนนบางสาย อย่างไรก็ตามสำนักงานตำรวจจราจรแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยชี้แจงว่ารถบัสยังไม่ได้เข้ามาตามทาง ซึ่งตำรวจได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ไว้คอยดูแลแล้ว ผู้จัดงานกล่าวว่า มีแรงงานกว่า 75,000 คนจากเครือข่ายองค์กรต่างๆมาร่วมการเดินขบวนในวันแรงงานซึ่งคาดว่าจะมีผู้มาร่วมงานอีกจำนวนมากหลังเสร็จสิ้นพิธีละหมาดในวันศุกร์
 
มาเลเซียจับนักเคลื่อนไหวประท้วงในวันแรงงาน
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
มาเลเซียจับกุมผู้ประท้วงกว่า 24 คน ซึ่งรวมทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนและสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งทนายความรายหนึ่งระบุว่าเป็นความพยายามสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
 
ทนายความเปิดเผยว่า ผู้ประท้วงถูกจับกุมเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาหลังการชุมนุมเนื่องในวันแรงงาน ซึ่งมีผู้คนนับพันออกมาชุมนุมบนท้องถนนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รายงานระบุว่า ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุม มีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนสำคัญและอดีตประธานสภาทนายความมาเลเซีย ซึ่งรณรงค์ให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ด้านทนายความเปิดเผยว่า นักเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกจับกุมฐานปลุกระดมและชุมนุมโดยผิดกฎหมายเพื่อล้มล้างรัฐบาล และว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นความพยายามสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนออกมาคัดค้านรัฐบาล และตำรวจอาจหาทางขยายเวลาในการควบคุมตัวนักเคลื่อนไหวจนถึงวันเสาร์นี้
 
ฟิลิปปินส์ขอขึ้นค่าแรงและสร้างโอกาสการจ้างในประเทศเพื่อยับยั้งไม่ให้ชาวฟิลิปปินส์หลั่งไหลไปหางานทำในต่างประเทศ
 
ส่วนแรงงานในฟิลิปปินส์ชุมนุมที่กรุงมะนิลาขอขึ้นค่าจ้างและสร้างโอกาสการจ้างในประเทศเพื่อยับยั้งไม่ให้ชาวฟิลิปปินส์หลั่งไหลไปหางานทำในต่างประเทศ เพราะจะตกเป็นเหยื่อหรือตกอยู่ในอันตรายดังกรณีของนางมารี เจน เวโลโซ แม่บ้านลูกสองที่อ้างว่าถูกหลอกให้ถือกระเป๋าบรรจุยาเสพติดเข้าอินโดนีเซียและถูกเลื่อนการประหารชีวิตในชั่วโมงสุดท้าย
 
แรงงานเกาหลีใต้ขู่หยุดงานทั้งหมดหากรัฐบาลเดินหน้าแผนปฏิรูป
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
สหภาพแรงงานเกาหลีใต้ระบุว่ามีแรงงานออกมาแสดงพลังกว่า 100,000 คน ในการชุมนุมใหญ่ 2 จุด ที่กรุงโซล แต่ตำรวจแย้งว่า มีผู้ร่วมชุมนุมรวมประมาณ 38,000 คนเท่านั้น ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลีประกาศกับแรงงานว่า จะนัดหยุดงานทั้งหมดเพื่อทำลายความพยายามของรัฐบาลที่จะกดขี่สิทธิแรงงาน ซึ่งหมายถึงการที่รัฐบาลประธานาธิดีปัก กึนฮเยกำลังผลักดันแผนการปฏิรูปแรงงานที่จะทำให้ตลาดจ้างงานมีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและเลิกจ้าง
 
แรงงานไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน และห้ามการจ้างงานชั่วคราว
 
ที่ไต้หวันแรงงานจำนวนมากชุมนุมที่กรุงไทเปเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นค่าจ้าง ลดชั่วโมงทำงาน และห้ามการจ้างงานชั่วคราว ขณะที่แรงงานในฮ่องกงร้องรำทำเพลงเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการจ้างงานทั้งแรงงานฮ่องกงและแรงงานต่างถิ่น ด้านแรงงานในฟิลิปปินส์ชุมนุมที่กรุงมะนิลาขอขึ้นค่าจ้างและสร้างโอกาสการจ้างในประเทศเพื่อยับยั้งไม่ให้ชาวฟิลิปปินส์หลั่งไหลไปหางานทำในต่างประเทศ เพราะจะตกเป็นเหยื่อหรือตกอยู่ในอันตรายดังกรณีของนางมารี เจน เวโลโซ แม่บ้านลูกสองที่อ้างว่าถูกหลอกให้ถือกระเป๋าบรรจุยาเสพติดเข้าอินโดนีเซียและถูกเลื่อนการประหารชีวิตในชั่วโมงสุดท้าย
 
กลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจอิตาลี ประท้วงต่อต้านการแสดงนิทรรศการนานาชาติมิลาน เอ็กซ์โป
 
ผู้ชุมนุมในอิตาลีขว้างปาก้อนหินและเผชิญหน้ากับแถวของตำรวจปราบจลาจล เหตุเผชิญหน้าครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมีพิธีเปิดของนายมัตเตโอ เรนซี นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กล่าวเปิดงานแสดงสินค้าทางวัฒธรรมและเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นไปในเรื่องการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
 
เม็กซิโกจัดเทศกาลวันลา สัตว์ที่ทำงานหนักและซื่อสัตย์
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย
 
ที่เมืองโอทุมบ้า เมืองท้องถิ่นชนบทในรัฐเม็กซิโก จัดฉลองเทศกาลวันลา ซึ่งมีขึ้นต่อเนื่องมายาวนานถึง 50 ปีแล้ว โดยมีการแข่งลา ให้ลาเล่นเกม และเดินพาเหรดขบวนลาที่ตกแต่งอย่างสวยงาม งานประเพณีนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามทั้งจากผู้คนในท้องถิ่น และผู้มาเยือนจากท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 
ผู้มาเที่ยวชมงานคนหนึ่งกล่าวว่า แม้ลาจะไม่ใช้สัตว์ที่เหมาะสมจะเอามาวิ่งแข่งกัน แต่การแข่งลาก็สร้างความประทับใจให้กับผู้มาร่วมงานอย่างเต็มที่ งานเทศกาลนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้จากจำนวนผู้มาชมงานที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีหลังนี้ และที่ชื่นชอบมากที่สุดคือขบวนพาเหรดลา ที่ตกแต่งอย่างงดงามและตื่นตาตื่นใจ บางคู่ถูกแต่งให้เป็นเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวพากันหอบลูกจูงหลานมาร่วมชมงานกันอย่างคับคั่งเพิ่มขึ้นทุกวัน
 
สำหรับประเพณีเทศกาลวันลา เป็นเทศกาลเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัย 60 ปีที่แล้ว โดยชาวบ้านในเมืองโอทุมบา ได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันสำหรับลา โดยจะเลี้ยงดูและจัดงานฉลองให้แก่ลา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณของเจ้าลา สัตว์ที่ทำงานหนักและมีความซื่อสัตย์ไม่แพ้สัตว์ชนิดอื่นๆ แม้ในอีกทางหนึ่ง สัญลักษณ์ของลาจะหมายถึงความโง่ แต่ขยัน และทำงานหนักโดยไม่การปริปากบ่น ไม่ว่างานนั้นจะหนักหนาเพียงใดก็ตาม
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยุทธศาสตร์การศึกษาตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมหรือไม่

$
0
0

รัฐไทยมีลักษณะเป็นรัฐรวมศูนย์การปกครองไว้ที่ส่วนกลางมากกว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ดังเห็นได้จากกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ ที่ยังคุมทรัพยากร เช่น งบประมาณ กำลังคน ตำแหน่งบทบาท เอาไว้ในโครงสร้างการบริหารประเทศ กับปรากฏการณ์ที่ลักษณะสภาพสังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง (ดังภาพของโครงสร้างรัฐไทยด้านล่าง)  ในขณะที่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศบอกว่า คำนึงถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการมีโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ เน้นการพัฒนาคุณภาพของคนในชนบท ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี  ที่ยุทธศาสตร์การศึกษาควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ของประเทศด้วย   แต่ยุทธศาสตร์การศึกษาจะตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงหรือไม่ เพียงใด ต้องพิจารณาจากรูปธรรมที่ยุทธศาสตร์ได้กำหนดกลยุทธ์และตัวชี้วัดไว้

 

หัวข้อสำหรับวิเคราะห์ยุทธศาสตร์การศึกษาไทย มี 3 หัวข้อ ดังนี้

1)    โครงสร้างระบบการศึกษา

2)    สถานการณ์ปัญหาการศึกษา

3)    ยุทธศาสตร์การศึกษา ซึ่งประกอบด้วย แผนการศึกษาของชาติ และการปฏิรูปการศึกษาปี 2558

1.    โครงสร้างระบบการศึกษาไทย

โครงสร้างระบบการศึกษาไทย    จากข้อมูลจากสถิติการศึกษาฉบับย่อ ปี 2556 ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้เห็นถึงการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการมากกว่าการกระจายอำนาจ ในเรื่องทรัพยากร ได้แก่ งบประมาณ ขนาดหน่วยงาน กำลังคน การบริหารจัดการ เป็นต้น ดังแผนผังต่อไปนี้

 

1.2  จำนวนครูผู้สอนกับภาระ  ได้แก่ เรื่องจำนวน สัดส่วน ชั่วโมงการสอน และอัตราเงินเดือน[1]

 

1.3  เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศมีทั้งหมด 261 เขต สำหรับบริหาร กระจายอัตรากำลังและงบประมาณ และจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมและมัธยม อันเป็นการมอบอำนาจภายใต้ระบบรวมศูนย์  แบ่งเป็น สพม. 78 เขต และสพป.  183 เขต ซึ่งการจัดสรรอัตรากำลังและงบประมาณยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง

1.4  หลักสูตร และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ

·         ศธ.ใช้หลักสูตรแกนกลางประกอบด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) วิชาภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) วิทยาศาสตร์ 4) สังคมศึกษา 5) ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและ   พลศึกษา 6) ศิลปะ 7) การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8) ภาษาต่างประเทศ

·         การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ได้แก่ ประเมิน O-NET 8 กลุ่มสาระ (สำหรับจบช่วงชั้นประถมและมัธยมศึกษา) ประเมินV-NET (ความรู้พื้นฐานทั่วไปและวิชาชีพสำหรับอาชีวศึกษา)  ประเมิน GAT PAT (ความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาการวิชาชีพ) เป็นต้น

 ผลลัพธ์ของการจัดการศึกษาโดยรัฐภายใต้โครงสร้างแบบรวมศูนย์ ที่ครูและผู้บริหารระดับท้องถิ่นยังขาดการตัดสินใจด้วยตัวเอง มีลักษณะมุ่งเชิงปริมาณ และการแข่งขันกันมากกว่าร่วมมือกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหัวข้อสถานการณ์ปัญหาต่อไป

 

2.    สถานการณ์ปัญหาการศึกษา

        2.1  ความเหลื่อมล้ำของการให้-รับการศึกษาจากรัฐและเอกชน คือ หมายถึง การกระจุกตัวของโรงเรียนตั้งอยู่ในเมืองมากกว่าในชนบท โรงเรียนห่างไกลขาดแคลนงบประมาณ ทรัพยากรครู ผู้บริหาร ซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมนำไปสู่การลดทอนศักยภาพของคน ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา

·         ความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กรวยกับเด็กจน  เด็กยากจนมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมด (3,645,000 คน) จากผู้ปกครองที่มีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาท/ปี ได้รับการจัดสรรงบจากสพฐ. 1,341 ล้านบาท ให้แก่เด็กประถมและมัธยมศึกษารวม 1,697,000 คน แบ่งเป็นเด็กประถม 1,000 บาท/หัว/ปี  เด็กมัธยม 3,000 บาท/หัว/ปี[2]  ซึ่งการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียนเท่ากับ 8% ของงบการศึกษา และในจำนวนนี้ให้แก่เด็กประถม 2% ของงบการศึกษา[3]

·         สัดส่วนครูในโรงเรียนในเมืองใหญ่มีมากกว่าครูในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ที่ครูไม่ครบชั้น ในปี 53 โรงเรียนจำนวน 1.3 หมื่นแห่งขาดแคลนครูร่วมกัน 6 หมื่นคน ขณะที่โรงเรียนอีก 1 หมื่นแห่งมีครูเกินรวมกัน 2.1 หมื่นคน ครูมีแรงจูงใจที่จะอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่มากกว่าในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การจัดสรรครูไม่เป็นธรรมสำหรับเด็กในชนบท[4]

·         ขนาดของห้องเรียนใหญ่เกินไป ทำให้การดูแลของครูไม่ทั่วถึง และกระบวนการเรียนรู้ไม่เพียงพอ

 

2.2  คุณภาพการศึกษาอยู่ในขั้นต่ำ  ที่ยังไม่ทัดเทียมกับการเน้นปริมาณ

·         ผลทดสอบทางวิชาการระดับชาติเฉลี่ยไม่ถึง 50% (ไม่ผ่าน) ในขณะที่เด็กเก่งที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดี มาจากปัจจัยหนึ่งสำคัญคือ การมาจากครอบครัวมีฐานะ พ่อแม่ส่งเรียนกวดวิชา เรียนพิเศษ และเอาใจใส่ลูกดี อย่างไรก็ตาม การคาดหวังผลคะแนนสอบมากเกินไป มุ่งเป้าไปที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในขณะที่ผู้เรียนมีภูมิหลังและความต้องการที่หลากหลาย สิ่งที่น่าคิดคือ องค์ความรู้และทักษะในระดับต่ำกว่าปริญญาตรียังไม่สามารถนำออกไปใช้ทำงานได้จริง  หากดูโครงสร้างประชากรวัยทำงาน พบว่า งานรับจ้างทั่วไปนอกระบบโรงงาน มีกำลังแรงงานถึง 64% ของประชากรไทย ที่มีสภาพการจ้างงานด้อยมาตรฐาน[5]ไม่ได้รับการฝึกฝนทักษะฝีมือให้สูงขึ้น และลักษณะงานในไทยมีความเป็น manual ใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นต่ำสะท้อนถึงมาตรฐานการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีที่ยังไม่ได้รับการยกระดับ

·         กระบวนการเรียนรู้ไม่เพียงพอ เน้นการสอนแบบอัดแน่นด้วยเนื้อหา ข้อมูลที่มากมายและ     ผิวเผิน ไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน ข้อมูลมีลักษณะนามธรรม การจัดสรรเวลาไม่เพียงพอต่อการฝึกทักษะ เช่น ภาษาอังกฤษ ขาดกระบวนการเรียนรู้ที่อนุญาตให้ตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจารณ์ จินตนาการ สร้างสรรค์อย่างเพียงพอ จึงขาดทักษะการแก้ปัญหา ใช้ทักษะชีวิตเอาตัวรอดปกป้องตนเอง เท่าทันปัญหาต่างๆ  สะท้อนให้เห็นถึง เด็กและครูไม่มีนิสัยไตร่ตรอง ทำให้ขาดบรรยากาศของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนอย่างเสรี รวมถึงระดับอุดมศึกษาที่ไม่สะท้อนความหลากหลายทางความคิดความเชื่อของคนในสังคม

สาเหตุ

1)        การเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น ต่างจังหวัดห่างไกล หลักสูตร รวมศูนย์ นโยบายปรัชญาการศึกษามาจากบนลงล่าง  นโยบายของรัฐที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นไม่ได้ปฏิบัติจริงในสถานศึกษาของรัฐ เช่นนโยบายเรียนฟรี 12 ปี ครอบครัวระดับปัจเจกยังคงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษามากขึ้น

2)        สภาพครอบครัวที่ยังยากจนทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนอย่างเต็มที่ ต้องออกมาทำงานด้วยค่าตอบแทนราคาถูก ทั้งนี้ ครัวเรือนที่มีฐานะต่ำกว่าเส้นความยากจนมีทั้งหมด 14 ล้านครัวเรือน (ปี 52) โดยครัวเรือนที่มีเด็กเกือบ 9 แสนครอบครัวมีฐานะยากจน[6]  การศึกษาจึงควรเน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพในระดับพื้นฐานให้ทั่วถึงมากขึ้น และไม่ต้องรอให้เรียนจบในขั้นสูงจึงจะคิดเป็นทำเป็น

3)        กระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจกดดันประเทศไทยให้เร่งพัฒนาตามระบบทุนนิยม แต่เน้นเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ เช่น เน้นผลสัมฤทธิ์ด้วยผลคะแนน ผลการแข่งขันระดับภูมิภาค ระดับโลก ทำให้เด็กกดดัน และต่อต้านอันเนื่องจากเด็กอยู่ในโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกัน และถูกยัดเยียดให้ท่องจำมากเกินไป

 

3.    ยุทธศาสตร์การศึกษา  ประกอบด้วย แผนการศึกษาของชาติ และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาปี 2558

ตารางด้านล่างนี้ เป็นการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์การศึกษา เพื่อให้เห็นถึงรูปธรรมที่ออกแบบมาว่าคำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพียงใด และมีทิศทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาไปในทิศทางใด

ตารางเปรียบเทียบยุทธศาสตร์การศึกษา

 

แผนยุทธศาสตร์/หน่วยงาน

วิสัยทัศน์/ปรัชญา

ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์

ปัญหาการศึกษาที่ได้รับการตอบสนอง

1. แผนพัฒนาการศึกษาฉบับปรับปรุง (2552-2559) ของ ศธ. ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

“คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นคนดี มีความสุข มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทัน ในเวทีโลก”

 

เน้นการสร้างคนเป็นศูนย์กลาง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพอประมาณ  การปลูกฝังคุณภาพ จริยธรรม ศาสนา

ต้องการแข่งขันในเวทีโลก กระจายอำนาจ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

1.     ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

2.      สถานศึกษาทุกระดับทุกประเภทผ่านการรับรองมาตรฐานทางการศึกษา

3.     นไทยทุกกลุ่มทุกวัยมีโอกาสได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม

4.      ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมีคุณภาพได้รับการเผยแพร่ นำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนาสังคม ประเทศ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์

5.     ผู้เรียนและกำลังแรงงานได้รับการเตรียมความพร้อมเชื่อมโยงสู่สังคมและประชาคมอาเซียน

6.     ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา และส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา

ตัวชี้วัด

1.     ร้อยละของคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากการทดสอบระดับชาติเพิ่มขึ้น

2.     ร้อยละของสถานศึกษาทุกระดับประเภทผ่านการรับรองจาก สมศ.

3.     จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น

4.     ร้อยละของกำลังแรงงานมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป

5.     จำนวนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เผยแพร่ในวารสาร หรือนำไปใช้อ้างอิงในระดับชาติ หรือนานาชาติ หรือนำไปใช้ประโยชน์ หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์

6.     ร้อยละของผู้สำเร็จการอาชีวศึกษาและการอุดมศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน มีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ และมีงานทำภายใน 1 ปี รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น

1.     สมรรถนะในการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาของผู้เรียนยังจำกัด

2.     กำลังแรงงานยังมีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งควรมีทักษะฝีมือสูงขึ้น

3.     ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง (จากข้างต้น)

2. ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา 2558 ของกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา

(ติดตามและสรุปจากข่าวหนังสือพิมพ์)

เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา เน้นการเรียนรู้ใหม่ในทางปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงบ่มเพาะความเป็นพลเมือง ธรรมาภิบาลทุกระดับให้สังคมเป็นสุข

 

ต้องมีการกระจายอำนาจ ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร อำนาจไปยังพื้นที่การศึกษาให้ตัดสินใจเองได้[7]

 

1.     ให้เยาวชนเป็นคนเก่งและคนดี ดูแลเด็กปฐมวัยไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

2.     ปฏิรูประบบครู เน้นหนักแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลที่เป็นอุปสรรค

3.     ปรับปรุงระบบการแข่งขันหรือการสอบ

4.     ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่รองรับการกระจายอำนาจ และต้องมีกลไกตรวจสอบเพื่อให้เกิดการบริหารที่มีธรรมาภิบาล

  

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้แก่  1) ต้องมีสถาบันวิจัยระบบการศึกษาเพื่อนำหลักการมากำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง 2) จัดตั้งสำนักงานที่จะบริหารเงินเพื่อการศึกษา จัดสรรงบให้ผู้เรียนโดยตรง และ 3) ส่งเสริมให้เกิดผู้จัดการศึกษาในพื้นที่มากขึ้น

 

วิธีการคือ แก้ไขกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการระดับชาติ (Super Board) ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผน ยุทธศาสตร์ กำกับติดตามให้เกิดการปฏิรูป เป็นองค์กรอิสระคือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและการพัฒนามนุษย์

     กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น

- รัฐไทยลงทุนการศึกษา มากขึ้นแต่บริหารเงิน บุคคล วิชาการในระบบยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

- โครงสร้าง ศธ.ใหญ่โตเกินไป

- การศึกษาไทยยังไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม พหุวัฒนธรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

 

โดยสรุปคือ  ยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการและกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา เข้าใจปัญหาความไม่ยุติธรรมเชิงโครงสร้าง แต่ยังไม่สามารถออกแบบปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ให้เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจ กระจายทรัพยากรไปให้เด็กและครอบครัวยากจนอย่างทั่วถึง  เน้นแต่การแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน เฉพาะหน้า เนื่องจากมองว่าการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างศธ.ที่ใหญ่โตและผูกติดอยู่กับระบบราชการที่รวมศูนย์จะส่งผลกระทบต่อบุคคลในระบบเป็นจำนวนมาก[8]  ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้  

นี่จึงเป็นปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ ที่ประชาชนต้องผลักดันผู้นำให้แก้ไขปัญหาในอนาคตอันใกล้นี้  เพราะผู้นำ ผู้ปกครองไทยไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หากไม่ผลักดันอย่างจริงจัง  ลูกหลานของคนจน ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะตกเป็นผู้รับเคราะห์ต่อไป

 

4. ข้อเสนอแนะ

4.1           การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงโครงสร้างใหญ่ และปัญหา   รัฐรวมศูนย์ และมีทิศทางไปสู่การกระจายอำนาจการตัดสินใจ สนับสนุนบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างคุณภาพให้แก่เด็กอย่างเท่าเทียมกัน

4.2           การแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ รวมถึงการสร้างคุณภาพการศึกษาเท่าที่ทำได้ คือ ทำภายใต้การคำนึงถึง ข้อ 4.1  เช่น การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพเพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง ได้รับการยอมรับทั้งในระดับสากล ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  อาจเสนอรูปแบบการสร้างห่วงโซ่คุณภาพ  เพื่อตอบโจทย์ปัญหาการศึกษาไทยข้างต้น กล่าวคือ

1)    เปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาค คือ ในห้องเรียน มีเครื่องมือและวิธีการที่จะทำให้ครูรับผิดชอบงาน  ใช้เวลากับผู้เรียนมากขึ้น ไม่นำเวลาไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

2)    สร้างระบบการตรวจสอบผ่านข้อสอบโดยผู้เรียนและผู้ปกครอง

3)    สร้างสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์

ยกตัวอย่างการสร้างคุณภาพการศึกษาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ  นอกเหนือจากการตรวจการบ้าน รายงานและมีการส่งคืนการบ้าน รายงานแล้ว จำเป็นต้องมีการตรวจข้อสอบและส่งคืนข้อสอบให้แก่ผู้เรียน และต้องให้ถึงมือผู้ปกครอง ไม่ใช่แค่การเฉลยข้อสอบเท่านั้น  มีการนำผลคะแนนและผลรายงานขึ้นกระดานอย่างเปิดเผย หากครูผู้สอนไม่เพียงพอ ควรมีผู้ช่วยสอนสนับสนุน  (วิธีการสอนของ รศ.สุชาย ตรีรัตน์. อดีตอาจารย์ภาควิชาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประโยชน์ที่ได้รับ คือ ผู้เรียนและสังคมสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันจากการเปรียบเทียบและหาคำตอบที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบทั้งลักษณะข้อสอบและเกณฑ์การคิดคะแนนอย่างโปร่งใส  ผู้ปกครองสามารถติดตามผลการเรียนและผลคะแนนได้ พร้อมสามารถแสดงความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นการดึงผู้ปกครองและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างธรรมาภิบาลของสถานศึกษา

โดยสรุปคือ ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ปกครอง ผู้รู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล มุ่งใส่ใจในการเรียนการสอน การสอบ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการตรวจสอบร่วมกัน เพื่อนำไปปรับปรุงการสอนและการทดสอบต่อไป  เราไม่ควรฝากความหวังไว้กับส่วนกลางที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอีกต่อไป

 




[2]สพฐ.เพิ่มเม็ดเงินรายหัวอุ้มเด็กยากจน. (25 ก.ค.57). สืบค้นจากไทยรัฐออนไลน์. http://www.thairath.co.th/content/438755

[3]ยูเนสโกห่วงเด็กประถมไทยหลุดนอกระบบเฉียด 6 แสน. (10 มี.ค.58). กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.

[4]สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (17 ม.ค.58). 3 ข้อเสนอปฏิรูปคุณภาพครู. สืบค้นจากเว็บไซต์สำนักข่าวนิวส์พลัส http://www.newsplus.co.th/56197

[5]เหตุใดตัวเลขว่างงานของคนไทยจึงน้อยติดอันดับโลก?. (6 ก.พ.58). สืบค้นจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423151945

[6]ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. (บรรณาธิการ). (2556). ชีวิตคนไทยในสองทศวรรษของการพัฒนา.  สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

[7]สปช.เผยพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา. (2558). ข่าวปฏิรูปการศึกษา. สืบค้นจากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ  http://www.edreform.moe.go.th/index.php/79-2014-07-04-06-59-46/111-2015-03-11-02-03-02

[8]ศธ.เดินหน้าปฏิรูปห้องเรียน ชี้จุดอ่อนการศึกษาไทยขาดความต่อเนื่อง-นโยบายหลัก. (13 มี.ค.58). คมชัดลึก, หน้า 12.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เกร็ดตัวเลขคนทำงาน: ดูรายได้เฉลี่ยแรงงานไทยใน 21 ภาคธุรกิจ เกือบ 19 ล้านคน

$
0
0

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาสแรก 2558 สำรวจคนทำงานใน 21 ภาคธุรกิจ 18,879,400 คน พบระดับรายได้ 7,501 - 10,000 บาท มีมากที่สุด 6 ล้านกว่าคน รายได้ต่อเดือนภาคเกษตรและประมงต่ำสุดเฉลี่ย 5,658.17 บาท ภาคการผลิตเฉลี่ย 12,402.52 บาท ทำงานกับองค์กรต่างประเทศรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 78,701.72 บาท

ลูกจ้างในธุรกิจภาคเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ได้รับรายได้ต่ำที่สุดใน 21 ภาคธุรกิจของประเทศไทย (ที่มาภาพ: lpn-foundation.org)

2 พ.ค. 2558 ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับการจ้างงานจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในหัวข้อจำนวนลูกจ้าง จำแนกตามอุตสาหกรรม ระดับของรายได้ ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558 และในหัวข้อจำนวนลูกจ้าง จำแนกตามค่าจ้างเฉลี่ย ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับ อุตสาหกรรม ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558 นั้นพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

การสำรวจนี้ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นการสำรวจลูกจ้างจำนวน 18,879,400 คน จาก 21 ภาคธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย 1. เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง 2. การทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน 3. การผลิต 4. ไฟฟ้า ก๊าซ ไอน้ำ และระบบการปรับอากาศ 5. การจัดหาน้ำการจัดการน้ำเสียและของเสียรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 6. การก่อสร้าง 7. การขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 8. การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 9. ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 10. ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 11. กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย

12. กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 13. กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 14. กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 15. การบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 16. การศึกษา 17. กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 18. ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 19. กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 20.  กิจกรรมการจ้างงานในครัวเรือน กิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการที่ทำขึ้นเองเพื่อใช้ในครัวเรือน และ 21. กิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศและภาคีสมาชิก

โดยในด้านระดับของรายได้ เมื่อจำแนกจำแนกตามอุตสาหกรรมพบว่าระดับรายได้ที่ 7,501-10,000 บาท ของลูกจ้างทั้ง 21 ภาคธุรกิจนั้นมีสูงสุดคือ 6,062,100 คน รองลงมาคือระดับรายได้ที่ 10,001-15,000 บาท มี 3,795,800 คน ส่วนระดับรายได้จากการทำงานที่ต่ำที่สุดคือต่ำกว่า 1,501 บาท นั้นมี 94,500 คน ส่วนระดับรายได้ที่สูงที่สุดคือมากกว่า 30,000 บาทนั้นมี 1,104,100 คน

ตารางแสดง จำนวนลูกจ้าง จำแนกตามอุตสาหกรรม ระดับของรายได้  ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558

(ดูตารางขนาดใหญ่คลิ๊กที่นี่)

ตารางแสดง จำนวนลูกจ้าง จำแนกตามอุตสาหกรรม ระดับของรายได้  ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558 (ต่อ)

(ดูตารางขนาดใหญ่คลิ๊กที่นี่)

เมื่อจำแนกตามค่าจ้างเฉลี่ย ผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับตามอุตสาหกรรมแล้วพบว่าลูกจ้างจำนวน 18,879,400 คนนั้นมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 13,247.9 บาท และได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ เฉลี่ยแล้ว ได้แก่ตัวเงินคือ โบนัส 1,088.4 บาท, ค่าล่วงเวลา 1,938.6 บาท และเงินอื่น ๆ 2,558.5 บาท ส่วนที่ได้รับเป็นสิ่งของได้แก่ อาหาร 1,354.0 บาท, เครื่องแต่งกาย 147.0 บาท, ที่อยู่อาศัย 818.4 บาท และอื่น ๆ 614.8 บาท

ส่วนลูกจ้างในประเภทธุรกิจที่ได้ค่าจ้างเฉลี่ยและผลประโยชน์อื่น ๆ ต่ำสุดคือธุรกิจภาคเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ได้ค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 5,658.2 บาท และได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ตัวเงินคือ โบนัส 6.7 บาท, ค่าล่วงเวลา 11.0 บาท และเงินอื่น ๆ 20.8 บาท ส่วนที่ได้รับเป็นสิ่งของได้แก่ อาหาร 99.5 บาท, เครื่องแต่งกาย 0.5 บาท, ที่อยู่อาศัย 92.3 บาท และอื่น ๆ 52.5 บาท

ลูกจ้างในประเภทธุรกิจภาคการผลิต ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดคือ 5,126,300 คนนั้น ได้ค่าจ้างเฉลี่ย 12,402.5 บาท และได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ตัวเงินคือ โบนัส 636.9 บาท, ค่าล่วงเวลา 1,323.1 บาท, และเงินอื่น ๆ 931.4 บาท ส่วนที่ได้รับเป็นสิ่งของได้แก่ อาหาร 481.0 บาท, เครื่องแต่งกาย 93.2 บาท, ที่อยู่อาศัย 137.7 บาท และอื่น ๆ 397.6 บาท

ส่วนลูกจ้างในประเภทธุรกิจที่ได้ค่าจ้างเฉลี่ยและผลประโยชน์อื่น ๆ สูงที่สุดคือกิจกรรมขององค์การระหว่างประเทศ ได้ค่าจ้างเฉลี่ย 78,701.7 บาท และได้รับผลประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ตัวเงินคือ โบนัส - บาท, ค่าล่วงเวลา - บาท, และเงินอื่น ๆ - บาท ส่วนที่ได้รับเป็นสิ่งของได้แก่ อาหาร 0.2 บาท, เครื่องแต่งกาย - บาท, ที่อยู่อาศัย 0.2 บาท และอื่น ๆ - บาท

ตารางแสดง จำนวนลูกจ้าง จำแนกตามค่าจ้างเฉลี่ย ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับ อุตสาหกรรม ทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2558

(ดูตารางขนาดใหญ่คลิ๊กที่นี่)

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรในสหรัฐฯ เสนอบรรเทาหนี้เนปาล หวังช่วยให้ฟื้นตัวหลังวิกฤต

$
0
0

องค์กรเครือข่ายจูบิลีสหรัฐฯ เสนอให้กองทุนต่างๆ ที่เคยให้เนปาลกู้ยืมลดภาระหนี้สินเพื่อให้ประเทศเนปาลบูรณะฟื้นฟูตัวเองหลังประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ได้ เพราะแม้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือในระดับกอบกู้วิกฤติเฉพาะกาล แต่ในอนาคตยังต้องห่วงในเรื่องการฟื้นฟูความเสียหายด้วย

 

2 พ.ค. 2558 กันยา เดอัลเมย์ดา บรรณาธิการและนักเขียนของสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (IPS) เขียนรายงานเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในเนปาลซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงมากกว่า 3,300 รายแล้ว โดยระบุว่าสิ่งที่จะช่วยเหลือให้เนปาลฟื้นฟูตัวเองจากภัยแผ่นดินไหวได้คือยกเลิกหนี้สินให้กับประเทศเนปาล

เดอัลเมย์ดาระบุถึงความเสียหายจากมหันตภัยแผ่นดินไหวในเนปาลที่ทำให้ชีวิตของประชาชน 27.8 ล้านคนในประเทศอยู่ภายใต้ความเสี่ยง อีกทั้งยังมีผู้คนจำนวนมากที่สูญหาย มีบางส่วนอาจจะกำลังติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง โดยรวมแล้วมี 35 เขตจากทั้งหมด 75 เขต ในพื้นที่ทางตอนกลางและทางตะวันตกของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและจากอาฟเตอร์ช็อกที่รุนแรง

คำถามคือประเทศเนปาลที่ยากจนเป็นอันดับที่ 145 จากทั้งหมด 187 อันดับ ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชนติ (HDI) จะฟื้นฟูตัวเองจากภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 80 ปีได้อย่างไร

รายงานใน IPS ระบุว่าหนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้คือการบรรเทาภาระหนี้สินของเนปาลภายใต้เงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกองทุนควบคุมและบรรเทาภัยพิบัติ (CCR) ซึ่งมีกลุ่มองค์กรในสหรัฐฯ และประชาคมศาสนาทั่วโลกร่วมออกแถลงการณ์ผ่านสื่อเรียกร้องในเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 เม.ย.)

กองทุนควบคุมและบรรเทาภัยพิบัติ (CCR) เป็นหน่วยงานที่ IMF เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. เพื่อช่วยบรรเทาหนี้ให้กับประเทศยากจนที่ประสบภัยพิบัติหรือวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยก่อนหน้านี้มีการตกลงลดภาระหนี้สินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคอีโบลารวมเกือบ 100 ล้านดอลลาร์

ธนาคารโลกระบุว่า เนปาลมีหนี้สินต่อผู้ให้กู้ยืมจากต่างชาติอยู่ 3,800 ล้านดอลลาร์และในปี 2556 ได้ใช้เงินเพื่อจ่ายหนี้ไป 217 ล้านดอลลาร์ เนปาลเป็นหนี้ 1,500 ล้านดอลลาร์กับธนาคารโลกและเป็นหนี้ในจำนวนเดียวกันกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) อีกทั้งยังเป็นหนี้ IMF อยู่ 54 ล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ญี่ปุ่น 133 ล้านดอลลาร์ และหนี้จีน 101 ล้านดอลลาร์

อิริค เลอคัมป์ ผู้อำนวยการองค์กรเครือข่ายจูบิลีสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย 75 องค์กรในสหรัฐฯ และ 400 องค์กรศาสนาเปิดเผยว่า ภัยพิบัติในเนปาลอาจจะทำให้ประเทศเนปาลสูญเสียกำลังการผลิตไปร้อยละ 25 ส่งผลกระทบต่อประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ และอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่านั้น ทั้งหมดนี้ทำให้เขาเชื่อว่าเนปาลมีคุณสมบัติสมควรได้รับการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินจาก IMF

องค์กรเครือข่ายจูบิลีสหรัฐฯ ยังเสนอให้เนปาลไม่ต้องจ่ายหนี้ IMF ในปี 2558-2559 ซึ่งคิดเป็นจำนวนราว 23 ล้านดอลลาร์ และนำเงินส่วนนี้ไปเป็นกองทุนช่วยเหลือกู้ภัยและบรรเทาทุกข์แทน

เดอัลเมย์ดาเปิดเผยถึงเรื่องการพยายามให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเนปาลซึ่งถือเป็น "งานช้าง" จากการที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเมินว่ามีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวต้องการความช่วยเหลือราว 940,000 คน อีกทั้งยังมีคนจำนวนมากที่อาศัยนอนในเต็นท์ชั่วคราวนอกอาคารซึ่งพวกเขาต้องการน้ำสะอาด ระบบสุขอนามัย อาหารและที่พัก รวมถึงทรัพยากรทางการแพทย์ที่ดีขึ้น แต่ถึงแม้จะมีการให้ความช่วยเหลือในช่วงวิกฤติเนปาลก็ยังประสบภาวะยากลำบากในการบูรณะฟื้นฟูประเทศขึ้นมาใหม่

เดอัลเมย์ดาระบุว่า "ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเน้นย้ำความต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่ไม่ได้มีการให้ความเป็นธรรมในแง่การบูรณะประเทศซึ่งจะต้องเกิดขึ้นภายในอีกหลายเดือนหรือหลายปีข้างหน้า"

ในประเด็นนี้เลอคัมป์กล่าวย้ำว่าการจะบูรณะเนปาลได้ต้องอาศัยการยกเลิกหนี้สินซึ่งจะสร้างเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวได้ แม้ว่า IMF จะดำเนินการในเรื่องนี้แล้วแต่ธนาคารโลกกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในเรื่องการบรรเทาภาระหนี้สินของเนปาล เลอคัมป์เสนอว่าองค์กรอย่างธนาคารโลกควรมีแผนลดภาระหนี้สินเพื่อช่วยเหลือเนปาลโดยเร็ว

 

เรียบเรียงจาก

Want to Help Nepal Recover from the Quake? Cancel its Debt, Says Rights Group, IPS News, 27-04-2015
http://www.ipsnews.net/2015/04/want-to-help-nepal-recover-from-the-quake-cancel-its-debt-says-rights-group/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเนสโก-ลัตเวียจัดงานวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก-พร้อมห่วงไทยเผชิญรัฐบาลทหารคุกคามสื่อ

$
0
0

พิธีเปิดวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกจัดโดยยูเนสโกและรัฐบาลลัตเวีย - ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นแสดงความห่วงใยต่อภาวะที่สื่อทั่วโลกถูกคุกคาม โดยเฉพาะประเทศไทยที่รัฐบาลทหารคุกคามสื่อ ปิดกั้นสื่อ จนท.จับกุมประชาชนที่เป็นผู้ใช้สื่อออนไลน์ - ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ชี้ว่าผู้คุกคามสื่อไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของคนทำสื่อ

รีกา, 3 พ.ค. - พิธีเปิดอย่างเป็นทางการวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day ประจำปี 2015 ซึ่งจัดที่กรุงรีกา สาธารณรัฐลัตเวียนั้น ปีนี้องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO และกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศลัตเวีย ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยปีนี้ประเด็นหลักของงานคือสวัสดิภาพสื่อและสื่อยุคดิจิทัล

เดซ เมลเบด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศลัตเวีย กล่าวถึงการได้รับเสรีภาพของลัตเวียเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อบรรลุอิสรภาพของประเทศ แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ซึ่งสื่อก็เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น บทบาทของสื่อมวลชนในลัตเวียต่อการประกาศเสรีภาพ การต่อสู้กับผู้เผด็จการ ส่งเสริมประชาธิปไตย นักข่าวและสื่อมวลชนชาวลัตเวียหลายคนถูกฆ่าตายในช่วงเวลาดังกล่าว ทว่า แต่ก็น่าเสียใจว่าสื่อมวลชนทั่วโลกทุกวันนี้ก็ยังคงเผชิญการคุกคามชีวิต อันเนื่องจากการทำงานเชิงลึก

เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก กล่าวถึงภาวะที่สื่อทั่วโลกถูกคุกคามโดยยกตัวอย่างในหลายประเทศที่สื่อตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างรุนแรง เขายังกล่าวถึงประเทศไทย ว่ากำลังเผชิญกับรัฐบาลทหารคุกคามสื่อ จับกุมคุมขังสื่อ ปิดกั้นสื่อ ตำรวจและทหารเข้าจับกุมประชาชนที่สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์รวมไปถึงปิดการเข้าถึงคลิปต่างๆ ที่เป็นหลักฐานความรุนแรงโดยรัฐ และเป็นที่น่าเสียใจว่าการคุกคามสื่อนั้นมักไม่มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำ

ฟลาเวีย แพนซิเอรี รองข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ OHCHR กล่าวว่าสื่อยุคดิจิทัล สื่อใหม่นั้นท้าทายความหมายของนิยามคำว่าสื่อมวลชน เมื่อคนใช้งานสื่อดิจิทัลกลับมีบทบาทในการปกป้องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ดังนั้นบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมออนไลน์ก็ควรได้รับการปกป้องในการทำงานของพวกเขาเช่นกัน

เธอกล่าวย้ำถึงภาวะการไม่ต้องรับผิดของผู้คุกคามสื่อซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการทำงานทุกวันนี้

ในอีกประเด็นคือ ความท้าทายในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำงานต่อไป เพราะทุกวันนี้สื่อมวลชนหญิงยังคงถูกคุกคามและเลิอกปฏิบัติทางเพศ และส่วนใหญ่การละมิดความเท่าเทียมทางเพศนี้ก็เกิดในห้องข่าวนั้นเอง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4สมาคมสื่อวอน คสช.ยกเลิก3คำสั่ง

$
0
0

เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก  4สมาคมวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์เรียกร้อง ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/58 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ตาม รัฐธรรมนูญ 2557(ฉบับชั่วคราว)อ้าง สร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โอดทำงานยาก ถูกจับตาจากทุกฝ่ายซ้ำ มีสื่อการเมืองเกิดขึ้นมาก ผู้บริโภคสื่อก็เป็นผู้ผลิตสื่อเองด้วย  

3 พฤษภาคม 2558  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก 3 พ.ค. โดยมี นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ผู้นำ 2 องค์กรสื่อเป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาเรียกร้อง รัฐบาล คสช.ให้ ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/58 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ตาม รัฐธรรมนูญ 2557(ฉบับชั่วคราว)

๐๐๐๐

 แถลงการณ์ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2558

สถานการณ์ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2557 ถือว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ถูกกดดันจากกลุ่มมวลชนทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล อยู่ในสถานะที่ถูกจับจ้องจากทุกฟากฝั่ง ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเป็นผู้เติมเชื้อไฟให้โหมกระพือมากกว่าเป็นผู้ถอนฟืนออกจากกองไฟ ไม่อยู่ในสถานะที่เป็นที่พึ่งหวังของประเทศเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยสภาพการณ์หรือภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของโลก ทำให้เกิด "สื่อเฉพาะ" ที่มุ่งหวังรับใช้เจตนารมณ์ของกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมืองและความเคลือบแคลงสงสัยต่อบทบาทของสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตระหนักและมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ ดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะความน่าเชื่อถือและศรัทธาไว้วางใจต่อสื่อมวลชนของสาธารณชนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

เมื่อคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สถานการณ์และดัชนีชี้วัดสถานภาพเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยได้ตกต่ำลงในสายตาประชาคมโลก เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้สั่งระงับการออกอากาศของสถานีวิทยุและโทรทัศน์  และขอให้หนังสือพิมพ์งดแสดงความคิดเห็นที่จะทำให้เกิดการต่อต้านคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

ต่อมาได้ออกคำสั่งเพื่อควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) 2557 อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน และเป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่แต่เดิม และเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของประเทศประการหนึ่ง การคงไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่น้อยกว่าการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลที่ปราศจากการละเมิดจากสื่อมวลชนและความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม ประจำปี 2558 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.) ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 97 คำสั่งคสช.ที่103 และ คำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 5 ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยเร็ว เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองพูดคุยอย่างเสรีและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการปฏิรูป จึงมีความจำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดอนาคตของประเทศ เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นเวทีแห่งการพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ

การคงไว้ซึ่งคำสั่งทั้ง 3 ทำให้บรรยากาศแห่งการพูดคุยและแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและปลอดภัยไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย การยกเลิกคำสั่งยังเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิและเสรีภาพของประเทศโดยรวมและยังแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมโลกว่ามาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายได้ สำหรับสื่อมวลชนที่ละเมิดกฎหมาย รัฐบาลยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการได้ตามปกติ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ โดยมิต้องใช้คำสั่งหรือมาตรการพิเศษใดๆ อีกต่อไป

2.ในการดำเนินการของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ต้องเป็นอิสระไม่ถูกแทรกแซงใดๆ จากภาครัฐ เพราะ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ต้องการให้การจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธาณะ ในส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อขอให้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ การกำกับดูแลกันเอง ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ เพื่อคงไว้ซึ่งเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อข่าวสารที่นำเสนอ

3.ขอให้ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนและสื่อประเภทต่างๆ ได้ตระหนักเห็นว่าภูมิทัศน์สื่อได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้รับสารสามารถอยู่ในฐานะส่งสารได้ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ข่าวสารจึงเกิดขึ้นได้มากมายและแพร่หลาย จึงจำเป็นอย่างที่ประชาชนและผู้บริโภคข้อมูลข่าวสารจะต้องตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ

ในโอกาสที่รัฐธรรมนูญชึ่งอยู่ระหว่างการยกร่าง ได้สนับสนุนให้มีกฎหมายว่าด้วยองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพและคุ้มครองสวัสดิการของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนโดยทั่วไปจะได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และหากผู้ใดถูกละเมิดหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน ขอให้ใช้สิทธินั้นตามขั้นตอนต่างๆ ผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตลอดจนใช้สิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการ

4.ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน ได้ตระหนักถึงบทบาทและภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ตามมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง เปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้ทุกฝ่าย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการร่วมกันหาทางออก เพื่อสร้างความปรองดอง ยุติความขัดแย้ง และร่วมกันปฏิรูปประเทศ ให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤตครั้งสำคัญไปให้ได้

องค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้ง 4 ขอย้ำเตือนว่าทุกฝ่ายในสังคมต้องตระหนักถึงหลักการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความโปร่งใส ตามหลักการปกครองด้วยหลักธรรมาภิบาลของประเทศ และการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
3 พฤษภาคม 2558 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อธึกกิต แสวงสุข

$
0
0

"กรณีนี้เลยตลกๆ ตรงที่ว่า เรามาพูดเรื่องเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบสื่อในยุคที่สื่อไม่มีเสรีภาพ"

หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์อิสระและบรรณาธิการอาวุโส Voice TV กล่าวในวงเสวนา “สื่อมวลชน ... กำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ” 30 เม.ย.58

หมายเหตุประเพทไทย : เหลียวมองสังคมไทยผ่านภาพยนตร์ ‘Little Forest’

$
0
0

 

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ‘คำ ผกา’กลับมาพบกับท่านผู้ชมอีกครั้ง พร้อมกับ ‘อรรถ บุนนาค’ชวนกันมาสนทนาถึง ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง ‘Little Forest’ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ไทยอยู่ในขณะนี้

‘Little Forest’สร้างจากการ์ตูนในชื่อเดียวกัน นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเกษตรกรรมญี่ปุ่น ผ่านตัวละครเอก ‘อิชิโกะ’ หญิงสาวบอบบางที่ผันตัวเองจากเมืองหลวงหวนคืนสู่บ้านเกิด มาใช้ชีวิตชาวนาในหมู่บ้านกลางหุบเขาเล็กๆ ที่ห่างไกลในเมืองอิวาเตะ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ภาพยนตร์เล่าเรื่องแบบเรียบง่าย เนิบช้า และตรงไปตรงมาผ่านชีวิตประจำวันในแต่ละวันของอิชิโกะ ซึ่งต้องพึ่งตนเองในการปลูกข้าว พืชผักสวนครัว เก็บหาของป่า หาฟืน ปรุงอาหาร และการถนอมอาหาร โดยใช้ความรู้พื้นบ้านผสมผสานกับเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น รถไถนา เลื่อยไฟฟ้า

ชมการวิพากษ์เปรียบเทียบกระแสชนชั้นกลางญี่ปุ่นที่หวนคืนสู่วิถีธรรมชาติผ่าน ‘Little Forest’ เทียบกับกระแส ‘อยากเป็นชาวนา’ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าจะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรทั้งในแง่การให้คุณค่า ทัศนะ และวิถีปฏิบัติ

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ข้อเสนอให้ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

$
0
0

ประชาชน 150 รายชื่อ เรียกร้องให้มีการกระบวนการจัดทำประชามติร่าง รธน. ที่เป็นประชาธิปไตย และหากร่าง รธน. ฉบับ สปช. ไม่ผ่านประชามติ ต้องเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยย้ำว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ในเฟซบุ๊ค "เรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย" นักวิชาการ นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนภาคส่วนต่างๆ กว่า 150 คน อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เกษียร เตชะพีระ, จอน อึ้งภากรณ์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, ซะการีย์ยา อมตยา, เป็นเอก รัตนเรือง, ปิยบุตร แสงกนกกุล, สฤณี อาชวานันทกุล, รวมทั้งจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ลงชื่อท้ายแถลงการณ์เรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอสามข้อหลัก ได้แก่

(1) หาก สปช. ปัดร่าง รธน. ตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา
(2) หาก สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่าง รธน. ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน
และ (3) หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่าง รธน. หรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน, จากนั้นให้ สสร. จัดทำร่าง รธน. ให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่าง รธน. ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น

อนึ่ง กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติเห็นว่า หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดาเนินการจัดทาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น "การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก" และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง

สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอมีดังนี้

000

กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย ข้อเสนอเพื่อรณรงค์ให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 3 พฤษภาคม 2558

เนื่องด้วยในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มต่างๆ หลายกลุ่มในสังคมแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ เรา, คณะบุคคลที่ร่วมลงชื่อแนบท้าย, เห็นด้วยกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญเพราะเราเชื่อว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญคืออำนาจของประชาชน รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบย่อมไม่ชอบธรรมที่จะใช้ปกครองประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย

เราเห็นว่าการออกเสียงประชามติที่กำหนดผลไว้ในลักษณะนี้เป็นการออกเสียงประชามติที่บีบบังคับประชาชนต้องเลือกเพียงสองกรณี กรณีแรก หากประชาชนให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้กลับเข้าสู่ระบบปกติ มีการเลือกตั้งแต่ต้องอยู่กับระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งของคนในชาติได้อีก กรณีที่สอง หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมต่อไป การออกเสียงประชามติที่มีทางเลือกอันไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ไม่ต่างอะไรกับการออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง

เราเห็นว่า หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนปฏิเสธกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการเดิมย่อมไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป แต่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือ ผู้ที่มีความชอบธรรมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง ดังนั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงเราจึงขอเสนอให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง และจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามข้อเสนอ 3.2 ถึง 3.6

2. ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

3. ในกรณีที่ประชาชนไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีผลดังต่อไปนี้

3.1 สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง
3.2 เริ่มต้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ผูกพันกับข้อจำกัดใดๆ ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
3.3 การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขึ้นภายใน 45 วันนับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ
3.4 สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
3.5 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน
3.6 จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างช้าที่สุดภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกเสียงประชามติ

เราขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมรณรงค์เรียกร้องให้มีการออกเสียงประชามติตามข้อเสนอข้างต้น ประชามติที่ไม่มีทางเลือกคือประชามติที่ไม่มีความหมาย กระบวนการจัดทำและให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเสรีภาพ เพื่อประชาชน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อามิน อิสกันดา: เสรีภาพสื่อและอนาคตสื่อออนไลน์ในมาเลเซีย

$
0
0

ประชาไทสัมภาษณ์ อามิน อิสกันดา บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ออนไลน์ เดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ (The Malaysian Insider - TMI) ของมาเลเซีย ถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์และรายงานข่าว รวมถึงทิศทางในการสื่อสารและรับสารของสังคมมาเลเซียในปัจจุบัน

000

 

ทั้งนี้มาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการควบคุมสื่อ รวมทั้งควบคุมการเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ผ่านการออกใบอนุญาตแบบปีต่อปี ซึ่งทำให้เจ้าของสื่อส่วนมากมีความใกล้ชิดกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การควบคุมพื้นที่สื่อออนไลน์กลับเปิดกว้างกว่า โดยในยุคที่มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อเขาเริ่มโครงการมัลติมีเดียซุปเปอร์คอริดอร์ (MSC) เขาได้ให้หลักประกันเรื่องเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต กระทั่งต่อมามีผู้สื่อข่าวในมาเลเซียที่เห็นโอกาสของพื้นที่ออนไลน์ จึงเริ่มเปิดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เช่น มาเลเซียกินีในเดือนพฤศจิกายนปี 2542 และตามมาด้วยหนังสือพิมพ์ออนไลน์อีกหลายแห่ง รวมทั้ง เดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ ที่เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2551

โดยสื่อออนไลน์ของมาเลเซียมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในมาเลเซีย โดยเฉพาะการมีพื้นที่นำเสนอให้กับซีกที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลมาเลเซีย ทั้งนี้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งหลังของมาเลเซียคือในปี 2551 และ 2556 พรรครัฐบาลมาเลเซีย "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็สูญเสียสถานะการเป็นเสียงข้างมากในสภา 2 ใน 3 และการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 เป็นครั้งแรกที่พรรครัฐบาลได้คะแนนเสียงน้อยกว่าฝ่ายค้าน โดยรัฐบาลได้ 5.2 ล้านคะแนน ขณะที่ฝ่ายค้านได้ 5.6 ล้านคะแนน อย่างไรก็ตามเมื่อแบ่งตามเขตเลือกตั้งแล้วพรรครัฐบาลยังคงได้ ส.ส. มากกว่าคือ 133 คน ส่วนพรรคฝ่ายค้านได้ ส.ส. 89 คน

ในการพูดคุยกับ อามิน อิสกันดา บรรณาธิการข่าวของเดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ เขากล่าวว่า สาเหตุที่สื่อออนไลน์ในมาเลเซียค่อนข้างเบ่งบาน มาจากการที่สื่อหลักนำเสนอแต่ข่าวรัฐบาล ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข่าวสารที่เป็นมุมมองทางเลือก จึงทำให้คนเข้ามาอ่านสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ผู้อ่านหลักของสื่อออนไลน์ ยังเป็นคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใช้สมาร์ทโฟน และมีความตื่นตัว

อย่างไรก็ตาม สื่ออนไลน์ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมาย แม้จะมีความแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกรัฐบาลควบคุมผ่านการออกใบอนุญาตปีต่อปี แต่สำหรับสื่ออนไลน์ รัฐบาลได้ปรับปรุงหน้าที่ของคณะกรรมการที่ชื่อว่า "คณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย" (The Malaysian Communications and Multimedia Commission) หรือ MCMC ซึ่งก่อตั้งตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2541 ทำหน้าที่ดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีการใช้ "กฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมยั่วยุ" หรือ "The Sedition Act" ที่ประกาศใช้ในสมัยอาณานิคมตั้งแต่ พ.ศ. 2491 สำหรับใช้จัดการสื่อออนไลน์

000

วิดีโอสัมภาษณ์อามิน อิสกันดา บรรณาธิการข่าว เดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ (คลิกที่มุมล่างขวาเพื่ออ่านคำบรรยายภาษาไทย)

โดยในการสัมภาษณ์บรรณาธิการข่าวของเดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ เขายังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการ MCMC และเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกสำนักงานของเขาเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา และควบคุมตัวผู้สื่อข่าวและผู้บริหารรวม 5 รายเป็นเวลา 1 วันเพื่อสอบสวนตามกฎหมายว่าด้วยการปลุกระดมยั่วยุ หลังเดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการประชุมของสุลต่าน 9 รัฐ และผู้ว่าการรัฐ 4 รัฐ ที่มีการหารือการแก้ไขกฎหมายศาลชารีอะห์ และต่อมา ซายิด ดาเนียล ซายิด อาหมัด ตำแหน่งเจ้ากรมลัญจกร ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชลัญจกรของประมุขมาเลเซีย ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว

ต่อคำถามที่ว่า ตำรวจมีเหตุจูงใจทางการเมืองในการดำเนินคดีหรือไม่ อามิน กล่าวว่า ไม่แน่ใจในเรื่องนี้ แต่เหตุการณ์ก่อนที่จะมีการบุกจับถึงสำนักงานหนังสือพิมพ์ออนไลน์ มีปีกเยาวชนของพรรคอัมโนดำเนินการแจ้งความกับตำรวจในหลายรัฐ รวมทั้งหนังสือพิมพ์โปรพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคหลักในพรครัฐบาลได้เขียนบทความโจมตีเดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ เช่นกัน

อามิน กล่าวด้วยว่า แม้ว่ามาเลเซียยังขาดสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพสื่อมวลชน แต่เขาเชื่อว่าสื่อออนไลน์ในมาเลเซียจะยังคงเติบโตต่อไป โดยเฉพาะการมีปัจจัยใหม่ๆ อย่างโซเชียลมีเดีย "ในยุคของโซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ตอนนี้ข่าวในเฟซบุ๊คเร็วกว่าพวกเรา สื่อออนไลน์เสียอีก ดังนั้น สำหรับคนรุ่นหนุ่มสาว พวกเขาสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ และผู้อ่านส่วนใหญ่ของเราก็เป็นคนรุ่นนี้ ดังนั้นผมคิดว่า ออนไลน์มีเดียจะยังคงเติบโตต่อไป"

"และอย่างที่คุณรู้ดีว่า เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในไม่ช้านี้ หนังสือพิมพ์ก็อาจต้องปิดตัวลง เพราะคนไม่อยากซื้อหนังสือพิมพ์อีกต่อไป พวกเขาสามารถอ่านข่าวได้จากสมาร์ทโฟน ดังนั้นผมคิดว่าสำหรับมาเลเซีย อนาคตสำหรับสื่อออนไลน์น่าจะเติบโตอยู่ ตอนนี้คุณก็มองเห็นได้" อามินกล่าว

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หนุ่มสาวในพม่าสร้างแอพฯ สนทนาแบบไม่ระบุตัวตน แก้ความอัดอั้นภายใต้การครอบงำสื่อ

$
0
0

พม่าเป็นประเทศที่มีการปิดกั้นสื่ออย่างหนักมาโดยตลอด ทำให้มีผู้พัฒนาโปรแกรม Hush เพื่อให้ชาวพม่าสนทนาและระบายความรู้สึกได้โดยไม่มีการเปิดเผยตัวตนหรือที่อยู่ของผู้ใช้ เพื่อป้องกันการถูกกระทำจากรัฐรวมถึงการ 'ล่าแม่มด'


3 พ.ค. 2558 สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานว่า ในพม่ามีผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ระบุตัวตนซึ่งในประเทศที่มีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนัก ถือเป็นเรื่องที่ปฏิวัติพลิกโฉมการแสดงความคิดเห็น

ในประเทศพม่ามีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนักไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลง ใบปลิว สื่อซุบซิบดารา หรือแม้กระทั่งรายงานข่าวกีฬาก็จะโดนรัฐบาลเซ็นเซอร์ นอกจากสื่อในเชิงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารแล้วพม่ายังแบนสื่อการแสดงออกทางวัฒนธรรมจำพวก "เพลงแนวพังค์" หรือ "นางแบบที่ใส่วิกผมสีชมพู" ด้วย

โกลบอลโพสต์ระบุว่าการตกอยู่ภายใต้การควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดเป็นเวลานานรวมถึงการควบคุมสอดส่องทางวัฒนธรรมทำให้ประชาชนอึดอัดไม่กล้าพูดความรู้สึกที่แท้จริงออกมา แต่ก็มีคนหนุ่มสาวในพม่าสร้างโปรแกรมที่ชื่อ Hush ที่สามารถปกปิดตัวตนและที่อยู่ของผู้โพสต์ข้อความในอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถระบายความรู้สึกได้

เยเมียตมิน (Ye Myat Min) อายุ 24 ปี เป็นประธานบริหารบริษัทเน็กซ์ซึ่งเป็นบริษัทไอทีจากพม่า เขาบอกว่าโปรแกรม Hush สร้างขึ้นเพื่อให้คนได้แสดงความรู้สึกของตนโดยไม่ถูกจับได้ โดยพวกเขามีกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มวัยรุ่น

โกลบอลโพสต์ระบุว่านอกจากเยาวชนในพม่าใช้แอปพลิเคชันนี้ในการพูดคุยเรื่องที่เก็บกดมานานซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอกหักหรือเรื่องเพศ โดยโปรแกรมนี้ยังเปิดให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นต่อจากข้อความที่ไม่ระบุตัวตนได้ด้วย โดยข้อความเกี่ยวกับอองซานซูจีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้กับเผด็จการทหารเป็นหนึ่งในข้อความที่มีคนแสดงความคิดเห็นมากที่สุด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อหน่วยข่าวกรองของกองทัพพม่ารู้ถึงเรื่องการถกเถียงเกี่ยวกับอองซานซูจีเข้าก็อาจจะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

ทั้งนี้ Hush ยังปกปิดสถานที่ผู้โพสต์ข้อความเพื่อป้องกันไม่ให้มีการ 'ล่าแม่มด' แบบเดียวกับที่กลุ่มชาวพุทธเคยพากันใช้ศาลเตี้ยไล่ล่าชาวมุสลิมในบางชุมชนของพม่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตัวเยเมียดมินเองเปิดเผยว่าจนถึงตอนนี้รัฐบาลพม่ายังไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับแอปพลิเคชันของเขา แต่เขาก็จดทะเบียนใบอนุญาตประกอบการไว้ที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อความปลอดภัย

ถึงแม้ว่า Hush จะมีผู้ใช้มากกว่า 12,000 คน แต่ชาวพม่ายังมีผู้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 5 จากจำนวนประชากร 50 ล้านคน และก่อนหน้านี้ซิมการ์ดของโทรศัพท์ก็มีราคาสูงมากเพราะต้องการให้มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถืออยู่แต่เฉพาะกับชนชั้นนำ

อย่างไรก็ตามโกลบอลโพสต์ระบุว่า "Hush อาจจะมีบทบาทเล็กๆ ที่รอยรั่วของกำแพงแบ่งชนชั้นและศาสนาที่หนาแน่นซึ่งเป็นตัวกำหนดบทบาทชีวิตของชาวพม่า"

เยเมียตมินกล่าวว่า เขาหวังว่าโปรแกรมของเขาจะช่วยทำให้เกิดการแสดงความคิดเชิงสร้างสรรค์มากกว่านี้


เรียบเรียงจาก

This new messaging app from developers in Myanmar is kind of revolutionary, Globalpost, 26-04-2015
http://www.globalpost.com/article/6529176/2015/04/26/myanmars-new-anonymous-messaging-app-kind-revolutionary

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์โรฮิงญา การเดินทางของผู้อพยพจากบ้านเกิดสู่ความตาย

$
0
0

 

ความเป็นมา
จากการขยายผลภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหัวไทรจับกุมนายอานัว ชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ตามหมายจับของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชในคดีฉ้อโกง โดยตำรวจภูธรนครศรีธรรมราชได้ประสานกับชุดสืบสวนกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรสงขลา เข้าจับกุมตัวไว้ได้เมื่อคืนของวันที่ 28 เมษายน ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

โดยมีผู้เสียหายได้แจ้งความว่าหลานของตนได้ถูกกักขัง และต่อมาได้ถูกสังหารในพื้นที่อำเภอปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ ทำให้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งสืบสวนหาศพที่ถูกฝังในพื้นที่บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2558 พบหลุมศพ 32 หลุม ขุดเจอศพทั้ง 2 วันรวมกันทั้งหมด 26 ศพ เป็นชาย 25 ศพ เป็นหญิง 1 ศพ และยังพบผู้ป่วยขาดอาหารอีก 1 คน (ข้อมูลจาก ศูนย์กู้ชีพกู้ภัยไม้ขม)

การพบหลุมฝังศพกว่า 32 หลุม และศพชาวโรฮิงญา 26 ศพ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่านมาในการเผชิญหน้ากับปัญหาชาวโรฮิงญา ซึ่งบางส่วนเป็นชาวบังคลาเทศที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 เกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างชาวพม่ายะไข่กับชาวโรฮิงญา มีชาวโรฮิงญากว่า 150,000 ถูกทำให้ต้องพลัดถิ่นฐานจากบ้านของตัวเอง จากตัวเลขของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประมาณการว่า ชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีออกจากรัฐยะไข่ ในปี 2556 มีจำนวน 40,000 คน และในปี 2557 เพิ่มขึ้นมากกว่า 53,000 คน

ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเหล่านี้มีทางเลือกในการอพยพออกจากบ้านเกิดของตนไม่มาก เมื่อบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของพม่าไม่สามารถแบกรับการอพยพเข้ามาของชาวโรฮิงญาเพิ่มเติมจากจำนวนที่มีอยู่แล้วมากกว่า 200,000 คน ขณะที่การเดินทางหลบหนีไปยังพื้นที่อื่นๆ ของพม่าก็ถูกจำกัดจากนโยบายของรัฐบาลพม่าที่จำกัดการเดินทางของชาวโรฮิงญา จึงทำให้เหลือเส้นทางเดียวที่จะเดินทางอพยพหนีออกจากบ้านเกิดของตน คือการลงเรือมุ่งหน้าลงใต้สู่อ่าวเบงกอล จำนวนมากเดินทางต่อเนื่องมาถึงอันดามันเลียบชายฝั่งเข้าสู่ประเทศไทย บางส่วนอาจเดินทางต่อไปยังประเทศสู่มาเลเซีย บางส่วนอาจไปถึงอินโดนีเซีย

ตัวเลขการเสียชีวิตของชาวโรฮิงญาที่พบศพชัดเจน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และมาสูงสุดในปีนี้ แม้ว่าตัวเลขการจับกุมจะลดลงมาโดยตลอด นับตั้งแต่มกราคม 2558 มีการจับกุมชาวโรฮิงญาในประเทศครั้งใหญ่ และเป็นการจับกุมที่ทำให้หลายคนเริ่มเห็นความรุนแรงที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญระหว่างเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการจับกุมรถกระบะ 5 คัน บรรทุกชาวโรฮิงญาจำนวน 98 คน 1 ในนั้นซึ่งเป็นหญิงสาวพบว่าเสียชีวิตอยู่ภายในรถ ต่อมามีผู้เสียชีวิตอีก 2 คน การเสียชีวิตของชาวโรฮิงญา 3 คนในพื้นที่อำเภอหัวไทร นับเป็นชาวโรฮิงญา 3 ศพแรกของปี 2558 เมื่อรวมกับศพที่ถูกพบในระว่าง 1-2 พฤษภาคม ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 2558 พบศพชาวโรฮิงญาเพิ่มเป็น 29 ศพ ขณะที่ทางเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงญา จังหวัดสงขลา ซึ่งติดตามและให้ความช่วยเหลือโรฮิงญา พบว่าในปี 2557 ทางเครือข่ายฯ ได้รับการประสานงานให้ฝังศพชาวโรฮิงญา 10 ศพ และในปี 2556 อีก 8 ศพ ซึ่งไม่นับรวมเหตุการณ์ในปลายปี 2556 ที่มีการพบ 15 ศพ ลอยอยู่ในน่านน้ำไทย บริเวณจังหวัดระนอง ทุกคนถูกบอกว่าเป็นแรงงานชาวพม่า แต่ชาวโรฮิงญาที่พบในพื้นที่และในช่วงเวลานั้นกลับยืนยันว่าการเสียชีวิตของเพื่อนเกิดระหว่างการถูกผลักดันออกนอกประเทศทางจังหวัดระนอง

ความซับซ้อนของการอพยพลักลอบข้ามชายแดนมีมากขึ้น เมื่อผู้อพยพต่างสมัครใจที่จะเดินทางโดยอาศัยเครือข่ายขบวนการนอกกฎหมาย อาจมีบางคนที่ถูกบังคับ แต่ส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาโดยสมัครใจ แต่เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยกลับพบว่า พวกเขาถูกควบคุมกักขังโดยคนของขบวนการอีกกลุ่มซึ่งพยายามติดต่อญาติพี่น้องให้ส่งเงินมาไถ่ตัว หลายคนโชคดีที่ญาติพี่น้องหาเงินมาไถ่ตัวได้ และขบวนการก็ส่งตัวออกไป แต่อีกจำนวนมากไม่ได้โชคดีเช่นนั้น พวกเขาถูทุบตี ถูกทำร้ายร่างกาย อดอาหาร หลายคนไม่รอดชีวิต การจับกุมที่เกิดขึ้นหากเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีความพยายามขยายผลต่อ ก็จะเอาผิดได้แค่คนขับรถที่จะถูกพิพากษาว่ามีความผิดในการนำพาต่างด้าวเข้ามาในประเทศ อาจติดคุกไม่กี่ปี หรืออาจไม่ติด หากได้ทนายที่มีความสามารถ ส่วนความผิดการค้ามนุษย์ก็จะถูกพิจารณาว่าไม่เข้าข่ายองค์ประกอบ ศาลก็จะพิจารณายกฟ้อง และขบวนการก็ดำเนินการต่อ

 

การพยายามใช้กระบวนการกฎหมาย หยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์
ความพยายามหยุดยั้งขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกและนำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศโดยกฎหมาย ยังไม่เห็นแนวโน้มความสำเร็จที่ชัดเจนนัก แม้จะมีความพยายามของเจ้าหน้าที่ทั้งของเจ้าหน้าที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง ภาค 6, ฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แต่ในพื้นที่อื่นๆ ตลอดชายฝั่งอันดามันตั้งแต่ระนองไปจนถึงสตูล กลับแทบไม่มีการขยายผลการจับกุมขบวนการแต่อย่างใด

การขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และกองบังคับการตำรวจภาค 8 สุราษฎร์ธานี จากการจับกุมขบวนการลักลอบขนชาวโรฮิงญา 98 คน เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 พร้อมผู้ต้องหาที่เป็นคนขับรถ 2 คน ต่อมาก็สามารถจับกุมได้เพิ่มอีก 2 คนเป็นไต้ก๋งเรือที่นำตัวชาวโรฮิงญาเข้ามา และอีกคนเป็นผู้จัดหารถ ขณะที่มีการออกหมายเรียกเจ้าของรถ และออกหมายจับคนอื่นๆ ในขบวนการ

การพยายามขยายผลการจับกุมอย่างจริงจัง ทำให้มีญาติของชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าแจ้งความว่าตนเองได้จ่ายเงินไถ่ตัวหลานชาย แต่นายหน้าก็ไม่ยอมเอาตัวมาให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงออกหมายจับและสามารถจับกุมนายหน้า คือ นายอานัว ได้ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และขยายผลจนสามารถสืบทราบ และพบหลุมศพ 32 หลุม และศพ 26 ศพ ในบริเวณที่เป็นค่ายพักเถื่อนที่ควบคุมชาวโรฮิงญาไว้ในบริเวณเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของชุดสืบสวนที่มุ่งขยายผลในการจับกุมขบวนการที่นำพาชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศ

 

เปิดข้อมูลมีชาวโรฮิงญาถูกฆ่าและฝังอีกเป็นจำนวนมากที่พื้นที่อำเภอตะกั่วป่า เรียกร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เร่งสอบสวนและจับกุมผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดี
ต้องถือว่าเป็นการจับกุมคดีใหม่ ที่ไม่ได้มีเกี่ยวข้องโดยตรงจากคดีที่มีการจับกุม 98 คน ในพื้นที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาไปแล้ว 4 คน ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่ายังมีสถานที่ฝังศพอยู่อีกในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสอบสวนหญิงสาวชาวโรฮิงญา ซึ่งเห็นผู้คุมลงมือฆ่าน้องชายของตนระหว่างการถูกควบคุมบนเกาะไม่ไกลจากชายฝั่งอำเภอตะกั่วป่า โดยทางฝ่ายปกครองของอำเภอตะกั่วก็มีความพร้อมที่จะสำรวจ หากเจ้าหน้าตำรวจหัวไทรจะนำผู้เสียหายมาช่วยนำทาง

นอกเหนือไปจากการวางแผนจับกุมนายอนัส หะยีมะแซ อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เมื่อ 10 มีนาคม 2557 ระหว่างที่นำตัวชาวโรฮิงญามาส่งให้ญาติที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดสงขลา และกำลังขยายผลไปยังผู้มีอิทธิพลภายในจังหวัดสตูล แต่คดีที่จับกุมได้ในพื้นที่จังหวัดระนองและพังงากลับไม่มีความคืบหน้า ไม่สามารถขยายผลไปคนภายในขบวนการอื่นๆ ได้ ทั้งในการจับกุมคดีผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ต้องหา และคดีที่มีการจับกุมชาวโรฮิงญา 134 คน ระหว่าง 11-13 ตุลาคม 2557 ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภอตะกั่วป่ายืนยันได้ว่า เป็นกลุ่มที่เข้ามาพร้อมกับชาวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมได้ที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

การค้นพบศพชาวโรฮิงญา เป็นความสำเร็จท่ามกลางความพ่ายแพ้ของพวกเราทุกคนในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งฉกฉวยอาศัยความสิ้นหวังของชาวโรฮิงญาแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ใด การต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญายังคงเป็นสงครามที่ยังไม่จบง่ายๆ แม้เจ้าหน้าที่จะทำลายแหล่งที่พักของขบวนการในพื้นตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาได้ แต่ยังเหลือการต่อสู้ในอีกหลายจังหวัดตลอดชายฝั่งอันดามัน ยังมีอีกหลายคดีที่ต้องการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ในการขยายผลต่อไปอีก


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนวคิดการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557

$
0
0

หลังจากที่พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 มีผลให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่เขียนบทความนี้ก็ราว 4 เดือนเศษ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เป็นผู้ถือกฎหมายฉบับนี้โดยตรง ยังมีหน้าที่สำคัญๆ ที่ต้องดำเนินการโดยเร็วอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้ง "คณะกรรมการคุ้มครองคนไร่ที่พึ่ง" ที่มีรัฐมนตรีว่าการเป็นประธาน และมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และนักวิชาการ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานมาตรฐานการทำงานด้านการคุ้มครอง ดูแล คนไร้ที่พึ่งอย่างยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ “มีที่พึ่ง พึ่งตนเองได้ เป็นที่พึ่งของผู้อื่น”

ระบบสวัสดิการที่หลากหลาย ต้องเข้ามามีส่วนในมาตรการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมากขึ้น โดยลดการทำงานเชิงสงเคราะห์ลง แต่เน้นการทำงานส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ที่มีอยู่ของรัฐให้มากขึ้น หน่วยงานที่ทำงานกับกลุ่มคนไร้ที่พึ่งมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ปี อย่าง บ้านมิตรไมตรี ทั้ง 10 แห่ง ที่เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ก้าวหน้าของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่มองแนวทางการแก้ไขปัญหาคนไร้ที่พึ่งไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ ต้องได้รับการส่งเสริมให้พัฒนารูปแบบการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าเป็นนวัตกรรมสำคัญในการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะสามารถเป็นต้นแบบให้หน่วยงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคศาสนา และองค์กรภาคประชาสังคม ที่สนใจเข้ามาใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีเจตนาสร้างความมั่นคงให้กับพลเมืองและประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการฯ เพิ่งร่างเสร็จ ในมาตรา 59 ที่เน้นว่า พลเมืองทุกคนต้องสามารถรับบริการสาธารณะของรัฐอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและบริการดังกล่าวต้องได้รับการพัฒนาอยู่เสมอ

ในฐานะที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องของการสร้างระบบสวัสดิการของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแห่งชาติ พ.ศ.2546 ที่มีหน้าที่หลักในการคิดค้นส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนจัดสวัสดิการทางสังคมให้บริการแก่พลเมืองของประเทศ จึงไม่สามารถหลีกความรับผิดชอบไปได้ โดยเฉพาะเมื่อนำพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 เข้ามาพิจารณาร่วมด้วยแล้ว จะพบว่าภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูคล้ายจะหนักมากขึ้น แต่หากพิจารณาในรายละเอียดกันดีดีแล้วจะพบว่า เป็นโอกาสที่จะใช้ในการยกระดับการให้บริการสวัสดิการอย่างมืออาชีพมากขึ้น โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานกำลังหลักในการทำงานภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ทั้งสอง ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับหลังจากการปรับโครงสร้างภายในใหม่ ตาม พ.ร.บ.ของกระทรวงฯ ทำให้ แบ่งบทบาทการทำงานในรูปแบบของกรมต่างๆ ที่มีหน้าที่ในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทางมากขึ้น โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ยังดูแลนิคมสร้างตนเองอีกไม่น้อยกว่า 34 จังหวัด ที่เมื่อนำโครงสร้างการทำงานที่เน้นการส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการจะสามารถสร้างรูปแบบการทำงานเพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้อย่างยั่งยืน

โดยการทำงานอาจจะต้องเน้นการทำงานเชิงรุก โดยมีหน่วยงานนวัตกรรมของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ อย่างบ้านมิตรไมตรี เป็นหน่วยหน้าในการออกไปทำงานกับกลุ่มเป้าหมายตาม พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง และให้สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ และสถานคุ้มครอง เป็นหน่วยงานสนับสนุนและหน่วยงานส่งต่อ เพื่อรับการคุ้มครอง ฟื้นฟู และพัฒนาตามลำดับ และเมื่อพบว่าผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้ชีวิตโดยปกติได้ในสังคม ก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ผู้ที่มีศักยภาพพอที่จะดูแลตนเองได้ และผู้ที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ไปตลอดชีวิต โดยกลุ่มแรก ก็สามารถประสานงานส่งต่อไปยังนิคมสร้างตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการใช้พื้นที่ภายในนิคมเพื่อสร้างอาชีพต่อไป และกลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ก็เข้าสู่กระบวนการของสถานสงเคราะห์ต่อไป

โดยการทำงานภายใต้กระบวนการดังกล่าว จะลดภาระการดูแลคนไร้ที่พึ่งในอนาคตลงมากกว่า 40% แต่จะสามารถมีพลังในการขับเคลื่อนสนับสนุนการทำงานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการคืนกลับมาอย่างไม่มีสิ้นสุด เพราะรูปแบบการทำงานแบบส่งเสริมและพัฒนาให้เขาพึงพาตนเองได้ โดยมีทางเลือกที่หลากหลาย จะส่งผลให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของความมั่นคงของมนุษย์ ตามเจตนารมณ์ของกระทรวงฯ และเจตนารมณ์ของสากลที่มีความมั่นใจว่า ความมั่นคงของประชาชน คือความมั่นคงของชาติ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เปิดตัวเว็บไซต์ "ประชามติ" ชวนประชาชนมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ

$
0
0

สื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคม 4 แห่ง เปิดตัวเว็บไซต์ "ประชามติ" เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และรวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลาย ต่อประเด็นต่างๆ ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในร่างรัฐรรมนูญ โดยผู้จัดทำเว็บเห็นว่าหน่วยงานที่มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถตอบโจทย์นี้ได้

4 พ.ค. 2558 - หลังเวลา 18.00 น. เว็บไซต์ประชามติ หรือ Prachamati.org ได้เปิดตัวขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภารกิจที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่สามารถทำหน้าที่ตอบโจทย์นี้ได้เองอย่างสมบูรณ์

โดยเว็บไซต์ประชามติ หรือ www.prachamati.orgเป็นการร่วมมือของสื่อทางเลือกและองค์กรภาคประชาสังคม อันประกอบด้วย สำนักข่าวประชาไท, สำนักข่าวไทยพับลิก้า, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw.or.th) ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2558

ในเพจ "ประชามติ"ระบุว่า "หลังการรัฐประหารในปี 2557 วาระสำคัญคือการ "ปฏิรูปประเทศ" โดยเฉพาะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของสังคมที่อยากร่วมรับรู้และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 กลับไม่ได้กำหนดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรง เช่น การทำประชามติ เอาไว้ด้วย

17 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นำไปพิจารณา หลังการอภิปรายทั่วไปแล้วเสร็จ สภาปฏิรูปแห่งชาติยังมีเวลาอีก 30 วันในการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีเวลาอีก 60 วัน ในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ สปช. เสนอมา แม้ว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะมีที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่องค์กรทั้งหลายก็ประกาศเสมอมาว่าพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

ดังนั้น ช่วงเวลาระหว่าง 90 วันนี้ การส่งเสียงของประชาชนไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างยิ่ง

เว็บไซต์ประชามติ ขอเป็นพื้นที่รวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลาย ต่อประเด็นต่างๆ ที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในร่างรัฐรรมนูญ ฉบับปี 2558"

โดยวันแรกของการเปิดเว็บประชามติ มีการตั้งคำถามแรกว่า "เห็นด้วยหรือไม่ รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ?" โดยระบุว่า "แม้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้กำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องมีการทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชน แต่ก็มีหลายเสียงออกมาผลักดันให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ควรต้องทำประชามติ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดที่มีความสำคัญต่อประเทศ จึงควรให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศตัดสิน และจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ช่วยลดความขัดแย้งในสังคม ลดแรงกดดันจากนานาชาติ

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็ให้เหตุผลว่าการทำประชามติจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง และอาจทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป" โดยสามารถแสดงความเห็นได้ที่ https://www.prachamati.org/polls/42"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจออกหมายจับ 2 ราย คดีค่ายกักกัน-หลุมศพชาวโรฮิงญาที่ปาดังเบซาร์

$
0
0

กรณีพบค่ายกักกันและหลุมฝังศพชาวโรฮิงญา ที่ยอดเขาแก้ว ปาดังเบซาร์ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับนักการเมืองท้องถิ่น 2 ราย และเตรียมออกหมายจับเพิ่ม ขณะที่กองทัพตรวจค้นเป้าหมายที่เป็นแหล่งพักพิงชาวโรฮิงญา 8 จุดในสงขลา-สตูล

4 พ.ค. 2558 - ความคืบหน้ากรณีพบแคมป์และสุสานฝังศพชาวโรฮิงญาบนยอดเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ หมู่ 8 ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา นั้น สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่มีพยานและหลักฐานชัดเจน และมีรายงานว่าจะมีการออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 คนแรก ซึ่งคาดว่าจะออกในวันนี้ โดยหนึ่งในผู้ที่จะถูกออกหมายจับเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา รวมทั้งเตรียมออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน

ขณะเดียวกันในวันนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะลงพื้นที่มาติดตามคดีนี้โดยจะมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และจะแถลงความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ทหารจะเริ่มปฏิบัติการตรวจค้นเป้าหมายที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นแหล่งพักพิงของชาวโรฮิงญารวม 8 จุด ตั้งแต่พื้นที่ชายแดน จ.สตูล และ จ.สงขลา ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหาร จะลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อติดตามเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

$
0
0

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)โดยมีกำหนดการที่จะพิจารณาให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันว่า จะผลักดันให้ผ่านสภานิติบัญญัติในเดือนกรกฎาคม และนำขึ้นทูลเกล้าถวายในวันที่ 4 กันยายน เพื่อให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดการของ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปรากฏว่า ปัญหาที่เป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ คือ ถ้าหากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการพิจารณาแล้วนำมาสู่การเลือกตั้ง ขบวนการประชาธิปไตยไทยควรจะมีท่าทีอย่างไร

มีการเสนอกันว่า ในเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง ควรที่จะผลักดันให้มีการบอยคอตไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง หรือที่สุดขั้วกว่านั้น คือ เสนอให้คัดค้านการเลือกตั้งไปเสียเลย ให้คณะทหาร คสช.ปกครองกันไปอย่างนี้ดีกว่าที่จะมีการเลือกตั้งแบบไม่เป็นธรรม ข้อเสนอที่เป็นระบบและชัดเจนที่สุด คือ กรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้โพสเฟซบุ๊กในวันที่ 26 เมษายน โดยเสนอในทางยุทธวิธีเฉพาะหน้าสำหรับผู้ต้องการผลักดันการเมืองในทิศทางประชาธิปไตย คือ การพยายามเรียกร้อง กดดันให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ บอยคอต ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่จะออกมา คือการไม่ส่งผู้สมัครเลย และเรียกร้องให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคทั้งหมด ไม่ไปลงคะแนนด้วย ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญของ คสช. เป็นการเลือกตั้งที่มีคนเข้าร่วมน้อย ไม่น่าจะถึงครึ่งของผู้ใช้สิทธิ์ ส่งผลให้สภาและรัฐบาลที่ได้มาขาดความชอบธรรมอย่างชัดเจน นายกรัฐมนตรีที่ได้มาใหม่ ก็อยู่ในฐานะ“ตัวตลก”ที่ปราศจากการยอมรับ และขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิงบนเวทีโลก ระบอบปกครองของพวกเขาจะยิ่งลำบาก

สมศักดิ์เสนอต่อมาว่า เขาจงใจที่จะข้ามประเด็นเรื่องการผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ และประเด็นเรื่องลงประชามติ เพราะเรื่องแรก ไม่คิดว่าจะมีทางเกิดขึ้นได้ เพราะ คสช.และนายบวรศักดิ์คงไม่มีทางผลักดันรัฐธรรมนูญที่ต่างออกไปจากนี้โดยพื้นฐาน ส่วนเรื่องการลงประชามติก็ไม่คิดว่าจะมี หรือถ้ามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรต้องตกลงที่จะลงมติคว่ำรัฐธรรมนูญ หรือกระทั่งบอยคอตไม่เข้าร่วมด้วย ในลักษณะเหตุผลแบบเดียวกัน
ข้อเสนอเช่นนี้ ถือว่าน่าสนใจมาก และสอดคล้องกับความรู้สึกของฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมากที่คิดไว้แล้ว ว่าจะคว่ำบาตรไม่ไปเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ปัญหาที่จะต้องพิจารณาทบทวนคงจะมีสองประเด็น คือ ควรจะสนับสนุนการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ตามเหตุผลของนายสมศักดิ์หรือไม่ และประการต่อมา คือ ท่าทีของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะตอบรับข้อเสนอในลักษณะนี้หรือไม่

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ในระยะที่ผ่านมา กลายเป็นพรรคการเมืองสำคัญที่อยู่ตรงข้ามกับขบวนการประชาธิปไตย ตั้งแต่การที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ในขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่นายสุเทพและประชาธิปัตย์กลับเสนอหลักการให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เพื่อมาล้มการเลือกตั้ง และปูทางให้เกิดการรัฐประหาร ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกองทัพก่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ล้มรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย แล้วสร้างระบอบเผด็จการเพื่อการปฏิรูป ก็เป็นการดำเนินไปตามแนวทาง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของนายสุเทพนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดท่าทีอย่างไร ต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็คงไม่มีผลอะไรกับการรื้อฟื้นประชาธิปไตย ไม่ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ก็ไม่เกี่ยวกับขบวนการฝ่ายประชาชน

สำหรับพรรคเพื่อไทยปัญหาสำคัญในระยะปีที่ผ่านมา คือ มีการเคลื่อนไหวและแสดงท่าทีที่ปฏิเสธและต่อต้านการรัฐประหารน้อยเกินไป ความจริงแล้ว แนวโน้มของการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมุ่งขัดขวางพรรคเพื่อไทย เห็นได้ตั้งแต่แรก พรรคเพื่อไทยจึงควรแสดงท่าทีปฏิเสธรัฐธรรมนูญนี้มานานแล้ว และควรที่จะนำเสนอหลักการปฏิเสธการรัฐประหาร คือ การไม่ยอมรับการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งหมด ด้วยการยืนยันการคงอยู่ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 ซึ่งโดยหลักการไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 จะถูกต้องไปทั้งหมด เพียงแต่ปัญหาในรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข โดยการเสนอแก้รัฐธรรมนูญผ่านสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การทำรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับดังที่เป็นอยู่นี้
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่เคยนำเสนอหรือเคลื่อนไหวอะไรในหลักการนี้เลย ไม่เคยแม้กระทั่งการคัดค้านหรือประณามการรัฐประหาร ไม่ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและการกวาดล้างปราบปรามประชาชน และไม่เคยแม้แต่จะเรียกร้องให้ คสช.คืนอำนาจให้ประชาชนแล้วจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว และที่แย่มากคือการสนับสนุนการใช้มาตรา 44 ของธรรมนูญชั่วคราว เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยจึงถูกบีบให้เลือกในลักษณะที่ สมศักดิ์เสนอ คือ จะร่วมในการเลือกตั้งในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ ผมกลับเห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรเข้าร่วมการเลือกตั้ง แต่รักษาหลักการในการปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.

เหตุผลสำคัญของการเข้าร่วมการเลือกตั้งก็คือ การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากรักษาในหลักการเดิมของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ( สปป.) ที่เสนอหลักการสวนกับ กปปส.ว่า ต้อง “เลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ก็ต้องพิจารณาการเลือกตั้งโดยแยกออกจากกติกาอันไม่เป็นธรรม แต่การเข้าร่วมเลือกตั้ง ต้องใช้วิธีการพลิกแพลงที่สุดในการเลี่ยงข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องใช้กลไกการหาเสียงเลือกตั้ง ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความรู้กับประชาชนในปัญหาเรื่องประชาธิปไตย และกติกาอันไม่เป็นธรรม และใช้รัฐสภาเป็นเวทีหนึ่งในการต่อสู้โดยสันติวิธี หรืออย่างน้อยก็คือการเข้าไปขัดขวางขบวนการทางการเมืองของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย เพราะการที่ขบวนการประชาธิปไตยคว่ำบาตรการเลือกตั้ง จะยิ่งเปิดทางให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเผด็จการสืบทอดอำนาจได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

สรุปแล้ว การมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเลย ก็ยังทำให้สถานการณ์คืบหน้าไปกว่าการปกครองโดยเผด็จการทหารเต็มรูปที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่ว่า พรรคเพื่อไทยคงจะต้องสรุปบทเรียนและต่อสู้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ ด้วยการรักษาหลักการประชาธิปไตยและคุ้มครองประชาชน การเมืองไทยจึงจะพัฒนาไปข้างหน้าต่อไปได้

สำหรับขบวนการประชาธิปไตยจึงต้องต่อสู้และผลักดันให้มีการเลือกตั้ง เพื่อปิดฉาก คสช. และสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจประชาชน โดยยืนยันความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อทำลายผลพวงรัฐประหารทั้งหมด และย้อนกลับไปสู่ประชาธิปไตย

 

เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข ฉบับ 512 วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอบโลกแรงงานเมษายน 2015

$
0
0
เรือประมงรัสเซียล่มกลางทะเล ลูกเรือตาย-หายเกือบ 70
 
2 เม.ย. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกิดอุบัติเหตุสลด เรือประมงอวนลากของรัสเซีย ‘The Dalniy Vostok’ อับปางกลางทะเล ออกฮอต์สก์ นอกชายฝั่งคาบสมุทรคัมชัตคา ทางภาคตะวันออกไกลของประเทศรัสเซีย เป็นเหตุให้ลูกเรือเสียชีวิตอย่างน้อย 54 คน และยังสูญหายอีกราว 15 คน ขณะที่สามารถช่วยชีวิตลูกเรือขึ้นมาจากท้องทะเลได้แล้วกว่า 60 คน เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (1 เม.ย.)
 
ด้านสำนักข่าวอิทาร์ทาสส์ ของรัสเซีย รายงานว่า เรือประมงอวนลากลำนี้ มีลูกเรือ 132 คน ประกอบด้วย ชาวรัสเซีย 78 คน ที่เหลืออีก 54 คนเป็นแรงงานต่างชาติ มีทั้งชาวเมียนมาร์, ยูเครน, ลิทัวเนีย และวานูอาตู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาร์ โดยขณะนี้ เรือประมงอีกนับ 20 ลำ กำลังช่วยกันค้นหาลูกเรืออีก 15 คนที่ยังสูญหาย
 
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เรือประมงอวนลาก เกิดอับปางกลางทะเลออกฮอต์สก์นั้น มีการคาดการณ์ว่า เนื่องจากชนกับหินโสโครก จนท้องเรือได้รับความเสียหาย หรือบางทีอาจเป็นเพราะเรือประมงได้บรรทุกปลาที่จับขึ้นมาได้แล้วหนักถึงประมาณ 80 ตัน ไว้บนดาดฟ้าของเรือ จนทำให้เรือพลิกคว่ำ
 
ชี้เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะฟื้นตัวแต่อัตราการว่างงานจะสูงเป็นประวัติการณ์
 
3 เม.ย. 2015 สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส หรืออินซี คาดหมายว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศส ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร หรือ ยูโรโซน จะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่คาดว่าอัตราการว่างงานจะยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ต่อไป
 
สถาบันอินซี ซึ่งเผยแพร่ผลการสำรวจเมื่อวานนี้ กล่าวว่า เศรษฐกิจของฝรั่งเศสจะขยายตัวร้อยละ 0.4 ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และเติบโตร้อยละ 0.3 ในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่นายมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจตลอดทั้งปีจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1.0 ซึ่งสูงกว่าที่ทางการประมาณการเอาไว้ แต่การคาดหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทางบวกกลับไม่เพียงพอที่จะทำให้อัตราการว่างงานในประเทศปรับตัวลดลงได้ โดยคาดหมายว่า อัตราการว่างงานจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 10.2 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
 
แรงงานประมงต่างชาติหลายร้อยคนที่ถูกทิ้งในอินโดนีเซียรุดขอความช่วยเหลือ
 
3 เม.ย. 2015 แรงงานประมงต่างชาติหลายร้อยคนที่ถูกทิ้งไว้บนเกาะแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียรีบเดินทางไปหาเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียที่เปิดการสอบสวนเรื่องนี้และเสนอจะช่วยเหลือพวกเขา
แรงงานจำนวนมากพากันวิ่งฝ่าสายฝนกลับไปเก็บของใช้ส่วนตัวเท่าที่มีแล้วขึ้นเรือกลับไปรอที่ท่าเรือ หลังจากทราบข่าวว่าอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและตรวจตราการประมงของอินโดนีเซียบอกกับแรงงานจากเมียนมาร์ประมาณ 20 คนว่า จะพาพวกเขาออกจากเกาะเบนจินาหลังจากที่ได้ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่แล้วในวันนี้ ทางการอินโดนีเซียเผยว่า เกาะเบนจินามีคนจากกองทัพเรือดูแลอยู่เพียง 2 คน จึงจะนำพวกเขานั่งเรือ 12 ชั่วโมงไปยังเกาะตวลเพื่ออยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการประมงและตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป
 
คณะเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเริ่มสอบปากคำแรงงานประมงต่างชาติและประเมินสถานการณ์บนเกาะเบนจินาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แรงงานเหล่านี้เผยว่า ถูกทำร้ายขณะหาปลากลางทะเล ทั้งเตะ เฆี่ยนด้วยหางปลากระเบน และช็อตไฟฟ้า ไม่ได้รับประทายาเมื่อป่วย ทำงานนานหลายชั่วโมงและแทบไม่ได้รับค่าจ้าง แรงงานวัย 42 ปีคนหนึ่งกล่าวว่า ดีใจมากที่จะได้กลับไปพบหน้าพ่อแม่แม้ยังไม่รู้ว่าเมื่อกลับบ้านเกิดที่เมียนมาร์แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร
 
รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ
 
4 เม.ย. 2015 รัฐบาลอินโดนีเซียเปิดปฏิบัติการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม แรงงานเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว 319 คนจากเกาะเบนจินา นำขึ้นเรือมาถึงเกาะตวลวันนี้ (4 เม.ย.) โดยสถานทูตเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา จะมาถึงเกาะตวลวันจันทร์นี้เพื่อดำเนินการส่งกลับประเทศ ส่วนแรงงานไทยที่เกาะเบนจินา 746 คน ทางกระทรวงกิจการทะเลและประมง อินโดนีเซีย ระบุว่า รัฐบาลไทย และทางบริษัทจะดำเนินการช่วยเหลือในการส่งกลับ ส่วนตำรวจอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนว่ามีการบังคับใช้แรงงานและมีการค้ามนุษย์หรือไม่
 
พนักงานบัญชีหญิงชาวออสเตรเลียถูกเลิกจ้าง เหตุแชทนินทาบอสให้เพื่อนฟัง แต่ดันเผลอพิมพ์ส่งไปให้เจ้าตัว
 
12 เม.ย. 2015 เว็บไซต์ข่าวนิวยอร์กเดลินิวส์ได้เผยแพร่เรื่องราวเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ลูกจ้างพนักงานทั้งหลาย เมื่อ 'หลุยอิส เนสบิต' หญิงชาวออสเตรเลียรายหนึ่งผู้ประกอบอาชีพพนักงานบัญชีในบริษัทเหมืองแร่ทองคำ เกิดคันปากพิมพ์นินทา 'ร๊อบ การ์ดเนอร์' เจ้านายของเธอให้ว่าที่ลูกเขยของเธอฟัง แต่ดันเผลอพิมพ์ส่งไปให้เจ้านายแทนเสียอย่างนั้น
 
หลุยอิสได้นินทาเจ้านายของตัวเองว่าเป็น "ใครๆ เขาก็รู้ดีว่าร๊อบเป็นไอ้งั่ง!" ก่อนที่เธอจะฉุกคิดได้ก็สายไป
 
หลุยอิสพิมพ์ขอโทษทันทีที่เธอรู้ตัวว่าเธอเผลอทำอะไรลงไป โดยบอกว่า "แค่พูดหยอกล้อที่ดูเยอะไปหน่อยเท่านั้นเอง" พร้อมร้องขอให้ช่วยลบข้อความเหล่านั้นด้วย
 
แต่ร๊อบไม่สนใจ นำข้อความดังกล่าวไปให้ฟังเรียกร้องเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินว่าข้อความดังกล่าวถือเป็นข้อความที่หยาบคาย จึงเป็นสาเหตุหลักๆ ให้หลุยอิสถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมา หลังจากทำงานที่แห่งนี้มานาน 6 ปี
 
นายจ้างจีนหอบเงินสดกองสูงแจก พนง. ดีเด่น ต้องใส่กระสอบแบกกลับบ้าน
 
13 เม.ย. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทธุรกิจอีคอมเมิร์ชจีนแห่งหนึ่ง สร้างความฮือฮาสุด ๆ หลังสร้างเซอร์ไพรส์ เบิกเงินสดเป็นกองสูงพะเนิน เพื่อ แจกเงินก้อนใหญ่ให้แก่บรรดาพนักงานที่ติดกลุ่มมีผลการทำงานยอดเยี่ยม โดย เงินดังกล่าวมาจากการขายหุ้นของซีอีโอ
 
รายงานระบุว่า ไอเดียสุดใจป้ำนี้มีขึ้นหลังจากบริษัทดังกล่าวที่ไม่มีการเผยชื่อซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลหูหนาน มีผลกำไรอย่างมาก หลังจากหุ้นของบริษัทพุ่งทะยานสูงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนเหล่าบรรดาพนักงานที่มีผลการทำงานยอดเยี่ยมดีเด่น บริษัทได้เบิกเงินสดเป็นจำนวนราว 14.2 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 69.8ล้านบาท เพื่อแจกให้แก่พนักงานเหล่านี้ ในงานฉลองกิจการที่หรูหราของบริษัท เมื่อวันพฤหัสบดีที่9 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเงินดังกล่าวมาจากการขายหุ้นส่วนตัวบางส่วนของซีอีโอเพื่อนำมาเบิก แจกให้กับพนักงานเหมือนโบนัสพิเศษ  
           
เหตุการณ์นี้สร้างความเซอร์ไพร์ส จนตกตะลึงให้แก่เหล่าพนักงานอย่างมาก เพราะเมื่อก้าวเข้ามาในห้อง ก็ต้องตาลุกวาวกับเงินที่ตั้งเป็นกองพะเนินที่อยู่ต่อหน้า  จากนั้น  บริษัท ได้แจกโบนัสให้แก่พนักงานผลงานดีเด่นแต่ละคน ซึ่งได้รับเงินสดเป็นปึกมูลค่า 3 ล้านหยวน หรือ คนละ  14.7ล้านบาทโดยพนักงานจำนวนนี้หลายคนถึงกับต้องนำกระสอบกลับมายังที่ทำงานเพื่อหอบเงินสดจำนวนเป็นฟ่อนเหล่านี้กลับบ้าน  แต่ข่าวไม่ได้บอกว่า มีพนักงานดีเด่น ได้เซอร์ไพร์สนี้ไปทั้งหมดกี่คน 
 
บริษัทอินเดียประสบปัญหาขาดแคลนผู้บริหารหญิงอ้างผู้หญิงขาดความสามารถ
 
13 เม.ย. 2015 วีโอเอรายงานว่ากฏหมายที่รัฐบาลอินเดียบังคับใช้เมื่อปีที่แล้วมุ่งสร้างความเท่าเทียมในที่ทำงานและต้องการเพิ่มจำนวนผู้หญิงที่ทำงานในตำแหน่งคณะกรรมการบริหารบริษัทให้มากขึ้น 
 
แต่เมื่อครบกำหนดเส้นตายเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ราว 150 บริษัทจากทั้งหมดประมาณ 1,475 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังหาผู้ที่เหมาะสมเข้ารับตำแหน่งไม่ได้ ส่วนบริษัทที่หาผู้หญิงขึ้นดำรงตำแหน่งได้ เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดแต่งตั้งญาติผู้หญิง ภรรยาหรือไม่ก็ลูกสาวขึ้นดำรงตำแหน่งดังกล่าว รวมทั้งบริษัท Reliance Industries ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย 
 
คุณ Pranav Haldea แห่ง PRIME Database บริษัทวิจัยด้านการตลาดในกรุงนิวเดลลีรู้สึกคลางแคลงใจต่อกฏหมายนี้ เขากล่าวว่าที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือบริษัทเหล่านี้อ้างว่าทำตามข้อกำหนดทั้งๆ ที่แต่งตั้งสมาชิกในครอบครัวตัวเองที่เป็นผู้หญิงขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหาร เขาคิดว่านี่เป็นการล้อเลียนต่อกฏหมาย เพราะญาติผู้หญิงก็ต้องเข้าข้างเจ้าของบริษัท ส่งผลให้กฏหมายดังกล่าวไม่มีผลอย่างที่วางไว้ 
 
บริษัทเอกชนจำนวนมากให้เหตุผลว่าอินเดียขาดแคลนผู้หญิงที่มีความสามารถพอที่จะดำรงตำแหน่งในบอร์ดผู้บริหาร
 
นาย Uday Chawla ผู้อำนวยการแห่งบริษัทเสาะหาผู้บริหาร Transearch India บริษัทรับผู้เสาะหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตามกำหนด กล่าวว่าเขาประสบปัญหาในการเสาะหาผู้หญิงที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งคณะกรรมการบริหารมาก่อนแล้ว
 
Chawla กล่าวว่า บริษัทเอกชนที่มีความเป็นมืออาชีพต้องการผู้หญิงที่จะเข้าดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหาร ที่มีความสามารถในการทำงานให้บริษัทจริงๆ ไม่ใช่แค่แต่งตั้งให้ผู้หญิงคนใดก็ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนี้เพียงเพราะต้องทำตามข้อบังคับของกฏหมายเท่านั้น
 
บริษัทเหล่านี้กำหนดคุณสมบัติเอาไว้สูงมากว่าต้องมีความสามารถและมีประสบการณ์ในตำแหน่งมาก่อน แต่มีผู้หญิงอินเดียน้อยมากที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งนี้มาก่อน
 
แต่นักวิจารณ์หลายคนชี้ว่าที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าบริษัทต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญกับกฏหมายนี้และไม่เพิ่มความพยายามในการเสาะหาผู้ที่มีคุณสมบัติ 
 
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความล้มเหลวของบริษัทเอกชนอินเดียในการค้นหาผู้หญิงเข้าดำรงตำแหน่งบอร์ดผู้บริหารนี้ทำให้อินเดียมีผู้หญิงดำรงตำแหน่งทางด้านการบริหารระดับสูงมีน้อยมาก โดยจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลกเพราะมีจำนวนผู้หญิงในตำแหน่งสูงๆ ของบริษัทเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 
 
ผลการศึกษาโดย Catalyst หน่วยงานไม่หวังผลกำไรที่มุ่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่หลากหลายทางเพศชี้ว่า เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทเอกชนอินเดียลาออกจากงานในช่วงระยะเริ่มต้นถึงตอนกลางของชีวิตการทำงาน เทียบกับ 29 เปอร์เซ็นต์ทั่วทวีปเอเชีย 
 
Shachi Irde ผู้อำนวยการบริหารแห่ง บริษัท Catalyst India ชี้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงต้องลาออกจากงานเพราะต้องรับหน้าที่ดูแลครอบครัวเป็นหลัก เธอกล่าวว่าบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องใช้นโยบายก้าวหน้าในการเพิ่มจำนวนลูกจ้างเพศหญิง หากบริษัทเอกชนให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้หญิงอย่างเท่าเทียม เธอคิดว่าจะมีผู้หญิงทำงานในบริษัทเพิ่มมากขึ้นแทนที่จะลาออกจากบริษัท 
 
Irde กล่าวว่าทางบริษัทเอกชนควรใช้ประสบการณ์ในการทำงานเป็นเงื่อนไขหลัก ในการแต่งตั้งผู้หญิงเข้าเป็นคณะกรรมการบริหาร แทนการจำกัดว่าต้องเคยดำรงตำแหน่งมาก่อน 
 
ด้านคุณ Pranav Haldea กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า บริษัทอินเดียจำนวนมากไม่คิดว่าการมีลูกจ้างผู้หญิงในบริษัทจำนวนมากขึ้นเป็นการเพิ่มมูลค่าแก่บริษัท เขากล่าวว่าไม่เชื่อว่าการออกฏหมายออกมาเพิ่มเติมเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่คิดว่าควรแก้ที่ทัศนคติของเจ้าของบริษัทมากกว่า ตราบใดที่เจ้าของบริษัทและฝ่ายจัดการไม่เห็นความสำคัญของการบริหารจัดการบริษัทที่ดี พวกเขาก็จะยังหาทางเลี่ยงกฏหมายกันต่อไป
 
บริษัทน้ำมัน "สแตท ออยล์" ของนอร์เวย์ เตรียมปลดพนักงาน 2,400 คน ในเดือน พ.ค. เพื่อลดค่าใช้จ่าย
 
14 เม.ย. 2015 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ว่า สแตท ออยล์ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของนอร์เวย์ ประกาศเตรียมปลดพนักงาน 2,400 คน ในเดือน พ.ค. หรือเกือบร้อยละ 11 ของพนักงานทั้งหมด เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงดิ่งลง ทั้งนี้ จากรายงานของหนังสือพิมพ์ ดาเกนส์ เนรินสลีฟ ฉบับวันจันทร์ โดยอ้างการเปิดเผยของตัวแทนแรงงาน ระบุว่า การปรับลดพนักงานจะส่งผลกระทบต่อแผนกวิศวกรรม โดยเฉพาะส่วนที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะ และดูแลรักษาบ่อน้ำมัน รวมทั้งพนักงานฝ่ายบริหาร
 
นายยานนิค ลินด์แบค โฆษกสแตท ออยล์ กล่าวว่า บริษัทกำลังหาแนวทางเสริมการผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตำแหน่งงาน แต่ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสามารถระบุจำนวนสุดท้ายที่แน่ชัดได้ การปรับลดพนักงานเป็นส่วนหนึ่งของโครงการประหยัดรายจ่ายรายปี 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2559 ตามที่สแตท ออยล์ ประกาศเมื่อปีที่แล้ว เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังคงอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
 
ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่แล้ว และล่าสุดอยุ่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้บรรดายริษัทด้านพลังงาน ต้องเร่งดำเนินมาตรการตัดลดรายจ่าย และระงับหรือลดระดับการลงทุนตามแผน โดยในส่วนของสแตท ออยล์ ซึ่งประสบภาวะขาดทุนในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว และกำไรลดลงครึ่งหนึ่ง จากผลประกอบการตลอดทั้งปี ได้ประกาศลดการลงทุนลงร้อยละ 10 จากงบประมาณตามแผนที่กำหนดไว้ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับปีนี้ และปรับลดพนักงานลงอีก จากที่ลดไปแล้วร้อยละ 8 เหลือ 22,500 คนเมื่อปีที่ผ่านมา
 
ซีอีโอหนุ่มอเมริกันไฟแรงประกาศจะให้เงินเดือนขั้นต่ำพนักงานทุกคน 70,000 ดอลล่าร์
 
15 เม.ย. 2015 วันอังคารที่ 14 เมษายน ที่กรุงวอชิงตัน เป็นวัน Equal Pay Day  โดยวีโอเอรายงานว่า Dan Price เจ้าของบริษัท Gravity Payments ซึ่งทำบัญชีบัตรเครดิตให้กับร้านค้าในนคร Seattle รัฐ Washington ประกาศให้ลูกจ้างพนักงานทั้งหมดรับทราบว่า ในช่วงสามปีข้างหน้า เขาจะขึ้นเงินเดือนให้ลูกจ้างทุกคน โดยกำหนดขั้นต่ำสุดไว้ที่ 70,000 ดอลลาร์ 
 
เงินที่จะเอามาใช้จ่ายตามเป้าหมายนี้ จะมาจากเงินเดือนของเขาเอง ซึ่งเท่ากับหนึ่งล้านดอลลาร์ในขณะนี้ แต่จะลดลงไปอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์ และเงินกำไรของบริษัท CEO ของบริษัท Gravity Payments ผู้นี้บอกว่า ที่ตัดสินใจทำเช่นนี้เพราะได้อ่านผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่ได้รับรางวัลโนเบลสองคน ซึ่งระบุว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 70,000 ดอลลาร์ จะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง ถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ราวๆ 75,000 ดอลลาร์
 
CEO ผู้นี้บอกไว้ด้วยว่า เขาไม่เห็นด้วยที่เงินเดือนผู้บริหารกับพนักงานลูกจ้างในอเมริกามีความแตกต่างกันมากกว่า 350 เท่าตัว และอยากจะเห็นลูกจ้างพนักงานของเขาเป็นคนทำงานที่มีความสุขด้วย
 
IOM ระบุจำนวนผู้อพยพจากแอฟริกาเข้าอิตาลีในปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
 
16 เม.ย. 2015 องค์การ Save the Children รายงานว่า เฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 10-13 เมษายนที่ผ่านมา หน่วยรักษาชายฝั่งของอิตาลีต้องให้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากแอฟริกาแล้วมากกว่า 7 พันคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กราวๆ 450 คน
 
Joel Millman โฆษกของ International Organization for Migration (IOM) กล่าวว่า ตัวเลขนี้บ่งชี้ว่า ฤดูการลักลอบนำผู้อพยพเข้าเมืองสำหรับปีนี้กำลังดำเนินไปอย่างแข็งขันแล้ว
 
เจ้าหน้าที่ของ (IOM) ผู้นี้บอกว่า ตามอัตราที่เป็นอยู่ขณะนี้ จำนวนผู้อพยพจากแอฟริกาเข้าอิตาลีในปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และว่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้วอย่างน้อยห้าเท่าตัว เพราะเท่าที่เป็นไปจนถึงกลางเดือนเมษายน มีผู้อพยพเสียชีวิตระหว่างการเดินทางจากแอฟริกาเหนือข้ามทะเล Mediterranean เพื่อขึ้นบกที่อิตาลี แล้วมากกว่า 500 คน เทียบกับจำนวนในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียง 47 คน
 
Joel Millman โฆษกของ IOM อธิบายว่า สาเหตุจูงใจให้ผู้อพยพเสี่ยงภัย ส่วนใหญ่เป็นเพราะคนเหล่านี้ เป็นแรงงานจากแอฟริกาตะวันตกที่เข้าไปทำงานในประเทศ Libya เมื่อเกิดความไม่สงบใน Libya และมีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งเงินกลับประเทศของตนทำได้ยากมากขึ้น คนเหล่านี้จึงพยายามหนีภัยออกจาก Libya ไปแสวงโชคในยุโรป
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติกล่าวว่า ในปีที่แล้ว มีผู้อพยพจากแอฟริกาเหนือเสียชีวิตอย่างน้อย 3,500 คน ด้านองค์กรระหว่างประเทศกำลังเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งดำเนินการป้องกันมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก 
 
อินโดฯ ประท้วงซาอุฯ ประหารคนงานอิเหนาฆ่านายจ้างปกป้องตนเอง
 
16 เม.ย. 2015 จาการ์ตาเรียกเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียเข้าพบในวันพุธ (15 เม.ย.) เพื่อประท้วงต่อกรณีริยาดเดำเนินการประหารชีวิตแรงงานรับใช้ประจำบ้านคนหนึ่ง ฐานฆ่านายจ้างเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน โดยร้องเรียนว่าครอบครัวของนักโทษหญิงและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลไม่เคยได้รับแจ้งล่วงหาเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ ขณะที่เอ็นจีโอเพื่อสิทธิคนงานอินโดนีเซียออกโรงประณาม พร้อมอ้างว่าผู้ต้องหาลงมือเพื่อปกป้องตนเอง
       
เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียบอกว่า ซิติ ไซนับ ถูกประหารที่เมืองเมดินาเมื่อวันอังคาร (14 เม.ย.) หลังถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานจ้วงแทงและทำร้าย นัวรา อัล-โมโรเบอี นายจ้างหญิงเสียชีวิตในปี 1999
       
ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และผู้นำอินโดนีเซีย 3 คนก่อนหน้านี้เคยเขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย กราบบังคมทูลขอพระองค์ช่วยร้องขอครอบครัวเหยื่อให้อภัยแก่ไซนับ ทว่า การประหารก็ยังมีขึ้น แม้จาการ์ตาอ้างว่าครอบครัวของนักโทษหญิงรายนี้และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลอ้างว่าไม่เคยได้รับแจ้งอย่างสมควรก่อนหน้าการลงทัณฑ์เลย
       
“รัฐบาลพยายามให้ความช่วยเหลือเธอตั้งแต่แรกเริ่มและร้องขอครอบครัวเหยื่อให้อภัยเธอ” กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียระบุในถ้อยแถลงในช่วงค่ำวันอังคาร (14 เม.ย.) “รัฐบาลอินโดนีเซียยื่นประท้วงรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ฐานไม่แจ้งล่วงหน้าแก่ตัวแทนของอินโดนีเซียหรือครอบครัวของนักโทษต่อวันเวลาของการประหาร”
       
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยของซาอุดีอาระเบียชี้แจงว่าได้เลื่อนการประหารไซนับ มาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อรอจนกว่าลูกๆ ของเหยื่อจะโตเสียก่อน จากนั้นถึงเพิ่งตัดสินใจดำเนินกาลงทัณฑ์นักโทษรายนี้
       
องค์กร Migrant Care เอ็นจีโอเพื่อสิทธิแรงงานอินโดนีเซียในต่างแดน ประณามการประหารครั้งนี้ และอ้างว่าไซนับลงมือเพียงเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกนายจ้างข่มเหงเท่านั้น
       
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ใช้การประหารชีวิตไซนับ เรียกร้องอินโดนีเซียยกเลิกการสนับสนุนโทษประหารชีวิต เนื่องจากจาการ์ตาเองก็ยังคงเดินหน้าลงทัณฑ์โทษตายผู้ต้องหาคดียาเสพติดหลายคน โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลายเรียกร้องอินโดนีเซียละทิ้งโทษประหารชีวิต เพื่อเป็นก้าวย่างแรกในการกดดันประเทศอื่นๆไม่ให้กำหนดโทษตายต่อแรงงานต่างด้าวอิเหนาเช่นกัน
       
นายโตดุง มูลยา ลูบิส ทนายความของ 2 นักโทษออสเตรเลีย แอนดรูว์ ชานและนายมิวรัน ซูคูมาน ที่โดนโทษประหารชีวิตในออสเตรเลีย จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างแคนเบอร์รากับจาการ์ตา ระบุว่ามันขัดแย้งโดยสิ้นเชิงที่อินโดนีเซียต่อสู้ขอความปราณีในต่างแดน แต่กลับปฏิเสธมันภายในบ้านของตนเอง
       
กระนั้นก็ดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียยืนกรานว่า จาการ์ตาจะเดินหน้าประหารชีวิตนักโทษตามเดิม แม้อีกด้านหนึ่งจะยื่นประท้วงในกรณีของไซนับ “เรามีพันธกิจปกป้องพลเมืองของเรา นั่นคือเป้าหมายลำดับหนึ่งของเรา แต่มันมีประเด็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ที่เราจำเป็นต้องบังคับใช้ภายใน”
 
แรงงานในนิวยอร์กชุมนุมใหญ่ขอค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ
 
16 เม.ย. 2015 แรงงานจำนวนมากในนครนิวยอร์ก เมืองใหญ่ที่สุดของสหรัฐชุมนุมเรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 485 บาท)
 
ผู้จัดการชุมนุมระบุว่า พนักงานร้านฟาสต์ฟูดชุมนุมตามเมืองต่าง ๆ กว่า 230 เมือง รวมทั้งมีพนักงานในภาคต่าง ๆ ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของผู้ได้ค่าแรงต่ำ เฉพาะที่นครนิวยอร์กมีคนชุมนุม 10,000-15,000 คน ชายกัวเตมาลาวัย 58 ปี พนักงานดูแลกระเป๋าสัมภาระที่ท่าอากาศยานเจเอฟเคเผยว่า ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ตื่นตั้งแต่ตีสาม ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 10.10 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 327 บาท) เมื่อจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วก็ไม่เหลือเงินติดกระเป๋า ผู้ชุมนุมที่นครนิวยอร์กกล่าวว่า เบื่อหน่ายกับค่าจ้างที่ไม่เคยทำให้หลุดพ้นจากความยากจนเสียทีและเบื่อหน่ายที่นายจ้างขู่จะเล่นงานพนักงานที่เข้าร่วมหรือตั้งสหภาพแรงงาน
 
ค่าจ้างขั้นต่ำในรัฐนิวยอร์กอยู่ที่ชั่วโมงละ 8.75 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 284 บาท) และจะต้องขึ้นเป็น 9 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 292 บาท) ในปีหน้า ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 235 บาท) ผู้ตรวจสอบบัญชีของนครนิวยอร์กชี้ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำในนครนิวยอร์กถือว่าต่ำที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ทั้งหมดของสหรัฐ หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์สหรัฐจะช่วยประหยัดเงินภาษีที่ต้องนำไปใช้ในโครงการออกบัตรค่าอาหารและดูแลสุขภาพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ปีละ 200-500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,485-16,215 ล้านบาท)
 
ชาวแอฟริกาใต้รณรงค์ต้านทำร้ายต่างชาติ
 
17 เม.ย. 2015 สื่อรายงานว่าชาวแอฟริกาใต้ไม่ต่ำกว่า 5 พันคนในเมืองเดอร์บัน ทางตอนใต้ของประเทศ ได้ออกมาแสดงพลังเพื่อรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงจากภาวะหวาดกลัวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานอพยพจากประเทศในแถบแอฟริกา หลังเกิดเหตุทำร้ายร่างกายชาวคองโกอพยพกว่า 250 คนเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
 
การชุมนุมนี้เป็นไปอย่างสงบ โดยผู้ประท้วงได้ร้องเพลงร่วมกัน ก่อนจะมีกลุ่มคนที่ไม่พอใจการชุมนุมพยายามเข้ามาก่อกวน แต่ตำรวจยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
 
ผู้ชุมนุมคนหนึ่งบอกว่า ในฐานะที่เป็นชาวแอฟริกาใต้ เขาต้องการยืนยันว่า ประเทศนี้เปิดรับทุกคน ไม่เพียงเฉพาะชาวต่างชาติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อนร่วมทวีปแอฟริกาด้วย
 
ภาวะหวาดกลัวชาวต่างชาตินี้เกิดขึ้นหลังชาวแอฟริกาใต้บางส่วนเชื่อว่า แรงงานอพยพโดยเฉพาะจากโซมาเลีย ซิมบับเว มาลาวีและไนจีเรียเข้ามาแย่งงาน จนทำให้อัตราการว่างงานของชาวแอฟริกาใต้พุ่งสูงขึ้น ความรุนแรงต่อผู้อพยพ ทำให้บางส่วนต้องเดินทางเข้าไปอยู่ในค่ายชั่วคราวภายในสนามกีฬาและสถานีตำรวจเพื่อความปลอดภัย
 
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2008 ภาวะหวาดกลัวผู้อพยพต่างชาติในแอฟริกาใต้ลุกลามเป็นการจลาจลใหญ่ และมีผู้อพยพทั้งจากโซมาเลีย ซิมบับเว ปากีสถานและโซมาเลียถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
 
อัตราว่างงานอังกฤษต่ำสุดในรอบ 7 ปี
 
18 เม.ย. 2015 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษออกรายงานเมื่อวันศุกร์ เกี่ยวกับสถานการณ์ของตลาดแรงงานในประเทศระหว่างเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ถึงเดือน ก.พ. ปีนี้ว่าจำนวนผู้ว่างงานในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 1.84 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.6 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลง 76,000 คน จาก 3 เดือนก่อนหน้านี้ ถือเป็นสถิติต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2008
 
ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้น 248,000 คน เป็น 31.05 ล้านคน สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปีที่แล้ว ด้านค่าตอบแทนรายสัปดาห์ในรอบ 3 เดือนจนถึงเดือน ก.พ. หากคำนวณโดยรวมเงินโบนัสถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่หากหักลบเงินโบนัสออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ เพียงไม่นานหลังรายงานได้รับการเผยแพร่ออกไป อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์สเตอร์ลิงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวขึ้นร้อยละ 0.6 มาอยู่ที่ 1.5036 ปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ สูงที่สุดในรอบเกือบ 1 เดือน
 
EU ยื่น ‘ใบเหลือง’ ให้ไทยปฏิรูปอุตสาหกรรมการประมง
 
22 เม.ย. 2015 สหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IUU มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปีนี้
 
รายงานของคณะกรรมการบริหารของ EU กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการดังกล่าวหลังการวิเคราะห์โครงสร้างที่ทางกฎหมาย มาตรการบังคับใช้ และการจัดการบริหารงานในเรื่องนี้ของประเทศไทยอย่างละเอียด ซึ่งส่งผลกระทบความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
 
ถ้า EU สั่งห้ามการส่งออกอาหารทะเลจากประเทศไทยจริง คาดว่าประเทศไทยจะประสบการสูญเสียรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี
 
รายงานข่าวกล่าวว่า ความวิตกกังวลสำคัญของ EU คือการที่ประเทศไทยไม่สามารถให้การรับรองได้อย่างถูกต้องถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายของอาหารทะเลที่ส่งออก
 
ในสัปดาห์นี้ กระทรวงเกษตรของประเทศไทยได้เริ่มการรณรงค์ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อปรับปรุงการทำงานของอุตสาหกรรมการประมง รายงานข่าวกล่าวว่า รัฐบาลกำลังเขียนกฎข้อบังคับการประมงที่เข้มงวดมากขึ้น และคาดว่าจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ 
 
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศของไทยมีถ้อยแถลงออกมา ที่กล่าวว่า EU เลือกที่จะไม่ให้ความสนใจกับความพยายามอย่างแข็งขันของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เคยมองกันว่าเป็นสาเหตุของการประมงผิดกฎหมาย
 
EU และองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่รัฐบาลหรือ NGO ประมาณว่า ตลาดมืดอาหารทะเลที่มาจากการประมง IUU มีมูลค่าสูงถึงหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 15% ของปริมาณการจับปลาทั่วโลก
 
องค์กร NGO หลายรายยินดีกับการดำเนินมาตรการของ EU ต่อประเทศไทยในครั้งนี้
 
Environmental Justice Foundation (EJF), Oceana, The Pew Charitable Trusts, และ World Wildlife Fund มีถ้อยแถลงร่วมกันออกมาที่กล่าวว่า “จากนี้ไป ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเชิงบวกและร่วมมือกับคณะกรรมการบริหารของ EU เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการถูกนำชื่อขึ้นบัญชีดังกล่าว"
 
นาย Steve Trent ผู้บริหารของ EJF กล่าวว่า “ทางการไทยมีการควบคุมเรือประมงของตนน้อยมาก โดยเรือประมงเหล่านั้นมีกิจกรรมผิดกฎหมายหลายอย่าง ทำลายปริมาณปลาและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพการทำงานที่เอารัดเอาเปรียบมากที่สุดและโหดร้ายทารุณมากที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันไว้" 
 
ผู้บริหารของ EJF กล่าวส่งท้ายว่า สภาพดังกล่าวรวมถึงการใช้แรงงานทาสและความรุนแรงอย่างมากที่สุดด้วย
 
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ลดอันดับประเทศไทยลงไปอยู่ในระดับที่สาม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของบัญชีรายชื่อประเทศที่ไม่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และเมื่อเร็วๆ นี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ของสหประชาชาติ มีคำเตือนประเทศไทยในเรื่องความปลอดภัยของบริการการบินเชิงพาณิชย์ของประเทศ
 
ขณะเดียวกัน EU ยอมรับความก้าวหน้าในการดำเนินการปฏิรูปการประมงของเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ว่า “ได้ดำเนินการปฏิรูประบบกฎหมายอย่างเหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายได้แล้ว”
 
เวลานี้ EU สั่งห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปลาที่จับมาได้โดยเรือของศรีลังกา กินี และกัมพูชา
 
ห้างดังญี่ปุ่นเปิดตัวหุ่นยนต์พนักงานต้อนรับ
 
20 เม.ย. 2015 ห้างสรรพสินค้ามิทสึโคชิ นิฮอมบาชิ เปิดตัวพนักงานต้อนรับใหม่เป็นหุ่นยนต์แอนดรอยด์ที่ดูคล้ายมนุษย์ มีชื่อว่า "ไอโกะ ชิชิระ" ต่อหน้าลูกค้าและสื่อมวลชน โดยทำหน้าที่ทักทายลูกค้าที่เดินเข้าไปในห้าง 
 
ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้หวังว่าจะใช้เจ้าไอโกะ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า และส่งเสริมการค้าของห้างฯ ขณะที่นางสาวมิโอะ ซาคาอิ ที่ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับมานานถึง 2 ปี กล่าวว่า แม้ว่ารอยยิ้มของหุ่นยนต์จะดูแข็งทื่อ แต่เธอก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานร่วมกับมัน 
 
ทั้งนี้ เทคโนโลยีการขยับปากและเปล่งเสียงของเจ้าไอโกได้รับการพัฒนาโดยบริษัทโตชิบา และนายฮิโรชิ อิชิกูโร ผู้พัฒนาหุ่นยนต์แอนดรอยด์ ของห้องแลปทดลองอินเทลลิเจนต์ โรโบติกส์ ของมหาวิทยาลัยโอซากา ซึ่งไอโกะ จะทำหน้าที่พนักงานต้อนรับที่บริเวณทางเข้าของห้างฯ ไปจนถึงวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้น มันจะถูกย้ายไปทำหน้าที่ผู้ให้คำแนะนำที่ชั้น 7 ของห้างฯ จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม
 
สหภาพแรงงานรถไฟในเยอรมันหยุดงานประท้วง
 
23 เม.ย. 2015 นายอูลริช ฮอมบรูก เจ้าหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเดินรถไฟของ Deutsche Bahn (DB) ซึ่งเป็นบริษัททางรถไฟของรัฐบาลเยอรมนี คาดว่า รถไฟระยะไกลในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 สามารถให้บริการได้ในวันพุธ (22 เม.ย.) และในพฤหัสบดี (23 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่เส้นทางสัญจรในเมืองประมาณครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้การได้
GDL ซึ่งป็นสหภาพพนักงานขับรถไฟของเยอรมนี ได้นัดหยุดงานทั่วประเทศเป็นเวลาหลายวัน หลังจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับปัญหาค่าแรงกับ DB
 
การประท้วงหยุดงานของพนักงานขับรถไฟขนส่งสินค้าเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 15:00 น. (20.00 น.ตามเวลาไทย) ของวันอังคาร (21 เม.ย.) ไปจนถึงเวลา 09:00 น. ของวันศุกร์ (24 เม.ย.) ขณะที่พนักงานขับรถไฟโดยสารจะเริ่มหยุดงานประท้วงตั้งแต่เวลา 02:00 น. ของวันพุธ (22 เม.ย.) ไปจนถึงเวลา 21:00 น. ของวันพฤหัสบดี (23 เม.ย.)
 
ทั้งนี้ สื่อเยอรมนีรายงานว่าการจราจรบนทางหลวงในหลายรัฐของเยอรมนีติดขัดหนาแน่นอย่างมาก เนื่องจากผู้โดยสารที่เคยเดินทางด้วยรถไฟ ต้องใช้วิธีการขับรถยนต์แทน ซึ่งทำให้การจราจรติดขัดยาวเหยียดถึง 20 กิโลเมตรในช่วงเวลาเร่งด่วน
 
องค์กรสิทธิมนุษยชนสหรัฐ ชงเรื่องต่อรัฐสภาคว่ำบาตรประมงไทยฐานใช้แรงงานผิดกฎหมาย
 
24 เม.ย. 2015 นายมาร์ค ลากอน ประธานฟรีดอมเฮาส์ องค์กรไม่หวังผลกำไรด้านสิทธิมนุษยชน และอดีตทูตประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐด้านการค้ามนุษย์แถลงต่อคณะอนุกรรมการกิจการต่างประเทศของสภาคองเกรสว่า หลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประมงไทยใช้แรงงานผิดกฎหมาย ทั้งในเวลาออกหาปลาและในกระบวนการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่า รัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะดำเนินการคว่ำบาตรไม่ให้อาหารทะเลของไทยเข้ามาในตลาดของสหรัฐหรือไม่ ทั้งนี้อาวุธสำคัญในการปราบปรามการค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐคือ การจัดอันดับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ไทยได้ถูกลดอันดับไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 ซึ่งหมายถึงไม่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐและอาจถูกลงโทษคว่ำบาตรได้
 
คนงานเกาหลีใต้นับพันเดินประท้วงนโยบายรัฐบาล
 
25 เม.ย. 2015 ชาวเกาหลีใต้หลายพันคนออกมาเดินขบวนไปตามท้องถนนในกรุงโซลต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพื่อประท้วงนโยบายแรงงานของรัฐบาลและแสดงความไม่พอใจกับการจัดการกรณีหายนะภัยเรือข้ามฟากล่มเมื่อปีก่อนที่คร่าชีวิตคนกว่า 300 คน
 
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากสหภาพแรงงานเกาหลีกล่าวว่า คาดว่ามีประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงในช่วงกลางวันกว่า 30,000 คน เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายแรงงานที่จะลดค่าจ้าง กระทบความมั่นคงทางอาชีพและผลประโยชน์วัยเกษียณของลูกจ้างรัฐ ส่วนในช่วงเย็นคาดว่าจะมีการเดินขบวนใหญ่อีกงาน เนื่องจากกลุ่มคนงานจากสหภาพแรงงานมีแผนจะเข้าร่วมสนับสนุนการประท้วงของกลุ่มญาติของเหยื่อเหตุการณ์เรือข้ามฟากล่มด้วย
 
อโดบีแจกเงินพนักงาน 1,000 เหรียญสหรัฐ เผย “ให้ไปเปิดโลก”
 
28 เม.ย. 2015 อโดบี (Adobe) บริษัทชื่อดังเจ้าของซอฟต์แวร์คุ้นหูคนไทยเอาใจพนักงานด้วยกล่องของขวัญสีแดงภายในบรรจุขนมหวาน บัตรของขวัญจากสตาร์บัคส์ และบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ดมูลค่า “1,000 เหรียญสหรัฐ”
 
อโดบี เผยว่า ทั้งหมดนั้นสำหรับให้พนักงานออกไปสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นแอป หรืออาจเป็นการปรับปรุงโปรดักต์ของอโดบีให้ดีขึ้นก็ได้ แต่ที่น่ายินดีต่อพนักงานอโดบีมากไปกว่านั้นก็คือ การใช้จ่ายทั้งหมดนั้น พนักงานไม่จำเป็นต้องหาใบเสร็จกลับมาคืนบริษัท นั่นหมายความว่า พนักงานสามารถใช้เงินนั้นไปกับอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ อาจเป็นเสื้อผ้า เบียร์ ตั๋วคอนเสิร์ต ฯลฯ
 
ตัวแทนจากอโดบีเผยว่า “ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นในกันและกัน เราให้ทรัพยากรที่จำเป็นแก่พนักงานในการออกไปทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ แม้ว่ามันจะไม่เกี่ยวข้องต่อหน้าที่การงานของพวกเขาเลยก็ตาม แค่ต้องการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม นั่นคือ เป้าหมายของโครงการ อโดบีต้ องการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศแห่งความคิดสร้างสรรค์ ขึ้นภายในองค์กร"
 
ที่น่ายินดีไปมากกว่านั้นก็คือ พนักงานของอโดบีทุกคนมีโอกาสร่วมโครงการนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวิศวกร หรือต้องเป็นคนที่มีไอเดียจึงจะได้รับกล่องของขวัญแต่อย่างใด
 
อย่างไรก็ดี ผู้ร่วมโครงการดังกล่าวจะถูกทดสอบด้วยภารกิจพิเศษในรูปของโค้ดสี 6 ระดับที่พวกเขาจะต้องทำให้สำเร็จ และเมื่อพวกเขาทำภารกิจของโค้ดสีระดับที่ 6 สำเร็จ พวกเขาจะได้รับเงินลงทุนจากอโดบีในการทำฝันนั้นให้เป็นจริง
 
ตัวอย่างของผลงานที่เกิดจากการให้กล่องของขวัญ เช่น การสร้างเกมบนโลกจริงๆ ที่ยูสเซอร์สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างด่านต่างๆ บนสถานที่จริงผ่านเทคโนโลยี GPS
 
ไอเดียของอโดบีในครั้งนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับนโยบายของกูเกิลที่ให้พนักงานใช้เวลา 20 เปอร์เซ็นต์ ในการทำงานไปทำอะไรก็ได้ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของผู้บริหารระดับสูงด้านทรัพยากรมนุษย์ของกูเกิลอย่าง Laszlo Bock เผยว่า มีพนักงานกูเกิลเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่ปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว
 
พริตตี้สาวจีนประชดแต่งชุดยาจก ประท้วงโดนทางการสั่งแบนชุดวาบหวิว
 
28 เม.ย. 2015 เว็บไซต์เซี่ยงไฮ้อิสท์รายงานว่า พริตตี้สาวชาวจีนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งแบนดังกล่าวออกมารวมตัวถือป้ายประท้วงขอสิทธิในการทำงานอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้พวกเธอไม่ได้แต่งตัวด้วยชุดวาบหวิวแบบพริตตี้ทั่วไป แต่พวกเธอกลับสวมชุดเก่าๆให้เหมือนกับขอทาน เพื่อเป็นการสะท้อนว่าตอนนี้พวกเธอกำลังตกงานจนแทบจะไม่มีเงินเหลือแล้ว
 
ที่ผ่านมา งานมอเตอร์โชว์ที่ประเทศจีนก็ไม่ต่างกับที่ประเทศไทยเท่าใดนัก ที่มักจะมีพริตตี้สาวสวยใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นคอยแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทำให้งานมอเตอร์โชว์ในแต่ละปีช่วยสร้างงานให้กับหญิงสาวหน้าตาดีเหล่านี้จำนวนมาก เมื่อทางการจีนออกกฎเหล็กแบนพริตตี้สาวไม่ให้ใส่ชุดเซ็กซี่ในงานมอเตอร์โชว์ จึงทำให้มีพริตตี้ตกงานจำนวนมาก
 
เมื่อภาพเหล่านี้ถูกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท ก็ทำให้มีชาวเน็ทจีนจำนวนมากส่งกำลังใจไปให้พวกเธอ อย่างไรก็ตามถ้าวิธีแต่งตัวเป็นขอทานประท้วงนี้ไม่ได้ผล ก็ยังมีอาชีพอีกจำนวนมากที่รองรับบรรดาสาวๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ "เฟซกินี่" ไอ้โม่งปิดหน้าถ่ายแบบ หรือจะไปเป็นสาวเชียร์เกมตามร้านเกมในประเทศจีนก็ยังได้
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, VOA
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สิทธิและการต่อรองในการใช้พื้นที่บนท้องถนน

$
0
0

 

เห็นว๊อยซ์ทีวีเชิญชวนให้ร่วมออกความเห็นเรื่องจักรยานควรอยู่บนท้องถนนหรือไม่แล้วทำให้นึกถึงบทความ Op Ed ของ Daniel Duane “Is It OK to Kill Cyclists?” ใน New York Times เมื่อสองปีที่ผ่านมา การที่คำถามที่คล้ายคลึงกันนี้ถูกตั้งขึ้นมาจากนักปั่นในซีกโลกอเมริกา ที่วัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนนเอื้อต่อการปั่นจักรยานอย่างยิ่ง ทำให้เปลี่ยนความคิดไปในทันทีว่า ปัญหาอุบัติเหตุและความตายของนักปั่นจักรยานเป็นเรื่องของ “โลกที่สาม” ที่ “ด้อยพัฒนา” และไม่มีทั้งวัฒนธรรมการใช้ถนนที่มีความรับผิดชอบ หรือไม่มีทั้งเลนสำหรับรถจักรยาน เฉพาะในปี 2012 มีนักปั่นเสียชีวิตบนท้องถนนในสหรัฐฯจำนวน 726 คน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเมือง ตัวเลขนี้ไม่ใช่น้อยเลย เมื่อพิจารณาว่าเมืองใหญ่ของสหรัฐฯมีเลนจักรยานกันแทบทุกเมือง

ในสหรัฐฯดีเบตระหว่างจักรยาน vs. รถยนต์ ในเรื่องว่าท้องถนนควรถูกจัดการและแบ่งสรรอย่างไรดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษและยังคงเป็นประเด็นเผ็ดร้อนจวบจนปัจจุบัน นักปั่นจำนวนไม่น้อยรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มต่อต้านพวกขับรถยนต์แบบไม่รับผิดชอบ อาทิ Cyclists Against Reckless Drivers Foundation
 
บางคนรณรงค์ด้วยตนเองด้วยการติดกล้องกับจักรยานเพื่อบันทึกภาพการขับรถที่ไร้ความรับผิดชอบของรถยนต์เพื่อนำมาประจาน เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของนักปั่นในสหรัฐยังคงเป็นวาระร่วมสมัย และปัญหาความตายของนักปั่นไม่ได้สิ้นสุดลงแม้จะมีเลนจักรยานเป็นของตนเอง

แม้ว่าประเด็นว่าด้วยวัฒนธรรมและการปลูกฝังวัฒนธรรมการขับขี่ยานพาหนะอย่างรับผิดชอบจะมีความสำคัญ และเป็นส่ิงที่ถกเถียงกัน แต่นักปั่นอเมริกันส่วนใหญ่เห็นว่า วัฒนธรรมการขับขี่รถยนต์จะดีขึ้นได้ มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนสิทธิในการใช้ท้องถนนและความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรถยนต์และจักรยานเสียก่อน ทั้งนี้ สำนึกที่ว่าถนนมีไว้เพื่อรถยนต์เท่านั้น ได้ทำให้ยานพาหนะประเภทอื่นต้องตกอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าและไร้อำนาจในการใช้พื้นที่ถนนไปโดยปริยาย สภาวะเช่นนี้มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่กฎหมายที่ออกมาในยุคต้นเมื่อเริ่มมีการใช้รถยนต์ ภายใต้การผลักดันของอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ทำให้รถยนต์เข้ามามีอภิสิทธิ์มากขึ้นเรื่อยๆในการครอบครองพื้นที่ถนน (กฎหมายบังคับการให้ข้ามถนนตามที่กำหนดเพื่อความสะดวกของรถยนต์ --Anti-jaywalking law เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งของการสถาปนาความต้องการของรถยนต์เหนือผู้ใช้ถนนอื่นๆ) นักปั่นเชื่อว่าจะปรับเปลี่ยนทัศนะคติที่ผูกขาดการใช้ถนนของรถยนต์ได้ ต้องกระทำผ่านการต่อสู้ให้มีกฎหมายที่ขยายอำนาจการคุ้มครองการใช้จักรยานบนท้องถนนให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับประเทศที่รถยนต์เป็นวัฒนธรรมใหญ่ของท้องถนนเช่นสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ในเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาก็สามารถผลักดันให้มีเลนจักรยาน และกฎหมายเกี่ยวกับจักรยานจนสำเร็จ

ในแง่นี้ การคุ้มครองความปลอดภัยของนักปั่นจักรยานกับสิทธิและการสร้างอำนาจการต่อรองในการใช้พื้นที่ถนนจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ในสหรัฐฯเรื่องนี้ทำได้ด้วยการรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันของกลุ่มนักปั่น ซึ่งได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มและองค์กรต่างๆมากมาย นอกเหนือจากเลนจักรยานและกฎหมายเกี่ยวกับจักรยานแล้ว แต่ละรัฐได้ออกกฎหมายเฉพาะที่เพิ่มอำนาจคุ้มครองรถจักรยานบนท้องถนนที่เข้มงวดขึ้นไปอีก แตกต่างกันไป ในรัฐโอเรกอน มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติคุ้มครองผู้ใช้ถนนที่เปราะบาง (Vulnerable Roadway User Statute) ซึ่งลงโทษอย่างหนักต่อผู้ที่ขับขี่รถยนต์อย่างประมาทและขาดความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ผู้ใช้ถนนที่เปราะบางกว่า ไม่ว่าจะเป็นจักรยานหรือคนเดินเท้า ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในรัฐวิสคอนซินมีการออกกฎหมายลงโทษผู้ขับขี่รถยนต์ที่เปิดประตูรถอย่างไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้รถจักรยานต้องบาดเจ็บ และในแคลิฟอร์เนีย กฎหมายใหม่เพิ่งออกมาบังคับให้รถยนต์ต้องรักษาระยะห่างจากรถจักรยานไม่น้อยกว่าสามฟุต หรือชะลอความเร็วลงเมื่อขับรถตามหลังรถจักรยาน เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่เพียงคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักปั่นจักรยานทั้งหลาย หากแต่มีผลบังคับให้วัฒนธรรมการขับขี่รถยนต์ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย หรือพูดง่ายๆก็คือ ช่วยให้คนขับรถมองจักรยานในสถานะของผู้ใช้ถนนที่เท่ากันมากขึ้น

แน่นอนที่ว่า บริบทของการจัดการเมืองและวัฒนธรรมบนท้องถนนในสหรัฐฯย่อมเทียบไม่ได้กับเมืองไทย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเติบโตของความเป็นเมืองจักรยานในหลายมลรัฐไม่ได้เป็นเรื่องของการมีผังเมืองที่ดี มีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อม มีทุน มีวัฒนธรรมการขับขี่ยวดยานที่รับผิดชอบที่จู่ๆก็เกิดขึ้นมา หรือเป็นไปเองตามธรรมชาติของประเทศที่เจริญแล้วอย่างมีมักเชื่อกัน หากส่วนหนึ่งเป็นผลพวงของกระบวนการต่อรองและต่อสู้อันยาวนานของกลุ่มคนกลายกลุ่ม รวมทั้งนักปั่นจักรยาน เพื่อให้เมืองและท้องถนนตอบสนองต่อผู้คนอย่างเท่าเทียมกัน และการจะทำเช่นนั้นได้ จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มและเรียกร้องสิทธิของตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสร้างกฎหมายใหม่ๆที่คุ้มครองสิทธิของตนที่เข้มแข็งขึ้น

การจะทำให้ถนนปลอดภัยสำหรับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นนักปั่น ซาเล้ง หรือกลุ่มคนผู้เปราะบางประเภทอื่นๆ จึงเป็นเรื่องการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิในการใช้พื้นที่บนท้องถนน ไม่ใช่การขอความเมตตา การแบ่งปัน หรือความเห็นอกเห็นใจจากผู้ขับขี่รถยนต์ ที่วัฒนธรรมความประมาทในการขับขี่รถยนต์เกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นมาจากอำนาจผูกขาดพื้นที่ถนนมาโดยตลอดนั่นเอง

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐบาลเตรียมเปิดตลาดผักผลไม้คลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล

$
0
0

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะเปิดเทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยจำหน่ายสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นแบบอย่างตลาดนัดสินค้าชุมชน โดยจัดต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ ถึง 31 พ.ค.

5 พ.ค. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ ณ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธที่ 6 พฤษภาคม นี้ เวลา 17.00 น. เพื่อช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยให้มีพื้นที่นำเสนอสินค้าดีให้เป็นที่รู้จัก มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าราคายุติธรรม โดยเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยจะได้มีโอกาสจำหน่ายผลผลิตสู่ตลาดได้โดยตรงถึงผู้บริโภคที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นแบบอย่างของตลาดนัดสินค้าชุมชน สร้างเครือข่ายทางธุรกิจ พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมและความเป็นไทย

ทั้งนี้ กิจกรรมเทศกาลผักผลไม้คุณภาพมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-31 พฤษภาคม 2558 ริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจะมีร้านจำหน่ายสินค้า 70 บูธ แบ่งเป็น 3 โซน คือการแสดงและจำหน่ายผักและผลไม้ไทยคุณภาพ การจำหน่ายพันธุ์และกิ่งพันธุ์ไม้ผล และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปผักและผลไม้ ซึ่งในสัปดาห์แรกของงานระหว่างวันที่ 6-10 พฤษภาคม นี้ ผลผลิตที่นำมาจำหน่ายจะเน้นความ “หวานซ่อนเปรี้ยว มะม่วงหลากพันธุ์ อร่อยหลากรส”

สัปดาห์ที่ 2 วันที่ 11-17 พฤษภาคม 2558 “หวานฉ่ำ อร่อยล้ำ สับปะรด แตงโม ส้มโอลิ้นจี่” สัปดาห์ที่ 3 วันที่ 18-24 พฤษภาคม 2558 “หอมหวาน สุดยอดราชา ราชินีผลไม้ ทุเรียน มังคุด” และสัปดาห์ที่ 4 วันที่ 25-31 พฤษภาคม 2558 “ใหม่สดปลอดภัย ผักอินทรีย์ กล้วยหอมทองส่งออก ผลไม้แปรรูป” พร้อมกันนั้น ในบริเวณงาน จะมีถนนคนเดิน ตลาดกลางคืน ในช่วงของวันที่ 8-30 พฤษภาคม 2558 เฉพาะในวันศุกร์และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักโบราณคดีอัฟกานิสถาน รณรงค์ป้อง 'เมสไอนัค' พุทธโบราณสถานจากบรรษัทเหมืองแร่จีน

$
0
0

'เมสไอนัค' (Mek Aynak) โบราณสถานสำคัญที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่ในอัฟกานิสถานกำลังอาจจะถูกทำลายโดยบรรษัทเหมืองแร่จากจีนที่ต้องการขุดเหมืองทองแดงในพื้นที่ ทำให้กลุ่มนักโบราณคดีอัฟกานิสถานชื่อ Saving Mek Aynak พยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้โบราณสถานนี้ถูกทำลาย


ภาพโดย Jerome Starkey(CC BY-SA 2.0)


4 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ 'เอนเชียนออริจิน' (Ancient Origins) ซึ่งเป็นเว็บนำเสนอเรื่องราวโบราณคดีระบุว่า 'เมสไอนัค' (Mek Aynak) โบราณสถานซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญชิ้นหนึ่งของโลกที่มีอายุกว่า 2,000 ปี ตั้งอยู่ในประเทศอัฟกานิสถานกำลังจะถูกบริษัทเหมืองแร่ของจีนรื้อทำลายเพื่อทำเหมืองแร่ทองแดงซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็มีกลุ่มนักโบราณคดีในอัฟกานิสถานพยายามต่อสู้เพื่อปกป้องโบราณสถานแห่งนี้

'เมสไอนัค' ตั้งอยู่ในจังหวัดโลการ์ ท่ามกลางเทือกเขาฮินดูกูชซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมเชื่อมต่อระหว่างจีนกับแถบเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออก เอนเชียนออริจินระบุว่าพื้นที่นี้เคยเป็นแหล่งที่ตั้งของคนหลายเชื้อชาติศาสนาทั้งฮินดู มุสลิม ยิว ผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์รวมถึงชาวพุทธ ทั้งนี้ยังมีพุทธศาสนสถานโบราณจำนวนมากจนถือเป็นแหล่งเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับเมดิเตอร์เรเนียน

แม้จะมีการประเมินตัวเลขโบราณวัตถุที่สำคัญทางศาสนาจำนวนมาก แต่นักโบราณคดีก็ยังขุดค้นได้ไม่มากนักโดยพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบในปัจจุบันเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของเมืองโบราณ กลุ่มนักโบราณคดีผู้ต้องการรักษาเมสไอนัค (Saving Mes Aynak) ระบุว่าในอนาคตพื้นที่นี้อาจจะมีส่วนสำคัญในการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ในแง่ของทั้งประวัติศาสตร์ประเทศอัฟกานิสถานและประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาเอง

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งนี้แม้จะถูกพบตั้งแต่ปี 2507 แต่เหตุการณ์แย่งชิงอำนาจทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานทำให้ไม่มีโครงการขุดค้นจนกระทั่งถึงปี 2547 มีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสไปเยือนแล้วพบว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ถูกปล้นชิงไปเยอะมาก โดยพื้นที่แห่งนี้ยังอยู่ในเมืองที่มีชายแดนติดกับเมืองในปากีสถานที่ถูกครอบครองโดยกลุ่มตอลีบันและมักจะถูกใช้เป็นทางผ่านของกลุ่มติดอาวุธ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ไม่ได้มาจากกลุ่มติดอาวุธแต่มาจากบรรษัทกลุ่มโลหการจีน (China Metallurgical Group Corporation) ที่ต้องการขุดหาแร่โดยต้องทำลายแหล่งโบราณสถานและหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง 6 หมู่บ้านถึงจะปฏิบัติการได้ นอกจากนี้บรรษัทจีนยังมีแผนการขุดแร่ด้วยวิธีการถูกๆ อย่างการทำเหมืองแบบขุดหลุมเปิด (Open-Pit mining) ซึ่งจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งนี้ยังมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับบรรษัทเหมืองแร่ซึ่งรัฐมนตรีอัฟกานิสถานคนหนึ่งรับเงินสินบน 30 ล้านดอลลาร์จากบรรษัทเหมืองแร่จีน ซึ่งหลังจากถูกเปิดโปงรัฐมนตรีรายดังกล่าวนี้ก็ลาออกภายในเวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตามมีกลุ่มนักโบราณคดีอัฟกานิสถานและผู้สร้างภาพยนตร์ชาวสหรัฐฯ ร่วมมือกันเคลื่อนไหวให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติเพื่อให้มีการเลื่อนเวลาขุดเหมืองแร่ออกไปโดยให้มีการเก็บอนุรักษ์มรดกทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ไว้เสียก่อน

ทีมรักษาเมสไอนัคยังจัดโครงการระดมทุนจากมวลชน (crownfunding) ผ่านเว็บไซต์ Indiegogo อีกทั้งยังมีการล่ารายชื่อจากเว็บไซต์ change.orgเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโมฮัมหมัด อัสซราฟ กานี คุ้มครองพื้นที่จากการถูกทำลายโดยการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

ทีมรักษาเมสไอนัคระบุว่า เหล่านักโบราณคดีในอัฟกานิสถานต้องต่อสู้กับทั้งกลุ่มตอลีบาน การเมืองภายใน และบรรษัทจีนเพื่อช่วยเหลือไม่ให้มรดกทางวัฒนธรรมถูกลบเลือน และยังไม่สายเกินไปที่จะร่วมกันรักษามรดกอย่างเมสไอนัคไว้

 


เรียบเรียงจาก

Afghan Archaeologists Battle Chinese Mining Interests in Fight to Save Ancient Buddhist Paradise, Ancient-Origins, 03-05-2015
http://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/afghan-archaeologists-battle-chinese-mining-interests-020324

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%84

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58138 articles
Browse latest View live




Latest Images