Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live

เครือข่ายพลเมืองสงขลาค้านเวทีฟังความเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระบุไม่ชอบธรรม

0
0


28 ก.ค.2558 ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27–28 ก.ค.2558

สำหรับเวทีรับฟังความเห็นวันแรกในวันที่ 27 ก.ค.เป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในส่วนการสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพา ในวันที่ 28 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเป็นประธาน และมีการจัดการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยก่อนหน้านี้มีการออกประกาศจังหวัดห้ามไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างเข้าไปในบริเวณงาน โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าจะสร้างความปั่นป่วน

สำหรับบรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ ทั้งตำรวจ ทหาร และ อส.พร้อมอาวุธ ขณะที่มีประชาชนมาเดินทางมาเข้าร่วมเวทีนับเป็นจำนวนมาก และมีการแจกสิ่งของ อาทิ เสื้อยืดคอกลมที่มีข้อความ “เทพาเมืองเก่า คนเอาถ่าน” ด้วย

ภาพโดย เอกชัย อิสระทะ

กระทั่งเวลาประมาณ 10.00 น.มีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นำโดยนายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เคลื่อนขบวนมาถึงบริเวณที่จัดเวที แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งด่านสกัดไม่ให้เข้าไปในสถานที่จัดงาน  จนต้องมีการเจรจากันเป็นเวลานาน เจ้าหน้าที่จึงยอมให้ฝ่ายที่คัดค้านโรงไฟฟ้าส่งตัวแทนเข้าพบผู้ว่าฯ โดยกำหนดเข้าพบได้เพียง 3 คน และต้องไม่ถือป้ายหรือแสดงสัญลักษณ์แสดงความไม่เห็นด้วย รวมถึงให้ลงนามในคำสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใดๆ อันเป็นการแสดงออกถึงการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าด้วย

ส่วนทางด้านบรรยากาศในเวทีรับฟังความคิดเห็น หลังจาก กฟผ.ชี้แจงรายละเอียดโครงการ ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น โดยมีทั้งผู้ที่สนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายสนับสนุนเห็นว่า การสร้างโรงไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาพื้นที่ แต่ก็เป็นห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่า โรงไฟฟ้าจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีอายุใช้งานไม่ถึง 50 ปี แต่จะสร้างมลพิษอย่างมหาศาลในพื้นที่และยากต่อการฟื้นฟู

ก่อนหน้านี้ มีการออกแถลงการณ์คัดค้านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการจัดสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยเครือข่ายพลเมืองสงขลา ซึ่งเห็นว่า กระบวนการจัดการรับฟังความเห็นครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรมและขัดกับหลักการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยเห็นว่า

1. เป็นการรับฟังความคิดเห็นข้างเดียวเฉพาะฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการ โดยกีดกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งโดยคำสั่งให้ร้าย และการกีดกันออกจากพื้นที่จัดเวที

2. มีการบิดเบือนข้อมูล ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ไม่ครบถ้วน ไม่ตอบคำถามจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ขาดข้อมูลเปรียบเทียบ เพื่อการตรวจสอบที่รอบคอบรอบด้าน

3. ไม่สร้างบรรยากาศในการรับฟังที่เหมาะสมและเป็นอิสระ เช่น การระดมกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยเกินความจำเป็น มีการใช้กองกำลังสรรพาวุธเหมือนมีสถานการณ์สงคราม

4. มีการให้อามิสสินจ้างรางวัลเพื่อโน้มน้าวใจสำหรับฝ่ายที่เห็นด้วยหรือสนับสนุนโครงการ ทั้งมีการแจกข้าวสาร แจกเสื้อ รวมถึงเงิน และผลประโยชน์อื่นๆ

ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยุติกระบวนการโดยระบุว่าเป็น “การรับฟังความคิดเห็นฯ ที่ขัดต่อหลักการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยวิธีสาธารณะดังกล่าว และไม่ให้นำผลการรับฟังฯ ที่ขาดความชอบธรรมชุดนี้ (ค.1-ค.3) มาอ้างในการดำเนินการขออนุญาตโครงการต่อไป จนกว่าจะได้ดำเนินการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนต่อไป”

 

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเขียนอียิปต์เปิดข้อมูล-ข้อถกเถียงเรื่อง 'กฎหมายหมิ่นศาสนา' หลายแห่งในโลก

0
0

ขณะที่ประเทศอย่างไอซ์แลนด์หรือนอร์เวย์เพิ่งลงมติยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังอย่างกฎหมายหมิ่นศาสนา แต่ในบางประเทศเช่นซาอุดิอาระเบียกลับมีการใช้กฎหมายนี้ปราบปรามคนเห็นต่างมากขึ้นเรื่อยๆ บทความของนักเขียนอียิปต์เปิดเผยถึงปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายนี้และข้อถกเถียงในแง่สิทธิมนุษยชนและการแยกรัฐจากศาสนา

25 ก.ค. 2558 ไมเกล นาบิล ซานัด นักเขียนและนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพชาวอียิปต์เขียนบทความในวารสารวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) ถึงกรณีที่ประเทศไอซ์แลนด์มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเทียบกับที่ประเทศอื่นเช่นซาอุดิอาระเบียที่ยังมีกฎหมายนี้อยู่

ซานัดระบุว่าสภาไอซ์แลนด์มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาที่มีอายุยาวนาน 75 ปี ถือเป็นชัยชนะของพรรคการเมืองชื่อพรรคไพเรทที่มีการเรียกร้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาหลังจากเหตุการณ์โจมตีนิตยสารชาลีเอบโดในฝรั่งเศส ถึงแม้ว่ากลุ่มศาสนาในไอซ์แลนด์จะแสดงตัวต่อต้านการยกเลิกกฎหมายนี้แต่ในสภาไอซ์แลนด์ก็มีการลงมติเสียงข้างมากให้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

บทความใน FPIF ยังเปรียบเทียบกรณีในไอซ์แลนด์กับซาอุดิอาระเบียที่เพิ่งจะมีเหตุการณ์ศาลสั่งลงโทษนักกิจกรรม ราอีฟ บาดาวี ผู้ให้บริการกระดานสนทนาแลกเปลี่ยนชื่อเว็บ 'เสรีนิยมชาวซาอุดิอาระเบีย' ในข้อหาหมิ่นศาสนาและเลิกศรัทธาในศาสนาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยมีบทลงโทษคือการสั่งโบย 1,000 ครั้ง และจำคุก 10 ปี ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามรณรงค์เรียกร้องปล่อยตัวบาดาวีผู้ได้รับเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเนื่องจากการส่งเสริมเสรีภาพในซาอุฯ แต่ก็ไม่ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว

ซานัดตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ประเทศอย่างไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ กำลังมีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาที่เก่าแก่ แต่ประเทศอื่นๆ เช่นไอร์แลนด์กำลังมีการนำเสนอกฎหมายหมิ่นศาสนาฉบับใหม่ และในประเทศอย่างซาอุฯ และอียิปต์ก็มีการใช้กฎหมายนี้ปราบปรามประชาชนมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2555 สถาบันวิจัยพิวระบุว่ามีประเทศ 1 ใน 5 ของโลกที่มีกฎหมายหรือนโยบายห้ามการหมิ่นศาสนา และประเทศ 1 ใน 10 ของโลกมีการลงโทษผู้ที่เลิกศรัทธาในศาสนา


กรณีของซาอุฯ : ปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมาย

บทความของซานัดยังระบุถึงกรณีการบังคับใช้กฎหมายในซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาและเลิกศรัทธาโดยใช้ความรุนแรงอย่างการทารุณกรรม การโบยตี ไปจนถึงการประหารชีวิต ซานัดชี้ว่าปัญหาอย่างหนึ่งในระบบกฎหมายของซาอุฯ คือการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ซึ่งเป็นกฎหมายแบบอิสลามไม่มีการระบุนิยามเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนแต่ให้อำนาจตำรวจและผู้พิพากษาในการตีความและบังคับใช้โดยอ้างอิงจากคำสอนทางศาสนาเอง ทำให้มีการตีความข้อความจากศาสดาที่ระบุว่าให้ "สังหารผู้ที่เปลี่ยนศาสนา" ผู้พิพากษาในซาอุฯ จึงตัดสินลงโทษผู้ต้องหาอย่างโหดร้าย

ทั้งนี้ซาอุฯ เพิ่งมีการออกพระราชกฤษฎีกาใหม่เมื่อปีที่แล้วซึ่งระบุให้ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศถือเป็นผู้ก่อการร้ายโดยมีการรวมเอากลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาเข้าไว้ไปด้วย ซึ่งนอกจากกรณีของบาดาวีแล้วยังมีเหยื่อรายอื่นๆ ที่ถูกกฎหมายห้ามหมิ่นศาสนาและห้ามเลิกนับถือศาสนาเล่นงาน แต่ซาอุฯ เป็นประเทศที่ขาดความโปร่งใสและไม่มีภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพทำให้ตรวจสอบรายชื่อเหยื่อได้ยากมาก

โดยบทความของซานัดยกตัวอย่างผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นศาสนาหลายกรณี เช่น ฮัมซา คาชการี ผู้ที่ถูกตามล่าตัวถึงมาเลเซียและถูกส่งตัวกลับซาอุฯ เขาถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความเชิงต่อต้านศาสนา ทำให้ถูกกุมขังเป็นเวลา 20 เดือน จนกระทั่งเขายอมถอนคำพูดเรื่องการเลิกนับถือศาสนาถึงถูกปล่อยตัวออกมาโดยสิ่งแรกสุดที่เขาทำหลังจากถูกปล่อยตัวออกมาคือถ่ายรูปคู่กับครูสอนศาสนาในขณะที่ได้รับของขวัญเป็นคัมภีร์อัลกุรอาน

นอกจากกรณีคาชการีแล้วยังมีกรณีอื่นๆ ที่ถูกลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาทั้งๆ ที่จำเลยเขียนบทความเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของซาอุฯ หรือพูดคุยกับนักเรียนในเรื่องวิชาเคมีกับศาสนายูดาย มีอีกรายหนึ่งที่ถูกสั่งประหารชีวิตเพราะสบถต่อพระเจ้าแต่ก็ได้รับการอภัยโทษจากสมเด็จพระราชาธิบดีอัลดุลลาห์และเนรเทศไปยังตุรกีหลังจากที่ให้เขา "ไถ่บาป" และขอพระเจ้าให้อภัยแล้ว

ซานัดระบุว่า การลงโทษอย่างรุนแรงในซาอุฯ เป็นเรื่องเชิงปฏิกิริยาเพราะมีกลุ่มคนที่ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศ และราชวงศ์ของซาอุฯ ก็อาศัยศาสนาเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ การที่มีคนเชื่อศาสนาน้อยลงจึงทำให้ความชอบธรรมของพวกเขาลดลงไปด้วย ผลโพลล์จากกัลลัประบุว่าในปี 2553 มีชาวซาอุฯ ร้อยละ 7 เห็นว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องจำเป็นต่อชีวิตของพวกเขา และในปี 2557 ทางการซาอุฯ สั่งบล็อคเว็บไซต์มากกว่า 24,000 เว็บ ส่วนใหญ่เป็นเว็บเกี่ยวกับผู้ไม่นับถือศาสนาและเว็บไซต์ภาพโป๊และมีการจับกุมประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เหล่านี้ 76 คน

ในช่วงปีที่แล้ว กลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาชาวซาอุฯ แอบจัดประชุมลับเป็นครั้งแรกในนครเมกกะ มีผู้เข้าร่วมราว 100 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ทางการซาอุฯ ตื่นตระหนก เพราะนครเมกกะถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามและผู้ที่เข้าไปประชุมลับร่วมกันคือกลุ่มคนที่เลิกนับถืออิสลามกลายเป็นแรงจูงใจให้กษัตริย์ซาอุฯ ออกพระราชกฤษฎีกา 3 เดือนหลังจากนั้น


กรณีของซูดาน : การกระทำโดยอาชญากรสงคราม

บทความของซานัดยังระบุถึงกรณีประเทศอื่นอย่างซูดานที่มีการลงโทษผู้เลิกนับถือศาสนาและผู้หมิ่นศาสนาแบบเดียวกับซาอุฯ นอกจากนี้ยังไม่มีภาคประชาสังคมหรือสื่ออิสระที่มีการพัฒนาทำให้รัฐบาลซูดานปราบปรามประชาชนที่เป็นเป้าหมายโดยไม่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยที่ซูดานมีกฎหมายอาญามาตรา 125 ที่สั่งลงโทษคนหมิ่นศาสนาด้วยการจำคุก การปรับ หรือการโบย ส่วนกฎหมายมาตรา 126 สั่งลงโทษผู้เลิกนับถือศาสนาด้วยการประหารชีวิต

มีการยกตัวอย่างคดีหนึ่งที่เป็นที่รู้จักในนาม "คดีตุ๊กตาหมีซูดานหมิ่นศาสนา" ในปี 2550 มีครูชื่อกิลเลียน กิบบอนส์ ถูกลงโทษข้อหาหมิ่นศาสนาเพียงเพราะเธอตั้งชื่อตุ๊กตาในห้องเรียนว่า "มูฮัมเหม็ด" เธอถูกสั่งจำคุกและถูกสั่งเนรเทศ มีกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาก่อจลาจลเรียกร้องให้สังหารเธอ แต่เธอก็ใช้การถือสัญชาติพลเมืองอังกฤษทำให้เธอกลับประเทศอังกฤษได้อย่างปลอดภัย

อีกกรณีหนึ่งคือคดีของมูฮัมเหม็ด ทาฮา บรรณาธิการหนังสือพิมพ์อัลวิฟัคในซูดานซึ่งเป็นผู้นับถืออิสลามเคร่งครัดและเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมอิสลามแห่งชาติซูดาน แต่ในปี 2548 เมื่อหนังสือพิมพ์ของเขามีบทความตั้งคำถามเกี่ยวกับบรรพบุรุษของศาสดา เจ้าหน้าที่ทางการซูดานก็เข้าจับกุม ดำเนินคดี และตัดสินให้เขามีความผิดฐานหมิ่นศาสนาและสั่งปรับหนังสือพิมพ์ของเขา มีกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเผาหนังสือพิมพ์ของเขาและลักพาตัวเขาไปสังหารตัดคอ


กรณีของอียิปต์ : เผด็จการทหารอิงเทวนิยม

ซานัดระบุว่าระบบกฎหมายของอียิปต์มีแต่ความยุ่งเหยิง ในขณะที่มาตราที่ 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2557 ของอียิปต์ระบุให้กฎหมายชะรีอะฮ์เป็นแหล่งอ้างอิงหลักของการออกกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งมาตราที่ 64 ในรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันก็ระบุให้มีการรับรองเสรีภาพทางด้านความเชื่อ ในมาตราเดียวกันนี้ยังมีการจำกัดเสรีภาพในการทำพิธีกรรมทางศาสนาของสามศาสนาคือยูดาย คริสต์ และอิสลาม ส่วนมาตราที่ 7 ของรัฐธรรมนูญระบุให้มัสยิดอัลอัสซาร์ในกรุงไคโรเป็นศาสนสถานของรัฐทำให้ร่างกฎหมายและคำตัดสินของศาลต้องถูกส่งไปที่อัลอัสซาร์เพื่อพิจารณาก่อน

ในแง่กฎหมายหมิ่นศาสนาอียิปต์อ้างอิงกฎหมายอาญาที่มีมาตั้งแต่ปี 2480 ในมาตรา 98 ที่ระบุว่าการหมิ่นศาสนาครอบคลุมแค่ 3 ศาสนาคือยูดาย คริสต์ และอิสลาม เท่านั้น แต่ในการบังคับใช้กฎหมายจริงซานัดระบุว่ามีแต่การใช้กับกรณีหมิ่นศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนหนึ่งใช้กับการหมิ่นศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ มีอยู่จำนวนน้อยมากที่เป็นการนำมาใช้กับการหมิ่นอิสลามนิกายซุนนี

ซานัดวิจารณ์มัสยิดอัลอัสซาร์ว่าเป็นสถาบันอนุรักษ์นิยมที่พยายามไล่ล่าผู้ไม่นับถือศาสนาให้เข้าคุก เช่นกรณีบล็อกเกอร์ผู้ไม่นับถือศาสนาชื่อ คารีม อาเมอร์ ในปี 2549 ที่กลายเป็นบล็อกเกอร์คนแรกของอียิปต์ที่ถูกลงโทษจำคุกเพราะข้อเขียนของตน เจ้าหน้าที่ทางการทารุณกรรมเขาหลายครั้งในช่วงที่ถูกกุมขังเพราะเขาเลิกนับถือศาสนาอิสลาม

และหลังจากเกิดการลุกฮือโค่นล้มมูบารัคในปี 2554 รัฐอียิปต์ก็ใช้ทุกมาตรการเป็นเครื่องมือกดขี่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย จำนวนคดีหมิ่นศาสนาและการลงโทษในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าคดีในช่วง 30 ปีก่อนหน้านี้ของอียิปต์ ซึ่งในจำนวนที่ถูกกล่าวหาหมิ่นศาสนามีทั้งนักธุรกิจชื่อดัง กูเกิล นิตยสารชาร์ลีเอ็บโด และอดีตประธานาธิบดีนิโกลา ซาร์โคซี ของฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย

มีคดีหนึ่งที่สำคัญคือคดีที่ชาวคริสต์ผู้หนึ่งชื่อ กามาล อับดู มาซุด ถูกแท็กในรูปที่วิพากษ์วิจารณ์อิสลามทำให้มีกลุ่มม็อบที่โกรธแค้นล้อมเผาบ้านเขารวมถึงบ้านชาวคริสต์คนอื่นๆ ในหมู่บ้าน แต่แทนที่ตำรวจจะจับม็อบผู้ก่อเหตุกลับเป็นมาซุดที่ถูกจับข้อหาหมิ่นศาสนาแทน นอกจากมาซุดแล้วยังมีผู้ประสบชะตากรรมเดียวกันคือถูกโจมตีโดยกลุ่มม็อบคือกรณีของผู้ไม่นับถือศาสนารายอื่นๆ อีกสามกรณี และทั้งสามกรณีไม่มีการจับกุมม็อบที่โจมตีพวกเขาแต่พวกเขากลับถูกจับกุมข้อหาหมิ่นศาสนาแทน มีผู้ไม่นับถือศาสนาในอียิปต์หลายคนต้องหนีออกจากประเทศเพราะกลัวถูกปราบปราม

ถึงแม้ว่าจะมีการต่อสู้ทางอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนา (Secularists) กับกลุ่มเคร่งอิสลามที่สนับสนุนรัฐบาลอียิปต์ แต่ก็ไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะดำเนินต่อไปอย่างไร ซึ่งดูเหมือนว่าประธานาธิบดีคนล่าสุดของอียิปต์ที่เคยก่อรัฐประหารจะเข้าหาฝ่ายผู้นำศาสนาในอัลอัสซาร์และให้คำมั่นว่ากรณีกลุ่มผู้ไม่นับถือศาสนาจะจบลงเร็วๆ นี้ แต่ก็ไม่ได้บอกละเอียดว่าจะจบลงอย่างไร


กรณีในยุโรป : ผ่านมาแล้ว 4 ศตวรรษหลัง 'สงครามสามสิบปี'

'สงครามสามสิบปี' (Thirty Years War) ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 2161-2191 (1618-1648) ในยุโรปเป็นสงครามระหว่างนิกายศาสนาที่สร้างความเสียหายไว้อย่างมากต่อยุโรปซึ่งมีคู่ขัดแย้งหลักๆ คือคริสต์นิกายคาทอลิกกับนิกายโปรแตสแตนต์ ซานัดระบุว่าถึงแม้ยุโรปทุกวันนี้จะดีขึ้นถ้ามองจากมุมของผู้อดกลั้นต่อความแตกต่างแต่พวกเขากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องผ่านอะไรมามาก

ซานัดระบุถึงประเทศที่มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อไม่นานมานี้ เช่นประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ความสำเร็จมาจากพรรคเสรีนิยมชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2555 และมีการยกเลิกกฎหมายในปีเดียวกัน อีกประเทศหนึ่งคือไอซ์แลนด์ที่ยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาทำให้จำนวนประเทศที่ยังคงมีกฎหมายหมิ่นศาสนาในยุโรปเหลือเพียง 7 ประเทศคือ เยอรมนี, เดนมาร์ก, โปแลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ และตุรกี ส่วนในฝรั่งเศสมีกฎหมายหมิ่นศาสนาที่บังคับใช้แค่ในบางพื้นที่ ขณะที่บางประเทศเช่นออสเตรีย ไม่มีกฎห้ามหมิ่นศาสนาแต่มีกฎห้าม "กล่าวว่าร้ายต่อคำสอนศาสนา"

ซานัดระบุว่ากรณีคนร้ายบุกโจมตีชาร์ลี เอ็บโด ซึ่งเป็นนิตยสารล้อเลียนศาสนาโดยเฉพาะอิสลามทำให้ชาวยุโรปหันมาถกเถียงอภิปรายกันเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกับเรื่องการหมิ่นศาสนา หลังจากนั้นประเทศนอร์เวย์ก็มีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นศาสนาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคหัวก้าวหน้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามซานัดระบุถึงกรณีที่น่าสนใจเกิดขึ้นในไอร์แลนด์ ซึ่งถึงแม้ว่าในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญจะระบุลงโทษผู้หมิ่นศาสนาแต่ศาลไอร์แลนด์ก็เคยทักท้วงว่าเป็นกฎหมายที่ปกป้องแต่ศาสนาคริสต์เท่านั้นขัดกับข้อความอื่นในรัฐธรรมนูญที่ระบุถึงความเท่าเทียมกันทางศาสนา ทำให้มีการออกกฎหมายหมิ่นศาสนาฉบับใหม่ในปี 2552 ทำให้ไอร์แลนด์สวนกระแสประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่มักจะยกเลิกกฎหมายแบบนี้


ข้อถกเถียงต่อกฎหมายหมิ่นศาสนา

ซานัดระบุว่ามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นศาสนาอยู่ 3 อย่างได้แก่ ข้อถกเถียงเชิงสิทธิมนุษยชน ข้อถกเถียงเชิงผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนา และข้อถกเถียงแบบผู้ไม่นับถือศาสนา

ข้อถกเถียงในแง่สิทธิมนุษยชนสื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่องของชีวิตรวมถึงเรื่องศาสนาโดยไม่ถูกลงโทษเพราะแสดงความคิดเห็น ทุกคนควรสามารถเข้าถึงมุมมองและการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกปิดกั้นโดยอำนาจจากทางการผู้ที่อาจจะกล่าวว่าผู้แสดงความคิดเห็นบางคนว่าเป็นผู้หมิ่นศาสนา กล่าวคือทุกคนควรสามารถเข้าถึงและแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ถูกจำกัดจากรัฐ

สำหรับข้อถกเถียงในแง่ผู้นิยมรัฐที่ไม่อิงศาสนามาจากฐานความคิดที่ว่ารัฐควรจะเป็นสถาบันที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานในทางโลก รัฐจึงไม่มีหน้าที่ตัดสินลงโทษประชาชนโดยอ้างว่าพวกเขาก่ออาชญากรรมต่อต้านพระเจ้า รัฐเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง ความยุติธรรม และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่หนึ่งๆ รัฐจึงไม่ควรทำให้เงินภาษีของประชาชนสูญเปล่าด้วยการสร้างศาสนสถานหรือไล่ล่าผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า

ส่วนข้อถกเถียงในแง่ผู้ไม่นับถือศาสนาระบุว่าพระเจ้าที่ต้องอาศัยกฎหมายที่เขียนขึ้นโดยมนุษย์เพื่อปกป้องเขาไม่ถือเป็นพระเจ้าที่แท้จริงได้ พระเจ้าที่มีอิทธิปาฏิหาริย์จริงคงจะมีอำนาจปกป้องตนเองและแก้แค้นผู้ที่กล่าวล่วงละเมิด พระเจ้าที่ไม่สามารถแก้แค้นด้วยตนเองและต้องอาศัยผู้ศรัทธาในการปกป้องเขาแทนไม่น่าจะถือว่าเป็นพระเจ้าได้

"มันผ่านมาแล้ว 24 ศตวรรษ ที่โสเครติส (นักปรัชญากรีซ) ถูกลงโทษเพราะกล่าวหมิ่นศาสนา และอีกหลายศตวรรษที่มีสงครามศาสนา การไต่สวนอย่างทารุณ และการล่าแม่มด แต่ทุกวันนี้มนุษย์ส่วนหนึ่งก้ยังคงขว้างปาก้อนหิน โบยตี จับคนขังคุก เผา ฆ่าตัดคอ และสังหารคนอื่นๆ เพื่อปกป้องพระเจ้าที่พวกเขาเชื่อ" ซานัด ระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

The War Over Blasphemy, Maikel Nabil Sanad, FPIF, 24-07-2015
http://fpif.org/the-war-over-blasphemy/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คดีแถลงการณ์ปลอม ‘กฤษณ์’ ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

0
0

 

28 ก.ค. 58 – ศาลทหารนัดสอบคำให้การนายกฤษณ์ จำเลยตามความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีถูกกล่าวหาเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังฉบับที่ 13 ซึ่งเป็นของปลอมในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ โดยกฤษณ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี

เวลาประมาณ 10.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีหมายเลข 1 มีการสอบคำให้การคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมีจำเลยคือ นาย กฤษณ์ โดยอัยการทหารขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นความลับ เนื่องจากหากมีบุคคลใดมานั่งฟังการพิจารณาคดีจะทำให้เกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์ แต่ศาลได้วินิจฉัยว่า วันนี้เป็นเพียงการสอบคำให้การและอ่านคำฟ้อง ลักษณะเนื้อหาในคดีไม่น่าส่งผลกระทบใดๆ จึงวินิจฉัยให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผย และศาลนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 19 ต.ค.2558 เวลา 8.30 น.

ขณะที่นายนิรันดร์ ผู้ดูแลเว็บไซต์ผู้จัดการที่มีการเผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ถูกแยกฟ้องอีกคดี เขาถูกนำตัวมาฝากขังในวันเดียวกับกฤษณ์และได้รับการประกันตัวไปในวันนั้นโดยทนายใช้หลักทรัพย์ 2 ล้านบาท ศาลทหารได้สอบคำให้การไปก่อนหน้าในวันที่ 29 มิ.ย.และนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก วันที่ 30 ก.ย.2558

หลังจากศาลได้อ่านคำฟ้องคดีจนจบ จำเลยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและจะสู้คดี หลังจากเสร็จสิ้นการสอบคำให้การ กฤษณ์เปิดเผยว่าเขามีรู้สึกกังวลใจ ไม่รู้ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน และเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกนัก

ด้านวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจำเลย ได้กล่าวถึงแนวทางการสู้คดีว่า จำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด โดยจำเลยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และจำเลยไม่รู้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นแถลงการณ์ปลอมจำเลยจึงสำคัญผิดว่าเป็นแถลงการณ์จริง ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีเจตนาในการเผยแพร่และไม่มีเจตนาละเมิดสถาบันฯ แต่เป็นการโพสต์เพื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งจำเลยไม่ทราบข้อเท็จจริง เพราะเป็นเอกสารที่ทางประชาชนทั่วไปทราบได้ และจำเลยก็ไม่ได้เป็นคนกระทำเอกสารดังกล่าว อีกทั้งจำเลยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม จึงไม่ได้มีเจตนานำข้อความหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

วิญญัติ กล่าวต่อว่า ในการประเมินเบื้องต้นนั้นจำเลยมีความมั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม เนื่องจากเมื่อจำเลยไม่อาจทราบได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและหากศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่ยากแก่ประชาชนโดยทั่วไปจะรู้ได้ว่าข่าวสารหรือข้อมูลนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ศาลย่อมยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด  แต่อย่างไรก็ตาม ทนายความยังมีความกังวลต่อการที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารเพราะในสภาวะของการประกาศกฏอัยการศึกเช่นนี้ อาจจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลทหารต่างจากศาลพลเรือน

ทั้งนี้ กฤษณ์อายุ 26 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีงานอดิเรกคือการเล่นดนตรี ส่วนครอบครัวของเขามีอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว เขากฤษณ์ ถูกทหารในพื้นที่และตำรวจจากกองปราบฯ หลายสิบนายบุกจับกุมตัวที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบูรณ์ในเวลาราว 02.00 น.ของวันที่ 3 ก.พ. 58 เขาถูกนำตัวไปสอบสวนก่อนนำตัวไปค้นบ้านของเพื่อนในไลน์อีก 2 ราย กฤษณ์ถูกคุมตัวในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน ก่อนทหารจะนำตัวส่งตำรวจและนำตัวไปขออำนาจฝากขังที่ศาลทหาร และฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในวันที่ 10 ก.พ. ต่อมา 17 ก.พ. 58 ทนายความของกฤษณ์ได้ยื่นประกันพร้อมหลักทรัพย์เงินสด 400,000 บาท ผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คำ ผกา: ระยะแห่งการวิจารณ์ กรณี 'ปลื้ม'

0
0

ได้อ่านบทสัมภาษณ์คุณปลื้มในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ มีหลายประเด็นที่อยากจะเขียนโต้ตอบบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ แต่ก่อนอื่นคงต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า  คุณปลื้มมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนของตนเองอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะในฐานะสื่อ ฐานะประชาชน หรือในฐานะลูกของหม่อมอุ๋ย

ในทางกลับกัน ฉันก็ย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ในฐานะผู้อ่าน ผู้รับสื่อ และในฐานะประชาชนที่จะสนทนากับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

หลายคนอาจจะกังขาว่า ฉันกับคุณปลื้มต่างก็เป็นผู้ดำเนินรายการในวอยซ์ทีวี อีกทั้งยังมีรายการที่จัดร่วมกันคือ วอยซ์อินไซท์ทุกๆวันจันทร์ การเขียนโต้ตอบเช่นนี้จะกระทบต่อสัมพันธภาพในฐานะเพื่อนร่วมงานหรือไม่ หรือจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของช่องวอยซ์ทีวีหรือไม่

จึงอยากชี้แจงว่า การวิพากษ์วิจารณ์นี้เป็นเรื่องสามัญในสังคมของคนที่มีวุฒิภาวะ และคนที่มีวุฒิภาวะย่อมแยกออกว่าการวิจารณ์ออกจากความสัมพันธ์ "ส่วนตัว" ได้

สำคัญกว่านั้น ฉันคิดว่า หากเรามีความปราถนาดีต่อใครอย่างจริงจัง เราไม่พึง "สนับสนุน" ทุกสิ่งที่เขาทำหรือพูดเพียงเพราะเขาเป็นเพื่อนเรา หรือเป็นพี่เราเป็นน้องเราหรือแม้แต่เป็นพ่อหรือแม่ของเรา

ประโยคสุดท้ายในบทสัมภาษณ์นี้ คุณปลื้มลงท้ายไว้ว่า

“ผมไม่อยากให้พ่อผมถูกปรับออกเพราะ หนึ่งหม่อมอุ๋ย คอยสอดส่องป้องกันการทุจริต ซึ่งทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และ สองทำงานไม่กลัวโดนด่า หากเห็นว่าถูกต้อง ก็ทำจริง ไม่ใช่แค่ส่งสัญญาณว่าจะทำ....... อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/analysis/interview/378467

แค่ประโยคนี้ก็ตลกแล้ว จริงๆคุณปลื้มพูดแค่ "ผมไม่อยากให้หม่อมอุ๋ย ถูกปลดออก เพระาหม่อมอุ๋ย เป็นพ่อผม ใครจะว่าพ่อผมไม่เก่ง ไม่สนใจ สำหรับผมในฐานะลูก พ่อของผมเก่งที่สุด"

คุณปลื้มรู้ใช่ไหมคะ สำหรับเด็กๆ แล้ว พ่อของเขาหล่อที่สุด เก่งที่สุด แม่ของเขาก็สวยที่สุด เด็กทุกคนเชื่อว่าไม่มีใครสวยกว่าแม่ของตัวเอง - นั่นคือ เด็ก

เวลาเด็กพูดว่า "พ่อของผมคือฮีโร่ แม่ของผมสวยกว่านางงามจักรวาล" คนก็จะหัวเราะขำๆ

แต่ในการบริหารบ้านเมือง การปรับคนเข้าหรือออก ไม่ได้วัดกันที่ คนๆนั้นเก่งหรือดีในสายตาของใคร
หม่อมอุ๋ย อาจจะเก่งที่สุด ทำงานหนักที่สุด ในสายตาคุณปลื้ม แต่คุณปลื้มเป็น "ใคร" จึงจะมาบอกว่า "ไม่อยากให้พ่อถูกปรับออก" แล้วทำไม ประชาชนไทยต้องเชื่อในการ "ประเมิน" คุณภาพการทำงานของคุณปลื้ม????????????

จากนั้น คุณปลื้มก็คงทราบดีว่า ตามปกติแล้ว ในระบบรัฐสภา ใครจะเข้าหรือออกจากตำแหน่งไหน มันขึ้นอยู่กับ เสียงข้างมาก หรือ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ถามว่า นายกรัฐมนตรีเอาอำนาจมาจากไหน คำตอบคืออำนาจมาจากฉันทานุมัติของเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

สมมติว่า พ่อของฉันเป็นรัฐมนตรีแล้วถูกปรับออกจาก ครม. แล้วฉันผู้เป็นลูกจะยืนกระทืบเท้าเต้นเร่าๆ บอกว่า พ่อหนูเก่งๆๆๆๆๆๆ เอาพ่อหนูออกทำไม? ถามว่าจะมีใครฟังไหม คำตอบคือไม่ เพราะ "หนู" อธิบายไม่ได้ว่า นอกจากความเป็น "ลูก" แล้ว "หนู" เอาความชอบธรรมของการมาเต้นแร้งเต้นกานี้จากไหนคะ?

เสียงของ "หนู" อาจจะมีคนฟังบ้าง หากพ่อมีผลงานเป็นประจักษ์แก่ใจของประชาชนจริงๆ แล้วบังเอิญกว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง - อันนั้นแหละ ต่อให้ "หนู" ไม่ออกมา ก็จะมี "ประชาชน" ที่เขา "ประจักษ์" ในผลงานนั้น ออกมาปกป้อง กรีดร้องแทน "หนู" เต็มไปหมด

คุณปลื้มบอกว่าตนเองสวมหมวกสามใบคือ

  • สื่อมวลชน
  • เคยสนับสนุนคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย
  • ลูก

สำหรับฉันไม่แปลกที่จะสวมหมวกสามใบ และฉันไม่คิดว่าคุณปลื้มในฐานะลูกจะต้องออกมาโจมตี "พ่อ" ที่เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามครรลอง "ปกติ" ทว่า ในฐานะผู้ "เคย" สนับสนุนวิถีทางประชาธิปไตย คุณปลื้มสามารถเลือกที่จะ "เว้น" และ "รักษาระยะห่าง" โดยเลือกที่จะไม่พูดถึง "พ่อ" ของตนเอง ในยามที่สวมหมวกสื่อมวลชน

คุณปลื้มสามารถออกมาพูดว่า "ผมรักและเคารพพ่อผมมากและพ่อผมเป็นพ่อที่ดีที่สุดในฐานะพ่อ แม้จุดยืนทางการเมืองเราอาจจะไม่ตรงกัน ดังนั้นหากจะพูดถึงพ่อขอให้พูดในมิติ พ่อ-ลูก ไม่ใช่ในมิติ คนการเมืองกับ ประชาชน หรือสื่อมวลชน"

ทว่าน่าแปลกใจมาก ที่คุณปลื้มกลับดูเห็นดีเห็นงาม แถมยังออกมาปกป้อง "ครรลอง" อันพิเศษเช่นนี้ คำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวก็คือหรือว่าอันที่จริงแล้ว คุณปลื้มไม่ได้เชื่อในประชาธิปไตย?

คุณปลื้มออกมาพูดว่าไม่มีใครกล้าวิจารณ์ทหาร รัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนจึงกลายเป็นแพะ ทำไมไม่มีใครเป็นองค์รักษ์พิทักษ์พลเรือน?

พิโธ่พิถัง คุณปลื้มก็รู้ว่าการออกมารับตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบคนตั้งหกสิบกว่าล้านโดย "สมัครใจ" ไม่มีใครเอามีดเอาปืนไปจี้คอให้มารับตำแหน่ง กระไรเลยจะต้องมาเปราะบางกับการถูกวิจารณ์จนต้องมีองครักษ์????????

มนุษย์ทุกคนที่เป็นบุคคลสาธารณะล้วนแต่ถูกวิจารณ์ ถูกป้ายสี ถูกใส่ความ อดีตนายกรัฐมนตรีของเราทุกคนก็ล้วนแต่ถูกวิจารณ์สาดเสียเทเสียมาแล้วทั้งสิ้น  ทั้งที่เป็นธรรม ทั้งที่ไม่เป็นธรรม  พ่อของคุณปลื้มไม่ใช่คนแรกที่โดนเรื่องแบบนี้ ที่สำคัญ "แพะ" ทางการเมืองตัวจริงมีให้เห็นมากมายก่ายกอง ทำไมคุณปลื้มต้องโหวกเหวกโวยวายราวกับว่าพ่อของตนคือแพะตนแรกในการเมืองไทย

สิ่งที่คุณปลื้มต้องกลับไปตั้งคำถามกับตนเองให้จงหนักก่อนจะมาเป็นองครักษ์พิทักษ์พลเรือนคือ บนหนทางแห่งการมาสู่จุดที่คุณปลื้มบอกว่าพ่อของตนเป็นแพะนั้น

มีแพะนอนทับถมเกลื่อนกลาดบนหนทางนี้กี่ตัวแล้ว?

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารศรีสะเกษเรียก 'หนุ่มโพสต์ต้าน ม.44' ปรับทัศนคติ

0
0

ทหารเรียกหนุ่มโพสต์ต่อต้าน ม.44 ปรับทัศนคติ เจ้าตัวแจงแชร์ข้อความต่อต้านมาตรา 44 คุมเด็กแว้น-รถซิ่ง ในไทม์ไลน์ส่วนตัวไว้ดูเอง  ยันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ 






ภาพจากเว็บไซต์เดลินิวส์

เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา นายณัตพล (ขอสงวนนามสกุล) ชาว อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในผู้ที่โพสต์แชร์ข้อความต่อต้านคัดค้านการประกาศใช้มาตรา 44 ในการคุมเด็กแว้น-รถซิ่ง เดินทางเข้าพบ พ.อ.ณรงค์ กลั่นวารีย์ ผบ.กกล.รส.จ.ศรีสะเกษ พ.อ.วีรเทพ การุณรอบดุล รอง ผบ.กกล.รส.จ.ศรีสะเกษ และตำรวจ สภ.เมืองศรีสะเกษ หลังจากทหารได้เรียกมาพบปะพูดคุยในการทำความเข้าใจเพื่อปรับทัศนคติ

นายณัตพล กล่าวว่า ประกอบอาชีพค้าขายอุปกรณ์ตกแต่งรถสวย และเปิดร้านคาร์แคร์ ส่วนสติ๊กเกอร์ข้อความดังกล่าวนั้น ไม่ได้เป็นคนจัดทำขึ้น เพียงแต่เห็นเพื่อนๆ ในกลุ่มเฟซบุ๊กแชร์มาจึงนำมาโพสต์ในหน้าไทม์ไลน์ของตนเอง เพื่อเก็บไว้ดูเอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าข้อความนั้นหมายถึงอะไร

ขณะที่ พ.อ.ณรงค์ กล่าวว่าการที่เชิญตัวผู้โพสต์แชร์ข้อความดังกล่าวมาพบ เพื่อพบปะพูดคุยทำความเข้าใจ และนำข้อมูลที่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มสังคมโซเชียลและกลุ่มเพื่อนว่า การแต่งรถ หรือการแข่งรถซิ่งบนท้องถนน ไม่ใช่ว่าทหารเจอแล้วจะไปไล่จับทันที ทุกคนมีสวัสดิภาพในระดับหนึ่งอยู่แล้ว หากมีประชาชนแจ้งมาว่า ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ทางเจ้าหน้าที่จะต้องออกไปตรวจสอบเป็นกรณีๆ ไป หลังจากได้พูดคุยกับนายณัตพล แล้ว ได้มีการลงบันทึกเป็นหลักฐานว่าได้รับความเข้าใจกระจ่างแล้วจากนั้นนายณัตพล ได้รับปากว่าจะนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปแจ้งต่อกับกลุ่มเพื่อน เพื่อทำความเข้าใจต่อไป

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มุสลิมสายบุรีร่วมพันละหมาดขอคืนความสงบ เครือข่ายพุทธขอคืนวิถีพุทธชายแดนใต้

0
0

ชาวมุสลิมสายบุรีร่วมละหมาดฮายัตขอความสงบสุขกลับคืน ด้านเครือข่ายชาวพุทธขอคืนวิถีพุทธชายแดนใต้ ไม่เห็นด้วยสั่งพระงดบิณฑบาต ขอเข้าพรรษาเป็นเดือน “เข้าพรรษาเพื่อสันติ”


มุสลิมร่วมพันละหมาดฮายัตขอสงบสุขกลับคืน

เช้าวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 ที่สนามหน้าที่ว่าการ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ผู้นำศาสนา นักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และประชาชนในพื้นที่ ประมาณ 1,000 คน ร่วมละหมาดฮายัตเพื่อขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว พร้อมถือป้ายผ้าที่มีข้อความประณามการก่อเหตุความรุนแรง โดยเฉพาะต่อผู้นำศาสนาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการความรุนแรงทุกรูปแบบ

การละหมาดฮายัตครั้งนี้ มีขึ้นหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดชุดคุ้มครองพระภิกษุเมื่อเช้าวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 รายบาดเจ็บ 3 ราย พระภิกษุมรณภาพ 1 รูป และบาดเจ็บอีก 1 รูป ชาวบ้านบาดเจ็บอีก 2 ราย


ภาพโดย Tuwaedaniya Meringing


เรียกร้องขอคืนวิถีพุทธชายแดนใต้

ขณะที่เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์“ขอคืนวิถีพุทธ” โดยระบุว่า ตามที่แม่ทัพภาค 4 ส่งหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินการให้พระสงฆ์งดบิณฑบาตตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป อันเป็นผลเนื่องมาจากเกิดการณ์ที่สายบุรีนั้นเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ และกลุ่มองค์กรภาคี อันประกอบด้วยเครือข่ายชุมชนเพื่อสันติชายแดนใต้ (31 ชุมชน), ชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนใต้ และเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี ร่วมกันเสนอข้อเรียกร้องไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ดังต่อไปนี้

1. เนื่องจากการบิณฑบาต เป็นกิจของสงฆ์ ที่จะต้องเดินโปรดสัตว์และรับบิณฑบาตจากชาวบ้าน จึงขอเรียกร้องให้กองกำลัง 3 ฝ่าย ดูแลเส้นทางของการเดินบิณฑบาต เพื่อความปลอดภัยของพระภิกษุสงฆ์ มากกว่าการให้พระภิกษุสงฆ์งดการบิณฑบาต

2. เนื่องจากเดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเข้าพรรษา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ขอเรียกร้องให้จัดกำลังเพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน อย่างเคร่งครัด

3. ให้ถือว่า เดือนแห่งการเข้าพรรษา เป็น “เข้าพรรษาเพื่อสันติ”

4. ขอให้คืนวิถีพุทธ โดยการให้ปฏิบัติศาสนากิจ และทำนุบำรุงศาสนาตามวันและเวลาตามวิถีดั้งเดิม

นายรักษ์ชาติ สุวรรณ จากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพเปิดเผยว่า คำสั่งให้พระภิกษุงดบิณฑบาตนั้นทำให้คนไทยพุทธในพื้นที่รับไม่ได้ เพราะทำให้วิถีพุทธในพื้นที่ยิ่งเปลี่ยนแปลงไป

“เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพและเครือข่ายจึงขอเรียกร้องให้ประเพณีต่างๆ ที่คนไทยพุทธปฏิบัตินั้น สามารถกลับมาปฏิบัติได้ตามเดิม ส่วนการดูแลความปลอดภัยนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว ที่จะต้องดูแลตามความสมเหมาะของแต่ละพื้นที่” นายรักษ์ชาติ กล่าว


10 ปีวิถีพุทธที่ต้องเปลี่ยนไป

นายรักษ์ชาติ เปิดเผยด้วยว่าตั้งแต่เกิดเหตุไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลให้การปฏิบัติตามวิถีพุทธหรือประเพณีของคนไทยพุทธในพื้นที่ต้องเปลี่ยนไป เช่น ต้องเปลี่ยนเวลาเวียนเทียนช่วงก่อนเข้าพรรษาจาก 19.00 น.ไปเป็นช่วงเย็น พิธีรดน้ำศพจากเดิม 19.00 น.ไปเป็นช่วงกลางวัน รวมถึงงานเลี้ยงแต่งงานของคนไทยพุทธก็ต้องทำช่วงกลางวันด้วยเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยของแขกที่มาร่วมงาน

นายรักษ์ชาติ เปิดเผยอีกว่า นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ในชุมชนที่คนไทยพุทธกับคนมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันก็หายไปด้วย เช่น การเกี่ยวข้าวร่วมกัน เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตั้ง 'ถวิล เปลี่ยนศรี' นั่งประธานบอร์ดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

0
0

28 ก.ค.2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เนื้อหาระบุ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 แต่งตั้ง นายถวิล เปลี่ยนศรี ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แทนพลเอก วิโรจน์ บัวจรูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป


โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (25 พฤศจิกายน 2557) อนุมัติให้พลเอก วิโรจน์ บัวจรูญกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพ้นจากตำแหน่ง และให้แต่งตั้งพลเอก วิโรจน์ บัวจรูญ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และแต่งตั้งนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แทนกรรมการอื่นที่ลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป และได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 นั้น

บัดนี้ พลเอก วิโรจน์ บัวจรูญ ประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินกิจการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความต่อเนื่อง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 และมาตรา 25 (3) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 อนุมัติให้นายถวิล เปลี่ยนศรี (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามประกาศกระทรวงการคลัง) พ้นจากตำแหน่งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามนัยมาตรา 25 (3) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 และแต่งตั้ง นายถวิล เปลี่ยนศรี ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แทนพลเอก วิโรจน์ บัวจรูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน
นายกรัฐมนตรี

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เทคโนแครตถอดโมเดล 'กองทุนหมู่บ้านพม่า' หวังขจัดความยากจนในชนบท

0
0

ประชุมพม่าศึกษาที่เชียงใหม่ จนท.ธนาคารโลกประจำพม่าเล่าวิธีแก้ความยากจน ผ่านกองทุนหมู่บ้านละ 30 ล้านจั๊ต แต่ยังต้องเสริมเรื่องบริหารกองทุนโดยชุมชน และแก้ไขวงจรชำระหนี้ เพราะยังมีการกู้นอกระบบเพื่อใช้หนี้กองทุน - นักวิจัยพม่าด้านเกษตรเผยพม่ามีสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกน้อย ใช้ปุ๋ยน้อย ต้องส่งเสริมให้ใช้วิธีทันสมัย รวมถึงหนุนเอกชนเพิ่มการลงทุน

สองข้างทางของทางหลวงระหว่างเมืองเจ้าก์ปะต่าว-มิกตีลา ภาคมัณฑะเลย์ ตอนกลางของพม่า ภาพถ่ายในปี 2551 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

ในการประชุมนานาชาติด้านพม่าศึกษา "พม่าในยุคเปลี่ยนผ่าน: ความเชื่อมโยง ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย" (Burma/Myanmar in Transition: Connectivity, Changes and Challenges) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

ในวันที่ 2 ของการประชุม ช่วงเช้ามีการอภิปรายหัวข้อ "พม่ายุคเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูป" ตอนหนึ่งเป็นการนำเสนอสถานการณ์ในชนบทและภาคเกษตรกรรมของพม่าโดย มิง เย เปงเฮง ธนาคารโลก สำนักงานประจำพม่า, โอนมา ไคง์ คณะทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (FSWG) ดำเนินรายการโดย เถ่ง ซเว นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ถอดโมเดล "กองทุนหมู่บ้านพม่า" งัดทุกยุทธศาสตร์ขจัดความยากจน
ทั้งเงินให้เปล่า งบพัฒนาพื้นที่ ส.ส. และ "กองทุนหมู่บ้านพม่า"

มิง เย เปงเฮง จากธนาคารโลก สำนักงานประจำพม่า กล่าวถึงงบประมาณสำหรับแก้ไขความยากจนในพม่าว่ามีหลายโครงการ เช่น กองทุนลดความยากจน (Poverty Reduction Fund) เริ่มในปี ค.ศ. 2011 เป็นรูปแบบเงินให้เปล่า โดยจ่ายงวดเดียวกระจายไปตามรัฐและภาคต่างๆ ที่ครัวเรือนมีความยากจน

นอกจากนี้ยังมีกองทุนพัฒนาโดยงบประมาณจากรัฐสภาพม่า แบ่งตามเขตเลือกตั้ง ส.ส. 330 เขต ได้งบประมาณเขตละ 100 ล้านจั๊ต หรือ 2.8 ล้านบาท ทั่วประเทศ หรือคิดเป็นงบประมาณทั้งหมด 33 พันล้านจั๊ต หรือ 924 ล้านบาท ต่อปี โดยเป็นแผนที่รัฐสภาพม่าอนุมัติเมื่อปี 2557

อีกกองทุนหนึ่งที่ มิง เย เปงเฮง กล่าวถึงคือกองทุนเมียะเส่งยอง (Evergreen Village Project) หรือ "โครงการหมู่บ้านเขียวชอุ่ม" เป็นกองทุนแบบให้กู้ยืม ได้รับการจัดสรรมาจากธนาคารโลก ผู้บริหารโครงการคือกระทรวงปศุสัตว์ ประมง และการพัฒนาชนบท เป้าหมายคือพัฒนาหมู่บ้านยากจน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 1,150 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 138 ตำบล 47 อำเภอทั่วพม่า ตั้งเป็นกองทุนให้กู้ยืมสำหรับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 30 ล้านจั๊ต หรือ 8.4 แสนบาท โดยมีผู้รับประโยชน์จากโครงการ 1.8 ล้านคน ใช้งบประมาณรวม 3.45 หมื่นล้านจั๊ตหรือ 966 ล้านบาท

โครงการหมู่บ้านเขียวชอุ่มดังกล่าว มีเป้าหมายลดความยากจนในพื้นที่ชนบทด้วยการสร้างโอกาสในการมีงานทำ ทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงศักยภาพของหมู่บ้านในการรับมือภัยพิบัติ โดยรูปแบบเงินกู้ยืมจากกองทุนนี้ จะให้ครัวเรือนนำไปใช้ในธุรกิจระดับครัวเรือนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำคอกสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ บ่อเลี้ยงปลาหรือพื้นที่เกษตรที่อยู่ในที่ดินของครัวเรือน กิจการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ โดยจะพิจารณาให้เงินกู้ยืมกับครัวเรือนที่ยากจนแต่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเงินกู้

ทั้งนี้ในแต่ละหมู่บ้านเป้าหมายของกองทุนหมู่บ้านเขียวชอุ่ม จะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการ 7 คนมาจากการเลือกตั้งในหมู่บ้าน และต้องมีผู้หญิงเป็นตัวแทนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

มิง เย เปงเฮง กล่าวถึงอุปสรรคและความท้าทายของกองทุนที่ใช้พัฒนาชนบทพม่าก็คือ สำหรับครัวเรือนที่กู้ยืมเงินมาจากกองทุน อาจมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ ต้องไปกู้เงินจากแหล่งอื่น ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 เพื่อมาชำระคืน ทำให้ยังเกิดวงจรการเงินกู้เงินในครัวเรือนยากจน ความท้าทายอีกเรื่องก็คือ จะพัฒนาความสามารถในการกำกับและบริหารกองทุน รวมทั้งประเมินผลโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านให้ยั่งยืนได้อย่างไร

 

นักวิจัยด้านความมั่นคงทางอาหารเสนอให้พม่าทำเกษตรภาคพาณิชย์ ผลผลิตสูงใช้ทรัพยากรน้อย

โอนมา ไคง์ (Ohnmar Khaing) จากคณะทำงานด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security Working Group - FSWG) กล่าวว่า พม่าเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ยังมีผลผลิตต่ำ เกษตรกรยังขาดโอกาสพัฒนา การเข้าถึงตลาด เกษตรกรต้องการขายผลผลิตตัวเอง แต่ผลผลิตที่ได้ยังมีน้อย และมีความต้องการปรับปรุงสภาพการผลิตโดยต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาอย่างรอบด้านด้วย

ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมของพม่าอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงจาก การผลิตเพื่อเน้นปลูกข้าวเป็นหลัก มาเป็นการผลิตแบบเพิ่มผลผลิตและเน้นความกินดีอยู่ดี ไปสู่ประเทศที่ทันสมัย และมีภาคการเกษตรที่ทันสมัย

วิสัยทัศน์ใหม่ของพม่าควรเป็น ภาคเกษตรพาณิชย์ (Agribusiness) ได้ผลผลิตต่อไร่มาก และใช้ทรัพยากรน้อย นอกจากนี้มีตัวแปรที่ต้องคำนึงด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Changing Climate) ภาวะการกลายเป็นเมืองที่มาพร้อมกับรายได้เฉลี่ยของประชาชนที่มากขึ้น รวมไปถึงการค้าในภูมิภาคที่จะบูรณาการเข้าหากัน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ทั้งนี้รูปแบบการบริหารพื้นที่เพาะปลูกที่น่าสนใจนำมาใช้ในพม่า เช่น เกษตรพันธะสัญญา (Contract farming) การจ้างบริหารพื้นที่ทำเกษตร (Contract management) การให้เช่าดินทำเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิตร่วมกัน (Tenant farming and Sharecropping)

โดยที่ในพม่าต้องการภาคเกษตรพาณิชย์เพื่อการพัฒนา รวมไปถึงภาคเกษตรพาณิชย์เพื่อสันติภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งความขัดแย้งเพิ่งยุติลงด้วย

สำหรับพื้นที่การเพาะปลูกนั้น เมื่อเทียบระหว่างพม่า ไทย และเวียดนาม พม่าแม้จะมีเนื้อที่ประเทศมาก แต่พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีน้อย โดยพม่า มีพื้นที่เพาะปลูก 11.984 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ยเพียง 15.7 กก. ต่อเฮกตาร์ ขณะที่ ประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูก 19.75 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 38.7 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ย  153.2 กก. ต่อเฮกตาร์ ส่วนเวียดนาม มีพื้นที่เพาะปลูก 10.072 ล้านเฮกตาร์ คิดเป็นร้อยละ 32.5 ของเนื้อที่ประเทศ และใช้ปุ๋ย 297.1 กก. ต่อเฮกตาร์

โอนมา ไคง์ เสนอว่า ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรรมในพม่า คือต้องสนับสนุนเกษตรกรเปลี่ยนจากการผลิตดั้งเดิมมาใช้วิธีการที่ทันสมัย ใช้นวัตกรรมการเพาะปลูกที่สร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้การพัฒนาภาคการเกษตรของพม่าต้องมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดวาระทางการเมืองใหม่สำหรับประเทศ

ในส่วนของสถาบันการศึกษา การฝึกอบรมเพิ่มเติม (Vocational Training) สำหรับเกษตรกรเพื่อลดช่องว่างด้านทักษะการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ต้องเพิ่มการลงทุนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ต่อภาคการเกษตรยังน้อยกว่า 1%

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ขังต่อ ‘สมชาย ไพบูลย์’ แกนนำ นปช.ปี 53 หลังศาลไม่รับฎีกา

0
0

ศาลไม่รับฎีกา ‘สมชาย ไพบูลย์’ อดีตแกนนำ นปช.ปี 53 คดีปลุกระดม ประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ พิพากษาโทษจำคุก 1 ปี ตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ หลังจำคุกมาแล้ว 8 เดือน ถูกขังต่ออีก 4 เดือน

28 ก.ค.2558 สปริงนิวส์รายงานว่า ในวันนี้ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีนายสมชาย ไพบูลย์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้กำลังประทุษร้ายทหารและตำรวจ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งเหตุเกิดในระหว่างวันที่ 14 มี.ค.–11 เม.ย.2553

นายสมชาย เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ข.เขตบางบอน พรรคไทยรักไทย และเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216 และร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ต่อมา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษาจำคุกนายสมชาย เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา แต่นายสมชายยื่นฎีกา ล่าสุดศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา และให้พิพากษาโทษตามเดิม โดยขณะนี้ นายสมชาย รับโทษจำคุกในคดีนี้มาแล้วเป็นเวลา 8 เดือน  จึงคงเหลือโทษจำคุกอีก 4 เดือน


ที่มา สปริงนิวส์
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ฮิลลารี คลินตัน ประกาศติดแผงโซลาร์เซลล์ทั่วสหรัฐฯ ถ้าชนะเลือกตั้งปีหน้า

0
0

ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 59 ฮิลลารี คลินตัน ประกาศตั้งเป้าแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่าจะทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์แทน โดยสั่งติดแผงพลังงานแสงอาทิตย์หลายร้อยล้านทั่วประเทศหวังสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 1 ใน 3 ของพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ

28 ก.ค. 2558 ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 ประกาศว่า เธอมีเป้าหมายทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด โดยให้คำมั่นว่าถ้าหากเธอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้วจะให้มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์หลายร้อนล้านแผงทั่วสหรัฐฯ ภายในช่วงระยะเวลาในตำแหน่ง 4 ปี

ในเว็บไซต์ของคลินตันระบุว่าเธอมีแผนการทำให้สหรัฐฯ สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเอาไว้ใช้เองในทุกบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อตอบรับกับภาวะโลกร้อน นอกจากนี้การรณรงค์หาเสียงของคลินตันยังระบุอีกว่าโครงการแผงพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้สหรัฐฯ มีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่มาจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 700 ทำให้สามารถอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อย 1 ใน 3 จากพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ

นอกจากนี้คลินตันยังมีแผนการกระตุ้นด้วยภาษีพลังงานสะอาดจากรัฐบาลกลางเพื่อทำให้มีความคุ้มค่าทั้งต่อผู้เสียภาษีและต่อผู้ผลิตพลังงานสะอาดด้วย

ก่อนหน้านี้คลินตันซึ่งเป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครตเคยให้คำมั่นว่าจะนำประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นผลักในการหาเสียงของเธอ อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ Think Progress ระบุว่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังคงรู้สึกกังขาว่าคลินตันจะดำเนินนโยบายได้ดีจริงหรือไม่ เพราะคลินตันเคยมีประวัติสนับสนุนพลังงานที่ก่อมลภาวะอย่างกรณีท่อส่งน้ำมัน "คีย์สโตน เอ็กซ์แอล" ซึ่งเคยเป็นประเด็นถกเถียงในสหรัฐฯ และเคยแสดงการสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในประเทศ

แต่ในการหาเสียงล่าสุด Think Progress ระบุว่าคลินตันเน้นประเด็นเรื่องโลกร้อนอย่างชัดเจน โดยมีการกล่าวประณามนักการเมืองพรรครีพับลิกันว่าละเลยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งบ่งบอกว่ามนุษย์มีส่วนทำให้โลกร้อน และผู้นำการรณรงค์หาเสียงของคลินตันคือจอห์น โปเดสตา ผู้เคยเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเรื่องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน

อย่างไรก็ตามนอกจากคลินตันแล้ว มาร์ติน โอมัลลีย์ อีกหนึ่งผู้สมัครจากรัฐเดโมแครตก็เปิดเผยถึงแผนการเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่ดูห้าวหาญกว่าโดยระบุว่าเขาต้องการให้ทั้งประเทศมีการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2593 ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีการใช้พลังงานฟอสซิลอีก โอมัลลีย์ ยังเคยวิจารณ์โอบามาถึงกรณีที่สนับสนุนให้มีการขุดเจาะน้ำมันนอกฝั่ง สนับสนุนการผลิตน้ำมันภายในประเทศ รวมถึงเรื่องการใช้พลังงานจากทรายน้ำมันซึ่งทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนสูงมาก

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า คลินตันยังต้องเผชิญกับคู่แข่งอย่างเบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์ผู้ที่มีแนวคิดสังคมนิยมในแบบของตัวเอง ซึ่งแซนเดอร์สยังเคยเรียกร้องให้มีปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนต่อปัญหาโลกร้อนเช่นกัน

 


เรียบเรียงจาก

Hillary Clinton pledges half a billion solar panels for US if she wins office, The Guardian, 27-07-2015
http://www.theguardian.com/us-news/2015/jul/27/hillary-clinton-pledges-half-a-billion-solar-panels-for-us-if-she-wins-office

Hillary Clinton’s Plan To Combat Climate Change With Half-A-Billion Solar Panels, Think Progress, 26-07-2015
http://thinkprogress.org/climate/2015/07/26/3684585/hillary-clintons-climate-plan-released/

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เสนอ 5 ประเด็นแก้ปัญหาค้ามนุษย์

0
0

หวังไทยใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคม

29 ก.ค. 2558  เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ออกแถลงการณ์ "ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยปรับปรุงกลไกในการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยง" โดยระบุว่า ที่ผ่านมา แม้จะเห็นความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล แต่ก็พบว่า รัฐบาลยังมีข้อผิดพลาดปราศจากความรู้ความเข้าใจ ทำให้มาตรการที่ผ่านมาเป็นการปรามปรามมากกว่าการป้องกันและช่วยเหลือ ใน 7 ประเด็น พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหา 5 ข้อ โดยหวังว่าประเทศไทยจะใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเยียวยาผู้เสียหาย และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนเติบโตไปได้พร้อมกับความมั่นคงของมนุษย์แบบยั่งยืน

รายละเอียด มีดังนี้


แถลงการณ์
ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยปรับปรุงกลไกในการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยง


ตามที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 และประกาศในรายงานให้ประเทศไทย อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 คือ "กลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา" ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศปลายทางและประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานย้ายถิ่น บางส่วนได้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการบังคับใช้แรงงานในกิจการประมง หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง ในโรงงาน และลูกจ้างทำงานบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียหายบางส่วนถูกผลักดันกลับโดยมิได้มีกระบวนการคัดแยกเหยื่อตามขั้นตอนที่เหมาะสม ปราศจากหลักประกันความปลอดภัย บางรายถูกบังคับให้เป็นขอทานบนท้องถนน หรือเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) เห็นถึงความพยายามแก้ไขปรับปรุงสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลตั้งแต่ภายหลังจากมีรายงานประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2557 แต่ก็ยังปราศจากความรู้ความเข้าใจ ทำให้มาตรการที่ผ่านมาเป็นการปรามปรามมากกว่าการป้องกันและช่วยเหลือซึ่งทำให้ขาดมาตรการที่ต่อเนื่องและเป็นระบบในหลายประการ

1. รัฐบาลไทยได้มีความพยายามมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาของกรณีแรงงานประมง ทั้งการปรับปรุงกฎกระทรวงในการคุ้มครองแรงงานประมง การพยายามขึ้นทะเบียนเรือประมงและแรงงานประมง แต่ยังไม่ปรากฏข้อมูลของการนำผู้ที่เกี่ยวข้องหรือนายจ้างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แรงงานประมงมาดำเนินคดีได้สำเร็จ

2. รัฐบาลไทยได้พยายามปราบปรามกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา มีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 100 ราย แต่ก็มีหลักฐานที่ยืนยันว่ารัฐยังคงไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มขบวนการการค้ามนุษย์ได้ และการดำเนินคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามักจะมีการพิพากษายกฟ้องจำเลยในคดี เนื่องจากกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ที่อ่อนแอมาก เจ้าหน้าที่ยังคงเน้นจำนวนตัวเลขของผู้ถูกจับกุมมากกว่าประสิทธิภาพ

3. รัฐบาลไทยยังคงละเลยการให้ความคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย และพยาน ที่เป็นเด็กและผู้หญิง รวมทั้งผู้ชายที่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย ยังไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่มีการสนับสนุน ช่วยเหลือและเสริมศักยภาพการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบ้านพักเด็กและครอบครัวฯ สถานคุ้มครองผู้เสียหายฯ การทำงานของสหวิชาชีพยังคงถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจ ขาดการสนับสนุนล่ามในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ไม่มีสัญชาติ และขาดแนวทางการพิสูจน์สัญชาติ โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อย่างแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพ และไม่มีความคืบหน้าในการป้องกัน ช่วยเหลือในกรณีของการตกเป็นแรงงานขัดหนี้

4. รัฐบาลไทยยังคงไม่มีแนวทางในการให้ความคุ้มครองกลุ่มที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่เป็นผู้ติดตามครอบครัว หรือเด็กที่เดินทางโดยลำพัง รวมถึงขาดกระบวนการคัดกรองที่ชัดเจน ทำให้มีเด็กบางส่วนถูกจัดให้อยู่ร่วมกับกลุ่มผู้ใหญ่ และหลายคนพลัดพรากจากผู้ปกครอง

6. รัฐบาลยังคงปล่อยให้หน่วยงานความมั่นคงของรัฐข่มขู่ กดดันการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน โดยเฉพาะการฟ้องหมิ่นประมาทนักวิจัยและสื่อมวลชนที่นำเสนอเรื่องค้ามนุษย์ เช่น กรณีที่กองทัพเรือฟ้องสำนักข่าว Phuket Wan

7. รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่ทั้งหมดเป็นข้าราชการประจำ หน่วยงานด้านความมั่นคง และทหาร ซึ่งทำให้กระบวนการจัดการแก้ไขปัญหาของรัฐยังเป็นลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจการจัดการและยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

เพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยดังนี้

1. รัฐบาลจะต้องปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ โดยให้คณะกรรมการมีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะส่วนงานที่เป็นอิสระนอกเหนือจากหน่วยงานภาครัฐ และผลักดันให้เกิดคณะทำงานในระดับจังหวัด

2. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแนวทางการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับสถานะและเงื่อนไขของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปหลักการสากล โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน รวมถึงติดตามและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่นอกเหนือไปจากเงื่อนไขที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองอันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายและหน่วยงานของรัฐ

3. รัฐบาลจะต้องสนับสนุน สร้างหลักประกันทางกฎหมายให้กับองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชนในการทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่อาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

4. รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการคัดแยกผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ที่มีความเกี่ยวพัน ทับซ้อนกับสถานะอื่นๆ ของผู้อพยพเคลื่อนย้ายอื่นๆ เช่น ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้ลี้ภัย  รวมถึงให้ความสำคัญกับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการให้หลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้เสียหายก่อนจะดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายนอกภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

5. รัฐบาลจะต้องมีแนวทางการให้ความคุ้มครองสถานะ เหมาะสมกับเงื่อนไขของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นไปหลักการสากล และลดอุปสรรคในการเข้าถึงการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายของคนที่ไม่มีสถานะทางกฎหมายไม่เฉพาะแค่แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย แต่รวมถึงผู้ติดตาม ผู้แสวงหาที่พักพิง และผู้ลี้ภัย

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) หวังว่าประเทศไทยจะใช้เงื่อนไขที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 เป็นโอกาสให้รัฐบาลไทยได้ทบทวนถึงสภาพปัญหาของการแก้ไขและปราบปราบการค้ามนุษย์ กระบวนการคุ้มครองและเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยจัดให้มีการรับฟังหรือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ เพื่อสร้างวัฒนธรรมด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การเยียวยาผู้เสียหาย และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนเติบโตไปได้พร้อมกับความมั่นคงของมนุษย์แบบยั่งยืน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ประยุทธ์’ แจง ‘สุเทพ’ ขออนุญาตแล้ว ไม่เกี่ยวการเมืองจัดได้

0
0

29 ก.ค.2558 เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. สำนักข่าวไทยรายงานข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของมูลนิธิฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีการขออนุญาตกับคสช. ด้วยว่า ได้มีการทำหนังสือขออนุญาตมาทาง คสช. ซึ่งเป็นการพิจารณาของ คสช.ที่มีเจ้าหน้าที่คอยพิจารณาอยู่แล้ว ขอยืนยันว่าใช้กติกาเดียวกันกับทุกกลุ่ม อย่ามองว่าเป็นเรื่องของพวกเดียวกันถึงจะอนุญาต เพราะหากไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ทำให้เกิดความเสียหายก็สามารถทำได้ แต่มีบางกลุ่มที่รวมตัวกันแล้วทำให้เกิดความเสียหาย ก็ไม่สามารถอนุญาตได้

“ทุกคนก็ขอหมด อันไหนให้ได้ก็ให้ ให้ไม่ได้ก็ไม่ให้  ไม่ใช่เพราะเป็นพวกกัน กติกาต้องกติกาเดียวกัน ถ้าพูดมาไม่เสียหายก็ให้  คสช.มีเจ้าหน้าที่ดูอยู่ ถ้าเกินความสามารถ ก็จะถามมาที่ผม ถ้าตัดสินใจเองได้ก็ตัดสินใจ บางคนชอบรวมหัวกันพูดในสิ่งที่ไม่ดี แล้วสมควรหรือไม่ แต่ถ้าแถลงทำเรื่องมูลนิธิ ทำประโยชน์เพื่อสังคมอย่างไรก็ไปว่ามา แต่มาพูดเรื่องการเมือง ก็ไม่ให้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ต่อกรณีที่ สุเทพ ยื่นเรื่องคัดค้านการย้ายกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 จากจังหวัดสุราษฎร์ไปที่จังหวัดภูเก็ต นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า จะต้องดำเนินการทันทีเลยหรือไม่ เมื่อมีการเสนอเข้ามา เป็นเรื่องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องรับไปพิจารณาว่ามีเหตุผลอย่างไร ซึ่งตนยังไม่ทราบว่าจากเดิมที่ต้องย้ายเพราะอะไร และต้องดูว่าอยู่ในแผนพัฒนาโครงสร้างของ สตช.หรือไม่

ผบ.ทบ.ระบุยังไม่เห็นหนังสือ แต่ถ้าไม่เกี่ยวการเมือง อนุญาตได้

โดยก่อนหน้านั้น วันเดียวกัน ช่วงเช้า (10.49 น.) สำนักข่าวไทยรายงาน ว่าพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึง กรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือขออนุญาตของนายสุเทพ

พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า การอนุญาตจะต้องดูว่า ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง  ต้องการให้เข้าใจว่า ฝ่ายความมั่นคงต้องรักษาความเรียบร้อยเอาไว้ให้ได้  ขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย แต่หากเป็นการขออนุญาตจัดกิจกรรมพบปะพูดคุยเรื่องมูลนิธิก็สามารถทำได้ ฝ่ายความมั่นคงไม่มีปัญหา เพราะกิจกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์  ขณะนี้ทุกหน่วยงานก็สามารถทำได้ตามปกติอยู่แล้ว

“สิ่งที่ คสช.ให้ความสำคัญคือ การรักษาความสงบเรียบร้อย หากการจัดกิจกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายสร้างความขัดแย้ง ก็คงไม่อนุญาตให้ทำแน่นอน” พล.อ.อุดมเดช กล่าว

ธิดา แกนนำ นปช. สงสัยไม่ใช่การเมืองตรงไหน

ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ธิดา ถาวรเศรษฐ’ แกนนำ นปช. ได้โพสต์ข้อความ ซึ่งอ้างจากรายการ "เหลียวหลังฯ" 29 ก.ค. 58 ซึ่งเป็นทัศนะของ ธิดา ต่อ สุเทพ ว่าทำการเมืองภาคประชาชนร่วมกับพี่น้องมวลมหาประชาชนโดยมีเป้าหมายดังนี้

1. ยังต้องการรวมกลุ่มมวลมหาประชาชนให้เป็นปึกแผ่น

2. ต้องการแสดงบทบาทางการเมืองในฐานะแกนนำมวลมหาประชาชนเดิมภายใต้ชื่อ “มูลนิธิมวลมหาประชาชน”

3. ต้องการสืบทอดเจตนารมณ์เดิมที่ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

4. ต้องการรักษาชัยชนะทางการเมืองในซีกของตน ไม่ว่าในสนามเลือกตั้งหรือในเวทีมวลมหาประชาชน

5. ต้องการชัยชนะหรือนิรโทษฯ ในคดีต่าง ๆ

6. ต้องการค้ำยัน-ผลักดัน รัฐบาลจากรัฐประหารให้อยู่นานและเดินตามทางที่ กปปส. วางไว้การแถลงข่าวของ สุเทพ ที่จะมีขึ้นนั้น  1. คณะ คสช. มีการปรามบ้างพอเป็นพิธี พยายามแสดงว่าจะปฏิบัติเท่าเทียมกันสำหรับทุกกลุ่มเพื่อความสงบมั่นคง 2. ปรามทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณาจารย์ที่มีการสัมมนาวิชาการ ทั้งที่คนสองกลุ่มนี้แตกต่างกันทั้งเป้าหมายและวิธีการ

โดย ธิดา ตั้งคำถามด้วยว่า “การแถลงข่าวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ใช่การแถลงทางการเมืองตรงไหน? เพราะเขาบอกว่าจะทำงานทางการเมืองภาคประชาชนอย่างชัดเจน”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตร. กำชับร้านค้างดขายแอลกอฮอล์ทุกชนิด 30 – 31 ก.ค.นี้ ฝืนคุก 6 เดือน

0
0

29 ก.ค.2558 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ผ่ามา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ทีมงานโฆษก ตร.’ ได้เผยแพร่ โทรสารในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลง 3 กรกฎาคม 2558 กำชับให้สถานีตำรวจประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ประกอบการและร้านค้าทุกประเภท ให้งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันจับกุมอย่างเคร่งครัด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

4 โรงงาน นิคมฯลำพูน ทยอยเลิกจ้าง ผู้ว่าฯ สั่งจับตา

0
0

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์บ้านเมืองรายงาน กรณีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือลำพูน 4 แห่งทยอยเลิกจ้างพนักงาน พบ 6 เดือนลอยแพไปนับพันคน สืบเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกผันผวนส่งผลให้ยอดออเดอร์การสั่งสินค้าลดลงอย่างรวดเร็วส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ ต่างพากันทยอยปิดตัวเอง บางส่วนขอใช้กฎหมายตามมาตรา 75 คุ้มครอง ให้พนักงานหยุดงานอยู่บ้านโดยจ่ายค่าจ้าง 75 % บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้โรงงานในพื้นที่จังหวัดลำพูนซึ่งมีกว่า 1400 แห่ง มีพนักงานทั้งหมดร่วม 60,000 คน

พรเทพ ภูริพัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชลอตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงงานในย่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เบื้องต้นมี 4 แห่ง เริ่มทยอยเลิกจ้างพนักงาน ลดวันทำงานและให้สมัครใจลาออก พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการได้ของใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามมาตรา 75  โดยให้พนักงานหยุดงาน แต่ทางโรงงานยังจ่ายค่าจ้างให้ 75 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือน และกำหนดระยะเวลาของการหยุดงานจนกว่ายอดการสั่งซื้อจะเข้ามา จึงจะแจ้งให้กลับมาทำงานอีกครั้ง

ชุลีพร แก้วมา อายุ 21 ปี บ้านเดิมอยู่จังหวัดเชียงรายหนึ่งในหนักงานที่ถูกเลิกจ้างกล่าวว่า ตนเรียนจบในระดับ ปวช.จากบ้านเกิดก่อนที่มาทำงานเป็นสาวโรงงานได้ยังไม่ถึงปีก็มาถูกเลิกจ้างอีก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไหนจะค่าผ่อนรถ ค่ากิน ค่าเช่าหอพัก ไหนจะต้องส่งให้กับทางครอบครัวที่บ้านเกิดอีก ตนก็ขอภาวนาให้เศรษฐกิจกับมาดีเร็วๆ ฝากถึงผู้บริหารบ้านเมืองด้วยพวกตนกำลังจะแย่ นางสาวชุลีพรกล่าว

ผู้ว่าฯ ลำพูนสั่งจับตา เลิกจ้างคนงาน

เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา ASTVผู้จัดการออนไลน์รายงานด้วยว่า ณรงค์อ่อน สะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเยียวยาแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือลดเวลาการทำงาน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 75 ต้องให้ทั่วถึง หลังมีโรงงานในนิคมฯ ลำพูนบางแห่งเลิกจ้างคนงาน

ซึ่งภาพรวมโรงงานทั้งหมดกว่า 1,400 แห่งมีการจ้างคนงานกว่า 6 หมื่นคน เลิกจ้างเพียง 4 แห่ง ถือว่ายังน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลิกจ้างยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็ได้เฝ้าติดตามตลอด

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในนิคมฯ ลำพูน 4 แห่งทยอยเลิกจ้างพนักงาน บางส่วนขอใช้กฎหมายตามมาตรา 75 คุ้มครอง ให้พนักงานหยุดงานอยู่บ้าน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งบริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตกล้อง และฮาร์ดดิสก์ ของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 4,400 คน เริ่มใช้มาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 58 ให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75%, บริษัท ทีเอสพีที, บริษัท เคอีซี และบริษัทลำพูนซิงเดนเก้นท์ เป็นต้น ส่วนโรงงานอื่นๆ ยังคงปกติ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เศรษฐกิจชะลอตัว สมาคมประกันฯ ปรับเป้าเติบโตใหม่

0
0

29 ก.ค.2558 สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวถึงภาพรวมประกันชีวิตว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม มีทั้งสิ้น 214,579.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2  แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 65,338.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.8 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไปจำนวน 149,241.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยมีอัตราความคงอยู่ร้อยละ 84 ซึ่งสาเหตุที่เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ลดลงเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัว อัตราค่าครองชีพสูงขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนลดลง นอกจากนี้การปรับนโยบายการบริหารการขายของแต่ละบริษัทประกันชีวิต ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับลดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ส่งผลให้ผลงานเบี้ยประกันภัยรับใหม่ มีอัตราชะลอตัว ขณะเดียวกันในส่วนของเบี้ยประกันภัยต่ออายุ ก็ค่อนข้างคงที่ถึงชะลอตัวเล็กน้อย จากการที่มีกรมธรรม์ฯที่ครบกำหนดชำระแต่ยังคงมีความคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับครึ่งปีหลัง คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอตัวกว่าทุกปี สมาคมฯ คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2558 จะเติบโตเพียงร้อยละ 7 จำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 539,000 ล้านบาท จากต้นปี คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 13 เบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 571,000 ล้านบาท

คลังรับเงินบาทมีโอกาสแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ฯ

29 ก.ค. 2558 สมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ว่า ยอมรับว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาทมาก

เสนอ 6 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ ครม.พิจารณา 4 ส.ค.นี้

สมหมาย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เพื่อพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจ ล่าสุดแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2588 และปี 2559 ด้วยว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ เพื่อดำเนิน 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านการเงินการคลัง 2.ส่งเสริมการลงทุนและเชิญชวนภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ 3.เร่งรัดปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนตามกรอบมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจปี 2558 – 2559 4.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการที่มีงบประมาณประจำปี 5.กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมุนเวียน และ 6.การปรับปรุงบริหารจัดการสหกรณ์ที่มีอยู่ โดยจะมีการรายงานผลความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 2 สัปดาห์ พร้อมเตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณาวันที่ 4 สิงหาคมนี้ ถ้าทำได้ตามเป้าหมายจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3 ซึ่งคาดว่าจากมาตรการดังกล่าวจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 ได้อีกประมาณ 350,000 ล้านบาท รวมถึงทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 มีความรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีแผนบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น

พาณิชย์เชื่อสหรัฐจะไม่แบนสินค้าไทย

วันเดียวกัน (29 ก.ค.ถค) อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่ไทยถูกคงสถานะการค้ามนุษย์ไว้ที่อันดับเดิม หรือเทียร์ 3 ว่า ไม่อยากให้มองในแง่ร้าย เพราะที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวของของไทยพยายามแก้ไขปัญหาก่อนหน้าที่จะมีการประกาศอันดับหลายเดือน ซึ่งไทยควรใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสที่ต้องเร่งผลักดันและแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน แม้ไทยจะถูกคงสถานะอยู่ที่เทียร์ 3 เช่นเดิมแต่เชื่อว่าสหรัฐจะไม่แบนสินค้าไทย เพราะสหรัฐก็ยอมรับว่าไทยมีการดำเนินการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ขณะที่กรณีการแก้ปัญหาการใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย หรือ IUUFishing รัฐบาลได้มีการปรับปรุงหลายหน่วยงานที่แต่งตั้งให้มากำกับดูแล ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ในภาพรวม ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 3-5 เดือน เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายปี และยังต้องพิจารณาผลกระทบที่มีต่อประมงพื้นบ้านด้วย ซึ่งเห็นว่าปัญหา IUU Fishing จะมีผลกระทบไม่มากและตอนนี้ไทยยังมีเวลาแก้ไขปัญหา โดยยืนยันว่าไทยมีความจริงใจในการแก้ปัญหา

เร่งรณรงค์ให้ปชช.ตระหนักการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หลัง พ.ร.บ.ใหม่ มีผลใช้ 4 ส.ค.นี้

อภิรดี กล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 สิงหาคมนี้ ใน พ.ร.บ.ใหม่ 8 ข้อ ประกอบด้วย ห้ามลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดงบุคคลจะมีความผิดฐานละเมิดการบริหารสิทธิ์ ผู้ที่มีสิทธิ์ลิขสิทธิ์ของตนในการคุ้มครองเทคโนโลยีของเจ้าของลิขสิทธิ์ในกรณีมีพาสเวิร์ส และมีการเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงโดยเจ้าของสิทธิ์ไม่ยินยอมจะถือเป็นการละเมิดทางเทคโนโลยี กรณีการเรียกดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลงผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และมีการฟังซ้ำทั้งงานเพลงและภาพยนตร์ในหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ให้ถือว่าเป็นการทำซ้ำชั่วคราวไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ให้ถือเป็นข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์ชั่วคราว

นอกจากนี้ กรณีผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต เช่น เจ้าของเว็บไซต์โดยเฉพาะยูทูบ ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเจ้าของสิทธิ์สามารถร้องขอศาลให้ผู้ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตสามารถนำไฟล์ละเมิดออกจากเว็บไซต์ เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ในการจำหน่ายต้นฉบับ หรือสำเนางานที่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นของมือ 2 เช่น ภาพเขียน หรือหนังสือ และยังเพิ่มสิทธิ์ทางศีลธรรมของนักแสดงให้เท่าเทียมกับผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งนักแสดงสามารถระบุชื่อตนเองในงานแสดงที่ตนแสดงได้เพิ่มบทลงโทษ โดยศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์ของนักแสดง จ่ายค่าเสียหายเพิ่ม ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าเสียหาย กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบ หรือทำลายสิ่งที่ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ และสิ่งที่ได้ทำขึ้นมา หรือนำเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิ์ของนักแสดง

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พุทธะอิสระ’ แจ้งกองปราบฯเพิ่ม ‘ธัมมชโย’ หมิ่นเบื้องสูง ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์

0
0

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ที่กองปราบปราม เวลา 14.00 น. พระสุวิทย์ ธีรธัมฺโม หรือพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พร้อมทนายความ และศิษยานุศิษย์กว่า 20 คน เข้าพบ พ.ต.ท.สมนึก สันติภาตะนันท์ พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป. เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในความผิดฐานแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ และฉ้อโกงประชาชน ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระลิขิตให้พระธัมมชโยต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระสงฆ์ จึงถือว่าขาดจากความเป็นพระสงฆ์แล้ว รวมทั้งกรณีที่มีการยักยอกเงินของวัดพระธรรมกายไปโดยทุจริต

พุทธะอิสระกล่าวว่า นอกจากจะมาติดตามความคืบหน้าคดีดังกล่าวแล้วก็จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อธัมมชโยในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากพบว่า ธัมมชโยบังอาจขอพระราชทานสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ ระดับพระราชาคณะชั้นเทพ เป็นการกระทำที่ละเมิดและบิดเบือนพระธรรมวินัย

พุทธะอิสระกล่าวต่อว่า ได้เดินทางมาติดตามความคืบหน้าคดีที่ได้แจ้งความไว้ เพราะได้ให้เวลากับพนักงานสอบสวนดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว อยากให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาภายในเดือนกันยายนนี้ เนื่องจากหากล่วงเลยไปถึงช่วงปลายปี หรือในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เกรงว่าจะกระทบต่องานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราช ทำให้พระองค์ต้องทรงมีมลทิน ทั้งนี้ สำหรับเอกสารที่เป็นหลักฐานในกรณีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์นั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว จึงอยากให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดคดีนี้ ส่วนการแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงคงต้องขอให้แยกคดีไม่รวมเป็นคดีเดียวกัน เพราะเกรงว่าหากรวมเป็นคดีเดียวกันอาจจะต้องมีขั้นตอนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกันใหม่ ส่งผลให้คดีเดิมที่แจ้งความไว้แล้วอาจมีความล่าช้าไปอีก

ด้าน พ.ต.ท.สมนึกกล่าวว่า ทางพนักงานสอบสวนได้เร่งรัดดำเนินการโดยยังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ เนื่องจากเอกสารทั้งหมดยังต้องตรวจสอบกับทางสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงนำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการ โดยอาจจะต้องมีการเชิญตัวพระธัมมชโยเข้าให้ปากคำก่อนจะมีความเห็นในส่วนของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ต่อไป

ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) หลวงปู่พุทธะอิสระ เดินทางเข้ายื่นหนังสือเกี่ยวกับการฟ้องร้องกล่าวโทษพระธัมมชโย ต่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนรับหนังสือ

พุทธะอิสระกล่าวว่า วันนี้ได้นำเอกสารที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเอกสารลับที่ได้จากศาล อัยการ และสำนักตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงหนังสือพระวินิจฉัยของสมเด็จพระสังฆราช จำนวน 5 ฉบับ ที่ระบุว่า พระธัมมชโยปาราชิก และหนังสือร้องทุกข์ของชาวมุสลิมที่วัดพระธรรมกายได้พยายามดึงเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งมีโฆษกของมหาเถรสมาคมก็ให้ความร่วมมือด้วย มามอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเร่งรัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ให้ติดตามคดีให้แล้วเสร็จก่อนวันพระราชทานเพลิงศพของสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 15 ธ.ค.นี้      

พุทธะอิสระกล่าวอีกว่า หลังจากวันนี้จะเดินทางไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อย้ำเกี่ยวกับคดีอีกครั้งว่าหากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่จะโดนข้อหาละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ประยุทธ์’ ย้ำต้องยอมรับผลจัดอันดับที่อยู่เทียร์ 3

0
0

29 ก.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ ถึงข้อสังเกตว่า การที่สหรัฐฯ ยังจัดอันดับไทยไว้กลุ่มที่ 3 หรือ เทียร์ 3 ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2015 อาจเป็นผลจากการที่ไทยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ว่า การที่ไทยไม่เข้าร่วม TPP เพราะเกรงว่าจะถูกกดดันหลายอย่าง

“รัฐบาลที่ผ่านมา อาจจะแสดงท่าทีต้องการจะเข้าร่วม แต่เมื่อทบทวนแล้ว พบว่ามีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตรยา ที่จะทำให้คนไทยเสียโอกาส ดังนั้น จึงต้องชะลอออกไปก่อน  ไม่ได้เป็นเพราะไม่เห็นด้วย  แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงคนไทยก่อน ว่าจะเกิดความเสียหายอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องยอมรับผลการจัดลำดับ ซึ่งเป็นผลจากที่ผ่านมาไทยไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศ

“ผมว่าอย่าไปโทษเขาเลยดีกว่า อย่าไปโทษว่า เพราะการเมืองหรืออะไร ไม่เกิดประโยชน์อะไร ท่านไม่สังเกตหรือว่า ผมพูดแต่เพียงว่า เราต้องยอมรับต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ว่าเราผิดกติกา ที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไข เมื่อจะลงโทษแบบนี้ ก็ลงโทษไป เราต้องทำของเราให้ดีที่สุด วันหน้ายังไงก็ยังต้องเป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว ถ้าทะเลาะกันไปมา แทนที่เขาจะให้ก็ไม่ให้เลย เราไปบังคับเขาได้หรือไม่ เราเป็นมหาอำนาจหรือเปล่า” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้ไทยยังถูกจัดอันดับในกลุ่มเทียร์ 3 ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  และที่ผ่านมาหลายประเทศก็เคยอยู่ที่เทียร์ 3 มาแล้ว และแก้ปัญหาจนผ่านมาได้  และอย่าโทษรัฐบาลว่าไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาใดๆ

“ผมเชื่อว่า หากผมไม่เข้ามาแก้ไข ปัญหาอาจจะหนักกว่านี้ และที่ผ่านมา รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังหรือไม่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขอประชาชนเข้าใจสิทธิ์ของผู้ประเมิน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี กระแสเครือข่ายประชาชนรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดียไม่ซื้อไม่บริโภคสินค้าของสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบโต้กรณีที่สหรัฐคงสถานะการค้ามนุษย์ในประเทศไว้ที่ระดับ 3 หรือ tier 3 ซึ่งค้านความรู้สึกของประชาคมโลกและคนไทย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงต่อกรณีดังกล่าว โดยเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่อาจจะรู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ต้องการให้ตระหนักว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ประเมินที่จะสรุปผลอย่างไรตามที่เห็นสมควร  ขณะที่เราย่อมทราบตัวเองดีที่สุดว่าเราทำงานก้าวหน้าไปเพียงใด และตั้งใจจริงเพียงใดรวมทั้งมีหลักฐานยืนยันการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่ทุกคนควรภาคภูมิใจ

‘วิษณุ’ เผย รัฐบาลแก้กฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เสร็จแล้ว

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง การดำเนินการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ว่า ได้แก้ไข พ.ร.บ.การประมง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 4-5 ฉบับเสร็จแล้ว แต่ต้องรอนโยบายให้แน่ชัด  ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะส่งกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน ก็จะออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อความรวดเร็วในการบังคับใช้

วิษณุ กล่าวว่า จากที่สหรัฐอเมริกามีข้อวิจารณ์ว่า ไทยแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ล่าช้า จึงได้ประสานงานกับสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งในวันที่ 10 สิงหาคม นี้ ศาลอาญาจะเปิดแผนกคดีชำนัญพิเศษ 3 แผนก  ได้แก่ แผนกคดีค้ามนุษย์ คดียาเสพติด และคดีการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อให้การพิจารณาในชั้นศาล เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะหากไม่มีแผนกพิเศษขึ้นมา การพิจารณาแต่ละคดี ต้องเป็นไปลำดับก่อนหลัง จะทำให้เกิดความล่าช้า ขณะเดียวกัน  คดีกดขี่ข่มเหงด้วยประการอื่น ที่เป็นหนึ่งในการค้ามนุษย์ ก็ต้องแก้ไขให้ชัดเจน ว่าการกระทำอย่างไรจะเข้าข่ายเช่นเดียวกัน

วิษณุ กล่าวว่า กฎหมายทั้งหมดไม่ได้แก้ไข หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเตรียมออกมาตรการกับไทย ภายใน 90 วัน กรณีถูกจัดลำดับอยู่ในเทียร์ 3  เมื่อถามว่ากรณีที่ไทยถูกนำไปเปรียบเทียบกับมาเลเซีย  หรือ คิวบา ที่ปีนี้ถูกจัดลำดับอยู่ในเทียร์ 2 นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น แต่เรื่องนี้นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ออกมาแสดงความเห็นได้ดี พูดได้ถูกต้อง

เมื่อถามว่า จะดำเนินการอย่างไร กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ขึ้นสัญลักษณ์ธงแดงประเทศไทย วิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน  และไทยก็ละเลย  สาเหตุหนึ่งคือการเมืองไทย ไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ เปลี่ยนบ่อย

“เข้าใจว่ารัฐบาลบางชุดตั้งใจจะทำ แต่ก็ต้องออกไป และมีรัฐบาลใหม่มา เมื่อการเมืองเปลี่ยนบ่อย ข้าราชการก็ต้องมีหน้าที่ต้องทำ ขอตำหนิ ที่ละเลยหน้าที่ ที่ต้องทำ ถ้าเป็นข้าราชการพันธุ์แท้ รับทราบก็ต้องแก้ไข ผมไม่คิดว่าคนที่กำหนดนโยบายจะลงไปขัดขวาง ถ้าคุณจะทำซะอย่าง” วิษณุ กล่าว

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 23-29 ก.ค. 2558

0
0
สถานการณ์แรงงานชุมนุม ลดลงจากปีก่อน ส่วนเลิกจ้าง-แรงงานสัมพันธ์ปกติ
 
นายปฐม เพชรมณี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์แรงงานสัมพันธ์ในช่วงระหว่าง 1 ตุลาคม 2557 – 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาว่า  สถานการณ์ด้านการชุมนุมนั้น พบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 59 ครั้ง มีการผละงาน 14 ครั้ง เพื่อเรียกร้องโบนัส 11 ครั้ง ในจังหวัดอยุธยา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานีและพิษณุโลก เรียกร้องเรื่องค้างจ่ายค่าจ้าง 2 ครั้ง ในจังหวัดนครราชสีมาและสมุทรสาคร และไม่พอใจหัวหน้างาน 1 ครั้ง ในจังหวัดสงขลา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามีการชุมนุมลดลง 7 ครั้ง ส่วนการผละงานมีเพิ่มขึ้น 8 ครั้ง
 
นายปฐม กล่าวอีกว่า มีการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำนวน 404 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 234,161 คน แบ่งเป็น เกิดข้อพิพาทแรงงาน จำนวน 110 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 68,010 คน และเกิดข้อขัดแย้ง จำนวน 94 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้องจำนวน 77,004 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสถานประกอบการที่ยื่นข้อเรียกร้องลดลง 6 แห่ง มีข้อพิพาทเพิ่มขึ้น 8 แห่ง และมีข้อขัดแย้งลดลง 49 แห่ง นอกจากนี้มีการผละงานในสถานประกอบการ 14 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 5,380 คน ปิดงาน 3 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 2,500 คน ไม่มีการนัดหยุดงาน มีการตกลงกันในเรื่องสิทธิประโยชน์การจ้างงานจำนวน 468 แห่ง คิดเป็นจำนวนเงิน 29,034,709,605 บาท (29,000 ล้านบาท) 
 
นอกจากนี้ นายปฐมกล่าวว่า กรณีที่บริษัทซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ประกาศปิดกิจการนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าทำให้จำนวนออเดอร์ลดลง ถือเป็นปัญหาเฉพาะราย ไม่ได้เกี่ยวเนื่องจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ส่วนสถานการณ์การเลิกจ้างและสถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ขณะนี้อยู่ในภาวะปกติ แต่ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กสร.จังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้างให้พูดคุยกันด้วยเหตุผล หากมีปัญหาข้อพิพาทก็ให้เจ้าหน้าที่กสร.ลงไปช่วยเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
 
(มติชนออนไลน์, 22/7/2558)
 
เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ หยุดดำเนินธุรกิจเดิม และเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 58 เป็นต้นไป
 
นายเอกมินทร์ งานทวี กรรมการ บริษัท เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ CIRKIT แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อ 22 กรกฎาคม 2558 ว่า บอร์ดอนุมัติการหยุดการดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัท และการพิจารณาโอกาสในการเข้าทำธุรกิจใหม่ เพราะบริษัทประสบปัญหาทางการเงิน และการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงปี 2546
       
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของบริษัทตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูกิจการของบริษัทจึงได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2548 และบริษัทได้ดำเนินการตามแผนฟื้้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จ และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในวันที่ 22 มิถุนายน 2558 
       
ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้บริษัทโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน คือ ที่ดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งบริษัทใช้เป็นฐานการผลิตในการประกอบธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท รวมถึงส่วนควบอื่นๆ เพื่อชำะหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงินของบริษัทและจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้
       
อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าบริษัทจะอยู่ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่บริษัทยังมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่บริษัทมาโดยตลอด แต่บริษัทพบว่า เกิดการชะลอตัว และการลดกำลังการผลิตของผู้ประกอบการด้านอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญของบริษัท ทำให้บริษัทไม่สามารถพัฒนายอดขาย หรือสร้างรายได้ในระดับที่สามารถสร้างเสถียรภาพในการประกอบธุรกิจแบบยั่งยืนต่อไปได้ อีกทั้งธุรกิจผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนการผลิตสูง หากบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปก็มีแนวโน้มสูงว่า การดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลขาดทุนมากกว่ากำไร อันจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทต่อไปในอนาคต
       
ด้วยสาเหตุหลักข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท (ในฐานะผู้บริหารแผน) ซึ่งได้ประชุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558 จึงได้มีมติอนุมัติให้บริษัทหยุดการดำเนินธุรกิจผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และเลิกจ้างพนักงานของบริษัททั้งหมดในไตรมาสที่ 2 ของปี 58 เป็นต้นไป เพื่อรักษาสถานะทางการเงินของบริษัท และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และให้พิจารณาโอกาสและศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อไป
       
พร้อมกันนี้ บอร์ดยังขายเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี 35,200,529.06 บาท ให้แก่บริษัท อีเอ็นเอฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ประกอบกิจการค้าและผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรอะลูมิเนียมประกอบระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในการประมูลทรัพย์สินดังกล่าว ในราคา 475,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,040,750 บาท
       
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ขายทรัพย์สินหลายรายการภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สำนักงาน รถยนต์ ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือรวมทั้งสิ้น 8,567,327 บาท และขายทรัพย์สินบางรายการตามมติที่บอร์ดเห็นชอบราคารวมทั้งสิ้น 3,181,356 บาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/7/2558)
 
เผยมีตำแหน่งงานรอแรงงานโคราชที่ถูกเลิกจ้างรอเกือบ 3,000 อัตรา
 
นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางาน จ.นครราชสีมา เชิญสถานประกอบการ ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งใน จ.นครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง มาเปิดจุดรับสมัครงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ว่างงานและผู้ที่สนใจได้เลือกตำแหน่งงานว่าง พร้อมกับยื่นใบสมัครงานและสอบสัมภาษณ์ทันที
 
ทั้งนี้ มีสถานประกอบการมารับสมัครงานจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้ว่างงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานของบริษัท ซัมซุงอิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ จำกัด ที่สนใจสมัครงาน ซึ่งการเปิดรับสมัครงานนี้ เพื่อลดปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงแรงงานในพื้นที่ต่างๆ อีกทางหนึ่ง
 
ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่แจ้งต้องการแรงงานทั้งสิ้น 27 แห่ง มีตำแหน่งงานว่างเกือบ 3,000 อัตรา โดยส่วนใหญ่ต้องการแรงงานในตำแหน่งผู้ปฏิบัติการด้านเครื่องจักรในโรงงาน รองลงมาเป็นช่างเทคนิค, พนักงานบริการ และพนักงานขาย ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีตำแหน่งงานว่างมากที่สุด รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เกิดจาก ผู้ว่างงานมักเลือกในงานที่ตนเองชื่นชอบ จึงทำให้เกิดปัญหาว่างงาน
 
(Spring News, 23/7/2558)
 
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในกรุงโซล ให้ปราบปรามและลงโทษหญิงไทยที่ลอบไปทำงานนวดในเกาหลี เพราะเป็นอาชีพสงวนให้คนตาบอดเกาหลี
 
23 ก.ค. 2015 สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ได้นำสมาชิกจำนวน 60 คน น่ังรถบัสไปจอดรถที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล เมื่อวันที่ 22 ก.ค. เวลา 14.00 น. และเตรียมการมาประท้วงใหญ่ หากทางสถานเอกอัครราชทูตไทยไม่รับข้อเสนอของผู้ประกอบอาชีพหมอนวดชาวเกาหลี กรณีหญิงไทยลักลอบเข้าไปประกอบอาชีพนวด อันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และแย่งอาชีพนวดที่สงวนไว้ให้ผู้พิการทางสายตา โดยมีเจ้าหน้าท่ีตำรวจเกาหลี ประมาณ 100 นาย ใช้รถบัส 3 คัน ไปจอดบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล คอยรักษาความปลอดภัยแก่ข้าราชการไทย ลูกจ้างท้องถิ่นและอาคารสถานเอกอัครราชทูตอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น
ด้านสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล นางวไลพร ศิวรักษ์ อัครราชทูต เปิดโอกาสให้ตัวแทนของสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี จำนวน 4 คน เข้าพบและยื่นหนังสือเรียกร้องให้สถานเอกอัครราชทูตไทยเร่งแก้ปัญหาหญิงไทยลักลอบเข้าไปประกอบอาชีพนวดในเกาหลี สำหรับข้อเรียกร้องของหมอนวดเกาหลี ยื่นข้อเสนอให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล พิจารณาออกนโยบายปราบปรามและลงโทษหญิงไทยที่ลักลอบทำงานนวดในเกาหลี เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนของคนพิการทางสายตาเกาหลี ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนวด ทั้งนี้สมาคมฯ ถือว่าหญิงไทยดังกล่าวคุกคามสิทธิในการหาเลี้ยงชีพของคนพิการทางสายตาเกาหลี
 
หลังรับหนังสือร้องเรียนแล้ว นางวไลพร ได้แจ้งให้ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลี ทราบว่าจะรีบรายงานให้นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ทราบ เพื่อหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งชี้แจงให้ทราบว่า ก่อนหน้านี้ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ได้ออกประกาศเตือนหญิงไทย ท่ี่ลักลอบไปทำงานนวดในเกาหลีมาก่อนแล้วว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดเกาหลีพอใจจึงพากันกลับ และจะติดตามการแก้ไขปัญหาของทางสถานเอกอัครราชทูตไทยต่อไป
 
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ก่อนหน้าที่กลุ่มหมอนวดพิการทางสายตาชาวเกาหลีจะมายื่นหนังสือร้องเรียนนี้ นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ออกประกาศเตือนหญิงไทย ที่ลักลอบไปทำงานอาชีพนวดที่ประเทศเกาหลีว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นอาชีพสงวนไว้ให้คนพิการทางสายตา และอย่าหลงเชื่อนายหน้าที่หลอกพาไป เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ เนื่องจากมีการจับกุมหญิงไทยที่ลักลอบไปนวด และขายบริการทางเพศมาก่อนแล้วด้วย
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 23/7/2558)
 
ไฟไหม้แคมป์คนงานก่อสร้างคอนโดฯ จ.ปทุมธานี
 
วันที่ 25 ก.ค. 58 นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ปทุมธานี เปิดเผยกับเกาะติดข่าวต้นชั่วโมงสปริงนิสวส์ว่า เกิดเหตุไฟไหม้ที่พักคนงานก่อสร้างกว่า 300 ห้อง และมีถังแก๊สครัวเรือนระเบิดระหว่างไฟไหม้
 
ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุเป็นที่พักคนงานก่อสร้างของคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 20 ไร่ ในพื้นที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ล่าสุดสามารถควบคุมเพลิงไว้ในวงจำกัดได้แล้ว แต่ยังต้องระดมฉีดน้ำดับเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพราะไฟยังลุกไหม้เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บ 2 คน และมีผู้หญิงสำลักควันไฟ 1 คน เจ้าหน้าที่นำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมเวชแล้ว
 
(Spring News, 25/7/2558)
 
สปช. หนุนตั้งสภาประกันสุขภาพฯ ไม่รวมสามกองทุน ย้ำเก็บร่วมจ่าย
 
(26 ก.ค.58) พญ.พรพรรณ บุญรัตพันธ์ุ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ(กมธ.สธ.สปช.) กล่าวถึงกรณีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  เตรียมเสนอการตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า  ประเทศไทยต้องมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมและบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลของประเทศโดยมีคณะกรรมการนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่การบริหาร  แต่ยังไม่ใช่การรวมการบริหารจัดการ 3 กองทุนทั้งสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม
 
ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองที่ปัจจุบันมีราว49 ล้านคน มีคนจนจริง ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพเพิ่มราว 20 ล้านคน อีก 30 ล้านคนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินทำประกันสุขภาพเองเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิจำเป็นพื้นฐานใครมีมากก็จ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ไม่ควรมีการใช้เงินภาษีแบบ 100 % เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีภาษีปานกลาง เราต้องยอมรับความจริง 
 
นอกจากนี้ พญ.พรพรรณกล่าวว่า ในส่วนผู้ใช้สิทธิข้าราชการก็อาจจะต้องส่วนร่วมประกันสุขภาพด้วย โดยอาจจะหักเบี้ยประกันจากเงินเดือนหรือให้หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชอบ ซึ่งรูปแบบก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป ข้าราชการจะได้รับสวัสดิการบริการที่ดีขึ้น เพราะบางส่วนข้าราชการก็ได้รับน้อยกว่าบัตรทอง หากมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบบนี้แล้วรพ.เอกชนก็ดึงเข้ามาร่วมมากขึ้น บริการการรักษาพยาบาลก็ดีขึ้น ความแออัดในรพ.รัฐก็ลดลง ประชาชนก็ได้รับประโยชน์สูงสุด
 
(มติชนออนไลน์, 26/7/2558)
 
เปิด ก.ม.ฝีมือแรงงานใหม่ จ้างมี  “ใบรับรอง”
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเผยว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฉบับใหม่ เป็นฉบับที่ปรับปรุงจากกฎหมายเดิมเมื่อปี 2545 ซึ่งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลสาขาอาชีพตำแหน่งงานหรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่างๆ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพไม่มีความชำนาญในการทำงาน ขณะเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ประกอบอาชีพ เจ้าของสถานประกอบกิจการ ชุมชน สังคม และศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
 
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก่การรับรองความรู้ความสามารถ ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ ซึ่งจะต้องผ่านการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถโดยวัดจากค่าทักษะความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ หรือความสำเร็จในการประกอบอาชีพ และคุณลักษณะส่วนบุคคล
 
นั่นคือต้องไปยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาฝีมือแรงงานหรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ เพื่อทำการทดสอบ และเมื่อผ่านการประเมินก็จะได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เป็นการการันตี สามารถประกอบอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะได้อย่างปลอดภัย และถูกต้องตามขั้นตอน สร้างความมั่นใจต้อผู้ประกอบกิจการหรือนายจ้าง ที่ว่าหากต้องการจ้างแรงงานในสาขาอาชีพที่อาจต้องเป็นอันตรายต่อสาธารณะก็ต้องจ้างแรงงานที่ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถตาม พ.ร.บ.ใหม่นี้
 
สาขาที่มีการกำหนดไว้ตามกฎหมายนี้ประกอบด้วย 3 ช่างอาชีพ คือ ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร และช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม โดยกำหนดกรอบเฉพาะการปฏิบัติงานกับอาคารสาธารณะ 5 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ สถานที่ราชการ โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานบริการและห้างสรรพสินค้า 
 
ที่สำคัญ หากนายจ้างและลูกจ้างเพิกเฉยในการจ้างแรงงานที่มีไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายนี้จะมีโทษอีกด้วย โดยลูกจ้างที่ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ขณะเดียวกันนายจ้างหรือสถานประกอบการที่จ้างแรงงานโดยมีไม่หนังสือรับรองของลูกจ้างจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทอีกด้วย ช่างไฟฟ้าทั้ง 3 สาขาที่ต้องการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระดับ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมิน สามารถขอรับการทดสอบมาตรฐานฝีมือฯ ได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว 
 
(บ้านเมือง, 27/7/2558)
 
การบินไทย"อาการหนัก" จ้างออกพนง.กว่า 1,400 ตำแหน่ง หลังยกเลิกเที่ยวบินไปแอลเอ-โรม
 
"รอยเตอร์ส"รายงานว่า สายการบิน"ไทย แอร์เวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล"หรือการบินไทย มีแผนที่จะปรับลดพนักงานผ่านโครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจเป็นจำนวน 1,401 อัตรา ภายในปีนี้ และระงับการให้บริการบินไปยังเมืองลอสแองเจลิส ของสหรัฐ และกรุงโรม ของอิตาลี ในแผนปรับโครงสร้างใหม่ของการบินไทย 
 
รายงานระบุว่า การบินไทยมีแผนที่จะลดค่าใช้จ่าย และลดจำนวนการจุผู้โดยสารลง  20 เปอร์เซ็นต์ภายใต้แผนปรับโครงสร้างองค์กรที่จะใช้เวลา 2 ปี รวมทั้งการขายเครื่องบินของสายการบิน และการลดพนักงานสายการบินด้วย โดยสายการบินเป็นหนึ่งในหลายบริษัทภายใต้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลทหาร ที่มุ่งเป้าที่จะปฎิรูปภายหลังขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2014 
 
โดยนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า การบินไทยได้ตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายจากโครงการเกษียณอายุโดยสมัครใจนี้ เป็นจำนวนเงิน 151.86 ล้านบาท โดยถือเป็นสิ่งธรรมดาที่การบินไทยต้องตัดลดค่าใช้จ่ายและปรับลดเที่ยวบินลง เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน  และว่า การบินไทยมุ่งเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากกว่า  9 พันล้านบาทในปีนี้ 
 
รายงานระบุว่า การบินไทยมีกำหนดจะยุติเที่ยวบินกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และกรุงเทพ-โรม ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของการบินไทยได้กว่า 100 ล้านบาทต่อปี และถือเป็นปิดฉากการให้บริการทุกเที่ยวบินไปยังสหรัฐ หลังจากก่อนหน้านี้การบินไทยได้ระงับเที่ยวบินไปนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากเป็นเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร รวมทั้งลดจำนวนเที่ยวบินไปเมืองกัลกัตต้า ของอินเดีย และเพิ่มเที่ยวบินไปยังไฮเดอราบัด ของอินเดีย,ฉางชา ของจีน และหลวงพระบาง ของลาว  ให้กับสายการบิน"ไทย สมายล์"ของการบินไทย 
 
ทั้งนี้ ในการออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ การบินไทยระบุว่า มีเที่ยวบินเป็นจำนวน 50 เที่ยวบินที่ทำให้การบินไทยขาดทุนหรือมีรายได้ต่ำ
 
(มติชนออนไลน์, 27/7/2558)
 
ไทยถูกจัดค้ามนุษย์ ‘เทียร์3’ ตามเดิม
 
สถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในสายตามหาอำนาจสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ประจำปี 2014 ตกต่ำถึงขีดสุด เมื่อประเทศไทยถูกปรับลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่ม “เทียร์" (Tier 3) ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในระดับเลวร้ายที่สุด
 
ล่าสุดทางการสหรัฐฯจัดอับดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยให้คง Tier3 ไว้ โดยให้เหตุผลว่าไทยไม่มีความพยายามในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์อย่างที่หวังไว้  ทั้งนี้เป็นผลจากเนื้อหาในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2015 ของไทยแทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว ไทยยังคงเป็นแหล่งส่งออก นำเข้า และจุดเปลี่ยนถ่ายแรงงานทาสของภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันการคอร์รัปชั่นในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้การค้ามนุษย์ยังไม่ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น และยังมีการดำเนินคดีกับสื่อที่เผยแพร่เรื่องโรฮิงญาอีกด้วย
 
การจัดอันดับครั้งนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศซูดานใต้, เกาหลีเหนือ, แกมเบีย, และแอฟริกา เป็นต้น ส่วนประเทศคิวบาและมาเลเซีย ที่เคยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 เหมือนไทยในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ปรับให้อยู่ในระดับ Tier 2
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 27/7/2558)
 
ชาวนาในพื้นที่ชัยนาท กับนครสวรรค์ เกือบ 500 คน แห่สมัครรับจ้างแรงงานเกษตรกันอย่างคึกคัก แต่งบประมาณมีจำกัด รับได้แค่ 190 คน ต้องให้ชาวนาจับสลากเสี่ยงดวงกันเอง
       
วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในพื้นที่ อ.มโนรมย์ อ.เมือง จ.ชัยนาท และชาวนาในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ที่ใช้น้ำจากคลองสายใหญ่ชัยนาท-ป่าสัก ได้พากันเดินทางไปสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ตามความช่วยเหลือรับสมัครจ้างงานเกษตรกรของกรมชลประทาน ตามมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยากันคึกคัก
       
โดยมีเกษตรกรมาสมัครงานทั้งสิ้น จำนวน 492 คน แต่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ สามารถรับเข้าทำงานได้เพียง 190 คน เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ เงินงบประมาณเหลือน้อยทำให้ไม่สามารถจ้างงานได้หมดทุกคน ทางโครงการฯ จึงต้องใช้วิธีการจับสลากคัดเลือกผู้เข้ามาปฏิบัติงาน
       
ทั้งนี้ ชาวนาที่จับสลากได้จะได้รับการจ้างงานเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 3 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 ในวันทำงานราชการ ได้อัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท 45 สตางค์ ปฏิบัติงานกำจัดวัชพืชในคลองส่งน้ำ 6 สาย งานบำรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่สายซอยในเขตจังหวัดชัยนาท และจังหวัดนครสวรรค์ ในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์
       
อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียงสะท้อนจาก นายคำร้อง บุญเพชร อายุ 45 ปี ชาวนา ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ว่า แม้ตนจะรู้สึกดีใจที่จับสลากได้จะมีรายได้ไปช่วยเหลือครอบครัวในช่วงที่ยังไม่ได้ทำนา แต่ก็อยากให้มีการจ้างงานมากกว่านี้จะได้ช่วยเหลือชาวนาได้มากกว่านี้ เพราะยังมีคนที่ไม่ได้ทำนา และไม่มีรายได้อีกจำนวนมาก
       
นายสงัด ปล่องทอง อายุ 51 ปี ชาวนา ต.ท่าฉนวน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท บอกว่า แม้ตนจะจับสลากไม่ได้ก็ไม่เสียใจมากนัก แต่อยากขอให้ ธ.ก.ส. และสหกรณ์ช่วยพักชำระหนี้ และหยุดเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ รอให้ทำนาได้ก่อนเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ชาวนา
       
ด้านนายสุชาติ เจริญศรี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า จะเร่งนำรายชื่อผู้ที่ไม่ได้รับเข้าทำงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27/7/2558)
 
สรส. แถลงเจตนารมณ์-จุดยืนคัดค้านแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ห่วงตั้งนักธุรกิจเข้ามาเป็นซูเปอร์บอร์ดชุดใหม่
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพแรงงาน พร้อมตัวแทนสมาพันธ์แรงงานฯ ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และจุดยืนต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ว่า สรส. และองค์กรสมาชิก พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง แต่ขณะนี้ สรส. ยังมีความกังวลในหลายประเด็นของร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. ... อาจนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปอยู่ในมือเอกชนในภายหลัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ สรส. คัดค้านมาโดยตลอด นอกจากนี้ สรส. ยังเป็นห่วงการแต่งตั้งนักธุรกิจเข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วม ตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ชุดใหม่
 
(ไอเอ็นเอ็น, 28/7/2558)
 
ผู้ว่าฯ ลำพูนสั่งจับตา รง.โละคนงาน
 
นายณรงค์อ่อน สะอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ตนกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเยียวยาแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือลดเวลาการทำงาน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 75 ต้องให้ทั่วถึง หลังมีโรงงานในนิคมฯ ลำพูนบางแห่งเลิกจ้างคนงาน
       
ซึ่งภาพรวมโรงงานทั้งหมดกว่า 1,400 แห่งมีการจ้างคนงานกว่า 6 หมื่นคน เลิกจ้างเพียง 4 แห่ง ถือว่ายังน้อย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลิกจ้างยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็ได้เฝ้าติดตามตลอด
       
ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในนิคมฯ ลำพูน 4 แห่งทยอยเลิกจ้างพนักงาน บางส่วนขอใช้กฎหมายตามมาตรา 75 คุ้มครอง ให้พนักงานหยุดงานอยู่บ้าน โดยจ่ายค่าจ้าง 75% บางแห่งลดวันทำงานจากเดิม 6 วันเหลือ 3 วัน บางแห่งให้พนักงานสมัครใจลาออกเอง บางแห่งเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
       
ซึ่งบริษัท โฮย่า กลาสดิสต์ (ประเทศไทย) ซึ่งผลิตกล้อง และฮาร์ดดิสก์ ของกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น มีพนักงานรวม 4,400 คน เริ่มใช้มาตรา 75 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-31 ก.ค. 58 ให้พนักงานฝ่ายผลิตหยุดงาน 400 คน โดยจ่ายค่าจ้าง 75%, บริษัท ทีเอสพีที, บริษัท เคอีซี และบริษัทลำพูนซิงเดนเก้นท์ เป็นต้น ส่วนโรงงานอื่นๆ ยังคงปกติ
       
ด้านนางสาวชุลีพร แก้วมา อายุ 21 ปี บ้านเดิมอยู่จังหวัดเชียงราย หนึ่งในพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง กล่าวว่า ตนเรียนจบในระดับ ปวช.จากบ้านเกิด มาทำงานเป็นสาวโรงงานได้ยังไม่ถึงปีก็มาถูกเลิกจ้างอีก ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไหนจะค่าผ่อนรถ ค่ากิน ค่าเช่าหอพัก ไหนจะต้องส่งให้ครอบครัวที่บ้านอีก ก็ได้แต่ภาวนาให้เศรษฐกิจกลับมาดีเร็วๆ ฝากถึงผู้บริหารบ้านเมืองด้วยพวกตนกำลังจะแย่ 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28/7/2558)
 
รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ว่า “เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 มีสัญญาณทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยภาคบริการจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยขยายตัวในไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี และผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ -8.9 ต่อปี สำหรับในด้านอุปสงค์ พบว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า
 
การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี และ 4.7 ต่อเดือน ตามลำดับ จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่และจัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี แต่แผ่วลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวดีขึ้นแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์กลับมาขยายตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี และ 15.7 ต่อเดือน ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวทั้งยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาคอย่างไรตาม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -2.9 ต่อปี และ -11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ตามรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ยังคงหดตัว สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวต่อเนื่องทั้งในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ที่ร้อยละ -35.4 และ -27.3 ต่อปี ตามลำดับส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการเร่งบริโภคไปแล้วในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงลดลงต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 63.8 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลกับสถานการณ์การส่งออกและปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำจากอุปสงค์ในตลาดโลก ซึ่งทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนมิถุนายน 2558 พบว่า กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูการออกขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี
 
การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน 2558 แม้มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีสัญญาณชะลอตัวในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมิถุนายน 2558 ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี และ 0.9 ต่อเดือน ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ขยายตัวเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี และ 10.2 ต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี แต่หดตัวที่ร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี -9.2 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมิถุนายน 2558 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อไตรมาส และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือและรถไฟขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี
 
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2558) พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมิถุนายน 2558 ที่เบิกจ่ายได้จำนวน 201.3 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 569.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมิถุนายนมีจำนวนทั้งสิ้น 257.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 รายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) มีจำนวน 653.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลเกินดุลงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2558 จำนวน 146.5 พันล้านบาท และทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 เกินดุล 91.0 พันล้านบาท
 
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ามาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัวลงส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดโลกชะลอลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงชะลอตัวลง และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่หดตัวลงในเดือนมิถุนายน 2558 มาจากการส่งออกสินค้าในหมวดยานพาหนะ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอุตสาหกรรมเกษตร สำหรับตลาดส่งออกหลักที่หดตัวในเดือนมิถุนายน 2558 ได้แก่ ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย และอาเซียน-5 ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 การส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี
 
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวโดยในเดือนมิถุนายน2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 2.28 ล้านคน ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 53.1 ต่อปี แต่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลส่วนหนึ่งเนื่องจากเดือนรอมฎอลที่เหลื่อมเดือนเร็วขึ้นจากปีก่อน ส่งผลทำให้กลุ่มตะวันออกกลางมีการเดินทางลดลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังสามารถขยายตัวได้ดีทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี และ 8.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับ สะท้อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 หดตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี แต่ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลตามการหดตัวของผลผลิต ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2558 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมยังคงหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล อยู่ที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี และ -7.8 ต่อไตรมาส ตามลำดับสำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 มาอยู่ที่ระดับ84.0 เนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปัญหาภัยแล้ง และความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการประกอบการและการขยายการลงทุน
 
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.22 แสนคน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปีสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคงโดยทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 160.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่าสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้
 
(สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, 28/7/2558)
 
ชงขึ้นเงินเดือนพนักงาน สกสค.
 
(28 ก.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ ผู้ตรวจราชการ ศธ. ฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ(สกสค.)ได้เสนอขอปรับขึ้นบัญชีเงินเดือนพนักงาน สกสค. ตามที่รัฐบาลได้มีมติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาโดยที่ประชุมได้ขอให้ สกสค.กลับไปทบทวนรายละเอียดรวมถึงให้ไปศึกษาข้อมูลเงินเดือนขององค์กรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเช่น  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เป็นต้น เพราะหากขึ้นให้กับพนักงาน สกสค.ก็อาจจะต้องไปดูในส่วนของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ องค์การค้าของ สกสค.ด้วย 
 
“ขณะนี้ สกสค.มีพนักงานทั่วประเทศ รวม 670 คน เงินเดือนพนักงานแรกเข้าอยู่ที่  17,920บาท อายุงาน 5 ปีขึ้นไปได้รับเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 บาท อายุงาน 10 ปีขึ้นไป เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท ส่วนระดับผู้อำนวยการสำนักอยู่ที่ประมาณ 80,000 บาท ทั้งนี้บัญชีเงินเดือนดังกล่าวมีการจัดทำมาตั้งแต่บอร์ดชุดเก่า ดังนั้นในหลักการนี้จึงต้องเสนอให้บอร์ดใหม่พิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งหากมีข้อมูลเปรียบเทียบแล้วก็อาจจะต้องดูว่า ระดับไหนควรได้รับการปรับเพิ่มเท่าไหร่ เพราะเงินเดือนพนักงาน สกสค.ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว” นพ.กำจรกล่าวและว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ฐานะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) ซึ่งจะเข้ามาดูข้อกฎหมายของกองทุนที่อาจจะต้องมีปรับแก้ โดยเฉพาะข้อที่กำหนดให้ เลขาธิการ สกสค.มีอำนาจตั้งคณะกรรมการกองทุนต่าง ๆ ได้เอง โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สกสค. ขณะเดียวกันตนได้ขอให้ศ.ดร.สุรพลช่วยดูข้อกฎหมายในการติดตามกลุ่มครูที่ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด และต้องใช้เงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯชำระแทนไปถึงกว่า 4,000 ล้านบาทแล้ว
 
(เดลินิวส์, 28/7/2558)
 
แรงงานต่างด้าวทำงาน “ช่างเครื่องยนต์เรือประมง” ได้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมฯได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีใบประกาศนียบัตรช่างเครื่องเรือ หรือหนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพช่างเครื่องเรือจากส่วนราชการไทย สามารถทำงานในตำแหน่ง “ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล” ได้ โดยนำเอกสารดังกล่าวมาใช้เป็นหลักฐานประกอบคำขออนุญาตเปลี่ยนงานจากตำแหน่งกรรมกร เป็นช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล มีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอเปลี่ยนงานฉบับละ 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาต ครั้งละ 1,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการประมงทะเลที่จ้างแรงงาน 3 สัญชาติ ซึ่งทำงานได้เฉพาะงานกรรมกร และงานรับใช้ในบ้านเท่านั้น แต่บางส่วนมีความจำเป็นต้องให้แรงงานกลุ่มนี้ทำงานเป็นช่างเครื่องยนต์
       
นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับแรงงานต่างด้าวกลุ่มพิสูจน์สัญชาติเดิมและนำเข้าในรูปแบบ MOU ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานอยู่แล้ว สามารถยื่นคำขออนุญาตทำงาน หรือคำขออนุญาตเปลี่ยนการทำงานจากตำแหน่งงานกรรมกรเป็นงานในตำแหน่งช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเลได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายภายใต้การนำเข้า MOU ซึ่งเข้ามาใหม่ สามารถขออนุญาตฯและดำเนินการได้เช่นเดียวกัน โดยมีค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 3,000 บาท ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพู ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้สามารถทำงานในตำแหน่ง ช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเลได้
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 29/7/2558)
 
อนุฯค่าจ้างขั้นต่ำ 6 จว. เสนอปรับขึ้น 2-60 บาท บอร์ดค่าจ้างเตรียมเคาะ ตุลาคมนี้
 
(29 ก.ค.58) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จัดการเสวนาในหัวข้อ "ทำไมต้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ" โดยมีนักวิชาการและเครือข่ายแรงงานเข้าร่วม โดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เลขาธิการ คสรท.กล่าวในการเสวนาว่า ตามที่ คสรท.และเครือข่ายได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 360 บาท ในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เครือข่ายแรงงานจึงนัดหารือกันเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป 
 
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐเปิดเวทีกลางเพื่อเป็นพื้นที่ให้นายจ้าง ลูกจ้างและรัฐ โดยเฉพาะคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) ได้มาพูดคุยถึงเหตุผลในการพิจารณาปรับค่าจ้างว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับข้อสรุปในการปรับค่าจ้าง ซึ่งคสรท.ขอยืนยันว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราที่เท่ากันทั่วประเทศ เพราะค่าครองชีพของแรงงานในทุกพื้นที่ใกล้เคียงกัน
 
น.ส.ธนพร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการบางส่วน มองว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาถูกนำไปยึดโยงกับนโยบายทางการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองนั้น ตนไม่อยากให้มองด้านเดียว แต่อยากให้มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของฝ่ายการเมือง ทำให้แรงงานได้ประโยชน์ อีกทั้งยังถือเป็นการกระตุ้นให้เงินหมุนเวียนในระบบด้วย นอกจากนี้อยากให้นักวิชาการที่เห็นต่าง หันมาทำงานวิจัยถึงค่าครองชีพแรงงานเชิงลึกเพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น
 
ด้าน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มองว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 เนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้น อีกทั้งปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมองภาพรวมทั้งเศรษฐกิจและชีวิตคนงานอย่างน้อยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน่าจะมากกว่าอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้แรงงานมีกำลังซื้อ
 
นายอนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรทำในลักษณะของค่าจ้างแรกเข้าและมีการปรับค่าจ้างประจำปี โดยพิจารณาจากอายุงานและความสามารถ ซึ่งฐานค่าจ้างแรกเข้าในแต่ละจังหวัดอาจกำหนดตามสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ส่วนตัวเลขที่เครือข่ายแรงงานเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 360 บาทนั้นด้วยสภาพเศรษฐกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล นายจ้างน่าจะมีความสามารถที่จะจ่ายได้ แต่สำหรับต่างจังหวัดอาจจะมีกำลังจ่ายน้อยประมาณวันละ 320 บาท ทั้งนี้
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างจังหวัด ได้เสนอความเห็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมายังบอร์ดค่าจ้างแล้ว 76 จังหวัด โดยจำนวน 70 จังหวัดไม่มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนอีก 6 จังหวัดมีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ประกอบด้วย ปราจีนบุรีเสนอปรับขึ้นเป็น 302 บาท สมุทรปราการเสนอปรับขึ้นเป็น 310 บาท ภูเก็ตเสนอปรับขึ้นเป็น 320 บาท ฉะเชิงเทรา เสนอปรับขึ้นเป็น 321 บาท ชลบุรี เสนอปรับขึ้นเป็น 335 บาท และสระบุรี อนุกรรมการฝ่ายนายจ้างเสนอปรับขึ้นเป็น 315 บาท ส่วนอนุกรรมการฝ่ายลูกจ้างเสนอปรับขึ้นเป็น 360 บาท โดยให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณาตัดสิน 
 
ส่วนกรุงเทพมหานคร อนุกรรมการฯ ขอชะลอการพิจารณาเสนอความเห็นไว้ก่อนเนื่องจากต้องการรอพิจารณาสภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวมอีกครั้ง โดยคาดว่าจะมีการเสนอความเห็นก่อนที่บอร์ดค่าจ้างจะมีการประชุมภายในเดือนตุลาคมนี้
 
(มติชนออนไลน์, 29/7/2558)
 
โรงงานผลิตเสื้อกีฬาส่งออกไปยุโรปอุดรธานีปิดกิจการหลังยอดสั่งซื้อหด พร้อมจ่ายเงินชดเชยพนักงาน 322 คน
 
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.นายภาณุ เหี้ยมหาญ แรงงานและสวัสดิการสังคม จ.อุดรธานี พร้อมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานประกันสังคม จ.อุดรธานี สำนักงานจัดหางาน จ.อุดรธานี เดินทางไปที่โรงงานของ บริษัทไทย ท็อป อีเกิ้ล การ์เมนท์ จำกัด เลขที่ 261 ถนนมิตรภาพ หมู่ 1 ต.นาข่า อ.เมือง จ.อุดรธานี ผู้ผลิตชุดกีฬาส่งออกไปยุโรป เพื่อติดตามการนัดหมายจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าชดเชย หลังบริษัทประกาศเลิกกิจการในวันที 31 ก.ค.นี้เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้มียอดสั่งซื้อสินค้าน้อยลง และประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จะปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานในเรื่องค่าจ้างและค่าชดเชยให้กับพนักงาน 322 คน
 
นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ รอง ผวจ.อุดรธานี กล่าวภายหลังพบกับนายเชลโซ่ แองเจอเลส กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารโรงงาน พร้อมกับนายภาณุ แรงงานและสวัสดิการสังคม จ.อุดรธานี ว่า ได้ทราบล่วงหน้าว่าโรงงานนี้จะปิดกิจการ จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ พบว่าโรงงานค่อนข้างจะไปไม่ไหวต้องปิดกิจการ จึงแจ้งให้ทุกหน่วยมาดูแล หากจะปิดกิจการจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานของไทยอย่างเคร่งครัด ซึ่งเจ้าของกิจการพร้อมจ่ายทั้งหมดผ่านโอนเข้าบัญชีของคนงาน
 
นายชายชาญ กล่าวอีกว่า ได้คุยกับผู้บริหารของโรงงานที่รับมอบอำนาจจากนายทุนที่ประเทศจีนว่าที่ปิดโรงงานเนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว ต้องการไปทำกิจการอย่างอื่น เนื่องจากงานสิ่งทอคู่แข่งเยอะจึงหันไปมองธุรกิจตัวใหม่
 
ด้านนายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้า จ.อุดรธานี กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้ปิดกิจการเป็นไปตามภาวะตลาดโลกที่หดตัว แต่คงไม่กระทบต่อภาพทางเศรษฐกิจของ จ.อุดรธานี เพราะที่ผ่านมาเน้นในภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว มากกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นรายได้หลัก
 
(โพสต์ทูเดย์, 29/7/2558)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘สุเทพ’ แถลงสื่อเตรียมเปิดอาชีวะต้นแบบ สร้างชุมชนพอเพียง ย้ำปฏิรูปพรรคการเมือง ไม่ชุมนุมต้าน แม้ คสช.ทำไม่ถูกต้อง

0
0

30 ก.ค.2558 ตอนสายวันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และคณะกรรมการมูลนิธิมวลมหาประชาชน จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ โดยกล่าวถึงกิจกรรมที่ผ่านมาและแนวทางการดำเนินในอนาคตของมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

นายสุเทพ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ชี้แจงว่า งบประมาณที่ได้มาจากเงินบริจาคของประชาชน ได้ใช้ไปกับการดูแลความเป็นอยู่ของทั้งผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงมีเงินทุนสำหรับเด็กกำพร้าซึ่งได้รับทุนการศึกษาทุกราย รายละ 2 ล้านบาท

นายสุเทพกล่าวว่า อีกประการหนึ่งที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนพยายามส่งเสริม คือ การบวช ซึ่งจะช่วยประคับประคองให้คนในสังคมได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทางมูลนิธิได้ร่วมกันเรียกร้องให้ชาวพุทธเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมะ และมีการจัดอุปสมบทหมู่ทุกเดือนที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลารามแล้ว รวมกว่า 600 รูป ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ และจะมีการดำเนินการต่อเนื่อง

ชักชวนระดมทุน-ร่วมเป็นเจ้าของมูลนิธิ ยันไม่เคลื่อนไหวชุมนุม ยอมรับ คสช.จำเป็นกับประเทศ

นายสุเทพกล่าวว่า ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกับมูลนิธิ

"นี่จะเป็นมูลนิธิของคนที่รักชาติรักแผ่นดิน ใครก็ตามที่มีอุดมการณ์เช่นนี้ก็เข้ามาเป็นเจ้าของมูลนิธิได้ และเราดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตย"

เขากล่าวว่า สิ่งที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนจะดำเนินการต่อไป คือ การดำเนินการตามมติของผู้ที่เข้าร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งจะเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบมูลนิธินี้ รวมไปถึงรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายของมูลนิธิด้วย

"คนที่จะมาเป็นเจ้าของมูลนิธิต้องสามารถเปิดเผยว่าตัวเองว่าประกอบอาชีพอะไร มีรายได้เท่าไหร่ และพร้อมที่จะบริจาคเงินให้มูลนิธิเป็นจำนวน 1 วันจากรายได้ทั้งปี" นายสุเทพกล่าวถึงเงื่อนไขการบริจาคและย้ำว่า จะไม่มีการเลือกปฏิบัติในการแสดงความเห็น และหากพื้นที่ใด หรือจังหวัดใดมีผู้บริจาคเป็นจำนวนมากก็อาจจะมีการตั้งสาขาของมูลนิธิในจังหวัดนั้นๆ

นายสุเทพกล่าวต่อไปว่า กิจกรรมของมูลนิธิจะทำเพื่อปกป้องประเทศ และในกรณีที่มีรัฐบาลหรือประเทศใดที่เข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจประเทศไทย ก็พร้อมจะส่งตัวแทนไปอธิบายกับรัฐบาล หรือสภา รวมถึงสื่อมวลชนของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะเป็นปฏิปักษ์กับประเทศใด พร้อมระบุว่า นายกษิต ภิรมย์จะเป็นหัวหน้าทีมในการทำงานสื่อสารและชี้แจงต่อประเทศต่างๆ ให้เข้าใจประเทศไทย

"เรารักคนอื่นๆ เรารักทุกคนแต่เรารักประเทศเรามากกว่า"

นอกจากนี้ มูลนิธิยังวางแนวทางเป็นศูนย์รวมแนวทางที่สร้างสรรค์สำหรับประเทศ โดยช่วงแรกจะใช้สื่ออิเล็กโทรนิกส์ เช่น เว็บไซต์ และอีเมล์ โดยยังไม่มีแนวทางเปิดเวทีเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับ คสช. และยอมรับว่าในเวลานี้ประเทศนี้ต้องมีรัฐบาลอย่าง คสช. ในการดูแลบ้านเมือง และยอมรับว่ากฎหมายของ คสช. มีความชอบธรรม

เปิด 'อาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ'

นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากแถลงข่าวในวันนี้ จะเคลื่อนไหวทำกิจกรรมตามแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยยึดธรรมะของศาสนาไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลาม เช่น ปฏิรูปการศึกษาโดยผลักดันให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาที่ผลิตคนออกมารับใช้ประเทศ ไม่เพียงความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ แต่ต้องผลิตคนที่มีคุณธรรมด้วย ซึ่งต้องผลิตคนที่คุณภาพและมีคุณธรรมและมูลนิธิจะจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี หลักสูตร 5 ปี โดยฝึกอาชีพร่วมกับธรรมะด้วย นักศึกษาต้องฝึกฝนตนเองเอาตัวให้รอดจากการครอบงำของวัตถุนิยมและกิเลส รู้จักประมาณตัวเอง นักเรียนทุกคนเป็นนักเรียนทุน โดยเขาคาดหวังว่า อาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณจะเป็นวิทยาลัยอาชีวะต้นแบบ

สร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง

นายสุเทพกล่าวว่า มีแนวคิดที่จะสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ และได้เลือกเกาะพะลวย ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็ก ใกล้เกาะสมุย มีประชากรราว 200 ครัวเรือน โดยจะทำให้เป็นชุมชนต้นแบบตามหลักความพอเพียง

นายสุเทพย้ำว่า จะไม่พูดเรื่องการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งใดๆ และเขายังถือศีลครบถ้วน และพร้อมร่วมมือกับคนทุกกลุ่ม และเรียกร้องขอความสมานฉันท์เพื่อร่วมกันทำงานเพื่อประเทศไทย แต่ย้ำว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศไทยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

"เราต้องการเห็นรัฐบาลนี้ปฏิรูปให้สำเร็จ ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่" และกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ทำไปในแนวทางที่ถูกต้อง ก็จะแสดงความเห็นอย่างเรียบร้อย แต่จะไม่ชุมนุมหรือเข้ายึดสถานที่ต่างๆ

นายสุเทพกล่าวว่า เขาจะแสดงให้เห็นว่าแนวทางของมูลนิธิมวลมหาประชาชนจะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนล้านๆ คน และเป็นแนวทางการปฏิรูปพรรคการเมืองซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างของการปฏิรูป

"จะปฏิรูปการเมืองต้องปฏิรูปพรรคการเมือง" นายสุเทพกล่าว และยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของมูลนิธิฯ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ และเขาจะไม่กลับไปสังกัดพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว และแนวทางหลังจากนี้อาจจะมีความแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

พลเมืองโต้กลับ ยื่นอุทธรณ์ฟ้อง ‘ประยุทธ์-คสช.’ ข้อหาล้มล้างการปกครอง

0
0

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา บีบีซีไทย - BBC Thaiรายงานว่า อานนท์ นำภา ทนายความของกลุ่มพลเมืองโต้กลับเปิดเผยกับบีบีซีว่า วันนี้ตนและสมาชิกกลุ่ม ได้เดินทางไปยื่นอุทธรณ์คดีที่กลุ่มได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพวก ซึ่งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.รวม 5 คน ในข้อหากบฏ เป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญา ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องไปเมื่อวันที่ 29 พ.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ และพวกซึ่งเป็นกลุ่มพลเมืองโต้กลับ รวม 15 คน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับคนที่เหลือที่ประกอบด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในข้อหาร่วมกันใช้กำลังขู่เข็ญประทุษร้ายและล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อันเป็นความผิดฐานกบฏ และยังได้ออกคำสั่งในนามคสช.หลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิ์และเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ทั้ง 15 คนได้รับความเสียหาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 113 และ 114

อานนท์ ระบุว่า วันนี้ได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าว และศาลนัดมาฟังคำสั่งในอีก 5 วันข้างหน้า

สำหรับกรณีที่ศาลอาญาไม่รับฟ้องนั้น เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด โดยยึดหลักได้รับการนิรโทษกรรมไปตามบทบัญญัติมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 57985 articles
Browse latest View live