Quantcast
Channel: ประชาไท Prachatai.com
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live

วิษณุ เครืองามเปรียบ รธน.ชั่วคราว 2557 เป็นแม่น้ำ 5 สายของโรดแม็ป

$
0
0

ถ่ายสดที่ปรึกษา คสช. อธิบาย รธน.ชั่วคราว "พรเพชร วิชิตชลชัย" ย้ำ ม.44 ไม่แรง ใช้สร้างบรรยากาศที่ดีสู่การปฏิรูป ถ้ารบ.ทำตามปกติไม่ได้ คสช. ก็ทำให้ "วิษณุ เครืองาม" ระบุเนื้อหา รธน.เข้มงวดกวดขันแต่จำเป็นเพื่อไม่ให้คนบ่นว่า "เสียของ" แจงโครงสร้างแม่น้ำ 5 สาย "สนช.-ครม.-สปช.-กมธ.ยกร่าง-คสช." ย้ำอำนาจ คสช. ไม่ใช่พี่เลี้ยง ครม. แต่วางไว้ป้องกันเหตุแทรกซ้อน

ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

23 ก.ค. 2557 - วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช., นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมแถลงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ทั้งนี้การแถลงดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วย (คลิกเพื่อชมเทปบันทึกภาพ)

 

พรเพชร วิชิตชลชัย ระบุ รธน.ชั่วคราวมีเนื้อหายาว เพราะเขียนเรื่องพระราชอำนาจ

ทั้งนี้นายพรเพชร ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัยรัฐธรรมนูญ 2550 และเสนอให้เพิ่มโทษในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมาพูดในสิ่งที่ประชาชนคนใจให้ความสนใจ "หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนผมที่เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557"

รัฐธรรมนูญนี้ถึงแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว แต่ความรู้สึกแรกก็คือ บ้านเมืองของเรากำลังมีกฎกติกาที่แน่นอน มีหลักกฎหมาย คือกฎหมายสูงสุด เป็นนิติรัฐ มีรัฐที่ยึดถือกฎหมาย มีกติกาการอยู่ร่วมกันของประชาชนกับองค์กรที่ใช้อำนาจประชาธิปไตย อีกความรู้สึกประการต่อมาคือ ความชัดเจนของแนวทางการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เพื่อนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่าโรดแม็ป ถ้าจะพูดอีกในรูปแบบหนึ่งคือ "การปฏิบัติตามพันธะสัญญาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ที่จะดำเนินการอย่างไร ด้วยวิธีการและรูปแบบอย่างไร และกำหนดระยะเวลาอย่างไร ดังจะเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้อย่างละเอียด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายของประชาธิปไตย ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

"แต่ความรู้สึกเหนือสิ่งอื่นใดที่ผมสัมผัสได้เมื่อเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่หัวหน้า คสช. ก็คือ ความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับใด จะเป็นฉบับถาวรหรือฉบับชั่วคราว แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์เรียกว่า "Constitutional Monarchy" แต่พระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นเป็นยิ่งกว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่สามารถผู้มีเกียรติจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า เมื่อเห็นภาพที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ผมในฐานะคนไทย รู้สึกอบอุ่น และมั่นคงว่า เราอยู่ภายใต้การปกครองที่มี "พ่อของแผ่นดิน" ดูแลอยู่ ถ้าท่านอ่านตารางเปรียบเทียบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้ มีบทบัญญัติที่ชัดเจนถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในเรื่องต่างๆ ที่พวกเราคนไทย อยากให้ทรงมีพระราชอำนาจนั้น เช่น พระราชอำนาจในการอภัยโทษ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นต้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างจะยาว มากกว่าฉบับชั่วคราวอื่นๆ เพราะได้เขียนไว้มากในเรื่องพระราชอำนาจ ยืนยันถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

หมวดพระมหากษัตริย์คงเดิม แต่เขียนให้ชัดขึ้นเรื่องพระราชอำนาจ

ในส่วนของโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้น นายพรเพชร อธิบายว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ จัดโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ ไว้ชัดเจน องค์กรแรกคือพระมหากษัตริย์ ดังนี้จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะให้คงบทบัญญัติของหมวด 2 ของพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไว้ให้ยังบังคับใช้อยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนให้ชัดเจนถึงพระราชอำนาจในเรื่องต่างๆ เช่น พระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี พระราชอำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ พระราชอำนาจที่สำคัญคือพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน พระราชอำนาจในการทำสัญญากับนานาประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงมีพระราชอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนองคมนตรีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ซึ่งคงไว้เช่นเดิม

สนช. ครม. มีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม

องค์กรต่อไปคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือหมายความว่าการจะออกกฎหมายต่าง ๆ เป็นหน้าที่ขององค์กรนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีจำนวนไม่เกิน 220 คน รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่จะคัดเลือกจากบุคคลภาคต่าง ๆ แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็คือ ครั้งนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดคุณสมบัติไว้หลายประการ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อน ๆ สำหรับคณะรัฐมนตรีก็คงรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับคือ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีก็เช่นเดียวกัน ชัดเจนว่าจะต้องประกอบด้วยผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องมีคุณสมบัติที่ถูกต้อง และก่อนจะทำงานต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์

ยืนยันมาตรา 44 ไม่แรง มีใช้สร้างความสงบสุข สร้างบรรยากาศที่ดีในการปฏิรูป

องค์กรต่อไปที่ท่านคงสนใจและเดี๋ยวอาจจะซักถามอาจารย์วิษณุ ต่อไปก็คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติให้ยังคงไว้อยู่ต่อ เพื่อดูแลตามวัตถุประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือในเรื่องของความมั่นคง ดูแลให้ประเทศชาตินั้นเดินไปได้ ดูแลในเรื่องการปฏิรูป ปรองดอง เพื่อที่กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าในด้านนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการจะดำเนินการไปได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นจำนวนสมาชิกอาจจะเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกิน 15 คน ที่สำคัญคือมีการทำงานร่วมกันกับคณะรัฐมนตรีในลักษณะของการปรึกษา การที่จะแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบในเรื่องความเห็นที่จะต้องดำเนินการ แต่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้เข้าไปทำงานในส่วนที่เป็นของคณะรัฐมนตรี อยู่ข้างนอก

ในส่วนของอำนาจตามมาตรา 44 นั้น นายพรเพชรอธิบายว่า อำนาจที่อาจจะบอกว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด เป็นอำนาจตามแบบมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ขอเรียนว่ามาตรา 44 ไม่ได้แรงขนาดนั้น มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์สร้างความสงบสุข ปึกแผ่น มีบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป ถ้ามีสิ่งใดที่รัฐบาลตามปกติทำไม่ได้ คสช. ก็มีอำนาจทำได้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายพรเทพกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญของหัวหน้า คสช. ที่ได้มอบหมายภารกิจมาว่าจะทำอย่างไรที่จะสนองตอบต่อความต้องการการปฏิรูปในมิติด้านต่างๆ เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะการที่จะระดมความคิดส่วนต่างๆ แล้วให้เกิดผล คงต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน "ด้วยเวลาที่จำกัด เราคงไม่สามารถที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่าให้ภาคส่วนต่างๆ คัดเลือกกันมาหรือทำนองนั้น เลยใช้วิธีสรรหา"

วิษณุเปรียบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นต้นธารแม่น้ำ 5 สาย

ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่าเข้าสู่ช่วงเวลาที่ 2 ตามแผนและขั้นตอน หรือที่เรียกว่า "โรดแม็ป" ซึ่งหัวหน้า คสช. ประกาศไว้หลายวันก่อน ซึ่งโรดแม็ปเริ่มต้นด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันครบกำหนด 2 เดือนพอดีในการ "เข้าครองอำนาจ" ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมทั้งฉบับถาวรและฉบับชั่วคราว โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

คำว่า "ฉบับชั่วคราว" มีความหมายว่าให้ใช้บังคับไปพลางก่อน คาดว่าจะมีระยะเวลา 1 ปี บวกลบ ระหว่างรอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือฉบับที่ 20 เสร็จสิ้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแม็ป คือ การจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับสู่ประเทศ โดยมีความเชื่อว่าในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี นับจากนี้ไปจะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาและเป็นชนวนให้เกิดความคับแค้น ความไม่สงบเรียบร้อยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ หรืออย่างน้อยในระดับหนึ่ง

ความจำเป็นในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี จากนี้ไปก็คือ ทำอย่างไรหนอ ที่จะไม่ให้เกิดเสียงบ่น หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่อุตส่าห์ลงแรงทำมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เสียของ หรือสูญเปล่า เพราะเหตุดังนี้เอง ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว จึงจำเป็นต้องวางหลักการที่อาจดูเข้มงวดกวดขัน หรืออาจจะดูพะรุงพะรัง อาจจะดูว่ายุ่งยากไปบ้าง แต่ก็มีความจำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนกับต้นธารหรือต้นสายแม่น้ำ 5 สาย ที่จะหลั่งไหล พรั่งพรู นับแต่นี้ไปที่จะจะต้องเดินหน้า” นายวิษณุ กล่าว

แม่น้ำสายแรก "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" 220 คน ไม่มีการสมัคร หัวหน้า คสช. พิจารณาเอง

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม่น้ำหรือแควสายที่หนึ่งที่จะแยกไป คือ การเกิด "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" หรือ สนช. ซึ่งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของหัวหน้า คสช. โดยหัวหน้า คสช. จะเป็นผู้พิจารณาโดยเลือกสรรเพื่อนำกราบบังคมทูล ซึ่งสมาชิก สนช.ทั้ง 220 คน ทั้งนี้จะไม่มีการสมัคร แต่หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้พิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีการจัดทำฐานข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เช่น ให้ครอบคลุมสาขาอาชีพ ครอบคลุมจังวัดพื้นที่ ภูมิภาค ครอบคลุมวัย โดยคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็น สนช. ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง หมายถึงดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง หมายความว่า ไม่ได้ขัดข้องที่จะตั้งนักการเมืองในอดีตซึ่งมิได้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง อาทิ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ผู้บริหารพรรค เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงสมาชิกของพรรคการเมือง

นายวิษณุ กล่าวว่า สนช.มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 ประการ ประกอบด้วย การออกกฎหมาย เหมือนกับ ส.ส.ส.ว.ในอดีต รวมถึงการอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกเร่งด่วน หรืออำนาจให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาและหนังสือสำคัญที่รัฐบาลทำกับต่างประเทศ อำนาจหน้าที่ประการที่สองของ สนช.คือ การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเลือกจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก สุดแต่สภาฯจะพิจารณาเองไม่มีข้อกีดกันหรือจำกัด

อำนาจที่สาม คือ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินหรือการทำงานของรัฐบาล โดยจำกัดเพียงการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ไม่รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อซักฟอก ถ้ามีปัญหาสงสัยในการทำงานอาจเชิญรัฐบาลมาสอบถามหรือที่เรียกว่าอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ

อำนาจที่สี่คือ การให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องมาที่สภา เช่นการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ

แม่น้ำสายสอง "คณะรัฐมนตรี" เปิดทาง ขรก. รัฐวิสาหกิจ เพราะต้องการ "บุคคลมีความรู้ความสามารถ"

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคน และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเดิม ครม.จะแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ เป็นข้าราชการประจำ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ได้ เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นห้วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นเพียง 1 ปี จึงสมควรเปิดทางให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ถือเป็นเรื่องปกติภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

อำนาจหน้าที่ของ ครม.แต่เดิมคือการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงเวลาไม่ปกติ และต้องการป้องกันไม่ให้ถูกกล่าวหาว่า “เสียของ” หรือสูญเปล่า จึงกำหนดเป็นครั้งแรก ให้ ครม.มีอำนาจเพิ่มอีก 2 อย่าง นอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน คือ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งที่ดำริเอง หรือตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวงการอื่นๆ และ ให้ ครม.มีอำนาจและหน้าที่ในการสร้างความสามัคคีปรองดองแลการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม โดยถือเป็นพันธกิจที่ ครม.ต้องปฏิบัติ

แม่น้ำสายสาม "สภาปฏิรูปแห่งชาติ" มีวาระ 11 เรื่อง สรรหามาจากจังหวัด และความเชี่ยวชาญ

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา ซึ่งแบ่งออกเป็นมาจากจังหวัดต่างๆ และ กทม. รวม 77 คน โดยสรรหามาจากแต่ละจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหาจังหวัดละ 1 คณะ เพื่อหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่เคารพนับถือ มีความสามารถ มีเวลา เข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดละ 1 คน โดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช.เลือก 1 คน ในส่วนอีก 173 คนที่เหลือ จะเป็นการกระจายมาจากทั่วประเทศไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือพื้นที่ใด แต่ผูกพันจากด้านต่างๆ 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านสังคม และด้านอื่นๆ

จะมีคณะกรรมการสรรหาประจำด้านละ 1 ชุด ผู้ที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสรับเลือกเป็น สปช. โดยการสรรหาสมาชิก 173 คน จากทั่วประเทศจะให้ใช้วิธีการเสนอชื่อเข้ามา ห้ามสมัครเอง หรือแสดงความจำนงว่าอยากเป็น จะต้องมีองค์กรหรือนิติบุคคล สมาคม มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่วัด รับรองและเสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน ว่าจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด ดังนั้นใครอยากสมัครเข้ามาเป็น สปช.ต้องหาองค์กรรองรับเพื่อเสนอชื่อเข้ามาว่าจะปฏิรูปด้านใด แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็สามารถขอเปลี่ยนไปปฏิรูปด้านอื่นได้  โดยคณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้ที่องค์กรต่างๆ เสนอชื่อเข้ามาด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 550 คน จาก 11 ด้าน ส่งไปยัง คสช.เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 173 คน

นายวิษณุ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของ สปช. คือ การเสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้เลย ก็ส่งไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือ คสช.ดำเนินการทันที แต่ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับจะต้องขอให้สปร. ยกร่างกฎหมาย ก่อนนำเสนอให้ สนช. ซึ่งหมายความว่า สปช.สามารถเสนอกฎหมายได้โดยเสนอผ่าน สนช. อำนาจหน้าที่ประการที่สอง ของ สปช. คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

แม่น้ำสายสี่ "กมธ.ยกร่าง" ให้เวลา 120 วันร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่สี่ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรมมนูญ หรือ "กมธ.ยกร่าง" จำนวน 36 คน โดยมาจาก สปช.เสนอ 20 คน  มาจาก สนช.เสนอ 5 คน มาจากที่ ครม.เสนอ 5 คน และจากที่ คสช.เสนอ 5 คน โดย คสช.จะเป็นผู้เสนอคนขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง อีก 1 คน ซึ่งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมีอำนาจมาก คนที่จะเป็น สปช.ไม่มีข้อห้ามว่าคนที่เป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีตำแหน่งในพรรค สามารถเข้ามาเป็นได้ โดยมีอายุตั้งแต่ 35 ปี อย่างน้อย จะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผอ.เทศบาลได้ทั้งสิ้น เพราะงานปฏิรูปเป็นงานของประเทศ จึงพยายามให้มีข้อจำกัดน้อยที่สุด จบ ป.4 ก็เข้ามาเป็นได้

แต่ผู้ที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน โดยต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ ทำงานแข่งกับเวลา เพราะกำหนดให้เวลาทำงานเพียง 120 วัน หรือ 4 เดือน ต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นจะต้องเสร็จ คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น "กมธ.ยกร่าง" จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ก่อนย้อนหลัง พยายามเอาคนที่ปลอดจากการเมืองมาร่างรัฐธรรมนูญ และห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาเป็น กมธ.ยกร่าง รวมถึงห้าม กมธ.ยกร่าง ทั้ง 36 คน ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในอนาคตอีกไม่ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ถือเป็นการกันทั้งอดีต และอนาคต ซึ่งหมายความว่าคนที่จะเข้ามาเป็นนั้นนอกจากมีความรู้ ความสามารถ มีเวลา มีความคิดแล้วต้องเสียสละเป็นพิเศษ

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จก็ให้นำเสนอต่อ สปช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งอาจมีการขอแก้ไขหรือแปรญัตติได้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของ กมธ.ยกร่างฯ และเพื่อป้องกันไม่ให้กมธ.ยกร่างฯ ไปร่างตามใจชอบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดกรอบไว้ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ กรอบที่ สปช.ให้ไว้ตั้งแต่ต้น กรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ฝากไว้ในมาตรา 35  เช่น การกำหนดเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการป้องกันขจัดการทุจริต แลการป้องกันไม่ให้คนที่เคยได้ชื่อว่าทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคตรวมทั้งกำหนดหลักการในการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการมุ่งหาเสียงหรือประโยชน์ใส่ตนโดยทุจริตมิชอบรวมทั้งการทบทวนความจำเป็นว่าควรจะใส่เรื่ององค์กรอิสระอะไรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญบ้างเพราะอาจมีหลายองค์กรที่ไม่มีความจำเป็น อาจออกเป็นกฎหมายธรรมดาก็พอ แต่ไม่ได้หมายความว่าบังคับให้ยกเลิกการตั้งองค์กรอิสระเพียงแต่ให้ไปทบทวนความจำเป็น หรือเห็นควรว่าควรมีสิ่งใดใหม่ก็ต้องพิจารณา

แม่น้ำสายที่ห้า คือ คสช. ยืนยันไม่ใช่พี่เลี้ยง ครม. แต่วางไว้ป้องกันปัญหาแทรกซ้อน

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำหรือลำธารสายสุดท้ายหรือสายที่ 5 คือตัว คสช. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนจากปัจจุบัน 6-7 คน ให้มีเพิ่มไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่ของ คสช.มีเพียงแค่ หนึ่ง เสนอแนะให้ ครม. พิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้า ครม.พิจารณาแล้วอาจจะไม่ปฏิบัติก็ได้

นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ประการที่สองของ คสช. คือ ยังมีอำนาจหน้าที่เชิญ ครม. ประชุมร่วมกันหารือปัยหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช. ไม่เชิญไป ครม.สามารถเชิญ คสช. ได้

“ไม่มีที่ใดในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 นี้ กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีที่ใดที่กำหนดให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยให้ ครม. และไม่ได้กำหนดให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการประจำ เพียงแต่ให้ คสช.มีอยู่เพื่อดูแลแบ่งเบาภาระ ครม.ในด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อที่ ครม. จะได้ทำงานบริหารราชการแผ่นดิน ไม่วอกแวกกับปัญหาแทรกซ้อนในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่ง คสช. ก็จะรับภาระไปดำเนินการ รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง สามัคคี"

วิษณุยืนยันมาตรา 44 ใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่ปราบปราม และหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีนอก รธน.

นายวิษณุกล่าวถึงมาตรา 44 ว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ คสช. มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ในกรณีเกิดความจำเป็นสุดขีด โดยไม่ต้องหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก จึงได้กำหนดในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญให้ คสช. อาจใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ว่าถ้ามีกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ ไม่ใช้เพื่อการปราบปราม คสช. ก็อาจใช้อำนาจพิเศษได้แม้แต่จะใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่ไปมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ  ซึ่ง คสช.คงไม่ได้ใช่บ่อยครั้งหรือพร่ำเพรื่อ ซึ่งทุกยุคที่มีการยึดอำนาจในอดีต เกือบทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่ได้ปรากฏว่าใช้ทุกยุคทุกสมัย แต่ก็จะใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก ที่สำคัญอาจจะใช้เพื่อการสร้างสรรค์และทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเองอาจจะใช้ลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย รวมทั้งปัญหาหลายอย่าง ทั้งหมดนี้คือลำธาร 5 สายแยกไปจากรัฐธรรมนูญ" นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า แน่นอนครับรัฐธรรมนูญนี้แม้จะมี 48 มาตรา ซึ่งยาวกว่าในอดีต แต่ก็ยังถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

"หลายคนอาจจะสงสัยว่ามี 48 มาตราแค่นี้จะพอกินพอใช้ พอแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันหรือ เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาที่เขาจะต้องเขียนเอาไว้ สิ่งที่เราเคยรู้จักกันดีในอดีตเรื่องมาตรา 7 มันก็ต้องมาปรากฏอีกตรงนี้ว่า ถ้าไม่มีที่ใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายคนฟังแล้วก็พึมพำว่า "อ้อ ม. 7 มาอีกแล้ว"  ก็ที่มันยุ่งกันในอดีตไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า ม. นี้แปลว่าอะไรหรอกหรือ เราก็รู้ว่ามันยุ่ง แต่จะไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้ก็จะเกิดปัญหาช่องว่าง ขาดมาตราหลายมาตรา แต่ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเขียนแล้วไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร ถึงเวลาก็เถียงกันเหมือนกันว่าเป็นหรือไม่เป็นประเพณี คราวนี้ได้แก้ปัญหาว่าถ้าสงสัยว่าเรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่ อย่าเพิ่งไปทะเลาะกัน ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นประเพณี ทำได้ก็จะได้ทำ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่เป็น ทำไม่ได้ก็จะได้ไม่ต้องทำ ไม่ต้องปล่อยให้ทำไปถูกๆ ผิดๆ แล้วมาวินิจฉัยทีหลังว่ามันไม่เป็น ที่ทำไปแล้วผิด แล้วก็ต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ"

"ส่วนที่อาจารย์พรเพชรได้ชี้แจงแล้วว่าหลายอย่างไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนสงสัยว่าศาลยังอยู่ไหม ไม่ว่าศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตอบว่าอยู่ ยังอยู่ไปตามปกติ ถามว่าองค์กรอื่นเช่น กกต. ป.ป.ช. ยังอยู่ไหม ตอบว่าอยู่ไปตามปกติ เว้นแต่องค์กรที่ คสช. ได้ออกประกาศล่วงหน้าต่อก่อนหน้านี้ยกเลิกไปแล้ว นั่นก็แล้วไป อะไรที่เขาไม่ได้พูดถึงไว้ก็ทำหน้าที่กันต่อไปตามปกติจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมากำหนด และสุดท้ายอาจจะมีคำถามในใจหลายคนว่า รัฐธรรมนูญฉบับหน้าคือฉบับที่ 20 ที่จะไปร่างกันนั้น ร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ผิดทาง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะไปพิจารณากันตามความจำเป็นในอนาคตได้"

รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะอยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอาจฝากงาน "สภาปฏิรูป" ทำต่อได้

"ข้อสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำสิ่งซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในอดีตไม่ได้เขียนไว้ แต่มีเขียนในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือ เมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือฉบับที่ 19 ชั่วคราวนี้ มีปัญหาอย่างใดที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจับมือกันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องอยู่ หรือควรจะมีแม้จะเป็นฉบับชั่วคราวก็สามารถจะแก้ไขได้อนาคต คือได้พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและลำธาร 5 สายที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญในวันนี้สามารถไหลได้คล่อง สามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่สะดุด พบสะดุดที่จุดไหนก็จะได้แก้ไขกันไป"

"และสุดท้ายที่มีคำถามในใจ ขออนุญาตตอบก่อนที่จะมีการถามในตอนหลังว่าลำธาร 5 สายจะอยู่ไปนานจนถึงเมื่อใด คำตอบ ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเลิกแน่ เพราะของใหม่มาแทน ของเก่าก็หมดไป สนช. นั้นจะอยู่ไปจนกระทั่งถึงวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาชุดหน้า คือมี ส.ส. สมัยหน้าเมื่อใด สนช. ก็ไม่จำเป็นและหมดไป คณะรัฐมนตรีจะอยู่ไปเมื่อใด จนกระทั่งถึงเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อครับ ชุดเก่าก็หมด ชุดใหม่ก็เข้ามาแทน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด คำตอบคือว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามอย่างนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจจะเขียนให้สภาปฏิรูปอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปเรื่องที่ค้างคาต่อไปก็ได้ หรือจะไม่ให้อยู่เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้เป็นของ ส.ส. ที่เขาเข้ามาก็ได้ ก็ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสร็จและหมดไปเมื่อใดก็เมื่อร่างเสร็จลงพระปรมาภิไธยเสร็จ ประกาศใช้ คณะกรรมาธิการก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช. จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด โดยหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็คงจะไม่ได้เขียนเรื่อง คสช. เอาไว้ในฉบับใหม่อีก คสช. ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้ก็คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีบวกลบ ก็ขอกราบเรียนเพื่อความเข้าใจครับ"

"ประวิตร โรจนพฤกษ์" ยกมือถาม-ก่อนตัดจบถ่ายสดเพราะหมดเวลาถ่ายทอด

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวดังกล่าวการถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 50 นาที ก่อนจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม โดยนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยขอถามนายพรเพชร และนายวิษณุ 2 มาตรา คือ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปรียบเทียบกับ มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์  และมาตรา 48 เรื่องบทนิรโทษกรรม คสช.

กรณีมาตรา 44 นายประวิตรถามว่า ที่ระบุว่ากรณีหัวหน้า คสช. เห็นว่ามีความจำเป็น ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจสั่งการระงับยับยัง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้น จะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ  และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด

นายประวิตรถามว่า "ตรงนี้นี่สามารถตีความได้ไหมครับว่า อำนาจของหัวหน้าคณะ คสช. ก็คือสูงสุด และอาจจะมีความคล้ายคลึงกับยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปกครองผ่านมาตรา 17 อันนี้คือความเป็นห่วงเป็นใย แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นเนี่ย จะถือได้ไหมครับว่า  ในความเป็นจริงแล้วอำนาจของหัวหน้า คสช. ในช่วงที่ยังมีการใช้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวเนี่ย ก็ยังอยู่เหนือ ครม. และตัวนายกรัฐมนตรี"

ส่วนคำถามที่สองที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายประวิตรถามว่า "ขอถามไปที่ มาตรา 48 ที่พูดถึงว่า การกระทำใดๆ ที่โยงกับ การยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผู้ปฏิบัติทุกท่าน "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" จากนั้นประวิตรถามว่า "คำถามนี้อาจจะโยงเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง เพราะในขณะเดียวกัน ก็คงชัดว่า คสช. ไม่ต้องรับผิดชอบ ทางกฎหมายใดๆ กับการกระทำ ในการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประชาชน หรือคนจำนวนหนึ่งที่ ออกมาก่อการกระทำบางอย่าง โดยนายประวิตรยกตัวอย่าง กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูก คสช. ดำเนินคดี

อย่างไรก็ตามไม่ทันที่จะถามจบ สัญญาณถ่ายทอดสดโทรทัศน์ตัดเข้าสู่รายการปกติ อย่างไรก็ตามช่วงถาม-ตอบ ยังคงดำเนินอยู่ โดยที่ก่อนหน้าการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า จะไม่มีการถ่ายทอดสดช่วงถาม-ตอบ โดยหลังการตั้งคำถาม ทั้งนายพรเพชร และนายวิษณุได้ตอบคำถามนายประวิตรด้วย โดยประชาไทจะนำเสนอในส่วนของช่วงตอบคำถามต่อไป

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กกต. เผย คสช. ตั้งให้เป็นฝ่ายเลขานุการ ‘สรรหา’ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

$
0
0

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผย ได้รับการประสานจาก คสช. ให้เป็นฝ่ายเลขานุการในกระบวนการสรรหา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

23 ก.ค. 2557 นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต. ได้รับการประสานจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว โดย คสช. มอบหมายให้สำนักงาน กกต. เป็นฝ่ายเลขานุการในการดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติเพื่อสรรหาคัดเลือกบุุคคลเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 วันหลังจากนี้จะมี "ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ...." โดยอ้างถึงมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ซึ่งกระบวนการสรรหาเบื้องต้น คสช. จะตั้งคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา 11 คณะ คณะละ 7 คน และคณะกรรมการสรรหาในส่วนจังหวัดอีก 1 คณะ เพื่อดำเนินการสรรหา คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ใน 11 ด้าน ด้านละ 50 คน รวมไม่เกิน 550 คน เสนอต่อ คสช. เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือไม่เกิน 173 คน , ขณะที่ในส่วนจังหวัด คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อผู้ที่เหมาะสม จังหวัดละ 5 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือเพียงจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ซึ่งจะทำให้ได้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทั้งหมดไม่เกิน 250 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คาดว่ากระบวนการสรรหาทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 50-60 วัน จะได้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ภายในเดือนตุลาคม 2557

เลขาธิการ กกต. กล่าวด้วยว่า บุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศ ,ซึ่ง 1 คน สามารถเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาได้เพียง 1 ด้าน และต้องเป็นการเสนอชื่อโดยองค์กร นิติบุคคล ที่ไม่แสวงหาประโยชน์หรือผลกำไร องค์กรละไม่เกิน 2 คน และต้องเป็นมติเสนอจากการประชุมขององค์กร นิติบุคคล สำหรับสำนักงาน กกต.จะมีบทบาทในการตรวจสอบคุณสมบัติและเสนอความเห็นให้คณะกรรมการสรรหาเท่านั้น

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

มติชน เปิดประวัติ "พรเพชร วิชิตชลชัย" มือกฎหมาย คสช.

$
0
0

23 ก.ค. 2557 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันนี้มีการตั้งโต๊ะแถลงข่าว อธิบายรายละเอียดที่มาของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ภายหลังจากที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 แถลงกัน 3คน นั่งตรงกลางคุ้นหน้าคุ้นชื่อกันดี คือ "พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา" ถัดไปทางขวามือของพลเอกไพบูลย์ ไม่ใช่ใครอื่น เนติบริกรเรื่องชื่อ "วิษณุ เครืองาม"       

แต่ที่ใครๆได้ยินชื่อแล้ว "ต่อมงง" อาจจะทำงานอย่างรวดเร็ว แม้หลายท่านจะรู้จักแล้ว แต่อาจมีหลายท่านอาจไม่คุ้นนัก คือชื่อของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ว่าแต่เขาเป็นใคร กล่าวกันว่าเขามีบทบาทหลักในการจัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ เพราะเนื้อหาที่แถลงเป็นเรื่องหลักการล้วนๆ ผิดกับ วิษณุ ที่แถลงลงแต่ในรายละเอียด

"นายพรเพชร วิชิตชลชัย" หรือ "ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย"

ประวัติ

เกิดเมื่อ 1 ส.ค. 2491 ปัจจุบันอายุ 65 ปี

จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เนติบัณฑิตไทย

ปริญญาโท กฏหมาย จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

รับราชการครั้งแรกในตำแหน่งนิติกร สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ต่อมาเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษา เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผ่านการฝึกอบรมได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงวิธีดําเนินคดีแพ่ง และวิธีดําเนินคดีอาญาจากสหรัฐ และประกาศนียบัตรทรัพย์สินทางปัญญา

จบหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ. 41)

เคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

เคยเป็นองค์คณะ ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (คดีทุจริตกล้ายาง)

เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ ธุรกิจ ชินคอร์ป ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินป้ายแดง แทน นายประวิช รัตนเพียร ที่ ลาออกไปสมัครเป็น กกต.

และ นายพรเพชร ผู้นี้นี่เอง เป็นผูู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้พระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้การเลือกตั้งคราวล่าสุดนั้นสิ้นผลไป

และเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย โดยเฉพาะวิชาพยานหลักฐาน ในระดับปริญญาตรี ชั้นเนติบัณฑิต รวมถึงระดับปริญญาโทด้วย

อีกทั้งในสมัยที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็น สนช. ได้เคยเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยให้ความผิดดังกล่าว ครอบคลุมถึง การกระทำความผิดต่อ พระราชโอรส พระราชธิดา ประธานองคมนตรี องคมนตรี และผู้แทนพระองค์ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บางประการอันเป็นราชการในพระองค์ ให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและรับโทษหนักขึ้น และยังเสนอให้ออกกกฎหมาย ห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอีกด้วย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : สนช.เสนอเพิ่มโทษ ม.112 กม.หมิ่นฯ ขยายคลุม "องคมนตรี" และห้ามเสนอข่าวคดีหมิ่นฯ)

กับตำแหน่งใหม่ล่าสุด ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นเอง

แถมยังมีรายงานด้วยว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มาช่วยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. และมีส่วนในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ครั้งนี้ อาจได้เป็น ประธานคณะกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

FTA Watch อัด รธน.ชั่วคราว ตัดตอน ปชช. ทิ้งธรรมาภิบาลการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

$
0
0

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน แถลง รธน.ชั่วคราว ฉบับ คสช. “ละทิ้งธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ยึดคืนพื้นที่ประชาชน กระชับอำนาจชนชั้นนำไทย”

23 ก.ค. 2557 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ออกแถลงการณ์ “ละทิ้งธรรมาภิบาลในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ยึดคืนพื้นที่ประชาชน กระชับอำนาจชนชั้นนำไทย” โดยแถลงการณ์ดังกล่าวเริ่มด้วยการยก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา

ซึ่งระบุว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มอำนาจในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศให้แก่ฝ่ายบริหาร ซึ่งประกอบด้วยบุคคลส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่มีอำนาจ มากขึ้น โดยปราศจากการตรวจสอบจึงถือได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่เป็นการกระทำเพื่อความสะดวกของบุคคลเหล่านั้น การกระทำของผู้ถูกร้องจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งไม่เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ สิทธิเสรีภาพและความเสมอของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสิทธิของประชาชน นอกจากนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 4, 5 และมาตรา 87 อันเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”

จากเหตุผลสำคัญนี้ที่ทำให้ความพยายามในการที่จะเขี่ยประชาชนทิ้งจากกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขจัดประชาชนออกไปจากกระบวนการจัดทำหนังสือสัญญาออกไปสำเร็จ กลับเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเพื่อไทยเสียเอง

หากจะอ้างว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่มีเวลาให้จัดรับฟังความคิดเห็น หรือศึกษาผลกระทบ แต่โดยความจริงแล้วไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร การจัดทำหนังสือสัญญาจะสำเร็จได้ ต้องมีกระบวนการที่ดีและมีธรรมาภิบาล

ดังนั้น การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปจึงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงและไม่เป็นเหตุเป็นผลกับการที่จะอธิบายกับการใช้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว การตัดขั้นตอนธรรมาภิบาลออกไปเป็นความพยายามชนชั้นนำไทยไม่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคราชการ นับตั้งแต่มาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถือกำเนิดขึ้นมา

ตลอดชีวิตของมาตรา 190 ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมายต่อประเทศไทย ได้วางรากฐานกระบวนการที่ดี แต่ขณะเดียวกัน มาตรา 190 ก็ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม ดูเหมือนผู้มีอำนาจปัจจุบันจะมองเห็นเพียงประโยชน์อย่างหลัง ณ นาทีนี้ มาตรา 190 จึงหมดความหมาย

ทั้งที่จริงแล้ว การสร้างกรอบกติการะหว่างประเทศที่เป็นธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ จะเป็นการประกันความสุขให้กับประชาชน โดยไม่ต้องหวังพึ่งให้ใครมาคืน

ย้ำอีกครั้ง กระบวนการธรรมาภิบาลซึ่งประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบของการจัดทำความตกลง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้สร้างความขัดแย้งหรือความเกลียดชังทางการเมืองแต่อย่างใด และไม่ได้ลดประสิทธิภาพการเจรจา ดังนั้น การกำจัดหลักการเหล่านี้ออกไป จึงเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

ในตอนท้ายแถลงการณ์กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ระบุด้วยว่า “ภาคประชาชนจะพยายามอย่างสร้างสรรค์และเต็มที่ที่จะนำหลักการและการมีส่วนร่วมกลับมาสู่การจัดทำความตกลงระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุด”

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แนะทุกครอบครัวสอนเด็กจำสายด่วน 1669 ช่วยชีวิตฉุกเฉิน

$
0
0

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีที่มีชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากโรคประจำตัวโดยมีลูกสาวนั่งเฝ้าศพของพ่อในรถโดยบอกว่าพ่อนอนพักผ่อนซึ่งเด็กทั้งสองไม่ทราบว่าพ่อได้เสียชีวิตไปแล้วนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ได้ถอดบทเรียนของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติให้กับหลายครอบครัวหากต้องเจอเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว

นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเศร้าสลดให้กับประชาชนที่ได้รับฟังข่าวสารเป็นจำนวนมาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียด้วย สำหรับประชาชนทั่วไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการเอาตัวรอดหากเราหรือคนในครอบครัวต้องประสบกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ในเบื้องต้นนั้นเราต้องสำรวจตัวของเราเองและหมั่นพบแพทย์อยู่เสมอหากพบความผิดปรกติของร่างกาย และเมื่อพบว่าตนเองมีโรคประจำตัวและต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอควรแจ้งสมาชิกในบ้านให้ทราบ และควรบอกเล่ารายละเอียดถึงตัวยาที่เราจะต้องใช้ในการรักษาโรคประจำตัวให้สมาชิกในบ้านได้รับทราบอย่างชัดเจนพร้อมทั้งวางยาให้อยู่ในตำแหน่งที่หยิบใช้ได้ง่าย และสมาชิกในบ้านทราบถึงตำแหน่งของการเก็บยาดังกล่าวด้วย นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดหากบ้านไหนมีลูกที่เป็นเด็กเล็กควรสอนลูกให้จดจำหมายเลขสายด่วนในการช่วยชีวิตโดยเฉพาะหมายเลขสายด่วน 1669 อาจจะสอดแทรกกับเด็กระหว่างเล่านิทานให้เด็กฟัง หรือสอดแทรกระหว่างทำกิจกรรมในครอบครัว โดยต้องบอกเด็กให้ชัดเจนว่าหากมีคนในบ้านเจ็บป่วยฉุกเฉินควรโทรสายด่วน 1669 ในทันที

นพ.ภูมินทร์  ได้ยกถึงกรณีการสอนเด็กเล็กให้จดจำหมายเลขสายด่วนในการช่วยชีวิตว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ปกครองของเด็กจะสอนให้เด็กจดจำหมายเลข 911 ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ โดยสอนวิธีการกดโทรศัพท์ และการปลดล็อคโทรศัพท์เพื่อโทรหาสายด่วนในการช่วยชีวิต โดยได้มีกรณีเด็กผู้หญิง 3 ขวบที่สามารถช่วยชีวิตพ่อได้จากการโดนมีดฟันแขนและตัดเส้นเลือดใหญ่  ดังนั้นครอบครัวในประเทศไทยเองควรจะนำวิธีนี้มาปรับใช้ เพื่อลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากทราบว่ามีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงก็ควรต้องยิ่งระมัดระวัง เมื่อเห็นอาการผิดปกติ เช่น แขนขาชา ปากเบี้ยวฉับพลัน หายใจติดขัด ควรรีบบอกคนใกล้ชิดโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที  นอกจากนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยังมีโครงการอาสาฉุกเฉินชุมชน ที่จะสอนเด็กในโรงเรียน ให้รู้หลักการจดจำสายด่วน 1669  ขั้นตอนการแจ้งเหตุ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและลดอัตราเสี่ยงในการเสียชีวิตจากเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินได้อีกด้วย

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

สกว.เปิดโลกทัศน์ความสัมพันธ์ไทยกับอาเซียนภาคพื้นทวีป

$
0
0

23 ก.ค.57 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “เปิดโลกทัศน์ความสัมพันธ์ไทยกับอาเซียนภาคพื้นทวีป: ผลประโยชน์ร่วมบนวิถีมิตรภาพและความขัดแย้ง” ซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อทบทวนสถานภาพความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้าน การพึ่งพิงกัน ประโยชน์ร่วมกัน ความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ประเด็นขัดแย้ง รวมทั้งการรับรู้และความเข้าใจระหว่างกันในลักษณะรู้เขารู้เรา เพื่อเป็น “แผนที่นำทาง” สำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญรายประเทศจากสถาบันเอเชียศึกษาเป็นวิทยากร

รศ. ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา กล่าวว่า โลกไร้พรมแดนเกิดสื่อต่างๆ ที่เผยแพร่ไปสู่การรับรู้ที่หลากหลายของประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการที่รัฐเป็นผู้กำหนด จึงนำมาสู่งานวิจัยในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่อการรับรู้ของประเทศไทย ผลงานที่นำเสนอในครั้งนี้คือผลึกอันเกิดจาการนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยทั้งหมดมาประมวลรวมกัน และเปิดประเด็นให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศอาเซียน องค์ความรู้ที่จะแบ่งปันหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบาย เปิดโลกประชคมอาเซียนในมิติใหม่ที่ไม่ใช่เพียงเสาหลักด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นองค์รวมในภาพกว้างว่าชาติสมาชิกคิดกับประเทศของเราอย่างไร มีมิติเบื้องลึกทางประวัติศาสตร์ สังคม วรรณกรรม อันจะนำไปสู่การเข้าใจสังคมมนุษย์มากกขึ้น ซึ่งถือเป็นพันธกิจของสถาบันฯ ในการทำงานวิจัยนี้

ในการบรรยายเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้าน: ผลประโยชน์ร่วมบนวิถีมิตรภาพและความขัดแย้ง” สุเนตร กล่าวว่าเดิมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอาจถูกกำหนดด้วยมิติทางภูมิศาสตร์ แต่ปัจจุบันต้องให้นิยามและลำดับชั้นโดยอาจอาศัยมิติทางประวัติศาสตร์ การเมืองและอื่น ๆ ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจให้ลุ่มลึกกว่าที่เคยทั้งในลักษณะทวิภาคีหรือพหุภาคีที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ร่วม จึงต้องทำการวิเคราะห์ในภาพกว้างและจำเป็นต้องอธิบายถึงสถานะและตัวตนของ “ผลประโยชน์” ภายใต้การผูกขาดของรัฐและมิติความเป็นทุนนิยม สิ่งที่เป็นประโยชน์ของบ้านเมือง คือ คนต้องมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่จะเปลี่ยนเป็นเงินได้ ในช่วงสงครามเย็นรัฐเป็นผู้ผูกขาดผลประโยชน์ของบ้านเมือง แต่เมื่อถึงจุดหักเหสำคัญหลังสงครามเย็น รัฐไม่ได้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวหากยังมีบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจต่อรองในระดับที่แตกต่างกันเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การจำนำข้าว ที่รัฐกับคนอีกส่วนหนึ่งมองเห็นผลประโยชน์แตกต่างกัน หรือกรณีประเทศพม่ามีผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องความมั่นคงมนุษย์ ความเท่าเทียมกันในสังคม การลดทอนความเสี่ยงทางสภาพแวดล้อม โดยมีโมเดลการปฏิรูปประเทศในศตวรรษที่ 21 คือ ลดความยากจน สร้างงาน ลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ให้ความสำคัญกับปัญหาสภาพแวดล้อม น้ำ พลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับในประเทศลาว ต่างชาติที่เข้าไปลงทุนโดยเฉพาะจีนได้สร้างความขัดแย้งเรื่องการจัดการทรัพยากรกับคนในพื้นถิ่นทำให้เกิดการต่อต้านเคลื่อนไหว นับเป็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การจัดลำดับชั้นของผลประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้มีเพียงสูตรเดียว แต่ละภาคส่วนอาจมองผลประโยชน์และปัญหาแตกต่างกัน สะท้อนถึงการจัดลำดับชั้นความมั่นคงว่าสิ่งใดควรมาก่อนหลัง จุดหักเหสำคัญที่เกิดขึ้นในองค์รวมสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือ พรมแดนความขัดแย้งในภูมิภาคระหว่างทวิภาคี เกิดการลดพื้นที่ ปัจจัยและปฏิบัติการลดความขัดแย้งให้มีการจำกัดขอบเขต ความขัดแย้งที่สำคัญคือ การเมืองการทหาร ดังปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ต้องไม่กระทบความสัมพันธ์ทางการค้าเพราะมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพากัน โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งการอยู่กันแบบพึ่งพาผลประโยชน์ร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง วิถีของมิตรภาพและความขัดแย้งได้ลดสัดส่วนระหว่างรัฐต่อรัฐแต่เริ่มมีการจัดการในระดับพหุภาคี สิ่งที่เพิ่มสัดส่วนคือ ความขัดแย้งในภาคประชาชน ซึ่งบางครั้งลุกลามและส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ส่วนความขัดแย้งที่จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ในอนาคต คือ การจัดการทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์กับพลังงาน และการจัดการน้ำ

“สิ่งที่น่าห่วงคือ การเปลี่ยนแปลงของสถานะที่เรียกว่า ผลประโยชน์บนวิถีมิตรภาพและความขัดแย้งที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์และสภาพแวดล้อม ที่ยังขาดการสำนึกรู้และพัฒนาความรู้ความเข้าใจเพื่อการตั้งรับ ไม่มีการจัดการระบบผลประโยชน์ร่วมบนวิถีทางที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสู่ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงสื่อมวลชนจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะเปิดมิติความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้ก้าวล่วงสู่พรมแดนบนฐานความรู้จากงานวิจัย” สุเนตรกล่าว

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ศาลอนุมัติหมายจับ ‘พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย’ คดี ม.112

$
0
0

23 ก.ค. 2557 ศาลอาญา อนุมัติหมายจับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากมีผู้มาร้องเรียนกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีกับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ในข้อหาดังกล่าว เพราะมีพฤติการณ์หมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2554

โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้อนุมัติหมายจับ พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย โดยศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งอนุมัติหมายจับแล้วในวันนี้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2554 พ.อ.อภิวันท์ ขึ้นเวทีปราศรัยที่หาดปึกเตียน จ.เพชรบุรี

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘ยิ่งลักษณ์’ ควงบุตรชายเดินทางไปต่างประเทศ

$
0
0

23 ก.ค. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าเมื่อเวลา 22.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยบุตรชายและคนในครอบครัว เดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว เพื่อเดินทางไปพักผ่อนในต่างประเทศ ตามที่ขอนุญาต คสช.ระหว่างวันที่ 20 ก.ค.-10 ส.ค.57 เดินทางโดยเที่ยวบิน TG 930 เวลา 24.00 น.ไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมงานวันคล้ายวันเกิดครบ 65 ปีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ 

ขณะที่มีรายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ เดินทางไปในครั้งนี้ด้วย โดยบอกว่าขออนุญาต คสช.เรียบร้อยแล้วในส่วนของตนจะเดินทางกลับวันที่ 27 ก. ค.นี้ ส่วนสัมภาระและกระเป๋าเดินทางของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น คนใกล้ชิดดำเนินการก่อนที่ เจ้าตัว จะเดินทางมาถึงสนามบิน ซึ่งมีกระเป๋าเดินทาง 11 ใบ

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ไว้กลับมาแล้วค่อยคุยกัน ไปครั้งนี้ไปพักผ่อน โดยอดีตนายกรัฐมนตรีมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

กต.เตรียมพีอาร์ รธน.ชั่วคราวกับต่างชาติ อัด ‘Human Rights Watch’ ไม่เข้าใจพัฒนาการการเมืองไทย

$
0
0

นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า กระทรวงการต่างประเทศ เตรียมการประชาสัมพันธ์กับต่างประเทศให้ทราบและเข้าใจถึงรายละเอียดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ว่าพัฒนาการต่อจากนี้ของไทยจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะที่ประชาคมโลกอาจจะกังวลเรื่องการสืบทอดอำนาจนั้น ตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญระบุว่า ทางสภานิติบัญญัติจะเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นไปตามโรดแมปที่นำไปสู่การเลือกตั้ง จึงเชื่อว่าต่างประเทศจะเข้าใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ต้องการสร้างความปรองดอง และท้ายที่สุดจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

นายเสขยังชี้แจงถึงกรณีองค์กร Human Rights Watch (ฮิวแมนไรท์วอทช์) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการบริหารงานของ คสช. 2 เดือนที่ผ่านมา ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นเก่า ที่ไม่เข้าใจพัฒนาการทางการเมืองของไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงมาโดยตลอด โดยเฉพาะความเป็นห่วงเรื่องของการแทรกแซงสื่อ ซึ่ง คสช.ก็ได้ยืนยันว่าไม่มีนโยบายแทรกแซงสื่อแต่อย่างใด เห็นได้จากการแก้ไขคำสั่ง คสช.ถึงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ส่วนเรื่องการห้ามการชุมนุมทางการเมืองนั้น ไทยได้ชี้แจงไปแล้วว่า คสช.มีความจำเป็นที่จะต้องห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะคนเหล่านั้นต้องการต่อต้าน คสช.และก่อความไม่สงบ ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ของ คสช.ที่ต้องการสร้างความปรองดอง โดยหากปล่อยให้มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ ก็จะเกิดความรุนแรงขึ้น ส่วนเรื่องการเรียกบุคคลไปควบคุมตัวนั่น มีกว่า 470 คน และไม่มารายงานตัวกว่า 60 คน ซึ่งทุกคนที่ คสช.เรียกถูกปล่อยตัวไปหมดแล้ว โดยองค์กรสิทธิต่างๆ ก็ได้ติดตามไปดูสภาพความเป็นจริงมาแล้ว ไม่ได้มีการคุกคามเสรีภาพมากเกินไปดังที่ถูกกล่าวหา

นายเสขกล่าวอีกว่า ฮิวแมนไรท์วอทช์ห่วงเรื่องการขับไล่ชาวบ้านที่บุกรุกป่าสงวน ที่กระทบกับคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งในส่วนคนที่ยากไร้นั้น ประเทศไทยมีอยู่ไม่มาก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลือแล้ว และยืนยัน คสช.เพียงต้องการปราบปรามนายทุนที่บุกรุกป่าเท่านั้น

ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงกรณีการกล่าวอ้างเกี่ยวกับการปิดกั้นสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้แสดงออกอย่างเสรี ว่า คสช.ได้ออกประกาศที่ 103/2557 อย่างชัดเจนแล้วว่าไม่มีนโยบายปิดกั้นการทำงานของสื่อ และมีความมุ่งมั่นไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ส่วนเรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน นั้น เรื่องนี้ได้มีการอธิบายต่อนานาประเทศทั่วโลกให้เข้าใจแล้ว และคสช.มีความจำเป็นต้องออกประกาศ เพื่อลดการสร้างความแตกแยกทางความคิด เพื่อให้นำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการอ้างถึงว่ามีการกักตัวบุคคลที่ คสช.เรียกมารายงานตัว นั้น ขอยืนยันว่า ที่ผ่านมาบุคคลที่ถูกเรียกเพื่อให้มารายงานตัว ได้ปฏิบัติตามเป็นอย่างดีและจะถูกควบคุมตัว ไว้ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งคสช.ได้ดูแลเป็นอย่างดี โดยไม่มีการข่มขู่ตามที่มีการกล่าวอ้าง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คสช.ไม่มีนโยบายขับไล่ผู้ยากไร้ที่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจะเน้นดำเนินงานตามนโยบายสร้างความเข้าใจต่อคนในพื้นที่ เพื่อป้องปรามผู้เข้ามาจับจองพื้นที่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบด้านลบ ภายหลังมีประกาศรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวออกมา ซึ่งจะเร่งสร้างความเข้าใจต่อนานาประเทศเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการอธิบายให้เข้าใจ

 

เรียบเรียงจาก สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 โครงสร้างอำนาจ และสถาบันทางการเมือง

$
0
0

 


โครงสร้างอำนาจนี้ถูกกำหนดขึ้นใหม่เป็นการชั่วคราว ตามเนื้อหาของธรรมนูญการปกครองฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการปฏิรูปประเทศ ควรพินิจพิจารณากันว่าองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองที่กำหนดขึ้นตามธรรมนูญการปกครองนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คน ที่มาจากการ”คัดเลือก”ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมเข้าเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา (ความตามมาตรา 6) โดยที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผุ้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ควมตามมาตรา 10) โดยสภานิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอ และลงมติเพื่อตราพระราชบัญญัติได้ ยกเว้นพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน (ความตามมาตรา 14) ทั้งนี้สมาชิกสภานิติบัญญัตินั้นสามารถตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีฯและคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ และสามารถเปิดอถิปรายได้แต่จะลงมติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจไม่ได้ (ความตามมาตรา 16)

2.นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีให้มาจากการคัดเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนคณะรัฐมนตรีจำนวน 35 คนนั้นให้มาจากการคัดเลือกของนายกรัฐมนตรี โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือในนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ผู้ที่จะทำการทูลเกล้าเสนอให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ความตามมาตรา 19)

3.สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีสภาปฏิรูปโดยมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250คนประกอบขึ้นเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ตามการถวายคำแนะนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (ความตามมาตรา 28) โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติมีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเช่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ (ความตามมาตรา 27)  อีกทั้งอำนาจหน้าที่ในการเสนอพระราชบัญญัติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและให้ความเห็นข้อเสนอแนะ ให้ความเห็นชอบต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย (ความตามมาตรา 31)

4.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดประสงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (?) โดยประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 36 คนซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 20 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 5 คน จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 5 คน และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมเป็น 36 คน  (ความตามมาตรา 32)

5.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยังคงเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 6/2557  (ความตามมาตรา 42) ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าอำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ที่ความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ความตามมาตรา 43) ทั้งนี้ให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการสั่งการให้เข้าควบคุม ปราบปรามหรือกระทำการใดๆเพื่อปกป้องและรักษาความสงบได้โดยทันที แล้วจึงทำรายงานในเรื่องนั้นๆนั้นแจ้งทราบต่อประธานสภานิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรีภายหลัง (ความตามมาตรา 44) ที่น่าสนใจคือไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือกลไกในการตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเลยแม้แต่น้อย

ในโครงสร้างอำนาจรูปแบบนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรใหม่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสูงสุดในการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือถอดถอนสมาชิกของสถาบันทางการเมืองอื่นๆและติดตาม สอดส่อง ดูแลการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองต่างๆภายใต้ความชอบธรรมในนามของกฏหมาย โดยไม่มีกลไกหรือเครื่องมือใดๆมาตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ นอกจากนี้ความตามมาตรา 44 นั้นยังให้ความชอบธรรมแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการดำเนินการใดๆก็ได้เพื่อรักษาความสงบ ไม่ต่างจากมาตรา 17 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

“มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในกรณที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นการกระทำหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย... เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรแจ้งให้สภาทราบ”

นับเป็นความเหมือนที่ยากจะแยกออกจากกันระหว่างบทบัญญัติมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในช่วงการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับมาตรา 44 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ในการให้อำนาจเด็ดขาดกับ”ผู้นำ” แม้จะมีความต่างในส่วนที่มาตรา 17 นั้นให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรี คือจอมพลสฤดษิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่มาตรา 44 นั้นให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่โดยเนื้อหาแล้วไม่ต่างกันเพราะเป็นการให้ความรับรองและความชอบธรรมแก่”ผู้นำที่แท้จริง”

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายผู้ปกครองเองก็รับรู้ถึงความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนที่ยังคุกรุ่นอยู่และรอวันปะทุ จึงต้องคงอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อป้องกัน และปราบปรามในกรณีที่”อาจจะ”มีการเคลื่อนไหวต่อต้านภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว นอกจากการนี้การคงสถานะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกฉบับให้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น (ความตามมาตรา 47)ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประกาศห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้นยังคงมีผลต่อเนื่องอยู่ เพียงแต่หลบอยู่เบื้องหลังฉากที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 นี้น่าจะเป็นเพียงตัวต้นแบบ เพื่อลดแรงเสียดทานจากต่างประเทศ และเพื่อลองสำรวจความเห็นภายในที่มีต่อเนื้อหา โครงสร้างอำนาจใหม่ที่น่าสนใจน่าจะระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร(?) ที่กำลังจะออกมาจากหลังจากนี้ น่าขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่า”ประชาธิปไตยสมบูรณ์”ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมออกแบบนั้นจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ภายใต้ระบบการปกครองยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ 2 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะสร้างประชาธิปไตยได้จริงๆหรือ? เหล่านี้คงต้องรอคอยติดตามกันต่อ่ไปถึงที่สุดแล้วเราจะได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือจะได้พบ ”14 ตุลาวันมหาปีติ” อีกครั้งกันแน่?



ปล.ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า”ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557” แทนคำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557” เพื่อให้พ้องกับชื่อเรียกขานกฏหมายปกครองชั่วคราว ของคณะรัฐประหารในอดีต
 

เกี่ยวกับผู้เขียนปัจจุบัน จักรพล ผลละออ เป็นนิสิต ชั้นปีที่ 2 ศึกษาอยู่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ชำนาญ จันทร์เรือง: ข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

$
0
0

 

*โปรดดูรัฐธรรมนูญฯประกอบ

คำปรารภ – ปกติแล้วคำปรารภ หรือ preamble นั้นจะกล่าวถึงที่ไปที่มาและอุดมการณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่คำปรารภนี้กลับกล่าวถึงสาเหตุของการยึดอำนาจเสียมากกว่า และเป็นคำปรารภที่ยาวมากกว่าปกติ

มาตรา 1 และ 2 – เป็นรูปแบบปกติของรัฐธรรมนูญไทย

มาตรา 3 – ยังงงๆอยู่ว่าการที่บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”แต่พอดูเนื้อหาทั้งฉบับแล้วไม่รู้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยตรงไหน

มาตรา 4 – อ่านแล้วเคลิ้มเพราะพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แลพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่พออ่านไปถึงมาตรา 47 แล้วมาตรานี้ไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

มาตรา 5 – คือมาตรา 7 ของ รธน.50 ดีๆนี่เอง แต่เพิ่มตรงให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล่วงหน้าได้ ซึ่งผิดวิสัยของการเป็นศาล ที่ปกติแล้วจะไม่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายแต่ศาลจะวินิจฉัยในกรณีที่เกิดข้อพิพาทแล้วเท่านั้น

มาตรา 6,7,8,9,10,11,12,13 – เป็นส่วนเกี่ยวกับองค์ประกอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีข้อสังเกตคือห้ามผู้เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปี แต่ไม่ห้ามข้าราชการประจำ ที่น่าขำก็คือ มาตรา 8(8)ห้ามเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก จึงเป็นปัญหาว่าคำว่าเจ้ามือนี้หมายความถึงอะไรบ้าง เช่น เจ้ามือไฮโล เจ้ามือหวยไต้ดิน ฯลฯ และคำว่าเจ้าสำนักหมายถึงเจ้าสำนักนางโลมหรือเจ้าสำนักบู้ลิ้มด้วยใช่หรือไม่ อย่างไร

มาตรา 14,15,16,17,18 – เป็นส่วนเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายและการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั่วๆไป

มาตรา 19,20 – ว่าด้วยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งมีข้อสังเกตคือไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง(สนช.และสปช.เป็นสมาชิกพรรคได้ ห้ามเฉพาะผู้มีตำแหน่งในพรรคเท่านั้น) และแน่นอนว่าไม่ห้ามข้าราชการประจำอีกเช่นกัน

มาตรา 21 – เกี่ยวกับการออกพระราชกำหนด

มาตรา 22 – เกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 23 – เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ แต่ไม่ยักพูดถึงการประกาศสงคราม

มาตรา 24 – เกี่ยวกับการโปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาตุลาการและองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย

มาตรา 25 – การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองฯ

มาตรา 26 – ความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการ

มาตรา 27 – ประเด็นที่สภาปฏิรูป(สปช.) มีหน้าที่ศึกษา 11 ด้าน ซึ่งยังงงๆอยู่ว่าอาศัยเกณฑ์อะไรในการแบ่งหมวดเพราะดูทับซ้อนกันอย่างไรพิกล แต่ก็ยังดีที่มี(4)ที่มีประเด็นการปกครองท้องถิ่นแต่แยกออกมาจากการบริหารราชการแผ่นดิน(ซึ่งจริงๆแล้วควรจะอยู่ด้านเดียวกัน) แต่ก็ยังดีที่อย่างน้อยก็จะได้มีการพูดถึงประเด็นการปกครองท้องถิ่นบ้าง แม้ว่าจะไม่เห็นความหวังของการพัฒนาการที่ดีขึ้นแต่อย่างใด มีแต่จะถูกลดทอนขนาดและอำนาจหน้าที่ลงไปเป็นลำดับนับแต่ภายหลังมีการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม57 เป็นต้นมา

มาตรา 28,29,30,31 – เกี่ยวกับคุณสมบัติ ที่มา อำนาจหน้าที่ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

มาตรา 32,33 – เกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ซึ่งห้ามสมาชิกพรรคการเมืองหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 3 ปี เช่นเดียวกับคุณสมบัติ ครม.

มาตรา 34 – กำหนดระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่ได้รับความเห็นจาก สปช.และต้องเสนอร่าง รธน.ต่อ สปช.(ไม่ใช่ สนช.)พิจารณา

มาตรา 35 – กำหนดประเด็นให้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ รัฐธรรมนูญฯฉบับที่ 20 ที่จะมีขึ้นคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯฉบับที่ 19 หรือฉบับปี 57 นั่นเอง เพียงแต่เมื่อมีฉบับที่ 20 แล้ว ฉบับที่ 19 ก็เลิกไปเพราะเอาเจตนารมณ์ฉบับที่ 19ไปใส่ในฉบับที่ 20 แล้ว

มาตรา 36,37,38,39 – เป็นขั้นตอนและกระบวนการร่างรัฐรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อสังเกตคือ ตามมาตรา 37วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป” ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับกระบวนการตรากฎหมายที่ผ่านมาในอดีตเพราะไม่บัญญัติให้มีการยืนยันร่าง แต่กลับเพิ่มพระราชภารกิจและความรับผิดชอบให้แก่พระมหากษัตริย์ในกรณีที่ต้องวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และในกรณีมาตรา 38 วรรคสองในกรณีคณะกรรมาธิการฯยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะแล้วเสร็จอีกเช่นกัน ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสิบๆปีทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้เพียงสิบปีในสมัยจอมพลสฤษดิ์และต่อเนื่องมาถึงจอมพลถนอม หรือถ้ามองแบบร้ายสุดๆก็อาจจะไม่มีฉบับที่ 20 เลยก็เป็นได้

มาตรา 40 – เกี่ยวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งของตำแหน่งในรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งกำหนดให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 41 – ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้แก่ คมช.,สนช.,สปช.,กรรมาธิการร่าง รธน. ฯลฯ

มาตรา 42 – ให้ คมช.อยู่ต่อไปและเพิ่มจำนวนให้เป็นไม่เกิน 15 คน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง คมช.กับ ครม.

มาตรา 43 – ในระหว่างที่ยังไม่มี สนช.,ครม.ให้อำนาจเป็นของ หน.คมช.

มาตรา 44 – สรุปง่ายๆก็คือมาตรา 17 ที่เคยให้อำนาจจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมไว้อย่างไรก็แทบไม่แตกต่างกัน เพียงคราวนี้หาก หน.คมช.จะใช้อำนาจก็โดยความเห็นชอบของ คมช.เท่านั้นเอง

มาตรา 45 – เกี่ยวกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้บังคับของมาตรา 5 และมาตรา 44

มาตรา 46 – เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของ สนช.พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เท่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้หากครม.และคสช.ไม่เห็นชอบด้วย

มาตรา 47 – บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลัง รธน.นี้บังคับใช้เป็นประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและถือเป็นที่สุดจนกว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ที่น่าสังเกตคือมีคำว่า “หลัง”ประกาศใช้ รธน.ซึ่งก็แสดงว่า คสช.ยังมีอำนาจเต็มทุกอย่างนั่นเอง

มาตรา 48 – ว่าด้วยการนิรโทษกรรมการกระทำทั้งหลายที่กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจ ไม่มีข้อสังเกตเพราะถ้าไม่มีมาตรานี้ต่างหากจึงจะผิดสังเกตของการยึดอำนาจแบบไทยๆ


 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ปกป้อง จันวิทย์: อ่าน การเมืองเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

$
0
0

 

ท่ามกลางความพยายาม 'ล้ม' ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านข้อเสนอ 'การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล' (co-pay) ดังที่เป็นข่าวในช่วงเดือนกรกฎาคม 2557 นั้น ข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่สวนกลับว่า ถ้าคิดว่าระบบร่วมจ่ายมันดีกว่าและจำเป็นต้องทำ ก็ขอให้เริ่มทดลองใช้กับ 'ระบบสวัสดิการข้าราชการ' ก่อนระบบอื่น เป็นข้อเสนอที่ 'เด็ดขาดบาดใจ' เหลือเกิน

ถ้าคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพที่ช่วยเหลือคน 48 ล้านคนทั่วประเทศที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการและระบบประกันสังคม สิ้นเปลืองงบประมาณ และทำให้เกิดการใช้บริการพร่ำเพรื่อเพราะเป็นของฟรี ลองหันไปดูข้อมูลของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพที่ชี้ว่า ระบบสวัสดิการข้าราชการที่มีสมาชิกประมาณ 5 ล้านคน มีการเบิกเงินกันปีละ 6 หมื่นล้านบาท ตกหัวละ 12,000 บาทต่อปี ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ดูแลคน 48 ล้านคน ได้รับจัดสรรงบประมาณปีละประมาณ 1.1 แสนล้านบาท – ตกหัวละ 2,755.60 บาทต่อปีเท่านั้น

ดูตัวเลขแล้วไม่แน่ใจว่าระบบไหนควรจะต้องถูกปฏิรูปก่อนกัน ผมไม่ได้หมายความว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันดีเลิศจนไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้นแล้ว รายละเอียดหลายอย่างควรจะต้องทบทวน แต่ในเรื่องหลักการหรือจิตวิญญาณของความเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำเป็นต้องรักษาไว้

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนทั่วไปอาจจะคุ้นกับชื่อ '30 บาท รักษาทุกโรค' มากกว่า ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ช่วยเหลือทุกคนอย่างถ้วนทั่ว เพราะมันเปลี่ยนสถานะของบริการสาธารณสุขจาก 'สินค้า' (ในระบบตลาดที่คนมีเงินเท่านั้นที่เข้าถึงได้) หรือ 'ส่วนบุญ' (ในระบบสังคมสงเคราะห์ที่ต้องพกบัตร ต้องจน ต้องถูกแบ่งแยกกดต่ำ ต้องแสดงให้เห็นว่าตน ‘ด้อย’ กว่าจึงจะได้รับความช่วยเหลือ) ให้เป็น 'สิทธิ์' ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

เป็น 'สิทธิ์' ที่ไม่ต้องร้องขอ และไม่ต้องรอให้ใครอนุมัติก่อน

ประเด็นนี้มีความสำคัญมากและถือเป็นจิตวิญญาณของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ว่าได้ เพราะมันเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งที่หมอหรือโรงพยาบาลถือครองอำนาจเหนือกว่าผู้ป่วย มาเป็นความสัมพันธ์เชิงพันธสัญญาที่หมอหรือโรงพยาบาลต้องกลายมาเป็นผู้ให้บริการผู้ป่วยไม่ว่าเขาจะยากดีมีจน มีการศึกษาสูงต่ำเพียงใด มันทำให้พลังอำนาจของหมอกับคนไข้เข้าใกล้กันมากขึ้น

หลายคนถึงกล่าวว่า การเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2545 ถือเป็นการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุขครั้งสำคัญที่สุดของประเทศไทย และเป็นตัวอย่างชั้นดีที่ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปครั้งใหญ่ในสังคมเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างชั้นดีที่สุดในชั่วชีวิตของผมคือ การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราทำเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งได้สำเร็จภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หรือถ้าเราไม่ลืม ระบบประกันสังคมก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยเช่นกัน

กรณีการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบอกเราว่า เมื่อประชาชนหลากหลายกลุ่มรวมพลังกันเรียกร้องต่อเนื่อง มีงานวิชาการที่ดีหนุนหลัง พยายามทำความเข้าใจกับประชาชนวงกว้างผ่านสื่อและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ พยายามหาวิธีทำงานกับนักการเมืองผู้กำหนดนโยบาย สุดท้ายนักการเมืองที่ต้องรับผิดรับชอบต่อประชาชน ก็ต้องฟังและตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้น จะได้มากน้อยสมใจแค่ไหนก็ต้องต่อสู้กันต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นกระบวนการต่อเนื่องไม่รู้จบ ไม่จบแค่เข็นกฎหมายออกมาบังคับใช้

แน่นอนว่า กระบวนการเหล่านี้ต้องออกแรงเหนื่อยหนัก เพราะมันไม่มักง่าย ไม่ใช่การเดินทางลัดข้ามหัวประชาชน ไม่ได้เปลี่ยนผ่านด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม แต่ด้วยเหตุผลและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสังคม กระนั้น ข้อดีของมันก็คุ้มเหนื่อย เพราะหากเริ่มต้นได้สำเร็จ มันจะอยู่ยั่งยืน คนจะรู้สึกหวงแหน และพร้อมต่อสู้หากจะมีใครไปพรากสิทธิของเขาไป ก็ 'มันเป็นของเขา'  นี่ครับ

ผลประโยชน์ของข้าราชการกระทรวงที่อยากจะล้มหรือทำหมันระบบ เพราะส่วนหนึ่งอยากจะดึงงบฯกลับมาที่กระทรวง (งบฯภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายิงตรงไปที่โรงพยาบาลเป็นรายหัว โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข) หรือผลประโยชน์ของสถานพยาบาลเอกชนที่คิดว่าจะได้ประโยชน์มหาศาลหากล้มระบบนี้สำเร็จ ก็ไม่น่าจะเอาชนะพลังของประชาชนที่ต้องการปกป้องสิทธิ์อันพึงได้ของตน ก็ 'มันเป็นของเขา' แล้วนี่ครับ

พูดถึงกรณีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ชวนนึกไปถึงคำพูดของหลายคนที่ชอบบอกว่า ระบอบประชาธิปไตยสร้างการปฏิรูปไม่ได้ นักการเมืองไม่คิดปฏิรูปหรอก เพราะตัวเองเสียประโยชน์ หลายคนที่คิดแบบนี้แอบหวังลึกๆ ว่า รัฐประหารแต่ละครั้งคือโอกาสเปิดในการเปลี่ยนแปลงประเทศในแบบที่เขาอยากให้เป็น…อ้าว แล้วไม่คิดบ้างหรือครับว่าระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งมีข้าราชการเป็นใหญ่ โดยเฉพาะกองทัพ ไม่คิดปฏิรูปหรอก เพราะตัวเองเสียประโยชน์ พรรคราชการหรือพรรคทหารนี่ก็ผลประโยชน์ไม่แพ้พรรคการเมืองนะครับ ไม่ได้ยืนเด่นเป็นกลางแต่อย่างใด ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน ข้าราชการในระบบราชการจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำปฏิรูปได้อย่างไร ถ้าพูดถึงการถูกปฏิรูปละก็ว่าไปอย่าง (ฮา)

แล้วทำไมนักเปลี่ยนแปลงสังคมหลายคนถึงคิดกันแบบนั้น? ก็ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร มันผลักดันอะไรง่ายกว่าสบายกว่าไงครับ เราแค่หาทางต่อสายกับผู้มีอำนาจให้เจอ ล็อบบี้ให้อยู่หมัด ไม่ต้องเสียเวลาไปคุยกับหลายคนหลายฝ่ายให้วุ่นวาย คำถามก็คือ แล้วประชาชนที่เข้าไม่ถึงผู้มีอำนาจละ เขาจะแสดงออกอย่างไร จะคัดค้านแลกเปลี่ยนกรณีที่ไม่เห็นด้วยอย่างไร เราถือสิทธิ์สูงส่งกว่าคนอื่นอย่างไร เราแน่ใจได้อย่างไรว่าข้อเสนอของเราดีที่สุดแล้ว ใครตรวจสอบเรา และเราเข้าใจมิติอื่น มุมมองอื่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่น อย่างรอบด้านแล้วจริงๆ หรือ

ในโลกที่ซับซ้อนขึ้น ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โมเดลเผด็จการ + คนดี + คนเก่ง มันตอบโจทย์โลกยุคใหม่ไม่ได้แล้วครับ คนอื่นๆ ในสังคมที่ถูกข้ามหัวไปเขาก็ไม่ยอมแล้วด้วย การผลักดันนโยบายสาธารณะจึงไม่มีทางอื่น นอกจากสนทนากับสังคม กับประชาชน ในบรรยากาศที่เท่าเทียมและทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่การปิดห้องคุยกับผู้มีอำนาจดังที่เคยทำสำเร็จกันมาในอดีต

เช่นนี้แล้วจึงมีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่สร้างการปฏิรูปอย่างยั่งยืนได้ ถ้าวันนี้มันยังทำหน้าที่ของมันได้ไม่ดี ก็ต้องปฏิรูปประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพและสร้างความเป็นธรรมได้ดีขึ้น ให้ประชาธิปไตยใช้ปฏิรูปประเทศไทย สร้างการเปลี่ยนแปลงและตอบสนองความต้องการของประชาชนวงกว้างได้ดีขึ้น

พูดมาทั้งหมด มันไม่ง่ายหรอกครับ ต้องใช้เวลา ต้องใช้แรง ต้องใช้ความรู้ ต้องใช้พลังผลักดัน แต่มันไม่มีทางอื่น และมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากคุณเชื่อว่าประเทศไทยเป็นของพวกเราทุกคนและคนเราเท่ากัน

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 76 สิงหาคม 2557

ที่มา: http://waymagazine.org/columnist/healthsystem

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

"วิษณุ" ตอบ "ประวิตร" เรื่องอำนาจ หน.คสช. ตาม ม.44 "จะว่าเรา Retro ก็แล้วแต่"

$
0
0

ที่ปรึกษา คสช. ตอบคำถาม "ประวิตร โรจนพฤกษ์" เรื่อง ม.44 "พรเพชร" ยัน คสช.ไม่ไปไกลเหมือนสฤษดิ์ ตอนไม่มี รธน. ทำได้มากกว่า ม.44 แต่ก็ไม่ทำ "วิษณุ" ม.44 คสช. ใช้ทำเรื่องลำบากแทน ครม. จะหาว่า "Retro" ก็แล้วแต่ - พร้อมตอบสื่อ รธน.ไม่ห้าม หัวหน้า คสช. นั่งนายกฯ แต่ได้เป็นหรือไม่อยู่ที่ สนช.

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ทักทาย นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ภายหลังชี้แจงเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

ผู้แถลงชี้แจงเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2557 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (จากซ้ายไปขวา) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช., พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ., หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช., นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

 

24 ก.ค. 2557 - ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช., นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมแถลงชี้แจงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทั้งนี้การแถลงดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วย

วิดีโอคลิปจากการแถลงเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ช่วงที่นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ถามที่ปรึกษา คสช. โดยเป็นช่วงท้ายของการถ่ายทอดสดโดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

"ประวิตร โรจนพฤกษ์" ถามคนร่าง รธน. เรื่องมาตรา 44 และ 48

โดยภายหลังการแถลงข่าวซึ่งกินเวลาประมาณ 50 นาที (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม โดยนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยขอถามนายพรเพชร และนายวิษณุ 2 มาตรา คือ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปรียบเทียบกับ มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์  และมาตรา 48 เรื่องบทนิรโทษกรรม คสช.

โดยมาตรา 44 นายประวิตรถามว่า ที่ระบุว่ากรณีหัวหน้า คสช. เห็นว่ามีความจำเป็น ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจสั่งการระงับยับยัง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้น จะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ  และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด

นายประวิตรถามต่อไปว่า "ตรงนี้นี่สามารถตีความได้ไหมครับว่า อำนาจของหัวหน้าคณะ คสช. ก็คือสูงสุด และอาจจะมีความคล้ายคลึงกับยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปกครองผ่านมาตรา 17 อันนี้คือความเป็นห่วงเป็นใย แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นเนี่ย จะถือได้ไหมครับว่า  ในความเป็นจริงแล้วอำนาจของหัวหน้า คสช. ในช่วงที่ยังมีการใช้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวเนี่ย ก็ยังอยู่เหนือ ครม. และตัวนายกรัฐมนตรี"

ส่วนคำถามที่สองที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายประวิตรถามว่า "ขอถามไปที่ มาตรา 48 ที่พูดถึงว่า การกระทำใดๆ ที่โยงกับ การยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผู้ปฏิบัติทุกท่าน "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" จากนั้นประวิตรถามว่า "คำถามนี้อาจจะโยงเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง เพราะในขณะเดียวกัน ก็คงชัดว่า คสช. ไม่ต้องรับผิดชอบ ทางกฎหมายใดๆ กับการกระทำ ในการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประชาชน หรือคนจำนวนหนึ่งที่ ออกมาก่อการกระทำบางอย่าง โดยนายประวิตรยกตัวอย่าง กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูก คสช. ดำเนินคดี

อย่างไรก็ตามไม่ทันที่จะถามจบ สัญญาณถ่ายทอดสดโทรทัศน์ตัดเข้าสู่รายการปกติ อย่างไรก็ตามช่วงถาม-ตอบ ยังคงดำเนินอยู่ โดยที่ก่อนหน้าการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า จะไม่มีการถ่ายทอดสดช่วงถาม-ตอบ โดยหลังการตั้งคำถาม ทั้งนายพรเพชร และนายวิษณุได้ตอบคำถาม 2 ข้อดังกล่าว

พรเพชรระบุ ม.44 ไม่ไปไกลเหมือนสฤษดิ์ ตอนไม่มี รธน. คสช. ทำได้มากกว่า ม.44 แต่ก็ยังไม่ทำ

โดยในประเด็นมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายพรเพชรตอบว่า ยอมรับว่า คสช. มีอำนาจเหนือกฎหมาย "การใช้อำนาจนี้คงไม่ไปไกลเหมือนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ไปยุ่งเกี่ยวในคดีอาญาปกติ และไปยิงเป้า" นายพรเพชรตอบด้วยว่า ที่ผ่านมาตอนที่ยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คสช.เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำได้มากกว่ามาตรา 44 แต่ก็ยังไม่ทำ

"ผมมั่นใจว่า มาตรา 44 จะช่วยสร้างสรรค์ดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย"

วิษณุตอบ ม.44 ให้ คสช. ทำเรื่องลำบากแทน ครม. "จะว่าเรา Retro ก็แล้วแต่"

ส่วนนายวิษณุตอบคำถามนี้ว่า"เรื่องการใช้อำนาจพิเศษนั้น เชื่อมโยงกับการมี คสช. ถ้า คสช. ไม่อยู่ อำนาจพิเศษก็ไม่มีความจำเป็น" นายวิษณุกล่าวด้วยว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะช่วย "ทำหน้าที่บางอย่าง" ที่คณะรัฐมนตรีทำได้ลำบาก นอกจากนี้เพื่อป้องกันหากมีการปฏิวัติซ้อน "ใครจะหาว่าเรา Retro (ย้อนยุค) ก็แล้วแต่ ไม่อย่างนั้นจะหาอำนาจใดมาจัดการกับปัญหารุนแรงมิได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคือเกิดการปฏิวัติซ้อน"

นายวิษณุยอมรับว่าต้นแบบของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาจากมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 โดยต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส "โดยมีที่มาจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสด้วย แล้วมันกลายมาเป็นมาตรา 17 แล้วมาเป็นมาตรา 44" อย่างไรก็ตามนายวิษณุยืนยันว่าการใช้มาตรา 44 จะเป็นไปอย่างจำกัด "คงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจแบบประจำวัน และคงไม่ใช่นึกจะใช้ก็ใช้" นายวิษณุกล่าวด้วยว่า 2 เดือนที่ผ่านมา คสช. มีอำนาจมากกว่ามาตรา 44 เสียอีก แต่ก็ไม่ใช้ นอกจากนี้กรณีที่มีเหตุฆ่าข่มขืน มีเสียงเรียกร้องมายัง คสช. แต่ คสช. ก็ยืนยันว่าจะดำเนินคดีอาญาตามปกติ

เขียนบทนิรโทษใน ม.48 เป็นธรรมเนียม ถ้าไม่เขียนอาจมีการจองเวร

นายวิษณุยอมรับว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปรียบได้มี "ประกาศิต" แต่ก็เหมือนเป็น "ดาบสองคม" "คงต้องไปดูว่าจะใช้มาตรานี้ในทางสร้างสรรค์ หรือทำลาย มันเหมือนดาบสองคม และ คสช. ยังอยู่ภายใต้การจับตาจากทุกฝ่าย"

ส่วนคำถามที่สองของนายประวิตรซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมีเนื้อหานิรโทษกรรม คสช. ขณะที่อีกฝ่ายที่ออกมาต่อต้าน คสช. ยังถูกดำเนินคดีนั้น นายวิษณุตอบคำถามนี้ว่า "มันเป็น Tradition (ธรรมเนียม) ที่เป็นมาตั้งแต่ยึดอำนาจ พ.ศ. 2475 ถ้าไม่เขียนไว้ก็จะมีการจองเวรจองล้าง" นายวิษณุยังตอบเรื่องที่ฝ่ายต่อต้าน คสช. ถูกดำเนินคดีด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมิได้ห้ามมิให้มีกาเยียวยาผู้อื่นหรือฝ่ายอื่นแต่อย่างใด

ไม่ระบุเรื่องทำประชามติ รธน. เพราะขั้นตอนจะยืดยาว อนาคตจะทำหรือไม่ต้องดูเหมาะสม

ส่วนคำถามจากผู้สื่อข่าวอื่นๆ นั้น มีผู้ถามว่า ทำไมในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ระบุให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับถาวร นายวิษณุ เป็นผู้ตอบ ระบุว่า ได้พิจารณากันแล้ว และถามผู้มีประสบการณ์ในการทำรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วว่าการทำประชามติอาจจะมีขั้นตอนที่ยืดยาวนานหลายเดือนและต้องออกกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติก็จะทำให้การเลือกตั้งเนิ่นนานออกไปอีก เลยไม่บังคับไว้ ส่วนอนาคตจะทำประชามติหรือไม่ก็ต้องดูความเหมาะสมต่อ เพราะหากจำเป็นเชื่อว่า ครม. และ คสช. จะดำเนินการได้ จึงคิดแค่นี้ในขณะนี้ก่อน

พล.อ.ไพบูลย์-วิษณุ ระบุตาม รธน. หัวหน้า คสช. นั่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ได้เป็นไหมอยู่ที่ สนช.

เมื่อถามว่าหัวหน้า คสช.สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามนี้อาจารย์คนไหนก็ตอบไม่ได้นอกจากหัวหน้าของอาจารย์ จากนั้นนายวิษณุก็ขอให้ พล.อ.ไพบูลย์ ตอบคำถาม โดยพล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า การที่มีแนวทางที่หัวหน้า คสช.ได้มอบหมายมาเป็นเรื่องที่ดี คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้ สนช.คงเกิดขึ้น

จากนั้นมีผู้ถามย้ำว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หัวหน้า คสช. สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ทำให้ พล.อ.ไพบูลย์ต้องหันไปถามนายวิษณุว่า "ตามรัฐธรรมนูญเป็นได้ไหมครับ" ทำให้นายวิษณุตอบด้วยการพยักแล้วพูดโดยปิดไมโครโฟนว่า "ได้" จากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ก็ตอบซ้ำว่า "ได้"

ทั้งนี้หลัง พล.อ.ไพบูลย์กล่าวจบ นายวิษณุก็กล่าวด้วยว่า "รัฐธรรมนูญเขาให้เป็นได้ครับ แต่ได้เป็นไหมเป็นเรื่องของ สนช."

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

แรงงานไทยเสียชีวิต 1 รายในอิสราเอล

$
0
0
อธิบดีกรมการจัดหางานเผยแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตแล้ว 1 รายจากเหตุโจมตีทางอากาศ หลังสื่ออิสราเอลเผยแพร่ข่าว 

 
24 ก.ค. 2557 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เผยว่า ได้รับรายงานว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอล 1 คนเสียชีวิต เนื่องจากเหตุโจมตีทางอากาศ ทราบชื่อต่อมาคือ นายนรากร กิตติยังกุล มีภูมิลำเนาอยู่ อำเภอปัว จังหวัดน่าน
 
โดยขณะก่อนเกิดเหตุได้มีประกาศเตือนให้แรงงานไทยหลบเข้าที่ปลอดภัย แต่มีแรงงานไทย 4-5 คน ออกไปภายนอก เมื่อมีการโจมตีทางอากาศแรงงานไทยกลุ่มนี้ได้กระจายกันหลบตามต้นไม้ แต่มีแรงงานไทย 1 คน ได้เสียชีวิตจากเหตุโจมตี ทางอากาศ เนื่องจากอยู่ใกล้พื้นที่ที่จรวดตกลงมา
 
เบื้องต้นได้แจ้งไปยังญาติของผู้เสียชีวิตให้ทราบแล้ว พร้อมประสานไปยังนายจ้าง เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ การส่งศพกลับมายังประเทศไทย พร้อมแจ้งทางอิสราเอลให้พิจารณาย้ายแรงงานไทยจากจุดดังกล่าว
 
สื่ออิสราเอลระบุแรงงานไทยเสียชีวิตจากเหตุโจมตีในอิสราเอล
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าสื่ออิสราเอลระบุว่า ทหารชาวอิสราเอลเสียชีวิต 2 นาย ในการสู้รบที่เมืองกาซา ส่วนแรงงานชาวไทยที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตลงจากเหตุยิงโจมตีที่เมืองแอชคะลัน
 
กองทัพอิสราเอลรายงานว่า ทหาร 2 นายเสียชีวิตจากเหตุสู้รบเมื่อคืนวันอังคาร ทำให้ยอดทหารอิสราเอลเสียชีวิตนับตั้งแต่มีปฏิบัติการทหารโจมตีในเมืองกาซาเพิ่มขึ้นเป็น 29 คน โดยมีรายงานทหารอีกนายสูญหาย ซึ่งคาดว่าอาจเสียชีวิตแล้ว
 
ส่วนเมื่อค่ำวานนี้มีรายงานแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุยิงโจมตีจากกาซาเข้ามาที่เมืองแอชคะลัน นับเป็นพลเรือนรายที่ 3 ที่เสียชีวิตในการยิงจรวดโจมตีมาจากเมืองกาซา โดยระบุว่าแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บและนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อไปรักษาที่ศูนย์แพทย์บาร์ซิไลในเมืองทางใต้ของอิสราเอล แต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา


กต.เผยสั่งย้ายคนไทย 4 พันคน ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย-ยุติการทำงานชั่วคราว
 
ด้านสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า มีคนไทยจำนวน 38 คน ประสงค์ขอย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งสถานทูตไทยฯ ได้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนายจ้างในนิคมการเกษตร 96 แห่ง ซึ่งอยู่ใกล้ฉนวนกาซา และมีคนไทยทำงานอยู่ประมาณ 4 พันคน ให้ย้ายคนไทยออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย รัศมีห่างประมาณ 10 - 20 กิโลเมตร โดยไม่มีข้อแม้ และให้ยุติการทำงานชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการอพยพคนไทยออกจากประเทศอิสราเอล ขณะที่สถานทูตไทยฯ ติดตามสถานการณ์และดูแลคนไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

วิษณุ เครืองาม

$
0
0

"ใครจะหาว่าเรา Retro (ย้อนยุค) ก็แล้วแต่ ไม่อย่างนั้นจะหาอำนาจใดมาจัดการกับปัญหารุนแรงมิได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตคือเกิดการปฏิวัติซ้อน"

23 ก.ค. 57, ที่ปรึกษา คสช. กล่าวถึงมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจพิเศษแก่หัวหน้า คสช.

ศาลอียิปต์ฉาวอีก! ระบุในคำตัดสิน นักข่าวอัลจาซีรา 'เป็นพวกเดียวกับปีศาจ'

$
0
0

หลังมีคำตัดสินสั่งจำคุกนักข่าวอัลจาซีราสามคน ซึ่งถูกวิจารณ์ไม่มีมูลและดำเนินคดีอย่างบกพร่อง ล่าสุดเดอะการ์เดียน เผยคำแถลงและคำตัดสินของศาลอียิปต์ที่อ้างว่านักข่าวเหล่านี้ "เป็นพวกเดียวกับปีศาจ" ซึ่งญาติของผู้ต้องหาที่ได้อ่านรายงานคำตัดสิน 57 หน้าแล้วบอกว่ามันเต็มไปด้วย "ความไร้สาระ"


24 ก.ค. 2557 สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่ามีการระบุในคำตัดสินจำนวน 57 หน้า ของศาลอียิปต์ถึงนักข่าวอัลจาซีราสามคนที่ถูกจับกุมตั้งแต่ปลายปี 2556 อ้างว่าพวกเขา "เป็นพวกเดียวกับปีศาจ"

ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ผู้พิพากษามาฮัมเหม็ด นากี ชีฮาตา ตัดสินลงโทษนักข่าวอัลจาซีรา 3 คน ได้แก่ โมฮัมเหม็ด ฟาห์มี, ปีเตอร์ เกรสต์ และ บาเฮอร์ โมฮัมเหม็ด ให้มีความผิดฐานสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและสร้างข่าวเท็จ โดยสั่งจำคุก 7-10 ปี ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มนักการทูตและกลุ่มเฝ้าระวังด้านสิทธิซึ่งมองว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลและกระบวนการดำเนินคดีมีความบกพร่อง

ผู้พิพากษาชีฮาตาแถลงข่าวเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการดำเนินคดีว่า ปีศาจได้ส่งเสริมให้พวกเขาใช้การทำข่าวเพื่อนำมาโจมตีประเทศอียิปต์

ชีฮาตาอ้างอีกว่านักข่าวอัลจาซีราได้ดัดแปลงตัดต่อภาพและเสียงจากเหตุการณ์ที่แตกต่างกันเพื่อเป็นประโยชน์ต่อ'กลุ่มก่อการร้าย' ซึ่งขัดต่อความเป็นจริงในช่วงที่มีความโกลาหลและสร้างความเสียหายต่อประเทศ

แต่ในกระบวนการศาลไม่มีการแสดงภาพวิดีโอที่ชีฮาตากล่าวอ้างถึงแต่อย่างใด มีแต่ภาพวิดีโออื่นๆ ซึ่งบางชิ้นไม่ได้ทำขึ้นโดยสำนักข่าวอัลจาซีรา

โมฮัมเหม็ด ลอตฟี ผู้อำนวยการบริหารของคณะกรรมการเพื่อสิทธิเสรีภาพของอียิปต์ กล่าวว่าการตัดสินคดีในครั้งนี้ไม่มีการไต่สวนและการพิจารณาคดีแต่เป็นการจงใจเซ็นเซอร์ความคิดเห็นและเนื้อหาข่าวโดยอ้างว่าทำลายผลประโยชน์ของประเทศ

ทางด้านอาเดล ฟาห์มี พี่ชายของโมฮัมเหม็ดฟาห์มีบอกว่ารายงานคำตัดสินของศาลเต็มไปด้วย "ความไร้สาระ" เขาพบว่าจำเลยไม่มีโอกาสให้การแก้ต่างเลย ราวกับว่ามีการวางคำตัดสินไว้แล้วตั้งแต่วันที่พวกเขาถูกจับกุมตัว ฝ่ายผู้พิพากษาก็ไม่มีอะไรที่ให้ความชอบธรรมต่อจุดยืนของตัวเองได้เลย มีการอ้างถึง "การสืบราชการลับ" แต่ก็ไม่ได้ขยายความออกมาว่าสืบสวนได้ว่าอย่างไร

อย่างไรก็ตามยังมีความหวังว่านักข่าวทั้งสามคนจะได้รับการยื่นอุทธรณ์ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ในตอนนี้นักข่าวทั้ง 3 คนถูกขังอยู่ในเรือนจำแดนเดียวกับลูกชายของอดีตผู้นำเผด็จการฮอสนี มูบารัค นอกจากนี้ประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์อับเดล ฟัตตาห์ อัลซีซี ยังปฏิเสธที่จะเรียกร้องให้มีการอภัยโทษและยังบอกอีกว่าเขาหวังว่าจะมีการส่งตัวนักข่าวเหล่านี้ออกนอกประเทศ


เรียบเรียงจาก

Egyptian judge accuses al-Jazeera journalists of being in league with devil, The Guardian, 23-07-2014
http://www.theguardian.com/world/2014/jul/23/egyptian-judge-al-jazeera-journalists-devil

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

ไฟเขียวถนนเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ตัดผ่านเขาใหญ่-ทับลาน

$
0
0

ภาพจากเฟซบุ๊กกรมทางหลวง

 

23 ก.ค.2557 เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ครั้งที่ 1/2557 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน

โดยโครงการที่ผ่านการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คือ โครงการของกรมทางหลวง ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา - มาบตาพุด โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี - ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และโครงการก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 304 ตอนอ.กบินทร์บุรี - ปักธงชัย (ช่วง กม. 26-29 และกม.42-กม.57) ที่ประชุมได้พิจารณาให้ EIA เช่นกัน

“การพิจารณาเส้นทางหมายเลข 304 ที่จะขยายเป็น 4 ช่องจราจรนั้น ผ่านพื้นที่ป่าดงพญาเย็น และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดย กรมทางหลวง จะต้องก่อสร้างเป็นทางยกระดับ หรืออุโมงค์เป็นช่วงๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่จะได้ไม่ต้องเดินผ่านถนนสายดังกล่าว” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

ส่วนอีกโครงการที่ผ่านEIA คือ โครงการระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่ง และการจัดการโลจิสติกส์ระยะเร่งด่วน ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 2.6 หมื่นล้านบาท ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. โดยหลังจากนี้สามารถนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อจัดตั้งงบประมาณ และเดินหน้าโครงการประกวดราคาต่อไป

ในส่วนของโครงการรถไฟทางคู่อีก 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางมาบกะเบา - นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท 2.เส้นทางนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และ3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก. เพื่อพิจารณาแก้ไข ก่อนส่งเข้าที่ประชุมคณะใหญ่พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมทุกเดือน

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

‘พักผ่อนระหว่างทำงาน’ อีกหนึ่งประเด็นเรื่อง ‘สิทธิ’ และ ‘วัฒนธรรม’

$
0
0

หลังจากที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้แรงงานต่างชาติอย่างหนัก ประเทศใน “ตะวันออกกลาง” จึงได้ออกข้อบังคับให้คนงานพักยาวในช่วงกลางวันระหว่างช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของภูมิภาค ส่วนที่ “เวียดนาม” วัฒนธรรมงีบหลับในที่ทำงานกำลังถูกท้าทายด้วยการปรับภาพลักษณ์เพื่อค้าขายกับต่างชาติ

 

 

 

หลังจากที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้แรงงานต่างชาติอย่างหนัก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจึงได้ออกข้อบังคับให้คนงานสามารถพักยาวได้ในช่วงกลางวัน เพื่อป้องกันไม่ให้คนงานได้รับอันตรายจากการสัมผัสแสงแดดและอุณหภูมิที่สูงในช่วงเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดของภูมิภาค สำหรับปี ค.ศ.2014 ข้อบังคับนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การให้แรงงานพักผ่อนในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนระอุนี้ ถือว่าเป็นข้อบังคับของรัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลาง มีผลบังคับใช้ 2-3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม หรือกันยายน) โดยคูเวตและโอมาน ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน, กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน, บาห์เรนและซาอุดีอาระเบียประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กาตาร์เป็นประเทศที่ประกาศห้ามทำงานในเวลากลางวันนานที่สุดถึง 5 ชั่วโมง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ให้เวลาช่วงพักทำงานสั้นที่สุดเพียง 2.5 ชั่วโมง

ด้านการตรวจสอบนั้นจะมีคณะผู้ตรวจสอบจากกระทรวงแรงงานของประเทศต่างๆ เดินทางไปตรวจเยี่ยมไซต์งานก่อสร้างที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติหลายหมื่นแห่งในภูมิภาคโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และหากพบการละเมิดข้อบังคับก็จะมีโทษปรับเงินรวมถึงการสั่งระงับการดำเนินงานชั่วคราว

ทั้งนี้พบว่าโทษปรับเงินของการละเมิดข้อบังคับนี้มีจำนวนที่ไม่มากนัก โดย constructionweekonline.comรายงานตัวอย่างในซาอุดิอาระเบียมีโทษปรับเพียง 800 - 2,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในบาห์เรนมีโทษปรับเพียง 1,300 - 2,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น และยังพบว่าช่วงนี้ของทุกปีมักจะมีข่าวการละเมิดข้อบังคับอยู่เนืองๆ อย่างในปี 2012 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พบบริษัทละเมิดข้อบังคับให้แรงงานพักนี้ถึง 102 แห่ง [1]ในปี 2013 ที่บาห์เรนพบบริษัท 118 แห่งละเมิดข้อบังคับ [2]ส่วนในปี 2014 นี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็พบว่ามีบริษัท 54 แห่งที่ละเมิดข้อบังคับนี้ไปแล้ว [3]

การออกกฎให้แรงงานพักผ่อนในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนนั้นสืบเนื่องมาจากการกฎดันขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรแรงงานต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก และการให้คนงานปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยนั้นถือว่าเป็นการเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน ตัวอย่างในปี 2013 ได้มีการเปิดเผยเอกสารจากสถานทูตเนปาลที่ระบุว่าคนงานเนปาลเสียชีวิตกว่า 44 คน ในกาตาร์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงอากาศร้อนที่สุด โดยกว่าครึ่งมาจากปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่ต้องทำงานหนักไม่ได้หยุดและขาดน้ำท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศา

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นการบังคับใช้แรงงานที่ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย สามารถทำเงินได้ถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และในจำนวนนี้มีถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เป็นเม็ดเงินจากการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อนึ่งสำหรับสภาพภูมิอากาศในตะวันออกกลางนั้น มี 2 ฤดู ได้แก่ฤดูร้อนและฤดูหนาวโดยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนอากาศร้อนจัดและความชื้นสูงอุณหภูมิประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส ส่วนในเดือนตุลาคมถึงเมษายนเป็นฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่หนาวมากนักอุณหภูมิเฉลี่ย 15-30 องศาเซลเซียส

 

เมื่อบริษัทข้ามชาติห้ามพนักงานเวียดนามนอนกลางวัน

 

 

 

วัฒนธรรมการนอนกลางวันที่ชาวเวียดนามคุ้นเคยและได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ครั้งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กำลังถูกท้าทาย โดยบริษัทด้านไอทีแห่งหนึ่งได้ห้ามพนักงานงีบหลับตอนกลางวันภายในสถานที่ทำงาน เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นเพื่อการทำธุรกิจกับต่างประเทศ

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2014 ที่ผ่านมา globaltimes.cnรายงานว่าบริษัทด้านไอทีอย่าง FPT-IS ของเวียดนาม ที่มีสาขาทั่วโลกถึง 18 แห่ง ได้ออกคำสั่งห้ามพนักงานนอนกลางวันภายในบริษัท โดยผู้บริหารได้ให้เหตุผลว่า ลูกค้าของ FPT-IS ในสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ได้สะท้อนมาว่าพวกเขารู้สึกตกใจเมื่อเห็นพนักงานชาวเวียดนามนอนกลางวันในที่ทำงานซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับพวกเขา

ผู้บริหารของ FPT-IS ยังระบุอีกว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีระดับโลกนั้น เวียดนามกำลังแข่งขันกับบริษัทจากอินเดียและจีนอย่างดุเดือดทั้งด้านเทคนิคและวัฒนธรรม ดังนั้นเพื่อที่จะได้สัญญาจากลูกค้าต่างชาตินั้น พนักงานชาวเวียดนามควรเลิกการนอนกลางวันเสียที

นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งในเวียดนามที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้บริหารของ FPT-IS ระบุว่าการนอนหลับในสำนักงานไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ส่วนชาวเน็ตในเวียดนามจำนวนมาก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่อคำสั่งห้ามนอนกลางวันในสำนักงานกันอย่างหลากหลาย โดยบางส่วนสนับสนุนการห้ามนอนกลางวันในที่ทำงานนี้แต่ระบุว่าถ้าพนักงานอยากจะนอนพักเที่ยง ก็ควรกลับไปยังที่พัก เช็กอินโรงแรม หรือไม่ก็ไปงีบหลับตามสวนสาธารณะแทน

ส่วนพนักงานของ FPT-IS ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อกลับระบุว่า ควรอนุญาตให้มีการนอนกลางวันเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงเที่ยงวัน เพราะจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขารู้สึกสดชื่นขึ้นหลังได้นอนพัก 10-15 นาที

 

 

 

อนึ่งสำหรับประเด็นการงีบหลับระหว่างทำงานนั้น แม้แต่ในโลกตะวันตกก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการได้งีบหลับเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มความตื่นตัวในการปฏิบัติงาน เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า พัฒนาการจดจำ ทักษะการขับยานพาหนะ การตัดสินใจและอารมณ์ ลดความเครียด ลดความประมาท หรือแม้แต่ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ในหน่วยธุรกิจที่คำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานนั้นถึงกับมี “ห้องงีบ” (Nap Rooms) ให้พนักงาน ไว้พักงีบเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น บริษัท Nike ก็มีห้องงีบนี้ไว้สำหรับพนักงานในการงีบหลับหรือทำการนั่งสมาธิ ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านนวัตกรรมอย่าง Google ก็ถึงกับสร้างแคปซูลไฮเทคไว้ทั่วสำนักงานในเมืองเมาท์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้พนักงานไว้งีบหลับ เป็นต้น

 

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

รอง ผบ.ตร. เผยออกหมายจับ 2 ผู้ต้องหายิง ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ แล้ว

$
0
0

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยยังไม่ได้รับการประสานเข้ามอบตัวจาก พ.อ.อภิวันท์ หลังถูกออกหมายจับคดี ม.112 ขณะที่ ตำรวจออกหมายจับ 2 ผู้ต้องหา ร่วมก่อเหตุยิง ไม้หนึ่ง ก.กุนที

24 ก.ค.2557 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามได้ขอศาลอนุมัติออกหมายจับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีขึ้นกล่าวบนเวทีปราศรัยที่บริเวณหาดปึกเตียน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 54 หลังมีประชาชนนำเทปบันทึกคำปราศรัยเข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอนุมัติหมายจับ และศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ววานนี้(23 ก.ค.) ซึ่งเหตุผลที่เพิ่งมาร้องทุกข์ในช่วงนี้เนื่องจากก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยที่พันเอกอภิวันท์เป็นสมาชิกพรรคอยู่เป็นแกนนำรัฐบาล จึงทำให้ขาดความเชืี่อมั่นเลยมาแจ้งภายหลัง

พล.ต.อ.สมยศ เปิดเผยด้วยว่าวันนี้ยังไม่ได้รับการประสานเข้ามอบตัวจาก พ.อ. อภิวันท์ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศอยู่แล้ว หากเจ้าหน้าที่พบสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมยศ ยังเปิดเผยด้วยว่า ศาลจังหวัดมีนบุรี ออกหมายจับผู้ต้องหาร่วมกันก่อเหตุยิง นายกมล ดวงผาสุข หรือ ไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีเสื้อแดง เสียชีวิตที่ร้านอาหาร ย่านถนนเกษตรนวมินทร์ แล้ว 2 ราย คือ มือปืนที่ก่อเหตุ และผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์พาหลบหนี จากการสืบสวน มีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า ผู้เสียชีวิตมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธสงครามที่นำมาก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่นครบาลหลายคดี พร้อมเตรียมขยายผลถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

รอง ผบ.ตร. กล่าวต่อถึงการประชุมความมั่นคง ในวันนี้ (24 ก.ค.) ว่า เตรียมวางแผนการรักษาความสงบเรียบร้อยผู้ชุมนุม เนื่องในวันอัลกุดส์สากล หรือ วันแห่งการปลดปล่อย ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ค.) เบื้องต้น มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอารักขาและควบคุมฝูงชน จำนวน 1 กองร้อย และชุดเคลื่อนที่เร็วฝ่ายสืบสวนรวม 80 นาย บริเวณสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาอโศก รวมถึง บ้านพักเอกอัครราชทูต และคณะทูตต่างๆ

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

เสวนาบทเรียนความมั่นคงทางอาหาร: ไทย อินโดฯ มาเลฯ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

$
0
0

ชี้ระบบอาหารไทยเข้าขั้นวิกฤติ คนไทย 70% แห่ซื้ออาหารนอกบ้านรับประทาน ทั้งที่ไม่รู้แหล่งผลิต หวั่นเกิดสารปนเปื้อนและไม่ผ่านค่ามาตรฐาน เผยอาหารแช่แข็งยังครองแชมป์ยอดฮิต แนะส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยสู่ระบบที่ยั่งยืน-พัฒนางานวิจัย ควบคุมการใช้สารเคมีที่ต้นทาง ด้านนักวิจัยมาเลเซียแฉ พบสารตกค้างในผลิตภัณฑ์การเกษตรของมาเลเซียอื้อ วอนหน่วยงานรัฐแก้กฎหมายคุมครองผู้บริโภค ฟากนักวิจัยฟิลิปปินส์ชี้อุตสาหกรรมอาหาร โหมการตลาดโฆษณาเกินจริงหลอกผู้บริโภค


24 ก.ค. 2557 เมื่อเวลา 10.00 น. ในงานประชุมวิชาการมหกรรมอาหารและสุขภาพ วิถีไท ครั้งที่ 1 ภายใต้แคมเปญ “กินเปลี่ยนโลก: บทบาทอาหารกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” จัดโดย มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ มูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ประเทศไทย) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพวิถีไทย

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ บทเรียนการทำงานของแต่ละประเทศในประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความเสี่ยงในการรับประทานอาหารที่จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านและซื้ออาหารสำเร็จรูปมากกว่าร้อยละ 70 ของรายจ่ายค่าอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่สามารถรู้แหล่งผลิตได้เลยว่าขั้นตอนการทำเป็นเช่นไร

รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี  กล่าวต่อว่า วิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่แบ่งเป็น 3 แหล่ง คือ 1.เกษตรกรรายย่อยนับวันจะหายไปจากระบบ เพราะเอาตัวไม่รอด กำไรหดหาย 2.ระบบการผลิต ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองทำให้คนไทยมีวิถีการกินอยู่ที่น้อยลง หันไปพึ่งอาหารแช่แข็งมากขึ้น 3.วิกฤตผู้บริโภค ประสบปัญหาไม่มีทางเลือกในการกิน จากระบบผูกขาดของบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ รวมถึงผู้บริโภคขาดความรู้ในการเลือกอาหาร ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีฉลากระบุในบรรจุภัณฑ์ แต่พบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจได้รับสารปนเปื้อนที่มีอันตรายต่อร่างกายได้

“สิ่งที่ควรทำคือต้องจัดการอาหารทั้งระบบ โดยผู้บริโภคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม พัฒนาวิจัย จัดตั้งระบบสหกรณ์รายย่อย ควบคุมสารเคมีที่ต้นทาง นอกจากนี้ควรมีการควบคุมการดำเนินงานกิจการธุรกิจทางการเกษตร ให้เกษตรกรรายย่อยลุกขึ้นมามีบทบาท และรัฐบาลควรสร้างตลาดขนาดเล็ก ตลาดทางเลือกให้เกษตรกรเข้ามามีพื้นที่ ขณะเดียวกันกฎหมายเกี่ยวกับอาหารควรเข้มงวดมากขึ้นเพราะที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายแต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ และคณะกรรมการยังละเลยไม่ใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง” นางสาวกิ่งกร กล่าว

นางสาวฮูซนา ซาฮีร์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย (Yayasan Lembaga Konsumen Indonesia, YLKI) กล่าวว่า แม้อินโดนีเซียจะมีแหล่งทรัพยากรที่เพียงพอ และข้าวเป็นอาหารหลัก แต่กว่า 50% ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน รวมถึงอาหารอื่นๆ และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลแม้จะสนับสนุนให้ปลูกข้าว แต่ไม่ได้จริงจังในเรื่องการผลิตและส่งออก อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมี ทำให้สิ้นเปลือง เกิดหนี้สิน และส่งผลเสียต่อผลผลิต เกษตรกรจึงเริ่มมองหาพืชพื้นบ้านเพื่อนำมาทดแทน เช่น ปลูกข้าวฟ่าง ข้าวโพด และประสบความสำเร็จแค่เพียงระดับท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรยกระดับอาหารพื้นบ้านเหล่านี้ และศึกษาพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ให้เข้ามาตอบโจทย์เกษตรกรรมรูปแบบต่างๆ จัดอบรมให้ความรู้กับผู้บริโภคดังคำขวัญของประเทศคือ “กินอาหารท้องถิ่น รักษาเกษตรกรท้องถิ่น”

นางสาวหัทธิยา ฮาสซิม นักวิจัยจากสมาคมผู้บริโภคแห่งปีนัง ประเทศมาเลเซีย (Consumer Association of Penang) กล่าวว่า มาเลเซียมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารจำนวนมาก แต่กลไกการผลิตนั้นอาจมีการปนเปื้อนและมีสารเคมีตกค้าง โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ ที่ผ่านมาชมรมผู้บริโภคปีนัง พยายามแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคที่มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องวัตถุดิบ สารปนเปื้อน การห้ามนำเข้า เช่น สารเร่งเนื้อสัตว์ที่ทำให้โตไว ซึ่งมีเข้ามาและเปลี่ยนชนิดเปลี่ยนรูปแบบใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้กฎหมายเกิดความหละหลวมไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้

“เราจำเป็นต้องรณรงค์กับผู้บริโภคและผู้ขายอาหารตามข้างทาง เกี่ยวกับคุณภาพอาหาร รณรงค์ลดน้ำตาล เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียติดอันดับ 8 ของโลกที่บริโภคน้ำตาลสูง เพราะมีผลต่อสุขภาพ ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียควรเน้นคุ้มครองเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืน และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการจับปลาที่เน้นเชิงอนุรักษ์” นางสาวหัทธิยา กล่าว

นางสาวเจนนิเฟอร์ กุสต์ นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภคประเทศฟิลิปปินส์ (IBON Foundation) กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังท้าทายวิกฤติอาหารของฟิลิปปินส์คือการมีโฆษณาชวนเชื่อ ส่งเสริมการแปรรูปอาหารและมีทุนในระบบอุตสาหกรรมมากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เกิดการขาดแคลน ขาดดุลทางอาหารเพราะมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก รัฐบาลมีนโยบายเปิดการค้าเสรี จึงทำให้เกิดแหล่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น ประชากรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่มีราคาถูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การค้าข้าวมีการผูกขาด ซื้อถูกขายแพง เกิดการกักตุน ลักลอบนำเข้าโดยไม่จ่ายภาษี นอกจากนี้ในเรื่องของการผลิตข้าวโพดที่ปรับแต่งพันธุกรรม (GMO) ก็มีผลกระทบต่อเกษตรกร ล่าสุดล้มละลายถึง 10% ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด อีกทั้งส่งผลให้เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้สารเคมี

“อยากให้เกิดบทบาทของภาครัฐมากกว่าที่เป็นอยู่ ส่งเสริมผลผลิตของเกษตรกรให้สูงขึ้น เพราะอย่าลืมว่าผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องอาหารและความเป็นอยู่ สนใจอาหารออแกนิกส์เพราะตระหนักได้ถึงความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเราพยายามต่อสู้หันมาทำเกษตรทางเลือก พยายามล็อบบี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีใบรับรอง มีกฎหมายที่สนับสนุนทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ” นางสาวเจนนิเฟอร์ กล่าว

นางสาวอลิซ ฟาม นักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภค ประเทศเวียดนาม (CUTS Internation) กล่าวว่า ประเทศเวียดนามเป็นประเทศยากจน และประเทศที่ผลิตข้าวกว่า 73% มีการส่งออกข้าว 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งรองจากประเทศไทย ทั้งนี้ยอมรับว่าเทคโนโลยีในการผลิตข้าวยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเวียดนามยังประสบปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม ฝนแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง การแข่งขันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรใหม่ๆ ไม่พึ่งพาข้าวอย่างเดียว และเกษตรกรต้องได้ตัดสินใจว่าจะปลูกพืชอะไร ไม่ถูกชี้นำจากรัฐบาล

นายซิว ก๊ก เซียง ผู้วิจัยจากสมาคมผู้บริโภค ประเทศสิงคโปร์ (Consumer Association of Singapore, CASE) กล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่ทำการเกษตรค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ 90% นำเข้าจากต่างประเทศ โดยหน่วยงาน ABA ด้านการเกษตรและปศุสัตว์จัดทำหน้าที่เชื่อมโยงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการประเมินสารปนเปื้อนตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้บริโภคมีความเสี่ยง นอกจากเรายังพยายามส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกทั้งเรื่องราคาและคุณภาพของอาหาร

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai
Viewing all 58141 articles
Browse latest View live




Latest Images