Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

หมายเหตุประเพทไทย : ชีวิตคู่กับ AI Robot

$
0
0

 

 

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ พบกับ คำ ผกา และอรรถ บุนนาค คุยกันถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งเริ่มเปลี่ยนไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะ (artificial intelligence) ซึ่งสามารถโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ โดยในบางแห่งของญี่ปุ่นและของอเมริกา มีมนุษย์ที่เริ่มใช้ชีวิตคู่ร่วมกับตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ในลักษณะสามี-ภรรยา หรือแม่-ลูก บ้างแล้ว

คลิกไลค์เพื่อติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของรายการได้ที่ facebook.com/maihetpraphetthai

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โพสต์อิสรภาพฯ ที่เชียงใหม่-เรียกร้องปล่อยตัว 14 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข

$
0
0

ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีการจัดกิจกรรมโพสต์อิสรภาพ เขียนข้อความให้กำลังใจ และเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. และ ม.116 อย่างไม่มีเงื่อนไข ขณะที่ตำรวจ-ทหารควบคุมสถานการณ์รอบพื้นที่

6 ก.ค. 2558 - เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (5 ก.ค.) มีการจัดกิจกรรมโพสต์อิสรภาพปล่อยเพื่อนเราโดยไม่มีเงื่อนไข ที่หน้าประตูมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.ห้วยแก้ว มีนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนร่วมกิจกรรม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร  และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ได้เข้ามาประจำบริเวณโดยรอบตั้งแต่เวลา 17.30 น.

ที่มาของภาพ: เพจสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (ชมภาพทั้งหมดที่นี่)

สำหรับกิจกรรมที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากการติดกระดาษบันทึกย่อ หรือกระดาษโพสต์อิท เขียนข้อความถึงผู้ถูกควบคุมตัวจากกลุ่ม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ทั้ง 14 คน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข ยังมีผู้นำบทกวีมาอ่าน รวมทั้งเล่นดนตรี นอกจากนี้ยังมีศิลปินจัดกิจกรรมศิลปะแสดงสด ด้วยการเปลือยร่างกายส่วนบน และนำผ้าผูกตา และหยุดยืนนิ่งเพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมนำกระดาษโพสต์อิทมาติด

ทั้งนี้มีรายงานว่ามีบุคคลในวงการต่างๆ อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รวมถึงผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เดินทางมาร่วมกิจกรรมด้วย

ขณะเดียวกัน สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย At North และเครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมฉบับพิเศษ "ปล่อยเพื่อเราโดยไม่มีเงื่อนไข" โดยตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า

"กาลครั้งหนึ่ง การแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาเคยเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชม แต่กาลครั้งนี้ การแสดงออกทางการเมืองของเรากลับเป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องกลายเป็นจำเลย และคุมขังในฐานะนักโทษ"

"มันไม่เกินไปหน่อยหรือ ที่การยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของเพื่อนเราทั้ง 14 คน นำไปสู่การถูกจับกุมและกักขังในเรือนจำ เรารู้สึกเจ็บปวด เมื่อเห็นภาพเจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมเพื่อนเราทั้ง 14 คน ความเจ็บปวดเหล่านี้ไม่ได้มาจากความเสียใจที่เพื่อนเราถูกจับและกักขัง เพราะเรารู้ดีว่าเรือนจำ จำได้เฉพาะร่างกาย แต่ไม่สามารถจองจำจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพของเพื่อนได้ แต่ความเจ็บปวดเหล่านี้มาจากการที่เห็นเจ้าหน้าที่รัฐๆทย กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองไทย ปล้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากล กระจายอำนาจแห่งเผด็จการกดขี่และสร้างความหวาดกลัวไปทั่วทุกพื้นที่ในการที่จะปิดกั้นไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ เพื่อที่จะเอื้ออำนวยต่อการเอารัดเอาเปรียบทางสังคมและทรัพยากร"

"เรา สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มแม่โจ้เสรีเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม AT Nort และเครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ เราภาคภูมิใจที่จะประกาศตนกับสังคมว่า เราคือแนวร่วมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่เชื่อมั่นว่าหลักการกำปั้น 5 ข้อ จะนำมาซึ่งความสงบสุขและการพัฒนาชาติที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง อันประกอบไปด้วย"

"1.หลักประชาธิปไตย ต้องให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้าอย่างเท่าเทียมกัน
2.หลักความยุติธรรม ปราศจากสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม
3.หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง รัฐบาลต้องคืนอำนาจให้ประชาชน
4.หลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ต้องเคารพและรัฐต้องหยุดละเมิดสิทธิ
5.หลักสันติวิธี คือการแก้ปัญหาทางการเมือง ต้องปราศจากการใช้ความรุนแรง หรือนำมาสู่เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความรุนแรง"

"ในฐานะกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เราไม่อาจเพิกเฉยและทนต่อระบบเผด็จการอำนาจนิยมเช่นนี้ได้ แม้ร่างกายของเราจะไม่ได้ถูกกักขัง แต่ตราบใดที่เพื่อนเรายังคงอยู่ในเรือนจำ ก็เหมือนกับกักขังจิตใจเราไปด้วย เราขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเพื่อนเราทั้ง 14 คนอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด เพราะเราคือเพื่อนกันและเราจะไม่ทิ้งกัน" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

มีรายงานว่า ภายหลังที่กิจกรรมโพสต์อิสรภาพดังกล่าวสิ้นสุดในเวลา 19.00 น. ไม่นานนักมีชายคนหนึ่งเดินมาปลดกระดาษโพสต์อิท ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบนำตัวไปสงบสติอารมณ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บุญเลิศ วิเศษปรีชา: คสช.บนทางแพร่ง

$
0
0

 

นับแต่ย่างเข้าปีที่สองของการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ดูเหมือนสถานการณ์หลายอย่างจะไม่เป็นใจกับคสช. ทั้งตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ภาวะภัยแล้ง รวมถึงการจับกุมนักศึกษา 14 คนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่ผู้นำคสช.และบรรดาโฆษกทั้งหลายต่างไม่ตระหนักถึงสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ยังแสดงท่าทีแข็งกร้าว ราวกับหลังรัฐประหารใหม่ๆ เช่นอ้างว่าต้องบังคับใช้กฎหมายกับนักศึกษาทั้ง 14 คน อย่างเคร่งครัด จึงเป็นที่น่ากังวลว่า คสช. กำลังเลือดเข้าตา และอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดและทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม

ด้วยผู้เขียนเป็นนักมานุษยวิทยาที่ถูกฝึกให้พยายามทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้อื่นที่ต่างจากเรา ผู้เขียนพยายามที่จะทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน จากมุมที่ คสช. กำลังมองว่า มุมจากมองของพวกเขานั้นพร่ามัวอย่างไร 

หนึ่ง ผู้นำคสช. พูดอย่างแข็งกร้าวว่า จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด มิเช่นนั้นจะรักษากฎหมายและความสงบของบ้านเมืองไม่ได้  แต่สิ่งที่คสช. ไม่ได้คิดก็คือ เอาเข้าจริง สิ่งที่นักศึกษาทำผิด ก็คือ ขัดคำสั่ง คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมืองของคสช.และถ้าพิจารณาต่อไปว่า คำสั่งคสช. นั้นมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด จะเกิดปัญหาทันที เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้อาวุธเข้ายึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนุญมาก่อน ดังนั้น คสช. จึงไม่ได้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจหรืออ้างกฎหมายที่หนักแน่นแต่ประการใด คสช.จึงต้องตระหนักว่า คำสั่งที่คสช.ถือว่าเคร่งครัดหนักหนามันไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอ่านความรู้สึกของสังคมได้ดี สิ่งที่ประชาชน “ยอม” สงบในช่วงปีแรกของการรัฐประหาร ไม่ได้แปลว่า ประชาชนจะ “ยอม” คสช.ตลอดไป คสช. ต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าจะเป็นผู้ผ่อนปรนกฎนี้ด้วยตัวเอง หรือจะให้ประชาชนลุกฮือมาเรียกร้องให้ต้องยกเลิกกฎ เมื่อนั้นคสช. อาจคุมสถานการณ์ได้ยากขึ้น ขณะนี้

คสช.กำลังอยู่บนทางแพร่งนี้

สอง ผู้นำคสช. ยอมรับว่าขณะนี้ไม่ได้อยู่ในช่วงสังคมประชาธิปไตย แต่กลับไม่ยอมรับว่า กำลังใช้อำนาจเผด็จการอยู่ ทั้งๆ ที่ สิ่งที่คสช. กำลังปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น สิ่งนี้คือ สิ่งที่ประชาชนเห็นว่า คือการใช้อำนาจเผด็จการที่โจ่งแจ้ง การส่งนักศึกษาที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติเข้าสู่เรือนจำราวกับว่าพวกเขาเป็น อาชญกรปล้นชิงทรัพย์ นีแลคือการใช้อำนาจเผด็จการ ปิดปากกดหัวประชาชนที่เห็นแตกต่าง ที่ทำให้ความชอบธรรมในการยอมรับอำนาจของคสช. น้อยลงเรื่อยๆ คสช. ควรเรียกรู้ผู้ปกครองที่มีความสามารถคือ ทำให้ผู้คนยอมรับการปกครองไม่ใช่การใช้อำนาจกดบังคับ

สาม ผู้นำคสช. คิดจากมุมมองของตนว่าต้องรักษาความสงบเรียบร้อย แต่คสช.ผิดพลาดที่ไปเข้าใจว่า การรักษาความสงบเรียบร้อยคือการปิดกั้นไม่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างจากคสช.ได้แสดงออก ภาวะที่ดูเหมือนสงบขณะนี้ จึงเป็นการสงบภายใต้ความรู้สึกอึดอัดที่ประชาชนไม่อาจสื่อสารปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ เพราะรัฐบาลมัวแต่หวาดระแวงว่า ทุกการเคลื่อนไหวมีเบื้องหลัง แทนที่จะมุ่งพิจารณาที่มูลเหตุที่มาของการเคลื่อนไหว ดังเช่น กลุ่มดาวดินที่เคลื่อนไหวสนับสนุนชาวบ้านค้านรัฐบาลและนายทุนมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารกลับถูกผลักให้ไปอยู่ในขั้วอำนาจเก่า คสช. อาจใช้อำนาจรัฐบังคับไม่ให้คนแสดงออกได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่คสช.ไม่อาจบังคับผู้คนให้คิดเหมือนคสช.ได้ ผู้คนยังคงคิดอย่างอิสระและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหยั่งรากลึกในสังคมไทย เกินกว่าที่ คสช.จะรื้อถอนมันออกได้ง่ายๆ

ภาระและบทบาทที่คสช. ควรทำก็คือ เปิดโอกาสให้คนที่เห็นแตกต่างได้แสดงออกอย่างสันติ บนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่างและสิทธิของผู้อื่น สิ่งที่คสช. ควรแสดงความสามารถให้ประจักษ์ว่า เปิดให้คนได้แสดงความเห็นอย่างสันติโดยไม่ตีกันทะเลาะกัน คสช.ควรคืนเสรีภาพให้ประชาชน คืนพื้นที่ทางวิชาการให้มหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ในการแสดงออก ทั้งคนที่ชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์คสช.สามารถแสดงออกได้พอๆ กัน นักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปมีทั้งที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนคสช. ส่วนที่อยู่เฉยๆ ก็มาก ดังนั้น ความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นก็คือ  ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ไม่ลำเส้น ไม่ใช้กำลังความรุนแรง หน้าที่ของคสช.คือควบคุมทั้งสองฝ่ายให้แสดงออกอย่างสันติ อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่เห็นคนแตกต่างแล้วยกพวกไปตีกัน นั่นคือ อนาธิปไตย ไม่ใช่ ประชาธิปไตย

คสช. อย่าสับสนว่า ความแตกต่างทางความคิด คือ ความแตกแยก สังคมไทยควรมีวุฒิภาวะขึ้นว่า เราแตกต่างกันได้ โดยไม่ต้องแตกแยก  สร้างบรรยากาศ เวทีให้คนที่เห็นแตกต่างได้แลกเปลี่ยนกัน ถ้าคสช.สร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้ ทำให้สังคมมีวุฒิภาวะขึ้น เราและท่านจึงจะมีความหวังขึ้นว่า หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้ง สังคมไทยจะมีไม่กลับไปสู่ภาวะไร้ระเบียบดังเดิม

ขอย้ำว่า คสช. กำลังอยู่บนทางแพร่งว่า จะค่อยๆ เปิดพื้นที่สังคมได้แสดงออก สร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถเริ่มได้จากการเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อนักศึกษาทั้ง 14 คน หรือ คสช. จะเลือกปิดกั้นประชาชนต่อไป ท่องคาถาเช่นเดียวกับรัฐประหารใหม่ๆ ไม่พยายามทำความเข้าใจและฝึกที่จะบริหารความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนที่แตกต่างกันในสังคม

คสช. กำลังเดินเข้าสู่ความเสี่ยง.  


 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วีรชน วอนนานาชาติเข้าใจบริบทไทย ถามกลับ น.ศ. ทำไมไม่ประกันตัว ทำไมยอมรับกฎหมาย

$
0
0

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ขอ องค์กรต่างประเทศเข้าใจการเมืองไทย หยุดกดดัน ตอนนี้ประเทศมีเสถียรภาพ และกำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย พร้อมถามกลับ น.ศ. ทำไมไม่ยอมรับกฎหมาย

6 ก.ค. 2558 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับกรณีที่องค์กรต่างประเทศหลายแห่งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว 14 ศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น รัฐบาลมีความเข้าใจในบทบาทขององค์กรเหล่านั้น รัฐบาลไม่ได้มีปัญหากับแนวความคิดของนักศึกษา เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ของประเทศ

ทั้งยังต้องการให้นักศึกษาได้ทราบว่า ขณะนี้ที่มีการรวมกลุ่มกันนั้น ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่แอบแฝงหวังผลประโยชน์กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เช่น หวังขยายเหตุการณ์ให้เป็นเหมือนกรณี 14 ตุลาคม 2516 เพราะที่ผ่านมานอกจากนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มการเมืองและผู้เสียผลประโยชน์ที่มุ่งหวังคอยแอบแฝง

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องการองค์การต่างๆ ที่กำลังกดดันรัฐบาลอยู่ขณะนี้ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน โดยต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทยและวัตถุประสงค์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ว่านอกเหนือจากสิ่งที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ยังมีสิ่งใดแอบแฝงอยู่หรือไม่

ขณะเดียวกัน นักศึกษาก็มีความพยายามที่จะให้องค์กรเหล่านี้กดดันรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้นักศึกษาจะออกมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ตามความคิดของตัวเอง ในฐานะที่เขาเป็นเด็ก เขาก็คิดได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสังคมก็ต้องรับฟัง และต้องพยายามสื่อสารทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกร้องนั้นเราให้ได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่การที่มีบางกลุ่มออกมาแสวงประโยชน์จากความเคลื่อนไหวของเด็กๆนั้น มีนัยยะแน่นอน

เมื่อถามว่า องค์กรต่างประเทศหลายองค์กรออกมารียกร้องอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลรู้สึกกดดันหรือไม่ พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ไม่อยากจะบอกว่ากดดัน เพราะเรามีมาตรการของในการดูแลสถานการณ์ โดยมีการเจรจาทำความเข้าใจ แต่สิ่งที่กดดันคือหลายองค์กรยังไม่เข้าใจในบริบทของไทยอย่างแท้จริง ซึ่งเราเข้าใจว่าเขาทำหน้าที่ แต่รัฐบาลก็มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สร้างความรับรู้แล้วเข้าใจให้กับสังคม ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละคน ซึ่งขณะนี้ก็มีเสียงออกมาต่อต้านนักศึกษาเดียวเช่นกัน แต่เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องสร้างความเข้าใจ และมั่นใจในความตั้งใจ ความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งสังคมส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าบ้านเมืองจะต้องเดินไปข้างหน้าอย่างไร

พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ส่วนกรณีนักศึกษาไม่ยอมประกันตัวนั้น ก็ต้องการพูดคุยว่ามีเหตุผลอะไร เหตุใดถึงไม่ยอมรับกติกาของสังคม ถึงจะมองว่ากฎหมายที่ใช้อยู่นั้นไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ต้องถามว่าแล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงได้ยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ทำให้ประเทศชาติสงบสุข ประชาชนสามารถทำมาหากิน เศรษฐกิจขับเคลื่อน ทั้งที่ประชาชนต่างมองว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยอมรับว่าส่งผลให้บ้านเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพ เราต้องพูดคุยกันว่านักศึกษาซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ทำไมไม่ยอมรับกฎหมายที่คนทั้งประเทศก็ยอมรับทั่วกัน ซึ่งการพูดคุยกันจะออกมาอย่างไรก็ต้องรอดู แต่เชื่อว่าไม่สามารถทำให้เหตุการณ์จบลงภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ได้

เมื่อถามว่าเมื่อมีองค์กรต่างๆกดดันจะสร้างความลำบากให้นายกรัฐมนตรีเมื่อเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่พล.ต.วีรชนกล่าวว่าคิดว่าตรงกันข้าม เพราะต่างประเทศล้วนมองว่าไทยมีเสถียรภาพ ทั้งด้านการเมือง และความมั่นคง แม้ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเต็มใบ แต่เขารู้ว่าเรากำลังจะก้าวไปสู้ความเป็นประชาธิปไตยที่มีความมั่นคง ยั่งยืน ขณะนี้เราเป็นที่ยอมรับในบทบาทที่ทำ ซึ่งทุกประเทศต่างให้กำลังใจในการทำงาน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ได้ยืนยันถึงโรดแมป กระบวนการต่างๆ ที่จะนำพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยในวันข้างหน้า

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กป.อพช. แถลงเรียกร้องปล่อยนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข

$
0
0

กรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนชี้ การละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิพลเมืองไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง เรียกร้องรัฐบาลปล่อย 14 นักกิจกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข

วันที่ 6 ก.ค. 2558 กป.อพช.ได้แถลงเรียกร้องรัฐบาล คสช. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในทุกระดับให้ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มพลเมืองใดๆก็ตามที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือมาจากความปรารถนาที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองดังที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้กระทำไปแล้วนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับการเคารพ

ทั้งยังอธิบายว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อยู่ในกรอบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นานาอารยะประเทศให้การยอมรับ ดังที่ตราไว้ใน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 2519” ที่ประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม คุมขังนักศึกษานักกิจกรรมเหล่านี้ พร้อมตั้งข้อหาที่รุนแรง และดำเนินคดีโดยใช้อำนาจการไต่สวนโดยศาลทหาร จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแทรกแซงกระบวนการบยุติธรรม กป.อพช.จึงขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไข

อ่านแถลงการณ์โดยละเอียด

เรียกร้องปล่อยนักศึกษาและนักกิจกรรม 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข
การละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิพลเมือง
ไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารนอกเครื่องแบบได้จับกุมนักศึกษานักกิจกรรมทางสังคมในนามกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ในข้อหาร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. 3/2558 นั้น

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เห็นว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อยู่ในกรอบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่นานาอารยะประเทศให้การยอมรับ ดังที่ตราไว้ใน “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) 2519” ที่ประเทศไทยเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2539 ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม คุมขังนักศึกษานักกิจกรรมเหล่านี้ พร้อมตั้งข้อหาที่รุนแรง และดำเนินคดีโดยใช้อำนาจการไต่สวนโดยศาลทหาร จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแทรกแซงกระบวนการบยุติธรรม กป.อพช.จึงขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขาโดยไม่มีเงื่อนไข

ประเทศไทยในภาพรวมประกอบด้วยพลเมืองที่มีจิตสำนึกและความตื่นตัวทางการเมืองในระดับสูง อันเป็นผลพวงของพัฒนาการที่ต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตย ลังจากที่คสช.ยึดอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้ใช้มาตรการกดข่มความเห็นต่างทางการเมืองในลักษณะเหมารวม ซึ่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยุติลงเมื่อใด ย่อมทำให้ประชาชนหลายกลุ่มเกิดความรู้สึกถูกบีบคั้น กดดันเพราะไม่อาจแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระ

โดยข้อเท็จจริง การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในนามกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่มีเจตจำนงปกป้องราษฎรในชนบทห่างไกลที่ถูกข่มเหงรังแกโดยกลุ่มผู้มีอิทธิพล มีบุคคลในเครื่องแบบเกี่ยวข้อง และมุ่งตรวจสอบนโยบายภาครัฐที่ก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและฐานอาชีพของชุมชน อันได้ดำเนินมาตั้งแต่ก่อนพฤษภาคม 2557 กป.อพช.เห็นว่ากิจกรรมเช่นนี้ก่อประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ อีกทั้งยังเกื้อกูลภาครัฐที่จะต้องบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

กป.อพช.ขอเรียกร้องรัฐบาล คสช. และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในทุกระดับให้ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวโดยกลุ่มพลเมืองใดๆก็ตามที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือมาจากความปรารถนาที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองดังที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ได้กระทำไปแล้วนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับการเคารพ

คสช. รัฐบาล และเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคง พึงยึดหลักขันติธรรม ระมัดระวังที่จะด่วนสรุปว่าการแสดงความเห็นต่างของกลุ่มพลเมืองใดๆมีผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจทำให้การดำเนินนโยบายผิดพลาดยิ่งขึ้นเพราะเข้าใจปัญหาไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลให้การนำพาประเทศไทยไปสู่ความปรองดองยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
6 กรกฎาคม 2558

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ณาตยา แจงไทยพีบีเอสเสนอข่าว น.ศ. ตามหน้าที่สื่อสาธารณะ-รอมติ กสท.วันนี้

$
0
0
หลังคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก ร้องเรียน กสทช. ไทยพีบีเอสเสนอสกู๊ป 14 น.ศ. มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ณาตยาแจงเป็นหน้าที่สื่อสาธารณะ ชี้รายงานข่าวด้วยความรอบคอบ เผยมีการตรวจสอบกันเองตลอดการทำงาน สุภิญญา กสทช.ชี้ส่วนตัวไม่เห็นว่าขัดมาตรา 37 แต่ต้องรอมติบอร์ดบ่ายนี้


คลิกเพื่อชม ที่นี่ไทยพีบีเอส วันที่ 25 มิ.ย. 2558  
 

สืบเนื่องจากคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก ร้องเรียน กสทช. กรณีการออกอากาศรายการ ที่นี่ Thai PBS เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ช่วงสกู๊ปข่าวนักศึกษาที่ถูกออกหมายจับ มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

6 ก.ค. 2558  ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณีการทำสกู๊ปดังกล่าว ยืนยันว่า กองบรรณาธิการ และไทยพีบีเอส เห็นร่วมกันว่างานที่ทำเป็นหน้าที่ที่สื่อสาธารณะต้องทำ จึงพร้อมที่จะร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพิจารณาจุดบกพร่องด้วยกันอย่างจริงจัง พร้อมเผยมีการตรวจสอบกันเองตลอดขั้นตอนผลิตรายการ

รายละเอียดมีดังนี้

ในฐานะบรรณาธิการที่รับผิดชอบการทำสกู๊ปข่าวการเคลื่อนไหวของนศ.ชิ้นที่กำลังจะถูกตัดสินในบอร์ดกสท.ตามคำร้องของคสช. ในวันนี้ ดิฉันสมควรต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยค่ะ

สกู๊ปข่าวที่ไม่ได้ลงชื่อของนักข่าวหรือทีมข่าวที่ทำ ทำให้ถูกถามว่ากลัวอะไร เป็นเสียงทักจากสื่อมวลชนอาวุโสที่ดิฉันนับถือเป็นอาจารย์และเป็นต้นแบบในการทำงานข่าวโทรทัศน์ท่านหนึ่ง เป็นเสียงทักที่ต้องการส่งเสริมมากกว่าตำหนิแม้ว่าท่านจะเป็นนักสื่อมวลชนที่ปรากฏตัวอยู่บนเวทีการชุมนุมที่ถูกตัดสินว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และด้วยอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือการที่สกู๊ปข่าวชิ้นนี้กำลังกระทบต่อกองบรรณาธิการข่าวและไทยพีบีเอสทั้งองค์กร ซึ่งดิฉันอยากจะยืนยันในเบื้องต้นว่า กองบรรณาธิการ และไทยพีบีเอส เห็นร่วมกันว่างานที่ทำเป็นหน้าที่ที่สื่อสาธารณะต้องทำ จึงพร้อมที่จะร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพิจารณาจุดบกพร่องด้วยกันอย่างจริงจัง (ไม่มีการพูดเรื่องหักเงินเดือนนักข่าวอย่างที่มีข่าวด้วยค่ะ)

โดยส่วนตัวดิฉันมีเรื่องอยากพูดถึง อย่างนี้ค่ะ
ข้อแรก ดิฉันมิได้กลัวที่จะเปิดเผยว่าเป็นคนที่รับผิดชอบการทำข่าวชิ้นนี้

ข้อที่สอง ดิฉันมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะหัวหน้าของทีมข่าว โดยทำหน้าที่ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกประเด็น การมองคุณค่าข่าว การส่งนักข่าวไปทำข่าวภาคสนาม การตรวจและแก้ไขบทข่าว รวมถึงการเสนอประเด็นต่อบรรณาธิการข่าวที่รับผิดชอบข่าวในแต่ละช่วงเวลา (กรณีนี้คือช่วงรายการที่นี่ไทยพีบีเอส) ซึ่งสกู๊ปข่าวชิ้นนั้นมีเนื้อหาการนำเสนอตามนี้ https://www.youtube.com/watch?v=j0kLK2vhC3M

และสกู๊ปข่าวบางชิ้น ดิฉันเป็นผู้เขียนเรียบเรียงด้วยตัวเอง ดังเช่น สกู๊ปข่าวในวันที่ 2 ที่นศ.ถูกจับ และสังคมกำลังสงสัยว่าพวกเขาเป็นใคร มีที่มาอย่างไร ซึ่งออกอากาศในข่าวภาคค่ำ https://www.youtube.com/watch…

ข้อที่สาม ในภาพรวมของข่าวไทยพีบีเอสเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการนำเสนอความเคลื่อนไหวจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐบาลและคสช. บางวันมีข่าวเรื่องนี้ถึง 4 ชิ้น เพื่อความรอบด้าน ในกองบรรณาธิการมีการพูดคุยกันหนักมากเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีเนื้อหาข่าวจากฝ่ายตรงข้าม บ่อยครั้งที่เราถกกันว่าแท้ที่จริงแล้วใครคือฝ่ายตรงข้ามกันแน่ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวหรือ ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่ใช่และไม่สมควรที่ข่าวของเราจะจับคู่ให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะสังคมไทยได้บทเรียนจากสภาพเช่นนั้นมามากแล้ว และดิฉันเชื่อว่าประชาชนทุกคนมีจุดร่วมของเป้าหมายที่ต้องการอนาคตที่ดีของประเทศ แม้ว่ามีวิธีการที่ต่างกัน ซึ่งทีมงานของเราได้พยายามเสนอแง่มุมของจุดร่วมนี้ในรายการทั้งเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย และรายการเวทีสาธารณะ

ข้อที่สี่ กระบวนการทำงานในกองบรรณาธิการข่าวมีการถ่วงดุลกันอยู่เองอย่างเต็มที่ ข่าวบางชิ้นที่ทีมของเราทำมาต้องถูกตรวจสอบจากบรรณาธิการที่รับผิดชอบช่วงข่าวอีกขั้นหนึ่ง บางสถานการณ์ไม่ได้รายงานสดตามข้อเสนอของทีมข่าวภาคสนามเพื่อความรอบคอบ สมดุล หลายข่าวต้องออกล่าช้าอีกนิดเพื่อให้มีมุมมองของผู้ถูกพาดพิงอธิบายเพื่อความรอบด้าน

ข้อห้า การทำข่าวนี้ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่ง่ายเลย ทีมข่าวของเราต้องถกกันเยอะ ดิฉันมีโอกาสถกเถียงกับเพื่อนบรรณาธิการคนอื่นๆ เยอะด้วย ซึ่งดิฉันชอบมากเพราะได้ทบทวนความรู้ทางนิเทศศาสตร์วารศาสตร์ที่ได้เรียนมาจนได้ความรู้เพิ่มเติมจากโจทย์จริงด้วย โดยเฉพาะเรื่อง เสรีภาพสื่อ อำนาจ หน้าที่ และการเซ็นเซอร์ตัวเอง ของสื่อ

ข้อหก จากข้อห้าจะเห็นได้ว่าภายในกองบรรณาธิการมีกระบวนการตรวจสอบควบคุมกันเองอยู่แล้วชั้นหนึ่ง และมากกว่านั้นประเทศไทยยังมีองค์กรวิชาชีพ และสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน จนอาจถูกครหาให้เสียหายเปลืองตัวได้

ดิฉันเห็นว่าเป็นโอกาสดีค่ะ ที่แวดวงนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ และวิชาชีพสื่อสารมวลชน ของไทยจะถกกันถึงปัญหานี้ก่อนที่จะถึงวันที่สถานการณ์สุกงอมกว่านี้แล้วทำอะไรไม่ได้เลย จะรอติดตามผลการพิจารณาของบอร์ด กสท. ในวันนี้ค่ะ

ยินดีรับคำวิจารณ์ และคำแนะนำนะคะ


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 ก.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 22/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ เรื่องร้องเรียนจากหนังสือของคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก กรณีการออกอากาศรายการ ที่นี่ Thai PBS มีเนื้อหาไม่เหมาะสม วันที่ 25 มิ.ย. 58 ช่วงสกู๊ปข่าวนักศึกษา กลุ่มดาวดินถูกออกหมายเรียกและทำกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม และนักศึกษาอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ถูกออกหมายเรียกจากการทำกิจกรรมวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารจนมีการรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยนักวิชาการที่ติดตามเรื่องวิเคราะห์ว่าสะท้อนความหมายที่มีนัยสำคัญหลากหลายมิติ

ต่อมา วันที่ 29 มิ.ย. 58 สำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้บริหารช่องไทยพีบีเอสมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้มีการพิจารณาและมีมติเสนอ กสท.ว่า การออกอากาศสกู๊ปข่าวดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความแตกแยก อันเป็นการต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/57 ลงวันที่ 18 ก.ค. 57 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 57 ทั้งนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับมีสถานะเป็นกฎหมายโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย จึงมีผลต่อการออกอากาศที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามมาตรา 37 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการฯ 2551 จึงเห็นสมควรกำหนดโทษปรับทางปกครองขั้นต่ำ

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า มติจากอนุกรรมการก็ไม่เอกฉันท์ 4:3:1 ซึ่งไม่ทราบว่ากรณีนี้จะนับการงดออกเสียงรวมเป็นเสียงไม่เห็นด้วยหรือไม่ ตนเห็นว่าเรื่องแบบนี้ในสถานการณ์ปกติตามหลักการคือสื่อควรต้องกำกับดูแลกันเองก่อนเช่นในกรณีนี้ ควรส่งให้กรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสที่เขามีหน้าที่ตามกฎหมายได้พิจารณาก่อน เป็นต้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าไม่ปกติ คือ กสทช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายเชิญให้ผู้รับใบอนุญาตเข้าชี้แจงหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนฝ่ายผู้มีอำนาจหรือความมั่นคงโดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องการเมือง ในขณะที่เมื่อเทียบกับเรื่องร้องเรียนอื่นๆ อย่างเช่นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค การละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการก็จะยังเป็นไปตามแบบเดิม เรื่องที่ควรเร่งด่วนในการลงโทษเช่นการโฆษณาผิดกฎหมายอาหารและยากลับไม่เร่งด่วนบ้าง และโทษก็ไม่แรงเหมือนเรื่องเสรีภาพในการเสนอข่าวการเมือง

ที่ผ่านมามีรายการหมายข่าว ช่อง New TV ถูกร้องเรียนมาเช่นกัน แต่อนุกรรมการและ กสท. ก็ตัดสินว่าไม่ผิด มาตรา 37 ส่วนช่อง Voice TV ไม่มีการตัดสินว่าผิดกฎหมาย แต่ช่องวอยซ์ทีวีก็ถอดรายการไปเอง จากนี้ก็มีอีกหลายช่องที่อยู่ในคิวถูกเรียกมาชี้แจง เช่น PPTV ส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว ความเกร็งในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

“ตอนนี้สื่อการเมืองก็ถูกปิดไปแล้ว บางส่วนก็ลดโทนลง สื่อสีก็เบาบางลงแล้ว หากผู้มีอำนาจรัฐจะยกระดับควบคุมเข้มในสื่อฟรีทีวีมากขึ้นซึ่งปกติเขาก็ระวังตัวมากอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้เกร็งซ้ำซ้อน ทำงานกันไปด้วยความกลัว ส่งผลกระทบต่อ พัฒนาดิจิตอลทีวีให้เฉาลงไปอีก  ผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการเกิดดิจิตอลทีวีก็จะน้อยลง เพราะจะไม่กล้าเสนอมุมมองที่แตกต่างจากรัฐ

"ทั้งนี้ กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐ กับ ผู้รับใบอนุญาตของเรา หากเราไปเห็นชอบไปกับผู้มีอำนาจทางการเมืองทุกเรื่องก็เท่ากับว่าสื่อมวลชนหรือผู้รับใบอนุญาตจะไม่มีที่พึ่ง เพราะ กสทช. มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ในการดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้รับใบอนุญาต และสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายด้วยเช่นกัน ส่วนตัวดิฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าข่าวนี้ไม่เข้าข่ายขัดความผิดตามมาตรา 37 แต่อย่างใด แต่คงต้องลุ้นผลการลงมติของบอร์ด กสท.” สุภิญญา กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฟังความรู้สึก และเหตุผลของคนมาเยี่ยม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

$
0
0

6 ก.ค. 2558 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นักวิชาการ และกลุ่มศิลปิน นักเขียน กวี ได้เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษา และนักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน ที่จับกุมและฝากขังตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะครบกำหนดฝากขังผลัดที่ 1

ประชาไท ได้พูดคุยกับผู้ที่มาเยี่ยม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ถึงความรู้สึก และเหตุผลที่มาเยี่ยมในวันนี้

เวียง-วชิระ บัวสนธ์ เปิดเผยก่อนเข้าเยี่ยมว่า มาวันนี้เพื่อมาให้กำลังใจ ตนเองรู้จักกับ แมน ปกรณ์ อารีกุล และหนุ่ย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ มาก่อน เพราะเคยไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยบูรพา และช่วงน้ำท่วม แมน และกลุ่มลูกชาวบ้านได้ไปช่วยตนขนย้ายหนังสือด้วย

ในส่วนประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ตนเห็นด้วยทั้งหมด การสูญเสียอิสระภาพของพวกเขา ก็เพื่อจะให้คนในสังคมเข้ามาตระหนักถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ ส่วนในตอนนี้ที่มีการดิสเครดิตนักศึกษา ตนมองว่ามันเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลชุดคสช. กลุ่มคนที่ดิสเครดิตเป็น คนเรียกร้องให้รัฐบาลชุดคสช. เข้ามา ถ้ามีการกระทำการใดที่ทำให้รัฐบาลของเขาไม่สบายใจพวกเขาก็คงออกมาปกป้อง

สุดท้าย เวียง กล่าวว่า หวังว่าคงจะมีคนอีกจำนวนมากที่จะเห็นใจหัวจิต หัวใจของคนหนุ่มสาวที่เขาต้องการเรียกร้องเสรีภาพ

ประจักษ์ ก้องกีรติ เผยหลังเยี่ยม ลูกเกด ชลธิชา ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า ตอนนี้ลูกเกดสภาพจิตใจดีมาก ถึงแม้ว่าจะป่วยอยู่ และยังยืนยันในหลักการเดิม จากการที่ได้พูดคุยกับลูกเกด รู้สึกประทับใจในคำพูดของลูกเกดบอกว่า การที่สู้ตอนนี้ไม่ได้สู้เพราะเป็นนักศึกษา แต่สู้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และลูกเกดยังบอกอีกว่า ตอนนี้อยากอ่านหนังสือ เรื่อง เหยืออธรรม, แม่ และ ท๊อปบู้ตทมิฬ

สฤณี อาชวานันทกุล มารอเยี่ยม นักศึกษาที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เธอเปิดเผยว่ามาวันนี้เพื่อให้กำลังใจ โดยนำหนังสือมาฝากพวกเขาด้วย 30-40 เล่ม เป็นหนังสือนวนิยายที่นำมาจากที่บ้านเพราะทราบมาว่า มีคนนำหนังสือแนวหนักๆ มาให้เยอะแล้ว

สฤณีเล่าต่อไปว่าใน14 คนที่ถูกฝากขัง เธอรู้จัก แมน ปกรณ์ จากการณรงค์เรื่องกฏหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน และรู้จัก บาส LLTD จากงานเสวนา

ส่วนในประเด็นการเคลื่อนไหวของขบวนประชาธิปไตยใหม่ สฤณีเห็นด้วยอยู่ 2 ประเด็นคือ 1.การแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นเสรีภาพในการแสดงออกและเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ 2.การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินในประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน และเรื่องสิ่งแวดล้อม

ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล (เต่านา) รอเข้าเยี่ยมลูกเกดที่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เผยว่ามาวันนี้มาในนามตัวเอง และไม่ได้รู้จักลูกเกดมาก่อน ทีแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่า14นักศึกษาที่ถูกจับมีผู้หญิงด้วย แต่มารู้ตอนเห็นข่าวว่าตำรวจไปเยี่ยมบ้านของลูกเกด และเห็นรูปลูกเกดจากในข่าวเป็นผู้หญิงตัวผอมแห้ง ตนจึงชื่นชมในความกล้าของ14 นักศึกษา กล้าหาญที่จะรับผิดชอบในการกระทำและความเชื่อของตัวเอง

ทั้งนี้ ม.ล.มิ่งมงคล ได้นำหนังสือ ชื่อ The One Thing มาเยี่ยมลูกเกดด้วยซึ่งเนื้อหาในหนังสือจะกล่าวถึง การข้ามเข้าสู้วัยผู้ใหญ่ ด้วยลูกเกดอายุ 22 ปี ตนคิดว่าถ้าเขาได้ออกจากเรือนจำมา หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่เขา

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เผยอยากให้กวี นักเขียน ศิลปิน มาเยี่ยมนักศึกษาด้วย วันนี้ที่ตนมาเพราะมาในนามนักเขียนศิลปิน เพราะมองว่าคนทำงานในด้านความคิดนี้น่าจะเข้าใจการต่อสู่ของนักศึกษาได้ดี และการที่นักศึกษาโดนข้อหาหนักขนาดนี้ น่าจะเห็นใจกัน ตนอยากเลยอยากให้เพื่อนพ้องในวงการนักเขียนมาเยี่ยมด้วย และยอมรับว่าตนเองยังได้รับพลังจากนักศึกษาด้วย และเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของพวกเขา

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เมืองในสหรัฐฯ จัดชั้นเรียนเพลงแร็พ ระหว่างเยาวชน-ตำรวจ หวังลดอคติ

$
0
0

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาในผู้บังคับใช้กฎหมายจากกรณีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจกับคนผิวดำหลายกรณี องค์กรด้านวัฒนธรรมในเมืองฮาร์ตฟอร์ดก็ได้ไอเดียจับตำรวจกับเยาวชนผิวดำและผู้มีเชื้อสายฮิสแปนิค เข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกันหวังสร้างความเข้าใจและลดอคติที่มีต่อกัน

5 ก.ค. 2558 เว็บไซต์นิวยอร์กไทม์รายงานว่า ในนครฮาร์ตฟอร์ด เมืองหลวงของรัฐคอนเนตทิคัต มีโครงการสร้างความเข้าใจกันระหว่างตำรวจกับเยาวชนคนผิวดำและผู้มีเชื้อสายฮิสแปนิคโดยการให้ร่วมร้องเพลงแร็พและเล่นดนตรีร่วมกัน

โครงการดังกล่าวจัดโดยศูนย์วัฒนธรรมชาร์เตอร์โอ๊คและกรมตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ด มีการให้เด็กวัยเรียน 20 คน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นาย เข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยมีการสอนร้องเพลงแร็พและสอนวิธีการเล่นกีตาร์ โดยโครงการนี้ยังมีความต้องการขยายผู้เข้าร่วมเป็นเด็กจำนวน 60 คน และเจ้าหน้าที่ 15 นาย

โครงการนี้มีชื่อว่า "กู๊ด ไวเบรชั่น" (Good Vibrations) หรือ "แรงสั่นสะเทือนในทางดี" ที่แรบไบ ดอนนา เบอร์มัน ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์วัฒนธรรมชาร์เตอร์โอ็คเปิดเผยว่าจัดขึ้นเพื่อลดการเหมารวมและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับเยาวชน

ก่อนหน้านี้เบอร์มันเคยเป็นผู้ร่วมจัดการประท้วงหลังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องช็อตไฟฟ้ากับวัยรุ่นที่ไม่มีอาวุธในเมืองฮาร์ตฟอร์ดเมื่อปีที่แล้ว แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจมส์ โรเวลลา ผู้กำกับการตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ด เธอก็คลายจากอคติที่เคยมีต่อตำรวจและได้ไอเดียเกี่ยวกับโครงการกู๊ด ไวเบรชั่น

ไบรอัน โฟลีย์ รองผู้กำกับการตำรวจเมืองฮาร์ตฟอร์ดกล่าวว่าพวกเขามีความกระตือรือร้นจะเข้าร่วมโครงการนี้เพราะเชื่อว่าการสร้างปฏิสัมพันธ์ในทางบวกกับเด็กในเมืองของพวกเขาเองจะช่วยลดภาพลักษณ์ด้านลบที่มาจากแหล่งอื่นได้ โฟลีย์ยอมรับอีกว่าที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ทำได้ไม่ดีพอในการสร้างความเชื่อใจในหมู่ประชาชน

ในสหรัฐฯ มีเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวดำหรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ หลายกรณีจนทำให้มีการประท้วงเรียกร้องให้คำนึงถึงชีวิตของประชาชนเหล่านี้ อีกทั้งยังทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจในตัวเจ้าหน้าที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในฮาร์ตฟอร์ดหลังมีโครงการกู๊ด ไวเบรชั่น คือการที่เด็กชาวฮิสปานิค 2 คนโบกมือทักทายเจ้าหน้าที่ได้ในขณะที่กำลังเดินกลับจากโรงเรียนเนื่องจากพวกเขาเคยร่วมชั้นเรียนดนตรีเดียวกันมาก่อน

อย่างไรก็ตามมีคนที่ยังตั้งข้อสงสัยว่าโครงการเรียนดนตรีร่วมกันจะช่วยลบอคติที่มีต่อกันได้จริงหรือ เช่น คาลิม เคลลี  ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "กวีแร็พ" ในนามศิลปินคือ "Self Suffice" ได้เข้าร่วมเป็นครูฝึกสอนด้านดนตรีในโครงการแต่ก็ยังสงสัยว่าโครงการนี้จะได้ผลเพราะเขาเคยถูกตำรวจเรียกตัวเพียงเพราะ "เดินแบบคนดำ" หรือ "ขับรถแบบคนดำ" มาก่อน อีกทั้งในชั้นเรียนช่วงที่ยังไม่มีตำรวจเข้าร่วมเด็กในชั้นดูจะพูดเรื่องต่างๆ อย่างอิสระมากกว่าเช่นเรื่องกรณีที่เกิดขึ้นในเมืองเฟอร์กูสัน หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ แต่กวีแร็พผู้นี้ก็เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ทั้งสองฝ่ายได้เล็งเห็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้บ้าง

"ถ้าหากผมมีเพลงที่จะให้เยาวชนในเมืองได้แสดงออกว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาและให้ตำรวจเข้ามาร่วมด้วยมันจะไปได้ไกลกว่าให้ผมบอกว่าความคิดส่วนตัวของผมคืออะไร และบางทีเราอาจจะดึงเอาส่วนความเป็นมนุษย์ที่ทั้งสองฝ่ายออกมาได้จากในเพลงเดียวกัน" เคลลีกล่าว

นิวยอร์กไทม์รายงานอีกว่าในตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมโครงการมีท่าทีต้องการแค่เข้ามาสังเกตการณ์โดยยืนกอดอกหรือล้วงกระเป๋าดูการดำเนินกิจกรรมโดยไม่ได้เข้าร่วม แต่หลังจากนั้นก็มีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น และต่อมาก็เริ่มร่วมเล่นดนตรีด้วยตามคำขอของเคลลี

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าร่วมนายหนึ่งชื่อโอเทโรกล่าวว่าในทีแรกเขาคิดว่าการเข้าร่วมจะช่วยให้พวกเขาแสดงให้เด็กๆ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน แต่เมื่อเข้าร่วมแล้วมันทำให้เขาเรียนรู้มากกว่านั้น คือเรื่องการปฏิสัมพันธ์ผ่านดนตรีที่ต่างฝ่ายต่างก็สอนกัน เรียนรู้จากกันและกัน

เบอร์มันบอกว่านอกจากโครงการในเมืองฮาร์ตฟอร์ดแล้ว ตอนนี้เธอกำลังหารือร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่นๆ ในเมืองบอลติมอร์และเฟอร์กูสันเพื่อเริ่มทำโครงการคล้ายๆ กันในเมืองเหล่านั้น

หลังจากเข้าชั้นเรียนดนตรีร่วมกัน 10 สัปดาห์พวกเขาก็จัดแสดงคอนเสิร์ตร่วมกันในงานแสดงดนตรีประจำปี แต่เป็นเรื่องน่าย้อนแย้งที่ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ขึ้นแสดงร่วมกับเด็กๆ พวกเขาถูกเรียกไปทำหน้าที่ควบคุมฝูงชนในการชุมนุมของกลุ่ม "ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย" (Black Lives Matter) ในย่านใจกลางเมืองที่มีคนถูกจับกุม 17 คน ในข้อหากีดขวางการจราจร


เรียบเรียงจาก

Hartford Police Officers Rap With Youths to Erode Stereotypes, New York Times, 03-07-2015
http://www.nytimes.com/2015/07/05/nyregion/hartford-police-officers-rap-with-youths-to-erode-stereotypes.html

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อดีตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ฯ ม.ราม วอนปล่อย 14 ประชาธิปไตยใหม่ ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

$
0
0

6 ก.ค.2558 อดีตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง 19 คน ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขและหยุดใช้อำนาจคุกคามคนเห็นต่าง โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

จากกรณีนักศึกษาและนักกิจกรรมทางสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลหลังการรัฐประหาร  จนนำมาสู่การเข้าจับกุมนักศึกษา 14  คน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558  ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558  และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งปัจจุบันนักศึกษาทั้ง 14 คน ถูกฝากขังโดยอำนาจศาลทหารอยู่นั้น

พวกเราในนามอดีตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นองค์กรนักศึกษาที่ทำกิจกรรมด้านการรณรงค์ให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ตลอดถึงการติดตามผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาอันล้วนก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  เราตระหนักดีว่าปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของสังคมไทย คือ การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อทิศทางการพัฒนาอย่างเสมอภาค  ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ถูกปิดกั้นไม่สามารถเข้าถึงได้ ภาครัฐและกลุ่มทุนอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากคนจนซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายที่ถูกกำหนดจากรัฐส่วนกลางมาอย่างยาวนาน  ทั้งนี้เราเห็นว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นโดยสันติวิธีของกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมและประชาชนในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐที่กำลังละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้ เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ตามกฎหมายและถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย  การเข้าจับกุมดำเนินคดีและคุมขังนักศึกษาทั้ง 14 คนโดยใช้อำนาจของศาลทหารจึงเป็นการกระทำที่ขาดความชอบธรรม ละเมิดต่อสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง และถือเป็นการดำเนินการที่ตรงข้ามกับข้อกล่าวอ้างของคณะรัฐบาลที่บอกว่าจะเร่งนำประเทศไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยเร็ว ซึ่งเราเห็นว่าการจับกุมดำเนินคดีกับนักศึกษาในครั้งนี้ กลับจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ดังนั้นพวกเราในนามอดีตนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามรายชื่อแนบท้ายนี้  ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ตลอดถึงขอให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ยุติการคุกคามดำเนินคดีต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้อย่างเต็มที่  อันจะเป็นหนทางที่จะนำพาประเทศเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป

                                              รายชื่อท้ายแถลงการณ์

1.     นายสุวิทย์   เมืองสง                     ประธานชมรมปี  2544

2.     นายเทวฤทธิ์   คำคูณ                   ประธานชมรมปี  2547

3.     นางสาวเกตุสุดา   ดวงพรม            ประธานชมรมปี   2548

4.     นายเอกพล   ช่วยชนะ                  ประธานชมรมปี  2550

5.     นายณัฐพัชร์   ใจศิริ                     ประธานชมรมปี  2556

6.     นางสาวสิริธร  ไพรลุณ                  ประธานชมรมปี   2557

7.     นายนิรุตณ์  บัวพา                       รองประธานชมรมปี   2541

8.     นายทวีศักดิ์   มณีวรรณ์                รองประธานชมรมปี  2542

9.     นายอรรถพล  เพ็ชรยิ้ม                 รองประธานชมรมปี  2546

10.  นายกฤษดา   ขุนณรงค์                รองประธานชมรมปี   2548

11.  นางสาวบุษป์สุคนธ์   ปั้นช้าง          รองประธานชมรมปี   2552

12.  นายกิตติ   วิสารกาญจน               กรรมการกลางกลุ่มนิเวศน์ , สมาชิกชมรมปี 2551

13.  นายอรรถวุฒิ   อรรฐาเมศร์            กรรมการชมรมปี   2543

14.  นางสาวแก้วตา  ธัมอิน                 กรรมการชมรมปี   2545

15.  นางสาวฐิติมา   หิรัญวงศ์              กรรมการชมรมปี   2551

16.  นายธนากร   สัมมาสาโก              สมาชิกชมรมปี   2547

17.  นางสาวมนัชยา  ทองมณี              สมาชิกชมรมปี   2548

18.  นายธนพล   ใคร่ครวญ                 สมาชิกชมรมปี   2548

19.  นางสาวเอมอร   บุญกอน              สมาชิกชมรมปี   2548

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ประยุทธ์’ ชี้ คำสั่งคสช. ทุกๆฉบับคือกฎหมาย

$
0
0

6 ก.ค.2558 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินคดีกับ 14 สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย ด้วยกระบวนการยุติธรรม

ต่ดคำถามที่ว่ากรณีดังกล่าวต้องขึ้นศาลทหารเท่านั้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กฎหมายประกาศไว้อย่างไร ต้องรู้ว่าทหารเขาทำอย่างไรในยามที่ไม่ปกติ หรือเมื่อที่ต้องใช้อำนาจพิเศษ เพราะมีการประกาศออกมาแล้ว ว่าคดีใดที่จะต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ประกาศมาหลังจากเกิดการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหว โดยหลังจากนี้ต้องว่าไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ว่าจะดูแลได้แค่ไหน แต่ก็พยายามที่จะขุดคุ้ยให้ได้ เขามีการประกาศคำสั่งคสช.แล้ว เวลาเขียนข่าวก็เขียนให้มันชัด ว่ากี่เรื่องที่ขึ้นศาลทหาร 1.คดีอาญามาตรา 112 และ 2.ขัดคำสั่งคสช. ซึ่งหมายถึงกฎหมายตามคำสั่งคสช.ทุกฉบับ

“คำสั่ง คสช. คือกฎหมายทุกฉบับ ใช่แล้วยังไง แล้วผิดตรงไหน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“พอได้แล้ว ไม่ว่าจะแต่งตั้ง ซื้อโน่นซื้อนี่ เขียนกันให้พัลวัน มันได้อะไรกับประเทศชาติบ้าง ผมอยากจะรู้นัก เขาเขียนกฎหมายมาก็จะแหกกฎหมายทุกดอก ผมถามว่ากฎหมายเหล่านี้ใช้กับคนอื่นด้วยหรือเปล่า คนอื่นเขาโดนด้วยหรือเปล่า เมื่อขัดขืนกฎหมาย คสช. แล้วเขาโวยวายไหมเล่า ทำไมจะต้องให้พื้นที่ อย่างนี้ทุกวันๆ กลัวมันจะไม่เดือดร้อนหรืออย่างไร กลัวจะไม่ปลุกขึ้นมาทั้งประเทศหรืออย่างไร ชอบแบบนั้นใช่หรือไม่” พล.อ .ประยุทธ์ กล่าว

ขอความร่วมมือ หยุดพูด สิ่งที่เป็นปัญหากับประเทศ

วันเดียวกัน ไทยรัฐออนไลน์รายงานด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการกระทำของคนในชาติและคำพูด ถ้าไม่อยากให้ประเทศเสียหายไปมากกว่านี้ก็ควรจะหยุดพูด ในสิ่งที่จะเป็นปัญหากับประเทศ พร้อมย้ำว่า ทุกการกระทำของตนเองไม่ได้มีเจตนาให้ใครมาเกลียด แต่ถ้าความเกลียดนั้นทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงก็ยินดี พร้อมย้ำว่า ขอให้เร่งระบบการปฏิรูปในระบบราชการให้มีการพัฒนาสอดคล้องกับโรดแม็ป ที่กำลังจะปฏิรูป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเขียน อาจารย์ นักวิชาการ เข้าเยี่ยม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

$
0
0

‘สิงห์สนามหลวง’ นำทีมนักเขียน เยี่ยม 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ด้านนักวิชาการ ประจักษ์ ปิยบุตร เดชรัตน์ ชลิตา และ 24 คณาจารย์เศรษศาสตร์ มธ. มาด้วย<--break- />พร้อมแถลงการณ์ปล่อยตัวทันที โดยไม่มีเงื่อนไข

ที่มาภาพจาก : Rodjaraeg Wattana

6 ก.ค. 2558 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มนักเขียน นำโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี(สิงห์สนามหลวง) และกลุ่มพี่น้องนักเขียน อาทิ เวียง-วชิระ บัวสนธ์  วาด รวี อธิคม คุณาวุฒิ ภัควดี-วีระภาสพงษ์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กล้า สมุทรวานิช ภาณุ ตรัยเวช เป็นต้น พร้อมด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ ปิยบุตร แสงกนกกุล สฤณี อาชวานันทกุล กลุ่ม 27 คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น อภิชาต สถิตนิรามัย ป้องปก จันวิทย์ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ และ กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน เช่น เดชรัตน์ สุขกำเนิด ชลิตา บัณฑุวงศ์ เป็นต้น ได้เดินทางมาเยี่ยม นักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทั้ง 14 คนที่ถูกฝากขัง ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะเป็นวันครบกำหนดฝากขังผัดที่ 1

กลุ่ม 24 คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงข่าว ด้านหน้าเรือนจำ โดยขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และ คสช. ให้ปล่อยนักศึกษา นักกิจกรรมทั้งหมด โดยไม่มีเงือนไข พร้อมชี้ว่าการแสดงออกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธี  รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์จากกลุ่มคณาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต่อการที่นักศึกษาถูกคุมขัง

สืบเนื่องจาก นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกคุมขังจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง พวกเราคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามข้างล่าง มีความเห็นและมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

พวกเรามีความห่วงใยอย่าง ยิ่งต่อสวัสดิภาพและอนาคตของนักศึกษา การถูกคุมขังในเรือนจำไม่เพียงแต่จะเป็นสภาพที่ยากลำบาก แต่ยังอาจจะส่งผลเสียต่ออนาคตของเขา พวกเราเห็นว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาของนักศึกษา เป็นเพียงการแสดงออกถึงความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธี ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมอารยะ ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพที่จะสามารถเห็นต่างได้

การถูกจอง จำจากการเคลื่อนไหวอย่างสันติและมาจากเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะเห็น บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เป็นการลงโทษนักศึกษาอย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ไม่มีความจำเป็นใด ๆเลยที่เขาจะต้องถูกปฏิบัติเยี่ยงอาชญากรที่ได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงต่อผู้ อื่นในสังคม

ในฐานะของอาจารย์ที่หวังดีต่อศิษย์ พวกเราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจรัฐ ปล่อยตัวนักศึกษา โดยปราศจากเงื่อนไข เพื่อให้นักศึกษาได้ออกมาศึกษาเล่าเรียนและเติบโตต่อไป เพื่อก้าวไปเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของสังคมไทยในอนาคต

รายชื่อผู้สนับสนุนแถลงการณ์

รศ.ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ
ผศ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล
อ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
อ.ชล บุนนาคอ.
ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์
อ.รุ่งนภา โอภาสปัญญาสาร
อ.ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์
อ.ลอยลม ประเสริฐศรี
อ.ณพล สุกใส
อ.ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุลอ.
ดร.ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์
อ.ดร.ธร ปีติดล
อ.สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา
อ.นนท์ นุชหมอน
ผศ.สิทธิกร นิพภยะ
อ.ดร.นภนต์ ภุมมาอ.
ดร.อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ
ผศ.ปกป้อง จันวิทย์
ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย

ด้าน คณาจารย์ กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน อาทิ เดชรัตน์ สุขกำเนิด ชลิตา บัณฑุวงศ์ แถลงข่าวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นศ. ที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข ชูสโลแกน “ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน” พร้อมระบุ หนุ่ย เสรีนนทรี หรือ นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ KU 65 นิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ทำกิจกรรมทั้งในประเด็นปัญหาสวัสดิการการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และพลเมือง อาจกล่าวได้ว่าหนุ่ยเป็นลูกนนทรีผู้ตื่นตัวในการทำประโยชน์ให้แก่ประชาคม เกษตรศาสตร์และประชาชนเสมอมา ในแถลงการณ์ยังได้ระบุว่านักศึกษาทั้ง14 คนเป็นนักโทษทางความคิดจึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เครือข่ายของนักวิชาการศิษย์เก่า ม. เกษตรศาสตร์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาล คสช. ปล่อย 14 นักศึกษาโดยไม่มีเงื่อนไขในท้ายแถลงการณ์

แถลงการณ์
กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน

“ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ
เกษตรศาสตร์ คือ ภาษีของประชาชน”

ประโยคข้างต้นนี้คือคำขวัญของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กระตุ้นเตือนให้ผู้คนในประชาคมเกษตรศาสตร์ได้ระลึกอยู่เสมอว่า มหาวิทยาลัยของเราแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นจากภาษีของประชาชน และพวกเราทุกคนมีหน้าทีทำงานเพื่อตอบแทนประชาชนผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ของเรา

พวกเรา “กลุ่มประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน” อันประกอบด้วย อาจารย์ นิสิต ศิษย์เก่า บุคลากร และประชาชนทั่วไปที่มีส่วนร่วมในประชาคมเกษตรศาสตร์ ขอคัดค้านการจับกุมคุมขัง 14 นิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมทางสังคม ในนามกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ พวกเราเห็นว่าพวกเขาได้ใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกอย่าง สุจริตใจ พวกเขาไม่สมควรถูกดำเนินคดีในศาลทหารและไม่สมควรถูกกังขังในเรือนจำเช่นนี้ หากพวกเขาจะผิดก็ผิดเพียงเพราะมีความคิดที่ต่างจากผู้มีอำนาจเพียงเท่านั้น พวกเขาจึงเป็นเพียงนักโทษทางความคิด หาใช่ผู้กระทำผิดในข้อหาอื่นใด

ทั้งนี้ หนึ่งใน 14 นักโทษทางความคิดก็คือ พี่น้องในรั้วนนทรีของเรา นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ หรือ หนุ่ย KU 65 นิสิตเก่าคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมตลอดมาในนามกลุ่มเสรีนนทรี ทั้งในประเด็นปัญหาสวัสดิการการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และพลเมือง อาจกล่าวได้ว่าหนุ่ยเป็นลูกนนทรีผู้ตื่นตัวในการทำประโยชน์ให้แก่ประชาคม เกษตรศาสตร์และประชาชนเสมอมา พวกเราขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนในแนวทางที่เขาและเพื่อนๆ เชื่อมั่นและต่อสู้ และพวกเราเห็นว่าประเด็นปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันคลี่คลายภายใต้ระบอบเผด็จ การทหาร

สุดท้ายนี้พวกเราขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมทางสังคมทั้ง 14 คน โดยไม่มีเงื่อนไข และขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช. หยุดการข่มขู่คุกคามและหยุดลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมทั้งคืนอำนาจและประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยทันที

ด้วยความระลึกถึงหน้าที่ต่อประชาชน
ประชาคมเกษตรศาสตร์เพื่อประชาชน
6 กรกฎาคม 2558

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คกก.นิติศาสตร์สากล จี้รัฐบาลต้องหยุดคุกคามทนายความ 14 นักกิจกรรม-น.ศ.

$
0
0

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์ชี้รัฐบาลไทยต้องหยุดคุกคามการทำงานของ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยทันที ชี้การกระทำนี้ละเมิดกติการะหว่างประเทศ

2 ก.ค. 2558 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารไทยหยุดคุกคามและข่มขู่ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยทันที

ในแถลงการณ์ระบุว่า ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เป็นทนายความให้กับนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2558 ภายหลังจากชุมนุมอย่างสันติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและให้หยุดการปกครองโดยทหาร

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุกคาม ศิริกาญน์ เจริญศิริ ด้วยการกระทำทางกฎหมาย โดยประกาศต่อสาธารณะว่าจะพวกเขากำลังพิจารณาตั้งข้อหาศิริกาญน์ด้วยความผิดทางอาญา และยังไปที่บ้านของเธอและตั้งคำถามกับพ่อแม่ของเธอด้วย

“รัฐบาลต้องหยุดคุกคามและข่มขู่  ศิริกาญน์ เจริญศิริ  ทนายความสิทธิมนุษยชน โดยทันที” แมท พอลลาด  ผู้อำนวยการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวและว่า กรณีดำเนินคดีต่อลูกความของเธอนั้นชัดเจนว่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีผลผูกพัน และไม่สามารถหาเหตุเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการใดกับเธอเพื่อต่อต้านไม่ให้เธอปกป้องสิทธิของลูกความได้

โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ICJ ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของผู้ตรวจการพิเศษ สหประชาชาติ ด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ และด้านสถานการณ์ของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่กรุงเจนีวา เพื่อให้มีการคำนึงถึงกรณีของ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ

พอลลาด ระบุด้วยว่า ICJ ได้เตือนประเทศไทยอยู่เรื่อยๆ ว่า ควรจะเปิดทางให้เกิดประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและหลักนิติธรรม การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เพ่งเล็งกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงโดยสันติ และดำเนินคดีในศาลทหาร และเพ่งเล็งทนายความของกลุ่มนักศึกษานั้น ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการเรียกความเคารพในสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยกลับคืนมา”

อนึ่ง ศิริกาญจน์ เจริญศิริ เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับ ICJ ด้วย

 

เรียบเรียงจาก
http://www.icj.org/thailand-immediately-end-harassment-and-intimidation-of-human-rights-lawyer-sirikan-charoensiri/

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รวมบรรยากาศงาน ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ ถึงเวลาก้าวออกมา

$
0
0

6 ก.ค. 2558 ที่ลานประติมากรรมประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงาน ด้วยปีกแห่งเสรีภาพ ถึงเวลาก้าวออกมา เพื่อที่แสดงออกของสามัญชน โดยมีการเชิญ นักดนตรี นักแสดงละคร กวี คนเขียนหนังสือ อดีตนักกิจกรรมนักศึกษา กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาปัจจุบัน คนทำงานพัฒนา ชาวบ้านผู้เดือดร้อน คนรุ่นใหม่ใส่ใจสิทธิเสรีภาพ และ สามัญชนผู้ไม่อาจรักอำนาจเผด็จการ มาทำกิจกรรมร่วมกัน แสดงออกถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พร้อมให้กำกับใจ 14 นักศึกษา นักกิจกรรม ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ถูกจับกุมตัว และฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2558

17:00 น. พิธีกรเริ่มกล่าวเปิดงานอย่างไม่เป็นทางการ แจ้งว่างานในวันนี้ไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง จัดงานในฐานะสามัญชนที่รักในสิทธิเสรีภาพบรรยากาศโดยรอบ มีการเชิญชวนประชาชนที่มาร่วมงาน ลงสีรูปนกพิราบ พับนกกระดาษ รวมถึงมีคุกจำลอง มธ. ให้ลองสัมผัสบรรยากาศการถูกจองจำ

17:50 น. วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อไผ่ ดาวดิน กล่าวเปิดงานและบรรเลงเพลงเดือนเพ็ญ โดยมีทนายอานนท์ ร่วมบรรเลงขลุ่ย พร้อมเล่าว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ไผ่ชอบเล่นให้แม่ฟัง เมื่อไผ่ไม่สามารถเล่นได้ เขาจึงจะทำหน้าที่แทน

18:00 น. กลุ่มคนรักบ้านเกิด จากอำเภอวังสะพุง จ.เลย และ พ่อไผ่ดาวดินร่วมร้องเพลงซึ่งเพลงแรกคือ เพลงบ่กล้ากินข้าวบ้านจะของ (จะของเป็นภาษาอีสาน แปลว่าตัวเอง) ซึ่งเป็นเพลงที่เวลาดาวดินและกลุ่มคนรักบ้านเกิดไปทำกิจกรรมที่ไหนก็จะเล่น เพลงนี้ เพลงที่สองคือเพลง รักบ้านเกิด

สุดท้ายกลุ่มคนรักบ้านเกิดฝากไว้ว่า คนที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่เข้าใจเลยว่าพวกเขาได้รับผลกระทบมากแค่ไหน และว่า ลูกๆ ดาวดินเข้ามาช่วย ก่อนที่ คสช.จะเข้ามาเสียอีก

18:40 น. กิจกรรมด้วยปีกแห่งเสรีภาพ‬หยุดไปพักหนึ่งหลังฝนตก ก่อนย้ายมาจัดต่อที่ใต้ตึกนิติศาสตร์

19.45 น กิจกรรมดำเนินต่อไป หลังจากฝนหยุด ประชาชนที่มาร่วมงาน  ออกมาทำกิจกรรมอีกครั้ง บ้างก็นั่งฟังบทเพลง บ้างก็นั่งคุยอลกเปลี่ยนความคิด บ้างก็มาติดนกกระดาษเสรีภาพ

20.20 น. วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ขึ้นอ่านบทกวีคนเท่ากัน

20.30 น. การแสดงชุด หมาป่า กับลูกแกะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ หมาป่าที่บ้าอำนาจ เข้ามายึดพื้นป่า และสถาปณาตัวเอง เมื่อนกพิราบเริ่มตั้งคำถาม กลับถูกจับขัง พร้อมพร่ำบอกว่าตัวเองไม่ได้อยากมายึดป่า แต่มันจำเป็น และโกรธที่หมาป่าที่ปกครองป่าอื่น มากดดันตัวเอง เพราะตัวเองจับนกพิราบขัง บทสรุปลูกแกะที่อยู่ป่าเดียวกัน เลยเอาโพสอิทไปปิดปากหมาป่า และเชิญชวนแกะตัวอื่นๆ ลุกออกมาต่อต้านอำนาจบ้าของหมาป่า

20.45 น. ภัควดี วีระภาสพงศ์ ขึ้นอ่านแถลงการณ์ เรียกร้องปล่อยตัว 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

20.50 น. ฮาเมอร์ ซาลวาลา บรรเลงเพลงจากบทกวีของไม้หนึ่ง ก.กุนทีโดยนำมาเขียนเพิ่มและใส่ทำนอง เนื้อหาเพลงเกี่ยวกับนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุก

21.10 น. อิทธิพล โคตะมี ตัวแทนขบวนการประชาธิปไตยใหม่ อ่านบทกวีให้เพื่อนทั้ง 14 คน

21.23 น. พิธีกรกล่าวปิดงาน จากนั้นเริ่มการปล่อยลูกโป่ง 14 ใบ โดยภายในลูกโป่งมีนก กระดาษอยู่ 14 ตัว ใบละลูก และใช้ผู้คนร่วมปล่อยด้วยกัน 14 คน พร้อมตะโกนว่า "ปล่อยเพื่อนเรา"

พิธีกรกล่าวสรุปว่า งานวันนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงออกว่าต้องการรัฐบาลให้ปล่อยเพื่อนขบวนการ ประชาธิปไตยใหม่ทั้ง 14 คน โดยไม่มีเงือนไข และหวังว่าผู้ใหญ่จะเห็นเจตจำนงค์อันบริสุทธิ์ในครั้งนี้

ท้ายสุดจ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ได้แจ้งว่าพรุ่งนี้มีนัดกันในเวลา 8 โมงเช้า ที่ศาลทหาร เพื่อจะไปรับเพื่อนๆ ทั้ง 14 คน กลับบ้าน โดยหวังว่าจะไม่การฝากขังผัดที่ 2 อีก

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

น.ศ.ไทยในยุโรปร้องทูตสิทธิฝรั่งเศส จับตาฝากขัง 14 น.ศ.

$
0
0

นักเรียนไทยในยุโรปที่ไม่เอารัฐประหารกังวลการใช้ดุลพินิจศาลทหารพิจารณาวันฝากขังรอบสอง เข้าพบทูตสิทธิมนุษยชนประจำกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสร่วมเขียนโพสต์อิทให้กำลังใจนักศึกษา


"เคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" - ซ้ายบน
"ขอให้นักศึกษาที่ถูกจองจำจงเข้มแข็ง" - ซ้ายล่าง
"เสรีภาพนั้นจะเสื่อมสลายได้หากเราไม่ใช้มัน" - ขวาบน
"เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" - ขวาล่าง

6 ก.ค.2558 ตัวแทนกลุ่มนักเรียนไทยในยุโรปที่ไม่เอารัฐประหาร เข้าพบ แพทริเซียนนา สปารซิโน (Patrizianna Sparacino) เอกอัครราชทูตด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศฝรั่งเศส เพื่อยื่นแถลงการณ์ ‘เพื่อเพื่อนเรา’ ซึ่งร่วมลงนามโดยนักเรียนและนักศึกษาไทยในยุโรปรวม 84 รายชื่อจาก 15 ประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์เร่งด่วนกรณีการละเมิดนักศึกษาและนักกิจกรรมไทยที่ถูกจับกุมจากการต้านรัฐประหาร

ตัวแทนนักเรียนในยุโรปชี้แจงเรื่องความกังวลเร่งด่วนในสองประเด็น คือ การควบคุมตัวกลุ่มนักศึกษาซึ่งในวันอังคารที่ 7 กรกฎาคมนี้จะเป็นวันครบกำหนดฝากขังรอบที่หนึ่ง ซึ่งศาลทหารจะต้องพิจารณาว่าจะอนุญาตฝากขังรอบต่อไปหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเร่งด่วนกรณีนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาหญิงที่ล่าสุดอาการป่วยจากโรคประจำตัวกำเริบและปัจจุบันรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์​

เอกอัครราชทูตแพทริเซียนนาตอบกลุ่มนักศึกษาว่า มองเห็นปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีสุขภาพของนางสาวชลธิชาและจะพิจารณาดูว่าจะร่วมประสานงานในระดับภูมิภาคและให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ กลุ่มนักศึกษาได้เล่าถึงบรรยากาศความกลัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารโดยตรง และกลุ่มที่ให้การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนของนักศึกษาที่กำลังถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น ทางคณะทูตจึงร่วมสนับสนุนหลักพื้นฐานโดยร่วมเขียนโพสต์อิทให้กำลังใจไปยังนักศึกษาด้วย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อียิปต์เตรียมออก กม.จำคุกสื่อที่รายงานข่าวผู้ก่อการร้ายไม่ตรงกับรัฐบาล

$
0
0

รัฐบาลอียิปต์เตรียมผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายฉบับใหม่ โดยกำหนดให้สื่อต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายโดยอ้างอิงจากข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้เท่านั้น พร้อมเตรียมส่งให้ประธานาธิบดีรับรอง

5 ก.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า รัฐบาลอียิปต์เตรียมผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายฉบับใหม่ มีเนื้อหาว่า การจงใจรายงานข่าวหรือข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมของกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ไม่ตรงกับแถลงการณ์ของหน่วยงานของรัฐถือว่าเป็นอาชญากรรม หากฝ่าฝืนอาจมีโทษจำคุกสูงสุดสองปี ล่าสุดได้เสนอกฎหมายฉบับนี้แก่ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตอห์ อัล-ซิซี เพื่อรอการอนุมัติแล้ว

เดอะการ์เดียนรายงานว่า กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตร ISIS ในอียิปต์บุกโจมตีด่านทหารชายแดนในคาบสมุทรไซนาย ส่งผลให้มีทหารอียิปต์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก  ซึ่งกองทัพอียิปต์ออกมาปฏิเสธว่ามีผู้เสียชีวิตไม่เกิน 17 ราย และประณามสื่อต่างประเทศที่รายงานว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่านั้น

ด้านกาเมล อีด ผู้อำนวยการของ Arab Network for Human Rights Information (ANHRI) หน่วยงานสิทธิมนุษยชนในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ กล่าวประณามร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเปรียบเทียบว่าเป็นพฤติกรรมของพรรคนาซี  ร่างกฎหมายนี้จะผลักดันสื่อไปสู่สื่อที่มีความคิดเดียว คำพูดเดียว  ซึ่งขัดแย้งกับเสรีภาพสื่อโดยเฉพาะสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์และสื่อมืออาชีพ

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของอียิปต์ อาเหม็ด เอล-ไซนด์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกระบวนการสร้างมาตรฐานเท่านั้น เพื่อปกป้องประชาชนจากข้อมูลที่ผิดพลาด และเขาหวังว่าจะไม่มีใครตีความผิดๆ ว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากเป็นเรื่องของตัวเลขเท่านั้น

กฎหมายนี้เป็นอีกหนึ่งข้อบังคับที่รัฐบาลออกใช้ ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารโค่นอำนาจของอดีตประธานาธิบดี โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงและการสลายการชุมนุมที่นองเลือดในปี 2556 โดยรัฐบาลของซิซีได้ใช้ภาพความรุนแรงนี้เป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายและข้อบังคับมากมาย มีการจับกุมผู้ประท้วงหลายพันคน มีผู้ถูกประหารมากกว่าหนึ่งพันคนและกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มเอ็นจีโอและพรรคการเมืองถูกระงับ  ล่าสุดหลังเหตุการณ์วางระเบิดสังหารอัยการสูงสุดอียิปต์ ทำให้ประธานาธิบดีซิซีออกมาสัญญาว่าจะจำกัดการขออุทธรณ์และจะเร่งกระบวนการศาลเพื่อลงโทษผู้ก่อการร้ายให้ได้

พฤติกรรมเหล่านี้ของรัฐบาลถูกโจมตีอย่างมากโดยขบวนการนักสิทธิ อย่างไรก็ดีกระแสชาตินิยมทำให้องค์กรสื่อทั้งของรัฐและเอกชนออกมาสนับสนุนการกระทำเหล่านี้เช่นกัน

คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว  (Committee to Protect Journalists: CPJ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 18 รายถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำอียิปต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์  มีนักข่าวสามรายจากสำนักข่าวอัลจาซีราห์ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวแต่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี และเมื่อเดือนที่ผ่านมามีผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ El País ของสเปนต้องหลบหนีออกนอกประเทศหลังจากทราบว่าถูกออกหมายจับ

 

เรียบเรียงจาก
Egypt journalists face jail for reporting non-government terrorism statistics
http://www.theguardian.com/world/2015/jul/05/egypt-journalists-face-jail-for-reporting-non-government-terrorism-statistics

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นัดตรวจพยานหลักฐานคดี ‘ชายชุดดำ’ ทนายเผยเตรียมประกันตัวอีกครั้ง

$
0
0

6 ก.ค. 58 - เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา รัชดาฯ มีการนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่ นายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี อายุ 45 ปี , นายปรีชา อยู่เย็น อายุ 24 ปี , นายรณฤทธิ์ สุริชา อายุ 33 ปี นายชำนาญ ภาคีฉาย อายุ 45 ปี และนางปุณิกา ชูศรี อายุ 39 ปี  เป็นจำเลยคดีที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1  สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถจดทะเบียนได้, นำพาอาวุธเข้าไปในเมือง ถนน ที่สาธารณะ และหมู่บ้าน โดยคำฟ้องระบุพฤติการว่าเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยทั้ง 5 คนได้ร่วมกันพาอาวุธไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว และได้ใช้อาวุธยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยทั้ง 5 คนได้แต่งกายชุดดำ

ในระหว่างการตรวจพยานหลักฐาน อัยการโจทก์และทนายของจำเลยทั้ง 5  คน ได้โต้เถียงกันในประเด็นรถที่อัยการชี้ว่ามีภาพรถตู้ที่ขนอาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมเพื่อก่อเหตุ แต่กลุ่มทนายไม่สามารถรับข้อเท็จจริงตามการกล่าวหาของโจทก์ได้และปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้ยื่นพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบคดีต่อศาล โดยฝ่ายโจทก์มีพยานเอกสาร และพยานหลักฐานเป็นแผ่นบันทึกภาพและเสียง รวมถึงพยานบุคคลทั้งหมด 22 ปาก ศาลนัดสืบพยาน 5 วัน โดยพยานบุคคลประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เจ้าของรถยนต์ที่โจทก์แจ้งว่าใช้ขนอาวุธปืน, เจ้าของอพาร์ทเม้นต์ของจำเลย, เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของ นปช., เจ้าหน้าที่สืบสวนของ คสช., เจ้าหน้าที่ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้ง 5 คน เป็นต้น

ด้านจำเลย ทนายยื่นพยานเอกสารเป็นสมุดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมและรายงานการสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้องต่างๆ พร้อมพยานบุคคล 20 ปาก สืบพยานจำเลยใช้เวลา 4 วัน พยานบุคคลประกอบด้วย จำเลย 5 คน, ภรรยาและญาติของจำเลย, แกนนำการชุมนุม เป็นต้น โดยทีมทนายอาจจะมีการยื่นบัญชีพยานบุคคลเพิ่มเติมภายหลัง และศาลได้นัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 12 ต.ค. 2558

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายจำเลยระบุว่า จำเลยทั้ง 5 คนถูกจับระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2557 โดยระหว่างการถูกควบคุมตัว กิตติศักดิ์, ปรีชา , รณฤทธิ์ และ ชำนาญ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและข่มขู่ ส่วนปุณิกาโดนข่มขู่ด้วยวาจาโดยเจ้าหน้าที่ หลังจากนั้นทั้งหมดถูกฝากขังมาตลอดโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

วิญญัติกล่าวด้วยว่า จำเลยทั้ง 5 ปฏิเสธว่าไม่มีอาวุธและไม่ได้พาอาวุธเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา แม้ว่าก่อนหน้าที่จะได้สารภาพไปแต่เป็นเพราะว่าระหว่างการควบคุมตัวมีการใช้ถุงคลุมหัว เตะต่อย พูดข่มขู่ให้กลัว และข่มขู่เรื่องครอบครัวของจำเลยแต่ละคน ในขณะที่จำเลยหญิงถูกพูดข่มขู่ให้กลัว จึงทำให้จำเลยยอมรับสารภาพ

ทนายความระบุด้วยว่า ทีมทนายความจะดำเนินเรื่องการประกันตัวจำเลยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ยื่นประกันตัวไปแล้วแต่ศาลไม่อนุญาตเพราะมองว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรงและกลัวจำเลยหลบหนี อย่างไรก็ตามในเรื่องที่ได้ขอความเป็นธรรมกรณีซ้อมทรมานของจำเลยนั้น ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ส่วนข้อหาก่อการร้าย ทนายนระบุว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เช่นกัน

ทนายความให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จำเลยทั้ง 5 คน มีแค่บางคนเท่านั้นที่รู้จักกัน คือ กิตติศักดิ์และปุณิกา เนื่องจากกิตติศักดิ์มีน้องชายเป็นแฟนเก่าของปุณิกา ซึ่งปัจจุบันน้องชายได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่คนอื่นไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย โดยบางคนเป็นการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุม บางคนเป็นเพียงผู้ชุมนุมเท่านั้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนา “สันติวิธี สิทธิชุมชนกับขบวนการนักศึกษาไทย” ที่เชียงใหม่

$
0
0

วิพากษ์แนวคิดสันติวิธี สิทธิชุมชน ขบวนการนักศึกษาและแวดวงศิลปินไทยโดยนักวิชาการด้านสังคมวิทยา กฎหมาย ศิลปะ และมานุษยวิทยา ยศ  สันตสมบัติ วราภรณ์ เรืองศรี สมชาย ปรีชาศิลปกุล เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ทัศนัย เศรษฐเสรี

6 ก.ค.58 ที่ห้องประชุมชั้น 3 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางหลักสูตรบัณฑิตศึกษาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ “สันติวิธี สิทธิชุมชนกับขบวนการนักศึกษาไทย” โดยผู้จัดระบุว่ากิจกรรมมีที่มาจากปรากฏการณ์กลุ่มดาวดิน ที่เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานด้านชุมชนและทรัพยากร ก่อนพัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยและคัดค้านรัฐประหาร จึงเป็นที่น่าสนใจในการวิเคราะห์ทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์ในทางวิชาการในครั้งนี้

งานเสวนามีวิทยากรเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ ยศ  สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์, วราภรณ์ เรืองศรี คณะมนุษยศาสตร์, สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์, ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์

คำถามถึงรากฐานความเชื่อในสังคม 4 ประการ
ยศ  สันตสมบัติ กล่าวว่าตนขอตั้งข้อสังเกตผ่านคำถาม 3-4 ข้อ ข้อแรกคือในทั่วโลก เราเคยมองว่าการเมืองเป็นเรื่องการแข่งขันเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการตัดสินใจต่อ Public affair แต่เมืองไทยการเมืองกลายเป็นเรื่องศีลธรรม เรื่องได้คนดีมาปกครอง เรื่องทำอย่างไรจะกีดกันไม่ให้คนเลวเข้ามาในวงการเมือง ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันเพื่อให้ได้อำนาจอย่างชอบธรรม

ข้อที่สอง อำนาจคืออะไรในสังคมไทย โดยปกติ ธรรมกับอำนาจไปด้วยกัน แต่ดูเหมือนว่าคนไทยจะมองว่าอำนาจคือธรรม ใครมีอำนาจคือมีธรรมะ มีความชอบธรรม มันแปลว่าบ้านเราทั้งเศรษฐกิจและการเมืองกลายเป็นเรื่องการแผ่ส่วนบุญจากส่วนกลางออกไปหรือไม่

ข้อที่สาม สังคมไทยนั้นเชื่อเรื่องความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ตนรู้สึกสังคมไทยเป็นสังคมที่เหยียดผิว เหยียดชนชั้น เหยียดเพศอย่างมาก มีการเหยียดกันเป็นทอดๆ คำถามคือสังคมนี้เชื่อเรื่องความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ถ้าคิดว่าเท่ากันจริง ตะวันตกมันมีฐานว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์มาเท่ากัน แต่บ้านเราควรจะคิดบนฐานอะไร

ข้อที่สี่ เรามักจะมองการเมืองว่ามันพัฒนาไปข้างหน้า เราติดกับดักของการมองแบบเส้นตรงหรือเปล่า ทั้งที่การเมืองไทยมันแกว่งไปแกว่งมาไปเรื่อยๆ ระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับเผด็จการ คำถามคือเราจะยังมองแบบเส้นตรงอยู่หรือไม่
ยศกล่าวต่อว่าตั้งแต่เข้ามาสอนหนังสือ ขบวนการนักศึกษามันตายไป ตั้งแต่หลัง 6 ต.ค.19 ช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบก็ไม่ได้โงหัวขึ้นมานัก ช่วงปี 2535 นักศึกษาก็ไม่ใช่พลังหลัก พลังนักศึกษาจำเป็นต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้มันเกิดขึ้นมา เช่น เหตุการณ์แบบนี้ที่ชาวบ้านถูกลิดรอนสิทธิ

เวลาเรามองถึงสิทธิทางการเมือง เรามักจะมองไปที่รัฐและทหารเป็นหลัก แต่เรามักลืมมองทุนไป หลังจากช่วงรัฐบาลเปรม ทุนสามารถเช้าไปบุกทะลวงกลไกของรัฐและกลไกทางการเมืองได้ จำได้ว่าช่วงต้นทศวรรษ 2530 พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งเสนอโครงการไล่คนออกจากป่า เพื่อเอาไปให้บริษัทเกษตรปลูกยูคาลิปตัส ก็ยังไม่มีใครกล้าทำ จนกระทั่งรัฐประหารปี 34 ทหารมาทำโครงการจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ (คจก.) โดยไม่มีใครคัดค้านทหารเลย ตอนนั้นตนทำเรื่องพรบ.ป่าชุมชนอยู่ จึงได้ไปคุยให้ข้อมูลกับทหาร บอกว่าทำโครงการแบบนี้ไม่ได้ แต่ก็พบว่าเป็นไปได้ยากที่จะใช้หลักการคุยกับทหารได้ เขาฟังอย่างเดียวว่านายสั่งมาอย่างไร เราจึงไม่ใช่แค่สู้กับทหาร แต่สู้กับกลไกรัฐ และทุนด้วย
ยศกล่าวว่าคำถามที่ตนสนใจคือกระบวนการที่ต้องสร้างวัฒนธรรมการเมืองขึ้นมาใหม่ ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าจะสร้างได้อย่างไร จะเริ่มต้นจากตรงไหน เวลานักศึกษาเห็นชาวบ้านเดือดร้อน และไปพูดแทน มันก็กลายเป็นกระบวนการที่ไปเหยียบตีนทุน และกลไกของรัฐบางส่วนด้วย แล้วทหารเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ มันจึงเป็นเรื่องของทั้งสิทธิและอำนาจ

ความรู้นอกห้องเรียน อคติต่อนักศึกษาทำกิจกรรมการเมือง กับความย้อนแย้งของสิทธิชุมชน
วราภรณ์  เรืองศรี กล่าวทบทวนประสบการณ์การทำกิจกรรมนักศึกษาช่วงทศวรรษ 2540 ของตนเอง ทำให้เข้าใจว่าความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เราไม่ได้มาจากในห้องเรียนแน่ๆ ไม่มีอาจารย์สอนเรื่องนี้ แต่ได้มาจากนอกมหาลัย ว่าผู้คนเขาทุกข์ใจเรื่องอะไรกัน เขาเรียกร้องอะไรกัน มีความขัดแย้งอะไรกัน ทำให้เข้าใจว่าสิทธิมันได้มาจากการต่อสู้ ไม่มีใครมาประเคนให้ ทุกวันนี้ แม้มีพูดเรื่องสิทธิชุมชนในห้องเรียน แต่คำถามคือนักศึกษาจะเข้าใจเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้ไปคลุกคลีหรือสัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ประเด็นที่สอง คือทัศนะต่อนักศึกษาที่ทำกิจกรรมทางการเมือง พบว่ามีทัศนะด้านลบมาโดยตลอด ว่ามีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังแน่ๆ มองว่านักศึกษาไม่สามารถจะคิดวิเคราะห์ปัญหาสังคมได้ เป็นพวกอ่อนไหวชักจูงได้ง่าย คำถามคือทัศนะอันนี้บอกอะไรเราบ้าง อย่างแรก คือผู้นำในบ้านเมืองนี้ต้องการจะยกปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองลอยห้อยอยู่บนอากาศ เช่น ที่คสช.บอกว่าดาวดินไม่ได้เคลื่อนไหวเพราะสิทธิชุมชนหรอก แต่ต้องจับเพราะออกมาต่อต้านรัฐบาล

ช่วงทศวรรษ 2540 แม้เราบอกว่ารัฐบาลช่วงนั้นมันแย่อย่างไร แต่ในช่วงนั้นยังมีเวทีของการวิพากษ์วิจารณ์ ของการถกเถียงในประเด็นปัญหาต่างๆ ทหารตำรวจไม่ได้เดินมาจับเรา แต่สิทธิชุมชนในบริบทของการรัฐประหาร กลับถูกปิดพื้นที่หมดเลย พร้อมจะใช้วิธีการต่างๆ เพื่อลัดขั้นตอนอนุมัติโครงการต่างๆ โดยไม่มีช่องทางใดให้ตรวจสอบ

รัฐบาลคสช. ยังต้องการให้แยกความรู้ออกจากการเมือง อาจารย์ที่ลงชื่อให้ปล่อยนักศึกษา 14 คนถูกเรียกไปพูดคุย แล้วมีคำถามหนึ่งน่าสนใจคือพวกคุณสอนอะไรกัน เอาเรื่องการเมืองไปสอนนักศึกษาหรือไม่ คำถามคือหลักสูตรประวัติศาสตร์ที่ทหารตำรวจเรียนเขาเรียนอะไรกัน ระดับอุดมศึกษาเขาต้องสอนประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งหลัง 2475 มา ถ้าเราพูดว่ารัฐบาลเผด็จการ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ผู้นำมาจากทหาร จะเป็นไปได้อย่างไรที่การศึกษาอุดมศึกษาไม่พูดเรื่องการรัฐประหาร เป็นไปได้อย่างไร ถ้าพูดให้แรงกว่านั้น จริงๆ แล้วผู้ร้ายในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ใช่พม่ามาตั้งนานแล้ว แต่เป็นกลุ่มที่ใช้อำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วอ้างผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ประเด็นที่สามคือความยอกย้อนของสิทธิชุมชน จำได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ท่อก๊าซไทยมาเลย์ที่ไปลงพื้นที่สมัยเป็นนักศึกษา ชี้หน้าถามว่าคุณอยู่เชียงใหม่มาทำอะไรที่นี่ เขาต้องการจะบอกว่าคุณไม่ใช่คนในท้องถิ่น มีสิทธิอะไรมาพูดถึงสิทธิชุมชนของคนที่นี่ คำถามคือเวลาพูดถึงสิทธิชุมชนมันสถิตติดที่หรือไม่ คุณไม่มีสิทธิพูดเรื่องนี้นอกสถานที่หรือ ความยอกย้อนอีกอย่าง คือเรากำลังอยู่ในสังคมที่คุยกันไม่รู้เรื่อง เหมือนเราอยู่กันคนละโลกหรือเปล่า จำได้ว่าตอนเรียนได้ไปเขียนสกู๊ปสารคดีเรื่องปัญหาสวนส้มที่อำเภอฝาง มีการพูดถึงประเด็นสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ความยอกย้อนคือในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน คอลัมน์เศรษฐกิจ เพื่อนอีกคนทำสัมภาษณ์เจ้าของสวนส้มในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เหมือนเรากำลังอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่คุยกันคนละเรื่อง

วราภรณ์ทิ้งท้ายว่าความเจ็บปวดอีกเรื่องคืออาจารย์ที่สอนเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ ปีกลายได้มาเป็นแกนนำเป่านกหวีด และโจมตีเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ แต่ภายใต้รัฐบาลนี้ คำถามคืออาจารย์ทำอะไรอยู่ แล้วเสรีภาพมีหรือไม่ สรุปคือความขัดแย้งทางการเมืองมันไม่สามารถแขวนไว้บนอากาศได้ แต่มันทะลุทะลวงไปทุกรูขุมขนแล้ว และมันยังสายเกินไปที่ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์จะกลับมาเป็นพระเอก

ตุลาการอำนาจนิยม กับการประเมินอารยะขัดขืนของดาวดิน
สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าตอนนี้เวลามีปัญหาสักอย่าง พล.อ.ประยุกต์หรือใครต่อใครในรัฐบาลมักจะตอบว่าทำตามกฎหมาย หรือผมตามทำรัฐธรรมนูญ แต่การอ้างอิงถึงกฎหมายตอนนี้คือกลายเป็นกฎหมายที่คุณเขียนขึ้นเอง การพูดลักษณะนี้โดยไม่ได้ถูกค้านหรือไม่มีความเห็นต่างเลย มันสะท้อนความเข้าใจเกี่ยวกับการรัฐประหาร อำนาจ และความชอบธรรมบางด้าน

สมัย 2490 เกิดรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก ตอนนั้นคณะรัฐประหารต้องเขียนแถลงการณ์ชี้แจงว่าที่เราทำตอนแรกอาจจะผิดรัฐธรรมนูญ แต่พอทำสำเร็จแล้วมันไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป หลังจากนั้นเคยมีคนโต้แย้งเรื่องความชอบธรรมของคำสั่งคณะรัฐประหาร พอมาถึงทศวรรษนี้ ชนชั้นนำในสังคมพูดกันบนฐานว่าคำสั่งคณะรัฐประหาร รวมถึงรัฐธรรมนูญ มีความชอบธรรม

อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ จาก 2490 ถึง 2558 สถาบันตุลาการมีกระบวนการกลายเป็นสถาบันอำนาจนิยมเพิ่มมากขึ้น สถาบันตุลาการมีบทบาทสำคัญมาต่อเนื่อง แต่กลับไม่ถูกจับตามอง และพ้นไปจากการกำกับของสังคม ในแง่นี้ตนจึงสนใจกระบวนการคลี่คลายตัวไปเป็นอำนาจนิยมของสถาบันตุลาการว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นที่สอง การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน มีข้อสังเกตการณ์คนที่สนใจเรื่องอารยะขัดขืน Civil Disobedience คือ จอห์น รอลส์ (John Rawls) เตือนว่าเรื่องนี้มันจะใช้ได้ในสังคมที่เป็นธรรม หรือมีความเป็นธรรมอยู่พอสมควร แต่ในสังคมสองประเภทคือในสังคมเผด็จการ และสังคมที่มีการแบ่งแยกอย่างลึกซึ้ง อารยะขัดขืนจะมีปัญหา ไม่ค่อยประสบผลในการเอาไปใช้

ในสังคมไทย การพูดถึงอารยะขัดขืนหลังปี 2540 คำนี้ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไร การเคลื่อนไหวต่างๆ เคลื่อนมาสู่สิ่งที่เรียกว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่กลุ่มดาวดินทำ เป็นการทำให้นิยามของการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกแบบหนึ่งที่ไม่ได้อิงกับกฎหมายลายลักษณ์อักษรมันกลับมา

ข้อสังเกตสุดท้าย คือในสังคมไทยเคยใช้เครื่องมือแบบนี้มาในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยม เช่นในตอนพฤษภา 35 ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมสูง ถ้าเทียบกับปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนอยู่ สิ่งที่ต้องคิดและทำความเข้าใจมากขึ้นคือลำพังการพูดเรื่องเสรีภาพดูจะไม่พอ อาจต้องเสนอประเด็นที่ผนึกรวมเอาคนกลุ่มต่างๆ ที่มากกว่านี้ มันมีคำตอบอะไรที่ทำให้เขาเห็นทางที่จะเดินทางไปมากกว่านี้ เราจะต้องคิดถึงภาวการณ์อันนี้เพื่อขยับประเด็นให้มากขึ้น

สี่ปัจจัยวิเคราะห์ขบวนการนักศึกษา กับความเปลี่ยนแปลงของขบวนนักศึกษาไทย
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ กล่าวว่าตนได้ยินเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของนักศึกษา แต่เห็นว่าดาวดินมันเชยๆ มาก ดูเหมือนขบวนการนักศึกษารุ่นเก่า พวกเพื่อชีวิต ไม่ค่อยทันสมัย ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่มาร่วมกิจกรรมเพราะเป็นขบวนการที่เสี่ยง มีคนน้อย แล้วทำไมพวกอาจารย์ถึงไม่ Active แต่ปล่อยให้นักศึกษาจำนวนน้อยไปเคลื่อนไหว
เก่งกิจกล่าวถึงหนังสือเกี่ยวกับเปรียบเทียบขบวนการนักศึกษาในเอเชีย หนังสือตั้งคำถามว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นขบวนการที่ถาวรและต่อเนื่องได้ไหม เขาตอบว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเวลาแค่ 4 ปีในมหาลัย แต่ลักษณะพิเศษของขบวนการนักศึกษาคือมันเป็นส่วนเติมเต็มให้กับช่องว่างหรือสุญญากาศที่ขบวนการอื่นๆ ถูกทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะนักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีเวลา ยังไม่ต้องทำมาหากิน และมีการศึกษาในเชิงวิพากษ์มากกว่าเด็กมัธยม

หนังสือเล่มนี้เสนอปัจจัยสี่อย่างในการทำความเข้าใจขบวนการนักศึกษาทั่วโลก คือ หนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาในแต่ละยุคสมัย ขบวนการนักศึกษาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นภายใต้การขยายตัวของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ แต่ก็ยังเป็นคนส่วนน้อยที่เข้ามาเรียนได้ จนช่วงทศวรรษ 1960-70 คนชั้นกลางระดับล่างเข้าสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แล้วคนกลุ่มนี้มีบทบาทในการต่อสู้กับเผด็จการทหารทั่วเอเชีย โดยส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลความคิดจากฝ่ายซ้าย จนทศวรรษ 80 เป็นต้นมา ภายใต้การเกิดขึ้นของมหาลัยเอกชน โรงเรียนเทคนิคต่างๆ ขบวนการนักศึกษาขยายตัวไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มาคนชั้นล่างมากขึ้น และประเด็นเรื่องชุมชน ทรัพยากร สิทธิมนุษยชน การปฏิรูปการเมือง กลายเป็นประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ

ปัจจัยที่สอง คืออัตลักษณ์ของนักศึกษา ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ในฟิลิปปินส์ นักศึกษาไม่ได้นิยามตัวเองในฐานะที่เป็นขบวนการนักศึกษา แต่เป็นขบวนการประชาชน แต่ในไทยยุคหนึ่ง นักศึกษานิยามตัวเองเป็นขบวนการนักศึกษา เป็นคนละส่วนกับขบวนการอื่นๆ แต่คำถามคือขบวนการนักศึกษาในปัจจุบันมองตัวเองอย่างไร นิยามตัวเองอย่างไร เป็นประเด็นที่อาจจะต้องวิเคราะห์มากขึ้น

ปัจจัยที่สาม คือการเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองมีผลต่อขบวนการนักศึกษา โดยถ้าการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากๆ ขบวนการนักศึกษาจะไม่เป็นขบวนการที่เป็นเอกเทศจากขบวนการอื่นๆ นัก แต่ในระบบเผด็จการ ขบวนการนักศึกษาจะโดดเด่นออกมา เพราะจะเข้ามาเติมเต็มในจังหวะที่ขบวนการอื่นๆ ยังไม่สามารถออกมาได้

ปัจจัยที่สี่ คืออิทธิพลของความคิดและขบวนการอื่นๆ ในโลก ที่มีผลต่อขบวนการนักศึกษา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ที่อิทธิพลฝ่ายซ้ายมีความสำคัญ มาถึงยุค 80 ที่เป็นยุค New Left ที่ไม่ได้อยู่ในอิทธิพลแบบพรรคคอมมิวนิสต์อีก และยังมีแนวคิดแนวชุมชน แนวศาสนาเข้ามาด้วย และยุค 90 หนังสือเรียกว่าเป็นยุคการพัฒนาประชาธิปไตย ขบวนการนักศึกษารับแนวคิดที่หลากหลาย โดยเฉพาะแนวคิดเสรีนิยม

เก่งกิจกล่าวต่อว่า ตนอยู่ในยุคที่ขบวนการนักศึกษาอยู่ใต้การเมืองภาคประชาชน ทศวรรษ 2540 มีคนตั้งข้อสังเกตว่านักศึกษาจะมีอยู่สองสายใหญ่ๆ ได้แก่ สายเมือง นักศึกษาที่อยู่ในกทม.ต่างๆ พวกนี้จะไม่ได้มีมวลชนชาวบ้านของตัวเอง แต่ไปร่วมกิจกรรมตามที่ต่างๆ หรือมีประเด็นวาระอะไรก็จะออกไปเคลื่อนไหว ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มนักศึกษาชนบท สนใจเรื่องชาวนา เรื่องทรัพยากรและสิทธิชุมชน กลุ่มนี้จะปรามาสว่านักศึกษาจากกทม.ไม่เคยกินนอนกับชาวบ้าน แต่ก็จะถูกวิจารณ์ว่าสนใจแต่ประเด็นเดียว ไม่สนใจประเด็นการเมืองระดับชาติ

แต่การเมืองของขบวนการนักศึกษาค่อยๆ เปลี่ยนไปหลังปี 2549 และเด่นชัดขึ้นในหลัง 2553 โดยมีลักษณะเป็นจุดจบของสิ่งที่เรียกว่าการเมืองภาคประชาชน ที่เคยถูกมองว่าเป็นอิสระจากรัฐ เป็นพลังประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทั้งหมดถูกสั่นคลอน แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการปกป้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ทั้งบริบทสำคัญในทศวรรษนี้คือการเกิดขึ้นของโซเชียลเน็ทเวิร์ค ที่ทำให้การรวมกลุ่มมีความแตกต่างออกไปจากก่อนหน้านี้

ข้อสังเกตประเด็นสุดท้าย คือขบวนการนักศึกษาหลายปีที่ผ่านมา มีลักษณะที่ข้ามพรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้นเรื่อยๆ และมีลักษณะข้ามประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกลุ่มดาวดินที่มีฐานเรื่องทรัพยากร มาเคลื่อนไหวการเมืองระดับชาติ
ข้อเสนอตอนนี้ คือที่ผ่านมาเรายังติดอยู่กับการแบ่งขั้วระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างอย่างรุนแรง เราจำเป็นต้องแสวงหาแนวร่วมกับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ออกมาแสดงออก การพูดเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยอาจจะไม่พอ อาจจะต้องมีรูปธรรมของประชาธิปไตย เราไม่ค่อยได้พูดถึงการเมืองของการออกแบบการอยู่ร่วมกันในระบบประชาธิปไตย ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นทิศทางที่ทำให้เราขยายผู้สนับสนุนได้มากขึ้น

วงการศิลปะไทยกับการเป็นศัตรูของเสรีภาพ
ทัศนัย เศรษฐเสรี กล่าวถึงวัฒนธรรมการจัดแสดงนิทรรศการในวงการศิลปะของเมืองไทย มีส่วนอย่างยิ่งในการตอกย้ำพลังทางศีลธรรมในการเมืองไทย โดยทำให้มันเป็นศัตรูกับความคิดเรื่องเสรีภาพ โดยเราต้องพิจารณาวงการศิลปะในฐานะชุมชนทางสังคมแบบหนึ่งที่มีการปฏิสัมพันธ์กัน ต้องสามารถศึกษาได้ จึงเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และไม่ใช่พื้นที่บริสุทธิ์ ตัวศิลปะจึงไม่เคยบริสุทธิ์

วงการศิลปะไทยไม่เหมือนกับชุมชนศิลปะในที่อื่นๆ คือมีภาพที่เหลื่อมซ่อนกัน หนึ่ง มีลักษณะเป็นวงการปิด ที่มีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ที่รู้เรื่องศิลปะ มีผู้สนับสนุน-ผู้ชมเฉพาะ ที่เข้ามาเอื้อประโยชน์และสิทธิต่างๆ ให้กลุ่มคนแคบๆ ของเขาเอง ขณะเดียวกันมันก็เป็นสังคมเปิด ที่เรียกร้องการมีส่วนร่วมของสังคมภายนอก ระบบคุณค่า และการยอมรับจากสังคมภายนอก วงการนี้จึงทั้งปิดและเปิดในตัวเอง

ตั้งแต่ก่อตั้งม.ศิลปากร เวทีของศิลปะสมัยใหม่ที่สำคัญก็คือการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ มีศิลปินแห่งชาติ และหอศิลป์แห่งชาติ ก็เป็นเวทีสำคัญที่พวกเด็กบ้านนอกจะได้ไปชุบตัว โดยช่วงแรกๆ ของวงการ ใครจะถูกเรียกว่าศิลปินได้ ต้องถูกโยงเข้ากับเวทีศิลปกรรมแห่งชาติ

ช่วงหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ภายใต้การปฏิรูปสื่อ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ประเด็นสิทธิชุมชนต่างๆ ทำให้วงการศิลปะไทยเต็มไปด้วย “เสือหวัง” เกิดแนวร่วมกลุ่มศิลปินแห่งประเทศไทย มีการเรียกร้องหอศิลป์ร่วมสมัย ทำให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หรือ Bacc ซึ่งใช้เวลาเกือบสิบปี เสร็จปี 2551

วงการศิลปะต้องการจะพิงพึ่งโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจเก่า เช่น ทหาร เจ้านาย นายทุนเก่า ทำให้เกิดโครงสร้างการอุปถัมภ์ ส่งผลต่อรูปแบบวัฒนธรรมการจัดแสดงแบบไทยๆ ทำให้ศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนสิทธิเสรีภาพ อิสรภาพในการแสดงออก ทำให้ไม่น่าแปลกที่ Bacc จะเอาแผงเหล็กมากั้น ไม่ให้คนแสดงออก

เดือนมิ.ย.53 หลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง ความคิดเรื่องสันติวิธีถูกบิดเบือนอย่างสำคัญที่ Bacc ภายใต้นิทรรศการ “ฝันถึงสันติภาพ” เป็นงานที่จัดเอาศิลปินทั้งประเทศมาร่วม โดยพยายามสะท้อนแนวคิดเรื่องสันติภาพที่เชื่อว่าจะเยียวยาสังคม และคิดบวกต่ออนาคตที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่คนเพิ่งตาย 90 กว่าศพ นิทรรศการศิลปะกลายเป็นการกลบเกลื่อนความรุนแรงในสังคม สวมรอยมันและยกระดับให้ดูสง่างาม ไม่มีปัญหา

หลังรัฐประหาร 57 ไม่กี่วัน เกิดโครงงานสำคัญที่ Bacc ชื่อ “มนต์เสน่ห์ไทย” โดยให้ศิลปินไปตีความโบราณวัตถุของคลังกรมศิลปากร มาทำงานชิ้นใหม่ แล้วนำมาจัดแสดงคู่กัน ต่อมางานถูกนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคืนความสุข โดยที่ศิลปินสายก้าวหน้าหลายคน แทบไม่รู้ว่าตนเองถูกผนวกงานไปเป็นส่วนหนึ่งของการคืนความสุข

ทัศนัยสรุปเรากำลังอยู่ภายใต้ระบบที่ศีลธรรมและจริยธรรมบางอย่างซึ่งมันกดทับเรา วงการศิลปะหลังปี 49 ก็มีส่วนตอกย้ำ ทำให้ความเผด็จการของอำนาจมีลักษณะที่ขลัง น่าชื่นชม และทำให้ผู้คนในสังคมสละทิ้งซึ่งอิสรภาพเสรีภาพของตนโดยไม่รู้ตัว เราจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าศิลปะเป็นพื้นที่ทางสังคมประเภทหนึ่ง และจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบจากภายนอก
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วงเสวนา ‘คุยความจริง: เมื่อเสรีภาพ กลายเป็นอาชญากรรม’ ขอ คสช. คืน ‘เสรีภาพ’ ให้คนในชาติ

$
0
0

พิชญ์ ชี้ คสช. อาจได้ บทเรียนราคาแพงจากนักศึกษา วาด รวี ระบุ ถ้าคนไทยยังนิ่งเฉยต่อการจับกุม นักศึกษา นักกิจกรรม อย่าคิดว่าจะเดินไปถึงประชาธิปไตย ด้านตัวกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เผยหลังเพื่อนถูกจับกุม คนข้างนอกถูกคุกคามมากขึ้น

6 ก.ค. 2558 ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคมและหลักสูตรการเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาในหัวข้อ ‘คุยความจริง: เมื่อเสรีภาพ กลายเป็นอาชญากรรม’ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนาโดย วาด รวี นักเขียนและศิลปิน, ชนกนันท์ รวมทรัพย์ จากกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน และพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ชนกนันท์: เจ้าหน้าที่คุกคามนักศึกษาทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่กับครอบครัว วอนให้ปล่อยเพื่อนๆออกจากคุก

ชนกนันท์ กล่าวว่า ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อกลางปี พ.ศ. 2557 มีนักศึกษาที่ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้อง และเกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่างขึ้น อย่างที่เป็นข่าวออกไป เช่น กินแซนด์วิช อ่านหนังสือเรื่อง 1984 แล้วโดนเรียกเข้าไปปรับทัศนคติบ้าง แต่ช่วงเดือนสองเดือนนี้ถือว่าหนัก เพราะโดนจับจริง ตัวอย่างการรำลึกหนึ่งปีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนักกิจกรรมวางแผนที่จะยืนดูนาฬิกาเป็นเวลา 15 นาที ไม่ได้จะทำอะไร แต่พอเอาเข้าจริงเริ่มได้ไม่นานก็ถูกจับกุม ท้ายสุดมีนักศึกษาโดนจับทั้งหมด 38 คน

ชนกนันท์ กล่าวต่อว่า ในวันนั้นที่ สน. ปทุมวัน มีข้อเสนอที่สำคัญสุดคือ จะปล่อยทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข แต่จะจับเก้าคนที่มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่พวกเราไม่ยอม มาด้วยกันก็ไปด้วยกัน ไปไหนไปกันหมด สุดท้าย มันก็ยื้อจนถึงตีสี่ตีห้า พอตอนเช้า เขาก็สรุปว่าทุกคนเข้าไปถ่ายสำเนาบัตร ปชช. แล้วให้เขียนว่า “ไม่เคลื่อนไหว” ลงในสำเนา ซึ่งเขาให้เงื่อนไขว่าจะปล่อยทุกคนแบบไม่มีเงื่อนไข ปรากฎว่าภายหลัง 9 คนโดนหมายเรียก เหตุการณ์ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่วันที่นักศึกษาไปฟังข้อกล่าวหาที่ สน. ปทุมวัน การเคลื่อนไหวที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกระทั่งถูกจับกุมในวันที่ 26 มิ.ย. ส่วนนักศึกษาที่ยังไม่ถูกจับกุม ได้รับการถูกคุมคามจากเจ้าหน้าที่ พ่อแม่ของนักศึกษาที่ถูกจับกุมไป ก็ยังโดน ตร. ตามไปหาที่บ้านไปถามไถ่ว่าเลี้ยงลูกยังไง ทำไมถึงต่อต้านรัฐบาล

ตัวแทนกลุ่มประชาคมจุฬาฯ ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยเพื่อนๆ นักศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยให้เหตุผลว่า เพื่อนๆ ไม่ได้ทำอะไรผิด และต้องการให้ทุกคนที่คิดว่าตนเองถูกลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ออกมาปกป้อง แค่นักศึกษากลุ่มเดียวออกมาเคลื่อนไหวคงไม่พอ ทุกคนควรก้าวออกมา เพราะถึงเวลาแล้ว

พิชญ์: คสช. (อาจจะ)ได้บทเรียนราคาแพงจากนักศึกษา สำทับอยากได้ยินข่าววิถีชีวิตในคุกมากกว่านี้

พิชญ์ เล่าว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ได้ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่ติดคุก [กล่าวถึง แซม พรชัย ยวนยี] ซึ่งเพิ่งเรียนจบไปประมาณสองปี ในการเข้าเยี่ยมมีกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก และในที่สุดก็ได้พบทั้ง 13 คน(ผู้ชาย)ตอนบ่าย โดยในวันนั้น ทั้ง 13 คนมีกำลังใจดี แต่มีคำๆหนึ่งที่น่าสนใจจากหนึ่งในนั้นว่า ‘จะมีการแยกแดน เขาต้องปรับตัว’ คำถามคือ ต้องปรับตัวกับอะไรในคุก มีกิจกรรมอะไรในคุกบ้าง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ พิชญ์ วิงวอนสื่อให้ตีแผ่ด้วย

นอกจากนั้น พิชญ์ ยังได้เจอพ่อแม่ของนักศึกษาบางท่าน ทำให้พบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่าง คณะผู้ปกครองประเทศ ผู้ที่ยังนึกว่า จะสามารถใช้เครือข่ายประเพณีเดิมๆ ก็คือสถาบันครอบครัว เพื่อควบคุมนักศึกษาได้ แต่ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป พ่อแม่อาจจะฟังลูกมากขึ้น นักศึกษาอาจจะเริ่มต้นเส้นทางการต่อต้านระบอบการปกครอง ด้วยการต่อต้านครอบครัวเป็นอันดับแรกมาแล้วก็เป็นได้ การที่มาถามว่าครอบครัวทำไมไม่ดูแล อาจได้รับคำตอบจากครอบครัวกลับมาว่า ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ในมุมของเด็กจะเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหนเราไม่ทราบ แต่ความสัมพันธ์ที่เด็กมีกับครอบครัวมันเปลี่ยนไปแน่ๆ

พิชญ์ กล่าวว่าต่อไปว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ผิดแผกไปจากขนบการรัฐประหารทั่วไปในครั้งก่อนๆเยอะ ลักษณะทั่วไป ก็คือ พอรัฐประหารเสร็จ ทหารก็ถอยให้ รัฐบาลพลเรือนเข้ามา ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการประนีประนอมกับนักการเมือง แต่ทุกวันนี้ทหารออกมาแถวหน้า ซึ่งมันไม่ง่ายที่จะทำให้คนเข้าใจตรงกันถึงความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว

พิชญ์สงสัยว่าทำไม คสช. ถึงไม่ทำสถาบันพิเศษขึ้นมา เช่นศาลรัฐประหาร มาใช้ในสภาวะแบบนี้ การใช้ศาลทหารมาวุ่นวายกับปัญหาการเมืองนั้นไม่มีความเหมาะสม เพราะศาลเองมีงานอยู่แล้ว ทั้งยังใช้กฎหมายอาญามาอ้างว่า นศ.ไม่ใช่นักโทษการเมือง แต่การตีความมีความจงใจทางการเมือง การนำเอากระบวนการศาลทหาร และตำรวจ ที่ใช้งานอยู่แล้วในเวลาปรกติ เข้ามาเกี่ยวพันกับสถานการณ์พิเศษจึงก่อให้เกิดความลำบาก

นอกจากนั้น มันทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความชอบธรรมทางกฎหมาย มีทั้งเรื่องของตัวบท และการยอมรับ การยอมรับเป็นกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกัน ไม่ใช่สิ่งที่เขียนอยู่ในกระดาษ และมันกำลังสั่นสะเทือนขึ้นเรื่อยๆ

พิชญ์ ให้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีท่าทีที่อ่อนลงในการพูดจา ในขณะเดียวกันความเห็นจากคณะผู้ปกครองประเทศ มีหลายเฉดมากขึ้น สิ่งที่เราเห็นชัดขึ้นคือ คำสัมภาษณ์ของ ผู้บัญชาการทหารบก และคนที่คุมกระทรวงยุติธรรม เข้มข้นเสียกว่าผู้บริหารประเทศ เลยสงสัยว่า เป็นทัศนคติจากหลายแนวทาง หรือเป็นความเห็นไม่ตรงกันในเหล่าผู้นำ

พิชญ์ กล่าวว่าการทำผิดกฎหมายสามารถทำให้ถูกกฎหมาย เช่นการนิรโทษกรรม ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้อำนาจฝ่ายความมั่นคงขนาดที่ทำอะไรก็ไม่ผิด แสดงให้เห็นว่ากฎหมายมันเปลี่ยนได้ คิดว่าเรื่องนี้ทางรัฐบาลก็เข้าใจอยู่

พิชญ์คิดว่า มีการจุดวาทกรรมสำคัญขึ้นมา คืออ้างว่าเรื่องนี้ จุดติดหรือไม่ติด เจ้าตัวไม่คิดว่านี่เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม กระแสที่จุดไม่ติดจริงๆก็คือ กระแสที่ทำให้เกลียดนักศึกษา การปลุกให้เกลียดชังนักศึกษา เกลียดชังคนที่แสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่างหากที่จุดไม่ติด อันนี้เป็นสิ่งซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็เข้าใจ เรากำลังเผชิญกับสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือน 14 และ 6 ตุลาเสียทีเดียว คณะรัฐประหารเอง ก็สามารถเรียนรู้และวางตัวได้เหมาะสมมากขึ้นจากเหตุการณ์นี้

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเรื่องที่เขาทำเองไม่ได้ จึงพึ่งคนที่คิดว่าจะทำให้ได้ แต่เรื่องที่คิดว่าจะทำให้ได้กลับเละเทะ สาเหตุมันมีเยอะ และคนผิดไม่ใช่ประยุทธคนเดียว คณะรัฐประหารอาจคิดแล้วว่า คนสองร้อยคนที่เลือกมา หรือแม่น้ำห้าสาย อาจจะไม่เข้าท่า แต่ตาน้ำเล็กๆที่พวกเขาเอามาคุมขัง อาจจะกลายเป็นแม่น้ำสายที่หกที่ใหญ่กว่าคลองที่ตัวเองขุดเองแล้วคิดว่ามันยิ่งใหญ่แล้วก็ได้

คสช. อาจคิดขึ้นได้ว่า วันหนึ่งเขาเคยมีเกียรติยศสูงส่งในฐานะผู้พิทักษ์ แต่พอมาเป็นผู้ปกครองแล้วมันก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง คสช. ต้องคิดเสียแล้วว่า คสช. จะได้ข้อมูลจากหลายฝั่งมากขึ้น และมันจะเป็นผลดีต่อสังคม และจะทำให้องค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ชัดเจนมันชัดเจนมากขึ้น ก็คือ โรดแมพ มี โรด และเงื่อนเวลา แต่ตอนนี้มันไม่ชัดเจน ตอนนี้มีโรด แต่ไม่มีแมพ มันจะออกไปเรื่อยๆ ถ้าเงื่อนเวลาของโรดแมพมันชัดเจนขึ้น และชี้ให้เห็นว่าจะทำอะไรบ้างภายใต้เวลาดังกล่าว ก็คิดว่าคงทำให้ทุกๆฝ่ายคุยกันได้มากขึ้น

สุดท้าย พิชญ์ ยกข้อความในหนังสือ มนุษย์ ความหมาย และค่ายกักกันขึ้นมากล่าวว่า มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ เสรีภาพไม่ใช่อะไรที่ร้องขอแล้วจะได้ มันมาพร้อมอะไรหลายๆ อย่าง เมื่อมีชีวิต ย่อมมีการเลือกตามมา ชีวิตโดยแท้จริงแล้วไร้ค่า แต่มันจะมีค่าขึ้นมา ก็ต่อเมื่อเราตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งและรับผิดชอบกับสิ่งที่เลือก ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาเลือกอาจจะตรงกับเรา เราก็ไปร่วม แต่ถ้าไม่ตรง เราก็ไม่ไป ทุกคนมีสิทธิ์เลือก อย่างไรก็ตาม การที่นักศึกษาถูกจับ ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่า เราทนที่จะเห็นเขารับผิดชอบความผิดตามกฎหมายแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้หรือไม่

วาด: คนไทยยังเข้าใจเสรีภาพอย่างผิดๆ เปรยถ้าตอนนี้ไทยยังเฉย คงไม่มีวันจะไปถึงประชาธิปไตย

วาด กล่าวว่า ในแวดวงนักเขียนนั้น มีนักเขียนจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่องก่อนการเกิดรัฐประหาร และพยายามแสดงออกในช่วงแรกของการรัฐประหาร แต่ก็โดนปิดกั้นด้วยข้ออ้างที่คณะรัฐประหารใช้ ก็คือเพื่อรักษาความสงบ

วาด เล่าต่อไปว่า มีการพูดกันเยอะในหมู่คนที่สนับสนุน คสช. ว่าที่ผ่านมามีการใช้เสรีภาพเยอะเกินไป เลยเกิดความวุ่นวาย ในช่วงเวลาอย่างนี้จึงสนับสนุนให้ คสช.จำกัดเสรีภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เสรีภาพไม่ได้ยืนอยู่โดดๆ มันจะต้องมีทั้งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค มาด้วยกัน กรอบจำกัดของเสรีภาพมันถูกจำกัดด้วยเสรีภาพของคนอื่นๆ ในสังคมอยู่แล้ว ทุกคนมีเสรีภาพเหมือนกัน เมื่อเสรีภาพของแต่ละคนมาชนกัน มันจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายละเมิดเสรีภาพของอีกฝ่าย ดังนั้น การอยู่ในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพของแต่ละคนจะต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพของคนอื่น

วาด ชี้ว่า การเอาเสรีภาพมาอ้างใช้ในการละเมิดเสรีภาพส่วนรวม มีมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 แล้ว เพราะตอนนั้นก็มีการชุมนุมและเรียกร้องให้ทหารออกมาแก้ไขปัญหา กรณีชัดๆที่เห็นว่าล้ำเส้นเสรีภาพ ก็คือกรณีบุก NBT กับยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเสื้อไหนชุมนุม ภาพที่เกิดขึ้นคือการใช้เสรีภาพก่อความวุ่นวาย เพราะมันเป็นการละเมิดเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดการเหมารวมว่าเสรีภาพก่อให้เกิดความวุ่นวาย กรณีที่นักศึกษาจัดกิจกรรมนั้น ยังอยู่ในกรอบของเสรีภาพ ที่ไม่ได้ไปละเมิดเสรีภาพของใครเลย ตั้งแต่การดูนาฬิกาที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ หรือการชูป้ายผ้าที่ขอนแก่น เป็นเพียงการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ ที่เป็นเสรีภาพพื้นฐาน ที่ คสช. ปิดกั้นมาตั้งแต่แรก โดยไม่มีการผ่อนปรน เหตุผลนี้พอฟังขึ้นกับคนที่กลางๆในช่วง 2-3 เดือนแรกของการรัฐประหาร แต่วันนี้เหตุผลนี้ไม่ควรใช้อีกต่อไป ทุกวันนี้ ลักษณะของการปิดกั้นดูท่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพอย่างถาวรไปเสียแล้ว และไม่ใช่แค่การปิดกั้นการแสดงออกเฉยๆ แต่เป็นการปิดกั้นไม่ให้สื่อทำข่าวการจับกุมคนที่แสดงออกอีกด้วย อย่างเช่นกรณีที่ Thai PBS ถูกปรับจากการทำข่าว  วันนี้การปิดกั้นเสรีภาพ แทบจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพที่รุนแรงที่สุดในสังคมไทยในช่วงเวลานับสิบปีทีเดียว

วาด ข้องใจในประเด็นความชอบธรรมของกฎหมาย เพราะกฎหมายมันเริ่มต้นจากการกระทำการที่ผิดกฎหมาย ก็คือการรัฐประหาร การออกคำสั่งหลังยึดอำนาจซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว อีกอย่างถ้าเป็นคำสั่งที่ไร้เหตุผล ประชาชนต้องต่อรองกับคำสั่งที่กดขี่เสรีภาพ และ คสช. จะเจ๊งเพราะกลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเดียวไหม ก็คงไม่ใช่จากเรื่องนี้เรื่องเดียว ประเด็นคือ เราต้องทวงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกลับมาเสียก่อน ไม่ว่าเราจะพูดแล้ว คำพูดเราจะศักดิ์สิทธิ์ขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายได้หรือไม่นั้น มันอยู่กับประชาชนคนอื่นว่าเห็นด้วยมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ควรมีเป็นพื้นฐาน ก็คือเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่ปิดปากกันแบบนี้ ทุกคนต้องตระหนักว่าตอนนี้มันเข้าขั้นวิกฤติเสียแล้ว ถ้าการแสดงออกความคิดเห็นง่ายๆกลับต้องขึ้นศาลทหารถูกมองเป็นเรื่องปรกติ สังคมนี้คงไปไม่ถึงประชาธิปไตยจริงๆ

วาดทิ้งท้ายว่า วิกฤติการเมืองในสังคมไทยเสมือนเป็นเบ้าหลอม ปัจจุบันคนไทยได้เรียนรู้มากขึ้นแล้ว แต่คงยังไม่พอที่จะไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก กรณีของนักศึกษา ถือเป็นกรณีใหญ่ในช่วงนี้ มันมีไม่บ่อยที่คนไทยจะเอาร่างกายเข้าแลกกับสิทธิและเสรีภาพ เพื่อให้สังคมตื่น ตระหนักว่าตนเองถูกลิดรอนอยู่ และต้องทวงคืน นี่ถือเป็นสิ่งที่ตนเองไม่เห็นมานานมากแล้ว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอาจถูกฟ้อง-หลังมีข้อกล่าวหาโอนเงินเข้าบัญชี 2.37 หมื่นล้านบาท

$
0
0

ส.ส.พรรครัฐบาลมาเลเซีย เรียกร้องให้ธนาคารแห่งชาติและธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งแถลงอย่างเป็นทางการ หลังวอลสตรีทเจอนัลและซาราวักรีพอร์ทตีข่าวว่ามีการโอนเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย 1MDB กว่า 2.37 หมื่นล้านบาทเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ขณะที่อัยการสูงสุดมาเลเซียสอบเรื่องนี้แล้ว

นาจิป ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2558 (ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

6 ก.ค. 2558 - ส.ส.พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล 2 คน ได้แก่ โจฮารี อับดุล กานี จากกัวลาลัมเปอร์ และรีซาล เมริกัน ไนนา เมริกัน จากรัฐปีนัง ได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นธนาคารกลาง และธนาคารเอกชน AmBank ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการเปิดบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก ให้ทั้ง 2 ธนาคารมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ต่อข้อกล่าวหาร้ายแรงที่มีต่อนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

โดยโจฮารี กล่าวว่า "ถ้าธนาคารทั้งสองแห่งยังคงเงียบ ก็จะไม่ลดความสนใจของสาธารณชนที่ว่ากำลังมีการกระทำผิด"

ขณะที่คำแถลงของรีซาล ตอนหนึ่งกล่าวว่า "ยังไม่มีแถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย หรือแม้แต่ธนาคาร AmBank เรื่องนี้สร้างความสับสนให้สาธารณะ"

สำหรับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น เริ่มต้นมาจากกรณีที่ หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอนัล (WSJ) ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา และหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนของมาเลเซีย ซาราวักรีพอร์ท ได้นำเสนอรายงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.ค.) ระบุว่า มีข้อกล่าวหาว่าเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB ถูกยักยอกออกไปกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่บัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก

ในรายงานทั้ง WSJ และซาราวักรีพอร์ท ได้อ้างหลักฐานจากเอกสารของกองทุน 1MDB ซึ่งถูกตรวจสอบโดยรัฐบาลมาเลเซีย โดยซาราวักรีพอร์ท ยืนยันว่าอัยการสูงสุดมาเลเซียทราบถึงข้อมูลนี้เช่นกัน

เอกสารซึ่งใช้กล่าวหานาจิปนี้ ระบุว่า เงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.67 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 2.37 หมื่นล้านบาท ถูกถ่ายถอนจากหน่วยงานรัฐบาล, ธนาคาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB และปลายทางของการโอนอยู่ที่บัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีที่ธนาคาร AmBank ในกัวลาลัมเปอร์ แบ่งออกเป็น 5 บัญชี

จากรายงานของสเตรทไทม์ สื่อสิงคโปร์ ธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย (BNM) ได้รับความน่าเชื่อถือในวงการธนาคาร และปกติแล้วธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย ควรจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีการโอนเงินในบัญชีธนาคารภายในประเทศในวงเงินมูลค่าสูง อย่างเช่น กรณีที่มีการโอนเงิน 620 ล้านเหรียญสหรัฐจากบัญชีธนาคารสวิส ซึ่งมีสาขาในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2556 ที่ผ่านมา

ผู้นำของพรรคอัมโนคนอื่นๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้เช่นกัน โดยเรียกร้องให้นาจิปตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเช่นนี้ การพูดแต่เพียงว่าไม่มีการใช้จ่ายเงินไปในทางผลประโยชน์ส่วนบุคคล ไม่ได้ตอบคำถามหลักที่ว่ามีเงินถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของเขาหรือไม่

ธนาคารแห่งประเทศมาเลเซียกล่าวเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้เริ่มสอบถามอย่างเป็นทางการต่อกองทุน 1MDB แต่เป็นการสอบถามตามขั้นตอนการทำงานภายใน โดยที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผลการสอบสวนต่อสาธารณชนแต่อย่างใด

ในขณะที่กองทุน 1MDB ได้เผยแพร่แถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 ก.ค.) ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการถ่ายโอนเงินของกองทุนไปยังนายกรัฐมนตรี นาจิป ราซัก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเองโดยตำแหน่งแล้วเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของกองทุน 1MDB แห่งนี้

วันไซฟุล วันจัน ผู้อำนวยการขององค์กรด้านคลังสมองภาคเอกชน Ideas กล่าวกับสเตรทไทม์ว่า เขาเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่มีข้อกล่าวหาล่าสุดต่อนาจิป ราซักนี้จะส่งผลหายนะต่อหน่วยงานของรัฐบาลอย่างธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะถูกกดดันให้แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความเป็นอิสระ

ขณะที่อัยการสูงสุด อับดุลกานี ปาเทล ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งมีจากหลายหลายหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่วันไซฟุลกล่าวถึงกรณีนี้ว่า "หากข้อกล่าวหาได้รับการพิสูจน์ นี่อาจเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีจะถูกฟ้องและเขาจะตกอยู่ในภาวะลำบาก

"อย่างไรก็ตาม ถ้าเขาไม่ถูกฟ้อง คนกลุ่มใหญ่ก็จะมุ่งไปที่อัยการสูงสุด และเรื่องความเป็นกลางก็จะถูกตั้งคำถาม"

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Bank Negara, AmBank must respond to allegations of billions in Najib’s accounts, say Umno MPs, TMI, 6 July 2015 http://www.themalaysianinsider.com/malaysia/article/bank-negara-ambank-must-respond-to-allegations-of-billions-in-najibs-accoun#sthash.awssKKcP.dpuf

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลทหารไม่อนุมัติคำขอฝากขังของ ตร. -นักสิทธิห่วง ปล่อยคดีนี้ รอจับอีกคดีหนึ่ง

$
0
0

ศาลทหารยกคำร้องขอฝากขัง 14 นักกิจกรรม-นักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เนื่องจากไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อ ด้านนักสิทธิห่วงการยกคำร้องแค่เพื่อแก้เกมการเมือง ลดแรงต้าน ชี้ทั้งหมดยังมีคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. จากเหตุการณ์วันครบ 1 ปีรัฐประหารอยู่

7 ก.ค. 2558 เวลา 11.10 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง 14 ผู้ต้องหาในผัดที่สอง ศาลทหารได้พิจารณาคำร้องและมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุในการควบคุมตัวต่อ นักศึกษาและนักกิจกรรมทั้งหมดจึงจะได้รับอิสรภาพในวันนี้ คาดว่าจะมีการนำตัวไปปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางในช่วงบ่ายถึงเย็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่มาให้กำลังใจและสื่อมวลชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปภายในบริเวณศาลทหาร มีเพียงทนาย ผู้ต้องหา ญาติผู้ต้องหา และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมในห้องพิจารณาคดี องค์กรระหว่างประเทศที่มาในวันนี้มีหลายองค์กร อาทิ Amnesty International. สถานทูตสหรัฐ, เนเธอแลนด์, เบลเยี่ยม, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, สวีเดน, และสำนักงานสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย

เพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคำร้องฝากขังและคำคัดค้านของทนายความว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังทั้ง 14 คน เป็นผัดที่สองระหว่างวันที่ 8-19 ก.ค.โดยให้เหตุผลว่า "คดีนี้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างสรุปสำนวนส่งอัยการ จึงขออนุญาตฝากขัง ในกรณีที่ผู้ต้องหาจะขอประกันตัว ไม่คัดค้านการประกันตัว และผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและไม่เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน" ด้านทนายความยื่นคำร้องคัดค้าน โดยนายรังสิมันต์ โรม นายพรชัย ยวนยี และนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา (ไผ่) แถลงต่อศาลใน 4 ประเด็น คือ

1. พวกเขายังเป็นผู้ต้องหา ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

2. พวกเขาไม่ได้หลบหนีไปไหน อีกทั้งวันที่ 24 ก็ไปปรากฎตัวที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นพักอยู่ที่สวนเงินมีมา โดยแจ้งให้สาธารณะทราบตลอด

3. พวกเขาไม่ใช่อาชญากร ไม่ได้ก่ออาชญากรรมต่อรัฐหรือต่อสังคม

4. การควบคุมตัวพวกเขาในเรือนจำเป็นอุปสรรคในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำสั่ง "ไม่อนุญาติให้ฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเสร็จแล้ว รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว จึงไม่มีเหตุให้ฝากขังต่อ"

ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการฝากขังนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คน แต่กระบวนการยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อครบกำหนดหากอัยการทหารส่งฟ้องต่อศาลทหารก็ต้องมีการพิจารณาคดีตามที่ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง 3/2558 ที่ออกโดยมาตรา 44 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทราบข่าวว่าศาลไม่อนุมัติให้ฝากขังต่อ ประชาชนนับร้อยต่างโห่ร้องแสดงความดีใจ
 
วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ดาวดิน กล่าวกับมวลชนว่า ดีใจที่เด็กๆ ได้ปล่อยตัว ตอนแรกพนักงานสอบสวนยื่นฝากขังต่อ แต่นักศึกษาคัดค้าน เพราะตอนจับ พวกเขาอารยะขัดขืนไม่ได้จะหลบหนี แม้ปล่อยตัวไปเขาก็จะไม่หลบหนีเช่นกัน การกักขังทำให้หมดอิสรภาพในการดำเนินชีวิต บางคนไม่ได้เรียน บางคนไม่ได้สอบทนาย
 
เขากล่าวด้วยว่า เด็กๆ ได้ต่อสู้ตามหลัก 5 ข้อแล้ว การได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าจะยุติ คาดว่าเขาคงจะสู้ต่อไป
 
ด้านสิรวิชญ์ ขอให้เคลียร์พื้นที่ สลายตัวจากหน้าศาลทหารไปปักหลักที่ คุก มธ. หรือกรงจำลองที่ มธ. เพื่อเตรียมเคลื่อนไปรอรับทั้ง 14 คนที่เรือนจำในช่วงเย็น
 

ผู้คนกำลังทยอยเก็บของออกจากหน้าศาลทหารหลังทราบผลปล่อย 14 ผู้ต้องหา

นักสิทธิห่วง ปล่อยคดีนี้ รอจับอีกคดีหนึ่ง

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การยกคำร้องขอฝากขังผัดสองเป็นเพียงการแก้เกมการเมืองเพื่อลดกระแสการต่อต้านที่กำลังก่อตัว ทั้งนี้กังวลว่าหลังการปล่อยตัวที่เรือนจำในวันนี้อาจมีการอายัดตัวนักศึกษานักกิจกรรมในคดีอื่นได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นทั้ง 14 คนมีคดีติดตัวอยู่ 2 คดี คือ

คดีแรกคือ 22 พ.ค.2558 มีผู้ต้องหาจำนวน 7 คนถูกแจ้งข้อหาเดียว คือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ในการชุมนุมหน้าหอศิลป์ และดาวดินอีก 7 คนจากการชูป้ายผ้าที่ขอนแก่น

คดีที่สองคือ 25 มิ.ย.2558 ที่ทั้ง 14 คนมารวมตัวกันทำกิจกรรมหน้า สน.ปทุมวัน (24 มิ.ย.) ก่อนที่วันที่ 25 มิ.ย.จะจัดกิจกรรมเดินสายและปราศรัยกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คดีนี้ถูกแจ้ง 2 ข้อหาคือ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ที่ห้ามชุมนุมเกินห้าคน กับ มาตรา 116 ประมวลกฏหมายอาญาในการปลุกระดมประชาชน โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี

ในคดีที่สองมีการออกหมายจับนำมาสู่การจับกุมและฝากขังที่เกิดขึ้น ขณะที่คดีแรกนั้นยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน สุณัยแสดงความกังวลว่าอาจใช้คดีแรกเป็นเหตุในการจับกุมนักศึกษาอีกครั้งหลังปล่อยตัว

000

ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลาประมาณ 7.30 น. มีการปิดรั้วที่หน้ากระทรวงกลาโหม กำลังทหารตำรวจประมาณ 30 นาย



กฤษฎางค์ นุตจรัส หนึ่งในทีมทนายความของ 14 ผู้ต้องหา

เวลา 7.50 น. ทนายของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางมาถึง ให้สัมภาษณ์สื่อว่าวันนี้พิจารณาคดี ถ้าศาลให้ฝากขังต่อ ก็คงได้ฝากขังต่อ ถ้าจะปล่อยตัว ก็คงเพราะไม่รู้จะขังไว้ทำไม ส่วนนักศึกษาน่าจะมาได้หมด ยกเว้นนักศึกษาหญิงที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ที่มีอาการชาไปครึ่งซีก จากเหตุสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์เนื่องจากถูกไฟฟ้าช็อต  

เวลา 8.30 น. สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินทางมาปักหลักที่หน้ากระทรวงกลาโหม บอกว่าจะรอรับเพื่อนกลับบ้าน และคัดค้านการฝากขัง และระบุว่า จะเคลื่ิอนไหวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย ต่อให้เพื่อนต้องโดนขังต่อ ก็จะเคลื่อนไหวและเป็นกำลังใจให้ ชี้เพื่อนถูกกระบวนการกฎหมายที่บิดเบี้ยวเล่นงาน โดนไล่จับเพียงเพราะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งคำถามเสรีชนกี่คนแลัวกี่คนเล่าที่ต้องขึ้นศาลทหาร ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทหาร

เวลา 8.50 น. ผู้สังเกตการณ์จากสหประชาชาติเดินทางมาถึงและเข้าไปในศาลทหาร

เวลา 9.30 น. ที่หน้ากระทรวงกลาโหม มีประชาชนทยอยกันมาเป็นกำลังใจให้ 14 ผู้ต้องหาและผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าวกว่าร้อยคน และเริ่มมีการปูเสื่อ กั้นผ้า ตั้งเครื่องเสียงปักหลักที่ด้านหน้ารั้วกั้นทางเข้าศาลทหารแล้ว ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สื่อมวลชนออกจากหน้ารั้วเพื่อความเรียบร้อย

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขอให้ตัวแทนมาเจรจาเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่อยากให้เหลือพื้นที่ให้เข้าออก ไม่ให้เสื่อปิดทางเข้าออก

กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมอ่านกวี เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนๆ โดยมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผลการเจรจากับตำรวจสรุปว่า ให้กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ใช้ถนนหน้ารั้วทำกิจกรรมต่อไปได้

เวลาประมาณ 9.40 น. ชายสูงอายุคนหนึ่งชูป้ายกระดาษหน้าศาลทหาร "เผด็จการที่ดี ดีกว่าประชาธิปไตยที่เลว" ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวออกไป ด้านนักศึกษากล่าวขอร้องกับผู้ชุมนุมขอร้องอย่าด่าทอผู้เห็นต่างทางการเมือง หลังมวลชนโห่ไล่ชายคนดังกล่าว

ประชาชนที่มาให้กำลังใจ 14 น.ศ.ปักหลักนั่งหน้าศาล ร้องเพลงเพื่อมวลชน

เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 14 คนแล้ว จากเดิมที่มีการคาดการณ์กันว่าตำรวจอาจไม่ขอฝากขังผัดที่ 2 เพื่อลดแรงกดดันทางสังคม หาทางปล่อยตัวนักศึกษานักกิจกรรมที่ไม่ยอมยื่นประกันตัว ด้านทนายความเตรียมยื่นคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหา

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 14 คน รวมถึงชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ที่รักษาตัวจากอาการแขนขาชาอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ ก็ถูกนำตัวมายังศาลทหารด้วย

ราว 10.40 น. เกิดเหตุอีกครั้งเมื่อชายสวมแว่นดำ มีรอยสัก ชูป้าย "นักศึกษาไปเรียนหนังสือดีกว่า อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย" เมื่อมวลชนเห็นก็มีการโห่แสดงความไม่พอใจ จากนั้นชายซึ่งคาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบได้นำตัวชายคนดังกล่าวขึ้นมอเตอร์ไซค์ออกจากพื้นที่ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์นักศึกษาพยายามทำความเข้าใจกับมวลชนที่มาชุมนุมว่าควรใจเย็นและไม่โห่ไล่ด่าทอผู้เห็นต่าง

10.35 ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวปราศัย ขอให้ผู้ชุมนุมโดยยึดหลักการ 5 ข้อของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เพื่อชุมนุมโดยสงบ พร้อมกล่าวถึงสื่อและคนที่ต้องการดิสเครดิตนักศึกษาด้วยเกรดหรือหน้าตาว่าอย่าทำ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกัน

"ผมไม่ได้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา ผมอยู่เบื้องข้างเขา" ประจักษ์กล่าว เรียกเสียงปรบมือจำนวนมาก

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เราเห็นด้วยกับหลักการ 5 ข้อของเขา การละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา ไม่ใช่ปัญหาของนักศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของทุกคน เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน นักศึกษายอมเอาอิสรภาพเข้าแลกเพื่อเสนอหลักการ 5 ข้อ ถ้าจะตอบโต้ อย่าไปขุดคุ้ยเกรดหรือคดีพนัน น.ศ. ให้ไปศึกษาหลักการ 5 ข้อ หาข้อบกพร่องและมาเถียงกัน มาตอบโต้ด้วยเรื่องพวกนี้มันกระจอก พร้อมเรียกร้องขอให้ปล่อยตัว น.ศ. โดยไม่มีเงื่อนไข

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images