Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

เนติวิทย์-สุเนตร-เวทิน-ชอมสกี้

$
0
0


 

สังคมไทยปัจจุบันมี “ดราม่า” กันรายวัน ทั้งเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งไปถึงเรื่องสลักสำคัญ แต่พอ “ดราม่า” กันสักพักชาวเน็ทสัญชาติไทยเราก็มักปล่อยเรื่องดังกล่าวให้หายไป จนกว่าเรื่องทำนองเดิมจะโผล่มาอีก หลายครั้งเราจึงเหมือนได้ประมวลข้อถกเถียงเพื่อจะเรียนรู้หรือหาข้อตกลงที่พอจะยอมรับกันได้

การจัดพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่ผ่านมาดูจะเป็นประเด็นที่ดร่ามากันยาวนานกว่าหลายๆเรื่อง ยิ่งมีโนม ชอมกี้ นักวิชาการระดับโลกส่งอีเมล์มาให้กำลังเนวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลที่กำลังจะถูกต้นสังกัดสอบสวนทางวินัย ยิ่งกระพือความไม่พอใจให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาแย้ง ที่ฮือฮามากที่สุดเห็นจะเป็นจดหมายเปิดผนึกของ ดร. เวทิน ชาติกุล ซึ่งเป็นอาจารย์สอนปรัชญา ถึงโนม ชอมสกี้ อันที่จริงแล้วชื่อชั้นไม่ควรจะมีผลต่อการถกเถียง เราพึงให้ความสำคัญกับการอ้างเหตุผลมากกว่าบารมีทางวิชาการ

ที่จริงก่อนหน้านี้ก็มีบทความหลายชิ้นที่น่าสนใจ อย่างเช่นบทความของคุณศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่ชี้ให้เห็นว่าการที่ ร. 5 ทรงยกเลิกพิธีหมอบกราบนั้นเป็นโครงการที่ต่อเนื่องกับการเลิกทาส ซึ่งก็เป็นปฏิกิริยาต่อลัทธิล่าอาณานิคมที่เห็นว่าสยามไร้อารยะ คุณศิริพจน์เห็นว่าการที่พวกหัวก้าวหน้าใช้พระราชประสงค์ของ ร. 5 ในการยกเลิกพิธีหมอบกราบมาอ้าง อาจจะเป็นอาวุธที่ใช้จัดการกับพวกอนุรักษนิยมสำเร็จก็ได้ นั่นหมายความว่าการอ้างพระราชประสงค์ของ ร. 5 เป็นเพียงยุทธวิธีและวาทศิลป์ของฝ่ายก้าวหน้านำมาใช้

บทสัมภาษณ์ของ  รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ก็เป็นการแสดงทัศนะที่น่าสนใจ คืออาจารย์สุเนตรเห็นว่าประเพณีนี้หรือพิธีกรรมมีส่วนยึดโยงกันอยู่ร่วมกันเป็นประชาคม แม้ว่า ร. 5 จะพระบรมราชโองการให้ยกเลิกพิธีหมอบกราบ และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ของนิสิตชั้นปีที่ 1 แม้จะเพิ่งมีขึ้นมาเพียง 20 ปีนี้เอง แต่หากมีคุณค่าก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิก และอาจารย์สุเนตรได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในแต่ละวัฒนธรรมมีการแสดงความเคารพที่แตกต่างกัน เราต้องเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั้น  “...เราต้องเคารพศรัทธาของผู้อื่นที่แตกต่าง ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อนะ” ซึ่งเราจะเห็นว่าจุดยืนของอาจารย์สุเนตรดูจะเป็นกลางอย่างมาก

ในจดหมายเปิดผนึกของอาจารย์ ดร.เวทิน ชาติกุล เองก็ได้กล่าวถึงการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมขึ้นมาโต้แย้งโนม ชอมสกี้ กรณีที่เขียนอีเมล์มาให้กำลังใจและสนับสนุนเนติวิทย์ อาจารย์เวทินยกตัวอย่างพระอาจารย์ชยสาโร หรือณอน ชิเวอร์ตัน ชาวตะวันตกที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุในไทย จนเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมตะวันตกและไทย อย่างเรื่องการเล่นหัว ซึ่งวัฒนธรรมไทยถือว่าเสียมารยาท หรือเรื่อง “บุญคุณ” ต่อบุพการีที่ฝรั่งจะไม่เข้าใจ อาจารย์เวทินเห็นว่าชอมสกี้สามารถสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมของตนได้ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรเคารพความต่างทางวัฒนธรรมและไม่ควรแสดงทัศนะที่ “ตื้นเขินจนไร้สติ”

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่แบ่งแยก “หัวอนุรักษ์” หรือพวกอนุรักษนิยมกับ “หัวก้าวหน้า” หรือฝ่ายสนับสนุนเสรีนิยมออกจากกันได้ ตัวอย่างเช่นการวิจารณ์พิธีหมอบกราบโดยอ้างพระราชประสงค์ที่แท้จริงของ ร. 5 ที่เนติวิทย์อ้าง ก็เป็นวาทศิลป์ที่อ้างสิทธิอำนาจ (authority) ซึ่งนักปราชญ์สายกษัตริย์นิยมอย่างอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ชอบใช้ จริงอยู่ประเพณีไม่ใช่ดีหรือเลวโดยตัวมันเอง ประเพณีไม่ได้มีด้านลบอย่างที่นักคิดอยู่แสงสว่างแห่งปัญญาใช้เหตุผลวิพากษ์ไปเสียทั้งหมด เราเกิดมาในสังคม เรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านประเพณี ตัวอย่างง่ายๆเลยคือภาษา แต่กระนั้น สิ่งที่ตกทอดมากับประเพณีมีอุดมการณ์ (ideology) แฝงฝังมาด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะเข้ามาจัดการความทรงจำเรา ทำให้ความทรงจำเรากลายเป็นความทรงจำที่ถูกจัดการ (manipulated memory) และครอบงำให้จดจำอดีตอย่างที่รัฐอยากให้เราจำ เราจึงจ้องอาศัยการวิพากษ์อุดมการณ์ (critique of ideology) เพื่อแก้อาการดังกล่าว ความทรงจำต่างๆเกี่ยวกับอดีตของชาติถูกเข้ารหัสความหมายในอนุสาวรีย์ หนังสือเรียน พิธีกรรมต่างๆ การที่ “ฝ่ายก้าวหน้า” ใช้วาทศิลป์อ้างความถูกต้องของพระราชประสงค์ของ ร. 5 เพื่อมาแย้งพิธีกรรมที่ตนไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องระวังอุดมการณ์บางอย่าง ซึ่งอาจจะเรียกว่าราชาชาตินิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งก็จัดเป็นประวัติศาสตร์แบบอ้างอิงผู้ยิ่งใหญ่ (great man history) อย่างที่อาจารย์สุเนตรก็ทราบดีอยู่แล้ว การอ้างเช่นนี้ทำให้เส้นแบ่งเรื่อง “หัวอนุรักษ์” กับ “หัวก้าวหน้า” คลุมเครืออย่างยิ่ง

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่ดูจะเห็นด้วยกับถวายสัตย์ฯ อย่างอาจารย์สุเนตรและอาจารย์เวทิน ซึ่งอีกฝ่ายมักจะมองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม ก็อ้างการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity ) และเน้นที่การเคารพความแตกต่าง (difference) กลับชี้ให้เห็นด้านตรงกันข้าม คนที่สนับสนุนความคิดนี้หลายคนอ้างถึงพิธีการแสดงความเคารพ อย่างพิธีชงชาในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปรียบที่ผิดฝาผิดตัวเพราะนัยยะของพิธีกรรมที่แตกต่างกัน (ซึ่งขอข้ามไป ไม่นำมาพูดถึงในที่นี้) อย่างไรก็ตาม อุลริค เบค (Ulrich Bech) เห็นว่าการอ้างการเคารพความต่าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สัมพันธนิยมทางวัฒนธรรม สากลนิยม ศัพท์แสงเหล่านี้ล้วนเป็นวาทศิลป์ของพวกเสรีนิยมใหม่ที่ใช้จัดการกับความต่างเท่านั้น เบคชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ในสังคมปัจจุบันเรากำลังเผชิญวิถีชีวิตที่ข้ามพ้นกรอบของรัฐชาติ และการสื่อสารระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ นิเวศวิทยา ความเสี่ยงจากการก่อการร้าย ประเด็นคำถามที่สำคัญก็คือ สังคมต่างๆจะรับมือกับความเป็นอื่นและพรมแดนต่างๆท่ามกลางการอิงอาศัยซึ่งกันและกันในระดับโลกนี้อย่างไร เบคเห็นว่าแม้แต่สังคมอเมริกันที่เป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์ต่างๆก็ยังมีท่าทีกังวลในเรื่องความต่างของชาติพันธุ์ กล่าวคือ ยิ่งมีความต่างมากก็ยิ่งยากจะเชื่อมผสานกัน ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้มีข้อเรียกร้องต่อจิตวิญญาณของชาติ (national ethos) หรือแนวคิดแบบชุมชนนิยม (อ่านได้ใน  “Realistic Cosmopolitanism: How do societies handle otherness?” ในหนังสือ Cultural Politics in a Global Age: Uncertainty, Solidarity and Innovation)

เบคเห็นว่านักปรัชญาตะวันตกอย่างค้านท์ ป๊อบเปอร์ เลียวตาร์ด เรื่อยมาถึงรอร์ตีนั้น แม้จะเห็นว่าความต่างมีอยู่จริง แต่ก็พยายามจะเน้นย้ำความเชื่อมโยงกันของมนุษยชาติ โดยย้อนกลับมาอ้างอิงหลักสากลนิยมแบบตะวันตก กล่าวคือ ไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นอื่นของคนอื่น แต่ย้ำถึงสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์มากกว่า นั่นหมายความด้วยว่า เสียงพูดของคนอื่นที่มีความต่างเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพูดผ่านเสียงของความเหมือน คุณจะต่างจากฉันได้ ต้องเป็นเหมือนฉันก่อน คุณจะมีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนไทยก่อน คุณจะคิดต่างจากฉํนก็ได้ แต่ต้องคิดต่างบนพื้นฐานความคิดแบบเดียวกับฉัน

เราจะเห็นได้ว่าฝ่ายที่ถูกประทับตราว่าเป็น “อนุรักษนิยม” กลับอ้างวาทศิลป์ของเสรีนิยมกลับไปตอบโต้พวกเสรีนิยมเอง นั่นคือการอ้างเรื่องการเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถูกประทับตราว่า “หัวก้าวหน้า” ก็อาศัยวาทศิลป์แบบอนุรักษนิยมโต้แย้งฝ่ายอนุรักษนิยมเอง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ ในแง่นี้ เส้นแบ่ง “อนุรักษนิยม” กับ “หัวก้าวหน้า” จึงดูคลุมเครือและไม่อาจแบ่งชัดได้ในกรณีการถกเถียงนี้

ถึงที่สุดแล้วเราอาจจะต้องกลับไปหาศัพท์คำว่า diversity ซึ่งมาจากภาษาละตินว่า diversus แปลว่าบ่ายหน้าไปคนละทิศคนละทาง ความต่างที่ว่านี้ไม่ใช่ความต่างชนิดที่จะหันหน้าเข้ามากันเพื่อพูดคุยใช่หรือไม่ ก็คงจะย้อนกลับไปที่คำถามว่า เราอยากอยู่ร่วมกันหรือไม่ เราอยากอยู่ร่วมกันอย่างไร แล้วนำไปสู่ข้ออ้างของข้อถกเถียงที่ทั้งสองฝ่ายพอจะรับกันได้ เราจะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่างได้หรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะมีข้อตกลงร่วมกัน อาจจะต้องอาศัยเวลาในการถกเถียงอภิปรายโดยไม่ด่วนสรุปว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ตื้นเขินจนไร้สติ” แม้แต่การการตัดสินว่าตัวเอง “ตื้นเขินจนไร้สติ” ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาก็เรียกว่า อหังการ มมังการ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ความเจ็บปวดของการ (บังคับ) รับสารภาพ : มอง ‘ไผ่’ ผ่านหนัง Fire Under the Snow

$
0
0

Palden พระธิเบตผู้ถูกทัณฑ์ทรมานแสนสาหัสในคุกยาวนาน 33 ปีเพราะความคิด คุกไม่อาจทำให้เขาพูดในสิ่งที่ตนไม่ได้คิดได้ เทียบกับสภาวการณ์เมืองไทย มิได้หมายให้นักโทษความคิดต้องยืนยันด้วยชีวิตเช่นลามะธิเบต หากพยายามทำความเข้าใจ “ความทรมาน” จากการถูกบีบบังคับให้สารภาพว่าสิ่งที่ตนคิดเป็นความผิด เป็นภัยต่อผู้คน

“They say, everything is great in Tibet. Tibetans enjoy human rights.

But I am living proof of how they treated us.

If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”

นั่นเป็นคำพูดแรกเริ่มในหนังสารคดีเรื่อง Fire Under the Snow (เผยแพร่ปี 2008) ที่สถาบันวัชรสิทธาจัดฉายเมื่อวัน 13 สิงหาคมที่ผ่านมา

คนที่พูดคือพระสูงวัย อดีต(พระ)นักโทษการเมืองที่เรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพในธิเบตจากการรุกรานของจีน ชื่อ Palden Gyatso (พาลเด็น เก็ตโซ) เขาใช้ชีวิตในคุกและในค่ายแรงงานรวม 33 ปี ผ่านการถูกทรมานสารพัดจนเหลือเชื่อว่าจะรอดชีวิตมาได้ และคงเป็นประโยคข้างบนนั่นเองที่เป็นแรงจูงใจสำคัญ การเล่าเรื่องดูเหมือนเป็นอาวุธเดียวที่เขาใช้ 

ประเด็นที่น่าสนใจและร่วมสมัยกับประเทศไทยซึ่งมีนักโทษทางความคิด นักโทษการเมืองด้วยเช่นกันคือ เสรีภาพในการแสดงออก การซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่คิดที่เชื่อนั้นมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่เพียงไหน  

“เพียงตอบว่า ใช่ (ธิเบตเป็นของจีน) ยอมรับว่าเปลี่ยนความคิดแล้ว คุณก็จะได้ออกจากคุก แต่นักโทษส่วนใหญ่ยังคงยืนยันคำเดิม”

“เราถูกถามคำถามเดิมเป็นเดือนๆ และทุกทีที่ตอบว่า “ไม่” ก็จะถูกตี ถูกซ้อม” Tenzin Tsundue นักกิจกรรมรณรงค์  Free Tibet อดีตนักโทษการเมืองที่เคยติดคุกแล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเล่า

หลังจากจีนเริ่มบุกธิเบตในปี 1949-1950 ทำลายวัดวาอารามและห้ามผู้คนในดินแดนที่ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตนับถือศาสนาอีกต่อไป Palden ซึ่งเป็นพระธรรมดาๆ ก็เริ่มเข้าร่วมขบวนต่อต้าน เขาบวชตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตามธรรมเนียมชาวธิเบตที่ว่า หากบ้านใดมีลูกชาย 3 คน ลูกชายคนเล็กสุดจะต้องบวชเป็นพระ นั่นหมายความว่าประเทศนี้ชายฉกรรจ์เป็นพระกันจำนวนมาก และพระก็กลายสภาพเป็นนักโทษกันจำนวนมากเช่นกัน เอ็นจีโอที่ทำงานเรื่องธิเบตระบุว่า เมื่อก่อนพระธิเบตมีจำนวน 15,000-10,000 รูปแต่ตอนกดปราบหนักนั้นเหลือ 300-600 รูปได้ ส่วนใหญ่เข้าคุก อีกส่วนลี้ภัยไปต่างประเทศ และจำนวนไม่น้อยตาย

Palden นับเป็นนักโทษการเมืองรุ่นบุกเบิก ถูกจับตั้งแต่ปี 1959 ที่ประชาชนธิเบตลุกขึ้นประท้วงจีนครั้งแรก ก่อนที่ประเด็นการละเมิดสิทธิและ “Free Tibet” จะโด่งดังในโลกตะวันตกหลังการลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติของชาวธิเบตครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1998 อันนำมาซึ่งการจับกุมคุมขัง เข่นฆ่าและทำให้หายตัวไปของผู้ประท้วงจำนวนมาก

Palden ติดคุกระหว่างการพาอาจารย์ของเขาหลบหนีไปอินเดียในปี 1959 ขณะนั้นอายุ 28 ปี เขาถูกคุมขังในอารามที่ถูกปรับให้เป็นคุกชื่อว่า Drapchi prison ใน LHASA เมืองหลวงของธิเบต

สิ่งที่เขาเจอคือการสอบสวนพร้อมๆ กับการทรมาน เพราะเขายืนกรานว่าธิเบตเป็นของคนธิเบต เขาถูกซ้อมอย่างหนัก ถูกจับแขวนโยงกับขื่อ ถูกเอาน้ำร้อนสาด เขาเล่าว่าหลังจากนั้นเขาถูกขังในห้องมืด รู้สึกเหมือนใกล้จะตาย จากนั้นก็มีคนเปิดประตูเข้ามา เขาได้กลิ่นสบู่ มีเสียงผู้หญิงถามขึ้นว่า “คุณชื่ออะไร” หลังจากตอบชื่อ เจ้าหน้าที่หญิงถามว่า คุณได้ร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจีนไหม อีกครั้งที่เขาตอบความจริง "ใช่” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำกระดาษที่พิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปีมาให้เขาลงชื่อในสภาพใกล้ตายแบบนั้น

เขาเล่าว่า เวลาจะโดนสอบสวนอีกหลังจากนั้นเขาต้องถอดกางเกง คลานเข่าไปในห้องสอบสวนที่เต็มไปด้วยเศษแก้วและหินแหลมคม หลังติดคุกมา 1 ปีเขาถูกถามคำถามเดิมว่า คิดว่าดาไลลามะควรกลับมาธิเบตไหม และธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และ ไม่ใช่ ตามลำดับ เขาถูกซ้อมอย่างหนัก

AMA ADHE อดีตนักโทษการเมืองหญิงเล่าว่า ในคุกแห่งนี้ มีนักโทษอดอาหารตาย 12,019 คน นักโทษที่เหลือต้องกินทุกอย่าง เช่น แมลง เศษหนังจากรองเท้า กระทั่งบางคนต้องกินศพของคนอื่น “I swear it is true”

ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ถึงขีดสุดในคุก Palden เห็นว่าอยู่ไปต้องตายแน่ จึงวางแผนหลบหนีออกจากคุกกับเพื่อน เขาหนีออกมาได้ แต่นี่ไม่ใช่หนังฮอลีวูด เขาและเพื่อนถูกจับได้ระหว่างทางแล้วนำกลับมายังคุกเดิมอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พยายามกดดันให้เพื่อนนักโทษทำร้ายเขา แต่ไม่มีใครซักคนที่ยอมทำตาม เพื่อนๆ ได้แต่ลงโทษด้วยตะโกนใส่หน้าว่า “พวกแกทำให้พวกเราลำบากขึ้นอีก” จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็สอบสวนเขา เขาพูดความจริงอีกครั้งถึงจุดประสงค์ที่จะหนีไปอินเดียว่าต้องการไปพบดาไลลามะเพื่อเล่าเรื่องการทรมานที่เกิดขึ้น และต้องการ “enjoy freedom” เจ้าหน้าที่ลงโทษเขาด้วยการใช้กระบองไฟฟ้ายัดเข้าไปในปากแล้วช็อตไฟ เพื่อนของเขาในคุกเดียวกันเล่าว่า มันรุนแรงมากจนทำให้ฟันของเขาร่วงหมดปาก และยังถูกซ้อม ถูกพันธนาการอย่างหนัก ก่อนจะถูกตัดสินเพิ่มโทษฐานหลบหนีอีก 8 ปี รวมเป็น 15 ปี

Palden เป็นกรณีที่ทั้งสร้างความสะเทือนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และกระทั่งทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงไม่ยอมพูดคำลวงอย่างที่ผู้มีอำนาจอยากได้ยิน

Manfred Nowak ผู้ตรวจการพิเศษจากสหประชาชนที่ทำรายงานเรื่องการทรมานในธิเบต ระบุว่า การทรมานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นยิ่งกว่าอาชญากรรมธรรมดา ผู้กระทำไม่ได้ต้องการเพียงยึดครองดินแดนหรือเอาชนะกดข่มประชาชนที่นั่น แต่ต้องการให้เปลี่ยน personality และยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาเป็นนั้นเป็นเรื่องผิด การทรมานอย่างรุนแรงทั้งร่างกายและจิตใจจึงเกิดขึ้นเพื่อที่ท้ายที่สุดแม้ผู้นั้นอาจจะไม่ยอมรับ เมื่อเขาออกจากคุกไปก็จะหมดสภาพที่จะทำการใดๆ ต่อ

แน่นอน หลายคนยอมซัดทอดเพื่อน คนจำนวนมากล้มตายในคุก หลายคนออกมาตายที่บ้านหลังออกจากคุกมาไม่นาน ล่าสุดคือปี 2014 ในกรณีของ Goshul Lobsang (อ่านที่นี่) และปัจจุบันก็ยังมีการจับกุมผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านจีนอยู่ ส่วนจำนวนนักโทษการเมืองที่แน่ชัดนั้น HRW ระบุว่าเป็นการยากมากที่จะเข้าถึง (อ่านที่นี่)

ในกรณีของไทย แม้เรื่องราวการทรมานให้ผู้คนเปลี่ยนความคิดจะไม่เทียบเท่ากับในธิเบต และมีปัจจัยต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่กล่าวให้ถึงที่สุด การจองจำผู้คนในคดีเกี่ยวกับความคิดและการพยายามทำให้บุคคลเหล่านั้นรับสารภาพก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารที่พลเรือนจำนวนมากต้องไปขึ้นศาลทหารในความผิดเกี่ยวกับความคิดที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ (มาตรา 112) กระบวนการที่ยาวนานอย่างไม่รู้จุดหมายปลายทาง และสภาพย่ำแย่ในเรือนจำ ทำให้หลายต่อหลายคนยินยอมรับสารภาพทั้งที่ต้องการสู้คดี (อ่านที่นี่) หรือกรณีของคนที่ต่อสู้คดีก็แทบไม่มีใครสามารถชนะคดีได้และต้องถูกลงโทษอย่างหนัก เช่นกรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขจำคุก 10 ปี

ไม่ต้องกล่าวถึงความสมเหตุสมผลของโทษ (ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่) ความผิดปกติในกระบวนการระหว่างสู้คดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สาธารณชนก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่พวกเขาพูดหรือเขียนนั้นคืออะไร

กรณีล่าสุดของเด็กหนุ่มนักศึกษาชื่อ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ เป็นเพียงไม่กี่กรณีที่เรารู้ว่าเขา “พูด” อะไร เนื่องจากเป็นการแชร์บทความจากเพจสำนักข่าวบีบีซีไทยเกี่ยวกับพระราชประวัติของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัดเอาย่อหน้าหนึ่งมาโพสต์ตั้งต้นเท่านั้น

“ลูกชายพูดมาตลอดว่า การต่อสู้คดีครั้งนี้เพื่อจะพิสูจน์เรื่องความเป็นกฎหมาย ความเป็นกระบวนการยุติธรรม ซึ่งลูกชายไม่เคยได้รับ เขาจึงต้องการต่อสู้”

“ไผ่ไม่ได้ต่อสู้คนเดียว ไผ่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อไผ่ ไผ่ต่อสู้เพื่อคนอื่น ต่อสู้เพื่อลูกคนอื่น ต่อสู้เพื่อประชาชนที่มีโอกาสจะถูกกระทำแบบนี้เช่นกัน ดังนั้นการต่อสู้ของไผ่ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้เพื่อส่วนรวม”

คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่ถึงการยืนยันต่อสู้คดีตลอด 7 เดือนที่ถูกคุมขัง ไม่ได้รับการประกันตัวแม้ยื่นเรื่องไปแล้วถึง 9 ครั้ง

แต่เมื่อมีการสืบพยานนัดที่สอง เขาก็เปลี่ยนมา “รับสารภาพ” ผู้ใกล้ชิดไผ่คาดเดาว่าเหตุที่เขาเปลี่ยนใจเป็นเพราะแม่ของเขาตรอมใจอย่างหนักและเกิดผลกระทบหลายอย่างที่ยากจะกล่าวแก่สาธารณะ

ส่วนทนายความของไผ่ระบุถึงเหตุการณ์ก่อนการรับสารภาพไว้อย่าง “น่าสนใจยิ่ง” ว่า

“ผมจำได้ว่า ผมเรียนท่านผู้พิพากษาไปอย่างชัดเจนว่า ผมขอให้ไผ่และครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจดีกว่า แล้วในที่สุดผมก็ปล่อยให้ไผ่กับพ่อแม่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 8 กับผู้พิพากษาเพื่อใคร่ครวญเอง ประมาณเกือบชั่วโมงพ่อกับแม่ของไผ่เดินออกมาจากห้องพิจารณาและขอให้ผมกับทนายแสงชัยเข้าไปคุยกับไผ่...”

“ผมพูดกับไผ่อยู่สามประโยคทั้งที่เขาไม่ได้ถามอะไร
ผมบอกเขาว่า ผมเชื่อว่าคุณไม่มีวันชนะในการตัดสินคดีนี้อย่างแน่นอน ส่วนการตัดสินใจใด ๆ ของคุณในวันนี้นอกจากเพื่อตัวเองแล้วคงต้องคิดเพื่อพ่อกับแม่ที่รักคุณสุดหัวใจด้วย และสุดท้ายอย่างหวังว่าการต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมจะได้รับชัยชนะได้ในเร็ววัน แต่ที่สำคัญกว่าคือประสบการณ์ความเจ็บปวดที่คุณได้รับเพื่อความถูกต้องและเป็นธรรมทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมาจะสอนให้คุณรู้คุณค่าของความถูกต้องเป็นธรรมที่คุณใฝ่ฝันหา
ไผ่มองหน้าเราสองคนและพยักหน้า
ผมเดินกลับไปหาผู้พิพากษาและบอกว่า จำเลยจะรับสารภาพ
คำถามสุดท้ายของผู้คนที่มีต่อผมคือ “ทำไม่ไผ่จึงรับสารภาพ”
ขอตอบว่า ผมไม่รู้และไม่อยากรู้”

หลังจากนั้นพ่อของเขาก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังศาลพิพากษาโทษจำคุก 2 ปีครึ่งว่า มีการผิดข้อตกลงอันไม่เป็นทางการและปิดลับซึ่งใช้เวลาเกือบชั่วโมงก่อนการตัดสินใจสารภาพครั้งนี้

เบื้องหลังการรายงานข่าวสารทั้งปวง ไม่มีใครรู้ว่าการตัดสินใจของเขายากเพียงไหน ไผ่กับ Palden จะรู้สึกร่วมหรือต่างกันอย่างไร สำหรับมนุษย์สมัยใหม่ มันอาจไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะรับสารภาพเพื่อให้ตนเองได้พ้นสภาวะเลวร้ายแม้จะรู้สึกไม่ยุติธรรม สำหรับนักยุทธศาสตร์ยิ่งอาจเห็นว่า การเสียเวลาเปล่าในเรือนจำเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หรืออาจเข้าขั้นโง่เง่า

สิ่งที่พอจะเป็นร่องรอยให้เราจินตนาการความยากลำบากของการรับสารภาพได้นั่นก็คือ ข้อความของผู้ที่ได้เห็นสภาพของเขาในวันนั้น

 “ขอสรุปสั้นๆ ช่วงเช้า (หลังคุยกับผู้พิพากษาและกำลังรอผลคำตัดสิน) ตัวเลขไผ่ไม่ติด และเข้าใจเหตุผล แต่...มันติดที่ว่ามันไม่ผิด และตั้งแต่เลี้ยงไผ่มาจนโต มีวันนี้เป็นครั้งแรกที่มันร้องไห้โฮ มือกำนิ้ว ขยับไปมา นานเป็นชั่วโมง ลงมาห้องขังศาล ใครขอพูด มันไม่มารับ มันนั่งนิ่งของมัน”

หลัง Palden ออกจากคุกรอบแรก ทัณฑ์ทรมานไม่อาจทำลายจิตใจของเขาได้ เขาออกมาแจกใบปลิวเรียกร้องอิสรภาพอีก และทำให้โดนโทษจำคุกอีก 8 ปี หลังครบกำหนดโทษ เขายังถูกส่งไปค่ายใช้แรงงานอีกหลายปี เพื่อ “รับการศึกษา” ที่ถูกต้องเพราะดูเหมือนความคิดของเขาก็ยังไม่เปลี่ยน

กระทั่ง 33 ปีของชีวิตหมดไปกับการจองจำ เขาออกมาจากคุกในวัยชราและยังคงเดินหน้ารณรงค์เรื่องเดิม มันอาจมีแรงผลักดันจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะเรื่องทางจิตวิญญาณ แต่อันหนึ่งที่เข้าใจง่ายกว่าก็คือ คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนๆ ที่ต้องตายไประหว่างถูกจองจำ เขาเดินสายจัดกิจกรรมในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา แน่นอนว่าถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววของชัยชนะแม้แต่น้อย

“I am living proof of how they treated us.
If the world learns about it, they’ll demand an end to this injustice.”

มันขึ้นอยู่กับว่าเรานิยาม “โลก” อย่างไร มีตัวเรารวมอยู่ในนั้นเพียงไหน ที่รู้ๆ คือ มันไม่แน่เสมอไปที่เมื่อโลกเห็นความอยุติธรรมแล้วจะพากันก้าวออกมาหยุดยั้งสิ่งนั้นเป็นผลสำเร็จ...ในชั่วชีวิตของเรา 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มองปรากฎการณ์รูปปั้นสมาพันธรัฐ วิธีรำลึกประวัติศาสตร์นาซีที่น่าอับอายในแบบเยอรมนี

$
0
0

หนึ่งในข้อถกเถียงประเด็นเรื่องการรื้อถอนรูปปั้นอนุสาวรีย์ทหารสมาพันธรัฐในประเทศสหรัฐฯ คือการโต้แย้งว่าการรื้อถอนวัตถุเหล่านี้นับเป็นการลบเลือนประวัติศาสตร์ใช่หรือไม่ คำถามนี้มีขึ้นแม้ว่าฝ่ายสนับสนุนการรื้อถอนรูปปั้นเหล่านี้จะมีจุดยืนชัดเจนว่ารูปปั้นเหล่านี้เป็นการยกย่องเชิดชูการเหยียดเชื้อชาติสีผิวและเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนการใช้ทาส ประเด็นนี้เองสื่อวิทยุสาธารณะแห่งชาติสหรัฐ (NPR) นำเสนอในอีกแง่มุมหนึ่งโดยยกตัวอย่างเยอรมนีว่าพวกเขารำลึกประวัติศาสตร์ความโหดร้ายที่น่าอับอายอย่างไร

19 ส.ค. 2560 เยอรมนีเคยมีประวัติศาสตร์ที่น่าอับอายจากช่วงที่เผด็จการนาซีเรืองอำนาจมีคนที่ตกเป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของพวกเขา สื่อ NPR ระบุถึงการรำลึกประวัติศาสตร์อันน่าอับอายนี้ไว้ด้วยการปักหมุดเป็นชื่อของเหยื่อที่ถูกสังหารไว้บนทางเท้า จนแทบจะเรียกได้ว่าถ้าหากคุณเดินไปในกรุงเบอร์ลินคุณก็อาจจะ "สะดุดประวัติศาสตร์ได้" หมุดที่ว่านี้ชาวเยอรมนีเรียกว่า "สโตลเปอร์ซไตเนอ" (Stolpersteine) หรือ "หินสะดุด" โดยหมุดเหล่านี้จะฝังไว้บนทางเท้าหน้าบ้านที่เหยื่อเคยอาศัยอยู่

NPR ระบุว่าวัฒนธรรมการ "รำลึก" ถึงช่วงสมัยนาซีและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคนั้นเป็นสิ่งที่มีการบันทึกไว้อย่างดีและกลายเป็นส่วนสำคัญของความเป็นเยอรมนี อาจจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่พยายามท้าทายวัฒนธรรมการรำลึกประวัติศาสตร์เช่นนี้แต่ก็มักจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่นับเป็น "พวกตกขอบ"

ผู้สื่อข่าวแม็กกี เพนแมน เล่าถึงประสบการณ์ตอนที่เธอไปยังเบอร์ลินแล้วพบว่าเยอรมนีมีการจดจำประวัติศาสตร์ที่ต่างจากสหรัฐฯ ที่สวนสาธารณะเทียการ์เทนในใจกลางกรุงเบอร์ลินเป็นพื้นที่ที่ทั้งคนหนุ่มสาวในเบอร์ลิน นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติ พากันมาพลอดรักกันอย่างไม่ค่อยมีใครมาจับผิด และมีคนดื่มเบียร์กันอย่างถูกกฎหมาย ห่างออกไปจากพื้นที่ตรงนี้ไม่มากก็มีอนุสรณ์สถานรำลึกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีชื่อเต็มว่า "อนุสรณ์สถานของยิวแห่งยุโรปผู้ถูกสังหาร" อนุสรณ์แห่งนี้อยู่ในที่เปิดโล่งและอยู่ใจกลางเมืองจึงยากที่จะมองไม่เห็น

 

อนุสรณ์สถานของยิวแห่งยุโรปผู้ถูกสังหาร (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เพนแมนระบุว่าเมื่อเธอเข้าไปในอนุสรณ์แห่งนี้มันเป็นเขาวงกตคอนกรีตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อยิ่งเดินเข้าไป กำแพงชั้นนอกดูคล้ายโลงศพ ลึกลงไปกำแพงเริ่มเหมือนต้นไม้สูงๆ ในป่าที่ไม่สามารถเจาะเข้าไปได้อีก ทำให้เธอรู้สึกสับสนและเสียขวัญซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่อนุสรณ์แห่งนี้อยากให้ผู้เข้าชมรู้สึก

เพนแมนเล่าต่อไปว่าเมื่อเดินห่างออกไปก็จะเห็นลานจอดรถที่เคยเป็นหลุมหลบภัยของผู้นำนาซีที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยใช้ฆ่าตัวตายในตอนท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 มีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้นตรงจุดนี้ แต่ที่นั่นก็ยังคงเป็นที่จอดรถที่เต็มไปด้วยรถยนต์ของชาวเยอรมันอยู่ดี

แล้วเรื่องนี้มาเกี่ยวกับประเด็นอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐได้อย่างไร เพนแมนะบุว่าถึงแม้การเทียบโรเบิร์ต อี ลี อดีตนายพลฝ่ายสมาพันธรัฐกับฮิตเลอร์จะดูขี้เกียจและมองประวัติศาสตร์ผิดๆ ไปหน่อย แต่เมื่อดูเหล่าผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรื้อถอนรูปปั้นของลีพากันแสดงสัญลักษณ์สวัสดิกะและทำท่าเชิงเคารพผู้นำนาซีอย่างเปิดเผยแล้วก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบเช่นนี้

จริงอยู่ที่การเดินขบวนถือคบเพลิงของฝ่ายขวาจัดที่เป็นคนหนุ่มสาวในอเมริกันดูแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น แต่สำหรับเยอรมนีแล้วเป็นภาพที่ยิ่งแปลกประหลาดเข้าไปอีก ในขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกวิจารณ์เรื่องที่เขาไม่ได้ประณามกลุ่มเชื้อชาตินิยมสุดโต่งของคนขาวเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาในการก่อเหตุรุนแรงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่โฆษกของผู้นำเยอรมนีแองเกลา แมร์เคิล ก็กล่าวประณามการเดินขบวนของฝ่ายขวาจัดนี้ว่า "น่ารังเกียจอย่างชัดเจน"

กลับมาที่เรื่องของอดีตบังเกอร์ผู้นำนาซีกลายเป็นที่จอดรถที่มีเกร็ดประวัติศาสตร์เขียนไว้ บทความใน NPR ระบุว่าหนึ่งในสาเหตุที่ไม่มีการอนุรักษ์อาคารหลบภัยของฮิตเลอร์ไว้เพราะกลัวว่าสถานที่นี้จะกลายเป็นแหล่ง "จาริกแสวงบุญ" ของพวกนีโอนาซี และเปรียบเทียบว่าการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ของลีในชาร์ล็อตส์วิลล์ก็กลายเป็นการจาริกแบบนี้

"สถานที่แห่งความรุนแรงและการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่น่าอัปยศควรจะเป็นเรื่องน่าอับอาย" เพนแมนระบุในบทความ

"ในการโต้แย้งว่าควรจะมีการรักษาอนุสาวรีย์สมาพันธรัฐและธงสมาพันธรัฐไว้เพื่อไม่ให้พวกเราลืมประวัติศาสตร์ ในเยอรมนี จะพบอาคารของนาซีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปหมดแล้ว แต่เยอรมนีก็ไม่ได้ลืมประวัติศาสตร์ มีแค่การสำนึกรู้ได้ว่าการจดจำและการรำลึกถึงนั้นเป็นสองอย่างที่แตกต่างกัน" เพนแมนระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

How Charlottesville Looks From Berlin, NPR, August 16, 2017

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

การสารภาพผิดตามมาตรา 112 (หรือ The Winston Syndrome)

$
0
0

มรดกของวิธีพิจารณาความอาญาแบบเดิมที่อัปลักษณ์ที่สุดแต่ได้รับการยกระดับการทรมานให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่คือ กรณีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112   

วิกฤตการณ์ของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เหนือการเมืองและของลัทธิหลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) … ทำให้ความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงยิ่งกว่าในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา แม้แต่ผู้ป่วยทางจิตก็ไม่ได้รับการยกเว้น เพราะรัฐและพวกหลงเจ้ามืดบอดตามัวไปกับความคิดของระบอบเก่า ไม่สามารถเข้าใจหรือยอมรับความคิดเรื่องสิทธิและสิทธิมนุษยชน หรือสามัญสำนึก (common sense) ของหลักการเหล่านั้น

ในบริบทนี้เองเราจึงเห็นการใช้กฏหมายอย่างไม่เป็นธรรมที่สะท้อนด้านลบทั้งหลายที่ตกค้างอยู่ในนิติรัฐแบบไทยๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว นั่นคือ คำสั่งของผู้ปกครองคือกฎหมายอันชอบธรรม วิธีพิจารณาความแบบไทยๆ ที่สำคัญคือ ถือว่าผิดไว้ก่อน พิสูจน์ทีหลัง ได้แก่ การปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้ต้องหาประกันตัวด้วยเหตุผลว่า “เป็นคดีร้ายแรง” ทั้งๆ ที่ มาตรา 112 เป็นเรื่องของความคิดและการแสดงออก ไม่มีการกระทำร้ายแรงเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชีวิตของผู้อื่นแต่อย่างใด แถมมีตัวอย่างให้เห็นว่า ศาลอนุญาตให้ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมโหดเหี้ยมกว่าได้รับการประกันตัว การพิจารณาคดีเป็นความลับและห้ามเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ถ้อยคำที่ถูกกล่าวหาด้วยเหตุผลประหลาด เสมือนยุคโบราณที่ ไม่ให้ประชาชนรับรู้กฎหมายว่าอนุญาตให้พูดอะไรหรือไม่ให้พูดอะไรบ้าง มีแต่ผู้พิพากษาเท่านั้นที่มีธรรมะสูงพอจึงมีความสามารถที่จะเจาะเข้าไปในใจของผู้ต้องหาจนค้นพบเจตนาที่แท้จริงของผู้ต้องหาได้ (Streckfuss 2011) รวมถึงมีสิทธิตีความกฎหมายอย่างน่าเกลียดว่าการกระทำใดหรือคำพูดใดผิด หรือใครบ้างอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของกฎหมายนี้ และตัดสินลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผลได้

แต่มีอัปลักษณะอีกอย่างของการใช้กฎหมายนี้ที่เราควรสนใจอย่างจริงจัง นั่นคือ การสารภาพว่าทำความผิดตามมาตรา 112  ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้ต้องหาคดี 112 แทบทุกกรณียอมรับสารภาพทำไม? คำตอบที่รู้กันดีก็คือ การสารภาพจะช่วยย่นระยะเวลาในการพิจารณาและลดระยะเวลาติดคุก การสารภาพแลกกับความหวังว่าจะได้ลดโทษ กล่าวได้ว่า คำสารภาพเป็นผลของการล่อลวงชักจูง หรือเป็นผลของการถูกบังคับกลายๆนั่นเอง ปรากฏการณ์นี้แสดงว่าทุก ๆ ฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้พิพากษา และประชาชนทั่วไป ถือว่าผู้ต้องหา 112 มีความผิดแน่นอนโดยไม่ต้องพิสูจน์ และต่อให้ผู้ต้องหาสามารถพิสูจน์ได้ว่าเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 นั้นเป็นความจริง ก็ยังถือว่าผิดอยู่ดี ดังที่ผู้พิพากษาคนหนึ่งได้กล่าวกับทนายความในคดีหนึ่งว่า “ยิ่งจริง ยิ่งหมิ่น ไม่จริง ก็ยิ่งโคตรหมิ่น”

กรณี 112 ได้ประมวลอัปลักษณะของกระบวนการยุติธรรมไทยเข้าไว้ด้วยกัน คือสุดยอดของความอยุติธรรมแบบไทยๆ  วิธีพิจารณาความอาญาแบบจารีตนครบาลได้กลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับวิธีพิจารณาความอาญากรณี 112 ไปแล้ว กล่าวอีกอย่างได้ว่า กรณี 112 เป็นส่วนหนึ่งของ “จารีตนครบาลแบบใหม่”  เป็นภูมิปัญญาแบบโบราณของรัฐ ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและประชาชนผู้สนับสนุนยุยงส่งเสริมการใช้มาตรา 112 ในแบบนี้ รวมถึงคนที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับความอยุติธรรมของจารีตนครบาลใหม่ด้วย กรณี 112 สะท้อนภาวะภูมิปัญญาและนิติวัฒนธรรมยุคปัจจุบันของสังคมไทยเป็นอย่างดี

ลักษณะอย่างหนึ่งของจารีตนครบาลแบบดั้งเดิมคือการทรมานให้สารภาพ เป็นวิธีการที่กฎหมายยอมรับ การลงโทษในวัฒนธรรมแบบเก่าก็เน้นการทรมานทางกาย  รวมทั้งการทรมานทางกายในที่สาธารณะ ในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ การทรมานให้สารภาพและการลงโทษทางกายถูกยกเลิกไปแล้ว แต่อาชญากรรมละเมิดต่อกษัตริย์ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดดังได้กล่าวข้างต้น กรณี 112 จึงต้องถูกจัดการด้วยวิธีพิเศษ จารีตนครบาลใหม่ที่ใช้กับผู้ต้องหา 112 จึงรวมการทรมานด้วย เพียงแต่ว่าสำหรับอาชญากรรมทางความคิดนั้น การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง

เราอาจเข้าใจประเด็นนี้ได้ดีขึ้นจากเรื่องเทียบเคียง (allegory) นั่นคือชะตากรรมของวินสตัน สมิธ (Winston Smith) ในนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ในเรื่องนี้รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จบังคับให้ประชาชนคิดเหมือนๆ กัน ประพฤติปฏิบัติเหมือนๆ กัน และมีชีวิตอยู่ในแบบที่รัฐบงการโดยประชาชนไม่ต้องมีความคิดของตัวเอง เพื่อความสงบเรียบร้อยเป็นระเบียบและประโยชน์สุขของส่วนรวม สังคมนี้มี “พี่เบิ้ม” (Big Brother) ซึ่งเป็นอภิชนชนิดหนึ่ง ปรากฏกายอยู่ทุกที่ จ้องมองประชาชนทุกคนตลอดเวลา และรู้ทุกเรื่องไปหมด พี่เบิ้มจะคอยสั่งสอนประชาชนว่าจะคิดอะไรจะเชื่ออะไร ในสังคมเช่นนี้ ความคิดอิสระหรือปัจเจกภาพของปัจเจกชนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดต่อรัฐ ปัจเจกภาพคือการขบถในสังคมต้องการสถาปนาเอกภาพแบบไม่ต้องคิด แต่วินสตันพัฒนาปัจเจกภาพขึ้นมา มีความคิดอิสระเป็นของตัวเอง รวมทั้งตกหลุมรักจูเลียตามความปรารถนาของตัวเอง ความรักและความคิดอิสระเป็นอาชญากรรมทางความคิด (Thought Crime) เขาถูกจับโดยตำรวจความคิด (Thought Police) ถูกทรมานให้เขาสารภาพความผิดที่คิดอิสระไม่สยบยอมตาม“พี่เบิ้ม”  แต่ที่โหดเหี้ยมที่สุดก็คือบังคับให้เขาทรยศต่อจูเลีย การทรมานที่ได้ผลทำให้เขายอมแพ้ยอมทรยศต่อจูเลียในที่สุด ไม่ใช่การทรมานทางกายแต่เป็นการทรมานทางจิตใจ หลังจากสารภาพไปแล้ว วินสตันสูญเสียสิ่งมีค่าที่สุดซึ่งเขาเคยมีในชีวิต คือปัจเจกภาพและความรัก พี่เบิ้มจึงยอมปล่อยตัววินสตันได้ หลังจากนั้นเขากลับไปมีชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผู้คนคิดเหมือนๆ กัน จงรักภักดีต่อพี่เบิ้มเหมือนๆ กัน (แต่เขายังมีชีวิตอยู่หรือ?)

สำหรับวินสตันและผู้ต้องหา 112 การสารภาพในตัวมันเองคือการทรมานอย่างหนึ่ง เพราะมาตรา 112 เป็นอาชญากรรมทางความคิด การทำลายความคิดอิสระจึงเป็นการทรมานยิ่งกว่าทรมานกาย หากไม่นับคนที่เป็นเหยื่อเพราะถูกกลั่นแกล้งแล้ว ผู้ต้องหา 112 ส่วนใหญ่คือคนที่มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง เชื่อในความคิดอิสระ ปกป้องยืนยันความคิดอิสระของตนอย่างมั่นคง แม้ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตารางก็ตาม พวกเขามีศักดิ์ศรีทะนงในอิสระทางความคิด เป็นเกียรติยศที่เขาหวงแหน ดังนั้น แม้ว่าการสารภาพจะเป็นทางเลือกซึ่งชาญฉลาดถูกต้องในสถานการณ์ที่เป็นจริงเพื่อมีชีวิตอยู่รอดในโลกอัปลักษณ์ที่มีมาตรา 112 และไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนความคิดจริงหรือไม่ก็ตาม การสารภาพเป็นการทำร้ายจิตใจลงย่อยยับ เป็นการกระทำที่สุดแสนจะทรมานสำหรับพวกเขา เพราะเท่ากับเขาต้องทิ้งทำลายความคิดอิสระที่ทำให้เขามีความเป็นมนุษย์ลงอย่างย่อยยับ อิสระที่ได้รับหลังการสารภาพจึงเป็นเพียงอิสระทางกาย เพราะจิตใจ ศักดิ์ศรี ความภาคภูมิใจในตัวของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ได้ถูกทำลายไปแล้ว

นี่คือเหตุผลที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยต้อนผู้ต้องหาเหล่านี้เข้ามุมแล้วยื่นทางเลือกให้กับพวกเขาว่า จงสารภาพ จึงจะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น

นี่คือความโหดร้ายของการสารภาพผิดต่อมาตรา 112

 

หมายเหตุ: บางส่วนจากบทความของธงชัย วินิจจะกูล “อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ” ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ 40 ปี 6 ตุลา, ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-ธันวาคม 2559, คัดมาจากหน้า 210-214

 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แม่ทัพภาค 3 ปัดจับแกนนำเกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เซ็นสัญญาไม่ขนคนเชียร์ยิ่งลักษณ์

$
0
0

ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน เผยถูกเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือแกมบังคับเซ็นยินยอมไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ด้าน แม่ทัพภาค 3 ย้ำแกนนำ-แฟนคลับไปคนเดียวเชียร์ อย่าชวนชาวบ้าน-หลอกคนแก่ หวั่นละเมิดอำนาจศาล ยันทหารไม่มีเซ็นสัญญา

พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.กองทัพภาคที่ 3 )

19 ส.ค.2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา จำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวออกมาเปิดเผยถึงกรณีเซ็นหนังสือยินยอม ให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ให้นำมวลชนไปให้กำลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนศาลตัดสินคดีจำนำข้าว วันที่ 24-25 ส.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ นั้น

ล่าสุดวันนี้ (19 ส.ค.60) กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.กองทัพภาคที่ 3 ) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนขอยันว่ากรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงแน่นอน เพราะเท่าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการในลักษณะนั้น และยิ่งเป็นคนเมืองด้วยกันเขาพูดคุยกันด้วยวาจาก็รู้เรื่อง เข้าใจกันมากกว่าทำหนังสือตกลง  ขณะเดียวกันทางการข่าวในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 พบว่าจะมีแกนนำขนมวลชนไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ด้วยเช่นกัน แต่ตนขอร้องว่าถ้าพวกท่านเป็นแกนนำ เป็นแฟนคลับตัวจริง รักใคร่ชอบคอกัน จะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตนอยากให้ไปคนเดียว หรือสองคน เราก็ไม่ว่า ไม่ได้ห้ามปรามอะไร แต่ขอร้องอย่าชวนชาวบ้าน เด็กเล็ก คนเถ่าคนแก่ ไปด้วยเลย จะชวนเขาไปลำบากทำไม 

"ผมขอร้องพวกท่านอย่าไปแอบอ้าง หลอกลวงคนแก่ คนสูงอายุ ว่าไปโน่นไปนี่ แล้วให้กำลังใจนางสาวยิ่งลักษณ์ที่กรุงเทพ อย่างนี้มันไม่ดี ผมกลัวว่าเดี๋ยวจะกลายเป็นไปละเมิดอำนาจศาล มันจะยุ่ง เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่ เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นเขตพื้นที่อำนาจศาล จึงไม่อยากให้โดนข้อหารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งถ้าพวกแกนนำอยากไปก็ไปกันเอง จะนั่งเครื่องบินไป นั่งรถไฟ นั่งรถยนต์กันไป ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาลูกบ้านไปลำบากด้วยเลย เราไม่ได้ห้าม เพียงแค่ขอความร่วมมือ" พล.ท. วิจักขฐ์ กล่าว 

สำหรับการเปิดเผยของ ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน ในฐานะแกนนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ดังกล่าวนั้น มติชนออนไลน์รายงานว่า จำรัส ยอมรับว่าเซ็นหนังสือจริง แต่เป็นการขอความร่วมมือแกมบังคับ ข่มขู่ ขืนใจเพราะมีตำรวจ (สารวัตรแม่แฝก) และทหาร 7-8 นาย พร้อมรถยนต์ 3 คัน บุกเข้ามาที่บ้าน โดยไม่มีหมายค้น พร้อมขอให้เซ็นหนังสือยินยอมดังกล่าว ตอนแรกตนขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้บันทึก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมลงบันทึกเอง กลับบอกให้ตนเป็นผู้เขียนหนังสือดังกล่าวด้วยลายมือตนเอง ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่ (สารวัตรแม่แฝก) เป็นการชี้นำ เพื่อให้ดูว่าตนเองยินยอมเซ็นหนังสือดังกล่าวด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญอย่างใด เหตุเกิดช่วงเวลา 11.00 น.วันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันหวยออกพอดี

“แม้ว่าตนเองเซ็นหนังสือยินยอม แต่ไม่ได้สมัครใจ เพราะถูกบังคับ ขืนใจ ส่วนตัวไม่ต้องการเซ็นหนังสือดังกล่าว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำดังกล่าวได้ จึงต้องยอม เพื่อให้เรื่องม้นจบเท่านั้น โดยเขียนหนังสือเพียงแผ่นเดียว และมอบให้เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง (สารวัตรแม่แฝก) เก็บไว้ ส่วนตนเองได้ใช้มือถือถ่าย เก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นเดียวกัน ซึ่งตนมองว่าหนังสือดังกล่าวเพียงขอความร่วมมือ ไม่น่ามีผลทางกฏหมาย ถ้ายินยอมจริง จะเอาตนเองไปเสี่ยง หรือผูกมัดทำไม เนื่องจากไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ ไม่มีเจ้าหน้าที่เซ็นรับหนังสือดังกล่าวด้วย” จำรัส กล่าว

จำรัส กล่าวถึงสาเหตุที่ถูกขอความร่วมมือ ให้เซ็นหนังสือดังกล่าวว่า เพราะเคยนั่งรถตู้ไปให้กำลังใจ ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น และทำบันทึกประวัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวถึงที่บ้าน และขอความร่วมมือแกมบังคับดังกล่าว ซึ่งไม่ได้วิตก หรือห่วงกังวลอะไรและไม่มีผลต่อการตัดสินใจไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 25สิงหาคมนี้ เพื่อฟังคำตัดสินของศาล เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐาน ตอนนี้รถตู้ที่ว่าจ้างเดินทางไปกรุงเทพฯ ได้ขอยกเลิกสัญญาแล้ว เพราะถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปรายงานตัว และถ่ายรูปทำประวัติ จึงเกิดความเกรงกลัว ว่าอาจถูกกลั่นแกล้ง และดำเนินคดีอีก

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ประยุทธ์ โวยสื่อ 'จะไปทำอะไรก็ทำ' หลังสมาคมนักข่าวฯประกาศไม่ใช่พีอาร์รัฐบาล

$
0
0
พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นไม่คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว หลังสมาคมนักข่าวฯ ประกาศ “ไม่มีหน้าที่พีอาร์ให้รัฐบาล” เหตุถูกรัฐบาลขอให้เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าว

ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

19 ส.ค.2560 ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอก คอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2560 โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่า หน้าที่ของสื่อมวลชนทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ได้มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ด้วยว่า 

“วันนี้ผมก็ได้ยินคำพูดของนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล เขามีหน้าที่ในการทำประโยชน์สาธารณะ ผมก็ไม่รู้ว่าที่ผมทำวันนี้นั้น มันทำเพื่อใครเหมือนกัน มันมีประโยชน์หรือเปล่ากับประเทศหรือต่อสาธารณะก็ยังไม่รู้เหมือนกัน ผมชักไม่รู้ตัวแล้วนะ เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เชิญเลยท่านจะไปทำอะไรของท่านก็ทำ ไม่ต้องไปตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไปก็ได้ แต่ผมก็จะพูดของผมอย่างน้อยผมก็พูดกับพวกท่านท่านคงไม่มีใครเบื่อจะฟังหรือมีใครจะลุกออกไปบ้างหรือไม่ ผมก็จะพูดของผมไปเรื่อยๆ เพราะผมต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญทุกคนต้องไม่เสียใจไม่ต้องน้อยใจผมเพราะบางครั้ง ครม. ก็จำเป็นต้องเสนอกฎหมายหลายฉบับออกมาก็เพื่อให้เกิดความไว้วางใจความไว้เนื้อเชื่อใจให้สังคมได้ถูกแถลง จะได้รู้ว่าสังคมคิดกันอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าข้าราชการเป็นตัวกลางของการทุจริต เรามีคนดีมากมายแต่ต้องยอมรับว่าคนไม่ดีก็มีอยู่บ้างในทุกหน่วยงาน วันนี้เราต้องทำให้ทุกกระบวนการโปร่งใสมีประสิทธิภาพตรวจสอบได้ มีหลักธรรมาภิบาลและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยืนยันว่าผมมีเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์กับทุกคน ไม่เคยรังเกียจรังงอนใครทั้งสิ้นใครจะเกลียดผมก็ช่างเขา เพราะอย่างไรก็ไม่ทำให้ผมตายได้ ยกเว้นผมจะตายเอง เส้นโลหิตแตกไปเอง” พล.อ.ปรยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ในการตั้งคณะกรรมการรัฐวิสากิจไม่ทราบว่าใครมีปัญหาหรือไม่ ส่วนคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็อยู่จนครบวาระและคัดสรรเข้ามาใหม่ ส่วนทหารเขาก็ชอบว่าว่าไม่ค่อยฉลาด เขาก็ว่าเราเยอะผมก็ต้องฟังด้วย เพราะผมเป็นทหารเก่า ตอนผมไปเรียนเพิ่มหลักสูตรไอโอดีมา 2-3 วัน ฟังเขารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะว่าหลักสูตรยากสำหรับทหารแต่ผมก็พยายาม ก็ถือว่าทหารไม่โง่นัก เว้นแต่บางคนที่ชอบแกล้งโง่ ส่วนใหญ่ทหารฉลาดจะตาย แต่ด้วยระเบียบวินัย ทำให้ทหารไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นมากนัก ในวันนี้เป็นทหารรุ่นใหม่แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อบรรดาที่ออกมาด่าทหารทุกวัน ด่าจนรองนายกฯป่วยไปคนหนึ่งแล้ว

สำหรับแถลงการณ์ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยดังกล่าวออกขึ้นหลังจากที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือสื่อมวลชน เกาะติดคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอข่าวและสกู๊ปข่าวพิเศษภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านระหว่างลงพื้นที่ในการประชุม ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 21-22 ส.ค. นี้ โดยไม่กำหนดว่าต้องรายงานอย่างไร ให้​ใช้ความสร้างสรรค์ของแต่ละช่องได้เต็มที่ในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฟังข้อมูลจริงๆ ไม่ใช่สร้างปมประเด็นปัญหาขึ้นมาใหม่นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เอ็นจีโอแถลงข่าวเชิญชมเครื่องใช้ประจำกายศาสดามูฮำหมัด (ซล.) อายุพันกว่าปี ที่ปัตตานี

$
0
0

เอ็นจีโอใต้ร่วมนักประวัติศาสตร์ แถลงข่าวเชิญชมวัตถุศิลป์อายุพันกว่าปี เสวนาประวัติศาสตร์อิสลาม 20 ส.ค.-19 ก.ย. นี้ที่ปัตตานี ย้ำทุกรายการเป็นของจริง มีเอกสารยืนยัน ผ่านการรับรองจากองค์กรเกี่ยวข้องหลายประเทศ แจงงาน Open เชิญต่างศานิกร่วมชม รายได้สมทบทุนเด็กกำพร้าชายแดนใต้

 

เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. ที่สำนักงานอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ ถ.กะลาพอ ต.อาเนาะรู อ.เมือง จ.ปัตตานี ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ร่วมกับสำนักงานอาคารปาตานีเซ็นเตอร์ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ร่วมกันจัดแถลงข่าวต่องาน “นิทรรศการพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ศิลปะวัตถุประวัติศาสตร์อิสลามและศาสดามูฮัมหมัด (ซล.)” ซึ่งเป็นการจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ประจำกายของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหายที่มีอายุนานถึงพันกว่าปี

ชมวัตถุศิลป์อายุพันกว่าปี เสวนาประวัติศาสตร์อิสลาม (20ส.ค.-19 ก.ย.ที่ปัตตานี)

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า งานนิทรรศการครั้งนี้จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ส.ค. ถึงวันที่ 19 ก.ย. 2560 ณ.ห้องประชุมปาตานีเซนเตอร์ หรือ สนง.คกก.อิสลามจังหวัดปัตตานีหลังเก่า ซึ่งประตูจะเปิดเวลา 10.00 น. และจะปิดในเวลา 22.00 น. ของทุกๆ วัน

กิจกรรมในงานนอกจากจะได้ชมวัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ประจำกายของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหายอายุนานถึงพันกว่าปีแล้ว ยังมีกิจกรรมสานเสวนา บรรยายถึงเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามในอดีตตั้งแต่จุดสูงสุดจนถึงจุดต่ำสุด โดยวิทยากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี วิทยากรจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ กิจกรรมนี้เราจะจัดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ภายใน 1 เดือน ของทุกๆ วันศุกร์และวันเสาร์ในเวลาค่ำคืน รับรองว่าเราจะได้รู้ถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์อิสลามในอดีต ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ มองว่าเป็นโอกาสดีสำหรับทุกท่าน

มีเหตุผลอันใด - ทำไมต้องจัด

อาจารย์ฮัสนี ดอเลาะแล อาจารย์พิเศษด้านประวัติศาสตร์อิสลาม และประธานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ชวนระลึกถึงจริยวัตรคุณงามความดีของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) เรียนรู้ถึงประวัติของศาสดามูฮำหมัด (ซล.) และบรรดาสหาย ร่วมถึงผู้นำโลกอิสลามในอดีตกาล งานนี้ยังสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้า ความรู้ทางประวัติศาสตร์อิสลามให้กับผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังสามารถสร้างความเป็นหนึ่งในหมู่ประชาชาติอิสลามผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ นักการเมือง โต๊ะครูศาสนา คณะใหม่ คณะเก่า ซีเอสโอ เอ็นจีโอ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ด้วย

ขณะที่ อิบรอฮีม ยานยา ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เสริมเพิ่มเติมว่า เสมือนสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง หรือ เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์อิสลามอย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องจินตนาการถึงอีกต่อไป เมื่อก่อนเราเรียนประวัติศาสตร์อิสลามผ่านการสอนของโต๊ะครู อุสตาส อาจารย์ โดยไม่รู้ว่าวัตถุเครื่องใช้ของศาสดาและสหายมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่วันนี้เราสามารถมาชมดูอย่างใกล้ชิดด้วยตัวของเราเอง

กว่าจะถึงปาตานี ความเป็นไป เป็นมา

ฮัสนี ได้อธิบายและสรุปถึงความเป็นมาในการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้ว่า วัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของศาสดาและสหายนั้น เดิมทีทั้งหมดกระจัดกระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย เยเมน จอร์แดน อีหร่าน อียิปต์ ปากีสถาน และมาเลเซีย

กระทั้งอดีตจุฬาราชมนตรีประเทศจอร์แดน ฯพณฯ อามีน มูฮำหมัด ซัลเล็ม มันชะห์ ที่สืบเชื้อสายมาจากทศาสดา ได้ทำการรวบรวมเพื่อทำการตรวจสอบทางวิชาการ และได้ทำสนธิสัญญา (MOU) กับหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์ (Gallery Hassanal Bolkiah) แห่งประเทศบรูไน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Muizzadin waddaulah) โดยมีวิสัยทัศน์เป็นศูนย์รวมวิจัยประวัติศาสตร์อิสลามในปี ค.ศ. 2020

หนึ่งในที่ปรึกษาหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์ คือ ศ.ดร.อับดุลมานาน อิมบง นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์อิสลาม ชาวตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เจ้าของหอศิลป์วารีซันมาร์ (Gallery Warisan MAR) แห่งประเทศมาเลเซีย ได้ทำสนธิสัญญาร่วมกับหอศิลป์แห่งชาติบรูไนดังที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อร่วมทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Enternal achcology) ตรวจสอบว่าสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้เป็นของจริงหรือไม่ มีความเป็นมาอย่างไร รวมทั้งพิสูจน์ถึงเรื่องทามไลน์ทางประวัติศาสตร์ถึงช่วงเวลาต่างๆ ด้วย

หลังจากนั้น ศ.ดร.อับดุลมานาน ได้ทำเรื่องขอนำสิ่งของเครื่องใช้ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้มาจัดแสดงนิทรรศการที่รัฐมะละกา ตรังกานู กลันตัน เคดาห์ สลังงอร์  และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ก็ได้นำไปจัดแสดงที่ปุตราจายา กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซียอีกด้วย   

ฮัสนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนาได้มีโอกาสเชื่อมสัมพันธ์กับหอศิลป์วารีซันมาร์แห่งประเทศมาเลเซียจึงได้ทำเรื่องขอนำมาจัดนิทรรศการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี แต่ด้วยความที่ต้องจ่ายค่าประกันเป็นเงินที่มากถึง 5 ล้านบาททางเราจึงหยุดความคิดนั้นไป เวลาผ่านไป ศ.ดร.อับดุลมานาน ติดต่อมาขออาสาจ่ายค่าประกันในจำนวนเงินดังกล่าวให้ เพราะเขาก็มีความคิดที่จะนำสิ่งของเหล่านี้ไปจัดในบ้านเราอยู่แล้ว โดยทางเราจะหาเงินในจำนวนดังกล่าวมาชดใช้ให้เขาอย่างเร็วที่สุด

จริง หรือ ปลอม คำถาม Popular

ในประเด็นของแท้หรือปลอมนั้นทางอับดุลกอฮาร์ได้ชี้แจงว่า “วัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหมด 27 รายการนี้ได้มีการยืนยันผ่านการศึกษาวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว ซึ่งสามารถตอบได้ทางวิชาการ และมีการรับรองจากประเทศที่ครอบครองวัตถุแต่ละชิ้นเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ก่อนจะมาถึงบ้านเราก็ได้มีการจัดแสดงมาแล้วในหลายๆ ประเทศโดยยังไม่มีข้อครหาต่อประเด็นนี้แม้แต่ครั้งเดียว” อับดุลกอฮาร์ ชี้แจง

อาจารย์ฮัสนีเสริมข้อมูลต่อประเด็นนี้เพิ่มว่า “ทุกชิ้นมีใบประกาศจากพิพิธภัณฑ์อีนาฟอิสลามี่ของประเทศซาอุดีอารเบีย มีหนังสือรับรองจากจุฬาราชมนตรีประเทศมาเลเซีย และมีหนังสือรับรองจากหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งประเทศบรูไน รวมไปถึงหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตนี ยะลา และนราธิวาส” อาจารย์ฮัสนี กล่าว

บัตรชม ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 60 บาทรายได้สมทบทุนเด็กกำพร้า

ฮัสนีระบุต่อว่า งานนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องการจัดการที่ต้องใช้เงินถึง 1.6 ล้านบาท ค่าประกัน 5 ล้านบาท และอื่นๆ อีกหลายรายการ ดังนั้นงานในครั้งนี้ปกติราคาบัตรเข้าชมในต่างประเทศสูงถึง 80 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2,000 กว่าบาท แต่เราอยากจะขอสบทบทุนจากทุกท่านด้วยราคาบัตรเข้าเพียงแค่ 100 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 60 บาท สำหรับเด็กอายุระหว่าง 6-12 ปี ส่วนเด็กอายุต่ำกว่านั้นสามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดการจัดงาน

อาจารย์ฮัสนีระบุเพิ่มว่า ทางเราผลิตบัตรทั้งหมด 300,000 แผ่น แต่หวังเพียงแค่ 150,000 แผ่นก็เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายแล้ว และสำหรับรายได้ที่เหลือนั้นส่วนหนึ่งเราจะมอบให้กับเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในพื้นที่ในสังกัดมูลนิธินูซันตาราฯ  และอีกส่วนเราจะมอบให้กับองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ หรือ คปส. ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่สำนักงานศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา สำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปัตตานีทุกสาขา หรือจะซื้อผ่านตัวแทน หรือโทรไปตามหมายเลขโทรศัพท์ในโพสเตอร์ หรือจะซื้อหน้างานก้อได้

ทำไมต้องชม แจ้งงาน Open ต่างศาสนิกร่วมชมได้

“สิ่งของเหล่านี้มีอายุประมาณพันกว่าปีแน่นอนหาดูได้ยาก เพราะกว่าจะถึงทีนี้ไม่ใช้เรื่องง่าย ปกติถ้าต้องการชมเราต้องไปดูถึงต่างประเทศ แต่วันนี้มาถึงที่บ้านเราแล้ว ถือเป็นโอกาสดีสำหรับพวกเราทุกคน ผมอยากเชิญชวนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมที่สนใจอยากจะเข้าใจอิสลามที่ถูกต้องในภาวะที่อิสลามถูกทำให้เข้าใจผิดๆ งานนี้เป็นงานที่เราเปิดกว้าง ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมสามารถเข้าชมและศึกษาเรียนรู้ได้ ยืนยันว่าทางเราไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นมุสลิมและอิสลามเท่านั้น อีกทั้งหน้างานเรามีชุดสำหรับผู้หญิงต่างศาสนิกชนได้ใส่คลุมด้วย” อับดุลกอฮาร์ กล่าวเชิญชวนผู้สนใจทั้งในและนอกพื้นที่ 

อาจารย์มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ ประธาน มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา เชิญชวนเพิ่มเติมว่า เป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนในพื้นที่ทุกคน วัตถุเหล่านี้ถูกรวบรวมและมาถึงบ้านเราแล้ว เราสามารถให้ลูกหลานเรามาเรียนรู้เพื่อระลึกถึงศาสดาให้เกิดความอยากรู้ถึงประวัติ และประวัติศาสตร์อิสลาม เป็นเรื่องยากที่เราจะได้ชมวัตถุศิลป์เหล่านี้ หากเราไปชมที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย บางทีอาจจะได้ชมไม่หมด เพราะวัตถุเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายในหลายๆ ประเทศ

“งานนนี้เราได้ประกาศเชิญชวนผ่านโพสเตอร์ เบรนเนอร์ สถานีวิทยุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่จังหวัดสงขลาจนถึงจังหวัดกระบี่ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย ล่าสุดก็ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างดี”มูฮำหมัดอาลาดี กล่าว

หอศิลป์บรูไนมอบที่นั่งไปอุมเราะห์ ณ ซาอุฯ ผู้เข้าร่วมมีโอกาสร่วมลุ้น

“งานนี้นอกจากทุกท่านได้มาชมและเรียนรู้แล้ว ยังมีโอกาสลุ้นรับบัตรเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์ 30 ที่นั่ง ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และลุ้นรับอัลกุรอานดีจิตอล  200 เครื่องจากหอศิลป์ฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งประเทศบรูไนอีกด้วย” ฮัสนี กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูลศาสดามูฮำหมัด (ซล.) เพิ่มเติม

สำหรับศาสดามูฮำหมัด หรือนบีมูฮำหมัด คือ ศาสดาคนสุดท้ายในศาสนาอิสลาม นามว่า “มูฮำหมัด” แปลว่า “ผู้ได้รับการสรรเสริญ” เกิดที่นครมักกะฮ์ แห่งประเทศซาอุดีอาระเบียในปี ค.ศ.570 เป็นผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามตามราชโองการของพระเจ้า เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกคนหนึ่งที่ขนานนามเลื่องลือมาถึงวันนี้แม้เวลาผ่านไปถึงพันกว่าปี เป็นบุคคลที่คนในยุคสมัยเคารพรักในความประเสริฐหลายด้านๆ โดยเฉพาะบุคคลที่มีความยุติธรรม มีวาจาสัจจะและซื่อสัตย์จนได้ฉายานามว่า “อัลอามีน” แปลว่า “ผู้ที่มีความซื่อสัตย์” (อ่านต่อ)

หมายเหตุ :สามารถชมดูวีดีโอวัตถุศิลป์สิ่งของเครื่องใช้ของท่านศาสดาได้ที่เพจสำนักสื่อวาร์ตานี (คลิ๊ก)
 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กรุงเทพโพลล์ระบุ 3 ปีรัฐบาลประยุทธ์ ได้ 5.27 ลดลงทุกด้าน

$
0
0

19 ส.ค.2560 กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประเมินผลงาน 3 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ด้วยเหตุที่เดือนสิงหาคม 2560 นี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศครบ 3 ปี  โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,216 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า

ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี เฉลี่ย 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินการทำงานรอบ 2 ปี 6 เดือนที่ได้ 5.83 คะแนน และรอบ 2 ปี  ที่ได้ 6.19 คะแนน โดยการสำรวจครั้งนี้รัฐบาลได้คะแนนลดลงทุกด้าน

สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจ เฉลี่ย 7.00 คะแนน ซึ่งลดลงจากการประเมินรอบ 2 ปี 6 เดือน ที่ได้ 7.40 คะแนน และรอบ 2 ปี  ที่ได้ 7.57 คะแนน  โดยการสำรวจครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้คะแนนลดลงทุกด้าน

ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลปฏิรูปให้สำเร็จก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 32.5 ระบุว่าทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและมีความมั่นคงกว่านี้ รองลงมามาร้อยละ 12.8 ระบุว่าให้ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในวงราชการและการเมือง และร้อยละ 10.0 ระบุว่าให้ดูแลราคาสินค้าเกษตรเช่น ข้าว ยางพารา ไม่ให้ตกต่ำ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

บอร์ด สปสช.เสียงข้างมากเห็นชอบข้อสรุปจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ปี 61 มอบ รพ.ราชวิถีทำหน้าที่จัดซื้อ

$
0
0

19 ส.ค.2560 รายงานข่าวจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ สปสช. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระการจัดหายา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษปีงบประมาณ 2561

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช. รายงานต่อที่ประชุมว่า ข้อสรุปจากที่ประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม และ 15 สิงหาคม 2560 เห็นชอบแนวทางที่ 1 ตามที่ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอคือ ให้หน่วยบริการหนึ่งเป็นผู้จัดซื้อ ในที่นี้คือ รพ.ราชวิถี ในการดำเนินการคือ 1.การจัดทำแผน โดยคณะกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามโครงการพิเศษสำหรับปีงบประมาณ 2561 ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

2. การจัดซื้อ ให้ สปสช.โอนเงินให้ รพ.ราชวิถี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษสำหรับปีงบประมาณ 2561 จากองค์การเภสัชกรรม โดยวิธีเฉพาะเจาะจง 3. การกำหนดระเบียบเพื่อรองรับการดำเนินการจัดซื้อ เสนอให้ สธ. สปสช. และกระทรวงการคลังพิจารณากำหนดระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศใหสอดคล้องกับการดำเนินการจัดซื้อในลักษณะดังกล่าว 4. การเบิก-จ่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้ใช้โปรแกรมเดิม 5.การควบคุมกำกับ ติดตามและประเมินผล ให้ สธ.และ สปสช.ดำเนินการร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นที่ประชุมได้มีการอภิปรายกัน และมีการลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองมติดังกล่าว โดยมีผู้เห็นด้วย 12 ราย ไม่เห็นด้วย 4 ราย งดออกเสียง 1 ราย โดยสรุปที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบดังนี้

1.รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินการจัดหายาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษ ปี 2560

2.ยกเลิกมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วาระพิเศษ ครั้งที่ 8/2560 วันที่ 22 ก.ค.60 โดยให้ สปสช.ยุติการดำเนินการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ตามโครงการพิเศษ ปี 2561

3.เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ประกอบด้วย กรรมการจากหน่วยบริการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน/สังกัด เพื่อเสนอประธานกรรมการหลักฯลงนามต่อไป

4.เห็นชอบให้มี “เครือข่ายหน่วยบริการ” ตามมาตรา 44 วรรคสอง เพื่อจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ  ซึ่งสำนักงานจะประกาศขึ้นทะเบียน “เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี” ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหน่วยแกนกลางหรือแม่ข่าย และหน่วยบริการอื่นทั้งหมดทุกประเภท เป็นเครือข่ายหน่วยบริการสำหรับจัดหายา เวชภัณฑ์  อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง

5.เห็นชอบในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหลักเกณฑ์...การบริหารจัดการกองทุน ตามมาตรา ๑๘(๔) และหลักเกณฑ์..การจ่ายค่าใช่จ่ายฯให้แก่ “เครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี”ตามมาตรา 46 เพื่อจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษให้แก่หน่วยบริการในเครือข่าย

6.มอบ สปสช.รับข้อมูลการใช้จากหน่วยบริการ เพื่อให้อนุกรรมการฯใช้ในการทำแผนจัดซื้อและให้หน่วยบริการหลักเพื่อดำเนินการจ่ายยา ให้แก่หน่วยบริการอื่น

7.มอบ สปสช ตรวจสอบสินค้าคงคลังปีงบประมาณ 2560 เพื่อส่งมอบความรับผิดชอบให้กับเครือข่ายหน่วยบริการโรงพยาบาลราชวิถี ให้ทันสิ้นปีงบประมาณ 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สภาคณาจารย์ ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ร้อง 'มีชัย' ค้าน ม.44 ตั้งคนนอกบริหาร มหา'ลัย

$
0
0

ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ยื่นหนังสือถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ คัดค้านการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งคําสั่งหัวหน้า คสช. ปมเปิดช่องตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้บริหาร มหา'ลัย

ภาพจากเฟซบุ๊ก อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ 

19 ส.ค.2560 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นพพร ขุนค้า อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในฐานะประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการ พร้อมด้วย อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ อาจารย์สาขาวิชาศิลปกรรม ในฐานะรองประธานฯ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยื่นหนังสือถึง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ก่อนที่ มีชัย จะเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ โดยหนังสือดังกล่าวเป็นแถลงการณ์คัดค้านการใช้มาตรา 44 ในการออกคำสั่งคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สถาบันอุดมศึกษามีอํานาจแต่งตั้งบุคคลใดที่มิได้เป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษามาดํารงตําแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี คณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะได้

อาจิณโจนาธาน กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวจะเป็นปัญหาในระยะยาว ที่เป็นการแทรกแซงระบบการบริหารงานในระดับอุดมศึกษา ทั้งที่ในระดับมหาวิทยาลัย มีระเบียบ ข้อบังคับ และพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)มหาวิทยาลัย ดูแลตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำสั่งอื่นมาเพิ่ม ก่อนหน้านี้ได้มีการรวมรวมรายชื่อนักวิชาการจากทั่วประเทศยื่นหนังสือคัดค้านแล้ว 260 คน และในวันนี้เป็นยื่นแถลงการณ์พร้อมทั้งแนบรายชื่อเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ 21 คน จึงได้ยื่นหนังสือต่อนายมีชัย เนื่องจากนายมีชัย มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล และคสช. อีกทั้งยังเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์ ทั้งนี้ต่อจากนี้จะยังคงมีการเดินหน้ารวบรวมรายชื่ออาจารย์ทั่วประเทศเพื่อคัดค้านคำสั่งดังกล่าว เป็นเป็นคำสั่งที่กระทบต่อแวดวงวิชาการโดยตรง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

โผทหารปี 60 ถึงมือ’ประยุทธ์’ 21 ส.ค. สาย ‘ประวิตร’ ขึ้นยกแผง

$
0
0

เปิดโผตั้งบิ๊กทหาร 3 เหล่าทัพ สื่อชี้เด็ก "ป๋าป้อม" พรึ่บยกแผง น้องรัก "บิ๊กอ้อม" ขึ้นผู้ช่วยผบ.ทบ. เบียด "แม่ทัพภาค2" หลุดทบ. ด้าน "บิ๊กนุ้ย" ขึ้นผบ.ทร.- "กู้เกียรติ" นั่งแม่ทัพภาค1และ "ศักดา" นั่งแม่ทัพอีสานคนใหม่

19 ส.ค.2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารระดับสูง ประจำปี 2560 ว่า ขณะนี้รายชื่อที่ได้รับการตรวจทานและแก้ไขทั้งหมดหลังจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ร่วมพิจารณาจนเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย

โดยในวันที่ 21 ส.ค. รายชื่อทั้งหมดจะส่งถึงมือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯต่อไป

สำหรับรายชื่อนายทหารที่ได้รับการปรับย้ายในครั้งนี้ปรากฎว่าในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะเกษียณอายุราชการ กองทัพบกได้เสนอชื่อ "บิ๊กเข้" พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ (ตท.18) ผู้ช่วยผบ.ทบ. ข้ามฝากมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลังจากดัน “บิ๊กลภ” พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ (ตท.18) ผอ.นโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม ไปเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมเปิดทางให้น้องรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นั่นคือ “บิ๊กณัฐ”พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ตท.20) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อจ่อเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหมในปีหน้าโดยปราศจากคู่แข่ง

ทั้งนี้ พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. ข้ามฝากมาเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม กับ "บิ๊กหรั่ง" พล.อ.วิสุทธิ์ นาเงิน เจ้ากรมเสมียนตรา (ตท.17) เป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม
กองบัญชาการกองทัพไทย “บิ๊กปุย” พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผบ.ทหารสูงสุด จะเกษียณอายุราชการ โดยเสนอ "บิ๊กต๊อก" พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ (ตท.17) เสนาธิการทหารขึ้นเป็นผบ.ทหารสูงสุด พร้อมขยับ “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญจศรี (ตท.18 ) รองเสนาธิการทหาร ขึ้นเป็นเสนาธิการทหาร โดยมี “บิ๊กยอร์ช” พล.อ.ยศนันทน์ หร่ายเจริญ (ตท.16) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษทบ. เป็นรองผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ธงชัย สาระสุข (ตท.19) หัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำผบ.ทหารสูงสุด ขึ้นเป็นผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ส่วนกองทัพบกปรากฏว่า “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท (ตท.16) ยังครองเก้าอี้ผบ.ทบ.อีกหนึ่งปี จนกว่าเกษียณในปีหน้าเพื่อควบคุมสถานการณ์และการขับเคลื่อนการบริหารงานของรัฐบาลและคสช.ตามโรดแม็ปไปสู่การเลือกตั้ง โดยขยับ “บิ๊กต้อ” พล.อ.สสิน ทองภักดี (ตท.17) เสธ.ทบ.ขึ้นเป็นรองผบ.ทบ. ส่วน “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ตท.20) แม่ทัพภาคที่ 1 น้องรักของ “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. โดยโยก “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ (ตท.18) จากผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ซึ่งเป็นน้องรักของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในสายบูรพาพยัคฆ์คนหนึ่ง ทั้งนี้การขยับเอา “บิ๊กอ้อม” เข้ามาอยู่ในไลน์ 5 เสือทบ.นั้นมีเสียงวิจารณ์ถึงการเตะโด่ง “บิ๊กแช” พล.ท.วิชัย แชจอหอ (ตท.17) แม่ทัพภาคที่ 2 นักรบภาคอีสานที่ผ่านสมรภูมิการรบมาอย่างโชกโชนในการปกป้องชายแดน และเคยได้รับเหรียญรามาฯถูกย้ายข้ามห้วยจากกองทัพบกไปเป็นรองเสธ.ทหาร ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะได้ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. แต่ต้องถูกสกัดจากเด็กของ ”บิ๊กป้อม” ไปอย่างน่าเสียดาย

ขณะที่ “บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ (ตท.20) รองเสธ.ทบ. ขยับขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดระดับนายทหาร 5 เสือทบ.ครั้งนี้ เป็นการวางทายาทผบ.ทบ.ในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กแดง” พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่จะเกษียณปี 2563 “บิ๊กอ้อม” พล.ท.วีรชัย อินทุโสภณ ที่จะเกษียณปี 2562 รวมถึง ”บิ๊กเล็ก” พล.ท.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ซึ่งเกษียณปี 2564 ซึ่งทั้ง 3 รายล้วนแต่เป็นแคนดิเดตเก้าอี้ผบ.ทบ.ได้ทุกคน

ส่วนกองทัพภาคที่ 1 หลัง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขยับไปเป็นผู้ช่วยผบ.ทบ.ปรากฎว่า “. บิ๊กตู่” พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา (ตท.20) แม่ทัพน้อยที่ 1 ในสายบูรพาพยัคฆ์น้องรัก “บิ๊กป้อม” ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตามคาด ขณะที่น้องรักนายกฯตู่ อีกคน “บิ๊กติ่ง” พล.ต.สันติพงษ์ ธรรมปิยะ (ตท.22) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 พล.ต.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) ผบ.พล.2 รอ. เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1

กองทัพภาคที่ 2 พล.ท.ศักดา เปรุนาวิน แม่ทัพน้อยที่ 2 ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.สนธยา ศรีเจริญ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2

สำหรับแม่ทัพภาคที่ 3 และแม่ทัพภาคที่ 4 ยังอยู่ที่เดิมไม่มีการขยับแต่อย่างใด

กองทัพเรือ “บิ๊กณะ” พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.ที่จะเกษียณอายุราชการได้เสนอ ”บิ๊กนุ้ย" พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ช่วยผบ.ทร (ตท.16) เป็นผบ.ทร.คนใหม่ตามคาด โดยขยับคู่แคนดิเดต "บิ๊กลือ" พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสธ.ทร. (ตท.18) ไปเป็นรองผบ.ทร. “บิ๊กตุ๋ย” พล.ร.ท.พิเชฐ ตานะเศรษฐ รองเสธ.ทร.เป็นเสธ.ทร. “บิ๊กจุ๋ม” พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เป็นที่ปรึกษากองทัพเรือ อัตราจอมพล

ส่วนกองทัพอากาศ “บิ๊กจอม” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.ยังไม่เกษียณ แต่ได้ขยับ "บิ๊กต่าย" พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วย ผบ.ทอ. (ตท.18) ขึ้นเป็น รอง ผบ.ทอ. เพื่อจอคิวต่อจากบิ๊กจอมในปีหน้า พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง เสธ.ทอ. และ พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ (ตท.18) รองเสธ.ทหารขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ทอ. “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ท.ภานุพงศ์ เสยยงคะ รอง เสธ.ทอ.ขึ้นเป็น เสธ.ทอ.

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์กรสิทธิอินเทอร์เน็ตอเมริกันชวนหารือ จะรับมือกับพวกนีโอนาซีในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไร

$
0
0

กรณีการลุกฮือของกลุ่มนีโอนาซีในสหรัฐฯ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องบทบาทของไอทีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลังจากเกิดเหตุรุนแรงในชาร์ล็อตต์สวิลล์ บรรษัทไอที ‘โกแดดดี’ และ ‘กูเกิล’ ต่างระงับการจดทะเบียนเว็บไซต์ของกลุ่มนีโอนาซีเดลีสตอร์มเมอร์ แต่ทว่าการจัดการด้วยการปิดกั้นเช่นนี้จะดีจริงหรือ องค์กรด้านสิทธิไอทีจากสหรัฐฯ ชวนสำรวจว่าควรจะบริหารจัดการความเกลียดชังบนพื้นที่อินเทอร์เน็ตเช่นนี้อย่างไรดี

20 ส.ค. 2560 ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายบริษัทไอทีแสดงท่าทีต่อต้านกลุ่มขวาจัดหรือกลุ่มนีโอนาซีในสหรัฐฯ หลังจากพวกเขาออกมาประท้วงต่อต้านรูปปั้นสมาพันธรัฐและมีบางส่วนก่อเหตุรุนแรงทำให้เกิดการปะทะจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต นอกจากกรณีที่โกแดดดีและกูเกิลก็ระงับการจดทะเบียนของเว็บนีโอนาซีเดลีสตอร์มเมอร์แล้ว คลาวด์แฟลร์ที่ให้บริการคุ้มครองเว็บนี้จากการถูกโจมตี DDoS ก็ยกเลิกให้บริการแก่เว็บนี้ด้วย

ส่วนผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊ก มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก็ออกมาประกาศกว่า "ไม่มีพื้นที่ให้กับความเกลียดชังในชุมชนของพวกเรา" แอพพลิเคชั่นสแนปแช็ตก็ประกาศว่าพวกเขาจะไม่ทนต่อการมีอยู่ของวาจาที่สร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีช (hate speech) ทางยูทูบบอกว่ากำลังพยายามหาเครื่องมือจัดการในเรื่องนี้ ตัวแทนบริษัทไอทีหลายบริษัทก็ลาออกจากสภาธุรกิจภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อประท้วงที่ทรัมป์พูดไว้ว่ากลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวสุดโต่งนั้น "เป็นคนดีมากๆ"

เว็บไซต์เดลีสตอร์มเมอร์ถูกจัดว่าเป็นเว็บไซต์สร้างความเกลียดชังเผยแพร่บทความต่อว่าและเหยียดหยามผู้หญิงที่ถูกพวกขวาจัดขับรถพุ่งชนเสียชีวิตในเหตุการณ์ชาร์ล็อตต์สวิลล์ รวมถึงมักจะมีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งยั่วยุในแบบ "โทรล (Troll)" โดยที่เว็บของพวกเขาเป็นที่นิยมในหมู่พวกเหยียดเชื้อชาติและพวกฟาสซิสต์

อย่างไรก็ตามกรณีการปิดกั้นที่เกิดขึ้นกับเดลีสตอร์มเมอร์นั้นถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดีจริงหรือ องค์กรด้านสิทธิไอทีจากสหรัฐฯ อิเล็กโทรนิคฟรอนเทียร์เฟาเดชันหรือ อีเอฟเอฟ (EFF) ระบุว่าถึงแม้พวกเขาจะเป็นกลุ่มรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่สถานการณ์เช่นนี้คนที่สติดีควรจะต้องยืนหยัดต่อต้านความรุนแรงที่กำลังแผ่ขยายออกไปในประเทศ

ถึงกระนั้นก็ตาม EFF แสดงความกังวลในเรื่องวิธีการต่อต้านความเกลียดชังด้วยการปิดกั้นกลุ่มนีโอนาซีนั้น ในเวลาต่อมาอาจจะถูกนำมาอ้างใช้กับกลุ่มอื่นๆ ได้ด้วย แม้กระทั่งกับกลุ่มที่เรียกร้องเชิงสิทธิพลเมืองอย่างกลุ่ม Black Lives Matter ที่มีบางคนอ้างว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มสร้างความเกลียดชัง "การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่สิ่งที่ทำไปเพราะพวกเราเห็นด้วยกับทุกๆ ความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง แต่เป็นเพราะ แต่พวกเราคุ้มครองสิทธินี้เพราะเราเชื่อว่าไม่ควรจะมีใครไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือผู้ประกอบการเอกชนเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะได้พูด ใครควรจะไม่ได้พูด"

EFF ระบุว่าพวกเขาเคารพสิทธิในการที่บริษัทไอทีเหล่านี้มีสิทธิจะเลือกว่าข้อความแบบใดควรจะเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตได้ตามหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามวิธีการที่บริษัทไอทีเหล่านี้ใช้ก็อันตราย การใช้สิทธิของบริษัทเอกชนในการสกัดกั้นข้อมูลก็ต้องถูกตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะการตัดสินใจในฐานะตัวกลางข้อมูลไอทีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเรื่องการแสดงความคิดเห็นทั่วโลก

EFF ระบุว่าผู้ให้บริการจดทะเบียนเว็บเป็นหนึ่งในตัวกลางอินเทอร์เน็ตที่กั้นอยู่ระหว่างผู้เขียนหรือผู้สื่อสารกับผู้ใช้งาน ตัวกลางอื่นๆ ได้แก่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ISP ผู้ให้บริการการรับรองเข้ารหัสข้อมูลหรือ SSL certificate เป็นต้น EFF ระบุว่าโดเมนเนมหรือชื่อเว็บไซต์เป็นระบบที่เป็นเสมือน "การตกลงเห็นพ้อง" ที่ค่อนข้างเปราะบาง การบิดเบือนหรือปิดกั้นโดเมนเนมจึงเป็นการทำลายความเห็นพ้องนั้นลง เสี่ยงต่อการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น

วิธีการกำกับดูแลข้อความเชิงสร้างความเกลียดชังด้วยการควบคุมหรือปิดกั้นโดเมนเนม (รวมถึงการระงับการจดทะเบียน) จึงอาจจะเทียบได้กับการสั่งเก็บวัตถุดิบอย่าง "น้ำหมึกหรือกระดาษ" ในการใช้เขียนแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้มอำนาจอย่างรัฐบาลหรือผู้ไม่หวังดีอาจจะอ้างใช้เป็นอำนาจปิดกั้นได้

เรื่องการใช้ตัวกลางในการปิดกั้นเช่นนี้ยังเป็นจุดอ่อนที่นักรณรงค์เรื่องความเป็นกลางในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (net neutrality) มองเป็นเรื่องกังวล EFF ถึงมองว่าควรยกเลิกการพยายามใช้โดเมนเนมหรือสื่อกลางเป็นจุดควบคุมหรือปิดกั้นในเรื่องนี้ กฎหมายของสหรัฐฯ เองก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับตัวผู้เขียนหรือผู้เผยแพร่ได้โดยไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับผู้เป็นตัวกลาง

แล้วตัวกลางควรจะมีกระบวนการอย่างไรล่ะ?

EFF ยก "หลักการมะนิลาว่าด้วยความรับผิดของสื่อตัวกลาง" (Manila Principles on Intermediary Liability)  ให้เป็นกระบวนการที่พวกเขาแนะนำในการพิจารณาเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต

เนื้อหาของหลักการนี้ระบุว่า ก่อนจะมีการจำกัดเนื้อหาตามที่มีการร้องเรียน ตัวกลางและผู้ให้บริการเนื้อหาควรจะได้รับแจ้งสิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม (right to be heard) เสียก่อน ตัวกลางควรให้ผู้เผยแพร่เนื้อหาได้รับทราบถึงกลไกในการพิจารณาจำกัดเนื้อหาที่ถือว่าละเมิดตามนโยบายของตัวกลาง และตัวกลางควรเผยแพร่นโยบายการจำกัดเนื้อหาของตนเองในภาษาที่เข้าใจได้และเข้าถึงได้ง่ายเสมอรวมถึงมีการแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้ผู้ใช้ทราบเป็นประจำ EFF เชื่อว่าหลักการนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการจำกัดเนื้อหาในระดับเกินเลยหรือตามอำเภอใจได้

ชาวไอทีอดกลั้นต่อความต่าง : จะเคารพสิทธิมนุษยชนไปพร้อมๆ กับต่อสู้กับความเกลียดชังอย่างไร

องค์กรด้านสิทธิดิจิทัลอีกแห่งหนึ่งคือแอคเซสนาว (Access Now) กล่าวว่าการใช้โวหารในเชิงเหยียดเชื้อชาติโดยรัฐบาลยุคปัจจุบันของสหรัฐฯ มีส่วนในการทำให้พวกกลุ่มสร้างความเกลียดชังรู้สึกตัวเองมีพลังอำนาจ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงล้มเหลวในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนชายขอบ รวมถึงประณามการที่รัฐบาลทรัมป์ปล่อยให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นจากตำรวจรวมถึงความรุนแรงจากคนที่ไม่ใช่รัฐโดยไม่มีมาตรการโต้ตอบใดๆ

อย่างไรก็ตามแอคเซสนาวมองว่าบริษัทไอทีโต้ตอบด้วยการจำกัดกลุ่มสร้างความเกลียดชังจากพื้นที่อินเทอร์เน็ตมาจากการทำตามความคิดเห็นของสาธารณะและการตีความขอบข่ายการให้บริการของตัวเองแบบเฉพาะกิจ แต่ไม่ได้ตัดสินใจมาจากนโยบายที่วางไว้รวมถึงไม่มีการปรึกษาหารือกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่นในกรณีของคลาวด์แฟลร์ ที่กรรมการบริหารแมธธิว ปรินซ์ บอกว่าพวกเดลีสตอร์มเมอร์เป็น "พวกต่ำทราม" ซึ่งแอดเซสนาวมองว่าเป็นการตัดสินใจที่ "ทำตามอำเภอใจตัวเอง" มากกว่าจะอยู่บนหลักการ

เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นจากสหประชาชาติก็กล่าวแบบเดียวกับแอคเซสนาวในเรื่องนี้ว่า "เพราะแค่พวกเขาเป็นพวกต่ำทราม" เป็นเหตุผลที่แย่ที่จะเอามาอ้างใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งๆ ที่มีเหตุผลอย่างอื่นที่น่าจะอ้างได้เช่นเรื่อง "การยุยงให้เกิดความรุนแรง" การอ้างเหตุผลแย่ๆ ข้างต้นจะทำให้ไม่เป็นไปตามกระบวนการและมาตรฐาน

แอคเซสนาวเห็นด้วยว่าควรมีการพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไปในนโยบายด้วยเพื่อทำให้มีการตัดสินใจทีมีประสิทธิภาพและมีความคงเส้นคงวา โดยมีการยกตัวอย่างองค์กรริเริ่มโกลบอลเน็ตเวิร์กที่มีกระบวนการปรึกษาหารือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเสมอในแบบที่อยู่ในโครงสร้างการทำงานของพวกเขา

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรับมือกับกลุ่มสร้างความเกลียดชังไปพร้อมๆ กับคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนได้ แอคเซสนาวเสนอว่าควรมีการประเมินผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนเสมอก่อนการตัดสินใจใดๆ และปรึกษาหารือกับผู้ใช้งานที่มีความเสี่ยงหรือคนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างๆ ที่กระทบจากนโยบายของบริษัทไอที รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของเฮทสปีชในโลกออนไลน์และมีตัวกลางที่น่าเชื่อถือ

แอคเซสนาวยังเสนอแบบเดียวกับ EFF ในแง่การปรับปรุงส่วนข้อความเกี่ยวกับนโยบายให้เข้าใจง่ายขึ้นกับผู้ใช้และต้องเคารพสิทธิ คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในกระบวนการนี้ด้วย

ในแง่ของการเยียวยา การแก้ไขผลกระทบ และการทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุแบบเดียวกันเกิดซ้ำนั้น แอคเซสนาวเสนอให้ต้องมีการรับรู้ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับเหยื่อจริงโดยไม่ต้องรอประเมินใดๆ มีการพยายามเยียวยาอย่างเหมาะสม และพิจารณาให้มีการเข้าร่วมกลุ่มผลประโยชน์อย่างโกลบอลเน็ตเวิร์กเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

ในรายงานของ Techcrunch เปิดเผยให้เห็นว่าถึงแม้บริษัทไอทีต่างๆ จะออกมามีมาตรการต่อพวกนีโอนาซีมากขึ้น แต่ในโซเชียลมีเดียและเว็บกระดานข่าวยอดนิยมระดับโลกก็ยังมีพวกขวาจัดตั้งกลุ่มย่อยๆ ของตนอยู่ โดยที่ Techcrunch เสนอว่าการปิดกั้นนั้นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น พวกบริษัทเหล่านี้ควรจะมีการกดดันไปพร้อมๆ กับส่งเสริมผู้ใช้โซเชียลมีเดียของพวกเขาที่ทำการรณรงค์ต่อต้านความเกลียดชังด้วย

เรียบเรียงจาก

Fighting Neo-Nazis and the Future of Free Expression, Electronic Frontier Foundation,  August 17, 2017

Tech is not winning the battle against white supremacy, Tech Crunch, August 16, 2017

Code for tolerance: How tech companies can respond to hate but respect human rights, Access Now, August 17,2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/The_Daily_Stormer

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

องค์การอนามัยโลกยกไทยจัดการยาดี ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น

$
0
0
องค์การอนามัยโลกยกไทยจัดการยาได้ดี ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็น ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบุการมีเภสัชกรประจำใน รพ.ทุกระดับยกเว้น รพ.สต.ช่วยในการกำกับติดตาม หากไทยสามารถสรุปบทเรียนเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ความสำเร็จนี้ได้ ก็จะมีประโยชน์มาก 

 
20 ส.ค. 2560 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกสำนักงานเอเซียใต้-ตะวันออกหรือ WHO/SEARO ได้รายงานผลการวิเคราะห์การบริหารจัดการยาในระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยว่า ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ยอดเยี่ยมมาก ภายใต้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและยาที่จำเป็นผ่านระบบประกันสุขภาพภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีระบบบริหารจัดการยาที่ดีมากด้วย โดยที่ยาจำเป็นส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 นั้นสามารถเข้าถึงได้ในสถานพยาบาลของรัฐ และพบการไม่มียาคงคลังจำนวนน้อยมาก ขณะที่การกระจายก็มีประสิทธิภาพ โดยมีระบบการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลโดยตรง สำหรับยาที่ใช้ในสถานีอนามัยนั้นบริหารจัดการโดยโรงพยาบาลชุมชน
 
นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ในรายงานดังกล่าวยังระบุว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลเกิดจากการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และโรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็มียาชื่อสามัญใช้เองในโรงพยาบาล จึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ขณะเดียวกันการมีระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนและการมีเภสัชกรประจำอยู่ในโรงพยาบาล ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการติดตามด้านคุณภาพ โดยระบบบริหารจัดการยาในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยสมบูรณ์แล้ว
 
ทั้งนี้ WHO/SEARO ระบุว่า เหตุผลสำคัญของความสำเร็จที่น่าประทับใจมากดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการมีเภสัชกรในทุกระดับของระบบบริการสาธารณสุข (ยกเว้นสถานีอนามัย) หากประเทศไทยสามารถสรุปบทเรียนในการบริหารจัดการและการให้บริการด้านยาเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้ศึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศไทยได้ ก็จะยิ่งมีประโยชน์มาก และมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการบูรณาการระบบบริหารจัดการยาของทุกกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
“อย่างไรก็ตาม WHO/SEARO ได้ชี้ว่ายังคงมีความจำเป็นต้องมีมาตรฐานสำหรับการกำกับติดตามในระดับชาติ เช่น การบูรณาการระบบบริหารจัดการยา ไม่ว่าจะเป็นระบบการกำกับติดตามของกระทรวงสาธารณสุข ระบบการกำกับติดตามการใช้ยาของกระทรวงการคลัง และระบบของ สปสช. ลดการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และวิเคราะห์การจัดสรรยาจากโรงพยาบาลชุมชนให้กับสถานีอนามัย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาที่จำเป็นในสถานีอนามัยด้วย” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว    
 
นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าการจัดการยาของไทยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาจำเป็นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับการยอมรับในระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ก็ได้นำบุคลากรสาธารณสุขจาก 46 ประเทศทั่วโลกมาศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้การจัดระบบบริหารจัดการยาของไทยที่ สปสช.และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) มาแล้ว ดังนั้นก็ควรรักษาสิ่งนี้ไว้และพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไปด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 13-19 ส.ค. 2560

$
0
0

เผยเอกชน 9 รายจ่อลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เห็นแน่ปี 2561 รวมมูลค่ากว่าหมื่นล้าน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเอกชนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั้งไทยและต่างชาติ จำนวน 9 ราย สนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ รวมมูล ค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนภายในช่วงปี 2561 ถือว่าเป็นการตอบรับ 10 อุตสาห กรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพยา ยามสนับสนุน ซึ่งในวันที่ 15 ส.ค.2560 นี้ กระทรวงฯ จะเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาห กรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโน มัติ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา

สำหรับสาระสำคัญของ ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะมีการสนับสนุนด้านภาษีสรรพสามิตจากกระทรวงการคลัง โดยจะมีการกำหนดประเภทชิ้นส่วน จำนวน ในการได้สิทธิทางภาษี ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะมีการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ครอบคลุมและกว้างขึ้น ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นผู้ให้ข้อมูลจะเหมาะสมกว่า แต่มั่นใจว่าเอกชนจะมีความพอใจแน่นอน นอกจากนี้จะมีการพัฒนาบุคลากรใน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เน้นพัฒนาคนไทย จะมีการตั้งเครือข่าย พัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาห กรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนว่าหากลงทุนแล้ว ตลาดแรงงานจะรองรับเพียงพอ"อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาห กรรมที่มีความจำเป็นต่อประ เทศชาติ เพราะโลกปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตทุกอุตสาหกรรม และประ เทศไทยมีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่น้อย หากไม่เร่งพัฒนาตอนนี้จะส่งผลต่อศักยภาพของประเทศ และอาจ กระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ จนไม่สามารถพัฒนาไปสู่เทคโน โลยีขั้นสูงได้" นายอุตตมกล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 14/8/2560

เผยสถิติเรื่องร้องเรียนโรงงานอุตสาหกรรม 10 เดือน 427 เรื่อง จ.ปทุมธานีร้องเรียนสูงสุด

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเรื่องร้องเรียนและเหตุภาวะฉุกเฉินอันเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2559 – กรกฎาคม 2560) โดยศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหน้าที่ประสานการแก้ไขปัญหาว่า ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 427 เรื่อง ส่วนเหตุภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น จำนวน 135 เรื่อง โดยปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่เกิดจากการที่โรงงานบางโรงลักลอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่ดำเนินมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม โดยเป็นเรื่องกลิ่นเหม็น เสียงดัง ฝุ่นละอองและเขม่าควัน น้ำเสีย ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต กากของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล และเหมืองแร่ ตามลำดับ ซึ่งจังหวัดที่มีจำนวนการร้องเรียนมากที่สุด คือ จังหวัดปทุมธานี ส่วนเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับโรงงาน สาเหตุเกิดจากเพลิงไหม้มากที่สุด รองลงมาคืออุบัติเหตุ สารเคมีรั่วไหล และการชุมนุมคัดค้าน ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีจำนวนเหตุภาวะฉุกเฉินมากที่สุด คือ จังหวัดชลบุรี

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ตั้งแต่การจัดทำแผนการตรวจกำกับ ดูแลสถานประกอบการเข้มงวดอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ โดยทั่วไปจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจโรงงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับโรงงานที่ถูกร้องเรียนซ้ำซากมีการเข้าตรวจมากกว่า 2 ครั้ง/ปี ซึ่งจะรายงานผลความก้าวหน้าให้ผมทราบเป็นประจำทุกเดือน โดยการตรวจโรงงานของเจ้าหน้าที่จะให้คำปรึกษาแนะนำโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้จัดทำโครงการเสริมสร้างโรงงานที่ดีเพื่อลดปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการประกอบกิจการโรงงาน SMEs ในภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายโรงงาน การจัดการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมโรงงานอย่างถูกต้องเหมาะสม ตลอดจนสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ในปี 2560 ได้จัดสัมมนาฯ จำนวน 6 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค และมีผู้ประกอบการ SMEs และผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 724 คน จากเป้าหมาย 600 คน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังดำเนินโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้แทนชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมตรวจสอบสถานประกอบการ ร่วมกับโรงงานและกระทรวงฯ รวมทั้งได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในแผนงานและกิจกรรมของโรงงานที่ส่งผลต่อชุมชนตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ปี 2551-2560 จำนวนทั้งสิ้น 2,135 ราย ในปี 2559 มีผู้ได้รับ ใบประกาศนียบัตร จำนวน 184 ราย ในปี 2560 คาดว่าจะมีผู้ผ่านเกณฑ์ฯ จำนวน 200 ราย และปี 2561 มีเป้าหมายจะเปิดรับสมัครสถานประกอบการ จำนวน 150 ราย โดยเฉพาะรายที่มีปัญหากับชุมชนควรเข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน รวมกว่า 432 เครือข่าย ครอบคลุมโรงงานที่มีปัญหาใน 54 จังหวัด ซึ่งผลการสำรวจความพึงพอใจโดยรวมของประชาชน เมื่อโรงงานเข้าโครงการดังกล่าว ปรากฏว่ามีระดับความพึงพอใจมากกว่าร้อยละ 80

ที่มา: Voice TV, 14/8/2560

สธ.ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ เตรียมจ้างทำงานในสถานบริการรวม 1,230 คน

กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ เตรียมจ้างคนพิการเข้าทำงานในสถานบริการในสังกัดตามความสามารถ จำนวนทั้งสิ้น 1,230 คน ในปีงบประมาณ 2561 คิดเป็นร้อยละ 54 ของอัตราส่วน 1:100 คน ตามมาตรา 33 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการให้ได้รับการจ้างงานอย่างกว้างขวางทั่วถึง

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศ.คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการ ได้ให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศสำรวจและจ้างงานคนพิการเข้าทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1:100 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้หน่วยงานภาครัฐ จ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานภายในปี 2561

ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2560 กระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำ รวม 227,809 คน จำนวนคนพิการที่ต้องจ้างงานในอัตราส่วน 1:100 คน ตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 1:100 คน คือ 2,096 คน ขณะนี้หน่วยบริการในสังกัดได้จ้างงานคนพิการเข้าทำงานใน 47 จังหวัด จำนวน 513 คน และหน่วยงานมีแผนการจ้างงานคนพิการประจำปี 2560-2561 ภายในปี 2561 รวมทั้งสิ้น 1,230 คน คิดเป็นร้อยละ 54 โดยจะพิจารณาจ้างงานจากลักษณะงานที่คนพิการสามารถทำได้ตามความเหมาะสม

โดยหลักการจ้างงานคนพิการของกระทรวงสาธารณสุขมี 3 ลักษณะดังนี้ 1.การจ้างงานตามมาตรา 33 โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจ้างเอง สามารถจ้างคนพิการได้ทุกประเภท แบบเต็มเวลาเป็นลูกจ้างประจำ จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนหรือรายวันตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลาการจ้างไม่น้อยกว่า 1 ปี 2.การจ้างตามมาตรา 35 โดยกระทรวงสาธารณสุขจ้างเอง เช่น การให้สัมปทานแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ การจัดสถานที่ในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ การฝึกงานแก่คนพิการให้มีความรู้ ทักษะที่นำไปประกอบอาชีพได้ เป็นต้น และ 3.การจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 33 และจ้างเหมาบริการคนพิการตามมาตรา 35 โดยสถานประกอบการภาคเอกชน ตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อให้คนพิการเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งมีมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นผู้ประสานงาน

ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานคนพิการให้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในชุมชน ได้ทำงานใกล้บ้าน ในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย และได้รับการจ้างงานอย่างกว้างขวางทั่วถึง รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559

ที่มา: กระทรวงสาธารณะสุข, 14/8/2560

แรงงานต่างด้าวหาย 1 ล้านคน จี้นำเข้า G to G หวั่นโบรกเกอร์ประเทศต้นทางฟันหัวคิว

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีไซต์ก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างพัฒนา 150-160 ไซต์ แต่ละปีมีความต้องการใช้แรงงานก่อสร้าง 30,000 คน ส่วนใหญ่พึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลักเช่นเดียวกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่ว ๆ ไป

ล่าสุด พฤกษาฯ มีการสำรองค่าใช้จ่ายวงเงิน 140 ล้านบาทให้กับผู้รับเหมาช่วงที่มีการแจ้งแรงงานต่างด้าว เพื่อใช้เป็นทุนดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องต่อไป จากนั้นจึงทยอยหักเงินคืนในภายหลัง

“โครงการแนวราบเราใช้ระบบก่อสร้างสำเร็จรูป ทำให้ลดการใช้แรงงานก่อสร้างได้ 50% อย่างไรก็ตาม แนวสูงหรือคอนโดฯ ยังใช้แรงงานตามปกติ ปัจจุบันยังมีปัญหาการใช้แรงงานข้ามเขตประมาณ 10% ซึ่งต้องบริหารจัดการกันต่อไป”

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ยอดจดทะเบียนของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องมีเพียง 7 แสนกว่าคน แสดงให้เห็นว่ามีบางจำนวนที่ตกค้างไม่ได้มาจดทะเบียน สุดท้ายจะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เท่ากับระบบวงจรอุบาทว์ก็อาจไม่หมดไป อาจเพราะมองว่าการทำครั้งนี้ถือใบอนุญาตได้แค่ 2 ปี ต้องไปเริ่มต้นใหม่และอาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ล่าสุด ภาคอสังหาฯ มีการนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาลในเรื่องการกำหนดจุดเคลื่อนย้ายแรงงาน 4 จุด แต่ยังมีข้อวิตกเพราะเหมือนต้องไปเก็งข้อสอบ สิ่งที่อยากนำเสนอคือ การใช้แรงงานข้ามเขต ขอให้กำหนดจุดให้ครอบคลุมเป็นระดับเขต เช่น 1 จังหวัด ถือเป็น 1 เขต เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น การก่อสร้างคอนโดฯ ในย่านไพรมแอเรียแต่ที่พักคนงานจำเป็นต้องอยู่รอบนอก เพราะไม่สามารถหาที่พักในเขตเดียวกันได้ เป็นต้น

“ปัญหาแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อนหลายขยัก คนที่ไปดีเบตร่วมกับเราส่วนใหญ่เป็นโรงงาน ไม่ได้มีอารมณ์ร่วมในเรื่องแรงงานข้ามเขต โรงงานจะมีอารมณ์ร่วมเฉพาะด้านการจดทะเบียน ในขณะที่แรงงานประมง เกษตร มีปัญหาเดียวกับแรงงานก่อสร้าง ปัญหาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคคือ การส่งมอบโครงการจะล่าช้าออกไป ไซต์ก่อสร้างอสังหาฯ ส่วนใหญ่มีแรงงานต่างด้าว ถ้าโดนตรวจไซต์หมดเวลาครึ่งวัน บางครั้งจับตัวไปโรงพักต้องไปประกันตัวออกมาใหม่ สิ่งที่ต้องการจะบอกคือ ทำให้ถูกต้อง แต่ว่าต้องยุติธรรม เพียงแต่ประเทศต้นทางไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้หมด บางส่วนเป็นชนกลุ่มน้อย ทำให้แรงงานต่างด้าวกลับคืนมาไม่หมด”

ในด้านค่าใช้จ่ายจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าฯ แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไม่แพง ตกหัวละ 4-5 พันบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่เข้าระบบเหลือตกค้างอีกประมาณ 1 ล้านคน แนวโน้มหลังหมดระยะเวลาผ่อนผัน 1 มกราคม 2561 ปัญหาค่าใช้จ่ายนำเข้าแรงงานต่างด้าวจะกลับมาอยู่ที่หัวละ 1.9-2 หมื่นบาท

เรื่องเดียวกันนี้ นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่าผลจากการจดทะเบียนให้ถูกต้องน้อยกว่าที่คาดการณ์ ทำให้แนวโน้มหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ อาจเกิดการขาดแคลนแรงงานได้ ดังนั้น ในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือในปีนี้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจำเป็นต้องมีการปรับตัวรองรับไว้แต่เนิ่น ๆ

นายอิสระกล่าวว่า แนวทางรับมือของผู้ประกอบการ ถ้าหากแรงงานต่างด้าวยังผิดกฎหมายจำนวนมากเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้และมีบทลงโทษรุนแรงทั้งจำคุกและค่าปรับแพง ทำให้นายจ้างไทยไม่สามารถใช้แรงงานต่างด้าวรายเดิมได้ ยังมีทางเลือกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวรายใหม่เลย หรือที่เรียกว่าทำ MOU โดยเป็นการนำเข้าผ่านบริษัทนายหน้าหรือโบรกเกอร์ ปัญหาใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายฝั่งโบรกเกอร์ของประเทศต้นทาง

“วันนี้โบรกเกอร์ทำข้อเสนอมาให้ดู แรงงานเมียนมามีค่าใช่จ่ายหัวละ 9 พัน-1 หมื่นบาทสำหรับคนใหม่ ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวคนเดิมที่ต้องกลับประเทศไปทำทะเบียนให้ถูกต้องตกหัวละ 14,500 บาท แรงงานลาวและกัมพูชาตกหัวละ 2-2.1 หมื่นบาทสำหรับคนใหม่ แต่ถ้าต้องการคนเดิมค่าใช้จ่ายตกหัวละ 2.5-3 หมื่นบาท ข้อแตกต่างคือ ถ้าเป็นคนเก่าเรารู้ฝีมือ ใช้งานได้เลย แต่การนำเข้าแรงงานคนใหม่มาทดแทนมีความเสี่ยงว่าทำงานให้ได้หรือไม่”

จากปัญหาที่เกิดขึ้น นายอิสระกล่าวว่า ได้เสนอรัฐบาลให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายทั้งในส่วนของผู้ประกอบการหรือนายจ้าง และในส่วนของลูกจ้างหรือตัวแรงงานเอง เพราะการนำเข้ารัฐต่อรัฐมีค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย เช่น ค่าธรรมเนียมทำพาสปอร์ต ฯลฯ โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายนอกระบบแต่อย่างใด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/8/2560

ประชาชนขานรับโครงการบ้านแลกเงินใช้ยามวัยเกษียณ

ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่ง เตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อ รีเวอร์ส มอร์ทเกจ สามารถนำบ้านมาขอสินเชื่อ เพื่อแลกเป็นเงินไว้ดูแลชีวิตหลังวัยเกษียณ วงเงินไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าบ้าน

โดยปกติคนส่วนใหญ่ ต้องการซื้อบ้านซักหลัง มักจะขอกู้เงินกับธนาคารพาณิชย์มากกว่าการนำเงินสดก้อนใหญ่ไปซื้อ โดยต้องนำบ้านที่ซื้อไปค้ำประกับกับทางธนาคาร แล้วผ่อนจ่ายเงินคืนธนาคารทุกเดือนพร้อมกับดอกเบี้ย ซึ่งเรียกว่า mortgage หรือการจำนองแบบปกติทั่วไป แต่ในปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่ออีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า reverse mortgage ซึ่งแปลได้ว่า การจำนองแบบย้อนกลับ

ซึ่งที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นด้วยในหลัก โดยให้นำสินเชื่อดังกล่าวมาช่วยดูแลชีวิตคนไทยหลังวัยเกษียณ ผ่านธนาคารของรัฐ 2 แห่งคือ ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์

โครงการ reverse mortgage ออกมา เนื่องจากภาครัฐต้องการดูแลความมั่นคงด้านการเงินให้กับชีวติคนไทยหลังวัยเกษียณ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับผู้สูงอายุ เหมือนเป็นการขายบ้านล่วงหน้าให้กับธนาคาร โดยธนาคารต้องผ่อนดาวน์และค่างวดทุกๆเดือนให้กับเจ้าของบ้าน จนกว่าเจ้าของบ้านจะเสียชีวิต จากนั้นบ้านจะตกเป็นของธนาคาร ซึ่งอาจนำไปขายต่อให้กับทายาท หรือ ขายทอดตลาด

ณัฐ ดาวมณี หนึ่งในผู้เกษียณอายุ บอกกับทีมข่าว TNN ช่อง 16 ว่า เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากช่วยสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ เพราะไม่สามารถกู้เงินในระบบได้ ซึ่งจะลดปัญหาหนี้นอกระบบ พร้อมลดปัญหาเรื่องทรัพย์มรดก

ขณะที่ พนักงานเอกชน รายนี้ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ ใกล้เกษียณ บอกว่า โครงการ สินเชื่อบ้านย้อนกลับ จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุไม่มีเงินเก็บ แต่มีทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และคนส่วนใหญ่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นอยากให้ภาครัฐมีนโยบายเพิ่มเติมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุจะได้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาล

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรายเดือนให้กับผู้กู้ที่ขอสินเชื่อ reverse mortgage จะมาก หรือ น้อย ขึ้นอยู่กับอายุของผู้กู้ ซึ่งเงื่อนไขโครงการนี้ต้องมีอายุระหว่าง 60-85 ปี หากอายุมากมีโอกาสได้รับเงินงวดมากขึ้น ซึ่งจะพิจารณารวมถึงสภาพของบ้าน และทำเลด้วย โดยผู้กู้จะได้วงเงินสูงสุดไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าหลักประกัน

ที่มา: TNN, 15/8/2560

รับสมัครชายไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในญี่ปุ่น สมัครฟรี 15– 18 ส.ค.นี้

กรมการจัดหางาน ร่วมกับ IM Japan เปิดรับสมัครชายไทย คัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น มีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน สมัครฟรี ! 15 – 18 ส.ค.นี้เท่านั้น

กรมการจัดหางาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น(IM Japan) เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ปี 2560 ครั้งที่ 3 ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาฝึกงาน 1 ปี หรือ 3 ปี มีเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงาน พร้อมรับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพกว่า 182,000 บาท เมื่อฝึกงานครบ 3 ปี สมัครฟรีตั้งแต่วันที่ 15 – 18 สิงหาคม 2560 ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น หรือ IM Japan เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรมเพื่อจัดส่งไปฝึกงานปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กร IM ตำแหน่งคนงานทั่วไป ระยะเวลาในฝึกงาน 1 ปี หรือ 3 ปี โดย IM ประเทศญี่ปุ่น จะจ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ (กรุงเทพฯ - โตเกียว - กรุงเทพฯ) และได้รับเบี้ยเลี้ยงตลอดการฝึกงานโดยในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 24,313 บาท และรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ยกเว้นค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ และค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะฝึกปฏิบัติงานเทคนิคภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานญี่ปุ่น ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด โดยผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิครับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ และค่าประกันสังคม รวมทั้งค่าภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อสำเร็จการฝึกปฏิบัติงานแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 200,000 เยน หรือประมาณ 60,783 บาท เมื่อฝึกครบ 1 ปี จำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 182,349 บาท เมื่อฝึกครบ 3 ปี (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2560)

คุณสมบัติเป็นเพศชาย อายุ 20 – 30 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา ความสูงไม่ต่ำกว่า 160 ซม. สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ สายตาปกติ และตาไม่บอดสี พ้นภาระการรับราชการทหาร ไม่มีรอยสัก หรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย และไม่เคยเข้าเมืองหรือทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ และไม่เคยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่าประเภท Technical lntern หรือเป็นผู้ต้องห้ามในการเข้าประเทศญี่ปุ่น หลักฐานการสมัคร ได้แก่ ใบสมัครสอบคัดเลือก รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก และไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 3 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หลักฐานการศึกษา หลักฐานการพ้นภาระการรับราชการทหาร ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าสุขภาพแข็งแรง สายตาปกติและตาไม่บอดสี ประวัติส่วนตัว ใบผ่านงาน (ถ้ามี)

นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สนใจสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ชั้น 8 ภายในกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ตั้งแต่วันที่ 15 – 18 สิงหาคม 2560 สมัครฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02 245 1021 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: Voice TV, 15/8/2560

ครม. เห็นชอบ "พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน" หากนายจ้างเบี้ยวเงินต้องเสียดอกเบี้ย 15% ต่อปี พร้อมปรับอัตราค่าชดเชยเป็น 400 วัน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน โดยมีสาระสำคัญเรื่องการเพิ่มเติมสิทธิของลูกจ้าง โดยกำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในกรณีที่นายจ้างผิดนัดการจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนกรณีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างและนายจ้างใหม่ก่อนรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ กำหนดให้ลูกจ้างชายหรือหญิงได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกันในงานที่มีคุณค่าเท่ากัน รวมถึงกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระในเหตุที่จำเป็นโดยได้รับค่าจ้าง ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ 90 วันโดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยังได้พิจารณาเพิ่มอัตราค่าชดเชย กรณีลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน เดิมกฎหมายเก่ากำหนดไว้ว่าต้องทำงานครบ 10 ปีขึ้นไปถึงจะได้รับค่าชดเชย 300 วันเท่านั้น

สำหรับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้นมีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางอย่างไม่สอดคล้องหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการเพื่อให้คุ้มครองลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้สูงขึ้น

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/8/2560

7 วันตรวจสัมพันธ์นายจ้าง-แรงงานต่างด้าว ไม่ผ่านเกณฑ์ 2,200 ราย

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากตรวจเยี่ยมการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ นายจ้าง - ลูกจ้าง ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว บริเวณชั้นล่างอาคารกระทรวงแรงงาน ว่า ผ่านมา 7 วัน ของขั้นตอนการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง - ลูกจ้าง เพื่อออกเอกสารรับรองให้นายจ้างพาแรงงานต่างด้าวไปตรวจสัญชาติของแต่ละประเทศเพื่อออกใบอนุญาตทำงานตามสถานที่ที่กำหนด ซึ่งผ่านมา 7 วัน พบว่า ทั่วประเทศมีลูกจ้างเข้ารับการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์กับนายจ้างแล้ว 19% เป็นจำนวน 122,959 คน ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองประมาณ 2,286 คน สาเหตุส่วนใหญ่เนื่องจากคนต่างด้าวมีอายุต่ำกว่าหรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งต้องผ่านการตรวจมวลกระดูกจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนำผลมายืนยันต่อเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

"จากการลงพื้นที่ ไม่พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ระบบสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งต่างด้าวแต่ละคนจะใช้เวลาสัมภาษณ์ไม่เกิน 10 นาที ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้เน้นย้ำแก่ทุกส่วนราชการ ไม่ให้เกิดการเรียกรับสินบนจากแรงงานต่างด้าวโดยเด็ดขาด โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมีการตรวจอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะถ้าตรวจพบเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานรับส่วยจากแรงงานต่างด้าว ต้องถูกลงโทษ สอบทางวินัยและอาญาอย่างแน่นอน" ปลัดแรงงาน กล่าว

นายสมบูรณ์ ปิยทับทิม เจ้าของกิจการร้านอาหาร กล่าวว่า วันนี้นำลูกจ้างสัญชาติพม่า มาตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ จำนวน 12 คน ซึ่งสามารถดำเนินการเสร็จทุกขั้นตอนเรียบร้อย โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที เท่านั้น ขอชื่นชมว่าทางกระทรวงแรงงาน มีเจ้าหน้าที่เพียงพอต่อการสัมภาษณ์ ดำเนินการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์ นายจ้าง - ลูกจ้าง ได้อย่างรวดเร็วมาก

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 15/8/2560

สหภาพแรงงาน ขสมก.ไม่เอาด้วย ค้านรถเมล์ทาสี เชื่อไม่ตอบโจทย์ผู้โดยสาร

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่อาคารชาเลนเจอร์เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ขสมก.ปฏิรูประบบการเดินรถเมล์ว่า ต้องเคารพความคิดของ ขสมก.เพราะที่ผ่านมาความคิดของรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกัน ขสมก.แค่ลองดูเฉย ๆ ว่าหากทำแบบนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ต้องไปดูการปรับเส้นทางรถที่ยาก เพราะเป็นการให้สัมปทานมานานแล้ว ไม่ใช่รัฐบาลนี้เป็นคนให้ การจะปรับสัมปทานใหม่เป็นเรื่องยาก เรื่องคนขับ กระเป๋ารถเมล์ ยังมีปัญหาพอสมควร วันนี้ทดลองปรับเส้นทางรถดูก่อน ในเมื่อรถใหม่ยังหาไม่ได้คงต้องทาสีหัวรถเก่าให้เห็นว่าสีนี้เป็นของสายนี้ ขออย่าไปติติงกันมากนัก เพราะเป็นการเดินทางถึงเหมือนกันให้อภัยกันบ้าง กำลังเร่งรัดจัดหารถเมล์ใหม่ซึ่งต้องโปร่งใส ถ้าจะเอาแต่ของราคาถูกคงได้แต่ของห่วยมา ถ้าแพงเกินไปก็ไม่ดีต้องเอาพอดี ๆ และจัดสรรปันส่วนให้ดี รวมถึงสร้างความเข้มแข็งเรื่องการประกอบการของรถเมล์ด้วย ลอตแรกมีประมาณ 400 คัน ที่ต้องจัดหามาก่อน ที่เหลืออีก 1,200 คันจะประกอบในประเทศหรือซื้อเข้ามา หรือจะไปประกอบนอกบ้านแล้วเสียภาษีคงต้องดูราคากลาง ทั้งหมดกำลังพิจารณาอยู่และพยายามให้มีรถเมล์ใหม่ทันปีใหม่นี้ สามารถซื้อได้แต่ต้องให้เวลาเขาประกอบรถด้วย อย่างรถไฟฟ้ากว่าจะทำรางและระบบเชื่อมต่อได้ต้องใช้เวลา ยืนยันว่ารัฐบาลทำเต็มที่

ด้านนายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ได้แถลงการณ์เรื่องคัดค้านการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารให้กับสมาชิกพนักงาน และประชาชนผู้ใช้บริการทราบ เพราะไม่เห็นด้วย ต้องการคัดค้านและให้ทบทวนเส้นทางปฏิรูปทั้งหมด มองว่าไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนที่ใช้บริการเนื่องจากเส้นทางเดินรถบางเส้นทางยาวเกินความจำเป็นและซ้ำซ้อนมากกว่าเดิม ทั้งนี้การเปลี่ยนชื่อและสายการเดินรถเป็นภาษาอังกฤษทำให้ประชาชนเกิดความสับสน การปฏิรูปเส้นทางในครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้ใช้บริการไม่มีการศึกษาผลดี-เสียหรือรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของพนักงาน และผู้ใช้บริการทุกภาคส่วนขาดการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถโดยสาร

นายวีระพงษ์ กล่าวต่อว่า เส้นทางบางเส้นทางไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนไม่ได้ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง สถานที่จอดรถต้นทางปลายทาง บางเส้นทางรถเมล์ไม่สามารถนำรถเข้ารับส่งผู้โดยสารได้ บางพื้นที่ถนนแคบไม่มีที่จอดรถ และกลับรถไม่สะดวก ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน สร.ขสมก.มองว่าการปฏิรูปเส้นทางครั้งนี้เป็นการยุบเขตการเดินรถจากเดิม 8 เขตเหลือ 4 เขต และเส้นทางต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณโซน

ที่ถูกยุบ เขตการเดินรถนั้น จะให้เอกชนจัดหารถเมล์วิ่งแทน ขสมก. อาจเป็นการปฏิรูปเส้นทางเพื่อรองรับกลุ่มทุนเอกชนเข้ามาผูกขาดเส้นทางเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นการแปรรูป ขสมก. และยุบเขตการเดินรถ

นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า สร.ขสมก.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลังได้ทดลองเดินรถ 8 เส้นทางปฏิรูปใหม่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่สับสนในการใช้บริการแต่ละเส้นทาง จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สร. ขสมก.นิ่งนอนใจไม่ได้ ภายในสัปดาห์หน้าจะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม และนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

ที่กระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง (รถร่วมฯ ขสมก.) เพื่อเสนอแนะข้อคิดเห็นและขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล และแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางว่า ผลการหารือมีมติร่วมกัน ประกอบด้วย 1.สมาคมรถร่วมฯ เห็นด้วยกับโครงการปฏิรูปการเดินรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะให้ใบอนุญาตเดินรถ 7 ปี แก่รถร่วมฯเหมือนกับ ขสมก. หากสามารถรวมตัวเป็นนิติบุคคล 1 ราย และยกระดับมาตรฐานการบริการได้ตามแผนที่เสนอว่าจะนำรถใหม่มาให้บริการ ติดตั้งระบบตั๋วอีทิคเก็ตและติดตั้งระบบติดตามรถโดยสาร (จีพีเอส) เพื่อให้การแข่งขันอยู่บนฐานที่เท่าเทียมกัน และ 3.มอบให้ ขบ.ไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระค่าตอบแทน ขสมก.กว่า 800 ล้านบาท โดยต้องเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับ เรื่องค่าโดยสารนั้น ยืนยันว่ายังไม่ปรับราคา ค่าโดยสารอย่างแน่นอนขณะนี้ได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาต้นทุนการเดินรถที่แท้จริงอยู่ ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งรถ ขสมก.และรถร่วมฯ ทั้งนี้หากค่าโดยสารที่เหมาะสมสูงกว่าราคาที่เก็บจริงอยู่ในปัจจุบัน รัฐอาจต้องช่วยอุดหนุนส่วนต่างนี้ อาจนำเงินจากภาษีล้อเลื่อนที่จ่ายให้ กทม. มาดำเนินการในส่วนนี้แทน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคม ผู้ประกอบการรถร่วมฯ ยอมรับว่าทุกวันนี้ตกเป็นจำเลยของสังคม สมาคมฯ พร้อมที่จะปรับปรุงตนเองทั้งสภาพรถ และการบริการของพนักงานขับรถ โดยกำหนดแผนไว้ว่าจะนำรถเมล์ไฟฟ้าปรับอากาศใหม่ทยอยเข้ามาให้บริการแทนที่รถเก่าซึ่งมีประมาณ 2,000 คัน ให้ได้ภายในปี 61 โดยตั้งเป้าว่าจะนำรถเมล์ไฟฟ้า 100 คัน แรกมาให้บริการต้นปี 61 ก่อน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย ส่วนที่เหลืออีก 1,500 คัน จะทยอยนำมาให้บริการต่อไป อาจจะเป็นรถที่ประกอบในไทย แต่ต้องดูด้วยว่ารัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างไร ส่วนอัตราค่าโดยสารนั้นเนื่องจาก รถเมล์ไฟฟ้าปรับอากาศมีต้นทุนสูง จึงเสนอขออัตราค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย และได้เสนอบัตรแบบบุฟเฟ่ต์ 40 บาท ผู้โดยสารสามารถถือตั๋วใบเดียวแต่ใช้บริการรถเมล์ของรถร่วมได้ตลอดทั้งวัน

นางภัทรวดี กล่าวต่อว่า จากการหารือร่วมกับสมาชิกสมาคมทั้งหมด 75 บริษัท เรื่องการรวมตัวเพื่อจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ชุดแรกจะเริ่มรวมตัว 34 บริษัทก่อน มีรถประมาณ 1,500 คัน วิ่ง 60 เส้นทาง รายละเอียดคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน บริษัทที่เหลือยินดีรวมแต่ขอให้รัฐมีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน สำหรับการรวมตัวของ 34 บริษัท มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และต้องหาแหล่งเงินกู้อีก 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ของสมาชิกพร้อมจัดซื้อรถใหม่ เบื้องต้น นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จะร่วมจับมือกับ 34 บริษัท จัดตั้งเป็นบริษัทนิติบุคคลในครั้งนี้ด้วย แต่จะถือหุ้นใหญ่หรือไม่ต้องหารือร่วมกันอีกครั้ง

ขณะที่นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่าหลังจากที่เปิดทดลองเดินรถ 8 เส้นทางปฏิรูปใหม่ไป 2 วัน (วันที่ 15-16 ส.ค.) พบว่า ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเรื่องการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์มากนักช่วงแรกที่ทดลองวิ่ง เพื่อให้ปรับตัว ประชาชนที่ใช้บริการควรสังเกตบริเวณป้ายรถเมล์ ซึ่งจะมีข้อมูลบอกสายรถเมล์และแนวเส้นทาง นอกจากนี้ได้ประเมินจำนวนความต้องการของผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละเส้น หากเส้นไหนมีความต้องการและได้รับควานนิยมใน 1 สัปดาห์ จะเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น รายงานข่าวจากขสมก. แจ้งว่า ผลทดลองเดินรถ 8 เส้นทาง ในวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมามีผู้โดยสารรวมทั้งหมด 4,305 คน เก็บเงินได้ 27,984 บาท

ที่มา: เดลินิวส์, 16/8/2560

กระทรวงแรงงาน จัดตั้ง 5 สำนักงานทั่วพื้นที่ กทม. บริการพัฒนาแรงงาน กว่า 2 ล้านคน

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เผยว่า อ.ก.พ.กระทรวงแรงงาน ได้มีติเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้าง การแบ่งหน่วยงานภายในกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้การปฎิบัติภารกิจด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ กพร. จึงได้จัดโครงสร้างภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร โดยจัดตั้งสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-5 ขึ้น เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่องานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สพร. 13 กรุงเทพมหานคร มีสถานประกอบกิจการที่มีพนักงาน 100 คนขึ้นไป ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฯ มีกว่า 5,900 แห่ง มีลูกจ้างกว่า 2 ล้านคน ทั้งยังมีสถานประกอบการที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 100 คน อีกกว่า4,500 แห่ง พนักงานกว่า 3,500 คน ตลอดจนคนกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย จึงมอบหมายให้สพร. 13 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการฝึกอบรม ทุกด้าน รวมทั้งภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์ตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557” ที่มุ่งเน้นพัฒนาพนักงานในสถานประกอบการ โดยจัดอบรม จำนวน 4 รุ่น ซึ่งจัดตามเขตพื้นที่ที่กพร. ได้มีการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ และครั้งนี้เป็นการอบรมในรุ่นที่ 4 จำนวน 170 คน เพื่อให้สถานประกอบกิจการในแต่ละเขต มีความเข้าใจเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 สำหรับในปี 2560 มีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการฯ ถึง 3,444,950 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว กว่า 3.5 ล้านคน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 16/8/2560

นักเรียนวิศวกรรมรถไฟร้องสหภาพฯ จบแล้วถูกลอยแพ

วันที่ 16 สิงหาคม 2560 เวลา 9.30 ณ.ที่ทำการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ตัวแทนนักเรียนนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 59 ได้เข้ายื่นหนังสือร้องต่อสหภาพฯ ขอให้ผลักดันการบรรจุเข้าทำงานหลังศึกษาจบหลักสูตรแล้วการรถไฟฯไม่มีตำแหน่งงานให้เนื่องจากติดขัดที่มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2541 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเมื่อพนักงานเกษียน 100 คนให้รับพนักงานใหม่ได้แค่ 5 คน ทำให้นักเรียนวิศวกรรมรถไฟ รุ่นที่ 59 ทั้งหมดทุกแผนกจำนวน 176 คน และนักเรียนวิศวกรรมรถไฟฯรุ่นที่ 60 ที่กำลังจะจบก็จะถูกลอยแพอีกอีกร่วม 300 คน โดยมีนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพฯเป็นผู้รับหนังสือ และได้กล่าวว่าต่อผู้แทนนักเรียนว่า ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สหภาพฯจะผลักดันให้มีการเพิ่มอัตรากำลังให้กับการรถไฟฯโดยเร็ว ทั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดัน

ที่มา: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย, 16/8/2560

"คลัง" คาดจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญได้ในปี 2561

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเปิดงานมหกรรมรวบรวมการลงทุนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคต ถึงความคืบหน้า พ.ร.บการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. โดยเบื้องต้นวางกรอบการสมทบเงินและสะสมเงินใน กบช.ไว้ที่ร้อยละ 3 ช่วง 3 ปีแรก และปีต่อไปร้อยละ 5 ส่วนอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 7 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราดังกล่าว ซึ่งหลังจากแล้วเสร็จจะนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาต่อก่อนประกาศใช้ในปี 2561

โดยเป็นการออมภาคบังคับให้ลูกจ้างแรงงานในระบบใส่เงินสะสมเพื่อการออม และนายจ้างใส่เงินสมทบ และเมื่อรวมกับเงินประกันสังคม เมื่อถึงวัยเกษียณ ลูกจ้างจะมีรายได้หลักเกิน 50% ของเงินเดือนงวดสุดท้าย เช่น มีเงินจากประกันสังคม 7,500 บาทต่อเดือน หากเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20-55 ปี และรวมกับเงินจากกองทุนฯ อีก 4 หมื่นกว่าบาท หากออมตั้งแต่อายุ 15-60 ปี จะมีรายได้ไว้ใช้หลังวัยเกษียณ 51,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะพิจารณาปรับลดอัตราจ่ายเงินของกองทุนประกันสังคมด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังกำลังเร่งเดินหน้าโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร หรือ Senior Complex ซึ่งดำเนินการในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ โดยให้เอกชนเป็นผู้ก่อสร้างและมีโรงพยาบาลเป็นผู้ดูแล คาดจะเริ่มจังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี และเชียงใหม่ เพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับผู้สูงวัยดูแลทั้งสุขภาพและคุณภาพชีวิตด้วย

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 18/8/2560

คนงานโรงงานศรีตรัง ร้องศูนย์ดำรงธรรมฯ ช่วยเยียวยาหลังหยุดผลิตมา 4 เดือน ทำรายได้หายกว่าครึ่ง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี นางนุ่ม นิลภูมิ อายุ 43 ปี พนักงานพร้อมตัวแทนพนักงาน บ.ศรีตรัง แอโกร อินดัสทรี จำกัด(มหาชน) สาขาอุดรธานี จำนวน 10 คน เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.อุดรธานี โดยยื่นจดหมายเขียนด้วยลายมือ 20 ฉบับ ระบายความเดือดร้อนจากเหตุโรงงานถูกสั่งปิดมากว่า 4 เดือน โดยมีนายกฤษชานนท์ อุทัยเลี้ยง หัวหน้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี รับหนังสือร้องเรียนพร้อมพูดคุยรับฟังปัญหา

นางนุ่ม นิลภูมิ ตัวแทนกลุ่มผู้ร้องเปิดเผยว่า ทำงานเป็นพนักงานของโรงงานแปรรูปยางพารา บ.ศรีตรังฯ ถนนนิตโย ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี อยู่ในแผนกผลิตยางแท่ง ซึ่งแผนกนี้มีคนงานกะละ 30 คน รวมแผนกอื่นมีคนงานกว่า 300 คน ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน ค่าจ้างวันละ 305 บาท บวกเบี้ยขยันและค่าล่วงเวลา นับตั้งแต่มีคำสั่งให้โรงงานหยุดเดินเครื่องจักรผลิตยางแท่ง ทางโรงงานยังจ้างพนักงานตามกฎหมาย คือจ้างแรงงานต่อเดือนละ 20 วัน ไม่มีเบี้ยขยันและล่วงเวลา

“โรงงานของ บ.ศรีตรังฯหยุดเดินเครื่องผลิตยางแท่งมากว่า 4 เดือน ทำให้รายได้ขาดหายไปต่อเนื่อง ไม่เพียงพอกับการเลี้ยงชีวิตและครอบครัว หลายคนต้องไปหยิบยืมเงินมาใช้จ่าย บางคนมีภาระหนี้สินถูกตามทวง ไม่จ่ายค่างวดรถจักรยานยนต์ รวมถึงเงินกู้นอกระบบอื่นๆ จึงขอความเห็นใจมายังผู้ว่าราชการ จังหวัดอุดรธานีหาทางออกให้พนักงานที่เดือดร้อน หรือช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนด้วย และยืนยันว่าหลายคนทำงานมา 5 ปี ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพ”

นายกฤษชานนท์ อุทัยเลี้ยง หัวหน้าฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรมอุดรธานี กล่าวกับผู้เดือดร้อนว่า อุตสาหกรรม จ.อุดรธานีมีคำสั่งหยุดเดินเครื่องปรับปรุง โรงงานจะต้องทำการปรับปรุง และขอเดินเครื่องทดสอบ นับตั้งแต่มีคำสั่งโรงงานยังไม่ยื่นเรื่องขอทดสอบเครื่องจักร โดยศูนย์จะรายงานต่อผู้ว่าฯ และส่งเรื่องต่อให้ สนง.อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี และ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานีรับทราบ ก่อนจะหาวันเวลาที่เหมาะสมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาทางเยียวยาแก้ไขต่อไป

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/8/2560

5 แนวโน้มในการจ้างและการจัดการคนทำงานยุค Millennials

การสรรหาและการบริหารจัดการคนทำงานเปลี่ยนแปลงไปไกลและรวดเร็วมากขึ้นในปี 2017 เพราะเป็นยุคที่เด็กจบใหม่กำลังเข้ามามีบทบาทและเป็นแรงงานหลักในการทำงาน หรือเรียกคนพวกนี้ว่า คนทำงานกลุ่ม Millennials ซึ่งคนทำงานกลุ่มนี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ เพราะพวกเขาโตพอที่จะเข้ามาบริหารจัดการงาน หรือเป็นผู้นำองค์กรแทนคนทำงานกลุ่มเดิมหรือ Baby Boomers ถึงเวลาแล้ว ที่จะยอมรับทักษะการทำงานและความเป็นผู้นำของคนทำงานในยุคนี้ jobsDB มี 5 แนวโน้มในการจ้างและการจัดการคนทำงานยุค Millennials มาแนะนำ ดังนี้

1. ส่งต่อการทำงานให้กับคนยุค Millennials ปัจจุบัน พบว่า คนทำงานรุ่นก่อนอย่างกลุ่ม Baby Boomers จะค่อย ๆ ลดบทบาทลง และเกษียณกันไป ขณะเดียวกันคนทำงานกลุ่ม Millennials กำลังทยอยเข้ามาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจหรือองค์กรภายใต้แนวคิดใหม่ๆ และรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่องค์กรควรตระหนักถึงคือการวางแผนกลยุทธ์ในการสรรหาว่าจ้างและบริหารจัดการคนทำงานกลุ่มนี้ พร้อมกับวางแผนพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับบทบาทการทำงานในด้านการบริหารจัดการที่จะมาถึงของคนกลุ่มนี้ด้วย 2. สร้างสมดุลให้ชีวิตด้วยเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น นอกจากเงินเดือน และสวัสดิการทางด้านการเงินแล้ว คนทำงานกลุ่ม Millennials ยังให้ความสำคัญมากกับเรื่องสมดุลชีวิตกับการทำงาน เนื่องจากคนทำงานในยุคนี้ ให้ความสำคัญกับการทำงาน และการเข้าสังคมหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงเท่า ๆ กัน ดังนั้น องค์กรที่ให้ความสมดุลชีวิตกับการทำงาน และมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้ มักจะดึงดูดใจคนทำงานกลุ่มนี้ การมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ยังช่วยทำให้พนักงานได้สร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมให้กับองค์กร โดยที่ไม่เสียเวลากับการใช้ชีวิตส่วนตัวของพวกเขาด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะได้รับประโยชน์ทั้งกับองค์กรและคนทำงาน ฉะนั้น การเข้า-ออกงานเป็นเวลาจะค่อย ๆ หายไปในไม่ช้า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะคนทำงานกลุ่มนี้ ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทกับวัฒนธรรมองค์กร เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นจะเข้ามาแทนที่การเข้า-ออกงานที่เป็นเวลา

3. มีสถานที่ทำงานและชุดทำงานที่ดูสบายมากขึ้น คนทำงานจำนวนมากในยุคนี้ นิยมทำงานจากที่อื่น ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ หรือทำงานจากที่บ้าน วัฒนธรรมการทำงานจึงดูไม่เป็นทางการจนเกินไป ส่วนเรื่องการแต่งกายไปทำงาน เมื่อก่อนการแต่งชุดฟอร์มขององค์กรเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ต่อมานโยบายชุดฟอร์มองค์กรได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะคนทำงานกลุ่ม Millennials จะชื่นชอบการแต่งตัวสบายๆ หรือตามสไตล์ของตนเองไปทำงานมากกว่าที่จะแต่งตัวตามชุดฟอร์มที่องค์กรกำหนดให้ ดังนั้น เพื่อดึงดูดและรักษาคนทำงานกลุ่มนี้ไว้ องค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มจาก หากไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำธุระที่ออฟฟิศ ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงนโยบายการแต่งกายชุดทำงานให้ดูสบายมากขึ้น ไม่ทางการเกินไป โดยลดการใส่สูท ผูกไท แล้วเปลี่ยนเป็นการใส่เสื้อเชิ้ตที่ดูลำลองขึ้นกับกางเกงยีนส์แทน

4. ระบบการประเมินผลการทำงานที่ยืดหยุ่น คนทำงานกลุ่ม Millennials ต้องการเปลี่ยนการประเมินผลการทำงานประจำปี จากเดิมที่ต้องรอให้ครบปีแล้วค่อยประเมินผลการทำงาน แต่คนทำงานยุคใหม่นี้ ไม่ชอบคอยให้ครบปี เนื่องจากพวกเขาเติบโตมากับการใช้อินเทอร์เน็ต จึงมีพฤติกรรมที่ตอบสนองไว ด้วยการโต้ตอบกันใน Social media หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้พวกเขามีความอดทนน้อยกว่าคนรุ่นก่อน คนกลุ่มนี้จึงต้องการการฟีดแบคที่รวดเร็วและบ่อยครั้ง เพื่อที่จะสามารถนำฟีดแบคมาปรับปรุงการทำงานได้ทันที มากกว่าที่จะรอให้ถึงการประเมินผลการทำงานประจำปีมาถึง หากต้องการให้องค์กรก้าวไปข้างหน้า ควรเริ่มใช้ระบบการประเมินผลการทำงานเป็นประจำหรือเป็นรายเดือน เพื่อให้ผลการทำงานเป็นไปตามเป้าหมายและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

และ 5. บอกลาการทำงานแบบลำดับขั้น เป็นสร้างสรรค์งานด้วยทีมเวิร์ค คนทำงานกลุ่ม Millennials เติบโตมาพร้อมกับการแบ่งปันความคิดและเสนอความคิดเห็นผ่าน Social media หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ พวกเขาจึงชอบที่จะทำงานร่วมกันกับทุก ๆ คนแบบเท่าเทียมกัน มากกว่าการทำงานแบบลำดับขั้นเหมือนเมื่อก่อน และเมื่อพวกเขามีตำแหน่งงานที่สูงขึ้น พวกเขาก็จะถ่ายทอดการทำงานร่วมกันในองค์กรแบบเท่าเทียม ไม่แบ่งลำดับขั้นเช่นกัน ดังนั้น องค์กรควรปรับรูปแบบการทำงาน ให้คนทำงานทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานที่เท่าเทียม ไม่ใช้วิธีควบคุมการทำงาน ไม่แบ่งลำดับขั้น ไม่แบ่งลำดับการบังคับบัญชาอีกต่อไป เพราะสภาพแวดล้อมในการทำงานที่คนทำงานยุคนี้ต้องการ คือการทำงานที่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงาน และสนับสนุนให้ทำงานร่วมกัน แบ่งปันความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อให้งานออกมาดี และประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนทำงานเปลี่ยนผ่านไปจากคนทำงานรุ่นเก่าอย่าง Baby Boomers ไปสู่คนทำงานยุคใหม่ กลุ่ม Millennials คนทำงานที่มีความสามารถ จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทุกองค์กรต้องมีการวางแผนกลยุทธ์มากขึ้นกว่าที่เคย และจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พร้อมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมและเปลี่ยนแปลงให้ทันตามความต้องการของคนทำงานในยุคใหม่นี้

ที่มา: บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด, 18/8/2560

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

นักเศรษฐศาสตร์ชี้สังคมควรสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูป

$
0
0
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้สังคมควรสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปด้านต่างๆตามที่องค์กรต่าง ๆ สปช. สปท. และรัฐบาลนำเสนอไม่อาจทำให้สำเร็จได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ 

 
20 ส.ค. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นประเด็นเรื่องการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ว่า สังคมควรสร้างฉันทามติเรื่องการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามที่รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการผ่านกระบวนการประชาธิปไตย การปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามที่องค์กรต่าง ๆ สปช. สปท. และรัฐบาลนำเสนอไม่อาจทำให้สำเร็จได้หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ เพราะการขับเคลื่อนการปฏิรูปให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงต้องภารกิจร่วมกันของคนทั้งสังคม
 
ประเทศมีปัญหาและความล้มเหลวในเชิงโครงสร้างของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพประชาชนจึงก้าวเข้าสู่ ทศวรรษแห่งความถดถอยในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 การจะก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความถดถอยและกับดักรายได้ระดับปานกลางรวมทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างแท้จริงและการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตร่วมกันของทุกคน และควรดำเนินการภายใต้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตยจะดีที่สุด ความขัดแย้งโดยรวมและในระยะยาวจะน้อยที่สุด จะสมานฉันท์ปรองดองมากที่สุด แม้นประเทศไทยจะเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีมากที่สุดฉบับหนึ่งของโลก คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ไม่สามารถทำให้การแข่งขันเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในระบบได้ทั้งหมด จึงก่อให้เกิดการเมืองนอกระบบมากสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและล้มเหลวเชิงโครงสร้างของสังคมไทย แม้นสังคมจะมีจุดแข็งอยู่ไม่น้อยก็ตาม ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้สะสมและสืบเนื่องมาเรื่อย ๆ พร้อมกับความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้สร้างสภาวะความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในทุกด้าน สภาวะความเหลื่อมล้ำซึ่งมีอยู่หลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (รายได้ การถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ระบบสวัสดิการ) ด้านสิทธิและอำนาจ ด้านโอกาส ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไปได้บั่นทอนศักยภาพ โอกาสและความสามารถของประชาชนไม่ให้มีพลังในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ 
 
ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้เสนอข้อเสนอการปฏิรูปเพิ่มเติมให้คณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ ได้พิจารณา ดังนี้ ขอให้มีการพิจารณาปฏิรูปประเทศไทยให้ครอบคลุม 6 ด้าน อันประกอบไปด้วย การปฎิรูปด้านเศรษฐกิจ การปฏิรูปด้านการเมือง การปฏิรูปด้านการศึกษา การปฏิรูปด้านสังคม การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติ การปฏิรูปภาครัฐและระบบราชการ ประกอบไปด้วย 28 วาระปฎิรูป โดยที่ผ่านรัฐบาล สปช. สปท. และรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาได้ศึกษาวิจัยไว้บางส่วนแต่ยังไม่ครอบคลุมมากพอ มีความจำเป็นต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญ เร่งรัดในบางเรื่อง และ ดึงการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในบางเรื่อง รวมทั้งต้องผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม
 
จึงขอเสนอข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย 8 วาระปฏิรูปดังนี้ วาระที่ 1. การปฏิรูปเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพระบบเศรษฐกิจ การเปิดเสรีและการผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการภาครัฐ เป็นต้น วาระที่ 2. การปฏิรูปเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายภาษีมรดก และกำลังพิจารณาผ่านกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็น ส่วนหนึ่งของการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านมาตรการภาษี เป็นต้น วาระที่ 3. การปฏิรูปด้านแรงงาน ซึ่งต้องพิจารณาการเพิ่มผลิตภาพและความสามารถในการทำงาน การเพิ่มค่าจ้าง การเพิ่มสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ใช้แรงงานผ่านการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 เป็นต้น วาระที่ 4. การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ครอบคลุม ผลิตภาพภาคเกษตรและคุณภาพสินค้าเกษตร ระบบชลประทานและระบบสินเชื่อเพื่อการเกษตร คุณภาพชีวิตและรายได้ ระบบสวัสดิการของเกษตรกร สิทธิและการคุ้มครองเกษตรกร หลักประกันความเสี่ยง การจัดการหนี้สินและทุนของภาคเกษตรกรรม ระบบความปลอดภัยด้านอาหาร เป็นต้น วาระที่ 5. การปฏิรูปภาคการเงินและตลาดทุน วาระที่ 6. การปฏิรูปพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและอีอีซี วาระที่ 7 การปฏิรูปโครงสร้างและระบบภาษี วาระที่ 8 การปฏิรูปการสื่อสารโทรคมนาคมและระบบโลจิสติก 
 
 การปฏิรูปด้านฐานทรัพยากร ประกอบไปด้วย 5 วาระปฏิรูป วาระที่ 9. การปฏิรูปด้านทรัพยากรด้านพลังงานและกิจการพลังงาน วาระที่ 10. การปฏิรูปที่ดินและการจัดรูปการใช้ประโยชน์จากที่ดินรวมทั้งการบริหารทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง วาระปฏิรูปที่ 11. การปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ วาระที่ 12. การปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วาระปฏิรูปที่ 13. การปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การปฏิรูประบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม 
 
การปฏิรูปด้านสังคม ประกอบได้ด้วยวาระต่าง ๆ 7 วาระปฏิรูป 14. การปฏิรูปการศึกษา ควรดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี (ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผนการศึกษาชาติ 20 ปี) 15. การปฏิรูประบบสาธารณสุข 16. การปฏิรูปทางด้านศาสนา ค่านิยม วัฒนธรรมและจริยธรรมแห่งชาติ ในวาระปฏิรูปที่ 14-16 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับคน เป็นเรื่องการปฏิรูปทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรงและมีจริยธรรม มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นของ World Health Organization และธนาคารโลก พบข้อสรุปตรงกันว่า ประเทศที่มีประชากรสุขภาพและการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน จะมีความยากลำบากในการรักษาระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แบบจำลองทางเศรษฐกิจข้อมูลระหว่างประเทศพบว่า สถานะสุขภาพของประชากรเป็นตัวแปรสำคัญในการอธิบายความแตกต่างของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผลสรุปประมาณการว่า อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 – 0.4 ต่อปี ประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงสุด 77 ปี มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศที่มีอายุขัยเฉลี่ยต่ำสุด 49 ปี ถึงร้อยละ 1.6 ต่อปี ความแตกต่างนี้จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลา 17. การปฏิรูปการระบบสื่อสารมวลชน 18. การปฏิรูปคุณภาพชีวิตในเมืองและชนบท 19. การปฏิรูประบบการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่และการสร้างเมืองใหม่เพื่อรองรับประชากรในอนาคต 20. การปฏิรูประบบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
 
เฉพาะในส่วนของการปฏิรูปด้านการศึกษานั้นควรแยกออกมาเป็น ด้านหนึ่งต่างหากเป็นการเฉพาะเพราะเป็นหลักประกันต่อความสำเร็จของประเทศในอนาคต โดยการปฏิรูปด้านการศึกษานี้ควรดำเนินการตาม 10 ยุทธศาสตร์ดังนี้ ประกอบไปด้วย 1. ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา 2. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 3. ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกการบริหารงานบุคคล (การปฏิรูปครู การผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา) 4. ยุทธศาสตร์นวัตกรรมการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลผู้เรียน 5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสนองตอบตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ (การผลิตและพัฒนาคนให้แข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21) 6. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต 
 
7. ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา 8. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา 9. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระดับสถานศึกษา 10. ยุทธศาสตร์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 
 
การปฏิรูปด้านการปฏิรูปทางการเมืองประกอบไปด้วย 4 วาระปฏิรูป 21. การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจให้กระจายตัวและเป็นประชาธิปไตย 22. การปฏิรูปให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน 23. การปฏิรูปการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง 24. การปฏิรูปบทบาทของกองทัพและผู้นำกองทัพต่อการเมือง 
 
การปฏิรูปด้านการปฏิรูปภาครัฐและระบบราชการประกอบไปด้วย 4 วาระปฏิรูป 25. การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี 26. การปฏิรูปตำรวจและการปฎิรูปกองทัพ 27. การปฏิรูประบบยุติธรรมรวมทั้งศาล 28. การปฏิรูปครูอาจารย์ การปฏิรูประบบมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของรัฐ 
 
ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า กรอบการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ชัดเจนในการยกระดับเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสและสิทธิทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีนวัตกรรมมากขึ้น ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจสูงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองที่สมบูรณ์ขึ้น มีความเข้มแข็งมีคุณภาพมากขึ้น มีสันติธรรม สังคมมีสันติสุข มีตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน ในประเทศยุโรปเหนือโดยเฉพาะประเทศสแกนดิเนเวีย หรือ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมสูงและมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพราะมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออกได้อย่างหลากหลาย 
 
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า แม้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกำหนดให้สวัสดิการสังคม การศึกษาและหลักประกันสุขภาพบางด้าน แต่ไม่ได้เป็นสิทธิของประชนชนชาวไทยเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบุให้คนไทยได้รับอย่างเสมอภาคเป็นธรรมและทั่วถึง ระบบสวัสดิการพื้นฐาน ระบบการศึกษาพื้นฐานและการเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลพื้นฐานเป็นสิ่งที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพและเป็นธรรม ส่วนข้อดี คือ ตาม มาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับ ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง 
 
ขณะเดียวกัน รัฐพึงพัฒนาระบบการคุ้มครองแรงงาน จัดให้มีมาตรฐานแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของผู้ใช้แรงงานและสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ รัฐควรมีการประกันการมีงานทำของประชาชน จัดหางานให้ประชาชนทำหากต้องออกจากงานเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ 
 
 รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่ กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำสาธารณะ
 
มีความเห็นว่า รัฐพึงพัฒนาระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดเสรีภาพในการประกอบการ ลดอำนาจการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันและบรรลุซึ่งความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ รัฐควรแปรรูปกิจการที่ไม่มีความจำเป็นเพื่อลดภาระทางการคลังและเพื่อนำงบประมาณไปจัดสวัสดิการให้ประชาชนหรือลงทุนพัฒนาด้านอื่น ๆ 
 
สำหรับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อโอกาสพัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 
 
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เปิดเผยอีกว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยเป็นปัญหารุนแรงและยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ หากรัฐบาลทำเรื่องนี้สำเร็จพร้อมกับการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆมีความคืบหน้าชัดเจนในช่วงหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์และคณะ อาจจะเพิ่มความชอบธรรมในการกลับมาเป็นบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอีกครั้งแต่ต้องผ่านการเลือกตั้ง เพราะหากไม่ผ่านการเลือกตั้งอาจเกิดความเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้แม้นจะมีเสียงจัดตั้งจากสมาชิกวุฒสภา 250 คนก็ตาม วิกฤตรอบใหม่จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศในอนาคตและทำให้การปฏิรูปที่ดำเนินการอยู่สะดุดลงได้ด้วยปัญหาความขัดแย้งเรื่องหลักการประชาธิปไตย 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

คณาจารย์-ประชาชนเรียกร้องกองทัพถอนฟ้อง 5 ผู้จัดงาน/ผู้ร่วมประชุมไทยศึกษา

$
0
0

คณาจารย์และประชาชน 301 รายชื่อ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพถอนฟ้องบุคคล 5 ราย ที่ถูกแจ้งความฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 กรณีกิจกรรมและป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมไทยศึกษาที่เชียงใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

แฟ้มภาพ “ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ” ในการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 และนักวิชาการด้านไทยศึกษา 176 รายชื่อ ออกแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เมื่อ 17 ก.ค. 2560 ต่อมารอง ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ ฟ้องนักวิชาการ นักเขียน และสื่อมวลชน รวม 5 ราย ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้ คสช. 3/2558

ป้าย "เวทีวิชาการ" "ไม่ใช่" "ค่ายทหาร" ในวันที่ 18 ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นสุดท้ายของงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 หลังจากตลอดการจัดงานมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามารบกวนในการประชุมวิชาการ (ที่มา: คนส.)

ภาพที่ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นำเสนอในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ก.ค. 2560 เป็นภาพทหารในเครื่องแบบเข้ามาในบริเวณที่มีการจัดการประชุมไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

 

20 ส.ค. 2560 กรณี สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ออกหมายเรียก ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และเพื่อนนักวิชาการ นักเขียน สื่อมวลชน รวม 5 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย กรณีกิจกรรมในการประชุมวิชากาารไทยศึกษา ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยผู้แจ้งความคือ พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.ช้างเผือก

ล่าสุดวันนี้ (20 ส.ค.) นักวิชาการและประชาชน 301คน ร่วมกันลงลายชื่อออกแถลงการณ์ “กรณีการออกหมายเรียกคณะผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 13” เรียกร้องให้ถอนข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่ถูกฟ้องทั้ง 5 ราย เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตของสังคมไทย ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พร้อมย้ำว่า การแลกเปลี่ยน ถกเถียงเพื่อกำหนดอนาคตควรเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม มิได้ถูกผูกขาดหรือจำกัดสิทธิโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

000

แถลงการณ์

กรณีการออกหมายเรียกคณะผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13

จากกรณีที่รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และสถานีตำรวจภูธรช้างเผือกได้ออกหมายเรียกให้ผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 13 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ยืนยันว่า การประชุมวิชาการไทยศึกษานานาชาติ ถือเป็นเวทีวิชาการหลักที่ทำให้เกิดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับไทยศึกษาทั้งในด้านภาษาศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงอนาคตของสังคมไทยท่ามกลางความท้าทายของโลกโลกาภิวัตน์ การจัดประชุมวิชาการไทยศึกษาจะจัดขึ้นทุก 3 ปี และในการประชุมแต่ละครั้ง มีนักวิชาการทั้งจากในประเทศและระหว่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทย สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีนักวิชาการจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมมากกว่า 1,000 คน พร้อมกับหัวข้อการประชุมกว่า 200 หัวข้อ มีกิจกรรมควบคู่ไปกับการสัมมนา อาทิ การออกร้านหนังสือ ภาพยนตร์สารคดี การแสดงนิทรรศการ เป็นต้น ซึ่งถือว่าสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตของประเทศไทยอย่างยิ่ง การถือป้ายมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารเป็นกิจกรรมเล็กน้อยที่เป็นเพียงการสื่อสารถึงความไม่เหมาะสมของการแทรกตัวของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการสัมมนาเท่านั้นโดยนัยนี้ การออกหมายเรียกผู้จัดการประชุมและผู้เข้าร่วมในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง จึงไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งก่อให้เกิดการทำลายบรรยากาศของสังคมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อสังคมไทยในอนาคตเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้มีรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้

1. ถอนการแจ้งความกล่าวหา ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ นางสาวภัควดี วีระภาสพงษ์ นายชัยพงศ์ สำเนียง นายธีรพล บัวงาม และนายนลธวัช มะชัย โดยทันที

2. รื้อฟื้นความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเพื่ออนาคตของสังคมไทย ยุติการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยน ถกเถียงเพื่อกำหนดอนาคตควรเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม มิได้ถูกผูกขาดหรือจำกัดสิทธิโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ด้วยความสมานฉันท์

1. นพ. ดร. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กระทรวงสาธารณสุข
2. ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ข้าราชการบำนาญ ธรรมศาสตร์
4. ศ.ดร.ทวีทอง หงส์วิวัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
5. ศ.ดร. ยศ สันตสมบัติ คณะสังคมศาสตร์ มช
6. ศ. สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. นาง เกศสุภรณ์  เขื่อนเพชร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
8. ด.ช.เขมรินทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
9. เคท ครั้งพิบูลย์ นักวิชาการอิสระ
10. นาย เจตณรงค์ ลิขิตบัณฑูร นิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
 
11.  เฉลิมพงศ์ ตอเสนา
12. นายเดชาธร สีหาบุตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
13. ดร. เตชนิธิ ดิษยนันทไพบูลย์  นักวิชาการอิสระ
14. เนตรดาว เถาถวิล
15. นางสาว เนาวรัตน์  หัสพันธ์
16. เบญจมาศ บุญฤทธิ์ PhD candidate, University of Aberdeen 
17. นางสาวเพ็ญพิศ ชงักรัมย์ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มช.
18. เมธิรา มุลพรม
19. นายเมธี  ใจศรีนักวิชาการอิสระ
20. ผศ.ดร.เยาวนิจ กิตติธรกุล สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ม.สงขลานครินทร์
 
21. เศรษฐภูมิ บัวทอง วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22. นางเศรษฐราณี แย้มแสงสังข์
23.  เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
24. ผศ. ดร.เสาวณิต จุลวงศ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
25. เสือ อภิชาติเกรียงไกร มหาวิทยาลัยชาวนา
26. ดร.เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
27. อาจารย์เอกฤทัย ฉัตรชัยเดช ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์
28. เอนก รักเงิน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา
29. เอื้ออารี  แจ่มผล ข้าราชการบำนาญ
30. ผศ.ดร.แพร จิตติพลังศรี อักษรศาสตร์ จุฬาฯ
 
31. แสวง มาละแซม นักวิชาการอิสระ
32. ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์ ม.บูรพา
33. อ. ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
34. อาจารย์ไพโรจน์   ไชยเมืองชื่น คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
35. รศ. ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
36. กรกนก โกตระกูล
37. อ.ดร.กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
38. น.ส.กรพินธุ์ โตทับเที่ยง
39. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน
40. นายกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเกียวโต
 
41. กฤตยา สูงแข็ง
42. กฤษฎา บุญชัย
43. นายกวิน  บุญธารา พลเมือง
44. นส.กันต์สิริ ชุนณวงษ์
45. นางสาว กัลยาวีร์ แววคล้ายหงษ์ ผู้สื่อข่าว TNN24
46. นายกาญจนพงค์ รินสินธุ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ หลักสูตรอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
47. กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
48. กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
49. กำพล จิตตะนัง โครงการปกป้องปักษ์ใต้
50. กิตติ วิสารกาญจน ม.ศิลปากร
 
51. กิตติกาญจน์ หาญกุล ม.ธรรมศาสตร์
52. กิตติพล สรัคคานนท์
53. กิติมา ขุนทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สกลนคร
54. กุลธีร์ บรรจุแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
55. น.ส. ขวัญชนก กิตติวาณิชย์ University of Manchester
56. นายขวัญชัย เกิดแดน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
57. อาจารย์ ดร.ขวัญฟ้า ศรีประพันธ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
58. นายคงศักดิ์ ตรงธรรมพร คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
59. ผศ.ดร. คนางค์ คันธมธุรพจน์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
60. นายคมสัน กิมาลี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
 
61. คมสัน พรมรินทร์
62. นางสาวคำเพิ่ง บุญไทย
63. นางสาวคำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมืองภาคอีสาน
64. คุณวุฒิ บุญฤกษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
65. คู่บุญ จารุมณี
66. ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร
67. งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
68. จตุชัย แซ่ซือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
69. จอม เพชรประดับ สื่ออิสระ ลี้ภัยการเมืองในอเมริกา
70. ผศ.จักร แสงมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 
71. จักรกฤษ กมุทมาศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
72. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
73. จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
74. น.ส.จันทร  โพธิ์จันทร์
75. จันทรา ธนะวัฒนาวงศ์
76. จารุปภา วะสี แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา
77. จิรชาติ  สันต๊ะยศ อาจารย์พิเศษ / นักวิชาการอิสระ
78. จุไรพร จิตพิทักษ์
79. นายฉัตรชัย  ผ่านสำแดง ประชาชน
80. รศ.ดร.ฉันทนา บรรพศิริโชติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
81. รศ.ฉันท์หทัย (อรทัย) อาจอ่ำ มหาวิทยาลัยมหิดล
82. นางชนิดา เผือกสม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
83. นายชยันต์ ผลโภค
84. นางสาวชลิตา ศรีแก้ว
85. ผศ.ชัชชัย คุ้มทวีพร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
86. ชัชฎา กำลังแพทย์ นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 
87. ชัชวาล ปุญปัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
88. ชัยชนะ เลิศธรรมตระกูล
89. ชัยธวัช สีผ่องใส รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 
90. ชานันท์ ยอดหงษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
91. นายชินวร อิ่มเกษม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
92. ฐาปกรณ์ กำจร 
93. ฐิติกร เจนถาวร
94. นายณัฏฐาพงศ์ อภิโชติเดชาสกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
95. ณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์
96. น.ส.ณัฐปวีณ์ ชินอัครพงศ์
97. นายณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
98. นายณัฐพล ศุภสิทธิ์
99. ณัฐพล อิ้งทม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
100. นายณัฐวุฒิ อุปปะ ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม จ.พิษณุโลก
 
101. ดรุณี  ไพศาลพาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
102. ผศ.ตะวัน วรรณรัตน์
103. นายทยิดา เปรมสละ
104. นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร อิสระ
105. นายทองนพ นาคอุไร นิด้า
106. ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
107. นายทิตศาสตร์  สุดแสน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
108.  ธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ
109. ศ. ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
110. นางสาวธนพร ศรีสุกใส นักวิจัยอิสระ
 
111. ดร.ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
112. นายธนพล พันธุ์งาม นิสิตวนศาสตร์ชุมชน-สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
113. ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์
114. ธนากรณ์ อินทร นิสิตปริญญาโท สาขารัฐศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
115. พระธรรมยุทธ์ ภูมิธเนศ อิสระ
116. นางสาวธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์
117. ธัญญาพร กิจนุกร การพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
118. ธารา บัวคำศรี
119. ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง
120. นายนพพล อัคฮาด นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล
 
121. นภาพร อติวานิชยพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
122. อ.นรุตม์ เจริญศรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
123. ผศ. ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
124. นวภู แซ่ตั้ง อิสระ
125. นันทา เบญจศิลารักษ์ มูลนิธิสื่อประชาธรรม
126. นางสาวนันท์นภัส เมืองวงษ์ ศูนย์ชาติพันธุ์ฯ
127. นางสาวนิตินันท์ การพร้อม
128. นางสาวนิภาพร มาลีลัย เอกชน
129. นายนิรันดร  คำนุ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
130. อาจารย์นิลุบล  ไพเราะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง  ม.มหาสารคาม
 
131. นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ
132. นุจรี ใจประนบ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
133. นายบวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
134. นายบาลี พุทธรักษา ขรก.บำนาญ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
135. ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์
136. นางสาวบุญตา สืบประดิษฐ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ 
137. ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
138. นายบูรพา เล็กล้วนงาม เดอะอีสานเรคคอร์ด จ.ขอนแก่น
139. นายปฏิพัทธ์ สถาพร นักศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
140. ดร.ปรมตถ ณ ระนอง Royal University of Law and Economics , Cambodia
 
141. ประทีป ฉายลี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร
142. นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
143. ปรัชญาพร โพธิ์แก้ว
144. นางสาวปรารถนา  นามนิตย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
145. รศ.ดร.ปรีชา อุปโยคิน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
146. ปฤณ เทพนรินทร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
147. ปวลักขิ์ สุรัสวดี มหาวิทยาลัยมหิดล
148. ปารณัฐ สุขสุทธิ์ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
149. นางสาวปาริชาต สุนทร สพม.1
150. รศ.ปาริชาติ วลัยเสถียร นักวิชาการอิสระ
 
151. นายปิง วิชัยดิษฐ คณะมนุษย์ศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
152. รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
153. ผศ.ดร.ปิ่นวดี  ศรีสุพรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
154. นายปิยชัย นาคอ่อน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
155. นายปิยชาติ  มรกตคันโธ
156. นายปิยะภูมิ กาญจนเจริญ สถาบันเกษตรกร(สหกรณ์)
157. ผศ.ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์ นักวิชาการอิสระ
158. อ.พงศธร นัทธีประทุม ม.รามคำแหง
159. พนิดา อนันตนาคม คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
160. นางพรพิมล โรจนโพธิ์ มูลนิธิสัมมาชีพ
 
161. พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
162. นางสาวพรหม  แก้วหาญ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
163. นางพริ้ม  บุญภัทรรักษา
164.  พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
165. นางสาวพลอยรุ้ง สิบพลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร
166. นายพัชร์ นิยมศิลปะ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย
167. พัชรินทร์  ไชยรบ นักวิจัยอิสระ
168.  พัชรินทร์ สิรสุนทร นักวิชาการอืสระ
169. อาจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
170. อาจารย์ พันธุ์พิพิธ  พิพิธพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ มอ. ปัตตานี
 
171. พิทยา ว่องกุล
172. นายพิพัฒน์ สุยะ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
173. นายภัทรนันท์ ลิ้มอุดมพร นิสิตระดับปริญญาเอก ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
174. ว่าที่ ร.อ. หญิง ภัทรมน สุวพันธุ์ นิสิตหลักสูตรรัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต(เศรษฐศาสตร์การเมืองและการบริหารจัดการ) ม.บูรพา
175. ภัทรา วรลักษณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
176. ภาณุวัชร์ โพธิ์นอก
177. นายภาณุวัตร จันทร์ดี นักศึกษา คณะอักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร
178. นายภานนท์ คุ้มสุภา นักวิชาการอิสระ
179. ภาสกร อินทุมาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
180. นายภูเดช  แสนสา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
 
181. นายภูริณัฐร์  โชติวรรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร
182. มนตรา  พงษ์นิล คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
183. นางสาวมนทกานต์ ฉิมมามี สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
184. นางมรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
185. มัทนา โกสุมภ์ นักวิชาการอิสระ
186. ยุภาวรรณ แสงกาศ
187. รัศมี เอกศิริ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ
188. น.ส.ราณี หัสสรังสี คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
189. รามิล กาญจันดา คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. วิทยาเขตกำแพงแสน
 
190. ลลิตา หาญวงษ์
191. ลัดดา  กาฬจันทร์
192. ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ นักกิจการเสรี
193. วชิรวัตติ์ อาริยะสิริโชติ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
194. วรปรัชญ์ มะโนวัง
195. วราพร ครามบุตร
196. วราลี ศิระมานะกุล CMU / NIDA
197. ผศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
198. นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
199. วัชรฤทัย บุญธินันท์
200. นายวันพิชิต  ศรีสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
 
201. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
202. วาสนา ศรีจำปา
203. รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์
204. วิทยา อาภรณ์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
205. นายวิทัศน์ ฝักเจริญผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
206. นายวิธูร บัวแดง นักวิจัยอิสระ
207. ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
208. วิมลสิริ เหมทานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล
209. นาย วิริยะ สว่างโชติ นักวิชาการอิสระ
210. นายวิวัฒน์  ตามี่ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์
 
211. นายวีรบูรณ์ วิสารทสกุล วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
212. นายวุฒิ บุญเลิศ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี
213. นายวุฒิรักษ์ แพงตาแก้ว อดีตนายกสโมสรนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
214. นางสาวศจี กองสุวรรณ มูลนิธิอีสต์ ฟอรั่ม
215. นายศตานนท์ ชื่นตา ชาวนา ประชาชนธรรมดา
216. ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
217. นายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
218. ศรัณย์ภัทร ไชยพิศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
219. ผศ.ดร.ศรันย์ สมันตรัฐ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
220. นายศราวุฒิ ประทุมราช นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน
 
221. ศราวุฒิ วิสาพรม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
222. ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี มอ.ปัตตานี
223. นางสาว ศรีสุรางค์  แสนสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
224. นายศักดิ์ดนัย  สวัสดิ์ผล นิสิตเอกสังคม ศึกษาศาสตร์  มมส.
225. ศิริธร ศิริวรรณ Cornell University 
226. นางสาวศิรินันต์ สุวรรณโมลี นักวิชาการอิสระ
227. นางสาวศิรินาฎ มาตรา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
228. นางศิริมา  โคตตาแสง กระทรวงสาธารณสุข
229. ศิริลักษณ์ คำจันทร์
230. นายศิริวัฒน์ คันทารสกลุ่มเพื่อนกระบวนกร
 
231. นายศิริวุฒิ บุญชื่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
232. ศิวกร ราชชมภู นักศึกษา
233. นายศิวศิลป์ จุ้ยเจริญ นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์
234. ศุภวรรณ  ชนะสงคราม โครงการอาหารปันรัก หาดใหญ่ สงขลา
235. อ.ดร.ศุภสิทธิ์  ต๊ะนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
236. นางสาวศุภิสรา ชินอัครพงศ์
237. ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ ธรรมศาสตร์
238. ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข.
239. สมัคร์ กอเซ็ม Thirdspace Publishing
240. สมิทธิรักษ์ จันทรักษ์ นักวิชาการอิสระ
 
241. ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์
242. ดร. สร้อยมาศ รุ่งมณี ม.ธรรมศาสตร์
243. นายสลัก ลิ่มสอน สัญชาติ เชื้อชาติไทย 
244. นางสาว สวรรยา วัฒนศิริเสรีกุล
245. สันทราย วงษ์สุวรรณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
246. ผศ. ดร.สาวิตรี คทวณิช
247. นางสาวสิกขา สองคำชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
248. ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อิสระ
249. สิทธิชาติ พิทักษ์กิจงาม นิสิต สาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
250. อาจารย์สิริลักษณ์ หุ่นศรีงาม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 
251. สิรีธร  ถาวรวงศา นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
252. สุเมธ เจริญทรัพย์ 
253. สุทธิชัย  รักจันทร์ นิสิตปริญญาโท
254. สุพจน์ ชุณหโชติอนันต์
255. นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ชมรมแพทย์ชนบท
256. นายสุร แก้วเกาะสะบ้า Land Watch Thai
257. สุรชัย ตรงงาม ทนายความ
258. อ. ดร.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
259. สุรสม กฤษณะจูฑะ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
260. รศ.สุรัสวดี  หุ่นพยนต์ ผู้ประสานงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
 
261. สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
262. นางสุวรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
263. อติศักดิ์ จึงพัฒนาวดี
264. อนิรุทร์ มูลวันดี อิสระ
265. อภิชญา โออินทร์ นักวิชาการอิสระ
266. นายอภิชิต ศิริชัย นักวิชาการอิสระ
267. นางสาวอภิญญา พลทม นักศึกษาปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปากร
268. นางสาวอมรรัตน์  สิทธิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
269. นางอรนุช ผลภิญโญ
270. นายอรรถเศรษฐ์   จริยธรรมานุกูล นักวิชาการอิสระ
 
271. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
272. ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
273. อรศรี  งามวิทยาพงศ์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ม.ธรรมศาสตร์
274. ผศ.ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม
275. อังกูร หงษ์คณานุเคราะห์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
276. อัจจิมา แสงรัตน์
277. นางสาวอัญชัน มีโส มหาวิทยาลัยขอนแก่น
278. นางสาวอัญชิษฐา โพธิวงษ์ นิสิตสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
279. อาคม สมหวัง
280. อาทิตย์ ศรีจันทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
 
281. อานนท์ บุญเชิดชู ประชาชน
282. อาจารย์อานันท์ นาคคง คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
283. อารยาภัสร์ เดชมา ข้าราชการครู สพม.1
284. นางอารีย์รัตน์ สายฟ้า
285. อารีรัตน์ กิตติศิริ
286. อิทธิพล ไชยศรี อิสระ
287. นายอินทนนท์ สุกกรี
288. อิลหาม มะนะแล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
289. นส.อุบลวรรณ ชัยมงคล
290. Miss Atchareeya Saisin Chiang Mai University 
 
291. Chanetwallop N Khumthong  Economics ,Chulalongkorn University 
292. MrsIsriya Bunyasiri Kasetsart university 
293. Jiraporn Chanup
294. Neeranooch Malangpoo University of Wisconsin-Madison
295. Nopparat Luemak
296. Pakkamol Siriwat Ph.D. Candidate, University of Cambridge
297. Dr.Ratana Tosakul Thammasat University
298. Dr.Richard Friend University of York, UK
299. Ms.Thita Ornin CSDS Chulalongkorn University 
300. MrTinnaphop Sinsomboonthong London School of Economics and Political Science (LSE) 
301. Urai Yangcheepsutjarit Chiangmai university
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม.ประชุม 22 ส.ค.นี้ หารือถูกเซ็ตซีโร่

$
0
0

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เตรียมประชุม 22 ส.ค. 2560 นี้หารือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ถูก สนช.เซ็ตซีโร่ ก่อนส่งความเห็นแย้งตั้ง กมธ. 3 ฝ่าย

20 ส.ค. 2560 สำนักข่าวไทยรายงานว่านายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีมติเซ็ตซีโร่ กสม. ว่าการประชุม กสม. ในวันอังคารที่ 22 ส.ค. 2560 นี้  ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือต่อที่ประชุมว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกรรมการสิทธิ์ ว่ามีเรื่องใดที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานของกรรมการสิทธิ์ฯ หรือไม่ หากที่ประชุมเสียงข้างมากเห็นควรให้เสนอความเห็นกลับไปยัง สนช. เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย  ระหว่าง สนช. กรธ.และ ประธาน กสม.ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานองค์กรอิสระต้องไปเข้าร่วม  ตนก็พร้อมทำหน้าที่ตรงส่วนนี้ ไม่มีความกดดันใด ๆ ทั้งสิ้น  และภายหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้ทราบถึงท่าทีของกรรมการสิทธิ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ทหารเกณฑ์ค่ายดอนนกเสียชีวิตปริศนา คาดถูกซ้อมอย่างรุนแรง

$
0
0
แม่เผยเหตุสลดลูกบุญธรรมทหารเกณฑ์ประจำมณฑลทหารบกที่ 45 (ค่ายดอนนก) จู่ ๆ รุ่นพี่หอบร่างมาส่งบ้าน ก่อนเสียชีวิตคาห้องนอน แพทย์ระบุหัวใจฉีก ม้ามแตก ยันถูกกระแทกอย่างรุนแรง

 
20 ส.ค. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พ.ต.ท.วิชอบ เกิดเกลี้ยง รองผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี เดินทางไปยังนิติเวช รพ.สุราษฎร์ธานี หลังรับแจ้งจาก นางมาลัยภรณ์ วรกิจพันธ์ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 7/29 ถนนราษฎร์บำรุง ต.ตลาด อ.เมืองสุราษฎร์ธานีว่า ลูกบุญธรรม ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ ประจำมณฑลทหารบกที่ 45 (ค่ายดอนนก)ได้เสียชีวิตปริศนา คาดว่า น่าจะถูกซ้อมอย่างรุนแรง จึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบศพ พลฯทหารนภดล วรกิจพันธ์ หรือ น้องทาโร่ อายุ 21 เป็นทหารกองประจำการ มทบ.45 พลัด 1 เข้าประจำการเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
 
จากการสอบถาม นางมาลัยภรณ์ ให้การว่าช่วงวานนี้ (19 ส.ค.) ตนได้เดินทางไปรับบุตรชายออกจากค่าย เพื่อมาร่วมงานบุญ และมีกำหนดเดินทางกลับเข้าไปในค่ายภายในวันเดียวกัน โดยมีพ่อของเพื่อนบุตรชายเป็นผู้ไปส่ง ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. มีทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 2 คน พาบุตรชายกลับมาที่บ้านของพี่สาว ในสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และแจ้งให้พี่สาวทราบว่า "น้องทาโร่" ถูกซ้อม (ลงโทษทางวินัย) โดยแจ้งคนที่มาส่งชื่อเด่น พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ หลังจากนั้นก็ได้กลับไป ส่วนน้องทาโร่ แจ้งกับพี่สาวว่าเพลียมาก และขอเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าในห้องนอน จนกระทั่งมาพบว่า นอนเสียชีวิตอยู่ในห้องในสภาพมีเลือดออกตามปากและจมูก จึงได้พาร่างน้องทาโร่ ส่งโรงพยาบาล และร้องขอให้แพทย์ทำการผ่าตรวจชันสูตรศพอย่างละเอียด เบื้องต้นแพทย์แจ้งผลว่า มีเลือดคั่งในทรวงอก ปอด และหัวใจฉีก ม้ามแตก สาเหตุจากการโดนกระแทกอย่างรุนแรง จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน 
 
"เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลภายในค่ายทหาร จึงอยากร้องขอความเป็นธรรมให้มีการสอบสวนคดีอย่างละเอียดด้วย" นางมาลัยภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย  
 
ด้าน ร.ท.อนุตร์ นวลไทย ผบ.ร้อย มทบ.45 กล่าวว่า จากการตรวจสอบ  พลฯทหาร นพดล วรกิจพันธ์ เป็นพลทหารพลัด 1 พลทหารลูกมือ มทบ.45 โดยเมื่อวานนี้ (19 ส.ค.) มารดาได้มารับออกจากค่ายฯ และกลับมาเมื่อเวลา 18.00 น. ต่อมาเมื่อเวลา 19.00 น. มีการตรวจเวรรวมยังอยู่ จนกระทั่งเวลา 21.00 น.ตรวจเวรรวมอีกครั้งยังอยู่ปกติ และ 22.30 ปรากฎว่าพลทหารหายออกไป 3 คน รวมถึงผู้ตายด้วย และได้รับแจ้งเวลาเที่ยงคืนว่ามีพลทหารเสียชีวิตดังกล่าว ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ รายงานต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว
 
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

หมายเหตุประเพทไทย #171 ติ่งเกาหลีวิทยา

$
0
0

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ เปิดประเด็น ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ไขคำตอบ พร้อมชวนพินิจพื้นที่และตัวตนของกลุ่มแฟนคลับนักร้องเกาหลีหรือที่ถูกขนานนามว่า “ติ่งเกาหลี” วัฒนธรรมแฟนคลับนักร้องเกาหลี นับว่าเป็นวัฒนธรรมย่อย (subculture) ของศิลปวัฒนธรรม/ดนตรีจากเกาหลีใต้หรือ “K-pop”

วัฒนธรรมแฟนคลับเกาหลีสร้างอัตลักษณ์ร่วม สร้างตัวตนให้คนในสังคมได้อย่างไร โดยเฉพาะการมี fandom name ที่ตั้งขึ้นเพื่อขนานนามกลุ่มแฟนคลับศิลปิน การจัดองค์กรทางสังคมของแฟนคลับทำหน้าที่แบบไหน และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับกลุ่มอย่างไร ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่ https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กสม. เปิดเวทีระดมความเห็น 'ภาคประชาสังคม' ดันหลักการชี้แนะธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

$
0
0

กสม.เปิดเวทีขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ วัส ย้ำประกอบธุรกิจเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ยังเป็นโอกาสที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

21 ส.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) เมื่อเวลา 9.00 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่องการเผยแพร่และการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทยต่อภาคประชาสังคม ณ ห้องดอนเมือง 1-2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ

วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทของ กสม. ในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนตามกรอบของสหประชาชาติในประเทศไทย” ตอนหนึ่งว่า การประกอบธุรกิจโดยเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ถูกต้องทางศีลธรรม แต่ยังเป็นโอกาสที่จะนำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะธุรกิจคือพลังขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่สิทธิมนุษยชนคือการดูแลทุกคนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความปลอดภัยในชีวิต มีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสม ได้รับโอกาสเท่าเทียมในด้านการเข้าถึงบริการของรัฐ และได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม

วัส กล่าวต่อว่า การที่สหประชาชาติให้การรับรองหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประชาคมโลก แม้ว่าหลักการชี้แนะฯ จะยังไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของภาคธุรกิจไว้ในลักษณะข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็ตาม แต่ถือเป็นการวางบรรทัดฐานสำหรับภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ (1) ให้รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน (2) ให้ภาคธุรกิจทุกระดับเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และ (3) ให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

“เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2560 กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่องการเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทยขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยหน่วยงานข้างต้นได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ สะท้อนถึงความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักการชี้แนะฯ ซึ่งผลการจัดสัมมนาดังกล่าวได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลก” ประธาน กสม. กล่าว

ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดสัมมนาในวันนี้มุ่งเน้นการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคมที่มีต่อหลักการชี้แนะฯ หลังจากเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กสม. ได้จัดเวทีเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ให้กับภาครัฐและภาคธุรกิจมาแล้ว โดย กสม. จะรวบรวมความคิดเห็นของทุกภาคส่วนเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอส่งไปยังคณะรัฐมนตรีสำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต่อไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ตลอดจนได้รับการยอมรับจากนานาอารยะประเทศ

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images