Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

ยกไทยต้นแบบหลักประกันสุขภาพ หนุนตั้งศูนย์ถ่ายทอดให้นานาชาติ

$
0
0

 

27 ม.ค.55 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มีการแถลงข่าวเรื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์  ซึ่งดำเนินการโดย 8 องค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก). สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เฮเธอร์ เกรดี้ รองประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ฝ่ายยุทธศาสตร์โครงการ กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศ โดยเป็นการพัฒนาที่มาจากฐานของการสร้างความรู้และสะสมประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น คุ้มครองไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระในระยะยาว ปัจจุบันประเทศต่างๆ จำนวนมากได้กำหนดให้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งชาติ เช่น เวียดนาม มองโกเลีย กาน่า อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศไทยสามารถเป็นต้นแบบของการและศูนย์กลางของการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้ ทางมูลนิธิจึงสนับสนุนงบประมาณให้กับประเทศไทยในการดำเนินการ เพื่อสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศต่างๆ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตน ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมาก

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา มาจากการออกแบบระบบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณในรูปแบบงบปลายปิดที่คำนวณมาจากต้นทุนและการใช้บริการของประชาชน การกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และคัดเลือกบริการรักษาพยาบาลเฉพาะที่มีประสิทธิผล การจ่ายเงินสถานพยาบาลต่างๆ ในรูปแบบเหมาจ่ายสำหรับบริการผู้ป่วยนอก และจ่ายตามกลุ่มจำแนกโรคร่วมสำหรับบริการผู้ป่วยใน การส่งเสริมให้มีการใช้บริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ ฯลฯ ทั้งหมดทำให้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ประสบการณ์การพัฒนาดังกล่าว พร้อมทั้งการลงทุนพัฒนาระบบและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สปสช. พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และที่ผ่านมาได้มีโอกาสต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากประเทศต่างๆ จำนวนมาก

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสวรส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี้พัฒนาขึ้นโดยอาศัยจุดแข็งขององค์กรต่างๆ ในระบบสุขภาพไทยที่มีส่วนร่วมกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินการได้จนประสบความสำเร็จดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยแต่ละองค์กรจะมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดบทเรียน ประสบการณ์ ในแต่ละด้านให้กับบุคลากรประเทศต่างๆ ที่สนใจ โดยฐานการเรียนรู้ที่สำคัญจะอยู่ที่ สปสช. สำหรับ สวรส. จะรับหน้าที่จัดศูนย์พัฒนาศักยภาพดังกล่าวขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2554 – 30 พฤศจิกายน 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ด้านวิชาการที่มีประสิทธิภาพในสนับสนุนการพัฒนานโยบายและดำเนินงานหลักประกันสุขภาพให้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งโปรแกรมการฝึกอบรม จะแบ่งเป็น 3 ระดับ การฝึกอบรมกลุ่มนโยบาย กลุ่มวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และการฝึกอบรมตามความเหมาะสมเฉพาะกลุ่ม 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" จี้ "ดีเอสไอ" เอาผิดประเด็นหมิ่นสถาบัน

$
0
0
"เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" เตรียมบุกดีเอสไอ 30 ม.ค. พร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย เพื่อไทยจี้ฟันเว็บหมิ่น ส่วนประชาธิปัตย์จี้เอาผิด “นายกฯ-อนุดิษฐ์-เฉลิม-ผบ.ตร.” เมินปราบเว็บหมิ่นอีกที "ทักษิณ" เตรียมฟ้อง "ชวนนท์" หลังถูกอ้างให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
 
27 ม.ค. 55 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่านายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันจันทร์ ที่ 30 ม.ค. นี้ เตรียมเดินทางไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบ เว็บไซต์หมิ่นสถาบันที่ยังคงเกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งคณะทำงานกฎหมายพรรคเห็นว่า จะต้องช่วยกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะเป็นที่เคารพรักของประชาชน และหากพบว่า มีการดำเนินการ ที่ผิดกฎหมาย ก็ขอให้ดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย ดำเนินการอย่างจริงจัง ในเรื่องนี้ พร้อมกันนี้ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า กระทรวง ไอซีที ได้ทำการปราบเว็บหมิ่นสถาบันตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งผ่านมาแล้ว 3 เดือน สามารถปิดเว็บหมิ่นไปแล้วประมาณ 60,000 ยูอาร์แอล
 
ปชป.ยื่น DSI จันทร์นี้ เอาผิด “นายกฯ-อนุดิษฐ์-เฉลิม-ผบ.ตร.” เมินปราบเว็บหมิ่น
 
ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่า น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงวันนี้ว่า ขณะนี้ครบกำหนด 2 เดือน ที่ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่หมิ่นสถาบันและไม่เหมาะสมจำนวน 200 URL แต่เท่าที่ตรวจสอบกลับพบว่าไม่มีความคืบหน้า นอกจากเว็บไซต์เหล่านั้นยังไม่ถูกปิดแล้ว ยังมีเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเพิ่มขึ้นเป็น 400 URL 
 
“ดังนั้นวันจันทร์ที่ 30 มกราคมนี้ เวลา 10.00 น. จะเดินทางยื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อแจ้งความเอาผิดกับนายกรัฐมนตรี น.อ.อนุดิษฐ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะละเลยเพิกเฉยต่อการปราบปรามเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทั้งที่ทราบข้อมูลแล้ว” น.ส.มัลลิกา กล่าว
 
นอกจากนี้ น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า จะนำลิงค์เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมของเดิม 200 URL และที่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมในรอบ 6 เดือน รวม 478 ลิงค์ มอบให้นายธาริต และขอแจ้งความดำเนินคดีทั้ง 478 ลิงค์ด้วย ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และจะขอให้ DSI รับคดีเหล่านี้เป็นคดีพิเศษด้วย.
 
"ทักษิณ" เตรียมฟ้อง "ชวนนท์" หลังถูกอ้างให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์
 
มติชนออนไลน์รายงานว่านายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าพ.ต.ท.ทักษิณ จะดำเนินการฟ้องร้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังออกมาระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งผลให้พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกเกลียดชัง ทั้งที่ไม่มีข้อความตอนไหนในบทสัมภาษณ์ของหนังสือ Conversation with THAKSIN ที่กล่าวหาหรือให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์เลย
 
เช่นเดียวกับกรณีที่สำนักข่าวทีนิวส์ ได้นำคำแปลในหนังสือออกมาเผยแพร่ในลักษณะที่อาจจะทำให้เข้าใจว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เสนอให้นายบันคีมุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเข้ากราบทูลฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นคำถามของผู้สัมภาษณ์โดยเป็นการสมมติเหตุการณ์ขึ้นมา ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แสดงความคิดเห็นออกไป โดยไม่มีคำพูดไหนที่แสดงถึงการให้ร้ายสถาบัน นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ที่แสดงจุดยืนต่อการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้นขอเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขออย่านำสถาบันมาทำลายล้างกันทางการเมือง
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลล์เผย 77 % คนไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้น ปตท.

$
0
0

27 ม.ค.55 ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 1,160 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 77.0 ไม่เห็นด้วย กับแนวคิดเรื่องการขายหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ้นจากสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่ร้อยละ 23.0 ระบุว่าเห็นด้วย เมื่อถามต่อว่าแนวคิดการขายหุ้น ปตท. ดังกล่าวมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 51.7 เชื่อว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง และร้อยละ 8.8 ไม่เชื่อว่าจะมีว่าระซ่อนเร้นทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุว่าไม่แน่ใจ

ส่วนเรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงและวิตกกังวลมากที่สุดหากมีการขายหุ้น ปตท. ให้กับกองทุนวายุภักษ์จริงคือ กลัวว่าประชาชนจะต้องรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคต ร้อยละ 44.1 รองลงมาคือ จะทำให้กลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลกำไรโดยยึดผลกำไรสูงสุดของผู้ถือหุ้นเป็นที่ตั้งร้อยละ 19.6 และกลัวว่าอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ร้อยละ 11.6

ทั้งนี้เมื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบผลดีและผลเสียถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนจากการแปรรูป ปตท. พบว่าร้อยละ 66.8 เชื่อว่าจะเป็นผลเสียต่อประชาชนโดยรวม (โดยราคาพลังงานประเภท น้ำมัน ก๊าช อาจจะสูงขึ้น) มีเพียงร้อยละ 9.2 ที่เชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อประชาชน (โดยราคาพลังงานประเภท น้ำมัน ก๊าซ อาจจะถูกลง) และร้อยละ 24.0 เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบ (โดยราคาพลังงานขึ้นอยู่กับตลาดโลกอยู่แล้ว)         

ทั้งนี้เมื่อถามถึงสถานะ ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ควรเป็นแบบใด ร้อยละ 62.6 ระบุว่าควรเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐสามารถกำกับดูแลได้เหมือนในปัจจุบัน รองลงมาร้อยละ 28.0 ระบุว่าให้ยึดคืนกลับไปเป็นของรัฐแต่เพียงผู้เดียว และร้อยละ 9.4 ระบุว่า ควรเป็นของเอกชนเต็มตัว           

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่าถอนกำลังรบคะฉิ่น KIA กลับเข้ารัฐฉาน

$
0
0
ทหารพม่าที่ถูกส่งเข้าไปรบคะฉิ่นอิสระ KIA ถอนกำลังกลับเข้ารัฐฉานบางส่วน หลังรัฐบาลมีคำสั่งให้กองทัพหยุดยิงทั่วประเทศ แต่ผู้อพยพจากรัฐคะฉิ่นอยู่ในรัฐฉานนับร้อยยังไม่กล้าเดินทางกลับ
 
มีรายงานว่า เมื่อวันอังคาร (24 ม.ค.) ที่ผ่านมา ทหารพม่าที่ถูกส่งเข้าไปทำการรบกับกองกำลังอิสระภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) ในรัฐคะฉิ่น ได้ถอนกำลังกลับออกมาด้วยรถบรรทุกทหารจำนวน 30 คัน จากรัฐคะฉิ่นเข้าไปในรัฐฉานภาคเหนือ
 
นางคำเย แม่ค้าคนหนึ่งกล่าวว่า เห็นรถบรรทุกทหารพม่าหลายคัน บรรทุกทหารเต็มทุกคัน เดินทางจากรัฐคะฉิ่นเข้ามาในรัฐฉานผ่านไปทางเมืองน้ำคำ ใกล้ชายแดนจีน สังเกตุเห็นทหารพม่าบนรถต่างแสดงอาการยิ้มแย้มดีใจ ขณะที่หลายคนมีการปรบมือร้องรำทำเพลง
 
การถอนกำลังทหารพม่ามีขึ้นหลังประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีคำสั่งให้กองทัพหยุดยิงกองกำลังชาติพันธุ์ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ยกเว้นแต่เป็นการป้องกันตัว ส่งผลให้สถานการณ์การสู้รบในรัฐคะฉิ่น ระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังอิสระคะฉิ่น KIA ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2554 ผ่อนคลายลง
 
แหล่งข่าวรายงานว่า ทหารพม่าที่ถูกส่งเข้าไปประจำในรัฐฉานภาคเหนือ และในพื้นที่เมืองม่านแจ้ ม่านเวียงหลวง ในรัฐคะฉิ่น เป็นทหารจากกองพลที่ 99 และกองพล 44 สังกัดกองบัญชาการุยุทธการที่ 16 โดยเมื่อวันเสาร์ (21 ม.ค.) ทหารพม่าได้ถอนกำลังทหารออกจากรัฐคะฉิ่น เข้ามาในรัฐฉานภาคเหนือชุดหนึ่ง เดินทางด้วยรถบรรทุกทหาร 5 คัน แต่ละคันบรรทุกทหารประมาณ 30 นาย
 
ทั้งนี้ เมื่อ 10 ธ.ค. 54  ประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีคำสั่งให้กองทัพหยุดโจมตีกองกำลังคะฉิ่น KIA แต่หลังจากนั้นการโจมตียังคงดำเนินต่อเนื่อง กระทั่งต้องมีคำสั่งให้กองทัพหยุดโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศอีกครั้งเพื่อสร้างสันติภาพ และเมื่อวันที่ 18-19 ม.ค. ที่ผ่านมา ตัวแทนรัฐบาลพม่าและกองกำลังคะฉิ่น KIA ได้เจรจาสันติภาพที่เมืองร่วยลี่ (เมืองมาว) ในจีน แต่สองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงข้อสันติภาพใดๆ
 
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวเผยว่า แม้กองทัพพม่าจะมีการถอนกำลังบางส่วนออกจากรัฐคะฉิ่น แต่จนถึงขณะนี้ผู้ลี้ภัยสู้รบทั้งชาวคะฉิ่น ไทใหญ่ ที่อพยพมาจากรัฐคะฉิ่นเข้ามาอยู่ในรัฐฉานภาคเหนือราว 500 คน ยังไม่กล้าเดินทางกลับ เหตุเนื่องจากยังไม่เชื่อมั่นสถานการณ์
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
 
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

10 เม.ย.นัดพิพากษา ‘บก.ลายจุด’ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใต้ด่วนดินแดง

$
0
0

 

27 ม.ค.55 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ มีการสืบพยานจำเลยคดีที่อัยการฟ้องนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด จากกรณีที่จัดกิจกรรม “เปลือยเพื่อชีวิต” และเวทีชั่วคราวบริเวณใต้ทางด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 18 พ.ค.53 ในข้อหา มั่วสุมทางการเมืองเกิน  5 คน กีดขวางทางจราจร และ ก่อความไม่สงบแก่ประชาชน  ในพื้นที่ซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยพยานโจทก์ในวันนี้ ได้แก่  นางสาวขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว  และ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 เม.ย.55 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือ ทั้งนี้ สมบัติโดนฟ้องในคดีใกล้เคียงกันอีกหนึ่งคดีจากกรณีนัดหมายประชาชนประมาณ 80 คนไปรวมตัวกันที่บริเวณสวนหย่อมถนนเลียบทางด่วน ลาดพร้าว 71 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุม ซึ่งศาลได้สั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา และปรับ 6,000  บาท

นายสมบัติให้สัมภาษณ์ภายหลังการสืบพยานว่า  ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ส่งให้อัยการ ทั้งในคดีนี้และคดีก่อนหน้า ล้วนเขียนให้มีการเกี่ยวพันกับการเผายาง การยุยงปลุกปั่นประชาชน แต่เมื่อสืบพยานจริงเจ้าหน้าที่กลับไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานในส่วนนั้นแต่ย่างใด  เหมือนกับต้องการเขียนสำนวนให้อัยการส่งฟ้องไว้ก่อน

สมบัติยังกล่าวถึงคดีแรกที่ศาลสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่รอลงอาญาว่า ได้ทำเรื่องอุทธรณ์ไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

“ถึงไม่ติดคุก แต่มันผิดไง ถ้าเรายอมความเราก็รอลงอาญาแต่ต้นแล้ว แต่เราพยายามสู้ในหลักการให้ได้ แม้มันจะเป็นเรื่องยากมากที่ศาลจะเห็นอย่างนั้นก็ตาม เพราะที่ผ่านมาก็ลงโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ไปแล้วเป็นจำนวนมาก” สมบัติกล่าวถึงการต่อสู้เรื่องการใช้สิทธิในการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เด็กไร้รัฐได้ปล่อยตัวจากสถานกักกันตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ครั้งแรกในไทย

$
0
0

(27 ก.พ.55) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวกรณีการให้ความช่วยเหลือประกันตัวเด็กไร้รัฐ 2 คนพร้อมด้วยแม่ของเด็ก และหญิงชาวเวียดนาม 1 คน ด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล

อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เช้าวันนี้ วัน หญิงชาวเวียดนามวัย 32 ปี พร้อมด้วยลูกชายวัย 11 ปี-ลูกสาววัย 13 ปีซึ่งถูกจัดเป็นคนไร้รัฐ และโรซิน หญิงเวียดนามวัย 27 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากสถานกักกันตรวจคนเข้าเมืองกรุงเทพฯ ซอยสวนพลู หลังถูกจับกุมที่เชียงใหม่ และถูกกักอยู่ที่สถานกักกันนาน 1 ปี 6 เดือน โดยทั้งหมดได้รับการประกันตัวด้วยวงเงินคนละ 50,000 บาท ด้วยเงินจากกองทุนเพื่ออิสรภาพของผู้ลี้ภัยและคนไร้สัญชาติของมูลนิธิเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล โดยจากนี้ พวกเขาจะต้องรายงานตัวทุก 30 วัน และรอการพิจารณาของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อขอลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

ทั้งนี้ ต่อข้อวิจารณ์ว่าไม่สามารถติดต่อ UNHCR ได้ในระหว่างถูกกักตัวนั้น อมรา ระบุว่าจะพยายามประสานงานกับ ตม. เพื่อขอให้พวกเขาเข้าถึงองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึง UNHCR เพื่อขอความช่วยเหลือด้วย

ระหว่างการประกันตัวนี้ เด็กทั้งสองคนจะได้รับทุนการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์แอนดรูส์ แอนนี ฮันเซน ผู้อำนวยการฝ่ายรับสมัครและการตลาดของโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูส์ ระบุว่า ระหว่างที่พวกเขายังอยู่ในประเทศไทย ก็จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษา

วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล ระบุว่า จากนี้พวกเขาจะอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ โดยจะมีทีมงานดูแลเรื่องความปลอดภัยและทำความเข้าใจกับตำรวจในพื้นที่และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วันและโรซิน กล่าวตรงกันว่า ต้องการความช่วยเหลือจาก UNHCR ในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย เพื่อเดินทางไปยังประเทศที่สาม เนื่องจากไม่สามารถกลับไปบ้านได้อีก โดยโรซินเล่าถึงสาเหตุที่เธอต้องหนีเข้ามาที่ประเทศไทยว่า เป็นเพราะครอบครัวของเธอทำงานกับสหรัฐอเมริกา ช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้เธอเป็นที่จับตาของหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งเธอยังนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของรัฐบาล

เกศริน เตียวสกุล ผอ.กลุ่มงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียน 1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานกักกันมีความเป็นอยู่ที่แออัดมาก ผู้ถูกกักตัวมีโอกาสเจอแสงแดดเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ บางครั้งได้ออกมาเจอแดดตอนเที่ยงซึ่งร้อนมาก โดยปัจจุบันมีเด็กในสถานกักกันราว 50 คน ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่า เด็กไม่ใช่อาชญากรรม แต่กลับถูกขังโดยไม่มีกำหนด ขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พยายามจะเจรจากับ ตม. เพื่อขอให้ย้ายเด็กเหล่านี้ไปอยู่ในสถานที่ควบคุมของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แทน

วีรวิชญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจากพม่าราว 140,000 คนใน 9 ค่าย 4 จังหวัดคือ ตาก แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี และราชบุรี ขณะที่ในเมืองมีผู้ลี้ภัยเกือบ 3,000 คนจาก 30 ประเทศ อาทิ ศรีลังกา ปากีสถาน เกาหลีเหนือ คองโก โซมาเลีย แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยราว 900 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,000 กว่าคนอยู่ระหว่างการพิจารณา

วีรวิชญ์ กล่าวด้วยว่า จากการที่ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัยฉบับ ค.ศ. 1951 ทำให้การจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่มีมาตรฐานทางกฎหมาย ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว จำนวนผู้หลบหนีเข้าเมืองลดลง เพราะมีกระบวนการทางกฎหมายและกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน มีเกณฑ์การพิจารณาที่โปร่งใสและเป็นธรรม ผู้ที่ต้องการลี้ภัยก็สามารถแสดงตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการได้ทันที

วีรวิชญ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐทำด้วยหลักมนุษยธรรมโดยไม่มีกรอบของกฎหมายที่ชัดเจน แต่การปล่อยตัวคนไร้รัฐครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีความพยายามทำให้การปล่อยตัวคนไร้รัฐเป็นไปโดยมีระบบและถูกต้องทั้งในทางปฏิบัติและตามกฎหมาย โดยการปล่อยตัวครอบครัวดังกล่าวนี้เป็นโครงการนำร่อง ยังมีคนไร้รัฐที่ถูกกักตัวที่จะให้การช่วยเหลือต่อไปอีก

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“หม่อมปลื้ม” วิเคราะห์เดโมแครตให้ร้ายคนรวย คล้าย “ประชาธิปัตย์” บ้านเรา

$
0
0

“หม่อมปลื้ม” วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ของพรรคเดโมแครตทั้งสองประเทศ เน้นสร้างความเกลียดชังกับคนที่มีฐานะดี และเพิ่มช่องว่างในความเกลียดชังอิจฉาริษยาคนจนที่มีต่อคนรวย ทิ้งท้ายตั้งข้อสงสัยทำไมถึงเป็นแบบนั้น

27 ม.ค. 55 -  ในรายการ The Daily Dose ประจำวันที่ 27 ม.ค. 55 ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ดำเนินรายการได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแถลงประจำปีต่อรัฐสภาของประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เห็นว่าเป็นการปลุกกระแสต่อต้านคนรวย โดยโอบามาพูดถึงความพยายามที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น โดยที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่สะท้อนระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีความเป็นธรรม สำหรับคนยากคนจน ลดช่องว่างของคนที่มีรายได้สูงกับคนที่มีรายได้ต่ำ

ม.ล.ณัฏฐกรณ์กล่าวว่านี่เป็นสิ่งที่โอบามาพูดเพื่อให้คนนั้นคิดถึงตัวแทนของพรรครีพับบลิกัน (พรรคคู่แข่ง) ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยโอบามานั้นเริ่มที่จะค่อยๆ ใช้ประเด็นของการที่คนจนนั้นควรที่จะได้รับสิทธิพิเศษในการได้ส่วนแบ่งในภาษีของคนร่ำรวย พยายามที่จะเสนอวาระแบบนี้ในการแถลงต่อสภา กอปรกับมีสื่อโฆษณาบางชิ้นที่ออกมาเผยแพร่ในช่วงนี้ ก็มีจุดประสงค์ที่ต้องการลดความชอบธรรมของว่าที่คู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับบลิกันคือ มิต รอมนีย์ (Mitt Romney)

ซึ่งรอมนีย์นั้นก็เป็นเศรษฐี ซึ่งมีข่าวว่าเขามีเงินเก็บมากกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และฐานะที่ร่ำรวยของรอมนีย์กำลังกลายมาเป็นปัญหาสำหรับตัวเขาเอง โดยโฆษณา Rich Kids for Romney (เริ่มเผยแพร่ใน http://www.huffingtonpost.com) ที่ล้อเลียนเขานั้น ซึ่ง ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ระบุว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าฝ่ายไหนเป็นคนผลิตโฆษณาชิ้นนี้ขึ้นมา ได้

ล้อเลียนว่าคนที่เป็นลูกคนร่ำคนรวยเท่านั้นถึงจะสนับสนุนรอมนีย์ให้เป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้การจุดกระแสแบบนี้มันอาจจะมีผลในช่วงที่คนอเมริกัน 9% ไม่มีงานทำ และมีกระแสการต่อต้านวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street)

แต่ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ วิเคราะห์สรุปว่าท้ายที่สุดนี่ก็คือเกมส์การเมือง เกมส์การเมืองของพรรคเดโมแครตเหมือนเดิม และเสริมว่านี่คล้ายเกมส์การเมืองของพรรคเดโมแครตทั้ง 2 ประเทศ (เปรียบเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ในบ้านเรา) คือพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโอบามาอาจจะดีกว่าพรรคเดโมแครตของประเทศไทย (พรรคประชาธิปัตย์) ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ดีไม่มากนัก 

คือยุทธการณ์โดยรวมก็คือการสร้างความเกลียดชังกับคนที่มีฐานะดี และเพิ่มช่องว่างในความเกลียดชังอิจฉาริษยาคนจนที่มีต่อคนรวยนั้น มันเป็นยุทธการของพรรคเดโมแครตทั้งสองประเทศ โดยที่สหรัฐฯ นั้นใช้ความเข้มข้นยิ่งกว่าบ้านเราอีก

และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ ได้ทิ้งท้ายให้ผู้ชมรายการไปคิดต่อว่าทำไมยุทธศาสตร์ของพรรคการเมืองทั้งสองประเทศที่มีชื่อเหมือนกันจึงเป็นแบบนี้

 

 



 

 

อ่านเพิ่มเติม :


"หม่อมปลื้ม" เทียบขบวนการ "Occupy Wall St." ที่สหรัฐฯ คือ "พันธมิตรฯ" บ้านเรา
(ประชาไท, 22 ต.ค. 54)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อเนก” ชี้อุปสรรคกระจายอำนาจหากยังคิดในกรอบรัฐเดียว

$
0
0

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มกราคม 2555 ที่ห้องศาสตราจารย์ทวีแรงขำ (ร. 103) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดสัมมนาระดมความเห็นเรื่อง “คลื่นลูกที่สองของการกระจายอำนาจ : บริบทใหม่ ความจำเพาะของพื้นที่ และการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” มีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ทั่งประเทศเข้าประมาณ 100 คน 

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การกระจายอำนาจ คือ การคืนอำนาจให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น” ว่า การกระจายอำนาจในรูปของการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หากยังคิดในกรอบความเป็นรัฐเดียวแบบรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจอธิปัตย์จะทำได้ยาก เพราะอำนาจยังอยู่ที่รัฐบาล ส่วนกระทรวงทบวงกรมมุ่งสร้างความเป็นเลิศเฉพาะทาง แต่มีความรู้เรื่องพื้นที่น้อยมาก ต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความรู้เรื่องพื้นที่อย่างดี

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวอีกว่า แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่กรอบความคิดเอกกะนิยม คือการทุกอย่างต้องเหมือนกันทั้งหมด ได้ทำลายความสวยงามที่หลากหลายไป จริงๆ แล้วควรเป็นพหุรัฐ ถ้าเป็นเป็นพหุนิยมมากขึ้น ก็จะเห็นความงามที่แตกต่างได้ ไม่ใช่มีเพียงมาตรฐานเดียว  

ศาสตราจารย์(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ทุกมาตรา แต่ที่ผ่านมาทั้งทหาร นักวิชาการ นักปฏิรูป อำมาตย์ ไพร่ ก็ยังคิดไม่พ้นกรอบเดิม คือ รัฐรวมศูนย์อำนาจ ผูกขาดอธิปไตย และยิ่งรวมศูนย์อำนาจ นายกรัฐมนตรีก็จะถูกเรียกร้องให้ทำเรื่องเล็กลง

ศาสตราจาย์ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการสัมมนาเรื่อง“บริบทใหม่ ความเคลื่อนไหวใหม่ กับคลื่นลูกที่สองของการกระจายอำนาจ” ว่า ต้องให้องค์กรปกครองท้องถิ่นใหญ่ขึ้น มากกว่าองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล โดยให้มีอำนาจทางการคลังมากขึ้น เช่น เก็บภาษี โดยอาจรวมเป็นกลุ่มจังหวัด

ศาสตราจาย์ดร.จรัส ยังได้นำเสนอบทความทางวิชาการเรื่อง ท้องถิ่นพิเศษกับแนวคิดจังหวัดปกครองตนเอง โดยระบุว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความอ่อนแอลง เพราะไม่มีแรงจูงใจที่พึ่งตนเองทางการคลัง เรียกว่าเป็น โรคเฮมิลตัน พาราด็อก เพราะมัวแต่พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐ 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: จับตาผู้ว่าอุดรฯ ชงโปแตชรับ ครม.สัญจร

$
0
0

หวังแซะงบสิบล้าน ครม.ยิ่งลักษณ์ อ้างเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่ เอ็นจีโอซัด เพิ่มความขัดแย้งหนักในพื้นที่ บี้ องค์กรส่วนท้องถิ่นสร้างประชาสังคมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เลิกโกหกชาวบ้าน  

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)  เปิดเผยว่า การประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดอุดรธานีในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผลักดันของโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี โดยทางจังหวัดอุดรธานีเตรียมชงโครงการเหมืองแร่โปแตชเข้าที่ประชุม ครม.สัญจร เพื่อหวังงบประมาณประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองแร่โปแตช มาดำเนินการในพื้นที่ ในขณะที่เวลานี้ก็มีความขัดแย้งในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องของชาวบ้านในพื้นที่ กับส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวของโครงการเหมืองแร่โปแตชมาตลอด

นายสุวิทย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กำลังเตรียมทำแผนการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ กพร. เพื่อเสนอให้ผู้ว่าจังหวัดในการชงเรื่องพิจารณาของบประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี จาก ครม.สัญจรที่จะถึงนี้ ซึ่งคงไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท โดยในวันพรุ่งนี้(28 ม.ค.) จะมีการประชุมแผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานีกับทุกหน่วยงานที่จังหวัด ที่มีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  เป็นประธานที่ประชุม  โดยมีการหยิบยกประเด็นโปแตชเข้าหารือในที่ประชุมด้วย ตนคิดว่าเรื่องนี้ หากจังหวัดคิดจะทำ ควรจะทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลต้องทำมา 7-8 ปี แล้ว ตามกฎหมายแร่ ปี 2545  มาตรา  88/9  ว่าด้วยการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย   ไม่ใช่มาเสนอทำแผนประชาสัมพันธ์โครงการเอาตอนนี้ มันไม่มีความจำเป็น แต่ที่เสนอขึ้นมาเร่งด่วนอย่างนี้ต้องการ เพียงแค่หวังงบประมาณจากการประชุม ครม.สัญจรครั้งนี้เท่านั้น

“ หน้าที่ในระดับจังหวัดที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ ในส่วนขององค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ทำประชาสังคม ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา การทำประชาสังคมไม่เคยเป็นการให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีแต่การประชาสังคมให้ข้อมูลโกหกชาวบ้าน เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวอยู่ตลอด จนเกิดความขัดแย้งในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์หรือ เอชอีเอ ที่ต้องนำมาพูดถึงอย่างจริงจังไม่ใช่ กพร.ไปว่าจ้างมหาวิทยาลัยทำ โดยให้ความสำคัญเฉพาะแต่เรื่องวิศวกรรมโดยละเลยประเด็นสำคัญคือ ด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม”  ” นายสุวิทย์ กล่าว   

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้  นายวิเชียร ขาวขำ  แกนนำเสื้อแดงจังหวัดอุดรธานี ได้พูดคุยกับคนใกล้ชิดว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ในเรื่องผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มไม่เสีย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลประโยชน์จากค่าภาคหลวงแร่เพียงแค่ 7 เปอร์เซนต์เท่านั้น  แทนที่จะได้ 50 เปอร์เซนต์ รวมทั้งเขาระบุว่า บริษัทต้องวางเงินประกันค่าความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นให้กับชาวบ้านเท่าตัวเพราะพวกชาวบ้านจังหวัดอุดรธานีเป็นผู้เสียสละ และที่สำคัญพวกเขาต้องได้รับความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการเหมืองแร่ขนาดใหญ่อย่างแน่นอนในเรื่องชีวิต และสิ่งแวดล้อม 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์" นำเผาหุ่น "วรเจตน์" หน้า มธ.

$
0
0

ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ - บรรณวิทย์ เก่งเรียน พร้อมกลุ่มผู้สนับสนุนได้นำหุ่นฟางคล้ายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไปเผาหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร๋ พร้อมยื่นรายชื่อ 53,948 รายชื่อ ขออำนาจตุลาการเข้ารับผิดชอบในการหยุดยั้งการทำลายชาติ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรไทย

(ที่มาของภาพ: เฟซบุคกลุ่มคนไทยรวมพลังปกป้อง กม.อาญา มาตรา 112)

เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.) นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน กลุ่มแนวร่วมคนไทยหัวใจรักชาติ ได้นำหุ่นคล้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเผาบริเวณหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้น ได้นำรายชื่อประชาชน 53,948 รายชื่อ ขออำนาจตุลาการเข้ารับผิดชอบในการหยุดยั้งการทำลายชาติ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมี นางพรพิมล จิระศิริโรจน์ ผอ.ศาลฎีกา เป็นตัวแทนมารับรายชื่อบริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ไทยพลัดถิ่น’ บุก ‘รัฐสภา’ ซ้ำ จี้หยุดพลิก ‘ร่างพ.ร.บ.สัญชาติ’

$
0
0

 

ภควิน แสงคง (ใส่หมวก)

นายภควิน แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดระนองและจังหวัดประจวบ คีรีขันธ์ แกนนำเครือข่ายไทยพลัดถิ่น เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 มกราคม 2555 เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นพร้อมเครือข่ายภาคี จะชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เพื่อติดตามการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พุทธศักราช …… ในวันที่ 30 มกราคม 2555 นี้

นายภควิน เปิดเผยอีกว่า เหตุที่เครือข่ายไทยพลัดถิ่นออกมาชุมนุมอีกครั้ง สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ได้ประชุมและมีมติตัดมาตรา มาตรา 7/1 ออก และมีการเพิ่มข้อความ “คณะรัฐมนตรีกำหนดก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติจะมีผลบังคับใช้” ต่อท้ายในมาตรา 3 โดยยืนตามมติเดิมในระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….วุฒิสภา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555

นายภควิน เปิดเผยด้วยว่า จากการที่ตนและเครือข่ายไทยพลัดถิ่นไปศึกษาพบว่า แม้มีการตัดมาตรา 7/1 ออก แต่การเพิ่มข้อความ “การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ก่อนวันที่พระราชบัญญัติสัญชาติจะมีผลบังคับใช้” ต่อท้ายในมาตรา 3 ค่าออกมาก็เท่ากับไม่ตัดมาตรา 7/1 ทิ้งแต่อย่างใดเลย จะทำให้คนไทยพลัดถิ่นถึง 80% ไม่มีสิทธิได้สัญชาติไทยตลอดไป

นายภควิน เปิดเผยอีกด้วยว่า ตนและเครือข่ายไทยพลัดถิ่นต้องการให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่...) พุทธศักราช ……วุฒิสภา นำมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….ที่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอ ที่มีข้อความต่อท้ายว่า “การสำรวจจัดทำทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรภายใต้หลักเกณฑ์และ เงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หรือเป็นผู้ซึ่งมีลักษณะอื่นทำนองเดียวกันตามที่กำหนดในกฏกระทรวง” 

นายภควิน เปิดเผยอีกว่า ตนและเครือข่ายไทยพลัดถิ่นจะเข้าเจรจากับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ถ้าหากว่าคณะกรรมาธิการฯ ไม่รับฟังสิ่งที่ตนและเครือข่ายไทยพลัดถิ่นพยายามเรียกร้อง ก็จะมีการชุมนุมยืดเยื้อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. ….อีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วัยรุ่นแคนาดาช่างประดิษฐ์ ส่ง 'เลโก้' ขึ้นไปในอวกาศ

$
0
0
วัยรุ่นแคนาดาสองคนใช้เวลา 4 เดือน นัดกันทุกวันเสาร์ สร้างบอลลูนก๊าซฮีเลียมพร้อมติดกล้อง ติดหุ่นตัวละครเลโก้ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

 
26 ม.ค. 2012 - เดอะ การ์เดียน รายงานว่า วัยรุ่นชาวแคนาดาสองคนได้สร้างอุปกรณ์ส่งหุ่นเลโก้ขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศนอกสุดของโลก โดยอาศัยวัตถุดิบที่ได้มาจากเว็บ Craiglist
 
สองสัปดาห์ที่แล้ว แมธธิว โฮ และ อะซาด มูฮัมหมัด วัยรุ่นอายุ 17 ปีทั้งสองคนได้นำชิ้นส่วนหุ่นพลาสติกจากเลโก้พร้อมเสียบธงรูปใบเมเปิ้ลของประเทศแคนาดาไว้ จากนั้นจึงนำมาติดกับบอลลูนก๊าซฮีเลียมแล้วส่งมันขึ้นไป 80,000 ฟุต เหนือชั้นบรรยากาศ
 
พวกเขาได้ติดกล้องเพื่อบันทึกการเดินทางสู่อวกาศของชิ้นส่วนเลโก้ในครั้งนี้ด้วย โดยวิดีโอฉบับเต็มได้บันทึกไว้เป็นเวลารวม 97 นาทีรวมขาลง อาศัยกล้อง 4 ตัว ราคารวมทั้งหมด 254 ปอนด์ (ราว 12,000 บาท)
 
โฮ และมูฮัมหมัด ใช้เวลา 4 เดือนในช่วงทุกๆ วันเสาร์เพื่อสร้างโปรเจ็คนี้ จนกระทั่งสามารถสร้างบอลลูนพยากรอากาศ (Weather Balloon) แล้วส่งจากสนามฟุตบอลให้ลอยขึ้นไปถึงความสูงสองเท่าของความสูงในระดับบินของเครื่องบินเจ็ท สูงขึ้นไป 24 กม. ของชั้นบรรยากาศบนสุด จนกระทั่งเห็นรูปร่างของโลกได้
 
พวกเขาได้ติดระบบ GPS ไว้กับกล่องสไตโรโฟมที่ติดกล้องและตัวชิ้นส่วนเลโก้ด้วย ทำให้พวกเขาตามเจอชิ้นส่วนงานประดิษฐ์ของพวกเขาห่างออกไป 122 กม. จากจุดปล่อย
 
สำนักข่าวโตรอนโตสตาร์ที่เผยแพร่ข่าวนี้ระบุว่าเด็กทั้งสองคนเจอกันในโรงเรียนหลังจากที่ครอบครัวของมูฮัมหมัดอพยพมาจากปากีสถาน มูฮัมหมัดซึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยก็มีโฮมาขอเป็นเพื่อนแล้วพวกเขาก็เริ่มทำโปรเจ็คกันที่บ้านของโหตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว (2011)
 
"เวลาคนมาที่บ้านเราจะเห็นเรากำลังสร้างอุปกรณืมหัศจรรย์ที่ติดร่มชูชีพนี้อยู่ตั้งแต่ตอนไม่มีอะไรเลย พวกเขาจะทำท่าเหมือนว่า 'พวกเธอกำลังทำอะไรอยู่' " โฮกล่าว "พวกเราก็ตอบประมาณว่า 'เรากำลังจะส่งกล้องขึ้นไปในอวกาศ' พวกเขาก็จะตอบ 'โอ้ โอเค...' "
 
ดร.ไมเคิล รีด ศาตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโตกล่าวชื่นชมวัยรุ่นทั้ง 2 คนว่า "พวกเขาแสดงออกถึงไหวพริบที่ดีมากสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 17 ทั้งสองคนที่สามารถสร้างอะไรจนประสบความสำเร็จเองได้"
 
ทางบริษัทเลโก้ก็ยังได้ส่งข้อความแสดงความยินดีกับเด็กทั้งสองคนด้วย
 
"พวกเรารู้สึกประหลาดใจเสมอเวลาที่รู้ว่าแฟนๆ ผู้เล่นเลโก้ใช้สินค้าของพวกเราไปในทางสร้างสรรค์ แล้วก็ไปโผล่ในที่ต่างๆ ที่คิดไม่ถึง อย่างเช่นติดอยู่กับบอลลูนก๊าซฮีเลียมส่งขึ้นไปใน...อวกาศ" ไมเคิล แมคนาลี ผู้อำนวยการแผนกประชาสัมพันธ์แบรนด์ของเลโก้กล่าว
 
 
ที่มา:
 
Canadian teenagers send Lego man into space, The Guardian, 26-12-2012,
http://www.guardian.co.uk/world/2012/jan/26/canadian-teenagers-lego-man-space
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีเสกสรรค์ กับ ครก. 112 และการแก้ปัญหาแบบ top down

$
0
0

หลังจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา นามอุโฆษ ออกมาเขียนจดหมายชี้แจงว่า ชื่อเขาไปปรากฏใน 112 ชื่อแรกของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ได้อย่างไร ซึ่งเสกสรรค์บอกว่า “ถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” แต่ยืนยันว่า เขา “ไม่ใช่แกนนำในการรณรงค์แก้ไข มาตรา 112” หลังจากนั้นผู้คนจำนวนหนึ่งก็เกิดอาการผิดหวัง เศร้าใจ หรือแม้กระทั่งโกรธเสกสรรค์ ทั้งในอินเทอร์เน็ต และนอกอินเทอร์เน็ต และมีการกล่าวหาและวิจารณ์ว่า เสกสรรค์ขี้ขลาด ไร้จุดยืน ชราแล้ว เปลี่ยนไป ฯลฯ

ผู้เขียนเชื่อว่า อาจารย์เสกสรรค์คงต้องรับผิดชอบต่อการที่ชื่อตัวเองไปปรากฏในรายนาม ครก. 112 คน ส่วนจุดยืนของเสกสรรค์เป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่หัวข้อของบทความนี้ หากบทความนี้มุ่งตั้งคำถามว่า การที่เสกสรรค์ออกมาพูดเช่นนี้มันสะท้อนอะไรเกี่ยวกับกระบวนการคัดสรรจัดตั้ง ครก. 112 รวมถึงคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการคัดสรรโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากสาธารณะมากน้อยเพียงใดและทำไม ผู้เขียนจึงขอตั้งข้อสังเกตคร่าวๆ ดังนี้

1. กระบวนการคัดสรรรายนาม 112 คนแรกของ ครก. เป็นไปในลักษณะที่ขาดการมีส่วนร่วมอันเป็นประชาธิปไตยของสาธารณะในวงกว้าง ขาดความโปร่งใส

คำถามก็คือ มีใครรู้บ้างว่า เขาคัดสรรคน 112 คนแรกนี้กันอย่างไร และทำไมถึงเกิดเหตุอย่างกรณีของเสกสรรค์ได้ หากการคัดสรรคน 112 คนเน้นคนดัง คนมีชื่อเสียง มากกว่าคนที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนต่อเรื่องมาตรา 112 แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า มันคงเป็นกระบวนการที่มิอาจช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง และมิต่างจากการเน้นการพึ่งพาชนชั้นนำแบบเก่า หรือเซเลบริตี้/เซเล็บ หรือผู้มีบุญบารมี จะต่างกันก็เพียง กลุ่มนี้คนส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง (แต่ก็อย่างว่า อีกฝ่ายที่เอา ม.112 ก็อ้างว่า ผู้นำฝ่ายตนเองที่พวกเขาเทิดทูน นับถือ ก็เป็นคนดี และหวังดีต่อสังคมเหมือนกันมิใช่หรือ)

การที่เสกสรรค์บอกว่า มีผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือ ‘ขอร้อง’ นั่นก็แสดงถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบพี่ ระบบน้อง ในการคัดสรรคน 112 คนแรกเช่นกัน ตรงนี้ถ้ามองในแง่กระบวนการก็มิต่างจากพรรคการเมืองหลายพรรค ที่จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี

2. ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และ ครก.112 สำเร็จรูปเกินไป?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากคุณเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่มองเห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ไม่มีเส้นสายหรือคอนเนกชั่น (connection) ในการเข้าไปร่วมประชุมปิด ณ วันนี้ สิ่งที่คุณทำได้ก็คือ ตัดสินใจซะว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็นเท่านั้นเอง เพราะข้อเสนอในการแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์และ ครก. นั้น มันออกมาตายตัวอย่างสำเร็จรูปแล้ว โดยที่คนธรรมดาทั่วไปมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น หรือเสนออะไรเลย (โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนขอประกาศไว้เลยว่า ถึงแม้จะตระหนักถึงเจตนาดีของทั้งสองกลุ่ม แต่ก็จะไม่ร่วมลงชื่อ เพราะว่า ผู้เขียนรับไม่ได้กับการร่วมลงชื่อที่ลดโทษกฎหมาย มาตรา 112 แต่ยังคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของโทษทางอาญา และไม่รวมถึงข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสและกระบวนการในการจัดตั้ง ครก.และตั้งข้อเสนอ)

3. ทั้งข้อ 1. และข้อ 2. ทำให้เราเห็นว่า การพยายามแก้ปัญหา อย่างไม่มีส่วนร่วมโดยสาธารณะอย่างแท้จริง ย่อมนำไปสู่การพึ่งพา (dependency) อีกแบบหนึ่ง ถึงแม้นิติราษฎร์และ ครก. จะมีเจตนาดีแต่ถ้าเราเชื่อมั่นในพลังและสติปัญญาของประชาชน กระบวนการต่างๆ ก็ควรจะเปิดกว้างให้มากที่สุด มิใช่ทำกันเงียบๆ แล้วผลิตข้อเสนอสำเร็จรูปออกมาให้สู่สาธารณะให้ประชาชนเลือกว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น (ดูตัวอย่างตรงกันข้าม กรณีเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดแคมเปญ My Computer Law ที่เริ่มจากการระดมความเห็นจากสาธารณะทั่วประเทศ แล้วจึงนำความเห็นเหล่านั้นมาทำเป็นร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน แล้วจึงจะมีการระดมลายเซ็นเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสภา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในชั้นระดมความเห็น)

ตราบใดที่ยังมีการแก้ปัญหาแนวดิ่งแบบบนลงล่าง (top down) แบบสูตรสำเร็จให้ประชาชนเลือกเลย ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ยาก ทางเลือกของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยควรจะมีมากกว่าการตัดสินใจว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น

ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคอยสนับสนุนผู้นำแบบที่เขาเห็นด้วย หากควรมีบทบาทมากกว่าการเป็นกองเชียร์หรือคนลงนามในการรณรงค์แบบแนวดิ่งอย่างสูตรสำเร็จ เราต้องไม่สับสนระหว่างสังคมที่ดีที่อยากเห็น ซึ่งอาจมีการผลักดันสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับกระบวนการที่โปร่งใส มีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเอาเข้าจริง อย่างหลังสำคัญกว่าต่อสังคมไทยในระยะยาว

ประชาชนมิควรต่อสู้เพียงเพื่อเปลี่ยนการพึ่งพาจากชนชั้นกลุ่มหนึ่งไปสู่ชนชั้นนำอีกกลุ่มอีกแบบที่พวกตนเชื่อว่าดีกว่า หากควรต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสำคัญระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ระวังมัสยิดเป็นพื้นที่สังหาร เขื่อนไขต่อต้านรัฐในชายแดนใต้

$
0
0

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เปิดผลวิจัย มัสยิด “แดง” ทอนความรู้สึกรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชี้เหตุรุนแรงที่กรือเซะ-อัลฟุรกอน ขยายความขัดแย้ง เตือนรัฐบาลป้องกันจริงจัง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

เมื่อเวลา 8.30 วันที่ 27 มกราคม 2555 สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์ และมูลนิธิเอเชีย จัดเสวนาหัวข้อสภาวะความเป็นสมัยใหม่ อันแตกกระจาย การค้นหาประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม ปาตานี Fragmented Modernites : The Quest of a Social and Cultural History of Patani

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำและนำเสนอบทความหัวข้อ มัสยิด “แดง”: ทอนความรุนแรงต่อพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมมนุษย์ว่า สังคมมลายูมุสลิมยึดมั่นว่า มัสยิดคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมัสยิด คือ การวิสามัญฆาตกรรมขบวนการต่อต้านรัฐในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และการลอบสังหารผู้กำลังละหมาดในมัสยิดอัลฟุรกอน จังหวัดนราธิวาส ในเดือนมิถุนายน 2552 เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจรัฐ เนื่องจากมองเห็นว่า ศาสนสถานของพวกเขาไม่ได้รับการเคารพจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ส่งผลให้การต่อต้านรัฐขยายวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้ฝ่ายขบวนการที่อาจดูเหมือนแพ้ในการรบ แต่กลับชนะในแง่ของการสามารถทำให้ชาวมลายูรู้สึกว่า พวกเขาตายอย่างไม่เป็นธรรมจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเหตุให้มีข้ออ้างในการต่อต้านรัฐของฝ่ายขบวนการจนถึงปัจจุบัน

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ไม่เพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่เจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวงการรวมกลุ่มของชาวมุสลิมในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ยังเกิดในหลายพื้นที่ในโลก เช่น ช่วงปี ค.ศ. 2002 ที่มีกระแสการก่อการร้ายทั่วโลก ตำรวจเยอรมันได้เข้าตรวจค้นมัสยิดกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งซ่องสุ่มของผู้ก่อเหตุไม่สงบในประเทศ แต่ช่วงหลังๆ เจ้าหน้าที่ยอมรับว่ามองผิดพลาดไป ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับมุสลิมเกิดขึ้นทั่วโลก

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อสัญลักษณ์ทางศาสนากลายเป็นพื้นที่สังหารหรือถูกทำร้ายโจมตีจากเจ้าหน้าที่รัฐ จนทำให้เกิดความขุ่นเคืองต่อผู้ศรัทธาต่อสถานที่นั้น ประเด็นความขัดแย้งดังกล่าวกลายเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ซึ่งจะส่งผลให้ความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานขึ้น

“ผมคิดว่าความรุนแรงต่อศาสนสถานและศาสนบุคคลเป็นความรุนแรงที่กำลังแพร่ขยายไปอย่างกว้าง และยิ่งทำให้ความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ยืดเยื้อเข้มข้นมากขึ้นและอันตรายยิ่งขึ้น ผมจึงเสนอให้รัฐบาลตระหนักและแสดงถึงความจริงจังในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก”ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

ในวันเดียวกัน ยังมีผู้นำเสนอบทความทางวิชาการอีก 9 ชิ้น ได้แก่ นายพุทธพล มงคลวรวรรณ เรื่องปาตานีผ่านแว่นของจักรวรรดิและดวงตาสมัยใหม่: การสำรวจทางมานุษย วิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในรัฐมลายูของสยาม ค.ศ.1899–1900 (A Modern Gaze, the Imperial Science: the Cambridge Anthropological Survey of Patani, 1899-1900) 

นายนิยม กาเซ็ง เรื่องเส้นทางสู่ความทันสมัย: ประวัติศาสตร์สังคมของถนนทางหลวงสายใหม่สู่ ปาตานี (A Route to Modernity: A Social History of Modern Roads to Patani) นายมูฮัมหมัด อิลยาส หญ้าปรัง เรื่องการตีความความเป็นสมัยใหม่: ต่วนกูรู อิสมาแอล สะปันยัง (2498 - ) อูลามาอ์สายจารีตในสังคมปาตานีสมัยใหม่ (Interpreting Modernity: Tuan Guru Ismael Sapanyang, a Traditional Ulama in a Modern Patani Society)

นางสาวทวีลักษณ์ พลราชม และนายวารชา การวินพฤฒ เรื่อง ณ ระหว่างพื้นที่: ประสบการณ์ || อัตลักษณ์ || มุสลิมมะฮฺปัตตานีบนเส้นทางการศึกษาสมัยใหม่ (In-Between Space: Experiences || Identities || the Pattani Women on a Modern Route of Education)

นางสาวอสมา มังกรชัย เรื่อง ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความเป็นสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง (The Melayu Police: A Colonial Hybridity of Modernity, a Wounded History, and the Violence) นายบัณฑิต ไกรวิจิตร เรื่อง พิธีกรรมและศิลปะการละเล่นพื้นบ้านมลายูปาตานี: วัฒนธรรมลูกผสมกับสภาวะความ เป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย

นายสะรอนี ดือเระ เรื่อง เสียงเพรียกใหม่: นิตยสารอาซานและกลุ่มปัญญาชนใหม่ในปาตานีกลางทศวรรษ 2510 (A New Voice: the Azan Magazine and New Intellectuals in Patani, 1970s) นางสาวปิยะนันท์ นิภานันท์ เรื่อง ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของโรงภาพยนตร์ในสังคม ปาตานี (Illuminating Modernities: a Cultural History of Cinema in the Patani Society)

นายบัญชา ราชมณี เรื่อง โมเดิร์นดิเกมิวสิค: อุตสาหกรรมดนตรีและพัฒนาการของสื่อบันเทิงในปาตานี (Modern Dikir Music: Music Industry and Development of Entertaining Media in Patani)

ส่วนในวันที่ 28 มกราคม 2555 จะมีการนำเสนอบทความทางวิชาการอีก 6 ชิ้น

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศึกษาโซลิดาริตี้ในโปแลนด์: บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดง

$
0
0

สำหรับผู้รักเสรีภาพ และยุติธรรมแล้ว การลุกขึ้นสู้ของขบวนการโซลิดาริตี้ ที่มีแกนนำหลักคือสหภาพแรงงานอู่ต่อเรือในเมืองกดั๊งสก์ของโปแลนด์ คือแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ระบอบโซเวียตตามแนวทางลัทธิเลนินนั้น ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับสังคมมนุษย์

ผลพวงการลุกขึ้นสู้ของขบวนการถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยบั่นทอนอย่างรุนแรงให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย สิ้นสุดยุคของสงครามเย็นในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1991(พ.ศ. 2534) นั้น ปัจจุบันได้คลี่คลายไปจากขบวนการทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่สั่นสะเทือนโลก กลายเป็นพลังทางสังคมที่แตกซ่านไปจนเหลือสภาพเดิมค่อนข้างน้อย ในขณะที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคมของโปแลนด์กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกที่เชื่อมติดกับสหภาพยุโรปอย่างลึกซึ้ง

การทบทวนสถานการณ์ของขบวนการโซลิดาริตี้ทั้งระหว่างการต่อสู้และหลังจากการล่มสลายของโซเวียต จึงเป็นบทเรียนที่ผู้รักเสรีภาพ ยุติรรม และประชาธิปไตยไทย ไม่ว่าจะสวมเสื้อสีอะไร จำต้องศึกษาทบทวนอย่างจริงจัง มิใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปกับสายลม

โซลิดาริตี้ เกิดขึ้นจากการรวมตัวสร้างเอกภาพของการต่อสู้อำนาจเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อคอมมิวนิสต์ล่มสลายเอกภาพดังกล่าว ก็แปลงสภาพเป็นเอกภาพของความหลากหลายภายใต้สังคมประชาธิปไตยที่โซลิดาริตี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของพลัง มิใช่ในฐานะพลังหลักอีกต่อไป

 

เอกภาพของการต่อต้านคอมมิวนิสต์

การถือกำเนิดของขบวนการโซลิดาริตี้(เอกภาพ)ในเมืองกดั๊งสก์ เกิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อถอยอย่างรุนแรงของระบอบอำนาจของสหภาพโซเวียตที่ประสบปัญหาถดถอยทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงต่อเนื่อง จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกที่อยู่ใต้เขตอิทธิพลของโซเวียตตามสนธิสัญญวอร์ซอร์มานับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเข้มข้น

อำนาจรัฐโปแลนด์ ภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอิทธิพลโซเวียต ก็ถูกท้าทายเป็นกระแสเช่นเดียวกัน คำถามใหญ่ก็คือ อำนาจรัฐที่อ้างว่าเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้น แท้ที่จริงแล้ว มีผลประโยชน์ที่ไปกันไม่ได้เลยกับชนชั้นกรรมกรของสังคม

ความคุกรุ่นของสถานการณ์ ปะทุขึ้นมาเมื่อสหภาพแรงงานท่าเรือของเมืองกดั๊งส์ก์ เมืองท่าใหญ่ที่สุดในทะเลบอลติก ได้ลุกฮือขึ้นมา ทำการนัดหยุดงานหลายครั้ง แม้จะเผชิญหน้ากับการปราบปรามครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรรมการท่าเรือลุกฮือขึ้นมา ก็ด้วยเหตุผล 3 ประการหลัก นั่นคือ

 รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ผลักดันนโยบายทำให้ประเทศเป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว โดยใช้เมืองกดั๊งสก์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา อุตสาหกรรมหลักของเมืองนี้ได้แก่การต่อเรือ ซึ่งในยุโรปแล้วเป็นรองเฉพาะยูโกสลาเวียในทะเลเอเดรียติกเท่านั้น ทำให้เมืองนี้เป็นแหล่งชุมนุมของกรรมกรจากทั่วทั้งประเทศโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

 ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินค้าพุ่งพรวดอย่างรุนแรงเกินกว่ารายได้ของผู้ใช้แรงงานจะตามได้ทัน สร้างแรงกดดันคุกรุ่นมายาวนานมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ซึ่งมีการนัดหยุดงานหลายครั้ง แต่ละครั้งถูกทั้งปราบรุนแรงจากอำนาจรัฐ และปลอบด้วยถ้อยคำโฆษณาชวนเชื่อลมๆแล้งๆที่หาคนเชื่อได้น้อยเต็มที

 ความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนส่วนใหญ่ของประเทศ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่กลายสภาพเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคม จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพวก”กระฎุมพีแดง”มายาวนาน จนกระทั่งความพยายามสร้างทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งขึ้นมากลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่สามารถปิดบังได้อีกต่อไป

การลุกฮือนัดหยุดงานของกรรมกรอู่ต่อเรือเลนินที่เมืองกดั๊งสก์ เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1980คือจุดชนวนสำคัญที่ทำให้กรรมกรท่าเรือและโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆในเมืองเดียวกันและใกล้เคียงนัดหยุดงานต่อเนื่องลุกลาม สร้างความตระหนกตกใจให้รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ขณะนั้นอย่างรุนแรง

เพื่อรับมือกับการปราบปรามจากอำนาจรัฐ แกนนำกรรมกรทั้งหลายได้หารือกันและมีมติร่วมกันจัดตั้งขบวนการโซลิดาริตี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยข้อเรียกร้อง 21 ข้ออันลือลั่น(ซึ่งนักศึกษามาร์กซิสท์บางคนเรียกขานว่าเป็นข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้ากว่าคอมมูนปารีส ค.ศ.1871 หลายเท่า) ทำให้ขบวนการกรรมกรกลายสภาพเป็นขบวนการของมวลชนอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง

ปรากฏการณ์โซลิดาริตี้ดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนก ไม่เฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์เท่านั้น แต่เป็นทั่วทั้งเขตอิทธิพลสหภาพโซเวียตและสนธิสัญญาวอร์ซอร์ด้วย เนื่องจากนี่คือ การเคลื่อนไหวที่ชนชั้นกรรมาชีพลุกขึ้นมาทวงอำนาจรัฐที่ถูกปล้นชิงไปจากเทคโนแครตแดงภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดตั้งขึ้นตามหลักลัทธิเลนินมายาวนาน

ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกอ้างเสมอมาว่าเป็น “ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก”ของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก จะลุกขึ้นมาต่อต้านพรรคอย่างเปิดเผยเช่นนี้มาก่อน ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้เลยสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ที่พร้อมจะตั้งข้อหา”พวกปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติ”มาปราบปรามศัตรูทางอำนาจของตน แม้จะขาดความสมเหตุสมผลพอสมควร

ยิ่งเมืองกดั๊งสก์ (หรือชื่อเดิมของเมืองคือ ดานซิก หรือฉนวนโปแลนด์) ก็มีชื่อเสียงเป็นเมืองประวัติศาสตร์ยาวนานในระดับโลก รวมทั้งเป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยิ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหารของยุโรปอย่างมาก

พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการปราบปราม โดยงัดเอากฏอัยการศึกมาใช้ในต้นปี ค.ศ. 1981 พร้อมกับจับกุมแกนนำของโซลิดาริตี้ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับเข้าคุกจำนวนมาก แต่มันสายเกินไปที่จะหยุดยั้งได้ องค์กรจัดตั้งแบบปิดลับของโซลิดาริตี้ที่เตรียมพร้อมอยู่แล้ว หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่างทันท่วงที โดยอาศัยพันธมิตรร่วมสู้ที่สำคัญนั่นคือ ศาสนจักรคาธอลิกที่มีวาติกันอยู่เบื้องหลัง

สำหรับสหรัฐฯ นอกเหนือจากการดำเนินการทางเปิดด้วยการชูประเด็นเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในโปแลนด์และยุโรปตะวันออกมากดดันให้การบอยคอตต์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอร์ รวมทั้งห้ามการส่งออกเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆทั้งจากสหรัฐฯ สมาชิกนาโต้ และญีปุ่นเพื่อปิดล้อมทางเศรษฐกิจอย่างหนักแล้ว ยังได้เดินเกมทางลับจับมือกับวาติกันเพื่อถ่ายโอนความช่วยเหลือทางการเงินและวัตถุปัจจัยการต่อต้านรัฐคอมมิวนิสต์ให้กับโซลิดาริตี้ผ่านทางจัดตั้งของโบสถ์คาธอลิกทั่วโปแลนด์ (โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า สันตปาปา จอห์น พอลที่ 2 ในขณะนั้นเป็นคาร์ดินัลจากโปแลนด์ ซึ่งมีบารมีสูงมากในระดับโลก) ทำให้องค์กรใต้ดินของโซลิดาริตี้สามารถปฏิบัติการได้อย่างต่อเนื่องและท้าทายอำนาจรัฐโซเวียตอย่างหนัก

วิทยุใต้ดินโซลิดาริตี้ ที่ส่งกระจายเสียงภายใต้การนำของแกนนำที่หลบลงปฏิบัติการใต้ดินอย่าง สบิกนิว โรมาสซิวสกี้ ทำการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ และโซเวียตอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นคลื่นที่มีผู้ฟังล้นหลาม ซึ่งพร้อมช่วยกันแพร่กระจายข่าวสารต่อต้านรัฐอย่างมีพลานุภาพ ในขณะที่เอกสารและวรรณกรรมใต้ดิน ได้รับการส่งผ่านเข้าไปอย่างลับๆไม่ขาดระยะ

เมื่อความพยายามใช้อำนาจปราบปรามไม่สามารถหยุดยั้งการเติบโตของโซลิดาริตี้ได้ ประกอบกับอำนาจรัฐโซเวียตในทุกแห่งของประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์เริ่มเสื่อมสภาพลงไปเพราะปัญหาความล้มเหลวทางการผลิต โดยเฉพาะโซเวียตรัสเซียที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำหลายรุ่นเพื่อแก้สถานการณ์ขาลงอย่างลนลาน จนต้องหันมาใช้นโยบาย”กล้าสน็อส”(ผ่อนคลาย) ก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จำต้องปรับท่าที ปล่อยตัวกลุ่มโซลิดาริตี้ออกจากคุก และหันมาเปิดการเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมอย่างจริงจัง

ในช่วงนี้เอง ที่สมาชิกของโซลิดาริตี้เพิ่มพูนขึ้นมากกว่าล้านคนทั่วประเทศ เป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองโดยมวลชนที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดของยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แรงบันดาลใจจากโซลิดาริตี้ที่แพร่กระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกทำให้กระแสต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศสมาชิกสนธิสัญญาวอร์ซอร์กลายเป็นคลื่นที่ต้านทานไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งของการพังทลายกำแพงเบอร์ลิน และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกทุกประเทศ

 

การปรับตัวและเอกภาพใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์

ชัยชนะของผู้รักเสรีภาพ ยุติธรรม และประชาธิปไตยที่ได้รับมา ถูกส่งผ่านไปให้กับมวลชนโปแลนด์อย่างทั่วถึง แต่ในมุมกลับกัน การล้มเลิกระบบวางแผนเศรษฐกิจส่วนกลางมาเป็นทุนนิยมเต็มรูป และการล้มเลิกระบบการเมืองแบบพรรคเดียวของคอมมิวนิสต์มาเป็นพหุนิยม ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชะตากรรมของโซลิดาริตี้อย่างใหญ่หลวงด้วย

การรวมตัวของโซลิดาริตี้ ซึ่งแม้จะมีแกนนำหลักคือกลุ่มสหภาพแรงงานท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนัก แต่ก็ยังมีส่วนผสมของปัญญาชน และกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะบุคคลที่มีส่วนในการปฏิบัติงานปิดลับใต้ดินหลังจากใช้กฎอัยการศึก ทำให้หลังจากการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์แล้ว แนวทางการสร้างสังคมใหม่ยุคหลังคอมมิวนิสต์ก็เริ่มกลายเป็นข้อถกเถียงกัน และนำมาซึ่งภาวะ”น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ”ขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น 

ความแตกต่างที่สำคัญซึ่งนำมาสู่สภาพดังกล่าวได้แก่ แรกสุดคือ การฟื้นฟูอุดมการณ์ชาตินิยม เนื่องจากประวัติศาสตร์ของโปแลนด์อันเก่าแก่ เคยถูกรุกรานด้วยกองทัพของชาติที่เหนือกว่าจากทั้งทางตะวันตกคือเยอรมนี และตะวันออกคือรัสเซียมานับครั้งไม่ถ้วน คนโปแลนด์ยังไม่เคยลืมฝ้นร้ายคงจำได้ดีถึงการรุกรานจากเยอรมนีรวมทั้งค่ายกักกันยิวที่เอ้าสวิทซ์ และการครอบงำและสังหารหมู่ของสตาลินระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง 

คำถามสำคัญของประเทศยุคหลังคอมมิวนิสต์มีอยู่ว่า หากไม่มีสนธิสัญญาวอร์ซอร์และพันธะทางเศรษฐกิจของโคมีคอนแล้ว โปแลนด์จะตกใต้อิทธิพลของนาโต้ที่มีสหรัฐเป็นแกนหลักมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต้องเจรจากับรัสเซียเพื่อถอนกำลังทหารที่มาตั้งฐานในโปแลนด์จำนวนประมาณ 6 หมื่นคนออกไปโดยไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในอนาคต

โจทย์ดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมกับคำถามในหมู่ผู้นำโซลิดาริตี้ด้วยกันว่า ขบวนการพร้อมจะแปลงสภาพกลายเป็นพรรคการเมืองของมวลชนหลายกลุ่มในระบบประชาธิปไตยเต็มรูป หรือจะเป็นแค่ตัวแทนสหภาพแรงงานกรรมาชีพกันต่อไป เมื่อภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์จบลงไปแล้ว เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มพลังที่เข้ามาร่วมในขบวนการหลายกลุ่มไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน

การตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อ ในทันทีเป็นเรื่องยากลำบากในยามที่ประเทศต้องดำเนินการออกแบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจใหม่หลังยุคคอมมิวนิสต์อย่างทุลักทุเล ทำให้ผู้นำของโซลิดาริตี้อย่างเป็นทางการในยามนั้นคิอ เล็ก วาเลซ่า ผู้นำสภาพแรงงานกดั๊งสก์เก่า ซึ่งแม้จะมีฐานะนำในขบวนการอยู่แข็งแกร่ง แต่ก็พบว่าได้รับแรงสนับสนุนทางความคิดน้อยเกินไป จึงมีข้อสรุปส่วนตัวชัดเจนว่าชัยชนะของโซลิดาริตี้ที่มาเร็วเกินคาด ทำให้ความพร้อมจะเป็นพรรคการเมืองของมวลชนจะเป็นอุปสรรคมากกว่าเป็นพลังอันแข็งแกร่ง 

ความพยายามประนีประนอมระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นจริง ทำให้โซลิดาริตี้จำต้องยินยอมเจรจากับอดีตแกนนำของพันธมิตรพรรคคอมมิวนิสต์เดิมเพื่อให้ร่วมก่อตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ทุนนิยมและเสรีภาพ แต่การประนีประนอมกลับปรากฏผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนา เพราะว่าแกนนำบางส่วนของโซลิดาริตี้กับหลงไหลได้ปลื้มกับอำนาจรัฐใหม่ชั่วคราวนั้นอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในขึ้นมาอย่างหนัก

ท้ายสุด โซลิดาริตี้ก็เดินมาถึงทางตันเมื่อแกนนำบางส่วน นำโดยเล็ก วาเลซ่า ตัดสินใจแยกตัวออกจากโซลิดาริตี้ไปสมัครเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง เพื่อหาทางเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามยื้อแย่งชื่อของโซลิดาริตี้ไปเป็นชื่อพรรคการเมืองของแต่ละกลุ่มภายในขบวนการเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งจนถึงขั้นที่กลุ่มต่างๆในโซลิดาริตี้ ตัดสินใจแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองตามอุดมการณ์ส่วนตัว ซึ่งมีทั้งการต่อสู้กันและร่วมมือกัน ทิ้งชื่อโซลิดาริตี้เอาไว้เป็นอดีตในฐานะส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงาน ไม่ใช่ขบวนการทางการเมืองอีกต่อไป

แม้จะแยกตัวกันไปหลายพรรคการเมือง แต่จุดร่วมหลักของแต่ละพรรคซึ่งก่อตั้งขึ้นมาจากอดีตโซลิดาริตี้ล้วนอยู่ในกรอบเป้าหมายร่วมอย่างหลวมๆว่า จะต้องสร้างรัฐที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนโดยกลไกตลาด มีหลักนิติธรรม และรับรองเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองเป็นเสาหลัก โดยมีการชี้นำผ่านวิสัยทัศน์ของแผนการออกแบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ของนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของโซลิดาริตี้  เลสเซ็ก บาเซโรวิทซ์ ที่อยู่เบื้องหลังแผนสร้างรัฐใหม่ที่เรียกว่า แผนบาเซโรวิทซ์ เป็นเค้าโครง

หลังจากใช้เวลาผ่านความเจ็บปวดมามากกว่า 20 ปีกระทั่งถึงปัจจุบัน โปแลนด์ได้กลายสภาพจากรัฐคอมมิวนิสต์ที่อ่อนแอ และเผด็จการ กลายสภาพเป็นชาติทุนนิยมใหม่ที่แข็งแกร่ง ไม่เคยเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือตกต่ำอย่างยาวนานน่าทึ่ง มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าตื่นใจ และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเต็มรูป พร้อมกับเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร ในขณะที่อุตสาหกรรมหนักของประเทศได้เฟื่องฟูขึ้นเป็นหนึ่งในแกนหลักของทะเลบอลติกทางตอนเหนือของยุโรป  พร้อมกับพัฒนาจากระบอบการเมืองกึ่งประชาธิปไตยมาเป็นมีระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปที่เข้มแข็งและมีเสถียรภาพภายใต้รัฐบาลผสม โดยที่ทุกพรรคการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่นล้วนมีรากเหง้าเดิมจากโซลิดาริตี้ทั้งสิ้น

นอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างใหม่เศรษฐกิจ การสร้างสังคมที่อารยะด้วยกติกาใหม่ๆ ทำให้โปแลนด์สลัดทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังหมดจด ก้าวสู่อนาคตได้แล้ว โปแลนด์ยังคงสามารถรักษาสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกเชื่อมโยงยุโรปตะวันตกเข้ากับอดีตรัฐใต้กลุ่มโคมีคอนได้อย่างมีดุลยภาพ และนำมาซึ่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง 

พรรคการเมืองที่แตกแถวออกจากโซลิดาริตี้ไม่น้อยกว่า 8 พรรค โดยมีฐานเสียงสนับสนุนของตนเองที่หลากหลาย ต่างมีแนวทางเฉพาะของตนเอง นับตั้งแต่อนุรักษ์นิยมสุด จนถึงซ้ายสังคมนิยม แต่ไม่มีพรรคไหนมีแนวทางขวาสุด หรือซ้ายสุดอีกเลย แล้วก็ไม่มีพรรคไหนชูแนวทางกีดกันชาติพันธุ์เลย สะท้อนให้เห็นแนวทางโซลิดาริตี้ที่เกิดจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ยังคงมีรากลึกอย่างเข้มข้น

การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และนาโต้เต็มรูป พร้อมกับรักษาสัมพันธภาพอันดีกับรัสเซียที่ถอนทหารออกจากประเทศจนหมดสิ้น นอกจากเป็นยุทธศาสตร์ทำให้โปแลนด์ปลอดภัยจากการคุกคามจากภายนอกประเทศแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแล้ว ยังมีผลข้างเคียงทำให้กองทัพต้องถอนตัวจากการมีบทบาททางการเมืองตามกติกาของสหภาพยุโรปและนาโต้อย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถกลับมาแทรกแซงสร้างกลไกเผด็จการซ้ำรอยยุคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ หรืออย่างชาติกำลังพัฒนาหลายแห่งในเอเชียและละตินอเมริกา

เอกภาพต่อต้านเผด็จการคอมมิวนิสต์ของโซลิดาริตี้ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายของสังคมอารยะ ซึ่งแม้ว่าจะทำให้สมาชิกจดทะเบียนของโซลิดาริตี้ในปัจจุบันลดหายไปอย่างมากมาย มีฐานะเป็นแค่สหภาพแรงงานที่มีสมาชิกเหลือเพียงประมาณ 4 แสนคนเท่านั้นจากประชากรรวมของประเทศ 38 ล้านคน ไม่สามารถเป็นพลังหลักในการกำหนดอำนาจรัฐได้เต็มที่  เพราะในระยะหลังก็ยังมีสภาพแรงงานใหม่ๆเกิดขึ้นที่แยกตัวออกจากโซลิดาริตี้ 

แม้พลังจะลดลงไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง แต่ประวัติศาสตร์การต่อสู้ และขนาดของการเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ก็ยังทำให้พลังทางสังคมของโซลิดาริตี้แข็งแกร่งต่อไป เป็นพลังถ่วงดุลอำนาจของรัฐ กองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ และศาสนจักรคาธอลิกได้เป็นอย่างดี

 

บทเรียนสำหรับผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในสังคมไทย

การต่อสู้ของโซลิดาริตี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ดีว่า พลวัตของขบวนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้พ้นจากอำนาจเผด็จการนั้น ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่สามารถแปรสภาพไปมาได้ตามความเป็นจริงทางภววิสัย แม้ว่าเจตจำนงนั้นจะไม่เคยแปรเปลี่ยน แต่ก็จำต้องปรับสภาพให้สอดคล้องกับยุคสมัย

ชัยชนะต่อเผด็จการคอมมิวนิสต์โปแลนด์ จะไม่เป็นชัยชนะถาวรได้เลย หากว่า โซลิดาริตี้ไม่สามารถยอมรับการออกแบบใหม่ทางสังคม และไม่คำนึงถึงความต้องการหลักที่เรียกร้องให้จำต้องกระทำซึ่งเกินกว่าความเรียกร้องต้องการของชนชั้นกรรมาชีพในขบวนการอย่างเดียว แต่ต้องรับรองข้อเท็จจริงที่ไม่คาดหมายมาก่อนเช่นความอยู่รอดในฐานะรัฐประชาชาติที่เป็นเอกราชและมั่งคั่ง ซึ่งต้องผ่านการสร้างระบอบอำนาจรัฐที่เหมาะสม

กรณีของผู้รักประชาธิปไตยที่ผนึกกำลังสร้างเอกภาพในนามของคนเสื้อแดงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่าเป็นขบวนการข้ามชนชั้น ที่มีลักษณะของอุดมการร่วมกันอย่างหลวมๆ มีการจัดตั้งและพลังในการขับเคลื่อนอย่างไร้เอกภาพที่เห็นได้ง่ายทั้งจากภายในและภายนอก

ผู้รักประชาธิปไตยในคราบของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนยากจน เพราะรายได้เฉลี่ยของของสมาชิก ห่างไกลจากเส้นความยากจนตามมาตรฐานทางวิชาการขีดไว้ ให้ไกลโขทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง พร้อมกับมีขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านวิธีการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล การชุมนุมทางการเมือง, และการจัดตั้งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ยังคงอ่อนด้อยในการจัดตั้ง(การเคลื่อนไหว ประเด็น และเป้าหมาย) ตรวจสอบ และมีลักษณะตามกระแสมากกว่าสร้างกรอบเป้าหมายระยะยาวเพื่อออกแบบสังคมในอุดมคติ แม้ว่าจะเกิดอาการ "ตาสว่าง"ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนจุดยืนทางสังคมอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถยกระดับการต่อสู้ของมวลชนไปสู่ความเข้มแข็งเชิงปริมาณและคุณภาพ ไม่สามารถเก็บรับดอกผลของการต่อสู้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่ภววิสัยเอื้ออำนวยมากกว่าครั้งหลังจากการต่อสู้ 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 หลายเท่า

ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงของไทย มีความแตกต่างทั้งสาระและรูปแบบกับโซลิดาริตี้อย่างมากมาย เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวในลักษณะ”หลากหลายที่ไร้เอกภาพ”อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ชัยชนะหลังการเลือกตั้งซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็ทำให้ผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงบางส่วนได้เข้ามามีบทบาทร่วมในอำนาจรัฐไทยอย่างชอบธรรม แต่ก็อยู่ในวงจำกัด ไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผลักดันให้สังคมมีเสรีภาพและยุติธรรมมากขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อเทียบกับบทบาทของนักเลือกตั้งและนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากอำนาจที่ได้มาบางส่วนตะกรุมตะกรามกันอย่างไร้ยางอาย รวมถึงการขับเคลื่อนชี้นำของกลุ่มพลพรรคแวดล้อมทักษิณ ชินวัตรซึ่งมีวาระซ่อนเร้นอยู่

จนถึงวันนี้ ร่างกฏหมายเผด็จการที่กดขี่เสรีภาพของมวลชน โครงสร้างของความอยุติธรรมทางสังคม และทิศทางสร้างทางออกใหม่ที่ปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคมให้เป็นประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้าและวกวน ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางการเมืองได้อย่างมีพลัง

ไม่เพียงเท่านั้น  บทบาทในการกำหนดย่างก้าวของรัฐในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศเพื่อสร้างฐานะนำอย่างมีพลังด้วยแล้วยิ่งไม่ปรากฎขึ้นเลยแม้แต่น้อย

รวมทั้งบทบาทการแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ก็ยังคงดูเหมือนว่าจะมีอยู่ในระดับเข้มข้นต่อไปอย่างสังเกตได้ ความพยายามใดๆที่จะสร้างเงื่อนไขให้กองทัพต้องถอนตัวจากการแทรกแซงทางการเมือง ลดระดับลงเหลือเพียงแค่การ”เกียเซียะ”ในมุมมืดแบบหมูไปไก่มาเท่านั้นเอง

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คำถามว่าด้วยการสร้างพลังถ่วงรั้งการใช้อำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดกลไกธุรกิจไทยอย่างเหนียวแน่นที่อยู่เบื้องหลังการสมคบคิดกับอำนาจรัฐมายาวนาน กลับไม่ปรากฏ เสมือนหนึ่งดูเบาว่านี่ไม่ใช่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทย 

ชัยชนะหลังการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ย่อมมีส่วนทำให้พลังของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงเปลี่ยนไปจากเดิม แบบเดียวกันกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับโซลิดาริตี้ของโปแลนด์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่ดูเหมือนไม่เร็วเกินไปที่จะสรุปว่า เส้นทางของการเชื่อมต่อการต่อสู้เพื่อไปบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมที่ยกระดับเสรีภาพและยุติธรรมมากขึ้นนั้น โซลิดาริตี้ทำได้ดีกว่าหลายสิบเท่าของผู้รักประชาธิปไตย-คนเสื้อแดงในไทย

หากไม่ศึกษาบทเรียนจากโซลิดาริตี้อย่างจริงจัง และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อแปลงให้เป็นรูปธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความเป็นไปได้ที่ชัยชนะจากการต่อสู้จะเป็นได้เพียงแค่ม่านที่อำพรางความอ่อนด้อยภายในของพลังเสรีภาพและยุติธรรม บนเอกภาพที่ไม่ยั่งยืนเท่านั้น 

หากความคาดหมายนี้เกิดขึ้นมาจริง ความหลากหลายที่ไร้เอกภาพและไร้พลัง ย่อมหมายถึงโอกาสเป็นไปได้ที่ชัยชนะจะสูญเปล่า รอเวลาสำหรับการเข้าสู่วงจรอุบาทว์รอบใหม่ ซึ่งเสรีภาพ และยุติธรรมจะถูกปล้นชิงไปได้เมื่อกลุ่มเผด็จการอำมาตย์สมคบคิดซึ่งยามนี้กำลังอำพรางตัวเองกับสถานการณ์ใหม่ สามารถตั้งตัวได้ และกลับมาร่วมตัดสินใจครั้งใหม่ในวันข้างหน้าว่าพร้อมแล้วสำหรับการกลับมาใช้ความรุนแรงของอำนาจดิบกระชากสิทธิ์และผลประโยชน์กลับคืนไป

ถึงตอนนั้น ก็สายเกินไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนสถานการณ์ได้ และอาจจะทำให้ผู้รักประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในสภาพยิ่งกว่า”ไก่คุ้ยกองขยะ”เสียด้วยซ้ำ 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์ฯ ค้านผู้ว่าฯ อุดร ส่อชง ‘เหมืองโปแตช’ เข้า ‘ครม.สัญจร’

$
0
0

 ‘อุตสาหกรรมอุดรฯ’ ปูดผู้ว่าฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ‘โครงการเหมืองโปแตช’ เตรียมชงให้ ‘ประชา’เสนอเข้าประชุม ครม.สัญจรอุดร 21-22ก.พ.นี้ กลุ่มอนุรักษ์ฯ รุดยื่นหนังสือจี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน 

 
 
วานนี้ (27 ม.ค.55) เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้กับนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัด หลังทราบข่าวว่าในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ผู้ว่าฯ ได้เชิญส่วนราชการประชุมเพื่อเตรียมงานการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 21-22 ก.พ.55 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี พร้อมกันนี้ก็ได้เรียกหน่วยงานจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มาร่วมชี้แจงให้ข้อมูลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชด้วย
 
นายเตียง ธรรมอินทร์ กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า ชาวบ้านทราบมาว่าขณะนี้มีความพยายามผลักดันจากฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการ นักการเมือง และส่วนราชการ เพื่อนำกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการประชุมครม.สัญจรที่อุดร จึงมายื่นหนังสือผู้ว่าฯ เพื่อคัดค้านเอาไว้ เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งนี้ ควรปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามกฎหมายแร่
 
“ถ้าหากมีเรื่องโปแตชเข้าสู่การประชุมครม.สัญจร กลุ่มอนุรักษ์ฯ จะเคลื่อนไหวคัดค้านทันที เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้รวบรวมรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ จำนวนกว่า 5.7 พันราย และผู้มีที่ดินในเขตเหมืองประมาณ 1.6 พันแปลง ยื่นคัดค้านไปตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.แร่ แล้ว ดังนั้น ควรให้กระบวนการค้านของชาวบ้านดำเนินไปตามกฎหมาย” นายเตียงกล่าว
 
จากนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้มอบหนังสือข้อเรียกร้องให้กับนายนพวัชร สิงห์ศักดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แทนผู้ว่าฯ ซึ่งติดราชการ และรับว่าจะนำเสนอผู้ว่าฯ ให้
 
นายนพวัชร กล่าวว่า ผู้ว่าฯ และเขาเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ จึงไม่ทราบข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตช ดังนั้น การประชุมในวันพรุ่งนี้ (28ม.ค.55) ผู้ว่าฯ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงด้วย เพื่อจะได้เตรียมข้อมูลเอาไว้ ซึ่งหากว่ามีการสอบถามเรื่องโปแตชมาทางจังหวัดก็จะชี้แจงได้
 
ต่อมากลุ่มชาวบ้าน ได้เดินขบวนไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนของการผลักดันกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เข้าสู่วาระการประชุม ครม.สัญจร กับฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
 
นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้ชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้านว่า กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช ผู้ว่าฯ กำลังเตรียมข้อมูลไว้ เพื่อเสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผื่อมีการซักถามในการประชุมครม.สัญจร แต่ไม่ได้มีวาระเพื่อให้มีการพิจารณาอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือถ้าจะมีก็เป็นเพียงการเสนอของบประมาณมาเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ จัดเวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ เนื่องจากคนอุดรส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องโปแตช ซึ่งหากได้งบประมาณมาทำการประชาสัมพันธ์ในส่วนนี้กับพี่น้องก็จะเป็นการดี
 
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า โดยทั่วไปการประชุมครม.สัญจรจะเป็นการอนุมัติงบประมาณเกี่ยวกับโครงการพัฒนาที่จำเป็นเร่งด่วน สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีกระบวนการยังอยู่ที่ท้องถิ่น หลังจากชาวบ้านคัดค้านตามกฎหมาย แต่นักการเมืองพยายามผลักดันสอดไส้เข้าไป ซึ่งผู้ว่าฯ ควรวางตัวเป็นกลางต่อเรื่องนี้ และจะต้องกำชับให้ส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายแร่
 
“การจัดเวทีให้ข้อมูลของทางราชการ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลด้านเดียว และจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งหากมีความจริงใจราชการควรจัดตามกระบวนการปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสีย ในมาตรา 88/9 ของพ.ร.บ.แร่ ปี 45 หรือกลับไปดูคณะทำงานระดับจังหวัดชุดที่ผ่านๆ มา” นายสุวิทย์กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: พัดลมนิติราษฎร์

$
0
0
สถานการณ์วันนี้ ดูเหมือนถ้าใครไม่รุมกระทืบนิติราษฎร์ ก็จะกลายเป็นตกกระแส ไม่ทันแฟชั่น เอาเป็นว่าแม้แต่ออเหลิม ยังอัดนิติราษฎร์ว่าคิดสุดโต่ง ทำบ้านเมืองวุ่นวาย กินยาผิดซอง คิดว่าตัวเองหล่อ ฯลฯ ขณะที่ยิ่งลักษณ์ก็บอกปัดว่าอย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้องกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

แต่ก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับ พูดกันเข้าไปเหอะ จะได้ชัดเจนว่าทุกฝ่ายไม่สนับสนุนนิติราษฎร์ เหลือแต่มวลชนจริงๆ ที่สนับสนุนนิติราษฎร์ ฉะนั้นคนที่จะร่วมลงชื่อแก้ ม.112 ก็จะเป็นมวลชนที่เข้าใจและเชื่อถือ อ.วรเจตน์มากกว่านักการเมืองอย่างออเหลิม ใจผมอยากให้ทักษิณโฟนอินมาขอร้องคนเสื้อแดงไม่ให้ลงชื่อกับนิติราษฎร์ด้วยซ้ำ จะได้ชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามวลชนพร้อมจะ “ก้าวข้าม” ทักษิณหรือไม่

 

รีบๆ ทำนะครับ เพราะถึงอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามเขาก็จะกล่าวหาว่าทักษิณและ นปช.แอบสนับสนุน ล่ารายชื่อให้นิติราษฎร์อยู่ดี

 

ผมไม่ได้แปลกใจอะไรที่นักการเมืองอย่างออเหลิม เสธหนั่น ออกมาด่าทอนิติราษฎร์ เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย “เกี้ยเซี้ย” กันชั่วคราว แบบกึ่งจับมือ กึ่งแย่งยื้ออำนาจ มหาภัยน้ำท่วมใหญ่ทำให้ทั้งทุนเก่าทุนใหม่ กลัวต่างชาติถอนการลงทุน จึงต้องพักรบมาร่วมมือกัน แบบมือหนึ่งประสานกัน อีกมือหนึ่งไขว้มีดไว้ข้างหลัง

 

วิสัยนักการเมืองเมื่อเล็งเห็นว่าจะได้อยู่ในอำนาจยาว ได้เสวยผลประโยชน์อำนาจวาสนา ก็อยากจะให้สภาพแบบนี้ดำรงอยู่นานๆ ไม่อยากเห็น “บ้านเมืองวุ่นวาย” พรรคเพื่อไทยอาจต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากขึ้น แต่วิธีแสวงหาอำนาจของนักการเมืองไม่จำเป็นต้องพึ่งกติกาแต่อย่างเดียว พวกเขายังแสวงอำนาจได้ด้วยพวกพ้อง ผลประโยชน์ อิทธิพล ที่จะเอาไว้ใช้ต่อรองกับขั้วตรงข้าม

 

ฉะนั้น เมื่อนิติราษฎร์เป็นหัวหอกของพลังที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันก็ไปกระทบสถานภาพของนักการเมืองที่กำลังจะ “เข้าที่เข้าทาง”

 

เรื่องโจ๊กปนสังเวชคือ พรรคประชาธิปัตย์ดันออกมาค้านโมเดลคณะจัดทำรัฐธรรมนูญ 25 คนของนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้จัดโควตาจากสภาผู้แทนราษฎร 20 คน จาก สว.เลือกตั้ง 3 คน และจาก สว.สรรหา 2 คน

 

สกลธี ภัททิยะกุล ลูกชาย คมช.อ้างว่าเป็นการล็อกสเปกให้พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมาก ขณะที่จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อ้างว่าต้องการให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อล้างผิดให้ทักษิณ

 

ผมไม่แปลกใจที่พรรคเพื่อไทยค้าน เพราะโมเดลนี้แปลว่ารัฐบาล 300 เสียงจะมีตัวแทนในคณะร่างรัฐธรรมนูญแค่ 12 คน ต้องไปลุ้นใน สว.เลือกตั้งว่าจะได้ฝ่ายรัฐบาลเข้ามากี่คน แต่ถ้าเลือกตั้ง สสร.77 จังหวัด ตามโมเดลของออเหลิม รัฐบาลกวาดมาแหงๆ เกินครึ่ง พอมาเลือก สสร.วิชาชีพอีก 22 คน รัฐบาลก็ล็อกสเปกได้เกือบหมด

 

คอลัมนิสต์หัวสีบางรายด่านิติราษฎร์ว่า จะให้ตัวแทนนักการเมืองเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง โห ทำข่าวมาจนหัวหงอกหัวดำกันแล้ว ทำไมยังไร้เดียงสา คิดว่าเลือก สสร.แล้วจะได้ตัวแทนประชาชนอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอยู่หรือ (หรือแกล้งไร้เดียงสา) สื่อพวกนี้สมองคิดเป็นแต่ว่า ไม่ควรให้นักการเมืองร่างรัฐธรรมนูญ ต้องให้รัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญ

 

ถ้ามองตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงสังเวชพรรคแมลงสาบว่า นิติราษฎร์โมเดลอุตส่าห์วางหลักประกันไม่ให้เสียงข้างมากฮุบหมด ก็ยังโดน ปชป.ด่า นิติราษฎร์โมเดลรับประกันว่า ปชป.มี ส.ส.159 คน จะมีตัวแทนอย่างน้อย 6 คน ฝ่ายค้าน 200 คน จะมี 8 คน แถมยังมีตัวแทนอำมาตย์จาก สว.สรรหาอีก 2 คน ที่เหลือไปวัดใจกันใน สว.เลือกตั้ง ขนาดนี้ก็ยังโดน ปชป.ด่า

 

แมลงสาบแพ้เลือกตั้ง แมลงสาบก็ต้องมีเสียงน้อยกว่าอยู่แล้ว มาโวยวายได้ไงว่าให้เพื่อไทยได้เสียงข้างมาก หรือต้องออกแบบให้แมลงสาบมีตัวแทนมากกว่า ถึงจะพอใจ

 

โมเดลนี้ผมรู้ตั้งแต่แรกว่าไม่มีใครยอมรับหรอกครับ แม้แต่มวลชนเสื้อแดง แต่คอยดูเถอะ หลังเสียเงินเลือกตั้ง 2 พันล้าน เสียเวลาเพิ่ม 3-4 เดือน เราก็จะได้ สสร.ออกมาในสัดส่วนคล้ายๆ กัน เผลอๆ รัฐบาลจะฮุบได้มากกว่าด้วยซ้ำ

 

จรรยาสื่อ จรรยานักวิชาการ

 

ผมไม่ค่อยแปลกใจที่ อ.วรเจตน์ ถูกพาดพิงว่า “เนรคุณทุนอานันท์” เพราะก่อนหน้านี้ วรเจตน์เคยกล่าวว่านักกฎหมายมหาชนถ้ายอมรับรัฐประหารก็เท่ากับศีลขาด ต้องอาบัติปาราชิก

 

ใครเนรคุณ ใครปาราชิก วรเจตน์กับบวรศักดิ์รู้แก่ใจดี

 

บวรศักดิ์รับใช้รัฐบาลทักษิณมาก่อน บวรศักดิ์-วิษณุ เป็นคู่หูเนติบริกรที่ร่างและตีความกฎหมายสนองอำนาจ “ทุนผูกขาด” (อย่างที่พวกสยามประชาภิวัฒน์เขาเรียก) ยกตัวอย่างเช่น บวรศักดิ์เป็นเลขาธิการ ครม.เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ให้องค์ประชุมคณะรัฐมนตรีมีเพียง 1 ใน 3 และให้นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 1 คนขึ้นไปออกมติ ครม.ได้ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นฉุกเฉิน

 

ครั้งนั้น ผมสัมภาษณ์วรเจตน์ลงไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2548 วิพากษ์ “พรฎ.กึ่งประธานาธิบดี” ว่าเป็นการตีความแบบศรีธนญชัยที่ว่าไม่เคยมีกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุม ครม.ต้องเกินกึ่งหนึ่ง ทั้งที่หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอยู่ในสามัญสำนึกของผู้คน องค์ประชุมระดับบริษัท ระดับหมู่บ้าน ไปถึงระดับชาติ อย่างน้อยต้องเกินกึ่งหนึ่ง

 

วรเจตน์ยังกล่าวคำคมไว้หลายตอน ที่ย้อนอ่านแล้วผมอึ้ง เช่น

 

"แน่นอนว่าวันนี้เราไปได้   แต่วันหนึ่งระบบอย่างนี้มันอาจจะไปไม่ได้เสมอ  เป็นจุดซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะหันมาเห็นด้วยกับฝ่ายข้างน้อยวันนี้  แล้วเมื่อวันนั้นอำนาจอยู่กับอีกกลุ่มหนึ่ง  ซึ่งในวันนั้นเป็นข้างน้อยไปแล้วล่ะ  น่าวิตก  วันนี้มันยังไม่เป็นอะไร  มันก็อยู่กันไป  อย่างผมเป็นฝ่ายข้างน้อยอยู่เนืองๆ   ผมก็รับสภาพไป   อย่างเรื่องนี้อีกไม่กี่วันมันก็สลายไปกับสายลม  ไม่มีใครพูดถึง   แต่หลักกฎหมายได้ถูกกัดเซาะ    ผมถึงบอกว่ามันมีบาดแผลเพิ่มขึ้นอีกบาดแผลหนึ่ง   ทิ้งริ้วรอยความบอบช้ำให้กับกฎหมายไทย  จนถึงวันหนึ่ง  เมื่อสภาพเสียงมันเปลี่ยนและอำนาจอยู่ในมือฝ่ายข้างน้อย  มันมีแรงกดดันแบบนั้นแล้วยังไม่ทำอะไรอีก  มันอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกระบบกฎหมายเข้ามา    ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้นในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย  ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบโดยสันติ"

 

"ตอนกลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ  มีคดีท่านนายกฯ  ทักษิณ  ผมพูดในรายการยูบีซี  ผมบอกว่าคดีซุกหุ้นมันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศลงไปในวันนี้หรอก  เรื่องในทางกฎหมายที่หลักมันผิดมันเพี้ยนไป  มันไม่ทำให้บ้านเมืองพังพินาศไปหรอก  แต่มันจะค่อยๆ  กัดเซาะกัดกร่อนไป  รากฐานการปกครองโดยเอากฎหมายเป็นกติกาของสังคม  มันจะไม่หยั่งลึกลงไป  มันจะอ่อนแอ   ถ้าเป็นต้นไม้ก็คือมันจะไม่แข็งแรง  มันมีโรคมันถูกชอนไชตลอด   มันอาจจะไม่ตายแต่ไม่โตไม่งอกงาม   ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  แทนที่ไม่โตไม่งอกงาม   มันจะตายด้วย  ผมบอกว่าไม่ต้องตกใจหรอกที่ผมออกมาพูดอย่างนี้  บ้านเมืองไม่พังไปในวันสองวัน  แต่ผมเตือนเอาไว้ว่ามันทำให้การปกครองโดยนิติรัฐของเราหยั่งลึกลงไปไม่ได้”

 

ก่อนรัฐประหาร ไม่ทราบว่ามีการส่ง sign อะไร วิษณุ-บวรศักดิ์ ลาออก โดดหนี “เรือโจร” ที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานาน แล้วหลังการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บวรศักดิ์ร่างมากับมือ บวรศักดิ์ก็ไปเป็น สนช.พร้อมกับสะด๊วบตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่ อ.นรนิติ เศรษฐบุตร ลาออกไปเป็นประธาน สสร. ต่อมา เมื่อรัฐธรรมนูญ 50 กำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง สนช.ก็ผ่านร่างสภาพัฒนาการเมือง ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานดำเนินการ โดยมีเงินอุดหนุน

 

ตอนนั้นเครือข่าย NGO พวกคุณรสนา คุณสารี อ๋องสมหวัง คุณสมชาย หอมละออ รวมทั้งหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ยื่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ โดยมีหลายสาเหตุ แต่ประเด็นหนึ่งคือมีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

“การแต่งตั้งคณะผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้ในการทำหน้าที่ไม่มีความเหมาะสม ขาดความชอบธรรม และมีผลประโยชน์ทับซ้อน คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ที่พิจารณาร่างกฎหมายนี้ เป็นประธาน สนช. ด้วย ในขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) ปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาพัฒนาการเมืองของ สนช. มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการคนแรก และเลขาธิการคนปัจจุบันของสถาบันพระปกเกล้า และยังมีนางถวิลวดี บุรีกุล เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในขณะเดียวกันเป็นผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ของสถาบันพระปกเกล้าอยู่ด้วย รวมทั้งกรรมาธิการส่วนใหญ่ชุดนี้เคยได้รับการอบรมและมีความใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้ามาก่อนด้วย ดังนั้น การที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และบรรดาผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่สถาบันพระปกเกล้าทั้งที่ภารกิจของสถาบันไม่เกี่ยวข้องกับสภาพัฒนาการเมืองและแก้ไขให้ตนมีอำนาจมากขึ้นทั้งการเข้าไปบริหารจัดการในสภาพัฒนาการเมืองและกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองจึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับอำนาจหน้าที่หรือผลประโยชน์ของประชาชนอันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างชัดแจ้ง”

 

แต่กฎหมายฉบับทับซ้อนนี้ก็ผ่านออกมาบังคับใช้เรียบร้อย

 

ตลอดเวลา 7 ปีที่บวรศักดิ์สวิงกิ้งไปมาบนตำแหน่งต่างๆ วรเจตน์ก็ยังเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับแต่เงินเดือนกับเบี้ยประชุมไม่กี่บาทในฐานะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

 

แต่เมื่อเป็นข่าวปรากฏในสื่อโสมม วรเจตน์กลับถูกกล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ ครั้งหนึ่งพวกพันธมิตรยังเอาไปลือกันว่าทักษิณจะยกลูกสาวให้

 

ถามว่าทำไมพวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่สนับสนุนรัฐประหาร จึงจงเกลียดจงชังวรเจตน์และนิติราษฎร์ ก็เพราะวรเจตน์และนิติราษฎร์คือก้างขวางคอชิ้นโตในการจัดการกับทักษิณด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ที่ขัดกับหลักนิติรัฐ

 

วรเจตน์และนักคิดนักเขียน นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ที่ร่วมกันลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ล้วนเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ “ระบอบทักษิณ” มาก่อนทั้งสิ้น คำว่า “ระบอบทักษิณ” อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นผู้บัญญัติ ให้พันธมิตรเอาไปใช้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ แถมยังย้อนกลับมาด่าเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ เมื่อให้ความเห็นไม่ถูกใจ

 

ทางแยกระหว่างเรากับพันธมิตรมาถึงเมื่อมีการเรียกร้องนายกพระราชทาน ม.7 จากนั้นก็คือการรัฐประหาร รัฐประหาร 49 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะมีการออกแบบให้ใช้ตุลาการภิวัตน์จัดการกับทักษิณและพรรคไทยรักไทยอย่างแยบยล วางยาต่อเนื่องมาในรัฐธรรมนูญ 2550 และกลไกตุลาการฝ่ายต่างๆ

 

นักนิติศาสตร์จึงมีบทบาทสูงทั้งสองข้าง โดยเสียงข้างน้อยอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร มีวรเจตน์เป็นหัวหอก ยืนซดกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ด้วยหลักการ ตั้งแต่ออกแถลงการณ์คัดค้านรัฐประหาร วิพากษ์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทย ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคย้อนหลัง เป็นหลักสำคัญในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มาจนวิพากษ์คำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาและคดียึดทรัพย์

 

ความมีหลักการและเหตุผลของวรเจตน์ทำให้การโต้แย้งของเขาทรงพลัง ลองคิดดูว่าถ้า ดร.เหลิมออกมาโต้แย้งแทนทักษิณในคดีที่ดินรัชดา จะมีใครซักกี่คนเชื่อ ใครเชื่อพ่อไอ้ปื๊ดก็กินยาผิดซอง

 

วรเจตน์ให้สัมภาษณ์ผมว่าคดีที่ดินรัชดาไม่ผิด ตั้งแต่ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับ 30 พ.ค.2547 “ขาประจำหัวหน้าเผ่า” วิพากษ์ทักษิณคู่กับสุรพล นิติไกรพจน์ คณบดีในขณะนั้น หลังจากคณาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 5 คนได้แก่ สุรพล, วรเจตน์, จันทจิรา เอี่ยมมยุรา, บรรเจิด สิงคะเนติ, สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการระดมทุนซื้อหุ้นลิเวอร์พูล

 

“ผมเองเห็นว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายอาญา   การตีความต้องจำกัดเพราะถ้ากว้างเกินไปก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตัวกฎหมาย   จึงเรียนว่าที่มีอำนาจกำกับดูแล  ถ้าเป็นนายกฯ  คงไม่หมายถึงว่าคนที่เป็นภรรยาทำสัญญาอะไรกับรัฐไม่ได้เลย  มันต้องมีระดับความเข้มข้นในการกำกับดูแลตามสมควร  อันที่สองที่จะต้องพิจารณาก็คือลักษณะของสัญญา  ตรงนี้ยาก  มันมีข้อจำกัดว่าจะขีดเส้นตรงไหน   ส่วนตัวผมเห็นว่าสัญญาที่จะเข้ามาตรา 100 ต้องเป็นสัญญาที่หน่วยงานสามารถใช้ดุลพินิจเอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญาได้  เช่น  เวลามีการประมูลงาน   มีคนยื่นข้อเสนอเข้ามา  คนยื่นข้อเสนอไม่ได้เป็นคู่สัญญาทันที  แต่จะต้องผ่านการตัดสินใจของหน่วยงาน  หัวหน้าหน่วยงานมีดุลพินิจที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนี้กรณีย่อมต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 100 นี่คือการขจัดประโยชน์ที่ทับซ้อนกันหรือป้องกันไม่ให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าเป็นการขายทอดตลาดทั่วไปแล้วหน่วยงานไม่มีดุลพินิจอะไร   ใครที่เสนอราคาสูงสุดก็จะได้ที่ดินนั้นไป  ผมมองว่าไม่น่าจะเข้า เพราะหัวหน้าหน่วยงานไม่มีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำสัญญา"

 

ฉะนั้น ถ้าถามว่าวรเจตน์กลับไปกลับมาหรือไม่ ก็มีบันทึกเป็นหลักฐานว่าวรเจตน์ยืนหยัดในหลักการ ไม่ว่าตอนที่เขาวิพากษ์ทักษิณหรือวิพากษ์รัฐประหาร

 

วรเจตน์จึงทำให้พวกพันธมิตร สื่อ นักวิชาการ ที่เกลียดชังทักษิณโกรธแค้นจนคลั่ง เพราะความมีหลักการเหตุผลของเขาทำให้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ล้มเหลว คนพวกนี้กรีดร้องใส่วรเจตน์ นักคิด นักวิชาการประชาธิปไตย ที่คัดค้าน ม.7 และรัฐประหารว่า “พวกเมริงไม่รู้หรือว่าทักษิณมันเลว มันจะทำให้ประเทศชาติพินาศ ต้องใช้ทุกวิถีทางจัดการมัน”

 

จากข้อกล่าวหาว่าไร้เดียงสา เมื่อไม่สามารถตอบโต้ด้วยเหตุผล คนเหล่านี้-ที่อ้างศีลธรรมจรรยา อ้างว่ารักชาติรักประชาชน ก็ใช้วิธีการให้ร้ายป้ายสี ดิสเครดิต ตั้งแต่รับเงินไปจนล้มเจ้า

 

คมสัน โพธิ์คง กล่าวหาว่านิติราษฎร์และ ครก.112 เอาเงินมาจากไหน ให้แสดงบัญชีค่าใช้จ่าย โห ค่าเช่าหอประชุม 2 ครั้งราว 3 หมื่นบาท กับค่าพิมพ์แบบเข้าชื่อเสนอกฎหมายเนี่ยนะ ขายเสื้อ ครก.แป๊บเดียวก็ได้แล้ว

 

เงินจิ๊บจ๊อยแค่นี้ ไม่เท่ากับที่คมสันเข้าไปเป็น สสร.เงินเดือนเงินประจำตำแหน่งแสนกว่าบาท ศาสตรา โตอ่อน เข้าไปเป็นที่ปรึกษา TOT เงินเดือนแสนห้า นี่ผมจำได้แล้วไปค้นข่าวย้อนหลัง สมัยผู้จัดการ ASTV ไม่พอใจบอร์ด TOT ยุคสพรั่ง (ไม่ทราบว่าเขาเหยียบตาปลาอะไรกัน) แล้วสหภาพไปฟ้อง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ (ผู้จัดการยังด่ากราด พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ไว้เหมือนกัน ลอง search อาจารย์กูดูได้)

 

ไม่ว่ารัฐบาลไทยรักไทย รัฐบาลพลังประชาชน รัฐบาลเพื่อไทย วรเจตน์ นิติราษฎร์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ที่ลงชื่อแก้ไข 112 ไม่มีใครเข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือกระทั่งรับงานวิจัย

 

พวกพันธมิตรเว็บเสรีไทยไปค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า อ.ชาญวิทย์ อ.พวงทอง อ.พนัส ทัศนียานนท์ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.อัครพงษ์ ค้ำคูณ ร่วมกับนักวิชาการอีกหลายคน รับงานวิจัยและจัดทำสื่อ กล่อมคนไทยให้เห็นใจเพื่อนบ้าน ในนามมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ จากกระทรวงการต่างประเทศ มูลค่า 7.1 ล้านบาท

 

แต่กลายเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ พันธมิตรเลยกรี๊ดหาว่ามาร์คจับมือกับนักวิชาการแดงขายชาติ

 

นักวิชาการเหลืองที่ไปรับงานวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีใครบ้าง ผมว่าน่าสนใจนะครับ แต่ผมเจาะข่าวไม่เก่ง คงต้องฝากประสงค์ดอทคอมไปค้นหา ได้ยินมาว่าบางรายรับงานวิจัยมูลค่าหลายล้าน จากหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระ เป็นค่าตอบแทนที่สนับสนุนรัฐประหาร

 

ที่แน่ๆ จรัส สุวรรณมาลา เคยถูกอาจารย์ใจแฉว่า รับงาน “วิจัยประชาธิปไตย” จากรัฐบาล คมช.มูลค่า 42.6 ล้าน ในฐานะคณบดี แล้วนำทีมอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬา ไปโรดโชว์รัฐประหารในต่างประเทศ บรรยายให้ฝรั่งฟังว่าทำไมนักรัฐศาสตร์ไทยจึงพลิกตำราประชาธิปไตยสากล มาสนับสนุนรัฐประหาร (งามหน้าแท้)

 

อ.วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ ก็คือ “หน้าหอ” ของ อ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ผู้พยายามเน้นตอนผมไปสัมภาษณ์ ว่าทักษิณก่อตั้งพรรคเพื่อไทยตรงกับวันที่ 14 กรกฎา วันปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งต่อมา อ.ธีรภัทร์ก็เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีทีมงานเช่น ประสาร มฤคพิทักษ์ (ที่ต่อมาเป็น สว.สรรหา) จากนั้น อ.วรรณธรรมก็มาเป็นรองเลขานายกฯ (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ในรัฐบาล ปชป.

 

ส่วน อ.สุรพล นิติไกรพจน์ ล่าสุดก็เป็นบอร์ด ปตท.รายงานประจำปีบอกว่าได้โบนัสเบี้ยประชุม 2.7 ล้าน (แต่ยังติดดินนะ วันก่อนเจอท่านที่ร้านก๋วยเตี๋ยวท่าพระจันทร์ เลยได้กินเกาเหลาฟรี 1 ชาม)

 

นี่คือสิ่งที่เห็นกันโต้งๆ โอเค พวกท่านอาจจะอ้างว่ารับตำแหน่งเพื่อชาติ แต่ลองวรเจตน์ นิติราษฎร์ ได้ตำแหน่งอะไรซักนิดสิครับ พวกเมริงมีหวังด่าทอดิสเครดิตกันครึกโครม แต่พอหาจุดโจมตีไม่ได้ ก็พูดหน้าตาเฉยว่า รับเงิน

 

ในทางตรงกันข้าม ผมว่าเราเห็นกันชัดเจนแล้วว่า แม้แต่รัฐบาลเพื่อไทย ก็คงไม่กล้าดึงวรเจตน์หรือนิติราษฎร์เข้าไปเป็น สสร.เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หรือเป็นบอร์ดต่างๆ ไม่ใช่เพราะกลัวข้อหา “ล้มเจ้า” แต่เพราะนักการเมืองไม่ต้องการนักนิติศาสตร์ที่ยึดมั่นในหลักการ พวกเขาต้องการเนติบริกรที่ตีความรับใช้มากกว่า

 

วิษณุก็กลับไปช่วยงานแล้วนี่ครับ

 

สมัคร-อุทาร-อุทิศ

ดาวสยาม-ยานเกราะ

 

หลังพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะถล่มทลาย ฝ่ายต่อต้านทักษิณอยู่ในภาวะคลั่ง หางด้วน ไม่มีทางระบายออก ไม่สามารถทำอะไรยิ่งลักษณ์และรัฐบาลได้ ซ้ำยังมีสัญญาณของการ “เกี้ยเซี้ย” กันระดับหนึ่งระหว่างทักษิณกับอำมาตย์

 

การเสนอแก้ไข ม.112 จึงกลายเป็นที่ระบายของพวกเขา โหมความโกรธแค้นชิงชังมาใส่นิติราษฎร์ มีการให้ร้ายป้ายสีก่นด่าประณาม อย่างไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น “เศษสวะ” “เนรคุณ” “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” (ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮากลิ้งในตึกเนชั่น นี่ถ้ากนกถูกถอดรายการ องค์กรสื่อคงออกมาโวยวายว่าคุกคามเสรีภาพสื่อ... เสรีภาพที่จะด่าคนอื่นว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน)

 

หรือกระทั่งเอาไปตัดต่อภาพเป็น “วรเจี๊ยก” ผมไม่ทราบว่าเรามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติไว้ทำตะหวักตะบวยอะไร (สื่อรวันดาสภาฯไม่สนใจ เพราะไม่ได้รับเงินใครมาร เหมือนที่จ้องจับผิดมติชน)

 

ไม่น่าเชื่อว่านี่คือการยุยงส่งเสริมของสื่อและนักวิชาการที่เคยอ้างว่าต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อพิทักษ์ความเป็นไทย ความมีศีลธรรมจรรยา บ้างก็เคยเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ไทยโพสต์ ผู้จัดการ ล้วนเป็นสื่อที่เคยเป็นปากเสียงให้สมัชชาคนจนและคนด้อยโอกาส)

 

แต่วันนี้พวกเขายุยงส่งเสริมจนเกิดการขู่ฆ่า เผาหุ่น แขวนคอหุ่นวรเจตน์ และแพร่ภาพปิยบุตร ส่อความหมายว่าเจอที่ไหนให้ทำร้าย

 

นี่ไม่ต่างกันเลยกับ 6 ตุลา ที่สมัคร สุนทรเวช, อุทาร สนิทวงศ์, อุทิศ นาคสวัสดิ์ ดาวสยาม และวิทยุยานเกราะ กระพือความเกลียดชังใส่ขบวนการนักศึกษา

 

ถามว่าสื่อ นักวิชาการ แกนนำสลิ่มและพันธมิตร รู้หรือไม่ว่านิติราษฎร์บริสุทธิ์ใจ ไม่ได้รับเงินใครมา รู้สิครับ พวกเขายังรู้ด้วยว่าพวกที่ร่วมกันก่อรัฐประหาร หรือสนับสนุนรัฐประหาร บางคนทำมาหากิน หาผลประโยชน์ ฉวยโอกาส แต่พวกเขาเพิกเฉยต่อคนกันเอง กลับมาให้ร้ายป้ายสีคนบริสุทธิ์

 

พวกที่อ้างว่ามีคุณธรรมจริยธรรมเหล่านี้คงไชโยโห่ร้อง ถ้าปิยบุตรถูกอุ้ม หรือวรเจตน์ถูกม็อบลากไปแขวนคอสนามหลวงแล้วเอาเก้าอี้ฟาด

 

นี่คือพวกที่ทำอะไรทักษิณไม่ได้ ทำอะไรยิ่งลักษณ์ไม่ได้ แล้วมาระบายใส่นิติราษฎร์ หนำซ้ำยังเยาะเย้ยสะใจที่ออเหลิม “ตัดหาง” นิติราษฎร์ ถ้าทำลายนิติราษฎร์ได้ เผลอๆ พวกนี้คงมีความสุข ยิ่งกว่าโค่นทักษิณ

 

เพราะนิติราษฎร์และนักวิชาการประชาธิปไตย ไปทำให้พวกเขาเสียหน้า เสียเครดิต สถาบันนักวิชาการที่เคยได้รับการยกย่องนับถือจากสังคม กลายเป็นสถาบันต่ำทรามเพราะความไม่มีหลัก สถาบันสื่อที่เคยชี้นำสังคมได้ นักการเมืองผู้มีอำนาจจากไหนต้องซูฮก กลายเป็นกระดาษเปื้อนหมึกระบายอารมณ์

 

พวกเขาทำตัวเอง แต่โทษคนอื่น

 

ธีรยุทธพูดเรื่องมาตรา 7 อ้างว่าเป็นเรื่องในทางปฏิบัติ ไม่ใช่หลักกฎหมาย “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราแข็งเกินไป เพื่อยืนยันความคิดของตัวเอง” ขอเรียนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องหลักกฎหมายตายตัว แต่เป็นหลักการที่มีเหตุผล เมื่อเกิคความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คุณจะไปดึงในหลวงลงมาตัดสิน ดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง กับความขัดแย้ง มันก็ส่งผลกระทบต่อสถาบัน แม้ในหลวงทรงพระปรีชา ท่านไม่เอาด้วย ก็ยังมีความพยายามดึงลงมาจนเกิดปัญหาจนปัจจุบัน

 

ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ต้องปรับ ต้องแก้ แต่พวกเขาก็ขัดขวางไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยน

 

6 ปีแล้วยังไม่ตระหนักอีกหรือ

 

"ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ อยู่เหนือความรักและความชังของบุคคล  ผมคิดว่านี่คือความพยายามของคณะผู้ก่อการ  2475  ให้พระองค์ทรงอยู่เหนือการเมือง โดยประสงค์ไม่ให้พระมหากษัตริย์ลงมาวินิจฉัยปัญหาทางการเมือง  เพราะชี้ไปทางไหนมันมีคนได้และมีคนเสีย  มีคนชอบและมีคนชัง  เราไม่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างนั้น เราต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีแต่คนรักคนเทิดทูน  และเมื่อมีวิกฤติของประเทศอย่างรุนแรงเกิดขึ้น   ประเทศเรายังมีสถาบันอีกสถาบันหนึ่ง  ซึ่งประเทศอื่นไม่มี  มาคอยปัดเป่าและคลี่คลายวิกฤตการณ์แบบนี้  แต่ในช่วงที่ยังไปไม่ถึงจุดนั้น  ถ้ามันยังไม่ไปถึงแล้วเราดึงพระองค์ลงมาชี้  ในที่สุดแทนที่จะเป็นเทิดทูนสถาบัน  ผมว่าระยะยาวไม่เป็นผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์"

 

นี่จากคำให้สัมภาษณ์ของวรเจตน์ “นักเรียนทุนอานันท์” ในไทยโพสต์แทบลอยด์ ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2549

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยูนิเซฟเผย มีเด็กเสียชีวิตในเหตุรุนแรงซีเรียแล้ว 384 ราย

$
0
0
เหตุรัฐบาลสังหารหมู่ประชาชนในซีเรียระลอกล่าสุดเกิดขึ้นตามเมืองสำคัญต่างๆ โดยฝ่ายรับบาลใช้อาวุธหนักอย่างปืนกล ปืนครก จรวด ยิงถล่มเข้าใส่ ด้านองค์กรพิทักษ์เด็กเผยมีเด็กเสียชีวิตรวมแล้ว 384 ราย และมีถูกกุมขังอีก 380 รายนับตั้งแต่การลุกฮือ 10 เดือน
 
 
องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก (UNICEF) กล่าวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่านับตั้งแต่การลุกฮือในซีเรีย มีเด็กถูกสังหารรวมแล้วอย่างน้อย 384 ราย และมีจำนวนใกล้เคียงกันที่ถูกกุมขัง (ที่มาภาพ:  Aljazeera)
 
27 ม.ค. 2012 - นักกิจกรรมในซีเรียเปิดเผยว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้ทำการล้อมปราบประชาชนในเมืองฮอมของประเทศซีเรียจนมีผู้เสียชีวิตอีกราว 30 ราย
 
โดยกองกำลังฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ปืนครกและปืนกลยิงเข้าใส่ ซึ่งถือเป็นความรุนแรงครั้งหนักสุดนับตั้งแต่มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอัสซาด 10 เดือนที่ผ่านมา
 
นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ที่จุดตรวจนอกเมืองอิดหลิบ โดยทางองค์กรเฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (SOHR) รายงานเรื่องนี้ผ่านผู้พบเห็นเหตุการณ์โดยยังไม่ทราบข้อมูลความเสียหาย
 
กลุ่มตัวแทนสันนิบาตชาติอาหรับที่เข้ามาสังเกตการณ์เหตุในซีเรียเปิดเผยว่ามีเหตุรุนแรงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมือง ฮอม, ฮามา และ อิดลิบ
 
นายพล โมฮัมเมด อาห์เมด มุสตาฟา อัล-ดาบี ตัวแทนสันนิบาตฯ จากซูดาน แถลงว่า สถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ทุกๆ ฝ่ายลงมานั่งพูดคุยเจรจากัน และนายพลจากซูดานยังได้เรียกร้องให้หยุดการกระทำรุนแรงเพื่อปกป้องประชาชนชาวซีเรียและหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ
 
 
เหตุสังหารหมู่ที่น่าหวาดผวา
 
เหตุสังหารหมู่ในเมืองฮอมเริ่มต้นในช่วงก่อนรุ่งสาง โดยเริ่มโจมตีจากย่าน คาม อัล-เซตุน ผู้อยู่อาศัยในเมืองประสบความยากลำบากเนื่องจากมีเสียงปืนยิงอยู่ตลอดเวลา
 
"มันเป็นการสังหารหมู่ที่น่าหวาดกลัว" รามี อับดุล-ราห์มัน ผู้อำนวยการ SOHR กล่าว และเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ด้วย
 
กลุ่ม LCC ซึ่งเป็นกลุ่มแนวร่วมผู้ประท้วงต่อต้าน ปธน. อัสซาด เปิดเผยว่าฝ่ายรัฐบาลได้ใช้ปืนใหญ่และจรวดขีปนาวุธยิงถล่มย่าน บับ เซบา นอกจากนี้ยังได้ยินเสียงสู้รบเกิดขึ้นที่เขต บาบา อัมโร ด้วย
 
SOHR บอกอีกว่าในใจกลางเมืองฮามา ก็ถูกโจมตีในช่วงเช้าวันที่ 27 ม.ค. โดยมีการยิงปืนกลหนักและมีเสียงระเบิดให้ได้ยิน
 
 
ยูนิเซฟเผย มีเด็กเสียชีวิตในเหตุรุนแรงซีเรียแล้ว 384 ราย
 
ที่เขตชานเมืองของดามากัส มีเด็กอายุ 11 ปีถูกสังหารที่จุดตรวจในฮามูริเยห์ และในอเลปโป เมืองที่ใหญ่รองจากกรุงดามากัสก็มีประชาชนเสียชีวิต 2 รายเมื่อเจ้าหน้าที่สั่งว่า "ยิงไม่เว้น"
 
องค์กรพิทักษ์สิทธิเด็ก (UNICEF) กล่าวเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ว่านับตั้งแต่การลุกฮือในซีเรีย มีเด็กถูกสังหารรวมแล้วอย่างน้อย 384 ราย และมีจำนวนใกล้เคียงกันที่ถูกกุมขัง
 
"จนถึงวันที่ 7 มกราคม มีเด็กถูกสังหารแล้ว 384 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย มีเด็กถูกกุมขัง 380 ราย บางคนอายุต่ำกว่า 14 ปี" ริมา ซาลาห์ รักษาการผู้อำนวยการ UNICEF กล่าว โดยบอกอีกว่าทาง UNICEF มีพันธะต้องปกป้องและรักษาสิทธิเด็กในซีเรีย
 
"ที่ทำการของพวกเราในซีเรียยังคงทำงานอยู่ พวกเราคอยปรึกษาหารือกับรัฐบาลและภาคประชาสังคมอยู่ตลอดเวลา" ริมากล่าว
 
ก่อนหน้านี้การสำรวจตัวเลขเด็กผู้เสียชีวิตในซีเรียอยู่ที่ 307 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลจากการแถลงข่าวของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นาวี พิลเลย์ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2011
 
ที่มา: 
Syria activists report 'massacre' in Homs, Aljazeera, 27-01-2012
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/01/2012127132326703799.html
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 1)

$
0
0

"วิจักขณ์ พานิช" สนทนาธรรมกับ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 1 ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล

 
(๑) ศรัทธาที่เป็นเหตุเป็นผล
 
วิจักขณ์: วันนี้มาแปลกนิดนึงนะครับ คืออยากชวนอาจารย์คุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ก่อนอื่นอยากถามว่า อาจารย์วรเจตน์มีความสนใจเรื่องศาสนาอยู่บ้างไหมครับ 
 
วรเจตน์: ตอนสมัยเรียนอยู่มัธยม หรือสมัยมหาวิทยาลัยช่วงที่สนใจการเมืองเยอะๆ  ผมก็แอนตี้เรื่องศาสนาอยู่เหมือนกันนะ คือ การสอนศาสนาในโรงเรียนเป็นเรื่องของการให้ท่องจำ แล้วก็บังคับให้เชื่อ พอดีผมก็เป็นพวกที่ไม่ค่อยชอบเชื่ออะไรง่ายๆ ประกอบการเรียนในชั้นเรียนวิชาพุทธศาสนา ก็มีแต่สอนให้ท่องธรรมะข้อนั้นข้อนี้ แล้วก็เวลาสอบก็ท่องไปตอบ เช่น พรหมวิหาร 4 มีอะไร... ผมเลยไม่ค่อยชอบ เพียงแต่ว่าการไม่ชอบก็อยู่ในใจ ไม่ได้แสดงออกมาทางภายนอกมาก ก็อาจมีถกเถียงกับเพื่อนที่สนใจเรื่องนี้บ้าง
 
ที่นี้พอเราโตมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น สงสัยมากขึ้น ก็ศึกษามากขึ้น  จุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของผมครั้งหนึ่ง ก็คือ คุณพ่อผมเสียตอนที่ผมกำลังจะขึ้นปี 2 ซึ่งก็กระทบกับทางบ้านเยอะ  พูดง่ายๆ คือ ต้องรีบเรียนหนังสือให้จบออกมาทำงาน  มันก็เป็นธรรมดา พอเราเสียเสาหลักไป... คือ ผมรักคุณพ่อมาก สนิทกันมากเลย... เราก็รู้สึกเหมือนว่าอะไรบางส่วนของเราหายไป ก็เลยพยายามแสวงหาว่า โลกมันคืออะไร ชีวิตคืออะไร ทำไมมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับเรา ที่นี้ทางบ้านเค้าก็เชื่อแบบในแง่วิญญาณอะไรไป แต่สำหรับผม การตายของพ่อก็ทำให้ผมเริ่มสนใจอะไรในด้านนี้ขึ้นมาบ้าง
 
แต่สิ่งที่ผมสนใจมากๆ ก็คือ ปรัชญา ที่นี้พอสนใจปรัชญา ก็หนีไม่พ้นที่ต้องมาสนใจศาสนาด้วย เหมือนเป็นของคู่กัน ผมชอบมากๆ ตอนที่หลุดออกจากโรงเรียนในชั้นมัธยมมาได้ ตอนนั้นผมสอบเทียบแล้วได้เข้าเรียนที่ธรรมศาสตร์ พอเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ได้เรียนวิชาที่เราอยากเรียน วิชานึงที่ผมเลือก ก็คือ วิชาปรัชญาพื้นฐาน เพื่อนๆ ก็พยายามท้วงว่าอย่าไปเรียน วิชานี้มันยาก คือปกติในมหาวิทยาลัยรุ่นพี่ก็พยายามช่วยจัด แนะนำว่าให้ลงวิชานี้สิง่าย ลงเซ็คชั่นนี้กับอาจารย์คนนี้นะ จะได้เกรดดี  แต่ผมเป็นคนไม่สนใจรุ่นพี่ ผมก็เลยจัดวิชาที่ผมอยากเรียนเอง...  คือมหาวิทยาลัยมันก็ดีอย่างนี้ เราได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ แล้วมันก็เสรีในแง่ที่ไม่มีใครมาบังคับเรา มันเปลี่ยนจากการอยู่ในกรอบแบบโรงเรียน ที่บังคับให้ต้องตัดผมสั้นเท่านี้ ต้องเรียนร.ด. ซึ่งบางเรื่องผมรู้สึกว่ามันไร้สาระ แล้วมันก็ไม่ได้ช่วยพัฒนาอะไรในตัวเรา สิ่งแวดล้อมแบบมหาวิทยาลัยทำให้ผมมีความสุขมากๆ พอเราเรียนแบบมีความสุขก็เรียนได้ดี
 
ด้วยรูปแบบการเรียนช่วงมหาวิทยาลัย ท้ายๆ ผมก็เริ่มสนใจศาสนาพุทธแล้ว แต่จุดที่ทำให้ผมสนใจศาสนาพุทธมาก ก็คือตอนที่ผมได้รับทุนอานันทมหิดลไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมัน ตอนนั้นผมเรียนที่เมืองกัทธิงเน่น  ก่อนรวมประเทศเมืองนี้จะอยู่เกือบๆ ชายแดนระหว่างฝั่งเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตก แต่พอรวมประเทศแล้ว กัทธิงเน่นก็อยู่ตรงกลาง ที่นี้ที่เมืองนี้ คือ ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอก พอไปเรียนก็ได้รู้ว่า มันเป็นศูนย์กลางของการศึกษาพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่ง โปรเฟสเซอร์ทางด้านพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงก็อยู่ที่นี่  ในเมืองจะมีศูนย์พุทธศาสนาอยู่บนเขา ผมก็จะชอบขี่จักรยานขึ้นเขาไปที่นี่  มันเป็นบ้านของโปรเฟสเซอร์ที่เค้าเคยสอนอยู่ที่นี่ แล้วภายหลังก็อุทิศให้กับมหาวิทยาลัย  แล้วก็เหมือนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาค่อนข้างเยอะ ผมก็เริ่มศึกษา เริ่มอ่าน บางทีก็ซีร็อกซ์เก็บไว้ก็มี
 
การศึกษาพุทธศาสนาแบบตะวันตกจะมีลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นศาสตร์มากขึ้น ซึ่งเราก็เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดทางพุทธศาสนาผ่านในแง่ความมีเหตุมีผลเชิงวิชาการเข้าไป อ่านทั้งหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธเจ้า และหนังสือที่อธิบายคำสอนพระพุทธเจ้าในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ 
 
จริงๆ ผมก็เอาหนังสือจากเมืองไทยไปด้วยหลายเล่มเหมือนกัน เล่มหนึ่งคือ หนังสือพุทธธรรม ของท่านพระธรรมปิฎก และหนังสือบางเล่มของ อ.สมภาร พรมทา ช่วงนึงตอนที่ผมจบปริญญาโทแล้วกลับมาเมืองไทย ผมก็เริ่มมีความสนใจมากขึ้น ทำให้ผมศึกษาค้นคว้า แล้วก็พบว่า คำสอนในศาสนาพุทธหลายๆ เรื่องก็มีเหตุมีผลในเชิงที่ทำให้เราเข้าใจโลกและเข้าใจชีวิตมากขึ้น  แต่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่สนใจพุทธศาสนาในลักษณะปฏิบัติธรรมแบบเคร่งครัด ก็อยู่แบบโลกย์ๆ นี่แหละ ก็ใช้ข้อธรรมบางข้อที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วรู้สึกกินใจเรา เวลาที่เรามีปัญหาทุกข์ใจ เราก็ใช้การระลึกเอา อย่างเช่น เจริญมรณานุสติ ระลึกดูว่าจริงๆ ชีวิตเรามันก็สั้น วันนึงก็ต้องตาย สุดท้ายก็เอาอะไรไปไม่ได้หมด เราเกิดมาชั่วเวลาหนึ่งก็ต้องตาย โลกนี้เป็นของชั่วคราว คือ ผมว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นกับตัวเรา แล้วเราสามารถมองโลกและจักรวาลในมิติที่มันกว้าง เราก็จะรู้สึกว่าเราก็เป็นแค่สิ่งเล็กมากๆ ในจักรวาล ปัญหาที่เรารู้สึกว่ามันใหญ่มาก เกิดขึ้นในชั่วพริบตาเดียว เดี๋ยวมันก็จะหายไป  คือในแง่นี้ เวลาที่มีปัญหาหลายอย่างรุมเร้า มันก็ช่วยในแง่ของจิตใจทำให้เราเข้มแข็ง ศาสนาก็จะช่วยผมในแง่นี้มากกว่า แต่ถึงขนาดนั่งสมาธิ ลงลึกไปในทางจิตวิญญาณ ผมยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่ามันก็ยังถูกร้อยรัดกับเรื่องของโลกย์ๆ  ก็พยายามทำบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดประสบความสำเร็จอะไร และส่วนตัวมีความรู้สึกว่า เรื่องในทางจิตเนี่ยเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มันยาก แล้วก็หลงทางได้ง่าย  ถ้าเราไปผิดทางเนี่ย มันก็จะผิดไปเลย การทดลองอะไรกับเรื่องจิตเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังมากๆ เพราะว่าถ้าหลงทาง มันก็อาจจะหลงไปไกลจนกู่ไม่กลับ 
 
อีกอย่างนึง คือเวลาที่พูดว่าผมสนใจเรื่องพุทธเนี่ย ผมก็ไม่ได้ติดว่าตัวเองต้องเป็นคนดีอะไรมากมาย  คือความรู้สึกของผม การเป็นคนดีก็คือ แค่เราไม่ทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน แล้วก็ทำอะไรให้คนอื่นบ้าง แต่ว่าชีวิตที่ใช้ ก็เป็นชีวิตแบบโลกย์ๆ ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่บริสุทธิ์อะไรเลย เป็นคนธรรมดามากๆ  สำหรับผมถ้าก้าวไปสูงกว่านั้นได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น เราอยู่กับโลกย์ๆ เราก็ไม่ควรจะต้องรู้สึกผิดอะไร ตราบที่เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน และเบียดเบียนตัวเองมากจนเกินไป 
 
วิจักขณ์: ถึงตอนนี้ความรู้สึกแอนตี้ศาสนามันหายไปมั๊ยครับ
 
วรเจตน์: ตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เพราะพอเราได้ศึกษาเองมากขึ้น เราก็เห็นเหตุเห็นผลในคำสอนพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเองมากขึ้น คือบางทีพุทธศาสนามันอาจจะมาพร้อมกับการเติบโตของชีวิตด้วย  แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ยึดติดกับมันมากเกินไป 
 
มองย้อนกลับไป สิ่งที่ผมมีปัญหากับพุทธศาสนาในบ้านเรา มันอาจจะไม่ใช่ตัวพุทธศาสนาเอง แต่เป็นรูปแบบการนำเสนอหรือการสอนบางอย่างที่มันเป็นตำนานเสียมาก แล้วเวลาสอนก็เป็นลักษณะท่องจำ ผมไม่รู้สึกว่าเราจะได้อะไรจากการจำธรรมะได้เยอะๆ  อีกอย่างคือในเรื่องความเชื่อทำไมต้องบังคับ ทำไมไม่ปล่อยให้คนศึกษา แล้วตัดสินใจเอง ผ่านการคิดตรึกตรองของเขา แล้วรู้สึกว่าเหมาะกับจริตของเขา
 
ประสบการณ์ของผมในโลกตะวันตก อย่างในชั้นเรียนที่เยอรมัน ก็มีคนถามผมว่าผมเชื่อพระเจ้ามั๊ย ผมก็บอกว่าผมไม่เชื่อพระเจ้า โดยผมบอกเขาไปว่า ถ้าพระเจ้ามีจริงแบบตำนานว่าไว้เนี่ย แล้วพระเจ้าสร้างโลก สร้างมนุษย์อะไรจริง ทำไมถึงสร้างให้มันมีความแตกต่างกันเยอะแยะขนาดนี้ ทำไมถึงสร้างให้มันมีความดีความชั่ว ทำไมไม่สร้างโลกนี้ให้มันดีพร้อมไปเลย แล้วผมก็รู้สึกว่าคำอธิบายนี้มันไม่ค่อยตรงกับจริตของผมเท่าไหร่ แต่สุดท้ายผมก็มองว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน  ผมก็มองว่าพระเจ้าอาจจะมีในหลายความหมายก็ได้  อาจจะไม่ได้มีความหมายในแบบที่เป็นอะไรบางอย่างซึ่งมีเจตจำนงในการเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่สอนๆ กันมา แต่อาจจะมีหลายๆ นัยยะ เพราะฉะนั้น พระเจ้าในลักษณะที่เป็นพระผู้สร้างนั้นผมไม่เชื่อ แต่ในเซ้นส์อื่นนั้นผมไม่รู้  คืออย่างในทางพุทธเนี่ย ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยทั้งนั้น หากจะสืบสาวหาจุดเริ่มต้น และจุดจบก็ไม่ได้ เอาเข้าจริงมันก็อยู่ตรงระหว่างทั้งสิ้น แต่ถ้ามากไปกว่านั้นเกี่ยวกับโลก กับชีวิต ผมก็ไม่รู้หรอก ก็รู้เท่านี้แหละ แต่ถ้าถามว่าผมเชื่อมั๊ยว่ามีใครเป็นคนบงการ สร้างโลกอะไรแบบนี้ ผมไม่เชื่อ
 
 
(บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มี 5 ตอน โปรดติดตามตอนที่ 2 เร็วๆ นี้)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์: น้ำท่วมปากเกษตรกร

$
0
0

หลังภาวะภัยพิบัติธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สายน้ำได้พัดพาเอาความฝันความหวังของเกษตรกรในปีที่ผ่านมาลอยไปกับตา เปรียบเสมือน คนเอาเงินแสนใส่กระเป๋าแต่มารู้ตัวอีกทีเงินก็หายไปแล้วเพราะก้นกระเป๋าขาด

เกษตรกรจำนวนมากอยู่ในภาวะน้ำปริ่มจะท่วมปากท่วมจมูกด้วยภาวะหนี้สินที่ต้องพยายามปลดเปลื้องกันปีต่อปี และหากปีใดเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือจับสัตว์เลี้ยงไม่ได้แม้แต่ฤดูกาลเดียว นั่นหมายถึงหนี้สินก้อนโตที่จะเข้ามาทับถมเพิ่ม จนอาจจะต้องสูญเสียปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ออกไป   เพราะเกษตรกรต้องใช้ที่ดินของตนจำนองหรือค้ำประกันหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลนั้นแล้วหวังว่าสิ้นฤดูกาลจะมาเก็บผลผลิตเพื่อใช้หนี้แล้วเหลือเงินบางส่วนได้ใช้จ่ายในครอบครัว หรือสะสมเอาไว้เป็นทุนส่งเสียลูกหลานเรียนต่อเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันตามระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หลังวิกฤตน้ำท่วมสิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กับเกษตรกรจึงมิใช่เพียงเรื่องการสูญเสียรายได้และมีหนี้สินพอกพูนขึ้นมากเท่านั้น   แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าถึงขั้นต้องเลิกทำเกษตรกรรมกันเลยทีเดียว ก็คือ การสูญเสียปัจจัยการผลิต

การสูญเสียปัจจัยการผลิตที่สังคมตระหนักดีและเป็นห่วงกันอยู่มาก ก็คือ ปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน  รัฐบาลก็ได้เล็งถึงปัญหาเหล่านี้มาต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยโดยมีการผลักดันกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณจำนวนมากมาแก้ไขปัญหาผ่านโครงการร่วมกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง หรือแม้กระทั่งการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูหนี้สินให้แก่เกษตรกร

อย่างไรก็ดีปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรกำลังสูญเสียไปและอาจจะหมายถึงการสูญเสียความสามารถในการดำรงวิถีชีวิตเกษตรกรที่สามารถพึ่งพากันเองไปตลอดกาลก็คือ การสูญเสียสิทธิในพันธุกรรมพืช และสัตว์ที่ใช้ทำการผลิตทางการเกษตร   ทั้งนี้บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของพันธุกรรมทางการเกษตรมายาวนานโดยลงทุนวิจัยและจดสิทธิบัตรเพื่อหวงกันสิทธิเพื่อขายต่อให้เกษตรกรในราคาที่ตนกำหนดโดยกดดันให้รัฐทั้งหลายออกกฎหมายมารับรองสิทธิบัตรเหนือสิ่งมีชีวิตให้กับเอกชน   ซึ่งประเด็นนี้เป็นการคุกคามสิทธิเกษตรกร และอธิปไตยเหนืออาหารของคนทั้งโลกอย่างร้ายแรง

เมื่อผนวกเข้ากับภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมที่กวาดเอาพืชและสัตว์รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ตัวอ่อนที่เกษตรกรรักษาหายไปกับน้ำจนหมดเกลี้ยง   เกษตรกรจึงตกในภาวะเสี่ยงที่จะไม่มีปัจจัยการผลิตมากยิ่งขึ้น

จะด้วยความโชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่อาจทราบได้ ความหวังดีของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรให้พ้นจากภาวะล้มละลายและพลิกฟื้นกลับมาทำการผลิตได้อีกครั้ง ด้วยการระดมเมล็ดพันธุ์พืช และตัวอ่อนสัตว์มารวมกันแล้วนำไปมอบให้เกษตรกรเป็นการกุศล อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างที่ผู้หวังดีคาดไม่ถึง

หากคิดในเชิงสมคบคิดก็อาจจะเห็นความแยบคายของกลยุทธ์ที่บรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรกรฉกฉวยเอาวิกฤตมาพลิกเป็นโอกาสอย่างชัดเจน   เนื่องจากบรรษัทเหล่านี้หวังที่จะนำเมล็ดพันธุ์ และตัวอ่อนของบรรษัทตนไปขายให้เกษตรกรใช้จนติดและต้องมาซื้อไปผลิตซ้ำๆแล้วซ้ำเล่าในฤดูกาลต่อไป   แต่เกษตรกรจำนวนมากที่มีการเก็บรักษาพันธุกรรมเหล่านั้นหลุดรอดพ้นบ่วงมาได้ด้วยพันธุกรรมที่ตนสะสมไว้หลายชั่วอายุคน   

เมื่อน้ำท่วมขังต่อเนื่องยาวนานทำให้พันธุกรรมเหล่านี้สูญหายไปอย่างมาก  บรรษัทเกษตรสามารถยื่นพันธุกรรมพืชและสัตว์ของตนให้ภาคเอกชนและภาครัฐนำไปทำการกุศลโดยแจกจ่ายไปยังเกษตรกรหลายพื้นที่ จนเกษตรกรต้องใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของบรรษัทที่ตัดแต่งพันธุกรรมให้เป็นหมันทำให้ต้องซื้อใหม่ทุกฤดูกาลเพราะของบรรพบุรุษก็สูญหาย ส่วนของบรรษัทก็เก็บมาใช้ในฤดูกาลถัดไปไม่ได้เพราะเป็นหมัน   หรือต้องเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชซึ่งเหมาะที่จะเลี้ยงด้วยอาหารและยาของบรรษัทและเป็นหนี้สินกับบรรษัทมากยิ่งขึ้น มีอำนาจต่อรองน้อยลงไปทุกที 

หากเราเป็นห่วงเกษตรกรจริงก็ขอความกรุณาทุกท่านที่มีจิตอันเป็นกุศลช่วยนำพาพันธุ์พืชพันธ์สัตว์ของเกษตรกรในพื้นที่อื่นมามอบให้แก่เกษตรกรด้วยกันเพื่อรักษาสายใยเกษตรกรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ แทนที่จะนำพันธุกรรมของบรรษัทมามอบให้เกษตรกร   

ไม่อย่างนั้นความหวังดีของทุกท่านก็อาจเป็นความประสงค์ร้ายต่อเกษตรกรเมื่อท่านได้อ่านและรับรู้เรื่องราวผ่านบทความนี้แต่ยังไม่เปลี่ยนวิธีการส่งมอบพันธุกรรมให้แก่เกษตรกร

น้ำที่ท่วมเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรที่แห้งไปแล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นหนี้สินที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นมาท่วมปากเกษตรกรต่อไป

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images