Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live

ธนาวิ โชติประดิษฐ: อาเศียรวาทสดุดี จิตวิญญาณของศิลปะในรัชกาลที่ 9

0
0

รายงานเสวนาวิชาการ 70  ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อศิลปะเป็นมีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ กับความเปลี่ยนแปลงเรื่องศิลปะของพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สวนเงินมีมา มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป จัดงานเสวนา ในหัวข้อ อาเศียรวาทสดุดี จิตวิญญาณของศิลปะในรัชกาลที่ 9  โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี ทั้งนี้ภายในงานหนาแน่นไปด้วยเพื่อนพ้องทั้งในแวดวงนักเขียน กวี และนักวิชาการ

 

ธนาวิ โชติประดิษฐ: อาเศียรวาทสดุดี จิตวิญญาณของศิลปะในรัชกาลที่ 9

ในช่วงต้น ธนาวิ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า อาเศียรวาทสดุดี ว่าคือการบูชาถวายพระพร ในส่วนศิลปะอาเศียรวาทสดุดีนั้นหมายถึงศิลปะที่ทำหน้าที่โฆษณา ชวนเชื่อ สรรเสริญ และต้องมีหน้าที่ชอบธรรมกับผู้ปกครองช่วยเสริมอำนาจและบารมี และรักษาภาพที่เป็นอยู่

ธนาวิ กล่าวว่าการบูชาถวายพระพร การให้เกรียติ การถวายพระเกียรติกลายมาเป็นปรากฏการทางศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 และเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่มากเมื่อเทียบกับวรรณกรรมจริงๆแล้วศิลปะไม่ใช่เครื่องสะท้อนสังคม แต่ศิลปะยังมีบทบาทมากกกว่านั้น คือเป็น กลไก (mechanism) เป็นบทบาทบางอย่างของสังคม มีบทบาทเป็นฝ่ายกระทำ (active)ให้สิ่งที่อยู่ในนั้นแสดงออกไปทางสังคมด้วย คือทำปฏิกิริยากับตัวบุคคลที่เข้าไปดู

ธนาวิ กล่าวต่อไป ในเชิงประวัติศาสตร์นั้น ทัศนศิลป์ หรืองานศิลปะในเชิงอาเศียรวาท ไม่ได้เป็นของเก่าที่มีมาแต่โบราณ แต่เป็นปรากฏการณ์สมัยใหม่  ทั้งนี้สิ่งที่มีมาแต่โบราณจริงๆนั้นคืองานอาเศียรวาทที่อยู่ในวรรณกรรมซึ่งสุจิตต์ วงศ์เทศ ได้เคยอธิบายไว้ว่า  วรรณกรรมเทิดพระเกียรติเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยากล่าวคือการแต่งวรรณกรรมประเภทนี้เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธ์อย่างหนึ่งของราชสำนัก  เป็นการบูชากษัตริย์เปรียบดังมหาเทพที่อวตาลลงมาปกครองอาณาจักรเนื่องจากความเชื่อที่ว่ากษัตริย์คือสมมุติเทพ

ธนาวิ ตั้งข้อสังเกตไปว่า ทัศนศิลป์ที่เป็นเชิงอาเศียรวาท กลับไม่ปรากฏในสยาม จนกระทั้งมีการติดต่อกับตะวันตกในศตวรรษที่ 20 เพราะว่าในสมัยโบราณมีความเชื่อที่ว่าการทำภาพเหมือนของคนที่มีชีวิตอยู่เป็นเรื่องต้องห้าม เพราะถ้ามีภาพเหมือนหรือรูปเหมือนของคนที่มีชีวิตอยู่จะทำให้อายุสั้น จนกระทั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ในยุคเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ จึงได้เปลี่ยนแปลงความคิดตรงนี้ไป  เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 4 เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ มีการถ่ายภาพ และยอมให้ช่างฝรั่งสร้างประติมากรรมเป็นรูปปั่นเล็ก รูปเหมือนของพระองค์เอง และยอมให้ช่างไทยในพระชาสำนักเขียนภาพของพระองค์ด้วย ซึ่งตรงนี้ได้กลายมาเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้กระบวนทัศน์ของภาพเหมือนเปลี่ยนไป  สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำเป็นคนเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดและวัฒนธรรม

ธนาวิ กล่าวต่อไปว่า นอกจากเหตุผลด้านความเชื่อที่ว่าการถ่ายภาพจะเป็นลางร้ายข้างต้นแล้ว  เนื่องจากว่าพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้เห็น นอกเสียจากจะเป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถึงจะสามารถมองเห็นได้ ราษฎร พสกนิกรไม่สมารถที่จะมองหน้าพระมหากษัตริย์ได้ ถ้าเมื่อไรพระมหากษัตริย์เสด็จผ่านเหล่าพสกนิกรจะต้องก้มหน้าลงไป สิ่งนี้ตอกย้ำว่าอำนาจของกษัตริย์เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเกินไป ไม่สามารถจับต้องได้แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับพสกนิกรเปลี่ยนไป คือ จากไม่มีภาพ เป็นมีภาพ จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ท่านมีการว่าจ้างช่างในยุโรปมาเขียนภาพบุคคลเหมือนจริง (portrait)  หรือท่านเสด็จไปให้จิตกรเขียนภาพเองที่ยุโรป แล้วก็เอาภาพถ่ายของเจ้านายพระองค์อื่นไปด้วย เพื่อให้ช่างในยุโรปเขียนภาพขึ้นมาแล้วเอามาตกแต่งพระราชวัง แต่ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่องานศิลปะที่แสดงแสนยานุภาพ มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะกรณีพระบรมรูปทรงม้า เป็นอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะของไทยแห่งแรก คือเป็นรูปของรัชกาลที่ 5 อยู่บนหลังม้า  เป็นงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะเทิดพระเกียรติคนที่เป็นแบบ  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจากพระมหากษัตริย์ที่อยู่ไกล จับต้องไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ เกินกว่าคนธรรมดาจะมองเห็น แต่กลายมาเป็นมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนมองเห็นได้ว่า นี้คือเจ้าของประเทศ นี้คือเจ้าของชีวิต

ธนาวิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2430 มีการพิมพ์หนังสือที่เหล่าบรรดาราษฎรสามารถเอาสิ่งนี้กลับบ้านได้ จะเห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ การพิมพ์ภาพถ่ายได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการเผยแพร่พระราชอำนาจออกไป

“จากสิ่งที่เตะต้องไม่ได้ กลายมาเป็นสามารถครอบครองได้จากภาพถ่าย สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้พระราชอำนาจลดลง แต่การที่แพร่ขยายออกไปมากขึ้น กลายเป็นวิธีการขยายอำนาจในอีกรูปแบบหนึ่งสื่อ Mass หรือการพิมพ์ซ้ำอะไรหลายๆไม่ได้ทำให้อำนาจของสิ่งนั้นลดลง แต่กลับเปลี่ยนแปลงวิธีการและวิธีการแพร่ขยายต่างหาก”ธนาวิ กล่าว

ธนาวิกล่าวว่าการถูกมองเห็นกลายมาเป็นกลไกที่สำคัญของการสสถาปนาทั้งอำนาจของผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างความชอบธรรม รวมทั้งเป็นการทำให้ความชอบธรรมนั้นดำรงอยู่  อีกอย่างหนึ่งเราจะเห็นว่ามันจะมีกฎเกณฑ์บางอย่างของภาพอยู่ ไม่ใช่ว่าใครจะไปถ่ายรูปแล้วในขบวนเสด็จแล้วนำมาเผยแพร่ได้ แต่จะมีหน่วยงานที่ทำการคัดเลือกภาพเหล่านี้อยู่ หมายความว่าภาพลักษณ์ก็เป็นสิ่งที่ถูกคัดกรองมา คือไม่ใช่ว่ารูปอะไรก็ได้ที่ถูกนำมาเผยแพร่ มีการคิดมาแล้ว เลือกมาแล้วว่ารูปอะไรจะถูกเผยแพร่

วิธีการที่ต้องปฏิบัติต่อภาพ มีทั้งในแง่ของกฎหมายและกฎทางวัฒนธรรม ในแง่ของวัฒนธรรมที่ผูกกับความเชื่อว่า อย่างเช่นที่ว่าการที่ไม่สามารถเหยียบลงบนเงินที่มีรูปของในหลวงได้ แม้จะไม่ใช่ตัวจริงแต่จะไปเหยียบไม่ได้ เพราะบางคนอาจจะมองว่าไม่ดี เป็นบาป

ศิลปะ กับอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์

ธนาวิ ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีของรัชกาลที่ 9 นั้นงานศิลปะแบบอาเศียรวาทสดุดีเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 2520 เป็นทศวรรษแห่งการดำรงตำแหน่งของ พลเอก เปรม ติณสูณสูลานนท์ จากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลานาน และเป็นทั้งองคมนตรีด้วยจึงเป็นทศวรรษที่มีการสร้างและเผยแพร่อุดมการณ์กษัตริย์นิยม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ ในส่วนของศิลปะนั้น ในปี 2525 เป็นช่วงที่มีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ200 ปี ฉลองทั้งการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และการตั้งราชวงศ์จักรี จึงมีคณะอนุกรรมการด้านพระมากษัตริย์ ได้จัดโครงการสร้างสรรค์ภาพจิตกรรมเฉลิมพระเกียติของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักกรี เป็นงานแรกที่มีการเชิญศิลปินชื่อดังจำนวนมากให้มาทำภาพเฉลิมพระเกียติ จำนวนทั้งหมด 110 ซึ่ง 80 ภาพ จาก 110 ภาพนั้นต่อมาก็มีการพิมพ์แจกด้วย

“มันมี step ของมันอยู่ว่าเมื่อคุณมีงานจิตกรรม ต่อมา คุณต้องนำงานจิตกรรมนั้นเพื่อให้มันเผยแพร่ออกไป และทำให้งานนั้นคงอยู่ชั่วกาลนาน”ธนาวิกล่าว

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้แล้วในปีเดียวกัน มีธนาคารกสิกรไทยได้จัดงานประกวด พู่กันทองฉลองกรุงรัตนโกสิทร์ 200 ปี เน้นในการเฉลิมพระเกียติพระมหากษัตริย์นอกจากนี้ยังมีการจัดนิเวศศิลป์ (Land Art) เทิดพระเกียรติ ภายใต้โครงการนิทานแผ่นดิน 9 ชิ้น เป็นโครงการจัดโดย พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นการเชิญศิลปินที่มีชื่อสียง 9คน ให้มาสร้าง Land Art 9 ชิ้น เพื่อให้เกิดศิลปะเฉลิมพระเกียรติ 

“เดิมที นิเวศศิลป์ หรือLand Art เริ่มต้นในอเมริกาในทศวรรษที่ 1960 เดิมเป็นการเคลื่อนไหวของศิลปะที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านการเป็นพาณิชย์หรือการค้างานศิลปะซึ่งไปค้านกับการทำงานศิลปะที่เป็นวัตถุที่สามารถซื้อขายได้ แต่ Land Artในไทยไม่ได้สื่อความหมายในลักษณะดังกล่าว แต่เป็นว่า Land Art ในไทยกลายเป็นเป็นการสนับสนุนสถาบันในไทยคือสถาบันพระมหากษัตริย์” ธนาวิกล่าว

ทั้งนี้ นิเวศศิลป์ทั้ง 9ชิ้น 9 ศิลปิน  9 จังหวัดประกอบไปด้วย

1.ดินน้ำลมตะวันพลังงานจากผักหญ้า หมินเวียนเปลียนกลับมารักษาโลกเรา โดย โดย นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ณ แปลงเกษตรสาธิต ไบโอดีเซลบางจาก จ. นครนายก

2.ทรัพย์ในดินงอกงาม สินในน้ำล่ำค่า อนุบาลเผ่าพันธุ์ปลารักษาป่าชายเลน  โดย ไพโรจน์ วังบอน บ้านเบร็ด ในจ. ตราด

3. ดินก่อกำเนิดปวงชีวิต น้ำหล่อเลี้ยงลิขิตสรรพสิ่งสองปัจจัยล่ำค่าที่แท้จริง คือรากฐานสำคัญยิ่ง ธ ทรงวางโดย ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

4.น้ำสาด ปลาสุขสันต์ กังหันชัยพัฒนา แหล่งน้ำล้วนล่ำต่า คือ มรรคราแห่งชีวิต โดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ เกาะยอ จ. สงขลา

5.ฝนหลวงห่วงใยไพร่ฟ้า ร่มเย็นทั่วหล้า ผาสุกทั่วแผ่นดิน โดย กมล ทัศนาญชลี สนามกีฬากรมทหารราบที่ 11 กรุงเทพมหานคร

6. พระเมตตาหยังรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืยนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน โดย ทวี รัชนีกร โรงแรมพันตา จ. ภูเก็ต

7.ข้าวเขียวชอุ่มเต็มนา ฝนฟ้าน้ำท่าสมบูรณ์ผลผลิตค้ำจุลปวงประชา โดย ปัญญา วิจินธนสาร ณ นาข้าวตำบลเมืองเก่า จ. สุโขทัย

8. ทำการใดไม่ท้อถอย ตามรอยพระยุคลบาท พระมหาชนกนาถ มหาราชแห่งความเพียร โดย สุริยานามวงศ์ ณ ไร่เชิญตะวันวัดป่าวิมุตตยาสัย จ. เชียงราย

9.ธรรมชาติรังสรรค์สมดุล ผู้คนดินฟ้าเกื้อกูล พูลสุขอย่างพอเพียง โดย ลาครินทร์ เครืออ่อน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ธนาวิกล่าวสรุปว่า งานศิลปะแบบอาเศียรวาทเป็นงานอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยเน้นย้ำความมีชีวิตดีของคนไทย ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกอย่างวนเวียนอยู่ตลอดเวลาและสรุปได้ด้วยพระบรมราโชวาทที่ว่า “ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”  ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวเชิงสัญลักษณ์แต่เป็นจริงในสำนึกของประชาชน โดยความสามารถของเหล่าบรรดาสื่อทั้งหลาย ถึงงานศิลปะจะไม่เป็นสื่อกระแสหลัก แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นในกระบวนการนี้ และจะเห็นว่าไม่ใช่เพียงภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นภาคเอกชนด้วย อย่างเช่น รางวัลพู่กันทอง ที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต่างพร้อมใจกันทำงานอาเศียรวาทนี้

“งานโฆษณาชวนเชื่อทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมันตอกย้ำความเชื่อความคิดที่มีอยู่แล้วในสังคม ไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่ว่า มันทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อมันมีเชื้ออะไรบางอย่างของสังคม และเป็นกลไกที่ทำให้เรา เป็นเราอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”ธนาวิกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์เยือนเชียงใหม่-ย้ำไทยเป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกมิได้-ขวานกับด้ามมีอยู่เท่านี้

0
0

อารักขาเข้ม พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดอยสุเทพ-เดินตลาดนัดศาลากลางเชียงใหม่ พร้อมขอประชาชนต่อไปเลือกรัฐบาลมีธรรมาภิบาล ย้ำไม่สืบทอดอำนาจ ใช้อำนาจสร้างสรรค์ ทุกอย่างเข้าสู่กฎหมาย ใครสู้ไม่ได้ก็ติดคุก ไทยเป็นรัฐเดี่ยว รธน.ไม่ให้แบ่งแยก ขวานกับด้ามมีแค่นี้ แล้วจะแยกกันไปไหน หลายประเทศแยกแล้วอยู่ไม่ได้ ยอมรับว่ารู้ตัวดีคนเชียงใหม่รักใคร ถึงจะเกลียดตนก็ไม่ว่า ขอให้รักประเทศให้มาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เยี่ยมชมตลาดนัดหน้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 29 มิ.ย. 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

เมื่อเย็นวานนี้ (29 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พร้อมคณะรัฐมนตรีเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติ จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ มีการถวายผ้าห่มพระธาตุ และอธิษฐานต่อพระธาตุดอยสุเทพ

 

ประเทศไทยแบ่งแยกมิได้ อย่าให้ใครมาชี้นำ - จะเกลียดผม ผมไม่ว่า ขอให้รักประเทศกว่ารักผม

โดยหลังการสักการะ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับที่วัดพระธาตุดอยสุเทพว่า "ผมมาทำให้ทุกคน ทำให้ทั้งประเทศ ทำให้ชาวเชียงใหม่ด้วย ก็ต้องเผื่อแผ่แบ่งปันคนอื่น เพราะว่าเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ เศรษฐกิจก็ดีอยู่แล้ว ก็จะจัดระเบียบให้ ด้านการลงทุน ด้านเศรษฐกิจต่างๆ ให้มันดีหน่อย คนก็จะมาเที่ยวเยอะขึ้น มันจะได้เผื่อแผ่แบ่งปันด้วย"

"เราประเทศเดียวแบ่งแยกกันมิได้ 77 จังหวัด ก็นึกถึงกันนะ เลิกทะเลาะเบาะแว้งกันนะ ได้ไหม อย่าให้ใครมาชี้นำ วันนี้เราต้องเดินหน้าประเทศด้วย ทุกคนเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ของตัวเอง ให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทุกคนจะได้เจริญๆ นะ ถ้าเรามีความสุข คนอื่นมีความทุกข์ เราก็ไม่ได้กุศล ไม่ได้บุญ ถ้าเรามีความสุขแล้ว แบ่งปันเขาบ้าง เราอาจได้ประโยชน์น้อยลง แต่คนอื่นเขาได้ด้วย คือกุศล เราอุตสาห์ขึ้นมาทำบุญทุกวัน ไทยพุทธก็คิดอย่างนั้นนะ อย่าให้ใครยุยงปลุกปั่นนะทุกอย่างเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม รู้ล่ะว่าท่านรักใคร จะเกลียดผม ผมก็ไม่ว่า รักประเทศชาติให้มากกว่ารักผม"

 

วันแรกลองเดินตลาดนัดหน้าศูนย์ราชการ ทหาร - ตำรวจอารักขาแน่น

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาที่ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมตลาดนัดชุมชนที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ราชการ ซึ่งจุดนี้มีทั้งตลาดธงฟ้า ราคาประหยัด ตลาดสินค้าการเกษตร กิจกรรมศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง โดยมีรายงานว่า นายนาวิน สินธุสอาด รอง ผวจ. เชียงใหม่และคณะ ลงตรวจอำนวยการพร้อมทั้งส่วนล่วงหน้ากระทรวงมหาดไทยและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อดูความเรียบร้อยในภาพรวมของตลาดนัด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีและคณะ จะใช้เวลาตรวจเยี่ยม ที่จุดนี้ประมาณ 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยโดยรอบ โดยข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ระบุว่า ใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 กองทัพภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดนของฝ่ายปกครองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เดินตรวจหาสิ่งแปลกปลอมเป็นระยะ

 

ย้ำอีกครั้งเราเป็นประเทศไทย มีกรุงรัตนโกสินทร์มา 200 กว่าปีแล้ว อย่าให้ถูกทำลายในยุคของเรา

โดยที่ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีทุกอย่างพร้อมในตัวของตัวเอง คือธรรมชาติ รอยยิ้ม ความรัก ผมเข้าใจท่านมีความรักต่อกัน คนเหนือด้วยกัน เราไม่ได้เป็นอาณาจักร มีอาณาจักรทิศเหนือ ทิศกลาง ทิศใต้ ทิศตะวันตก วันนี้เราเป็นประเทศไทย มีกรุงรัตนโกสินทร์มา 200 กว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้น 200 กว่าปีอย่าให้ต้องถูกทำลาย ลงในสมัยยุคของเรา แล้ววันหน้าลูกหลานท่านอยู่ไม่ได้ แล้วคนไทยที่ยังไม่ได้เกิดมาอีกเมื่อไหร่ ท่านจะใช้ให้หมดเลยหรือ ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำท่าใช้เกลี้ยงไปเลย ไม่ได้

 

ขอให้ประชาชนสร้างคุณธรรม-จริยธรรมในสังคม เลือกรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

ท่านต้องสร้างคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทยให้ได้ แล้วเลือกตั้งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลนะ อย่าให้มันเกิดขึ้นมาอีก ผมไม่ได้ว่าใคร ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม อย่าให้ใครมาชักจูง อย่าให้ใครมาโน้มน้าวโดยที่ไม่ฟังเหตุผล มันมีเหตุผลของมันอยู่แล้ว มีหลักฐานอยู่แล้ว ไม่มีความผิดอยู่แล้วถ้าไม่มีอะไร ผมไม่ใช่ศัตรูกับใครมาทั้งสิ้น ผมทำงานมากับทุกรัฐบาล เพราะฉะนั้นขอให้ท่านไว้วางใจข้าราชการซึ่งพยายามขับเคลื่อนให้มาสู่ความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน หลายเรื่องที่รัฐบาลสั่งมาอาจจะไปไม่ถึงท่าน ผมสั่งทุกวัน สั่งเป็นร้อยเป็นพันเรื่องมาแล้ว อาจจะติดขัดบ้าง ก็เดี๋ยวแก้กัน

 

จะช่วยคนทุกอาชีพ เผยตั้งงบประมาณขาดดุล เพราะต้องใช้หนี้รัฐบาลเก่า

ต่อไปนี้เราต้องดูแลคนทุกอาชีพ ทุกรายได้ ทำอย่างไรให้เกษตรกร ซึงเป็นกลุ่มหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ แต่ต้องให้ด้วยความถูกต้อง สร้างความเข้มแข็ง สร้างสหกรณ์การเกษตรเข้มแข็ง วิสาหกิจเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมา เพื่อไม่ให้ท่านเป็นเหยื่อ ไม่ใช่เหยื่อ ให้มีอำนาจต่อรองพ่อค้าคนกลางให้ได้ วันนี้ประเทศต้องเดินไป เศรษฐกิจข้ามชาติ เศรษฐกิจขนาดใหญ่ เศรษฐกิจขนาดกลาง ที่จะเชื่อมต่อกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, พม่า และเวียดนาม) รอบบ้านหรืออาเซียน เศรษฐกิจชุมชนท่านต้องแข็งแรงในแต่ละพื้นที่  แต่ละตำบล มีตลาดการค้าของตัวเอง จะได้ไม่ต้องไปซื้อของแพง ไม่ต้อง จะให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก จะหาสินค้าราคาถูกมาให้ใช้ แต่ต้องไม่มีผลกระทบกับกฎหมายใดๆ ต่างๆ ก็กำลังทำอยู่ คนรวยไม่ต้องซื้อนะ  พอมีขายให้คนจน คนรวยก็ซื้อด้วย เพราะฉะนั้นดูด้วย ใครใส่ทองเส้นใหญ่ไม่ให้ขาย รู้อยู่แล้วใครรวย ใครจน ถ้าพออยู่ได้คือคนที่อยู่ในฐานภาษี ใครไม่อยู่ในฐานเสียภาษีก็ยังจนทั้งนั้นแหละ รัฐบาลไม่มุ่งหมายจะเก็บภาษีใคร ต้องเข้มแข็งเสียก่อน ถึงจะเก็บภาษี ถ้าเราผลักดันออกนอกวงจรภาษี ประเทศชาติก็อยู่แค่นี้เอง ทุกวันนี้ตั้งงบประมาณไว้ 2,700,000 ล้านบาท เก็บได้ 2,300,000 ล้านบาท ขาดดุลไปแล้ว 400,000 ล้านบาท เพราะมันติดหนี้เก่า ต้องใช้หนี้เดิม เอาล่ะก็ไปหากันมา

เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ทุกภาคส่วน ภาคธุรกิจต่างประเทศ ในประเทศ ธุรกิจชุมชน ถ้าท่านไม่ร่วมมือ มันไปไม่ได้ ข้าราชการคนไหนไม่ดีบอกมา วันนี้ต้องไม่มีผลประโยชน์ ทุกคนต้องทำงานร่วมมือกัน เมื่อไหร่เศรษฐกิจดี ประชาชนดี กำนันผู้ใหญ่บ้านดี ข้าราชการดี นักการเมืองดี เมื่อนั้นประเทศเรามหาศาล แล้วเราจะมีรายได้ เงินเดือน ไม่ใช่ ได้ทีละ 2,000-3,000-4,000 ขอทีละ 500 ให้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะราคาสินค้าขึ้นรออยู่แล้ว ต้องให้เข้มแข็ง ผมใช้เวลาที่ผมอยู่ กำลังทำทุกอย่างให้ไม่ว่าจะเรื่องราคาสินค้าและการเจรจาต่างประเทศ

 

ย้ำไม่ได้บิดพลิ้วสืบทอดอำนาจ ใช้อำนาจสร้างสรรค์ ทุกอย่างเข้าสู่ระบบกฎหมาย ใครสู้ไม่ได้ก็ติดคุก

นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งด้วยว่า วันนี้บ้านเราเป็นแหล่งทรัพยากรดีที่สุดในอาเซียน โอกาสท่านมากสุดกว่าทุกประเทศในอาเซียน เป็นศูนย์กลางภูมิภาคเหล่านี้ อย่าทิ้งโอกาสเหล่านี้ด้วยความขัดแย้ง ท่านต้องสร้างเสถียรภาพ ใครชักชวนไปตีกันต้องเลิก ไม่เกิดประโยชน์ เลิกไปได้ ตีกันแล้วได้อะไร ไม่เห็นได้อะไรสักอย่าง ผมถือว่าคนไทยทั้งประเทศอยากให้ผมทำ ผมจะทำให้ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ ผมไม่ได้บิดพลิ้วอะไรเลยนะตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวทุกอย่าง ยังไม่ได้สืบทอดอำนาจใช้อำนาจทางอะไร อำนาจทางสร้างสรรค์ ยังไม่ได้ใช้อำนาจเชิงผลประโยชน์สักบาทเลย รังแกใครก็ไม่ได้รังแก ทุกอย่างเข้าสู่ระบบ ใครผิดว่าตามกฎหมาย สู้ได้สู้ไป สู้ไม่ได้ก็ติดคุก ก็แค่นั้นเอง หรือใครคิดว่ามันต้องไม่ติดคุก ต้องอภัยโทษ ให้หมดเลยหรือไง ต้องไปถามคนติดคุกที่เหลือด้วยว่าจะให้อภัยเขาหรือเปล่า ต้องให้ความเป็นธรรม คนทุกคน ให้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าจะใครก็แล้วแต่ วันนี้ต้องแก้ปัญหาไม่ให้มีความขัดแย้ง ให้มีเสถียรภาพ ประเทศใดที่มีเสถียรภาพ ประเทศนั้นจะเจริญที่สุดในเวลาอันใกล้นี้

 

ประเทศไทยมี 77 จังหวัด เป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกมิได้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้ว ใครทำผิดกฎหมาย

ตอนท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "มีใครจะถามบ้าง มาให้ถามแล้วไม่ถามนะเดี๋ยวเหอะ" นอกจากนี้กล่าวด้วยว่า "ประเทศไทยมี 77 จังหวัด เพราะเป็นประเทศไทย เพราะระบบการปกครองของเราเป็นแบบนั้น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เป็นรัฐเดี่ยวแบ่งแยกมิได้ ใครจะมาพูดให้ท่านแบ่งแยก เป็นไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญเขียนไว้แล้ว ใครทำสิ ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นอย่าบอกว่าทำไปแล้วไม่ผิด ผิดทั้งหมด แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ มีแค่นี้มีขวาน กับด้ามขวานแค่นี้ แล้วจะแยกกันไปไหน แยกไปแล้วจะสู้เขาได้ไหม วันนี้หลายประเทศแยกไปแล้วอยู่ไม่ได้สักประเทศหนึ่ง ค้าขายใครก็ไม่ได้ เพราะไม่เข้มแข็ง ประเทศแม่ก็ต้องมาอุ้มชูดูแล ก็เลยลากกันพังไปทั้งคู่ ทำไมเราต้องไปแบ่งอย่างนั้น การปกครองก็เป็นแบบนี้ การปกครองพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาแล้วระบอบประชาธิปไตยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ประชาชนมีส่วนร่วมเลือก ส.ส. เลือกผู้แทน เมื่อทำประชามติก็มาทำกับเขา เสนอการแก้ไขปัญหากับ ส.ส. ที่ท่านเลือกไป ให้เข้าช่องทางรัฐสภา อำนาจสามอำนาจไม่มีใครแยกไปจากท่านได้ เว้นคนบางคนแย่งไปจากท่าน ถ้าท่านไม่เข้มแข็งจะถูกแบ่งพรรคพวก แล้วคนได้ก็คือคนที่ได้ คนที่ไม่ได้คือไม่ได้แล้วทะเลาะกันเหมือนเดิม ท่านต้องเข้มแข็งนะครับ เลือกคนที่ดี มีธรรมาภิบาล หลายคนผมก็ทำให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง ใครล่ะมีรายชื่อก็สู้กันมา บ้านนี้ต้องอยู่ด้วยกฎหมาย ความเท่าเทียมจะมีได้ด้วยกฎหมาย ทำให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมด้านกฎหมาย ด้านอาชีพ ด้านรายได้ ตามขีดความสามารถที่เขามีอยู่ คือการเท่าเทียมด้วยกฎหมาย เพราะถ้าไม่มีกฎหมายก็มือใครยาวสาวได้สาวเอา ต้องเข้าใจเรื่องกฎหมายให้ถูก ไม่ได้เอากฎหมายไว้ให้ข้าราชการข่มขู่ท่าน"

ทั้งนี้หลังจากภารกิจที่ศูนย์ราชการ จ.เชียงใหม่ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองอาหารค่ำที่โรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท หรือ สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก ถ.ริมคลองชลประทาน ซึ่งเป็นสถานที่พักของคณะรัฐมนตรี

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กวีประชาไท: ที่เหยียบอยู่ก็ดาว

0
0

หยิบกล้องส่องมือป้องตาถามหาแสง 
เห็นดาวเรืองบ้างเหลืองเขียวบ้างแดงขาว
บ้างน้ำเงินบ้างใกล้ดับบ้างวับวาว 
หนทางยาวเอื้อมสุดแขนยังแสนไกล

มืดก็ดีดาวจะได้ฉายดวงเด่น  
ต้อเต็มตาก็ต้องเห็นลำแสงใส
จะขังดาวขังแต่ตัวมิใช่ใจ  
จะอยู่นอกหรืออยู่ในก็เป็นดาว

เด็ดดอกไม้ไหวสะเทือนดาราจักร 
แล้วใยยักษ์จึงเด็ดดวงอย่างโฉดฉาว
หรือหวังน้ำผึ้งหยดเดียวนองอาบดาว 
ลืมไปหรือว่าใต้เท้าก็ดาวดิน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: อิงอาทิตย์ดูดาว

0
0

 

ชะตากรรมดาวคนละดวง

ขณะที่รัฐบาลทหารจับกุม “ดาวดิน” 14 หนุ่มสาวนักศึกษาผู้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ด้อยอำนาจและโอกาสด้วยข้อหาชูป้ายต้านรัฐประหารเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน ในเวลาเดียวกันนั้น ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ประเทศญี่ปุ่น หนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจำนวนหลายพันคนรวมตัวกันชูป้ายประท้วงรัฐบาลอาเบะที่เสนอร่างกฎหมายความมั่นคงที่จะอนุญาตให้ญี่ปุ่นใช้สิทธิปฏิบัติการป้องกันตนเองร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจหมายถึงการนำประเทศเข้าสู่สงคราม

ขณะที่ดาวดินถูกส่งไปเรือนจำ หนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นยังสามารถดำเนินกิจกรรมแสดงออกทางความคิดต่อไปโดยขยายการชุมนุมไปยังชิบุยะอันเป็นย่านการค้ากลางกรุงโตเกียวเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา


ภาพการชุมนุมของนักศึกษาที่ชิบุยะ

ที่มาภาพ:www.asahi.com/articles/photo/AS20150627003020.html

ขณะที่การเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวนักศึกษาชาวไทยถูกตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลผู้เป็นคู่กรณีโดยตรงให้ความเห็นว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ที่ญี่ปุ่นไม่มีใครป้ายสีหนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น

สิ่งที่น่าจะเป็นจุดร่วมของหนุ่มสาวชาวไทยและชาวญี่ปุ่นคือ พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลที่ “ปิดปากฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาลและไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน” (คำพูดของนายโนบุคาสุ ฮอมมะ อายุ 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยทสึคุบะ; http://www.asahi.com/articles/ASH6W65XSH6WUTIL01K.html)


ดาวดินกับดาวครอบมงกุฎ

เมื่อดาวดินออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง สิ่งที่พวกเขาได้คือ การถูกจับกุม คุมขัง สถานภาพของพวกเขาภายหลังการเคลื่อนไหวยังคงเป็นนักศึกษา ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้อำนาจ

เมื่อทหารทำรัฐประหาร สิ่งที่พวกเขาได้คือ ลาภ ยศ อำนาจ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เงินเดือน 125,590 บาท/เดือน และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใน คสช. ได้เงินเดือน 119,920 บาท/เดือน ยศตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ และยังถืออำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44


อาทิตย์ใต้ดวงดาว

ถ้าการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดตกต่ำที่สุดของญี่ปุ่น ก็อาจจะกล่าวได้ว่าความตกต่ำนั้นเกิดขึ้นภายใต้การกุมอำนาจบริหารประเทศของนายทหาร


แล้วทหารขึ้นมาเรืองอำนาจได้อย่างไร?

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ลัทธิทหารนิยมในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 สภาวะสังคมและเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นมีลักษณะสำคัญคือ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาและสิ่งพิมพ์เผยแพร่กว้างขวาง ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองนำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมืองสำคัญคือการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองเติบโตโดยอิงกับอำนาจเก่าไม่มีฐานมวลชน (ใช้ฐานเสียงท้องถิ่นต่อรองอำนาจและตำแหน่งกับชนชั้นนำผู้กุมอำนาจ) มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน เช่น ข้อพิพาทระหว่างกรรมกร-นายทุน ผู้เช่าที่ดิน-เจ้าที่ดิน มีการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ ๆ (ดู เคนเนธ บี. ไพล์, สร้างคนสร้างชาติสไตล์ญี่ปุ่น, แปลโดย ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์, 2528, หน้า 184-236)

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า สังคมญี่ปุ่นอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลสะเทือนต่อการกระจุกตัวของอำนาจการเมือง นำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองเรียกร้องสิทธิจนเกิดการกระจายอำนาจการเมืองบางส่วนจากชนชั้นนำไปสู่ชนชั้นนำชายขอบที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าแทนมวลชน แต่ถึงกระนั้น การกระจายอำนาจดังกล่าวก็ยังไม่มากพอและรวดเร็วพอที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งมีผู้เสนอทางออกของสังคมญี่ปุ่นไว้ 2 ทางคือ หนึ่ง รัฐปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสถาบันสังคมและการเมืองซึ่งจะต้องออมชอมกับพลังใหม่ ๆ หรือสอง เพิ่มอำนาจให้แข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมและความคิดทางการเมือง (เคนเนธ บี. ไพล์, น. 197)

ซึ่งญี่ปุ่นเลือกที่จะเลือกการควบคุมและปราบปรามมากกว่ารอมชอมเปิดพื้นที่ให้พลังการเมืองใหม่มีที่ยืนในสังคม กองทัพจึงมีบทบาทมากและแข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ การปราบปรามผู้เห็นต่างไม่ว่าจะเป็น การยุบพรรคกสิกรกรรมาชีพ ยุบสหพันธ์เยาวชนกรรมาชนญี่ปุ่น ยุบสภาแรงงานญี่ปุ่น การจับกุมฝ่ายซ้ายครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1928 ปลุกกระแสลัทธิชาตินิยม โจมตีอุดมการณ์ที่แตกต่างว่าเป็นอุดมการณ์นำเข้าจากต่างประเทศไม่ใช่ของที่เหมาะสมกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการจับกุมคุมขังและลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีบุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คนถูกลอบสังหาร คือ นรม. ฮามากุจิ โอซาจิ ในปี ค.ศ. 1930 และ นรม. อินุไค ทสึโยชิ ในปี ค.ศ. 1932

การที่กองทัพมีอำนาจเหนือพลเรือนทำให้งบประมาณกองทัพเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บางปีงบประมาณกองทัพสูงถึงร้อยละ 75 ของงบประมาณประเทศ กองทัพเป็นผู้นำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามหลายครั้ง ทั้งการเข้ายึดครองแมนจูเรียและตั้งรัฐทดลองแมนจูกัวในปี ค.ศ. 1932 การยิงต่อสู้กับทหารจีนที่สะพานมาร์โคโปโลในปี ค.ศ. 1937 ไปจนถึงการนำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 การปกครองโดยทหารปิดฉากลงโดยญี่ปุ่นแพ้สงครามและตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐฯ


อาทิตย์เลือกดาว

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ปลอดทหารแม้ว่าจะประสบปัญหาการคอร์รัปชั่นจากภาคการเมืองมาโดยตลอดแต่ก็สามารถฟื้นฟูประเทศจากประเทศผู้แพ้สงครามมาเป็นประเทศพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกภายในเวลาเพียง 3 ทศวรรษนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญสันติภาพที่ประกาศสละสิทธิในการใช้สงครามเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจะถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยึดครองแต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็แสดงออกอย่างแข็งขันตลอดมาว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่พวกเขาเลือกเช่นเดียวกันกับหนุ่มสาวนักศึกษาที่แสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายที่อาจจะนำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามในครั้งนี้

ญี่ปุ่นเลือกฝากอนาคตของประเทศไว้กับหนุ่มสาวดาวบนดินมากกว่านายพลดาวครอบมงกุฏ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์แล้วหนุ่มสาวเช่นดาวดินต่างหากที่เป็นผู้พาประเทศไปสู่อนาคตมิใช่นายพลชราทั้งหลาย 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียูออกแถลงการณ์กรณีจับ 14 น.ศ.ระบุเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล จี้ไทยปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ

0
0

30 มิ.ย.2558 สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์เป็นภาษาไทยและอังกฤษ ถึงกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ระบุว่า “เป็นพัฒนาการที่น่ากังวล” และเรียกร้องทางการไทยปฏิบัติตามพันธะของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และไม่ควรนำศาลทหารมาใช้กับพลเรือน

..................

 

 

(English below)แถลงการณ์จากสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงก...

Posted by European Union in Thailand on Monday, June 29, 2015

 

 

แถลงการณ์จากสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ฉบับนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

กรุงเทพฯ 30 มิถุนายน 2558 – การจับกุมนักศึกษาจำนวน 14 คน จากข้อหาที่ถูกตั้งขึ้นอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างสันติของพวกเขาในวันที่ 22 พฤษภาคมเป็นพัฒนาการที่น่ากังวล

สหภาพยุโรปมีความเชื่อในสิทธิของคนทุกคนในการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างสันติและขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการไทยปฏิบัติตามข้อผูกพันของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง การเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะต้องได้รับการค้ำชูและศาลทหารไม่ควรถูกนำมาใช้กับพลเรือน

* * * * * * * * * *

Local EU Statement

The European Union Delegation issues the following statement in agreement with the EU Heads of Mission in Thailand

Bangkok, 30 June 2015 – The arrests of 14 students on the basis of charges brought against them for peacefully demonstrating on 22 May is a disturbing development.

The EU believes in the right of all to express peacefully their opinions and calls upon the Thai authorities to abide by Thailand's obligations under the International Covenant on Civil and Political Rights. Respect for human rights and fundamental freedoms must be upheld, and military courts should not be used to try civilians.

* * * * * * * * * *

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักศึกษาไทย ม.วิสคอนซินจัดกิจกรรม #FreeThai14

0
0

กลุ่มนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ผุดแฮชแท็ก #FreeThai14 และ #FreeThe14 รณรงค์ปล่อยตัวนักกิจกรรม-นักศึกษา ซึ่งถูกฝากขัง หลังตร.สั่งฟ้องศาลทหาร ฐานฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.-ม.116 


29 มิ.ย. 2558 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา กลุ่มนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) จัดกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จำนวน 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ระบุ นักศึกษาถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. อย่างสันติ เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และเรียกร้องให้ รัฐบาล คสช. ลงจากอำนาจ และคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชน โดยรณรงค์ให้ใช้แฮชแท็ก #FreeThai14 และ #FreeThe14 ในโซเชียลมีเดีย เพื่อเผยแพร่ปัญหาวิกฤติสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยต่อไป

บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนนักศึกษาไทยที่จัดกิจกรรม กล่าวถึงกิจกรรมว่า วันนี้พวกเราคนไทยที่อยู่ที่เมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน ต้องการรณรงค์เพื่อให้ปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมที่เมืองไทยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เราอยากบอกกับน้องๆ นักศึกษาและสังคมไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้ในสังคมโลก กิจกรรมของเราก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาที่นี่เป็นอย่างดี

"ด้วยจิตคารวะต่อนักศึกษาทั้ง 14 ท่าน ที่ยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยและเอาตัวเองเข้าเสี่ยงขนาดนี้ เราเห็นภาพนักศึกษาถูกจับ เห็นภาพคนไปเยี่ยมแล้ว คิดว่าการที่เราอยู่ไกลก็ไม่น่าจะเป็นข้อจำกัดในการร่วมต่อสู้กับนักศึกษา” บุญเลิศกล่าวและว่า สิ่งที่ทำวันนี้ นอกจากป้ายข้อความเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและเรียกร้องให้ ค.ส.ช.ลงจากอำนาจแล้ว ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยแก่ชาวเมืองแมดิสันที่สนใจอีกด้วย ซึ่งก็ได้รับความสนใจอย่างมาก ผู้ที่เข้าร่วมรณรงค์กับเราต่างไม่เห็นด้วยกับการจับกุมนักศึกษาครั้งนี้อย่างมากเพราะเป็นเรื่องไร้เหตุผลที่คนจะถูกคุมขังเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ

"สำหรับคนที่คิดว่านักศึกษาไม่ควรออกมาทำกิจกรรม ควรจะมุ่งเรียนหนังสืออย่างเดียวเพื่อจบไปทำงานเพื่อตัวเอง วิธีคิดแบบนี้เป็นแบบที่พวกชนชั้นนำปลูกฝังเรามานะครับ เพื่อไม่ให้มีการโต้แย้งและตั้งคำถาม ที่จริงนักศึกษาควรเป็นกองหน้า พวกเขาจะอ่อนไหวกับความไม่เป็นธรรมในสังคม และมีพลังเร่าร้อนของหนุ่มสาวที่จะต่อสู้ บางคนแม้จะมีหลักการแต่ก็ไม่มีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวพอ นักศึกษาทั้ง 14 คนเป็นตัวอย่างที่เราต้องนับถือ”

"ผมคิดว่า การคิดว่าสังคมที่สงบต้องไม่มีการแสดงออกทางการเมืองนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ เพราะมันเป็นเพียงความสงบชั่วคราวใต้ท็อปบูท ใต้ระบอบปกครองที่ทหารเอาปืนจ่อหัวประชาชนเท่านั้น คนที่เดือดร้อนก็แค่ถูกกดไว้เท่านั้น ถึงเวลาก็จะระเบิดขึ้นมา นักศึกษาดาวดินเป็นตัวอย่างที่สำคัญนะครับ ที่เชื่อมโยงให้เห็นว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการมันแย่กว่าภายใต้ประชาธิปไตยอย่างไร

"ผมว่ามันเลยขีดความอดทนมามากแล้ว เราจะต้องส่งสัญญาณอย่างสำคัญว่า เราอยู่ใต้เผด็จการไม่ได้อีกแล้ว ไม่ใช่ว่ามาปล้นประชาธิปไตยไปแล้วยังเอาปืนมาจ่อหัวไม่ให้เราพูดอีก ประชาธิปไตยเป็นของเรานะครับ ไม่ใช่สิ่งที่รอให้เขาเอามาให้ เราต้องออกมาทวงคืนครับ ผมเป็นนักศึกษาในช่วงรัฐประหาร กุมภาฯ 2534 นะครับ ตอนนั้นรัฐประหาร ผ่านไป 6 เดือน เราจัดสัมมนาได้แล้ว แต่คราวนี้ผ่านมาเป็นปีแล้ว เรายังถูกห้ามอยู่เลย เราทนไม่ได้ที่จะต้องเห็นนักศึกษาที่มีความกล้า มีจิตใจที่ดี และมีอนาคต ต้องมาถูกกุมขังทั้งที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เคยคิดมาก่อนว่าสังคมไทยจะถอยหลังได้ขนาดนี้ ผมเกิดไม่ทันเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ไม่นึกว่าจะได้มาเจอสถานการณ์ที่ลิดรอนสิทธิ ปิดปากประชาชนอย่างตอนนั้นในสมัยนี้

"ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงนะครับ ทุกคนก็มีขีดจำกัดในการแสดงออก ผมเคารพสิทธิและเหตุผลของทุกคน แต่เราก็น่าจะทำอะไรที่เราทำได้ นักศึกษาทั้ง 14 คน เขาเสี่ยงชีวิตมากนะครับ เราเสี่ยงแค่นิดเดียว ถ้ายังกลัวเป็นที่จับตาก็ต้องก้าวออกมาพร้อมๆ กันครับ คุกขังคนเป็นหมื่นๆ ไม่ได้หรอกครับ” บุญเลิศกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การต่อสู้ยังไม่จบ เกิดข้อถกเถียงในสหรัฐฯ หลังศาลไฟเขียวแต่งงานคนรักเพศเดียวกัน

0
0

หลังศาลสูงสุดตัดสินคดีพลิกหน้าประวัติศาสตร์คนรักเพศเดียวกันในสหรัฐฯ ก็เกิดข้อโต้แย้งตามมาว่าคำตัดสินของศาลทางการกลางละเมิดอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ และเจ้าหน้าที่หรือนักบวชที่ยึดหลักศาสนาของตนสามารถปฏิเสธการจดทะเบียนหรือการจัดพิธีแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันได้หรือไม่

29 มิ.ย. 2558 จากกรณีคำตัดสินของศาลในคดีที่ให้มีการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันครอบคลุมทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา เคน แพกตัน อัยการสูงสุดของรัฐเท็กซัสและแดน แพทริก รองผู้ว่าการรัฐ เขียนในจดหมายระบุว่าคำตัดสินของศาลไม่ได้มีผลเหนือ "สิทธิในการนับถือศาสนา" ทำให้พนักงานรัฐสามารถปฏิเสธจะออกใบทะเบียนสมรสหรือปฏิเสธจัดพิธีแต่งงานให้กับคนรักเพศเดียวกันได้ถ้าหากขัดต่อหลักศาสนาของพวกเขา

คำตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ในคดี Obergefell v. Hodges มีการที่ศาลอ้างบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 14 ซึ่งระบุถึงสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้คู่รักเพศเดียวกันในรัฐโอไฮโอที่จดทะเบียนสมรสจากรัฐอื่นจะต้องได้รับการยอมรับในฐานะคู่สมรสในรัฐที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วย

ถึงแม้ว่าคำตัดสินนี้จะทำให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันรู้สึกยินดีเนื่องจากถือเป็นการยอมรับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันทั่วสหรัฐฯ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลและคาดว่าจะมีการคัดค้านโดยอ้างสิทธิในการนับถือศาสนาซึ่งมีรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เช่นกัน

ในสื่ออลาบามาพับลิกเรดิโอระบุว่ากลุ่มผู้ต่อต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมีแผนการผลักดันผ่านสภาของรัฐให้ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ประกอบการธุรกิจให้พวกเขามีสิทธิปฏิเสธจะให้บริการแก่คู่รักเพศเดียวกันได้ ทั้งนี้ยังมีการตีความคำตัดสินของศาลโดย มาร์ซี ฮามิลตัน นักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเยชีวาซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชาวยิวในนิวยอร์ก ซึ่งเธออ้างว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดมีการงดเว้นโบสถ์และนักบวชให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหากไม่ต้องการบริการคู่รักเพศเดียวกัน

นอกจากนี้กลุ่มผู้ต่อต้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกำลังตั้งเป้าหมายให้รัฐสภาสหรัฐฯ ออกกฎหมายคุ้มครองบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ซึ่งระบุห้ามไม่ให้รัฐสภาออกกฎหมายที่เป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย

หนึ่งในผู้พิพากษาคดี Obergefell v. Hodges ชื่อแอนโธนี เคนเนดี ระบุไว้ในคำตัดสินว่า กลุ่มศาสนายังคงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันได้ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1

"บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 1 รับรองสิทธิขององค์กรและบุคคลที่นับถือศาสนาให้ได้รับการคุ้มครองตามความเหมาะสมในการที่พวกเขาจะสอนหลักคำสอนที่เป็นสิ่งเติมเต็ม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางชีวิตและศรัทธาของพวกเขา รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาดำรงโครงสร้างครอบครัวในแบบที่พวกเขาเชิดชูมานาน" เคนเนดีระบุในคำพิพากษา

อย่างไรก็ตามในบางท้องถิ่นเช่น เทศมณฑลทัสคาลูซา ในรัฐอลาบามาซึ่งเป็นรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเริ่มตอบรับคำตัดสินของศาลสูงสุดด้วยการออกทะเบียนสมรสให้กับคู่รักเพศเดียวกันแล้ว

ในขณะที่ผู้พิพากษาศาลพินัยกรรม ฮาร์ดี แมคคอลลัม โต้แย้งว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นการละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและศาล อีกทั้งยังเป็นการละเมิดระบอบสหพันธรัฐที่เกี่ยวข้องกับอำนาจระหว่างแต่ละรัฐกับรัฐบาลกลาง

แต่แรนดัล มาร์แชลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันในรัฐอลาบามากล่าวโต้แย้งว่าการที่ศาลแขวงประกาศห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญของรัฐบาลกลาง

แพกตัน อัยการสูงสุดของรัฐเท็กซัสระบุในจดหมายว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องให้บริการในการสมรสถ้าหากขัดต่อความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา แต่การปฏิเสธให้บริการก็ไม่ได้หมายความว่าคู่รักเพศเดียวกันจะไม่มีสิทธิจะจัดพิธีสมรสตราบใดที่พวกเขามีเจ้าหน้าที่หรือนักบวชคนอื่นที่เต็มใจจะให้บริการพวกเขา

 

เรียบเรียงจาก

Texas Attorney General Claims Limits on Gay Marriage Ruling, Voice of America, 29-06-2015
http://www.voanews.com/content/texas-attorney-general-backs-religious-rights-of-clerks-judges/2841231.html

For Same-Sex Marriage Opponents, The Fight Is Far From Over, Alabama Public Radio, 27-06-2015
http://apr.org/post/same-sex-marriage-opponents-fight-far-over

Equality in Alabama? Same-Sex Marriage Reactions, Alabama Public Radio
http://apr.org/post/equality-alabama-same-sex-marriage-reactions

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

281 อาจารย์มหาวิทยาลัยลงชื่อเรียกร้องปล่อย 14 น.ศ-ยุติดำเนินคดี

0
0

30 มิ.ย. 2558 หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านแถลงการณ์ในนามเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 น.ศ. ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้มีการตั้งข้อหา หรือดำเนินคดี ระบุการจับกุมคุมขังนักศึกษาจำนวน 14 คนด้วยข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมเพราะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น

 

รายละเอียดมีดังนี้ 

แถลงการณ์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
ฉบับที่ 1

สังคมไทยสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์หลายด้านและหนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เพราะพ้นจากครอบครัวและผู้ให้กำเนิดแล้ว สถานศึกษาและครูบาอาจารย์คือสถานที่และบุคคลที่มีส่วนในการบ่มเพาะขัดเกลาสมาชิกของสังคม สังคมจะเป็นอย่างไรส่วนหนึ่งขึ้นกับรูปแบบและวิธีการเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะการค้นคว้าตำราหรือว่ากิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียน หากแต่หมายรวมถึงกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและสิ่งที่อยู่พ้นห้องเรียนออกไป

การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษาโดยเฉพาะในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมานับเป็นกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียนที่สำคัญประการหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในสังคมประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล นักเรียน นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ไม่ได้ละเลยหน้าที่ในการเรียนรู้ของตนตามที่บางฝ่ายกล่าวหา และขณะเดียวกันพวกเขาได้แสดงบทบาทในครรลองของสังคมประชาธิปไตยอย่างกล้าหาญ เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เพียงแต่จะสอดรับกับหลักการและทฤษฎีอันเป็นสากล หากแต่ยังสอดคล้องกับหลักกฎหมายที่นานาอารยะประเทศให้การรับรอง จะมีก็แต่เผด็จการที่หวาดกลัวเสรีภาพในการเรียนรู้และการแสดงความเห็นต่างของพลเมืองเท่านั้นที่เห็นการเคลื่อนไหวของพวกเขาเป็นสิ่งผิดหรือเป็นอันตรายจนกระทั่งต้องใช้อำนาจดิบหยาบและกฎหมายป่าเถื่อนเข้ายับยั้งปราบปราม

ในฐานะครูบาอาจารย์ผู้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ที่มีต่อศิษย์และสังคม พวกเราเห็นว่าการจับกุมคุมขังนักศึกษาจำนวน 14 คนด้วยข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบธรรมเพราะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น จึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้มีการตั้งข้อหาหรือว่าดำเนินคดีกับพวกเขาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว
ประการสำคัญ พวกเราจะส่งเสริมและให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยนอกห้องเรียนของนักศึกษาเหล่านี้ในรูปแบบและวิธีการต่างๆ ต่อไปจนกว่าจะสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง
30 มิถุนายน 2558


รายชื่อผู้ร่วมลงนาม
แถลงการณ์จากเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ฉบับที่ 1

1. กนกรัตน์ สถิตนิรามัย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
2. กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
3. กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล ม.ธรรมศาสตร์
4. กฤษฎา บุญชัย คณะรัฐศาสตร์ ม.ราชภัฎมหาสารคาม
5. กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
6. กิตติ วิสารกาญจน สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี
7. เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
8. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
9. กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
10. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ม.เชียงใหม่
11. กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
12. กุลธีร์ บรรจุแก้ว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
13. กฤษณ์พชร โสมณวัตร ม.เชียงใหม่
14. ขนิษฐา กีรติภัทรกาญจน์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช
15. ขวัญชีวัน บัวแดง ม.เชียงใหม่
16.  ขรรค์เพชร ชายทวีป คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
17. คารินา โชติรวี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
18. เคท ครั้งพิบูลย์
19. คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
20. คงกฤช ไตรยวงค์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
21. คมลักษณ์ ไชยยะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
22. คอลิด มิดำ คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา
23. คำแหง วิสุทธางกูร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
24. จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
25. จิรธร สกุลวัฒนะ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
26. จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
27. จิราภรณ์ สมิธ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
28. จิรสิริ เกษมสินธุ์ วิเวกเมธากร คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล
29. จักรกริช สังขมณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
30. จักเรศ อิฐรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
31. จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
32. จันจิรา สมบัติพูนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
33. จันทรา ธนะวัฒนวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
34. ชลิตา บัณฑุวงศ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
35. ชลัท ศานติวรางคณา สถาบันโภชนาการ ม. มหิดล
36. ชานนท์ ไชยทองดี คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ
37. ชานันท์ ยอดหงส์
38. ชาญชัย ชัยสุขโกศล ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล
39. ชาญณรงค์ บุญหนุน ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
40. ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
41. ชินทาโร ฮารา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
42. ชัชวาล ปุญปัน อดีตอาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
43. ชัยพงษ์ สำเนียง สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ม.เชียงใหม่
44. ชัยวัฒน์ มีสันฐาน คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
45. เชษฐา ทรัพย์เย็น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ธนบุรี
46. เชษฐา พวงหัตถ์ นักวิชาการอิสระ
47. เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
48. ชำนาญ จันทร์เรือง
49. ไชยันต์ รัชชกูล
50. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
51. ซัมซู สาอุ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
52. ณภัค เสรีรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
53. ณัฐกานต์ อัครพงษ์พิศักดิ์ ม.มหาสารคาม
54.  ณัฐกร วิทิตานนท์ ม.เชียงใหม่
55. ณัฐนันท์ คุณมาศ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
56. ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
57. ณรุจน์ วศินปิยมงคล คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
58. ฐิติรัตน์ สุวรรณสม ม.นเรศวร
59. ฐิติพงษ์ ด้วงคง คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
60.  ฐิติชญาน์ ศรแก้ว คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
62. ฐานิดา บุญวรรโณ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
63. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร
64. ดารารัตน์ คำเป็ง คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา
65. เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
66.  เดชา ตั้งสีฟ้า คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
67. เดโชพล เหมนาไลย ภาควิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
68. ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
69. ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
70. ตฤณ ไอยะรา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
71. ตามไท ดิลกวิทยรัตน์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
72. ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
73. ทิพสุดา ญาณาภิรัต ม.มหาสารคาม
74.  ทับทิม ทับทิม
75. ทัศนัย เศรษฐเสรี สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ม.เชียงใหม่
76. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
77. เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล
78. ธนาวิ โชติประดิษฐ
79. ธนรรถวร จตุรงควาณิช คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
80. ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
81. ธนศักดิ์ สายจำปา สาขาวิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
82. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ  วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์  ม.ธรรมศาสตร์
83.  ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ
84. ธิกานต์ ศรีนารา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
85. ธิติญา เหล่าอัน คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏเลย
86. ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
87. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
88. ธีรวัฒน์ ทัศนภิรมย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล
89. ธัญญธร สายปัญญา คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
90. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
91. นวัต เลิศแสวงกิจ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
92. นภิสา ไวฑูรเกียรติ ม.นเรศวร
93. นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
94. นภาพร อติวนิชยพงศ์ ม.ธรรมศาสตร์
95. นฤมล กล้าทุกวัน สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
96. นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
97. นาตยา อยู่คง ภาควิชาสังคมศาสตร์ ม.ศิลปากร
98. นิติ ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 
99. นิธิ เนื่องจำนง ม.นเรศวร
100. นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์
101. เนตรดาว เถาถวิล สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
102. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่
103. นพพร ขุนค้า รัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฎราชนครินทร์
104. เนาวรัตน์ ปฏิพัทธ์ภักดี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
105. นันทนุช อุดมละมุล คณะมนุษยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
106. บาหยัน อิ่มสำราญ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
107. บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
108. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
109. บูรณจิตร แก้วศรีมล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
110. บัณฑิต ไกรวิจิตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
111. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
112. บัณฑูร ราชมณี คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
113. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
114. แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์การศึกษาราชบุรี
115. ปฐม ตาคะนานันท์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง
116. ปฐวี โชติอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
117. ปฐมพงศ์ มโนหาญ นวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง
118. ปิยชาติ สึงตี ม.วลัยลักษณ์
119. ปิยะมาศ ทัพมงคล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
120. ปิง วิชัยดิษฐ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
121. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ม.เชียงใหม่
122. ประกาศ สว่างโชติ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
123. ประทับจิต นีละไพจิตร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
124. ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
125. ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
126.  ประยุทธ สายต่อเนื่อง
127. ปราโมทย์ ระวิน สาชาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
128. ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
129. ปรีดี หงษ์สต้น คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
130. ปุรินทร์ นาคสิงห์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
131. ปูรณ์ ขวัญสุวรรณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
132. ปฤณ เทพนรินทร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
133. ปวลักขิ์ สุรัสวดี คณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล
134. ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
135.  พกุล แองเกอร์
136. พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์  Weatherhead East Asia Institute ม.โคลัมเบีย
137. พงษ์ศักดิ์ รัตนวงศ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
138. พจนก กาญจนจันทร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
139. พนิดา อนันตนาคม คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
140. พศุตม์ ลาศุขะ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
141. พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
142. พิชามญชุ์ ทิพยพัฒนกุล ม.วลัยลักษณ์
143. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
144. พิรงรอง รามสูตร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
145. พิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
146. พิสิษฏ์ นาสี ม.เชียงใหม่
147. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
148. พิมพ์ปฏิมา นเรศศิริกุล สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
149. พรณี เจริญสมจิตร์ เกษียณจากภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
150. พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
151. พันธุ์พิพิธ พิพิธพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
152. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
153. ไพรินทร์ กะทิพรมราช คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
154. ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คณะดนตรีและการแสดง ม.บูรพา
155. แพร จิตติพลังศรี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
156. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
157. เพียงกมล มานะรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
158. ภาสกร อินทุมาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ม.มหิดล
159. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง
160. ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปล/นักวิชาการอิสระ
161. มิกด๊าด วงศ์เสนาอารี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
162. มิเชล ตัน คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
163. มูนีเราะฮ์ ยีดำ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
164. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
165. เมธาวี โหละสุต คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
166. มนวัธน์ พรหมรัตน์ ม. วลัยลักษณ์
167. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
168. ยอดพล เทพสิทธา คณธนิติศาสตร์ ม.นเรศวร
169. รชฏ นุเสน ม.ราชภัฏเชียงใหม่
170. รชฎ สาตราวุธ ภาควิชาปรัชญา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
171. ราม ประสานศักดิ์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
172. รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
173. ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
174. วราภรณ์ เรืองศรี ม.เชียงใหม่
175. วศิน โกมุท คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
176. วศินรัฐ นวลศิริ คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
177. วัชรพล พุทธรักษา คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร
178. วัชรพล ศุภจักรวัฒนา ม.นเรศวร
179. วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
180. วาสนา ละอองปลิว ม.ธรรมศาสตร์
181. วิจักขณ์ พานิช
182. วิเชียร อินทะสี ม.นเรศวร
183. วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
184. วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
185. วิริยะ สว่างโชติ
186. วิภา ดาวมณี อดีตอาจารย์ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์
187.  วิภาวี พงษ์ปิ่น คณะสังคมวิทยาและสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
188. วิมลสิริ เหมทานนท์ วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล
189. วิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
190. วิลลา วิลัยทอง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
191. วิศิษย์ ปิ่นทองวิชัยกุล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏจันทรเกษม
192. วิศรุต พึ่งสุนทร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
193. วีรบูรณ์ วิสารทสกุล ม.ธรรมศาสตร์
194. เวลา กัลหโสภา บริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่
195. วรรณภา ลีระศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่
196. วรรณวิภางคฺ์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
197. วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่
198. วรยุทธ ศรีวรกุล
199. เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ วิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์
200. เวียงรัฐ เนติโพธิ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ
201. ศักรินทร์ ณ น่าน
202. ศาสวัต บุญศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
203. ศรีประภา เพชรมีศรี สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
204. ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ภาควิชาสื่อ ศิลปะ และการออกแบบ คณะวิจิตศิลป์ ม.เชียงใหม่
205. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
206. ศศิธร จันทโรทัย ม.นเรศวร
207. ศศิประภา จันทะวงศ์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
209. ศุทธิกานต์ มีจั่น วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
210. ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
211. โศภิต ชีวะพานิชย์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
212. สักรินทร์ แซ่ภู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม
213. สันติชัย ปรีชาบุญฤทธิ์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
214. เสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
215. สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์
216. สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
217. สายัณห์ แดงกลม คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
218. สิริจิต สุนันต๊ะ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม. มหิดล
219. สิเรมอร อัศวพรหมธาดา รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
220. สถิตย์ ลีลาถาวรชัย ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร
221. สิทธารถ ศรีโคตร ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
222. สุชาติ เศรษฐมาลินี สาขาวิชาสันติศึกษา ม.พายัพ
223. สุธาทิพย์ โมราลาย
224. สุภัทรา น.วรรณพิณ อดีตอาจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
225. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
226. สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
227. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
228. สุปรียา หวังพัชรพล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
229. สุรพศ ทวีศักดิ์ ม.ราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน
230. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
231. สุรินทร์ อ้นพรม คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
232. สุรัช คมพจน์ หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
233. สุไรนี สายนุ้ย คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
234. สุวนันทน์ อินมณี ม.นเรศวร
235. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
236. สร้อยมาศ รุ่งมณี ม.ธรรมศาสตร์
237. สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ
238. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
239. เสนาะ เจริญพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
240. เสาวณิต จุลวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
241. เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
242. อนุสรณ์ ชัยอักษรเวช สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
243. อนุสรณ์ ติปยานนท์ ม.เชียงใหม่
244. อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
245. อมต จันทรังษี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
246. อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
247. อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
248. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
249. อภิญญา เวชยชัย คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
250. อภัยชนม์ สัจจะพัฒนกุล สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม
251. อภิราดี จันทร์แสง ม.มหาสารคาม
252. อรัญญา ศิริผล ม.เชียงใหม่
253. อลิสา หะสาเมาะ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
254. อาจิณ โจนาธาน อาจิณกิจ มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎราชนครินทร์
255. อาทิตย์ ทองอินทร์ ม.รังสิต
256. อาทิตย์ พงษ์พานิช ม.นเรศวร
257. อาทิตย์ ศรีจันทร์
258.  อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
259. อิทธิพล จึงวัฒนาวงค์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
260. อิสระ ชูศรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล
261. อิสราภรณ์ พิศสะอาด ม.เชียงใหม่
262. อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล ม.สุโขทัยธรรมาธิราช
263. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
264. เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร
265. เอกรินทร์ ต่วนศิริ รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
266. เอกสุดา สิงห์ลำพอง คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
267. เอกฤทัย ฉัตรชัยเดช มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์
268. อุเชนทร์ เชียงเสน หลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
269. อุบลวรรณ มูลกัณฑา คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ
270. อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์
271.  อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ม.นเรศวร
272. อรภัคค รัฐผาไท อดีตอาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่
273. อรอนงค์ ทิพย์พิมล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
274. อัจฉราวรรณ บุรีภักดี สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม ม.เทคโนโลยีสุรนารี
275. อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ม.นเรศวร
276. อันธิฌา แสงชัย ภาควิชาปรัชญาและศาสนา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
277. อัมพร หมาดเด็น สำนักวิชาศิลปศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์
278. อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
279. อรรถพล อนันตวรสกุล ครุศาสตร์ จุฬาฯ
280. อนรรฆ สมพงษ์ ครุศาสตร์ ม.ราชภัฏสกลนคร
281. Philip Hirsch, Department of Human Geography,  U. of Sydney

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์: เพื่อนนักศึกษาและเพื่อนนักกิจกรรมที่รัก

0
0

เพื่อนนักศึกษาและเพื่อนนักกิจกรรมที่รัก

ในยุคสมัยของพวกเรา เรามักจะกล่าวอยู่เสมอว่า เราศึกษาเล่าเรียนได้จากภาษีอากรของประชาชน ดังนั้น เราต้องตอบแทนประชาชน ด้วยการไม่เพิกเฉยต่อปัญหาของพวกเขา เราเรียนรูทุกข์สุขกับเกษตรกร กรรมกร สลัม คนยากจน และนั่นคือเบ้าหลอมการเรียนรู้สังคม อันเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตของพวกเรา

พวกเราเข้าร่วมกับปัญหาของพี่น้องประชาชน เขื่อนปากมูล ลำนำเสียว ค้านรถเมล์ขี้นราคา เขื่อนนำโจน เขื่อนแก่งกรุง โครงการ คจก. สกยอ. สมัชชาคนจน ฯลฯ รวมทั้งปัญหาทางโครงสร้าง นายกต้องมาจากการเลือกตั้ง อายุ 18 ปี ต้องมีสิทธิการเลือกตั้ง ประธานสภา สส. เป็นประธานรัฐสภา การกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของชุมชน ฯลฯ

เราต่างเคยถูกตั้งคำถามจากเพื่อนร่วมสถาบัน ผู้คนในสังคม กระทั่งคนในครอบครัว พ่อแม่ ถึงการเรียนรู้ของพวกเราในวันนั้น

กระทั่งคำถามจากรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีหลายคน แต่ที่ผมไม่เคยลืม จากเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการ คจก. ในช่วงรัฐบาล รัฐประหาร รสช. เนืองจาก มีการอพยพโยกย้ายประชาชน ไล้รื้อบ้าน วัด ชุมชน โดยกองกำลังทหาร รสช.
รัฐมนตรีมหาดไทย รสช ในวันนั้น ถามผม เหมือนกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันถามกับนักศึกษากลุ่มดาวดินและขบวนการ ประชาธิปไตยใหม่ว่า "คุณเป็นนักศึกษาใช่ไหม ทำไมไม่กลับไปเรียนหนังสือ" ผมยังจำสายตาของบิ๊กตุ๋ย พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี อันเต็มไปด้วยความรำคาญของเขาได้ดี มนขณะที่เขาถามผมบนบันไดทางขึ้นกระทรวงมหาดไทย ขั้นที่ 3-4 ทำให้เขายืนสูงเหนือกว่าผม

III

การต่อสู้ของน้องดาวดิน และขบวนประชาธิปไตยใหม่ ในวันนี้ ทำให้ผมนึกถึงภาพของนักศึกษาในวันนั้น !!!

III

นอกจากน้องๆ ดึงผมสู่ความทรงจำในอดีตแล้ว มันทำให้ผมเข้าร่วมกับเจตจำนงเสรีของพวกเขาในวันนี้ด้วย

แน่นอนว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พวกเราจำนวนมากในวันนี้ต่างมีฐานะบทบาททางสังคมที่แตกต่างกันในหลายพื้นที่ ทั้งเป็นคณบดี สส. ผู้ช่วย สส. หมอ ครู เอ็นจีโอ คนขับแท็กซี่ สื่อมวลชน นักธุรกิจ กรรมกร สหภาพแรงงาน เกษตรกร พยาบาล ฯลฯ บ้างประสบความสำเร็จ บ้างกำลังสร้างเนื้อตัว และพวกเราจำนวนมากต่างอยู่ในขั้วความขัดแย้งทางการเมือง มีความขัดแย้งจากทั้งในอดีต จากสถานการณ์ทางการเมือง

ผมว่า เราไม่ต้องกลับมารักกันหรอก แต่ขอให้เราปลุกความทรงจำ และเจตจำนงของพวกเรา ก้าวข้ามความขัดแย้ง มายืนเป็นแนวหลังของพวกน้องๆ ที่ได้ยืนเป็นกองหน้าในภารกิจทางประวัติศาสตร์แล้ว ส่วนความขัดแย้งที่มี ยังไม่ต้องลืม และยังต้องกลับมาสะสาง

เราต้องร่วมมือกันครับ ด้วยเพราะการบริหารประเทศ ภายใต้ระบอบ คสช. แลัการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ต่างไปจากสถานการณ์ในยุคสมัยของพวกเรา มีความสลับซับซ้อนจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ได้เกิดข้อเท็จจริงหลายประการแล้วว่า สังคมไทยจะกลับไปสู่ยุครัฐราชการ ประชาชนและพลเมืองจะเป็นเพียงวาทกรรมร่วมส่วนของชนชั้นนำ

ส่วนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ในวันนี้ พวกเขาทั้ง 14 คน อยู่ในเรือนจำ ต่างมีข้อจำกัด ยุทธวิธีการขับเคลื่อนของพวกเขาอาจไม่ตรงกับมุมมองของพวกเราทั้งหมด เขาอาจประเมินสถานการณ์ต่างไปจากสิ่งที่เราประเมิน ฯลฯ แต่เจตจำนงของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นเราพึงเคารพ ไม่ใช่หรือ

เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ความเป็นธรรม ด้วยสันติวิธี !!!

เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ !!!

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ อดีตรองเลขาธิการ สหพันธ์นืสืตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2536

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประธานหอการค้าใต้ ชี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ สนองผลประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่ประชาชน

0
0

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2558 ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดีรังสิต มหาวิทยาลัยรังสิต กรุงเทพฯ มีการเสวนาเรื่อง “Andaman Talk : หายนะ 3 แสนล้านท่องเที่ยวอันดามันจากถ่านหิน” โดยมีตัวแทนจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล อาทิ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ หอการค้าภาคใต้ ผู้แทนภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ นักวิชาการด้านพลังงาน

อมฤติ ศิริพรจุฑากุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้การท่องเที่ยวของประเทศไทยยังไม่ได้รับความนิยมเท่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เพราะสถานการณ์การจัดการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียนั้น มีมาตรฐานกว่าของไทย ทำให้กระแสการท่องเที่ยวที่มาเลเซียเติบโตกว่าประเทศไทย ดังนั้นหากประเทศไทยล่าช้าเรื่องการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมรายได้ก็ต้องลดลง ภาคการท่องเที่ยวของไทยจึงต้องร่วมสนับสนุนการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและส่ง เสริมการใช้พลังงานทดแทนจากอุตสาหกรรมปาล์ม น้ำเสียจากโรงงานแปรรูปยาง รวมถึงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงแรม ร้านอาหารและจุดบริการการท่องเที่ยว เมื่อเข้าสูงประชาคมอาเซียนก็จะทำให้ไทยมีจุดแข็งทางการท่องเที่ยวมากขึ้น และเน้นการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าอุตสาหกรรมสกปรก

วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานหอการค้าภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเสวนาว่า จากการศึกษาสถานการณ์ความคุ้มค่าของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่รัฐบาลอ้าง เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการความคุ้มค่าของพลังงานนั้น เป็นเรื่องไม่จริงเพราะที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่นั้นมีรายได้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพี ที่ดีกว่าภาคอื่นๆ คือประชากรจังหวัดกระบี่มีจีดีพี ประมาณ 10.7 ของประเทศไทย โดยรายได้ส่วนมากมาจากการท่องเที่ยว ประมงพื้นบ้านและเกษตรอื่นๆ อาทิ สวนปาล์ม สวนยาง ซึ่งค่าเฉลี่ยรายได้โดยรวมของประมงและเกษตรนั้นอยู่ที่ประมาณ1.2 ล้านๆบาทต่อปี

วัฒนากล่าวด้วยว่า จากการรวบรวมสถิติรายได้ของภาคการท่องเที่ยวอ้างอิงจากการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า รายได้การท่องเที่ยวในอันดามัน ปี 2556 มีรายได้อยู่ที่ 3.28 แสนล้านบาท ส่วนปี 2558 คาดการณ์ว่าจะเติบโตสูง 28 % คือ ประมาณ 4 แสนล้านบาท ขณะที่จังหวัดกระบี่มีรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2556 อยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท และปี 2558 มีการคาดการณ์ว่าจะมีรายได้สูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระบี่เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้หลักทางการท่องเที่ยวแก่ภาคใต้จังหวัด หนึ่ง ดังนั้นจึงควรสนับสนุนให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแต่ต้องมี เงื่อนไข คือ เน้นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

“ หากกล่าวให้เห็นชัดเรื่องการใช้พลังงานไฟฟ้าของกระบี่ พบว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้ไฟสูงถึง 45 % การใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนแค่ 30 % และการท่องเที่ยวใช้ไฟแค่ 9 % เท่านั้น จะเห็นว่า ความจำเป็นของการใช้ไฟฟ้าส่วนมาก เป็นการตอบสนองภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า หากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นก็ต้องสนองประโยชน์อุตสาหกรรมแน่ๆ ไม่ใช่ประชาชน” วัฒนธนา กล่าว

ทั้งนี้ในตอนท้ายการเสวนาทางเครือข่ายผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย 13 องค์กร อาทิ สมาคมท่องเที่ยว หอการค้าจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเป็นการรวมตัวขององค์กรภาคธุรกิจ ภาคประชาชน มีเป้าหมายเพื่อสร้างทิศทางให้อันดามันไปสู่การพัฒนาแบบ go green ทั้งนี้พื้นที่อันดามันได้เริ่มการพัฒนาเช่นนี้มาแล้วหลายปี ทั้งในระดับจังหวัด เช่น ปฏิญญาการพัฒนาจังหวัดกระบี่ในนาม krabi gogreen ซึ่งในขณะนี้เราได้ตกผลึกเป็นทิศทางการพัฒนาภูมิภาคร่วมกันและทุกฝ่ายได้ยึด ถือเป้าหมายนี้เป็นแนวทางการพัฒนาร่วมกัน

2.กิจการอันใดก็แล้วแต่ที่เข้ามาสู่พื้นที่อันดามันควรต้องยึดถือทิศทางนี้เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันได้เกิดกิจกรรมการพัฒนาที่ขัดแย้งต่อทิศทางการสีเขียวเพราะมี โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นกิจกรรมการพัฒนาที่ขัดต่อปฏิญญาการพัฒนาจังหวัดอย่างร้ายแรง เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการพิสูจน์จากวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่าเป็นกิจการ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงที่สิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ อันจะเห็นได้จากการประกาศปิดโรงไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ผู้นำทั้งโลก หยุดใช้พลังงานฟอสซิล

3.สำหรับทางออกด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถทด แทนได้ด้วยพลังงานหมุนเวียน ซึ่งประเทศไทยนั้นมีศักยภาพไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่สิ่งที่เราพ่ายแพ้คือมาตรการสนับสนุนของรัฐที่ยังหาความจริงจังไม่ได้

4.การท่องเที่ยวในภูมิภาคอันดามันมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านต่อปี มีการจ้างงานนับแสนตำแหน่ง มีธุรกิจเชื่อมโยงนับ 100 ธุรกิจ มลพิษในอันดามันจะกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยมีผลสำรวจ ชี้ชัดจากนักท่องเที่ยว 37 ประเทศ จำนวน 624 คนว่า หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นนักท่องเที่ยวร้อยละ 90 จะไม่กลับมาเที่ยวที่จังหวัดกระบี่อีก ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดกระบี่เชื่อมโยงกับจังหวัดภูเก็ต พังงา เกาะสมุย กทม. และเชียงใหม่ ฉะนั้นการตัดสินใจไม่มาเที่ยวอันดามันอาจจะกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ อื่นด้วย ความเสียหายที่เกิดขึ้นทางธุรกิจมีจำนวนมหาศาลและกระทบในวงกว้างอย่างที่ไม่ เคยเกิดขึ้นมาก่อน

5.รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการรักษาทะเลอันสวยงามที่ทั้งโลกอิจฉา รักษามูลค่าการท่องเที่ยวกว่า 3 แสนล้านต่อปี รวมทั้งการเติบโตของธุรกิจนับ 100 ธุรกิจ กับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทั่วโลกช่วยกันปิดตัว เพราะคือตัวทำลายโลกที่สำคัญ รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างชาญฉลาดเพราะการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากร มนุษย์ต้องอยู่เหนือประโยชน์ของพ่อค้าถ่านหิน

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บันทึกเมื่อครั้งถูกแขวนป้ายให้เป็น ‘ปาร์ตี้บี’

0
0

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ดิฉันได้เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ “พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม” ซึ่งจัดขึ้นที่ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมีคนเข้าร่วมหลายร้อยคน กิจกรรมดังกล่าวเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากจากการสื่อสารผ่านเจ้าหน้าที่ทหารว่า ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ส่วนดิฉันเองตกเป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากดิฉันได้แสดงความกังวลและข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “ปาร์ตี้บี” สำหรับงานในวันนั้น ดิฉันขอเขียนเล่าเหตุการณ์และสิ่งที่สรุปได้จากวันนั้น ดังนี้

เมื่อดิฉันได้รับการติดต่อ

ดิฉันถูกเชิญเข้าร่วมงานด้วยเพราะมีผู้ใหญ่ใจดีคนหนึ่งแจ้งมาว่า นายกรัฐมนตรีจะเข้ามารับฟังปัญหาด้วยตัวเองและจะรับแก้ปัญหาทันที ให้ชวนผู้คนที่เดือดร้อนอยากให้ช่วยเหลือมาด้วย 10 คน ชาย 5 คน หญิง 5 คน และให้เราเป็นตัวแทนเตรียมประเด็นที่จะร้องเรียน 3-5 นาที โดยมีหัวข้อที่อยากให้ช่วยเหลือดังนี้

1. ทำบัตรประชาชนใหม่
2. ทำพาสปอร์ตใหม่
3. หาอาชีพ
4. หาที่ดินทำกิน
5. หาพื้นที่ปลอดภัย
6. ทำบัตรอำนวยความสะดวก
7. หาทุนประกอบอาชีพ
8. ช่วยเหลือด้านกฎหมาย
9. ต้องการไกล่เกลี่ยคู่ขัดแย้ง
10.  เข้าถึงการดูแลสุขภาพ

ก่อนเข้าร่วมงานได้ส่งชื่อนามสกุลและเลขที่บัตรประชาชนเพื่อแจ้งจำนงเข้าร่วมงาน แต่ไม่สามารถหาคนในจำนวน 10 คนได้ เพราะช่วงประสานงานกระชั้นชิด และหลายคนที่ประสานไปไม่สะดวกเข้าร่วมงาน ดังนั้นจึงได้มีโอกาสเช็คหาผู้คนเข้าร่วมงานจากคนใกล้ตัวจึงทราบว่า ก๊ะแยนะ สะแลแม (ที่หลายคนรู้จักดี) ถูกเชิญเข้าร่วมงานด้วย จึงรู้สึกอุ่นใจที่มีคนรู้จักกันเข้าร่วมงาน เพราะคนประสานงานบอกว่า งานนี้เป็นวงปิด เราจึงไม่ได้ปรึกษาและบอกกล่าวใครนอกจากครอบครัว

วันงานดิฉันเดินทางไปกับน้องสาว และได้นัดเจอกับก๊ะแยนะหน้าประตูค่ายกัลยาณิวัฒนา แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปค่ายฯ ก็เลยประสานกับก๊ะแยนะเรื่อยๆ จนมาเห็นป้ายหน้าทางเข้าประตูใหญ่ ก็เห็นผู้คนกำลังขับรถทยอยเข้าไปขับตามๆ กัน แต่ไม่เห็นก๊ะแยนะ ระหว่างที่ดิฉันกำลังขับรถจะเข้าประตูค่ายฯ

มีเจ้าหน้าทหารมาถามว่า “เป็นเจ้าหน้าที่หรือพลเรือนครับ?”

ดิฉันตอบกลับไปว่า “เป็นพลเรือนค่ะ”

เจ้าหน้าทหาร “พลเรือนเข้าประตู 2 ครับ”

ดิฉันกลับรถและโทรหาก๊ะแยนะ ก็ได้ทราบว่า ก๊ะแยนะรออยู่หน้าประตู 2 อยู่แล้ว ซึ่งอยู่ห่างจากประตูใหญ่หน้าค่ายประมาณ 300 เมตร พอไปถึงเห็นชาวบ้านที่ทยอยกันมา ทั้งมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ และรถตู้

ทันทีที่มาถึงหน้าประตู 2 แซวกันเองเลยว่า “ประตูทางเข้าเราสองมาตรฐานเนอะ คนละเรื่องเลย ประตูไม่มีป้ายบอก แถมเหมือนประตูร้างเลย แต่นายกฯ มา เพื่อความปลอดภัยมั้ง!!”

มีการขอบัตรประชาชนเพื่อกรอกข้อมูล ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ และเลขที่บัตรประชาชน เห็นว่า 8 โมงกว่าแล้ว เลยเวลานัดกับคนที่ประสานแต่ไม่สามารถติดต่อได้ คิดว่างานคงเริ่มแล้ว ก็เลยอาสาช่วยเจ้าหน้าที่เขียนข้อมูลดังกล่าว แต่เอกสารที่ใช้เขียนเป็นพียงกระดาษ A4 เปล่าๆ

เมื่อเขียนเสร็จแล้ว บัตรประชาชนยังคงฝากไว้กับเจ้าหน้าที่และรับป้ายแขวนคอเพื่อเข้างาน เจ้าหน้าที่แนะนำให้เราไปตามทางที่มีเจ้าหน้าที่คอยบอกทาง ได้ป้ายไม่ได้เอะใจอะไร เพราะเข้าใจว่าเป็นเพียงบัตรผ่านประตู แต่ยังแซวกันเองอยู่ว่าทำไมถึงเขียนว่า “ปาร์ตี้บี”นะ?

ขับรถไปจอดในโรงจอดรถและมีรถบัสมารับเพื่อไปที่อาคารจัดงาน ทันทีที่มาถึงอาคารจัดงาน มีเจ้าหน้าที่มารับและบอกให้ไปตามทาง ทางที่เดินผ่านเป็นทางเลียบข้างๆ อาคารที่มีสินค้าวางจำหน่าย และได้พบผู้ใหญ่คนหนึ่งที่คุ้นหน้าคุ้นตาเจอตามเวทีประชุมบ่อยๆ แต่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ก็เลยทักทาย“พี่มางานนี้ด้วยรึค่ะ” “อ้าวน้องมางานนี้ด้วยรึ”ก็เลยเดินเข้าไปประตูข้างหลังอาคาร มีเจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าก่อนเข้างาน และได้เจอเจ้าหน้าที่ทหารที่รู้จักคนหนึ่ง ก็เลยเข้าไปทักทาย “อ้าวน้องมาด้วยรึ อ่ะ เชิญๆ ไปนั่งครับ”

ขณะที่จะนั่งได้หันไปเห็นเพื่อนทำงานภาคประชาสังคม คนทำงานสื่อ ทั้งที่นั่งอยู่แล้ว และเพิ่งทยอยมาถึง “เอ๊ะ คนรู้จักเยอะแยะเลย ไหนบอกว่าวงปิด คนมาเยอะน่ะเนี้ยะ”วางกระเป๋าไว้แล้วเดินไปทักทาย  ระหว่างนั้นผู้ดำเนินรายการและล่ามก็พูดไปเรื่อยๆ คล้ายๆ กับบรรยากาศในงานพร้อมเริ่ม

เรา (ก๊ะแยนะ น้องสาว และดิฉัน) เลยกลับไปนั่งที่เดิม เพราะเข้าใจว่าคนที่จะต้องพูดต้องไปนั่งจุดที่วางไว้เท่านั้น  ตรงข้ามที่เรานั่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใส่ชุดสีกากีเป็นส่วนใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่นั่งอยู่ข้างหลังที่เป็นที่นั่งคล้ายอัศจรรย์เชียร์กีฬา ทั้งสองฝั่งเต็มพอๆ กัน

งานเริ่ม ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่วางไว้ฝั่งปาร์ตี้ A เริ่มพูดก่อน แต่ไม่มีใครพูด ก็เลยให้ฝั่งปาร์ตี้ B พูดก่อน ดิฉันสังเกตว่า แม้จะมีการสลับกันพูดอยู่บ้าง แต่ฝั่งปาร์ตี้ A ไม่ค่อยได้พูดเท่าไหร่ คือพูดหนึ่งคนก็สลับกลับมาฝั่งปาร์ตี้ B ซึ่งก็พูดไปถึง 2 คน สลับไปมาอย่างนี้ฝั่งละไม่เกิน 5 นาที

เมื่อดิฉันถึงคราวต้องพูด

ดิฉันได้เตรียมประเด็นปัญหาในการพูดคุยประมาณ 1 หน้ากระดาษราวๆ 5 นาที แต่กำลังดูจังหวะและท่าที่ของผู้คนที่นำเสนอทั้งฝั่งปาร์ตี้ A และปาร์ตี้ B จนรู้สึกเวลาล่วงเลยผ่านไปเกรงจะไม่ทันได้นำเสนอจึงรีบยกมือเพื่อแสดงประสงค์ในการนำเสนอ  สิ่งที่ดิฉันได้พูดในวันนั้น ดิฉันบันทึกไว้ดังนี้ :-

ขอความสันติจงมีแด่ทุกท่าน          

ดิฉันรอมือละห์  แซเยะ เป็นคนทำงานภาคประชาสังคมและถูกผลักดันให้กลายพันธุ์เป็นปาร์ตี้บี อาจเนื่องจากสามีนายมูฮาหมัดอัณวัร  หะยีเต๊ะ ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ซ่องโจรและก่อการร้าย ต้องคดีความมั่นคงชายแดนใต้ ตอนนี้อยู่เรือนจำปัตตานี จะเห็นว่าภาพที่กำกวมเกิดขึ้นจากที่เราอยากเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องการพัฒนาศักยภาพชีวิตและครอบครัวให้ดีขึ้นแต่กลับต้องมาสู้รบปรบมือกับความไม่เป็นธรรมในพื้นที่ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นตัวแทนปาร์ตี้บีที่ถูกวางไว้อย่างชัดเจน แม้ไม่อยากเป็นก็ตามที

มาที่นี่ เลือกที่จะก้าวขาเข้ามาเพราะเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่ารัฐและเจ้าหน้าที่ทหารจะปกป้องมากกว่าปราบปราม  เรารู้สึกเสี่ยงแต่เราไม่รู้ว่าที่ไหนปลอดภัยที่ไหนอันตราย ซึ่งในเวลานี้บอกได้เลยว่า เรากลัวเจ้าหน้าที่ทหารเพราะมีอาวุธครบมือ และเรากลัวอำนาจมืดที่เรามองไม่เห็น เพราะมันเกิดอันตรายขึ้นได้ทุกเมื่อ ยิ่งมีเรื่องราวเกิดขึ้นกับสามีทำให้ชัดเจนมากขึ้น ณ เวลานี้ความไม่ปลอดภัยและความไม่เป็นธรรมได้มาเยือนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจนแล้ว

อันวาร์เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยหนีประกัน ไม่เคยไปอยู่มาเลเซียและไม่เคยหนีไปไหน แต่เป็นคนหนึ่งที่พยายามด้วยตัวเองในทุกขั้นตอนโดยไม่ต้องเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านหรือกลับบ้านเพื่อเป็นคนดี แต่ความพยายามกับตัวเองที่ทำงานในด้านต่างๆ กับการทำงานด้านสันติวิธี แต่แล้วก็ไม่รอด สุดท้ายก็ถูกตัดสินอยู่ที่เรือนจำปัตตานีเป็นเวลา 12 ปี ด้วยข้อหาถูกซัดทอดเป็นอั้งยี่ซ่องโจรและก่อการร้าย แต่ไม่มีการก่อเหตุใดๆ โดยหน้าที่ภรรยาตอนนี้ก็คือในขณะที่ช่วยเหลือครอบครัวและเพื่อนร่วมชะตากรรม จะบอกว่า แม้ไม่หนีก็ไม่ปลอดภัย แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนยังคงเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย จะหนีหรือไม่หนีจะอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนก็แล้วแต่เมื่อเขาเผชิญหน้าสู้คดีแล้วได้รับความเป็นธรรม และทางการได้อัพเดทชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในแบล็กลิสต์ (บัญชีดำ) ที่ตกอยู่ในลิสต์คดีความมั่นคงทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นผู้ก่อเหตุหรือไม่ก่อเหตุก็ตามแต่  แต่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหาหลักฐานได้อย่างชัดแจ้งก่อนจะตรวจจับใครสักคน

“ขออภัยที่ตื่นเต้น ไม่เคยเข้าร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้เห็นต่างมากขนาดนี้”

ข้อเสนอ 5 ข้อดังนี้ :-

1. รัฐบาลควรเร่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะทำให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม

2. ขอเสนอให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นแก่ผู้ที่เห็นต่างอย่างจริงจัง รัฐต้องไม่มองผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากทางการเมืองในพื้นที่ด้วยสายตาที่หวาดระแวงเสมือนเป็นศัตรู

3. ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ทุกฉบับ เพราะการใช้กฎหมายพิเศษทำให้เกิดการซ้อมทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ หวาดระแวง จิตหลอน เช่น มีการตรวจค้นบ้าน ข้าวของหายไปไม่ได้รับการบันทึกและไม่ได้ส่งคืน และอีกหลายกรณีเจ้าหน้าที่กระทำผิดแต่ไม่สามารถเอาผิด เพราะถูกอ้างได้รับสิทธิการใช้อำนาจพิเศษ

4. ขอให้ดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง ในการดำเนินคดีแต่ละคดีให้ตระหนักถึงพยานหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ควรอายัดคดีซ้ำซ้อนกับผู้คนที่กำลังจะได้รับอิสรภาพ

5. ขอให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน

หลังร่วมงาน

หลังจากกลับมาจากค่ายทหารในวันนั้นและได้นั่งทบทวนตัวเอง ช่วงค่ำๆ วันนั้นเอง ดิฉันได้โพสท์ความรู้สึกผ่านหน้าเฟสบุ๊คของตนเองในชื่อ Romlah Narathiwas ว่า “รู้สึกได้ถึงการเป็นตัวประกอบของละครสมจริง #เล่นอะไรกัน” นี่เป็นความรู้สึกที่สะท้อนออกมาเพื่อให้รู้ว่า ตอนนั่งงงๆ ในห้องประชุมใหญ่ที่ค่ายฯ นั้น สังเกตเห็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยพูด และมานั่งรับฟังแบบงงๆ มีเพียงไม่กี่คนที่พูดจาฉะฉาน แต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดคุย ทำให้กลับมานึกถึงตัวเองด้วยว่า

เรามานั่งทำอะไรตรงนี้

แล้วสิ่งที่ร้องเรียนถูกบันทึกนำไปแก้ไขหรือเปล่า?

เรื่องราวที่เป็นปัญหาทุกข์ร้อนของชาวบ้านถูกนำไปแก้ไขหรือไม่??

แล้วทำไมนายกไม่มา ทำไมแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่มา?

แล้วคนที่มาทั้งหมดเขามาอย่างไร?

เขาถูกเชิญร่วมงานแบบที่เราถูกเชิญหรือเปล่า?

หรือทุกคนล้วนเป็นตัวประกอบที่ถูกจัดให้มานั่งร่วมเป็นสักขีพยานบางอย่าง?

คำถามโลดแล่นวิ่งไปมาในสมอง จึงประมวลภาพจากความคิด ทำให้โพสท์ลงไปเพื่ออยากรู้ว่า เพื่อนพี่น้องทั้งที่ไปร่วมงานและไม่ได้ไปร่วมงานคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

มีหลายคนแชร์ผ่านข้อความของดิฉัน และแชร์ไปในเพจกลุ่มติดตามกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี และก็พบว่า...


สิ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์

ในโลกของโซเชียลเน็ตที่ไม่ได้มีการเผชิญหน้ากันนั้น หลายคนมักแสดงให้เห็นความรู้สึก ความเป็นตัวตน โดยเฉพาะแนวคิดมุมมองของความรู้สึกตนเอง มีถ้อยคำที่นุ่มนวลบ้าง รุนแรงบ้าง ปลอบใจบ้าง คลุกเคล้ากันไป บางคนก็สะท้อนมีเหตุมีผล และบางคนก็ใช้อารมณ์ล้วนๆ ส่วนใหญ่เป็นการสะท้อนจากมุมเดียว

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดิฉันเลือกที่จะนิ่งเงียบสงบสติ เพื่อหวังให้ทุกการทำงานของทุกบทบาทหน้าที่ได้ใคร่ครวญกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เปล่าเลย ยิ่งนิ่งยิ่งถูกคุกคาม ยิ่งเงียบยิ่งถูกรังควาน เลยทำให้นึกถึงชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสโต้ตอบชี้แจงอะไรใดๆ มักจะตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย แต่จงรู้ไว้ว่าสันติภาพและความชอบธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการพูดบอกอยู่ฝ่ายเดียว

และฝากถึงผู้หวังดีทั้งหลายที่อยากให้พื้นที่ชายแดนใต้สงบสุข อย่าเพียงแค่บอกเล่าให้ใครต่อใครฟังว่า เห็นใจ สงสาร รู้จักพื้นที่ชายแดนใต้ดี จึงอยากช่วยให้สงบสุข แต่การกระทำกลับไม่สอดคล้องกับถ้อยคำที่ใช้บอกใครต่อใคร เชื่อว่าเรื่องนี้ตัวตนรู้ดีอยู่แก่ใจและพระเจ้ารู้ดีกว่า (หากเจ้าเป็นผู้ศรัทธา)

มีเรื่องที่น่าบังเอิญอีกประการหนึ่ง เมื่อวันอังคาร ที่ 16 มิถุนายน 2558 Facebook ในนาม Romlah Narathiwas ของดิฉันไม่สามารถเปิดใช้งานได้ หน้าเฟสฟ้องมาว่า ได้ทำการเปลี่ยนรหัสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เป็นประการฉะนี้ดิฉันจึงไม่สามารถไปตอบอะไร แต่มาคิดอีกที พระเจ้าคงประสงค์ให้เป็นไปเฟสบุ๊คใช้งานไม่ได้ช่วงที่ภาวะอารมณ์ไม่คงที่พอดี ดังนั้นจึงเป็นเวลาแห่งการใคร่ครวญเป็นการต้อนรับรอมฎอนการีมที่เป็นเดือนแห่งปรารถนาความสงบสุขยิ่ง

เมื่อดิฉันได้ทำการพยายามที่จะกลับไปใช้เฟสบุ๊ค Romlah Narathiwas ไม่ได้ จึงได้ทำการร้องเรียนกับเฟสบุ๊คเพื่อทำการบล็อก เพื่อไม่ให้มีใครมาแอบอ้างการใช้งานในอนาคตได้ วันนี้ดิฉันจึงขอไว้อาลัยกับเฟสบุ๊คเก่า หากมีการเปิดใช้เฟสบุ๊คอันใหม่ดิฉันจะแจ้งให้เพื่อนพี่น้องที่จริงใจและหวังดีมาร่วมเป็นเพื่อนกันอีก

สิ่งที่คาดหวัง

ไม่ว่าวันนี้ในสังคมบ้านเราจะมีหลากหลายกลุ่มก้อน หลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายแนวคิด ขอเพียงให้สิ่งเหล่าขัดแย้งแค่เพียงความคิดหรือความต่าง แต่อย่านำมาซึ่งความหายนะใดเลย วาทะเด็ดความคิด คำเขียนเด็ดอิสรภาพ การพิพากษาเด็ดชีวิตมนุษย์ ที่ผ่านมาหลายคนตกเป็นเหยื่อของการถูกเด็ดจิตวิญญาณความเป็นมนุษยชาติจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ มากพอแล้ว ณ วันนี้ถึงเวลาที่เราเหล่าเพื่อนมนุษยชาติควรหันมาทบทวนใคร่ครวญบทบาทของตนเอง จะทำอย่างไรให้เรามีสติอยู่กับตัว มีศรัทธาอยู่กับใจ และเพื่อนที่ดีของเพื่อนมนุษยชาติด้วยกันได้ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”

คาดหวังไม่นานเกินรอ โลกเราจะสงบสุขได้ด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคน

 

 

Selamat Romadon Karim ^^

23 มิถุนายน 2558

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน deepsouthwatch.org
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ไทยพาณิชย์’ แจงสื่อสารพลาดปมรับพนง.เลือกสถาบัน ด้านม.ราชภัฏ เล็งเลิกธุรกรรม

0
0

ที่ประชุมอธิการบดี ม.ราชภัฏ เล็งยกเลิกธุรกรรมการเงินกับ ธ.ไทยพาณิชย์ หลังมีประกาศรับพนักงานเลือกสถาบัน ด้าน ‘ไทยพาณิชย์’ แจงสื่อสารผิดพลาด ชี้ปัจจุบัน พนง.กว่าสองหมื่นเป็นนักศึกษาจากหลายสถาบันทั่วประเทศ

หลังจากในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีการเผยแพร่ประกาศรับสมัครงานของธนาคารแห่งหนึ่ง เช่น ออสการ์ @LadyGungaทวีตประกาศดังกล่าว ซึ่งเลือกรับผู้ที่จบเฉพาะ 14 สถาบันทางการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ศรีนครินทรวิโรฒ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อัสสัมชัญ กรุงเทพ บูรพา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ หอการค้าไทย แม่ฟ้าหลวง

 

ที่ประชุมอธิการบดี ม.ราชภัฏ เล็งยกเลิกธุรกรรมการเงินกับ ธ.ไทยพาณิชย์

ล่าสุดวันนี้(30 มิ.ย.58) เรื่องเล่าเช้านี้รายงานว่า ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(ทปอ.มรภ.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้าน และไม่ยอมรับเหตุผลของไทยพาณิชย์ เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้มีสถาบันบางแห่งเตรียมยกเลิกบัญชีและการทำธุรกรรมกับธนาคารไทยพาณิชย์

‘ไทยพาณิชย์’ แจงสื่อสารผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือชี้แจงชี้แจงกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ลงประกาศโฆษณารับสมัครงาน มายังกองบรรณาธิการ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า

ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงประกาศโฆษณารับสมัครงานในตำแหน่ง Financial Advisor Trainee ทาง website หางาน โดยได้มีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยจำนวน 14 สถาบันนั้น ธนาคารขออภัยอย่างสูงที่มีการผิดพลาดในการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับนิสิตนักศึกษาเข้าทำงาน เพราะในความเป็นจริงนั้นนโยบายของธนาคารเปิดรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และก็ได้ดำเนินการตามนโยบายนี้ตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันพนักงานของธนาคารกว่า 22,000 คนนั้นก็ประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ

สำหรับโครงการ Financial Advisor Trainee นี้ก็เช่นเดียวกันซึ่งในขณะนี้ ทางธนาคารก็ยังมีความต้องการสรรหาบุคลากรทางด้านนี้โดยเปิดรับสมัครและดำเนินการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันเพื่อเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ครอบครัว ‘ไผ่ ดาวดิน-แซม’ เข้าเยี่ยมขบวนการ ปชต.ใหม่ เผยอยากให้ ปชช.เปิดใจสิ่งที่ 14 น.ศ.ทำ

0
0

30 มิ.ย. 2558 เวลาประมาณ 11.00 น. ประชาชน นักศึกษา อาจารย์ หลายสิบคน เข้าเยี่ยม 13 นักศึกษา-นักกิจกรรมชาย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

กลุ่มอาจารย์ที่เข้าเยี่ยมวันนี้ ประกอบไปด้วย อนุสรณ์ อุณโณ, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, ชลิตา บัณฑุวงศ์, ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์, สมฤทธิ์ ลือชัย, วิโรจน์ อาลี, ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ลลิตา หาญวงศ์ ได้แถลงข่าวแสดงจุดยืนและข้อห่วงใยในนาม “เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง” เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวทั้ง 14 คนและยุติการดำเนินคดี (อ่านข่าว)

ภายหลังการแถลงข่าวของบรรดาอาจารย์ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้แสดงละครใบ้ ชุด “พิราบลายจุด” ด้านหน้าเรือนจำ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงนกพิราบที่ถูกคุมขัง โดยภายหลังการแสดง บก.ลายจุดไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ หรือ เอ ภรรยาของ พรชัย ยวนยี หรือ แซม และ เรวดี ศุภโสภณ แม่ของ รัฐพล ศุภโสภณ หรือ บาส ได้เข้าเยี่ยมด้วย นอกจากนี้วันนี้ยังเป็นวันแรกที่ วิบูลย์ บุญภัทรรักษาและพริ้ม บุญภัทรรักษา พ่อและแม่ของจุตภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้เยี่ยมลูกชายเป็นครั้งแรก

ด้าน วิบูลย์ และ พริ้ม พ่อและแม่ของไผ่ดาวดิน ภายหลังการเข้าเยี่ยมลูกชาย ได้ร่วมร้องเพลงบทเพลงของสามัญชนกับมวลชนที่มาให้กำลังใจโดยวิบูลย์เป็นผู้เล่นกีต้าร์และกลุ่มเพื่อนร่วมอ่านบทกวี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีคำครหาที่มองว่านักศึกษามีผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง วิบูรณ์กล่าวว่า ยอมรับว่าสำหรับไผ่นั้นเบื้องหลังของเขาก็คือวิธีคิดของพ่อ  จากการที่พ่อประกอบอาชีพทนายความ ตอนเด็กๆ ที่พ่อไปช่วยเหลือพี่น้องที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐ ไผ่ก็ตามพ่อไปด้วยจนตอนนี้ไผ่เรียนกฎหมาย ไผ่ก็มองเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านเหมือนกันกับพ่อจนเขาออกมาทำเช่นทุกวันนี้ พร้อมเผยว่าตนเองไม่เคยห้ามลูกที่ออกมาทำอย่างนี้ เพราะมองว่าเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

“ผมไม่ห้ามให้ลูกทำ ถ้าให้ผมเลือกกลับไปอีก ผมก็จะทำเหมือนเดิม” 

เมื่อถูกถามว่าตอนนี้ได้พูดคุยกับพ่อแม่ของสมาชิกดาวดินคนอื่นบ้างหรือยัง วิบูลย์กล่าวว่า ได้คุยกับพ่อแม่คนอื่นๆ แล้วแต่ต่างกันที่พ่อแม่บางคนอาจรับราชการและถูกบีบได้ แต่โชคดีหน่อยที่ตนเองไม่ใช่ข้าราชการเลยไม่ถูกบีบเหมือนคนอื่น แต่แม้ว่าพ่อแม่บางคนจะถูกบีบแต่เด็กก็ยังคงอุดมการณ์คงเดิม

ส่วนกรณีที่ไผ่ถูกจับนั้น วิบูลย์มองว่าเป็นเรื่องตลก ตำรวจทหารหลายร้อยคนมากกว่านักศึกษาแต่มารุมจับเด็ก ทั้งๆ ที่ตอนแรกเด็กรอให้ไปจับในคดีที่โดนตั้งข้อกล่าวหาก่อนหน้า แต่ดันมาจับเด็กด้วยความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อถูกถามถึงกรณีที่ตนเองเคยเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. วิบูลย์กล่าวว่าตนเองไม่ได้ชุมนุมแค่ในช่วง กปปส. แต่ในทุกรัฐบาลที่ทำผิดหลักประชาธิปไตย ตนเองก็เข้าร่วม

ส่วนเรื่องที่คนโจมตีนั้น พ่อของไผ่มองว่า "เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราจะเป็นนักต่อสู้อย่าไปหวั่นไหวในเรื่องการโจมตี"

วิบูลย์กล่าวต่อไปว่า ในฐานะคนเป็นพ่อตอนนี้ไม่ห่วงแล้ว  ลูกต่อสู้มาหมดแล้ว คุกก็เคยเข้าแล้ว พอเขาออกมาเขาก็จะเข้มแข็ง 

วิบูลย์ระบุด้วยว่า อยากให้ประชาชนเปิดใจกับสิ่งที่เด็กทำ เอามาวิเคราะห์ว่ากระบวนการนี้เป็นอย่างไร พร้อมตั้งคำถามว่าสังคมเราลืมอะไรไปหรือเปล่า

ด้าน ธีรพิมล ภรรยาของแซม เปิดเผยกับประชาไทว่า ทีแรกตั้งใจกันไว้ว่าจะไปเรียนต่อโทที่เมืองนอก เอกสาร VISA อะไรผ่านหมดแล้ว แต่พอแซมโดนคดีนี้เลยไม่ได้ไปกัน แต่ก็ไม่เป็นไร เลื่อนไปเรียนปีอื่นได้ เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขาทำถูกต้องแล้ว 

นอกจากนี้ ผู้เข้าเยี่ยม ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน เปิดเผยหลังเยี่ยมว่า แมนเล่าว่า มีสภาพจิตใจดี กินอิ่ม นอนหลับ เพื่อนที่อยู่ข้างในทั้ง 13 คน ก็เข้มแข็งกันทุกคน เพราะมีเพื่อนมาเยี่ยมให้กำลังใจกันทุกวัน แต่จะเรียกว่าจิตใจดีมากก็ไม่ได้เพราะยังกังวลกับสถานการณ์ด้านนอกเรื่องที่รัฐบาลปราบปรามคนที่อยู่ข้างนอก และอยากฝากบอกคนข้างนอกว่า อยากให้ข้างนอกเข้มแข็งเพราะเราเองก็เข้มแข็งและร่วมสู้ไปด้วยกัน

อนึ่ง สำหรับการเยี่ยมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ (ชาย) อนุโลมให้ได้เยี่ยมพร้อมกันทุกคนทั้งผู้เยี่ยมและผู้ต้องหา จากปกติที่ผู้ต้องหาแค่ละคนจะมีโควต้าผู้เยี่ยมเพียง 10 รายชื่อและให้เข้าเยี่ยมได้เพียงวันละไม่เกิน 5 คนต่อผู้ต้องหา 1 คน

ขณะที่การเข้าเยี่ยมที่ทัณฑสถานหญิงกลางนั้น บังคับใช้ระเบียบเดียวกับเรือนจำชายและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด 

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กลุ่มอิสระ มธ. และ มอ. ออกแถลงการณ์ประณามกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล เรียกร้องปล่อยตัวเพื่อน 14 คน

0
0

กลุ่มอิสระ มธ. และ มอ. ออกแถลงการณ์ประณามกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล ต่อกรณีการจับกุม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องปล่อยผู้ถูกควบตัวด้วยคดีทางการเมืองทุกคน

30 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีเหตุการณ์การจับกุม 14 นักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยได้แถลงถึงกระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉล ที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการการเมืองทันที ไม่เพียงแต่นักโทษการเมืองทั้ง 14 คน แต่หมายรวมถึงนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้า พร้อมฝากสารถึงเพื่อนผู้รักประชาธิปไตย “อย่าให้สังคมที่นิยมเผด็จการหลอกให้เราเชื่อว่าเราไร้ความสามารถ อย่าให้ใครลวงหลอกว่าเราตัวเล็กเกินกว่าจะทำอะไร เราแต่ละคนอาจตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้เพียงลำพัง แต่ประชาชนไม่เคยตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้กับสิ่งใด”

ขณะเดียวกัน กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกแถลงการณ์ กล่าวถึงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยต่อการบังคับใช้กฎหมาย อันเกิดจากอำนาจที่ได้มาโดยการลิดลอนอำนาจประชาชน  และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา นักกิจกรรมทั้ง 14 คน โดยทันที พร้อมชี้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นสิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

00000

แถลงการณ์

กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร สิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ประชาชนผู้เห็นต่างถูกจับขึ้นศาลทหารและถูกพิพากษาภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความชอบธรรม ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการได้ละเมิดสิทธิและหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน หนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้จองจำประชาชนคนแล้วคนเล่าที่ไม่ยอมปิดปากตัวเองให้สนิท

แม้โฆษกของกองทัพและประชาชนผู้ยอมเป็นปากเสียงให้เผด็จการจะยืนยันหัวชนฝาว่ารัฐบาลได้เปิดช่องทางให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น แต่เอาเข้าจริง ความคิดเห็นใดๆ ที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสิ่งที่รัฐบาลต้องการกลับกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ใดที่แสดงความคิดเห็นเหล่านั้นออกมาล้วนมีความผิดและถูกจี้บังคับให้ “ปรับทัศนคติ” ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งหมายจะตั้งคำถามกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับสังคมในเวลานี้ จึงได้แต่สงบปากสงบคำและแสร้งว่าเรารักกัน และทุกคนมีความสุขดี

รัฐบาลเผด็จการอ้างว่ากำลังคืนความสุขให้กับสังคม แต่แท้จริงแล้ว ความสุขที่พวกเขาหยิบยื่นให้เป็นเพียงความสุขจากการเห็นคนคิดต่างต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ความสุขจากการเชื่อเชื่องในคำโฆษณาว่าบ้านเมืองของเรากำลังดีขึ้น ความสุขจากการเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ และคิดฝันอย่างลมๆ แล้งๆ ว่ารัฐบาลเผด็จการจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ ทั้งที่สิ่งเดียวที่พวกเขาทำเป็น ไม่ใช่การบริหารประเทศ แต่คือการสร้างความสงบสุขจอมปลอมด้วยการกำราบปราบปรามประชาชนคนเล็กคนน้อยตามวิสัยของ “ทหารกล้า”

ความสุขในสังคมที่ปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการเป็นเพียงความสุขแบบเด็กที่ไม่รู้จักโต รัฐบาลเผด็จการได้มอบสิ่งตอบแทนสำหรับผู้ที่ว่านอนสอนง่าย ทั้งในรูปของตำแหน่ง เงินทอง หรือความปลอดภัยในชีวิต ขณะเดียวกัน ผู้ที่ไม่นิยมการเป็นลูกแหง่ และพยายามลุกขึ้นตั้งคำถามกับความไม่ชอบมาพากลของเผด็จการ กลับถูกคุกคามและคุมขังด้วยข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ที่ไม่มีอำนาจชอบธรรมใดๆ ในการสั่งการ นอกเสียจากอำนาจจากปากกระบอกปืน 

ถึงเวลาแล้วที่เพื่อนๆ ผู้ที่มองเห็นความเลวร้ายของรัฐบาลเผด็จการจะร่วมกันกดดันให้พวกเขาปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังในคดีทางการเมืองทุกคนไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นใคร การแสดงจุดยืนของเรา ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ เป็นการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงหลักการพื้นฐานที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด พูด เขียน และแสดงความคิดเห็นของตนโดยสันติ และทุกคนมี “หน้าที่” ที่จะตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจหน้าไหนก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยินยอมมอบอำนาจให้แก่ตน หากปราศจากการข่มขู่ด้วยปืนผาหน้าไม้และการบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ

เราขอเรียกร้องไปยังเพื่อนๆ ผู้ที่มีจุดยืนร่วมกันทุกคนว่าอย่าเพิ่งหมดหวังและทดท้อในความอ่อนแอของตนเอง อย่าให้ความเจ็บปวดที่เห็นเพื่อนเราถูกจับกุมกลายเป็นสัญลักษณ์ของความพ่ายแพ้ พวกเราแพ้ไม่ได้หากไม่เคยลุกขึ้นต่อสู้ อย่าให้สังคมที่นิยมเผด็จการหลอกให้เราเชื่อว่าเราไร้ความสามารถ อย่าให้ใครลวงหลอกว่าเราตัวเล็กเกินกว่าจะทำอะไร เราแต่ละคนอาจตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้เพียงลำพัง แต่ประชาชนไม่เคยตัวเล็กเกินกว่าจะต่อสู้กับผู้ใด

เราขอเรียกร้องไปยังเพื่อนๆ ทุกคนว่า อย่างน้อยที่สุด อย่าได้เก็บปากกาของเพื่อนเอาไว้ จงใช้มันขีดเขียนทุกครั้งที่มีโอกาส เขียนในทุกทุกที่ที่เขียนได้ แม้ว่าความคิดของพวกเรากำลังถูกคุกคาม แม้ความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่าย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย แต่กรงขังใดเล่าที่สามารถกังขังความฝันถึงเสรีภาพไว้ได้ตลอดไป คุกอาจคุมขังร่างคนคนหนึ่งได้ แต่คุมขังความคิดคนอีกมากมายไม่ได้ คุกกักขังบางสิ่งบางอย่างไว้ได้แค่บางช่วงเวลา แต่ไม่สามารถกักขังกาลเวลาเอาไว้ได้

แม้ชนชั้นนำจะร่วมมือกับเผด็จการในการหมุนโลกให้ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับความเป็นจริง ทว่า “โลกหมุนไปข้างหน้า” เสมอ เวลากำลังเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีใครสามารถตรึงกาลเวลาให้อยู่กับที่ เช่นเดียวกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาได้แต่เหนี่ยวรั้ง แต่หยุดยั้งมันไว้ไม่ได้ ปีศาจตัวเดิมยังคอยหลอกหลอนสังคมนี้มานานแสนนาน แต่ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนจงมองไปที่นาฬิกาเพื่อเตือนตัวเองเถิดว่าเวลาของพวกเขาเหลือน้อยลงไปทุกที

เราไม่ได้เรียกร้องให้เพื่อนๆ ออกมาต่อสู้บนท้องถนนในวันนี้พรุ่งนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด ขอให้เราต่อสู้เพื่ออนาคตข้างหน้า เราไม่ได้เรียกร้องให้เพื่อนๆ ออกมาเผชิญหน้ากับกระบอกปืน แต่ขอให้เราทุกคนร่วมกันต่อสู้ภายใต้เกราะกำบังของกาลเวลา.

 

…โลกใหม่ต้องเป็นของเรา …

                                                                                                  กลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

แถลงการณ์

กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง

“ความปรองดองไม่สามารถและไม่มีวันเกิดขึ้นได้ภายใต้การปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วย” ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนับแต่วันที่ คสช.เข้ายึดและควบคุมอำนาจทั้งหลายภายในรัฐ โดยออกคำสั่งต่างๆ รวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นจำนวนมาก รวมถึงการห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ทาง คสช.ไม่เห็นว่าสมควรที่จะจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเรียกร้องหรือให้ความรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ

การจับกุมนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ภายใต้เหตุผลการขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งออกตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ อันเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยอาศัยอำนาจที่ได้จากการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนผ่านการรัฐประหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีค่าบังคับใดๆ เลย ไม่แม้แต่จะถือว่าเป็นกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบ เป็นอำนาจที่ริบมาจากมือของประชาชนเจ้าของประเทศ จึงไม่มีผู้ใดจะสามารถอ้างหรือใช้อำนาจดังกล่าวมาลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชนได้ เพราะอำนาจเดียวที่จะมาออกกฎหมายที่พรากสิ่งใดไปจากประชาชนได้ ต้องเกิดจากความยินยอมของประชาชนทั้งหลายเท่านั้น

นอกจากการจับจะเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจอันไม่ชอบธรรมแล้ว การแจ้งความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องการก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อประชาชน แก่นักศึกษานั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากความผิดตามมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการกระทำไปโดยไม่สุจริต ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยหวังจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องแก่คนในสังคม หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ จะเห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต และเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้น พื้นฐานของประชาชน การอ้างบทมาตราดังกล่าวมาใช้ในการจับกุมนักศึกษาจึงปราศจากความชอบธรรม

กลุ่ม ม.อ.รักษ์ประชาธิปไตย, รวมถึงกลุ่มนักศึกษาสภาริมอ่าง “ในนามของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศไทย” ไม่สามารถมองเห็นถึงความชอบธรรมใดๆ ในการใช้อำนาจที่ได้มาโดยมิชอบและปราศจากการยึดโยงกับประชาชน มาจับกุมเพื่อของเราเพียงเพราะเขาใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยสุจริต เราจึงขอคัดค้านการจับกุม 14 นักศึกษาโดยการใช้อำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร และขอให้ดำเนินการปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหลายในทันที เราเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและสงบสันตินั้น ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และเป็นหนทางที่จะนำพาประเทศไปสู่การปรองดองตามที่ท่านได้กล่าวอ้าง

 

อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของประชาชน

กลุ่ม มอ. รักษ์ประชาธิปไตย และสภาริมอ่าง

30 มิถุนายน 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โป๊ปฟรานซิส ชวน 'นาโอมิ ไคลน์' ร่วมประชุมโลกร้อนในวาติกัน

0
0

เป็นการรวมตัวที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ระหว่างหัวหอกนักกิจกรรมผู้วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจโลกอย่างนาโอมิ ไคลน์ กับผู้นำศาสนาอย่างพระสันตะปาปาฟรานซิส อีกทั้งยังมีการเกณฑ์กลุ่มนักกิจกรรมและนักวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้คณะสงฆ์ในการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กำลังจะมีขึ้นในนครรัฐวาติกัน

นิตยสารดิออปเซอร์เวอร์ในสังกัดของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสเชิญ นาโอมิ ไคลน์ นักกิจกรรมชื่อดังผู้วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมศตวรรษที่ 21 ให้เข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่นครรัฐวาติกัน

นาโอมิ ไคลน์ กล่าวว่าเธอรู้สึกแปลกใจแต่ก็ยินดีที่ได้รับเชิญจากสำนักงานของพระคาร์ดินัล ปีเตอร์ เติร์กสัน ให้ร่วมการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะมีทั้งนักบวช นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรม ร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องโลกร้อน

ไคลน์เป็นผู้ที่รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ซึ่งเป็นความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับที่พระสันตะปาปาเคยกล่าวไว้ ก่อนหน้านี้พระสันตปาปาฟรานซิสเคยกล่าวว่านักการเมืองเป็นผู้สร้างระบบที่รับใช้แต่ประเทศที่ร่ำรวยโดยเบียดเบียนประเทศที่ยากจน

"ที่พวกเขาเชิญฉันแสดงว่าพวกเขาคงไม่ยอมเลิกสู้ง่ายๆ มีคนจำนวนมากชื่นชมพระสันตะปาปาในเรื่องนี้แต่ก็บอกว่าเขาพูดผิดเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนฉันกลับคิดว่าเขาพูดถูกในเรื่องเศรษฐกิจ" ไคลน์กล่าว

นักกิจกรรมและผู้นำทางศาสนามีแผนจะรวมกลุ่มกันในกรุงโรมช่วงวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (5 ก.ค.) โดยจะมีการเดินขบวนในกรุงโรมโดยเริ่มจากสถานทูตฝรั่งเศส ก่อนที่จะไปร่วมประชุมที่นครรัฐวาติกันซึ่งจะเน้นพูดกันถึงเรื่องการประชุมใหญ่เกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนโดยสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในกรุงปารีสของฝรั่งเศสภายในเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติส่งสารถึงวาติกันในการประชุมซัมมิทเมื่อเดือน เม.ย. ว่าพวกเขาต้องการให้พระสันตะปาปาเป็นปากเสียงและผู้นำในเชิงศีลธรรมเพื่อให้มีการขับเคลื่อนประเด็นโลกร้อนรวดเร็วขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นการรวมกลุ่มกันอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ของนักกิจกรรม นักวิทยาศาสตร์ และนักบวชซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ต่อต้านแนวคิดวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกาลิเลโอ แต่ในการประชุมที่จะมีขึ้นในวาติกัน คณะสงฆ์ได้ขอให้นักวิทยาศาสตร์อย่าง ฮันส์ จัวคิม เชล์นฮูเบอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศพอตส์ดัม มาให้ความรู้ด้านภูมิอากาศแก่นักบวชในวาติกันด้วย

ถึงแม้ว่าการตัดสินใจนำคนนอกเข้าร่วมของพระสันตะปาปาจะทำให้ชาวอนุรักษ์นิยมบางส่วนไม่พอใจเพราะคิดว่าคณะสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ควรจะเป็นหน้าที่ของนักการเมือง แต่ไคลน์ก็บอกว่าตำแหน่งของประสันตะปาปาเป็นเสมือน "ปากเสียงในเชิงศีลธรรม" ของโลก เพื่อที่จะสามารถทำให้ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและวิกฤติโลกร้อนเป็นเรื่องเดียวกันได้แทนที่จะแยกจากกัน โดยที่พระสันตะปาปาระบุว่าควรจะให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงในการหารือเรื่องโลกร้อนมากขึ้นด้วย

ไคลน์กล่าวอีกว่าการตัดสินใจของพระสันตะปาปาไม่เพียงแค่เปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงจากภายในคณะสงฆ์เองด้วยซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญมาก

 

เรียบเรียงจาก

Pope Francis recruits Naomi Klein in climate change battle, The Guardian, 28-06-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/jun/28/pope-climate-change-naomi-klein

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาก คจก.ยุคเผด็จการ รสช. สู่ยุคทวงคืนผืนป่าภาค 2 ภายใต้คำสั่ง คสช.

0
0

หลายพื้นที่ได้ผลกระทบในกรณีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. มีเป้าหมายจัดการทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากนโยบายดังกล่าว แน่นอนว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วภูมิภาค แม้ว่าในหลายพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่มาก่อน และแม้ในหลายพื้นที่ได้มีนโยบายร่วมกับรัฐบาลมาหลายชุดสมัย ทั้งการทำข้อตกลงร่วม พิสูจน์สิทธิ์ การออกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาสามารถให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินได้ ฉะนั้น หากข้อตกลงไม่ดำเนินการในภาคปฏิบัติประชาชนหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

ในภาคอีสาน กรณีตัวอย่างชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน นับแต่ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2529 รัฐบาลดำเนินโครงการ “อีสานเขียว” ภายใต้นโยบายดังกล่าวรัฐบาลขับไล่ชาวบ้านเพียงเพื่อพยายามสยบความเคลื่อนไหวของผู้มีความคิดต่างทางการเมือง คือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพื่อความมั่นคงของชาติ แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ชาวบ้านหลายครอบครัวได้คืนกลับมายังที่ดินทำกินเดิม

กระทั่งในปี 2534 ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม” (คจก.)รัฐหาเหตุผลมาอ้างอีกว่ามีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ให้ ทว่าวัตถุประสงค์แท้จริงคือแนวคิด“ไล่คนออกจากป่า” สาระสำคัญในหลักคิดกลับแฝงไว้ด้วยการเปิดพื้นที่สัมปทานการตัดป่า ทั้งเอื้อประโยชน์ให้เอกชนเช่าปลูกไม้เศรษฐกิจจำพวกยูคาลิปตัส เป็นต้น ทั้งนี้ หากชาวบ้านไม่ยอมจำนน จะถูกบีบบังคับให้อพยพ มีหลายรายถูกทหารใช้กำลังและบังคับให้รื้อถอนบ้านและมีบางรายถูกทหารพังบ้านเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่

เมื่อความรุนแรงถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ จากการที่ผู้เดือดร้อนร่วมลุกขึ้นคัดค้านโครงการ คจก.เพื่อต่อสู้ทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กลับคืนมาดังเดิม จนในที่สุดรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการ

เมื่อกลับคืนมายังพื้นที่ทำกินเดิม ชุมชนกลับต้องตกอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทว่าด้วยความไม่ยอมจำนนต่อปัญหา อุปสรรค และเพื่อความมั่นคงในผืนดิน จึงร่วมกันต่อสู้ กระทั่งผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่า ในรูปแบบที่ให้ชาวบ้านสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ เมื่อปี 2550 ทำให้ชุมชนเข้ามาอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูกและเก็บหาทรัพยากรจากป่าได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกันจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งการเลือกเก็บพืชบางชนิดในช่วงเวลาเฉพาะของแต่ละปี และคอยดูแลรักษาทรัพยากรป่ามาอย่างต่อเนื่อง

จากประวัติศาสตร์การดำเนินชีวิตของชุมชน ซึ่งถูกปกคลุมให้ตกอยู่ในเส้นจำกัดของเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ส่งผลให้เกิดปัญหาป่าทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 10 ชุมชน อาทิ พื้นที่บ้านซำผักหนาม และชุมชนหนองจาน ต.หนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาป อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น และชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย พบว่าคงยังมีลักษณะการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมโดยอาศัยผืนดินป่า ทั้งการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการทำเกษตร เก็บหาทรัพยากร ในผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร ด้วยการพึ่งพาในป่าชุมชนที่ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์ และสืบทอดกันมายาวนาน

ทว่าภายหลังรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะกำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง ยังได้ผลิตนโยบายต่างๆ ที่มีสาระสำคัญพุ่งเป้าไปที่คนจน บีบบังคับให้พวกเขาพ้นออกจากที่ดินทำกิน ทั้งยังจำกัดสิทธิในการใช้ทรัพยากร รวมถึงไม่อนุญาตให้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินเหล่านี้ได้ อันเป็นการปรากฏขึ้นซ้ำรอยเดิมของนโยบายรัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ ล่าสุด นโยบายทวงคืนผืนป่า สิ่งที่กล่าวมานี้ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง ไม่แน่ใจ และกลัวจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีกเมื่อใดก็ได้ เพราะรัฐไม่เคารพในสิทธิของชาวบ้าน และไม่ยอมเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน นอกจากนี้ ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ยังกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงเป็นการคุกคามต่อสิทธิในการดำเนินวีถีชีวิตให้เกิดความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุข

เกี้ยง ทะเกิงผลผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม ม.11 ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น บอกว่า จากประวัติศาสตร์ได้ร่วมต่อสู้ในสิทธิที่ทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เพราะการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ยังคงยืนอยู่ในความไม่มั่นคงบนผืนดินมาโดยตลอด ภาครัฐมักฉวยโอกาส หาจังหวะขับไล่ออกจากพื้นที่อย่างเสมอ อาทิ ช่วงปี 2493 ชาวบ้านจากหลายในจังหวัดภาคอีสาน อพยพโยกย้ายถิ่นเข้ามาจับจองที่ดินเพื่อบุกเบิกที่ทำกิน ต่อมาถูกอพยพตามคำสั่งของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทำให้ต้องอพยพไปอยู่ตามหมู่บ้านอื่น ต่อมามีการประกาศให้พื้นที่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลาน นับแต่นั้นในปี 2528 เจ้าหนี้ที่ทหารจากกองร้อยที่ 10 กรมทหารพรานที่ 25 ได้เข้ามาจัดระเบียบชุมชนใหม่ โดยรวมกลุ่มบ้านที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายเข้ามาเป็นชุมชนเดียว ตั้งอยู่บริเวณบ้านซำผักหนาม

แก้ว วงไกรตัวแทนชุมชนบ้านซำผักหนาม เล่าว่า ได้รับความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2533 หลายชุมชนในภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากโครงการ คจก. รัฐให้ออกจากพื้นที่และสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าถูกหลอก เพราะพื้นที่จัดสรรให้นั้นมีเจ้าของครอบครองอยู่แล้ว หลายครอบครัวต้องตกอยู่สภาพโดนลอยแพ ต่อมาได้ร่วมต่อสู้เรียกร้องกับผู้เดือดร้อนในพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อทวงคืนสิทธิที่ทำกินเดิม กระทั่งรัฐต้องยกเลิกโครงการฯ เมื่อปี 2535 แต่เมื่อกลับมายังพื้นที่เดิม ก็ต้องตกอยู่ในสภาพการควบคุมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทั้งถูกข่มขู่ คุกคาม พยายามไล่ออก เนื่องจากช่วงที่ถูกอพยพออกไปนั้น รัฐได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เมื่อปี 2534

“จากที่เคยอยู่อาศัยและทำการเพาะปลูก รวมทั้งเก็บหาทรัพยากรจากป่าได้ ความหวาดผวา กังวล ภายหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. และนโยบายทวงคืนผืนป่าได้หวนมาอีกครั้ง เกรงจะซ้ำรอยเดิม คจก.ภาคสอง เช่น ล่าสุดเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะมีการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ ดังนั้น เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.58 จึงร่วมกันไปพบกับหัวหน้าอุทยานฯ และนายอำเภอ ด้วยเหตุผลว่า การจัดการทรัพยากรเป็นของชุมชนมีส่วนร่วม จะทำการทวงคืนผืนป่าโดยไม่ผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการจอมป่าไม่ได้เด็ดขาด เพราะชุมชนมีสิทธิจัดการด้วยจิตสำนึกที่มีมาอย่างต่อเนื่องโดยชุมชนเอง และมีกฎข้อระเบียบของการอนุรักษ์ผืนป่าอยู่แล้ว รัฐจะมาจัดการเองโดยพละการ และไล่ออกจากพื้นที่ไม่ได้ หากรัฐคงพยายามดังเช่นนี้อีก ชาวบ้านก็จะร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเพื่อทวงคืนสิทธิในที่ทำกินเดิม กลับมาเช่นกัน” แก้วกล่าว

จากสถานภาพปัจจุบัน ภายหลังประกาศคำสั่ง 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯสู่การทวงคืนผืนป่าภาคสอง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.58 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่าจะมีการลงพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกิน ด้วยเกรงว่าจะเป็นนโยบายการทวงผืนป่า และรัฐจะนำมติ ครม.30 มิ.ย.41 มาใช้ในการลงพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งเป็นนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่กำลังจะก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นการปกป้องรักษาทรัพยากรของชุมชน ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน และตัวแทนอีกหลายชุมชนกว่า 300 คน ได้เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานภูผาม่าน เพื่อร่วมพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ นายอำเภอชุมแพ พร้อมปลัดอำเภอ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

ภายหลังมีบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครอง ประกอบด้วย นายอำเภอชุมแพ ปลัดอำเภอชุมแพ และตัวแทนชุมชน 5 พื้นที่ในเขตอุทยานฯ ประกอบด้วย 1. ชาวบ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 2.ชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 3.บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น 4.ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย 5.บ้านโคกยาว ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ร่วมลงลายชื่อตามบันทึกข้อตกลง ดังนี้

1. ในพื้นที่ที่การสำรวจสิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 และพื้นที่ผ่อนปรนตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน และโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ให้ทำกินได้ตามเดิมไปก่อน

2. ในพื้นที่ภูฮี บ้านโคกยาว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสำรวจแนวเขตผ่อนปรน ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 8 ก.ค.57

3. พื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่ นอกพื้นที่ผ่อนปรนให้ประสานผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เข้าตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้

จรูญ เซรัม ตัวแทนชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เล่าว่า เจ้าหน้าที่จะมีการสำรวจตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินกว่า 10 ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานภูผาม่าน ซึ่งจะต้องได้รับผลกระทบซ้ำเหมือนดังที่เคยเป็นอีกอย่างแน่นอน โดยที่ก่อนหน้านั้น ชุมชนเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนหนองจาน เคยพบชะตากรรมถูกขับไล่มาแล้ว กล่าวคือ เมื่อปี 2529 รัฐบาลไทยใช้นโยบายความมั่นคงของชาติ แต่ซ่อนเงื่อนไว้ภายใต้โครงการ “อีสานเขียว” แท้จริงต้องการบีบให้คอมมิวนิสต์ออกจากป่า นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้ชุมชนต้องถูกต้อนออกมาด้วย

ต่อมาหลังรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 ชุมชนหนองจาน ถูกหลอกอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยรัฐมองว่าชาวบ้านเป็นผู้ยากไร้และได้ออกนโยบายโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) โดยให้อพยพออกจากพื้นที่ทำกินเดิม พร้อมรับปากว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ มีหลายครอบครัวไม่ได้ที่ดิน ส่วนครอบครัวที่ได้ปรากฏว่าเป็นที่ดินจัดสรรที่มีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่ก่อนแล้ว เมื่อชาวบ้านถูกกระทำรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงรวมตัวกันคัดค้านและร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสาน พร้อมใจลุกขึ้นต่อต้านโครงการ คจก. กระทั่งในที่สุด รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการไปในปี 2535

จรูญเล่าต่อว่า หลังรัฐประหารโดยคณะ คสช. ได้มีนโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่อุทยานส่งหนังสือแจ้งมาว่า จะมีการลงสำรวจพิสูจน์สิทธิ์ จึงร่วมกับชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานภูผาม่าน พร้อมกับผู้ได้รับผลกระทบในเรื่องที่ดินทำกินในภาคอีสาน เดินทางขอเข้าพบหัวหน้าอุทยานฯ เพราะต้องการให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จะทำการสำรวจพิสูจน์สิทธิไปเพื่ออะไร เพราะการดำเนินการแก้ปัญหาช่วงที่ผ่านมา ภายหลังล้มเลิกโครงการ คจก. และได้กลับมาทำกินในพื้นที่เดิมอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า “อีสานคืนถิ่น” ได้มีกระบวนการแก้ไขปัญหานำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติภูผาม่านกับชุมชนในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือจอมป่า ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ชุมชนมีสิทธิที่จะสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน แม้จะเป็นไปได้เพียงชั่วคราว และมีข้อจำกัดจากฝ่ายอุทยานฯ ก็ตาม

“จากเหตุการณ์ถูกอพยพเรื่อยมา และคิดว่าไม่มีที่สิ้นสุดอีกแน่นอน เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิตของแต่ละชุมชน จึงรวมตัวกันมาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่จะทำการพิสูจน์สิทธิฯ นำไปใช้เพื่อประโยชน์อะไร แต่หากดึงดันที่จะตรวจสอบควรให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาถึงชุมชนด้วย อีกทั้งชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า ความหวาดกลัวการถูกขับไล่อีกทั้ง จะทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง จะส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง รวมถึงไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรป่าอีกต่อไป ดังนั้นนโยบายทวงคืนผืนป่าดังกล่าว รัฐควรเคารพในสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและเห็นคุณค่าความมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วย” จรูญกล่าว

หนูเอก แสงจันทร์ตัวแทนชาวบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน ต.วังสวาบ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เล่าว่า ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่านนั้น ปัญหาเริ่มก่อตัวหนักขึ้นหลังจากรัฐประกาศพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาแต่บรรพบุรุษเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติดงลานเมื่อปี 2508 ต่อมากรมป่าไม้ให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป.ได้สัมปทานการทำไม้ในเขตป่าสงวนฯ ในปี 2529 ส่งผลให้มีการทำลายป่าเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้มีการตัดไม้นอกเขตสัมปทาน นายหนูเอกพร้อมทั้งชาวบ้านได้รวมตัวกันคัดค้าน และทำเรื่องร้องเรียนต่อภาครัฐ อย่างไรก็ตามการสัมปทานตัดไม้ยังคงดำเนินการตัดไม้กันได้ต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย

หนูเอกเล่าอีกว่า การต่อสู้ยังไม่จบเพียงนั้น ได้มีโครงการพัฒนาป่าดงลาน โดยเจ้าหน้าที่นำต้นไม้ไปปลูกในบริเวณพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จึงรวมตัวคัดค้านกันอีกครั้ง โดยได้ทำการรื้อถอนกล้าไม้ที่กรมป่าไม้นำมาปลูก พร้อมยื่นฎีการ้องทุกข์ต่อสำนักราชเลขาธิการ ขอพระราชทานให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ แต่เรื่องเงียบหายไป

ต่อมามีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ คจก.ช่วงปี 2533 ชาวบ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน เป็นอีกหนึ่งในหลายพื้นที่ในภาคอีสานที่ถูกให้อพยพออกจากที่ดินทำกิน โดยรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าโดนหลอก เพราะที่จัดสรรให้เป็นที่ดินที่มีเจ้าของแล้ว จึงได้ร่วมกันต่อสู้กับชาวบ้านในภาคอีสานเรียกร้องให้มีการยกเลิก คจก. จนรัฐต้องยกเลิกโครงการไปเมื่อปี 2535 หลังจากกลับคืนมายังที่ดินทำกินเดิม กลายเป็นว่าได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งชาติภูผาม่านไปแต่ปี 2534 แล้ว จึงร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้ที่กินทำกินกลับคืนมา ทำให้สามารถทำมาหากินอยู่มาได้ถึงปัจจุบันนี้

“วันนี้ยังคงสู้ต่อ เพราะปัญหาการถูกจำกัดสิทธิในที่ดินทำกิน หน่วยงานภาครัฐคอยฉวยจังหวะ แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติออกไปจากชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช.ปัจจุบัน ส่งผลให้หลายชุมชนประสบปัญหาความเดือดร้อน เพราะชุมชนบ้านตาดฟ้า- ดงสะคร่าน ยังอยู่ในเขตอุทยานภูผาม่าน” หนูเอกกล่าว

อาศัยอำนาจ ยุค คสช.สั่งรื้อสะพานแขวน ตัดขาดโลกภายนอกกับชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย

ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย เริ่มมีปัญหาและได้รับผลกระทบต่อการทำหากินและที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่วันที่ 23 พ.ย.2505 ภายหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ทำให้ชาวบ้านที่มีทำกินอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต้องอพยพข้ามลำน้ำพองเข้ามาทำกินในพื้นที่วังอีเมียงมากขึ้น ต่อมามีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย จ.เลย และในปี พ.ศ.2534 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ครอบคลุมพื้นที่ อ.ภูผาม่าน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น และ อ.ภูกระดึง จ.เลย พื้นที่วังอีเมียงทั้งหมดจึงตกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน”

ปุ่น ชำนิตัวแทนชุมชนวังอีเมียง เล่าถึงสภาพโดยทั่วไปของชุมชนว่า ชุมชนเข้าทำการบุกเบิกที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังร่วมกันผลักดันจนสามารถล้มโครงการ คจก.ได้สำเร็จเมื่อปี 2535 ชาวบ้านกลับเข้ามาพื้นที่เดิม ปรากฏว่าชุมชนวังอีเมียง ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทับที่ทำกินเมื่อปี 2534 ด้วยความที่ชุมชนอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ และเพื่อสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่าในปี 2550 ที่ให้ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าและร่วมใช้ประโยชน์ในทรัพยากร และร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ปุ่น เล่าอีกว่า ประวัติการถือครองและการทำประโยชน์ที่ดินทำกินในพื้นที่วังอีเมียง ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านนาโก นาน้อย จาก ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย โดยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงชักชวนกันเข้ามาถือครองเพื่อทำกินมากขึ้น และเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “วังอีเมียง” ส่วนการจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชน ครั้งแรกเริ่ม ชาวบ้านเข้ามาปลูกพริก ถั่วแดง ปอ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาปลูกไม้ผลยืนต้น และส่วนหนึ่งทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยไม่เปิดหน้าดินทั้งหมด แต่มีการนำพืชป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ผักหวาน สวนไผ่ มาปลูกในพื้นที่ตัวเองเพื่อเป็นการอนุรักษ์ดิน น้ำ และระบบนิเวศโดยรวมในรูปแบบโฉนดชุมชน

ปุ่นเล่าว่า ภายหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. วังอีเมียงได้รับความเดือดร้อนอีกครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค.57 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงนำป้ายปิดประกาศ มีคำสั่งให้รื้อสะพานแขวงเข้าชุมชน โดยอ้างว่าสะพานบุกรุกพื้นที่ ถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสมือนเป็นการตัดแขนตัดขาดการสัญจรสู่โลกภายนอก นอกจากนี้ ยังไม่เป็นไปตามมติการมีส่วนร่วมของโครงการจอมป่า ที่ระบุว่า การกระทำการใดๆ ต้องผ่านความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการจอมป่าฯ อีกทั้งถือว่าเป็นการไล่ออกทางอ้อม เพราะเป็นเส้นทางเดียวในการสัญจรเข้าไปใช้ประโยชน์ทรัพยากรในการหาเก็บเห็ด หน่อไม้ และสมุนไพร ที่มีความสมบูรณ์อยู่ในป่าชุมชนวังอีเมียง ดังนั้น จึงทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กระทั่งเมื่อ 23 มี.ค.58 มติที่ประชุมได้พิจารณาเห็นควรให้ชะลอการรื้อถอนสะพาน โดยให้เป็นไปตามนโยบาย คสช.ที่ 66/2557

“ก่อนนั้นชาวบ้านใช้เพียงลวดสลิงโยกข้ามไปมาหาสู่กันระหว่างสองฝั่งลำน้ำพอง แต่มักมีปัญหาว่าลวดจะขาดบ่อย และช่วงหน้าน้ำจะไหลเชี่ยวมาก กระทั่งปี 2551 ผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ได้ร่วมผลักดันจนเกิดโครงการจอมป่าฯ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยชุมชนร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้น ชุมชนได้ทำหนังสือเพื่อขอก่อสร้างสะพานแขวน แต่ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งนักศึกษาและพระ ร่วมบริจาคเงินและออกแรงสร้างสะพานแขวน จนแล้วเสร็จในปี 2554 โดยการก่อสร้างสะพานแขวน นอกจากเพื่อให้มีความสะดวกในการสัญจรแล้ว ยังคิดถึงการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ คงความงดงามตามธรรมชาติ การออกแบบจึงเป็นไปตามมติการมีส่วนร่วม คือ เป็นแบบสะพานแขวน ทั้งนี้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สภาพเดิม เพราะหากก่อสร้างเป็นถนนทางปูน อาจทำให้รถยนต์วิ่งผ่านเข้าออกได้ง่ายขึ้น การหลั่งไหลจากภายนอกจะเข้ามามากขึ้น อาจก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ในภายหลัง “ปุ่น กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายโครงการที่ผ่านมาล้วนประสบความล้มเหลวมานั้น เพราะรัฐมีเพียงมุมมองด้านเดียวในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยยังติดอยู่ในรูปแบบเก่า ล้าหลัง เป็นต้นว่า กำหนดเขตพื้นที่ป่าและผลักดันชุมชนออกจากป่า ผ่านมาถึงช่วง คสช. ในยุคทวงคืนผืนป่า มีคำถามว่า รัฐสามารถตระหนักได้หรือไม่ว่า หลายชุมชนต่างมีการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เพราะด้วยวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับป่ามาตั้งแต่กำเนิด ทั้งความรู้และภูมิปัญญาสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรในป่าได้อย่างยั่งยืน อย่างแท้จริงและสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ชุมชนในเขตป่าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เป็นเพียงพื้นที่ที่หยิบขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง ของการที่ชาวบ้านรวมตัวต่อสู้ จากความล้มเหลวของโครงการ คจก. กระทั่งผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่า (Joint Management of Protected Areas - JoMPA) เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนพิสูจน์ว่า ชาวบ้านสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการนี้นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติภูผาม่านใน พ.ศ. 2550 โดยยินยอมให้ชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรป่าได้ชั่วคราว แม้จะยังมีข้อจำกัดจากการที่รัฐไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ก็ตาม

แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘จอมป่า’ไม่เพียงทำให้ข้อพิพาทระหว่างรัฐและชาวบ้านได้รับการแก้ไขเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นการบริหารจัดการที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นแนวทางให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืนโดยปราศจากการทวงคืนผืน ไล่คนออกจากพื้นที่ ดังเช่น นโยบายที่ คสช. ปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พล.อ.ประยุทธ์เบรคกรมชลประทานหยุดบรรยายเรื่องจัดการน้ำ-พร้อมดึงไม้มาชี้เอง

0
0

นายกรัฐมนตรีชมนิทรรศการของส่วนราชการ ก่อนเริ่มประชุม ครม.สัญจร โดยขณะที่อธิบดีกรมชลประทานบรรยายเรื่องจัดการน้ำ พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกให้พอแล้วให้ ขรก. มาบรรยายแทน ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดึงไม้ชี้มาจาก ขรก. เพื่อนำมาชี้เอง พร้อมแนะว่าไม่มีน้ำบรรยายอย่างไรก็ไม่มีน้ำ ต้นน้ำจะมีน้ำต้องปลูกต้นไม้ ขณะที่กรมชลประทานเสริมว่าได้เตรียมโครงการ "อุโมงค์เชื่อม 3 ลำน้ำ" ไว้แล้วตั้งงบไว้ 4 พันล้าน

นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการของสำนักชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ และกรมชลประทาน ก่อนการประชุม ครม.สัญจร ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันนี้ (30 มิ.ย.) นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ภายในศูนย์ประชุม

มติชนออนไลน์รายงานช่วงหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เยี่ยมชมนิทรรศการบางจุด และมีสีหน้าหงุดหงิดและได้ตำหนิการจัดทำป้ายที่นำมาแสดงที่อ่านแล้วไม่เข้าใจพร้อมกับได้แนะนำและได้นำปากกาเคมีมาเขียนและลากเส้นด้วยมือตัวเองทับลงบนบอร์ดการแสดง

ทั้งนี้จากคลิปของ เว็บไซต์รัฐบาลไทยตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ในฐานประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการน้ำ คสช. เดินมาถึงบูธของกรมชลประทาน ที่นำโมเดลการบริหารการจัดการน้ำมาจัดแสดง มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้บรรยาย

ตอนแรก นายเลิศวิโรจน์ ซึ่งสวมเสื้อนอกสีดำ บรรยายว่า โมเดลนี้แสดงให้เห็นการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ที่นำแนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางที่จะจัดการป้องกันน้ำท่วมเชียงใหม่ อย่างไรก็ตามขณะที่นายเลิศวิโรจน์กำลังบรรยาย พล.อ.ประยุทธ์ได้ดึงมือของนายเลิศวิโรจน์ออกจากโมเดลทันทีและบอกว่าพอๆ และให้อธิบดีกรมชลประทานยืนอยู่ด้านหลัง

จากนั้นได้ให้ข้าราชการกรมชลประทานซึ่งสวมชุดสีกากีอีกคนบรรยายแทน โดย พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่าต้นน้ำมาจากทางไหนและให้ข้าราชการรายดังกล่าวใช้ไม้ชี้ให้ดู ส่วนอธิบดีกรมชลประทานได้แต่ยืนยิ้ม

ข้าราชการคนดังกล่าวได้ชี้ว่า เส้นนี้คือแม่น้ำปิง และแม่น้ำแม่แตงที่จะเข้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังถามต่อว่าต้นน้ำมาจากไหน ข้าราชการคนดังกล่าวตอบว่ามาจาก อ.เวียงแหง พล.อ.ประยุทธ์ถามอีกว่า อ.เวียงแหง มาจากตรงไหน มาจากบนเขา ในเขา หรือว่าต้นไม้ มาจากป่าใช่ไหมเล่า แล้ววันนี้มันแห้งหรือยัง ยังมีไหลอยู่รึเปล่าเพราะอะไรทำไมถึงเหลือน้อย

โดยข้าราชการตอบว่า "ฝนน้อยด้วยครับ" พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่า "ทำไมฝนถึงน้อย" ข้าราชการตอบว่า "เพราะป่าครับ" พล.อ.ประยุทธ์ ถามว่า "แล้วใครต้องดูแลป่า เพราะเมื่อมันไม่มีน้ำ บรรยายมาหมดมันก็ไม่มีน้ำ จะทำยังไงให้ต้นน้ำมาได้ก็ต้องมีต้นไม้ ก็ต้องเสริมไปเรื่อยๆ แล้วต้นน้ำไม่มีน้ำจะเอาน้ำที่ไหนไหลลงมา"

จากนั้นข้าราชการคนดังกล่าวก็ยืนนิ่งไป จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เอื้อมไปคว้าไม้มาชี้ที่แบบจำลองเอง แล้วก็กล่าวว่า "ก็ตอบไม่ตรง คุณต้องหาที่เก็บกักน้ำให้ได้ถ้าฝนมันลงที่ต้นน้ำคุณก็เก็บไว้ คุณก็เจาะช่องมาตรงนี้ แก้มลิงติดๆ กับคลอง กับลำน้ำนี้ได้ไหม?"

จากนั้น มีข้าราชการจากโครงการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวว่า "ทำไมไม่บอกท่านว่ามีโครงการขุดอุโมงค์ส่งน้ำ" พล.อ.ประยุทธ์ ถามต่อว่า "อุโมงค์อยู่ตรงไหน" ข้าราชการกรมชลประทานตอบว่า "อุโมงค์เชื่อมกัน 3 ลำน้ำ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เมื่อไหร่จะเสร็จ" ข้าราชการตอบว่า "6 ปีครับ"  พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ปีอะไรล่ะ" ข้าราชการตอบว่า "ปี 2564" ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ยังอยู่หรือ" "ผมก็ไม่อยู่ คุณก็ไม่อยู่" จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ หันไปถามอธิบดีกรมชลประทานว่า "ใช้เงินเท่าไหร่" อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า "โครงการนี้ใช้เงิน 4,000 ล้านบาทครับ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "มีเงินหรือยัง?" อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า "ได้งบประมาณมาแล้ว"

ในรายงานของ มติชนออนไลน์ระบุด้วยว่า พล.อ.ฉัตรชัย ซึ่งเป็น รมว.พาณิชย์ กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่าจากงบประมาณปี 56-57 มีงบประมาณทำโครงการที่จะทำให้แม่น้ำปิงเก็บน้ำได้มาก และที่แม่กวงที่รัฐบาลนี้ได้อนุมัติไปแล้วด้วย โดยหลังการนำเสนอดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินไปยังจุดอื่น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘อาชีวะช่วยชาติ’ ขู่จะรวมตัวแสดงพลัง หาก น.ศ.ไม่หยุดต้าน คสช.

0
0

30 มิ.ย.2558 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ’เผยแพร่แถลงการณ์ลงวันที่ 30 มิ.ย.2558 ระบุการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มดาวดิน มีกลุ่มบุคคลที่เสียผลประโยชน์คอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และเรียกร้องให้กลุ่มนักศึกษาหยุดการเคลื่อนไหวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยระบุว่า หากไม่หยุดทำลายความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของชาติ กลุ่มอาชีวะทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจะออกมาแสดงพลังเพื่อสนับสนุนการทำงานของ คสช.  

 

 

 

แถลงการณ์ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ณ ราชดำเนิน 56

Posted by กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ on Monday, June 29, 2015

 

......................

แถลงการณ์ฉบับที่ 2/2558
กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ณ ราชดำเนิน 56

จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ประเทศสงบขึ้นเป็นอันมาก แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนนักศึกษาบางกลุ่ม (กลุ่มดาวดิน) ดังนั้น ในนามนักศึกษาด้วยกันจึงอยากให้กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวหยุดการกระทำ หากยังมีนักศึกษาที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ออกมาทำลายความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของชาติ ทางกลุ่มอาชีวะช่วยชาติที่ประกอบไปด้วยศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าจะออกมาแสดงพลังเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เช่นกัน

กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ ณ ราชดำเนิน
30 มิถุนายน 2558

 

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รมว.ยุติธรรมเตรียมใช้คำสั่ง คสช. จัดระเบียบเด็กแว้น

0
0

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เผยว่าได้ยกร่างคำสั่ง คสช. เพื่อจัดการกับนักแข่งรถบนทางสาธารณะแล้ว โดยอาศัยอำนาจตาม ม.44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอหัวหน้า คสช.

30 มิ.ย. 2558 - สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้ร่างคำสั่ง คสช. เพื่อจัดการกับกลุ่มนักแข่งรถบนทางสาธารณะ หรือเด็กแว้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 นั้นได้ยกร่างเสร็จแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะส่งให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชมวิดีโอเสวนาวิชาการ ‘วัฒนธรรมสิทธิในสังคมไทย’

0
0

บันทึกวิดีโอเสวนาวิชาการหัวข้อ “วัฒนธรรมสิทธิในสังคมไทย” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2558 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบไปด้วย ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, กรชนก แสนประเสริฐ สมาชิกจากกลุ่มดาวดิน, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  และไทเรล ฮาเบอร์คอน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57980 articles
Browse latest View live