Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

เพื่อไทยยกเลิกประชุมที่ร้อยเอ็ด หลังฝ่ายความมั่นคงคุมเข้ม

0
0

พรรคเพื่อไทยยกเลิกประชุมที่ร้อยเอ็ด หลังเดินสายเหนือ-อีสานหลายจังหวัด เหตุฝ่ายความมั่นคงคุมเข้มถึงโรงแรม ยันจัดคุยชี้แจงคดี ไม่ได้ชุมนุมทางการเมือง

28 พ.ค. 2558ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ทีมงานฝ่ายกฎหมาย นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เดินสายทำความเข้าใจแนวทางการชี้แจงของอดีต ส.ส.ที่จะถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ที่จ.เชียงใหม่และจ.อุดรธานีนั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยที่จ.อุดรธานี ได้เชิญทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง เข้ารับฟังด้วยเพื่อยืนยันว่าการชี้แจงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และขอขอบคุณฝ่ายความมั่นคงของจ.อุดรฯ ที่เข้าใจเป็นอย่างดี

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดิมวันนี้ นัดชี้แจงที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่ทราบว่าผู้ว่าฯ มีคำสั่งห้ามดำเนินการดังกล่าวและส่งฝ่ายทหารตำรวจมาเฝ้าระวังที่โรงแรมตลอดเวลา แม้จะประสานทำความเข้าใจ แต่ก็ลำบาก เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เรียบร้อยใดๆ ขึ้น แม้เราจะเห็นว่ามิใช่การชุมนุมทางการเมืองใดๆ และเพื่อความสบายใจของอดีตส.ส.ในพื้นที่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จึงขอเลื่อนการชี้แจงออกไปก่อน โดยจะหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไปในโอกาสหน้า ส่วนการชี้แจงที่จ.อุบลราชธานีในวันที่ 29 พ.ค. จะต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะมีลักษณะคล้ายกับที่จ.ร้อยเอ็ดหรือไม่ ก็ต้องพิจารณากันอีกที

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุม อดีต ส.ส. ที่ จ.ร้อยเอ็ด ยกเลิกจริง แต่นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ได้เชิญทางแกนนำพรรคมาดูโครงการช่วยเหลือคนพิการ โครงการปรับปรุงรถเข็นช่วยเหลือคนพิการที่บ้านพักของนายนิรันดร์ ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ ก็เดินทางมา

โดยมีอดีตส.ส.ในโซนอีสานมาดูด้วยเหมือนกัน จึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องการต่อสู้คดี มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจด้วย ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ มาที่บ้านนายนิรันดร์ พวกตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟังการชี้แจงการต่อสู้คดี ชูเอกสารให้ดูด้วยจนจบ

“พวกผมได้ถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่าฟังแล้วเห็นว่ามีปัญหาหรือไม่ เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีปัญหา เรียบร้อยดี ผมยืนยันเป็นการต่อสู้คดีถอดถอน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าจะยกเลิกนัดชี้แจงที่ จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย” นายสามารถ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แอมเนสตี้ส่งจดหมายเปิดผนึกกรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยในตะวันออกเฉียงใต้

0
0
แอมเนสตี้วอนนานาชาติเพิ่มปริมาณการรับผู้ลี้ภัยเพื่อมนุษยธรรม และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือชีวิต รวมทั้งการตอบสนองความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
29 พ.ค. 2558 สมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกของเลขาธิการจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษถึงผู้นำประเทศต่างๆ โดยผ่านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตัวแทนรัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดภูมิภาคว่าด้วยการอพยพที่ไม่ปรกติ เพื่อสนับสนุนและยื่นข้อเสนอแนะในการร่วมมือกันหามาตรการระดับประเทศและภูมิภาคเพื่อการแก้ไขวิกฤตผู้ลี้ภัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งนำเสนอตัวเลขผู้สนับสนุนทั่วโลกในการรณรงค์ “ปฏิบัติการณ์ด่วน” เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เผชิญความเสี่ยงอยู่กลางทะเลกว่า 6,000 คน โดยมีผู้สนับสนุนร่วมลงชื่อกว่า 27,000 คน ซึ่งรายชื่อดังกล่าวจะรวบรวมส่งถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
จดหมายเปิดผนึก: วิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลออสเตรเลีย บังคลาเทศ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า สวิตเซอร์แลนด์ ไทย สหรัฐฯ และเวียดนาม เรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สนับสนุนและ เรียกร้องให้รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว หาแนวทางความร่วมมือและดำเนินการโดยทันที เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้ที่เสี่ยงภัยในน่านน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาตรการระดับประเทศและภูมิภาคต้องสอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพเข้าเมืองและผู้แสวงหาที่พักพิง รัฐบาลต้องประกาศมาตรการแก้ปัญหาที่รากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้
 
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามความรับผิดชอบตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐภาคีอาเซียนต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กฎบัตรอาเซียน) โดยเฉพาะข้อ 7 ที่ระบุ “ความมุ่งประสงค์และหลักการ” ของอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ “ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” (ข้อ 1(7))”
 
ที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้เข้าฝั่งทางเรือกว่า 2,000 คนทั้งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียโดยจากข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นรายงานว่า ยังมีผู้ถูกทอดทิ้งอยู่กลางทะเลอีกหลายพันคน
 
สำหรับข้อเสนอแนะมีดังต่อไปนี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย
 
- ประสานงานในปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิต เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเรือที่อยู่ตกในความยากลำบาก
- อนุญาตให้เรือซึ่งบรรทุกผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองเข้าฝั่งในประเทศที่ใกล้สุดได้อย่างปลอดภัย และไม่ผลักดันเรือ ไม่ข่มขู่หรือคุกคามในทางใดทางหนึ่งต่อพวกเขา
- จัดให้มีหรือประกันให้มีการตอบสนองความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมือง ทั้งที่เป็นอาหาร น้ำ ที่พักพิง และการดูแลสุขภาพ 
- ให้การประกันว่าผู้ร้องขอที่พักพิงสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานภาพผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นธรรม
- เคารพหลักการไม่ส่งกลับ โดยประกันว่าจะไม่ส่งตัวบุคคลไปยังสถานที่ใด รวมทั้งในประเทศต้นทาง กรณีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและการคุกคามต่อเสรีภาพและอาจเกิดการทรมานขึ้น
- ประกันไม่ให้มีการเอาผิดทางอาญาต่อบุคคล ไม่ให้กักตัว หรือไม่ให้ลงโทษเพียงเพราะวิธีการเดินทางมาถึงของพวกเขา
- ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของผู้ไร้รัฐ (UN Convention relating to the Status of Stateless Persons) และให้นำเนื้อหากฎหมายเหล่านี้ไปบังคับใช้ในกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ
- ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ UNHCR ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่คุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ไร้รัฐ และสามารถให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการจำแนกสถานภาพของผู้ลี้ภัย
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเสนอแนะต่อประเทศกลุ่มเฉพาะ ดังนี้
 
- ประเทศมาเลเซียในฐานะเป็นประธานอาเซียน ควรจัดประชุมสุดยอดอาเซียนกรณีฉุกเฉินเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน (ซึ่งระบุว่า “ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะ... สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม”)
- ประเทศพม่าต้องยุติการเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญา
- ประเทศพม่าต้องประกันให้มีการเข้าถึงรัฐยะไข่อย่างเสรี และไม่มีการสกัดกั้น รวมทั้งการเดินทางเข้าไปของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม องค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและผู้สื่อข่าว รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเสนอแนะต่อทุกประเทศดังนี้
 
- เพิ่มปริมาณการรับผู้ลี้ภัยเพื่อมนุษยธรรม โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้
- ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงินกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือชีวิต รวมทั้งการตอบสนองความต้องการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
 
ในกรณีที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวผ่านสื่อหลายแขนงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่วมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้เข้าร่วมการประชุมในวันที่ 29 พ.ค. ด้วยนั้น [i]
 
ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียนชี้แจงว่าทางองค์การฯ ไม่ได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแต่อย่างใด
 
 
 
[i] “.....ไม่ว่าจะเป็นยูเอ็น หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อผู้อพยพแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ต้องมาคุยกัน โดยวันที่ 29 พ.ค.จะมีตัวแทนมา ต้องคุยกันว่าจะเข้าไปดูแลคนพวกนี้ได้หรือไม่....” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 18 พ.ค. 58)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สื่อนอกตีแผ่ ทางการพม่าจับชาวมุสลิม อ้างเอี่ยวกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่น่าจะมีอยู่จริง

0
0

การอ้างภัยก่อการร้ายของกลุ่มที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงและระบบศาลที่บิดเบี้ยวถูกครอบโดยอำนาจเผด็จการทหารทำให้มีประชาชนชาวมุสลิมในพม่าจำนวนหนึ่งถูกจับกุมโดยข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย "เมียนมาร์มุสลิมอาร์มี" (MMA) ซึ่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มก่อการร้ายคนใดเคยได้ยินชื่อมาก่อน


28 พ.ค. 2558 สำนักข่าวดิอินเตอร์เซปต์รายงานว่ารัฐบาลที่นำโดย พล.อ.เต็งเส่ง ของพม่ามีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย "เมียนมาร์มุสลิมอาร์มี" (MMA) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบอกว่าไม่มีอยู่จริง

รัฐบาลพม่าจับกุมประชาชนสิบกว่าคนโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม MMA ซึ่งทางสำนักข่าวดิอินเตอร์เซปต์ได้รับข้อมูลเรื่องดังกล่าวจากเอกสารคดีความและการสัมภาษณ์พบว่ามีการกล่าวหาในเรื่องนี้ 3 คดี คดีแรกมีการจับกุมประชาชน 12 คน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย MMA คดีที่สองมี 5 คนถูกกล่าวหาเรื่องวางแผนวางระเบิดทั่วประเทศโดยไม่ได้ระบุว่ามีที่ใดบ้าง คดีที่สามมีอีก 1 คนถูกกล่าวหาว่าคอยให้เงินทุนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มดังกล่าว พวกเขาถูกจับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. ปีที่แล้ว

ดิอินเตอร์เซปต์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเต็งเส่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้อาจจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการอ้างเรื่อง "ภัยการก่อการร้าย" ในการปราบปรามชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรที่มีอยู่ราวร้อยละ 4 ถึง ร้อยละ 10 ในพม่า ซึ่งไม่ได้มีแต่กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาในรัฐระขิ่นเท่านั้น ถึงแม้ว่าชาวโรฮิงญาจะเป็นกลุ่มที่ถูกปราบปรามมากที่สุดและถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติมาหลายปี แต่ก็ยังมีชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ของพม่า

ถึงแม้ว่าทางการพม่ากำลังพยายามแสดงให้ชาวโลกเห็นว่ากำลังเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีพัฒนาการด้านเสรีภาพในทางการเมือง แต่สภาพของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่ากลับแย่ลง พวกเขาถูกทางการและกลุ่มขบวนการชาวพุทธชาตินิยมหัวรุนแรงมองว่าเป็นคนนอกและถูกทำให้กลายเป็นศัตรูร่วมกันซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นการทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความขัดแย้งทางการเมืองและเผด็จการทหารซึ่งไม่ได้รับความนิยม

ดิอินเตอร์เซปต์ระบุอีกว่ากลุ่มชาวมุสลิมในพม่าเพิ่งถูกสร้างภาพให้ดูเป็น "ภัยก่อการร้าย" โดยรัฐบาลหลังจากที่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ในปี 2544 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นความพยายามเอาใจรัฐบาลสหรัฐฯ และเป็นความพยายามของเหล่าผู้นำทหารที่ต้องการยึดกุมอำนาจความชอบธรรมจากคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศที่มีชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาตรงที่ในพม่าไม่เคยมีเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมเลยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โซโมอ่อง (Soe Moe Aung) เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกทางการพม่าบุกจับกุมถึงที่บ้านในตอนกลางคืนโดยไม่แสดงหมายจับ พวกเขาจับกุมโซโมอ่องไปกักขังไว้เป็นเวลา 10 วันโดยไม่อนุญาตให้เจอทนาย เขารู้ตัวอีกทีว่าถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ MMA ก็ตอนที่เริ่มการไต่สวนดำเนินคดีแล้ว แม่ของโซโมอ่องบอกว่าเขาถูกกล่าวหาว่าไปเข้าร่วมการซ้อมรบกับ MMA แต่เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นไปไม่ได้เพราะโซโมอ่องป่วยเป็นโรคเก๊าท์จึงไม่สามารถซ้อมการสู้รบได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกฟ้องร้องรายอื่นๆ ที่ถูกทางการฟ้องข้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ MMA โดยอ้างกฎหมายข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งออกมาในปี 2493 สหพันธ์ช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าระบุว่ากฎหมายฉบับนี้มักจะถูกนำมาใช้ตามอำเภอใจเพื่ออ้างจับกุมนักกิจกรรมและใส่ร้ายกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ทนายความฝ่ายผู้ต้องหายังเปิดเผยว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ส่งเสนอ "หลักฐานที่แท้จริง" ที่ใช้ตั้งข้อกล่าวหาอีกทั้งยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องกลุ่มก่อการร้ายที่พวกเขาอ้างถึง โดยฝ่ายเอกสารของทีมช่วยเหลือด้านกฎหมายระบุว่าตั้งแต่ปีที่แล้วมีชาวมุสลิมในพม่าราว 100 คนแล้วที่ถูกจับจากข้อกล่าวหาเรื่องเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

ซอเท (Zaw Htay) ผู้อำนวยการทำเนียบประธานาธิบดีพม่ากล่าวปกป้องฝ่ายรัฐบาลว่าที่ต้องมีการปกปิดข้อมูลเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

แต่ทั้งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้าย ฝ่ายต่างประเทศของสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ไม่มีใครยืนยันว่ากลุ่ม MMA มีตัวตนอยู่จริง ชื่อกลุ่มนี้เคยถูกกล่าวถึงลอยๆ เพียงครั้งเดียวโดยโรฮัน กูนารัตนา หัวหน้าศูนย์วิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้ายซึ่งเป็นองค์กรในสิงคโปร์ซึ่งอ้างอิงจากรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อกลุ่ม MMA เลย

ในกรณีที่ทางการพม่าจับกุมตัวนักธุรกิจอายุ 44 ปี โดยอ้างว่าเขาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือก่อตั้งกลุ่ม MMA ทนายความของเขาก็บอกว่าข้อกล่าวหาโยงถึงนักธุรกิจรายนี้มาจากการ "สารภาพ" ของผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ถูกกักขังในเรือนจำทหาร ผู้ต้องขังคนดังกล่าวอ้างชื่อ "ยูซุฟ" แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอย่างอื่น แต่ก็มีการโยงถึงตัวนักธุรกิจรายนี้ที่คนนิยมเรียกเขาว่ายูซุฟ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นๆ นอกจากนี้

ดิอินเตอร์เซปต์ยังนำเสนอเรื่องระบบศาลในพม่าที่ขาดความเป็นกลางแต่มีท่าทีคล้อยตามกระทรวงกิจการภายในซึ่งส่งอิทธิพลโดยตรงต่อศาล อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญพม่ายังระบุให้รัฐมนตรีกระทรวงนี้ต้องเป็นสมาชิกของกองทัพและมาจากการก่อตั้งของกองทัพ ทำให้เห็นถึงความพยายามแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทุกภาคส่วนของเผด็จการทหาร เรื่องนี้ทำให้ แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของคณะกรรมการนักกฎหมายสากล (ICJ) กล่าวว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหา เนื่องจากศาลขาดความเป็นอิสระ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทารุณกรรมผู้ถูกจับกุมเพื่อให้รับสารภาพ เช่นในคดีที่มีคนถูกจับเพราะลักลอบค้าปุ๋ยที่ไม่ได้รับอนุญาตแล้วถูกทางการอ้างว่าพวกเขาจะเอาปุ๋ยไปทำระเบิด มีการทารุณกรรมผู้ต้องขังให้รับสารภาพโดยกองทัพและไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายเลย

สำหรับ ดิอินเตอร์เซปต์ (The Intercept) ก่อตั้งโดยเกลน กรีนวัลด์ นักข่าวที่เผยแพร่ข่าวการสอดแนมจากเอกสารที่ได้จากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เป็นสำนักข่าวที่มุ่งเรื่องการเผยแพร่เอกสารจากสโนว์เดนและทำงานข่าวที่ท้าทายในประเด็นอื่นๆ ในระยะยาว

 

เรียบเรียงจาก

IN MYANMAR, MUSLIMS ARRESTED FOR JOINING TERROR GROUP THAT DOESN’T EXIST, CARLOS SARDIÑA GALACHE AND VERONICA PEDROSA, The Intercept, 26-05-2015
https://firstlook.org/theintercept/2015/05/25/myanmar-muslims-arrested-joining-terror-group-doesnt-exist/
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สมชาย' ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาคดี 'สลายการชุมนุมปี 51'

0
0
ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง "สมชาย-พล.อ.ชวลิต-พล.ต.อ.พัชรวาท-พล.ต.ท.สุชาต" สั่งสลายการชุมนุม 7 ต.ค.51 ทำให้มีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก จำเลยทั้ง 4 ให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา จะต่อสู้คดีตามความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานของโจกท์-จำเลย 18 ส.ค. 58

 
 
ภาพจากสำนักข่าวไทย
 
29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า เวลา 09.30 น. วันนี้  (29 พ.ค.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เดินทางมายังศาลฎีกาฯ ตามที่ศาลได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542  และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
 
จากกรณีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551  นายสมชาย ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา กระทั่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 คน  โดยศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 4 ฟัง  ซึ่งจำเลยทั้ง 4  แถลงต่อศาลให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งให้นัดตรวจพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันที่ 18 สิงหาคม 2558  เวลา 10.00 น. และให้จำเลยทั้ง 4  ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
 
ส่วนที่นายสมชาย และ พล.อ.ชวลิต ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังนั้น  ศาลเห็นว่าจำเลยต้องมาศาลทุกครั้ง หากไม่สามารถเดินทางมาได้ ให้ยื่นคำร้องเป็นครั้งคราวไป และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้ง 4 เดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสอบถามจำนวนพยานของโจทย์และจำเลย ป.ป.ช.เตรียมพยานได้ 50 ปาก  นายสมชาย เตรียมพยานไว้  60 ปาก  พล.อ.ชวลิต เตรียมพยานไว้ 30 ปาก  พล.ต.ท.สุชาติ เตรียมพยานไว้ 180 ปาก ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท ยังไม่ได้เตรียมพยาน  เนื่องจากยังไม่ได้มีการแต่งตั้งทนายสู้คดีดังกล่าว
 
นายสมชาย  เปิดเผยว่า เบื้องต้นเตรียมพยานไว้ 60 ปาก  ส่วนจะเป็นบุคคลใดบ้าง ทนายความเป็นผู้พิจารณา และจะต่อสู้คดีตามความเป็นจริง เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และช่วงนี้ยังไม่มีกำหนดเดินทางไปต่างประเทศ พร้อมพูดติดตลกว่าไม่มีค่าเครื่องบิน
 
ส่วน พล.ต.ท.สุชาติ กล่าวว่า ไม่รู้สึกหนักใจในการต่อสู้คดี ซึ่งได้ให้การตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่เตรียมพยานไว้ 180 ปาก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ประจำตามจุดต่าง ๆ ในวันที่มีการสลายการชุมนุม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังสอบคำให้การแล้วเสร็จ จำเลยทั้ง 4 คนได้เดินทางกลับทันที เนื่องจากก่อนหน้านี้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวแล้ว ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาให้ประกันตัวทั้ง 4 คน โดยตีราคาประกันสำหรับนายสมชาย 9,500,000 บาท , พล.อ.ชวลิต 8 ล้านบาท , พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ตีราคาประกันคนละ 6 ล้านบาท
 
ทั้งนี้การเดินทางมาศาลฎีกาฯ ของจำเลยทั้ง 4 คนในวันนี้ (29 พ.ค.) ไม่พบว่ามีกลุ่มใด ๆ เดินทางมาให้กำลังใจ มีเพียงนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยานายสมชายและบุตร  นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา แกนนำกลุ่มวาดะ  แต่เจ้าหน้าที่ศาลยังคงดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่
 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ป.ป.ช.ฟัน 'สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล' รวยผิดปกติ

0
0
ป.ป.ช.ลงมติเอกฉันท์ สั่งฟันเฮียตือ ‘สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล’ ร่ำรวยผิดปกติ กรณีสร้างบ้านใน จ.อ่างทอง ช่วงเป็น รมช. และรมว.ศึกษาธิการ ราคากว่า 16 ล้าน และเจ้าตัวไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ เตรียมยื่นศาลฎีกาฯ ยึดบ้านตกเป็นของแผ่นดิน

 
29 พ.ค. 2558 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในการประชุม ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดการไต่สวนกรณีการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ พรรคชาติไทยพัฒนา จากการไต่สวนพบว่า นายสมศักดิ์ ได้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ในปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์เป็นรมช.ศึกษาธิการ ซึ่งมีการก่อสร้างต่อเนื่องจนมาแล้วเสร็จปี 2544 ในช่วงที่นายสมศักดิ์เป็น รมว.ศึกษาธิการ ใช้เงินปลูกสร้างประมาณ 16 ล้านบาทเศษ
 
ทั้งนี้ จากการเรียกนายสมศักดิ์มาชี้แจงถึงที่มาของเงินจำนวนดังกล่าว พบว่าคำชี้แจงฟังไม่ขึ้น เพราะไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ชัดเจน โดยนายสมศักดิ์อ้างว่า เป็นเงินของครอบครัว และเงินที่เหลือจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับไม่พบว่ามีการนำเงินจากที่มาดังกล่าว ไปใช้ก่อสร้างบ้าน และนายสมศักดิ์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนการชี้แจงให้ ป.ป.ช.เชื่อถือได้
 
ดังนั้น ป.ป.ช.จึงลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า นายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ยึดบ้านหลังดังกล่าวเป็นของแผ่นดินต่อไป
 
ล่าสุด นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ได้ทราบข่าวดังกล่าวแล้ว โดยเตรียมจะแถลงข่าวถึงรายละเอียดคำตัดสินของป.ป.ช. ต่อสื่อมวลชน ในวันจันทร์ ที่ 1 มิ.ย. นี้ ที่พรรคชาติไทยพัฒนา ในเบื้องต้นจะเกี่ยวกับมติชี้มูลของป.ป.ช.ต่อกรณีดังกล่าวที่ไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะดำเนินการตามเสียงข้างมาก
 
มีรายงานเพิ่มเติมว่า นายสมศักดิ์ ได้แจ้งขอยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว โดยระบุ ในฐานะที่เป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ให้ความเคารพในเสียงของป.ป.ช.ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในคดีดังกล่าว แต่เรื่องนี้ยังต้องนำไปสู่กระบวนการทางศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องจึงยังไม่จบ อีกทั้งในวันที่ 1 มิ.ย.เป็นวันวิสาขบูชา จึงยกเลิกการแถลงข่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลยกคำร้อง 'พลเมืองโต้กลับ' ฟ้อง 'ประยุทธ์-คสช.' ข้อหากบฏ

0
0
29 พ.ค. 2558 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นำโดยนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ กับพวก 15 คน พร้อมด้วยนายอานนท์ นำภา ทนายความกลุ่ม เดินทางมายังศาลอาญา รัชดาภิเษก เพื่อเป็นโจทก์ยื่นฟ้องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ประกอบด้วย
 
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย  พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาเป็นกบฏ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จากกรณีเข้ายึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกลุ่มมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 
ล่าสุดเมื่อช่วงสายวันนี้ (29 พ.ค.) ศาลได้พิจารณาคดีดำที่ อ. 1805/58 และคดีแดงที่ อ.1760/58 ตามที่ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องไว้แล้วนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักกฎหมายมาตรา 48 ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วอนประชาชนเสียสละความสุข เพิ่มเวลารายการ 'เดินหน้าประเทศไทย'

0
0
"สรรเสริญ แก้วกำเนิด" รองโฆษกรัฐบาลวอนประชาชนเห็นใจ เพิ่มเวลาออกอากาศรายการ 'เดินหน้าประเทศไทย' จาก 15 นาที เป็น 30 นาทีทุกวัน เหตุบ้านเมืองไม่ปกติ ต้องเสียสละความสุขกันบ้าง

 
29 พ.ค. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายานว่าที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีแนวคิดเสนอเพิ่มเวลารายการ “เดินหน้าประเทศไทย”ที่ออกอากาศทุกวัน ในช่วงเวลา 18.00 น. จาก 15 นาที เป็น 30 นาที ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าที่ผ่านมาการสื่อสารข้อมูลในเรื่องสำคัญเพียง 15 นาที ยังไม่สามารถทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ จึงต้องลงพื้นที่เพื่อดูความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเข้าใจดีว่าสังคมต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารด้านอื่นด้วย อาทิ รายการบันเทิง แต่ต้องทำความเข้าใจว่าในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเดินหน้าปฏิรูป จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่ารัฐบาลได้ดำเนินการใดแล้วบ้าง มีปัญหาอะไร รวมถึงขอความร่วมมือจากสังคมเพื่อให้สังคมเกิดการรับรู้ ความเข้าใจร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศในวันข้างหน้า การเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที คงไม่มากนัก ต้องเสียสละเรื่องความสุขบ้าง 
 
“หากคิดเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว อาจมองว่าเป็นการเพิ่มเวลาเยอะไป ทำให้ต้องดันเวลาออกไป ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องขอความเห็นใจด้วย อาจเป็นไปได้ที่ต้องไปพูดคุยต่อรองกัน แต่ขั้นต้นได้เสนอขอเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว และว่าสำหรับรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" จะมีในทุกวันศุกร์เช่นเดิม แต่จะปรับรูปแบบให้รองนายกรัฐมนตรี 5 คน ไปพูดในรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" แทน โดยวันจันทร์ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง วันพุธ เป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ วันพฤหัสบดี เป็นรองนายกฯ ด้านสังคม วันเสาร์ เป็นรองนายกฯ ด้านต่างประเทศ วันอาทิตย์ เป็นรองนายกฯ ด้านกฎหมาย ขณะที่วันอังคารเปิดพื้นที่ให้ทีมโฆษกรัฐบาล เรื่องผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไหร่นั้น ต้องดูฝ่ายที่ประสานติดต่อกับสถานีโทรทัศน์ แต่อยากให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กองทัพบกวางศิลาฤกษ์อุทยานราชภักดิ์-เตรียมสร้างอนุสาวรีย์ 7 กษัตริย์ที่หัวหิน

0
0

ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานวางศิลาฤกษ์อุทยานราชภักดิ์ ที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ หัวหิน โดยในอุทยานขนาด 222 ไร่ จะลานอเนกประสงค์ใช้ทำพิธีสำคัญของกองทัพบก ใช้รับรองบุคคลสำคัญ และจะมีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ 7 กษัตริย์ หล่อด้วยสำริด สูง 13.90 เมตร จะสร้างให้เสร็จภายในปี 2558

พิธีวางศิลาฤกษ์อุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)

การแสดงเทิดพระเกียรติ 7 มหาราช  ในงานแถลงข่าวอุทยานราชภักดิ์ ที่ บก.ทบ. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 (ที่มา: ททบ.5)

สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนนายสิบทหารบก ตรงข้ามสวนสนประดิพัทธ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุทยานราชภักดิ์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกจัดสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ณ พื้นที่ของกองทัพบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์” ซึ่งมีความหมายว่า อุทยานที่สร้างขึ้น ด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้ รวมทั้งเป็นสถานที่สำคัญและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาติ ให้กับประชาชนคนในชาติได้ศึกษาและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยช่วงแรก ประธานในพิธี และผู้ร่วมพิธีได้ประกอบพิธีสงฆ์ หลังจากนั้นได้ประกอบพิธีบวงสรวงและวางศิลาฤกษ์อุทยานราชภักดิ์

(ซ้าย) อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ภาพถ่ายวันที่ 27 มี.ค. 58) และ (ขวา) อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (ภาพถ่ายวันที่ 30 มี.ค. 58) ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปที่อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ที่มา: เพจประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร [1], [2])

ในรายงานระบุว่า พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ที่จะดำเนินการจัดสร้างนั้น ได้แก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการสร้างพระบรมราชนานุสาวรีย์คือ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

โดยอุทยานราชภักดิ์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพบก (โรงเรียนนายสิบ) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บนพื้นที่ จำนวน 222 ไร่ ซึ่งประกอบด้วยส่วน 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์ ในอิริยาบถทรงยืน ความสูง 13.90 เมตร หล่อด้วยเนื้อโลหะสำริดนอก โดยพิจารณาเลือกพระมหากษัตริย์แต่ละยุคสมัยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงกรุงรัตนกสินทร์ จำนวน 5 ไร่ ส่วนที่ 2 พื้นที่ลานอเนกประสงค์ ใช้สำหรับกระทำพิธีสำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ จำนวน 91 ไร่ ส่วนที่ 3 อาคารพิพิธภัณฑ์ หรือห้องจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ โดยการค้นคว้า รวบรวมและจัดทำพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ที่สำคัญของบูรพกษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัย กรุงรัตนโกสินทร์ โดยจัดสร้างบริเวณด้านล่างของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พื้นที่ส่วนที่เหลือ จำนวน 126 ไร่ จะเป็นสภาพภูมิทัศน์โดยรอบและจัดสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวก โดยคาดว่าอุทยานราชภักดิ์จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 นี้

ทั้งนี้ในงานแถลงข่าวจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานด้วยว่า กลุ่ม ช.การช่าง ได้บริจาค 100 ล้านบาทเพื่อสมทบทุนการก่อสร้างกับกองทัพบกด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รัฐเตรียมมอบสิทธิพิเศษผู้ลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

0
0
รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเผยรัฐเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดเริ่มดำเนินการจังหวัดตากและสระแก้ว เนื่องจากพื้นที่มีความพร้อม ให้กรมธนารักษ์เปิดให้เช่าพื้นที่ราคาถูก ระยะเวลา 30-50 ปี เช่น สระแก้ว หากเช่าพื้นที่ดิบหรือยังไม่มีการถมที่ให้เช่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้เลยคิดไร่ละ 160,000 บาทต่อปี แต่จะปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี 

 
29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด มีความชัดเจนพอสมควร หากผู้ประกอบการใหม่สนใจลงทุนและเปิดบริษัทใหม่ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสิทธิพิเศษทั้งการลดภาษีให้ครึ่งหนึ่ง เช่น จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 และถ้าขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะไม่เรียกเก็บภาษีระยะเวลา 5-8 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ นอกจากนี้ ยังให้กระทรวงมหาดไทยจัดพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน โดยให้กรมธนารักษ์เปิดให้เช่าพื้นที่ราคาถูก ระยะเวลา 30-50 ปี เช่น สระแก้ว หากเช่าพื้นที่ดิบหรือยังไม่มีการถมที่ให้เช่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ส่วนพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้เลยคิดไร่ละ 160,000 บาทต่อปี แต่จะปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ทุก 5 ปี ซึ่งกรมธนารักษ์จะประกาศค่าเช่าที่ชัดเจนภายในสัปดาห์หน้า โดยขณะนี้มีผู้มาขอบีโอไอแล้ว 6 ราย เช่น ผู้ประกอบการทำลวด แปรรูปสินค้าเกษตร ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและมุกดาหาร ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาและมีผู้จะขอบีโอไอเพิ่มอีกกว่า 10 ราย ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก่อนพื้นที่อื่น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและประเทศเพื่อนบ้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมใกล้เคียงพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวอยู่แล้ว
 
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการเตรียมพื้นที่ภาครัฐ 6 แห่ง เพื่อรองรับการเข้าดำเนินงานของภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผู้ที่สนใจลงทุนสามารถยื่นเรื่องได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ โดยจะใช้เวลา 7 วันติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการเดินเรื่องให้ทั้งหมด
 
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง จะแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ภาคเอกชนและการลงทุนผ่านการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ผู้ที่สนใจต้องยื่นความจำนงขอใช้พื้นที่อย่างไร และยื่นแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดหาลูกค้า การพัฒนาสาธารณูปโภค และแผนวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ จะต้องมีหลักเกณฑ์การเข้าไปใช้พื้นที่พร้อมทั้งพิจารณาผลงานที่ผ่านมาของบริษัทนั้นและแผนปฏิบัติของบริษัทว่าใช้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งระยะแรกจะเน้นการพัฒนาตามแนวชายแดน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร
 
นายอาคม กล่าวว่า เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและกำลังคนเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งไทยได้มีการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายอุตสาหกรรม เพื่อที่จะวางแผนบริหารการทำงานร่วมกันตามแนวชายแดน นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจในพื้นที่ตอนใน ซึ่ง สศช.ได้มีการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในพื้นที่ดังกล่าว 9 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยี เช่น ยานยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ 2.กลุ่มนวัตกรรม 3.กลุ่มท่องเที่ยว 4.กลุ่มเกษตรและอาหาร 5.กลุ่มผู้ประกอบการยาง 6.กลุ่มนิคมอากาศยาน 7.กลุ่มดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8.ภาคบริการการศึกษานานาชาติ 9.กลุ่มศูนย์กลางสุขภาพ เช่น ด้านการรักษาพยาบาลโดยทั่วไป การให้บริการส่งเสริมด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ มองว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่จะดำเนินการได้ คือ ชลบุรีและระยอง ซึ่งจะเป็น 2 พื้นที่หลัก นอกนั้นจะมีพื้นที่อื่น เช่น ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยกเลิก “วิชาพระพุทธศาสนา” เรียนจริยศาสตร์(Ethics)ระดับมัธยมปลาย

0
0

 

 

วิชาศีลธรรมในสมัยก่อนที่เริ่มขึ้นและมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัย ร.5 เปลี่ยนมาเป็น “วิชาพระพุทธศาสนา” ในปัจจุบันที่เรียนกันตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย บทความนี้ต้องการเสนอให้ยกเลิกการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมปลายและให้เรียนวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) แทน มีข้อโต้แย้งและเหตุผลสนับสนุนที่ผมอยากชวนให้ช่วยกันคิด ต่อไปนี้

1. ในปี 2553 ได้เกิดกระแสรณรงค์คัดค้านกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการจะตัดทอนเนื้อหาและเวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับประถมและมัธยมศึกษา เป็นเหตุให้พระเทพเวที (ปัจจุบันคือพระพรหมคุณาภรณ์) หรือท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ได้เขียนหนังสือชื่อ “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา? ข้อพิจารณาเกี่ยวกับวิชาพระพุทธศาสนาและจริยศึกษาในหลักสูตรการศึกษาของชาติ” (ดูได้ที่ ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา)  

หนังสือดังกล่าวได้ให้ข้อมูล ความรู้ และข้อโต้แย้งต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนจริยธรรมสากลตามแบบตะวันตก (ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) และมีข้อเสนอที่ท่านสรุปให้เห็นว่าทำไมคนไทยจึงควรศึกษาพุทธศาสนา ในแง่ต่างๆ ดังนี้

ในฐานะเป็นสถาบันของสังคมที่ใหญ่ และสำคัญมากของประเทศไทย

ในฐานะที่เป็นสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย

ในฐานะที่เป็นเนื้อหาสาระส่วนสำคัญ และเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทย

ในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นมรดกของชนชาติไทย

ในฐานะที่เป็นศาสนาซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือ และเป็นศาสนาประจำชาติไทย

ในฐานะที่เป็นหลักคำสอน และระบบจริยธรรมสำหรับพัฒนาชีวิตและสังคม

ในฐานะที่เป็นวิชาการ ซึ่งเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาให้แก่สังคมมนุษย์

ในฐานะที่เป็นแหล่งหนึ่ง แห่งอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ

2. ในช่วงของการรณรงค์ดังกล่าว มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการบางคนเสนอให้สอน “จริยธรรมสากล” แทนวิชาพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าถูกโจมตีอย่างหนักจากฝ่ายที่รณรงค์ตามข้อ 1 ทำให้ผู้เสนอความคิดดังกล่าว “เงียบ” ไป เราจึงไม่ทราบเหตุผลชัดเจน

แต่ปัญหาที่เห็นพูดกันมากคือ วิชาพระพุทธศาสนาทั้งระดับประถมและมัธยมมีเนื้อหาซ้ำๆ เรียนแบบท่องจำ ขาดครูที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะมาสอน ครูเองก็ไม่อยากสอนวิชานี้ ผู้บริหารมักเอาครูที่สอนวิชาอื่นไม่ได้มาสอนวิชานี้ ฯลฯ ทำให้วิชานี้ที่เนื้อหาน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อยู่แล้วยิ่งน่าเบื่อมากขึ้น ฉะนั้น ควรลดเนื้อหาและเวลาเรียนวิชาพระพุทธศาสนาลง หรือควรยกเลิกแล้วสอนจริยธรรมสากลแทน

3. ข้อเสนอของผมคือ “ควรยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมปลายและให้สอนวิชาจริยศาสตร์ (Ethics) แทน” (ทำไมเฉพาะ “มัธยมปลาย” ขอทิ้งเป็นปลายเปิดให้ถกเถียงกันต่อไป) แต่เหตุผลของผมไม่ใช่เรื่องปัญหาของเนื้อหาหลักสูตรและประสิทธิภาพการสอนวิชาพระพุทธศาสนาแบบที่พูดกันในข้อ 2 เพราะฝ่ายยืนยันให้มีวิชาพระพุทธศาสนาก็แย้งได้ว่า “ถ้าเนื้อหาหลักสูตรไม่ดี หรือการสอนไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องไปแก้ให้มันดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ไปตัดทอนหรือยกเลิก” (ดังข้อโต้แย้งในหนังสือของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เป็นต้น) ข้อโต้แย้งและเหตุผลที่ผมอยากเสนอให้ช่วยกันคิด คือ

ประการแรกข้อเสนอของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต (ตามข้อ 1 เป็นอย่างน้อย) สามารถสรุปได้ว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่บนจุดยืนสำคัญ 2 ประการ คือ (1) พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย และ (2) พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตปัจเจกบุคคล สังคมไทย และมนุษยชาติ

ข้อโต้แย้งคือ ข้อ (1) ที่ว่า “พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย” มองจากทัศนะของมิเชล ฟูโกต์ มันคือ “ความจริงที่ถูกสร้างขึ้น” ผ่านคำอธิบายหรือวาทกรรมของอำนาจรัฐสมัยใหม่ อย่างน้อยตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา แน่นอนว่าวาทกรรมดังกล่าวสร้างขึ้นจากการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของรัฐสมัยเก่า เช่นสถาปัตยกรรมของวัง วัด ความคิดทางการเมือง ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมและอื่นๆ ที่ตกทอดมา แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดเดียวกันนั้นก็สามารถอธิบายได้ด้วยชุดคำอธิบายหรือวาทกรรมแบบอื่นๆ เช่น สภาพความเป็นจริงของวัง วัด และสังคมสยามไทยโดยรวมจากอดีตจนปัจจุบัน คือพื้นที่ต่อรองระหว่างความเชื่อที่หลากหลายภายใต้ชื่อพุทธ ผี พราหมณ์ และอื่นๆ ไม่มีความเชื่อใดที่เป็นความเชื่อเดียวโดดๆ มีสถานะเป็น “แกนหลัก” ของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทยอยู่จริง แต่ละความเชื่อล้วนมีส่วนผสมของความเชื่ออื่นๆ ในวัง วัด ชุมชน บ้านเรือน ไปจนถึงทุ่งท่าป่าเขาก็มีทั้งสัญลักษณ์ของพุทธ ผี พราหมณ์ และอื่นๆ เช่นพระพุทธรูป พระพรหม เทพต่างๆ ศิวลึงค์ และ ฯลฯ

ในทัศนะของฟูโกต์ ระหว่างคำอธิบายที่ว่า “พุทธศาสนาเป็นแกนหลักของวัฒนธรรมไทย/ความเป็นไทย” กับ “วัฒนธรรมไทยหลากหลาย/ความเป็นไทยประกอบด้วยวัฒนธรรมหลากหลายไม่มีอะไรเป็นแกนหลัก” ไม่มีอันไหนมีความเป็นจริงในตัวมันเองเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ทุกคำอธิบายมีค่าเท่ากัน เป็น “วาทกรรม” อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันมีบางวาทกรรมที่ถูกทำให้เป็น “ความจริง” ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับมากกว่า เพราะมันเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจที่เหนือกว่า เช่นอำนาจรัฐ อำนาจของผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด เป็นต้น

ส่วนข้อ (2) แม้จะจริงว่า “พุทธศาสนามีคุณค่าต่อชีวิตปัจเจกบุคคล สังคมไทย และมนุษยชาติ” แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลสนับสนุนอย่างจำเป็นว่า ต้องบังคับให้เรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน โดยปิดกั้นโอกาสที่เด็กไทยจะได้เรียนรู้ความคิดทางศีลธรรมอื่นๆ ที่มีคุณค่าเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นจริงว่า “พระพุทธศาสนาเป็นสภาพแวดล้อมใหญ่ของสังคม ที่แผ่กว้างครอบคลุมสังคมไทย” อยู่แล้ว ก็แปลว่าความเชื่อทางศีลธรรมของพุทธศาสนาเป็นความเชื่อหลักของสังคมไทยอยู่แล้ว การบังคับเรียนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนก็เท่ากับเป็นการยัดเยียดให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ “ศีลธรรมเพียงความหมายเดียว” คือศีลธรรมในความหมายของพุทธศาสนาเท่านั้น

ผลของการถูกปลูกฝังกล่อมเกลาให้เรียนรู้ซึมซับศีลธรรมในความหมายเดียว ก็คือเกิดการยึดความจริง ความดีหนึ่งเดียวสูงสุด ไม่เข้าใจ ไม่เคารพความจริง ความดี และคุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย ดังปรากฏการณ์ของการอ้างศีลธรรม คนดีในทางการเมืองที่เป็นการลดทอนคุณค่าของศีลธรรม ความดีในความหมายอื่นๆ เช่นศีลธรรมในความหมายของสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีของมนุษย์ตามหลักสากล เป็นต้น

ประการที่สอง นอกจากสังคมไทยจะรู้จัก “ศีลธรรม” ในความหมายแบบพุทธเป็นหลักเท่านั้น ศีลธรรมแบบพุทธสยามไทยยังวางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” ที่ถูกอ้างอิงยกสถานะ “ชนชั้นปกครอง” ให้สูงกว่าและมี “บุญคุณ” ต่อผู้ใต้ปกครองเสมอ เพราะเป็นคนดีมีคุณธรรมและได้บำเพ็ญบุญบารมีมามากแต่ชาติปางก่อน สำหรับ “ชนชั้นผู้ถูกปกครอง”  ต้องมีหน้าที่กตัญญูรู้คุณและจงรักภักดีเชื่อฟังชนชั้นปกครอง

แม้คำสอนพุทธศาสนาอาจมีมากมาย แต่กระบวนการเรียนรู้ปลูกฝังกล่อมเกลาก็อยู่ภายใต้ “กรอบศีลธรรมหลักของชาติ” คือกรอบศีลธรรมบนฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” จึงทำให้ทรรศนะทางศีลธรรมและจิตสำนึกในเรื่องถูก ผิดของคนไทยถูกชี้นำกำกับด้วยกรอบศีลธรรมในความหมายเดียวเท่านั้น

แต่ความจริงคือ ก่อนที่จะเป็นคนไทย เป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ เราทุกคนเป็น “มนุษย์เท่าเทียม” อยู่ก่อน ความเป็น “มนุษย์เท่าเทียม” จึงสำคัญกว่าทุกสิ่ง และเป็น “จุดอ้างอิงพื้นฐานที่สุด” ว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ เราทุกคนควรมีเสรีภาพจะเรียนรู้คุณค่า ความจริง ความดีที่หลากหลาย มีทางเลือกที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการเรียนรู้เพื่อค้นพบตัวเอง และใช้ศักยภาพของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตและสังคม การกำหนดให้เยาวชนเรียนรู้ความจริง ความดีในความหมายเดียวบนพื้นฐานความเชื่อ “คนไม่เท่ากัน” คือการปิดกั้นความงอกงามทางสติปัญญา ความสามารถของมนุษย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการครอบงำ ลดทอนความเป็นมนุษย์โดยตรง

ดังนั้น ควรยกเลิกการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในระดับมัธยมปลาย ให้สอนวิชา “จริยศาสตร์” แทน เพราะการสอนจริยศาสตร์ ไม่ใช่การสอนศีลธรรมแบบท่องจำ แต่คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ “แนวคิด” เกี่ยวกับศีลธรรม ความดีที่มีความหมายหลากหลาย ด้วยวิธีการวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหา ข้อโต้แย้งต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การปลูกฝังให้เชื่อ แต่เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์วิจารณ์ได้ด้วยตนเอง เปิดมุมมองให้เห็นทรรศนะ เหตุผล ข้อถกเถียงที่หลากหลายในเรื่องศีลธรรม ความดี คุณค่าของมนุษย์ เป้าหมายชีวิตและความยุติธรรมทางสังคม สุดท้ายผู้เรียนจะสามารถมีศีลธรรมได้ด้วยวิจารณญาณของตัวเอง

การเรียนจริยศาสตร์ในระดับมัธยมปลาย จะเปลี่ยนวิธีคิดทางศีลธรรมและเอื้อต่อการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเสมอภาคมากขึ้นได้ เพราะว่าแนวคิดทางจริยศาสตร์ตะวันตกทุกแนวคิด แม้จะมีรายละเอียดต่างกัน และ/หรือขัดแย้งกันในบางประเด็น แต่ทุกแนวคิดเชื่อตรงกันว่า “ศีลธรรมวางอยู่บนรากฐานของการมีเสรีภาพและการยอมรับความเป็นคนเท่ากัน”

เช่น ค้านท์ (Immanuel Kant) ถือว่า ศีลธรรมไม่ใช่การทำตามอิทธิพลความเชื่อทางศาสนา อำนาจรัฐ ประเพณี หรือครอบครัว เพราะถ้าเราเป็นเพียงผู้ทำตามความเชื่อหรือกฎต่างๆ ที่ถูกกำหนดให้ต้องทำตาม เราก็ไม่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต่างจากวัตถุ เราจะสามารถเป็นคนมีศีลธรรมได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเสรีภาพในการใช้เหตุผลตัดสินถูก ผิดได้ด้วยตนเอง สร้างกฎศีลธรรมสำหรับตัวเองได้ และกำหนดตัวเองให้ทำตามกฎศีลธรรมที่สร้างขึ้นนั้นได้ โดยกฎศีลธรรมใดๆที่เราสร้างขึ้นต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพความเสมอภาคของมนุษย์

ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) มองว่าศีลธรรมคือการทำเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ แต่การคำนึงถึงประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ต้องอยู่บนฐานของการยอมรับความเสมอภาคของมนุษย์ และเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก เสรีภาพในการกระทำหรือรสนิยมในการใช้ชีวิตตามความแตกต่างของบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของสังคมที่มีความสุข นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจริยศาสตร์อื่นๆ ที่นิยามความดีและเหตุผลสนับสนุนหลากหลาย แปลว่าเนื้อหาและข้อถกเถียงเกี่ยวกับความหมายของความดีที่หลากหลายมันกระตุ้นให้เกิดการคิด การอภิปรายถกเถียง ไม่จำเป็นต้องเชื่อ ชวนให้ผู้เรียนเถียงและคิดอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองมากกว่า

คนที่เรียนจริยศาสตร์ย่อมจะถูกฝึกฝนให้คิดได้ด้วยตนเองว่า เราแต่ละคนจะมีศีลธรรมได้เราต้องต้องมีเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง และยอมรับความเป็นคนเท่ากันก่อน การเป็นคนดีมีศีลธรรมของเราก็คือการกระทำสิ่งต่างๆ ที่ส่งเสริมค่านิยม วัฒนธรรม หลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพความเท่าเทียมและเสรีภาพด้านต่างๆ

ปัญหาของสังคมเราคือ ขณะที่เราต่างอ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตยกันทุกฝ่าย หรืออ้างว่ากำลังปฏิรูปประชาธิปไตย แต่เรากลับรณรงค์ปลูกฝังศีลธรรมที่กล่อมเกลาจิตสำนึกประชาชนให้เชื่อในมายาคติ “คนไม่เท่ากัน” จึงยากที่เราจะสื่อสารความหมายของ “ประชาธิปไตย” ให้เข้าใจตรงกันได้ เพราะระบบการศึกษาบ้านเราให้ความเข้าใจกระท่อนกระแท่นในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม เนื่องจากเราเน้นการปลูกฝังศีลธรรมแบบจงรักภักดีและกตัญญูต่อชนชั้นปกครองเป็นด้านหลัก

และเรามักพูดกันเสมอว่า การศึกษาต้องสอนให้คน “คิดเป็น” แต่การคิดเป็นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนไม่มีเสรีภาพที่จะคิดต่าง ในสังคมที่คนคิดเรื่องถูก ผิด ดี ชั่วภายใต้กรอบศีลธรรมมิติเดียว เขาย่อมมองคนคิดต่างเป็นเพียง “ขยะมนุษย์”

แต่หากเด็กมัธยมปลายได้เรียนวิชาจริยศาสตร์ที่เปิดมุมมองให้เห็นความหมายของศีลธรรม ความดีที่หลากหลาย เขาย่อมมีจิตใจที่เปิดกว้าง เคารพสิทธิที่จะคิดต่างเห็นต่างของคนอื่นๆ ในโลกสมัยใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับพหุวัฒนธรรม

 

หมายเหตุ:ปรับปรุงโดยตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาจากบทความชื่อ “เรียนจริยศาสตร์ระดับมัธยมปลาย” เผยแพร่ใน “โลกวันนี้วันสุข” (23-29 พฤษภาคม 2558)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายการ Soundtrack of Life : ตอนแรก ‘เพลงที่ดิน’

0
0

รายการ ‘Soundtrack of Life’ ตอนแรก ‘เพลงที่ดิน’ เป็นตอนที่นำเสนอเพลงที่พูดถึงแผ่นดินหรือที่ดินในมุมมองต่างๆ โดยยกเอา 3 บทเพลงมานำเสนอ ประกอบด้วย เพลงแผ่นดิน ของวงคาราบาว ในอัลบั้ม อเมริโกย วางจำหน่อยในปี 2528 ภายหลังเพลงนี้ถูกนำใช้ในสปอตโฆษณา โครงการคุณธรรมนำไทยโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หรือคณะรัฐประหารปี 2549

เพลงที่ 2 ที่นำเสนอเป็นเพลงเป็นเพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ แต่งคำร้องและทำนอง โดย เอ้ นิติ'กุล เป็นบทเพลงเพื่อร่วมรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนไทยเท่ากัน ‘พลิกฟื้นผืนดินไทย’ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม ร่างพ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และ ร่างพ.ร.บ. สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน (ดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ 4laws.info)  

ส่วนเพลงสุดท้ายคือเพลง ‘กฎหมายไม่เคยถามถึงความจน’ ของวง ลำนำ จากการลงพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ป่าสงวน ดงมูล อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการ 'triple H music' หรือโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้

ดีเจเดน และ ปลา

สำหรับรายการ ‘Soundtrack of Life’ เป็นรายการแนะนำเพลงต่างๆ ที่มีเนื้อหาสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน พร้อมเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดย ‘ดีเจเดน’ หรือ เฉื่อย รัชพงศ์ โอชาพงศ์ หัวหน้าโครงการ Triple H Music และนักแต่งเพลงที่มีประสบการณ์มากว่า 10 ปี และ ‘ปลา’ มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไท ผู้มีประสบการณ์ทำข่าวภาคประชาชน การเมืองและกระบวนการยุติธรรมมากว่า 10 ปี เช่นกัน

โดยในตอน ‘เพลงที่ดิน’ นี้ ดีเจเดน กล่าวถึงเพลง ‘แผ่นดิน’ ด้วยว่า เพลงนี้เมื่อถูกนำมาเปิดในปี 2550 ทำให้คนซาบซึ้ง ดูแล้วทำให้รู้สึกว่าคนไทยต้องรักกัน สามัคคีกัน เพื่อที่จะได้ทำเพื่อแผ่นดินเกิดขอบเรา

ดีเจเดน กล่าวถึงนิยามที่ดิน อีกแบบที่หมายถึงความมั่นคงของชีวิต และมีการรณรงค์เรื่องกฎหมาย 4 ฉบับ และทำเพลงขึ้นมาเพื่อใช้ในการรณรงค์ ซึ่งใช้นิยามที่ดินที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ชื่อเพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ รวมทั้งแสดงข้อมูลความเหลื่อมล้ำในการครอบครองที่ดินในประเทศไทย ที่คนไทยทั้งประเทศมีผู้ถือครองโฉนดที่ดิน 15 ล้านราย โดยใน 15 ล้านราย มีคนเพียง 20% ที่ถือครองพื้นที่ที่ดินถึง 80%

ดีเจเดน เสริมด้วยว่า เพลง ‘เปลี่ยนแปลงดีไหม’ นั้น แต่งโดย เอ้ นิติ'กุล หรือ นิติธร ทองธีรกุล เป็นคนที่ที่แต่งเพลงรณรงค์ของภาคประชาชนหลายเพลง

ปลา แสดงความเห็นด้วยว่า มิวสิควีดีโอนี้เป็นการรณรงค์ที่น่าสนใจ เพราะก่อนหน้าที่ภาคประชาชนมักไม่ใช้การรณรงค์ผ่านมิวสิควีดีโอที่เป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน การรณรงค์เรื่องกฎหมาย 4 ฉบับนั้น เป็นผลมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยทางแก้ผ่านการนำเสนอกฎหมาย ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการกระจายการถือครองที่ดิน

โดยที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่ใช้พื้นที่ทำกิน เช่น จากปัญหาการประกาศพื้นที่อุทยานทับพื้นที่ทำกิจของประชาชน ดีเจเดน ได้แนะนำเพลงของวงลำนำ ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาจากโครงการ Triple H Music ได้ลงไปในพื้นที่ที่มีปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน แล้วนำปัญหาเหล่านั้นมาแต่เป็นเพลงชื่อ ‘กฎหมายไม่เคยถามถึงความจน’

“เขาให้ย้ายที่ไป ไม่ได้ปลูกข้าวก็ไปปลูกอย่างอื่นสิ คือมันไม่ง่าย โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับที่ดินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันมาก บางพื้นที่เขาปลูกข้าวได้ เขาอยู่แล้วเขาก็มีองค์ความรู้ด้านการปลูกข้าว กว่าจะให้เขาปรับตัวไปปลูกยางพาราได้มันใช้ระยะเวลา และไอ้ระยะเวลาที่เสียไปนี่ มันหมายถึงเงินและค่าใช้จ่ายในชีวิตเขาที่ต้องเสียไปด้วย” ดีเจเดน กล่าว

ปลา กล่าวเสริมด้วยว่า รวมไปถึงความชอบธรรมด้วยว่าชาวบ้านเขาอยู่ก่อนหรือการประกาศพื้นที่อนุรักษ์สีเขียวมาก่อน อะไรมาก่อนมาหลังก็เป็นอีกประเด็นที่มีการถกเถียงขัดแย้งกันในหลายพื้นที่

ปลา กล่าวด้วยว่าแม้ประเด็นความขัดแย้งเรื่องที่ดินจะเป็นปัญหามานานแล้ว แต่ในยักหลังรัฐประหาร ปัญหาเหล่านี้ยิ่งร้อนแรงขึ้นมา โดยการใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปกดดันชาวบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ๆมีปัญหาเหล่านี้ โดย ปลา ได้ยกข้อมูลอินโฟกราฟฟิคที่รวบรวมหลังรัฐประหารถึงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม รวบรวมสถานการณ์ : เมื่อทหารคืน ‘ความสุข’ ให้ชุมชน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'ประยุทธ์' ชี้ รธน.ต้องรักษาดุลอำนาจ 3 ฝ่าย ไม่สร้างความขัดแย้ง

0
0
รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' หวังผลการประชุมช่วยแก้ไขปัญหารการอพยพของชาวโรฮิงญา พร้อมให้ กห.จัดตั้งฐานปฏิบัติการทางน้ำเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ระบุรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องรักษาสมดุลอำนาจ 3 ฝ่าย ไม่ก่อให้เกิคความขัดแย้ง พร้อมส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกซีเกมส์

 
 
29 พ.ค. 2558 เว็บไซต์ Thai PBSรายงานว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.กล่าวใน "รายการคืนความสุขให้คนในชาติ" ประจำวันที่ 29 พ.ค.2558 โดยมีเนื้อหาว่า รัฐบาลยังคงเร่งแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา และหวังว่าผลของการประชุมจะช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ซึ่งจะชี้แจงผลการประชุมในโอกาสต่อไป นอกจากนี้ได้สั่งตั้งฐานปฏิบัติการทางน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพแล้ว พร้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องรักษาสมดุลอำนาจ 3 ฝ่าย และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในอนาคต พร้อมส่งกำลังใจให้ทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกซีเกมส์
 
ในวันที่ 1 มิถุนายนที่กำลังจะมาถึงเป็น “วันวิสาขบูชา” ซึ่งเป็นวันสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน โดยองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก จึงนับว่ามีความสำคัญกับพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทั้งนี้ถือเป็นอันโอกาสดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมกิจกรรมสืบทอดพระพุทธศาสนา น้อมรำลึกถึงพระพุทธองค์ และนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  ร่วมประดับธงชาติและธงธรรมจักร เพื่อแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เข้าวัด ทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ลด ละ เลิกอบายมุข ทำความดีถวายเป็นพุทธบูชา และน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยพร้อมเพรียงกันนะครับ รัฐบาลจะร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด คณะสงฆ์ และองค์กรเครือข่ายชุมชนคุณธรรม “บวร” บ้าน-วัด-โรงเรียน ได้เตรียมการจัดกิจกรรมทางศาสนาทั้งในส่วนกลาง ณ ท้องสนามหลวง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด ทั่วประเทศเพื่อให้พี่น้องประชาชนทั่วไปได้ร่วมงานนะครับนอกจากจะเสริมสร้างสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมมะอีกด้วยครับ
 
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานหลายงานนะครับ ทำให้มีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และรับฟังปัญหาจากตัวแทนภาคประชาชนในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มตัวแทนหอการค้าจากทั่วประเทศ รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ผมได้พบส่วนใหญ่นั้นให้ความสนใจ เข้าใจ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในส่วนของการวางรากฐาน ในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปเพื่ออนาคตของเขาเองนะครับ ผมก็ได้ขอบคุณขอให้ทุกคนช่วยกันกลับไปสื่อสารและสานทำความเข้าใจ และช่วยสานต่อสิ่งที่ผมได้พูด ได้ทำไปแล้วในขณะนี้ซึ่งบางอย่างนั้นอาจจะยังไม่เสร็จเรียบร้อยนะครับ บางอย่างก็เสร็จไปแล้วบางอย่างกำลังเตรียมการจะกระทำอยู่ ถ้าเข้าใจกันวันนี้ ก็เดินหน้าไปได้ด้วยดีนะครับลดความขัดแย้ง นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนั้น ตอนนี้ออกไปมากมาย นะครับ ก็ผมอยากให้ไปถึงชุมชนและถึงคนทุกระดับ ทุกพื้นที่นะครับ ได้ทำความเข้าใจ เพราะเราจำเป็นต้องเดินหน้าไปด้วยกันนะครับ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจแล้วก็พื้นฐาน ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้แล้วว่า ทุกอย่างจะพัฒนาไปได้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ เราต้องมีความรู้และคุณธรรมนะครับ 


ย้ำรัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยก-ขอทุกฝ่ายร่วมปฏิรูปประเทศ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังกังวลอยู่ก็คือเรื่องการเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยนะครับ ผมก็ได้พูดไปหลายครั้งแล้ว วันนี้ก็อยากเอาส่วนหนึ่งของการบรรยายพิเศษของศาสตราจารย์ มิเชล โทเปอร์ จากมหาวิทยาลัยปารีสที่ 10 ของฝรั่งเศสที่ได้มาบรรยายที่บ้านเราและให้ข้อคิดที่ว่า การรัฐประหารนั้นก็อาจไม่ใช่การทำลายประชาธิปไตยเสมอไป เพราะบางครั้งการรัฐประหารในหลายประเทศ ก็เป็นการทำเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคตนะครับ ผมไม่ได้หมายความว่า ดี หรือ ไม่ดีนะครับเข้าใจผมด้วย เพราะหลายประเทศก็ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาเกือบทั้งสิ้นนะครับ อยากให้คนไทยทุกคนตระหนักว่าที่ผ่านมา 10 กว่าปีนั้น ประเทศไทยมีปัญหามาโดยตลอด ประชาชนแตกแยก ไม่มีความสุข รัฐบาลทุกรัฐบาลพร้อมที่จะใช้กำลังเพื่อจะให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ยุติทั้งด้วยกฎหมาย ด้วยการคลี่คลายสถานการณ์นะครับ แต่มันก็ไม่ยุติ ประเทศไทยของเรานั้นต้องหยุดอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน เพื่อนบ้านรอบบ้านต่างเร่งเดินหน้าพัฒนาประเทศกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในเร็ววันนี้นะครับ ปลายปีนี้ ถ้าปล่อยไว้โดยเราไม่ทำอะไรเลย ประเทศก็พังพินาศ เสียหายนะครับ ลูกหลานเราก็ไม่มีอนาคต สำหรับผู้ที่ถูกเลือกเข้ามาในการบริหารประเทศนั้น ก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้นะครับ อย่าให้คนไทยต้องหันมาต่อสู้ทำร้ายกันเองอีก สังคมแตกแยกขาดความเป็นระเบียบ กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ด้อยโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ประเทศชาติอ่อนแอ

รัฐบาลนี้เข้ามาตอนที่ประเทศไทยเป็นแบบนั้นจริงๆนะครับ กำลังจะไปไม่รอดอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาแล้วนี่ผมต้องการให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมๆ นะครับ แล้วก็เดินหน้าต่อเรามีศักยภาพอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้ใช้ศักยภาพเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่นะครับ ผมต้องการให้คนไทยมีศักดิ์ศรี มีอนาคต ผมไม่เคยคิดว่าทุกอย่างจะง่าย แต่ก็เชื่อว่าถ้าทุกคนร่วมมือกัน มองข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วก็ยอมรับว่าประเทศชาติเราต้องปฏิรูปนะครับ หันมามองผลประโยชน์ส่วนรวม ลดอัตตาตัวเองลงไป ผมคิดว่าเราทำได้ครับทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนทุกคน การที่ คสช. และรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้เราน่าจะสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศไทยของเราเพื่อเตรียมไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ในอนาคตนะครับ จะได้หรือไม่ได้อยู่ที่พวกเราทุกคนนะครับ แล้วผมอยากจะกราบเรียนว่าคงไม่ใช่เฉพาะพวกเราการวางอนาคตเหล่านั้นเป็นการวางอนาคตให้กับคนรุ่นหลังของเราลูกหลาน ผมอยากจะใช้คำว่าคนไทยที่ยังไม่ได้เกิดมาก็มีอีกเยอะแยะนะครับ วันหน้าก็มีเกิดมาเพิ่มเติมเราต้องวางพื้นฐานให้เขาตรงนั้นด้วย ไม่ใช่วันนี้เราใช้ทุกอย่างสิ้นเปลือง ทรัพยากรก็หมดไปนะครับ ความเข้มแข็งก็ไม่มี วันหน้าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนครับ แล้วเขาเกิดมาต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างไร คิดอย่างนั้นนะครับ ทุกคนที่จะเข้ามาสู่การเมือง หรือคนที่จะเป็นข้าราชการคงต้องคิดแบบที่ผมคิดนี่ ถึงจะแก้ปัญหาสำเร็จนะครับ 

ปัญหาที่สะสมมายาวนานก็ต้องช่วยกันแก้นะครับ อย่าโยนภาระให้กับรัฐบาล ให้ คสช. ใช้อำนาจอย่างเดียวมันไปไม่สำเร็จหรอกครับ วันหน้าก็เกิดขึ้นมาใหม่ อยู่ที่การร่วมแรงร่วมใจของทุกคนนะครับ ความสมัครใจ การที่จะปรองดองกันนะครับ เรื่องกฎหมายก็คือกฎหมาย คนละเรื่องกันนะครับ ปรองดองก็คือปรองดองกันให้ได้ก่อน แล้วจะต้องไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกนะครับ ในสถานการณ์ต่อจากนี้ไป

เร่งแก้โรฮิงญา พร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม

เรื่องสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วยความเร่งด่วนนะครับ ก็เรื่องชาวโรฮิงญานะครับ รัฐบาลไทยได้มีความชัดเจนในการกำหนดความช่วยเหลือชาวโรฮนจาตามหลักมนุษยธรรมนะครับ ประเทศไทย คนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจนะครับ เราได้ให้การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มิตรประเทศมาโดยตลอด ปัจจุบันก็ยังทำอยู่นะครับตามแนวชายแดน และรวมทั้งเหตุการณ์ซึนามิในญี่ปุ่น อุทกภัยในประเทศอินเดีย หรือล่าสุดประเทศที่เนปาล เราก็เป็นประเทศแรก ๆ นะครับ ที่เข้าไปช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าเราจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็พร้อมและยินดีที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือมิตรของเราในยามลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์นะครับ คุณค่าความเป็นมนุษย์นะครับ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราก็ช่วงตามขีดความสามารถของเรา สำหรับปัญหาชาวโรฮิงญาก็เช่นกัน ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกประเทศองค์กรระหว่างประเทศต้องช่วยกันในการดูแลมนุษยชาติ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่จำเป็นต้องกำหนดหลักการช่วยเหลือให้ชัดเจน ทั้งในเรื่องของการดูแลรักษาพยาบาล น้ำ อาหาร และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ปลอดภัยนะครับ ไปประเทศปลายทางตามความสมัครใจนะครับ ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นเพียง “ทางผ่าน” ไม่ใช่ประเทศเป้าหมายของชาวโรฮิงญา

ผมได้สั่งการให้ กระทรวงกลาโหม จัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้กับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย” มีหน้าที่ในการลาดตระเวน ทั้งทางบก – ทะเล ทางอากาศ โดยความร่วมมือทั้งทหารเรือ ทหารอากาศ โดยทหารอากาศเป็นผู้ควบคุม  ได้มีการจัดตั้งฐานปฏิบัติการลอยน้ำ เพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติด้วยนะครับ ตามหลักสากลก็ขึ้นอยู่กับกองทัพเรือนะครับ และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

หวังประชุมแก้ปัญหาโรฮิงญาช่วยแก้ปัญหาได้

วันนี้กระทรวงการต่างประเทศก็ได้จัดการประชุมว่าด้วย “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” เพื่อเป็นเวทีให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องนะครับ ได้หารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดความยั่งยืนนะครับ ก็มี 16 ประเทศเข้าร่วม อาทิเช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และบังกลาเทศ รวมทั้งประเทศผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ และผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนี้ ก็เร่งผลักดันในประเด็นที่ต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทางนะครับ ใช้หลักการร่วมแบ่งปันระหว่างประเทศ หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศต้นทางและกับประเทศปลายทาง รวมทั้งประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ด้วย

สำหรับผลการประชุมกระทรวงต่างประเทศนั้น ผมจะเสนอให้ทราบในโอกาสต่อไปครับ ผมคิดว่าคงได้คำตอบในทุกประเด็นนะครับ ต้องการให้เกิดการปฏิบัติให้ได้ หลังจากการประชุมไปแล้ว ระยะกลางจะทำยังไง ระยะยาวจะทำยังไงนะครับ ระยะแรกต้องร่วมมือกันตรงไหน งบประมาณใช้จากที่ไหนนะครับ แล้วใครจะเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติ หรือแต่ละปฏิบัติ จะแยกกันเอง ก็ต้องไปหาคำตอบกันในที่ประชุมนะครับ ผมได้สั่งการลงรายละเอียดไปแล้วนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับในที่ประชุมจะมีมติว่าอย่างไรนะครับ เราไปบังคับใครมากก็ไม่ได้อยู่แล้วนะครับ เป็นสิทธิของแต่ละประเทศ แล้วเราเป็นอาเซียนด้วยกัน ก็ไม่อยากให้เสนอข่าวเรืองต่างๆที่เป็นความขัดแย้ง จะทำให้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันในอาเซียนนั้นที่กำลังดีอยู่ ที่กำลังเข้มแข็งอยู่นั้นต้องเสียหายไปนะครับ ปัญหามีทุกประเทศนั่นแหละ ถ้าเราร่วมมือกันทำ ร่วมมือกันแก้ ก็ได้นะครับ แล้วก็ไม่ไปโทษกันไปกันมานะครับ เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรืองของมนุษย์นะครับ ชีวิตทุกคนมีค่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ศาสนาใดก็ตามนะครับเขามีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ทั้งสิ้นนะครับ

ในเรื่อง IUU นั้นรัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย” ศปมผ. ซึ่งเป็นศูนย์เฉพาะกิจขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานั้นหน่วยงานต่างๆ ของรัฐได้เร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้กำหนดให้ศูนย์อำนวยการการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ศรชล. นะครับ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กรมประมง และกรมเจ้าท่า ในการจัดทำแผนการตรวจตราการประมงระดับชาติ (National Inspection Plan) สำหรับการดำเนินงานวางระบบในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมงภายในประเทศ ปัจจุบันมีการออก พ.ร.บ. การประมง พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ IUU นะครับ ที่เข้ามาเพื่อจะมาดูการปฏิบัติของเราในช่วงเร็วๆนี้นะครับ เราจำเป็นที่จะต้องทำให้สามารถดำเนินการกับการจัดการทรัพยากรประมง ให้ได้ รวมทั้งจะต้องมีการเร่งพิจารณากฎหมายลูกอีกไม่น้อยกว่า 17 ฉบับนะครับ สำหรับการปรับปรุงภายนอกประเทศ คือ ต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเป็นไปตามหลักวิชาการด้านการประมงนะครับ

ขอบคุณอินโดฯช่วยลูกเรือประมงไทย

สำหรับเรื่องแรงงานประมงนั้น เราไม่ได้นิ่งนอนใจเลยนะครับ การช่วยเหลือเพื่อส่งตัวลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างอยู่ที่เกาะอำบน และเกาะอื่น ๆ ด้วย ในอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 - 25 พฤษภาคม 2558 กระทรวงการต่างประเทศโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา และกรมการกงสุล ได้ดำเนินการส่งตัวลูกเรือประมงกลับไทยแล้ว ทั้งสิ้น 618 คน ล่าสุดเป็นลูกเรือจากเกาะ เบนจินาจำนวน 29 คน ที่ได้เดินทางกลับไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ตามด้วยลูกเรือจากเกาะเบนจินา 29 คน เกาะตาเร็มปา 5 คน และเกาะอำบนอีก 5 คน ในวันที่ 26 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันนั้น มีลูกเรือจากเกาะอำบนที่ได้ดำเนินการออกหนังสือรับรองสัญชาติ (Certificate of Identity – C.I.) และอยู่ระหว่างการรอส่งกลับอีก 80 คน และจากเกาะเบนจินาอีก 327 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างรอการสอบสวน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานฝ่ายอินโดนีเซียขอให้ลดขั้นตอนการพิจารณาเพื่อที่จะส่งลูกเรือเหล่านี้กลับได้ในโอกาสแรกนะครับ

รัฐบาลขอขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซียและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนนะครับ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ได้พยายามร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลายาวนานเหล่านี้ด้วยนะครับ ก็ต้องคัดแยกให้ดี ว่าอันไหนเป็นเหยื่อ อันไหนเป็นค้ามนุษย์นะครับ อันไหนเกี่ยวข้องกระบวนการและอันไหนเป็นสัญชาติของไทยก็ต้องพิสูจน์สัญชาติให้เรียบร้อย แล้วก็ส่งกลับไปนะครับ มาตรการทั้งกฎหมาย และวิธีการปฏิบัติ และมาตรการในการดูแลเหยื่อนะครับทั้งหมดจะต้องครบถ้าวน ตามข้อบังคับ หรือกติกาของประชาคมโลกนะครับ   ผมเชื่อว่าประเทศไทยนั้น มีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เราทุกคนก็ต้องช่วยกันทำให้ทุกคนเป็นคนดี ลงโทษคนไม่ดีอย่างเป็นธรรมด้วยกระบวนการยุติธรรม อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลานเราเห็น ประเทศเราจะได้ก้าวหน้าพัฒนาต่อไป ลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ ประชาชน ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายนะครับ

ส่งออกขยายตัวเล็กน้อย

เรื่องเศรษฐกิจ ในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศนั้น ทุกคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังคงพึ่งพาการหารายได้จากภาคการส่งออกอยู่มากนะครับ ซึ่งการส่งออกของบ้านเรานั้น ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญนะครับ  โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปและเอเชีย เช่น จีน ที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว  อย่างไรก็ตาม  ผมได้รับรายงานสถานการณ์การส่งออกล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์นะครับ ว่าการส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น โดยในเดือน เมษายน 2558  มูลค่าการส่งออกหากไม่นับรวมในส่วนของน้ำมันและทองคำ พบว่า มีการขยายตัว เป็นบวกที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว   

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น  สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบัน IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  โดยในปี 2558 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 30 จากจำนวน 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ลดลง 1 อันดับ จากปี 2557 เนื่องจากผลการประเมินด้าน “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีการพิจารณาจากการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งเศรษฐกิจของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอยู่นะครับ เราต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างนวัตกรรม แล้วก็ดูแลธุรกิจ SMEs ให้ได้นะครับ SMEs ที่อยู่ในภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านอื่นๆ อาทิ การประเมินในด้าน “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” มีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งด้านการเงินภาครัฐ  จากอันดับที่ 19 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 14 ในปัจจุบันนะครับ ด้านกรอบการบริหารภาครัฐ จาก อันดับที่ 39 เป็นอันดับที่ 34 และกรอบดำเนินการด้านสังคม จากอันดับที่ 55 เป็นอันดับที่ 45 รวมไปถึง การประเมินด้าน “โครงสร้างพื้นฐาน” ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน จากอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 46 คิดว่าน่าจะดีขึ้นต่อไปนะครับ เพราะว่าเราก็มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากพอสมควรนะครับ แต่เป็นระยะยาวนะครับ 

ภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่นะครับ ในการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ   ทั้งในเรื่องของโลจิสติกส์ การขนส่งคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค  การเปิดตลาดใหม่หาช่องทางการจัดจำหน่าย ขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ เหล่านี้จะต้องดำเนินไปควบคู่กันกับการพัฒนาของผู้ประกอบการในประเทศด้วย ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับในเรื่องของคุณภาพสินค้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ  ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการปฏิบัตตามนโยบายในเรื่องของการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย  SME นะครับ เช่นพี่จูงน้อง เพื่อนจูงพื่อน อะไรก็แล้วแต่ ดูแลผู้ค้ารายย่อย ดูแลเกษตรกรภาคการผลิตนำไปสู่กระบวนการเพื่อจะแปรรูป และนำขายเพื่อให้ราคาสูงขึ้นนะครับ ต้องเอาประชาชน เอาเกษตรกรมาอยู่ในห่วงโซ่ตัวนี้ด้วย เพราะจะทำให้เกิดกระบวนการต่างๆ ขึ้นมาแล้วก็จะดูแลซึ่งกันและกัน จะได้ไม่ไปพึงธุรกิจสีเทานะครับ ค้าขายผิดกฎหมายหรือที่ทำในเรื่องไม่ถูกต้อง ขายของผิดที่ หรือกิจการใดๆ ที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น ที่ผ่านมาเหล่านี้ทำให้เกิดเงินเป็นจำนวนมาก ในระดับล่างนะครับ ที่ประชาชนมีการใช้จ่ายวันนี้ เมื่อตรงนี้หายไป เงินตรงนี้หายไปนะครับ เป็นจำนวนมากพอสมควร คนเดือดร้อนแน่นอน คนที่เคยใช้จากตรงนี้ ที่เป็นห่วงโซ่ แล้วเราจะยอมให้ห่วงโซ่เหล่านี้ เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่ มันทำให้เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ กับการที่ทำผิดกฎหมายแล้วคนกลุ่มหนึ่งได้ผลประโยชน์ แต่ที่เหลือไม่ได้ เกิดความขัดแย้งนะครับ แล้วก็ทำให้เสื่อมเสียต่อประเทศโดยรวมนะครับ ชื่อเสียงประเทศก็เสียหาย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ไม่มี คนมาเที่ยว ท่องเที่ยว ก็ไม่เกิด ไม่ชื่นชม วันนี้การท่องเที่ยวมากเหลือเกินนะครับ คาดว่าน่าจะเกิด 2.3 ล้านคนในปีนี้นะครับ จากการที่รัฐบาลได้ปรับนโยบายเรื่อการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวหลายๆคลัสเตอร์ นะครับ แล้วก็มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย แล้วมีการจัดการท่องเที่ยวทั้งปี มีหลายๆ เซ็กเตอร์ด้วยกัน วันนี้เราจะต้องพัฒนาทุกอย่างให้เกิดเป็นกระบวนการให้ได้นะครับ ทุกอย่างที่มีการผลิตนั้นจะต้องรองรับทั้ง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนในการผลิต  และ ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ที่ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ   หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเช่นนี้แล้ว ผมว่า เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนนะครับ  ก็อย่าไปฟังบางคนออกมาพูดโน่นพูดนี่ ทุกวันไปนะครับ ทั้งๆที่ก็เคยเป็นรัฐบาลมาแล้วแต่วันนี้ไม่เข้าใจอีกนะครับ ก็แสดงว่าความรู้พื้นฐานไม่มีนะ ก็มาตำหนิติเตียนเรื่องโน้นเรื่องนี้ มาโทษรัฐบาลนี้นะครับ ความเข้มแข็ง มันไม่เกิด มันไม่มี มันไม่สร้างห่วงโซ่กันไว้ ช่องว่างคนรวยคนจนก็ห่างกันมาก คนจนก็ยิ่งจนลง คนรวยก็รวยขึ้นไป การทุจริตผิดกฎหมายก็มี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องแก้ไขทั้งหมดนะครับ แล้วเราในระหว่างนี้ก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ คือเศรษฐกิจอาจจะ เงินหมุนเวียนหายไป มันขาดไป รัฐบาลก็ไม่สามารถจะเอาเงินไปให้ได้ นอกจากสร้างความเข้มแข็งแล้วทุกคนก็เข้ามาอยู่ในห่วงโซ่ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกัน คนรวยช่วยคนจนนะครับ ก็จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ อย่ามัวแต่ตำหนิติติง 

ท่านทุกคนต้องรักชาตินะครับ รักประเทศ วิธีการในการแก้ปัญหาเราก็ฟังจากทุกที่ ทุกพวกทุกฝ่ายนะครับ ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ด้วย ทั้งจากประชาชน ทั้งจากนักวิชาการ ผมคิดว่าเราทำหมดแล้วนะครับ ปัญหาก็คือเราควบคุมปัจจัยภายนอกไม่ได้ แล้วก็ปัจจัยภายในของเราก็ยังไม่พร้อมเพียงพอต้องใช้เวลาอีก ระยะหนึ่งนะครับในการลดต้อนทุนการผลิตถ้าราคาสินค้านี่ มันสูงขึ้นสูงขึ้น ไปเรื่อยๆ มันก็ โอเค ไม่เป็นไร ค่าแรงก็สูงตามไปให้ได้ แต่ถ้าราคาสินค้าลดลงไปเรื่อยๆ แล้วค่าแรงยังสูงอยู่ หรือจะสูงต่อไปอีกมันจะทำยังไง มันก็ยิ่งขายไม่ได้กว่าเดิมใช่ไหมครับ ต้นทุนผลิตแล้วมันแพงกว่าปกติ แพงกว่าเพื่อนบ้าน 2 อย่าง บวกเข้าไป ต้นทุนการผลิตแพงนะครับ ปลูกข้าวก็แพง สองก็คืออะไร สองก็ต้องไปบวกกับค่าแรง ถ้าสมมติเป็นใช้แรงงาน โรงงานต่างๆ ค่าแรงก็บวกเข้าไปอีก ต้นทุนก็แพง ค่าแรงก็แพง ราคาขายก็ตก แล้วจะทำยังไง นี่มันต้องมามองทั้งระบบนะครับ อย่าไปมองทางใดทางหนึ่ง แล้วก็แก้ปัญหาผิดวิธีมาตลอดนะครับ บิดเบือนราคา บิดเบือนระบบการเงินการคลัง ของประเทศไม่ได้นะครับ อย่ามองข้ามความสำคัญ ของความคิดเห็นอื่นๆ ของโลก เช่น GNH index หรือดัชนีความสุขอันนี้ก็เป็นตัวกำหนดเหมือนกันนะครับ  ว่าในโลกนี้ ความสุขจะอยู่ที่ไหนกัน ประเทศไหนมีความสุขมากความสุขน้อย ประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีควาสุขมากนะครับ ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีสตางค์มากนัก เรายังยากจนอยู่นะ เราต้องอยู่ด้วยความพอเพียงนะครับ ลูกหลานก็อย่ารบกวนพ่อแม่มากนัก ต้องมีสติของตัวเองว่า เอ๊ะ เรามีแค่นี้นะ พ่อแม่เราลำบาก พ่อแม่เราเป็นเกษตรกร พ่อแม่เรามีรายได้จากรับจ้าง เราก็อย่าไปใช้ของแพงนะ พ่อแม่ให้เราเรียนหนังสือ อันนี้ถือว่าเป็นทรัพย์สมบัติที่ให้กับเราแล้วนะครับ เป็นมรดกของพ่อแม่เราแล้ว อย่าไปหัวว่าเออจะต้องรอได้รับเงินโน่น เงินนี่ พ่อแม่จะต้องมีของยกให้นะ วันหน้าต่อไป ทุกคนก็เลยไปขวนขวายหาเงินหาทองกันหมด เพื่อจะดูแลลูกหลานนะครับ เราต้องย้อนกลับไปดูสมัยที่ผ่านมานี่ เราทุกคนนี่ ผู้ใหญ่วันนี้ ก็ลำบากมาทั้งสิ้นนะครับ กว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กว่าจะร่ำรวยขนาดนี้ก็เสี่ยงหลายๆ อย่างมา มีมาตรการต่างๆที่จะ ปรับตัวให้ตามกระแสโลกมา ก็มีความเสี่ยงที่จะล้มละลาย มีความเสี่ยงที่จะขาดทุนเยอะแยะไป แต่วันนี้เมื่อสำเร็จแล้ว เราก็ต้องดูแลคนข้างหลังนะครับ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการของผมคือ ประชานทุกคนมีสิทธิ มีเสียงในประเทศไทยนะครับ แต่ต้องหาช่องทางที่ถูกต้องนะครับ ว่าจะพูดกันยังไง    

ในเรื่องของพลังงานไฟฟ้า นี่เป็นประเด็นสำคัญนะครับ เป็นประเด็นของพลังงานที่เรากำลังมีปัญหาอยู่ขณะนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยตอนนี้ก็ยังสร้างไม่ได้นะครับ มีความขัดแย้งมาก แต่ผมอยากจะเรียนว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินนั้นเป็นโรงไฟฟ้าที่ถูกที่สุดนะครับในการลงทุน ในเรื่องของวัสดุที่จะใช้นะครับคือถ่านหินเพียงแต่ว่าเราต้องหาเทคโนโลยีโรงงานที่ทันสมัย ที่ขจัดสิ่งที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมนะครับแล้วก็ดูแล เยียวยาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ไม่ทำให้ดิน ให้น้ำเสียหายนะครับ การปลูกพืช การอุปโภค บริโภค อะไรก็แล้วแต่ วันนี้เขาทำได้แล้ว เทคโนโลยีสมัยปัจจุบัน ผมอยากให้ดูตัวอย่างวันก่อนผมเห็นในทีวีช่องหนึ่งนะ เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศลาว เพิ่งสร้างเสร็จนะครับ แล้วก็คนไทยด้วยซ้ำไป ไปสร้างนะ ก็เริ่มมีการผลิตแล้วนะครับ แล้วก็ตามข้อตกลง เขาต้องขายพลังงานไฟฟ้าส่วนนี้กลับมาประเทศไทยได้อีก นี้ไงครับ เราก็จำเป็นต้องซื้อเขา เพราะว่าแหล่งผลิตในประเทศไทย ลดลงๆ ไปเรื่อยๆ พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน มันก็ยังไม่ทันการนะครับ มันต้องตามต่อไปด้วยอะไร ด้วยสายส่งเข้าไปอีกนะ การบำรุงสายส่งนี่เป็นหมื่นๆ ล้านนะครับ เป็นแสนล้าน ในการที่จะเดินสายส่งแต่ละเส้น แต่ละช่วงไปนี่ มันไม่ใช่ง่ายๆ วันนี้ที่มีสายส่งวันนี้ กี่สิบปีมาแล้วล่ะนะ ก็ได้แค่นี้ ก็ยังไปไม่ทั่วถึง เพราะทุกคนหวังจะขายเข้าระบบสายส่งยังเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดนะครับ

แล้วก็การผลิตแบ็ตเตอรี่อะไรต่างๆ ในเรื่องของการเก็บพลังงานไฟฟ้าทดแทน เราก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอนะ ครับ ต้องซื้อทั้งหมด ต้นทุนการผลิตก็แพง ก็สูง การขจัดวัสดุที่ใช้แล้วจากแผงโซล่าเซล ที่หมดอายุแล้ว อะไรเหล่านี้ เป็นขยะทางอิเล็กทรอนิกส์นะครับ มันมีอันตราย วันนี้ก็รัฐบาลก็ออกกฎหมาย ออก พ.ร.บ. ไปว่าใครที่จะมาลงทุนกับเราก็ต้องมีแผนในเรื่องของการกำจัดขยะเหล่านี้ให้เราด้วยนะครับ ก็จะเป็นให้มีสิทธิประโยชน์อะไรต่างๆ ในการทำ BOI อะไรก็แล้วแต่นะครับ วันนี้ถ้าเรายังคิดไม่ตรงกันอยู่ คือคิดแต่เพียงว่า เราต้องรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิม ประชาชนทุกคนก็มีส่วนที่จะต้องกำหนดการใช้จ่ายทรัพยากรทั้งหมด แต่อย่าลืมว่าเราต้องดูแลประเทศชาติกันด้วยนะครับ ถ้ามันไม่ได้ ดูซิจะไปทำได้ที่ไหน ถ้าทุกที่ปฏิเสธกันหมดมันทำไม่ได้ ผลิตไม่ได้ ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้นะครับ ซื้อใครก็ไม่อยากให้ซื้อ ก็ซื้อไม่ได้อีก แล้ววันหน้าถ้าความมั่นคง ด้านความมั่นคงมีปัญหากัน เขาไม่ส่ง เขาไม่ส่งแก๊ส ไม่ส่งไฟฟ้า จะทำยังไง ช่วยผมคิดหน่อยนะ การคัดค้านอะไรผมไม่ว่าหรอก เพียงแต่ว่าต้องฟังเหตุฟังผลหน่อย ถ้าเราเข้มแข็งเพียงพอแล้ว เราผลิตทุกอย่างได้เองแล้ว ผมคิดว่าเราค่อยเป็นเสียงที่ดังพอ ที่คนอื่นเขาฟังเรานะ วันนี้เขาไม่ฟังล่ะ นะเพราะเรายังไม่เข้มแข็งพอ แล้วเราก็ยังมีความขัดแย้งสูงนะครับ ในสังคมไทยในปัจจุบันนะครับ ลดลงมาบ้างแต่ก็ยังไม่ทั้งหมดหรอกนะครับ

เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญของประเทศก็คือพลังงานไฟฟ้านะครับ จะมาจากไหน ก็ไปคุยกันต่อไปแล้วกันนะ ใช้ในการอุปโภคบริโภคแล้วก็เกิดการผลิต การอุตสาหกรรมต่อเนื่องนะครับ ไม่ใช่ไฟฟ้า แล้วไปใช้ ไม่ใช่ มันก็ต้องไปต่อโรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจ SMEs อะไรก็แล้วแต่ วันนี้เราใช้น้ำมันกับแก๊สนะครับ ผลิตไฟฟ้าถึง 70% ถ้าเรายังไม่ลดตรงนี้ไปโดยไม่ใช้วัสดุอื่นๆ มาเป็นต้นทุนนะครับ ในการที่จะเกิดพลังงานขึ้นมานี่ เช่นถ่านหินหรืออะไรก็แล้วแต่ ตอนนี้ก็ถ่านหิน ราคาถูกที่สุดนะ เพราะงั้นวันหน้าต้องซื้อเขา แล้ววันหน้า หรือยังต้องใช้ แก๊ส น้ำมัน พอราคามันขึ้นไปอีก ค่าไฟฟ้าก็ขึ้นแน่นอนนะครับ ท่านเรียกร้องใครไม่ได้แล้ว ผมพูดด้วยเหตุด้วยผลให้ท่านฟังนะ อยากให้ประชาชนช่วยคือ หาจุดสมดุลนะครับ แล้วก็เชื่อมั่นในเทคโนโลยี และรัฐบาลจะทำให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดนะครับ หลายประเทศในโลกเกือบทุกประเทศนะครับก็ยังมีใช้อยู่ทั้งหมด เพียงแต่ว่าของเก่าเขาเปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีใหม่ เครื่องจักรใหม่ ก็ดีขึ้นนะครับ 

ใช้มาตรา 44 หนุนปฏิรูป 

เรื่องการปฏิรูปประเทศนั้นผมอยากจะเรียนว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนนะครับ หลายท่านมีความตั้งใจที่ดีมีเจตนารมณ์ที่ดีนะครับ อยากจะทำโน่นทำนี่ให้เสร็จในเวลาอันสั้นนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่ผมยังอยู่นี่ แล้วก็ใช้อำนาจผมที่มีอำนาจตามมาตรา 44 ในวันนี้ จริงๆแล้วผมอยากจะเรียนว่ามันมีหลายกิจกรรมนะครับ ในแต่ละเรื่องในการปฏิรูปมันมีหลายเรื่องด้วยกัน แต่สิ่งสำคัญต้องนึกถึงว่าในการบริหาราชการแผ่นดินในปัจจุบัน การปฏิบัติงานในปัจจุบัน ประสิทธิภาพในปัจจุบัน แล้วเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์ นี่ จะทำยังไงที่จะต้องแก้ปัญหาที่ผมพูดมาทั้งหมดเมื่อกี้นี้ ผมต้องใช้คนเหล่านี้ทำก่อน ทำให้มีประสิทธิภาพนะครับ กรุ๊ปปิ้ง  ใช้บูรณาการ ใช้มาตรา 44 ทั้งหมดเพื่อให้เกิดงาน ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อย่างที่ท่านต้องการ ในการปรับโครงสร้างทั้งหมด ถ้าท่านรื้อทั้งหมดที่เดียวนี่ มันก็ทำงานไม่ได้ ในขณะนี้นะครับ ผมคิดว่าการที่จะรื้อใหญ่ๆ ไว้ตรงโน้น แต่ท่านก็ต้องจัดระเบียบเสียตั้งแต่ตรงนี้ ว่าท่านจะทำอะไรตรงไหน การปฏิรูปนี่มี 3 ระยะด้วยกัน ผมเคยบอกไว้แล้วนะครับ  ระยะ 1 , 2 , 3 ของ คสช. หรือของรัฐบาล 1 , 2 นี่คือของ คสช. กับรัฐบาล พอ 3 ของผมนี่ จะส่งไปโน่น ไปรัฐบาลใหม่ ก็จะเขียนไป 1-2-3 นะครับ 1 นั้นก็อาจจะ 4 ปี 5 ปี อะไรก็แล้วแต่  5 5 5 นั่นแหละ ระยะ 1-2-3 เขาไปทางโน้น

เพราะงั้น เรื่องของโครงสร้างอะไรต่าง ๆ นี่ ถ้าผมทำได้ ผมก็จะทำ ในเรื่องของอะไรล่ะ เช่นตำรวจ ก็ต้องแยกมา เรื่องการสอบสวนจะทำยังไง ทดลองดูก่อนไหมตรงนี้ ทำได้ไหม? ว่าจะอยู่ตรงไหนกันบ้าง มาจากไหน ใครจะทำ เรื่องคดีความจะทำยังไง ตำรวจท้องที่ ตำรวจส่วนกลางทำยังไงเอาทุกอย่างคลี่ออกมาที่ละอัน ทีละอัน แล้วก็ส่วนหนึ่งทำไปนะ คู่ขนาน อีกส่วนก็ต้องปฏิบัติราชการต่อไป แก้ปัญหาให้ผม ทำงาน เพราะวันนี้ปัญหามันเยอะแยะ ก็ต้องรื้อ ต้องใช้คน ใช้ตำรวจ วันนี้ก็มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนะ อันนี้คือผมปฏิรูปแล้วนะ

ระยะแรกนะครับ วางพื้นฐาน ลดขั้นตอน ให้การบริการประชาชน แล้วก็ได้รับความเชื่อถือจากสังคม จากประชาชน ไม่งั้นที่ผ่านมา ตำรวจก็ถูกตำหนิติเตียนเยอะแยะไปหมด มันอยู่ที่ว่าเราจะบริหารเขายังไงนะครับ ให้ความเป็นธรรมเขาอย่างไร วันนี้การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจก็ดีขึ้นผมก็กำลังดูอยู่ว่าเรื่องของการที่จะตั้งสภามาแต่งตั้งข้าราชการระดับกระทรวง มันเป็นไปได้ไหมผมก็อยากใช้แนวทางในส่วนของทหารนี่นะครับ ไม่ใช่ว่าทหารนี่จะดื้อดึงขัดขืนใครได้ ไม่ใช่นะครับ ที่ผ่านมารัฐมนตรี ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็มีส่วนเกี่ยวข้องตรงนี้ อย่างกองทัพก็จะมี พ.ร.บ. ทหาร พ.ร.บ.กลาโหมนะครับ ก็เพียงแต่ว่าทุกหน่วยงานในกระทรวงกลาโหมก็เสนอคนของเขาขึ้นมา เข้าที่ประชุมนะ สมมติว่าที่ประชุม เอาสมมตินะครับ 10 คนถ้าเกิน 2 ใน 3 ถ้าตกลงกันได้ทุกคนเอาขึ้นมาตามแท่งของตัวเองแล้วก็ไม่มีใครขัดแย้งก็อนุมัติไปตามนั้นนะครับ มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นหัวหน้า เป็นประธานกรรมการตรงนี้ นั่นน่ะเขาเสนอมาตามแท่งของเขา ถ้าจะแก้ปรับเป็นตามความเหมาะสมก็ทักท้วงกันตอนนั้นถ้าไม่เห็นด้วย ถ้าเห็นด้วยก็ตั้งเลย ไม่เห็นด้วยก็ประชุมใหม่ ไปหามาใหม่ หรือเสนอคนใหม่เข้ามา 2 ใน 3 ก็ผ่านนั่นแหละเป็นอย่างนั้น

ผมอยากให้ข้าราชการทั้งตำรวจ ทั้งข้าราชการ อยากให้เป็นอย่างนี้นะ ตอนนี้ก็มี กตร. อะไรอยู่แล้วนะ กตช. แต่ทำอย่างที่ทหารทำหรือเปล่า จะได้ได้คนมาที่โตมาในแท่งของเขาในพื้นที่ของเขา แล้วนายเขาก็เป็นคนเลือกของเขามา พอนายเขาเลือกมาก็จะเป็นไปตามขั้นตอนไปตามอาวุโสบ้างตามความรู้ความสามารถบ้างหรือจะเป็นฟาสแทรกเพื่ออนาคตบ้างมันต้องมีคนทั้ง 3 อย่าง สัดส่วนที่เหมาะสมอยู่ตรงนั้น เมื่อขึ้นมาแล้วสมมติว่าเป็นกระทรวงนะครับ ก็จะมีรัฐมนตรีกระทรวงนั้นเป็นประธานคณะกรรมการ แล้วก็ในส่วนของอธิบดี รองอะไร ปลัดกระทรวงรองปลัด อธิบดีก็อยู่ในคณะกรรมการ ก็แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมา ตรงนั้นจะเป็นสรุปออกมาแล้ว และส่งมาอาจจะมี กพร. หรือ กพ. ครับ ที่ทำอยู่ตอนนี้เข้าไปเป็นเลขาคณะนี้ก็ได้

ผมเสนอแนวคิดไปเฉยๆ นะ มันก็จะเกิดความเป็นธรรมชัดเจนขึ้น ตำรวจก็เหมือนกัน นะถ้าตั้งขึ้นมาอย่างนี้ มันก็เป็นสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน ไม่ใช่พวกใคร ขึ้นมาด้วยความชอบธรรม นายตัวเองต้องรู้ว่าลูกน้องตัวเองดีหรือไม่ดี มันจะได้ไม่ข้ามไปข้ามมา วิ่งเต้นกันเยอะแยะไปหมด ทหารวิ่งเต้นอย่างนี้ไม่ได้นะครับ เสียเงินก็ไม่มีนะ เพราะงั้นก็ต้องเป็นไปตามนี้ถึงจะรบได้ ถึงทำงานได้ไง ไม่งั้นใครขึ้นมาก็ครอบได้หมดทุกอัน ทั้งข้าราชการ ทั้งตำรวจ ก็เป็นแบบเดิมอีก ไปแก้แบบนี้ ตั้งใครมาสักกลุ่มหนึ่ง แล้วมีอำนาจตั้งทุกคนท่านจะรู้ไหมว่าแต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานเขามีใคร เขาทำงานกันมาอย่างไร รู้ไหม ผมเป็นข้อเสนอแนะเท่านั้น แต่ถ้าเราจะเอาอย่างนั้นก็ตามใจนะครับ แล้วแต่ท่าน 

เพราะงั้นในส่วนของหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายนี่ มันจำเป็นนะครับ ต้องลงรายละเอียดนะครับ ใช้กฎหมาย ใช้อาวุธ เหล่านี้ ต้องมีมาตรการที่เพียงพอ แล้วก็ให้อิสระในการทำงานพอสมควรแก่เขา แต่อยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้กระบวนการยุติธรรมให้เกิดความชัดเจนและรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบนะครับ ในการสั่งงาน ในการอะไรก็แล้วแต่ มันผิด มันถูก ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นคนสั่งให้เขาทำนะ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้ได้นะครับ ผมสรุปแล้วปัญหาใหญ่ๆ เรื่องใหญ่นั้นที่ยังค้างอยู่ในระยะที่ 2 ของผมนี่ ผมจะส่งไประยะที่ 3 ของผม คือรัฐบาลใหม่ แล้วรัฐบาลใหม่ก็ไปกำหนด 1-2-3 ทำก็แล้วกัน คงเข้าใจตามนี้นะครับ หรือถ้าหากทุกคนเกรงว่าจะไม่ทำ สภาปฏิรูปกำหนดไว้ ก็อาจจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ไหม หรือกฎหมายลูกหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมไม่มีความรู้ทางกฎหมายมากนักนะครับ แต่ท่านไปทำให้เขาทำได้แล้วกัน ว่าทำอย่างไรกลไปเหล่านี้จะทำต่อ ทำยังไงรัฐบาลจะทำได้ ถ้าไม่ยอมกันอยู่แบบนี้ มันก็ไป เดินหน้าไม่ได้นะครับ วันนี้เราทำทุกอย่างตามขั้นตอนทั้งหมด ตาม Road Map ทั้งหมด Road Map ที่ว่าก็คือ มีรัฐธรรมนูญ นะวันนี้ขอให้มีประชามติ ผมก็ให้ทำประชามติได้เลย พอทำประชามติแล้วก็มีเลือกตั้งแต่ท่านไม่เคยมีใครถามผมเลยว่า เอ๊ะ ถ้ามันเลือกตั้ง ก่อนเลือกตั้งวุ่นวาย ทุกคนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญกันอีก จะทำยังไง อ้าว.. มีมาตรการอะไรไหม สองก็คือเลือกตั้งแล้วนรัฐบาลปกครองไม่ได้ขึ้นมาอีก อีกพวกก็ต่อต้านทำไง นี่ ผมห่วงตรงนั้นมากกว่า ผมไม่ห่วงรัฐธรรมนูญ ไม่ห่วงอย่างอื่นเท่าไร ห่วงตรงนี้ คสช. จะรับผิดชอบตรงนี้ด้วย นะครับ รัฐบาลจะดูสถานการณ์ตรงนี้ด้วย แต่ทุกอย่างผมยืนยันว่า ทุกอย่างผมทำตาม Road Map เว้นแต่มีใครทำให้ Road Map ผมเปลี่ยนแปลงนะครับ

รัฐธรรมนูญรักษาสมดุลอำนาจ 3 ฝ่าย-ต้องไม่สร้างความขัดแย้ง

รัฐธรรมนูญ วันนี้ผมบอกว่าจะต้องไม่เป็นรัฐธรรมนูญของความขัดแย้งในอนาคตนะครับ ผมฟังจากผู้บรรยายทั้งหมดที่มาจาก เยอรมัน, ฝรั่งเศส ก็ได้บรรยายถึงความเป็นไปเป็นมาของรัฐธรรมนูญประเทศเขานะครับว่ามันจะเป็นยังไง เขาก็บอกว่าเป็นกฎหมายที่น่าจะไม่ต้องให้มีการตีความมากนักนะครับ  คนไทย รัฐบาล ฝ่ายค้าน  เราก็ต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญในทางที่ถูกเราจะต้องเป็นคนที่เจริญแล้ว ไม่เอากฎหมายไม่เอารัฐธรรมนูญมาทะเลาะเบาะแว้งกันอีก นะครับ นักการเมืองก็ต้องมีธรรมาภิบาล  เรามีประสบการณ์มากมายนะครับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีหลายฉบับ แก้ไปแก้มาก็จะกลับไปที่เดิมอีกแล้วนะครับ ทุกคนก็ต้องการของเดิม คนนั้นก็ว่าดี คนนี้ก็ว่าไม่ดี พรรคการเมืองโน้น พรรคการเมืองนี้ นักการเมือง ผมถามว่า ถาม ประชาชนเขาหรือยัง เขาต้องการอะไร เขาต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้นกว่าเดิม หรือต้องการให้บ้านเมืองเป็นเหมือนเดิม  หรือต้องการให้บ้านเมืองแย่กว่าเดิม อันนี้เป็นความรับผิดชอบของนักการเมืองต่อไปด้วยนะครับ ผมก็พยายามทำเต็มที่แล้ว 

รัฐธรรมนูญใหม่นั้นก็น่าที่จะต้องสร้างความสมดุลระหว่าง 3 อำนาจให้ได้นะครับ แล้วก็มีประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจดังกล่าวนั้นประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลาง เพราะงั้นที่ผ่านมาบอกว่าประชาชน ต้องเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ มีอำนาจโน้น อำนาจนี้ ไม่ใช่  ประชาชนไม่ใช่เป็นกลุ่มอำนาจที่ 4 นะครับ มี 3 อำนาจที่ คือบริหาร นิติบัญญัติ แล้วก็ตุลาการ ใช่ไหมครับ ประชาชนนั้นเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจนั้นผ่านการเลือกผู้แทนของท่าน นั่นแหละคืออำนาจของท่านอยู่แล้ว ท่านเลือกคนเข้ามา ท่านเลือกไม่ดี นั่นแหละ ท่านใช้อำนาจในทางที่ผิด ถ้าท่านเลือกดี เขาก็ดูแลท่านดี บ้านเมืองก็เจริญไปข้างหน้า นั่นแหละคือการใช้อำนาจ ตามหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อีกอันก็คืออะไร การลงประชามติ ใช่ไหม ไม่ว่าเขาจะทำอะไร การลงประชามติเห็นชอบ ไม่เห็นชอบก็แล้วแต่ เขามีสิทธิให้ท่านไปลงประชามติของประชาชนได้อีกทีหนึ่ง โดยรัฐบาลเป็นคนกำหนดออกมานะครับ ที่ผ่านมานี่มันตีกันไป ตีกันมา พันกันไปหมดนะ แล้วประชาชนก็ถูกปลุกระดม กลายเป็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจทั้งหมด เพราะงั้นต้องเหนือกว่าทุกคน เหนือกว่ารัฐบาล เหนือกว่าเจ้าหน้าที่ นี่แหละครับ มันก็ตีกันอยู่แบบนี้แหละ เพราะงั้นต้องอธิบายประชาชนให้เข้าใจด้วยว่า ท่านใช้อำนาจของท่านผ่านผู้แทนของท่านผ่านสภา อะไรก็แล้วแต่นะครับ เพราะงั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจ อย่าให้ใครเขามาบิดเบือนท่านอีก นักการเมืองที่ไม่ดี พรรคอะไรที่ไม่ดีก็แล้วแต่ อย่าไปมองเฉพาะเรื่องนโยบายพรรคอย่างเดียว ต้องมองว่านโยบายของพรรคการเมืองเหล่านั้นวางยุทธศาสตร์ของชาติไว้อย่างไร เดินหน้า 5 ปี 10 ปี อย่างไร ใครเข้ามาตรงนี้ก็ต้องทำต่อนะครับ ในส่วนของพรรคก็ว่ากันไป จะสร้างคะแนนนินมอะไร ตรงไหนก็ว่าไป แต่ประเทศชาติ ต้องไม่เสียหาย แล้วเดินไปข้างหน้าได้ ทุกประเทศเขาเป็นอย่างนี้หมด เขาเลิกทะเลาะกันโดยเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันอยู่แล้ว เพราะเขาใช้ประชาชน ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านสภา ผู้แทนของเขา หรือลงประชามติ แล้วก็เสนอสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย ผ่าน ส.ส.ของท่านยังไง ที่ผ่านมาเขาทำหรือเปล่าเล่า ทำตรงนี้ไหม ถ้าไม่ทำก็ไปหาทางให้เขาทำวันหน้านะครับ ในส่วนของรัฐบาลนี่ เมื่อมันเกิดเหตุการณ์ใดๆ ในประเทศก็ตามต้องรับผิดชอบทุกเรื่องนะครับ

วันนี้ผมก็รับผิดชอบเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง จิตวิทยา สังคมวิทยา การต่างประเทศ อะไรล่ะ ในเรื่องของกฎหมายทำทุกอย่างจะปฏิเสธอันใดอันหนึ่งไม่ได้ หรือจะปฏิเสธประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลทุกรัฐบาลนะครับ ผมอยากจะใช้คำว่าต้องดูแลคนวันนี้ แล้ววันหน้าด้วยนะครับ วันหน้าอย่างที่ผมเรียนไปแล้วเมื่อกี้นี้นะ คนไทยที่ยังไม่เกิดมาอีกเยอะแยะไปหมดนะ นึกถึงเขาด้วยนะครับ     

ย้ำโรดแมปกำหนดโดยปชช.

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้ ขอให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57  กำหนดไว้  ตาม Roadmap อะไรไปได้ก็ไป ไปตามนั้นผมไม่เคยเป็นคนเลื่อน  Roadmap เพราะงั้น Roadmap ถูกกำหนดโดยประชาชนโดยสถานการณ์ไม่ว่าจะเรืองการทำประชามติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ทำได้ อะไรก็แล้วแต่ ผมไม่เคยขัดขวางอะไรทั้งสิ้น ผมอยากให้ประเทศชาติเดินหน้า นะ ด้วยความยั่งยืนนะครับ ก็เป็นเรื่องของประชาชนแล้วกันนะ ช่วยกันแสดงความคิดเห็นแต่อย่าขัดแย้งนะ ทุกคนต้องยอมรับกันนะครับ เว้นแต่สถานการณ์ ถ้ามันไม่เรียบร้อย ไม่รู้จะทำยังไงนั่น คอยบอกผมก็แล้วกัน ถ้ามันเลือกไม่ได้ เป็นรัฐบาลไม่ได้แล้วจะทำยังไง หาทางออกมาให้ผม ผมใช้อำนาจอย่างเดียวมันก็ไม่ไหวนะ ผมพยายามระมัดระวังอย่างเต็มที่นะครับ เพราะงั้นสิ่งที่เราคาดหวังวันนี้คือการปฏิรูปนะ การปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน อาจจะใช้เวลาหลายปี ผมก็ไม่ได้มุ่งหวังว่าผมจะทำเองทั้งหมด แล้วอยู่หลายๆ ปี ไม่ใช่ ก็เป็นเรื่องที่ผมต้องส่งต่อ ผมไม่มีโอกาส ผมก็ส่งรัฐบาลใหม่ ที่ท่านเลือกมา ท่านใช้อำนาจประชาชนเลือกมานะ ไปทำมานะครับ ประชาชนเรียกร้องมาตลอด รัฐบาลก็เรียกร้องทุกรัฐบาล 2 รัฐบาลที่แล้วผมจำได้ เรียกร้องการปฏิรูปก่อน ปฏิรูปหลังอะไรก็แล้วแต่ ทำไม่ได้ซักรัฐบาลหนึ่ง วันนี้เราเกิดขึ้นมาแล้ว แล้วจะหยุดไปที่เดิม แล้วกลับไปที่เก่ากันอีกหรือ ก็แล้วแต่ท่านนะ อำนาจอยู่ที่ท่าน อย่างนี้ ใช้ในทางที่ถูกต้องแล้วกัน เข้าช่องทางมานะ วันนี้ก็หลายคนก็ไปทำงานอยู่แล้ว กมธ. สปช. สนช. ทุกคนหวังดีกับประเทศไทยทั้งนั้นน่ะนะครับ แต่เพียงแต่ว่ามันเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไร แค่ไหน จะเอาแค่ไหนกันนะ ต้องเป็นการทำข้อตกลงกับคนทั้งประเทศด้วย ไม่ใช่เอากลุ่มนี้มารบกลุ่มนี้  กลุ่มนี้เห็นด้วย กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย แล้วก็ตีกันต่อไปในอนาคต แล้วมันจะทำไปทำไม จะปฏิรูปกันทำไม ผมจะมายืนอย่างนี้ทำไม เข้าใจตรงนี้ด้วยนะครับ ผมขอร้องแล้วกัน ขออีกครั้งหนึ่งนะ

ในเรื่องอื่นๆนะครับ สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของ “เทศกาลผักผลไม้ไทยคุณภาพ” ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนและผู้บริโภคเป็นอย่างดีนะครับ ยอดจำหน่ายถึงวันที่ 26 พฤษภาคม นี้  เกือบ 20 ล้านนะครับ แล้วต่อไปก็จะจัดเป็น "งานไม้ดอกไม้ประดับและปลาสวยงาม" จัดต่อนะครับ 5-28 มิถุนายน ภายในงานมีทั้งการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดแสดงปลาสวยงาม และการจัดแสดงไม้ดอกไม้ประดับ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนเมือง มีการตกแต่งอะไรก็แล้วแต่ ทำให้มูลค่าของดอกไม้มันสูงขึ้น จัดตู้ปลา อะไรต่างๆ มีหมดนะครับ ราคาค่อนข้างสูงเหมือนกันนะ ก็อันนี้เป็นสินค้าที่จะขายออกต่างประเทศได้เลยนะครับ แล้วก็จะมีการจำหน่ายด้วยให้ความรู้ด้วย การเลี้ยงปลา ดูแลต้นไม้ ปลาสวยงามที่วันนี้เป็นรายได้หลักเลยนะครับของเกษตรกร บางส่วนเขาเปลี่ยนนะครับ ไปเลี้ยงปลากัดบ้าง ปลากัดไทย ปลากัดจีน ไปเลี้ยงปลาเงินปลาทอง อะไรทำนองนี้ ดอกไม้ก็เอามาจัดใส่พานใส่โหลแก้วนะ ให้งดงามเหมือนดอกไม้ของต่างประเทศนะ แต่เราเป็นแบบไทยๆ ไงไปดูแล้วกันนะครับ มีการบรรยาย มีการสาธิตทุกเรื่อง มีวิทยากรมืออาชีพ มีคำแนะนำการปลูกและดูแลรักษาจากนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนะครับ มีการให้คำแนะนำหรือแบบแปลนการจัดสวนในลักษณะต่าง ๆ มีนักจัดสวนมืออาชีพมาด้วยนะครับ ระหว่างวันที่ 25 - 31 พฤษภาคมนี้ ก็ยังมีอีกงานนะครับที่จัดขึ้นในขณะนี้คือ “OTOP วิถีไทยจากร้อยสู่ล้าน” ที่ อิมแพ็คเมืองทองธานี อันนี้ก็เกี่ยวพันเรื่อง Value Chain ไงครับ ถ้าอันนี้มันเกิดขึ้นได้ เราก็ต้องไปดูว่าการผลิตเขาเป็นยังไง ประชาชนผลิตได้ไหม ที่ผ่านมาทำดีหมดคนสั่งซื้อผลิตไม่ได้ ผลิตไม่ทัน เพราะว่าไม่พร้อม แต่ทำได้ เป็นชิ้นๆ น่ะได้ สวย พอสั่งเป็นร้อยอัน พันอัน ทำไม่ได้ นี่ต้องไปส่งเสริมข้างล่างภาคการผลิต ทำยังไง เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือควรมีไหม จะตั้งสหกรณ์กันยังไง ไม่ใช่เอาของมา ใครทำดี เอามาขายแล้วเวลาเราต้องการการสั่งซื้อ ออเดอร์ จากต่างประเทศ ไม่ใช่หรือครับขายคนไทยมันจะขายอะไรพอเพียงล่ะ มันต้องขายต่างประเทศ พอเข้าสั่งมา10ชิ้น ได้ 100 ชิ้น เริ่มไม่ได้แล้ว 1,000 ชิ้น ยิ่งไม่ได้ใหญ่ นี่มันล้มเหลวของ OTOP เหมือนกันนะ ผมว่าต้องไปดูตั้งแต่กระบวนการผลิต แล้วก็ให้มันสอดคล้องกับ ซัพพลาย ด้วยนะ ดีมาน-ซัพพลาย ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด ไม่ใช่เขาไม่ต้องการอะไร ก็ผลิตอยู่นั่นแหละ จะไปขายใครเล่า นะ เลิกไปทำอย่างอื่น แล้วก็ไปสู่การเป็นธุรกิจ SMEs  ใช้แนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนะครับ ที่พระองค์รับสั่งไว้แล้วเรื่องความพอเพียง ทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ต้องใช้จ่ายเงินได้ก็ดี พอกินพออยู่ ถ้าเหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน ถ้าเหลือมากกว่านั้นก็ขาย แลกเปลี่ยน แล้วต่อจากนั้นก็ตั้งธุรกิจขึ้นมา ทำร้านค้า เปิดเป็นบริษัท ก็ต้องพัฒนาไปอย่างนั้น ก็มีภูมิคุ้มกัน มีความรู้ ด้วยนะครับ ต้องรับฟังด้วยนะ หลายๆ กระทรวงเขาออกมาแล้ว ใน  App ในโทรศัพท์น่ะ เรื่องการเกษตร ราคาสินค้า การเพาะปลูกพืช การใช้น้ำมีหมด ไปเปิดดูนะ   

ให้กำลังใจทัพนักกีฬาไทยสู้ศึกซีเกมส์

ในวันพุธที่ผ่านมาผมได้พบกับเจ้าหน้าที่และนักกีฬาที่เตรียมจะเดินทางไปร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 28 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 5 – 16 มิถุนายนนี้ครับ ผม ในนามของรัฐบาลและพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคนขอแสดงความยินดีและชื่นชมนักกีฬาที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและดูแลอย่างเต็มที่นะครับ ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทุกคนในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดให้เต็มความสามารถของตนเอง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เคารพกฎกติกา และระลึกอยู่เสมอว่าท่านเป็นตัวแทนคนไทยและประเทศไทย ในการ ที่จะสร้างภาพลักษณ์ และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนไทย เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดนะครับ

วันนี้กีฬาต้องแข่งขันกันด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา แข่งขันกันด้วยร่างกาย จิตใจ สามัญสำนึก และความรักชาติ ทั้งนี้ก็จะต้องคำนึงถึงประชาคม อาเซี่ยน ด้วยกันด้วย เราขัดแย้งกันไม่ได้อีกแล้วนะครับ ผมก็เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศพร้อมเป็นกำลังใจให้นักกีฬาทุกท่าน ขอให้ท่านทำให้ดีที่สุดนะครับ  จะแพ้ ชนะ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเตรียมการไป ถ้ามันไม่ได้ก็ต้องมาพัฒนาใหม่นะครับ ผมยืนยันว่าเราจะต้องพัฒนาการกีฬาให้ดีขึ้นในอนาคตให้ได้นะครับ ขอให้ประสบความสำเร็จนะครับ ตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เพื่อจะนำชื่อเสียงและชัยชนะมาสู่ประเทศไทยถ้าไม่ได้ เอาเพื่อนกลับมานะตรับ นั่นสำคัญที่สุด พ่อแม่ภูมิใจ แล้วพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ใหม่นะครับ มันไม่มีใครบังคับได้นอกจากตัวเราเองนะครับ เรืองกีฬาก็ไม่ต้องกลัว ผมขอโทษรบกวนเวลาท่านพอสมควรนะ วันไหนมีกีฬาผมก็จะเลื่อนให้แล้วกันนะ พูดให้สั้นๆ ลงตอนนี้ก็ปรับเรื่องการออกอากาศไปแล้วนะครับในวันศุกร์นี่ผมพูดคนเดียวแล้วกัน แค่สักครึ่งชั่วโมงนิดหน่อย ทำนองนี้นะ ในส่วนของรองนายก กับรัฐมนตรีก็ไปออกตอนเย็นวันธรรมดา เวลา 18.00 น. แล้วกันนะครับ ไม่เกินครึ่งชั่วโมง 20-30 นาที นะมันจะได้ เขาเรียกเผื่อแผ่แบ่งปันไงครับนะ เผื่อแผ่แบ่งปัน ฟังผมบ้างตอนนี้ก็อะไร ป้าแย้มก็ไม่อยู่แล้วซิไหม ก็รอป้าคนใหม่แล้วกันนะ แต่ผมยังอยู่นะ ก็ขอเวลาพบกับท่านไปก่อนแล้วกันนะครับ

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ผลถกแก้โรฮิงญาสรุป 3 มาตรการ 'สหรัฐ-ออสเตรเลีย' มอบเงินเพิ่ม

0
0
29 พ.ค. 2558 นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ว่าการประชุมครั้งนี้มีเฉพาะประเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบาหลี (Bali Process) ซึ่งเป็นประเทศที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น และบรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยทุกประเทศขอบคุณไทยที่จัดการประชุมในช่วงเวลาที่เหมาะสม  นอกจากจะมีการเสนอมาตรการแก้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสหรัฐฯ ยังตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือเพิ่ม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 99 ล้านบาท) ขณะที่ ออสเตรเลีย  ให้เงินเพิ่ม 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อช่วยประชาชนในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์และเมืองคอกบาซา ประเทศบังกลาเทศ ส่วนญี่ปุ่นจะรีบพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม
 
ด้านอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตกลงใจที่จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพ 7 พันคน และกระบวนการส่งกลับประเทศต้นทาง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี
 
ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปเสนอมาตรการในการรับมือกับปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เป็น 3  มาตรการ โดยมาตรการแรก เป็นรับมือแบบเร่งด่วน เช่น เพิ่มปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และต้องให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM สามารถเข้าถึงผู้อพยพได้ รวมทั้ง ส่งต่อความช่วยเหลือจากประชาคมโลกไปให้องค์กรที่ทำหน้าที่รับมือกับผู้อพยพฉุกเฉิน
 
มาตรการที่สอง เน้นการป้องกันการอพยพแบบไม่ปกติ การลักลอบ และการค้ามนุษย์แบบครอบคลุม เช่น ตรากฎหมายในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อกำจัดอาชญากรรมข้ามชาติ และมาตรการที่สาม คือ การแก้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติที่ต้นเหตุ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำมาหากินในประเทศตัวเอง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มความร่วมมือในด้านการข่าวโดยแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้สามารถระบุ ที่อยู่ของเรื่องผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้ รวมถึงจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการให้ความสนับสนุนที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละประเทศ โดยแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ตามที่องค์การระหว่างประเทศได้ร้องขอ
 
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ความร่วมมือในการป้องกันการค้ามนุษย์และการโยกย้านถิ่นฐาน โดยเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านกรอบความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ ในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ (UNTOC) รวมถึงความร่วมมืออในการปฏิบัติการต่อต้านอาชยากรรมข้ามชาติ  จัดตั้งการปฏิบัติการสืบสวนพิเศษ เรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มความโปร่งใสในการบรรจุเจ้าหน้าที่ของรับมาทำหน้าที่มีกระบวนการให้ข้อมูลถึงความอันตรายของการอพยพทางทะเลและอันตรายของขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการเป็นผู้เข้าเมืองถูกกฎหมาย เช่น ผ่านเอ็มโอยู เพื่อให้อพยพทางอื่นได้อย่างปลอดภัย
 
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยอีกว่า ประเทศเมียนมาร์ ที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม แต่เมื่อเข้าร่วมประชุม ก็เห็นชอบกับผลการประชุมดังกล่าว และยินดีกับการที่ต่างชาติจะเข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต้นเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธที่จะมีการพูดคุยถึงเรื่องการให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา
 
นางแอน ซี ริชาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ด้านประชากร ผู้ลี้ภัยและการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ไม่ใช่ขั้นตอนแรกที่จะแก้วิกฤตในครั้งนี้  สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการช่วยชีวิต ซึ่งสหรัฐฯจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะหาทางแก้ไขในระยะยาว  ส่วนความร่วมมือในการบินลาดตระเวนของสหรัฐฯ ในน่านฟ้าไทยจะเริ่มปฏิบัติการในสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งทางการไทยตกลงที่จะให้การปฏิบัติการนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน2558  โดยการลาดตระเวนครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
 
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รายงานของสหประชาชาติย้ำว่าการเข้ารหัสข้อมูลดิจิทัลสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน

0
0

ในรายงานล่าสุดของผู้รายงานพิเศษสหประชาชาติ ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และหากหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกาคิดจะดำเนินมาตรการดักจับข้อมูลดิจิทัลที่เข้ารหัส ก็จะทำให้ประเทศที่มีประวัติสิทธิมนุษยชนย่ำแย่เอาเป็นตัวอย่าง

ที่มาของภาพประกอบ: "System Lock", Yuri Samoilov, 2014, Flickr.com (CC 2.0)  

วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ในรายงานฉบับใหม่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ความปลอดภัยดิจิทัลและความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั่วโลก และเตือนว่าความพยายามในบางประเทศที่ทำให้กลไกรักษาความปลอดภัยอ่อนแอ อาจส่งผลกระทบต่อทุกๆ ที่

รายงานซึ่งจัดทำโดย เดวิด ไคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ระบุว่า การเข้ารหัส (encryption) หรือกระบวนการดิจิทัลเพื่อแปลงข้อมูล ซึ่งทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และเครื่องมือที่ช่วยปกปิดตัวตน (anonymity tools) "จะช่วยอำนวยด้านความเป็นส่วนตัว และความจำเป็นด้านความปลอดภัย ในการแสดงออกซึ่งสิทธิของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในยุคดิจิทัล" สำหรับรายงานดังกล่าวจะถูกนำเสนอในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเดือนหน้า

วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า รายงานฉบับดังกล่าวถูกเผยแพร่ในช่วงที่มีการอภิปรายในสหรัฐอเมริกาว่าอะไรคือความสมดุลที่ดีที่สุดระหว่างสิทธิส่วนบุคคลส่วนตัวและความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งนี้นับตั้งแต่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ผู้ทำงานตามสัญญาจ้างของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้เปิดโปงโครงการสอดแนมออนไลน์ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ NSA (National Security Agency) ได้ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มการเข้ารหัสข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทมากขึ้น

และในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายในสหรัฐอเมริกากำลังผลักดันให้บริษัทด้านเทคโนโลยีสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ประตูหลัง" (backdoors) เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกป้องกันการเข้าถึงข้อมูลได้

ผู้อำนวยการหน่วยสืบสวนสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (FBI) เจมส์ โคเมย์ (James Comey) และผู้อำนวยการ NSA พล.ร.อ.ไมเคิล โรเจอร์ส (Michael Rogers) กล่าวว่า การเติบโตของการเข้ารหัสข้อมูล ทำให้การติดตามผู้กระทำผิดกฎหมายยากขึ้น และยังโน้มน้าวด้วยว่ารัฐบาลควรเสนอให้บริษัทเหล่านี้สร้างเส้นทางเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อเข้าถึงข้อมูลที่เข้ารหัสเหล่านี้

โดยในช่วงต้นปีนี้ โรเจอร์ส ได้เสนอแนวคิดที่ว่า บริษัทต่างๆ ควรแบ่ง "กุญแจดิจิทัล" เพื่อใช้สำหรับถอดรหัสข้อมูลออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อไม่ให้มีใครหรือหน่วยงานใดฝ่ายเดียวสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้ ข้อเสนอนี้เป็นความพยายามหนึ่งที่จะเอาชนะเหนือผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยดิจิทัล ซึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิด "ประตูหลัง" ว่าจะถูกใช้ในเรื่องความมั่นคง

ในรายงานของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งมีข้อเสนอคัดค้าน "ประตูหลัง" ระบุว่า "รัฐ (ต่างๆ) ควรหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยที่ปัจเจกบุคคลต้องใช้งานออนไลน์ต้องอ่อนแอลง, อย่างเช่น "ประตูหลัง", มาตรฐานการเข้ารหัสที่หละหลวม และระบบฝากกุญแจสำหรับเข้ารหัสข้อมูล (key escrows)"

ในการให้สัมภาษณ์กับวอชิงตันโพสต์ เดวิด ไคย์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาของมาตรการเช่นว่านี้คือพวกเขาต้องการเติมสิ่งที่เป็นความเปราะบางไม่มั่นคงเข้าสู่ระบบความปลอดภัย "ผลของมันคือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับทุกคน แม้แต่กับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญา"

การถกเถียงสาธารณะในสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เน้นไปที่เรื่องก่อการร้ายและอาชญากรรม แต่ไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็นของการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อปกป้องสื่อมวลชน นักกิจกรรม และประชาชนทั่วไปในโลก เดวิด ไคย์ ระบุ

"มีผู้คนนับล้านในโลกที่จำเป็นต้องพึ่งพา การเข้ารหัสข้อมูล หรือ การท่องอินเทอร์เน็ตแบบไม่ระบุตัวตัวอย่าง Tor เพื่อเป็นหลักประกันให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาสามารถเพื่อต่อต้านการถูกเปิดเผยข้อมูลการติดต่อสื่อสารของพวกเขา หรือถูกดักฟังข้อมูล" เขากล่าว

เดวิด ไคย์ระบุด้วยว่า ถ้าสหรัฐอเมริกายังดำเนินนโยบายตามนี้เพื่อใช้ "ประตูหลัง" สำหรับการบังคับใช้กฎหมาย ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ ดำเนินไปในวิธีการที่ใกล้เคียงกันนี้ "เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อประเทศที่ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพกระทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน ประเทศอื่นๆ ในโลกซึ่งไม่ได้อยู่ในค่ายประชาธิปไตยก็จะถือเอาเป็นตัวอย่างว่าสิ่งนี้สามารถทำได้"

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก U.N. report: Encryption is important to human rights — and backdoors undermine it, The Washington Post, Andrea Peterson May 28 at 7:00 AM

อ่านรายงานฉบับดังกล่าวได้ที่ A/HRC/29/32, Report of the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression, David Kaye

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'พลเมืองโต้กลับ' เตรียมยื่นอุทธรณ์อีกครั้ง

0
0
หลังพิพากษายกฟ้อง  กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” และคณะ ล้มล้างรธน. ชี้ คสช.ไม่ต้องรับผิดมาตรา 48 รธน.ชั่วคราวปี 57 ด้าน 'พันธ์ศักดิ์' ระบุเตรียมยื่นอุทธรณ์คำสั่งอีกครั้ง

 
29 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่ห้องพิจารณา 909  ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเวลา 9.00 น. ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ อ.1805/2558  ที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และพวก รวม 15 คน เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยฐานกบฏ กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.57 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ  บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และพวกจำเลยยังได้ออกคำสั่งในนาม คสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย โจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 113 และ 114
 
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า  แม้การเข้ายึดและการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของจำเลยทั้งห้ากับพวกในนามคสช. แต่ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 22 ก.ค.57 โดยบัญญัติว่า  การละเว้นความผิดและความรับผิดไว้ในมาตรา 48 ว่า บรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำในนามการควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ของหัวหน้าและคณะคสช. รวมทั้งการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำ และคำสั่งจากหัวหน้าและคณะคสช.อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้น โดยการกระทำดังกล่าวทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางด้านบริหาร และอำนาจตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอื่น ๆ ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ทั้งกระทำในวันดังกล่าว หรือกระทำภายหลังซึ่งเป็นการกระทำอันผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
 
ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องจึงพ้นจากความผิด และความรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว มาตรา 48 คดีของโจทก์ทั้งสิบห้าจึงไม่มีมูลที่ศาลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง
 
ต่อมาเวลา 14.00 น. นายพันธ์ศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากที่ได้อ่านคำสั่งของศาลแล้ว เห็นว่าศาลยอมรับว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาล เท่ากับศาลยอมรับว่าพวกเราเป็นกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งต่างจากอดีตที่ศาลจะไม่ยอมรับคดีที่ฟ้องคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ ในคำสั่งยังระบุอีกว่า การกระทำของคณะคสช.ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2557 ฉบับชั่วคราว ซึ่งมาตรา 48 บัญญัติให้ละเว้นความผิดและความรับผิดคณะคสช.ไว้ โดยเราตีความคำว่าพ้นผิดนั้น หมายความว่าคณะคสช.ได้กระทำผิดจริง จึงถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ และจะใช้เป็นช่องทางที่เราจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อไป ซึ่งศาลจะมีคำสั่งอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ยูเอ็นรับรองมติประณามการละเมิดสิทธิผู้สื่อข่าวและการปล่อยผู้กระทำผิดลอยนวล

0
0

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ หลังจากที่มีเหตุการณ์สังหารและละเมิดสิทธิผู้สื่อข่าวเพิ่มขึ้นมากทั่วโลก รวมถึงร้อยละ 90 ผู้ที่กระทำความผิดลอยนวลไม่ต้องรับผิด ทำให้ต้องมีการเรียกร้องประเทศสมาชิกประณามการกระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวซึ่งถือเป็นการคุ้มครองพลเรือนอย่างหนึ่ง

30 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไอพีเอสนิวส์รายงานว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้การรับรองข้อมติใหม่อย่างเป็นเอกฉันท์ซึ่งเป็นข้อมติเกี่ยวกับการประณามการละเมิดและกระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวทุกรูปแบบ รวมถึงตำหนิการปล่อยให้ผู้กระทำผิดต่อผู้สื่อข่าวลอยนวลไม่ต้องรับผิด ซึ่งถือเป็นการยอมรับว่าสื่อเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพและความมั่นคง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรองรับข้อมติที่ยืนยันว่าการทำงานของนักข่าวอย่างเป็นอิสระและไม่มีความลำเอียงเป็นรากฐานสำคัญของสังคมประชาธิปไตย และเรียกร้องให้มีการนำผู้ก่ออาชญากรรมต่อผู้สื่อข่าวมาลงโทษ สมาชิกคณะมนตรีฯ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ทำการสู้รบเคารพต่อกฎหมายนานาชาติในเรื่องการคุ้มครองพลเรือนรวมถึงนักข่าว ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวที่ถูกลักพาตัวหรือถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มติดอาวุธ

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุว่านับตั้งแต่ปี 2535 มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารแล้ว 1,129 ราย ร้อยละ 38 เป็นผู้ถูกสังหารในเขตที่มีสงคราม และนักข่าวก็ยังคงเป็นอาชีพที่มักจะตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง อย่างไรก็ตาม คริสตอฟ เดอลัวร์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวว่าถึงแม้ข้อมติใหม่จากยูเอ็นจะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ไม่แน่ว่าจะมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาได้

ญอน อิลิยาสสัน รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าเหตุการสังหารนักข่าวในช่วงไม่นานมานี้ทำให้ทั่วโลกเริ่มสนใจรวมถึงเรื่องการสังหารตัวแทนสื่อตะวันตกในซีเรีย อิลิยาสสันกล่าวอีกว่านอกจากนี้ต้องไม่ลืมการสังหารนักข่าวในท้องถิ่นที่มีการสู้รบที่ถูกสังหารซึ่งได้รับการเผยแพร่ในสื่อน้อยกว่า รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวอีกว่านับตั้งแต่ปี 2549 มีอัตราการสังหารนักข่าวและการข่มขู่คุกคามหรือตั้งเป้าหมายกับนักข่าวเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

อิลิยาสสัน ยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกยูเอ็นนำ "แผนปฏิบัติการของสหประชาชาติในเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวและประเด็นเรื่องการไม่ต้องรับผิด" ( U.N. Plan of Action on the Safety of Journalists and the Issue of Impunity) ที่ออกมาในปี 2555 ไปปฏิบัติใช้ โดยประเทศสมาชิกควรกล่าวประณามการสังหารผู้สื่อข่าวในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและส่งเสริมภารกิจที่มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในเรื่องความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวในฐานะส่วนหนึ่งของคำสั่งคุ้มครองพลเรือนและยังถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนในแง่ของเสรีภาพสื่อ

รองเลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าการสู้รบไม่เพียงทำให้ชีวิตนักข่าวอยู่ในอันตรายเท่านั้น มันยังเป็นการจำกัดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและประชาธิปไตย

ทางด้าน เดอลัวร์ ยังได้พูดถึงประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือร้อยละ 90 ของอาชญากรรมที่กระทำต่อผู้สื่อข่าว ผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวลไม่ถูกลงโทษ ซึ่งทำให้กลายเป็นการส่งเสริมการลิดรอนเสรีภาพสื่อในอีกทางหนึ่ง

มาเรียน เพิร์ล ผู้ที่สามีของเธอถูกลักพาตัวและสังหารในปากีสถานเมื่อปี 2545 กล่าวว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เป็นปัญหาสำหรับผู้สื่อข่าวทั่วโลกทั้งเรื่องจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารรวม 25 รายตลอด 5 เดือนของปี 2558 นอกจากนี้ยังวิจารณ์ว่าการที่ประเทศสมาชิกยูเอ็นบางประเทศทำการสอดแนมประชาชนทำให้นักข่าวและแหล่งข่าวมีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในคุณภาพข่าว อีกทั้งบางประเทศยังมีการออกกฎหมายที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมากยิ่งขึ้น


เรียบเรียงจาก

U.N. Security Council Takes “Historic” Stand on Killings of Journalists, IPS News, 29-05-2015
http://www.ipsnews.net/2015/05/u-n-security-council-takes-historic-stand-on-killings-of-journalists/

Adopting resolution, Security Council condemns violence against journalists, urges end to impunity, UN, 27-05-2015
http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=50980#.VWjKG9Kqqko

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'อภิสิทธิ์' แนะตัดเรื่อง 'นิรโทษกรรม-อภัยโทษ' ออกจาก รธน.

0
0
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แนะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทำกระบวนการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญให้โปร่งใส ย้ำถ้าอยากให้ปรองดองต้องตัดเรื่องนิรโทษกรรมและอภัยโทษออก

 
 
ภาพจากสำนักข่าวไทย
 
30 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีเวลาที่จะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและทบทวน เพราะความเห็นที่แต่ละฝ่ายให้มานั้นหลากหลายมาก ดังนั้นหากกำหนดกระบวนการในการทบทวนให้ดี เชื่อว่าจะสามารถปรับปรุงได้มาก โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นหลักใหญ่ ๆ จะต้องดูว่าข้อทักท้วงมีเหตุมีผลหรือไม่ จึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯทำกระบวนการในช่วงนี้ให้โปร่งใส และให้เกิดการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพราะตามกระบวนการแล้วจะไม่ทราบว่าใครส่งความเห็นอะไรไปบ้าง
 
“หากทำให้เห็นชัดเจนว่าข้อเสนอของทุกฝ่ายที่ส่งไปนั้น มีการพิจารณาเมื่อไหร่ อย่างไรและให้เหตุผลที่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดความโปร่งใส และที่สำคัญขอให้ใช้เหตุผลในเนื้อหาสาระที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หากทำได้เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนและทุกฝ่ายมั่นใจในร่างรัฐธรรมนูญ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
 
สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่เชิญตัวแทนพรรคการเมืองไปชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผล แต่ในส่วนของพรรคได้ส่งความเห็นไปแล้วและอยากได้รับคำอธิบายที่เป็นคำตอบในเนื้อหาสาระ ไม่ใช่มากล่าวหาว่า เมื่อเป็นความเห็นของพรรคการเมืองแล้วจะพูดเพื่อประโยชน์การเมือง เพราะที่ส่งความเห็นไปนั้นไม่มีเรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของระบบว่าจะทำอย่างไรให้ตอบสนองต่อเจตนารมณ์และรักษาสิทธิของประชาชน ซึ่งบางประเด็นตนก็ยังติดใจว่ายังไม่มีการอธิบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการอภัยโทษ รวมถึงมาตรา 181 และ 182 ที่ต้องขอบคุณหลายฝ่ายที่เห็นตรงกันว่าควรต้องตัดออกไป
 
“ผมเชื่อว่าเป็นความตั้งใจของทุกฝ่ายที่จะทำอย่างไรให้ได้กติกาที่ดี เป็นที่ยอมรับ แต่มุมมองจะต่างกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งยังยืนยันว่าหากอยากให้บ้านเมืองสงบ ควรต้องตัดประเด็นเรื่องให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติเสนอนิรโทษกรรมและอภัยโทษได้ออกไป”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง 'ทักษิณ' หมิ่นประมาท 7 ก.ย.

0
0
30 พ.ค. 2558 มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก  รับมอบอำนาจ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328  ซึ่งได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา 
 
คำฟ้องโจทก์สรุปว่าวันที่ 19 -20 พฤษภาคม 2558 จำเลย ได้ใส่ความโจทก์ว่า เป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และเป็นบุคคลที่ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ความจริง
 
จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ ถึงการเมืองในประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ผ่านยูทูปและสื่อออนไลน์ ซึ่งการกระทำนั้น ส่งผลให้ให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
 
ศาลอาญา รับคำฟ้องไว้ในสารบบคดีดำหมายเลข อ.1824/2558 ซึ่งศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 7 กันยายนนี้  เวลา 13.30 น. 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'วัชระ' เตรียมยื่น มทภ.1 เอาผิด 'ทักษิณ-สุรนันทน์' หมิ่นสถาบัน

0
0

30 พ.ค. 2558 ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่านายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เผยสัปดาห์หน้า เตรียมยื่นหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 1 ดำเนินการกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแปลออกมาเป็นหนังสือชื่อ "จับเข่าคุยทักษิณ ชินวัตร" หมิ่นสถาบัน กองทัพบก และศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังเคยยื่นเรื่องต่อกองบังคับการปราบปรามมานาน 1 ปี 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไทยอนุญาตสหรัฐบินเข้าน่านฟ้าไทยค้นหาเรือโรฮิงญา

0
0
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอนุญาตด้วยวาจาให้เครื่องบินของสหรัฐฯ บินลาดตระเวน เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลได้ แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของทางการไทย

 
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 ที่ผ่านมา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ขอบินเข้าน่านฟ้าไทย เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเล ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติด้วยวาจาว่าอนุญาตให้เครื่องบินของสหรัฐฯ บินลาดตระเวน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของทางการไทย และประสานกับผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย (ศอ.ยฐ.) ซึ่งมีกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นผู้ดูแล เบื้องต้นทราบว่าสหรัฐฯ ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ประเทศมาเลเซีย โดยได้แจ้งให้นายแพทริค เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยรับทราบแล้ว ซึ่งปฏิบัติการได้ทันที
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live