Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

กรุงเทพโพลล์เผย 61% ไม่ค่อยเข้าใจ รธน.ใหม่ 57.3%รับได้ หาก สปช. จะไม่รับร่างฯ

$
0
0

เผยผลสำรวจ ปชช. 61.0% ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  52.1% ไม่เห็นด้วยหากมีนายกฯ ที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง และ 57.3% รับได้ หาก สปช. จะไม่รับร่างฯ รวมทั้ง 44.4% โหวตเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

4 ก.ย.2558 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,021 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 61.0  ไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขณะที่ร้อยละ 34.4 มีความรู้ความเข้าใจบ้างในประเด็นที่สำคัญๆ และมีเพียงร้อยละ 3.6 ที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี  ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 91.3 จึงอยากให้มีผู้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาช่วยอธิบายให้ประชาชนทั่วประเทศฟัง มีเพียงร้อยละ 5.2  เท่านั้นที่บอกว่าไม่อยากให้มี 

เมื่อถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้อำนาจของนักการเมืองและพรรคการเมืองลดลง” ส่วนใหญ่ร้อยละ 60.9 “เห็นด้วย”  ขณะที่ร้อยละ 20.4 “ไม่เห็นด้วย”  ส่วนร้อยละ 18.7 ไม่แน่ใจ
 
แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อาจทำให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 52.1 ระบุว่า  “ไม่เห็นด้วย”   ขณะที่ร้อยละ 36.4 “เห็นด้วย”  ที่เหลือร้อยละ 11.5 
ไม่แน่ใจ
 
นอกจากนี้เมื่อถามว่า “รับได้หรือไม่  หาก สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป” ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.3 บอกว่า “รับได้ เพราะบ้านเมืองจะสงบ ไม่มีความขัดแย้ง” ขณะที่ร้อยละ 29.1  “รับไม่ได้เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมป” ที่เหลือร้อยละ 13.6 ไม่แน่ใจ  
 
สำหรับปัจจัยที่ประชาชนใช้ประกอบการตัดสินใจลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ ฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ (ร้อยละ 40.8) รองลงมาคือ  ฟังความคิดเห็นของญาติ/ ครอบครัว (ร้อยละ 25.0) และฟังความคิดเห็นของนักการเมืองท้องถิ่น (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.) (ร้อยละ 22.7)
 
สุดท้ายเมื่อถามว่า “หากถึงวันลงประชามติ  จะโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ส่วนใหญ่
ร้อยละ 44.4 บอกว่า “เห็นด้วย” ขณะที่ร้อยละ 21.7   “ไม่เห็นด้วย”  ส่วนร้อยละ 33.9 ยังไม่แน่ใจ  
 

รายละเอียดการสำรวจ : 

วัตถุประสงค์การสำรวจ
 
1)    เพื่อสะท้อนความความรู้ความเข้าใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  
 
2)    เพื่อสะท้อนความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใน ประเด็นการลดอำนาจนักการเมืองและพรรคการเมือง และประเด็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
 
3)    เพื่อต้องการทราบถึงปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจประกอบการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
ประชากรที่สนใจศึกษา
 
การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Simple Random Sampling แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
 
 ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)
 
 การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล
 
ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
 
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล     :  1-3 กันยายน 2558
 
วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ           :  4 กันยายน 2558
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลปกครองสงขลาสั่งโอนคดีผู้บาดเจ็บ 'ปุโละปูโย' ไปศาลจังหวัดปัตตานี

$
0
0

4 ก.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่งใบแจ้งข่าว ระบุว่า สำนักงานศาลปกครองสงขลาได้มีหนังสือถึงทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในคดีหมายเลขดำที่ 28/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ 83/2558 ในคดีระหว่าง นายยา ดือราแม ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี  ซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงรถกระบะ เหตุเกิดที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บ 5 คน (ผู้ฟ้องคดี)  กับ กองทัพบกที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2  ผู้ถูกฟ้องคดี  

โดยศาลปกครองสงขลามีคำสั่งให้โอนคดีพร้อมทั้งเงินค่าธรรมเนียมศาลไปยังศาลจังหวัดปัตตานี เพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558  ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าคนพร้อมด้วยญาติได้เข้าร่วมรับฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ณ ศาลปกครองสงขลา



ข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงกรณีนี้ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 เวลาประมาณ 20.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ทหารพรานประจำฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อาวุธปืนสงคราม ยิงเข้าใส่รถ ขณะที่ชาวบ้าน 9 คน กำลังเดินเพื่อที่จะไปละหมาดศพ (ละหมาดขอพรให้ผู้เสียชีวิต) ที่บ้านทุ่งโพธิ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 5 ราย โดยเจ้าหน้าที่ทหารพรานอ้างว่าได้ออกติดตามผู้ก่อเหตุ เมื่อมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุพบรถกระบะที่ผู้เสียชีวิตโดยสารมา ต่อมาได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวและป่าข้างทาง ต่อมาหน่วยทหารเข้ามาสมทบ และมีการใช้อาวุธปืนยิงไปที่รถคันดังกล่าวอีก เห็นว่า เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ในการติดตามผู้ต้องสงสัย เมื่อนำมาประกอบกับรายงานชันสูตรบาดแผลศพของผู้ตายทั้งสี่ที่ระบุว่าผู้ตายทั้งสี่เสียชีวิตเพราะถูกกระสุนปืนยิง และพบรูกระสุนปืนทะลุรถกระบะหลายแห่ง เชื่อว่าผู้ตายทั้งสี่ถูกกระสุนปืนยิงถึงแก่ความตายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด แต่เนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาจำนวน 7.5 ล้านบาท แล้ว จึงไม่ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดอีก แต่ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 5 คน มีความประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิด จึงได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

ในส่วนคดีอาญา ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำสั่งคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ คดีหมายเลขดำที่ ช. 5/2555 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556  ภายหลังจากศาลมีคำสั่งคดีชันสูตรพลิกศพแล้ว พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ จะได้นำสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพดังกล่าวไปประกอบการดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาต่อไป

อนึ่ง หากผู้กระทำความผิดอาญาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมด คดีจะอยู่ในอำนาจศาลทหาร (เว้นแต่ผู้กระทำความผิดเป็นทหารกับพลเรือน คดีจึงจะอยู่ภายใต้อำนาจของศาลยุติธรรม(พลเรือน)ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา13 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีลงโทษผู้กระทำความผิดกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร  มาตรา 49 ศาลทหารในเวลาปกติ อัยการทหารหรือผู้เสียหายที่เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (ทหาร) สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาที่ศาลทหารได้ แต่ในเวลาไม่ปกติ (ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก) อัยการทหารเท่านั้นเป็นโจทก์ ผู้เสียหายต้องมอบคดีให้อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน ผู้เสียหายไม่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารได้เอง  ดังนั้น ในส่วนของคดีอาญา หากผู้ได้รับบาดเจ็บหรือญาติผู้เสียชีวิตประสงค์จะฟ้องคดีอาญาเอง ก็ไม่สามารถจะยื่นฟ้องต่อศาลทหารได้ด้วยตนเอง ต้องมอบให้อัยการทหารฟ้องคดีแทนเท่านั้น

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ซีรีย์รัฐธรรมนูญ EP.2 ตอน เก้าอี้ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

$
0
0

อ่านร่างรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนจากตำแหน่ง เก้าอี้ใครแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากการออกแบบโครงสร้างทางการเมือง ‘นายกฯ ครม. ส.ส. ส.ว.’ ปลิวง่ายที่สุด ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสต์ฯ คงทนถาวร (อย่างน้อย 5 ปี)

ตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์จำนวนมากว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ละเมิดหลักการประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด ล่าสุดเมื่อวานนี้(3 ก.ย. 2258) ลิขิต ธีรเวคิน ได้แสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนาวิชาการ วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 กับทิศทางการปฏิรูปการเมืองไทย: ทางออกหรือทางตัน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (อ่านข่าวที่นี่)

ลิขิต ระบุว่ามีอย่างน้อย 3 สิ่งที่ขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วย การเปิดช่องทางให้มีนายกรัฐมนตรี ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในยามวิกฤต การระบุให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 123 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และการให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเหนือรัฐบาล

ขณะเดียวกันวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขนี้จะเปิดเพยต่อสาธารณะว่าจะมีการสร้างอำนาจ 3 ระดับ โดยอำนาจระดับแรกคือ อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีอำนาจน้อยที่สุด อำนาจในระดับที่เหนือขึ้นมาคือ อำนาจของกลุ่มองค์กรอิสระที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และอำนาจระดับสุดท้ายคืออำนาจคุมควบในยามวิกฤต ซึ่งปรากฎออกมาเป็นรูปธรรมคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ

อย่างไรก็ตามการระบุให้มีสถาบันทางการเมือง และการระบุอำนาจหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยทำให้เห็นโครงสร้างอำนาจที่กำลังถูกสร้างในร่างรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจละเลยไปได้คือการ มองหาทางลงจากเก้าอี้ของแต่ละตำแหน่งโดยการถอดถอน สิ่งนี้เองก็สะท้อนโครงสร้างอำนาจได้ไม่น้อยเช่นกัน

คลิกดูภาพขนาดใหญ่

หากหยิบประเด็นโครงสร้างอำนาจ 3 ระดับจาก วรเจตน์ มาจัดวางเป็นเก้าอี้ 3 ตัว แล้วเปิดเข้าไปดูร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 3 หมวด 2 ส่วนที่ 3 การถอดแหน่งจากตำแหน่ง สิ่งพบคือ การถอดถอนเองก็มี 3 ระดับด้วยเช่นกันคือ ‘ง่าย-กึ่งยากกึ่งง่าย- ถอดไม่ได้เลย’

ใครมีสิทธิเสนอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้บ้าง (มาตรา 239)

1.ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของคะแนนเสียงทั้งหมดที่มีอยู่ของแต่ละสภา

             Ex1. มี ส.ส. 450 คน ต้องใช้คะแนนเสียง 112 เสียงขึ้นไป

             Ex2. มี ส.ว. 200 คน ต้องใช้คะแนนเสียง 50 เสียงขึ้นไป

2.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 คน

เหตุแห่งการถอดถอด (มาตรา 238)

1.มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่

2.ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ

3.ส่อว่ากระทำผิดต่อทำแหน่งในการยุติธรรม

4.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติหรือรัฐธรรมนูญหรือกฏหมาย

5.ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตราฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ใครเป็นเป็นคนพิจารณาถอดถอนใคร มาตรา 238 + มาตรา 240

รัฐสภาถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เช่นมี ส.ส. 450 ส.ว. 200 ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 225 เสียง

หมายเหตุ : ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ซึ่งชุดแรกจะได้มาจากการดำเนินการสรรหา โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ และยังไม่นับรวมฝ่ายค้านในรัฐสภา

วุฒิสภาถอดถอน ประธานศาลฏีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด  หรืออัยการสูงสุด องค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้น ป.ป.ช. ให้เป็นไปตามกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 เช่นมี ส.ว. 200 ต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อบกว่า 120 เสียง

หมายเหตุ : ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ทั้งนี้มี ส.ว. มาจากการสรรหา 123 คน ซึ่งชุดแรกจะได้มาจากการดำเนินการสรรหา โดยคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้

ทั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติใดๆระบุถึงการถอดถอน คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติอยู่เลย

ผลจากการถูกถอดถอน  มาตรา 238

มาตรา 240 วรรคสามระบุว่า ผู้ถูกถอดถอนถูกตัดสิทธิ 5 ปี "แต่ถ้าเป็นกรณีที่ถูกถอดถอนเพราะเหตุที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้มีผลเป็นการตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่นตลอดไป"

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

อบต.ประดู่ จ.สุรินทร์ แจงกรณีห้ามรถเกี่ยวและนวดข้าวในพื้นที่ ระบุทำตามกฎหมาย

$
0
0
อบต.ประดู่ จ.สุรินทร์ แจงกรณี ห้ามรถเกี่ยวและนวดข้าวในพื้นที่ระบุทำตามกฎหมาย เก็บภาษีเพื่อนำรายได้มาซ่อมแซมถนนที่พังจากล้อตีนตะขาบของรถเกี่ยวข้าวที่ชอบทำถนนพังเหมือนพื้นที่ อบต.อื่น ๆ หลังชาวโลกเซเชี่ยลแชร์โจมตี

 
 
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมาหลังจาก อบต.ประดู่ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์  ได้นำป้ายประกาศซึ่งมีข้อความว่า ห้ามรถเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวในและนอกพื้น ประกอบกิจการเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลประดู่ ก่อนได้รับอนุญาตตามกฎหมายฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 2,000 บาท ไปติดประกาศในพื้นที่ทั้ง 10 หมู่บ้านของ ต.ประดู่ ทำให้บรรดาชาวโลกโซเชี่ยล ได้ถ่ายภาพป้ายข้อความดังกล่าวลงในโลกโซเชี่ยลทำให้มีประชาชนเข้ามาติดตามกดไลค์นับหมื่นคน และต่างแสดงความคิดเห็นทั้งในเชิงบวกและลบไปต่าง ๆ นา ๆ ทำให้ อบต.ประดู่ต้องเก็บป้ายข้อความทั้งหมดไว้ก่อน และเตรียมจะจัดพิมพ์ป้ายข้อความใหม่เพื่อให้ประชาชนอ่านเข้าใจถึงเจตนาของ อบต.ประดู่ ที่จัดทำป้ายขึ้นเพียงเพื่อเก็บภาษีรถเกี่ยวข้าวและนวดข้าว โดยจะนำรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวมาเป็นงบประมาณในการซ่อมแซมถนน ที่เกิดความเสียหายจากล้อตีนตะขาบของรถเกี่ยวข้าวและรถบรรทุกที่มีปริมาณจำนวนมากในช่วงหน้าเก็บเกี่ยวข้าวเท่านั้น
 
ขณะที่นายธีรนันท์  วัฒนาดานนท์  นักบริหารงานคลัง อบต.ประดู่ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ พร้อมด้วย นายนิวัติ  บุกมณี ปลัด อบต.ประดู่ และนายสมบูรณ์  สระทอง ผู้ช่วย เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ อบต.ประดู่ ก็ได้ร่วมกันชี้แจ้งเหตุผลกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นที่ อบต.ประดู่ ให้สื่อมวลชนทราบข้อเท็จจริงแล้ว
 
โดยนายธีรนันท์  วัฒนาดานนท์  นักบริหารงานคลัง อบต.ประดู่ กล่าวว่า หลัง อบต.ได้นำป้ายประกาศดังกล่าวไปติดตามหมู่บ้านทั้ง 10 หมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการรับทราบ ปรากฏว่าเกิดกระแสทางโลกออนไลค์ ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าทาง อบต.ประดู่ห้ามรถเกี่ยวข้าวและนวดข้าวเข้ามาเกี่ยวข้าว ซึ่งอาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  โดยขอชี้แจงว่า รถเกี่ยวข้าวและนวดข้าวทั้งในและนอกพื้นที่ สามารถมาเกี่ยวข้าวและนวดข้าวได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากทาง อบต.ประดู่ โดยให้เข้ามาขออนุญาต และเสียภาษีให้ อบต.ประดู่คันละ 1,200 บาท ก่อนจะออกใบอนุญาตให้และก็ไปเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ  ทั้งนี้ก่อนที่จะติดตั้งป้ายประกาศก็ได้มีการเรียกประชุม อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านและผู้ประกอบการทุกหมู่บ้านมาทำความเข้าใจก่อนแล้ว จึงได้มีการติดป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบก่อนเก็บเกี่ยว  ส่วนรายได้จากภาษีที่เก็บจากรถเกี่ยวข้าวและนวดข้าว ก็จะนำงบประมาณไปซ่อมแซมปรับปรุงถนนให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น เนื่องจากรถเกี่ยวข้าวจะมีล้อที่เป็นตีนตะขาบและมักจะทำความเสียหายให้ถนนในพื้นที่จึงจำเป็นต้องมีการเก็บภาษี ซึ่งพื้นที่ตำบลอื่นทั้งในและต่างจังหวัดก็ได้มีการเก็บภาษีเหมือนกัน แต่ อบต.ประดู่พึ่งมีการจัดเก็บภาษีในปีนี้เป็นปีแรก จึงอาจทำให้ประชาชนที่ไม่ทราบเข้าใจผิดว่าห้ามเกี่ยวข้าว และอาจจะอ่านเพียงข้อความด้านบน ที่มีกรอบสีแดง ที่ระบุว่า "ห้ามรถเกี่ยวข้าวหรือนวดข้าวในและนอกพื้นที่" โดยที่ไม่ได้อ่านข้อความทั้งหมดให้ชัดเจน จึงเกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว  ซึ่งการเก็บภาษีดังกล่าวเป็นข้อบัญญัติทางกฎหมาย ที่เราได้รับอนุญาตจากราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป 132 ตอนพิเศษ 68 ง วันที่ 27 มีนาคม 2558  จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หลังจาก อบต.ประดู่ได้ส่งข้อบัญญัติของ อบต.ประดู่ เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2557 ไปเพื่อดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนได้รับอนุญาตดังกล่าว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถิติจ้างงาน 5 อุตสาหกรรมหลัก ก.ค.58 พบว่างงานขยายตัวทุกกลุ่มเทียบปี 57

$
0
0

ข้อมูลการวิเคราะห์การจ้างงาน เลิกจ้าง และว่างงานจากระบบประกันสังคมเดือนกรกฎาคม 2558 พบ 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญต่อการส่งออก การว่างงานขยายตัวทุกอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อิเล็กทรอนิกส์สูงสุดว่างงานสูงสุด 5,423 คน ถูกเลิกจ้าง 642 คน ด้านศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานระบุยังต้องจับตาการเลิกจ้าง

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน[1]การเลิกจ้าง [2]และการว่างงาน [3]ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้

1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 2.68 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 0.58 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 0.15

2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.97 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 3.65 , การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ 34.82

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.70 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 32.69 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 186.72

4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ 3.39 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 14.78 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 12.69

5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 4.97 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 12.72 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 52.49

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีการจ้างงานจำนวน 159,438 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 2,093 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 645 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.06 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-2.68) เนื่องจากโรงงานสิ่งทอมีการปิดตัวลง จากคำสั่งซื้อที่ลดลง และการที่จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม คาดว่าเมื่อมีการผลิตเต็มรูปแบบ ความต้องการเส้นด้ายและผ้าผืนจากไทยจะลดลง เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจากเวียดนามจะถูกกว่าไทย จากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า รวมทั้งยังได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากอียู

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-19.58) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-0.15) ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน แต่กลับมาชะลอตัวเป็นเดือนแรกในเดือนกรกฎาคม และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-4.34) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 0.58 ผู้ว่างงานขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11

อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีการจ้างงานจำนวน 417,304 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 5,423 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 642 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.16 และเมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.97 เนื่องจากการผลิต HDD จะนำไปใช้ในกลุ่ม Cloud Storage และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่มากขึ้นแทนตลาดคอมพิวเตอร์ทำให้ปริมาณการผลิตไม่มากเท่ากับที่ผ่านมา และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะปรับตัวลดลง

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.26 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ (-34.82) แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้นเนื่องจากกลับมาอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง 32 เดือน (ธันวาคม 2555 – กรกฎาคม 2558) และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-5.41) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (มิถุนายน 2558) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 3.65

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการจ้างงานจำนวน 116,050 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,660 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 367 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.74 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็น ร้อยละ 4.70 เนื่องจากการส่งออกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ ตลาดสหรัฐอเมริกา อาเซียน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศค่อนข้างทรงตัวตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-36.94) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 186.72 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวสูง ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-1.66) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 32.69 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

อุตสาหกรรมยานยนต์มีการจ้างงานจำนวน 237,622 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 3,013 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 293 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -2.22 แต่เมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -3.39 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-2.01) เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.69 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-1.31) และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 14.78

อุตสาหกรรมเครื่องประดับมีการจ้างงานจำนวน 72,318 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,506 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 552 คน โดยจากข้อมูล ณ กรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (มิถุนายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 0.94 และเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 4.97 เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาเซียน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และจีน อันเป็นผลมาจากผู้มีกำลังซื้อในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้สินค้าไทยมีราคาถูกลง จึงช่วยดึงดูดให้มีความต้องการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากไทยมากขึ้น

ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 64.29 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 52.49 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 14.44 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.72

 

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานระบุยังต้องจับตาการเลิกจ้าง

นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ยังระบุว่าภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ในภาวะปกติ การจ้างแรงงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน จำนวน 10,176,391 คน มีอัตราการขยายตัว 2.89% (YoY) ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2.66%(YoY) สำหรับการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนกรกฎาคม 2558 มีจำนวน 135,543 คน มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 5.47 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายต้ว 0.72% (MoM) เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ที่มีจำนวน 134,573 คน อย่างไรก็ตาม การเลิกจ้างจากตัวเลขผู้ถูกเลิกจ้างที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ 8,381 คน มีอัตราขยายตัว (YoY) อยู่ที่ 46.98 % ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงมากขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (32.19%)

โดยในด้านสถานการณ์จ้างงานจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 10,176,391 คน มีอัตราการขยายตัว 2.89% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนกรกฎาคม 2557) ซึ่งมีจำนวน 9,890,353 คน แต่หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (YoY) ของเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 โดยในเดือนกรกฏาคม 2558 มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 2.89% เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2558 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 2.66% สถานการณ์การจ้างงานขยายตัวมากกว่า 1% จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

ในด้านสถานการณ์ว่างงานจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้ว่างงานจำนวน 135,543 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนกรกฎาคม 2557) มีจำนวน 128,510 คน แสดงว่าผู้ว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว (%YoY) อยู่ที่ 5.47% ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดือนมิถุนายน 2558 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2557 (%YoY) ซึ่งอยู่ที่ 9.31% แม้นว่าหากเทียบระหว่างเดือนกรกฎาคม 2558 เทียบกับ เดือนมิถุนายน 2558 (%MoM) ชะลอตัวจากเดือนที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 13.66% มาอยู่ที่ 0.72%

ในด้านสถานการณ์เลิกจ้างจากข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2558 มีผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมจำนวน 8,381 คน (มีอัตราขยายตัวอยู่ที่ 46.98%) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (กรกฎาคม 2557) มีอัตรา 5,702 คน ดังนั้น ณ เดือนกรกฎาคม 2558 สถานการณ์เลิกจ้างยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตัวเลขการเลิกจ้างเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเช่นกัน (MoM) อยู่ที่ 32.19% อย่างไรก็ตามถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากการเลิกจ้างมีอัตราการเติบโตถึง 46.98% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ 41.01% (ใช้ฐานข้อมูลปี 2548 – 2551) กระทรวงแรงงานจึงได้สั่งการให้พื้นที่ทุกจังหวัดติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงาน โดยให้มีการแรงงานเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านแรงงานทุกเดือน โดยจับตาแนวโน้มและสัญญาณตัวเลขการเลิกกิจการ การเลิกโรงงานและความเคลื่อนไหวของการจ้างงานของธุรกิจทุกขนาดในพื้นที่จังหวัดอย่างใกล้ชิด

 

_______

[1]การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม

[2]การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม

[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (2): หลังรัฐประหารเขียนเสรีภาพสวยเสมอ

$
0
0

หมายเหตุ : เนื่องจากการสัมภาษณ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีรายละเอียดมาก ผู้เรียบเรียงจึงแบ่งออกเป็นตอนๆ เพื่อสะดวกแก่การติดตามอ่าน ตอนแรก เป็นการตัดตอนมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ตอนที่สองนี้จะย้อนไปตั้งแต่เริ่มต้นรายมาตรา ตั้งแต่หมวดสิทธิเสรีภาพถึงระบบเลือกตั้ง ตอนที่สามว่าด้วยวุฒิสภา องค์กรตรวจสอบ และบทสรุปภาพรวม การตัดตอนเช่นนี้อาจมีปัญหาบ้างในแง่ความต่อเนื่องเชื่อมโยง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้เรียบเรียง


ไชโย! คราวนี้แก้ รธน.ได้
ไม่ล้มล้างการปกครอง

วรเจตน์ชี้ให้เห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ มีความเปลี่ยนแปลงในมาตรา 34 ข้อห้ามใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างระบอบการปกครอง ซึ่งในรัฐธรรมนูญ 2550 คือมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า ส.ส. ส.ว.มีความผิดฐานแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้ง

โดยในร่างแรก มาตรา 31 เขียนว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

แต่ในร่างแก้ไขใหม่ซึ่งเปลี่ยนเป็นมาตรา 34 เขียนว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

ในกรณีที่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด กระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดได้ แต่มิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของสมาชิกวุฒิสภา หรือขององค์กรอื่น เป็นการกระทำตามมาตรานี้ ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้สิทธิเช่นว่านี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว”

มาตรานี้แก้ไขด้วยหรือ ผมไม่ทันสังเกต รู้แต่ว่าตอนแรกแก้ให้ใครก็ร้องศาลได้

มาตรา 34 เอาสิ่งซึ่งไม่ถูกต้องจากตอนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วมาเขียน อย่างที่เราทราบกัน ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องผ่านอัยการสูงสุด แต่คราวนี้เขียนให้ผู้ทราบการกระทำคือประชาชนทั่วไปร้องได้เลย แล้วฉบับแก้ไขใหม่ก็ไปเขียนต่ออีกว่า มิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของ ส.ส. ส.ว. หรือองค์กรอื่นเป็นการกระทำตามมาตรานี้ซึ่งความจริงมันไม่ควรเป็นการกระทำตามมาตรานี้อยู่แล้ว เพราะเป็นการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ แต่ก็ไปตะแบงกันคราวก่อนตอนที่เขาเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาเสนอแก้ไขตามระบบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไปตะแบงว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง นักกฎหมายบางท่านตะแบงไปว่ามันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ทั้งๆที่เห็นได้ชัดว่าผู้ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเขาใช้อำนาจหน้าที่ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

คือการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้คนต่างชาติมาอ่านเขาจะตลก เพราะเราไปเขียนว่า ให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นการกระทำตามมาตรานี้ ทั้งที่โดยสภาพมันไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นอยู่แล้ว ต้องเขียนทำไม เขียนเพื่อจะบอกว่าที่คราวที่แล้วตีความไปอย่างนั้น ที่ตะแบงกันไปอย่างนั้น มันไม่ผิดนะ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ยกเว้นมิให้ถือว่าการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ของ ส.ส. ของ ส.ว. หรือ องค์กรอื่นเป็นการกระทำตามมาตรานี้เหมือนที่ปรากฏอยู่ในร่างนี้อย่างนั้นหรือ แน่นอนคนเขียนก็จะบอกว่าจะได้ชัดๆไง ไม่ต้องเถียงกัน แต่ประเด็นคือ เรื่องนี้ไม่ควรต้องเป็นประเด็นเลย ในทางกลับกันกลับสร้างความชอบธรรมให้การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องในครั้งที่ผ่านมา ถ้าจะเขียน ควรจะต้องไปเขียนวรรคหนึ่งให้ชัดเจนเพราะหัวใจสำคัญอยู่ตรงนั้น

แปลว่าถ้าเขียนใหม่ในมาตรา 34 อย่างนี้ ถ้าพรรคการเมืองจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างครั้งที่แล้วก็สามารถทำได้ ไม่ผิด

ถูกต้อง แต่จะมีคนตีความในทางกลับกันว่า เพราะคราวที่แล้วยังไม่มีการเขียนแบบนี้ เลยทำไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินน่ะ ถูกแล้ว แต่ต่อไปนี้เขียนแล้วทำได้ คือผมไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี

เท่ากับยอมรับว่าที่จริงรัฐสภามีสิทธิแก้รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาพวกเอ็งผิดไปแล้วก็แล้วไป

ประมาณนั้น ผมอ่านแล้วรู้สึกถึงความ...(เซ็นเซอร์)...ของการเขียน จริงๆ แล้วมันผิดตั้งแต่คอนเซปท์อันแรกเลย มาตรานี้เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือการกระทำตามกระบวนการรัฐธรรมนูญ

วิธีคิดเรื่องนี้คือหากมีใครจะใช้สิทธิเสรีภาพทำลายระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญก็จะให้สิทธิเสรีภาพสิ้นสูญไปเช่น หากคุณใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การชุมนุม การรวมตัวกันเป็นสมาคม (ใช้เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นองค์การลับเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตย) การสอน การติดต่อสื่อสารถึงกันไปในทางที่ผิดเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย (บ้านเราอาจจะนึกถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง) เขาก็จะบอกว่าคุณไม่มีเสรีภาพมารวมตัวกัน เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างนี้มันทำลายระบอบประชาธิปไตย  มันเป็นกลไกที่ระบอบประชาธิปไตยมีขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง แต่บ้านเราเอามาดัดแปลงใช้จนฟั่นเฝือ ผิดเพี้ยนไปหมด

ประเทศที่เป็นต้นแบบคือเยอรมนี เขาไม่ได้ให้ใครก็ได้เป็นคนไปร้อง ไม่อย่างนั้นมันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่เขาให้องค์กรรัฐ คือให้รัฐบาล (ทั้งระดับสหพันธ์และมลรัฐ)หรือสภาผู้แทนราษฎรระดับสหพันธ์ที่จะเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้บอกว่าสิทธิด้านไหนบ้างของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่จะต้องสิ้นสูญไป จนกระทั่งพฤติการณ์ของบุคคลนั้นๆ กลับมาเป็นปกติจึงสามารถไปยื่นคำร้องขอเอาสิทธิกลับคืนมา หลักเป็นแบบนี้

แต่มาตรานี้ถูกเอามาใช้เล่นการเมืองกัน คราวที่แล้วดันไปบอกว่าที่ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งมันตลก มีนักวิชาการไปบอกว่าเป็นการใช้อำนาจผิดมาตรา 68 ผมบอกว่าไม่ใช่ มาตรา 68 เป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่เรื่อง ส.ส. ส.ว. หรือองค์กรของรัฐดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

เที่ยวนี้ผมเข้าใจว่า วันหน้าถ้าพวกเขาจะแก้รัฐธรรมนูญกันเอง ก็กลัวว่าเดี๋ยวจะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าจะล้มล้างอะไรอีก ก็เลยเขียนไว้ อีกอย่างการเขียนอย่างนี้ในทางกลับกันมีผลว่า เที่ยวที่แล้วที่เอ็งผิดไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงไม่ได้ผิดหรอก

ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องเขียนแบบนี้ใช่ไหม

ไม่ต้องเขียนเลย กรณีนี้ผิด 2อย่างด้วย คือไปเอาเรื่องอัยการออก จริงๆ ถ้าจะมีแบบนี้ก็ต้องให้อัยการเป็นคนพิจารณาเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกในเชิงคอนเซปต์ว่าองค์กรของรัฐควรเป็นคนยื่นเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ให้ใครที่ไหนก็ยื่นได้ ไม่อย่างนั้นก็ยื่นกันมันล่ะสิ ซึ่งก็คือการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนยื่นเรื่องที่พบเห็นการกระทำไม่ได้ถูกกระทบสิทธิอะไรเลย นี่เปิดโอกาสให้ยื่นกันเข้าไป แล้วปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอันมหาศาลในการที่จะดูว่าเรื่องไหนควรจะรับเป็นคดีดำเนินการต่อไป เรื่องไหนไม่ควรรับ การเป็นผู้เล่นในสนามการเมืองแบบที่มีอำนาจมากของศาลรัฐธรรมนูญก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น

มาตรา 34 ที่เพิ่มข้อความให้ยุบพรรคการเมือง แล้วให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้นี่จะกลายเป็นเครื่องมืออะไรได้ไหม

อันนี้ความจริงไม่ได้เพิ่มเข้ามาใหม่ ในรัฐธรรมนูญ 2550 ก็มี ความแตกต่างกันมีแต่เพียงว่าตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรรคการเมืองใดเลิกการกระทำ ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้ โดยในกรณีที่สั่งให้ยุบพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจต่อไปในอันที่จะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นเวลาห้าปีได้ด้วย แต่ในร่างรัฐธรรมนูญที่เรากำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่นี้ เขาเขียนให้ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองได้ ทั้งนี้ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้พูดเรื่องการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค

เราจะเห็นได้ว่าหลักการดั้งเดิมของเรื่องนี้คือการห้ามการใช้สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ย้อนกลับมาทำร้าย ทำลายระบอบประชาธิปไตย การสั่งให้สิทธิสิ้นสูญไป อันที่จริงต้องเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และจะต้องมีผลไปในอนาคต แต่ของบ้านเราใช้ว่าสั่งให้เลิกการกระทำ มิหนำซ้ำยังไปผูกกับการกระทำของพรรคการเมืองซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลอีก ทั้งๆที่กรณีของการยุบพรรคการเมืองมันควรเป็นเรื่องของนโยบายของพรรคที่ส่งผลทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การกระทำของบุคคลใดอันเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ก็ทำให้การยุบพรรคการเมืองทำได้โดยง่าย

 

สิทธิและเสรีภาพมาก?
ลักษณะพิเศษรัฐธรรมนูญหลังรัฐประหาร

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ชูจุดขายว่ามีสิทธิเสรีภาพมาก มากยิ่งกว่า 2540 ยิ่งกว่า 2550

มันก็มีแต่ถ้อยคำ ผมอยากอธิบายว่ารัฐธรรมนูญไทยมีพัฒนาการ หรือมีคาแรกเตอร์สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังรัฐประหาร (หมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ต่อเนื่องมาจากฉบับชั่วคราว) จะเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างยาว เพื่อไปเกลื่อนกลืนกับส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ธรรมเนียมการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้เริ่มหลังรัฐประหารปี 2490คือรัฐธรรมนูญปี 2492 ปรากฏชัดอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 ในรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐธรรมนูญสยามฉบับแรกไม่มีเรื่องสิทธิเสรีภาพ  ฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 คือ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กับฉบับปี 2489 มีเรื่องนี้แต่สั้น กระนั้นก็ครอบคลุมสิทธิสำคัญๆทั้งหมด พอรัฐประหารปี 2490 แล้วมาทำรัฐธรรมนูญปี 2492 นี่เป็นครั้งแรกเลยที่มีการบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ยาว รวมถึงมีเรื่องแนวนโยบายแห่งรัฐ สังเกตดูสิว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ก็บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้ยาวกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เพราะมันเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

เที่ยวนี้ยิ่งหนักไปกว่าเดิม ยาวมาก ถามว่าทำไมต้องยาว ก็เพราะว่าเขาต้องการเอาบทบัญญัติเรื่องสิทธิไปโชว์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพเต็มไปหมด

เราอาจสรุปได้ว่ายิ่งรัฐธรรมนูญมีบทแห่งสิทธิเสรีภาพยาวเท่าไร ยิ่งแปรผกผันกับความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น บ้านเราไม่เหมือนกับของชาวบ้านเขา รัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่มันเหมือนกับรัฐธรรมนูญ ปี 2492บทสิทธิยิ่งยาวมาก ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งน้อยหรือว่าไม่มี

ด้านหนึ่งเขียนเพิ่มอำนาจรัฐ อำนาจที่ไม่มาจากเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็ไปเขียนเรื่องสิทธิให้ดีขึ้น แต่เมื่อรัฐมีอำนาจมากขึ้นก็มาทำลายสิทธิอยู่ดี อย่างนั้นใช่ไหม

การเขียนเรื่องสิทธิมากขึ้นยังเป็นการไปเพิ่มอำนาจในการตีความให้กับองค์กรตรวจสอบ และที่บอกว่ามีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น เมื่อไปดูในรายละเอียดก็ไม่แน่เสมอไป

ในบางมาตราก็มีการวางเงื่อนไขหรือมีการตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้นด้วย เช่น เรื่องเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในทางวิชาการ ในเรื่องเหล่านี้แบบเก่าดีกว่า คือมีการวางหลักเรื่องสิทธิไว้ แต่การตรากฎหมายจำกัดสิทธิจะมีเงื่อนไขให้น้อยกว่า

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดอำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้น ซึ่งพอเปิดอำนาจมากขึ้น ฝ่ายสภาหรือองค์กรอื่นๆ ก็ทรงอำนาจในการไปตรากฎหมายจำกัดสิทธิมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการอ่านกฎหมายเรื่องสิทธิเราจะไม่อ่านเรื่องของการที่เข้าไปรับรองสิทธิเท่านั้น แต่ต้องดูว่าอำนาจในการตรากฎหมายเข้าไปจำกัดสิทธิมีมากขึ้นไหม ซึ่งในบางกรณีมันเพิ่มขึ้นไปด้วย

อีกประการหนึ่งคือ ในหมวดสิทธิมีประเด็นกำหนดให้บุคคลสามารถใช้สิทธิทางศาลบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ได้โดยตรง ในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายบัญญัติแต่แม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง ปัญหาคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติสิทธิให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐกระทำการในหลายเรื่อง แต่ว่ากฎหมายมันไม่มี เมื่อประชาชนอ้างสิทธิแล้วจะทำอย่างไร มันจะมีปัญหาอยู่ดีตอนบังคับการตามสิทธิ

ผมดูตัวอย่างมาตรา 53 เสรีภาพในการชุมนุม มีข้อความเพิ่มจากรัฐธรรมนูญ 2550 การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่... คราวนี้มีเรื่องศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข เพิ่มเข้ามาด้วยนะ แปลว่าต่อไปจะต้องเป็นม็อบอนามัย มาตรา 51 ก็เพิ่มเสรีภาพเรื่องวิจารณ์ศาลว่าที่ได้กระทำโดยสุจริตตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แล้วถ้าไม่เป็นไปตามหลักวิชาล่ะ

อย่างที่บอกไง ดูเผินๆ เหมือนรับรองสิทธิมากขึ้น  แต่เวลาอ่านเรื่องสิทธิอ่านเพียงแค่ดูว่ามันเยอะๆไม่ได้  ต้องดูอำนาจในการตรากฎหมายเข้าไปจำกัดสิทธิ โดยหลักเรื่องสิทธิ ควรถือว่าสิทธิมีอยู่แล้ว ส่วนจะเข้าไปจำกัดเรื่องไหนต้องมีรัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจ วางเงื่อนไขในการเข้าไปจำกัดสิทธิ เพราะฉะนั้นยิ่งเขียนเงื่อนไขเข้าไปจำกัดสิทธิมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่รัฐจะก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิของประชาชนยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โอกาสที่องค์กรตุลาการจะใช้อำนาจในการตีความเพื่อบีบจำกัดสิทธิให้แคบลงก็มีมากขึ้นเท่านั้น

รัฐธรรมนูญอเมริกาตอนที่ประกาศใช้ครั้งแรกไม่ได้เขียนเรื่องสิทธิเอาไว้ เพราะโดยแนวคิดแล้วเขาเชื่อว่าสิทธิมันมีอยู่แล้ว การไปเขียน ยิ่งเขียนเยอะ ยิ่งทำให้สงสัยว่าถ้าไม่เขียนเท่ากับว่าไม่มีหรือ ตอนหลังก็มีการต่อรองกันเพื่อให้รัฐต่างๆที่มารวมกันเป็นสหรัฐอเมริกายอมรับรัฐธรรมนูญ คือตกลงกันว่าถ้ารับรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมให้มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพต่อมามีการแก้รัฐธรรมนูญให้มีบทแก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มเรื่องสิทธิเข้าไป แต่ตอนแรกคนที่ร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่มีความจำเป็น  การไม่เขียนนั้นดีกว่า เพราะเท่ากับว่ามีทั้งหมด

ดังนั้นในแง่นี้รัฐธรรมนูญถาวร 2475 รัฐธรรมนูญ 2489 เขาเขียนเรื่องสิทธิไม่เยอะก็จริง แต่ว่ามันครอบคลุมกว่าเขียนในรัฐธรรมนูญอย่างสวยหรูในตอนต้นแต่กลับถูกทำลายในตอนท้ายในบทเฉพาะกาล ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าเอาเข้าจริงแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่  สิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างหลากหลายและทั่วถึง ทำได้จริงหรือ ถ้าทำได้จริงทำไมยังต้องมีกวดวิชากันอย่างเป็นล่ำเป็นสันอยู่

ประเด็นหนึ่งที่กรรมาธิการยอมแก้ไขคือเลิกใช้คำว่าพลเมือง

มันก็ต้องใช้คำว่าบุคคล เพราะเป็นคำตามกฎหมายเขาใช้แยกกันระหว่างหมวดเรื่องสิทธิของปวงชนชาวไทย กับหมวดว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำว่าบุคคลในหมวดสิทธิมนุษยชนหมายถึงมนุษย์  ในหมวดปวงชนชาวไทยก็หมายถึงผู้ถือสัญชาติไทย อันนี้แก้ถูกแล้ว

ที่เขาพยายามชูเรื่องความเป็นพลเมืองขึ้นมา ก็คือเขาพยายามทำลายคำว่า “ราษฎร”  สิ่งที่เขาอธิบายแรกสุดก็คือเขาพยายามทำให้ประชาชนเป็นพลเมืองไม่ใช่ราษฎร เพราะคำว่าราษฎรหมายถึงคนซึ่งตกอยู่ในบังคับ ตกอยู่ในอำนาจ  นี่คือความพยายามที่เขาจะใช้ภาษาหรือวาทกรรมเข้ามาสร้างความชอบธรรมในการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ความหมายของคำว่าราษฎรในทางประวัติศาสตร์ตามรัฐธรรมนูญ ผมเคยอธิบายไปแล้วว่าในความเห็นของผมหมายถึงเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ

หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ก็ใช้ถ้อยคำและเนื้อที่มากกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 77-95 รวมแล้ว 19 มาตรา

แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ความจริงไม่ควรต้องมีในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญวางหลักการที่เป็นคุณค่าพื้นฐานก็พอ เป็นนิติรัฐ เป็นสังคมรัฐ มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม กลไกตลาด หลักๆ มีเท่านี้พอ อย่างอื่นๆต้องปล่อย แต่นี่เราไปเขียนล็อคไว้หมด ซึ่งเป็นธรรมเนียมจากปี 2492 ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญจะเห็นสิ่งตกค้างมาจากรัฐประหารผิณชุณหะวัณ เยอะเลย แนวนโยบายยิ่งเขียนก็ยิ่งเยอะ แล้วแนวนโยบายพวกนี้ก็จะใช้เป็นเครื่องมือโจมตีด่าทอกันทางการเมืองมากกว่า บางอย่างก็เป็นเหมือนกับวินิจฉัยหรือตัดสินในบางเรื่องไปด้วย บีบให้ต้องทำเรื่องตรงนั้น ทั้งที่ความจริงหลายเรื่องที่อยู่ในหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมันเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินกันทางการเมือง ต้องให้ถามประชาชนหรือบางเรื่องต้องตัดสินกันด้วยการทำประชามติด้วยซ้ำไป

บางเรื่องก็แปลก เช่นเรื่องศาสนารัฐควรมีท่าทีอย่างไร ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีการอภิปรายกันน้อยมาก รัฐไทยควรเป็นกลางทางศาสนาให้มากขึ้นไหมอะไรทำนองนี้ แทบจะไม่มีการอภิปรายเลย

แล้วก็เอาคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติมาทิ้งท้ายยังไม่รู้มาจากไหน องค์ประกอบเป็นอย่างไร อำนาจหน้าที่ทำอะไรบ้าง อันนี้จะเป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีกที แต่เขียนเป็นติ่งไว้ เหมือนไข่เอาไว้แล้วเดี๋ยวค่อยไปฟักอีกที

ผู้นำทางการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี นี่ก็ใช้คำสวย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาพยายามจะบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญจากคนดีมีคุณธรรม  จริงๆแล้วผมอยากจะบอกว่าถ้าจะเขียนเรื่องผู้นำการเมืองที่ดีก็ควรเขียนแบบซื่อตรง แต่นี่ไม่ซื่อตรงเพราะมาตรา 3 บอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เอาเข้าจริงๆไม่ใช่ การเขียนก็ไม่ตรงต่อภาพรวมทั้งหมดของรัฐธรรมนูญแล้วพยายามเขียนคำว่าที่ดีลงไปแต่พอเริ่มต้นก็ไม่ดีเสียแล้ว

มีข้อสังเกตว่าในภาค 2 หมวด 1มีความพยายามที่จะสร้างกลไกควบคุมนักการเมืองในความหมายถึงผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ พยายามทำมาตรฐานทางจริยธรรมต่างๆ ขึ้นมา แล้วกำหนดด้วยว่าการฝ่าฝืน ไม่ทำตามมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นเหตุแห่งการถอดถอน แต่เหตุแห่งการถอดถอนก็ยังไม่เท่าเทียมหรือยังไม่ยุติธรรมซึ่งเดี๋ยวจะพูดต่อไป

มาตรา 76 มีความเปลี่ยนแปลงเพราะกรรมาธิการสตรีผลักดันจนลาออก แล้วกรรมาธิการก็ต้องยอมให้มีสัดส่วนผู้หญิงหนึ่งในสามของผู้สมัครบัญชีรายชื่อ

แต่เขาใช้คำว่า “ต้องมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม”

คราวนี้อย่างไรล่ะ แล้วพวกข้ามเพศ พวกTransgender พวก LGBT พวกนี้จะเอายังไงล่ะ รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่ามีสองเพศเท่านั้น ในหมวดสิทธิที่มีคำว่าเพศสภาพเป็นการอธิบายว่าไม่ได้เป็นเรื่องแค่สองเพศ ก็จะมีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญเขียนไม่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน มาตรา 76 วรรค 3 นี้รัฐธรรมนูญระบุว่ามีแค่เพียงสองเพศ มีเพียงเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่ง ในขณะที่บทว่าด้วยสิทธิและความเสมอภาคเขาใช้คำว่าเพศสภาพ ซึ่งคำว่าเพศสภาพมันอธิบายได้ว่ามีความหลากหลายทางเพศ

เจตนาของเขาคือผู้หญิงหนึ่งในสาม แต่เขียนรัฐธรรมนูญก็จะเขียนแค่คำว่าผู้ชายกับผู้หญิงไม่ได้

เพราะเดี๋ยวเกิดมีผู้หญิงล้วนๆ(หัวเราะ) เลยต้องกำหนดให้มีสัดส่วนหนึ่งในสาม จริงๆผมคิดว่าเรื่องนี้มันพูดยากนะ จะปล่อยก็ได้ให้มันพัฒนากันไปก็ได้ อันนี้ก็แล้วแต่ บังเอิญคนพูดเป็นผู้ชาย เดี๋ยวพวกเฟมินิสต์จะว่า

ผมรู้สึกว่าถ้าจะทำเรื่องพวกนี้จริงๆควรทำเรื่องการส่งเสริมความเสมอภาคและความหลากหลายในแง่ของเพศในทางสังคม น่าจะเป็น priority แรกก่อนที่จะมาทางการเมือง  ไม่ใช่มาบังคับในทางการเมืองว่า 1 ใน 3 ต้องเป็นผู้หญิง ตอนนี้มีการรวมกลุ่มกันของคนที่เป็น LGBT และในอนาคตหากพวกเขาจะมีบทบาททางการเมืองบ้าง เขาต้องทำอย่างไร จะบอกว่าควรมีสัดส่วนทางเพศอย่างไร เพราะในพรรคของเขาก็อาจเกี่ยงกันว่าใครเป็นเพศชายใครเป็นเพศหญิงแล้วถ้าเกิดมีการแปลงเพศแล้ว จะดูยังไง  คนเขียนก็คงเขียนตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้หญิง แต่ปัญหาตอนนี้มันไปไกลกว่าเรื่องชาย-หญิง ดังนั้นการคิดแบบนี้ก็ไม่ครอบคลุม

Open List ยังอยู่

การเลือกตั้ง ส.ส.เขายังยืนตามเดิมนะ คือ ระบบสัดส่วนผสม ในส่วนบัญชีรายชื่อก็ยังเป็น open list อยู่ ที่มีการท้วงติงไปหลายเรื่องเขาไม่ได้ฟังเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะยังไม่เอามาใช้ มันเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล

ครั้งแรกก็เลือกไป มีส.ส.ระบบแบ่งเขต มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในระบบบัญชีรายชื่อก็จะมีการจัดอันดับ ประชาชนก็เลือกที่พรรคการเมืองเท่านั้นเอง แต่ยังไม่มีสิทธิลงไปกาเลือกคนในบัญชีรายชื่อ แต่การเลือกตั้งหลังจากครั้งแรกจะลงไปกาชื่อคนในบัญชีและจะนับคนในบัญชีว่าคนไหนที่มีเสียงเยอะก็จะอยู่อันดับหนึ่งของบัญชี

อย่างที่ผมเคยวิจารณ์ไปและยังยืนยันในคำวิจารณ์นั้นอยู่ว่าระบบนี้ไม่ดี เพราะมันทำให้คนในบัญชีต้องแข่งกันเอง

อีกอย่างที่แก้ไขก็คือ เขาเลิกระบบของการแบ่งภาค ระบบแบบบัญชีรายชื่อใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง คือกลับไปใช้แบบ 2540หรือ 2550หลังแก้ไขสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์

การใช้เขตประเทศจะทำให้จำนวน ส.ส.ส่วนเกินเพิ่มขึ้นหรือลดลง

อันนี้อาจจะต้องดูจำนวนพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งประกอบด้วย ถ้ามีพรรคการเมืองลงเลือกตั้งหลายพรรค แล้วมีคะแนนเสียงถึงสัดส่วนที่จะได้เก้าอี้ในสภาผู้แทน แต่ไม่ชนะในเขตเลือกตั้ง ก็อาจจะเกินมาได้ แต่ของเรากำหนดไว้ที่ไม่เกิน 170 ที่นั่ง อันนี้อาจจะต่างจากเยอรมันซึ่งไม่กำหนดขั้นสูงไว้

เรื่องที่อาจเป็นประเด็นในการเลือกตั้งคือ open list คือเมื่อใช้ประเทศเป็นเขตประเทศมันใหญ่มีโอกาสมากที่คุณได้คะแนนเสียงในบัญชีรายชื่อเยอะแต่คำนวณที่นั่งในบัญชีรายชื่อระบบ open list แล้วไม่ถึงลำดับของคุณ

สมมติเรา 5 คนอยู่บัญชีรายชื่อเหมือนกันจัดลำดับคะแนนแล้วผมได้ที่ 5ได้คะแนนเสียง 200,000 แต่ปรากฏว่าพรรคผมชนะในเขตเลือกตั้งได้ที่นั่งจำนวนหนึ่งบางเขตได้คะแนน 30,000 บ้าง 40,000 บ้างแต่เมื่อคำนวณแล้วเป็นสัดส่วนที่ได้ในบัญชีรายชื่อ 4 คนผมเป็นคนที่ 5 ได้คะแนนตั้ง 200,000 แต่ไม่ได้เป็นส.ส. พวกส.ส.เขตได้คะแนนน้อยกว่ากลับได้เป็นส.ส. มันอาจเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ง่ายขึ้นอีกเมื่อใช้ประเทศเป็นเขต แต่ประเด็นสำคัญคือ open list มันทำให้แข่งกันเอง

ระบบนี้ไม่มีที่ไหนในโลกใช่ไหม

ผมว่าไม่มีนะผมเข้าใจว่าประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตด้วยและบัญชีรายชื่อด้วยไม่น่าจะมีที่ไหนที่เขาใช้แบบopen list น่าจะมี open list เฉพาะประเทศที่ใช้ระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียว แต่อันนี้ต้องไปถามคนยกร่างว่าศึกษาประเทศไหนมา

เขาชอบอ้างทั่วโลก

อันไหนที่มีแล้วเข้าทางเขาก็มักเอามาอ้างบางทีอันหนึ่งมันผูกกับอันอื่นทั้งระบบมันมีเหตุผลรองรับของมันพอไปดึงส่วนหนึ่งมามันอาจจะอ้างได้แต่ระบบที่เชื่อมโยงมันเป็นอีกแบบคนเหล่านี้ก็อ้างผิดมาตั้งหลายเรื่องนะแต่ไม่เคยยอมรับเอาความต้องการทางการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหลักคือมันเหมือนถอดเอาอะไหล่ตัวหนึ่งของเขามาแต่อะไหล่ตัวนี้จะฟังก์ชั่นต่อเมื่อมีอะไหล่ตัวอื่น

อะไหล่ปลอม (หัวเราะ)

อะไหล่ปลอมบ้างอะไรบ้างบางอย่างเขาก็เลิกผลิตไปแล้วอย่างองค์กรไต่สวนอิสระของอเมริกาเขาก็เลิกไปแล้ว แต่ของเราเอามา

 

บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค
แต่พรรคขับออกไม่ได้

ปัญหาสำคัญที่ต้องพูดกันคือเรื่องสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคการเมือง ในที่สุดก็ไม่เปิดโอกาสให้สมัครโดยอิสระได้อยู่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่ให้พรรคขับสมาชิกออก

ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 113 (9) บัญญัติว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อ “ลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก”ซึ่งตัดไปจากมาตรา 106 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เขียนว่า “หรือพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก”

แปลว่าต่อไปพรรคการเมืองจะขับ ส.ส.ออกไม่ได้

ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะไปเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังไงต่อไป บทบัญญัติเดิมที่ให้ขับสมาชิกออกจากพรรคได้ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ยังคงบังคับว่าคนที่จะเป็น ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และสมาชิกภาพของคุณจะมีอยู่คุณต้องอยู่กับพรรค ถ้าคุณลาออกจากพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองของคุณถูกยุบแล้วคุณไม่สามารถหาพรรคการเมืองใหม่อยู่ได้ภายใน 60 วันก็จะหมดสมาชิกภาพแต่ขณะเดียวกันก็ตัดบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองขับ ส.ส.ออกจากพรรคออกไป ทีนี้ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นว่าถ้า ส.ส.ของพรรคทำลายภาพลักษณ์ของพรรคจะให้ทำอย่างไร

เรื่องนี้เป็นปัญหารากฐานของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมหาชนบ้านเรา คือผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังแยกแยะfunction ของพรรคการเมือง กับfunctionของกลุ่มที่เป็น ส.ส.ในสภาไม่ได้ ยังเข้าใจว่าพรรคการเมืองเป็นหน่วยในทางมหาชน หรือบางท่านไปเข้าใจว่านิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชนอยู่ กฎหมายเองก็เขียนโยงอำนาจตัดสินเกี่ยวกับเรื่องราวของพรรคการเมืองไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในความจริงพรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของเอกชน ควรเป็นนิติบุคคลเอกชน กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองจึงต้องคล้ายๆ กับสมาคม การเป็นสมาชิกของพรรค การออกจากพรรค ต้องว่ากันไปแบบนั้น มันต้องขึ้นกับเจตจำนงของตัวพรรค แล้วถ้ามีเรื่องก็ควรให้ศาลยุติธรรมตัดสิน ไม่ควรเอาสมาชิกภาพของ ส.ส.ไปผูกกับความเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง

ในขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่าการที่คนมาอยู่รวมกันเป็นพรรคการเมือง ถ้าทำในสิ่งซึ่งคนในพรรคนั้นเขาไม่ปรารถนา ทำลายภาพลักษณ์ชื่อเสียงของพรรค ทำไมจะให้เขาออกไม่ได้ การขับสมาชิกของพรรคออกจากพรรคน่าจะทำได้ อันนี้อาจต้องไปดูพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่ากรรมาธิการยกร่างจะเขียนต่อไปอย่างไร

งั้นถ้า พ.ร.บ.พรรคการเมืองบอกให้พรรคขับสมาชิกออกได้ ถ้าสมาชิกคนนั้นเป็น ส.ส. จะพ้นจากส.ส.ด้วยไหม

ก็ไม่ได้เขียน สมมติ พ.ร.บ.พรรคการเมืองบอกให้เอาสมาชิกออกได้ แต่ถ้าไม่ได้ออกเพราะลาออกเอง ไม่ใช่พรรคถูกยุบแล้วหาพรรคอยู่ไม่ได้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เขาก็ไม่ได้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. แล้วสถานะของคนพวกนี้จะเป็นยังไง

หรือจะเขียนบังคับไว้ว่าพรรคการเมืองไม่มีสิทธิขับสมาชิกออก

มันก็จะตลก มันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะการเข้าเป็นสมาชิกมันเข้าโดยสมัครใจ สมัครเข้าไปก็ต้องให้พรรครับ มันมีกฎกติกาที่รับ รับแล้วอยู่ในพรรคแล้วกระทำการอันไม่เป็นที่พึงประสงค์ของพรรคในแง่ของการทำให้พรรคสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของสาธารณชน หรือมีความประพฤติส่วนตัวเหลวไหลอื้อฉาวมันก็สมควรที่ก็ต้องขับออกได้ อันนี้คิดจากตรรกะทั่วไปในการที่พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวกัน มันเป็นไปไม่ได้ที่เราเป็นสมาชิกสมาคมหนึ่งแล้วเขาไม่สามารถขับเราออกได้แต่ปัญหาคือ ถ้า ส.ส.ถูกพรรคขับออกมันจะเป็นอย่างไรในเชิงสมาชิกภาพในเมื่อมุมหนึ่งคุณบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แล้วกำหนดเอาไว้ว่าถ้าลาออกจากพรรค ก็เสียสมาชิกภาพ ส.ส.

ต้องฝากถามท่านนักปราชญ์ทั้งหลายในกรรมาธิการว่าคิดยังไง แต่ logic คือ เราควรต้องแยกระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มส.ส.ออกจากกัน พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน เราเป็นสมาชิกพรรคแต่อาจไม่ได้เป็นส.ส.ก็ได้ เราร่วมในกิจกรรมของพรรคในด้านต่างๆ แต่ถ้าคุณมาเป็นส.ส.คุณต้องมีวินัยของ factionคือวินัยของพรรคการเมืองในสภา แต่ตัวนี้ต้องแยกออกจากพรรคการเมืองซึ่งอยู่นอกสภา เพราะคนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ต้องผูกพันอยู่กับระเบียบ วินัยของพรรคการเมือง ส่วนคนที่เป็นส.ส.ก็ต้องผูกพันกับวินัยของกลุ่มส.ส.ในสภาด้วย นอกเหนือจากการผูกพันกับวินัยของพรรคในฐานะสมาชิกพรรค และสองอันนี้ควรแยกกัน

ถ้าแยกกันตามมาตรฐานอย่างนั้นแล้วจะขับออกยังไง

ถ้าคุณถูกขับออกจาก faction คุณยังเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่นะ พรรคการเมืองต้องใช้อำนาจของพรรคในการขับคุณออกจากพรรคอีกทีหนึ่ง เพราะสถานะสองสถานะนี้มันแยกกัน มันไม่ควรจะรวมกัน ซึ่งถ้าเราไม่ได้บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค การถูกขับออกก็ไม่มีความหมาย ขับออกก็เป็นส.ส.อิสระ แต่พรรคจะบอกว่าคนคนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองนี้แล้วนะ คนคนนี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มส.ส.ของพรรคการเมืองนี้ในสภาหรือ faction นี้แล้วนะ แล้วในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนในพื้นที่ก็จะตัดสินใจเองว่าจะยังเลือกเขาอีกไหมโดยเฉพาะคนที่ผูกพันอยู่กับพรรคพรรคการเมืองในสภาหรือ factionในเยอรมันจึงใช้ตัวนี้เป็นตัวกำกับพฤติกรรมหรือวินัยของการอยู่ร่วมกัน

แต่แน่นอน เราก็ไม่ควรให้พรรคขับออกเพราะเหตุฝ่าฝืนมติของพรรค ซึ่งตรงนี้กรรมาธิการยกร่างเขียนรับรองไว้เรื่อง free mandateซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง คือพรรคไม่สามารถมีมติผูกมัดสมาชิกของพรรคในการลงมติเรื่องใดได้ แต่ในด้านหนึ่งพรรค (หมายถึง faction ในสภา) ต้องคุมวินัยของส.ส.ได้ เช่น การประชุมนี้สำคัญ เขาจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงผ่านกฎหมายที่พรรคหาเสียงไว้กับประชาชนแล้วคุณไม่มา หรือคุณแสดงความเห็นไปในทิศทางซึ่งขัดกับแนวทางที่พรรคหาเสียงไว้ พรรคก็ต้องประกาศหรือทำอะไรสักอย่างได้ เช่น พรรคประกาศหาเสียงชัดรู้ทั้งบ้านทั้งเมืองว่า จะแก้กฎหมายทำแท้ง พอได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.เสร็จแล้วคุณบอกว่าคุณไม่เอา แน่นอน เราบังคับไม่ได้เรื่องการโหวต เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ในฐานะที่คุณเป็นสมาชิกของพรรค พรรคก็คงต้องมีอำนาจอะไรบางอย่างเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นการอยู่ร่วมกันก็ลำบาก

สรุปแล้ว ส.ส.ควรมี free mandate แต่ก็ต้องมีวินัยพรรค มันจะไปด้วยกันอย่างไร

มันต้องมี 2 อัน ผมเทียบง่ายๆ เหมือนหลักความมีอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ ผู้พิพากษาตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี แปลว่าเวลาตัดสินคดีต้องไม่รับใบสั่งจากใคร ต้องผูกพันตนเองต่อกฎหมายและความยุติธรรมในการตัดสินคดี แต่อิสระนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมาศาลเมื่อไรก็ได้ นัดคู่ความ 9.30 น. แล้วลงมา 11.00 น.แล้วอ้างอิสระ หรือองค์คณะเขาตั้งประเด็นไว้ ตุลาการมีอิสระบอกว่าประเด็นนี้ผมโหวต ประเด็นนี้ผมไม่โหวต มันไม่ได้ คุณต้องทำตามกฎหมายวิธีพิจารณา

คล้ายๆ กับ ส.ส. อิสระของ ส.ส. คือ จำนนต่อมโนธรรมสำนึกของตัวในการออกเสียง ในการอภิปราย ในการแสดงความเห็น ไม่ควรให้พรรคมามีอำนาจเป็นเผด็จการว่าพรรคสั่งแบบนี้ เอ็งต้องเป็นแบบนี้ อันนี้ก็เป็นเผด็จการสิ ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันถ้าพรรคไม่สามารถกำกับพฤติกรรมของ ส.ส.ตัวเองได้เลยก็ไม่ถูก ส.ส.ไปพูดจากระทบกระเทือนกับภาพลักษณ์ของพรรค มีพฤติกรรมอันส่งผลทำให้พรรคเสียชื่อเสียง พรรคต้องจัดการได้ มันต้องแยกกัน

แล้วถ้า free mandate ไม่ไปกับนโยบายของพรรคล่ะ ถ้าพรรคประกาศนโยบายนั้นในการหาเสียงเลือกตั้ง เช่นประชาชนรับรู้ร่วมกันแล้วว่าจะแก้กฎหมายทำแท้ง แล้วเลือกเข้ามา ปรากฏคุณไม่เอา ยกมือสวน

อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องของ ส.ส. ถ้าเป็นเรื่องการออกเสียงลงคะแนน หลักความเป็นอิสระของ ส.ส.ต้องอยู่สูงกว่าหลักการอื่น แต่พรรคจะต้องทำอะไร พรรคอาจจะบอกว่าผมไม่ส่งคุณลงสมัครครั้งต่อไป อีกอย่างถ้าหาเสียงไว้อย่างนั้น มันก็เท่ากับหักหลังคนส่วนใหญ่ที่เลือกตนเข้ามา ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปของ ส.ส.คนนั้นย่อมเป็นที่คาดหมายได้

ขับออกได้ไหม

ประเด็นนี้ถ้าถามผม ผมคิดว่าไม่เพียงพอ ขับออกไม่ได้ อาจต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบกัน เขาโหวตสวนพรรคแล้วพูดจาให้ร้ายพรรคอีก ถ้ามีพฤติการณ์อื่นประกอบมากพอทำให้เห็นว่าไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

ผมสงสัยเรื่องนี้เพราะถ้าลองแยกสองกรณี ถ้าเป็นกฎหมายใหม่ ที่พรรคไม่เคยตกลงเป็นนโยบายหาเสียงร่วมกัน พรรคจะเอาอย่างนี้ แต่ผมเป็นส.ส.ผมเห็นอีกแบบ หรือกระทบประชาชนในพื้นที่ผมไม่เอาด้วย อย่างนี้น่าจะถือเป็น free mandateเต็มๆ พรรคไม่ควรไปทำอะไรได้ แต่ถ้ากฎหมายนี้หาเสียงมาด้วยกัน แล้วคุณดันโหวตสวน อันนี้น่าจะผิด

มันก็ยังต้องถือเป็น free mandate อยู่ดี free mandate คือเอกสิทธิ์ในการโหวต พรรคไปบังคับไม่ได้ พรรคมีมติได้แต่มติของพรรคเป็นเพียงคำแนะนำในการโหวตเท่านั้นว่าทิศทางของพรรคเป็นแบบนี้นะ แต่ส.ส.ต้องมีสิทธิอยู่เสมอที่จะโหวตตามมโนธรรมสำนึกของเขา พรรคจะเอาเหตุที่เขาโหวตสวนมาเป็นมติในการขับออกไม่ได้ อันนี้ความเห็นผม แต่ถ้าคุณไม่ได้แค่โหวตสวนแต่มีพฤติการณ์อื่นอีกที่ทำลายพรรคที่คุณสังกัด อันนี้มันมากไปกว่าการใช้ free mandate ไม่เคารพการอยู่ร่วมกัน มันต้องสามารถจัดการอะไรบางอย่างได้ แต่ทั้งหมดเป็นการบาลานซ์ มันสุดขั้วไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้

ฉะนั้นที่กรรมาธิการเขียนเรื่อง free mandate เติมเรื่องอภิปราย ลงมติ พวกนี้ถูกต้อง แต่ปัญหาคือพอไปตัดเรื่องการขับออกจากพรรคมันก็เป็นประเด็น จริงๆ เรื่องนี้จะแก้ปัญหาต้องแก้ที่รากฐาน คือเราไม่ควรบังคับให้บุคคลต้องสังกัดพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้ง อันนี้คือหลัก เราต้องถือหลักในแง่ที่ว่า การที่บุคคลเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่ว่าจะเข้าไปในแง่ของการเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หรือเข้าไปในแง่ของอาสาให้คนอื่นเขาเลือก (ลงสมัครรับเลือกตั้ง) ก็ตาม ระบบกฎหมายควรรับรองให้เป็นสิทธิ ด้วยเหตุนี้ในแง่การลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่ควรต้องไปบังคับให้เขาต้องเข้าอยู่ในพรรค ก็เขาอาจบอกว่ามันไม่มีนโยบายพรรคไหนเลยที่เขารับได้ เขาต้องการเสนอความคิดของเขาให้ประชาชนเลือก

ดังนั้นผมสนับสนุนให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค แต่เรื่องนี้มันเป็นคนละอันคนละประเด็นกับเรื่องที่มีการพูดกันว่าจะทำให้เกิดเผด็จการพรรคการเมือง มันเป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วผมก็ไม่สนับสนุนออกกฎหมายบังคับให้สังกัดพรรคการเมืองเพราะว่า กลัวส.ส.ไปขายเสียง รับสตางค์ เรื่องพวกนี้ไม่ควรเอามาเป็นประเด็นคิดในแง่ของการบังคับการตามสิทธิ เรื่องรับเงินมันไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้องไปจัดการอย่างอื่น ถามว่าสังกัดพรรคแล้วจะไม่มีการรับเงินโหวตหรือ

ประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญถูกต้องแล้วในการวางหลัก free mandate แต่ปัญหาที่ยังไม่ถูกต้องคือ อีกด้านหนึ่งต้องมีวินัยของพรรค การคุมวินัยของพรรคหรือวินัยของกลุ่มการเมืองในสภาทำได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ถอนคืนตำแหน่ง คุณเป็น ส.ส.ของพรรคไปละเมิดกติกาการอยู่ร่วมกัน ไปเป็นกรรมาธิการในโควตาของพรรคหรือ faction ก็ต้องถอนคืน แต่ระบบบ้านเราไม่มี

ด้านหนึ่ง ส.ส.มีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนแต่ก็ต้องมีวินัย บ้านเราคิดว่าอิสระกับวินัยไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าเข้าใจหลักการให้ถูกต้องมันไปด้วยกันได้ เราเลยไปเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือระบบตามใจ ไม่ใช่ ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ให้อิสระแต่ว่าคุณต้องมีวินัยด้วย ฉะนั้น ส.ส.ต้องมีระบบให้พรรคดำเนินการทางวินัยได้ แต่ไม่ใช่แค่เขาโหวตสวนพรรคแล้วไล่เขาออก

มันมีกลไกอีกตั้งหลายอย่างที่ทำให้กระบวนการของการเป็นส.ส.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแต่บ้านเราไม่เคยเอามาใช้คือบางส่วนมีการเขียนไว้ แต่บังคับการไม่ได้ ผมเคยเสนอว่า คุณทำกิริยาบางอย่างที่เป็น “กิริยาทราม” ในสภา หลายอย่างที่เราเห็นทำให้ภาพลักษณ์ในสภาเสีย คุณต้องมีระบบการลงโทษ เช่น ประณามในราชกิจจานุเบกษา บันทึกไว้ว่าบุคคลนี้ได้แสดงพฤติกรรมแบบนี้ในสภา อีก 20 ปีคนมาอ่านก็รู้ว่าทำแบบนี้ไม่ถูก หรือระบบตัดเงินเดือน แต่พวกนี้ส่วนหนึ่งต้องไปทำในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับการประชุมสภา

เมื่อครู่ที่อาจารย์บอกว่าการขับจากพรรค ถ้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมให้ฟ้องศาลยุติธรรมคืออย่างไร

Point ผมคือต้องเริ่มจากหลักก่อนว่า พรรคการเมืองตั้งยังไง มีใครเป็นสมาชิกพรรค เอาตรงนี้ก่อน

ในทางหลักการ พรรคการเมืองตั้งขึ้นโดยคนที่มีเจตจำนงทางการเมืองเหมือนกันมาร่วมกันให้เกิดพรรคขึ้นมา พรรคมีนโยบาย พรรครณรงค์หาสมาชิกพรรคให้เพิ่มมากขึ้น แสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป อีกส่วนหนึ่งคือ ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือก สมาชิกของเขาก็จะมีสถานะเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง คือนอกจากจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วยังเป็น ส.ส.อีกด้วย แล้วเขาก็จะมีกลุ่มของส.ส.ที่อยู่ในสภา ผลก็คือจะมี 2 ส่วนแยกกัน คือส่วนหนึ่งเป็นนิติบุคคลที่อยู่นอกสภา อีกอันหนึ่งคือกลุ่มของสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภา กลุ่มในสภานี้เองที่สมาชิกพรรคการเมืองคนอื่นที่ไม่ได้เป็นส.ส.เขาไม่ได้เกี่ยวด้วย แต่กลุ่มที่อยู่ในสภาก็ผูกพันกับพรรคการเมืองเพราะไปจากพรรคการเมืองนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ identify หรือเป็นชนิดเดียวกันกับพรรคการเมือง เพราะมันน้อยกว่ากลุ่ม ส.ส. ในสภานี้เองที่ควรจะมีสิทธิและหน้าที่โดยเฉพาะของมันขึ้นมา ที่เราเรียกว่าเป็น faction แยกจากpolitical party

ฉะนั้น ที่เราบอกว่า ขับสมาชิกออกจากพรรค ก็คือพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลเอกชนขับคนที่เป็นสมาชิกพรรคออกจากพรรค คนๆนั้นอาจเป็นหรือไม่เป็น ส.ส.ก็ได้ แต่การขับออกจากพรรคนี้มันไม่ควรจะเกี่ยวกับสถานะความเป็นส.ส.ของเขาที่อยู่ในสภา เพราะเมื่อเขาเป็นส.ส.ในสภาเขาเป็นสมาชิกของ faction เขาอาจต้องถูกขับออกจาก faction อีกทีหนึ่ง กรณีที่เขาถูกขับออกจาก faction นั้นควรจะเป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าจะมี แต่เรื่องที่เขาถูกพรรคการเมืองขับออกจากพรรค อันนี้ควรเป็นเรื่องศาลยุติธรรม ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไปฟ้องศาลยุติธรรมเพราะเป็นเรื่องเอกชน แต่ของเราเอาเรื่องพรรคการเมืองทุกอย่างไปเชื่อมกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มันไม่ได้เป็นนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐ แต่ขณะที่กลุ่มส.ส.ในสภามันเป็นหน่วยที่ทรงสิทธิหน้าที่ทางกฎหมายมหาชนเพราะอยู่ในสภา แต่พรรคการเมืองมันอยู่นอกสภา

สมมติพรรคเพื่อไทยขับนาย ก. นาย ข. ที่เป็นสมาชิกพรรคแต่ไม่ได้เป็นส.ส.ออก ก็ไม่ได้เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ

จริงแล้วตามหลักการไม่เกี่ยว เพราะไม่ใช่เรื่องอำนาจมหาชน แต่ระบบคิดของบ้านเราไม่ได้เริ่มต้นคิดจากระบบแบบนี้มาตั้งแต่แรก และด้วยเหตุนี้ ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของระบบรัฐสภาไทยคือ การทำกฎหมายหรือการแยกเรื่องสิทธิหน้าที่ในทางมหาชนของกลุ่ม ส.ส.ในสภาออกจากพรรคการเมืองจึงไม่เคยเกิดขึ้น เราจึงสับสนตลอดเวลาในระบบคิด เราจึงเอาเรื่องพรรคการเมืองไปผูกกับศาลรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่

ด้วยเหตุนี้ในบางประเทศ คนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง กับคนที่เป็นผู้นำส.ส.ในสภา อาจจะเป็นคนละคนกัน เพราะคนที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเขามีหน้าที่ทำพรรค บางทีเขาอาจไม่อยู่ในสภาก็ได้ แต่เขาทำพรรคให้ใหญ่ขึ้น ขยายสาขาพรรค ขณะเดียวกันตัวนโยบายของพรรคจะถูกส่งต่อให้ตัวส.ส.ในสภาซึ่งต้องผูกพันกับพรรค ตรงนี้จะเป็นระดับนำของพรรคอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพูดถึงมิติทางกฎหมาย มันมีตัวตนของมันแยกออกจากพรรค

บ้านเราเมื่อก่อนนี้เราเอาผสมเลย เราเอากรรมการบริหารพรรคบวกกับส.ส.มาขับส.ส.ออก ซึ่งสมาชิกพรรคการเมืองคนอื่นก็ไม่รู้ ระบบการคุ้มครองสิทธิก็ไม่ค่อยดี แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา

ผมเข้าใจว่าที่การที่กรรมาธิการไม่เขียนเพราะเขาอาจจะปวดหัว ซึ่งถ้าเราดูของเก่ามันก็ปวดหัวเหมือนกัน ของเก่าบอกว่า “พรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้นให้พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก” เห็นไหมที่ผมบอกว่าเอากรรมการบริหารพรรคกับส.ส.มานั่งประชุมกัน “ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ลาออกหรือพรรคการเมืองมีมติ เว้นแต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นได้อุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ คัดค้านว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสาม”ซึ่งมาตรา 65 วรรคสามก็คือมตินั้นขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมิได้มีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสาม ให้ถือว่าสมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวมีลักษณะตามมาตรา 65 วรรคสามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นอาจเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” อันนี้มันตลก ถ้ามติพรรคมันขัดหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ให้ออกจากพรรคแล้วไปหาพรรคใหม่อยู่ให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ถ้าทำไม่ได้ก็สิ้นสถานภาพความเป็น ส.ส.

อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นทั้งที่เขาไม่ผิด

ก็ใช่ไง ตรรกะมันผิดหมดตั้งแต่แรก เพราะพอไปบังคับให้สังกัดพรรคแล้วก็ต้องมาหาทางออกอีรุงตุงนังแบบนี้ จริงๆ หลักก็คือ ถ้ามติพรรคขัดกับหลักประชาธิปไตย มติพรรคก็ต้องตกไป คน ๆ นั้นก็ต้องอยู่ในพรรคต่อไป แต่คนเขียนเขารู้สึกว่า เฮ้ย มันอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว มันถูกขับออกแล้ว ไปหาพรรคใหม่อยู่เหอะ เอ็งก็ต้องไปหาให้ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็ซวยไป มันไม่มีlogic อะไรทางกฎหมายเลย มั่วกันมาแบบนี้พอถึงฉบับนี้ ทำยังไงดีวะ ตัดออกเลยแล้วกัน
ผมเคยทำรายงานการวิจัยและวิจารณ์ไว้แล้วว่าระบบนี้มันตลก

อย่างที่ผมบอกคือ ดีที่สุดไม่ต้องบังคับสังกัดพรรค ถ้าสังกัดพรรคและพรรคขับเขาออกก็ควรทำได้ แต่เขาต้องไม่เสียสมาชิกภาพ logicควรจะเป็นแบบนั้น ประเทศเรามัวแต่ไปงูกินหางกับเรื่องสังกัดพรรคการเมือง แล้วผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยก็สนับสนุนให้สังกัดพรรค ไปถามดูสิ ผมว่าเสื้อแดงเสื้อเหลืองจะมีประเด็นร่วมกันอย่างหนึ่งเลย คือ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค เพราะอะไร เพราะเขานึกภาพส.ส.ในอดีต มันไม่มีพรรคคุม มันขายเสียงกันเละเทะ เขานึกแบบนั้น แต่โดยหลักการมันไม่ถูก

ผมเห็นด้วยว่าคนที่เป็นส.ส.ควรจะสังกัดพรรค “ควร” แต่ไม่ใช่ “ต้อง” มันไม่เหมือนกันนะ เราไม่ควรเอากฎหมายไปบังคับคนให้สังกัดพรรค แต่ควรมีมาตรการจูงใจให้คนสังกัดพรรคแบบที่ในต่างประเทศทำกัน มาตรการจูงใจคือ เช่น ถ้าคุณเป็น ส.ส.อิสระ ประชาชนเลือกคุณมา เวลาคุณอยู่ในสภา สภาให้เวลาอภิปราย เขาให้เป็นก้อน ให้กับพรรค คุณเป็นส.ส.อิสระคุณได้เวลาอภิปรายน้อยมาก ได้เหมือนกันแต่ถ้าพรรคได้เป็นก้อนจะไปเกลี่ยให้สมาชิกพรรคไปบริหารกัน มันก็ชักจูงให้คนอยากอยู่ในพรรค เพราะเมื่อเริ่มอาวุโสขึ้น จะสามารถแสดงบทบาททางการเมืองได้มากกว่า อีกอันคือการกำหนดว่าโควตาของกรรมาธิการให้เฉพาะส.ส.สังกัดพรรคการเมือง คุณจะได้มาเป็นกรรมาธิการคุณต้องมีพรรค เพราะมันต้องการการหล่อหลอมเจตจำนงในการทำงาน คนที่มันเป็นอิสระมันเหมือนเบี้ยหัวแตก เหล่านี้คือมาตรการในการจูงใจ แต่บ้านเราไปใช้มาตรการบังคับแล้วก็ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรทางการเมืองเลย

 

ทำไมต้องหนี Vote No

มาตรา 110 บอกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะแพ้ Vote No ไม่ได้ มาจากมาตรา 113ในร่างแรก ถ้าแพ้ Vote No ไม่ได้เป็น ส.ส.เลย มีคนแซวว่างั้นถ้าพรรคการเมืองบอยคอตต์เลือกตั้งรณรงค์ Vote No คุณก็เลือกตั้งไม่สำเร็จนะ เพราะไม่มี ส.ส.ต้องเลือกไปจนกว่าจะชนะโหวตโน เขาก็ไปเพิ่มวรรคสองว่าในกรณีที่แพ้ Vote No ให้จัดเลือกตั้งใหม่ ในการจัดเลือกตั้งใหม่นี้ จะเป็นผู้ได้รับเลือกต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20ของผู้มาใช้สิทธิ แล้วถามว่าถ้ายังไม่ได้อีกทำยังไง ก็เขียนว่าในกรณีที่ไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงตามที่กำหนดดังกล่าวให้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

รอบสามก็เลือกไป เอาคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ถ้ายังไม่ได้อีกก็คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5(หัวเราะ) Logic มันผิด โลกนี้มันซับซ้อนอยู่แล้ว ทำไมคนร่างรัฐธรรมนูญถึงทำให้โลกมันซับซ้อนกว่าเดิม ผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมต้องรอให้แพ้ Vote No ก่อนถึงจะเอาแบบคะแนนมากกว่าร้อยละ 20

โดยหลักควรเป็นแบบนี้ ถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นบนหลักเสรีประชาธิปไตย ประชาชนเขาควรตัดสินใจเองว่าจะโหวตแบบไหน Vote No ก็ได้ เลือกใครก็ได้ ทีนี้คะแนนเสียงVote Noหมายถึงไม่เลือกใครเลย โดยสภาพก็ต้องนับเป็นผู้ไม่ออกเสียงไป คือไม่เลือกใคร แต่มันก็มีคนอื่นที่เขาเลือก คนที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าก็ต้องเป็น ส.ส. โดยตรรกะ

จะถือว่าแพ้Vote No ไม่ได้?

ไม่ได้ มันไม่เกี่ยว เพราะคนที่ Vote No คือเขาไม่เลือก อันนี้เราคิดแบบระบอบประชาธิปไตย รัฐมันต้องfunctionในแต่ละเขตมันต้องมีตัวแทนโดยสภาวะธรรมดา ถ้าคุณใช้คะแนนเสียง Vote No เป็นสรณะ แปลว่าคุณผ่านกฎหมายในสภาก็คงไม่ได้ถ้าคะแนนVote No บวกกับคะแนนไม่ผ่านเยอะกว่าคะแนนผ่านกฎหมาย จะตีความไม่เอากฎหมายหรือ มันไม่ควร ในแง่นี้นะ การVote No คงต้องดูจากลักษณะด้วยว่าถือเป็นการปฏิเสธหรือถือเป็นการงดออกเสียงไป เพื่อให้function ดำเนินไปได้ในกรณีนี้ก็ต้องตีว่าเป็นงดออกเสียงไปเป็นการสละไม่เลือกใคร

มันมีฐานทางการเมืองด้วย Vote No เกิดครั้งแรกตอนคัดค้านเลือกตั้ง 2 เมษาปี 49

ผมจำได้ว่าเดิมเรื่องนี้อยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง เพิ่งเอาขึ้นมาเขียนในรัฐธรรมนูญครั้งนี้เอง จำได้ไหมที่คุณวาสนา เพิ่มลาภ พูดว่าเขียน Vote No แล้วแกต้องจัดเลือกตั้งใหม่ แกก็ถามว่า อ้าว แล้วใครเขียนกฎหมายมา ผมเขียนหรือ แต่ในที่สุดต้องมาจัดเลือกตั้งใหม่ แล้วก็มีมีปัญหาการฟ้องร้องกันอีรุงตุงนังต่อมา เรื่องเวียนเทียนผู้สมัครหรือขัดขวางไม่ให้มีการสมัครเพื่อสภาจะได้เกิดขึ้นไม่ได้ ตอนช่วงปี 2549 น่ะ

ถ้าดูLogic ของคนที่คิดเรื่องโหวตโน เขาคิดแบบนี้ว่า ถ้าคะแนนเสียงVote No เยอะท่วมคะแนนเสียงเลือกตั้ง มันก็ไม่ชอบธรรม ไม่ควรอ้างได้ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนในเขต

แต่ถ้าดูการเลือกตั้งบางประเทศ เช่นเลือกประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ต้องได้เสียงเกินครึ่ง

แต่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่อง Vote Noในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ถ้ายังไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงให้มาเลือกรอบสอง รอบสองจะเอาที่ 1และ 2มาแข่งกัน อันนี้ดีนะน่าจะเอามาใช้กับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ถ้ารอบแรกไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของคนมาออกเสียง สมมติคุณได้ 1ล้านเสียง คนมาออกเสียง 2.5ล้าน แปลว่าคนสนับสนุนคุณหนึ่งล้าน ไม่สนับสนุนอีกล้านห้า การที่คุณจะเป็นผู้นำเดี่ยว มีอำนาจคนเดียวก็ควรต้องมีเสียงสนับสนุนเกินกว่าครึ่ง มันจึงมีรอบสองโดยคัดเอาที่ 1และที่ 2มาแข่ง  แต่ไม่ใช่เรื่อง Vote No

เรื่อง Vote No บางทีอาจมีข้ออ่อนก็ได้ คือทำให้คนไม่ยอมเลือกในสิ่งที่มีให้เลือก หรือในสภาวะจำกัด โอเค ควรให้เขาโหวตได้ การ Vote No เป็นการแสดงเจตจำนงของคน แต่ไม่ควรมีผลเป็นการบล็อกการเกิดขึ้นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเกิดขึ้นของตัวแทนพื้นที่นั้น เว้นแต่เกิดสภาพที่สุดขั้วขึ้น เช่นทุกคนหรือเกือบทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง Vote No ทั้งหมด

ถ้าเราถือเป็นการแสดงพลังทางการเมือง เช่นการแอนตี้รัฐบาลทักษิณเมื่อปี 49 ก็ Vote No ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน จะแอนตี้รัฐธรรมนูญก็ Vote No แต่ไม่ควรไปหักล้างกระบวนการเลือก ส.ส.อย่างนั้นหรือ

เอาหลักการก่อน โดยทั่วไปมันก็ควรเป็นอย่างนั้น ผมไม่ค่อยสนับสนุนกับกระบวนการดูคะแนนเสียงแบบVote No ในการเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีผลในทางกฎหมาย เว้นแต่โดยสภาพของเรื่องการ Vote No ต้องถือว่าเป็นการปฏิเสธ ซึ่งมันมีเหมือนกันในการประชุมคณะกรรมการต่างๆ แต่ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญถ้ามันท่วมคะแนนเสียงของคนที่โหวตแล้วทำให้ไม่ได้ส.ส. คนทั้งประเทศต้องมาติดตรงนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันสมมติมีไม่กี่เขตที่Vote No อยู่นั่น ไม่ได้ ส.ส.สักที แล้วทั้งประเทศต้องรออย่างนี้หรือมันไม่น่าจะถูกนะ ประชาธิปไตยมันมากไปกว่าการดูเจตจำนงตรงนั้น มันต้องดูfunction โดยรวมให้เดินไปได้ด้วย แต่อันนี้พูดถึงสภาพของกฎเกณฑ์ทั่วไปที่เป็นประชาธิปไตยนะ ทีนี้ในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันซับซ้อนกว่านั้น เราอาจจะต้องแยกพิจารณาความชอบธรรมทางการเมือง กับ กฎเกณฑ์ในทางกฎหมายออกจากกัน การ Vote No ถ้ามีมหาศาล มันก็สะท้อนว่าระบบการเมืองมันเดินไปไม่ได้แล้ว คนไม่ยอมรับ แม้ว่าในทางกฎหมายอาจจะไม่ได้ผิดก็ตาม แต่เราต้องคิดถึงกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น มีเขตเลือกตั้งเดียวหรือไม่กี่เขต Vote No อยู่นั่นแหละ อันนี้จะทำยังไง

สมมติเรารณรงค์ Vote No สิบล้าน ไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม

ก็ควรจะเข้าไปให้มีสภา แล้วยุบสภาแล้วเลือกกันใหม่หรือกำหนดกติกาใหม่แล้วก็เลือกตั้งใหม่ถ้าคนที่เข้าไปไม่ทำอะไรถึงตอนนั้นคนสิบล้านก็ออกมาบนถนนแสดงเจตจำนงทางการเมืองอยู่ดีเราจึงควรตีความว่าการทำแบบนี้มันเป็นแสดงเจตจำนงแบบหนึ่ง คนที่เป็น ส.ส.ก็จะรู้ว่าความชอบธรรมที่เขาได้มามันไม่เยอะ เขาก็จะตระหนักมากขึ้น แล้วก็หาทางปรับเปลี่ยนกติกาให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นแบบที่เขียนในร่างนี้ สุดท้ายมันต้องแก้ปัญหาจนให้ได้ ส.ส.อยู่ดี ร้อยละ 20อะไรต่อมิอะไร ทำไมไม่ทำแบบนี้แต่แรก

(หัวเราะ) แล้วยังมีก๊อกสามแบบขอคิดก่อนอีกว่าจะเขียน พ.ร.บ.ประกอบอย่างไร

ถ้าบอกว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ก็ไม่ถึงครึ่ง ความชอบธรรมก็ไม่เยอะอยู่ดี ทำไมไม่เอาแบบปกติธรรมดาไป ได้เท่าไรก็เท่านั้น แล้วถ้า Vote No มันมหาศาลมากทั้งประเทศ อันนั้นต้องแก้กันทางการเมืองแล้ว กฎหมายอย่างเดียวไปไม่รอด

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช.ไม่อนุญาตให้ นปช.คุยสื่อเรื่องร่าง รธน.

$
0
0
โฆษก คสช. เผย ไม่อนุญาตให้กลุ่ม นปช.จัดกิจกรรมพูดคุยกับสื่อเรื่องร่าง รธน.  ที่ผ่านมาเปิดช่องทางให้แสดงความเห็นและสื่อสามารถติดตามได้อยู่แล้ว ขณะที่พฤติกรรมหลายอย่างยังชี้นำให้สังคมมีความรู้สึกเชิงลบ สร้างวาทกรรมทางการเมืองให้ร้าย คสช.

 
5 ก.ย. 2558 สำนักข่าวไทย รายงานว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช.ยังไม่อนุญาตให้กลุ่มกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจำเป็นต้องยึดถือแนวทางเดิมที่ได้เคยขอความร่วมมือไว้ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความสับสนหรือมีผลต่อแนวทางการเสริมสร้างความสามัคคี และแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย หรืออาจกระทบต่อแนวทางการเดินตามโรดแมปที่วางไว้
 
“ที่ผ่านมาเคยมีบางบุคคลขออนุญาตพูดคุยกับสื่อ ในลักษณะส่วนบุคคล ไม่ใช่ลักษณะของกลุ่มการเมือง และระยะหลังพบว่ามีสมาชิกในกลุ่มนปช.หลายคนแสดงความเห็นผ่านสื่อตลอด หลายครั้งพบว่าเนื้อหายังมีความพยายามสร้างวาทกรรมทางการเมืองในลักษณะค่อนข้างให้ร้ายคสช. และเพื่อชี้นำความรู้สึกสังคมในเชิงที่เป็นลบต่อ คสช.ในลักษณะที่มีข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนหนังสือที่ยื่นมายังไม่มีรายละเอียดเรื่องเนื้อหา  เช่น ใครจะเป็นคนพูดบ้าง จึงจำเป็นที่คสช. ต้องขอให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้ปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนมาโดยตลอด  ในส่วนแกนนำนปช. เอง ก็ได้แสดงความเห็นผ่านช่องทางนี้มาพอสมควรแล้ว ซึ่งสื่อสามารถรับรู้รับทราบในทุกประเด็นไปพร้อม ๆ กันอยู่แล้ว” โฆษกคสช. กล่าว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คนทำงาน: 'Supermom' เป็นแม่และเป็นพนักงาน

$
0
0

‘เรียนจบ-พบรัก-แต่งงาน-มีลูก’ ฉากชีวิตสำคัญของผู้หญิง แต่กระนั้นในปัจจุบัน ‘ชีวิตการทำงาน’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ซ้อนทับกับชีวิตครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในการปฏิบัติหน้าที่ ‘แม่ของลูกและพนักงานของสถานประกอบการ’ ความเหนื่อยยากของคุณผู้หญิงที่คุณผู้ชายควรรู้

(ที่มาของภาพประกอบ: Flickr/JDHancock/CC BY 2.0)

ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งต้องเปลี่ยนไป เมื่อได้รับโอกาสให้ดูแลทั้งลูกและต้องทำงานในเวลาเดียวกันแน่นอนว่า บทบาทที่ถูกกำหนดโดยสันชาตญาณก็เหนื่อยมากไม่แพ้กับ บทบาทที่ถูกกำหนดโดยสังคม แต่พวกเธอต้องทำทุกอย่างไปพร้อม ๆ กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ สภาพร่างกายและจิตใจเริ่มอ่อนล้า เกิดความเครียด ความสุขลดลง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกเป็นพฤติกรรม และมีผลกระทบต่อคนใกล้ตัวรวมถึงลูกน้อย ดังนั้นการสำรวจตัวเองเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคุณแม่ทำงาน การได้รับกำลังใจและการเอาใจใส่ และมีหลักคิดในการดำเนินชีวิตจะช่วยให้เธอทำหน้าที่ต่อไปได้โดยมีความสุขและราบรื่น

ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรปี 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยมีผู้หญิง 34.3 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงาน 17.5 ล้านคน และมากกว่า 70% ของผู้หญิงทำงานแต่งงานแล้ว (รองลงมา เป็นโสด 17.7% หม้าย 6.0% แยกกันอยู่ 2.9% และหย่า 2.7%) จากสถิตินี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงไทยเป็น “สุดยอดคุณแม่” หรือ Supermom ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและดำรงความเป็นแม่ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะแม่ที่มีลูกเล็ก คือ อายุแรกเกิด - 5 ปี

ผลสำรวจอีกชิ้นของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 สำรวจผู้หญิงทำงานจำนวน 695 คน อายุระหว่าง 21-40 ปี  ในหัวข้อ "ทัศนคติของผู้หญิงและแม่ในบทบาทของคนทำงาน" โดยผู้ตอบแบบสอบถามสถานะโสด 66% เป็นหญิงที่สมรสและมีบุตรแล้ว 21%  เป็นหญิงที่สมรสแล้วแต่ยังไม่มีบุตรอีก 6% หย่าร้างและมีบุตร 6% และเป็นหญิงที่หย่าร้างแต่ยังไม่มีบุตร 1% โดย 36% ให้ความเห็นว่าบริษัทไม่ใส่ใจต่อความต้องการของพนักงานที่มีบุตร อีก 27% ระบุว่าบริษัทใส่ใจความต้องการของพนักงานกลุ่มดังกล่าว แต่อีก 38% ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เป้าหมายในการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนเมื่อมีบุตร โดยในจำนวนนี้ชี้ว่า ภายหลังการมีบุตรสิ่งสำคัญในการทำงานคือ เงินเดือนที่สูงขึ้น (35%) ชั่วโมงการทำงานที่สั้นลงและมีเวลาที่แน่นอน (31%) ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นตามความจำเป็น (23%) การเดินทางที่น้อยลง (7%) และอื่น ๆ อีก 4% ได้แก่ ความมั่นคงในการทำงานสวัสดิการที่ดีขึ้น และวันหยุดเสาร์อาทิตย์อาทิตย์ เป็นต้น

ในแบบสอบถามชิ้นเดียวกันนี้ได้สำรวจสถานประกอบการ 284 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีพนักงานไม่เกิน 50 คน 39%, บริษัทขนาดกลาง มีพนักงานตั้งแต่ 50-200 คน 27% และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน อีก 35% พบว่าโดยเฉลี่ยมีพนักงานหญิงในองค์กรประมาณ 50-70% ส่วนในองค์กรขนาดเล็กจะมีพนักงานหญิงอยู่ระหว่าง 71-90% ซึ่งเมื่อถามถึงการให้ความสำคัญกับสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิง 60% ให้ความสำคัญอยู่ที่ระดับปานกลาง ที่น่าตกใจคือว่า 45% ของบริษัทที่ร่วมตอบแบบสอบถามแจ้งว่าไม่มีการจัดสวัสดิการใดเป็นพิเศษสำหรับพนักงานที่ตั้งครรภ์ หรือพนักงานที่มีบุตร และเมื่อแยกพิจารณาตามขนาดองค์กร พบว่า 47% ขององค์กรขนาดใหญ่ให้ความสำคัญมากในการจัดสวัสดิการเพื่อพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์และอีก 50% ให้ความสำคัญในระดับปานกลาง แต่กระนั้นเมื่อถามถึงแผนการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานหญิงที่มีบุตร 15% แจ้งว่ามีแผนในระยะยาว 1-2 ปีข้างหน้า, 8% มีแผนในระยะยาวคืออีก 5 ปีข้างหน้า และ 77% ยังไม่มีแผนการ 

      

วงล้อของ Supermom ในวันวันหนึ่ง

ตั้งแต่ตื่นนอน ยันเวลาเข้านอน ชีวิตของพวกเธอไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเองมากนัก กิจกรรมต่าง ๆ ถูกกำหนดโดยหน้าที่และปัจจัยภายนอกเป็นแรงขับเคลื่อน เวลาตื่นคือเวลาเริ่มงานของหน้าที่แม่ ทันทีที่ลุกจากเตียง ก็วุ่นวายกับการเตรียมอาหารเช้าให้สมาชิกในครอบครัว ปลุกทุกคน ปะทะลูก ๆ จอมขี้เซาและเจ้าปัญหา จัดการจับพวกเค้าอาบน้ำแต่งตัว ป้อนอาหาร เตรียมกระเป๋าสัมภาระ หนังสือเรียน จัดขนม น้ำ และ ยาต่าง ๆ ในขณะที่เวลาดูเหมือนเดินเร็วอย่างไม่เมตตาพวกเธอเท่าไหร่นัก ก็ต้องหันมาจัดการตัวเอง อาบน้ำแต่งตัว เตรียมของเพื่อจะออกเดินทางไปส่งลูก และเลยต่อไปยังที่ทำงาน วนไปจนกระทั่งเวลาเลิกงานของออฟฟิศนั่นคือเวลาเริ่มงานที่พวกเธอต้องนำไปใช้กับลูกน้อยต่อ ทันทีที่เก็บของจากโต๊ะทำงาน การดิ้นรนเพื่อเดินทางไปหาลูกให้เร็วที่สุดถูกเซตขึ้นในสมอง วางแผนการกินอาหารเย็น ตารางยาที่หมอสั่ง การเตรียมสอนการบ้าน อาบน้ำ รวมถึงการเอาลูกเข้านอน เป็นหน้าที่หลังเลิกจากงานประจำ เวลาพักผ่อนสมองแทบไม่มี หากบางวันที่ลูกน้อยเจ็บป่วย การดูแลย่อมยากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว บางคืนการแทบไม่ได้นอน ส่วนสามีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเธอได้มากนัก แน่นอนว่า หน้าที่ของความเป็นแม่ไม่ได้ OT หรือค่าตอบแทนใด ๆ หากแต่ทำให้หัวใจ เพราะสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามีความหมายกับชีวิตพวกเธอมากนัก

 

ตารางชีวิตประจำวันของคุณแม่วัยทำงานช่วงที่ต้องเลี้ยงลูกน้อยไปพร้อมกันอย่างเข้มข้น

 

 

17:30 น.เตรียมเก็บของ เด้งตัวออกจากโต๊ะทำงาน (กรณีไม่ติดงานด่วน)
17:30 - 19:00 น.ใช้ชีวิตอยู่กับการเดินทาง / ไปรับลูกที่โรงเรียน / จิตใจจดจ่อกับงานบ้าน / ลูก / เรื่องงานที่คั่งค้าง
19:00 - 20:00 น.ทันทีที่ถึงบ้าน / เตรียมข้าวเย็น / กินข้าว / ล้างชาม เคลียร์กับข้าว / สอนการบ้านลูก (ใช้เวลามากกว่า 45 นาที)
20:30 น.ให้ลูกกินยาก่อนนอน / ให้ลูกกินนม / เตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมสำหรับเข้านอน เช่น อาบน้ำ / งานบ้านที่คั่งค้างอีกเล็กน้อย
21:00 น.พาลูก ๆ เข้านอน / เล่านิทาน กล่อมลูกหลับ
21:00 - 22:00 น.อาบน้ำ ทำธุระของตัวเอง / อ่านหนังสือ / ดูทีวี / เข้านอน
01:00 - 02:00 น.เช็คอาการไข้ลูก / เช็ดตัว ป้อนยา / ปั้มนม (กรณีให้นมเด็ก ๆ) ถ้าลูกไม่สบายมาก เราต้องตื่นทุกชั่วโมงหลังจากนี้ หรือบางที แค่งีบหลับ
05:30 น.ตื่นนอน / เตรียมเสื้อผ้าให้ลูก ๆ
06:00 - 06:30 น.อาบน้ำ / แต่งตัว / หุงข้าว และทำงานบ้านต่าง ๆ
07:00 - 07:45 น.ปลุกเด็ก ๆ อาบน้ำ+แต่งตัว+แปรงฟัน (งานยาก) / กินข้าวเช้า
07:45 - 08:30 น.ไปส่งลูกที่โรงเรียน / เดินทางมาทำงาน
08:30 - 17:30 น.ทำงานที่ออฟฟิศ

 

ความวิตกกังวลของ Supermom

ในยุคที่มีการแข่งขันสูงขึ้นไปทุก ๆ วันนี้ ความคาดหวังในการเลี้ยงลูกให้สมบูรณ์แบบมากที่สุดก็เป็นเป้าหมายหลักของชีวิตคุณแม่เกือบจะทุกคน จากผลสำรวจความคิดเห็นชิ้นหนึ่งของสวนดุสิตโพลล์ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 400 คน ที่มีต่อการเลี้ยงดูลูกอายุระหว่าง 0-6 ปี พบว่าโภชนาการเพื่อพัฒนาการที่สมวัย เป็นปัจจัยหลักที่พ่อแม่ให้ความสำคัญมากที่สุด รองลงมา คือ การพัฒนาทักษะด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ และภูมิต้านทานด้านร่างกายและจิตใจ โดยกลุ่มตัวอย่างกว่า 84% สนใจแนวทางการเลี้ยงลูกโดยเน้นที่พัฒนาการและความพร้อมรอบด้านมากกว่าพัฒนาการด้านสมองดีขั้นเป็นอัจฉริยะ เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กที่พร้อมรอบด้านจะสามารถเรียนรู้และดำรงชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข โดย 99.7% เชื่อว่าการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่และการเสริมโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีความพร้อมรอบด้าน และ 99.5% มีความเห็นว่าเด็กควรได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาการให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และการอยู่ร่วมในสังคม

แต่ใครจะรู้ว่าความกดดันนั้นก็ก่อเกิดแฝงอยู่ในใจคุณแม่หลาย ๆ คน เช่น ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นในเวลาที่ไม่สามารถดูแลลูกน้อยได้ เช่น “ติดงานในวันที่โรงเรียนลูกจัดกิจกรรมต่าง ๆ” “ลูกไม่สบายก็ไม่สบายลางานเพื่อมาดูแลพวกเค้าใกล้ ๆ เนื่องจากติดประชุมสำคัญ” “ไม่ได้กล่อมลูกเข้านอนมาหลายคืนแล้ว” สร้างความกดดัน และทำให้คุณแม่ทำงานสูญเสียความมั่นใจ บางครั้งก็เกิดคำถามกับตัวเองลึก ๆ ว่า “นี่เราทำอะไรอยู่?! เราดูแลลูกได้ดีพอรึเปล่า?!” เพราะหัวใจของแม่อยู่กับลูก แต่ชีวิตที่เลือกทำคือหน้าที่การงาน แม้มันจะเป็นการทำเพื่อพวกเขาก็ตาม ทว่าในใจรู้ลึกๆ เสมอ “ลูกไม่ได้ต้องการเงิน มากกว่าแม่” ความจำเป็นบังคับให้เลือกปากท้องของครอบครัว

นอกจากกังวลกับเรื่องลูกแล้ว เรื่องงานก็มีมากไม่แพ้กัน เช่น “ไปทำงานสายเพราะต้องพาลูกไปหาหมอ” “เข้าร่วมอบรมทักษะผู้บริหารไม่ได้เพราะต้องดูแลลูกที่กำลังป่วย” “อดโชว์ฝีมือการพรีเซ็นต์งานให้ลูกค้าเจ้าใหญ่ เนื่องจากต้องพาลูกไปฉีดวัคซีน” ภารกิจต่าง ๆ ที่ดูเหมือนติดขัดสำหรับคุณแม่ทำงาน อาจทำให้พวกเธอรู้สึกว่า งานก็ไม่สุดทาง เลี้ยงลูกก็ไม่ได้เต็มที่ อาการพะว้าพะวงเหล่านี้ ล้วนบั่นทอนศักยภาพในตัวแม่ สร้างความกังวลใจไม่น้อย หากสูญเสียการจัดการที่ดี อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้

 

แม่ทำงานกับความเครียด

ความกังวลใจต่าง ๆ หากเกิดขึ้นประจำโดยไม่ได้พักหรือรักษา ก็จะกลายเป็นเครียดเรื้อรังได้ คุณแม่ที่อยู่ในภาวะเครียดประจำ โอกาสที่ร่างกายจะทำงานผิดปกติก็มีมากขึ้นและอาจนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งอาการที่สะท้อนให้เห็นว่า คุณเริ่มอยู่ในภาวะเครียดได้แก่ อาการ ปวดคอ ปวดหัว หรือ เป็นไมเกรน, อารมณ์แปรปรวน, ไม่มีสมาธิ, มองโลกในแง่ร้าย, เหงา เศร้า กังวลและเหนื่อยง่าย

นอกจากจะต้องเป็น Supermom แล้ว ในยุคที่ใครต่อใครต้องสำรวจตรวจตราโซเชียลมีเดียเป็นกิจวัตร ก็เลี่ยงที่จะเป็น Smartmom ไปไม่ได้ โดยจากผลสำรวจ "The Asian Digital Mum Report 2015" โดยรวบรวมข้อมูลจากคุณแม่ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นจำนวนกว่า 2,700 คน มีอายุระหว่าง 25-35 ปี และมีอายุบุตรเฉลี่ยไม่เกิน 1 ขวบ เพื่อศึกษาพฤติกรรมและเทรนด์การบริโภคสื่อยุคดิจิทัลทั้งของคุณแม่มือใหม่ พบว่าคุณแม่มือใหม่ยุคดิจิทัลใช้เวลาทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตราว 1-6 ชั่วโมงต่อวัน โดย 50% ใช้เวลาเฉลี่ย 1-3 ชั่วโมง, 30% ใช้ 4-6 ชั่วโมง และมากกว่า 6 ชั่วโมง 4% ซึ่งช่วงเวลาที่ออนไลน์สูงสุดอยู่ระหว่าง 1-3 ทุ่ม

ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้งโซเชียลมีเดียก็ถือเป็นเครื่องมือคลายเครียดหรือหาข้อมูลต่าง ๆ ให้กับคุณแม่วัยทำงานได้ แต่หากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่สมดุลกับชีวิตของคุณแม่วัยทำงานที่มีบทบาทอันมากมาย ก็อาจจะเป็นแหล่งเพาะบ่มความเครียดอีกแหล่งก็เป็นได้

และไม่ใช่แค่คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้านควบคู่กับการเลี้ยงลูกจะประสบกับปัญหาด้านความเครียด ที่น่าตกใจก็คือ มีการสำรวจพบว่าแม่ที่เลี้ยงลูกเองอยู่กับบ้านนั้นมีโอกาสที่จะพบเจอเรื่องเครียดไม่น้อยไปกว่าคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านเลยสาเหตุก็คือ พวกเธอต้องแบกภาระทุกอย่างในบ้านเพียงลำพัง ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน การดูแลเรื่องอาหารให้กับคนในครอบครัว ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดนี้อาจนำมาซึ่งอารมณ์ซึมเศร้า และวิตกกังวลได้ เนื่องจาก พวกเธอมีโอกาสพูดน้อยลง ยิ้มน้อยลง โอกาสที่พวกเธอจะได้รู้สึกถึงความสุข ความร่าเริงนั่นห่างไกลออกไปทุกที  โดยจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาคุณแม่ในสหรัฐอเมริกาชิ้นหนึ่งเมื่อปี ค.ศ.2012 ที่ทำการสำรวจคุณแม่ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ทางโทรศัพท์ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าในว่าบรรดาคุณแม่เต็มเวลา ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านนั้นก็มีโอกาสเกิดอารมณ์ในเชิงลบเกิดได้มากเช่นกันโดยจากผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 60,799 ราย มี 41% ของคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านระบุว่า ตนเองเป็นคนช่างวิตกกังวล ในขณะที่บรรดาคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านไปด้วยกลับมีคนรู้สึกเช่นนี้เพียง 34% เท่านั้น นอกจากนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียวไม่ต้องออกไปทำงานข้างนอกบ้านยังมีโอกาสอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าคุณแม่ที่ทำงานประจำอีกด้วย เพราะมีถึง 28% ตอบว่าตนเองเคยเกิดภาวะซึมเศร้า ในขณะที่คุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านไปด้วยมีเพียง 17% เท่านั้น

ทั้งนี้การแบกรับหลายหน้าที่ในแต่ละวันของแม่อาจส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้น ซึ่งความเครียดมีผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิด และสิ่งเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาเป็นพฤติกรรม เนื่องจากคนเราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน เพราะฉะนั้น ถ้าแม่จิตใจไม่สบาย ก็จะกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะลูกและสามี ดังนั้นครอบครัวจึงต้องช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อสามารถรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โอกาสที่จะล้ม หรือเจ็บป่วยเรื่องพวกนี้ก็จะน้อยลง

 

หลักคิดชีวิต Supermom

เพื่อจัดการกับปัญหาที่รุมเร้า ในชีวิตแม่ทำงาน การนำหลักคิดดี ๆ มาปรับใช้ก็ช่วยให้เราสามารถจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สร้างกำลังใจและตั้งรับกับความเครียดที่อาจตามมาได้

หาจุดสมดุลในการใช้ชีวิต โดยเริ่มจากสำรวจความต้องการของครอบครัว ทั้งเรื่อง การเงิน การงาน และแนวทางการเลี้ยงลูก เพื่อหาจุดลงตัวในการออกแบบการใช้ชีวิตของเราเองและครอบครัว เพื่อไม่ให้ตึงเครียดจนเกิดไป

ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง “ใครจะเพอร์เฟกต์ได้ตลอดเวลา?” คุณไม่ใช่ Superwomen เราต้องยอมรับชีวิตว่า ครอบครัวมีสภาพอย่างไร ทั้งเราและสามีที่ต้องทำงานหนักด้วยกันทั้งคู่ อาจต้องพึ่งพาคนอื่นเพื่อช่วยดูแลเด็ก ๆ ยอมรับเงื่อนไขและข้อจำกัดของตัวเองที่มีอยู่ แต่ไม่ใช่การยอมรับกับสภาพอย่างไร้ทางออก เราต้องรู้จักจัดการกับปัญหาภายใต้ข้อจำกัดพวกนี้ ออกแบบและตกลงให้กันดี ไม่ใช่สร้างปัญหาใหม่เพื่อถมปัญหาเดิม

เรียนรู้จากความผิดพลาด ตระหนักเสมอว่า เราก็คนธรรมดาคนหนึ่ง การล้มเหลวหรือผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับชีวิตทุกคน การโทษตัวเอง ไม่ได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จงมองความผิดพลาดเป็นครู และคิดหาวิธีการจัดการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัว

 

ตัวช่วยการจัดสมดุล Supermom

ตัวช่วยการจัดสมดุลสำหรับแม่ทำงานนั้น เป็นทางเลือกที่ฉลาดในการช่วยให้ชีวิตง่าย และลงตัวมากขึ้นคุณแม่ทำงานควร “แบ่งเวลาอย่างชัดเจน” ทั้งเรื่องงานและครอบครัว “รักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ” หากช่วงไหนงานยุ่งก็ไม่ทิ้งการพูดคุย การกอด เล่น อุ้มและกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างคุณ กับสมาชิกในครอบครัว “เสาะหาพี่เลี้ยงมือโปรฯ” ช่วยแบ่งเบาภาระระหว่างช่วงเวลาทำงาน “ตัวช่วยที่แสนวิเศษคือ ปู่ย่า ตายาย” การที่พวกท่านได้มาอยู่เป็นเพื่อนหลานๆจะช่วยคุณเบาใจได้มาก แม้จะมีปัญหาเรื่องการขัดแย้งในวิธีการเลี้ยงดูบ้าง แต่ทั้งหมดก็เพราะความหวังดี ไม่ได้มีพิษภัยอะไร “คุณสามีคือทีมเวิร์กที่เลิศเลอที่สุด” แบ่งความรับผิดชอบให้คุณพ่อบ้าง ลูกเค้าเหมือนกัน คุณแม่ควรปล่อยลูกให้อยู่กับพ่อบ้าง อาจไม่ได้ดังใจไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็มีเวลาพัก ตั้งสติแล้วต่อสู้กับภารกิจมหาศาลที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันกันต่อไป

สภาพความดิ้นรนของผู้เป็นแม่ ที่หลายคนที่ไม่อินและมองไม่ออกว่า วัน ๆ หนึ่งพวกเธอต้องจัดการชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้าง ทำให้คำว่า “เหนื่อย” ที่หลุดปากมาจากผู้หญิงคนหนึ่งดูไม่มีความหมายเท่าไหร่นัก แต่กระนั้นมันถูกกลั่นออกมาจากก้นบึ้งของความรู้สึกขั้นสุดในหัวใจ

หากมองในมุมมองมนุษย์ปุถุชนทำงานทั่วไป ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิศ ทำงานในโรงงาน ทำงานในสถานศึกษา หรือทำงานที่ใด ๆ ก็ตาม บางครั้งก็อาจต้องกล่าวคำว่า “เหนื่อย” ซ้ำ ๆ หรือ “แสดงความเห็นใจ” หนัก ๆ ต่อคนที่ดูทุกข์ยากและลำบากมากกว่าเรา เพื่อให้ความเหนื่อยมันดูเท่าเทียม

เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อค่ะ.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ฉันทนาออฟฟิศ เป็นนามปากกาของพนักงานออฟฟิศในอุตสาหกรรมการเงินและอีกบทบาทหนึ่งก็คือคุณแม่ลูกสอง ที่มีความสนใจต่อประเด็นคุณภาพชีวิตคนทำงาน และกำลังเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการที่เธอทำงานอยู่

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

จาตุรนต์ ฉายแสง: ใครได้ใครเสียประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

$
0
0

 

ที่กล่าวว่าประชาชน คือ ผู้เสียประโยชน์มากที่สุดนั้นก็เพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือก สว.ก็เป็น สว.ส่วนน้อย

เลือก สส.เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปคอยออกกฎหมายปฏิรูปตามที่ คปป.มอบหมาย

ตั้งใจไปเลือกรัฐบาลก็อาจได้คนนอกเป็นนายกฯ ถ้าได้รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ ตอบสนองความต้องการของประชาชนก็ไม่ได้ เพราะต้องคอยทำตามการมอบหมายของคปป. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอายุเพียงสั้นๆ เพราะมีกงจักรสังหารเต็มไปหมด

ประชาชนจะไปอาศัยการลงประชามติ พรบ.ประชามติก็บอกให้ต้องมีคนมาใช้สิทธ์เกินครึ่ง คนไม่เห็นด้วยนอนอยู่บ้าน ประชามติก็ไม่ผ่านแล้ว

ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี เสนอได้ แต่แก้ไม่ได้

ทั้งรัฐบาลและสภาที่ประชาชนเลือกไปจะอยู่ใต้อำนาจของ คปป.ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลยและไม่มีใครตรวจสอบได้ด้วย

ส่วนที่กล่าวว่าผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ คสช.และผู้ใกล้ชิดก็เพราะว่าเมื่อ สปช.ผ่านร่างนี้แล้ว คสช.จะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นเพื่อทำการปฏิรูป ส่วน คสช.จะคงอยู่และมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนืออำนาจอธิปไตยทุกฝ่ายต่อไปจนกว่าจะมี ครม.หลังการเลือกตั้ง

ตามบทเฉพาะกาลของร่างนี้ สนช.จะเป็นผู้ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิใน คปป.ซึ่งเมื่อรวมกับผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้วก็จะมีเสียงเกินสองในสาม นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่อดีตนายกฯจะเป็นผู้ที่มาจาก คสช.หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับ คสช. คปป.จึงเท่ากับการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยตรง

ในส่วนของการแต่งตั้ง สว.ตามบทเฉพาะกาล คณะรัฐมนตรีก่อนเลือกตั้งจะมีบทบาทสำคัญในการลากตั้ง สว. ซึ่งจะมีอำนาจมากมาย รวมทั้งการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆทุกฝ่ายได้ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่จะทำให้ คสช.และผู้ใกล้ชิดมีตำแหน่งและอำนาจมหาศาลจากวันนี้พรุ่งนี้ต่อเนื่องไปจนหลังการเลือกตั้งและต่อไปไม่มีกำหนด ไม่ใช่เพียง 5 ปี อย่างที่มีการพยายามแก้ตัวกันอยู่

ให้ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ผ่านไม่ได้หรอกครับ

 


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักกิจกรรมเตรียมทำเสื้อรณรงค์ Vote NO คว่ำรธน. ถูกทหารเข้าตรวจสอบ-สั่งห้าม

$
0
0

ทหารเข้าค้นบ้านนักกิจกรรม หลังรู้ข่าวเตรียมทำเสื้อรณรงค์ Vote NO ล้มร่างรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่หวั่นปลุกระดม และสร้างความแตกแยก ด้านเจ้าตัวเตรียมส่งแบบเสื้อให้ คสช. พิจารณา ย้ำถ้าจะให้แก้ตรงไหนก็บอกมา แต่ไม่เลิกทำ

อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ (ฟอร์ด เส้นทางสีแดง) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2558 ในช่วงเช้า ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 6 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 4 นาย เข้ามาตรวจค้นที่บ้านพัก เนื่องจากได้ทำแคมเปญ ‘Vote NO’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการโพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปโลโก้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในชั้นตอนเตรียมที่จะนำโลโก้ดังกล่าวไป ทำเป็นเสื้อรณรงค์

อนุรักษ์ ระบุว่าการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เป็นการเข้ามาตรวจค้นโดยไม่มีเอกสารขอเข้าตรวจค้นเป็นลายลักษณ์อักษร และในขณะที่เข้าตรวจค้นเจ้าหน้าที่นายหนึ่งได้เข้าไปนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งล๊อคอินเฟสบุ๊กค้างอยู่ และพยายามอ่านข้อความต่างๆ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบด้วยความเข้าใจว่า ได้ทำเสื้อเสร็จแล้ว และกำลังเตรียมแจกจายเพื่อปลุกระดม สร้างความแตกแยก และพยายามค้นหาใบเสร็จการจ่ายเงินค่าทำเสื้อ ทั้งที่ยังไม่ได้มีการสั่งทำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจยังไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาใดๆ

“ผมก็ชี้แจงไปว่า เราเพียงแค่ออกแบบไว้เฉยๆ เมื่อวาน(3 ก..ย) สันติบาลโทรมาสอบถามแล้ว เราก็เบรกไว้ก่อน เขาก็พยายามที่จะหาหลักฐานให้ได้ คือพยายมที่หาหลักฐานในการจับกุม ตรวจค้นต่างๆ พยายามขอดูใบเสร็จ ว่าไปสั่งทำที่ไหนกี่ตัว ผมก็ยืนยันว่ามันไม่มีหรอกใบเสร็จในการสั่งทำ คือรู้เลยว่าเขามาเพื่อหาหลักฐานเพื่อจ้องจะจับ” อนุรักษ์กล่าว

อนุรักษ์ กล่าวต่อว่า ได้ทำโปรโจคขายเสื้อมานานแล้ว โดยส่วนมากที่ทำเป็นเสื้อรณรงค์ทางการเมือง แล้วนำเงินที่ได้ส่วนเลือหนึ่งบริจาคช่วยเหลือนักโทษการเมืองมาตลอด โดยรวมแล้วบริจาคไปเกินกว่า 150,000 บาท

“ครั้งนี้ที่มาทหารก็ถามว่ายังทำเสื้อลายนั้น ลายนี้อยู่มั้ย ผมก็บอกว่าก็ทำอยู่ทำทุกเดือน หนึ่งในนั้นก็พูดออกมาว่า อย่าทำเลย ผมก็ยืนยันว่าจะทำต่อไป ในเมื่อมันไม่ผิดกฎหมาย”

“ในส่วนของเสื้อที่ถูกเบรกไว้ อาทิตย์หน้าผมจะทำหนังสือไปถาม คสช. แล้วก็แนบแบบเสื้อไปให้ดูเลย ว่าผมจะทำเสื้อแบบนี้ มีคำว่า Vote NO แล้วมีสัญลักษณ์แบบนี้ มันทำได้มั้ย ถ้าทำไม่ได้จะให้แก้ไขตรงไหนก็บอกมา ก็คือเราจะทำน่ะ ทหารจะมาแตะต้องผมไม่ได้เพราะผมทำถูกต้อง ถ้าไม่ได้ก็จะทำมันทั้งสองแบบ Vote YES ด้วย ใครจะ Vote YES ก็มีให้เลือก ใครจะ Vote NO เราก็มีให้เลือก” อนุรักษ์กล่าว

ลายโลโก้ที่มีการเตรียมจะทำเป็นเสื้อรณรงค์ Vote NO

ขณะเดียวกัน  โพสต์ทูเดย์ออนไลน์รายงาน เมื่อวานที่ 3 ก.ย. 2558 เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ชี้แจงต่อกรณีการขออนุญาตแสดงความคิดเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ทุกประเทศในโลก ถ้าเป็นประชาธิปไตย100% ใครอยากพูดอะไรก็พูดได้ แต่ก็รู้กันอยู่ว่าประเทศไทยไม่ได้100% ดังนั้นเอาเอาเรื่องนี้มาพูดกับตน ใครก็ตามที่พูดแล้วสนับสนุนแนวทางรัฐบาล โดยสนับสนุนให้เป็นไปตามโรดแมป สามารถพูดได้ แต่ถ้าพูด แต่มาต่อต้านตนก็จะทำให้โรดแมปเดินต่อไปไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องแยกออกจากกันให้ได้ ไม่ใช่คนนี้พูดได้ คนนั้นก็ต้องพูดได้บ้าง ไม่ใช่ว่าใครมาพูดเข้าข้างตน เขาพูดตามโรดแมปของเขา ทั้ง 2 พวกตนก็ให้พูดมาโดยตลอด หรือจะมาบอกว่าไม่เคยได้พูด

“เรื่องที่รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน มันไม่ใช่ผมสั่งหรือไม่สั่ง แต่อยู่ที่พวกท่านจะเรียนรู้ว่าจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต จะอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง จะอยู่ท่ามกลางการเมืองที่ไม่เหมือนปัจจุบัน ถ้าจะเอาแบบนั้นก็เอา แต่สิ่งที่จะเตือนไว้คือ รัฐธรรมนูญมีอยู่หลายหมวด หลายมาตรา อย่าไปดูแต่ 1 2 3 4 5 ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นมันก็คงจะไม่เป็นประชาธิปไตย ต่อให้พูดให้เป็นมันก็ไม่เป็น แต่ความชั่วร้ายที่มันเกิดขึ้นที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบมันจะมีหรือไม่ ชัดเจนนะ ชัดเจน "พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานทูตไทยออกแถลงการณ์ขอโทษลาว เหตุกองเชียร์บอลไทยบางกลุ่มไร้มารยาท

$
0
0

5 ก.ย. 2558 เนชั่นทีวีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้ออกแถลงการณ์คำประกาศ เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2558 เรื่อง เหตุการณ์ความรุนแรงในระหว่างการแข่งขัน Asean Football Federation (AFF) U-19 Champion Ship 20015 ที่ นครหลวงเวียงจันทน์ ว่า สถานทูตได้ทราบข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันฟุตบอล Asean Football Federation (AFF) U-19 Champion Ship 20015 ระหว่างทีมประเทศไทยกับทีมเวียดนาม ที่สนามกีฬาแห่งชาตินครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2558 และได้เห็นว่ากองเชียร์บางกลุ่มจากประเทศไทยได้กระทำการที่ไร้มารยาทต่อเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานเอกอัครราชทูตมีความเสียใจและขอโทษต่อเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชนคนลาวทุกคนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 
กต.เร่งช่วยกองเชียร์ฟุตบอลไทยที่ถูกจับกุมที่ลาว
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่าจากกรณีเกิดความวุ่นวายขึ้นบนอัฒจันทร์ที่ตั้งกองเชียร์ของฝ่ายไทย ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลนัดชิงแชมป์ U-19 ทีมชาติไทยกับทีมเวียดนาม ที่สนามกีฬาแห่งชาตินครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว วานนี้(4 ก.ย.) เป็นเหตุให้กองเชียร์ไทยถูกเจ้าหน้าที่ลาวควบคุมตัวจำนวน 25 คน นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ  เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังตรวจสอบข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูต ณเวียงจันทน์ ซึ่งกำลังดูแลช่วยเหลือกลุ่มกองเชียร์ชาวไทยอยู่อย่างเต็มที่
 
“หากญาติกองเชียร์ไทยต้องการให้ช่วยประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์อีกทางหนึ่ง สามารถติดต่อสายด่วน กรมการกงสุล หมายเลข 0940037
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คสช. วอนประชาชนช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวด้วยการมีอัธยาศัยและไมตรีจิตที่ดี

$
0
0
โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวด้วยการมีอัธยาศัยและไมตรีจิตที่ดี รวมทั้งช่วยกันสอดส่องดูแล และอำนวยความสะดวกในภาพรวมเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง

 
5 ก.ย. 2558 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยรายงานว่า พันเอก วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ศูนย์ติดตามสถานการณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พบว่าเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอันดับแรกในเรื่องของการท่องเที่ยว ประชาชนจึงมีส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยว ที่จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ โดยขอให้ช่วยกันดูแลนักท่องเที่ยวด้วยการมีอัธยาศัยและไมตรีจิตที่ดี รวมถึงช่วยกันสอดส่องดูแลและอำนวยความสะดวกในภาพรวมเพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเป็นไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะที่ นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ (17 ส.ค.58) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เข้าไปดูแลผู้ประสบภัยจากเหตุดังกล่าว ที่มีผู้เสียชีวิต 20 ราย เป็นคนไทย 6 ราย เป็นชาวต่างชาติ 14 ราย แบ่งเป็น ชาวจีน 5 ราย มาเลเซีย 5 ราย ฮ่องกง 2 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย สิงคโปร์ 1 ราย และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้บริหารได้เข้าเยี่ยมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ สำหรับผู้เสียชีวิต กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดูแลอำนวยความสะดวกให้ญาติผู้เสียชีวิตจนส่งกลับประเทศ โดยความอนุเคราะห์ของสายการบินไทย ขณะเดียวกัน กรมการท่องเที่ยว ได้อำนวยความสะดวกด้านที่พัก อาหาร บริการต่าง ๆ โดยญาตินักท่องเที่ยวได้นำศพกลับประเทศแล้ว 9 ราย ส่วนอีก 5 ราย เป็นชาวจีนทั้งหมด ได้ทำการฌาปนกิจศพที่ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีศพ ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้การช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมด ตามกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยได้ให้การช่วยเหลือแล้วทั้ง 14 ศพ จำนวนศพละ 3 แสนบาท เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 4 ล้าน 2 แสนบาท ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาล นักท่องเที่ยวที่ยังได้รับบาดเจ็บ ทั้งหมด 66 ราย ขณะนี้ ยังเหลือรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก 15 ราย อยู่ในห้องไอซียู 5 ราย ส่วนนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย ที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ส่วนใหญ่กลับบ้าน อีก 5 ราย ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำตามโรงพยาบาลที่มีนักท่องเที่ยวรักษาตัวอยู่ เพื่อให้ความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว ไม่ทิ้งกันเสมือนเป็นญาติมิตร และประทับใจการดูแลอย่างดี นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน สมาคมฮากกา ในการดูแลค่าที่พักให้ญาติและสนับสนุนช่วยเหลือค่าทำศพอีกรายละ 2 แสนบาท
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

'สิระ' เผยมีล็อบบี้คว่ำร่าง รธน.แลกนั่งสภาขับเคลื่อนฯ สื่อเปิดชื่อ 147 สปช.โหวตคว่ำ

$
0
0
'สิระ เจนจาคะ' สปช. ศิษย์เอกพุทธอิสระ ระบุมีการล็อบบี้คว่ำร่าง รธน.แลกนั่งสภาขับเคลื่อน สื่อเครือมติชนเปิดชื่อ "147สปช." โหวตคว่ำร่าง รธน. ก่อนวันจริงพรุ่งนี้

 
5 ก.ย. 2558 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่านายสิระ เจนจาคะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ศิษย์เอกหลวงปู่พุทธอิสระ กล่าวถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ว่า ในขณะนี้มีการล็อบบี้ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นข่าวจริง โดยมีเก้าอี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นขนมแลกเปลี่ยน จึงเชื่อว่าเสียงของฝ่ายที่จะคว่ำร่างในขณะนี้มีจำนวนมากขึ้น โดยมีสปช. 2 คนออกมาล็อบบี้ด้วยการอ้างว่าเป็นคำสั่งจากผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ก็ปฏิเสธไปแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมสปช.ที่เหลืออีก 245 คน จึงไปหลงเชื่อคนเพียงแค่ 2 คน กลับไม่เห็นถึงศักดิ์ศรีของตัวเองที่จะได้ทำประโยชน์ให้กลับประเทศชาติ ไปเห็นแต่ประโยชน์ว่าตัวเองจะได้รับอะไรตอบแทน ตลอด11 เดือนที่ผ่านมา สปช.คือความหวังของประชาชนที่จะมาแก้ไขปัญหาของประเทศ ออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วนำเสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญกำลังจะถูกเขียนด้วยมือแต่ลบด้วยเท้า ทั้งนี้ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกคว่ำจริง ตนขอเรียกร้องให้สปช. 247 คน คืนเงินเดือนและเบี้ยประชุมที่ได้รับมาระหว่างดำรงตำแหน่งให้แก่รัฐทั้งหมด เพราะเงินตรงนี้คือภาษีของประชาชนและจะได้นำไปให้กับคณะทำงานชุดใหม่ที่จะเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญชุดต่อไป
 
 
หัวหน้าทีม กม.ประชาธิปัตย์เชื่อร่าง รธน.ฝ่ากระแสต้านผ่านได้
 
มติชนออนไลน์รายงานว่าวันที่ 5 ก.ย. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ  หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึง การลงมติรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ในความเห็นส่วนตัวก็ต้องเห็นตามหัวหน้าพรรค ที่ไม่ต้องการให้ สปช. รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่หากให้มองว่า สปช.คิดอย่างไร กับการลงมติครั้งนี้ เชื่อว่าในชั้น สปช.น่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 
 
ส่วนจะผ่านมากผ่านน้อยก็ขึ้นอยู่กับสปช. เพราะเชื่อว่ามีการอธิบายความเรื่องผลได้ผลเสียของรัฐธรรมนูญ  โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล  แม้ว่ายังมี สปช.บางกลุ่มต่อต้านอยู่  แต่โดยรวมเชื่อว่าผ่าน เหตุที่เชื่อว่าผ่าน เพราะได้เห็นความพายามของหลายฝ่ายเห็นว่าให้ผ่าน และช่องทางที่นายสุรชัย  เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 ที่เปิดช่องไว้ ว่าในชั้นสนช.ยังแก้ได้ ก่อนที่จะนำไปทำประชามติ เพราะถ้าลดดีกรีตรงนี้ได้ก็จะไปได้ 
 
ย้ำ ปชป.ไม่มีทางฮั้วเพื่อไทย โหวตร่างรธน.ผ่าน
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายวัชระ เพชรทอง อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่า การลงมติร่างรธน.อย่าให้ใครมาชี้นำให้ดูในภาพรวมและไม่ใช่ดูแค่ผลกระทบกับพรรคการเมืองว่า ฟังดูแล้วเสมือนว่าเป็นประชาธิปไตย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีอิสระ แต่แท้ที่จริงแล้วสปช.ทั้งหมด พลเอกประยุทธ์ เป็นคนแต่งตั้งทั้งสิ้น ฉะนั้นอย่ามาบอกว่าสปช.เป็นอิสระ แม้แต่คนหูหนวกก็ยังเข้าใจว่าสปช.นั้นสังกัดคสช.ทั้งสิ้น ผลโหวตจึงย่อมเป็นไปตามใบสั่งจากท่าน เมื่อนักการเมืองออกมาชี้ให้เห็นถึงผลดีผลเสีย กลับมีการโจมตีว่าประชาธิปัตย์ไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งตราบใดหัวหน้าพรรคยังชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน  
 
นายวัชระ กล่าวว่า เหตุผลที่เราต้องคัดค้านคือ คณะกรรมการยุทธศาตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เท่ากับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างท้าทายสังคมมากที่สุด ซึ่งเป็นเงื่อนไขก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่และจะส่งผลสะเทือนต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่พ้น คสช.จะตกอยู่ในตำบลกระสุนตก ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจากสถาบันการศึกษา และสภากาแฟทุกแห่งทั่วประเทศเป็นเวลานานถึง 6 เดือน คสช.จะทนอยู่ได้อย่างไร นอกจากนี้ในร่างรธน.ยังตัดอำนาจของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่มีในรธน.2550 ออกไป ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตได้ครอบคลุมเหมือนเดิมได้ การทุจริตมันทำกันเป็นขบวนการ ทำคนเดียวไม่ได้มันโยงใยข้าราชการทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างขึ้นบนถึงนักการเมือง ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้ การทุจริตจึงต้องตรวจสอบทั้งสาย การแบ่งแยกไปให้ ปปท.มันผิดหลักการตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นที่มากล่าวหาว่านักการเมืองโกงนั้นมันทำไม่ได้หากข้าราชการไม่ร่วมมือด้วย ข้าราชการนั่นแหละคือต้นตอของการทุจริตคอร์รัปชั่น  
 
“เมื่อพลเอกประยุทธ์ ประกาศต่อต้านการทุจริตวันละ 3 เวลาหลังอาหาร แล้วเหตุใดปล่อยให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานยกร่างรธน.เขียนรธน.หมกเม็ดตัดอำนาจที่มีอยู่แต่เดิมของปปช.ออกไปแล้วปปช.จะรับร่างรธน.ฉบับนี้หรือ เพราะฉะนั้นร่างรธน.ฉบับนี้มีปัญหาแน่ๆ ขนาดป.ป.ช.ยังถูกลดอำนาจ แล้วพลเอกประยุทธ์ จะปล่อยให้ผ่านไปหรือ พวกผมหวังดีต่อบ้านเมืองไม่อยากเห็นบางฝ่าย เอาร่างรธน.นี้ไปขยายความขัดแย้งจนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลในที่สุด เผด็จการทหารที่เคยมีอำนาจมากกว่าท่านก็เคยมีมาแล้วแต่ไม่เคยมีใครอยู่ถาวรแม้แต่รายเดียว ท่านจำได้ไหม 14 ตุลาหรือพฤษภาทมิฬก็ล้วนแต่เกิดจากเงื่อนไขรธน.ทั้งสิ้น หากร่างรธน.นี้ผ่าน แล้วกระทบต่อเศรษฐกิจและรัฐบาล ท่านจะมาว่าไม่เตือนชะตากรรมของท่านไม่ได้ ที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หวังดีเตือนท่านแล้วด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะอนาคตของประเทศย่อมสำคัญกว่าอนาคตของสปช.และคสช.” นายวัชระ กล่าว
 
'ประสาร' ปูด สปช. ถูกอ้างชื่อคว่ำ รธน. วอนสังคมอย่าเต้นตาม
 
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีมีการเปิดเผยรายชื่อของ สปช. 147 เสียง ที่สนับสนุนโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามี สปช.จำนวนมาก ที่ถูกนำรายชื่อไปแอบอ้าง และอาจมีมากถึง 1 ใน 3 ของรายชื่อที่มีการเปิดเผยออกมา ทั้งที่เจ้าตัวยังไม่ตัดสินใจ จึงขอให้รอดูผลโหวตที่จะออกมาดีที่สุด แต่ยืนยันว่า ในส่วนของฝ่ายสนับสนุนไม่มีการทำบัญชีใดๆ ปล่อยตามธรรมชาติ ในฐานะหนึ่งในผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน ยังเชื่อในวิจารญาณของ สปช. ที่เป็นอิสระ และตัดสินใจบนพื้นฐานของการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้ผูกพันกับผลประโยชน์ใด ตามตำปฏิญาณตนที่ให้ไว้ต่อที่ประชุม สปช. และพระบรมฉายาลักษณ์
 
ส่วนที่มีการสร้างกระแสข่าวว่า หากปล่อยให้มีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสู่สังคมแล้วจะก่อให้เกิดวิกฤติ เพราะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น นายประสาร กลับเห็นต่าง เพราะทุกพรรคการเมืองต่างเร่งให้มีการจัดเลือกตั้ง เพื่อที่ตัวเองจะคืนสู่อำนาจรัฐอีกครั้ง อีกทั้ง เป็นการจินตนาการของกลุ่มที่หวาดผวาว่าฟ้าจะถล่มดินทลาย ดูแคลนรัฐบาลว่าไร้อำนาจในการรักษาบ้านเมืองให้สงบสุข ขอให้ดูตัวอย่างก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 ที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขู่ว่า หากมีการปฏิวัติบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ แต่ก็ไม่เกิดขึ้น จึงเชื่อมั่นในรัฐบาลว่ายังมีเครื่องมือในการรักษาความสงบของบ้านเมือง ขอให้สังคมอย่าเต้นตาม
 
สื่อเปิดชื่อ "147สปช." โหวตคว่ำร่าง รธน. ก่อนวันจริงพรุ่งนี้
 
ด้านเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจอ้างรายงานข่าวจาก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2558ระบุว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558 ว่า คสช.ได้ตรวจสอบการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน โดยมีข้อมูล มี สปช. 147 คน มีแนวโน้มลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญดังนี้ 1.นายกษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด สปช.นครราชสีมา 2.นายกาศพล แก้วประพาฬ สปช.กาญจนบุรี 3.นายกิตติ โกสินสกุล สปช.ตราด 4.นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์ สปช.พิษณุโลก 5.นายกงกฤช หิรัญกิจ ด้านเศรษฐกิจ 6.นายกมล รอดคล้าย ด้านการศึกษา 7.นายกิตติภณ ทุ่งกลาง ด้านสังคม 8.นายกิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ สปช.มหาสารคาม 9.นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ด้านการปกครองท้องถิ่น 10.นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ด้านอื่นๆ 11.นายโกเมศ แดงทองดี สปช.ราชบุรี 12.นายโกวิทย์ ทรงคุณ สปช.สุโขทัย 13.นายโกวิท ศรีไพโรจน์ สปช.สุราษฎร์ธานี 14.พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ สปช.บึงกาฬ 15.พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา สปช.อุดรธานี 16.พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ด้านสื่อสารมวลชน 17.นายคณิศร ขุริรัง สปช.หนองบัวลำภู 18.นายคุรุจิต นาครทรรพ ด้านพลังงาน 19.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ด้านอื่นๆ 20.นายจรูญ จึงยิ่งเรืองรุ่ง สปช.สระบุรี 
 
21.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 22.พล.อ.จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข สปช.กระบี่ 23.พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สปช.มุกดาหาร 24.ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์ สปช.เพชรบุรี 25.นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ด้านเศรษฐกิจ 26.นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน สปช.นครพนม 27.นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สปช.เชียงใหม่ 28.นายเจน นำชัยศิริ ด้านพลังงาน 29.นายเจริญศักดิ์ ศาลากิจ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 30.พล.อ.อ.เจษฎา วิจารณ์ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 31.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ด้านสังคม 32.นายจำลอง โพธิ์สุข สปช.ชัยนาท 33.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สปช.อุตรดิตถ์ 34.นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช สปช.ลำปาง 35.นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ สปช.พังงา 36.นายชัย ชิดชอบ ด้านการเมือง 37.นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 38.นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ด้านการเมือง 39.นายชาลี เอียดสกุล สปช.พัทลุง 40.นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ สปช.สิงห์บุรี 
 
41.พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 42.นายชิตชัย จิวะตุวินันท์ สปช.ประจวบคีรีขันธ์ 43.พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 44.นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์ สปช.หนองคาย 45.พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ด้านการเมือง 46.นายณรงค์ พุทธิชีวิน ด้านการศึกษา 47.นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี 48.นายดำรงค์ พิเดช ด้านการเมือง 49.นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ สปช.ยะลา 50.พล.ท.เดชา ปุญญบาล ด้านสังคม 51.นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล สปช.ปราจีนบุรี 52.นายถาวร เฉิดพันธุ์ สปช.ปทุมธานี 53.นายทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ด้านพลังงาน 54.นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ สปช.จ.ตาก 55.นายทิวา การกระสัง สปช.จ.บุรีรัมย์ 56.นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ด้านอื่นๆ 57.นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ สปช.ลำพูน 58.พ.อ.ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ สปช.ศรีสะเกษ 59.นายธวัช สุวุฒิกุล สปช.ชัยภูมิ 60.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ด้านการเมือง 
 
61.นายธวัชชัย อุ่ยพานิช สปช.ระยอง 62.นายธำรง อัศวสุธีรกุล สปช.กำแพงเพชร 63.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 64.นายนิฟาริด ระเด่นอาหมัด สปช.ปัตตานี 65.นายนิคม มากรุ่งแจ้ง สปช.สมุทรสาคร 66.นายนิพนธ์ คำพา สปช.แม่ฮ่องสอน 67.นายนิพนธ์ นาคสมภพ ด้านสื่อสารมวลชน 68.นายนิมิต สิทธิไตรย์ สปช.อุบลราชธานี 69.นายนิรันดร์ พันทรกิจ ด้านอื่นๆ 70.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง สปช.นราธิวาส 71.นายนำชัย กฤษณาสกุล สปช.สตูล 72.นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 73.นายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ สปช.อุทัยธานี 74.นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ด้านสื่อสารมวลชน 75.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 76.นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สปช.ลพบุรี 77.นางประภาศรี สุฉันทบุตร สปช.ยโสธร 78.นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 79.พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ ด้านพลังงาน 80.นายประเสริฐ ชิตพงศ์ สปช.สงขลา
 
81.นายประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 82.นายปรีชา บุตรศรี จ.เลย 83.นายเปรื่อง จันดา สปช.เพชรบูรณ์ 84.น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช ด้านเศรษฐกิจ 85.นายพนา ทองมีอาคม ด้านสื่อมวลชน 86.นายพรชัย มุ่งเจริญพร สปช.สุรินทร์ 87.นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 88.นางพรรณ
 
วี รินทร์ รัตนวานิช ด้านอื่นๆ 89.นางพรรณี จารุสมบัติ ด้านอื่นๆ 90.นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ด้านพลังงาน 91.นายพลเดช ปิ่นประทีป ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 92.พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ด้านการศึกษา 93.นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ด้านการศึกษา 94.นายเพิ่มศักดิ์ เชื้อชาติ สปช.แพร่ 95.นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา สปช.ชุมพร 96.นายไพโรจน์ พรหมสาส์น ด้านปกครองท้องถิ่น 97.น.อ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 98.นางภัทรียา สุมะโน ด้านสื่อมวลชน 99.พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ ด้านอื่นๆ 100.พล.อ.อ.มนัส รูปขจร ด้านกฎหมายและยุติธรรม 
 
101.นายมนู เลียวไพโรจน์ ด้านเศรษฐกิจ 102.นายมนูญ ศิริวรรณ ด้านพลังงาน 103.พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 104.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ด้านอื่นๆ 105.พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย สปช.นครนายก 106.นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ด้านการเมือง 107.พล.อ.วัฒนา สรรพานิช ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 108.นายวันชัย สอนสิริ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 109.นายวัลลภ พริ้งพงษ์ ด้านการปกครองท้องถิ่น 110.นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ สปช.พิจิตร 111.พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ด้านการเมือง 112.นายวิบูลย์ คูหิรัญ ด้านพลังงาน 113.นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 114.นายวีระศักดิ์ ภูครองหิน สปช.กาฬสินธุ์ 115.พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ด้านการศึกษา 116. นายไวกูณฑ์ ทองอร่าม สปช.จันทรบุรี 117.นายศานิตย์ นาคสุขศรี สปช.สระแก้ว 118.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ด้านพลังงาน 119.นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ด้านสังคม 120.พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก ด้านอื่นๆ
 
121.นายสมเกียรติ ชอบผล ด้านการศึกษา 122.นายสมเดช นิลพันธุ์ สปช.นครปฐม 123.นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ด้านการเมือง 124.นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ สปช.ตรัง 125.นายสยุมพร ลิ่มไทย ด้านการปกครองท้องถิ่น 126.นายสรณะ เทพเนาว์ ด้านปกครองท้องถิ่น 127.นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ด้านสังคม 128.พ.อ.สิรวิชญ์ นาคทอง สปช.นครสวรรค์ 129.นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ สปช.นครศรีธรรมราช 130.นายสุชาติ นวกวงษ์ ด้านสาธารณสุข 131.นายสุพร สุวรรณโชติ สปช.มหาสารคาม 132. พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ ด้านการเมือง 133.นายสุวัช สิงหพันธุ์ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 134.นายเสรี สุวรรณภานนท์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 135.นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 
 
136.นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ด้านพลังงาน 138.นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ด้านพลังงาน 139.พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ด้านอื่นๆ 140.นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ด้านการเมือง 141.นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 142.นางอัญชลี ชวนิชย์ ด้านเศรษฐกิจ 143.พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 144.พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย ด้านปกครองท้องถิ่น 145.นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ด้านกฎหมายและการยุติธรรม 146.นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ด้านเศรษฐกิจ และ147.นายเอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ตำรวจรอพยานยัน ก่อนออกหมายจับรายที่10คดีระเบิดแยกราชประสงค์

$
0
0

เว็บไซต์ ThaiPBS รายงานว่าวันนี้ (5 ก.ย.2558) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตำรวจสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องกับคดีพบระเบิดที่ห้องพักภายในอพาร์ตเม้นท์ ย่านหนองจอก ซึ่งมีการควบคุมตัวนายอาเด็ม คาราดัก เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างให้พยานยืนยัน จากสเก็ตช์ภาพผู้ต้องสงสัยอีกคน เป็นชายอายุประมาณ 30 ปี และหากพยานยืนยันได้ ก็จะนำภาพสเก็ตช์ ไปยื่นต่อศาลเพื่อขออนุมัติหมายจับ ภายในสัปดาห์หน้า
 
ส่วนการสอบสวนนายอาเด็ม หลังจากทหารนำตัวมาส่งให้ตำรวจสอบสวนตามขั้นตอน เมื่อวานนี้ นายอาเด็ม ให้การเป็นประโยชน์ ในการสืบสวน ซึ่งนายอาเด็มสามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับได้
 
สำหรับนายไมไรลี ยูซูฟุ ที่อยู่ในความคุมของทหาร จะส่งมอบให้กับตำรวจภายในวันที่ 7 ก.ย.นี้
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถอดยศ 'ทักษิณ ชินวัตร' ใช้มาตรา 44

$
0
0
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด "พันตํารวจโททักษิณ ชินวัตร" ออกจากยศตํารวจแล้ว

 
 
5 ก.ย. 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 26/2558 เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ ตามรายละเอียด ดังต่อไปนี้
 
คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๖/๒๕๕๘
 
เรื่อง การดําเนินการเพื่อถอด พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ ตามที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติได้รายงานและเสนอเรื่อง การถอด พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ ในกรณีมีความผิดปรากฏชัดตามคําพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้วว่า มีความผิดและยังมีข้อหาความผิดอาญาอื่น ๆ อีกหลายฐาน ซึ่งเป็นการเสื่อมเสีย
 
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติและมีความจําเป็นต้องดําเนินการเป็นการด่วน ทั้งได้ตรวจสอบข้อกฎหมายตามระเบียบสํานักงานตํารวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตํารวจพ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูล สมควรใช้อํานาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งให้ถอด พันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร ออกจากยศตํารวจ ตามพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ ๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาต
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘จ่านิว’ ฉายเดี่ยวกรวดน้ำ คว่ำขัน ‘โหวตโน’ ร่างรัฐธรรมนูญ

$
0
0

5 ก.ย.2558 ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร หลังจากกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาโพสต์เชิญชวนประชาชนทำกิจกรรม ‘กรวดน้ำ คว่ำขัน ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอา ไม่รับ กฎหมายเผด็จการ’ ในเย็นวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาตรึงกำลังดูแลสถานที่ตั้งแต่เวลาราว 15.30 น. ขณะที่นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ตัวแทนของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาปรากฏตัวในเวลาประมาณ 16.30 น. เพื่อทำกิจกรรมกรวดน้ำอย่างเป็นทางการเพียงลำพัง โดยมีสื่อคอยทำข่าวอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มประชาชนราว 20-30 คนคอยสังเกตการณ์อยู่บนสกายวอล์กคอยตะโกนรับการปราศัยของจ่านิวเป็นระยะ ก่อนที่ทั้งหมดจะแยกย้ายไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนกิจกรรมจะเริ่มต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยกับจ่านิวระบุว่า การชุมนุมนั้นตามกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฉบับใหม่จะต้องมีการขออนุญาตก่อน 24 ชม. อย่างไรก็ตาม ไม่มีการจับกุมจ่านิวหรือผู้สังเกตการณ์แต่อย่างใด

“ท่าทีของเจ้าหน้าที่ก็มาแบบปกติ ตอนแรกบอกว่าขัดมาตรา7 เรื่องการจัดการชุมนุมในเขตพระราชฐาน พวกผมก็บอกตั้งแต่เมื่อวานว่าเอาตลับเมตรมาวัดเลยว่าเท่าไหนคือ 150 เมตร แต่วันนี้มาเขาบอกว่าการชุมนุมไม่ได้รับอนุญาต เขาบอกว่าถ้ามีปัญหาก็ตีความในชั้นศาลก็แล้วกัน” จ่านิวกล่าว

“ผมก็ไม่ได้มาคนเดียวเสียทีเดียว มีทีมงานอยู่ คอยเตรียมนั่นเตรียมนี่”  จ่านิวกล่าว

“จุดประสงค์ของกิจกรรมคือ ต้องการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คว่ำบาตรร่างรัฐธรรมนูญ” จ่านิวกล่าวและว่าเหตุที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับถ้อยคำของนายกฯ หรือใครๆ ที่ออกมาบอกห้ามแสดงความคิดเห็นหรือรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญ

“ถ้าฟังแล้วเชื่อตามเขา มันเหมือนกลัวต่ออำนาจเขา เราออกมาเพื่อบอกว่าไม่กลัวต่ออำนาจ” จ่านิวกล่าว

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับแนวทาง “โนโหวต” จ่านิวกล่าวว่า การโนโหวตคือไม่ไปร่วมซึ่งอาจทำให้เราไม่สามารถแสดงเสียง เจตจำนงได้อย่างชัดแจ้ง เสียงจำนวนหนึ่งจะคลุมเครือ ไม่ชัดเจน

“แต่ถ้าออกไปโหวตโนมันจะชัด แน่นอน พวกเราเองไม่ได้ยอมรับอำนาจรัฐประการแต่แรกอยู่แล้ว แต่อยากแสดงให้เห็นเชิงประจักษ์ว่าไม่รับ” จ่านิวกล่าว

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Soundtrack of Life : เพลงชีวิตพลทหาร จากข้องใจระบบเลื่อนขั้นสู่ผิดหวังที่เป็นทหารรับใช้

$
0
0

จากกระแสข่าวที่มีพลทหารซึ่งถูกล่ามโซ่ติดกับยางรถยนต์ออกมาร้องเรียนต่อศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากการถูกทรมานหลังไปเป็นทหารรับใช้ให้กับนายทหารหรือ “ทหารบริการ” ตามที่ ผบ.ทบ. เรียกนั้น ส่งผลให้มีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ต้องเผชิญในแง่มุมต่างๆ ออกมาเผยแพร่อีกจำนวนมาในโซเชียลเน็ตเวิร์กในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้  ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ ได้นำบทเพลงที่สะท้อนชีวิตของทหารเกณฑ์ 2 บทเพลงมานำเสนอ ผ่าน 2 แง่มุมที่สำคัญคือ เพลงแรกคือ “ท.ทหารอดทน” ของ วงคาราบาว อัลบั้มเดียวกับชื่อเพลงที่ออกวางจำหน่ายในปลายปี 2526 ซึ่งถูกแบนในขณะนั้นด้วยเนื่องจากมีเนื้อหาพาดพิงเสียดสีนายทหารระดับสูง โดยเฉพาะในท่อนที่ร้องว่า “..ดาวเดือนลอยเกลื่อนท้องฟ้ายิงให้ตกลงมาติดบ่าได้สบาย..” รวมทั้งเนื้อเพลงยังแสดงให้เห็นถึงความคับข้องใจของพลทหารที่ไม่มีช่องทางในการเลือนยศ ในท่อนที่ว่า

“..ททหารลูกหลานคนจนๆ ไม่กระเสือกกระสน ก็เป็นแค่พลทหาร โชคดีแค่พิกลพิการ ก็พอได้เล่าขานให้ลูกหลานอดทน..”

สำหรับเพลงที่ 2 ที่หยิบยกมาคือเพลง “พล. สถาพร” ของ สันติภาพ ในอัลบั้ม แสงจันทร์ ณ เมืองคอน ที่พูดถึงเรื่องราวชีวิตของพลทหารที่ต้องผิดหวังกับการมาเป็นทหาร แต่กลับต้องไปเป็นทหารรับใช้ในบ้านนายทหาร โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

“สิ่งที่ไม่คิด ไม่เคยฝัน นายท่านให้มาเป็นคนรับใช้ กวาดบ้านถูบ้าน อยู่ร่ำไป นี่หรือชีวิตของชายทหาร ต้องเดินจูงหมาให้กับนาย เก็บขี้เก็บเยี่ยวให้มันเนี้ยนะ อุตส่าห์ฝึกฝน มาแทบตาย สุดท้ายต้องมารับใช้บ้าน น. บ้านนาย..”

อย่างไรก็ตาม 2 พิธีกร ได้วิเคราะห์สาเหตุที่การเป็นทหารรับใช้หรือทหารบริการนั้นถึงไม่สามารถหายไปได้ ส่วนหนึ่งเป็นอาจเป็นเพราะฝ่ายที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์เป็นคนๆ เดียวกัน เพราะด้านหนึ่งการมาทำงานในบ้านนายสำหรับบางคนอาจเป็นงานที่เสี่ยงน้อยกว่าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเป็นช่องทางในการขยับสถานะหรือเลื่อนขั้นในอนาคตด้วยเช่นกัน

เพลงเกี่ยวกับชีวิตพลทหารมีจำนวนมาก นอกจากเพลงที่สะท้อนอารมณ์ความคับข้องใจในการเลื่อนขั้นและความผิดหวังที่ต้องมาเป็นทหารรับใช้แล้ว ยังมีเพลงที่สะท้อนความแปลกแยกและคิดถึงบ้านหรือคนรักที่ต้องจากมาเพื่อไปอยู่ในค่ายทหาร รวมทั้งเพลงที่บอกเล่าถึงความทุกข์ยากในการฝึก การออกรบ อย่างไรก็ตามยังไม่พบเพลงที่ตั้งคำถามกับระบบการเกณฑ์ทหาร ส่วนมากจะเป็นเพียงความไม่พอใจในระบบอย่าง 2 เพลงที่ยกมาข้างต้น แต่ไม่ถึงขั้นยกเลิกกรเกณฑ์ทหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศูนย์ทนายสิทธิฯ ประกาศจุดยืนไม่รับร่าง รธน.-เสนอเอา รธน.40 กลับมาใช้

$
0
0

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง โดยให้เหลือรักษาการ ครม.อยู่ จัดเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านเท่านั้น ย้ำประชาชนมีสิทธิแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องโดยสันติ

5 ก.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกความเห็นทางกฎหมายต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะลงมติรับหรือไม่รับร่างในวันที่ 6 กันยายน นี้ โดยศูนย์ทนายความฯ ระบุว่า ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่แสดงออกถึงความพยายามลดทอนอำนาจของประชาชน และไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย รวมถึงที่มาและอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ (อ่านรายละเอียดที่ลิงก์ด้านล่าง)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น รวมถึงเสนอว่า ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารในวิธีทางที่เป็นไปโดยสันติ


ความเห็นและข้อเสนอศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ประการที่ 1 ที่มาและขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย – ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลโดยตรงจากการรัฐประหาร ในทางกฎหมายถือว่าการกระทำรัฐประหารเป็นความผิดตามกฎหมาย และเป็นการใช้กำลังเข้าถือครองอำนาจรัฐโดยวิถีทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย และในขั้นตอนการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมในการยกร่าง ไม่มีองค์กรใดที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน รวมถึงขั้นตอนการนำลงประชามติยังขัดกับหลักการลงคะแนนเสียงโดยเสรี

ประการที่ 2 ความบกพร่องทางเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ – ความบกพร่องที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่แสดงออกถึงความพยายามลดทอนอำนาจของประชาชน ผ่านเนื้อหาที่การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากบุคคลที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เพิ่มจำนวนสมาชิกวุฒิภาที่มาจากการสรรหาให้มากว่าจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยระบบคุณธรรมทำให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจลดลงในการบังคับบัญชาข้าราชการให้ปฏิบัติไปตามนโยบาย

ประการที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย – ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ไว้วางใจต่อการตัดสินใจของประชาชน ผ่านกระบวนการสามขั้นตอน ได้แก่ ขั้นแรก ออกแบบระบบทางการเมืองทำให้ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งให้ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและไร้อำนาจ ขั้นที่สอง สร้างขึ้นมาเป็นกลไกในการควบคุมผู้แทนของประชาชนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะของนโยบายทางการเมืองอย่างเข้มงวด และขั้นที่สาม ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติให้เป็นองค์กรที่ถืออำนาจรัฐเหนือผู้แทนประชาชนในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศและออกกฎหมายโดยอาศัยข้ออ้างในการสานต่อการปฏิรูป

ประการที่ 4คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ – ที่มาและอำนาจของคณะกรรมการขัดต่อหลักประชาธิปไตยและนิติรัฐ เพราะ เนื่องจากกรรมการจำนวน 20 คนจาก 23 คน ขาดจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ผ่านการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้งจากผู้แทนประชาชน  รวมถึงการใช้อำนาจของคณะกรรมการในสถานการณ์พิเศษขัดต่อหลักนิติรัฐ เพราะมีการรวมอำนาจนิติบัญญัติและบริหารเบ็ดเสร็จไว้ให้กับองค์กรเดียวและมีการรับรองให้การกระทำของคณะกรรมการเป็นที่สุด อันชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดสิทธิบุคคลที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้สิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ไม่สามารถประกันคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐได้

 

1. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีจุดยืนไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

2. เสนอให้มีการนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการร่างที่มีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางแต่กลับถูกยกเลิกโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อนำประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด

3. ในการคืนอำนาจให้กับประชาชนและจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อให้อยู่ภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิเสรีภาพที่สุดเสนอให้องค์กรรัฐที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีที่มาจากการรัฐประหารได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติ สิ้นสภาพลงทันทีรวมถึงประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมดในฐานะสิ่งแปลกปลอมในระบบกฎหมายต้องถูกยกเลิกทั้งหมด
ทั้งนี้ ให้คงเหลือรักษาการคณะรัฐมนตรีอยู่ทำหน้าที่เพียงบริหารให้เกิดการเลือกตั้งในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเท่านั้น

4. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเสนอว่าประชาชนที่ตระหนักถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติที่จะแสดงออกว่าไม่ยอมรับการรัฐประหารและการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องจากรัฐประหารในวิธีทางที่เป็นไปโดยสันติ ไม่ว่าจะผ่านการไม่รับรองร่างรัฐธรรมนูญและเรียกร้องการให้มีการคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมถึงช่วยกันออกแบบกติกาประชาธิปไตยสำหรับประเทศต่อไป
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สปช. สายผู้บริโภค เผยข้อดี รธน. ยันใครมีอำนาจ ปชช. ก็ต้องสู้เองอยู่ดี

$
0
0

สารี อ๋องสมหวัง สปช. สายผู้บริโภค ระบุเห็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ชี้กังวลประเด็นการเมือง เช่น ที่มา ส.ว. การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เช่นกัน แต่เชื่อใครมีอำนาจ ประชาชนก็ต้องต่อสู้-เรียกร้องเองอยู่ดี จึงสนใจเครื่องมือในรัฐธรรมนูญมากกว่า


สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นในส่วนของสิทธิของประชาชน สิทธิของกลุ่มต่างๆที่ดีขึ้น หมายถึงว่าก้าวหน้าขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าจริงๆ รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของพลเมืองมันก็จะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มันก็คงจะมีน้อยที่มันจะล้าหลังไปอย่างเช่นถ้ามองในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ชัดเจนเลยก็คงเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม และก็เรื่องเพศสภาพถึงแม้ว่าอาจจะมีแค่ส่วนเดียว แต่ก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่พูดถึงเรื่องพวกนี้

สารีกล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องสาธารณสุข สิทธิของชุมชน เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิในความเข้าถึงสินค้าบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ทำไมเขียนว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เยอะมาก กรรมการยกร่างได้ตอบคำถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่มาตรานึงเลยที่ไม่ต้องรอกฎหมายบัญญัติคือมาตรา 32 ที่ว่า ทุกคนอ้างสิทธิของตนได้ อันนี้ก็จะคุ้มครองเลยถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบัญญัติขึ้นมา คือปกติ เวลาเรามีสิทธิแล้วเขียนว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ต้องรอให้บัญญัติกฎหมายก่อน แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนบอกเลยว่าเรามีสิทธิถึงแม้ว่าไม่ได้บัญญัติกฎหมายก็ตาม

สารี กล่าวว่า นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องสุขภาพ แล้วก็เรื่องของกลุ่มเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เรื่องสวัสดิการทางสังคมก็เขียนไว้อยู่ระดับนึง และที่น่าสนใจอีกอัน ก็คงเป็นเรื่องของการเงินการคลังด้านสังคม และก็เรื่องที่เกี่ยวกับตนเองโดยตรงคือเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่บอกไปว่า การเขียนรับรองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการ เรียกว่าบริการขั้นพื้นฐานอันนี้ ซึ่งจะต้องมีสิทธิในการได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย อันนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักเรื่องสิทธิผู้บริโภคในระดับสากล ที่วัดด้วยเรื่องสิทธิที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ สารีระบุว่า ยังมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งจริงๆ เสนอว่า การฟ้องคดีจริงๆ เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะฉะนั้นปกติองค์กรสาธารณประโยชน์ทั่วไปก็ฟ้องคดีได้โดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ว่าปัญหาที่ผ่านมาก็คือว่า เมื่อฟ้องคดีแล้ว ไม่สามารถไปบังคับคดีได้ เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างเช่นในกรณีศาลปกครอง เขาก็จะบอกว่าเราไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็ยังไม่ได้เขียนไปถึงตรงนั้น แต่ว่า กมธ. ก็นำเอาไปเขียนไว้ในเจตนารมณ์ในเรื่องของอำนาจในการใช้สิทธิบังคับคดี ของกลุ่มที่ฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

“ในส่วนที่น่าเสียดายก็คือ ระบบปฏิรูปที่เรียกว่าในรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ใส่ไว้ทั้งหมดเพียงแต่ว่าเขียนกลไกบางส่วนไว้เท่านั้นว่าจะไปทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป” สารีกล่าวและว่า “จริงๆ ก็คิดว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนนึงก็ถูกประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจจะเรียกว่า พลเมืองเป็นใหญ่ ปฏิรูปประเทศ ดังนั้นควรจะเขียนเรื่องการปฏิรูปไว้ให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเขียนตัวบทปฏิรูปไว้จำนวนนึง แต่ว่าก็ไม่ได้มีรายละเอียดในด้านต่างๆซึ่งด้านต่างๆจะถูกเขียนอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”

เมื่อถามว่า ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ข้อดีที่ว่ามาจะสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ สารีตอบโดยยกตัวอย่างประเด็นพลังงานว่า รัฐบาลทุกแบบต่างก็ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานหมุนเวียนน้อย เวลามีปัญหาพลังงานมีปัญหาก็จะคิดแต่พลังงานฟอสซิล หรือพลังงานที่อาจจะเรียกว่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

“ก็ต้องบอกเลยว่ามันไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหน รัฐบาล ม.44 รัฐบาลประชาธิปไตย กลไกของฝั่งประชาชนยากเสมอ หรือการเคลื่อนของภาคประชาชนไม่ได้ง่าย เพราะว่าประเทศนี้ก็ต้องบอกว่ายังให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเข้มข้น ต้นทุนต่ำ ผ่านการเอื้ออำนวยจากระบบภาษีอะไรต่ออะไรยังเป็นแบบเดิม เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายถึงแม้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคตก็ตาม” สารีกล่าวและว่า “ยังไงประชาชนที่สนใจในเรื่องพวกนี้ก็ต้องทำงาน และประชาชนเองก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการในเรื่องพวกนี้ด้วยตนเอง ไม่เห็นง่ายสักเรื่องนึง ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องวินาที (คิดค่าโทรศัพท์ตามจริงเป็นวินาที) รัฐบาลนี้ก็ยังทำไม่ได้เลย หรือข้าราชการก็ไม่ได้ทำเลย มันก็ต้องไปเรียกร้อง ต้องไปกดดันทุกรัฐบาล”

สำหรับการตัดสินใจในวันอาทิตย์นี้ สารีระบุว่า ก็ต้องเวทน้ำหนักทั้งหมด แล้วก็ถ้ารับก็ไปทำประชามติ เพราะ สปช.ไม่ไช่คนตัดสินใจสุดท้าย แต่เป็นประชาชนซึ่งต้องเป็นคนที่ตัดสินใจที่จะรับกติกานี้ ซึ่งเหมือนเป็นกติกาสำคัญที่จะเกิดกฎหมายเรื่องสิทธิอีกเยอะแยะมากมาย เป็นคนตัดสินใจ ดังนั้นถ้า สปช. เห็นชอบถึงจะไปประชามติ แต่ถ้า สปช. ไม่เห็นชอบก็ต้องมีกรรมการยกร่างชุดใหม่ขึ้นมา

สารี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สปช. ก็มีความยากอยู่เหมือนกัน คือขานึงก็ก้าวหน้า เรียกว่าขาสิทธิ ขาอะไรต่อมิอะไรก็ก้าวหน้า แต่ว่าเราก็มีข้อกังวลเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องวุฒิสภา ที่ไม่ได้ใช้เงื่อนไขในส่วนของกรรมการสรรหาวุฒิสภาชุดแรก หรือแม้กระทั่งกรรมการยุทธศาสตร์ที่ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เอ๊ะ…มันจะเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนที่จะมาสนับสนุนรัฐบาลมั้ย แต่ว่ายังไงก็ตาม เราไม่ใช่คนตัดสินใจสุดท้าย แต่ว่าก็ต้องตัดสินใจให้ดีที่สุดจริงๆ โดยส่วนตัวก็อยากเห็นการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

“เรื่องของประชาชนมันเป็นเรื่องของจริง แต่ว่ามันถูกให้ความสำคัญน้อย”  สารีกล่าวและว่า อย่างเช่นเรื่องการมีส่วนร่วม ในมาตรา 64 เขียนไว้ได้ดีมาก เปิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับโครงการของรัฐ มาตรา 62 เรื่องฟังความคิดเห็น ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีความก้าวหน้าขึ้นจากเดิมที่แค่ฟังความคิดเห็น  ตอนนี้ก็ก้าวไปถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“เรา กลุ่มที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเอ็นจีโอใน สปช. ก็ได้นะ ก็ต้องบอกได้ว่าเราก็มีจุดอ่อนนะ อย่างเช่นเราก็อาจจะให้ความสำคัญเรื่องการเมือง ที่มา ส.ส. ที่มา ส.ว. น้อยกว่าในหมวดนี้ เราอาจจะให้ความสำคัญกับสิทธิมากกว่า ถ้าว่าหมวดการเมืองเนี่ยเราก็จะเห็นว่าเขียนไว้ยังไง ก็อาจจะมีช่องว่าง ช่องทางที่จะให้ปรับตัวได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น เราอาจจะสนใจเรื่องกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการที่ประชาชนจะปฏิบัติการ เราสนใจในส่วนนี้ หรือเครื่องมือของประชาชนที่จะมีในรัฐธรรมนูญ” สารีทิ้งท้าย
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินรัฐมอญเลื่อนไม่มีกำหนด ระบุฝ่ายบ้านเมืองไม่ให้จัด

$
0
0

 
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมาเพจเฟซบุ๊ก TERRA โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขงแจ้งข้อมูลการเลื่อนจัดงาน "ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน รัฐมอญ ประเทศเมียนมา" ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ วัดสุธรรมวดี ซ.บางกระดี่ 25 เขตบางขุนเทียน โดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแดนมอญ (Human Rights Foundation of Mon Land – HURFOM) และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (FER/TERRA)
 
“เนื่องด้วยฝ่ายบ้านเมืองไม่อนุญาตให้จัดการประชุม คณะผู้จัดการประชุมจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด และต้องขออภัยเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยครับ” ข้อความระบุเหตุผลที่เผยแพร่ในเพจ
 
งานดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ของชุมชนมอญในประเทศไทย และสังคมไทยโดยรวม ให้ได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยบริษัทที่มาจากประเทศไทย ต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในเขตพะลึน โดยมีพระและชาวบ้านจากในพื้นที่ผลกระทบเดินทางมาร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ และเผยแพร่ผลการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่งคั่งของชุมชนในพะลึน โดยชุมชนท้องถิ่น 
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images